เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: han_bing ที่ 28 พ.ค. 15, 19:15



กระทู้: เว้าเรื่องเสื้อผ้า – จากเสื้อหม่ากว้า ถึงเสื้อบ้าบ๋าของรัชกาลที่ ๔
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 28 พ.ค. 15, 19:15
ช่วงนี้ข้าพเจ้าต้องใส่ชุดไทยทำงานเรื่อยๆจนในที่สุดตัดสินใจได้ว่าควรจะตัดชุดไทยเพิ่มกับเขาบ้างสักชุดสองชุด เพราะถ้าใส่แต่ชุดเดิมซ้ำไปซ้ำมาก็ใช่ที่ นอกจากจะน่าเบื่อแล้วชุดยังเก่า อย่ากระนั้นเลยสั่งตัดชุดไทยสักชุดดีกว่า

ชุดไทยที่ข้าพเจ้าสั่งตัดในครั้งนี้ไม่ใช่ชุดราชปะแตนอย่างที่เคยเป็น แต่เป็นชุดไทยที่โบราณกว่า เห็นคนเขาเรียกว่า “เสื้ออย่างน้อย” และในสายตาคนจีนจะรู้สึกว่าแปลกมากพอควร เพราะว่าชุดไทยราชปะแตนนั้นคล้ายคลึงกับชุดจีนที่เรียกว่าจงซานจวง อันเป็นชุดที่ออกแบบโดยดร.ซุนยัดเซ็น ใส่บ่อยๆคนจีนแยกไม่ออก สู้ตัดเป็นเสื้ออย่างน้อยดีกว่า แปลกตาดี

วันนี้ที่ไปเลือกผ้ารู้สึกลานตามาก เพราะเป็นประสบการณ์เหมือนกับย้อนยุคไปเมื่อหลายร้อยปีก่อน เวลาสำเภามาเทียบท่า แล้วเราขึ้นไปเลือกซื้อของบนสำเภา ผ้าผ่อนแพรพรรณนานาชนิด ที่เคยเห็นเป็นภาพเลือนรางในรูปถ่ายเก่าของไทยยังคงวางขายเป็นปรกติในเมืองจีน

แต่ก่อนจะไปไกลเรื่องผ้าขอกลับมาที่เรื่องการแต่งกายจีนก่อน

ภาพตลาดค้าผ้าแห่งนานกิง ที่ไปเดินซื้ออย่างเมามัน


กระทู้: เว้าเรื่องเสื้อผ้า – จากเสื้อหม่ากว้า ถึงเสื้อบ้าบ๋าของรัชกาลที่ ๔
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 28 พ.ค. 15, 19:18
การแต่งกายแบบจีนที่หลายคนคุ้นเคยจะเป็นเสื้อคล้ายๆสูทแบบตะวันตกที่ผู้นำจีนแผ่นดินใหญ่ใส่ประจำยามออกงานทางการ ชุดแบบนี้เรียกว่า “จงซานจวง” (中山装) แปลว่าชุดแบบดร.ซุนยัดเซ็น ชุดดังกล่าวมีตำนานที่มาเยอะมาก พอจะแย่งได้เป็นสี่อย่างดังนี้

๑. ดร.ซุนยัดเซ็นได้อิทธิพลเสื้อสูตรแบบคอกลมที่นิยมในหมู่จีนโพ้นทะเลแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเมื่อไปเยือนประเทศต่างๆยามขอแรงปฏิวัติจึงได้เห็น ชุดนี้ว่ากันว่าเริ่มเมื่อปี ๑๙๐๒ ครั้งซุนยัดเซ็นไปเวียดนามเมืองฮานอย เห็นสม เลยให้ช่างตัดชุดตัดออกมา

๒. เอาชุดจีนธรรมดาๆที่ใส่ในเมืองจีนเป็นเสื้อคลุม มาปรับปรุง โดยเอาแบบเสื้อคลุมที่นิยมในแถบกวางตุ้งบ้านเกิดตนเอง แล้วใส่แนวสูทของฝรั่งลงไปหน่อยๆ ผลิตครั้งแรกในปี ๑๙๑๖

๓. เอาชุดแบบทหารอังกฤษ เอาไปให้ช่างที่เซี่ยงไฮ้แก้แบบ หรือบางตำนานหนักกว่า คนจีนรับไม่ได้ นั้นคือ เอาชุดทหารญี่ปุ่นไปให้ช่างเซี่ยงไฮ้แก้แบบ เลยได้ผลเช่นนี้มา โดยเริ่มทำครั้งแรกในปี ๑๙๑๒

แต่ไม่ว่าจะแบบไหนมา ชุดนี้ก็กลายเป็นชุดประจำชาติของทางการจีนไปแล้ว ยิ่งในยุคเหมาเจ๋อตุง เอะอะอะไรต้องใส่ชุดนี้เท่านั้น แถมต้องเป็นสีเขียวขี้ม้าด้วย

ปัจจุบันนี้ก็ยังถือเป็นชุดทางการของจีนที่ใส่ออกหน้าออกตาได้สำหรับข้าราชการทั่วไป รวมไปจนถึงผู้นำ

อย่างไรก็ตาม เกร็ดเสริมที่สำคัญของชุดดังกล่าวนี้ คือ เป็นเสื้อผ้าที่แฝงความหมายไว้ข้างใน อาทิ กระดุมมีสามรู แทนลัทธิไตรราษฎร์ กระเป๋ามีสี่ใบ แทนคุณธรรมทั้งสี่

ชุดแบบจงซานจวงที่ท่านประธานเหมาใส่


กระทู้: เว้าเรื่องเสื้อผ้า – จากเสื้อหม่ากว้า ถึงเสื้อบ้าบ๋าของรัชกาลที่ ๔
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 28 พ.ค. 15, 19:19
อย่างไรก็ตามในจีนนั้นชุดที่เก่าแก่กว่าชุดจงซานจวงซึ่งทุกวันนี้เป็นที่นิยม คนจีนเรียกกันทั่วไปว่า “ถังจวง” (唐装) แปลว่าชุดราชวงศ์ถัง จริงๆเป็นศัพท์ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ใช้หมายถึงชุดเสื้อคลุมสั้นของราชวงศ์ชิงที่ได้รับการปรับปรุงให้กระชับเข้ารูปขึ้นเหมาะแก่การสมัย นึกภาพไม่ออกให้นึกถึงยามที่มีประชุมเอเปคปีค.ศ. ๒๐๐๑ ที่จีน แล้วชุดผู้นำนานาชาติใส่ นั้นแหละ เขาเรียกว่าถังจวง

ชุดเสื้อคลุมสั้นตอนบนที่สวมใส่ในสมัยราชวงศ์ชิงนั้นเรียกว่าชุด “หม่ากว้า” (马褂) แปลว่าเสื้อคลุมที่ใส่ยามขี่ม้า เป็นชุดที่ชาวแมนจูดั้งเดิมใส่ทับเสื้อคลุมยาวกรอมเท้าที่เรียกว่า “ฉางเผ่า” (长跑) เดิมใช้สำหรับขี่ม้าเดินทาง แต่ภายหลังใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นเสื้อใส่ไปใส่มาปรกติ เรียกรวมกันว่า “ฉางเผ่าหม่ากว้า” (长跑马褂)
   ชุดเสื้อหม่ากว้านี้มีลักษณะดังนี้
๑.   เป็นเสื้อผ่ากลาง หรือจะแฉลบข้างๆหน่อยก็ได้ตามแต่เห็นงาม แต่ปรกติจะเป็นผ่ากลาง
๒.   ปลายเป็นทรงกระบอกตัดเรียบ
๓.   ความยาวเสื้อยาวจนคลุมเอว
๔.   กลัดกระดุมข้างหน้า โดยกระดุมจะเป็นแบบกระดุมเชือกปมปักบนผ้า ภาษาจีนเรียกว่ากระดุมแบบถาด (盘扣) ริเริ่มครั้งแรกสมัยราชวงศ์ซ่ง
๕.   เสื้อแต่เดิมต้นราชวงศ์ชิงจะเป็นทรงคอกลม แต่พอตอนกลางราชวงศ์ชิงจะเป็นคอตั้งขึ้นมา เพราะได้รับอิทธิพลเสื้อคอตั้งที่ริเริ่มในสมัยราชวงศ์หมิง
๖.   เสื้อแบบนี้แขนจะทำเชื่อมติดกับส่วนลำตัว ไม่ได้ตัดแยก แล้วเย็บหักลงมาอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน

ชุดหม่ากว้าดั้งเดิม กับชุดถังจวงแบบใหม่ในงานเอเปค ๒๐๐๑ ที่จัดในจีน


กระทู้: เว้าเรื่องเสื้อผ้า – จากเสื้อหม่ากว้า ถึงเสื้อบ้าบ๋าของรัชกาลที่ ๔
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 28 พ.ค. 15, 19:21
ชุดแบบนี้ในสมัยราชวงศ์ชิงถือเป็นชุดธรรมดา ชุดพิธีการจะเป็นเสื้อคลุมยาวแบบขุนนาง แต่พอปฏิวัติกลายเป็นสาธารณรัฐ จึงยกเลิกเสื้อคลุมยาวเข้าเฝ้าดั้งเดิม และเปลี่ยนชุดธรรมดาๆ ให้เป็นชุดพิธีการ การกำหนดนี้เริ่มครั้งแรกในปี ๑๙๑๒ เป็นเวลา ๑ ปีให้หลังนับแต่การปฏิวัติล้มล้างราชวงศ์ชิง โดยปรากฎในประกาศ “ระเบียบการแต่งกาย” (服制案)

ในปี ๑๙๒๙ มีการเพิ่มระเบียบให้แน่ชัดขึ้น ด้วยแต่เดิมจะเป็นสีสันอะไรก็ได้ เพราะเป็นชุดใส่ประจำวัน เมื่อใช้งานเป็นทางการต้องการให้มีระเบียบ จึงมีการออกประกาศใน “ระเบียบชุดพิธีการแห่งสาธารณะรัฐ” (民国服制条例) จึงบังคับให้เป็นผ้าสีดำ ลวดลายก็ต้องเป็นสีดำ ห้ามใช้ลวดลายมีสีสันเด็ดขาด ส่วนชุดคลุมยาวข้างในให้ใช้เป็นสีฟ้า

ปัจจุบันนี้ในใต้หวันก็ยังใช้อยู่ อาทิ ประธานาธิบดีหม่าอิงจิว (马英九) ได้แต่งกายไปร่วมพิธีกรรมของขงจื้อ นอกจากนี้ชุดหม่ากว้า ในหมู่ประชาชนยาวเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนา อาทิ ศาสนาพุทธ หรือบูชาบรรพบุรุษ ก็จะแต่งกาย
ขณะที่ในแผ่นดินใหญ่ก็แล้วแต่อารมณ์

ภาพประธานาธิบดีหม่าอิงจิว (马英九) ได้แต่งกายแบบเสื้อคลุมยาวคลุมทับด้วยเสื้อหม่ากว้าไปร่วมพิธีกรรมของขงจื้อ


กระทู้: เว้าเรื่องเสื้อผ้า – จากเสื้อหม่ากว้า ถึงเสื้อบ้าบ๋าของรัชกาลที่ ๔
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 28 พ.ค. 15, 19:28
ชุดหม่ากว้านี้เผยแพร่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังดินแดนต่างๆที่ชาวจีนโพ้นทะเลอาศัยอยู่ หนึ่งในนั้นคือแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวจีนโพ้นทะเลหรือลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเล ก็ยังคงรักษาเอกลักษณ์การแต่งกายไว้ อาทิ ชาวจีนเปอรานากัน ที่เป็นชาวจีนลูกผสมระหว่างชาวจีนกับชาวมลายูท้องถิ่น ก็ยังมีการแต่งกายแบบจีนใส่ชุดหม่ากว้า การแต่งกายนี้ก็ดำรงมาเรื่อยๆตราบปัจจุบัน แต่ปัจจุบันนี้จะใส่ในงานพิธี เช่นงานแต่งงานเป็นต้น


กระทู้: เว้าเรื่องเสื้อผ้า – จากเสื้อหม่ากว้า ถึงเสื้อบ้าบ๋าของรัชกาลที่ ๔
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 28 พ.ค. 15, 20:05
อาจจะเป็นไปได้ว่าชาวไทยจะได้รับอิทธิพลจากจีนเหมือนกัน อย่างน้อยก็คงได้รับมาครั้งรัชกาลที่ ๔ ซึ่งทำให้เสื้อดั้งเดิมของไทยปรับเปลี่ยนไป ดังปรากฎในพระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๔ พ.ศ. ๒๓๙๔ - ๒๔๑๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์

“เวลาวันหนึ่ง ข้าราชการเข้าเฝ้าที่พลับพลาโรงแสงพร้อมกัน ครั้งนั้นยังไม่มีธรรมเนียมที่จะสวมเสื้อเข้าเฝ้า จึงดำรัสว่า ดูคนที่ไม่สวมเสื้อเหมือนเปลือยกาย ร่างกายจะเป็นเกลื้อนกลากก็ดี หรือเหงื่อออกมาก็ดี โสโครกนัก ประเทศอื่น ๆ ที่เป็นประเทศใหญ่เขาก็สวมเสื้อหมดทุกภาษา... ประเทศสยามนี้ก็เป็นประเทศใหญ่รู้ขนบธรรมเนียมมากอยู่แล้ว ไม่ควรจะถือเอาอย่างโบราณที่เป็นชาวป่ามาแต่ก่อน ขอท่าน ทั้งหลายจงสวมเสื้อเข้ามาในที่เฝ้าจงทุกคน ตั้งแต่นั้นมาเข้าและขุนนางก็สวมเสื้ออย่างน้อยเข้าเฝ้าทุกคน ครั้นนานมาเห็นว่า เสื้ออย่างน้อยนั้นจะคาดผ้ากราบก็มิได้จึงยักย้ายทำเป็นเสื้อกระบอกเหมือนเสื้อบ้าบ๋า ก็เป็นธรรมเนียมติดมาจนทุกวันนี้...”

   เสื้อบ้าบ๋าจะเป็นฉันใดก็ไม่ทราบ แต่จากข้อสันนิษฐานอาจจะเป็นไปได้ว่าคล้ายกับเสื้อของชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่เรียกว่าเสื้อหม่ากว้า

   เสื้อแบบใหม่ที่รับจากอิทธิพลจากจีนโพ้นทะเลในมลายู หรือที่ไทยยุคนั้นเรียกว่าปัตตาเวีย ได้มีการอธิบายรูปแบบไว้พอให้เห็นภาพในหนังสือ อายะติวัฒน์ ของ ก.ศ.ร.กุหลาบ เล่มที่ ๓ พิมพ์เมื่อ ร.ศ. ๑๓๐ ได้กล่าวไว้ว่า“ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานให้ข้าราชการสรวเสื้อผ้าขาวเทศรูปกระบอก (แขนคับ ตัวตึง ชายสั้นเพียงบั้นเอว) เข้าเฝ้าฤดูร้อนฤดูฝน ๘ เดือน”

   นอกจากเสื้อที่ได้รับแบบจากจีนแล้ว สิ่งหนึ่งที่ไทยได้รับอิทธิพลจากจีนด้านการแต่งกายอีกอย่างคือการใช้ผ้า แต่โบราณมาคนไทยรับผ้าจากนานาชาติ ทั้งจากฝรั่ง อินเดีย จีน สารพัดจะกล่าว ในหมู่ของพระราชทานจากฮ่องเต้กรุงจีนก็มีรายชื่อผ้าแพรจากเขตเจียงหนาน เช่น นานกิง ซูโจว ดังนั้น ก่อนที่เราจะรับแบบเสื้อบ้าบ๋ามาใช้ เราอาจจะนำผ้าจีนมาใช้ทำเสื้อผ้าก่อนหน้านี้แล้วก็ได้ ดังเสื้ออย่างน้อย บางที อาจจะใช้แพรจีนกันอย่างแพร่หลายก่อนสมัยรัชกาลที่ ๔ เสียอีก


กระทู้: เว้าเรื่องเสื้อผ้า – จากเสื้อหม่ากว้า ถึงเสื้อบ้าบ๋าของรัชกาลที่ ๔
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 28 พ.ค. 15, 20:08
ตรงนี้กลับมาที่ตัวข้าพเจ้า ผู้ซึ่งไปตัดผ้าในจีนมา ข้าพเจ้าหอบหิ้วตัวอย่างภาพเสื้อชุดไทย แบบที่เขาเรียกว่าเสื้ออย่างน้อยไปตลาดขายผ้ากลางเมืองหนานจิง ผลที่ได้คือสะใจมาก มีผ้าต่วน ผ้าแพร ผ้าไหมแบบจีนสารพัดชนิด วางขายลวดลายแบบสมัยใหม่บ้าง ลายแบบโบราณประหนึ่งส่งลงสำเภามาเมื่อร้อยปีก่อน ข้าพเจ้านั่งเลือกอยู่พักใหญ่จนได้สองผืนงามๆ ราคาไม่แพงเลย คือ เมตรละ ๑๕๐ บาทไทย ผ้าที่ใช่เป็นผ้าต่วน หรือที่จีนเรียกว่า “จิ่นต่วน” (锦缎) ซึ่งเป็นลักษณะผ้าโบราณของจีน แต่เดิมจะใช้ด้ายเงินด้ายทองทำ แต่ต่อมาใช้ไหมสีเงินสีทองแทรกแทน


กระทู้: เว้าเรื่องเสื้อผ้า – จากเสื้อหม่ากว้า ถึงเสื้อบ้าบ๋าของรัชกาลที่ ๔
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 28 พ.ค. 15, 20:10
นอกจากนี้สายตายังไปเห็นผ้าพิมพ์ลายขาวน้ำเงิน ที่ภาษาจีนเรียกว่า “หลานอิ่งฮัวปู้” (蓝印花布) ที่เป็นผ้าที่ขึ้นชื่อลือชาของเขตเจียงซู ที่แต่โบราณเรียกว่าเขตเจียงหนาน ซึ่งผลิตในเมืองเมืองหนานทง (南通) ลวดลายเป็นรูปดอกไม้ นก ทิวทัศน์ หรือลายเลขาคณิตแล้วแต่ใจผู้ทำ


กระทู้: เว้าเรื่องเสื้อผ้า – จากเสื้อหม่ากว้า ถึงเสื้อบ้าบ๋าของรัชกาลที่ ๔
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 28 พ.ค. 15, 21:01
เมื่อเลือกผ้าได้แล้วข้าพเจ้าก็หิ้วไปให้ร้านอาแปะคนหนึ่งตัด แกดูภาพที่มีผู้ส่งให้ข้าพเจ้าอย่างละเอียดหลายๆมุม แกดูแล้วแกก็บอกว่า ไม่ยาก ตัดง่าย ตัดได้ เหมือนชุดชุดหม่ากว้าแบบจีนโบราณ เพียงแต่เข้ารูปกว่า กล่าวเสร็จแกก็นั่งวัดตัวข้าพเจ้าแล้วบอกให้ข้าพเจ้าไปรับ ข้าพเจ้าเองก็ไม่กล้าสันนิษฐานเหมือนกันว่าเสื้ออย่างน้อยที่มาก่อนเสื้อแขนกระบอกแบบบ้าบ๋าจะได้รับอิทธิพลจีนมาก่อนเสียอีก
   เส้นทางสายแฟชั่นนี้ยาวไกล แต่บางทีก็ใกล้ตัวอย่างคิดไม่ถึง
   ประหนึ่งเสื้อหม่ากว้าในแผ่นดินใหญ่และเสื้อบ้าบ๋าที่ไทยรับมานั้นเอง

ภาพเสื้อแบบโบราณ ที่มีผู้อนุเคราะห์ส่งรูปให้อย่างละเอียด


กระทู้: เว้าเรื่องเสื้อผ้า – จากเสื้อหม่ากว้า ถึงเสื้อบ้าบ๋าของรัชกาลที่ ๔
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ค. 15, 08:24
ใส่เมื่อไหร่ อย่าลืมส่งรูปมาให้ชาวเรือนไทยดูด้วยนะคะ


กระทู้: เว้าเรื่องเสื้อผ้า – จากเสื้อหม่ากว้า ถึงเสื้อบ้าบ๋าของรัชกาลที่ ๔
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 พ.ค. 15, 09:26
(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=6305.0;attach=56946;image)

เสื้อนี้เป็นแบบของราชสำนักลาว ตรงกับที่ ก.ศ.ร.กุหลาบบรรยายไว้เพียง  "ตัวตึง"

ครั้นนานมาเห็นว่า เสื้ออย่างน้อยนั้นจะคาดผ้ากราบก็มิได้จึงยักย้ายทำเป็นเสื้อกระบอกเหมือนเสื้อบ้าบ๋า
= เสื้อนั้นมีข้อเสียอย่างน้อย 1 ข้อคือพอสวมแล้วคาดผ้ากราบทับลงบนเสื้อไม่ได้  หรือจะคาดไว้ใต้เสื้อก็ไม่ได้อีก

เสื้ออย่างน้อยนั้นอาจจะเป็น "เสื้อผ้าขาวเทศรูปกระบอก (แขนคับ, ตัวตึง, ชายสั้นเพียงบั้นเอว)" ตามที่ ก.ศ.ร.กุหลาบกล่าวถึงในหนังสืออายะติวัฒน์ เพราะหากชายเสื้อสั้นเสียแล้วจะคาดผ้ากราบทับลงบนเสื้อก็มิได้

เจ้าของภาพ  (https://m.facebook.com/sphormmacolorization/photos/a.587741774689985.1073741829.587664078031088/614925071971655/?type=1&source=48) บรรยายว่า

พระมหาอุปราชบุญคง วังหน้าแห่งราชสำนักลาวล้านช้างหลวงพระบาง

เจ้ามหาอุปราชบุญคง ทรงเป็นพระบิดาของเจ้ามหาอุปราชเพชรราช เจ้าสุวรรณภูมา และเจ้าสุภานุวงศ์ บุคคลซึ่งภายหลังมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งทางการเมือง ทั้งสมัยราชอาณาจักร และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ต้นฉบับภาพนี้ถ่ายในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ (พ.ศ. ๒๓๔๔-๒๔๔๓)


กระทู้: เว้าเรื่องเสื้อผ้า – จากเสื้อหม่ากว้า ถึงเสื้อบ้าบ๋าของรัชกาลที่ ๔
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 พ.ค. 15, 09:46
พระเจ้าสักรินทรฤทธิ์กับเจ้ามหาอุปราชบุญคง แสดงลักษณะของเสื้อในท่ายืน


กระทู้: เว้าเรื่องเสื้อผ้า – จากเสื้อหม่ากว้า ถึงเสื้อบ้าบ๋าของรัชกาลที่ ๔
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 พ.ค. 15, 15:07
เสื้อหลายแบบของชายบ้าบ๋า
รูปบนซ้ายคล้ายเสื้อราชปะแตน  อีก 3 รูปคือเจ้าบ่าวบ้าบ๋า     บางรูปก็ดูเป็นแฟชั่นจีนมากๆ


กระทู้: เว้าเรื่องเสื้อผ้า – จากเสื้อหม่ากว้า ถึงเสื้อบ้าบ๋าของรัชกาลที่ ๔
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 29 พ.ค. 15, 16:19
แบบนี้ก็เข้าที ดูไม่ร้ดติ้วเกินไป


กระทู้: เว้าเรื่องเสื้อผ้า – จากเสื้อหม่ากว้า ถึงเสื้อบ้าบ๋าของรัชกาลที่ ๔
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 29 พ.ค. 15, 19:16
ผมเคยผ่านตาชุดชายไทยโบราณจากภาพถ่ายขาวดำที่นำมาลงสีใหม่ชุดหนึ่ง ไม่แน่ใจว่าคุณหนุ่มสยามลงสีหรือไม่ เป็นผ้าสีน้ำเงิน ลายขาว คล้ายๆผ้าของญี่ปุ่น

ผมพึ่งไปตลาดผ้าในหนานจิงมา เจอผ้าแบบเดียวกัน เป็นผ้าจากเมืองหนานทง (南通) มณฑลเจียงซูนี้เอง ผลิตผ้าลายนี้มาแต่โบราณแล้ว

พอจะเคยเจอรูปบ้างไหมครับ


กระทู้: เว้าเรื่องเสื้อผ้า – จากเสื้อหม่ากว้า ถึงเสื้อบ้าบ๋าของรัชกาลที่ ๔
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 พ.ค. 15, 10:02
ส่งแฟชั่นไฮโซโบราณมาให้พิจารณาบ้าง

ไม่ทราบว่านี่คือเสื้ออย่างน้อยหรือเปล่า เพราะนอกจากจะสั้นแล้ว ยังดูคับติ้วไปหมด


กระทู้: เว้าเรื่องเสื้อผ้า – จากเสื้อหม่ากว้า ถึงเสื้อบ้าบ๋าของรัชกาลที่ ๔
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 พ.ค. 15, 10:05
แบบนี้คล้ายๆกับแบบแรก แต่ดูแล้วน่าจะหายใจหายคอสะดวกดี


กระทู้: เว้าเรื่องเสื้อผ้า – จากเสื้อหม่ากว้า ถึงเสื้อบ้าบ๋าของรัชกาลที่ ๔
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 พ.ค. 15, 10:07
นี่เป็นสไตยน์การกลัดกระดุมเสื้อชั้นนอก


กระทู้: เว้าเรื่องเสื้อผ้า – จากเสื้อหม่ากว้า ถึงเสื้อบ้าบ๋าของรัชกาลที่ ๔
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 พ.ค. 15, 10:08
นี่แบบตรงกันข้าม


กระทู้: เว้าเรื่องเสื้อผ้า – จากเสื้อหม่ากว้า ถึงเสื้อบ้าบ๋าของรัชกาลที่ ๔
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 พ.ค. 15, 10:10
นี่ไม่โชว์อะไรเลย อายซิกแพ๊คมาก


กระทู้: เว้าเรื่องเสื้อผ้า – จากเสื้อหม่ากว้า ถึงเสื้อบ้าบ๋าของรัชกาลที่ ๔
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 พ.ค. 15, 10:11
เสื้อนอกแบบผ้ายก ไม่ทราบมาจากเมืองจีนหรือเปล่า


กระทู้: เว้าเรื่องเสื้อผ้า – จากเสื้อหม่ากว้า ถึงเสื้อบ้าบ๋าของรัชกาลที่ ๔
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 พ.ค. 15, 10:12
แบบลายดอกใหญ่


กระทู้: เว้าเรื่องเสื้อผ้า – จากเสื้อหม่ากว้า ถึงเสื้อบ้าบ๋าของรัชกาลที่ ๔
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 31 พ.ค. 15, 00:53
ภาพสุดท้ายมองไม่ชัด พอจะมีภาพใหญ่ไหมครับ ดูคล้ายๆ ผ้าแพรลายดอกของหนานจิงมาก


กระทู้: เว้าเรื่องเสื้อผ้า – จากเสื้อหม่ากว้า ถึงเสื้อบ้าบ๋าของรัชกาลที่ ๔
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 พ.ค. 15, 06:32
จัดด่วน จัดไป จัดเต็ม


กระทู้: เว้าเรื่องเสื้อผ้า – จากเสื้อหม่ากว้า ถึงเสื้อบ้าบ๋าของรัชกาลที่ ๔
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 พ.ค. 15, 08:56
ภาพนี้น่าจะดีกว่า คุณหาญนำไปใช้ได้หมดเพราะทันสมัยมาก ทั้งแบบและลวดลายเสื้อชั้นในชั้นนอก แม้กระทั่งทรงผมหรือหนวด เพื่อนชาวจีนเห็นแล้วต้องทึ่งแน่ๆ


กระทู้: เว้าเรื่องเสื้อผ้า – จากเสื้อหม่ากว้า ถึงเสื้อบ้าบ๋าของรัชกาลที่ ๔
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 31 พ.ค. 15, 08:57
ผมชอบการถ่ายภาพคู่นี้มาก


กระทู้: เว้าเรื่องเสื้อผ้า – จากเสื้อหม่ากว้า ถึงเสื้อบ้าบ๋าของรัชกาลที่ ๔
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 พ.ค. 15, 09:13
ถ้าเขียนนิยายในยุครัชกาลที่ 4  อยากให้พระเอกแต่งตัวแบบภาพที่ 23


กระทู้: เว้าเรื่องเสื้อผ้า – จากเสื้อหม่ากว้า ถึงเสื้อบ้าบ๋าของรัชกาลที่ ๔
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 31 พ.ค. 15, 16:47
ผ้าต่วนจากหนานจิง เรียกว่า จือจิ่นต่วน (织锦缎)


กระทู้: เว้าเรื่องเสื้อผ้า – จากเสื้อหม่ากว้า ถึงเสื้อบ้าบ๋าของรัชกาลที่ ๔
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 31 พ.ค. 15, 17:00
ภาพนี้น่าจะดีกว่า คุณหาญนำไปใช้ได้หมดเพราะทันสมัยมาก ทั้งแบบและลวดลายเสื้อชั้นในชั้นนอก แม้กระทั่งทรงผมหรือหนวด เพื่อนชาวจีนเห็นแล้วต้องทึ่งแน่ๆ
แม้กระทั่งโพสท์ท่าถ่ายแบบ หม่อมราโชทัยท่านล้ำกว่าคนยุคเดียวกับท่านมาก สมมติเปลี่ยนหุ่น แทนด้วยนายแบบยุคนี้ ก็ยังดูเนียนอยู่


กระทู้: เว้าเรื่องเสื้อผ้า – จากเสื้อหม่ากว้า ถึงเสื้อบ้าบ๋าของรัชกาลที่ ๔
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 31 พ.ค. 15, 17:16
ลายแบบดอกไม้ดอกเล็กๆ


กระทู้: เว้าเรื่องเสื้อผ้า – จากเสื้อหม่ากว้า ถึงเสื้อบ้าบ๋าของรัชกาลที่ ๔
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 31 พ.ค. 15, 17:23
ภาพนี้น่าจะดีกว่า คุณหาญนำไปใช้ได้หมดเพราะทันสมัยมาก ทั้งแบบและลวดลายเสื้อชั้นในชั้นนอก แม้กระทั่งทรงผมหรือหนวด เพื่อนชาวจีนเห็นแล้วต้องทึ่งแน่ๆ

ลายผ้าหม่อมราโชทัย ช่างคล้ายกับลายผ้าแพรที่จำหน่ายทุกวันนี้ ซึ่งผลิตจากหางโจวเสียนี้กระไร


กระทู้: เว้าเรื่องเสื้อผ้า – จากเสื้อหม่ากว้า ถึงเสื้อบ้าบ๋าของรัชกาลที่ ๔
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 31 พ.ค. 15, 17:26
ส่วนภาพขุนนางท่านนี้ ผ้าก็คล้ายคลึงกันยิ่งนัก

ท่านมียศว่า พระยาอภัยสงคราม มีนามว่า นกยูง เกิดในสมัยรัชกาลที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๖ เป็นบุตรสมเด็จ เจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ) กับหม่อมเกตุ เข้ารับราชการในแผ่นดินรัชกาลที่ ๓ เป็นจมื่นรักษพิมาน ปลัดกรมตำรวจ ฝ่ายพระราชวังบวรฯ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นพระยาอภัยสงคราม จางวางอาสาหกเหล่า ฝ่ายพระราชวังบวรฯ ถึงอนิจกรรม เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๙ ปีเดียวกับพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชุ่ม บุนนาค) ผู้เป็นพี่ชายต่างมารดา ได้มีพิธีชักศพแห่ทางบกมาหน้าวัดประยุรวงศาวาส ไปเข้าเมรุที่สนามม้าริมวัดบุปผาราม พร้อมกันทั้ง ๒ ศพ และได้รับพระราชทานเพลิงในวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๐๙
พระยาอภัยสงคราม (นกยูง) สมรสกับคุณหญิงปริก ธิดาพระยาเสนานุชิต (นุช ณ นคร) มีบุตรชายที่สำคัญ ๑ คน คือ พระยาอรรคราชนารถภักดี (หวาด) นับเป็นลำดับชั้นที่ ๔ มีหลานชายที่เกิดกับพระยาอรรคราช นารถภักดี (หวาด) ได้แก่

พระยาเดชานุชิต (หนา)
พระยาวิชยาธิบดี (แบน)
พระเทพสงคราม (โต)
พระยาศรีธรรมศกราช (ปิ๋ว)
พระยาวิสุทธิราชรังสรรค์ (ใหญ่)
หลวงวินิตนราการ (เล็ก)
ส่วนบุตรชายอีกคนหนึ่งของพระยาอภัยสงคราม (นกยูง) ชื่อ ตาด มีธิดาชื่อ โหมด ทำราชการฝ่ายใน เป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๕

http://www.bunnag.in.th/prarajpannuang004.html (http://www.bunnag.in.th/prarajpannuang004.html)


กระทู้: เว้าเรื่องเสื้อผ้า – จากเสื้อหม่ากว้า ถึงเสื้อบ้าบ๋าของรัชกาลที่ ๔
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 31 พ.ค. 15, 17:36
แต่จะว่าไป มองไปก็คล้ายๆผ้าพิมพ์ลายสีฟ้า ผลิตจากเหมือนหนานทง 南通 มณฑลเจียงซูในปัจจุบันอยู่ไม่น้อย


กระทู้: เว้าเรื่องเสื้อผ้า – จากเสื้อหม่ากว้า ถึงเสื้อบ้าบ๋าของรัชกาลที่ ๔
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 พ.ค. 15, 17:37
เห็นผ้าต่วนจีนแล้วนึกถึงความหลังตอนเล็กๆ   กรุงเทพยังมีอากาศหนาวในหน้าหนาว ยืดเยื้ออยู่เป็นเดือน   ทางโรงเรียนบังคับให้สวมเสื้อหนาวจะได้ไม่เป็นหวัด
เคยมีเสื้อกันหนาวแบบจีน  คล้ายกับรูปข้างล่างนี้    ตัวเสื้อเป็นผ้าต่วนเนื้อมันปักลวดลายบนเนื้อผ้า เหมือนจือจิ่นต่วนสีฟ้าในรูปข้างบน แต่ลายเป็นลายปักเล็กๆแบบเสื้อเด็ก  มีซับในบุนวม ทำด้วยผ้าสำลีหรืออะไรไม่เคยเลาะดู  
ซื้อจากห้างใต้ฟ้า เยาวราช ค่ะ


กระทู้: เว้าเรื่องเสื้อผ้า – จากเสื้อหม่ากว้า ถึงเสื้อบ้าบ๋าของรัชกาลที่ ๔
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 พ.ค. 15, 17:38
ลายผ้าคล้ายๆแบบนี้


กระทู้: เว้าเรื่องเสื้อผ้า – จากเสื้อหม่ากว้า ถึงเสื้อบ้าบ๋าของรัชกาลที่ ๔
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 31 พ.ค. 15, 17:47
ตามด้วยภาพหลวงพิศาลผลพานิช จริงๆรูปท่านข้าพเจ้าเคยเจอรูปอื่นในหนังสือ สำเภาสยามตำนานเจ็กบางกอกของคุณพิมพ์ประไพพิศาลบุตร

ลายอาจจะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่ขนาดและการจัดวางแทบจะเหมือนกัน


กระทู้: เว้าเรื่องเสื้อผ้า – จากเสื้อหม่ากว้า ถึงเสื้อบ้าบ๋าของรัชกาลที่ ๔
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 31 พ.ค. 15, 17:58
ส่วนเสื้อเข้มขาบ ที่ในเรือนไทยสันนิษฐานว่าอาจจะมีภาพของขุนนางบางท่านใส่ ดัง ภาพพระยาอรรคราชนารถภักดี (หวาด บุนนาค)  ถ่ายเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๒ ในคราวต้อนรับคณะทูต ในภาพนี้ขยายให้เห็นเสื้อลายริ้ว คงเป็นการสวมเสื้อเข้มขาบ ซึ่งเสื้อเข้มขาบอาจจะเรียกมาจากผ้าเข้มขาบ ผ้าเข้มขาบเป็นผ้าทอด้วยดิ้นทองและดิ้นเงิน โดยชื่อเข้มขาบ เพี้ยนมาจากชื่อเมืองหนึ่งในอินเดีย

ลายริ้วเช่นนี้ปรากฎในจีนเช่นกัน

 ภาพพระยาอรรคราชนารถภักดี (หวาด บุนนาค) เป็นบุตรพระยาอภัยสงคราม (นกยูง บุนนาค) เข้ารับราชการสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นหลวงวิเศษพจนกรในกรมท่า ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นพระศรีธรรมสาส์น ในกรมท่า แล้วเป็นพระยาวิชยาธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ และในเวลาต่อมาเป็นพระยาอรรคราชนารถภักดี ในกรมท่า

พระยาอรรคราชนารถภักดี (หวาด) มีน้องชาย ๑ คน ชื่อ ตาด นายตาด บุนนาค มีธิดา ๑ คน ชื่อโหมด ได้ถวายตัวรับราชการฝ่ายใน เป็นเจ้าจอมโหมด ในรัชกาลที่ ๕

พระยาอรรคราชนารถภักดี (หวาด) สมรสกับคุณหญิงบัว ต.จ ธิดาพระยาสมบัติวานิช (บุญศรี สมบัติศิริ) มีบุตรธิดา ๑๑ คน ได้แก่ พระยาเดชานุชิต (หนา) พระยาวิชยาธิบดี (แบน) พระเทพสงคราม (โต) พระยาศรีธรรมศกราช (ปิ๋ว) พระยาวิสุทธิราชรังสรรค์ (ใหญ่) และหลวงวินิตนราการ (เล็ก) เป็นต้น มีธิดาชื่อ จำเริญ เป็นภรรยาหม่อมราชวงศ์สุวพรรณ สนิทวงศ์ และธิดาชื่อ ผัน เป็นภรรยาพระยาวิสูตรสาครดิษฐ์ (เทียน ประทีปะเสน) เป็นต้น

ท่านใดพอจะมีภาพท่านเจ้าคุณเต็มๆขอความอนุเคราะห์ด้วย ข้าพเจ้าหาไม่พบภาพจากรูปที่นำมา

http://www.bunnag.in.th/prarajpannuang022.html (http://www.bunnag.in.th/prarajpannuang022.html)


กระทู้: เว้าเรื่องเสื้อผ้า – จากเสื้อหม่ากว้า ถึงเสื้อบ้าบ๋าของรัชกาลที่ ๔
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 31 พ.ค. 15, 18:37
ท่านใดพอจะมีภาพพระยาโชฎีกราชเศรษฐี (เถียร โชติเสถียร) บ้าง ข้าพเจ้าเคยเจอ เป็นผ้าแพรจีนเช่นกัน มีลายสวยงาม


กระทู้: เว้าเรื่องเสื้อผ้า – จากเสื้อหม่ากว้า ถึงเสื้อบ้าบ๋าของรัชกาลที่ ๔
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 31 พ.ค. 15, 19:19
ลายผ้าคล้ายๆแบบนี้

ลายผ้าดังกล่าวเป็นลายผ้าแบบ "กลิ่นหอมโบราณ" (古香缎) เป็นหนึ่งในผ้าจื่นจินต่วน ซึ่งจำทำเป็นลวดลายหลากหลาย อาทิ ต้นไม้ ดอกไม้ อาคาร คน สัตว์ สิ่งของ ในลายผ้าเดียวกัน แหล่งผลิตสำคัญของผ้าลายนี้อยู่ที่ซูโจวและหางโจว



กระทู้: เว้าเรื่องเสื้อผ้า – จากเสื้อหม่ากว้า ถึงเสื้อบ้าบ๋าของรัชกาลที่ ๔
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 พ.ค. 15, 19:29
^
ใช่แล้ว ลายแบบนี้ละค่ะ
นอกจากเป็นเสื้อเด็กแล้ว ยังทำเป็นกระเป๋าหิ้วของสตรีด้วย  ใบย่อมๆ เป็นกระเป๋าออกงานกลางคืน


กระทู้: เว้าเรื่องเสื้อผ้า – จากเสื้อหม่ากว้า ถึงเสื้อบ้าบ๋าของรัชกาลที่ ๔
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 31 พ.ค. 15, 19:51
ท่านใดพอจะมีภาพพระยาโชฎีกราชเศรษฐี (เถียร โชติเสถียร) บ้าง ข้าพเจ้าเคยเจอ เป็นผ้าแพรจีนเช่นกัน มีลายสวยงาม

ถ้าข้าพเจ้ามองไม่ผิด ลายผ้าแบบนี้จะเป็นลายผ้าที่เรียกว่าจวงฮัวต่วน (妆花缎) ซึ่งจะทำลวยลายเป็นดอกไม้ดอกโตๆมีหลากสีสัน มีรูปแบบมากมาย ถือว่าเป็นลายผ้าที่ทำยากมากลายหนึ่ง มีทั้งทำเป็นลวดลายๆซ้ำๆกันในผืนเดียว และลายอิสระ ใช้ด้ายหลากสีผสมผสานกัน

ถือว่าเป็นลวดลายที่แพงระยับลายหนึ่ง

ปล. ทุกวันนี้ก็ยังแพง


กระทู้: เว้าเรื่องเสื้อผ้า – จากเสื้อหม่ากว้า ถึงเสื้อบ้าบ๋าของรัชกาลที่ ๔
เริ่มกระทู้โดย: นางมารน้อย ที่ 05 มิ.ย. 15, 16:13
อิจฉาคุณหานบิงได้เจอผ้าสวยๆทั้งนั้นเลย อยากได้มาตัดเสื้อทำสไบจังเจ้าค่ะ