เรือนไทย

General Category => หน้าต่างโลก => ข้อความที่เริ่มโดย: naitang ที่ 18 ก.พ. 17, 19:07



กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ก.พ. 17, 19:07
เป็นกระทู้สั้นๆในเรื่องของประสบการณ์ตรงในการทำงานที่มีช้างเข้ามาเกี่ยวข้องครับ

ผมคิดว่า มีคนจำนวนน้อยมากที่จะได้เคยทำงานร่วมกับช้างในสภาพที่เป็นชีวิตจริงที่เป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติ ที่มิใช่เป็นการแสดงทางวิชาการหรือทางธุรกิจ

ภาพที่เป็นวิถีแบบธรรมชาตินี้ ผมคิดว่าหายไปเกือบหมดในประมาณช่วงต้นของทศวรรษ พ.ศ.2530 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.พ. 17, 19:25
มาจองแถวหน้าค่ะ


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ก.พ. 17, 19:28
เรื่องราวเกี่ยวกับช้างนั้น มีบันทึก มีเอกสาร และมีหนังสือในเชิงวิชาการที่เขียนถึงอยู่มากมาย และก็มีอยู่ไม่น้อยที่บรรยายลงไปถึงในรายละเอียด   ก็มีการก็อปก้นก็อปไปกันมาเลาต่อๆกันก็เยอะ  

แต่ที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นเรื่องในชีวิตจริงที่ประสบมา  ก็อาจจะเป็นข้อมูลเล็กน้อยๆที่อาจจะเป็นประโยชน์เพิ่มเติมเข้าไปในองค์ความรู้ได้อีกหน่อยนีงครับ  


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ก.พ. 17, 19:39
ขอบคุณ อ.เทาชมพู ครับ 

กระทู้นี้ ผมตั้งใจจะว่ามานานแล้ว  ก็ลืมไปบ้าง ยังไม่มีช่องเข้าบ้าง   จนกระทั่งได้รับรู้ข่าวว่า ได้มีการพบเสือกระต่ายหรือแมวป่าในป่าในเขต อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ก็เลยได้รับการกระตุ้นให้เริ่มกระทู้นี้เสียที


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ก.พ. 17, 20:22
เรื่องเกี่ยวกับการพบแมวป่านี้  ทำให้ผมนึกถีงครั้งหนึ่งเมื่อช่วงต้นปี พ.ศ.2515  ได้เห็นแมวตัวหนึ่งที่บริเวณชายป่าแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ช่วงเวลาเช้าประมาณ 7-8 โมงเช้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผมกำลังออกเดินลึกเข้าไปทำงานสำรวจในพื้นที่ป่า  ก็ยังสงสัยว่าเป็นแมวป่าหรือแมวบ้าน เพราะว่า ณ พื้นที่นั้นในช่วง พ.ศ.นั้น ไม่มีหมู่บ้าน ไม่มีผู้คนเลย แถมอยู่ห่างจากพื้นที่ๆมีชุมชนอาศัยอยู่นับสิบๆ กม.  จึงอาจจะเป็นเสือกระต่ายหรือแมวป่าก็ได้

ลักษณะของในป่าผืนนี้ผมเคยเล่าไปแล้วในบางกระทู้ (จำไม่ได้แล้วครับ) มีน้ำแม่วงก์ไหลผ่าน เป็นป่าโปร่ง มีต้นไทร พื้นล่างมีต้นกระชายขึ้นปกคลุมไปหมด เขียวสดใส แล้วก็มีนกกาฮังหัวโตหลายตัว เกาะต้นไทรหากินลูกไม้ บินไปมาเสียงดังยังกับพัดใบลานวี เหมือนป่าในยุค Jurassic เอาเลยทีเดียว

ป่าผืนนี้แหละครับที่เคยเล่าถึงเรื่อง ค่าง และที่จะเล่าในกระทู้นี้ก็คือ ช้าง

น่าเสียใจที่ผมได้เห็นป่าผืนนี้ทั้งในสภาพที่ชุ่มชื้น สมบูรณ์ เขียวขจี และในภายหลังในสภาพที่แดดส่อง แห้ง และร้อน       


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.พ. 17, 09:50
เสือกระต่ายหรือแมวป่า
http://www.posttoday.com/social/general/481205


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 19 ก.พ. 17, 12:39

ลักษณะของในป่าผืนนี้ผมเคยเล่าไปแล้วในบางกระทู้ (จำไม่ได้แล้วครับ) มีน้ำแม่วงก์ไหลผ่าน
เป็นป่าโปร่ง มีต้นไทร พื้นล่างมีต้นกระชายขึ้นปกคลุมไปหมด เขียวสดใส แล้วก็มีนกกาฮังหัวโตหลายตัว เกาะต้นไทรหากินลูกไม้ บินไปมาเสียงดังยังกับพัดใบลานวี
เหมือนป่าในยุค Jurassic เอาเลยทีเดียว

ป่าผืนนี้แหละครับที่เคยเล่าถึงเรื่อง ค่าง และที่จะเล่าในกระทู้นี้ก็คือ ช้าง


ผมเข้าใจว่า น่าจะเป็นข้อความจากกระทู้ ข้างล่างนี้ครับ

   ห้วยขาแข้ง เมื่อ '14 '15 ความคิดเห็นที่ 140 (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=6370.135.msg148042)


ไม่ลืมหรอกครับ ก็ว่าจะไปเล่าเอาตอนทำงานในขาแข้งตอนเหนือและในป่าแม่วงก์   เพราะว่าจะมีค่างอาศัยอยู่ค่อนข้างมากในพื้นที่นั้น (โดยเฉพาะในป่าแม่วงก์)  ก็เลยขอขยายความเสียเลยดังนี้ครับ

ก็อาจจะมีความสงสัยว่าด้วยเหตุใดจึงมีค่างเยอะในพื้นที่นั้น    ข้อสังเกตเปรียบเทียบของผมก็คือ มีลักษณะของผืนป่าที่แตกต่างกัน  ป่าในพื้นที่ช่วงล่างของห้วยขาแข้งหนักไปทางแห้งและแล้ง เป็นป่าที่มีหินปูนรองรับอยู่ ดินจึงเป็นพวกอุดมไปด้วยธาตุแคลเซียม (บวกกับแมกนีเซียม) ต้นไม้ที่ขึ้นเป็นพวกรากตื้น แม้จะมีต้นไม้เกิดอย่างหนาแน่นแต่ทรงพุ่มของเรือนยอดไม่กว้างมาก จึงเป็นป่าแบบป่าโปร่ง แสงแดดสามารถส่องลงถึงพื้นดินได้      ในขณะที่ห้วยขาแข้งส่วนบนหรือส่วนต้นห้วยเป็นป่าที่รองรับด้วยหินตะกอนหลายชนิด ทำให้ได้ดินที่มีแร่ดิน (clay minerals) หลากหลาย ผืนดินจึงอุดมไปด้วยแร่ธาตุและมีความชุ่มชื้นสูง (จากความสามารถของแร่ดินสองสามชนิดที่มีความสามารถในการจับธาตุที่มีประโยชน์ไว้กับตัว และอุ้มน้ำไว้จนทำให้มันบวมพองตัวได้)  จึงเป็นป่าแบบมีไม้ใหญ่ทรงชะลูดที่หนาแน่นที่มีทรงพุ่มของเรือนยอดกว้างและซ้อนกันไปมา แดดส่องลงมาถึงพื้นดินได้ค่อนข้างน้อย   ใบไม้เยอะ ยอดไม้เยอะ แถมมีลูกไม้เยอะ จึงทำให้ค่างซึ่งเป็นสัตว์ที่ค่อนข้างจะเลือกอาหารและนิยมกินใบอ่อน ยอดไม้ และผล มารวมอยู่กันเยอะ มีหลายฝูงมากๆเลยครับ 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ก.พ. 17, 18:45
เห็นภาพที่ชัดเจนของแมวป่าที่ อ. เทาชมพู เอามาลงแล้ว ก็พอจะนึกออกได้อีกหน่อยนึงว่า แมวที่ผมเห็นนั้นมีรูปทรงคล้ายๆกัน คือ ช่วงขาดูจะยาวและมีลำตัวดูจะสั้น   อริยาบทของมันที่ได้ที่เห็นในช่วงนั้น คือ มันกำลังลุกขึ้นยืนจนเกือบจะตรงแล้วจากท่าหมอบ แล้วก็ค่อยหันหลังเดินเข้าพงไม้ไป ไม่ใช่ในลักษณะแบบเยื่องกรายและก็ไม่ใช่กระโดดแผลว ซึ่งไม่น่าจะใช่การเคลื่อนไหวของสัตว์ป่า แต่กระนั้นก็ตาม ในสมัยที่ผมเดินทำงานอยู่ในพื้นที่ป่าเขาในช่วงนั้น สัตว์ป่าต่างๆก็ไม่มักจะไม่รู้จักคน เมื่อจ๊ะเอ๋กันก็ต่างยืนจ้องดูกัน ผมก็เลยไม่รู้จริงๆว่ามันจะเป็นแมวป่าหรือแมวบ้าน   

อ้อ อีกประการหนึ่ง ในความรู้ที่พอจะมีอยู่บ้างของผมนั้น สัตว์ป่าตระกูลแมวตัวขนาดย่อมทั้งหลายนั้น (เช่น เสือไฟ เสือปลา..)  เป็นสัตว์หากินกลางคืน ในเวลากลางวันก็จึงจะไม่เห็นมันเลย   แต่ก็มีอยู่บ่อยๆที่ได้พบเห็นสัตว์หากินกลางคืนในช่วงเวลาเช้าก่อนที่แดดจะส่องสว่างจ้า (เช่น อีเห็น...) และในอีกช่วงเวลาหลังประมาณบ่าย 4 โมงเป็นต้นไป (เช่น เม่น...) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์กำลังเริ่มลับขอบสันเขา แสงรำไร มืดเป็นหย่อมๆ


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ก.พ. 17, 19:45
เรื่องลักษณะของผืนป่าที่ได้เล่าไว้ดังที่คุณ ninpaat ได้กรุณาค้นมานั้น อ่านแล้วอาจจะรู้สึกสับสนว่า ตกลงแล้วเป็นสภาพของป่าโปร่ง หรือป่าทึบ   หากจะอ้างอิงทางวิชาการป่าไม้ ในองค์รวมก็คงน่าจะต้องเรียกว่าเป็นป่าดิบแล้ง (Dry evergreen forest) หรือไม่ก็ป่าดิบเขา (Hill evergreen forest)  ก็มีบางบริเวณก็เป็นป่าเบ็ญจพรรณ ป่าแดง (ป่าแพะ) แทรกอยู่เป็นหย่อมๆ  จำได้ว่าไม่เคยเห็นพื้นที่ๆหนาแน่นไปด้วยพวกไม้มีหนาม

ในภาษาแบบชาวบ้าน ป่าโปร่งก็คือป่าใหญ่ มีต้นไม้ใหญ่ ร่มเย็น มีต้นไม้พื้นล่างน้อย เดินง่าย  ป่าทึบก็คือป่าส่วนที่มีต้นไม้พื้นล่างต้นเล็กๆ (ไม้จริง) ขึ้นอยู่หนาแน่น มองไม่ทะลุไปได้ไกล รก เดินยาก  ป่าดิบก็คือป่าส่วนที่มีความชื้นสูง มีไม้เถาและไม้มีหนามขึ้นอยู่หนาแน่น เดินยาก ป่าแดงหรือป่าแพะก็คือป่าส่วนที่มีไม้ต้นขนาดไม่ใหญ่ขึ้นอยู่ปะปนกับไผ่ พื้นดินค่อนข้างเรียบ เดินง่าย แต่ร้อนแดดมาก  ป่าเต็งรังก็คือป่าส่วนที่มีต้นไม้เปลือกหนาขึ้นอยู่ มีความโปร่งมาก ดูแห้งและแล้งจัด แดดจัดและร้อน     


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 20 ก.พ. 17, 08:16
อยู่ครับ มาครับ  :) :) :)


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.พ. 17, 18:36
ยินดีต้อนรับครับ

ใช้วลีว่า ยินดีต้อนรับ ก็เลยไพล่ไปนึกถึงเรื่องชวนหัวเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมาเพื่อความสนุกสนาน แต่จะต้องขอแปลงชื่อของบุคคลและเรื่องเล็กน้อย

เรื่องก็มีอยู่ว่า มีสามีภรรยาคู่หนึ่งต้องเดินทางไปต่างประเทศ ด้วยได้รับเชิญเป็นแขกให้มาเยือนบ้านของสามีภรรยาคู่หนึ่ง ซึ่งทั้งสามีและภรรยาของฝ่ายต้อนรับจะไปรับที่สนามบินด้วยตนเอง   ฝ่ายผู้ไปเยือนนั้นพูดภาษาอังกฤษได้ค่อนข้างจะกระท่อนกระแท่น ก็เลยต้องท่องคำพูดที่จะใช้ในการทักทายเมื่อแรกพบ เพื่อเป็นการให้เกียรติและแสดงมิตรไมตรีในโอกาสแรกสุด ซึ่งต่อจากนั้นไปก็จะใช้ผู้อื่นเป็นล่ามในการสนทนาเรื่องต่างๆต่อไป 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.พ. 17, 19:07
ก็ท่องคำทักทายที่จะใช้เมื่อแรกพบ ซึ่งเป็นคำทำทักทายที่เป็นแบบสุภาพมากๆที่สุภาพชนเขาใช้กัน  "How do you do" แล้วก็ไม่ต้องไปสนคำตอบหรอกว่าอะไร  เพราะในระบบเขาจะต้องว่า "I am fine. Thank you" แล้วก็จะต้องต่อท้ายด้วยคำพูดถามกลับว่า " and you ?"  เราก็เพียงตอบกลับไปว่า "Me too, thank you"  สั้นๆง่ายๆเช่นนี้

เมื่อเครื่องบินลงแล้วและได้พบกัน ก็เกิดความประหม่า ลืมคำที่ต้องใช้ทักทายที่อุตส่าห์ท่องมา พอจับมือกันก็โพล่งออกไปเลยว่า  "Who are you ?"   ฝายผู้ต้อนรับก็มีอารมณ์ขัน ก็ตอบกลับไปว่า "I am Mrs..(ชื่อภรรยา)..husband, and you ?"   เข้าแก็ปตามที่ได้รับการบอกเล่ามาเลย ก็เลยตอบไปในทันใดว่า "Me too"

ครับ คิดว่าเรื่องชวนหัวเรื่องนี้คงจะเคยได้ยินกันมาแล้ว

ขออภัยที่เล่าซ้ำครับ     


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.พ. 17, 19:25
เรื่องคนกับช้างที่จะเล่าในกระทู้นี้ ก็คงจะมีเรื่องซ้ำกับที่เคยเล่ามาในกระทู้อื่นๆอยู่หลายเรื่อง ก็จะต้องขออภัยด้วยครับ   

นึกไปนึกมา เหลือเรื่องราวอยู่นิดเดียวที่จะเล่าสู่กันฟัง ชักจะยั่นเสียแล้วละครับ


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.พ. 17, 20:43
จำความได้ว่า ตั้งแต่เป็นเด็กจนโต ไม่เคยเห็นช้างเดินอยู่ในพื้นที่ๆเป็นชุมชนเมืองในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล หรือแม้กระทั่งในระดับหมู่บ้าน  กระทั่งในพื้นที่ๆเป็นกลุ่มบ้านไม่กี่หลังก็ไม่เคยเห็นช้าง    จะเห็นช้างก็ในพื้นที่ๆมีการทำไม้ และที่ๆเรียกว่าปางช้าง หรือปางไม้

ก็คงจะไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า แต่ก่อนนั้น ช้างไม่เข้าเมือง คือไม่เข้ามาปะปนอยู่ในขุมชน    ในเมืองมีแต่วัวกับควาย คือเทียมล้อ (เกวียน) เข้ามาทำธุระในพื้นที่ชุมชน


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.พ. 17, 20:56
ผมมาเริ่มคุ้นกับช้างและอยู่ใกล้ๆช้างมากขึ้นก็เมื่อกำลังเริ่มแก่วัดใกล้จะจบมหาวิทยาลัย  แล้วก็ได้เริ่มสัมผัสกับช้างในโลกที่เป็นจริงตั้งแต่ช่วงแรกๆในการทำงานในวิชาชีพที่ได้ร่ำเรียนมา


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ก.พ. 17, 19:22
สัมผัสแรกอยู่ในพื้นที่ป่าที่ครอบคลุมรอยต่อเขต 3 จังหวัด   จ.สุโขทัย (อ.ศรีสัชนาลัย) จ.แพร่ (อ.วังชิ้น และ อ.เด่นชัย) และ จ.อุตรดิตถ์ (อ.ลับแล)   

เขตต่อระหว่าง จ.สุโขทัย กับ จ.แพร่ ก็คือ ห้วยแม่สิน  หากเห็นสภาพของพื้นที่รอยต่อในปัจจุบันนี้แล้วอาจจะไม่เชื่อเลยว่า เมื่อสมัย พ.ศ. 2510+ นั้นเคยเป็นป่าที่ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่เลย   บนเส้นทางรถยนต์ดั้งเดิมที่ใช้เชื่อมต่อระหว่าง อ.ศรีสัชนาลัย (บ.หาดเสี้ยว) กับ อ.เด่นชัย นั้น จะมีเพียงด่านตำรวจตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยวอยู่ที่บริเวณสะพานข้ามห้วยแม่สินบนฝั่งของเขต จ.แพร่  เหนือจากหาดเสี้ยวขึ้นไป จะพบเห็นชุมชน(แบบซ่อนอยู่)อีกครั้ง ก็คือจนกระทั่งเข้าใกล้ตัว อ.เด่นชัย คือ ที่ บ.บ่อแก้ว ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของโรงเรียนป่าไม้ (โรงเรียนป่าไม้แพร่) ซึ่งผมเข้าใจว่าในปัจจุบันนี้คงจะปิดไปแล้ว โรงเรียนนี้ได้ผลิตบุคคลากรในสายงานการป่าไม้ของไทยมาก่อนจะเข้ายุคของคณะวนศาสตร์ ม.เกษตร ฯ   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ก.พ. 17, 20:12
บ.บ่อแก้ว นี้ ได้ชื่อมาจากการที่ได้มีการขุดพบพลอยนานมาแล้ว ผมไม่ทราบประวัติและเรื่องราวของการพบพลอยของที่นี่นัก  รู้อยู่แต่ว่าเป็นเรื่องจริง เพราะในพื้นที่นี้มีหิน Basalt ปกคลุมอยู่  ผมเคยเห็นพลอยที่ว่าเป็นของที่นี่อยู่สองสามครั้ง เป็นพวกพลอยไพลินสีอ่อนและเม็ดเล็กกว่าพลอยของ อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี 

ท่านใดที่มีพลอยจากแหล่งนี้ ก็เก็บรักษาไว้ให้ดีนะครับ หายากเต็มที  เป็นเรื่องของความมีค่ามากกว่าเรื่องของความมีราคา ครับ     


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ก.พ. 17, 20:38
เขตรอยต่อระหว่าง จ.อุตรดิตถ์ กับ จ.แพร่ นั้นเป็นสันเขาสูง   หากเดินทางบนเส้นทางรถสายอุตรดิตถ์-แพร่  เส้นแบ่งเขตจังหวัดก็คือสันเขา ณ จุดที่เป็นที่ตั้งของจุดพักผ่อนหรือจุดชมวิวเขาพลึง  หากเดินตามสันเขานี้ไปทางตะวันออกก็จะถึงสันเขาแบ่งเขตตรงจุดที่เรียกว่าดอยพญาพ่อ

สมัย 2510+ นั้น ผมเดินสำรวจข้ามสันเขาบริเวณแถวๆดอยพญาพ่อนี้  สันเขาสูงเอาการอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว   ออกเดิน 6 โมงเช้าจากห้วยตีนดอยขึ้นถึงสันดอยพญาพ่อก็ 6 โมงเย็น   ต้องล่น(เดินกี่งวิ่ง)ลงไปอีกร่วม 2 ชม.จึงถึงห้วยบริเวณที่มีน้ำ จึงสามารถหยุดหุงหาอาหารและนอนค้างแรมได้

แปลกก็ตรงที่ ไม่ค่อยจะเห็นร่องรอยของช้างในป่าของเขต จ.อุตรดิตถ์ เลย แต่พอรุ่งเช้าเดินตามห้วยลงไปหา อ.เด่นชัย ของ จ.แพร่ จึงได้พบเห็นร่องรอยของช้างมากมาย และก็น่าจะเป็นช้างป่าอีกด้วย


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ก.พ. 17, 19:04
ที่ อ.เด่นชัย นี้ มีสถานีรถไฟซึ่งรถไฟสายเหนือทุกขบวนจะต้องจอด  ณ สถานีนี้ ในสมัยก่อนนั้น นอกจากจะเป็นเสมือนจุดเชื่อมต่อของการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างพื้นที่อื่นๆกับ จ.แพร่, จ.น่าน และบางส่วนของ จ.พะเยา  ก็ยังเป็นศูนย์รวมของซุงไม้สักที่จะขนโดยทางรถไฟลงสู่ภาคกลางอีกด้วย

ในสมัยนั้น การทำไม้ยังใช้กำลังของช้างช่วยในการเคลื่อนย้ายและจัดการกับไม้ซุงทั้งหลาย ที่สถานีเด่นชัยก็จึงมีประชากรช้างทำงานอยู่ไม่น้อย  เช่นเดียวกันกับอีกสถานีรถไฟหนึ่ง คือ สถานีแม่จาง ซึ่งก็เป็นอีกจุดที่สำคัญของแหล่งรวมหมอนไม้สัก 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ก.พ. 17, 19:46
การส่งซุงไม้สักจากภาคเหนือลงสู่ภาคกลางนั้น คงทราบกันอยู่ตามที่ได้รับการบอกกล่าวกันว่า ในอดีตนั้นใช้วิธีการล่องมาตามแม่น้ำ  ทางฝั่งภาคเหนือด้านตะวันตกก็ใช้แม่น้ำปิงและแม่น้ำวัง ซึ่งไปบรรจบกันที่ อ.บ้านตาก จ.ตาก    ทางฝั่งภาคเหนือฝั่งตะวันออกก็ใช้แม่น้ำยมกับแม่น้ำน่าน ซึ่งไปบรรจบกันที่ อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์

ที่จริงแล้วมีอีกเส้นทางหนึ่งควบคู่กันที่มีการขนส่งในปริมาณที่ไม่น้อยเช่นกัน ก็คือ ทางรถไฟ ซึ่งสถานีที่เป็นจุดขึ้นของที่สำคัญก็ดูจะมีเพียงสถานีแม่จางและสถานีเด่นชัย   สำหรับสถานีอื่นๆนั้น ก็พอจะมีการขนส่งอยู่บ้างประปราย เช่น ที่สถานีเชียงใหม่ สถานีบ้านปิน อ.ลอง จ.แพร่ เป็นต้น

ก็เห็นช้างทำงานอยู่ในพื้นที่สถานีรถไฟเหล่านั้น (ยกเว้นที่สถานีเชียงใหม่) จนกระทั่งได้มีการยกระดับ (เอาจริงเอาจัง) กับสร้างระบบถนนลาดยางอย่างเป็นระบบทั่วประเทศ  ก็น่าจะแถวๆ พ.ศ. 2520 +/- กระมัง เครื่องจักรกลและรถลากไม้ก็เข้ามาแทนที่ช้างทั้งหมด จะยกเว้นก็แต่ในพื้นที่ป่าเขาจริงๆ ซึ่งก็เป็นช่วงเดียวกันที่การทำไม้เริ่มจะหันไปทำไม้ชนิดอื่นเพิ่มเติมไปจากไม้สัก โดยเฉพาะการทำไม้ยาง       


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ก.พ. 17, 20:54
พุดถึงสถานีรถไฟ ก็เลยนึกออกเรื่องเล็กๆน้อยๆที่อาจจะพอมีสาระอยู่บ้างครับ     ผมประมวลมาจากการสนทนากับพนักงานรถไฟรุ่นเก๋า และจากความทรงจำเมื่อสมัยยังเด็กๆ เมื่อครั้งยังต้องเดินทางด้วยรถไฟที่ลากจูงด้วยรถจักรไอน้ำ  ที่จริงแล้วก็ยังใช้บริการรถจักรไอน้ำสายกาญจนบุรี-น้ำตก (เขาพัง) ในช่วงก่อน พ.ศ. 2520 ในสมัยที่ทำงานในพื้นที่เลาะตะเข็บชายแดนไทย-พม่า    จำได้ไม่แล้วว่าหมายเลขใด คลับคล้ายคลับคลาว่ามีเลข 7 กับเลข 5 อยู่

ในการเดินทางด้วยรถไฟนั้น เราจะสังเกตเห็นว่า มีสถานีรถไฟตลอดเส้นทางอยู่เยอะมาก รถไฟวิ่งเดี๋ยวเดียวก็ถึงผ่านสถานีนึงแล้ว แล้วก็มีสถานีเป็นจำนวนมากที่อยู่โดดเดี่ยว ไม่เห็นมีหมู่บ้านหรือชุมชนเลย

เรื่องก็มีอยู่ว่า ในสมัยก่อนนั้น นอกจากจะตั้งสถานีเพื่อการคมนาคมของผู้คนแล้ว สถานีรถไฟที่ตั้งขึ้น ณ สถานที่เหล่านั้น ก็เพื่อการเติมน้ำและเติมฟืนให้กับหัวรถจักร ช่วงระยะทางระหว่างสถานีก็จะอยู่ที่ประมาณ 10 กม.


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ก.พ. 17, 18:46
ที่สถานีรถไฟที่ใช้เป็นจุดขึ้นไม้ซุงเพื่อการขนส่งทางรางนั้นจะมีพื้นที่ราบค่อนข้างกว้าง ซึ่งในพื้นที่นี้จะมีหลายกิจกรรมเกิดขึ้นในแต่ละวัน เพราะเป็นที่กองรวมกันของไม้ซุงที่จะต้องมีการคัดและจัดแยกสินค้า  ไม้ที่ขนมากองรวมกันนั้นจะขนมาโดยทางรถลากซุง ส่วนการคัดจัดแยกให้เป็นหมวดหมู่ตามต้องการนั้นจะใช้แรงงานช้าง และสำหรับการยกท่อนซุงขึ้นบรรทุกบนโบกี้ขนของเปิดข้างของรถไฟนั้นจะใช้ปั้นจั่น

ในพื้นที่นี้เอง ก็จะได้เห็นภาพการทำงานต่างๆของช้างแบบ(น่าจะครบ)ทุกกระบวนท่า ทั้งยังได้เห็นความแตกต่างในด้านต่างๆของช้างและคน ทั้งในด้านความชำนาญ ความแก่วัด ความน่ารักน่าเอ็นดู  อารมณ์ ..ฯลฯ


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ก.พ. 17, 19:43
ภาพประทับใจของผมที่ได้เห็นในพื้นที่ดังกล่าวนี้ก็คือ การสอนช้างวัยแรกรุ่นให้ลากซุง 

ท่อนซุงที่ควาญช้างเลือกเอามาสอนนั้น ขนาดใหญ่กว่าถังแกสหุงต้มขนาดกลางไม่มากนัก ความยาวก็คงจะประมาณ 5-6 เมตร ผมคะเนว่าน้ำหนักของซุงท่อนนั้นน่าจะอยู่แถวๆประมาณ 500+ กก.  ตัวช้างนั้นสูงกว่า 2 เมตรนิดหน่อย คะเนว่า น้ำหนักก็คงจะอยู่ในเกณฑ์ระหว่าง 2-3 ตัน   เมื่อควาญช้างผู้สอนเอาโซ่ไปคล้องกับจมูกซุง ทำการตรวจตราโซ่ลากที่บริเวณหัวไหล่สองข้างของช้าง ดูถูกต้องสมบูรณ์ดีแล้ว ก็สั่งให้ลาก

ควาญช้างไม่ได้ขึ้นนั่งกำกับอยู่บนคอช้าง แต่ถือไม้เรียวอันเล็กๆขนาดต้นเข็มยาวประมาณ 70-80 ซม.ยืนสั่งการอยู่ที่บริเวณขาหน้าของช้าง  ช้างหนุ่มน้อยคงจะกลัวอยู่ไม่น้อย สังเกตได้จากอาการของตาที่กรอกเหลือกไปมา       


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ก.พ. 17, 20:37
ช้างหนุ่มน้อยออกแรงครั้งแรก ซุงไม่ขยับเขยื้อนเลย  ควาญช้างก็แกว่งไม้เรียวทำท่าจะเฆี่ยน ช้างก็แสดงอาการกลัวแล้วก็ดึงโซ่ลากให้ตึงพร้อมๆกับเอาเท้าทั้งสี่มารวมชิดกันไว้  โน้มตัวไปข้างหน้า งวงชี้ไปข้างหน้าพร้อมอาการออกกำลังเบ่งเต็มแรง   ด้วยน้ำหนักตัวของมัน ซุงก็ขยับเคลื่อน พร้อมๆไปกับน้ำมูกพุ่งเป็นฝอยออกจากงวง   

คงจะนึกภาพออกนะครับ เอาขามารวมกัน ตัวก็เลยดูกลม พอสูดลมออกกำลังเบ่ง ตัวก็ยิ่งกลมใหญ่ เป็นภาพที่น่าเอ็นดูเลยทีเดียว

ครับ..ก็เป็นการสอนให้รู้จักการใช้น้ำหนักของตัวเอง ลากของที่มีน้ำหนักน้อยกว่าตัวเองตั้งเยอะให้ขยับก่อนที่จะใช้กำลังขาในการลากจูงต่อไป   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ก.พ. 17, 20:57
ในยุคการใช้ช้างนั้น เกือบทั้งหมดจะเป็นซุงไม้สัก จนกระทั่งประมาณ พ.ศ.2515+/- จึงเริ่มมีการตัดต้นยางและไม้มะค่ามากขึ้น การใช้ช้างก็เริ่มจะลดน้อยลงไป เพราะซุงแต่ละต้นนั้นใหญ่มาก ช้างลากไม่ไหว  

ก็พอจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพได้นิดหน่อยว่า สมัยซุงไม้สักนั้น ซุงแต่ละท่อนยาวประมาณระหว่าง 4-6 เมตร รถลากไม้คันหนึ่งลากซุงได้เกือบ 10 ต้น แต่ละต้นมักจะมีน้ำหนักไม่เกิน 1 ตัน   ในขณะที่ซุงต้นยางแต่ละต้นยาวประมาณระหว่าง 8-10 เมตร รถลากซุงคันหนึ่งลากได้เพียง 2 ต้น      ซุงไม้ยางขนาดใหญ่นี้ ใช้ช้างลากคู่ก็ยังไม่ไหวเลย  


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 23 ก.พ. 17, 21:02
ช้างหนุ่มน้อยออกแรงครั้งแรก ซุงไม่ขยับเขยื้อนเลย  ควาญช้างก็แกว่งไม้เรียวทำท่าจะเฆี่ยน ช้างก็แสดงอาการกลัวแล้วก็ดึงโซ่ลากให้ตึงพร้อมๆกับเอาเท้าทั้งสี่มารวมชิดกันไว้  โน้มตัวไปข้างหน้า งวงชี้ไปข้างหน้าพร้อมอาการออกกำลังเบ่งเต็มแรง   ด้วยน้ำหนักตัวของมัน ซุงก็ขยับเคลื่อน พร้อมๆไปกับน้ำมูกพุ่งเป็นฝอยออกจากงวง   

คงจะนึกภาพออกนะครับ เอาขามารวมกัน ตัวก็เลยดูกลม พอสูดลมออกกำลังเบ่ง ตัวก็ยิ่งกลมใหญ่ เป็นภาพที่น่าเอ็นดูเลยทีเดียว

อาจารย์บรรยายซะเห็นภาพชัดเลยค่ะ น่ารักจริงๆ เจ้าช้างคงจะเจ็บใจนะคะ ทำมั้ย..คนตัวนิดเดียวถึงได้มีอำนาจเหนือมันได้

ครับ..ก็เป็นการสอนให้รู้จักการใช้น้ำหนักของตัวเอง ลากของที่มีน้ำหนักน้อยกว่าตัวเองตั้งเยอะให้ขยับก่อนที่จะใช้กำลังขาในการลากจูงต่อไป   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 24 ก.พ. 17, 10:42
พร้อมๆกับเอาเท้าทั้งสี่มารวมชิดกันไว้  โน้มตัวไปข้างหน้า

(http://3.bp.blogspot.com/-sEvwlwOdRXc/UTQH6w2xU3I/AAAAAAAA-E4/DMvcUtU7HTQ/s1600/%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%94.png)

ผมพยายามหาภาพมาประกอบเรื่องช้างลากซุง ตามอ้างถึง แต่หาไม่ได้
มีที่ใกล้เคียงที่สุด ก็เพียงเท่านี้ครับ

(ขอขอบคุณ คุณ หนูหลี (http://noolee55.blogspot.com/2013/03/blog-post.html) เจ้าของระโยง มา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ)


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.พ. 17, 18:27
ขอบคุณครับ สำหรับภาพที่น่ารัก

กำลังจะต่อเรื่อง คะมำหัวทิ่ม กับ ก้นจ้ำเบ้า อยู่พอดีเลยครับ


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.พ. 17, 18:41
ย้อนกลับไปที่ได้เล่าว่า ควาญช้างจะตรวจสอบจุดเชื่อมต่อระหว่างโซ่ลากกับสายประคำ(ออกเสียงต่างๆกันไป แต่เมื่อฟังแล้วก็รู้ว่าหมายถึงอะไร) ก็คือจุดเชื่อมต่อสามเส้าระหว่างแถบเชือกถักที่ห้อยอยู่ใต้คอ โซ่ลาก ซึ่งทั้งสองอย่างนี้จะต้องรับแรงที่จะต้องใช้หรือรับน้ำหนักของซุงที่จะต้องลาก  แล้วก็ยังเป็นจุดเชื่อมต่อของเชือกขวั้นที่พาดบนหลังคอลงมาสำหรับการช่วยประคองแถบเชือกถักและโซ่ลากให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม

หากหูของแถบเชือกถักที่ใช้ร้อยโซ่ชำรุดหรือผูกโซ่ไม่ดีพอ เกิดฉีกขาดหรือโซ่หลุด ก็คงจะนึกภาพออกนะครับ ช้างก็จะคะมำหัวทิ่มแน่นอน   ซึ่งก็คงจะเป็นด้วยเหตุผลนี้ด้วย ที่ในหลายครั้งที่ควาญช้างจะใช้วิธีเดินดินคุมช้างในการลากสิ่งของที่มีน้ำหนักมากๆ


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.พ. 17, 19:06
แน่นอนครับว่า เมื่อคะมำหัวทิ่ม ช้างก็จะโกรธ  แล้วก็จะเกิดอาการงอน กระฟัดกระเฟียด ก็มากพอที่จะสังเกตเห็นได้เลยทีเดียว ซึ่งเป็นเรื่องปรกติครับ   

ที่จริงแล้ว หากเราไปเที่ยวตามปางช้างต่างๆ เพียงสนใจสังเกตแบบละเอียดหน่อย ก็จะพบเห็นภาพการงอนกันไป/งอนกันมา และ การเอาใจกันไป/เอาใจกันมาระหว่างควาญช้างกับช้างที่เขาเลี้ยงดูแล น่าดูและก็น่าเอ็นดูดีครับ 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.พ. 17, 19:37
ผมได้รับการบอกกล่าวจากชาวบ้านและพรานไพรว่า   หากถูกช้างไล่และจำเป็นต้องยิงป้องกันตัว  ช้างที่คะมำหัวทิ่มนั้นไม่ได้บ่งชี้ถึงการตาย ต่างกันกับสภาพก้นจ้ำเบ้าที่บ่งชี้ว่าอาจจะไม่รอด 

เล่ามาเช่นนี้ ก็กรุณาอย่าไปนึกถึงความโหดเหี้ยมนะครับ การล่าช้างของพรานไพรนักล่าช้างนั้นเขาใช้อีกวิธีการหนึ่งที่มิใช่การยิงซึ่งหน้า  อนึ่ง ปืนที่มีขายกันอยูในตลาดปืนของบ้านเรา ปืนที่ชาวบ้านเขามีใช้กัน และปืนที่เรามีใช้ในการป้องกันตัวเหล่านั้น อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่มีความรุนแรงมากพอที่จะทำให้อันตรายให้กับช้างได้   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.พ. 17, 19:47
ในความรู้ที่พอจะมีของผม และที่ได้พบเห็นมาในการทำงานในพื้นที่ป่าเขาของผม โขลงช้างไทยจะเป็นโขลงช้างตัวเมีย มีตัวผู้มีงาอยู่ตัวหนึ่ง มีสีดอ (ช้างตัวผู้วัยหนุ่มฉกรรจ์) เดินเดี่ยวอยู่รอบๆโขงและเดินตามโขลงไปตามที่ต่างๆ


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.พ. 17, 19:46
เมื่อมีการใช้ช้างหลายเชือกช่วยกันทำงานในภารกิจหนึ่ง ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องมีสถานที่ชุมนุม เก็บอุปกรณ์ และการพำนักอาศัยของบรรดาควาญช้างและผู้ที่เกี่ยวข้องที่เราเรียกสถานที่แบบนี้ว่า ปางช้าง   ซึ่งเนื่องจากสถานที่นี้ถูกใช้เป็นที่พำนักพักพิงค่อนข้างจะนาน ก็จึงต้องมีการบอกกล่าวและเซ่นไหว้เจ้าที่เจ้าทางทั้งของคนและของช้าง

สำหรับของคนนั้น เนื่องจากมิใช่เป็นการเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่แบบถาวร ก็เลยไม่นิยมตั้งศาลเจ้าที่กัน แต่ก็ยังจะต้องมีการบอกกล่าวกันด้วยปากเปล่าก่อนที่จะลงมือทำอะไรๆกันในสถานที่นั้นๆทุกครั้งๆไป 

และก็มีการเซ่นด้วยของกินทุกครั้งที่มีการหุงหาอาหารทำกินกัน  พอตั้งสำรับอาหารเสร็จ ก่อนจะลงมือกินกัน ก็จะแบ่งอาหารนิดหน่อยวางบนใบไม้ (เสมือนว่าวางบนจาน)  แล้ว(หากทำได้)ก็เอาไปวางที่โคนต้นไม้ยืนต้น(หากมี)ที่ดูว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในพื้นที่นั้น  ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่าจำเป็นจะต้องเดินไปไกลจากที่กำลังตั้งวงกินอาหารกัน  ส่วนมากก็จะเลือกวางบนพื้นที่ๆดูดี ดูเด่น หรือมีลักษณะเป็นจุดข่มของแถวนั้น


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.พ. 17, 20:48
สำหรับศาลช้างนั้น จะมีการตั้งกันเป็นเรื่องเป็นราวมากกว่าการตั้งศาลเจ้าที่

ศาลเจ้าที่ มักจะเป็นไม้แป้นกว้างประมาณ 1 คืบ ยาวประมาณ 30 ซม.วางยึดอยู่บนหัวเสาไม้ต้นเดี่ยว  ที่ทำให้สวยงามหน่อยก็จะมีหลังคาจั่วครอบอยู่

ศาลช้าง มีลักษณะคล้ายเก้าอี้มีท้าวแขนสองข้าง มีขายาวสี่ขา ระดับสูงประมาณคอช้าง มีทั้งแบบที่มีหลังคาและแบบไม่มีหลังคา จะตั้งชิดอยู่กับต้นไม้ใหญ่  ผมเคยเห็นทั้งแบบตั้งอยู่ศาลเดียวเดี่ยวๆ และแบบมีสองสามศาลที่มีความสูงลดหลั่นกัน ตั้งอยู่ติดๆกัน

ผมไม่เคยได้มีโอกาสเห็นพิธีกรรมที่ผู้เกี่ยวข้องกระทำกับศาลช้าง  แต่ผมได้มีโอกาสสัมผัสกับเรื่องไม่สนุกที่เกิดขึ้นเมื่อเข้าไปอยู่ในพื้นที่ของปางช้าง


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ก.พ. 17, 18:21
ย้อนกลับไปอ่านที่ว่าศาลช้างนั้นมีลักษณะคล้ายเก้าอี้   จะต้องขอแก้ไขหน่อยครับ ข้อความก่อนหน้าหายไปทั้งกะบิเลยว่า "เท่าที่เคยเห็นมา"

ต้องขออภัยจริงๆครับ


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ก.พ. 17, 19:23
อีกเรื่องหนึ่ง  ความในบรรทัดสุดท้ายนั้น ผมหมายถึงพิธีกรรมการตั้งศาลนะครับ  ส่วนการบอกล่าวศาลนั้น แน่นอนว่ามีการกระทำกันในทุกครั้งที่จะออกไปทำงาน 

วิธีการแสดงความเคารพต่อศาลของควาญช้างคนไทยนั้น ผมไม่ทราบ เพราะว่าในการทำงานสำรวจของผมในพื้นที่ป่าเขานั้น ผมจะไม่สุงสิงและพยายามจะอยู่ห่างจากเจ้าหน้าที่ คนทำไม้ และกิจกรรมที่เกี่ยวกับการทำไม้ทั้งหลาย  ด้วยมันเป็นธุรกิจและธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทั้งสิ้น มีผู้ได้ มีผู้เสีย แล้วก็มีปืนเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งนั้น แม้เราจะไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไร เพียงเห็นภาพเราหรือรู้ว่าเราไปปรากฏตัวอยู่กับใคร ก็อาจถูกตีความว่าเป็นพวกตรงกันข้ามได้ไม่ยากนัก   ผมเคยถูกปืนยิงไล่หรือยิงขู่หลายครั้งแม้นว่าจะไม่เคยพบปะกับคนทำไม้ผู้ใดในพื้นที่นั้นๆเลยก็ตาม     จะถอยหนี ? หรือ จะเดินต่อดี ?


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ก.พ. 17, 19:36
แต่สำหรับควาญช้างกะเหรี่ยงนั้น เห็นทำอยู่สองช่วง คือ ก่อนแต่งตัวช้าง และเมื่อได้แต่งชุดทำงานของช้างเสร็จแล้ว  

ส่วนเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับช้างในภาคอิสานนั้น ผมไม่มีความรู้เอาเลยจริงๆ ครับ     


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ก.พ. 17, 19:41
จะขอเว้นหายไปประมาณสัปดาห์นึงครับ


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 มี.ค. 17, 19:42
กลับมาแล้วครับ 

หายไปรำลึกความหลังกับสภาพภูมิอากาศแบบเช้ามืดอากาศเย็นจนรู้สึกว่าหนาว พอแดดออกส่องพ้นขอบเขาก็เริ่มอุ่นสบาย พอสายก็เริ่มร้อน กลางวันร้อนแบบแห้งๆไม่มีเหงื่อ พอบ่ายแก่ๆเมื่อดวงอาทิตย์เริ่มลับขอบเขาอากาศก็เริ่มเย็นสบาย เข้าลักษณะของแดดร่มลมตก เหมาะที่จะตั้งวงสรวลเสเฮฮา สักพักใหญ่ๆอากาศก็จะเย็นลงจนต้องใส่เสื้อสวมหมวกและหลบเข้าที่กำบัง

สถานที่กำบังโดยทั่วๆไปก็จะเป็นบ้าน ของนักท่องเที่ยวก็คงจะเป็นเต๊นท์ ของผู้คนที่ทำงานช่วงสั้นๆชั่วคราวในพื้นที่ก็มักจะเป็นเพิงยกพื้น หากอยู่ทำงานนานหน่อยก็ปรับเป็นกระท่อม   แต่ของผมเมื่อครั้งที่ยังทำงาน จะเป็นเพียงเพิงพักประกอบด้วยผ้าเต็นท์ปูพื้นผืนหนึ่งและขึงเป็นหลังคาอีกผืนหนึ่งเท่านั้น มองเห็นได้รอบตัวเลย   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 มี.ค. 17, 20:25
เมื่อแรกทำงาน ผมก็นอนเต๊นท์ของใครของมัน  ก็มีเตียงสนาม ถุงนอน ผ้าห่ม หมอน มีตะเกียงแบบใช้ถ่านไฟฉาย มีปี๊บ(สำหรับใส่เสื้อผ้า หนังสืออ้างอิง เอกสารราชการ ฯลฯ)ทำเป็นโต๊ะเขียนหนังสือและบันทึกต่างๆ     เป็นลักษณะเสื่อผืนหมอนใบของพวกผม ไปใหนมาใหนก็จะเห็นอุปกรณ์เหล่านี้ ซึ่งทั้งหมดเมื่อยุบรวมแล้วก็จะกลายเป็นเครื่องสนาม 3 อย่างประจำของแต่ละคน คือ ปี๊บ 1 ใบ ถุงทะเลแบบที่ทหารใช้กัน 1 ถุง และชุดเต๊นท์ 1 ถุง   ชุดประจำตนนี้เหมาะสำหรับเมื่อใช้รถในการเดินทางเข้าพื้นที่ แต่เมื่อใช้ช้างแทนรถในพื้นที่ป่าเขาจริงๆ เครื่องใช้ต่างๆก็ต้องลดลงอย่างมากเหลือเพียงเท่าที่จำเป็นเท่านั้น


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 มี.ค. 17, 20:48
นอนเต็นท์ใครเต็นท์มันก็ดีนะ มีความเป็นส่วนตัวมาก แต่มันจะดีเฉพาะช่วงเดือนอากาศหนาวเย็น และช่วงเวลากลางคืนเมื่ออากาศเย็นลง หลับสบายครับ  แต่ในช่วงเวลาตอนกลางวัน ใช้ไม่ได้เลยครับ อับและร้อนตับแตก ต้องไปอาศัยนั่งอยู่ตามโคนต้นไม้ที่ให้ร่มเงา

จนกระทั่งคืนหนึ่งในพื้นที่ป่าฝั่งเขต จ.กำแพงเพชร ของพื้นที่เขามอโกจู  ก็นอนอยู่ในเต๊นท์ หลับแบบสนิทไปหน่อยหลังจากวันเดินทำงานเหนื่อยแฮกมา  พอตื่นมารุ่งเช้า ลุกออกจากเต๊นท์มา ก็เห็นรอยเท้าเสือ ตัวขนาดเขื่องเลยทีเดียว เดินผ่านหัวเต๊นท์ เมื่อเดินตามรอยไปรอบๆที่พักก็เห็นรอยรองเท้าบนผิวดินของกลุ่มคนอีก

นอนเต๊นท์ก็เลยดีตรงที่ไม่ต้องรับรู้ว่ามีอะไรเข้ามาเฉียดบ้าง เหมือนกกระจอกเทศหลบศัตรู (?)  แต่ก็เสียวที่ไม่รู้ว่าจะมีอะไรมาเบียดเบียนทำอันตรายให้บ้าง


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 มี.ค. 17, 18:56
ผมเคยเข้าไปตั้งแคมป์ในพื้นที่ๆเคยเป็นปางช้างเดิม (ช่วง พ.ศ. 2513) อยู่ลึกเข้าไปทางด้านขุนห้วยแม่สินอันเป็นแนวเขตต่อระหว่าง จ.แพร่ กับ จ.สุโขทัย และก็ยังสามารถเดินข้ามสันเขาซึ่งเป็นรอยต่อของ จ.สุโขทัย กับ จ.อุตรดิตถ์ ข้ามลงไปเดินตามห้วยแม่พูลไปโผล่ อ.ลับแล ของ จ.อุตรดิตถ์   บริเวณรอยต่อของทั้ง 3 จังหวัดนี้ เป็นเขาสูงที่มีชื่อเรียกกันว่า ดอยแม่คะมึง

ในป่าใหญ่ผืนนี้ มีช้างป่าอาศัยอยู่ไม่น้อย มีช้างที่เอามาใช้งานลากไม้ของผู้รับสัมปทานป่าไม้ แล้วก็มีช้างบ้านที่ปล่อยในเดินหากินอย่างอิสระ (ในบางช่วงระยะเวลา)

เจอมาทั้งหมดเลยครับ   แต่ในป่าผืนนี้ส่วนมากจะออกแนวระทึก   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มี.ค. 17, 18:58
อยากอ่านแนวระทึกค่ะ


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 มี.ค. 17, 19:16
นอนอยู่ได้ 3 คืน ก็ชักจะไม่ไหว พอดีจะต้องย้ายพื้นที่สำรวจด้วย ก็เลยมีประสบการณ์ตรงๆอยู่ 3 คืน

พื้นที่ปางช้างที่พวกผมเข้าไปตั้งเต็นท์นอนนี้ เป็นพื้นที่ๆเขาเพิ่งย้ายออกไป แต่ยังไม่ได้มีการย้ายศาลช้าง เป็นพื้นที่โล่งประมาณ 100 ตารางวา มีห้วยที่มีน้ำไหลรินอยู่ชายขอบพื้นที่โล่ง เหมาะที่จะใช้เป็นพื้นที่ตั้งแคมป์นอนแรมจริงๆ ป่าผืนนี้ในสมัยนั้นเป็นป่าใหญ่ มีต้นไม้ทุกระดับเรือนยอดขึ้นอยู่หนาแน่น และก็มีความชื้นค่อนข้างสูง พื้นที่ๆโล่งที่แสงแดดส่องถึงค่อนข้างจะมีน้อย      


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 มี.ค. 17, 19:44
คืนแรก 

พอผืนป่ามืดสนิท เวลาประมาณ 2 ทุ่มได้ ก็ได้ยินเสียงไม้หักค่อยๆใกล้เข้ามาหาแคมป์  รู้อยู่แล้วว่าเป็นช้างแน่ๆจากความคุ้นเคยในระหว่างการเดินทำงานที่ผ่านมา ทุกคนในคณะสำรวจ (6 คน) ก็เริ่มตื่นตัว ต่างก็เงี่ยหูฟังเสียงเพื่อประเมินว่า เสียงนั้นมาจากทิศทางใดและอยู่ใกล้หรือไกลมากน้อยเพียงใด ในความมืดที่ไม่สามารถมองเห็นอะไรที่พอจะใช้เป็นตำแหน่งอ้างอิงได้ มันก็ยากนะครับ ประเมินได้ไม่ง่ายนัก 

ทุกคนต่างก็คว้าไฟฉายประจำของตนมากำไว้ในมือ ซึ่งไฟฉายเหล่านั้นเป็นไฟฉายที่นิยมใช้กันของคนที่เดินป่าเดินดง เรียกกันว่า ไฟฉายสองท่อนแบบปรับหัวได้ (ก็คือ ใช้ถ่าน 2 ก้อน และปรับโฟกัสของแสงได้) ไฟฉายแบบนี้ส่องไฟได้ไกลกว่าไฟฉายตามปรกติทั่วๆไป (คือเป็นแบบ focus มิใช่เป็นแบบ flood)


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 มี.ค. 17, 20:33
เมื่อคะเนระยะได้ว่าไฟฉายส่องถึงแล้วก็ส่องกันออกไป  อะฮึ เห็นหัวช้างสลอนอยู่ตามแนวทิวไม้ ยืนอยู่เป็นกลุ่มกระจายคล้ายตั้งเป็นแถวหน้ากระดาน ท่าทางกำลังคิดจะเดินหน้าลุยมากกว่าที่จะหยุดอยู่แถวๆทิวไม้  ยืนโยกหัว แกว่งงวงไปมา ขยับตัวซ้ายขวา   

ไฟฉายที่ฉายกราดออกไปนั้น โดยพื้นความคิดของเราก็คือเพื่อให้เห็นและเพื่อตรวจดูสภาพการณ์ว่าอะไรเป็นอะไรบ้าง กำลังเกิดอะไรขึ้นบ้าง ก็เพื่อจะได้จัดการตั้งรับที่เหมาะสม   แต่สำหรับช้างที่มานั้นดูจะมีความเห็นไปอีกอย่างหนึ่ง ดูจะคิดว่าลำแสงไฟฉายนั้นจะเป็นอะไรที่อันตรายต่อตนเองหรือไม่ จะด้วยเหตุนี้หรือไม่ก็ไม่ทราบที่มันจึงหยุดคิดก่อนที่จะค่อยๆคิดตกว่า น่าจะพอลุยได้


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 มี.ค. 17, 21:09
ช้างก็คงจะคิดเช่นนั้นกระมัง  ก็เลยเคลื่อนกองกำลังไปทางทางซ้ายบ้าง ไปทางขวาบ้าง

ทุกคนในคณะสำรวจเองต่างก็เพิ่งจะประสบกับเหตุการณ์ในสภาพนี้เป็นครั้งแรก  คิดว่าก็คงจะมีคนคิดอยู่ในใจเหมือนกันว่า จะหลบหลีกหนีไปจากสถานการณ์นี้จะดีหรือไม่   ก็น่าคิดอยู่นะครับ ฤๅจะเข้าข่ายตามคำพังเพย รวมกันตายหมู่ แยกกันอยู่ตายเดี่ยว

แต่ลำแสงไฟฉายของพวกผมก็มีมนตราอยู่เพียงช่วงสั้นๆไม่นาน แสงสว่างก็น้อยลง ระยะส่องไฟก็สั้นลง ถ่านไฟฉายมีกำลังอ่อนลงและเริ่มหมดประจุไฟ 

แล้วเราจะสู้กับช้างได้ตลอดทั้งคืนได้อย่างไร ?     


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 มี.ค. 17, 19:07
หากจะถามว่ากลัวหรือไม่ ?  ก็มีอยู่ แต่ไม่เข้าใกล้ระดับกลัวจนลนลาน และทุกคนไม่ได้คิดถึงเรื่องโกยเลย คิดแต่ว่าจะหยุดยั้งการขยับเข้ามาของช้างได้อย่างไรบ้าง

ที่ทุกคนรู้แน่ๆก็คือ แสงไฟฉายที่ส่องออกไปนั้นพอจะช่วยหยุดยั้งการเข้ามาของช้างได้บ้าง ดังนั้นเราจะต้องถนอมการใช้ไฟฉายให้ได้มากที่สุด  ก็เลยไม่ใช้พร้อมๆกัน แล้วก็ใช้วิธีปิดไฟบ้างเปิดฉายไฟบ้างตามสมควรแก่เหตุ     ก็น่ากลัวอยู่ไม่น้อยตรงที่เมื่อไฟมืดเมื่อใดช้างเป็นต้องขยับออกมาพ้นแนวไม้ทุกครั้ง    ระยะสามสี่สิบเมตรห่างกันระหว่างเรากับช้างในเวลากลางคืนมืดๆนี้ คงจะไม่มีท่านใดคิดว่าไกลเลยนะครับ


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 มี.ค. 17, 19:30
ขอขยายความหน่อยนึงครับ

ระยะยิงในการล่าสัตว์ของพรานไพรทั้งหลายนั้น  โดยทั่วๆไปแล้วจะอยู่ที่ระยะประมาณ 10-20 เมตร  ระยะห่างประมาณนี้เป็นระยะที่เป็นอันตรายทั้งของคนและของสัตว์เมื่อได้มาพบปะเจอะเจอกัน

ในความเป็นอันตรายของสัตว์ ก็คือ อาจจะถูกยิงได้ และก็เป็นระยะของการทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือการตายได้พอๆกัน    ในความเป็นอันตรายของคน ก็คือ เป็นระยะที่สัตว์สามารถชาร์จเราได้โดยที่เราอาจหลบหนีไม่ทัน   เราอาจจะได้รับบาดเจ็บมาก น้อย หรืออาจจะทำให้ถึงกับเสียชีวิตก็ได้เช่นกัน 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 มี.ค. 17, 20:20
ด้วยภาพที่เล่ามา ก็คงจะไม่เรื่องที่แปลกหรอกนะครับ ที่บรรดาสัตว์ใหญ่ทั้งหลายจะถูกยิงตายทางด้านข้างมากกว่าทางด้านตรงหน้า
และก็มิใช่เป็นการยิงที่บริเวณหัวแต่จะเป็นการยิงบริเวณที่เรียกว่ารักแร้แดง   

และก็คงจะเห็นภาพอีกเช่นกันว่า ด้วยเหตุใดนายพรานทั้งหลายจึงต้องใช้วิธีค่อยๆย่องเข้าไปเพื่อจะยิงสัตว์  ก็เพราะระยะหวังผลและความปลอดภัยนั่นเอง   กระนั้นก็ตาม ก็มีพรานหลายคนยังมิวายถูกกระทิงบ้าง หมูป่าบ้าง ฟัดเสียจนเป็นแผลเหวอะหวะ  โชว์แผลเป็นและเล่าเรื่องราวที่กลายเป็นความรู้และภูมิปัญญาสำหรับคนรุ่นหลัง   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 มี.ค. 17, 20:44
ในธรรมชาติก็มีความจริงอยู่เรื่องหนึ่ง คือ ไฟ ที่มีทั้งคุณและโทษ แล้วก็ยังให้ภาพของความน่าเกรงขามกับสรรพสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย

นึกขึ้นได้ก็เลยช่วยกันเร่งสุมกองไฟให้ติดโร่ หาเศษไม้เท่าที่พอจะคว้าหาได้รอบๆ มาวางแหย่ให้ปลายหนึ่งติดไฟเป็นถ่านแดงๆ พอช้างเข้ามาใกล้ได้ระยะพอจะขว้างไล่ให้ช้างหยุดและถอยไปได้บ้าง ก็ขว้างไป  ได้ผลดีทีเดียว   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 มี.ค. 17, 18:24
ก็คงพอจะนึกภาพอออกอีกเช่นกันนะครับ ว่าท่อนไม้ขนาดเล็กและสั้นนั้นเราจะขว้างไปได้ไม่ไกล เพราะมันมีน้ำหนักน้อยและไม่มีแรงจากการหมุนช่วยในการเคลื่อนที่ (ก็คือมี momentum ไม่เพียงพอ) แถมยังติดไฟได้ง่ายพอๆกับการมอดเร็ว    ขว้างไปได้ไม่กี่ชิ้นก็รู้เลยว่าขนาดที่เหมาะกับการขว้างให้ไปไกลนั้น ก็คือขนาดใหญ่ประมาณท่อนแขนของเราและยาวประมาณหนึ่งไม้บรรทัด (30 ซม.)

ภาพจริงๆที่เกิดขึ้นเมื่อเราพอจะตั้งตัวรับเหตุการณ์ได้นั้น เรามิได้ระดมขว้างไม้และระดมฉายไฟฉาย เพราะกลางคืนมืดมิดยังอยู่อีกยาวไกล เดี๋ยวเราจะหมดอาวุธสำหรับต่อกรกับช้างเสียก่อน

ปัญหามันอยู่ที่ว่า มันเป็นค่ำคืนแรกที่เรามาตั้งแคมป์และก็ยังมาถึงเอาตอนช่วงบ่ายแก่ๆ การจัดการต่างๆจึงเป็นเรื่องของการกระทำเฉพาะเพียงให้พอมีที่จะนอนและที่จะหุงหาอาหารกินเท่านั้น วันรุ่งขึ้นจึงจะค่อยปรับภาพให้ดีขึ้น   เข้าหลักว่า เริ่มด้วยสภาพ "พอมีพอกิน" และค่อยๆพัฒนาต่อไปให้เป็นสภาพ "อยู่ดีกินดี"     


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 มี.ค. 17, 18:48
ก็เป็นเรื่องปรกติที่เมื่อใดเราไปตั้งแคมป์พักแรมอยู่ในที่ๆเคยใช้เป็นพื้นที่พักของคณะบุคคลอื่นๆ และถ้ายิ่งได้เห็นก้อนหินสามก้อนเอามาตั้งทำเป็นเตาสามขาอีกด้วยแล้วละก็   เมื่อนั้นกิ่งไม้แห้งที่จะใช้ทำฟืนในพื้นที่รอบๆใกล้ๆนั้นก็จะหายาก โดยเฉพาะที่เป็นท่อนไม้ที่มีขนาดประมาณท่อนแขนของเรา เพราะใช้เป็นไม้ฟืนได้ดีกว่าท่อนไม้ขนาดอื่นๆ กิ่งไม้หรือท่อนไม้ขนาดเล็กนั้นจะติดไฟง่าย ใหม้เป็นถ่านอยู่ประเดี๋ยวเดียวก็มอดเป็นเถ้าถ่าน 

สำหรับท่อนไม้ใหญ่ที่เป็นขอนไม้นั้น เราจะจุดให้ติดไฟแล้วทำให้เป็นถ่านไฟคุรุมๆอยู่ตลอดทั้งคืน เพื่อกันสัตว์และใช้ประโยชน์อื่นๆ

ด้วยภาพที่เล่ามานี้  ก็คงพอจะเห็นสภาพการขาดวัสดุอุปกรณ์และความทุรักทุเรสำหรับการต่อกรกับช้างในคืนแรก 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 มี.ค. 17, 19:50
ยื้อๆยักๆกับช้างอยู่นาน จนใกล้ๆเที่ยงคืน ช้างก็ถอยหลังกลับ เดินหายไป    เราก็รู้สึกโล่งอกโล่งใจกัน แต่ก็ยังคงต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาว่าช้างจะกลับมาอีกเมื่อใด 

เหนื่อยจากการเดินทำงานมาทั้งวัน ก็อยากพักหลับนอนกัน แต่เนื่องจากสถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจ เราก็เลยก็ต้องใช้วิธีผลัดกันนั่งเวรยาม  แต่เอาเข้าจริงๆทุกคนต่างก็หลับได้แต่เพียงแค่งีบสั้นๆ  ในสภาพการณ์เช่นนี้ก็คงไม่มีผู้ใดหลับนอนได้อย่างไม่มีกังวล

พอช้างไป บรรดาเขียดในห้วยก็คงจะดีใจ เริ่มเสียง เริ่มแรกก็เบาๆ นานเข้าก็เป็นการช่วยกันตะเบ็ง เสียงก็ดังพอที่จะหลับไม่ลง ดังยังกับงานวัดเลยทีเดียว   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 มี.ค. 17, 20:02
เคยเล่าไปในกระทู้หนึ่งแล้วนะครับว่า  เมื่อเสียงประสานดังมากจนทุกคนเริ่มทนไม่ใหว และเมื่อดูสถานการณ์ว่าน่าจะปลอดภัยดีแล้ว ลูกทีมสองหนึ่งก็คว้ากระแป๋งน้ำ เดินลงไปในห้วย จัดการอุ้มบรรดานักร้องทั้งหลาย ทำอยู่สองรอบ ได้ตัวมาประมาณครึ่งกระแป๋งเห็นจะได้ รุ่งเช้าก็เอามาจัดการทำเป็นต้มยำหมู่


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 มี.ค. 17, 18:59
ในระหว่างที่เฝ้าระวังแบบตื่นตัวเต็มที่  ก็ถกกัน

เริ่มตั้งแต่ว่าช้างเหล่านั้นเป็นช้างป่าหรือช้างเลี้ยง   ไฟที่ฉายออกไปก็เห็นแต่เพียงหัวและหูเท่านั้น   หากจะเป็นช้างเลี้ยง ก็ เอ.. ทำไมจึงมีหลายตัวนัก มากันเป็นกลุ่มอีกด้วย แต่ก็เป็นไปได้ที่มันจะกลับมาที่ๆมันเคยอยู่เดิม เพราะศาลช้างก็ยังตั้งอยู่ ยังไม่รื้อถอนออกไป    จะว่าเป็นช้างป่า ก็ เอ..ทำไมมันไม่อยู่นิ่งๆและกางหูผึ่ง ซึ่งเป็นการแสดงถึงการไตร่ตรองว่าอะไรเป็นอะไร และอีกประการหนึ่งมันก็น่าจะถอยหลบไปหรือไม่ก็น่าจะเดินดาหน้าบุกเข้ามาลุยพวกเราแล้ว 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 มี.ค. 17, 19:22
เรื่องที่ถกกันต่อมา คือ หากพวกช้างมันดาหน้าลุยเข้ามา จะทำอย่างไรดี   มีปืนพกอยู่สองสามกระบอก ยิงไปก็คงจะไม่ระคายผิวมันสักเท่าไร รังแต่จะยุให้พวกมันดุเดือดมากขึ้นเสียอีก     สรุป ตัวใครตัวมัน ห้ามปีนหนีขึ้นต้นไม้ หนีไปในทิศตามน้ำห้วยแม่สิน จุดนัดพบคือที่ด่านที่สะพานข้ามห้วยแม่สิน แล้วก็อย่าลืมไฟฉาย

ด่านนี้ตั้งอยู่บนถนนเส้นทางถนนลูกรังฝุ่นตลบสาย อ.ศรีสัชนาลัย - อ.เด่นชัย มีป้อมขนาดเล็กๆตั้งอยู่ ไม้กั้นที่บางทีก็ใช้ต้นไม้เล็กๆ บางทีก็ใช้ไม้ไผ่ บางทีก็มี จนท. บางทีก็ไม่มีคนเลย  น่าเห็นใจนะครับ อยู่อย่างโดดเดี่ยว แถมยังอยู่ในพื้นที่ๆกำลังจะเป็นสีแดงเข้ม 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 มี.ค. 17, 18:24
พอใกล้เที่ยงคืน ช้างเกือบทั้งหมดก็หันหลังกลับ ยกเว้นอยู่ตัวหนึ่งที่ยังโอ้เอ้อยู่อีกพักใหญ่   ตอนนั้นเราไม่มีความแน่ใจหรอกครับว่าเขาถอยไปจริงๆหรือเป็นเพียงการหลบไปปรึกษาหารือกันว่าจะกลับไปลุยต่อหรือไม่  สำหรับพวกผมนั้น ในสภาพเช่นนี้ยิ่งทำให้รู้สึกเสียวใส้มากขึ้นอีกมากๆ นั่นแหละครับถึงต้องมีการคุยกันเรื่องการหนีภัยช้างไล่เหยียบ เข้าสู่กฎ รวมกันตายหมู่ แยกอยู่ตายเดี่ยว

มันเป็นธรรมชาติของช้างที่จะทำท่าหันหลังกลับสักพักสั้นๆ ก่อนที่จะหันหน้ากลับมาพร้อมกับการวิ่งไล่  น้ำหนัก 3-4 ตันของแต่ละตัวนั้น ต้นไม้ขนาดโคนขาเราไม่เหลือหรอกครับ  ผมเคยเห็นต้นไม้ขนาดนี้ถูกช้างดันล้มหรือตะแคงเอียงกะเท่เร่อยู่บ่อยๆ   กฎข้อแรกของการวิ่งหนีช้างที่ได้รับการเสี้ยมสอนมา จึง คือ ห้ามหนีขึ้นต้นไม้   ต้นไม้ใหญ่น่ะช้างโค่นไม่ลงหรอก ได้แต่กระแทกให้สั่นไหวให้เราตกลงมา แต่เราก็ขึ้นต้นไม้ใหญ่ขนาดนั้นได้ยาก  ต้นไม้ขนาดโคนขาเรานั้นปีนขึ้นได้ง่าย แต่อันตรายมากจากการถูกช้างวิ่งชนจนต้นไม้หักล้ม หรือเขามาดันให้ล้ม หรือกระแทกให้ไหวจนเราตกลงมา 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 มี.ค. 17, 18:48
โดยสรุป คืนแรกก็ผ่านไปด้วยดี (แบบลุ่มๆดอนๆ)   รุ่งเช้าก็ออกไปเดินทำงานกัน ทิ้งคนเฝ้าแคมป์ไว้คนหนึ่ง  ทารุนนะครับ อยู่คนเดียวทั้งวันกลางป่าที่เมื่อคืนนี้มีกลุ่มช้างมาเยี่ยมเยียน

เดินทำงานลึกเข้าไปในป่าก็บังเอิญได้พบช้างกำลังลากซุงอยู่  คุยกับควาญช้างก็จึงได้รู้ว่า พวกเขาเพิ่งจะย้ายแคมป์ออกไปเมื่อวานนี้เอง ยังไม่ได้รื้อศาลเก่าและตั้งศาลใหม่ ช้างที่ไปหาเราเมื่อคืนนี้นั้น เป็นช้างของพวกเขาเอง พวกมันกลับไปที่ปางเดิมที่มันเคยอยู่และที่มีศาลของพวกมัน  วันนี้พวกควาญช้างก็จะถอนศาลเดิมแล้วไปตั้งศาลใหม่ที่ๆพักใหม่  ก็หวังว่าพวกช้างจะไม่กลับไปที่เดิมอีกในคืนนี้

ทำให้รู้สึกสบายใจขึ้นมาอย่างมากเลยครับ อย่างน้อยก็รู้ว่าเป็นกลุ่มช้างเลี้ยงนั่นเอง  คืนนี้คงนอนหลับได้สบายใจ ??   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มี.ค. 17, 19:07
คุณตั้งยังไม่ได้เฉลยเลยว่า วิธีวิ่งหนีช้างให้ได้ผล ทำยังไง 
ถ้าห้ามขึ้นต้นไม้ก็ต้องวิ่งลูกเดียว  วิ่งแนวเฉียง หรือหลบซ้ายหลบขวาดีคะ


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 มี.ค. 17, 19:16
เดินกลับมาถึงแคมป์ตอนบ่ายแก่ๆ  อ้าว คนเฝ้าแคมป์หายไปใหน  โน่นนะครับเพิ่งเดินออกมาจากชายป่า  คุยกันก็ได้ความว่าหลังจากจัดการจัดสัมภาระจนเป็นระเบียบดีแล้ว กินข้าวกลางวันแล้ว ก็ปีนขึ้นไปอยู่บนง่ามไม้ของต้นใหญ่ที่ควาญเขาใช้กิ่งในแนวนอนพาดเครื่องแต่งตัวของช้าง แต่ปีนสูงขึ้นไปให้พ้นระดับงวงช้าง

แม้จะรู้ว่าเป็นช้างเลี้ยงและคงจะไม่มากวนในคืนนี้ เราก็ยังช่วยกันไปหาท่อนไม้ขนาดประมาณแขนของเรามาเตรียมไว้ รวมทั้งช่วยกันลากขอนไม้ขนาดเขื่องๆ เพื่อเอามาสุมไฟให้ติดได้ตลอดทั้งคืน  แถมเอาตะเกียงรั้วไปแขวนไว้ในจุดที่จะให้ความสว่างได้อย่างเหมาะสม  

เย็นนั้นก็ลงห้วยอาบน้ำไหลและขึ้นมาหุงหาอาหารกินกันอย่างมีความสุข ด้วยรู้ว่าไม่น่าจะมีช้างมากวนในคืนนี้    


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 มี.ค. 17, 20:06
คุณตั้งยังไม่ได้เฉลยเลยว่า วิธีวิ่งหนีช้างให้ได้ผล ทำยังไง 
ถ้าห้ามขึ้นต้นไม้ก็ต้องวิ่งลูกเดียว  วิ่งแนวเฉียง หรือหลบซ้ายหลบขวาดีคะ

พรานไพรเขาสอนมาว่า วิ่ง.. วิ่งอย่างเดียวเลยครับ แต่อย่าวิ่งเป็นเส้นตรง ให้วิ่งแบบโค้งไปโค้งมา วิ่งเข้าหาพื้นที่ที่มีต้นไม้แต่ต้องมีความโปร่งพอที่เราจะวิ่งวกวนทะแยงไปทะแยงมาได้ หากเป็นเป็นพื้นที่เนินหรือป่าเขาก็ให้วิ่งขึ้นที่สูง   นึกถึงภาพว่าเราขับรถเก๋งคันเล็กน้ำหนัก 100 กก. ขับหนีรถ 10 ล้อน้ำหนัก 10,000 กก. (10 ตัน) ก็แล้วกัน   รถเล็กทำได้หลายอย่างที่สิบล้อทำไม่ได้ ในทำนองกลับกัน รถสิบล้อก็ทำอะไรๆที่รถเล็กทำไม่ได้เช่นกัน     

เป็นมาตรฐานที่เขาสอนและบอกเล่ากันมา   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 มี.ค. 17, 20:34
แต่เอาเข้าจริงๆ ดูจะเป็นอีก scenario หนึ่ง จากข้อมูลและความรู้ที่ได้มาจากคุยกับชาวบ้านป่าหลากหลาย และที่ได้พบเห็นอะไรมาบ้าง ผมพอจะได้ข้อสรุปต่างๆดังนี้

ช้างในป่ามองว่าคนเป็นสิ่งที่เข้ามารบกวน เข้ามาขัดขวาง เข้ามาขัดจังหวะความสุขความสุนทรีย์ที่กำลังมีอยู่ของตน  การไล่ของช้างเกือบทั้งหมดในป่าจึงเป็นแบบการไล่ตะเพิด มิได้เป็นการไล่ล่าที่หวังผลถึงการเอาชีวิต การไล่จึงไม่นาน ยกเว้นเจ้าสีดอที่อาจจะสนุกกับการวิ่งไล่ตะเพิดแบบเอาให้จบ รู้แล้วรู้รอดกันไปเลย 

ช้างป่าที่ถูกชาวบ้านไล่ตะเพิดหรือถูกชาวบ้านแกล้ง พวกนี้จะเข้ามาตามบริเวณชายขอบหมู่บ้าน หรือตามพื้นที่หัวไร่ปลายนา เข้ามาเพื่อทำลายทรัพย์สินในลักษณะของการแก้แค้น หากพบคนก็อาจจะมุ่งไปถึงการทำร้ายถึงชีวิต

ต่อพรุ่งนี้ครับ 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 มี.ค. 17, 18:42
ขออภัยเป็นอย่างสูงที่ต้องหยุดกระทู้เมื่อวานนี้ไปดื้อๆครับ

ต่อครับ

ช้างเกเรที่เมื่อเจอกันแล้วเรามีโอกาสถูกไล่มากที่สุด  คือช้างป่าตัวผู้ วัยหนุ่ม ที่เดินตามโขลงอยู่รอบๆ เข้ากลุ่มกับเขาไม่ได้หรือกลุ่มไม่ให้เข้าร่วม  ก็คือที่เรียกกันว่า สีดอ มีงาสั้นๆที่เรียกกันว่า ขนาย

และสุดท้ายก็คือ ช้างแม่ลูกอ่อน   พวกนี้ดุ แต่เป็นการดุเพราะหวงลูก และตามปกป้องลูก   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 มี.ค. 17, 19:21
ขอต่อเรื่องแคมป์ในห้วยแม่สินอีหน่อยนะครับ

พอมืดเข้าช่วงเวลาประมาณเดิม ช้างก็มาอีก แต่คราวนี้มาสองสามตัว แล้วก็มาแสดงตนอยู่ไม่นาน ใช้เพียงไฟฉาย ไม่ถึงกับขนาดต้องขว้างด้วยท่อนฟืนติดไฟเหมือนเมื่อคืนก่อน  ไม่น่าเชื่อว่าศาลช้างนั้นมีเรื่องในทางจิตวิญญาณผูกพันกับช้างของปางช้างได้มากมายเพียงนั้น เพียงถอนไปช้างก็ไม่มากวน

คืนนั้นได้นอนพอจะเต็มอิ่มกัน กบเขียดที่เคยร้องตะเบ็งเซ็งแซ่กันก็ดูจะสงบลง  ฤๅ จะเป็นเพราะถูกเรากวาดเก็บมาจนเกือบจะหมดก็ไม่รู้


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 มี.ค. 17, 19:35
รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่ง พอดีมีเรื่องทางวิชาการที่จะต้องใชเวลาขบคิด และไม่มีผู้ใดอยากจะอยู่เฝ้าแคมป์  ผมก็เลยอาสาเป็นผู้อยู่เฝ้าเอง  ไม่ได้เก่งกล้าอะไรหรอกครับ อยากจะรู้ว่าอยู่คนเดียวกลางป่านั้นเป็นอย่างไร รู้สึกอย่างไร อยากจะทดสอบความแกร่งทางด้านจิตใจของเรา ซึ่งโดยรวมทั้งหมดก็เพื่อที่จะได้รู้และได้สัมผัสกับความเป็นจริงเพื่อใช้ในการบริหารจัดการหน่วยสำรวจต่อๆไป


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 มี.ค. 17, 19:34
พอพรรคพวกเดินหายหลังกันไปหมดแล้ว ความเงียบก็เข้ามาแทนที่ กวาดสายตาดูไปรอบๆว่ามีอะไรจะต้องทำบ้าง  ซึ่งหากจะทำก็มีอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน  ตั้งแต่ซักผ้า เก็บกวาดแคมป์ ทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องใช้ หาฟืน สุมไฟให้กรุ่นๆไว้ ฯลฯ  เป็นงานตามปรกติของแม่บ้านทั่วๆไป

กะว่าในวันนี้จะนั่งทำงานแบบมีสมาธิ เงียบๆ ไม่ต้องมีเรื่องใดมากวน เพื่อ postulate hypothesis ต่างๆที่เป็นไปได้ในกรอบของกฎเกณฑ์ทางธรรมชาติและทางธรณีวิทยาในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้พอจะได้เข้าใจถึงที่มาที่ไปของสรรพสิ่งทางธรรมชาติทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในพื้นที่แถบนั้นที่ซึ่งมีความไม่ขัดกันหรือมีความสอดคล้องกันกับเรื่องราวทางธรณีวิทยาของภาคเหนือในองค์รวม (holistic view)     

ในช่วงเวลานั้น เป็นช่วงแรกๆของการสำรวจทำแผนที่ธรณีวิทยาของประเทศไทยอย่างเป็นระบบ (Systematic Geological Mapping)  ไทยเรายังไม่เคยมีแผนที่ธรณีวิทยาแบบปูพรมทั้งประเทศใดๆมาก่อนเลย   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 มี.ค. 17, 20:24
วันนั้นได้เรียนรู้หลายอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องของสภาพหรือสภาวะทางจิตและใจ    นั่งทำงานอยู่ได้ไม่นาน สมาธิก็กระเจิง ต้องเลิกแล้วหันไปทำอย่างอื่นแทน(งานแม่บ้าน)เพื่อฆ่าเวลา  พอใกล้เที่ยงวันแดดเริ่มร้อนจัดงานแม่บ้านก็เสร็จสิ้น ทุกอย่างดูเป็นระเบียบเรียบร้อยดี

ความเงียบในพื้นที่เปิดที่มีความก้ำกึ่งระหว่างความอันตรายกับไม่อันตรายนี้มันน่ากลัวอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียวนะครับ

ช่วงประมาณบ่ายสามก็ได้ยินเสียงไม้หักแต่ไกล  ช้างมาแล้วครับ


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 มี.ค. 17, 18:34
ใจตุ๋มๆต่อมๆอยู่พักหนึ่ง พร้อมๆกับลุกจากที่กำลังนั่งอยู่บนผ้าใบปูพื้นของแคมป์ ระเห็ดไปอยู่ห่างๆแถวๆริมห้วย  สักพักหนึ่ง เสียงไม้หักก็ค่อยๆขยับห่างออกไปจนเงียบหายไป   จากนั้นก็ถึงเวลารอคอยอันยาวนาน รอว่าพรรคพวกจะกลับมาถึงที่พักเมื่อใด 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 มี.ค. 17, 19:16
เหตุการณ์ครั้งนั้นได้ทำให้เกิดความสนใจที่จะเรียนรู้ถึงพฤติกรรมต่างๆของช้างอย่างจริงจัง เพราะพอจะเห็นภาพได้ว่าในอนาคตของวิถีในการทำงานต่อๆไปนั้น คงจะต้องมีเรื่องของช้างเข้ามาเกี่ยวพันอยู่แน่ๆ

จริงๆแล้ว ในพื้นที่ป่าเขาของบ้านเรามีสัตว์อยู่ไม่กี่ชนิดที่เมื่อเจอะเจอกันก็อาจจะทำให้เราเกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ก็มี ช้าง หมี งูจงอาง ต่อ(หลุม) ซึ่งพวกนี้ไม่ต้องไปเริ่มทำอะไรกับมันมันก็เริ่มโหดกับเราได้  อีกพวกหนึ่งก็คือพวกที่เราไปทำอะไรมันก่อน แล้วถูกมันตอบโต้ ก็มี หมูป่า ลิง เสือ เก้ง กระทิง    ส่วนสัตว์อื่นๆนั้นหากถูกพวกมันทำร้ายก็คงจะต้องโทษดวง


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 มี.ค. 17, 20:04
เรื่องแคมป์ในห้วแม่สินที่เล่ามานั้น แสดงให้เห็นภาพหนึ่งของชีวิตจริงที่เกิดขึ้นของคนในเมืองที่เข้าไปแคมป์แรมอยู่ในพื้นที่ป่า ช้างเดินเขามาหา   

แต่ในอีกวิถีชีวิตหนึ่งของคนเดินป่า มันเป็นเรื่องของการเดินเข้าไปหาช้างและการใช้ช้างให้เป็นประโยชน์  ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องรู้จักช้างในแง่มุมต่างๆ


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 มี.ค. 17, 18:47
จากประสบการณ์  ผมมีข้องสังเกตว่า ช้างป่าของไทยที่พบในพื้นที่ส่วนในของประเทศมีขนาดตัวเล็กกว่าช้างป่าที่อยู่ในพื้นที่ใกล้ชายแดนไทย-พม่า   

ผมเปรียบเทียบจากความสูงของคราบดินโคลนที่ติดอยู่ตามต้นไม้ในป่า ซึ่งเมื่อช้างรู้สึกคันมันก็จะเอาสีข้างถูไถกับต้นไม้ เราก็เลยเห็นคราบโคลนเหล่านั้น    อีกแบบหนึ่งก็เอาความสูงของตัวผมที่เคยยืนเปรียบเทียบกับช้างบ้านที่ถูนำมาใช้งานต่างๆ รวมทั้งช้างที่ผมจ้างทำงาน แล้วเปรียบเทียบกับระดับความสูงของโคลนที่ติดอยู่ตามต้นไม้ในป่าที่ช้างป่าเอาสีข้างมาถูไถไว้  ความสูงต่างกันของช้างในพื้นที่ทั้งสองอยู่ที่ประมาณหนึ่งศอก   

หากคิดไปไกลแบบมโน  ฤๅช้างในการศึกแต่โบราณระหว่างไทยกับพม่านั้นจะต่อกรกันแบบมีความเฉลียวฉลาดและความว่องไวของช้างเล็กกับช้างใหญ่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ภาพช้างงัดกันจนหัวอีกตัวหนึ่งยกลอยก็จึงพอมีเห็นกันอยู่


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 มี.ค. 17, 19:27
ช้างเป็นสัตว์สังคมหมู่ ไม่นิยมแยกอยู่แบบเดี่ยว แม้กระทั่งช้างที่เรียกว่า สีดอ หรือ ช้างโทน ก็ยังอยู่ไม่ห่างจากโขลง เดินตามและอยู่รอบๆโขลงช้างนั้นแหละ

เมื่อเห็นรอยเท้าตามด่านสัตว์หรือด่านช้างในป่า ที่ดูคล้ายๆกับมีอยู่รอยเดียวหรือมีตัวเดียวนั้น หากพิจาณารอยเท้าดีๆก็จะเห็นว่ามีอยู่หลายตัว (เมื่อช้างเดินเรียงแถวกัน มันเดินเหยียบทับรอยเดิมกัน) เป็นโขลงช้าง แต่จะเป็นโขลงเล็กหรือใหญ่นั้นดูยาก     

ช้างโขลงเล็กที่เคยเห็นก็ประมาณ 6 ตัว และโขลงใหญ่ที่ชาวบ้านเขาเห็นกันก็ว่ากันถึง 30 ตัว เช่น ในพื้นที่ๆอ่างน้ำของเขื่อนเขาแหลมที่น้ำท่วมไปแล้ว (เขตต่อระหว่าง อ.ทองผาภูมิ กับ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี)  และในพื้นที่ป่าของห้วยแม่ละมุ่นบนเส้นทางระหว่างตัวเมือง จ.กาญจนบุรี กับ อ.ศรีสวัสดิ์ (สมัยก่อนที่น้ำในอ่างของเขื่อนเจ้าเณรจะท่วม) ซึ่งเป็นโขลงช้างที่รู้จักกันว่าเป็นพวกโขลงหางด้วน (ปลายหางกุด)     


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 มี.ค. 17, 19:37
เคยเห็นพื้นที่ๆช้างป่าในห้วยขาแข้งเดินลงมากิน(เล่น)น้ำห้วยขาแข้ง เป็นพื้นที่เตียนราบเลย อยู่ทางฝั่งตะวันตกของลำห้วย มองขึ้นไปบนฝั่งไกลๆเห็นภาพคล้ายเป็นถนนราบเรียบ มีขนาดกว้างพอที่รถเล็กจะวิ่งสวนแบบพอได้ ไม่รู้ว่าเป็นโขลงใหญ่ขนาดใหน


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 มี.ค. 17, 18:30
รอยเท้าช้างนั้น หากได้เคยพบเห็นอยู่บ่อยๆในพื้นที่ๆที่มิใช่ทางด่าน ด้วยข้อสังเกตและการสร้างความคุ้นเคย เราก็พอจะบอกอะไรๆที่เกี่ยวกับเจ้าของรอยได้  ซึ่งที่เราพึงจะต้องมีความสังเกตก็เพื่อการหลบเลี่ยงอันตราย ที่สำคัญๆก็คือหลีกเจ้าสีดอและโขลงที่มีแม่ลูกอ่อน

ที่ได้เห็นและคุ้นเคยมา รอยเท้าช้างตัวเมียจะมีลักษณะกลมคล้ายกระด้ง ส่วนรอยของตัวผู้จะมีลักษณะออกไปทางเป็นวงรีนิดๆคล้ายไข่เป็ดผ่าครึ่งและมีรอยเล็บยื่นออกมาเล็กน้อยที่ส่วนยอดของวงรี รอยเท้าตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่ารอยเท้าตัวผู้ ซึ่งก็พอจะเข้าใจได้ว่าเพื่อการรับและกระจายน้ำหนักเมื่อตั้งครรภ์   

ขนาดของวงรอยเท้าผนวกกับรอยลึกที่กดฝังอยู่ในดินจะบอกถึงขนาดตัวและอายุของช้าง  หากเป็นรอยคะมำหน้าก็บอกว่าน่าจะมีงายาวด้วย


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 มี.ค. 17, 19:04
ในการทำงานเดินสำรวจในพื้นที่ป่าเขาจริงๆนั้น การเห็นรอยช้างเป็นเรื่องปรกติ แต่จะเริ่มรู้สึกว่าจะต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษก็เมื่อได้พบรอยกลมรีเดี่ยวๆที่อยู่นอกกลุ่ม และก็จะต้องยกระดับการระวังให้มากขึ้นไปอีก หากพบว่ารอยนั้นๆแสดงถึงการเดินแบบฉวัดเฉวียนไปมา แล้วยิ่งแถมมีรอยถากของเปลือกต้นไม้ ฉีกขาด หรือต้นไม้เอียง  ไม่ผิดแน่ที่จะบอกว่ากำลังอยู่ในพื้นที่ของเจ้าสีดอจอมเกเรแน่ๆ

ในพื้นที่ดังกล่าวนี้ ยังมีสิ่งบอกเหตุอีกหลายๆอย่าง เข่น ร่องรอยการนอนของชาวบ้านพรานไพรที่เข้าไปนอนอยู่ในใจกลางกอไผ่ ระดับสูงของการขัดห้างและขนาดของต้นไม้ที่ใช้ขัดห้าง ฯลฯ


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 มี.ค. 17, 19:40
เช่นเดียวกัน หากได้เห็นรอยเท้าลูกช้างก็ต้องเพิ่มความตื่นตัวเป็นพิเศษ นอกจากแม่มันจะดุเป็นพิเศษแล้ว  พี่ ป้า น้า อาของมันก็ยังช่วยอีกด้วย ไม่ใช่ตัวเดียวทีจะตะเพิดเราแน่ๆ ดีไม่ดีช่วยกันไล่เราทั้งโขลงเลย

เคยพบรอยของกลุ่มช้างแม่ลูกอ่อนที่ทำให้เคยรู้สึกเสียวสันหลังแทบตาย เป็นช่วงเวลาของการเริ่มต้นมีฝนตกประปราย    พอตั้งแคมป์นอนแบบผ้าเต็นท์สามผืนเสร็จ ก็ออกเดินสำรวจไปรอบๆ   อะฮื้อ พบรอยช้างห่างจากที่พักไปไม่ถึง 100 ม.เต็มไปหมด จะเก็บแคมป์หนีก็ไม่ไหวแล้ว ใกล้ค่ำเต็มที แถมยังไม่มีที่ๆเหมาะสมอีกด้วย  อีกประการหนึ่งก็กำลังหุงหาอาหารกันอยู่ วันนั้นได้ตัวแลนมาตัวหนึ่ง กำลังเผาให้หนังแตกเป็นเม็ดมะขามคั่ว ติดว่าจะแกงให้อร่อยๆ จากแกงเผ็ดก็เลยกลายเป็นแกงจืด  คืนนั้นนอนกอดปืนกันด้วยความระทึกอยู่ทั้งคืน  ตกรุ่งเช้าก็มีกลุ่มนกกะรางหัวหงอกหลายตัวส่งเสียงดังเจี๊ยวจ๊าว กำลังสนุกกับการบินเข้าโจมตีเห็ดโคนที่กำลังบาน แรกๆที่ได้ยินเสียงนกดังลั่นก็นึกว่าพวกมันกำลังเตือนภัยให้เราว่าฝูงช้างกำลังมา เลิกลั่กอยู่พักหนึ่งก็จึงถึงบางอ้อว่านกมันมาเล่นหมวกเห็ดนั่นเอง   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 มี.ค. 17, 19:00
นกกะรางหัวหงอกชอบที่จะบินลงมาจิกตีเห็ดป่าพวกที่เมื่อบานแล้วมีรูปทรงคล้ายหมวกกุยเล้ย ยังกับเป็นคู่รักคู่แค้นที่โกรธกันมาแบบฝังอยู่ในสายเลือด     ก็ให้บังเอิญอีกว่าเห็ดนั้นมักจะเป็นเห็ดโคนที่ขึ้นเป็นหมู่ แผ่อยู่เป็นกลุ่มค่อนข้างใหญ่   เราก็ใช้นกกะรางหัวหงอกนี้แหละเป็นเครื่องบ่งชี้ว่ามีเห็ดโคนของอร่อยขึ้นอยู่ตรงจุดใหน  หากเป็นช่วงเวลาที่้หมาะสมก็ไม่เคยพลาดเลยสักครั้ง   ปริมาณนกที่บินลงมาจิกตีหรือเล่นกับเห็ดนั้น ก็ยังมีความสัมพันธ์กับปริมาณของเห็ดที่ขึ้นแผ่อยู่ ณ จุกนั้นอีกด้วย


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 มี.ค. 17, 19:41
ไพล่ไปนึกถึงนกกะรางหัวขวาน  ชื่อกะรางขึ้นต้นเหมือนกัน แต่ลักษณะตัวและสีขนต่างกันลิบลับเลยทีเดียว  นกทั้งสองขนิดนี้พบได้ทั่วไปในพื้นที่ละเมาะและในป่าใหญ่ที่โปร่ง  ต่างกันตรงที่นกกะรางหัวขวานพบมากอยู่ตามชายป่าต่อกับที่ราบ มากกว่าที่จะพบในพื้นที่ส่วนในของผืนป่าใหญ่   

ในประสพการณ์ของผม แหล่งที่พบนกกะรางหัวขวานมากที่สุด ก็คือพื้นที่รอยต่อชายป่ากับพื้นที่เกษตรทางกรรมของ ต.ลาดหญ้า (จ.กาญจนบุรี) บนเส้นทางไปเขื่อนเจ้าเณร  ก็ตั้งแต่สะพานข้ามลำตะเพินก่อนถึงเขาชนไก่ (ค่ายฝึก รด.) ไปจนถึงบริเวณพื้นที่ฝั่งตะวันออกของเขื่อนท่าทุ่งนา   ในพื้นที่นี้ก็ยังเป็นแหล่งที่อยู่ที่สมบูรณ์ของตัวแย้อีกด้วย    ก็คงจะพอเดาได้แล้วนะครับว่า แม้จะดูเป็นพื้นที่ๆแห้ง แล้ง อากาศร้อน ผืนดินเป็นหินเป็นทรายหยาบก็ตาม แต่ก็เป็นพื้นที่ๆที่มีความลงตัวทางนิเวศน์วิทยา มีการผสมผสานของการดำรงชีพ ความเป็นอยู่ และกิจกรรมของทั้งสัตว์และของมนุษย์ในแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันที่ดูจะมีความสมดุลย์ลงตัวอย่างดี


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 มี.ค. 17, 18:25
การที่เราจะได้พบกับช้างป่านั้นมันก็ไม่ง่ายนัก พื้นที่ๆเรามีโอกาสพบช้างป่าได้ไม่ยากนัก ที่สำคัญๆก็ได้แก่ บริเวณดงไม้ไผ่ชนิดที่เราเรียกว่าไผ่ผากหรือไม้ผาก    ในห้วยที่มีน้ำไหล โดยเฉพาะบริเวณที่มีหาดทรายแคบๆแผ่อยู่ทั้งสองฝั่ง   ในป่าดิบแล้งในช่วงเวลาที่ผืนป่ายังคงมีความชื้นสูงและในฤดูที่มีฝนตก   และในพื้นที่ชายป่าใหญ่ที่ชาวบ้านเข้าไปทำไร่ทำสวน   เป็นพื้นที่ๆสัมพันธ์กับเรื่องของอาหารทั้งนั้น



กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 มี.ค. 17, 19:55
ดูๆคล้ายกับว่าพบในป่าที่ต่างกัน แต่ในพื้นที่จริงก็คืออยู่ในผืนป่าเดียวกัน แต่จะมีโอกาสพบในช่วงเวลาที่ไม่เหมือนกัน   ช้างเป็นสัตว์ที่กินพืชได้หลายอย่าง มีพืชที่โปรด กินคละชนิดกันในแต่ละมื้อแต่ละวัน ต้องลงน้ำ เล่นดินเล่นฝุ่น ต้องกินดินโป่ง 

ชาวบ้านที่เดินทางไปใหนมาใหนในป่าจะใช้เส้นทางที่ช้างเดิน (ด่าน) ซึ่งก็มีทั้งแบบที่เราเรียกว่าเดินจนเตียนและแบบเดินบ้างเป็นครั้งคราว  จุดหมายปลายทางของเส้นทางเหล่านี้ ปลายหนึ่งมักจะจบลงที่โป่งที่มีซับน้ำ ส่วนอีกปลายหนึ่งเท่าที่เคยเห็นและพอจะรู้ก็คือในพื้นที่ๆเป็นแหล่งอาหาร  และก็แน่นอนว่าด่านช้างเหล่านี้จะต้องตัดผ่านห้วยต่างๆ ลัดข้ามไปข้ามมา   ที่ประสบพบมา ด่านช้างเหล่านี้เกือบจะไม่พบในพื้นที่ๆมีความลาดชันสูง เช่น ใกล้ส่วนยอดเขา หรือในบริเวณใกล้ขุนห้วยที่มีผนังห้วยค่อนข้างชัน   ภาพรวมง่ายๆก็คือเราจะพบช้างในพื้นที่ๆเป็นพื้นที่รอนคลื่นได้มากกว่าในพื้นที่ส่วนสูงที่ใกล้ยอดเขา       


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 มี.ค. 17, 18:29
ด่านช้างที่อยู่ในพื้นที่ๆเป็นป่าแพะนั้นไม่ค่อยจะได้พบเห็น  แน่นอนว่าส่วนหนึ่งก็เพราะมันเป็นป่าโปร่งและมีผืนดินแห้งแล้ง ร่องรอยจึงอาจจะเห็นได้ยาก  และอีกส่วนหนึ่ง ดูเหมือนว่าช้างจะนิยมเดินในพื้นที่ๆมีร่มไม้มากกว่าจะเดินในที่ๆมีแดดเปรี้ยงทั้งๆที่พวกมันจะเดินไปใหนมาใหนกันในเวลากลางคืนและในช่วงเวลาเช้าก่อนที่แดดจะแผดแรงกล้าก็ตาม

ด่านช้างที่เราไม่ค่อยจะนึกถึงว่ามันเป็นด่านช้างและมักไพล่ไปคิดว่าเป็นทางที่ชาวบ้านใช้เดินกันก็คือ ทางเดินตามริมฝั่งห้วย โดยเฉพาะในห้วยที่มีน้ำไหลไม่ตลอดทั้งปี (intermitten stream)    ทางด่านที่เห็นเลาะตามริมห้วยเหล่านี้ เป็นทางสัญจรร่วมของสัตว์หลากหลายชนิด  ดูยากครับว่าสัตว์อะไรเป็นผู้แรกทำขึ้นมา  แต่เรารู้ได้ว่าด่านนั้นด่านนี้มีช้างเข้ามาร่วมใช้ด้วยหรือไม่ และเป็นการใช้เป็นครั้งคราวหรือเป็นการใช้เป็นประจำ               


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 มี.ค. 17, 19:08
ข้อสังเกตแรกสุดก็คือ กองขี้ช้าง (ขออภัยที่ไม่ใช้คำว่า มูลช้าง)   

ในพื้นที่ริมห้วยนี้ มีแต่กรวดแต่ทราย (ผืนดินแน่น เหยียบไม่จมโคลน) มีน้ำป่าไหลหลากเป็นครั้งคราว มีพืชต้นสูงระดับประมาณเอวขึ้นอยู่มากมาย มีต้นไม้ไม่สูงใหญ่แต่มีใบหนาแน่น   เมื่ออาหารก็มี น้ำก็มี อากาศก็ดี ก็จึงเป็นสถานที่แห่งความสุขของช้าง   กินไป อึไป อะไรจะมีความสุขไปได้มากกว่านั้น 

กองอึ ก็มีแบบที่เป็นของเก่าและที่เป็นของใหม่   ของเก่าข้ามปีนั้นไม่ควรจะได้พบเห็นแล้ว เพราะจะถูกน้ำป่าที่เอ่อท่วมขึ้นมาไหลพัดพาไปหมดแล้ว แต่ถ้าพบก็แสดงว่าห้วยนี้มีน้ำน้อย  ซึ่งในมุมของผมก็คือ ไม่ควรจะเดินสำรวจแบบค้างแรม เพราะจะไม่มีน้ำกินน้ำใช้


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 มี.ค. 17, 19:37
เดินในห้วยที่มีองค์ประกอบดังกล่าว ก็ควรจะต้องมีความระมัดระวังให้มาก

ผมเคยจ๊ะเอ๋กับช้างที่โผล่หัวออกมาจากพุ่มไม้ริมห้วย ในระยะใกล้กันประมาณ 3 ม. ในพื้นที่ของ จ.อุตรดิตถ์ (ตีนดอยของม่อนพญาพ่อ ในเขตของ บ.ผาจุก และ บ.ผาเลือด)   สามคนที่เดินมาด้วยกันรวมทั้งช้างด้วยเกิดอาการนะจังงัง ก้าวไม่ออก วิ่งไม่เป็น ใจหายแว๊บ ขนาดมีปืนลูกซองแฝดก็ยังมีสภาพเหมือนดังท่อนไม้กำอยู่ในมือ 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 มี.ค. 17, 19:48
อาจจะมีข้อสงสัยว่า เดินไปตามด่านช้างเรื่อยๆจะมีโอกาสได้พบสุสานช้างหรือไม่ 

ก็คงจะเป็นเพียงสถานที่ๆแต่งขึ้นมาในนวนิยายประเภทล่าขุมทรัพย์ในป่าใหญ่      ผมเดินทำงานในพื้นที่ป่าเขามาประมาณ 20+ ปี เคยเห็นหัวกะโหลกช้างในป่าอยู่เพียงครั้งเดียว เห็นอยู่ในพื้นที่ลึกเข้าไปตามห้วยบีคลี่ซึ่งเป็นลำห้วยหลักของต้นแม่น้ำแควน้อย จ.กาญจนบุรี

สำหรับทางด่านต่างๆนั้น ยากที่จะบอกว่าเริ่มต้นจากที่ใหน เคยเห็นแต่ว่ามันมีลักษณะตั้งแต่พอจะเห็นเป็นทาง มีการมาบรรจบและมีการแยกออกไปจากกับอีกเส้นทาง มีพื้นที่ๆมีปริมาณทางด่านค่อนข้างมาก (หนาแน่น) และก็มีมีพื้นที่ๆมีทางด่านหลักอยู่เพียงเส้นเดียวเดี่ยวๆ   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 มี.ค. 17, 20:35
ทางด่านเส้นเดียวเดี่ยวๆที่เห็นได้ชัดเจนนี้ พอจะรู้แน่ๆว่าปลายทางด้านหนึ่งจบลงที่บริเวณที่เป็นโป่งใหญ่  ซึ่งด่านลักษณะนี้เองที่เราจะเห็นพาดข้ามห้วยไปมา แถมยังมีขั้นบันใดที่ผนังห้วยที่ช้างทำไว้อีกด้วย (รอยเหยียบขึ้นลงห้วย)   ด่านแบบนี้เราเดินได้สบาย เกือบจะไม่มีสิ่งใดมาทำให้ต้องสะดุด เรียกว่าตั้งเต็นท์พักแรมได้  แต่ก็มีกฎอยู่ว่า ห้ามพักแรมหรือนอนคาด่านเป็นอันขาด   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 มี.ค. 17, 18:33
กล่าวถึง โป่ง 

โป่งเป็นของคู่กับช้าง  ในสารคดีเขาว่าช้างเป็นผู้บุกเบิกทำให้เกิดเป็นโป่ง ก็น่าจะเป็นไปดั่งนั้น (แต่ก็อาจจะไม่แน่เสมอไป)   โป่งใหญ่ (โป่งขนาดใหญ่) ที่เคยเห็นมานั้น มีอยู่ 2 ลักษณะ คือ แบบเป็นแอ่งกระทะในที่ราบในพื้นที่ป่าเข่า และแบบอยู่ที่ผนังห้วยด้านหนึ่งในห้วยตรงบริเวณที่มีหุบห้วยกว้าง

โป่งแบบที่เป็นแอ่งกระทะนั้น ที่ก้นแอ่งจะมีน้ำซับหรือมีผืนดินชื้นๆ จะเห็นรอยเท้าช้างและสัตว์อื่นๆเต็มไปหมด   ส่วนแบบอยู่ในห้วยนั้น จะมีแอ่งน้ำขังในห้วยอยู่ใกล้ๆ อาจจะมีช้างมาร่วมกินหรือไม่ก็ได้ เป็นโป่งที่มักจะเป็นของกลุ่มสัตว์เฉพาะบางกลุ่ม 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 มี.ค. 17, 18:49
ก็เคยเห็นโป่งเล็กๆอยู่ข้างผนังห้วย พื้นที่ค่อนข้างจะรก  เดาเอาว่าอาจจะเป็นลักษณะเริ่มต้นที่จะพัฒนาไปเป็นโป่งใหญ่ในภายหลังก็ได้  รอยสัตว์ที่มากินเป็นพวกสัตว์รอยเท้าเล็ก ซึ่งเขาก็คงจะมีความสุขกันพอสมควรเพราะใกล้จุดนั้นมีผลไม้ตกอยู่เกลื่อนกลาด   ไดเห็นดังนี้ โป่งต่างๆก็จึงอาจจะไม่ได้เกิดจากช้างเป็นผู้สร้างก็ได้ใช่ใหมครับ   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 มี.ค. 17, 20:36
โป่ง ที่ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า salt lick นั้น   หากจะมองในทางวิชาการสำหรับสิ่งที่สัตว์กัดหรือเลียกินเข้าไป  มันมิใช่ salt หรือเกลือเค็มๆที่เราใช้ในการปรุงอาหาร  แต่มันหมายถึงสารประกอบทางเคมีที่เป็นกลางที่เกิดจากปฎิกริยาทางเคมีระหว่างสิ่งที่มีสภาพเป็นกรดกับสิ่งที่มีสภาพเป็นด่าง

salt รสเค็มๆที่เราใช้ในการปรุงอาหารนั้น คือ โซเดียมคลอไรด์ (Sodium Chloride_NaCl)  ซึ่งถ้าหากผลิตจากเกลือหิน (rock salt) มันก็จะไม่มีธาตุไอโอดีน (Iodine) ก็จึงมีการเติมเข้าไป   ก็มีสินค้าบริโภคจำนวนมากในปัจจุบันที่บอกว่าลดปริมาณเกลือ ซึ่งโดยความหมายๆถึงการลดปริมาณเกลือโซเดียมคลอไรด์ แล้วใช้เกลือโปแตสเซียมคลอไรด์ (Potassium Chloride_KCl) ทดแทน ซึ่งเกลือนี้จะออกรสขมนิดๆ 

เราใช้โปแตสเซียมคลอไรด์ที่เกิดในธรรมชาติเป็นแร่ที่มีชื่อเรียกว่า Sylvite มาทำเป็นแม่ปุ๋ยโปแตสที่ใช้กันในปุ๋ยสำหรับพวกพืชสวนประเภทให้ดอกให้ผล


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 มี.ค. 17, 18:50
จะขอเสียเวลาขยายความเรื่องโป่งหน่อยนึง เผื่อว่าอาจจะเป็นประโยชน์ในทางวิชาการบ้าง

โป่ง แบ่งออกตามชาวบ้านพรานไพร ก็พอจะมีหลักๆอยู่ 3 ชนิด คือ โป่งที่มีแอ่งน้ำหรือดินชื้นๆอยู่ในบริเวณ ที่เรียกกันว่า โป่งน้ำซับ   โป่งที่ไม่มีน้ำอยู่ในบริเวณ ที่เรียกกันว่าโป่งดิน  และโป่งที่อยู่ตามผนังหรือตลิ่งของแม่น้ำหรือลำห้วย ที่เรียกกันว่า โป่งข้างห้วย หรือโป่งในห้วย ซึ่งคิดว่าได้ผันกลายเป็นชื่อของสถานที่ในปัจจุบันที่มีขื่อลงท้ายด้วยคำว่าโป่ง เช่น ท่าโป่ง ห้วยโป่ง  ซึ่งชื่อของสถานที่ดังที่ยกตัวอย่างมานี้มีซ้ำๆกันอยู่ในแทบจะทุกจังหวัด   โป่งอีกลักษณะหนึ่งที่มี (คิดว่ามีอยู่น้อยมาก) ก็คือ โป่งน้ำ  โดยพื้นๆอาจจะเห็นว่าโป่งน้ำก็เป็นเพียงแหล่งน้ำที่สัตว์ลงมากิน  แต่ผมเห็นว่ามีความน่าสนใจในทางวิชาการอยู่ไม่น้อย


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 มี.ค. 17, 19:09
สัตว์ที่ไปกินโป่งก็คือการไปกินดินที่มีแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการเพื่อให้กระบวนการทาง Metabolism ทำงานได้อย่างสมบูรณ์ สัตว์ที่รู้สึกเจ็บป่วยจะต้องพยายามไปกินดินโป่งเพื่อรักษาตนเอง ดินโป่งจึงมีสภาพคล้ายยาและอาหารเสริมเพื่อเสริมสร้างให้ร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ    แต่ทำไมหรือด้วยเหตุใดสัตว์จึงต้องเป็น ณ จุดๆนั้น ทั้งๆที่ก็มีดินตะกอนจากห้วยและดินที่ผุพังมาจากหินกระจายอยู่ทั่วไปหมด     คงมิใช่เพราะช้างเป็นผู้คิดว่าจุดใหนถึงจะดี จะเหมาะที่จะสร้างให้เป็นโป่ง


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 มี.ค. 17, 19:49
ย้อนมาพิจารณาในอีกมุมหนึ่ง   เมื่อการกินโป่งก็คือการกินดินและเป็นการกินเพื่อให้ได้แร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับความสมบูรณ์ของร่างกาย  ก็แสดงว่า ณ จุดที่เป็นโป่งนั้นๆจะต้องมีดินที่มีแร่ธาตุที่สมบูรณ์  แต่ก็อีกแหละ ก็มีข้อสงสัยอยู่ว่า แล้วทำไมจึงต้องกินดินที่โป่งนั้นบ้างโป่งนี้บ้าง ข้ามไปไขว้มา แถมยังเป็นในช่วงเวลานั้นเวลานี้อีก    ก็แสดงว่าดินในแต่ละโป่งมีความต่างกันอยู่ไม่น้อย คือมีและขาดความสมบูรณ์ของแร่ธาตุบางตัว     


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 มี.ค. 17, 20:53
เมื่อเป็นเช่นนั้นก็คงจะต้องมองลึกลงไปในเรื่องดิน     ดินโดยความเข้าใจทั่วๆไปจะประกอบไปด้วยพวกวัตถุอินทรีย์และอนินทรีย์เม็ดละเอียด   

สำหรับวัตถุอินทรีย์นั้น ก็คือพวกเศษซากละเอียดของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่เรียกรวมว่าพวก Hydrocarbon ซึ่งมีธาตุไฮโดรเจน (H) คาร์บอน (C) และ ออกซิเจน (O) เป็นส่วนประกอบสำคัญ   วัตถุทางอินทรีย์ทั้งหลายนั้นเมื่อถูกพวกจุลินทรีย์แบบใช้อากาศ (aerobic microorganisms) หรือแบบไม่ใช้อากาศ (anaerobic microorganisms) กัดกินก็จะทำให้เกิดสารประกอบอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อพืช (เช่น Humus ที่ทำให้ดินมีสีดำ)    คำศัพท์ที่พวกผมนิยมเรียกสีดำๆหรือเศษวัตถุอินทรีย์เคมี คือ carbonaceous materials


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 มี.ค. 17, 21:17
วัตถุที่เป็นสารอนินทรีย์เกือบทั้งหมดจะประกอบไปด้วยเม็ดแร่ละเอียด โดยเฉพาะแร่ Quartz (SiO2)  แร่ฟันม้า (Feldspar) แร่ไมก้า (Mica) และแร่ดิน (Clay minerals)

เนื้อของดินส่วนที่เป็นสารอนินทรีย์นี้ ได้มาจากกระบวนการผุพัง (weathering) ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดอยู่ภายใน และการกัดกร่อนทำลาย (erosion) ซึ่งเป็นกระบวนการขยับให้แยกแตกจากกันแล้วขนย้ายไปยังที่อื่น

ในมุมนี้ โป่ง จึงน่าจะต้องแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ โป่งชนิดที่ดินได้มาจากการเกิดแต่ในเนื้อ (in-situ disintegration) และโป่งชนิดที่ดินได้มาจากการสะสมของตะกอนที่ถูกพัดพามา (allochthonous deposit)    


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 มี.ค. 17, 18:26
แร่ดินนั้น อธิบายง่ายๆว่า เป็นแร่ในกลุ่ม phyllosilicates หรือที่เรียกกันง่ายๆว่า sheet silicates มีโครงสร้างเป็นแผ่นๆวางทับซ้อนกัน  ในระหว่างแผ่นจะมีแขนขาของสารประกอบซิลิเกตกลุ่มหนึ่ง (tetrahedral silicates) จับธาตุหรือสารประกอบชนิดอื่นๆไว้ในตัว  ที่เรียกว่าดินมีแร่ธาตุดี/ไม่ดี หรือ อุดม/ไม่อุดมไปด้วยแร่ธาตุ... ก็คือตรงนี้แหละ

ขยายความต่ออีกนิด  แร่ดินมีอยู่หลายชนิด แบ่งง่ายๆที่สุดออกเป็น 2 พวก คือ พวกที่พองน้ำ และพวกที่ไม่พองน้ำ   ดินที่แตกระแหงมากหรือน้อยก็มีพื้นฐานมาจากส่วนประกอบของแร่ดินพวกนี้เอง (เรียกว่า Smectite group)   อาทิ  Montmorillonite เป็นแร่ดินที่ขยายตัวเองให้พองได้ถึงประมาณ 14 เท่า    พวกที่ไม่พองน้ำก็อาทิเช่น Kaolinite หรือ ดินขาวที่เราเอามาทำเครื่องเคลือบดินเผาทั้งหลาย   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 มี.ค. 17, 18:56
แร่ดินอุ้มธาตุหรือสารประกอบไว้ในตัวเองได้ และก็สามารถสลับสับเปลี่ยนกับสารที่อยู่ภายนอกรอบๆตัวเองได้ด้วยวิธีการแลกเปลี่ยนที่ใช้กระบวนการทางเคมี (เช่น บนพื้นฐานของ Goldschmidt rule หรือ เช่น บนพื้นฐานทาง Thermodynamic_P,T,Eh,pH)   เช่นนี้ก็บอกว่า คุณภาพของดินสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน         


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 มี.ค. 17, 19:32
ก็มีที่น่าสนใจในอีกมุมหนึ่งว่า แร่ดินบางชนิดก็มีลักษณะเป็นยา   

คงเคยได้ยินเรื่องชาวบ้านกินดิน ในลักษณะโดยนัยของข่าวว่าอดอยากมาก    ดินที่ชาวบ้านกินนั้นเขาเลือกจุดที่จะขุดออกมา ซึ่งเป็นดินเนื้อละเอียดสีนวล  ดินที่ไปแสวงหาขุดออกมากินนั้นคือแร่ดินที่เป็นยา ซึ่งอย่างน้อยที่สุด ดินนั้นก็จะต้องมีธาตุหรือสารประกอบของธาตุโปแตสเซียม (K) โซเดียม (Na) แคลเซียม (Ca) เป็นพื้นฐาน และอาจจะมีธาตุบางอย่างที่ร่างกายต้องการ ทั้งในเชิงของธาตุที่เป็น essential elements (จะในรูปของ major, minor หรือ trace elements ก็ตาม)

ในวงการของเรื่องทางสาธารณสุขและอนามัยสมัยใหม่ ก็มีแร่ดินเข้ามายุ่งย่ามเหมือนกัน  อาทิ  Talc ชื่อนี้ทุกคนน่าจะต้องรู้จักดี   Bentonite ชื่อนี้นักวิชาการทางสาธารณสุขก็น่าจะต้องรู้จักดี     


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 มี.ค. 17, 20:34
Sodium(Na)-bentonite เป็นพวกดูดซับ (absorption) ใช้ภายนอก ?  แต่ Calcium(Ca)-bentonite เป็นพวกดูดซึม (adsorption) ใช้ภายใน ?
 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 มี.ค. 17, 21:15
ในวงการของเรื่องทางสาธารณสุขและอนามัยสมัยใหม่ ก็มีแร่ดินเข้ามายุ่งย่ามเหมือนกัน  อาทิ  Talc ชื่อนี้ทุกคนน่าจะต้องรู้จักดี   Bentonite ชื่อนี้นักวิชาการทางสาธารณสุขก็น่าจะต้องรู้จักดี     
ดิฉันรู้จักแต่ talc ที่เป็นแป้งทาตัว    ไม่ทราบว่าคุณตั้งหมายถึงสิ่งนี้หรือเปล่าคะ


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 มี.ค. 17, 18:09
ใช่ครับ   เอามาบดให้ละเอียดใช้ทำแป้งที่เรียกว่า talcum powder ใช้ทาหน้า ทาตัว   

แร่ Talc ถูกนำมาใช้ก็เพราะเมื่อทาผิวแล้วทำให้รู้สึกลื่น น้ำไม่เกาะผิว มันเป็นสารประกอบอนินทรีเคมีที่เกือบจะไม่ทำปฎิกริยากับผิวของคน  ในอีกชื่อหนึ่งที่อาจจะคุ้นกันก็คือ soap stone หรือ หินสบู่ ที่มีคนเอามาแกะสลักเป็นปฏิมากรรมลอยตัวต่างๆ   ในบ้านเราก็มีแหล่งแร่กลุ่มนี้อยู่ อยู่ในพื้นที่ของบ้านผาเลือด (หรือบ้านผาจุก ?) ริมแม่น้ำน่าน บนเส้นทางไปเขื่อนสิริกิติ์ ไม่ไกลจากตัวเมืองอุตรดิตถ์มากนัก   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 มี.ค. 17, 18:55
ในปัจจุบันนี้ เราอาจจะได้ยินเรื่องความอันตรายจากการใช้ Talc หรือ แป้ง Talcum  ทั้งๆที่ผู้คนรู้จักและใช้กันมานานนมตั้งแต่สมัยปู่ย่าตาทวดโน่น  ดูน่าจะน่ากลัวจริงๆ  :o

ความเป็นอันตรายที่พบจากการศึกษาวิจัยก็คือเรื่องของมะเร็ง   

แร่ Talc ที่เอามาบดละเอียดในระดับ micron เมื่อเอามาทำเป็นแป้ง Talcum  เท่าที่พอจะมีความรู้ ก็มีการผสมแป้งข้าวโพดเข้าไปด้วยในปริมาณที่ไม่น้อยทีเดียว    ด้วยขนาดของ particle   ฝุ่นจากแป้งที่หายใจเข้าไปก็ไม่น่าจะต่างไปจากฝุ่นตามถนนหนทางทั่วๆไป ซึ่งในทางการแพทย์ ฝุ่นที่เป็นพวกสารประกอบอนินทรีย์เคมี มีส่วนที่ทำให้เกิดโรค Silicosis (ปอดตัน ?)         


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 มี.ค. 17, 19:25
Talc มีการนำมาใช้ในเครื่องสำอางค์ต่างๆอย่างหลากหลาย แทบทุกชนิดก็น่าจะว่าได้ รวมทั้งยังมีผสมอยู่ในกระป๋องสเปรย์ในบางผลิตภัณฑ์อีกด้วย 

พอนะครับ ใกล้จะก้าวข้ามเข้าไปในเขตอาณาของทางเภสัชกรรมและทางการแพทย์ 

ขอปิดท้ายเรื่องนี้ด้วยสูตรทางเคมีของแร่ Talc = Mg3Si4O10(OH)2


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 มี.ค. 17, 19:30
ขอทำความกระจ่างหน่อยนึงครับ

soap stone นั้น ในตัวมันเองมีแร่ดินอยู่ร่วมกันได้หลายชนิด แต่ที่พบในปริมาณมากก็มักจะเป็นแร่ Talc


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 มี.ค. 17, 20:24
ย้อนกลับไปเรื่อง bentonite หน่อยนึง 

เท่าที่พอจะมีความรู้เล็กๆน้อยๆ   Ca-Bentonite นั้น โดยตัวของมันเองสามารถใช้เพื่อแก้หรือรักษาการอักเสบต่างๆของผิวหนังได้ (แผล แมลงกัด/ต่อย พุพอง..)   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 มี.ค. 17, 18:56
คงจะได้ภาพกว้างๆแล้วว่า ดินก็เป็นยา แต่มันก็มิใช่ทุกจุด ทุกที่ ทุกแห่ง  มันขึ้นอยู่กับแร่ดินชนิดต่างๆที่เกิดมาจากหินต้นทางที่ต่างกันและจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ต่างกัน

เอาเป็นว่า โป่งแต่ละโป่งมีปริมาณของแร่ธาตุต่างกัน  ซึ่งก็น่าจะเป็นผลให้แต่ละโป่งมีความหลากหลายของสัตว์ที่ลงกินต่างกัน พรานไพรในสมัยก่อนจึงต้องมีการเลือกโป่งที่จะไปนั่งห้างเพื่อล่าสัตว์ชนิดที่ตนต้องการ     


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 มี.ค. 17, 19:28
ผมคิดว่า เมื่อปริมาณการให้ยากับคนยังคำนึงถึงเรื่องของน้ำหนักตัว   ช้างซึ่งเป็นสัตว์ตัวโต ก็ย่อมต้องกินยาในปริมาณที่มากตามน้ำหนักของตัว  ก็จึงไม่แปลกนักที่ช้างจะเป็นนักทำโป่ง เพราะมีความต้องการทางด้าน quantity  ทำให้โป่งที่ช้างทำนี้ก็น่าจะต้องเป็นแหล่งที่มีแร่ธาตุสูงทั้งในด้าน qualitative และ quantitative   ก็จึงไม่แปลกนักอีกเช่นกันที่โป่งที่มีช้างลงกินจะเป็นโป่งใหญ่ ซึ่งหมายถึงว่า มีสัตว์หลายหลายชนิดลงมาร่วมกินด้วย  ซึ่งก็แน่นอนว่าก็จะต้องมีพวกสัตว์กินเนื้อลงมาขอร่วมวงด้วย

โป่งใหญ่จึงเป็นเครื่องแสดงในทางอ้อมว่า ในป่านั้นมีความสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์และมีความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity)   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 มี.ค. 17, 19:09
ข้อมูลเกี่ยวกับดินของโป่งแต่ละโป่งในเชิงของ Clay mineralogy และ Geochemistry ซึ่งจะบอกถึงความสำคัญและความสัมพันธ์ของแต่ละโป่งกับลักษณะของกลุ่มสัตว์ที่มาลงกินนั้น น่าจะมีอยู่ที่หน่วยงานที่ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ป่าที่ได้ดำเนินการมานานหลายสิบปีแล้ว   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 มี.ค. 17, 19:26
ดินโป่งเป็นยาสำหรับกิน  ดินฝุ่นที่ช้างใช้งวงดูดแล้วพ่นใส่ตัวจนฟุ้งกระจายดั่งการโรยแป้งทาตัวก็น่าจะต้องเป็นดินที่ยา และรวมทั้งดินโคลนในปลักโคลนที่ลงไปนอนคลุกเกลือกกลิ้งด้วย   ส่วนหนึ่งนั้นก็แน่นอนว่าเพื่อเป็นการไล่แมลง แต่อีกส่วนหนึ่งนั้นก็น่าจะเพื่อการรักษาแผลและการอักเสบที่ผิวหนัง     สัตว์ที่มีขนหนาแน่นทั้งหลายมักจะใช้วิธีการคลุกฝุ่น แต่สัตว์ที่มีขนน้อยจะใช้ทั้งการคลุกโคลนและคลุกฝุ่น


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 มี.ค. 17, 19:31
จากประสบการณ์การเดินทำงานสำรวจในพื้นที่ป่าเขามานานกว่า 20 ปี ผมมีข้อสังเกตว่าบรรดาโป่งใหญ่ที่มีสัตว์หลากหลายชนิดลงมากินดินโป่งอย่างค่อนข้างจะหนาแน่นนั้น เกือบทั้งหมดจะอยู่ในพื้นที่ๆมีหินประเภทที่เมื่อถูกแปรเปลี่ยนไปด้วยกระบวนการทางธรณีวิทยาแล้ว ทำให้เกิดการแปรเปลี่ยนสารประกอบและโครงสร้างทางเคมีของแร่ประกอบหินซึ่งเมื่อกลายมาเป็นดินและแร่ดินแล้ว ก็จะให้แร่ธาตุที่มีความจำเป็นในกระบวนการสร้างเสริมความสมบูรณ์ต่างๆของร่างกาย     


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 มี.ค. 17, 20:43
น่าสนใจอยูว่า แรกเริ่มเมื่อคนต้องเดินบุกป่าหาอาหารกิน โป่งก็คือแหล่งอาหารจากเนื้อสัตว์  พอจะขยายที่ทำมาหากินก็รุกพื้นที่ไปทางใกล้โป่ง พอความเจริญเข้ามาถึงก็รุกโป่ง โป่งใหญ่ต่างๆก็เลยค่อยๆมลายหายไป  เหลือแต่ชื่อที่กลายเป็นชื่อหมู่บ้านต่างๆไป ทั้งหมดก็เนื่องมาจากคุณภาพของดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุ จะปลูกอะไรก็ขึ้น ปลูกอะไรก็งาม แต่มักจะเป็นพื้นที่ค่อนไปทางแห้ง น้ำมีจำกัด

ในลักษณะคล้ายๆกัน ในพื้นที่ๆมีความชุ่มชื้นของดินค่อนข้างดี ก็จะมีพืชพวกที่มีใบมากขึ้นอยู่หนาแน่น เช่น ดงกล้วยป่า ดงไม้(ไผ่)ผาก ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของช้าง ส่วนใต้ดินก็มีรากอ่อน มีหน่อ ที่เป็นอาหารของพวกสัตว์ฟันแทะ   พื้นที่เช่นนี้ก็เหมาะสำหรับการปลูกพืชไร่ พืชสวนเช่นกัน  เมื่อมีการบุกรุกถางพงทำการเกษตร ก็จึงดูจะไม่แปลกนักที่จะมีช้างและสัตว์ฟันแทะมารบกวนเป็นครั้งคราว ซึ่งการเข้ามากวนของช้างและสัตว์ฟันแทะเหล่านั้นก็จะมาเป็นช่วงๆ ตามวงรอบของการวนเวียนกินตามแหล่งอาหาร (??) ซึ่งก็ให้บังเอิญเป็นช่วงเวลา(ฤดู)เดียวกันกับการเก็บเกี่ยวผลผลิตของชาวบ้าน


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 มี.ค. 17, 17:58
คนชาวป่าชาวดงอาศัยด่านช้างเป็นโครงข่ายพื้นฐานของเส้นทางการคมนาคมระหว่างพื่นที่และสถานที่ต่างๆ   คนในเมืองที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับของป่าและทรัพยากรที่อยู่ในพื้นที่ป่าก็จะตัดเส้นทางสำหรับการใช้เครื่องจักรกลต่างๆโดยอาศัยด่านช้างนำทาง   เมื่อผมเดินทำงานสำรวจ ด่านช้างก็เป็นของอ้างอิงกันการหลงและใช้เป็นเส้นทางเดินกลับที่พักแรมที่รวดเร็ว เพราะว่าด่านช้างต่างๆค่อนข้างจะเป็นเส้นทางที่สั้นเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ต่างๆ


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 มี.ค. 17, 18:24
คงพอจะเห็นภาพได้ว่า  โอกาสจะจ๊ะเอ๋กันระหว่างเรากับช้างจึงมีได้มาก  โดยเฉพาะในช่วงเวลาตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกดินไปตลอดทั้งคืน ซึ่งควรจะต้องหลีกเลี่ยงการเดินบนทางด่านสัตว์ทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง

ก็มีอีกสองช่วงเวลาที่อาจจะไม่จ๊ะเอ๋กับช้างบนทางด่านโดยตรง แต่อาจจะมีเขาอยู่ในพื้นที่ข้างๆกำลังมีความสุขและเพลิดเพลินกับการหักกิ่งไม้ใบไม้มากิน   คือ ตอนเช้าช่วงที่แดดกำลังเริ่มจะส่องแสงเต็มกำลัง จนถึงก่อนที่อากาศจะเริ่มรู้สึกร้อน (ประมาณ 8-10 โมงเช้า) และตอนบ่ายช่วงก่อนที่แดดใกล้จะลับสันเขา (ประมาณ 3-4 โมงเย็น) 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 มี.ค. 17, 18:55
สองช่วงเวลาดังกล่าวนั้น ก็คือช่วงเวลาเดียวกันกับที่เรากำลังออกเดินทำงานและกำลังเดินกลับที่พัก ซึ่งเป็นช่วงที่เราอาศัยทางด่านเพื่อความรวดเร็วในการเข้าถึงบริเวณทำงานและกลับที่พัก

ช้างที่กำลังมีความสุขนั้น เขาจะไม่ระวังตัวมากนัก ไม่ระวังเสียงดังที่ตนเองทำ (จากการเหยียบไม้และการหักกิ่งไม้...) ใบหูก็พัดวีอย่างสะบายเพื่อระบายความร้อนของร่างกาย   ฝ่ายผมก็กำลังมีความสุขกับการเคาะหินตรวจสอบและผูกเรื่องราวความเป็นมาทางธรณีฯจากข้อมูลที่หินและสภาพทางกายภาพต่างๆบ่งชี้   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 มี.ค. 17, 19:15
เมื่อช้างได้ยินเสียงการต่อยหินหรือการพูดคุยกันของพวกผม มันก็จะหยุดนิ่ง ฟัง และไม่ทำเสียงดังใดๆ  พอผมหยุดทำเสียง นั่งและใช้เวลาประมวลข้อมูลและจดบันทึก สักพักช้างก็จะทำเสียงดังต่อไป  ช่วงที่เรากำลังเดินและมุ่งคิดอยู่กับเรื่องงานนั้น เรามักจะไม่ได้ยินเสียงไม้หักที่ช้างทำ แต่พอได้ยินเสียง สมาธิเรื่องทางวิชาการของเราก็หายไป ห้นไปสนใจว่าเสียงนั้น ดังมาแต่ใหน ไกลหรือใกล้ และอยู่ในเส้นทางหรือพื้นที่ๆเราวางไว้ว่าจะเข้าไปเดินสำรวจหรือไม่

การประมวลข้อมูลทางวิชาการก็เปลี่ยนไปเป็นการประมวลข้อมูลความเสี่ยงภัย  ประเมินความอันตรายและทางหนีทีไล่ต่างๆ

จะลุย จะถอย หรือ จะเลี่ยง  


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 มี.ค. 17, 18:48
ที่ตัดสินใจก็มีแต่ลุย และ เลี่ยง ไม่เคยตัดสินใจถอยเลย   ไม่ได้กล้าและบ้าบิ่นอะไรเลย แต่เป็นเพียงเพราะพอจะเข้าใจพฤติกรรมของช้างว่าเป็นอย่างไร

โดยสัญชาติญาณของสัตว์ป่า การหลบเลี่ยงภัยในโอกาสแรกนั้นเป็นวิสัยตามปรกติ ช้างก็เช่นกัน ขณะที่เขากำลังเดินกินอาหารอย่างเป็นสุขนั้น ก็คงมิใช่เรื่องที่เขาจะต้องผันให้สภาพของความสุขนั้นเปลี่ยนไปในทางเป็นทุกข์

เขาก็หยุดอยู่เงียบๆคอยฟัง เราก็หยุดอยู่เงียบๆคอยฟัง  เสียงที่ต่างคนต่างได้ยินกันนั้นคล้ายๆกับอยู่ใกล้ๆ แต่แท้จริงแล้วอยู่ไกลไปไม่น้อยเลยทีเดียว อย่างน้อยๆก็ไม่น้อยกว่า 2-300 เมตร  ก็เพราะความเงียบของป่านั้นเองที่ทำให้เราได้ยินเสียงได้ไกลๆ   

พวกผมมีคำพูดเปรียบเปรยหยอกล้อกันเล่นๆว่า ใกล้ตาแต่ไกลตีน   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 มี.ค. 17, 19:33
ต่างคนต่างเงียบกันไปสักพัก แล้วก็ต้องมีฝ่ายหนึ่งหมดความอดทน ขยับเขยื้อนทำเสียงต่อไป ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งก็หาทางหลีกเลี่ยงมิให้มีการเผชิญหน้ากัน   ซึ่งส่วนมากผมจะเลือกเป็นฝ่ายหลัง ด้วยเข้าใจว่าหากเราเข้าไปใกล้เกินไป ในความรู้สึกของความเป็นเจ้าของผืนป่า(บ้าน)ของเขา เขาก็จะต้องเข้ามาไล่ให้เราออกไปพ้นๆเป็นแน่  แต่ก็มีอยู่บ่อยครั้งมากๆที่เขาจะค่อยๆเดินหากินห่างออกไปจากเรา

แต่ในบางครั้งเราก็เลือกที่จะเป็นฝ่ายไล่  อาวุธที่ใช้ก็ง่ายๆธรรมดาๆ ก็คือเสียงจากการต่อยหินด้วยฆ้อนธรณีฯ  ตรงนี้ต้องขอขยายความนิดนึง 

ในการสำรวจทางธรณีฯนั้น อุปกรณ์ประจำกายที่ใช้ในการสำรวจก็จะมี แผนที่ภูมิประเทศมาตราส่วน 1:50,000  สมุดบันทึกข้อมูล เข็มทิศ (แบบที่ใช้งานในลักษณะของกล้องรังวัด_Theodolite) และฆ้อนธรณี (เป็นฆ้อนเหล็กแข็งที่ต่อยหินแล้วไม่เยินแต่บิ่นไปเลย_Rock Pick) และบางทีก็มีภาพถ่ายทางอากาศมาตราส่วนเดียวกันกับแผนที่ติดไปด้วย (แปลความหมายทางธรณีฯจากภาพสามมิติด้วย pocket stereoscope) 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 มี.ค. 17, 20:12
ในระหว่างที่เดินสำรวจ ก็จะใช้ฆ้อนต่อยกะเทาะหินเพื่อดูเนื้อในที่สด แล้วก็ต่อยหินเพื่อเก็บตัวอย่างก้อนประมาณครึ่งกำปั้น เอากลับมาที่พักหรือที่ทำงาน(สำนักงาน)เพื่อตรวจสอบรายละเอียดในเรื่องต่างๆ อาทิ สิ่งบ่งชี้ถึงสิ่งแวดล้อมต่างๆในอดีตกาลอันไกลโพ้น

ก็คงจะนึกภาพออกถึงเสียงฆ้อนกระทบหิน(มิใช่ทุบหินที่หลุดแยกลอยออกมาเป็นก้อนๆ)และจังหวะจะโคนที่ต่อยหินแต่ละครั้ง จะดังและมีเสียงเป็นเช่นใด  เราก็ต่อยหินทำงานไปตามปรกติ สลับกับการเงียบเสียง ช้างก็คงจะรู้ว่าเสียงนั้นมิใช่เสียงของสัตว์ตามปรกติแน่ๆ เลี่ยงๆออกไปให้ห่างก็น่าจะดีกว่า  สักพักเราก็เข้าบริเวณพื้นที่ๆที่ช้างอยู่นั้นได้   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 เม.ย. 17, 18:21
แต่ถ้าเขาเงียบอย่างเดียว ก็ถึงเวลาที่เราจะต้องถอย แล้วก็ต้องถอยแบบเงียบๆและต้องระวังหลังอีกด้วย


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 เม.ย. 17, 20:11
หันมาดูเรื่องทำงานแบบอยู่ร่วมกันเป็นทีมระหว่างคนกับช้าง

ในยุคที่เรากำลังทำการปูพรมสำรวจทำแผนที่ธรณีวิทยาของประเทศไทยอย่างมีระบบ (Systematic geological mapping) อย่างจริงจัง โดยใช้ข้อมูลรายละเอียดที่ได้จากการเดินสำรวจและอื่นๆ (เช่น ภาพถ่ายทางอากาศ การวิเคราะห์ทางฟิสกส์และเคมี...ฯลฯ) นำมาประมวลใส่ลงบนแผนที่มาตราส่วน 1:50,000 แล้วจึงนำข้อมูลจากแผนที่มาตราส่วน 1:50,000 (24 หรือ 36 ระวางแล้วแต่ series) มาประมวลทำเป็นแผนที่มาตราส่วน 1:250,000 ครอบคลุมทั้งประเทศ นั้น เส้นทางการคมนาคมมีจำกัดมาก แม้จะใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อ ก็ยังต้องใช้เวลามากกว่าจะเข้าถึงส่วนหนึ่งของพื้นที่สำรวจ ที่เหลือจากนั้นก็คือการเดิน
 
สำหรับพื้นที่ในความรับผิดชอบเกือบจะตลอดมาของผมนั้น อยู่ในพื้นที่ป่าเขาทางตะวันตกเกือบๆจะตลอดแนวชายแดนไทย-พม่า เดินอย่างเดียวเลยครับ แล้วก็มิใช่เป็นการเดินไปกลับวันต่อวัน มันถูกบังคับให้เป็นการเดินต่อเนื่องเป็นเวลาหลายๆวัน อย่างน้อยๆก็ครั้งละประมาณ 7 วัน และปักหลักทำงานอยู่ในพื้นที่เดินสำรวจก็ครั้งละประมาณเกือบๆเดือนนึง

ก็ภูมิใจนะครับ ข้อมูลที่พวกผมได้สำรวจได้ประมวลมานั้น ส่งผลให้มีการตัดสินใจทำการสำรวจหาก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจบพบและขุดเจาะมาใช้งานกันจนในปัจจุบัน แล้วก็ยังคงเป็นข้อมูลพื้นฐานอย่างหนึ่งที่ใช้ในการวิเคราะห์ในแง่มุมต่างๆสำหรับการสำรวจหาแหล่งใหม่อื่นๆ


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 เม.ย. 17, 20:33
เลยเถิดไปไกล ขออภัยครับ

เดินสำรวจอย่างต่อเนื่องลึกเข้าไปในป่าหลายๆวัน แบกสัมภาระต่างๆไม่ไหวแน่ๆ (เครื่องนอน เรื่องอาหาร ตัวอย่างหิน..)  จำเป็นจะต้องใช้สัตว์ต่างต่างๆ ไม่ม้า ลา ล่อ ก็ต้องช้าง

ลากับล่อนั้น ผมไม่เคยเห็นมีชาวบ้านใช้กัน เห็นมีแต่ม้าเท่านั้นที่ใช้กัน และคนที่ใช้ก็เป็นพวกกะเหรี่ยงและชาวเขาอีกด้วย  ดูเหมือนว่าคนไทยและคนพื้นราบจะไม่นิยมใช้สัตว์ต่าง หรือจะพ้นยุคไปแล้วก็มิรู้ได้   อ้อ ยังมีกองพันสัตว์ต่างของทหารอยู่ครับ   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 เม.ย. 17, 19:30
ม้าต่างของชาวบ้านนั้น เมื่อครั้งยังเด็กอยู่ เคยเห็นแถว อ.แม่จัน จ.เชียงราย  เมื่อครั้งทำงานก็ยังพอจะเห็นอยู่บ้างในพื้นที่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน, อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี และในห้วยขาแข้ง เดินกันเป็นคาราวานครั้งละหลายๆตัว

ม้าเป็นพวกสัตว์กินพืชในวงศ์หญ้า แหล่งอาหารของมันในพื้นที่ป่าเขาจึงค่อนข้างจะมีจำกัดมาก การใช้ม้าต่างจึงจำกัดอยู่บนเส้นทางที่มีชุมชนหรือที่ๆที่มีการปลูกข้าว (ข้าวไร่) ทำไร่ (ปลูกข้าวโพด...)   ต่างกับช้างที่กินพืชผักผลไม้ที่ขึ้นอยู่ในพื้นที่ป่าเขาได้อย่างหลากหลาย    ช้างจึงเหมาะสำหรับการใช้ในพื้นที่ๆไร้ผู้คนอยู่อาศัย


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 เม.ย. 17, 20:34
เมื่อบอกว่าใช้ช้างในการสำรวจ หลายๆคนเข้าใจในภาพของการนั่งช้างแทนการนั่งรถ แล้วก็มีที่คิดแบบการเรียกใช้รถรับจ้างสาธารณะอีกด้วย 

การนั่งช้างกระทำได้สามจุด คือ ที่คอช้าง บนแหย่งหลังช้าง และที่โคนหางช้าง (ตามภาพวาดของช้างศึกในสมัยก่อน)   

การนั่งที่โคนหางนั้นผมไม่เคยเห็น   สำหรับการนั่งบนแหย่งหลังช้างนั้น ผมเชื่อว่ามีเป็นจำนวนมากได้เคยนั่งกัน ส่วนการนั่งที่คอช้างนั้น คงจะมีน้อยคนมากที่เคยนั่ง  แต่ไม่ว่าจะนั่ง ณ จุดใด ก็จะได้รับรู้ถึงอาการ Yaw Pitch และ Roll แถมด้วยอาการเด้งหน้าเด้งหลัง    ก็คงจะไม่แปลกนะครับ หากเมื่อนั่งช้างมานานๆแล้วจะเกิดอาการเมาช้าง แถมด้วยอาการปวดเมื่อยไปทั้งตัว   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 เม.ย. 17, 18:03
ผมจ้างช้างเพื่อการขนสัมภาระที่ใช้ในการเดินสำรวจเข้าป่าลึกเป็นเวลาหลายๆวัน ตามปรกติก็ประมาณ 7 วัน แต่ก็มีที่นานกว่านั้นบ่อยๆ สูงสุดก็ถึง 20 วัน
 
คนในคณะสำรวจมีระหว่าง 7-8 คน   สัมภาระที่ต้องขึ้นหลังช้างก็จะมี ผ้าใบ 3 ผืน (ผ้าเต็นท์) ถุงทะเล 3-4 ใบ (ใส่ถุงนอน ผ้าห่ม เสื้อผ้าและอื่นๆ) ปี๊บขนาด ก.40 x ย.50 x ส.40 ซม. 3 ใบ (2 ใบ สำหรับใส่เครื่องทำครัว เครื่องปรุง และส่วนประกอบอาหารแห้ง และอีกใบหนึ่งใช้เก็บเสื้อผ้า หนังสือ เอกสารทางราชการ รวมทั้งเงินค่าใช้จ่าย)  กล่องใส่ตะเกียงเจ้าพายุ  แกลลอนใส่น้ำมันก็าดขนาดประมาณ 5 ลิตร สำหรับตะเกียง  ถุงข้าวสาร ถังน้ำขนาด 20 ลิตร ตัวอย่างหินและอื่นๆ 

ปริมาณคนและสัมภาระดังกล่าวนี้ต้องใช้ช้าง 2 เชือกในการขนย้าย ซึ่งเป็นความลงตัวที่มีสภาพสมดุลย์ที่สุด   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 เม.ย. 17, 18:43
ความลงตัวและความสมดุลย์เป็นดังนี้ครับ

คนของคณะสำรวจที่ออกมาจากส่วนกลางนั้น มีอยู่เพียง 3 คนกับรถ 1 คัน คือ ตัวนักธรณีฯ ผู้ช่วยสำรวจ และพนักงานขับรถ   หากเป็นการเดินสำรวจในลักษณะมี Base camp หรือเดินไปไม่ไกลนักเพียงชั่วคืนหรือสองสามวัน  คนที่ออกเดินสำรวจจริงๆก็จะมีจำนวนระหว่าง 3-4 คน ก็มีนักธรณีฯ ผู้ช่วยฯ และชาวบ้านที่ต้องจ้างในลักษณะเป็นคนงานอีก 1 หรือ 2 คน หรืออาจจะมีที่ขอตามไปด้วยอีกคนหรือสองคน    ที่ต้องจ้างชาวบ้านนั้นก็เพื่อความปลอดภัยในชีวิต (เพราะทำงานอยู่ในพื้นที่อันตราย_สีแดง) เขาเป็นคนที่ผู้ใหญ่บ้านเลือกสรรมาให้ อย่างน้อยที่สุดเขาก็จะเป็นผู้ที่สามารถเล่าในรายละเอียดได้อย่างลึกกับวิธีการทำงานและลักษณะของการเดินสำรวจ   ข้อมูลข่าวสารในพื้นที่อันตรายดังกล่าวนี้ ผมว่ากระจายรวดเร็วไม่แพ้ยุคการสื่อสารด้วยระบบคอมพิวเตอร์เลยทีเดียว

ส่วนชาวบ้านที่ขอเดินตามไปด้วยนั้น ก็เพราะว่าเมื่อเดินทำการสำรวจนั้น จะเป็นการเดินไปในที่ต่างๆที่พวกชาวบ้านเขาไม่เคยเข้าไป หรือไม่กล้าเข้าไป หรือกลัวหลง พวกเขาเห็นเรามีแผนที่ มีเข็มทิศ ก็เลยมั่นใจว่าจะไม่มีทางหลงและกลับบ้านได้แน่ๆ    สำหรับตัวผมนะครับ ก็มีความพอใจที่มีชาวบ้านขอเดินตาม แสดงว่าข่าวสารในการทำงานด้วยความความบริสุทธิ์ใจของเราได้แพร่กระจายและเป็นที่ยอมรับกันไปทั่วแล้ว  แต่ก็ต้องระวัง กลัวถูกหมกป่าเหมือนกัน ปืนพกจึงต้องมีติดอยู่ที่เอวตลอดเวลา


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 เม.ย. 17, 19:07
เมื่อเราจะเดินไกลหลายๆวัน และคิดจะเดินด้วยการจ้างคนแบกหาม  ด้วยปริมาณสัมภาระดังกล่าว เราก็จะต้องจ้างคนอย่างน้อยก็ 10+ คน เพื่อการแบกหามโดยเฉพาะ ก็มิใช่ไม่เคยนะครับ ประเด็นสำคัญก็คือ หาคนที่จะไปกับเราจำนวนขนาดนั้นได้ยาก ด้วยไม่ยอมห่างบ้านไปไกลๆหลายๆวัน ร้อยพ่อพันแม่หลากหลายความคิด หลายปาก หลายอารมภ์ หาที่นอนก็ยาก และที่สำคัญเดินได้ไม่กี่วันเสบียงก็จะหมด  แต่ความกลัวที่สำคัญที่สุดของพวกเขาก็คือการถูกล่อลวงและถูกหมกป่า 

ต่างกับการใช้ช้าง ที่จะมีจำนวนคนน้อยกว่า ความเหนื่อยไปตกอยูที่ช้าง     


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 เม.ย. 17, 19:17
เขียนไปว่า ความเหนื่อยไปตกอยู่ที่ช้าง  แต่ในการทำงานจริงนั้น ไม่ใช่เลย  ตัวช้างเองกลับดูจะรู้สึกว่าทำงานแบบมีความสุข เป็นงานสบายๆ ทำไปเรื่อยๆไม่เร่งร้อนและไม่ต้องใช้พละกำลังมาก 

ช้างสามารถลากของที่มีน้ำหนักได้หลายตัน และก็สามารถบรรทุกของได้ประมาณ 200-300 กก. แต่เมื่อจะใช้ในการขนของเดินทางไกลอย่างต่อเนื่อง เราก็จะต้องลดน้ำหนักบรรทุกให้เหลือประมาณ 100 กก.(+เล็กน้อย)   

ในการใช้ช้างบรรทุกของนั้น เขาจะไม่ใช้แหย่งที่ใช้เป็นที่นั่งของคนดังที่เราเคยเห็นกันทั่วๆไป  เขาจะใช้ไม้ทำเป็นโครงสำหรับใส่ของวางพาดคร่อมหลังช้างลงไปข้างลำตัว ลดน้ำหนักจากการใช้แหย่งนั่งไปไม่น้อยเลยทีเดียว       


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 เม.ย. 17, 20:02
นอกจากเรื่องของน้ำหนักบรรทุกแล้ว ก็จำเป็นจะต้องมีความรู้ในแง่มุมอื่นๆอีกด้วย

เรื่องแรก คือ ช้างนั้นเป็นสัตว์ตัวโตที่กินทั้งวัน  ในช่วงเวลางานที่เราใช้เขานั้น เขาไม่มีโอกาสได้กิน ทำได้ก็เพียงใช้งวงเก็บเกี่ยวใบไม้ในระหว่างที่เดินผ่าน 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 เม.ย. 17, 18:25
เนื่องจากพื้นที่รับผิดชอบในการสำรวจทำแผนที่ของผมนั้น ค่อนข้างจะเป็นพื้นที่ๆเกือบจะไม่มีหรือไม่เคยมีคนเดินทางเข้าไปในพื้นที่นั้นๆมาก่อน ทำให้การเดินสำรวจของผมจึงมีลักษณะเป็นการตัดสินใจว่าจะทำอะไรและอย่างไรเป็นวันต่อวัน ขึ้นอยู่กับข้อมูล สภาพและสถานะการณ์ที่ผ่านมาของแต่ละวัน 

เรื่องดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากที่จะจ้างใครๆให้เดินไปทำงานกับเราโดยไม่รู้เหนือรู้ใต้ ไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้จุดหมายปลายทาง ไม่รู้ว่าจะเจอกับอะไร ....ฯลฯ แถมยังไปกับคนประหลาด เดินไป ต่อยหินไป เอาแว่นขยาย(hand lens หรือ loupe)มาส่องดูเนื้อหิน(mineralogical composition) พลิกไปพลิกมา เดินจ้องดูและเอามือลูบหินที่ปรากฎอยู่ที่นั้น (Out crop) เอาเข็มทิศไปทาบวัดทางนั้นทีตะแคงทางนี้ที (วัด attitude_strike & dip ของหน้าระนาบต่างๆ) นั่งคิด นั่งจดบันทึก บางทีก็วาดรูป บางทีก็ถ่ายรูปหิน กระเทาะหินออกมาเป็นก้อน เอาปากกาแมจิกเขียนลงบนก้อนหินนั้น แล้วก็เก็บใส่เป้สะพายข้าง แล้วก็เดินแบกไป ทำแบบนี้เกือบทั้งวัน ตกเย็นก็เอาตัวอย่างหินมากองรวม เอามาส่องกล้องดูซ้ำอีก คัดทิ้งบ้าง แต่ส่วนมากจะเก็บ ขนกลับ 
 วันรุ่งขึ้นก็ทำแบบเดิม   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 เม.ย. 17, 19:22
ครั้งแรกสุด กว่าจะได้จ้างช้าง ต้องเสียเวลานั่งคุยกับกำนันอยู่สองสามวัน แถมไม่สำเร็จอีก ได้แต่คนมาเดินนำทาง(ว่าจ้าง) มาลองดูว่าเราพูดจริงหรือไม่ อาทิตย์ต่อมาจึงได้รู้ว่ากำนัน OK จะหาช้างให้สองตัวตามที่ต้องการ ยังจำชื่อควาญช้างได้เลยครับ คนหนึ่งชื่อจรูญ เจ้าของช้างพลายวัยหนุ่ม อีกคนหนึ่งชื่อ เกล้า เจ้าของช้างพังวัยสาวใหญ่ (ควาญช้างทั้งสองคนนี้อายุอ่อนกว่าผมไม่มากนัก คนหนึ่งในภายหลังได้เป็นผู้ใหญ่บ้าน อีกคนหนึ่งไม่ทราบข่าวคราวเลย)  แล้วก็ยังต้องจ้างคู่หูประจำช้างแต่ละตัวอีกตัวละหนึ่งคน ที่เราเรียกว่า ตีนช้าง ??   เป็นอันว่า จ้างช้าง 2 ตัว ได้คนมา 4 คน

สำหรับอาหารนั้น เรื่องของช้างไม่ต้องห่วง แต่กลายเป็นว่าต้องมีภาระอาหารคนเพิ่มมากขึ้น  ด้วยที่ผมพอจะรู้สภาพของการเดินสำรวจ และก็ให้บังเอิญว่าคนหนึ่งที่ยอมมาเดินเป็นตีนช้างนั้น เคยเป็นควาญช้างมา แถมยังเคยปราบช้างถึง 2 ตัวที่ดุขนาดเคยฆ่าคน มาแล้ว แล้วเขาก็ยังชอบเที่ยวป่าอีกด้วย ก็เลยได้คำตอบสำหรับการจัดทีมเดินสำรวจ


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 เม.ย. 17, 19:55
คนที่เดินเป็นตีนช้างนั้น โดยพื้นฐานของการใช้งานช้างของชาวบ้านก็คือ เป็นผู้ช่วยควาญช้างในเรื่องที่ควาญช้างทำไม่ได้เนื่องจากนั่งอยู่บนคอช้างที่สูงจากพื้นดิน   

ในภาวะการสู้รบที่เห็นภาพทหารประจำอยู่ที่ขาทั้งสี่ของช้าง ที่เรียกว่า จตุลังคบาท นั้น  ผมมีความเห็นว่า น่าจะมาจากพื้นฐานว่า หนึ่งในจุดอ่อนของช้างที่มีอยู่นั้นก็คือ บริเวณรอยต่อของหนังที่หุ้มเล็บ เช่นเดียวกับที่รอยต่อของหนังที่หุ้มบริเวณโคนงา 

ทหารทั้งสี่นายจึงมีหน้าที่ต้องป้องกันมิให้ผู้ใดสามารถเข้ามาใกล้เท้าช้างทั้งสี่ได้ ส่วนที่งวงนั้นไม่ต้องห่วง เพราะช้างเขาสามารถใช้งวงเล่นงานคนที่จะเข้ามาทำร้ายได้ด้วยตัวเอง 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: heha ที่ 06 เม.ย. 17, 04:14
คห4
เรื่องเกี่ยวกับการพบแมวป่านี้  ทำให้ผมนึกถีงครั้งหนึ่งเมื่อช่วงต้นปี พ.ศ.2515  ได้เห็นแมวตัวหนึ่งที่บริเวณชายป่าแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ช่วงเวลาเช้าประมาณ 7-8 โมงเช้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผมกำลังออกเดินลึกเข้าไปทำงานสำรวจในพื้นที่ป่า  ก็ยังสงสัยว่าเป็นแมวป่าหรือแมวบ้าน เพราะว่า ณ พื้นที่นั้นในช่วง พ.ศ.นั้น ไม่มีหมู่บ้าน ไม่มีผู้คนเลย แถมอยู่ห่างจากพื้นที่ๆมีชุมชนอาศัยอยู่นับสิบๆ กม.  จึงอาจจะเป็นเสือกระต่ายหรือแมวป่าก็ได้

นานมาแล้ว ข้างบ้านเป็นร้านขายกระสุนปืน เขาได้ขอลูกแมวป่าจากลูกค้า
ลูกแมวลายเทาดำ ยังไม่ลืมตา เวลาป้อนนมใช้ขวดนม สลับกลับยืมแมวแม่ลูกอ่อนข้างบ้านมาเป็นแม่นม
สัญชาตญาณป่าเข้มข้นเหลือหลาย ลูกแมวขู่ฟ่อทั้งที่ยังไม่ลืมตา
เลี้ยงได้ไม่กี่วันก็เบื่อ ยกให้คนอื่นต่อ
หากเลี้ยงต่อไป แมวป่าจะเคล้าแข้งเคล้าขาน่าเอ็นดูเหมือนแมวบ้านหรีอเปล่าหนอ


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 เม.ย. 17, 18:17
ที่คุณ heha ได้บรรยายว่า "ลูกแมวลายเทาดำ ยังไม่ลืมตา" นั้น   

ลายสีเข้มที่วางพาดอยู่บนตัวลูกสัตว์ป่านั้น หากได้ติดตามดูภาพยนต์สารคดีเกี่ยวกับสัตว์ป่าต่างๆ ก็เกือบจะเห็นเป็นเรื่องปรกติ ซี่งสัตว์ป่าเหล่านั้นจะเป็นพวกสัตว์สี่เท้า   ผมเคยเห็นลูกเจี๊ยบไก่ป่า ก็มีลายอยู่ข้างตัวเหมือนกัน และก็เคยเห็นงูที่มีลายดำพาดจากหัวยาวไปตามลำตัวแล้วก็ค่อยๆจางหายไปในกลุ่มเกล็ดที่เริ่มจะสะท้อนแสงจนสุดท้ายออกสีชมพูแวววับที่ส่วนปลายหาง  งูนี้มีชื่ออะไรก็ไม่ทราบ เคยพบในพื้นที่ห้วยปะชิบนเส้นทางเข้าทุ่งใหญ่นเรศวร จ.กาญจนบุรี

 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 เม.ย. 17, 19:06
สำหรับลายสีเข้มบนตัวลูกของสัตว์ป่านั้น ผมเชื่ออย่างไม่มีข้อสงสัยว่า เป็นเรื่องของระบบการพรางตัวเมื่อประสบกับผู้ล่าที่ใช้สายตาในการหาเหยื่อ ซึ่งผมมีประสบการณ์ตรงในเรื่องนี้ กับลูกไก่ป่าครับ 

วันหนึ่ง ขณะเดินอยู่ในห้วยขาแข้ง ก็ได้พบกับฝูงไก่ป่า 4-5 ตัว  ไก่เหล่านั้นกำลังคุ้ยเขี่ยหาอาหารกินโดยไม่มีอาการตระหนกตกใจ ไม่หนีพวกผม เมื่อเข้าไปใกล้มากพอในระยะประมาณ 4 ม. ก็ได้เห็นลูกเจี๊ยบอยู่หลายตัว จนเดินเข้าไปถึงฝูงแล้ว ไก่ใหญ่ทั้งหลายจึงบินหนีออกไป ทิ้งบรรดาลูกเจ๊ยบใว้ เราก็ช่วยกันหาลูกเจี๊ยบเหล่านั้น เริ่มต้นก็นั่งแล้วใช้มือกวาดใบไม้ตรงจุดที่เห็นว่ามีลูกเจี๊ยบอยู่ก่อนที่แม่ของมันจะบินหนีไป ควานหาในใบไม้ที่ร่วงปิดทับถมอยู่ก็ไม่มีเสียงเจี๊ยบๆใดๆเลย ในที่สุดก็ลุกขึ้นใช้เท้ากวาดไปกวาดมา หวังว่าจะได้จับลูกเจี๊ยบมาชมสักตัวหนึ่ง เหยียบตายไปสองตัวก็เลยต้องเลิก    แสดงว่า ลายสีเข้มที่มีอยู่บนตัวของลูกสัตว์ป่านั้น ใช้ได้ผลอย่างดีเยี่ยมสำหรับการพรางตัว

สมัยที่ผมเดินทำงานอยู่นั้น สัตว์ป่าต่างๆจะไม่ตื่นหรือหนีคนในทันทีเห็น จะยืนจ้อง_มาแลดูกัน มาลันดูแก_กันสักพัก จนกว่าเราจะขยับใกล้เข้าไปจึงจะเดินหนี (ไม่ใช่วิ่งหนี)  สำหรับเราเองก็มีสัตว์บางชนิดที่เราต้องเลือกที่จะเป็นฝ่ายหลบ  ช้างนั้นแน่นอน  กระทิง หมูป่า เสือ   แล้วก็มีที่ต้องวัดใจกันคือ ลิง   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 เม.ย. 17, 19:15
เรื่องของจตุลังคบาท กับจุดอ่อนของช้างที่มีอยู่บริเวณรอยต่อของหนังที่หุ้มเล็บและที่รอยต่อของหนังบริเวณที่หุ้มโคนงานั้น จะขอขยายความในวันพรุ่งนี้ครับ


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 เม.ย. 17, 18:10
ย้อนกลับไปที่ คห.132 

สัตว์อีกชนิดหนึ่งที่เราต้องเลือกที่จะหลบ คือ หมี  โดยเฉพาะในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมที่มักจะพบเห็นเป็นคู่    เลยทำให้นึกถึงสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่จะต้องหลบเลี่ยงไปเลย คือ งูจงอาง โดยเฉพาะในช่วงเวลาประมาณเดือนเมษายน


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 เม.ย. 17, 19:00
ตรงรอยต่อของหนังที่หุ้มเล็บและงานั้น เป็นบริเวณที่ไวต่อความเจ็บปวดของช้างมาก เช่นเดียวกันกับที่หนังที่โคนเล็บมือและเล็บเท้าของเรา   

หากได้มีโอกาสได้เห็นช้างทำงานที่เป็นของจริง ที่มิใช่การแสดง หรือจะดูจากรูปภาพเก่าก็ได้ เราจะเห็นว่ามีอยู่ 3 รูปแบบ คือ แบบที่มีควาญช้างนั่งบังคับช้างอยู่บนคอคนเดียว แบบที่มีควาญสั่งการช้างยืนอยู่บนพื้นดินอยู่คนเดียว และแบบที่มีควาญช้างอยู่บนคอและอีกคนหนึ่งช่วยอยู่บนพื้นดิน 

ในรูปแบบที่มีคนยืนอยู่บนพื้นดินนั้น จะสังเกตเห็นว่าคนๆนั้นจะยืนอยูใกล้กับขาหน้าของช้างมาก และอาจจะเห็นด้วยว่าเขาถือก้านไม้เล็กๆ(คล้ายไม้เรียว)อยู่ในมือ  ไม้เรียวเล็กๆนั้นแหละคือสิ่งที่ช้างกลัวและจะต้องทำตามคำสั่ง ต้องฟังและไม่ดื้อแพ่งต่อคำสั่งต่างๆ   
ซึ่งแม้เราจะไม่เห็นว่ามีการถือไม้เรียว เขาก็จะใช้สันของมีดพร้าหรือมืดเหน็บที่เหน็บอยู่กับผ้าขาวม้าหรือกับเข็มขัดคาดเอว   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 เม.ย. 17, 19:58
เท่าที่เคยเห็นมาและเท่าที่ได้เคยพูดคุยเพื่อหาความรู้เพิ่มเติมจากควาญช้างท้องถิ่น  ทำให้พอจะรู้ว่าการฝึกสอนช้างของชาวบ้านนั้นดูจะแบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนการแยกลูกช้างออกจากอกแม่ พร้อมกับบอกเขาว่า ชีวิตต่อจากนี้ไปจะต้องมาอยู่ในสังคมของคน คนจะเป็นผู้อุปการะดูแลเขาต่อไป  และอีกขั้นตอนหนึ่ง คือการสอนงาน

ขั้นตอนการสอนงานนี้เองที่ทำให้ช้างกลัวอย่างฝังหัวกับไม้เรียวที่ตีแปะลงไปที่บริเวณหนังหุ้มเล็บ กล่าวได้ว่า เห็นคนถือไม้คล้ายๆไม้เรียวเข้ามาใกล้ตัวเมื่อใด ก็จะทำตาปะหลับปะเหลือก แสดงอาการระแวง

สำหรับขั้นตอนการแยกแม่กับลูกออกจากกันนั้น แล้วค่อยเล่านะครับ


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 เม.ย. 17, 20:02
ก็คงพอจะนึกภาพอออกนะครับ ว่าช้างทรงและช้างของแม่ทัพนายกองทั้งหลายนั้น จำเป็นจะต้องมีคนคอยป้องกันตีนช้างเพราะเหตุใด ก็คล้ายกับการป้องกันการเจาะยางรถนั่นเอง    ช้างมีอุปกรณ์ป้องกันตัวเองอยู่ด้านหน้าทั้งหมด ด้านหลังนั้นแทบจะไม่มีอะไรเลย จะหันคอก็มองไม่เห็น ดูจะมีแต่การเตะที่คล้ายกับการแกว่งท่อนไม้ซุงเพียงเท่านั้น แต่ก็อย่าไปคิดว่าไม่แรงนะครับ ลองนึกถึงท่อนไม้ที่แกว่งมาโดนตัวเราก็แล้วกันว่าเราจะรู้สึกเช่นใด


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 เม.ย. 17, 18:30
ได้ช้างมาแล้ว ก็ต้องพูดคุยกับควาญช้างให้มีความเข้าใจตรงกันในเรื่องลักษณะงานที่เราจะทำ ข้อจำกัดของฝ่ายช้างมีอะไรบ้าง เช่นปริมาณของที่จะบรรทุก ช่วงเวลาของการทำงานแต่ละวันและเป็นเวลาต่อเนื่องกี่วัน อาหารการกินที่จะต้องช่วยกัน .....ฯลฯ

ปัญหาหลักที่ต่างฝ่ายต่างกลัวก็คือ ฝ่ายผม การทิ้งงานปล่อยสัมภาระของพวกผมทิ้งไว้กลางป่า  ฝ่ายควาญช้าง เกี่ยวกับสุขภาพของช้าง 

ซึ่งแม้จะดูเป็นคนละเรื่องกัน แต่ก็มีความสัมพันธ์กัน     


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 เม.ย. 17, 19:06
เป็นความรู้ติดตัวต่อมาก็คือ แม้ช้างจะสามารถบรรทุกน้ำหนักได้มากก็จริง แต่หากว่าจะต้องแบกน้ำหนัก(และเดิน)ต่อเนื่องวันละหลายชั่วโมง ติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน  ช้างก็จะไม่ไหว (โทรม)และมีอารมณ์หงุดหงิด   

ภาพก็คือ  หากงานเดินของผมจะเริ่มเวลาประมาณ 8 โมงเช้าทุกวัน มีการขนของขึ้นหลังช้างเพื่อย้ายที่พักและขนของลงเพื่อตั้งแค้มป์แรมทุกๆวัน ต่อเนื่องกันหลายๆวันนับเป็นสัปดาห์  ก็หมายความว่า ช้างจะต้องอดกินอาหารตั้งแต่เมื่อเริ่มตื่นนอนไปทั้งวันจนกระทั่งขนของลงจากหลังช้างแล้วเสร็จและถูกนำไปปล่อยในป่า ช้างจึงจะเริ่มกินอาหารได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ  แม้ว่าช้างพอจะใช้งวงเก็บเกี่ยวอาหารได้บ้างในขณะกำลังเดิน แต่ก็จะได้ในปริมาณน้อยมาก คงจะเป็นได้เพียงเสมือนขนมขบเคี้ยวพอประทังหิวได้เท่านั้น   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 เม.ย. 17, 19:07
เรื่องอาหารของคนก็ยุ่งยากเหมือนกัน เพราะต้องมีอุปกรณ์ทำครัว (หม้อ กระทะ กาต้มน้ำ ..) มีเครื่องปรุงแบบแห้ง (เกลือ พริก หอม กระเทียม ..) และแบบที่เป็นน้ำ (น้ำปลา ..) ต้องมี preserved food บางอย่าง (กุนเชียง ปลาสลิด ..) และก็ต้องมีข้าวสาร

เครื่องปรุงทั้งหลายนั้น จะหมดไปเช่นใดก็ไม่เป็นปัญหาหากยังคงมีเกลือเหลืออยู่  แต่สำหรับข้าวสารนั้นหากหมดไปก็จะเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเอามาคิดในการวางแผนการเดินสำรวจ    ลองคิดดูนะครับ คนวัยฉกรรจ์ 8 คนทำงานเหนื่อยทั้งวัน จะต้องใช้ข้าวสารหุงข้าวในแต่ละมื้อเป็นจำนวนมากน้อยเพียงใด  ข้าวสาร 1 ถังจะกินได้กี่วัน


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 เม.ย. 17, 19:15
คิดมากไปกว่านั้น ก็คือหากจะกินข้าวเหนียวล่ะ ใหนจะเปลืองมากกว่ากัน  ละไว้ให้ลองคิดอีกข้อนึงครับ


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 เม.ย. 17, 19:26
แล้วก็อีกข้อพิจารณา คือระหว่างการใช้ข้าวสารที่ได้จากการปลูกในนาข้าว (นาปีหรือนาปลัง) หรือข้าวสารที่ได้จากปลูกตามลาดเชิงเขาของชาวบ้านป่าที่เรียกว่า ข้าวไร่

ข้าวสารที่ผมซื้อในสมัยนั้น ถังละประมาณ 16-20 บาท     ส่วนข้าวไร่นั้นเกือบจะไม่เป็นที่รู้จักกัน ไม่เคยเห็นมีขายกันในท้องตลาดในพื้นที่เมือง   ซึ่งหากจะใช้ข้าวไร่ก็มีความเสี่ยงที่อาจจะหาซื้อไม่ได้ ข้าวไร่นั้นพอจะหาใด้ก็ในพื้นที่ชุมชนบ้านป่า ซึ่งอาจจะมีหรือไม่มีก็ได้


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 เม.ย. 17, 19:01
กินข้าวเหนียวจะเปลืองมากกว่าข้าวเจ้าเยอะเลย เพราะข้าวเหนียวจะไม่ขึ้นหม้อ(ขยายตัว)เหมือนกับข้าวเจ้า   

การหุงข้าวเจ้าแบบเช็ดน้ำก็จะได้น้ำข้าวที่พวกผมเรียกกันเล่นว่า กาแฟหมา   เช้าขึ้นมาก็ได้อาหารอ่อนๆเบาๆกันคนละแก้วดั่งซดกาแฟตอนเช้า ตกเย็นก็ได้เครื่องดื่มชูกำลัง เอาเกลือทะเลสองสามเม็ดใส่ลงไปก็ได้เครื่องดื่มดังน้ำเกลือแร่ เรียกความชุ่มชื่นกลับมาจากการเสียเหงื่อไปเกือบทั้งวัน    น้ำข้าวจากการหุงข้าวแบบเช็ดน้ำนั้น อุดมไปด้วยวิตามิน ข้าวสารสมัยก่อนนั้นมิได้สีช้าว(ขัด)กันจนเม็ดข้าวขาวจั๊วะ ทำให้ยังคงมีวิตามินคงค้างอยู่บ้าง   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 เม.ย. 17, 19:19
ผมคิดว่า การหุงข้าวแบบเช็ดน้ำในปัจจุบันนี้คงจะไม่มี ไม่ได้เห็นกันอีกแล้ว    เอาเป็นว่า ที่ใดที่มีไฟฟ้าไปถึง ที่นั่นก็จะมีแต่การใช้หม้อหุงข้าวไฟฟ้า  หากที่ใดที่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง ที่นั่นก็จะยังคงใช้ถ่านหรือไม้ฟืนในการหุงข้าวและทำอาหาร ก็จะยังคงการหุงข้าวแบบเช็ดน้ำอยู่  ในชีวิตการทำงานในพื้นที่ชนบทของผม ผมไม่เคยเห็นชาวบ้านใช้วิธีการหุงข้าวแบบไม่เช็ดน้ำเลย 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 เม.ย. 17, 20:46
ขอขยายความนิดนึง

การหุงข้าวแบบเช็ดน้ำนั้น ผมเห็นว่ามันเป็นเรื่องที่มีทั้งศาสตร์และศิลป์ และมี element ในทางสังคมแฝงอยู่ในตัวอยู่ไม่น้อย     ไม่ว่าจะหุงด้วยหม้อดินหรือด้วยหม้อโลหะก็ตาม ก็จะต้องผ่านกระบวนการต้มน้ำที่มีข้าวอยู่ในหม้อให้เดือด เคี่ยวจนเมล็ดข้าวบานได้ที่จึงจะเทน้ำข้าวออก ซึ่งเป็นขั้นการใช้ไฟแรง  เมื่อเทน้ำข้าวออกจนเหลือแต่ข้าวหมาดๆแล้ว ก็ถึงขั้นตอนการดงข้าว ซึ่งเป็นขั้นการใช้ไฟอ่อน เพื่อทำให้ข้าวแห้งและมีความอ่อนนุ่ม  ซึ่งทำได้ทั้งแบบตักถ่านออกจากเตา หรือในกรณีของชาวบ้านที่ใช้เตาสามขา ก็จะเขี่ยขี้เถ้าออกมาเพื่อทำการดงข้าวกับขี้เถ้าร้อนๆนั้น

ข้าวที่ออกมาหอมอร่อยนั้น จึงเป็นฝีมือของคนที่หุงข้าวโดยแท้ ก็สั่งใดเลยว่าจะให้ข้าวมีเม็ดสวยหรืออ่อนนิ่ม จะให้น้ำข้าวข้นหรือใส จะให้ข้าวออกไปทางแห้งหรือออกไปทางแฉะ หรือจะให้ข้าวมีกลิ่นออกใหม้นิดๆหรือไม่ 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 เม.ย. 17, 21:01
การหุงข้าวด้วยวิธีเช็ดน้ำนั้น จำเป็นต้องใช้หม้อที่มีหูยกสองข้าง แะฝาหม้อก็ต้องมีหูด้วย  ที่สำคัญคือต้องมีไม้ขัดหม้อ   

ไม้ขัดหม้อนี้พอจะจัดได้ว่าเป็นไม้กายสิทธิ์ เป็นไม้ที่เมื่ออยู่ในมือของแม่หญิงแล้วทรงอำนาจ ใช้ได้ทั้งหมดตั้งแต่ขัดหม้อ ตีหมา ตีแมว ฟาดสามี ตีก้นลูก เขี่ยข้าวในหม้อ เขี่ยฟืนในเตา  เป็นของที่เหน็บเก็บไว้ที่ข้างฝาของห้องครัว เห็นชัดเด่นเป็นสง่า หยิบฉวยได้ง่าย และเป็นของเก่าเก็บตกทอดการใช้ต่อกันมา  ไม่นิยมจะทำขึ้นใช้ใหม่  ผมเคยได้ยินแต่คำบ่นว่าไม้ขัดหม้ออันใหม่นี้สู้อันเก่าไม่ได้เลย  ของคณะสำรวจของผมก็มี เก็บอยู่ในปี๊บเครื่องครัวตลอดเวลา ก็พกไปทุกที่ๆต้องตั้งแคมป์หุงหาอาหาร   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 เม.ย. 17, 19:09
เศษถ่านก้อนเล็กๆและผงเถ้าถ่านที่เขี่ยออกมาเพื่อดงข้าวนั้น ใช้หมกหอมและกระเทียม (ที่เรียกว่าเผาหอม เผากระเทียม) ทำให้สุก หอมและได้รสที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ มากกว่าการเอามาเสียบไม้แล้วปิ้งบนเตาไฟ (เพียงเพื่อให้ได้ชื่อว่าหอมเผา กระเทียมเผา)   อาหารที่ใช้หอมเผากระเทียมเผาในสมัยก่อนจึงมีความลุ่มลึกในกลิ่นและรสชาติ มีอร่อยกว่าในปัจจุบันนี้มาก   

ห่อหมกและแอบทั้งหลายที่หมกให้สุกกับขี้เถ้าร้อนๆข้างเตานี้ ก็มีกลิ่นหอมที่ชวนกินและมีความอร่อยมากเช่นกัน แม้กระทั่งกับกะปิที่นำมาเผาด้วยวิธีการหมกนี้ด้วย   กลิ่นหอมนั้นก็มาจากใบตองกล้วยที่ใช้ห่อ ซึ่งจะให้กลิ่นใหม้อ่อนๆจากใบตองส่วนนอกของห่อ และกลิ่นหอมจากความชุ่มชื้นของใบตองส่วนในของห่อ   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 เม.ย. 17, 19:35
เรื่องข้าวนาและข้าวไร่นั้น 

ข้าวนาที่เรากินกันตามปรกติจะเป็นกลุ่มข้าวเมล็ดยาว ในขณะที่ข้าวไร่จะเป็นกลุ่มข้าวเมล็ดสั้น     

ข้าวนาจะปลูกในพื้นที่ราบและต้องใช้น้ำช่วยในการควบคุมการเจริญเติบโตของหญ้า  แต่ข้าวไร่จะปลูกอยู่ตามลาดเชิงเขา ใช้ไม้ไผ่กระทุ้งให้เป็นหลุม หยอดเมล็ดข้าว แล้วก็กลบ ต้นข้าวเจริญเติบโตด้วยน้ำจากฟ้าเท่านั้นเอง   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 เม.ย. 17, 19:46
ข้าวไร่เป็นข้าวอินทรีย์ตัวจริง ปราศจากการใช้สารเคมีทุกชนิดทั้งในช่วงเวลาของการปลูกและการเก็บในยุ้งฉาง  ต่างกับข้าวนาอย่างสิ้นเชิงที่ต้องมีการใช้สารเคมีในบางขั้นตอน


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 เม.ย. 17, 21:11
ชาวบ้านป่าก็อยากกินข้าวขาวของโรงสีในเมือง  เราก็ชอบกินข้าวไร่ที่สีกันในชุมชนหรือที่ใช้กระครกกระเดื่องตำแล้วฝัดกินกันเอง  ก็เลยมีการแลกกันอยู่บ่อยๆ แบบถังต่อถังบ้าง หรือแบบถังต่อถัง+ส่วนเขาแถมบ้าง

เมื่อซื้อข้าวสารในเมือง ก็จะเลือกข้าวเก่า เพราะหุงขึ้นหม้อดีและไม่ค่อยจะบูดเสีย  ข้าวใหม่นั้นหุงด้วยวิธีการเช็ดน้ำได้ค่อนข้างยาก มักจะออกไปในทางแฉะและก็จะบูดเสียได้ง่ายมากอีกด้วย     

สำหรับข้าวไร่นั้นเป็นข้าวที่เกือบจะไม่มีการเก็บอยู่ในยุ้งฉางก้าวข้ามปีการผลิต   ข้าวใหม่ก็หุงยากเช่นกัน ข้าวไร่นี้เมื่อหุงสุกแล้วก็เกือบจะเหมือนกับข้าวญี่ปุ่น มีลักษณะครึ่งทางระหว่างขาวสวยกับข้าวเหนียว ต่างกันที่ข้าวไร่จะออกไปทางเป็นข้าวร่วนซุย ส่วนข้าวญี่ปุ่นนั้นจะออกไปทางเหนียวจับตัวกัน     


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 12 เม.ย. 17, 21:32
บรรยายเรื่องบ้านนาป่าไร่ซะขนาดนี้ ถ้าท่าน NAVARAT.C ไม่ช่วยเปิดตัวเมื่อครั้งกระโน้น ก็คงคาดไม่ถึงว่าท่าน naitang เป็นอดีตนักเรียนมหาดเล็กหลวงมาก่อน


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 เม.ย. 17, 18:28
 ;D

ครับ  ถูกเกลามาให้รู้จักตนเอง รู้จักเรื่องของการสังคม รู้จักเรื่องของการเคารพ รู้จักเรื่องของส่วนรวม รู้จักเรื่องของการเผื่อแผ่ รู้จักเรื่องของการอภัย...   ซึ่งจะทำให้เกิดสัมฤทธิ์ผลได้ ก็จะต้องรู้จริง สัมผัสจริง ตั้งใจจริง ทำจริง รู้จักพอเพียงและเพียงพอ   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 เม.ย. 17, 18:42
จะเล่าเรื่องข้าวไร่(และการเกษตรอื่นๆ)ต่ออีกหน่อย ก็เกรงว่าจะออกนอกเรื่องช้างมากเกินไป เอาไว้เล่าแทรกเมื่อเหมาะสมนะครับ


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 13 เม.ย. 17, 19:29
ขอบคุณครับที่นำความรู้ ประสพการณ์จริงมาเผยแผ่
ได้ติดตามมาตลอด และจะติดตามต่อไปครับ


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 เม.ย. 17, 19:31
ก็ตกลงตารางการเดินทำงานสำรวจกันได้บนพื้นฐานว่า การเดินสำรวจนี้เป็นการเดินแบบต่อเนื่องที่มีการย้ายที่นอนทุกวัน ทุกคนจะต้องช่วยกันในทุกเรื่องของการกินอยู่ร่วมกัน และจะต้องมีความซื่อต่อกัน

เช้าประมาณตี 5 ควาญช้างก็จะไปจับช้าง นำกลับมาที่แค้มป์แล้วทำการอาบน้ำและแต่งตัวช้างให้เสร็จก่อนเวลา 8 โมงเช้า ทีมสำรวจ 4 คน จะเดินทำงานแยกออกไป  ส่วนทีมช้าง 4 คน เมื่อเก็บของและทำการบรรทุกเรียบร้อยแล้วก็จะเดินไปที่นัดหมายหรือที่ๆมีแอ่งน้ำและสามารถแค้มป์แรมได้ จะไม่มีการห่อข้าวกลางวันกัน กินวันละสองมื้อคือเช้ากับเย็น  ทั้งนี้ ช้างจะเดินต่อเนื่องไม่เกินเวลาประมาณบ่าย 3 โมงเย็น แล้วก็จะหยุดและทำการตั้งแค้มป์แรม   เมื่อเดินต่อเนื่องได้ประมาณ 7 วัน  ก็จะหยุดพัก 2 คืนต่อเนื่องกัน เพื่อพักช้าง เพื่ออาบน้ำซักผ้า เพื่อประมวลข้อมูลที่ได้มาจากการเดินสำรวจ เพื่อจัดการกับเสบียงอาหาร และอื่นๆ (ซึ่งส่วนมากจะเป็นในบริบทของเรื่องการสื่อสารทำความเข้าใจกันระหว่างผมและคณะสำรวจ กับ ผู้คนชาวบ้านป่าในพื้นที่ป่านั้นๆ และคนที่เราเรียกว่า ผกค.ในสมัยนั้นอีกด้วย)


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 เม.ย. 17, 18:24
ดูเป็นลักษณะการทำงานที่ง่ายๆไม่สลับซับซ้อนอะไร  แต่พอทำจริงก็มีเรื่องที่ต้องยืดหยุ่นอย่างมากในแทบจะทุกเรื่องก็ว่าได้

ในการเดินทางไกลตามปรกติแบบไม่เร่งรีบ ทั้งคนและช้างจะเดินด้วยความเร็วพอๆกัน คือ ประมาณ 4 กม./ชม. ซึ่งความเร็วในระดับนี้เป็นอัตราที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการเดินทางไกลแบบต่อเนื่องของทั้งคนและช้าง ไม่เหนื่อยมากและไม่ต้องหยุดพักบ่อยๆ ส่วนชาวบ้านนั้น ความเร็วในการเดินทางไกลตามปรกติของพวกเขาจะอยู่ที่ประมาณ 6 กม./ชม.   

ในการเดินทำงานสำรวจของผมนั้น อัตราความเร็วจะอยู่ที่ประมาณ 1-2 กม./ชม.และอาจจะช้ากว่านั้นหากพบว่ามีข้อมูลน่าสนใจที่จะต้องสืบค้นมากขึ้นจากตัวหิน ความสัมพันธ์และการวางตัวการวางตัวของมันในพื้นที่นั้นๆ รวมทั้งหากได้พบซากสัตว์ดึกดำบรรพ์ (fossil)   เพราะช้อมูลพื้นฐานที่ต้องการก็คือ แผนที่แสดงการวางตัวของหินต่างๆ ความสัมพันธ์ระหว่างกันของมัน มันเกิดมาอย่างไร เมื่อใด และมันมาอยู่ด้วยกันได้อย่างไร  ง่ายๆก็คือประวัติชีวิต การเปลี่ยนแปลง และสิ่งแวดล้อมที่มันผ่านมา         


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 เม.ย. 17, 19:09
ผมเดินทำงานอยู่ในร่องห้วยเป็นส่วนมาก แต่เป็นห้วยที่มีร่องน้ำต้องตัดขวางกับแนวการวางตัวของชั้นหินและจะต้องมีดานหิน (outcrop) โผล่ให้เห็นด้วย 

ดูก็เดินง่ายดี แต่อาจจะไม่ง่ายนักสำหรับช้าง  ช้างชอบเล่นน้ำและชอบอาบน้ำก็จริง แต่ไม่ชอบเดินลุยน้ำไปตามลำห้วย    เราจึงเห็นด่านช้างเกือบทั้งหมดในป่าเป็นเส้นทางที่ข้ามห้วยไปมา จะมีเลาะในห้วยอยู่บ้างก็ในบริเวณที่เป็นตะพักลำน้ำ (stream terrace)  เหตุผลก็ดูจะไม่มีอะไรมากไปกว่า ช้างกลัวติดหล่ม    แล้วค่อยขยายความนะครับ


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 เม.ย. 17, 19:16
การเดินลุยน้ำไปตามห้วยนั้นดูเหมือนจะสะดวกดี  แต่ในความเป็นจริงแล้วห้วยมิได้ราบเรียบดั่งที่คิด ในห้วยบางจุดก็เป็นดานหินตะปุ่มตะป่ำเต็มไปด้วยหลุมบ่อ (potholes) บางจุดก็มีก้อนหินใหญ่วางอยู่ระเกะระกะ  บางจุดก็เต็มไปด้วยกรวดหรือทราย บางจุดก็เป็นดินอ่อนนุ่ม บางจุดก็มีน้ำลึก มีตลิ่งที่มีหลืบหิน บางจุดก็เป็นตาด...ฯลฯ

ด้วยสภาพดังกล่าวนี้ คนเราเองยังเดินได้ยาก และเดินไปได้ค่อนข้างจะช้า เพราะจะต้องหลบเลี่ยงไปมา  สำหรับช้างนั้นจะยิ่งเดินลำบากมากกว่าเราอีกหลายเท่า     


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 เม.ย. 17, 19:38
ช้างป่าเดินตัวเปล่า เขาจะเดินมุ่นเดินมุดพุ่มไม้ หรือจะเดินละกิ่งไม้เช่นใดก็ได้  แต่ช้างที่บรรทุกของอยู่บนหลังทำเช่นนั้นไม่ได้   เมื่อเดินในห้วยลำบาก ก็ต้องเดินเลาะตามตลิ่งห้วยซึ่งจะมีกิ่งไม้ใบไม้หนาแน่น และจะเดินลัดข้ามไปข้ามมาตัดคุ้งห้วยต่างๆ   ภาระหนักก็จึงไปตกอยู่ที่ควาญช้างที่จะต้องฟันกิ่งไม้เพื่อมิให้มาระรานกับตัวเองและสิ่งของที่บรรทุกมาจนเกิดความเสียหาย     


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 เม.ย. 17, 17:55
เดินเลาะตลิ่งลำห้วย ดูคล้ายกับจะเป็นการเดินในพื้นที่ระดับเดียวที่ง่ายๆ แต่ในความเป็นจริงก็ไม่ง่ายดังที่คิด  ข้างตลิ่งที่อยู่สูงกว่าระดับท้องห้วยไม่มากนักนั้น มักจะเป็นที่ๆมีก้อนหินขนาดใหญ่ไหลลงมาตามลาดเอียงของตลิ่งและหินที่ถูกน้ำพัดพามา(เมื่อเกิดมีน้ำป่า)มากองทับถมกัน หรือไม่บางจุดก็เป็นตลิ่งที่เป็นผนังหิน

 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 เม.ย. 17, 18:40
ภาพต่างๆที่ผ่านมานั้น ดูจะฉายภาพที่ออกไปในทางที่มีแต่ข้อจำกัด  ซึ่งหากเราไปพะวง ไปเครียดกับมัน คิดแต่ว่ามันยุ่งยากไปหมด เราก็คงจะต้องเป็นโรคประสาทเป็นแน่  ก็ในเมื่อความเป็นจริงมันเป็นเช่นนั้น เราก็ต้องอยู่กับมันให้ได้อย่างมีความสุขและความสบายทั้งทางกายและใจ

ในสภาพทั้งหลายดังกล่าวนั้น เมื่อทำงานจริงเรากลับได้พบแต่เรื่องที่น่าสนใจ เรื่องที่น่ารัก และเรื่องที่อยู่ในบริบทของความสุขมากมาย  ช้างมีอะไๆที่ของเขาที่น่ารักน่าเอ็นดูอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 เม.ย. 17, 19:05
เล่ามาแต่แรกว่า ผมได้จ้างช้าง 2 ตัว ตัวหนึ่งเป็นตัวเมีย อีกตัวหนึ่งเป็นตัวผู้ 

ขออนุญาตใช้คำว่า "ตัว"   สำหรับคำว่า "เชือก" นั้น ผมมีความเห็นส่วนตัวว่า น่าจะใช้เรียกช้างที่ทำงานอยู่ในระบบ คือ มีสังกัดเป็นเรื่องเป็นราว คล้ายกับการให้เกียรติเรียกว่า "ท่าน"

และก็ขอใช้คำว่า "ตัวเมีย" และ "ตัวผู้" แทนคำว่า "พัง" และ "พลาย"  ด้วยเห็นว่าก็น่าจะเป็นการใช้เรียกช้างที่ทำงานอยู่ในระบบเช่นกัน ในลักษณะของการใช้คำนำหน้าว่า "นางสาว หรือ นาง" และ "นาย"


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 เม.ย. 17, 19:29
โดยตรรกะพื้นๆแล้ว ในการจะเดินหรือจะเคลื่อนย้ายกลุ่มไปใหนมาใหนของพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเกือบทั้งหมด จะนำด้วยผู้ที่มีอาวุโสสูง ซึ่งอาจจะเป็นทางด้านอายุหรือด้านสังคม   

แต่เมื่อช้างอยู่ในบังคับของคน (มีควาญนั่งอยู่บนคอ) เราก็สามารถจะเลือกและจะใช้ช้างตัวใดตัวหนึ่งให้เป็นตัวนำ และก็จะสลับสับเปลี่ยนตัวนำเช่นใดก็ได้    เมื่อช้างที่ผมจ้างนั้น (ตัวเมียมีขนาดตัวใหญ่กว่าและมีอายุมากกว่าช้างตัวผู้โขอยู่) ก็น่าจะเป็นเช่นนั้น   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 เม.ย. 17, 17:22
ก็เป็นเช่นนั้น แต่งานที่ทำมีประสิทธิภาพต่ำ

เมื่อเริ่มทำงาน ควาญช้างเขาก็ตกลงกันให้เอาช้างตัวผู้เดินนำ มันก็ค่อยๆเดินช้าๆ เดี๋ยวก็หันหัวเอี้ยวตัวซ้ายทีขวาที คอยดูข้างหลัง คล้ายกับพะวงอะไรสักอย่าง  เมื่อถึงบริเวณที่พอจะมีทางเดินที่กว้างพอมันก็ชลอให้ช้าลง พยายามจะให้ช้างตัวเมียเดินมาขนาบอยู่ข้างๆ   

เดินวันแรก ควาญต้องนั่งอยู่บนคอตลอดพร้อมส่งเสียงสั่งการและไสให้มันเดินอยู่ตลอดเวลา  เหนื่อยเลยครับ ทั้งฟันกิ่งไม้และต้องเขย่าเท้าที่ข้างใบหูเพื่อไสให้ช้างเดินตลอดเวลา 

ในวันแรกนี้ ดูสถานการณ์แล้วอาจจะคลาดที่นัดพบกันได้ตามที่คาดไว้  ผมต้องเลยต้องเดินนำหน้าช้างบ้าง เดินตามหลังช้างบ้าง ตามๆกันๆไป  เพราะระยะทางของการเดินที่คาดไว้แต่แรกนั้นน่าจะคลาดเคลื่อนจนทำให้การเดินถึงบริเวณที่นัดพบผิดเวลาเกินไปกว่าที่วางแผนไว้มาก  ความหิวของช้างและคนคงจะทำให้เกิดอารมณ์ที่ไม่ดีได้


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 เม.ย. 17, 18:06
วันที่สอง ก็เลยตกลงกันที่จะเอาช้างตัวเมียนำ ผลต่างกันเลย เดินได้ระยะทางตามที่คาดไว้ในช่วงเวลาไม่เกินบ่ายสามโมง ทุกคนพอใจ และวันนี้เป็นวันที่ทุกคนได้เรียนรู้เรื่องของช้างในอีกมุมหนึ่ง 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 เม.ย. 17, 19:37
การใช้ช้างทำงานของชาวบ้านนั้น ตามปรกติแล้วช้างแต่ละตัวจะแยกกันทำงานของตน เป็นงานเดี่ยวในลักษณะงานใครงานมัน (ไถนา, ลากเกวียน, ฉุดแพบรรทุกรถยนต์ข้ามน้ำ ...) เราจึงไม่ค่อยจะได้เห็นในภาพอื่นๆ (เช่น ในรูปแบบของการขนของเดินตามกัน)

ช้างเป็นสัตว์ที่มีความสามารถในการรับรู้และสามารถแสดงออกซึ่งกระบวนคิดของเขาทั้งทางใจ(อารมณ์)และทางกาย 

ซึ่งหนึ่งในภาพที่แสดงออกที่ได้เห็นก็เมื่อเราได้เอาช้างตัวเมียเดินนำและให้ช้างตัวผู้เดินตาม    งวงของช้างตัวผู้ก็เป็นดั่งกับมือ แต๊ะอั๋งโน่นนิดนี่หน่อยไปทั่ว โดยเฉพาะความพยายามกับนมสองเต้าเมื่อใดที่มีช่องทาง


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 เม.ย. 17, 18:45
เมื่อเอาช้างตัวเมียเดินนำ ระยะทางเดินก็ได้มากขึ้น ถึงที่ๆจะพักแรมได้เร็วขึ้น ช้างก็ถูกนำไปปล่อยให้หากินได้เร็วขี้น ทำให้ช้างไดัมีเวลากินนานขึ้น    ข้อจำกัดในเรื่องของเวลาของฝ่ายคนก็ลดน้อยลงจนทำให้ไม่รู้สึกมีความเครียด

ช้างตัวผู้มักจะมีอาการคึกในช่วงเช้าของการเดิน แต่พอเดินไปๆก็จะลดลงและหายไป ซึ่งก็คงจะเป็นเพราะเหนื่อย  แต่หากวันใหนดูจะคึกมากเป็นพิเศษ ควาญช้างเขาก็มีวิธีการทำให้ลดลง คือ เมื่อจับช้างกลับมาถึงที่พักแล้ว ก่อนที่จะอาบน้ำแต่งตัว เขาก็จะยุไล่ให้วิ่งขึ้นลาดเชิงเขาของตลิ่งห้วย หน้าอกหน้าใจของช้างก็จะโผล่ออกมาหมด แถมยังบังคับให้โค้งงอไปทางใหนก็ได้อีกด้วย เดี๋ยวเดียวเท่านั้นเองก็จบเรื่อง กลับเข้าสู่ภาวะปรกติ  เป็นภาพที่ทำให้เราอมยิ้มได้เมือนกัน

สำหรับช้างตัวเมียนั้น เช้าๆก็มีอาการรำคาญอยู่บ้างหากมีการเกินเลยจนมากเกินไป     


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 เม.ย. 17, 19:00
ถึงตรงนี้ ก็คงจะต้องขยายความเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องของ เวลา ว่ามันเข้ามามีส่วนในการสร้างข้อจำกัดแและความกดดันกับทุกชีวิตในคณะสำรวจได้เช่นใด


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 เม.ย. 17, 19:13
ได้รับรู้ข้อมูลจากควาญช้างว่า ช้างที่เป็นอิสระนั้นจะเดินไปกินไปได้ทั้งวัน จะหยุดเพื่อหลับนอนก็ในช่วงเวลาประมาณเที่ยงคืนถึงตี 2 และจะตื่นในช่วงเวลาประมาณตี 3 ถึงตี 5   

ตามลักษณะการทำงานของผม และที่เราได้เห็นการใช้ช้างในการแสดงหรือให้บริการนักท่องเที่ยวตลอดทั้งวัน ก็แสดงว่าช่วงเวลาที่ช้างนั้นๆจะสามารถกินอาหารได้อย่างจริงจังก็คือช่วงเวลากลางคืนเท่านั้น   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 เม.ย. 17, 19:44
ภาพของกิจวัตรประจำวันของช้างในการทำงานดังเช่นที่กล่าวมา ซึ่งมีความแตกต่างไปจากความมีอิสระตามธรรมชาติของเขาก็คือ การมีช่วงเวลากินที่ถูกบังคับหรือถูกจำกัดให้เป็นเวลาและในช่วงเวลาสั้นลง  ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงขนาดและน้ำหนักของตัวเขาแล้วก็คงพอจะได้เห็นว่าปริมาณอาหารที่เขาต้องการนั้นมันมากน้อยเพียงใด   ซึ่งในช่วงเวลาอันจำกัดที่เราจัดให้เขานั้น เขาจำเป็นจะต้องรีบหา(อาหาร)และจะต้องรีบกินเพื่อให้ได้ปริมาณที่เหมาะสมสำหรับการดำรงชีพและรักษาความสมบูรณ์ของร่างกายของเขา

ผมไม่มีความรู้ว่าปริมาณอาหารที่ร่างกายของช้างต้องการนั้นคิดเป็นน้ำหนักในแต่ละวันมากน้อยเพียงใด แต่ตามน้ำหนักตัวของเขาก็คงน่าจะอยู่ในระดับ 100++ กก. ขึ้นไป 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 เม.ย. 17, 21:14
เวลาบ่าย 3 โมงเย็นที่ถูกกำหนดว่าควรจะเป็นเวลาถึงจุดที่พักนั้น เกี่ยวข้องกับเรื่องของสุขภาพของช้างอยู่มากเลยทีเดียว ดังนี้

เมื่อเรากำหนดจะเริ่มทำงานในเวลาประมาณ 8 โมงเช้า ก็หมายความว่าช้างจะต้องแต่งตัวเสร็จพร้อมที่จะขนของอย่างช้าที่สุดก็เวลาประมาณ 8 โมงเช้า ซึ่งหมายความว่าช้างจะต้องเริ่มลงน้ำล้างตัวให้สะอาดเมื่อเวลาประมาณ 7.30 น. ต้องขัดถูตัวเอาฝุ่นเอาทรายออกเพื่อมิให้เป็นผงขัดที่แทรกอยู่ระหว่างเครื่องหลังกับผิวหนัง ซึ่งหมายความต่อไปว่าควาญช้างจะต้องตื่นแต่เช้ามืดออกไปจับช้างแล้วพากลับมาให้ถึงที่พักในช่วงประมาณก่อนเวลา 7.30 น.

เมื่อเอาช้างไปปล่อยนั้น ระยะทางอาจจะห่างจากที่พักแรมอยู่ที่ประมาณ 2-4 กม. ซึ่งเป็นการเดินประมาณ 1 ชม. ไป-กลับ ก็ 2 ชม. เสียเวลาตามหาช้างอีกประมาณครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชม. ก็คือควาญช้างจะต้องออกเดินจากที่พักแรมในเวลาประมาณไม่เกินตี 5  ไปจับตัวช้างที่เวลาประมาณ 6 โมงเช้า   เท่ากับช้างพอจะได้กินอาหารเช้าเป็นเวลาประมาณ 1 ชม. แล้วจะต้องอดไปจนถึงเวาประมาณบ่าย 3 โมงเย็น   

โดยสรุป เวลากินอาหารของช้างโดยภาพรวมก็จะเริ่มได้เมื่อเวลาประมาณบ่าย 5 โมง เรื่อยไปจนถึงประมาณตี 1 หรือตี 2 แล้วก็นอน เมื่อก็ตื่นมาได้กินอีกเล็กน้อยก่อนที่จะต้องไปทำงาน 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 เม.ย. 17, 19:24
เวลาของคนไปเกี่ยวข้องกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในมุมต่างๆ ดังนี้

พื้นที่ป่าใหญ่ในภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูงนั้น ความแตกต่างของอากาศ(อุณหภูมิ)ระหว่างกลางวันกับกลางคืน (diurnal temperature) มีได้มากกว่า 15 องศาในช่วงฤดูหนาวที่มีอากาศแห้ง  ดวงอาทิตย์กว่าจะขึ้นพ้นทิวเขาส่องแสงถึงเราได้ก็ใกล้ 8 โมงเช้า อากาศก็จึงจะเริ่มอุ่นขึ้น  ตอนบ่ายช่วงเวลาประมาณบ่ายสามโมงเย็น ดวงอาทิตย์ก็เริ่มใกล้จะลงลับทิวเขา อากาศก็จะค่อยๆเย็นลง สัมผัสได้เลย

เวลาของคนก็ไปเกี่ยวกับเรื่องของแสงสว่างและความหนาวเย็นนี้ ด้วยเรามีเรื่องที่จะต้องทำอยู่หลายเรื่องในทุกครั้งที่ทำการตั้งแค้มป์พักแรม

เรื่องแรกก็คือ การหาไม้ฟืนสำหรับทำครัว และหาขอนไม้แห้งในขนาดที่สามารถจะติดไฟกรุ่นอยู่ได้ทั้งคืนเพื่อการให้ความอบอุ่นและไล่สัตว์  ไม้ฟืนสำหรับการทำครัวนั้นหาได้ไม่ยากแน่นอน แต่ขอนไม้ (ท่อนขนาดประมาณถังแกสใบเล็ก ยาวประมาณ 2 ม.) นั้นบางครั้งก็หายากเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 เม.ย. 17, 19:51
เรื่องที่สอง  เมื่อเราไม่ได้กินข้าวกลางวันกัน พอเวลาบ่าย 3 โมงเราก็จึงรู้สึกหิวอยู่ไม่น้อย  ซึ่งจะเริ่มทำครัวได้ก็ต่อเมื่อขนของลงจากหลังช้างหมดแล้ว  ต้องไปหาหินมาทำสามขาเป็นเตาหุงข้าว หาไม้ฟืน ฯลฯ  กว่าจะได้อาหารแบบเรียบง่ายพร้อมที่จะทานได้ก็ต้องใช้เวลามากกว่า 1 ชม.เป็นอย่างน้อย (หลังจากมาถึงจุดที่ตั้งแคมป์แรมแล้ว)

ช่วยกันคนละไม้ละมือ หาฟืน สร้างที่พักด้วยผ้าเต็นท์ทำหลังคาผืนนึง ปูพื้นนอนผืนนึง ปูทำครัวและกินข้างผืนนึง จัดที่นอนของแต่ละคน  ออกเดินสำรวจดูลาดเลารอบๆที่พักเพื่อดูเรื่องความปลอดภัยทั่วๆไปและพื้นที่ทำธุระส่วนตัวยามเช้าหรือยามค่ำคืน ฯลฯ

คงพอจะเห็นภาพได้ว่า หากมาถึงจุดพักแรมเย็นมากกว่านี้ จะโกลาหนกันเพียงใด    


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 เม.ย. 17, 17:36
 :-[ สะกดคำว่า โกลาหล ผิดไปอย่างแรงเลยครับ  ไม่ใช่ typo error และก็ไม่ใช่ typing error ครับ

ขออภัย


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 เม.ย. 17, 18:13
อีกเรื่องหนึ่ง คือ กับข้าว 

แน่นอนอยู่แล้วที่เนื้อสัตว์และผักที่เป็นของสดที่จ่ายมาจากตลาดในเมืองนั้น ย่อมหมดไปในวันสองวันแรก หรือก่อนวันออกเดินทางพร้อมกับช้างด้วยซ้ำไป ของที่อยู่ในปี๊บอาหารก็จึงจะเหลือแต่พวกเครื่องปรุงอาหารที่เก็บได้นานเป็นหลัก (หอม กระเทียม ตะใคร้ ใบมะกรูด ข่า กระชาย กะปิ พริกแห้ง เกลือ น้ำปลา ...ฯลฯ) ส่วนเนื้อและผักสดนั้นต้องช่วยกันหากันวันต่อวันไป

ในช่วงเช้าจะเป็นช่วงเวลาที่ผมมี concentration ในการทำงานทางวิชาการมากที่สุด แต่เมื่อยิ่งเข้าช่วงบ่ายมากขึ้นก็จะมีเรื่องอื่นๆเข้ามาแทรกให้คิดมากขึ้น (อาทิ แคมป์อยู่ที่ใหน ตั้งแคมป์ได้ไหม มีน้ำไหม ...)  และหนึ่งในนั้นก็คือเรื่องของอาหาร ซึ่งทุกคนจะต้องช่วยกันหากับข้าวสำหรับมื้อเย็นและมื้อเช้าต่อไป (หากทำได้)   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 เม.ย. 17, 18:56
จริงๆแล้ว ก็มีของสดที่จ่ายจากตลาดไปและหวังจะให้คงเหลืออยู่นานที่สุดก็คือ มะเขือขื่น เพื่อเอาไว้ใส่ในแกงป่า ซึ่งจะทำให้แกงอร่อยขึ้นอย่างมาก  อื่นๆก็พวกพืชสมุนไพรและเครื่องหอม (ที่ต้องพยายามต้องให้มีอยู่ประจำ) อาทิ กระเพราที่มีดอก ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด มะขามเปียก   แล้วก็มีเครื่องเทศบางอย่าง เช่น ดีปลี กานพลู อบเชย พริกหอม เม็ดผักชี ยี่หร่า... ก็เผื่อว่าอาจจะได้ใช้  :-X    สำหรับกานพลูนั้น ใช้อมและกัดย้ำๆเพื่อแก้ปวดฟัน

ของที่ขาดไม่ได้จริงๆ ที่ต้องซื้อ และก็มักจะเหลือจนถึงวันกลับวันสุดท้ายก็คือ กุนเชียง 1 กก. ถั่วเขียว 1 กก. และน้ำตาลทราย 1 กก. ซึ่งเป็นอาหารยามขาดแคลนเมื่อใกล้ขีดสุด และเมื่อถึงขีดสุด   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 เม.ย. 17, 19:06
อ้อ ลืมไปอีกอย่างหนึ่งที่ต้องซื้อก็คือ กะปิไทยสีม่วงดำ (ทำจากสัตว์น้ำเค็ม) กับ กะปิมอญสีน้ำตาล (ทำจากสัตว์น้ำจืด)  กะปิไทยเอาไว้ทำน้ำพริกกินกับผัก สำหรับกะปิมอญเอาไว้ใส่ในน้ำพริกแกงป่า (ให้ความอร่อยต่างกันมากเลยทีเดียว)  แล้วก็ต้องไม่ลืมลูกมะกรูดอีกด้วยครับ


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 เม.ย. 17, 19:05
อาหารสดในป่าที่เราทั้งหลายมักจะนึกถึงก็คือเนื้อสัตว์ที่ได้มาด้วยการล่าด้วยการยิง    และก็คิดว่ามีผู้คนเป็นจำนวนไม่น้อยที่คิดว่าในการเดินป่าทำงานของผมนั้นสนุกและเพรียบพร้อมไปด้วยการล่าสัตว์ ซึ่งผมต้องตอบคำถามและต้องอธิบายอยู่บ่อยๆ แม้กระทั่งถูกห้ามไปเดินในบางพื้นที่ก็มี ก็เป็นเรื่องของ cognitive ability

การล่าสัตว์เป็นการเดินไปแสวงหาตัวสัตว์ในช่วงเวลาที่เหมาะสม (ของสัตว์แต่ละชนิด)  ต่างกับการเดินสำรวจอยู่ในห้วยที่เดินแบบไม่ระวังความดังของเสียง มีเสียงคุยกันและมีเสียงเคาะหิน/ต่อยหินอยู่ตลอดเวลา     อาหารหลักที่เก็บกินกันอยู่ทุกวันจึงเป็นของที่หาได้อยู่ในบริเวณร่องห้วย พืชผักที่สำคัญก็ได้แก่ ผักกูด ผักกาดป่า อื่นๆที่อาจจะพบและเก็บได้ก็มี อาทิ ลูกส้าน ดอกงิ้ว หน่อไม้  หากเข้าใกล้ถิ่นที่เคยมีการหักร้างถางพงก็อาจมี อาทิ มะเขือ กระทกรก ลูกชะเอม   เหล่านี้เป็นต้น     


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 เม.ย. 17, 19:40
เนื้อสัตว์ขาประจำสำหรับอาหารเย็นก็คือ พวกสัตว์น้ำในห้วย (ปู ปลา กบ เขียด) นก และบางครั้งก็มีเนื้อสัตว์ใหญ่หากบังเอิญจ๊ะเอ๋กัน ก็มี อาทิ ตะกวด กะรอก

สำหรับอาหารของมื้อเช้านั้น จะได้มาในช่วงก่อนนอนและช่วงการออกเดินไปจับช้าง ก็มีอาทิ ปลา เม่น ไก่ป่า

การล่าหรือการจับสัตว์เหล่านี้มาเป็นอาหาร มันเป็นความจำเป็นในเรื่องของการอยู่รอด ซี่งก็จะทำกันด้วยความมีสำนึกถึงความเพียงพอและพอเพียง ไม่กินทิ้งกินขว้าง  และกระทำด้วยความเคารพต่อเจ้าที่เจ้าทาง เทพยดาฟ้าดิน เทพาอารักษ์ และสรรพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของพื้นที่นั้นๆ       


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 เม.ย. 17, 19:49
ทำให้นึกถึงเรื่องของการเอาตัวรอด ซึ่งอาจจะเป็นอีกหนึ่งกระทู้สั้นๆที่น่าจะพอมีประโยชน์อยู่บ้าง


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 เม.ย. 17, 18:21
อาหารของช้างที่ดูจะไม่ยุ่งยากนักเพราะเราปล่อยให้เขาหากินเอง อีกทั้งยังมีมากมายเพราะอยู่ในพื้นที่ป่าเขาอีกด้วย ซึ่งก็น่าจะเป็นเช่นนั้น

เนื่องจากคณะสำรวจเดินเข้าไปในพื้นที่ๆเกือบจะไม่มีผู้คนใดเคยเข้าไป ดังนั้น จุดที่จะนำช้างไปปล่อยให้หากินก็จึงมักจะอยู่ในพื้นที่สองข้างทางที่เราเดินผ่านมา ควาญช้างจะคอยดูในระหว่างที่เดินไปว่าบริเวณใดน่าจะเหมาะสม การปล่อยช้างให้หากินจึงเป็นการปล่อยในพื้นที่ๆเดินผ่านมาแล้ว คืออย่างน้อยก็พอจะรู้จักพื้นที่ ไม่นำไปปล่อยในพื้นที่ๆข้างหน้าที่ยังไม่ได้เดินไป   ฝ่ายพวกผมซึ่งเดินสำรวจแกว่งไปแกว่งมา แยกไปทางโน้นบ้าง ทางนี้บ้าง ก็จะคอยสังเกตว่ามีพื้นที่ใดบ้างที่อาจจะเหมาะกับการนำช้างมาปล่อยให้หากิน 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 เม.ย. 17, 18:36
ลักษณะของพื้นที่ๆจะปล่อยช้างนั้น มีข้อพิจารณาที่สำคัญอยู่ 3 เรื่อง คือ เรื่องความสมบูรณ์ในเชิงปริมาณของอาหารที่ช้างสามารถใช้งวงตวัดเก็บเกี่ยวมากินได้   เรื่องของภูมิประเทศที่ควรจะต้องเป็นที่ในหุบห้วยแยกที่ยังคงมีแอ่งน้ำสำหรับดื่มกิน   และเรื่องของความใกล้ไกลจากจุดที่เราตั้งแคมป์แรม ซึ่งหมายถึงควรจะต้องอยู่ไม่ไกลเกินกว่าที่จะได้ยินเสียงช้างร้อง และควรจะมีเส้นทางเดินที่สะดวกและง่ายพอที่จะเดินเข้าไปถึงจุดที่ช้างอยู่ได้โดยเร็ว


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 เม.ย. 17, 19:14
ก็คงพอจะเห็นภาพนะครับว่า งานเดินได้ด้วยดีก็เพราะการถ้อยทีถ้อยอาศัย ช่วยกันคนละไม้ละมืออย่างแท้จริง เป็นลักษณะงานที่ไม่อยู่ใน doctrine แบบ bossy


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 เม.ย. 17, 19:48
คงต้องขยายความเรื่องที่ต้องพิจารณา 3 เรื่องนั้น

ในเรื่องที่เกี่ยวกับความสมบูรณ์ของอาหารนั้น มันก็มีทั้งในเชิงของ ปริมาณ และ คุณภาพ  ซึ่งก็เป็นเรื่องปรกติที่เราจะต้องนึกถึงในการดูแลช้างให้มีสุขภาพที่สมบูรณ์ตลอดช่วงเวลาการใช้งาน  แต่ในป่าเราจะจัดการอย่างไรที่จะทำให้มีความสมดุลย์และมีความเหมาะสมในองค์รวม 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 เม.ย. 17, 19:01
แม้ว่าป่าในภาพหนึ่งคือมีต้นไม้ใบไม้เยอะ แต่ในพื้นที่หุบห้วยเท่านั้นที่จะมีพืชหลากหลายพันธุ์ที่มีต้นเล็กแต่ใบมาก ต้นไม่สูงและง่ายต่อการรูดใบหรือหักกิ่งมากินของช้าง  พืชที่จัดเป็นพวกยาสมุนไพรส่วนมากก็ขึ้นอยู่ในพื้นที่ลักษณะนี้ อาทิ ต้นค้างคาวดำที่นิยมปลูกกันนั้นก็ขึ้นอยู่ในพื้นที่เช่นนี้ (พวกผมเรียกชื่อเล่นๆกันว่า ว่านจูงนางเข้าห้อง) 

กระนั้นก็ตามควาญช้างก็ยังพบว่าช้างดูจะได้อาหารทั้งในเชิงของปริมาณและคุณภาพน้อยไปหน่อย  ก็ให้มีอยู่วันหนึ่งที่พบว่าเมื่อเอาช้างไปปล่อยในบริเวณที่มีกล้วยป่าขึ้นอยู่มาก ในวันรุ่งขึ้นช้างจะดูสดใส กระปรี้ประเปร่า ตัวอ้วนกลมขึ้นมาทันตาเห็น  ก็เลยเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทุกคนจะต้องช่วยกันสังเกตหาพื้นที่ดังกล่าวด้วย  ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่าทุกวันจะต้องเอาช้างไปปล่อยให้มันกินแต่กล้วยป่า   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 เม.ย. 17, 19:55
ช้างเป็นสัตว์ที่มีระบบการย่อยอาหารไม่ดีนัก   หากยืนอยู่ข้างๆตัวช้างก็จะได้ยินเสียงของโรงงานย่อยอาหารในตัวช้างทำงาน  และหากได้เดินตามก้นช้างก็จะได้สัมผัสกับการระบายลมและการถ่ายมูลของช้าง    ที่เราเห็นภาพคนเดินนำอยู่หน้าช้างก็ด้วยเหตุนี้ ส่วนที่เดินตามหลังช้างนั้นก็มักจะต้องเว้นระยะห่าง

มูลของช้างนั้นมีความหยาบมากจนเกือบจะบอกถึงอาหารที่มันกินเข้าไปได้เลย  ช้างที่กินต้นกล้ายป่าและดูอ้วนกลมทันตาเห็นนั้น  เมื่อมันเดินไปถ่าย(อึ)ไป เราก็ได้เห็นเหมือนกันว่ามันก็ลดความอ้วนลงได้เร็วเช่นกัน   ก็คงจะนึกภาพออกนะครับว่า ต้นกล้วยนั้นฉ่ำไปด้วยน้ำและมีใย เมื่อมันถ่ายออกมา ใยต้นกล้วยที่พันกันก็จะดึงมูลของมันออกมาเป็นยวงยาวกว่าปรกติ เรียกว่าถ่ายออกโดยไม่ต้องเบ่งแถมออกหมดท้องจริงๆ     ฉะนั้น จะให้ช้างกินแต่ต้นกล้วยป่า มันก็จะผอมได้เหมือนกัน   การจัดการก็คือ เว้นระยะการกินกล้วยป่าของมัน ให้ 3-4 วันครั้งหนึ่ง 
 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 เม.ย. 17, 18:21
บ่อยครั้งที่หยวกกล้วยก็เป็นอาหารของคน   แกนในของต้นกล้วยส่วนที่ใกล้ยอดนั้น เอามาจิ้มน้ำพริกก็ได้ เอามาแกงก็ได้ ซึ่งในเรื่องของการเอามาแกงนั้น นอกจากจะทำหน้าที่เสมือนผักแล้ว (ต้องใช้มือ หักให้เป็นท่อนสั้นๆ ดึงแยกออกจากกันเพื่อจะได้ขวั้นเอาใยออกไปให้มากที่สุด...กลัวเป็นเหมือนอึช้าง  ;D)  ก็เพื่อเป็นการเพิ่มเนื้อในน้ำแกงมิให้ดูมีแต่น้ำจ๋องแจ๋ง   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 เม.ย. 17, 18:37
นอกจากจะใช้หยวกกล้วยในการเพิ่มปริมาณเนื้อในนำแกงแล้ว ก็ยังมีไม้อีกชนิดหนึ่ง ชื่อว่า ต้นตะคล้ำ (ตะครั้ม ?) เป็นต้นไม้ใหญ่

เราใช้มีดขูดผิวของมันออกมาเป็นขุยๆ เอาไปใส่ในแกงและผัดเผ็ดต่างๆ เพิ่มปริมาณเนื้อได้อักโขเลยทีเดียว  ไก่ตัวหนึ่ง สับแบบลาบทั้งกระดูก เมื่อนำมาผัดหรือแกงและใส่ขุยต้นตะคล้ำเข้าไปก็พอจะทำให้รู้สึกได้คล้ายกับแกงน้ำข้นที่มีเนื้ออยู่เยอะ   ยิ่งหากนำขุยตะคล้ำไปใส่ในลาบต่างๆด้วยแล้ว ก็เกือบจะแยกไม้ออกเลยว่ากำลังเคี้ยวเนื้อหรือเคี้ยวเยื่อไม้ 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 เม.ย. 17, 18:50
ใบตองกล้วยป่าหรือกล้วยตานี ไม่กรอบแต่มีความเหนียวมากพอที่จะนำมาใช้ในการห่ออาหารได้หลายชนิดได้เป็นอย่างดี    ข้าวต้มมัด หมูยอ ขนมเทียน ขนมเข่ง ...ฯลฯ ล้วนนิยมใช้ใบตองกล้วยป่า/กล้วยตานีกันทั้งนั้น   

ท่านที่มีที่ดินว่างเปล่าน่าจะลองพิจารณาปลูกกล้วยป่า/กล้วยตานีเพื่อขายใบตองบ้างนะครับ เป็นกล้วยที่ปลูกง่ายตายยาก ราคาใบตองต่อมัด (นน.3-5 กก.) มีตั้งแต่ไม่กี่สิบบาทไปจนถึงเป็นหลักร้อยแก่ๆ(ขึ้นอยู่กับฤดูกาล)


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 เม.ย. 17, 19:37
ขอขยับต่อเรื่องกินอีกหน่อยครับ

ในบริเวณที่เป็นตะพักลำน้ำในห้วย (stream terrace) มักจะมีต้นบุกขึ้นอยู่กระจัดกระจาย   ต้นบุกก็เก็บเอามากินได้ อร่อยมากเสียอีกด้วย   

ผมมีความรู้น้อยมากเกี่ยวกับต้นบุก พอจะรู้เพียงว่าจะตัดต้นลักษณะใดมาทำกินได้เท่านั้น   เท่าที่รู้นั้น บุกมีอยู่หลายชนิด ซึ่งชนิดที่เก็บเอามากินกันเป็นชนิดที่เรียกว่า บุกคางคก   อีกชนิดหนึ่งเรียกว่า ทิงเพลาะ (ซึ่งยังไม่สามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับต้นนี้ได้เลย)    ต้นทิงเพลาะ มีลำต้นขนาดเล็ก มีผิวเนียนสีใบตองอ่อน ลำต้นมีขนาดใหญ่กว่านิ้วหัวแม่มือเล็กน้อย และสูงประมาณระดับเอว  ต่างกับบุกคางคกที่มีลำต้นใหญ่ประมาณข้อมือ สีของลำต้นมีสีคล้ายสีของเสื้อผ้าลายพรางสีเขียวของทหาร ผิวของลำต้นขรุขระ       


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 เม.ย. 17, 20:10
ต้นบุกนั้น ส่วนมากจะรู้กันว่า เอามาทำขนมบุก ซึ่งเป็นขนมโบราณที่หาซื้อกินได้ยากแล้ว และแป้งจากหัวบุกนั้นก็เอามาทำเป็นอาหารเพื่อช่วยในการลดความอ้วน แต่น้อยคนที่จะรู้ว่าต้นบุกนั้นเอามากินกับน้ำพริกก็อร่อยมากๆ ของโปรดของผมเลยทีเดียว แต่กระนั้นก็กล้าๆกลัวๆทุกครั้งที่กินมัน

ต้นบุกเป็นพืชอย่างหนึ่งที่มีชื่อเสียงในเรื่องของเมื่อเอามาทำอาหาร กินแล้วเกิดอาการคันคอ  ไม่ต่างไปจากพืชอีกชนิดหนึ่งที่กินแล้วก็อาจเกิดอาการคันคอได้เช่นกัน ก็คือ ต้นบอน (ไหลบอน)

ก็มีภูมิปัญญาของชาวบ้านแต่โบราณกาลที่ได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมาถึงวิธีนำมาใช้ประกอบอาหาร  ซึ่งอาหารหลายอย่างบนโต๊ะอาหารของเราในปัจจุบันก็มีวิธีการปรุงที่ซ่อนไว้ซึ่งภูมิปัญญาเหล่านั้นที่เราไม่รู้กัน
 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 เม.ย. 17, 18:49
หากจะเคยสังเกตก็คงพอจะนึกออกว่า ทั่วทุกภาคของประเทศของเราจะมีแกงประเภทที่ใช้น้ำมะขามเปียกในการปรุงรส ซึ่งแกงเหล่านั้นก็มักจะเป็นแกงที่ใช้พืชผักเป็นองค์ประกอบหลักของเนื้อในแกง  ที่ใช้น้ำมะขามเปียกนั้นก็คือเอาไปช่วยกำจัดอาการคัน (ในปากในคอ) ที่ไม่พึงประสงค์  และแกงเหล่านั้นก็ปรุงรสให้มีความกลมกล่อมและมีความอร่อยได้ค่อนข้างจะยากเสียด้วย 

ผมเคยพยายามหาเหตุผลว่าด้วยเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ก็ได้คำตอบจากเอกสารทางวิชาการว่า (ฉบับหนึ่ง) เป็นเพราะกรดที่มีอยู่ในน้ำมะขามเปียกนั้นมันไปช่วยละลายผลึกเล็กๆของสารประกอบทางเคมีบางชนิด (ที่ทิ่มแทงผิวเนื้อในปากและในคอ) ที่มีอยู่ในพืชผักประเภทที่ทำให้เกิดอาการคัน 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 เม.ย. 17, 19:07
ก็มีอีกวิธีการกำจัดความคันอีกวิธีการหนึ่งที่ใช้กันในหมู่ผู้คนในเมือง ก็คือใช้วิธีการต้ม (เคี่ยว) หรือนึ่งให้สุกจนเปื่อยนิ่ม   ซึ่งในป่าคงจะทำวิธีนี้ไม่ได้  ด้วยข้อจำกัดนี้ก็จึงใช้วิธีการใส่น้ำมะขามเปียกลงไปแทน
     


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 เม.ย. 17, 19:11
คงจะไม่ขยายความต่อ เดี๋ยวจะกลายไปเป็นอีกเรื่องหนึ่งครับ


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 เม.ย. 17, 19:31
ต้นบุกนั้น ก็เลือกต้นที่มีขนาดลำต้นเล็กกว่าแขนของเราหน่อย เอามาตัดเป็นท่อนๆยาวประมาณ 1 คืบ แล้วก็เอาไปหมกไฟให้สุก แบบสุกจริงๆ คือให้นิ่มคล้ายมะเขือยาวเผา     จากนั้นก็เอามาฉีกส่วนที่เป็นเปลือกออกทิ้งไป ฉีกเนื้อในออกเป็นเส้นขนาดประมาณนิ้วก้อยใส่ชาม เอามะขามเปียก (4-5 ฝัก) มาละลายน้ำนิดหน่อย ใส่ลงในชามแล้วขยำไปนวดไปสักพักหนึ่งก็พร้อมที่จะเอามากินกับน้ำพริกได้แล้ว  น้ำพริกก็ตำแบบออกเผ็ดมากหน่อย ลดรสเปรี้ยวลงไป อาจจะปรุงรสน้ำพริกให้รู้สึกว่ามีหวานบ้างก็ได้   

คำแรกๆที่กินกันก็มักจะรู้สึกแหยงๆ แต่พักเดียวเท่านั้นแหละก็จะหมดเกลี้ยงไปเลย
 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 เม.ย. 17, 19:50
ในพื้นที่ตะพักลำห้วยที่มีต้นบุกขึ้นอยู่นั้น  หากในบริเวณใกล้ๆเป็นจุดที่มีน้ำห้วยไหลริน เราก็มักจะพบว่ามีต้นบอนป่าและต้นกระดาษ (ใบยาวเป็นวา กว้างเป็นแขน) ขึ้นอยู่ตามขอบห้วยในจุดที่มีน้ำไหลผ่าน      ตามเกาะแก่งและเนินทรายที่อยู่กลางห้วยก็มีต้นไคร้น้ำ ซึ่งยอดสดของมันก็เอามาจิ้มน้ำพริกกินได้เหมือนกัน ซึ่งก็อาจจะเกิดอาการคันได้เช่นกัน     จะวกเข้าไปหาเรื่องกินอีกแล้วครับ :-X

ก็เพียงแต่จะเล่าว่า ไม่เคยเห็นช้างเก็บกินพวกพืชคันที่ได้กล่าวถึงเลย


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 เม.ย. 17, 20:01
มีอยู่สองคำที่ผมได้กล่าวถึง คือ ไปปล่อยช้างในตอนเย็น (ให้มันไปหาอาหารกิน) และ ไปจับช้างในตอนเช้า (เพื่อเอาตัวมันมาทำงาน)  ซึ่งก็มีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวที่น่าจะต้องขยายความ


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 เม.ย. 17, 17:26
จะขอประมวลข้อมูลจากเรื่องราวที่ได้เล่าผ่านมาก่อนนะครับ 

ก็มีว่า  ช้างไม่ได้กินอาหารอย่างเป็นกิจจะลักษณะทั้งวันตั้งแต่เช้าจนเย็น   เมื่อเอาของลงจากหลังช้างและปลดเครื่องแต่งตัวแล้วก็เอาช้างไปปล่อยให้หากินอย่างอิสระ   สถานที่ๆเอาช้างไปปล่อยจะอยู่ในหุบห้วยและที่เป็นห้วยที่มียังคงแอ่งน้ำ   ควาญช้างจะออกไปตามจับช้างในเวลาเช้ามืดแล้วนำกลับมาที่ตั้งแคมป์แรม เพื่ออาบน้ำแต่งตัวเตรียมพร้อมทำงาน

ก็คงจะมีข้อสงสัยตามมาว่า  ช้างทำงานทั้งวันจะมิหิวแย่หรือ   เอาไปปล่อยให้หากินอย่างอิสระ แล้วมันจะไม่หนีไปหรือ   ทำไมจึงเอามันไปปล่อยในหุบห้วยที่ยังคงมีแอ่งน้ำ   แล้วจะไปตามจับมันในตอนเช้าได้อย่างไร
   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 เม.ย. 17, 17:54
เรื่องไม่ได้กินทั้งวันว่าช้างจะหิวใหม 

หิวแน่ๆครับ  แต่ในระหว่างที่เดิน ช้างก็จะใช้งวงเก็บเกี่ยวต้นไม้ใบหญ้ากินไปตลอดทาง ซึ่งควาญช้างก็มิได้ห้ามปรามประการใด ก็มีเพียงบางครั้งที่ต้องปราม  ครับ...เป็นการปรามจริงๆด้วยการใช้เสียงเอ็ด ดุด่าว่าไป    ก็น่าเห็นใจช้างอยู่นะครับ ไปพบของอร่อยเข้า จะขอเก็บกินให้สะใจหน่อยก็ไม่ได้ บางครั้งก็หักกิ่งหรือรูดใบไม้ไม่ได้อย่างที่อยาก    อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการเดินลุยไปนั้นก็เป็นเรื่องปรกติที่จะต้องมีกิ่งไม้ที่จะมาระรานสิ่งของที่บรรทุกจนอาจจะทำให้เกิดตกหล่น  ควาญช้างก็จะต้องหยุดฟันกิ่งไม้เหล่านั้น ซึ่งก็มีบ่อยครั้งมากที่จะใช้วิธีการสั่งให้ช้างเอางวงช่วยดึงกิ่งไม้เหล่านั้นลง  ช่วงเวลานี้ก็เป็นอีกช่วงเวลาสั้นๆที่ช้างจะได้หยุดกินโน่นกินนี่


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 เม.ย. 17, 18:20
แล้วมีหยุดกินน้ำด้วยใหม   

มีครับแต่จะว่าเป็นการหยุดเพื่อกินน้ำจริงๆก็ดูจะไม่ใช่  มักจะเป็นการหยุดยืนเอาเท้าแช่น้ำให้รู้สึกเย็นสะบายเสียมากกว่า  งวงก็จะดูดน้ำพ่นไปที่ใต้ท้องระบายความร้อน  ส่วนหูก็จะโบกกวัดไปมาช่วยระบายความร้อนภายในตัว  ทราบว่าที่ใบหูช้างนั้นมีเส้นเลือดที่นำเลือดภายในตัวไหลเวียนมาผ่านเพื่อระบายความร้อน หูช้างก็เลยต้องโบกกระพืออยู่ตลอดเวลา

ช้างเป็นสัตว์ที่มีสมอง คิดได้ และมีความรู้สึกทางจิตใจ  และช้างก็เป็นสัตว์ที่มีนิสัยขี้เล่นอยู่ไม่น้อย   ยืนพ่นน้ำใต้ท้องตัวเองอยู่ดีๆ ก็นึกสนุกชูงวงพ่นน้ำขึ้นไปเหนือหัวให้ควาญผู้เป็นเจ้าของได้เย็นฉ่ำด้วย    เสียงตะโกนโหวกเหวกโวยวาย เสียงสั่งการก็จะดังลั่นออกมาจากควาญช้าง      แล้วค่อยไปขยายความเอาตอนช้างอาบน้ำนะครับ


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 เม.ย. 17, 18:42
การเอาช้างไปปล่อยในหุบห้วยและให้หากินอย่างอิสระนั้นก็มีเหตุผลที่สำคัญอยู่หลายประการ ซึ่งภาพต่างๆเป็นดังนี้ครับ

ห้วยที่จะนำช้างไปปล่อยนั้นจะเป็นห้วยแยกที่มีหุบค่อนข้างจะเปิดกว้าง(wide V-shaped valley) มีผนังห้วยไม่ชันนัก  ซึ่งเหตุผลพื้นฐานที่สำคัญก็คือ หุบห้วยนั้นเป็นเสมือนพื้นที่ๆมีขอบเขต (ตามแนวของสันจมูกห้วยทั้งสองฝั่ง) ซึ่งหากมีอาหารสมบูรณ์ดี ช้างก็ไม่อยากจะเดินสูงขึ้นไปบนสันจมูกห้วย ก็จะหากินอยู่ตามตลิ่งใกล้ๆร่องห้วยนั่นแหละ  ฝ่ายควาญเองก็สามารถจะไปตามจับช้างของตัวเองได้ไม่ยาก ด้วยว่าช้างก็จะหากินและนอนอยู่ในหุบห้วยนั้นๆเท่านั้น   ฝ่ายช้างเองก็ดูไม่อยากจะเดินเตลิดไปไกลๆเช่นกัน เพราะไม่คุ้นกับพื้นที่ รู้สึกโดดเดี่ยว และขาดฝูงที่จะคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามคับขัน   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 เม.ย. 17, 19:32
แล้วช้างกลัวอะไร

ผมก็ไม่แน่ใจนักว่าช้างกลัวอะไรบ้าง แต่ช้างนั้นขี้ตกใจอยู่ไม่น้อย   เรื่องนี้เจอด้วยตนเองมาบ่อย เดินอยู่ดีๆก็วิ่งเตลิด บางครั้งควาญช้างก็เอาไม่อยู่ ต้องรีบกระโดดลงจากคอช้าง ของที่บรรทุกก็ถูกกิ่งไม้กวาดตกหล่น ต้องตามเก็บเอามาบรรทุกใหม่และทำการมัดใหม่ให้แน่น  ควาญเองบางครั้งก็ไม่รู้ว่าอะไรที่ทำให้ช้างวิ่งเตลิด แถมเป่าแตรอีกด้วย ก็คิดว่าน่าจะเป็นพวกแตน พวกต่อ และพวกผึ้งโพรง   

ช้างนั้นดูผิวเผินคล้ายกับว่าจะเป็นสัตว์หนังหนา แต่ก็น่าจะเป็นหนังหนาที่มีความไวต่อความรู้สึกเจ็บปวดจากของแหลมคมที่มีพิษบางอย่าง  ผมเคยต้องเดินลุยป่าที่มีเถาหนามที่มีลำต้นสี่เหลี่ยมซึ่งมีหนามบนสันเหลี่ยมตรงกันข้ามหันไปทิศทางหนึ่งและอีกคู้หนึ่งของสันเหลี่ยมหันไปในอีกทิศทางหนึ่ง  ช้างยังต้องหยุดไม่เดินลุยต่อไป ต้องยอมถอยกันทั้งคณะแล้วหาเส้นทางเดินใหม่   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 เม.ย. 17, 19:54
อีกอย่างหนึ่งที่ช้างกลัวซึ่งจะว่ากลัวก็ไม่น่าจะใช่ น่าจะเป็นเรื่องของความไม่ถูกกันที่ฝังอยู่ในสายเลือดอย่างเข้มข้น ก็คือ ม้า  และซึ่งในม้าเองก็เช่นกัน    ชาวบ้านและควาญช้างเขาว่า เมื่อใดที่สัตว์ทั้งคู่จ๊ะเอ๋กันก็จะเตลิดเปิดเปิงกระเจิงกันไปคนละทิศละทางทั้งสองฝ่าย   ผมไม่เคยเห็นความโกลาหลด้วยเหตุนี้ เพียงแต่ได้เคยพบกับสถานการณ์ที่ฝ่ายม้าซึ่งเป็นขบวนม้าต่าง กับฝ่ายช้างซึ่งบรรทุกของๆคณะสำรวจของผม ต่างก็หาเส้นทางเดินเลี่ยงกันให้ห่างระยะกันมากๆและพยายามทำให้เสียงเงียบมากที่สุด    ก็ให้บังเอิญว่าในวันนั้นผมเดินล่วงหน้าช้างไปไกล ได้พบกับกะเหรี่ยงหัวหน้าขบวนม้าต่างที่ก็เดินล่วงหน้ามาเช่นกัน พอรู้ว่าเรามากับช้างเท่านั้นเอง เขาก็เดินย้อนกลับๆไปนำพาขบวนม้าเดินหลบหลีกไปเสียไกลเลย  มิฉะนั้นก็คงจะได้มีประสบการณ์กับสถานะการณ์ที่น่าจะเละเทะอยู่ไม่น้อย


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 พ.ค. 17, 18:31
ขอย้อนกลับไปเรื่องสัตว์ปีกที่ต่อยได้เจ็บๆอีกนิดนึงครับ 

ที่พบบ่อยๆก็ได้แก่ มิ้ม แตน(ที่ไม่รู้ว่ารังอยู่ที่ใหน) และแตนลิ้นหมา (ซึ่งมักจะเกือบเดินชนรังของมันอยู่บ่อยๆ)  สำหรับผึ้งนั้น ที่พบบ่อยก็จะเป็นพวกผึ้งโพรง ส่วนผึ้งหลวงนั้นมักจะพบห้อยอยู่ใต้กิ่งต้นยางซึ่งอยู่สูงจนต้องแหงนคอตั้งบ่ามองดู   ตัวต่อนั้นนานๆจึงจะเห็นสักครั้งหนึ่ง แล้วก็ไม่เคยเห็นรังของต่อหัวเสือในป่าเลย มีแต่เห็นอยู่ในพื้นที่ชาย(หมู่)บ้าน  ต่อหลุมก็เคยเห็นอยู่เพียงครั้งเดียวเท่านั้น

ในการเดินทำงานเข้าไปในพื้นที่ๆไม่มีเส้นทาง เราจะต้องเดินหลบเดินมุดต้นไม้ พุ่มไม้ และกิ่งไม้ไปมา ก็จึงพบกับแตนมากที่สุด จึงเป็นเรื่องปรกติที่จะต้องถูกแตนมันต่อยเอา  ซึ่งก็เป็นเรื่องที่โชคดีอีกนะครับ เพราะแตนเป็นพวกที่ไม่ระดมพวกแห่กันออกมารุมต่อย อีกทั้งการถูกมันต่อยยังแสดงว่ามันมีรังอยู่ในบริเวณใกล้ๆนั้น จะได้ไม่เดินไปชนรังของมัน  รังของแตนลิ้นหมานั้นมักจะห้อยอยู่ในระดับศีรษะของเรา ซึ่งหากไปเดินชนรังของมัน มันก็จะช่วยกันรุมต่อย ดีแต่ที่มันไม่ตามเมื่อเรารีบหนีไป   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 พ.ค. 17, 18:40
สำหรับมิ้มและผึ้งโพรงนั้น ไม่น่ากลัวและดูว่ามันจะเป็นฝ่ายกลัวเราเสียมากกว่า  พบกันเมื่อใดก็อีกไม่นานที่พวกมันก็จะได้กลิ่นควันของบุหรี่ยาเส้น ต้องรีบบินหนีทิ้งรังกัน   น้ำผึ้งและรังที่มีตัวอ่อนของมันเป็นของหวานและอาหารโปรดของชาวบ้าน


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 พ.ค. 17, 19:23
ทำให้นึกถึงแมลงอีกสองขนิดที่ชอบบินวนเวียนตอมอยู่ที่บริเวณตาของช้างและรอบๆตัวเรา คือ แมลงหวี่ และ แมลงชันโรง  ที่ชอบบินตอมตัวเราจนน่ารำคาญ บางครั้งมันก็มาอยู่ที่บริเวณรูจมูก ต้องคอยใช้ลมหายใจสั่งมันออกไป ช้างก็รำคาญเช่นกัน   

แมลงหวี่นั้นน่ารำคาญแต่เราทำอะไรมันไม่ได้  แต่สำหรับแมลงชันโรงนั้น เนื่องจากที่อยู่ของมันในโพรงไม้จะเต็มไปด้วยของเหนียวๆสีดำที่เราเรียกว่า ขี้ชันโรง ซึ่งเอามาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง  โดยลักษณะง่ายๆแล้ว ขี้ชันโรง ก็คือ กาว คล้ายๆกับกาว epoxy ที่ยังไม่แข็งตัว   ก้อนสีดำๆที่แปะอยู่บนผิวหน้ากลอง แปะอยู่ใต้ลูกระนาดของรางระนาด หรือที่ลูกฆ้องของฆ้องวง และที่เครื่องดนตรีอื่นๆ เช่น แคน  เพื่อการปรับเสียงของเครื่องดนตรีเหล่านั้น นั้นล้วนเป็นขี้ชันโรงทั้งสิ้น   ชาวบ้านป่าก็เก็บขี้ชันโรงเอาไว้ใช้ประโยชน์อื่นๆหลากหลายเช่นกัน เช่น กับแร้วดักสัตว์  กับหน้าไม้ กับลูกดอก อุดรู หรือรอยรั่วซึมต่างๆ ...


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 พ.ค. 17, 20:25
ชักจะแยกเข้าซอยไปไกล พอนะครับ    กลับมาต่อเรื่องของการปล่อยช้างให้หากินอย่างอิสระ

เรื่องที่ทั้งช้างและควาญช้างกลัวพอๆกันก็คือ เสือ



กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 พ.ค. 17, 18:40
ช้างจะกลัวเสือจริงหรือไม่นั้น ผมไม่รู้มากพอที่จะกล่าวถึง   ภาพที่เคยเห็นในวีดีโอสารคดีชีวิตสัตว์ต่างๆนั้น ได้เห็นอยู่สองภาพ เป็นภาพของความไม่กลัวแต่ก็ยกระดับการของการระวัง และภาพของเสือกระโดดขึ้นไปบนหลังช้างซึ่งเป็นลูกช้าง ซึ่งช้างจะตกใจมากแต่ฝูงก็ไม่ได้แสดงถึงการเข้าไปทำการช่วยเหลืออย่างจริงจัง

ก็มีอยู่วันหนึ่งช่วงเวลาประมาณสองทุ่ม กำลังนั่งล้อมวงคุยกัน ได้ยินเสียงช้างร้อง ควาญช้างทั้งสองคนก็ลุกขึ้นคว้ามีดและปืนลูกซองในทันทีแล้วรีบเดินไปหาช้างที่นำไปปล่อยให้หากิน จนดึกมากแล้วจึงกลับมาที่แคมป์    รุ่งเช้าจึงได้ถามถึงเรื่องราว ซึ่งได้คำตอบว่าไม่รู้ว่าร้องด้วยเหตุใด  ซักไปคุยไปจึงได้ความรู้มาว่า ตามปกติแล้วช้างจะไม่ร้อง เหตุที่รีบไปดูช้างก็เพราะว่าช้างอาจจะถูกเสือกระโดดขึ้นหลัง ซึ่งมันจะช่วยตัวเองไม่ได้


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 พ.ค. 17, 19:29
การปล่อยช้างให้หากินอย่างอิสระนี้ ก็มีอีกเรื่องหนึ่งคือ บางทีช้างก็จะเดินหากินไปเรื่อยๆจนห่างไกลจากจุดที่ปล่อยออกไปมาก  มีอยู่หลายครั้งที่กว่าจะจับช้างนำกลับมาถึงแคมป์ได้ก็เป็นเวลาสายมาก  แล้วก็มีอยู่วันหนึ่งที่กลับมาถึงเอาใกล้เที่ยง วันนั้นจึงต้องหยุดอยู่กับที่ ไม่ถอนแคมป์ และต้องรื้อของใช้ที่เก็บเรียบร้อยเตรียมบรรทุกช้าง เอาออกมาใช้ใหม่

การเดินช้างก็จึงต้องระวังเรื่องดังกล่าวนี้ด้วย มิใช่ว่า ตื่นแต่เช้า แล้วรีบออกเดิน โดยคิดว่าจะได้พบกับแคมป์ในพื้นที่ๆนัดพบ  ซึ่งอาจจะไม่ได้พบกัน เพราะการเคลื่อนย้ายขบวนอาจจะยังทำไม่ได้ หรือขบวนอาจจะมาไม่ถึงพื้นที่ๆนัดพบด้วยมืดค่ำเสียก่อน...  เมื่อไม่มีเครื่องมืออุปกรณ์การสื่อสารใดๆ ก็จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่จะต้องรอจนเห็นตัวช้างมาถึงแคมป์ในตอนเช้าเสียก่อนจึงจะเริ่มออกเดินแยกไปทำงานได้  อย่างน้อยก็รู้ว่าทุกอย่างพร้อมสำหรับการเคลื่อนตัวตามปกติ    เครื่องมือที่จะใช้ตามจนเจอตัวกันจากนี้ไปก็คือการแกะรอยเท้า


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 พ.ค. 17, 19:02
เคยอยู่ครั้งหนึ่งที่นัดพบกันที่บริเวณสบห้วยหนึ่งแล้วพลาดกัน  วันนั้นทำงานกลับมาเย็นกว่าปกติ เมื่อเดินมาถึงบริเวณที่นัดพบ (เดินมาตามห้วยที่แยกไปจากห้วยหลัก) ไม่พบอะไรเลย   เอาละครับ มีอยู่ 2 เรื่องให้ต้องคิดในทันที คือ เราเดินลงมาผิดห้วยหรือเปล่า หรือ กองหนุนของเราไปผิดที่นัดพบหรือเปล่า

การแก้ไขสถานการณ์ที่ทำได้ดีที่สุดก่อนที่จะหมดแสงสว่างก็คือ การดูรอยและการสะกดรอย   แรกสุดก็รีบเดินไปในทิศทางที่เลยไปจากบริเวณนัดพบ เพื่อตรวจสอบว่ากองหนุนของเรานั้นอาจจะเลือกจุดที่จะนอนแรมที่เหมาะสมเลยออกไป (มีน้ำดี สถานที่โปร่งไม่อึมครึม ดูปลอดภัยดี...ฯลฯ) พร้อมๆไปกับการสังเกตร่องรอยต่างๆ ซึ่งร่องรอยที่สำคัญก็คือรอยเท้าช้างและรอยเท้าคนที่เดินไปกับช้าง แต่เมื่อเดินไปข้างหน้าไม่พบอะไร ก็ต้องเดินย้อนกลับไปตามเส้นทางที่กองหนุนของเราจะใช้เดิน     สรุปว่าได้พบกัน เขาก็พยายามเร่งเดินมาให้ถึงบริเวณนัดพบ แต่กว่าจะเริ่มออกเดินได้ก็สายมากๆแล้ว เพราะว่าได้ตัวช้างมาช้ามาก  ต้นเหตุก็คือช้างได้เดินหากินเตลิดไปไกล กว่าจะจับและนำกลับมาถึงแคมป์แรมก็สายมากๆแล้ว


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 พ.ค. 17, 18:24
ช้างเดินหากินไปไกล แล้วจะไปตามจับมาได้อย่างไร

มีอยู่วิธีเดียว คือตามด้วยการแกะรอย   ควาญช้างเขาจะจำรอยช้างของเขาเองได้ เพราะมันจะมีสิ่งเล็กๆน้อยๆที่เป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของแต่ละช้าง ผนวกกับพฤติกรรมบางอย่าง    ทำงานร่วมเป็นทีมเดียวกันอยู่ไม่กี่วันตัวผมเองก็ยังพอจะรู้ได้บ้างถึงลักษณะเฉพาะบางอย่างจากการสังเกตต่างๆ   

ที่ว่าช้างเดินหากินไปไกลนั้น มิใช่เรื่องของการเตลิดหนีนะครับ หากเป็นการเตลิดหนีก็คงจะไปตามจับไม่ได้    คนที่เลี้ยงช้างนั้น ในช่วงที่ไม่ได้รับจ้างทำงาน หรือไม่มีงานให้ทำ (เช่น ลากไม้ไผ่มาสร้างบ้าน ลากเกวียน ทำนา...ฯลฯ) เขาก็จะนำช้างไปปล่อยให้หากินในป่าอย่างอิสระในพื้นที่หุบห้วยใดหุบห้วยหนึ่ง (sub catchment) ที่มีอาหารของช้างค่อนข้างจะสมบูรณ์  ปล่อยไว้นานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือนจึงจะตามไปดูครั้งหนึ่ง


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 พ.ค. 17, 18:38
แล้วช้างไม่คิดจะเตลิดหนีไปหรือ

คำตอบก็คงจะเป็นว่า สัตว์หลายชนิดที่เราเอามาเลี้ยงนั้น แม้จะหลุดและเตลิดไปไกลแต่ก็มักจะกลับมาวนเวียนอยู่ในพื้นที่ๆเคยอยู่ ช้างก็เช่นกัน   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 พ.ค. 17, 19:14
นอกจากการแกะรอยแล้ว ก็ยังมีวิธีการอื่นที่จะใช้เพื่อการตามจับช้างอีก แล้วก็มีหลายวิธีการอีกด้วย

ในกรณีที่จะปล่อยเป็นช่วงเวลานานหน่อย ก็มักจะใช้ กระดึง (ฮอก ในภาษาเหนือ) ซึ่งทั้งหมดจะทำด้วยไม้ คล้ายกับกระดึงวัวหรือกระดึงควาย แต่จะมีขนาดใหญ่กว่ามาก   

เท่าที่สนใจ ได้เคยสังเกตและสะสมอยู่บ้าง กระดึงไม้สำหรับวัวมักจะเป็นทรงกระบอกมีขนาดค่อนข้างจะเล็ก (ประมาณแก้วน้ำ) มีตุ้มเคาะเสียง 2 ตุ้มห้อยอยู่ด้านนอก   กระดึงควายจะมีขนาดใหญ่กว่า มีตุ้มเคาะเสียงอยู่ด้านนอกเช่นกัน และก็มีแบบที่เป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีตุ้มเคาะเสียงอยู่ด้านใน 2 ตุ้ม    สำหรับกระดึงช้างนั้น จะเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดใหญ่กว่าของควายและมีตุ้มเคาะเสียง 3 ตุ้มอยู่ด้านใน   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 พ.ค. 17, 19:25
กระดึงนั้นจะมีเสียงเฉพาะตัวทั้งในเชิงของเสียงสูงต่ำ ความกังวาน และความดัง    ชาวบ้านที่เลี้ยงวัวเลี้ยงควายหลายตัวหรือเป็นฝูงจะแขวนกระดึงไว้ที่คอของตัวที่เป็นผู้นำฝูงเพียงตัวเดียว ตามเสียงเดียวก็พบได้ทั้งฝูง    แต่สำหรับช้างนั้นไม่ได้เลี้ยงกันเป็นฝูง มีแต่เลี้ยงเดี่ยวตัวเดียว กระดึงจึงเป็นเพียงการให้เสียงว่ามันกำลังหากินอยู่ที่ใหน 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 พ.ค. 17, 19:59
เสียงกระดึงของวัวหรือควายที่ปล่อยให้หากินอยู่กลางทุ่งนั้น เป็นเสียงที่ให้ความรู้สึกในทางผ่อนคลาย เสมือนหนึ่งเรากำลังอยู่อยู่ในสถานที่ๆเป็นธรรมชาติที่มีความโล่ง กว้างใหญ่ และเงียบสงบ     

ผมนั้นไม่ชอบเสียงของ mobile ที่มาจากเครื่องโลหะ  และก็ได้พบว่า เสียงจากกระบอกไม้ไผ่บางชนิด(ของ mobile บางชุด) ได้ให้เสียงคล้ายกับเสียงของกระดึงไม้ที่ได้ยินมาจากกลางทุ่ง  ผ่อนคลายดีครับ นุ่มนวล และเป็นธรรมชาติ 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 พ.ค. 17, 18:33
อีกวิธีการหนึ่งคือการผูกโซ่ไว้ที่ข้อเท้าหน้า แล้วปล่อยให้ช้างเดินลากไปเรื่อย ที่ปลายของเส้นโซ่อาจจะผูกติดกับขอนไม้ไว้  พื้นฐานของวิธีการนี้ก็เพื่อทำให้เกิดอุปสรรคหรือข้อจำกัดเพื่อที่จะลดความสามารถในการเดินเป็นระยะทางไกล

โซ่ที่ผูกเท้าช้างนั้นจะมีความยาวมากพอที่จะยกปลายโซ่อีกด้านหนึ่งมาพาดอยู่บนคอช้างโดยไม่รูดล่วงกลับในระหว่างเดินทำงาน   ก็มีข้อสังเกตอยู่ว่า ช้างเลี้ยงทั้งหลาย (ทั้งหมด ?) จะถูกผูกโซ่ที่ข้อเท้าหน้าซ้าย  ตัวผมเองไม่เคยเห็นมีการผูกโซ่ไว้ที่ข้อเท้าหน้าขวา และก็ไม่เคยเห็นการผูกโซ่ที่ข้อเท้าหลัง 

ผมเดาเอาจากภาพที่ได้เห็นและประมวลจากความรู้ที่ได้จากการสนทนา/สอบถามกับควาญช้าง  ก็น่าจะเป็นว่าลักษณะของการกระทำใดๆทั้งหลาย เช่น การขึ้น/ลงจากคอช้าง  ตำแหน่งของคนที่เดินเป็นตีนช้าง คนที่สอนช้าง คนที่คุมช้างทำงาน(ที่ได้เล่ามาแล้ว) ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องของคนที่ถนัดขวาทั้งสิ้น  ก็น่าแปลกออกไปอีกที่ในประสบการณ์ทำงานของผมไม่เคยเห็นชาวบ้านป่าทั้งหลายถนัดซ้ายเลย 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 พ.ค. 17, 19:09
โซ่ที่พาดอยู่บนคอของข้างนั้น บางครั้งก็เราก็อาจจะเห็นมีโซ่อยู่อีกเส้นหนึ่งที่พาดอยู่แบบปล่อยชายลอยทั้ง 2 ปลาย  ลักษณะดังกล่าวนี้ค่อนข้างจะบ่งบอกว่า ช้างตัวนั้นเป็นช้างที่กำลังทำงานอยู่ในพื้นที่ต่างถิ่นที่อยู่อาศัย 

โซ่พาดคอที่ปล่อยชายทั้งสองปลายนั้นจะมีความยาวมากพอที่จะใช้มัดข้อเท้าคู่หน้าหรือคู่หลังของช้าง คล้ายกับการใส่กุญแจข้อมือของตำรวจ ซึ่งในกรณีของช้างจะเรียกว่า การตีปลอก หรือ การใส่ปลอก    ทั้งนี้ การใส่ปลอกก็สามารถที่จะทำได้ทั้งแบบเฉพาะข้อเท้าคู่หน้า เฉพาะข้อเท้าคู่หลัง หรือทั้งข้อเท้าคู่หน้าและข้อเท้าคู่หลัง


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 พ.ค. 17, 19:19
พื้นฐานของการใส่ปลอกก็คือ การจำกัดระยะทางการเดินไปใหนมาใหนของช้างให้อยู่ในวงแคบมากพอที่จะสามารถตามหาตัวได้ในระยะเวลาที่ไม่มากนัก   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 พ.ค. 17, 19:30
ข้อสรุปในภาพรวมก็คือ เอาช้างไปปล่อยให้หากินอย่างอิสระแต่อย่างมีขัอจำกัดบางประการ   ช้างแต่ละตัวก็มีวิธีการที่เหมาะสมที่จะเลือกใช้กับมัน  ทั้งหมดนี้ก็เพียงเพื่อให้สามารถตามจับช้างมาทำงานได้ภายในระยะเวลาอันควร 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 พ.ค. 17, 19:04
โซ่ที่ผูกไว้รอบข้อเท้าซ้ายของขาหน้านั้น ควาญช้างที่ทำงานในคณะสำรวจของผมไม่เคยถอดออกเลย เมื่อจะเริ่มทำงานก็เพียงยกเอาปลายโซ่ขึ้นมาพาดคอไว้เท่านั้น   

ผมเข้าใจจากภาพที่ได้เห็นว่า เพื่อจะได้ไม่ต้องไปเสียเวลากับการต้องไปผูกโซ่ที่ข้อเท้าทุกครั้งที่เมื่อใดต้องการจะล่ามหรือปล่อยให้หากิน ผนวกกับช้างเองก็ไม่ได้มีความรู้สึกหนักหรือรำคาญที่จะถูกผูกโซ่ไว้เช่นนั้น


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 พ.ค. 17, 19:35
เมื่อช้างถูกนำไปปล่อยให้หากินในสภาพที่จต้องเดินลากโซ่ไปด้วย   ก็คงพอจะนึกภาพออกนะครับว่าขนาดเราเดินลากเส้นเชือกปลายปล่อยไปบนสนามหญ้า มันก็ยังไม่ค่อยจะราบรื่น ช้างที่เดินลากโซ่บนผืนดินในป่ามันก็จะถูกหน่วงเหนี่ยวในลักษณะเช่นนั้น   

กระนั้นก็ตามการหน่วงเหนี่ยวก็อาจจะต้องทำให้มีความเข้มข้นมากขึ้นตามสภาพและสถานการณ์  ก็เลยเป็นที่มาของการใช้วิธีการผูกปลายโซ่ไว้กับขอนไม้  ซึ่งก็จะมีทั้งแบบที่ผูกไว้ที่ปลายของขอนไม้และแบบที่ผูกไว้ที่ตรงกลางของขอนไม้  ซึ่งขอนไม้ที่ใช้นั้นก็ไม่จำเป็นจะมีขนาดใหญ่ดั่งท่อนซุง ขนาดประมาณโคนขาของเราก็พอได้แล้ว แต่จะต้องเป็นไม้ประเภทเนื้อแข็งหน่อย


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 พ.ค. 17, 19:48
การผูกโซ่กับขอนไม้นี้ โดยหลักการก็คือ เมื่อช้างเดินหากินไป ขอนไม้ถูกผูกไว้ก็จะถูกลากตามไปขวางหรือไปขัดกับต้นไม้ใบหญ้าต่างๆ  ช้างก็จะต้องเสียเวลาหันกลับหลังมาใช้งวงจัดการทำให้ท่อนไม้นั้นให้หลุดพ้นจากที่ๆมันขัดอยู่  ก็เลยทำให้มันต้องเสียเวลาในการแก้ไข ไม่สามารถเดินไปได้ไกลในช่วงของเวลาค่ำคืนหนึ่ง


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 พ.ค. 17, 17:47
การผูกโซ่ไว้กับท่อนไม้นี้ ต้องปลดโซ่จากข้อเท้าหน้าเปลี่ยนมาเป็นใส่ที่ข้อเท้าหลัง   

การผูกโซ่ไว้ที่ปลายท่อนไม้กับกลางท่อนไม้จะให้ผลต่างกันมาก   ในกรณีผูกโซ่ไว้ที่กลางท่อนไม้นั้น ช้างจะเสียเวลาสำหรับการเดินไปไหนมาไหนมากๆ เพราะต้องใช้เวลากับการต้องหันหลังกลับมายกขอนไม้ข้ามสิ่งกีดขวางต่างๆ

ในกรณีที่หาท่อนไม้ไม่ได้ ควาญช้างก็จะใช้วิธีการใส่ปลอกที่ข้อเท้าแทน จะเป็นข้อเท้าหน้าหรือข้อเท้าหลังก็ได้ แต่จะต้องให้ช้างสามารถเดินได้ (แบบไม่เต็มก้าว..กระดึบๆไป)   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 พ.ค. 17, 18:08
ก็ใช่ว่าวิธีการหน่วงเหนี่ยวช้างไม่ให้เดินหากินไปไกลมากนักในช่วงค่ำคืนหนึ่งดังที่กล่าวมานั้น จะได้ผลดังที่คิดไว้นะครับ   เมื่อช้างตั้งใจที่จะไปจริงๆ การใส่ปลอกที่ข้อเท้าที่ว่าน่าจะดีที่สุดนั้น กลับมิใช่เลย   ปล่อยช้างใว้ช่วงหนี่งคืนนั้นมักจะหมายถึงการต้องใช้เวลาประมาณหรือกว่าครึ่งวันในการเดินตามจับ    วิธีการที่ดีที่สุดก็คือการผูกโซ่ไว้ที่กลางขอนไม้ ซึ่งก็มีขัอจำกัดที่ขอนไม้ขนาดที่ต้องการนั้นไม่ค่อยจะมี  กระนั้นก็ตาม หากเป็นช้างตัวผู้ที่มีขนายแล้ว มันก็จะใช้วิธีการดึงโซ่ให้ตึงแล้วใช้ขนายนั้นทิ่มแทงโว่ที่รัดอยู่กับขอนไม้จนโซ่ขาดหรือหลุกจากการผูก  ภาพนี้เคยเห็นอยู่สองสามครั้ง แต่เป็นที่แคมป์แรม เมื่อจับช้างมาได้แล้ว เอามาอาบน้ำแล้ว ผูกไว้ขณะรอควาญกินข้าว มันก็แสดงให้ดู   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 พ.ค. 17, 19:03
ภาพที่เล่ามาดูคล้ายกับว่า เมื่อช้างถูกปล่อยแล้วมันก็จะหนีเข้าป่าอย่างเดียวนั้น   มิใช่เลย เป็นเรื่องของความรู้สึกของช้างที่อยากจะกลับบ้านเท่านั้นเอง   เมื่อควาญเขารู้เช่นนี้ พื้นที่ของการเดินตามจับช้างแรกเริ่มก็จึงเป็นพื้นที่ๆอยู่ในทิศทางของการเดินกลับบ้าน



กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 พ.ค. 17, 18:44
ก่อนจะไปเรื่องของช้างอยากกลับบ้านนี้  จะขอต่อเรื่องการนำช้างไปปล่อยให้หากินอีกเล็กน้อยครับ

มีอยู่บ่อยครั้งที่พอเริ่มมืดสนิท ควาญช้างก็จะออกเดินกลับไปดูช้างที่นำไปปล่อยไว้ให้หากิน  ก็พอเข้าใจในความเป็นห่วงของควาญช้าง แต่เมื่อได้สนทนาสอบถามกันเพื่อก็ได้ความเพิ่มเติมว่า ก็เพื่อไปดูภาพในองค์รวมของการเคลื่อนไหวของช้างในพื้นที่นั้น และทำให้ช้างรู้สึกสบายใจว่ามิได้อยู่เดียวดาย  บางครั้งควาญก็ไม่กลับมาแคมป์ นอนอยู่กับช้างเลย  ควาญช้างเล่าว่า เคยเมาเหล้าแล้วเดินไปดูช้าง นั่งพิงขาช้างผลอยหลับไป ช้างก็ยืนนิ่งอยู่เช่นนั้นให้หลับไปพักใหญ่ๆ   เรียกว่าคอยดูแลกันและกัน  น่ารักใหมครับ     


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 พ.ค. 17, 19:34
ก็มีที่น่ารักไปกว่านั้นอีก  ก็มีอยู่วันหนึ่งที่เดินเข้าไปใกล้หมู่บ้านป่า (3-4 หลังคาเรือน)  ตั้งแคมป์อยู่ห่างไปประมาณ 2 กม. พอเสร็จอาหารมื้อเย็น ผมและพรรคพวก 2-3 คนกับควาญช้างคนหนึ่ง ก็เดินไปที่หมู่บ้าน เอาเหล้าแม่โขงที่พอมีติดไปด้วย 

ก็เป็นธรรมเนียมและวิธีปฎิบัติในการเข้าหาและการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างเรากับคนถิ่น (ยุคนั้นเป็นช่วงเวลาของความขัดแย้งทางความคิดระหว่างชาวบ้านห่างไกลกับฝ่ายรัฐที่ค่อนข่างจะรุนแรงมาก)    สิ่งของที่เป็นสื่อกลางที่ดีที่สุดแบบพื้นบ้าน (มิใช่แบบราชการ) ก็มีเหล้าแม่โขงที่ชาวบ้านเรียกว่าเหล้าสี บุหรี่ยี่ห้อกรุงทองหรือกรองทิพย์ และยาทันใจแก้ปวด (ขออภัยที่ต้องกล่าวออกนามชื่อเหล้า บุหรี่ และยา)   
ชาวบ้านมีแต่เหล้าขาวซึ่งเป็นเหล้าที่ต้มกลั่นกินเอง ก็อยากดื่มเหล้าสี (ซึ่งหมายถึงเหล้าที่มีชื่อโด่งดังของยุคนั้น)  ชาวบ้านสูบบุหรี่ที่เรียกว่ายาเส้นหรือยาฉุน (มวนเอง) ก็อยากจะสูบบุหรี่มวนสำเร็จ ซึ่งก็มีอยู่สองชื่อดังกล่าวที่มีความฉุนพอๆกับยาเส้น  แล้วก็ยาแก้ปวดยี่ห้อดังกล่าว ซึ่งเป็นความเชื่อว่ากินก่อนออกทำงานแล้วจะไม่รู้สึกปวดเมื่อทำงาน (ที่จริงแล้วก็มีอีกเหตุผลหนึ่งที่มิอาจจะเล่าได้ เป็นการใช้เพื่อผลแทนสารบางอย่าง ผู้ที่เป็นแพทย์จะทราบดี)     


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 พ.ค. 17, 20:07
เสร็จธุระการสร้างความเข้าใจระหว่างกัน ก็กลับแคมป์  แต่ควาญช้างคนหนึ่งยังขอนั่งคุยกับสาวอยู่ จะตามกลับมาทีหลัง แล้วก็ไม่ได้กลับมาแคมป์ทั้งคืน

รุ่งเช้ามีช้างตัวผู้กลับมาที่แคมป์แรมเพียงตัวเดียว  ช้างตัวเมืยอีกตัวหนึ่งของควาญที่ขอนั่งคุยกับสาวนั้นยังไม่ปรากฎจนเวลาสายโด่งมากแล้ว  สอบถามไปก็ได้ความว่า ช้างไม่ยอมให้จับ (ขึ้นคอ) กระฟัดกระเฟียดอยู่เช่นนั้น เหตุผลที่เป็นไปได้มากที่สุดก็เพราะช้างได้กลิ่นผู้หญิงที่ติดตัวมากับควาญช้าง คงจะเป็นเรื่องของการหึงและหวงนั่งเอง   ควาญช้างทั้งสองคนบอกว่า ช้างมักจะต้องสำรวจกลิ่นก่อนที่จะยอมให้ขึ้นคอ กลิ่นแปลกๆที่ติดมาก็จะใช้เวลานิดหน่อย


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 พ.ค. 17, 20:42
น่าทึ่งนะครับ ช้างมีความรู้สึก คิดได้ และมีความละเอียดอ่อนในอารมณ์ได้ถึงปานนั้น   

ตัวผมเองมีความเชื่อในเรื่องเช่นนี้ว่ามีอยู่ในตัวสัตว์ต่างๆ  ซึ่งเราสื่อสารกับเขาได้บนพื้นฐานของความเมตตาที่มี(อยู่จริง)ในใจของเรา  คงจะได้เล่าประสบของตนเองเมื่อโอกาสอำนวยครับ      ตัวผมเองก็เลยแยกสัตว์ออกเป็นสองพวก....(นอกตำรานะครับ) คือ พวกสัตว์ที่มีสมอง (มีทั้ง instinct & intelligence) กับสัตว์ไร้สมอง _ beast (มีแต่ instinct)


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 พ.ค. 17, 19:18
เรื่องช้างอยากกลับบ้านนั้น  ในความเป็นจริงแล้วก็มิได้เกิดขึ้นเฉพาะกับช้าง แต่เกิดขึ้นกับสัตว์อื่นๆอีกมากมายหลายชนิดอีกด้วย  ก็คืออยากกลับไปยังถิ่นที่อยู่อาศัย(ที่อยู่ประจำ)ที่ได้จากมา   ลักษณะอาการโดยรวมก็คือ ในเส้นทางขาเดินออก (outbound) อัตราความเร็วเดินทางจะช้า และยังสังเกตได้ว่าสัตว์จะมีอารมณ์ไม่แจ่มใส มีอาการหันรีหันขวาง มองหน้ามองหลังอยู่ตลอดเวลา   แต่หากเป็นเส้นทางขาเข้า (inbound) กลับบ้าน อัตราความเร็วการเดินจะเร็วอย่างผิดปกติ จะใช้วลีว่า "รีบโกยโดยไม่เหลียวหลังเลย" ก็ได้ ก็คงจะไม่ผิดเพี้ยนไปนัก   

ตัวอย่างหนึ่งที่พอจะยกให้เห็นได้ (แต่เป็นภาพเก่า) ก็คือ เกวียนของชาวบ้านในชนบทห่างไกลที่ใช้บรรทุกคนหรือของเข้าเมือง บนเส้นทางขาเข้าเมือง จะเห็นว่าจะต้องมีคนขับเกวียนนั่งกำกับอยู่ตลอดเวลา แต่บนเส้นทางขากลับบ้าน เกวียนที่เทียมด้วยวัวหรือควายนั้นเกือบจะไม่มีเสียงเอ็ดตะโรของผู้กำกับและเสียงของการลงไม้เรียวเลย แถมบางครั้งยังเห็นแต่คนนอนหลับคุดคู้อยู่อีกด้วย           


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 พ.ค. 17, 19:31
สำหรับช้างนั้น มีสารพัดของการแสดงออกตั้งแต่เริ่มกระบวนการบรรทุกของไปเลย มีทั้งน่ารักและน่ากลัว(สำหรับเรา)   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 พ.ค. 17, 18:24
การแสดงออกของการไม่อยากออกไปทำงานหรือออกไปไกลจากถิ่นพำนักที่เห็นอยู่บ่อยๆ ก็คือ อาการอยู่ไม่นิ่งและได้ยินเสียงควาญคอยดุว่าในระหว่างการนำของบรรทุกบนหลัง 

แม้ตามปกติช้างจะอยู่ไม่นิ่งก็ตาม แต่มันก็มีความต่างกัน   อาการยืนอยู่ไม่นิ่งที่เป็นลักษณะปกติของช้างนั้น มักจะเป็นการยืนโยกตัวไปมาเล็กน้อยในแนวหน้าหลัง มักจะไม่มีการยกเท้าหน้าหรือหลัง งวงก็จะแกว่งไปแบบสบายๆตามปกติของเขา    ในขณะที่อาการที่แสดงออกถึงการไม่อยากออกไปทำงานไกลบ้านนั้น การโยกตัวของเขาจะมีทั้งซ้ายขวาหน้าหลัง และที่เราพอจะสังเกตได้ค่อนข้างจะชัดเจนก็คือการกวัดแกว่งของงวง  ซึ่งนอกจากเสียงหายใจที่ค่อนข้างจะแรงและดังฟืดฟาดแล้ว  ก็มีการเอาปลายงวงตบดิน ทำให้มีเสียงคล้ายการเอากระบอกไม้ไผ่ตบพื้นดิน  หากเป็นตัวผู้ที่มีขนาย ก็จะเอางวงวางพาดบนขนาย  ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่ต้องบอกก็คงจะรู้ว่าเป็นการแสดงออกถึงอาการเซ็ง         


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 พ.ค. 17, 18:40
ปกติผมจะจ้างช้างสองตัวในการทำงาน  หากในบางวัน ช้างตัวใดตัวหนึ่งจะใช้งวงตบดินบ้างก็น่าจะเป็นเรื่องปกติ แต่หากทั้งสองตัวทำอาการเดียวกัน ก็อาจจะเป็นเรื่องที่จะต้องมีการระวังเสียแล้ว ทั้งระวังสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดและระวังตัวเราเอง   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 พ.ค. 17, 19:19
สถานการณ์หนึ่งที่เคยเจอก็คือ ครั้งนั้นตั้งใจว่าจะเดินสำรวจตัดในแนวตะวันออก-ตะวันตก จากแม่น้ำแควน้อยแถวๆ บ.แก่งระเบิด ไปจรดชายแดนไทย-พม่า  ว่าจ้างช้าง 2 ตัว (แต่ไปด้วยกัน 3 ตัว)  กว่าจะบรรทุกของได้เสร็จ ก็สายมากๆแล้ว  เมื่อออกเดินก็เดินไปในอัตราความเร็วที่น้อยมากอีก ช้างเองก็ดูไม่เป็นมิตรกับเราเอาเสียเลยตั้งแต่ต้นทาง ทั้งสายตาและการกระทำ  ใช้เวลานานมากกว่าจะไปถึง ณ จุดๆหนึ่งในช่วงเวลาเริ่มจะบ่ายแก่ 

ณ จุดๆนั้นบังเอิญผมเกิดมีความรู้สึกโคลงเคลง มีอาการหนาวๆร้อนๆจะเป็นไข้   ด้วยที่ผมเองเคยเป็นไข้มาลาเรียมาก่อนหลายครั้ง และทราบว่าในพื้นที่นั้นมีไข้มาลาเรียระบาดค่อนข้างจะรุนแรง และทราบด้วยว่าเป็นพวกเชื้อมาลาเรียที่เรียกกันว่าพวกเชื้อขึ้นสมอง ออกอาการคล้ายคนบ้า สติไม่ดี (Plasmodium Falciparum)  อยู่ไม่ได้แล้วครับ เป็นไข้ 3 วันก็มีโอกาสถึงตายได้    จึงตัดสินใจยกเลิกการทำงานแล้วเดินย้อนกลับมายังต้นทาง เมื่อถึงแม่น้ำแควน้อยก็ลงอาบน้ำทำความสะอาดร่างกายก่อนจะเข้าเมือง เอามือลูบไปแถวสะดือก็พบเห็บป่า พอดึงเห็บออก อาการทั้งหลายก็แทบจะหายไปแบบปลิดทิ้งเลย     


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 พ.ค. 17, 16:53
เรื่องเจ็บไข้ได้ป่วยในป่านั้น ว่าจะขยายความเป็นกระทู้สั้นๆในโอกาสต่อไป  จะขอกลับไปเข้าเรื่องของช้างต่อไป


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 พ.ค. 17, 17:28
เหตุที่ต้องตัดสินใจเดินกลับอีกประการหนึ่งก็คือ  ต่อไปจากจุดที่หยุดตัดสินใจเดินกลับนี้ จะเริ่มเป็นทางในภูมิประเทศที่เป็นลอนคลื่น (undulating terrain) ก่อนที่จะเข้าพื้นที่ๆเป็นป่าเขาสูงชันจริงๆ ซึ่งหากพ้นจากจุดนี้ไป ก็หมายถึงต้องเดินต่อไปจนถึงจุดที่จะตั้งแคมป์แรมได้ ก็จะต้องเดินกลับในวันรุ่งขึ้น ต้องห่างหมอช้าไปอีกวันหนึ่ง การเสี่ยงตายก็เพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็นและยังอาจจะเกิดเป็นวิกฤติที่ไม่จำเป็นอีกด้วย 

เนื่องจากเส้นทางในช่วงแรกนั้นอยู่ในพื้นที่ราบของตะพักลำน้ำ (river terrace)  เราก็เดินนำหน้าช้างไปตามปกติ แต่สักพักก็ต้องหยุดรอช้าง เพราะช้างเดินช้ามาก ออกอาการเบี้ยวตลอดทางดังที่ได้เล่ามา  ก็เลยได้เห็นอาการดื้อเงียบ วิธีการเบี้ยว และการแสดงออกซึ่งความไม่พอใจต่างๆของช้าง 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 พ.ค. 17, 17:57
อาการที่เด่นชัดมากและดูน่ากลัวก็คือ การยืนหันหน้ามาทางเรา เอาปลายงวงตบพื้นดินให้เป็นเสียงดัง ส่ายหัวกับตัวในท่วงท่าคล้ายกับการจะสลัดของที่บรรทุกอยู่บนหลังทิ้งไป  คงจะนึกภาพออกนะครับ     แต่เมื่อเราตัดสินในเดินกลับ เพียงเราเริ่มหันหน้าก้าวเท้าไปในทิศทางกลับเท่านั้นเอง  ควาญช้างไม่ต้องสั่งการใดๆเลย ช้างพร้อมกันหันหัวออกเดินกลับในทันใด  เดินเร็วเสียด้วย แทนที่เราจะเป็นฝ่ายเดินนำ กลับกลายเป็นว่าช้างเป็นฝ่ายเดินนำ และเดินถึงก่อนเรานานพอที่จะยกของลงจากหลังได้เกือบทั้งหมดเมื่อเราไปถึง


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 พ.ค. 17, 18:36
แต่เมื่อใดที่อยู่ด้วยกันจนมีความรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกันแล้ว ช้างก็จะยอมที่จะไปใหนมาใหนด้วยกันกับเราอย่างไม่อิดออดรีรอ   จากประสบการณ์และความรู้สึกที่พอจะสัมผัสได้ พบว่า กว่าจะมีความรู้สึกเช่นนั้นของทั้งเราและเขาก็ประมาณหนึ่งสัปดาห์ 

ณ จุดนั้น ช้างก็ค่อนข้างจะปล่อยตัวให้เราสามารถเข้าไปอยู่ใกล้ๆตัวเขาได้ในจุดที่เขามองไม่ค่อยจะเห็น (ส่วนหลัง)  ในภาพรวมก็คือเขาไม่แสดงอาการกังวลใดๆออกมา     เขาไม่กังวลแต่เราก็ต้องระวัง ช้างนั้นดูเหมือนว่าจะเตะไม่เป็นและก็ถีบไม่เป็นอีกด้วย  ก็คงจะถูกต้อง แต่ลองนึกดูถึงท่อนไม้ขนาดเท่ากับขาช้างมัน ถ้ามันแกว่งมาถูกตัวเรา เราจะรู้สึกเช่นใด ครับ ก็เป็นเช่นนั้น


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 พ.ค. 17, 19:09
มีอีกเรื่องหนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเวลา คือ ช้างตื่น อยู่ดีๆก็วิ่งโกยแนบ    ชื่อเรียกขานของอาการนั้นดูจะน่ากลัว แต่ในความเป็นจริงแล้วดูจะเป็นภาพที่น่ารักเสียมากกว่า   

ที่เห็นว่าแปลกก็ตรงที่มันเป็นภาพที่สวนทางกับความรู้สึก คือแทนที่จะวิ่งเตลิดเข้าป่า กลับกลายเป็นวิ่งออกไปสู่พื้นที่ไปร่ง และมักจะลงไปในห้วยอีกด้วย  อาจจะเป็นเพราะว่าเป็นช้างเลี้ยงและมีควาญอยู่บนคอหรือเปล่าก็ไม่รู้ จึงไม่เตลิดเข้าป่าที่รก 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 พ.ค. 17, 19:40
ก่อนจะเริ่มวิ่งก็มีทั้งแบบเป่าและไม่เป่าแตร รวมทั้งแบบงวงและหางชี้และไม่ชี้   เมื่อมันเริ่มตื่นนั้นเราไม่ค่อยจะได้เห็นภาพกัน จะเห็นก็ตอนที่มันก้มหน้าก้มตาวิ่งดั่งรถวิ่งลุยป่าละเมาะ พร้อมกับเสียงสั่งการของควาญให้มันหยุด   

ก็เป็นภาพที่มีทั้งความน่ารัก ความน่าขำ ลุ้นว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง จะจบที่ใหน และอย่างไร  ดูจะเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความรู้สึกของอารมณ์ในด้านที่เป็นความสุขมากกว่าที่จะเป็นในด้านของความทุกข์   สำหรับอารมณ์ในด้านของความไม่พอใจและโกรธนั้น ดูจะอยู่กับควาญช้างเท่านั้น


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 พ.ค. 17, 18:26
ที่อาจจะแปลกอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ช้าง 2 ตัวไปด้วยกัน เดินตามกัน แต่ตื่นเพียงตัวเดียว อีกตัวหนึ่งก็เพียงหยุดนิดนึงแล้วก็เดินทำงานต่อไป  ผมไม่เคยเห็นตื่นพร้อมกันทั้ง 2 ตัวเลย   มากไปกว่านั้น ก็ยังอาจจะเป็นตัวเดินนำหน้าตื่นก็ได้ หรือตัวเดินตามตื่นก็ได้ ผมเคยได้ประสบทั้งสองแบบ  แล้วก็ไม่รู้ว่ามันตื่นเพราะอะไรอีกด้วย


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 พ.ค. 17, 19:02
เมื่อช้างตื่น มันก็วิ่งโลด ของที่บรรทุกอยู่บนหลังก็อาจจะตกหล่นไปตามทางหากเรามัดไม่ดี บ้างก็ถูกกิ่งไม้เกี่ยวให้ร่วงหล่นลงไป   ก็คงพอจะเห็นภาพและเข้าใจแล้วนะครับว่า ด้วยเหตุใดจึงใช้ปีบสำหรับใส่ของพวกเครื่องครัว แล้วก็ใช้ถุงทะเลของทหารใส่เสื้อผ้าและเครื่องนอน ดังที่เล่ามาแต่ต้น อย่างน้อย ของที่ตกลงมาก็ไม่กระจัดกระจาย 

ปี๊บก็ต้องสั่งทำเป็นพิเศษ จำได้ว่าต้องใช้สังกะสีเบอร์ 28 (หากจำไม่ผิด) และเก็บตะเข็บต่างๆแบบพับม้วนกับลวด ซึ่งจะทำให้ปี๊บมีความแข็งแรงมาก ตกจากหลังช้างก็ยังคงมีสภาพดีและยังใช้การได้ดี    หากยังพอจะเกิดทันยุคที่โรงภาพยนต์และหนังกลางแปลงยังใช้เครื่องฉายหนังแบบ Carbon arc projector  ก็อาจจะเคยเห็นปี๊บใส่ม้วนฟิล์มที่ทำในลักษณะเดียวกันบ้าง (นอกเหนือไปจากปกติที่ใช้กล่องที่ทำด้วยหนังสัตว์)


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 พ.ค. 17, 19:29
คนอื่นๆในคณะยืนดูช้างตื่น ทำอะไรไม่ได้ จะช่วยอะไรก็ไม่ได้ ต้องปล่อยให้ควาญช้างจัดการเรื่องอยู่เพียงคนเดียว จนกระทั้งช้างหยุดตื่นยืนอยู่กับที่ั่นั่นแหละ ทุกคนจึงจะเข้าไปใกล้ได้   ระยะทางที่ช้างตื่นวิ่งก่อนที่ควาญช้างจะควบคุมได้ เท่าที่เคยสัมผัสมา สูงสุดไม่เกินประมาณ 50 เมตร   

ก็คงอยากจะทราบว่า แล้วควาญช้างเขาใช้วิธีการเช่นใด   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 พ.ค. 17, 19:13
เคยสังเกตใหมครับ ว่า ควาญช้างที่นั่งอยู่บนคอช้างที่ใช้ทำงานนั้น เกือบจะทุกคนกระมังที่จะต้องเหน็บมีดไว้ที่ด้านหลังกับเข็มขัดหรือผ้าขาวม้าที่คาดคาดเอว หรือไม่ก็จะต้องถือตะขอช้างไว้ในมือตลอดเวลา   เราจะไม่เห็นมีดและตะขอช้างในตัวของควาญช้างก็เมื่อใช้ช้างนั้นในการแสดงเป็นชุดต่อเนื่องตามที่ได้รับการฝึกมา

เมื่อดูลึกลงไป ก็จะเห็นว่า ตะขอช้างนั้นมีปลายแหลมงองุ้มเข้าคล้ายกับเล็บเหยี่ยว  ส่วนสำหรับมีดที่ใช้นั้นก็มีอยู่ 2 ทรงที่ใช้กัน คือ ทรงที่เรียกว่า มีดพร้า กับ ทรงที่เรียกว่า มีดเหน็บ     มีดพร้านั้นเป็นทรงหัวตัด ส่วนมีดเหน็บนั้นมีปลายแหลม 

ขยายความให้หน่อยนึงว่า มีดเหน็บของไทยนั้น จัดได้ว่าเป็นหนึ่งในสุดยอดของมีดสำหรับผู้ที่นิยมใช้และสะสมมีดในต่างประเทศ  แล้วก็มีที่น่าสนใจไปมากกว่านี้อีก ก็คือ ของเก่าของไทยนั้นมีราคาค่อนข้างสูง ในปัจจุบันนี้มีช่างตีมีดมือถึงๆอยู่ไม่กี่คน (เท่าที่ได้ติดตามมา)   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 พ.ค. 17, 19:34
น่าสนใจว่า ในพื้นที่ภาคเหนือและตะวันตกของไทยนั้น เกือบจะไม่เคยเห็นเลยว่าควาญช้างนิยมใช้ตะขอช้าง และก็ไม่ค่อยจะมีการใช้มีดเหน็บเช่นกัน มีดเหน็บหลังควาญช้างเกือบทั้งหมดจะเป็นมีดพร้าทั้งนั้น  ซึ่งก็พอจะทราบเหตุผลอยู่ว่า มีดเหน็บดีๆ น้ำหนักดีๆ ชุบแข็งดีๆ และเหมาะกับมือนั้น ค่อนข้างจะหายากทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ  (เรื่องมีดของไทยเรานี้ก็น่าสนใจนะครับ มีหลากหลายรูปแบบ และมีเอกลักษณ์ประจำตัวอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว)

และก็แปลกที่ตะขอช้างนั้น มีการใช้ในที่อื่นๆรวมทั้งนอกเขตบ้านเราอย่างแพร่หลาย     


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 พ.ค. 17, 18:25
ลักษณะท่าทางการวิ่งของช้างนั้นอยู่ในรูปของการเดินเร็ว มิใช่ในลักษณะของการควบเช่นม้าแข่ง หรือของสัตว์อื่นๆทั่วๆไป (สุนัข ลิง เก้ง กวาง ....)  เมื่อช้างตื่น ควาญช้างจึงยังสามารถจะนั่งอยู่บนคอช้างได้ แต่บางครั้งก็ต้องรีบโดดลงหากช้างวิ่งระกิ่งไม้ ทนถูกไม้เกี่ยวไม่ไหว

ควาญที่ใช้มีดพร้า นอกจากจะส่งเสียงสั่งการให้ช้างหยุดแล้ว ก็จะใช้มีดพร้านั้นแหละฟันที่โหนกหัวของช้าง ด้านสันบ้างด้านคมบ้าง  เช่นเดียวกัน ควาญที่ใช้มีดเหน็บก็ทำแบบเดียวกัน แต่ก็อาจจะทำมากกว่าด้วยการใช้ปลายแหลมของมีดกดลงไปที่โหนกหัวของช้าง

ผมเองนั้นไม่แน่ใจนักว่า ช้างหยุดเพราะเชื่อฟังคำสั่ง เพราะเจ็บ เพราะได้สติ หรือเพราะรู้สึกว่าตื่นพอแล้ว   เท่าที่ได้สัมผัสมา ผมคิดว่าช้างหยุดตื่นก็เพราะช้างคิดว่าตื่นมาพอแล้ว ตั้งสติได้แล้ว มากกว่าที่จะหยุดเพราะเขื่อฟังคำสั่งหรือว่าเพราะเจ็บ


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 พ.ค. 17, 18:50
เมื่อแรกเห็นภาพการใช้มีดของควาญช้าง เราก็รู้สึกว่าโหดจัง รู้สึกสงสารช้าง  แต่เมื่อได้คุยได้สอบถามควาญช้างแล้วก็พอจะรู้สึกมีความสบายใจได้  ช้างไม่ได้มีความรู้สึกเจ็บมากจากการฟันที่โหนกหัว แม้อาจจะมีเลือดออกซิบๆก็ตาม  ต่างกับการใช้ปลายมีดเหน็บปักซึ่งจะทำให้รู้สึกเจ็บมากกว่ามาก (ก็คงไม่ต่างจากการใช้ตะขอช้าง)   แต่กระนั้นก็ตาม ควาญช้างที่ใช้มีดเหน็บก็จะใช้วิธีฟันตามปกติเว้นแต่เมื่อใดที่ไม่สามารถจะคุมการตื่นของช้างได้จริงๆ ซึ่งกว่าจะถึงขั้นนั้น ควาญก็มักจะต้องโดดลงจากคอ ทำอะไรไม่ได้แล้ว

ควาญช้างบอกว่า ที่เราเห็นช้างมีหัวโหนกนูนสวยนั้น ก็มาจากการถูกมีดฟันนี้แหละ 

ถ่ายทอดเรื่องราวมาให้พิจารณากัน จะเชื่อได้หรือไม่ได้ก็พิจารณากันเอาเองนะครับ   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 พ.ค. 17, 19:17
เรื่องของการใช้มีดกับการใช้ตะขอช้างนี้  สำหรับตัวผมนั้นมันบ่งชี้ได้ถึงความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างการเลี้ยงช้างเพื่อการใช้งานในลักษณะของความสัมพันธ์แบบเป็นคู่หู กับ ในลักษณะของความสัมพันธ์แบบนายกับลูกน้อง  ซึ่งทั้งหลายเหล่านี้ก็คือความต่างในด้านของจิตใจที่ถูกถ่ายทอดส่งต่อกันมาผ่านทางความเชื่อ ประเพณี และวัฒนธรรม


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 พ.ค. 17, 19:32
ภาพที่น่ารักอีกภาพหนึ่งก็คือ เมื่อช้างหยุดตื่นแล้ว ทุกคนก็มีหน้าตายิ้มแย้ม ไม่มีอารมณ์หงุดหงิด ไม่มีอารมณ์โกรธ แล้วก็ดูจะมีหัวข้อสนทนากันอยู่เพียงหัวข้อเดียว คือ อะไรหรือสาเหตุใดที่ทำให้ช้างตื่น  ควาญช้างเองเมื่อลงมาจากคอช้างก็ไม่แสดงอาการหงุดหงิดหรืออาการโกรธใดๆ 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 พ.ค. 17, 17:45
ที่ว่าช้างตื่นแล้วมักจะไปหยุดอยู่ที่ห้วยนั้น ก็ไปหยุดยืนเอาเท้าแช่น้ำ ดีนะครับที่มันไม่ลุยน้ำต่อไปในห้วย ที่เรากลัวกันก็ในเรื่องของสัมภาระจะหล่นลงน้ำ โดยเฉพาะถุงทะเลที่ใส่เสื้อผ้าและเครื่องนอน หากเปียกน้ำแล้วก็คนในคณะก็คงจะลำบากกันถ้วนหน้า   

ก็มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ช้างวิ่งลงห้วยแต่ซวย เท้าคู่หน้าดันไปจมหล่มโคลน ยืนหน้าขะมำอยู่ริมตลิ่งห้วยนั่นเอง  เรื่องยุ่งยากที่ตามมาก็คือวิธีการของช้างในการชักเท้าออกจากโคลน ซึ่งจะต้องย่อเข่าขาหลังแล้วจึงถอนเท้าหน้า     


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 พ.ค. 17, 18:11
เมื่อช้างหยุดตื่นแล้ว ทุกอย่างก็เหมือนเป็นเรื่องปกติ ควาญช้างจะลงมาจากคอเพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยต่างๆ ซึ่งส่วนมากมักจะต้องมีการขนสัมภาระลงเป็นบางส่วนเพื่อจัดใหม่ให้เรียบร้อย    ควาญช้างจะดึงติ่งใบหู จูงช้างให้ทำอะไรต่อมิอะไรตามที่ต้องการ ช้างก็จะทำตามอย่างเต็มใจ ทุกอย่างเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้น

เป็นภาพที่น่ารักดี ต่างก็จิตสำนึกและอภัยให้แก่กัน  ไม่เก็บสะสมให้เป็นอารมณ์ของความเคียดแค้นและไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 พ.ค. 17, 19:21
อีกภาพหนึ่งที่คิดว่าคงจะมีน้อยคนที่ได้เห็น คือวิธีการของช้างในการเดินขึ้นและลงที่ลาดชันที่พื้นดินมีความลื่น (ไม่ว่าจะเป็นเพราะดินร่วนหรือเป็นดินโคลน)

ในขาขึ้น ช้างจะใช้เท้าและเล็บจิกจนดินมีลักษณะคล้ายขั้นบันใด   ในขาลง หากลื่นมากๆ ช้างก็จะใช้วิธีงอเข่าหลัง ใช้เพียงเท้าหน้าก้าวดึงขาหลังให้ลื่นไถลตามลงมา


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 พ.ค. 17, 18:40
ช้างเป็นสัตว์ที่ชอบน้ำ ดูเหมือนว่าจะเป็นหนึ่งในสัตว์ไม่กี่ชนิดที่ชอบลงไปเล่นน้ำในลักษณะของการเล่นแบบสนุกสนาน  การเล่นของช้างในน้ำนั้นเป็นภาพที่น่ารักและเป็นที่ชื่นชอบของทุกคน   การอาบน้ำช้างทุกเช้าก่อนที่จะแต่งตัวเพื่อบรรทุกสัมภาระนั้น ช้างชอบมาก ควาญช้างจะทำการขัดสีฉวีวรรณให้ทั้งตัว เมื่ออาบเสร็จแล้วก็จะเห็นว่าช้างมีอารมณ์ดี แต่ในบางวันช้างก็อาจจะทำอะไรที่เกินเลยไป คือในระหว่างที่รอแต่งตัวหลังจากอาบน้ำเรียบร้อยแล้ว ก็อาจจะดูดฝุ่นพ่นไปตามตัว คล้ายกับการประแป้ง ควาญก็ต้องคอยเอ็ด เพราะว่าฝุ่นดินทรายละเอียดเหล่านั้นจะเป็นเสมือนผงขัดที่แทรกอยู่ระหว่างผิวหนังของช้างกับเครื่องแต่งตัวต่างๆ  เดินโยกไปโยกมาไม่นานผิวหนังก็อาจจะเกิดเป็นแผลได้

ดังนั้น ช้างทุกตัวที่จะต้องแต่งตัวออกไปทำงาน จึงต้องอาบน้ำเช้าทุกวัน   

ก็คงจะเป็นคำอธิบายว่า ด้วยเหตุใดในการไปเที่ยวชมช้างตามปางช้างต่างๆ จึงควรจะต้องเป็นในเวลาเช้า  ก็เพื่อจะได้เห็นความน่ารักต่างๆตั้งแต่เมื่อเริ่มการอาบน้ำช้างนั่นเอง


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 พ.ค. 17, 19:14
ท่าทางแบบหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของช้างเมื่อลงอาบน้ำหรือลงเล่นน้ำก็คือ จะต้องมีการเอนตัวนอนตะแคงข้าง  ซึ่งที่ดูเหมือนว่าจะมีเอกลักษณ์ ก็คือ ลงนอนแล้วจะตะแคงไปทางขวา   ผมเชื่อว่าคงจะต้องมีการตะแคงไปทางซ้ายด้วยเช่นกัน เพียงแต่จำได้ว่าไม่เคยเห็น จำได้แต่ภาพที่เป็นความคุ้นเคยว่าจะนอนตะแคงไปทางขวาเท่านั้น     

เมื่อช้างตะแคงตัวนอนลงไปนั้น มันจะพยายามนอนตะแคงราบไปทั้งตัว มิใช่ลงไปอยู่ในท่าของการหมอบ (ส่วนหัวยกตั้งอยู่เหนือน้ำ)
ที่เราได้ยินเสียงของควาญช้างสั่งการดังลั่นอยู่ในขณะที่อาบน้ำช้างนั้น ดูจะมีอยู่สามเรื่อง คือ อย่านอนราบลงไปเรื่องหนึ่ง ยกหัวขึ้นมาให้อยู่ในท่าหมอบเพื่อจะได้สามารถขัดผิวของหลังอีกด้านเรื่องหนึ่ง  กับอีกเรื่องหนึ่งคือพอแล้ว ลุกขึ้นมาได้แล้ว       


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 พ.ค. 17, 19:31
ควาญช้างจะขัดล้างผิวหนังของช้างมากที่สุดในบริเวณสันหลังของช้าง (ทั้งสองข้างของแผ่นหลัง) บริเวณข้างตัวที่เป็นแนวของแถบเชือกรัดแหย่ง (ที่รัดรอบตัวบริเวณรักแร้ของช้าง) ที่บริเวณคอที่ควาญช้างนั่ง และที่บริเวณโหนกหัว (คงจะเกี่ยวกับการทำความสะอาดแผลจากตะขอหรือมีด)   

เมื่อขัดสีฉวีวรรณเสร็จแล้ว ควาญช้างก็จะปล่อยให้ช้างได้นอนแช่น้ำอีกสักพักหนึ่งก่อนที่จะให้ลุกขึ้นไปแต่งตัว   น่าเอ็นดูดีนะครับ อยู่กันด้วยความเข้าใจความต้องการซึ่งกันและกัน


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 พ.ค. 17, 18:54
ว้นใหนที่เส้นทางเดินค่อนข้างจะง่าย คือเดินตามทางด่านสัตว์   ก็มีอีกภาพหนึ่งที่น่าดู แทนที่ควาญช้างจะนั่งอยู่บนคอในลักษณะที่เอาเท้าแนบไว้ที่ข้างหูช้าง ก็จะนั่งในอีกท่าหนึ่งคือเอาเท้าห้อยไว้ที่โหนกหัวของช้าง ปล่อยให้ช้างเดินไปตามทางเองโดยไม่ต้องมีการบังคับ ช้างเองก็รู้ว่าต้องเดินไปทางนั้น ไม่ต้องเดินออกนอกทางจนกว่าจะได้รับการสั่งการจากควาญช้าง


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 พ.ค. 17, 19:19
แล้วก็มีภาพที่น่าดูผนวกเข้าไปอีก   เมื่อทั้งช้างและคนอยู่ในอารมณ์ที่ผ่อนคลาย ควาญช้างก็ยังเอาวิทยุมาเปิดเสียงดังฟังข่าวสารและเพลงบนคอช้างอีกด้วย 

ในสมัยนั้นมีวิทยุทรานซิสเตอร์คลื่น AM ที่ผลิตโดยบริษัทของไทยอยู่ยี่ห้อหนึ่ง (หนึ่งเดียวในสมัยนั้นและในปัจจุบันก็ยังมีผลิตขายอยู่)  เสียงดังฟังชัดในพื้นที่ป่าเขาทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใดและ ณ จุดใดก็ตาม  ดีกว่าวิทยุมีชื่อที่นำเข้ามาขายเสียอีก ที่เกือบจะเป็นใบ้ รับคลื่นใดๆเกือบจะไม่ได้เอาเสียเลย พอจะรับฟังได้บ้างก็ในข่วงเวลาเย็นที่อากาศมีความหนาแน่นมากขึ้น   

วิทยุ Made in Thailand เครื่องนี้ มีความแข็งแรงทนทานมาก ตกหล่นอย่างไรก็ยังเปิดฟังได้  ผมเคยต้องเปลี่ยนตัวเครื่องซึ่งตกแตกจนไม่น่าดูแล้ว ย้ายเครื่องในซึ่งมีอยู่ไม่กี่ชิ้น เอามาใส่ในแกลลอนน้ำมันเครื่องของรถยนต์  กลายเป็นวิทยุประจำหน่วยที่พกพาไปทั่วทุกป่าที่เข้าไปทำงาน ก็ยังใช้ได้ต่อมาอีกหลายปีโดยไม่ต้องกลัวตกแตก อึดจริงๆครับ     


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 พ.ค. 17, 18:37
ที่เอาวิทยุเข้าป่าไปด้วย มิใช่เรื่องเพื่อความสุขนะครับ แต่เพื่อจะได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารจากภายนอกบ้าง เป็นการสื่อสารแบบ one way communication เป็นสื่อเดียวที่สามารถเข้าถึงผู้คนได้ทุกที่  แต่ก็น่าเสียดายที่สาระที่ส่งกระจายเสียงออกมาทั้งวันเกือบทั้งหมดนั้นมีอยู่สองเรื่องหลักๆ คือ เพลง และโฆษณาขายของ   รายการที่เป็นสาระทางความรู้มีน้อย และที่มีก็ยังเหมาะสำหรับคนในเมือง    ก็ยังดีที่ชาวบ้านยังนิยมเปิดฟังข่าวของสถานีวิทยุแห่งประเทศไทยในตอนเย็น ส่วนข่าวเช้านั้นส่วนใหญ่จะฟังรายการของนายหนหวย   สำหรับในช่วงเวลาสายๆและบ่ายๆ ก็จะมีรายการกระจายเสียงที่พอจะแยกออกได้เป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มละครวิทยุซึ่งชาวบ้านในเขตเมืองจะนิยมฟังกัน ส่วนชาวบ้านป่าก็จะฟังรายการเพลง ซึ่งน่าจะเป็นรายการโฆษณาสลับเพลงเสียมากกว่ารายการเพลง... เรียกว่าฟังแก้ง่อม คือฟังไปงั้นแหละ ใช้เสียงเป็นเพื่อน


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 พ.ค. 17, 19:33
สภาพในปัจจุบันนี้ก็ดูจะไม่ต่างไปจากสมัยนั้น แม้ว่าจะมีความก้าวหน้าอย่างมากมายทางเทคโนโลยีและทางวิทยาการของสื่อ 

สถานีวิทยุการในปัจจุบันนี้เกือบทั้งหมดกระจายเสียงด้วยระบบ FM ซึ่งมีข้อจำกัดในด้านพื้นที่ครอบคลุมและอุปสรรคที่ขวางกั้นการกระจายของคลื่น  ต่างกับคลื่นในระบบ AM ที่เกือบจะไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่ครอบคลุมและอุปสรรคขวางกั้น แต่มีสถานีออกอากาศเหลืออยู่ในปัจจุบันนี้น้อยมาก
   
สาระที่ต่างๆที่ออกอากาศในระบบ FM ต่างๆ จะว่าไปแล้วก็อยู่บนพื้นฐานของการโฆษณาและเพลงเป็นหลักเช่นเดียวกันกับสมัยก่อน แม้ว่าจะมีสถานีที่เน้นสาระทางข่าวสาร แต่ด้วยความจำกัดของพื้นที่ครอบคลุมก็จึงมีประโยชน์ในวงจำกัด  ชาวบ้านห่างไกลก็ยังคงต้องฟังวิทยุแบบมีแต่โฆษณากับเพลงอยู่เช่นเดิม แถมในหลายพื้นที่ก็ยังรับฟังได้แบบขาดๆวิ่นๆอีกด้วย   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 พ.ค. 17, 20:38
ประเด็นของเรื่องก็เพียงจะบอกว่า ข้อมูลข่าวสารที่น่าจะกระจายได้ในวงกว้างตามพัฒนาการทางเทคโนโลยี วิทยาการและสื่อ ดูจะกลับกลายเป็นว่ามีวงจำกัดแคบลงไปมากกว่าสมัยก่อน   ข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งหลายจะมีอยู่ในเฉพาะพื้นที่หนึ่งเท่านั้น เมื่อเริ่มห่างออกไปจากพื้นที่นั้นๆ ข้อมูลข่าวสารก็จะเริ่มแปรเปลี่ยนไป มีทั้งใส่ไข่ ใส่สี ตีความ ขยายความ จนสุดท้ายกลายเป็นข่าวลม เกิดเป็นข่าวลือ เกิดเป็นข่าวที่มีความจริงอยู่เพียงนิดเดียว นี๊ดเดียวจริงๆ

ข่าวสารที่ออกอากาศจากสถานีใน กทม. จะครอบคลุมพื้นที่ของ กทม.และปริมณฑลเท่านั้น เมื่อออกนอกเขตปริมณฑลก็ขาดหายไป รับฟังไม่ได้อีกต่อไป จะต่อข่าวได้อีกครั้งก็เป็นข่าวเล่าต่อเลียแล้ว ยิ่งห่างจากออกไปข่าวก็ยิ่งเปลี่ยนไป   แล้วชาวบ้านที่อยู่ไกลปืนเที่ยงจะได้ฟังหรือได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริงครบถ้วนได้อย่างไร    ผมขับรถออกต่างจังหวัดบ่อยๆจากกรุงเทพถึงเชียงรายโดยเฉพาะในช่างที่มีการชุมนุมต่างๆ จากที่มีข่าว(วิทยุ)หลากหลาย  ค่อยๆกลายเป็นเกือบจะไม่มีข่าวอะไรเลยเพียงพ้นเขตกรุงเทพฯไปเท่านั้นเอง แล้วก็ถึงระดับที่คุยกับคนท้องถิ่นแบบคนละเรื่องเดียวกัน     


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 พ.ค. 17, 19:37
ท่านทั้งหลายที่ชอบออกต่างจังหวัด หรือชอบท่องเที่ยวในพื้นที่ป่าเขา  ผมมีความเห็นว่า ท่านควรจะต้องมีวิทยุพกพาที่สามารถรับฟังคลื่น AM ได้ติดตัวไปด้วย  ควรจะลองเปิดหาคลื่นแล้วฟังดู และก็ควรจะบันทึกคลื่นความถี่ที่รับฟังได้นั้นไว้ด้วย   วิทยุติดรถยนต์ต่างๆก็สามารถรับฟังวิทยุในระบบนี้ได้  ลองเปิดฟังดูนะครับ มีอยู่อย่างน้อยก็

สถานีวิทยุที่ยังคงกระจายเสียงด้วยคลื่นวิทยุในระบบ AM นี้ โดยลึกๆแล้วก็คือระบบสำรองสำหรับการกระจายข้อมูลข่าวสารในสภาวะที่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด  ในภาพง่ายๆก็คือ เสาส่งต้นเดียว สามรถรับฟังได้หลายจังหวัดเกือบจะครอบคลุมได้ทั้งภูมิภาคเลย ต่างกับระบบ FM ที่จะต้องใช้เสาส่งหลายต้นและต้องใช้ระบบ Repeater หรือจะต้องมีเจ้าหน้าที่ช่วยดำเนินการถ่ายทอดสัญญาณ   

ในปัจจุบันนี้ก็มีอยู่ไม่น้อยสถานีที่มีคุณภาพไม่เป็นรองพวกสถานี FM  เน้นสาระที่ประเทืองความรู้แบบ positive approach 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 พ.ค. 17, 20:29
วิทยุที่เอามาเปิดฟังเสียงดังลั่นป่านั้นก็มีเหตุผลแฝงอยู่ด้วยเรื่องหนึ่ง คือ

ในสมัยนั้น เป็นช่วงของการต่อสู้ทางความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองการปกครอง  เมื่อเดินไปใหนมาใหนในป่า พบชาวบ้านเมื่อใดก็จะได้รับคำถามบ่อยมากว่า มีวิทยุใหม แรกสุดก็มีความสงสัยกับคำถามนี้ว่าถามไปทำไม   แล้วก็ถึงบางอ้อโดยเร็ว ก็คงเข้าใจนะครับว่าเขาถามไปทำไม   เราก็เลยเอาวิทยุออกมาเปิด ได้ยินเสียงไปไกล เพื่อเป็นการแสดงว่ามาทำงาน มิใช่มาเพื่อการล่าสัตว์ มาแบบเปิดเผย มิใช่มาแบบแอบๆซ่อนๆมีลับลมคมใน    เมื่อถูกถามว่ามีวิทยุใหม เราก็ชี้ไป บนหัวช้างนั่งไง  ก็ทำให้ความแครงใจทั้งหลายได้หายไปเกือบหมด     เล่ามาเพียงเท่านี้ก็คงพอจะเห็นภาพได้นะครับ ว่าอิทธิพลทางความคิดที่แพร่กระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆในสมัยนั้นเป็นเช่นใด 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 พ.ค. 17, 17:35
แล้วก็ที่ผมต้องจ้างช้างและชาวบ้านซึ่งนอกจากจะเพื่องานแล้ว ก็เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพวกผมเอง การจ้างก็มิใช่ผมจะเป็นผู้เลือกได้ว่าจะจ้างผู้ใด เป็นเรื่องของสุดแท้แต่หัวหน้าชุมชุน (กำนัน สารวัตรกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน)จะจัดให้ว่าจะเป็นผู้ใด ซึ่งจะต้องมี 2 คนเป็นอย่างน้อย อย่างว่าแหละครับ คนเดียวหัวเดียวกระเทียมลีบ เขาก็กลัวถูกหมกป่าเช่นกัน    กรณีจ้างช้าง 2 ตัวนี้ก็คือการจ้างชาวบ้านรวมกัน 4 คน แต่แรกนั้นเขาจะให้จ้างรวม 5 คนด้ายซ้ำไป แต่เราต่อรองได้เหลือเพียง 4 คน

ที่หัวหน้าชุมชนขอเป็นฝ่ายเลือกคนให้เรานั้น หนึ่งในคนที่เขาเลือกให้นั้นจะเป็นคนสนิทของเขา เหตุผลลึกๆมีอยู่หลายเรื่อง แต่ที่สำคัญคือ การสืบหาข่าว ติดตามความเคลื่อนไหว พิสูจน์ทราบการมาปรากฎตัวและการทำงานของเรา และได้รู้จักสถานที่และพื้นที่ใหม่ๆที่ไม่เคยเข้าไป   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 พ.ค. 17, 18:13
มันเป็นเรื่องของกระบวนการรู้เขารู้เรา ด้วยวิธีการเข้าให้ถึงต้นตอของข้อมูลที่ต้องการจะทราบ คนของเขาจึงต้องเข้าถึงตัวผม ส่วนผมเองไม่มีความจำเป็นถึงขนาดนั้น
   
นั่นแหละ เลขานุการ....ทั้งหลายจึงได้รับการปฎิบัติที่ดีและได้รับความเป็นกันเองจากผู้ที่เข้ามาติดต่อและประสานงานเสมอ 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 พ.ค. 17, 18:45
วกกลับเข้ามาต่อเรื่องช้าง

คงจะได้เคยเห็นภาพว่า ในขณะที่ช้างกำลังทำงานนั้น จะมีควาญช้างหรือคนที่เป็นตีนข้างยืนอยู่ติดๆกับขาหน้าซ้ายของช้าง บางทีก็เห็นดึงมีดออกจากฝักที่เหน็บอยู่ที่เอวมาถือไว้ ทำท่าคล้ายกับว่ากำลังจะฟันอะไรสักอย่างหนึ่ง สักประเดี๋ยวก็เก็บเข้าฝัก 

ก็เป็นภาพของช้างที่กำลังจะดื้อ จะไม่ยอมทำตามคำสั่ง  มีดที่เขาดึงออกมาจากฝักนั้นเป็นการขู่ว่า หากไม่ทำก็จะโดนสันมีดเคาะที่โคนเล็บหรือโคนงา(หรือขนาย)ตรงบริเวณที่มีหนังปิดอยู่  เป็นจุดอ่อนของช้าง เจ็บมากและกลัวมาก    ก็คงไม่ต่างไปจากคนเราและสัตว์อื่นๆที่เมื่อโดนอะไรที่โคนเล็บแล้วจะรู้สึกเจ็บปวดมากๆ   

แล้วช้างจะเจ็บมากเพียงใด ??  ก็มากพอที่หยุดการกระทำใดๆในขณะที่กำลังทำร้ายคน   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 พ.ค. 17, 19:20
เท่าที่เคยเห็นมา จุดที่คนยืนกำกับช้างจะอยู่ที่บริเวณขาหน้าซ้ายเสมอ ไม่เคยเห็นยืนอยู่ที่บริเวณขาหน้าขวา  และก็แน่นอนว่าคงไม่มีผู้ใดไปยืนกำกับอยู่ที่บริเวณขาหลัง

ควาญช้างเอง จะขึ้นคอ/ลงคอช้าง ก็ขึ้น/ลงทางด้านขาซ้าย ให้ช้างใช้ยกขาซ้ายช่วยส่งและช่วยรับ   

ก็คงจะเป็นเรื่องที่ไม่มีอะไรที่น่าจะสนใจมากนัก ไม่ต่างไปจากภาพของการขึ้น/ลงและจอดจักรยาน  หรือขึ้น/ลงและจอดมอเตอร์ไซด์   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 พ.ค. 17, 19:37
เป็นเรื่องของคนถนัดขวาทั้งนั้น 

ผมคิดว่าช้างก็จะถนัดขวาเช่นกันกับเรา ?? ตัวผมเองไม่มีความรู้และไม่มีข้อเท็จจริงใดๆเกี่ยวกับเรื่องนี้   เพียงแต่มีข้อสังเกตเล็กๆน้อยๆ(ดังที่ได้เล่าผ่านมาแล้ว)ว่า เมื่อช้างลงน้ำมันจะเริ่มด้วยการนอนตะแคงไปทางขวา  ดูลักษณะอาการคล้ายๆกับคนที่ถนัดขวาซึ่งจะเอนตัวลงนอนไปทางขวาก่อนที่จะพลิกตัวไปด้านอื่น (??)


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 พ.ค. 17, 18:54
แล้วช้างหลับยังไง  ยืนหลับ หรือ หมอบหลับ ?

ผมไม่เคยเห็นช้างในขณะที่มันกำลังหลับ  แต่ก็เชื่อว่าน่าจะมีทั้งสองลักษณะ    การยืนหลับนั้น อนุมานได้จากคำบอกเล่าของควาญช้างที่ได้เล่าว่า เคยตามไปดูช้างที่ปล่อยให้หากินหลังจากที่ตนเองได้ดื่มเหล้าจนพอเมา ว่าได้นั่งหลับพิงขาช้าง ช้างก็ยืนนิ่งๆให้นั่งพิงหลับไปนาน  และในอีกภาพหนึ่งที่บ่งชี้ว่าน่าจะเป็นการยืนหลับก็คือ ช้างในสวนสัตว์ต่างๆ ที่ถูกล่ามโซ่ไว้ที่ข้อเท้า ซึ่งน่าจะต้องเป็นการยืนหลับมากกว่าจะเป็นการนั่งหลับ  แต่..


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 พ.ค. 17, 19:21
แต่ที่ในตะพักลำห้วยแม่กะสา ในป่าแม่วงก์ จ.นครสวรรค์  

รุ่งเช้าวันหนึ่งในช่วงต้นปีซึ่งมีอากาศหนาวเย็น ได้เดินไปตามห้วยเพื่อไปทำงาน ก็พบรอยเท้าช้าง เมื่อเดินตามไปก็ได้พบหญ้าราบเป็นวงๆอยู่ 6 วง ยังเห็นไออุ่นได้อย่างชัดเจน ซึ่งแสดงว่าช้างเพิ่งจะลุกเดินออกไป  แสดงว่าช้างคงจะนอนหลับในลักษณะของการหมอบหลับ   เสียววูบขึ้นมาในทันทีเลย อาจจะซวย หากเดินมาถึงจุดนั้นเร็วกว่านี้ก็อาจจะถูกช้างไล่เตลิดเปิดเปิงไปแล้ว หรือไม่ก็อาจจะเป็นความโชคดีที่ช้างโขลงเล็กๆนี้ได้ยินเสียงของเราและเลือกที่จะเดินหลบไป

ตอนเดินไปตามรอยช้างนั้น ก็ได้พิจารณาแกะรอยดู รู้ว่าเป็นรอยใหม่ พบว่ามีตัวเมียแน่ๆและก็มีลูกช้างด้วย แต่ไม่รู้ว่ามีกันทั้งหมดกี่ตัว เพราะช้างที่เดินตามกันจะเหยียบซ้ำรอยเท้าเดิมของตัวที่เดินนำหน้าถัดไป    ที่ต้องให้ความสนใจแกะร่องรอยเท้าช้างนั้น เหตุผลที่สำคัญที่สุดก็คือ เพื่อจะดูว่าจะเป็นรอยของเจ้าสีดอหรือไม่ เจ้าตัวอันตรายที่ไล่ทำร้ายเราได้เกือบจะทุกเมื่อที่จ๊ะเอ๋กัน  


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 พ.ค. 17, 19:31
ต้องขออภัยหากจะผิดพลาดว่าป่าแม่กะสาและป่าแม่วงก์นั้นอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดใด ระหว่าง จ.กำแพงเพชร กับ จ.นครสวรรค์  และอาจจะมีบางส่วนที่เข้าไปอยู่ในเขตของของ จ.ตาก 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 พ.ค. 17, 19:46
โดยพื้นฐานแล้ว รอยเท้าช้างตัวเมียจะมีขนาดใหญ่และออกไปทางรูปทรงกลม รอยเท้าช้างตัวผู้ค่อนข้างจะมีขนาดเล็กกว่าของตัวเมียและเป็นออกไปทางทรงรีและมีรอยเล็บที่ยอดของวงรอยเท้า   เมื่อมันเดินตามกันแบบเหยียบซ้ำรอยกัน รอยเท้าที่เด่นที่สุดก็จะเป็นของตัวเมีย ยิ่งถ้ามันเดินตามหลังปิดท้ายขบวน

สำหรับเจ้าสีดอนั้น นอกจากจะมีรอยเท้าเป็นวงรีแล้ว ก็จะต้องหาทางพิจารณาต่อไปด้วยว่า มันเป็นเจ้าตัวที่ดูจะเกเรหรือไม่  ก็จะต้องดูทั้งรอยเท้า ลักษณะการเดิน และร่องรอยที่ปรากฎอยู่ตามต้นไม้...ฯลฯ


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 พ.ค. 17, 17:43
การพบรอยเท้าช้างที่ห้วยแม่กะสานั้น นอกจะเป็นกังวลกับเจ้าสีดอแล้ว ก็ยังเป็นกังวลกับเจ้าลูกช้างตัวน้อยอีกด้วย เพราะความหวงลูกอาจจะทำให้แม่มันหันมาสนใจกับกลิ่นประหลาดของเราที่โชยไป ทำให้มันนึกจะเดินตามมาดูต้นตอของกลิ่นนั้น   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 พ.ค. 17, 18:35
เคยรู้สึกระทึกกับเจ้าสีดอมาครั้งหนึ่งในพื้นที่ห้วยบ้องตี้ล่าง (ซึ่งเป็นพื้นที่คนละฝั่งกับพื้นที่ตั้ง อ.ไทรโยค)  ครั้งนั้นไปกันเป็นทีมใหญ่เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาทางวิชาการธรณีฯบางเรื่อง ไปรวมกัน 11 คน  เข้าไปค้างแรมอยู่คืนหนึ่ง จุดที่ค้างแรมเป็นที่ราบของตะพักลำน้ำ ก็มีกอไผ่ใหญ่ที่ส่วนกลางของกอถูกทำให้โล่งเป็นที่สำหรับนอน พิจารณาดูแล้วก็เข้าใจในทันทีว่าเพื่อความปลอดภัยจากสัตว์ในขณะนอนหลับ เข้าไปนอนได้เพียงสองสามคน ที่เหลือก็ต้องก่อไฟนอนอยู่ด้วนนอก   

เป็นปกติที่เราจะต้องเดินออกไปสำรวจตรวจสอบพื้นที่รอบๆสถานที่ๆเราจะนอน เพื่อจะได้รู้ว่าอะไรเป็นอะไรและรู้ทางหนีทีไล่เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน  ก็ได้พบรอยช้างรอยเดียวเป็นทางแต่ค่อนข้างจะไม่เป็นเส้นตรงเหมือนปกติของทางด่านสัตว์ แล้วก็มีต้นไม้เอนและถูกหัก มีโคนต้นไม้เป็นแผลถูกถาก มีดินติดอยู่ที่ข้างต้นไม้สูงพอที่จะต้องมองสูง    เป็นเจ้าสีดอแน่นอน และดูท่าจะออกไปทางเกเรเสียด้วย     


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 พ.ค. 17, 18:54
มิน่าเล่า ชาวบ้านเขาถึงมุดเข้าไปนอนอยู่ในกลางกอไผ่   

แล้วคืนนั้นเจ้าสีดอก็มาจริงๆ ได้ยินเสียงหักไม้แต่ไกล แต่มันก็ไม่เข้ามายุ่งย่ามด้วย จะเป็นเพราะว่ามาเดี่ยวตัวเดียว หรือเพราะกองไฟ หรืออะไรก็ไม่ทราบ กระนั้นก็ตามก็นอนไม่ค่อยจะหลับกันนัก ต้องคอยสุมไฟให้ติดแดงอยู่ตลอดไม่ให้มอดลงไปในตอนดึกๆ ตะเกียงรั้วก็เอาไปแขวนห่างจากจุดที่เรานอน เพื่อจะได้มีแสงพอที่จะเห็นอะไรๆได้ไกลพอรอบๆจุดที่เรานอน 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 พ.ค. 17, 19:12
รุ่งเช้าก็เดินทางกลับออกมาเพื่อไปยังที่อื่นต่อไป แล้วก็กลับเข้ากรุงเทพฯ   

แต่หลังจากนั้นประมาณ 2 สัปดาห์ ก็ปรากฎว่า 8 คนในทีมที่ไปด้วยกันนั้นป่วยเป็นไข้มาลาเรีย  โชคดีที่ผมและพรรคพวกที่รับผิดชอบทำงานอยู่ในพื้นที่ย่านนั้นมิได้ป่วยไปกับเขาด้วย ทั้งๆที่ 8 คนนั้นกินยาป้องกันมาลาเรียตามเกณฑ์กำหนด แต่พวกผมไม่ได้กินยาป้องกันๆเลย ใช้วิธีป้องกันจากประสพการณ์ที่ได้พบและเรียนรู้กันมา (ซึ่งพวกผมก็ไม่เคยมีใครเป็นไข้มาลาเรียกันอีกเลย)   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 พ.ค. 17, 20:10
ชื่อ "บ้องตี้" นี้  ผมคิดว่าทุกท่านคงจะต้องเคยได้ยิน 

ในทางภูมิศาสตร์ ชื่อนี้เป็นชื่อของลำธารที่เรียกว่า ห้วยบ้องตี้   เป็นชื่อของหมู่บ้านเล็กๆที่เรียกว่า บ.บ้องตี้บน และ บ.บ้องตี้ล่าง  ลักษณะเด่นของห้วยบ้องตี้คือเป็นห้วยที่น้ำไหลไปในทางทิศเหนือ

ในทางประวัติศาสตร์ บ้องตี้เป็นชื่อเรียกของพื้นที่ส่วนหน้าในเขตอำนาจของไทย ในสมัยที่ยังมีการรบกับพม่ากันอยู่ เรียกกันว่าด่านบ้องตี้ ใต้ลงไป(ทิศใต้)จากด่านบ้องตี้ก็จะเป็นด่านมะขามเตี้ยและอื่นๆลงไป  ก็เป็นเส้นทางเดินทัพของพม่าข้ามเขตทิวเขาตะนาวศรีเข้ามาตีไทยในสมัยสงครามเก้าทัพ

ชื่อของสถานที่ต่างๆตลอดสองฝั่งของแควน้อยตั้งแต่เจดีย์สามองค์ลงมาล้วนแต่น่าสนใจทั้งสิ้น แม้กระทั่งข้ามแดนเข้าไปในพม่าในพื้นที่ตั้งแต่เมือง เย ลงมาตลอดแนวฝั่งอ่าวมะตะบันจนถึง จ.ระนอง ก็น่าสนใจ มีทั้งคนไทยและชื่อสถานที่ๆเป็นไทยอยู่ไม่น้อย


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 พ.ค. 17, 18:25
ครั้งหนึ่งก็เคยพบคนไทยที่มีถิ่นฐานอยู่ในพม่า เข้ามารับจ้างทำงานอยู่แถว บ.วังปาโท่ ในพื้นที่ของ อ.ทองผาภูมิ   แต่งตัวนุ่งโสร่งและใส่หมวกทรงหมวกเงี้ยว ซักถามกันก็เลยได้รู้ว่าเขาเป็นคนไทยที่อยู่ในพม่า ซึ่งมีอยู่หลายหมู่บ้าน พวกเขามิใช่พวกเงี้ยว (ไทยใหญ่) พวกเขายังใช้ภาษาไทยในการสื่อสารกัน (เช่น ข้อยเฮียนหนังสือบ่แตกสาน)  และก็ทราบว่า จากด่านสิงขร ที่ จ.ประจวบฯ ลึกเข้าไปในพม่าก็มีหมู่บ้านคนไทยเช่นกัน


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 พ.ค. 17, 18:57
ในพื้นที่ บ.วังปาโท่ ลีกเข้าไปทาง บ.ห้วยเขย่ง ของ อ.ทองผาภูมิ นั้น    ในสมัยก่อนที่น้ำในอ่างน้ำของเขื่อนเขาแหลมจะท่วม ก็มีโขลงช้างขนาดใหญ่อยู่โขลงหนึ่งเดินหากินอยู่ในพื้นที่นั้น  ผมไม่เคยได้เห็นด้วยตาของตนเอง แต่รู้จากชาวบ้านว่ามีช้างอยู่ประมาณ 32 ตัว 

ผมเคยพยายามจะขอดูให้เห็นด้วยตาของตนเองครั้งหนึ่ง  วันหนึ่งก็มีโอกาสดี ไปพักอยู่ที่บ้านสารวัตรกำนัล แล้วก็ได้ทราบว่า เจ้าช้างโขลงนั้นได้ลงมากินและทำลายไร่กล้วยและไร่งาของชาวบ้านในพื้นที่ใกล้ๆกับหมู่บ้าน และก็เป็นคืนที่พระจันทร์กำลังส่องแสงกำลังดี (จะเป็นข้างขึ้นหรือข้างแรมก็จำไม่ได้ แต่อยู่ที่ประมาณ 8 ค่ำ)   ว่าเจ้าช้างคงจะลงมาระรานเช่นเดิม  ก็เลยตัดสินใจเดินเข้าไปในพื้นที่นั้นกับชาวบ้านสองสามคนในลักษณะของการส่องสัตว์  ก็กลัวอยู่นะครับ แต่ก็เชื่อในประสพการณ์และความสันทัดของชาวบ้านว่าน่าจะนำพาหลีกเลี่ยงอันตรายต่างๆได้     คืนนั้น ช้างไม่ลงมา


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 พ.ค. 17, 19:37
รุ่งสาย ออกเดินไปทำงานผ่านไร่ของชาวบ้านที่ช้างได้ลงมาอาละวาด   ไร่งานั้นราบเรียบดั่งถูกรถเหยียบทับ ราบเรียบไปหมด ต้นงาถูกถอนเอาไปสุมไว้ที่ชายไร่  ห้างไร่ถูกพังราบ ถูกเอาไปกองรวมกัน กะละมังถูกเหยียบจนแบน ช้อนสังกะสีก็ยังถูกทำให้แบน

ผ่านไปที่ไร่กล้วย ไม่เหลือต้นกล้วยเลยสักต้น ทั้งกินและทั้เหยียบให้แบนราบติดดินไปเลย

เมื่อเขื่อนเขาแหลมสร้างเสร็จและน้ำในอ่างเอ่อท่วมพื้นที่ต่างๆในแถบนั้น ผมเชื่อว่าช้างโขลงนั้นคงจะอพยพไปหากินอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำของห้วยบีคลี่ (หนึ่งในห้วยหลักที่เป็นต้นน้ำของแม่น้ำแควน้อย) ถึงพื้นที่ด้านทิศเหนือของเขาช้างเผือกของหมู่เหมืองปิล๊อก (พื้นที่ๆเรียกกันว่า ปิเต่ง)    ที่เดาเช่นนี้ก็เพราะว่า โขลงช้างจะขยับไปในทางทิศใดก็ลำบากด้วยถูกล้อมรอบไปด้วยกิจกรรมของคน ทางทิศใต้ ก็หมู่บ้านห้วยเขย่งและเส้นทางรถไปเหมืองปิล๊อก ทางทิศเหนือ ก็พื้นที่อพยพคนออกจากพื้นที่ๆน้ำในอ่างท่วม ซึ่งก็คือที่ตั้งใหม่ของตัวอำเภอสังขละบุรี   อีกช่องทางของการอพยพของช้างโขลงนี้ ก็คือข้ามน้ำแควน้อยเข้าไปอยู่ในเขตป่าทุ่งใหญ่นเรศวร


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 พ.ค. 17, 18:44
เคยมีความสงสัยว่า ชาวบ้านจะเพิ่มจำนวนประชากรช้างในเพียงพอสำหรับการนำมาใช้งานในพื้นที่ได้เช่นใด 

ทางแรกก็คือ การได้มาจากการตกลูก 
 
ชาวบ้านเองมีความสามารถในการเลี้ยงช้างได้ตัวเดียว มากไปกว่านี้ก็คงจะหาเลี้ยงไม่ไหว  ดังนั้น หากจะเพิ่มประชากรด้วยวิธีการตกลูก ก็จะต้องหาคู่ให้มัน ซึ่งกว่าจะหาคู่ได้ก็คงจะต้องใช้เวลาอยู่ไม่น้อยเลย  ทุกคนเห็นว่าการเลี้ยงช้างตัวเมียจะได้เปรียบมากกว่า เพราะยังขายลูกของมันได้ด้วย ประชากรช้างเลี้ยงตัวเมียก็เลยมีมากกว่าช้างเลี้ยงตัวผู้ การหาตัวผู้ก็เลยยาก ที่เหมาะใจเราก็ยากขึ้นไปอีก และหากจะเหมาะใจช้างก็คงจะยุ่งยากขึ้นไปอีกไม่น้อยเลยทีเดียว   

ช้างตั้งท้องนานเกือบ 2 ปี ตกลูกครั้งละ 1 ตัว เกิดมาแล้วก็ต้องเลี้ยงให้โตจนอายุประมาณ 20+ ปี จึงจะนำมาใช้งานได้ดั่งหนุ่มสาววัยฉกรรจ์  ดังนั้น กว่าจะได้ประชากรแรงงานช้างเพิ่มขึ้นมาจึงต้องใช้เวลามาก 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 พ.ค. 17, 19:23
ทางที่สองก็คือ การจับช้างป่า (การคล้องช้าง)

ในกรณีนี้ เราคงจะนึกถึงภาพแสดงการคล้องช้างในสมัยโบราณที่ใช้วิธีการต้อนโขลงช้างเข้าเพนียด เป็นมหกรรมที่มีทั้งสิ่งก่อสร้างและผู้คนมากมาย (ฝ่ายคนดู ฝ่ายพิธีกรรม และฝ่ายปฏิบัติการ) 

ชาวบ้านคงจะกระทำดังภาพเช่นนั้นไม่ได้  การดำเนินการของชาวบ้านนั้นเป็นไปในอีกรูปแบบหนึ่งเลย   ผมไม่เคยเห็นการปฎิบัติการในช่วงเวลาของการจับช้าง เพียงแต่เห็นเครื่องมือและอุปกรณ์เท่านั้น  แต่เคยเห็นกรรมวิธีในช่วงเวลาของการทำให้ช้างเชื่องและเชื่อฟังคำสั่ง


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 พ.ค. 17, 19:39
อุปกรณ์ในการจับช้างก็มีเพียง เชือกที่ทำจากหนังสัตว์ทำเป็นบ่วงบาศ 4 เส้น แต่จะยาวเท่าไหร่ไม่ทราบ  ก็น่าจะยาวพอที่ปลายด้านหนึ่งจะใช้มัดข้อเท้า อีกปลายหนึ่งจะใช้ถือหรือมัดกับสิ่งใดบนหลังช้างได้ 

อุปกรณ์ในการทำให้ช้างเชื่องและเชื่อฟังคำสั่งก็มีเพียงเสา 4 ต้น (เพนียด) ปลอกข้อเท้าและข้อเข่าที่ทำจากหวาย และไม้เรียว


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 พ.ค. 17, 19:43
สำหรับวิธีการจับช้างป่านั้น  เจ้าของบ่วงบาศหนัง 4 เส้นกับเพื่อนคู่หูของเขาที่ออกจับช้างด้วยกันเล่าให้ฟังว่า  การจับช้างป่านั้นเขาจะเลือกจับช้างที่กำลังเข้าสู่วัยหนุ่มสาว โดยการใช้ช้างที่เขาเลี้ยงและฝึกมาสองตัวช่วยกัน นักจับช้างทั้งสองคนจะไสช้างเข้าไปขนาบตัวช้างน้อย ใช้เชือกหนังคล้องคอ แล้วค่อยๆกันให้แยกออกจากโขลง พาไปยังหาดในห้วยที่มีแอ่งน้ำเพื่อทำกระบวนการตัดความสัมพันธ์กับโขลงและญาติ

ดูแล้วเหมือนจะไม่มีเรื่องอะไรซับซ้อนเลย แต่มันก็น่าจะมีเรื่องที่ซ่อนอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว  เรื่องแรกก็คือ จะต้องมีการติดตามและเฝ้าดูโขลงช้างในละแวกพื้นที่นั้นๆว่ามีการตกลูกหรือไม่ ดูพฤติกรรมการเคลื่อนที่ไปใหนมาใหนของโขลงช้างนั้นๆ  ดูลักษณะนิสัยและสันดานของการกระทำเรื่องต่างๆ ซึ่งก็คือเรื่องของการ "รู้เขา"  ดูสถานที่ต่างๆที่จะใช้ประโยชน์และที่จะใช้ให้เป็นประโยชน์...ฯลฯ

เรื่องต่อมาก็คือ การทำให้คนมีความกลมกลืนไปกับช้าง ก็มีเรื่องของกลิ่นเป็นสำคัญ เลยข้อพึงหรือข้อต้องปฎิบัติเช่น ไม่นอนกับภรรยา ไม่อาบน้ำ ขลุกอยู่กับช้างระยะเวลาหนึ่ง ด้วยการแยกตัวออกไปนอนอยู่นอกบ้านสองสามวัน ซึ่งในระหว่างนี้ก็จะมีพิธีบวงสรวง ไหว้เจ้าที่เจ้าทางเทพยดาฟ้าดินเทพาอารักษ์และสรรพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายทั้งปวง  ในระหว่างนี้ภรรยาจะนำอาหารมาส่งให้   ก็คือเรื่องในส่วนของการ "รู้เรา"  ทำจิตใจให้แข็งแกร่งและมีสมาธิในการทำงาน     


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 พ.ค. 17, 19:21
เรื่องของความกล้าของพรานกับช้างนี้  ท่านที่เคยอยู่ในภาคเหนืออาจจะเคยได้ยินเรื่องเล่าอยู่บ้าง  ซึ่งเรื่องที่มักจะได้ยินกันบ่อยๆก็คือเรื่องของการขโมยตัดงาของช้างเลี้ยงในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่     เรื่องนี้น่าจะมีความจริง  ช้างที่ผมเคยจ้างทำงานนั้น ตัวหนึ่งมีขนายยาวประมาณ 1+ศอก เมื่อเข้าไปในบางพื้นที่ เมื่อทานอาหารเย็นที่แคมป์แรมเรียบร้อยแล้ว ควาญช้างก็จะไปนอนเฝ้าช้างที่ได้นำไปปล่อยให้หากินอาหาร เพราะกลัวว่าจะถูกขโมยงา

สำหรับท่านที่ไปเที่ยวปางช้างที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอาจจะได้เคยเห็นช้างงากุด ที่เห็นนั้นเป็นการตั้งใจตัดให้กุดเพราะว่าช้างตัวนั้นดุและเคยทำร้ายคน     


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 พ.ค. 17, 20:26
อีกเรื่องหนึ่งของความกล้าของพรานช้างซึ่งผมได้ยินมาจากชาวบ้านในหลายพื้นที่ ก็เป็นเรื่องของการล่าเพื่อเอางาเช่นกัน  ง่ายๆเลย เมื่อได้ตามดูและรู้แล้วว่ามีโขลงช้างที่มีงา พรานก็จะติดตามโขลงช้างนั้น เมื่อสบโอกาสในช่วงเวลาดึกแก่ๆในขณะที่ช้างกำลังหยุดพักผ่อนหรือหลับ พรานก็จะย่องเข้าไปในโขลงเข้าถึงตัวที่มีงา เข้าทางด้านหลังแล้วใช้เท้าเตะขาหลังช้าง เมื่อช้างก็หันหัวมาดู ก็จะใช้ปืนยิงเข้าไปบริเวณหลังกราม   

ที่พรานเขาต้องทำเช่นนี้ก็เพราะว่า ปืนของชาวบ้านนั้นเป็นปืนทำเองที่เรียกว่าปืนแก็ป ขนาดของลูกกระสุนและความแรงนั้นไม่มากพอที่จะยิงช้างได้ในระยะไกล และซึ่งกระสุนก็คงจะไม่สามารถจะเจาะผ่านกะโหลกเขาไปได้  ก็จึงจำเป็นจะต้องใช้วิธีจ่อยิงแบบเผาขน


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 พ.ค. 17, 18:40
ยิงแล้วไม่จะถูกช้างทั้งโขลงหันมากระทืบเอาหรือไร   

ผมเข้าใจว่าพรานช้างเขาไม่กลัวถูกช้างรุมกระทืบก็เพราะช้างมีลักษณะนิสัยอย่างหนึ่งคือ เมื่อตกใจก็จะวิ่งหนีก่อนแล้วจึงจะย้อนกลับมาจัดการกับต้นเหตุ  ดังนั้นเมื่อช้างเตลิดไปด้วยเสียปืนแล้ว พรานก็จะใช้ช่วงเวลานั้นรีบหลบหนีไป  ในช่วงเวลาที่มืดมีแสงน้อยนั้นช้างก็มองไม่ค่อยจะเห็นพอๆกับคน   

สำหรับผลของการยิงนั้น พรานจะตามมาดูในภายหลัง ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติในการล่าสัตว์ใหญ่ด้วยปืนขนาดเล็กในกรณีที่กระสุนขนาดนั้นไม่สามารถจะล้มสัตว์ตัวนั้นได้ในทันใด พรานก็จะใช้วิธีค่อยๆแกะรอยตามไปยังจุดที่มันไปล้มเสียชีวิต  ทิ้งเวลาไว้สักสองสามชั่วโมง หรือจนถึงข้ามวันก็มี กระทั่งเดินกลับมาบ้านเพื่อมาตามคนไปช่วยกันแกะรอยตามสัตว์ตัวที่ถูกยิงนั้นก็มี และรวมทั้งช่วยกันถลกหนัง ชำแหละเนื้อ แล้วช่วยกันขนเนื้อที่ชำแหละนั้นกลับบ้าน 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 พ.ค. 17, 19:19
หากได้พบชาวบ้าน 7-8 คนเดินเข้าป่าลึกที่ยังมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ เดินไปยังบริเวณชายป่าที่โอบรอบทุ่งหญ้าเล็กๆ แต่ละคนไม่พกมีดพร้าแต่พกมีดชำแหละเนื้อ (มีดลาบ) แถมบางคนมีกระชุไม้ไผ่สานสะพายหลังไปด้วย  ก็เกือบจะบอกได้เลยว่ากำลังเดินเข้าไปช่วยกันชำแหละสัตว์ที่ได้ยิงตายไว้  และก็พอจะเดาได้อีกเหมือนกันว่า (หากมีความรู้เกี่ยวกับลักษณะของป่าและชนิดของสัตว์ที่อยู่ร่วมกัน) สัตว์ที่จะไปชำแหละนั้นน่าจะเป็นอะไร ซึ่งตามปกติก็มักจะเป็นกวาง  กระทิงนั้นจะมีในบางพื้นที่  หมูป่า เก้งและสัตว์อื่นๆนั้นใช้คน 1-3 คนก็พอ     


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 พ.ค. 17, 19:44
เนื้อช้างก็มีการชำแหละเอาไปกินเช่นกัน  เท่าที่ทราบ เนื้อช้างจะถูกทำเป็นเนื้อแห้งด้วยการตากแดดหรือรมควัน (ย่างไฟอ่อนๆ) แล้วนำไปขายในตลาดชุมชนโดยบอกว่าเป็นเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ เช่น เนื้อหมูป่า เนื้อกระทิง เนื้อกวาง   คนที่ไม่เคยกินเนื้อของสัตว์ดังที่กล่าวมาก็จะแยกไม่ออกว่าของจริงหรือของปลอม  ทั้งนี้ แม้ว่าเนื้อช้างมีความหยาบมาก ผู้ที่นำมาขายเขาก็ใช้วิธีทุบให้เส้นใยเนื้อแตกย่อยลงไปเป็นเส้นเล็กๆคล้ายกับเนื้อสัตว์อื่นๆ

ตีนข้างก็มีการเอามากินเช่นกัน กะเหรี่ยงที่เป็นคนงานของคณะสำรวจบอกว่า  เขาตัดที่ข้อเท้าแล้วเอามาตั้งหมกในกองไฟอ่อนๆจนสุก แล้วเอาส่วนในของอุ้งเท้ามากินกัน มีลักษณะคล้ายวุ้น


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 พ.ค. 17, 20:25
สำหรับงาช้างนั้น จะดึงออกมายากมาก  พรานเขาใช้วิธีทิ้งใว้ให้เนื้อหนังทั้งหลายเน่า แล้วจึงค่อยมาถอนงาออก 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 มิ.ย. 17, 19:20
ผมเคยพบหัวกะโหลกช้างในป่าอยู่สองครั้ง มีแต่หัวกะโหลกแต่ไม่มีเศษกระดูกอื่นใดเหลือให้เห็นอยู่เลย ดูไม่ออกหรอกครับว่าถูกยิงเพื่อเอางาหรือตายเอง แต่เมื่อพิจารณาจากลักษณะของสถานที่และผืนป่าที่พบกะโหลกแล้วก็น่าจะเป็นเรื่องของการตายเอง

ในสมัยนั้นมีเรื่องที่กล่าวถึงสุสานช้าง ในทำนองว่าช้างทุกตัวในผืนป่าใหญ่นั้นๆจะต้องไปตาย ณ สถานที่แห่งหนึ่ง เป็นสุสานรวมของพวกมัน ผู้ใดได้พบสุสานนั้นก็จะได้ร่ำรวยกันเพราะว่าจะมีงาช้างสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก    เมื่อทำงานที่ต้องเดินป่าจริงๆ ก็รู้แต่แรกเลยว่ามันเป็นเรื่องไม่จริง


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 มิ.ย. 17, 20:11
ก็คงจะมีคำถามว่า แล้วกระดูกช้างหายไปใหนหมด  คำตอบคือชาวบ้านเขามาขนเอากลับไปบ้าน เอาไปขายครับ เป็นของมีราคา

แล้วผู้ซื้อเขาซื้อเอาไปทำอะไร  ก็เอาไปทำเครื่องประดับ (แหวน จี้...) เครื่องตกแต่ง (เครื่องใช้ เครื่องดนตรี....)  และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ (ตะเกียบ ลวดลายฝังโต๊ะเก้าอี้....) ที่บอกกันว่าทำมาจากงาช้างนั่นเอง    ก็คงพอจะนึกออกแล้วนะครับว่า ก็คงจะต้องมีการใช้กระดูกสัตว์อื่นๆมาหลอกต่อว่าเป็นงาช้างหรือกระดูกช้าง เพราะปริมาณงาช้างคงจะไม่พอใช้ในตลาด   ถึงตรงนี้ก็คงจะพอเห็นภาพต่อไปว่า การล่าช้างนั้น งาเป็นส่วนของมูลค่าเพิ่มที่สูงมาก แต่ไม่มีงาก็ไล่ล่าได้ ได้เงินเหมือนกัน 

เขี้ยวของตัว Walrus ดูจะไม่ต่างกันไปมากนัก 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 มิ.ย. 17, 18:56
ก็ยังมีวิธีการในการหยุดช้าง จะเพื่อการจำกัดรัศมีของการเคลื่อนที่ หรือจะเพื่อการโค่นช้าง(ล่า)ก็ตาม ก็คือการทำให้มันเกิดอาการเจ็บปวดเมื่อเวลาก้าวขาเดิน   

วิธีการนี้ก็ได้ยินมาจากปากของควาญช้างที่ผมจ้างช้างของเขาทำงาน เป็นวิธีการอย่างหนึ่งของเจ้าของช้างหรือควาญช้างในการจัดการกับช้างที่มีพฤติกรรมที่มีความอันตรายมากๆในช่วงที่มันกำลังตกมัน   ก็คือ การใช้เสี้ยนที่ทำจากไม้บางชนิด ปักเข้าไปที่ตะโพกหรือโคนขา เสี้ยนนั้นจะขยายตัวและทำให้เกิดอาการอักเสบเจ็บปวดอยู่ชั่วคาบเวลาหนึ่ง (หลายวัน) แล้วอาการเจ็บปวดก็จะหายเอง ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต   ส่วนวิธีการปักเสี้ยนนั้น เขาใช้วิธีการเป่าลูกดอกหรือใช้หน้าไม้    (เดินป่ามานานหลายปี ในหลายท้องที่ และหลายกลุ่มชนเผ่า ไม่เคยเห็นคันธนูและมีการใช้ธนูกันเลย มีแต่หน้าไม้ที่มีการใช้ในทุกชนเผ่า) 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 มิ.ย. 17, 19:41
ขอแยกเข้าซอยนิดนึงเกี่ยวกับหน้าไม้ ครับ

คิดว่า ที่ชนเผ่าต่างๆไม่ใช้ธนูแต่ใช้หน้าไม้นั้น ก็เพราะว่า คันธนูกับลูกธนูนั้นมี dimension ที่จำเพาะ จึงจะมีประสิทธิภาพทั้งระยะการยิงความแม่นยำ และอำนาจการทำลาย  การใช้ธนูนั้นเหมาะกับเป้าหมายที่อยู่ไกลและในที่โล่ง การยิงธนูให้เข้าเป้านั้นอยู่ที่การประเมินวิถีของลูกธนู     

สำหรับหน้าไม้นั้น ในประสบการณ์ที่เคยเห็นและเคยเล่นมาตั้งแต่เด็ก แม้รูปทรงของหน้าไม้จะดูเกะกะเก้งก้างไปบ้าง แต่ก็ทำได้ในหลายๆขนาด ตั้งแต่ขนาดของโกร่งประมาณ 1 ศอก ไปจนถึงประมาณ 1 แขน  โกร่งขนาดสั้น (ประมาณ 1 ศอกนั้น) ก็คล้ายๆกับปืนพก ใช้ยิงนก กะรอก ...ได้   ในสมัยก่อนนั้น (ก่อน พ.ศ. 2500 ) ชนเผ่าต่างๆที่เดินทางเข้าเมืองจะพกพาหน้าไม้ขนาดโกร่งประมาณ 1 ศอก ในขณะที่บ้านของเขานั้นจะใช้หน้าไม้โกร่งขนาดประมาณ 1 แขน เพื่อการล่าสัตว์ต่างๆในป่า (เสมือนปืนยาว)


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 มิ.ย. 17, 19:24
จับช้างได้มาแล้วก็เอามาผ่านกรรมวิธีทำให้มันลืมฝูงและหันมาเชื่อฟังคำสั่งของคน  การแยกลูกช้างออกจากอ้อมอกแม่ก็ใช้วิธีการเช่นเดียวกันนี้

สถานที่ๆใช้ทำกรรมวิธีจะต้องอยู่ใกล้กับห้วยที่มีน้ำไหล ยิ่งอยู่บนหาดในห้วยก็ยิ่งดี  พื้นที่จะต้องโปร่งแต่ก็ต้องมีร่มไม้บังแดดได้ดี  ช้างจะถูกตีปลอกที่ข้อเท้าทั้งเท้าคู่หน้าและคู่หลัง ถูกจัดให้ยืนแล้วผูกข้อขาทั้งสี่ไว้กับเสาไม้ 4 ต้นที่ขุดปักไว้ ในตำแหน่งขนาบติดกับขาทั้งสี่ข้างของช้าง  โดยนัยก็คือช้างอยู่ในพันธนาการท่ายืน ถูกบังคับมิให้สามารถขยับตัวได้ยกเว้นส่วนหัวและหาง 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 มิ.ย. 17, 19:53
จุดประสงค์พื้นฐานของกรรมวิธีนี้ก็คือ การทำให้ช้างยอมให้คนขึ้นไปนั่อยู่บนคอ และการรับรู้คำสั่งพื้นฐานบางอย่าง เป็นกรรมวิธีทีใช้เวลาไม่นาน ประมาณหนึ่งสัปดาห์ (+/-)   ควาญช้างที่เป็นผู้ฝึกจะอยู่กับช้างตลอดเวลา ก็คือช้างจะเห็นตัวคนผู้ฝึกสอนในทุกเวลาที่ลืมตา    ผู้ฝึกจะนอนอยู่กับช้าง ไม่กลับไปนอนบ้านจนกว่าจะชนะช้าง จะดูแลให้น้ำให้อาหาร อาบน้ำทำความสะอาดร่างกายให้ สุมไฟไล่แมลง ฯลฯ (นั่นคือเหตุที่ต้องใช้พื้นที่ริมห้วยที่มีน้ำไหล) 

ทั้งหมดโดยสรุปก็คือ การสร้างมิตรภาพ การสร้างสหายคู่ชีวิตใหม่ การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ....   เมื่อช้างยอมรับแล้วจึงก้าวไปสู่ขั้นตอนการฝึกเรียนการทำงานและฝึกทักษะต่างๆ


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 มิ.ย. 17, 17:56
ภาพที่เล่ามาดูคล้ายกับการทารุณกรรม  แต่ในความเป็นจริงที่ผมได้เห็น ได้นั่งดูและได้คุยกับควาญผู้ฝึก มันเป็นภาพของการกระทำที่มีแต่ความนุ่มนวล ไม่มีการเฆี่ยนตี การแกล้งหรือการทารุณกรรมใดๆ เว้นแต่การถูกบังคับให้อยู่ในท่ายืนนิ่งเท่านั้นเอง ผู้ฝึกจะคอยเอาให้น้ำกิน จะมีถังน้ำวางอยู่ให้ดื่มกินหรือดูดพ่นเล่น อนุญาตให้ดูดฝุ่นพ่นทรายใส่ตัว ช่วยทำความสะอาดปัดฝุ่น ช่วยไล่แมลง....


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 มิ.ย. 17, 18:42
การขึ้นไปนั่งขี่อยู่บนคอช้างได้ หรือขี่อยู่บนหลังสัตว์ใดๆได้ ก็เป็นเครื่องแสดงว่าสัตว์ตัวนั้นยอมอยู่ใต้บังคับของคน   ทั้งนี้ สำหรับพวกสัตว์อื่นๆที่นำมาใช้งานทั้งหลาย นอกจากจะใช้เสียงสั่งการแล้วก็จะต้องมีสายตะพายเพื่อใช้ในการบังคับให้หยุด ให้เดิน ให้เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา แถมยังมีไม้เรียว ปฏัก ฯลฯ เข้ามาเป็นอุปกรณ์ร่วมใช้อีกด้วย   

แต่สำหรับช้างนั้น ไม่มีการใช้สายตะพายใดๆ มีแต่การใช้เท้าสีที่ข้างหู ใช้เสียงสั่งการในบางเรื่อง(เช่น ให้ถอยหลังหรือให้ยกขาขึ้นมารับเมื่อควาญช้างจะลงจากคอ) และอุปกรณ์ที่มักจะต้องมีเมื่อขึ้นบังคับช้างก็คือมีดหรือตะขอช้าง 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 มิ.ย. 17, 19:11
คำสั่งช้างที่จะได้ยินบ่อยๆก็ในตอนเช้าในช่วงเวลาของการเตรียมช้างให้พร้อมก่อนที่จะทำงาน เช่นให้เดินตามมา (อิ๊ ในภาษากะเหรี่ยง) หรือให้ถอยหลังไป (โช๊ะ ในภาษากะเหรี่ยงเช่นกัน) 

เลยนึกออกถึงวิธีการจูงช้างโดยใช้เชือกกระสอบเส้นเล็กๆ มีปลายข้างหนึ่งผูกติดกับลวดที่ดัดทำเป็นทรงตะขอที่มีขนาดกว้างพอที่จะคล้อง(เกี่ยว)กับโคนหูของช้าง   เมื่อเอาห้อยเกี่ยวไว้ที่โคนหูของช้างแล้วก็จะสามารถเดินจูงช้างไปใหนมาใหนก็ได้ เป็นจุดที่ช้างมันเจ็บไม่แพ้จุดที่บริเวณหนังหุ้มเล็บหรือโคนงา (ที่ใช้เพียงไม้เรียวเล็กๆก็พอ)   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 มิ.ย. 17, 18:00
ผู้คนจำนวนมากที่เมื่อรู้ว่าผมจ้างช้างทำงานในป่า ต่างก็มักจะคิดกันว่าผมจะต้องขึ้นไปนั่งอยู่บนหลังช้าง เสมือนหนึ่งกับการใช้รถยนต์ในการทำงานที่ขับๆหยุดๆขึ้นๆลงๆตามจุดต่างๆที่ต้องการ    หากเราต้องขึ้นลงช้างบ่อยๆคงไม่ไหวแน่ๆ เพราะต้องขึ้นทางคอช้าง ให้ช้างยกขาหน้าให้เราเหยียบแล้วยกส่งให้เราตะเกียกตะกายปีนขึ้นไปบนคอ ก่อนที่จะเข้าไปนั่งบนแหย่ง 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 มิ.ย. 17, 18:36
การนั่งในแหย่งบนหลังช้างเพื่อเดินทางไปใหนมาใหนนั้น เป็นเรื่องที่ไม่สนุกเอาเสียเลย   

ครั้งหนึ่ง ก็มีเหตุให้ผมต้องเดินข้ามเขาลูกหนึ่งไปยังหมู่บ้านหนึ่งบนเส้นทางที่ได้ทำการสำรวจแล้ว ก็เลยนึกสนุกจะลองนั่งในแหย่งบนหลังช้างในการเดินทางตามเส้นทางในป่าส่วนหนึ่งและบนถนนที่ใช้ลากไม้ส่วนหนึ่ง ระยะทางไกลนิดหน่อย เพื่อจะดูซิว่ามันจะสนุกและสบายเป็นเช่นไร   แทบตายเลยครับ

ท่านทั้งหลายที่เคยนั่งในแหย่งช้างตามสวนสนุกหรือสถานที่ท่องเที่ยวที่ให้บริการนั่งช้าง คงจะได้เคยสัมผัสกับอาการโยกโคลงต่างๆ      อาการโยกโคลงบนทางราบที่ช้างเดินนั้นจะหนักไปทางเด้งหน้าเด้งหลัง อาการเอียงซ้ายเอียงขวาก็มีร่วมอยู่ด้วย แต่มีน้อย   แต่ในเส้นทางในป่าที่ต้องขึ้นลงเขาและห้วยนั้น อาการโยกหน้าโยกหลังกับอาการเอียงซ้ายเอียงขวาจะรุนแรงมากกว่ามาก   แถมด้วยอาการในลักษณะเหวี่ยงช้ายเหวี่ยงขวาและก้มหน้าหงายหลัง ไม่ต่างไปมากนักจากสภาพของการนั่งอยู่ในเรือที่จอดลอยลำอยู่ในขณะที่มีคลื่นลมแรง


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 มิ.ย. 17, 19:07
บนเส้นทางขาขึ้นหรือลงในจุดที่มีความชันมาก ก็แทบจะคะมำหรือหงายหลังร่วงลงมาจากแหย่งได้เลยทีเดียว ต้องจับแหย่งให้ดีๆ บริเวณเส้นทางที่มีความชันนี้ก็มักจะมีความแคบและมีกิ่งไม้ระลงมาต่ำ เราก็ต้องคอยหลบหรือปัดกิ่งไม้ต่างๆให้ดีๆ มิฉะนั้นก็อาจจะถูกกวาดตกลงมาได้อีกเช่นกัน

ก็คงพอจะนึกออกนะครับว่า การขึ้นลงในพื้นที่ๆมีความลาดชันมากๆนั้น เราจะไม่เดินตัดขึ้นหรือเดินลงตรงๆ แต่เราจะใช้วิธีค่อยๆเดินขึ้นหรือลงเฉียงๆไปตามลาดเอียงนั้นๆ ทางด่าน(สัตว์)ทั้งหลายก็เป็นในลักษณะนี้เช่นกัน
   
เส้นทางที่เฉียงๆไปตามลาดเอียงนี้จะทำให้มีข้างหนึ่งของเส้นทางเป็นด้านของผนังและอีกข้างหนึ่งเป็นด้านของเหวลึกลงไป ซึ่งคนและสัตว์จะมีวิธีการเดินไปบนเส้นทางเช่นนี้ต่างกัน


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 มิ.ย. 17, 18:45
คนจะเลือกเดินชิดใน คือชิดด้านผนังของลาดเอียง (เดินชิดด้าน slope wall)  สัตว์จะเดินเกาะขอบเหวหรือหน้าผา (เดินเกาะขอบ escarpment)    ซึ่งสำหรับคนนั้น เหตุผลก็น่าจะเป็นในเรื่องของความน่ากลัวและกลัวจะพลาดตกลงไป  สำหรับสัตว์นั้น รู้จากชาวบ้านว่าสัตว์กลัวสิ่งที่มองไม่เห็น คือกลัวอันตรายจากจะเข้าถึงตัวโดยไม่ทันระวังตัว มันจึงต้องเดินไต่ขอบเหวหรือหน้าผาเพื่อจะได้เห็นภาพทั้งหมด



กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 มิ.ย. 17, 19:38
ก็คงจะนึกภาพออกนะครับ ว่านั่งอยู่ในแหย่งบนหลังช้างที่เดินไปตามทางด่านสัตว์ที่เลาะอยู่ข้างลาดเอียงเขาจะรู้สึกเสียวใส้เช่นใด   และยิ่งรู้ว่าแหย่งนั้นเขาผูกติดกับหลังช้างกันอย่างไร ก็อาจจะเสียวใส้มากขึ้นไปอีก

การใช้ช้างเพื่อการเดินทางไปใหนมาใหนด้วยการนั่งในแหย่งนั้นเป็นการใช้กันในการเดินทางในพื้นที่ๆค่อนข้างราบ (พื้นที่ราบลอนคลื่น_ undulating terrain) เกือบจะไม่มีการใช้กันในพื้นที่ๆเป็นป่าเขาสูงชัน ยกเว้นเฉพาะในกรณีการเคลื่อนย้ายคนป่วยเท่านั้น

แหย่งบนหลังช้างนั้นวางคล่อมอยู่บนสันหลังของช้าง ถูกล๊อคไม่ให้ขยับไปทางซ้ายหรือขวาด้วยกระดูกสันหลังของช้าง และถูกผูกให้ติดกับตัวช้างด้วยเชือกเส้นเดียวหรือแถบเชือกสานที่รัดผ่านใต้ท้องช้างที่บริเวณรักแร้   สำหรับการผูกเพื่อไม่ให้แหย่งเคลื่อนที่ไปข้างหน้าหรือไปข้างหลังนั้น ด้านหน้าจะใช้เชือกเส้นเดียวหรือแถบเชือกสานห้อยรัดผ่านใต้คอตรงบริเวณใหล่ ส่วนด้านหลังจะเป็นเชือกเส้นเดียวที่ร้อยผ่านโคนหางของช้างหรือร้อยผ่านแป้นไม้ที่โคนหาง     


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 มิ.ย. 17, 20:18
ด้วยข้อจำกัดของการผูกแหย่ง เส้นหนึ่งรัดคอ เส้นหนึ่งรัดรักแร้ เส้นหนึ่งรัดโคนหาง เหนือรูทวารไปนิดเดียว  การจะผูกรัดให้แน่นๆๆมากๆ ช้างก็คงจะไม่ไหว  การผูกรัดก็จะทำได้แต่ในลักษณะของการประคองเพียงเท่านั้น    เมื่อช้างตื่นวิ่งอะไรๆก็จึงเกิดขึ้นได้   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 มิ.ย. 17, 17:51
ก็ด้วยการนั่งในแหย่งนั้นไม่ได้มีความสบายเอาเลย เราจึงเห็นชาวบ้านที่เอาช้างเดินไปรับจ้างทำงานในที่ต่างๆจึงใช้วิธีเดินไปกับช้าง ไม่ขึ้นไปนั่งอยู่ในแหย่งบนหลังช้าง แต่กลับเอาข้าวของเครื่องใช้ไปใส่ในแหย่งแทน แม้กระทั่งบนคอช้างเองเราก็อาจจะไม่เห็นมีควาญช้างนั่งอยู่บนนั้นเลย


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 มิ.ย. 17, 18:23
นั่งอยู่บนคอช้างก็ใช่ว่าจะสบายนะครับ  เคยลองนั่งแล้วเช่นกันทั้งในลักษณะเป็นควาญช้างและนั่งหลังถัดไปจากควาญช้าง

ที่รู้สึกนั่งไม่สบายก็เพราะถูกขนของช้างทิ่มแทงเอา  ขนของมันยาวและแข็งพอที่จะทิ่มทะลุกระสอบป่าน(กระสอบข้าว)และทะลุกางเกงจนถึงเนื้อของเรา แต่ขนของมันก็ไม่ได้แข็งมากจนสามารถแทงเข้าไปในผิวหนังของเราได้อย่างง่ายๆ  จึงรู้สึกเจ็บๆคันๆคล้ายกับการเอาหลังมือของเราไปถูกับหนวดเคราสั้นๆของคนที่ยังไม่ได้โกนหนวดโกนเครา


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 มิ.ย. 17, 18:52
เมื่อนั่งอยู่บนคอช้างในตำแหน่งของควาญช้าง นอกจากจะรู้เจ็บๆคันๆกับขนช้างแล้ว ก็ยังจะรู้สึกร้อนเท้าและแข้งอีกด้วย เพราะเราจะต้องห้อยเท้าลงไปในพับหูช้างเพื่อบังคับเขาให้เดินหน้าตรงไป หรือเลี้ยวซ้าย หรือเลี้ยวขวา 

แม้ว่าใบหูของช้างจะต้องพัดวีเพื่อการระบายความร้อนในตัวของมัน (ด้วยการไหลเวียนของเลือดผ่านพื้นที่ของใบหู) แต่ช้างก็จะพัดวีใบหูบ่อยๆเมื่ออยู่ในความรู้สึกที่มีความผ่อนคลาย  ต่างกับในช่วงที่ต้องทำงาน ช้างจะพัดวีใบหูค่อนข้างน้อย ยิ่งเมื่อต้องออกกำลัง มันก็แทบจะพับใบหูแนบคอเกือบจะไม่พัดวีเลย   ดังนั้น เมื่อเราต้องใช้เท้าสั่งการอยู่ที่ข้างใบหูของมัน เราก็ย่อมได้รับไอร้อนจากตัวของช้าง ก็จึงรู้สึกร้อนแข้งร้อนเท้าไม่น้อยเลยทีเดียว   ยิ่งเมื่อช้างรู้สึกไม่พอใจหรือหงุดหงิด มันก็จะแกล้งเราด้วยการพับใบหูให้แนบแน่นกับคอ ซึ่งก็แน่นมากพอที่ทำให้เราชักเท้าออกได้ไม่ง่าย    ช่วงที่มันหุบใบหูแกล้งเรานั้น จะรู้สึกร้อนแข้งขาเอามากๆเลยทีเดียว


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 มิ.ย. 17, 19:19
เมื่อนั่งอยู่ในตำแหน่งถัดหลังควาญช้าง (นั่งเรียง)   แม้จะรู้สึกสบายกว่าการนั่งในแหย่ง แต่ก็ไม่เท่ากับการนั่งในตำแหน่งของควาญช้าง   ที่ตำแหน่งหลังควาญนี้ ขนของช้างจะยาวมากกว่าจุดที่ควาญนั่ง ..ก็คงจะไม่ต้องบรรยายนะครับว่าจะรู้สึกเช่นไร..

อีกเรื่องนึงก็คือ ที่ตำแหน่งนี้ จุดที่นั่งมันจะไปอยู่ที่บริเวณสะบักใหล่ของช้าง เมื่อช้างเดิน เราก็จะมีสภาพเหมือนถูกนวดที่ก้น ก้นซ้ายยกที ก้นขวายกที ทำให้รู้สึกปวดเมื่อยไปทั้งตัว 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 มิ.ย. 17, 19:33
ก็คงพอจะเห็นภาพนะครับว่า ที่ว่าว่าจ้างช้างทำงานนั้น เป็นการจ้างเพื่อการขนของเท่านั้น ก็คงจะไม่มีผู้ใดจะจ้างเพื่อเป็นพาหนะสำหรับใช้นั่งแทนการเดินเข้าไปทำงานในพื้นที่ต่างๆ 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 มิ.ย. 17, 18:48
อ้อ ลืมไปว่า ที่จริงก็มีการจ้างช้างเพื่อนั่งในแหย่งสำหรับงานในบางกิจกรรม แต่เป็นงานที่ไม่มีความไม่ชอบทางสังคมหรือผิดกฎหมาย ก็คือการนั่งช้างเข้าไปล่าสัตว์ ซึ่งจะเป็นกิจกรรมที่ทำกันในเวลากลางคืนที่เรียกว่า ไปส่องสัตว์  ก็จะทำกันในช่วงเวลาที่มีแสงจันทร์สว่างพอที่จะมองเห็นอะไรต่อมิอะไรได้พอสมควร  เป็นการใช้กลิ่นสาบของสัตว์เพื่อแฝงตัวเข้าไปให้ใกล้กับตัวสัตว์ป่าที่จะล่า  ลักษณะของพื้นที่ๆใช้วิธีการล่าสัตว์ด้วยการนั่งบนหลังช้างนี้ นิยมทำกันในบริเวณที่เป็นพื้นที่โล่งหรือโปร่งมากๆที่เรียกกันว่า ทุ่ง

ทุ่ง ก็คือพื้นที่ในผืนป่าใหญ่ที่โล่งโปร่งเกือบจะไม่มีต้นไม้ยืนต้นใดๆ มีขนาดเนื้อที่ได้ตั้งแต่ประมาณ 1 ไร่ ไปจนถึงเป็นร้อยไร่ บางทุ่งก็มีห้วยเล็กๆตัดผ่าน  พื้นดินของทุ่งโดยส่วนมากจะมีความชุ่มชื้นสูง ทำให้มีหญ้าขึ้นได้ดี จึงทำให้เป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่า เป็นสถานที่ๆมีสัตว์ป่าลงมาหากิน ในเวลากลางวันก็มี ในเวลากลางคืนก็มี สุดแท้แต่ลักษณะนิสัยของสัตว์แต่ละชนิด     


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 มิ.ย. 17, 19:25
เมื่อบรรดาสัตว์ที่เป็นอาหารของพวกสัตว์กินเนื้อ (รวมทั้งมนุษย์นั้น) เกือบทั้งหมดจะเป็นพวกสัตว์กินพืช   ทุ่ง ในภาพหนึ่งก็จึงคล้ายกับเป็นพื้นที่สังหาร ต่างกับโป่งที่เป็นพื้นที่ๆใช้ร่วมกันแต่ต้องมีการระวังหลัง   

ในการเดินในป่าใหญ่นั้น หากเมื่อใดได้ไปถึงพื้นที่ๆเป็นทุ่ง ก็จะต้องระวังตัวเพิ่มขึ้นอีกหน่อยโดยเฉพาะในบริเวณที่เป็นชายป่า/ชายทุ่ง  อาจจะได้จ๊ะเอ๋กับสัตว์นักล่าหรือสัตว์ที่จะถูกล่า

เมื่อจะเดินเข้าไปสัมผัสกับธรรมชาติที่ยังเป็นธรรมชาติจริงๆในป่าลึก ก็อย่าเลือกที่จะไปตั้งเต๊นท์นอนอยู่ในทุ่งหรือชายทุ่งนะครับ แม้ว่ามันเป็นพื้นที่ธรรมชาติที่มีความสวยงามมากๆ มีความสงบ แต่ก็มีอันตรายแฝงอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 มิ.ย. 17, 20:05
ก็คงจะเป็นเพราะว่า ด้วยความที่ทุ่งมีความสมบูรณ์ในเชิงของความเป็นแหล่งอาหาร สภาพของผืนดิน ภูมิประเทศ พืช และสัตว์     สถานที่ต่างๆเป็นจำนวนมากมายในปัจจุบันจึงมีชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่า ทุ่ง...  (ซึ่งได้แปรสภาพจากพัฒนาการของพื้นที่ป่า มาเป็นพื้นที่ไร่นา มาเป็นที่ตั้งชุมชน จนกลายเป็นชุมชนเมืองในปัจจุบัน)   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 มิ.ย. 17, 17:53
จะนั่งในแหย่งช้างก็ต้องมีความอดทนในเรื่องของการถ่ายเบา   สำหรับผู้หญิงนั้น แน่นอนว่าจะต้องลงมาจากหลังช้าง  แต่สำหรับผู้ชายที่หลายท่านคิดว่ายืนอยู่ในแหย่งแล้วถ่ายเบาก็ได้นั้น เอาเข้าจริงๆแล้วทำไม่ได้ในเกือบจะทุกคนแม้ว่าช้างจะหยุดยืนให้เราทำภารกิจนั้นก็ตาม  ผมคิดว่าคงจะเนื่องมาจากพื้นที่เรายืนเหยียบอยู่นั้นมันไม่เสถียรและการยืนอยู่สูงจากพื้นดินโดยไม่มีอะไรให้จับเกาะนั้นมันทำให้รู้สึกเสียวและกลัวว่าจะตกลงมา เป็นเรื่องของทั้งสองเรื่องนี้รวมกันที่มีผลต่อจิตใจเป็นอย่างมาก  ก็แปลกดีที่เราทำภารกิจนี้ได้ในเรือ ในรถไฟ ในรถบัส 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 มิ.ย. 17, 18:35
ขอทำความกระจ่างเล็กน้อยว่า  ในการส่องสัตว์ด้วยการเดินนั้น เขาจะเลือกกระทำกันในคืนเดือนมืด หรือในช่วงเวลาที่ดวงจันทร์ยังไม่ขึ้นหรือลับขอบฟ้าไปแล้ว เหตุผลสำคัญก็คือ สัตว์ป่ามองไม่เห็นเรา แต่เรามองเห็นเขาด้วยแสงจากไฟที่เราฉายส่องไป   

ไฟที่ใช้ส่องสัตว์นั้น ที่มีใช้กันก็มีอยู่ 3 แบบ คือ ไฟจากการจุดแก็ส Acetylene (ที่ช่างซ่อมปะผุพ่นสีรถใช้กัน)  ไฟจาก Spotlight  และไฟจากไฟฉายปกติ   

ไฟจากการจุดแกสนั้น แม้จะไม่สว่างมากนักและส่องไปไม่ไกลมากนัก แต่ก็มีแสงสีนวลที่สัตว์ไม่รู้สึกว่าเป็นการรบกวน จึงมักจะหยุดพิจารณามากกว่าที่จะขยับเคลื่อนที่  ในปัจจุบันนี้ไฟแกสได้เลิกใช้กันหมดแล้ว กลายเป็นของเก่าที่น่าสะสม   ส่วนไฟส่องกบนั้นยังพอจะมีการใช้กันอยู่บ้าง       ไฟจาก Spotlight มีความสว่างมาก สัตว์อาจจะรู้สึกบอดมองไม่เห็นไปชั่วขณะ แต่หากมันเห็นแสงแต่ไกลมันก็จะเดินหนี      ไฟจากไฟฉาย ส่วนมากจะใช้ในการหาสัตว์ตัวเล็กๆ เช่น ไก่ป่า กบ ปลา เม่น ตัวนิ่ม หรือบางครั้งก็อาจได้อีเห็น ... 


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 มิ.ย. 17, 18:59
ย้อนกลับไปเรื่องของการนั่งบนหลังช้างในตำแหน่งต่างๆ เรื่องของการดูแลช้างในระหว่างการเดินทาง และประมวลภาพเล็กๆน้อยๆอื่นๆที่ได้เล่ามา  แล้วลองวาดภาพของการรบกันในสมัยโบราณที่มีการใช้ช้าง ภาพจะออกมาเป็นเช่นไร ?


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 มิ.ย. 17, 19:44
ขอเว้นวรรคเล้กน้อยเพื่ออธิบายความเกี่ยวกับศัพท์ที่ผมใช้มา    ผมมิได้ใช้คำพูดหรือคำเขียนดังที่ได้ปรากฎอยู่ในเอกสารทางวิชาการต่างๆ (เช่น ในตำราคชลักษณ์) เพราะต้องการสื่อเรื่องราวในภาษาที่ชาวบ้านเขาใช้กัน  อาทิ ใช้คำว่าช้างตัวผู้และช้างตัวเมียแทนที่จะเป็นช้างพังและช้างพลาย (พังกับพลายนั้น ใช้เรียกช้างเลี้ยงที่มีการฝึกแล้ว และมีชื่อเรียกขานประจำตัวแล้ว)   ใช้คำว่าสีดอกับช้างที่มีงาช้างสั้น(ขนาย)แทนที่จะหมายถึงช้างตัวผู้ที่(ยัง)ไม่มีงา  นกยูงตัวผู้ที่(ยัง)ไม่มีแพนหางก็เรียกว่าสีดอเช่นกัน เป็นต้น   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 มิ.ย. 17, 19:24
เมื่อนึกย้อนไปถึงภาพของการศึกในประวัติศาสตร์ที่มีการใช้ช้างในสนามรบด้วยนั้น   ผมเห็นว่า โดยพื้นฐานทั่วๆไปแล้วช้างน่าจะถูกใช้ในลักษณะที่เปรียบได้กับการใช้เฮลิคอปเตอร์ของแม่ทัพนายกองในยุคปัจจุบันของทั้งสองฝ่ายที่ใช้ในการบัญชาการรบ    การรบกันถึงในระดับที่ใช้ช้างปะทะกันนั้นน่าจะไม่ค่อยเกิดขึ้น เพราะมันจะต้องเป็นการต่อสู้กันโดยตรงในระดับแม่ทัพนายกองของทั้งสองฝ่าย ซึ่งการต่อสู้กันในลักษณะนี้ ทั้งสองฝ่ายจะต้องนั่งอยู่บนคอช้างซึ่งจะต้องทำการบังคับช้างด้วยตนเอง และก็จะต้องมีฝีมีอในการใช้อาวุธยาวเช่นง้าวและหอก นอกเหนือไปจากความสามารถในการใช้อาวุธสั้นที่ใช้ในการรบประชิดตัว (โล่ มีดดาบ...)   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 มิ.ย. 17, 20:14
ก็เพียงจะให้ภาพว่า ในการรบปะทะกันแบบนั่งอยู่บนคอช้างนั้น  ช้างกับคนจะต้องมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน คือช้างเชือกนั้นจะต้องให้ใจอย่างเต็มร้อยกับผู้ที่นั่งอยู่บนคอที่คอยสั่งการเขา ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็จากการมีกิจวัตรที่ได้สั่งสมกันมาอย่างใกล้ชิดกัน ต่างไปจากม้าที่ผู้ใดจะนั่งบนหลังก็สามารถบังคับได้เกือบทุกคน


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 มิ.ย. 17, 19:27
ได้สัมผัสและทำงานกับช้างมาในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต ทำให้ได้รู้สัมผัสลึกๆในเรื่องของกระแสจิต  ทำให้ผมเชื่อว่ากระแสจิตนั้นมีจริงและสามารถสื่อสารถึงกันได้ในระหว่างสิ่งมีชีวิตที่มี intelligence ในระดับหนึ่งขึ้นไป  โดยเฉพาะในการสื่อถึงกันในเรื่องของความเมตตา/ความเอื้ออาทร ซึ่งก็จะมีการแสดงออกมาทางโสตและสัมผัสอื่นๆร่วมกันไปด้วย (บรรดาการกระทำที่รู้สัมผัสกันได้ถึงความนุ่มนวลทั้งหลาย)   


กระทู้: ทำงานกับช้าง
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 มิ.ย. 17, 19:42
หลายเรื่องเคยเล่าในกระทู้อื่นมาแล้ว  ก็ยังพอจะมีเรื่องอื่นๆอีกบ้างแต่นึกไม่ออก

เอาเป็นว่า เห็นทีจะต้องขอลงมาจากคอช้างก่อนนะครับ   

ก็หวังว่าเริ่องราวที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้น่าจะพอมีสาระที่มีประโยชน์อยู่บ้าง