เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: pa15 ที่ 30 พ.ย. 09, 18:59



กระทู้: อยากทราบเรื่องกรมโหรค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: pa15 ที่ 30 พ.ย. 09, 18:59
อยากทราบข้อมูล หรือรายชื่อ ข้าราชการ กรมโหร กระทรวงวัง ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ค่ะ โดยเฉพาะ ตำแหน่ง "ขุนเทพยากรณ์"
ไม่ทราบว่ามีหนังสือใดกล่าวไว้บ้างค่ะ


กระทู้: อยากทราบเรื่องกรมโหรค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 04 ธ.ค. 09, 05:42
สวัสดีค่ะ คุณ pa15



         ตอบได้เฉพาะ "ขุนเทพยากรณ์" ในรัชกาลที่ ๕ นะคะ

มีอยู่ในหนังสือ การแต่งตั้งขุนนางไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕  พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๒๑
กองหอจดหมายเหตุ  กรมศิลปากร

(ราคาตามร้านหนังสือเก่าในปัจจุบันประมาณ ๔๕๐ - ๗๐๐ บาท  ปกสีเปลือกมังคุด)


หน้า ๒๑๒


ให้ขุนทิพจักษุ(ทัด) เจ้าหมู่ประฎิทิน เปนขุนเทพยากรณ์  ปลัดกรมโหรหลังถือศักดินา ๘๐๐
ตั้งแต่ ณ วัน  ฯ  ปีจอฉอศก   ศักราช ๑๒๓๖
เปนวันที่ .................... ในรัชกาลปัตยุบันนี้

................................

ศักราช ๑๒๓๖  =  พ.ศ. ๒๔๑๗


ค้นหาตำแหน่งนี้  พบว่า ในศักราช ๑๒๔๐(พ.ศ. ๒๔๒๑)

หน้า ๒๔๐
ปีขาลสัมฤทธิศก    มีพระราชโองการแต่งตั้งให้
  ขุนอินทจักร(ดำ)   เข้าดำรงตำแหน่งนี้


   


กระทู้: อยากทราบเรื่องกรมโหรค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: pa15 ที่ 05 ธ.ค. 09, 22:17
สวัสดีค่ะ คุณ Wandee

ขอบคุณที่ให้ข้อมูลหนังสือนะค่ะ เพราะเคยอ่านเจอในหนังสือ "พระประวัติตรัสเล่า" กล่าวถึง "ขุนเทพยากรณ์ ทัด" ไว้ค่ะ แต่ไม่ทราบว่าอยู่กรมโหรใด
 
และรายชือตำแหน่งนี้ ของกรมโหรวังหน้า สมัย ร. ๕ -๖ พอจะค้นได้จากประวัติ หรือหนังสือเล่มใดบ้างค่ะ  หรือมีที่ใดกล่าวถึงไว้บ้าง

ต้องขอรบกวนผู้รู้ทุกท่านด้วยค่ะ เพราะหาข้อมูลยากจริง ๆ ค่ะ


กระทู้: อยากทราบเรื่องกรมโหรค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 05 ธ.ค. 09, 22:41
มีหนังสือตำแหน่งข้าราชการวังหน้าอยู่หนึ่งเล่ม  แต่ไม่มีประวัติค่ะ

เรื่องโหรเท่าที่จำได้มีเหตุโหรถวายคำทำนายไม่ถูกต้องในรัชกาลที่ ๔
ท่านปรับให้สวมประคำหอยโข่ง เป็นการลงโทษค่ะ



รอคุณเงินปุ่นศรีผู้ศึกษาเรื่องสาแหรกหน่อยนะคะ  เธอคงติดธุระ



ถ้าเป็นข้อมูลข้าราชการในสมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองมีค่อนข้างสมบูรณ์ค่ะ
และมีบางส่วนของข้าราชการเกษียณสมัยรัชกาลที่หก  ที่มีชีวิตอยู่ใน พ.ศ.​๒๔๗๔ ค่ะ




กระทู้: อยากทราบเรื่องกรมโหรค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เงินปุ่นสี ที่ 10 ธ.ค. 09, 15:52
เท่าที่ดูในทำเนียบข้าราชการวังหน้า ในสมัยรัชกาลที่ ๔
ปรากฎแต่ตำแหน่งหลวงญาณเวท หลวงไตรเพทวิไสย ขุนโลกพรหมา และขุนโลกพยากรณ์
ที่เป็นเจ้ากรมและปลัดกรมเท่านั้นครับ

ส่วนเหตุการณ์ที่คุณวันดีเล่าน่าจะเป็นเหตุการณ์ตอนที่เกิดสุริยุปราคา
ดังมีปรากฎในจดหมายเหตุโหร ว่า
"ปีมะโรง จ.ศ.๑๒๓๐ ...ณ วันเสาร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๐ พระโหรา ขุนเทพพยากรณ์ ขุนโลกพยากรณ์ กับโหร ๓-๔ คนเปนโทษ"








กระทู้: อยากทราบเรื่องกรมโหรค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 ธ.ค. 09, 17:26
อ่านหนังสือเก่าอย่างเพลินเพลิน  ไปสะดุดข้อมูลหนึ่ง  ในหนังสือ ลืมไม่ลง ของคุณลุง สมบัติ พลายน้อย 

หน้า ๑๖๐

ขุนพิไชยฤกษ์  นายเวรกรมโหร แต่งเรื่อง นิทานตาสน ไปลงนารีรมย์ ซึ่งเป็นหนังสือกลอนทั้งเล่ม
ออกเดือนละ ๒ ครั้ง


กรมหมื่นมหิศรรายหฤทัยมีพระประสงค์จะให้เป็นหนังสือสำหรับผู้หญิง
ครั้งแรกออกในปี ๒๔๓๑(รัชกาลที่ ๕)   ออกไม่กี่ฉบับก็เลิก
มีการนำมาพิมพ์ใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๒ ก็เป็นหนังสือหายาก




กระทู้: อยากทราบเรื่องกรมโหรค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 ธ.ค. 09, 18:40
ขอบคุณ คุณเงินปุ่นศรี  เรื่อง โหรต้องโทษ
นั่นคือปีสุดท้ายในรัชกาลที่ ๔   คือ พ.ศ. ๒๔๑๑


กระทู้: อยากทราบเรื่องกรมโหรค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ธ.ค. 09, 08:58
มีเรื่อง โหรต้องโทษ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ด้วย  อยู่ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน เสียดายว่าจำไม่ได้ว่าอยู่ภาคที่เท่าไร

เรื่องมีอยู่ว่า  ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับที่พระราชวังบางประอิน
มีวันหนึ่งเกิดสุริยุปราคา  แต่โหรหลวงไม่ได้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบก่อน
(ตามธรรมเนียมปฏิบัติโหรหลวงต้องนำความกราบบังคมทูลให้ทรงทราบก่อนล่วงหน้า 
เพื่อได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานจัดเตรียมการอันเกี่ยวเนื่องได้ทัน มีการสรงมูรธาภิเษก และการพระราชทานเงินเป็นต้น)
เมื่อเกิดสุริยุปราคาขึ้นแล้ว  รัชกาลที่ ๕ ทรงกริ้วโหรหลวงว่า ไม่กราบบังคมทูลตามหน้าที่
จึงมีรับสั่งให้มหาดเล็กทำประคำหอยโข่งแล้วนำไปให้โหรหลวงแขวนคอเป็นการลงโทษจนกว่าจะเสด็จแปรพระราชฐานกลับกรุงเทพฯ
ถ้าจำไม่ผิด  น่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงต้นรัชกาลที่ ๕

ส่วนเรื่องโหรต้องโทษในสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นเรื่องโหรหลวงอวดรู้คราวเกิดสุริยุปราคาที่ตำบลหว้ากอ
เรื่องนั้นมีอยู่ว่า รัชกาลที่ ๔ เสด็จกลับมาจากหว้ากอแล้ว ได้มีรับสั่งถามโหรหลวงที่ตามเสด็จที่หว้ากอด้วยว่า ราหูบังดวงอาทิตย์เหลือเท่าไร
โหรหลวงก็ตอบไป เหลือเท่านี้เท่านั้นกระเบียด พระพุทธเจ้าข้า  รัชกาลที่ ๔ ทรงกริ้ว  รับสั่งทำนองว่า โหรหลวงรู้ดีอย่างนี้ คงได้ขึ้นวัดเอง  (จึงมีรับสั่งให้เอาประคำหอยโข่งแขวนคอโหรหลวงเป็นการลงโทษตามกฎมณเฑียรบาล  และมีเรื่องต่อไปอีกว่า ในคราวเดียวกันนี้  มีฝ่ายในบางคนถูกกริ้วด้วยกราบบังคมทูลตอบอย่างเดียวกับโหรหลวง  เรื่องนี้เป็นเหตุให้ลือกันว่า ตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ เสด็จกลับมาจากทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงที่หว้ากอแล้ว ทรงกริ้วใครต่อใครทั่วไปหมด

เรื่องกรมโหรนี้  ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อวังหน้าเสด็จทิวงคตแล้ว  ได้ยกเอากรมโหรวังหน้ามาปฏิบัติหน้าที่วังหลวง  แต่ยังคงตำแหน่งไว้ตามเดิม  ถ้าสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมน่าจะดูสารบาญชีของกรมไปรษณีย์ในสมัยรัชกาลที่ ๕  พ.ศ. ๒๔๒๙ มีรายชื่อข้าราชการกรมโหรในช่วงนั้น (เล่ม ๑) และที่อยู่ของข้าราชการกรมโหร (เล่ม ๒) หนังสือนี้สำนักพิมพ์ต้นฉบับนำมาพิมพ์ใหม่เมื่อหลายปีก่อน  น่าจะช่วยค้นเรื่องกรมโหรได้บ้าง ผไม่มากก็น้อย)


กระทู้: อยากทราบเรื่องกรมโหรค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 ธ.ค. 09, 09:32
ขอบคุณคุณหลวงเล็กค่ะ

มีท่านผู้อาวุโสแนะนำให้ไปอ่านหนังสือกรมไปรษณีย์เพื่อตามประวัติขุนนางเก่า
ก็ปากเบาไปไม่ได้ถามรายละเอียด
ถ้าเป็นหนังสือต่ออายุของคุณอ้วนธงช้ย  ก็พอจะยื่นมือไปหาได้

ขอบคุณอย่างมากค่ะ

แลกเปลี่ยนความรู้กันก็ดีอย่างนี้เอง   


กระทู้: อยากทราบเรื่องกรมโหรค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ธ.ค. 09, 12:08
ประวัติรองเสวกเอก   หลวงโลกทีป  (สุด  ภาณุทัต)

รองเสวกเอก  หลวงโลกทีป  (สุด  ภาณุทัต) เป็นบุตรขุนจ่าคชกร  (ทอง  ภาณุทัต) เกิดเมื่อวันที่ ๒๘ ก.ย. ๒๔๑๐  เข้ารับราชการเป็นขุนหมื่นกรมโหร กระทรวงวัง เมื่อ ๒๔๔๑   ๒๔๔๔  ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นขุนเทพพยากรณ์  ๒๔๕๑ เป็นหลวงญาณเวท  ๒๔๕๕ รับพระราชทานยศเป็นรองเสวกเอก  ๒๔๕๖ เปลี่ยนนามบรรดาศักดิ์เป็น หลวงโลกทีป     ๒๔๖๙ เป็นนายเวร แผนกโหร    ๒๔๗๒ ออกจากราชการ รับพระราชทานบำนาญ   หลวงโลกทีปป่วยเป็นอัมพาต ถึงแก่กรรมเมื่อ ๑๑ ก.พ. ๒๔๗๓ อายุได้ ๖๔ ปี


กระทู้: อยากทราบเรื่องกรมโหรค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 ธ.ค. 09, 12:23
ขอบคุณคุณหลวงเล็กค่ะ   ชื่นชมโสมนัส


คุณหลวงอยู่กับคลังความรู้แท้ ๆ   เมื่อยื่นมือออกไปย่อมได้จินดามณี

มาต่อความรู้ให้ผู้ที่ต้องการ

ขอนับคุณหลวงเป็นที่พึ่งนะคะ


กระทู้: อยากทราบเรื่องกรมโหรค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 11 ธ.ค. 09, 12:48
ไม่เป็นไร  หามิได้ครับ  เราอาจจะมีข้อมูลเรื่องหนึ่งในขณะที่คนอื่นไม่มีข้อมูลที่เรามี
แต่เขาอาจจะมีข้อมูลอื่นที่เราต้องการ  เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็ต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน
เป็นอันสมประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย  เป็นคนไทยด้วยกัน  ก็ต้องพึ่งพาอาศัยกันเป็นธรรมดา

เรื่องบางเรื่องผมก็พึ่งคุณวันดีเหมือนกัน ;D


กระทู้: อยากทราบเรื่องกรมโหรค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 14 ธ.ค. 09, 10:03
ได้ประวัติข้าราชการกรมโหรมาเพิ่มอีกคนหนึ่ง เลยเอามาลงไว้

ประวัติรองเสวกเอก  พระเทวพรหมา (ดี โกมลพิมพ์)

รองเสวกเอก  พระเทวพรหมา (ดี โกมลพิมพ์) เป็นบุตรของขุนญาณุโยค (จั่น  โกมลพิมพ์) เกิดวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๓๙๕  ๒๔๑๙ เป็นขุนหมื่นในกรมโหร   ๒๔๒๒ อุปสมบทที่วัดราชประดิษฐ์  บวชอยู่นาน ๒๘ พรรษา   ๒๔๕๙ รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นหลวงเทวพรหมา  ประจำกรมแพทย์กระทรวงวังและรับพระราชทานยศรองเสวกโท  ๒๔๖๑  เลื่อนยศเป็นรองเสวกเอก   ๒๔๖ถ  เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระในราชทินนามเดิม   ๒๔๖๙ ออกจากราชการ รับพระราชทานเบี้ยบำนาญ   พระเทวพรหมา (ดี โกมลพิมพ์) ถึงแก่กรมม วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๔๗๑ อายุ ๗๖ ปี


กระทู้: อยากทราบเรื่องกรมโหรค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 14 ธ.ค. 09, 10:45
ไม่ช้าไม่นาน  เรือนไทยก็จะมีกรมโหรขึ้นมาจนได้


กระทู้: อยากทราบเรื่องกรมโหรค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: pa15 ที่ 15 ธ.ค. 09, 14:00
ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ได้ให้คำตอบค่ะ เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์มาก
คุณ lungleg  ได้ให้ข้อมูลประวัติ และปีเพื่อที่จะนำไปสอบทาน และเปรียบเทียบกับข้อมูลที่ค้นคว้ามาได้ค่ะ
คุนเงินปุ่นสี  ได้ให้รายชื่อหนังสือที่จะตามต่อไปได้ถึงรายชื่อ ประวัติ และที่อยู่
คุณ wandee ที่ได้เข้ามาร่วมค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมให้ค่ะ

เพราะค้นหาข้อมูลจากหนังสือพงศาวดารเก่า ๆ ก็แล้ว ค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตก็แล้ว ยังได้ข้อมูลไม่ประติดประต่อเลยค่ะ เพราะมีแต่ชื่อเสียงเรียงนามของผู้ครองตำแหน่ง พระยาโหราธิบดีเท่านั้น
แต่ไม่มีหนังสือใดกล่าวถึงชื่อ หรือประวัติของ ขุนโลกพยากรณ์ ขุนโลกพรหมา ขุนเทพยากรณ์ เลยค่ะ ว่าในรัชกาล ที่ ๔-๕ นั้น เป็นใครบ้าง
ต้องการทราบข้อมูลของ โหรหลวง ที่ถวายการสอนให้กับ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๐ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึง ก็คือ ขุนเทพยากรณ์ทัด  กล่าวถึงไว้ในพระประวัติตรัสเล่า แต่ไม่ทราบประวัติ(น่าจะเป็นคนเดียวกับที่คุณ wandee กล่าวถึงนะค่ะ)
และโหรหลวง ที่ถวายการสอน ม.ร.ว. ชื่น นพวงศ์ พระสังฆราชองค์ที่ ๑๓ ค่ะ อันนี้ไม่มีข้อมูลเลยจริง ๆ ว่าเป็นใคร
ขุนโลกากร ในกรมหลวงประจักษ์ศิลปคม  ที่มีกล่าวไว้ในประวัติการยกทัพไปหัวเมืองอีสาน สืบค้นไปก็ไม่ทราบชื่อว่าเป็นใครค่ะ

เพราะศึกษาโหราศาสตร์อยู่ค่ะ และเป็นสายของวังหน้า ทำให้อยากทราบว่า  มีใครบ้าง พยายามค้นหาข้อมูลอยู่หลายเดือน ได้แค่ราชทินนาม ไม่มีข้อมูลอื่น ๆ เลยค่ะ หวังว่าคงมีผู้รู้ และได้อ่านผ่านตาม หรือได้พบเห็นหนังสือเล่มอื่น ๆ ที่กล่าวเอาไว้บ้าง ต้องขอขอบคุณอีกครั้งค่ะ


กระทู้: อยากทราบเรื่องกรมโหรค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 15 ธ.ค. 09, 16:21
เอาเป็นว่า  จะพยายามหาข้อมูลให้ก็แล้วกันนะครับ

ตำแหน่งขุนเทพพยากรณ์เป็นตำแหน่งขุนนางกรมโหรระดับต้น  คนที่ได้รับราชทินนามนี้อาจจะได้เลื่อนไปรับราชทินนามอื่นที่สูงขึ้นไปต่อมา  ซึ่งถ้าจะค้นกันจริงต้องไปดูหลักฐานการโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรแต่งตั้งขุนนางสมัยรัชกาลที่ ๔-๕-๖ เอกสารที่จะค้นก็พอมี  แต่ต้องใช้เวลาค้นพอสมควร  เอาเป็นว่า  ถ้ามีข้อมูลคืบหน้า  จะเอามาลงให้ก็แล้วกันนะครับ :)


กระทู้: อยากทราบเรื่องกรมโหรค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 16 ธ.ค. 09, 08:22
ประวัติพระโหราธิบดี (คำ)

พระโหราธิบดี (คำ) เดิมเป็นขุนหมื่นในกรมโหร    ต่อมาได้เป็นที่ขุนอินทจักษ์ เจ้าหมู่ปฏิทิน   ปีขาล สัมฤทธิศก ๑๒๔๐ ได้เป็นที่ขุนเทพพยากรณ์ ปลัดกรมโหรหลัง ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัด ปีละ ๑๕ ตำลึง  ปีกุน นพศก ๑๒๔๙ เป็นที่หลวงโลกทีป  เจ้ากรมโหรหลัง  ไรบพระราชทานเบี้ยหวัดตามเดิม    ร.ศ. ๑๑๓ (ปีที่ ๒๗ ในรัชกาลที่ ๕) ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระโหราธิบดี  เจ้ากรมโหรหน้า  ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือก และมงกุฎสยามชั้นที่ ๕ (ทิพยาภรณ์ กับวิจิตราภรณ์) เหรียญรัชฎาภิเศกมาลา   เดือนมกราคม ร.ศ. ๑๑๓ พระโหราธิบดี (คำ) ป่วยเป็นไข้พิษ   พระสิทธิสารประกอบยารักษาให้รับประทาน  อาการไข้ไม่คลาย  วันที่ ๒๑ มกราคม ร.ศ. ๑๑๓ เวลา ๑ ทุ่ม พระโหราธิบดี (คำ) ถึงแก่กรรม  อายุได้  ๔๗ ปี.


กระทู้: อยากทราบเรื่องกรมโหรค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 27 ม.ค. 10, 11:54
ข้อมูลเกี่ยวกับขุนเทพพยากรณ์(ทัด)

ขุนเทพยากร(ทัด) เปนบุตรขุนเทพจัก (เกด) เดิมขุนเทพยากร ได้รับราชการ รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละหกตำลึงแต่ในแผ่นดินพระบาทสมเดจพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ครั้นมาถึงแผ่นดินปัตยุบันนี้   พระราชทานวสัญญาบัติให้เปนขุนเทพยากร ปลัดกรมโหรหลัง  พระราชทานเบี้ยหวัดขึ้นอีกเก้าตำลึง  รวมเปนปีละสิบห้าตำลึง  ครั้นถึง ณ วันเดือนเก้า  แรมสี่ค่ำ  ปีฉลู นพศก  ให้เมื่อยทั่วทั้งกาย  ร้อนๆ หนาวๆ รับประทานอาหารไม่ใคร่จะได้ นอนไม่ใคร่จะหลับ  ได้หาหมอเชลยศักมาดูว่าเปนโรคริศดวง  ประกอบยาให้รับทาน  อาการทรงอยู่เก้าวันสิบวันแล้วกลับซุดไป  ครั้นถึง ณ วันเดือนสิบแรมค่ำหนึ่ง  อาการให้บวมมือบวมเท้า  ให้ใอเปนกำลัง  รับประทานอาหารได้มื้อละถ้วยชา   ป่วยมาได้เดือนหนึ่ง กับยี่สิบวัน  ครั้นถึง ณ วันพุฒ เดือนสิบเอจ ขึ้นสิบค่ำ  อาการให้ร้อนเสมหปะทะขึ้นมา  จนถึงเวลาย่ำรุ่งถึงอนิจกรรม  อายุได้ห้าสิบหกปี  พระราชทานหีบเชิงชายพื้นแดง สพลงในหีบเปนเกียรติยศ ฯ

คัดลอกรักษาอักขรวิธีตามต้นฉบับ จาก ข่าวตาย ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔ น่า ๒๗๖  วันอาทิตย์ แรมสิบสามค่ำ เดือนสิบเอ็ด ปี จ.ศ. ๑๒๓๙


กระทู้: อยากทราบเรื่องกรมโหรค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ม.ค. 10, 15:21
อ่านมาเรื่อยๆ ขอตั้งข้อสังเกตนอกเรื่องว่า
๑) โหร ๔ คนในนี้  อายุไม่ค่อยยืนนัก  มีคนเดียวถึงแก่กรรมเมื่ออายุ ๗๖  ที่เหลืออายุ ๖๐ กว่าอย่างเก่ง
๒) อาการป่วย ด้วยไข้พิษ   ไม่ทราบว่าโรคอะไร  ไข้ทรพิษ  หรือว่าเป็นไข้สูงเฉยๆ แล้วไข้ไม่ลด  ก็เลยถึงแก่กรรม
๓   โรคริศดวง   หมายถึงริดสีดวงหรือเปล่าคะ   แต่ดูจากอาการ แล้วไม่ค่อยเหมือนริดสีดวงกำเริบเลย
"ให้เมื่อยทั่วทั้งกาย  ร้อนๆ หนาวๆ รับประทานอาหารไม่ใคร่จะได้ นอนไม่ใคร่จะหลับ  อาการให้บวมมือบวมเท้า  ให้ไอเปนกำลัง  รับประทานอาหารได้มื้อละถ้วยชา"
เหมือนเป็นไข้หวัดใหญ่   และต่อมา ไตไม่ทำงาน  ทางเดินหายใจอาจติดเชื้อ อักเสบ ถึงได้ไป   

ถ้ามีหมอประจำอยู่แถวเรือนไทยสักคนก็จะดีหรอก


กระทู้: อยากทราบเรื่องกรมโหรค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 27 ม.ค. 10, 15:48
ตอบตามเรื่องครับ ;D

๑. อายุคนไทยสมัยก่อน  โดยมากก็เฉลี่ยอยู่ประมาณนี้  ๕๐ - ๖๐ ปี  เหตุหนึ่งก็คือการแพทย์ไทยสมัยก่อนยังไม่ค่อยก้าวหน้า  การกินอยู่ยังไม่สู้ถูกสุขอนามัยนัก  การรักษาโรคหรืออาการเจ็บป่วย  ใช้การรับประทานยาเป็นหลัก  ในขณะที่โรคบางโรคต้องใช้วิธีการผ่าตัดหรือวิธีการอื่นๆ รักษาจึงจะได้ผล  การรักษาโรคของคนไทยสมัยก่อนบางทีก็เป็นไปตามยถากรรม และความเชื่อส่วนบุคคล  นี่เป้นเหตุหนึ่งที่ทำให้คนอายุไม่ยืนยาวอย่างคนปัจจุบัน  แต่ขอให้สังเกตว่า เมื่ออายุเฉลี่ยสมัยก่อนไม่ยาวเท่าคนปัจจุบัน  คนสมัยก่อนจึงมีครอบครัวเร็ว   ผิดกับสมัยนี้ยาวยืนขึ้นเลยมีครอบครัวช้าลง

๒.โรคริศดวง  เข้าใจว่าไม่ใช่ โรคริดสีดวง ตามที่คนสมัยนี้เข้าใจกัน   เรื่องโรคที่คนสมัยก่อนเรียกชื่อกันนั้น  แม้จะเหมือนกันหรือคล้ายกันกับชื่อโรคในปัจจุบัน  แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นชื่อโรคที่มีอาการเหมือนกันเสมอไป  ถ้าอยากทราบว่าโรคของคนสมัยก่อนมีลักษณะ อาการอย่างไร  ต้องอ่านดูจากตำราแพทยศาสตร์สงเคราะห์  หรือตำราแพทย์ของหลวง   อย่างเช่น วรรณโรค  คนสมัยก่อนเขาคงหมายเรียกเอาโรคบางอย่างที่เป็นแล้วผิวพรรณของคนไข้เป็นเปลี่ยนไป เช่น ผอมคล้ำ ซีดขาว เป็นต้น  ท่านจึงให้ว่า วรรณ   การที่ท่านเรียกว่าวรรณโรค  ก็เพราะจะเลี่ยงไม่ระบุโรคที่เป็นโดยตรง  เพราะบางทีก็เป็นโรคที่สังคมเวลานั้นรังเกียจ หรือเพื่อจะให้เกียรติคนไข้ด้วย  บางทีอาจจะเป็นฝีอะไรสักอย่าง ท่านก็เรียกว่าวรรณโรค  คนสมัยก่อนท่านเป็นฝีกันมาก  สังเกตจากที่ตำรายารักษาฝีมีมากตำรับมากขนาน  ผิดกับวัณโรค ของคนสมัยนี้  ที่เป็นชื่อของโรคปวด มีอาการไอมาก

ไม่ใช่หมอ  ผมตอบได้เท่านี้แหละครับ ;D


กระทู้: อยากทราบเรื่องกรมโหรค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ม.ค. 10, 15:59
ขอบคุณค่ะคุณหลวงหมอ  ;)
นึกได้อย่างเดียว  วัณโรค เมื่อก่อนเขาเรียก ฝีในท้อง   ไม่รู้ว่าทำไม
เดาว่าคงไอออกมาเป็นเลือด  คนเลยนึกว่ามีฝีที่แตกแล้วอยู่ในท้อง  ขึ้นมาตามทางเดินอาหาร

ที่ว่าคนสมัยนี้อายุยืนกว่าเมื่อก่อน  เห็นด้วย
นึกได้ว่า ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ฯ  และท่านผู้หญิงยศวดี อัมพรไพศาล อายุยืนเกิน ๑๐๐ ปีแล้วทั้งสองท่าน


กระทู้: อยากทราบเรื่องกรมโหรค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: pa15 ที่ 19 ก.พ. 10, 21:07
ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ได้ให้ข้อมูลและความเห็นนะค่ะ ทำให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมได้บ้าง ขอรบกวนสอบถามในเรื่องการค้นคว้าข้อมูลเรื่องประวัติศาสตร์ราชทินนามต่าง ๆ ของผู้ที่รับราชการในวัง ถ้าหากไปค้นข้อมูลที่หอสมุดแห่งชาติจะต้องไปสืบค้นจากแผนกไหนค่ะ ขอบพระคุณค่ะ


กระทู้: อยากทราบเรื่องกรมโหรค่ะ
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 22 ก.พ. 10, 08:34
ไปค้นที่หอจดหมายเหตุดีกว่าครับ ในส่วนเอกสารของกระทรวงวัง  นอกจากนั้นยังสามารถไปค้นได้จากกระทรวงมุรธาธรและกรมราชเลขานุการ(ราชเลขาธิการ)  (แต่ขอแนะนำได้อย่างหนึ่งว่าเอกสารที่ว่าด้วยการแต่งตั้งขุนนางนั้น มีความหนาหลายหน้า  ถ้าจะค้นต้องใช้เวลาค้นพอสมควรทีเดียว) อันนี้หมายถึงการแต่งตั้งข้าราชการในสมัยรัชกาลที่ ๕- ๗  ถ้าตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ ขึ้นไป คงตัองไปค้นที่ส่วนเอกสารโบราณ ชั้น ๔ หอสมุดแห่งชาติ  และไม่รับประกันว่าจะมีหรือไม่ครับ