เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: sartbalovely ที่ 10 ก.ค. 11, 20:15



กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: sartbalovely ที่ 10 ก.ค. 11, 20:15
ครั้นว่ารุ่งสางสว่างฟ้า                          สุริยาแย้มเยี่ยมเหลี่ยมไศล

จะกล่าวถึงพระองค์ผู้ทรงชัย                เนาในพระที่นั่งบัลลังก์รัตน์

พร้อมด้วยพระกำนัลนักสนม                 หมอบประนมเฝ้าแหนแน่นขนัด

ประจำตั้งเครื่องอานอยู่งานพัด              ทรงเคืองขัดขุนช้างแต่กลางคืน

แสนถ่อยใครจะถ่อยเหมือนมันบ้าง       ทุกอย่างที่จะชั่วอ้ายหัวลื่น

เวียนแต่เป็นถ้อยความไม่ข้ามคืน           น้ำยืนหยั่งไม่ถึงยังดึงมา

คราวนั้นฟ้องกันด้วยวันทอง                 นี่มันฟ้องใครอีกอ้ายชาติข้า

ดำริพลางทางเสด็จยาตรา                      ออกมาพระที่นั่งจักรพรรดิ

พระสูตรรูดกร่างกระจ่างองค์                  ขุนนางกราบลงเป็นขนัด

ทั้งหน้าหลังเบียดเสียดเยียดยัด              หมอบอัดถัดกันเป็นหลั่นไป

ทอดพระเนตรมาเห็นขุนช้างเฝ้า             เออใครเอาฟ้องมันไปไว้ไหน

พระหมื่นศรีถวายพลันในทันใด             รับไว้คลี่ทอดพระเนตรพลัน

พอทรงจบแจ้งพระทัยในข้อหา               ก็โกรธาเคืองขุ่นหุนหัน

มันเคี่ยวเข็ญทำเป็นอย่างไรกัน                อีวันทองคนเดียวไม่รู้แล้ว

ราวกับไม่มีหญิงเฝ้าชิงกัน                       หรืออีวันทองนั้นมันมีแก้ว

รูปอ้ายช้างชั่วช้าตาบ้องแบ๊ว                   ไม่เห็นแววที่ว่ามันจะรัก

ใครจะเอาเป็นผัวเขากลัวอาย                   หัวหูดูเหมือนควายที่ตกปลัก

คราวนั้นเป็นความกูถามซัก                    ตกหนักอยู่กับเฒ่าศรีประจัน

วันทองกูสิให้กับอ้ายแผน                        ไยแล่นมาอยู่กับอ้ายช้างนั่น

จมื่นศรีไปเอาตัวมันมาพลัน                     ทั้งวันทองขุนแผนอ้ายหมื่นไวย ฯ


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ก.ค. 11, 11:44
อ้างถึง
ประจำตั้งเครื่องอานอยู่งานพัด

ทำไมต้องตั้ง "เครื่องอาน" ในเมื่อไม่ได้จะทรงม้าสักหน่อย
และก็ไม่เกี่ยวกับการอยู่งานพัดด้วย

เครื่องอาน  หมายความว่าอะไร  เชิญนักรบมาช่วยกันไขข้อข้องใจหน่อย

ตอบหน้าม่านด่วน  ๑๐ คะแนน   ;D


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ก.ค. 11, 11:50
รอยอินท่านอธิบายไว้ดังนี้

อาน ๑ น. เครื่องรองนั่งบนหลังสัตว์พาหนะหรือยานพาหนะบางชนิด เช่น อานม้า อานรถจักรยาน.
 
อาน ๒ ว. บอบชํ้า เช่น ถูกตีเสียอาน, โดยปริยายหมายความว่า อย่างหนัก, อย่างมาก, เช่น ถูกต่อว่าอานเลย.
 
อาน ๓ ก. ลับมีดหรืออาวุธให้คม เช่น อานดาบ อานอาวุธ, ใช้มีดหรืออาวุธถูกับหินให้เรียบหรือให้คม เช่น อานมีด อานหอก. (ข.).
 
อาน ๔ ก. กิน, เซ่น, เช่น เครื่องอาน ว่า เครื่องกินหรือเครื่องเซ่น.   
 
อาน ๕ (ถิ่นปักษ์ใต้) ว. เป็นหมัน, ไม่มีลูก, (ใช้เฉพาะสัตว์).
 
อาน ๖ [อานะ] น. ลมหายใจเข้า, นิยมใช้เข้าคู่กับ อปานะ คือ ลมหายใจออก เป็น อานาปานะ = ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ในคําว่า อานาปานัสสติ = สติที่กําหนดลมหายใจเข้าและลมหายใจออก. (ป., ส.).

 ;D


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ก.ค. 11, 12:03
รอยอินท่านอธิบายไว้ดังนี้

อาน ๔ ก. กิน, เซ่น, เช่น เครื่องอาน ว่า เครื่องกินหรือเครื่องเซ่น.   
 

คำว่า อาน ที่แปลว่า กิน,เซ่น  มีใช้ที่อื่นบ้างหรือไม่  เช่นภาษาไทยถิ่นต่างๆ



กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 ก.ค. 11, 12:09
อ๊ะ!  ช่วยกันแปลให้ประทับใจคุณครูไปเลย    


อาน    เมื่อคืนสหายปัญญาแหลมเหมือนเข็ม  อธิบายแจ๊บ ๆ  ว่า  เกี่ยวกับเครื่องรองนั่ง

รวมทั้งเสื่อ เบาะขลิบ  ผ้าต่างๆชนิดที่ปูไว้  ไม่จำเป็นต้องเป็นอานม้าอย่างเดียว


เสภาขุนช้างขุนแผนนี่แปลกันใหม่ได้ทุกเมื่อเพราะแฝงประเพณีวัฒนธรรมไว้แทบทุกจุด

ท่านผู้ใดได้คะแนนสูงสุด   วันดี สนับสนุน พจนานุกรมเล่มแดง ปกแข็ง หนึ่งเล่ม
ทำพิธีมอบที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ  ท่าวาสุกรี   ไม่ส่ง เพราะค่าส่งแพง
ถ้าหนังสือหมด  จะมอบเล่มสองที่กำลังจะพิมพ์ใหม่ให้แทนที่  เพื่อเป็นกำลังให้มาจิกตีกันอีกด้วยเหตุผล


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 ก.ค. 11, 12:16


ถามค่ะ  เครื่องอาน นี่อาจรวม พาน  ถาด ได้หรือไม่

พจนานุกรมของภาษาศาสตร์อาจจะมี  แต่เปิดไม่ไหว  เล่มใหญ่และหนามาก


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 11 ก.ค. 11, 12:27
ประจำตั้ง เครื่องอาน  อยู่งานพัด              

"เครื่องอาน"   =   เตรื่องเสวย ?





กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ก.ค. 11, 13:07
ถ้า เครื่องอาน หมายถึง เครื่องกิน (เครื่องเสวย)ตามในบริบทนี้
(แปลว่าเครื่องเซ่นไม่ได้ เพราะไม่มีธรรมเนียมตั้งเครื่องเซ่น
ในเวลาพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกขุนนางว่าราชการ)

ที่นี้ ถามต่อว่า  แล้วเครื่องอานที่หมายถึงเครื่องเสวย
ที่เจ้าพนักงานเชิญมาตั้งเตรียมไว้เคียงที่ประทับเวลาเสด็จออกขุนนาง
ว่าราชการในท้องพระโรง  น่าจะมีอะไรบ้าง
(ข้าวต้มร้อนๆ?  เนื้อเค็มฝอย?  ปลาหางแห้งปิ้งฉีกเป็นชิ้นเล็กผัด? 
ผักกาดดอง? กิมจิ? หนำเลี้ยบ?  หรือหัวผัดกาดผัดไข่?)


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 ก.ค. 11, 13:17
ถ้า เครื่องอาน หมายถึง เครื่องกิน (เครื่องเสวย)ตามในบริบทนี้
(แปลว่าเครื่องเซ่นไม่ได้ เพราะไม่มีธรรมเนียมตั้งเครื่องเซ่น
ในเวลาพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกขุนนางว่าราชการ)

ที่นี้ ถามต่อว่า  แล้วเครื่องอานที่หมายถึงเครื่องเสวย
ที่เจ้าพนักงานเชิญมาตั้งเตรียมไว้เคียงที่ประทับเวลาเสด็จออกขุนนาง
ว่าราชการในท้องพระโรง  น่าจะมีอะไรบ้าง
(ข้าวต้มร้อนๆ?  เนื้อเค็มฝอย?  ปลาหางแห้งปิ้งฉีกเป็นชิ้นเล็กผัด? 
ผักกาดดอง? กิมจิ? หนำเลี้ยบ?  หรือหัวผัดกาดผัดไข่?)

เดี๋ยวว่าง ๆ จะจับตัวไปคีบ ซูชิ เสียให้อร่อยเลย  8)


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 ก.ค. 11, 13:31
ตามแม่อำแดงกล่าวไว้

การตั้งเครื่องอานและงานพัด ในภาพจิตรกรรมไทย และภาพภายในท้องพระโรงพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 11 ก.ค. 11, 13:35
ถ้า เครื่องอาน หมายถึง เครื่องกิน (เครื่องเสวย)ตามในบริบทนี้
(แปลว่าเครื่องเซ่นไม่ได้ เพราะไม่มีธรรมเนียมตั้งเครื่องเซ่น
ในเวลาพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกขุนนางว่าราชการ)

ที่นี้ ถามต่อว่า  แล้วเครื่องอานที่หมายถึงเครื่องเสวย
ที่เจ้าพนักงานเชิญมาตั้งเตรียมไว้เคียงที่ประทับเวลาเสด็จออกขุนนาง
ว่าราชการในท้องพระโรง  น่าจะมีอะไรบ้าง
(ข้าวต้มร้อนๆ?  เนื้อเค็มฝอย?  ปลาหางแห้งปิ้งฉีกเป็นชิ้นเล็กผัด? 
ผักกาดดอง? กิมจิ? หนำเลี้ยบ?  หรือหัวผัดกาดผัดไข่?)

ดีนะที่ยังไม่มีบะหมี่ซอง



กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ก.ค. 11, 13:36
^ไหนล่ะ  เครื่องอาน คุณหนุ่มสยามนามกระเดื่องช่วยทำลูกศรชี้ให้ดูในภาพด้วย
 ???


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ก.ค. 11, 13:49
เท่าที่เคยเห็นมา  เวลาพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกขุนนาง
มหาดเล็กชาวที่จะเชิญเครื่องราชูปโภคมาตั้งเคียงที่ประทับ
มีพระศรี (หมาก พลู) พระโอสถเส้น (ยาเส้น) และพระสุทธารส (น้ำเสวย)
ส่วนของอื่นที่เสวยได้นอกนี้ ไม่เคยเห็นเชิญมาตั้งเทียบไว้
เพราะถ้ามีพระราชประสงค์จะเสวยพระกระยาหารก็จะเสด็จเข้าในพระฉาก
หรือไม่ก็เสด็จขึ้นข้างในเพื่อเสวย   ไม่เคยได้ยินว่าเสวยไปทรงราชการไป


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ก.ค. 11, 13:56
อ้างถึง
ขุนนางกราบลงเป็นขนัด

เอ  แล้วกราบลงเป็นขนัดนี่มันมีลักษณะอย่างไร


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 ก.ค. 11, 13:56
^ไหนล่ะ  เครื่องอาน คุณหนุ่มสยามนามกระเดื่องช่วยทำลูกศรชี้ให้ดูในภาพด้วย
 ???

ตะแล๊บแก๊บหลังม่านมุ้งกับแม่อำแดง ซุบซิบกันครึกโครม ได้ความว่า ควรชี้เป้าหมายไปยังเบาะรองนั่งทุกประเภท ด้วยเจ้านายต่างองค์ก็โปรดเบาะรองนั่งลวดลายต่างกัน ไม่รวมหมอนสามเหลี่ยม

ถูกผิดอย่างไรโปรดคุณหลวงช่วยชี้แจงสำแดงผล ครั้นจะลงลูกศรยักษ์ทับทั้งภาพ อำแดงหัวเราะร่า ว่าอย่าหาเรื่อง...ไก่   แป๊ด.... ;D


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ก.ค. 11, 13:58
เท่าที่เคยเห็นมา  เวลาพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกขุนนาง
มหาดเล็กชาวที่จะเชิญเครื่องราชูปโภคมาตั้งเคียงที่ประทับ
มีพระศรี (หมาก พลู) พระโอสถเส้น (ยาเส้น) และพระสุทธารส (น้ำเสวย)
ส่วนของอื่นที่เสวยได้นอกนี้ ไม่เคยเห็นเชิญมาตั้งเทียบไว้
เพราะถ้ามีพระราชประสงค์จะเสวยพระกระยาหารก็จะเสด็จเข้าในพระฉาก
หรือไม่ก็เสด็จขึ้นข้างในเพื่อเสวย   ไม่เคยได้ยินว่าเสวยไปทรงราชการไป

พระอภัยมณี ตอน อภิเษกสินสมุทร

ท่านท้าวนางต่างจัดขนัดแห่             บ้างเชิญแส้พระแสงตามล้วนงามหมด
ที่ถวายชายชม้อยทำช้อยชด           ต้องทำบทเป็นครูให้รู้ที
หัดให้ยอบหมอบกรานอยู่งานพัด    ประจงจัดเครื่องอานพานพระศรี
ทั้งสาวใหญ่เก็บไรจุกลูกผู้ดี             รู้ท่วงทีถูกต้องทำนองใน

 ;D



กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 ก.ค. 11, 13:59
อ้างถึง
ขุนนางกราบลงเป็นขนัด

เอ  แล้วกราบลงเป็นขนัดนี่มันมีลักษณะอย่างไร

ต้องทำท่าตกตะลึง ดั่งอินทรชิต พิโรธยามมีผู้ทำลายพิธีลับหอกโมกขศักดิ์ ...สองมือเท้าข้างตัก อกตั้ง คางเงย....

ใจเย็น ๆ ถามทีละอย่างซิเจ้าขา....


ตอนขุนแผนพลายงามไปตีเชียงใหม่ ข้างฝ่ายเชียงใหม่ก็ให้แสนตรีเพชรกล้ายกออกไปจู่โจม

ก่อนแสนตรีเพชรกล้าจะไปจู่โจมบุกทะลวง แสนตรีเพชรกล้าก็ต้องทำพิธีตามกระบวนไสยศาสตร์

“จะไปทัพจึงหาบรรดาว่าน           มาเสกอ่านอาคมถมถนำ

เครื่องรางตะกรุดลงองค์ภควัม              บริกรรมเสกเป่าเข้าทันใด

แล้วตักน้ำตีนท่ามาใส่ขัน                    หยิบเครื่องอานว่านนั้นลงใส่

เสกเดือดพล่านพลั่งดังตั้งใจ                เห็นประจักษ์วักได้ใส่หัวพลัน

หยิบเครื่องอานว่านยาขึ้นมาไหว้           เพชรกล้าลงไปในแม่ขัน

ประจงจบเคารพแล้วอาบพลัน              ดูสำคัญในนทีจะมีลาง”



กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 ก.ค. 11, 14:12
ขนัด [ขะหฺนัด] น. แถว, แนว, เช่น เรือแล่นเป็นขนัด; ลักษณนามใช้เรียก
 สวนที่มีคันดินกั้นเป็นตอน ๆ เช่น สวนขนัดหนึ่ง สวน ๒ ขนัด.
 ว. แออัด ในคําว่า แน่นขนัด




กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 ก.ค. 11, 14:29

กระทู้ท่านผู้หญิงลงไม่ได้ค่ะ    เกาะกระทู้นี้ดีกว่า

ขนัด  จะว่าเป็นการแบ่งโดยมีร่องสวนก็เป็นได้   

พระยาและเจ้าประเทศราชนั่งหลังเจ้าพระยาลงมาหรืออะไรๆทำนองนี้

ก็น่าจะเว้นที่ไว้พอเดินได้

คุณจมื่นคุณพระจะเสนอไปนั่งติดกลุ่มพระยา  ไม่น่าจะเป็นได้




กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 ก.ค. 11, 14:38
การเข้าเฝ้าในท้องพระโรงพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย ในรัชกาลปัจจุบัน "แน่นขนัด"  ข้าราชการไม่ตั้งเครื่องหมาก ไม่มีผ้ากราบ แต่นั่งเก้าอี้แน่นขนัด

บทร้องจากละครดึกดำบรรพ์ เรื่อง "คาวี" ตอนนางคันธมาลีหึง
บทพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

สรวมชีพข้าพระบาท ถวายอภิวาทบาทธุลี
นฤบดีดิลกรัฐ พัธวิสัยผ่านเผ้า
พระเดชพระปกเกล้า ไพร่ฟ้าอยู่เย็นฯ
สรวมชีพขอทูลสนอง ถวายผองพลามาตย์
มหาดไทยเฝ้าฝ่ายขวา กลาโหมเฝ้าฝ่ายซ้าย  
ตามทีบ่โยกย้าย อยู่พร้อมเพรียงกัน


"หากคุณหลวงอยากร้องเพลงนี้ ต้องใช้เพลงทำนอง "ทองย่อน" ด้วยครับ"


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ก.ค. 11, 14:41
จากตัวอย่างที่หมื่นสยามแห่งแขวงบ้านราชประสงค์นำมาแสดงนั้น
แสดงว่า  เครื่องอาน นั้น  อาจจะไม่ใช่เครื่องกิน เครื่องเซ่น ก็ได้

หรือว่า  เครื่องอาน อาจจะเป็นคำซ้อนเพื่อเสียง 
มีความหมายอยู่ที่คำว่า  เครื่อง  เพียงคำเดียว 
ส่วนอาน  นั้น  เดิมอาจจะมีความหมายตามรูปคำมาก่อน
คือ สิ่งของต่างๆ ที่ต้องใช้ในเวลาผูกอานบนหลังม้าสำหรับขี่
(ซึ่งไม่ได้มีแต่อานแข็งๆ วางลงไปโดดๆ บนหลังม้า)
จากนั้น  คนคงเอาคำว่าเครื่องอานไปใช้กับสิ่งอื่นๆ
ที่ต้องประกอบด้วยสิ่งของหลายสิ่งจัดเป็นสำรับหรือชุด
ไม่ว่าจะเป็นสำรับของกิน  เครื่องยาว่านเสกต่างๆ
เครื่องรางของขลัง   ฯลฯ  เครื่องอาน จึงลดความหมายลง
เหลือเฉพาะความหมายคำว่าเครื่องคำเดียว



กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ก.ค. 11, 14:43
ส่วนคำว่า เป็นขนัด นั้น ได้คำอธิบายชัดเจนแล้ว
เจ้าของกระทู้คงแปลเสภาตอนนี้ได้ไม่ยากแล้ว


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 ก.ค. 11, 14:51
เด็กอาจจะงง "เวียนแต่เป็นถ้อยความไม่ข้ามคืน           น้ำยืนหยั่งไม่ถึงยังดึงมา"

ขอให้ท่านผู้รู้ ช่วยขยายความให้ด้วยครับ


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ก.ค. 11, 14:51
อ้างถึง
ดำริพลางทางเสด็จยาตรา                      ออกมาพระที่นั่งจักรพรรดิ

พระสูตรรูดกร่างกระจ่างองค์                  ขุนนางกราบลงเป็นขนัด

พระที่นั่งจักรพรรดิ นี่หมายถึง พระที่นั่งจักรพรรดิองค์ไหน

เอ  จำได้ว่า  เมื่อพระเจ้าแผ่นประทับที่พระแท่นออกขุนนางแล้ว
เจ้าพนักงานจะรัวกรับพวงให้สัญญาณชาวพระวิสูตรเผยพระวิสูตร
ข้าราชการที่เฝ้าฯ ก้มหมอบกราบ
พระวิสูตรนี้เป็นพระวิสูตรสองไข

คำถาม  พระวิสูตรสองไข มีลักษณะอย่างไร

ถ้ามีภาพ มีภาพเคลื่อนไหวประกอบด้วยจะดีมาก


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ก.ค. 11, 14:55
เด็กอาจจะงง "เวียนแต่เป็นถ้อยความไม่ข้ามคืน           น้ำยืนหยั่งไม่ถึงยังดึงมา"

ขอให้ท่านผู้รู้ ช่วยขยายความให้ด้วยครับ


เป็นข้อสงสัยที่ดีมาก  น้ำยืนหยั่งไม่ถึงยังดึงมา  แปลว่าอะไร
เอ้า  ช่วยหมื่นสยามแห่งแขวงราชประสงค์หน่อย


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 ก.ค. 11, 15:03
อ้างถึง
ดำริพลางทางเสด็จยาตรา                      ออกมาพระที่นั่งจักรพรรดิ

พระสูตรรูดกร่างกระจ่างองค์                  ขุนนางกราบลงเป็นขนัด

พระที่นั่งจักรพรรดิ นี่หมายถึง พระที่นั่งจักรพรรดิองค์ไหน

เอ  จำได้ว่า  เมื่อพระเจ้าแผ่นประทับที่พระแท่นออกขุนนางแล้ว
เจ้าพนักงานจะรัวกรับพวงให้สัญญาณชาวพระวิสูตรเผยพระวิสูตร
ข้าราชการที่เฝ้าฯ ก้มหมอบกราบ
พระวิสูตรนี้เป็นพระวิสูตรสองไข

คำถาม  พระวิสูตรสองไข มีลักษณะอย่างไร

ถ้ามีภาพ มีภาพเคลื่อนไหวประกอบด้วยจะดีมาก

พระวิสูตรสองไข ก็หมายถึง ม่านที่ทำการไข ๒ ด้าน คือ ด้านซ้ายและด้านขวา ใช้เมื่อพระเจ้าแผ่นประทับที่พระแท่นออกขุนนาง ชาวพนักงานจะรัวกรับพวงให้สัญญาณ พร้อมพนังงานชาวนาฬิกา จะประโคมกลอง มโหรทึก แตร สังข์ ดังกึกก้อง และเจ้าพนักงานตำรวจจะยกพุ่มดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง เพื่อกำกับให้หยุดการประโคมสัญญาณ


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 ก.ค. 11, 15:05
ภาพด้านหลังพระวิสูตร พร้อมพนักงานพระวิสูตร


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ก.ค. 11, 15:16
ดีมาก  หมื่นสยามแห่งแขวงราชประสงค์
แล้วพระที่นั่งจักรพรรดิล่ะ  ช่วยไขด้วย


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 ก.ค. 11, 15:35
ดีมาก  หมื่นสยามแห่งแขวงราชประสงค์
แล้วพระที่นั่งจักรพรรดิล่ะ  ช่วยไขด้วย


ถ้าผูกเรื่องขุนช้าง ขุนแผน คงจะต้องไปดูหมู่พระมหาปราสาท ที่พระราชวังโบราณ กรุงเก่า  ???

มีพระที่นั่งวิหารสมเด็จ, พระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาท, พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์, พระที่นั่งบรรยงก์รัตนอาสน์, พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ก.ค. 11, 15:45

ถ้าผูกเรื่องขุนช้าง ขุนแผน คงจะต้องไปดูหมู่พระมหาปราสาท ที่พระราชวังโบราณ กรุงเก่า  ???

มีพระที่นั่งวิหารสมเด็จ, พระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาท, พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์, พระที่นั่งบรรยงก์รัตนอาสน์, พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์

กรุณาขยายตรงนี้เพิ่มเติม  ทราบมาว่า สมัยกรุงเก่าของเราแต่ก่อน
พระเจ้าแผ่นดินมักเสด็จออกขุนนางที่พระที่นั่งองค์นี้

พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานในพระบรมมหาราชวังที่กรุงเทพพระมหานคร
ไม่เคยได้ยินว่าใช้เป็นที่เสด็จออกขุนนาง  เป็นแต่ที่ประทับเท่านั้น
แสดงว่า  ผู้แต่งเสภาตอนนี้ น่าจะเป็นคนที่เกิดทันเห็นกรุงเก่าของเราแต่ก่อน


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 ก.ค. 11, 16:01

ถ้าผูกเรื่องขุนช้าง ขุนแผน คงจะต้องไปดูหมู่พระมหาปราสาท ที่พระราชวังโบราณ กรุงเก่า  ???

มีพระที่นั่งวิหารสมเด็จ, พระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาท, พระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์, พระที่นั่งบรรยงก์รัตนอาสน์, พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์

กรุณาขยายตรงนี้เพิ่มเติม  ทราบมาว่า สมัยกรุงเก่าของเราแต่ก่อน
พระเจ้าแผ่นดินมักเสด็จออกขุนนางที่พระที่นั่งองค์นี้

พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานในพระบรมมหาราชวังที่กรุงเทพพระมหานคร
ไม่เคยได้ยินว่าใช้เป็นที่เสด็จออกขุนนาง  เป็นแต่ที่ประทับเท่านั้น
แสดงว่า  ผู้แต่งเสภาตอนนี้ น่าจะเป็นคนที่เกิดทันเห็นกรุงเก่าของเราแต่ก่อน

พระที่นั่งสำหรับเสด็จออกขุนนาง คงหนีไม่พ้น "พระที่นั่งสรรเพชญมหาปราสาท"
แนบแปลนพระที่นั่งสรรเพชญฯ ไม่ระบุกระสวน


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ก.ค. 11, 06:50

การถอดความเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน  หรือที่ จขกท เขียนว่าแปล   ไม่ว่าตอนใด    ไม่ใช่เรื่องยาก

คุณสมบัติของนักแปลที่ดีตามที่ผู้หลักผู้ใหญ่ผู้ชำนาญการในห้องแปลของพันทิปยำ้อยู่เสมอคือ  แปลไม่ขาด  ไม่เกิน  ไม่ผิด  (และไม่หยาบ)

การถอดความเรื่องราวที่ยืดยาวของขุนช้างขุนแผนนั้น  ถ้าไม่เคยอ่านตอนต้น  และ ตอนปลายมาบ้าง

ก็อาจจะแปลขาดไปได้  เพราะไม่รู้เรื่องว่า ใคร  ทำอะไร  ที่ไหนกับใคร  และทำไมนั่นเอง

วรรณกรรมอมตะแทบทุกเรื่องแฝงประเพณี  กฎหมาย  และวิถีชีวิตของชาวบ้าน

พจนานุกรมศัพท์โบราณที่ผู้ทรงความรู้รวบรวม  จะช่วยให้คนอ่านได้เข้าใจความเพิ่มขึ้น

การที่ท่านที่นับถือในเรือนไทยสนทนากันกระจายนั้น   เป็นการคิดใหม่   แสดงเหตุผลสนับสนุนที่น่าฟัง



กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ก.ค. 11, 07:00

ยังมีวลี  "น้ำหยั่งไม่ถึงยังดึงมา"   ที่ขอความกรุณาสหายทั้งปวงวาดลวดลาย แปล  กันหน่อย

จขกท  คงไม่เคืองพวกเราที่  ไม่ได้ช่วยทำการบ้านตามประสงค์   แต่เรากำลังช่วยให้เข้าใจ

ว่า งานถอดความที่ดี  นั้น  ก็ไม่ได้ยากเย็นแสนเข็ญอะไร

ถ้าสงสัยหรือสะกิดใจ  ก็อ่านเรื่องราวที่นำเรื่องมาถึงจุดนี้ก่อน


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ก.ค. 11, 07:44

ทรงเคืองขัดขุนช้างแต่กลางคืน    ตีความว่า  ขุนช้างได้ถวายฎีกาแต่กลางคืน

การถวายฎีกาของขุนช้างนั้นไปแอบอยู่ที่ใต้ถุนตำหนักน้ำ 

"วันนั้นพอพระปิ่นนรินทร์ราช        เสด็จประพาสบัวยังหากลับไม่"


    การจู่โจมเข้าไปยังกระบวนเสด็จของขุนช้าง  ผู้เคยเป็นมหาดเล็กมานาน

และยึดแคมเรือไว้    เป็นการกระทำที่ผิด    จึงโดนสั่งเฆี่ยนไปหนึ่งยกหรือสามสิบที


     ฎีกาของขุนช้าง  เป็นเรื่องร้องทุกข์ว่าจมื่นไวย  ได้มาพาภรรยาของขุนช้างคือนางวันทอง

ไปจากเรือนในเวลากลางคืน

(จขกท ทราบหรือไม่ว่าเรือนของพระไวยอยู่ที่ไหน   เรือนของขุนช้างอยู่ที่ไหน  การเดินทางใช้เวลาเท่าใด)


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ก.ค. 11, 07:50

       การที่ขุนช้างถวายฎีกานี้  เป็นความกล้าหาญอย่างยิ่ง  เนื่องมาจากความเสียดายเมีย

ขุนช้างเพิ่งแพ้คดีพระไวยไป  เพราะพระไวยเห็นแก่แม่ที่มาขอร้อง


จขกท  ทราบหรือไม่ว่าเป็นคดีอะไร


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ก.ค. 11, 08:05

พระองค์ผู้ทรงชัยในความตอนนี้ คือใคร    กำลังโปรดพระไวยและขุนแผนมาก  เพราะอะไร


ผู้ตั้งกระทู้  สมควรแปล กลอน ได้แล้ว เมื่ออ่านมาถึงตอนนี้นะคะ


เรือนไทย  ไม่ทำการบ้านให้ใคร  แต่จะช่วยให้คุณทำการบ้านได้เอง

ขอบคุณที่ยกเรื่องน่าสนใจมาให้เยาวชนในเรือนไทยได้ลับดาบ  เตรียมพบกระทู้กระดูกต่อไป

ข่าวจากแหล่งข่าวใกล้ชิดแจ้งว่า   ใต้เท้ากำลังมอง ดาหลังอยู่


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ก.ค. 11, 08:11
เด็กอาจจะงง "เวียนแต่เป็นถ้อยความไม่ข้ามคืน           น้ำยืนหยั่งไม่ถึงยังดึงมา"

ขอให้ท่านผู้รู้ ช่วยขยายความให้ด้วยครับ


ยังมีวลี  "น้ำหยั่งไม่ถึงยังดึงมา"   ที่ขอความกรุณาสหายทั้งปวงวาดลวดลาย แปล  กันหน่อย


ทรงเคืองขัดขุนช้างแต่กลางคืน    ตีความว่า  ขุนช้างได้ถวายฎีกาแต่กลางคืน

การถวายฎีกาของขุนช้างนั้นไปแอบอยู่ที่ใต้ถุนตำหนักน้ำ 

"วันนั้นพอพระปิ่นนรินทร์ราช        เสด็จประพาสบัวยังหากลับไม่"


    การจู่โจมเข้าไปยังกระบวนเสด็จของขุนช้าง  ผู้เคยเป็นมหาดเล็กมานาน

และยึดแคมเรือไว้    เป็นการกระทำที่ผิด    จึงโดนสั่งเฆี่ยนไปหนึ่งยกหรือสามสิบที

คุณวันดีเฉลยความหมายของวลี น้ำยืนหยั่งไม่ถึงยังดึงมา" ได้ชัดเจนมาก

 ;D




กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ก.ค. 11, 08:13
มีการบ้านให้จขกทแปลเพิ่มเติม

วันนั้นพอพระปิ่นนรินทร์ราช         เสด็จประพาสบัวยังหากลับไม่
ขุนช้างมาถึงซึ่งวังใน                ก็คอยจ้องที่ใต้ตำหนักน้ำ

จะกล่าวถึงพระองค์ผู้ทรงเดช        เสด็จคืนนิเวศน์พอจวบค่ำ
ฝีพายรายเล่มมาเต็มลำ              เรือประจำแหนแห่เซ็งแซ่มา
พอเรือพระที่นั่งประทับที่             ขุนช้างก็รี่ลงตีนท่า
ลอยคอชูหนังสือดื้อเข้ามา           ผุดโผล่ดงหน้ายึดแคมเรือ
เข้าตรงโทนอ้นต้นกัญญา            เพื่อนโขกลงด้วยกะลาว่าผีเสื้อ
มหาดเล็กอยู่งานพัดพลัดตกเรือ     ร้องว่าเสือตัวใหญ่ว่ายน้ำมา
ขุนช้างดึงดื้อมือยึดเรือ              มิใช่กระหม่อมฉานล้านเกศา
สู้ตายขอถวายซึ่งฎีกา               แค้นเหลือปัญญาจะทานทน

ครานั้นสมเด็จพระพันวษา           ทรงพระโกรธาโกลาหล
ทุดอ้ายชั่วมิใช่คน                   บนบกบนฝั่งดังไม่มี
ใช่ที่ใช่ทางวางเข้ามา               หรืออ้ายช้างเป็นบ้ากระมังนี่
เฮ้ยใครรับฟ้องของมันที            ตีเสียสามสิบจึงปล่อยไป
มหาดเล็กก็รับเอาฟ้องมา           ตำรวจคว้าขุนช้างหาวางไม่
ลงพระราชอาญาตามว่าไว้          พระจึงให้ตั้งกฤษฎีกา
ว่าตั้งแต่วันนี้สืบต่อไป              หน้าที่ของผู้ใดให้รักษา
ถ้าประมาทราชการไม่นำพา        ปล่อยให้ใครเข้ามาในล้อมวง
ระวางโทษเบ็ดเสร็จเจ็ดสถาน       ถึงประหารชีวิตเป็นผุยผง
ตามกฤษฎีการักษาพระองค์        แล้วลงจากพระที่นั่งเข้าวังใน

 ;D


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 ก.ค. 11, 08:40
จขกทคงจะแปลไปได้ไม่ตลอด  เพราะสะดุดคำบางคำ
จึงขอแก้ไขให้เป็นไปตามเสภาฉบับหอพระสมุด

มีการบ้านให้จขกทแปลเพิ่มเติม

วันนั้นพอพระปิ่นนรินทร์ราช         เสด็จประพาสบัวยังหากลับไม่
ขุนช้างมาถึงซึ่งวังใน                ก็คอยจ้องที่ใต้ตำหนักน้ำ

จะกล่าวถึงพระองค์ผู้ทรงเดช        เสด็จคืนนิเวศน์พอจวนค่ำ
ฝีพายรายเล่มมาเต็มลำ              เรือประจำแหนแห่เซ็งแซ่มา
พอเรือพระที่นั่งประทับที่             ขุนช้างก็รี่ลงตีนท่า
ลอยคอชูหนังสือดื้อเข้ามา           ผุดโผล่โงหน้ายึดแคมเรือ
เข้าตรงบโทนอ้นต้นกัญญา            เพื่อนโขกลงด้วยกะลาว่าผีเสื้อ
มหาดเล็กอยู่งานพัดพลัดตกเรือ     ร้องว่าเสือตัวใหญ่ว่ายน้ำมา
ขุนช้างดึงดื้อมือยึดเรือ              มิใช่(เสือ)กระหม่อมฉานล้านเกศา
สู้ตายขอถวายซึ่งฎีกา               แค้นเหลือปัญญาจะทานทน

ครานั้นสมเด็จพระพันวษา           ทรงพระโกรธาโกลาหล
ทุดอ้ายจัญไรมิใช่คน                   บนบกบนฝั่งดังไม่มี
ใช่ที่ใช่ทางวางเข้ามา               ฤาอ้ายช้างเป็นบ้ากระมังนี่
เฮ้ยใครรับฟ้องของมันที            ตีเสียสามสิบจึงปล่อยไป
มหาดเล็กก็รับเอาฟ้องมา           ตำรวจคว้าขุนช้างหาวางไม่
ลงพระราชอาญาตามว่าไว้          พระจึงให้ตั้งกฤษฎีกา
ว่าตั้งแต่วันนี้สืบต่อไป              หน้าที่ของผู้ใดให้รักษา
ถ้าประมาทราชการไม่นำพา        ปล่อยให้ใครเข้ามาในล้อมวง
ระวางโทษเบ็ดเสร็จเจ็ดสถาน       ถึงประหารชีวิตเป็นผุยผง
ตามกฤษฎีการักษาพระองค์        แล้วลงจากพระที่นั่งเข้าวังใน




กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ก.ค. 11, 08:54
จขกทคงจะแปลไปได้ไม่ตลอด  เพราะสะดุดคำบางคำ
จึงขอแก้ไขให้เป็นไปตามเสภาฉบับหอพระสมุด

ขอบพระคุณคุณหลวงที่กรุณาช่วยตรวจทาน


มีการบ้านให้จขกทแปลเพิ่มเติม
เข้าตรงบโทนอ้นต้นกัญญา            เพื่อนโขกลงด้วยกะลาว่าผีเสื้อ

บโทนอ้นต้นกัญญา  น่าจะเป็น  บโทนอันต้น กัญญา

เริ่มแปลกันเลยไหม

เข้าตรงบโทนอันต้นกัญญา   เพื่อนโขกลงด้วยกะลาว่าผีเสื้อ

๑. บโทนอันต้นกัญญา คือใคร

๒. ผีเสื้อ  ทำไมอยู่ในน้ำ

 ;D


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ก.ค. 11, 09:28
บโทน (รัตนมาลา  หน้า ๔๘๘)

บ่อโทน(น.)
ผู้รับใช้  ผู้ติดตามหน้าหลัง    ในสมัยอยุธยาบโทนจะติดตามพระมหากษัตริย์ หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่
แต่ในสมัยรัตนโกสินทร์  บโทนจะติดตามขุนนางผู้ใหญ่  บางครั้งจะเข้ากระบวนแห่ประกอบเกียรติยศในโอกาสสำคัญ


ต้นเรือ(พจนานุกรมมติชน  หน้า ๓๓๘)
รองผู้บังคับการเรือ

ตามความเข้าใจ  ต้นเรือจะอยู่ด้านหลังที่ประทับ  เพื่อจะได้เห็นสภาพทั่วลำเรือ
การบังคับใช้กรับ  เพราะจะไม่ส่งเสียงข้ามพระที่นั่ง


กัญญา(พจนานุกรมมติชน หน้า ๗๒)
น. เครื่องบังแดดรูปหลังคา  ใช้สำหรับเรือยาวหรือแคร่หามที่มีกัญญาว่า เรือกัญญา  แคร่กัญญา


ผีเสื้อในน้ำ  คือผีเสื้อน้ำ  อมุษย์ประเภทหนึ่ง  ตาแดง  พระอภัยไม่สามารถอยู่ร่วมด้วย
ลักษณะของขุนช้างที่โผล่ขึ้นมาในเวลาเข้าไต้เข้าไฟ  ไม่มีผม    คิดถึงหน้าของนางผีเสื้อก็คงประมาณนี้
ตอนนางผีเสื้อน้ำขาดใจตาย  พระอภัยยังครวญว่า  พบกันชาติหน้า
(ที่จริงนางไม่หายใจเฉย ๆ   วิญญาณยังอยู่  ยังตามมาช่วยลูกหลานหลายครั้ง  ศรีสุวรรณยังเรียก "พี่")
 




กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 ก.ค. 11, 10:08
วันนั้นพอพระปิ่นนรินทร์ราช         เสด็จประพาสบัวยังหากลับไม่
ขุนช้างมาถึงซึ่งวังใน                ก็คอยจ้องที่ใต้ตำหนักน้ำ

๑.ประพาสบัว หมายถึงอะไร
๒.ตำหนักน้ำ  หมายถึงอะไร

จะกล่าวถึงพระองค์ผู้ทรงเดช        เสด็จคืนนิเวศน์พอจวนค่ำ
ฝีพายรายเล่มมาเต็มลำ              เรือประจำแหนแห่เซ็งแซ่มา
พอเรือพระที่นั่งประทับที่             ขุนช้างก็รี่ลงตีนท่า
ลอยคอชูหนังสือดื้อเข้ามา           ผุดโผล่โงหน้ายึดแคมเรือ
เข้าตรงบโทนอ้นต้นกัญญา            เพื่อนโขกลงด้วยกะลาว่าผีเสื้อ

๓.ตามฉบับหอพระสมุด ใช้ว่า บโทนอ้นต้นกัญญา 
ฉะนั้นเราควรยึดตามฉบับนี้ไปก่อน   อ้น  อาจจะเป็นชื่อคน
ส่วนจะมีตัวจริงหรือไม่  เห็นว่าไม่เป็นเหตุสำคัญอะไรที่จะต้องไปควาญหา
เพราะไม่ใช่ตัวละครที่เป็นสลักสำคัญแก่เรื่อง

๔.กัญญา  ในที่นี้ เกี่ยวกับเรือพระที่นั่ง
แต่ทำไมเขียนว่ากัญญา อย่างบาลี อันแปลว่าผู้หญิง
ชะรอยว่า จะเป็นคำภาษาอื่น กลายรูปมา

๕.เพื่อน  ในที่นี้  คงไม่ได้หมายถึงบโทนอ้นเป็นเพื่อนกับขุนช้าง
เพื่อนในที่นี้ มีความมหายว่าอะไร

๖.กะลา ที่โขกหัวขุนช้าง  คือ กะลาที่ใช้วิดน้ำในเรือ
จะขาดเสียไม่ได้ในท้องเรือทั้งหลาย

มหาดเล็กอยู่งานพัดพลัดตกเรือ     ร้องว่าเสือตัวใหญ่ว่ายน้ำมา
ขุนช้างดึงดื้อมือยึดเรือ              มิใช่เสือกระหม่อมฉานล้านเกศา
สู้ตายขอถวายซึ่งฎีกา               แค้นเหลือปัญญาจะทานทน

๗.การถวายฎีกาของขุนช้างนี้  น่าจะล่วงข้อบัญญัติในกฎมณเฑียรบาล
เสียดายหนังสืออยู่ห่างมือ  ใครว่างช่วยค้นดูสักหน่อยเถิดว่าอยู่ตรงไหน


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 ก.ค. 11, 10:32
๑. นั่นซิครับ "ประพาสบัว" ไปทำอะไรมิทราบ
     ๑.๑ ไปชมทุ่งดอกบัวในสระบัว กระนั้นหรือ
     ๑.๒ พายเรือในหว่างกอบัว กระนั้นหรือ
     ๑.๓ ถูกพระมเหสีสั่งให้ไปเก็บสายบัว มาต้มกะทิเสวยกันเย็นนี้หรือ

๒. กะลาวิดน้ำ ยังเคยใช้ตอนเด็ก สนุกจะตาย - วิดน้ำเข้าเรือนะ ไม่ใช่วิดน้ำออกเรือ // วิดน้ำไปด้วย ส่องเงาตัวเองไปด้วย เข้าข่ายคำพังเพยชอบกล  ;D ;D ;D


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 ก.ค. 11, 10:34

๒.ตำหนักน้ำ  หมายถึงอะไร



ตำหนักน้ำ ในความหมายนี้ คงจะหมายถึง ท่าเรือ หรือ โป๊ะ ใช่ไหมครับ


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ก.ค. 11, 10:36
๑. นั่นซิครับ "ประพาสบัว" ไปทำอะไรมิทราบ
     ๑.๑ ไปชมทุ่งดอกบัวในสระบัว กระนั้นหรือ
     ๑.๒ พายเรือในหว่างกอบัว กระนั้นหรือ
     ๑.๓ ถูกพระมเหสีสั่งให้ไปเก็บสายบัว มาต้มกะทิเสวยกันเย็นนี้หรือ

     ๑.๔ เที่ยวไปทางเรือในฤดูน้ำหลาก  ;D

๒.ตำหนักน้ำ  หมายถึงอะไร

ตำหนักน้ำ ในความหมายนี้ คงจะหมายถึง ท่าเรือ หรือ โป๊ะ ใช่ไหมครับ

วันนั้นพอพระปิ่นนรินทร์ราช         เสด็จประพาสบัวยังหากลับไม่
ขุนช้างมาถึงซึ่งวังใน                ก็คอยจ้องที่ใต้ตำหนักน้ำ

ใต้ตำหนักน้ำ = ใต้โป๊ะ

ขุนช้างไม่น่ากลั้นหายใจได้นานขนาดนั้น

 ;D



กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ก.ค. 11, 10:47
๓.ตามฉบับหอพระสมุด ใช้ว่า บโทนอ้นต้นกัญญา  
ฉะนั้นเราควรยึดตามฉบับนี้ไปก่อน   อ้น  อาจจะเป็นชื่อคน
ส่วนจะมีตัวจริงหรือไม่  เห็นว่าไม่เป็นเหตุสำคัญอะไรที่จะต้องไปควาญหา
เพราะไม่ใช่ตัวละครที่เป็นสลักสำคัญแก่เรื่อง

หากบโทนคนนี้ชื่ออ้น น่าจะมีบทบาทต่อมาในเรื่อง อุตส่าห์เอ่ยชื่อทั้งที

ขออนุญาตแก้คำสะกด

ควาญหา  ----> ควานหา

 ;D


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ก.ค. 11, 11:16
เอี้ยวหลัง  เจอเล่มสีน้ำเงินพอดีค่ะ



กฎมณเทียรบาล ฉบับเฉลิมพระเกียรติ     ผลงานวิจัย  ๒๕๔๘

ข้อ ๒๓

อนึ่ง  ถ้าเสด็จหนเรือ  ผู้บรรดาแห่ขุนดาบขุนเรือ  แลเรือประตูเรือดั้งแนมกัน  ประทับอยู่ก็ดี  ไปมาก็ดี

แลเรือผู้ร้าย คือ กบฎโจรเมาเหล้าก็ดี    ถวายของถวายฎีกาก็ดี   แลเข้ามาในประตูมหาดไทย  ประตูขุนดาบ

ประตูตำรวจ  ถึงเรือดั้งเรือกัน   ให้โบกผ้า   ถ้ามิฟังให้ขว้างด้วยอิฐด้วยไม้ด้วยดาบ

ถ้ามิฟังให้ว่ายน้ำยุดเอาเรือออกมา

ถ้าทอดพระเนตรเห็นแลตรัสเรียกเข้าไปไซร้   โทษขุนเรือขุนดาบตำรวจใน  ฟันคอริบเรือน



๒๔

อนึ่งสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าก็ดี  พระราชกุมารก็ดี   มีกิจแลเข้ามาในเรือประตูไซร้   ให้เรือประตูโบกผ้า  

ถ้ามิฟังให้ขว้างด้วยอิฐด้วยไม้หัวต้าย

ถ้ามิฟังให้พุ่งด้วยหอก

ถ้าทอดพระเนตรเห็นตรัสเรียกให้เข้ามาไซร้   ให้เอาเรือประตูรับอย่าให้เข้ามาด้วยเรือเอง

ครั้นมาถึงให้อยู่แต่แคมเรือ   ให้ขุนตำรวจนั่งกลสงกันอยู่   ถ้ามิทำตามโทษถึงตาย


ข้อ ๒๖

อนึ่ง  ท้าวพญามนตรีมุกขลูกขุนหัว  หมื่น พัน ทั้งปวง   ฝ่าประเทียบก็ดี  ตัดประเทียบชั่วลำเรือก็ดี   โทษฟันคอริบเรือน

ถ้าตัดฉาน  หลังพนักวานมหาดไทยนอก   ถ้าตัดหน้าฉานพนักงานขุนดาบกลาง  ตัดหน้าขุนเรือใน   โทษตามหนักเบา  

ฟันคอริบเรือนลงหญ้าศักถ้าดาบ

ศักถ้าดาบ  หมายความว่า   รอลงอาญา





กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ก.ค. 11, 11:26
ลงพระราชอาญาตามว่าไว้                   พระจึงให้ตั้งกฤษฎีกา
ว่าตั้งแต่วันนี้สืบต่อไป              หน้าที่ของผู้ใดให้รักษา
ถ้าประมาทราชการไม่นำพา        ปล่อยให้ใครเข้ามาในล้อมวง
ระวางโทษเบ็ดเสร็จเจ็ดสถาน       ถึงประหารชีวิตเป็นผุยผง
ตามกฤษฎีการักษาพระองค์        แล้วลงจากพระที่นั่งเข้าวังใน

กฎมณเทียรบาลที่คุณวันดียกมาเห็นทีคงมีขึ้นหลังเหตุการณ์ขุนช้างถวายฎีกานี้เอง  ;D


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 ก.ค. 11, 11:28
^
ขอให้ช่วยขยายความด้วยครับ ด้วยข้าพเจ้าเกิดในกรุงรัตนโกสินทร์

๑. ประตู ในที่นี้คงไม่ได้หมายถึง Door ถูกไหมครับ

๒. "ถ้ามิฟังให้ขว้างด้วยอิฐด้วยไม้ด้วยดาบ"
    ๒.๑ ให้โยนอิฐ -- กรณีทั้งเนื้อความทุกท่านอยู่บนเรือ มีผู้นำเรือแหวกเข้ามาถวายฎีกา จะหาอิฐจากไหน  ???
    ๒.๒ ขว้างด้วยดาบ -- โยนไปปักอก ทะลุ แม่นกระนั้นหรือ ? หรือว่าโยนอาวุธให้ใช้ ?

๓. "ให้ขุนตำรวจนั่งกลสงกันอยู่"   -- นั่งกันอย่างไร ?

ที่ถามมิได้ก่อกวนแต่อย่างใด หากสงสัยถึงธรรมเนียมปฏิบัติว่า สามารถเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่





กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ก.ค. 11, 11:34
ระวางโทษเบ็ดเสร็จเจ็ดสถาน       ถึงประหารชีวิตเป็นผุยผง

คำถาม ระวางโทษเบ็ดเสร็จเจ็ดสถาน  มีอะไรบ้าง  

 ;D



กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ก.ค. 11, 13:21

สะกดผิดเจ้าค่ะ


๒๔       ให้ขุนตำรวจนั่งกลางกั้นอยู่

โยนอิฐ     ต้องมีอิฐเตรียมมาเพื่อการนี้

ขว้างด้วยดาบ    แหม..การขว้างดาบนี่ถือเป็นการต่อสู้สละอาวุธเลยนะคะ

เก็บความมาจากขุนศึก(ไปหาอ่านเถอะ  ไม่มีเจอหรอก)และนิยายกึ่งพงสาวดารจีนหลายเรื่อง

ถอดจากฝัก    ปาได้หลายแบบ  ปาแบบจับปลายดาบ   อาวุธจะควงเพื่อเพิ่มความแม่นยำ

ปาแบบจับสันดาบ   ปาแบบจับด้ามดาบต้นๆ   แบบนี้ดาบบินมาสูง


คุณหนุ่มไม่ได้เกิดแปดริ้วฤา


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ก.ค. 11, 13:28


เรือประตู  น่าจะเป็นเรือเปิดทางค่ะ   

ถ้ามีกิจจะเสด็จโดยด่วน  เรือประตูจะหลบเปิดทาง   ทำให้มีช่องว่างเกิดขึ้น

ถ้ามีใครมา  จะต้องเข้าทางเรือประตูเท่านั้น   ไม่อย่างนั้นจะเบียดเสียดยัดเยียดกัน

ถ้าไม่มีใน เผาเมืองเพื่อชิงเมีย  ของ ยาขอบแล้ว(ยาขอบอ่านมาจากตำราของเวทางค์เพื่อนรัก)  ก็นึกไม่ออกว่าจำมาจากไหนค่ะ


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ก.ค. 11, 13:33
เรือประตู น. เรือหลวงที่จัดเข้าร่วมในกระบวนเสด็จทางชลมารค ทำหน้าที่ถวายอารักขาและป้องกันอันตรายกระบวนเรือพระที่นั่ง จัดอยู่ตามตำแหน่งเป็นชั้น ๆ ข้างหน้ากระบวนมีเรือประตูนอกหรือเรือประตูชั้นนอกอยู่ข้างหน้าเรือคู่ชักหมู่หนึ่งกับอยู่ต่อเรือคู่ชักเข้ามาก่อนถึงเรือดั้งอีกแถวหนึ่งเรียกว่า เรือประตูใน และยังมีอยู่ทางตอนท้ายกระบวนอีก ๒ หมู่ หมู่ต้นอยู่ต่อท้ายเรือกันเรียกว่า เรือประตูในกับหมู่ปลายอยู่ต่อท้ายหมู่เรือพระที่นั่งกรมพระราชวังบวรฯ และเรือที่นั่งเจ้านายเรียกว่า เรือประตูนอก.

นึกอะไรไม่ออก อย่าลืมบอกรอยอิน

 ;D
 
 


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 ก.ค. 11, 13:34
๑. นั่นซิครับ "ประพาสบัว" ไปทำอะไรมิทราบ
     ๑.๑ ไปชมทุ่งดอกบัวในสระบัว กระนั้นหรือ
     ๑.๒ พายเรือในหว่างกอบัว กระนั้นหรือ
     ๑.๓ ถูกพระมเหสีสั่งให้ไปเก็บสายบัว มาต้มกะทิเสวยกันเย็นนี้หรือ

๒. กะลาวิดน้ำ ยังเคยใช้ตอนเด็ก สนุกจะตาย - วิดน้ำเข้าเรือนะ ไม่ใช่วิดน้ำออกเรือ //
วิดน้ำไปด้วย ส่องเงาตัวเองไปด้วย เข้าข่ายคำพังเพยชอบกล  ;D ;D ;D


ประพาสบัวนี้  ควรจะหมายถึง เสด็จไปทอดพระเนตรทุ่งบัว เพื่อทรงพักผ่อนพระอิริยาบถ
การเสด็จประพาสบัวนี้  แม้พระเจ้าแผ่นดินในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก็เคยเสด็จประพาสอย่างนี้อยู่หลายพระองค์

มีรัชกาลที่ ๒ เสด็จประพาสบัวที่เมืองประทุมธานี (เขียนอย่างเก่า ไม่ต้องแก้)
และประพาสบัวในสวนขวา

ในสมัยรัชกาลที่ ๔  เสด็จประพาสบัวแถวๆ วังสระประทุม (เขียนอย่างเก่า ไม่ต้องแก้)

ในรัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสพระราชวังบางปะอินคราวไร  ก็มักจะเสด็จประพาสบัว
แถบกรุงเก่าเสมอๆ  ตรงนี้มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า  คราวหนึ่งมีหญิงสูงวัยกราบบังคมทูลเชิญ
เสด็จประพาสบัวที่บึงบัวแถวบ้านตน  เมื่อเสด็จฯ ไปถึงที่บึงนั้นมีบัวบานอยู่มากมาย
แต่พอแดดเริ่มแรงขึ้น  ดอกบัวเหี่ยวผิดสังเกต  เจ้านายที่ตามเสด็จครั้งนั้น จับได้ว่า
บัวที่อยู่ในบึงนั้น  เป็นบัวจากที่อื่นที่หญิงผู้นั้นขอแรงคนแถวบ้านมาช่วยกันหามาปักไว้

ในสมัยรัชกาลที่ ๙ เคยเสด็จประพาสทุ่งรังสิตเมื่อต้นรัชกาลครั้งหนึ่ง
การเสด็จประพาสบัวนี้  ไม่จำเป็นต้องเป็นฤดูน้ำหลากเสมอไป  แต่ที่นิยมฤดูน้ำหลาก
เพราะเป็นช่วงบัวออกดอกมาก  และมีน้ำมากสามารถพายเรือไปเที่ยวในทุ่งได้สบาย

การเสด็จประพาสบัว  จึงน่าจะหมายถึงเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรดอกบัวในบึงธรรมชาติ
ส่วนจะทรงพายเรือด้วยพระองค์เองนั้น  ไม่น่าจะใช่  ดูเป็นฝรั่งไป

และที่ว่า  "ถูกพระมเหสีสั่งให้ไปเก็บสายบัว มาต้มกะทิเสวยกันเย็นนี้หรือ"
ถ้าประพาสบัวสายก็คงได้สายบัวมาแกงกะทิ   ถ้าประพาสบัวหลวง
ก็คงได้ไหลบัวมาแกงส้ม หรือต้มจิ้มน้ำพริก  บางทีอาจจะได้รากบัวมาด้วย
กลีบบัวหลวงก็เอามาบวนพระโอสถมวน  เกสรบัวเก็บมาตากแห้งส่งขายเจ๊กร้านขายยา
ใบบัวเอามาทำข้าวห่อใบบัว  ที่สำคัญ  พระมเหสีพระองค์นั้นคงจะดุมาก
ถึงขนาดกล้าหาญสั่งพระเจ้าแผ่นดินได้  (ถ้าไม่โดนถวายผ้าขาวกับยาถ้วยเล็กๆ หนึ่งถ้วยเสียก่อนนะ)


ส่วนเรื่องกะลาวิดน้ำเรือนั้น  ท่านขุนสยามก็มีอารมณ์ดีไม่ใช่เล่น
แต่ถ้าทำอย่างนั้น  แถวบ้านผมเขาจะเอาไม้พายเล้าโลมที่กระหม่อมพอถึงแก่วิสัญญีภาพ
แล้วก็หมกไว้ที่ชายเฟือย  ให้เป็นมังสาหารแก่บรรดาสัตว์ทั้งหลายในท้องน้ำนั้น
ไม่ช่วยพาแถมยังจะวิดน้ำเข้าเรือ ชิ ไม่ใช่เวลาน้ำขึ้นให้รีบตักนะ


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ก.ค. 11, 13:35
โทษเจ็ดประการนั้นน่าจะเป็น

ชอบตบให้สลบลงกับที่        เฆี่ยนตีเสียให้ยับนับไม่ได้

มะพร้าวห้าวยัดปากให้สาใจ    

สับแสกหน้า

ถอดเล็บมือเท้า

กรีดหนังเป็นริ้ว ๆ       ประมาณนี้ค่ะ



กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 ก.ค. 11, 13:38

คุณหนุ่มไม่ได้เกิดแปดริ้วฤา


เกิดครับ ริมฝั่งชายน้ำบางปะกง ชมอาทิตย์อัสดง งดงามกว่าแม่น้ำทั้งปวง วิ่งไล่จับปูเปี้ยว ปูก้ามดาบแกว่งไกวมา พริ้วไสวพร้อมหมู่ปลาตีน ...กระดึ๊บ ๆ ๆ


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ก.ค. 11, 13:47
โทษเจ็ดประการนั้นน่าจะเป็น

ชอบตบให้สลบลงกับที่        เฆี่ยนตีเสียให้ยับนับไม่ได้

มะพร้าวห้าวยัดปากให้สาใจ    

สับแสกหน้า

ถอดเล็บมือเท้า

กรีดหนังเป็นริ้ว ๆ       ประมาณนี้ค่ะ

ยังนับได้เพียงหก

 ;D


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 ก.ค. 11, 13:51
เรื่องประพาสบัว ทราบมาตั้งแต่ต้นแล้ว แต่ชวนหัวนิดหน่อย เพื่อท้ายสุดจะนำภาพการประพาสบัว ของทางราชวงศ์ชิงมาให้ชมกัน (คุณหลวงจะได้รับแพรเนื้อดี หรือถ้วยชา ต้องแล้วแต่จะพระราชทานมาให้ ไม่มีสิทธิ์เลือกมาก แลต้องถวายพระก่อนก่อนจากไป)

ทางฝ่ายจีน ในภาพเป็นภาพพระนางซูสีไทเฮา และพระมเหสีของจักรพรรดิ์เต้ากวง และพระสนม ซึ่งขณะที่ถ่ายภาพนี้ พระนางซูสีไทเฮาได้ดำรงตำแหน่ง พระพันปีหลวง ซึ่งถ่ายไว้ในรัชสมัยจักรพรรดิ์ปูยี กำลังประพาสความงามของบัวหลวง ที่สวยงามอย่างยิ่งนำมาให้ชม ด้วยการประพาสบัว ทางฝ่ายไทยไม่มีให้ชมกัน


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 ก.ค. 11, 13:56

๒.ตำหนักน้ำ  หมายถึงอะไร



ตำหนักน้ำ ในความหมายนี้ คงจะหมายถึง ท่าเรือ หรือ โป๊ะ ใช่ไหมครับ


๒.ตำหนักน้ำ  หมายถึงอะไร

ตำหนักน้ำ ในความหมายนี้ คงจะหมายถึง ท่าเรือ หรือ โป๊ะ ใช่ไหมครับ

วันนั้นพอพระปิ่นนรินทร์ราช         เสด็จประพาสบัวยังหากลับไม่
ขุนช้างมาถึงซึ่งวังใน                ก็คอยจ้องที่ใต้ตำหนักน้ำ

ใต้ตำหนักน้ำ = ใต้โป๊ะ

ขุนช้างไม่น่ากลั้นหายใจได้นานขนาดนั้น

 ;D

ตำหนักน้ำ  ไม่ใช่โป๊ะ หรือท่าน้ำ ตามหน้าวัด หรือท่าเทียบเรือทั่วไป
แต่เป็นสิ่งปลูกสร้างที่ปลูกอยู่บนแพลูกบวบที่ทำจากไม้ไผ่หลายลำมามัดเข้าด้วยกันเป็นทุ่น
และบนนั้นสร้างเป็นเรียนไม้ฝากระดาน หรือจะฝากระแชง หรือเป็นเรือนโถง
ตำหนักน้ำอย่างนี้  นอกจากจะใช้เป็นเทียบเรือพระที่นั่งแล้ว  ยังเป็นที่ทรงลอยพระประทีป
เป็นที่ประทับสำราญพระอิริยาบถ  หรือเป็นที่เสด็จลงส่งทัพเรือไปศึกสงครามหัวเมือง
บางทีก็เรียกว่า  ตำหนักแพ  มีทั้งที่วังหน้า และวังหลวง
จะให้ดีต้องอ่านพระราชนิพนธ์เรื่อง ตำหนักแพ ของรัชกาลที่ ๔ จะเข้าใจดี

ส่วนที่ว่าขุนช้างมาถึงซึ่งวังใน                ก็คอยจ้องที่ใต้ตำหนักน้ำ
ใต้ ในที่นี้  หมายถึง ด้านทิศใต้ของตำหนักน้ำ
หรือด้านท้ายน้ำถัดจากตำหนักน้ำ  เพราะตามปกติ  จะไม่ให้ใครไปอยู่เหนือน้ำ
เวลาที่เรือพระที่นั่งเข้าเทียบท่า  เกรงว่าจะทำอันตรายปล่อยคุณไสย หรือทำการอื่นที่ไม่ดี
ส่วนที่จะไปมุดอยู่ใต้ตำหนักน้ำนั้น  ถ้าขุนช้างไม่ถูกพวกกรมทหารอาสาแทงตาย
ขุนช้างก็บวมน้ำลอยขึ้นมาถวายฎีกาตอนเรือเข้าเทียบท่าพอดี


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ก.ค. 11, 13:57
ชุดกฎหมายตราสามดวงไม่อยู่ตรงนี้ค่ะ

หยิบเอาไปอ่านเรื่องอะไรยังนึกไม่ออก



กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 ก.ค. 11, 14:01

ฟันคอริบเรือนลงหญ้าศักถ้าดาบ

ศักถ้าดาบ  หมายความว่า   รอลงอาญา


หามิได้  ศักถ้าดาบ  เขียนอย่างปัจจุบัน  สักท่าดาบ
หมายความว่า ท่านให้เอาไปสักหน้าหรือที่ใดในร่างกาย
ว่า ท่าดาบ  คือ  รอลงดาบประหาร  ถ้าทำผิดอีก  ก็ฟันคอทันที
ไม่ต้องรอวินิจฉัยโทษ


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ก.ค. 11, 14:06
ประพาสบัวนี้  ควรจะหมายถึง เสด็จไปทอดพระเนตรทุ่งบัว เพื่อทรงพักผ่อนพระอิริยาบถ

ครูสอนภาษาไทยไม่คิดอย่างนั้น (http://courseware.triamudom.ac.th/index.php?mod=Courses&op=showcontent&cid=273&qid=60&lid=628&sid=&page=)

คำศัพท์ข้อใดมีความหมายถึง การเสด็จประพาสท้องทุ่งในฤดูน้ำหลาก (๑ คะแนน)
    A. เสด็จประพาสทุ่ง
    B. เสด็จประพาสบัว
    C. เสด็จชลมารค
    D. เสด็จสถลมารค

ประพาสบัว  - เที่ยวไปทางเรือในฤดูน้ำหลาก (http://wichayaratkw2.blogspot.com/)

;D


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 ก.ค. 11, 14:09
เอาภาพโป๊ะ...เอ๊ย..ไม่ใช่ๆๆ  ภาพแพดอกบวบ เลือกลำไม้ไผ่ขนาดใหญ่ชั้นดี มาผูกมัดไว้ด้วยกัน ด้านในมีอากาศ ลอยน้ำได้และภาพนี้เป็นภาพแพลงสรงในสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ

ด้วยสมเด็จวังบูรพา อันเป็นที่หลานรักยิ่ง ทรงเป็นแม่กองก่อสร้างแพให้สมพระเกียรติยศ เชิดชูวงศ์ตระกูล ดำริว่าเป็นแพที่มีความงามสุดขีด เมื่อเสร็จงานแล้วรื้อทิ้งก็เสียดาย จึงโปรดให้จำลองไว้ด้วยแผ่นเงินแท้บริสุทธิ์ ให้ชาวสยามได้เห็นความงดงาม เห็นทีไรต้องก้มกราบงาม ๆ ด้วยความงามสุดขีด


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 ก.ค. 11, 14:11
ลงพระราชอาญาตามว่าไว้                   พระจึงให้ตั้งกฤษฎีกา
ว่าตั้งแต่วันนี้สืบต่อไป              หน้าที่ของผู้ใดให้รักษา
ถ้าประมาทราชการไม่นำพา        ปล่อยให้ใครเข้ามาในล้อมวง
ระวางโทษเบ็ดเสร็จเจ็ดสถาน       ถึงประหารชีวิตเป็นผุยผง
ตามกฤษฎีการักษาพระองค์        แล้วลงจากพระที่นั่งเข้าวังใน

กฎมณเทียรบาลที่คุณวันดียกมาเห็นทีคงมีขึ้นหลังเหตุการณ์ขุนช้างถวายฎีกานี้เอง  ;D

กฎมณเฑียรบาลนั้น นักวิชาการว่า  วันเวลาที่อยู่ต้นพระอัยการ
บ่งชี้ว่าเป็นพระอัยการที่ประมวลขึ้นเป็นหมวดกฎมณเฑียรบาล
ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  

แต่กฎมณเฑียรบาลทั้งหมดก็คงไม่ได้ตราขึ้นพร้อมกันในคราวเดียว
คงตราขึ้นมาหลายคราว คราวละเล็กละน้อย  จนมีมากข้อเข้า
จึงได้เอามาประมวลเข้าเป็นตัวบทเดียว

และเรื่องขุนช้างขุนแผนนี้ จะเอาไปคิดว่าเป็นเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ก็ไม่ได้
เพราะถ้าพินิจดูดีๆ  รายละเอียดเรื่องขุนช้างขุนแผน  บางอย่างก็เก่าถึงอยุธยา
บางอย่างก็ใหม่ราวต้นรัตนโกสินทร์  บางอย่างก็ระบุเวลาไม่ได้แน่ชัด
เมื่อเป็นเช่นนี้  คนแต่งเขียนว่าอย่างไร ก็จะเอาเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไม่ได้
เพราะนี่ไม่ใช่บันทึกหรือปูมโหร  


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 ก.ค. 11, 14:15
ประพาสบัวนี้  ควรจะหมายถึง เสด็จไปทอดพระเนตรทุ่งบัว เพื่อทรงพักผ่อนพระอิริยาบถ

ครูสอนภาษาไทยไม่คิดอย่างนั้น (http://courseware.triamudom.ac.th/index.php?mod=Courses&op=showcontent&cid=273&qid=60&lid=628&sid=&page=)

คำศัพท์ข้อใดมีความหมายถึง การเสด็จประพาสท้องทุ่งในฤดูน้ำหลาก (๑ คะแนน)
    A. เสด็จประพาสทุ่ง
    B. เสด็จประพาสบัว
    C. เสด็จชลมารค
    D. เสด็จสถลมารค

ประพาสบัว  - เที่ยวไปทางเรือในฤดูน้ำหลาก (http://wichayaratkw2.blogspot.com/)

;D

เด็ก ต.อ. ขอเข้ามาตอบ เขาเฉลยข้อ  ด้งนี้ครับ (นึกถึงสระน้ำคูบัว ตามเตือน เสมือน.....)


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 ก.ค. 11, 14:18
ประพาสบัวนี้  ควรจะหมายถึง เสด็จไปทอดพระเนตรทุ่งบัว เพื่อทรงพักผ่อนพระอิริยาบถ

ครูสอนภาษาไทยไม่คิดอย่างนั้น (http://courseware.triamudom.ac.th/index.php?mod=Courses&op=showcontent&cid=273&qid=60&lid=628&sid=&page=)

คำศัพท์ข้อใดมีความหมายถึง การเสด็จประพาสท้องทุ่งในฤดูน้ำหลาก (๑ คะแนน)
    A. เสด็จประพาสทุ่ง
    B. เสด็จประพาสบัว
    C. เสด็จชลมารค
    D. เสด็จสถลมารค

ประพาสบัว  - เที่ยวไปทางเรือในฤดูน้ำหลาก (http://wichayaratkw2.blogspot.com/)

;D

ครูโรงเรียนเตรียมอุดมท่านก็มีความคิด  ผมก็มีสติปัญญา
ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกัน  อย่างน้อยไม่ผมหรือครูโรงเรียนเตรียมอุดม
ถ้าเห็นเด็กคนใดตอบข้อ D. เสด็จสถลมารค ก็คงให้ผิดเหมือนกัน

แต่ถ้าเป็นผมออกข้อสอบ   ผมจะให้เด็กเขียนคำตอบอธิบาย
ไม่บังคับให้เด็กเลือกโหวตเบอร์ใดเบอร์หนึ่ง  (กลัวเด็กจะหลายใจหรือไม่ก็โหวตโน
หรือไม่ก็ทำกะดาษคำตอบเสีย  หนักกว่านั้นคือฉีกกระดาษคำตอบในห้อง)
เด็กจะได้แสดงความรู้แบบอิสระและมีเหตุผล  ที่สำคัญลอกกันไม่ได้


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 ก.ค. 11, 14:32
โทษเจ็ดประการนั้นน่าจะเป็น

ชอบตบให้สลบลงกับที่        เฆี่ยนตีเสียให้ยับนับไม่ได้

มะพร้าวห้าวยัดปากให้สาใจ    

สับแสกหน้า

ถอดเล็บมือเท้า

กรีดหนังเป็นริ้ว ๆ       ประมาณนี้ค่ะ



(กระซิบช้าง)  ไม่ใช่จ้ะ  

ลงพระราชอาญาตามว่าไว้            พระจึงให้ตั้งกฤษฎีกา
ว่าตั้งแต่วันนี้สืบต่อไป              หน้าที่ของผู้ใดให้รักษา
ถ้าประมาทราชการไม่นำพา        ปล่อยให้ใครเข้ามาในล้อมวง
ระวางโทษเบ็ดเสร็จเจ็ดสถาน       ถึงประหารชีวิตเป็นผุยผง
ตามกฤษฎีการักษาพระองค์        แล้วลงจากพระที่นั่งเข้าวังใน

หมายความว่า  ให้กำหนดบทลงโทษไว้ ๗ ขั้นไล่จากเบาที่สุด ไปจนถึงหนักที่สุด
เบาสุดน่าจะเป็นทำทัณฑ์บน  หรือภาคทัณฑ์  หนักสุด คือฟันคอริบเรือน
ส่วนจะฟันคอ ๗ ชัวโคตร ๕ ชั่วโคตร  ๓ ชัวโคตร  หรือโดนเดี่ยว ดูที่เจตนาผู้ผิด
ระวางโทษ ๗ สถานนี้  ควรดูจากพระอัยการขบถศึกประกอบด้วย

ที่คุณวันดีตอบมานั้น  นั่นเป็นจารีตนครบาลในการสอบปากคำผู้ร้ายปากแข็ง
ถ้าจำไม่ผิด มี ๒๑ ประการ


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ก.ค. 11, 14:47
ลงพระราชอาญาตามว่าไว้            พระจึงให้ตั้งกฤษฎีกา
ว่าตั้งแต่วันนี้สืบต่อไป              หน้าที่ของผู้ใดให้รักษา
ถ้าประมาทราชการไม่นำพา        ปล่อยให้ใครเข้ามาในล้อมวง
ระวางโทษเบ็ดเสร็จเจ็ดสถาน       ถึงประหารชีวิตเป็นผุยผง
ตามกฤษฎีการักษาพระองค์        แล้วลงจากพระที่นั่งเข้าวังใน

หมายความว่า  ให้กำหนดบทลงโทษไว้ ๗ ขั้นไล่จากเบาที่สุด ไปจนถึงหนักที่สุด
เบาสุดน่าจะเป็นทำทัณฑ์บน  หรือภาคทัณฑ์  หนักสุด คือฟันคอริบเรือน
ส่วนจะฟันคอ ๗ ชัวโคตร ๕ ชั่วโคตร  ๓ ชัวโคตร  หรือโดนเดี่ยว ดูที่เจตนาผู้ผิด
ระวางโทษ ๗ สถานนี้  ควรดูจากพระอัยการขบถศึกประกอบด้วย

อีก ๕ สถานระหว่างภาคทัณฑ์กับฟันคอริบเรือนมีอะไรบ้างหนอ  ;D


ที่คุณวันดีตอบมานั้น  นั่นเป็นจารีตนครบาลในการสอบปากคำผู้ร้ายปากแข็ง
ถ้าจำไม่ผิด มี ๒๑ ประการ

ที่แน่ ๆ วิธีการประหารชีวิตตามพระไอยการกระบถศึก สมัยอยุธยามี ๒๑ ประการ

ลองอ่านดู

http://student.nu.ac.th/naruto_nu.com/tosh.html

น่าหวาดเสียว

 :o


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 ก.ค. 11, 14:58
เอาภาพโป๊ะ...เอ๊ย..ไม่ใช่ๆๆ  ภาพแพดอกบวบ เลือกลำไม้ไผ่ขนาดใหญ่ชั้นดี มาผูกมัดไว้ด้วยกัน ด้านในมีอากาศ ลอยน้ำได้และภาพนี้เป็นภาพแพลงสรงในสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ

ด้วยสมเด็จวังบูรพา อันเป็นที่หลานรักยิ่ง ทรงเป็นแม่กองก่อสร้างแพให้สมพระเกียรติยศ เชิดชูวงศ์ตระกูล ดำริว่าเป็นแพที่มีความงามสุดขีด เมื่อเสร็จงานแล้วรื้อทิ้งก็เสียดาย จึงโปรดให้จำลองไว้ด้วยแผ่นเงินแท้บริสุทธิ์ ให้ชาวสยามได้เห็นความงดงาม เห็นทีไรต้องก้มกราบงาม ๆ ด้วยความงามสุดขีด

-ขุนหนุ่มสยาม เคยเห็นแพรับช้างเผือก ที่ทำจำลองไว้ในสมัยรัชกาลที่ ๕ หรือไม่
ถ้าเคยเห็นอยากทราบว่าใครทำ  และมีประวัติความเป็นมาอย่างไร เดี่ยวนี้อยู่ที่ไหน


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 ก.ค. 11, 15:01
ตัวอย่างการทำโทษ แรก

สถาน 1 คือ ให้ต่อยกระบานศีศะ (กบาลศีรษะ) เลิกออก (เปิดออก) เสียแล้ว เอาคีมคีบก้อนเหล็กแดงใหญ่ใส่ลงไปในมันสะหมอง (มันสมอง) ศีศะพลุ่งฟู่ขึ้นดั่งม่อ (หม้อ) เคี่ยวน้ำส้มพะอูม  

นักโทษดังกล่าว จะสิ้นสติตั้งแต่ถูกต่อยกระบาน และเมื่อถลกหนังศีรษะก็สิ้นชีพแล้ว ส่วนเบื้องหลังจะตีบถ่านหรืออะไรก็แล้วแต่ เป็นเพียงกระทำให้สะใจกับคนที่เห็นเท่านั้น นักโทษมิได้มีสติแล้วขอรับ


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 ก.ค. 11, 15:03
เอาภาพโป๊ะ...เอ๊ย..ไม่ใช่ๆๆ  ภาพแพดอกบวบ เลือกลำไม้ไผ่ขนาดใหญ่ชั้นดี มาผูกมัดไว้ด้วยกัน ด้านในมีอากาศ ลอยน้ำได้และภาพนี้เป็นภาพแพลงสรงในสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ

ด้วยสมเด็จวังบูรพา อันเป็นที่หลานรักยิ่ง ทรงเป็นแม่กองก่อสร้างแพให้สมพระเกียรติยศ เชิดชูวงศ์ตระกูล ดำริว่าเป็นแพที่มีความงามสุดขีด เมื่อเสร็จงานแล้วรื้อทิ้งก็เสียดาย จึงโปรดให้จำลองไว้ด้วยแผ่นเงินแท้บริสุทธิ์ ให้ชาวสยามได้เห็นความงดงาม เห็นทีไรต้องก้มกราบงาม ๆ ด้วยความงามสุดขีด

-ขุนหนุ่มสยาม เคยเห็นแพรับช้างเผือก ที่ทำจำลองไว้ในสมัยรัชกาลที่ ๕ หรือไม่
ถ้าเคยเห็นอยากทราบว่าใครทำ  และมีประวัติความเป็นมาอย่างไร เดี่ยวนี้อยู่ที่ไหน

ไม่เคยเห็นขอรับ วานส่งใบบอกให้ทราบ


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 ก.ค. 11, 15:08
^ ให้เวลา ๒๐ ชั่วยาม  หากหาไม่ได้ จะเอาตัวเป็นโทษ
ระวางโทษ ๓ สถาน  เอาตัวลงสักส่งข้าวปลาโรงละครรำ สถาน ๑
ริบละครรำ สถาน ๑  ฟันคอริบคณะละครรำ สถาน ๑


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 ก.ค. 11, 15:13
^ ให้เวลา ๒๐ ชั่วยาม  หากหาไม่ได้ จะเอาตัวเป็นโทษ
ระวางโทษ ๓ สถาน  เอาตัวลงสักส่งข้าวปลาโรงละครรำ สถาน ๑
ริบละครรำ สถาน ๑  ฟันคอริบคณะละครรำ สถาน ๑


คงยากสักหน่อย ด้วยโรงละครรำ ปลูกด้วยเครื่องเรือนผูก กว่าจะมาจับตัว ก็เหลือแต่ผืนดินว่างเปล่า ...ไม่ดีกว่า...เหลือกระโถนน้ำหมากลายคราม กลิ้งตะแคงไว้ ๑ ใบ  :P


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 ก.ค. 11, 15:21
ช้างเผือกในรัชกาลที่ 5

มีช้าง ๑๙ เชือก คือ พระเศวตวรวรรณ พระมหารพีพรรณคชพงษ์ พระเศวตสุวภาพรรณ พระเทพคชรัตนกิริณี พระศรีสวัสดิเศวตวรรณ พระบรมทันตวรลักษณ์ พระเศวตวรลักษณ์ พระเศวตวรสรรพางค์ พระเศวตวิสุทธิเทพา พระเศวตสุนทรสวัสดิ์ พระเศวตสกลวโรภาศ พระเศวตรุจิราภาพรรณ พระเศวตวรนาเคนทร์ ช้างพลายเผือกเอก พระศรีเศวตวรรณิภา พระเศวตอุดมวารณ์ ช้างพลายสีประหลาด  ๒ เชือก เจ้าพระยาไชยานุภาพ


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 ก.ค. 11, 15:29
^ ให้เวลา ๒๐ ชั่วยาม  หากหาไม่ได้ จะเอาตัวเป็นโทษ
ระวางโทษ ๓ สถาน  เอาตัวลงสักส่งข้าวปลาโรงละครรำ สถาน ๑
ริบละครรำ สถาน ๑  ฟันคอริบคณะละครรำ สถาน ๑


คงยากสักหน่อย ด้วยโรงละครรำ ปลูกด้วยเครื่องเรือนผูก กว่าจะมาจับตัว ก็เหลือแต่ผืนดินว่างเปล่า ...ไม่ดีกว่า...เหลือกระโถนน้ำหมากลายคราม กลิ้งตะแคงไว้ ๑ ใบ  :P

ไม่ต้องห่วง  เราส่งสายลับไปสะกดรอยตามและเก็บข้อมูลไว้แล้ว
หนีได้หนีไป  จับได้เมื่อไรจะให้รำกันทั้งวันทั้งคืนสัก ๓ เดือน 8)


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 ก.ค. 11, 15:46
^ ให้เวลา ๒๐ ชั่วยาม  หากหาไม่ได้ จะเอาตัวเป็นโทษ
ระวางโทษ ๓ สถาน  เอาตัวลงสักส่งข้าวปลาโรงละครรำ สถาน ๑
ริบละครรำ สถาน ๑  ฟันคอริบคณะละครรำ สถาน ๑


คงยากสักหน่อย ด้วยโรงละครรำ ปลูกด้วยเครื่องเรือนผูก กว่าจะมาจับตัว ก็เหลือแต่ผืนดินว่างเปล่า ...ไม่ดีกว่า...เหลือกระโถนน้ำหมากลายคราม กลิ้งตะแคงไว้ ๑ ใบ  :P

ไม่ต้องห่วง  เราส่งสายลับไปสะกดรอยตามและเก็บข้อมูลไว้แล้ว
หนีได้หนีไป  จับได้เมื่อไรจะให้รำกันทั้งวันทั้งคืนสัก ๓ เดือน 8)

เห็นแต่ข่าวรับช้างสำคัญ ให้ท่านเสด็จนั่งรถไฟหลวงมาลงสถานีจิตรลดา ตั้งตุ่มนางเลิ้งใส่น้ำไว้เพียบให้ท่านได้เล่นสนุกสนาน

การที่นำช้างใส่แพ นั้นคงจะหมายถึง "ช้างล้ม" ถูกต้องไหม ?


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ก.ค. 11, 16:03
อ่านพบแต่เรื่อง แพช้างเผือกสมัยรัชกาลที่ ๔ ของ ส. พลายน้อย (http://www.pimkham.com/Resources/Uploads/Item/N001395_3.pdf)

เมื่อเดือน ๘ ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๙๖ พระสุนทรราชวงศา เจ้าเมืองยโสธรบอกลงมาว่า่ได้คล้องช้างเผือกได้ที่ป่าฉมาตฉะบา แขวงท่าลัดฟากแม่น้ำโขง ตั้งแต่วันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๙๕  บัดนี้ฝึกหัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะได้นำลงมาถวาย

แพช้างเผือกได้ล่องมาถึงกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๙๖ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้มีการสมโภชในพระบรมมหาราชวัง ที่ชาลาหน้าโรงช้าง ขึ้นระวางเป็น พระวิมลรัตนกรณีสุทธิศรีสรรพางคพิเศษฯ เป็นช้างเผือกเชือกแรกที่ได้ในรัชกาลที่ ๔

 ;D


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 ก.ค. 11, 16:06
^ ยังไม่ต้องรีบตอบหรอกขุนหนุ่มสยาม
เพราะข้อมูลไม่ได้หากันง่ายเพียงชั่วลัดมือเดียว
ไปประพาสบัวแถวๆ รังสิต โชคดีอาจจะเจอหนุ่มเลี้ยงนกยักษื
เขาอาจจะช่วยคุณได้บ้างสเล็กสน่อย

ช้างใส่แพ  ในที่ถามนี่  หมายถึง  พาช้างสำคัญมายังพระนคร
เพราะถ้าเดินบก  ช้างจะฟกจะบอบเสียก่อนขึ้นระวาง


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 ก.ค. 11, 16:09
วันที่ ๑ กันยายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๐๙

ได้ใบบอกจากอยุธยา ว่าพบช้างสำคัญ เข้าเกณฑ์ช้างเผือก จึงทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานนำเรือกลไฟไปจูงแพช้างสำคัญ ล่องมาจากรุงเก่า

เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ร.ศ. ๑๐๙ พักอยู่ที่หน้าวัดลมุด พระยานนทบุรีกรมการ ได้มีละครสมโภช จนเวลาบ่าย ๓ โมง แพช้างได้ล่องมาถึงกรุงเทพ เทียบที่ท่าพระ

เวลาย่ำค่ำพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องยศทหาร ประดับเครื่องขัตติยราชอิศริยาภรณ์ อันเป็นโบราณมงคล นพรัตนราชวราภรณ์ ประทับพระราชยานงา ออกทางประตูพิมานไชยศรี พร้อมด้วยกระบวนทหาร ตำรวจมหาดเล็กแห่นำเสด็จ แต่งตัวเต็มยศไปประทับพลับพลาที่ท่าพระ

โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานนำช้างพัง ซึ่งเป็นช้างนำและจูงไปรับช้างพลายสำคัญที่แพเดินขึ้นมาตามตะพานฉนวน หยุดยืนที่หน้าพลับพลา แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ ประทับในโรงช้างพลายสำคัญ

(หลังจากนั้นก็เป็นพิธีรับช้างสำคัญ และขึ้นระวางและรางวัล อีกหลายวัน)

ทรงพระราชทานช้างสำคัญขึ้นระวางว่า "พระเศวตรวรนาเคนทร์ คเชนทรศักดิสมบูรณ กมุทตระกูล ทุตยเศวตร ทวัยเนตรสุทธนฤมล อาโรหะสกล มงคลลักษณ์ อรรคพาหนะนารถ บรมราชาธิราชธำรง พรหมพงษพิเศษ พหลเดชคชคุณ อดุลยประเสริฐเลิศฟ้า" เมื่อขณะพระราชทานน้ำพระมหาสังข์และพระราชทานอ้อย


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 ก.ค. 11, 16:24
พระวิมลรัตนกิริณีล้ม

พระวิมลรัตนกิริณีเป็นช้างสำคัญในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เป็นพระเศวต ชั้นประทุมหัตถี เผือกโท ได้มาจากเมืองยโสธร และได้ล้มเมื่อ ปีชวด วันอาทิตย์ เดือน ๕ ขึ้น ๖ ค่ำ พ.ศ. ๒๔๒๔ ล้มเวลาบ่าย ๔ โมง บ่าย ๕ โมงเศษขาดใจตาย

ครั้นวันจันทร์ เดือน ๕ ขึ้น ๗ ค่ำ เวลาเช้า ๕ โมง เจ้าพนักงานกรม ๔ ตำรวจได้ชักลากตะเฆ่รองศพ ออกประตูเสศไชยศรี ไปลงท่าริมตพานเซี่ยว มีคู่น่าแห่ ๑๐๐ หลัง ๕๐ กลองชนะ ๔๐ จ่าปี่จ่ากลอง แตรสังข ๒๒ เครื่องสูงสำหรับหนึ่ง ๒๐ บังสูริยพัดโบก กรดกำมะลอ แลกระบวนธงมังกรตามธรรเนียม

ชักศพพระวิมลรัตนกิริณีลงเรือขนานมีเพดาน มีราชวัตรแลมีเรือดั้ง ตั้งกลองชนะแตรสังข คู่ ๑ เรือแห่ ๒๐ แห่ศพไปฝังปากลัดโพ แขวงเมืองเขื่อนนันธตามธรรมเนียมแต่ก่อนมา


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 12 ก.ค. 11, 17:42
เอาภาพโป๊ะ...เอ๊ย..ไม่ใช่ๆๆ  ภาพแพดอกบวบ เลือกลำไม้ไผ่ขนาดใหญ่ชั้นดี มาผูกมัดไว้ด้วยกัน ด้านในมีอากาศ ลอยน้ำได้และภาพนี้เป็นภาพแพลงสรงในสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ

ด้วยสมเด็จวังบูรพา อันเป็นที่หลานรักยิ่ง ทรงเป็นแม่กองก่อสร้างแพให้สมพระเกียรติยศ เชิดชูวงศ์ตระกูล ดำริว่าเป็นแพที่มีความงามสุดขีด เมื่อเสร็จงานแล้วรื้อทิ้งก็เสียดาย จึงโปรดให้จำลองไว้ด้วยแผ่นเงินแท้บริสุทธิ์ ให้ชาวสยามได้เห็นความงดงาม เห็นทีไรต้องก้มกราบงาม ๆ ด้วยความงามสุดขีด

-ขุนหนุ่มสยาม เคยเห็นแพรับช้างเผือก ที่ทำจำลองไว้ในสมัยรัชกาลที่ ๕ หรือไม่
ถ้าเคยเห็นอยากทราบว่าใครทำ  และมีประวัติความเป็นมาอย่างไร เดี่ยวนี้อยู่ที่ไหน

เห็นกำลังเล่นกันอย่างสนุก เลยเข้าคลุกวงในเสาวนาบ้าง

อันแพรับช้างเผือกที่ใต้เท้ากล่าวถึงนั้นกระผมหาได้พบพานไม่ เพราะช่วงชีวิตเกิดมา ช้างเผือกก็ไม่ได้ส่งลงแพมาจากกรุงเก่าแล้ว
แต่มีข้อมูลที่ใต้เท้าถามออกขุน (หรือหลวง ???) หนุ่มสยามไว้ ดังนี้

"เมื่อพระยาช้างเผือก พระเศวตอุดมวารณ์มาจากเมืองนครลำปาง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ ระยะนั้นไม่มีช้างเผือกมาสู่พระบารมีหลายปี
จนไม่มีตัวกรมการที่จะจำแบบอย่างทำแพรับช้างเผือกได้ แบบแผนแพช้างเผือกหาที่ในกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้ ต้องถึงปรึกษากันใน
กระทรวงมหาดไทยว่าจะทำอย่างไร ไปนึกขึ้นได้ถึงพระยาทวาราวดีภิบาล (แจ่ม โรจนวิภาต) ซึ่งเป็นผู้เคยทำเหลืออยู่คน ๑
ต้องเรียกตัวขึ้นมาจากมณฑลนครศรีธรรมราช ขอแรงให้เป็นนายงานทำแพช้างเผือก แล้วให้ต่อตัวอย่างตั้งรักษาแบบไว้ในกระทรวง
มหาดไทย ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้"

แต่ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงนิพนธ์ว่า "ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้" นั้น ก็เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙
จนป่านนี้ก็เป็นเวลา ๙๕ ปี แล้ว มิรู้ว่าแพช้างเผือกจำลองของเจ้าคุณทวาราวดีภิบาล จะยังอยู่ที่กระทรวงมหาดไทยหรือไม่ ???


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 ก.ค. 11, 18:02
^
กว่าจะมาได้ คงนั่งระแทะมาไกลจากแขวงเมืองปะทุม   ;D


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 ก.ค. 11, 18:29
เกร็ดประวัติเล็กน้อยของ พระยาทวาราวดีภิบาล (แจ่ม โรจนวิภาต)

เมื่อพ.ศ. ๒๔๕๑ อันเป็นปีจัดงานสมโภชพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนพระยาสมบัติภิรมย์ เป็น พระยาทวารวดีภิบาล จางวางกรุงเก่า

เหตุที่พระราชทานสัญญาบัตรครั้งหลังนี้ ด้วยทรงพระราชปรารภมาเนือง ๆ ตั้งแต่พระยาทวาราวดีภิบาล รับราชกาลอยู่มณฑลนครศรีธรรมราช เสด็จออกไปประพาสคราวใด ทอดพระเนตรเห็นพระยาทวาราวดีภิบาล มักรับสั่งว่า "หน้าแกมันไม่ช่างสมกับมณฑลนครศรีธรรมราชเสียจริง ๆ ตั้งแต่เห็นมาก็เห็นเปนชาวกรุงเก่า เงากรุงเก่ายังติดตัวอยู่ไม่หาย"

จนเมื่อพระราชพิธีรัชมงคล ทอดพระเนตรเห็น รับสั่งว่า "คราวนี้มาอยู่ถูกที่แล้ว คืนชื่ให้เขาเสียเถิด" จึงได้พระราชทานสัญญาบัตรเป็น พระยาทวาราวดีภิบาล ตำแหน่งจางวางกรุงเก่า


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 12 ก.ค. 11, 18:55

(กระซิบช้าง)  ไม่ใช่จ้ะ  

ลงพระราชอาญาตามว่าไว้            พระจึงให้ตั้งกฤษฎีกา
ว่าตั้งแต่วันนี้สืบต่อไป              หน้าที่ของผู้ใดให้รักษา
ถ้าประมาทราชการไม่นำพา        ปล่อยให้ใครเข้ามาในล้อมวง
ระวางโทษเบ็ดเสร็จเจ็ดสถาน       ถึงประหารชีวิตเป็นผุยผง
ตามกฤษฎีการักษาพระองค์        แล้วลงจากพระที่นั่งเข้าวังใน

หมายความว่า  ให้กำหนดบทลงโทษไว้ ๗ ขั้นไล่จากเบาที่สุด ไปจนถึงหนักที่สุด
เบาสุดน่าจะเป็นทำทัณฑ์บน  หรือภาคทัณฑ์  หนักสุด คือฟันคอริบเรือน
ส่วนจะฟันคอ ๗ ชัวโคตร ๕ ชั่วโคตร  ๓ ชัวโคตร  หรือโดนเดี่ยว ดูที่เจตนาผู้ผิด
ระวางโทษ ๗ สถานนี้  ควรดูจากพระอัยการขบถศึกประกอบด้วย

ที่คุณวันดีตอบมานั้น  นั่นเป็นจารีตนครบาลในการสอบปากคำผู้ร้ายปากแข็ง
ถ้าจำไม่ผิด มี ๒๑ ประการ


พบหลักฐานใหม่ ::)

พระอัยการกระบดศึก ไม่มีโทษ ๗ สถาน มีแต่
"สถานหนึ่งให้ริบราชบาทฆ่าเสียให้สิ้นทังโคต" "สถานหนึ่งให้ริบราชบาทฆ่าเสีย ๗ ชั่วโคต"
ฉะนี้  ;D

แต่ในพระอัยการอาญาหลวง
มีโทษหลายสถาน ทั้ง ๗ สถาน ๘ สถาน ตามความหนักเบาของคดีความ เช่น

มาตราหนึ่ง ผู้บังอาจลอบลักพระราชทรัพย์ในพระคลังหลวงนอกพระคลังหลวงก็ดี ท่านให้ลงโทษ ๘ สถาน
-ให้ฆ่าเสีย
-ให้ประจาน
-ให้ทวนด้วยลวดหนังไม้หวาย ๒๕ ที
-ให้ถอดเสียเอาตัวลงเปนไพร่
-ให้ไหมตรีคูณ
-ให่ไหมทวีคูณ
-ให้ไหมลาหนึ่ง
-ให้อุเบกสาไว้

และอาจจะมีการลงโทษแบบอื่นอีก ตามรูปคดี เช่น

-ให้เอามะพร้าวห้าวยัดปาก สำหรับ "ผู้ใด...ถ้อยคำมิควรเจรจาเอามาเจรจาเข้าในระวางราชาสับท"
-ให้เอาตัดปากตัดหูตัดมือตัดตีนเสีย สำหรับ "ผู้ใด...เจรจาหยาบช้าต่อพระเจ้าอยู่หัว ประมาทหมิ่นพระราชบัญญัติและพระบันทูลพระโองการ"
ฉะนี้ เป็นต้น ;D


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 12 ก.ค. 11, 22:41
พระไอยการอาญาหลวง ในสมัยกรุงศรีอยุธยา พุทธศักราช 1895 ได้กำหนดบทลงโทษ ข้าราชการที่กระทำการทุจริตประพฤติมิชอบไว้ 10 สถาน
จากโทษหนักที่สุดไปสู่โทษเบาที่สุด ดังนี้

1. ฟันคอ ริบเรือน ริบราชบาทว์ เอาลูกเมียข้าคนเป็นราชบาทว์ ยึดทรัพย์สินสิ่งของเข้าพระคลัง
2. ตัดมือ ตัดเท้า จองจำใส่ตรุ โดยยถากรรม
3. ทวนด้วยลวดหนัง หรือไม้หวาย 1 ยก 2 ยก 3 ยก แล้วประจานจำใส่ตรุไว้ 1 เดือน 2 เดือน 3 เดือน (ทวน 1 ยก หมายถึง การเฆี่ยน จำนวน 12 ที)
4. ปรับไหม 4 เท่าของค่าเสียหาย เข้าเป็นพินัยหลวง แล้วเอาตัวลงหญ้าช้าง (ใส่ตระกร้อแล้วให้ช้างเตะ)
5. ปรับไหม 3 เท่า แล้วให้ออกจากราชการ
6. ปรับไหม 2 เท่า แล้วให้ประจานทั่วเมือง 3 วัน 7 วัน จึงพ้นโทษ
7. ปรับไหมหนึ่งลา แล้วชดใช้ข้าวของคืนแก่ผู้เสียหาย
8. ตัดปากแหวะปาก เอามะพร้าวห้าวยัดปาก
9. ภาคทัณฑ์
10. กดอุเบกษาไว้ (เรียกประกันทัณฑ์บน)


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 12 ก.ค. 11, 23:01
เกร็ดประวัติเล็กน้อยของ พระยาทวาราวดีภิบาล (แจ่ม โรจนวิภาต)

เมื่อพ.ศ. ๒๔๕๑ อันเป็นปีจัดงานสมโภชพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนพระยาสมบัติภิรมย์ เป็น พระยาทวารวดีภิบาล จางวางกรุงเก่า

เหตุที่พระราชทานสัญญาบัตรครั้งหลังนี้ ด้วยทรงพระราชปรารภมาเนือง ๆ ตั้งแต่พระยาทวาราวดีภิบาล รับราชกาลอยู่มณฑลนครศรีธรรมราช เสด็จออกไปประพาสคราวใด ทอดพระเนตรเห็นพระยาทวาราวดีภิบาล มักรับสั่งว่า "หน้าแกมันไม่ช่างสมกับมณฑลนครศรีธรรมราชเสียจริง ๆ ตั้งแต่เห็นมาก็เห็นเปนชาวกรุงเก่า เงากรุงเก่ายังติดตัวอยู่ไม่หาย"

จนเมื่อพระราชพิธีรัชมงคล ทอดพระเนตรเห็น รับสั่งว่า "คราวนี้มาอยู่ถูกที่แล้ว คืนชื่ให้เขาเสียเถิด" จึงได้พระราชทานสัญญาบัตรเป็น พระยาทวาราวดีภิบาล ตำแหน่งจางวางกรุงเก่า


ฤๅจะเอาข้อมูลมาจากแหล่งเดียวกันนะพี่ขุนหนุ่ม :P


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 ก.ค. 11, 23:34

         พร้อมกันแล้วทั้งชุมนุม   ติดอาวุธเพียบ  ด้วยบารมี ความอยากประลองยุทธปัญญามหาศาล



คุณพระเศวต ฯ ทปษ ส่วนตัวของดิฉัน    ติดต่อพ่นลม  มาเมื่อหัวค่ำ  ถามเรื่องแพรับช้างเผือก  ท่านก็อู้อี้อึดอัดอกเอย


ดิฉันไปอ่านมาตอนบ่ายว่า ลักษณะของแพที่แห่ช้างเผือกลงมา


       ภายในแพกว้างขนาด ๓ ห้อง  เรียกว่าแพประธาน   มีเฉลียงรอบและมีประตูด้านหน้า ๑ ประตู   มีบังสาด ๑(ปัจจุบันคือ กันสาด)

เป็นฝาปิดค้ำสำหรับกั้นพื้นรอบแพได้รอบโรง        ฝาบังสาดด้านนอกกรุผ้าแดง   ด้านในบุผ้าขาว  ประดับลายฉลุทองน้ำตะโก

หลังคาแพดาดด้วยผ้าแดง   ประดับช่อฟ้าใบระกาหางหงส์  ลงรักปิดทองน้ำตะโก       ตรงมุมแพประดับราชวัติห้าชั้นสีขาวลายพิมพ์


ในโรง(แพ)  มีแท่นกับหลักหมอ  และเสาตะลุงเบญจพาดซึ่งตัวเสาล้วนหุ้มด้วยผ้าขาว   ส่วนยอดเสาทาสีทอง    ที่แพด้านตรงศรีษะช้าง  

กั้นเป็นเพดานด้วยผ้าขาวแขวนลอย


เพดานนี้เขียนยันต์ด้วยเส้นทอง   และแขวนพวงใบไม้สำหรับปัดรางควาน ๕ ชนิด  คือ ใบเงิน  ใบไทร  ใบโพธิ์  ใบมะเดื่อและใบเลียบ

โดยมัดรวมเป็นพวงเดียวกัน      ก้านใบไม้นั้นหุ้มผ้าขาว


ที่เสาเฉลียงในแพตรงหน้าช้างผูกพระกรรภิรมย์   พร้อมตั้งโต๊ะหมู่เครื่องบูชา    ซึ่งอัญเชิญพระชัยหลังช้างมาตั้งเป็นประธาน

แลมีกรงวานรเผือกตั้งตรงเฉลียงในแพด้านหลังตรงท้ายช้าง



ขณะที่ช้างจะขึ้นจากแพประธาน  จะเดินผ่านมายังแพลูกบวบ   สะพานเชือกที่ทอดจากฝั่งมายังแพประธาน   สองข้างจะกั้นฉนวนบังตา

ด้านในสะด้วยใบไม้สด   ทั้งนี้เพื่อมิให้ช้างสำคัญตื่นเพราะแปลกที่  และขึ้นจากแพได้ง่าย



ท่านผู้ใดรู้จักใบเลียบ  กรุณาเล่าให้ฟังหน่อยนะคะ    

สงสัยเรื่องไม้ระงับเพื่อการปัดรังควานมานานปีแล้ว    นางนพมาศก่อนจะเข้าวังก็นั่งบนตั่งเหยียบไม้ระงับนี้



กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 13 ก.ค. 11, 00:43
ต้นเลียบ ในภาษาบาลีเรียกว่า “ต้นปิปผลิ” หรือ “ต้นปิลกฺโข” (พระคัมภีร์อภิธานนัปปทีปิกา)
ไม้เลียบเป็นพืชที่จัดอยู่ในสกุล Ficus lacor วงศ์ Moraceae
มีชื่อพื้นเมืองที่เรียกกันต่างไปในแต่ละท้องถิ่นของไทย คือ ไกร (กรุงเทพฯ), ผักเลือด, เลียบ (ภาคกลาง), ผักฮี, ผักเฮือก, ผักเฮือด (ภาคเหนือ), ผักเฮียด (ภาคอีสาน) ส่วนทางเพชรบุรี เรียกว่า ผักไฮ, ประจวบคีรีขันธ์ เรียกว่า ไทรเลียบ และนครราชสีมา เรียกว่า โพไทร เป็นต้น

ใบเลียบเป็นไม้มงคล ถือเป็นใบไม้กันภัย ได้แก่ ใบเลียบ ใบเงิน ใบทอง ใบหญ้าพันงู  ใบรัก ใบมะเดื่อ ใบไทร ใบมะม่วง ใบทองกวาว ใบตะขบ ใบมะตูม


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 13 ก.ค. 11, 02:18
ตอนแรกก็แปลบทร้อยกรอง
ต่อมาย้ายไปเครื่องอานพานพระศรี
โยกอีกทีไปออกประพาสเล่นบัว
สุดท้ายเข้าเรื่องช้างเผือก

รู้สึกหลุดวงโคจรไปแล้วเนี่ยะ
(หลุดไปไกลด้วย หลุดจนออกนอกแพ.. เอ้ย!!! ทางช้างเผือกแล้ว)
 ;D ;D ;D

ไหนๆ ก็หลุดไปไกลแล้ว เลยมีคำถามในใจ
เป็นปุจฉาให้ท่านผู้รู้ทั้งปวงวิสัจชนาด้วยขอรับ

1. "แลมีกรงวานรเผือกตั้งตรงเฉลียงในแพด้านหลังตรงท้ายช้าง" เคยได้ยินว่ามันมีเหตุผลบางประการเกี่ยวกับเรื่อง "สัตว์เผือก" นี้ ประมาณว่าเป็นสิ่งสิริมงคลหรืออะไรทำนองนี้ใช่ไหมขอรับ

2. "ท่าช้าง" (วังหลวง) ที่ใช้ชื่อนี้ เพราะ 2.1 เป็นท่าที่ช้างหลวงอาบน้ำเป็นประจำ หรือ 2.2 เป็นท่าที่ให้ช้างเผือกจากกรุงเก่าขึ้นบก

3. ช้างเผือก รวมถึงช้างสำคัญ มีสรรพนามในการเรียกว่าอย่างไรขอรับ เชือก หรือองค์ หรือช้าง

คืนนี้สงสัยแค่นี้ขอรับ พอเป็นกะษัยยา ;D


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ก.ค. 11, 05:54
หลุดไปไม่ไกลเท่าใดดอก  ไปถึงเพียงแพช้างเผือกของคุณหลวงอันเนื่องมาจากปริศนา "ตำหนักน้ำ" นั่นแล

ตอบคำถาม

2. "ท่าช้าง" (วังหลวง) ที่ใช้ชื่อนี้ เพราะ 2.1 เป็นท่าที่ช้างหลวงอาบน้ำเป็นประจำ หรือ 2.2 เป็นท่าที่ให้ช้างเผือกจากกรุงเก่าขึ้นบก

ประตูนี้เป็นประตูเพื่อใช้สำหรับนำช้างจากโรงช้างในพระบรมมหาราชวังลงไปอาบน้ำ จึงเรียกว่า ท่าช้าง และท่าพระก็เป็นอีกนามหนึ่ง ซึ่งต้องรื้อประตูออก เนื่องจากพระมีความใหญ่ และสุงกว่าประตูพระนคร จึงต้องรื้อประตูนี้ทิ้ง และเมื่อรื้อทิ้งแล้วก็ไม่ได้มีการสร้างประตูกลับที่เดิม คงเหลือแต่ชื่อเรียกปรากฎไว้

แนวกำแพงพระนครและประตูท่าพระ ตามจุดไข่ปลา


(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=3549.0;attach=14990;image)

3. ช้างเผือก รวมถึงช้างสำคัญ มีสรรพนามในการเรียกว่าอย่างไรขอรับ เชือก หรือองค์ หรือช้าง

คุณอาร์ตคงหมายถึง "ลักษณนาม" มากว่า "สรรพนาม"

ช้าง เป็นสัตว์ซึ่งมีขนาดตัวใหญ่ที่สุดในบรรดาสัตว์บกทั้งหลาย ช้างสามารถรับคำสอนให้ทำตามคำสั่งของคนได้ สามารถฝึกให้ทำงานต่าง ๆ ได้หลายอย่าง และในสมัยก่อนมีการฝึกช้างให้เป็นพาหนะในการทำสงคราม ช้างจึงเป็นสัตว์ที่ถือว่าพิเศษกว่าสัตว์อื่น ๆ จนถึงให้มีตำแหน่ง มียศ มีราชทินนาม.

ความพิเศษของช้างนั้น ปรากฏในภาษาที่ใช้สำหรับช้างด้วย คือ ช้างป่า ใช้ลักษณนามว่า ตัว เช่นเดียวกับสัตว์อื่น ๆ เช่น ช้างโขลงนั้นมีมากกว่า ๒๐ ตัว.

ช้างที่นำมาฝึกให้ทำงานให้คนและเป็นสัตว์เลี้ยงของคน ใช้ลักษณนามว่า เชือก เช่น เขากำลังฝึกช้างหลายเชือกให้เล่นฟุตบอล.

ส่วนช้างที่ขึ้นระวางเป็นช้างหลวง ใช้ลักษณนามว่า ช้าง เช่น ในโรงช้างหลวงมีช้างขึ้นระวางอยู่ ๕ ช้าง.

ที่มา : บทวิทยุรายการ "รู้ รัก ภาษาไทย" ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น

 ;D


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ก.ค. 11, 08:12
1. "แลมีกรงวานรเผือกตั้งตรงเฉลียงในแพด้านหลังตรงท้ายช้าง" เคยได้ยินว่ามันมีเหตุผลบางประการเกี่ยวกับเรื่อง "สัตว์เผือก" นี้ ประมาณว่าเป็นสิ่งสิริมงคลหรืออะไรทำนองนี้ใช่ไหมขอรับ

      สัตว์เลี้ยงไว้คู่กับช้างเผือก สัตว์ที่จะนำมาเลี้ยงไว้คู่กับช้างเผือกมี ๒ ชนิด คือ ลิงเผือก และกาเผือก เพราะถือกันว่าสัตว์ทั้งสองชนิดนี้เป็นของคู่บุญของช้างเผือก และจะป้องกันสิ่งอวมงคลที่จะมาสู่ช้างเผือกได้

ทำไมต้องเป็นลิง และ กา ยังเป็นปริศนารอคำเฉลย   ???


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 13 ก.ค. 11, 08:45
เอาภาพโป๊ะ...เอ๊ย..ไม่ใช่ๆๆ  ภาพแพดอกบวบ เลือกลำไม้ไผ่ขนาดใหญ่ชั้นดี มาผูกมัดไว้ด้วยกัน ด้านในมีอากาศ ลอยน้ำได้และภาพนี้เป็นภาพแพลงสรงในสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ

ด้วยสมเด็จวังบูรพา อันเป็นที่หลานรักยิ่ง ทรงเป็นแม่กองก่อสร้างแพให้สมพระเกียรติยศ เชิดชูวงศ์ตระกูล ดำริว่าเป็นแพที่มีความงามสุดขีด เมื่อเสร็จงานแล้วรื้อทิ้งก็เสียดาย จึงโปรดให้จำลองไว้ด้วยแผ่นเงินแท้บริสุทธิ์ ให้ชาวสยามได้เห็นความงดงาม เห็นทีไรต้องก้มกราบงาม ๆ ด้วยความงามสุดขีด

-ขุนหนุ่มสยาม เคยเห็นแพรับช้างเผือก ที่ทำจำลองไว้ในสมัยรัชกาลที่ ๕ หรือไม่
ถ้าเคยเห็นอยากทราบว่าใครทำ  และมีประวัติความเป็นมาอย่างไร เดี่ยวนี้อยู่ที่ไหน

เห็นกำลังเล่นกันอย่างสนุก เลยเข้าคลุกวงในเสาวนาบ้าง

อันแพรับช้างเผือกที่ใต้เท้ากล่าวถึงนั้นกระผมหาได้พบพานไม่ เพราะช่วงชีวิตเกิดมา ช้างเผือกก็ไม่ได้ส่งลงแพมาจากกรุงเก่าแล้ว
แต่มีข้อมูลที่ใต้เท้าถามออกขุน (หรือหลวง ???) หนุ่มสยามไว้ ดังนี้

"เมื่อพระยาช้างเผือก พระเศวตอุดมวารณ์มาจากเมืองนครลำปาง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙
ระยะนั้นไม่มีช้างเผือกมาสู่พระบารมีหลายปีจนไม่มีตัวกรมการที่จะจำแบบอย่างทำแพรับช้างเผือกได้
แบบแผนแพช้างเผือกหาที่ในกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้ ต้องถึงปรึกษากันใน
กระทรวงมหาดไทยว่าจะทำอย่างไร ไปนึกขึ้นได้ถึงพระยาทวาราวดีภิบาล (แจ่ม โรจนวิภาต)
ซึ่งเป็นผู้เคยทำเหลืออยู่คน ๑  ต้องเรียกตัวขึ้นมาจากมณฑลนครศรีธรรมราช
ขอแรงให้เป็นนายงานทำแพช้างเผือก แล้วให้ต่อตัวอย่างตั้งรักษาแบบไว้ในกระทรวง
มหาดไทย ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้"

แต่ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงนิพนธ์ว่า "ยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้" นั้น ก็เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙
จนป่านนี้ก็เป็นเวลา ๙๕ ปี แล้ว มิรู้ว่าแพช้างเผือกจำลองของเจ้าคุณทวาราวดีภิบาล
จะยังอยู่ที่กระทรวงมหาดไทยหรือไม่ ???


ตอบนายสะอาด แห่งแขวงเมืองประทุมธานี

ที่ท่านว่ามานั้น  ตรงแก่ประสงค์ของเรายิ่งนัก  สมควรปรบมือเป็นรางวัลสัก ๓๐ แปะ

แพจำลองนั้น  ปัจจุบันยังอยู่ดีทุกประการ   แม้ผู้ใดต้องประสงค์จะทอดทัศนาแพจำลองดังกล่าว
จงไปดูได้ที่พิพิธภัณฑ์โรงช้างต้น  ถ.อู่ทองใน แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ
ใกล้กับรัฐสภาอันทรงเกียรติ  นั้นเถิด




กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 13 ก.ค. 11, 08:51
1. "แลมีกรงวานรเผือกตั้งตรงเฉลียงในแพด้านหลังตรงท้ายช้าง" เคยได้ยินว่ามันมีเหตุผลบางประการเกี่ยวกับเรื่อง "สัตว์เผือก" นี้ ประมาณว่าเป็นสิ่งสิริมงคลหรืออะไรทำนองนี้ใช่ไหมขอรับ

      สัตว์เลี้ยงไว้คู่กับช้างเผือก สัตว์ที่จะนำมาเลี้ยงไว้คู่กับช้างเผือกมี ๒ ชนิด คือ ลิงเผือก และกาเผือก เพราะถือกันว่าสัตว์ทั้งสองชนิดนี้เป็นของคู่บุญของช้างเผือก และจะป้องกันสิ่งอวมงคลที่จะมาสู่ช้างเผือกได้

ทำไมต้องเป็นลิง และ กา ยังเป็นปริศนารอคำเฉลย   ???

ลิงเผือกและกาเผือกนี้  ท่านว่าเป็นสัตว์คู่บารมีของพระยาช้างเผือก
ว่ากันว่า  ก่อนที่จะพบช้างเผือกแต่ละเชือก  มักจะพบลิงเผือกและกาเผือกก่อนเสมอ
และเมื่อได้ขึ้นระวางช้างเผือกแล้ว  ก็จะนำลิงเผือกและกาเผือกมาเลี้ยงไว้
ใกล้ๆ กับพระยาช้างเผือกด้วย  ความทราบมาดังนี้  ใครมีข้อมูลอื่นอีกก็ว่ามา


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ก.ค. 11, 08:55
พิพิธภัณฑ์โรงช้างต้นของคุณหลวงคงป็นที่นี่กระมัง

(http://images.thaiza.com/199/199_20100930215728..jpg)

http://travel.thaiza.com/detail_194004.html

 ;D



กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 13 ก.ค. 11, 09:03
ตอนแรกก็แปลบทร้อยกรอง
ต่อมาย้ายไปเครื่องอานพานพระศรี
โยกอีกทีไปออกประพาสเล่นบัว
สุดท้ายเข้าเรื่องช้างเผือก

รู้สึกหลุดวงโคจรไปแล้วเนี่ยะ
(หลุดไปไกลด้วย หลุดจนออกนอกแพ.. เอ้ย!!! ทางช้างเผือกแล้ว)
 ;D ;D ;D


ผมคิดว่า  เจ้าของกระทู้ที่มาขอความช่วยเหลือคงจะงงเป็นไก่ตาแตกว่า
ทำไมแค่ขอให้ช่วยแปลกลอนเสภาไม่กี่บท   ความเห็นและคำตอบที่ได้
ถึงยาวมากขนาดนี้  แถมเจ้าตัวอาจจะงงต่อไปอีกว่า  แล้วจะเอาตรงไหน
ไปเขียนส่งอาจารย์ดี   เพราะแต่ละคนที่มาตอบก็ล้วนแต่ชำนาญการกันทุกคน
จึงสำแดงเดชกันกระจัดกระจายหลายสาขาวิชา  ประหนึ่งว่ายกห้องสมุดมาให้

อันที่จริง  การแปลร้อยกรองไม่ใช่ของยาก  แต่ผู้แปลต้องรู้ศัพท์ สำนวน
และรู้ที่มาที่ไปของเรื่องจึงจะแปลได้ตลอดรอดฝั่ง  

เราทุกคนยินดีช่วยทำการบ้าน  แต่ไม่มีการแปลให้โดยตรง  เพราะผู้ถามดูจะสบายเกินไป
เราจึงป่วน เอ๊ย ช่วยแนะแนวทางให้ท่านตามสมควร  และคิดว่าท่านจะหาทางเดินต่อไปได้เอง
ถ้าไม่เข็ดก็มาให้ช่วยอีกได้


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ก.ค. 11, 09:17
ขุนช้างขุนแผนตอนขุนช้างถวายฎีกายังรอแปลอีกหลายบท

http://www.b.yimwhan.com/board/show.php?user=windchimedream&topic=18&Cate=6

ชาวเรือนไทยชอบใจบทไหนเชิญหยิบยกมาช่วยกันแปลแบบเรือนไท้... เรือนไทย ได้

สนุกดี

 ;D



กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: กะออม ที่ 13 ก.ค. 11, 10:24
แพรับช้างเผือก เป็นอย่างนี้ใช่หรือไม่



กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ก.ค. 11, 11:01
^
งดงามมากเลยครับ คุณกะออม

หากนำคำบรรยายของคุณวันดีได้อธิบายแล้ว มาอ่านประกอบไปด้วย และเห็นภาพไปด้วย ก็จะเกิดสุนทรียภาพ อีกมากมาย

ขอบคุณ คุณกะออมที่นำมาให้ชมแพรับช้างเผือกครับ

++++++++++++++++++++++

ขออนุญาตยกข้อความคุณวันดี ที่อธิบายเรื่องขนาดใหญ่โตของแพ นำมาซ้ำเพื่อให้ใกล้ชิดกับภาพ

 พร้อมกันแล้วทั้งชุมนุม   ติดอาวุธเพียบ  ด้วยบารมี ความอยากประลองยุทธปัญญามหาศาล



คุณพระเศวต ฯ ทปษ ส่วนตัวของดิฉัน    ติดต่อพ่นลม  มาเมื่อหัวค่ำ  ถามเรื่องแพรับช้างเผือก  ท่านก็อู้อี้อึดอัดอกเอย


ดิฉันไปอ่านมาตอนบ่ายว่า ลักษณะของแพที่แห่ช้างเผือกลงมา


       ภายในแพกว้างขนาด ๓ ห้อง  เรียกว่าแพประธาน   มีเฉลียงรอบและมีประตูด้านหน้า ๑ ประตู   มีบังสาด ๑(ปัจจุบันคือ กันสาด)

เป็นฝาปิดค้ำสำหรับกั้นพื้นรอบแพได้รอบโรง        ฝาบังสาดด้านนอกกรุผ้าแดง   ด้านในบุผ้าขาว  ประดับลายฉลุทองน้ำตะโก

หลังคาแพดาดด้วยผ้าแดง   ประดับช่อฟ้าใบระกาหางหงส์  ลงรักปิดทองน้ำตะโก       ตรงมุมแพประดับราชวัติห้าชั้นสีขาวลายพิมพ์


ในโรง(แพ)  มีแท่นกับหลักหมอ  และเสาตะลุงเบญจพาดซึ่งตัวเสาล้วนหุ้มด้วยผ้าขาว   ส่วนยอดเสาทาสีทอง    ที่แพด้านตรงศรีษะช้าง 

กั้นเป็นเพดานด้วยผ้าขาวแขวนลอย


เพดานนี้เขียนยันต์ด้วยเส้นทอง   และแขวนพวงใบไม้สำหรับปัดรางควาน ๕ ชนิด  คือ ใบเงิน  ใบไทร  ใบโพธิ์  ใบมะเดื่อและใบเลียบ

โดยมัดรวมเป็นพวงเดียวกัน      ก้านใบไม้นั้นหุ้มผ้าขาว


ที่เสาเฉลียงในแพตรงหน้าช้างผูกพระกรรภิรมย์   พร้อมตั้งโต๊ะหมู่เครื่องบูชา    ซึ่งอัญเชิญพระชัยหลังช้างมาตั้งเป็นประธาน

แลมีกรงวานรเผือกตั้งตรงเฉลียงในแพด้านหลังตรงท้ายช้าง



ขณะที่ช้างจะขึ้นจากแพประธาน  จะเดินผ่านมายังแพลูกบวบ   สะพานเชือกที่ทอดจากฝั่งมายังแพประธาน   สองข้างจะกั้นฉนวนบังตา

ด้านในสะด้วยใบไม้สด   ทั้งนี้เพื่อมิให้ช้างสำคัญตื่นเพราะแปลกที่  และขึ้นจากแพได้ง่าย



ท่านผู้ใดรู้จักใบเลียบ  กรุณาเล่าให้ฟังหน่อยนะคะ     

สงสัยเรื่องไม้ระงับเพื่อการปัดรังควานมานานปีแล้ว    นางนพมาศก่อนจะเข้าวังก็นั่งบนตั่งเหยียบไม้ระงับนี้


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 13 ก.ค. 11, 12:12
ดีกระนั้นแล   นึกสงสารเจ้าของกระทู้จัง
เขาคงตกใจปลาตลี้ไปแล้ว   ;D

ขุนช้างถวายฎีกามาถึงแพรับช้างเผือกได้  มันส์มากจริง


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 13 ก.ค. 11, 12:22


ขุนช้างเขียนฎีกาเองด้วยนะคะ       ติดคุกมาแล้วไม่เข็ด

ผลของคดีก็น่าจะเล่ากันไว้บ้าง   จขกท  จะได้ทราบ

เรื่องที่นักเรียนต้องการความช่วยเหลือบ่อย คือ  ศึกกระหมังกุหนิง    ถ้าคุณหลวงเล็กรับเป็นเจ้าของเรื่อง

นักรบทั้งปวงก็จะออกซ้อมฝีมือกันได้


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 ก.ค. 11, 08:38


ขุนช้างเขียนฎีกาเองด้วยนะคะ       ติดคุกมาแล้วไม่เข็ด

ผลของคดีก็น่าจะเล่ากันไว้บ้าง   จขกท  จะได้ทราบ

เรื่องที่นักเรียนต้องการความช่วยเหลือบ่อย
คือ  ศึกกระหมังกุหนิง   
ถ้าคุณหลวงเล็กรับเป็นเจ้าของเรื่อง
นักรบทั้งปวงก็จะออกซ้อมฝีมือกันได้


ผมยังไม่ประสงค์จะรับนิมนต์ตามที่คุณวันดีเสนอมา
จะให้เป็นเจ้าของกัณฑ์เทศน์บ่อยๆ ไม่ดีหรอก เหนื่อย
เชิญท่านอื่นเป็นหัวเรือใหญ่แทนเถิด  แล้วจะไปผสมโรงช่วยป่วน


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 ก.ค. 11, 08:48
คุณหลวงเลือกเอาได้เลยว่าจะไปผสมโรงช่วยป่วนที่กระทู้ไหน

ช่วยถอดความให้หน่อยค่ะ เรื่องอิเหนา ตอนศึกกะหมังกุหนิง (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2162.0)

ช่วยดูคำแปลกลอนนี้หน่อยครับผม ไม่รู้ผมแปลถูกมั๊ย (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2850.0)

ช่วยแปลบทละครอิเหนา ตอย ศึกกะมังกุหนิง หน่อยค่ะ (( มี 3 ย่อหน้า )) (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2882.0)

ช่วยหน่อยคับ  (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=1601.0)

 ;D


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 ก.ค. 11, 09:12
^ ไม่ประสงค์จะเลือกแม้แต่กระทู้เดียว
เพราะไม่อยากซ้ำรอยหรือขุดของเก่ามาเล่น

ถ้าจะเล่าเรื่องนี้  คงจะตั้งกระทู้ใหม่ดีกว่า
ปูพื้นฐานให้รู้เรื่องคร่าวๆ  แล้วค่อยเข้าเรื่อง
อภิปรายแตกหน่อแตกกอแตกแขนงให้ยุ่งเหยิงเป็นเซิงฟัก
กะว่า เป็นกระทู้ต่อเนื่องสัก ๕-๖ กระทู้ ท่าจะเหมาะ


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 14 ก.ค. 11, 09:13


ความรู้นั้นก็พาจะไล่ตามกันได้  แต่แรงดึงดูดใจ แบบ เธอะ วีคเกส ลิ้งค์  แบบว่าไม่มี อ่ะ


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 ก.ค. 11, 09:21

อภิปรายแตกหน่อแตกกอแตกแขนงให้ยุ่งเหยิงเป็นเซิงฟัก


ขอให้คุณหลวงเล็ก ช่วยอธิบาย "เซิงฟัก" ให้ด้วยครับ ว่าคำนี้ที่มาได้อย่างไร  ???


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 14 ก.ค. 11, 09:33

ถ้าจะเล่าเรื่องนี้  คงจะตั้งกระทู้ใหม่ดีกว่า
ปูพื้นฐานให้รู้เรื่องคร่าวๆ  แล้วค่อยเข้าเรื่อง
อภิปรายแตกหน่อแตกกอแตกแขนงให้ยุ่งเหยิงเป็นเซิงฟัก
กะว่า เป็นกระทู้ต่อเนื่องสัก ๕-๖ กระทู้ ท่าจะเหมาะ


เอ๊ะๆๆๆ
เผยไต๋มาแล้วเนี่ยะ ;D


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 ก.ค. 11, 09:38

อภิปรายแตกหน่อแตกกอแตกแขนงให้ยุ่งเหยิงเป็นเซิงฟัก


ขอให้คุณหลวงเล็ก ช่วยอธิบาย "เซิงฟัก" ให้ด้วยครับ ว่าคำนี้ที่มาได้อย่างไร  ???

เชิญไปที่ร้านขายเมล็ดพันธุ์ผัก  บอกคนขายว่าเอาเมล็ดฟักสัก ๑๐  บาท
จากนั้น  กลับมาบ้าน  ขุดดินให้เป็นหลุดพอกำปั้นยัดลง  หยอดเมล็ดฟักลงไป ๔-๕ เมล็ด
รดน้ำให้ชุ่มแต่อย่าให้แฉะ  จากไปหาไม้ไผ่ หรือไม้อะไรก็ได้ ที่ใหญ่พอประมาณ
เอาทำเป็นร้านให้เถาฟักขึ้นเลื้อยพัน หมั่นรดน้ำดูแลต้นฟักจนมีดอกออกผลงาม
ที่สำคัญ  ควรหมั่นดูแลจัดระเบียบอย่าให้เถาฟักเลื้อยลงดินหรือไปพันกับสิ่งอื่น
จำกัดให้อยู่แต่บนร้านไม้ที่ทำไว้เท่านั้น   เถาก็จะเลื้อยไปมายุ่งไปทั่วร้านดูงามดี
ส่วนผลฟักก็เก็บไปหั่นเป็นชิ้น แกะสลักสักหน่อย เป็นเรื่องลูกน้อยหอยสังข์  สัก ๑๐ ชิ้น
หรือถ้าว่างมาก  และได้ฟักลูกยาวใหญ่ หลายลูก  แนะให้แกะเป็นเรื่องรามเกียรติ์
ใส่หม้อขนาดใหญ่ต้มกับกุ้งแห้ง  หรือจะต้มกับเป็ดใส่เลือดก้อนกับมะนาวดองด้วย  
ซดน้ำแกงดีเหลือหลาย  เอ๊ะ  นี่ตอบคำถามท่านขุนหนุ่มสยามหรือเปล่า


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 ก.ค. 11, 09:43
นึกถึงคำบรรยายหน้าตาเจ้าเงาะ

ผมหยิกยุ่งเหยิงเหมือนเชิงฟัก   หน้าตาตละยักษ์มักกะสัน

สงสัยเหมือนกันว่า เชิงฟัก  นี่หน้าตาเป็นอย่างไร ส่วนหน้าตายักษ์มักกะสันหาดูได้ไม่ยาก

 ;D



กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 ก.ค. 11, 09:47
หัวอกเดียวกัน เมื่อคืนนึกถึงเรื่อง "ชิ้นฟัก" คำนี้มีมากหลายความหมาย พลันนึกถึงลูกน้อยหอยสังข์ แม่บรรจงแกะสลักหอยสังข์ตัวน้อย เพื่อให้ลูกน้อยจำแม่ได้ ช่างงามวิเศษเหลือ

ส่วนการแกะชิ้นฟักเป็นเรื่องรามเกียรติ์คงจะยากสักหน่อย ด้วยฟักมีขนาดเล็ก คงต้องโกลน ๆ เอาเป็นรูปร่าง มิอาจจะสลักกนก เครือขน ชดช้อย ได้ดังนึกด้วยอาจจะโดนความเปรี้ยวของมะนาวดองกัดจนเละ

ฟักลูกใหญ่ เขาเรียกว่า แฟง มิใช่ดอกหรือ, ยังมียอดฟักแม้ว ที่นำมาผัดน้ำมัน ราดด้วยกะทิขี้โล้ หอมกรุ่น จิ้มกับน้ำพริกแมงดา อร่อยเหลือประมาณ



กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 ก.ค. 11, 10:07
หัวอกเดียวกัน เมื่อคืนนึกถึงเรื่อง "ชิ้นฟัก" คำนี้มีมากหลายความหมาย พลันนึกถึงลูกน้อยหอยสังข์ แม่บรรจงแกะสลักหอยสังข์ตัวน้อย เพื่อให้ลูกน้อยจำแม่ได้ ช่างงามวิเศษเหลือ

ส่วนการแกะชิ้นฟักเป็นเรื่องรามเกียรติ์คงจะยากสักหน่อย ด้วยฟักมีขนาดเล็ก คงต้องโกลน ๆ เอาเป็นรูปร่าง มิอาจจะสลักกนก เครือขน ชดช้อย ได้ดังนึกด้วยอาจจะโดนความเปรี้ยวของมะนาวดองกัดจนเละ

ฟักลูกใหญ่ เขาเรียกว่า แฟง มิใช่ดอกหรือ, ยังมียอดฟักแม้ว ที่นำมาผัดน้ำมัน ราดด้วยกะทิขี้โล้ หอมกรุ่น จิ้มกับน้ำพริกแมงดา อร่อยเหลือประมาณ



อันนี้อยู่ที่ความสามารถของท่านขุน  
ฟักน่ะ  ถ้าดินดี  ลูกหนึ่งยาวเท่าแขน หรือเกินกว่านั้น
แฟงน่ะ  ต่อให้ดินดีก็ยาวไม่เกิน ๑ ศอก
แฟงน่ะเขาเก็บกินอ่อน  ไม่รอให้ขึ้นนวลเปลือกขาวหรอก
ส่วนฟักต้องทิ้งไว้ให้เถาเหี่ยวเถาตาย แก่เปลือกแข็งขึ้นนวล
จึงจะเก็บผล  เก็บอย่างนี้เก็บไว้ได้นาน  
ชาวไร่ชาวนามักปลูกไว้ตามหัวไร่ปลายนาในช่วงฤดูทำนา
หมดหน้านาแล้ว  พืชผักตามท้องนาท้องไร่หายาก
ก็ได้ฟักนี่แหละแกงกิน   ฟักทองทำอย่างนี้เหมือนกัน
เคยอ่านเรื่องหนุ่มชาวนาไหมล่ะ  

ฟักนี่มีประโยชน์อีกอย่าง  ต้มทั้งลูกร้อนๆ...แล้วอมไว้
แก้ตกมันอาละวาดดีนักแล

เคยได้ยินชาวเขมรชอบกินฟักเขียวกันมาก   นัยว่าแกงกินกันประจำทีเดียว


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 ก.ค. 11, 10:08
พลันนึกถึงลูกน้อยหอยสังข์ แม่บรรจงแกะสลักหอยสังข์ตัวน้อย เพื่อให้ลูกน้อยจำแม่ได้ ช่างงามวิเศษเหลือประมาณ

จำได้ว่านางจันท์เทวีสลักชิ้นฟักอยู่เจ็ดชิ้น เพื่อให้ลูกน้อยจำแม่ได้

เคยท่องตอนเป็นเด็กๆ ค่ะ ทำให้จำเนื้อเรื่องได้จนถึงทุกวันนี้

" ชิ้นหนึ่งทรงครรภ์กัลยา      คลอดลูกออกมาเป็นหอยสังข์
  ชิ้นสองต้องขับเที่ยวเซซัง  อุ้มลูกไปยังพนาลัย
  ชิ้นสามเมื่ออยู่ด้วยยายตา  ลูกยาออกช่วยขับไก่
  ชิ้นสี่กัลยามาแต่ไพร         ทุบสังข์ป่นไปกับนอกชาน
  ชิ้นห้าปิตุรงค์ทรงศักดิ์       ให้รับตัวลูกรักมาจากบ้าน
  ชิ้นหกจองจำทำประจาน     ให้ประหารฆ่าฟันไม่บรรลัย
  ชิ้นเจ็ดเพชฌฆาตเอาลูกยา ไปถ่วงลงคงคาน้ำไหล
  เป็นเจ็ดชิ้นสิ้นเรื่องอรไท     ใครใครไม่ทันจะสงกา "

ค่ะ ละครนอกเรื่องสังข์ทอง ตอนนางจันท์เทวีสลักชิ้นฟัก เพื่อแกงถวายพระสังข์
 พระนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ช่อง 7 สี นำมาสร้างเป็นหนังจักรๆ วงศ์ๆ คนติดกันงอมเลยค่ะ

สงสัยอยู่ว่านางจันท์เทวีสลักข้อความยาว ๆ บนฟักแต่ละชิ้นได้อย่างไร

 ???


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 ก.ค. 11, 10:31
^
คงสลักแบบแบน ๆ พร้อมมัลติมีเดีย ประกอบ ไม่เช่นนั้นหยิบชิ้นฟักมาทาน ไม่เรียงลำดับ เกิดสับสนทั้งคนทาน ทั้งคนทำ  ;D ;D

ส่วนท่านข้างบนโน้นนะ ก่อนจะต้มฟักนำมาเลี้ยงดูปูเสื่อ ต้องถามว่าท่านจะยกอย่างไร ในเมื่อมันก็ร้อนเช่นกัน จะเอาไผ่เสียบยื่นส่ง คงจะเละเกินไป จะคว้าสวิงใส่ ก็เกรงจะงับคาตา ฝ่านหนึ่งก็จะดิ้นพา ฟาดน้ำท่าฟาดเรือ ตกน้ำตาย..ชะเอิง ..เอย... (ขอเพลง เต่าเห่)


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 ก.ค. 11, 10:38
^
คงสลักแบบแบน ๆ พร้อมมัลติมีเดีย ประกอบ ไม่เช่นนั้นหยิบชิ้นฟักมาทาน ไม่เรียงลำดับ เกิดสับสนทั้งคนทาน ทั้งคนทำ  ;D ;D

ส่วนท่านข้างบนโน้นนะ ก่อนจะต้มฟักนำมาเลี้ยงดูปูเสื่อ
ต้องถามว่าท่านจะยกอย่างไร ในเมื่อมันก็ร้อนเช่นกัน จะเอาไผ่เสียบยื่นส่ง
คงจะเละเกินไป จะคว้าสวิงใส่ ก็เกรงจะงับคาตา ฝ่านหนึ่งก็จะดิ้นพา
ฟาดน้ำท่าฟาดเรือ ตกน้ำตาย..ชะเอิง ..เอย... (ขอเพลง เต่าเห่)


ไม่เคยลองทำเหมือนกัน  เลยไม่รู้ว่าเขาอย่างไร
แต่คิดว่า  คนสมัยก่อนเขาคงมีความสามารถทำได้
โดยไม่ต้องเขียนคู่มือ หรือ ฮาว ทู บอกเสียทุกเรื่อง
และเขาต้มพอร้อน  ไม่ได้ต้มเอาเละ 
ดีไม่ดี อาจจะเล่นกันทั้งเปลือก กินแล้วตาเหลือก  ::)


กระทู้: ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 14 ก.ค. 11, 22:22
ลองพูดเร็วๆ ซ้ำๆ หลายๆ เที่ยว นะคะ... ;D

..เช้าฟาดฟักผัด เย็นฟาดผัดฟัก..

แล้วจะรู้ว่าลิ้นพันกันยุ่งเหยิง เป็นเชิงฟัก..เป็นอย่างไร...