เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 15 ส.ค. 13, 19:45



กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ส.ค. 13, 19:45
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ทรงเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 49 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาหุ่น(ท้าวทรงกันดาล) เมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2403 สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2458 พระชันษา 55 ปี    ทรงเป็นต้นราชสกุลสวัสดิกุล


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 15 ส.ค. 13, 19:53
เด็กดีมาลงชื่อเข้าห้องตามระเบียบครับ  8)  8)


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ส.ค. 13, 20:00
^
ไม้เรียวยังใช้ได้ผลทุกสมัย  ;D


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ส.ค. 13, 21:45
     พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์เมื่อทรงพระเยาว์   ทรงเริ่มศึกษาเบื้องต้นในพระบรมมหาราชวัง     เริ่มเล่าเรียนเขียนอ่านภาษาไทยในสำนักหม่อมเจ้าจอมในกรมหลวงเสนีบริรักษ์  (พระองค์เจ้าชายแตง พระโอรสในกรมพระราชวังบวรสถานภิมุขในรัชกาลที่ 1    ต้นราชสกุลเสนีวงศ์  ณ อยุธยา) ในตอนนั้นกรมหลวงเสนีฯสิ้นพระชนม์แล้ว  แต่เจ้าจอมหม่อมห้ามของท่านยังมีชีวิตอยู่
     หลังจากทรงเรียนภาษาไทยชั้นต้นแล้ว   ต่อมาก็ทรงย้ายมาเรียนภาษามคธหรือบาลีกับพระยาปริยัติธรรมธาดา (เปี่ยม) เมื่อยังเป็นหลวงราชาภิรมย์ ปลัดกรมราชบัณฑิต ที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์  พร้อมด้วยพระองค์เจ้าอีกหลายพระองค์   แม้ว่าเรียนมคธภาษา แต่ทรงเรียนหนังสือขอมที่เป็นเครื่องใช้เขียนและจารตำรับเรียนด้วย
    ต่อมาเมื่อเจริญพระชันษาขึ้น ก็ทรงเรียนภาษาอังกฤษในสำนักงานของนายฟรานซิส ยอร์จ  แปตเตอสัน(Francis George Patterson)   ครูชาวอังกฤษซึ่งได้รับว่าจ้างให้มาถวายพระอักษรเจ้านายเล็กๆในรัชกาลที่ 4
   พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเสด็จสวรรคตเมื่อพระองค์เจ้าสวัสดิประวัติมีพระชันษาได้เพียง 8 ปี


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ส.ค. 13, 22:17
อ้างถึง
ไม้เรียวยังใช้ได้ผลทุกสมัย

http://www.youtube.com/watch?v=rVE9sZAOX7s


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ส.ค. 13, 08:33
โอ๋ยโย๋    คุณประกอบคนไหนคะ  :o

ป.ล.     ๑   ครูคนนี้แกมีเวลาสอนในคาบอีกกี่นาทีกัน      เล่นตียาวเหยียดเป็นงูกินหางแบบนี้
           ๒   ถ้าเป็นประเทศไทย     ป่านนี้ครูต้องขึ้นโรงพัก เป็นข่าวหน้าหนึ่งไทยรัฐไปนานแล้ว


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ส.ค. 13, 08:54
   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุเพียง 15 พรรษา  มีพระเจ้าน้องยาเธอที่ทรงพระเยาว์ด้วยกันทั้งสิ้น      ทรงพระเมตตาต่อบรรดาเจ้านายเล็กๆทั้งหลายอย่างบิดาอุปถัมภ์บุตร    พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติจึงได้รับการศึกษาต่อมาจนพระชันษาครบเวลาโสกันต์ก็ได้โสกันต์เมื่อพ.ศ. 2415   จากนั้นก็เป็นไปตามขั้นตอนอย่างพระเจ้าลูกยาเธออื่นๆ  คือปีต่อมาทรงบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดบวรนิเวศ    ในสำนักสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์     ทรงเล่าเรียนอักษรสมัยและพระปริยัติธรรมอยู่ 2 พรรษา     
   พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติทรงมีความสามารถพิเศษอย่างหนึ่งคือ ระหว่างบรรพชา  ทรงฝึกเทศน์มหาชาติกับพระครูมหิธร(ชู)  จนกระทั่งทรงชำนาญ  เทศน์กัณฑ์มหาพนได้ไพเราะ        แต่มิได้มีพระประสงค์จะเอาดีในสมณเพศ    จึงทรงลาจากสามเณรเมื่อพระชันษาได้ 14 ปี    ไปทรงศึกษาภาษาไทยและคำนวณชั้นสูงจนชำนาญ    จากนั้นทรงศึกษาภาษาบาลีในสำนักขุนปรีชานุสาส์น(โต เปรียญ) ต่อจากที่เคยศึกษาชั้นต้นกับพระยาปริยัติฯ (เปี่ยม)   
    ยุคนั้น ถือกันว่าเจ้านายอายุสัก 14-15  ก็เรียกได้ว่าเจริญพระชันษาเป็นหนุ่มแล้ว   ถึงเวลามีพระตำหนักของพระองค์เอง     พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติทรงมีที่ดินส่วนพระองค์อยู่ใกล้วัดเทพธิดาราม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ พระราชทานเป็นพระราชมรดก     พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯจึงโปรดสร้างตำหนักประทานบนที่ดินผืนนี้    พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติก็ประทับอยู่ที่วังส่วนพระองค์ใกล้วัดเทพธิดาต่อมา
 


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ส.ค. 13, 09:01
   วังของพระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ  กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ยังอยู่มาจนถึงปัจจุบัน   แม้ว่าไม่ได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยแล้วก็ตาม    ถ้าใครอ่านกระทู้แล้วอยากเห็นขึ้นมา ก็ไม่ยาก    ตรงไปที่ “ชุมชนวังกรมพระสมมติอมรพันธ์" ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างถนนบำรุงเมืองและวัดเทพธิดาราม หรือย่านประตูผีที่เรารู้จักกัน     ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนเล็กๆ ตั้งอยู่ในตรอกแคบๆ ซึ่งอาจจะเดินเลยไปได้ ถ้าหากไม่สังเกตให้ดี
       
   มุ่งหน้าเข้าไปในชุมชน     เมื่อเดินผ่านทางเดินเล็กๆนั้นเข้ามา จะเห็นตึกเก่าสร้างแบบยุโรป  รูปทรงสี่เหลี่ยมสองชั้น  ทาสีขาว ยังดูสง่างามอยู่มาก  ไปค้นกูเกิ้ล มีบอกเล่าไว้สั้นๆว่า เคยเป็นสำนักงานตำรวจ และเคยเป็นโรงเรียนมาก่อน  สภาพภายนอกยังคงสวยงามดีอยู่ แต่ภายในค่อนข้างทรุดโทรม  ไม่ได้เปิดใช้งานมานานแล้ว


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 16 ส.ค. 13, 19:22
ขอแนบแผนที่บริเวณวังกรมพระสมมตอมรพันธุ์ ตั้งอยู่ถนนบำรุงเมือง สมัยรัชกาลที่ ๕ ครับ


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ส.ค. 13, 20:29
รอว่าเมื่อใดคุณหนุ่มสยามจะเปิดหีบสมบัติ นำแผนที่มาแจม   ;D ขอบคุณนะคะ

ในช่วงต้นๆของรัชกาลที่ 5  เป็นยุคของคนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารงานแผ่นดินแทนคนรุ่นเก่า   บรรดาพระเจ้าน้องยาเธอทั้งหลายต้องทรงรับพระราชภารกิจแผ่นดิน อย่างหนักมาก   ทุกพระองค์ล้วนต้องทำตัวเป็นผู้ใหญ่กว่าวัยทั้งสิ้น   เรียกว่าพอพ้นวัยเด็กก็ข้ามมาวัยทำงานเลย   ไม่ผ่านวัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว     พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติก็เช่นกัน   เมื่อพระชันษาได้ 15 ปี   ถ้าเป็นเด็กหนุ่มสมัยนี้ก็ยังนุ่งขาสั้นเรียนอยู่ ม. 3   แต่ว่าพระองค์ท่านต้องเข้าทำงานรับราชการเต็มตัวอย่างผู้ใหญ่ ประจำอยู่ในออฟฟิศหลวง  หรือสมัยนั้นเรียกว่า "ออดิตออฟฟิศ (Audit office)

ก่อนจะเล่าถึงงานของกรมพระสมมตอมรพันธุ์   ขอปูพื้นเล่าถึงการเงินของสยามในยุคนั้นและก่อนหน้านั้นก่อนนะคะ  

การเงินของสยามเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯขึ้นครองราชย์ อยู่ในภาวะที่สมัยนี้เรียกว่า "ขาดสภาพคล่อง"   เกิดจากความสับสน   ไม่มีระเบียบเพราะไม่มีระบบที่แน่นอน     เงินของแผ่นดินที่เรียกเก็บจากภาษีอากร   แทนที่จะรวมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียว  ไหลตรงเข้าไปรวมที่พระคลังมหาสมบัติ  เอาเข้าจริงกลับแยกเป็นหลายกระแส  แถมยังรั่วไหลไปตามทางเสียมาก   เล่นเอาพระคลังมหาสมบัติเกือบจะไม่มีเงินพอค่าใช้จ่าย   ข้อนี้ ทำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงต้องสร้างระบบขึ้นมาใหม่เป็นเรื่องสำคัญ และชักช้ามิได้


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ส.ค. 13, 20:32
ย้อนหลังไปสมัยรัชกาลที่ 3  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดระบบเจ้าภาษีขึ้นเพื่อพระคลังจะได้มีรายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย   ในสมัยนั้น เป็นได้ว่าทรงวางระเบียบไว้ดี   มีขุนนางที่เป็นไม้เป็นมือเป็นจำนวนมาก   เจ้าภาษีนายอากรก็ไม่กล้าบิดพลิ้ว  นำเงินส่งราชการเต็มตามจำนวนและตรงเวลา ทำให้ท้องพระคลังมีเงินเต็มขึ้นมา  เงินของประเทศอยู่ในสภาพคล่องตัวอย่างสูง

แต่เมื่อเวลาล่วงไปหลายสิบปี  คนรุ่นเก่าหมดไป   ระเบียบที่เคยเคร่งครัดได้ผลก็เริ่มหย่อนยานตามกาลเวลา    เจ้าภาษีนายอากรหาทางบิดพลิ้วผัดผ่อน ไม่ส่งเงินตามกำหนด  หรือส่งให้ก็ไม่ครบตามจำนวน ซ้ำยังไปรีดนาทาเร้นราษฎรให้ได้รับความเดือดร้อน    ขุนนางที่เคยเข้มงวดกวดขันก็สมรู้ร่วมคิดยักยอก ฉ้อโกงเงินหลวงของข้าราชการบวกเข้ามาด้วย    ทำให้คลังขาดเงินไปปีละมากๆ   จนเงินที่เคยเต็มคลังก็พร่องลงไป  กลายเป็นสภาพฝืดขึ้นมาแทน

ปัญหาดั้งเดิมที่เรื้อรังมานานตั้งแต่รัชกาลที่ 1 คือกรมพระคลังมหาสมบัติ ไม่ว่าจะอยู่ในยุคสภาพคล่องหรือสภาพไม่คล่อง  เป็นพระคลังที่ไม่มีการจัดทำบัญชีเป็นระบบ   ไม่มีหลักฐานให้ตรวจสอบได้   ผลคือจึงไม่มีตัวเลขแน่นอนว่าในแต่ละปี รัฐได้รับเงินเท่าไร และจ่ายราชการไปเท่าไร มีกำไรหรือขาดทุน   ทุกอย่างอยู่ในมือเสนาบดีพระคลังมหาสมบัติ   แล้วแต่จะจัดการด้วยตัวเองอย่างไรแบบไหน    
ด้วยเหตุนี้ เมื่อแต่ละท่านดับสูญไป บัญชีนั้นก็พลอยสูญหายไปด้วย   ไม่มีการจัดแจงเรียบเรียงบัญชีไว้สำหรับแผ่นดิน   เมื่อสิ้นปีก็ไม่มีการทำงบบัญชีขึ้นทูลเกล้าฯ พระเจ้าแผ่นดิน เพื่อถวายให้ทรงทราบเป็นบัญชีข้างที่ เอาไว้สำหรับทรงตรวจดูตัวเงินแผ่นดินว่ามีเงินมากน้อยเพียงใด


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ส.ค. 13, 09:58
     ผลจากไร้ระบบจัดเก็บภาษีอากร  การเงินของสยามก็เลยไม่เป็นหนึ่งเดียว   แต่ถูกแบ่งอำนาจการจัดเก็บไปอยู่ที่เจ้านายและขุนนางที่มีตำแหน่งการงานเกี่ยวข้อง   การเก็บภาษีอากรก็เลยกระจัดกระจายไปอยู่ตามกรมต่างๆ เช่น กรมพระคลังมหาสมบัติ กรมพระกลาโหม กรมมหาดไทย กรมนา และหน่วยพระคลังสินค้า ฯลฯ   กลายเป็นว่าแล้วแต่เจ้ากรมผู้บังคับบัญชากรมนั้นๆ จะจัดเก็บตามใจชอบ   ไม่เป็นระเบียบแบบแผนอันเดียวกัน
     ตามระเบียบที่วางไว้  ภาษีอากรที่กรมต่างๆ จัดเก็บได้  โดยหลักการพวกนี้ต้องมอบเงินส่วนหนึ่งให้กรมพระคลังมหาสมบัติ    แต่ในเมื่อกรมพระคลังมหาสมบัติอยู่ในสภาพ "เสือกระดาษ"   กรมต่างๆก็เลยชักดาบ  ให้บ้างไม่ให้บ้าง   กรมพระคลังมหาสมบัติซึ่งควรจะเป็นศูนย์กลางการเงินของแผ่นดิน    ก็มีฐานะเป็นเพียงแต่เจ้าพนักงานรับเงินหลวง ไม่มีอำนาจบังคับหรือเรียกร้องให้กรมต่างๆ ปฏิบัติตาม    เพราะไม่เคยตรากฎหมายเอาไว้ให้ทำ  ทำให้เงินผลประโยชน์ของแผ่นดินรั่วไหลไปทางอื่นเสียเป็นอันมาก   
     ทางอื่นที่ว่านี้ก็คืออำนาจอยู่กับผู้ใด  เงินแผ่นดินก็ไหลไปทางนั้น    ถ้าเจ้ากรมมีอำนาจ  เงินก็ไหลไปที่เจ้ากรม   ถ้าเสนาบดีมีอำนาจ  เงินก็ไหลไปทางนั้น   


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ส.ค. 13, 10:01
ผลก็คือเมื่อพระนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2411 เป็นต้นมา    เงินรายได้ของแผ่นดินลดลงไปมาก ในขณะที่การใช้จ่ายในกรมพระคลังมหาสมบัติเพิ่มรายการขึ้นทุกปี จนในที่สุดรายได้ไม่พอจ่ายต้องค้างชำระ รัฐบาลต้องเป็นหนี้เป็นสินรุงรัง ดังปรากฏหลักฐานอยู่ในพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 5 ซึ่งทรงมีไปถึงสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ฉบับลงวันที่ 28 ตุลาคม ร.ศ. 122

        "…ในเวลาครึ่งปีต่อมา เงินภาษีอากรก็ลดเกือบหมดทุกอย่าง ลดลงไปเป็นลำดับ จนถึงปีมะแม ตรีศก (พ.ศ. 2414) เงินแผ่นดินที่เคยได้อยู่ปีละ 50,000 - 60,000 ชั่งนั้น เหลือจำนวนอยู่ 40,000 ชั่ง แต่ไม่ได้ตัวเงินกี่มากน้อย แต่เงินเบี้ยหวัดปีละ 11,000 ชั่ง ก็วิ่งตาแตก ได้เงินในคลังมหาสมบัติ ซึ่งเป็นของเจ้าหน้าที่วิ่งมาหาเป็นพื้น นอกนั้นก็ปล่อยค้าง ที่ได้เงินตัวจริงมีประมาณ 20,000 ชั่งเท่านั้น เงินไม่พอจ่ายราชการก็ต้องเป็นหนี้…"



กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ส.ค. 13, 10:05
       ตามความเป็นจริง   ในรัชกาลที่ 5  ผู้คนพลเมืองย่อมเพิ่มขึ้นจากรัชกาลที่ 3   ในบ้านเมืองที่อุ่นหนาฝาคั่ง  ระบบภาษีก็ทำไว้ดีตั้งแต่รัชกาลที่ 3     ดังนั้นการเก็บภาษีก็ควรจะได้มากขึ้น   แต่เงินภาษีกลับรั่วไหล แตกฉานซ่านเซ็นเสียจนพระคลังกระเป๋าขาด ก็นับเป็นเรื่องน่าตระหนกตกใจมาก   เป็นปัญหาใหญ่อันดับต้นๆที่ยุวกษัตริย์พระชนมายุ 15 พรรษาต้องเผชิญและยุติปัญหาให้ได้     แต่ใน 5 ปีแรก อำนาจอยู่ในมือผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน   พระเจ้าอยู่หัวจึงไม่อาจแก้ไขปัญหาของแผ่นดินโดยพระองค์เองได้อย่างทันใจ 
   
      ดังนั้นเมื่อบรมราชาภิเษก   ได้เสด็จขึ้นว่าราชการแผ่นดินโดยเด็ดขาด จึงทรงเริ่มทำการปฏิรูปการคลัง   ทรงตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2416 ในพระบรมมหาราชวัง ให้เป็นที่ทำการของเจ้าพนักงานพระคลังมหาสมบัติ   มีตำแหน่งพนักงานบัญชีกลางสำหรับรวบรวมบัญชีเงินผลประโยชน์แผ่นดิน  และตรวจตราการเก็บภาษีอากรซึ่งกรมต่างๆ เป็นเจ้าหน้าที่เก็บนั้น ให้รู้ว่าเป็นจำนวนเงินเท่าใด และเร่งเรียกเงินของแผ่นดินในด้านภาษีอากรให้ส่งเข้าพระคลังมหาสมบัติตามกำหนด พร้อมกันนั้นได้ทรงตราพระราชบัญญัติสำหรับหอรัษฎากรพิพัฒน์ จุลศักราช 1235 หรือ พ.ศ. 2416   

     พูดง่ายๆคือจัดหน่วยงานศูนย์กลางรวบรวมเงินภาษีจากทุกทิศทุกทางของราชการให้ไหลตรงมาที่นี่ทีเดียว   ไม่แยกย้ายไปตกปลักอยู่ตรงโน้นบ้างตรงนี้บ้าง   จนไม่เหลือเป็นชิ้นเป็นอันกว่าจะมาถึงปลายทางอย่างเมื่อสมัยก่อน   


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ส.ค. 13, 09:15
  สองปีต่อมาในพ.ศ. 2418  ผลจากการปฏิรูปการจัดระบบระเบียบเก็บภาษีอาการครั้งใหญ่   หน่วยงานสำคัญอีกหน่วยงานหนึ่งก็เกิดขึ้นตามมา  คือ ออฟฟิศหลวง  หรือ Audit office  เป็นหน่วยงานตรวจสอบบัญชีคลัง   แต่เป็นหน่วยงานอิสระไม่ขึ้นกับกรมพระคลังมหาสมบัติ     มีหน้าที่ตรวจบัญชีเงินของแผ่นดินทั่วพระราชอาณาจักร    และถวายรายงานการตรวจบัญชีให้พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ    
    ผู้ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นหัวหน้าพนักงานออฟฟิศหลวง คือพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ (ต่อมาคือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ต้นราชสกุล เทวกุล)  พระชันษา 17 ปี     และอีกองค์หนึ่งที่ทรงแต่งตั้งให้เป็นพนักงานออฟฟิศหลวงคือพระองค์เจ้าชายสวัสดิประวัติ พระชันษา 15 ปี
    ก็เป็นอันว่าพระเจ้าน้องยาเธอ 2 พระองค์  พระชันษา 17 กับ 15 ปี  ทรงต้องแบกภาระตรวจเงินทั้งแผ่นดินมิให้หายหกตกหล่น    ไม่ให้ถูกนำไปใช้ผิดประเภท  และไม่ให้ถูกเบียดบังฉ้อโกงไปด้วยวิธีใดๆ   ต้องทรงจับได้ไล่ให้ทัน ตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย   ทั้งหมดนี้พระเจ้าอยู่หัวเสด็จลงทรงตรวจบัญชีด้วยพระองค์เอง


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ส.ค. 13, 09:28
     ต่อมาอีก 2 ปี   โปรดเกล้าฯให้รวมกรมเลขานุการเข้ากับออฟฟิศหลวง  โดยใช้ชื่อเดิมว่าออฟฟิศหลวง  อีก 3 ปีต่อมาก็รวมงานในออฟฟิศหลวงเข้ากับกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ    พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ทรงย้ายไปรับราชการในกรมพระคลังมหาสมบัติ  ส่วนพระองค์เจ้าสวัสดิประวัติทรงเลื่อนขึ้นเป็นหัวหน้าราชเลขานุการในออฟฟิศหลวง
     มีตำแหน่งสำคัญขนาดนี้เมื่อพระชันษาได้ 20 ปี เท่านั้นเอง  ยังไม่ได้ผนวชด้วยซ้ำไป
  
     พ.ศ. 2424 เมื่อพระชันษาได้ 21 ปีก็อุปสมบทที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  แล้วไปประทับที่วัดราชประดิษฐฯ จนครบ 1 พรรษา   เมื่อลาผนวชออกมา  ทรงกลับมารับราชการต่อในออฟฟิศหลวง     อีก 4 ปีต่อมาเมื่อพระชันษาได้ 25 ปี  พระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นปลัดบาญชีกลางในกระทรวงมหาสมบัติ ควบคู่กันไปอีกตำแหน่งหนึ่ง



กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: sirinawadee ที่ 19 ส.ค. 13, 09:39
เข้่าเรียนสายค่ะ  :'( อย่าตีหนูเลย หนูจะทำเวรให้ทั้งสัปดาห์เลยค่ะ จะหาดอกไม้มาปักแจกันคุณครูด้วย


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ส.ค. 13, 09:41
     ความรอบคอบถี่ถ้วน และตรงไปตรงมา ของพระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์เป็นอย่างไร  เห็นได้จากเอกสารกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัว    ลงวันที่ ๑ ตุลาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๐ ข้างล่างนี้

     “ข้าพระพุทธเจ้า ขอพระราชทานกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทด้วย
     เจ้าหมื่นไวยวรนารถได้ยืมเอาเงินเฟื้องที่ตามเสด็จพระราชดำเนินไปเกาะสีชัง ๕ ชั่งไปไว้สำหรับแจกอุบาสก อุบาสิกาและไว้ใช้การที่จะมีขึ้นที่วัดบวรนิเวศ     เงินรายนี้ ครั้นข้าพระพุทธเจ้าจะจำหน่ายในรายเงินตามเสด็จเกาะสีชังก็ผิดทางกันอยู่    ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานหนังสือสำคัญจ่ายเงินเสียต่างหาก
     ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอเดชะ”

      พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบว่า

      “ไม่ควรจะใช้เงินหลวงเลย เป็นการทำทาน   ฉันก็เคยใช้เงินฉันเอง ไม่มีเงิน  ก็ให้ขายผ้าไตรเขาแจกก็แล้วกัน”



กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ส.ค. 13, 09:44
เข้่าเรียนสายค่ะ  :'( อย่าตีหนูเลย หนูจะทำเวรให้ทั้งสัปดาห์เลยค่ะ จะหาดอกไม้มาปักแจกันคุณครูด้วย

มานั่งแถวหน้าเลยค่ะ   เดี๋ยวจะหาขนมมาเลี้ยง 
พวกแถวหลังหลับกันหมดแล้ว   อดกินไปตามระเบียบ


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 19 ส.ค. 13, 13:26
ลายพระหัตถ์ของกรมพระสมมตฯ งามจริง ๆ เคยเห็นในไดอารี่ ที่ทรงไว้ลายมืองามมาก ๆ


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ส.ค. 13, 13:47
    มีตัวอย่างลายพระหัตถ์ให้ดูอีกไหมคะ คุณหนุ่มสยาม?

   ตำแหน่งหัวหน้าราชเลขานุการที่ทรงได้รับมาตั้งแต่พ.ศ. 2423 เมื่อพระชันษาได้ 20 ปี  สมัยนั้นเรียกว่า "ไปรเวตสิเกรตารี" (Private Secretary) ฟังเหมือนเลขานุการส่วนตัว ทำงานเล็กๆน้อยๆให้นาย     แต่ความจริงไม่ใช่  ตำแหน่งนี้พอเทียบได้กับราชเลขาธิการ  และมีหน้าที่กำกับดูแลกรมพระอาลักษณ์   พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติต้องทำงานควบสองตำแหน่ง คือบวกตำแหน่งปลัดบาญชีกลางด้วย
 
   การทำงานสองตำแหน่งพร้อมกันเป็นงานหนักเกินกว่าจะทรงงานได้ทั่วถึง   จึงกราบบังคมทูลขอรับเพียงตำแหน่งเดียว     พระเจ้าอยู่หัวก็โปรดให้รักษาตำแหน่งไปรเวตสิเกรตารีไว้     พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติก็รับราชการในหน้าที่นี้ต่อมา รับใช้ใกล้ชิดเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย     
   ทำอยู่หลายปีจนถึงพ.ศ. 2429  พระชันษาได้  26 ปี   จึงโปรดเกล้าฯสถาปนาเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม   พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์    รับราชการมาแล้วถึง 11 ปี

    


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ส.ค. 13, 21:52
   กรมขุนสมมติฯ คงจะทรงมีลายพระหัตถ์งามมาแต่แรก     หน้าที่การงานของท่านก็ส่งเสริมให้ต้องใช้ลายมืองามอย่างสม่ำเสมออีกด้วย    เพราะในสมัยรัชกาลที่ 5 ยังไม่มีพิมพ์ดีด ไปรเวตสิเกรตารีต้องเขียนตามพระราชดำรัสล้วนๆ      บรรดาจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในรัชกาลที่ 5 จำนวนนับสิบเล่ม  ล้วนแต่มาจากลายพระหัตถ์ของกรมขุนสมมติฯ ทั้งสิ้น    ถ้ามีผู้อื่นจดบ้าง ก็เฉพาะเวลาที่ กรมขุนสมมติฯ ทรงประชวร หรือบังเอิญมิได้เข้าเฝ้าฯ แต่ก็นานๆ ครั้ง
     กรมขุนสมมติฯ ทรงมี ‘ไดอรี’(diary) ส่วนพระองค์          ใน ‘ไดอรี’ หรือบันทึกรายวันของท่าน ตอนหนึ่งทรงบ่นเรื่องงาน    ทำให้ดูออกว่าว่าหน้าที่การงานของท่านนั้น เหน็ดเหนื่อยเคร่งเครียดขนาดไหน

     ในบันทึกวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2426 (ขณะพระชันษาได้ 23 ปี) ทรงบ่นไว้ว่า
      “...ราชการมากเป็นที่สุด ไม่มีเวลาหยุด อะไรต่ออะไรค้างไปหมด เพราะกำลังแลเวลาไม่มีพอ ไม่มีใครแบ่งเขาบ้าง พอเข้าไปถึงบ่ายโมงก็ราว 50 มินิต ไปตรวจออฟฟิศล่างแล้วพอ 2 โมงขึ้นไปออฟฟิศบนประเดี๋ยวหนึ่งเข้าไปข้างในออกมา 4 โมง เขียนหนังสือต่อไปจนราวสัก 5 โมงครึ่ง กินข้าวแล้วเขียนต่อไปจน 2 ทุ่ม เข้าไปข้างในจน 5 ทุ่มเสศ กลับออกมาสั่งการเบตเลตเล็กน้อย กลับมา 5 ทุ่มครึ่ง ลำบากเหลือที่จะพรรณา มือปวดไปหมดด้วยเรื่องเขียนหนังสือ เบื่อจะตายยังต้องกลับมาเขียนไดอรีอีก ไม่เขียนก็เสียดายด้วยเขียนมาเกือบตลอดปีแล้ว ไม่มีบกพร่องเลย จะทิ้งไว้ก็จะสะสมก็ต้องทนเขียนไป เหมือนตากแดดร้อนๆ แล้วมาผิงไฟ ได้แก่เรา เหนื่อยจากเขียนหนังสือแล้วยังกลับมาเขียนหนังสืออีก ก็ต้องทนเขียนไปปวดข้อมือเต็มที...”


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ส.ค. 13, 10:04
ตัวอย่างไดอรี ที่ทรงบันทึกไว้


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ส.ค. 13, 10:07
อีกหน้าหนึ่งของ "ไดอรี"


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: นางมารน้อย ที่ 20 ส.ค. 13, 14:09
มาลงชื่อตามอ่านค่ะ ลายพระหัตถ์เสด็จในกรมงามมากจริงๆ


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ส.ค. 13, 10:43
เห็นด้วยค่ะ

ตำแหน่ง "ไปรเวตสิเกรตารี" เป็นตำแหน่งติดพระองค์  ควบคู่ไปกับตำแหน่งอื่นๆ เช่นเป็นอธิบดีกรมพระคลังข้างที่    เป็นผู้บังคับบัญชากรมมุรธาธร   เป็นอธิบดีกรมศึกษาธิการ      ในพ.ศ. 2438 พระเจ้าอยู่หัวทรงยกกรมราชเลขานุการเป็นกรมพิเศษ  ให้ "ไปรเวทสิเครตารี" เป็นตำแหน่งเทียบเท่าเสนาบดี   มีตราประจำตำแหน่งเป็นตราพระนารายณ์ทรงยืน    มีหน้าที่เข้าร่วมประชุมเสนาบดีด้วย   
"ไปรเวตสิเกรตารี"หมายถึงงานหนักและความละเอียดรอบคอบถี่ถ้วน  ต้องเขียนภาษาได้ดีเพื่อใช้ในการสื่อสาร และติดต่อประสานงานกับกระทรวงกรมต่างๆไม่มีข้อผิดพลาด    ความสำคัญอีกอย่างคือเป็นงานที่ต้องรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท     เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ไม่มีเรื่องตำหนิได้     กรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ก็ทรงทำได้เรียบร้อยทุกประการ     เห็นได้จากเมื่อเสด็จยุโรปครั้งแรกในพ.ศ. 2440  หนึ่งในพระเจ้าน้องยาเธอเพียง 3 พระองค์ที่โปรดเกล้าฯให้ตามเสด็จเป็นทางการ มีกรมหมื่นสมมตฯรวมอยู่ด้วย     อีก 2 พระองค์คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพศาสตรศุภกิจ   และพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย
หน้าที่หนักอีกอย่างของกรมหมื่นสมมตฯ คือต้องทรงดูแลการเล่าเรียนของพระเจ้าลูกยาเธอและพระเจ้าลูกเธอที่เจริญพระชันษาขึ้นหลายต่อหลายพระองค์พร้อมๆกัน  ก็ทรงทำได้เรียบร้อยดีเช่นกัน


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ส.ค. 13, 10:49
กรมพระสมมตอมรพันธุ์ทรงพระปรีชาด้านภาษาไทยและบาลีมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์  ได้ศึกษาบาลีจนเชี่ยวชาญ    ด้านภาษาไทยก็ทรงแต่งบทกวีได้ ว่าด้วยเรื่อง "เวร"    ดังบทข้างล่างนี้

เวรก่อต่อติดด้วย               เวรตาม  ตอบแฮ
เวรยิ่งลุกยาวลาม              ยืดล้น
เวรระงับดับความ               อาฆาต ขาดนา
เวรพ้นหมดภัยพ้น              จากผู้จองผลาญ



กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ส.ค. 13, 11:05
      ในพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงบันทึกครั้งที่พระราชทานเลี้ยงปีใหม่ในเรือมหาจักรี ดังนี้

             “...แล้วเลี้ยง ๔๐ คน กรมหลวงประจักษ์สปีชอย่างตาโหร ว่าเปนกลอนเรื่อยทีเดียว พ่อดื่มให้เจ้าแผ่นดินอังกฤษ เจ้าพระยาสุรวงศ์ให้พรแทนขุนนางเมื่อแรกมา โจทย์กันว่าจะให้ดุ๊กสปีชภาษาฝรั่ง ดุ๊กไปเกี่ยงให้มิสเตอร์เวสเตนกาด สปีชภาษาไทย มิสเตอร์เวสเตนกาด เชื่อว่าตัวพูดภาษาไทยไม่ได้ ไปวานให้พระรัตนโกษาแต่งท่องเสียจนจำได้ ข้างดุ๊กเชื่อว่าตัวรู้ภาษาอังกฤษไม่ได้ตระเตรียมอะไร พอเวสเตนกาดลุกขึ้นยืนพูดหน้าซีดไม่เป็นรศ พอเขาจบแล้วถึงทีแกจะลุกๆ ไม่ขึ้น เกี่ยงให้กรมสมมตสปีชภาษามคธก่อน กรมสมมตว่าเก่ง ปรูดปราดได้...”

        อีกงานหนึ่ง เมื่อพระเจ้าลูกยาเธอกรมขุนสุพรรณภาควดี พระราชธิดาที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาแพ(เจ้าคุณพระประยูรวงศ์)สิ้นพระชนม์ เมื่อพ.ศ. 2449   โปรดให้มีงานพระศพที่บางปะอิน    พระเจ้าอยู่หัวทรงอาราธนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงแปลอรรถกถาเอกนิบาตชาดก   เพื่อพิมพ์พระราชทาน   ในการนี้สมเด็จฯทรงขอให้กรมหมื่นสมมตทรงร่วมแปลด้วย
      เมื่อทรงตรวจส่วนที่กรมหมื่นสมมตแปลแล้ว    มีลายพระหัตถ์ยกย่องว่าทรงเชี่ยวชาญบาลีมากกว่าเปรียญ 5 ประโยค  ความทราบถึงพระเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานพัดเปรียญพื้นแดงประดับเลื่อมขนาดเล็ก ใช้ปักที่โต๊ะเครื่องลายครามได้  และทรงตั้งให้เป็นเปรียญ 5 ประโยคเป็นพระเกียรติยศ


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ส.ค. 13, 17:22
  กรมพระสมมตอมรพันธุ์เป็นผู้ที่คิดคำว่า "กุ" ขึ้นมา ใช้มาจนทุกวันนี้ เช่น กุข่าว กุเรื่องราว     ที่มาของคำนี้คือนาย ก.ศ.ร. กุหลาบ
  คุณเพ็ญชมพู เล่าไว้ใน blog ว่า
   
   กุ

   คำว่า "กุ" เป็นคำร่วมสมัยกับคำว่า "เล่นพิเรนทร์" พจนานุกรม ให้ความหมายว่า "สร้างให้เป็นเรื่องเป็นข่าวขึ้นโดยไม่มีมูล" "กุ" มีที่มาจากพฤติกรรมของคนเช่นเดียวกับ "พิเรนทร์"

นายกุหลาบ ตฤษณานนท์ เป็นปัญญาชนคนธรรมดารุ่นแรก ๆ ในสยามประเทศ เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๗ เมื่ออายุได้สี่ขวบ พระองค์เจ้ากินรี ซึ่งเป็นพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงขอไปเป็นบุตรบุญธรรม เมื่อบรรพชาเป็นสามเณร โดยมีสมเด็จกรมพระยาปรมานุชิตชิโนรสเป็นองค์อุปัชฌาย์ ก็ได้ฉายานามว่า เกศโร ซึ่งได้ใช้มาเป็นชื่อหน้าในภายหลัง คือ ก.ศ.ร. กุหลาบ ตามความนิยมที่จะมีชื่อหน้าอย่างตะวันตก

เนื่องจากได้มีโอกาสใกล้ชิดเจ้านายและเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่มาก จึงมีโอกาสในการศึกษาเล่าเรียนมาก ได้อ่านหนังสือตำราภาษาไทยจำนวนมาก และได้แอบคัดลอกหนังสือเหล่านั้น ออกมาพิมพ์เผยแพร่ให้กับบุคคลภายนอก โดยพยายามปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่องและถ้อยคำของหนังสือใหม่ จึงทำให้ถูกไต่สวนบ่อยครั้ง ในข้อหาแต่งเติมพงศาวดาร ทั้งนี้วัตถุประสงค์หลักของเขา ก็เพื่อให้บุคคลทั่วไปได้มีโอกาสอ่านหนังสือ และมีความรู้ ดังที่เขาได้มีโอกาส

คำว่า "กุ" ที่ย่อมาจากชื่อกุหลาบ หมายถึงโกหกขึ้นมา ก็มาจากพฤติกรรมนี้เอง กรมพระสมมตอมรพันธุ์ เรียกหนังสือของนายกุหลาบ ว่า "หนังสือกุ" เพราะจะว่าจริงแท้ก็ไม่ใช่ เท็จทั้งหมดก็ไม่ใช่

เมื่อฝรั่งเศสส่งเรือรบมาปิดปากอ่าวไทย ในร.ศ. ๑๑๒ เป็นเหตุให้ไทยต้องเสียดินแดนริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงประชาชนจำนวนมากโกรธแค้นฝรั่งเศสที่รังแกสยาม รวมทั้งนายกุหลาบด้วย แต่ว่าความเคืองแค้นของนายกุหลาบไม่ได้หยุดอยู่แค่ฝรั่งเศส แต่ลามมาถึงพระบรมราโชบายของพระเจ้าอยู่หัว ที่จำต้องสละแขนขาเพื่อรักษาชีวิตของสยามไว้


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ส.ค. 13, 17:23
นายกุหลาบก็แต่งเติมพงศาวดารสุโขทัย เล่าเรื่อยมาถึงตอนจะเสียกรุงศรีอยุธยา ว่าตอนปลายอยุธยา พระเจ้าแผ่นดินที่ครองราชย์ทรงพระนามว่า "พระปิ่นเกษ" มีพระราชโอรสทรงพระนามว่า "พระจุลปิ่นเกษ" พระจุลปิ่นเกษ ไม่มีความสามารถที่จะรักษาอยุธยาไว้ได้ ถึงเสียบ้านเมือง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทอดพระเนตรเห็นก็ตรัสว่า เพียงแต่นายกุหลาบเอาความเท็จแต่งลวงว่าเป็นความจริงก็ไม่ดีอยู่แล้ว ซ้ำบังอาจเอาพระนามพระจอมเกล้ากับพระจุลจอมเกล้าไปแปลเป็นพระปิ่นเกศ และพระจุลปิ่นเกศ เทียบเคียงใส่โทษเอาตามใจ เกินสิทธิ์ในการแต่งหนังสือ จึงโปรดให้เจ้าพระยาอภัยราชา (ม.ร.ว. ลภ สุทัศน์) เมื่อยังเป็นพระยาอินทราบดีสีหราชรองเมือง เรียกตัวนายกุหลาบมา สั่งให้ส่งต้นตำราเรื่องพงศาวดารเมืองสุโขทัยที่อ้างว่ามีนั้นมาตรวจ นายกุหลาบจึงสารภาพว่าเป็นเรื่องที่ตนคิดขึ้นมาเอง

รัชกาลที่ ๕ มิได้ทรงลงโทษรุนแรงแต่อย่างใด เพียงแต่ทรงมีพระราชประสงค์จะดัดนิสัยให้นายกุหลาบเลิกอวดดี จึงโปรดเกล้าฯ ให้ส่งตัวนายกุหลาบไปอยู่กับผู้จัดการในโรงรักษาคนบ้า ๗ วัน แล้วปล่อยไป


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ส.ค. 13, 18:51
เมื่อนายกุหลาบออกหนังสือชื่อ "สยามประเภท" ลงบทความต่างๆด้านประวัติศาสตร์ ตีพิมพ์จำหน่าย  ทำนองเดียวกับหนังสือวชิรญาณของหอพระสมุด   ในระยะแรก สยามประเภทได้รับความสนใจจากคนอ่านมาก  มีคนสมัครเป็นสมาชิกกันมากมาย  กระจายออกไปถึงนอกประเทศ   บางครั้งต้องพิมพ์ซ้ำหลายครั้งในฉบับเดียว เพื่อตอบสนองคนอ่านได้ทั่วถึง    ฉบับแรกๆเป็นเรื่องของความรู้ต่างๆ   ต่อมาอีก 1 ปี ก็เป็นการตอบคำถามที่ประชาชนส่งเข้าไป 

สำหรับบุคคลภายนอก หรือประชาชนทั่วไป นิยมว่านายกุหลาบเป็นผู้รู้เรื่องราวประวัติศาสตร์อย่างกว้างขวาง    แต่สำหรับเจ้านายที่ทรงรอบรู้เรื่องภาษาและประวัติศาสตร์ไทยอย่างกรมพระสมมตอมรพันธุ์ทรงสะกิดพระทัย  เมื่อทรงสังเกตเรื่องหนังสือโบราณแทรกสำนวนใหม่ของนายกุหลาบ  เป็นเหตุให้ทรงตัดสินพระทัยจะต้องค้นหาความจริงจากนายกุหลาบให้ได้  โดยไม่ให้รู้ตัวเสียก่อน   จึงทรงทำตัวคล้ายเชอร์ล็อคโฮล์มส์ คือสืบความลับด้วยการทำไมตรีกับนายกุหลาบเหมือนไม่รู้เท่าทัน


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ส.ค. 13, 18:53
    นายกุหลาบเข้าใจว่าเจ้านายทรงนับถือตนว่าเป็นผู้มีความรู้  ก็เลยนำหนังสือฉบับที่ตนแก้ไขดัดแปลงแล้ว  ขึ้นถวาย หลายเรื่องด้วยกัน   รวมทั้งพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ตอนรัชกาลที่ 3 ซึ่งเจ้าพระยาทิพากรวงศ์เป็นผู้เรียบเรียง
    นายกุหลาบไม่รู้ว่าหนังสือเป็นเรื่องราวสมัยรัชกาลที่ 3 ก็จริง  แต่เจ้าพระยาฯท่านมาทำเมื่อรัชกาลที่ 5 นี่เอง  ฉบับเดิมยังอยู่ในหอพระสมุด  เมื่อกรมพระสมมตฯ นำทั้งสองฉบับมาตรวจสอบกันดู ความก็แตกออกมา  ว่านายกุหลาบเอาหนังสือซึ่งเป็นของหลวง   มาแต่งแทรกใหม่ลงไปหลายตอน    ทรงสามารถแยกแยะออกมาได้ว่าตอนไหนบ้าง    กรมพระสมมตฯ จึงทรงนำเรื่องขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

     สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าในตอนนี้ว่า
    "สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรง" มันไส้"   ถึงเขียนลายพระราชหัตถเลขาลงในฉบับของนายกุหลาบ    ทรงชี้ให้เห็นตรงที่แทรกบ้าง   บางแห่งก็ทรงเขียนเป็นคำล้อเลียน หรือคำบริภาษแทรกลงบ้าง   แล้วพระราชทานคืนออกมายังกรมพระสมมตฯ     กรมพระสมมตฯ ต้องให้อาลักษณ์เขียนตามฉบับของนายกุหลาบขึ้นใหม่ ส่งคืนไปให้เจ้าของ  เอาหนังสือของนายกุหลาบที่มีลายพระราชหัตถเลขารักษาไว้ในหอสมุดวชิรญาณจนบัดนี้"


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 21 ส.ค. 13, 22:42
เมื่อนายกุหลาบออกหนังสือชื่อ "สยามประเภท" ลงบทความต่างๆด้านประวัติศาสตร์ ตีพิมพ์จำหน่าย  ทำนองเดียวกับหนังสือวชิรญาณของหอพระสมุด   ในระยะแรก สยามประเภทได้รับความสนใจจากคนอ่านมาก  มีคนสมัครเป็นสมาชิกกันมากมาย  กระจายออกไปถึงนอกประเทศ   บางครั้งต้องพิมพ์ซ้ำหลายครั้งในฉบับเดียว เพื่อตอบสนองคนอ่านได้ทั่วถึง    ฉบับแรกๆเป็นเรื่องของความรู้ต่างๆ   ต่อมาอีก 1 ปี ก็เป็นการตอบคำถามที่ประชาชนส่งเข้าไป 

สำหรับบุคคลภายนอก หรือประชาชนทั่วไป นิยมว่านายกุหลาบเป็นผู้รู้เรื่องราวประวัติศาสตร์อย่างกว้างขวาง    แต่สำหรับเจ้านายที่ทรงรอบรู้เรื่องภาษาและประวัติศาสตร์ไทยอย่างกรมพระสมมตอมรพันธุ์ทรงสะกิดพระทัย  เมื่อทรงสังเกตเรื่องหนังสือโบราณแทรกสำนวนใหม่ของนายกุหลาบ  เป็นเหตุให้ทรงตัดสินพระทัยจะต้องค้นหาความจริงจากนายกุหลาบให้ได้  โดยไม่ให้รู้ตัวเสียก่อน   จึงทรงทำตัวคล้ายเชอร์ล็อคโฮล์มส์ คือสืบความลับด้วยการทำไมตรีกับนายกุหลาบเหมือนไม่รู้เท่าทัน

อ่านแล้วนึกถึงหนังสือเล่มหนึ่ง  ที่คนรุ่นใหม่เขาอ่านกันแล้วเยินยอคนเขียนเสียเลิศเลอว่า ช่างเก่งกล้าสามารถเขียนวิพากษ์เรื่องราวที่คนไม่กล่าพูดถึง  แต่สำหรับคนที่รู้ทันท่านก็ว่าตัดแปะและบิดเบือนเสียจนเละไปหมดทั้งเล่ม


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ส.ค. 13, 23:34
พอจะรู้ว่าเล่มไหน     รอวันหนึ่งความจริงที่เป็นเรื่องจริง จะกระจ่างออกมาค่ะ คุณ V_Mee
ดิฉันฝากความหวังไว้ที่คุณ V_Mee ด้วย


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ส.ค. 13, 09:56
   ในฐานะราชเลขานุการเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย  กรมพระสมมตอมรพันธุ์ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เมื่อเสด็จประพาสยุโรปทั้ง 2 ครั้ง   ครั้งหลังเสด็จไปเมื่อ พ.ศ. 2450  เจ้านายอื่นๆที่ตามเสด็จคือพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์, พระเจ้าลูกยากรมพระนครสวรรค์วรพินิต และพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ      กลับมาได้ 3 ปี พระเจ้าอยู่หัวก็สวรรคต

   เริ่มรัชกาลที่ 6  กรมพระสมมติมีพระชันษา 50 ปี  ทรงรับราชการมายาวนานถึง 35 ปี   ตรากตรำทำงานในหน้าที่สำคัญๆมามาก พระพลานามัยก็เริ่มอ่อนแอลงตามวัย    โรคเรื้อรังที่เป็นมาหลายปีคือโรคไต(พระวักกะ)พิการ นอกจากนี้แพทย์ยังลงความเห็นว่า พระหทัยโต  ทำให้เหนื่อยง่ายและอ่อนเพลีย   จึงกราบบังคมทูลลาออกจากราชการในพ.ศ. 2554
   พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงเห็นพระทัยก็โปรดเกล้าฯให้เป็นไปตามพระประสงค์   แต่ยังให้ดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีที่ปรึกษาในกรมราชเลขานุการต่อไป    ดังที่มีพระราชหัตถเลขามาถึง ตอนหนึ่งว่า

    มีความเสียใจที่ได้ทราบว่า ประชวรมีพระอาการหายได้ช้า    เห็นว่าควรอยู่แล้วที่จะมีโอกาสได้พักผ่อนจริงๆ    เพราะฉะนั้นอนุญาตให้ทรงออกจากตำแหน่งน่าที่ราชเลขานุการและอธิบดีพระคลังข้างที่.....ส่วนพระองค์ท่านเอง   หม่อมฉันนับถือว่าเป็นครูผู้ ๑   ยังจะต้องขอให้ได้มีโอกาสรับคำแนะนำแลปฤกษาหาฤๅต่อไป     เพราะฉะนั้นขอให้ทรงรับตำแหน่งเสนาบดีที่ปฤกษา    ขอให้ทรงอุตสาหรักษาพระองค์ให้จงดี   เพราะยังมีเวลาได้อาไศรยไหว้วานกันไปอีก


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: werachaisubhong ที่ 22 ส.ค. 13, 17:31
กรมพระสมมตอมรพันธุ์  อ่านว่าอย่างไรครับ ท่านอาจารย์


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ส.ค. 13, 17:51
Krom Phra Sommot Amonphan


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ส.ค. 13, 21:04
^
ใช่ค่ะ  สมมต อ่านว่า สม-มด


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ส.ค. 13, 12:46
  ในปีที่ทรงกราบถวายบังคมลาจากราชการนี้เอง   พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ก็โปรดเกล้าฯเลื่อนพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์    ในประกาศตอนหนึ่ง ทรงสรรเสริญไว้ว่า

  "....ทรงเคารพนับถือประหนึ่งว่าเป็นพระอาจารย์พระองค์ 1    ทั้งทรงได้สังเกตพระอัธยาศัยว่าเต็มไปด้วยความเมตตาสีตลหฤทัย  กอปรด้วยวิริยอุตสาหอันยิ่งใหญ่   มีพระสติปัญญาอันสุขุม    สมควรที่จะได้เลื่อนพระอิสริยยศเป็นต่างกรมผู้ใหญ่ที่เคารพได้..."

   หมายเหตุ : สีตลหฤทัย  ---> สีตล = เย็น  หฤทัย = ใจ    ---> มีจิตใจเยือกเย็น

   นอกเหนือจากตำแหน่งสำคัญๆในราชการที่ทรงรับมาตลอด 35 ปี    พระวิริยะอุตสาหะอีกประการหนึ่งของกรมพระสมมตฯ คืองานในตำแหน่งสภานายกกรรมการหอพระสมุดพระนคร  ที่ทรงทำมาตั้งแต่พ.ศ. 2453-2458
   ผลงานเรื่องสำคัญๆ ที่ทรงค้นคว้าเรียบเรียง   คือ
   - จดหมายเหตุเรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์
   - เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์
   - เรื่องตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์ (ทรงค้างไว้)
   และพระนิพนธ์สำคัญคือ จดหมายเหตุรายวัน  หรือ ไดอรี ที่กล่าวถึงในกระทู้นี้มาแล้วค่ะ


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ส.ค. 13, 17:52
พระรูปของเสด็จในกรมพระองค์นี้หายากจริงๆ ที่ผมก็อปออกมาจากหนังสือก็ได้คุณภาพเท่านี้เองครับ


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ส.ค. 13, 18:52
ขอบคุณค่ะ  หาในกูเกิ้ลก็ได้มาแค่นี้


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ส.ค. 13, 09:27
  กรมพระสมมตอมรพันธุ์ทรงใฝ่พระทัยทางทะนุบำรุงศาสนาอีกทางหนึ่งด้วยนอกเหนือจากงานในหน้าที่    เห็นได้จากทรงรับเป็นมรรคนายกวัดเทพธิดาราม ซึ่งอยู่ใกล้วัง    อีกวัดหนึ่งคือวัดวิเวกวายุพัดที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็ทรงร่วมบริจาคทะนุบำรุงตั้งแต่วัดมีหลังคาจากจนเปลี่ยนเป็นหลังคาตึก     
  นอกจากนี้  ทรงสร้างกุฏิไว้หลังหนึ่งที่วัดมกุฎกษัตริยาราม  เรียกว่าโสตถิวิหาร
  ในรัชกาลที่  5 และต้นรัชกาลที่ 6  โรงเรียนและโรงพยาบาลเป็นของใหม่    กรมพระสมมตฯทรงเห็นประโยชน์ของทั้งสองอย่างจึงทรงบริจาคเงินทองช่วยเหลืออยู่เสมอ    แม้แต่ในพระพินัยกรรม  ก็ทรงแบ่งทรัพย์สินส่วนหนึ่งไว้สำหรับวัด  โรงเรียนและโรงพยาบาล

วัดวิเวกวายุพัด หรือวัดช่องลม 
v


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ส.ค. 13, 10:30
     ทางด้านส่วนพระองค์  กรมพระสมมตอมรพันธ์เคยมีพระชายาเป็นเจ้าหญิงเขมรชื่อนักสุดาดวง  บุตรีเจ้าแก้วมโนนอร์ ซึ่งเป็นพระโอรสของสมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี พระเจ้ากรุงกัมพูชา   นักสุดาดวงเป็นหม่อมพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   แต่สิ้นพระชนม์ไปโดยไม่มีโอรสธิดา
      ทรงมีพระโอรส จากชายาอื่นๆ คือ จากหม่อมเจ้าหญิงจำรัส นิลรัตน์  พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านิลรัตน กรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา) มีโอรส 1 องค์ ได้แก่หม่อมเจ้ามงคลประวัติ สวัสดิกุล (พ.ศ. 2428-2491) เสกสมรสกับ หม่อมราชวงศ์บัว สนิทวงศ์
      จากหม่อมเพิ่ม สวัสดิกุล ณ อยุธยา มีโอรส 1 องค์คือหม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิ์วงศ์ สวัสดิกุล (พ.ศ. 2428-2483) เสกสมรสกับ หม่อมเกื้อ ณ ระนอง
      จากหม่อมตลับ   มีโอรส 1 องค์ คือหม่อมเจ้าชายใหญ่  ไม่ทราบปีประสูติและสิ้นพระชนม์

      กรมพระสมมตอมรพันธ์ประชวรหนักเมื่อพ.ศ. 2458   พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเสด็จเยี่ยมพระอาการ  แต่พระอาการก็ไม่ดีขึ้น   จนสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2458   พระชันษา 55 ปี



กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ส.ค. 13, 18:33
หม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิ์วงศ์ สวัสดิกุล


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ส.ค. 13, 13:52
กรมพระสมมตอมรพันธุ์มีหลานปู่ ท่านหนึ่ง เป็นบุตรชายเกิดจากหม่อมเจ้ามงคลประวัติ  สืบทอดความเป็นนักปราชญ์ทางอักษรศาสตร์จากเสด็จปู่
ท่านชื่อศาสตราจารย์ ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล  เป็นอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ   
ท่านเป็นผู้ที่ตั้งข้อสงสัยถึงตัวตนจริงของศรีปราชญ์ โดยเทียบกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แล้วพบว่าไม่สอดคล้องกัน   
นอกจากนี้ยังเขียนบทความเรื่อง "กามนิตสืบเนื่องมาแต่พระสูตรไหน"

อีกเรื่องหนึ่ง คือบันทึกรับสั่งสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทาน ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ วงวรรณคดี 
เมื่อสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จกลับจากปีนัง ได้ประทานโอกาสให้หม่อมราชวงศ์ สุมนชาติ สวัสดิกุล เข้าเฝ้าซักถามปัญหาเกี่ยวกับโบราณคดีและวรรณคดีของไทย ณ วังวรดิศ ทุกวัน ปัญหาส่วนมากทรงตอบทันที แล้วหม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล บันทึกนำมาอ่านถวายในวันรุ่งขึ้น


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ย. 13, 21:31
อนุสรณ์อย่างหนึ่งของกรมพระสมมตอมรพันธุ์ที่มีให้เห็นจนทุกวันนี้ คือ สะพานสมมตอมรมารค 

http://www.youtube.com/watch?v=U_oAMeMmafQ


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ย. 13, 09:53
     มีเกร็ดเล็กๆ  เกี่ยวกับกรมพระสมมตฯ เรื่องหนึ่งที่คุณจุลลดา ภักดีภูมินทร์  (ม.ล.ศรีฟ้า ลดาวัลย์) เล่าไว้ เรื่องพระอารมณ์ขันของท่านกับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายี่เข่ง 

       พระองค์เจ้ายี่เข่ง ท่านเป็นพระธิดา พระเจ้าบวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเพชรหึง (พระราชโอรสในวังหน้ารัชกาลที่ ๑) พระชันษาจึงสูงมาก นับอย่างชาวบ้านท่านก็เป็นชั้นป้าของพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ท่านรับราชการในวังหลวงเป็นพนักงานนมัสการและเป็นหนักงานในการพระโอสถ เป็น ‘ท่านข้างใน’ ผู้ทรงทำหน้าที่ตรวจทหารประจำซองในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาโปรดฯให้เป็นผู้รับพระบรมราชโองการจากพระเจ้าอยู่หัวไปแจ้งยังข้าราชการฝ่ายหน้า และเจ้านายฝ่ายหน้า เรียกว่าตำแหน่งผู้รับสั่ง เมื่อทรงพระชรามากแล้ว

      เรื่องขบขันเกิดขึ้น เมื่อวันหนึ่ง พระองค์เจ้ายี่เข่งท่านรับพระบรมราชโองการให้ออกไปเฝ้าฯ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ที่กรมราชเลขาฯ ฯพระองค์เจ้ายี่เข่งไม่พบพระองค์ฯกรมพระสมมติฯ จึงทรงเขียนโน้ตสั้นๆ ไว้ว่า “ทำไมไม่เสด็จมาวันนี้” และลงพระนามของท่านว่า ‘เข้ง’ แทนที่จะใช้ไม้เอกว่า ‘เข่ง’
     เมื่อกรมพระสมมตฯ เสด็จมาเห็นโน้ตนั้น จึงทรงเขียนตอบเข้าไปว่า ‘ป้วย’ แทน ‘ป่วย’
    ตั้งแต่นั้นบรรดาเจ้านายทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน จึงทรงล้อเลียน ใช้คำว่า ‘ป้วย’ เป็นคำสแลงของคำว่า ‘ป่วย’ อยู่พักหนึ่ง


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 02 ก.ย. 13, 10:51
อนุสรณ์อย่างหนึ่งของกรมพระสมมตอมรพันธุ์ที่มีให้เห็นจนทุกวันนี้ คือ สะพานสมมตอมรมารค 



ราวสะพานปูนปั้นสวยมาก ๆ


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ก.ย. 13, 11:18
ภาพและข้อมูลจากหนังสือสะพานเก่ากรุงเทพ


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.ย. 13, 07:40
นำพระรูปมารวบรวมไว้

ภาพฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ทรงฉายพระราชทานในงานฤดูหนาว วัดเบญจมบพิตร
กรมพระสมมตอมรพันธ์ทรงฉายกับเจ้าจอมมารดาของพระองค์


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.ย. 13, 07:42
ทรงฉายเดี่ยว


กระทู้: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ กรมพระสมมตอมรพันธุ์
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 ก.ย. 13, 07:59
ขอยืมภาพสมุดไดอารีของท่านมาให้ชมครับ ท่านเขียนไดอารี่ไว้มากมายเป็นบันทึกสำตัญของประวัติศาสตร์ไทยได้ในบางโอกาศ

เครดิทภาพ คุณอ้วน ธงชัย