เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 08 ต.ค. 13, 09:49



กระทู้: อักษรอริยกะในรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ต.ค. 13, 09:49
"อริยกะ" เป็นชื่อรูปแบบตัวอักษร  ประดิษฐ์ขึ้นในรัชกาลที่ 3  โดยพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ เมื่อครั้งยังผนวชเป็น "พระวชิรญาณเถระ"  เป็นตัวอักษรที่ทรงใช้สำหรับใช้เขียนหรือพิมพ์ภาษาบาลีแทนตัวอักษรขอมที่ใช้กันมาแต่เดิม
บาลีเป็นภาษาถิ่นภาษาหนึ่งของอินเดีย   ใช้ในการเล่าเรื่องราวในพระไตรปิฎก    พระสงฆ์ไทยจะต้องเล่าเรียนเขียนอ่านบาลีในการศึกษาพุทธศาสนา    แต่ภาษาบาลีไม่มีอักษรของตัวเองโดยตรง  เป็นภาษาที่ใช้อักษรของชาติอื่นๆมาบันทึกเรื่องราวในพระไตรปิฎกไว้ 
อย่างการศึกษาพุทธศาสนาในไทย เดิมใช้อักษรขอมบันทึกเรื่องราวในพุทธศาสนา    อักษรขอมที่ใช้เขียนภาษาบาลีเรียก อักษรขอมบาลี ส่วนที่ใช้เขียนภาษาไทยเรียก อักษรขอมไทย ซึ่งมีอักขรวิธีต่างจากอักษรขอมกลุ่มอื่นๆพระสงฆ์ไทยจึงต้องเรียนทั้งอักษรขอมบาลี  สำหรับอ่านพระไตรปิฎกภาษาบาลี  และเรียนอักษรขอมไทย สำหรับการเขียนพระไตรปิฏกภาษาไทย

ข้างล่างนี้คืออักษรขอมไทย


กระทู้: อักษรอริยกะในรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ต.ค. 13, 10:59
ยังไม่พบหลักฐานว่าเจ้าฟ้ามงกุฎทรงประดิษฐ์อักษรอริยะกะขึ้นในพ.ศ. ใด     แต่น่าจะเป็นระยะที่ผนวชอยู่วัดบวรนิเวศแล้ว   ทรงได้คุ้นเคยเป็นมิตรกับสังฆราชปาเลอกัวส์  พอที่จะแลกเปลี่ยนการศึกษากันได้  สังฆราชถวายพระอักษรภาษาลาตินให้ทรงศึกษา  ส่วนพระองค์เองก็ประทานความรู้ด้านภาษาบาลีให้ท่าน      ดังนั้นจึงสันนิษฐานว่า ทรงพบว่าภาษาลาตินนั้นมีอักษรของตัวเองก็จริง แต่ก็สามารถเอาภาษาอื่นมาสะกดคำในลาตินได้เช่นกัน  
ตลอดจนอักษรลาตินเองก็พัฒนาไปเป็นตัวอักษรในภาษาชั้นหลังได้ด้วย เช่นภาษาโรมัน  ภาษาไอริชและอังกฤษโบราณ

ข้างล่างนี้คืออักษรลาติน


กระทู้: อักษรอริยกะในรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ต.ค. 13, 11:00
นี่คืออักษรโรมันที่เอาอักษรลาตินมาใช้


กระทู้: อักษรอริยกะในรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: Neepata ที่ 09 ต.ค. 13, 00:29
อาจารย์คะ  หนูอ่านเจอว่าสมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบันท่านเชี่ยวชาญ อักษรสิงหล และอักษรเทวนาครี   มีลักษณะเป็นอย่างไงคะ  ตั้งแต่สมัยไหนใช้ในการติดต่อสื่อสารหรือว่าใช้ในทางศาสนา  ขอบคุณค่ะ


กระทู้: อักษรอริยกะในรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ต.ค. 13, 16:56
ดิฉันพอรู้จักอักษรเทวนาครี เพราะเคยหัดเขียนตอนเรียนปี 3 หรือ 4  อาจารย์ให้หัดเขียนชื่อนามสกุลด้วยอักษรเทวนาครี   บางคนถ้าชื่อนามสกุลมาจากภาษาบาลีสันสกฤตก็เขียนง่ายหน่อยเพราะมีอักษรครบ    ถ้ามาจากภาษาจีนก็งงไปเลยเช่นตัว ง งู  ไม่มีในอักษรเทวนาครี

ส่วนคำว่าสิงหล หมายถึงลังกา หรือศรีลังกาในปัจจุบันทราบแต่ว่าอักษรสิงหล พัฒนามาจากอักษรพราหมี (อ่านว่าพราม-มี   ไม่ใช่ พรา-หมี)  ใช้พูดกันในศรีลังกาเป็นส่วนใหญ่  นอกนั้นก็กระจายไปในสิงคโปร์ ไทย แคนาดา และสหรัฐอาหรับฯ ด้วย
ชาวสิงหลใช้อักษรนี้เขียนภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต    ถ้ามีผู้ศึกษาก็น่าจะไว้สำหรับอ่านพระไตรปิฎกที่เขียนเป็นภาษาสิงหล

ข้างล่างคืออักษรสิงหลค่ะ


กระทู้: อักษรอริยกะในรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: Neepata ที่ 09 ต.ค. 13, 22:25
ขอบคุณค่ะอาจารย์   หนูว่าอักษรสิงหลดูรูปร่างออกกลมๆ แต่อักษรลาตินจะดูเป็นสี่หลี่ยมทางตรง  อักษรขอมแลดูสวยงาม แต่อักษรไทยงดงามที่สุด ;D     คนสมัยก่อนคิดอักษรขึ้นมาเก่งนะคะ แต่พอจะมาศึกษาตอนนี้ดูยากเหลือเกิน เพราะสมองไม่ว่องไวซะแล้วค่ะ


กระทู้: อักษรอริยกะในรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ต.ค. 13, 12:05
ส่วนอักษรเทวนาครี เป็นอักษรชั้นสูงของอินเดีย คือใช้กันในหมู่ชนชั้นสูงหรือชนชั้นมีการศึกษา   รวมทั้งใช้เขียนภาษาสันสกฤตที่ถือกันว่าเป็นภาษาชั้นสูงของอินเดียด้วย      ตามประวัติ อักษรเทวนาครีพัฒนามาจากอักษรพราหมีอีกทีหนึ่งค่ะ   
เมื่อเรียนอักษรเทวนาครี  แล้วจะเขียนชื่อตัวเอง สะกดชื่อเป็นอักษรโรมันก่อนแล้วเทียบเป็นตัวเทวนาครีจะง่ายขึ้น

ข้างล่างนี้คืออักษรเทวนาครี


กระทู้: อักษรอริยกะในรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ต.ค. 13, 13:12
ย้อนกลับมาที่อักษรอริยกะ

ในช่วงปลายๆรัชกาลที่ 3 มีนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเกิดขึ้นในสยาม เรียกว่า "การพิมพ์"   ก่อนหน้านี้หนังสือหนังหาของไทยเราล้วนแต่เขียนด้วยลายมือกันทั้งสิ้น     หนังสือสำคัญๆก็ใช้เสมียนลอกทำก๊อปปี้เอา  ใครลายมืองามก็ได้เปรียบคนอื่นเพราะผู้ใหญ่ไว้ใจให้ลอกหนังสือหนังหาสำคัญๆ   ตลอดจนไปรับจ้างเอกชนลอกนิทานของนักกลอนอาชีพที่เขียนกลอนขาย อย่างสุนทรภู่    จึงมีคำสอนพลายงามไว้ว่า
"ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ    เจ้าจนอตส่าห์ทำสม่ำเสมียน"

เมื่อมิชชันนารีนำรูปแบบการพิมพ์หนังสือเข้ามา  ก็เท่ากับพลิกโลกหนังสือจากคัดลอกกันทีละเล่มสองเล่ม มาพิมพ์กันเป็นร้อยเป็นพันอย่างง่ายดาย
แต่การพิมพ์สมัยนั้นต้องหล่อตัวพิมพ์ เอาตัวพยัญชนะและสระ มาเรียงกันเข้าเป็นข้อความในแต่ละหน้า   แล้วจึงใช้หมึกพิมพ์ทำให้ตัวพิมพ์เหล่านี้กดทับบนกระดาษ  เป็นข้อความขึ้นมาในแต่ละหน้า      วิธีนี้ใช้กันต่อมายาวนานนับร้อยปี   สมัยดิฉันเด็กๆยังจำได้ว่าในโรงพิมพ์ต่างๆก็ยังมีคนงานเรียงพิมพ์ด้วยตัวอักษรโลหะแบบนี้  ช่างเรียงต้องแม่นการสะกดคำ  เพราะต้องเรียงตัวอักษรกลับคำ และกลับด้านด้วย

ดังนั้นตัวอักษรภาษาไทย ที่ไม่ได้เรียงกันในบรรทัดเดียวอย่างอักษรภาษาอังกฤษ  แต่มีตัวสระอยู่ข้างบนบ้างข้างล่างบ้าง  จึงค่อนข้างยากในการจัดตัวเรียงพิมพ์       ส่วนอักษรขอมที่ใช้ในการศึกษาพระไตรปิฎก ก็มีตัวเชิง  ทำให้ยากหนักขึ้นไปอีก
ด้วยเหตุนี้ พระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎจึงทรงคิดอักษรอริยกะ ขึ้นมา   ไม่มีสระข้างบนข้างล่างอย่างอักษรไทย  ไม่มีตัวเชิงอย่างอักษรขอม      แต่เรียงพิมพ์ได้ง่ายในบรรทัดเดียว แบบเดียวกับอักษรโรมัน(หรือเราเรียกว่าภาษาตะวันตก)   เพื่อสะดวกที่พระภิกษุจะใช้เขียนอ่านบาลีในพระไตรปิฎก


กระทู้: อักษรอริยกะในรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ต.ค. 13, 14:50
คำว่าอริยกะ  หมายถึงอะไร     คำนี้มีความหมายได้ 2 ทาง คือ
๑  ชนเผ่าอารยัน ซึ่งเป็นเจ้าของภาษาที่พัฒนามาเป็นอักษรโรมัน
๒  ตามตัวแปลว่า ผู้เจริญ  อารยชน

อักษรอริยกะอาจได้ชื่อรวมทั้ง 2 ความหมาย  เพราะแบบอย่างวิธีเขียนเห็นได้ว่าดำเนินตามอักขรวิธีของโรมัน   และในภาษาอังกฤษ   ก็เขียนตัวอักษรพยัญชนะและสระ เรียงต่อกันไปในบรรทัดเดียว  ไม่มีตัวอักษรสระหรือเชิงพยัญชนะอยู่ข้างบนและล่าง   อย่างไทยและขอม  ทำให้สะดวกแก่การเรียงพิมพ์
ด้วยเหตุนี้อักษรอริยกะจึงเกิดขึ้น แต่ในตอนแรกจำกัดอยู่ในแวดวงพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต  ไม่ได้ใช้เขียนหนังสือทั่วไป   


กระทู้: อักษรอริยกะในรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: ศานติ ที่ 13 ต.ค. 13, 10:09
อักษรเทวนาครีที่คุณเทาชมพูให้มานั้นผมเห็นบางตัวมีทั้งตัวเล็กกับตัวใหญ่ (upper case/lower case) อันนี้มีความสำคัญยังไงครับ


กระทู้: อักษรอริยกะในรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ต.ค. 13, 10:19
ในรูปที่ลงไว้  พยัญชนะแทนเสียง ที่สะกดด้วยอักษรโรมัน อาจทำให้คนที่ถนัดการอ่านภาษาอังกฤษเข้าใจสับสนได้     ขออธิบายเพียงว่า t และ T แทนเสียงที่ต่างกันค่ะ
ต่างกันยังไง   มาดูข้างล่างนี้แทน อาจจะเข้าใจมากขึ้น



กระทู้: อักษรอริยกะในรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ต.ค. 13, 10:49
เรียนถามอาจารย์เทาชมพูว่า ต้นกระทู้เป็นเรื่องของพยัญชนะ และ รูปสระ คำถามที่ใคร่ทราบคือ หลักการผสมขึ้นมาเป็นคำ และการอ่าน เป็นอย่างไร  ???


กระทู้: อักษรอริยกะในรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ต.ค. 13, 14:19
อักษรอริยกะใช้อ่านภาษาบาลี    พยัญชนะและสระที่ใช้ก็คือใช้เรียงต่อกันในบรรทัดเดียวกันนี่ละค่ะ 
จนใจไม่สามารถหาตัวขอม และตัวอริยกะ มาพิมพ์ลงให้อ่านได้   ต้องสมมุติกันสองซ้อนสามซ้อน  หวังว่าคุณหนุ่มสยามและท่านอื่นๆคงไม่งง
สมมุติว่าตัวขอมเป็นอักษรไทยก็แล้วกัน     ในการเขียนบาลี เช่นคำว่า ปิตุ  มีสระทั้งข้างบนข้างล่าง
ถ้าเป็นอริยกะ ก็คือเรียงต่อไปเป็น ป ิ ต  ุ   อยู่ในบรรทัดเดียวกัน  เหมือนการเรียงอักษรโรมัน (หรือเราเห็นได้ในวิธีการเรียงอักษรภาษาอังกฤษ)
เอาสระไว้หลังพยัญชนะ แบบเดียวเลย  ไม่มีเอาไว้หน้าบ้าง บนบ้าง ล่างบ้าง หลังบ้าง

สมมุติอีกทีว่า ปิตุ เขียนแบบโรมันหรืออังกฤษ  พยัญชนะกับสระก็จะเรียงต่อกันไป เป็น p i t u     อริยกะก็เรียงแบบนี้ละค่ะ


กระทู้: อักษรอริยกะในรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ต.ค. 13, 15:45
เทียบอักษรอริยกะกับอักษรไทย  ;D



กระทู้: อักษรอริยกะในรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ต.ค. 13, 15:50
ศาสตราจารย์กำธร สถิรกุล ได้กล่าวไว้ในหนังสือ ลายสือไทย ๗๐๐ ปี ว่า

"ทรงเห็นว่าการเขียนภาษาบาลีนั้นแต่เดิมต้องใช้อักษรขอม คำภีร์พระพุทธศาสนาซึ่งเป็นภาษาบาลีก็ต้องคัดเขียนกันเป็นภาษาขอม จนทำให้เกิดความรู้สึกว่าหนังสือขอมเป็นของขลัง เพราะใช้บันทึกพระธรรม  จึงทรงให้สมเด็จพระสังฆราช (สา) คิดวิธีให้เอาตัวหนังสือไทยมาใช้เขียนภาษาบาลี ซึ่งก็ได้ปรับปรุงพัฒนากันจนใช้อักษรไทยเขียนภาษาบาลี เขียนคำสวดและพระธรรมทั้งปวงได้เช่นเดียวกับอักษรขอม  จนสมัยรัชกาลที่ ๕ เราก็สามารถถอดความภาษาบาลี จัดพิมพ์พระไตรปิฎกด้วยตัวอักษรไทยและตัวพิมพ์ไทยได้สำเร็จใน ร.ศ.๑๑๒ หรือ พ.ศ.๒๔๓๗..."

นอกจากจะใช้อักษรไทยเขียนภาษาบาลีแทนอักษรขอมได้แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ยังได้ทรงประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นมาอีกชุดหนึ่งที่เรียกว่า อักษรอริยกะ  ด้วยเหตุที่ทรงรอบรู้เรื่องการพิมพ์ และทรงเห็นปัญหาการหล่อและการเรียงตัวพิมพ์ จึงทรงมีพระราชดำริที่จะดัดแปลงอักษรไทยและวิธีเขียนหนังสือไทยใหม่ เพื่อให้สะดวกแก่การเขียนและการพิมพ์
โดยให้พยัญชนะและสระอยู่ในบรรทัดเดียวกันเช่นเดียวกับภาษาอังกฤษ "


กระทู้: อักษรอริยกะในรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ต.ค. 13, 15:54
สมมุติอีกทีว่า ปิตุ เขียนแบบโรมันหรืออังกฤษ  พยัญชนะกับสระก็จะเรียงต่อกันไป เป็น p i t u     อริยกะก็เรียงแบบนี้ละค่ะ

ปิตุ เขียนด้วยอักษรอริยกะ เป็นดังนี้


กระทู้: อักษรอริยกะในรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ต.ค. 13, 16:01
     อักษรอริยกะนำมาใช้พิมพ์บทสวดมนต์บ้าง พิมพ์หนังสือปาฏิโมกข์บ้าง และพิมพ์หนังสืออื่นๆ บ้าง ใช้แทนหนังสือใบลานที่เคยแพร่หลายมาแต่เดิม แต่ไม่แพร่หลาย  ส่วนใหญ่เมื่อแรกเผยแพร่นั้น จำกัดวงอยู่เฉพาะในวัดบวรนิเวศวิหาร
     หลักฐานของอักษรอริยกะที่ตกทอดมาถึงในปัจจุบันคือ จารึกวัดราชประดิษฐ์   เป็นจารึกข้อความบนแผ่นหินอ่อนพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวถึงการสร้างวัดราชประดิษฐ์ ข้อความที่จารึกด้วยอักษรอริยกะ คือข้อความในบรรทัดที่ ๑ เป็นอักษรอริยกะ ภาษาบาลี เช่นเดียวกับบรรทัดที่ ๔๐-๔๒ ที่จารึกต่อจากข้อความอักษรขอมภาษาบาลี และในข้อความตอนท้ายบรรทัดที่ ๗๗-๗๘ ของจารึกก็จารึกด้วยอักษรอริยกะเช่นเดียวกัน
     เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์    การใช้อักษรอริยกะก็เสื่อมไปในที่สุด ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากมีรูปร่างและระบบอักขรวิธีแตกต่างจากอักษรไทยมากจึงไม่ได้รับความนิยมและค่อยๆ เลิกใช้ไป
     ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้นำรูปอักษรไทยมาใช้เขียนภาษาบาลีได้   อักษรอริยกะก็หมดความนิยม  ไม่มีใครพูดถึงอีก     


กระทู้: อักษรอริยกะในรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ต.ค. 13, 16:02
       ดิฉันเข้าใจว่าเลิกใช้ไปนานแล้ว แต่ไปพบในเว็บนี้ ว่ายังมีการใช้กันอยู่ 

      ปัจจุบันนี้ยังมีการศึกษาอักษรอริยกะกันในมหามงกุฏราชวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยทางพุทธศาสนาในวัดบวรนิเวศวิหาร) ครับ แต่ปัญหาที่พบคือ การใช้งานในด้านการเรียนการสอนเช่นการพิมพ์ข้อสอบ หรือการพิมพ์ตำรานั้นมีความยุ่งยากและเสียเวลาเป็นอันมาก เนื่องจากที่ยังไม่มีใครประดิษฐ์ฟอนท์ชุดนี้สำหรับคอมพิวเตอร์ขึ้นมาเลยครับ (น่าจะมีแต่ตัวพิมพ์โลหะแบบตอก) แต่ล่าสุดทาง f0nt.com ก็มีอาสาสมัครคือคุณทัชชี่ไปเริ่มช่วยในการพัฒนาฟอนท์อักษรอริยกะแล้วครับ ต้องรอดูว่าจะเป็นอย่างไร

http://webcache.googleusercontent.com/search?q=cache:KzO1LgnToogJ:nora.exteen.com/20090219/entry+&cd=8&hl=th&ct=clnk&gl=th&client=firefox-a

     คุณเพ็ญชมพูพอจะทราบบ้างไหม


กระทู้: อักษรอริยกะในรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ต.ค. 13, 16:08
เปรียบเทียบ "มงคลสูตร" อักษรอริยกะและอักษรไทย  ในหนังสือสวดมนต์ตัวอริยกะที่จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๗ เนื่องในวันพระบรมราชสมภพและวันเสด็จสวรรคต รัชกาลที่ ๔

(http://4.bp.blogspot.com/-yBww1cSyYJA/T6pWMpCrxjI/AAAAAAAAAEE/aDDfT4_yRJ0/s1600/IMG.jpg)

ภาพโดย คุณ Great user (http://www.nanacollections.com/index.php?topic=576.0)

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: อักษรอริยกะในรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ต.ค. 13, 17:09
หากคุณเทาชมพูต้องการ font ของอักษรอริยกะ มีอยู่ในเว็บ omniglot.com  (http://www.omniglot.com/writing/ariyaka.php) เป็นของ Ian James (http://skyknowledge.com/ariyaka.htm)

(http://www.omniglot.com/images/writing/ariyaka.gif)

ในเว็บนี้มีตัวอย่างอักษรอริยกะตัวเขียนด้วย เป็นจดหมายจากศรีลังกาส่งมายังสยาม  ;D


กระทู้: อักษรอริยกะในรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ต.ค. 13, 17:39
ถ้าจะเขียนชื่อ "เพ็ญชมพู" เป็นอักษรอริยกะ ได้หรือไม่?


กระทู้: อักษรอริยกะในรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ต.ค. 13, 18:58
เพญโชมพู  ;D


กระทู้: อักษรอริยกะในรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ต.ค. 13, 19:04
ทำไมต้อง โชม แทน ชม ล่ะคะ? หรือว่าต้องแสดงสระ โอ  ด้วย ไม่งั้นสะกดไม่ได้


กระทู้: อักษรอริยกะในรัชกาลที่ 4
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ต.ค. 13, 19:14
ภาษาบาลีที่เขียนด้วยอักษรอริยกะต้องมีสระกำกับทุกครั้งต่างกับที่เขียนด้วยอักษรไทย เช่น

(http://1.bp.blogspot.com/-6IEjwtlIpbk/T8nlgUdTzwI/AAAAAAAAAOk/qSodaWoVUFw/s1600/example21.JPG)

อักษรอริยกะไม่มี เ-ะ และ โ-ะ จึงใช้ เ และ โ แทน

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)