เรือนไทย

General Category => ชั้นเรียนวรรณกรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.ย. 19, 12:52



กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.ย. 19, 12:52
กระทู้นี้ตั้งขึ้น ด้วยแรงบันดาลใจจากความเห็นของ naitang  ในคคห. ที่ 129  ในกระทู้ ไปตลาด 
คุณตั้งกล่าวไว้ว่า
ผมเชื่อว่าผู้อาวุโสทั้งหลายล้วนแต่มีประสบการณ์และมีเรื่องราวทั้งในทางภาคปฎิบัติและภาคความคิดเห็นที่สามารถนำมาเล่าแล้วเกิดเป็นประโยชน์อย่างมากมายแก่ผู้คนรุ่นหลังๆที่เขากำลังหาอ่านหรือกำลังทำการค้นหาและค้นคว้า(search & research)เพื่อเลือกเส้นทางในการดำเนินชีวิต   ผมจึงเลือกที่จะคายองค์ความรู้ที่ตนมีทั้งหลายมากกว่าที่จะอมพะนำหรือขยักหวงเก็บเอาไว้  ประกอบกับสำนึกได้ว่าชีวิตเราได้มีโอกาสมากกว่าคนอื่นๆมากมายหลายเท่านัก การคายองค์ความรู้ที่พอจะมีในรูปแบบบ้านๆให้แก่สังคมและคนที่มีโอกาสน้อยกว่าหรือจำกัดกว่าก็ดูจะเป็นคุณมากกว่าที่จะขยักเก็บเอาไว้
ทำให้นึกขึ้นได้ว่า  ดิฉันน่าจะเป็นคนไทยรุ่นท้ายๆ ที่มีโอกาสเรียนวรรณคดีทั้งในประเทศและในต่างประเทศ     มาถึงรุ่นลูก ไม่พบว่ามีใครไปเรียนทางนี้อีกแล้ว   หรือว่าถ้ามีก็น้อยมากจนนึกไม่ออกว่่าใครบ้าง   
ยิ่งถ้ามาถึงรุ่นหลาน  อย่าว่าแต่วรรณคดีเลย แม้แต่ภาษาซึ่งเป็นเครื่องมือนำไปสู่วรรณคดี  เดี๋ยวนี้น้อยมากที่เรียนกันอย่างเอาจริงเอาจัง   จนเกิดภาษาไทยอย่างใหม่ขึ้น จากภาษาคีบอร์ดในมือถือ  คือเอาความง่ายในการจิ้มคีบอร์ดเป็นหลักในการสะกดคำ    เช่น โทสับ(โทรศัพท์)   ปะ(เปล่า) สัม(สัมภาษณ์)
 ส่วนการสะกดคำ ถ้ามีเกินสามพยางค์ติดกันก็สะกดไม่ค่อยจะถูกแล้ว  ยิ่งถ้าเป็นคำที่มีรากศัพท์จากบาลี ก็ยิ่งไม่ถูกหนักขึ้นไปอีก
เพราะฉะนั้นก็อย่าหวังว่า คนที่เติบโตขึ้นมาในศตวรรษที่ 21  จะเอาใจใส่อยากเรียนวรรณคดี

แต่เพื่อไม่ให้วิชานี้สูญหายไป  เหมือนอะไรๆรอบตัวอีกมากที่ตกรุ่นสูญหายไปอย่างรวดเร็ว  ก็จะเล่าอะไรต่อมิอะไรเกี่ยวกับวิชาวรรณคดีเท่าที่นึกออก    บันทึกเอาไว้เป็นการอนุรักษ์สิ่งที่ครั้งหนึ่งถือกันว่าดีงาม ถึงกับได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นหนึ่งในสมบัติของชาติ


กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.ย. 19, 16:06
ก่อนอื่น มาทำความเข้าใจถึงคำนี้กันก่อนนะคะ
วรรณคดี หมายถึง งานเขียนที่ยกย่องกันว่าดี มีสาระ และมีคุณค่าทางวรรณศิลป์    การใช้คำว่าวรรณคดีเพื่อประเมินค่าของวรรณกรรมเกิดขึ้นในพระราชกฤษฎีกาตั้งวรรณคดีสโมสรในสมัยรัชกาลที่ 6   ก่อนหน้า ไม่มีคำนี้   เพราะฉะนั้นถ้าเราย้อนเวลาไปถามสุนทรภู่ว่า วรรณคดีคืออะไร  กวีเอกของเราคงตอบไม่ได้ เพราะในยุคท่านไม่มีคำว่าวรรณคดี

ภาษาอังกฤษ มีคำว่า Literature  ซึ่งมีความหมายตรงกับคำว่าวรรณคดี  แต่ความหมายกว้างกว่า คือหมายถึงงานเขียนชั้นดีมีวรรณศิลป์ก็ได้   หมายถึงงานเขียนทั่วๆไปที่ไม่ได้กำหนดว่าดีหรือไม่ดีก็ได้   

เพราะฉะนั้น ถ้าจะหาภาษาไทยให้ตรงกับความหมายที่สอง จึงมีการคิดคำว่า "วรรณกรรม" ขึ้นมา   ราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายว่า  วรรณกรรมคืองานหนังสือ, บทประพันธ์ทุกชนิด ทั้งร้อยแก้ว และร้อยกรอง คือเป็นการให้คำจำกัดความงานแต่ง ในวงกว้าง  ไม่ต้องประเมินคุณค่า

แต่คนรุ่นหลังเข้าใจผิดไปว่า วรรณกรรมหมายถึงหนังสือดีมีคุณค่าที่เป็นหนังสือสมัยใหม่   ไม่ใช่เรื่องโบราณอย่างวรรณคดี   จึงไปยกระดับให้ว่า เรื่องนี้เป็นวรรณกรรม  เรื่องนั้นไม่ใช่    เรื่องได้รางวัลเป็นวรรณกรรม  เรื่องที่เด็กนักเรียนหัดแต่ง  ไม่นับเป็นวรรณกรรม
ความจริงไม่ใช่ค่ะ     ใช้กันมาผิดจนกลายเป็นถูกไปแล้ว


กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.ย. 19, 18:28
   ในศตวรรษที่ 20  เวลาเดินช้ากว่ายุคนี้มาก    ปัญญาชนในสมัยรัชกาลที่ 6  อ่านงานเขียนที่แต่งขึ้นในรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 หรือแม้แต่สมัยอยุธยา ได้รู้เรื่อง เข้าใจภาษา แบบแผนคำประพันธ์ และเนื้อเรื่องได้อย่างดีราวกับอยู่ในยุคเดียวกัน   
    เห็นได้จากวรรณคดีสโมสรที่ตั้งขึ้นในรัชกาลที่ 6  ตัดสินให้วรรณคดียอดเยี่ยมแต่ละประเภท ย้อนหลังไปนานนับสิบๆหรือร้อยๆปีทั้งนั้น ไม่ว่าจะลิลิตพระลอ เป็นยอดลิลิต  สมุทรโฆษคำฉันท์ เป็นยอดฉันท์  สองเรื่องนี้อยู่สมัยอยุธยา 
   แต่พอมาถึงศตวรรษที่ 21    กี่คนจะเข้าใจอิเหนาตอนศึกกะหมังกุหนิงว่าเป็นเรื่องของใคร ทำอะไร   ทำแล้วเกิดผลอะไร  แล้วผลนั้นช่วยส่งเสริมความคิดอ่านของนักเรียนชั้นม.ปลายให้ซาบซึ้งในวรรณคดีแค่ไหน
   นี่ยังไม่ต้องพูดถึงด่านต้น คือศัพท์แปลกๆ ไม่เคยพบเคยเห็นในชีวิตประจำวัน  จนอ่านแล้วไม่รู้เรื่อง    ไปติดอยู่ที่การแปลศัพท์นั้นเอง     
   ต่อให้แปลศัพท์ได้หมด     ก็มีคำถามต่อมาว่า  สังคมของท้าวกะหมังกุหนิง ที่ประกอบด้วยการระดมญาติกมาทำศึก  เพื่อตามใจลูกชายให้ไปแย่งผู้หญิง  เป็นสิ่งที่โยงเข้ากับการดำเนินชีวิตของเด็กนักเรียนได้มากน้อยแค่ไหน   ช่วยให้นักเรียนเกิดความคิดสติปัญญาสร้างสรรค์อย่างไรบ้าง
   คำถามเหล่านี้ถ้าตอบไม่ได้ ก็น่าจะเปลี่ยนหลักสูตรวิชาวรรณคดีเสียใหม่  เพื่อรับกับสังคมในศตวรรษที่ 21 ได้แล้ว
 
   วรรณคดีจึงเป็นยาขมหม้อใหญ่  ไม่ใช่แต่กับนักเรียน แม้แต่ครูเองก็เช่นกัน   

   


กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: jungo ka ที่ 15 ก.ย. 19, 23:47
เรียนอาจารย์เทาชมพูค่ะ
   เมื่อไม่กี่วันมานี้หนูเพิ่งเจอสถานการณ์เอาง่ายเข้าว่าในการใช้ภาษาไทยของคนรุ่นปัจจุบันทางเพจเฟสบุ๊ก โดยแอดมินใช้คำว่า "ภาษาอิตาลี" ซึ่งทางเราก็ได้ไถ่ถามไปว่า ทำไมไม่ใช้ว่า "ภาษาอิตาเลียน" ล่ะ ดูน่าจะเหมาะสมกว่า ไพเราะกว่า เพราะได้เห็นมาจากที่คณะอักษรฯ สาขา "ภาษาอิตาเลียน" ตั้งแต่เมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ทางแอดมินเพจตอนแรกเหมือนจะเข้าใจ แต่ก็พยายามหาเหตุผลต่างๆ เช่น ประเทศสเปน เขายังใช้ภาษาสเปน ประเทศฝรั่งเศส ก็ใช้ภาษาฝรั่งเศสนี่ ซึ่งมันก็ถูกต้อง และเขาได้แสดงหลักฐานเพิ่มอีกว่า ราชบัณฑิตฯ กำหนดให้ใช้คำนาม คำคุณศัพท์อื่นๆ ตามชื่อประเทศไปเลย เพื่อความสะดวก (ซึ่งเราก็เพิ่งจะรู้) ยกเว้นว่า บางคำที่ใช้มานานเป็นที่นิยมแล้วก็ให้ยกเว้น เช่น ประเทศเยอรมนี ใช้ภาษาเยอรมัน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีประชากรสวืส เป็นต้น
เลยทำให้รู้สึกว่าความงามทางภาษา ความรุ่มรวยทางภาษา และการเลือกใช้คำให้เหมาะกับบริบท กำลังจะหายไปจากภาษาไทยยุคปัจจุบันแล้วค่ะ เพราะความง่ายและสะดวก ไม่ต้องคิดมาก (เข้าใจตรงกันนะ)
ขอบคุณค่ะ


กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ย. 19, 07:22
  ดิฉันก็เพิ่งรู้ว่าราชบัณฑิตฯ กำหนดคำคุณศัพท์ของชื่อประเทศต่างๆเสียใหม่   เราชินกับคำว่า อาหารอิตาเลียน  ไส้กรอกเยอรมัน   รถยนต์อเมริกัน   ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้วค่ะ

  คนสวีเดน หรือ คนสวีดิช

          คำคุณศัพท์ภาษาอังกฤษเกี่ยวกับชนชาติเมื่อไปประกอบกับคำนามมักจะเป็นปัญหาสำหรับผู้ที่ต้องการเขียนทับศัพท์เนื่องจากไม่แน่ใจว่าควรจะทับศัพท์ในรูปคำคุณศัพท์นั้นหรือไม่ เช่น Italian food อาหารอิตาเลียน หรือ อาหารอิตาลี American writer นักเขียนอเมริกัน หรือ นักเขียนอเมริกา German people คนเยอรมัน หรือ คนเยอรมนี Hawaiian dance ระบำฮาวาย หรือ ระบำฮาวายเอียน ราชบัณฑิตยสถานได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ค่อนข้างชัดเจนดังนี้

          คำคุณศัพท์เกี่ยวกับชนชาติต่าง ๆ ให้ทับศัพท์ในรูปคำนามที่เป็นชื่อประเทศ เช่น Swedish people = คนสวีเดน Hungarian dance = ระบำฮังการี ยกเว้นชื่อที่เคยใช้มานานแล้ว ได้แก่ ประเทศเยอรมนี ใช้ว่า…เยอรมัน เช่น ภาษาเยอรมัน ประเทศกรีช ใช้ว่า…กรีก เช่น เรือกรีก ประเทศไอร์แลนด์ ใช้ว่า…ไอริช เช่น ชาวไอริช ประเทศเนเธอร์แลนด์ ใช้ว่า…ฮอลันดา เช่น ชาวฮอลันดา หรือ…ดัตช์ เช่น ภาษาดัตช์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ใช้ว่า…สวิส เช่น ผ้าสวิส สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ ใช้ว่า…อังกฤษ เช่น คนอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ใช้ว่า…อเมริกัน เช่น รถอเมริกัน สำหรับสหภาพโซเวียต ซึ่งในภาษาอังกฤษใช้คำคุณศัพท์ ๒ คำ คือ Soviet…และ Russian…ใช้ว่า …โซเวียต และ …รัสเซีย เช่น Soviet Style (of architecture) = (สถาปัตยกรรม) แบบโซเวียต Russian food = อาหารรัสเซีย

          เมื่อปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ราชบัณฑิตยสถานกำหนดไว้ก็จะได้คำตอบว่า อาหารอิตาลี นักเขียนอเมริกัน คนเยอรมัน และระบำฮาวาย สำหรับ Hawaii แม้มิใช่ชื่อประเทศ แต่ก็พอจะอนุโลมให้ใช้ตามหลักเกณฑ์นี้ได้เนื่องจากเป็นคำประเภทเดียวกัน ในกรณีของประเทศพม่า แม้จะเปลี่ยนชื่อทางการเป็น Union of Myanmar แล้วก็ตาม ราชบัณฑิตยสถานและกระทรวงการต่างประเทศยังเห็นควรให้ใช้ชื่อภาษาไทยว่า สหภาพพม่า ตามที่ใช้กันมาแต่เดิม มิใช่ สหภาพเมียนมาร์ ดังที่มีผู้ใช้กันอยู่ ในภาษาอังกฤษจะพบคำคุณศัพท์เกี่ยวกับชนชาติพม่า ๒ คำ คือ Burmese กับ Myanman แต่ทั้ง ๒ คำ เมื่อไปประกอบคำนามก็ให้ใช้ว่า พม่า

                                                                      แสงจันทร์  แสนสุภา

http://www.royin.go.th/?knowledges=%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%99-%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD-%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%8A


กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ย. 19, 07:46
  ถ้าถามว่าเห็นด้วยไหม ดิฉันก็ไม่เห็นด้วยกับเหตุผลข้างบนนี้หรอกค่ะ      ของเดิมมีอยู่แล้ว ใช้กันมานานจนชินแล้ว ไปเปลี่ยนให้นักเรียนจำยากขึ้นเปล่าๆ
  อย่างคำว่า อาหารอิตาเลียน มันก็มีที่มาที่ไป ไม่ใช่ไทยกำหนดเองตามใจชอบ  คือ ตรงกับคำว่า Italian food  ไม่ใช่ Italy food  แต่เรามาเปลี่ยนเป็น อาหารอิตาลี ทั้งๆไม่มีคำว่า Italy food ในภาษาอังกฤษ   
  ในภาษาอิตาเลียนเอง  เขาไม่ได้ใช้คำนาม Italia  ซึ่งหมายถึงประเทศอิตาลีกันตะพึดตะพือ  แต่มีคำคุณศัพท์ประกอบตามรูปศัพท์     Italian food  คือ cibo italiano  ไม่ใช่ cibo italia

     ถ้าจะกำหนดใหม่ให้เป็นระเบียบ ก็ควรเปลี่ยนหมด    ไม่ใช่เปลี่ยนบ้าง คงเดิมบ้าง    คำที่คงเดิมก็ไม่มีเหตุผลอะไรมากกว่าใช้มานานแล้ว   ก็เลยสงสัยว่าคำที่เปลี่ยนอย่างอิตาเลียน เพิ่งจะใช้กันมาไม่กี่ปีหรืออย่างไร  เท่าที่เคยเห็นผ่านตาก็ใช้กันมานานแล้ว   ส่วนคำที่ไม่เปลี่ยน  เช่น ไอริช  เอาไว้อย่างเดิม   อ้างเหตุผลว่าเพราะใช้มานานแล้ว    เช่นกระท่อมไอริช   ไม่ใช่กระท่อมไอร์แลนด์   แต่ไม่มีการพิสูจน์ว่า ไอริช ใช้นานกว่า อิตาเลียน มานานแค่ไหน

  เรื่องนี้เป็นเรื่องของภาษา ไม่ใช่วรรณคดี    สรุปว่ามีการเปลี่ยนแปลงการทับศัพท์คำเรียกภาษาต่างประเทศบางคำ ให้เปลี่ยนไปจากเดิม    ส่วนคำที่ไม่เปลี่ยนก็มี   โดยมีเหตุผลหลักคือใช้มานานแล้วไม่ต้องเปลี่ยน  แต่คำที่เปลี่ยนซึ่งไม่ใช่คำใหม่เพิ่งจะใช้  ก็ถูกเปลี่ยน
  ดิฉันเห็นว่าเป็นการเปลี่ยนที่ไม่จำเป็นค่ะ     
  หวังว่าอีกไม่นานคงมีการแก้ระเบียบการใช้ ว่า อนุโลมให้ใช้คำเดิมได้     เหมือนอนุโลมศัพท์อื่นๆมาแล้วหลายเรื่อง  เมื่อมีคนคัดค้านมากเข้า ค่ะ


กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 16 ก.ย. 19, 10:18
นริศ คิดในใจ "เอ่ แล้วชาติในอาเซี่ยนของเรา เราจะเรียกอาหารของพวกเขาอย่างไรดีนะ จะว่าไป เราก็ไม่เคยรู้เลยว่า คนประเทศเวียตนาม = ชาว..อะไร ชาวเวียตเฉยๆ หรือเวียตนาม อาหารเวียตนาม ต้องเรียกว่า อาหารอะไร แล้วคนประเทศลาวหละ เห็นบางที่ใช้ Laotian อาหารลาวก็ต้องเรียกว่า อาหารลาวเทียนสิ แล้วก็ต้องมี อาหารขแมร์ อาหารฟิลิปิโน ด้วยแต่คิดไปคิดมา อันนี้ไม่ใช้เรื่องวรรณคดี อย่าเพึ่งถามดีกว่า เดี๋ยวโดนดุ" 


กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ย. 19, 10:28
ไม่ดุค่ะ
ความเห็นคือเคยเรียกกันมายังไงก็ควรเรียกกันยังงั้น   ในเมื่อเรียกติดหูกันมานานแล้ว    ไม่จำเป็นต้องไปจัดระเบียบ ให้เป็นอย่างเดียวกับชื่อประเทศบ้าง ไม่เป็นบ้าง
เพราะจัดใหม่  ผลออกมาก็ลงรอยแบบเดียวกับอย่างเก่าที่ไม่มีระเบียบ   คือเรียกบ้างไม่เรียกบ้างอยู่ดีละค่ะ


กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ย. 19, 11:22
กลับมาที่วรรณคดี

โลกในศตวรรษที่ 21 เป็นโลกที่เยาวชนต้องปรับตัวกับของใหม่ๆที่หลั่งไหลเข้าเร็วมาก     ในศตวรรษที่ 20  เทคโนโลยีที่อายุไม่เกิน 20  ปี ยังใช้งานได้อยู่  เสียบ้างก็ซ่อมกันไป  แต่ในศตวรรษนี้  ของตกยุคกันเร็วมาก   ไม่กี่ปีมานี้เรายังใช้ window XP    แต่เดี๋ยวนี้อย่าว่าแต่ window XP  แม้แต่ window 7 ที่ตามหลัง XP มาก็ไม่มีใครใช้กันแล้ว     window 10 ที่ดิฉันใช้อยู่ตอนนี้ก็คงจะหายสูญไปเมื่อมี window ใหม่ๆเข้ามาแทนที่

ในเมื่อของเก่าไปใหม่มากันอย่างรวดเร็ว    คนรุ่นนี้จึงต้องปรับเนื้อที่ในสมอง ลบของเก่าทิ้งไปรับของใหม่เข้ามาเร็วมากเช่นกัน     ไม่มีความทรงจำที่อ้อยอิ่งอยู่นานเป็นสิบๆปี อย่างคนรุ่นพ่อแ่ม่ปู่ย่าตายาย
เขาไม่มีเนื้อที่สมองให้จดจำคู่กรณีในศึกกะหมังกุหนิง   กวนอูฝากตัวกับโจโฉ   เส้นทางเดินทัพของนายนรินทรธิเบศร์    ยิ่งเป็นเรื่องอ่านยาก ห่างไกลจาก app ตัวต่างๆ   ก็ยิ่งไม่มีเนื้อที่ให้จำหนักขึ้น
วรรณคดีเก่าที่บรรจุไว้ในหลักสูตรให้เด็กที่เกิดหลังปี 2000 อ่าน จึงไม่มีทางให้ซาบซึ้งตรึงใจ จนอยากจดจำได้

ถ้าทำได้ ดิฉันจะรื้อวรรณคดีม.ปลายออกให้หมด   แล้วสอนให้นักเรียนรู้จักหนังสือดีอีกแบบหนึ่งแทน คือหนังสือในยุคปัจจุบัน


กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: jungo ka ที่ 16 ก.ย. 19, 11:29
ต้องขออภัยอาจารย์ด้วยนะคะที่พาออกนอกเรื่อง
    มีช่วงหนึ่งไปช่วยงานคิดคำถามเกมชิงรางวัลจับเวลาค่ะ คำถามท่ี่เด็กยุคใหม่ตอบแทบไม่ได้เลยคือภาษาและวรรณคดีไทย เช่น ถามว่า ข้อใดคือทหารเอกของพระราม (นิลพัท) ข้อใดเกี่ยวข้องกับนางละเวงวัณฬา (นางสุลาลีวัน) ข้อใดเป็นบทประพันธ์ประเภทนิราศ (รำพันพิลาป) ฯลฯ รวมทั้งคำที่มักเขียนผิด แต่ถ้าเป็นคำถามเกี่ยวกับแฮรี่ พอตเตอร์ ตอบได้เกือบหมดเลยค่ะ


กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ย. 19, 12:20
ไม่นอกเรื่องหรอกค่ะ   คุณjungo ka นึกอะไรได้ก็เข้ามาโพสได้เสมอนะคะ  คุณนริศก็เช่นกันค่ะ

เรื่องที่คุณ jungo ka เล่ามาตรงกับที่ดิฉันอยากบอกพอดี  คือเด็กอายุต่ำลงมาจาก 18 ปี  โลกของเขาคือปัจจุบัน
เขายังไม่มีอดีตและอนาคตให้นึกถึงอย่างพวกผู้ใหญ่ 
เพราะเหตุนี้วรรณกรรมต่างๆที่เขาเสพเข้าถึง คือเรื่องที่เขาพบเห็นในวัยปัจจุบันของเขา      ไม่ว่าเด็กเหล่านี้ได้อ่านแฮรี่ พ็อตเตอร์ หรือดูหนังแฮรี่ พ็อตเตอร์ก็ถาม    เนื้อเรื่องเป็นเรื่องของปัจจุบัน   หนุ่มน้อยแฮรี่อยู่อาศัยกับลุงป้าในยุคปัจจุบัน  แม้ว่าโรงเรียนฮ็อกวาร์ดมีบรรยากาศของพ่อมดแม่มด และอาคมขลังต่างๆซึ่งย้อนหลังไปได้ถึงตำนานยุคกลางของยุโรป   แต่ตัวเขา เพื่อนๆ และความคิดอ่านของเด็กพวกนี้ก็เป็นปัจจุบันที่คนอ่าน(หรือคนดู) สื่อสารกันได้อยู่นั่นเอง

ถ้าหลักสูตรเอาอะไรที่เป็นเนื้อหาของอดีตล้วนๆ เข้าไปให้เขาเสพ ผ่านทางชั้นเรียนและตำรา   เขาก็เข้าไม่ถึง และปฏิเสธโดยปริยาย    นี่คือธรรมชาติของเด็กวัยนี้
การสอนให้เด็กรักหนังสือในอดีตเมื่อหนึ่งหรือสองร้อยปีก่อนไม่ใช่เรื่องง่าย   ย่ิ่งยัดเยียดให้จำแต่ศัพท์  ถอดความออกมาเป็นเรื่องเล่า เพื่อทำการบ้านส่งครู   ยิ่งทำให้ห่างไกลจากความรัก 
เพราะฉะนั้น  ดิฉันจึงคิดว่า เรามาเริ่มต้นกันที่หาหนังสือใหม่ที่เหมาะกับวัยของเขา ให้อ่านดีกว่า   
หนังสือที่สนุก  อ่านง่าย ภาษาง่ายและหมดจดถูกต้องตามหลักภาษา    เหมาะจะเป็นวรรณกรรมที่สอนในระดับมัธยมต้นและปลายค่ะ 


กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 16 ก.ย. 19, 13:33
เรื่องนี้ ผมก็สนใจนะครับอาจารย์
ทุกวันนี้ เวลาเดินเข้าร้านหนังสือ ผมพบว่ามี "งานเขียน" (ผมขอเรียกด้วยคำที่ง่ายที่สุดละกันครับ) เยอะเลยครับ เอาเข้าจริงๆ อาจจะกินพื้นที่เกิน 50% ของหนังสือที่ขายอยู่ในร้านด้วยซ้ำ งานเขียนเหล่านี้มีทั้งของนักเขียนไทย (ทำไมต้องเป็นงานออกแนวชายรักชาย หรือทาสรักชายโหดซะส่วนใหญ่ก็ไม่รู้ครับ แต่ผมก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับงานเหล่านี้นะครับ ผมถือว่า ถ้างานขายได้ = มีผู้ชื่นชอบ ก็คือดี)

งานของนักเขียนจีน จำพวกกำลังภายในต่างๆ ซึ่งก็ไม่ใช่กำลังภายในแบบของกิมย้ง หรือโกวเล้ง เป็นอีกแบบหนึ่งซึ่งเดินเรื่องทันสมัยกว่า และมักเปิดโอกาสให้คนยุคปัจจุบันเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เช่น แนวเรื่องยุทธภพออนไลน์ (ตัวละครเป็นคนในยุคปัจจุบัน แต่เข้าไปอยู่ในเกมส์ออนไลน์) หรือแนวย้อนเวลา

งานของนักเขียนญี่ปุ่น มักออกมาในแนว "ต่างโลก" ซึ่งมักจะเริ่มต้นว่า ตัวเอกเป็นใครสักคนที่เกิดเหตุไม่คาดฝัน (รถชน ตกน้ำ หมดสติ) แล้วตื่นขึ้นมาโดยพบว่า ตนเองไปอยู่ในโลกแฟนตาซี ยุคที่ยังมี มังกร พ่อมด เวทย์มนตร์ (ร้อยละ 90 ตัวเอกจะมาพร้อมความสามารถอะไรบางอย่างที่ดีผิดปกติอย่างยิ่ง ทำให้เขากลายเป็ยคนสำคัญในโลกนั้นๆ)   


กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 16 ก.ย. 19, 13:46
ส่วนตัว ผมเชื่อว่า การที่งานเขียนพวกนี้ พิมพ์ออกมามากมาย ก็แสดงว่า มีผู้สนใจอ่านมากมายด้วย ผมคิดอย่างนั้นนะครับ 

ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ก็แสดงให้เห็นได้ว่า เด็กไทย หรือวัยรุ่นไทย ไม่ได้ห่างจากวรรณกรรม หรืองานเขียน แต่เขาอ่านสิ่งที่เหมาะสมกับวัยของเขา เพราะสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่า เป็นสิ่งที่จับต้องได้ง่ายกว่า

การนำวรรณกรรมสร้างขึ้นในยุคที่ห่างจากตัวเด็กไปมาก ไปให้เขาอ่าน ผมเห็นด้วยครับว่า น่าจะมีปัญหามากจริงๆ อย่างแรกเลยคือ ภาษาอ่านยาก พออ่านยากก็ไม่สนุก ถ้าไม่ใจรักจริงๆ เด็กจะอ่านต่อไปไม่ไหว ครั้นเจอเด็กที่มีความสนใจ สามารถอ่านจนจบได้ เขาจะได้รับรู้ "เนื้อหา" ของวรรณกรรมนั้นๆ ซึ่งบางครั้งก็ผิดยุคไปแล้ว อย่าว่าแต่เด็กเลยครับ รุ่นผมนี้ ตอนผมอ่าน "ผู้ชนะสิบทิศ" ตอนสอพินยาชิงกุสุมาไป เนื้อเรื่องบอกเลวร้ายมาก แต่ตอนจะเด็ดไปชิงคืนมา โดยเนื้อหาก็คือการฉุดคร่าหญิงเหมือนกันเลย แต่เนื้อเรื่องบรรยายว่าดีงาม หาข้อแก้ตัวให้เสร็จ ผมก็ขัดใจครับ

ยิ่งถ้าไปอ่านขุนช้าง ขุนแผน อัยย่ะ ตกลงขุนแผนหรือขุนช้างกันแน่ที่เป็นตัวร้าย ขุนช้างมีความผิดเดียวคือ แกไม่หล่อ (ถ้าเป็นสมัยนี้ หุ่นหมี รวยทรัพย์ ดีไม่ดี สาวติดเยอะกว่าขุนแผนอีก) ส่วนที่เหลือ ขุนแผนทำครบ อ่านแล้วก็หงุดหงิดใจว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ 

สรุปว่า ผมเองก็เชื่อว่า การเอาวรรณกรรมผิดยุคไปให้เด็กอ่าน ไม่ทำให้เด็กเกิดความรักการอ่านขึ้นได้


กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ย. 19, 14:49
ไปค้นรายชื่อหนังสือวรรณคดีม.ปลายมา ได้ตามนี้ค่ะ

1. บทนมัสการมาตาปิตุคุณและบทนมัสการอาจาริยคุณ
2. อิเหนา ตอน ศึกกะหมังกุหนิง
3. นิทานเวตาล เรื่องที่ 10
4. นิราศนรินทร์
5. หัวใจชายหนุ่ม
6. ทุกข์ของชาวนาในบทกวี
7. มงคลสูตรคำฉันท์
8. มหาชาติหรือมหาเวสสันดรชาดก
9. มหาเวสสันดรชาดกกัณฑ์มัทรี
10. ลิลิตตะเลงพ่าย
11. มัทนะพาธา
12. คัมภีร์ฉันทศาสตร์ แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์
13. โคลนติดล้อ ตอน ความนิยมเป็นเสมียน
14. ขุนช้างขุนแผน ตอน ขุนช้างถวายฎีกา
15. สามก๊ก ตอน กวนอูไปรับราชการกับโจโฉ
16. กาพย์เห่เรือ
17. สามัคคีเภทคำฉันท์
18. ไตรภูมิพระร่วง
19. ขัตติยะพันธกรณี


กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: jungo ka ที่ 16 ก.ย. 19, 14:58
ขอบคุณค่ะอาจารย์
    เข้าใจอย่างที่อาจารย์เทาชมพูและอาจารย์ Naris อธิบายค่ะ แต่ก็แอบสงสัยว่า ทำไมตอนเมื่อยุค 40-60 ปีก่อน การที่เราเรียนวรรณคดีแล้วเรารู้สึกซาบซึ้งไปกับเนื้อหาและความไพเราะได้โดยง่าย ทั้งๆ ที่เนื้อเรื่องก็ไม่ได้เกิดในยุคเราเช่นกัน ส่วนเรื่องความถูกต้องตามทำนองคลองธรรมในชีวิตจริงของตัวละครนั้น เรามาวิเคราะห์ได้ตอนโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ชีวิตมากขึ้นแล้ว ช่วงเป็นเด็ก สนใจอยากจะอ่านให้รู้เรื่องราวต่อไปว่าเป็นอย่างไร จะจบอย่างไรมากกว่า แล้วพอคุณครูอธิบายคำศัพท์ ฉันทลักษณ์ รสวรรณคดี ลีลา ไวพจน์ต่างๆ ก็ยิ่งรู้สึกประทับใจ เข้าถึงความงามวรรณศิลป์ยิ่งขึ้นไปอีก หรือในยุคนั้นเด็กว่าง่าย สอนง่าย เข้าใจอะไรง่ายกว่ายุคนี้คะ


กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ย. 19, 15:07
น่าจะเป็นว่า
1  ครูของคุณเก่งมาก ในการสอนให้เข้าถึงวรรณคดีได้
2  ยุคนั้น ผู้ใหญ่และเด็กยังอ่านหนังสือกันมาก  ทำให้ชินกับการใช้ภาษาไทย อ่านเรื่องราวยาวๆ ศัพท์ยาวๆได้เข้าใจง่าย  เมื่อติดศัพท์ ครูอธิบายให้ฟังก็เข้าใจได้ทะลุปรุโปร่ง
    ไม่ทราบว่าคุณทบทวนความหลังครั้งเรียนม.ปลาย หรือว่าเมื่อเรียนมหาวิทยาลัย   เพราะทักษะของนักเรียนกับนิสิตนักศึกษาผิดกัน

  โลกยุค 40-60 ปีก่อน คือเมื่อพ.ศ. 2502 ถึง 2522   เป็นยุคที่บริษัทเพิ่งจะเริ่มใช้แฟกซ์   สถานราชการยังใช้พิมพ์ดีด   ผู้คนยังเขียนจดหมายถึงกันอยู่  ตอนเช้า อ่านหนังสือพิมพ์อ่านข่าวยาวๆเต็มหน้ากระดาษ   ตอนเย็น ผู้คนยังแวะแผงหนังสือ ซื้อนิตยสารกลับบ้าน 
 โลกยังหมุนช้ากว่าเดี๋ยวนี้มากค่ะ


กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: jungo ka ที่ 16 ก.ย. 19, 17:58
ต้องยกความดีทั้งหมดให้คุณครูและอาจารย์ผู้สอนค่ะ
   รวมทั้งด้วยความชอบวิชาภาษาไทยเป็นการส่วนตัวด้วย ที่เรียนแล้วสนุก น่าจดจำ และประทับใจตั้งแต่ระดับมัธยมฯ เป็นต้นมา ทั้งในตำราเรียน หนังสืออ่านนอกเวลา นิยาย เรื่องแปล เรื่องสั้น และบทเพลงต่างๆ แต่มาหัดวิเคราะห์และเข้าถึง รวมทั้งคาดเดาความในใจของผู้ประพันธ์เอาตอนช่วงทำงานด้านนิตยสารค่ะ เนื่องจากต้องหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เยอะมาก ทำให้ได้กลับมาสัมผัสสาระของบทความ วรรณกรรมและวรรณคดีหลายเรื่องอย่างลึกซึ้งขึ้น
 
   อย่างไรก็ดี หนูก็ยังรู้สึกว่างานประพันธ์ของนักเขียนชั้นครู มีคุณค่าสูงทั้งในเชิงวรรณศิลป์ การจรรโลงสังคม รวมทั้งมรดกทางวัฒนธรรม มากกว่าผลงานของนักเขียนรุ่นใหม่ ที่เน้นกระแสสังคม รวมทั้งความชอบของกลุ่มเป็นหลัก เวลาอ่านแล้วรู้สึกขัดใจเรืื่องข้อมูลที่ไม่แน่นหนา ขาดการรีเสิร์ช ไม่ว่าจะเรื่องภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วรรณคดี ฯลฯ พล็อตเรื่องก็หลวม ขาดๆ เกินๆ รวมทั้งพัฒนาของตัวละครที่ไม่สมเหตุสมผลตามหลักจิตวิทยา และอาจเกิดจากประสบการณ์ชีวิต ความเข้าใจโลกที่ยังมีน้อยของนักเขียน
จนทำให้เข้าถึงประโยคที่ว่า วรรณกรรมคือภาพสะท้อนของสังคมในแต่ละสมัยได้เป็นอย่างดี

ขอบคุณค่ะ


กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 16 ก.ย. 19, 18:16
ขอร่วมคุยด้วยนะคะ ดิฉันไม่แน่ใจว่าหลายท่านเคยได้ยินไหมในประเด็นที่ว่าเด็กสมัยนี้ไม่ค่อยชอบวรรณคดีเพราะรับไม่ได้ที่เนื้อหาในนั้นจะไม่เป็นไปตามค่านิยมของสมัยนี้ เช่น ผู้ชายหลายคนมีเมียเยอะ การกดขี่ผู้หญิงอย่างนางโมรา นางกากีทั้งที่ทั้งสองไม่มีตัวเลือกมากนัก การฆ่าผู้หญิงเอาลูกมาทำเป็นกุมารอย่างขุนแผน การให้เมียตัวเองลุยไฟอย่างรามเกียรติ์ สุวรรณหงส์ตัดคอเมียชิมเลือด เป็นต้น คือทางนั้นเขามองว่ามันเลวร้ายไม่เหมาะที่จะเอามาให้เด็กวัยมัธยมเรียนทำนองนี้น่ะค่ะ


กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ย. 19, 18:52
ขอต้อนรับมาร่วมวงค่ะ

เคยได้ยินทำนองนี้มาเหมือนกันค่ะ   ถ้าจะเอาประเด็นศีลธรรมเข้ามาจับก็จะได้ตามนั้นจริงๆค่ะ    คือประเด็นเหล่านี้ไม่ได้เป็นเรื่องสอนใจเด็กวัยเรียนได้เลย 
ความจริงคือเมื่อกวีแต่งเรื่องเหล่านี้ขึ้น  ท่านไม่ได้มุ่งหมายจะให้เป็นเรื่องสอนเด็กนักเรียน    แต่เป็นเรื่องที่แต่งตามใจรักของกวี  ในยุคสมัยที่ค่านิยมเป็นคนและแบบกับปัจจุบัน
เมื่อเวลาผ่านไปนับร้อยปี  หนังสือเหล่านี้ถูกยกขึ้นหิ้งเป็นวรรณคดีด้วยคุณสมบัติบางด้านที่เด่นชัด เช่นทางด้านวรรณศิลป์ ด้านสร้างความสะเทือนอารมณ์   แต่พอกลายเป็นวรรณคดีที่ได้รับการยกย่อง เลยกลายเป็นว่าทุกด้านต้องได้รับการยกย่องหมด   ทั้งๆไม่จริง   
ถ้าเอาศีลธรรมปัจจุบันเข้าจับพฤติกรรมตัวละคร  ตัวเอกทั้งหลายสอบตกหมด  ขุนแผนเป็นผู้ชายที่ความประพฤติส่วนตัวใช้ไม่ได้เลย   ผู้ชายในเรื่องกากีก็เลวไม่น้อยไปกว่านาง แต่รอดตัวไม่ถูกตำหนิกันสักคน   พระรามเองก็เป็นสามีที่ไม่น่านับถือสักเท่าไร
เนื้อหาทั้งหมดนี้ไม่ควรนำมาสอนเด็กนักเรียน ทำให้เด็กสับสนได้ จริงค่ะ


กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 ก.ย. 19, 19:32
ฟ.ฮีแลร์เคยเล่าให้ ส. ศิวรักษ์ (ซึ่งขณะนั้นเป็นนักเรียนมัธยมปลายที่อัสสัมชัญ) ฟังว่า "ในตอนนั้นอยากเรียนภาษาไทย เมื่อสอนภาษาอังกฤษหรือภาษาฝรั่งเศสอยู่อีกห้องหนึ่ง หูมักพยายามเงี่ยฟังว่าห้องถัดไปเขาสอนภาษาไทยว่าอย่างไร"

ในสมัยนั้นเด็กไทยเรียนแบบเรียนชุด มูลบทบรรพกิจ ฟ.ฮีแลร์ กล่าวว่า “จังหวะจะโคนและลีลาแห่งภาษาน่าพิสมัยมาก” จึงพยายามเรียนคำศัพท์จนอ่านรู้เรื่อง

ในบรรดาบราเดอร์ทั้งหมด ฟ.ฮีแลร์ท่านสนใจภาษาไทยมากกว่าคนอื่น ท่านบอก มูลบทบรรพกิจ เพราะมากเลยนะ ท่านก็เอามาอ่าน อ้าว ตายจริง มันมีเรื่องลามกอยู่ในนั้นด้วย แบบฝรั่งเขาพิวริตัน (Puritans) ท่านก็เลย…ไม่ได้ ๆ ต้องแต่งใหม่

‘เรื่องลามก’ ใน กาพย์พระไชยสุริยา ที่ปรากฏในแบบเรียนเล่มนั้นมีเนื้อหากล่าวว่า

๏ อยู่มาเหล่าข้าเฝ้า  ก็หาเยาวนารี
ที่หน้าตาดีดี           ทำมโหรีที่เคหา
๏ ค่ำเช้าเฝ้าสีซอ     เข้าแต่หอล่อกามา
หาได้ให้ภริยา        โลโภพาให้บ้าใจ


ท่านบอกว่า ปล่อยให้นักเรียนเรียนแบบนี้ไม่ได้ ต้องให้เรียนความรู้ที่ดีกว่านี้ ท่านก็เลยแต่งแบบเรียนชุด ดรุณศึกษา นี่คือเหตุผลที่ทำให้ ฟ.ฮีแลร์ คิดแต่งแบบเรียนภาษาไทยอันลือเลื่อง

https://readthecloud.co/f-hilaire/


กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ย. 19, 19:41
 กาพย์พระไชยสุริยา ที่ท่านฟ.ฮีแลร์น่าจะทนไม่ได้ มีมากกว่าบทนี้อีก   
 สุนทรภู่แต่งเรื่องนี้เป็นแบบเรียนตัวสะกดให้เด็กผู้ชายหัดเขียนอ่าน     แต่กวีเอกของเราก็ไม่ได้บันยะบันยังในสิ่งที่เห็นว่าเป็นปกติวิสัยของมนุษย์
 เรื่องนี้เอามาสอนในยุคนี้ไม่ได้แน่นอนค่ะ


กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ก.ย. 19, 20:54
ทำให้ผมนึกถึงวรรณกรรมคำผวนที่เขียนเป็นเรื่องราวที่จะต้องอ่านออกเสียงเป็นสำเนียงของภาษาใต้ด้วยจึงจะได้อรรถรส ครับ  ;D


กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 ก.ย. 19, 21:34
คุณตั้งคงหมายถึงหนังสือเล่มนี้  :)

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3436.msg69830#msg69830


กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 17 ก.ย. 19, 13:35
ในวรรณคดีเลยมีคนว่าอยู่ค่ะว่าผู้แต่งแต่งเพื่อไว้ให้ผู้ใหญ่ด้วยกันอ่านเนื้อเรื่องก็เลยออกแนวเป็นชีวิตของผู้ใหญ่ซะเยอะ ไม่แน่ใจว่าของเราโหดน้อยกว่านิทานกริมม์แบบดั้งเดิมของฝรั่งไหม

ส่วนเรื่องการเรียนดิฉันว่านำมาเรียนได้ค่ะเพียงแต่ต้องบอกจุดประสงค์การเรียนให้แน่ชัด เด็กในวัยมัธยมน่าจะเข้าใจ แยกได้อยู่ว่าอะไรควรนำไปทำตาม

แล้วอีกอย่างดิฉันไม่แน่ใจว่าเป็นปัญหาไหม 1.เด็กเบื่อวรรณคดีเพราะผู้ใหญ่มักจะให้เด็กท่องจำเพื่อสอบจนเด็กเบื่อหน่าย ในกรณีนี้บางคนบอกเขาเสียงไม่ดีเลยผ่านยาก บางคนก็ว่าไม่อิน ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องท่องจำได้

 2 การแปลร้อยกรองไม่ออกเรื่องนี้ดิฉันเคยเจอคนบ่นอยู่ตามเว็บต่างๆ เดี๋ยวนี้ดิฉันว่าเด็กไทยมีคลังคำศัพท์น้อยลงและไม่ค่อยสนใจพวกคำเก่าๆเท่าไรการแปลคำพวกนี้เลยทำให้พวกเขามองว่าเชยไป


กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 17 ก.ย. 19, 15:12
ความแตกต่างในเรื่องนี้ อาจจะอยู่ตรงที่ ผู้สอน นำหนังสือที่ตนคิดว่า "ควรอ่าน" ไปให้เด็กอ่าน ซึ่งหนังสือเล่มนั้น ไม่ใช่หนังสือที่เด็ก "อยากอ่าน" หนะครับ

ผมขออนุญาตยกตัวอย่างจากตัวของผมเอง ผมมีเรื่องที่ผมสนใจอยู่ก็คือเรื่องประวัติศาสตร์ ทั้งประวัติศาสตร์สากล ประวัติศาสตร์ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประวัติศาสตร์การสงคราม (นั่นก็เลยเป็นเหตุให้ผมอ่านสามก๊กตั้งแต่ ป.6 เพราะนั่นคือความชอบของผม ส่วนมหาภารตะฉบับแปลไทย มาอ่านเอาตอนอยู่มัธยมแล้วครับ) นอกจากนี้ ผมยังสนใจเรื่องลึกลับ แบบว่า สามเหลี่ยมเบอร์มิวด้า อารยธรรมไอยคุปต์ มายา อินคา (จริงๆก็คือ อะไรๆที่มีอยู่ในเรื่อนไทยเนี่ยแหละครับ) ก็เพราะอย่างนี้ ผมจึงมีหนังสือที่ผมชอบอ่านของผมเป็นประจำอยู่แล้ว

แต่พอไปที่โรงเรียน ครูบอกให้อ่านหนังสือนอกเวลา ใจผมก็คิดว่า "ฉันมีหนังสือนอกเวลาของฉันอยู่แล้ว" และเมื่อหนังสือที่ครูให้อ่านคือ "นิกกับพิม" อย่างเนี้ย ไม่ใช่ว่าหนังสือไม่ดีนะครับ แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ผมชอบ ถ้าเลือกได้ ผมไปหยิบวารสาร "มิติที่สี่" หรือ "สมรภูมิ" หรือไม่ก็ "บางกอก" มาอ่านนิยายทหารเรือเรื่อง สามสมอ ของ อาจารย์พันทิวา ต่อดีกว่า

คำถามคือ กรณีอย่างผมเนี่ย เรียกว่า "รักการอ่าน" หรือยัง ผมก็ว่าผมรักแล้วนา แต่ผมไม่สนุกกับ นิกกะพิม หรือ ข้างหลังภาพ หรือ มัทนะพาธา นี่นา (แต่ถ้าเป็น ลิลิตตะเลงพ่าย กับสามก๊ก ตอน กวนอูไปรับราชการกับโจโฉ อันนี้สนุกครับ เพราะมีสงคราม แฮ่ๆ)
 
   


กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 17 ก.ย. 19, 15:25
ทีนี้ถ้าจะแก้ว่า ครูไม่ได้เลือกหนังสือให้เด็ก เปิดกว้างไปเลย อ่ะ นักเรียนไปอ่านอะไรมาก็ได้ คำว่า "อะไรก็ได้" ก็หมายความว่า อะไรก็ได้จริงๆ เด็กที่สนใจเล่นแต่เกมส์ เธอก็ไปอ่านเรื่องเกมส์ของเธอมา คนที่สนใจฟุตบอล ก็ไปอ่านเรื่องบอลมา คนที่สนใจอาหารก็ไปอ่านเรื่องอาหารมา อะไรก็ได้ แต่มีเงื่อนไขข้อเดียว พรุ่งนี้ เธอช่วยมาสรุปเรื่องที่เธอไปอ่านมาให้เพื่อนฟังทีนะ

คนที่ไปอ่านเรื่องเกมส์มา ก็ต้องมาเล่าเรื่องเกมส์ที่ว่านั้น เท่ากับเด็กได้ทักษะการสรุปย่อความ และได้ทักษะการถ่ายทอดเล่าเรื่อง ซึ่งสองทักษะเนี่ยเวลาทำงาน จำเป็นมากๆเชียวละครับ

ถ้าสั่งงานแบบนี้ทุกสัปดาห์ เด็กก็ต้องไปอ่านเรื่องต่างๆมาสรุปให้เพื่อนฟังทุกวัน และด้วยความที่เป็นเรื่องที่ตัวเองสนใจ ผมว่ายิ่งทำก็ยิ่งสนุก ผ่านไป 1 ปี อ่านไปทั้งหมด ประมาณ 30 เรื่อง อาจจะไม่ใช่ 30 เล่ม แต่ 30 เรื่องก็เพียงพอที่จะสร้างนิสัยรักการอ่านและการค้นคว้าขึ้นได้

แต่ปัญหาคือ วิธีนี้อาจจะได้เรื่องการอ่าน แต่จะไม่ได้เรียน "ภาษาสวย" อย่างที่ผู้สอนต้องการเลยครับ       


กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ย. 19, 19:04
   ทฤษฎีการวางหลักสูตร มีพื้นฐานอยู่หลายประเด็น เช่นคำนึงถึงจุดมุ่งหมายของวิชา ว่าต้องการให้นักเรียนรู้อะไร   ต่อมาก็คือนึกถึงความต้องการและความพร้อมของนักเรียนด้วย    ส่วนใหญ่ระบบการศึกษาของไทย เอาความประสงค์ของผู้ใหญ่เป็นหลัก เช่นบรรจุวรรณคดีเรื่องต่างๆลงไปในหลักสูตรก็เพราะอยากให้เด็กได้รู้จักผลงานทรงคุณค่าของกวี     ให้เรียนในชั้นมัธยมเพราะถ้าไม่ทำเช่นนั้น   นักเรียนที่ไปสอบเข้าคณะที่สอนวิชาไม่เกี่ยวกับภาษาจะไม่มีโอกาสรู้วรรณคดีไทยเลย   แต่ไม่ค่อยมีหลักสูตรใดๆที่เอานักเรียนเป็นตัวตั้ง แล้วถามความต้องการของเด็กว่าอยากเรียนอะไรหรืออยากอ่านอะไรบ้าง
   ในศตวรรษที่ 21  ระบบการศึกษาจะเปลี่ยนไปอย่างพลิกระบบถล่มทลาย     การเรียนออนไลน์จะเข้ามาแย่งพื้นที่การเรียนในห้องเรียนไปมากกว่า 50%      เด็กสามารถเลือกเรียนสิ่งที่เขาต้องการได้จากบ้าน  เช่นต่อยอดความรู้จากสิ่งที่เขาชอบ   ถ้าอยากแต่งคำประพันธ์โคลงฉันท์กาพย์กลอนก็ไม่ต้องรอไปเรียนม.ปลายในวิชาภาษาไทย แต่เปิดเว็บไซต์ที่เปิดสอนวิธีแต่งได้เลย    จากนั้นสามารถซักถามตรวจสอบความรู้จากแอดมินได้โดยตรง  จะเรียนฟรีก็ได้  หรือเสียค่าเรียนก็โอนเงินให้ได้เลย แยกเป็นแต่ละหัวข้อไป ไม่ต้องเสียค่าเทอมที่เหมารวมทุกวิชา
   ส่วนเด็กที่เรียนเพื่อจะเอาไปทำงานหารายได้   เขาจะเลือกวิชาที่ตอบสนองได้ในการประกอบอาชีพ  เพราะนายจ้างสามารถกำหนดความต้องการได้โดยตรงจากคนหนุ่มสาว   ไม่จำเป็นต้องผ่านหลักสูตรปริญญาจากมหาวิทยาลัย  เขาปฏิบัติการได้ผ่านหน้าจอ เช่นวิชาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  หรือ AI 
   เพราะฉะนั้น คุณนริศอยากจะเรียนอะไรที่ไม่มีในระบบโรงเรียน เช่นอยากรู้เรื่องการศึกสงครามที่เยิ่งใหญ่พอกันแต่เก่าแก่กว่าสามก๊ก เช่นศึกของหลิวปังและฌ้อปาอ๋อง ก็ไปล็อคอินเข้าเรียนในเว็บไซต์ที่สอนเรื่องนี้ โดยผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์จากปักกิ่งโดยตรง  คุณไม่รู้ภาษาจีนก็ไม่เป็นไร  เพราะกูเกิ้ลแปลภาษา( ซึ่งได้รับการปรับปรุงให้มีความแม่นยำในการถอดภาษาให้อ่านรู้เรื่องเท่าล่ามระดับชาติแล้วในตอนนั้น)ช่วยได้ทันที    เสียค่าล็อคอินไม่กี่หยวน 


กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ย. 19, 19:15
  เกริ่นมาเสียยาวอ้อมโลกไปไกล   ขอตอบคุณนริศว่าคุณเป็นคนรักการอ่านค่ะ ขอมอบใบรับรองให้  แต่คุณรักหนังสือที่ไม่ตรงกับหลักสูตรในโรงเรียน เท่านั้นเอง
  ข้อนี้ไ่ม่แปลก   ครูกับนักเรียนไม่ค่อยตรงกันในเรื่องนี้     เมื่อดิฉันไปเรียนวิชาวรรณคดีในต่างแดน  ที่นั่นสอนแบบสัมมนา( seminar)  คือครูเลือกหนังสือตรงตามประวัติวรรณคดีมาให้อ่านและวิเคราะห์กันส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งนศ. ไปหากันมาเอง 
  ปรากฏว่าหนังสือที่นศ.หามาเองนั้น เกือบทั้งหมดอาจารย์ไม่รู้จัก  ทั้งๆเป็นศาสตราจารย์ทางวรรณคดี
  พอพวกเราส่งล่วงหน้ารายชื่อหนังสือและผู้แต่งไปให้อาจารย์เพื่อให้เตรียมตัวมาเข้าฟังสัมมนา   อาจารย์บอกว่า ไปหาควั่กอยู่ในห้องสมุด   ชื่อหนังสือที่เพื่อนเสนอ  อาจารย์เจอชื่อผู้แต่งปรากฏอยู่ครั้งเดียวในเชิงอรรถของหนังสือเล่มหนึ่ง   ส่วนของดิฉัน อาจารย์หาทั่วห้องสมุดแล้วไม่เจอเลยสักแห่งเดียว   
  สรุปว่ารสนิยมของอาจารย์กับนักศึกษา ถึงห่างกันคนละซีกโลกก็น่าจะลงรอยเดียวกัน

  คนรุ่นต่อไปจากนี้ จะโชคดีกว่าเราที่อยากอ่านอะไรก็อ่านได้ เรียนอะไรก็เรียนได้ ค่ะ     เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีการปรับปรุงการเรียนการสอนวรรณคดีไทย    ผลงานในอดีตเหล่านี้มีสิทธิ์สูญหายไปจริงๆ


กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ย. 19, 19:18
วิธีเรียนอย่างที่คุณนริศบอกมาในคห. 25   ดิฉันได้เรียนมาค่ะ แต่เป็นระดับปริญญาโท


กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 ก.ย. 19, 19:39
วรรณคดี หมายถึง งานเขียนที่ยกย่องกันว่าดี มีสาระ และมีคุณค่าทางวรรณศิลป์    การใช้คำว่าวรรณคดีเพื่อประเมินค่าของวรรณกรรมเกิดขึ้นในพระราชกฤษฎีกาตั้งวรรณคดีสโมสรในสมัยรัชกาลที่ 6   ก่อนหน้า ไม่มีคำนี้   เพราะฉะนั้นถ้าเราย้อนเวลาไปถามสุนทรภู่ว่า วรรณคดีคืออะไร  กวีเอกของเราคงตอบไม่ได้ เพราะในยุคท่านไม่มีคำว่าวรรณคดี

ภาษาอังกฤษ มีคำว่า Literature  ซึ่งมีความหมายตรงกับคำว่าวรรณคดี  แต่ความหมายกว้างกว่า คือหมายถึงงานเขียนชั้นดีมีวรรณศิลป์ก็ได้   หมายถึงงานเขียนทั่วๆไปที่ไม่ได้กำหนดว่าดีหรือไม่ดีก็ได้  

เพราะฉะนั้น ถ้าจะหาภาษาไทยให้ตรงกับความหมายที่สอง จึงมีการคิดคำว่า "วรรณกรรม" ขึ้นมา   ราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายว่า  วรรณกรรมคืองานหนังสือ, บทประพันธ์ทุกชนิด ทั้งร้อยแก้ว และร้อยกรอง คือเป็นการให้คำจำกัดความงานแต่ง ในวงกว้าง  ไม่ต้องประเมินคุณค่า

แต่คนรุ่นหลังเข้าใจผิดไปว่า วรรณกรรมหมายถึงหนังสือดีมีคุณค่าที่เป็นหนังสือสมัยใหม่   ไม่ใช่เรื่องโบราณอย่างวรรณคดี   จึงไปยกระดับให้ว่า เรื่องนี้เป็นวรรณกรรม  เรื่องนั้นไม่ใช่    เรื่องได้รางวัลเป็นวรรณกรรม  เรื่องที่เด็กนักเรียนหัดแต่ง  ไม่นับเป็นวรรณกรรม
ความจริงไม่ใช่ค่ะ     ใช้กันมาผิดจนกลายเป็นถูกไปแล้ว

การใช้คำว่า "วรรณคดี" เรียกงานเขียนที่ยกย่องกันว่าดี มีสาระ และมีคุณค่าทางวรรณศิลป์ ดูเหมือนจะใช้เรียกงานเขียนตั้งแต่ในรัชกาลที่หกขึ้นไป หลังจากนั้นงานเขียนที่มีคุณค่าก็เรียกว่า "วรรณกรรม" ทั้งสิ้น เช่นรางวัลซีไรต์ (S.E.A. Write) มีชื่อเต็มในภาษาไทยว่า รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน

ดูรายชื่อหนังสือเรียนสำหรับมัธยมปลายในคคห.๑๓ มีแต่ของเก่าที่เรียกว่า "วรรณคดี" หากนำของใหม่ในนาม "วรรณกรรมสร้างสรรค์" มาให้เด็กมัธยมได้ศึกษาด้วย ตัวอย่างเช่น ข้างหลังภาพของศรีบูรพา, ปีศาจของเสนีย์ เสาวพงศ์ น่าจะประเทืองปัญญาเด็กไทยในวัยเรียนให้มองได้กว้างไกลยิ่งขึ้น


กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 18 ก.ย. 19, 13:33
ให้อ่านหนังสือตามที่อยากอ่านอย่างที่คุณว่า Naris ว่าใช่แบบบันทึกการอ่านไหมคะ อันนี้ดิฉันก็มีเห็นคนบ่นค่ะว่าส่วใหญ่คือลอกกัน เด็กขี้เกียจอ่าน บางกรณีครูมาตำหนิย้อนหลังถ้าเห็นว่าหนังสือที่อ่านดูไร้สาระสำหรับผู้หญ่ 555 แต่ดิฉันว่าก็ควรมีทั้งสองอย่างค่ะอ่านหนังสือตามที่ครูสั่งด้วย เด็กอยากอ่านด้วย ไม่งั้นเด็กก็คงไม่ยอมไปอ่านกหลอน ไม่รู้จักกลอนกัน


กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.ย. 19, 11:21
ถ้าเราจะทำหลักสูตรสอนวรรณคดีสำหรับเด็ก อย่างหนึ่งที่ต้องทำ คือทำใจให้เป็นเด็ก   
เด็กวัย 16-18  ย่อมไม่คิดอย่างเดียวกับผู้ใหญ่อายุ 40-60   รสนิยมความชอบของเด็กย่อมไม่ซับซ้อนอย่างผู้ใหญ่  เขาชอบอะไรที่ง่ายและใกล้ตัว     เพราะฉะนั้นหนังสือที่เด็กชอบก็คือเรื่องอ่านสนุก เข้าใจง่าย ไม่มีศัพท์แสงยากๆ 
ทั้งหมดนี้ไม่ใช่คุณสมบัติของวรรณคดีที่แต่งเมื่อหนึ่งหรือสองศตวรรษก่อน 
ถ้าจะให้เด็กรักการอ่านก็ต้องเลือกตามใจฉัน คือให้เสนอเรื่องที่เขาชอบ   บอกเหตุผลว่าชอบเพราะอะไร  นี่คือการฝึกให้คิด  ไม่ใช่ให้เลือกหนังสือแล้วทำแค่ย่อเรื่องส่งครู   ส่วนเรื่องเด็กขี้เกียจอ่าน ไปลอกของเพื่อนมาส่ง แบบนี้ไม่ใช่เฉพาะในชั้นมัธยมค่ะ ในมหาวิทยาลัยก็มี   
ก็ต้องถือว่าเด็กคนนั้นไม่รักการอ่าน  ก็ช่วยไม่ได้    อนาคตของเขา เขาต้องวางให้ตัวเองด้วย  ไม่ใช่เป็นภาระรับผิดชอบทั้งหมดของครู    ครูจะให้ F  หรือให้ทำมาใหม่ก็แล้วแต่จะเห็นสมควร

ส่วนเรื่องขุนช้างขุนแผน  เป็นเรื่องที่กวีหลายคนแต่งกันคนละตอนสองตอน ตามใจรักว่าใครอยากแต่งตอนไหน  มีหลายสำนวน  สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงร่วมกับกรรมการ เลือกตอนที่เห็นว่าดีที่สุดมาเรียงร้อยต่อเข้าด้วยกัน เป็นขุนช้างขุนแผนฉบับที่เราอ่านกันอยู่เรียกว่าฉบับหอพระสมุด   ฉบับอื่นๆก็มีแต่ไม่เป็นที่นิยมเท่า เพราะสำนวนกลอนและฝีมือการสร้างไม่เด่นเท่าไหร่

กวีที่แต่งขุนช้างขุนแผนเลือกแต่งรายละเอียดกันตามใจรัก แล้วแต่รสนิยมของแต่ละคนว่าชอบเรื่องซาบซึ้งประทับใจ หรือชอบเรื่องโลดโผนน่าเสียวไส้     เราจึงมีขุนช้างขุนแผนตอนที่ขับเสภาแล้วน้ำตาตกเมื่อบรรยายความรักของแม่กับลูก อย่างในกำเนิดพลายงาม    และตอนที่สยดสยองโหดเหี้ยมอย่างตอนขุนแผนทำกุมารทอง    ทั้งหมดนี้ ถ้าให้เด็กอ่านทั้งเรื่องไม่ไหวแน่  ก็ต้องคัดมาบางตอนอย่างตอนกำเนิดพลายงาม 

ส่วนเรื่องนิทานกริมม์  มาจากตำนานพื้นบ้านที่เรียกว่า "คติชาวบ้าน" หรือ folklore  พวกเรื่องพื้นบ้านนี้ไม่นับว่าเป็นวรรณคดีในความหมายของหนังสือแต่งดีมีวรรณศิลป์  แต่มีคุณค่าทางวัฒนธรรม แสดงถึงความเชื่อ รสนิยม ความเป็นอยู่ตลอดจนค่านิยมต่างๆของท้องถิ่นนั้นๆ   
เพราะฉะนั้นคติชาวบ้านพวกนี้หลายเรื่องก็โหดเหี้ยมเลวร้ายอย่างไม่น่าเชื่อ เช่นเจ้าหญิงนิทรา สโนไว้ท์ หนูน้อยหมวกแดง ล้วนแต่เอาไปเป็นตัวอย่างในวิชาอาชญากรรมได้ทั้งหมด      พี่น้องกริมม์ที่เที่ยวถามชาวบ้านแก่ๆ ให้เล่าถึงตำนานพื้นบ้าน แล้วจดลงเป็นข้อเขียน ต้องเอามาขัดเกลาใหม่ให้หมดเสี้ยนหนามระคายอารมณ์     กลายเป็นนิทานเหมาะสำหรับเด็ก  ตรงนี้ละค่ะคือวรรณศิลป์
ส่วนขุนช้างขุนแผน " ขัดเกลา" ไม่ได้    เพราะไม่ใช่เรื่องสำหรับเด็กเล็กหรือแม้แต่เด็กโต ค่ะ


กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.ย. 19, 13:47
    "ย้ำว่านโยบายสร้างองค์ความรู้ ในอนาคตจะไปในทางไม่ใช่การเรียนทฤษฎีแล้ว แต่เป็นองค์ความรู้ในทางปฏิบัตินำไปใช้งานได้จริง จะไม่ใช่แบบเรียนจบสี่ปีแล้วมาให้ปริญญา ต่อไปการให้ความสำคัญกับปริญญาจะน้อยลง มันจะเป็น non-degree แล้ว คือไม่ใช่พวกมาเรียนเพื่อต้องการปริญญา แต่มาเรียนแบบคอร์สระยะสั้น เป็นคอร์สที่มาเรียนเพื่อ upskill ตัวเอง ก็ต้องมาเทกคอร์สสักหนึ่งเดือนหรือ 3-6 เดือนเพื่อนำไปใช้งานจริง โลกในอนาคตเรื่องปริญญาจะไม่ใช่เรื่องสำคัญแล้ว  และการสร้างองค์ความรู้ของประเทศไทยต้องเน้นไปที่การตอบโจทย์ด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม  ดังนั้นการวิจัยจึงเป็นเรื่องความสำคัญ"

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์
รมว.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ถ้าโลกในอนาคตพัฒนาไปในทางที่ท่านรมว. ว่า   ก็ไม่มีเนื้อที่ให้วรรณคดี   แต่ยังมีเนื้อที่ให้การอ่านอยู่ค่ะ


กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.ย. 19, 15:05
ในอนาคต  การเรียนวรรณคดีอาจจะต้องเรียนในแง่ประยุกต์  ตัวอย่างจากคลิปนี้
https://www.youtube.com/watch?v=pGAgI-JHcAI


กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 19 ก.ย. 19, 22:04
ส่วนตัวผมคิดว่าอนาคตต้องสอนให้เด็กเขียนมากกว่าอ่าน วรรณคดีไว้อายุ 40 ปีค่อยกลับมาอ่านก็ได้ แต่พัฒนาการของเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ควรให้เขาหัดทำด้วยตัวเองมากกว่าท่องตำรา

หมดยุคอ่านขุนช้างขุนแผนในนักเรียนชั้นป.6 แล้ว แต่ถ้าจะอ่านในนักศึกษาปี 1 ก็ว่าไปอย่าง เหมือนกับหมดยุคโทรไปบริจาคนั่นแหละครับ เดี๋ยวนี้โอนเงินในมือถือใช้เวลานับเป็นวินาที ขอแค่เลขบัญชีเท่านั้นพอ

แต่ส่วนตัวผมชอบแบบเดิมมากกว่า เหมือนชอบอ่านหนังสือจริงๆ มากกว่าในมือถือ ไม่น่าเชื่อว่าหนังสือเก่าๆ ที่เหลืออยู่ในบ้านคือสมบัติล้ำค่าไปแล้ว เพราะเดี๋ยวนี้ไม่มีวางขายแล้วโดยเฉพาะหนังสือแฟชั่น ก็นะ :(


กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.ย. 19, 10:27
การสะกดคำ เป็นส่วนหนึ่งของการเขียน    ปัจจุบันนี้การสะกดคำเป็นปัญหามาก เพราะขาดการตรวจสอบเท่าที่ควร
เอาตัวอย่างวิธีเขียนข่าวในปัจจุบันมาลงให้อ่านค่ะ  (ไม่ระบุว่าเป็นสื่อไหน)


กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.ย. 19, 10:55
ตัวอย่างรายงานข่าวข้างบนนี้ น่าจะเป็นการถอดเทปสัมภาษณ์ผู้เสียหาย ที่ถูกหลอกลวงให้โอนเงินไปมากกว่า 1,200,000 บาท ให้นักต้มตุ๋น     จะเห็นว่าใช้ภาษาพูดมากกว่าภาษาเขียน  บางส่วนก็ปะปนกัน    ทำให้ยืดยาวและเข้าใจยาก
ถ้าเรียบเรียงเป็นภาษาเขียน ก็จะได้ความกระชับกว่านี้ว่า

 น.ส. ก.(นามสมมุติ) ได้ติดต่อพูดคุยผ่านทางโปรแกรม Messenger และ  WhatsApp มาระยะหนึ่ง กับชายที่อ้างตัวเป็นชาวอเมริกัน  ชื่อนาย Smith (นามสมมุติ)  เขาอ้างว่าได้รับมรดกจากบิดาที่ถึงแก่กรรมในมาเลเซีย  แต่ต้องจ่ายค่าภาษีมรดกจำนวน 21,000,000 ริงกิต ให้รัฐบาล    นายสมิธ มีเงินไม่พอจึงขอให้นางสาว ก. โอนเงินไปช่วยชำระค่าภาษีมรดกให้ก่อน  แล้วจะมาหาที่ประเทศไทยเพื่อคืนเงินให้
นายสมิธได้ส่งเอกสารต่างๆเช่นหนังสือเดินทาง  หน้าที่มีตราประทับวันเดินทางเข้าประเทศมาเลเซีย เอกสารราชการของมาเลเซีย และสำเนาเช็คเงินสดจำนวน 21 ล้านริงกิต เพื่อยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง  นางสาว ก.หลงเชื่อจึงโอนเงินให้งวดแรกจำนวน 100,000 บาท เข้าบัญชีธนาคารทหารไทยของนาง ข. ตัวแทนของนายสมิธเพื่อโอนต่อไปให้นายสมิธอีกครั้งตามคำอ้างของนายสมิธ
ต่อมานายสมิธได้ขอค่าโอนเพิ่มขึ้นอีกหลายครั้ง    จนเงินส่วนตัวไม่พอ  นางสาว ก.ต้องไปขอยืมญาติพี่น้อง รวม 8 ครั้ง  เป็นเงินกว่า 1,200,000 บาท   จึงเริ่มเอะใจว่าถูกหลอกลวง   จึงนำเรื่องเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ
   นางสาวก. ฝากเตือนผู้อื่นที่อาจประสบเหตุการณ์ทำนองเดียวกันว่า

" ตอนแรกทราบจากที่เขาบอก  ก็ไม่เชื่อ เคยเห็นจากข่าวว่ามีคนถูกหลอกลวงลักษณะนี้  แต่ที่เชื่อสนิทใจว่าเป็นเรื่องจริงเพราะหลักฐานเอกสารต่างๆ ส่งมาดูแล้วน่าเชื่อถือมาก  จึงคิดว่ามันเป็นเรื่องจริงทั้งหมด ทำให้เราตกหลุมพราง จึงตัดสินใจช่วยเขาไป
   อยากจะฝากเตือนคนอื่นที่เล่นโซเชียล และอาจจะถูกหลอกลวงลักษณะเดียวกับตนว่า ถ้าเจอแบบนี้ขอให้ปรึกษาคนอื่นๆ ดูก่อน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนๆ ญาติพี่น้อง อย่ารีบร้อนเชื่ออะไรง่ายๆ   ห้ามคิดคนเดียว ห้ามทำคนเดียว เราอาจจะไม่ทันระวังตัว แม้จะเคยได้ยินข่าวลักษณะนี้มาก่อนก็ตาม วิธีการของคนร้ายอาจจะปรับเปลี่ยนไปได้ตามสถานะการณ์ต่างๆ เราอาจจะตามไม่ทัน  ขอให้ปรึกษาคนอื่นที่ไว้ใจได้เป็นดีที่สุด"


กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.ย. 19, 19:02
ย้อนกลับไปเรื่องวรรณคดี

ปัญหาที่เกิดขึ้นในการเรียนการสอนวรรณคดี  ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่เข้าใจจุดมุ่งหมายของวรรณคดี   เพราะวรรณคดีส่วนใหญ่ที่เราเอามาเป็นวิชาเรียนกันนั้น สมัยที่กวีแต่ง ท่านไม่ได้ตั้งใจจะให้เป็นบทเรียนสอนใจเด็กและเยาวชน    แต่ว่าแต่งเพื่อความบันเทิง
เมื่อเอามาทำเป็นบทเรียน  ก็เลยเกิดความประดักประเดิดกันขึ้นว่าจะสอนกันอย่างไรแบบไหน จึงจะเป็นเรื่องสอนใจเด็กกันได้   
ผลก็คือต้องเลี่ยงไปเป็นสอนคำศัพท์บ้าง   สอนวิธีแต่งกาพย์กลอนโคลงฉันท์บ้าง  ไม่รู้จะสอนอย่างไรว่าขุนแผน ขุนช้าง หรือนางวันทองเป็นแบบอย่างที่ดีควรประพฤติตาม   หรือแม้แต่อิเหนา  หรือพระสังข์(ทอง)  ก็ไม่ใช่แบบอย่างของคนดีได้เต็มปาก 
แต่ถ้ายอมรับว่าตัวละครเหล่านี้เป็นมนุษย์ปุถุชน    มีดีมีชั่ว   เรียนรู้เพื่อเข้าใจความเป็นมนุษย์    เข้าใจค่านิยมของคนรุ่นก่อน  ซึ่งไม่เหมือนคนรุ่นนี้ ก็จะมีเนื้อหาให้นักเรียนได้เรียนรู้พฤติกรรมมนุษย์ได้อีกมาก   นั่นก็คือความหมายของการเรียนวรรณคดี




กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 24 ก.ย. 19, 09:50
ประเด็นนี้ ผมเห็นด้วยอย่างมากครับ
การนำเอาวรรณกรรมมาให้นักเรียนได้อ่าน ผมเห็นว่า กระทรวงศึกษาธิการไม่มีความชัดเจนว่า จะให้เด็กอ่านเพื่อวัตถุประสงค์ใด

ถ้าจะให้อ่านเพื่อเป็นคติสอนใจ เนื่องเรื่องของวรรณกรรมหลายเรื่อง ก็มีปัญหาความไม่เข้ากันของวิถีชีวิตในอดีตกับปัจจุบัน บางเรื่องเกิดข้อถกเถียงอยู่ว่าเหมาะสมหรือไม่

ถ้าจะให้อ่านเพื่อเป็นตัวอย่างวิธีแต่ง ข้อนี้ถ้าเป็นร้องกรองก็มีเหตุผลอยู่ ผมจำได้ว่า เวลาเรียนครูก็จะนำผังของร้อยกรองชนิดที่จะสอนในวันนี้มาแสดง แล้วนำเสนอวรรณกรรมเรื่องที่แต่งโดยใช้ร้อยกรองสนิดนั้นๆ คัดตอนที่ไพเราะมาเป็นตัวอย่าง ซึ่งก็มักเป็นตอนที่ภาษาสวย มีสัมผัสนอก-ในงดงาม แล้วให้นักเรียนของแต่งของตนเองขึ้นมาบ้าง (ที่จำได้เป็นงานวันสุนทรภู่ กลอนที่เด็กแต่งร้อยละ 90 จะขึ้นว่า สุนทรภู่ครูกวีศรีสยาม (ฮ่า))

แต่พอเป็นร้อยแก้ว อันนี้อ่านอย่างเดียวครับ ไม่มีการสอนวิธีการแต่ง แสดงว่า เหตุที่นำร้อยแก้วมาให้เรียน ไม่ได้ตั้งใจจะสอนวิธีแต่ง

ถ้าอย่างนั้นแล้ว ต้องการสอนให้ผู้เรียน เรียนรู้อะไร (ตอนอ่าน จูล่งฝ่าทัพรับอาเต๊า ผมได้เรียนรู้เรื่องอะไรบ้างหนอ... อืม...)


กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.ย. 19, 10:17
    มาพูดเรื่อง สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) กันดีกว่าค่ะ ว่าเราให้นักเรียนเรียนกันไปทำไม
    สามก๊กเป็นหนังสือที่วรรณคดีสโมสร ซึ่งตั้งในรัชกาลที่ 6  ยกย่องให้เป็นหนังสือดี ประเภทความเรียงเรื่องนิทาน  หมายถึงว่าการเรียบเรียงภาษาร้อยแก้วในเรื่องนี้เป็นไปอย่างสละสลวย  ถูกต้องตามหลักภาษา อ่านเข้าใจเรื่องราวได้ง่าย ว่าใครทำอะไร เหตุการณ์เป็นอย่างไร  ทั้งๆเนื้อเรื่องยาวมาก และซับซ้อนมากเพราะเป็นเรื่องการทำศึกสงครามทั้งเรื่อง ไม่ใช่อธิบายชีวิตประจำวันของผู้คน
    แต่ภาษาในเรื่องนี้แต่งขึ้นเมื่อ 200 กว่าปีก่อน     ภาษาไทยปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ทั้งศัพท์ สำนวนภาษา วิธีเรียบเรียง    เพราะฉะนั้นอะไรที่ง่ายสำหรับคนยุคก่อน กลายเป็นยากสำหรับคนยุคนี้   ยิ่งเป็นเด็กนักเรียนที่โตมากับการ์ตูนซึ่งใช้ภาษาง่ายยิ่งกว่าง่าย  คำสั้นๆ อาจไม่ครบรูปประโยคด้วยซ้ำ  มีแต่บทโต้ตอบกัน ไม่มีบทบรรยายหรือพรรณนาโวหาร   สามก๊กจึงเป็นยาขมอีกหนึ่งหม้อสำหรับครูและเด็ก  ที่จะต้องหาคู่มือมาช่วยในการเรียนการสอน

    เมื่อดิฉันเรียนชั้นม.ปลาย   ต้องเรียนสามก๊กตัดตอนมาตอน "โจโฉแตกทัพเรือ" ซึ่งหนักกว่าจูล่งกับอาเต๊า   อ่านไม่รู้เรื่องเลยตั้งแต่บรรทัดแรกจนสุดท้าย    เพราะไม่รู้ความเป็นมาของเรื่อง   ชื่อตัวละครก็จำยาก  อยู่ๆใครก็ไม่รู้มาทำศึกกัน  ทำอะไรยังไงก็สับสนอลหม่านกันไปหมด   ภาษาก็ยาก    สรุปแล้วไม่อ่าน  เคราะห์ดีข้อสอบที่เกี่ยวกับเรื่องนี้มีนิดเดียวก็เลยรอดตัวมาได้ไม่สอบตกวิชาภาษาไทย
    ผ่านไปหลายสิบปีถึงมารู้ว่าตอนนั้นถือเป็นสุดยอดของกระบวนรบในเรื่อง   เป็นศึกใหญ่สุดของสามก๊ก ประชันกันระหว่างจอมทัพทั้งสามคือโจโฉ ซุนกวน และขงเบ้งที่เป็นตัวแทนทัพเ่ล่าปี่      แต่นึกยังไงๆก็ไม่เหมาะให้เด็กอายุ 16-17 ปีอ่าน  เพราะเกิดมาเด็กเหล่านั้นก็ไม่เคยเจอการรบทัพจับศึก   ถึงมี ศึกสงครามยุคเราก็ไม่ได้รบกันแบบในเรื่องอีกแล้ว  ชื่อจีนสำเนียงฮกเกี้ยนก็ไม่เคยผ่านหู    และภาษาในเรื่องก็ไม่ใช่แบบฉบับที่เอาไปใช้อะไรได้  แค่อ่านยังไม่รู้เรื่องเลย
    สรุปอีกครั้งว่า  สามก๊กไม่เหมาะจะเอาเป็นตัวอย่างให้เด็กเรียนวิธีใช้ภาษาร้อยแก้วอีกแล้ว


กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.ย. 19, 10:37
      ถ้าถามว่า ไม่เอาสามก๊กแล้วจะเอาอะไรมาเป็นตัวอย่างการใช้ภาษาร้อยแก้วที่ดี   
      คำตอบคือมีอยู่มาก  พวกหนังสือในปัจจุบันที่ได้รางวัลไงคะ   รัฐเองก็จัดประกวดหนังสือดี   เอกชนก็มีการประกวด   หนังสือเหล่านี้ผ่านการกลั่นกรองของผู้ทรงคุณวุฒืมาแล้ว   เป็นภาษาปัจจุบันที่นักเรียนอ่านแล้วเข้าใจ     
      ความเข้าใจเป็นด่านแรกของการอ่านหนังสือ     ถ้าไม่เข้าใจเสียอย่าง ต่อให้ภาษาดีวิเศษอย่างไรในสายตาผู้ใหญ่   หนังสือเล่มนั้นก็สื่อสารกับเด็กไม่ได้อยู่ดี  เมื่อสื่อสารไม่ได้ บังคับให้อ่านไปก็เปล่าประโยชน์   มีแต่จะก่อความเบื่อหน่าย   สะสมจนกลายเป็นความไม่ชอบ ไม่อยากเข้าใกล้ จนไม่อยากแตะต้อง ในที่สุด

      เมื่อปลายศตวรรษที่ 20  เด็กไทยยังอ่านหนังสือ ไม่ใช่ไม่อ่าน  แต่เขาไม่อ่านหนังสือประเภทที่ถูกบังคับให้อ่านเท่านั้นเองค่ะ     การ์ตูนต่างๆเช่นโดเรมอน มีเด็กสะสมกันเป็นตั้งๆ หนังสือพวกนี้ขายดีมาก   แต่ไม่มีในหลักสูตรโรงเรียน   
      ในศตวรรษที่ 21  คู่แข่งของหนังสือเปิดตัวอย่างรวดเร็วรุนแรงจนตั้งรับแทบไม่ทัน    เด็กนักเรียนยุคนี้อ่านกันคร่ำเคร่งทุกนาทีที่ว่าง  ไม่ว่าอยู่ตามป้ายรถเมล์ หรือในลิฟต์ก็อ่าน  แต่ไม่อ่านหนังสือ  เขาอ่านเรื่องราวในโทรศัพท์มือถือกัน   
     การสื่อสารสองทางเข้ามาแทนที่การสื่อสารทางเดียวอย่างในศตวรรษก่อน      การอ่านพลิกรูปแบบไปอย่างรวดเร็วจนกู่ไม่กลับ   การอ่านสั้นๆ จบเรื่องราวในไม่กี่นาทีเข้ามาแทนที่การอ่านหนังสือยาวๆ    ข่าวตามสื่อต่างๆลงแบบรวบรัด 1-2 หน้าจอมือถือจบแล้ว
      เพราะฉะนั้น    ในศตวรรษที่ 21  วรรณคดีจะไม่เหลือพื้นที่ให้ยืนสำหรับเด็กที่เกิดหลังปี 2000 ค่ะ   


กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.ย. 19, 10:54
      แต่ถ้าวรรณคดีไทยยังปักหลักอยู่ในหลักสูตร  ไม่ว่าสังคมภายนอกผันผวนไปถึงขนาดไหนก็ตาม      เราก็ต้องหาทางทำให้วรรณคดีนั้นเป็นที่สนใจให้ได้ 
      ความสนุกกับการท่องจำ เป็นเรื่องสวนทางกัน   เพราะฉะนั้นตัดเรื่องท่องจำทิ้งไปเลย
      ความสนุกกับการไปค้นหาศัพท์  ก็ไม่ไปในทางเดียวกัน  ตัดไปอีกข้อ   เป็นเรื่องของครูต้องอธิบายศัพท์ให้นักเรียนเข้าใจ  ไม่ใช่หน้าที่นักเรียนไปหาเองแล้วทำเป็นการบ้านมาส่งครู

      ลองเลือกขุนช้างขุนแผนมาเป็นตัวอย่าง  แล้วดูว่าจะทำอย่างไรให้สนุกขึ้นมาได้
      อะไรที่ทำมาซ้ำซากเช่นเปิดโต้วาทีว่า ใครดีกว่ากัน ขุนช้างหรือขุนแผน    หรือนางวันทองควรเลือกใครดีระหว่างสามีสองคน  ขอให้เก็บลงหีบไปเลยค่ะ   
      ลองมาหาอะไรที่ไม่ค่อยมีใครคิดกันได้ไหม   เช่น ตั้งประเด็นว่า ใครเห็นข้อดีของขุนแผนบ้าง      สมมุติว่าถ้าขุนแผนตาย แล้ววิญญาณไปปรากฏอยู่หน้าพระยามัจจุราช  จะมีใครช่วยบอกได้ว่าผู้ชายคนนี้มีความดีข้อใด ที่สมควรจารึกบนแผ่นทอง
     ดิฉันไม่ทราบว่าท่านผู้เข้ามาอ่านนึกเหตุผลอะไรออกบ้าง  แต่ดิฉันนึกออกข้อหนึ่ง คือขุนแผนเป็นขุนนาง(สมัยนี้เรียกว่าข้าราชการ) ที่ไม่เคยวิ่งเต้น กินสินบน หรือฉ้อราษฎร์บังหลวง   แม้ว่าจะได้รับความไม่ยุติธรรมจากกฎหมาย เช่นถูกขังลืมอยู่ในคุกถึง 14 ปี  ก็รับโทษทัณฑ์โดยไม่ปริปาก    มีความจงรักภักดีต่อหลวงอย่างข้าราชการตัวอย่าง  ทั้งๆพ่อตัวเองก็ถูกประหาร เมียก็ถูกประหาร  ก็ยังรับราชการต่อไปจนบั้นปลายชีวิตด้วยความซื่อตรงต่อหน้าที่เหมือนเดิม   
     นิสัยข้อนี้ของขุนแผนมักไม่ค่อยมีใครนึกถึง เพราะมัวแต่ไปนึกเรื่องชิงรักหักสวาทกันหมด


กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ต.ค. 19, 09:15
ที่จริง วรรณคดีเป็นวิชาที่เสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ได้มาก    ไม่ใช่วิชาท่องจำหรือแปลศัพท์     แต่เป็นการเรียนเรื่องราวเพื่อต่อยอดความคิด
วรรณคดีชั้นนำโดยมากจะไม่ชี้นำความคิดคนอ่านว่าผิดหรือถูก  แต่จะเปิดโอกาสให้คิดเห็นได้โดยเสรี      เรื่องราวประเภทชี้ลงไปว่านั่นผิดนี่ถูก  กระดิกกระเดี้ยไปจากนี้ไม่ได้ เช่นนิทานสอนใจเด็ก หรือเรื่องที่ผลิตขึ้นเพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง  ไม่ถือว่าเป็นวรรณคดี   เพราะขาดความลุ่มลึกทางสติปัญญา   
วรรณคดีที่ได้รับการยกย่องว่าชั้นเลิศ มีอยู่หลายเรื่องที่เปิดประเด็นให้ขบคิดได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด    ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อให้คนอ่านเถียงเอาชนะกัน  แต่เพื่อกระตุ้นสติปัญญาให้งอกงามไปได้ไม่รู้จบ
็Hamlet ของเชคสเปียร์ก็เข้าข่ายนี้   เจ้าชายแฮมเล็ตได้พบปีศาจของพระราชาผู้บิดาซึ่งมาบอกลูกชายว่า ตนเองถูกวางยาพิษโดยน้องชายและพระราชินีแม่ของแฮมเล็ต  เพื่อกำจัดให้พ้นทาง  แต่แทนที่แฮมเล็ตจะแก้แค้นแทนพ่อ  ก็กลับลังเล  ไปหาวิธีการต่างๆอ้อมค้อมอยู่มาก จนท้ายสุด อาจับได้  จบลงด้วยตัวละครเอกทุกตัวตายหมด
คำถามคือ  ทำไมแฮมเล็ตไม่ทำอย่างที่ควรทำ 
คำตอบมีมากมายหลายทาง แล้วแต่การตีความ เช่น แฮมเล็ตยังไม่ปลงใจเชื่อว่าปีศาจเป็นบิดาตัวจริง   แฮมเล็ตตัดสินใจไม่ได้  แฮมเล็ตอยากพิสูจน์ข้อเท็จจริงมากกว่าฟังแค่คำบอกเล่าฝ่ายเดียว    ฯลฯ  มีแม้กระทั่งว่าแฮมเล็ตรักแม่ตามปม Oedipus  complex จึงไม่อาจทำกระทำรุนแรงได้

ของไทยเราก็มีขุนช้างขุนแผน  จนบัดนี้ก็ยังไม่มีใครทราบคำตอบแน่ชัดว่า ถ้านางวันทองได้โอกาสครั้งที่ 2 จากพระพันวษาให้เลือกอีกที    นางจะเลือกสามีคนไหน หรือไม่เอาทั้งคู่ ขออยู่กับลูกชาย    คำตอบที่เปิดโอกาสให้คิดได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดนี้ เป็นจุดหมายสำคัญอย่างหนึ่งของวรรณคดี  ที่จะบำรุงสติปัญญาของผู้อ่าน   ฝึกให้รู้จักขบคิด  รู้จักใคร่ครวญหาเหตุผล  วิเคราะห์และวิจารณ์ นำไปสู่คำตอบที่หนักแน่น

ทั้งหมดนี้  ถ้าหากว่าครูรู้จักสอนในชั้นเรียน เด็กก็ถูกกระตุ้นให้คิด ไม่ได้ถูกกระตุ้นให้จำ   น่าจะเกิดความสนุกสนานในการเรียนมากกว่า
วรรณคดีก็มีสิทธิ์จะรอดอยู่ในศตวรรษที่ 21 ได้  เพราะไม่ว่ายุคไหนสมัยไหน  ความคิดสร้างสรรค์ยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษยชาติเสมอ


กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 07 ต.ค. 19, 18:27
การสอนของคุณเทาชมพูเป็นวิธีที่ดีค่ะแต่ดูจะยากตรงครูไทยส่วใหญ่ไม่ค่อยชอบการสอนที่ดูยุ่งยาก ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงหรอกค่ะ คงต้องเป็นนโยบายการศึกษาเลยถึงจะเปลี่ยนได้


กระทู้: วรรณคดีในศตวรรษที่ 21 ฤๅจะถึงจุดจบ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ต.ค. 19, 19:57
งั้นคงจบในอีกไม่นานละค่ะ