เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: Wandee ที่ 16 มี.ค. 10, 19:08



กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 16 มี.ค. 10, 19:08
เมื่อวันตรุษไทย  ๑๗๖ ปีมาแล้ว   ด.ช.คนหนึ่งถือกำเนิดมาในท้องนา  ณ บ้านบางพรหม 
ใกล้วัดประดู่ แถวบางระมาด  แขวงกรุงเทพ ฯ



ก.ศ.ร. บันทึกว่า เกิด วันจันทร์  เดือนสี่  แรมสิบสี่ค่ำ  ปีมะเมีย ฉอศก  จุลศักราช ๑๑๙๖  เป็นปีที่ ๙ ในแผ่นดินสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เป็นวันในการพิธีสัมพัจฉะระฉินท์(พิธีตรุษไทย)  ยิงปืนอาฎานาฏิยะสูตรในค่ำวันนั้น


การเล่าเรื่องนี้จะเล่าแบบอ่านหนังสือสองสามเล่มไปพร้อมๆกัน  จะกระโดดข้ามตอนที่เป็นเรื่องลอกต่อๆกันมาโดยไม่มีอ้างอิง

บางครั้งจะยกชื่อหนังสือหายากบางเล่มที่ไม่เป็นที่รู้จักกันดีมาประกอบ
ตัวสะกดนั้นจะรักษาต้นฉบับไว้ตามที่จะทำได้


สนุกมากค่ะ


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 16 มี.ค. 10, 22:05
แม่ของก.ศ.ร. ชื่อตรุศ    พ่อชื่อเสง

แม่ตรุศเลี้ยงลูกไม่รอดตายเสีย ๑๑ คน  เหลือมาแต่นายเป่า กับนายกุหลาบ

ไม่ค่อยมีคนทราบว่า ก.ศ.ร. มีพี่ชายที่ไปบวชอยู่ต่างจังหวัด  ขนาดพ่อที่ลงเรือนเพราะร้าวฉานกับแม่
แล้วไปแต่งงานใหม่มีลูกอีก ๕ คน   ก.ศ.ร.ยังบันทึกการเกิดการตายคู่สมรสและบุตรของน้องต่างมารดาไว้ค่อนข้างละเอียด

แปลกที่ไม่มีข้อมูลเรื่องนายเป่า

พ่อเสงถือโอกาสเลิกกับแม่เมื่อ กุหลาบอายุได้ ๔ เดือน โดยลงเรือนไปเฉย ๆ  แล้วไปแต่งงานกับนางทับ
ลาวบ้านแก่งขนุน  ใกล้บ้านสีทาเขาคอก แขวงเมืองสระบุรี

สาวสีทานี่ งาม   ใครจำได้บ้างเอ่ย



จะว่าไปแล้วตรุศเป็นคนมีฐานะ   บ้านก็เป็นของตน  นาก็เป็นของตนอีกนั่นแหละ  บ่าวไพร่ที่ใช้ทำนาก็หลายคน
ท้องแก่แท้ๆ  ยังต้องไปคุมคนทำนา   เลยไปคลอดในโรงนา  พาลูกแดงๆนั่งเรือชะล่าท้องแบนออกมา

ประวัติวงศ์สกุลของแม่นั้นมีการเขียนถึงไว้มากแล้ว   ขอข้ามไป


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 16 มี.ค. 10, 22:18
ป้าสะใภ้ผู้เป็นอดีตชาววัง ได้เป็นคนนำลูกของตรุศไปถวาย พระองค์เจ้าหญิงกินรี พระธิดา
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ให้ทรงเลี้ยงไว้เพื่อให้บวชเป็นกุศล

ประวัติของป้ามีเขียนไว้แล้วในหนังสือ ประวัติวงศ์ตระกูล ก.ศ.ร. กุหลาบ พิมพ์ ร.ศ. ๑๒๐    ๓๐๐เล่ม

เมื่อลูกชายของป้า หรือพี่ชายของก.ศ.ร. ตาย  ก.ศ.ร. ลงข่าวสั้นในสยามประเภศ ๑ ครั้ง 
เขียนบทความยาวให้อีกหนึ่งครั้ง  ท่านคือ พระยาวิชิตณรงค์(ทรัพย์)


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 16 มี.ค. 10, 22:44
ก.ศ.ร. นั้น เป็นนักบันทึก  เก็บบันทึก  โยงเรื่องราวสกุลวงศ์ของขุนนางได้มากมาย เพราะตนเองมีตำรามากมายมหาศาล
ได้มาจากไหนก็อวดไว้หมด


หลายคนไม่เคยได้ยินชื่อตำราเหล่านี้  ก็ฮึดฮัดฟาดหางว่า ในเมื่อฉันไม่เคยได้ยิน  ตำราเหล่านี้ก็ไม่มี
วิธีคิดแบบนี้ก็ติดตามมาจนทุกวันนี้



ก.ศ.ร. เป็นนักสังคมวิทยาค่ะ  ท่านชอบสังคม  เพราะท่านเป็นเสมือนเด็กกำพร้า ขาดความอบอุ่นของบิดา 
เติบโตมาในตำหนักพระธิดาพระเจ้าแผ่่นดิน    ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี  เสื้อผ้า เครื่องประดับ  มีพี่เลี้ยงและนางนม

ข้าหลวงที่เสด็จประทานให้เป็นพี่เลี้ยงและแม่นมกุหลาบไม่ใช่สามัญชน  พี่เลี้ยงเป็นธิดาท้าวพระยาเมืองตาล ขึ้นกับเวียงจันท์
แม่นมชื่อจ้าวบุญมี

เมื่อกุหลาบตั้งครอบครัว จ้่าวบุญมีก็ตามมาอาศัยอยู่กับนายกุหลาบด้วยในฐานะ คุณย่า 
ก.ศ.ร.ไม่ได้เน้นเรื่องนี้  แต่เป็นเกร็ดส่วนหนึ่งเมื่อพูดถึงลูก ๆ



กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 17 มี.ค. 10, 05:48
 ก.ศ.ร. เล่าว่า

     
         "พระจ้าวลูกเธอ พระองค์เจ้ากินรี  ทรงพระปราโมทย์ยินดี  มีพระมหากรุณาธิคุณอดุลยดิเรกอะเนกานุประการ
ทรงรับทารกนั้นไว้แล้ว     ทรงพระกรุณาทำนุกบำรุงปลูกเลี้ยงไว้   เพื่อพระประสงค์จะได้บวชเปนภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา

ทรงรับนายกุหลาบทารกเลี้ยงไว้ตั้งแต่อายุ ๔ เดือนโดยเต็มพระไทย์(เหมือนบุตรบุญธรรม)"


เรื่องนี้ ก.ศ.ร. เอ่ยไว้เพียงครั้งหรือสองครั้งเท่านั้น   ไม่เคยอ้างอีกเลย  แสดงว่าเป็นชาววังจริง  เพราะเด็กที่เจ้านายฝ่ายใน
ทรงเลี้ยงดูทั้งหญิงชายก็ไม่มีใครทะลึ่งนับญาติกับเจ้านาย   ทั้งหมดจะเล่าเพียงว่าสายสกุลเกี่ยวพันกับเจ้าจอมมารดาเท่านั้น


เสด็จโปรดประทานเครื่องประดับกายทารกทำด้วยทองคำประดับพลอยและเพ็ชรทั้งสิ้น  รวมราคาไม่ต่ำกว่า ๒๐ หรือ ๓๐ ชั่ง

เมื่อกุหลาบแต่งงานมีลูกแล้ว  เสด็จประทานเครื่องประดับทั้งหมดให้แก่ลูก ๆ นายกุหลาบจนหมด


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 17 มี.ค. 10, 06:28
ในจำนวนทรัพย์สมบัติที่เสด็จประทาน รวมไปถึงเงินค่าสรรพตำราและค่าเล่าเรียนกับครูหลายคน

ก.ศ.ร. เล่าถึงสมบัติซึ่งดูจะเล็กน้อยด้อยค่า  คือ อ่างอาบน้ำว่า ได้อาบน้ำในอ่างเปลเคลือบจากเมืองจีนเถาหนึ่งตั้งแต่เด็ก

ต้นเถาสูงสองศอกคืบ ๖ นิ้ว กว้างสองศอกคืบ ๖ นิ้ว ยาวสี่ศอกถ้วน

กลางเถาสูงศอกคืบ ยาวสองศอกคืบ

ปลายเถาสูง ๑๖ นิ้ว  กว้างศอก ๖ นิ้ว


ก.ศ.ร. มองว่าอ่างเคลือบชุดนี้เป็นสมบัติ หรือส่วนสำคัญของชีวิตในวัยเด็กอย่างหนึ่ง
ต่อมาลูก ๆ ก็ได้อาบน้ำและเล่นน้ำในอ่างมรดกนี้กันอย่างสนุกสนาน  ฟาดน้ำใส่กันกระจายไปในยามอากาศร้อน


เคยเห็นของเคลือบจากจีนมาบ้างเหมือนกัน  น่าจะเป็นสีเหลืองอ่อน  ขอบสีเขียว
ของเคลือบสามัญที่ลากถูใช้กันอยู่จำได้ว่าสีน้ำเงิน  ที่รวมเรียกว่า อวยสีเขียว


คิดแล้วก็ขำ    ใครหนอนำมาถวาย  จะรู้บ้างไหมว่า
เด็กน้อยที่ได้เล่นน้ำในอ่างได้เติบโตมาเป็นบุคคลที่มีผู้พูดถึงมากที่สุดคนหนึ่ง จนทุกวันนี้  


หนังสือที่เด็กคนนี้พิมพ์เป็นของมีค่า หายากและเป็นที่ต้องการ  และราคาสูงอย่างไม่น่าเชื่อ
ใครที่ได้ไว้ในครอบครองก็ปิดความ  เกรงผู้อื่นจะขอชม
นักอ่านก็แลกข้อมูลกันเพื่อติดตามขออ่าน ขอชม


เด็กคนนี้  ได้เก็บอ่างอาบน้ำสามใบไว้เป็นของมีค่าของตนตลอดมา



กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 17 มี.ค. 10, 08:47
เมื่อวันตรุษไทย  ๑๗๖ ปีมาแล้ว   ด.ช.คนหนึ่งถือกำเนิดมาในท้องนา  ณ บ้านบางพรหม  
ใกล้วัดประดู่ แถวบางระมาด  แขวงกรุงเทพ ฯ

ก.ศ.ร. บันทึกว่า เกิด วันจันทร์  เดือนสี่  แรมสิบสี่ค่ำ  ปีมะเมีย ฉอศก  จุลศักราช ๑๑๙๖  เป็นปีที่ ๙ ในแผ่นดินสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
เป็นวันในการพิธีสัมพัจฉะระฉินท์(พิธีตรุษไทย)  ยิงปืนอาฎานาฏิยะสูตรในค่ำวันนั้น


เทียบวันเกิด ก.ศ.ร. ดูแล้ว  วันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเมีย ฉศก ๑๑๙๖  ตรงกับวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๓๗๗  แต่ไม่ใช่วันจันทร์ เป็นวันศุกร์  เป็นวันก่อนวันสิ้นสิ้นปีมะเมีย ฉศก ๑๑๙๖  (๒๘ มีนาคม) พอวันที่ ๒๙ มีนาคม เป็นวันขึ้นปีมะแม ยังฉศก ๑๑๙๖  

แต่ถ้าเป็นวันจันทร์ เดือนสี่  ปีมะเมีย ฉศก ๑๑๙๖ จะตรงกับวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๓๗๗ ซึ่งเป็นวันแรม ๑๐ ค่ำ


 ;D


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 มี.ค. 10, 12:06
ก.ศ.ร. บันทึกว่า เกิด วันจันทร์  เดือนสี่  แรมสิบสี่ค่ำ  ปีมะเมีย ฉอศก  จุลศักราช ๑๑๙๖  

ในหนังสือของคุณมนันยา ผู้สืบสายโลหิตจาก ก.ศ.ร.กุหลาบ (คุณมนันยาเรียกตาของยายของเธอในหนังสือว่า ก.ส.ร.กุหลาบ) บันทึกว่า ก.ศ.ร.กุหลาบเกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน ๔ แรม ๑๐ ค่ำ จ.ศ. ๑๑๙๖ ตรงกับวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๗๗

ขอเสริมเรื่องชื่อของนายกุหลาบ

คำนำหน้าชื่อกุหลาบว่า ก.ศ.ร. นี้มาจากสมญาที่ได้รับเมื่อบวชเป็นภาษาบาลีว่า เกสโร ในภาษาบาลีมีแต่ ส. ไม่มี ศ. หรือ ษ.

ด้วยเหตุผลกลใดไม่ทราบแน่ชัด นายกุหลาบได้เลือกคำนำหน้าว่า ก.ศ.ร. แทนที่จะเป็น ก.ส.ร.

 ???


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 17 มี.ค. 10, 13:14

ในหนังสือของคุณมนันยา ผู้สืบสายโลหิตจาก ก.ศ.ร.กุหลาบ (คุณมนันยาเรียกตาของยายของเธอในหนังสือว่า ก.ส.ร.กุหลาบ) บันทึกว่า ก.ศ.ร.กุหลาบเกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน ๔ แรม ๑๐ ค่ำ จ.ศ. ๑๑๙๖ ตรงกับวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๗๗


แต่ก็น่าสงสัยต่อไปอีก  คือ วันจันทร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเมีย ฉศก ๑๑๙๖  ถ้าเป็นวันเกิดของนายกุหลาบจริง   ก็ไม่น่าจะมีข้อความนี้ เป็นวันในการพิธีสัมพัจฉะระฉินท์(พิธีตรุษไทย)  ยิงปืนอาฎานาฏิยะสูตรในค่ำวันนั้น ตามมาด้วย  แต่เมื่อมีข้อความนี้มาตามหลัง   ทำให้ข้อมูลของคุณมนันยาเป็นไปไม่ได้ทันที  เพราะการพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ ยิงปืนอาฏานาฏิยะสูตร จะไม่มีทางจัดในวันแรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๔ เป็นแน่    ถ้าพิจารณาประวัติที่ นายกุหลาบเขียนเองและพิมพ์เองแล้ว  ก็น่าจะเชื่อตามนายกุหลาบเจ้าของข้อมูลที่บันทึกไว้   เป็นไปได้เหมือนกันที่นายกุหลาบอาจจะจำวันพลาดไป  แต่ขึ้นแรมกี่ค่ำไม่น่าจะพลาด   เว้นแต่นายกุหลาบจะจำคลาดเคลื่อนเอง   แต่จากข้อมูลที่นายกุหลาบเล่าไว้ตามที่คุณวันดียกมาเล่า  แสดงว่านายกุหลาบจดจำรายละเอียดหลายอย่างดีมาก  ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าผู้ใหญ่ของนายกุหลาบอาจจะจำวันเกิดนายกุหลาบคลาดเคลื่อนไปบ้าง  แต่ความว่า "เป็นวันในการพิธีสัมพัจฉะระฉินท์(พิธีตรุษไทย)  ยิงปืนอาฎานาฏิยะสูตรในค่ำวันนั้น" น่าจะช่วยยืนยันว่า นายกุหลาบเกิดวันสิ้นปีมะเมีย ฉศกพอดี

ขอเสริมเรื่องชื่อของนายกุหลาบ  คำนำหน้าชื่อกุหลาบว่า ก.ศ.ร. นี้มาจากสมญาที่ได้รับเมื่อบวชเป็นภาษาบาลีว่า เกสโร ในภาษาบาลีมีแต่ ส. ไม่มี ศ. หรือ ษ.
ด้วยเหตุผลกลใดไม่ทราบแน่ชัด นายกุหลาบได้เลือกคำนำหน้าว่า ก.ศ.ร. แทนที่จะเป็น ก.ส.ร.???

ตรงนี้  ก็น่าสนใจ  ถ้าไปอ่านข้อมูลประวัติที่นายกุหลาบเล่าเองจะแปลกใจหนักขึ้นไปอีก  คือ นายกุหลาบเคยแต่บวชเป็นสามเณร ไม่เคยบวชเป็นพระภิกษุ  ในเมื่อบวชเป็นสามเณร จะมีฉายาบาลีได้อย่างไร  ก็ในเมื่อการบวชเป็นเณรไม่มีการขานนาคอย่างบวชพระ  ไม่มีการนั่งหัตถบาสในการทำพิธีบวช  ฉะนั้นฉายาบาลีที่นายกุหลาบได้มาจากสมเด็จพระอุปัชฌาย์  ได้มาอย่างไร   หรือว่าสามเณรสมัยก่อนมีฉายาด้วย     :-\

เป็นไปได้ไหมว่า ฉายา เกสโร ที่นายกุหลาบได้มานั้น  เป็นฉายาที่เตรียมไว้เมื่อเณรกุหลาบจะอุปสมบทเป็นพระภิกษุ  เพราะตอนที่นายกุหลาบบวชเณรนั้น  นายกุหลาบก็อายุ ๒๖ - ๒๗ ปีแล้ว (คุณวันดีกรุณาทักท้วงด้วยถ้าผิดพลาด)  ผู้ใหญ่ที่ให้นายกุหลาบบวชคงหมายที่จะให้นายกุหลาบได้บวชเป็นพระด้วย   แต่นายกุหลาบยังไม่มีใจพอที่จะบวชเป็นพระตามประสงค์ได้  จึงได้ลาสิกขาเสียก่อน  (ตอนนั้นมีเมียแล้วด้วย)

ส่วนเรื่อง ว่า นายกุหลาบ ใช้ ก.ศ.ร. ไม่ใช่ ก.ส.ร. ตามบาลีที่เป็นฉายา   หากว่าตามหลักบาลีแล้ว  ควรใช้ ส ไม่ใช่ ศ     ตามหลักไวยากรณ์บาลีควรเป็นเช่นนั้น  แต่นายกุหลาบอาจจะคิดตั้งใช้ให้ต่างจากคนอื่น   ถามว่าผิดไหม คงไม่ผิด เพราะชื่อคนเป็นชื่อเฉพาะ  เขียนอย่างไรก็ได้   ภาษาไทยสมัยเก่า  ท่านมีเกณฑ์การใช้ ส ศ ษ ดังนี้ ส ใช้เป็นพยัญชนะต้น  ศ ใช้เป็นตัวสะกด   ษ ใช้เป็นตัวการันต์   ดังนั้น โบราณท่านจึงเขียน วงษ์  พงษ์  สาศนา วาศนา  พิศม์  พิศณุโลกย์  ด้วยเกณฑ์ดังนี้  (บางคำก็ไม่ตามเกณฑ์นี้ก็มีบ้าง เช่น เกษร เป็นต้น) อย่างชื่อนายกุหลาบ ถ้าว่าตามเกณฑ์อย่างเก่า  ไม่เป็น ก.ส.ร. ก็น่าจะเป็น ก.ษ.ร. แต่นายกุหลาบไม่เลือกใช้ทั้งสองอย่างเลือกใช้อีกอย่างที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์นิยม


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 17 มี.ค. 10, 14:12
ตั้งหน้าและหน้าตั้งคอยคุณเพ็ญชมพูอยู่เพราะเราเคยคุยกันมาบ้างแล้ว

คุณหลวงเล็กแวะมาเล่าเรื่อสามเณรก็เป็นความรู้อย่างใหญ่หลวงสำหรับคนอ่านที่นั่งอ่านหนังสืออยู่กับบ้าน
แถมคุณหลวงยังคิดข้างขึ้นข้างแรมแตกฉานถึงปานนี้


อยากเนรมิตคุณเพ็ญให้เป็นตุ้กตาใส่กล่องแก้วพาไปบุกกรุหนังสือด้วยกันจังเลย
ส่วนคุณหลวงนั้นท่านวิ่งไว  ตามทันแน่นอน


ความรู้นั้น  นำมาวางแผ่กลางห้อง  ฟังสหายวิจารณ์     เพลิดเพลินเจริญใจอย่างยิ่ง


ต่อ...

เมื่อ กุหลาบเจริญวัยอายุได้ ๘ - ๙ ขวบ เสด็จโปรดปรานสอนหนังสือกอขอกอกาให้
ก.ศ.ร. เอ่ยถึงเสมอว่าเสด็จเป็นพระบรมบุรพาจาริย์    ที่จริงก.ศ.ร.เขียนไว้ยาวยืด

"หมายจะให้ความดีความเจริญความฉลาด  ประทานให้แก่นายกุหลาบ   จึ่งทรงประทานพระสุนทโรวาทานุสาสนานุกิจ..."




เมื่อนายกุหลาบอายุได้ ๑๐ หรือ ๑๑ ขวบ  เสด็จมีรับสั่งให้เจ้าพนักงาน 
 นำดอกไม้ธูปเทียนและพานายกุหลาบไปถวายตัวเป็นมหาดเล็กไล่กาในรัชกาลที่ ๓
โดยความที่ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้า  จะให้นายกุหลาบมีชื่อเสียงเป็นคนในราชการบ้าง


เรื่องนี้พระยาท่านหนึ่งเคยเขียนกระทู้มาถึงก.ศ.ร. เล่าว่าเป็นเพื่อนมหาดเล็กไล่กาแต่สูงวัยกว่า
ยังจำได้ว่านายกุหลาบนุ่งผ้าลายอะไร  ได้เลื่อนเมื่อตามเสด็จไปเพชรบุรีเป็นผ้าลายอะไร


ก.ศ.ร.นั้นประพฤติตัวเรียบร้อยมาก  ตอบกระทู้ด้วยความนบนอบ  ไม่ได้ตีตัวเสมอข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เลย
และเรียกพระยาชราท่านนี้ว่า  "ใต้เท้ากรุณาเจ้า"   ทุกคำไป



กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 17 มี.ค. 10, 14:27
เมื่อนายกุหลาบมีอายุ ๑๒ หรือ ๑๓ ปี    ได้ออกจากพระบรมมหาราชวังฝ่ายใน

โปรดเกล้าให้ไปอยู่วัดพระเชตุพน      ฝากไว้ในสำนักพระราชมุนี(เอี่ยม)พระราชาคณะ
ให้เรียนหนังสือไทยและขอม



ภายหลังมีรับสั่งให้นางข้าหลวงพานายกุหลาบไปถวายตัวเป็นศิษย์ในสำนัก สมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส
ได้บรรพชาเป็นสามเณร  สมเด็จพระปรมานุชิต ฯ เป็นพระอุปัทยาจาริย์
จึงประทานนามว่า  เกศะโร เพราะนายกุหลาบเกิดวันจันทร์

ขอกระโดดข้ามไปตอนนายกุหลาบบวชพระก่อนนะคะ


เดี๋ยวกลับมาเล่าเรื่องการแต่งงาน



กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 17 มี.ค. 10, 14:35
นายกุหลาบแต่งงานเมื่ออายุ ๒๕  เมื่อลูกสาวคนแรกเดินได้   คือย่างเข้า ๒ ขวบ  นายกุหลาบก็บวช


เสด็จมีรับสั่งให้ขุนศักดิ์พลรักษ์(คล้อย) บุตรพระนมนากพระนมนางของท่านจัดการบวชนายกุหลาบเป็นที่ครึกครื้นแข็งแรง
มีทำขวัญ   แห่ด้วยม้าเป็นพาหนะ

ไปบวชที่วัดพระเชตุพน
พระราชมุนี(เอี่ยม)พระราชาคณะเป็นพระอุปัชฌาย์
พระธรรมเจดีย์ พระราชาคณะวัดกัลยาณมิตร เป็นอนุสาสน์
พระปลัดปลีวัดพระเชตุพนธ์ เป็นกรรมวาจา


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 มี.ค. 10, 20:16
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=351.0
เคยคุยกันถึงนายกุหลาบไว้ในกระทู้เก่า   เลยเอามาแจมด้วยค่ะ
ถ้าอยากจะค้นว่าเรื่องราวนายกุหลาบมีไว้ในกระทู้ไหนบ้าง  ก็คลิกเข้าไปอ่านได้ที่นี่
http://www.reurnthai.com/index.php?action=search2


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Bhanumet ที่ 17 มี.ค. 10, 22:37
มาลงชื่อแจ้งว่าติดตามอ่านอยู่นะครับ
ขอบพระคุณทุกท่านมากๆ ครับ


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 18 มี.ค. 10, 06:30
เมื่อนายกุหลาบบวชเป็นภิกษุสงฆ์มหานิกายแล้ว
  
ได้เข้าไปสวดถวายเทศน์ที่ตำหนักกัณฑ์หนึ่ง ว่าด้วยความกตัญญู  เมื่อวันเดือนสี่แรมสิบค่ำ



ได้เข้าไปรับบิณฑบาตในพระบรมมหาราชวัง  ทุกเวรวันพุธของวัดพระเชตุพน
เสด็จก็ทรงบาตร  ทุกวันพุธเสมอตลอดสิบเดือน


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 18 มี.ค. 10, 06:46
สวัสดีค่ะคุณ  Bhanumet


     ขอเชิญร่วมวงไพบูลย์  คุยกันบ้าง

     เหมือนอย่างที่ว่าไว้ก่อนหน้านี้  คือการเล่าเรื่องจะพยายามนำเสนอแต่ ข้อมูล ที่ไม่ซ้ำกับท่านผู้อื่น


     เพิ่งได้พงศาวดารจีนหายากมาเล่มหนึ่ง คือ บิ๊ดแชฮวย  พิมพ์ ๒๔๖๕  งานการทั้งปวงก็เกิดทำไม่ไหวขึ้นมา
     อ่านเสร็จแล้วก็ต้องหาเรื่องอื่นๆที่พิมพ์ในสยามราษฎร์มาอ่านต่อ


กระทู้นี้ถือว่าคุยกันแก้ร้อน

เสนอข้อมูลแปลก ๆ        ไม่ทราบจะรอดไปถึงเมื่อตอนที่ท่านพิมพ์สยามประเภทหรือไม่



ท่านที่อยากจะด่า ก.ศ.ร.นั้น  คงขอความกรุณาให้คอยก่อน  เพราะได้จดคำด่าไว้หลายคำแล้ว
เป็นคำกระทบกระเทียบ  ประชด  ด่าตรงๆ  ด่าว่าไอ้หัวล้านยังมี

ก.ศ.ร. ยังไม่ได้พิมพ์หนังสือเลยค่ะ



สำหรับท่านที่เคารพนับถืออ่านต้นฉบับหนังสือเล่มอื่น ๆ ของ ก.ศ.ร. กุหลาบมาบ้าง (ที่ไม่ใช่อานามสยามยุทธ  สยามประเภท  มหามุขมาตยานุกูลวงศ์)
ขอเชื้อเชิญมาปาดกระทู้  เป็นความรู้ให้กับนักอ่านหนังสือเก่าสืบไป



กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 18 มี.ค. 10, 11:46
หลังจากนายกุหลาบสึกออกมา  เสด็จประทาน


แหวนเพชร ๑ วง  เพชรนั้นใหญ่เท่าเม็ดข้าวโพดขนาดใหญ่ 

แหวนทับทิมหลังเบี้ย  ๑ วง    ทับทิมนั้นโตเท่าเม็ดมะขามขนาดใหญ่  หรือผลบัวแก่ผ่าสองซีก

แหวนพลอยนิลตับตะโก  ๑ วง   นิลนั้นกว้างเท่าองคุลีนิ้วก้อย เป็นรูปหลังเบี้ย


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 18 มี.ค. 10, 12:02
นายกุหลาบกลับไปทำราชการในรัชกาลที่ ๔  กรุงเทพ     รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ สามตำลึง
เป็นสมุหบัญชีอยู่ใน พระเจ้าราชวรวงศ์เธอพระองค์เจ้ากินรีหลายปี



จะขอคืบไปเล่าเรื่องลูกเมียของกุหลาบก่อนที่จะเล่าเรื่องการทำงานกับฝรั่งและไปเป็น แอชุแตนท์ให้ตำรวจน้ำ


ภรรยาไม่ได้แต่งงาน  ชื่อ พุ่ม(ตาเหล่)
เป็นข้าหลวงในพระจ้าวราชวรวงศ์เธอพระองค์จ้าวกินรี
มีธิดาชื่อ พ่วง


ภรรยาไม่ได้แต่งงานชื่อหม่อมหลวงปริกในกรมหลวงจักรเจษฎา
มีธิดา  ถึงแก่กรรมตั้งแต่เล็ก   ไม่มีชื่อ


นี่คือลูกและเมียก่อนมาแต่งงานกับ หุ่น



กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 มี.ค. 10, 13:51
จะว่าไปแล้วตรุศเป็นคนมีฐานะ   บ้านก็เป็นของตน  นาก็เป็นของตนอีกนั่นแหละ  บ่าวไพร่ที่ใช้ทำนาก็หลายคน
ท้องแก่แท้ๆ  ยังต้องไปคุมคนทำนา   เลยไปคลอดในโรงนา  พาลูกแดงๆนั่งเรือชะล่าท้องแบนออกมา

นางตรุศ - ตรุษ เป็นคนมีเชื้อสายเป็นกรมการเมืองนครราชสีมาสมัยกรุงศรีอยุธยา นามสกุลพระราชทานให้มหาดเล็กวิเศษนัดดา ครูโรงเรียนมหาดเล็กหลวง บุตรนายชาย หลานก.ศ.ร.กุหลาบ - ตรุษฯนนท์ ก็ได้จากชื่อนางตรุษนี้เอง

ก.ศ.ร.กุหลาบบันทึกประวัติตนในวันที่เกิดว่า

ตนคลอดที่โรงนาของท่านตรุศผู้เป็นมารดา ซึ่งตั้งอยู่ที่ “ตำบลบ้านบางพรหม ใกล้เคียงวัดประดู่ เนื่องแนวแถวเดียวกันกับบางระมาท เปนแขวงกรุงเทพฯ”

เมื่อท่านตรุศมารดาคลอดนายกุหลาบที่โรงนาแล้วนั้น เปนเวลาบ่ายจวนเย็น ด้วยไปดูผู้คนบ่าวไพร่ให้ทำการนา  ครั้นคลอดแล้วจึ่งพานายกุหลาบทารกนั้นลงเรือชะล่าบันทุกทารกมาเพื่อจะได้กลับไปบ้านของตน

ขณะบ่าวไพร่พายเรือกันมายังไม่ทันถึงบ้าน ก็เกิดเหตุที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อนคือ มีนกแร้งตัวหนึ่งบินโผลงมาจับที่กราบเรือ แร้งนั้นก้มลงมาดม ๆ ทารกน้อย ทั้งมารดาและคนที่อยู่ในเรือก็พากันตกตะลึง  พอมารดาได้สติก็เจริญพระพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ขอให้ทารกรอดตาย แล้วแร้งนั้นก็บินร่อนไป

เรื่องนี้ต่อมาทราบถึงหมู่ญาติของท่านตรุศ ทุกคนพร้อมใจกันลงเนื้อเห็นว่า “ทารกนั้นเปนบุตรอุบาทว์ แต่พาศนาบิดามารดาสาขาคณาญาติเลี้ยงไม่ได้เปนแน่ เว้นเสียแต่ท่านผู้มีวาศนาบรรดาศักดิ์สูง........”

พี่สะใภ้ท่านตรุศซึ่งเคยเข้าออกวังเป็นประจำจึงรับภาระพาทารกกุหลาบไปถวายพระองค์เจ้ากินรี พระราชธิดาในรัชกาลที่ ๓ ทรงอุปการะเลี้ยงดู ทำให้นายกุหลาบเติบโตในที่อันดี ได้ร่ำเรียนมีความรู้จนมีโอกาสไปถึงเมืองนอกเมืองนา




กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 18 มี.ค. 10, 15:13
ครั้นกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสสิ้นพระชนม์แล้ว     นายกุหลาบได้มาอาศััยอยู่ที่ตำหนัก หม่อมเจ้าหญิงน้อยหน่า
พระธิดาพระองค์ใหญ่ในเจ้าฟ้ากรมหลวงกรมหลวงจักรเจษฎา

ตำหนักนั้นตั้งอยู่ในวังกรมหลวงจักรเจษฎา  ที่หน้าป้อมสุเมรุราช ปากคลองบางลำภูบน   ในกำแพงพระมหานครกรุงเทพ ฯ



ในระหว่างนี้  ได้ไปเป็นศิษย์ท่านสังฆราชฝรั่งเศส  ดง. ยวง. ปาเลอกัว  บิฉบ   ที่วัดอาซัมซัน บางรัก



เรื่องการเรียนกับขุนสารประเสริฐ(นุช) ปลัดกรมอาลักษณ์ในรัชการที่ ๔  บ้านอยู่ริมวัดหงษ์รัตนาราม
และเรียนวิชากฎหมายเล็ก ๆ น้อย ๆ กับ ขุนศักดิ์พลแสน(คล้อย)  ตุลาการศาลรับสั่งฎีกานั้น
มีการเขียนไว้หลายแห่งแล้ว 

ขอผ่านไป


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 มี.ค. 10, 15:29
ก.ศ.ร. เล่าว่า

"พระจ้าวลูกเธอ พระองค์เจ้ากินรี  ทรงพระปราโมทย์ยินดี  มีพระมหากรุณาธิคุณอดุลยดิเรกอะเนกานุประการ
ทรงรับทารกนั้นไว้แล้ว     ทรงพระกรุณาทำนุกบำรุงปลูกเลี้ยงไว้   เพื่อพระประสงค์จะได้บวชเปนภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา

ทรงรับนายกุหลาบทารกเลี้ยงไว้ตั้งแต่อายุ ๔ เดือนโดยเต็มพระไทย์(เหมือนบุตรบุญธรรม)"

ตรงนี้ไม่ตรงกับข้อมูลในหนังสือของคุณมนันยา

"พระองค์เจ้ากินรีได้ทรงขอนายกุหลาบไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมตั้งแต่อายุ ๔ ปี"

สี่เดือนหรือสี่ปี                   อย่างแรกนี้ดูอ่อนวัย
สีปีดีกว่าไซร้                    เดินพูดได้ไม่งอแง

เพื่อนเพื่อนเชื่อข้างไหน         ตอบมาได้ไม่เชือนแช
อย่างไหนใครถูกแน่            จริงแท้หนอขอขอบคุณ

 ;D






กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 18 มี.ค. 10, 15:52
เรียนคุณเพ็ญชมพู  สหายผู้ร่วมใจนั่งในห้องสมุด


เหมือนอย่างที่พูดไว้แล้วนะคะ    ดิฉันเล่าเฉพาะเอกสารต้นฉบับที่ถืออยู่ในมือ   อาจจะบวกกับข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ ที่ได้จดไว้จากสยามประเภทที่พอมี
หรือมหามุขมาตยานุกูลวงศ์


ขนาดสยามประเภทนี้นะคะ  ยังไม่มีท่านผู้ใดพูดออกมาได้ว่ามีกี่เล่ม


ก.ศ.ร. บอกว่าตั้งใจจะพิมพ์ ๑๕ เล่ม(หมายความว่า ๑๕ ปี)

มีประกาศขายหนังสือว่า ออกแล้วจ้า  ๑๒ เล่ม  ๔๘ บาทนะคะคุณเพ็ญ
โฆษณาไว้หน้าหลังของ หนังสือพระราชประวัติพระจ้าวตาก(สิน) พิมพ์ ๑๐๐๐ ฉบับ   ร.ศ. ๑๒๘
เล่มที่อยู่ในมือ ท่านเจ้าของ เซ็นไว้ว่า  บำรุงราชบริพาร   วันที่ ๗ ตุลาคม  รัตนโกสินทรศก ๑๓๐



หลายคนก็อ้่างข้อมูลนี้ที่ดิฉันเขียนทิ้งไว้ที่เวบขายหนังสือเก่าแห่งหนึ่ง  แต่ไม่สามารถเล่าเรื่องหรือที่มาที่ไปได้


ดิฉันเคยเห็นรูปถ่ายชุดสยามประเภทที่เซียนเสื้อดำขายไปหลายปีแล้ว  มีถึงเล่ม ๑๐ ค่ะ  ตัวจริงไม่เห็น
การโฆษณานั้น  นักอ่านและนักสะสมทราบดีว่า  ไม่อาจถือเป็นจริงได้


ดิฉันไม่โต้แย้งกับท่านผู้ใด  ใช้แต่ข้อมูลใหม่(ที่จริงเก่า)ของตนเอง

จะพยายามเล่าเรื่องครอบครัวต่อไป  และงานที่ทำด้วย   
ก.ศ.ร.ท่านเก่งและบันทึกไว้ละเอียดมากค่ะ


ที่ท่านพลาดก็มีมาก    ท่านเผลอคุยไว้สามแห่งสี่แห่งแล้วไม่ต่อข้อมูลก็มีค่ะ


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 18 มี.ค. 10, 16:10
สังฆราชสั่งสอนให้เรียนอักษรโรมัน(หนังสือฝรั่ง) จนอ่านเขียนได้ชำนิชำนาญคล่องแคล่ว

แล้วสอนภาษาลาตินภาษาอังกฤษฝรั่งเศสบ้าง  อย่างละเล็กๆ น้อยๆ  ค่อยรู้เป็นงู ๆ ปลา ๆ

จะได้รู้ภาษาต่างประเทศในชั้นแรก  ก็เพราะท่านสังฆราชฝรั่งเศสเป็นปะฐะมาจาริย์  เป็นพื้นวิชาทำมาหาเลี้ยงชีพ

เป็นเสมียนอยู่ตามห้างฝรั่งตลอดมาเป็นเวลา ๒๐ ปีเศษ

จนคนทั้งหลายเรียกว่า  เสมียนกุหลาบ   บางทีก็เรียกเสมียนกุหลาบฟันขาว


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 18 มี.ค. 10, 16:28
ทำงานกับฝรั่ง


ห้างมิศกิง(มิสเตอร์ แต่ฝรั่งพูดเร็วลงลูกคอไป  ไทยฟังไม่ทัน) ตั้งอยู่หน้าพระราชวังเดิม

เป็นเสมียนรองพระปรีชาชาญสมุทร   บ้านอยู่หน้าวัดตองปุ



ต่อมามาทำงานที่ห้างมิศเตอร์ เปลก  ชาวอเมริกัน   เจ้าของโรงสีข้าวกลไฟ

ต่อไปคือห้างมิศเตอร์ปิกกินเปก  ชาวเยอรมัน

ห้างต่อมาคือ โรงสีไฟของ มิศเตอร์เอ มาก วอลแอนด์กำปะนีชาวเยอรมัน

ทั้งสี่แห่งนี้เริ่มเงินเดือนจาก ๒๖ บาท  มา  ๓๐,  ๔๐,  ๖๐,  ๑๐๐,  ๑๒๐  และ  ๑๕๐ บาท


รวยอึ่ดทึด     ถ้าไม่ไปพิมพ์หนังสือจนหมดสตังค์เสีย


ที่ก.ศ.ร. ทำงานอยู่นานที่สุดคือ ห้างวิลด์เซอร์เรศลิกแอนด์กำปะนี     อยู่ที่นี่ ๑๕ ปี
มีรายละเอียด  ๘ หน้า  แต่ขอเก็บไว้เขียนหนังสือเล่มบ้าง  อิอิ



กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 18 มี.ค. 10, 16:28
โดยหลักพิจารณา  ความน่าเชื่อถือระหว่างสิ่งที่นายกุหลาบเจ้าของประวัติเขียนเอง  กับประวัติที่คุณมนันยา  ซึ่งเป็นอนุชนในสายสกุลของท่าน  เขียนหลังจากนายกุหลาบตายไปหลายปี และไม่มีโอกาสเห็นหน้านายกุหลาบผู้เป็นบรรพบุรุษเลย  ความน่าเชื่อถือย่อมตกอยู่กับสิ่งที่นายกุหลาบเขียนเอง   ส่วนคนอื่นแม้เป็นสายสกุลก็นับว่าเป็นข้อมูลชั้นรอง  ความน่าเชื่อถือย่อมลดลงบ้างเป็นธรรมดา  

จริงๆ มีคำถามต่อไปว่า  คุณมนันยาใช้ข้อมูลจากไหนมาเขียนประวัตินายกุหลาบบ้าง   ใช้หนังสือของนายกุหลาบแน่นอน  แต่ใช้กี่เล่ม  อีกประการหนึ่งข้อเขียนของคุรมนันยาผ่านการเรียบเรียงและกรองวิเคราะห์ใหม่แล้ว  ซึ่งมีบางส่วนที่อาจจะพลาดก็ได้


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 มี.ค. 10, 16:30
สงสัยว่าทำไมพระองค์เจ้ากินรีจึงรับนายกุหลาบเป็นบุตรบุญธรรม   มีเชื้อสายเกี่ยวข้องกันทางเจ้าจอมมารดาของท่านหรือเปล่าคะ


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 18 มี.ค. 10, 17:11
นางหนิ หรือ เหมน  ภรรยา ขุนศรีสงคราม(เกษ) ต่อมาได้เลื่อนเป็นว่าที่หลวงราชเสวกเจ้ากรมรักษาพระองค์  รัชกาลที่ ๓  กรุงเทพ

เป็นเชื้อแขกตานี  เป็นข้าหลวงเดิม ในกรมพระศรีสุริเยนทรามาตย์  แต่ยังประทับอยู่ในพระราชวังเดิม   



(หน้า ๒๒)  พระประสงค์จะทรงเลี้ยงไว้บวชเป็นการกุศล


(หน้า ๓๕)  ภายหลังเสด็จทรงปรารภว่า

มีพระประสงค์ให้นายกุหลาบเล่าเรียนพระปริยัติธรรม  คัมภีร์พระไตรปิฎก   ให้เชี่ยวชาญชำนาญพิเศษ

เมื่อถึงปีมีอายุจะได้อุปสมบทกรรมเมื่อใด    จะได้เข้าไล่เป็นมหาเปรียญ  จะได้มีชื่อเสียงปรากฎว่า   

เป็นพระมหาเปรียญของพระองค์ที่ทรงเลี้ยงมา  จนได้เป็นเปรียญในพระพุทธศาสนา

โดยพระประสงค์ของท่านนั้น  จะให้นายกุหลาบเป็นเปรียญ  เหมือนเช่น พระมหาเหรียญ เปรียญ วัดอรุณราชวราราม

ผู้เป็นพระของ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระเชษฐภคินีของพระองค์เจ้ากินรี



(การคาดคะเน((ของก.ศ.ร.)) ดูเหมือนว่า  ที่เสด็จทรงปรารภนั้น   จะเป็นการแข่งขันให้เป็นคู่ กับ พระมหาเหรียญ  ของกรมหมื่นอัปสราุดาเทพนั้นบ้าง

พระมหาเหรียญนั้น  ภายหลังสึกออกมาได้เป็นหลวงโกษา)


หมดความแต่เพียงนี้ค่ะ

อ่านถึงหลวงโกษาก็อกขำไม่ได้

ก.ศ.ร. ลูกเมียเยอะค่ะ  แถมเก็บหนังสือตำราที่วังจักรเจษฎามาเป็นตั้งด้วย


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 มี.ค. 10, 17:13
ทำงานกับฝรั่ง

ข้อมูลจากบทความเรื่อง The Case of K. S. R. Kulap : A Challenge to Royal Historical Writing in Late Nineteenth Century Thailand. โดย Craig J. Reynolds ตีพิมพ์ในวารสารสยามสมาคม ( J.S.S.) Vol. 61 Part 2: 63-90, July 1973.

ก.ศ.ร. กุหลาบได้ทำงานห้างฝรั่งต่อเนื่องกันเป็นเวลา ๑๕ ปี  มีรายนามห้างฝรั่งที่ ก.ศ.ร. กุหลาบทำงานด้วยดังนี้

๑. แฟรงคลิน เบล็ค (Franklin Blake) ผู้จัดการบริษัทอเมริกัน สตีมไรซ์มิลส์ (American Steam Rice Mill) ซึ่งตั้งเมื่อเดือนตุลาคม ๒๔๐๑

๒. พิคเกนแพค (Pickenpack) แห่งบริษัท Pickenpack Thics and Co., ซึ่งตั้งเมื่อเดือนมกราคม ๒๔๐๑

๓. เอ. มาร์กวอลด์ ( A. Markwald) ผู้จัดการโรงสีมาร์กวอลด์ของเยอรมัน ตั้งเมื่อปี ๒๔๐๑

๔. เอ. เรดลิค (A. Redlich) หุ้นส่วนบริษัทวินเซอร์ แอนด์โก (Windsor and Co.,)  ซึ่งตั้งเมื่อปี ๒๔๑๓

ตลอดระยะเวลา ๑๕ ปี ที่ทำงานกับนายจ้างอังกฤษ, อเมริกัน และเยอรมัน ความรู้ด้านภาษาอังกฤษของ ก.ศ.ร. กุหลาบ ได้เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยที่มีนิสัยเป็นคนคุยสนุก เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และสนใจขวนขวายหาความรู้ จึงเป็นที่สบอัธยาศัยของนายจ้าง และได้รับการเลื่อนเงินเดือนขึ้นเป็นลำดับจากเดือนละ ๒๐ บาท จนได้ถึงเดือนละ ๒๕๐ บาท นอกจากนั้นนายจ้างยังได้พาเดินทางไปติดต่อค้าขายยังประเทศใกล้เคียงหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์, ปีนัง, สุมาตรา, มนิลา, ปัตตาเวีย, มาเก๊า, ฮ่องกง, กัลกัตตา และเคยไปถึงยุโรป คือ ประเทศอังกฤษ ครั้งหนึ่งด้วย


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 18 มี.ค. 10, 17:28
ตามอ่านอาจารย์เครคมาพักหนึ่งแล้วค่ะ

เมื่อไม่นานมานี้ที่ร้านหนังสือเก่าริมสะพานอรุณอมรินทร์มี วารสารสยามสมาคมหลุดมาเป็นร้อยเล่ม ยอมแบ่งขายด้วย
เพื่อนฝรั่งร้องเฮ้ยแล้วเลือกไปสองเล่มด้วยความชำนาญ  ตีอกชกหัวด้วยความดีใจจ่ายไปเล่มละร้อยกว่าบาทเอง
ไอ้เราจะเข้าแย่งหรือก็กระไร

อันที่จริงในการหาหนังสือเก่านั้น  ไม่มีมิตรค่ะ   ใครมาก่อนก็ได้ไป

แต่จะมาดึงออกจากกองที่เลือกไว้แล้ว  ไม่ยอมค่ะ


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 19 มี.ค. 10, 06:35
หุ่น   ภรรยาแต่งงานของ ก.ศ.ร.


หุ่นเป็นลูกสาวของนายคง พระพี่เลี้ยงของเสด็จ   ตั้งบ้านเรือนอยู่ใต้วัดราชาธิวาศ(สมอราย)


เสด็จรับสั่งให้ หลวงแม่เจ้่า(แสง)เป็นเฒ่าแก่ไปสูขอ


ได้ทรงจัดการงานวิวาหมงคลแต่งงานขันหมากเมื่อจุลศักราช ๑๒๒๒(พ.ศ. ๒๔๐๓)ปีวอก  โทศก

มีเรือนหอฝากระดานสามห้อง  ปลูกในบริเวณบ้านบ้านพ่อตา

เจ้าสาวอายุ ๑๗   เจ้าบ่าวอายุ ๒๕


เสด็จประทานเงินกองทุน และสิน และผ้าไหว้

เงินกองทุนนั้นเข้าใจ
ผ้าไหว้ ก็เข้าใจได้เพราะทุกวันนี้ก็มีธรรมเนียมนี้อยู่
แต่  สิน  ในที่นี้   คืออะไร    สินสอดหรือ

เสด็จยังประทานการทำบุญแต่งงานขันหมาก   เงินประทานซื้อที่บ้านปลูกเรือนหอ
(แสดงว่าได้แบ่งซื้อที่จากพ่อตา มาปลูกเรือนหอ  จึงมีกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินนั้นสมบูรณ์)

ช่วยบ่าวทาสชายหญิงสามครัว(รายชื่อ ก.ศ.ร. บันทึกไว้ละเอียด   ขอผ่าน)

ประทานเครื่องแต่งเรือน เครื่องเรือน  เครื่องภาชนะต่าง ๆ   
ไม่ให้ใช้สอยของทางฝ่ายหญิงปนเป

ประทานเครื่องเพ็ชรพลอย  และของมีค่าอื่นๆและแพรผ้า(ก.ศ.ร.บรรยายไว้ยาวยืด)


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 19 มี.ค. 10, 06:56
มีเรื่องแสนน่ารักที่จะเล่าต่อไป   เป็นเรื่องภายในครอบครัวจริง ๆ


หลังจากอยู่กินกันแล้ว    เสด็จมีรับสั่งให้หลวงแม่เจ้า(แสง)  พาหุ่นไปเที่ยวถวายบังคม   จ้าวต่างกรมแผ่นดินเดียวกับพระองค์ท่าน

และพาไปไหว้ขุนนางซึ่งพระองค์ท่านได้ทรงรับไหว้บุตรหลานของท่านเหล่านี้ไว้ก่อนนั้นหลายแห่ง

ครั้งนั้นหุ่นได้เงินทองเป็นอันมากประมาณ ๒๐ ชั่งเศษ


เสด็จรับสั่งว่า ขาดทุน  ไปประมาณ ๕๐ ชั่ง เพราะท่านรับไว้เจ้านาย ขุนนางไว้แห่งละหลายบาทซำ้ๆซาก ๆ
หุ่นไปไหว้ที่ไหน  เขาก็รับไหว้หนเดียว


ท่านรับสั่งว่าท่านขาดทุนมาก  ท่านเข็ด  จะไม่รับไหว้ใครต่อไป


เรื่องที่เล่ามานี้   นายกุหลาบมีฐานะสูงเหมือนบุตรบุญธรรมอย่างแท้จริง
ก.ศ.ร. พิมพ์หนังสือออกมามากมาย   ทำหนังสือรายปักษ์รายเดือนอยู่สิบกว่าปี พิมพ์เรื่องที่ลงไว้แล้วเป็นเล่มมากต่อมาก

ก.ศ.ร. ไม่เคยเอ่ยอีกเลยนอกจากเรื่องที่มีคนอุ้มเฝ้าในครั้งแรก ว่าทรงเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรมเพื่อให้บวชเป็นพระราชกุศล
ชาววังนั้น  ไม่อ้างว่าเป็นญาติกับเจ้านาย  เพียงเล่าว่าเป็นญาติทางเจ้าจอมมารดาก็พอ


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 19 มี.ค. 10, 07:23
ลูกสาวคนแรกของ ก.ศ.ร. เสด็จประทานชื่อว่า  วอนวรวงศ์

บิดามารดา กระดาก จึงเรียกแต่ชื่อต้น



ก.ศ.ร. เล่าไว้ ๔ หน้ากระดาษ ขอย่อเพียงว่า  เสด็จประทานผ้าทรงมาทำกระโจม  
และ ใช้ผ้าย่ามของเสด็จอุปัชฌาย์ ที่พระสมุห์แบนค้นมาถวาย 
ทรงฉีก ฟั่นเป็นเกลียว  ให้ทารกเกิดใหม่คล้องคอเป็นมงคลป้องกันอันตราย

คุณเฒ่าแก่ เฟื่องจรกา(ครูลครหลวง) ถูกส่งมาทำขวัญเด็ก




สิบกว่าปีมาแล้วเมื่อดิฉันเริ่มอ่านหนังสือของก.ศ.ร.กุหลาบ  
แว่บแรกที่เห็นชื่อยาวสามสี่พยางค์ของลูกสาวก็ประหลาดใจแกมหมั่นไส้
ไม่ทราบว่าเป็นชื่อประทาน

อ่าน ๆ และ อ่าน ด้วยความสงสัย
ชีวิตของ ก.ศ.ร.นั้นลึกลับไม่กระจ่าง   หาอ่านยากมากที่สุดในเวลานี้





ชมรมนักอ่านหนังสือเก่าที่ดิฉันเป็นสมาชิกอยู่นั้น  ต้องการอ่านเพื่อเก็บข้อมูลในการพิมพ์หนังสือ
สกุลวงศ์ของขุนนางนั้น อ่านผ่าน  ถ้ายืดยาวมาตั้งแต่พระเจ้าอู่ทอง  ก็ข้ามไป
ถ้าเริ่มมาจากก่อนเสียกรุง  ก็อ่านกันรู้เรื่อง


ภาษาของก.ศ.ร.  ถ้าอ่านดัง ๆ  โดยข้ามวลีที่ซำ้กันออกไป   กระจ่างทีเดียวค่ะ
สหายที่ศึกษา ต้นไม้ของสกุลวงศ์นั้น  คุยกันกลับไปกลับมา 
คนนอกวงฟังแล้วรำคาญ

ดิฉันแรก ๆ ลำบากอยู่บ้าง  
เมื่อวางต้นฉบับไว้และพยายามจะถ่ายความออกมา  ปรากฎว่าจับประเด็นได้ไม่ขาด
ท่านเล่าไว้ถี่ยิบ   จิ้มพลาดไปบ้างก็ยังต่อความได้  อิอิ


ท่านที่ติดต่ออยากทราบเรื่องพระมหาเหรียญ เปรียญ ต่อนั้น
ในเวลานี้  ไม่ทราบเลยค่ะ




กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 19 มี.ค. 10, 08:53
ก.ศ.ร. เล่าว่า

"พระจ้าวลูกเธอ พระองค์เจ้ากินรี  ทรงพระปราโมทย์ยินดี  มีพระมหากรุณาธิคุณอดุลยดิเรกอะเนกานุประการ
ทรงรับทารกนั้นไว้แล้ว     ทรงพระกรุณาทำนุกบำรุงปลูกเลี้ยงไว้   เพื่อพระประสงค์จะได้บวชเปนภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา

ทรงรับนายกุหลาบทารกเลี้ยงไว้ตั้งแต่อายุ ๔ เดือนโดยเต็มพระไทย์(เหมือนบุตรบุญธรรม)"

ตรงนี้ไม่ตรงกับข้อมูลในหนังสือของคุณมนันยา

"พระองค์เจ้ากินรีได้ทรงขอนายกุหลาบไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมตั้งแต่อายุ ๔ ปี"

สี่เดือนหรือสี่ปี                   อย่างแรกนี้ดูอ่อนวัย
สีปีดีกว่าไซร้                    เดินพูดได้ไม่งอแง

เพื่อนเพื่อนเชื่อข้างไหน         ตอบมาได้ไม่เชือนแช
อย่างไหนใครถูกแน่            จริงแท้หนอขอขอบคุณ

 ;D

จากนิราศยี่สาร  ก.ศ.ร.กุหลาบแต่งเมื่อเดินทางพร้อมด้วยลูกสาวไปตากอากาศที่เขายี่สาร พ.ศ.๒๔๒๒   (พิมพ์ครั้งแรก ที่โรงพิมพ์ครูสมิธ (คงในหลังจากแต่งเสร็จไม่นาน)  ต่อมาอีก ๑๑๗ ปี (พ.ศ.๒๕๓๙) คุณอาจิณ  จันทรัมพร  ได้นำมาพิมพ์อีกครั้งหนึ่งในหนังสือ "สวนหนังสือ" ฉบับที่ ๒๒    ต่อจากนั้น  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ตลิ่งชัน ได้พิมพ์ออกเป็นเล่มจำหน่ายอีกครั้ง จำนวน  ๒๐๐๐ เล่ม เมื่อพฤศจิกายน ๒๕๔๓ ปัจจุบันยังสามารถหาซื้อมาอ่านได้) ตอนหนึ่งว่า

"อีกชนนีที่เลี้ยงฉันนนั้นเปนเจ้า         พระคุณเท่าเทียมเมรุสิงขร
ทรงชุบเลี้ยงเพียงบุตรในอุทร            แต่ยังอ่อนอายุศม์มีสี่เดือนตรา
จะหาใครในพื้นชมภูภพ                   จนทั่วจบแดนมนุษนี่สุดหา
ท่านชุบเลี้ยงเพียงบุตรบุณธรรมมา     ชื่อฉันปรากฏเสนาะเพราะพระคุณ
ทรงพระกรุณาข้าต่างๆ                    จะหาอย่างฝ่าพระบาทเหนขาดสูญ
ทรงชุบเกล้าข้าพเจ้าทั้งประยูร           อนุกูลแก่ฉันทุกวันมา
จะเกิดไหนขอให้รองลอองบาท         จนทุกชาติ์ภพใดให้เปนข้า
ถึงพลั้งผิดทรงคิดกรุณา                  ทรงเมตตาชุบเลี้ยงโดยเที่ยงธรรม์
ถึงเกียจคร้านไม่ได้พาลเอาโทษา      กรุณาเหมือนบุตรสุดกระสัน
กลับโปรดปรานได้ประทานของรางวัน   พระคุณอนันตยิ่งฟ้าสุธาธาร
จงเจริญพระชัณะษาสะถาผล            ครองมณฑลฝูงนาฎในราชถาน
ฝ่ายข้าบาทพึ่งราชเทวินทรนาน         ทั้งบุตรหลานข้าพระองคคงทรงเลี้ยง"

หมายเหตุ  คัดลอกอักขรวิธีเดิมตามต้นฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ และ ๓

เมื่อนายกุหลาบย้ำประวัติตนเองไว้หลายแห่งอย่างนี้โดยมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง  ไม่ว่าจะพิมพ์เผยแพร่กี่ครั้ง   ก็น่าจะเชื่อตามนายกุหลาบ

ประการหนึ่ง  เด็กอายุ ๔ ขวบ ยังติดแม่และพอเริ่มจดจำความได้มากแล้ว  เรื่องงอแงล่ะที่หนึ่ง   การจะพรากจากพ่อแม่ของเด็กให้ไปอยู่กับผู้ใหย่อีกคนหนึ่ง  คงต้องรอให้โตกว่านี้ เพื่อจะได้รู้ความมากขึ้น  จะได้สั่งสอนได้

ในขณะเดียวกันถ้าเอาไปอยู่ในวังตั้งแต่สี่เดือน  เด็กยังไม่รู้ความ ยังไม่ติดแม่มาก  เรื่องคนเลี้ยงก็ไม่ต้องห่วง  ในวังมีแม่นมเลี้ยงอยู่แยะ  อย่างนี้จะดีกว่าเอาเด็ก ๔ ขวบมาเลี้ยง ;D


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 มี.ค. 10, 09:09
จบเรื่องประวัติวัยเยาว์ ทีนี้มาเข้าตอนมีภรรยาและบุตร


ก.ศ.ร.กุหลาบเล่าไว้ในหนังสือตำราไหว้พระสวดมนตร์ที่พิมพ์แจกในการทำบุญวันเกิดอายุ ๘๐ ปีว่ามีภรรยา ๑๐ คน บุตรสาว ๒๐ คนและบุตรชาย ๑ คน

ในบทความของอาจารย์เครกก็บอกว่า ก.ศ.ร.กุหลาบมีภรรยา ๑๒ คน ที่ให้กำเนิดบุตรสาว ๑๗ คน และบุตรชาย ๑ คน  

ข้อมูลตรงกันเพียงจำนวนบุตรชาย ๑ คน

คุณวันดีและคุณหลวงเล็กมีความเห็นว่าอย่างไร

 ;)


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 19 มี.ค. 10, 09:14
ทำงานกับฝรั่ง
ห้างมิศกิง(มิสเตอร์ แต่ฝรั่งพูดเร็วลงลูกคอไป  ไทยฟังไม่ทัน) ตั้งอยู่หน้าพระราชวังเดิม
เป็นเสมียนรองพระปรีชาชาญสมุทร   บ้านอยู่หน้าวัดตองปุ
ต่อมามาทำงานที่ห้างมิศเตอร์ เปลก  ชาวอเมริกัน   เจ้าของโรงสีข้าวกลไฟ
ต่อไปคือห้างมิศเตอร์ปิกกินเปก  ชาวเยอรมัน
ห้างต่อมาคือ โรงสีไฟของ มิศเตอร์เอ มาก วอลแอนด์กำปะนีชาวเยอรมัน
ทั้งสี่แห่งนี้เริ่มเงินเดือนจาก ๒๖ บาท  มา  ๓๐,  ๔๐,  ๖๐,  ๑๐๐,  ๑๒๐  และ  ๑๕๐ บาท
รวยอึ่ดทึด     ถ้าไม่ไปพิมพ์หนังสือจนหมดสตังค์เสีย
ที่ก.ศ.ร. ทำงานอยู่นานที่สุดคือ ห้างวิลด์เซอร์เรศลิกแอนด์กำปะนี     อยู่ที่นี่ ๑๕ ปี
มีรายละเอียด  ๘ หน้า  แต่ขอเก็บไว้เขียนหนังสือเล่มบ้าง  อิอิ

จากนิราศยี่สาร

"ฉันตั้งบ้านอยู่กับบุตรภรรยา          แขวงกรุงเทพมหานครไทย
ระยะบ้านย่านสามเสนที่สถิตย์        กับมิ่งมิศบุตรีที่รักใคร่
แล้วฉันไปรับจ้างห้างสีไฟ             แต่พวกไทยออกอ้างห้างสี่ตา
แต่คนนอกเรียกชื่อมิศริศลิก           ไม่หยุกหยิกจู้จี้ดีหนักหนา
ตั้งให้ฉันเป็นเสมียนเขียนสารา        ซื้อสินค้าเข้าของที่ต้องใจ
สรรพกิจการงานท่านไว้วาง            ฉันทุกอย่างดูแลช่วยแก้ไข
เงินเดือนมีร้อยห้าสิบบาทไทย        ฉันก็ได้กินมาสิบห้าปี
จนบันดาชาวสยามก็แส้ทราบ         ชื่อกุหลาบคนในกรุงศรี
ไปรับจ้างเป็นเสมียนเขียนบาญชีย์    เงินเดือนมีในฝรั่งห้างสี่ตา
ครั้นการห้างอยุดยั้งสิ้นทั้งปวง         ก็สิ้นห่วงคราวนี้ดีหนักหนา
โรงสีไฟกลไฟก็รอรา                     จวนเวลานี้ก็ว่างไม่กังวล"

 :)


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 19 มี.ค. 10, 09:32
อาจารน์เครคท่านแม่นกว่าเพื่อนเพราะท่านมีหนังสือ ก.ศ.ร. ที่ไม่มีใครเห็นหลายเล่ม

ฝรั่งแบบนี้เราเรียกกันว่า ชาติก่อนเป็นคนไทย  กรรมจำพรากไปเกิดแผ่นดินอื่น

การคลาดเคลื่อนอาจจะเป็นการนับ



บาญชีที่ดิฉันมีว่า

ภรรยาแต่งงาน ๑

อนุภรรยา  ๑๑

ภรรยามีบุตรด้วยกัน  ๘

ไม่มีบุตรนั้น  ๔  คน

รวมภรรยา ๑๒ คน      รวมบุตร ๑๖ คน

บุตรหญิง  ๑๔ คน     บุตรชาย ๑  คน   ตกโลหิต ๑

รวมทั้งสิ้น  ๑๖  คน


(สำหรับมิตรเช่นคุณเพ็ญชมพู และ คุณหลวง   ดิฉันกระซิบว่า  นายวรรณ มีภรรยาก่อนบวช ด้วยละ  ท่านเล่าเองง่ะ)


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 19 มี.ค. 10, 10:17
ลูก

พ่วง  ลูก คุณข้าหลวงพุ่ม(ตาเหล่)    ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังเด็ก


ลูกสาวไม่มีชื่อ    แม่คือหม่อมหลวงปริก


แม่วอน  ลูกหุ่น
ตายเมื่ออายุ ๒๙  ไม่มีสามี


แม่พงษ์วรวรรณ  ลูกหุ่น
บิดาไม่ชอบชื่อยาวตัดเหลือแค่ วรรณ
เรื่องราวสามีและลูกมี  ลงไม่ไหวยาวค่ะ

แม่ลูกอินทน์     ลูกหุ่น


แม่อิน  ลูกแม่เอม(มีสามี  มีลูก ๖ คน)


แม่ลูกจันทน์  ลูกหุ่น(มีสามี  มีลูก ๕ คน) ประวัติยาวเหยียดไว้เขียนหนังสือเล่มค่ะ


แม่ทับทิม  ลูกพลอย  
ทับทิมตายเมื่ออายุ ๓ หรือ ๔ ขวบ


แม่ลิ้นจี่  ลูกหุ่น
ตายอายุ ๒๖    ไม่มีสามี


บุตรหญิงไม่มีชื่อ    แม่ชื่อจีน


แม่ลำใย  ลูกหุ่น(ประวัติครอบครัวยาวเหมือนกัน)

แม่ตลับ  ลูกหุ่น   แต่งงานมีลูกสาว ๑ คน


พ่อชาย  ลูกหุ่น (เก็บไว้เล่าวันหลัง)


แม่เพิ่ม   แม่ชื่ออ้น


ลูกสาวคนสำคัญที่คนรู้จักทั้งเมือง คือ สายสร้อย         ลูกคนสุดท้อง ของ หุ่น
ช่วยพ่อทำหนังสือ เก็บสตางค์  ทำบัญชี
เรียกกันว่า  สายสร้อย  แมนาเยอร์
มีสมาชิกที่เป็นเจ้านายเขียนมากระเซ้าหลายครั้ง


บุตรตกโลหิต   ไม่เป็นหญิงหรือชาย    แม่เป็นญาติของกุหลาบ


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 19 มี.ค. 10, 10:41
การจดบัญชีลูก ๆ ของ ก.ศ.ร. นั้น     



ลูกภรรยาแต่ง  หรือว่า เมียหลวงนั้น 
จดละเอียดเวลาตกฝาก ขึ้นแรม

ย่ำรุ่ง หรือว่า ย่ำค่ำ
สามโมงเช้าสองนาทียังจดไว้
ย่ำรุ่งแล้วกับอีก ๓๐ นาทียังจดได้

แต่งงานไปกับใคร   หลานใคร  ผัวได้เลื่อนเป็นอะไร   ลูกคือหลานตามีกี่คน  ชื่ออะไรบ้าง



ลูกอนุภรรยา  แทบไม่มีรายละเอียด
แสดงว่าไม่ได้อยู่บ้านเดียวกัน


ฮึ!



กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 มี.ค. 10, 11:02
นับภรรยาที่มีบุตรได้ ๘ คน - พุ่ม ปริก หุ่น เอม พลอย จีน อ้น นิรนาม (ญาติกุหลาบ)

บุตรสาว ๑๕ คน   - พ่วง วอน วรรณ ลูกอินทน์ อิน ลูกจันทน์ ทับทิม ลิ้นจี่ ลำไย ตลับ เพิ่ม สายสร้อย นิรนาม ๓ คน

บุตรชาย ๑ คน - ชาย

ในหนังสือของคุณมนันยา พูดถึงภรรยาของ ก.ศ.ร.กุหลาบอีกคนหนึ่งชื่อ เปรม มีบุตรหญิงด้วยกัน ๒ คน - ทวิ รัตน์


ข้อมูลของคุณมนันยาไม่ตรงกับ ก.ศ.ร.กุหลาบ อีกแล้ว


แม่วอน  ลูกหุ่น
ตายเมื่ออายุ ๒๙  ไม่มีสามี

แม่พงษ์วรวรรณ  ลูกหุ่น
บิดาไม่ชอบชื่อยาวตัดเหลือแค่ วรรณ
เรื่องราวสามีและลูกมี  ลงไม่ไหวยาวค่ะ

แม่ลูกอินทน์  ลูกหุ่น

แม่ลูกจันทน์  ลูกหุ่น(มีสามี  มีลูก ๕ คน) ประวัติยาวเหยียดไว้เขียนหนังสือเล่มค่ะ

แม่ลิ้นจี่  ลูกหุ่น
ตายอายุ ๒๖    ไม่มีสามี

แม่ลำใย  ลูกหุ่น(ประวัติครอบครัวยาวเหมือนกัน)

แม่ตลับ  ลูกหุ่น   แต่งงานมีลูกสาว ๑ คน

พ่อชาย  ลูกหุ่น (เก็บไว้เล่าวันหลัง)

ลูกสาวคนสำคัญที่คนรู้จักทั้งเมือง คือ สายสร้อย   ลูกคนสุดท้ายของ หุ่น
ช่วยพ่อทำหนังสือ เก็บสตางค์  ทำบัญชี
เรียกกันว่า  สายสร้อย  แมนาเยอร์
มีสมาชิกที่เป็นเจ้านายเขียนมากระเซ้าหลายครั้ง

ข้อมูลของคุณมนันยา ลูกหุ่นทั้ง ๙ คน

๑. วอน (ญ.) แต่งงานกับหลวงสมรรัตน์สิริเชษฐ์ (พักตร์ ทรัพยสาร) มีบุตรชื่อ ใหญ่ (ช.)

๒. วรรณ (ญ.) อยู่เป็นโสด

๓. ลูกอินทร์ (ญ.) อยู่เป็นโสด

๔. ลูกจันทน์ (ญ.) แต่งงานกับพระศรีสุรเดช (แช่ม ทรัพยสาร) มีบุตรชื่อ ๑. เชื้อ (ช.) ๒. ชิต (ช.) ๓. ชวน (ช.) (หลวงบริบาลนิคมเขต)

๕. ลิ้นจี่ (ญ.) อยู่เป็นโสด

๖. ลำไย (ญ.) แต่งงานกับหลวงสมรรัตน์สิริเชษฐ์ (พักตร์ ทรัพยสาร) มีบุตรชื่อ ๑. เพ่ง (ช.) ๒. เยี่ยม (ญ.) ๓. เพี้ยน (ช.) ๔. ยิ่ง (ญ.)

๗. ตลับ (ญ.) แต่งงานกับนายถมยา รถกิจ มีบุตรชื่อ ๑. ตรุณ (ญ.) ๒. ถวิล (ญ.)

๘. ชาย (ช.) แต่งงานกันนางสาวสว่าง จรุงศรี มีบุตรชื่อ ๑. นัดดา (ช.) (หลวงอภิบาลบุริมศักดิ์) ๒. อุดม (ช.) ๓. ประชุม (ช.) ๔. มานิตย์ (ญ.) ๕.อนงค์ (ญ.) ๖. โฉมศรี (ญ.)

๙. สายสร้อย (ญ.) แต่งงานกับนายสนิท ธนะประดิษฐ์มีบุตรชื่อ เสวก

วอนคุณวันดีช่วยวิสัชนาที

 ???


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 19 มี.ค. 10, 11:20
โธ่ คุณเพ็ญ

ข้อมูลบางส่วนเรื่องครอบครัวนั้น   ก.ศ.ร. เขียนไว้ตั้งนานก่อนเท่งทึง

ก็มีพัฒนาการไปบ้าง



ครอบครัวนายวรรณน่าสงสารมากกว่านี้มาก


ว่าแต่ว่าแถวที่คุณเพ็ญอยู่  มีใครมี สยามประเภทเล่ม ๕  ขึ้นไปบ้างไหมคะ


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 มี.ค. 10, 12:03
จากสยามประเภท เล่ม ๓ (รวมเล่ม)  หน้า ๑๔๕๕

"ก.ศ.ร.บิดา  ก.ห. สายสร้อยแมนะเยอร์(บุตร) หรือนาย ก.ห.(บุตร)ผู้ช่วย    เป็นผู้ลงทุนทรัพย์สมบัติก่อร่างสร้างสยามประเภท  ไม่ได้มีผู้ใดจะได้เข้าหุ้นส่วนบริษัทกอมปะนีด้วยเงินทองแลตำรา  หรือปรึกษาหารือแต่สักอย่างเดียวหามิได้เลย....................................

(เซ็น)  ก.ศ.ร. กุหลาบ เอดิเตอร์สยามประเภท เป็นผู้รับผิดชอบแต่ผู้เดียว  ตามพระราชบัญญัติลักษณะหมิ่นประมาท   
แต่บุตรทั้งสองไม่ได้เกี่ยวในการรับผิดชอบด้วย  เป็นแต่ผู้ช่วยจะรับมรดกเท่านั้น"

ก.ศ.ร.  มาจาก เกสโร

แล้ว ก.ห. นี่มาจากไหนหนอ

 ???



กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 19 มี.ค. 10, 12:26
กุหลาบ  ค่ะ

ในต้นฉบับหายากบางเล่ม  พิมพ์ว่า  กุลาบ  เฉยเลย   อิอิอิ


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 19 มี.ค. 10, 14:56
ก.ศ.ร. ชอบพิมพ์หนังสือในโอกาสต่าง ๆ



ระหว่างที่พิมพ์สยามประเภทอยู่ สิบปี   ก็พิมพ์สยามประเภทพิเศษอีกทุกปี  และบางปีมากกว่า ๑ เล่ม

เล่าลือกันอื้ออึงว่า นักเขียนคนใด หรือนักสะสมคนใด  อาฮ้า แถมนักวิชาการระดับสูงสุดด้วย   เห็นกันมากี่เล่ม

นักอ่านหนังสือโบราณและสมาชิกสามชมรม(กำลังภายใน, สามเกลอ  และหนังสือเก่า(ชมรมเล็กๆ))   ก็อยากอ่าน สยามประเภทกันทั้งนั้น

เมื่อไม่นานมานี้  มีสุภาพบุรุษท่านหนึ่ง  มีสยามประเภท ๑ เล่มอยู่ในครอบครอง  ประกาศขาย
อนิจจา  ปก ที่ทำใหม่  เขียนไว้เลขตัวหนึ่ง    ตัวเล่มเป็นอีกเล่มหนึ่ง

เจ้าของที่นำไปทำปก หรือช่างทำปก  ชุ่ย  เพราะตัวเลขไทยนั้นเมื่อเดินทองฝีมือหยาบ  ตัวเลข ๔  ก็ คล้ายคลึงกับ เลข ๕

นักสะสมหนังสือเก่าหวิดต่อสู้กันหลายคู่เพื่อแย่งหนังสือค่ะ



กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 มี.ค. 10, 15:11
อ้างถึง
๑. วอน (ญ.) แต่งงานกับหลวงสมรรัตน์สิริเชษฐ์ (พักตร์ ทรัพยสาร) มีบุตรชื่อ ใหญ่ (ช.)

๖. ลำไย (ญ.) แต่งงานกับหลวงสมรรัตน์สิริเชษฐ์ (พักตร์ ทรัพยสาร) มีบุตรชื่อ ๑. เพ่ง (ช.) ๒. เยี่ยม (ญ.) ๓. เพี้ยน (ช.) ๔. ยิ่ง (ญ.)

หมายความว่า  พี่น้อง   น.ส.วอนกับน.ส.ลำไย  เป็นภรรยาของผู้ชายคนเดียวกัน?


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 มี.ค. 10, 15:37
หมายความว่า  พี่น้อง   น.ส.วอนกับน.ส.ลำไย  เป็นภรรยาของผู้ชายคนเดียวกัน?

คุณมนันยาเธอยืนยันไว้ในหนังสือว่า บ้านของนายกุหลาบอยู่ติดกับนางจั่นลูกสาวนางทรัพย์ (ต้นตระกูลทรัพยสาร) ซึ่งเป็นคหบดีมีอาชีพทำสวน  ต่อมาลูกสาว ๓ คนของนายกุหลาบได้แต่งงานไปกับลูกชาย ๒ คนของนางจั่นและนายทองคำ ทรัพยสาร

ก.ศ.ร.กุหลาบว่าแม่วอนตายเมื่ออายุ ๒๙ ไม่มีสามี ส่วนแม่วรรณ คุณวันดีว่าเรื่องราวสามีและลูกมี  ลงไม่ไหวยาวค่ะ

อ่านแล้วข้อมูลสลับกันกับของคุณมนันยา

เห็นทีต้องเชิญคุณวันดีมาชี้แจงอีกที

 ;D


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 19 มี.ค. 10, 16:13
วอน เป็นลูกคนแรกนะคะ

เมื่ออยู่ในท้อง  เสด็จประทานเงินเลี้ยงท้อง เดือนละ ๑๐ บาท

คลอดเมื่อวันจันทร เดิอน ห้า  แรมสิบสามค่ำ  ปีระกา  ตรีศก  จุลศักราช ๑๒๒๓  คือ พ.ศ. ๒๔๐๔
เวลายำ่รุ่งแล้วกับ ๓๐ นาที


เสด็จรับสั่งให้นางข้าหลวงของท่าน  ออกมาเฝ้าไฟหุ่น ๓ คน
อีกสองคนนั้นจะได้ให้ผลัดเปลี่ยนกันเดินอาการ(ภาษาเก่านะคะ)ไปกราบทูลท่านจนออกไฟ

ขณะที่หุ่นคลอดออกมานั้น  ประทานเงินออกมา สำหรับเลี้ยงหมอและพยาบาลด้วย  กว่าจะออกไฟเป็นเงินถึง ๑ ชั่ง

ประทานผ้าทรง  เล่าแล้ว
หาผ้าสะบงพระอุปัชฌาย์ เล่าแล้ว

ยังมีรายละเอียดในความเมตตาของเสด็จที่มีต่อครอบครัวนี้


ข้อมูลเรื่อง วอน  ก.ศ.ร. ไม่น่าสับสน



กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 19 มี.ค. 10, 16:22
(หน้า ๓๕)  ภายหลังเสด็จทรงปรารภว่า
มีพระประสงค์ให้นายกุหลาบเล่าเรียนพระปริยัติธรรม  คัมภีร์พระไตรปิฎก   ให้เชี่ยวชาญชำนาญพิเศษ
เมื่อถึงปีมีอายุจะได้อุปสมบทกรรมเมื่อใด    จะได้เข้าไล่เป็นมหาเปรียญ  จะได้มีชื่อเสียงปรากฎว่า  
เป็นพระมหาเปรียญของพระองค์ที่ทรงเลี้ยงมา  จนได้เป็นเปรียญในพระพุทธศาสนา
โดยพระประสงค์ของท่านนั้น  จะให้นายกุหลาบเป็นเปรียญ  เหมือนเช่น พระมหาเหรียญ เปรียญ วัดอรุณราชวราราม
ผู้เป็นพระของ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระเชษฐภคินีของพระองค์เจ้ากินรี
(การคาดคะเน((ของก.ศ.ร.)) ดูเหมือนว่า  ที่เสด็จทรงปรารภนั้น   จะเป็นการแข่งขันให้เป็นคู่ กับ พระมหาเหรียญ  ของกรมหมื่นอัปสราุดาเทพนั้นบ้าง
พระมหาเหรียญนั้น  ภายหลังสึกออกมาได้เป็นหลวงโกษา)
หมดความแต่เพียงนี้ค่ะ

ประวัติมหาเหรียญ พระในอุปถัมภ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ  (ค้นหาพลิกแผ่นดินจนพบ)

พระราชธนพิทักษ์ (เหรียน) พนักงานบาญชีกลาง  กรมพระคลังมหาสมบัติ  บุตรจีนแชแซ่ตังชาวเมืองเซียงไฮ้  เดิมเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ  ถวายตัวอยู่ในพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ   แต่อายุได้ ๑๐ ปี  ครั้นพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ สิ้นพระชนม์แล้ว ได้มาอยู่ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัศวัฒนาวดี  ครั้นอายุได้ ๑๓ ปี โปรดเกล้าฯ ให้บวชเป็นสามเณร ศึกษาปริยัติธรรมต่อพระธรรมไตรโลกย์ (รอด) วัดโมฬีโลกย์   ครั้นอายุครบอุปสมบท ได้อุปสมบทเป้นพระภิกษุอยู่ที่วัดโมฬีโลกย์นั้น  เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เข้าสอบไล่พระปริยัติธรรมได้ เป็นเปรียญ ๔ ประโยค  ได้รับพระราชทานนิตยภัตร เดือนละ ๖ บาท  ครั้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้ลาสิกขาออกมารับราชการในกรมพระอาลักษณ์   ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ขุนสุวรรณ์อักษร  ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัด ปีละ ๑ ชั่ง  ครั้นมาถึงแผ่นดินรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ที่หลวงโกษากรวิจารณ์  ผู้ช่วยราชการในกรมพระคลังมหาสมบัติ  ได้รับพระราชทานเงินเดือนเดือนละ ๑๐ ตำลึง   ต่อมาได้พระราชทานเงินเดือนเพิ่มอีก ๑ ชั่ง เป็นเดือนละ ๑ ชั่ง ๑๐ ตำลึง   ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรร์ ช้างเผือกชั้นที่ ๕ (ทิพยาภรณ์)  ถึงปีกุนนพศก ๑๒๔๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่พระราชธนพิทักษ์  พนักงานบาญชีกลาง  ในกรมพระมหาสมบัติ  ได้รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๒ ชั่ง ตลอดมาจนถึงวันเสาร์ เดือน ๔ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีชวด สัมฤทธิศก ๑๒๕๐ ป่วยเป็นโรคบิด  พระยาประเสริฐสาตรธำรงได้รักษาอาการทรงอยู่  รับประทานอาหารไม่ค่อยได้  วันพุธ เดือน ๔ แรม ๑๒ ค่ำ อาการทรุดหนักลง  ได้ตามพระสิทธิสารมารักษาประกอบยาให้รับประทาน อาการไม่คลาย  วันที่ ๖ เมษายน ร.ศ. ๑๐๘ เวลาเช้า หอบแลสะอึก  เวลายามเศษ  พระราชธนพิทักษ์ (เหรียน) ถึงแก่กรรม อายุได้ ๕๕ ปี พระราชทานน้ำชำระศพ หีบทองทึบ เป็นเกียรติยศ

 8) ;D


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 19 มี.ค. 10, 16:37
ดิฉันมีหนังสือแทบทุกเล่มที่เขียนถึง ก.ศ.ร. กุหลาบ และ นายวรรณ

อ่านมาด้วยความเคารพ  มิได้คิดจะเปรียบเทียบกับท่านผู้ใด

เพราะอยากจะพูดถึงหนังสือสำคัญอีกมาก  ที่กำลังจะสูญกับกาลเวลา
ที่ ก.ศ.ร. พิมพ์มากกว่า

ดิฉันอ่านตั้งแต่ สวนหนังสือ
หนังสือชุดพระเกียรติคุณสมเด็จพระสังฆราช เล่มที่มีตาลปัตร และเล่มสีเทา
มี หนังสือการสอบสวนนายกุหลาบ  ที่นายกุหลาบ "จ๋อง"
หนังสือของชัยอนันต์  สมุทวณิช
หนังสืองานนิทรรศการของคุณ อ้วน ธงชัย ที่แสดงว่า ก.ศ.ร. มีหนังสือมาก่อนมากมายมหาศาล
อภินิหารบรรพบุรุษ  ที่ใครเผลอไปพิมพ์เข้าเพราะความรีบร้อน
อายาติวัฒน์

และอีกมากมายที่เป็นที่ทราบกันดีอยู่

ประวัติศาสตร์บางตอนที่ค้นพบหลักฐานใหม่ ๆ เป็นภาษาโบราณในต่างประเทศ  ผู้เชี่ยวชาญก็กำลังจะนำมาเขียนเป็นทฤษฎีใหม่

ดิฉันก็เพียงจะวิ่งตามไป ด้วยกระเป๋าเสื่อ และกองเกวียนของดิฉัน

ข้อมูลที่นำมาคุยกันในยามที่อากาศร้อนระอุ    ก็คงนำมาแบ่งปันได้เพียงนี้

เพื่อแสดงข้อมูลอีกด้่านหนึ่งของ ก.ศ.ร.  ที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 19 มี.ค. 10, 16:43
โอ้โฮ  คุณหลวง  คุณหลวง  อยู่กระทรวงสืบราชการลับฤานี่

ขออนุญาต จารึกข้อมูล ไว้  ว่ามาจาก เรือนไทย  คุณหลวงเขียน

หวังว่าคงมีโอกาสได้ ตอบแทนความกรุณา ในทำนองเดียวกันในไม่ช้า


     ไปเดินตีรวนร้านหนังสือเก่ากันนะคะ  ในงานหนังสือ


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: hobo ที่ 20 มี.ค. 10, 05:05
ขัดใจกระทู้นี้มากครับ
ไม่ทราบว่าเคยผ่านตากันบ้างหรือเปล่า

หนังสือหอหลวง
http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=rattanakosin225&month=15-03-2007&group=2&gblog=2

ผมป็นนักวิชาการที่คนๆนี้ทำผิดจรรยาบรรณชนิดี่ให้อภัยไม่ได้
ไม่เชื่อสมเด็จกรมพระยาระดำรง ก็่น่าจะเชื่อร. 5 กันบ้าง


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 20 มี.ค. 10, 07:24
อ้าว!  ลืมไปว่าตอนนี้โรงเรียนหยุด



มัวปลาบปลื้ม ข้อมูลเรื่องมหาเหรียญ  ว่ามีจริง
ไม่เคยเห็นการค้นที่ว่องไว ถึงปานนี้

ขอความกรุณาให้คุณหลวงตัดตอนไปพิมพ์ใน ศิลปวัฒนธรรม เพื่อเป็นหลักฐานไว้ก่อน
เขียนเพียง ๔ หน้ากระดาษหรือน้อยกว่านั้นก็ไหว เพราะเดี๋ยวนี้ก็เห็นมีบทความสั้น ๆบ้างเหมือนกัน
เขียนยาวมากก็ต้องรอคิวพิมพ์


รายละเอียดเกี่ยวกับการบวชที่ได้เล่ามาก็ไม่มีมากกว่านั้นอีกแล้ว




ขอแนะนำหนังสือ ของ ก.ศ.ร. สำหรับผู้ที่ไม่เคยอ่านงานของก.ศ.ร. มาก่อน


ก.ศ.ร. ได้ทูลเกล้าถวาย อภินิหารบรรพบุรุษต่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. ๒๔๒๕ ในงาน นาเชนแนลเอกซฮิบิช่อน   

พิมพ์  บางส่วนของอภินิหารบรรพบุรุษ มาตั้งแต่ ๒๔๔๑ ในสยามประเภท

ก่อนที่จะมามีการพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพของหม่อมเจ้าปิยนารถ สุประดิษฐ  ในปี ๒๔๗๓

รายละเอียด อ่านได้จาก  บุญเตือน  ศรีวรพจน์  กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร เขียนเป็นคำชี้แจง ไว้ใน
ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ  อภินิหารบรรพบุรุษ และ ปฐมวงศ์  พิมพ์ครั้งแรก  เมษายน  ๒๕๔๕   

คุณบุญเตือน ชำระต้นฉบับ


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 20 มี.ค. 10, 07:47
กลับมาที่ชีวิตของ ก.ศ.ร. ต่อนะคะ



ก.ศ.ร. ทำงานอยู่กับ วิลเซอร์เรศลิกแอนด์กำปะนี  เฉพาะที่นี้  ๑๕ ปีค่ะ 
คิดเป็นเวลาที่ทำงานกับบริษัทฝรั่ง รวม   ๒๘ ปีเศษ
   

ตอนแรกเป็น เมนิเยอร์ ในการก่อสร้างโรงสีข้าวกลไฟ  ทำอยู่ สามปีเศษ
ได้รับเงินเดือน  ๑๕๐ เหรียญ(คิดเป็นเงินไทย สามชั่งเศษ)

เมื่อโรงสีเปิดทำการแล้ว ก.ศ.ร. ก็เป็นเสมียน  เงินเดือน เท่าเดิม

เสมียนเอก คือ มิศเตอร์ ฟิลิเมนโนยิศซุศ    เงินเดือน ๕​ ชั่ง ๗๕ บาท

เสมียนเอกฝ่ายจีน  กิมเฮง  เงินเดือน ๒ ชั่ง ๑๐ ตำลึง

นายกุหลายเสมียนเอกฝ่ายไทย  เงินเดือน  ๓ ชั่ง ๑๑ บาท


ก.ศ.ร. เล่าว่า ใคร ๆ ก็เรียกว่า "เสมียนกุหลาบฟันขาวห้างสี่ตา"



กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 มี.ค. 10, 10:46
ขัดใจกระทู้นี้มากครับ
ไม่ทราบว่าเคยผ่านตากันบ้างหรือเปล่า

หนังสือหอหลวง
http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=rattanakosin225&month=15-03-2007&group=2&gblog=2

ผมป็นนักวิชาการที่คนๆนี้ทำผิดจรรยาบรรณชนิดี่ให้อภัยไม่ได้
ไม่เชื่อสมเด็จกรมพระยาระดำรง ก็่น่าจะเชื่อร. 5 กันบ้าง


Craig J. Reynolds นักประวัติศาสตร์ไทย ชาวอเมริกัน ได้วิจารณ์ ก.ศ.ร.กุหลาบ ไว้ว่า

"การที่จะมองข้าม ก.ศ.ร.กุหลาบไปโดยพิจารณาแต่เพียงว่าเขาเป็นนักกุ และนักปลอมแปลงนั้นจะเป็นการมองข้ามประวัติศาสตร์ไทยปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ต่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ไปอย่างน่าเสียดาย เนื่องจากงานของ ก.ศ.ร. กุหลาบ ยังมีอะไรน่าสนใจอีกหลายประการ และก่อให้เกิดสีสันแก่วงสังคมของชาวสยามในช่วงเวลาที่เขามีชีวิตอยู่อย่างมาก อาทิเช่น ในด้านของการเป็นนักหนังสือพิมพ์ เขาได้บุกเบิกและขัดเกลาเทคนิคการพิมพ์หนังสือพิมพ์และใช้ความเป็นสื่อมวลชนของเขานั้น พาตนไปสู่ความมีชื่อเสียงโด่งดังทั่วประเทศ"

สิริ ประชาลักษณ์ ให้ความเห็นไว้ในเรื่อง "ก.ศ.ร.กุหลาบ : ผู้ดิ้นรนเพื่ออารยธรรมเยี่ยงโลก" ในหนังสือ "หลังเทวาลัย" ของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๑๘ ว่า

"เป็นเรื่องประหลาดและน่าเศร้าที่รัฐบาลสยามทำตัวเป็นปฏิปักษ์คอยจองล้างจองผลาญบุคคลผู้ใฝ่ความรู้ท่านนี้ ในทำเนียบ "รายนามหนังสือพิมพ์ข่าวซึ่งออกเป็นระยะในประเทศสยาม" ซึ่งตีพิมพ์ออกมาเมื่อวันที่  ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๔ ไม่ปรากฏว่ามีนาม "สยามประเภท" อยู่เลย!  รัฐบาลสยามปฏิเสธหนังสือทุกเล่มของท่าน ก.ศ.ร.กุหลาบ กล่าวว่าไม่ใช่ "หนังสือ" (ทำนองเดียวกับงานเขียน ๒ เล่มของแหม่มแอนนา ซึ่งรัฐบาลสยามใช้ความพยายามทุกวิถีทางขัดขวางมิให้มีการจัดพิมพ์ขึ้น) หนังสือของท่านจึงหาอ่านได้ยากจนทุกวันนี้ เพราะมันถูกนำไปใส่หีบลั่นกุญแจ และติดป้าย "ทรงอายัด" ห้ามประชาชนอ่าน!!  เมื่อมีผู้ไปขอค้นคว้า สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชนุภาพ องค์สภานายกหอพระสมุด ทรงให้พิมพ์หนังสือว่าด้วยเรื่อง "จดหมายเหตุเรื่องไต่สวนนายกุหลาบ" ออกมาเผยแพร่แทน ภาพของท่าน ก.ศ.ร.กุหลาบจึงเลอะเลือนไป และมีอยู่ ๒ ทางสำหรับอนุชนรุ่นต่อมา นั่นคือทางแรกไม่ทราบและไม่รู้จักว่าท่าน ก.ศ.ร.กุหลาบ เป็นใคร แม้แต่ชื่อก็ไม่เคยได้ยิน หรือมิฉะนั้น,ในทางที่สอง ถ้าจะรู้จักก็รู้จักในฐานะที่ท่านเป็นนัก "กุ" ผู้มีสติไม่สมบูรณ์นัก"

 :-X



กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 มี.ค. 10, 11:32
บทบาทของนายกุหลาบ ควรมองเป็น ๒ ทาง  เพราะมีทั้งทางบวกและลบ
๑   ในฐานะผู้บิดเบือนหลักฐานทางประวัติศาสตร์    ตามที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงชี้แจงที่มาที่ไปไว้ชัดเจน   เป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้
ไม่ว่าจะมีเหตุผลน่าเห็นใจยังไง   ผลงานด้านนี้ของนายกุหลาบก่อความเสียหายแก่การศึกษาประวัติศาสตร์ได้
ถ้าจะมาอ้างว่าการเขียนประวัติศาสตร์คือการเขียนนิยายกันทั้งนั้น อย่างที่นักวิชาการบางคนชอบอ้าง  ก็ขอให้ดูเจตนาเป็นหลัก ว่าตั้งใจโกหกหรือไม่

๒   ในฐานะปัญญาชน ผู้สร้างสรรค์ความรู้ ความคิดอ่านหลายอย่างไว้ให้คนรุ่นหลัง   ข้อนี้เป็นส่วนดีของนายกุหลาบที่ควรนำมาศึกษา อย่างที่คุณวันดีและสมาชิกท่านอื่นๆในกระทู้นี้ทำอยู่

ไม่เห็นด้วยกับฝรั่งข้างบนนี้   แกมองข้ามข้อเท็จจริงของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯไป  แล้วเทคะแนนไปทางบวกด้านเดียว  
ส่วนหนังสือที่ถูกประทับตราต้องห้าม ก็ด้วยเหตุผลในข้อ ๑  หาใช่ด้วยว่าสมเด็จกรมพระยาฯ ทรงมีเรื่องไม่ถูกชะตากับนายกุหลาบเป็นส่วนตัว   ข้อนี้ต้องพิจารณาแยกแยะให้ออก
ถ้าจะแย้งเพื่อสนับสนุนนายกุหลาบ  ก็ต้องเอางานทั้งหมดมาอ่านให้ละเอียด ว่าตรงไหนเจ้าตัวอ้างอิงหรือคัดลอกจากประวัติศาสตร์จริง   ตรงไหนใส่เองเข้าไปเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับได้ว่าไปคัดลอก  แล้วค่อยประเมินคุณค่าของนายกุหลาบ
เท่าที่อ่านมาก็ยังไม่เห็นใครจับงานทั้งหมดของนายกุหลาบมาอ่านและวิเคราะห์ได้ถึงขั้นนั้นเลยค่ะ  ถ้ามี คุณเพ็ญชมพูช่วยหามาแนะนำกันด้วย  จะได้ไปตามอ่าน


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 20 มี.ค. 10, 12:53
หนังสือพระราชประวัติพระเจ้าตาก (สิน) 

พิมพ์ ร.ศ. ๑๒๘(พ.ศ. ๒๔๕๓)

หนา ๘๘ หน้า  ปกแข็งสีแดงเป็นลายน้ำ  เวลาจะอ่านปกต้องส่องด้วยไฟฉายเพราะลายน้ำ หลอกสายตา



ก.ศ.ร. อ้างหลักฐาน

๑.   ตำราโบราณ  จานเป็นอักษรสยามแต่ครั้งกรุงเก่าโบราณ ในใบลานสั้น ๆ เท่าคัมภีร์สวดมนต์

๒.  ตำราสมุดข่อยขาวชุบตัวอักษรหมึก  ของ พระยาพจนพิมณฑ์(วันรัตทองอยู่)
     แต่ยังเป็นพระมหาเปรียญเอก ๙ ประโยค
     อยู่วัดประดู่โรงธรรมฝั่งตะวันออกนอกกำแพงกรุงเก่า
     แล้วท่านมาเป็นพระวันรัตพระราชาคณะเจ้าอาวาสวัดบางหญ้าใหญ่(วัดระฆัง)

๓.  ตำราสมุดไทยข่อยดำ  ชุบตัวอักษรรงเส้นเหลือง  ของเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช(บุญรอด)
     จางวางกรมวังในรัชกาลที่ ๑  กรุงเทพฯ  แต่ยังเป็นขุนราชฤทธานนท์ในกรุงเก่า


     ใบลานหนึ่งผูกนี่คงเห็นกันหลายคน  เพราะหนังสือรุ่นหลังเขียนเหมือนที่ ก.ศ.ร. เขียนไว้หลายแห่ง




กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 มี.ค. 10, 10:49
ไม่เห็นด้วยกับฝรั่งข้างบนนี้   แกมองข้ามข้อเท็จจริงของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯไป  แล้วเทคะแนนไปทางบวกด้านเดียว  

ถ้าจะแย้งเพื่อสนับสนุนนายกุหลาบ  ก็ต้องเอางานทั้งหมดมาอ่านให้ละเอียด ว่าตรงไหนเจ้าตัวอ้างอิงหรือคัดลอกจากประวัติศาสตร์จริง   ตรงไหนใส่เองเข้าไปเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับได้ว่าไปคัดลอก  แล้วค่อยประเมินคุณค่าของนายกุหลาบ

เท่าที่อ่านมาก็ยังไม่เห็นใครจับงานทั้งหมดของนายกุหลาบมาอ่านและวิเคราะห์ได้ถึงขั้นนั้นเลยค่ะ  ถ้ามี คุณเพ็ญชมพูช่วยหามาแนะนำกันด้วย  จะได้ไปตามอ่าน

คุณเทาชมพูไม่เห็นด้วยกับอาจารย์เครก  แต่ดูเหมือนอาจารย์เครกจะเห็นด้วยกับคุณเทาชมพู   ;D

เรื่องที่อาจารย์เครกพูดถึง ก.ศ.ร.กุหลาบ จับความสำคัญได้ดังนี้

ก.ศ.ร.กุหลาบ สามัญชนผู้ยกฐานะตัวเองจากประวัติภูมิหลังที่ไม่ทราบชัดเจนนัก ให้ขึ้นมาสู่สถานะที่โดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์หนังสือพิมพ์สยาม เขาสั่งสมความรู้หลงใหลในประวัติศาสตร์ด้วยการสะสมรวบรวมหนังสือ เอกสารตัวเขียนที่ยังไม่ตีพิมพ์และสิ่งตีพิมพ์อีกเป็นจำนวนมากที่เป็นข้อเขียนประวัติศาสตร์ที่เขานิยมชมชื่น จนเกิดเป็นข้อโต้แย้งรุนแรงในเรื่องความถูกต้องแน่นอนของข้อเขียนเหล่านี้ ด้วยหลายเรื่องเหล่านั้นมีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์พระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ จึงมีผลกระทบพอที่จะทำให้เกิดความตื่นตกใจ จนต้องออกมาต่อต้านอย่างเป็นทางการต่อการกระทำของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ในฐานะสามัญชน ก.ศ.ร.กุหลาบคงไม่สามารถทิ้งร่องรอยความน่าประทับใจนั้นให้กับประวัติศาสตร์นิพนธ์สยามได้ หากเขาไม่ได้เป็นเป็นเจ้าของสื่อสมัยใหม่ด้านการพิมพ์ สื่อชนิดที่ให้ความน่าเชื่อถือและอำนาจแก่ตนเองได้.......

การเผชิญหน้าตอบโต้กับองค์เจ้าเหนือหัว การประกาศตำหนิ และผลกระทบสาธารณชนจากการชำระเอกสารหลวงของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ได้ลดคุณค่าเขาลงจากฐานะความเป็นนักประวัติศาสตร์ แต่ในอนาคตยังคงเป็นเรื่องของนักประวัติศาสตร์รุ่นต่อไป ที่จะประเมินคุณค่าหนังสือและบทความของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ด้วยมาตรฐานของพวกเขาเอง นอกจากข้อโต้แย้งเหล่านั้นแล้ว อีกด้านหนึ่งล่ะ อะไรคือระดับความสามารถทางประวัติศาสตร์ของ ก.ศ.ร.กุหลาบ แล้วคำอธิบายทางประวัติศาสตร์ในแบบวิธีการของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ถือเป็นนวัตกรรมในประวัติศาสตร์นิพนธ์สยามหรือไม่? อะไรในงานเขียนของเขาที่ถือเป็นการแตกแขนงออกจากงานเขียนของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพและเจ้าพระยาทิพากรวงศ์?  คำถามเหล่านี้คงยากที่จะตอบจนกว่าจะมีการเปรียบเทียบงานของ ก.ศ.ร.กุหลาบกับเอกสารต้นฉบับเดิมเสียก่อน  

แม้ว่าที่สุดของคำตัดสินได้สร้างภาพให้เขาเป็นเพียงบุคคลผู้เผยแพร่งานเขียนของตัวเองออกสู่สาธารณชน หนังสือและบทความของเขาก็มีคุณค่าควรแก่การมีสถานะพื้นที่อยู่ในประวัติงานเขียนประวัติศาสตร์สยาม เขาอาจดูเหมือนกับคนเจ้าเล่ห์เพทุบายในกระบวนการผสมผสานเรื่องเข้าด้วยกัน แต่ในความเรียงเรื่องหนึ่งของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับสังคมอยุธยาในฐานะที่มีการผสมผสานทางชาติพันธุ์หลากหลายระหว่างกลุ่มชาวสยาม จีน ฮินดู และชาวมุสลิม แต่ละกลุ่มมีผู้นำที่เป็นตระกูลสำคัญ  ก.ศ.ร.กุหลาบได้ใช้ข้อมูลภาษาฝรั่งเศสสำหรับเขียนเรื่องของเขาในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ และได้ชี้ให้ผู้อ่านของเขาเห็นคุณค่าของเอกสารชาวยุโรป(๑)  งานตีพิมพ์เผยแพร่ของเขาบางชิ้นมีสาระสำคัญที่มีคุณค่าด้านตัวเลขสถิติ แม้ว่าจะมีการแตกข้อมูลแยกพิมพ์เป็นเรื่องย่อยออกจากกัน(๒)  บทประพันธ์อันยิ่งใหญ่ของเขา มหามุขมาตยานุกูลวงศ์ ที่ถูกนำมาใช้เป็นข้อมูลเขียนประวัติสมเด็จพระสังฆราช (สา) นั้น แสดงถึงความซับซ้อนของชาติวงศ์วรรณาของสายสกุลบุนนาค ตระกูลขุนนางซึ่งมีอำนาจเติบใหญ่ขึ้นจนหาคู่แข่งไม่ได้ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙


(๑)  ประวัติเจ้าพระยาอภัยราชา (ม.ร.ว. ลบ) เจ้าพระยาบดินเดชา (ม.ร.ว. อรุณ) (กรุงเทพฯ, ๒๔๕๖)

(๒)  ประวัติย่อตามลำดับตำแหน่งยศอัครมหาเสนาบดี (และ) เสนาบดีจตุสดมภ์ หรืออธิบดีและผู้รั้งตำแหน่งเสนาบดีกรม หรือกระทรวง ๖ แห่ง (กรุงเทพฯ, ๒๔๘๒) หนังสือที่จัดพิมพ์ขึ้นเล่มนี้ ประกอบด้วยข้อเขียนคัดสรรของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ที่ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๖๑ มีเนื้อหาว่าด้วยตำแหน่งชื่อบุคคล ชื่อบิดา มารดา และประวัติโดยย่อของเสนาบดีในยุคต้นรัตนโกสินทร์

บทความนี้แปลโดย คุณวารุณี  โอสถารมย์  อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  นักวิจัยประจำสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

   ความคิดมีหลายหลาก     ผิดถูกมากน้อยต่างกัน
   ความคิดดีได้นั้น           ก็ด้วยกลั่นจากดวงใจ

   ชีวิตมีหลายหลาก         ผิดถูกมากต่างกันไป
ชีวิตจะยิ่งใหญ่            ก็ด้วยใจให้สังคม

*******************************


สองคนยลตามช่อง           คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม
คนหนึ่งตาแหลมคม           เห็นดวงดาวอยู่พราวพราย

ฟ. ฮีแลร์

 ;)


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 มี.ค. 10, 10:40

ในความเรียงเรื่องหนึ่งของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับสังคมอยุธยาในฐานะที่มีการผสมผสานทางชาติพันธุ์หลากหลายระหว่างกลุ่มชาวสยาม จีน ฮินดู และชาวมุสลิม แต่ละกลุ่มมีผู้นำที่เป็นตระกูลสำคัญ  ก.ศ.ร.กุหลาบได้ใช้ข้อมูลภาษาฝรั่งเศสสำหรับเขียนเรื่องของเขาในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ และได้ชี้ให้ผู้อ่านของเขาเห็นคุณค่าของเอกสารชาวยุโรป(๑)

(๑)  ประวัติเจ้าพระยาอภัยราชา (ม.ร.ว. ลบ) เจ้าพระยาบดินเดชา (ม.ร.ว. อรุณ) (กรุงเทพฯ, ๒๔๕๖)

มีต้นฉบับของหนังสือที่อาจารย์เครกอ้างไว้มานำเสนอ

http://dl.kids-d.org/bitstream/handle/123456789/HASH012fcba399d6d6b9fd2fafb5/doc.pdf?sequence=1



กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 22 มี.ค. 10, 10:45
ขัดใจกระทู้นี้มากครับ
ไม่ทราบว่าเคยผ่านตากันบ้างหรือเปล่า

หนังสือหอหลวง
http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=rattanakosin225&month=15-03-2007&group=2&gblog=2

ผมเป็นนักวิชาการ  ที่คนๆนี้ทำ  ผิดจรรยาบรรณชนิด ที่ให้อภัยไม่ได้
ไม่เชื่อสมเด็จกรมพระยาระดำรง ก็่น่าจะเชื่อร. 5 กันบ้าง

นิทานที่ ๙ เรื่องหนังสือหอหลวง  ใน  นิทานโบราณคดี  พระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ  ผมคิดว่า  บรรดาผู้ที่แสดงความเห็นในกระทู้นี้แม้กระทั่งคนตั้งกระทู้เองก็คงเคยอ่านมากันคนละหลายๆ ครั้ง  เพราะนิทานโบราณคดีเป็นหนังสือของสมเด็จพระยาดำรงฯ ที่พิมพ์มาแล้วหลายครั้งหลายคราว  มีทั้งที่พิมพ์รวมทั้งหมด ๒๑ เรื่อง  และที่เอาเฉพาะบางเรื่องมาพิมพ์  รวมๆ แล้ว น่าจะพิมพ์มาเกิน ๕๐ ครั้งแล้วกระมัง  นับว่าเป็นหนังสือที่แพร่หลายอยู่

นิทานเรื่องหนังสือหอหลวง  สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ คงจะทรงพระนิพนธ์เมื่อประทับที่เกาะปีนัง  โดยน่าจะทรงพระนิพนธ์นิทานโบราณคดีนี้มาตั้งแต่ วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๔๘๕  จากนั้นทรงพระนิพนธ์เรื่อยมาจนกระทั่งเสด็จกลับมาประทับที่วังวรดิศ  ก็ยังทรงพระนิพนธ์ต่ออีกจนจบนิทาน ๒๑ เรื่อง  พระองค์ทรงพระนิพนธ์จบก่อนสิ้นพระชนม์ใน วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๔๘๖ ไม่นาน  (พระนิพนธ์เรื่องสุดท้ายที่ทรงร่างไว้ คือ เรื่องลักษณะเรียกพระเจ้าแผ่นดิน  ซึ่งทรงค้างไว้อยู่บนโต๊ะทรงพระอักษร) ลักษณะนิทานโบราณคดีนั้น  เป็นเรื่องที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงประสบด้วยพระองค์เองก็มี เป็นเรื่องทรงทราบมาก็มี  และการที่ทรงพระนิพนธ์นิทานโบราณคดก็เป็นการเขียนจากความทรงจำของพระองค์   ก็เป็นทำธรรมดาที่รายละเอียดของเหตุการณ์ที่ผ่านพ้นมานานจะหายไปบ้างตามพระชันษาที่มากขึ้น  (โอกาสที่จะผิดพลาดก็คงมีอยู่บ้างเช่นกัน)  กระนั้นนิทานโบราณคดีก็เป็นหนังสือที่ควรอ่าน  เพราะเรื่องบางเรื่อง แทบจะหาคนรู้ไม่ได้แล้ว  เช่น  เรื่องจับช้าง (นิทานเรื่องที่ ๒๐ - ๒๑) เป็นต้น  ถ้าไม่ทรงบันทึกไว้  ไหนเลยเราคนรุ่นหลังได้รู้อย่างพระองค์  

ที่กล่าวมานี้ ไม่ใช่ว่า คนอ่านหนังสือรุ่นหลังอย่างผมและคนอื่นๆ จะไม่เคารพนับถือสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เสียเมื่อไร  พระนิพนธ์ ตลอดจนพระกรณียกิจอันเกี่ยวเนื่องกับหนังสือของพระองค์มีคุณค่าอันเหลือประมาณ   ถ้าขาดพระองค์เสียแล้ว  เราคนรุ่นหลังก็ไม่รู้เหมือนกันว่า  จะค้นคว้าเรื่องเก่าๆ กันต่อไปอย่างไร   ครูอาจารย์ที่สอนประวัติศาสตร์ที่ผมรู้จัก  ท่านแนะนำเสมอว่า  ถ้าจะศึกษาประวัติศาสตร์ไทยต้องเริ่มอ่านจากหนังสือที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ได้ทรงทำเป็นอันดับแรก  จากนั้นจึงค่อยอ่านหนังสืออื่นๆ ต่อไป    

เมื่อเราได้อ่านงานที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงทำไว้แล้ว  ก็ควรจะเข้าใจด้วยว่า  งานบางอย่างที่พระองค์ทรงทำไว้นั้น  มีข้อจำกัดเรื่องข้อมูลเหมือนกัน   ในช่วงเวลานั้น  พระองค์อาจจะทรงค้นข้อมูลได้จำนวนหนึ่ง  แต่หลังจากนั้น  มีคนค้นข้อมูลได้เพิ่มเติม  บางอย่างอาจจะสนับสนุนข้อมูลที่พระองค์ได้ทรงพระนิพนธ์ไว้  ในขณะที่บางอย่างก็อาจจะต่างจากที่ทรงทำไว้   ซึ่งก็เป็นธรรมดา  เราคนรุ่นหลังควรจะได้แก้ไขสิ่งที่พระองค์ทำไว้  ให้มีพัฒนาการไปตามข้อมูลที่ค้นพบใหม่  ไม่ใช่ยึดมั่นถือมั่นว่าพระองค์ทรงทำถูกต้องไปเสียทั้งหมด   ถ้าใครเคยอ่านหนังสือ "ให้พระยาอนุมานราชธน" ก็จะทราบว่า  พระองค์ทรงพอพระทัยที่คนรุ่นหลังได้ค้นคว้าหาข้อมูลใหม่ๆ และได้แก้ไขในสิ่งที่พระองค์ทรงทำพลาดไว้ให้ถูกต้อง  พระองค์ไม่ได้ถือเลยว่า  งานของพระองค์ถูกต้องแล้ว แก้ไขไม่ได้    การนับถือตัวบุคคล  ควรจะแยกจากงานของเขา  อะไรที่ถูกก็ว่าถูก อะไรที่ว่าผิดก็ต้องแก้ไขให้ถูก  ไม่ใช่ ดื้อถือไปอย่างนั้น   หากทำเช่นนั้น  ก็กลายเป็นผิดหลักกาลามสูตรแล้วความรู้จะงอกงามได้อย่างไร  

(จบตอนที่ ๑)


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 22 มี.ค. 10, 11:31
จ้อกแจ้กจอแจ  อิอิ

ขอย่อความชีวิตนายกุหลาบต่อไปเรื่อยๆนะคะ  เรื่องที่คัดลอกต่อกันมานั้นขออนุญาตเว้น

ก.ศ.ร.  ว่างงานอยู่หลายปี
ที่จริงท่านคงตะลอนๆ ออกไปคุยกับคนรู้จัก เพราะโดยธรรมชาติท่านชอบสังคมมาก

ใครว่าก.ศ.ร. คุยโว  อวดอ้าง    คงจะมีส่วนจริงค่ะ
แต่ ไม่เคยที่จะอวดความร่ำรวย หรือ เส้นสายแต่อย่างใด

สิ่งที่ท่านพอใจจะเล่าบ่อยครั้งคือ ไปได้หนังสือมาจากไหน
นาน ๆ ทีท่านก็เบรคแตก เพราะคนที่ยืมหนังสือไปแล้ว  อม  ค่ะ

สมบัติที่ท่านอวดคือหนังสือค่ะ  เงินเดือน ๆ ละ ๒๕๐ บาทนั้นมหาศาล เพราะท่านก็มีบ้านเรือน ภรรยาก็พอมีฐานะไม่ได้เล่นการพนัน


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 22 มี.ค. 10, 11:52
กลับมาที่เรื่องหนังสือหอหลวง  

นิทานโบราณคดี เป็นหนังสือที่แพร่หลายมาก  พิมพ์หลายครั้ง  โดยเฉพาะเรื่องหนังสือหอหลวง ซึ่งมีคนนำไปอ้างต่อมากมาย  และนิทานเรื่องนี้ยังส่งผลต่อความเข้าใจเกี่ยวกับนายกุหลาบของคนรุ่นหลังอย่างมากด้วย  

จากพระนิพนธ์  เราทราบว่า นายกุหลาบยืมหนังสือจากวังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ ไปจ้างให้ทหารมหาดเล็กคัดลอกใส่สมุดให้ที่วัดอรุณฯ   ในกลุ่มผู้อ่านหนังสือเก่า  เคยตั้งคำถามทีเล่นทีจริงว่า  นายกุหลาบคัดลอกหนังสือหอหลวงเหล่านั้นไปได้มากน้อยขนาดไหน   ใช้เวลาคัดลอกอยู่นานเท่าไร   และก่อนที่นายกุหลาบจะคัดลอกเอาหนังสือของหลวงไป  นายกุหลาบมีหนังสือเป็นของตัวเองอยู่ก่อนบ้างหรือไม่  หรือว่านายกุหลาบมามีหนังสือเป็นของตัวเองเพราะการคัดลอกครั้งนั้น  มีเสียงตอบกลับมาว่า  นายกุหลาบคงใช้เวลาคัดลอกประมาณ ๑ ปี  และไม่ใช่ว่า นายกุหลาบจะคัดลอกหนังสือเสียทุกเรื่อง   หนังสืออะไรน่าสนใจก็คัดลอก  อะไรไม่น่าสนใจก็ไม่คัดลอก  และนายกุหลาบคงมีหนังสือเป็นของส่วนตัวอยู่บ้างแล้วพอสมควร  

การหนังสือของนายกุหลาบคัดลอกนั้น  ถ้าโดยธรรมเนียมเก่า  การคัดลอกสมุดไทยนั้นก็ไม่ใช่เรื่องผิด  สุนทรภู่แต่งหนังสือให้คนมาลอกเอาไปอ่านได้ค่าจ้างเรื่องเลี้ยงตัว   บางคนรักกันชอบกันก็ให้ยืมหนังสือไปคัดลอกกันโดยไม่เอาค่าต้นฉบับก็มาก  แล้วหนังสือที่คัดลอกก็ถือเป็นของคนที่คัดลอก   ก็ถ้าว่าผิด   คนสมัยนี้ยิ่งไม่ผิดกว่าหรือ  เล่นถ่ายเอกสารหนังสือกันยกเป็นเล่มๆ ทีเดียว   ถ้าว่านายกุหลาบจะผิด   ก็คงเป็นเพราะไม่ได้ขออนุญาตคัดลอกนั่นเอง

เรื่องผิดจรรยาบรรณนักวิชาการ    เรื่องอย่างนี้   ต้องถามว่า  ถ้านายกุหลาบผิดเรื่องจรรยาบรรณ  ก็ควรจะต้องย้อนถามว่า  แล้วใครบางคนสมัยปัจจุบันที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติบุคคลเป็นที่รู้จักกันทั่วบ้านทั่วเมือง  ไปลอกข้อความจากหนังสือนายกุหลาบมาโดยไม่อ้างอิง  คนอ่านไม่รู้  เข้าใจว่าคนคนนั้นค้นคว้าได้มาเอง ก็พากันนับถือกัน  พากันอ้างอิงงานของเขาต่อ  อย่างนี้ไม่ผิดจรรยาบรรณยิ่งกว่าหรือ   สมัยนายกุหลาบนั้น  คำว่าจรรยาบรรณนักวิชาการเกิดแล้วหรือ?  คำคำนี้น่าจะเกิดในไทยสมัยปัจจุบันไม่เกิน ๘๐ ปีเป็นอย่างสูงสุด  ก่อนหน้านั้น  แม้เราจะมีเรื่องลิขสิทธิ์เกิดขึ้นจากการพิมพ์หนังสือนิราศลอนดอนของหม่อมราโชทัย   แต่กว่าลิขสิทธิ์จะเป็นที่ยอมรับกว้างขวาง  จนเกิดคำว่าจรรยาบรรณทางวิชาการ  ก็อีกหลายสิบปีหลังนั้น  การเอาคำสมัยปัจจุบันไปอ้างเอาผิดกับคนต่างสมัยโดยที่เขาเองยังไม่รู้จักแม้กระทั่งระบบการอ้างอิง   เราควรถือเป็นการทำผิดในสมัยนั้นด้วยหรือเปล่า?  

ถ้าผิด  บรรดากวีที่แต่งโคลงแต่งฉันท์คงต้องทำผิดจรรยาบรรณกันจนไม่อาจจะยกย่องนับถือกันต่อไปแล้วกระมัง  เพราะท่านก็ลอกเลียนงานของกวีรุ่นก่อนกันมากมาย   ความคิดความนิยมของคนสมัยหนึ่งควรใช้เฉพาะกับคนสมัยหนึ่ง  หากจะนำไปใช้กับคนอีกสมัยหนึ่งก็ต้องพิจารณาด้วยว่าเหมาะสมหรือไม่

การกระทำของนายกุหลาบ  ก็คล้ายๆ เรายืมหนังสือจากห้องสมุด หรือจากใครสักคน  แล้วเอาไปถ่ายเอกสาร  โดยตอนยืมเราไม่ได้บอกว่า ยืมไปถ่ายเอกสาร  อย่างนี้สมัยเราคงไม่มีความผิด  แต่สมัยนายกุหลาบผิด  ที่ผิด เพราะหนังสือนั้นเป็นของหลวง  จะคัดลอกเอาเองโดยพลการไม่ได้

อันที่จริง  ก็อยากทราบเหมือนกันว่า  นายกุหลาบคัดลอกอะไรออกมาบ้าง  และเมื่อคัดมาแล้ว นายกุหลาบได้แต่งเติมตรงไหนบ้าง  ก่อนได้นำไปพิมพ์ สิ่งเหล่านี้  ไม่เคยมีใครเอามายกตัวอย่างให้เห็นจริง  มีแต่คำกล่าวลอยๆ ว่านายกุหลาบทำอย่างนั้นๆ  ทำให้ประวัติศาสตร์บิดเบือนไป  ในขณะที่เราส่วนใหญ่ยังไม่ทราบเลยว่า ตกลงนายกุหลาบพิมพ์หนังสือเรื่องอะไรบ้าง  และที่ว่าแต่งเติมคือเรื่องอะไร  ตรงใด  หนังสือนายกุหลาบเชื่อไม่ได้ทั้งหมดจริงหรือ  เหล่านี้เป็นมายาคติ(มายา+อคติ) อันเกิดแต่การรับรู้จากแหล่งข้อมูลเดียวแล้วรีบสรุปว่าเป็นจริงดังที่เขาว่านั้น  

นิทานโบราณคดีของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ พิมพ์เผยแพร่หลายครั้ง ใครๆ ก็ทราบ ใครๆ ก็อ่านกันทั่วไป   ทั้งในประเทศต่างประเทศ   แต่ หนังสือของนายกุหลาบ  พิมพ์ในช่วงนายกุหลาบแล้ว  ก็แทบจะไม่มีใครเอามาพิมพ์อีก  เพราะมันเป็นของที่ถูกตราชื่อว่า กุ  ไปเสียทั้งหมดกรุนั้น  คนที่ไม่เคยเห็นก็เชื่อตามเขาว่าจริงตามนั้น   ปัจจุบันแม้หนังสือของนายกุหลาบที่มีการเอามาพิมพ์ใหม่ลางเล่ม  เช่น อายะติวัฒน์  นิราศยี่สาร  เป็นต้น  ก็ยังไม่ได้ช่วยให้คนเข้าใจนายกุหลาบดีขึ้นกว่าเดิม   หนังสือของนายกุหลาบยังเป็นหนังสือเก่าที่นักสะสมอยากได้อยากอ่านอยู่  และแอบๆ เผยแพร่ประหนึ่งว่าเป็นของผิดกฎหมาย

การที่คุณวันดี เอาเรื่องของนายกุหลาบมาลงให้อ่านไม่ใช่ว่า เราจะค้านสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ และรัชกาลที่ ๕ เสียเมื่อไร   แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่านายกุหลาบไม่ได้ กุ ไปเสียทุกเรื่อง  ถ้านายกุหลาบ  กุ  กระทั่งประวัติของตัวเอง   ก็นับว่าประหลาดมนุษย์มากทีเดียว  (แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องเชื่อตามโวหารทุกถ้อยคำทุกตัวอักษรตามที่นายกุหลาบเขียนไว้ให้ไพเราะเพราะพริ้งเพื่อเป็นอวดตัวในลางแห่งด้ว  ถ้าอ่านแล้วเชื่อถืออย่างนั้นก็สมควรแล้วที่จะให้นายกุหลาบหลอก)  ยังมีหนังสืออีกมากมายที่นายกุหลาบทำไว้ให้คนรุ่นหลังไม่ขาดข้อมูลเก่าๆ  ทั้งนี้เราต้องอ่านพิจารณาโดยละอคติเดิมๆ เสียก่อน   ไม่เช่นนั้น  ถึงอ่านไปก็ไม่ได้ประโยชน์จากสิ่งที่นายกุหลาบอุตส่าห์มานะทุ่มทุนทำเอาไว้จนเกือบหมดตัว


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 22 มี.ค. 10, 12:00
นายกุหลาบไปทำงานเป็นเสมียนที่โรงสีข้าวแห่งหนึ่ง หลายปีอยู่เหมือนกัน
เงินเดือนคงลดไปเยอะเพราะความสามารถในการใช้ภาษาของท่านไม่ได้เป็นที่ต้องการมากนักในสถานที่นี้


เมื่อหลวงนายสิทธิ์ ออกเรือไปเมืองแขก จีน และญี่ปุ่น เพื่อซื้อของมาทำการพระเมรุพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์
นายกุหลาบก็ติดเรือไปด้วย

  


ต่อมานายกุหลาบได้เข้าไปใกล้ชิดเจ้าพระยานรรัตราชมานิต
ท่านเจ้าคุณทราบดีว่านายกุหลาบเคยท่องเที่ยวไปต่างประเทศ เคยทำงานกับฝรั่งมานาน  ย่อมคุ้นเคยกับโลกสมัยใหม่ จึงตั้ง
นายกุหลาบให้มีตำแหน่งรองท่าน
ให้ประจำอยู่ห้องสรรพทองคำ เบี้ยหอย  เบี้ยตะกั่ว  เบี้ยทองแดง  เงินกระดาษ  อัฐกระดาษ

กรรมหารร้อยคน ประจำอยู่ร้อยห้อง

ท่านเจ้าคุณวานนายกุหลาบจัดแสดงห้องเครื่องเงินโบราณของท่านด้วย

แน่นอนที่นายกุหลาบมีห้องแสดงหนังสือของตนเอง  หนังสือ ๑๕๐ เรื่อง

บัญชีนิทรรศการสินค้าพื้นเมืองไทย ในงานพระราชพิธีสมโภชพระนคร ครบ ๑๐๐ ปี พ.ศ. ๒๔๒๕
มีการพิมพ์ต่ออายุแล้วโดย สำนักพิมพ์ต้นฉบับ ของคุณ อ้วนธงชัย


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 22 มี.ค. 10, 12:19


อยากจะบอกกับคุณเพ็ญชมพูและคุณหลวงเล็ก ว่า

ที่เมตตาแวะมาแยม..อ่า  แจม กระทู้นี้นั้น  
ข้อเขียนและข้อคิดของท่านทั้งสองเป็นประโยชน์
อย่างยิ่ง


ก.ศ.ร. ทราบว่าตนเองมีความผิดในการลอบคัดลอกหนังสือ  จึงเปลี่ยนแปลงข้อมูล
เพื่อป้องกันตนเอง

ความพลาดเพราะประมาท หรือรู้น้อยไปบางเรื่อง  ซึ่งไม่จำเป็นต้องเติมเรื่องให้วิจิตรพิสดาร
เช่นงานพระศพพระสังฆราช      อาจเป็นเพราะรับฟังมาจากข้าราชการระดับกลางที่อยู่ ณ ที่นั้นแต่มิได้ทราบรายละเอียด
ก็ "ฟุ้ง"  สู้กัน  เพื่อแสดงฐานะว่า "ใกล้ชิด" เป็นต้น




กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 22 มี.ค. 10, 12:41
หนังสือ ๑๕๐ เรื่องก็จริง  แต่  ๒,๐๐๐ เล่ม


อภินิหารบรรพบุรุษ  ก็ ถวายในงานนี้


มีประฐมวงษเจ้านายในกรุงเทพ
(รักษาตัวสะกดเดิม)

ประฐมวงษสมเด็จพระอมรินทรามาต

ประถมวงษ์เจ้าตากกรุงธนบุรีมีพิสดาร
(อ่านแล้วก็ไม่สะดุ้งใจเลย  เพราะได้อ่านแบบเดียวกันนี้เปี๊ยบในหนังสือประวัติศาสตร์หลายเล่ม
เริ่มตั้งแต่จีนไหฮอง ชื่อหยง  แซ่อ๋อง       งูเหลือมมาขดอยู่ในกระด้ง   และลักษณะกุมารเป็นพุทธจัตุรัศกาย
สดือนั้นเป็นหลุมลึกลงไป พอจุผลหมากสงทั้งเปลือกได้ผิดสามัญชนทั้งหลาย)

มาตยาวงษพวษาวดารบางช้าง

ปะฐมวงษเจ้าคุณหญิงจัน

เฉกอะหมัด

ลำดับวงษตระกูลเจ้าพระยาสมุหนายกในกรุงเทพ ฯ   ชื่อเดิม  และะตำแหน่งยศ

"                      "     กรมมหาดไทย                  "                 "
"                      "     คลัง                              "                 "
"                      "     พลเทพ                           "                 "

และเรื่องอื่น ๆ อีก


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มี.ค. 10, 12:43
จากนิทานโบราณคดี

พอนายกุหลาบได้หนังสือจากวังกรมหลวงบดินทร์ฯ ก็ลงเรือจ้างที่ท่าเตียน ข้ามฟากไปยังวัดอรุณฯ ตามคำพวกทหารมหาดเล็กที่รับจ้างมาเล่าว่า เอาเสื่อผืนยาวปูที่ในพระระเบียง และเอาสมุดคลี่วางบนเสื่อตลอดเล่ม ให้คนคัดแบ่งกันคัดคนละตอน คัดหน้าต้นแล้วพลิกเอาสมุดหน้าปลายขึ้นคัด พอเวลาบ่ายก็คัดสำเนาให้นายกุหลาบได้หมดทั้งเล่ม แต่พวกมหาดเล็กที่ไปรับจ้างคัดก็ไม่รู้ว่านายกุหลาบได้หนังสือมาจากไหน และจะคัดเอาไปทำไม เห็นแปลกที่ให้รีบคัดให้หมดเล่มภายในวันเดียว ได้ค่าจ้างแล้วก็แล้วกัน แต่ฉันได้ยินเล่าก็ไม่เอาใจใส่ ในสมัยนั้นนายกุหลาบลักคัดสำเนาหนังสือหอหลวงด้วยอุบายอย่างนี้มาช้านานเห็นจะกว่าปี จึงได้สำเนาหนังสือต่างๆ ไปจากหอหลวงมาก แต่ดูเหมือนจะชอบคัดแต่เรื่องเนื่องด้วยโบราณคดี แม้จนพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ทั้ง ๔ รัชกาล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์แต่ง นายกุหลาบก็ลักคัดสำเนาเอาไปได้ แต่เมื่อนายกุหลาบได้สำเนาหนังสือหอหลวงไปแล้ว เกิดหวาดหวั่นด้วยรู้ตัวว่า ลักคัดสำเนาหนังสือฉบับหลวงที่ต้องห้าม เกรงว่าถ้าผู้หลักผู้ใหญ่ในราชการเห็นเข้าจะเกิดความ จึงคิดอุบายป้องกันภัยด้วยแก้ไขถ้อยคำสำนวน หรือเพิ่มเติมความแทรกลงในสำเนาที่คัดไว้ให้แปลจากต้นฉบับเดิม เมื่อเกิดความจะได้อ้างว่าเป็นหนังสือฉบับอื่นต่างหาก มิใช่ฉบับหลวง เพราะฉะนั้นหนังสือเรื่องต่างๆ ที่นายกุหลาบคัดไปจากหอหลวง เอาไปทำเป็นฉบับใหม่ขึ้น จึงมีความที่แทรกเข้าใหม่ระคนปนกับความตามต้นฉบับเดิมหมดทุกเรื่อง  

ความผิดของนายกุหลาบ มี ๒ ประเด็นคือแอบขโมยคัดลอกหนังสือที่รู้แล้วว่ามีกฎระเบียบห้ามไว้   กับ ข้อ ๒  ปกปิดความผิดด้วยการบิดเบือนเอกสาร
ข้อหลังนี้คือความผิดมากที่สุดของนายกุหลาบ  ที่ทำให้กริ้ว      เป็นความผิดที่จะเอาวิธีการคัดลอกหนังสือ หรือถ่ายเอกสาร มาเป็นข้อแก้ต่าง ไม่ได้
แม้แต่ในสมัยนี้ก็เถอะ   ถ้าเป็นเอกสารราชการที่ระบุไว้ชัดเจนว่า ห้ามคัดลอกหรือเผยแพร่   เช่นเอกสารลับต่างๆ   ใครไปคัดลอกหรือถ่ายเอกสารเอามาเผยแพร่ ก็ผิดเหมือนกัน  

ข้อเสียของนายกุหลาบมี  ก็ยอมรับไปตามตรงว่ามี  ข้อดีก็มี ก็ยอมรับว่ามี   อย่างนี้จะทำให้เราแยกแยะดีชั่วได้  

อ้างถึง
การกระทำของนายกุหลาบ  ก็คล้ายๆ เรายืมหนังสือจากห้องสมุด หรือจากใครสักคน  แล้วเอาไปถ่ายเอกสาร  โดยตอนยืมเราไม่ได้บอกว่า ยืมไปถ่ายเอกสาร  อย่างนี้สมัยเราคงไม่มีความผิด  แต่สมัยนายกุหลาบผิด  ที่ผิด เพราะหนังสือนั้นเป็นของหลวง  จะคัดลอกเอาเองโดยพลการไม่ได้

อันที่จริง  ก็อยากทราบเหมือนกันว่า  นายกุหลาบคัดลอกอะไรออกมาบ้าง  และเมื่อคัดมาแล้ว นายกุหลาบได้แต่งเติมตรงไหนบ้าง  ก่อนได้นำไปพิมพ์ สิ่งเหล่านี้  ไม่เคยมีใครเอามายกตัวอย่างให้เห็นจริง  มีแต่คำกล่าวลอยๆ ว่านายกุหลาบทำอย่างนั้นๆ  ทำให้ประวัติศาสตร์บิดเบือนไป  ในขณะที่เราส่วนใหญ่ยังไม่ทราบเลยว่า ตกลงนายกุหลาบพิมพ์หนังสือเรื่องอะไรบ้าง  และที่ว่าแต่งเติมคือเรื่องอะไร  ตรงใด  หนังสือนายกุหลาบเชื่อไม่ได้ทั้งหมดจริงหรือ  เหล่านี้เป็นมายาคติ(มายา+อคติ) อันเกิดแต่การรับรู้จากแหล่งข้อมูลเดียวแล้วรีบสรุปว่าเป็นจริงดังที่เขาว่านั้น   


ขอยกตัวอย่างจากข้อความของคุณหลวงเล็ก  ข้างบนนี้  ถ้าดิฉันลอกเอาไปลงในตำราหรือบทความ หรือพริ้นท์ออกมาแจกชาวบ้าน   โดยอ้างชื่อคนเขียนและลงข้อความครบถ้วน    ก็ไม่เสียหายอะไร
แต่ถ้าดิฉันทำแบบนี้ คือต่อเติม เปลี่ยนแปลงข้อความตามใจตัว   คุณหลวงเล็กเสียหายไหมคะ

การกระทำของนายกุหลาบ  ก็คล้ายๆ เรายืมหนังสือจากห้องสมุด หรือจากใครสักคน  แล้วเอาไปถ่ายเอกสาร  โดยตอนยืมเราไม่ได้บอกว่า ยืมไปถ่ายเอกสาร  อย่างนี้สมัยเราคงไม่มีความผิด  แต่สมัยนายกุหลาบผิด  ที่ผิด เพราะหนังสือนั้นเป็นของหลวง  จะคัดลอกเอาเองโดยพลการไม่ได้

อันที่จริง  ก็อยากทราบเหมือนกันว่า  นายกุหลาบคัดลอกอะไรออกมาบ้าง  และเมื่อคัดมาแล้ว นายกุหลาบได้แต่งเติมตรงไหนบ้าง  ก่อนได้นำไปพิมพ์ สิ่งเหล่านี้  ไม่เคยมีใครเอามายกตัวอย่างให้เห็นจริง  มีแต่คำกล่าวลอยๆ ว่านายกุหลาบทำอย่างนั้นๆ  ทำให้ประวัติศาสตร์บิดเบือนไป  ดังนั้นจึงเห็นว่าพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ กล่าวหานายกุหลาบลอยๆ   ผมจึงเห็นว่าเชื่อถือไม่ได้   ในขณะที่เราส่วนใหญ่ยังไม่ทราบเลยว่า ตกลงนายกุหลาบพิมพ์หนังสือเรื่องอะไรบ้าง  และที่ว่าแต่งเติมคือเรื่องอะไร  ตรงใด  หนังสือนายกุหลาบเชื่อไม่ได้ทั้งหมดจริงหรือ  ผมขอเข้าข้างนายกุหลาบว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นผู้ถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม   เหล่านี้เป็นมายาคติ(มายา+อคติ) ของคุณเทาชมพูอันเกิดแต่การรับรู้จากแหล่งข้อมูลเดียวแล้วรีบสรุปว่าเป็นจริงดังที่เขาว่านั้น   นักวิชาการอย่างคุณเทาชมพูจึงไม่น่าเชื่อถือ  

ส่วนที่นายกุหลาบบิดเบือน แต่งเติมความเท็จเข้าไป ก็มีตัวอย่างในเรื่องกษัตริย์อยุธยาชื่อพระปิ่นเกษและพระจุลปิ่นเกษ  องค์หลังนี้ทำให้เสียบ้านเสียเมือง  ไงล่ะคะ
อันที่จริงถ้าอยากจะเคลียร์ชื่อเสียงนายกุหลาบ  ก็เอาพงศาวดารที่เขารวบรวมไว้มาเทียบกับฉบับอื่นๆของทางการที่พิมพ์เผยแพร่แล้ว ก็พอจะมองออกว่า นายกุหลาบปลอมแปลงมากน้อยแค่ไหน


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มี.ค. 10, 12:47
ข้อที่ทำให้สับสนกัน คือนักเขียนเรื่องในอดีตหลายท่าน   เอาพงศาวดารที่นายกุหลาบเขียนไว้มาเล่าใหม่  โดยไม่บอกว่ามาจากที่ไหน   แล้วก็อ้างอิงคัดลอกกันต่อๆมาจนกลายเป็นความเชื่อแน่นแฟ้นว่าจริง
มีน้ำหนักเหมือนพงศาวดารที่ศึกษากันในเชิงวิชาการ

ตัวอย่าง เช่นในปฐมวงศ์ และอภินิหารบรรพบุรุษ


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 22 มี.ค. 10, 13:35
ขออนุญาต "ลุย"  ประวัติของ ก.ศ.ร. กุหลาบ ต่อไปก่อน


นายกุหลาบเล่าว่าได้พา ขุนสุนทรสาทิศลักษณ์(ฟะรัสซิสจิตร)คนบ้านกะฏีจีนมาทำงานเป็นผุ้จัดการโรงไฟก๊าซ
ที่ท่านเจ้าคุณเป็นอธิบดี


เมื่อท่านเจ้าคุณเป็นผู้ตรวจจ่ายการก่อสร้างศาลยุติธรรม   ก.ศ.ร. ได้รับเงินเดือน ๆ ละ ๑ ชั่งในฐานะผู้ตรวจตราการก่อสร้าง


เมื่อเจ้าพระยานรรัตน์ราชมานิตได้ตั้งกรมทหารรักษาลำน้ำ  กุหลาบได้ตำแหน่ง แอศยุแตน
ก.ศ.ร. บอกว่าเป็น adjutant general   ได้รับเงินเดือนๆ ละ ๑๒๐ บาทเป็นเวลา ๘ ปี

ต่อมาก.ศ.ร. ได้ทำงานเป็นนิพันธการีที่หนังสือพิมพ์สยามออบเซอร์เวอร์  ได้รับเงินเดือน ๑๕๐ บาท  ทำอยู่ ๖ ปี

ลาออกแล้วมาทำหนังสือพิมพ์สยามประเภทอยู่ ๑๐ ปี


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 22 มี.ค. 10, 13:37

ส่วนที่นายกุหลาบบิดเบือน แต่งเติมความเท็จเข้าไป ก็มีตัวอย่างในเรื่องกษัตริย์อยุธยาชื่อพระปิ่นเกษและพระจุลปิ่นเกษ  องค์หลังนี้ทำให้เสียบ้านเสียเมือง   ไงล่ะคะอันที่จริงถ้าอยากจะเคลียร์ชื่อเสียงนายกุหลาบ  ก็เอาพงศาวดารที่เขารวบรวมไว้มาเทียบกับฉบับอื่นๆของทางการที่พิมพ์เผยแพร่แล้ว ก็พอจะมองออกว่า นายกุหลาบปลอมแปลงมากน้อยแค่ไหน

คุณเทาชมพูทำให้ผมต้องถามกลับว่า  เรื่องกษัตริย์อยุธยาชื่อพระปิ่นเกษและพระจุลปิ่นเกษ  องค์หลังนี้ทำให้เสียบ้านเสียเมือง   ปรากฏอยู่ในหนังสือเรื่องอะไรที่นายกุหลาบพิมพ์  ผมได้เคยถามคำถามอย่างนี้กับคนที่เขาตามอ่านงานของนายกุหลาบมาหลายปี  เขายืนยันว่า  ยังไม่เคยเจอข้อความที่อ้างถึงนี้ในหนังสือนายกุหลาบสักเล่มเดียว  

โอเค  มันอาจจะมีอยู่ในหนังสือของนายกุหลาบสักเล่มหนึ่ง  แต่เรายังไม่เคยเห็น ยังไม่ได้อ่าน  ในเมื่อยังไม่เจอหลักฐานตามที่อ้างมาต่อๆ กันมา  ก็ต้องผลประโยชน์ให้จำเลยไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์  ไม่ว่าเจ้าของคำพูด "เรื่องกษัตริย์อยุธยาชื่อพระปิ่นเกษและพระจุลปิ่นเกษ  องค์หลังนี้ทำให้เสียบ้านเสียเมือง " นั้นจะเป็นใครก็ตาม

ประการต่อมา   ถ้าประโยคนี้ เรื่องกษัตริย์อยุธยาชื่อพระปิ่นเกษและพระจุลปิ่นเกษ  องค์หลังนี้ทำให้เสียบ้านเสียเมือง   มีอยู่จริง  ไม่ว่าจะอยู่เล่มไหนของนายกุหลาบ  คุณเทาชมพูคงรู้สึกคล้ายๆ กับผมไหมว่า  ข้อความนี้ นายกุหลาบเติมไปโดยมีนัยยะอื่น  ที่นายกุหลาบไม่ได้มุ่งหมายแก้ข้อหาที่ว่า  "คิดอุบายป้องกันภัยด้วยแก้ไขถ้อยคำสำนวน หรือเพิ่มเติมความแทรกลงในสำเนาที่คัดไว้ให้แปลจากต้นฉบับเดิม เมื่อเกิดความจะได้อ้างว่าเป็นหนังสือฉบับอื่นต่างหาก มิใช่ฉบับหลวง " เท่านั้น   ถ้านายกุหลาบคิดจะป้องกันตัวด้วยข้อความนี้  ก็นับว่านายกุหลาบคิดพลาดไปอย่างยิ่ง    ขอให้อ่านข้อความดังกล่าวให้ดีๆ    ถ้าลำพังนายกุหลาบจะแทรกข้อแปลกจากฉบับหอหลวงเพื่อป้องกันตัวเองแล้ว   นายกุหลาบสู้เอาข้อความอย่างอื่นใส่ลงไปไม่ดีกว่าหรือ  จะให้ยาวสัก สามสี่หน้าก็ทำได้  

แต่นายกุหลาบเจาะจงใส่ข้อความนี้ลงไป (ถ้าข้อความนี้มีอยู่จริง) คงไม่ใช่ความมุ่งหมายจะแปลงเอกสารประวัติศาสตร์  เพราะถึงนายกุหลาบจะหลุดข้อกล่าวหาที่ว่าคัดลอกหนังสือหอหลวง  (ซึ่งคงโดนลงพระราชอาญาไม่หนักเท่าไร  เพราะไม่ใช่ข้อหาฉกรรจ์  และหนังสือนายกุหลาบคัดลอกมาก็ไม่น่าจะใช่เรื่องความลับทางราชการ  มิฉะนั้นกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ คงไม่ประทานพระอนุญาตให้นายกุหลาบยืมไปอ่านแน่นอน)  แต่นายกุหลาบจะถูกข้อหาที่หนักกว่าว่า  หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ  ผมคงไม่ต้องให้เหตุผลว่าเพราะอะไร  เพราะข้อความที่ยกมามันก็ชัดอยู่ในตัวแล้วว่ามีความหมายถึงใคร   นายกุหลาบต้องการสื่ออะไรบางอย่างกระมัง  เรื่องเสียบ้านเสียเมืองมันเป็นเรื่องใหญ่ในสมัยนั้น   และเป็นเรื่องที่คนสมัยหลังรัชกาลที่ ๕ จำฝังใจมาก  แม้กระทั่งรัชกาลที่ ๖ ก็ยังเคยทรงพระราชนิพนธ์เอาไว้   ข้อความที่ยกมานั้น  มันอุกอาจอุกฉกรรจ์  เพียงแต่สมเด็จฯ ไม่ทรงว่าตรงๆ ว่า นายกุหลาบหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเท่านั้นเอง

เรื่องพระราชพงศาวดารนั้น  ผมเห็นอย่างนี้ว่า   ในสมัยนั้น  บรรดาพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่เป็นกระแสหลักนั้น  มีคนรู้จักกันพอสมควร  เพราะอะไร  เพราะโรงเรียนมหาดเล็กได้คัดมาเป็นตำราเรียน และมีการสอนกันเปิดเผย  เวลาถือน้ำ  เวลามีเทศน์ของหลวงก็มักจะเอาเรื่องพงศาวดารมาเทศน์กันอยู่แล้ว  อันที่จริงถึงนายกุหลาบไม่ไปคัดลอกหนังสือหลวง   นายกุหลาบก็สามารถรู้เรื่องพระราชพงศาวดารกรุงเก่า จากแหล่งอื่นๆ  เราคงจำได้ว่า นายกุหลาบบวชเณรที่วัดพระเชตุพน  ที่นั่นมีตำรับตำรามากมาย   ตามวัดวาอื่นๆ ก็มีหนังสืออย่างนี้  พระราชพงศาวดารกรุงเก่ามีหลายฉบับก็จริง  แต่เนื้อความก็เหมือนกันโดยมาก   จะต่างกันก็โดยโวหารพิสดารหรือย่อสังเขป   การจะให้เทียบพงศาวดารที่นายกุหลาบพิมพ์ กับที่ของหลวงพิมพ์นั้น  ลำบากก็เพียงเราหาหนังสือของนายกุหลาบไม่ได้เท่านั้น  

กรณีนายกุหลาบแทรกข้อความลงในหนังสือที่คัดลอกมาแต่หอหลวง  ถ้าจะเทียบได้กับการชำระพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์  เพื่อพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกแล้ว   ยังนับว่า นายกุหลาบทำเบากว่า   เพราะข้อความเดิมไม่หาย  แต่กรณีพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ มีข้อความบางแห่งหายไปอย่างมีนัยยะสำคัญ





กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มี.ค. 10, 14:01
อ้างถึง
คุณเทาชมพูทำให้ผมต้องถามกลับว่า  เรื่องกษัตริย์อยุธยาชื่อพระปิ่นเกษและพระจุลปิ่นเกษ  องค์หลังนี้ทำให้เสียบ้านเสียเมือง   ปรากฏอยู่ในหนังสือเรื่องอะไรที่นายกุหลาบพิมพ์  ผมได้เคยถามคำถามอย่างนี้กับคนที่เขาตามอ่านงานของนายกุหลาบมาหลายปี  เขายืนยันว่า  ยังไม่เคยเจอข้อความที่อ้างถึงนี้ในหนังสือนายกุหลาบสักเล่มเดียว  

เคยถามตัวเองด้วยคำถามนี้เหมือนกัน  ได้คำตอบมา ๒ ข้อ ถึงความเป็นไปได้
๑  หาต่อไป  ไม่เจอ ไม่ได้แปลว่าไม่มี   โดยเฉพาะเมื่อมีคำอ้างอิงในพระนิพนธ์   ดิฉันก็ไม่เชื่อว่าสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ท่านจะลงทุน "กุ" เรื่องขึ้นมาเล่นงานนาย "กุ" ซึ่งเป็นคนบ้าสติเฟื่องในสายพระเนตร

นายกุหลาบเองก็ปัญญาชนไม่ใช่ย่อย   ถ้าโดนใส่ร้ายถึงขนาดนี้คงขนหนังสือทั้งหมดที่มีมาถวายฎีกาแล้วว่า ไม่เคยเขียนคำนั้น   หรือท้าให้เอาหนังสือเล่มนั้นมาพิสูจน์กันให้เห็นซึ่งๆหน้า
หรือไม่มีหนังสือแต่มีพยาน ก็เอาพยานมาพิสูจน์กันเลย
แต่ก็ไม่เห็นแกจะเถียงอะไรหรือพยายามเขียนพิสูจน์ความจริงเอาไว้ให้ลูกหลานนำมาเปิดเผยได้

๒  หนังสือนั้น ถูกเก็บไปทำลายแล้ว    เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ และสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ไม่น่าจะปล่อยไว้ให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ


อ้างถึง
กรณีนายกุหลาบแทรกข้อความลงในหนังสือที่คัดลอกมาแต่หอหลวง  ถ้าจะเทียบได้กับการชำระพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์  เพื่อพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกแล้ว   ยังนับว่า นายกุหลาบทำเบากว่า   เพราะข้อความเดิมไม่หาย  แต่กรณีพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ มีข้อความบางแห่งหายไปอย่างมีนัยยะสำคัญ

ส่วนเรื่องเจ้าพระยาทิพากรวงศ์   ควรพิจารณาว่า
๑ เจตนาที่ข้อความเดิมหายไป คืออะไร    เป็นเจตนาแบบเดียวกับนายกุหลาบทำเรื่องพระจุลปิ่นเกษ หรือไม่
หรือว่าเจ้าพระยาท่านทำเพราะมีเหตุผลรองรับอยู่   ข้อนี้ต้องดูที่มาที่ไปก่อนจะนำมาเปรียบเทียบเหมือนเป็นเรื่องทำนองเดียวกัน
๒ ถ้ามีเจตนาแต่งเติมเปลี่ยนแปลงพงศาวดารให้ผิดเพี้ยน ตามใจชอบ  หรือเป็นอุบายหาข้อแก้ตัวไม่ให้ถูกจับได้  ก็ผิด
 หรือเหตุผลอื่นๆที่ท่านทำ มองเห็นได้ว่าทำผิด   ก็ถือว่าผิด  แต่การที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ผิด ก็ไม่ได้ทำให้เรื่องที่นายกุหลาบทำ กลายเป็นไม่ผิดไปได้

เหมือนบอกว่าทีขับรถฝ่าสัญญาณไฟจราจร ตำรวจจับว่าทำผิด   ทีไล่ยิงถล่มอาวุธสงครามกัน ตำรวจไม่ยักจับ  เหมือนไม่ผิด  ถือว่าไม่ยุติธรรม  
ข้ออ้างนี้ไม่สมควร     ที่จริงคือต้องบอกว่าผิดทั้งสองกรณี แต่ผิดมากผิดน้อยเท่านั้น    


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 22 มี.ค. 10, 15:47

ส่วนเรื่องเจ้าพระยาทิพากรวงศ์   ควรพิจารณาว่า
๑ เจตนาที่ข้อความเดิมหายไป คืออะไร    เป็นเจตนาแบบเดียวกับนายกุหลาบทำเรื่องพระจุลปิ่นเกษ หรือไม่
หรือว่าเจ้าพระยาท่านทำเพราะมีเหตุผลรองรับอยู่   ข้อนี้ต้องดูที่มาที่ไปก่อนจะนำมาเปรียบเทียบเหมือนเป็นเรื่องทำนองเดียวกัน
๒ ถ้ามีเจตนาแต่งเติมเปลี่ยนแปลงพงศาวดารให้ผิดเพี้ยน ตามใจชอบ  หรือเป็นอุบายหาข้อแก้ตัวไม่ให้ถูกจับได้  ก็ผิด
 หรือเหตุผลอื่นๆที่ท่านทำ มองเห็นได้ว่าทำผิด   ก็ถือว่าผิด  แต่การที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ผิด ก็ไม่ได้ทำให้เรื่องที่นายกุหลาบทำ กลายเป็นไม่ผิดไปได้

เหมือนบอกว่าทีขับรถฝ่าสัญญาณไฟจราจร ตำรวจจับว่าทำผิด   ทีไล่ยิงถล่มอาวุธสงครามกัน ตำรวจไม่ยักจับ  เหมือนไม่ผิด  ถือว่าไม่ยุติธรรม 
ข้ออ้างนี้ไม่สมควร     ที่จริงคือต้องบอกว่าผิดทั้งสองกรณี แต่ผิดมากผิดน้อยเท่านั้น     

ประเด็นนี้ คุณเทาชมพูเข้าใจข้อความผมที่ว่า 

กรณีนายกุหลาบแทรกข้อความลงในหนังสือที่คัดลอกมาแต่หอหลวง  ถ้าจะเทียบได้กับการชำระพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์  เพื่อพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกแล้ว   ยังนับว่า นายกุหลาบทำเบากว่า   เพราะข้อความเดิมไม่หาย  แต่กรณีพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ มีข้อความบางแห่งหายไปอย่างมีนัยยะสำคัญ 

ยังไม่ตรงตามที่ผมต้องการสื่อความหมายที่แท้จริง  เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับเจ้าพระทิพากรวงศ์  แต่เกี่ยวกับคนที่ชำระพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ ฉบับพระยาทิพากรวงศ์ เพื่อจะพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก เมื่อปี ร.ศ. ๑๒๐   กรณีนี้ถ้าจะยกอุปมาให้เห็นภาพเทียบเคียง   มีชายสองคนเห็นชายคนหนึ่งลักของคนอื่น   สมมติชายคนแรกที่เห็นเหตุการณ์ชื่อ นาย ก  ชายคนที่สอง ชื่อ นาย  ข   ชายที่ลักของชื่อ นาย ค   ต่อมาเจ้าของของที่  ค ลักไป นั้น  ทราบว่า  นาย ก นาย ข ได้เห็นเหตุการณ์ว่าใครมาลักของของเขา  จึงเรียกชายทั้งสอง มาถาม  ทั้งสองให้การดังนั้น 

นาย ก ให้การว่า เห็น นาย ค ลักของของเขาไปจริง  แต่แทนที่จะเล่าแต่เท่านั้นกลับเพิ่มเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องไปด้วย อย่างว่า ก่อนที่นาย ค จะมาลักของ นาย ค ไปนั่งกินก๋วยเตี๋ยวที่ตลาด ไปเล่นไพ่  แถมยังเล่าเลยเถิดไปว่า นาย ค ลักของไปกี่อย่าง ทั้งที่ไม่เห็นถึงขนาดนั้น

ส่วนนาย ข ให้การว่า ไม่เห็นว่า ใครมาลักของของเขาเลย 

เจ้าของได้ฟังคำให้การของชายสองคน แล้วนำไปเทียบกับสิ่งที่ได้จากการสืบสวนของตำรวจและพยานคนอื่นๆ แล้ว  ก็รู้ว่า ใครพูดจริง  ใครที่ปกปิดความจริง   ถ้าเป็นอย่างนี้  คุณเทาชมพูคิดว่าใครควรมีโทษ

ย้อนกลับที่เรื่องนายกุหลาบแต่งเติมพงศาวดาร  เอาล่ะ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง  ควรถามกลับว่า  เมื่อนายกุหลาบพิมพ์หนังสือพงศาวดารโดยแต่งเติม แต่จากนั้นไม่นาน  หอพระสมุดพิมพ์ฉบับที่ไม่ได้แต่งเติมออกมา   และก็พิมพ์ซ้ำออกมาเรื่อย  ในขณะที่นายกุหลาบพิมพ์ นั้นไม่ได้พิมพ์ซ้ำ   คุณเทาชมพูคิดว่า  หลังจากนั้นฉบับของนายกุหลาบที่แต่งเติมนั้นจะมีคนใช้สักกี่มากน้อย   เอาล่ะ  ในช่วงแรกคนอาจจะเชื่อตามฉบับของนายกุหลาบ เพราะพิมพ์ก่อน ย่อมได้เปรียบ แต่พอฉบับของหอพระสมุดออกมา  ฉบับของนายกุหลาบก็จะถูกเขี่ยทิ้งไปเอง    เพราะคนอ่านเขารู้ว่าตรงใดที่นายกุหลาบเอาข้อความอื่นมาแทรกบ้าง    ขอให้สังเกตว่า  หนังสือเรื่องอะไรที่นายกุหลาบพิมพ์ไว้  ถ้ามีฉบับของหอพระสมุด คนก็ยึดเชื่อเอาฉบับของหอพระสมุดมากกว่า    ฉบับของนายกุหลาบก็ไม่มีคนอ้าง   แต่การจะไปกล่าวของนายกุหลาบพิมพ์ไม่น่าเชื่อถือไปทั้งหมดคงไม่ได้  เพราะมีความรู้ข้อมูลบางอย่างที่นายกุหลาบพิมพ์ออกมา  ไม่เคยมีพิมพ์ในหนังสือหอพระสมุดเลย  เช่นประวัติตระกูลขุนนางต่างๆ  ซึ่งเดี๋ยวคนที่ค้นคว้าเรื่องต้นตระกูลต่างๆ ก็อาศัยหนังสือของนายกุหลาบกันทั้งนั้น  และใช้กันมานานแล้ว  เพียงแต่สมัยก่อนท่านเล่นเอาของนายกุหลาบมาโดยไม่อ้าง (อาจจะเกรงว่า ถ้าอ้างนายกุหลาบแล้วคนไม่เชื่อถือก็ได้ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะไปหาข้อมูลยิ่งกว่านายกุหลาบได้ที่ไหน  จึง.....) ภายหลัง  ชื่อนายกุหลาบเป็นที่ยอมรับทางวิชาการมากขึ้น  เพราะสิ่งที่นายกุหลาบเขียนหลายอย่าง  มีเอกสารหลักฐานรองรับว่าเป็นจริงตามที่นายกุหลาบว่า   กระนั้นก็ยังเป็นวงแคบ  เพราะคนส่วนมากยังมีมายาคติเดิมๆ อยู่  กระทั่งคนที่จะอ้างนายกุหลาบก็ยังกล้าๆ กลัวๆ กันอยู่

ส่วนเรื่องที่ว่ายังหาไม่เจอข้อความดังว่า   ทางกฎหมาย  เราจะไปกล่าวหาใครว่าเป็นโจรเป็นฆาตกร  โดยไม่มีหลักฐาน  ไม่ได้  ผมเชื่อว่า สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ พระองค์คงไม่ทรงโกหกเรา  แต่เราไม่เห็นหลักฐานที่พระองค์ทรงอ้างถึง  ฉะนั้น เราจะรีบสรุปว่า นายกุหลาบผิดแล้วกระนั้นหรือ   ตราบเท่าที่ยังไม่เห็นหลักฐาน  เพียวแต่คนพูดว่าเห็นหลักฐานนั้น  เราคงจะเอามาตัดสินทันทีไม่ได้   และถึงมีจริง  ก็ยังไปตีตราค่าชื่อนายกุหลาบว่า กุไปเสียทุกเรื่องไม่ได้  ถ้ายังไม่ได้อ่านงานของนายกุหลาบเสียก่อน  ผมเองไม่ได้สรุปว่าสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงโกหก  และยังไม่สรุปด้วย  แต่จำเป็นต้องยกประโยชน์แก่นายกุหลาบไว้ก่อน 

ส่วนเรื่องสอบนายกุหลาบ  ไม่ทราบว่าคุณเทาชมพูได้อ่านหนังสือจดหมายเหตุไต่สวนนายกุหลาบแล้วหรือยัง 


(โฮ้ย  เหนื่อยจัง)


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 มี.ค. 10, 17:22
อยากอ่านค่ะ

อ้างถึง
เจ้าของได้ฟังคำให้การของชายสองคน แล้วนำไปเทียบกับสิ่งที่ได้จากการสืบสวนของตำรวจและพยานคนอื่นๆ แล้ว  ก็รู้ว่า ใครพูดจริง  ใครที่ปกปิดความจริง   ถ้าเป็นอย่างนี้  คุณเทาชมพูคิดว่าใครควรมีโทษ

ผิดทั้งคู่ละค่ะ   ถ้ามีโทษ ก็มีทั้งคู่ 
คนหนึ่งให้การเท็จ อีกคนช่วยปกปิดความผิด  ส่วนโทษมากน้อยแค่ไหน แล้วแต่กฎหมายระบุไว้อย่างไร
แต่ไม่ใช่ว่า ถ้าตำรวจเล่นงานคนหนึ่ง แล้วไม่เล่นอีกคน  ก็ไม่ควรตำหนิคนแรก   ตรรกะนี้ผิด

ทั้งหมดนี้เป็นการแสดงความคิดเห็น  ใครจะเห็นด้วยกับคุณหรือดิฉัน ก็แล้วแต่ใจ    ดิฉันไม่ขัดข้องและไม่คัดค้าน 
แต่ขอไม่เปลี่ยนจุดยืนค่ะ


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 23 มี.ค. 10, 07:34

เรียน สหายเพ็ญชมพู    สหายคุณหลวงเล็ก(ว่าที่คุณพระ ริชาร์ด ใจสิงห์)  คุณเทาชมพู    และท่านที่เคารพนับถือทั้งปวง

 
         ในฐานะนักอ่านหนังสือเก่า  ผู้พอมีสมบัติอยู่บ้าง    ขอสนับสนุนข้อมูล
ด้วยความเต็มใจ  และจะหารายละเอียดจากต้นฉบับ  มาเสนอ เป็นระยะ ๆ รายทางไป



จดหมายเหตุ
เรื่องไต่สวนนายกุหลาบ
ซึ่งแต่งประวัติสมเด็จพระสังฆราชขึ้นทูลเกล้าถวาย
......................................................

พิมพ์ในงานพระศพ
พระเจ้าบรมวงศเธอ  พระองค์เจ้าแขไขดวง
ครบศตมาห
วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน  พ.ศ. ๒๔๗๒

......................................

โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร





คำนำ
โดยสมเด็จกรมพระยาดำรง   นายกราชบัณฑิตยสภา
เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน  ฑ.ศ. ๒๔๗๒   
๗ หน้า



ขออนุญาตย่อแบบเก็บความ คือ สั้นในที่ซึ่งควรสั้น   และยาวในที่ซึ่งควรยาว
เพราะสำนวนและรายละเอียดของการสอบสวนจริง ๆ นั้น  ไม่มีอะไรเลย

ไม่มีอะไรจริงๆ

เพราะคำวินิจฉัยของคณะกรรมการปฤกษากัน  ในหน้า ๖ - ๗ นั้น  ลงไว้ตามนี้


        คำนำ                                                                                                                                     ตกลงใช้ได้

๑     ว่าด้วยลำดับวงศ์เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์   หรือเจ้าพระยาวิไชยชำนาญยุทธ
ที่อ้าง  ตำราามุขมาตยานุกูลวงศ์ว่าเปนของเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช บุญรอด  ถวายกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิดนรส               ใช้ได้

       เรื่องตระกูลเจ้าขรัวเงิน                                                                                                                   ใช้ได้

       เรื่องใช้คำนำพระนามกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสว่าพระเจ้าบรมวงศเธอ                                                       ใช้ได้

       เรื่องนายกุหลาบอ้างว่ากรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสเปนพระอุปัชฌาชย์
       ตกลงจะเรียกนายกุหลาบมาสอบอีกครั้งหนึ่ง                                                                                          ใช้ได้

       ข้อที่นับสมเด็จพระบรมราชาที่ ๓   ว่าเปนพระเจ้าแผ่นดินที่ ๓๓                                                                     ใช้ได้


๒     ว่าด้วยลำดับวงศ์สมเด็จพระสังฆราช                                                                                                   ใช้ได้

๓     ว่าด้วยนายกุหลาบโยงวงศ์สมเด็จพระสังฆราชเข้ากับวงศ์เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์                                                ใช้ได้

๔     ว่าด้วยสมเด็จพระสังฆราชเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักอาจารย์อ้น                                                                  ใช้ได้

๕     ข้อที่ว่าสมเด็จพระสังฆราชสึกจากสามเณรกลับไปอยู่บ้านเดิมบางไผ่ใหญ่                                                           ใช้ได้

๖     ข้อที่ว่าบวชเณรใหม่  ถืออุปัชฌาชย์ในสำนักพระพิมลธรรม(พร)                                                                     ใช้ได้

๗    ข้อที่ว่าสมเด็จพระสังฆราชเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักอาจารย์อ่อน                                                                 ใช้ได้

๘    ข้อที่ว่าถวายตัวสมเด็จพระสังฆราชแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว                                                        ใช้ได้




กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 23 มี.ค. 10, 07:55
คำวินิจฉัย  ที่เอ่ยมานั้น   ไม่ทราบไปเก็บไว้ที่ไหน   คงจะน่าอ่านมาก



คำนำ          อ่านได้จาก ราชกิจจา เล่ม ๑๘  หน้า ๘๗  ออกเมื่อ วันที่ ๑๒ พฤษภาคม  ร.ศ. ๑๒๐(พ.ศ. ๒๔๔๔)


ย่อความ

สำนวนการสอบสวน เดิมเก็บไว้ที่วัดบวรนิเวศ
ร.​๖ ประทานสมเด็จกรมพระยาดำรง ให้รักษาไว้ในหอสมุดสำหรับพระนคร



สมเด็จกรมพระยาดำรง ทรงอยากพิมพ์แต่ลังเลพระทัยว่า

จะเป็นประโยชน์หรือไม่
เป็นแต่เรื่องมุสาวาทของนายกุหลาบ   ใครๆ ในสมัยนั้นก็รู้อยู่ด้วยกันว่า  นายกุหลาบชอบแต่งหนังสือเอาความเท็จมาแทรกหนังสือเก่าบ้าง
แต่งขึ้นใหม่แล้วอ้างอวดว่าได้ฉะบับมาจากที่โน่นที่นี่บ้าง   ลวงผู้อื่นให้หลงเชื่อว่าเปนจริง

หามีแก่นสารซึ่งจะเปนประโยชน์แก่ทางความรู้ไม่


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 23 มี.ค. 10, 08:02


ต่อมามีคนมาขอคัดหนังสือบางเรื่องซึ่งนายกุหลายแต่ง เพื่อจะเอาไปใช้เปนตำราโบราณคดี

สมเด็จกรมพระยาดำรงทรงเห็นว่า  ถึงเวลาที่จะอธิบายให้คนสมัยนี้รู้ว่า

หนังสือของนายกุหลาบเป็นอย่างไรจึงจะไม่หลงเชื่อ



กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 23 มี.ค. 10, 08:35
อ้างถึง
จากนิราศยี่สาร  ก.ศ.ร.กุหลาบแต่งเมื่อเดินทางพร้อมด้วยลูกสาวไปตากอากาศที่เขายี่สาร พ.ศ.๒๔๒๒   (พิมพ์ครั้งแรก ที่โรงพิมพ์ครูสมิธ (คงในหลังจากแต่งเสร็จไม่นาน)  ต่อมาอีก ๑๑๗ ปี (พ.ศ.๒๕๓๙) คุณอาจิณ  จันทรัมพร  ได้นำมาพิมพ์อีกครั้งหนึ่งในหนังสือ "สวนหนังสือ" ฉบับที่ ๒๒    ต่อจากนั้น  ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ตลิ่งชัน ได้พิมพ์ออกเป็นเล่มจำหน่ายอีกครั้ง จำนวน  ๒๐๐๐ เล่ม เมื่อพฤศจิกายน ๒๕๔๓ ปัจจุบันยังสามารถหาซื้อมาอ่านได้)

ขอแก้ไขข้อมูล  ที่ถูกต้องคือ  นิราศยี่สาร  พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรก ในหนังสือจดหมายเหตุสยามไสมย ของครูสมิธ  จากนั้นจึงได้ พิมพ์ออกเป็นเล่มหนังสือที่โรงพิมพ์ครูสมิธ จากนั้น อีก ๑๑๗ ปี คุณอาจิณ จันทรัมพร เอามาพิมพ์ลงใน สวนหนังสือ เล่มที่ ๒๒  และล่าสุดคือ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร นำมาพิมพ์เป็นเล่ม เมื่อ ๒๕๔๓   นิราศยี่สารของนายกุหลาบได้ตีพิมพ์เผยแพร่มาแล้ว  ๔ ครั้ง


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 มี.ค. 10, 08:37
คำวินิจฉัย  ที่เอ่ยมานั้น   ไม่ทราบไปเก็บไว้ที่ไหน   คงจะน่าอ่านมาก

คำนำ          อ่านได้จาก ราชกิจจา เล่ม ๑๘  หน้า ๘๗  ออกเมื่อ วันที่ ๑๒ พฤษภาคม  ร.ศ. ๑๒๐(พ.ศ. ๒๔๔๔)

นำข้อมูลเกี่ยวกับการกล่าวโทษ ก.ศ.ร.กุหลาบ ที่ลงในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๘  วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๐ มาเสนอ

พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง ประวัติสมเด็จพระสังฆราชที่นายกุหลาบเรียบเรียงลงพิมพ์นำขึ้นทูลเกล้าถวาย
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2444/006/1.PDF

คำวินิจฉัยของกรรมการไต่สวน
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2444/006/2.PDF

 8)



กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 23 มี.ค. 10, 09:44
ขอบคุณค่ะคุณเพ็ญ  เรื่องที่ลงในราชกิจจาก็อยู่ในหนังสือ  จดหมายเหตุเล่มนี้



หน้า (ซ)

นายกุหลาบถูกไต่สวนเรื่องแต่งหนังสือเท็จในรัชกาลที่ ๕ ถึง ๔ ครั้ง

รายงานฉบับนี้เป็นแต่ครั้งเดียวและครั้งที่ ๓

ครั้งที่ ๑  พระปิ่นเกษและพระจุลปิ่นเกษ
นายกุหลาบรับสารภาพว่าหามีหลักฐานอันใดไม่  เป็นแต่คิดประดิษฐขึ้นเองทั้งสิ้น



ในปี พ.ศ. ๒๔๔๓   อธิบายระเบียบการพระราชทานเพลิงพระศพ เมื่องานพระเมรุสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ
นายกุหลาบสารภาพว่า  หามีตำหรับตำราอันใดไม่  เป็นแต่คิดแต่งขึ้นอวดผู้อื่น
มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๘ หน้า ๕๓  ออกเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ร.ศ. ๑๑๙


เรื่องที่ ๔ คือใบปลิวพบต้นฉะบับกฎหมายพระเจ้าท้ายสระ
เรื่องนี้ก็ได้มีเล่าไว้ในหนังสือหลายเล่มแล้ว

  


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 23 มี.ค. 10, 10:15
หนังสือสารภาพของนายกุหลาบ  ยื่นเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม



         การที่ได้เรียบเรียงประวัติสมเด็จพระสังฆราชนั้น     ข้าพระพุทธเจ้ามิได้ตั้งจิตรคิดเจตนา
มุ่งหมายจะกล่าวเท็จหามิได้เลย   เปนความสัตย์ความจริงขิงข้าพระพุทธเจ้า


บัดนี้คณะกรรมการได้ทรงไต่สวนข้าพระพุทธเจ้า    ข้าพระพุทธเจ้าจึงรู้สึกด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม
ว่าข้าพระพุทธเจ้ามีความผิดพระราชอาญาไม่พ้นเกล้า ฯ  ๕ ประการคือ

๑     ข้าพระพุทธเจ้ามิได้ส่งต้นร่างไปถวายอธิบดีกรมราชเลขานุการ  ขอรับพระราชทานบรมราชานุญาตก่อน

๒     ข้าพระพุทธเจ้าเปนคนหยาบใจเบาโง่เขลา   หลงเชื่อตำราเก่าที่คัดลอกต่อกันมาหลายชั่วคน   กล่าวถึงต้นวงศ์เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์(อู่)
       นำมาต่อเปนต้นวงศ์สมเด็จพระสังฆราชด้วย         เพราะได้ทราบที่สมเด็จพระสังฆราชบอกว่า  เจ้าพระยาชำนาญ ฯ  เปนตาสมเด็จพระสังฆราช

๓     ข้าพระพุทธเจ้าเปนคนใจเบา  เชื่อคำบอกเล่าซึ่งบัดนี้ล่วงชนม์ชีพไปแล้ว         ไม่มีหลักฐานพยานมั่นคงอันใด
       นำมาลงไว้ในประวัติสมเด็จพระสังฆราช    จึงมีความผิดซึ่งไม่ควรจะเชื่อถือได้

๔     ข้าพระพุทธเจ้าเชื่อคำบอกเล่าคนเก่าและญาติของสมเด็จพระสังฆราชบอกให้ฟังอย่างไร  ก็เก็บมาเรียบเรียงในประวัติ

๕     ข้าพระพุทธเจ้าหาได้สืบถามตามพระเณร  ซึ่งมีชีวิตอยู่เดี๋ยวนี้ไม่   ข้อความยังคลาดเคลื่อนบกพร่องอยู่หลายประการ


         ข้าพระพุทธเจ้าอาศัยเหตุ ๕ ประการนี้   มาเรียบเรียงเปนประวัติสมเด็จพระสังฆราชนั้น    รู้สึกด้วยเกล้า ฯ ว่า   ข้าพระพุทธเจ้ามีความผิดด้วยทางราชการ  พระราชอาญาไม่พ้นเกล้า ฯ
ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ   ขอเดชะ



คณะกรรมการเห็นว่า  นายกุหลาบหาได้สารภาพด้วยน้ำใจอันจริงไม่  เพราะยังอำพรางปิดบังความจริงอยู่


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 23 มี.ค. 10, 10:32
จึงเรียกนายกุหลาบมาชี้แจงให้เข้าใจ
นายกุหลาบขอถอนคำนั้น  ว่าจะไปเรียงมาใหม่


หนังสือสารภาพที่นายกุหลาบยื่นเมื่อ ๒๔ มีนาคม


๑    นายกุหลาบอ้างพยานที่ยังมีตัว  มีนายเทียนวรรณเปนต้น
พยานเบิกความเปนปฎิปักษ์แก่คำของนายกุหลาบบ้าง   เบิกความไม่ถึงบ้าง
นายกุหลาบก็มิได้ซักกรรมการรเห็นว่าพยานพิรุธ

ข้อที่นายกุหลาบอ้างพยานไม่ได้จริงเช่นนี้   จะให้กรรมการเข้าใจว่าอย่างไร   นอกจากนายกุหลาบจงใจกล่าวเท็จ

๒   ข้อที่นายกุหลาบอ้างตำรา  กรรมการได้ให้นายกุหลาบส่งตำรามาพิสูจน์  
ตำราของนายกุหลาบเองกลับเปนปฏิปักษ์แก่คำของนายกุหลาบ

นายกุหลาบอ้างตำราไม่ได้จริงเช่นนี้   จะให้กรรมการเข้าใจว่ากะไร   นอกจากนายกุหลาบจงใจกล่าวเท็จ

๓   เมื่อความปรากฎว่านายกุหลาบจงใจกล่าวเท็จเช่นนี้แล้ว   คำที่.....................................
............................จะฟังว่าเปนความจริงอย่างไร

นายกุหลาบสารภาพพอเปนที  มิได้สารภาพตามนำ้ใจอันจริง   ยังปิดบังไว้

จึงคืนคำสารภาพฉบับนี้ให้นายกุหลาบ  ไม่ยอมนำถวาย

วันที่ ๒๕ มีนาคม ร.ศ. ๑๑๙


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 23 มี.ค. 10, 10:45
ในปี พ.ศ. ๒๔๔๓   อธิบายระเบียบการพระราชทานเพลิงพระศพ เมื่องานพระเมรุสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ
นายกุหลาบสารภาพว่า  หามีตำหรับตำราอันใดไม่  เป็นแต่คิดแต่งขึ้นอวดผู้อื่น
มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๘ หน้า ๕๓  ออกเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ร.ศ. ๑๑๙
  

เอ...คุณวันดี ข้อมูลของผมค้นได้ เป็น รายงานเสนาบดีกระทรวงวัง  ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๗ ตั้งแต่หน้า๗๗๐ ถึงหน้า๗๗๓ ออกเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ร.ศ. ๑๑๙  นะครับ :-\ ???


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 23 มี.ค. 10, 11:25
ขอบคุณค่ะ   คุณหลวง ถูก   อิฉันพลาด
หมึกพิมพ์ของดิฉันเลอะเลือน



เป็นเพราะดิฉันนึกเรื่อยไปถึง เมื่อสมเด็จพระบรมสวรรคต
ราขกิจจา เล่ม ๑๑  แผ่น(ตอนที่) ๔๑  วันที่ ๖ มกรา ร.ศ. ๑๑๓  หน้า ๓๒๘
(อ่านมาจาก พระภรรยาเจ้า ของ นายแพทย์ จิรวัฒน์  อุตตมะกุล)


และงานพระเมรุมาศ

ราชกิจจา เล่ม  ๑๗    แผ่น(ตอน)ที่ ๔๔ วันที่ ๒๗ มกราคม ร.ศ. ๑๑๙  หน้า ๖๒๓ - ๖๒๔
(อ่านมาจาก อ้างอิงข้างบน)



พยายามจะนึกว่า ก.ศ.ร.   เติมอะไรเข้ามาหนอ
(ตอนรัชกาลที่ ๓  ท่านเติมเรื่องงานพระเมรุอยู่เหมือนกัน  แปลกดี)
ว่างจะไปหามาดวลดาบสองมือกับคุณหลวงอีกครั้ง



กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 23 มี.ค. 10, 12:16
คุณวันดี ว่าตามคำนำ พระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ในหนังสือจดหมายเหตุไต่สวนนายกุหลาบใช่ไหมเอ่ย

 ในคำนำนั้นว่า  "แจ้งอยุ่ในเล่ม ๑๗ หน้า ๕๓ ซึ่งออกเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ร.ศ. ๑๑๙ (พ.ศ. ๒๔๔๓)"

ผมสงสัยว่า สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ จะทรงอ้างจากราชกิจจานุเบกษาฉบับที่ยังไม่ได้เย็บเล่มรวมปี หรือเปล่า?


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 มี.ค. 10, 12:54
เมื่อหลวงนายสิทธิ์ ออกเรือไปเมืองแขก จีน และญี่ปุ่น เพื่อซื้อของมาทำการพระเมรุพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์
นายกุหลาบก็ติดเรือไปด้วย

แขกในที่นี้คงหมายถึงแขกมลายู

ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ในหนังสือ "ข้าหลวงไปจัดซื้อสิ่งของต่าง ๆ ณ เมืองกวางตุ้ง" เล่ม ๑ และเล่ม ๒ ไม่เคยเห็นต้นฉบับ แต่ในหนังสือของคุณมนันยาว่าไปแวะที่สิงคโปร์ ไซง่อน ฮ่องกง ส่วนอาจารย์เครกว่าแวะญี่ปุ่นด้วย จุดหมายปลายทางก็คือประเทศจีน

 ;D


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 มี.ค. 10, 15:11
สำเนาพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงพระยายามราช (ปั้น สุขุม) ทรงตำหนิ ก.ศ.ร.กุหลาบ

จากหนังสือพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) วันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๒ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 มี.ค. 10, 15:46
พระราชวิจารณ์เรื่อง "ตากุ"

 :D


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 23 มี.ค. 10, 17:01
เรื่องขนบธรรมเนียมราชประเพณี
ถวายพระเพลิง
พระบรมศพพระมหากษัคริย์และพระมหาอุปราชย์กรุงเทพ  ในระหว่าง ๑๑๙ ปี

อ่านมาจาก สยามประเภทเล่ม ๔  รวมเล่ม

พระพิทักษ์โยธาหาญ(เผือก) ถามว่า อาจาริย์ได้เห็นงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ
สมเด็จพระบรมโอรสา สยามมงกุฎราชกุมาร ผิดแปลกกว่าแต่ก่อนประการใดบ้าง


ก.ศ.ร. ได้ทีบอกว่า  จะตอบตามตำราราชการในกรุงเทพทั้ง ๕ รัชกาล
มีอยู่ในสมุดไทย ๖๕ หรือ ๗๐ เล่ม

พัลวันอยู่บ้าง 

บางครั้งพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นพระเมรุพร้อมกับกรมพระราชวังบวร  ถวายพระเพลิงก่อน
แล้วพระราชวงศานุวงศ์ และข้าทูลละอองพระบาททั้งหลาย จึงถวายพระเพลิงเป็นลำดับไป

นักอ่านทั้งหลายไม่มีปัญหาในเรื่องนี้ ถึงจะเป็นตระกูลขุนนางน้อยก็โยงความเข้าใจได้


เรื่องที่จำได้ตลอดมาเพราะแปลกประหลาดมาก ก็ งานพระราชทานเพลิงพระบรมศพ กรมพระราชวังบวรที่ ๓


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 23 มี.ค. 10, 17:31
จุลศักราช ๑๑๙๕ ปีมะเสง เบญจศก   ณ วันศุกร์เดือน ๕  แรมสองค่ำ
เป็นวันพระราชทานเพลิงพระบรมศพ  พระบวรราชเจ้ามหาศักดิ์พลเสพย์  กรมพระราชวังบวร ฯ
ในรัชกาลที่ ๓  กรุงเทพ

วันนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรขัดพระเพลา  จะเสด็จพระราชดำเนินก้าวพระบาทขึ้นอัฒจันทร์ถานปูน
ไปพระราชทานเพลิงไม่ได้

จึ่งพระราชทานธูปเทียนให้แก่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ  เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศร์รังสรรค์

กรมขุนอิศเรศร์รังสรรค์รับธูปเทียนจากพระหัตถ์ไปจะพระราชทานเพลิงแทนพระบาทสมเด็จพระพระจ้าวอยู่หัว

กรมหลวงรักษ์รณเรศร์  คลานเข้าไปกระซิบที่พระกรรณ  กรมขุนอิศเรศร์ ว่าดั่งนี้

"เธอเปนผู้แทนสมเด็จพระจ้าวอยู่หัว  เมื่อจะจุดไฟนั้น  เธออย่าถวายบังคมพระบรมศพ
เมื่อจุดไฟแล้ว  เธอจึ่งออกมา  ถวายบังคมสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้นพอแล้ว"




ในงานพระราชทานเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช  
พระเจ้าบวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิศาลบวรศักดิ์ เปนผู้ทรงรับฉันทะถวายธูปเทียนถวายพระเพลิง
ทรงคุกเข่าถวายบังคมสามครั้ง
เพราะสมเด็จพระบรมทรงพระเดชานุภาพ พระอิศริยศใหญ่กว่าพระบรมราชวงศานุวงศ์ทั้งหลาย




กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 24 มี.ค. 10, 05:44
เรื่อง กรมอาษาปราบจาม นั้น   มีอยู่ในหนังสือต้นเหตุจีนสามอย่างพิสดาร
พิมพ์ที่โรงพิมพ์ สยามประเภท  ริมวัดราชบพิธ  ถนลเฟื่องนคร
กรุงเทพ ฯ  ศก ๑๒๙

มาซื้อเองที่โรงพิมพ์ราคา ๔๐ สตางค์
ส่งทางไปรสนีย์ ราคา ๕๐ สตางค์

ได้เห็นต้นฉบับและคัดลอกไว้

หนังสือบาง  มีแค่ ๖๐ หน้า
มีโฆษณา  ๔ หน้า


ก.ศ.ร. เขียนเรื่องนี้เมื่อสูงอายุแล้ว  ข้อความเคลื่อนมาก


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 24 มี.ค. 10, 08:18
จดหมายเหตุ เรื่องไต่สวนนายกุหลาบนั้น    มีเรื่องของนายวรรณ พยาน หลายตอน  น่าอ่านมาก
เพราะเรื่องนี้ พยานโดนเต็ม ๆ


นายวรรณ​เป็นลูกของลูกผู้น้องของสมเด็จพระสังฆราช(สา)


ประวัติสมเด็จพระสังฆราชชั้นโยมผู้หญิงของท่านนั้น   นายกุหลาบให้การว่า  ไม่ได้รู้ด้วยตนเอง  ถามและทราบมาจากนายวรรณเป็นพื้น

รายงานการสอบสวน ๔๗ หน้า  พูดเรื่องนายวรรณ ๗ หน้า

คณะกรรมการเห็นว่า คำของนายวรรณมีพิรุธ  จึงไม่ควรฟังเอาเป็นจริง


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 24 มี.ค. 10, 08:29
วันนี้ คุณหลวงเล็ก ไม่อยู่ในค่าย   มีภาระกิจเกี่ยวกับหนังสือเก่า ที่กระทรวงยุทธนา

สั่งดิฉันว่าถ้ามีมีศึกมา  ก็ให้ปะทะไปพลาง   ท่านจะกลับมา ๐๘๐๐ วันประหัส



ดิฉันคำนับรับคำ แล้วจึงแขวนป้าย พักรบ  ในพงศาวดารจีนเรียกว่า เหมียนเจียนป้าย  ตามที่ ขุนนางไทย บันทึกไว้









กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 24 มี.ค. 10, 09:44
หนังสือของนายกุหลาบ  มอบให้หอพระสมุดวชิรญาณ   ๒๙ เล่ม เป็นตัวเขียนทั้งสิ้น


พงศาวดารแขกชาติซันดาวิช   
คัดมาจากหนังสือบางกอกรีคอเดอ


อ่าน ซันดาวิชมาจาก สยามประเภท  อ่านอยู่ตั้งนานกว่าจะทราบว่า
เป็นประวัติ หมู่เกาะ ฮาวาย



วงษ์ตระกูลฝ่ายมารดาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงษ

วงษ์ตระกูลเจ้าพระยาภูธราภัย


และอื่น ๆ อีก



กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 24 มี.ค. 10, 10:02
"คณะกรรมการไต่สวน  เรียกหนังสือที่ให้นายกุหลาบส่งมาพิสูจน์

บางเรื่องก็ไม่เกี่ยวกับประวัติสมเด็จพระสังฆราช

เปนแต่เรียกมาเพื่อพิสูจน์ชื่อเสียงของผู้เรียบเรียงประวัตินั้น

เมื่อเสร็จธุระแล้ว ส่งคืน




เอาไว้แต่หนังสือ ปฐมวงศ์  แลหนังสือที่นายกุหลาบตั้งชื่อว่า  ต้นเหตุข้าราชการผู้น้อยได้รับพระราชทานเครื่องอิศริยยศ

ซึ่งนายกุหลาบส่งในชื่อของตำรามหามุขมาตยานุกูลวงศ์"


?




กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 มี.ค. 10, 09:49
เรื่อง กรมอาษาปราบจาม นั้น   มีอยู่ในหนังสือต้นเหตุจีนสามอย่างพิสดาร
พิมพ์ที่โรงพิมพ์ สยามประเภท  ริมวัดราชบพิธ  ถนลเฟื่องนคร
กรุงเทพ ฯ  ศก ๑๒๙

ก.ศ.ร. เขียนเรื่องนี้เมื่อสูงอายุแล้ว  ข้อความเคลื่อนมาก

ร.ศ. ๑๒๙ = พ.ศ. ๒๔๕๓  ก.ศ.ร.กุหลาบมีอายุ ๒๔๕๓ - ๒๓๗๗ = ๗๖ ปี

ส. ธรรมยศ วิจารณ์ ก.ศ.ร.กุหลาบไว้ว่า

ก.ศ.ร.กุหลาบ ค่อนข้างจะเปรื่องไปทางโลดโผน จะหนีความจริงก็เอา จึงโดนตำหนิมาก งานที่พึงอ่านของ ก.ศ.ร.กุหลาบมีใน "สยามประเภท" ระยะสิบปีแรก ระยะกลางและระยะปลายติดจะฟุ้งไปอยุ่บ้าง จำต้องอ่านอย่างระมัดระวัง

 :)


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 มี.ค. 10, 10:12
สยามประเภท-สุนทโรวาทพิเศษฉบับแรกออกเมื่อวันศุกร์ที่  ๓ ธันวาคม ร.ศ. ๑๑๖ (พ.ศ. ๒๔๔๐) ก.ศ.ร.กุหลาบอายุได้ ๖๓ ปี


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 มี.ค. 10, 10:31
หน้าต่อมาในอารัมภะวัณณะคาถา (คำนำ) ก.ศ.ร.กุหลาบได้ชี้แจงว่าได้คิดทำหนังสือนี้มาประมาณ ๓๐ ปีเศษแล้ว และก่อนหน้าหนังสือสยามประเภท-สุนทโรวาทพิเศษเล่มนี้  ก.ศ.ร.กุหลาบได้จัดทำหนังสือสยามประเภทเสร็จครั้งแรกจริง ๆ เมื่อวันศุกร์ที่ ๑ เมษายน ร.ศ. ๑๑๑ (พ.ศ. ๒๔๓๕) ก.ศ.ร.กุหลาบอายุได้ ๕๘ ปี


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 25 มี.ค. 10, 18:30
ถ้าไม่เป็นการรบกวนคุณเพ็ญจนเกินไป     ฝากถามหอสมุดแห่งชาติทีว่ามี สยามประเภท กี่เล่ม  มีถึงเล่มไหนได้ไหมคะ


พยายามจากต้นฉบับที่พอมีอยู่บ้าง  ว่า พระจุลปิ่นเกษ  อยู่ตรงไหน  ก็ยังไม่เจอ
เจอแต่เรื่องพระปิ่นเกษ






จะขอเล่าเรื่องขัน ๆ ดีกว่า   ให้ชื่อว่า  เมื่อ ก.ศ.ร. เป็นนักสืบ

ใน สยามประเภท เล่ม ๒  ตอนที่ ๑๗  วันอังคารที่ ๑  สิงหาคม ร.ศ. ๑๑๘
สารบาญบอกว่า  คำโต้ตอบเบ็ตเล็ดต่างๆ ของ เอดิเตอร์  หน้า ๙๐๔


ในหน้า ๙๐๗

คำโคลงจากสวรรค์

(ของพระใบฏีกาห่วงอาจาริย์โรงเรียนเมืองนครสวรรค์)

หัว       เราะเยาะเล่นทั้งหญิงชาย
ล้าน     ผมหงอกมากหลายจริงแท้
นอก     คอกเพราะห์ติเตียนพระเณรนักปราชเฮย
ครู       แท้ท่านบออดอาจเอื้อมติสงฆ์

     เซ็น   พระใบฎีกาห่วง  เมืองนครสวรรค์


         มีคำร้อยแก้วติดมาข้างท้ายถามเราว่า  เรื่องอยู่คงกะภัณฑ์ชาตรีแทงฟันไม่เข้ายิงไม่ออก
แลทำคุณไสย์  เอาเนื้อหนังในท้องให้คนตายนั้น   จะเท็จจริงเป็นฉันใด   ขอร้องขอให้เราตอบ



        เราขอตอบสั้นๆ ว่า
จะเท็จจริงฉันใดไม่แจ้ง    แต่เรามาตริตรอง และอธิบายตามเข้าใจว่า
ถ้าวิชากะถาเหล่านี้มีจริง   เมืองไทยไปตีเมืองเวียงจันท์  เชียงใหม่  เชียงตุง  เขมรเป็นต้น

เมืองเหล่านี้มีวิชากถาสวดภาวะนาด้วยกันทุกเมือง
เหตุไฉนไม่เอาเนื้อหนังเข้าท้องข้าศึกให้ตายหมดเล่า
เหตุใดจึงยอมให้ข้าศึกตีบ้านเกิดเมืองนอนของตนได้

ให้มหาชนคิดตริตรองดูเทอญ
(ตอบต่ออีก ๑ หน้า)



กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 25 มี.ค. 10, 19:14
หนึ่งเดือนต่อมา

ใน สยามประเภทเล่ม ๒  ตอนที่ ๑๙  วันศุกร  ที่ ๑ กันยายน  ร.ศ. ๑๑๘

หน้า ๑๐๑๑

                    โคลงแสดงความบริสุทธื

ขอ   สิ่งศิริสวัสดิ์ได้                     อภิบาล
จง   ศุขเกษมสานต์                     ยิ่งแล้ว
มี    กับท่านอาจาริย์                    กุหลาบ    เถิดเนอ
ศุข  ได้  ไภยคลาดแคล้ว               เคลื่อนพ้นจากพาล

เขียนที่    โรงเรียน  ธรรมฐิติวงศ์พิทยากร      ในวัดโพธาราม   ปากน้ำโพ   เมืองนครสวรรค์

     เจริญพรท่านอาจาริย์ ก.​ศ.​ร. กุหลาบ เอดิเตอร์

อาตมภาพ อ่าน สยามประเภท ............................... พบถ้อยคำของคนพาลสันดานอยาบช้า
ที่ว่าเป็น ของ  พระใบฎีกาห่วง..............

เห็นแล้วสดุ้งใจกลัวว่าท่นอาจาริย์กับชนอื่น.......จะเข้าใจว่า  อาตมภาพผู้ชื่อพระห่วง ของเจ้าคุณ..........
ตั้งอาตมภาพเปนพระวินัยธรรมสอนนักเรียน

และเป็นผู้ตั้งอยู่ในความสุจริตแท้จริง      อยากจะหาความดีความงามที่เปนประโยชน์  แก่ตัวและเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

ไม่อยากจะกล่าวถ้อยคำไม่พอโสตรของผู้ฟังเลย

....................................................



    เรา(เอดิเตอร์) ได้ตรวจดูลายมือพระวินัยธรรม(ห่วง)ตลอดแล้ว   เห็นว่าผิดกับลายมือในฉบับก่อน ๆ

เราได้ให้ข้าหลวงมณฑลนครสวรรค์  สืบไปรสนีย์บุรุษ  ในมณฑลนั้นได้ความว่า 

หนังสือที่ด่าเรานั้น  เปนหนังสือของพระมหานิกายรูปหนึ่ง  อยู่ในวัดโพธารามปากน้ำโพนั่นเอง
ชื่อ  ม.ก.   อายุศม์  ๓๖ ปี
เปนพระอะลัชชี   ไม่มีหิริโอตัปปะ  ในสาสโนวาทหามิได้



กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 มี.ค. 10, 09:29
ถ้าไม่เป็นการรบกวนคุณเพ็ญจนเกินไป     ฝากถามหอสมุดแห่งชาติทีว่ามี สยามประเภท กี่เล่ม  มีถึงเล่มไหนได้ไหมคะ

เรียนคุณวันดี

หอสมุดแห่งชาติมี สยามประเภท อยู่กี่เล่ม ขณะนี้ไม่อาจทราบได้

แต่หากที่สามารถสืบค้นในอินเตอร์เน็ตได้มีอยู่สองเล่ม

สยามประเภท เล่ม ๑
http://dl.kids-d.org/handle/123456789/2684

สยามประเภท เล่ม ๒
http://dl.kids-d.org/handle/123456789/2685

 ;D



กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 มี.ค. 10, 10:03
ภาพ ก.ศ.ร.กุหลาบ และ ก.ห.ชาย จากสยามประเภท เล่ม ๒


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 มี.ค. 10, 10:10
เท่าที่เห็นมาด้วยตนเอง  


เล่มหนึ่ง  พิมพ์ซ้ำ สองหน  
หนที่สองพิมพ์ ๑๕๐๐  ฉบับ(สงสัยแจกกระจาย)


เล่มสองมี  สองเล่ม

เล่มสามมี สองเล่ม

เล่มสี่  มีสองเล่ม


ที่  ก.ศ.ร. โฆษณาไว้ มี ๑๒ เล่ม  
เห็นรูปถ่ายที่เซียนขายไปแล้ว  ที่สันปกเขียนไว้ว่า เล่ม ๑๐
นั่นหมายความว่าปีที่ ๑๐


เคยอ้าปากค้างเพราะรับฟังมาว่า เล่ม สาม   มีสามเล่ม
ใครเล่าอะไรก็เชื่อไว้ก่อนเสมอ
อ่านไปอ่านมาไม่สมเหตุผลก็อ่านให้มิตรสหายฟัง
หัวเราะกันกลิ้งเลย


แต่เรื่องโขนกลางแปลงปลายรัชกาลที่ ๓  ก.ศ.ร. เห็นมาเอง
ท่านเล่าครึกครื้นมาก

โขนสมัยรัชกาลที่ ๔   ท่านเป็นหนุ่มใหญ่แล้ว  รายละเอียดน่าสนใจ


เรื่องประวัติขุนนางนั้น  ถ้ามาปลายอยุธยาก็น่าฟัง   ถ้ามาจากอู่ทองก็ตัวใครตัวท่านเทอญ

ก.ศ.ร. ไปเยี่ยมข้าราชการที่บ้านหลายคน  จึงลงประวัติลูก หลาน เหลน เสียยาวไกล
อ่านแล้วพอตรวจสอบได้

รายชื่อของแฟนคลับที่เขียนมาถามนู่นถามนี่  น่าสนใจมากกว่าเรื่องที่ถามอีก
มีอดีตทูตฝรั่งเศสในสยามเขียนมาถามด้วย  ก.ศ.ร. ให้คนเอาไปแปล


เรื่องพระเจ้าลูกยาเธอที่ศึกษาอยู่ต่างประเทศ  ก.ศ.ร. ก็ชื่นชมยกย่องบูชา


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 มี.ค. 10, 10:36
ก.ศ.ร.กุหลาบได้จัดทำหนังสือสยามประเภทเสร็จครั้งแรกจริง ๆ เมื่อวันศุกร์ที่ ๑ เมษายน ร.ศ. ๑๑๑ (พ.ศ. ๒๔๓๕) ก.ศ.ร.กุหลาบอายุได้ ๕๘ ปี

มีร่องรอยของสยามประเภทฉบับแรก ๆ อยู่ในตอนท้ายจดหมายของ ก.ศ.ร.กุหลาบถึงยี อี เยรินี (พระสารสาสน์พลขันธ์) ฉบับลงวันที่ ๒๒ มีนาคม ร.ศ.๑๑๑ (พ.ศ.๒๔๓๕)


คำนับมายังท่านอาจาริย์เยรินีที่รักนับถือของฃ้าพเจ้าได้ทราบ

.............................................................

ฃ้อ ๖ เหตุที่นายชายยังไม่กลับลงมานี้จึ่งยังไม่ได้ลอกตำราที่พราหมณ์สังอย่าง ๑ จึ่งยังไม่ได้เอาสมุดสยามประเภทสองสามเล่มลงไปให้ท่านครูอย่าง ๑ จึงยังไม่ได้เอาเงินสามตำลึงลงไปส่งท่านครูอย่าง ๑ เพราะไม่มีคนไว้ใจใช้ มีแต่เบ่า ไว้ใจไม่ได้เปนแน่เพราะเคยถูกมาแล้ว ราคาบาทก็เอา แต่ข้าพเจ้าขาตขะเนว่านายชายคงจะลงมาใน ๒ วันนี้เปนแน่

..............................................................

K.S.R. Kularb ก,ศ,ร, กุหลาบ

คุณศรัณย์ ทองปาน ผู้เขียนบทความเรื่อง ยี อี เยรินี กับ ก.ศ.ร. กุหลาบ และ “วงวิชาการ” ของสยามในปลายศตวรรษที่ ๑๙ ลงในวารสารเมืองโบราณบอกว่า พบสยามประเภท ปีที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๓๖ ในหอสมุด ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

http://www.muangboranjournal.com/modules.php?name=Sections&op=viewarticle&artid=50

คุณวันดีพอทราบรายละเอียดเกี่ยวกับสยามประเภทฉบับเหล่านี้หรือไม่

 ???


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 มี.ค. 10, 11:15
รายชื่อของแฟนคลับที่เขียนมาถามนู่นถามนี่  น่าสนใจมากกว่าเรื่องที่ถามอีก

หลวงพัฒนพงศ์ภักดี (ทิม) ผู้เขียนนิราศหนองคายก็เป็นแฟนคลับของ ก.ศ.ร.กุหลาบ คนหนึ่ง

 ;D


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 26 มี.ค. 10, 11:18
คุณศรัณย์ ทองปาน ผู้เขียนบทความเรื่อง ยี อี เยรินี กับ ก.ศ.ร. กุหลาบ และ “วงวิชาการ” ของสยามในปลายศตวรรษที่ ๑๙ ลงในวารสารเมืองโบราณบอกว่า พบสยามประเภท ปีที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๓๖ ในหอสมุด ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คุณวันดีพอทราบรายละเอียดเกี่ยวกับสยามประเภทฉบับเหล่านี้หรือไม่

สยามประเภท ปีที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๓๖ ในหอสมุด ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   ผมเคยไปขอยืมอ่านอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อหลายปีก่อน  สภาพยังพอใช้ได้  ทางหอสมุดเขาทำฉบับจำลองไว้ให้บริการด้วย  ส่วนฉบับตัวจริงเก็บไว้ไม่ได้เอาออกบริการ


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 มี.ค. 10, 13:42
สำหรับคุณเพ็ญชมพูสหายผู้รู้ใจ  และคุณหลวงเล็กมิตรใหม่ผู้น่าเกรงขาม    ทั้งสองท่านเปรียบประดุจดาวประกายพฤกษ์แห่งการเรียนรู้

ดิฉันไม่มีอะไรจะปิดบัง  เพราะหนังสือที่น่าอ่านนั้น   ไม่ควรจะเป็นสมบัติของใคร



สยามประเภทรวมเล่ม  เล่ม ๒ นั้น

แบ่งเป็น   ตอนที่ ๑ - ๑๒      ร.ศ. ๑๑๗ - ๑๑๘

หนา ๖๕๖  หน้า


อีกเล่ม คือ ตอนที่ ๑๓ - ๒๔

หนา ๑๒๘๐  หน้า  และ มีส่วนสารบาญ อีก ๙  หน้า



ส่วนที่อ่านเพลิน คือ กระทู้จากคนอ่าน
กระทู้หนึ่ง เขียนต่อว่า เจ้าอนุ  ไม่ได้กินยาตาย  โจนที่สูงตาย
ก.ศ.ร.  มีศักระวาท์ตอบว่า  เจ้าอนุไม่ได้โจนที่สูงตายหรือกินยาตายแน่

อิอิ...มีกลอนถามว่าเรื่องขุนช้างขุนแผนมีครั้งไหน( หน้า ๑๐๒๖)
แหะ ๆ   เกรงคุณเทาชมพูจะเวียนไปด้วย  จึงขอเก็บไว้ก่อน



ถ้าเราจะอ่าน สยามประเภทแบบสนุก  สนุกมากทีเดียวค่ะ
แต่ต้องไปค้นหนังสือประกอบมากมาย  ซึ่งหลายคนไม่ว่างพอจะทำ  หรือมีเพื่อน หรือครูบาอาจารย์
ที่จะหักหาญแนะนำ


ดิฉันอยู่ชมรมนักอ่านหลายกลุ่ม  จึงอ่านผ่านมาโดยการแนะนำสั่งสอนของนักอ่านหลายคน

ทั้งนี้ เรือนไทยก็ใจกว้าง ที่ยอมให้ดิฉันนำเรื่องราวเล็ก ๆ น้อย ๆ ของ ก.ศ.ร. กุหลาบมาลง
ดิฉันก็ต้องระมัดระวังเลือกเรื่องที่พอจะคุยกันได้

เรื่องราวที่ลึกลับตื่นเต้นเหลือเชื่อนั้นไม่มี  เพราะเรื่องเหล่านี้ไปปรากฎอยู่ในหนังสือบ่อยแล้ว
และลอกต่อ ๆ กันไปโดยมิได้อ้างอิงหรือค้นคว้าเพิ่มเติม


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 มี.ค. 10, 14:04
เรื่อง เยรินีนั้น  คุยกันได้นาน


เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับก.ศ.ร.นั้น   ก.ศ.ร. ยกย่องว่าเยรินีมีตำราพราหมณ์มากมายหลายร้อยเล่ม

พราหมณ์ที่เข้ามาเมืองไทยสี่สายนั้น ในปัจจุบัน(ของ ก.ศ.ร.) จะมีตำราติดบ้านสักเล่ม หรือ สิบเล่ม ร้อยเล่ม ก็ยาก
สู้อาจารย์เยรินี และคนไทยบางคนที่มีตำรามากมายอีกคนหนึ่ง(!) ก็ไม่ได้(ใครหนอ...)
พวกเขามีกันเป็นพัน ๆ เล่ม




เสียดายก็หนังสือที่ ก.ศ.ร. คัดลอกให้ไป     ก.ศ.ร. เป็น คนหาหนังสือให้เยรินี 

เคยจ้างให้เยรินีแปลโทรเลข  และเขียนบทความในสยามประเภท  ตอนเยรินีตกงานอยู่พักหนึ่ง

นายชายผู้คัดลอกหนังสือ  คงคัดผิดไปบ้างเป็นแน่



อย่าลืมเรื่องการลักลอบนำเข้ากระสุนดินดำ



กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 มี.ค. 10, 15:15
ส่วนที่อ่านเพลิน คือ กระทู้จากคนอ่าน
กระทู้หนึ่ง เขียนต่อว่า เจ้าอนุ  ไม่ได้กินยาตาย  โจนที่สูงตาย
ก.ศ.ร.  มีศักระวาท์ตอบว่า  เจ้าอนุไม่ได้โจนที่สูงตายหรือกินยาตายแน่

นำเสนอให้อ่านเล่นเย็นเย็นใจ

 ;D


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 มี.ค. 10, 09:58
ก.ศ.ร.กุหลาบแย้มถึงประวัติตนเองเล็กน้อยในสยามประเภทเล่ม ๒ ตอนที่ ๑๗  วันอังคารที่ ๑ สิงหาคม ร.ศ. ๑๑๘ กล่าวในเชิงประชดประชันว่าตนเองอยู่ในวงศ์ตระกูล R.H.P.L.

 ;D


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 มี.ค. 10, 10:21
อ่านแล้วก็เหมือนมีที่มา    เหมือนใครสักคนคงจะกล่าวหานายกุหลาบว่าทำตัวเป็นผู้ดีมีเชื้อมีสาย  หรืออะไรทำนองนั้น
นายกุหลาบคงเจ็บใจ  เลยประชดว่าตัวเองเป็นไพร่ของแท้
เน้นด้วยว่า อย่าหาว่าถ่อมตัว   ก็คือคงมีคนเข้าใจว่านายกุหลาบมีเชื้อสายสูงศักดิ์มาก่อน


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 มี.ค. 10, 11:33
อาจารย์ชาญวิทย์  เกษตรศิริกล่าวว่า

งานของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ที่น่าสนใจคือ การเขียนชีวประวัติหรือเรื่องของสาแหรกและวงศ์ตระกูล ซึ่งสะท้อนเรื่องราวทั้งในด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ทำให้ ก.ศ.ร.กุหลาบมักมีปัญหากับทางราชสำนัก และถูกกล่าวหาว่ากล่าวเท็จ หรือเป็น “บ้าบอ” หรือใกล้ “เสียสติ” เป็นต้น  การที่ ก.ศ.ร.กุหลาบเป็นนักอ่าน สะสมหนังสือ และเป็นผู้มีภูมิความรู้จากทั้งโลกเก่าและโลกใหม่ของสยาม ทำให้งานเขียนจำนวนมากของเขาออกสู่สาธารณชน แต่ในฐานะ “คนนอก” ของราชสำนัก  ซึ่ง ก.ศ.ร.กุหลาบมีเป้าหมายที่จะให้ชนชั้นนำในสยามที่มีการศึกษาดีได้รับรู้ข้อมูลและเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยความ “สิวิไล” ทั้งยังต้องการสื่อความคิดของเขาถึงผู้ปกครองหรือราชสำนักอีกด้วย  

ก.ศ.ร.กุหลาบสรุปว่าการดำรงเอกราชของบ้านเมืองนั้นขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ ๔ ประการ คือ ศาสนา (พุทธ) อาณาจักร (กษัตริย์) การปกครอง (รัฐบาลที่ดี) และประชาชน (ที่ดี)


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 มี.ค. 10, 15:26
เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับก.ศ.ร.นั้น   ก.ศ.ร. ยกย่องว่าเยรินีมีตำราพราหมณ์มากมายหลายร้อยเล่ม

พราหมณ์ที่เข้ามาเมืองไทยสี่สายนั้น ในปัจจุบัน(ของ ก.ศ.ร.) จะมีตำราติดบ้านสักเล่ม หรือ สิบเล่ม ร้อยเล่ม ก็ยาก
สู้อาจารย์เยรินี และคนไทยบางคนที่มีตำรามากมายอีกคนหนึ่ง(!) ก็ไม่ได้(ใครหนอ...)
พวกเขามีกันเป็นพัน ๆ เล่ม

ก.ศ.ร.กุหลาบดูจะ "เป็นปลื้ม" เยรินีเอามาก ๆ

 ;D



กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 มี.ค. 10, 16:04
คำอธิบายของนายกุหลาบ ฟังจับแพะชนแกะพิกล     ขออภัยถ้าไม่ถูกใจผู้ที่เห็นว่านายกุหลาบเป็นปัญญาชนสยาม
ลำดับตั้งแต่ตอนแรก
1  บ้านเมืองที่เป็นเอกราช
เอกราช= อินดีเพนเดน   (independent)  ไม่ขึ้นแก่ใคร   คำนี้แปลถูกต้อง
2  จัตุเทวาภิบาล 4 องค์   พระซื่อเมือง  พระทรงเมือง  พระหลักเมือง  พระกาลเมือง   
พระซื่อเมือง คือพระพุทธศาสนา
พระทรงเมือง  คือ kingdom หรือ empire   พระราชกำหนดบทพระอัยการ  กฎหมาย
3 พระหลักเมือง  คือ เสวกามาตย์ ราชบริพาร ที่สำหรับพิพากษาอรรถคดี  เสนาบดีมุขมนตรี   รัฐมนตรีและองคมนตรี (government)
หรือ ราชาธิปไตย (สะกดว่าราชาธิปตัย)
หรือ ราชะอธิปติ  (ราชะอธิบดี)
4  พระกาลเมืองคือจตุรงคเสนามาตย์  คือช้าง ม้า เกวียน ระแทะ ไพร่ราบ

แล้วเอาไปเทียบกับธาตุทั้งสี่ในกายมนุษย์ คือดินน้ำลมไฟ   เรียกว่าภูตทั้งสี่ ที่รักษาร่างกายมนุษย์

คำอธิบายทั้งหมดนี้ดิฉันสงสัยว่านายกุหลาบคิดเอง





กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 30 มี.ค. 10, 06:27
คุณเพ็ญชมพูคะ

     ลิ้งค์ที่นำมาฝาก  บอกว่าคุณเพ็ญใจดีมาก
เลยนำไปเล่าต่อในงานหนังสือ

     มีหลักฐานบางอย่างที่ว่า สยามประเภท เล่ม ๗  มีจริง

อือม์...สารบาญชีเล่ม ๓ กับเล่ม ๔    ท่านผู้ครอบครองสบสายตากับสายตาอันกระหายและหิวโหย
ของดิฉันก็ใจอ่อน  ว่าจะถ่ายเอกสารมาให้
ท่านทำมือสูงเป็นคืบ


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 มี.ค. 10, 11:47
คุณเพ็ญชมพูคะ

ลิ้งค์ที่นำมาฝาก  บอกว่าคุณเพ็ญใจดีมาก เลยนำไปเล่าต่อในงานหนังสือ

ดีใจที่คุณวันดีชมว่าใจดี   ;D



ขอจับความเนื้อความตามท้องเรื่อง จัตุเทวาภิบาล

คุณเทาชมพูเคยอธิบายไว้ว่าทั้ง ๔ องค์เป็นเทวดาซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองบ้านเมือง

พระหลักเมืองเป็นเทวดาดั้งเดิมตามความเชื่อของคนไทยก่อนพระพุทธศาสนาจะเข้ามา ประจำอยู่ที่เสาหลักเมือง

ส่วนพระเสื้อเมืองและพระทรงเมือง มีประวัติความเป็นมาอย่างไร คุณเทาชมพูไม่ได้แจ้งไว้

สุดท้าย พระกาฬไชยศรี (พระกาลเมือง) เป็นเทวดาอินเดีย บริวารของพระยม

http://vcharkarn.com/reurnthai/lark_mung.php

ประวิติที่มาของพระเสื้อเมืองและพระทรงเมือง นี้มีการพูดถึงอยู่เนือง ๆ แต่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ชัดแจ้ง

ครั้งหนึ่งได้เคยถกเรื่องนี้กันกับคุณโฮและคุณม้าในห้องสมุด พันทิป มีความเห็นต่อเทวดาทั้งสองนี้หลายหลาก
http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/03/K7677216/K7677216.html

คุณเพ็ญเริ่มก่อน

พระเสื้อเมือง อาจจะมาจากคำว่า พระเชื้อเมืองอันหมายถึงว่าเป็นผีเชื้อสาย หรือเทวดาที่คุ้มครองรักษาเมืองตามลัทธิของไทยโบราณที่นับถือผีบรรพบุรุษปู่ย่าตายาย ตามความเห็นของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์)

คุณโฮมีความเห็นกลับตรงกันข้ามคือ คำว่าพระเชื้อเมืองก็อาจมาจากพระเสื้อเมือง ก็ได้

"เสื้อ" น่าจะเป็นคำไทเดิม ที่ตรงกับคำว่า "เสื้อ (ผ้า)" คือ สวมใส่ หรือ สถิต หรือ สิง ปกป้องอะไรบางอย่าง เช่น เสื้อผ้า ก็ปกป้องร่างกาย เสื้อเมืองก็ปกป้องเมือง

ผีเสื้อเมือง พระทรงเมือง ก็คือ ดวงวิญญาณของผี ที่ปกป้องเมือง (สังเกตว่า พระเสื้อเมือง และ พระทรงเมือง น่าจะเป็นการเปลี่ยนคำให้ดูเป็นทางการมากขึ้น คือ เปลี่ยนจาก ผี เป็น พระ และ เปลี่ยนจาก เสื้อ เป็น ทรง)

คุณม้าเห็นด้วยกับคุณโฮ

แต่คุณเพ็ญมีความเห็นแตกแขนงมาจากคุณโฮ

มีเรื่องล้อเล่นกันอยู่เสมอว่า เมื่อมีพระเสื้อเมืองแล้วจะมีพระกางเกงเมืองด้วยหรือเปล่า ถ้าหากคำว่า "เสื้อ" ใน พระเสื้อเมืองมาจาก "เสื้อผ้า" อย่างที่คุณโฮว่าแล้ว คำว่า "ทรง" ในคำว่า "พระทรงเมือง" ก็เป็นไปได้ว่ามาจากคำว่า "ซง หรือ ส่ง" (ในภาษาผู้ไทและไทยอีสาน) ซึ่งเป็นคำไทเก่า ที่แปลว่า กางเกง

คนไทยเรียกชาวไทดำว่า ลาวโซ่ง โซ่งนั้นมีการสันนิษฐานว่า น่าจะมาจากคำว่า ซ่วง หรือ ซ่ง ซึ่งเป็นภาษาไทดำ แปลว่ากางเกง เพราะว่าชาวไทดำเหล่านี้สวมกางเกงสีดำ  ปัจจุบันเรียกคนเหล่านี้ว่า ชาวไทยโซ่ง หรือ "ไทยทรงดำ"

สรุปแล้ว พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง เป็นใคร หรือ อะไร มาจากไหนกันแน่

รออ่านความเห็นของคุณเทาชมพู

 ???



กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 มี.ค. 10, 12:46
คำอธิบายของนายกุหลาบ ฟังจับแพะชนแกะพิกล     ขออภัยถ้าไม่ถูกใจผู้ที่เห็นว่านายกุหลาบเป็นปัญญาชนสยาม
ลำดับตั้งแต่ตอนแรก
1  บ้านเมืองที่เป็นเอกราช
เอกราช= อินดีเพนเดน   (independent)  ไม่ขึ้นแก่ใคร   คำนี้แปลถูกต้อง
2  จัตุเทวาภิบาล 4 องค์   พระซื่อเมือง  พระทรงเมือง  พระหลักเมือง  พระกาลเมือง  
พระซื่อเมือง คือพระพุทธศาสนา
พระทรงเมือง  คือ kingdom หรือ empire   พระราชกำหนดบทพระอัยการ  กฎหมาย
3 พระหลักเมือง  คือ เสวกามาตย์ ราชบริพาร ที่สำหรับพิพากษาอรรถคดี  เสนาบดีมุขมนตรี   รัฐมนตรีและองคมนตรี (government)
หรือ ราชาธิปไตย (สะกดว่าราชาธิปตัย)
หรือ ราชะอธิปติ  (ราชะอธิบดี)
4  พระกาลเมืองคือจตุรงคเสนามาตย์  คือช้าง ม้า เกวียน ระแทะ ไพร่ราบ

แล้วเอาไปเทียบกับธาตุทั้งสี่ในกายมนุษย์ คือดินน้ำลมไฟ   เรียกว่าภูตทั้งสี่ ที่รักษาร่างกายมนุษย์

คำอธิบายทั้งหมดนี้ดิฉันสงสัยว่านายกุหลาบคิดเอง


สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เคยประทานคำอธิบายเรื่องนี้ในเชิงสัญลักษณ์

ให้ความหมายของเสื้อเมืองไว้ว่ามิลลิตารีเพาเวอร์ ทรงเมืองเป็นซิวิลเพาเวอร์ และหลักเมืองเป็นจูดิคัลเพาเวอร์ เพื่อออปท์กับโมเดินไอเดีย 

http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=rattanakosin225&date=14-05-2007&group=11&gblog=15

อ่านดูแล้วแทบจะครอบคลุมความหมายของ จัตุเทวภิบาล ตามความเห็นของ ก.ศ.ร.กุหลาบ เพียงแต่สลับหัวข้อกันเท่านั้น

 8)


อาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้วิจารณ์ความคิดเห็นทางการเมืองของ ก.ศ.ร.กุหลาบไว้ในหนังสือ ชีวิตและงานของเทียนวรรณและ ก.ศ.ร.กุหลาบ ว่า

แม้ว่างานเขียนส่วนใหญ่ของ ก.ศ.ร.กุหลาบจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการวิจารณ์สังคมและการเมืองเช่นงานของเทียนวรรณก็ตาม แต่มีงานบางชิ้นซึ่งสะท้อนความคิดเห็นทางการเมืองของเขาว่าการปกครองในอุดมคติ หรือการปกครองที่ดีนั้นควรเป็นการปกครองซึ่งยึดถือความยุติธรรมเป็นหลัก ความยุติธรรมตามความหมายของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ได้แก่การปฏิบัติตามธรรมของพุทธศาสนา และการนำคำสอนของพระพุทธศาสนามาเป็นหลักในการปกครองและการบริหารราชการทุกระดับ

ตามความเห็นของ ก.ศ.ร.กุหลาบ นั้น พระซื่อเมืองเป็นหลักใหญ่ของการปกครองบ้านเมือง เพราะธรรมเป็นที่มาของกฎหมาย ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการปกครองอีกทีหนึ่ง ความคิดนี้ไม่ใช่ความคิดใหม่ แต่ ก.ศ.ร.กุหลาบ หยิบยืมมาจากหลักการปกครองสมัยโบราณที่ปรากฏในพระพิไชยเสนาและเป็นส่วนหนึ่งของคำให้การขุนหลวงประดู่ทรงธรรม ความคิดเกี่ยวกับจัตุเทวาภิบาลนี้ได้รับอิทธิพลจากความคิดทางฮินดู ซึ่งเห็นว่าสังคมประกอบด้วยองคาพยพต่าง ๆ แต่ความคิดนี้ได้ถูกดัดแปลงให้เป็นของไทยโดยการให้ความสำคัญต่อหลักธรรมของพระพุทธศาสนา กล่าวคือตามทฤษฎีองคาพยพของฮินดูนั้นพระมหากษัตริย์เป็นองคาพยพที่สำคัญที่สุด แต่ความคิดของไทยซึ่งเป็นการผสมผสานความคิดฮินดูกันพุทธนั้นได้ให้ความสำคัญแก่หลักธรรมหรือพระไตรปิฎกว่าเป็นองคาพยพที่มีความสำคัญมากกว่าองคาพยพอื่น ๆ

ดังนั้นตามความคิดเห็นของ ก.ศ.ร.กุหลาบ หลักเมืองได้แก่รัฐบาลซึ่งประกอบด้วยพระมหากษัตริย์และเสนาบดีเป็นหลักของอาณาจักร แต่ที่สำคัญไปกว่านี้ได้แก่หลักธรรม ซึ่งเป็นที่มาของกฎหมายทั้งปวงและเป็นหลักในการปกครองบ้านเมืองคือพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พระซื่อเมืองเป็นที่มาของพระทรงเมือง (กฎหมาย) ซึ่งใช้บังคับคดีทางโลกและไม่ไพร่พลเป็นพื้นฐานสำคัญในการป้องกันราชอาณาจักร เอกราชของบ้านเมืองจึงต้องมีปัจจัยสี่นี้ประกอบกัน จะขาดอย่างหนึ่งอย่างใดหาได้ไม่ ถ้าปราศจากพระซื่อเมืองแล้ว พระทรงเมือง (ตัวบทกฎหมาย) จะยึดหลักของความยุติธรรมจากสิ่งใด และถ้าพระหลักเมืองคือเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ไม่มีหลักธรรมแล้ว การปกครองจะเป็นอย่างใด









กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 31 มี.ค. 10, 10:14
เพื่อเป็นการคลายเครียด ขอเชิญเพื่อน ๆ แวะไปอ่านพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ เรื่อง "รายงานการประชุมปาลิเมนต์สยาม" ลงพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือทวีปัญญา ล้อเลียน ก.ศ.ร.กุหลาบ (นายเกศร์) และเทียนวรรณ (นายทวน) อย่างสนุกสนาน

 ;D

เรียนถามคุณ V_Mee เรื่องพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2664.msg62281;topicseen#msg62281

 


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 มี.ค. 10, 12:29
เปรียบเทียบการตีความ เทวดารักษาเมืองทั้ง ๔ องค์ ระหว่างสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และนายกุหลาบ
๑  พระเสื้อเมือง
สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ =   มิลลิตารีเพาเวอร์  (กองกำลังทางทหาร  กลาโหม)  
นายกุหลาบ              =   พระพุทธศาสนา
๒ พระทรงเมือง
สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ =   ซิวิลเพาเวอร์     (กองกำลังพลเรือน  มหาดไทย)
นายกุหลาบ              =   kingdom หรือ empire   พระราชกำหนดบทพระอัยการ  กฎหมาย
๓ พระหลักเมือง
สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ =  จูดิคัลเพาเวอร์   (อำนาจตุลาการ  เช่นกฎหมาย  บทพระอัยการฯลฯ)
 นายกุหลาบ               =   เสวกามาตย์ ราชบริพาร ที่สำหรับพิพากษาอรรถคดี  เสนาบดีมุขมนตรี   รัฐมนตรีและองคมนตรี (government)
๔ พระกาลเมือง  
สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ =  ไม่ได้ระบุว่าคืออะไร
นายกุหลาบ                 = จตุรงคเสนามาตย์  คือช้าง ม้า เกวียน ระแทะ ไพร่ราบ

คนละเรื่องกันเลยค่ะ



กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 31 มี.ค. 10, 13:21
เปรียบเทียบการตีความ เทวดารักษาเมืองทั้ง ๔ องค์ ระหว่างสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และนายกุหลาบ

คนละเรื่องกันเลยค่ะ

ในเรื่องนี้ของทั้ง ๒ ท่านมีความเหมือนกันอยู่ ๒ ประการ คือ

๑. นำของเก่ามาตีความใหม่

๒. ความที่ตีออกมาแล้วอยู่ในเรื่องเดียวกัน เพียงแต่สลับหัวข้อกันเท่านั้น

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ           ก.ศ.ร.กุหลาบ
                          
มิลลิตารีเพาเวอร์  (พระเสื้อเมือง)     =     จตุรงคเสนามาตย์  คือช้าง ม้า เกวียน ระแทะ ไพร่ราบ (พระกาลเมือง)

ซิวิลเพาเวอร์       (พระทรงเมือง)    =     เสวกามาตย์ราชบริพาร    (พระหลักเมือง)

จูดิคัลเพาเวอร์     (พระหลักเมือง)    =     พระราชกำหนดบทพระอัยการ  กฎหมาย (พระทรงเมือง)  ซึ่งมาจากหลักธรรมในพระพุทธศาสนา  
                                               (พระซื่อเมือง)  

 8)      



กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 มี.ค. 10, 13:53
คนละเรื่องค่ะ
ตีความอย่างนายกุหลาบ เรียกว่าเหวี่ยงแหในวงกว้าง   ยังไงมันก็มีส่วนถูกเข้าจนได้  จะเรียกว่าสลับหัวข้อหรืออะไรก็ตาม



กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 เม.ย. 10, 10:47
เนื้อหาในสยามประเภทนอกจากเกี่ยวกับพงศาวดาร, เหตุการณ์ประวัติศาสตร์, ประวัติบุคคล และความคิดเห็นเรื่องการบ้านการเมืองบ้างแล้ว สิ่งหนึ่งที่ ก.ศ.ร.กุหลาบ พยายามทำคือเผยแพร่ความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ให้แก่ประชาชนเพื่อจะได้พ้นจากความเชื่อแบบโบราณ อันเป็นอุปสรรคต่อความเจริญของสังคม

เรื่อง "กะถากันไฟไหม้ได้" ดูจะเป็นตัวอย่างอันดีสำหรับเรื่องนี้

 ;)


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 เม.ย. 10, 10:58
หน้าสุดท้าย


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 เม.ย. 10, 11:40
ท้ายประวัติ

นายชายเมื่ออายุ ๑๓ ปี  ได้บรรพชา ๔ เป็นสามเณร ในวัดนรนารถสุนทริการาม อยู่ ๔ พรรษา

ได้รับราชการเป็นมหาดเล็กอยู่เวรศักดิ์ 
ทำงานเป็นผู้สืบข่าว  วิจินานุการี(ริโปศเตอร์) ของสยามออบเซอเวอร์ ๔ ปีเศษ

หุ่นมารดาเสียชีวิตไปก่อนนายชายบวช

ก.ศ.ร. จัดการบวช แต่สังเขปกับกำลังจะทำได้ เมื่อวันที่ ๑๙  กรกฎาคม ร.ศ. ๑๑ค  เวลา บ่ายสองโมง
ที่วัดราชาธิราช(สมอราย)


 


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 เม.ย. 10, 11:59
การบวชนายชายครั้งนั้น  นายกุหลาบทำตามพระธรรมวินัย คือ

ไม่มีดุริยางคดนตรี  อันเป็นข้าศึกแห่งพรหมจรรย์

ไม่มีกรวยอุปัชฌาย์

เว้นการวันทาสิมาไชย์

ไม่แห่นาครอบโบสถ์(ก.ศ.ร.รับว่าถ้าจะถือว่าการเวียนรอบโบสถ์ เปนการประทักษิณพระอุโบสถ  พอจะเข้าท่าบ้าง)


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 เม.ย. 10, 12:15
ตามอ่านหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับ ก.ศ.ร.    หนังสือของก.ศ.ร.เองเท่าที่จะหาได้
เมื่อใดที่ก.ศ.ร. ถ่อมตัว     เรื่องราวต่อไปสนุกมาก


     งานรับรองแขกที่มาช่วยในงานบวช  จัดแบบสมัยใหม่  คือมีเลี้ยงโต๊ะ
มีเครื่องดื่มสมัยใหม่ตามสมควร   ด้วยมีท่านที่มีพาศนาบรรดาศักดิ์  มาช่วยงาน



ฝ่ายสยาม  มี

เจ้าพระยานรรัตน์ราชมานิต

เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (ผู้ขอยืมหนังสือของ ก.ศ.ร. เป็นประจำ)

และพระยาพานทองอีกหลายท่าน

พระยาสามัญ คือพระยาวิชิตณรงค์(ญาติผู้พี่ของนายกุหลาบ   คือลุงของนาค)

พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง

พระยาสมบัตยาธิบาล

และ พระหลวงขุนหมื่นมหาดเล็ก  พ่อค้าพานิชและชาวสยามผู้ดีด้วย

มีด้วยกันร้อยคนเศษ




กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 เม.ย. 10, 12:27
ชาวยุโหรปนั้น คือ  ราชทูตกงซุลหลายชาติ  ทั้งพ่อค้านายห้างฝรั่งชายและหญิงด้วยเป็นอันมาก

มี  มองซิเออ เดอ ฟรางซ์  ราชทูตฝรั่งเศส

มองซิเออฮาดูวิน  อุปทูตฝรั่งเศส

กงซุลฝรั่งเศสที่ ๑, ๒  และ ๓  และเสมียรที่ สฐานทูตฝรั่งเศสอีกหลายคน

และ คอมมันดองผู้บังคับการเรือรบฝรั่งเศส

และขุนนางในเรือรบฝรั่งเศสชื่อ วิแป

มากหน้าหลายตา  ล้วนแต่งกายเต็มยศทุกคน  คือสวมเสื้อเต็มยศ  ประดับเครื่องราชอิศริยาภรณ์ทั้งสิ้นทุกคน


และมิศเตอร์เบกเก็ด  กงซุลอังกฤษ

มิศเตอร์แกแรด  กงซุลอเมริกันเมืองเชียงใหม่

กงซุลฮอลันดา

มิศเตอร์การะโด

มิศเตอร์เยรินี

รวมชาวยุโหรปชาย  ๑๖


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 เม.ย. 10, 12:35
ชาวยุโหรปหญิง  คือ

แมดำ  เดอร์ฟรางค์  ภรรยาราชทูตฝรั่งเศส  และ บุตรี

มิศซิด การะโด

มิศซิดแฟนิน๊อก  ธิดาราชทูตอังกฤษ น๊อก

และหญิงชาวยุโหรปอีก สี่ นาง


     ทั้งชายหญิงทั่งสิ้น ๒๔ คน  นั่งเก้าอี้หน้าพระอุโบสถ


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 เม.ย. 10, 13:46
     เมื่อเจ้านาคแต่งกายนุ่งผ้าเยียระบับพื้นขาว ลายทอง  สรวมเสื้อครุยสำรดทอง
เดินมาถึงหน้าพวกราชทูตกงซุลนายห้างชาวยุโหรป     แขกทั้งปวงก็ลุกยืนขึ้นพร้อมกัน  ก้มศีร์ษะ
คำนับเจ้่านาค   เจ้านาคก็ทำคำนับตอยแทนบ้างเป็นการของคุณ

แล้วเจ้านาคก็เดินผ่านหน้าชาวต่างประเทศ้ข้าไปในโบสถ์ 
ขออุปสมบทกรรมตามวิธีวินัยบรรยัติ


เมื่อกำลังบวชนาคชายอยู่นั้น
มีล่ามแปลภาษาฝรั่งเศส  และภาษาอังกฤษ  ภาษาอิตาลี
ชี้แจงให้ชาวยุโหรปทราบวิธีที่บวชนาคและสวดตลอด


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 เม.ย. 10, 14:00
งานเผาศพ หุ่น  จัดขึ้นที่วัดราชาธิราช(สมอราย) เมื่อ วันที่ ๒๐ ธันวาคม ร.ศ. ๑๑๕


ผู้ที่อยู่คอยเผาศพหุ่นมี


หม่อมเจ้าวัชรินทร์


เจ้าพระยานรรัตน์ราชมานิต

เจ้าพระยาภาสกรณ์วงศ์

พระยามหาอำมาตย์

พระยาวิชิตณรงค์

พระยาสมบัติธิบาล



หลวงนายเสน่ห์รักษา

หลวงจินดารักษ์

หลวงมหาสิทธิโวหาร

หลวงพัฒนพงศ์ภักดี

หลวงเทพสมบัติ



ขุนธนสิทธิ

ขุนอภัยพิมล


ของชำร่วย คือ ก๊าศดำ  มีรูปหุ่นด้านหน้า  ข้างหลังมีอักษรสีทอง  แสดงประวัติของหุ่นด้วย
เป็นของแสดงความขอบคุณ เป็นที่ระลึกในการศพ


จบประวัติ  หน้า ๑๓๒


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 01 เม.ย. 10, 15:33
คนสมัยปัจจุบันรู้จักนายกุหลาบจากพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพโดยมาก   มีคนส่วนน้อยที่รู้จักนายกุหลาบจากเอกสารของนายกุหลาบและเอกสารอื่นที่ไม่ใช่พระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ   ต่อไปนี้จะเป็นการแสดงข้อเท็จจริงอะไรบางอย่างในประวัติของนายกุหลาบ

จากคำนำพระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในหนังสือจดหมายเหตุเรื่องไต่สวนนายกุหลาบ ซึ่งแต่งประวัติสมเด็จพระสังฆราชขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย  พิมพ์ในงานพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าแขไขดวง ครบศตมาห  วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๒  หน้า (ฃ) ถึงหน้า (ค)

"...ครั้งที่ ๑ นั้น   นายกุหลาบแต่งเรื่องพงศาวดารครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี   พิมพ์ในหนังสือสยามประเภท  อ้างว่ามีพระเจ้าแผ่นดินกรุงสุโขทัยองค์ ๑ ทรงพระนามว่า  "พระปิ่นเกษ"  มีพระราชโอรสได้รับรัชชทายาท   ทรงพระนามว่า  "พระจุลปิ่นเกษ"  และกล่าวต่อไปว่าเมื่อพระจุลปิ่นเกษครองราชสมบัตินั้น  เสียพระนครแก่กรุงศรีอยุธยาดังนี้   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นหนังสือนั้น   มีพระราชดำรัสว่าเพียงแต่นายกุหลาบเอาความเท็จขึ้นแต่งลวงว่าเป็นเรื่องจริง    ก็เป็นการไม่ดีอยู่แล้ว   ยังซ้ำเอาพระนามพระจอมเกล้าไปแปลงเป็นพระปิ่นเกษ    พระจุลจอมเล้าไปแปลงเป็นพระจุลปิ่นเกษแล้วเกณฑ์ให้เสียบ้านเมืองด้วย   จะทรงนิ่งอยู่ไม่ได้   จึงโปรดฯ ให้ข้าหลวงเรียกตัวนายกุหลาบมาไต่สวน   ว่ามีหลักฐานอันใดที่อ้างว่าพระเจ้ากรุงสุโขทัยองค์หนึ่งทรงพระนามว่า  พระปิ่นเกษ  อีกองค์หนึ่งทรงพระนามว่าพระจุลปิ่นเกษ    นายกุหลาบก็รับสารภาพว่าหามีหลักฐานอันใดไม่   เป็นแต่คิดประดิษฐขึ้นเองทั้งสิ้น   พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงมีพระราชดำรัสสั่งให้ส่งตัวนายกุหลาบไปคุมไว้ที่โรงเลี้ยงบ้าคราวหนึ่ง (เห็นจะสัก ๗ วัน) แล้วให้ปล่อยตัวไป..."


จากนิทานโบราณคดี เรื่องที่ ๙ หนังสือหอหลวง  ตอนที่ ๕ พระนิพนธ์สมเด็จเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

"...จนนายกุหลาบเล่าเรื่องพงศาวดารกรุงสุโขทัย    ตอนเมื่อจะเสียกรุงศรีอยุธยา   พิมพ์ในเรื่องหนังสือสยามประเภท  ว่าเมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่า "พระปิ่นเกษ" สวรรคตแล้ว   พระราชโอรสทรงพระนามว่า "พระจุลปิ่นเกษ"  เสวยราชย์  ไม่มีความสามารถจึงเสียบ้านเมือง    สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทอดพระเนตรเห็นหนังสือนั้นตรัสว่า  เพียงแต่นายกุหลาบเอาความเท็จแต่งลวงว่าเป็นจริง   ก็ไม่ดีอยู่แล้ว   ซ้ำบังอาจเอาพระนามพระจอมเกล้ากับพระจุลจอมเกล้า   ไปแปลเป็นพระปิ่นเกษและพระจุลปิ่นเกษ  เทียบเคียงใส่โทษเอาตามใจ   เกินสิทธิ์ในการแต่งหนังสือ  จึงโปรดให้เจ้าพระยาอภัยราชา (ม.ร.ว.ลภ  สุทัศน์)  เมื่อยังเป็นที่พระยาอินทราธิบดี  สีหราชรองเมือง   เรียกตัวนายกุหลาบมาสั่งให้ส่งต้นตำราเรื่องพงศาวดารเมืองสุโขทัยที่อ้างว่ามีนั้นมาตรวจ   นายกุหลาบก็ต้องรับสารภาพว่าตัวคิดขึ้นเองทั้งนั้น   พระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า   จะลงโทษอย่างจริตผิดปรกติ   โปรดให้ส่วตัวนายกุหลาบไปอยู่กับผู้จัดการโรงเลี้ยงบ้าสัก ๗ วัน  แล้วก็ปล่อยตัวไป  นายกุหลาบเข็ดไปหน่อย..."


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 01 เม.ย. 10, 16:21
ทีนี้มาดูเอกสารร่วมสมัยที่เกิดเรื่องดังกล่าว

จากสยามประเภท เล่ม ๒ ตอนที่ ๑๓ วันพฤหัสบดีที่ ๑ มิถุนายน ร.ศ. ๑๑๘ หน้า ๖๕๙  เรื่อง ต้นเหตุบังเกิดชาวชาติทัยมีขึ้นในแผ่นดินศยาม  ซึ่งมิศเตอร์สิมิท หรือครูสิมิทบางคอแหลม เป็นผู้ถามมา

นายกุหลาบตอบดังนี้ (ย่อเอาแต่ใจความ)

บัดนี้จะได้กล่าวถึงเรื่องกำเนิดชนชาวไทยมีขึ้นแผ่นดินสยาม  ซึ่งนายกุหลาบไดเคดลอกมาจากหนังสือใบลาน ๒๔ ผูกของท่านเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด) บ้านปากคลองมอญ  กรุงเทพฯ ชื่อว่า คัมภีร์พระราชพงศาวดารเชียงแสนเชียงรายศุโขทัย ๒๔ ผูก นายกุหลาบได้ตัดข้อความย่อยในปลายผูกที่ ๑๙ ความว่าดังนี้

กรุงศรีพิไชยเชียงแสนราชธานี  มีพระเจ้าแผ่นดินทรงดำรงราชสมบัติติดต่อกันมาหลายร้อยปี  จนกระทั่งลุหมาศักราช ๙๘๗ มีทัพมอญมาล้อมพระนครศรีพิไชยเชียงแสน  ทัพมอญกับทัพโยนกมารบล้อมพระนครเชียงแสนเป็นช้านานแรมปี  ชาวเมืองไม่ได้ทำมาหากินตามปกติ  จึงเกิดข้าวยากหมากแพง  ฝนฟ้าแล้ง  พระนครจวนเจียนจะเสียแก่ข้าศึก  ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีพิไชยเชียงแสนราชธานี  พระนามสมเด็จพระเจ้าปิ่นเกษ  ทรงปกครองพระนครเป็นที่สุดของพระราชวงศ์นั้น  ทรงพระราชดำริว่า  จะไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน  ด้วยเหตุต้องถูกเกณฑ์ไปรบกับข้าศึก  ในยามที่บ้านเมืองมีความลำบากอยู่แล้ว   พระองค์เองก็ทรงดำรงราชสมบัติมาได้ ๒๔ ปี แล้ว  จึงได้ทรงอพยพพระราชวงศ์ครอบครัวพลเมืองหนีข้าศึกมอญไปจากกรุงศรีพิไชยเชียงแสนราชธานี  ลงมาทางใต้จนได้พบแม่น้ำใหย่สายหนึ่งชื่อ  แม่น้ำพิษณุราชศาคร  (แม่น้ำกาหลงในภาษาลาว  อันมีประวัติว่า แม่น้ำนี้มีปลาอุดม  กามาหากินปลาแล้วอิ่นหลงจนบินกลับรังไม่ได้  แต่ต่อมาพระเจ้าแผ่นดินเขมร เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น แม่น้ำเจ้าพญา เมื่อ มหาศักราช ๑๓๕๖ (นายกุหลาบว่า ศักราชนี้ยังไม่แน่ เพราะของเดิมจารไว้มัวๆ)) 

ณที่ริมแม่น้ำพิศณุราชศาครนั้น เป็นถิ่นที่ท่าสำเภา  มีสำเภามาจอดค้ากันมาก  แลเป็นที่พวกพราหมณ์มาตั้งถิ่นฐานสืบกันมาหลายร้อยปี   เมื่อพระเจ้าปิ่นเกษเสด็จมาถึงฝั่งน้ำนั้นจึงมีพระราชดำรัสสั่งให้ขุนอำมาตย์เอาช้างมาล้อมตั้งค่ายทั้ง ๔ ทิศ ผลัดเปลี่ยนช้างวันละพันช้าง ตลอด ๗ วัน เจ็ดรอบ  รวมช้างได้ประมาณพันเชือกที่เอามาจากเชียงแสน  แต่ยังไม่ได้ตั้งค่ายไม้ระเนียด   ต่อมาพระเจ้าปิ่นเกษได้ให้เรียกพราหมณ์รามราชชื่อโชฏิกะพราหมณ์  ซึ่งเป็นจ่าบ้านพราหมร์แถบนั้น  (บาปะธานาธิบดี)  มาเฝ้า แล้ววว่า  พระองค์ต้องพระราชประสงค์จะตั้งบ้านเมืองตรงนี้  พราหมร์ยินดีจะให้เราตั้งเมืองตรงนั้นหรือไม่  พราหมณ์นั้นก็กราบทูลตอบว่า ยินดีให้ทรงสร้างเมืองที่นั้น  และจะช่วยพระองค์สร้างเมืองด้วย   พระเจ้าปิ่นเกษได้ทรงสดับดังนั้นก็มีรับสั่งให้มหาอำมาตย์ผู้หนึ่งไปคุมรี้พลไปสร้างเมืองตรงเมืองร้างเก่า ชื่อ เมืองนะทีนคร  ตรงตำบลบ้านเก่า ชื่อ ตำบลบ้านคำสุก  อันเป็นที่มาภายหลังได้พระราชทานนามเมืองใหม่นั้นว่า กรุงศรีสัชนาลัยศุโขทัยราชธานี  สร้างเมื่อ มหาศักราช ๙๘๗    จากนั้นมาได้ทรงสร้างพระราชมณเฑียรสถานลงบริเวณโป่งดินที่เสือมาดักจับกวางไปกิน  เรียกกันว่า โป่งสิงคะ   โดยทรงสร้างปราสาทชื่อ พระที่นั่งสิงหะไพชย์นต์มหาปราสาท   (เพราะมีชัยภูมิดี ต้องด้วยลักษณะพยัคฆนามในพิชัยสงคราม) แล้วยังให้สร้างวัดชื่อวัดเวฬุวรรณาราม ซึ่งเป็นวัดภายในพระราชวัง ไม่มีพระสงฆ์อาศัยจำวัด 
 นายกุหลาบเล่าต่อไปอีกว่า ตามคัมภีร์นั้นว่า พระเจ้าปิ่นเกษได้ทรงอภิเษกกับนางประทุมวะดีพราหมณ์ ซึ่งเป็นบุตรีของมหาโชฏิกพราหมณ์นั้นนั้น  และทรงสถปนานางเป็นพระประทุมวะดีพระราชเทพีเอก   ส่วนมหาโชฏิกะพราหมณ์ ทรงตั้งให้เป็นพระมหาราชครูประโรหิตาจาริย์  สำหรับเป็นที่ปรึกษาราชการงานเมือง และเป็นอรรคมหาเสนาบดีในแผ่นดิน  และว่าเชื่อสายของพราหมณืครั้งนั้นได้สืบสายลงมาจนได้กลายเป็นคนไทยปัจจุบันนั่นเอง    จากนั้น นายกุหลาบก้ได้อธิบายความเป็นมาของคำว่า ศยาม เสียม ไทย  ไว้ยาวทีเดียว


สยามประเภทเล่มนี้  คงไม่ใช่สยามประเภทที่เป็นที่มาของเรื่อง  เพราะเวลายังดูห่างเอกสารอีกชิ้นหนึ่งที่ระบุว่า  นายกุหลาบต้องถูกคุมตัวไว้ดรงเลี้ยงบ้า   เหตุเพราะกล่าวเรื่องพงศาวดารไม่เป็นจริง ไม่มีที่อ้างอิง   ซึ่งจะได้นำเสนอต่อไป....


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 01 เม.ย. 10, 22:49
ในต้นฉบับ สยามประเภท เล่ม ๑  ตอนที่ ๙ ร.ศ. ๑๑๗  หน้า ๕๑๙  ก็มีชื่อ พระปิ่นเกษค่ะ

เล่าเรื่องการแต่งกายของขุนนางสยาม



เล่ม  รวมเล่ม ตอนที่ ๑๓ - ๒๔    ตอนที่คุณหลวงเอ่ยถึง มีชื่อพระปิ่นเกษเอ่ยอยู่ในหน้า ๖๖๐, ๖๖๑, ๖๖๒,​ ๖๖๓, และ ๖๖๕
ก.ศ.ร. อ้างว่าใข้ พระราชพงศาวดารเชียงแสน, เชียงราย, ศุโขทัย  รวม ๒๔ ผูก  คัดบั้นปลายมา


เรื่องแม่น้ำกาหลงนั้น  ความรู้ทางประวัติศาสตร์ของดิฉันไม่มั่นคงทรงศักดิ์รู้ทีหนีทีไล่
แต่ทำไมไปเหมือนสวนส้มกาหลงของนายโหมดเข้าได้
ที่ว่าสวนกว้างใหญ่จนกามากินแล้วไม่กลับ  หลงนอนอยู่ในสวน


ก.ศ.ร. เป็นคนกว้างขวางมาก  และได้พิมพ์หนังสือสำคัญ ๆ ไว้ไม่น้อย
ต้องหาหลักฐานมาแสดงในโอกาสต่อไป

   


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 เม.ย. 10, 08:40
ในต้นฉบับ สยามประเภท เล่ม ๑  ตอนที่ ๙ ร.ศ. ๑๑๗  หน้า ๕๑๙  ก็มีชื่อ พระปิ่นเกษค่ะ

เล่าเรื่องการแต่งกายของขุนนางสยาม



กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 เม.ย. 10, 08:57
"พระปิ่นเกษ" ปรากฏอีกแห่งหนึ่งในหนังสือ "ประวัติ เจ้าพะญาอภัยราชา (ม,ร,ว,ลพ) เจ้าพะญาบดินทรเดชา (ม,ร,ว,อรุณ)"


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 02 เม.ย. 10, 09:18
ขอบคุณคุณวันดีที่ช่วยเพิ่มเติมข้อมูลให้ ;D

จากข้อมูลข้างต้น  แสดงให้เห็นว่า นายกุหลาบได้เอ่ยถึงชื่อพระปิ่นเกษมาตั้งแต่ออกสยามประเภทปีแรก  จะได้เอ่ยอีกหลายครั้ง  แต่ฉบับที่นายกุหลาบเริ่มอธิบายละเอียดมีประวัติพิสดาร คงเป็นฉบับรวมเล่ม เล่ม ๒ ดังที่ได้ยกมาแสดงโดยสังเขปแล้ว  และคาดว่า  นายกุหลาบคงจะได้เอ่ยถึง พระปิ่นเกษ ในสยามประเภทอีกหลายครั้ง  จนในที่สุด  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงกริ้วนายกุหลาบเรื่อง พระปิ่นเกษ  ดังปรากฏพระราชหัตถเลขาเกี่ยวกับเรื่องนี้ จำนวน ๒ ฉบับ   ซึ่งเป็นเป็นเอกสารสำคัญที่จะใช้พิสูจน์เปรียบเทียบกับพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ด้วย  ดังนี้

สวนดุสิต

มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า     นายกุหลาบซึ่งเขียนชื่อตัวเองใช้หนังสือนำว่า  ก.ส.ร.  ผู้ออกหนังสือพิมพ์ตั้งชื่อว่าสยามประเภทได้แต่งเรื่องราว    ซึ่งเปนความโกหกแซกแซงลงในความจริงมาช้านาน    ปรากฏอยู่แก่ผู้ซึ่งมีความรู้แลมีปัญญาทั่วหน้าแล้วนั้น   บัดนี้แต่งข้อความต่อมานอกความจริง    โกหกขึ้นใหม่ทั้งเรื่องมากขึ้นกว่าแต่ก่อน    คำที่โกหกนั้นย่อมอาศรัยเทียบเคียงความที่ปรากฏในพระราชพงษาวดารบ้าง   เทียบเคียงการที่เปนไปอยู่ในปัจจุบันนี้    ถ้อยคำแลทางความคิดแลเรียบใกล้ไปในทางสบประมาทต่อผู้มีบรรดาศักดิ์ซึ่งล่วงไปแล้ว    แลที่ยังดำรงอยู่เนืองๆ  หนักขึ้น    จนในที่สุดนี้บังอาจแต่งความโกหกลงในหนังสือสยามประเภทว่า   มีบาญชีพระนามเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงศุโขทัยทุกพระองค์   ไม่มีเหตุอันใดซึ่งเกี่ยวข้องแก่เรื่องที่ตั้งขึ้น   จะกล่าวแลไม่มีผู้ใดไต่ถามบังอาจกล่าวคำโกหกว่าพระเจ้าแผ่นดินที่สุดวงษ์สุโขทัยทรงพระนามว่าพระจุลปิ่นเกษ   เหตุด้วยแต่ก่อนได้โกหกไว้ว่า   เจ้าแผ่นดินสุโขทัยองค์หนึ่งชื่อพระปิ่นเกษ   ที่ให้มีจุลปิ่นเกษขึ้นนั้นด้วยหวังจะเทียบพระจอมเกล้าแลพระจุลจอมเกล้า   หมายความเปนเทียบว่าเหมือนเปนที่สุดวงษ์ด้วยกัน   ข้อความทั้งนี้ย่อมปรากฏอยู่แก่ใจคนทั้งปวงว่า   ไม่มีความจริงในนั้นเลยโกหกขึ้นทั้งสิ้น   แต่กล้าหาญโกหกฟุ้งส้านยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน    จนถึงมิได้เกรงพระบรมเดชานุภาพ   ถ้าจะละเลยให้ฟุ้งส้านต่อไป   ก็จะแต่งความเทียบเคียงหยาบช้าหนักขึ้นกว่านี้

แต่ทรงพระราชดำริห์ว่า   นายกุหลาบก็เปนคนมีอายุมากนับว่าชราอยู่แล้ว   แลความฟุ้งส้านเดิมของอัทยาศรัยนายกุหลาบใกล้ไปข้างทางเสียจริตนั้น   ก็ย่อมปรากฏอยู่แล้ว   การที่แต่งถ้อยคำฟุ้งส้านหนักขึ้นครั้งนี้จะเปนด้วยความเสียจริตนั้นกล้าขึ้นก็ได้   จึงดำรัสสั่งให้พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองจับตัวนายกุหลาบไปส่งโรงพยาบาลคนเสียจริตไปคุมขังไว้กว่าจะสิ้นพยศเปนปรกติ

มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งแต่วันที่  ๘  กันยายน  รัตนโกสินทร ศก ๑๒๕

สยามินทร



พระราชหัตถเลขาฉบับต่อมา  ซึ่งเกี่ยวเนื่องกัน


ที่ ๒๘/๑๐๐๕
พระที่นั่งไอสวรรค์ทิพยอาศน์  เกาะบางปอิน
วันที่ ๑๓ ตุลาคม รัตนโกสินทร ศก ๑๒๕

ถึง  กรมหลวงนเรศรวรฤทธิ์

ด้วยได้รับหนังสือมีมาที่กรมขุนสมมตอมรพันธ์  ที่  ๑๗๐/๙๗๐๕  ลงวันที่  ๑๐  ตุลาคม  ส่งเรื่องราวนายกุหลาบขอความกรุณาพ้นจากการคุมขังที่โรงพยาบาลเสียจริตมานั้น   ได้ตรวจดูแล้ว
เห็นว่าเรื่องราวไม่ฟุ้งส้าน   ค่อยสงบระงับลงแล้ว   ยอมเชื่อทานบล  ให้ปล่อยตัวไป  เมื่อไปฟุ้งส้านอีก  ก็จะต้องรักษากันอีก

สยามินทร

จากพระราชหัตถเลขา ๒ ฉบับข้างต้น  เท่ายืนยันได้ว่า  นายกุหลาบถูกคุมขังที่โรงพยาบาลเสียจริต จากกรณีที่เขียนเรื่องพระปิ่นเกษและพระจุลปิ่นเกษ เมื่อ ร.ศ. ๑๒๕  เป็นเวลานาน ๑ เดือนเศษ  (๓๓ วัน)  ไม่ใช่ ๗ วันตามที่เคยว่าตามกันมา


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 เม.ย. 10, 10:12

.....จนในที่สุดนี้บังอาจแต่งความโกหกลงในหนังสือสยามประเภทว่า   มีบาญชีพระนามเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงศุโขทัยทุกพระองค์   ไม่มีเหตุอันใดซึ่งเกี่ยวข้องแก่เรื่องที่ตั้งขึ้น   จะกล่าวแลไม่มีผู้ใดไต่ถามบังอาจกล่าวคำโกหกว่าพระเจ้าแผ่นดินที่สุดวงษ์สุโขทัยทรงพระนามว่าพระจุลปิ่นเกษ   เหตุด้วยแต่ก่อนได้โกหกไว้ว่า   เจ้าแผ่นดินสุโขทัยองค์หนึ่งชื่อพระปิ่นเกษ   ที่ให้มีจุลปิ่นเกษขึ้นนั้นด้วยหวังจะเทียบพระจอมเกล้าแลพระจุลจอมเกล้า   หมายความเปนเทียบว่าเหมือนเปนที่สุดวงษ์ด้วยกัน ....  

มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งแต่วันที่  ๘  กันยายน  รัตนโกสินทร ศก ๑๒๕

สยามินทร


พระราชหัตถเลขาฉบับต่อมา  ซึ่งเกี่ยวเนื่องกัน

ที่ ๒๘/๑๐๐๕
พระที่นั่งไอสวรรค์ทิพยอาศน์  เกาะบางปอิน
วันที่ ๑๓ ตุลาคม รัตนโกสินทร ศก ๑๒๕

ถึง  กรมหลวงนเรศรวรฤทธิ์

ด้วยได้รับหนังสือมีมาที่กรมขุนสมมตอมรพันธ์  ที่  ๑๗๐/๙๗๐๕  ลงวันที่  ๑๐  ตุลาคม  ส่งเรื่องราวนายกุหลาบขอความกรุณาพ้นจากการคุมขังที่โรงพยาบาลเสียจริตมานั้น   ได้ตรวจดูแล้ว
เห็นว่าเรื่องราวไม่ฟุ้งส้าน   ค่อยสงบระงับลงแล้ว   ยอมเชื่อทานบล  ให้ปล่อยตัวไป  เมื่อไปฟุ้งส้านอีก  ก็จะต้องรักษากันอีก

สยามินทร

จากพระราชหัตถเลขา ๒ ฉบับข้างต้น  เท่ายืนยันได้ว่า  นายกุหลาบถูกคุมขังที่โรงพยาบาลเสียจริต จากกรณีที่เขียนเรื่องพระปิ่นเกษและพระจุลปิ่นเกษ เมื่อ ร.ศ. ๑๒๕  เป็นเวลานาน ๑ เดือนเศษ  (๓๓ วัน)  ไม่ใช่ ๗ วันตามที่เคยว่าตามกันมา

มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งเมื่อ ร.ศ. ๑๒๕ (พ.ศ. ๒๔๔๙) สยามประเภทดำเนินการมาแล้ว ๙ ปี แสดงว่า พระจุลปิ่นเกษ น่าจะอยู่ในสยามประเภทราวเล่มที่ ๙  หลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้แล้ว ก.ศ.ร.กุหลาบก็ยังคงเชื่ออยู่ว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์แรกของสุโขทัยคือ สมเด็จพระจ้าวปิ่นเกษรามาธิราช แต่พระองค์สุดท้ายเปลี่ยนเป็น สมเด็จพระจ้าวเชฐราชบรมนารถบพิตร์พระจ้าวกรุงศุโขทัย ดังปรากฎในหนังสือ "ประวัติ เจ้าพะญาอภัยราชา (ม,ร,ว,ลพ) เจ้าพะญาบดินทรเดชา (ม,ร,ว,อรุณ) พ.ศ. ๒๔๕๖




กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 เม.ย. 10, 10:18
จากนิทานโบราณคดี เรื่องที่ ๙ หนังสือหอหลวง  ตอนที่ ๕ พระนิพนธ์สมเด็จเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

"...จนนายกุหลาบเล่าเรื่องพงศาวดารกรุงสุโขทัย    ตอนเมื่อจะเสียกรุงศรีอยุธยา   พิมพ์ในเรื่องหนังสือสยามประเภท  ว่าเมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่า "พระปิ่นเกษ" สวรรคตแล้ว   พระราชโอรสทรงพระนามว่า "พระจุลปิ่นเกษ"  เสวยราชย์  ไม่มีความสามารถจึงเสียบ้านเมือง    สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทอดพระเนตรเห็นหนังสือนั้นตรัสว่า  เพียงแต่นายกุหลาบเอาความเท็จแต่งลวงว่าเป็นจริง   ก็ไม่ดีอยู่แล้ว   ซ้ำบังอาจเอาพระนามพระจอมเกล้ากับพระจุลจอมเกล้า   ไปแปลเป็นพระปิ่นเกษและพระจุลปิ่นเกษ  เทียบเคียงใส่โทษเอาตามใจ   เกินสิทธิ์ในการแต่งหนังสือ  จึงโปรดให้เจ้าพระยาอภัยราชา (ม.ร.ว.ลภ  สุทัศน์)  เมื่อยังเป็นที่พระยาอินทราธิบดี  สีหราชรองเมือง   เรียกตัวนายกุหลาบมาสั่งให้ส่งต้นตำราเรื่องพงศาวดารเมืองสุโขทัยที่อ้างว่ามีนั้นมาตรวจ   นายกุหลาบก็ต้องรับสารภาพว่าตัวคิดขึ้นเองทั้งนั้น   พระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า   จะลงโทษอย่างจริตผิดปรกติ   โปรดให้ส่งตัวนายกุหลาบไปอยู่กับผู้จัดการโรงเลี้ยงบ้าสัก ๗ วัน  แล้วก็ปล่อยตัวไป  นายกุหลาบเข็ดไปหน่อย..."


จากข้อมูลของคุณหลวงเล็กที่กรุณาค้นหามาแสดง ทำให้เราทราบว่าพระนิพนธ์สมเด็จเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพตอนนี้มีความคลาดเคลื่อนอยู่ ๒ ประการคือ

๑. ในสยามประเภทไม่ได้เขียนว่าพระจุลปิ่นเกษไม่ใช่พระราชโอรสของพระปิ่นเกษ แต่เป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของสุโขทัย

๒. ก.ศ.ร.กุหลาบ ถูกคุมขังที่โรงพยาบาลเสียจริตเป็นเวลา ๓๓ วัน ไม่ใช่ ๗ วัน

เรื่องผิดพลาดในการเขียนประวัติศาสตร์เกิดขึ้นได้เสมอ ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ

 8)



กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 เม.ย. 10, 11:12
ติดตามอ่านด้วยความสนใจ
ขอถามว่าประวัติศาสตร์สุโขทัยเล่มนี้  นายกุหลาบบอกหรือเปล่าว่าได้มาจากที่ไหน


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 02 เม.ย. 10, 15:45
ติดตามอ่านด้วยความสนใจ
ขอถามว่าประวัติศาสตร์สุโขทัยเล่มนี้  นายกุหลาบบอกหรือเปล่าว่าได้มาจากที่ไหน

นายกุหลาบบอกไว้หลายแห่งคล้ายๆ กันว่า

"...บัดนี้จักขออธิบายถึงเรื่องกำเหนิด  ต้นเหตุที่จะบังเกิดชนชาวชาติไทยมีขึ้นในแผ่นดินศยามนี้   ซึ่งจักได้คัดย่อความออกมาจากพระราชพงศาวดารเชียงแสน,เชียงราย,ศุโขทัย,๒๔ผูก   ซึ่งจานลงไว้ในใบลานเปนของโบราณหลายร้อยปี   เรียกว่าคัมภีร์พระราชพงศาวดารเชียงแสนเชียงรายศุโขทัย ๒๔ ผูก  ต้นฉบับเดิมเปนของท่านเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด)  บ้านปากคลองมอญ กรุงเทพฯ  ภายหลังข้าพเจ้าได้คัดลอกไว้ได้บ้างบางข้อจึ่งได้คัดข้อย่อความจับเลือกคัดในตอนปลายสุดท้ายในผุกที่ ๑๙ มีใจความตามพระราชพงศาวดารเชียงแสนเชียงรายศุโขทัยดั่งนี้..."

เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด)  บ้านปากคลองมอญ กรุงเทพฯ   ที่นายกุหลาบอ้างถึงนี้   น่าจะหมายถึง  ท่านเสนาบดีกรมวังในสมัยรัชกาลที่ ๑ เป็นบรรพบุรุษต้นสกุล  บุณยรัตพันธุ์


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 เม.ย. 10, 16:02
อ้างถึง
พระราชพงศาวดารเชียงแสน,เชียงราย,ศุโขทัย,๒๔ผูก   ซึ่งจานลงไว้ในใบลานเปนของโบราณหลายร้อยปี   เรียกว่าคัมภีร์พระราชพงศาวดารเชียงแสนเชียงรายศุโขทัย ๒๔ ผูก  ต้นฉบับเดิมเปนของท่านเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช (บุญรอด)  บ้านปากคลองมอญ กรุงเทพฯ  ภายหลังข้าพเจ้าได้คัดลอกไว้ได้บ้างบางข้อ
พระราชพงศาวดารฉบับที่ว่านี้  มีให้อ่านไหมคะ


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 02 เม.ย. 10, 16:25

จากข้อมูลของคุณหลวงเล็กที่กรุณาค้นหามาแสดง ทำให้เราทราบว่าพระนิพนธ์สมเด็จเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพตอนนี้มีความคลาดเคลื่อนอยู่ ๒ ประการคือ

๑. ในสยามประเภทไม่ได้เขียนว่าพระจุลปิ่นเกษไม่ใช่พระราชโอรสของพระปิ่นเกษ แต่เป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของสุโขทัย

๒. ก.ศ.ร.กุหลาบ ถูกคุมขังที่โรงพยาบาลเสียจริตเป็นเวลา ๓๓ วัน ไม่ใช่ ๗ วัน

เรื่องผิดพลาดในการเขียนประวัติศาสตร์เกิดขึ้นได้เสมอ ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ

 8)



นอกจากนี้  ยังชี้ให้เห็นว่า สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงพระนิพนธ์เรื่องรัชกาลที่ ๕ มีรับสั่งให้นำตัวนายกุหลาบไปคุมไว้ที่โรงพยาบาลคนเสียจริต เหตุเพราะนายกุหลาบเขียนเรื่องพระปิ่นเกษและพระจุลปิ่นเกษลงประกาศในสยามประเภท  จากความทรงจำหาใช่จากข้อมูลเอกสาร  ทำให้ข้อมูลบางประการคลาดจากความเป็นจริง  

อีกทั้งทรงผูกเรื่องพระปิ่นเกษและพระจุลปิ่นเกษของนายกุหลาบใหม่ให้ยิ่งขึ้นไปอีกด้วย  อันนี้สำคัญเพราะคนรุ่นหลังก็พลอยเชื่อตามพระนิพนธ์ไปหมดโดยไม่ได้ไปตรวจสอบค้นหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น    

อย่างไรก็ตาม    นายกุหลาบก็ยังคงไม่สามารถพ้นข้อกล่าวโทษที่ว่า  เป็นผู้แต่งแปลงปลอมหนังสือเอาตามใจ  ไปได้    กระทู้นี้นับตั้งแต่ตั้งขึ้นมาโดยคุณวันดี และมีผม คุณเพ็ญชมพู คุณเทาชมพู แวะเวียนกันเข้ามาเพิ่มเติมความรู้ ข้อมูลเกี่ยวกับนายกุหลาบ    เหตุผลหนึ่งก็เพื่อแสดงให้เห็นว่านายกุหลาบเป็นคนไทยคนหนึ่งในอดีตที่มีความสำคัญ น่าสนใจศึกษาชีวิต    ถึงแม้ว่าสิ่งพิมพ์ต่างๆ  ตลอดจนวิธีการได้ครอบครองข้อมูลบางอย่างของนายกุหลาบ จะไม่เป็นตัวอย่างที่ดีแก่คนยุคหลังก็ตาม  (แต่เราก็ยังเห็นนักวิชาการ นักเขียนทั้งที่มีชื่อเสียงและไม่มีชื่อเสียงลอกงานเขียนของผู้อื่นมาเป็นผลงานของตนเองอยู่เสมอ)  จนมีคนกล่าวว่านายกุหลาบทำผิดจรรยาบรรณของนักวิชาการ  ซึ่งก็เป็นจริงประการหนึ่ง   กระนั้นเราก็ไม่ควรไปตราเหมารวมว่างานทุกชิ้นของนายกุหลาบเป็นเท็จ  เชื่อไม่ได้ไปเสียหมด  ตราบเท่าที่เราคนรุ่นหลังยังไม่ได้พิสูจน์โดยการได้อ่านเอกสารของนายกุหลาบเสียก่อน   ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่เชื่อหรือพยายามคัดค้านต่อต้านพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๕ และพระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ   แต่เพราะหลักกาลามสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงสอน  เราจึงต้องอ่าน  ค้นคว้า และตรวจสอบเพื่อให้เห็นจริง      มิฉะนั้นนายกุหลาบจะถูกหลงลืมไปเหมือนกับที่เราหลงลืมคนไทยในอดีตหลายคนไป  โดยไม่มีใครสามารถค้นหาข้อมูลได้เลย    


ทุกวันนี้สิ่งพิมพ์ของนายกุหลาบทุกชิ้น  เป็นของหายาก  และเป็นที่แสวงหาของนักสะสมหนังสือเก่าและนักวิชาการกันมาก ทุกครั้งที่มีข่าวว่ามีหนังสือของนายกุหลาบสักชิ้นหลุดออกจากกรุหนังสือของผู้ใดมาสู่ท้องตลาด  ก็ย่อมเป็นจะกลายข่าวสะพัดไปอย่างรวดเร็วในกลุ่มคนเหล่านี้ แม้อาจจะเป็นเพียงกลุ่มคนเล็กๆ ในสังคม   แต่นั่นก็เท่ากับยืนยันได้ว่า  สิ่งพิมพ์ของนายกุหลาบได้กลายเป็นข้อมูลสำคัญส่วนหนึ่งของประวัติสิ่งพิมพ์ในสยามประเทศไปแล้ว   8)


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 เม.ย. 10, 17:04
น่าทึ่งมาก  ขอขอบคุณ คุณวันดี คุณเพ็ญชมพู และคุณหลวงเล็กที่ตามศึกษางานของนายกุหลาบ อย่างจริงจังจนได้คำตอบมา
ในเมื่อมีข้อพิสูจน์ว่า พระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง    ดิฉันก็ขอถอนความคิดเดิมออกโดยไม่มีข้อแย้ง

คำถามสุดท้าย   นายกุหลาบถูกส่งไปโรงพยาบาล ในฐานะคนไข้สติเฟื่อง     เพราะถูกมองว่าเฟื่องเรื่องปลอมพระราชพงศาวดาร   ไม่ใช่เรื่องแต่งเติมอ้างชื่อพระจุลปิ่นเกษ
ใช่ไหมคะ

ป.ล. ขอความเห็นใจจากหลักกาลามสูตรหน่อยเถิดว่า หลักฐานจากหนังสือนายกุหลาบ หายากเหลือเกิน
ถ้ามีในหอสมุดแห่งชาติ  หรือหอสมุดในมหาวิทยาลัย ป่านนี้นักวิชาการเขาก็คงหาเจอเสียนานแล้ว
แต่ถ้ามีแต่ในคอลเลคชั่นส่วนตัวของท่านนักสะสม   นานๆปี  จะหลุดออกมาสักเล่ม    นักวิชาการส่วนใหญ่ก็จนปัญญา


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 เม.ย. 10, 19:05
กลับไปอ่านเรื่องนี้แต่แรกอีกครั้ง ด้วยหลักกาลามสูตร  เกิดคำถามให้คุณหลวงเล็กและคุณเพ็ญชมพู รวมทั้งท่านอื่นๆด้วย  ช่วยกันไขข้อข้องใจ
พระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงฯระบุว่า
"จนนายกุหลาบเล่าเรื่องพงศาวดารกรุงสุโขทัยตอนเมื่อจะเสียกรุงแก่กรุงศรีอยุธยา พิมพ์ในหนังสือสยามประเภทว่า เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่า "พระปิ่นเกษ" สวรรคตแล้ว พระราชโอรสทรงพระนามว่า "พระจุลปิ่นเกษ" เสวยราชย์ ไม่มีความสามารถจึงเสียบ้านเมือง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงทอดพระเนตรเห็นหนังสือ ตรัสว่า เพียงแต่นายกุหลาบเอาความเท็จมาแต่งลวงว่าความจริงก็ไม่ดีอยู่แล้ว ซ้ำบังอาจเอาพระนามพระจอมเกล้าและพระจุลจอมเกล้าไปแปลงเป็น พระปิ่นเกษ และพระจุลปิ่นเกษ เทียบเคียงใส่โทษเอาตามใจ เกินสิทธิในการแต่งหนังสือ จึงโปรดฯให้เจ้าพระยาอภัยราชา(ม.ร.ว.ลภ สุทัศน์) เมื่อยังเป็นพระยาอิทราธิบดีสีหราชรองเมือง เรียกตัวนายกุหลาบมาสั่งให้ส่งต้นตำราเรื่องพงศาวดารเมืองสุโขทัยที่อ้างว่ามีนั้นมาตรวจ นายกุหลาบก็ต้องรับสารภาพว่าตัวคิดขึ้นเองทั้งนั้น พระเจ้าอยู่หัวตรัสว่าจะลงโทษอย่างจริตผิดปรกติ โปรดฯให้ส่งตัวนายกุหลาบไปอยู่กับผู้จัดการในโรงเลี้ยงบ้าสัก ๗ วัน แล้วก็ปล่อยไป

ในเมื่อ สยามประเภทที่หามาได้ในกระทู้นี้   ไม่มีเรื่องพระจุลปิ่นเกษเสียบ้านเมือง     จะให้เข้าใจว่า
๑   สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ  ทรงเล่าคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง     ถ้าอย่างนั้น เรื่องที่คลาดเคลื่อนคือตรงไหน?
- ตรงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า มิได้ทอดพระเนตรเห็นหนังสือแล้วกริ้ว     อย่างที่สมเด็จฯทรงเล่ามา
- ตรงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ทอดพระเนตรเห็นสยามประเภทแล้วกริ้วจริงๆ  แต่มิได้กริ้วเรื่องพระจุลปิ่นเกษเสียบ้านเมือง   อาจจะกริ้วเรื่องอื่น  แต่สมเด็จฯทรงเล่าคลาดเคลื่อนเองว่าเป็นเรื่องนี้  จะเป็นเพราะทรงจำผิดหรืออะไรก็ตาม
๒  สยามประเภทที่ค้นมาลงในกระทู้นี้  ยังมีไม่ครบ  อาจมีพงศาวดารสุโขทัยอีกตอนหนึ่ง ในสยามประเภท เล่มอื่น  ที่เล่าเรื่องพระจุลปิ่นเกษจริงๆ   แต่ไม่อยู่ในเล่มที่หามาได้

อยากถามความเห็นค่ะ ว่า "น่าจะ" เป็นข้อไหน  ตามความเข้าใจของคุณ


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 03 เม.ย. 10, 23:35
ผมขออนุญาตชวนคุณเทาชมพูกลับไปอ่านพระราชหัตถเลขารัชกาลที่ ๕ อีกครั้งหนึ่งนะครับ

อ้างถึง
สวนดุสิต

มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า     นายกุหลาบซึ่งเขียนชื่อตัวเองใช้หนังสือนำว่า  ก.ส.ร.  ผู้ออกหนังสือพิมพ์ตั้งชื่อว่าสยามประเภทได้แต่งเรื่องราว    ซึ่งเปนความโกหกแซกแซงลงในความจริงมาช้านาน    ปรากฏอยู่แก่ผู้ซึ่งมีความรู้แลมีปัญญาทั่วหน้าแล้วนั้น   บัดนี้แต่งข้อความต่อมานอกความจริง    โกหกขึ้นใหม่ทั้งเรื่องมากขึ้นกว่าแต่ก่อน    คำที่โกหกนั้นย่อมอาศรัยเทียบเคียงความที่ปรากฏในพระราชพงษาวดารบ้าง   เทียบเคียงการที่เปนไปอยู่ในปัจจุบันนี้    ถ้อยคำแลทางความคิดแลเรียบใกล้ไปในทางสบประมาทต่อผู้มีบรรดาศักดิ์ซึ่งล่วงไปแล้ว    แลที่ยังดำรงอยู่เนืองๆ  หนักขึ้น    จนในที่สุดนี้บังอาจแต่งความโกหกลงในหนังสือสยามประเภทว่า   มีบาญชีพระนามเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงศุโขทัยทุกพระองค์   ไม่มีเหตุอันใดซึ่งเกี่ยวข้องแก่เรื่องที่ตั้งขึ้น   จะกล่าวแลไม่มีผู้ใดไต่ถามบังอาจกล่าวคำโกหกว่าพระเจ้าแผ่นดินที่สุดวงษ์สุโขทัยทรงพระนามว่าพระจุลปิ่นเกษ   เหตุด้วยแต่ก่อนได้โกหกไว้ว่า   เจ้าแผ่นดินสุโขทัยองค์หนึ่งชื่อพระปิ่นเกษ   ที่ให้มีจุลปิ่นเกษขึ้นนั้นด้วยหวังจะเทียบพระจอมเกล้าแลพระจุลจอมเกล้า   หมายความเปนเทียบว่าเหมือนเปนที่สุดวงษ์ด้วยกัน   ข้อความทั้งนี้ย่อมปรากฏอยู่แก่ใจคนทั้งปวงว่า   ไม่มีความจริงในนั้นเลยโกหกขึ้นทั้งสิ้น   แต่กล้าหาญโกหกฟุ้งส้านยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน    จนถึงมิได้เกรงพระบรมเดชานุภาพ   ถ้าจะละเลยให้ฟุ้งส้านต่อไป   ก็จะแต่งความเทียบเคียงหยาบช้าหนักขึ้นกว่านี้

แต่ทรงพระราชดำริห์ว่า   นายกุหลาบก็เปนคนมีอายุมากนับว่าชราอยู่แล้ว   แลความฟุ้งส้านเดิมของอัทยาศรัยนายกุหลาบใกล้ไปข้างทางเสียจริตนั้น   ก็ย่อมปรากฏอยู่แล้ว   การที่แต่งถ้อยคำฟุ้งส้านหนักขึ้นครั้งนี้จะเปนด้วยความเสียจริตนั้นกล้าขึ้นก็ได้   จึงดำรัสสั่งให้พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองจับตัวนายกุหลาบไปส่งโรงพยาบาลคนเสียจริตไปคุมขังไว้กว่าจะสิ้นพยศเปนปรกติ

มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งแต่วันที่  ๘  กันยายน  รัตนโกสินทร ศก ๑๒๕


สยามินทร


โปรดสังเกตดังนี้

ประการแรก  รัชกาลที่ ๕ มีรับสั่งว่า

"...จนในที่สุดนี้บังอาจแต่งความโกหกลงในหนังสือสยามประเภทว่า   มีบาญชีพระนามเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงศุโขทัยทุกพระองค์   ไม่มีเหตุอันใดซึ่งเกี่ยวข้องแก่เรื่องที่ตั้งขึ้น   จะกล่าวแลไม่มีผู้ใดไต่ถามบังอาจกล่าวคำโกหกว่าพระเจ้าแผ่นดินที่สุดวงษ์สุโขทัยทรงพระนามว่าพระจุลปิ่นเกษ   เหตุด้วยแต่ก่อนได้โกหกไว้ว่า   เจ้าแผ่นดินสุโขทัยองค์หนึ่งชื่อพระปิ่นเกษ   ที่ให้มีจุลปิ่นเกษขึ้นนั้นด้วยหวังจะเทียบพระจอมเกล้าแลพระจุลจอมเกล้า   หมายความเปนเทียบว่าเหมือนเปนที่สุดวงษ์ด้วยกัน..."   

ในขณะที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงพระนิพนธ์ว่า  

"...จนนายกุหลาบเล่าเรื่องพงศาวดารกรุงสุโขทัยตอนเมื่อจะเสียกรุงแก่กรุงศรีอยุธยา พิมพ์ในหนังสือสยามประเภทว่า เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่า "พระปิ่นเกษ" สวรรคตแล้ว พระราชโอรสทรงพระนามว่า "พระจุลปิ่นเกษ" เสวยราชย์ ไม่มีความสามารถจึงเสียบ้านเมือง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงทอดพระเนตรเห็นหนังสือ ตรัสว่า เพียงแต่นายกุหลาบเอาความเท็จมาแต่งลวงว่าความจริงก็ไม่ดีอยู่แล้ว ซ้ำบังอาจเอาพระนามพระจอมเกล้าและพระจุลจอมเกล้าไปแปลงเป็น พระปิ่นเกษ และพระจุลปิ่นเกษ เทียบเคียงใส่โทษเอาตามใจ เกินสิทธิในการแต่งหนังสือ..."

ขอให้พิจารณาข้อความนะครับ  รัชกาลที่ ๕ รับสั่งว่า นายกุหลาบลงข้อความโฆษณาว่า  นายกุหลาบมีบาญชีพระนามพระเจ้าแผ่นกรุงสุโขทัยทุกพระองค์  แล้วบอกว่า  พระเจ้าแผ่นดินที่สุดวงศ์กรุงสุโขทัยนั้น ทรงพระนามว่า พระจุลปิ่นเกษ  ซึ่งทรงเข้าพระทัยว่า  นายกุหลาบหมายเอาพระนามพระจุลจอมเกล้าของพระองค์ไปแปลงเอาตามชอบ  แล้ววางไว้ท้ายที่สุดของวงศ์กรุงสุโขทัย  ซึ่งในรัชกาลพระจุลปิ่นเกษนั้น กรุงสุโขทัยเสียแก่กรุงศรีอยุธยา ซึ่งทำให้เข้าพระทัยต่อไปว่า นายกุหลาบคงจะหมายเอาพระองค์เป็นที่สุดแต่พระราชวงศ์ด้วย   นี่คือที่รัชกาลที่ ๕ ทรงกริ้ว ตรงนี้ครับ  เพราะเข้าพระทัยว่านายกุหลาบหมายถึงพระองค์โดยตรง

ส่วนสมเด็จกรมพระดำรงฯ ทรงพระนิพนธ์ไว้นั้น  คลาดเคลื่อนไปจากข้อความพระราชหัตถเลขาเพียงใด   ก็เห็นกันอยู่ว่า      พระจุลปิ่นเกษไม่ได้เป็นพระราชโอรสของพระปิ่นเกษ  ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์แรกของกรุงสุโขทัย  หลังจากที่ทรงอพยพพระราชวงศ์พาไพร่พลจากเมืองเชียงแสนมาตั้งรกรากใหม่ที่กรุงสุโขทัย  ส่วนพระจุลปิ่นเกษเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่สุดวงศ์ของกรุงสุโขทัยก่อนจะเสียกรุงแก่กรุงศรีอยุธยา   ตามที่นายกุหลาบเคยได้ลงไว้ในสยามประเภทตั้งแต่ฉบับแรกๆ เรื่อยมา  นายกุหลาบมักเอ่ยถึงแต่พระปิ่นเกษ ซึ่งเป็นกษัตริย์ต้นวงศ์สุโขทัย  แต่ไม่เคยเอ่ยถึงพระจุลปิ่นเกษไว้ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุในครั้งนี้เลย   (มิฉะนั้น  รัชกาลที่ ๕ คงจะต้องทรงกริ้วมาก่อนหน้านี้   และโปรดสังเกตว่า การที่นายกุหลาบเอ่ยอ้างถึงพระปิ่นเกษมาก่อนหน้านั้น   รัชกาลที่ ๕ ก็ยังหาได้ทรงลงโทษทัณฑ์อย่างใดแก่นายกุหลาบไม่  อันนี้ต้องถามคุณเทาชมพูกลับว่าทำไม?)   นายกุหลาบเล่าไว้ในสยามประเภทหรือหนังสือเล่มอื่นของเขาว่า ตั้งแต่พระปิ่นเกษที่เป็นต้นวงศ์สุโขทัยมาจนที่สุดวงศ์นั้น เป็นเวลายาวนานถึง ๘๐๘ ปี รวมมีพระเจ้าแผ่นดินทั้งหมด ๔๖ พระองค์  (ซึ่งนายกุหลาบไม่เคยได้แจกแจงว่า ทั้ง ๔๖ รัชกาลนั้น มีพระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่าอย่างไรบ้าง  ได้แต่กล่าวถึงรัชกาลแรกและรัชกาลท้ายเท่านั้น)   ก็ถ้าพระปิ่นเกษเป็นต้นวงศ์สุโขทัย  และพระจุลปิ่นเกษเป็นที่สุดวงศ์สุโขทัย  ซึ่งวงศ์นี้ปกครองกรุงสุโขทัยมานานถึง ๘๐๘ ปีนั้น   ย่อมไม่มีทางที่พระจุลปิ่นเกษจะเป็นพระราชโอรสของพระปิ่นเกษได้เลย  ฉะนั้น  การที่สมเด็จกรมพระยาดำรงทรงพระนิพนธ์ว่า  "...เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่า "พระปิ่นเกษ" สวรรคตแล้ว พระราชโอรสทรงพระนามว่า "พระจุลปิ่นเกษ" เสวยราชย์ ไม่มีความสามารถจึงเสียบ้านเมือง..." จึงไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงและความเป็นไปได้ในเชิงตรรกะ

ประการต่อมา  รัชกาลที่ ๕  มีรับสั่งว่า  "หมายความเปนเทียบว่าเหมือนเปนที่สุดวงษ์ด้วยกัน"  แต่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงพระนิพนธ์ว่า "พระราชโอรสทรงพระนามว่า "พระจุลปิ่นเกษ" เสวยราชย์ ไม่มีความสามารถจึงเสียบ้านเมือง"  ข้อความของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ให้ความหมายในเชิงว่า  นายกุหลาบดูหมิ่นพระปรีชาสามารถของรัชกาลที่ ๕  ด้วย  การที่พระเจ้าแผ่นดินของบ้านเมืองหนึ่งจะทรงเสียบ้านเมืองแก่พระเจ้าแผ่นดินอีกบ้านเมืองหนึ่ง   บางทีก็ไม่ได้หมายความว่า พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นทรงด้อยพระปรีชาสามารถ  แต่อาจจะมีปัจจัยอื่นที่ทำให้ไม่อาจจะต้านทานกำลังของข้าศึกได้  เช่น ข้าศึกยกมาล้อมหลายทิศทาง   หรือไม่ข้าศึกใช้กลอุบายในการโจมตีที่แยบคาย  หรือข้าศึกเป็นประเทศมหาอำนาจ  ในขณะที่บ้านเมืองของพระจุลปิ่นเกษเป็นบ้านเมืองน้อยจึงไม่อาจรักษาเอกราชได้  แม้จะได้ต่อสู้ถึงที่สุดแล้ว  ก็มีความเป็นไปได้ทั้งสิ้น   จากข้อความในพระราชหัตถเลขานั้น  รัชกาลที่ ๕ ไม่ได้ทรงระบุแม้แต่น้อยว่า นายกุหลาบดูแคลนพระปรีชาของพระจุลปิ่นเกษ   มีแต่ในพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เท่านั้น

คำถามต่อมา  ว่า สยามประเภทที่ค้นมาลงในกระทู้นี้  ยังมีไม่ครบ  อาจมีพงศาวดารสุโขทัยอีกตอนหนึ่ง ในสยามประเภท เล่มอื่น  ที่เล่าเรื่องพระจุลปิ่นเกษจริงๆ   แต่ไม่อยู่ในเล่มที่หามาได้  

เป็นคำถามที่ตอบได้ยากอยู่  เท่าที่ได้สอบถามจากคนที่ได้อ่านสยามประเภทมาอย่างโชกโชนคนหนึ่ง   เขาตอบว่า  นายกุหลาบเอ่ยถึงพระปิ่นเกษไว้ในสยามประเภทหลายครั้ง  แต่ละครั้งที่อ้างถึงนั้น  ไม่ปรากฏว่ามีพระจุลปิ่นเกษปรากฏอยู่ด้วยเลย   จึงเข้าใจว่า ในสยามประเภทที่ออกใน ปี ร.ศ. ๑๒๕ ฉบับใดฉบับหนึ่ง  คงจะมีการเอ่ยถึงพระจุลปิ่นเกาขึ้นมา  อันเป็นเหตุให้รัชกาลที่ ๕ ทรงกริ้ว  ถ้านายกุหลาบได้เคยเอ่ยมาก่อนหน้านี้  มีหรือที่รัชกาลที่ ๕ จะทรงเก็บเอาไว้มาทรงกริ้วในปีดังกล่าว

อนึ่ง  เรื่องพงศาวดารเกี่ยวกับกรุงสุโขทัยที่นายกุหลาบเล่าไว้ในสยามประเภทก็ดี ในหนังสืออื่นก็ดี  เป็นแต่การเล่าไว้บางตอน น้อยบ้าง มากบ้าง แต่การเล่าเฉพาะที่มีรายละเอียดตั้งแต่ต้นจนจบนั้นยังไม่เคยปรากฏว่ามี    สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาด้วยก็คือ  ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นั้น ความรู้เกี่ยวกับกรุงสุโขทัยในหมู่คนไทยยังมีน้อยกว่าทุกวันนี้หลายเท่า   ศิลาจารึกสุโขทัยหลายหลักเพิ่งจะมีการรวบรวมและได้พิมพ์เผยแพร่กันสมัยรัชกาลที่ ๖-๗   ในรัชกาลที่ ๕ เรามีแต่ พงศาวดารเหนือ  ที่รวบรวมเรื่องจากคำสอบถามในสมัยรัชกาลที่ ๒   พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๔ เกี่ยวกับศิลาจารึกหลักที่ ๑   อภินิหารการประจักษ์และคำอ่านจารึกสุโขทัยภาษาขอม  พระนิพนธ์กรมสมเด็จพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์  นอกจากนั้นก็มีนิทานพระร่วง  ซึ่งก็ยังไม่เป็นข้อมูลที่มากพอที่จะระบุได้ว่า กรุงสุโขทัยมีพระเจ้าแผ่นดินกี่พระองค์  ตราบจนกระทั่งหลังสมัยสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ มาแล้ว  เราจึงได้มีข้อมูลมาพอที่ระบุว่ากรุงสุโขทัยมีพระเจ้าแผ่นดินเท่าไร   นายกุหลาบคงเห็นว่า   คนยังไม่รู้เรื่องสุโขทัยตอนนั้นมีมาก  และคนก็กระตือรืนร้นที่จะรู้  แต่ข็อมูลยังมีไม่มากพอ   นายกุหลาบจึงสบโอกาสเหมาะที่แต่งเรื่องสุโขทัยขายให้คนอื่นๆ ในสังคมที่ต้องการใคร่รู้นั่นเอง


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: overhaul ที่ 04 เม.ย. 10, 17:04
 :)เรียนถามท่านผู้สันทัดกรณี
ก.ส.ร.กุหลาบใช้รูปไม้กางเขนในหนังสือหลายครั้ง หลายเล่ม ไม่ทราบว่า 1.มีนัยอะไรหรือไม่  2.เกี่ยวข้องอะไรกับสมาคมลับที่ท่านเป็นสมาชิกหรือไม่ครับ :o


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 04 เม.ย. 10, 18:55
มีค่ะ


ถ้าหมายความถึงสมาคมลับคฤศตังอั้งยี่  หรือคฤศตังสมาคม  หรือ คฤศตังอั้งยี่สยาม  
ก.ศ.ร. ไม่ได้เป็นสมาชิกค่ะ
ท่านตั้งขึ้นมาเอง

สหายให้ดูอยู่หลายแว่บเหมือนกัน
หึๆ..........

คำนำดุเดือด   ทั้งเล่มมีตื่นเต้นอยู่ที่คำนำเท่านั้น
เป็นสมาคมลับ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อต่อต้านสมาคมลับอื่นๆ


พิมพ์แต่หนังสือพิมพ์ประวัติศาตร์เก่า ๆเพื่อแจกค่ะ     เผลอพิมพ์พงศาวดารจีนแจก ๑ เล่มด้วย
(นักสะสมติดต่อดิฉันมา  ถามเรื่องพงศาวดารจีนว่ามีจริงไหม  ทำนองนี้ล่ะค่ะ)


รายชื่อสมาชิกก็เป็นอนุรักษ์นิยมกันหลายคน   นักประวัติศาสตร์ก็หลายคน  ตอนนั้นไม่มีซ้ายหรือขวาหรอกค่ะ
ท่าน ๆ พบกันก็คงขัดคอกันเอง


ก.ศ.ร. ชอบพิมพ์หนังสือเป็นที่สุดค่ะ  แท่นว่างท่านก็พิมพ์อะไรต่อมิอะไร
หลายครั้งที่ท่านเก็บกระดาษที่ยังไม่ได้เข้าเล่ม  มาเย็บปกใหม่   ทีนี้ก็ งอม กันเลยค่ะ
เพราะจำนวนหน้าพิมพ์ไว้สามแห่ง คือ บน ล่าง และขวามือบน  ไม่ตรงกัน


เรื่องสยามประเภทที่ว่า      หลักฐานหลังสุดว่ามี ๑๒ เล่ม         ก็ยังไม่ถูกต้องค่ะ
ท่านพิมพ์ฉบับพิเศษทุกปีเลย    อิอิ


หนังสือชุดนี้มีหลายเล่มอีกแล้วค่ะ  จำนวนคงไม่มีใครทราบแน่ชัด


จะอ่านตำรายาที่แจกในงานศพท่านไหมคะ  ตำรายาพิเศษของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาปวเรศว์ริยาลงกรณ์
พิมพ์ ๒๔๖๓ ค่ะ
หลายคนว่าตำราดี  หายากต่างหาก


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 เม.ย. 10, 14:46

จากข้อมูลของคุณหลวงเล็กที่กรุณาค้นหามาแสดง ทำให้เราทราบว่าพระนิพนธ์สมเด็จเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพตอนนี้มีความคลาดเคลื่อนอยู่ ๒ ประการคือ

๑. ในสยามประเภทไม่ได้เขียนว่าพระจุลปิ่นเกษไม่ใช่พระราชโอรสของพระปิ่นเกษ แต่เป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของสุโขทัย

๒. ก.ศ.ร.กุหลาบ ถูกคุมขังที่โรงพยาบาลเสียจริตเป็นเวลา ๓๓ วัน ไม่ใช่ ๗ วัน

เรื่องผิดพลาดในการเขียนประวัติศาสตร์เกิดขึ้นได้เสมอ ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ

 8)

ข้อความข้างบนนั้นก็มีความคลาดเคลื่อนเช่นกัน

รออยู่นานเพื่อแก้ไข แต่ไร้คนทัก  ;D

ขออนุญาตแก้ไขข้อความ

ในสยามประเภทไม่ได้เขียนว่าพระจุลปิ่นเกษไม่ใช่พระราชโอรสของพระปิ่นเกษ   -----> ในสยามประเภท พระจุลปิ่นเกษไม่ใช่พระราชโอรสของพระปิ่นเกษ

*********************************************************************************************


อยากให้คุณวันดีช่วยกรุณาขยายความเรื่องสมาคมลับของ ก.ศ.ร.กุหลาบ

รายชื่อสมาชิกมีใครบ้างหนอ

 ???










กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 05 เม.ย. 10, 14:49
คนร่วมสมัยเขียนแสดงทัศนะเกี่ยวกับหนังสือสยามประเภทของนายกุหลาบ

"...บันดาเพื่อนบ้านที่เกิดมาชาติเดียวภาษาเดียวกันก็ชวนกันล่วงลับไปแล้ว    ข้าพเจ้าจะลองนับดู  (ใครจะว่ารู้ก่อนเกิดก็ช่าง)   มีรัตนทวารา-พ่อนั่นไม่ถึงขวบสู่ปรโลก.  สารเสวตร์  เถอะพี่นี่ยาวหน่อย   สากล-ถึงวันหรือไม่ข้าพเจ้าก็จำไม่ได้.  วิทยาจาริย์-ดูเหมือนเอดิเตอร์ขึ้นสวรรค์เสียแล้ว   ลักวิทยา-อ๊ะ  ชาติเดียวกัน  แต่ภาษ-เอาเถอะไทยเหมือนกันก็ภาษาเดียวกัน  ท่านผู้นี้ข้าพเจ้าได้รับลา    ถลก-มิสเตอร์นั่นฮอลิเดเสียพักหนึ่งแล้ว   นี่กลับมาสะโสสรกันใหม่ขอให้เขาเจริญเถอะ      สยามประเภท-ท่านนี่แก่แล้วแต่ยังไม่โขยกเขยก   ดี ข้าพเจ้าชอบ  จะได้มีเพื่อนบ้านช่วยกันค้ำจุนซึ่งกันและกันบ้าง  ขอให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไปเถิด   ใครอีกข้าพเจ้านึกไม่ออกเสียแล้ว   ถ้าท่านผู้อ่านของเรานึกออกบ้าง  ก็เชิญนึกต่อไปอีกเถอะ.
ชามภูวราช"

จากทวีปัญญา เล่ม ๒ ฉบับที่ ๑๐ ประจำเดือนมกราคม ร.ศ. ๑๒๓ หน้า ๒๑๗ ในหัวเรื่อง เบ็ตเล็ต  

อ้างถึง
ตามความเห็นของ ก.ศ.ร.กุหลาบ นั้น พระซื่อเมืองเป็นหลักใหญ่ของการปกครองบ้านเมือง เพราะธรรมเป็นที่มาของกฎหมาย ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการปกครองอีกทีหนึ่ง ความคิดนี้ไม่ใช่ความคิดใหม่ แต่ ก.ศ.ร.กุหลาบ หยิบยืมมาจากหลักการปกครองสมัยโบราณที่ปรากฏในพระพิไชยเสนาและเป็นส่วนหนึ่งของคำให้การขุนหลวงประดู่ทรงธรรม ความคิดเกี่ยวกับจัตุเทวาภิบาลนี้ได้รับอิทธิพลจากความคิดทางฮินดู ซึ่งเห็นว่าสังคมประกอบด้วยองคาพยพต่าง ๆ แต่ความคิดนี้ได้ถูกดัดแปลงให้เป็นของไทยโดยการให้ความสำคัญต่อหลักธรรมของพระพุทธศาสนา กล่าวคือตามทฤษฎีองคาพยพของฮินดูนั้นพระมหากษัตริย์เป็นองคาพยพที่สำคัญที่สุด แต่ความคิดของไทยซึ่งเป็นการผสมผสานความคิดฮินดูกันพุทธนั้นได้ให้ความสำคัญแก่หลักธรรมหรือพระไตรปิฎกว่าเป็นองคาพยพที่มีความสำคัญมากกว่าองคาพยพอื่น ๆ

ข้อมูลล่าสุด  คำให้การขุนหลวงประดู่ทรงธรรม แท้จริงคือเอกสารบางส่วนที่พลัดออกจากชุดเอกสาร  คำให้การขุนหลวงหาวัด   ซึ่งคำให้การขุนหลวงหาวัด นั้นเมื่อสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงชำระพิมพ์เผยแพร่   พระองค์ได้ทรงเอาข้อความจากคำให้การชาวกรุงมาลงแทนตรงส่วนที่เอกสารคำให้การคำให้การขุนหลวงหาวัดขาดหายไป  เพื่อให้ได้ใจความครบ  คำให้การขุนหลวงหาวัดฉบับที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ให้พิมพ์กันมาหลายครั้ง    จนกระทั่งล่าสุด  (๒๕๔๗) โครงการเลือกสรรหนังสือ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  ได้พิมพ์คำให้การขุนหลวงหาวัด  ฉบับสมบูรณ์  ที่ไม่ได้เอาข้อความบางส่วนของคำให้การชางกรุงเก่ามาแทรกเติม  เพราะข้อความของคำให้การขุนหลวงหาวัดที่ขาดหายแต่เดิมนั้น ก็คือ เอกสารคำให้การขุนหลวงประดู่ทรงธรรม ที่นำมาพิมพ์แยกตั้งชื่อเรื่องไปเป็นเป็นคนละเรื่อง   มสธ.ได้ต้นฉบับคำให้การขุนหลวงวัดฉบับสมบูรณ์มาพิมพ์เผยแพร่  สามารถไปหาอ่านกันได้


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 05 เม.ย. 10, 16:18
ข่าวกรองเรื่องหนังสืออั้งยี่คฤศตังสยาม

เฉพาะ สายตาอันคมกริบ ของ   คุณเพ็ญชมพู และคุณหลวงเล็กที่ นับถือ  
For Your Eyes Only   

        
       ไม่ทราบแน่เลยค่ะ  เพราะก.ศ.ร. ใช้นามปลอม(คล้ายจริง)ทั้งหมด
พยายามถอดรหัสมาหลายปีแล้ว
จำนวนสมาชิก ท่าน อ้างว่ามี ๔๕ คน

สหายๆเห็นกันคนละเล่มสองเล่ม     จริงๆแล้วเจ้าของมีสามคน  ก.  ข.  และ  ค.


ก.  มีสตังค์เป็นธนาคาร และเก็บหนังสือมานาน  ใจคอเปิดเผย  แต่พูดจาโผงผาง
     เขาอยากคุยกับทุกคน เพราะเป็นนักสะสม  

ข .  มีร้านหนังสือของตนเอง  เพื่อนตรึม   ซื้อหนังสือชุดนี้แล้วไม่กล้าบอกผบ.ทบ. มี ๖​ เล่มกระมัง   เอาไปฝากธนาคารไว้
     แบบบัญชีลับ  (เรื่องนี้คนในวงการขำกันมาก...)

ค.  นักเลงหนังสือเก่าคนหนึ่ง   รักเพื่อน ๆ มาก   ใครมาสัมภาษณ์เขาก็พาเพื่อนๆและสมบัติมาด้วย

ง.  นายหน้าขายหนังสือระหว่างประเทศ

จ.  นายหน้าขายหนังสือและเจ้าของกรุ


เรื่องราวทั้งหมดก็ทราบอยู่ระหว่าง ๕ คนนี่ล่ะค่ะ  



ก.พูดกับ ข. นิดหน่อย  และคุยกับ ค. เมื่อเจอกัน  

ข.กับ ค. คุยกันประจำ  แลกหนังสือกันดู แล้วร้อง โอ๊ย ๆ ๆ

ข. กับ ค. ไม่ค่อยมีทรัพย์  แต่มากไมตรี


หนังสือชุดนี้มีเกือบสิบเล่ม  ราคาสูงมาก  มากกว่าสยามประเภทประมาณ ๓๐%


จำได้ว่าท่านใส่นายวรรณเป็นประธานคนที่สองหรืออะไรนี่

     เมื่อ   คนใดคนหนึ่งในกลุ่มนี้ปรากฏตัวในงานหนังสือ  จะโดนจับตามองทันที
เพราะพวกเขาจะคุยกันเอง

ง.  เป็นนักการเมือง

จ.  เป็นนักการเมือง

หมู่นี้หายตัวไป





     ทั้งหมดที่เล่ามานี้เป็นเรื่องไม่น่าเชื่อ  ที่ คนเพียง สามคน จะ กำหนังสือชุดประหลาดของ ก.ศ.ร. ไว้ได้




ห้าคนนี้  ไม่ได้ปล่อยข่าว เรื่องนี้

ดร. ๑ คน ได้เขียนประวัติของสกุล  แล้ว ซื้อหนังสือจาก จ. ไปหนึ่งเล่ม  สภาพดีมาก

ดูไปดูมาเธอไม่เชื่อว่าเป็นหนังสือเก่าจริง  เธอวิ่งนำหนังสือไปให้เพื่อน ๆ ๑๐ คน ดู

หนึ่งในเพื่อน ดร. เป็นฝรั่ง

เลยนำเรื่องนี้ไปเล่าในหมู่เจ้าของร้านของเก่าที่เป็นฝรั่งฟัง


ข่าวก็กระจายออกมาดั่งนี้ล่ะค่ะ

เรื่องนี้แสดงว่า ฝรั่งช่างเล่า


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 เม.ย. 10, 12:21
วิสัชนาเรื่องสมาคมลับของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ลับโดยตลอด มีรหัสลับตั้งแต่ ก ถึง จ   ;D



จากนิทานโบราณคดี เรื่องที่ ๙ หนังสือหอหลวง  บทที่ ๕ พระนิพนธ์สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ต่อมานายกุหลาบต้องออกจากตำแหน่ง (แอดชุแตนท์) โปลิศท้องน้ำ ก็เลยออกจากสมาชิกหอพระสมุดวชิรญาณไปด้วย นายกุหลาบจึงไปคิดออกหนังสือพิมพ์วารสารเรียกชื่อว่า "สยามประเภท" เหมือนอย่างหอพระสมุดฯ ออกหนังสือ "วชิรญาณ" ทำเป็นสมุดออกขายเป็นรายเดือน

เมื่อเจ้าพระยานรรัตน์ราชมานิตได้ตั้งกรมทหารรักษาลำน้ำ  กุหลาบได้ตำแหน่ง แอศยุแตน
ก.ศ.ร. บอกว่าเป็น adjutant general   ได้รับเงินเดือนๆ ละ ๑๒๐ บาทเป็นเวลา ๘ ปี

ต่อมาก.ศ.ร. ได้ทำงานเป็นนิพันธการีที่หนังสือพิมพ์สยามออบเซอร์เวอร์  ได้รับเงินเดือน ๑๕๐ บาท  ทำอยู่ ๖ ปี

ลาออกแล้วมาทำหนังสือพิมพ์สยามประเภทอยู่ ๑๐ ปี

ก.ศ.ร.กุหลาบเข้ารับราชการเป็นตำรวจน้ำอยู่กับพระยานรรัตนราชมานิต (โต) ใน พ.ศ. ๒๔๒๗ โดยตั้งให้เป็น "แอดซูแตนท์" ทำหน้าที่นายเวรหรือคนสนิทของผู้บัญชาการ ปฏิบัติงานด้านธุรการเป็นส่วนใหญ่  และในปีเดียวกันนั้นเองหอสมุดวชิรญาณก็ได้รับ ก.ศ.ร.กุหลาบ เข้าเป็นสมาชิก

ก.ศ.ร.กุหลาบรับราชการอยู่จนทางการยุบเลิกกรมโปลิศท้องน้ำ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔  ในปีเดียวกันนั้นเอง ก.ศ.ร.กุหลาบจึงลาออกจากสมาชิกหอสมุดวชิรญาณ รวมเวลารับราชการอยู่ ๗ ปี

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพท่านคงนิพนธ์จากความทรงจำเช่นกัน ทรงรวบรัดให้ ก.ศ.ร.กุหลาบออกหนังสือสยามประเภทเร็วไปหน่อย ความจริงเมื่อพ้นจากการเป็นข้าราชการ ก.ศ.ร.กุหลาบรับจ้างเป็นบรรณาธิการหนังสือสยามออบเซอเวอร์ของพระยาอรรถการประสิทธิ์อยู่อีก ๖ ปี จึงเริ่มออกหนังสือสยามประเภท

 8)


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 06 เม.ย. 10, 14:31
adjutant  นี่คือ นายเวรสารบรรณ

ตำแหน่งที่สูงกว่านี้คือ  นายเวรพิเศษ

ก.ศ.ร. เขียนเรื่อง กรมตำรวจน้ำไปลงหนังสือสยามไสมย สองสามครั้ง
มีประกาศว่ามีเรือลอยมา  ตำรวจเก็บได้  ใครเป็นเจ้าของมาติดต่อได้

ครูสมิทไม่ว่าอะไรเพราะได้ขอยืมหนังสือของก.ศ.ร. มาลงพิมพ์ไปแล้วสองสามเรื่อง


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 06 เม.ย. 10, 15:01
ก่อนที่จะมาอ่านหนังสือของก.ศ.ร.    ก็รับฟังสหายคุยกันในวงสนทนามาไม่น้อย
ขนาดเซียนๆ ก็เล่าแบบจำวาทะอันสุนทร ต่อกันมา

เล่ากันว่า  หนังสืองานศพของ นายกุหลาบ  ตฤษณานนท์นั้น  เป็นงานพิมพ์ของนายกุหลาบเอง
เมื่อทำงานศพ  ไปกวาดซื้อกลับมา

เป็นตำรายา  ที่คนออกหากันเหมือนกัน

อ้าว!   เกิดความอยากอ่านติดหมัด

เมื่อได้เอกสารมาแล้ว  พบว่าพิมพ์ที่โรงพิมพ์ โสภณพิพรรฒธนากร


ขอลอก คำอุทิศ ของ นายชาย ตฤษณานนท์ มาฝากเล็กน้อย

หนังสือนี้แจกในการศพ เมื่อปี ๒๔๖๓  เป็นที่รลึกถึงการบำเพ็ญถาวรประโยชน์ ในนามของท่านที่ล่วงลับ
ขอบุญราษีซึ่งได้บำเพ็ญกุศลเจตนามุ่งสาธารณประโยชน์  อุทิศส่วนกุศล ให้กับบิดาข้าพเจ้า
แลเพื่อความกตัญญูกตเวทีฉลองคุณบิดาข้าพเจ้า


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 06 เม.ย. 10, 15:34
เป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ  หนา ๗๘ หน้า

เป็นตำรา กำจัดความแก่  แก้โรคชรา  กำลังกายา  มากมายไพบูลย์



ตำราแรก

เครื่องยาหกสิ่ง         เจือแทรกของร้อน
ทำผงปั้นก้อน           เท่าเม็ดพุดรา
เมื่อกินนั้นไซ้            อายุเพียงใด
ร่างกายกายา           คงอยู่เพียงนั้น
ห้ามกันชรา             กำลังเจริญกล้า
เดินคล่องว่องไว        ทิ้งถ่อนตะโกนา
สองสิ่งจงหา            เปลือกมาเตรียมไว้
บรเพ็ชแห้วหมู         หาดูให้ได้
เมล็ดข่อยพริกไทย     หกสิ่งเสมอกัน

พอเห็น ทิ้งถ่อนตะโกนา  ก็เข้าใจว่า เป็นยาสุขภาพสำหรับบุรุษ
อ่านไปเรื่อยๆ


มีอีกตำราหนึ่ง กินบรเพ็ช

เช้าศอกเย็นแขน           วาหนึ่งก็กิน
ไม่ขมติดลิ้น                 กินเหมือนอ้อยตาล


ตำรายานัดถุ์แก้ไข้  มีพิมเสนจากไม้ไผ่เป็นหลัก

แก้ปวดกระทุ้งแรง         แก้ไข้รากสาด
สันนิบาตตาแดง           ไข้สั่นสะท้านแรง
นัดหายกระจายไป

อ่านไปทั่วๆ  เห็นว่าใช้น้ำมุตรเป็นกระสายส่วนใหญ่

มีตำราใช้มะตูมนิ่ม อยู่สองตำรา


อ่านแล้วหลายรอบ 
เลยไปอ่าน เพลงยาวของเจ้าพระยาพระคลังหน  สนุกกว่ามาก 
คุณเพ็ญเห็นแล้วหรือยังคะ

บันทึกไว้ว่าหนังสืองานศพ นายกุหลาบมีจริงดั่งนี้แล


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 เม.ย. 10, 08:53
เล่ากันว่า  หนังสืองานศพของ นายกุหลาบ  ตฤษณานนท์นั้น  เป็นงานพิมพ์ของนายกุหลาบเอง
เมื่อทำงานศพ  ไปกวาดซื้อกลับมา

เป็นตำรายา  ที่คนออกหากันเหมือนกัน

อ้าว!   เกิดความอยากอ่านติดหมัด

เมื่อได้เอกสารมาแล้ว  พบว่าพิมพ์ที่โรงพิมพ์ โสภณพิพรรฒธนากร

เรื่องตำรายาแจกงานศพ ก.ศ.ร.กุหลาบ นี้ หลวงอภิบาลบุริมศักดิ์ (นัดดา - ลูก ก.ห.ชาย) เล่าว่า ก.ศ.ร.กุหลาบพิมพ์จำหน่ายหรืออนุญาตให้คนอื่นนำไปพิมพ์จำหน่ายอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อ ก.ศ.ร.กุหลาบถึงแก่กรรมลูกหลานกำหนดจะฌาปนกิจภายใน ๓ วัน จึงพิมพ์ตำรายาใหม่ไม่ทัน ต้องไปกว้านซื้อจากที่พิมพ์ขายมาแจกเป็นของชำร่วยงานศพ โดยพิมพ์ใหม่แต่ปกว่าเป็นหนังสือแจกงานฌาปนกิจศพ ก.ศ.ร.กุหลาบ

มีเกร็ดชีวตของ ก.ศ.ร.กุหลาบก่อนที่จะถึงแก่กรรม  ก.ศ.ร.กุหลาบเจ็บหนัก ลูก ๆ ได้นิมนต์พระมาสวดต่ออายุ เจ้านายหลายพระองค์ทรงทราบข่าวคิดว่า ก.ศ.ร.กุหลาบถึงแก่กรรม จึงเสด็จมาพิธีศพ เมื่อทรงทราบว่า ก.ศ.ร.กุหลาบยังไม่ได้เสียชีวิตจึงประทับฟังสวดและคุยกันที่บ้านจนดึก

เมื่อ ก.ศ.ร.กุหลาบถึงแก่กรรมจริง เจ้านายหลายพระองค์ได้เสด็จไปงานฌาปนกิจที่วัดสระเกศพร้อมกับรับสั่งเหมือน ๆ กันว่า ต้องมาอโหสิ เคยด่าว่ากันไว้มาก

ปัจจุบันอัฐิของ ก.ศ.ร.กุหลาบบรรจุอยู่ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ บางเขน

ข้อมูลจากหนังสือของคุณมนันยา

 8)


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 เม.ย. 10, 09:18
สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพท่านคงนิพนธ์จากความทรงจำเช่นกัน ทรงรวบรัดให้ ก.ศ.ร.กุหลาบออกหนังสือสยามประเภทเร็วไปหน่อย ความจริงเมื่อพ้นจากการเป็นข้าราชการ ก.ศ.ร.กุหลาบรับจ้างเป็นบรรณาธิการหนังสือสยามออบเซอเวอร์ของพระยาอรรถการประสิทธิ์อยู่อีก ๖ ปี จึงเริ่มออกหนังสือสยามประเภท

 8)

และนี้เป็นคำอำลาผู้อ่านสยามออบเซอร์เวอร์ของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ลงในสยามประเภท เล่ม ๑


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: overhaul ที่ 07 เม.ย. 10, 13:46
คุณwandeeครับ
ผมเคยถามว่า การที่นายกุหลาบใช้รูปไม้กางเขนมาพิมพ์ประกอบไว้ในหนังสือหลายเรื่อง หลายเล่ม มีนัยอะไร
คุณwandeeตอบว่า มี }ตรงจุดนี้ ขอให้ขยายความให้ชัดเจนได้ไหมครับว่า มี เพราะเหตุใด เพื่ออะไร อยากทราบจริงๆครับ :D


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 07 เม.ย. 10, 14:25

อั้งยี่ เป็น สมาคมลับ เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง  จะเพื่อประเทศไหนก็ต้องดูจากตัวสมาชิกคนสำคัญอีกที

ตอนนี้ก็คิดได้เท่านี้ค่ะ

เป็นแค่นักอ่านเท่านั้น 

แค่มิตรยินยอมให้นั่งร่วมกลุ่มเวลาเขาแลกหนังสือกัน ก็ถือเป็นบุญตัวจากชาติก่อนแล้วค่ะ
พวกเราดื่มน้ำอัดลมกัน   เห็นหลายคนดื่มไม่ลงดิฉันยังประหลาดใจว่าหนังสืออะไรจะสำคัญหนักหนา
เล่มสุดท้ายเป็นรูปใครก็ไม่รู้  ไปเฝ้าซูสีไทเฮา  เล่มเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าค่ะ  เป็นรูปแกะ ซึ่งสำหรับนักอ่านคงไม่ต้องอธิบายต่อ



หนังสือสำคัญหลายเล่มของเรายังพอมีเหลือที่จะเล่าเพื่อเขย่าขวัญกันได้ค่ะ



กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 07 เม.ย. 10, 14:37
ถ้าคุณ  overhaul   มีโอกาสได้เห็น รูปถ่ายของ ปก  หนังสือชุดนี้มาบ้าง

สังเกตให้ดีนะคะ  ว่า ไม้กางเขนที่พาดขวาง  อยู่ในลักษณะไหน  มีสามแบบค่ะ  ในหนังสือสามเล่ม



ถ้ามีข่าวคราวใดๆเพิ่มเติม  จะกลับมาเล่าต่อค่ะ
แน่นอนที่ข้อมุลจะไม่เหมือนเดิม



กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 เม.ย. 10, 10:16
ระหว่างที่รอความลับจะถูกเปืดเผย  ขอเล่าถึงชีวิตของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ในบั้นปลายของชีวิตในสายตาของ กาญจนาคพันธุ์ จากหนังสือ กรุงเทพฯ เมื่อ ๗๐ ปีก่อน

ส่วนถนนตะนาวที่เคยเที่ยวอยู่ในระยะนั้น ชื่อตะนาวอยู่จากทางวัดมหรรณพ์มาถึงสี่กั๊กเสาชิงช้า แต่เคยเที่ยวเลยต่อไปถึงสี่กั๊กพระยาศรี ซึ่งท่อนนี้เรียกเป็นถนนเฟื่องนคร  ขอเริ่มจากสี่กั๊กพระยาศรีที่เป็นตึกโดด ๔ มุม ตรงมุมทางตะวันออกเป็นห้างฝรั่งเยอรมันชื่อห้าง ย.ร.อันเดร ขายของเยอรมันต่าง ๆ ตลอดจนเพชรพลอย จากห้าง ย.ร.อันเดรข้ามมาดูเหมือนจะเป็นห้างขายยาอังกฤษ ซึ่งต่อมาดูเหมือนจะเป็นห้างขายยาฝรั่งของไทย ต่อนั้นมาก็เป็นตึกแถวสำหรับเช่า ฝีมือทำออกจะดี แล้วถึงสะพานวัดราชบพิธ ข้ามคลองหลอดเป็นสะพานก่ออิฐถือปูนเป็นรูปโค้งสูงมากดูเหมือนจะชื่อ "เฉลิมพงษ์" ลงสะพรานมาเป็นตรอกเล็ก ๆ ไปออกถนนอุนากรรณ ติดกับตรอกเป็นบ้านเข้าใจว่าเป็นต้นตระกูล "คชนันท์"

ทางด้านริมถนนเป็นตึกแถวราว ๔-๕ ห้อง ถึงทางเข้าบ้าน (คชนันท์) เป็นที่กว้าง ตึกริมทางเข้านี้เป็นตึกหรือโรงพิมพ์ของนาย ก.ศ.ร.กุหลาบ ที่ออกหนังสือ "สยามประเภท" มีชื่อเสียงในทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ มีบุตรชายชื่อ ก.ห.ชาย นับว่าเป็นคนหัวสมัยใหม่สำหรับยุคนั้นที่มีชื่อย่อนำหน้าเหมือนฝรั่ง คำ ก.ศ.ร. ได้ยินว่ามี่ชื่อมาจาก "เกศโร" ตัวนายกุหลาบเวลาเย็นมักเอาเก้าอี้มาตั้งหน้าร้าน รูปร่างผอมเล็ก ๆ คล้ายมหาตมคันธี นุ่งโสร่งใส่เสื้อยืด แจกหนังสือต่าง ๆ ให้คนไปมา (ซึ่งเวลานั้นมีคนเดินไม่กี่คน) ข้าพเจ้าเองเคยแวะไปรับหนังสือแจก และท่านให้เข้าไปนั่งข้างแท่นพิมพ์ หาหนังสือมาให้อ่าน และให้เลยบ้าง เอาคืนเข้าตู้บ้าง ข้าพเจ้านึกแปลกที่ข้าพเจ้าอายุราว ๗-๘ ขวบไปนั่งคุยกับท่านซึ่งอายุราว ๘๐ ซึ่งเป็นเพราะข้าพเจ้าชอบอ่านหนังสือ และหนังสือสยามประเภทของท่านแปลก ๆ และสนุกดี ข้าพเจ้ายังเก็บไว้ได้มากและรักษามาจนไฟไหม้แพร่งสรรพสาตร์หมด

ที่ตั้งโรงพิมพ์สยามประเภทนี้ ต่ออีกนานดูเหมือนสิ้นรัชกาลที่ ๖ จึงตั้งโรงพิมพ์ "ไทยเขษม" ซึ่งข้าพเจ้าเคยเขียนลงมากหลายเรื่องเช่นเรื่องวารุณี แต่หนังสือรุ่นนี้ทั้งหมดไฟไหม้หมดแล้วเหมือนกัน


เด็กอายุ ๗-๘ ขวบกับผู้ใหญ่อายุ ๘๐ ปีคุยกันรู้เรื่อง เพราะทั้งสองมีความสนใจอย่างหนึ่งเหมือนกันคือ หนังสือ

 ;)


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 08 เม.ย. 10, 12:01

จากนิทานโบราณคดี เรื่องที่ ๙ หนังสือหอหลวง  บทที่ ๕ พระนิพนธ์สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ต่อมานายกุหลาบต้องออกจากตำแหน่ง (แอดชุแตนท์) โปลิศท้องน้ำ ก็เลยออกจากสมาชิกหอพระสมุดวชิรญาณไปด้วย นายกุหลาบจึงไปคิดออกหนังสือพิมพ์วารสารเรียกชื่อว่า "สยามประเภท" เหมือนอย่างหอพระสมุดฯ ออกหนังสือ "วชิรญาณ" ทำเป็นสมุดออกขายเป็นรายเดือน


ก.ศ.ร.กุหลาบเข้ารับราชการเป็นตำรวจน้ำอยู่กับพระยานรรัตนราชมานิต (โต) ใน พ.ศ. ๒๔๒๗ โดยตั้งให้เป็น "แอดซูแตนท์" ทำหน้าที่นายเวรหรือคนสนิทของผู้บัญชาการ ปฏิบัติงานด้านธุรการเป็นส่วนใหญ่  และในปีเดียวกันนั้นเองหอสมุดวชิรญาณก็ได้รับ ก.ศ.ร.กุหลาบ เข้าเป็นสมาชิก

ก.ศ.ร.กุหลาบรับราชการอยู่จนทางการยุบเลิกกรมโปลิศท้องน้ำ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔  ในปีเดียวกันนั้นเอง ก.ศ.ร.กุหลาบจึงลาออกจากสมาชิกหอสมุดวชิรญาณ รวมเวลารับราชการอยู่ ๗ ปี

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพท่านคงนิพนธ์จากความทรงจำเช่นกัน ทรงรวบรัดให้ ก.ศ.ร.กุหลาบออกหนังสือสยามประเภทเร็วไปหน่อย ความจริงเมื่อพ้นจากการเป็นข้าราชการ ก.ศ.ร.กุหลาบรับจ้างเป็นบรรณาธิการหนังสือสยามออบเซอเวอร์ของพระยาอรรถการประสิทธิ์อยู่อีก ๖ ปี จึงเริ่มออกหนังสือสยามประเภท

 8)

ข้อมูลเรื่องนายกุหลาบได้เป็นสมาชิกหอสมุดวชิรญาณ ในปี ๒๔๒๗ นั้น ยังหาเอกสารตรวจสอบไม่ได้  ในหนังสือของคุณมนันยา ว่านายกุหลาบได้เป็นสมาชิกหอสมุดวชิรญาณเมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๔๒๗  จึงอนุโลมเชื่อตามข้อมูลนี้ไปก่อน

แต่เรื่องนายกุหลาบลาออกจากสมาชิกหอสมุดวชิรญาณ  มีข้อมูลแย้งว่า นายกุหลาบไม่ได้ลาออกจากสมาชิกหอสมุดวชิรญาณในปี ๒๔๓๔  เหตุเพราะกรมโปลิศท้องน้ำยุบเลิกไป   ข้อเท็จจริงที่ปรากฏคือ  นายกุหลาบได้ทำหนังสือลาออกจากสมาชิกหอสมุดวชิรญาณ ตั้งแต่ปี ๒๔๓๐ แล้ว  ดังข้อความใน วชิรญาณวิเศษ เล่ม ๒ วันอาทิตย์ เดือน ๑๑ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีกุนนพศก ๑๒๔๙  หน้า ๓๗๕  คอลัมน์ขวา ด้านล่าง  มีข้อความว่า


แจ้งความ

          ด้วย  ณ  วัน  ๑  เดือน   ๑๑  ขึ้นค่ำ  ๑  ปีกุนนพศก  ๑๒๔๙  ได้รับหนังสือของนายกุหลาบฉบับหนึ่ง  ความว่า   ขอลาออกจากสมาชิก    กรรมสัมปาทิกได้ปฤกษาเหนพร้อมกัน   ยอมให้นายกุหลาบออกจากสมาชิกแล้ว

กรรมสัมปาทิก



ฉะนั้น   ข้อที่ว่านายกุหลาบได้เป็นสมาชิกหอสมุดวชิรญาณถึง  ๗  ปีตามระยะเวลาที่นายกุหลาบได้รับราชการอยู่กรมโปลิศท้องน้ำนั้นระหว่างปี ๒๔๒๗ - ๒๔๓๔   ย่อมไม่ตรงกับข้อเท็จจริงจากเอกสารร่วมสมัย   

 8)


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 08 เม.ย. 10, 14:44
ในสยามประเภทเล่ม ๑ หน้า ๗๕-๗๖ นายกุหลาบได้ลงพิมพ์สำเนาหนังสือหอพระสมุดวชิรญาณ ไว้ดังนี้
สำแดงเกียรติยศทั้งสองฝ่าย
ผู้ให้และผู้รับ


(สำเนาหนังสือหอพระสมุดวชิรญาณ)

หอพระสมุดวชิรญาณ
ในพระบรมมหาราชวังกรุงเทพฯ

(ดวงตรา)
                ณวันอังคารเดือนสิบสองขึ้นสี่ค่ำปีรกาสัปตศก๑๘  ๑๒๔๗
                   ถึง   นายกุหลาบแอศยุแตนตืผู้ว่าการกรมทหารกองลาดตระเวรลำน้ำเจ้าพระยาทราบ    ด้วยมีรับสั่งพระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหมื่นพิชิตปรีชากรสภานายก   ให้เชิญท่านเข้าไปรับพระราชทานตราตั้ง   เปนกรรมสัมปาทิกณะหอพระสมุดวชิรญาณ   ณวันพุฒเดือนสิบสองขึ้นห้าค่ำ ปี ๑๒๔๗  เวลาเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นพระแท่น    ออกขุนนางณะพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท
(ทรงลงพระนามว่า)  โสณบัณฑิตย์  

                                      
เลขาธิการ


ตามไปตรวจดูข่าวราชการในราชกิจจานุเบกษา  เล่ม ๑ ออกเมื่อวันอาทิตย์ เดือนสิบสอง แรมแปดค่ำ ปีรกาสัปตศก ๑๒๔๗ หน้า ๔๒๙  มีข้อความว่า


ข่าวราชการ

    วันพุฒ  เดือนสิบสอง  ขึ้นห้าค่ำ  ปีรกาสัปตศก  เวลาย่ำค่ำพระบาทสมเดจพระเจ้าอยู่หัว เสดจออกพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท  พระบรมวงษานุวงษแลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทโดยลำดับ   พระมนตรีพจนกิจนำบอกเมืองอินทบุรี  ๑  ฉบับ   เมืองไชยนาท  ๒  ฉบับ   เมืองปาจิณบุรี  ๑  ฉบับ  รวม  ๔  ฉบับ  ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณากับพระสุรินทรามาตยนำบอกเมืองนครศรีรรมราชขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา  ๑  ฉบับ  แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ  พระราชทานตราตั้งกรรมสัมปาทิกะหอพระสมุดวชิรญาณ  ครั้นสิ้นราชการแล้วเสดจขึ้น...

วันเวลาในข่าวราชการตรงกับวันเวลาที่นัดหมายไว้ในสำเนาหนังสือที่นายกุหลาบเอามาลง    แต่เพื่อให้แน่ต้องไปตรวจดูในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันรัชกาลที่ ๕ ปี ๑๒๔๗  ประกอบด้วย   จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ภาคที่ ๒๐ พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าจอมเอิบ ในรัชกาลที่ ๕  หน้า ๔๘ - ๔๙  


วันพุธ  ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 12 ปีระกาสัปตสก  จุลสักราช  1247

      เวลาบ่าย  5  โมงเสส  สเด็ดออกประทับห้องออกขุนนางวงปิดทองพระแล้วสเด็ดขึ้นพระแท่นออกขุนนาง  ...ฯลฯ...  แล้วพระราชทานเครื่องราชอิสริยะยสมงกุตสยามชั้นที่ 4  ภัทราภรน์   แก่หลวงอนุรักส์ภูเบสซึ่งได้ตามสเด็ดกรมหมื่นพิชิตปรีชากรไปราชการเมืองเชียงไหม่  1  และพระราชทานตราตั้งผู้ช่วยจัดการหอสมุดวชิรญาน  คือพระองค์ไชยาเปนปติคม 1  พระยาภาสกรวงส์  1  พระยาสรีสุนทร  1  นายจรพรหมธิบาล  1  ทั้ง  3  นายเปนผู้ช่วยฝ่ายขุนนาง   แล้วสเด็ดขึ้นประทับออฟฟิสครู่หนึ่งสเด้ดขึ้น

หมายเหตุ  จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ภาคที่ ๒๐ นี้ พิมพ์ในช่วงที่บังคับใช้อักขรวิธีตามนโยบายจอมพล ป. พิบูลสงคราม  อาจจะอ่านสะดุดบ้างสำหรับผู้ไม่คุ้นเคย   ทั้งนี้ได้ลองตรวจสอบกับต้นฉบับจริงของจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ปี ๑๘๘๕ แล้ว  ข้อความตรงกัน  ต่างกันเพียงอักขรวิธีสะกดตามสมัยนิยมเท่านั้น  


เมื่อเป็นอย่างนี้  มีข้อสงสัยขึ้นว่า  ไหนว่า  นายกุหลาบได้รับหนังสือให้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานตราตั้งเป็นกรรมสัมปาทิกหอพระสมุดวชิรญาณตามที่เลขาธิการหอพระสมุดมีหนังสือมาถึงนายกุหลาบ   แต่พอถึงเวลาเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานตราตั้งจริง   ทำไมกลับไม่มีชื่อนายกุหลาบเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานตราตั้ง   เกิดอะไรขึ้นกันแน่   นายกุหลาบลงพิมพ์สำเนาหนังสือปลอม?  หรือเกิดเหตุอย่างอื่นขึ้น?  :o :-\


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 เม.ย. 10, 16:20
นายกุหลาบลงพิมพ์สำเนาหนังสือปลอม?  หรือเกิดเหตุอย่างอื่นขึ้น?  :o :-\

ก.ศ.ร.กุหลาบ คงไม่กล้าพิมพ์สำเนาหนังสือปลอม มิฉะนั้นตัวบุคคลที่ป่รากฏในสำเนาหนังสือนี้คงออกมาค้านเป็นแน่

สำเนาหนังสือสำคัญที่ ก.ศ.ร.กุหลาบนำมาแสดงมีอยู่ ๔ ฉบับ


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 เม.ย. 10, 16:26
ฉบับที่ ๔


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 เม.ย. 10, 16:33
ก.ศ.ร.กุหลาบ ท้าว่าหากใครคิดว่าสำเนาหนังสือเหล่านี้ปลอม ให้ไปดูต้นแบบได้ที่ห้องสมุดของ ก.ศ.ร.กุหลาบ บ้านใต้วัดราชธิวาส (สมอราย)

เชิญดู! เชิญอ่าน! เทอญ

 :D


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 เม.ย. 10, 16:42
ตื่นเต้นเหมือนกำลังดูหนัง
หมายความว่า เกิดเหตุขัดข้องอะไรสักอย่าง ทำให้รายชื่อนายกุหลาบตกไป ไม่ได้รับพระราชทานตราตั้ง


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 เม.ย. 10, 11:39
ตื่นเต้นเหมือนกำลังดูหนัง
หมายความว่า เกิดเหตุขัดข้องอะไรสักอย่าง ทำให้รายชื่อนายกุหลาบตกไป ไม่ได้รับพระราชทานตราตั้ง

ในหนังสือของคุณมนันยา กล่าวไว้ว่า

"...เมื่อท่าน ก.ศ.ร. กุหลาบ  ได้เป็นสมาชิกหอพระสมุดแล้วองค์สภานายกได้ทรงเสนอหนังสือขอแต่งตั้งให้ท่านเป็นผู้ช่วยเหรัญญิกหอสมุด   แต่ก็มีประกาศตอบมาว่า

"แต่ตำแหน่งผู้ช่วยเหรัญญิกซึ่งสภานายกเลือกนายกุหลาบมิใช่เจ้าและมิใช่ขุนนางทั้งมิใช่คนที่ทรงคุ้นเคย   ทรงพระรังเกียจอยู่เป็นอันงดเลิกตำแหน่งนี้"..."

ข้อมูลมีเท่านี้  ยังไม่สามารถตรวจสอบรายละเอียดข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้มากกว่านี้
 8)


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 เม.ย. 10, 12:03
เรื่องนายกุหลาบในเอกสารอื่นที่ไม่ได้อยู่ในหนังสือที่นายกุหลาบแต่งและพิมพ์เอง  และเป็นเรื่องก่อนที่นายกุหลาบจะออกหนังสือสยามประเภทนั้น  เท่าที่พบตอนนี้มี  ๒ เรื่อง   คือ

๑ นายกุหลาบส่งเรื่องสรรเสิญนายจิดช่างถ่ายรูปไปลงพิมพ์ประกาศในหนังสือจดหมายเหตุ (บางกอกรีคอร์เดอร์)ของหมอบลัดเล เล่มที่ ๒ เดือน ๙ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีขาลอัฐศก ๑๒๒๘ โยปรากฏชื่อนายกุหลาบ  โดยในข้อความที่นายกุหลาบส่งไปลงพิมพ์นั้น  ได้กล่าวถึงเรื่องพระภิกษุ ๔ รูปประพฤติตนไม่เหมาะสมเรื่องต่างๆกับนายจิด  จากนั้น ในเล่มที่ ๒ เดือน ๙ แรม ๑๔ ค่ำ ปีขาลอัฐศก ๑๒๒๘  นายวรรณหรือเทียนวรรณได้ส่งเรื่องเตือนผู้สรรเสิญนายจิดไปลงแก้คำของนายกุหลาบในฉบับก่อน   ในบางกอกรีคอร์เดอร์ฉบับเดียวกันยังได้ลงเรื่องคำนายจิด ซึ่งได้กล่าวตำหนินายกุหลาบบ้านอยู่ริมสามเสนซึ่งเป็นผู้เอาข้อความมาลงพิมพ์ทำให้นายจิดเสียหาย  ต่อจากข้อความนี้ เป็นหมอบลัดเล เรื่อง คำตอบความนายจิด    ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเพราะนายกุหลาบเริ่มเป็นคนแรก    และเป็นปฐมของนายกุหลาบที่เริ่มเขียนหนังสือไปลงเผยแพร่อย่างเป็นทางการ  (ในเรือนไทยเคยมีผู้เล่าเรื่องนี้ไว้แล้ว  จึงไม่ขอนำมาเล่าซ้ำอีก)



กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 12 เม.ย. 10, 15:19
๒  เป็นเรื่องที่นายกุหลาบได้นำไปให้บรรณาธิการหนังสือวชิรญาณวิเศษลงพิมพ์  ในสมัยที่นายกุหลายยังเป็นสมาชิกของหอพระสมุดวชิรญาณอยู่   มีดังต่อไปนี้


ก. ในวชิรญารวิเศษ เล่ม ๒ แผ่น ๒๕ วันศุกร์  เดือน ๕ แรม ๘ ค่ำ ปีกุนนพศก ๑๒๔๙  ลงพิมพ์ เห่ทำขวัญเข้า (ข้าว) พระยาไชยวิชิต  (เผือก) ผู้แต่ง  ได้ต้นฉบับมาจากนายกุหลาบ  ตั้งแต่หน้า  ๑๙๕ - ๑๙๖

ข. ในวชิรญาณวิเศษ เล่ม ๑ แผ่น ๓๑ วันอาทิตย์ เดือน ๙ แรม ๘ ค่ำ ปีจออัฐศก  ๑๒๔๘ ในหัวเรื่องแจ้งความ ของพระเจ้าน้องยาเธอ  พระองค์เจ้าวรวรรณากร สาราณิยากร  เวรบรรณาธิการหนังสือวชิรญาณวิเศษ  แจ้งว่า  "...นายกุหลาบเดิมส่งระยะทางไปเมืองจีนเนื้อความยืดยาว   และไม่สู้มีประโยชน์จึงขอให้ส่งเนื้อความมาใหม่  ได้ส่งนามเสนาบดีแต่ปถมรัชกาลจนถึงร้อยปีได้ลงมาแล้ว..."  และในหน้า  ๓๔๗  คอลัมน์ขวา  ลงเรื่อง  ตำแหน่งยศท่านเจ้าพระยาเสนาบดี  ๕๔  นาม นี้ตั้งแต่สร้างกรุงเทพฯ  ถึงร้อยปี  เนื้อความยาวไปจนถึงหน้า ๓๔๘  คอลัมน์ขวา  แล้วจบด้วยโคลงสีสุภาพว่า

"ตำแหน่งนามยศทั้ง          นามเดิม   ท่านแฮ
รวมรวบเรียบเรียงเติม         แต่ต้น
ห้าสิยสี่นามเฉลิม              ฉนำนับ  ร้อยนา
กุหลาบเพียรคิดค้น            คัดขึ้นทูลฉลอง 
                                                       กุหลาบ"


ค.  ต่อมาในวชิรญาณวิเศษ  เล่ม ๑ แผ่น ๓๒  วันเสาร์ เดือน ๙ แรม ๑๔  ค่ำ ปีจออัฐศก  ๑๒๔๘  พระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ  บรรณารักษ์  เวรบรรณาธิการหนังสือวชิรญาณวิเศษ    ได้ทรงลงพิมพ์ว่า

แจ้งความ


ด้วย ณ วันอังคาร  เดือนเก้า  แรมสิบค่ำ  ข้าพเจ้าได้รับหนังสือฉบับ ๑  ของผู้ลงชื่อ  (ข.)  ว่าด้วยความวุมุติสงไสย  แลเพิ่มเติมพระนามพระบรมวงษานุวงษซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาบดี   แต่รัชกาลที่ ๒  ถึงรัชกาลปัตยุบันนี้  ขอให้ลงพิมพ์ในเวรข้าพเจ้า   ได้ส่งมาลงพิมพ์ด้วยแล้ว  มีความพิศดารต่อไปนี้   

บรรณารักษ์


หนังสือความวิมุติสงไสยของผู้ลงชื่อว่า (ข.) นั้นยาว  ๑ หน้ากระดาษ  ดูท่าทางจะเป็นเจ้านายชายพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง  ที่มีพระนามที่ขึ้นต้นอักษร  ข   (จริงๆ  ก็เดาได้ไม่ยากนัก)

ห่างมาอีก หลายสัปดาห์  นายกุหลาบก็ได้ส่งคำแก้วิมุติสงไสยของนาย ข. นั้น  ลงในวชิรญาณ เล่ม ๑ แผ่น ๓๖  วันจันทร์  เดือน ๑๐ แรม ๑๕  ค่ำ ปีจอ อัฐศก  ๑๒๔๘   โยในแจ้งความของบรรณาธิการเวรประจำฉบับ  คือ  พระพรหมธิบาล  (จร) มีข้อความว่า   "...นายกุหลาบขอลงความแก้สงไสย ของผู้ลงชื่อ  (ข.) เรื่องหนึ่ง..." 

ในเล่มเดียวกัน  หน้า ๓๘๖ - ๓๘๗  นายกุหลาบก็ได้ตอบแก้ความวิมุติสงไสยของนาย (ข.)นั้นรวมทั้งหมด ๖ ข้อ(ประเด็นถาม)  ซึ่งวิธีการเขียนของนายกุหลาบนั้นเป็นลีลาอย่างเดียวกับที่นายกุหลาบได้ใช้ในหนังสือสยามประเภทในกาลต่อมา   พร้อมกันนั้นนายกุหลาบยังได้อ้างอิงที่มาของข้อมูลที่นำมาเรียบเรียงเรื่องตำแหน่งยศท่านเจ้าพระยาเสนาบดี  ๕๔  นาม นี้ตั้งแต่สร้างกรุงเทพฯ  ถึงร้อยปี  จากเอกสารต่างๆ  ที่นายกุหลาบได้อ่านและค้นจากหอพระสมุดวชิรญาณ  แล้วยังได้กล่าวท้าให้คนถามลองมาค้นดูที่หอพระสมุดด้วย   ถ้ามีโอกาสจะนำเนื้อความดังกล่าวมาลงละเอียดต่อไปภายหน้า :)



อนึ่ง  เพิ่งนึกได้ว่า มีเรื่องนายกุหลาบในหนังสือสยามไสมยของครูสมิทด้วย   แต่ขอผู้อื่นอย่างคุณวันดีเล่าบ้างจะดีกว่าครับ   8)


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 เม.ย. 10, 11:28
คุณวันดีเคยในรายชื่อแหม่มที่มาในงานบวชของ ก.ห.ชาย

ชาวยุโหรปหญิง  คือ

แมดำ  เดอร์ฟรางค์  ภรรยาราชทูตฝรั่งเศส  และ บุตรี

มิศซิด การะโด

มิศซิดแฟนิน๊อก  ธิดาราชทูตอังกฤษ น๊อก

และหญิงชาวยุโหรปอีก สี่ นาง


     ทั้งชายหญิงทั่งสิ้น ๒๔ คน  นั่งเก้าอี้หน้าพระอุโบสถ

มิศซิดแฟนิน๊อก เป็นใคร สนิทสนมกับครอบครัว ก.ศ.ร.กุหลาบ เพียงไหน

คุณวันดีได้กรุณาคุ้ยแคะแกะเกาให้ทราบแล้วใน

ธิดา กงศุลเยเนอราลอังกฤษ แฟนนี น้อกซ์
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3248.msg62678;topicseen#msg62678

 ;)




กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 เม.ย. 10, 12:35

ในเล่มเดียวกัน  หน้า ๓๘๖ - ๓๘๗  นายกุหลาบก็ได้ตอบแก้ความวิมุติสงไสยของนาย (ข.)นั้นรวมทั้งหมด ๖ ข้อ(ประเด็นถาม)  ซึ่งวิธีการเขียนของนายกุหลาบนั้นเป็นลีลาอย่างเดียวกับที่นายกุหลาบได้ใช้ในหนังสือสยามประเภทในกาลต่อมา   พร้อมกันนั้นนายกุหลาบยังได้อ้างอิงที่มาของข้อมูลที่นำมาเรียบเรียงเรื่องตำแหน่งยศท่านเจ้าพระยาเสนาบดี  ๕๔  นาม นี้ตั้งแต่สร้างกรุงเทพฯ  ถึงร้อยปี  จากเอกสารต่างๆ  ที่นายกุหลาบได้อ่านและค้นจากหอพระสมุดวชิรญาณ  แล้วยังได้กล่าวท้าให้คนถามลองมาค้นดูที่หอพระสมุดด้วย   ถ้ามีโอกาสจะนำเนื้อความดังกล่าวมาลงละเอียดต่อไปภายหน้า :)


อนึ่ง  เพิ่งนึกได้ว่า มีเรื่องนายกุหลาบในหนังสือสยามไสมยของครูสมิทด้วย   แต่ขอผู้อื่นอย่างคุณวันดีเล่าบ้างจะดีกว่าครับ   8)


คงถึงโอกาสที่คุณหลวงจะกล่าวถึงรายละเอียดเรื่องข้างบน และเรื่องในสยามไสมยและกระมัง

 ;D




กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 26 เม.ย. 10, 08:34

ในเล่มเดียวกัน  หน้า ๓๘๖ - ๓๘๗  นายกุหลาบก็ได้ตอบแก้ความวิมุติสงไสยของนาย (ข.)นั้นรวมทั้งหมด ๖ ข้อ(ประเด็นถาม)  ซึ่งวิธีการเขียนของนายกุหลาบนั้นเป็นลีลาอย่างเดียวกับที่นายกุหลาบได้ใช้ในหนังสือสยามประเภทในกาลต่อมา   พร้อมกันนั้นนายกุหลาบยังได้อ้างอิงที่มาของข้อมูลที่นำมาเรียบเรียงเรื่องตำแหน่งยศท่านเจ้าพระยาเสนาบดี  ๕๔  นาม นี้ตั้งแต่สร้างกรุงเทพฯ  ถึงร้อยปี  จากเอกสารต่างๆ  ที่นายกุหลาบได้อ่านและค้นจากหอพระสมุดวชิรญาณ  แล้วยังได้กล่าวท้าให้คนถามลองมาค้นดูที่หอพระสมุดด้วย   ถ้ามีโอกาสจะนำเนื้อความดังกล่าวมาลงละเอียดต่อไปภายหน้า :)


อนึ่ง  เพิ่งนึกได้ว่า มีเรื่องนายกุหลาบในหนังสือสยามไสมยของครูสมิทด้วย   แต่ขอผู้อื่นอย่างคุณวันดีเล่าบ้างจะดีกว่าครับ   8)


คงถึงโอกาสที่คุณหลวงจะกล่าวถึงรายละเอียดเรื่องข้างบน และเรื่องในสยามไสมยและกระมัง

 ;D



เมื่อมีผู้เรียกร้อง  ก็คงถึงเวลาอันเหมาะสมแล้ว

วชิรญาณวิเศษ  เล่ม ๑  แผ่น ๓๑ วัน ๑  เดือน ๙  แรม  ๘  ค่ำ ปีจออัฐศก  ๑๒๔๘ หน้า ๓๔๒

แจ้งความ

"...นายกุหลาบเดิมส่งระยะทางไปเมืองจีนเนื้อความยืดยาว   และไม่สู้มีประโยชน์จึงขอให้ส่งเนื้อความมาใหม่  ได้ส่งนามเสนาบดีแต่ปถมรัชกาลจนถึงร้อยปีได้ลงมาแล้ว..."  

หอพระสมุดวชิรญาณ
วัน ๗ เดือน ๙ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีจออัฐศก  ศักราช ๑๒๔๘
วรวรรณากร
สาราณิยกร


วชิรญาณ  เล่มเดียวกัน  หน้า  ๓๔๗ - ๓๔๘

ตำแหน่งยศท่านเจ้าพระยาเสนาบดี
๕๔  นามนี้ตั้งแต่สร้างกรุงเทพฯ  ถึงร้อยปี

รัชกาลที่  ๑

เจ้าพระยารัตนาพิพิธ  (สน)  ที่สมุหนายก ๑
เจ้าพระยามหาเสนา  (ปลี)  ที่สมุหพระกระลาโหม ที่ ๑
เจ้าพระยามหาเสนา  (ปิ่น)  ที่สมุหพระกระลาโหม  ที่ ๒
เจ้าพระยามหาเสนา  (บุญนาก) ที่สมุหพระกระลาโหม  ที่ ๓
เจ้าพระยายมราช  (อิน)  กรมเมือง  ที่ ๑
เจ้าพระยายมราช  (บุญนาก)  กรมเมือง  ที่  ๒
เจ้าพระยายมราช  (บุญมา)  กรมเมือง  ที่  ๓
เจ้าพระยาธรรมา  (บุญรอด)  กรมวัง  ที่  ๑
เจ้าพระยาธรรมา  (ทองดี)  กรมวัง  ที่ ๒
เจ้าพระยาธรรมา   (สุด)  กรมวัง  ที่ ๓
เจ้าพระยาโกษา  (สน)   กรมท่า  ที่ ๑
เจ้าพระยาโกษา   (หน)  กรมท่า  ที่ ๒
เจ้าพระยาโกษา  (กุน)  กรมท่า  ที่ ๓
เจ้าพระยาพลเทพ  (ปิ่น)  กรมนา  ที่ ๑
เจ้าพระยาพลเทพ  (สาคร)  กรมนา  ที่ ๒
เจ้าพระยาพลเทพ  (บุญนาก)  กรมนา  ที่  ๓


รัชกาลที่  ๒

เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์  (กุน)  สมุหนายก  ที่ ๑
เจ้าพระยาอภัยภูธร  (น้อย)  สมุหนายก  ที่ ๒
เจ้าพระยามหาเสนา  (บุญมา)  สมุหพระกระลาโหม  ที่ ๑
เจ้าพระยาวงษาสุรศักดิ  (แสง)  สมุหพระกระลาโหม  ที่  ๒
เจ้าพระยามหาเสนา  (บุญสังข์)  สมุหพระกระลาโหม  ที่  ๓
เจ้าพระยายมราช   (น้อย)  กรมเมือง  ที่ ๑
เจ้าพระยายมราช  (น้อย)  กรมเมือง  ที่ ๒
เจ้าพระยาธรรมา  (เทด)  กรมวัง  ที่ ๑
เจ้าพระยาโกษา  (กร)  กรมท่า  ที่ ๑
เจ้าพระยาพระคลัง  (บุญสังข์)  กรมท่า  ที่ ๒
เจ้าพระยาพระคลัง  (ดิด)  กรมท่า  ที่ ๓
เจ้าพระยาพลเทพ   (ทองอิน)  กรมนา  ที่ ๑



กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 26 เม.ย. 10, 09:02
(ต่อ)

รัชกาลที่  ๓

เจ้าพระยาบดินทรเดชา  (สิง)  สมุหนายก  ที่ ๑
เจ้าพระยามหาเสนา   (น้อย)  สมุหพระกระลาโหม  ที่  ๑
เจ้าพระยาพระคลัง  (ดิด)  ว่าที่สมุหพระกระลาโหม  ที่ ๒
เจ้าพระยายมราช  (ทองพูน)  กรมเมือง  ที่ ๑
เจ้าพระยายมราช   (แสง)  กรมเมือง  ที่ ๒
เจ้าพระยายมราช  (บุญนาก)  กรมเมือง  ที่  ๓
เจ้าพระยาธรรมราช  (สมบุญ)  กรมวัง  ที่ ๑
เจ้าพระยาพระคลัง  (ดิด)  กรมท่า  ที่ ๑
เจ้าพระยาพลเทพ  (ฉิม)  กรมนา  ที่ ๑


รัชกาลที่  ๔

เจ้าพระยานิกรบดินทร   (โต)  สมุหนายก  ที่ ๑
เจ้าพระยาภูธราภัย  (นุช)  สมุหนายก  ที่ ๒
เจ้าพระยาศรีสุริยวงษ  (ช่วง)  สมุหพระกระลาโหม  ที่  ๑
เจ้าพระยายมราช  (ทองสุก)   กรมเมือง  ที่ ๑
เจ้าพระยายมราช  (นุช)  กรมเมือง  ที่ ๒
เจ้าพระยายมราช  (ครุธ)  กรมเมือง  ที่ ๓
เจ้าพระยายมราช  (แก้ว)  กรมเมือง  ที่ ๔
เจ้าพระยาธรรมา  (เสือ)  กรมวัง  ที่ ๑
เจ้าพระยาธรรมา  (บุญศรี)  กรมวัง  ที่ ๒
เจ้าพระยาระวิวงษ  (ขำ)  กรมท่า   ที่ ๑
เจ้าพระยาพลเทพ   (เอี่ยม)  กรมนา  ที่ ๑
เจ้าพระยาพลเทพ  (หลง)  กรมนา  ที่ ๒


รัชกาลที่  ๕

เจ้าพระยาสุรวงษไวยวัฒน์   (วร)  สมุหพระกระลาโหม  ที่ ๑
เจ้าพระยายมราช   (เฉย)  กรมเมือง  ที่ ๑
เจ้าพระยาธรรมา   (มั่ง)   กรมวัง  ที่  ๑
เจ้าพระยาภาณุวงษ   (ท้วม)  กรมท่า  ที่ ๑
เจ้าพระยาพลเทพ   (บุญรอด)  กรมนา  ที่ ๑

                                         ตำแหน่งนามยศทั้ง         นามเดิม   ท่านฉฮ
                                         รวมรวบเรียบเรียงเติม       แต่ต้น
                                         ห้าสิบสี่นามเฉลิม           ฉนำนับ  ร้อยนา
                                         กุหลาบเพียรคิดค้น          คัดขึ้นทูลฉลอง

กุหลาบ




กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 26 เม.ย. 10, 09:15
วชิรญาณวิเศษ  เล่ม  ๑  แผ่น  ๓๒  วัน  ๗  เดือน  ๙  แรม  ๑๔  ค่ำ  ปีจออัฐศก   ๑๒๔๘  หน้า  ๓๕๖ - ๓๕๗


แจ้งความ

ด้วย  ณ  วันอังคาร  เดือนเก้า  แรมสิบค่ำ   ข้าพเจ้าได้รับหนังสือฉบับ ๑  ของผู้ลงชื่อ  (ข.)   ว่าด้วยความวิมุติสงไสย   แลเพิ่มเติมพระนามพระบรมวงษานุวงษซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาบดี   แต่รัชกาลที่ ๒  ถึงรัชกาลที่ปัตยุบันนี้  ขอให้ลงพิมพ์ในเวรข้าพเจ้า   ได้ส่งมาลงพิมพ์ด้วยแล้ว   มีความพิศดารต่อไปนี้   

บรรณารักษ

(หมายเหตุ  เวรประจำวชิรญาณวิเศษ  ฉบับนี้  คือ  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์ฌธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)

 8)


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 26 เม.ย. 10, 12:54
(ต่อ)

ความวิมุติสงไสย

กราบทูลมาในเสด็จแม่กองหนังสือวชิรญาณวิเศศซึ่งจะออกวันเดือนเก้าแรมสิบสี่ค่ำทรงทราบ   ด้วยกระหม่อมฉันได้อ่านหนังสือวชิรญาณแผ่นที่  ๓๑  ว่าด้วยตำแหน่งยศท่านเจ้าพระยาเสนาบดี  ๕๔  นามนี้    ตั้งแต่สร้างกรุงเทพฯ  ถึงร้อยปีของนายกุหลาบนั้น    ที่อ้างว่าเปนเจ้าพระยาทั้งสิ้นนั้น   จะผิดไปบ้างดอกกระมัง   ในรัชกาลที่  ๑  เจ้าพระยาพลเทพฯ  (บุญนาก)  กรมนา  ที่ ๓ ในรัชกาลที่  ๑  นั้น   กระหม่อมฉันได้ทราบความตามที่เล่าสืบมาว่าเปนแต่พระยาเท่านั้น    หาได้เปนเจ้าพระยาไม่    พระยาพลเทพฯ  ผู้นี้เปนโทษต้องประหารชีวิตร   คราวครั้งหม่อมเหมนเปนขบถด้วยกันไม่ใช่ฤา   ท่านผู้หลักผู้ใหญ่ที่ทราบความอยู่ก็คงมี    พอที่จะสืบเอาความจริงได้   อีกประการหนึ่งนามเดิมของท่านเสนาบดีทั้งปวงซึ่งได้ลงพิมพ์มานั้น   เหนว่าประดิษฐเติมเอาตามชอบใจก็มีอยู่หลายชื่อ   เหมือนยังเจ้าพระยามหาเสนา   (บุญสังข์)   สมุหพระกระลาโหม  ที่  ๓ นั้น   กระหม่อมฉันได้ทราบแต่ว่านามเดิมท่านชื่อสังข์เท่านั้นเอง    คำที่เรียกนามท่านเปนสามัญว่าเจ้าคุณโกษาสังข์   นัยหนึ่งว่าเจ้าคุรทหารสังข์   ยังติดปากท่านผู้หลักผู้ใหญ่อยู่   คำบุญเติมน่านั้นมาแต่ไหน   นายกุหลาบจะประดิษฐเดาเอาเองฤาประการใด   กระหม่อมฉันมีความสงไสยนัก     เหมือนท่านเจ้าพระยาพลเทพฯ  เดี๋ยวนี้ก้เหมือนกัน    นามท่านจะไม่อย่างเช่นที่ลงพิมพืว่า  (บุญรอด)  ดอกกระมัง   เหนว่าพอจะสืบถามประกอบเอาความจริงได้

(ยังมีต่อ)


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 26 เม.ย. 10, 13:22
(ต่อ)


อีกประการหนึ่งพระบรมวงษานุวงษ   ซึ่งทรงบังคับบัญชาตำแหน่งที่เสนาบดีมีมาหลายรัชกาลแล้ว   ทำไมจึ่งไม่เรียงพระนามลงด้วย   เหมือนในรัชกาลที่  ๒  สมเดจพระสัมพันธวงษเธอ   แต่ใช้ว่าสมเดจพระเจ้าน้องยาเธอ   เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี   ก็ได้ทรงว่าการกรมมหาดไทยมา    ครั้นสิ้นพระชนม์แล้วพระอนุชาของท่านเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ   ได้ทรงว่าการกรมมหาดไทยสืบมาจนสิ้นรัชกาลนั้น    ในรัชกาลที่  ๔    พระเจ้าบรมวงษเธอ   กรมหลวงวงษาธิราชสนิทร ฯ  ก็ได้ทรงว่าการกรมมหาดไทย   ในเมื่อเจ้าพระยานิกรบดินทร ฯ  ชรามากนั้น    แลในแผ่นดินปัตยุบันนี้  สมเดจพระเจ้าบรมวงษเธอ   เจ้าฟ้ามหามาลา   กรมสมเดจพระบำราบปรปักษ ฯ  ซึ่งสำเรจราชการกรมมหาดไทยอยู่เดี๋ยวนี้   จะว่าเปนที่สมุหนายกไม่ได้ฤา    ถ้าเสดจแม่กองทรงเหนควรว่าเปนการชอบแล้ว   กระหม่อมฉันขอเรียงพระนามเติมลงดังนี้

ที่สมุหนายก

กรมหลวงพิทักษมนตรี                รัชกาลที่ ๒
กรมขุนอิศรานุรักษ                    รัชกาลที่ ๒
กรมหลวงวงษาธิราชสนิทร  ฯ      รัชกาลที่  ๔
กรมสมเดจพระบำราบปรปักษ       รัชกาลปัตยุบันนี้

ที่สมุหพระกระลาโหม

กรมหมื่นศักดิพลเสพย   "ภายหลังเปนกรมพระราชวังบวรสฐานมงคล   แผ่นดินพระบาทสมเดจพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว "         รัชกาลที่  ๒


ที่กรมท่า

พระบาทสมเดจพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  เมื่อยังเปนพระเจ้าลูกยาเธอ   กรมหมื่นเจษฎาบดินทร          รัชกาลที่  ๒
กรมขุนวรจักธรานุภาพ             รัชกาลที่   ๔
กรมหลวงเทวะวงษวโรประการ          รัชกาลปัตยุบัน


ที่กรมพระนครบาล

กรมหมื่นสุรินทรรักษ         รัชกาลที่  ๒
กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร   รัชกาลที่  ๓
กรมขุนวรจักรธรานุภาพ      รัชกาลที่  ๔
กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ    รัชกาลปัตยุบัน


ที่กรมวัง

กรมสมเดจพระบำราบปรปักษ     รัชกาลที่  ๔


ที่กรมนา

กรมสมเดจพระเดชาดิศร           รัชกาลที่  ๓

ควรมิควรสุดแล้วแต่จะโปรด 

 8)

(ต่อจากนี้  อ่านคำตอบของนายกุหลาบ)


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 เม.ย. 10, 15:21
รออ่านคำตอบนายกุหลาบมาหลายวันแล้ว

 ;D


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 30 เม.ย. 10, 13:18
นายกุหลาบได้อ่าน "ความวิมุติสงไสย" ของผู้ที่ลงนามว่า "ข" แล้วเขียนคำตอบมาลงในวชิรญาณวิเศษ  เล่ม ๑ แผ่น ๓๖ วัน ๒ เดือน ๑๐  แรม  ๑๕  ค่ำ  ปีจออัฐศก ๑๒๔๘ หน้า ๓๘๖  -  ๓๘๗


แจ้งความ

"...นายกุหลาบขอลงความแก้สงไสยของผู้ลงชื่อ (ข) เรื่องหนึ่ง..."

พระพรหมธิบาล จร  (ผู้เป็นายเวรประจำฉบับนี้)





แก้วิมุติสงไสยในนามท่านเสนาบดี

ข้าพเจ้าสมาชิกผู้มีชื่อในท้ายหนังสือนี้  ขอรับประทานกราบเรียนแต่ท่านกรรมสัมปาทิก  แม่กองเวรนี้ได้ทราบ   ด้วยข้าพเจ้าได้อ่านวชิรญาณวิเสศ เล่ม ๑ แผ่นที่  ๓๒  ลงวัน ๗ เดือน ๙ แรม  ๑๔ ค่ำ  ปีจออัฐศกนั้น   โดยในท่านที่มีนามลงมาว่า (ข) นี้  ท่านสงไสยในนามท่านเสนาบดี  ๕๔  นามนั้น   ว่าผิดแปลกกว่าที่ท่านได้เคยสังเกตได้ยินมาแต่ปากท่านผู้เฒ่า   บัดนี้ข้าพเจ้าขอรับประทานโอกาศ  แต่ท่านสมาชิกทั้งปวงที่จะได้ทราบความแก้นี้ต่อไป   โดยในนามท่านเสนาบดี  ๕๔  นาม  ที่ข้าพเจ้านำมาลงพิมพ์ในเวรข้าพเจ้านั้น   ข้าพเจ้าได้คัดมาจากฉบับพระราชพงษาวดารในหอพระสมุดบ้าง   แลคัดมาจากฉบับพงษาวดารบางช้างบ้าง   คัดมาจากลำดับวงษตระกูลเสนาบดีบ้าง   คัดมาจากฉบับในราชการต่างๆ  บ้าง   จึงได้ส่งมาลงพิมพ์  ซึ่งจะได้เดาทายแลเสิมส่งนั้น   หาเหตุสิ่งที่ควรไม่  บัดนี้จะขอรับประทานแก้วิมุติ  โดยความสัจสุจริตแลความที่มีพยานอยู่ในที่เปนหลักถานราชการควรจะเชื่อได้เปนแน่ดังนี้

 :)


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 30 เม.ย. 10, 13:36
ตั้งตาแบบตาตั้ง คอยอ่านเหมือนกันค่ะ


คิดดังๆ ว่า  การรับฟังจากผู้เฒ่า นี่ก็น่าจะมีปัญหาเหมือนกันนะคะ

พระยาไก่  ความจำดีปานกลาง เล่าเรื่องราวที่รู้มาให้ คุณหลวงไข่ ความจำดีปานกลาง
เรื่องก็คงตกหล่นไปบ้างมั๊ง

ไม่ได้จดไว้นี่




กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 30 เม.ย. 10, 15:37
แทรกคำถามชวนสันนิษฐานกันหน่อย   อยากให้ท่านผู้ที่อ่านกระทู้นี้  ทายหรือสันนิษฐานว่า ผู้ที่ใช้ชื่อ (ข) นี้ น่าจะเป็นใคร   เป็นเจ้านายหรือเปล่า  หรือเป็นขุนนางตระกูลใหญ่   หรือเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย   เชิญทายได้นะบัดเดี๋ยวนี้ 8)


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 30 เม.ย. 10, 16:19
แก้วิมุติสงไสยในนามท่านเสนาบดี (ต่อ)


ข้อ ๑  ซึ่งท่านที่ลงชื่อว่า  (ข)  นั้นท่านสงไสยว่า  เจ้าพระยาพลเทพบุญนากไม่ใช่เจ้าพระยา   ขอชี้แจงให้ทราบทั่วๆ กัน  ว่าได้ความในหนังสือพระราชพงษาวดารรัชกาลที่ ๑  กรุงเทพฯ  ซึ่งเปนสมุดขาวมีอยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณนั้น  มีความว่า  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพลเทพ (บุญนาก)  ผู้นี้เปนแม่ทัพไปปราบปรามเมืองแขกมาลายูซึ่งเปนขบถ

ข้อ  ๒  ซึ่งท่านที่ลงชื่อว่า  (ข) สงไสยว่าเจ้าพระยาพลเทพ  (บุญนาก) นั้น  ไม่ใช่เจ้าพระยาเปนแต่พระยาเปล่าๆ นั้น  ขอชี้แจงให้ทราบทั่วๆ กันว่า หนังสือราชการสำคัญฉบับ ๑  ชื่อพระประถมบรมราชวงษนั้นมีความว่าดั่งนี้  ในรัชกาลที่ ๑ นั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรามหาประเทศราชผู้รักษากรุงเก่าชื่อบุญนาก  เลื่อนตำแหน่งยศเปนเจ้าพระยาพลเทพ ๆ ผู้นี้เดิมแต่ครั้งกรุงธนบุรีมีชื่อว่านายบุญนากบ้านแม่ลา   ซึ่งเปนต้นคิดปราบปรามการจลาจลครั้งกรุงธนบุรี  เพราะเหตุนี้มีความชอบจึ่งได้เปนที่เจ้าพระยาไชยวิชิต  แล้วจึ่งเลื่อนมาเปนเจ้าพระยาพลเทพ  ในปลายแผ่นดินรัชกาลที่ ๑




กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 27 ส.ค. 10, 11:13
เจอเรื่องสนุกเข้าในบทละคร น้อยอินเสน พระราชนิพนธ์ใน ร.๖ จึงขอนำมาแบ่งปันกันครับ

.
.
.
หลวงราชภัตติ์      ชะ ๆ ชะ ๆ ตัวแกเองเป็นอะไรมาทีเดียว พ่อแกเป็นขี้ข้าเขาด้วยส่ง แกยังจะมาอวดดี ยกตัวแกสูงกว่าผมอีกหรือ ? ผมน่ะนับเนื่องตระกูลวงศ์ต่อขึ้นไปได้จนถึงกรุงเก่า ไม่เชื่อไปค้นดูในหนังสือมุขมาตยาวงศ์ ของอาจารย์เกศร์ซิครับ
พระสมาน          ผมทราบแล้ว ได้อ่านหนังสือพิมพ์สยามประภาจนตลอด เออคุณจัดการอย่างไรท่านอาจารย์เกศร์จึงได้ลงกูลวงศ์ของคุณหลวงได้ ?
หลวงราชภัตติ์      ไม่ต้องจัดการอะไร แต่ผมนับถือแกเป็นอาจารย์ แกรักผมแกก็อุดหนุนจัดการค้นได้กูลวงศ์ของผมจนตลอด ถ้าหากท่านอาจารย์เกศร์แกไม่อุดหนุน ผมก็คงเลยไม่ได้รู้ว่าผมเองเป็นผู้มีกูลวงศ์เนื่องขึ้นได้ยืดยาวเช่นนั้น
.
.
.

ฉบับเต็มเชิญเปิดดูในตู้หนังสือนะครับ


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 27 ส.ค. 10, 13:29

หนังสืออนุสรณ์งานศพหลานปู่ของ ก.ศ.ร. กุหลาบ อยู่แถว ๆ นี้เอง   ลูกของนายชายผู้ต่อมาเป็นทนายความ

ควานเจอจะนำมาฝากค่ะ


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: Ruamrudee ที่ 27 ส.ค. 10, 13:31
มาลงชื่อเรียนวิชานี้ด้วยคนค่ะ ติดใจอ่านมาแต่กระทู้เก่า ๆ ในเรือนไทยแล้วค่ะ

ท่าน ก.ศ.ร.กุหลาบ สามารถสร้างความปั่นป่วนให้วงการประวัติศาสตร์ได้ไม่น้อย
หากท่านจะเขียนนิยาย คงไม่มีใครว่าอะไร

อ่านเรื่องของท่านทีไร ดิฉันหวนนึกไปถึง...บุคคล และ หนังสือเหล่านี้ค่ะ
1. นาธาน โอมาน
2. คุณน้ำอบ(เน่า)
3. ลับแล แก่งคอย

จะเชื่ออะไรก็ต้องตรวจสอบข้อมูลกันให้ดี เพราะ โลกเสมือนจริงที่คนเล่าเรื่องจงใจสร้างขึ้นนั้น พาเราออกทะเลไปไกล ๆ ได้



กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 27 ส.ค. 10, 14:46

ท่าน ก.ศ.ร.กุหลาบ สามารถสร้างความปั่นป่วนให้วงการประวัติศาสตร์ได้ไม่น้อย
หากท่านจะเขียนนิยาย คงไม่มีใครว่าอะไร

จะเชื่ออะไรก็ต้องตรวจสอบข้อมูลกันให้ดี เพราะ โลกเสมือนจริงที่คนเล่าเรื่องจงใจสร้างขึ้นนั้น พาเราออกทะเลไปไกล ๆ ได้


ในยุคสมัยของนายกุหลาบนั้น  คนรู้มีน้อยกว่าคนไม่รู้   และความรู้มักจำกัดอยู่ในหมู่เจ้านาย พระ และขุนนางสูงศักดิ์    นายกุหลาบได้คบหาสมาคมกับผู้รู้ทั้งหลายเหล่านั้น จนได้ความรู้มา  สิ่งนายกุหลาบเขียนและพิมพ์เผยแพร่นั้น เกิดแต่ความตั้งใจที่จะให้ความรู้ผู้คนทั่วไป (แต่คนทั่วไปคงไม่มีเงินจะเป็นสมาชิกรับหนังสือของนายกุหลาบดอก) เพราะถ้านายกุหลาบไม่พิมพ์หนังสือเองแล้ว คงจะได้เหลือเงินให้ลูกหลานตั้งตัวต่อมาได้ไม่น้อย  เรื่องนี้สหายสองคนโอบย่อมทราบดี  อาจจะเล่าได้อย่างพิสดาร (หรือไม่ก็ไปย้อนอ่านกระทู้ใหม่ตั้งแต่ต้นก็ได้)

สิ่งที่นายกุหลาบเขียนย่อมมีที่เกินจริงบ้าง  แต่สิ่งเหล่านั้นตรวจสอบได้  เช่นถ้าเป็นเอกสารพงศาวดาร   ก็ดูสอบกับเอกสารประชุมพงศาวดารที่พิมพ์โดยหอพระสมุดก็จะรู้ที่ผิดถูก  หรือจะไม่จุจิตจุใจก็เอาไปเทียบเคียงกับหนังสือหรือเอกสารอื่นก็ได้

เรื่องต้นตระกูลนั้น  นายกุหลาบเขียนและสอบถามมาจากคนในสายตระกูลน้อยนั้น  ถ้ามีที่ผิดพลาด   ก็น่าจะมีคนทักท้วงกันบ้าง   เพราะแต่ละตระกูลที่นายกุหลาบชักสาขาญาติมาแจงสี่เบี้ยนั้น มีที่เป็นขุนนางไม่น้อย เจ้าจอมฝ่ายในก็มาก  ก็ถ้าอะไรที่นายกุหลาบยกไปถึงสมัยสุโขทัย อยุธยาตอนต้น  หรือบางทีร้ายกว่านั้นยกโยงไปถึงเมืองรามราชในอินเดีย  เห็นสุดวิสัยจะเชื่อได้   ก็อย่าได้เชื่อ เลือกเอาแต่ที่ใกล้กาลปัจจุบันดีกว่า  เหมือนมะพร้าวนั่นล่ะครับ   เมื่อจะเอามาทำแกงทำขนม  ต้องปอกต้องเกลาเปลือกออก ขูดเอาแต่เนื้อมะพร้าวมาคั้นเป็นกระทิ  จึงทำแกงรับประทานได้   


แต่จะเชื่อหรือไม่ว่า   หลังจากสมัยของนายกุหลาบแล้วอีกหลายสิบปีต่อมา   นักเขียนหลายท่านที่มีงานเขียนเป็นที่ยอมรับนับถือกันทั่วหย่อมย่านบ้านเรือน   ต่างก็พากันลอกงานเขียนของนายกุหลาบมาเป็นงานของตัวกันเฉย ๆโดยไม่อ้างถึงนายกุหลาบสักแอะ  หนักกว่านั้น  บางคนลอกมาทั้งดุ้นเลย  ตัดออกสัก ๒-๓ คำ  อันนี้ผู้เคยอ่านงานของนายกุหลาบมาสองสามเข่งท่านเทศน์แจงให้ฟัง    คนไทยเรานี่ก็แปลก  เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลซดน้ำแกงกันให้พรืดๆ   


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: นโม ตสฺส ที่ 31 ก.ค. 19, 22:03
"...เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๔ มีงานฉลองอายุพระนครครบ ๑๐๐ ปี ในงานนั้นมีการแสดงพิพิธภัณฑ์ เรียกกันในสมัยนั้นตามภาษาอังกฤษว่า “เอ๊กซหิบิเชน” สร้างโรงชั่วคราวเป็นบริเวณใหญ่ในท้องสนามหลวง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสชวนพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ ตลอดจนคฤหบดีที่มีใจจะช่วย ให้จัดของต่างๆ อันควรอวดความรู้และความคิด กับทั้งฝีมือช่างของไทยมาตั้งให้คนดู จัดที่แสดงเป็นห้องๆ ต่อกันไปตามประเภทสิ่งของ ครั้งนั้นกรมหลวงบดินทร์ฯ ทรงรับแสดงหนังสือไทยฉบับเขียน เอาสมุดในหอหลวงที่มีมาแต่โบราณมาตั้งอวดห้องหนึ่ง นาย ก.ส.ร. กุหลาบรับอาสาแสดงหนังสือไทยสมัยเมื่อแรกพิมพ์ห้องหนึ่ง อยู่ต่อกับห้องของกรมหลวงบดินทร์ฯ ด้วยเป็นของประเภทเดียวกัน ฉันเคยไปดูทั้ง ๒ ห้อง และเริ่มรู้จักตัวนายกุหลาบเมื่อครั้งนั้น..." (นิทานโบราณคดี พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)

พระนิพนธ์ตรงนี้มีความคลาดเคลื่อนนิดหนึ่ง เพราะมีหลักฐานว่านายกุหลาบไม่ได้มีห้องจัดแสดงเป็นของตัวเอง หากแต่ว่า นาย ก.ศ.ร. กุหลาบ เป็นพนักงานประจำห้องจัดแสดงของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณเสียเองครับ

ในหนังสือ Bangkok Centennial Held At Bangkok, Siam, 1882 ซึ่งเนื้อหาของหนังสือนี้บันทึกเกี่ยวกับการจัดงานนาเชนแนลเอซฮิบิเช่อน ได้พูดถึงห้องหมายเลข 17 ของกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ และว่าห้องที่ต่อจากของกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ (ห้องหมายเลข 18) เป็นห้องของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) แต่ไม่มีห้องจัดแสดงของนายกุหลาบเลยสักห้องเดียวในงาน

เมื่อเปรียบเทียบกับหลักฐานร่วมสมัย ในจดหมายเหตุสยามไสมย เล่ม ๓ แผ่นที่ ๔๔ ของหมอสมิท กล่าวว่า

"...จดหมายเหตุฝรั่งโบราณตั้งแต่คฤศตะศักราช ๑๕๑๑ ปี ตรงกับปีมีจุลศักราช ๗๗๒ ปี ข้าพเจ้าครูสมิทได้คัดลอกเนื้อความเรื่องนี้มาแต่ฉบับของเสมียนกุหลาบ ซึ่งตั้งไว้ในห้องที่ ๑๗ โรงเอกซฮิบิเชอน ณ ท้องสนามหลวง เมื่อการสมโภชพระนครบันจบครบรอบร้อยปี มาลงพิมพ?ไว้..."

และในจดหมายเหตุสยามไสมย เล่ม ๓ แผ่นที่ ๕๒ ว่า

"...ข้าพเจ้า เอไดตอร ได้คัดลอกเนื้อความกลอุบายศึกมาจากฉบับของเสมียนกุหลาบ ซึ่งตั้งไว้ในห้องที่ ๑๗ โรงเอซฮิบิเช่อน ณะ ท้องสนามหลวง..."

หลักฐานที่แสดงว่า ก.ศ.ร. กุหลาบ เป็นพนักงานในห้องจัดแสดงหนังสือของกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ ยังมีปรากฏอยู่ใน บาญชีหนังสือไทยต่างๆ ๑๕๐ เรื่อง ตั้งในการนาเชนแนลเอกซฮิบิเช่อน ณ ท้องสนามหลวงในการเฉลิมพระนคร ตั้งแต่สร้างกรุงเทพมหานคร บรรจบครบรอบร้อยปี ปีมะเมีย จัตวาศก จุลศักราช ๑๒๔๔ อีกด้วย

จากหลักฐานเหล่านี้ทำให้ทราบว่า กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณทรงรับผิดชอบห้องจัดแสดง ห้อง 17 ซึ่งมี ก.ศ.ร. กุหลาบเป็นหนักงานรับผิดชอบห้อง และยังมีหนังสือของนายกุหลาบเองแสดงในนั้นด้วย ซึ่งหมายความว่าบุคคลทั้งสองควรที่จะรู้จักกันจนกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณทรงมีความไว้ใจหมอบหมายให้ ก.ศ.ร. กุหลาบ ให้รับผิดชอบห้องจัดแสดงของพระองค์หรือไม่?


กระทู้: ก.ศ.ร. กุหลาบ ชีวิตพิศวง
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 ส.ค. 19, 06:21
ห้องหมายเลข ๑๗ หรือ หมายเลข ๑๘ ?

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4752.msg93290#msg93290