เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 16 พ.ค. 13, 15:09



กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 พ.ค. 13, 15:09
เกริ่นความเป็นมาของเรื่องไว้ก่อนค่ะ

จะเริ่มเรื่องเมืองหนองคายจดหมายเหตุ      ในแดนเขตเขื่อนคุ้งกรุงสยาม
บังเกิดพวกอ้ายฮ่อมาก่อความ              ทำสงครามกับลาวพวกชาวเวียง
ซึ่งเจ้าเมืองเขตขัณฑ์ตะวันออก              ก็แต่งบอกเขียนหนังสือลงชื่อเสียง
ในเขตแดนหนองคายเมืองรายเรียง              เมืองใกล้เคียงบอกบั่นกระชั้นมา
ว่าล้วนพวกอ้ายฮ่อทรลักษณ์                      ประมาณสักสามพันล้วนกลั่นกล้า
เที่ยวรบปล้นขนทรัพย์จับประชา              ลาวระอามิได้อาจขยาดกลัว


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: spyrogira ที่ 16 พ.ค. 13, 15:14
ลงทะเบียนล่วงหน้าครับ ..
.. เรื่องนี้น่าสนใจ เหมือนจะเกี่ยวดองกับเรื่อง วีรกรรมปราบฮ่อด้วยใช่ไหมครับ ..
 8) 8) 8)


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: นางมารน้อย ที่ 16 พ.ค. 13, 15:25
เข้ามาจองเก้าอี้แถวหน้ารอชม


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 พ.ค. 13, 15:44
เริ่มเรื่อง นิราศหนองคาย

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=3123.0;attach=7667;image)

ราชกิจจาปี วันอาทิตย์ เดือน ๙  แรม ๕ ค่ำ พ.ศ. ๒๔๒๑      ลงว่า
หนังสือนิราศหนองคายที่ตีพิมพ์เย็บเป็นเล่มไว้นั้น  ใครได้ซื้อมาอ่านมาฟัง  ให้พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง 
เก็บเอามาเผาไฟเสียให้สิ้น  อย่าให้มีแบบฉบับเหลืออยู่ได้

ให้เอาตัวอ้ายทิมขุนพิพิธภักดี ในกรมพระสุรัสวดี เป็นคนคิดนิราศหนองคาย ถ้อยคำฟุ้งซ่านร่านระเหลือเกินมากนัก ให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยน ๕๐ จำคุกไว้ และหนังสือนิราศหนองคายที่ตีพิมพ์เย็บเป็นเล่มไว้นั้น ใครได้ซื้อมาอ่านมาฟัง ให้พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองเก็บเอามาเผาไฟเสียให้สิ้น อย่าให้มีแบบฉบับเหลืออยู่ได้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จาก ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕ นำเบอร์ ๑๕๓
วันอาทิตย์เดือน ๙ แรม ๕ ค่ำ ปีขาล


ล้วนความจริงไม่แกล้งมาแต่งปด      ได้จำจดผูกพันจนวันกลับ
ถึงความร้ายการดีที่ลี้ลับ               ได้สดับเรื่องหมดจดจำมา
ซึ่งบางพวกไม่ได้ขึ้นไปทัพ             บางคนกลับผูกจิตริษยา
แล้วกล่าวโทษติฉินแกล้งนินทา        ค่อนขอดว่ากองทัพเสียยับเยิน

หลวงพัฒนพงษ์ภักดี (ทิม สุขยางค์)


Where they have burned books, they will end in burning human beings.
Dort, wo man Bücher verbrennt, verbrennt man am Ende auch Menschen.

Heinrich Heine
จากบทละคร Almansor (๑๘๒๑)

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/smiley16.png)


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 พ.ค. 13, 16:06
ลงทะเบียนล่วงหน้าครับ ..
.. เรื่องนี้น่าสนใจ เหมือนจะเกี่ยวดองกับเรื่อง วีรกรรมปราบฮ่อด้วยใช่ไหมครับ ..
 8) 8) 8)

พวกฮ่อเข้ามารุกรานหลายครั้งด้วยกันค่ะ    ถ้าหมายถึงครั้งที่ก่อให้เกิดอนุสาวรีย์ปราบฮ่อ  (องค์เดิม) ด้านหลังสถานีตำรวจภูธร อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย  เป็นคนละครั้งกับในนิราศหนองคาย     ครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อฮ่อยกกองทัพมารุกรานมณฑลลาวพวนในร.ศ.๑๐๕ (พ.ศ.๒๔๒๙) ไทยส่งกองทัพไปปราบหลายทัพด้วยกัน
พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมทรงยกทัพขึ้นไปสมทบในการปราบฮ่อในระยะหลัง    เสร็จศึกแล้ว จึงมีรับสั่งให้จัดสร้างอนุสาวรีย์ปราบฮ่อขึ้น    เป็นสถานบรรจุอัฐิของเหล่าทหารที่เสียชีวิตในการปราบฮ่อค่ะ


ทำท่าจะจบกระทู้ได้ตั้งแต่ค.ห. 3 แล้วมั้ง     คุณเภ็ณย์ฌร์มภูว์เล่าหมดแล้วนี่


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 16 พ.ค. 13, 16:27
เริ้่มปุ๊บ .... จบปั๊บ  ;D ;D


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 พ.ค. 13, 16:47
ยังไม่ได้เปิดตัวผู้อยู่เบื้องหลังเลยหนอ คุณเฒาว์ฌร์มภูว์  ;)


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 พ.ค. 13, 16:59
หยอดอีกหน่อย  ;)

ราชกิจจาปี วันอาทิตย์ เดือน ๙  แรม ๕ ค่ำ พ.ศ. ๒๔๒๑      ลงว่า
หนังสือนิราศหนองคายที่ตีพิมพ์เย็บเป็นเล่มไว้นั้น  ใครได้ซื้อมาอ่านมาฟัง  ให้พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง  
เก็บเอามาเผาไฟเสียให้สิ้น  อย่าให้มีแบบฉบับเหลืออยู่ได้

ให้เอาตัวอ้ายทิมขุนพิพิธภักดี ในกรมพระสุรัสวดี เป็นคนคิดนิราศหนองคาย ถ้อยคำฟุ้งซ่านร่านระเหลือเกินมากนัก ให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยน ๕๐ จำคุกไว้ และหนังสือนิราศหนองคายที่ตีพิมพ์เย็บเป็นเล่มไว้นั้น ใครได้ซื้อมาอ่านมาฟัง ให้พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองเก็บเอามาเผาไฟเสียให้สิ้น อย่าให้มีแบบฉบับเหลืออยู่ได้

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จาก ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕ นำเบอร์ ๑๕๓
วันอาทิตย์เดือน ๙ แรม ๕ ค่ำ ปีขาล

***************************
คุณเพ็ญจะว่ายังไง  กับหลักฐานข้างล่างนี้

จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ประจำวันจันทร์ แรม 6 ค่ำ เดือน 9   ลงไว้ดังนี้

"  ทอดพระเนตรเห็นราชกิจจาซึ่งออกวันนี้ หน้า 153 ที่ 20 ว่าด้วยนิราศหนองคาย     เพ้อเจ้อว่าเป็นมีพระบรมราชโองการให้เก็บฉบับเผา ที่จริงไม่ได้ทรงสั่ง    กริ้วว่าลงผิด    ดูเป็นการสั่งการสั่งงานไม่ประมาณการไป รับสั่งให้หากรมขุนบดินทรมาแล้ว ออกขุนนางทรงกริ้วมาก รับสั่งต่อไปต้องเอาโทษ ถ้าจะลงอะไรแปลกประหลาดให้มาถามก่อน

แสดงว่า ไม่มีพระบรมราชโองการให้เผา    แต่กลับไปปรากฏข้อความในราชกิจจาฯ ว่า ทรงสั่งให้เผานิราศหนองคาย     ผู้ที่ต้องรับไปเต็มๆคือพระเจ้าน้องยาเธอกรมขุนบดินทรไพศาลโสภณ


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 พ.ค. 13, 18:51
ราชกิจจาปี วันอาทิตย์ เดือน ๙  แรม ๕ ค่ำ พ.ศ. ๒๔๒๑      ลงว่า
หนังสือนิราศหนองคายที่ตีพิมพ์เย็บเป็นเล่มไว้นั้น  ใครได้ซื้อมาอ่านมาฟัง  ให้พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง  
เก็บเอามาเผาไฟเสียให้สิ้น  อย่าให้มีแบบฉบับเหลืออยู่ได้

ราชกิจจาอีกฉบับ วันอังคาร  แรม ๗ ค่ำ  ตามมาติดๆ
หนังสือฉบับนี้เป็นหนังสือขัดขวางต่อราชการแผ่นดิน   เป็นที่หมิ่นประมาทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินแลท่านเสนาบดีผู้มีกตัญญูต่อแผ่นดิน
หาควรจะอ่านจะเก็บหนังสือนี้ไว้ไม่ ด้วยเป็นที่ขัดขวางราชการแผ่นดิน   แลเป็นที่หม่นหมองต่อพระบาทสมเด็จพระเข้าแผ่นดิน  แลท่านเสนาบดี

ต้นร่างหนังสือฉบับนี้ก็ได้โปรดเกล้า ฯ  ให้เรียกมาทำลายเสีย

ฉบับที่ตีพิมพ์แล้วยังไม่ได้ขายไปนั้น   ให้ผู้ซึ่งส่งไปพิมพ์ซื้อมาทำลายเสียทั้งสิ้น

แต่หนังสือที่ได้ซื้อไปแต่ก่อนแล้วนั้น   ถ้าผู้ใดยังมีหนังสือนั้นก็ให้ฉีกทำลายเสีย
อย่าให้ติดเป็นแบบอย่างอยู่ในแผ่นดินสืบไป


จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ประจำวันอังคาร เดือน ๙ แรม ๗ ค่ำ จดบันทึกไว้ว่า

"ทรงร่างประกาศไปลงพิมพ์ราชกิจจาว่าด้วยนิราศหนองคาย พระศรีสุนทรเป็นผู้รับพระบรมราชโองการ ส่งไปวันศุกร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๙"

ประกาศที่ทรงร่างเอง และส่งไปพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษานั้น ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕ นำเบอร์ ๑๖๑ วันอาทิตย์เดือน ๙ แรม ๑๒ ค่ำ ปีขาล สัมฤทธิศก ๑๒๔๐ แผ่นที่ ๒๑ ตอนที่๑ ดังนี้

ประกาศ

เรื่องอ้ายทิมแต่งนิราศฯ

ด้วยพระศรีสุนทรโวหาร เจ้ากรมพระอาลักษณ์ รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่าอ้ายทิม ขุนพิพิธภักดี ในกรมพระสุรัสวดี คิดหนังสือนิราศว่าด้วยกองทัพซึ่งจะยกขึ้นไป ณ เมืองหนองคาย เพื่อจะป้องกันรักษาพระราชอาณาเขต ตามราชประเพณีมาแต่ก่อน อ้ายทิมบังอาจแต่งหนังสือออกพระนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินตัดทอนแทรกเปลี่ยนถ้อยคำเจือลงในกลอน แลกล่าวความกระทบกระเทือนถึงท่านผู้บัญชาการแผ่นดินและผู้อื่น ๆ โดยถ้อยคำหยาบคาย ยกย่องเหตุซึ่งได้ขัดขวางราชการแผ่นดินขึ้นเชิดชูไปต่าง ๆ จึงทรงพระราชดำริห์พร้อมด้วยท่านเสนาบดีว่า ราชประเพณีแต่ก่อนมีการทัพศึกมาเวลาใด พระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินแลท่านเสนาบดีก็ปรึกษาพร้อมกันจัดกองทัพไปรับรองป้องกันพระราชอาณาเขต หามีผู้ใดขัดขวางแลติเตียนเหลือเกินดังนี้ได้ไม่ ถ้ามีผู้ใดพูดจาดังนี้ในเวลามีการทัพ ก็จะต้องมีโทษถึงประหารชีวิตตามพระราชกำหนดกฎหมาย บัดนี้ อ้ายทิมมาทำหนังสือว่ากล่าวเหลือเกิน เท็จบ้างจริงบ้าง เป็นการหมิ่นประมาทต่อราชการแลท่านผู้บัญชาการ จะเป็นแบบอย่างต่อไปภายหน้า เมื่อมีราชการทัพศึกก็จะบังคับบัญชาได้โดยยาก จึงให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนอ้ายทิม ๕๐ ที ส่งตัวไปจำไว้ ณ คุก อย่าให้ผู้ใดเอาเยี่ยงอย่าง แลหนังสือฉบับนี้เป็นหนังสือขัดขวางต่อราชการแผ่นดิน เป็นที่หมิ่นประมาทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน แลท่านเสนาบดีซึ่งมีกตัญญูต่อแผ่นดิน และยำเกรงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน แลท่านเสนาบดีซึ่งช่วยรักษาแผ่นดินอยู่ ก็หาควรจะอ่าน จะเก็บหนังสือนี้ไว้ไม่ ด้วยเป็นที่ขัดขวางต่อราชการแผ่นดินแลเป็นที่หม่นหมองต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินแลท่านเสนาบดี ต้นร่างหนังสือฉบับนี้ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้เรียกมาทำลายเสีย ฉบับที่ตีพิมพ์แล้วยังไม่ได้ขายไปนั้น ให้ผู้ซึ่งส่งไปลงพิมพ์ซื้อมาทำลายเสียทั้งสิ้น แต่หนังสือที่ไปซื้อไปแต่ก่อนแล้วนั้น ถ้าผู้ใดยังมีหนังสือนั้น ก็ให้ฉีกทำลายเสีย อย่าให้ติดเป็นแบบอย่างอยู่ในแผ่นดินสืบไป

ประกาศมา ณ วันอังคาร เดือน ๙ แรม ๗ ค่ำ ปีขาล สัมฤทธิศก ศักราช ๑๒๔๐ เป็นวันที่ ๓๕๗๐ ในรัชกาลปัจจุบัน


สรุปว่าไม่เผา แต่ให้เอาไปทำลาย

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 พ.ค. 13, 20:48
เป็นอันรู้แล้วว่าไม่มีใครสั่งเผา


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: spyrogira ที่ 17 พ.ค. 13, 10:19
แหม .. จบเร็วจังฮะ อาจารย์ ..  ;D ;D ;D


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ค. 13, 11:28
ยังไม่จบก็ได้ค่ะ
 ;D
เป็นอันได้เบื้องหลังนิราศหนองคายมา 1 เรื่องแล้วว่า  ที่ว่าถูกสั่งเผานั้นไม่จริง  ราชกิจจานุเบกษาลงข้อความผิดพลาดไป   (ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้นานๆครั้ง)  แต่ว่าหนังสือเล่มนี้ถูกสั่งริบและให้ทำลายจริง   จะด้วยวิธีไหนก็ตามไม่ได้กำหนดรายละเอียด
เห็นได้จากประกาศที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงร่างเอง และส่งไปพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษานั้น มี
ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา   เล่มที่ 5 นำเบอร์ 161 วันอาทิตย์ เดือน 9 แรม 12 ค่ำ ปีขาล สัมฤทธิศก 1240 แผ่นที่ 21 ตอน
ที่ 1ดังนี้

ประกาศ

เรื่องอ้ายทิมแต่งนิราศฯ

ด้วยพระศรีสุนทรโวหาร เจ้ากรมพระอาลักษณ์ รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่าอ้ายทิม ขุนพิพิธภักดี ในกรมพระสุรัสวดี คิดหนังสือนิราศว่าด้วยกองทัพ ซึ่งจะยกขึ้นไป ณ เมืองหนองคาย เพื่อจะป้องกันรักษาพระราชอาณาเขต ตามราชประเพณีมาแต่ก่อน อ้ายทิมบังอาจแต่งหนังสือ ออกพระนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินตัดทอนแทรกเปลี่ยนถ้อยคำเจือลงในกลอน แลกล่าวความกระทบกระเทือนถึงท่านผู้บัญชาราชการแผ่นดิน  แลผู้อื่นๆ โดยถ้อยคำหยาบคาย ยกย่องเหตุซึ่งได้ขัดขวางราชการแผ่นดินขึ้นเชิดชูไปต่าง ๆ จึงทรงพระราชดำริห์พร้อมด้วยท่านเสนาบดีว่า ราชประเพณีแต่ก่อนมีการทัพศึกมาเวลาใด พระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินแลท่าน  เสนาบดีก็ปรึกษาพร้อมกันจัดกองทัพไปรับรองป้องกันพระราชอาณาเขต หามีผู้ใดขัดขวางแลติเตียนเหลือเกินดังนี้ได้ไม่    ถ้าผู้ใดพูดจาดังนี้ในเวลามีการทัพ ก็จะต้องมีโทษถึงประหารชีวิตตามพระราชกำหนดกฏหมาย

บัดนี้ อ้ายทิมมาทำหนังสือว่ากล่าวเหลือเกิน เท็จบ้าง  จริงบ้าง เป็นการหมิ่นประมาทต่อราชการแลท่านผู้บัญชาการจะเป็นแบบอย่างต่อไปภายหน้า เมื่อมีราชการทัพศึก ก็จะบังคับบัญชาได้โดยยาก จึงให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนอ้ายทิม 50 ที ส่งตัวไปจำไว้ ณ คุก อย่างให้ผู้ใดเอาเยี่ยงอย่าง และหนังสือฉบับนี้เป็นหนังสือขัดขวางต่อราชการแผ่นดิน เป็นที่หมิ่นประมาทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน  แลท่านเสนาบดีผู้ซึ่งมีกตัญญูต่อแผ่นดิน แลยำเกรงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน แลท่านเสนาบดีซึ่งช่วยรักษาแผ่นดินอยู่ ก็หาควรจะอ่าน จะเก็บหนังสือนี้ไว้ไม่ ด้วยเป็นที่ขัดขวางต่อราชการแผ่นดินแลเป็นที่หม่นหมองต่อพระบาทสมเด็จพระ
เจ้าแผ่นดินแลท่านเสนาบดี

ต้นร่างหนังสือฉบับนี้ก็ได้โปรดเกล้าฯให้เรียกมาทำลายเสีย ฉบับที่ตีพิมพ์แล้วยังไม่ได้ขาย
ไปนั้น ให้ผู้ซึ่งส่งไปลงพิมพ์ซื้อมาทำลายเสียทั้งสิ้น แต่หนังสือที่ไปซื้อไปแต่ก่อนแล้วนั้น ถ้าผู้ใดยังมีหนังสือนั้น ก็ให้ฉีกทำลาย
เสียอย่างให้ติดเป็นแบบอย่างอยู่ในแผ่นดินสืบไป

ประกาศมา ณ วันอังคาร เดือน 9 แรม 7 ค่ำ ปีขาล
สัมฤทธิศก ศักราช 1240 เป็นวันที่ 3570


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ค. 13, 12:03
ขอย้อนกลับไปสู่ต้นเรื่อง สำหรับท่านที่ยังไม่เคยอ่านนิราศหนองคาย  จะได้เข้าใจความเป็นมา   ส่วนท่านที่รู้เรื่องดีแล้วข้ามค.ห.นี้และต่อจากนี้ไปก็ได้    ไปรอท้ายกระทู้ได้เลยค่ะ   ;)

พื้นหลังของเรื่องนี้มีอยู่ว่าในพ.ศ. 2418   เกิดศึกฮ่อมารุกรานเมืองหนองคาย    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯจึงโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงเป็นแม่ทัพแรก  ยกกองทัพออกจากกรุงเทพมหานคร  เดินทางเรือไปขึ้นบกที่สระบุรี แล้วเดินทางต่อไป    ส่วนกองทัพที่สอง มีเจ้าพระยาภูธรภัย สมุหนายก ยกพลออกจากรุงเทพมหานคร ไปขึ้นบกที่เมืองอุตรดิตถ์ และเดินทางไปยังเมืองหลวงพระบาง

ในกองทัพของเจ้าพระยามหินทรฯ  มีนายทิม ทนายคนสนิทของท่านเดินทางไปด้วย    นายทิมได้บันทึกเรื่องราวการเดินทางไว้ชื่อว่า นิราศหนองคาย   ซึ่งเนื้อหาเน้นบันทึกเหตุการณ์ล้วนๆ  ไม่ใช่บันทึกเส้นทางแบบคร่าวๆ แต่หนักไปทางอารมณ์รักของกวีอย่างที่นิยมกันในการแต่งนิราศสมัยต้นรัตนโกสินทร์

การเดินทัพของเจ้าพระยามหินทรฯ มีอุปสรรค เมื่อเดินทางจากสระบุรีไปถึงหาดพระยาทด แขวงเมืองสระบุรี ก็ไม่สามารถเคลื่อนทัพต่อไปได้    เนื่องจากเป็นฤดูฝน ฝนตกหนัก  น้ำท่วมในดงพระยาไฟ    เกรงว่าไพร่พลจะเป็นอันตราย จึงต้องหยุดชะงักอยู่กลางทาง

ส่วนทางเมืองหนองคาย   เจ้าพระยามหาอำมาตย์ (ชื่น กัลยาณมิตร) ซึ่งเป็นข้าหลวงออกไปตั้งสักเลกอยู่ในมณฑลร้อยเอ็ดคุมกองทัพเมืองนครราชสีมากับพระยานครราชเสนี (กาจ สิงห์เสนี) ตอนนั้นยังเป็นพระยาปลัด  กับพระยกกระบัตรเมืองนครราชสีมา ยกไปตีพวกฮ่อที่เวียงจันทน์จนแตกพ่ายไปอยู่ที่เมืองเชียงขวางในแขวงพวน

ทางกรุงเทพฯทราบข่าว  เห็นว่าพวกฮ่อยังไม่หมดกำลังอาจกลับมารบใหม่อีก จึงเร่งรัดกองทัพเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง ให้เดินทัพต่อไปอย่าหยุด  ท่านจึงเคลื่อนกองทัพไปถึงเมืองนครราชสีมา ไปทางเมืองพิมาย เมืองพุทไธสง   ขณะนั้นกองทัพเจ้าพระยาภูธรราภัยได้ยกไปถึงเมืองหนองคาย  เข้าโจมตีพวกฮ่อจนแตกพ่ายไป

ดังนั้นทางกรุงเทพมหานคร จึงได้มีท้องตราคำสั่งให้เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง จัดแบ่งทหารออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งให้ไปสมทบกับเจ้าพระยาภูธราภัย อีกส่วนหนึ่งให้เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ นำกลับมาถึงกรุงเทพมหานคร เมื่อเดือน 5 ปีชวด อัฐศก พุทธศักราช 2419 รวมเวลายกกองทัพไป และกลับทั้งสิ้น 8 เดือน


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ค. 13, 20:41
   ขอขยายความอีกหน่อยว่า ผู้บัญชาการกองทัพทางกรุงเทพฯ คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์  

   การยกทัพครั้งนั้น  พิจารณาลำดับขั้นตอนของการทำศึกแล้ว ก็ค่อนข้างจะวุ่นวายเอาการอยู่เหมือนกัน    ใครเป็นผู้บัญชาการกองทัพอยู่ทางกรุงเทพก็คงปวดเฮด     เพราะทัพที่ส่งไปจากเมืองหลวงเพื่อไปปราบฮ่อที่หนองคายโดยตรง เกิดไปชะงักอยู่กลางทางที่ดงพระยาไฟ     ถ้าหากว่าชะงักด้วยเหตุสุดวิสัยเหลือที่จะเดินทัพต่อไปได้  เช่นเกิดโรคระบาดตายกันเสียเกือบเกลี้ยงทัพก็ยังพอทำเนา     แต่นี่ต้องหยุดกลางทางเพราะเหตุผลว่าฝนตกน้ำท่วม บุกป่าฝ่าดงต่อไปไม่ไหว     ผบ.ทบ.สมัยนั้นท่านก็คงอนุโลมไม่ลง    ขนาดฝนตก ยังฝ่าฝนไม่ไหว แล้วจะไปรบกับใครได้  
  สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์  ท่านก็เลยไม่ฟัง  หากแต่มีคำสั่งเร่งรัดให้รีบเดินทัพต่อไป    แต่เจ้าพระยามหินทรฯแม่ทัพแจ้งกลับมาว่าไปไม่ได้  เพราะเส้นทางในดงพระยาไฟ ฝนตกน้ำยังท่วม    เดินทัพไปขณะนั้นเกรงไพร่พลจะเป็นอันตราย
  ขณะโต้กันไปตอบกันมา ระหว่างเจ้าพระยาในดงพระยาไฟ และสมเด็จเจ้าพระยาในเมืองหลวง    ศึกฮ่อทางเมืองหนองคายก็แตกพ่ายไปเรียบร้อยด้วยทัพพระยามหาอำมาตย์ (ชื่น  กัลยาณมิตร) ซึ่งไม่ใช่ทัพปราบฮ่อเลยสักนิด  เพียงแต่คุมไพร่พลขึ้นไปสักเลกชายฉกรรจ์  แต่ในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น   ท่านก็สามารถขอความร่วมมือจากเจ้าเมืองนครราชสีมา ช่วยกันคุมกองทัพไปตีฮ่อแตกพ่ายได้สำเร็จ                


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ค. 13, 20:52
     เมื่อเจ้าพระยามหินทรฯซึ่งยังอยู่กลางทาง    ทราบข่าวว่าฮ่อแตกพ่ายถอยหนีทิ้งหนองคายไปแล้ว   ก็ถือว่าเสร็จศึกกันไปโดยปริยาย   ไม่มีความจำเป็นต้องเคลื่อนทัพกันไปทางอีสานอีก       ก็ทำท่าจะหันทัพกลับกรุงเทพ    แต่ฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ผู้บัญชาการกองทัพทางกรุงเทพฯ ยังไม่ยอมให้ทัพเจ้าพระยามหินทรฯกลับมา     เพราะท่านยังไม่ไว้ใจพวกฮ่อ   เห็นว่าพวกนี้ยังมีกำลังอยู่   เมื่อรู้ว่าทัพไทยยกกลับหมด  พวกนี้ก็อาจจะยกทัพย้อนกลับมายึดหนองคายได้อีก
    เพื่อความรอบคอบในการศึก   สมเด็จเจ้าพระยาฯท่านก็สั่งให้กองทัพเจ้าพระยามหินทรฯเดินทางต่อไป   ทัพเจ้าพระยามหินทรฯจึงเดินทัพทางบกตั้งแต่แก่งคอยจนถึงไปนครราชสีมา  ตั้งพักกองทัพรอคำสั่งจากกรุงเทพฯ จนได้รับท้องตราให้ยกขึ้นไปเมืองหนองคาย ตามเป้าหมายเดิมจนถึงกองทัพนครราชสีมา     ไปทางเมืองพิมาย เมืองพุทไธสง เพราะขณะนั้นแล้งจัด จะเดินทางโคกหลวงซึ่งเป็นทางตรงก็กันดารน้ำ
   ในระหว่างนั้นกองทัพที่สองของไทย คือกองทัพเจ้าพระยาภูธราภัยยกทัพไปถึงที่หมาย  ปราบปรามพวกฮ่อที่เมืองพวนราบคาบไปแล้ว   ก็เป็นอันว่าทัพของเจ้าพระยามหินทรฯ ก็ถูกสั่งให้แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งยกไปสมทบกับทัพเจ้าพระยาภูธราภัย  อีกส่วนหนึ่งเดินทางกลับทางดงพระยากลาง มาลงเรือที่ท่าเรือพระพุทธบาทกลับถึงกรุงเทพฯ     เดินทางไปกลับรวมแล้ว 8 เดือน แต่ไม่ได้รบกับพวกฮ่อ


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ค. 13, 21:45
ในตู้หนังสือเรือนไทย  มี นิราศหนองคาย (http://www.reurnthai.com/wiki/%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%A2)     เชิญคลิกเข้าไปอ่านได้ค่ะ


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 พ.ค. 13, 22:14
เป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๔  พ.ศ. ๒๕๔๔ โดย สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช  จำนวน ๓,๐๐๐ เล่ม คงมีเนื้อหาที่ถูกตัดทอนออกเสีย ๑ ใน ๓ เช่นเดียวกับฉบับของกรมศิลปากร

นิราศหนองคายฉบับกรมศิลปากรพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๙๘ แต่ถูกตัดทอนแก้ไขบางส่วน

แต่เนื่องจากนิราศเรื่องนี้เกิดเป็นคดีขึ้น  เกี่ยวกับผู้แต่งได้แต่งเติมข้อความที่เป็นที่เสียหายแก่ผู้อื่น  กรมศิลปากรจึงได้ตัดข้อความเหล่านั้นออก....

พ.อ.หลวงรณสิทธิพิชัย อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น  ชี้แจง

นิราศหนองคายอยู่ในตู้หนังสือเรือนไทยนี่เอง

http://www.reurnthai.com/wiki/นิราศหนองคาย (http://www.reurnthai.com/wiki/นิราศหนองคาย)

ยังพอเห็นร่องรอยความไม่พอใจในคนสั่งการทัพ

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ค. 13, 16:48
        ต่อไป  ขอเล่าถึงบุคคลสำคัญในเรื่องนี้ ในด้านความเป็นมาว่า ท่านเป็นใครมาจากไหน
        ท่านแรกคือเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง   แม่ทัพในการเดินทางไปปราบฮ่อครั้งนี้

      เจ้าพระยามหินทรฯมีนามเดิมว่า วันเพ็ง  หรือวันเพ็ญ เพราะเกิดในวันเพ็ญ  ต่อมาเรียกสั้นๆว่า "เพ็ง"  เป็นข้าหลวงเดิมของสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   คำนี้หมายถึงเป็นผู้ใกล้ชิดถวายงานรับใช้มาก่อนที่จะเสด็จขึ้นครองราชย์   แต่เจ้าพระยามหินทรฯเป็นยิ่งกว่าข้าหลวงเดิมทั่วไป  คือถือกันว่าเป็นพระโอรสบุญธรรมเลยทีเดียว ด้วยทรงพระเมตตาเรียกว่า "เป็นลูกบุญธรรม" ตั้งแต่สมัยยังทรงครองสมณเพศเป็นเจ้าฟ้ามงกุฏอยู่ในรัชกาลที่ 3

      ย้อนหลังเมื่อครั้งเจ้าฟ้ามงกุฎยังทรงพระเยาว์  สมเด็จพระราชบิดาคือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เมื่อยังทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร  ทรงส่งพระราชโอรสไปศึกษาในสำนักพระพุฒาจารย์ (ขุน) เจ้าอาวาสวัดท้ายตลาด    ในวัดมีสามเณรคนหนึ่งชื่อด้วง สืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาพระคลัง (ฉิม) ครั้งแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
สมเด็จพุฒาจารย์ (ขุน) จึงมอบให้สามเณรด้วงทำหน้าที่ถวายการปฏิบัติดูแลเจ้าฟ้ามงกุฎ  จนกระทั่งคุ้นเคยสนิทสนมกัน
      ต่อมานายด้วงลาอุปสมบทไปมีภรรยา  เข้ารับราชการในรัชกาลที่ ๓ ได้เป็นที่หลวงจินดาพิจิตร   เจ้าฟ้ามงกุฎผนวช ประทับอยู่วัดสมอรายหรือวัดราชาธิวาส   หลวงจินดาพิจิตรก็ไม่ลืมเจ้านายเก่า  ไปเฝ้าอยู่เป็นประจำ  คอยถวายอยู่งานนวดเพราะเป็นผู้ชำนาญทางนี้  จึงเป็นข้าหลวงเดิมที่ทรงโปรดปราน
      ความสำคัญของหลวงจินดาฯเห็นได้จากเมื่อครั้งเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) จะยกทัพใหญ่ไปทำสงครามที่กัมพูชาและญวน    มีการเกณฑ์ผู้คนไปทัพ หลวงจินดาพิจิตร ก็อยู่ในข่ายต้องไปทัพด้วย  แต่เจ้าพระยาบดินทรเดชาทราบว่าหลวงจินดาฯ เป็นข้าหลวงเดิม มีหน้าที่ถวายอยู่งานนวดเสมอๆ จึงงดเว้น ยกถวายเสียคนหนึ่ง ไม่ต้องไปทัพ     


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ค. 13, 16:55
      หลวงจินดาพิจิตรมีบุตรธิดากับภรรยาผู้มีนามว่ามอญ  ๕ คน เด็กชายวันเพ็งเป็นคนสุดท้อง
      เวลาพ่อไปเข้าเฝ้าเจ้าฟ้ามงกุฎที่วัด  เด็กชายเพ็งก็ติดตามไปด้วยแทบทุกครั้ง    ทอดพระเนตรเห็นเด็กชายเพ็งอยู่เนืองๆ ก็ทรงมีพระเมตาจึงทรงออกพระโอษฐ์ขอต่อบิดาว่า
      “ลูกชายคนเล็กที่ตามแกมานี่ ขอให้ข้าเถิด” แล้วรับสั่งแก่เด็กชายเพ็งว่า“ข้าจะรับเลี้ยงเจ้าไว้เป็นลูกบุญธรรมของข้า
       เด็กชายเพ็งจึงกลายเป็นพระโอรสบุญธรรมของเจ้าฟ้า   ติดตามพระองค์อย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ยังประทับ ณ วัดสมอราย จนเสด็จมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศน์

      นายเพ็งเติบโตเป็นหนุ่ม  อายุ ๒๑ ครบบวช เจ้าฟ้ามงกุฎก็โปรดให้อุปสมบท   ในการบวช โปรดให้จัดการแห่แหนช้างม้าผู้คนเป็นขบวนเอิกเกริก คล้ายๆกับขบวนแห่นาคเจ้านายชั้นสูง    ผู้คนถึงกับเล่าลือกัน จนถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงมีพระราชดำรัส ซึ่งเป็นพระวาจาที่เล่ากันต่อๆ มา เพราะแสดงถึงน้ำพระทัยอันทรงพระเมตตาต่อสมเด็จพระราชอนุชา ว่า
       “การแห่แหนบวชนาคไพร่ๆราษฎรเช่นครั้งนี้   แห่ช้างแห่ม้าพาหนะของหลวงอย่างมากมาย   เคยมีก็แต่นาคเจ้านายใหญ่ๆ โตๆ ถึงว่านาคขุนน้ำขุนนางก็ไม่เคยมีปรากฏเลย   พึ่งมามีครั้งนี้แหละที่นาคไพร่ๆ มีการแห่แหนเป็นที่ครึกครื้น    แต่ก็ช่างเถิด เพราะว่าเป็นนาคของชีต้นวัดบน    เธอจะทำเหลือๆ เกินๆ อย่างไรบ้างก็ช่างเธอเถิด”
       คำว่าชีต้นวัดบน  ทรงหมายถึงเจ้าฟ้ามงกุฎ
  
      เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเสด็จขึ้นครองราชย์   นายเพ็งก็ได้ถวายงานรับใช้ในพระบรมมหาราชวัง  โปรดเกล้าฯ ให้พ่อเพ็งเป็น "เจ้าหมื่นสรรเพธภักดี" หัวหมื่นมหาดเล็ก

   ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2400 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นราชทูต และเจ้าหมื่นสรรเพชรภักดี เป็นอุปทูต นำพระราชสานส์ และคุมเครื่องบรรณาการ ออกไปเจริญสัมพันธไมตรี กับประเทศอังกฤษ ภายหลังจากเสร็จกิจ ในฐานะอุปทูต เจ้าหมื่นสรรเพธภักดี จึงได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ จางวางมหาดเล็ก


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 พ.ค. 13, 07:26
           เด็กชายเพ็งจึงกลายเป็นพระโอรสบุญธรรมของเจ้าฟ้า   ติดตามพระองค์อย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ยังประทับ ณ วัดสมอราย จนเสด็จมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศน์

และก็เป็นพระราชโอรสบุญธรรมของพระเจ้าแผ่นดินคือ รัชกาลที่ ๔ ในที่สุด  ;)

เมื่อเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงเดินทางไปราชกรทัพในครั้งนี้ รัชกาลที่ ๕ ก็ทรงให้เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ถือพระราชหัถตเลขา และของต่าง ๆ ไปประทานรวมทั้งน้ำมันหอมพระจอมเกล้าฯ ของรัชกาลที่ ๔ ซึ่งทรงเสกเป่าไว้สำหรับประทานพระเจ้าลูกเธอเมื่อไปทัพ ในพระราชหัตถเลขากำกับว่าให้น้ำหอมนี้มาก็เพราะยกย่องเจ้าพระยามหินทรฯ เป้นบุตรบุญธรรมของรัชกาลที่ ๔ มาแต่เดิม

๏ ครั้นเดือนสิบเอ็ดเสร็จความขึ้นสามค่ำ       ได้จดจำจงหวังไม่กังขา
บ่ายสามโมงสังเกตเศษเวลา                    เรือไฟมาเปิดหลอดเสียงหวอดดัง
เห็นเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์                  จำถนัดเรือห่างอยู่ข้างฝั่ง
ลงเรือแหวดแจวร่าเข้ามายัง                     ถึงกระทั่งท่าทำเนียบจอดเทียบพลัน
ท่านเจ้าคุณแม่ทัพออกรับรอง                   ต่างยิ้มย่องปรีดิ์เปรมเกษมสันต์
ขึ้นบนทำเนียบท่าพูดจากัน                      แต่โดยฉันราชการในสารตรา
ท่านเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์                  ก็หยิบลายราชหัตถเลขา
ท่านเจ้าคุณแม่ทัพก็รับมา                        จิตปรีดาเบิกบานสำราญใจ
ท่านเจ้าคุณรับรองของประทาน                 ที่เจ้าคุณทหารนำมาให้
ดาบฝรั่งสองร้อยเล่มที่เต็มใน                   หีบใหญ่ใหญ่รับขนขึ้นบนเรือ
อีกกับน้ำมันหอมพระจอมเกล้า                  ทรงเสกเป่าไว้เลิศประเสริฐเหลือ
ดอกไม้ร้อยแปดอย่างไม่จางเจือ                กลั่นเอาเหงื่อทำน้ำมันด้วยบรรจง
ไว้บำเรอลูกเธอเสด็จทัพ                        เป็นที่นับถือความตามประสงค์
ได้ป้องกันสรรพภัยที่ในดง                      ออกณรงค์ไม่ต้องคิดมีจิตกลัว
ด้วยเจ้าคุณมีชื่อลือทุกเวียง                เป็นบุตรเลี้ยงพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จึงประทานน้ำมันมากันตัว                  ครั้นอ่านทั่วราชหัตถ์จัดจำเนียร ฯ


(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 พ.ค. 13, 08:52
ในสมัยต้นรัชกาลที่ 5  เจ้าพระยามีหลายท่านด้วยกัน    แต่เจ้าพระยามหินทรฯ เป็นเจ้าพระยาพิเศษกว่าท่านอื่นๆ  เพราะไม่มีท่านใดแม้แต่สมเด็จเจ้าพระยา(ที่ยศสูงกว่าเจ้าพระยา) เป็น "ลูกบุญธรรม" ของพระมหากษัตริย์

ก่อนหน้าจะเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยา   ท่านเคยเป็นพระยาราชสุภาวดี สมุหพระสุรัสวดี ในช่วงต้นๆรัชกาลที่ 5     ควบคุมเรื่องการสักเลกของราษฎร ซึ่งเรียกกันว่าไพร่   ต่อมาในพ.ศ.2417 จึงโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระยาราชสุภาวดี เจ้ากรมพระสุรัสวดีเป็น "เจ้าพระยามหินทรศักดิธำรง สกูลวงศ์อรเอกดิเรกยศ มธุรพจนสุนทรธรรมยุติยานุวัติ บุรุษรัตนทุวาธิราชนิกรวรยุคลบาท บรมนาถสวามิภักดิสนิท วิสิฐคุณศรีรัตนธาดา อภัยพิริยบรากรมพาหุ" เท่าเทียมกับสมุหนายก สมุหพระกลาโหม และกรมท่า เพื่อให้มีอำนาจในการจัดระเบียบ การควบคุมกำลังคน และการสักเลกมากกว่าเดิม รวมทั้งการเกณฑ์ไพร่มาทำราชการในกรณีพิเศษ เช่น การปราบปรามโจรผู้ร้าย การปราบกบฎ เป็นต้น
ขุนนางที่รับหน้าที่นี้จึงมีอำนาจมาก เพราะสามารถเกณฑ์ราษฎรจำนวนมากมาไว้ในมือได้  โดยไม่ต้องผ่านขุนนางสำคัญอื่นๆเช่นสมุหนายกและสมุหกลาโหม      ใครที่รับตำแหน่งนี้ก็ต้องเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย    เพราะถ้าเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นในบ้านเมืองเช่นเกิดกบฏขึ้นมา   ก็สามารถระดมคนมาปราบปรามได้ทันที

เราก็คงพอจะมองเห็นว่า ความเป็นเจ้าพระยามหินทรฯ ในตอนนั้น "บิ๊ก" ขนาดไหน 


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ค. 13, 10:01
ทีนี้ มาดูตัวเอกอีกคนหนึ่งบ้าง  คือนายทิม สุขยางค์ หรือหลวงพัฒนพงศ์ภักดี เจ้าของนิราศหนองคาย

นายทิมเกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๒ ปีมะแม นพศกจุลศักราช ๑๒๐๙ ตรงกับปี พ.ศ. ๒๓๙๐ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีภรรยาชื่อเสงี่ยมมีบุตร ๒ คน ชื่อนายสรรเสริญและนายสาโรช ซึ่งทั้ง ๒ ได้มีโอกาสเรียนต่อที่ยุโรปทั้งสองคน และได้กลับมารับราชการเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาสารศาสตร์สิริลักษณ์ และพระสาโรชรัตนิมมานก์ ตามลำดับ
บิดานายทิมเป็นพ่อค้า  จอดแพอยู่หน้าวัดราชบูรณะในกรุงเทพฯ  ตัวบิดานายทิมฝากตัวอยู่กับเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง ขณะยังเป็นพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นายทิม บวชเป็นพระภิกษุที่วัดบูรณะ ๓ พรรษา ได้ศึกษากระบวนหนังสือไทยในขณะบวช   เมื่อลาสิกขาบทในรัชกาลที่ ๕  นายทิมได้มาเป็นทนาย(คนรับใช้)อยู่กับเจ้าพระยามหินทรฯ เมื่อครั้งท่านเป็นพระยาราชสุภาวดี   นายทิมรับใช้เป็นที่ถูกใจ   เจ้าพระยามหินทรฯจึงใช้เป็นคนใกล้ชิดติดตัวมาแต่ครั้งนั้น
ในปี พ.ศ. ๒๔๑๘ เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงได้เป็นแม่ทัพจากกรุงเทพฯ ไปปราบฮ่อที่เมืองหนองคายและได้เอานายทิมเป็นทนายนั่งหน้าแคร่ และขึ้นท้ายช้าง ติดตัวไปด้วยทั้งขาไปและกลับ  แปลว่าเป็นคนรับใช้ใกล้ชิด ใช้สอยอยู่ตลอดเวลา


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ค. 13, 10:01
ขุนนางผู้ใหญ่อย่างเจ้าพระยามหินทรฯ ย่อมไม่มีทนายรับใช้คนเดียว แต่เห็นจะมีหลายโหล     นายทิมได้เป็นทนายรับใช้ใกล้ชิด ใช้สอยเป็นที่ถูกใจมากกว่าคนอื่นๆ ก็แสดงว่ามีคุณสมบัติหลายอย่างเป็นที่ถูกใจนาย      ถึงไม่มีบรรยายไว้ก็พอเดาได้ว่าต้องใช้สอยได้คล่อง ถูกใจนาย   มีความสามารถบางอย่างที่ทนายอื่นๆไม่มี
ข้อหลังสุดนี้ เดาได้ไม่ยากว่าเป็นฝีมือแต่งบทกวีของนายทิมนั่นเอง     นายทิมแต่งกลอนเก่ง เขียนกลอนบทละครให้โรงละครเจ้าพระยามหินทรฯ ถึง ๑๗ เรื่อง และกลอนอ่าน ๕ เรื่อง
กลอนบทละคร
๑. พระอภัยมณี     ๒. ราชาธิราช     ๓. ลักษณวงศ์        ๔. ทินวงศ์        ๕. ยักษียักษา       ๖. สามก๊ก   ๗. จักรแก้ว
๘. ขุนช้างขุนแผน  ๙. อาบูหะซัน     ๑๐. บ้วยหั่งเหลา     ๑๐. สิงหไตรภพ    ๑๒. สามฤดู      ๑๓ มณีสุริยง ๑๔. พระเจ้าติวอ๋องหลงนางขันกี (จากเรื่อง ห้องสิน)
๑๕. ทิ้งพวงมาลัยเจ๊ก ๑๖. สิริวงศ์พรหมเมศ    ๑๗. วงศ์เทวราช

กลอนอ่าน 
๑. มณีนพรัตน์      ๒. กายนคร         ๓. ฉัตรสามชั้น          ๔. พระศรสุริยัน           ๕. นิราศหนองคาย


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 พ.ค. 13, 10:40
ขออนุญาตเสริมเกี่ยวกับนายทิม

รายชื่อของแฟนคลับที่เขียนมาถามนู่นถามนี่  น่าสนใจมากกว่าเรื่องที่ถามอีก

หลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม) ผู้เขียนนิราศหนองคายก็เป็นแฟนคลับของ ก.ศ.ร.กุหลาบ คนหนึ่ง

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=3201.0;attach=8949;image)

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ค. 13, 10:45
เมื่อนายทิมติดตามไปในทัพครั้งนี้ อายุได้ 28 ปี    เคยเขียนกลอนป้อนโรงละครเจ้าพระยามหินทรฯ มามากน้อยแค่ไหนแล้ว ยังหาหลักฐานไม่พบ   แต่ถ้าให้วิเคราะห์ลีลาการแต่ง บอกได้ว่าคนเขียนไม่ใช่มือใหม่หัดแต่ง   แต่ว่าคล่องตัวในการเขียนกลอนในแนวของกลอนตลาด จนถึงขั้นชำนาญ     สัมผัสนอกและในตามแบบของสุนทรภู่      ถ้าไม่รู้มาก่อนว่าเป็นนายทิมแต่ง อาจจะนึกว่าเป็นศิษย์เอกคนใดคนหนึ่ง เพราะไม่พลาดเลยเรื่องหาคำสัมผัสใน  และหาคำมาสัมผัสได้ลื่นไหลทุกบท

ครั้นเช้าสองโมงครึ่งกึ่งนิมิต      สำเร็จกิจเสร็จสมอารมณ์หวัง
ฝีพายเตรียมนาวาประดาดัง      จอดคอยฟังลั่นฆ้องตามองเมียง
ครั้นเจ้าคุณลงเรือนั่งเหนือเบาะ   ฝีพายเกาะโห่ขานประสานเสียง
ตีฆ้องหุ่ยหึ่งพลันลั่นสำเนียง      เรือพร้อมเพรียงออกตามหลั่นหลามมา
คระโครมครึกกึกก้องท้องสมุทร   พายรีบรุดเร็วนักดั่งปักษา
คว้างคว้างมาในกลางชลธาร์      ดูนาวาเร็วรัดเทียมทัดลม
ครั้นจะร่ำระยะทางชมบางบ้าน   ก็ขี้คร้านหลีกจัดตัดประสม
ด้วยนิราศอื่นมีดีอุดม              ล้วนคารมวิเวกหวานเคยอ่านฟัง
ครั้นเรือมาฉิวฉิวแลลิ่วลับ      ฝีพายขับขบเขี้ยวไม่เหลียวหลัง
ชลกระฉอกละลอกเสียงเพียงจะพัง      กระทบฝั่งกระจายทำลายลง


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ค. 13, 12:41
ครั้นจะร่ำระยะทางชมบางบ้าน   ก็ขี้คร้านหลีกจัดตัดประสม
ด้วยนิราศอื่นมีดีอุดม              ล้วนคารมวิเวกหวานเคยอ่านฟัง

นายทิมน่าจะเป็นนักเลงกลอนตัวยง   อ่านเขียนเป็นมาตั้งแต่บวช    พอมาเป็นทนายให้นายที่ชอบเรื่องกวีนิพนธ์เหมือนกัน ก็เลยไปด้วยกันได้ดี     นายทิมต้องอ่านนิราศสุนทรภู่ /นายมี/ และของกวีอื่นๆมามากพอที่จะรู้ขนบการแต่ง    เมื่อเขียนนิราศหนองคาย จึงลำดับเหตุการณ์และรายละเอียดได้ชัด  อย่างมือเจนจัด

จากนี้มาดูกันว่านายทิมบันทึกอะไรเอาไว้ จนเกิดเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นภายหลัง

นายทิมบอกว่าทัพหยุดพักอยู่ที่ท่าพระยาทศ  ไม่เดินทางต่อไปเพราะเป็นฤดูฝนพอดี  ถ้าต้องเดินทัพต่อไปถึงดงพระยาไฟ ก็เกรงว่าจะเป็นไข้ป่าตายกันทั้งกองทัพ     ตอนนั้น ไพร่พลก็ป่วยเป็นไข้กันแล้วหลายคน   ต้องจัดหมอที่ประจำกองทัพไปรักษา ผลก็คือตายกันไปบ้าง  แต่ว่าที่หายไข้มีมาก

เจ้าพระยามหินทรฯสอบถามจากพระรัตนกาศ ได้ความว่า ทางที่ผ่านเข้าไปในดงพระยาไฟ  ฤดูฝนน้ำท่วม  ทางกลายเป็นหล่มโคลนตลอดทาง  บุกป่าฝ่าดงไปลำบาก ต้องเดินข้ามแม่น้ำลำธารหลายสาย ซึ่งล้วนน้ำลึกข้ามลำบาก  อาจจะไปไม่ไหว   เจ้าพระยามหินทรฯ ก็เวทนาไพร่พล ว่าจะพากันมาตายเสียในป่าดง  จึงทำใบบอกไปทางกรุงเทพ   กราบบังคมทูลว่าขอตั้งค่ายรอพักกองทัพไว้ก่อนที่นี่   จนพ้นฤดูฝน(หรืออย่างน้อยก็ฝนทิ้งช่วง) ทางแห้งดีแล้วจึงเดินทางต่อไป   ระหว่างนี้ก็ตั้งทัพ ฝึกไพร่พลซ้อมทหารไปพลางๆก่อน


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ค. 13, 12:51
     อ่านมาถึงตรงนี้ ก็พอเห็นเค้าความยุ่งยากขึ้นรางๆแล้ว    (แม้ว่านายทิมอาจจะมองไม่เห็น เพราะไม่เอ่ยข้อนี้เลย)    เพราะสาเหตุที่ทัพนี้ต้องยกไป เนื่องจากมีเรื่องร้อนเกิดขึ้นตรงปลายทาง คือพวกฮ่อเข้าโจมตีหนองคายเข้าให้แล้ว    นอกจากหนองคายก็ยังมีอีกหลายเมืองที่ฮ่อแผ่อำนาจอยู่     ทัพเจ้าพระยามหินทรฯถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อยกไปปราบปรามโดยด่วน      แปลอีกทีว่าจะมามัวเอ้อระเหยลอยชายอยู่กลางทางไม่ได้  เพราะปล่อยให้ฮ่อยึดเมืองหนึ่งได้    เดี๋ยวเมืองสองเมืองสามก็จะล้มตามกันมาเป็นเกมโดมิโน    ทำความยุ่งยากให้ศูนย์อำนาจที่กรุงเทพมากขึ้น
     เหตุการณ์ที่นายทิมบันทึกไว้ แสดงให้เห็นว่า ทัพยังหยุดอยู่นอกเขตดงพระยาไฟซึ่งเลื่องลือกันว่าไข้ป่าร้ายแรงมาก     ไพร่พลบางคนป่วยไข้ลงไปก็จริง  แต่หมอก็รักษาหาย  ตายเป็นส่วนน้อย     ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าทัพกรุงเทพยังไม่ได้เป็นอะไร    แต่เลือกที่จะไม่เสี่ยงมากกว่า      
    สรุปความว่าเจ้าพระยามหินทร์ท่านสั่งทัพไทยตั้งค่ายซ้อมรบกันไปพลางๆที่ชายเขต    รอจนฝนหาย ทางแห้ง ลำธารแห้ง ลุยน้ำผ่านไปได้สะดวก   หมดหน้าฝนไข้ป่าก็ค่อยจางหายไปเอง  ถึงตอนนั้นค่อยเดินทางกันต่อ

   อ้าว  แล้วพวกฮ่อล่ะ    จะให้พวกนั้นรออยู่เฉยๆ  จนกว่าทัพไทยไปถึงหนองคาย   ถึงเมื่อไรค่อยว่ากันเมื่อนั้นงั้นหรือ?

    แผนการรบแบบนี้  ใครเขาทำกันบ้าง?


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ค. 13, 13:09
      สมเด็จเจ้าพระยาฯทางกรุงเทพ ท่านก็คงคิดยังงี้เหมือนกัน    ว่าเป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้ที่จะให้ทัพใหญ่ทางกรุงเทพนั่งเล่นนอนเล่นอยู่กลางทางเฉยๆ    ทำราวกับยกพวกไปปิคนิกมากกว่าไปรบ       ตรงนี้พูดจริงๆไม่ได้พูดเล่น  เพราะนายทิมบรรยายไว้เองว่าเมื่อรั้งรอทัพอยู่ตรงนั้น   พวกไพร่พลสนุกสนานกันแค่ไหน  
      แถวนั้นไม่ใช่ป่าทึบ แต่เป็นหมู่บ้านชาวลาว มีสาวๆอยู่ในหมู่บ้านมากมาย ให้บรรดาทหารเกณฑ์ผลัดหนึ่งผลัดสองทั้งหลายได้ขอเดทกันเพลิดเพลินเจริญใจ   จนถึงขั้นสู่ขอกลายเป็นเจ้าบ่าวเจ้าสาวกันก็มี        ก็วาดภาพได้ออกว่าทัพไทยทั้งสนุกสนาน และทั้งมีเวลาว่างกันมากแค่ไหน     ลองเที่ยวเตร่จีบสาวกันได้ขนาดนี้   ระเบียบในกองทัพเห็นจะไม่ต้องพูดถึง  ว่ามีหรือเปล่า

      พวกหนุ่มหนุ่มกลุ้มเกรียวไปเที่ยวเล่น      ล้วนแต่เป็นเจ้าชู้เกี้ยวผู้หญิง
บ้างโกรธขึ้งหึงหวงเที่ยวช่วงชิง              แล้วค้อนติงพูดกระแทกที่แดกดัน
ด้วยลูกสาวลาวชุมหนุ่มหนุ่มเกี้ยว              บ้างก็เที่ยวหาอวดประกวดประขัน
บ้างสู่ขอเป็นเมียได้เสียกัน                      แต่ตัวฉันไม่อยากเที่ยวไปเกี้ยวใคร
    
      หนังสือตอบจากผบ.ทบ.ในกรุงเทพ ที่ตอบกลับมา  จึงบอกชัดเสียยิ่งกว่าชัดว่าสมเด็จเจ้าพระยาท่านไม่สนุกไปด้วย  และคงโกรธเอาการ    จึงมีคำสั่งเด็ดขาด บังคับให้เลิกปิคนิกได้แล้ว  รีบยกพลเคลื่อนทัพไปโดยด่วน    แถมท่านยังเพิ่มการบ้านมาให้อีก 2 ข้อใหญ่ๆ  คือ..
      ถ้าให้ไปตรวจเสบียงให้เพียงพอ      กับอีกข้อหนึ่งให้ปรุงปลูกยุ้งฉาง
      ให้ถ้วนทุกจังหวะระยะทาง              กับเร่งส่วยด้วยที่ค้างอยู่นมนาน
  
ท่านยังบอกว่าถ้าไม่มีเงินสำรองค่าใช้จ่ายในกองทัพ  ที่จะซื้อเสบียงเลี้ยงทหาร  ก็ให้เร่งเอาเงินส่วยจากกรมการเมืองในเมืองต่างๆที่ยังคั่งค้างอยู่มาสำรองจ่ายไปก่อน

แม้นเงินไม่มีสำรองให้กองทัพ      ที่จะจับจ่ายเสบียงเลี้ยงทหาร
เร่งส่วยเสียที่ท้าวเพี้ยกรมการ      มาเจือจานสำหรับกองทัพชัย
      
สองข้อนี้  เห็นทีสมเด็จเจ้าพระยาท่านคงอยากดักคอไว้ล่วงหน้า เผื่อมีข้ออ้างว่าเดินทัพไม่ได้เพราะหยุดทัพมานาน เสบียงอาหารร่อยหรอ  ต้องขอเบิกเงินเพิ่มจากต้นสังกัดที่กรุงเทพ    และต้องจัดหาซื้อเสบียงข้าวปลาอาหาร เสียเวลาโอ้เอ้เดินทัพไม่ได้อยู่อีก  จนกว่าจะหมดหน้าฝน       ท่านเลยสั่งให้ปลูกยุ้งฉางเป็นเสบียงไปตลอดทางที่เดินทัพผ่านเมืองต่างๆ  และเอาสตางค์จากในเมืองต่างๆนั่นแหละมาใช้เป็นค่าใช้จ่าย   ได้ไม่มีข้อแก้ตัวอย่างใดอีก


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ค. 13, 13:21
    แต่เจ้าพระยามหินทรฯ ท่านก็เป็นแม่ทัพที่ไม่ธรรมดา  หาได้ยากอยู่เหมือนกัน      เมื่อได้รับคำสั่งเฉียบขาด  อุดช่องโหว่ซ้ายขวามาหมดแบบนี้   ท่านก็ไม่จนปัญญา   นายทิมใช้คำว่า" โต้ตอบ(ด้วย)ปัญญาไว"  ว่า

     ท่านเจ้าคุณแม่ทัพสดับตรา      บังคับมามั่นคงไม่สงสัย
จึงโต้ตอบท้องตราปัญญาไว      ซึ่งจะไปเร่งส่วยเห็นป่วยการ
แล้วจะให้ปลูกปรุงซึ่งยุ้งไว้      กับจัดให้ซื้อเสบียงเลี้ยงทหาร
ด้วยจะยกนิกรไปรอนราญ      จะละลานหน้าหลังเป็นกังวล
   
     ท่านตอบไปว่า การไปเก็บเงินเอากับกรมการเมืองต่างๆนั้นไม่ควรทำ  ทำไปก็ป่วยการ   มิหนำซ้ำนี่เป็นการยกทัพมารบ    จะให้มัวไปปลูกยุ้งฉางมัวสาละวนเก็บข้าวปลาเสบียงอาหาร    ต้องหาซื้อโน่นซื้อนี่อีก   ก็จะเป็นการละล้าละลังห่วงหน้าพะวงหลังแก่กองทัพซึ่งมีหน้าที่ต้องเดินหน้าไปรบ    พูดง่ายๆว่ากองทัพของท่านรับจ๊อบเดียวคือไปรบ   ไม่รับสองจ๊อบสามจ๊อบพร้อมกันให้ยุ่งยาก

    แต่ท่านก็ยังยืนกรานจุดยืนว่า ถึงหน้าที่กองทัพคือไปรบ   แต่ตอนนี้  ก็ของมันยังไม่พร้อมจะรบ  ก็คือไม่พร้อมจะรบอยู่นั่นเอง

    ซึ่งจะให้ยกทัพไปสรรพเสร็จ      แต่ในเดือนสิบเอ็ดฤดูฝน
    เป็นที่ลำบากใจแก่ไพร่พล      น้ำยังล้นลงไม่ลด ขอ-งดที

    ที่ไม่พร้อมคือธรรมชาติไม่เป็นใจ จะให้ทำยังไง    น้ำยังท่วมเส้นทางอยู่ข้างหน้า   ยกทัพไปไพร่พลก็ลำบากลำบน เป็นอันตราย    เพราะงั้น...คำตอบคือยังไม่ไป ของดการเคลื่อนทัพจนกว่าน้ำลด ทางเริ่มแห้งพอเดินได้สะดวกเสียก่อน

    ลองวาดภาพว่าถ้าเราเป็นสมเด็จเจ้าพระยาอยู่ทางกรุงเทพ  เจอคำตอบแบบนี้จะรู้สึกอย่างไร


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ค. 13, 14:49
  นายทิมเป็นทนายคนสนิทของเจ้าพระยามหินทรฯ  มีความกตัญญูและจงรักภักดีเป็นแรงหนุน จึงเห็นอกเห็นใจนาย    ได้ฟังความในใจของนายด้วยว่า ที่จำต้องหยุดทัพไว้แค่นี้ก็เพราะเมตตาไพร่พล ไม่อยากให้ล้มตายเพราะบุกป่าฝ่าดงพระยาไฟ  ก็ยิ่งเห็นใจนายมากขึ้น   จึงถ่ายทอดกลอนความในใจของเจ้าพระยามหินทรฯตรงนี้เอาไว้ถี่ถ้วน     ว่าท่านเองก็ปรับทุกข์ให้ฟังว่า แม้ทำลงไปรู้ว่าเป็นโทษหนักขั้นขัดอาญาทัพ    ท่านก็จะยอมรับผิดแต่ผู้เดียว    
ถึงตรงนี้ คำเปรียบของนายทิมทันสมัยมาก  ทำให้สงสัยว่านายทิมเข้ารีตเป็นคริสต์หรืออย่างไร   ถ้าไม่ใช่ ก็ต้องคบหาสมาคมกับพวกมิชชันนารีมาก พอจะรู้ว่าความเชื่อของคริสตศาสนาคือพระเยซูยอมรับบาปของมวลมนุษย์ไว้แต่ผู้เดียว     แม้คำพูดนี้เป็นคำพูดของเจ้าพระยามหินทรฯ  แต่นายทิมก็ฟังรู้เรื่อง ถ่ายทอดออกมาได้แจ้มแจ้ง  แสดงว่ารู้เรื่องหลักศาสนากันทั้งบ่าวและนาย

       ท่านเจ้าคุณแม่ทัพพูดปรับทุกข์      ซึ่งจะบุกไปในป่าน่าสงสาร
กลัวผู้คนทั้งหลายจะวายปราณ              จึงคิดอ่านหาช่องสู่ท้องตรา
ถึงจะมีโทษร้ายกฎหมายทัพ                      จะสู้รับเอาผู้เดียวจริงเจียวหนา
ที่ข้อขัดบังคับรับอาญา                      ถึงจะฆ่าถือมั่นกตัญญู
ขออย่าให้ไพร่พลไปป่นปี้                      เวลานี้ขืนจรต้องอ่อนหู
จะรับบาปคนทั้งเพเหมือนเยซู              มิให้หมู่ไข้ป่ามันฆ่าคน    


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ค. 13, 14:50
คำยืนกรานของเจ้าพระยามหินทรฯ ตั้งแต่ต้นนิราศจนตอนนี้  ย้ำหลายครั้งว่าท่านไม่ต้องการให้ไพร่พลต้องล้มตายเพราะไข้ป่า จึงไม่เดินทัพ    เวลาที่ปักหลักอยู่ตรงนั้นก็นานมิใช่น้อย  นับเวลาแล้วเกือบหนึ่งเดือน       ดิฉันอ่านแล้วก็ได้แต่สงสัยแต่ไม่สามารถจะเดินทางย้อนเวลาไปเรียนถามท่านได้  ว่า เส้นทางอื่นที่มันไม่ต้องผ่านดงพระยาไฟไม่มีอีกแล้วหรือ      ถ้าไปทางนี้ไม่ไหว อย่างน้อยถอยทัพกลับไปตั้งต้นใหม่ ทางบกเส้นอื่นก็น่าจะมีอยู่หลายทาง  ตามที่สมเด็จเจ้าพระยาฯท่านก็มีสารมาว่าให้ไปทางบก      ยังไงเส้นทางอื่นต้องมีแน่  ไม่งั้นเจ้าพระยาภูธราภัยจะเดินทางไปตีฮ่อที่หลวงพระบางได้ยังไง

     อย่างที่สองที่น่าจะเรียนถามท่าน  คือการออกไปรบ  ใครๆก็รู้กันทั้งนั้นว่าเป็นการออกไปตาย   ถ้ารอดกลับมาถือว่าโชคดี    ไม่ว่าจะตายเพราะข้าศึกฆ่าตาย  เป็นไข้ป่าตาย  ตกเหวตาย  เรือล่มตาย    มันมีสิทธิ์ตายกันทุกย่างก้าวด้วยกันทุกคน      แต่เมื่อถึงเวลาทำศึกก็ต้องไปตามหน้าที่      แม่ทัพมีหน้าที่รบให้ชนะหรืออย่างน้อยยันข้าศึกเอาไว้ได้      ไม่ใช่ออกไปรบโดยตั้งหลักการไว้ว่าทำยังไงจะไม่ให้ไพร่พลตาย    ซ้ำมาห่วงตั้งแต่ยังไม่มีใครป่วยตายด้วยไข้ป่ากันกี่คนด้วยซ้ำ   
     เพราะฉะนั้นสมมุติฐานของเจ้าพระยามหินทรฯในเรื่องนี้ จึงออกจะประหลาด    ดิฉันทำความเข้าใจไม่ได้   นอกจากจะนึกว่า เหตุผลแท้จริงเบื้องหลังเหตุผลนี้น่าจะมีอยู่    แต่จะเป็นอะไรนั้น  คงจะต้องค่อยๆคลำทางกันไปเพื่อหาคำตอบ
     ข้างล่างนี้ ข้อความที่พิมพ์ด้วยตัวแดง  น่าจะชี้ให้เห็นคำตอบได้สักอย่าง...มั้ง?

     ใช่จะคร้านคลาดราชการ                      เพราะสงสารโยธาด้วยหน้าฝน
จะพากันไปตายทำลายชนม์                       แล้วเมืองบนก็ไม่มีไพรีรอน
แม้นข้าศึกนับแสนตีแดนร่วม                      ถึงน้ำท่วมให้ตลอดยอดสิงขร
จะสู้ยกพหลพลนิกร                              ถึงไฟร้อนต้านหน้าจะกล้าไป ฯ


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 พ.ค. 13, 09:17
        กลอนบทที่พิมพ์ด้วยตัวแดง มีข้อความที่ประหลาดมาก      นายทิมระบุไว้ชัดเจนว่า "เมืองบน" หมายถึงทางอีสาน  ไม่มีข้าศึกมารบ    ก็ไม่รู้จะยกทัพไปทำไม    แล้วยังพูดต่อไปอีกว่า  ถ้ามีข้าศึกจริง ต่อให้ยกมาเป็นแสน  และต่อให้น้ำท่วมถึงยอดเขา  ทัพของเจ้าพระยามหินทรฯ ก็พร้อมจะยกทัพฟันฝ่าอุปสรรคไปปราบ
       ทั้งที่ตามข้อเท็จจริง มันตรงกันข้าม
       ระหว่างทัพเจ้าพระยามหินทรฯหยุดอยู่ตรงนี้ โดยไม่ยอมฟังคำสั่งจากศูนย์บัญชาการในกรุงเทพ   ทางอีสาน พระยามหาอำมาตย์และเจ้าพระยาภูธราภัยก็กำลังรบกับฮ่ออยู่เป็นเรื่องใหญ่      จึงเป็นได้ว่า นายทิมเข้าใจผิดว่าไม่มีทัพข้าศึกยกมารุกรานจริง   หรือถ้ามีก็เป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ  กะอีแค่มีฮ่อยกมาสามพันคน เข้ามากวาดต้อนผู้คนทางชายแดนหนองคาย เท่านั้นก็ต้องยกทัพจากกรุงเทพไปปราบให้เดือดร้อนแก่ไพร่พล      ถ้าหากว่าเป็นข้อใดข้อหนึ่ง ก็เป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ทั้งเจ้าพระยามหินทรฯและนายทิม    เพราะเรื่องฮ่อบุกหนองคายนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก เป็นเรื่องใหญ่เอาการทีเดียว

ขอพักเรื่องเจ้าพระยามหินทรฯไว้ก่อน  เพื่อจะเล่าเรื่องศึกฮ่อว่ามันเป็นเรื่องคอขาดบาดตายขนาดไหน

พวกฮ่อไม่ใช่กองโจรกระจอก  แต่เป็นถึงขั้นข้าศึกต่างแดนที่รวบรวมกำลังคนได้เป็นปึกแผ่นแน่นหนา   ถึงขั้นยกกองทัพเข้าตีเมืองเวียงจันทน์ได้สำเร็จ    ตั้งกองบัญชาการอยู่ที่นั่นเพื่อตระเตรียมเสบียงอาหาร   จากนั้นก็วางแผนฮึกเหิมขยายอำนาจด้วยการรวมรวมพลเข้าโจมตีเมืองรายทางต่างๆ เรื่อยมาจนถึงเมืองหนองคาย
ประจวบเหมาะเป็นเคราะห์ร้ายของเมืองหนองคาย    พระปทุมเทวาภิบาล (เคน) เจ้าเมืองหนองคายซึ่งไม่รู้เรื่องว่าเวียงจันทน์เกิดเหตุร้ายถึงเสียเมือง เกิดไม่อยู่ในหนองคาย เพราะเดินทางไปราชการที่เมืองอุบลราชธานี เพื่อต้อนรับพระยามหาอำมาตย์ (ชื่น กัลยาณมิตร) ซึ่งไปตั้งกองสักเลกและเร่งรัดเงินส่วยที่หัวเมืองพอดี


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 พ.ค. 13, 09:18
เมื่อตัวเองไม่อยู่ ท้าวปทุมฯก็ได้มอบให้ท้าวจันทร์ศรีสุราชรักษาเมืองแทน  เมื่อไม่ได้เตรียมตัวรับมือกับศึก  พอได้รับว่าพวกฮ่อยกมา  รับมือไม่ทัน  ไม่เห็นทางอื่นทั้งกรมการเมืองและราษฎรก็อพยพครอบครัวหนีออกจากเมืองกันหมด   ทำให้พวกฮ่อยกกองทัพเข้าเมืองหนองคายอย่างง่ายดาย   ท้าวจันทน์ศรีสุราชได้พาครอบครัวหนีไปอยู่บ้านสามพร้าว จังหวัดอุดรธานี และพระยา พิไสยสรเดช (หนู) เจ้าเมืองโพนพิสัยพร้อมด้วยกรมการเมืองก็พาราษฎรหนีออกจากเมืองไปเช่นเดียวกัน

ส่วนพระยามหาอำมาตย์ พอรู้ข่าว นอกจากไม่หนี   ได้รับคำสั่งจากกรุงเทพให้ไปปราบฮ่อที่หนองคายก็รวบรวมพลจากเมืองต่างๆ   เดินทัพไปทันที   สั่งให้จับท้าวจันทน์ศรีสุราช กับพระยาพิไสยสรเดชประหารชีวิตเสียทั้งคู่ ข้อหาหนีข้าศึกและรักษาเมืองไว้ไม่ได้  

ตามที่เล่ามานี้คงจะเห็นว่าเรื่องฮ่อเป็น "ไพรีเมืองบน" จริงๆ   ไม่ใช่ไม่มีอย่างที่นายทิมอ้างจากไหนก็ไม่รู้

เอาละ  อาจจะมีคนหัวใส แย้งว่า นายทิมเกิดได้ข่าวว่าพระยามหาอำมาตย์ตีทัพฮ่อที่หนองคายแตกไปแล้วระหว่างทัพเจ้าพระยามหินทรฯหยุดอยู่ที่ปากทางดงพระยาไฟ      จึงสรุปกับตัวเองว่า "ไม่มีข้าศึกแล้วนี่นา"     คำสรุปนี้ก็ฟังไม่ขึ้นอยู่ดี   เพราะการทำศึกเป็นเรื่องไว้ใจกันไม่ได้ว่าจะพลิกกลับหัวกลับหางกันอย่างไรบ้าง    ถึงได้ข่าวมาว่าเมืองหนองคายถูกยึดกลับมาได้แล้ว   ก็ไม่ได้แปลว่าศึกจะสงบปุบปั๊บได้ทันที   ฮ่ออาจจะย้อนกลับมาอีก    หรือว่าทัพไทยจะต้องตามตีไปถึงเมืองอื่นๆ  หรือรักษาสถานการณ์อยู่ที่อีสานอีกสักพัก กว่าจะจับเชลย กว่าจะป่าวร้องให้ราษฎรที่หนีเข้าป่าหายตกใจ กลับคืนสู่บ้านเมือง     กว่าจะกวาดต้อนผู้คนลงมากรุงเทพ ฯลฯ  ล้วนเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึง และรอคำสั่งผู้บังคับบัญชาจากกรุงเทพทั้งสิ้น     จะมาด่วนสรุปเอาเองตามใจชอบไม่ได้

อ่านนิราศหนองคายมาถึงตอนนี้ ก็รู้สึกว่า พระราชโอรสบุญธรรมของสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ท่านไม่ธรรมดาเลยจริงๆ      ทำให้นึกเห็นใจสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ขึ้นมาหน่อยๆ


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 พ.ค. 13, 10:14
   ในเมื่อทัพของเจ้าพระยามหินทรฯยังปักหลักอยู่ที่เดิม  ประกอบด้วย " 3 ไม่"   คือ ไม่เคลื่อนทัพ    ไม่สร้างยุ้ง  และไม่เก็บส่วย  ซึ่งปกติธรรมดาแล้วไม่มีแม่ทัพนายกองหน้าไหนกล้าทำกัน       ไม่กี่วันต่อมา เรือกลไฟลำหนึ่งก็แล่นจากกรุงเทพขึ้นมาจอดเทียบท่า    พาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์มาถึงหาดพระยาทศ
   ตามธรรมเนียมไทยสมัยโบราณ  ผู้ใหญ่จะไม่เป็นฝ่ายไปหาผู้น้อย   ถ้าหากว่ามีเรื่องจะใช้งาน ก็ให้คนไปตามมาพบ      แต่ครั้งนี้สมเด็จเจ้าพระยาท่านยอมนั่งเรือกลไฟไปหาเจ้าพระยา    เพื่อจะไปสั่งราชการด้วยปากของท่านเอง เพราะสั่งผ่านหนังสือมาหลายหนแล้วไม่ได้ผล
   เจ้าพระยามหินทรฯท่านก็ไปรับถึงเรือกลไฟตามธรรมเนียม แล้วก็ยืนกรานถึงสาเหตุที่เดินทัพต่อไปไม่ไหว  
   แล้วเรียนเรื่องทางบกจะยกไป      ในดงใหญ่น้ำมากลำบากคน
   ขอรั้งรอพอให้แห้งแล้งสักหน่อย      จึงจะค่อยยกไปในไพรสณฑ์
   ถ้าขืนยกเวลานี้เห็นรี้พล              จะปี้ป่นตายลงในดงดาน
   รวมความว่าเหตุผลเดิมเหมือนอย่างที่บอกมาทุกครั้ง      ไม่ได้ใส่ใจเลยว่าทางหนองคาย  ศึกกำลังติดพันกันขนาดไหน  ฮ่อจะตีได้กี่เมืองแล้ว   เจ้าเมืองต่างๆรับมือไหวไหม   ทัพไทยอื่นๆที่ยกไปจะสู้ได้หรือเปล่า      สิ่งเหล่านี้ไม่สำคัญเท่าทัพนี้เดินป่าหน้าฝนไม่ไหวขอรับกระผม


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 พ.ค. 13, 10:31
       สมเด็จเจ้าพระยาท่านฟังเหตุผลแล้ว ท่านก็ไม่ต่อล้อต่อเถียงด้วย    แต่สั่งเพียงว่า "ให้รีบยกพลขึ้นบก"  คือ "ออกเดินทัพได้แล้ว"     อะไรมากกว่านี้ท่านไม่ได้พูด  เรียกว่าสั่งสั้นที่สุด เด็ดขาดที่สุด  แจ่มแจ้งที่สุด    แต่เจ้าพระยามหินทรฯ ท่านก็เด็ดกว่า    เพราะท่านยังมีถ้อยคำที่ฝรั่งเรียกว่า The last word  คือยัง"มีคำตอบสุดท้าย" กลับมาให้สมเด็จเจ้าพระยาจนได้
      แปลอีกทีว่า ท่านเป็นคนตัดสินใจขั้นสุดท้าย    ไม่ใช่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งแม้แต่เจ้านายก็ยังเกรงกลัวกันทั้งแผ่นดิน
      ท่านกราบเรียนสมเด็จเจ้าพระยาว่า
      " ขอให้รอสักเจ็ดวัน   ให้กระผมทำบุญให้เสร็จเสียก่อนนะขอรับ"
      ในนิราศไม่ได้บอกว่าสมเด็จเจ้าพระยาท่านตอบว่าอะไร   บอกแต่ว่าพอกราบเรียนเสร็จเจ้าพระยามหินทรฯก็กลับมาที่พัก    ส่วนสมเด็จเจ้าพระยาท่านก็กลับไปกรุงเทพ    จากนั้นก็มีเรือกำปั่นไฟแล่นด่วนมาถึงอีกลำ   พาหลวงยุทธนาธิกรมาถึง ส่งสารให้พร้อมกับเงินห้าสิบชั่งสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการเตรียมยกทัพ  แปลอีกทีว่าไม่ต้องไปเก็บส่วยรายทางแล้ว    และในหนังสือที่สมเด็จเจ้าพระยามีมาถึงนั้นบอกว่าให้ยกพลเดินทัพให้เสร็จในเดือนสิบเอ็ด (คือเดือนนั้นเอง)
     เจ้าพระยามหินทรฯ ท่านก็มี the last, last word  จนได้    คือทำหนังสือกราบเรียนตอบไปว่า  
     " ยังมีติดขัดอยู่ข้อหนึ่งคือพาหนะเดินทัพไม่พร้อมขอรับ    ยังขาดวัวขาดช้างเพิ่มเติม   เป็นพาหนะที่จะขนแม่ทัพนายกองให้บุกป่าฝ่าหล่มโคลนและน้ำท่วมไปได้ตามทาง    ถ้าหากว่าหาสัตว์พาหนะมาเพิ่มได้ครบเมื่อไหร่  วันเดียวก็เคลื่อนทัพได้ขอรับท่าน"
     พอเขียนเสร็จท่านก็ปิดผนึกจดหมายส่งให้หลวงยุทธนาธิกรนำกลับไปส่งให้สมเด็จเจ้าพระยา


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 พ.ค. 13, 10:41
  เจ้าพระยามหินทรฯ เป็นผู้ที่โชคดีมากที่ไม่ได้เกิดสมัยธนบุรี     ไม่ทราบว่ายังมีใครจำเรื่องไทยรบพม่าครั้งที่ 2 ที่บางแก้ว  ราชบุรีได้หรือเปล่าคะ
   ในพ.ศ. 2317  พระยามอญสี่คนมีพระยาเจ่ง และพระยากลางเมืองเป็นต้นพาชาวเมืองมอญลุกฮือขึ้นแข็งเมืองต่อพม่า  พระเจ้าอังวะให้อะแซหวุ่นกี้ยกทัพมาปราบปรามมอญ  พวกมอญก็ลี้ภัยเข้ามาในดินแดนไทย ซึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงต้อนรับด้วยดี ให้ไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่ปากเกร็ดบ้าง  และสามโคกบ้าง    ทางพม่าไม่ยอมหยุดก็ยกทัพตามล่วงแดนเข้ามาทางด้านพระเจดีย์สามองค์
   เมื่ิสมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จกลับจากการรบที่เชียงใหม่ถึงพระนครก็ทราบข่าวศึกพม่าตามมอญเข้ามาทางนี้  จึงให้เกณฑ์กองทัพไปยันพม่าไว้    ทรงถือเป็นเรื่องด่วน  ห้ามแม่ทัพนายกองที่ตามเสด็จลงมา  มิให้ใครแวะบ้านไปเยี่ยมเยียนล่ำลาลูกเมียเป็นอันขาด    มีนายทหารคนหนึ่งชื่อพระเทพโยธา บังอาจขัดรับสั่งแวะขึ้นบ้าน  พอทรงทราบก็ให้จับตัวมามัดเข้ากับเสาตำหนักแพ  ทรงพระแสงดาบตัดศีรษะพระเทพโยธา แล้วเอาศีรษะไปเสียบไว้ที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์  ด้วยข้อหาขัดอาญาทัพ
    ส่วนพระองค์เองทั้งที่กรมพระเทพามาตย์ พระราชชนนีกำลังประชวรหนักอยู่  ก็หักพระทัยยกทัพออกจากเมืองหลวงไปทำศึกกับพม่า


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ค. 13, 09:57
   การเร่งรัดของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ไม่ได้ทำให้เจ้าพระยามหินทรฯเปลี่ยนความตั้งใจ     ท่านก็ยังปักหลักอยู่ที่หาดพระยาทศจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11   จึงจัดงานทำบุญใหญ่เนื่องในวันครบรอบสวรรคตในสมเด็จพระจอมเกล้าฯ    นิมนต์พระสงฆ์มาเทศน์มหาชาติครบ 13 กัณฑ์  จุดดอกไม้ไฟฉลองเป็นการครึกครื้น

 นิมนต์สงฆ์พร้อมเพรียงประเดียงฉัน      ในวันนั้นล้วนเป็นสุขสนุกสนาน
มีมหาชาติใหญ่แล้วให้ทาน              มโหฬารสรวลเสเสียงเฮฮา
ครั้นพลบค่ำย่ำแสงสุริย์ใส              จุดดอกไม้ส่องสว่างกลางเวหา
แสงดอกไม้กระจ่างสำอางตา              จับนวลหน้านางลาวขาวเป็นใย
ครั้นเทศน์ครบจบตามสิบสามกัณฑ์      ตั้งแต่นั้นน้ำลดค่อยงดหาย
ซึ่งกองทัพเป็นสุขสนุกสบาย              พอหาดทรายผุดพ้นชลธาร

   อ่านตามนายทิมบรรยาย    เห็นภาพชัดเจนว่างานทำบุญเทศน์มหาชาติครั้งนี้โอ่อ่าเอิกเกริกไม่ใช่เล่น   ขนาดมีดอกไม้ไฟมาจุดฉลองในงาน    สว่างจนจับหน้าสาวๆชาวบ้าน  ก็แสดงว่าจุดกันสว่างไสวพรึ่บพรั่บไปทั้งหาด       
   ดอกไม้ไฟไม่ใช่ของเล่นที่ใครๆก็พกพาติดตัวไปไหนมาไหน     ยิ่งถ้าเดินทัพ   แค่แบกขนเสบียงอาหารติดตัวไปก็เป็นงานหนัก    ใครจะแบกของที่ไม่เกี่ยวข้องอย่างดอกไม้ไฟไปด้วยให้หลังแอ่น       ถ้างั้นท่านเจ้าคุณมหินทรฯท่านไปเนรมิตดอกไม้ไฟมาจากไหน   ชาวบ้านลาวแถวนั้นก็อยู่กันเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ไม่มีดอกไม้ไฟขายแน่นอน     ดิฉันคิดคำตอบได้ทางเดียวคือท่านออเดอร์จากกรุงเทพ  ให้คนของท่านย้อนกลับไปซื้อมาให้ทันงานทำบุญครั้งนี้

ครั้นพลบค่ำย่ำแสงสุริย์ใส              จุดดอกไม้ส่องสว่างกลางเวหา
แสงดอกไม้กระจ่างสำอางตา              จับนวลหน้านางลาวขาวเป็นใย
 


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ค. 13, 10:14
    นายทิมเล่าต่อไปว่าในช่วงนั้นน้ำหลากมาจนกระทั่งท่วมหาดพระยาทศ   เรือต้องขึ้นมาจอดบนบก   เจ้าพระยามหินทรฯ ท่านก็รอจนน้ำลดเห็นหาด ก็ให้คนไปดูเส้นทางว่าพอจะยกทัพไปได้ไม่ลำบากหรือยัง   ได้คำตอบกลับมาว่าทางแห้งพอเดินทางไหวแล้ว   
   แต่..
   แต่....ถึงกระนั้นก็ยังเคลื่อนทัพไม่ได้อยู่ดี    เพราะว่ายังหาช้างและวัวมาเป็นพาหนะไม่ได้ตามเป้าที่วางไว้     ก็เลยยังรั้งรอทัพอยู่ที่เดิม   จนกว่าจะได้ครบจำนวนเสียก่อน
   
    จนวันหนึ่งก็มีหนังสือราชการจากพระยาราชเสนามาแจ้งให้ทราบว่า ทัพฮ่อที่ยกไปรุกรานถูกทัพพระยามหาอำมาตย์ผนึกกำลังกับทัพโคราชตีแตกไปแล้ว      ไพร่พลในกองทัพเจ้าพระยามหินทรฯ รวมทั้งนายทิมด้วยก็ดีอกดีใจกันยกใหญ่     เพราะศึกจบไปแล้ว   ไม่ต้องเดินทางต่อแล้ว   ได้กลับบ้านกันเสียที    ตอนนี้ก็แค่รอคำสั่งจากเมืองหลวงให้ยกทัพกลับไปเท่านั้นเอง

   จากนั้นนายทิมและทหารคนอื่นๆก็นั่งนอนรอว่าเมื่อไรจะได้ยกทัพกลับ   แต่จนแล้วจนรอด  คำสั่งจากเมืองหลวงก็เงียบหายไม่เห็นมาถึง


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ค. 13, 10:32
    ระหว่างรอยกทัพกลับ   ท่านเจ้าคุณแม่ทัพทำอะไรบ้าง  ท่านก็ทำบุญทำท่าน ซ่อมกุฏิวิหาร  แจกเงินคนแก่ชรา ทอดผ้าป่า  ส่วนช้างและวัวที่สั่งซื้อก็ทยอยกันมาเรื่อยๆจนได้ช้าง 170 กว่าๆ  และโค 500 ถ้วน  
    ถึงตรงนี้  นิราศหนองคายเริ่มสับสนนิดหน่อย ทำเอาคนแกะรอยนิราศสับสนไปด้วย   เพราะจู่ๆนายทิมก็ลืมวันเดือนปีขึ้นมาซะเฉยๆยังงั้น   บันทึกเหตุการณ์ได้  แต่ลืมว่าเกิดขึ้นในวันเดือนปีไหน    ทีนี้มันมี 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่รู้ก่อนหลัง    เหตุการณ์แรกคือจมื่นทิพเสนาคุมเชลยฮ่อสองคนมาถึงทัพทางนี้     และเหตุการณ์หลังคือ ในช่วงนี้เอง ก็มีสารตรามาจากกรุงเทพ (อีกเป็นครั้งที่เท่าไหร่ก็นับไม่ไหว) สั่งอีกครั้งว่าให้เคลื่อนทัพไป   เราคงจำได้ว่าเมื่อสมเด็จเจ้าพระยาท่านนั่งเรือมาเร่งรัดถึงหาดพระยาทศให้เดินทัพต่อไปเสียทีนั้น ท่านกำหนดไว้เดือน 11  นี่มันก็ล่วงเลยมาจนถึงเดือน 12   ก็ยังไม่ได้ไปสักที
    ที่ว่าสับสนก็คือ หลังเหตุการณ์เชลยจีนฮ่อถูกคุมตัวมา     นายทิมเล่าว่าเจ้าคุณท่านก็ใช้เวลาช่วงนั้นทำบุญซ่อมกุฏิ วิหาร ทำทาน ทอดผ้าป่า  หาช้างวัวพาหนะได้ครบเมื่อไหร่ก็เตรียมเดินทางไปแก่งคอย    จากนั้นก็ได้รับสารตราจากสมเด็จเจ้าพระยาเร่งรัดให้เดินทาง    คราวนี้เจ้าพระยามหินทรฯท่านก็เขียนตอบไปว่า หาซื้อพาหนะได้ครบแล้ว   ถึงกำหนดเดินทางได้   ว่าแล้วก็กำหนดเคลื่อนทัพในวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 12   ยกทัพไปที่แก่งคอย สระบุรี
   นายทิมบรรยายการจัดทัพไว้ในตอนนี้ได้ละเอียดมาก      พวกที่อ่านนิราศหนองคายเพื่อเอาความรู้ ต่างชมตรงนี้กันว่าเป็นข้อดีข้อหนึ่งของนิราศเรื่องนี้

    แต่ดิฉันสนใจเรื่องอื่นมากกว่า คือเบื้องหลังการเดินทาง      อ่านแล้วยังไม่มีตรงไหนบอกชัดๆว่าเหตุใดเจ้าคุณมหินทรฯ ท่านถึงปักหลักอยู่ที่ท่า(หรือหาด)พระยาทศเป็นเดือนๆ    โดยขัดคำสั่งนาย   กี่หนๆ ท่านก็ยอมขัด  ด้วยข้ออ้างอะไรหลายอย่างที่ดิฉันคิดว่าไม่ใช่เหตุผลจริง เช่นสงสารกลัวไพร่พลจะไปตายเพราะไข้ป่า และน้ำท่วมทางเดินทัพบุกไปไม่ไหว
    ถ้าสาวเชือกจากปลายไปต้น  เอาผลกลับไปหาเหตุ     ก็มองได้อย่างหนึ่งว่า เหตุผลเหล่านี้เกิดจากเจ้าพระยามหินทรฯท่านไม่อยากไปรบกับพวกฮ่อ     ถึงขั้นท่านเชื่อ - สะท้อนจากความเห็นของนายทิม - ว่าทัพฮ่อไม่มีจริง


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 24 พ.ค. 13, 13:06
   เท่าที่เฝ้าติดตามกระทู้นี้ในห้องเรียนนี้  คิดว่าแม่ทัพระดับเ้จ้าคุณมหินทรฯไม่น่าจะครั่นคร้ามพวกฮ่อ หรือว่ายังมีเงื่อนงำอื่นอีกที่เราๆยังไม่ทราบกัน ขอติดตามรอสรุปสุดท้ายของอาจารย์ต่อไปครับ ???


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ค. 13, 15:00
    (ต่อ)
     เส้นทางจากท่าพระยาทศไปแก่งคอย ต้องไปทางเรือ  กินเวลาครึ่งวัน คือออกเดินทางแต่เช้าตรู่พอบ่ายโมงก็ถึงที่พักแรม  พักอยู่ที่นั่นเพื่อจัดกระบวนทัพ  พอเสร็จเรียบร้อยก็เคลื่อนพลในวันแรมห้าค่ำ เดือนสิบสอง   พวกแม่ทัพนายกองทั้งหมดนั่งช้างไปเพราะจากนี้เป็นเดินทางทางบกล้วนๆ   จากนั้นก็เข้าสู่ดงพระยาเย็น
    ฝีมือกลอนพรรณนาธรรมชาติของนายทิมไม่เบาเลย  ทั้งเลือกคำและสัมผัส   เรียกได้ว่าเทียบชั้นกับขุนช้างขุนแผนได้ทีเดียว   นอกจากนี้เป็นคนรู้จักไม้ป่า ไม้บ้าน  ผลหมากรากไม้นานาชนิดดีเสียด้วย   ชื่อไม้มีหลายชื่อในที่นี้ไม่คุ้นหู  ไม่เห็นในวรรณคดีอื่น    น่าจะเชิญนักพฤกษศาสตร์มาดูว่าสมัยรัชกาลที่ ๕  ป่าของเราแค่สระบุรีใกล้ๆนี้เองเป็นป่าทึบ มีต้นไม้อะไรกันบ้าง

    วนป่าทึบดงชัฏสงัดแท้                  มองเห็นแต่ยางยูงสูงไสว
โศกสักกรักกร่างมะทรางไทร                  แสลงใจจิ่งจ้อคล้อตะคล้อง
มะตูมตาดเต็งแต้วแก้วมะกา                  คางมะค่าประคำร้อยและข่อยหยอง
กระท้อนกระทุ่มอุทุมพรและค้อนกลอง       มะพลับพลองพลวงกะเพราสะเดาดง
ต้นตะโกสะแกแสมสาร                  ต้นกำยานพระยายาและกาหลง
อัมพามะพูดชลูดโรกโลดทะนง          ทั้งเปรงปรงโปร่งฟ้าและขานาง
ต้นก้านเหลืองมะเฟืองมะฝ่อไฟ          สลัดไดนางรองและทองหลาง
มะกอกดอกประดู่ต้นหูกวาง                  มะสังทรางส้มเสี้ยวเล็บเหยี่ยวยล
เกดกุ่มพุมเรียงและเหียงหาด                  มะตูมตาดติดดอกบ้างออกผล
ตะเคียนเคียงเรียงระดะดูปะปน          มีทั้งคณฑาไทยลำไยดง
ตะแบกกระเบากรันเกราไกร                  ทั้งเนื้อไม้กฤษณามหาหงส์
ต้นกระทิงกระท่อมพะยอมประยงค์          ทั้งคนทรงแส้ม้าพระยารัง


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ค. 13, 15:12
   เส้นทางนั้นนายทิมพรรณนาว่าลำบากลำบนสาหัส  เพราะเป็นป่าทึบ  มีทางพอให้ช้างเดินเรียงเดี่ยวเท่านั้น    ถ้าหน้าฝนน้ำคงท่วมมิดหัว   จะถากถางทางเดินก็ไม่ไหว  จะทำเรือแพก็ไม่มีทางเรือให้แล่นไปได้เพราะมีแต่ภูเขา    ยิ่งถ้าเจอไข้ป่าก็คงเอาชีวิตมาทิ้งกันทั้งกองทัพที่นี่เอง
   เมื่อพรรณนามาถึงตรงนี้  นายทิมก็ย้อนคิดไปยกย่องสรรเสริญว่าไพร่พลทั้งหลายได้นายดี ห่วงใยลูกน้องถึงกับยอมฝ่าฝืนคำสั่งจากเมืองหลวง   ไม่ยอมเดินทางมาหน้าฝน       ถึงตรงนี้นายทิมก็เริ่มเหน็บแนมลอยๆโดยไม่ระบุเจาะจงถึงใครว่า  ถ้าหากว่าเป็นนายที่มัวเมาในยศศักดิ์  คือถือเอาความเป็นใหญ่ท่าเดียว   คงไม่ยอมเห็นแก่ลูกน้องอย่างท่านเจ้าคุณ   แต่คงพาไพร่พลบุกป่าฝ่าดง  พามาตายเสียทั้งหมดในดงพระยาเย็น
   จากนั้นนายทิมก็ให้ยาหอมต่อไปว่า ไม่ใช่ข้าพเจ้าคนเดียวที่ว่าอย่างนี้   ไพร่พลในกองทัพทั้งหมดก็พากันสรรเสริญเจ้าคุณมหินทรฯ เช่นกัน ด้วยคำเดียวกัน  บ้างก็อวยชัยให้พรท่านให้เจริญยิ่งๆขึ้นไป
   เราก็คงเดาได้ว่านิราศหนองคายไม่ได้แต่งเอาไว้อ่านคนเดียวแน่ๆ   แต่แต่งให้นายอ่าน   เจ้าคุณฟังนายทิมอ่านมาถึงตรงนี้ ท่านคงจะชื่นใจ


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ค. 13, 15:28
     เส้นทางนั้นผ่านทับมะค่า  มวกเหล็ก ทุ่งใช้ และสระคุด  ก่อนจะหลุดพ้นจากดงพระยาเย็น มาถึงแม่น้ำลำตะคลอง       ดิฉันพิมพ์หาชื่อตำบลเหล่านี้ในแผนที่กูเกิ้ล เพื่อจะเอาเส้นทางมาให้ดู   แต่ไม่ยักพบ   ไม่รู้ว่าเปลี่ยนชื่อไปหมดแล้วหรือว่าเราหาไม่เป็นเอง   ใน 4 ชื่อนี้รู้จักแต่มวกเหล็กเพราะเคยไปหลายหน   แต่ไม่มีเค้าความลำบากยากเย็นเมื่อหนึ่งร้อยกว่าปีก่อนอีกเลย   กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีแต่รีสอร์ททั้งนั้น
    กลับมาเรื่องนิราศ
    ความลำบากลำบนที่นายทิมบ่นมาตลอดทางนั้นฟังก็น่าเห็นใจ   เพราะถึงขั้นที่วัวซึ่งซื้อมาทนไม่ไหวล้มตายลงไปหลายตัว  ช้างก็ล้มลงไปบางตัวเช่นกัน     แต่ตัวคนคงจะค่อยยังชั่วหน่อยเพราะไม่มีใครป่วยหรือล้มตายกันสักคน    ตอนกลางคืนนายทิมเองก็ได้นอนสบายในเต๊นท์ ซึ่งกางสำหรับแม่ทัพนายกอง    นับว่าค่อยยังชั่วหน่อย
   มีเกร็ดอีกอย่างที่น่าบันทึกไว้คือนายทิมเป็นคนมีความรู้ทางเภสัชกรรมดีไม่ใช่เล่น    เห็นได้จากตอนข้ามแม่น้ำลำตะคลอง เข้าป่าละเมาะ  เจอว่านเต็มไปหมดทั้งป่า      นายทิมจึงบรรยายว่านเสียยาวเหยียด ระบุชื่อคล่องแคล่วไม่ติดขัด     ชื่อว่านพวกนี้ก็เหมือนกัน ไม่เคยได้ยินในวรรณคดีเรื่องอื่น    เดี๋ยวนี้ไม่รู้ว่าสูญพันธุ์กันไปมากแล้ว หรือว่ายังพอมีอยู่

แล้วเดินตามวนาป่าละเมาะ              ชมว่านเปราะพอพ้นหายหม่นหมอง
ทั้งว่านแรดว่านช้างว่านยางทอง      ทั้งว่านปล้องว่านปลามหากาฬ
มีทั้งว่านเสน่ห์จันทน์ว่านฟันม้า      ว่านพระยาสามรากว่านสากสาร
ว่านนิลเพทเจ็ดศีรษะหนุมาน              มีทั้งว่านตะง้าวว่านสาวพึง
อีกว่านตูมว่านเต่าว่านเฒ่าหง่อม      และว่านหอมว่านเห็ดว่านเพ็ชหึง
ว่านกำแพงเพชรเจ็ดชั้นสามพันตึง      อีกว่านอึ่งว่าคางคกว่านนกยาง
ว่านเพ็ดน้อยเพ็ดม้าว่านสาโรช      ว่านกำโหมดว่านมัวว่านหัวสาง
ว่านแพทว่านรภิมอยู่ริมทาง              ว่านกระดางนางกวักว่านจักบัว
ว่านเพชสงฆาว่านอาสพ              ว่านบุตรลบมีเป็นจุกสิ้นทุกหัว
อีกว่านอุกว่านอาบว่านคราบวัว      อีกว่านพลั่ว ว่านพลวก ว่านหมวกคน
ว่านอีดำอีแดงแสงอาทิตย์              และว่านพิษขึ้นหมู่ฤดูฝน
อีกว่านเจ็ดช้างสารว่านกำพล              ทั้งว่านต้นหลายหลากมีมากนัก


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ค. 13, 15:52
     ในที่สุด ทัพเจ้าพระยามหินทรฯก็มาถึงโคราช อย่างปลอดภัย
 
     สังเกตว่าช่วงที่นายทิมบ่นอยู่หนักๆกว่าเพื่อน ก็คือช่วงข้ามเขาในป่าดงพระยาไฟ     ซึ่งต้องผ่านห้วยเหวหลายแห่ง เดินทางลำบาก   แต่พอพ้นป่ามาแล้วนายทิมก็ดูจะโล่งใจ  ถึงมีบทรำพันบ้างก็เป็นรำพันถึงนางตามขนบของนิราศ  ไม่ค่อยจะพิโอดพิโอยมากมายอย่างตอนแรก      เส้นทางในดงพระยาไฟน่าจะกินเวลาไม่กี่วันนัก เพราะคำพรรณนาค่อนข้างสั้น           ข้อสำคัญคือไม่มีตรงไหนบอกเลยว่าเจอไข้ป่า   ไม่มีการระบุถึงการล้มเจ็บป่วยไข้ของไพร่พล    และไม่มีบอกด้วยซ้ำว่ามีอุบัติเหตุเช่นตกเหวตกเขาตายกันไป    แสดงว่าไม่มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น   ถ้าหากว่ามี  นายทิมคงบันทึกเอาไว้แล้ว       
     แต่พอถึงโคราช ตั้งทัพอยู่ที่นั่น  นายทิมจึงบันทึกว่าไพร่พลตายกันไปร้อยกว่า แต่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ   ไม่ใช่ด้วยการรบ

     
   เท่าที่เฝ้าติดตามกระทู้นี้ในห้องเรียนนี้  คิดว่าแม่ทัพระดับเ้จ้าคุณมหินทรฯไม่น่าจะครั่นคร้ามพวกฮ่อ หรือว่ายังมีเงื่อนงำอื่นอีกที่เราๆยังไม่ทราบกัน ขอติดตามรอสรุปสุดท้ายของอาจารย์ต่อไปครับ ???

    เป็นเรื่องยากที่จะสรุปได้ว่า เจ้าคุณมหินทรฯท่านคิดอย่างไรของท่านแน่     นิราศหนองคายที่อ่านกันอยู่ก็ไม่ใช่ฉบับสมบูรณ์ ถูกกรมศิลปากรเซนเซอร์ออกไปบางส่วน    ซึ่งส่วนตรงที่หายไปอาจจะมีคำเฉลยอยู่ก็ได้      แต่ที่เห็นได้อยู่อย่างคือนายทิมน่าจะเป็นกระจกสะท้อนความคิดของเจ้าคุณออกมาได้บางส่วน      มองเห็นได้ว่าการเดินทางครั้งนี้  ส่วนที่เจ้าคุณมหินทรฯท่านเห็นเป็นเรื่องใหญ่คือการฝ่าดงพระยาไฟซึ่งเป็นที่เลื่องลือถึงไข้ป่า ว่าใครผ่านไปแล้วเป็นต้องได้เชื้อไข้ตัวนี้ติดไปทุกคน  เป็นไข้ป่าร้ายแรงไม่มีทางรอด       แต่พอพ้นดงไปแล้ว น้ำเสียงนายทิมก็ดูโล่งอก  จากนั้นก็ชมดงชมไม้ต่อไปไม่มีน้ำเสียงหนักใจอีก   
    ดูจากประวัติของเจ้าพระยามหินทรฯ  ว่ากันว่าเมื่อครั้งเจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จธุดงค์ไปตามหัวเมืองต่างๆ   ก็ทรงนำเจ้าคุณเมื่อครั้งยังเป็นแค่นายเพ็ง ตามเสด็จไปด้วย     เพราะฉะนั้นนายเพ็งก็ต้องคล่องตัวพอสมควรเรื่องกินนอนในป่า   รู้จักหัวเมืองหลายจังหวัดดี    ไม่ใช่ว่าเกิดมาไม่เคยออกจากเมือง      เพราะฉะนั้นจะว่าท่านกลัวป่าก็ไม่น่าจะใช่
    มาถึงคำถามว่า ถ้าไม่กลัวป่า แล้วกลัวฮ่อหรือเปล่า   ข้อนี้มีคำพูดของนายทิมอยู่ตอนหนึ่งว่า ไม่มีข้าศึกรออยู่ปลายทาง   เหมือนถูกสั่งให้เดินทัพกันมาเปล่าๆปลี้ๆ    คือไม่จำเป็นต้องมาก็ได้    เพราะเชื่ออย่างนี้หรือเปล่าเจ้าคุณท่านจึงไม่ยอมเสี่ยงตายเข้าดงพระยาไฟ
    อย่างน้อย  เราก็รู้อยู่ข้อหนึ่งว่า ในนิราศนี้มีพญาคชสารอยู่ 2 ช้างด้วยกัน คือสมเด็จเจ้าพระยาและเจ้าพระยา    ส่วนนายทิมเป็นหญ้าแพรกอยู่ตรงกลาง



กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 24 พ.ค. 13, 17:05
ผมอ่านนิราศหนองคายฉบับที่ว่ากันว่าถูกเซ็นเซอร์ไปเยอะแล้ว เจอเนื้อหาเหน็บแนมสมเด็จเจ้าพระยาไม่ได้เล็กน้อยเลย ยังสงสัยว่าเนื้อหาแบบนี้ไม่โดนเซ็นเซอร์ ส่วนที่หายไปจะขนาดไหนหนอ


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ค. 13, 17:42
พอจะมองเห็นได้รางๆว่าขนาดไหน  จากประกาศที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงร่างด้วยพระองค์เอง และส่งไปพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา  เล่มที่ 5 นำเบอร์ 161 วันอาทิตย์ เดือน 9 แรม 12 ค่ำ ปีขาล สัมฤทธิศก 1240 แผ่นที่ 21 ตอน
ที่ 1ดังนี้

ประกาศ***

*เรื่องอ้ายทิมแต่งนิราศฯ***

ด้วยพระศรีสุนทรโวหาร เจ้ากรมพระอาลักษณ์ รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่าอ้ายทิม ขุนพิพิธภักดี ในกรมพระสุรัสวดี คิดหนังสือนิราศว่าด้วยกองทัพ ซึ่งจะยกขึ้นไป ณ เมืองหนองคาย เพื่อจะป้องกันรักษาพระราชอาณาเขต ตามราชประเพณีมาแต่ก่อน อ้ายทิมบังอาจแต่งหนังสือ ออกพระนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน  ตัดทอนแทรกเปลี่ยนถ้อยคำเจือลงในกลอน แลกล่าวความกระทบกระเทือนถึงท่านผู้บัญชาราชการแผ่นดิน   แลผู้อื่นๆ โดยถ้อยคำหยาบคาย ยกย่องเหตุซึ่งได้ขัดขวางราชการแผ่นดินขึ้นเชิดชูไปต่าง ๆ จึงทรงพระราชดำริห์พร้อมด้วยท่านเสนาบดีว่า ราชประเพณีแต่ก่อนมีการทัพศึกมาเวลาใด พระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินแลท่านเสนาบดีก็ปรึกษาพร้อมกันจัดกองทัพไปรับรองป้องกันพระราชอาณาเขต หามีผู้ใดขัดขวางแลติเตียนเหลือเกินดังนี้ได้ไม่ ถ้ามีผู้ใดพูดจาดังนี้ในเวลามีการทัพ ก็จะต้องมีโทษถึงประหารชีวิตตามพระราชกำหนดกฏหมาย
บัดนี้ อ้ายทิมมาทำหนังสือว่ากล่าวเหลือเกิน เท็จบ้าง จริงบ้าง เป็นการหมิ่นประมาทต่อราชการแลท่านผู้บัญชาการจะเป็นแบบอย่างต่อไปภายหน้า เมื่อมีราชการทัพศึก ก็จะบังคับบัญชาได้โดยยาก จึงให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนอ้ายทิม 50  ที ส่งตัวไปจำไว้ ณ คุก อย่างให้ผู้ใดเอาเยี่ยงอย่าง และหนังสือฉบับนี้เป็นหนังสือขัดขวางต่อราชการแผ่นดิน เป็นที่หมิ่นประมาทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินแลท่านเสนาบดีผู้ซึ่งมีกตัญญูต่อแผ่นดิน แลยำเกรงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน แลท่านเสนาบดีซึ่งช่วยรักษาแผ่นดินอยู่ ก็หาควรจะอ่าน จะเก็บหนังสือนี้ไว้ไม่ ด้วยเป็นที่ขัดขวางต่อราชการแผ่นดินแลเป็นที่หม่นหมองต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินแลท่านเสนาบดี ต้นร่างหนังสือฉบับนี้ก็ได้โปรดเกล้าฯให้เรียกมาทำลายเสีย ฉบับที่ตีพิมพ์แล้วยังไม่ได้ขาย
ไปนั้น ให้ผู้ซึ่งส่งไปลงพิมพ์ซื้อมาทำลายเสียทั้งสิ้น แต่หนังสือที่ไปซื้อไปแต่ก่อนแล้วนั้น ถ้าผู้ใดยังมีหนังสือนั้น ก็ให้ฉีกทำลาย
เสียอย่างให้ติดเป็นแบบอย่างอยู่ในแผ่นดินสืบไป
ประกาศมา ณ วันอังคาร เดือน 9 แรม 7 ค่ำ ปีขาล
สัมฤทธิศก ศักราช 1240 เป็นวันที่  3570 ในรัชกาลปัจจุบัน


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ค. 13, 17:44
ข้อกล่าวหาหรือข้อฟ้องของสมเด็จเจ้าพระยาฯ  สรุปได้ 6 ข้อดังนี้

1.        เอาพระนามพระเจ้าแผ่นดินดัดแปลงลงประกอบในนิราศ
2.        ติเตียนผู้บังคับกองทัพว่าไม่รู้ฤดูกาลที่ควรหรือไม่ควร
3.        มีข้อความกระทบกระเทียบแรงนัก
4.        เปรียบเทียบยกย่องข้างหนึ่ง (ชมเจ้าพระยามหินทรฯ) ติข้างหนึ่ง (ติเตียน สมเด็จเจ้าพระยาฯ)
5.        ผู้ขึ้นไปตักเตือน(หมายถึงสมเด็จเจ้าพระยาฯ) ขาดเมตตาจิตไม่มีความกรุณาต่อไพร่พลทั้งปวง
6.        ใช้ถ้อยคำหยาบคายมากในตอนจบ


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ค. 13, 18:50
2.        ติเตียนผู้บังคับกองทัพว่าไม่รู้ฤดูกาลที่ควรหรือไม่ควร

ดูฝนความไข้มิได้หยอก      ผู้ใหญ่บอกเศร้าจิตคิดสยอง
ที่ในดงลึกล้ำล้วนน้ำนอง      จะยกกองทัพไปกลัวไข้ดง
ซึ่งปู่ย่าตาลุงครั้งกรุงเก่า      ฟังเขาเล่าจำไว้ไม่ใหลหลง
ฤดูฝนเป็นไม่ไปณรงค์              ทำการสงครามแต่ก่อนบ่ห่อนเป็น
แต่เมื่อใดฝนแล้งแห้งสนิท      จึงจะคิดยกทัพไปดับเข็ญ
คิดขึ้นมาน้ำตาตกกระเด็น      ไม่วางเว้นกลัวตายเสียดายตน

ข้อความข้างบนนี้มาจาก ตอนต้นๆเรื่อง นายทิมซัดสมเด็จเจ้าพระยาเต็มๆ ว่าใช้คนไปทำสงครามในหน้าฝน  โดยอ้างว่าผู้เฒ่าผู้แก่เขาเตือนกันไว้ว่าอย่าทำ   จะยกทัพต้องยกไปทำศึกในหน้าแล้ง

อันที่จริงความคิดของนายทิมไม่ถูกต้อง  เพราะทัพไทยไม่ได้เป็นฝ่ายรุก  ซึ่งทำให้เลือกฤดูกาลได้   แต่เป็นฝ่ายรับ  เพราะฮ่อยกทัพมาก่อน   ถ้าไทยมัวแต่รอจนถึงฤดูแล้ง   ก็ย่อมไม่ทันการ      ไม่มีใครเขาทำกัน


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ค. 13, 19:11
6.        ใช้ถ้อยคำหยาบคายมากในตอนจบ

ซึ่งบางพวกไม่ได้ขึ้นไปทัพ              บางคนกลับผูกจิตริษยา
แล้วกล่าวโทษติฉินแกล้งนินทา      ขอดค่อนว่ากองทัพเสียยับเยิน
ที่เหล่าพวกหูป่าตากะสือ              ฟังเขาลือเชื่อใจมิได้เขิน
พูดเสริมส่งเลยล้นไปจนเกิน              อย่าด่วนเพลินเผลอพร่ำพูดลำพัง
คอยผูกใจผูกจิตคอยอิจฉา              แอบนินทากองทัพอยู่ลับหลัง
ถ้าใครอยากรู้สิ่งที่จริงจัง              จงวานฟังข้อคำที่รำพัน

ทำอย่างนั้นผิดอย่างนี้ที่ตรงไหน      ตัดสินให้เที่ยงแท้อย่าแปรผัน
ช่วยตรึกตรองตั้งใจให้เป็นธรรม์      อย่าชวนกันนินทามุสาตาม
จงไล่เลียงสืบสวนให้ถ้วนถี่              ก็ย่อมมีผู้คนไปล้นหลาม
อย่ากล่าวโทษโฉดเขลาว่าเบาความ      พูดซุ่มซ่ามโดยเดาเปล่าเปล่าเอย


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 พ.ค. 13, 19:36
คำกราบบังคมทูลฟ้องขุนพิพิธภักดี (ทิม สุขยางค์) ผู้แต่งนิราศหนองคาย เขียนโดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ ๕

ท่านเขียนไว้ดังนี้

แผ่นดินพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จางวางเสือ ทำหนังสือทิ้งว่าหม่อมไกรสร ท่านก็เอาโทษ  หมื่นไวย์เพ็ง นอกราชการ นายเถื่อนคางแพะ พูดจาติเตียนแม่ทัพนายกอง ท่านก็เอาโทษถึงตายทั้งนั้น และผู้ทำนิราศแต่ก่อนมา พระยายมราชกุน หม่อมพิมเสน ครั้งกรุงเก่า หลวงสุนทรภู่ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็ทำไว้หลายเรื่อง หาได้กระทบกระเทือนถึงการแผ่นดินไม่ ผู้ทำนิราศฉบับนี้ว่าความก้าวร้าวมาก ด้วยการจะบังคับบัญชารักษาแผ่นดินต่อไป จะเป็นที่ชอบช้ำด้วยถ้อยคำของคนที่กล่าวเหลือ ๆ เกิน ๆ

สมเด็จเจ้าพระยา ฯ มีจดหมายกราบบังคมทูล ความผิดในนิราศหนองคาย  แต่จดหมายฉบับนี้สูญ

ที่เขียน ๆ กันมา
ท่านลงรายการละเอียดค่ะ ว่าหน้าไหน บรรทัดอะไร
เท่าที่พยายามนับดูทีละหน้า  เห็นว่ามีแค่ ๖ หน้าที่ท่านไม่พอใจ

เมื่อชำระหนังสือเล่มนี้  ความถูกตัดออกถึงหนึ่งในสาม
ความที่หายไปนี้ น่าจะสำคัญมาก  ถึงสมเด็จเจ้าพระยาเขียนว่า หยาบคายเรี่ยวแรงนัก

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ค. 13, 19:56
      ทัพเจ้าพระยามหินทรเดินทางไปถึงโคราช จากนั้นไปพิมาย  ก็ได้รับสารตราว่าให้กลับกรุงเทพได้  โดยแบ่งกำลังส่วนหนึ่งไปสมทบกับพระยามหาอำมาตย์ที่หนองคาย      นายทิมอยู่ในส่วนที่เดินทางกลับกรุงเทพพร้อมเจ้าพระยามหินทรฯ   ไปกลับรวมเวลาแล้ว 7 เดือนเต็ม     โดยไม่ได้ไปรบกับฮ่อ หรือข้าศึกที่ไหนเลยสักแปะเดียว

      จากข้อเท็จจริงที่บันทึกไว้ในนิราศหนองคาย  ไม่เอาอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง  จะเห็นได้ว่าสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ท่านพยายาม"แซะ" เจ้าพระยามหินทรฯ หลายต่อหลายครั้งให้ขยับเขยื้อนจากท่าพระยาทศ เพื่อเดินทางต่อไปให้ได้    แต่ก็ไม่ได้ผล   ลองเจ้าพระยามหินทรฯท่านปักใจว่าท่านจะไม่เดินทัพหน้าฝนเป็นอันขาด  ท่านก็ดื้อแพ่งของท่านจนสำเร็จ    
      ส่วนทัพเจ้าพระยาภูธราภัยและพระยามหาอำมาตย์ก็ทำสำเร็จเหมือนกัน  แต่คนละอย่างกับท่านเจ้าคุณมหินทรฯ  คือไปรบกับฮ่อจนสำเร็จกลับมา    
    
      เมื่อผลเป็นอย่างนี้  ก็ย่อมเกิดข้อเปรียบเทียบกันขึ้นมาให้เห็นในความรู้สึกของผู้หลักผู้ใหญ่ทางกรุงเทพ       คนที่เป็นหลักอยู่ในขณะนั้นคือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  และรองลงมาคือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์       ถ้าหากว่าคนที่ดื้อรั้นต่อต้านอาญาทัพคือขุนนางอื่น ก็ไม่พ้นถูกประหาร     แต่ในเมื่อผู้ทำคือ "ลูกบุญธรรม" ของสมเด็จพระจอมเกล้าฯ  จึงไม่มีใครแตะ
     เจ้าพระยามหินทรฯ จึงได้กลับมาอยู่บ้านโดยสวัสดิภาพ   มิได้ถูกสอบสวนพิจารณาโทษแต่อย่างใด      แต่แน่ละว่าเรื่องพรรค์นี้ย่อมห้ามปากคนไม่ได้     เสียงซุบซิบนินทาก็คงกระฉ่อนอยู่ในหมู่ผู้ใหญ่ผู้น้อยเป็นธรรมดา     ถ้าไม่มีใครเอ่ยเสียเลยนี่ซิ  ถึงจะนับว่าแปลก  


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ค. 13, 20:07
   การจะไปเสาะหาว่านายทิมด่ากระทบกระเทียบเปรียบเปรยสมเด็จเจ้าพระยาฯอย่างใด  ก็คงได้ความมันในอารมณ์เพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้อะไรมากกว่านั้น      เพราะถึงไม่รู้     เราก็พอจะสนุกกับการพิจารณาจากบริบทกันได้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง  นิราศหนองคายจึงกลายเป็นหนังสือต้องห้าม    
   ความจริงแล้ว เมื่อเจ้าพระยามหินทรฯกลับมาถึงกรุงเทพ   ไม่ได้ความดีความชอบแต่ก็ไม่ได้รับโทษทัณฑ์ใดๆ   ย่อมถือว่าบารมีของท่านแน่นปึ้ก  เพราะในอดีต แม่ทัพนายกองที่ทำผิดน้อยกว่านี้ยังหัวขาดกันมาแล้ว     ลองคิดดูว่าทัพที่ไปหยุดกึกอยู่กลางทางด้วยเหตุผลอ่อนยวบยาบว่ากลัวไข้ป่ากับน้ำหลาก   ทำให้เปลืองหลายอย่าง  เปลืองเวลา  เปลืองกำลังรี้พลโดยเปล่าประโยชน์    เปลืองเงินทองค่าใช้จ่ายโดยเปล่าประโยชน์อีกนั่นแหละ     และที่สำคัญคือยุทธวิธีการรบที่เตรียมแผนเอาไว้จากกรุงเทพ เจ๊งหมด    เพราะทัพ 2 ทัพที่เตรียมไว้คือทัพเจ้าพระยาภูธราภัยและทัพเจ้าพระยามหินทรฯ หายไปเสียทัพหนึ่งเท่ากับกำลังพลหายไป 50%       ถ้าหากว่าพระยามหาอำมาตย์ไม่ได้คุมพลไปสักเลกแถวอีสานในตอนนั้น     ฮ่อซึ่งยึดหนองคายได้เรียบร้อยแล้วก็คงเดินทัพต่อมาถึงเมืองอื่นๆ  กลายเป็นทัพใหญ่ยากแก่การปราบปราม
   สิ่งทั้งหมดนี้สำคัญกว่าไข้ป่าไม่รู้ว่ากี่เท่า    นายทิมไม่เอ่ยเลยสักแอะเดียว

   เรื่องควรจะจบแบบเจ๊ากันไป เมื่อไม่มีใครเอาเรื่องเจ้าพระยามหินทรฯ      แต่ไม่จบเพราะท่านเองไม่ยอมจบ


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ค. 13, 20:34
  สิ่งที่เจ้าพระยามหินทรฯ ยังค้างคาใจอยู่ มองเห็นได้จากกลอนของนายทิมซึ่งเปรียบได้กับกระบอกเสียงจากใจของนาย
  ซึ่งบางพวกไม่ได้ขึ้นไปทัพ              บางคนกลับผูกจิตริษยา
แล้วกล่าวโทษติฉินแกล้งนินทา           ขอดค่อนว่ากองทัพเสียยับเยิน
ที่เหล่าพวกหูป่าตากะสือ                  ฟังเขาลือเชื่อใจมิได้เขิน
พูดเสริมส่งเลยล้นไปจนเกิน               อย่าด่วนเพลินเผลอพร่ำพูดลำพัง
คอยผูกใจผูกจิตคอยอิจฉา                แอบนินทากองทัพอยู่ลับหลัง
ถ้าใครอยากรู้สิ่งที่จริงจัง                   จงวานฟังข้อคำที่รำพัน
  
   เรื่องนี้แสดงว่าเมื่อกลับมา มีคนกล่าวติฉินนินทาเจ้าพระยามหินทรฯ  เราก็คงเดาได้ว่าคนที่กล้าทำเห็นจะมีผู้นำอยู่คนเดียวคือสมเด็จเจ้าพระยาฯ    แต่ท่านคงไม่ได้แถลงเป็นทางการ ไม่งั้นคงมีหลักฐานเป็นเอกสารให้เห็น   แต่ก็คงพูด     เจ้าพระยามหินทรฯฝ่าฝืนอาญาทัพไม่รู้กี่หนแบบนี้จะให้สมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านเก็บปากคำไว้ทำไม    เรื่องอะไรท่านจะต้องเกรงใจ    แค่ท่านไม่ลงโทษก็ถือว่าให้อภิสิทธิ์มากพอแล้ว
   การกระทำของเจ้าพระยามหินทรฯ ย่อมเป็นหนามยอกอกสมเด็จเจ้าพระยาฯ   เพราะกล้าลูบคมอย่างเปิดเผย  ต่อไปสมเด็จเจ้าพระยาฯท่านสั่งการอะไรต่อไป  ขุนนางใหญ่น้อยที่ไหนจะเกรงใจ      ถ้าพลิกดูประวัติศาสตร์จะพบว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ขึ้น เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416  คือ 2 ปีก่อนหน้านิราศหนองคาย   ทำให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ท่านก็มิได้มีอำนาจเต็มในฐานะผู้สำเร็จราชการอีกต่อไป เพราะต้องพ้นจากตำแหน่งนี้ไปเมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2       ก็เท่ากับว่ารัศมีของ" รีเยนต์" เริ่มหรี่แสงลงเมื่อ 2 ปีก่อน   แต่ก็ยังมีอำนาจเหลืออยู่

   เจ้าพระยามหินทรฯ ท่านย่อมประจักษ์ข้อนี้ดี ว่าอำนาจในบัดนี้ของสมเด็จเจ้าพระยาทำอะไรท่านไม่ได้      ดังนั้นท่านก็ไม่ลดราวาศอกให้     เมื่อมีเสียงสะท้อนมาเข้าหูว่ามีผู้ติฉินนินทาท่านในเรื่องเดินทัพ     ท่านก็งัดเอานิราศหนองคายออกมา ส่งให้โรงพิมพ์หมอสมิทพิมพ์จำหน่ายเป็นหนังสือเล่มเสียเลย   ในพ.ศ. 2421 คืออีก 3 ปีต่อมา  
   ลูกระเบิดก็เลยลงกลางเมืองหลวงด้วยเหตุนี้


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 พ.ค. 13, 11:13
   วิเคราะห์จากลักษณะการบันทึก  นิราศหนองคาย คงมีส่วนต้นๆแต่งขณะเดินทัพ  เพราะบันทึกรายละเอียดวันเดือนปีของเหตุการณ์ในช่วงต้นไว้ละเอียด    หลายตอนเช่นการเดินป่าและผ่านเมืองต่างๆ ก็บันทึกแบบประสบด้วยตาตัวเองใหม่ๆ    แต่ต่อมา  บางตอนก็แต่งขึ้นในภายหลัง  เพราะเหตุการณ์บางตอน นายทิมเริ่มจะจำวันเดือนปีไม่ได้ว่าเกิดขึ้นเมื่อใด    ตอนท้าย แน่นอนว่าแต่งเมื่อกลับมากรุงเทพได้ระยะหนึ่งแล้ว เพราะกล่าวพาดพิงถึงมีผู้ติฉินนินทากล่าวโทษ  

   ส่วนที่ดิฉันคิดว่านิราศหนองคายมีการแต่งแทรกเนื้อความเข้าไป    ก็คือส่วนหนึ่งคือนายทิมได้บรรยายละเอียดอยู่หลายตอนถึงการใช้จ่ายเงินทองของเจ้าพระยามหินทรฯ ว่าจ่ายไปในเรื่องบุญกุศล  เช่นซ่อมกุฏิ ปฏิสังขรณ์วัด     ใช้ไปในการจัดงานบุญต่างๆที่โคราชก็หลายครั้ง  จัดละครเล่นให้บันเทิงกองทัพก็มี    นอกจากนี้ยังบรรยายว่าเจ้าพระยามหินทรฯผ่านไปเมืองไหนตำบลไหน  ท่านก็แจกเงินชาวบ้านไปทุกครั้งด้วยกัน  รวมยอดที่ท่านแจกโน่นจ่ายนี่ รวมทั้งค่าช้างวัวพาหนะจำนวนมาก ต้องเกินห้าสิบชั่งที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ท่านจ่ายเพิ่มให้แน่นอน    อาจจะหลายร้อยชั่งหรือเป็นพันเสียด้วยซ้ำ
    เรื่องการใช้จ่ายเงินนี้ บันทึกไว้ถี่ถ้วน   อ่านแล้วก็แปลกใจว่าเจ้าพระยามหินทรฯใช้เงินไปมากมายทีเดียว โดยไม่เกี่ยวกับเรื่องรบทัพจับศึก      ทำให้สงสัยว่าเงินที่ท่านจ่ายเป็นเงินส่วนตัวหรือว่าเป็นเงินหลวงที่เบิกไปจากท้องพระคลังกันแน่       นายทิมไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเรื่องที่ถูกติฉินนินทากล่าวโทษมีอะไรบ้าง      แต่ดูจากการพรรณนายกย่องคุณงามความดีของเจ้าพระยามหินทรฯ ในการใช้จ่ายเงิน   ก็เหมือนนายทิมชี้แจงให้รู้ว่าเงินที่จ่ายไปนั้น จ่ายไปเพื่อประโยชน์ของไพร่พลและราษฎรทั้งนั้น    ไม่ได้จ่ายเอาไปใช้เป็นส่วนตัว      
    ดิฉันจึงคิดว่าส่วนหนึ่งของการกล่าวโทษติฉินนินทา คือการเปลืองงบประมาณหลวงไปมากมายในการเดินทัพครั้งนี้ โดยไม่ได้อะไรขึ้นมา      นายทิมจึงตอบโต้ด้วยการสาธยายให้ฟังว่า เจ้าคุณมหินทรฯ ท่านจ่ายเพื่อส่วนรวมต่างหาก   ควรสรรเสริญคุณงามความดีของท่านด้วย


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 พ.ค. 13, 11:36
     ทำอย่างนั้นผิดอย่างนี้ที่ตรงไหน      ตัดสินให้เที่ยงแท้อย่าแปรผัน
ช่วยตรึกตรองตั้งใจให้เป็นธรรม์      อย่าชวนกันนินทามุสาตาม
จงไล่เลียงสืบสวนให้ถ้วนถี่              ก็ย่อมมีผู้คนไปล้นหลาม
อย่ากล่าวโทษโฉดเขลาว่าเบาความ      พูดซุ่มซ่ามโดยเดาเปล่าเปล่าเอย ฯ

      กลอนข้างบนนี้คือตอนจบของนิราศหนองคาย    นายทิมพูดต่อว่า "ใครบางคน" ที่ตัดสินไม่เที่ยงตรง   ไม่เป็นธรรม   ไม่สืบสวนให้ถี่ถ้วน และเป็นคนโฉดเขลาเบาความ     บาทสุดท้ายคือ "พูดซุ่มซ่ามโดยเดาเปล่าเปล่า"  
      ถ้าเรารู้ว่าผู้ที่นายทิมตั้งใจจะเอ่ยถึง ไม่ใช่ตาสีตาสาคนไหนก็ได้ในกรุงเทพ  แต่เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์     ก็นับว่าน้ำเสียงของนายทิมทระนงองอาจมากทีเดียว       มันไม่น่าเป็นไปได้ที่ข้าราชการชั้นผู้น้อยปลายแถวอายุแค่สามสิบ จะกล้าเอ่ยถึงขุนนางสูงสุดในแผ่นดินด้วยถ้อยคำเหมือนอยู่ในวัยและฐานะเสมอบ่าเสมอไหล่กัน     กล้าดุ กล้าเตือน  ใช้ถ้อยคำตำหนิติเตียนอย่างไม่เกรงใจ  แล้วยังเอาลงพิมพ์เป็นหนังสือให้คนอ่านกันทั้งเมืองอีกด้วย
      จริงอยู่   ผู้น้อยอาจเจ็บแค้นผู้ใหญ่ได้  ตัดพ้อต่อว่าผู้ใหญ่ได้   สุนทรภู่เองก็เคยบรรยายความน้อยใจเมื่อชะตาตก  ต้องออกจากวัดเพราะพระเถระผู้ใหญ่ท่านเข้าข้างอีกฝ่าย   ด้วยคำว่า
      จะยกหยิบธิบดีเป็นที่ตั้ง               ก็ใช้ถังแทนสัดเห็นขัดขวาง

      อีกตอนหนึ่งคือ

      มาทางท่าหน้าจวนจอมผู้รั้ง             คิดถึงครั้งก่อนมาน้ำตาไหล
     จะแวะหาถ้าท่านเหมือนเมื่อเป็นไวย    ก็จะได้รับนิมนต์ขึ้นบนจวน
     แต่ยามยากหากว่าถ้าท่านแปลก    อกมิแตกเสียหรือเราเขาจะสรวล
     เหมือนเข็ญใจใฝ่สูงไม่สมควร            จะต้องม้วนหน้ากลับอัประมาณ

    แม้น้อยใจผู้ใหญ่  สุนทรภู่ก็ยังระมัดระวังใช้คำให้เห็นความเจียมตัวอย่างผู้น้อย  จะตำหนิก็อ้อมๆ ใช้คำเปรียบเปรยมิให้ฟังก้าวร้าวโจ่งแจ้ง     แต่นายทิมไม่มีสำนึกในข้อนี้เลย      ใช้คำโผงผางออกไปตรงๆ ไม่แคร์ว่าจะระคายหูใครขนาดไหน     ซึ่งฟังแล้ว ไม่น่าที่คนระดับนายทิมจะกล้าทำเช่นนั้น
               


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 25 พ.ค. 13, 12:00
   
    แม้น้อยใจผู้ใหญ่  สุนทรภู่ก็ยังระมัดระวังใช้คำให้เห็นความเจียมตัวอย่างผู้น้อย  จะตำหนิก็อ้อมๆ ใช้คำเปรียบเปรยมิให้ฟังก้าวร้าวโจ่งแจ้ง     แต่นายทิมไม่มีสำนึกในข้อนี้เลย      ใช้คำโผงผางออกไปตรงๆ ไม่แคร์ว่าจะระคายหูใครขนาดไหน     ซึ่งฟังแล้ว ไม่น่าที่คนระดับนายทิมจะกล้าทำเช่นนั้น
               

ฮิฮิ เรื่องนี้ตอบไม่ยากครับ ถ้าเราติดตามข่าวซุบซิบพวกนักการเมืองหรือคนใหญ่ๆ โตๆ ทั้งหลาย เช่นรัฐมนตรี นายทหารใหญ่ หรือแม้แต่พระบรมวงศานุวงศ์ จะพบว่าหลายๆ ครั้งบุคคลสำคัญเหล่านั้นจะทำตัวธรรมดา เฉยๆ เรียบง่าย แต่บรรดาลิ่วล้อทั้งหลายมักจะเบ่งสุดๆ อาศัยบารมีเจ้านายทำกร่าง อวดอ้าง หรือคิดว่าตนเองใหญ่ตามไปด้วย เป็นเรื่องธรรมดาที่พบเห็นได้ทั่วไป โดยเฉพาะพวกแอร์มักจะเจอลิ่วล้อขากร่างบ่อยๆ ขนาดในแวดวงวิชาการผมยังเคยเจอ ในงานประชุมวิการการที่หน่วยงานผมเป็นเจ้าภาพ เจอขาเบ่งที่แค่เป็นนักเรียนของนักวิชาการชื่อดังที่ท่านเป็นระดับโลกยังเอาชื่อท่านมาเบ่งเรียกร้องนั่นนี่เลย เบ่งจนไม่รู้ตัวว่ากำลังเบ่งกับใคร ทั้งที่นักวิชาการท่านนั้นสุดแสนสมถะ


นายทิมเป็นคนสนิทท่านเจ้าพระยาฯ เลยพลอยคิดว่าตัวใหญ่ไปด้วย ลืมนึกไปว่าตัวแค่อาศัยวนเวียนเป็นดาวบริวารเล็กๆ สะท้อนแสงจากดาวใหญ่เฉยๆ แต่นึกว่าตัวเปล่งแสงเอง รวมทั้งคิดเอาเองว่าบารมีนายจะคุ้มหัวได้ เพราะวันๆ อยู่แต่กับนายที่ใครๆ ก็เคารพนพนอบเกรงใจ  ผู้ที่ใหญ่กว่าก็มีแต่เจ้าเหนือหัว  นายทิมเลยกร่างไม่กลัวใคร เจ็บแค้นแทนนายมาก เลยออกอาการ over action มากไป พวกอาศัยบารมีเบ่งมักจะเบ่งจนเว่อร์ หรือกร่างอย่างเหลือเชื่อทั้งนั้น


ส่วนเจ้าพระยาจะรู้ด้วยหรืออยู่เบื้องหลังนายทิมหรือไม่อันนี้ยังเป็นปริศนา  รอท่านอาจารย์เฒาว์ฯมาวิเคราะห์ต่อ  แต่ตัวเจ้าพระยาเองก็คงคิดว่าท่านก็แน่ ขนาดกับสมเด็จเจ้าพระยาใหญ่คับแผ่นดินท่านยังไม่กลัว  คงชั่งน้ำหนักแล้วรู้ว่าแม้แต่ ร. 5 ก็ยังต้องเกรงใจท่านด้วย


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 พ.ค. 13, 12:30
จุ๊จุ๊ อย่าเอ็ดไปครับ ผมกำลังตามหารักแท้ เลยต้องปลอมตัวเป็นคนขับ taxi บ้าง คนงานทำความสะอาดบ้าง เด็กแจกใบปลิวบ้าง หรือนักเรียนโค่งบ้าง ทั้งอาจารย์ใหญ่อาจารย์รองอย่าไปบอกใครนะครับ  ไว้ผมเจอรักแท้เมื่อไหร่ ค่อยเปิดเผยตัวตนที่แท้จริง :-X  :-X  :-X

อ้างถึง
ในงานประชุมวิการการที่หน่วยงานผมเป็นเจ้าภาพ

อ้าว คุณชายคุณชายรุศฑ์ษมาศร์เปิดเผยตัวแล้ว 



กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 พ.ค. 13, 12:48
มันก็น่าคิดเหมือนกันว่า นายทิมแกกร่างจริง  หรือว่าแกเป็น "ร่างทรง" ของใครสักคน ที่พูดออกมาด้วยตัวเองไม่ได้    คำถามนี้คงจะค้างคาใจใครหลายคนทั้งในสมัยรัชกาลที่ ๕ และในสมัยต่อๆมา  
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเป็นผู้หนึ่งที่สงสัยเรื่องนี้   เมื่อทรงเรียบเรียงประวัติของนายทิม  จึงทรงเอ่ยไว้ตอนหนึ่งว่า

" ข้าพเจ้าได้เอาหนังสือนิราศหนองคาย  ซึ่งได้ขอต้นฉบับจากหลวงพัฒนพงษ์ภักดีมาคัดไว้ในหอพระสมุดฯ ไม่ช้ามานัก มาอ่านตรวจดูโดยละเอียด    เห็นว่าความที่กล่าวในหนังสือนิราศหนองคาย  มีที่ร้ายแรงเป็นฐานหมิ่นประมาทหลายแห่ง    แม้มีผู้ใดแต่งเช่นนั้นออกโฆษณาในเวลาปัจจุบันชั้นนี้     ก็เห็นจะมีโทษตามประมวลกฎหมายอาญา     แต่เมื่ออ่านแล้ว ก็คิดเห็นว่าใช่วิสัยคนอย่างนายทิมทนาย  แม้ชำนาญในการแต่งบทกลอน   จะสามารถหรือกล้ากล่าวความลงเช่นนั้นได้     ตามความที่ข้าพเจ้าทราบ   ถึงเมื่อชำระกันครั้งนั้น  ความเข้าใจก็เป็นอย่างที่ว่า     แต่นายทิมให้การยืนยันว่า  แต่งด้วยปัญญาความคิดของตนเอง    และปฏิเสธว่าไม่ได้มีผู้หนึ่งผู้ใดแนะนำสั่งสอนให้แต่ง    ยอมรับผิดแต่ผู้เดียว    
เมื่อพิจารณาได้ความเพียงเท่านั้น   ลูกขุนจึงตัดสินให้จำคุกนายทิมผู้แต่ง   และให้ทำลายหนังสือนิราศหนองคายที่พิมพ์โฆษณาเสีย    นายทิมต้องติดคุกอยู่ ๘ เดือน    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯยกโทษพระราชทาน จึงได้พ้นจากเวรจำ     เมื่อพ้นโทษแล้ว  ก็กลับไปอยู่กับเจ้าพระยามหินทรฯตามเดิม     พอการสงบเงียบแล้ว  เจ้าพระยามหินทรฯตั้งให้เป็นขุนจบพลรักษ์ ขุนหมื่นประทวน  ในกรมพระสุรัสวดี    และให้ว่าการงานในบ้านต่างหูต่างตาทั่วไป "

   อ่านระหว่างบรรทัด จากข้อความพิมพ์ตัวแดง    แสดงว่าลูกขุนเองก็ไม่เชื่อว่าแค่ทนายรับใช้ตัวเล็กๆอย่างนายทิมจะกล้ากล่าวสบประมาทสมเด็จเจ้าพระยาอย่างองอาจเปิดเผยขนาดนี้    มันเกินฐานะของคนอย่างนายทิมไปมาก      ถ้าไม่ใช่มีบิ๊กคนไหนเขียนเองแล้วนายทิมยอมรับผิดแทน   ก็แปลได้อีกอย่างว่านายทิมเขียนตามคำสั่งของใครสักคน
  แต่นายทิมก็ทรหดอดทน  ลูกขุนสอบสวนเท่าใดก็ยืนกรานว่ากระผมเขียนคนเดียว ไม่มีใครสอนใครสั่ง    เมื่อมีจำเลยคนเดียว หาผู้สมรู้ร่วมคิดไม่ได้   นายทิมเลยโดนลงโทษคนเดียว

   นายทิมถูกจำคุกอยู่ ๘ เดือน ก็ถูกปล่อย เพราะพระเจ้าอยู่หัวโปรดพระราชทานอภัยโทษ    การพระราชทานอภัยโทษไม่ใช่ว่าอยู่เฉยๆก็ทรงนึกได้ว่าควรอภัย   แต่ต้องมีคนกราบบังคมทูลขอให้พระราชทานอภัย  ทรงเห็นสมควรถึงจะพระราชทานอภัยแก่นักโทษ      
   ผู้ที่กราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัว  สามารถเอาตัวนายทิมหลุดจากคุกทั้งๆหมิ่นประมาทสมเด็จเจ้าพระยา  โดนตะรางแค่ 8 เดือนเท่านั้น  กลับมาบ้าน ก็ได้ความดีความชอบเลื่อนขึ้นเป็นขุน  และยังได้เป็นบัตเลอร์ ดูแลบ้านช่องบริวารของเจ้าพระยามหินทรฯ เป็นพ่อบ้านใหญ่เสียด้วย     ขอเชิญคุณประกอบและท่านอื่นๆที่เข้ามาอ่านไปคิดเป็นการบ้านเอาเองว่าเป็นใคร  คนเล่ากระทู้นี้เดาไม่ถูก  ;)


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 พ.ค. 13, 13:35
  นายทิมถูกจำคุกอยู่ ๘ เดือน ก็ถูกปล่อย เพราะพระเจ้าอยู่หัวโปรดพระราชทานอภัยโทษ    การพระราชทานอภัยโทษไม่ใช่ว่าอยู่เฉยๆก็ทรงนึกได้ว่าควรอภัย   แต่ต้องมีคนกราบบังคมทูลขอให้พระราชทานอภัย  ทรงเห็นสมควรถึงจะพระราชทานอภัยแก่นักโทษ      
   ผู้ที่กราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัว  สามารถเอาตัวนายทิมหลุดจากคุกทั้งๆหมิ่นประมาทสมเด็จเจ้าพระยา  โดนตะรางแค่ 8 เดือนเท่านั้น  กลับมาบ้าน ก็ได้ความดีความชอบเลื่อนขึ้นเป็นขุน  และยังได้เป็นบัตเลอร์ ดูแลบ้านช่องบริวารของเจ้าพระยามหินทรฯ เป็นพ่อบ้านใหญ่เสียด้วย     ขอเชิญคุณประกอบและท่านอื่นๆที่เข้ามาอ่านไปคิดเป็นการบ้านเอาเองว่าเป็นใคร  คนเล่ากระทู้นี้เดาไม่ถูก   ;)

คงเป็นคนเดียวกับผู้ที่ส่งเรื่องนิราศนี้ไปพิมพ์ที่โรงพิมพ์หมอสมิธนั่นแหละ

ต้นร่างหนังสือฉบับนี้ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้เรียกมาทำลายเสีย ฉบับที่ตีพิมพ์แล้วยังไม่ได้ขายไปนั้น ให้ผู้ซึ่งส่งไปลงพิมพ์ซื้อมาทำลายเสียทั้งสิ้น แต่หนังสือที่ไปซื้อไปแต่ก่อนแล้วนั้น ถ้าผู้ใดยังมีหนังสือนั้น ก็ให้ฉีกทำลายเสีย อย่าให้ติดเป็นแบบอย่างอยู่ในแผ่นดินสืบไป

ผู้ที่ส่งเรื่องไปลงพิมพ์ที่ต้องไปซื้อหนังสือนิราศหนองคายมาทำลาย คือ เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงนั่นเอง

จดหมายเหตุราชกิจรายวัน ประจำวันจันทร์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๙ (หน้า ๓๑๐) จดบันทึกเรื่องนี้ไว้ว่า

จมื่นทิพเสนาเฝ้าถวายหนังสือพระยามหามนตรีกับต้นฉบับนิราศหนองคาย ๔ เล่ม ในหนังสือจ่าให้จมื่นทิพเสนาเชิญพระราชหัตถ์ไปให้เจ้าพระยามหินทรฯ ดุ เจ้าพระยามหินทรฯ ได้ส่งต้นฉบับมาให้ ๔ เล่ม แจ้งว่าหนังสือที่ตีพิมพ์ที่โรงพิมพ์หมอสมิธนั้น เจ้าพระยามหินทรฯ ได้ไปซื้อมาแล้วเป็นสมุดใบปกแข็ง ๕๗ เล่ม ใบปกลายศิลา ๑๒๗ เล่ม ใบปกเขียว ๑๗๘ เล่ม รวม ๓๖๒ เล่ม กับหนังสือที่ยังไม่ได้เย็บอีกจำนวน ๑๐ ยก ประมาณ ๑๐๐ เล่ม ได้ส่งไปที่พระยารองเมือง แต่วันเสาร์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๙ แกไปถามพระยารองเมืองว่าจริงแล้วจะทำบัญชีทูลเกล้าฯ ถวาย  

นักเขียนถูกตัดสินจำคุก ส่วนผู้พิมพ์โฆษณารับผิดชอบเพียงซื้อหนังสือมาทำลาย

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)




กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 พ.ค. 13, 14:07
จึงให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนอ้ายทิม 50 ที ส่งตัวไปจำไว้ ณ คุก อย่างให้ผู้ใดเอาเยี่ยงอย่าง

สมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านเห็นว่าความผิดนายทิมถึงขั้นประหารชีวิต   แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ท่านหาทางออกมิให้พญาคชสารชนกันบาดเจ็บกว่านี้  ก็เลยทรงตัดสินโทษนายทิมแค่เฆี่ยนกับจำคุก   ไม่ได้บอกด้วยว่านานเท่าใด เรียกว่าไม่มีกำหนดแน่นอน  จะขังลืมไปจนตายก็ได้

การลงโทษเฆี่ยนกับจำคุกนักเขียนในคดีนี้  โบราณมีสำนวนว่า "ตีวัวกระทบคราด"      นายทิมคือวัว  ส่วนคราดคือเจ้าของวัว    ถ้านายทิมถูกประหาร คนกระเทือนก็เจ้าพระยามหินทรฯนั่นแหละ    เพราะนายทิมต้องภักดีต่อนายจนตัวตาย       แค่นายทิมถูกเฆี่ยนกับจำคุก  นายของนายทิมก็กระเทือนน้อยหน่อย   แต่จะว่าไม่กระเทือนเสียเลยก็ไม่ได้   เพราะทรงปรามให้เก็บหนังสือนิราศหนองคายมาทำลายให้หมด     แปลว่าหยุดได้แล้ว   อย่าไปหาเรื่องเขาอีก   
มิใช่ว่าหนังสือเล่มนี้มีอะไรแหลมคม จนไปเสียดแทงใจผู้เป็นใหญ่ในบ้านเมือง    แต่เป็นหนังสือที่หมิ่นประมาทก่อความเสียหายให้ผู้อื่น  จึงต้องห้ามการเผยแพร่จำหน่าย   

    เรื่องนี้ ถ้าถามว่าเห็นใจใคร  โดยส่วนตัวเห็นใจสมเด็จเจ้าพระยา     เพราะตั้งแต่ต้นเรื่องจนปลายเรื่อง  ท่านเป็นฝ่ายเสียหายมาโดยตลอด   สิ่งที่ท่านทำก็คือทำตามหน้าที่  ไม่ได้ทำอะไรเป็นส่วนตัว     ถ้าหากว่าเจ้าพระยามหินทรฯไม่อยากจะไปรบกับฮ่อก็น่าจะขอตัวเสียแต่แรก    มีแม่ทัพอื่นยกข้ามดงพระยาไฟไปได้เร็วหน่อย   ศึกฮ่อจะได้จบเร็วกว่านี้ และเบาแรงพระยามหาอำมาตย์ด้วย
    นึกๆอีกที   เหตุการณ์ในเรื่อง สมมุติว่าเป็นยุคนี้  ผู้บัญชาการทัพสั่งให้แม่ทัพยกทัพไปชายแดน เพราะเกิดสงครามขึ้นที่นั่นกำลังปะทะกันอยู่    แม่ทัพกลับรายงานว่าไปไม่ได้ครับผม น้ำท่วมทางรถไฟกับถนนขาด เลยขอตั้งค่ายพักกลางทางจนกว่าน้ำจะแห้ง  จะลุยน้ำไปก็กลัวอาวุธยุทโธปกรณ์เสียหาย กับทหารจะเท้าเปื่อยหมด     ได้ยินอย่างนี้ ผบ.ทบ. คนไหนจะใจเย็นอย่างสมเด็จเจ้าพระยา คือไม่ลงโทษอะไรเลยไหมล่ะคะ

   เอาเป็นว่า  สมเด็จเจ้าพระยาท่านก็อุตส่าห์อดกลั้นงดโทษมาหนหนึ่งแล้ว    จนยกทัพกลับกรุงเทพ มา 3 ปี  อีกฝ่ายก็ไม่ยอมจบ    มันก็น่าจะเอาเรื่องหรอก     นายทิมโดนแค่นี้ คงมีฝ่ายที่เห็นใจสมเด็จเจ้าพระยา  เห็นว่าได้รับโทษน้อยไปเสียอีก


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 พ.ค. 13, 14:15

จดหมายเหตุราชกิจรายวัน ประจำวันจันทร์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๙ (หน้า ๓๑๐) จดบันทึกเรื่องนี้ไว้ว่า

จมื่นทิพเสนาเฝ้าถวายหนังสือพระยามหามนตรีกับต้นฉบับนิราศหนองคาย ๔ เล่ม ในหนังสือจ่าให้จมื่นทิพเสนาเชิญพระราชหัตถ์ไปให้เจ้าพระยามหินทรฯ ดุ เจ้าพระยามหินทรฯ ได้ส่งต้นฉบับมาให้ ๔ เล่ม แจ้งว่าหนังสือที่ตีพิมพ์ที่โรงพิมพ์หมอสมิธนั้น เจ้าพระยามหินทรฯ ได้ไปซื้อมาแล้วเป็นสมุดใบปกแข็ง ๕๗ เล่ม ใบปกลายศิลา ๑๒๗ เล่ม ใบปกเขียว ๑๗๘ เล่ม รวม ๓๖๒ เล่ม กับหนังสือที่ยังไม่ได้เย็บอีกจำนวน ๑๐ ยก ประมาณ ๑๐๐ เล่ม ได้ส่งไปที่พระยารองเมือง แต่วันเสาร์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๙ แกไปถามพระยารองเมืองว่าจริงแล้วจะทำบัญชีทูลเกล้าฯ ถวาย  
๓๖๒ เล่ม + กับหนังสือที่ยังไม่ได้เย็บอีกจำนวน ๑๐ ยก ประมาณ ๑๐๐ เล่ม = 462 เล่ม   

นี่พิมพ์ครั้งแรก   ไม่รู้จะพิมพ์อีกกี่ครั้งถ้าไม่เกิดเรื่องเสียก่อน
เจ้าคุณมหินทรฯ ท่านกะจะแจกเจ้านายและขุนนาง  ให้อ่านกันทั้งเมืองเลยหรือ?


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 25 พ.ค. 13, 15:50
ถ้าอีหรอบนี้แปลว่าเจ้าพระยามหินทรฯท่านคงรู้เห็นเป็นใจอยู่ด้วยแหงแก๋เลยครับ  แต่คิดแล้วก็ไม่แปลกเพราะท่านเองก็ไม่ได้เล็กกว่าสมเด็จเจ้าพระยา ณ ตอนนั้นเท่าไหร่นัก


ถ้ามองไปถึงอดีต เจ้าพระยามหินทรฯ ท่านเป็นข้าเก่ารับใช้มาตั้งแต่ ร. 4 มองการเมืองไทยสมัยนั้นท่านน่าจะเป็นฝ่ายตรงข้ามกับตระกูลบุนนาคอยู่มาก บุนนาคทำอะไรก็ผิดไปหมด เหมือนคนไทยสีต่างๆ ตอนนี้ สีตรงข้ามทำอะไรก็เลวไปหมด ฉันใดก็ฉันนั้น  ยิ่งมาถึงช่วงที่สมเด็จเจ้าพระยาฯ ขาลงแล้วก็เป็นช่วงเวลาที่ท่านจะได้เอาคืนพวกบุนนาค  สั่งอะไรมาก็ไม่ทำ ผลัดผ่อนไปเรื่อย   เวลาคนใหญ่ๆ เค้าเล่นการเมืองกัน บางทีชาติบ้านเมืองหรือความลำบากของราษฎรมาทีหลัง


ถ้าสงสัยต่อว่าแล้วงั้นทำไมท่านไม่ปฏิเสธตำแหน่งแม่ทัพ ก็ไม่น่าแปลก พอสมเด็จเจ้าพระยาโยนตำแหน่งนี้มาให้ ถ้าไม่รับก็อาจจะเสียหน้ากว่าท่านก็เลยต้องรับ แต่ไม่ทำตามซะอย่างใครจะทำไม สมเด็จเจ้าพระยาเองเป็นคนเสนอท่านเอง จะปลดไปก็ไม่ได้ มันอิหลักอิเหลือต่อท่านเองอีก เลยต้องเลยตามเลย ขนาดนั่งเรือไปสั่งยังไม่ทำตาม พระยามหินทรฯนี่ดื้อจริงๆ


เรียนท่านอาจารย์เภ็ณย์ฯ ตอนงานวิชาการนั้นผมปลอมตัวเป็นพนักงานทำความสะอาดครับ  ตอนนั้นเกือบได้รักแท้แล้วแต่นางเอกเบ่งเหลือเกินเลยไม่เอาต้องหาต่อไป  ;D


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 พ.ค. 13, 15:59
เรียนท่านอาจารย์เภ็ณย์ฯ  ตอนงานวิชาการนั้นผมปลอมตัวเป็นพนักงานทำความสะอาดครับ  ตอนนั้นเกือบได้รักแท้แล้วแต่นางเอกเบ่งเหลือเกินเลยไม่เอาต้องหาต่อไป  ;D

คุณชายรุศฑ์ษมาศร์ต้องไปแก้ตัวกับท่านอาจารย์เฒาว์เอาเอง

อิ๊อิ๊   ;D


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 25 พ.ค. 13, 16:33
    เทียบกำลังคชสารกันแล้ว เจ้าพระยามหินทร์ฯแผ่วกว่าด้านสมเด็จเจ้าพระยาฯหลายช่วงตัว สกุลบุนนากมีบทบาทในแผ่นดินมาตั้งแต่รัชกาลที่2 เข้มมากขึ้นในรัชกาลที่ 3 สนับสนุนให็'วชิรญาณเถร' ครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 4  รับดูแลแผ่นดินให้ตอนต้นรัชกาลที่ 5
    การที่เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงกล้า 'เปิด' กับบิ๊กแผ่นดินเช่นท่านสมเด็จเจ้าพระยาฯ แปลว่าท่านมั่นใจว่าท่านก็มี 'ดี' พอตัว
    และเวลานั้นเป็นช่วงต้นรัชกาล ในหลวงมีพระชนมายุ 20 กว่าๆ แขนขาที่พระองค์เริ่มสร้างขึ้นมาเองก็ยังไม่แข็งแรงพอ จำเป็นต้องประนีประนอมน้ำใจขุนนางใหญ่ไว้
    หากนายทิมไม่มีมือที่เห็นรางๆอยู่เบื้องหลัง(แต่ก็จำได้ว่ามือใคร) ก็คงไม่มีโอกาสได้เป็นคุณหลวงในกาลต่อมา
    เรื่อง 'ดี' ของเจ้าคุณมหินทร์ขอรอฟังจากอาจารย์ครับ


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 25 พ.ค. 13, 21:29
เรียนท่านอาจารย์เภ็ณย์ฯ  ตอนงานวิชาการนั้นผมปลอมตัวเป็นพนักงานทำความสะอาดครับ  ตอนนั้นเกือบได้รักแท้แล้วแต่นางเอกเบ่งเหลือเกินเลยไม่เอาต้องหาต่อไป  ;D

คุณชายรุศฑ์ษมาศร์ต้องไปแก้ตัวกับท่านอาจารย์เฒาว์เอาเอง

อิ๊อิ๊   ;D

ว้ายยยยยยย แก้ตัวผิดคนจริงๆ ด้วย หน้าแตก  ::)  ::)  ::)


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 26 พ.ค. 13, 00:16
ตอนผมอ่านเรื่องนี้ ผมข้องใจอยู่สองประการครับ

ประการแรก หนังสือเรื่องนี้ว่ากันว่าฉบับเต็มถูกทำลายหมด ฉบับพิมพ์ใหม่ตัดเนื้อหาไปถึงสองในสาม พิจารณาจากเรื่องที่ถูกฟ้อง 6 ข้อ ผมก็ยังแปลกใจอยู่ เพราะผมว่าฉบับที่ว่าถูกเซ็นเซอร์แล้ว ก็ยังมีข้อความตามเรื่องฟ้องอยู่ครบทุกข้อเลย ทั้งเมื่อพิจารณาจากบทกลอน จำได้ว่ามีสัมผัสระหว่างบทขาดไปเพียงบทเดียว หมายความว่าผู้ที่เซ็นเซอร์ต้องแก้ไขให้มีสัมผ้สครบถ้วนถูกต้อง และยังต้องมีเนื้อหาที่กลมกลืนไม่กระโดดอีกด้วย หากไม่ใช่ว่าผู้ชำระท่านทำงานได้อย่างยอดเยี่ยม ผมยังสงสัยว่ามีการเซ็นเซอร์ตัดทอนไปถึงหนึ่งในสามจริงๆ หรือครับ ฉบับเต็มในตำนานมีอยู่จริงหรือเปล่ากันแน่

ข้อกล่าวหาหรือข้อฟ้องของสมเด็จเจ้าพระยาฯ  สรุปได้ 6 ข้อดังนี้

1.        เอาพระนามพระเจ้าแผ่นดินดัดแปลงลงประกอบในนิราศ
2.        ติเตียนผู้บังคับกองทัพว่าไม่รู้ฤดูกาลที่ควรหรือไม่ควร
3.        มีข้อความกระทบกระเทียบแรงนัก
4.        เปรียบเทียบยกย่องข้างหนึ่ง (ชมเจ้าพระยามหินทรฯ) ติข้างหนึ่ง (ติเตียน สมเด็จเจ้าพระยาฯ)
5.        ผู้ขึ้นไปตักเตือน(หมายถึงสมเด็จเจ้าพระยาฯ) ขาดเมตตาจิตไม่มีความกรุณาต่อไพร่พลทั้งปวง
6.        ใช้ถ้อยคำหยาบคายมากในตอนจบ

ประการที่สอง ผมสงสัยว่านายทิมโดนลงโทษ แต่ท่านเจ้าพระยามหินทร์ฯ ลอยตัวไม่มีความผิดใดๆ ทั้งๆ ที่เห็นได้ชัดว่าเป็นผู้พิมพ์ ถ้าเป็นสมัยนี้ต้องเป็นจำเลยร่วมแน่นอน โทษของนายทิมเองก็ถูกยกเมื่อรับโทษได้ไม่นาน น่าสงสัยว่านี่เป็นเรื่องขัดแย้งกันระหว่างท่านสมเด็จเจ้าพระยากับเจ้าพระยามหินทร์ฯ จริงๆ หรือครับ?


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 พ.ค. 13, 14:36
คำถามของคุณม้า ข้อ ๑  ก็เป็นข้อที่น่าสงสัยอยู่เหมือนกันว่า ฉบับที่เราได้อ่านกันอยู่นี้เป็นฉบับที่ดึงเอาเนื้อความกลับมาเกือบจะครบหรือเปล่า   ถ้าหากว่าขาดหายไปก็ต้องเป็นตอนที่นายทิมสวดชยันโตไว้โดยเฉพาะ ไม่ปะปนกันเนื้อเรื่อง    ส่วนการตัดตอนให้สัมผัสระหว่างบทเชื่อมกันได้  น่าจะเป็นฝีมือผู้เชี่ยวชาญ  ถ้าไม่สมัยสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ก็อาจจะสมัยน.อ.สมภพ ภิรมย์ทำงานอยู่ในกรมศิลปากร
ทั้ง ๖ ข้อที่ว่า ดิฉันหาได้ ๕ ข้อ ข้อที่ ๑ ยังนึกไม่ออกว่าตอนไหนที่เป็นความเสียหายร้ายแรง

ข้อ ๒  ถ้าไม่ใช่ จะเป็นข้อขัดแย้งระหว่างใครล่ะคะ?  ไม่เข้าใจ


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 พ.ค. 13, 14:38
    เทียบกำลังคชสารกันแล้ว เจ้าพระยามหินทร์ฯแผ่วกว่าด้านสมเด็จเจ้าพระยาฯหลายช่วงตัว สกุลบุนนากมีบทบาทในแผ่นดินมาตั้งแต่รัชกาลที่2 เข้มมากขึ้นในรัชกาลที่ 3 สนับสนุนให้'วชิรญาณเถร' ครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 4  รับดูแลแผ่นดินให้ตอนต้นรัชกาลที่ 5
    การที่เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงกล้า 'เปิด' กับบิ๊กแผ่นดินเช่นท่านสมเด็จเจ้าพระยาฯ แปลว่าท่านมั่นใจว่าท่านก็มี 'ดี' พอตัว

    เชิญคุณ Jalito มาอ่านพระบรมราโชวาทในรัชกาลที่ 5  พระราชทานสมเด็จเจ้าฟ้าวชิรุณหิศ   ถึงเคยอ่านแล้วก็ขอให้อ่านอีกครั้ง  จะมองเห็นความรู้สึกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ ที่มีต่อขุนนางสำคัญในยุคนั้น

----------------------------------

ที่ ๒/๖๑๓๔                                                พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
                                       วันที่ ๘ กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๒

ถึง  ลูกชายใหญ่  เจ้าฟ้าวชิรุณหิศ
----------------------------------------------
     ในเวลานั้น  อายุพ่อเพียง ๑๕ ปีกับ ๑๐ วัน  ไม่มีมารดา มีญาติฝ่ายมารดาก็ล้วนแต่โลเลเหลวไหล หรือไม่โลเลเหลวไหลก็มิได้ตั้งอยู่ในตำแหน่งราชการอันใดเป็นหลักฐาน       ฝ่ายญาติข้างพ่อคือเจ้านายทั้งปวงก็ตกอยู่ในอำนาจสมเด็จเจ้าพระยา  และต้องรักษาตัวรักษาชีวิตอยู่ด้วยกันทั่วทุกองค์  ไม่เอื้อเฟื้อต่อการอันใดเสียก็มีโดยมาก  ฝ่ายข้าราชการถึงว่ามีผู้ที่ได้รักใคร่สนิทสนมอยู่บ้างก็เป็นแต่ผู้น้อยโดยมาก  ที่เป็นผู้ใหญ่ก็ไม่มีกำลังสามารถอาจจะอุดหนุนอันใด
     ...............................................
     ๔.  ส่วนข้าราชการผู้ใหญ่  ซึ่งรู้อยู่ว่ามีความรักใคร่นับถือพ่อมาแต่เดิม    (พ่อ) ก็ได้แสดงความเชื่อถือรักใคร่ยิ่งกว่าแต่ก่อน  จนมีความหวังใจว่าถ้ากระไร   คงจะได้ดีสักมื้อหนึ่ง  หรือถ้ากระไร  ก็จะเป็นอันตรายสักมื้อหนึ่ง
     ๕.  ผู้ซึ่งรู้อยู่ว่าเป็นศัตรูปองร้าย  ก็มิได้ตั้งเวรตอบ  คือเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง  ย่อมเคารพนับถือและระมัดระวังมิให้เป็นเหตุว่าคิดจะประทุษร้ายตอบ    หรือโอนอ่อนยอมไปทุกอย่าง  จนไม่รู้ว่าผิดว่าชอบ   เพราะเหตุที่รู้อยู่ว่าเป็นศัตรู

     เจ้าพระยามหินทรฯ อยู่ในข้อ ๔    เพราะท่านจงรักภักดีต่อสมเด็จพระจอมเกล้าฯ    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯจึงทรงผูกมิตรไว้แน่นแฟ้น      ส่วนข้อ ๕  ใครอยู่ในฐานะเป็น"ไม้ซุง" ในขณะที่พระเจ้าอยู่หัวเป็น "ไม้ซีก" คงไม่ต้องอธิบายเพิ่ม   
     หลังจากบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒   ความตึงเครียดอย่างในต้นรัชกาลคงจะคลายลง   เพราะอำนาจคืนกลับมาสู่พระเจ้าอยู่หัวแล้ว    เมื่อเกิดกรณีนิราศหนองคาย  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าก็ยังยึดนโยบายเดิมคือผ่อนปรนประนีประนอม  รักษาน้ำใจทุกฝ่ายไว้   แต่น่าสังเกตว่า แม้พระองค์ท่านสั่งลงโทษนายทิม และเอาหนังสือไปทำลายทั้งหมด  แสดงว่าทรงเห็นว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดเต็มๆ    แต่เมื่อนายทิมยืนกรานว่าทำคนเดียว   ลูกขุนก็ทำท่าว่าเชื่อตามคำให้การเพราะไม่มีหลักฐานอื่น    พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงอนุโลมตามนั้น    เจ้าพระยามหินทรฯเลยลอยนวล     แสดงได้อย่างหนึ่งว่าบัดนี้พระราชอำนาจนั้นแข็งกล้าพอที่จะคานความประสงค์ลึกๆ ของสมเด็จเจ้าพระยาฯได้แล้ว     
    ส่วนพวกเราคนรุ่นหลัง   ก็คงอ่านจากตามพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ  รู้ว่า พระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จกรมฯดำรง ตลอดจนขุนนางทั้งบ้านทั้งเมืองเขาก็คิดกันทั้งนั้นว่านายทิมไม่ใช่ตัวการ


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 พ.ค. 13, 20:24
    มาเล่าต่อถึงชีวิตนายทิม หลังออกจากคุก

    นายทิมซึ่งบัดนี้เป็นขุนจบพลรักษ์ ประจำกรมพระสุรัสวดีที่เจ้าพระยามหินทรฯว่าการอยู่   ไม่ได้แต่งนิราศอีกเลย  แต่ไปแต่งบทละครให้โรงละครเจ้าพระยามหินทรฯ ตามที่รวบรวมรายชื่อไว้ต้นกระทู้  สามารถย้อนไปอ่านได้ค่ะ

    สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเอ่ยถึงสำนวนการแต่งของนายทิมว่า
     " สังเกตดูจากสำนวนหนังสือที่หลวงพัฒนพงษ์แต่ง      ดูถือความกตัญญูเป็นธรรมวิถีสำคัญกว่าอย่างอื่น     เมื่อมาพิเคราะห์ดูตามเรื่องราวในประวัติก็เห็นประพฤติธรรมะข้อนั้นมั่นคงต่อเจ้าพระยามหินทรฯ    ฝ่ายเจ้าพระยามหินทรฯก็ได้สนองคุณตอบแทน     แม้ที่สุดเมื่อป่วยอาการมาก    จวนจะถึงอสัญกรรม   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปเยี่ยม   ก็ได้กราบบังคมทูล ฝากขอพระบารมีปกเกล้าฯ เป็นที่พึ่งแก่หลวงพัฒนพงษ์ฯโดยเฉพาะ"
   
    ถ้อยคำบางคำที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯทรงใช้  มีนัยยะให้เห็นถึงความผูกพันห่วงใยที่เจ้าพระยามหินทรฯ มีต่อนายทิมเป็นพิเศษกว่านายกับบ่าวทั่วไป    ราวกับว่านายทิมกระทำความกตัญญูเป็นพิเศษจนเจ้าพระยามหินทรฯ ห่วงใย   ขนาดใกล้จะสิ้นลมแล้วก็ยังไม่วายเป็นห่วงนายทิม   ถึงกับฝากฝังไว้ใต้พระบารมี      ปกติคนที่จะทำเช่นนี้ได้ก็มักจะเป็นพ่อฝากฝังลูก    ไม่เห็นที่ไหนที่นายฝากฝังบ่าวกับเจ้าเหนือหัว 


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 พ.ค. 13, 20:45
   เจ้าพระยามหินทรฯ ท่านมีธิดาชื่อมรกฏซึ่งท่านได้ถวายเป็นฝ่ายใน   มีพระองค์เจ้าพระองค์แรกเมื่อพ.ศ. 2415 ทรงพระนามว่าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุฑารัตนราชกุมารี   ตอนที่ยกทัพไปหนองคาย  พระองค์เจ้าจุฑารัตนฯเพิ่งมีพระชันษาได้ 3 ขวบ    ต่อมาเจ้าจอมมารดามรกฏมีพระองค์เจ้าอีกพระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ ประสูติเมื่อพ.ศ. 2325    ต่อมาทรงกรมเป็นกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ทรงเป็นต้นราชสกุล "เพ็ญพัฒน์"   ถ้าคนรุ่นหลังจำพระนามไม่ได้   ก็อาจจะจำพระนิพนธ์ "ลาวดวงเดือน" ที่ทรงแต่งได้ว่าไพเราะขนาดไหน

   เมื่อเจ้าพระยามหินทรฯถึงแก่อนิจกรรม   นายทิมก็ลาออกจากกรมสุรัสวดี   มาสมัครเป็นข้าในพระองค์ของเจ้านายทั้งสองพระองค์   ทำหน้าที่เก็บผลประโยชน์ถวายตลอดมา    จนพ.ศ. 2439  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงเห็นว่าเป็นผู้มีความกตัญญู และทรงระลึกถึงเรื่องที่เจ้าพระยามหินทรฯเคยฝากฝังไว้  จึงพระราชทานเลื่อนขั้นขึ้นเป็น "หลวงพัฒนพงษ์ภักดี"  สังกัดกรมพระคลังข้างที่  เมื่อนายทิมอายุได้ 49 ปี

   หลังจากกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมสิ้นพระชนม์  หลวงพัฒนพงษ์ฯก็เลิกแต่งหนังสือ  ทำหน้าที่เก็บผลประโยชน์ถวายเจ้านายอย่างเดียว   ระหว่างนั้นก็เอาใจใส่กวดขันบุตรชาย 2 คนให้เอาใจใส่เล่าเรียนหนังสือเพื่อจะรับราชการต่อไป     นับว่าความหวังของหลวงพัฒนพงษ์ฯก็สัมฤทธิ์ผล   บุตรชายทั้งสองได้ดีในราชการทั้งคู่ คนโตคือมหาอำมาตย์โท พระยาสารศาสตร์ศิริลักษณ์ ( สรรเสริญ สุขยางค์​ ) และคนเล็กคือพระสาโรชรัตนนิมมานก์( สาโรช  สุขยางค์)


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 พ.ค. 13, 09:54
    หลวงพัฒนพงษ์ภักดีมีอายุยืนยาวมาจนถึงรัชกาลที่ 6   ถึงพ.ศ. 2458  ก็ป่วยเป็นโรคลม อันเกิดจากหัวใจพิการ   แก้ฟื้นขึ้นมาได้หนหนึ่ง   จากนั้นก็เป็นอีก คราวนี้แก้ไขไม่ทัน   บุตรชายคนโตขณะนั้นเรียนจบด้านวิศวกรรมศาสตร์จากอังกฤษและอเมริกาแล้ว กลับมารับราชการเป็นเจ้ากรมทางอยู่ในกระทรวงคมนาคม     ส่วนบุตรชายคนเล็กยังเรียนอยู่ต่างประเทศ
    หลวงพัฒนพงษ์ภักดีถึงแก่กรรมเมื่อ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2458  อายุ 68 ปีย่าง 69   



กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 29 พ.ค. 13, 20:11
     

      
   ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2400 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นราชทูต และเจ้าหมื่นสรรเพชรภักดี เป็นอุปทูต นำพระราชสานส์ และคุมเครื่องบรรณาการ ออกไปเจริญสัมพันธไมตรี กับประเทศอังกฤษ ภายหลังจากเสร็จกิจ ในฐานะอุปทูต เจ้าหมื่นสรรเพธภักดี จึงได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ จางวางมหาดเล็ก

   ด้วยความเคารพครับ  น่าจะคลาดเคลื่อน

   ราชทูตที่เป็นหัวหน้าคณะทูตสยามไปราชสำนักอังกฤษ พ.ศ. 2400 คือคุณชุ่ม บุนนาค-พระยามนตรีสุริยวงศ์ น้องชายคุณช่วง  และมีนิราศลอนดอนเกิดขึ้นคราวนั้นโดยหม่อมราโชทัยล่ามประจำคณะ ::)


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ค. 13, 16:37
ขอบคุณค่ะ    ที่จริงเรื่องพระยามนตรีสุริยวงศ์ไปเป็นราชทูต  ก็มีอยู่ในกระทู้เก่า   ไม่น่าเลย

กลับมาเรื่องข้อสงสัยที่พูดแต่แรก   ว่าสาเหตุเรื่องกองทัพเจ้าพระยามหินทรฯไม่ยอมเคลื่อนพ้นหาดพระยาทศ   เกิดจากอะไร
ดิฉันสันนิษฐานตามคำบอกเล่าของนายทิม  ซึ่งไม่มีเหตุผลอะไรจะต้องมาโกหก   ว่าเพราะดงพระยาไฟมีไข้ป่าชุกชม เป็นที่น่าหวั่นวิตกจริง     เพราะพอพ้นหน้าฝนเจ้าพระยามหินทรฯท่านก็พาทัพไปจริงๆอย่างที่กราบเรียนสมเด็จเจ้าพระยาไว้     
ถ้าถามว่าทำไมเจ้าพระยามหินทรฯกังวลเรื่องไข้ป่า    เราคงจำได้ว่าเมื่อครั้งเกิดสุริยุปราคาที่หว้ากอ    ก็ไข้ป่านี่ไม่ใช่หรือที่เล่นงานผู้คนจากเมืองหลวงที่ไปตั้งค่ายอยู่ตรงนั้นเสียงอมพระรามไปตามๆกัน    ที่สำคัญที่สุดและเป็นเรื่องที่น่าจะสั่นสะเทือนใจเจ้าพระยามหินทรฯมากที่สุด คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเสด็จสวรรคตด้วยไข้ป่านี้เช่นกัน   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯก็ประชวรหนักแทบจะไม่รอด   ยังดีที่พระชนม์ยังน้อยและแข็งแรง จึงทรงฟื้นพระองค์ขึ้นมาได้ในที่สุด

ดังนั้น ถ้ายกทัพผ่านดงพระยาไฟในหน้าฝน ชะตากรรมเดียวกันก็คงเกิดแก่ทัพไทย    ไข้ป่ามันไม่เลือกหรอกว่านายหรือบ่าว    เจ้าพระยามหินทรฯจึงให้รั้งรออยู่นอกเขตอันตรายเสียก่อน    พอเห็นว่าฤดูกาลเปลี่ยน ไข้คงเบาบางลง ถึงยกทัพผ่านไป
เรื่องยกทัพหน้าฝนนี่   นายทิมถึงได้สาปแช่งพวกฮ่อเสียพอแรงที่ต้องเดินทัพหน้าฝน 
ฤดูฝนความไข้มิได้หยอก      ผู้ใหญ่บอกเศร้าจิตคิดสยอง
ที่ในดงลึกล้ำล้วนน้ำนอง      จะยกกองทัพไปกลัวไข้ดง
ซึ่งปู่ย่าตาลุงครั้งกรุงเก่า      ฟังเขาเล่าจำไว้ไม่ใหลหลง
ฤดูฝนเป็นไม่ไปณรงค์              ทำการสงครามแต่ก่อนบ่ห่อนเป็น
แต่เมื่อใดฝนแล้งแห้งสนิท      จึงจะคิดยกทัพไปดับเข็ญ
คิดขึ้นมาน้ำตาตกกระเด็น      ไม่วางเว้นกลัวตายเสียดายตน
โอ้กรรมเราเกิดมาเวลานี้      พอไพรีมาสู่ฤดูฝน
นึกแค้นอ้ายพวกฮ่อทรชน      จะฆ่าคนเสียด้วยไข้ใช้ปัญญา ฯ


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 30 พ.ค. 13, 19:00
เรื่องไข้ป่า นอกจากจะเป็นเรื่องสะเทือนใจพระยามหินทรฯ แล้ว ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่คนกรุงยุคนั้นสมควรเกรงกลัวจริงๆ ครับ

มีงานวิจัยระบุว่าคนไทยถึง 40% เป็นพาหะของโรคธาลัสซีเมีย เฉพาะที่เป็นโรคนี้ก็มีถึง 1% เรียกว่าในคนไทย 60 ล้านคนนี้เป็นโรคนี้ถึง 600,000 คน และเป็นพาหะมากถึง 24 ล้านคน ความที่โรคนี้มีสาเหตุจากพันธุกรรม ก็ต้องถือว่าแปลกที่โรคนี้แพร่หลายมากมายถึงขนาดนี้ สาเหตุก็คือว่า ผู้ที่มีพันธุกรรมธาลัสซีเมียนี้ทนต่อไข้ป่าได้ดีกว่าคนปกติครับ เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่าไข้ป่านั้นระบาดมากเพียงใดในประเทศไทย ผมยังสงสัยว่าในอดีตที่บ้านเมืองยังเป็นป่ามากกว่านี้ ยังน่าจะมีคนเป็นพาหะมากกว่า 40% ด้วยซ้ำไป

ที่ผมตั้งข้อสังเกตอย่างนี้เพราะคนเป็นพาหะธาลัสซีเมียในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทยมีสัดส่วนไม่เท่ากัน ในถาคเหนือภาคอีสานถือว่าชุกชุมมาก ภาคกลางเบาบาง ยิ่งในกรุงยิ่งมีน้อย ผมขอเดาอย่างมั่นใจว่าประชากรแถบดงพญาไฟที่ขึ้นชื่อลือชาว่าเป็นดงไข้ป่าในสมัย ร.5 ต้องมีคนเป็นพาหะธาลัสซีเมียเป็นเปอร์เซ็นต์สูงมากแน่ๆ เพราะพวกที่ไม่ใช่พาหะมีโอกาสตายจากไข้ป่าสูงมาก (เสียโอกาสในการสืบทอดพันธุกรรม) ในขณะที่คนกรุงในเวลานั้น ถึงแม้ว่าน่าจะมีพาหะฯ น้อยกว่ากว่าปัจจุบัน แต่คนพวกนี้ถ้าต้องเข้าไปในพื้นที่ดงพญาไฟ ถือว่ามีความเสี่ยงสูงมากทีเดียวครับ เพราะทนโรคได้น้อยกว่าคนในพื้นที่ ยิ่งระยะทางในดงพญาเย็น จำเป็นต้องค้างแรมกลางป่า ท่านเจ้าพระยามหินทรฯ เกรงไข้ป่าก็ถือเป็นความกังวลที่ไม่ได้เกินเลยไปเลยครับ

แต่จะว่าเส้นทางปราบฮ่อไม่ได้มีทางเดียวน่าจะหลบเลี่ยงได้ ข้อนี้จริง แต่มีข้อจำกัดอยู่ครับ

ทัพฮ่อตั้งแยู่แถบเชียงขวาง สามารถไปทางหลวงพระบาง แล้วข้ามมายังภาคเหนือ และยังสามารถลงมาเวียงจันแล้วข้ามมาภาคอีสานได้ ทัพเจ้าพระยาภูธราภัยยกขึ้นไปทางอุตรดิตถ์ เข้าน่าน แล้วเข้าไปหลวงพระบาง นอกจากรุกแล้ว ยังป้องกันพวกฮ่อรุกเข้ามาทางเหนือได้ ในขณะที่ภารกิจของทัพเจ้าพระยามหินทรฯ คือมุ่งหน้าไปยังทัพฮ่อ โดยป้องกันเส้นทางอีสานไว้ด้วย มีความจำเป็นที่สมควรจะเดินทัพทั้งสองเส้นทางครับ และหลบเลี่ยงดงพญาไฟได้ยากครับ


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 30 พ.ค. 13, 22:49
ได้ลองจินตนาการเป็นMV ท่านแม่ทัพมหินทรฯสั่งลุยฝ่าดงพระยาไฟเข้าไปเพื่อจะได้เผด็จศึกทัพฮ่อไวๆ  แล้วจู่ๆมีภาพแบบประตูน้ำบางโฉมศรีแตก แต่เป็นบางโฉมศรีที่ลาดชันเหนือไพร่พลของท่านเจ้าคุณมหินทรฯสัก 10 องศา  ทหารไทยคงกระจัดกระจายไปทั่วดงตามเก็บกันไม่ไหว  ผู้บัญชาการทัพที่ไหนก็ไม่ต้องการสูญเสียแบบตื้นๆนี้แน่ๆ  เป็นไข้ป่ายังพอมีเวลาพูดจาสั่งเสีย  แต่หายนะจากน้ำป่านั้นพริบตาเดียว เช่นที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นที่วังตะไคร้เมื่อประมาณยี่สิบกว่าปีก่อน


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 พ.ค. 13, 09:40
ในการเดินทางบุกป่าฝ่าดง อะไรๆมันก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้นค่ะ  เห็นด้วย     นอกจากน้ำป่า อาจจะมีไฟป่า  ไข้ป่า  สัตว์ป่า  สารพัดชนิดที่ทัพเจ้าพระยามหินทรฯมีสิทธิ์เจอ   แต่ทำศึกก็คือทำศึก     จะมัวให้พร้อม ปลอดภัยไปเสียทุกอย่าง แล้วค่อยไปรบกับพวกฮ่อ   อาจจะไม่เหลือเวลาให้รบแล้วก็ได้

ไปเปิดอ่านประวัติการปราบฮ่อ ซึ่งเป็นศึกยืดเยื้อสมัยรัชกาลที่ 5  พบว่า 10 ปีต่อมาจากนิราศหนองคาย    ไทยก็ต้องยกทัพไปปราบฮ่ออีก โดยจัดเป็นสองกองทัพคือกองทัพฝ่ายใต้และกองทัพฝ่ายเหนือ

กองทัพฝ่ายใต้มีนายพันเอก พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมเป็นแม่ทัพยกไปปราบฮ่อในแคว้นเมืองพวน (อุดรธานี)และได้ตั้งกองบัญชาการกองทัพอยู่ที่เมืองหนองคาย   กองทัพฝ่ายเหนือมีนายพันเอก เจ้าหมื่นไวยวรนาถ (เจิม แสง-ชูโต) เป็นแม่ทัพยกไปปราบฮ่อในแคว้นหัวพันห้าทั้งหก ยกกำลังออกจากกรุงเทพฯ ชุมนุมทัพที่เมืองพิชัยแล้วเดินทัพต่อไปยังเมืองน่าน แล้วยกกำลังไปถึงเมืองหลวงพระบาง
พ.ศ. 2429 สามารถปราบฮ่อได้ราบคาบแล้วจึงยกกำลังกลับถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2430

เส้นทางของกรมหลวงประจักษ์ ฯ และเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี(เจิม แสง-ชูโต) ต้องผ่านดงพระยาไฟหรือเปล่า    ใครพอจะคำนวณเส้นทางได้บ้างคะ


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 พ.ค. 13, 15:21
ที่ถาม ก็เพราะว่ามีความเป็นไปได้ 2 ข้อ
1    ถ้าหากว่าเส้นทางไปหนองคายของกรมหลวงประจักษ์ฯ เป็นเส้นทางอื่น ที่ไม่ผ่านดงพระยาไฟ     ก็แสดงว่าการไปอีสานมีได้มากกว่า 1 ทาง      เจ้าพระยามหินทรฯอาจจะยกทัพกลับไปตั้งต้นใหม่ ในเส้นทางนี้ก็ได้   แต่ท่านไม่ได้ทำ
2    ถ้าหากว่ากรมหลวงประจักษ์ฯใช้เส้นทางไปหนองคาย ผ่านดงพระยาไฟเช่นเดียวกับเจ้าพระยามหินทรฯ   ก็แสดงว่า เส้นทางนั้นคงไม่เลวร้ายถึงขั้นเป็นไข้ป่าตายกันง่ายๆ ไปครึ่งค่อนกองทัพ      มิฉะนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคงไม่ทรงยอมให้พระเจ้าน้องยาเธอ ซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญพระองค์หนึ่งในช่วงนั้น  ต้องไปเสี่ยงสิ้นพระชนม์ มากกว่าจะรอด ระหว่างทาง

ผลที่ปรากฏต่อมาคือกรมหลวงประจักษ์ฯ ก็ผ่านเส้นทางไปได้อย่างดี ไม่มีปัญหา   สามารถไปทำภารกิจได้สำเร็จ แล้วก็ยังเป็นกำลังสำคัญในการจัดการการปกครองอีสานได้อีกด้วย   


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 31 พ.ค. 13, 17:09
กรมหลวงประจักษ์ฯ ทรงเดินทัพไปอีกทางหนึ่งครับ โดยเสด็จขึ้นไปพิษณุโลกทางน้ำ แล้วเดินบกตัดไปทางหล่มสัก เข้าไปหนองคายครับ

มองอีกแง่หนึ่ง การที่เจ้าพระยามหินทรฯ ไม่ได้เร่งร้อนนัก ก็เพราะมีทัพพระยามหาอำมาตย์ ทัพพระยานครราชสีมารับมืออยู่ชั้นหนึ่งแล้ว ท่านอาจจะประเมินว่าน่าจะ "เอาอยู่" ด้วยกระมังครับ


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 พ.ค. 13, 18:27
เป็นอันว่าเส้นทางอื่นที่ไม่ผ่านดงพระยาไฟก็มีจริงๆ      แต่ดูเหมือนทั้งเจ้าพระยาและสมเด็จเจ้าพระยาไม่ได้คิดถึงทางเลือกที่สองเลย
นายทิมไม่ได้เอ่ยถึงทัพพระยามหาอำมาตย์ในนิราศหนองคายในตอนต้น หรือตอนพักที่หาดพระยาทศ       มาเอ่ยก็เมื่อมีคนมาส่งข่าวว่าพระยามหาอำมาตย์ปราบฮ่อได้แล้ว    เลยไม่รู้ว่าเจ้าพระยามหินทรฯ ท่านรู้ข้อนี้หรือเปล่าว่ายังไงก็มีอีกทัพไปยันเอาไว้

ถ้าถือว่านายทิมสะท้อนความรู้สึกของนายลงในนิราศหนองคาย   เพราะนายคิดยังไง ลูกน้องคนสนิทก็น่าจะคิดยังงั้น   จะเห็นได้ว่านายทิมไม่ได้รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจเรื่องทัพฮ่อยกมายึดหนองคาย     แต่เดือดร้อนเรื่องความลำบากและภยันตรายที่จะได้รับระหว่างทางแทน    แปลอีกทีคือใครเขาจะรบกันที่ไหนก็ช่าง    ไอ้ที่กลุ้มอยู่นี่คือไข้ป่าและความลำบากนี่แหละ


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 01 มิ.ย. 13, 00:02
ทัพที่ไปตั้งอยู่สระบุรีจะเปลี่ยนเส้นทางขึ้นไปทางพิษณุโลกหล่มสักต้องอ้อมย้อนลงมาที่อยุธยาแล้วค่อยขึ้นไปพิษณุโลก เสียเวลาบ้างแต่ไม่ถึงกับเป็นไปไม่ได้ แต่ทางสมเด็จเจ้าพระยาท่านก็ไม่ได้เสนอให้เดินทัพทางนี้ เร่งแต่ให้ขึ้นโคราชให้เร็วที่สุด เป็นไปได้ว่าเส้นทางพิณุโลกหล่มสักอาจจะไม่เป็นที่คุ้นเคยในเวลานั้น หรือเพราะไม่ได้วางแผนไว้แต่ต้น ทางพิษณุโลกก็อาจจะไม่ได้เตรียมคนเตรียมพาหนะไว้ หรือที่แย่กว่านั้นคือ เส้นทางนั้นอาจจะไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่ดีกว่าเลย เพราะผมไปเปิดปฏิทินแล้วพบว่าปี 2418 นั้น เดือน 11 ก็ยังอยู่ในราวเดือนกันยา-ตุลา นอกจากยังมีฝนแล้วเผลอๆ จะมีน้ำป่าอย่างที่คุณ Jalito ตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยครับ


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มิ.ย. 13, 21:29
     การวางแผนเส้นทางไปหนองคาย ต้องเตรียมล่วงหน้ากันตั้งแต่อยู่กรุงเทพแล้ว    เหตุผลหลักของการเลือกเส้นทางคือเดินทางสั้นที่สุด    เพราะฉะนั้น ทางไปโคราชผ่านดงพระยาไฟน่าจะเป็นเส้นทางลัดสุด    ในเมื่อข้าศึกยึดเมืองได้แล้วทางโน้น  ทัพทางนี้จะมัวเอ้อระเหยหาหนทางดีๆ แม้จะอ้อมมากไปหน่อยก็ทำไม่ได้อยู่ดี   มันจะช้าเกินการ
    ที่สำคัญคือไม่มีใครคิดว่าเจ้าพระยามหินทรฯท่านจะมาใส่เบรคมืออยู่กลางทาง   ในเมื่อตอนอยู่ต้นทางในกรุงเทพ ก็ไม่เห็นพูดถึงปัญหาข้อนี้       ปัญหาที่นายทิมสะท้อนเอาไว้คือไม่อยากเดินทางในฤดูฝน     ข้อนี้ถึงไม่อยากก็ต้องไป    ไปๆมาๆปัญหามันก็เลยกลายเป็นงูกินหางไป     ฮ่อยกทัพมาตีหนองคาย>ไม่ไปก็ต้องไป>ไปแล้วไม่อยากไปต่อ> ไม่อยากไปต่อก็ต้องไป> ถึงต้องไปก็ไม่อยากไป...
      ???   ???   ???

    ที่จริงนอกจากความขัดแย้งของพญาคชสารทั้งสองแล้ว  นิราศหนองคายก็ยังมีรสชาติแสบเผ็ดให้เอ่ยถึงได้อีก 2-3 เรื่อง  อย่างหนึ่งคือสะท้อนเบื้องหลังค่อนข้างเละเทะในสมัยยกทัพ   ซึ่งตอนที่พิมพ์ออกมาเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ดูเหมือนจะถูกอกถูกใจนักอ่านแนวสังคมนิยมอยู่มาก      เห็นว่าเป็นการแฉเบื้องหลังศักดินา
    เกณฑ์เลขทาสทั้งที่มีค่าตัว      ดูนุงนัวนายหมวดเร่งกวดขัน
ผู้ที่เป็นมุลนายวุ่นวายครัน              บ้างใช้ปัญญาหลอกบอกอุบาย
ว่าตัวทาสหลบลี้หนีไม่อยู่              ข้างเจ้าหมู่เกาะตัวจำนำใจหาย
ที่ตัวทาสหนีจริงวิ่งตะกาย              ทำวุ่นวายยับเยินเสียเงินทอง
เกณฑ์ขุนหมื่นขึ้นใหม่ในเบี้ยหวัด      ขุนหมื่นตัดเกณฑ์ตามเอาสามสอง
ท่านนายเวรเกณฑ์กวดเต็มหมวดกอง   เอาข้าวของเงินตราปัญญาดี
เหล่าพวกขุนหมื่นไพร่ต้องไปทัพ      ที่มีทรัพย์พอจะจ่ายไม่หน่ายหนี
สู้จ้างคนแทนตัวกลัวไพรี              ที่เงินมีเขาไม่อยากจะจากจร ฯ
   
   ในต้นรัชกาลที่ 5  ช่วงนั้นยังมีระบบไพร่อยู่   การเกณฑ์คนไปรบที่มีระเบียบกฎเกณฑ์อย่างหลวมๆ  เพราะยังไม่มีระบบทหารประจำการอย่างสมัยหลัง จึงค่อนข้างชุลมุนวุ่นวาย    เจ้าขุนมูลนายที่มีแรงงานเลกในสังกัด เมื่อถูกเกณฑ์เลกไปร่วมรบ  ก็อยากให้บ้างไม่อยากให้บ้าง    จึงแจ้งว่าทาสหนีบ้างอะไรบ้าง     ส่วนพวกขุนนางชั้นผู้น้อยที่ต้องไปทัพก็ไม่อยากจะไป เพราะมันอันตราย อาจจะตายง่ายๆ   เมื่อถูกเกณฑ์ก็เลยหาอุบายจ้างคนไปแทนตัวก็มี   
   ปัญหาคอรัปชั่นมีมาทุกยุคทุกสมัย


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มิ.ย. 13, 10:54
      นอกจากเรื่องคอรัปชั่นที่ยังไม่ตกยุคแล้ว   เรื่อง "อุ้ม" ให้หายสาบสูญไปก็มีเหมือนกัน   ไม่น้อยหน้าข่าวสมัยนี้

    ทัพของเจ้าพระยามหินทรฯมีพิเศษกว่าทัพอื่นๆอยู่อย่างหนึ่งคือ มีละครประจำกองทัพด้วย      เป็นเพราะแม่ทัพเป็นเจ้าของโรงละครโด่งดังในเมืองหลวง    บ่าวไพร่ที่ติดตามไปในกองทัพก็คงจะเป็นครูละครกันหลายนายด้วยกัน จึงสามารถฝึกละครให้ผู้ชายในทัพได้ แสดงละครเองก็ทำได้เช่นกัน       ดังนั้นเมื่อไปตั้งทัพอยู่ที่โคราชนานเข้า จนถึงเดือนยี่     ทางกรุงเทพไม่ส่งสารตราเรียกกลับเสียที แต่กลับมีสารตรามาบอกว่าให้รออยู่ที่นั่น    เมื่อใดมีข่าวเจ้าพระยาภูธราภัยต้องการกำลังพลไปสมทบ ก็ให้ยกไป      เจ้าพระยามหินทรฯท่านเห็นไพร่พลเซ็งกันเต็มทีเพราะต้องจับเจ่าอยู่ที่โคราชนานเป็นเดือนๆ ไม่มีกำหนดกลับ    ท่านก็เลยจัดละครกองทัพให้เล่นกัน เพื่อบำรุงจิตใจทหารให้ครึกครื้น
    เมื่อทัพไทยจัดละคร  ชาวบ้านชาวเมืองทั้งหลายก็อุ้มลูกจูงหลานแห่กันมาดูละครเป็นเรื่องเอิกเกริก   สนุกสนานกันทั่วหน้า    จากนั้นก็เกิด side effect หรือผลข้างเคียงขึ้นมา   เพราะดาราละครของเจ้าคุณมหินทรฯล้วนแต่รูปหล่อ    สาวๆชาวเมืองหลงรักกันทั่วเมือง   ก็เสนอตัวกันมาหากันไม่ขาดสาย    เหล่าละครทั้งหลายล้วนได้กิ๊กสาวชาวโคราชกันทั่วถ้วน     
    ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อสาวๆชาวโคราชที่ว่านี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะสาวชาวบ้านเท่านั้น     แต่กินแถวไปถึงลูกเมียและเมียน้อยสาวๆของเจ้าเมืองโคราชด้วย     ทำเอาท่านเจ้าเมืองวุ่นวายใจ   ต้องสั่งบ่าวเฝ้าเวรยามตามประตูจวนข้าหลวงกันเพิ่มเติม กวดขันกันเข้มงวด  กลัวว่าสาวๆในบ้านพักจะลอบหนีตามพระเอกในกองทัพไป
   ขนาดกวดขัน ก็เกิดเรื่องขึ้นจนได้


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 มิ.ย. 13, 10:08
   เจ้าเมืองโคราชมีเมียน้อย (สมัยนั้นเรียกกันว่า "หม่อม" )คนโปรดอยู่คนหนึ่งชื่อหม่อมปลั่ง      วันหนึ่ง  ค้นเจอเสื้อและหมวกทหารกองทัพซุกอยู่ในห้องของเธอ   ก็โกรธเป็นไฟไหม้ป่า   สั่งสอบสวนทันทีว่าของสองอย่างนี้มันหลุดเข้ามาอยู่ในห้องได้ยังไง    วิธีสอบสวนของท่านก็คงมีประสิทธิภาพไม่แพ้การสอบสวนของตำรวจสมัยนี้  หม่อมปลั่งก็เลยยอมเปิดปากสารภาพว่า บ่าวชื่ออีพุ่มเป็นคนเอามาให้   สาเหตุเพราะเธอคิดจะหนีออกจากบ้านโดยปลอมตัวเป็นผู้ชาย       พอได้คำตอบ  พระยาโคราชก็เลยซ้อมเมียไปอีกหนึ่งยก แล้วสั่งบริวารจับอีพุ่ม เฆี่ยนเสียเจียนตาย
   อีพุ่มถูกเฆี่ยนปางตาย  ก็ยอมเปิดปากให้การซัดทอดไปว่ามีคุณหลวงอะไรคนหนึ่งจากกองทัพเอาเสื้อผ้าฝากมาให้หม่อม    ฟังแล้วเจ้าคุณยิ่งโกรธหนักเข้าไปอีก    อีพุ่มกลายเป็นลูกฟุตบอลให้ท่านซ้อมฝีเท้าเสียแทบกระอักขาดใจตาย   พอจบเกม คงจะเหนื่อยหมดแรงเตะต่อไม่ไหว ท่านก็สั่งให้ตีตรวนขนาดใหญ่  ล่ามโซ่ซ้ำเข้าไปอีกมิให้อีพุ่มหนีไปไหนได้   แถมยังเรียกบ่าวในบ้านมานั่งคุมกันแน่นหนามิให้รอดสายตา
   จากนั้น พระยาโคราชก็หอบหมวกและเสื้อหลักฐานสำคัญมาร้องเรียนกับพระยาราชเสนา   พระยาราชเสนางานเข้าแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวก็รีบรายงานตามลำดับขั้นคือนำความขึ้นกราบเรียนเจ้าพระยามหินทรฯ
 


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 มิ.ย. 13, 10:24
    เมื่อเจ้าพระยามหินทรฯ รับหนังสือร้องเรียนมาอ่าน  รู้เนื้อถ้อยกระทงความท่านก็ดูออกด้วยความชำนาญว่า งานเข้าท่านอีกหนึ่งคนแล้ว     เรื่องนี้ไม่ต่างอะไรกับขุนช้างขุนแผน เป็นเรื่องหนึ่งหญิงสองชาย  บัดนี้เจอนางวันทองโคราชเข้าให้แล้ว  ท่านเองตกที่นั่งพระพันวษาแบบไม่ได้เตรียมตัว   
    ก่อนอื่นท่านให้สอบถามจากบรรดานายกองว่าหมวกกับเสื้อเป็นของที่นี่จริงไหม   ก็ได้คำตอบจากนายทหารว่าเป็นเสื้อหมวกของกองทัพจริง    แต่ว่าของเก่านั้นไม่มี ไม่เหมือนอย่างที่อีพุ่มซัด    ตรงนี้อ่านที่นายทิมเขียนแล้วก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าหมายความว่าอะไร แต่ดูจากบริบทแล้วน่าจะแปลว่า "ไม่รู้ว่าเป็นของใคร" หรือ "จับมือใครดมไม่ได้"
   เจ้าพระยามหินทรฯ ท่านก็เลยบอกเจ้าเมืองโคราชว่าอย่างนั้นก็ต้องสอบสวนเรื่องราวกันให้ถี่ถ้วน     คือต้องส่งตัวคนกลางอันได้แก่หม่อมปลั่งมาให้ท่านสอบสวนหาความจริง   เพราะนี่มีแต่คำร้องเรียน ไม่มีพยาน    พระยาโคราชได้ฟังก็หน้าหุบ เพราะหวงเมียสาว    ไม่อยากเอาตัวมานั่งให้การท่ามกลางผู้ชายมากมายก่ายกอง     ไม่รู้จะทำยังไง  ก็เลยกราบลากลับไป
   วันรุ่งขึ้น ชาวบ้านลือกันเซ็งแซ่ไปหมดว่า อีพุ่มหายตัวไปเสียแล้ว    บางคนบอกว่าอีพุ่มหนีไปได้สำเร็จ  แต่ก็มีบางคนสงสัยว่าอีพุ่มถูกล่ามโซ่ตีตรวนหนาแน่น มีคนเฝ้าทางเข้าออกกันหลายคนขนาดนั้น  จะหักโซ่ตรวนเล็ดลอดหนีไปได้ยังไง     น่าจะเป็นว่าอีพุ่ม "ถูกอุ้ม" เรียบร้อยไปแล้ว เพื่อกลบเกลื่อนความให้เงียบหายไป 
    ในเมื่อเจ้าเมืองโคราชเป็นคนใหญ่คนโต   เรื่องซุบซิบแบบนี้ก็เซ็งแซ่อยู่พักหนึ่ง   แล้วก็เงียบหายไป  ชาวบ้านตาดำๆก็ไม่รู้จะไปเรียกร้องเอากับใครได้    ก็เป็นอันว่าคดีอีพุ่มถูกอุ้มก็ยังเป็นเรื่องลึกลับอยู่จนบัดนี้   นายทิมเองก็ไม่รู้และไม่ได้ติดตามต่อว่าอีพุ่มหนีไปจริงหรือว่าถูกเก็บเรียบร้อยไปแล้ว



กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 มิ.ย. 13, 20:16
        ประสบการณ์ของนายทิมตามที่บันทึกไว้เรื่องเดินทัพคราวนี้    ถ้าไม่นับความลำบากในการบุกป่าฝ่าดง  ซึ่งชาวเมืองหลวงอย่างนายทิมรู้สึกว่าลำบากเพราะไม่คุ้นมาก่อน    ก็นับว่าทัพของเจ้าพระยามหินทรฯ เป็นทัพที่เฮฮามากกว่ากดดัน      เริ่มตั้งแต่ไปพักที่ท่าพระยาทศอยู่ยาวนาน    ก็พักกันอย่างบันเทิงเริงรมย์อยู่พักใหญ่  ดังที่เล่าเอาไว้แล้วในกระทู้นี้    ก็ขอทบทวนอีกครั้ง

        ข้างกองทัพยับยั้งฟังคดี      พร้อมอยู่ที่พระยาทศหมดด้วยกัน
เจ้าพระยาแม่ทัพบังคับการ               ซ้อมทหารกระบวนรบให้ขบขัน
ได้ฝึกสอนเช้าเย็นไม่เว้นวัน               ตั้งแต่นั้นเป็นคนสุขสนุกจริง
พวงหนุ่มหนุ่มกลุ้มเกรียวไปเที่ยวเล่น       ล้วนแต่เป็นเจ้าชู้เกี้ยวผู้หญิง
บ้างโกรธขึ้งหึงหวงเที่ยวช่วงชิง       แล้วค้อนติงพูดกระแทกที่แดกดัน
ด้วยลูกสาวลาวชุมหนุ่มหนุ่มเกี้ยว       บ้างก็เที่ยวหาอวดประกวดประขัน
บ้างสู่ขอเป็นเมียได้เสียกัน              แต่ตัวฉันไม่อยากเที่ยวไปเกี้ยวใคร

       จะเห็นได้ว่าทัพนี้ไม่เข้มงวดเรื่องระเบียบวินัย   หมดเวลาฝึกแล้วก็แล้วกัน      ไพร่พลหนุ่มๆก็ถูกปล่อยไปเที่ยวเล่นจีบผู้หญิงได้ตามสบาย  ขนาดไปสู่ขอสาวชาวบ้านมาเป็นเมียได้ ก็แสดงว่ามีเวลาว่างมากเอาการ      ขนาดนายทิมเองออกตัวว่าไม่ใช่คนเจ้าชู้  ก็ยังไม่วายมีแม่ค้าสาวมาทอดสะพานให้ถึงที่

       วันหนึ่งนางแม่ค้าเรือมาขาย      เฝ้ามาดหมายรักฉันจิตฟั่นเฝือ
อุตส่าห์หาเปรี้ยวหวานมาจานเจือ      ประหลาดเหลือแล้วเราเขาเอาจริง 

      การที่แม่ค้าสามารถเข้าถึงตัวหนุ่มคนสนิทของแม่ทัพ   ขนาดหาของกินมาเอาอกเอาใจได้ก็หมายความว่า การเข้าถึงไพร่พลในกองทัพทำได้ง่าย     ไม่มีระเบียบกวดขันในการเข้าออกอย่างการตั้งค่ายทหารทั่วไป    มิน่า  หนุ่มๆทั้งหลายถึงได้อยากอยู่กัน ไม่อยากจะเดินทัพต่อ


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 มิ.ย. 13, 20:48
        ทัพนี้มีรายการบันเทิงพิเศษอีกอย่างที่ทัพอื่นๆไม่น่าจะมี เพราะไม่เคยเห็นบันทึกไว้ในวรรณคดีเรื่องใด    คือเดินทัพโดยมีละครติดไปในกองทัพด้วย   เป็นละครชายเล่นเป็นทั้งตัวพระและตัวนาง     เรื่องที่เล่นก็คงเป็นเรื่องจักรๆวงศ์ๆ ที่เล่นกันอยู่ในโรงละครของท่านในเมืองหลวง     ตั้งค่ายที่ไหนท่านแม่ทัพก็สั่งให้ละครออกมาเล่นกันเป็นที่บันเทิง    เมื่อไปถึงโคราช เจ้าเมืองจัดงานโกนจุกหลาน   ท่านแม่ทัพก็จัดละครไปช่วยงาน    สมัยนั้นเป็นของโก้สำหรับชาวโคราชเหมือนเอาละครบรอดเวย์มาเล่นที่ศูนย์วัฒนธรรมในสมัยนี้     จึงได้เกิดเรื่องหม่อมของเจ้าเมืองลักลอบเป็นชู้กับหนุ่มในกองทัพ 
        เพราะฉะนั้นถ้าคิดว่านิราศหนองคายเป็นเรื่องบันทึกความยากแค้นของคนรากหญ้าสมัยรัชกาลที่ ๕ ในการเดินทัพ   ก็ต้องบอกต่อไปว่า เป็นเรื่องบันทึกความบันเทิงของรากหญ้าด้วยเช่นกัน   ซ้ำยังวุ่นวายไปถึงเจ้าเมืองอีกด้วย 

        การสอบสวนเรื่องหม่อมของเจ้าเมืองเกิดมีเสื้อผ้าทหารซุกอยู่ในห้อง   ทำให้เห็นอัธยาศัยอย่างหนึ่งของเจ้าพระยามหินทรฯ ว่าท่านคงจะเป็นผู้ที่มีเมตตาต่อไพร่พลมากจริงๆ สมกับที่นายทิมสรรเสริญไว้       เพราะท่านมิได้พลอยเกรี้ยวกราดตามเจ้าเมืองที่มาฟ้อง   สั่งหาตัวการ ลากตัวเอามาลงโทษเฆี่ยนหลังหรือประหารทันทีเพื่อเอาใจขุนนางผู้ใหญ่ในท้องถิ่น    ตรงกันข้าม ท่านกลับกลบเกลื่อนและไกล่เกลี่ยให้เรื่องระงับลงไปได้สำเร็จ
       อย่างที่สองคือ  เจ้าพระยามหินทรฯ น่าจะมีคุณสมบัติของนักรัฐศาสตร์มากกว่านักการทหาร  เพราะท่านไม่เคยใช้อาญาทัพกับทหารของท่าน     ตรงกันข้าม ท่านกลับชี้แจงว่า เห็นใจที่ไพร่พลเดินทางห่างบ้านมานาน  พลัดพรากจากเมีย ถ้าจะมามีเมียใหม่แถวนี้ก็ช่วยไม่ได้        ผู้หญิงก็เป็นใจหนีตามผู้ชายมาเอง    ถ้าคนของท่านไปลักพาบ่าวหรือทาสของใคร   เจ้าของมาฟ้องท่านก็จะชำระความให้  แต่ถ้าหนีตามมาเอง   ผู้หญิงเป็นทาสใครท่านก็จะไถ่ถอนออกเงินให้เป็นอิสระ    ถ้าเป็นลูกสาวใครหนีพ่อแม่ตามผู้ชายมาเอง  ก็สุดแต่พ่อแม่  ถ้ายกกันให้ได้ก็ยกกันไป      ถ้าคนของท่านเป็นคนพาลไปเที่ยวฉุดลูกสาวเขา ท่านจะชำระความให้ แต่ท่านก็บอกว่าคนของท่านไม่มีคนพาลแบบนั้น
       ฟังจากคำบอกเล่าของนายทิม   เจ้าพระยามหินทรฯน่าจะเป็นแม่ทัพที่ใจดีมาก    นอกจากไม่เข้มงวดกวดขันไม่ว่าเรื่องไหนแล้ว  หากทหารของท่านไปก่อเรื่องกับสาวๆชาวเมืองท่านก็ผ่อนหนักให้เป็นเบาเสียอีก      ถ้าคิดว่านิราศหนองคายเป็นเรื่องสะท้อนความลำเค็ญเรื่องไหนก็ตาม   ก็คงไม่ใช่เรื่องทหารผู้น้อยถูกผู้ใหญ่อย่างท่านแม่ทัพกดขี่เรื่องหนึ่งละ


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มิ.ย. 13, 15:08
   คดีร้องเรียนของเจ้าเมืองโคราช เรื่องไปเจอหมวกกับเสื้อของทหารในห้องเมียน้อยท่านเจ้าเมือง    ดิฉันเชื่อว่าถ้าจะสืบกันจริงๆก็คงไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่จะรู้ว่าใครเป็นเจ้าของเสื้อผ้าชุดนั้น     เพราะถึงสมัยนั้นยังไม่มีเครื่องแบบ แต่เสื้อผ้าของนายทหารกับพลทหารก็แตกต่างกันอยู่ดี     ใช้คนสนิทไปสืบดูเดี๋ยวก็ได้ผู้ต้องหามาเอง
   พิจารณาจากแรงจูงใจ      เมียน้อยคนสวยของท่านเจ้าคุณโคราชก็นับว่าเป็นสาวไฮโซของเมือง  เธอคงไม่คิดจะลดตัวลงไปคบกับกิ๊กชั้นพลทหาร เล่นละครเป็นเสนาตัวประกอบกระจิบกระจอก           แต่น่าจะเป็นพระเอกละครหรืออย่างน้อยก็พระรองตัวสำคัญๆของละครกองทัพนั่นแหละ  ถึงจะสมน้ำสมเนื้อกัน   เพราะฉะนั้นผู้ต้องสงสัยเห็นจะมีไม่กี่คน  เผลอๆจะไม่เกินหนึ่งหรือสองที่เป็นตัวเอกของละครกองทัพ
   เจ้าพระยามหินทรฯคงดูออกข้อนี้ดี      ในเรื่องนี้ท่านไม่ให้ราคาผู้หญิงคนกลาง  เห็นว่าเป็นแค่นางวันทอง  ตัวท่านเทียบตัวเองว่าเป็นพระพันวษา     ในเมื่อเป็นพระพันวษาก็ต้องทำแบบพระพันวษาคือรักษาชีวิตทหารเอกอย่างขุนแผนเอาไว้    รองลงมาก็รักษาอดีตมหาดเล็กเจ้าสัวใหญ่เมืองสุพรรณอย่างขุนช้างไว้เช่นกัน      ส่วนผู้หญิงคนกลางไม่มีราคาอะไร  ไม่ต้องรักษา       ท่านก็เลยตัดบทกับพระยาโคราช โดยไม่คิดจะสืบหาเจ้าแมวขโมยที่ย่องไปตีท้ายครัวเจ้าเมือง     ของพรรค์นี้เรื่องอะไรท่านจะเอาตัวพระเอกดีๆของท่านไปให้โดนประหาร หรือโดนเฆี่ยนบอบช้ำเจียนตาย   เสียดายฝีมือเปล่าๆ
   ยังนึกเป็นห่วงหม่อมปลั่งเมียน้อยเจ้าคุณ    อีพุ่มผู้เป็นเมสเซนเจอร์ถือสารระหว่างเธอกับชายชู้ถูกอุ้มหายไปแล้ว  ชะตากรรมของหม่อมปลั่งก็ไม่น่าจะดีกว่าอีพุ่มมากน้อยเท่าไหร่      เสียดายนายทิมไม่ได้เอ่ยถึงไว้เลย     ส่วนขุนแผนในเรื่องนี้ เจ้านายปกป้องไว้ ก็คงจะลอยนวลกลับไปกรุงเทพพร้อมกับกองทัพ


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 05 มิ.ย. 13, 16:35
อ่านเรื่องความสนุกสนานสำราญเฮฮาของกองทัพเจ้าพระยามหินทรฯแล้วก็อดนึกสงสัยไม่ได้ว่าถ้าท่านเจ้าคุณต้องไปเป็นแม่ทัพรับศึกใหญ่แบบไม่ใช่แค่ฮ่อ เช่นต้องไปรบกับกองทัพของชาติตะวันตก ญี่ปุ่น หรือทัพพม่าที่มีแม่ทัพใหญ่ๆ เก่งๆ หรือแม้แต่เป็นฮ่อที่เป็นกองทัพใหญ่ไม่ใช่กองโจร มีหวังเราคงได้เสียบ้านเสียเมืองเป็นแม่นมั่น 

เพราะดูแล้วทหารก็เกณฑ์ๆ กันมาากไพร่ของมูลนายต่างๆ ไม่ใช่ทหารอาชีพ การฝึกปรือก็คงตามมีตามเกิด  วินัยกองทัพก็เรียกได้ว่าน่าจะหย่อนยานกันมาก มีดีที่ขวัญอย่างเดียว แต่ถ้าไปรบกับกองทัพที่ฝึกฝนมาอย่างดี แค่โดนยิงปืนใหญ่ใส่เห็นทีทหารจะแตกหนีกันไปง่ายๆ แล้วกระมัง

อันนี้แค่เดาเฉยๆ ครับ 


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มิ.ย. 13, 17:07
     ความจริง ไทยเรามีการฝึกหัดทหารแบบฝรั่งมาตั้งแต่รัชกาลที่ 4   ในวังหน้า สมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจ้างครูฝรั่งมาหัดทหารไทยกันอย่างจริงจังจนเสด็จสวรรคต  จากนั้นทหารวังหน้าก็โอนมาสังกัดวังหลวง    
      ในรัชกาลที่ 5   นิราศหนองคายมิได้พูดถึงทหารวังหน้าเลย   พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯเสด็จสวรรคตเมื่อพ.ศ. 2408  คือ 10 ปีก่อน   ก่อนหน้านั้นก็ประชวรอยู่อย่างน้อย 5 ปี  ทหารวังหน้าหนุ่มๆที่เคยฝึกอย่างมีระเบียบวินัยอาจจะเข้าวัยกลางคนกันไปหมดแล้ว   ไม่ได้ตามมาในทัพนี้อีก    หรือถ้ามาด้วยในฐานะหัวหน้าระดับนายกอง  ก็คงมีจำนวนน้อย    ทำหน้าที่ฝึกทหารซ้อมรบกันไปตามเรื่องเพราะมีพูดถึงในนิราศว่าตอนพักที่หาดพระยาทศก็ซ้อมรบกันเช้าเย็น      แต่พวกนี้คงจะดูแลกวดขันทหารเกณฑ์ซึ่งไร้ระเบียบวินัยไม่ไหว    ก็ต้องปล่อยๆกันไปบ้าง   ท่านแม่ทัพเองก็เน้นหนักไปทางบำรุงขวัญกองทัพมากกว่าฝึกการรบ  
   เมื่ออยู่ในโคราชนานเข้า  ทหารเกณฑ์ทั้งหลายเริ่มเซ็ง   ท่านจึงแก้ไขด้วยการจัดเล่นละคร
ฝ่ายว่าพณะหัวจอมพหล      เห็นไพร่พลไม่มีสุขสนุกสนาน
ล้วนง่วงเหงามิได้มีที่สำราญ      จึ่งคิดอ่านแก้ไขในปัญญา
จัดละครเล่นสนุกแก้ทุกข์ทน      เห็นไพร่พลพร้อมกันด้วยหรรษา
ต่างคนต่างแก้ทุกข์สนุกตา      บ้างเฮฮาเอิกเกริกเบิกสบาย

     ผลเป็นยังไงล่ะ

พวกละครตัวดีมีฝีมือ             ได้ฝึกปรือซ้อมประสมเล่นคมขึง
พวกสาวชาวโคราชหวาดคะนึง   เสียงกลองตึงเป็นต้องมาตั้งตาดู
ลางอนงค์จงภักดิ์รักละคร       มาหลับนอนตามยศไม่อดสู
พวกละครไม่อดอยากซึ่งหมากพลู      ล้วนจับคู่ได้เมียเสียทุกคน
พวกละครน้อยตัวไม่ทั่วสาว      ต่อยืดยาวทั้งกองทัพดูสับสน
ล้วนมีชู้คู่ทั่วทุกตัวตน               ผู้หญิงยลรักงามติดตามมา    


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มิ.ย. 13, 17:13
ละครชายของเจ้าพระยามหินทรมีจำนวนน้อยคน  ไม่พอจะจับคู่กับสาวๆชาวโคราชที่แห่กันมาทั้งเมือง  ก็เลยต้องส่งต่อให้ทหารทั้งกองทัพมาช่วยแบ่งเบาภาระ     บันทึกของนายทิมตอนนี้แสดงว่าไม่ต้องพูดกันแล้วเรื่องระเบียบวินัย     แม้ว่าค่ายทหารตั้งอยู่นอกกำแพงเมือง แบ่งเป็นที่ทางแยกต่างหาก ไม่ปะปนอยู่ตามถิ่นชาวบ้านร้านตลาด     แต่ทหารก็คงเดินเข้าเดินออกได้ตามสบาย   หรือจะเปิดทางให้ผู้หญิงเข้าในค่ายก็ได้เช่นกัน   ถึงมีคำว่า "มาหลับนอนตามยศไม่อดสู"  คือสาวๆมากันเอง  ไล่เรียงกันตามลำดับยศตั้งแต่ผู้ใหญ่ถึงผู้น้อย    ถ้าหากว่าเป็นลูกสาวผู้ดีชาวโคราชก็คงมาหานายทหารสัญญาบัตร   ถ้าเป็นลูกสาวชาวบ้านก็มาหาหนุ่มประทวน
    มองเห็นภาพได้อีกอย่างว่า  ค่ายทหารจากกรุงเทพนี้คงเป็นค่ายเปิด  ใครจะเข้าจะออกขยิบตากับทหารยามเท่านั้นก็ผ่านไปมาได้ฉลุย
   ส่วนคำถามคุณประกอบ  ดิฉันก็เดาไม่ถูก    ถ้าหากว่าอาวุธฝ่ายเราเหนือกว่าศัตรูเช่นมีปืนใหญ่อย่างตอนปราบฮ่อครั้งหลังๆ ก็น่าจะได้เปรียบละมังคะ
 
   ส่วนความหนักใจตกอยู่กับเจ้าเมืองโคราช  เพราะต้องปวดหัว  คอยระวังมิให้กองทัพจากเมืองหลวงที่มิได้ไปตีฮ่อแล้วในตอนนั้น ดอดมาตีท้ายครัวได้สำเร็จ     

ข้างเจ้าเมืองโคราชให้หวาดไหว      กลัวบ่าวไพร่ลูกเมียจะเสียหาย
จะตามพวกกองทัพไปลับกาย      เกณฑ์ผู้ชายนั่งยามตามประตู
ตั้งระวังยิ่งยวดเป็นกวดขัน              ด้วยพวกกองทัพนั้นมาเที่ยวอยู่
จะลอบรักเมียน้อยคอยเล่นชู้              มิให้หมู่กองทัพลอบลับมา ฯ

   แต่ก็ไม่สำเร็จ เกิดคดีหม่อมปลั่งอย่างที่เล่ามาแล้วข้างบนนี้   


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มิ.ย. 13, 17:19
   อ่านมาถึงพฤติกรรมของสาวๆในนิราศหนองคาย ซึ่งนายทิมยืนยันว่าบันทึกเรื่องจริงตามประสบการณ์  ชักจะเชื่อแล้วว่าค่านิยมอย่างที่สอนในสุภาษิตสอนหญิงของสุนทรภู่ ให้รักนวลสงวนตัวนั้น คงจะจำกัดเฉพาะแวดวงที่ท่านรู้จักในรัชกาลที่ 2 หรือรัชกาลที่ 3   แต่แวดวงกว้างและไกลกว่านั้นคงไม่ยึดถือเท่าไหร่     
    เห็นได้จากผ่านมาถึงรัชกาลที่ 5   สาวๆโคราชจำนวนมากใจถึงเสียยิ่งกว่าสาวๆนักเที่ยวตามผับสมัยนี้เสียอีก   เพราะกล้าบุกเข้าไปถึงค่ายท่ามกลางผู้ชายมากมายก่ายกอง     ทั้งที่เห็นๆว่า ที่พักของฝ่ายชายก็มิได้มิดชิดลับตาคนแต่อย่างใดเลย


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มิ.ย. 13, 21:39
   ตัวละครสำคัญในนิราศหนองคาย นอกจากนายทิมแล้วก็คือเจ้าพระยามหินทรฯ นายของกวีผู้แต่ง     ภาพของเจ้าพระยามหินทรฯในนิราศเป็นการมองผ่านสายตาของนายทิม   ตัวจริงท่านเป็นอย่างไรเราไม่มีโอกาสรู้    แต่ก็คิดว่าคงไม่แตกต่างจากที่นายทิมมองเห็นมากนัก   เพราะนายทิมไม่ได้ทำแค่พรรณนาความดีงามของนาย เฉยๆแค่นั้น   แต่บันทึกการกระทำต่างๆของท่านตลอดการเดินทางด้วย   การกระทำของท่านตั้งแต่เรื่องใหญ่ไปจนเรื่องเล็ก  ก็พอจะสะท้อนอุปนิสัยใจคอของท่านได้พอสมควร
   อย่างแรกที่พอมองเห็นได้คือ เจ้าพระยามหินทรฯเห็นจะเป็นคนที่เชื่อมั่นในตัวเองพอสมควร     ถ้าท่านปักใจว่า "ไม่" ก็คือ "ไม่"   เห็นได้คือถ้าท่านไม่ประสงค์จะเดินทัพฝ่าดงพระยาไฟในฤดูฝน  ก็ไม่มีใครทำให้ท่านเปลี่ยนใจได้ แม้แต่สมเด็จเจ้าพระยาฯอุตส่าห์นั่งเรือกลไฟมาเร่งถึงหาดพระยาทศ   เจ้าพระยามหินทรฯท่านก็ยัง "ไม่" เป็น "ไม่" อย่างเดิม   เอากะท่านซี
  อย่างที่สอง คือเจ้าพระยามหินทรฯ เป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ดี  และใจกว้าง  ไม่ว่าไปไหนท่านจะเผื่อแผ่เกื้อหนุนจุนเจือทั้งวัด ทั้งเมือง ทั้งหมู่บ้าน   เงินทองแจกจ่ายได้ท่านก็แจกจ่ายอย่างไม่เหนียวแน่น ทั้งขาไปขากลับ    อยู่ในเมืองโคราชนานนักก็ให้ไพร่พลเล่นละครให้ชาวเมืองดูกันครึกครื้นแก้เซ็งกันทั้งสองฝ่าย      เกิดเรื่องไม่งามขึ้นมาท่านก็ไกล่เกลี่ยให้ระงับไปเอง  ไม่ถึงขั้นเอาเป็นเอาตาย    คือเป็นนักรัฐศาสตร์มากกว่านักการทหาร
  (ยังมีต่อ  วันนี้ขอแค่นี้ก่อนค่ะ)
 


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 มิ.ย. 13, 17:08
  ถ้าถามว่านักการทหารเป็นอย่างไรในสมัยนั้น ตัวอย่างใกล้ๆในเวลาเดียวกันที่เห็นได้คือพระยามหาอำมาตย์ (ชื่น กัลยาณมิตร) เอ่ยไว้ในนิราศหนองคายสองสามแห่ง    ท่านเป็นแม่ทัพปราบฮ่อที่หนองคาย ตัวจริง
  ความจริงพระยามหาอำมาตย์มิได้มีหน้าที่ไปปราบฮ่อแต่แรก   แต่ว่าคุมคนไปสักเลกหัวเมืองและเร่งรัดเงินรายได้ส่วนกลางจากหัวเมืองแบบเดียวกับที่สมเด็จเจ้าพระยาฯท่านบัญชาให้เจ้าพระยามหินทรฯ ทำ    เมื่อเกิดเรื่องฮ่อยึดเมืองหนองคายได้ เพราะเจ้าเมืองไม่อยู่  มัวมาอยู่ที่อุบลฯเพื่อต้อนรับพระยามหาอำมาตย์     ทางผู้รักษาเมืองคือท้าวจันทร์ศรีสุราชรักษาได้ข่าวฮ่อยกพลมาบุก  ก็ไม่คิดจะเกณฑ์ชาวเมืองสู้   ใช้วิธีพาครอบครัวลี้ภัยไปอยู่บ้านสามพร้าว จังหวัดอุดรธานี  อีกคนหนึ่งคือพระยาพิไสยสรเดช (หนู) เจ้าเมืองโพนพิสัย พอรู้ว่าฮ่อยกมายึดหนองคาย  ท้าวจันทร์ศรีสุราชฯลี้ภัยพร้อมด้วยกรมการเมือง  พระยาพิไสยฯก็พาราษฎรหนีออกจากเมืองไปเช่นเดียวกัน
    ส่วนทัพของเจ้าพระยามหินทรฯก็ติดฝนอยู่ปากทางเข้าดงพระยาไฟ อย่างที่บรรยายมาแล้ว   ทัพเจ้าพระยาภูธราภัยก็ไปอีกทางคือขึ้นอุตรดิตถ์ไปเวียงจันทน์    เหลือพระยามหาอำมาตย์สู้อยู่ทัพเดียว   อย่างแรกคือท่านก็ยกกองทัพจากเมืองต่างๆในอีสานเท่าที่จะระดมได้เข้าเมืองหนองคาย  รบกับฮ่อจนชนะ   และสั่งให้จับ ท้าวจันทน์ศรีสุราช กับพระยาพิไสยสรเดชประหารชีวิตเสียทั้งคู่
   ดิฉันเชื่อว่าถ้าเป็นเจ้าพระยามหินทรฯไปถึงหนองคายได้ ท้าวจันทน์ฯและพระยาพิไสยฯอาจจะรอด   เพราะท่านคงไม่เอาผิดถึงประหาร    แต่พระยามหาอำมาตย์เป็นนักการทหาร   ถึงเวลานั้น หน้าสิ่วหน้าขวานเต็มทีจะมัวประนีประนอมอยู่ไม่ได้   ผิดอาญาทัพ หนีข้าศึกต้องประหารมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง     ความเฉียบขาดเท่านั้นที่จะทำให้คุมไพร่พลไว้อยู่


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 มิ.ย. 13, 21:19
  กลับมาเรื่องเจ้าพระยามหินทรฯ   นิสัยข้อสุดท้ายที่เห็นจากนิราศเรื่องนี้ มีอะไรน่าเอ็นดูชวนให้อมยิ้มได้อยู่มาก     นายทิมเล่าไว้ตอนท้ายเรื่อง
   เมื่อถึงเวลาเดินทางกลับมาจนถึงใกล้ปลายทาง    เรือกลไฟก็ไปรับท่าน พากลับกรุงเทพ   เจ้าคุณมหินทรฯนั่งเรือมาตามสบายจนถึงปากเกร็ด  เรียกว่าอีกไม่กี่ก้าวจะถึงบ้านท่านอยู่แล้ว  ท่านก็ฉุกใจคิดอะไรอย่างหนึ่งขึ้นมาได้   ก็เลยสั่งให้เรือหยุด แวะเข้าจอดพักข้างทาง   รออยู่ยังงั้นแหละ ให้เย็นย่ำค่ำสักหน่อยค่อยเดินเครื่องยนต์ต่อ ไปถึงบ้านท่าน
   สาเหตุสำคัญที่ท่านต้องสั่งกัปตันเรือเบรคกะทันหัน    เพราะนึกขึ้นมาได้ว่าท่านเดินทางไกลไปทั้งที     ไม่มีของมาฝากคนทางบ้าน

   เรือเลยพ้นออกจากคลองปากเกร็ด      เจ้าคุณเข็ดคนจะครหา
เพราะด้วยการท่านไปทางไกลมา              ไม่เห็นว่ามีสิ่งใดไปให้ปัน
บัญชาให้เรือฉุดรอหยุดจักร                      เข้าจอดพักด้วยอายไม่ผายผัน
จะรีบรัดขัดขวางเป็นกลางวัน                      ด้วยกระชั้นถึงบ้านรำคาญใจ
เข้าจอดรอให้ย่ำค่ำสักหน่อย                      จึงจะค่อยไปให้ถึงจึงจะได้
ครั้นจอดอยู่ช้านานรำคาญใจ                      แล้วเลยไปท่าอิฐคิดบรรเทา


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 มิ.ย. 13, 21:28
    ท่านนึกขึ้นมาได้อีกอย่างขณะจอดเรือลอยลำเท้งเต้งอยู่เฉยๆว่า  แถวนี้ท่าอิฐ มีมะปรางหวานขึ้นชื่ออยู่ที่นี่    เพราะฉะนั้นถ้า "ทางบ้าน" ทวงของฝาก   ก็ซื้อมะปรางหวานไปฝากเห็นจะดี       ว่าแล้วท่านก็ให้บริวารลงไปหาซื้อมะปรางเป็นการใหญ่   แต่ปรากฏว่าหาเท่าไหร่ก็ไม่ได้ เพราะหน้านี้ผลไม้วายไปแล้ว
    อ่านแล้วก็อดคิดไม่ได้ว่าเจ้าคุณมหินทรฯ เห็นทีจะเป็นแฟมิลี่แมนอยู่ไม่น้อย     ไปทัพแท้ๆ ไม่ได้ไปปิคนิค    ยังอุตส่าห์คิดถึงของฝาก   จะฝากใครถ้าไม่ใช่ฝากท่านผู้หญิง และคงเผื่อแผ่ไปยังหม่อมๆในบ้านของท่านด้วย     เกรงว่ากลับจากต่างเมืองแล้ว ไม่มีของฝาก  ท่านผู้หญิงจะงอน      ถ้าหากว่าท่านมาเกิดสมัยนี้  ได้ไปดูงานไกลถึงยุโรป  ขากลับคงมีดิออร์ หรือหลุยส์ หรือแอร์เมส มาฝากหลังบ้านของท่านเป็นแน่        

ด้วยมะปรางท่าอิฐติดจะลือ              จะต้องซื้อไปให้มากได้ฝากเขา
แม้นใครทวงออกปากของฝากเรา      จะต้องเอามะปรางให้เห็นได้การ
เที่ยวถามซื้อมะปรางใหญ่ก็ไม่พบ      แจวจนจบทั่วสิ้นพ้นถิ่นบ้าน
ด้วยจวนวายคลายผลไม่ทนทาน      มะปรางหวานหน้านี้ไม่มีโต
ครั้นจวนเย็นแล้วก็กลับมาฉับพลัน      ด้วยตะวันจวนจักบ่ายอักโข
สั่งเรือไฟให้ลอยปล่อยบุโล              ออกแล่นโร่รีบมาเวลากาล ฯ
   ในเมื่อหามะปรางแทบพลิกท่าอิฐแล้วไม่ได้   เวลาก็ล่วงไปจนบ่าย  ท่านก็ให้ออกเรือแล่นมาถึงกรุงเทพ  ทันกลับถึงบ้านในเวลาเย็น     คิดว่าไม่ได้มะปรางมา ท่านก็คงได้ผลไม้อะไรติดมือมาฝากบ้างละน่า   คงไม่กลับมามือเปล่า

จบนิราศหนองคายเพียงแค่นี้ค่ะ


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 10 มิ.ย. 13, 22:31
เรือมาทางลัดเกร็ดจะไม่ผ่านท่าอิฐน่าสิครับ ต้องจงใจเลี้ยวเข้าไปแม่น้ำอ้อมเพื่อไปที่ท่าอิฐ เจ้าพระยามหินทรฯ ท่านชิลล์มากครับ  ;D


กระทู้: นิราศหนองคาย:ใครอยู่เบื้องหลังวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 มิ.ย. 13, 14:01
  คนใหญ่โตอย่างเจ้าพระยามหินทรฯ ทำอะไรก็ไม่เป็นความลับไปได้    เพราะผู้คนแห่ห้อมล้อมหน้าหลังเยอะแยะ      การที่ท่านนั่งเรือแบบชิลด์ชิลด์กลับจากโคราชมากรุงเทพ    อยากแวะก็แวะ อยากจอดก็จอด อยากอ้อมก็อ้อม   สมเด็จเจ้าพระยาฯสดับตรับฟังข่าวอยู่ทางกรุงเทพ  คงได้รับรายงานทุกกระดิก
   นอกจากนี้ คำสั่งของสมเด็จเจ้าพระยาที่ให้เจ้าพระยามหินทรฯสร้างยุ้งฉางและเร่งรัดเงินหลวงกับเจ้าเมืองต่างๆ   ก็ไม่เห็นว่าเจ้าพระยาท่านจะทำตามนั้น   ไม่งั้นนายทิมคงบันทึกไว้แล้ว เพราะเป็นเรื่องใหญ่มองข้ามไปไม่ได้   เงินหลวงจำนวนไม่น้อยต้องขนมากับกองทัพ จัดระวังเวรยามกันเป็นเรื่องเข้มงวด   จะไม่เอ่ยได้ไง  นอกจากว่ามันไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าว 

     ซึ่งบางพวกไม่ได้ขึ้นไปทัพ      บางคนกลับผูกจิตริษยา
แล้วกล่าวโทษติฉินแกล้งนินทา      ขอดค่อนว่ากองทัพเสียยับเยิน
   
    อ่านนิราศหนองคายมาจนจบแล้วก็พอวาดภาพได้ว่า  ถ้าชาวเมืองหลวงจะ "ขอดค่อนว่ากองทัพเสียยับเยิน" ละก็  มีกี่เรื่องได้บ้าง    แค่เรื่องอ้อมเรือไปหามะปรางหวานมาฝากทางบ้านขณะสมเด็จเจ้าพระยาฯผู้บัญชาการทัพรออยู่ปลายทาง   แค่นี้ก็มันปากไปได้หลายวันแล้ว     เรื่องใหญ่ๆกว่านี้ตามที่นายทิมพาซื่อบันทึกเอาไว้ตั้งแต่หาดพระยาทศไปจนโคราชและกลับกรุงเทพ  เพื่อยกย่องนายของตน   เอาเข้าจริงเจาะลงไประหว่างบรรทัด    คนกรุงเทพเห็นจะนินทากันได้ข้ามปี