เรือนไทย

General Category => ทันกระแส => ข้อความที่เริ่มโดย: NAVARAT.C ที่ 11 ต.ค. 17, 22:18



กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ต.ค. 17, 22:18
คำขอร้อง

เพื่อมิให้เกิดความสับสน  ผมจึงขอเรียบเรียงเรื่องตามลำดับเวลา หรือที่เรียกเป็นภาษาวิชาการของนักประวัติศาสตร์ว่า Timeline เพราะหากว่าเราจะว่ากันถึงเหตุการณ์ที่ผ่านไปแล้ว โดยละเลยไม่คำนึงว่าอะไรเกิดก่อนเกิดหลัง  ก็จะหลงทางได้ง่ายๆ

ผมจะแบ่งเหตุการณ์เหล่านั้นออกเป็นช่วงๆ

ช่วงที่ ๑ คือช่วงที่ก่อนจะปรากฏข่าวว่ามีสถูปบรรจุพระบรมอัฐิพระเจ้าอุทุมพรในพม่าในปี ๒๕๓๘ จนถึง…
ช่วงที่ ๒ คือช่วงที่ปรากฏเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ในปี ๒๕๓๘ ไปจนถึงช่วงที่องค์การท้องถิ่นของพม่าประกาศในปี ๒๕๕๕  ว่าจะไถเกรดสุสานล้านช้างที่พระสถูปตั้งอยู่ เพื่อพัฒนาเป็นที่ท่องเที่ยว จนถึง…
ช่วงที่ ๓ คือช่วงที่ องค์กรเอกชนไทยร่วมกับพม่า ได้ร่วมอนุรักษ์โบราณสถานสำคัญนี้ได้สำเร็จในปี ๒๕๕๗ แต่ถูกรัฐบาลพม่าสั่งระงับโครงการไว้ชั่วคราว จนถึง…
ช่วงที่ ๔ งานดำเนินต่อจนถึงช่วงปัจจุบัน ที่งานด้านอนุรักษ์สถาปัตยกรรมเสร็จแล้ว แต่ยังบรรจุพระบรมอัฐิเข้าที่เดิมยังไม่ได้ เพราะ….

ผมต้องขอความกรุณาท่านที่เข้ามาเสนอข้อคิดเห็นด้วยว่า อย่ายกประเด็นใดที่กระโดดข้ามช่วงไปมากับไทม์ไลน์ที่กำหนด  มิฉะนั้นก็จะเหมือนกับกระทู้ก่อนแหละครับ ที่อ่านแล้วงุนงงไปหมด


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ต.ค. 17, 22:20
วินาทีแรกที่วิจิตร ชินาลัย ย่างก้าวเข้าไปในสุสานลินซินกอนนั้น เขาต้องชะงักงันอยู่ชั่วครู่  ลำพังสภาพป่าช้าที่รกชัฏเพราะถูกทิ้งร้างให้ธรรมชาติดิบปกคลุม เสียงแมลงประสานเสียงหรีดหริ่งเรไร ที่กระทบจักษุและโสตประสาทก็น่าสพรึงพออยู่แล้ว  แต่ยังมีกองขยะที่ชาวบ้านชาวเมืองนำมาทิ้งสุมๆไว้ส่งกลิ่นเน่าเหม็นฟุ้งกระจาย ลอยมารบกวนฆานประสาทอีกด้วย ทำให้เพิ่มความสยองยิ่งขึ้นไปอีก

ถ้าเป็นนักท่องเที่ยวธรรมดาอาจถอยแล้วด่าไกด์ที่พาไปดู  วิจิตรอยู่ในภาวะที่จะไปต่อหรือยั้งอยู่เพื่อตั้งหลักใหม่เหมือนกัน  แต่พลังลึกลับที่สัมผัสได้ด้วยจิตที่ตั้งมั่นได้นำเขาให้ก้าวออกไปข้างหน้า สู่สถูปจุดหมายที่แลเห็นส่วนยอดทะลุเหนือพุ่มไม้ไกลๆ  หลังจากลุยต้นไม้ใบหญ้า หลบหลีกกิ่งไม้ที่ทอดขวางพลาง สอดส่ายสายตาไม่ให้เผลอไปสะดุดเอาหลุมศพแบบพม่าที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วอาณาบริเวณ  ในที่สุดเขาก็ได้มาถึงโคกเนินแห่งหนึ่ง  เบื้องหน้าคือสถาปัตยกรรมก่อด้วยอิฐโบราณเป็นแท่ง รูปทรงกระบอกมียอดบัวปลายแหลม แม้ส่วนฐานจะถูกความชื้นจากดินซึมขึ้นมากัดกร่อนทำลายไปโข  แต่ยังทิ้งร่องรอยว่ายังมีส่วนที่อยู่ใต้ดินอีก  และดินนั้นเป็นดินใหม่ที่เกิดจากขยะลอยน้ำในฤดูที่ทะเลสาบตองตะมาน เอ่อล้นฝั่ง แล้วพัดพามาสุมไว้นับร้อยครั้ง  

ไม่แปลกที่สภาพของลินซินกอนจะเป็นอย่างที่เห็นในรูป  ทรากสถาปัตยกรรมองค์ประกอบอื่นๆนอกจากจะอยู่ใต้ดินแล้ว ยังมีสุมทุมพุ่มไม้บดบังเสียสนิท


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ต.ค. 17, 22:22
วิจิตรเป็นสถาปนิก จบจากคณะสถาปัตยกรรมไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร สมัยที่ศาสตราจารย์ พระพรหมพิจิตร เป็นคณบดี ภายหลังคณบดีคนใหม่ได้ปรับปรุงหลักสูตร แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เพื่อความเป็นสากล

เมื่อจบปริญญาตรีแล้ว เขาได้ไปทำปริญญาโทที่ Pratt Institute  นิวยอร์ก  แล้วทำงานหาประสบการณ์ที่นั่นพักหนึ่งก่อนกลับมาเปิดบริษัทสถาปนิกชื่อ Seven Associates มีผลงานออกแบบอาคารและงานตกแต่งภายในเยอะมาก งานส่วนหนึ่งจะเป็นงานอนุรักษ์ ที่เจ้าของโครงการ ทั้งวัดหรือบุคคล ต้องการซ่อมแซมปรับปรุงอาคารเก่าที่ใช้งานไม่ได้แล้ว ให้นำมาใช้ได้ใหม่สมสมัย โดยไม่ทิ้งรูปลักษณ์เดิม งานลักษณะนี้มีทั้งอนุรักษ์(Conservation)และปฏิสังขรณ์ ( Restoration) บางงานวัดยังขาดปัจจัยอยู่  วิจิตรก็จะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการระดมทุนมาเกื้อหนุน ความกว้างขวางในสังคมทำให้วิจิตรสามารถรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติไว้ได้เป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นงานอาชีพและงานกุศล  กระทั่งเป็นที่ยอมรับของวงการสถาปนิกในประเทศนี้ สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์จึงเสนอชื่อให้ได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่นประเภทบุคคล ประจำปี ๒๕๕๖ เข้ารับพระราชทานจากพระหัตถ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ  

สถาปนิกน้อยคนนักที่จะได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ต.ค. 17, 22:26
โดยส่วนตัว ผมรู้จักพี่วิจิตรเมื่อเรียนจบและตั้งสำนักงานได้ไม่นาน  แล้วถูกรุ่นพี่จุฬาอาวุโสชวนแบบสั่งให้ไปช่วยงานสมาคมสถาปนิกสยาม โดยเป็นคณะกรรมาธิการปฏิบัติวิชาชีพสถาปนิก เลยได้รู้จักพี่วิจิตร ได้นั่งอยู่ก่อนแล้ว  

หลังจากทำอยู่ได้ปีสองปีก็เบื่อหน่ายเต็มกำลัง เพราะกรรมาธิการมีแต่เรื่องพิจารณาข้อขัดแย้งระหว่างเจ้าของอาคารกับสถาปนิก ส่งมาให้เราพิจารณาเหมือนศาล  จนไม่มีเวลาจะคิดเรื่องปัญหาของวิชาชีพจริงๆ  พอพี่วิจิตร ซึ่งเป็นกรรมาธิการอนุรักษ์อยู่ด้วยชวนให้ไปนั่งฟังการประชุมทางโน้นบ้าง  ผมก็ติดใจในรสชาติของการสนทนา  ครั้นไปร่วมหลายครั้งเข้า ผู้ใหญ่ก็ชวนให้ผมเข้าเป็นกรรมาธิการในคณะด้วย

ก่อนที่สมาคมสถาปนิกสยามจะร่ำรวยทุนรอนจากการจัดงานแสดงสินค้าวัตถุก่อสร้างในแต่ละปีนั้น  กรรมาธิการทุกคณะต่างทำงานกันแบบจิตอาษา ส่วนใหญ่ผู้เป็นประธานจะจัดประชุมที่สำนักงานหรือบ้านของตนเอง เพราะสมาคมเป็นตึกแถวห้องเดียวอยู่ปากซอยอารี พหลโยธิน  การประชุมแต่ละครั้งที่ยาวมากจึงมักจะคาบเกี่ยวกับเวลาอาหาร ประธานจึงต้องแบกภาระในการควักกระเป๋าจัดเลี้ยงข้าวปลาอาหารง่ายๆให้ผู้ร่วมประชุม(ครั้งหนึ่งๆประมาณเจ็ดแปดคน)ด้วย  กรรมาธิการอนุรักษ์นั้น ส่วนใหญ่จะประชุมตอนเย็นหลังผู้หลักผู้ใหญ่เลิกงาน แล้ว กินข้าวคุยกันยาวถึงสามสี่ทุ่ม  ผมได้ฟังจุใจแล้วก็รู้สึกว่าตนมาถูกที่ถูกทางแล้ว  จนเกือบยี่สิบปีจึงถึงคราวผมจำต้องเป็นประธานบ้าง  หมดสมัยแล้วรุ่นน้องๆก็ว่ากันต่อ

กรรมาธิการอนุรักษ์เป็นคณะเดียวของสมาคมที่มีผลงานเป็นรูปธรรม เพราะกรรมาธิการจ้างผู้จัดการไว้คนหนึ่งให้ทำงานเต็มเวลา โดยกรรมาธิการต้องหารายได้มาจ่ายเงินเดือนให้ ด้วยการพิมพ์หนังสือจำหน่ายบ้าง  จัดทัวร์ศิลปวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรม พาสมาชิกไปเที่ยวทั้งในและนอกประเทศใกล้ๆเช่นพม่าและเขมรบ้าง   กรรมาธิการสมัยพี่วิจิตรมีผลงานโดดเด่นเรื่องการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังของวัดเปาวโรหิต โดยสกุลของผู้สร้างวัดเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้   เพื่อว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญเรื่องการนี้โดยเฉพาะเป็นผู้ทำ หลังจากนั้น ก็ มีบริษัทและองค์กรใหญ่ๆให้การสนับสนุนด้านการเงินให้ทำที่วัดอื่นๆด้วย ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด  แต่งานหลักจริงๆของกรรมาธิการคือการคัดเลือกอาคารเก่าให้ได้รับรางวัลอนุรักษ์ดีเด่นประจำปี   สมัยผมเป็นประธานนั้น โชคดีได้คุณวรชาติ มีชูบทหรือ V-Mee (รุ่นน้องที่วชิราวุธ อาชีพนักกฏหมาย) มาเป็นผู้จัดการให้กรรมาธิการจนสิ้นสมัย


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ต.ค. 17, 22:27
ครั้งแรกที่กรรมาธิการจัดทัวร์สถาปนิกไปพม่าหลังเปิดประเทศใหม่ๆราวสี่สิบปีที่แล้วนั้น  ผมได้ร่วมคณะไปด้วย แต่ไม่ได้ไปเที่ยวอมรปุระ ภายหลังได้ทราบจากพี่วิจิตรว่า ส่วนตัวได้พาคณะบุคคลภายนอกเช่นกลุ่มเพื่อนมาแตร์ เพื่อนราชินี และกลุ่มเพื่อนอื่นๆไปเที่ยวอีกหลายครั้งโดยพี่วิจิตรเป็นแขกรับเชิญไปช่วยให้ความรู้  บางกลุ่มเป็นวิศวกรที่ต้องการไปดูงานเรียงอิฐของสถาปัตยกรรมมอญพม่าในสมัยพุกาม ว่าใช้เทคนิกเช่นไรที่ไม่พึ่งปูนสอ แต่ยังอยู่ยงคงกระพันมาได้จนถึงทุกวันนี้  

ต่อมาองค์การท่องเที่ยวแห่งประเทศพม่าได้โปรโมตเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมต่อจากมัณฑเลย์  โดยภาคเช้าไปดูสะพานอูเบ็ง ซึ่งพระเจ้าปดุงโปรดให้รื้อเสาไม้สักในพระราชวังเดิม ไปทำสะพานยาวที่สุดของพม่าเพื่อข้ามทะเลสาบตองตะมาน  แล้วไปดูวัดวาอารามในอมรบุระ ซึ่งเป็นเมืองหลวงก่อนหน้า ส่วนภาคบ่ายเลยไปอังวะที่อยู่ห่างออกไปเพียงเจ็ดแปดกิโล นั่งรถม้าชมเมืองโบราณ ก่อนจะกลับไปพักคืนที่มัณฑเลย์  จึงได้ทราบจากไกด์ชาวท้องถิ่นว่าไม่ไกลจากเชิงสะพานอูเบ็งฝั่งอมรปุระแต่ไม่ถึงร้อยเมตร มีสถูปที่ชาวเมืองบริเวณนั้น ซึ่งส่วนใหญ่มีเชื้อสายโยเดีย  เชื่อว่าเป็นสถูปที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระเจ้าอุทุมพร   จึงสนใจที่จะไปดู

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา  ทุกคณะที่พี่วิจิตรพาไปจึงเพิ่มรายการไปสุสานลินซินกอนด้วย ซึ่งบางครั้งก็เข้าถึงองค์สถูป บางครั้งก็เข้าไปถึง เพราะรกเกินบ้าง น้ำท่วมบ้าง แต่เรื่องรกนี้ภายหลังไม่มีปัญหาเพราะพี่ท่านได้สั่งการให้บริษัทนำเที่ยวจ้างคนไปถางทางไว้ล่วงหน้า  รวมจำนวนครั้งที่พี่วิจิตรไป ณ สถานที่นั้นก่อนที่เรื่องนี้จะเป็นข่าว นับได้ ๒๕ ครั้งด้วยกัน  จนรายการมาตรฐานทัวร์ของพม่าที่จัดให้คนไทยทุกคณะที่มาเที่ยวสะพานอูเบ็ง ต้องเพิ่มรายการให้ลูกทัวร์ไปกราบไหว้ถึงพระสถูป และเมื่อไปอังวะ ก็จะต้องไปดูวัดดอกเดื่อ ซึ่งพระมหาเถระเจ้าอุทุมพรเคยประทับอยู่ เป็นพิเศษกว่าทัวร์ชาติอื่นๆ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ต.ค. 17, 22:30
พระพุทธรูปที่วัดจิตพรรณ ( Yethaphan Monastery)  วัดนี้สันนิษฐานว่าเมื่อพระภิกษุพระเจ้าอุทุมพรถูกพม่านำเสด็จจากกรุงศรีอยุธยามาถึงอังวะแล้วนั้น ได้จัดให้พระองค์ประทับอยู่ที่วัดนี้   Yethaphan  ภาษาพม่าแปลว่ามะเดื่อ เช่นเดียวกับพระนามอุทุมพร ซึ่งในบาลก็มีความหมายว่ามะเดื่อด้วย
ที่ใต้ฐานพระพุทธรูปนี้มีจารึกเป็นภาษาพม่า อ่านทับศัพท์ว่าพระพุทธมะเดื่อ (Phra Pood Maduea)

เดิมองค์พระเป็นไม้แกะสลักศิลปะแบบอยุธยา  ต่อมาชำรุดผุพัง จึงถูกพอกด้วยปูน แล้วปั้นองค์ขึ้นใหม่เป็นศิลปะพระบัวเข็มของพม่า  ทว่าการที่พระพุทธรูปแบบพม่าทั้งหลายทั้งปวงไม่มีการทำซุ้ม  แต่องค์นี้มีซุ้มเรือนแก้วชัดเจนเช่นเดียวกับพระพุทธชินราช  จึงเป็นที่มาของข้อสันนิฐานดังกล่าว


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ต.ค. 17, 22:33
ต่อมาเมื่อพระเจ้าปดุงได้ย้ายราชธานีจากอังวะ มาสร้างใหม่ที่อมระปุระ ซึ่งความจริงก็ห่างจากราชธานีเก่าแค่มีแควน้ำขวางกั้น จดหมายเหตุราชวงศ์คองบองมีบันทึกว่า ได้เชิญเสด็จพระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พม่าเรียก พระเจ้าฟ้าดอก สะกดด้วยอักษรโรมันปนอังกฤษว่า King Kyao Bwa Htauk ซึ่งคนพม่าเท่านั้นในโลกนี้ที่จะอ่านแล้วออกเสียงว่าพระเจ้าฟ้าดอก  ซึ่งถึงแม้จะไม่มีคำว่าเดื่อ ก็หมายความถึง เจ้าฟ้าดอกเดื่อ  ให้ไปประทับอยู่ในราชธานีใหม่ด้วย หลักฐานพม่าระบุชื่อวัดที่ทรงจำพรรษาไว้ชื่อว่าวัดปากป่า  สุดท้ายพระองค์ได้เสด็จสวรรคตที่เมืองนี้ หลังจากทรงประทับอยู่ในพม่านานถึง ๒๙ ปี

พระเจ้าปดุงรับสั่งให้จัดพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ ณ สุสาน(ล้านช้าง)ลินซินกอน ซึ่งเป็นที่ตั้งพระสถูปบรรจุพระอัฐิของเจ้านายประเทศราช ที่มาสิ้นพระชนม์ในพม่า ลักษณะคล้ายๆกับสุสานหลวงวัดราชบพิธ สมัยที่พม่าตกเป็นเมืองขึ้นอังกฤษนั้น สุสานนี้ได้กลายเป็นสุสานนานาชาติทั้งพม่าฝรั่งจีน ปะปนไปหมด พระสถูปต่างๆถูกทิ้งร้างทลายไป เหลือที่มีขนาดใหญ่โดดเด่นเป็นสง่าอยู่องค์เดียว ซึ่งมีรูปทรงคล้ายโกศของเจ้านายสยาม


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ต.ค. 17, 05:09
มาถึงยุคนี้ คนพม่าไม่ได้ให้ความสนใจกับสถานที่แห่งนี้เลย ไม่ว่าจะเป็นระดับปัญญาชนหรือคนระดับล่าง อดีตสุสานหลวงของเจ้านายต่างชาติได้กลายสภาพมาเป็นป่าช้าแออัดและที่ทิ้งขยะชุมชนดังภาพ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ต.ค. 17, 05:12
ภาพในฤดูที่น้ำในทะเลสาบล้นตลิ่ง


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ต.ค. 17, 05:13
และกองขยะที่น้ำนำมาปรากฏให้เห็นเมื่อระดับน้ำลด ผสมปนเปไปกับขยะที่เทศบาลนำรถเก็บขยะในเมืองมาดัมพ์ใส่


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ต.ค. 17, 05:41
มีนาคม ๒๕๓๘ 

นิตยสาร Today นำเสนอบทความ เขียนโดย (นายแพทย์)  ดร. ทิน เมืองจี เรื่อง “ภาพวาดกษัตริย์สยาม” มีคนพม่าไปพบในสมุดพับ(Parabike) ของพม่าที่อังกฤษขนจากพระราชวังมัณฑเลย์ไปเก็บไว้ยังจาก British Commonwealth Library มีฉบับหนึ่งที่กล่าวถึงพระนามเจ้านายประเทศราชทั้งหมดที่กษัตริย์พม่านำมาพำนักในเมืองหลวง มีพระนามเป็นร้อยๆ  แต่ที่แปลกคือมีเล่มเดียวที่เล่าความถึงกษัตริย์ในเพศบรรพชิตของโยเดียที่ถูกพระเจ้ามังระโปรดให้เสด็จมาเมืองอังวะด้วย และมีรูปวาดแต่ระบุพระนามว่าพระเจ้าเอกทัศ ซึ่งคุณหมอบอกว่าเรื่องถูก แต่บรรยายภาพผิด เพราะหลักฐานของพม่าเองก็ยืนยันว่าพระเจ้าเอกทัศสวรรคตในพระราชวัง และกษัตริย์พม่าโปรดให้ถวายพระเพลิงพระบรมศพไปแล้ว

ส่วนกษัตริย์พระที่เสด็จมาทรงพระนามว่าพระเจ้าอุทุมพร บทความได้กล่าวต่อถึงสถูปแห่งหนึ่ง พร้อมแสดงภาพวาดองค์สถูป ในสุสานลินซินกอน (Linzingong  ซึ่งแปลว่าสุสานล้านช้าง) โดยคาดว่าเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระองค์ 


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ต.ค. 17, 05:57
หนังสือที่ตีพิมพ์เรื่องนี้เป็นนิตยสารด้านการท่องเที่ยวเล็กๆ ซึ่งเข้าไม่ถึงกลุ่มนักประวัติศาสตร์และโบราณคดีชาวพม่า ทว่ามีนักท่องเที่ยวเอากลับมาให้หนังสือพิมพ์ในเมืองไทย ซึ่งก็ได้นำเรื่องราวนั้นไปนำเสนอ และส.ส.ท่านหนึ่งได้นำไปอภิปรายในสภา ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลว่า ไม่สนใจในเรื่องนี้บ้างหรือ

นั่นจึงเป็นเหตุให้กรมศิลปากรได้ส่งคณะนักสำรวจทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ไปดูสถานที่สีห้าคน   แต่แล้วก็เงียบหายไปโดยไม่มีบทสรุปที่เป็นทางการ (รึว่าคุณเพ็ญชมพูจะใช้อินทรเนตรไปค้นหามาได้ ?)

สิงหาคม ๒๕๔๕  เมื่อมีคนพูดถึงเรื่องนี้หนาหูขึ้นว่าทำไมรัฐบาลไทยจึงไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้เลย นิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม จึงได้ลงบทความของพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ หนึ่งในคณะของกรมศิลปากรที่เดินทางไปสำรวจในครั้งนั้น  และเมื่อปี ๒๕๓๘ ขณะดำรงตำแหน่งรักษาการตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากรได้เป็นผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องนี้โดยตรง

ทั้งที่คณะของกรมศิลปากรไปอยู่ที่อมรปุระสามสี่วันก็จริง  แต่ไม่สามารถเข้าถึงตัวสถูปได้ครบทุกหลักฐาน เพราะสภาพที่หนาแน่นของกิ่งไม้ใบหญ้า(ผมได้เอาสภาพของพื้นที่มาลงซ้ำให้ดูข้างล่าง) แต่พิเศษได้วิพากษ์วิจารณ์ หลักฐานที่ ดร. ทินเมืองจีนำเสนอ ในประเด็นว่า
๑   ดร. ทินเมืองจีเป็น เป็นนายแพทย์  ถือเป็นนักประวัติศาสตร์สมัครเล่น ที่พยายามปะติดปะต่อเรื่องที่นักวิชาการอื่นๆ เขียนขึ้น แล้วนำลงในนิตยสารส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวของพม่า เป็นนัยว่ามีวัตถุประสงค์แอบแฝง
๒   เป็นสถูปที่สร้างขึ้นในแบบศิลปะพม่า มิใช่ศิลปะไทย
๓   ยังไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์สนับสนุนเพียงพอว่าจะเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระเจ้าอุทุมพร




กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ต.ค. 17, 06:05
เอาละครับ ผมจะหยุดพักตรงนี้ก่อน เช้านี้จะไปขึ้นเครื่อง กว่าจะได้กลับเข้ามาตอบคงช่วงกลางคืน หลังหมดกิจกรรมอื่นๆแล้ว

อย่าลืมนะครับ ผมขอไว้แล้วว่า อย่าเอาเรื่องหรือภาพที่เกิดหลังจากจุดนี้มาลง มิฉะนั้นจะโดนผมเป่าออฟไซด์แน่นอน แต่จะย้อนหลังยาวอย่างไรก็ได้ เช่น ผมไม่ได้กล่าวถึงพระราชประวัติของพระเจ้าอุทุมพรเลย พอจะแยกเข้าซอยได้หลายสายอยู่


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ต.ค. 17, 07:15
อ้างถึงกระทู้เดิมไว้ แต่ลืมใส่ระโยงครับ

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5567.


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ต.ค. 17, 14:38
เผมไม่ได้กล่าวถึงพระราชประวัติของพระเจ้าอุทุมพรเลย พอจะแยกเข้าซอยได้หลายสายอยู่

เชิญเข้าสู่ซอยแยก  ระหว่างเจ้าของกระทู้ไม่อยู่ค่ะ

สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร มีพระนามเดิมเมื่อประสูติว่าเจ้าฟ้าอุทุมพร ราษฎรเรียกว่าเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ   ไม่ต้องสงสัยว่าทำไมถึงเรียกต่างกันไปจนไม่เหลือเค้าเดิม    ทั้งนี้เพราะคำว่า อุทุมพร แปลว่า มะเดื่อ
พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ อันประสูติแต่พระมเหสี กรมหลวงพิพิธมนตรี (พระพันวัสสาน้อย)
ในคำให้การชาวกรุงเก่า ระบุว่าพระองค์มีพระเชษฐาและพระเชษฐภคินีร่วมพระมารดา 7 พระองค์ ได้แก่ เจ้าฟ้าประชาวดี เจ้าฟ้าประภาวดี เจ้าฟ้าพินทวดี เจ้าฟ้ากษัตรีย์ สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ (กรมขุนอนุรักษ์มนตรี) เจ้าฟ้าจันทรวดี และเจ้าฟ้านุ่ม
5 พระองค์เป็นหญิง มี 2 พระองค์เท่านั้นเป็นชาย 



กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ต.ค. 17, 14:48
     เมื่อพระเจ้าบรมโกศขึ้นครองราชย์ในปี พ.ศ. 2276 เจ้าฟ้าอุทุมพรทรงได้รับสถาปนาทรงกรมเป็น กรมขุนพรพินิต  ในช่วงเวลานั้น  เจ้าฟ้าที่ได้รับการสถาปนาเป็นวังหน้า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล  คือเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) ซึ่งก็หมายความว่า ทรงอยู่ในตำแหน่งรัชทายาท    เจ้าฟ้าอุทุมพรนั้นอยู่ในลำดับสาม  เพราะพระเชษฐาคือเจ้าฟ้าเอกทัศ กรมขุนอนุรักษ์มนตรีคั่นกลางอยู่อีกองค์หนึ่ง
     ถ้าหากว่าไม่มีเหตุการณ์หักเหใดๆ  เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ก็น่าจะได้ครองราชย์ต่อตามโบราณราชประเพณี  แต่เผอิญเกิดเรื่องหักเหอย่างหนัก  คือถูกลงพระอาญาจนถึงสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2298  จากนั้นตำแหน่งวังหน้าก็ว่างอยู่  พระเจ้าบรมโกศมิได้ทรงสถาปนาพระราชโอรสพระองค์ใดขึ้นแทน
     สองปีต่อมา  พ.ศ. 2300 กรมหมื่นเทพพิพิธ พระราชโอรสที่ประสูติจากเจ้าจอม  จึงปรึกษากับเจ้าพระยาอภัยราชา พระยากลาโหม และพระยาพระคลัง แล้วกราบทูลขอให้สถาปนาเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิตเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล  โดยข้ามกรมขุนอนุรักษ์มนตรีไป    ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่กรมขุนพรพินิตจะปฏิเสธ เพื่อถวายตำแหน่งแด่เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรี ตามระเบียบแบบแผนอันถูกต้อง
    ตรงนี้ละเป็นรอยร้าวรอยแรกระหว่างพี่น้อง  คือเจ้าฟ้าเอกทัศและเจ้าฟ้าอุทุมพร    น้องอาจจะไม่อยากร้าวกับพี่  แต่พี่นั้นแน่นอนว่าจะต้องรู้สึกไม่มากก็น้อย   อีกอย่างเราก็คงดูออกว่ากรมหมื่นเทพพิพิธนั้นท่านก็คงได้ "ไฟเขียว" มาจากพระราชบิดา ไม่งั้นคงไม่กล้าทูลขออะไรชนิดหักหน้าพี่ชายแบบนี้
    พระเจ้าบรมโกศก็โปรดให้เป็นไปตามนั้น   พงศาวดารบันทึกว่า
    สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า "กรมขุนอนุรักษ์มนตรีนั้น มีวิสัยพระทัยปราศจากความเพียร ถ้าให้ดำรงฐานาศักดิ์อุปราชสำเร็จราชกิจกึ่งหนึ่ง จะเกิดวิบัติฉิบหายเสีย เห็นแต่กรมขุนพรพินิต กอปด้วยสติปัญญาเฉลียวฉลาด ควรจะดำรงเศวตรฉัตรรักษาแผ่นดินได้"
     จึงทรงตั้งกรมขุนพรพินิตเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลแต่เจ้าฟ้าอุทุมพรยังคงประทับ ณ พระตำหนักสวนกระต่ายในพระราชวังหลวงดังเดิม


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ต.ค. 17, 16:54
     เหตุการณ์ที่ท้าทายฝีมือของเจ้าฟ้าอุทุมพร เกิดขึ้นเมื่อพระเจ้าบรมโกศสวรรคต   ความกระด้างกระเดื่องก็เกิดขึ้นทันที เมื่อ"เจ้าสามกรม "อันประกอบด้วยกรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพภักดี พระราชโอรสของพระเจ้าบรมโกศอันประสูติจากเจ้าจอม  ได้เตรียมกองกำลังเหมือนว่าจะก่อกบฏขึ้นมา
     น่าสังเกตว่า พระเจ้าบรมโกศทรงมีพระราชโอรสที่ล้วนแล้วแต่แบ่งแยกเป็นก๊กเป็นเหล่า ไม่สามัคคีกันเลย   เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์เองก็ไม่ถูกกับเจ้าสามกรม แล้วก็ทรงถูกกำจัดไปก็เพราะเจ้าสามกรมนี่เอง   
     เจ้านายสามองค์นี้เป็นพระราชโอรสชั้นผู้ใหญ่  มีกำลังไพร่พลอยู่ไม่น้อย   ดังนั้นการปราบปรามจึงต้องวางแผนให้แนบเนียน   เจ้าฟ้าอุทุมพรซึ่งบัดนี้อยู่ในฐานะกษัตริย์ทรงส่งพระราชาคณะ 5 รูป คือ พระเทพมุนี พระพุทธโฆษาจารย์ พระธรรมอุดม พระธรรมเจดีย์ และพระเทพกวี ไปเกลี้ยกล่อมให้กลับพระทัยมาถวายสัตย์   ทั้งสามองค์ก็ยอมมาถวายสัตย์   
     ปรากฏว่ามีแต่กรมหมื่นเทพพิพิธ หรือพระองค์เจ้าแขก ที่เป็นเจ้าต่างกรมอีกองค์หนึ่งเท่านั้นที่ยอมโอนอ่อนทุกอย่าง   ให้ถวายสัตย์ก็ถวาย   ให้ไปผนวชเสียให้หมดเรื่องราวก็ยอมผนวช  ก็เลยรอดชีวิตไป   แต่อีกสามองค์ยอมถวายสัตย์แต่ไม่ยอมไปผนวช   จึงถูกจับขณะเข้าเฝ้า และถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ตามราชประเพณี
      คนที่คุมการสำเร็จโทษ  ว่ากันว่าโปรดให้พระองค์เจ้าอาทิตย์พระโอรสในเจ้าฟ้ากุ้งเป็นคนคุม เพื่อเป็นการแก้แค้นที่เคยทำกับพระบิดา
     เจ้าฟ้าอุทุมพรขึ้นครองราชย์ได้เพียง 10 วัน ก็อย่างที่พงศาวดารบอกไว้ คือเจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์มนตรีทรงสึกออกมาแสดงท่าทีว่าจะทวงราชสมบัติ    พระอนุชาก็ถวายให้โดยดี  แล้วพระองค์เองก็ไปผนวชที่วัดเดิม แล้วย้ายไปประทับ ณ วัดประดู่ทรงธรรม


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ต.ค. 17, 17:08
    เมื่อเกิดศึกพม่าครั้งพระเจ้าอลองพญายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา   พระเจ้าเอกทัศโปรดให้คนไปเชิญพระเจ้าอุทุมพรให้ลาผนวชมาบัญชาการรบ  ก็ทรงบัญชาการรบได้ดี   อลองพญาถูกปืนทางฝ่ายอยุธยา ต้องถอยทัพกลับไป และสวรรคตระหว่างทาง   จากนั้นพระเจ้าเอกทัศก็ทรงทวงราชบัลลังก์คืนซ้ำสอง    พระเจ้าอุทุมพรก็เสด็จกลับไปประทับที่วัดตามเดิม
   มังระพระราชโอรสของพระเจ้าอลองพญายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง     คราวนี้เป็นศึกใหญ่หลวงกว่าครั้งก่อน    ราษฎรสิ้นหวังที่จะป้องกันตัวเอง จึงไปร้องขอให้พระเจ้าอุทุมพรลาผนวชอีกครั้ง    แต่จะด้วยเกรงพระทัยพระเชษฐา หรือทรงสิ้นหวังกับชะตากรรมของอยุธยา  พระเจ้าอุทุมพรก็ไม่ยอมลาผนวชจนแล้วจนรอด  จนกระทั่งเสียกรุงเมื่อพ.ศ. 2310

    พระเจ้าอุทุมพรเป็นหนึ่งในเจ้านายฝ่ายไทยที่ถูกนำตัวไปพม่า        กษัตริย์พม่าเองก็ให้ความเคารพนับถืออย่างดี  มิได้ลบหลู่หรือกระทำการข่มเหงรังแกอย่างใด    ทรงอยู่ในเพศบรรพชิตมาตลอด    น่าสังเกตข้อหนึ่งว่าพระองค์ท่านไม่มีท่าทีว่าประสงค์จะสึก หรือว่าหลบหนีออกจากพม่ากลับมาสู่ไทยอีกครั้ง    คงอยู่ที่นั่นมาตลอด 29 ปีจนสิ้นพระชนม์


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ต.ค. 17, 08:22
ขอบพระคุณท่านอาจารย์เทาชมพูที่กรุณาเข้ามาขัดตาทัพ ในระหว่างที่ผมติดภาระกิจกำลังเดินทางสู่จุดหมายที่อำเภอปายตั้งแต่เมื่อวาน ซึ่งขณะนี้ยังไปไม่ถึง นึกว่าเมื่อคืนจะได้เข้าร่วมสนทนาในกระทู้บ้างก็ฝืนสังขารไม่ไหว  คงต้องขอเรื่อยๆเฉี่อยๆไปอีกสองสามวันนะครับ

สำหรับพระราชประวัติของพระเจ้าดอกเดื่อในพม่านั้น หาอ่านได้ในหนังสือของคุณมิกกี้ ฮาร์ท สถาปนิกและนักประวัติศาสตร์อิสระชาวพม่าที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยนานจนพูดและเขียนภาษาไทยได้เป็นอย่างดี ได้เขียนหนังสือเรื่อง "โยเดียกับราชวงศ์พม่า เรื่องจริงที่ไม่มีใครรู้" สำนักพิมพ์มิวเซียมสยามจัดพิมพ์ ผมไม่ได้นำเสนอในบทความหลักมากนัก เพราะต้องการโฟกัสเรื่องพระสถูปที่พบในปัจจุบันสมัย โดยคิดว่าน่าจะแยกซอยมาเล่าสู่กันฟัง ดังที่ท่านอาจาย์เทาชมพูเริ่มไว้น่าจะดีกว่า

สิ่งที่คุณมิกกี้ ฮาร์ทเขียนไว้ อาจหามาสังเคราะห์ได้จากเน็ต ซึ่งผมไม่มีเวลาพอ ข้อสำคัญคือ พระองค์แม้จะอยู่ในฐานะเชลยศึก แต่ก็ได้รับพระราชทานเกียรติจากกษัตริย์ทุกพระองค์ ซึ่งสืบต่อจากพระเจ้ามังระมาจนพระเจ้าปดุง ยกพระองค์ไว้เป็นพระมหาเถระ ประทับเป็นมิ่งขวัญของของชาวโยเดียนับแสน(พงศาวดารว่าสองแสน)ที่มาอยู่เมืองพม่า แยกย้ายไปตามเมืองต่างๆที่อยู่ใกล้กัน เชลยเหล่านี้มิได้ถูกร้อยหวายมานะครับ เพราะถ้าจริงก็คงระบมจนเดินไม่ไหว เจ็บจนขาดใจตายแต่วันแรกๆแล้ว

ขอย้ำว่าพระเจ้าอุทุมพรทรงอยู่ในพม่าในฐานะอดีตกษัตริย์ ไม่ใช่เชลยนักโทษการเมืองคดีกบฎดังเช่นสยามกระทำต่ออดีตกษัตริย์ชาติเพื่อนบ้านบางพระองค์

เชิญกูรูทั้งหลาย หากจะกรุณาตรงนี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านหลายๆท่านนะครับ ขณะนี้เรตติ้งกำลังวิ่งฉิว


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 ต.ค. 17, 17:09
ในระหว่างที่ยังไม่มีปฏิกิริยาใดๆจากภาครัฐของไทย นักเดินทางท่องเที่ยวจากกรุงเทพเมื่อไปถึงพม่าก็ยังต้องการไปเยือนสถูปซึ่งเชื่อกันว่าเกี่ยวข้องกับพระเจ้าอุทุมพรอยู่ไม่ขาดสาย วิจิตรยังคงได้รับการขอร้องให้ร่วมคณะไปกับกลุ่มที่ต้องการความรู้เป็นพิเศษอยู่เนืองๆ ระยะหลังๆนี้มีทั้งกลุ่มปฏิบัติธรรม กลุ่มพระสงฆ์ และกลุ่มสมาชิกชาวต่างประเทสของสยามสมาคม ที่พิเศษกว่านั้นก็คือกลุ่มช่างภาพที่ต้องการไปถ่ายภาพเกี่ยวกับพุทธศาสนาในประเทศพม่า ซึ่งกรณีย์หลังนี้มีผู้แนะนำให้เขารู้จักกับมิกกิ้ ฮาร์ท ผู้ซึ่งยินดีรับเป็นผู้ติดต่อขออนุญาตกับวัดวาอารามต่างๆเพื่อขออนุญาตล่วงหน้าให้ และมิกกี้ยังได้ร่วมคณะเดินทางไปพม่ากับวิจิตรอีกสองสามครั้งยังอมระปุระ ก่อนจะเกิดข่าวที่น่าตื่นเต้นขึ้น เมื่อสื่อของทางการพม่า เดอะอิระวดี ( The Irrawaddy) ได้เสนอรายงานข่าวในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๕ (18 July 2012  )   พาดหัวว่า  Siamese King’s Tomb to be Destroyed สุสานพระบรมศพกษัตริย์สยามกำลังจะถูกทำลาย


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 ต.ค. 17, 17:13
อีกสามวันต่อมา ทั้งหนังสือพิมพ์บางกอกโพส์ต และมติชน ต่างขานรับนำข่าวนี้ออกขยายให้สังคมไทยได้รับรู้

เนื้อหาของข่าวนี้มีว่ารัฐบาลท้องถ่นแห่งรัฐมัณฑเลย์ต้องการจะล้างสุสานลิซินกอง เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของอมรปุระ โดยกำหนดให้ผู้ที่มีบรรพบุรุษหรือญาติฝังอยู่ที่นั่น ให้จัดการนำศพไปที่อื่นภายในสองเดือน หลังจากนั้นทางการจะเกรดออกเพื่อปรับปรุงพื้นที่ต่อไป

ซึ่งหมายความว่า พระสถูปทรงโกศซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณนี้ด้วย ก็จะถูกทลายเป็นเศษอิฐในเวลามิช้ามินานนี้ด้วย


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 ต.ค. 17, 17:16
สมัยรัฐบาลทหารพม่า คำสั่งคือสิ่งที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม แม้เรื่องนี้จะมีนักวิชาการด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์คัดค้านมากมาย แต่ก็หามีใครรับฟังไม่ ฝั่งตรงข้ามถนนกับสุสานลินซินกองนั้น เป็นสุสานมุสลิมที่สำคัญของเมือง มีที่ฝังศพของอู เบ็ง นายกองใหญ่ที่ดำเนินการสร้างสพานอูเบ็งกันลือไกล และขุนพลใหญ่ชาวมุสลิมอีกคนหนึ่งของพม่ารวมอยู่ด้วย ก็อยู่ในโครงการล้างทำลายเพื่อสร้างศูนย์การค้าต้อนรับนักท่องเที่ยวเอาเงินเข้าประเทศด้วย ชาวมุสลิมที่นั่นก็พยายามคัดค้านอย่างเต็มที่เช่นเดียวกัน


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 ต.ค. 17, 17:53
โชคดีเป็นอย่างยิ่งที่ก่อนหน้านั้น วิจิตรได้ร่วมกับหลายคนที่เคยร่วมคณะที่เขานำไปเยือนสุสานลินซินกอง จัดตั้งโครงการอนุรักษ์-ฟื้นฟู-ปฏิสังขรณ์ เจดีย์บรรจุอัฐิและอังคารธาตุของพระเจ้าอุทุมพรมาระยะหนึ่งแล้ว ทุกคนยินดีที่จะบริจาคเงินลงขันเพื่อการดังกล่าวโดยมีนายธนาคารผู้หนึ่งกล่าวว่า ถ้าจะใช้วงเงินถึงสิบล้านบาทก็ยินดีที่จะบริจาค ติดอยู่เพียงว่าจะใช้วิธีการใดจึงจะได้รับอนุมัติจากรัฐบาลพม่าให้เข้าไปดำเนินการดังกล่าวได้

เมื่อข่าวออกมาดังนี้ วิจิตรได้เรียกประชุมบรรดาเพื่อนๆที่เคยแสดงเจตนารมณ์ไว้ทันที ในขั้นต้นทุกคน รวมทั้งวิจิตรเองได้ควักกระเป๋าคนละห้าหมื่นบาท รวมแล้วสิบกว่าคน เพื่อให้วิจิตรมั่นใจในการจะไปเข้าพบผู้ว่าการรัฐมัณฑเลย์ตามที่มิกกี้ ฮาร์ท(ภาพล่าง)ได้ติดต่อไว้ ซึ่งต่อมาท่านกำหนดให้เข้าพบได้ในวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๕

วันนั้น วิจิตรและมิกกี้ได้ไปเจรจาตกลงกับท่านดังนี้

คำถาม- จะขอให้ทางการพม่าเว้นพื้นที่ประมาณ ๑ เอเคอร์ ( ๒.๕ ไร่) อันเป็นอาณาบริเวณที่ตั้งของพระสถูป เพื่อจัดทำเป็นอนุสรณ์สถานได้ไหม
คำตอบ- คงไม่ได้ เพราะทางราชการของพม่าเองยังไม่ทราบว่าสถูปนั้น มีความสำคัญจริงหรือไม่ อย่างไร
คำถาม- ถ้าเช่นนั้น จะขออนุญาตในนามของเอกชนไทย ที่จะเป็นผู้เปิดพิ้นที่นั้นเพื่อพิสูจน์ทางโบราณคดีเอง  และถ้าหากเจอหลักฐานที่สำคัญ จะได้ขอย้ายสิ่งของในนั้นไปจัดหาสถานที่ตั้งสถูปให้ใหม่ตามความเหมาะสมได้หรือไหม
คำตอบ- ถ้าอย่างนี้ได้ แต่ต้องรวดเร็วนะ จะช้าไม่ได้
คำถาม- ท่านมีเวลาให้เท่าไหร่
คำตอบ- ภายในสองเดือน ฝ่ายไทยจะต้องเสนอแผนงานที่เป็นรูปธรรมมาให้พิจารณาอนุมัติ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: magino10 ที่ 14 ต.ค. 17, 21:34
ขออนุญาตติดตามรออ่านต่อครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ต.ค. 17, 21:37
ใครจะช่วยเล่าเรื่องผลงานของมิคกี้ ฮาร์ทโดยแยกเป็นอีกกระทู้ได้ก็จะดีค่ะ     ดิฉันขอสารภาพว่ายังไม่มีเรี่ยวแรงและเวลามากพอ
เจอเรื่องพระสุพรรณกัลยาเข้าเรื่องเดียวก็แทบจะม้วนเสื่อออกประตูเรือนไทยไปแล้ว
ไม่มีแรงพอจะสาวต่อถึงพระเจ้าอุทุมพรได้

ขอเชิญกูรูอาสาสมัครทั้งหลายมาเล่าต่อกันตามถนัดค่ะ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ต.ค. 17, 07:29
มาว่ากันต่อ

วิจิตรกลับมาเมืองไทยแล้วรีบทำรายงาน ๕ หน้ากระดาษในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ส่งให้เพื่อนพ้องที่ร่วมโครงการอนุรักษ์-ฟื้นฟู-ปฏิสังขรณ์ เจดีย์บรรจุอัฐิและอังคารธาตุของพระเจ้าอุทุมพรในเรื่องที่ได้ไปตกลงกับผู้ว่าการรัฐมัณฑเลย์มาทันที เนื้อความโดยสรุปว่า จะต้องเร่งดำเนินแผนเร่งด่วนทันที ในขั้นที่ ๑ ประมาณว่าจะใช้เวลาปฏิบัติการ ๑๐ วัน คาดว่าจะเริ่มได้ในวันที่ ๒๗ สิงหาคม หรือไม่เกิน ๔ กันยายน ด้วยการส่งทีมงานสถาปนิก-วิศวกรสามสี่คน เดินทางไปไปที่หน้างาน เพื่อจ้างคนงานพื้นถิ่น ๑๐ คน แผ้วถางพืชที่ปกคลุมหน้าดินในบริเวณที่ขอกันไว้ เพื่อสำรวจและรังวัดโบราณสถานที่จะปรากฏให้เห็น แล้วทำแผนผัง สำหรับการออกแบบจริงหากจะต้องดำเนินการในอันดับต่อไป

ทีมงานนี้เป็นอาษาสมัครไม่มีค่าตัว มีเฉพาะค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าที่พักคืนละ ๕๐๐ บาทและค่าอาหาร รวมกับค่าจ้างคนงานและอื่นๆแล้ว เป็นงบประมาณสามแสนบาท โดยจะขอเบิกจ่ายจากกองทุนเบื้องต้นทีมีผู้บริจาคไว้แล้ว

ขั้นที่ ๒ ที่จะทำติดต่อกันไป คือการเจาะหาและนำของที่บรรจุอยู่ในพระสถูปออก โดยไม่ให้โบราณสถานเสียหาย ซึ่งจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดี และทีมงานบันทึกภาพนิ่งกับวีดีโอเพื่อเป็นหลักฐานตามไปสมทบ ขั้นตอนนี้กกะว่าจะใช้งบประมาณหกถึงแปดแสนบาท

หลังจากพบผู้ว่าการแล้ว วิจิตรและมิกกี้ได้ไปสำรวจที่ดินในวัดที่อยู่ใกล้เคียงนั้น หากจำเป็นจะต้องสร้างสถูปองค์ใหม่ที่นั่น วัดนั้นเจ้าอาวาสชื่อหลวงพ่อปัญญาอายุกว่าแปดสิบพรรษาแล้ว ท่านบอกว่าบรรพบุรุษของท่านเป็นชาวโยเดีย สมัยยังเด็กท่านได้วิ่งเล่นอยู่ในบริเวณนี้เป็นประจำ พระสถูปดังกล่าวผู้ใหญ่บอกว่าเป็นของเจ้านายมาจากโยเดีย แต่จะบอกชื่อด้วยหรือเปล่าท่านจำไม่ได้ จึงยินดีที่จะให้ทีมงานเลือกมุมใดมุมหนึ่งของวัดเพื่อทำตามความประสงค์  ซึ่งวิจิตรได้เลือกตำแหน่งหนึ่งไว้แล้ว และจะรื้ออิฐโบราณที่ยังใช้การได้จากพระสถูปมาวางเรียงฝากไว้ในวัดก่อน จนกว่าจะตกลงเรื่องแบบและทำการก่อสร้างได้ งบประมาณในขั้นตอนนี้กะว่าเป็นจำนวนเงินห้าหกล้านบาท

เนื่องจากเวลาที่ได้รับกระชั้นชิดมาก วิจิตรต้องการที่จะลงมือดำเนินการโดยเร็ว มิฉะนั้นแล้ว ทางการของพม่าจะนำรถเกรดเข้าไปปาดโบราณสถานทั้งหมดลงแน่นอน หลักฐานทางประวัติศาสตร์ทั้งหมดคงจะสูญสลายกลายเป็นดิน จึงฝากการบ้านให้ทุกคนในเรื่องเงินที่จะต้องใช้ต่อไปด้วย


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ต.ค. 17, 07:31
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องหลัก แต่ผมอยากจะเล่า

คณะที่วิจิตรเคยนำไปเยี่ยมชมพระสถูปนั้น ครั้งหนึ่งมีพระเถระอาวุโส พระเทพวิสุทธิญาณ(ไพบูลย์ สุมังคโล) พรรษาขณะนั้นเจ็ดสิบเศษได้ร่วมไปด้วย ชาวบ้านทั่วไปเรียกท่านว่าหลวงพ่อไพบูลย์ วัดอนาลโยทิพยาราม อยู่จังหวัดพะเยา กล่าวกันว่าท่านเป็นพระกัมมัฏฐาน มีเมตตาสูงเป็นที่เคารพเลื่อมใส ประชาชนพากันไปนมัสการ ร่วมทำบุญ ทำทานการกุศลกับท่านอย่างล้นหลาม จนวัดของท่านปรากฏถาวรวัตถุพุทธสถาน เป็นศรีสง่าแก่จังหวัด

คุณหญิงสุรีพันธ์ มณีวัตได้เขียนหนังสือไว้เล่มหนึ่งชื่อ อนาลโยมงคล อนาลโยบูชา เรียบเรียงประวัติของท่าน มีช่วงหนึ่งกล่าวว่า ท่านคงเป็นผู้หนึ่งซึ่งในอดีตคงจะบำเพ็ญบารมีทาง อาโลกกสิณ หรือกสิณทางแสงสว่าง ซึ่งเป็นเหตุปัจจัยในทางทิพยจักษุโดยตรงมา

วิจิตรเล่าว่า ครั้งนั้นท่านไปยืนบริกรรมอยู่หน้าพระสถูปนานมาก
เช้าวันรุ่งขึ้นท่านมิได้ลงมาฉันอาหารตามเวลาเช่นดังเคย ลูกศิษย์ที่ตามรับใช้ท่านเล่าว่าเมื่อคืนท่านคงจะได้นอนน้อย เพราะเห็นท่านห่มจีวรเรียบร้อย นั่งสมาธิและเดินจงกรม ตนตื่นขึ้นมาทีไรก็เห็นท่านในอากัปกิริยานั้นโดยตลอด ไม่ทราบว่าท่านได้เข้านอนแต่เมื่อไหร่
ครั้นหลวงพ่อไพบูลย์ลงมาแล้ว วิจิตรจึงถามต่อหน้าคนทั้งหลาย ท่านบอกว่า ขณะอยู่ที่สถูป จิตเกิดรู้ขึ้นว่าพระเจ้าอุทุมพรจะเสด็จมาหาท่านในคืนนี้ ท่านจึงได้เตรียมตัวรออยู่เกือบทั้งคืน กว่าพระองค์ท่านจะได้เสด็จลงมา

แล้วพระองค์ตรัสว่าอย่างไรครับ ผมถามพี่วิจิตร
ท่านบอกว่าขอบใจที่คนปัจจุบันนี้ไม่ลืมท่าน แล้วพี่วิจิตรก็กล่าวต่อ หลวงพ่อไพบูลย์ได้โอนเงินมาเข้าบัญชีกองทุนแสนบาท และอีกแสนบาทเมื่อเริ่มขั้นตอนที่สองด้วย
ต่อจากนั้น สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้แจ้งความจำนงผ่าน ดร.สุเมธ ชุมสาย รับจะเป็นผู้บริจาคแต่ผู้เดียวจนกว่าโครงการนี้จะสำเร็จเสร็จสิ้น
เป็นอันว่าปัญหาใหญ่ได้หมดสิ้นไป ทุกคนสามารถนำสมองไปใช้กับปัญหาของงานในพื้นที่ที่รออยู่ข้างหน้า


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 15 ต.ค. 17, 09:40
ผมขออนุญาตทำระโยง แผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมจากกูเกิล เพื่อความสะดวก ในการเข้าดูพื้นที่โดยรอบครับ

Linzingon Udombara (https://goo.gl/maps/RqEdW7rB8K42)


Credit : Google Thailand


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ต.ค. 17, 14:32
ขอบคุณครับ ผมเลยถือโอกาสขอแถมแผนที่อดีตเมืองหลวงเก่าของพท่า ที่ปัจจุบันอยู่ในมณฑลมัณฑเลย์ด้วย


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 ต.ค. 17, 07:20
ในเวลาใกล้เคียงกัน เมื่อเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเนปิดอว์ได้รายงานข่าวเรื่องที่ทางการพม่าจะรื้อสถูปกลับมายังกรุงเทพ กระทรวงจึงได้สั่งการให้ท่านทูตขอร้องไปยังรัฐบาลพม่าให้ชะลอเรื่องนี้ไว้ก่อน ซึ่งพม่าก็ตอบว่ายินดีแต่ขอให้ทางราชการไทยรีบไปประสานงานโดยเร็ว

ดังนั้น เมื่อนายดำรง ใคร่ครวญ รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปพบผู้ว่าการรัฐมัณฑเลย์ ทางโน้นจึงแจ้งให้ทราบว่าทางเอกชนไทย โดยนายวิจิตร ชินาลัยได้มาร้องขอไว้ก่อนแล้ว และได้กลับไปเตรียมการที่จะเสนอแผนการณ์ที่จะขออนุญาตเปิดพื้นที่เพื่อหาหลักฐานความสำคัญของพระสถูป ก่อนที่จะตัดสินใจทำอย่างไรต่อไป หากรัฐบาลไทยสนใจในเรื่องนี้ รัฐบาลพม่าก็จะยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมกันทำในลักษณะทวิภาคี

เนื่องจากกระทรวงการต่างประเทศไม่ได้มีหน้าที่ในเรื่องการอนุรักษ์โบราณสถาน จึงรายงานเรื่องดังกล่าวไปยังกระทรวงวัฒนธรรม

หลังจากผ่านกระบวนการด้านเอกสารตามระเบียบราชการ  วันที่๑๐ ตุลาคม นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม จึงได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า นายดำรง ใคร่ครวญ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร นักวิชาการ ได้เดินทางมาหารือกับตนแจ้งว่า หลังจากมีการนำเสนอข่าวสถูปสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ไปแล้ว ได้ประสานไปยังเทศบาลเมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งขณะนี้เทศบาลเมืองมัณฑะเลย์แจ้งกลับมาว่า ยินดีชะลอเรื่องไว้ก่อน
และนายสมชาย ยังกล่าวไปว่า กระทรวงการต่างประเทศจะได้นำนักวิชาการและเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรลงไปตรวจสอบสถูป และเก็บข้อมูลจากการสอบถาม ตลอดจนหาเอกสารที่ปรากฏเรื่องดังกล่าวที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ของพม่า เพราะปัจจุบันยังมีความเห็นที่แตกต่างและไม่ชัดเจน


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ต.ค. 17, 07:04
ขอย้อนกลับไปที่สุสานลินซินกอง เมืองอมรปุระ ก่อนที่นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมจะแถลงต่อสื่อมวลชนข้างต้น วิจิตร ชินาลัยและคณะได้เดินทางไปถึงที่นั่นแล้วตั้งแต่วันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๕๕ เมื่อแผนงานได้รับอนุมัติต่อทางราชการเมืองมัณฑเลย์

การไปในครั้งที่ ๑ ระหว่างวันที่ ๕- ๘ สิงหาคม คือการไปกำหนดพื้นที่เพื่อว่าจ้างให้ผู้รับเหมาท้องถิ่นถางพืชคลุมดินทุกชนิด และกำจัดกองขยะออก เพื่อเปิดให้เห็นสภาพพื้นดินจริงที่โบราณสถาน ซึ่งเชื่อว่าเป็นสถูปของพระเจ้าอุทุมพรตั้งอยู่


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ต.ค. 17, 07:05
การไปครั้งที่ ๒ ระหว่างวันที่  ๒๖ สิงหาคม – ๓ กันยายน ๒๕๕๕  ของวิจิตรและคณะ ถือเป็นการตรวจรับงานผู้รับเหมา และกำหนดแผนงานละเอียดในขั้นต่อไป

การปรากฏของซากโบราณสถานแก่สายตาของชาวพม่าทั้งในกลุ่มNGOและข้าราชการดังที่เห็นในภาพ สร้างความเข้าใจได้ทันทีว่าโบราณสถานนี้ไม่ใช่ธรรมดาที่ควรจะไถทิ้งได้ง่ายๆอีกต่อไป ถือว่าได้สร้างความโล่งใจให้กับคณะคนไทยได้ระดับหนึ่ง ไม่วิกฤตเช่นเมื่อได้รับข่าวร้ายใหม่ๆ

คณะของรองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ นายดำรง ใคร่ครวญ ซึ่งได้เดินทางไปพม่าในระหว่างวันที่ ๒๔ถึง ๒๘ กันยายน ๒๕๕๕ จึงได้เห็นสภาพของโบราณสถานประมาณนี้


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ต.ค. 17, 08:20
คณะของรองดำรง นอกจากจะประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากกระทรวงต่างประเทศ ยังมีนักวิชาการกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และนักวิชาการอิสระร่วมไปด้วย โดยบินตรงไปที่เนปิดอว์ก่อนเพื่อเข้าพบ อู ตานส่วย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเมียนมาร์ โดยได้แจ้งวัตถุประสงค์ในการเข้าพบว่า รัฐบาลไทยกำลังดำเนินการศึกษาเรื่องสถูปพระเจ้าอุทุมพรอย่างจริงจัง รวมทั้งนายกรัฐมนตรีของไทยเองก็เคยหยิบยกข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวกับประธานาธิบดีระหว่างการมาเยือนเมียนมาร์อย่างเป็นทางการเมื่อ ๑๕ กันยายนที่ผ่านมา ตนจึงมาพบเพื่อจะหารือในเรื่องที่ได้ขอให้รัฐบาลเมียนมาร์ชะลอการรื้อถอนสถูป ตลอดจนสนับสนุนการดำเนินการสำรวจและศึกษาข้อมูลของคณะจากประเทศไทยในอนาคตด้วย

อู ตานส่วยกล่าวออกตัวว่าตนเองก็เป็นนักประวัติศาสตร์ เคยเขียนหนังสือเล่มหนึ่งเกี่ยวกับราชวงศ์คองบองและได้กล่าวถึงพระเจ้าอุทุมพรไว้ด้วย จึงได้อภิปรายในสภาไม่ให้รื้อสถูป แต่ไม่ได้รับเสียงสนับสนุนเท่าที่ควร  เพราะมีคนค้านว่าหลักฐานไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ว่าสถูปนั้นเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระเจ้าอุทุมพรจริง อย่างไรก็ดี สมาชิกรัฐสภาชื่อนายอู ขิ่น สเวย และนายแพทย์ ทิน เมือง จี กับ นายอู วิน หม่อง สถาปนิกพม่า ได้ทำหนังสือถึงรัฐบาลพม่าขอไม่ให้รื้อทำลายสถูปดังกล่าว จึงขอแนะนำให้คณะไปดูสถานที่จริงที่สุสานลินซินกอง และควรจะไปพบกับคุณหมอทิน เมือง จี ด้วย เพราะจะเป็นประโยชน์กับฝ่ายไทย
รองดำรงกล่าวตอบว่า ในขั้นต้นจะขอศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ก่อน จากนั้นจึงจะไปสอบถามคนในพื้นที่ และขั้นตอนสุดท้ายคือ การสำรวจทางโบราณคดี

ต่อจากนั้น คณะของรองดำรงจึงไก้ไปพบอู มิน ซอ อธิบดีกรมโบราณคดี ที่เมืองมัณฑะเลย์ เพื่อขอความร่วมมือเหมือนกับข้างต้น ซึ่งได้รับคำตอบที่ดีว่า บัดนี้ยังไม่มีการดำเนินงานพัฒนาในพื้นที่ของสุสาน และยินดีที่รัฐบาลไทยจะเข้าร่วมในการศึกษาครั้งนี้ แต่ขอให้ฝ่ายไทยได้ยืนยันระยะเวลาที่จะใช้ในการหาข้อมูลที่ว่าให้คณะกรรมการฝ่ายพม่าได้ทราบด้วย

ต่อไป คณะของรองดำรงได้ไปพบ ดร. ขิ่น ส่วย มิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมัณฑะเลย์ เพื่อจะขอเอกสารทางประวัติศาสตร์ของพม่าในเรื่องที่เกี่ยวกับพระเจ้าอุทุมพร ซึ่งอธิการบดีกล่าวว่าได้เคยรับทราบเกี่ยวกับเรื่องที่ชาวโยเดียถูกกวาดต้อนมาพม่าบ้างเหมือนกัน และยินดีให้ความร่วมมือในส่วนของมหาวิทยาลัยในการศึกษาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้

บุคคลสำคัญฝ่ายรัฐบาลเมียนมาร์ที่รองดำรงได้ไปพบเป็นคนสุดท้ายคือ อู ออง หม่อง ผู้ว่าการรัฐมัณฑะเลย์  ผู้ซึ่งกล่าวว่าตนได้สั่งระงับแผนพัฒนาพื้นที่สุสานลินซินกองไปแล้วตามคำร้องขอของฝ่ายไทย โดยได้อ้างถึงนายมิกกี้ ฮาร์ท (ผู้ประสานงานในเรื่องนี้)
อู ออง หม่องยืนยันว่า ในส่วนของเมืองมัณฑเลย์นั้นมีความยินดีที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ อย่างไรก็ดี การผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นที่รับทราบในระดับรัฐบาลกลาง ฝ่ายไทยจะต้องประสานโดยตรงโดยการหยิบยกเรื่องขึ้นมาหารือกับผู้นำรัฐบาลเมียนมาร์ และดำเนินการหาข้อสรุปในเรื่องนี้โดยเร็วต่อไป


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ต.ค. 17, 10:11
กว่าที่กระทรวงวัฒนธรรมจะได้จัดประชุมขึ้นตามที่ได้แถลงข่าวไว้ก็เป็นเวลาอีกสามสัปดาห์ โดยนายสมชาย เสียงหลายปลัดกระทรวงเองได้นั่งเป็นประธานการประชุมนี้เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๕   และเชิญนายวิจิตร ชินาลัย ในฐานะตัวแทนของสมาคมสถาปนิกสยามเข้าร่วมด้วย เพื่อขอทราบรายละเอียดในงานที่ได้ทำไปแล้ว

ปัญหาหลักที่ฝ่ายพม่าต้องการให้รัฐบาลไทยเข้าไปดำเนินการในเรื่องนี้ต่ออย่างรวดเร็วนั้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยสนองต่อได้ยาก เพราะกว่าจะของบประมาณและผ่านการอนุมัติก็ต้องใช้เวลาสองปีเข้าไปแล้ว กว่าจะใช้งบได้จริงๆก็คงอีกร่วมปี ในขณะที่ผู้แทนสมาคมสถาปนิกสยามกล่าวว่าไม่มีปัญหาทางด้านการงานและเงิน ไม่ว่าโครงการนี้จะต้องใช้อีกเท่าไร เมื่อใด ที่ประชุมจึงเป็นพ้องว่าควรจะบูรณาการความร่วมมือระหว่าภาครัฐกับเอกชน อันได้แก่กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงต่างประเทศ และ สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยกำหนดบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศที่จะเป็นผู้ประสานกับรัฐบาลพม่า ตลอดจนอำนวยความสะดวกแก่คณะผู้แทนฝ่ายไทย อันมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านโบราณคดี(จากกรมศิลปากร) และผู้แทนของสมาคมสถาปนิกสยาม  ในฐานะผู้ดำเนินการสำรวจและขุดค้นเพื่อหาหลักฐานอันจะเป็นประโยชน์ต่อไป


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ต.ค. 17, 10:35
๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๕ สถานทูตไทยประจำสหภาพเมียนมาร์จึงทำหนังสือแจ้งรัฐบาลพม่าอย่างเป็นทางการถึงสิ่งที่จะกระทำต่อไปในนามของรัฐบาลไทย คือ ๑ การที่จะร่วมค้นคว้าหาหลักฐานเอกสารในเรื่องนี้ และ ๒ การสำรวจสถานที่และการขุดค้นทางโบราณคดีร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายพม่า ณ สุสานลินซินกง


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ต.ค. 17, 12:59
วิสัยของเอกชนนั้นทำงานช้าไม่ได้ ขืนช้าก็ไม่ทันกิน
งานลำดับต่อไปเป็นขั้นตอนสำคัญ คือการขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อค้นหาหลักฐาน โดยไม่เป็นการทำลายโบราณสถานนั้นเสียเอง ในการนี้โชคดีที่บริษัทอิตาเลี่ยนไทยไปได้งานก่อสร้างสนามบินใหม่ของมัณฑะเลย์ วิจิตรได้ติดต่อกับผู้บริหารบริษัทในกรุงเทพ ขอวิศวกรอาวุโสไปช่วยงาน  บริษัทจึงสั่งการให้นายช่างชาตรี รัตนสังข์ วิศวกรใหญ่ประจำหน้างาน ให้ปลีกตัวไปช่วยบนค่าใช้จ่ายของบริษัท
 
นอกจากนี้ยังได้ผู้เชี่ยวชาญในด้านอื่นที่ไม่ใช่งานของสถาปนิก เช่น ออท.ประดาป พิบูลสงคราม อดีตเอกอัครราชทูตหลายประเทศ และรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ที่เพิ่งจะเกษียณจากทางราชการ เป็นที่ปรึกษา ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐบาลไทยกับฝ่ายพม่า และอาจารย์ปฎิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ที่เพิ่งจะเกษียณจากกรมศิลปากรด้วยประสบการณ์เพียบ ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นหัวหน้าหน่วยศิลปากรจังหวัดอยุธยา ได้เป็นผู้บูรณปฏิสังขรณ์เจดีย์ศรีสุริโยทัย และยังเป็นผู้ค้นพบสุสานโปรตุเกตและสุสานญี่ปุ่น หลุมศพอยู่ตรงไหนๆบ้างรู้หมด ขุดลงไปเจอโครงกระดูกทุกหลุม จนกระทั่งกล่าวกันว่าอาจารย์เป็นผู้มีจิตสัมผัสในเรื่องลึกๆลับๆประเภทนี้

ทีมงานของสมาคมสถาปนิกสยามได้เดินทางไปทำงานที่หน้างานถึง ๒๐ คน ถือว่าเป็นดรีมทีม เพราะแต่ละคนล้วนอาษาเข้ามาและกระตือรือร้นที่จะได้ทำงานใหญ่ครั้งนี้ด้วยใจรัก


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ต.ค. 17, 13:12
ทีมงานถ่ายภาพร่วมกันหน้างาน


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ต.ค. 17, 17:35

งานลำดับต่อไปเป็นขั้นตอนสำคัญ คือการขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อค้นหาหลักฐาน โดยไม่เป็นการทำลายโบราณสถานนั้นเสียเอง ในการนี้โชคดีที่บริษัทอิตาเลี่ยนไทยไปได้งานก่อสร้างสนามบินใหม่ของมัณฑะเลย์ วิจิตรได้ติดต่อกับผู้บริหารบริษัทในกรุงเทพ ขอวิศวกรอาวุโสไปช่วยงาน  บริษัทจึงสั่งการให้นายช่างชาตรี รัตนสังข์ วิศวกรใหญ่ประจำหน้างาน ให้ปลีกตัวไปช่วยบนค่าใช้จ่ายของบริษัท

ขออภัยครับ เพิ่งเห็นบันทึกฉบับหนึ่งเขียนว่า คุณชาตรี เป็นผู้แนะนำและประสานงานให้พี่วิจิตรติดต่อกับคุณนิจพร จรณะจิตต์ ผู้บริหารของบริษัทอิตาเลียนไทย ซึ่งคุณนิจพรได้อนุญาตให้นายช่างสนธยา สุนทรธานนท์ Senior Engineer ที่หน่วยงานก่อสร้างท่าอากาศยานมัณฑะเลย์ เป็นผู้ที่มาช่วยงานแท้จริง

นายช่างสนธยาเป็นผู้ขออนุญาตต่อผู้อำนวยการกองโบราณคดีของสหภาพเมียนมาร์เหนือ เพื่อกระทำการซ่อมแซมบูรณะฐานของพระสถูปเจดีย์ที่ถูกน้ำกัดกร่อนจากการที่ถูกน้ำท่วมแต่ละครั้ง เพื่อป้องกันมิให้โบราณสถานนี้โค่นล้มลงมาได้


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: Voodoo ที่ 18 ต.ค. 17, 21:17
เร็วๆ นี้เพิ่งดูสารคดีทาง Thai PBS มีสกู๊ปเรื่องนี้ด้วยครับ
คุณมิคกี้ ฮาร์ทพาทีมงานไปดูสถานที่ด้วย และพาไปเยี่ยมลูกหลานชาวไทยที่เคยถูกกวาดต้อนไปในสมัยนั้นด้วย


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ต.ค. 17, 07:24
ครับ ชมสารคดีในโทรทัศน์ก็ได้อรรถรสที่ต่างออกไปจากการอ่าน ดีสำหรับผู้ชมทั่วๆไปที่สนใจ

แต่ที่ผมนำเรื่องมาเสนอเป็นกระทู้นี้ ก็เพื่อให้รายละเอียดในเรื่องดังกล่าวเท่าที่ผู้ที่ไม่ใช่นักวิชาการจะทนอ่าน และเข้าใจได้ เพื่อที่จะได้ช่วยกันคิดว่าทำไมเจ้าหน้าที่ของรัฐ เมื่อขอให้เอกชนเข้าทำงานแทนภายใต้ศัพท์หรูว่าบูรณาการร่วมกัน จึงได้ใส่เกียร์ว่างตั้งแต่ออกจากห้องประชุม ปล่อยให้ให้นักวิชาการค่ายโน้นค่ายนี้ได้ใจ ออกมาแสดงความเห็นโจมตีคนทำงานว่าทำงานไม่เป็นบ้าง ตั้งธงไว้แล้วว่าจะให้ใช่บ้าง ไม่จริงใจ ด้วยมีผลประโยชน์แอบแฝงบ้าง คัดค้านโน่นนี่ด้วยความเห็นที่ หากท่านได้อ่านเรื่องที่ผมกำลังนำเสนอจนจบ จะเข้าใจได้ว่าควรจะเชื่ออะไรใคร และอย่างไร

เรื่องกำลังจะเข้าสู่จุดเข้มข้นแล้วนะครับ โปรดติดตามต่อไป



กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ต.ค. 17, 07:47
คณะทำงานทั้งยี่สิบกว่าชีวิตของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้การนำของวิจิตร ชินาลัย สถาปนิกอำนวยการได้เดินทางจากกรุงเทพสู้จุดหมายแรก คือสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ นครย่างกุ้ง สหภาพเมียนม่าร์ เพื่อรายงานตัวตามระเบียบต่อ ท่านทูตพิษณุ สุวรรณะชฏ ตามที่อดีตท่านทูต ประดาป พิบูลสงครามได้ติดต่อนัดหมายไว้ล่วงหน้าและเป็นผู้นำเข้าพบด้วยตนเองเมื่อบ่ายวันที่ ๑๖ กุมภาพันธุ์ ๒๕๕๖


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ต.ค. 17, 07:49
ในวันนี้ นอกจากจะมารายงานว่า ได้ทำอะไรไปถึงไหนแล้ว และสถานภาพปัจจุบันที่เปลี่ยนจากการทำงานของ NGO มาเป็นทำงานในนามรัฐบาลไทย วิจิตรยังได้มอบ Action Plan ซึ่งกำหนดเวลาทำงานในขั้นตอนต่างๆ และตัวบุคคลที่จะรับผิดชอบในแต่ละขั้นตอนนั้น ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับท่านทูตก็คือ ช่วงที่จะส่งมอบผลงานอย่างเป็นทางการต่อรัฐบาลพม่า ในระหว่างวันที่ ๒๕-๒๘ มีนาคม ๒๕๕๖  ผู้แทนของกระทรวงวัฒนธรรมและผู้แทนของกระทรวงต่างประเทศจะต้องมาร่วมในพิธีการดังกล่าว ภายใต้การประสานของสถานทูตไทยในย่างกุ้ง


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ต.ค. 17, 07:59
และตารางงานในภาระกิจที่จะต้องทำในไม่กี่วันข้างหน้า


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ต.ค. 17, 10:05
๑๙ กุมภาพันธุ์ ๒๕๕๖ คณะทำงานฝ่ายไทยได้เข้าพบผู้ว่าการรัฐมัณฑะเลย์ พร้อมกับข้าราชการระดับสูงของฝ่ายพม่า ๙ คนตามกำหนดนัดหมาย โดยไม่มีข้าราชการสถานทูตไทยไปร่วม แต่ไม่ทราบว่าได้มีการฝากฝังไว้กับออท.ประดาปหรือเปล่า ตำแหน่งของท่านผู้นี้หลังเกษียณคือ ผู้ประสานงานการเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน สถาบันคีนันแห่งเอเซีย Kenan Institute Asia ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และดำเนินกิจกรรมต่างๆในประเทศกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมียนมาร์  ไทย และเวียดนาม

ผู้ว่าการรัฐมัณฑะเลย์จึงได้ให้การต้อนรับด้วยอารมณ์แจ่มใส โดยแจ้งให้ทราบว่ารัฐบาลเนปิดอว์ได้ให้ความเห็นชอบในโครงการร่วมระหว่างไทยและเมียนม่าร์นี้แล้ว และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือตามกรอบเวลาที่กำหนด สำหรับสิ่งที่ฝ่ายไทยได้ขอมาในหนังสือที่นำมายื่นวันนั้น ท่านได้อนุมัติทางวาจาทั้งหมด และอนุญาตให้เข้าทำงานในพื้นที่ได้ทันที

หลังจากนั้นก็แจ้งให้ทราบว่า ทางพม่าได้ตกลงจะจัดพิธีการเริ่มโครงการอย่างเป็นทางการในวันที่ ๒๐ กุมภาพันธุ์ คือวันรุ่งขึ้น โดยในช่วงเช้าจะเป็นการประชุมร่วมระหว่าคณะทำงานทั้งสองฝ่าย และภาคบ่ายจะเป็นพิธีทางศาสนา


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ต.ค. 17, 10:06
โปรดสังเกตหนังสือนำที่ยื่นให้ผู้ว่าการรัฐมัณฑะเลย์ซึ่งมีอีกตำแหน่งหนึ่งเป็นมุขมนตรีกิจการพัฒนารัฐมัณฑะเลย์ด้วย วิจิตรได้อ้างถึง “โครงการพัฒนาร่วมกันระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลสหภาพเมียนม่าร์ เพื่อค้นหาความจริง/ศึกษาทางโบราณคดีของสุสาน ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่ฝังพระบรมศพของพระเจ้าอุทุมพร ณ สุสานลินซินกองในมัณฑเลย์” อันเป็นชื่อเรียกอย่างเป็นทางการที่บอกวัตถุประสงค์ร่วมที่ชัดเจน

สิ่งที่แนบไปด้วยคือเอกสารปึกใหญ่ แสดงถึงงานที่มีเป้าหมายจะทำให้เสร็จภายใน ๓๐-๔๐ วัน
ประกอบด้วย
๑ โครงสร้างของโครงการ
๒ คณะทำงาน
๓ ผังจัดองค์กรของบุคคลากรหน้างาน และขอบเขตความรับผิดชอบ
๔ แผนการทำงานเบื้องต้น และกำหนดเวลา
๕ วิธีการทำงานและทางเลือกในกรรมวิธีต่างๆรวม ๗ แผ่น

ผมจะไม่เอาทั้ง ๗ แผ่นมาลงให้ท่านมึน แต่จะยกตัวอย่างมาสักสองหน้าตามภาพข้างล่าง


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ต.ค. 17, 10:08
ในหนังสือฉบับนั้น ได้ขอความร่วมมือจากฝ่ายพม่าดังนี้

๑ แต่งตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วยสถาปนิก วิศวกร และนักโบราณคดี เพื่อทำงานร่วมกับฝ่ายไทยคั้งแต่ ๑๘ กุมภาพันธุ์-๑๘ มีนาคม ๒๕๕๖
๒ สะสางความสะอาดพื้นที่ๆจะทำการขุดค้น
๓ จัดหาประปาและไฟฟ้ายังพื้นที่ทำงาน
๔ กั้นรั้วอาณาบริเวณและสำนักงานโครงการในพื้นที่

นอกจากนั้นก็เป็นปัญหาเรื่องวีซ่าที่จะต้องขอต่ออายุ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ต.ค. 17, 13:36
๒๐ กุมภาพันธุ์ ๒๕๕๖

ช่วงเช้าซึ่งเป็นการประชุมร่วมระหว่าคณะทำงานทั้งสองฝ่าย นายอู ออง หม่อง ผู้ว่าการรัฐเป็นผู้มากล่าวเปิดงานและนั่งฟังบรรยายทางวิชาการของหัวหน้าคณะทำงาน ผู้ที่มาร่วมประชุมมีทั้งข้าราชการระดับสูงของรัฐมัณฑะเลย์ และเมืองอมรปุระ องค์กรภาคเอกชน(NGO) ประชาชนผู้สนใจ และสื่อมวลชน


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ต.ค. 17, 13:37
มิกกี้ ฮาร์ท เป็นผู้บรรยายและชี้แจงโครงการในรายละเอียดเป็นภาษาพม่า หลังจากจบแล้วก็เปิดโอกาสให้ซักถาม มีที่น่าสนใจคือ

ถามว่าลินซิงกอง ซึ่งคำว่า “กอง” แปลว่าสุสานนั้นเข้าใจ แต่ “ลินซิน” นี่เป็นภาษาไทยหรือภาษาอะไร มีความหมายว่าอย่างไร
มิกกี้ซึ่งเป็นสถาปนิก แต่ชอบค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ตอบว่า  ลินซินนี้คนไทยเข้าใจว่า เป็นคำที่คนพม่าเรียกล้านช้าง ซึ่งเป็นราชอาณาจักรหนึ่งของลาวในสมัยก่อน ลินซินจึงไม่ใช่ภาษาไทย ส่วนคำๆนี้ในภาษาพม่ามีความหมายว่า หอสังเกตุการณ์ แต่ทำไมจึงเรียกอย่างนั้นก็ไม่ทราบเหมือนกัน แต่ก็เป็นชื่อที่เรียกกันมาแต่โบราณกาลแล้ว

เอาละสิครับ ผมก็เพิ่งจะรู้นี่แหละว่าลินซินกองนี่คนไทยนี่แหละ เป็นคนมั่วว่าแปลว่าสุสานล้านช้าง ผู้คัดค้านบางคนจึงกล่าวว่า ไม่น่าเชื่อถือที่พม่าจะปลงพระศพของเจ้านายไทยในสุสานของคนลาว
มีบางคนว่ามิกกี้เป็นสถาปนิก แล้วมาตั้งตนเป็นนักประวัติศาสตร์ได้อย่างไร  ข้อกล่าวหานี้ทำให้ผมกลายเป็นตุ๊กแกร้อนท้องไปด้วย ต้องขอประกาศอีกครั้งนะครับ ผมก็ยังเป็นสถาปนิก ไม่ใช่นักประวัติศาสตร์นะครับ  แต่เป็นนักอ่าน อ่านเรื่องไหนชอบก็เอามาเล่าต่อ เรื่องไหนเห็นว่าโม้เอามัน ก็หาหลักฐานมาหักล้างบ้าง บางเรื่องก็ถือเป็นหน้าที่ บางเรื่องก็แย้งเอามันเหมือนกัน

กลับไปคำถามที่น่าสนใจต่อ

มีคนถามว่าหากเจอพระบรมอัฐิจริงแล้วละก็ จะดำเนินการอย่างไร จะเก็บไว้ที่พม่าหรือจะอัญเชิญกลับไปประเทศไทย ทางคณะทำงานมีความเห็นเช่นไร
มิกกี้เป็นตัวแทนตอบว่า เป็นเรื่องที่รัฐบาลทั้งสองฝ่ายจะต้องหารือร่วมกัน คณะทำงานไม่มีอำนาจหน้าที่ในการตัดสินใจใดๆ แต่ตามความเห็นส่วนตัวว่า น่าจะบรรจุกลับเข้าที่เดิมหลังการบูรณะมากกว่า เพราะท่านเคยอาศัยและมรณภาพที่นี่ ส่วนรัฐบาลไทยหากจะขอแบ่งพระบรมอัฐิบางส่วนกลับไปทำอนุสรณสถานในเมืองไทยบ้าง ก็แล้วแต่ผลของการหารือเมื่อถึงเวลานั้น

อื่นๆก็เป็นเรื่องให้ความเห็นโน่นนี่นั่น ผมขอไม่เอามาสาธยายต่อให้เยิ่นเย้อ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ต.ค. 17, 13:38
ในภาคบ่าย เป็นพิธีกรรมทางศาสนาที่หน้างาน  มีชาวบ้านชาวช่องที่ทราบข่าวมาร่วมงานบุญนี้ด้วยจำนวนมากพอสมควร


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: มีนา ที่ 19 ต.ค. 17, 13:48
ติดตามทุกวันครับ หลังจากเคยได้ดูสารคดีโยเดียที่คิดไม่ถึง ที่มีเรื่องสถูปพระอัฐิพระเจ้าอุทุมพรเป็นส่วนหนึ่ง


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: Voodoo ที่ 19 ต.ค. 17, 16:18
ยังติดตามอ่านอยู่นะครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 ต.ค. 17, 16:38
ดีจัง ที่บอกให้ทราบนะครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ต.ค. 17, 07:15
สภาพของโครงการหลังจากที่เทศบาลเมืองอมรปุระเข้าไปทำความสะอาด และกันรั้วรอบบริเวณพื้นที่ ๑ เอเคอร์ที่กำหนดให้นั้นแล้ว


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ต.ค. 17, 09:17
ตั้งแต่วันที่ ๒๒ กุมภาพันธุ์ เป็นต้นไป คณะทำงานจึงได้เริ่มการสำรวจทางโบราณคดีอย่างจริงจัง ทุกวัน ตั้งแต่เวลาแปดโมงเช้าถึงหกโมงเย็น ทุกคนอาษาที่จะสละเวลามาเพียงเดือนเดียวเท่านั้น แล้วก็ต้องกลับกรุงเทพไปทำงานประจำ ของใครของมัน

เวลานั้นยังเหลือขยะบางส่วนที่ยังขนออกไปไม่หมด กลิ่นที่รบกวนการทำงานยังโชยเข้ามาเป็นระยะๆ จนทุกคนชินไปกับมัน


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ต.ค. 17, 09:18
เวลานั้นมีซากโบราณสถานที่ต้องการพิสูจน์ทราบเพียง ๓ จุดเท่านั้น คือ

๑ สถูปทรงโกศที่ทุกคนเชื่อว่าน่าจะเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิ
๒ สถูปใหญ่ องค์ประธานที่พังลงเหลือแต่ซากฐาน น่าจะเป็นพุทธเจดีย์
๓ สถูปองค์เหลี่ยมทรงพม่า


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ต.ค. 17, 09:20
ตลอดระยะเวลาที่ทำงาน มีการทำบันทึกประจำวันทุกวัน แล้ววิจิตรจะทำบันทึกประจำสัปดาห์รายงานกลับไปยัง กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการต่างประเทศ และสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำเมียนมาร์ทุกฉบับ ก่อนที่จะสรุปเป็นรายงานผลงานทั้งหมดเมื่อภารกิจแล้วเสร็จ

ผมจะเล่าความตามบันทึกประจำวันของอาจารย์ ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แก้ว ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโบราณคดี  ภาพนี้ท่านยืนอยู่หน้าฐานของสถูปอีกองค์หนึ่ง ซึ่งปรากฏขึ้นหลังจากการทำความสะอาดพื้นที่และนำดินที่กลบบางส่วนออกแล้ว ก่อนหน้านั้น ไม่มีใคร(คนไทยยุคนี้)เคยได้เห็น


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ต.ค. 17, 09:26
งานแรกมุ่งไปที่ซากของพระสถูปองค์ที่ ๒ โดยขนาดจึงเชื่อว่าเป็นพุทธเจดีย์องค์ประธาน ซึ่งมีช่องที่ฟ้องว่าเคยมีคนหาวัตถุโบราณได้ขุดเข้าไปแล้ว หลังจากใช้ไม่ไฝ่แยงตามเข้าไป พบว่าสุดที่ระยะ ๑๒ เมตร เปรียบเทียบกับเส้นฝ่าศูนย์กลางภายนอกแสดงว่าน่าจะขุดทะลุห้องกรุที่อยู่ข้างในไปแล้ว  จึงให้คนงานขุดดินที่กลบอยู่แล้วตามเข้าไป ถ่ายวีดีโอไปด้วย ไม่นานก็สุดที่โพรงกว้างข้างใน พบว่า  ไม่ได้เป็นห้องกรุสี่เหลี่ยมดังที่คาดไว้  และคนร้ายได้พยายามเจาะผนังทั้งสามด้านต่อไปอีก แต่ได้ไม่เท่าไหร่ก็เลิก ทิ้งเศษยางนอกจักรยานที่นำมาจุดไฟแทนไต้ และกระสุนหนังสติ๊กทำด้วยดินเผาสำหรับยิงสัตว์เล็กลูกหนึ่งไว้  คณะทำงานจึงถ่ายภาพ เสก็ตภาพ วัดขนาดและระยะต่างๆของห้องนั้นลงบันทึก

หลังจากคณะทำงานขุดลงลึกต่อไปอีกได้สักสองสามชั้นอิฐ ก็พบแผ่นอิฐเรียงกันเป็นแผ่นพื้นหนา จึงให้หยุดไว้ก่อนวันรุ่งขึ้น  เพื่อจะขึ้นไปขุดเจาะจากนั่งร้านด้านบนลงไปยังชั้นใต้ดิน เพราะในห้องภายในสถูปไม่พอที่จะตั้งเครื่องมือขุดเจาะ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ต.ค. 17, 16:51
.


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ต.ค. 17, 16:52
เมื่อฝ่ายช่างเตรียมการเสร็จก็เริ่มขุดหลุมขนาด ๑x๑ เมตร ลึกลงไปเรื่อยๆ พบว่าเนื้ออิฐเปื่อยยุ่ยมาก กลับสถูปจะถล่มจึงต้องเสริมไม้ค้ำยันไว้อีก ทั้งภายนอกและภายในโพรงที่ถูกลักลอบเจาะ

เมื่อขุดลงไปแล้วก็รีบทำโครงไม้ยันผนังไว้ทุกระยะ จนถึงพื้นแล้วยังไม่พบอะไร แต่ก็ได้ขุดตามลงไปอีกจนได้ความลึกทั้งสิ้น ๖๑๔ ซม. จึงเป็นอันแน่ใจว่าไม่มีอะไรบรรจุไว้แน่ จึงยุติการค้นหา ทำพื้นไม้ปิดปากหลุมไว้เพื่อรอการบูรณะต่อไป


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ต.ค. 17, 17:05
การศึกษาความเป็นไปได้ของรูปแบบพระสถูปซึ่งเป็นพุทธเจดีย์ร่วมกันระหว่าสถาปนิกไทยและพม่า กับผู้ที่มีความรู้เรื่องโบราณคดี
และเสนอแบบร่างเพื่อเตรียมนำเสนอให้ที่ประชุมเป็นผู้เลือก


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ต.ค. 17, 17:21
หลุมและโพรงที่เจาะสำรวจ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ต.ค. 17, 18:52
.


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 17, 05:56
.


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 17, 06:15
มาเริ่มกันต่อนะครับ

ในระหว่างที่คณะทำงานกำลังรุมอยู่ที่พระสถูปองค์ใหญ่นั้น ฝ่ายช่างก็ได้จัดคนไปทำค้ำยันพระสถูปทรงโกศไว้ เมื่อมั่นคงดีแล้วก็ทำนั่งร้านขึ้นไปเมื่อปิดงานทางด้านโน้นก็ทำการเจาะสำรวจเป็นอันดับสอง โดยจะเจาะตามรอยร้าวของอิฐก่อที่มีอยู่เดิมลึกเข้าไปในองค์สถูป

เมื่อเจาะไปได้สักพักหนึ่งก็พบว่าสถูปนั้นก่ออิฐตัน ไม่กรวงอย่างที่คาด อิฐที่ก่ออยู่ภายในก็ทำไว้หยาบๆ เมื่อแน่ใจว่าไม่มีอะไรบรรจุไว้ก็หยุดงานไว้แค่นั้น แล้วหันมาขุดแต่งภายนอก
วันรุ่งขึ้น จึงได้ทำการเจาะต่อโดยเจาะอิฐที่ก่อตันลงไปถึงฐานด้านล่าง ก็ยังไม่พบสิ่งใด จึงตกลงยุติการขุดค้น หันมาซ่อมหลุมเจาะและรอยร้าวทั้งหมด เพื่อรอการบูรณะในภายหลัง
จากความเชื่อแต่แรกที่ว่าพระสูปทรงโกศนี้น่าจะเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระภิกษุพระเจ้าอุทุมพร  ผลที่ได้รับจากการขุดค้นนี้จึงสร้างความผิดหวังให้แก่ทุกคนมาก


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 17, 06:20
ทีมงานได้เปิดหน้าดินในอาณาบริเวณต่อไปจนแลเห็นแนวกำแพงสูงแค่เอว ที่ล้อมรอบพระเจดีย์องค์ประธานไว้เป็นรูปสี่เหลี่ยม บ่งบอกลักษณะว่าเป็นกำแพงแก้วซึ่งต้องสร้างล้อมพระวิหารหรือพุทธเจดีย์ไว้ ตามคติพระพุทธศาสนาทั้งทางไทยและพม่า

ภายในกำแพงแก้วดังกล่าว ยังพบฐานพระสถูปทรงกลมอยู่ในปริมณฑลทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และสถูปฐานสี่เหลี่ยมอีกองค์หนึ่งทางด้านทิศตะวันตก บริเวณโดยรอบพบเศษภาชนะดินเผา คนโฑ และกระปุกเล็กๆจำนวนหนึ่ง ซึ่งนักโบราณคดีพม่าได้กำหนดอายุว่าไม่เก่ามากนัก อย่างไรก็ดีเมื่อเปิดหน้าดินมาถึงชั้นนี้ก็ได้เห็นส่วนฐานของกำแพงแก้วที่ชัดเจนมากขึ้น จนถึงชั้นบัวคว่ำและฐานเฉียง


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 17, 06:27
๖ มีนาคม ๒๕๕๖

นายตาน ส่วย รัฐมนตรีช่วยกระทรวงวัฒนธรรมมีกำหนดการมาเยี่ยมชมโครงการ และได้นำคณะเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนมาถึงในเวลา ๑๐.๐๐น. หลังจากฟังการบรรยายสรุปเป็นเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง ได้ขึ้นกล่าวเสริมว่าท่านเป็นนักประวัติศาสตร์ มีผลงานทางวิชาการหลายเล่ม ตามหลักฐานฝ่ายพม่ามีอยู่ว่าเมื่อพระเจ้าปดุงถวายเพลิงพระศพพระภิกษุพระเจ้าอุทุมพรที่สุสานชาวโยเดียแล้ว ก็ได้สร้างอนุสรณ์สถานและบรรจุพระอัฐิไว้ในพระสถูป เพราะชาวโยเดียและชาวอมรปุระเชื่อว่าพระเจ้าอุทุมพรทรงเป็นพระอรหันต์ ส่วนพระอังคารและเถ้าถ่านที่เหลือก็มิได้เก็บไปไหน แต่ให้สร้างสถูปอีกองค์หนึ่งทับไว้
ตามความคิดของท่าน สุสานของชาวโยเดียน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของสุสานลินซินกองนี้ สถูปองค์ใหญ่น่าจะเป็นที่บรรจุพระอัฐิ แต่ถึงตรงนี้แล้วการพบหรือไม่พบพระอัฐิธาตุในสถูปดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นปัญหาต่อกระทรวงวัฒนธรรมพม่า ส่วนตัวท่านยังเชื่อว่าพระอัฐิธาตุของพระเจ้าอุทุมพรจะถูกบรรจุอยู่ในสถูปองค์ใดองค์หนึ่งในบริเวณสุสานนี้แน่นอน

ช่วงบ่าย คณะทำงานได้เริ่มขุดต่อตามแนวกำแพงแก้ว และให้ความสนใจต่อสถูปเล็กที่เพิ่งปรากฏให้เห็นหลังจากคุ้ยดินออก


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 17, 06:31
วันรุ่งขึ้น ทีมงานได้พยายามเปิดดินที่กลบสถูปอยู่นั้น แต่ต้องหยุดชั่วคราวเมื่อขุดดินออกไปได้ ๘๕ เซนติเมตรเพราะเจอทรากกระดูกที่คนสมัยหลังนำศพมาฝังไว้กระจัดกระจาย แต่ในพื้นที่ใกล้ๆนั้น ขุดลงไปเจอลานอิฐ คล้ายเป็นส่วนพื้นอาคารหลังหนึ่ง

นายโปไว ล่ามประจำคณะทำงานพม่าและไทยเล่าให้ฟังว่า ตนเกิดในหมู่บ้านใกล้ๆกับสุสานนี้ สมัยเด็กๆเมื่อสี่สิบปีที่แล้วยังเคยเห็นสถูปต่างๆในบริเวณนี้อยู่ เมื่ออายุ ๖ ขวบได้เห็นคนต่างถิ่นเอาเชือกมาผูกยอดสถูปองค์ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของสถูปประธาน(ซึ่งตนไม่เห็นยอดมาแต่เดิมแล้ว) ดึงจนหักลงแล้วขนอิฐใส่เกวียนเทียมวัวไป
  
คำบอกเล่าดังกล่าวทำให้อาจารย์ปฏิพัฒน์สนใจขึ้นมาเพราะเห็นว่า สถูปที่พูดถึงนั้นมีขนาดของอิฐใกล้เคียงกับขององค์ประธาน  และเนื้ออิฐมีอายุเก่าแก่ทัดเทียมกัน เมื่อขุดแต่งรอบฐาน พบว่าเป็นสถูปทรงกลม มีฐานบัวถลาซ้อนกัน ๓ ชั้น แล้วตัวสถูปสอบเข้าเป็นทรงระฆัง จึงสั่งให้คนงานรื้ออิฐหักที่กองถมข้างบนออก แล้วเริ่มเจาะตรงส่วนกลางสถูปองค์นี้


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 17, 06:35
วันรุ่งขึ้นคณะทำงานได้ตกลงที่จะหยุดสุดสัปดาห์สองวัน  หลังจากที่ลุยทำงานโดยไม่ได้พักได้ผ่อนติดต่อกันมาตั้งแต่ต้น  จนถึงวันจันทร์จึงได้เริ่มการขุดสถูปทรงระฆังนั้นต่อ
 
ตั้งแต่เช้าจนกระทั่งบ่าย ๑๕.๑๕ น. จึงเริ่มพบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาปิดทองประดับกระจกที่ระดับเกือบสองเมตรจากตำแหน่งแรกขุด  เมื่อขุดตามลงไปอีกจนลึกกว่าระดับดินเดิม ๓๐ เซนติเมตรจึงพบส่วนยอดของภาชนะไม้ มีลักษณะเป็นดอกบัวตูมลงรักปิดทองประดับกระจก ส่วนของไม้เป็นสีดำผุกร่อนมาก มีกระจกร่วงหล่นเกลื่อน แต่เนื่องจากเป็นเวลาเย็นแล้วจึงให้ปิดหลุมไว้ก่อน

การที่ได้พบชิ้นส่วนดังกล่าวทำให้คณะทำงานมีกำลังใจขึ้นมาก


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 17, 06:39
เมื่อเริ่มงานขุดต่อในวันรุ่งขึ้น แม้ยังไม่พบอะไรเพิ่มก็ทำงานไปอย่างระมัดระวัง จนกระทั่งได้ลึกถึงระดับฐานต่ำจากระดับดินเดิม ๘๐ เซนติเมตร จึงพบว่ามีการเรียงอิฐเหมือนจะเป็นห้องสี่เหลี่ยม แต่ก็พอดีหมดเวลางานเสียก่อน

เช้าวันต่อมาเมื่อเริ่มงานต่อไม่นานก็แลเห็นห้องสี่เหลี่ยมนั้นอย่างชัดเจน “เมื่อรื้ออิฐชั้นบนออก พบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาและเศษกระจกปะปนอยู่กับดินสีเทาติดอยู่กับอิฐหลายแผ่น พบกระจกเรียงเป็นกรอบ ทั้งที่เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าและสีเหลี่ยมคางหมู ด้านหนึ่งฉาบปรอท เมื่อถูกอากาศพักหนึ่งก็จะหลุดร่อน จึงต้องให้นักโบราณคดีขุดค้นด้วยตนเองอย่างระมัดระวังด้วยการขุดล้อมพื้นที่ๆมีแนวกระจกเรียง

จากแผ่นกระจกที่หลุดและนำขึ้นมาก่อน  พบว่าด้านหนึ่งเขียนเป็นลายพันธุ์พฤกษาและลายเทวดากับกินนรเหาะ ดูลักษณะที่เรียงรายเป็นรูปหกเหลี่ยมล้อมรอบภาชนะขอบทองด้านในอีกส่วนหนึ่ง นักโบราณคดีได้ตกแต่งโบราณวัตถุที่พบจนเห็นส่วนฝาของภาชนะดินเผาลงรักปิดทอง เดินทองที่ขอบภาชนะและรอยเชื่อมต่อของกระจกเป็นลายเกลียว ส่วนยอดเป็นรูปบัวตูมรองรับยอดที่ที่เก็บไปเมื่อวันก่อน ส่วนฝาบาตรทำด้วยไม้และยุบตัวลงบางส่วน ไม่อาจขุดคุ้ยลงไปในบาตรได้ เริ่มเห็นได้ชัดว่าเป็นบาตรดินเผาปิดทองที่ขอบประดับกระจกฉาบปรอท  ส่วนภายในภาชนะลงรักสีดำ ดินที่พบในส่วนและบริเวณนี้ ได้นำขึ้นมาร่อน เพื่อตรวจดูสิ่งของที่อาจมีขนาดเล็กที่ปะปนอยู่ด้วย ได้พบชิ้นส่วนของไม้ ถ่าน ตะปู และฟันหน้าล่างของมนุษย์มีคราบหินปูนและออกสีคล้ำ กระดูกส่วยฝ่ามือมีรอยไหม่ ๑ ชิ้น เนื่องจากเป็นเวลาเย็นมากแล้ว จึงปิดหลุมภายในเจดีย์ไว้ก่อน”


เย็นวันนั้นเอง นายก อ.บ.จ.รัฐมัณฑเลย์และคณะได้เดินทางมาร่วมประชุมปรึกษาหารือทันที หลังจากได้ทราบรายงานจากหน้างานว่าพบหลักฐานโบราณคดีบางอย่างตั้งแต่ช่วงบ่าย


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 17, 06:49
นักโบราณคดีได้ลงไปขุดแซะ เพื่อนำส่วนที่เป็นขอบพานแว่นฟ้าหกเหลี่ยมขึ้นมา วัสดุที่เป็นไม้นั้นผุพังไปหมดแล้ว คงเหลือเฉพาะตะปู ลวดเหล็กขันยึดไม้ และกระจกที่ปิดประดับโดยรอบ แต่ก็แตกหักหลายชิ้น ได้ตัดยกขึ้นมาทีละชั้นตามลำดับจนหมด แล้วจึงตัดเซาะดิน ได้ตัวภาชนะก้นกลมปากกว้างตามขึ้นมา วัดเส้นผ่าศูนย์กลางได้ ๒๕ เซนติเมตร ลึกประมาณ ๑๕ มีฝาปิดส่วนยอดเป็นลายดอกบัว ลงรักปิดทองประดับกระจก เดินขอบด้วยลายเส้นทองเกลียว ที่ขอบตัวบาตรนั้นลงรักปิดทอง

เมื่อนำบาตรขึ้นมาจากหลุมแล้ว จึงพบส่วนของเชิงพานที่ประดับกระจกรองรับ  เมื่อนำของทั้งหมดเข้ามาในห้องทำงานและทิ้งให้ปรับอุณหภูมิและความชื้นแล้ว นักโบราณคดีจึงค่อยๆเขี่ยและคุ้ยเอาดินภายในบาตรออก พบชิ้นส่วนกระทูกท่อนขาที่ถูกไฟเผาหลายชิ้น แต่การที่จะล้วงลึกลงไปในส่วนใต้ฝาบาตรเป็นความลำบาก เพราะจะต้องรื้อส่วนของฝาบาตรที่ยุบตัวลงไปออกก่อน จึงยุติการค้นหาไว้เพียงเท่านี้

คณะทำงานได้ทำการศึกษาหลักฐานทางโบราณคดีในเบื้องต้นร่วมกัน โดยนักโบราณคดีพม่าผู้มาร่วมงานอยู่ตั้งแต่ต้นได้นำไฟล์ภาพศิลปวัตถุของพม่าสมัยอังวะและอมรปุระมาเทียบเคียง  แสดงให้เห็นหลักฐานชัดเจนถึงขนบธรรมเนียมประเพณีโบราณ ที่ลักษณะของพานแว่นฟ้าและบาตรซึ่งมีความละเอียดในการประดับกระจกเช่นนี้ จะบ่งบอกถึงอิสริยยศของเจ้าของว่าเป็นระดับกษัตริย์ อุปราช หรือสมณะที่เชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ หรือพระมหาเถระเท่านั้น ซึ่งในกรณีย์ที่เป็นพระภิกษุแล้ว อัฐิธาตุจะเจอในบาตรดังที่เห็นนี้เท่านั้น

จากนั้นจึงร่วมกันถ่ายภาพหลักฐานทุกชิ้น และรีบแจ้งไปยังหน่วยงานด้านโบราณคดีของกรมศิลปากรพม่าให้ส่งผู้แทนมาร่วมกันบันทึกเอกสารและหลักฐานเป็นทางการทันที และเมื่อพร้อมแล้วก็ได้เคลื่อนย้ายสิ่งของทั้งหมดไปยังห้องเก็บหลักฐานของนครอมรปุระ ซึ่งได้จัดเวรยาม ๔ นาย ตำรวจ ๒ ผู้ใหญ่บ้าน ๒ ให้ทำการเฝ้ารักษาไว้ก่อนจะส่งมอบต่อในระดับรัฐบาลต่อไป


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 17, 06:58
๑๓ มีนาคม ๒๕๕๖
เมื่อเรื่องถึงผู้ว่าการรัฐมัณฑะเลย์ นายอู ออง หม่อง ได้เชิญคณะทำงานให้เข้าพบ เพื่อขอรับฟังรายงานในรายละเอียดการขุดค้นพบที่สำคัญยิ่งนี้ทันที โดยในที่ประชุมได้มีข้าราชการระดับสูงหลายท่านเข้าร่วมด้วย มีประเด็นสรุปว่า โบราณสถานที่พบมีทั้งหมด ๕ รายการ ได้แก่

๑ สถูปองค์ประธานฐานสี่เหลี่ยม
๒ ส่วนฐานของสถูปทรงโกศ เป็นพื้นปูอิฐที่มีความเก่าร่วมสมัยกับสถูปองค์ประธาน ส่วนตัวสถูปทรงโกศนั้น ลักษณะของอิฐก่อบ่งบอกว่าสร้างในสมัยหลัง
๓ กำแพงแก้วที่มีความสัมพันธ์กับสถูปองค์ประธาน เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาดกว้างและยาว ๒.๕๐ เมตรโดยรอบ มีช่องทางเข้าทั้ง ๔ ทิศ
๔ ภายในกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ได้พบฐานและส่วนบนของสถูปขนาดเล็กกว่าอีกองค์หนึ่ง ซึ่งไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่ามีอยู่ก่อนที่จะเปิดหน้าดิน มีอายุของอิฐเช่นเดียวกับสถูปองค์ประธาน
๕ พื้นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านทิศตะวันตกภายนอกกำแพงแก้ว ขนาด ๔ x ๕ เมตร
โบราณสถานทั้ง๕ รายการนี้ ถือว่ามีอายุเก่าแก่ที่สุด ประมาณว่าระหว่างปีพ.ศ. ๒๓๓๙-๒๓๔๑ แต่ยังมีวัตถุหลักฐานทางสถาปัตยกรรมในยุคหลังอื่นๆที่ส่วนใหญ่ค้นพบนอกกำแพงแก้ว ที่เด่นชัดคืออิฐก่อรูปหม้อแบบบูรณคตะ(หม้อใส่ดอกไม้บูชาพระตามวัฒนธรรมอินเดียโบราณ) (๑๙) เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑.๕๐ เมตร นอนคะแคงอยู่พร้อมฐานสี่เหลี่ยมบนพื้น และพบฐานสี่เหลี่ยมแบบเดียวกันที่สำหรับรองรับหม้อบูรณคตะ อีก ๗ ฐาน ฐานรูปทรงกลมและเหลี่ยม แสดงว่าเคยรองรับสถูปขนาดเล็กอีกหลายฐานรายรอบ พบภายในกำแพงแก้ว ๒ ฐาน  มีทรากสถูปองค์หนึ่งที่ต้นโพธิ์โอบอุ้มขึ้นไปลอยไว้


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 17, 07:08
สำหรับหลักฐานพยานวัตถุทางโบราณคดีที่สำคัญที่สุดได้แก่ อัฐิธาตุจำนวน ๖ ชิ้น (แต่ยังจะมีอีกมากในบาตร) และทันตธาตุหน้าส่วนบน ๑ ชิ้น และตัวบาตรกับองค์ประกอบที่ประดับกระจกฝีมือระดับเครื่องราชูปโภค หรือสมณูโภคของพระมหาเถระชั้นสูงเท่านั้น

จากหลักฐานทั้งหมด คณะนักโบราณคดีพม่าเชื่อว่า โบราณสถานสิ่งก่อสร้างเหล่านี้มีความสัมพันธ์ต่อสายสกุลที่สำคัญยิ่งสายสกุลหนึ่ง ที่นิยมปลงศพด้วยการเผา ซึ่งไม่ใช่สายสกุลฝ่ายพม่าแน่ เพราะพม่านิยมการฝัง ที่จะเผาก็จะมีเฉพาะพระเถระเท่านั้น ส่วนชนชาติโยเดียนิยมการเผาศพเมื่อเผาแล้วก็จะนำอัฐิเข้าบรรจุในสถูปรายล้อมสถูปของบุคคลสำคัญในสายสกุล เมื่อพิจารณาหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้ว ไม่มีสายสกุลของชาวต่างชาติใดในพม่าที่จะใหญ่เท่าสายราชสกุลวงศ์ของพระเจ้าอุทุมพร ที่มีเจ้านายโยเดียได้ตามเสด็จไปด้วยนับร้อยนับพันพระองค์ ทั้งนี้ยังไม่รวมข้าราชบริพารอีกเป็นจำนวนมากอีกด้วย

อย่างไรก็ดี คณะทำงานได้ย้ำว่า ไม่มีหน้าที่ที่จะวินิจฉัยประเด็นดังกล่าว ข้อยุติจะต้องมาจากคณะกรรมการที่รัฐบาลของทั้งสองฝ่ายตั้งขึ้น ตามโครงการที่จะบูรณาการร่วมกันระหว่างพม่ากับไทยเท่านั้น


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 17, 07:26
หลังจบประชุม ท่านผู้ว่าการรัฐมัณฑะเลย์ได้เชิญวิจิตรและมิกกี้เข้าไปคุยในห้องเพียง ๓ คน เพื่อแสดงความยินดีและขอบคุณในการค้นพบครั้งนี้ ซแล้วแจ้งว่าทางรัฐบาลพม่าจะได้ทำการขยายพื้นที่ขุดค้นต่อไปอีก และท่านต้องการจะไปยังสถานที่ตั้งโครงการหลังจากนี้ ขอให้ไปช่วยชี้แจงอธิบายหน้างานให้ท่านฟังด้วย

รายงานของการประชุมพบปะทั้งที่ศาลาว่าการเมืองอมรปุระและที่หน้างานในวันนั้น  ได้จัดทำส่งถึงกระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงต่างประเทศไทยตามสายงานครบทุกคน


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 17, 07:30
ผู้ว่าการรัฐมัณฑะเลย์ นายอู ออง หม่อง ได้กำหนดให้มีพิธีรับมอบพยานวัตถุทางโบราณคดีในเวลา ๑๕ น. ณ. อาคารที่ทำการของรัฐมัณฑะเลย์ จากคณะทำงาน เนื่องจากไม่มีผู้ใดจากหน่วยราชการไทยไปร่วม  และไม่มีใครแจ้งตอบรับหรือขัดข้องอะไรมาจนนาทีสุดท้าย หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายไทยจึงแจ้งฝ่ายพม่าว่า ตนขอทำหน้าที่เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยด้วย

รายละเอียดในวัตถุทางโบราณคดีดังกล่าวมีจำนวนรวม ๔๐๙ ชิ้น เมื่อนับและลงนามรับรองจากทั้งสองฝ่ายแล้ว ก็จัดใส่ในหีบเหล็ก ๒ ใบ แต่ละใบมีกุญแจสองชุด เมื่อล๊อคแล้วมอบให้ฝ่ายไทยและพม่าถือไว้คนละชุด หากจะเปิดอีกครั้งใด จะต้องใช้กุญแจนั้นไขทั้งสองชุด ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะเปิดตามลำพังมิได้ เสร็จแล้วเอากระดาษคลุมไว้ รัดด้วยเชือกตีตราครั่ง


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 17, 07:37
หลังเสร็จสิ้นพิธีมอบแล้ว  ผู้ว่าการรัฐมัณฑะเลย์ได้แจ้งแก่ผู้แทนฝ่ายไทยว่า รัฐบาลสาธารณรัฐเมียนม่าร์ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้สูงสุด คณะทำงานฝ่ายไทยจึงควรจะพิจารณาต่อไปเลยว่าจะดำเนินการขั้นต่อไปอย่างไรกับโบราณสถานที่พบนี้  ว่าจะทำการอนุรักษ์ด้วยการซ่อมสภาพแล้วคงไว้อย่างเดิม(Preservation) หรือซ่อมเสริมปฏิสังขรณ์ (Conservation) จะอย่างไรก็ขอให้แล้วเสร็จก่อนฤดูฝนที่จะมาในสามสี่เดือนข้างหน้า มิฉะนั้นจะเป็นอันตรายกับสถูปทั้ง ๓ องค์ ซึ่งรัฐบาลเมียนม่าร์ได้ให้ความสำคัญ

นอกจากนั้นยังได้แจ้งว่า รัฐบาลท้องถิ่นของมัณฑะเลย์จะทำงานไปก่อนตามที่มีอำนาจ คือ จะเปิดหน้าดินนอกเหนือไปจากที่กำหนดให้เดิม เพื่อค้นหาบริเวณที่บรรจุอัฐิของเจ้านายและข้าราชบริพารที่ตามเสด็จว่าสุสานโยเดียนี้จะมีปริมณฑลกว้างขวางเท่าใด แล้วจะกันพื้นที่ไว้จากอาณาบริเวณของสุสานลินซิงกอง เพื่อให้คณะทำงานจัดทำผังแม่บท(Master plan)ใหม่ เพราะขณะนี้รัฐบาลสาธารณรัฐเมียนม่าร์ได้ตัดสินใจแล้วในเรื่องการยกเลิกแผนพัฒนาเมืองใหม่บนพื้นที่นี้ แต่จะจัดทำเป็นแหล่งอนุรักษ์ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชนชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรพม่าในสมัยอังวะและอมรปุระ

นอกจากนั้นผู้ว่าการรัฐมัณฑะเลย์ยังได้แสดงความรู้สึกส่วนตัวว่า ที่ไม่มีใครในภาครัฐจากฝ่ายไทยมาร่วมพิธีในวันนี้เลยอาจจะเป็นเพราะใกล้สงกรานต์  ในเมืองไทยอาจจะมีเรื่องที่ต้องทำกันมากมายเช่นพม่า จึงขอให้พ้นจากสงกรานต์ไปสักระยะหนึ่งแล้วค่อยนัดหมายกันอีกทีว่าจะทำอย่างไรกันร่วมกันต่อไป


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 17, 07:47
คณะทำงานของสมาคมสถาปนิกสยามในนามของคณะทำงานไทยเดินทางกลับกรุงเทพพร้อมกับความสำเร็จ อย่างน้อย เป้าหมายหลักที่ต้องการรักษาหลักฐานอันเกี่ยวเนื่องจากพระเจ้าอุทุมพรไว้ ก็เป็นอันนอนใจได้แล้ว  และยิ่งกว่านั้น พระสถูปซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระเจ้าอุทุมพรก็จะไม่ถูกบูโดเซอร์ไถกลบทำลายเป็นเศษทรากลงไปกับดินดังที่เคยกลัวกัน  เนื่องจากผลการค้นพบทางโบราณคดีนี้ ทำให้รัฐบาลพม่าต้องเลิกล้มโครงการพัฒนาเมืองเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ หันมาทำเป็นโครงการเพื่อการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์แทนตามกฏหมาย

ที่เห็นนี้คือหนังสือรายงานสรุปผลการปฏิบัติการโครงการบูรณาการร่วมกัน ระหว่างรัฐบาลไทยภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคมสถาปนิกสยาม และรัฐบาลสาธารณรัฐเมียนม่าร์ ที่สมาคมสถาปนิกสยามจัดทำขึ้น เพื่อมอบให้แก่หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องและมีมติแต่งตั้งให้สมาคมกระทำการในนามของรัฐบาลไทย


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 17, 07:49
หน้าสำคัญหน้าหนึ่งในหนังสือรายงานดังกล่าว เป็นแผนภูมิผังองค์กรของคณะทำงานที่แสดงว่า ในระหว่างปฏิบัติการกำหนดเวลา ๑ เดือน ระหว่างวันที่ ๑๘ กุมภาพันธุ์ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๖ นั้น มีข้าราชการสำคัญฝ่ายพม่าได้เข้ามาเยี่ยมชมโครงการคือ

รัฐมนตรีช่วย กระทรวงวัฒนธรรม ๑ ครั้ง
ผู้ว่าการรัฐมัณฑะเลย์ ๒ ครั้ง
อธิบดีกรมโบราณคดี ๒ ครั้ง
หัวหน้างานรักษาความสะอาดนครมัณฑเลย์ ๒ ครั้ง
นายกองค์การบริหารเมืองอมรปุระ ๓ครั้ง
นายกองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นลินซินกอง ทุกวัน
ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโบราณคดี ของกรมโบราณคดี ๒ ครั้ง
นักโบราณคดี  ของกรมโบราณคดี ๒ คน ทุกวัน

ส่วนข้าราชการไทย ที่มีหน้าที่บูรณาการระหว่างภาครัฐและเอกชนไทย ไม่ปรากฏตนแม้แต่คนเดียว


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 17, 07:51
ผมขอจบภาคที่ ๑ เพียงเท่านี้

ขอเชิญผู้อ่านแสดงความเห็นหรือซักถามได้ครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ต.ค. 17, 08:31
นอกจากนั้นผู้ว่าการรัฐมัณฑะเลย์ยังได้แสดงความรู้สึกส่วนตัวว่า ที่ไม่มีใครในภาครัฐจากฝ่ายไทยมาร่วมพิธีในวันนี้เลยอาจจะเป็นเพราะใกล้สงกรานต์  ในเมืองไทยอาจจะมีเรื่องที่ต้องทำกันมากมายเช่นพม่า จึงขอให้พ้นจากสงกรานต์ไปสักระยะหนึ่งแล้วค่อยนัดหมายกันอีกทีว่าจะทำอย่างไรกันร่วมกันต่อไป

ถึงวันนี้ มีข่าวคราวความเคลื่อนไหวจากกรมศิลปากรของไทย หรือยังคะ 


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 17, 09:02
เป็นทางการไม่มีครับ ส่วนที่ปล่อยๆมา ขอให้รอภาค ๒
โปรดทราบด้วยว่า ตั้งแต่ได้พบกับท่านทูตที่ย่างกุ้ง วันเดินทางจากประเทศไทยไปถึงสหภาพเมียนมาร์แล้ว คณะทำงานในนามของรัฐบาลไทยไม่ได้พบข้าราชการไทยแม้แต่คนเดียว จนกระทั่งงานขั้นที่ ๑ แล้วเสร็จ ระหว่างนั้นแม้โทรศัพท์ไปก็ไม่ได้พูด ฝากข้อความไว้กับเลขาขอให้ติดต่อกลับ ก็ไม่ตอบสนอง เป็น One way communication โดยแท้จริง


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: มีนา ที่ 30 ต.ค. 17, 09:39
มาอ่านต่อแล้วครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ต.ค. 17, 09:44
พออ่านกระทู้มาถึงตอนนี้ ก็เกิดความสงสัยขึ้นมา    จึงไปตามหาข่าวเกี่ยวกับสถูปพระเจ้าอุทุมพร        เจอเข้าหลายข่าวเหมือนกันค่ะ
แต่ไม่ขยายตรงนี้ละนะ  เดี๋ยวจะเสียบรรยากาศ
และขอคุณเพ็ญชมพูอย่าเพิ่งให้คำตอบ    รอคุณ NAVARAT.C  เล่าไปทีละขั้นทีละตอนดีกว่านะคะ



กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 17, 10:34
ในเว็บจะมีทั้งข่าว บทความและความเห็นต่างๆหลากหลายมาก อ่านอันสองอันแล้วปักใจเชื่อไม่ได้นะครับ ที่สำคัญ อย่าลืม timeline เหตุการณ์ใดอะไรเกิดก่อนเกิดหลัง หากละเลยตรงนี้ก็หลงทางแน่นอน

ผมอยากให้ย้อนไปอ่านว่า นับจากวันที่รัฐลงมติจะทำงานร่วมกับภาคเอกชน โดยแต่งตั้งให้สมาคมสถาปนิกสยามเป็นผู้ดำเนินการแทนรัฐบาล ขณะนั้นทำไมไม่มีผู้ใดคัดค้าน แต่แล้วก็ไม่ให้ความร่วมมือ ไม่รับการติดต่อ มันเกิดจากมูลเหตุใดหรือ ชอบหรือไม่ชอบ เอาต่อหรือไม่เอา ทำไมจึงไม่แสดงความชัดเจน



กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 30 ต.ค. 17, 14:05
ติดตามตลอดครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 17, 15:06
พี่วิจิตรได้เข้าไปในเฟซบุ๊คของผม เห็นว่ามีประเด็นที่สมควรจะผันมาให้อ่านที่นี่ด้วย
พี่เค้าเพิ่งหัดเล่นโซเซียลมีเดีย จึงไม่ถนัดพิมพ์ภาษาไทย แต่ก็คงไม่เป็นปัญหากับคนในห้องนี้


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 ต.ค. 17, 14:28
ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของพม่านั้น  เมื่อยกกองทัพมาตีโยเดียแตกในปี พ.ศ.๒๓๑๐ แล้ว ก็กวาดต้อนชาวกรุง ๑๐๖,๑๐๐ ครัวเรือนรวมถึงเจ้านายอีกกว่าสองพันพระองค์ เดินทางถึงกรุงรัตนปุระอังวะ ในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๓๑๑  โดยพระเจ้าปดุงโปรดให้ชาวพนักงานสร้างพระตำหนักสำหรับเจ้านายที่เป็นสตรี เช่น พระมเหสี พระราชธิดา และนางกำนันไว้ในเขตกำแพงพระราชวัง  ส่วนผู้ชาย เช่น พระราชโอรสและพระราชอนุชา ให้ประทับภายนอกกำแพงพระราชวัง ร่วมกับขุนนางทั้งหลาย  โดยโปรดให้ปลูกตำหนักบ้านเรือนอยู่ในเขตเมือง  

สำหรับพระเจ้าอุทุมพรนั้น  พระราชพงศาวดารฉบับคองบองมหาราชวงศ์เรียกว่า เจ้าฟ้าดอกเดื่อ  ซึ่งทรงดำรงอยู่ในสมณเพศ  เมื่อกรุงแตกแล้วพม่าก็นำตัวไปกับครัวไทยด้วย  โดยได้จัดพระราชพาหนะถวายเป็นอย่างดี ทั้งเกวียนและเสลี่ยง จนขบวนถึงเมืองแปร จึงได้แยกพระองค์จากครัวไทย ให้เสด็จทางเรือโดยแม่น้ำอิระวดีต่อจนถึงกรุงอังวะ  ส่วนครัวไทยนั้น เมื่อไปถึงก็ให้แยกย้ายกันไปอยู่ในเขตชนบทของเมืองสะกาย

เจ้านายชาวกรุงศรีเหล่านี้แต่แรกก็คิดถึงบ้านเมืองอยากจะหาทางกลับอยู่เหมือนกัน  แต่ครั้นได้ข่าวว่าพระยาตาก(พระนามตอนนั้น)ตั้งตนเป็นเจ้า และตามไล่ล่าสังหารเจ้านายในพระราชวงศ์เดิมผู้ยังหลงเหลืออยู่ กับอดีตขุนนางและผู้จงรักภักดีโดยไม่ไว้ชีวิตก็ปลงตก  หากหนีกลับไปได้ก็ยังเสี่ยงชีวิตอยู่ดี  จึงยอมเป็นข้าใต้พระบรมโพธิสมภารของกษัตริย์พม่า  โดยมีพระมหาเถระเจ้าอุทุมพรผู้ซึ่งพระเจ้าปดุงทรงให้ความเคารพนับถืออย่างมาก ทรงเป็นขวัญกำลังใจ  เมื่อพระองค์ทรงทูลขอให้คนกรุงศรีสร้างพระเจดีย์ทรายในเทศกาลสงกรานต์   แม้จะมีธรรมเนียมห้ามชาวต่างชาติประกอบพิธีกรรมใดๆนอกเหนือไปจากวัฒนธรรมประเพณีของพม่าอยู่  ก็ทรงมีพระราชานุญาต  ทุกวันนี้จึงยังมีเจดีย์ทรายของชาวโยเดียปรากฏอยู่(เพราะหุ้มซีเมนต์ไว้) ในวัดๆหนึ่งของเมืองอังวะ

ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๖ พระเจ้าปดุงได้สถาปนาเมืองหลวงใหม่ขึ้นที่อมรปุระ จึงโปรดให้พระมหาเถระดอกเดื่อย้ายมาประทับที่กรุงอมรปรุะด้วย แม้อีกสองปีต่อมาทรงกรีฑาทัพถึง ๗ ทัพจะไปตีกรุงเทพพระมหานคร แต่พ่ายแพ้ยับเยินกลับมาก็มิได้กระทำการแก้แค้นอะไรกับคนไทยที่นั่น  ตราบจนกระทั่งพระมหาเถระเจ้าอุทุมพรได้เสด็จสวรรคตลงในปี พ.ศ. ๒๓๓๙  ซึ่งยังเป็นรัชกาลของพระเจ้าปดุงนั้นเอง


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 ต.ค. 17, 14:33
หลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่สำคัญยิ่ง ซึ่งผมเกริ่นไว้ตั้งแต่ต้นกระทู้แล้วก็คือ  สมุดแผ่นพับกระดาษสาที่ฝรั่งเรียกว่าพาราไบ้ก์ (Parabike) พม่าเรียก “เตวั้งรุปซุงประบุท” แปลว่า เอกสารการบันทึกของราชสำนัก มีภาพเขียนประกอบ  เล่มที่กล่าวถึงกษัตริย์โยเดียบันทึกโดยราชเลขาจอว์เทง  ซึ่งเป็นพระราชปนัดดาของ พระเจ้าปดุง เจ้าจอว์เทงมีตำแหน่งเจ้ากรมหอพระสมุด  สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.๒๔๑๗ อันเป็นรัชกาลของพระเจ้ามินดง

เตวั้งรุปซุงประบุทนี้ แต่เดิมเคยมีนักประวัติศาสตร์ชาวพม่าคัดข้อความไว้ แต่ไม่สู้จะเป็นที่รู้จักกันนัก


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 ต.ค. 17, 14:34
จวบจนชาวพม่าคนหนึ่งชื่อ ดร.ทิน หม่อง จี อ้างว่าเขาค้นพบหลักฐานนี้เมื่อ ๓ มกราคม ๒๕๓๐  โดยระบุว่าเป็น parabike หมายเลข " Document 99, serial 288" เก็บอยู่ที่ " British Commonwealth Library "และเขาได้นำมาเขียนบทความตีพิมพ์ลงในวารสาร แต่นั้นมาทุกคนก็อ้างอิงข้อมูลนี้


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 ต.ค. 17, 14:35
อักษรพม่าที่จารึกไว้ แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า
The third founder of Ratanapura  and Lord of the White Elephant, fought and won Ayodaya, together with the King.
The King was brought here. During the reign of his brother , the founder of Amarapura, the King while in monkhood, died at Amarapura. At Linzin-gon cemetery, he was entombed/cremated with great honor entitled to a monarch.
This is the image of Chaofa Ekadath

ถอดความเป็นภาษาไทยอีกที สำนวนตรงไปตรงมาได้ความดังนี้
พระผู้ทรงสถาปนารัตนปุระ(อังวะ) ผู้ทรงเป็นพระเจ้าช้างเผือก(หมายถึงพระเจ้ามังระ) ทรงรบชนะอโยธยาและกษัตริย์
กษัตริย์ได้ถูกนำมาที่นี่   ระหว่างรัชกาลของพระราชอนุชา(หมายถึงพระเจ้าปดุง) กษัตริย์ซึงทรงอยู่ในสมณเพศได้เสด็จสวรรคตในอมรปุระ  ที่ลินซิงกอง พระสรีระของพระองค์ได้รับการถวายพระเพลิงและบรรจุพระสถูปอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติในฐานะทรงเป็นกษัตริย์
นี่เป็นภาพของเจ้าฟ้าเอกทัศน์

ประโยคสุดท้ายนี้อธิบายภาพของบุรุษผู้แต่งกายแบบฆราวาสสวมชฎา ซึ่งมิได้เกี่ยวข้องกับเรื่องที่บรรยายในหน้าเดียวกันโดยตรง อาจจะต้องการประกอบความในหน้าอื่น

เรื่องของเรื่องที่มาที่ไปคือ ในปีพ.ศ.๒๔๒๘  พม่าเสียเอกราชให้แก่อังกฤษในรัชกาลพระเจ้าสีป่อ ทหารอังกฤษได้เข้าปล้นเอาสิ่งของต่างๆในพระราชวังมัณฑะเลย์ รวมถึงทรัพย์สมบัติในท้องพระคลังของราชวงศ์คองบองไปจนหมด  แม้กระทั่งเตวั้งรุปซุงประบุทก็ยังถูกขนไปจากหอพระสมุดที่เรียกว่าวังแก้ว แล้วนำไปเก็บไว้ที่ British Commonwealth Library, London ดังว่า  เตวั้งรุปซุงประบุท หรือ parabike ที่มีข้อความข้างบนนี้ เป็นเอกสารชิ้น ที่ ๙๙  Serial Number หมายเลข  ๒๘๘


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 ต.ค. 17, 14:38
สุสานลินซินกอง ที่นักประวัติศาสตร์ไทยรู้จัก แต่ไพล่ไปเรียกว่าสุสานล้านช้างนั้น เพราะคนพม่าเองก็ยังไม่ทราบความหมายที่แท้จริงของชื่อนี้ ซึ่งหากแปลตรงตัวก็มีความหมายว่าหอสูง จึงอาจจะให้ข้อมูลที่ผิดแล้วยังเกิดการเดาซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจผิด  ความจริงนักประวัติศาสตร์พม่าทราบแต่เพียงว่า ในอดีตเป็นสุสานสาหรับชนชันสูงที่เป็นชาวต่างชาติเท่านั้น 

เมื่อความสำคัญของ parabike มีถึงเช่นนี้ หากจะเชื่อข้อมูลฝ่ายพม่าเพียงอย่างเดียวอาจมีปัญหาหากเอกสารดังกล่าวไม่มีอยู่จริง เพื่อความรอบคอบ วิจิตรจึงได้ขอให้คนรู้จักที่อยู่ในลอนดอนช่วยไปติดตามดู และยืนยันกลับมาให้ทราบด้วย

หลังจากใช้ระยะเวลาอันยาวนานและอดทน เนื่องจากในครั้งแรกเจ้าหน้าที่หาเอกสารนั้นไม่พบ สุดท้ายได้คุณเพลิน นักศึกษาที่นั่น สามารถสืบได้ตัวภัณฑารักษ์ซึ่งเป็นคนพม่าชื่อ ซาน ซาน เมย์ ผู้ค้นพบเอกสารนั้นและนำออกมาให้ ดร.ทิน หม่อง จี ดูเมื่อหลายปีที่แล้ว เธอได้กล่าวว่าเอกสารชิ้นนั้นได้ถูกย้ายที่เก็บไปอยู่ห้องอินเดีย และหมายเลขที่ถูกต้องก็คือ OMS/Mss Burmese 199 หน้า 48

คุณเพลินได้พยายามขอให้ ซาน ซาน เมย์ เป็นผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษให้ แต่เธอทำไม่ใด้ เนื่องจากมีระเบียบบังคับอยู่ แต่ได้อ่านที่สำคัญให้ฟังโดยสรุปว่ากษัตริย์ไทยพระองค์นี้ได้มาอยู่เมืองพม่า มีพิธีพระบรมศพที่ยิ่งใหญ่ ที่บรรจุพระบรมศพอยู่ที่ Linzhin Amarapura

เป็นอันว่าหายใจโล่งอกไปได้เปลาะหนึ่ง ในอนาคตหากรัฐบาลไทยให้ความสำคัญและเป็นผู้ติดต่อดำเนินการขอหลักฐานนี้พร้อมคำแปลอย่างเป็นทางการ ก็คงไม่เหลือวิสัย
ข้างล่างคือภาพที่วิจิตรได้รับในครั้งนั้น


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 31 ต.ค. 17, 15:42
คำแปลอีกเวอรชันหนึ่ง

ภาพพระเจ้าอุทุมพร จากเอกสาร ชเวนันเลทง (Shwe nan let thon) ต้นฉบับเก็บรักษาไว้ที่ห้องสมุดอาณานิคมในลอนดอน ภาพนี้จากฉบับที่คัดลอกมาเมื่อพ.ศ. ๒๔๓๗ คำบรรยายใต้ภาพเป็นภาษาพม่า  นายแพทย์ทิน มอง จี” (Tin Maung Kyi) นักวิชาการทางสังคมศาสตร์หลังเกษียณ ผู้มีเชื้อสาย "โยดะยา" (ไทย) แปลจากภาษาพม่าเก่าแบบบรรทัดต่อบรรทัด ความว่า

"ผู้ก่อตั้งที่สามแห่งรัตนปุระ (อังวะ) และพระเจ้าช้างเผือก
ต่อสู้และชนะอโยธยา,
กับกษัตริย์
กษัตริย์ถูกนำตัวมาที่นี่ ในช่วงการครองราชย์ของพระเชษฐาของพระองค์ (กษัตริย์บาดุง)
กษัตริย์ (ไทย) ขณะอยู่ในสมณเพศ, มรณภาพที่อมรปุระ ที่ลินซิน-กอง
สุสาน, พระองค์ถูกบรรจุ/เผาพระศพด้วยสมพระเกียรติในความเป็นเชื้อพระวงศ์
นี่คือภาพของเจ้าฟ้าเอกทัศน์"

บรรทัดสุดท้าย คุณหมอสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นความเข้าใจผิดเรื่องชื่อ เพราะควรเป็นชื่อของเจ้าฟ้าอุทุมพร เนื่องจากในประวัติศาสตร์พม่าและประวัติศาสตร์ไทย กษัตริย์จากกรุงศรีอยุธยาองค์สุดท้ายสวรรคตจากเหตุสงครามที่กรุงศรีอยุธยานั่นเอง

ข้อมูลจากบทความเรื่อง สถูปเจ้าฟ้าอุทุมพร และลูกหลานชาวโยดะยาในพม่า “คุณหมอทิน มอง จี” โดย คุณวลัยลักษณ์ ทรงศิริ (http://lek-prapai.org/home/view.php?id=967) จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉบับที่ ๙๖ ตุลาคม-ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5567.0;attach=39716;image)


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 ต.ค. 17, 16:19
หลังเสียเมืองให้อังกฤษบ้านเมืองเป็นทุรยุค ลินซินกองจึงกลายเป็นที่ฝังศพของคนอังกฤษและชาวตะวันตกที่มาเสียชีวิตในมัณฑเลย์ แล้วชาวพม่าทั่วไปก็เข้ามามั่วต่อในภายหลัง 

อย่างไรก็ดี แม้ชาวไทยกับพม่าจะนับถือพุทธศาสนาเหมือนกัน  แต่ประเพณีการปลงศพต่างกันมาก คือไทยใช้วิธีเผาแล้วจึงเก็บอัฐิและอังคารไปบรรจุสถูป ส่วนพม่าถ้าเป็นฆราวาสจะใช้วิธีฝังศพ คนธรรมดาก็จะทำเป็นกุฎก่ออิฐฉาบปูนขนาดพอดีที่จะบรรจุโลงศพ เรียกว่า “แท็งค์”  แต่ถ้าเป็นพระสงฆ์ ก็จะใช้วิธีเผาเช่นกัน และจะนำอัฐิไปบรรจุสถูปส่วนบนรูปทรงปราสาท แตกต่างกับแบบไทยอย่างสิ้นเชิง



กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 ต.ค. 17, 16:21
สมัยอังกฤษครองเมืองมัณฑะเลย์ ศพของชาวคริสต์ก็จะนำมาฝันที่ลินซินกองนี้ด้วย


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 ต.ค. 17, 16:23
และในส่วนที่ติดกันโดยมีถนนเล็กๆคั่น จะเป็นกุโบร์ของชาวมุสลิม ซึ่งถูกกำหนดจะต้องถูกไถออกเพื่อพัฒนาเมืืองเช่นกัน


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 ต.ค. 17, 17:23
เอาละครับ ถึงตรงนี้ผมจะเอาเหตุผลที่ฝ่ายคัดค้านแสดงออกมาตามสื่อให้อ่านกันบ้างตามลำดับ timeline เริ่มที่บทความในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ได้ลงเมื่อวันเสาร์ ที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๕ คือเมื่อมีการอภิปรายในสภาว่ารัฐบาลไม่สนใจเรื่องสถูปพระเจ้าอุทุมพรที่กำลังเป็นที่ฮือฮาบ้างหรือ
ตอนนั้น นางสุกุมล คุณปลื้ม รมว.กระทรวงวัฒนธรรม ให้สัมภาษณ์ว่า “คงต้องขอเวลาให้ข้าราชการรวบรวมข้อเท็จจริงเสนอมายังดิฉันก่อน หากเป็นความจริงก็ต้องหาทางพูดคุยกับทางการพม่าเพื่อดูว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง”

อย่างไรก็ตาม มีผู้มีแสดงความเห็นในกระทู้ดังกล่าวว่า สถูปดังกล่าว ไม่เพียงไม่น่าจะเป็น “สถูปพระเจ้าอุทุมพร” ยังไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับ “อยุธยา” เลยด้วยซ้ำ
อย่างผู้ใช้ชื่อว่า “หนุ่มเมืองกรุง (NMkrung)” ที่ยกข้อมูลทางวิชาการมาแย้งว่า เจดีย์องค์นี้ไม่ใช่เจดีย์พระเจ้าอุทุมพร เพราะ

๑.รูปทรงสัณฐานไม่ใช่ศิลปะไทยเลย จะอ้างว่าช่างที่สร้างไม่ใช่คนไทยเลยทำเจดีย์ไทยไม่เป็น อันนี้เป็นไปไม่ได้ครับ เพราะกองทัพพม่ากวาดเชลยศึกอยุธยาไปเยอะมากรวมถึงช่างฝีมือแขนงต่างๆ

ผมก็ขอแสดงความเห็นของผมควบคู่กันเป็นข้อๆไปเลยก็แล้วกัน
คือผู้วิจารณ์ลืมไปว่า คนไทยไปอยู่ที่นั่นเยี่ยงเชลยศึก ธรรมเนียมของพม่าก็มีอยู่ว่าห้ามทำอะไรที่เน้นวัฒนธรรมประเพณีของชาติตนนัก นิดๆหน่อยๆก็ไม่ว่ากระไร เช่นเจดีย์ทราย ให้ก่อได้เพราะมันเป็นทราย ฝนตกไม่นานก็ทะลายราบ
แต่อย่างไรเสีย ถึงแม้หนุ่มเมืองกรุงจะไม่เห็นว่าเจดีย์ที่เห็น(สถูปรูปทรงโกศ)จะไม่เป็นไทย คนพม่าก็บอกว่านี่ไม่ใช่ทรงพม่าเหมือนกัน

และ
๒.ในพระราชพงศาวดารฝ่ายพม่าบอกเองว่า ให้เชลยชาวไทยไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ฝั่งเมืองสะแคง (Sagaing) ครับ ไม่ได้อยู่ในพื้นที่กรุงอังวะครับ อันนี้สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพท่านก็รับเองว่าเคยไปหาเจดีย์พระเจ้าอุทุมพรผิดที่ ท่านไปถามที่ฝั่งอังวะขอมรปุระนี่แหละเเล้วไม่พบ จนมาตรวจข้อมูลพบว่าควรไปดูฝั่งเมืองสะเเคง

“ประเพณีที่ไม่ให้คนต่างชาติหรือเชลยศึกอยู่ในกำแพงเมืองหลวง ไทยกับพม่าถือเหมือนกันครับ อย่างชุมชนมอญของไทยจะอยู่สามโคกเกาะเกร็ดและพระประแดง ชุมชนชาวญวนของไทยอยู่ที่วัดราชาธิวาสสามเสน ซึ่งอยู่นอกกำแพงพระนครกรุงรัตนโกสินทร์ทั้งสิ้นครับ พม่าก็เช่นกันครับ จัดให้ชุมชนชาวอยุธยาไปอยู่ฝั่งเมืองสะเเคงครับไม่ได้อยู่ในกรุงอังวะ เหมือนพวกเชลยเชียงใหม่ก็อยู่ฝั่งนั้น”

เชลยไทยถูกกวาดต้อนไปตั้ง ๑๐๖,๑๐๐ ครัวเรือน ถ้าครัวเรือนเฉลี่ยมี ๔ คน คนที่ไปก็ร่วมสี่แสน  จะให้ไปกระจุกตัวอยู่เมืองใดเมืองหนึ่งคงไม่ได้ เดี๋ยวก่อจลาจลขึ้นมาคงเป็นเรื่องใหญ่  แม้ที่สะแคงจะเป็นทีคนไทยถูกนำไปอยู่มากที่สุดก็ตาม แต่ที่เมืองอืนๆเช่นอมรปุระก็มีชุมชนชาวโยเดียด้วย

แต่กรณีย์ของเจ้านายถือเป็นข้อยกเว้น กษัตริย์พม่าต้องเอาตัวเข้าไปอยู่เมืองหลวงอยู่แล้ว โดยเฉพาะเจ้านายผู้หญิงก็ต้องตกเป็นบาทบริจาริกาตามระเบียบ ส่วนเจ้านายผู้ชาย ก็จะให้อยู่ห่างพระเนตรพระกรรณได้อย่างไร เดี๋ยวก็เอาใจออกห่างคิดกบฏก็ต้องเสียชีวิตเลือดเนื้อกันเปล่าๆปลี้ๆ

เอาที่สำคัญๆสองข้อนี้พอ เรื่องที่เหลือเสียเวลา


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 ต.ค. 17, 17:26
บทความชื่อ “สถูปบรรจุอัฐิพระเจ้าอุทุมพรที่สหภาพพม่า” ลงในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับที่๑๐ ประจำ ส.ค. ๒๕๔๕ อ้างถึงบทความของ “ศ.พิเศษ เจียจันทร์พงษ์” หนึ่งในผู้ทรงคุณวุฒิทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของไทย เขียนว่า
ในประเทศที่กำลังพัฒนา วัฒนธรรมการท่องเที่ยวที่มุ่งเพียงการขายแต่เพียงอย่างเดียว มักจะก่อปัญหาแก่ข้อเท็จจริงทางวิชาการเป็นอย่างมาก เรื่องการพบสถูปบรรจุอัฐิของพระเจ้าอุทุมพรที่เมืองอมรปุระ สหภาพพม่า เมื่อวิเคราะห์จากหลักฐานที่มาของเรื่อง มีที่มาจากนิตยสารเพื่อธุรกิจการท่องเที่ยวของพม่า เขียนโดยนายแพทย์ที่เป็นนักประวัติศาสตร์สมัครเล่น ที่พยายามประมวลเรื่องที่นักวิชาการคนอื่นๆ เขียนขึ้น แล้วเลือกหยิบเฉพาะส่วนที่อาจนำมาปะติดปะต่อเป็นเรื่องขึ้นมาใหม่

ดังนั้นจึงอาจกล่าวโดยสรุปในประเด็นการตรวจสอบหลักฐานเรื่องการพบสถูปบรรจุอัฐิพระเจ้าอุทุมพรที่สหภาพพม่าได้ว่า ยังไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์สนับสนุนเพียงพอ
ส่วนหลักฐานทางโบราณคดีนั้น เมื่อได้พิจารณาภาพของสถูปทั้งที่เป็นภาพถ่ายและภาพวาด สามารถยืนยันได้ว่าเป็นสถูปที่สร้างขึ้นในแบบศิลปะพม่า มิใช่ศิลปะไทย


นี่ก็เป็นความเห็นที่แสดงไว้ก่อนร่วม ๑๐ ปี แต่เมื่อพื้นที่ได้ถูกเปิดขึ้นมา มีหลักฐานทั้งพยานวัตถุและโบราณสถานมากมายถึงขั้นนี้( มีนาคม ๒๕๕๖)แล้ว ท่านได้เปลี่ยนความคิดบ้างหรือไม่ อันนี้ผมยังหาไม่เจอ เจอแต่คนนำความเห็นของท่านมาอ้างต่อซ้ำๆซากๆจนถึง พ.ศ. นี้


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 ต.ค. 17, 17:28
ผู้ใดจะสนับสนุนข้อคัดค้านของหนุ่มเมืองกรุง หรือ ศ.พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ในประเด็นที่กล่าวมา ขอเชิญเลยครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ย. 17, 07:35
ภาพและเรื่องบนต้นหน้าที่ ๗ นี้ คุณหมอเพ็ญชมพูได้นำเสนออีกเวอร์ชั่นหนึ่งของคำแปลจารึกในพาราไบ้ก์ ซึ่งก็เหมือนๆของผม แทบจะไม่มีจุดต่าง ยังงงอยู่ว่าคุณหมอต้องการอะไร มาถึงบางอ้อเมื่อมีเวลาตอนเช้าวันนี้เมื่อเผอิญเข้าไปคลิ๊กตัวอักษรสีน้ำเงินที่มีความว่า ข้อมูลจากบทความเรื่อง สถูปเจ้าฟ้าอุทุมพร และลูกหลานชาวโยดะยาในพม่า “คุณหมอทิน มอง จี” โดย คุณวลัยลักษณ์ ทรงศิริ จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉบับที่ ๙๖ ตุลาคม-ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕  บทความที่ซ่อนไว้จึงปรากฏขึ้น มีข้อความหลากหลายที่ผู้ยิ่งใหญ่ในวงการโบราณคดีไม่เชื่อ เรืองสถูปเจ้าฟ้าอุทุมพร ซึ่งเป็นลูกเล่นของคุณหมอเพ็ญชมพูที่มีเจตนาแฝงต้องการจะยกขึ้นมาให้เห็น

หากท่านขี้เกียจย้อนกลับไปก็คลิ๊กที่ระโยงข้างล่างนี้ก็ได้

http://lek-prapai.org/home/view.php?id=967

แต่ก็อย่างว่า วลัยลักษณ์ ทรงศิริเขียนไว้เมื่อ ๑ ต.ค. ๒๕๕๕ คำวิพากษ์ทั้งหลายก็เกิดขึ้นก่อนที่หลักฐานจะถูกเปิดขึ้นให้เห็นกันชัดๆเกือบหนึ่งปี เรื่องที่ทั้งคนไทยและพม่าเชื่อกันว่าใช่ล้วนมาจากคำบอกเล่าโดยการค้นคว้าของนายแพทย์ ทิน หม่อง จี ซึ่งนักโบราณคดีไทยดูถูกว่าเป็นแค่มือสมัครเล่น (ช่างไม่เกรงใจคุณหมอเพ็ญชมพูบ้างเลย แล้วคุณหมอหลายคนในเมืองไทยเช่นคุณหมอปราเสริฐ และคุณหมอชัยยุทธ ก็ไม่ได้จบวิชาที่ท่านเหล่านั้นใช้ทำมาหากินจนประสบความสำเร็จในชีวิตยิ่งใหญ่)  อะไรๆที่หมอทินนำเสนอ อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ก็จะบอกว่าไม่มีหลักฐานรองรับ อย่างเช่นไม่เห็นว่าสถูปนี้ควรตั้งอยู่ที่อมรปุระ เพราะไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่า มีการย้ายเชลยชาวอยุธยามาอยู่ที่อมรปุระ ซึ่งผมสงสัยว่าหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่อาจารย์พิเศษกล่าว คงหมายถึงหลักฐานฝ่ายไทย เช่น คำให้การของพระมหาโค มหากฤช คนกรุงเก่าที่ถูกกวาดต้อนไปคราวเสียกรุง และหนีกลับมาได้ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ได้เล่าว่าตน(มหาโค) เมื่อเป็นฆราวาสอายุ ๒๗ ปี ตามเจ้าวัดประดู่(พระภิกษุพระเจ้าอุทุมพร)ไปแล้วพลัดกัน โดยตนอยู่เมืองเปร นอกจากนั้นก็มีหลักฐานอื่นๆว่าเชลยไทยถูกกวาดต้อนไปอยู่เมืองอังวะและสะกาย แต่ว่าหลักฐานฝ่ายพม่าตามที่ผมนำมาย่อความให้อ่านคงไม่เคยเห็น
อาจารย์พิเศษมีความเห็นว่า ข้อมูลที่ทำให้เชื่ื่อกันว่าสถูปดังกล่าวเป็นสถูปบรรจุอัฐิเจ้าฟ้าอุทุมพร เป็นเพียงข้อมูลจาก “คำบอกเล่า” ของชาวบ้านในท้องถิ่นที่พูดกันปากต่อปากว่าเป็นที่ฝังพระศพของกษัตริย์ไทย์พระองค์หนึ่งเท่านั้น แต่ตนไม่เชื่อ เพราะทั้งสภาพของสถูปทั้งรูปทรงและลวดลาย ไม่มีความเกี่ยวเนื่องกับศิลปะอยุธยาแต่อย่างใด

ทว่าเรื่องนี้ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม กลับเห็นว่าเป็นไปได้สูง ที่สถูปทรงโกศในสุสานลินซินกอง (ซึ่งคุณหมอ ทิน หม่อง จีเป็นคนให้ความหมายว่าสุสานล้านช้าง) จะเป็นของพระผู้ใหญ่หรือผู้มีสถานภาพในกลุ่มชาวไต-ลาว ที่อาจจะเป็นชาวล้านช้าง ที่คนพม่าเรียกว่า เลิง-ซิง หรือคนจากอยุธยา โดยแนะนำให้ไปเปรียบเทียบกับสถูปรูปยอดบัวที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก และพบได้หลายแห่งในประเทศไทยและลาว ไม่ใช่เป็นเรื่องประหลาดเลย

แต่ส่วนใหญ่ในบทความนั้นจะเป็นความเห็นของคุณหมอทิน หม่อง จี ที่เชื่อว่าพระสถูปดังกล่าวเป็นของพระเจ้าอุทุมพร โดยมีเหตุผลมากมาย ผมไม่อยากยกมากล่าวซ้ำให้เย่นเย้อ เพราะเดี๋ยวภาค ๒ เมื่อเปิดบาตรที่ขุดมาได้แล้ว หลักฐานที่มีน้ำหนักกว่าต่างๆจะปรากฏขึ้นอีกมาก

หากใครมีเวลามาก จะเข้าไปอ่านหน่อยก็ดี คุณหมอเพ็ญชมพูอุตส่าห์เอามาโยงไว้ให้อำนวยความสะดวก ขอบคุณครับ




กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ย. 17, 08:48
แม้ว่าในเตวั้งรุปซุงประบุทหรือพาราไบ้ก์จะบันทึกหลักฐานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ว่า  มีกษัตริย์ไทยในสมณเพศสวรรคตที่อมรปุระ และได้รับการปลงพระบรมศพอย่างสมพระเกียรติที่ลินซินกองก็จริงอยู่ แต่ก็ยังมีผู้เชี่ยวชาญของพม่าแสดงความกังขา เพราะผู้บันทึกได้บันทึกในรัชกาลหลังต่อมาหลายสิบปี  เพราะหากวิเคราะห์ตามหลักฐานอื่นแล้ว ในรัชกาลของพระเจ้าปดุง หรือในสมัยที่พระเจ้าอุทุมพรยังมีพระชนม์ชีพอยู่นั้น  บริเวณที่เรียกว่าลินซินกองยังไม่ได้เป็นที่ฝังศพ ที่ดินอันมีที่ตั้งสวยงามนี้อาจจะเป็นอุทยานหลวงด้วยซ้ำ  แต่สุสานได้เกิดขึ้นหลังจากพระเจ้ามินดงราชธานีย้ายราชธานีไปอยู่มัณฑะเลย์แล้ว

มีผู้วิเคราะห์ลึกลงไปถึงพิธีปลงศพและพระศพตามประเพณีวัฒนธรรมของชาวโยเดียซึ่งพบว่า จะกระทำฌาปนกิจและนำอัฐิไปบรรจุไว้ในสถูปที่นิยมสร้างไว้ในวัด  ดังนั้น จึงสันนิษฐานว่า อาณาบริเวณที่สถูปใหญ่น้อยทั้งหลายกระจุกตัวอยู่ และได้ถูกค้นพบในครั้งนี้นั้น  น่าจะเป็นวัดหลวงที่เกี่ยวข้องกับราชนิกูลอยุธยา ก่อนที่วัดจะร้างไปและถูกนำพื้นที่มาใช้เป็นสุสานของผู้มีสกุลสูงชาวต่างชาติก่อน แล้วพวกคริสต์จะกระทำตาม ต่อด้วยพวกมุสลิม พม่าและจีนในที่สุด

เรื่องนี้มีอรรถาธิบายว่า จากที่พระราชพงศาวดารพม่าฉบับคองบองระบุไว้ ในปีพ.ศ.๒๓๓๖ เมื่อพระเจ้าบะจีดอว์(หรือคนไทยเรียกพระเจ้าจักกาย(สะกาย)แมง)ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าปะดุง พระองค์ถวายพระสุพรรณบัตรให้แก่พระสงฆ์ผู้ใหญ่ในราชอาณาจักรอมรปุระหลายรูป  หนึ่งในนั้นมีเจ้าอาวาสวัดโยเดีย นามว่าพระติสรณะ ได้ฉายาใหม่ว่า พระเถระ นรินทะชะมหาธรรมราชาคุรุ  วัดโยเดียอยู่ในลำดับต่อจากวัดตองเลยลุง ซึ่งปัจจุบันตั้ง อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของสุสานลินซินกอง ห่างไปประมาณ ๓๐๐ เมตร การที่วัดโยเดียอยู่ในลำดับต่อจากวัดต่องเลยลุง แสดงว่า วัดทั้งสองน่าจะอยู่ใกล้เคียงในบริเวณเดียวกัน 

ทุกวันนี้ไม่มีวัดที่ชื่อวัดโยเดียอยู่แล้ว และไม่มีโบราณสถานแห่งอื่นในบริเวณใกล้เคียงที่พออนุมานได้ว่าจะเป็นวัดร้าง  นอกจากกลุ่มโบราณสถานที่ค้นพบใหม่ในสุสานลินซินกอง อันปรากฏกำแพงแก้วล้อมรอบพระเจดีย์องค์ใหญ่ แสดงว่าในอดีตต้องเป็นวัด  และยังพบส่วนฐานที่เป็นพื้นของอาคารขนาดใหญ่ ในลักษณะของวิหาร และทรากอาคารเสนาสนะอีกหลายรายการ  จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าโบราณสถานเหล่านั้นจะเป็นวัดโยเดียที่สูญหาย

อนึ่ง จากการวิเคราะห์ขนาดของอิฐที่ใช้ในการก่อสร้างที่พบในพื้นที่โครงการฯแล้ว พิสูจน์ได้ว่า วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยเดียวกันกับพระราชวังอมรปุระ หลังย้ายมาจากกรุงอังวะ  ช่วงเวลาเดียวกันกับที่พระเจ้าอุทุมพรเสด็จมาประทับอยู่ ณ เมืองอมรปุระ  จึงอาจจะเป็นไปได้ว่า วัดนี้สร้างขึ้นเป็นที่จำพรรษาสำหรับพระเจ้าอุทุมพรโดยเฉพาะ  และเมื่อพระองค์เสด็จสรรคตแล้ว เจ้านายโยเดียรุ่นหลังๆจึงนำพระอัฐิอังคารของบรรพชนมาสร้างสถูปบรรจุไว้ตามๆกันมา

เมื่อพระเจ้ามินดงทรงย้ายเมืองหลวงจากอมรปุระไปอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์อีกครั้ง เจ้านายชาวโยเดียก็จำต้องทิ้งวัดนี้เพื่อตามไปอยู่มัณฑะเลย์ด้วย  แม้สถูปต่างๆยังคงอยู่ แต่หลังจากกาลเวลาผ่านไปได้ระยะหนึ่งก็กลายมาเป็นสุสานของชาวพม่าเชื้อสายอื่นที่เป็นชาวพุทธ และธรรมเนียมพม่าเองก็ถือว่าสถานที่เก็บอัฐิคนตายนั้นเป็นสถานที่อัปมงคล เหมาะสำหรับใช้เป็นสุสาน จึงนำศพมาฝังร่วมด้วย ฉะนี้


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 พ.ย. 17, 13:34
โยเดียที่คิด (ไม่) ถึง (http://program.thaipbs.or.th/Yodia/episodes/46399) รายการเกี่ยวกับชาวโยเดียในพม่าทาง ไทยพีบีเอส มีทั้งหมด ๕ ตอน ตอนที่ ๒ นี่เกี่ยวกับเรื่องที่เรากำลังสนใจกันอยู่ วิทยากรคือคุณมิกกี้ ฮาร์ท

โยเดียที่คิด (ไม่) ถึง : สายเลือดอโยธยา ?

https://youtu.be/1R2W5mpUqsI


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ย. 17, 14:39
ภาค ๒ ทางเลือกของคนทำงาน

ภาพของโครงการหลังจากกำจัดวัชพืชและพืชคลุมดิน เพื่อทำการเปิดหน้าดินให้เห็นร่องรอยของโบราณสถาน ก่อนทีมงานจะเดินทางกลับประเทศไทย


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ย. 17, 14:39
สถูปทรงปราสาทแบบพม่า ซึ่งแต่เดิมมีพืชปกคลุมอยู่จนมองไม่เห็นสภาพ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ย. 17, 14:40
พื้นปูอิฐ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ย. 17, 14:40
ส่วนหนึ่งของกำแพงแก้ว


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ย. 17, 14:40
.


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ย. 17, 14:41
ร่องรอยสถูปบรรจุอัฐิขนาดเล็กลงมา ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ย. 17, 14:42
รากฐานสถาปัตยกรรมด้านทิศตะวันออก นอกกำแพงแก้ว พบฐานของงานสถาปัตยกรรมซึ่งอยู่ใต้ดินเป็นบริเวณกว้าง


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ย. 17, 14:52
หลังจากส่งมอบหลักฐานทางโบราณคดีให้ฝ่ายพม่าเป็นผู้รักษาไว้ รอจะเปิดพร้อมกันกับคณะผู้แทนของรัฐบาลไทย คณะทำงานได้เดินทางกลับกรุงเทพ วิจิตร ในนามของสมาคมสถาปนิกสยามพยายามติดต่อขอเข้าพบข้าราชการไทยทั้งกระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงต่างประเทศ ทว่าไม่ได้รับการสนองตอบ ตรงข้าม ผู้ที่ทราบจากข่าวทั้งชาวไทยและต่างประเทศต่างให้ความสนใจ สอบถามมาไม่ขาดสาย  วิจิตรจึงได้นำเสนอผลการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีที่สยามสมาคม ในวันที่ ๔ เม.ย. ๒๕๕๖ มีผู้เข้าฟังจำนวนมาก

ในเดือนต่อมา สมาคมสถาปนิกสยามได้จัดงาน “สถาปนิก '๕๖”ที่เมืองทองธานี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จเปิดงาน สมาคมได้จัดให้วิจิตร ชินาลัย สถาปนิกอำนวยการถวายรายงานเรื่องนี้ และในวันที่ ๔ พ.ค. ๒๕๕๖ ก็ได้จัดเสวนา อนุรักษ์ไร้พรมแดน "ตามรอยสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรในอมรปุระ เมียนมาร์" ในงานดังกล่าวด้วย
น่าเสียดาย ทั้งสองรายการไม่มีผู้ใดจากหน่วยราชการไหนๆปรากฏตัว

ตลอดเดือนพฤษภาคม คณะทำงานไทยยังคงดำเนินการต่อในเรื่องแผนแบบ โดยการศึกษาแบบบันทึกทรากโบราณสถานตามสภาพที่เป็นอยู่ แล้วจัดทำแบบร่างแนวทางอนุรักษ์ปฏิสังขรณ์ เพื่อจะนำไปเสนอต่อที่ประชุมร่วมระหว่างรัฐบาลไทยและพม่าให้เห็นชอบ โดยเดินทางไปพม่าเพื่อนำแบบไปปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญที่นั่นครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะเข้าพบผู้ว่าการรัฐมัณฑะเลย์ตามนัดหมายที่กำหนดในวันที่ ๓๑ พ.ค. ๒๕๕๖

การเข้าพบผู้ว่าการรัฐมัณฑะเลย์เป็นไปอย่างอึดอัด เพราะไม่มีภาครัฐของไทยไปร่วมโดยไม่ให้เหตุผล แต่เพื่อให้เตรียมการก่อสร้างทันก่อนหน้าฝน ผู้ว่าการรัฐมัณฑะเลย์จึงเห็นด้วยที่จะลดระดับความร่วมมือจากภาครัฐต่อรัฐ มาเป็นภาคเอกชนพม่าและไทย

๗ มิ.ย. ๒๕๕๖ วิจิตร ชินาลัยจึงทำหนังสือแจ้ง ขอยุติการปฏิบัติการบูรณาการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้งานดำเนินต่อไปได้โดยไม่ติดขัด


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ย. 17, 15:13
๑๙ มิ.ย. ๒๕๕๖  กลุ่มเอกชนไทยพม่า และคณะผู้เชี่ยวชาญทั้งสองชาติประชุมร่วมกันอีกครั้ง เห็นชอบในหลักการที่จะร่วมกันจัดตั้งองค์กรขึ้นมาดำเนินการแทนภาครัฐ โดยที่จะใช้ชื่อโครงการว่า MAHATHERA KING UDUMBARA MEMORIAL GROUND หรืออนุสรณ์สถานพระมหาเถระเจ้าอุทุมพร

๒๑ มิ.ย. ๒๕๕๖ เข้าพบผู้ว่าการรัฐมัณฑะเลย์ และขออนุญาตให้ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองชาติร่วมกันเปิดบาตรเพื่อสำรวจภายในและเสนอแบบอนุรักษ์ปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ของพระเจ้าอุทุมพร เพื่อให้ทางราชการของพม่าพิจาณาเพื่อให้อนุญาตก่อสร้าง


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ย. 17, 15:16
เมื่อได้รับมอบหีบบรรจุหลักฐานทั้งหมดมาแล้ว คณะผู้เชี่ยวชาญทำพิธีขอขมาและร่วมกันเปิดหีบ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ย. 17, 15:16
.


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ย. 17, 15:20
อัฐิธาตุในบาตรทั้งหมด รวมทั้งรัดประคต(ผ้ารัดเอวของพระ) เป็นอันยืนยันได้แน่นอนว่า อัฐิในบาตรเป็นพระสงฆ์แน่นอน และต้องเป็นพระสงฆ์ที่สูงศักดิ์ด้วย


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ย. 17, 15:21
เศษทรากศิลปวัตถุที่ค้นพบ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ย. 17, 15:30
ตัวบาตรฝังกระจกเกรียบ กระจกนี้ผลิตได้ในเมืองอังวะที่เดียวเท่านั้น และก็เลยทำให้กรุงอังวะมีชื่อว่า รัตนะบุระอังวะ หมายถึงเมืองแห่งแก้ว ซึ่งแก้วดังกล่าวคือกระจกที่หุงได้เฉพาะที่เมืองนี้นี่เอง
อนึ่ง โปรดจำไว้นิดนึงด้วยว่า บาตรประดับกระจกนี้ ผู้ใหญ่ในกรมศิลป์ล้วนเรียกว่าบาตรมรกต เมื่อออกมาแสดงความเห็นให้โทษต่อโครงการในเวลาต่อมา ซึ่งคำๆนี้ทีมงานผู้ค้นพบไม่ได้ใช้


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ย. 17, 15:35
เริ่มจากวันที่ ๒๑ มิ.ย. ๒๕๕๖ เป็นต้นไปจนถึงเดือน รัฐบาลท้องถิ่นมัณฑะเลย์ได้เดินหน้าต่อในการรื้อถอนหลุมศพทั้งหมดในบริเวณสุสาน เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เป็นเมืองใหม่ตามนโยบายของรัฐบาล คงเหลือแต่บริเวณที่องค์กรเอกชนร่วมไทย-พม่าได้ขออนุญาตอนุรักษ์พื้นที่ไว้สำหรับโครงการอนุสรณ์สถานเท่านั้น


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ย. 17, 15:35
.


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 พ.ย. 17, 18:58
วิวาทะเรื่องการค้นหาหลักฐานเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ที่เจดีย์เมืองอมรปุระ

https://youtu.be/BGlABuG6e0A


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 พ.ย. 17, 20:41
วิวาทะข้างบนนี้เกิดขึ้นหลังจากตำแหน่ง Timeline ที่ผมกำลังดำเนินเรื่องอยู่ปีหนึ่ง แต่เอาเถอะ อยากจะคุยเรื่องนี้ก่อนก็ได้ สรุปแล้วคุณหมอเพ็ญมีความเห็นในเรื่องนี้ว่าอย่างไรล่ะครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 พ.ย. 17, 20:58
คิดเช่นเดียวกับสุจิตต์ วงษ์เทศ ที่เขียนไว้ท้ายบทความเรื่อง "สถูปอัฐิไทย ในพม่า?" ในมติชนวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๗

ถึงทางการไทยและพม่าจะไม่รับรองว่ามีสถูปจริงบรรจุอัฐิพระเจ้าอุทุมพร ก็ต้องไม่ขัดขวางเอกชนที่เชื่อว่ามี แล้วลงทุนลงแรงไปศึกษาค้นคว้าด้วยความเชื่อเป็นส่วนตัว

และไม่ควรดูแคลนลดทอนคุณค่ารายงานการศึกษาค้นคว้าของเอกชนที่คิดต่างจากราชการกับนักวิชาการกระแสหลัก



กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 พ.ย. 17, 06:06
ถ้าเช่นนั้น ผมขอดำเนินเรื่องต่อไปตามแผนเดิมของผมก็แล้วกัน ถ้าเราอดทนตาม Timeline ไปเรื่อยๆก็จะเห็นบทบาทของเอกชนและภาครัฐอย่างชัดเจน เมื่อถึงเวลาที่กรมศิลปากรออกโรงมาในตอนนั้น ผมจึงจะขอโอกาสแสดงความเห็นโดยสุจริตบ้าง

อีกไม่นานแล้วครับ นี่ผมก็เร่งเต็มที่ เหยียบมิดจนเครื่องจะไหม้อยู่รอมร่อ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 พ.ย. 17, 06:35
คราวที่สมาคมสถาปนิกจัดเสวนาโครงการอนุสรณ์สถานพระเจ้าอุทุมพร โดยมีคณะทำงานฝ่ายไทยประกอบด้วย วิจิตร ชินาลัย สถาปนิกผู้อำนวยการโครงการ ปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส อุปนายกสถาปนิก ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ นักโบราณคดีอาวุโส และฝ่ายพม่า คือ มิกกี้ ฮาร์ท สถาปนิกนักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ชาวพม่า และ อู วิน หม่อง ผู้เชี่ยวชาญการอนุรักษ์โบราณสถานชาวพม่า ผู้แสดงเหตุผล ๗ ประการที่ตนเชื่อว่าอัฐิที่พบนั้นเป็นพระบรมอัฐิของพระเจ้าอุทุมพร  คือ

๑ พงศาวดารพม่าฉบับคองบอง มีบันทึกไว้ว่าพระราชวงศ์อยุธยาที่ถูกกวาดต้อนไปพม่า เมืองหลวงในขณะนั้นคืออังวะ แต่ต่อมาก็ย้ายเมืองหลวงมาที่อมรปุระ (ดังที่ผมขยายความไปแล้ว)
๒  สุสานลินซิงกองหรือที่บางคนเรียกสุสานล้านช้าง ในยุคต้นๆ ถือเป็นสุสานสำหรับชนชั้นสูงชาวต่างชาติในพม่าเท่านั้น (คำว่าล้านช้างนั้น ครั้งโบราณพม่าใช้เรียกดินแดนที่อยู่ทางตะวันออกของตนทั้งหมด ซึ่งหมายถึงไทยด้วย) และตามประวัติศาสตร์พระเจ้าอุทุมพรเป็นเจ้านายชั้นสูงที่เป็นต่างชาติเพียงพระองค์เดียวที่พลัดถิ่นไปอยู่เมืองพม่า
๓. ตามหลักฐานบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในสมุดพาราไบก์ บันทึกว่ามีกษัตริย์ไทยเคยได้รับการพระราชทานเพลิงศพจากพระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่าสมัยนัน้ ที่ลินซินกอง
๔. ขนาดของอิฐที่สร้างกำแพงแก้ว พระพุทธเจดีย์องค์ประธานและพระเจดีย์ทรงกลมทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ภายในกำแพงแก้วที่พบพระอัฐิ รวมทั้งบริเวณแท่นถวายพระเพลิงที่ต่อเนื่องกับกำแพงแก้วด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นอิฐร่วมสมัยกับที่ใช้สร้างกำแพงเมืองอมรปุระ
๕. ภาชนะบรรจุอัฐิทรงบาตร เป็นเครื่องเคลือบดินเผายุคอมรปุระ ซึ่งเป็นช่วงที่พระเจ้าอุทุมพรสวรรคต
๖. ลักษณะภาชนะทรงบาตรตั้งอยู่บนพานแว่นฟ้าประดับตกแต่งสวยงาม ซึ่งใช้กับเจ้านายชั้นสูงหรือพระมหากษัตริย์เท่านั้น
๗. พระบรมอัฐิที่พบในภาชนะทรงบาตร นอกจากกระดูกแล้วยังพบกระดุมสายรัดประคด ทั้งหมดห่ออยู่ในผ้าจีวร แสดงว่าต้องเป็นเจ้านายชั้นสูงหรือพระมหากษัตริย์ที่ยังทรงเป็นพระสงฆ์หรือพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวมีเพียงพระองค์เดียวคือ พระมหาเถระพระเจ้าอุทุมพร

นอกจากนี้ข้อมูลจากการวิเคราะห์พระอัฐิที่บรรจุในภาชนะทรงบาตร โดย นายแพทย์ทิน หม่อง จี พบชิ้นส่วนบริเวณกะโหลกที่น่าจะเป็นของผู้มีอายุหกสิบปีขึ้นไป สอดคล้องกับการคำนวณพระชันษาของพระมหาเถระพระเจ้าอุทุมพรว่าน่าจะสวรรคตในราวพระชนมายุ ๖๖ พรรษา นอกจากนี้ผังของเจดีย์และพระสถูป แสดงว่าเป็นวัดไทย เพราะพม่าไม่นิยมสร้างสถูปเจดีย์บรรจุอัฐิในวัด


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 พ.ย. 17, 07:26
บทความโดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ  เรียบเรียงเมื่อ ๑ เม.ย. ๒๕๕๖, ๑๓:๕๐ น.แล้วนำลงในข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ พาดหัวว่า ข้อสังเกตจากการไปฟังเสวนาเรื่อง "ตามรอยสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพร ในอมรปุระ เมียนมาร์"  กล่าวถึงเรื่องเล่าจากวงเสวนาเนื่องในงานสถาปนิก’๕๖จัดโดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันเสาร์ที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ผมยังงงอยู่ว่าเธอเขียนเรื่องนี้ไว้ล่วงหน้าหรือเปล่า เพราะเขียนเรื่องในอดีตที่ตนเคยลงไว้ตั้งแต่ฉบับที่ ๙๖ (ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๕๕) ก่อนที่จะมีการไปขุดค้นที่อมรปุระโดยคณะอาสาสมัครราวเดือนหรือสองเดือน ซึ่งมีความว่า

 ๑. มีข้อมูลน้อยมากเรื่องพระเจ้าอุทุมพรเมื่อไปพม่า โดยเฉพาะเรื่องคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมที่คาดว่าได้ต้นฉบับที่แปลเป็นภาษามอญไปแล้วอีกทีก่อนแปลเป็นไทย แถมข้อมูลอื่นๆ ที่มีก็กล่าวถึงการไปอยู่เมืองสะกายน์มากกว่าอมรปุระด้วย ส่วนเอกสารที่แปลจากภาษาพม่าโบราณ กล่าวถึงการถวายพระเพลิงพระบรมศพก็ไปเขียนถึงเจ้าฟ้าเอกทัศน์ไม่ใช่เจ้าฟ้าดอกเดื่อ นักประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทยเลยยังคลางแคลงใจที่จะเชื่อถือเสียทั้งหมด จนถึงไม่นำข้อมูลส่วนนี้มาใช้เลย

 ๒. ไม่เชื่อถือ คุณหมอทิน มอง จี เพราะคิดว่าไม่รู้ภาษาไทยและมีลักษณะการผูกเรื่องเองสูง โดยมีประเด็นซ่อนเร้น เช่น ความต้องการให้คนไทยไปเที่ยวกันมากๆ เป็นต้น เมื่อมีโอกาสมารู้จัก คุณหมอ เห็นว่าเป็นคนที่ตื่นเต้นเป็นธรรมดาเวลาเจอเรื่องที่น่าสนใจและฝักใฝ่ในการแสวงหาความรู้ แม้ว่าจะอายุเจ็ดสิบกว่าปีก็ตาม การผูกเรื่องให้เชื่อมโยงกันมีเป็นธรรมดาของนักวิชาการที่ข้ามสาขา แต่ก็เป็นคนรับฟังเวลาเห็นข้อมูลใหม่ๆ ไม่เข้าข้างตัวเองแบบที่ว่า คุณหมอมีข้อมูลน่าสนใจในทาง Ethnography อยู่มาก โดยเฉพาะการเป็นลูกหลานของครอบครัวโขนละครจากโยดะยาหรืออยุธยา และยังสนใจในดนตรีและนาฏศิลป์ งานของคุณหมอมาถูกทางหลายเรื่อง งานจะน่าสนใจมากถ้ามีการปรับเติมและค้นคว้าเพิ่มเติม แต่ก็ยังอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ยังไม่สามารถทำได้โดยสะดวกนักจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา

(อย่างไรก็ดี วลัยลักษณ์คงได้ไปฟังการเสวนาจริง เพราะข้อต่อไปเป็นเรื่องที่เขาพูดกันในวันนั้น)
๓. สำหรับการศึกษาทางโบราณคดี ถ้าเน้นดูเรื่องอิฐ เรื่องขนาด ความหนา ความยาว และเรื่องรูปแบบเจดีย์คงงงมากถ้าใช้วิธีนี้ บางท่านเห็นว่าเอารูปแบบเจดีย์แบบเมืองไทยไปเปรียบเทียบอีก ซึ่งน่าจะอยู่ต่างพื้นที่ต่างวัฒนธรรม คุณมิคกี้ ฮาร์ท ก็พยายามทำอะไรแบบนี้เหมือนกัน แต่อยู่ในบริบทของโบราณสถานในเมืองอมรปุระ ฟังจากวงพูดคุยคาดว่านักโบราณคดีพม่า ก็มาทำนองนี้ ดังนั้นการจะไปเห็นด้วยว่าเจดีย์ที่พบใหม่และพบโบราณวัตถุสำคัญคือสถูปพระเจ้าอุทุมพรอย่างเต็มที่คงไม่ใช่เรื่อง จึงเลี่ยงไปพูดเสียว่าการพบภาชนะบรรจุอัฐิของบุคคลชั้นสูงในเจดีย์องค์หนึ่ง แต่ไม่มีอะไรบ่งบอกว่า "ใช่" อย่างแน่นอน เพราะอาจจะเป็นเจ้านายในวงศ์อื่นๆ ก็ได้

๔. วิธีที่ทางหัวหน้ากลุ่มศึกษาและอาสาสมัครฯ บอกว่าจะนำชิ้นส่วนกระดูกอัฐิไปพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ เช่น ตรวจดีเอ็นเอ เพื่อสืบเชื้อสายโดยหากลุ่มตัวอย่างจากคนที่ว่าเขาเป็นเชื้อสายและอพยพไปอยู่อเมริกา หรือหาคนที่อยู่อมรปุระหลายชั่วคนไม่ย้ายไปไหน หรือคนอยุธยาที่เกาะเมืองอยุธยา น่าจะเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทรที่จะค้นพบ
 
๕. มาถึงหลักฐานสำคัญที่ทำให้ชาวคณะภาคภูมิ เพราะดูจะ มีเป้าประสงค์ในใจอยู่แล้วว่า นี่คือการค้นหาหลักฐานของพระเจ้าอุทุมพร ก่อนกลับก็ได้ค้นพบภาชนะที่ทางกลุ่มเรียกว่า “บาตร” มีฝาปิด แม้อาจสันนิษฐานว่าเป็นภาชนะอื่นๆ ได้เช่นกัน ในวงเสวนาบอกกันว่าทางคณะพม่าเชื่อสนิทใจร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเชื่อว่าเป็นรูปแบบภาชนะสำหรับคนสำคัญ เป็นของพระราชทานแน่นอน ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญ คนทางฝั่งพม่ารวมทั้งนักวิชาการต่างๆ คงต้องค้นหาข้อมูลมาเพิ่มให้มีความชัดเจน ซึ่งคิดว่าไม่น่ายาก เพราะคนทางพม่านั้นนิยมการบันทึกอยู่มาก ถึงแม้ระบบกษัตริย์จะสิ้นไปแล้วก็ตาม ภาชนะแบบนี้เป็นบาตรหรือไม่ในวัฒนธรรมพม่าก็ไม่น่ายาก การหาข้อมูลและศึกษาก่อนสรุปน่าจะดีกว่า

(ถึงตรงนี้เธอคงทราบแล้วว่าภาชนะดังกล่าวนั้นเป็นบาตร(สำหรับใส่อัฐิของคนชั้นสูง)อย่างแน่ชัดแล้ว ส่วนข้อต่อๆไปเป็นความเห็นของเธอเอง ผมไม่ประสงค์จะก้าวล่วง)

๖. เป้าหมายในใจของทั้งสองฝั่งเป็นเรื่องสำคัญ ฝ่ายคณะไทยไม่ต้องพูดถึง เพราะเรื่องแบบนี้จะออกแนวซาบซึ้งได้ง่ายมาก (ประเด็นเรื่องการพลัดพรากจากบ้านเกิดเมืองนอนเป็นเรื่องสะเทือนใจในสังคมแบบพุทธศาสนาเสมอ) และพร้อมจะปฏิบัติการเพื่อทำให้ตรงนี้เป็นอนุสรณ์สถานอยู่แล้ว ฝั่งพม่าเมื่อนโยบายทางการเมืองเปลี่ยนทุกวันนี้ ในวงเสวนากล่าวว่าข้าราชการของ เมืองมัณฑะเลย์วิ่งเข้าไปที่เมืองหลวงใหม่เนปิดอว์บ่อยๆ จากที่ให้ขุดเฉยๆ มาเป็นให้ปรับปรุงสุสานทั้งหมดของพื้นที่เลย แล้วบูรณะเป็นแหล่งท่องเที่ยวอนุสรณ์สถานตามที่ทางฝั่งไทยอยากทำก็ควรทำ นับเป็นความชาญฉลาดของเจ้าของพื้นที่อย่างชัดเจน บางท่านเห็นว่าคล้ายๆ กับการอธิบายเรื่องวังของพระนางสุพรรณกัลยาในพระราชวังวังบุเรงนองที่หงสาวดี

๗. สรุปว่าคณะฝั่งไทย(หรือรัฐบาลไทย)ต้องกลับไปบูรณะปรับแต่ง ฯลฯ ซึ่งก็ขึ้นกับระดับผู้นำในรัฐแล้ว ในความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเห็นว่า ยังมีความรู้เรื่องคนสยามหรือคนโยดะยาในเขต Upper Myanma ทั้งสองฝั่งแม่น้ำอิรวดีไปจนถึงแม่น้ำชินดวินอีกมากที่สามารถอธิบายเรื่องราวของคนสยามที่ถูกกวาดต้อนไปในคราวสงครามกับพม่าครั้งต่างๆ ก็คงเช่นเดียวกับผู้คนจากทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง คนมอญ คนมลายูที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของบ้านเมืองสยามในปัจจุบัน โดยเฉพาะในเขตที่ราบลุ่มภาคกลาง

ในบทความ วลัยลักษณ์เขียนว่า โดยสรุปก็คือมีโอกาสอย่างมากที่บริเวณนี้จะเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพ ทั้งจากประวัติศาสตร์บอกเล่าและข้อมูลแวดล้อมที่เป็นเรื่องน่าสนใจซึ่งมาจากการบอกเล่าหรือข้อมูลมุขปาฐะจากลูกหลานที่ถือว่าตนเองคือเชื้อสายชาวโยดะยาที่รวมทั้งประเพณี พิธีกรรม และโบราณสถานบางส่วน แต่จะบ่งบอกว่าสถูปองค์ใดคือสถูปของเจ้าฟ้าอุทุมพรคงยาก จนถึงอาจจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะบ่งบอก แต่การจัดการเพื่อเป็นสถานที่อนุสรณ์สถาน ไม่ว่าจะมีอยู่จริงหรือไม่ก็ควรทำ กรณีการบูรณะโบราณสถานที่เกาะเมืองอยุธยานั้น ยังไม่สามารถจัดการพื้นที่และให้ความหมายกับเจดีย์สักองค์ได้เลย การบูรณะหรืออนุรักษ์โดยแสดงข้อมูลการศึกษาอย่างชัดเจนก็น่าจะสร้างความรู้และความเข้าใจตลอดจนความสัมพันธ์ในระหว่างรัฐยุคใหม่ทุกวันนี้ได้มากกว่าอยู่กันเฉยๆ แต่กรณีนี้นักโบราณคดีไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยเชื่อเพราะเหตุผล ๗ ข้อดังที่ได้กล่าวมาแล้วของเธอ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 พ.ย. 17, 07:28
อ่าน๗พม่ากับ๗ไทย แล้วคิดไปพลางๆก่อนนะครับ ผมจะพักทำธุระสักหน่อย


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 02 พ.ย. 17, 07:38
ผู้ชายพม่ายังนุ่งโสร่งกันเป็นปรกตินะครับ ดีจัง


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 พ.ย. 17, 09:40
อู วิน หม่อง เป็นผู้เชี่ยวชาญการอนุรักษ์โบราณสถาน ซึ่งทางพม่าตั้งใจจะให้มาอธิบายข้อสงสัยของนักโบราณคดีไทย เพราะเชื่อว่าคนไทยไม่ได้มีความรู้ในเรื่องราวต่างๆของพม่าดีเท่าคนพม่า แต่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่ไม่มีนักโบราณคดีของกรมศิลปากรไปซักถาม หรือจะนัดหมายให้ไปปรึกษาหารือกันเป็นการภายในโดยเฉพาะ แต่เวลาพวกนี้ออกมาแสดงความเห็นทีไรก็จะกล่าวเป็นแผ่นเสียงตกร่อง ว่าข้อมูลของไทย(ที่พวกตนถือเป็นสรณะ)ไม่เหมือนกัน ของพม่าไม่น่าเชื่อถือ.....


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 พ.ย. 17, 10:11
ข้ออ้างที่คนไทย ตั้งแต่ระดับคอลัมนิสต์ ผู้เชี่ยวชาญ และอธิบดี ขยันนำมาค้านพม่าก็คือ  ไม่มีหลักฐานว่าคนไทยถูกนำไปอยู่กรุงอมรปุระ

หนังสือคัมภีร์ต่างๆของเขาก็อ่านไม่ออก ที่เขาเอามาบอกมาเล่าก็หาว่าเขาไม่มีหลักฐาน ดังนั้น ระหว่างที่คณะทำงานทำการขุดหาหลักฐานพบบาตรบรรจุอัฐิแล้ว อยู่ดีๆเจดีย์แห่งหนึ่งในวัดยาดานายินซู ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางทิศเหนือของลินซินกองประมาณหนึ่งกิโลเมตรเกิดพังลง ภาษาไทยเรียกกรุแตก เพราะเจอพระบูชาขนาดเล็กในนั้นมากมาย บางองค์ทำด้วยทองคำและเงินแท้


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 พ.ย. 17, 10:14
พระเหล่านี้ คนพม่ายืนยันว่าไม่ใช่พุทธศิลป์ของพม่า ในขณะที่คนไทยบางคนที่ไปเห็นก็บอกว่าไม่ใช่พุทธศิลป์แบบอยุธยา ก็ว่ากานปาย


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 พ.ย. 17, 10:20
ก็ให้บังเอิญมีองค์หนึ่ง ไม่บอกก็ไม่มีใครรู้ ที่ข้างหลังพระมีสลักจารึกว่า "ลูกป่สก มี บานพราม" แปลความว่า ลูกของข้าพเจ้า(ประสก)ชื่อมี (อยู่)บ้านพระราม

หลักฐานนี้ยืนยันความที่เคยมีอยู่ของชุมชนชาวไทยที่นั่น แต่ป่านฉนี้ ท่านทั้งหลายในกรมศิลปากรก็ยังไม่เปลี่ยนความคิด


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 พ.ย. 17, 10:31
ที่สำคัญอย่างยิ่ง คือได้พบพระทันตธาตุชิ้นหนึ่งบรรจุรวมอยู่ด้วย ชวนให้สงสัยต่อว่าเป็นฟันของใคร

อย่างไรก็ดี เรื่องนี้อาจจะเป็นคำตอบของการที่มีวัดหลายแห่งในเมืองพม่าแถบนั้น ที่อ้างว่ามีเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิของพระมหาสมณะเจ้าอุทุมพรอยู่ บางแห่งมีแผ่นจารึกเป็นหินอ่อนไว้ด้วย ซึ่งความจริงแล้วก็ไม่แปลกตามคติไทย ที่จะมีผู้ขอแบ่งอัฐิของผู้ที่เคารพนับถือไปเก็บบูชาแยกกันตามสถานที่ต่างๆ พระมหาสมณะเจ้าอุทุมพรทรงได้รับความเชื่อถือกันว่าทรงเป็นพระอรหันต์ ย่อมมีสานุศิษย์ขอแบ่งพระบรมอัฐิไปสร้างพระสถูปบูชาบ้าง

และอาจจะแก้สงสัยได้ว่าทำไมพระทันตธาตุที่ค้นพบในสถูปที่ลินซินกองจึงมีเพียงองค์เดียว


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 พ.ย. 17, 10:53
ข้ออ้างที่คนไทย ตั้งแต่ระดับคอลัมนิสต์ ผู้เชี่ยวชาญ และอธิบดี ขยันนำมาค้านพม่าก็คือ  ไม่มีหลักฐานว่าคนไทยถูกนำไปอยู่กรุงอมรปุระ

อู วิน หม่อง บรรยายในงานสัมมนา “ตามรอยพระบาทพระมหาเถระ พระเจ้าอุทุมพรในอมรปุระ (ภาค ๒)” เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗

https://www.facebook.com/permalink.php?id=691343580936586&story_fbid=694385677299043

ในเบื้องต้นผมต้องการเรียนให้ทราบถึงสถานที่ในพม่าที่มีร่องรอยของคนไทยหรืออิทธิพลของศิลปะไทยก่อน ในแผนที่ภาคกลางของพม่าที่นำเสนอนี้ประกอบไปด้วยพื้นที่ของภาคมัณฑะเลย์, ภาคสะกาย และภาคมะเกว ถ้าเราถือเอามัณฑะเลย์ เมืองหลวงสุดท้ายของพม่าเป็นศูนย์กลางแล้วเราจะเห็นว่าทางเหนือมีเมืองดาบายิน เมืองมินบูอยู่ทางทิศใต้ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเอยาวดีในพื้นที่ประมาณ ๔๐ ตารางไมล์ เราพบร่องรอยของคนไทยมากมาย

ร่องรอยของคนไทยมีอยู่ทั่วไปเช่นในมัณฑะเลย์มีเจดีย์ทราย อมรปุระมีศาลยามะ (รามเกียรติ์) ที่เจ้าก์เซมีกลุ่มเจดีย์ที่ไม่ใช่แบบพม่าคิดว่าน่าจะเป็นแบบไทยชื่อ Shan Gyan Kon คำว่า Shan (ฉาน) ก็คือ สยาม ตามการออกเสียงของพม่า ที่อังวะมีวัดมะเดื่อ ที่ซึ่งพระเจ้าอุทุมพรมาจำพรรษาอยู่หลายพรรษาในรัชสมัยของพระเจ้าช้างเผือก (มังระ)

และที่เมืองมินบูทางตอนใต้ของพุกามบนฝั่งขวาของแม่น้ำอิระวดี มีวัด Wut Kyi Gu Phaya ที่มีภาพจิตรกรรมอยู่ภายใน และมีอักษรไทย ๗-๘ ตัวเขียนบรรยายอยู่ใต้ภาพ (สังคา_ต_รก น่าจะหมายถึงสังฆาฏนรก นรกใหญ่ขุมที่ ๓ ในจำนวนนรกทั้งหมด ๘ ขุม) เขียนอยู่ใต้ภาพนรก


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 พ.ย. 17, 15:42
ความเคลื่อนไหวทางฝั่งพม่าหลังจากสมาคมสถาปนิกสยามถอนตัวจากการที่ถูกหลอกให้เป็นตัวแทนรัฐบาล เพื่อร่วมบูรณาการในการค้นหาหลักฐานทางโบราณคดีของสถานที่สงสัยว่าจะบรรจุพระบรมอัฐิของพระเจ้าอุทุมพรแล้ว ฝ่ายเอกชนพม่าได้รวมตัวกันก่อตั้งสมาคมจิตพรรณ (Yethaphanpwint Association) ขึ้น  คำว่า Yethaphanpwintนี้ ภาษาพม่าแปลว่าดอกมะเดื่อ ตรงกับพระนามที่คนพม่าเรียกพระเจ้าอุทุมพร แต่ชื่อในภาษาไทยของสมาคมนี้ถูกสะกดเพื่อให้ฟังดูเป็นไทยๆ

เมื่อตั้งขึ้นแล้ว จึงเชิญให้ฝ่ายไทยเข้าร่วม จึงได้เกิดสมาคมมิตรภาพไทย-จิตพรรณขึ้น เพื่อจะขออนุญาตทางราชการพม่าเข้าดำเนินการอนุรักษ์ปฎิสังขรณ์โบราณสถานที่ค้นพบในสุสานลินซินกองต่อ ผมเห็นชื่อสมาคมจิตพรรณแต่แรกนึกว่าเป็นสมาคมที่เศรษฐีนีชาวไทยผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้อุทิศเงินสนับสนุน ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังจริงๆคือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

การยืนหยัดให้การสนับสนุนของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นเรื่องเลิศประเสริฐศรี ที่ทำให้ทางราชการพม่ายังเชื่อน้ำหน้าคนไทยที่บากหน้าไปทำงานที่นั่นอยู่  และได้ออกใบอนุญาตให้สมาคมมิตรภาพไทย-จิตพรรณดำเนินการก่อสร้างได้ ตามแบบแผนที่สมาคมสถาปนิกสยามเป็นผู้ทำไป


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 พ.ย. 17, 15:48
ข่าวท้องถิ่นที่ออกมาทำให้เกิดความเคลื่อนไหวในสังคมของชาวพม่ามุสลิมทันที  เมื่อทางราชการจะใช้แทรกเตอร์เข้าไปไถดะกุโบร์ของพวกเขา  จึงก่อการประท้วงขึ้น

๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๖ ขณะที่ผู้รับเหมากำลังก่อสร้างสำนักงานสนามในบริเวณพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต   รัฐบาลทหารได้มีคำสั่ง ขอให้สมาคมหยุดดำเนินการชั่วคราว จนกว่าทางราชการจะสามารถเจรจาขอเข้ารื้อถอนสุสานมุสลิมโบราณได้
เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลงแล้ว วันที่ ๒๘ ก.ย. ๒๕๕๖ นาย ตาน ส่วย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รัฐบาลสหภาพเมียนมาร์ ได้เดินทางจากเนย์ปิดอว์มาเยี่ยมชมสถานที่ก่อสร้างโครงการ

สมาคมได้รับอนุญาตให้ดำเนินงานต่อ  และได้เข้าร่วมประชุมชี้แจงแผนการดำเนินการโครงการที่จะกระทำกับคณะมนตรีแห่งรัฐมัณฑะเลย์เมื่อวันที่ ๑๔ ต.ค. ๒๕๕๖  และวันที่ ๑๗ มนตรีวัฒนธรรมแห่งรัฐมัณฑะเลย์ ดร. มิ้น ขยู เดินทางมาเยี่ยมชมความคืบหน้าการปฏิบัติงานของคณะทำงาน

ที่ผมเอารายละเอียดถึงขนาดนี้มาให้ท่านอ่าน ก็เพื่อจะให้เห็นความเอาไหนของฝ่ายรัฐของพม่า ที่ติดตามความก้าวหน้าของโครงการนี้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ แม้มีปัญหาก็มิได้ละทิ้งเอาตัวรอด



กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 พ.ย. 17, 16:28
สมาคมมิตรภาพไทย-จิตพรรณได้ดำเนินโครงการต่อ  มีความก้าวหน้าด้วยดี จนวันที่ ๙ ธ.ค. ๒๕๕๖ คณะจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นำโดยท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ รองราชเลขาธิการ ได้เดินทางมาเยี่ยมชมความคืบหน้าการปฏิบัติงานของคณะทำงานบริเวณสุสานลินซินกอง
ข่าวหลังไมค์จากน้องที่นำท่านผู้หญิง ปลีกตัวจากคณะไปยังสถูปองค์ที่ขุดพบบาตร  เล่าให้ผมฟังว่า ท่านผู้หญิงได้ใช้โทรศัพท์ถ่ายวีดีโอแล้วส่งภาพสดกลับมายังท่านผู้หนึ่งที่อยู่เมืองไทย  แล้วถามว่าที่นี่เป็นอะไรคะ เสียงที่ตอบมาฟังได้ว่า เป็นที่บรรจุอัฐิของพระนะ แต่พระองค์นี้ไม่ใช่พระธรรมดาๆ ท่านเป็นเจ้านายชั้นสูงด้วย  น้องบอกว่าท่านผู้หญิงมีท่าทียินดีมาก

ผมตัดสินใจอยู่นานที่จะเล่าเรื่องนี้ดีหรือไม่  กลัวคนจะไปพูดไม่ดีต่อท่านผู้หญิงในเรื่องความเชื่อส่วนตัวของท่าน  ซึ่งอันที่จริง กรมศิลปากรเองจะไปทำอะไรที่ไหนก็เห็นตั้งเครื่องสังเวยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งนั้น  ไม่เห็นอ้างเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ที่จะเพิกเฉยเลย  แต่ใครอย่ามาถามผมนะครับว่าน้องผู้หญิงที่เล่าให้ผมฟังเป็นใคร

วันรุ่งขึ้น ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ จึงได้ไปถวายสักการะสิ่งที่เชื่อว่าเป็นพระบรมอัฐิของพระเจ้าอุทุมพร ณ ที่ทำการของเมืองมัณฑะเลย์


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 พ.ย. 17, 16:49
สมาคมมิตรภาพไทย-จิตพรรณ ได้อาราธนาพระสงฆ์ผู้ใหญ่ทั้งสองชาติ ให้ร่วมกันเป็นประธานในการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุยังพระพุทธเจดีย์ที่บรูณะปฏิสังขรณ์ใกล้จะแล้วเสร็จ  มีการออกข่าวนี้ทั้งที่เมืองไทยและพม่า

จึงวันที่ ๑ มี.ค. ๒๕๕๗ คณะจากกรมศิลปากรไทยนำโดยนายเอนก สีหามาตย์ อธิบดี ได้นำข้าราชการหลายสิบคนและนักข่าวหนังสือพิมพ์มาทัศนศึกษาวัดที่เชื่อว่าคนไทยสร้างไว้ในเมืองต่างๆของพม่า ทั้งที่สะกาย อังวะ และมัณฑเลย์  จึงได้เดินทางมาเยี่ยมชมความคืบหน้าการปฏิบัติงานของคณะทำงานบริเวณสุสานลินซินกอง หลังจากใช้เวลาที่นั่นประมาณครึ่งชั่วโมง ก็ตัดบทขณะนั่งฟังบรรยาย ว่าจะต้องรีบไปที่อื่นต่อ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 พ.ย. 17, 17:02
จะยังอยู่ที่นี่นหรือกลับมาถึงเมืองไทยแล้วไม่ทราบ วันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๗ นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร ก็ให้สัมภาษณ์ทันทีว่า การเดินทางไปศึกษาข้อมูลครั้งนี้ กรมศิลปากร ได้หารือกับกรมโบราณคดี สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์แล้ว รับทราบข้อมูลว่า การขุดค้นดังกล่าวยังไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลกลางของเมียนมาร์ เพียงแต่มีการขออนุญาตจากคณะกรรมการพัฒนาเมืองมัณฑะเลย์เท่านั้น จึงถือว่า ยังไม่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลของทั้ง ๒ ประเทศอย่างเป็นทางการ
 
ขณะเดียวกัน รายงานการค้นของสมาคมจิตพรรณ ที่เสนอมายังกรมศิลปากร ก็มีข้อขัดแย้งหลายประการที่ทำให้มีความไม่มีความน่าเชื่อถือ และการดำเนินงานยังไม่มีนักโบราณคดีทั้งของไทยและพม่าร่วมคณะทำงานดังกล่าว จึงไม่อาจสรุปหลักฐานทางโบราณคดีว่า สถูปที่ค้นพบเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรหรือไม่ ดังนั้น จึงถือว่าทางการไทยไม่รับรองการขุดค้นดังกล่าว ซึ่งควรมีการศึกษาข้อมูลให้รอบด้านมากกว่านี้
       
นายเอนก กล่าวต่อว่า กรณีที่หลายฝ่ายถามว่ามีแนวคิดประสานไปยังสมาคมจิตพรรณและทางการเมียนมาร์ เพื่อให้ชะลอการขุดค้นสถูปของพระเจ้าอุทุมพรนั้น กรมศิลปากรคงไม่ห้ามในเรื่องดังกล่าว เพราะเป็นเรื่องที่สมาคมดำเนินการร่วมกับเทศบาลมัณฑะเลย์ เพียงแต่ต้องการเปิดเผยข้อมูลทางวิชาการให้สังคมเลือกว่าข้อมูลตรงไหนน่าเชื่อถือ ตรงไหนที่ต้องศึกษาต่อ ไม่กำหนดหรือห้ามไม่ให้ใครเชื่อหรือไม่เชื่อ เพราะทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งในส่วนของข้อมูลที่กรมศิลปากรเปิดเผยได้นำข้อมูลที่ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีต่างๆ มาสรุปประเด็นเพื่อให้เห็นว่าวิธีการศึกษาจะด่วนสรุปไม่ได้ ต้องมีข้อมูลหลักฐานยืนยันทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเรื่องดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องมีเอกสารสนับสนุน ส่วนกรณีจะขอเจาะเจดีย์วัดข่ามีนเวนั้น หากข้อมูลคำแปลระบุว่ากรณีดังกล่าวจริงก็จะมีการหารือกับคณะดำเนินงานอีกครั้ง


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 พ.ย. 17, 17:05
ส่วนนายนิติ แสงวัณณ์ นักโบราณคดีผู้เชียวชาญ กล่าวว่า จากการที่ตนไปลงพื้นที่จริง และพิจารณารายงานสรุปผลการปฏิบัติงานด้านโบราณคดีที่สุสานลินซินกง พบว่าเอกสารต่างประเทศที่ทางภาคเอกชนไปขุดค้น กล่าวอ้างว่า มีการบันทึกถึงสถูปองค์นี้ว่าบรรจุพระบรมอัฐิ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ซึ่งที่จริงแล้วเอกสารฉบับดังกล่าวไม่ได้บอกรายละเอียดถึงขนาดนั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อมูลในระดับสามัญสำนึกทางโบราณคดี หากคนในพื้นที่รู้ว่าที่นี่คือ สุสานของเจ้าชายไทยจริงทำไมถึงเรียก ลินซินกง ซึ่งแปลว่า สุสานล้านช้าง ทำไมถึงไม่ เรียกโยเดียกง

ในขณะเดียวกันรายงานที่ทางกลุ่มทำงานเอกชนส่งมาให้กรมศิลปากรพิจารณา ตั้งแต่หน้าที่หนึ่งเป็นต้นมา จะกล่าวถึงหลักฐานที่ถือว่าสำคัญมากชิ้นหนึ่ง คือภาชนะทำด้วยดินเผาประดับกระจกโดยตลอด แต่พอมาหน้าสุดท้ายกลับมาเรียกภาชนะนี้ว่าบาตรแก้วมรกต ทำไมจึงไม่ใช้ชื่อนี้ตั้งแต่ต้น ถือว่าเป็นการเขียนที่ไม่สุจริต เป็นการโน้มน้าวข้อมูลในสิ่งที่อยากให้คนอื่นเชื่อ โดยไม่มีการกล่าวถึงที่มาของบาตร ว่ามาได้อย่างไร ทำไมถึงต้องเป็นบาตรมรกต เพราะจะทำให้คนเข้าใจได้ว่า บาตรนี้เกี่ยวข้องกับเจ้านาย

นายนิติกล่าวต่อว่า ข้อมูลที่น่าสนใจคือ รายงานฉบับนี้นักโบราณคดีทั่วโลก ไม่ถือเป็นรายงานทางโบราณคดี เพราะไม่มีการอ้างอิงกระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นจนจบ เช่น ไม่บอกกำหนดอ้างอิง ไม่บอกพิกัดที่ตั้ง ไม่บอกลักษณะการขุด เป็นต้น

นอกจากนี้ เอกชนกลุ่มนี้ยังมีรายงานถึงการอ้างอิงเอกสารว่า เอกสารที่เกี่ยวเนื่องกับสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพรนั้น มาจากเอกสารโบราณพม่า ชื่อพาราไบเก ซึ่งเอกสารดังกล่าวถูกเก็บรักษาที่ห้องสมุดลอนดอน ชิ้นที่ 99/288 บันทึกถึงที่ตั้งพระสถูป

“ผมขอยืนยันว่า ข้อความนี้ไม่มีบรรจุไว้ในเอกสารพาราไบเก ไม่มีระบุขนาดนั้น แต่ถ้ามี ก็เป็นเอกสารอื่น ซึ่งรายงานนี้ไม่เคยอ้างอิงถึงเอกสารอื่นเลย จึงทำให้ข้อมูลที่กลุ่มขุดค้นส่งมาให้ ไม่มีความน่าเชื่อถือ ในเมื่อหลักฐานยังไม่มีความชัดเจน จึงไม่อยากให้ด่วนสรุปจนทำให้เกิดความเชื่อว่า เป็นพระบรมอัฐิพระมหากษัตริย์แห่งอยุธยา และทำให้คนไทยหรือเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ต้องมาเคารพสักการะโดยที่ยังไม่รู้แน่ชัดว่าเป็นอัฐิของใคร” นายนิติกล่าว


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 พ.ย. 17, 17:14
ท่านผู้ใดมีความเห็นของอธิบดีกรมศิลปากรและผู้เชี่ยวชาญอื่นๆที่ไปกับคณะ กรุณานำมาลงด้วยครับ ผมจะขอจอดรอตรงนี้ก่อนที่จะนำไปสู่จุดจบของภาค ๒

ผมขอปรารภสักเล็กน้อย เรื่องความเป็นมาของพระสถูปพระเจ้าอุทุมพรนั้น เป็นเรื่องที่ออกจะเข้าใจยากสำหรับคนทั่วไป ดังนั้นจึงมักจะต้องการข้อสรุปจากผู้ที่เชื่อถือได้
ส่วนผู้สรุปนั้นงานง่ายกว่ามาก ในทีี่สุดก็ไปจบลงที่ "เชื่อได้" หรือ "เชื่อไม่ได้"

ผมจึงต้องเสนอข้อมูลที่จะรวบรัดนักก็ไม่ได้ มันจะขาดสาระที่สำคัญ แต่หากยาวนัก ท่านก็อาจจะไม่อ่านเสียอีก ผมจึงเห็นใจคนทำงานมาก เขาทำเกือบตาย สุดท้ายคนที่ไม่ทำกลับเสียงดังกว่า



กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 02 พ.ย. 17, 18:00

ภาพวาดจากเอกสารพาราไบเก น่าจะเป็นพระเจ้าเอกทัศน์ ไม่ใช่พระเจ้าอุทุมพรครับ
คนวาดน่าจะเคยเห็นชฎาไทยจริงๆ



กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 พ.ย. 17, 18:20
อักษรพม่าที่จารึกไว้ แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า
The third founder of Ratanapura  and Lord of the White Elephant, fought and won Ayodaya, together with the King.
The King was brought here. During the reign of his brother , the founder of Amarapura, the King while in monkhood, died at Amarapura. At Linzin-gon cemetery, he was entombed/cremated with great honor entitled to a monarch.
This is the image of Chaofa Ekadath

ถอดความเป็นภาษาไทยอีกที สำนวนตรงไปตรงมาได้ความดังนี้
พระผู้ทรงสถาปนารัตนปุระ(อังวะ) ผู้ทรงเป็นพระเจ้าช้างเผือก(หมายถึงพระเจ้ามังระ) ทรงรบชนะอโยธยาและกษัตริย์
กษัตริย์ได้ถูกนำมาที่นี่   ระหว่างรัชกาลของพระราชอนุชา(หมายถึงพระเจ้าปดุง) กษัตริย์ซึงทรงอยู่ในสมณเพศได้เสด็จสวรรคตในอมรปุระ  ที่ลินซิงกอง พระสรีระของพระองค์ได้รับการถวายพระเพลิงและบรรจุพระสถูปอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติในฐานะทรงเป็นกษัตริย์
นี่เป็นภาพของเจ้าฟ้าเอกทัศน์

ประโยคสุดท้ายนี้อธิบายภาพของบุรุษผู้แต่งกายแบบฆราวาสสวมชฎา ซึ่งมิได้เกี่ยวข้องกับเรื่องที่บรรยายในหน้าเดียวกันโดยตรง อาจจะต้องการประกอบความในหน้าอื่น

เรื่องของเรื่องที่มาที่ไปคือ ในปีพ.ศ.๒๔๒๘  พม่าเสียเอกราชให้แก่อังกฤษในรัชกาลพระเจ้าสีป่อ ทหารอังกฤษได้เข้าปล้นเอาสิ่งของต่างๆในพระราชวังมัณฑะเลย์ รวมถึงทรัพย์สมบัติในท้องพระคลังของราชวงศ์คองบองไปจนหมด  แม้กระทั่งเตวั้งรุปซุงประบุทก็ยังถูกขนไปจากหอพระสมุดที่เรียกว่าวังแก้ว แล้วนำไปเก็บไว้ที่ British Commonwealth Library, London ดังว่า  เตวั้งรุปซุงประบุท หรือ parabike ที่มีข้อความข้างบนนี้ เป็นเอกสารชิ้น ที่ ๙๙  Serial Number หมายเลข  ๒๘๘

คุณ Koratian โปรดอ่านด้วยครับ ผมเขียนไว้แล้ว
อนึ่ง พาราไบเก เป็นศัพท์ของกรมศิลป์ที่อ่านคำว่า Parabike ซึ่งคณะทำงานทั้งพม่าและไทยอ่านว่า พาราไบก์ เช่นเดียวกับคนที่ใช้อังกฤษเป็นภาษาแม่


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 พ.ย. 17, 08:50
นี่จากผู้จัดการออนไลน์ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๗
ความเห็นของผู้ที่เรียกพาราไบก์ว่าพาราไบเก ผู้ที่กรมศิลปากรจ้างให้แปลเอกสารภาษาพม่า

นายวทัญญู ฟักทอง อดีตอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลันนเรศวร ในฐานะผู้เชี่ยวชาญภาษาพม่า กล่าวว่า ทางกรมศิลปากร ได้มอบหมายให้ตนแปล พาราไบเก ที่ทางกลุ่มสมาคมจิตพรรณใช้อ้างอิงและจัดแสดงข้อมูลหลักฐานและการขุดค้นเกี่ยวกับสถูป ไว้ที่บริเวณศูนย์ข้อมูลใกล้ๆสถูปที่เชื่อได้ว่าบรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ตนได้แปลตามหลักไวยากรณ์พม่า คำต่อคำ พบว่า เรื่องของชื่อภาพวาดนั้น ไม่ใช่สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรจริงๆ แต่แปลออกมาแล้วเป็น สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ หรือ พระเจ้าเอกทัศ เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 33 มีใจความว่า ภาพเจ้าฟ้าเอกทัศน์ กษัตริย์โยดะยา ผู้ซึ่งตกอยู่ภายใต้เบื้องพระยุคลบาท สมเด็จพระบรมมหาปัยกาธิบดี สี่น ผยู่ ฉิ่น พระผู้ทรงสถาปนากรุงรัตนปุระเป็นราชธานีนับเป็นครั้งที่ 3 ทรงตีอาณาจักรโยดะยาและสามารถยึดเอาเมืองพร้อมกับกษัตริย์ได้แล้ว ภายหลังเสด็จสวรรคต ขณะอยู่ในผ้าเหลือง ณ เมืองอมรปุระ ในรัชกาลสมเด็จพระบรมมหาปัยกาธิบดี พระอนุชา (ของกษัตริย์พระองค์นั้น) พระผู้ทรงสถาปนากรุงอมรปุระเป็นราชธานี และทรงสงเคราะห์อย่างใหญ่โต ณ สุสานลินซินโกง
โดยการ “นับเป็นครั้งที่ 3” หมายถึงการสถาปนาเมืองรัตนปุระอังวะเป็นราชธานีครั้งที่ 3 (ครั้งที่ 1 รัชกาลพระเจ้าตะโดมีงพญา ค.ศ. 1365, ครั้งที่ 2 รัชกาลพระเจ้าญาวยาน ค.ศ. 1597, ครั้งที่ 3 รัชกาลพระเจ้าสี่น ผยู่ ฉิ่น ค.ศ. 1764) และคำว่า “ทรงสงเคราะห์” คำว่า “สงเคราะห์” มาจากศัพท์ภาษาสันสกฤต ตรงกับคำไทยคือ “สงเคราะห์” ใช้ในความหมายในภาษาพม่าว่า “ปลงศพ”

เรื่องเดียวกันนี้ จากไทยรัฐออนไลน์มีข้อความเพิ่มเติมอีกว่า
นอกจากนี้ ใต้ภาพเอกสารพาราไบเก ยังใช้คำว่า ตะโจว เป็นภาษาบาลี แปลว่า สงเคราะห์ หรือปลงศพ แต่ไม่ได้ระบุว่า ปลงศพแบบไหน หากมีคำว่าพระราชทานเพลิงพระศพจริง จะต้องมีคำว่า มีตะโจว ปรากฏในเอกสารด้วย

ครับ นี่แหละผู้เชี่ยวชาญภาษาพม่าของไทย ตกลงข้อความในพาราไบก์ที่ส่งไปให้กรมศิลปากร เลยกลายเป็นพระเจ้าเอกทัศน์ ผู้ที่สวรรคตในผ้าเหลืองและได้รับการปลงพระศพที่ลินซินกอง แต่ไม่ทราบว่าปลงแบบไหน  วทัญญูไม่ได้เปิดพจนานุกรมไทยดูหรืออย่างไร  คำว่า เผาศพ  ปลงศพ  ฌาปนกิจ มีความหมายเดียวกัน


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 พ.ย. 17, 09:20
เลยชวนให้นึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาได้


จากกรณีที่นายสด แดงเอียด ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีและอดีตอธิบดีกรมการศาสนา (ศน.) ได้เปิดเผยบันทึกส่วนตัวเมื่อปี ๒๕๓๐ ครั้งเดินทางไปค้นหาหลักฐานเกี่ยวกับสถูปบรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔(สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร) หรือขุนหลวงหาวัด กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาและได้พบพระอินตาคา เจ้าอาวาสวัดข่ามีนเว เมืองสะกาย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ นำไปสู่การค้นพบหลักศิลาจารึก ซึ่งบ่งบอกว่ามีเจ้านายไทยในสมณะพระภิกษุมรณภาพมีการจัดพิธีปลงพระศพใหญ่โต  แต่กล่าวว่าได้นำพระบรมอัฐิมาบรรจุที่เจดีย์ของวัดข่ามีนเวนั้น

               ล่าสุดเมื่อวันที่ ๗ มีนาคม นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้พบหลักฐานสำเนาหลักศิลาจารึก ภาษามอญโบราณของนายสัญชัย หมายมั่น อดีตหัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ซึ่งเป็นคณะทำงานที่ร่วมเดินทางไปกับนายสดเมื่อปี ๒๕๓๐ ซึ่งเก็บรักษาไว้ ณ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ในประเทศไทย ขณะนี้สั่งให้คณะทำงานเร่งการตรวจสอบเอกสารและให้ผู้เชี่ยวชาญแปลออกเนื้อหาของศิลาจารึกดังกล่าวออกมา คาดว่าภายใน ๑ สัปดาห์น่าจะแปลเสร็จเรียบร้อย หากเนื้อความระบุว่ามีเจ้านายไทยในสมณะพระภิกษุ มรณภาพและนำพระบรมอัฐิมาบรรจุที่เจดีย์วัดข่ามินเวจริง ก็จะประสานกรมโบราณคดี พิพิธภัณฑ์และหอสมุด กระทรวงวัฒนธรรม เมียนมาร์ เพื่อส่งชุดคณะทำงานไปศึกษารายละเอียดร่วมกันอีกครั้งพร้อมหารือถึงแนวทางศึกษาต่อไป


๑ สัปดาห์ของนายเอนกได้ผ่านมาสามปีแล้ว ยังเงียบจ๋อย ไม่ทราบว่าผู้เชี่ยวชาญแปลออกหรือเปล่า แล้วออกมาว่าอย่างไร


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 พ.ย. 17, 09:37
จากข่าวนี้ก็เช่นกัน

เมื่อเร็วๆ นี้ นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร ได้นำคณะผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดี และประวัติศาสตร์ เดินทางไปยังเมืองมัณฑะเลย์ และเมืองสะกาย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ตามโครงการศึกษาทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี เรื่อง ชาวอยุธยาในเมียนมาร์ นายเอนก เล่าว่า เมื่อปี 2555 กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ได้แจ้ง วธ.ว่า คณะกรรมการพัฒนาเมืองมัณฑะเลย์ มีแผนปรับสภาพพื้นที่สุสานลินซินกง ที่เมืองอมรปุระ ซึ่งเชื่อว่า มีสถูปบรรจุพระอัฐิสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพร กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ดังนั้น กต.ร่วมมือ วธ.โดยกรมศิลปากร มาศึกษาเรื่องของประวัติศาสตร์และโบราณคดีเรื่องราวของชาวอยุธยาในเมียนมาร์ เพื่อศึกษาความเป็นอยู่ ชุมชนของคนไทย ในมิติทางวัฒนธรรมระหว่าง 2 ประเทศ
       
ตนได้นำคณะมาที่โบสถ์วัดมหาเตงดอจี หมู่บ้านลินซิน ในเมืองสะกาย พบภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนภาพปราสาทและลายเส้นสินเธาว์แบบหยักฟัน โดยใช้สีแดง สีขาว สีเขียว และสีดำ ที่สำคัญยังพบภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนลายรูปพระปรางค์มียอดนภศูล แสดงถึงหลักฐานของฝีมือช่างแบบอยุธยาตอนปลายอายุกว่า 200 ปี ที่สำคัญเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังเพียงแห่งเดียวที่ยังคงเหลือและบ่งชี้ถึงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชาวอยุธยาที่เคยอาศัยอยู่ในเมียนมาร์
       
ดร.ม.ร.ว.รุจยา อาภากร ผู้อำนวยการศูนย์โบราณคดีและวิจิตรศิลป์ (สปาฟา) องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีมีโอ) ผู้ศึกษาภาพจิตรกรรมฝาหนังวัดมหาเตงดอจี กล่าวว่า เมื่อหลายปีก่อนตนได้มาศึกษาและถ่ายรูปภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดแห่งนี้ไว้ แต่วันนี้มีการนำปูนมาโบกทับภาพจิตรกรรมบริเวณด้านล่างลงมาทั้งหมด
       
อย่างไรก็ตาม ทางกรมศิลปากรจะประสานกรมโบราณคดีของเมียนมาร์ เพื่อส่งนักโบราณคดีของไทยที่มีความเชี่ยวชาญเข้าไปทำการบูรณะและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับภาพจิตรกรรมโดยเร็วที่สุด


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 พ.ย. 17, 09:46
ข่าวหลังไมค์แจ้งว่า ท่านเจ้าอาวาสตื่นเต้นมาก ที่บุคคลระดับอธิบดีกรมศิลปากรของไทยแลนด์ได้บอกกับท่านเช่นนั้น แต่แล้วก็คอยหาย คอยหาย ทำท่าจะกลายเป็น Simese Talk อีกรูปแบบหนึ่งไป

คณะคนไทยหากไปเที่ยวแล้วพบท่าน ก็จะได้รับคำฝากมาช่วยถามไถ่ จนกระทั่งเมื่อเร็วๆนี้ คณะถ่ายทำสารคดีของ Thai PBS ได้ไปที่นั่นและได้รับฟังถ้อยความอย่างเดียวกัน ทางคณะจึงได้รับปากจะเป็นผู้ระดมเงินทุนมาดำเนินการให้เองโดยไม่ต้องไปหวังอะไรลมๆแล้งๆจากผู้ที่เคยออกปากไว้แต่เดิม



กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 พ.ย. 17, 10:38
ข้อความจากวิจิตร ชินาลัย ได้รับเมื่อสักครู่

ภาพที่ ๑ ๒ ๓ และ๔ เป็นการมาของอธิบดีเอนก และคณะใหญ่ของกรมศิลปากรครั้งนี้ (๑มีนาคม ๒๕๕๗) ก็ไม่รู้ว่ามาทำไม และก็ไม่ใด้แจ้งให้ผมทราบแต่ประการใด หรืออาจทราบว่าผมจัดพิธีใหญ่เพื่อประกาศชื่อโครงการอนุสรณ์สถานฯ เป็นทางการตามที่ สมาคมสถาปนิกสยาม และสมาคมจิตพรรณฯ ใด้รับอนุญาตจาก ผู้ว่าการรัฐมัณฑะเลย์อย่างเป็นทางการโดย  และกำลังจะจัดพิธีสถาปนา บรรจุพระบรมสารีริกธาตุลงในพระพุทธเจดีย์องค์ประธาน และพิธีบรรจุพระอัฐิ กลับคืนสู่สถูปหมายเลข ๓ ตามธรรมเนียมพม่า และจากนั้นจึงจะซ่อมแซมส่วนอื่นๆต่อไปตามจารีตการบูรณโบราณสถาน....จึงแวะมาชมหรือสาเหตุใดก็ไม่ทราบได้.

ตามภาพที่เห็น มีศาลาที่เราสร้างชั่วคราว ไว้แสดงงานและรับรองแขกที่จะมาร่วมในพิธี ซึ่งจะมีทั้งชาวพม่า ชาวพม่าโยเดีย ชาวไทยใหญ่ และแขกชาวไทยกับนักข่าว และ NGO ที่ support โครงการอนุสรณสถานฯ ของเราในพม่า

เมื่อกรมศิลปากรไป เราจึงใช้ศาลานี้ต้อนรับท่านซึ่งมีบอร์ดติตแสดงใว้เต็มหมด
โดยผมได้บรรยาย ร่วมกับ U Win Young สถาปนิกนักอนุรักษ์ผู้เชี่ยวชาญที่มีชือเสียงที่สุดของพม่า เล่าความเป็นมาโครงการให้ทราบพร้อมเหตุผลทำไมรัฐบาลมัณฑเลย์ ให้อนุญาตให้ซ่อมแซม และให้ใช้ชื่อโครงการเป็นอนุสรณสถาน ฯ ในชื่อ มหาเถระอุดุมบารา(มะเดื่อ)

ผมเองก็ถือเอกสารชุด Final report ที่ส่งให้ปลัดกระทรวง กว. และ กระทรวง กต. เมื่อ ๒๘ มีค. ๒๕๕๖ใว้ในมือ เผื่ออธิบดีจะมีข้อสงสัยใดๆ จะได้ชี้แจง แต่บรรยายสรุปไปเดี๊ยวเดียว อธิบดีท่านก็กล่าวขอบคุณ และบอกว่ามีกำหนดนัดหมายที่อื่นต้องรีบไป แต่ยังกรุณาทิ้งสื่อ(สายกรมศิลปากร.)หกเจ็ดฉบับ ไว้ถ่ายรูปและสัมภาษณ์ผมต่อ

รูปที่ ๕. ผู้เชี่ยวชาญไทย คุณชาย รุจยา อาภากร รู้จักกันดีกับ U Win Young ซึ่งเป็นผู้เชียวชาญพม่า จึงเห็นคุยกันดี ฝ่ายไทยก็ดูเสมือนว่าเข้าใจในที่มาที่ไปของโครงการ.

รูป ที่ ๖. U Win Young อุตส่าห์จะมาพาคณะท่านอธิบดีชมการบูรณซ่อมแซมด้วยตนเอง คณะท่านก็จะรีบไปต่อ ก็เลยรีบลา U Win Young และ ทิ้งนักข่าวใว้สัมภาษณ์ U Win Young แทนผู้ใหญ่ของกรมศิลปากร.

รูป ที่ ๗. นักข่าวถูกผู้ใหญ่กรมศิลปากรทิ้งใว้ที่ site เจ็ดแปดคน ก็เลยรุมสัมภาษณ์ผม พร้อมถ่ายทำ video ผมแทน ตาม รายละเอียดในคลิปที่นำมาออกทีวี ทางยูทูป





กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 03 พ.ย. 17, 10:47
คราวที่สมาคมสถาปนิกจัดเสวนาโครงการอนุสรณ์สถานพระเจ้าอุทุมพร โดยมีคณะทำงานฝ่ายไทยประกอบด้วย วิจิตร ชินาลัย สถาปนิกผู้อำนวยการโครงการ ปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส อุปนายกสถาปนิก ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ นักโบราณคดีอาวุโส และฝ่ายพม่า คือ มิกกี้ ฮาร์ท สถาปนิกนักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ชาวพม่า และ อู วิน หม่อง ผู้เชี่ยวชาญการอนุรักษ์โบราณสถานชาวพม่า ผู้แสดงเหตุผล ๗ ประการที่ตนเชื่อว่าอัฐิที่พบนั้นเป็นพระบรมอัฐิของพระเจ้าอุทุมพร  คือ

๑ พงศาวดารพม่าฉบับคองบอง มีบันทึกไว้ว่าพระราชวงศ์อยุธยาที่ถูกกวาดต้อนไปพม่า เมืองหลวงในขณะนั้นคืออังวะ แต่ต่อมาก็ย้ายเมืองหลวงมาที่อมรปุระ (ดังที่ผมขยายความไปแล้ว)
๒  สุสานลินซิงกองหรือที่บางคนเรียกสุสานล้านช้าง ในยุคต้นๆ ถือเป็นสุสานสำหรับชนชั้นสูงชาวต่างชาติในพม่าเท่านั้น (คำว่าล้านช้างนั้น ครั้งโบราณพม่าใช้เรียกดินแดนที่อยู่ทางตะวันออกของตนทั้งหมด ซึ่งหมายถึงไทยด้วย) และตามประวัติศาสตร์พระเจ้าอุทุมพรเป็นเจ้านายชั้นสูงที่เป็นต่างชาติเพียงพระองค์เดียวที่พลัดถิ่นไปอยู่เมืองพม่า
๓. ตามหลักฐานบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในสมุดพาราไบก์ บันทึกว่ามีกษัตริย์ไทยเคยได้รับการพระราชทานเพลิงศพจากพระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่าสมัยนัน้ ที่ลินซินกอง
๔. ขนาดของอิฐที่สร้างกำแพงแก้ว พระพุทธเจดีย์องค์ประธานและพระเจดีย์ทรงกลมทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ภายในกำแพงแก้วที่พบพระอัฐิ รวมทั้งบริเวณแท่นถวายพระเพลิงที่ต่อเนื่องกับกำแพงแก้วด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นอิฐร่วมสมัยกับที่ใช้สร้างกำแพงเมืองอมรปุระ
๕. ภาชนะบรรจุอัฐิทรงบาตร เป็นเครื่องเคลือบดินเผายุคอมรปุระ ซึ่งเป็นช่วงที่พระเจ้าอุทุมพรสวรรคต
๖. ลักษณะภาชนะทรงบาตรตั้งอยู่บนพานแว่นฟ้าประดับตกแต่งสวยงาม ซึ่งใช้กับเจ้านายชั้นสูงหรือพระมหากษัตริย์เท่านั้น
๗. พระบรมอัฐิที่พบในภาชนะทรงบาตร นอกจากกระดูกแล้วยังพบกระดุมสายรัดประคด ทั้งหมดห่ออยู่ในผ้าจีวร แสดงว่าต้องเป็นเจ้านายชั้นสูงหรือพระมหากษัตริย์ที่ยังทรงเป็นพระสงฆ์หรือพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวมีเพียงพระองค์เดียวคือ พระมหาเถระพระเจ้าอุทุมพร

นอกจากนี้ข้อมูลจากการวิเคราะห์พระอัฐิที่บรรจุในภาชนะทรงบาตร โดย นายแพทย์ทิน หม่อง จี พบชิ้นส่วนบริเวณกะโหลกที่น่าจะเป็นของผู้มีอายุหกสิบปีขึ้นไป สอดคล้องกับการคำนวณพระชันษาของพระมหาเถระพระเจ้าอุทุมพรว่าน่าจะสวรรคตในราวพระชนมายุ ๖๖ พรรษา นอกจากนี้ผังของเจดีย์และพระสถูป แสดงว่าเป็นวัดไทย เพราะพม่าไม่นิยมสร้างสถูปเจดีย์บรรจุอัฐิในวัด


เรียนท่านอาจารย์นวรัตน์ ผมติดตามอ่านกระทู้นี้มาโดยตลอดตั้งแต่ยังไม่แยกจากกระทู้ดั้งเดิมด้วยความสนใจเป็นอย่างยิ่งครับ
ขออภัยที่ในความเห็นที่แล้วเขียนสั้นไปหน่อยครับ

เรื่องรูปภาพวาดพระเจ้าเอกทัศน์ สวมชฎาไทย ห่มคลุมเฉียง และท่านั่งแบบพม่า
น่าจะวาดจากแบบที่ใส่เครื่องทรงอย่างไทยในภายหลัง มิใช่วาดโดยผู้ที่เคยเห็นพระองค์จริง
นอกจากนี้เอกสารอื่นๆก็มีความเป็นไปได้ที่จะสูญหายตอนที่เมืองอังวะถูกเผา ทำลาย เสียหาย ก่อนย้ายเมืองมาที่อมรปุระ
มิกกี้ ฮาร์ท เคยบอกว่านี่คือรูปพระเจ้าอุทุมพร ซึ่งเป็นที่มาส่วนหนึ่งของเรื่องแต่งที่ว่าพระเจ้าอุทุมพรเคยนั่งเฝ้าในราชสำนักพม่าโดยผู้แต่งเติมข่าวรายอื่นๆ
ปัจจุบันส่วนใหญ่ก็ลงความเห็นกันแล้วว่าไม่ใช่

หลักฐานการค้นพบนั้นเป็นร่องรอยของชาวสยามจริง ที่ไม่น่ามีข้อขัดแย้งใดๆ แต่ในข้อสรุป 7 ยังมีข้อสงสัย
ในข้อ 2 และ ข้อ 7 ครับ

๒  สุสานลินซิงกองหรือที่บางคนเรียกสุสานล้านช้าง ในยุคต้นๆ ถือเป็นสุสานสำหรับชนชั้นสูงชาวต่างชาติในพม่าเท่านั้น (คำว่าล้านช้างนั้น ครั้งโบราณพม่าใช้เรียกดินแดนที่อยู่ทางตะวันออกของตนทั้งหมด ซึ่งหมายถึงไทยด้วย) และตามประวัติศาสตร์พระเจ้าอุทุมพรเป็นเจ้านายชั้นสูงที่เป็นต่างชาติเพียงพระองค์เดียวที่พลัดถิ่นไปอยู่เมืองพม่า
๗. พระบรมอัฐิที่พบในภาชนะทรงบาตร นอกจากกระดูกแล้วยังพบกระดุมสายรัดประคด ทั้งหมดห่ออยู่ในผ้าจีวร แสดงว่าต้องเป็นเจ้านายชั้นสูงหรือพระมหากษัตริย์ที่ยังทรงเป็นพระสงฆ์หรือพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวมีเพียงพระองค์เดียวคือ พระมหาเถระพระเจ้าอุทุมพร


ถ้าบริเวณนั้นเป็นที่ตั้งของวัดโยเดีย เจ้าอาวาสวัดโยเดียก็น่าจะเป็นบุคคลสำคัญไม่น้อยกว่าพระเจ้าอุทุมพร
พออ่านความเห็นที่ 98 ผมก็ หูผึ่ง ครับ

เรื่องนี้มีอรรถาธิบายว่า จากที่พระราชพงศาวดารพม่าฉบับคองบองระบุไว้ ในปีพ.ศ.๒๓๓๖ เมื่อพระเจ้าบะจีดอว์(หรือคนไทยเรียกพระเจ้าจักกาย(สะกาย)แมง)ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าปะดุง พระองค์ถวายพระสุพรรณบัตรให้แก่พระสงฆ์ผู้ใหญ่ในราชอาณาจักรอมรปุระหลายรูป  หนึ่งในนั้นมีเจ้าอาวาสวัดโยเดีย นามว่าพระติสรณะ ได้ฉายาใหม่ว่า พระเถระ นรินทะชะมหาธรรมราชาคุรุ  วัดโยเดียอยู่ในลำดับต่อจากวัดตองเลยลุง ซึ่งปัจจุบันตั้ง อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของสุสานลินซินกอง ห่างไปประมาณ ๓๐๐ เมตร การที่วัดโยเดียอยู่ในลำดับต่อจากวัดต่องเลยลุง แสดงว่า วัดทั้งสองน่าจะอยู่ใกล้เคียงในบริเวณเดียวกัน  


แก้ไข  ขออภัยครับ ด้านบน ขอแก้ มิกกี้ ฮาร์ท เป็น ดร. ทิน เมืองจี ตามความเห็นที่ 10


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 03 พ.ย. 17, 11:08
มีใจความว่า ภาพเจ้าฟ้าเอกทัศน์ กษัตริย์โยดะยา ผู้ซึ่งตกอยู่ภายใต้เบื้องพระยุคลบาท สมเด็จพระบรมมหาปัยกาธิบดี สี่น ผยู่ ฉิ่น พระผู้ทรงสถาปนากรุงรัตนปุระเป็นราชธานีนับเป็นครั้งที่ 3 ทรงตีอาณาจักรโยดะยาและสามารถยึดเอาเมืองพร้อมกับกษัตริย์ได้แล้ว ภายหลังเสด็จสวรรคต ขณะอยู่ในผ้าเหลือง ณ เมืองอมรปุระ ในรัชกาลสมเด็จพระบรมมหาปัยกาธิบดี พระอนุชา (ของกษัตริย์พระองค์นั้น) พระผู้ทรงสถาปนากรุงอมรปุระเป็นราชธานี และทรงสงเคราะห์อย่างใหญ่โต ณ สุสานลินซินโกง

ผู้บันทึกได้บันทึกหลังพิธีปลงพระศพหลายสิบปี (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=6834.msg159343#msg159343) จึงอาจมีความคลาดเคลื่อนได้บ้าง ข้อความในบันทึกเป็นได้ ๒ กรณี คือ

๑. บันทึกคลาดเคลื่อนจาก ภาพพระเจ้าอุทุมพร เป็นภาพพระเจ้าเอกทัศน์

๒. เป็นภาพพระเจ้าเอกทัศน์จริง แต่ "กษัตริย์" ที่กล่าวต่อมาว่าสวรรคตในผ้าเหลืองที่อมรปุระควรเป็นพระเจ้าอุทุมพร ไม่ใช่พระเจ้าเอกทัศน์ (นอกจากจะมีหลักฐานว่าพระเจ้าเอกทัศน์สวรรคตที่พม่า)


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 พ.ย. 17, 07:18
ผมคงไม่ตองกล่าวถึงภาพพระเจ้าเอกทัศน์อีกนะครับ เอาข้อใหม่ๆที่คุณคนโคราชสงสัยเลยดีกว่า

อ้างถึง
๒  สุสานลินซิงกองหรือที่บางคนเรียกสุสานล้านช้าง ในยุคต้นๆ ถือเป็นสุสานสำหรับชนชั้นสูงชาวต่างชาติในพม่าเท่านั้น (คำว่าล้านช้างนั้น ครั้งโบราณพม่าใช้เรียกดินแดนที่อยู่ทางตะวันออกของตนทั้งหมด ซึ่งหมายถึงไทยด้วย) และตามประวัติศาสตร์พระเจ้าอุทุมพรเป็นเจ้านายชั้นสูงที่เป็นต่างชาติเพียงพระองค์เดียวที่พลัดถิ่นไปอยู่เมืองพม่า
๗. พระบรมอัฐิที่พบในภาชนะทรงบาตร นอกจากกระดูกแล้วยังพบกระดุมสายรัดประคด ทั้งหมดห่ออยู่ในผ้าจีวร แสดงว่าต้องเป็นเจ้านายชั้นสูงหรือพระมหากษัตริย์ที่ยังทรงเป็นพระสงฆ์หรือพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวมีเพียงพระองค์เดียวคือ พระมหาเถระพระเจ้าอุทุมพร


ถ้าบริเวณนั้นเป็นที่ตั้งของวัดโยเดีย เจ้าอาวาสวัดโยเดียก็น่าจะเป็นบุคคลสำคัญไม่น้อยกว่าพระเจ้าอุทุมพร
พออ่านความเห็นที่ 98 ผมก็ หูผึ่ง ครับ


เรื่องนี้มีอรรถาธิบายว่า จากที่พระราชพงศาวดารพม่าฉบับคองบองระบุไว้ ในปีพ.ศ.๒๓๓๖ เมื่อพระเจ้าบะจีดอว์(หรือคนไทยเรียกพระเจ้าจักกาย(สะกาย)แมง)ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าปะดุง พระองค์ถวายพระสุพรรณบัตรให้แก่พระสงฆ์ผู้ใหญ่ในราชอาณาจักรอมรปุระหลายรูป  หนึ่งในนั้นมีเจ้าอาวาสวัดโยเดีย นามว่าพระติสรณะ ได้ฉายาใหม่ว่า พระเถระ นรินทะชะมหาธรรมราชาคุรุ  วัดโยเดียอยู่ในลำดับต่อจากวัดตองเลยลุง ซึ่งปัจจุบันตั้ง อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของสุสานลินซินกอง ห่างไปประมาณ ๓๐๐ เมตร การที่วัดโยเดียอยู่ในลำดับต่อจากวัดต่องเลยลุง แสดงว่า วัดทั้งสองน่าจะอยู่ใกล้เคียงในบริเวณเดียวกัน  

คำว่า ถ้าบริเวณนั้นเป็นที่ตั้งของวัดโยเดีย เจ้าอาวาสวัดโยเดียก็น่าจะเป็นบุคคลสำคัญไม่น้อยกว่าพระเจ้าอุทุมพร ตรงนี้เป็นความจริงไปไม่ได้ เพราะพระเจ้าอุทุมพรทรงเป็นถึงอดีตกษัตริย์  อย่างไรเสียเจ้านายองค์อื่นจะไปสำคัญเสมอกับท่านได้อย่างไร
แล้วพระราชฐานะนี้ ก็ยังยิ่งกว่าเจ้านายชาติอื่นๆทุกพระองค์ที่พม่าเคยนำมาเป็นตัวประกันด้วย นี่ว่าตามตามประวัติศาสตร์ของเขาดังที่ผมกล่าวไปแล้ว  ซึ่งก็ระบุโดยชัดเจนอีกว่าเมื่อพระเจ้าปะดุงย้ายราชธานีมาอมรปุระ ก็โปรดให้พระเจ้าอุทุมพรตามเสด็จมาประทับในเมืองใหม่ด้วย  ตรงนี้นักประวัติศาสตร์พม่าในสมัยนี้สันนิษฐานว่าคงจะโปรดให้สร้างวัดโยเดียถวายให้เป็นที่ประทับจำพรรษา (คคห.๙๘) และเมื่อพาราไบก์ระบุทรงได้รับพระราชทานให้จัดปลงพระบรมศพที่ลินซินกอง ทรากวัดที่พบที่นั่นในทศวรรษนี่จึงน่าจะเป็นวัดโยเดียดังกล่าวที่สาบสูญ

เอาละครับ ถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริง สถูปบรรจุพระอัฐิ ซึ่งอยู่ในกำแพงแก้วเพียงองค์เดียว และพบบาตรประดับกระจกบนพานแว่นฟ้ารองรับ จึงน่าจะเป็นของเจ้าอาวาสองค์แรกหรือองค์ที่ ๒ ? (ซึ่งมีคุณคนโคราชคนเดียวที่ตั้งปุจฉาว่าน่าจะมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าพระเจ้าอุทุมพร)

คราวที่สมาคมสถาปนิกจัดเสวนาโครงการอนุสรณ์สถานพระเจ้าอุทุมพร โดยมีคณะทำงานฝ่ายไทยประกอบด้วย วิจิตร ชินาลัย สถาปนิกผู้อำนวยการโครงการ ปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส อุปนายกสถาปนิก ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ นักโบราณคดีอาวุโส และฝ่ายพม่า คือ มิกกี้ ฮาร์ท สถาปนิกนักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ชาวพม่า และ อู วิน หม่อง ผู้เชี่ยวชาญการอนุรักษ์โบราณสถานชาวพม่า ผู้แสดงเหตุผล ๗ ประการที่ตนเชื่อว่าอัฐิที่พบนั้นเป็นพระบรมอัฐิของพระเจ้าอุทุมพร  คือ

๑ พงศาวดารพม่าฉบับคองบอง มีบันทึกไว้ว่าพระราชวงศ์อยุธยาที่ถูกกวาดต้อนไปพม่า เมืองหลวงในขณะนั้นคืออังวะ แต่ต่อมาก็ย้ายเมืองหลวงมาที่อมรปุระ (ดังที่ผมขยายความไปแล้ว)
๒  สุสานลินซิงกองหรือที่บางคนเรียกสุสานล้านช้าง ในยุคต้นๆ ถือเป็นสุสานสำหรับชนชั้นสูงชาวต่างชาติในพม่าเท่านั้น (คำว่าล้านช้างนั้น ครั้งโบราณพม่าใช้เรียกดินแดนที่อยู่ทางตะวันออกของตนทั้งหมด ซึ่งหมายถึงไทยด้วย) และตามประวัติศาสตร์พระเจ้าอุทุมพรเป็นเจ้านายชั้นสูงที่เป็นต่างชาติเพียงพระองค์เดียวที่พลัดถิ่นไปอยู่เมืองพม่า
๓. ตามหลักฐานบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในสมุดพาราไบก์ บันทึกว่ามีกษัตริย์ไทยเคยได้รับการพระราชทานเพลิงศพจากพระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่าสมัยนัน้ ที่ลินซินกอง
๔. ขนาดของอิฐที่สร้างกำแพงแก้ว พระพุทธเจดีย์องค์ประธานและพระเจดีย์ทรงกลมทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ภายในกำแพงแก้วที่พบพระอัฐิ รวมทั้งบริเวณแท่นถวายพระเพลิงที่ต่อเนื่องกับกำแพงแก้วด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ เป็นอิฐร่วมสมัยกับที่ใช้สร้างกำแพงเมืองอมรปุระ
๕. ภาชนะบรรจุอัฐิทรงบาตร เป็นเครื่องเคลือบดินเผายุคอมรปุระ ซึ่งเป็นช่วงที่พระเจ้าอุทุมพรสวรรคต
๖. ลักษณะภาชนะทรงบาตรตั้งอยู่บนพานแว่นฟ้าประดับตกแต่งสวยงาม ซึ่งใช้กับเจ้านายชั้นสูงหรือพระมหากษัตริย์เท่านั้น
๗. พระบรมอัฐิที่พบในภาชนะทรงบาตร นอกจากกระดูกแล้วยังพบกระดุมสายรัดประคด ทั้งหมดห่ออยู่ในผ้าจีวร แสดงว่าต้องเป็นเจ้านายชั้นสูงหรือพระมหากษัตริย์ที่ยังทรงเป็นพระสงฆ์หรือพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวมีเพียงพระองค์เดียวคือ พระมหาเถระพระเจ้าอุทุมพร

นอกจากนี้ข้อมูลจากการวิเคราะห์พระอัฐิที่บรรจุในภาชนะทรงบาตร โดย นายแพทย์ทิน หม่อง จี พบชิ้นส่วนบริเวณกะโหลกที่น่าจะเป็นของผู้มีอายุหกสิบปีขึ้นไป สอดคล้องกับการคำนวณพระชันษาของพระมหาเถระพระเจ้าอุทุมพรว่าน่าจะสวรรคตในราวพระชนมายุ ๖๖ พรรษา นอกจากนี้ผังของเจดีย์และพระสถูป แสดงว่าเป็นวัดไทย เพราะพม่าไม่นิยมสร้างสถูปเจดีย์บรรจุอัฐิในวัด



กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 พ.ย. 17, 09:38
บัดนี้ ผมขออนุญาตที่จะวิพากษ์วิจารณ์อธิบดีกรมศิลปากรบ้าง ในฐานะที่เป็นข้าราชการกินเงินเดือนหลวง และผมในฐานะประชาชนผู้เสียภาษี

๑ ด้านนายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า การเดินทางไปศึกษาข้อมูลครั้งนี้ กรมศิลปากร ได้หารือกับกรมโบราณคดี สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์แล้ว รับทราบข้อมูลว่า การขุดค้นดังกล่าวยังไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลกลางของเมียนมาร์ เพียงแต่มีการขออนุญาตจากคณะกรรมการพัฒนาเมืองมัณฑะเลย์เท่านั้น  จึงถือว่า ยังไม่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลของทั้งสองประเทศอย่างเป็นทางการ

นายเอนกก็เป็นข้าราชการระดับสูง น่าจะเข้าใจว่าเรื่องเช่นนี้รัฐบาลเนปิดอว์ต้องรับรู้ และให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือเมืองมัณฑเลย์เป็นผู้ดำเนินการ การที่บุคคลระดับรัฐมนตรีช่วยกระทรวงวัฒนธรรมของเขาได้ให้ความสนใจ เดินทางจากเมืองหลวงมาเยี่ยมโครงการเพื่อติดตามงานถึงสองครั้ง ไม่รวมข้าราชการระดับสูงอื่นๆอีกนับสิบครั้ง ย่อมบ่งบอกว่ารัฐบาลพม่าให้ความสำคัญ ในขณะที่รัฐบาลไทยไม่ใส่ใจเลย ให้เอกชนมาทำงานให้ในนามของรัฐบาล แต่ลอยแพเขาเสียตั้งแต่เริ่ม บัดนี้ยังตามไปทิ้งบอมบ์แพของเขาเสียอีกโดยพาสื่อไปแถลงว่าโครงการที่กำลังดำเนินอยู่  จนถึงขั้นจะมีพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุลงในพระพุทธเจดีย์อยู่แล้วนั้น ยังไม่ได้รับการรับรองจากรัฐบาลของทั้งสองประเทศอย่างเป็นทางการ
เออใช่  ก็รัฐบาลพม่าเขาจะรับรองอะไรได้ ในเมื่อรัฐบาลไทยที่เคยไปบอกว่าจะร่วมบูรณาการโครงการนี้ในระดับทวิภาคี  ยังไม่ปรากฏหน้าไปพูดอะไรต่อกับเขาสักคำ

๒ ขณะเดียวกัน รายงานการค้นของสมาคมจิตพรรณ ที่เสนอมายังกรมศิลปากร ก็มีข้อขัดแย้งหลายประการที่ทำให้มีความไม่มีความน่าเชื่อถือ และการดำเนินงานยังไม่มีนักโบราณคดีทั้งของไทยและพม่าร่วมคณะทำงานดังกล่าว จึงไม่อาจสรุปหลักฐานทางโบราณคดีว่า สถูปที่ค้นพบเป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรหรือไม่ ดังนั้น จึงถือว่าทางการไทยไม่รับรองการขุดค้นดังกล่าว ซึ่งควรมีการศึกษาข้อมูลให้รอบด้านมากกว่านี้

ข้อขัดแย้งดังกล่าว อธิบดีเพียงแต่กล่าวเปิดช่องให้ลูกน้องเป็นผู้อรรถาธิบาย เดี๋ยวผมจะตามไปตอบตรงนั้น
เอาตรงที่ว่า ไม่มีนักโบราณคดีทั้งของไทยและพม่าร่วมคณะทำงานดังกล่าว ไม่ทราบว่าอธิบดีพูดได้อย่างไร ทางฝ่ายพม่านั้นมีเยอะแยะ ฝ่ายไทยมีนายปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ นักโบราณคดีอาวุโสที่เพิ่งเกษียณจากกรมศิลปากร  ฝากผลงานที่มีชื่อเสียงไว้มากมาย ไปปฏิบัติงานในพื้นที่เป็นเดือนด้วยจิตอาสาร่วมกับสมาคมสถาปนิกสยาม ไฉนบอกไม่มี หรือผู้เกษียณออกจากกรมแล้วไม่ถือว่าเป็นนักโบราณคดีอีกต่อไป
กรมศิลปากรสิ ได้รับคำสั่งจากปลัดกระทรวงวัฒนธรรมในที่ประชุมร่วมในครั้งปฐม ให้สนับสนุนฝ่ายเอกชนในการเข้าไปทำงานในนามรัฐบาล กลับไม่ส่งนักโบราณคดีไปเมื่อได้รับการร้องขอ ไม่ทำอะไรทั้งนั้น จนกระทั่งนาทีที่ตัวอธิบดีไปที่นั่นเองเพื่อทำ คือให้สัมภาษณ์

อีกฉบับหนึ่งมีข้อความเพิ่มเติม

๓ นายเอนก กล่าวต่อว่า กรณีที่หลายฝ่ายถามว่ามีแนวคิดประสานไปยังสมาคมจิตพรรณและทางการเมียนมาร์ เพื่อให้ชะลอการขุดค้นสถูปของพระเจ้าอุทุมพรนั้น กรมศิลปากรคงไม่ห้ามในเรื่องดังกล่าว เพราะเป็นเรื่องที่สมาคมดำเนินการร่วมกับเทศบาลมัณฑะเลย์

แหม…ขอโทษครับ ถ้าอยากจะห้าม ผมขอถามว่าจะใช้สิทธิ์ในฐานะอะไร  ที่นั่นมันประเทศของเขาขอรับ

๔ เพียงแต่ต้องการเปิดเผยข้อมูลทางวิชาการให้สังคมเลือกว่าข้อมูลตรงไหนน่าเชื่อถือ ตรงไหนที่ต้องศึกษาต่อ ไม่กำหนดหรือห้ามไม่ให้ใครเชื่อหรือไม่เชื่อ เพราะทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งในส่วนของข้อมูลที่กรมศิลปากรเปิดเผยได้นำข้อมูลที่ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีต่างๆ มาสรุปประเด็นเพื่อให้เห็นว่าวิธีการศึกษาจะด่วนสรุปไม่ได้ ต้องมีข้อมูลหลักฐานยืนยันทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเรื่องดังกล่าว มีความเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องมีเอกสารสนับสนุน

เอกสารมีเยอะแยะ อธิบดีคงไม่อ่าน ฟังลูกน้องรายงานสรุปอย่างเดียว
ส่วนที่ว่า ต้องมีข้อมูลหลักฐานยืนยันทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น ในเรื่องโบราณคดี ในเมืองไทยมีกรณีย์ไหนมีบ้างที่มีหลักฐานยืนยันร้อยเปอร์เซนต์ เจดีย์ยุทธหัตถีอยู่ที่สุพรรณหรืออยู่ที่พนมทวน แม้บัดนี้ คนสองจังหวัดก็ยังเห็นแย้งกันอยู่ ผมขอยกวลีของวลัยลักษณ์ ทรงศิริ แห่งนิตยสารเมืองโบราณที่กล่าวว่า กรณีการบูรณะโบราณสถานที่เกาะเมืองอยุธยานั้น ยังไม่สามารถจัดการพื้นที่และให้ความหมายกับเจดีย์สักองค์ได้เลย โดยเพิ่มเติมนิดเดียวว่า เจดีย์สามองค์ที่ชื่อว่าเจ้าอ้ายพระยา เจ้ายี่พระยา และเจ้าสามพระยา นั้น กรมศิลปากรเคยขุดเจอพระบรมอัฐิ ถูกต้องตามที่พงศาวดารกล่าวไว้หรือเปล่า เจอป้ายหรือจารึกอะไรที่บ่งบอกไหมว่าที่ทุกวันนี้บอกว่าใช่นั้นใช่จริง แต่ทำไมจึงเชื่อ

๕ ส่วนกรณีจะขอเจาะเจดีย์วัดข่ามีนเวนั้น หากข้อมูลคำแปลระบุว่ากรณีดังกล่าวจริงก็จะมีการหารือกับคณะดำเนินงานอีกครั้ง
นี่แสดงว่าที่ตอนโน้นบอกว่าจะแปลเสร็จในสิบวัน เป็นอันว่าพูดไปอย่างงั้นๆ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 พ.ย. 17, 11:08
คราวนี้ถึงตาลูกน้องออกมาเล่น

นายนิติ แสงวัณณ์ นักโบราณคดีเชี่ยวชาญ กรมศิลปากร ตั้งข้อสังเกตว่า ตนลงพื้นที่จริง และได้พิจารณารายงานสรุปผลการปฏิบัติงานด้านโบราณคดีที่สุสานลินซินกง
นิดนึงก่อนเลยครับ การลงพื้นที่จริงตรงนี้เขาหมายถึงวันที่ได้ตามอธิบดีไปอยู่ที่นั้นไม่ถึงครึ่งชั่วโมงนะครับ

๑ พบว่า เอกสารต่างประเทศ ที่ทางภาคเอกชนไปขุดค้นกล่าวอ้างถึงว่า มีการบันทึกถึงสถูปองค์นี้ว่ามีการบรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ซึ่งทั้งที่จริงแล้วเอกสารฉบับดังกล่าว บอกว่ามีหลักฐานที่ถือว่าสำคัญมากชิ้นหนึ่ง คือ ภาชนะ ทำด้วยดินเผาประดับกระจก มาถึงหน้าสุดท้ายกลับมาเรียกภาชนะนี้ว่าบาตรแก้วมรกต ทำไมจึงไม่ใช้ชื่อนี้ตั้งแต่ต้น ถือว่าเป็นการเขียนที่ไม่สุจริต เป็นการโน้มน้าวในข้อมูลอยากให้คนอื่นเข้าใจได้ว่า บาตรนี้เกี่ยวข้องกับเจ้านายที่เป็นพระสงฆ์

นี่ก็มั่วตั้งแต่ประโยคแรก
เอกสารต่างประเทศ ที่ทางภาคเอกชนไปขุดค้นกล่าวอ้างถึง ตรงนี้คงจะหมายถึงพาราไบก์ ซึ่งมีข้อความสั้นๆ ไม่ได้กล่าวถึงภาชนะทำด้วยดินเผาประดับกระจกเลยสักนิดเดียว
จริงอยู่ ในรายงานที่คณะทำงานเคยส่งให้กรมศิลปากรโดยตลอด อาจพบคำว่า ภาชนะทำด้วยดินเผาประดับกระจก หรือที่บอกมาถึงหน้าสุดท้ายกลับมาเรียกภาชนะนี้ว่าบาตรแก้วมรกต ก็เพราะเขารายงานเป็นรายงานประจำวัน วันแรกที่พบมีดินหุ้มอยู่เต็ม สังเกตุได้แต่เพียงเป็นภาชนะก็เรียกว่าภาชนะเฉยๆ พอต่อไปชำระดินออกแล้วเห็นว่าเป็นภาชนะทำด้วยดินเผาประดับกระจก หรือบาตรประดับกระจก ก็ว่าไปตามนั้น ส่วนคำว่าบาตรแก้วมรกตเป็นเพียงวลีที่อรรถาธิบายสีของแก้ว ไม่ได้ใช้มาก

เพียงแค่นี้ก็ไปกล่าวหาเขาว่าเป็นการเขียนที่ไม่สุจริต เป็นการโน้มน้าวในข้อมูลอยากให้คนอื่นเข้าใจได้ว่า บาตรนี้เกี่ยวข้องกับเจ้านายที่เป็นพระสงฆ์  
หามิได้ ภาชนะเมือเห็นว่าเป็นบาตรก็ต้องเรียกว่าบาตร และลวดลายที่ประดับกระจกเช่นนี้ เมื่อเทียบกับรูปถ่ายโบราณวัตถุของพม่าแล้ว เทียบได้ถึงขั้นที่จะใช้เฉพาะพระมหากษัตริย์หรือเจ้านายชั้นสูง เขาก็รายงานไปตามเนื้อหา มาจ้องจับผิดอะไรกับประเด็นเล็กน้อย สงสัยอะไรทำไมไม่ไปขอเขาดู
 
๒ นักโบราณคดีเชียวชาญ กล่าวอีกว่า รายงานฉบับนี้ นักโบราณคดีทั่วโลกไม่ถือเป็นรายงานทางโบราณคดี เพราะไม่มีการอ้างอิงกระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบ เช่น ไม่บอกกำหนดอ้างอิง ไม่บอกพิกัดที่ตั้ง ไม่บอกลักษณะการขุด เป็นต้น

ผมได้เล่าไว้แล้วตั้งแต่ คคห.๑๙-๒๒ ว่าโครงการนี้เป็นโครงการเร่งด่วนหมือนกู้ภัย เพราะแต่แรก ทางการพม่าให้เวลาเพียงเดือนเดียว ที่จะขุดค้นสถูป(หรือหลุมฝังศพ)เพื่อหาสิ่งที่ผู้ขอจะเคลื่อนย้ายไปบรรจุที่อื่น ซึ่งโชคดีที่ค้นพบสิ่งนั้นก่อนจะหมดเวลา และพอที่อาจารย์ปฏิพัฒน์จะเปิดหน้าดินเพื่อให้เห็นว่าเป็นโบราณสถาน จนทำให้ทางการพม่ายอมรับ และไม่สามารถรื้อทิ้งได้ตามกฏหมายของเขา

อย่างไรก็ดี พื้นที่ตรงนั้นก็ไม่ได้ถูกขุดค้นอย่างไร้แนวทางจนไปทำลายหลักฐานอื่นๆซึ่ง ถ้ามีการบูรณาการร่วมกันระหว่างรัฐบาลและเอกชนของทั้งสองประเทศ ก็อาจจะใช้เวลา ใช้เทคนิกที่มากขึ้นในการเปิดพื้นที่ซึ่งอาจเจอหลักฐานดีๆอีกมากมาย ที่อาจจะบ่งบอกถึงวัดและสุสานหลวงของชาวโยเดียผู้พลัดถิ่นก็เป็นได้

๓ นอกจากนี้ยังมีการรายงานถึงการอ้างอิงเอกสารว่า เอกสารที่เกี่ยวเนื่องกับสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพร นั้น มาจากเอกสารโบราณพม่า ชื่อ พาราไบเก เอกสารพาราไบเกเก็บไว้ที่ ห้องสมุดลอนดอน ชิ้นที่ 99 /288 บันทึกถึงที่ตั้งพระสถูป ตนขอยืนยันว่า ข้อความนี้ไม่มีบรรจุไว้ในเอกสารพาราไบเก ไม่มีระบุขนาดนั้น

พาราไบเกตามศัพท์ของกรมศิลปากรที่ว่าบันทึกถึงที่ตั้งพระสถูป นายนิติจะยืนยันว่าข้อความนี้ไม่มีบรรจุไว้ในเอกสารพาราไบเก ไม่มีระบุขนาดนั้น ก็ใช่ ใครๆที่แปลก็แปลแต่เพียงว่า พระบรมศพของกษัตริย์โยเดีย ได้รับโปรดเกล้าให้ปลงอย่างสมพระเกียรติที่ลินซิน  ข้อความที่เกินมานั้น นายนิติชงเอง กินเอง

อีกฉบับหนึ่งเขียนว่า

๔ นายนิติ แสงวัณณ์ นักโบราณคดีเชียวชาญ กล่าวว่า จากการที่ตนไปลงพื้นที่จริง และพิจารณารายงานสรุปผลการปฏิบัติงานด้านโบราณคดีที่สุสานลินซินกง พบว่าเอกสารต่างประเทศที่ทางภาคเอกชนไปขุดค้น กล่าวอ้างว่า มีการบันทึกถึงสถูปองค์นี้ว่าบรรจุพระบรมอัฐิ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ซึ่งที่จริงแล้วเอกสารฉบับดังกล่าวไม่ได้บอกรายละเอียดถึงขนาดนั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อมูลในระดับสามัญสำนึกทางโบราณคดี หากคนในพื้นที่รู้ว่าที่นี่คือ สุสานของเจ้าชายไทยจริงทำไมถึงเรียก ลินซินกง ซึ่งแปลว่า สุสานล้านช้าง ทำไมถึงไม่ เรียกโยเดียกง

สามัญสำนึกของนายนิติ น่าจะเรียกวิสามัญสำนึกในเรื่องโยเดียกง  เพราะไปยึดติดกับคำว่าล้านช้าง ซึ่งคนไทยเข้าใจว่าหมายถึงราชอาณาจักรลาวในอดีต  แต่พม่านั้นเขาหมายถึงดินแดนฝั่งตะวันออกของราชอาณาจักรพม่าทั้งหมด ทั้งไทย ลาว เขมรและญวน อย่างไรก็ดี คำว่าลินซินในภาษาพม่าโดยศัพท์แล้วแปลว่าหอสูง ในพาราไบก์กล่าวเพียงลินซิน ที่ตรงนั้นอาจจะยังไม่เป็นสุสาน หรือเกี่ยวข้องอะไรกับล้านช้างก็ได้

๕ ในขณะเดียวกันรายงานที่ทางกลุ่มทำงานเอกชนส่งมาให้กรมศิลปากรพิจารณา ตั้งแต่หน้าที่หนึ่งเป็นต้นมา จะกล่าวถึงหลักฐานที่ถือว่าสำคัญมากชิ้นหนึ่ง คือภาชนะทำด้วยดินเผาประดับกระจกโดยตลอด แต่พอมาหน้าสุดท้ายกลับมาเรียกภาชนะนี้ว่าบาตรแก้วมรกต ทำไมจึงไม่ใช้ชื่อนี้ตั้งแต่ต้น ถือว่าเป็นการเขียนที่ไม่สุจริต เป็นการโน้มน้าวข้อมูลในสิ่งที่อยากให้คนอื่นเชื่อ โดยไม่มีการกล่าวถึงที่มาของบาตร ว่ามาได้อย่างไร ทำไมถึงต้องเป็นบาตรมรกต เพราะจะทำให้คนเข้าใจได้ว่า บาตรนี้เกี่ยวข้องกับเจ้านาย

เหตุผลอันยิ่งใหญ่ในการไม่เห็นด้วยอันนี้ซ้ำกับ ๑

 ๖ นายนิติกล่าวต่อว่า ข้อมูลที่น่าสนใจคือ รายงานฉบับนี้นักโบราณคดีทั่วโลก ไม่ถือเป็นรายงานทางโบราณคดี เพราะไม่มีการอ้างอิงกระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นจนจบ เช่น ไม่บอกกำหนดอ้างอิง ไม่บอกพิกัดที่ตั้ง ไม่บอกลักษณะการขุด เป็นต้น

อันนี้ซ้ำกับ ๒

๗ นอกจากนี้ เอกชนกลุ่มนี้ยังมีรายงานถึงการอ้างอิงเอกสารว่า เอกสารที่เกี่ยวเนื่องกับสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพรนั้น มาจากเอกสารโบราณพม่า ชื่อพาราไบเก ซึ่งเอกสารดังกล่าวถูกเก็บรักษาที่ห้องสมุดลอนดอน ชิ้นที่ 99/288 บันทึกถึงที่ตั้งพระสถูป
ผมขอยืนยันว่า ข้อความนี้ไม่มีบรรจุไว้ในเอกสารพาราไบเก ไม่มีระบุขนาดนั้น แต่ถ้ามี ก็เป็นเอกสารอื่น ซึ่งรายงานนี้ไม่เคยอ้างอิงถึงเอกสารอื่นเลย จึงทำให้ข้อมูลที่กลุ่มขุดค้นส่งมาให้ ไม่มีความน่าเชื่อถือ ในเมื่อหลักฐานยังไม่มีความชัดเจน จึงไม่อยากให้ด่วนสรุปจนทำให้เกิดความเชื่อว่า เป็นพระบรมอัฐิพระมหากษัตริย์แห่งอยุธยา และทำให้คนไทยหรือเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ต้องมาเคารพสักการะโดยที่ยังไม่รู้แน่ชัดว่าเป็นอัฐิของใคร” นายนิติกล่าว

อันนี้ซ้ำกับ ๓ ผิดกันเฉพาะข้อความตอนท้าย ซึ่งผมเห็นว่า ถ้าไม่ใช่ระดับรัฐบาลต่อรัฐบาล ก็คงไม่มีใครกล้ายืนยันว่า หลักฐานสำคัญที่ได้พบในครั้งนี้เป็นพระบรมอัฐิของพระเจ้าอุทุมพร
แต่การที่จะสรุปให้ได้แน่ชัดนั้น จะต้องเป็นความร่วมมือร่วมใจ และโดยบริสุทธิ์ใจของคนทั้งสองชาติ ที่จะช่วยค้นหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีต่อ ซึ่งถ้าเป็นโครงการระดับรัฐต่อรัฐแล้ว ก็คงไม่ยากที่จะได้ดูพาราไบก์ที่อังกฤษยึดไว้ ทุกหน้าที่อาจเกี่ยวข้อง พร้อมคำแปลอย่างเป็นทางการ  
ส่วนบริเวณที่ตั้งของโครงการเอง ถ้าได้ขยายแนวสำรวจทั้งมิติลึกและกว้าง เราอาจพบหลักฐานโบราณคดีที่สำคัญในสถูปองค์อื่นๆที่ยังคงเหลือ ที่จะบ่งบอกถึงหลักฐานแวดล้อม ในขณะที่วิธีพิสูจน์ด้วยการหา DNA ไม่สามารถกระทำได้ในกรณีย์ที่กระดูกที่ค้นพบผ่านการเผาไฟแล้ว หรือหาทายาทที่จะสืบ DNA มาถึงปัจจุบันไม่ได้

แต่ทั้งหมดถ้าจะทำ จะต้องล้างวิสามัญสำนึกของคนในกรมศิลปากรให้เรียบร้อยก่อน


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 พ.ย. 17, 11:32
สำหรับชื่อของโครงการที่เอกชนทั้งสองชาติร่วมกันดำเนินต่อนั้น มีชื่อเต็มๆว่า “โครงการอนุสรณสถานมหาเถระอุตมบาระ” หากว่ามีคำถามว่าทำไมถึงชื่อนั้น หรือทำไมมาตั้งตรงนั้น

ถ้าถามผม ก็คงตอบว่า เพราะมีเอกสารหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่ามหาเถระอุตมบาระของพม่านั้นคืออดีตพระเจ้าอุทุมพรแห่งกรุงศรีอยุธยา ที่เสด็จมาประทับและสวรรคตในพม่า แล้วกษัตริย์พม่าโปรดให้กระทำพิธีปลงพระบรมศพอย่างสมพระเกียรติในบริเวณลินซินกองนี้ ซึ่งอนุสรณ์สถานได้ตั้งขึ้นบนบริเวณที่ขุดพบหลักฐานสำคัญ ซึ่งเชื่อว่าเป็นบาตรที่กษัตริย์พม่าพระราชทานให้บรรจุพระบรมอัฐิ แม้นว่าอัฐิที่ค้นพบจะไม่สามารถพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ได้ว่าเป็นพระบรมอัฐิของพระองค์ก็ตาม



กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 พ.ย. 17, 11:52
ทว่า น่าเสียดายครับ ถ้อยคำให้สัภาษณ์ของนายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากรที่หนังสือพิม์ของไทยลง โดยเฉพาะบางกอกโพสต์กับเดอะเนชั่น ได้รับการรายงานโดยสถานทูตเมียนม่าร์ในกรุงเทพส่งตรงไปยังเนปิดอว์ ส่งผลกระทบทันทีกับโครงการ

ขณะที่คณะสงฆ์ไทยและพม่าที่กำลังจะเข้าร่วมพิธีบรรจุพระบรมสาริริกธาตุนั้น ได้รับคำสั่งด่วนโดยผู้ว่าการเมืองอมรปุระให้ระงับโครงการเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะมีความชัดเจนจากรัฐบาลไทย ทำให้ทั้งพระทั้งคนต้องแยกย้ายกันกลับวัด กลับที่พักด้วยความงุนงง

แม้ในหนังสือจะไม่ระบุเหตุผล แต่ทส.ของผู้ว่าการได้แจ้งด้วยวาจากับหัวหน้าคณะฝ่ายไทยว่า ทางรัฐบาลเมียนมาร์ถือว่าคำสัมภาษณ์ของอธิบดีกรมศิลปากรของไทยได้สร้างความอัปยศ เขาใช้คำว่า disgrace ต่อรัฐบาลพม่า disgrace ต่อนักวิชาการผู้ทรงความรู้และประสบการณ์ชาวพม่า จึงขอให้ระงับความร่วมมือระหว่าสองชาติไว้ก่อน เพื่อรอคำชี้แจงของรัฐบาลไทย


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 พ.ย. 17, 11:57
!


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 พ.ย. 17, 12:01
จบภาค ๒

พึงรอต่อภาค ๓
ตอนนี้ไปเข้าห้องน้ำห้องท่า ซื้อข้าวโพดคั่วน้ำอัดลมได้ครับ
ส่วนผมจะไปกินข้าว แล้วพักยาว


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 04 พ.ย. 17, 18:08
ระหว่างรอภาคสาม ขอสลับฉากด้วยเรื่องของ parabike ก่อนครับ

parabike เป็นคำภาษาอังกฤษที่ใช้เรียกสมุดแบบพม่า ส่วนมากจะสะกดว่า parabaik หรือบางทีเป็น parabeik ก็มี (แน่นอนว่าออกเสียงว่าพาราไบค์) มีที่มาจากภาษาพม่าตามนี้เลยครับ https://en.wiktionary.org/wiki/%E1%80%95%E1%80%AF%E1%80%9B%E1%80%95%E1%80%AD%E1%80%AF%E1%80%80%E1%80%BA#Burmese

เป็นสมุดแบบโบราณที่เราคนไทยก็รู้จักกันดีเหมือนกัน ฝรั่งเรียกตามพม่าว่า parabaik ไทยเราเรียกว่าสมุดไทยหรือสมุดข่อยครับ เป็นวัฒนธรรมร่วมในภูมิภาคนี้ครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 พ.ย. 17, 07:19
สำหรับผู้อ่านที่ตามจากเฟซบุคของผมเข้ามาเรือนไทยนะครับ ฉายาของคุณ CrazyHOrse นี้ไม่ได้แปลว่าม้าบ้าตรงตามตัวนะครับ แต่เป็นชื่อหัวหน้าเผ่าอินเดียนแดงคนหนึ่งที่ต่อสู้อย่างทรหดกับคนผิวขาวผู้บุกรุก จนฝรั่งยอมรับความเป็นวีรบุรุษ  ท่านเป็นวิศวกรอาวุโสที่มีความสนใจประวัติศาสตร์ เหยียบเข้ามากระทู้ผมคราวใดกระทู้เอียงเหมือนเรือจ้างโดนเหยียบกราบ คนเช่นนี้ก็ประเภทเดียวกับคุณหมอ ทิน หม่อง จี ผู้ชูประเด็นเรื่องพระเจ้าอุทุมพรในพาราไบค์ของพม่าที่อังกฤษยึดไปเก็บไว้ในลอนดอน แล้วโดนนักวิชาการกรมศิลป์ดูถูกว่าเป็นนักประวัติศาสตร์มือสมัครเล่น เพราะไม่ได้จบมหาทลัยมาในภาควิชานั้น

ผมเห็นคำว่า parabeik แว่บๆอยู่ในหนังสือรายงานเหมือนกัน แต่ถูกกลบไปด้วยที่สะกดว่า parabike กรมศิลป์ทั้งกรมจึงต้องอ่านว่าพาราไบเก้ ออกสำเนียงสแกนดิเนเวียนให้ดูประหลาดกว่ารายงานของสมาคมสถาปนิกสยาม
ส่วนผม เอาคำว่า parabike ไปใช้อินทรเนตรค้นหารูป ได้ภาพพระพม่ายืนถ่ายกับสมุดข่อย ก็เลยจอดป้ายกับคำๆนี้

ต้องขอขอบคุณนายช่างมากครับที่ได้ช่วยให้เจอคำศัพท์ที่ถูกต้อง ซึ่งผมจะได้ใช้ต่อไป


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 พ.ย. 17, 07:43
ผมเอาบางความเห็นที่ผู้อ่านเขียนต่อท้ายบทความในเฟซบุคของผมมาให้อ่าน นี่แบบเซนเซอร์ออกไปหลายความเห็นแล้วนะครับ
ส่วนผู้อ่านในเรือนไทยที่ยังไม่ค่อยขยับ คงกลัวผมเป่าออฟไซด์ เชิญเลยครับ ถึงตรงนี้ไม่มีเส้นออฟไซด์แล้ว


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 พ.ย. 17, 07:44
.


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 พ.ย. 17, 07:44
.


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 พ.ย. 17, 07:59
เมื่อคืนมีผู้บอกผมว่า คราวนั้นอธิบดีพาลูกน้องในกรมศิลป์ไปทัวร์พม่าร่วมหกสิบคน เพื่อตอบแทนก่อนเกษียณในอีกสี่ห้าเดือนข้างหน้า
ส่วนเรื่องความเกี่ยวข้องกับพระปรางค์วัดอรุณ ก็ตั้งแต่เป็นรอง ตามข่าวนี้ครับ

https://www.thairath.co.th/content/288902


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 พ.ย. 17, 12:56
เป็นเรื่องที่ตามอ่านด้วยความเหนื่อยมากค่ะ  ในความซับซ้อนของกรณี
เท่าที่สรุปกับตัวเอง คือปัญหาเกิดจากความเห็นและการสรุปผลที่แตกต่างกันแบบตรงกันข้ามระหว่างราชการและเอกชน
เอกชนสนับสนุนด้วยเหตุผล 1 2 3 4  ส่วนราชการค้านด้วยเหตุผล 5 6 7 8
และยังมีรายละเอียดแทรกกลางระหว่างนี้  อีกมาก 

เท่าที่รู้สึก   ราชการท่านฟันธงว่า "ไม่ใช่ "  จากนั้นท่านก็มิได้เอาใจใส่กับโครงการนี้อีกเลย     
นอกจากไม่เอาใจใส่แล้ว  ยังไม่อยากจะได้ชื่อว่าเข้าไปเอี่ยวด้วย    เหมือนท่านปักใจว่า มีเบื้องหน้าเบื้องหลังในอะไรบางอย่าง ที่ราชการไม่อยากเกี่ยวข้อง   ใครอยากทำอะไรก็ทำไป แต่ฉันไม่เอาด้วย

นี่คือความรู้สึกนะคะ   อาจจะผิดก็ได้     ถ้าผิดก็ขอร้องผู้รู้มาช่วยแก้ไขความเข้าใจให้ด้วยค่ะ






กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 พ.ย. 17, 16:38
ผมไม่เข้าใจว่า ที่ท่านอาจารย์เทาชมพูกล่าวว่า “เอกชนสนับสนุนด้วยเหตุผล 1 2 3 4  ส่วนราชการค้านด้วยเหตุผล 5 6 7 8” นั้นคืออะไร และ “ยังมีรายละเอียดแทรกกลางระหว่างนี้  อีกมาก” รายละเอียดดังกล่าวคืออะไร
แต่ผมยอมรับว่า เรื่องนี้ผมมือไม่ถึงที่จะเขียนแบบรวดเดียวให้ผู้อ่านเข้าใจได้  เช่นเดียวกับรายงานของสมาคมสถาปนิกสยาม ที่หาผู้หลักผู้ใหญ่จะอ่านแล้วเข้าใจยาก  จึงต้องหันไปถามกรมศิลปากรว่าๆอย่างไร  พอทางนั้นบอกสามสี่คำว่า “เชื่อถือไม่ได้” ท่านก็เข้าใจ แล้วปล่อยวาง

ผมคงต้องสรุปอีกที  จะว่าให้สั้นอย่างนี้แต่แรกก็ไม่ได้ เดี๋ยวจะโดนหาว่าไม่มีที่มาที่ไป เอาเป็นว่าใครสงสัยรายละเอียดแทรกกลางใด ก็ย้อนกลับไปอ่านทวนซ้ำได้เลย  
.
.
๒๔๓๗ มีนักประวัติศาสตร์พม่าเคยเขียนเรื่อง พบ “ภาพวาดกษัตริย์อยุธยา” ในสมุดข่อยที่พม่าเรียกว่า parabaik ซึ่งอยู่ในประเทศในอังกฤษ เนื่องจากเวลานั้นไม่มีเครื่องถ่ายเอกสาร จึงได้คัดข้อความมา แต่เรื่องนี้ไม่ได้รับความสนใจสักเท่าใด

๑ มีนาคม ๒๕๓๘ ประมาณร้อยปีต่อมา นายแพทย์ ทิน หม่อง จี สนใจเรื่องดังกล่าว จึงตามไปค้นหาที่อังกฤษ เจอที่ British Commonwealth Library จึงขอถ่ายเอกสารมาแต่คุณภาพไม่ดีนัก และได้นำมาเขียนเรื่องลงนิตยสารชื่อ  Today กล่าวว่ากษัตริย์พระองค์นั้นทรงพระนามว่าพระเจ้าอุทุมพร  และคาดว่าพระบรมอัฐิของพระองค์ จะอยู่ในพระสถูปทรงโกศ  ในสุสานลินซินกอน (Linzingong ) ซึ่งอยู่ที่อมรปุระ

(เรื่องนี้อธิบดีกรมศิลปากรอ้างเมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๗ ว่า  นายสด แดงเอียด ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี เคยมีบันทึกส่วนตัวเมื่อปี ๒๕๓๐ ครั้งเดินทางไปค้นหาหลักฐานเกี่ยวกับสถูปบรรจุพระบรมอัฐิพระเจ้าอุทุมพร และได้พบพระอินตาคา เจ้าอาวาสวัดข่ามีนเว เมืองสะกาย นำไปสู่การค้นพบหลักศิลาจารึก ซึ่งบ่งบอกว่ามีเจ้านายไทยในสมณะพระภิกษุมรณภาพ มีการจัดพิธีปลงพระศพใหญ่โต  แต่กล่าวว่าได้นำพระบรมอัฐิมาบรรจุที่เจดีย์ของวัดข่ามีนเว โดยมีหลักฐานเป็นสำเนาหลักศิลาจารึก ภาษามอญโบราณที่นายสัญชัย หมายมั่น คณะทำงานที่ร่วมเดินทางไปด้วยนำกลับมา  ซึ่งกรมศิลปากรจะแปลให้รู้เรื่องภายใน ๑ สัปดาห์  แต่ก็เงียบไปจนบัดนี้)

๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๕  หนังสือพิมพ์ เดอะอิระวดี ( The Irrawaddy) ได้เสนอรายงานข่าวว่า  Siamese King’s Tomb to be Destroyed สุสานพระบรมศพกษัตริย์สยามกำลังจะถูกทำลาย เพราะทางการรัฐมัณฑเลย์จะไถทิ้งสุสานลินซินกอง เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของอมรปุระ  โดยกำหนดให้ผู้ที่มีบรรพบุรุษหรือญาติฝังอยู่ที่นั่น ให้จัดการนำศพไปที่อื่นภายในสองเดือน หลังจากนั้นทางการจะเกรดออกเพื่อปรับปรุงพื้นที่ต่อไป
สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงย่างกุ้งได้รายงานข่าวดังกล่าวกลับมายังกรุงเทพ  กระทรวงจึงได้สั่งการให้ท่านทูตขอร้องไปยังรัฐบาลพม่าให้ชะลอเรื่องนี้ไว้ก่อน  ซึ่งพม่าก็ตอบว่ายินดีแต่ขอให้ทางราชการไทยรีบไปประสานงานโดยเร็ว

๕ สิงหาคม ๒๕๕๕  คณะคนไทยที่เชื่อว่า พระบรมอัฐิของพระเจ้าอุทุมพรอยู่ในพระสถูปทรงโกศ ที่สุสานลินซินกอน ได้รวมตัวกันไปขออนุญาตทางทางการรัฐมัณฑเลย์ เพื่อเข้าขุดค้นหาหลักฐานที่อาจจะยังอยู่ในพระสถูป หากเจอก็จะขอนำไปบรรจุในพระสถูปองค์ใหม่ในวัด  ซึ่งเจ้าอาวาสวัดที่อยู่ใกล้ๆกันนั้น  อนุญาตให้ใช้ที่ดินได้
เมื่อได้รับความเห็นชอบในหลักการจากฝ่ายพม่าแล้ว คณะคนไทยเหล่านั้นจึงได้กลับมาระดมทุน จะจัดหาจิตอาสาไปทำงานนี้ ภายใต้นามของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์

๒๘ กันยายน ๒๕๕๕  คณะของรองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ นายดำรง ใคร่ครวญ ซึ่งได้เดินทางไปพบผู้ว่าการรัฐมัณฑเลย์ ทางโน้นจึงแจ้งให้ทราบว่าทางเอกชนไทย โดยนายวิจิตร ชินาลัยได้มาร้องขอไว้ก่อนแล้ว  แต่หากรัฐบาลไทยสนใจในเรื่องนี้ รัฐบาลพม่าก็จะยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมกันทำโครงการนี้ในลักษณะทวิภาคี
เนื่องจากกระทรวงการต่างประเทศไม่ได้มีหน้าที่ในเรื่องการอนุรักษ์โบราณสถาน จึงรายงานเรื่องดังกล่าวไปยังกระทรวงวัฒนธรรม

เมื่อข่าวปรากฏในหนังสือพิมพ์ของประเทศไทย จึงมีส.ส. ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลในสภา

๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๕   นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า นายดำรง ใคร่ครวญ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร นักวิชาการ ได้มาหารือกับตนแจ้งว่า หลังจากมีการนำเสนอข่าวสถูปสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรไปแล้ว ได้ประสานไปยังเทศบาลเมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งขณะนี้เทศบาลเมืองมัณฑะเลย์แจ้งกลับมาว่า ยินดีชะลอเรื่องไว้ก่อน
และนายสมชาย ยังกล่าวไปว่า กระทรวงการต่างประเทศจะได้นำนักวิชาการและเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรลงไปตรวจสอบสถูป และเก็บข้อมูลจากการสอบถาม ตลอดจนหาเอกสารที่ปรากฏเรื่องดังกล่าวที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ของพม่า เพราะปัจจุบันยังมีความเห็นที่แตกต่างและไม่ชัดเจน
(แต่ไม่ปรากฏว่าได้มีการกระทำดังว่าแต่อย่างไร  แต่เชื่อว่ากรมศิลปากรคงได้แสดงความไม่เห็นด้วยไปแล้ว)

๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๕   นายสมชาย เสียงหลายปลัดกระทรวงเองได้นั่งเป็นประธานการประชุมร่วมระหว่างกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงต่างประเทศ และกรมศิลปากร  โดยเชิญนายวิจิตร ชินาลัย ในฐานะตัวแทนของสมาคมสถาปนิกสยามเข้าร่วมด้วย เพื่อขอทราบรายละเอียดในงานที่ได้ทำไปแล้ว
แต่การที่ฝ่ายพม่าต้องการให้เข้าไปดำเนินการในเรื่องนี้โดยเร็วนั้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยทำไม่ได้ เพราะติดปัญหาเรื่องงบประมาณ ดังนั้น ในเมื่อสมาคมสถาปนิกสยามพร้อมอยู่  จึงขอร้องให้สมาคมกระทำภารกิจนี้ในนามของรัฐบาลไทยไปเลย
ที่ประชุมจึงเป็นพ้องว่าควรจะบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน  โดยกำหนดบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศที่จะเป็นผู้ประสานกับรัฐบาลพม่า ตลอดจนอำนวยความสะดวกแก่คณะผู้แทนฝ่ายไทย อันมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านโบราณคดีจากกรมศิลปากรและผู้แทนของสมาคมสถาปนิกสยาม ในฐานะผู้ดำเนินการสำรวจและขุดค้น เพื่อหาหลักฐานอันจะเป็นประโยชน์ต่อไป

(แต่หลังจากประชุมเสร็จ กลับไม่มีการสนองต่อมติดังกล่าวจากหน่วยงานราชการใดทั้งสิ้น แต่พ.ศ. ๒๕๕๗ อธิบดีกรมศิลป์ได้ออกมาโจมตีว่าการขุดค้นไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ เนื่องจากไม่มีนักโบราณคดีร่วมอยู่ด้วย)
.
.
เอาเท่านี้ก่อน  ก่อนจะไปกันต่อ ไม่ทราบว่าตรงนี้เลยเหตุผล 1 2 3 4  ของเอกชน และเหตุผล 5 6 7 8 ของส่วนราชการหรือยังครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 พ.ย. 17, 17:14
1  2 3 4  ของเอกชน และ 5 6 7 8  ของราชการ  เป็นแบบนี้ค่ะ
 1  ของเอกชน คือมีความกระตือรือร้นที่จะดำเนินการ มาตั้งแต่แรกเริ่ม  นี่คือ 1  เช่นประสานงานกับฝ่ายพม่าไม่ว่าในระดับรัฐบาลหรือระดับท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความคืบหน้า
ส่วนราชการ ไม่ได้บอกว่ากระตือรือร้นหรือไม่กระตือรือร้น  แต่บอกว่า ไม่มีงบประมาณ  อันเป็นคำตอบคลาสสิคของราชการ ในการปฏิเสธที่จะดำเนินการ   จึงไม่ได้ตอบโจทย์ 1 โดยตรง  
ฝ่ายหนึ่งชูป้าย  1  อีกฝ่ายยกป้ายตอบว่า 5  แบบนี้ละค่ะ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 พ.ย. 17, 18:00
“ยังมีรายละเอียดแทรกกลางระหว่างนี้  อีกมาก” รายละเอียดดังกล่าวคืออะไร
ลอกตรงนี้มาให้อ่านค่ะ

นายนิติ แสงวัณณ์ นักโบราณคดีเชี่ยวชาญ กรมศิลปากร ตั้งข้อสังเกตว่า ตนลงพื้นที่จริง และได้พิจารณารายงานสรุปผลการปฏิบัติงานด้านโบราณคดีที่สุสานลินซินกง พบว่า เอกสารต่างประเทศ ที่ทางภาคเอกชนไปขุดค้นกล่าวอ้างถึงว่า มีการบันทึกถึง สถูปองค์นี้ว่ามีการบรรจุ พระบรมอัฐิ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ซึ่งทั้งที่จริงแล้วเอกสารฉบับดังกล่าว บอกว่ามีหลักฐานที่ถือว่าสำคัญมากชิ้นหนึ่ง คือ ภาชนะ ทำด้วยดินเผาประดับกระจก มาถึงหน้าสุดท้ายกลับมาเรียกภาชนะนี้ว่าบาตรแก้วมรกต ทำไมจึงไม่ใช้ชื่อนี้ตั้งแต่ต้น ถือว่าเป็นการเขียนที่ไม่สุจริต เป็นการโน้มน้าวในข้อมูลอยากให้คนอื่นเข้าใจได้ว่า บาตรนี้เกี่ยวข้องกับเจ้านายที่เป็นพระสงฆ์


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 พ.ย. 17, 18:04
ส่วน parabaike  หรือสมุดข่อย  จะออกเสียงว่าพาราไบค์หรือพาราไบเก  ดิฉันไม่ค่อยจะติดใจนัก   แต่มาติดใจตรงนี้

นักโบราณคดีเชียวชาญ (หมายถึงคุณนิติ แสงวัณณ์)กล่าวอีกว่า รายงานฉบับนี้ นักโบราณคดีทั่วโลกไม่ถือเป็นรายงานทางโบราณคดี เพราะไม่มีการอ้างอิงกระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบ เช่น ไม่บอกกำหนดอ้างอิง ไม่บอกพิกัดที่ตั้ง ไม่บอกลักษณะการขุด เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการรายงานถึงการอ้างอิงเอกสารว่า เอกสารที่เกี่ยวเนื่องกับสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพร นั้น มาจากเอกสารโบราณพม่า ชื่อ พาราไบเก เอกสารพาราไบเกเก็บไว้ที่ ห้องสมุดลอนดอน ชิ้นที่ 99 /288 บันทึกถึงที่ตั้งพระสถูป ตนขอยืนยันว่า ข้อความนี้ไม่มีบรรจุไว้ในเอกสารพาราไบเก ไม่มีระบุขนาดนั้น

ติดใจว่า เอกสารที่ว่าไม่ได้บันทึกถึงที่ตั้งพระสถูป จริงหรือเปล่า    และถ้าไม่ได้ระบุขนาดนั้น ระบุขนาดไหน   ข่าวนี้ไม่ได้บอกเสียด้วย



กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 พ.ย. 17, 18:20
https://www.dailynews.co.th/education/220465

ด้านนายนิติ แสงวัณณ์ นักโบราณคดีเชียวชาญ กล่าวว่า จากการที่ได้ลงพื้นที่และได้พิจารณารายงานสรุปผลการปฏิบัติงานด้านโบราณคดีที่สุสานลินซินกง พบว่าเอกสารฉบับดังกล่าว ไม่ได้บอกรายละเอียดที่ชัดเจน เช่นกำหนดอ้างอิง พิกัดที่ตั้ง และลักษณะการขุด ดังนั้นจึงถือว่ารายงานฉบับนี้ไม่เป็นรายงานทางโบราณคดี และไม่มีบรรจุไว้ในเอกสารโบราณชื่อ พาราไบเก ที่อ้างว่าอยู่ที่ห้องสมุดกรุงลอนดอน ชิ้นที่ 99 /288 ด้วย ดังนั้นจึงไม่อยากให้มีการสรุป เพราะจะทำให้คนไทยหรือเจ้านายชั้นผู้ใหญ่มาเคารพสักการะโดยที่ไม่รู้ว่าเป็นอัฐิของใคร...

อ่านบรรทัดสุดท้ายแล้วก็คิดว่า ข้อนี้น่าจะเป็นความกลัวของกรมศิลปากร  ว่าถ้าไม่มีหลักฐานจนยืนยันได้ชัดๆเจ๋งเป้ง ว่านี่คือสถูปของพระเจ้าอุทุมพร     กรมศิลปากรจะไม่เอาหลักฐานจากสภาพแวดล้อมหรือข้อสันนิษฐานของเอกชนมาเป็นข้อสรุป     เพราะถ้าเกิดพบว่าผิดพลาดขึ้นมาภายหลัง    ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกรมนั่นแหละจะลำบาก  ชีวิตราชการหน้าที่การงานต่างๆก็จะกระทบกระเทือนกันหมด   ก็เลยเพลย์เซฟไว้ก่อน   
ข้อนี้ ใครเป็นข้าราชการตามกระทรวงทบวงกรมก็คงจะพอเข้าใจ    ส่วนจะเห็นด้วยหรือไม่ก็เป็นสิทธิส่วนตัวของแต่ละท่านค่ะ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 พ.ย. 17, 18:29
    ดิฉันมองว่านี่คือวิธีคิดต่างขั้วกันระหว่างเอกชนกับราชการ
    ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า เมื่อมีร่องรอยให้เห็น   ก็อยากจะเดินหน้าต่อไป  ไม่ควรหยุด
    อีกฝ่ายเห็นว่า มีร่องรอยให้เห็นแค่นี้   ยังไม่พอจะเดินหน้าต่อไป  ก็หยุดเถอะ 


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 05 พ.ย. 17, 19:49

ผมสรุปได้เรื่องหนึ่งแน่ ๆ ณ เวลานี้ครับ
ถ้ารอกรมศิลปากรแห่งประเทศไทยตื่นมาทำอะไรสักอย่าง
โบราณสถานแห่งนี้ถูกไถทิ้งไปเรียบร้อยแล้วครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 05 พ.ย. 17, 20:41
ไม่ได้แวะเข้ามาสามสี่วัน กระทู้ไปไกลต้องไล่อ่านใหม่


หลังจากกลับมาอยู่กับระบบราชการ ต้องติดต่อกับบุคลากรต่างๆ ที่ถูกปลูกฝังวิธีคิดแบบราชการ ผมพอจะเข้าใจว่าทำไมทางฝ่ายกรมศิลปากรถึงมีท่าทีแบบนั้น  คือด้วยระบบราชการ อะไรที่เสี่ยง หรือต้องตัดสินใจ แล้วถ้าการกระทำนั้นอาจส่งผลทางลบต่อผู้รับผิดชอบได้ โดยระบบจะให้หลีกเลี่ยงหรือโบ้ยไป  ราชการจะเข้ามายุ่งเต็มที่ก็ต่อเมื่อชัวร์ 100% ว่าได้หน้าหรือไม่พลาดแน่ๆ ดังนั้นในกรณีสถูป ถ้าเป็นของพระมหาเถระเจ้าจริง เครดิตใหญ่จะไม่ตกกับกรมศิลฯ  แต่ถ้าไม่ใช่แล้วกรมศิลฯ ออกหน้ามาสนับสนุน ผู้หลักผู้ใหญ่จะเสียหน้าเสียหาย คือรวมๆ แล้วได้ไม่คุ้มเสีย เพราะฉะนั้น อยู่เฉยหรือโบ้ยไปให้พ้นตัว เป็นทางเลือกที่ดีกว่า และทางราชการมีเทคนิคเยอะแยะในการปัดอะไรเหล่านี้ไปให้พ้นตัว


คือด้วยระบบทำให้วิธีคิดเป็นแบบนี้จริงๆ ครับ อย่างตอนนี้ผมจะทำวิจัย ของบได้ทุนมากระจึ๋งนึง ระเบียบบอกว่าห้ามซื้อครุภัณฑ์ ผมต้องใช้เซ็นเซอร์จำนวนมากมาต่อกันเป็นอุปกรณ์  ฝ่ายพัสดุมองว่าเซ็นเซอร์ที่จะใช้ในงานวิจัยของผมเป็นครุภัณฑ์ เพราะเอามาต่อกันได้เป็นอุปกรณ์ชิ้นนึง ตามระเบียบห้ามซื้อ มิฉะนั้นอาจติดคุกหรือเป็นความผิดต้องชดใช้เงินคืนแก่ราชการได้  ตอนนี้เลยยังไม่มีทางออก ดังนั้นถ้าผมนั่งอ้วนอยู่เฉยๆ ไม่ต้องกระทำอะไร จะไม่มีความเสี่ยงใดๆ  อยากปลอดภัยให้กระทำงาน routine ไปตามระบบเท่านั้น  หลังปวดหัวปวดใจกับวิธีคิดแบบราชการไทย ผมก็เริ่มจะเข้าใจวิธีคิดแบบราชการไทยและเริ่มปรับตัวให้ทำใจให้ได้ เลยพอจะเข้าใจและเห็นอกเห็นใจทางกรมศิลปากรเหมือนกัน ว่าทำไมถึงทำเฉยจนถึงกับเป็นตะเข้ขวางคลอง


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 พ.ย. 17, 20:53
ขอแยกซอยหน่อยค่ะ
ตามประสาคนเคยทำราชการ    ก็เลยจะหาทางออกให้คุณประกอบ
1  ถ้าไม่จำเป็น   ไม่ต้องไปบอกว่าจะซื้ออะไร   และของนั้นเข้าข่ายครุภัณฑ์ หรือวัสดุ หรือเครื่องมือ    ฝ่ายพัสดุเขาจะโล่งใจที่ไม่ต้องรับรู้ให้ยุ่งยาก
2  ถ้าจำเป็นต้องบอก   ไปทำอะไรก็ได้ให้เซนเซอร์นั้นไม่เข้าข่ายอุปกรณ์ชิ้นนึง    เช่่นยืนยันว่ามันเป็นเครื่องมือหลายๆชิ้น ใช้งานพร้อมกัน เพื่อจะได้ไม่ตรงกับคำจำกัดความของอุปกรณ์

บางทีเจ้าหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบระเบียบการต่างๆ เขาก็ไม่อยากจู้จี้ละเอียดลออนักหรอกค่ะ  เพราะมันทำให้เขาต้องระมัดระวังความผิดพลาดหนักขึ้น
ยิ่งถามเขามาก เขายิ่งต้องตีวงกั้นช่องโหว่หนักขึ้น   ในที่สุดเลยขยับกันไม่ได้ทั้งสองฝ่าย


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 พ.ย. 17, 22:37
กลับไปอ่านกระทู้ก่อนกระทู้นี้  เพื่อทบทวนความจำ

สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5567.0

น้ำเสียงของผู้เชี่ยวชาญกรมศิลปากรตั้งแต่ยุคแรกๆ  หนักแน่นเด็ดขาด ฟันธงว่าไม่ใช่
มิน่าเล่า   หลังจากนั้นกรมศิลปากรก็ไม่ใส่ใจเรื่องนี้อีกเลย    ใครจะทำก็ทำไป แต่ข้าพเจ้าไม่ร่วมมือด้วย

ส่วนตัว  ยังงงๆอยู่กับจุดเริ่มต้น  ใครช่วยอธิบายให้ฟังอีกทีจะขอบคุณมากค่ะ
ว่าตามหลักฐาน  พระเจ้าอุทุมพรทรงอยู่ที่วัดไหน เมืองไหนกันแน่     มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร หรือทางใดที่ชัดเจนว่ากษัตริย์พม่านิมนต์ท่านไปอยู่เมืองที่มีสถูปกันนี่แหละค่ะ
ถ้ามีแต่ปากคำชาวบ้านบอกเล่าต่อๆกันมา   ฐานก็คลอนแคลนเสียตั้งแต่จุดเริ่มต้นแล้ว 




กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 05 พ.ย. 17, 22:43
ขอแยกซอยหน่อยค่ะ
ตามประสาคนเคยทำราชการ    ก็เลยจะหาทางออกให้คุณประกอบ
1  ถ้าไม่จำเป็น   ไม่ต้องไปบอกว่าจะซื้ออะไร   และของนั้นเข้าข่ายครุภัณฑ์ หรือวัสดุ หรือเครื่องมือ    ฝ่ายพัสดุเขาจะโล่งใจที่ไม่ต้องรับรู้ให้ยุ่งยาก
2  ถ้าจำเป็นต้องบอก   ไปทำอะไรก็ได้ให้เซนเซอร์นั้นไม่เข้าข่ายอุปกรณ์ชิ้นนึง    เช่่นยืนยันว่ามันเป็นเครื่องมือหลายๆชิ้น ใช้งานพร้อมกัน เพื่อจะได้ไม่ตรงกับคำจำกัดความของอุปกรณ์

บางทีเจ้าหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบระเบียบการต่างๆ เขาก็ไม่อยากจู้จี้ละเอียดลออนักหรอกค่ะ  เพราะมันทำให้เขาต้องระมัดระวังความผิดพลาดหนักขึ้น
ยิ่งถามเขามาก เขายิ่งต้องตีวงกั้นช่องโหว่หนักขึ้น   ในที่สุดเลยขยับกันไม่ได้ทั้งสองฝ่าย

ฮิฮิ ก่อนโน้นได้ทุนวิจัยมา ของราคาไม่กี่สตางค์ซื้อก่อนแล้วค่อยมาเบิกได้ แต่เดี๋ยวนี้มหาลัยออกนอกระบบเพื่อความคล่องตัว แต่จะซื้ออะไรต้องขออนุมัติก่อนทุกรายการครับ เค้าเลยรู้ว่าอะไรเป็นอะไร เดิมมีแต่ระเบียบราชการ ตอนนี้ระเบียบราชการ+ระเบียบมหาลัย :P  แถมผมอยู่สายทางคอมพิวเตอร์ แต่คอมพิวเตอร์นี่เค้าห้ามซื้อเด็ดขาด ก็ไม่รุจะทำไงเหมือนกัน  


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 พ.ย. 17, 23:04
 ::)


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 พ.ย. 17, 07:14
1  2 3 4  ของเอกชน และ 5 6 7 8  ของราชการ  เป็นแบบนี้ค่ะ
 1  ของเอกชน คือมีความกระตือรือร้นที่จะดำเนินการ มาตั้งแต่แรกเริ่ม  นี่คือ 1  เช่นประสานงานกับฝ่ายพม่าไม่ว่าในระดับรัฐบาลหรือระดับท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความคืบหน้า
ส่วนราชการ ไม่ได้บอกว่ากระตือรือร้นหรือไม่กระตือรือร้น  แต่บอกว่า ไม่มีงบประมาณ  อันเป็นคำตอบคลาสสิคของราชการ ในการปฏิเสธที่จะดำเนินการ   จึงไม่ได้ตอบโจทย์ 1 โดยตรง  
ฝ่ายหนึ่งชูป้าย  1  อีกฝ่ายยกป้ายตอบว่า 5  แบบนี้ละค่ะ

ในความคิดเห็นที่ 160  ผมได้แจกแจงไว้ชัดๆหลายข้อ แต่ไม่ได้ใส่หมายเลขกำกับไว้  ขอใส่ตรงนี้อีกทีก็แล้วกันนะครับ   สั้นๆ

1-๒๔๓๗ มีนักประวัติศาสตร์พม่าเคยเขียนเรื่อง พบ “ภาพวาดกษัตริย์อยุธยา” ในสมุดข่อยที่พม่าเรียกว่า parabaik ซึ่งอยู่ในประเทศในอังกฤษ  แต่เรื่องนี้ไม่ได้รับความสนใจสักเท่าใด

2- ๑ มีนาคม ๒๕๓๘  นายแพทย์ ทิน หม่อง จี ตามไปค้นหา parabaik  ดังกล่าว เจอที่ British Commonwealth Library จึงขอถ่ายเอกสารมาเขียนเรื่องลงนิตยสารชื่อ  Today กล่าวว่ากษัตริย์พระองค์นั้นทรงพระนามว่าพระเจ้าอุทุมพร  และคาดว่าพระบรมอัฐิของพระองค์ จะอยู่ในพระสถูปทรงโกศ  ในสุสานลินซินกอน (Linzingong ) ซึ่งอยู่ที่อมรปุระ

3- ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๕  หนังสือพิมพ์ เดอะอิระวดี ( The Irrawaddy) ได้เสนอรายงานข่าวว่า  Siamese King’s Tomb to be Destroyed สุสานพระบรมศพกษัตริย์สยามกำลังจะถูกทำลาย เพราะทางการรัฐมัณฑเลย์จะไถทิ้งสุสานลินซินกอง เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของอมรปุระ  โดยกำหนดให้ผู้ที่มีบรรพบุรุษหรือญาติฝังอยู่ที่นั่น ให้จัดการนำศพไปที่อื่นภายในสองเดือน หลังจากนั้นทางการจะเกรดออกเพื่อปรับปรุงพื้นที่ต่อไป

4- (ราชการ) สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงย่างกุ้งได้รายงานข่าวดังกล่าวกลับมายังกรุงเทพ  กระทรวงจึงได้สั่งการให้ท่านทูตขอร้องไปยังรัฐบาลพม่าให้ชะลอเรื่องนี้ไว้ก่อน  ซึ่งพม่าก็ตอบว่ายินดีแต่ขอให้ทางราชการไทยรีบไปประสานงานโดยเร็ว

5- (เอกชน) ๕ สิงหาคม ๒๕๕๕  คณะคนไทยที่เชื่อว่า พระบรมอัฐิของพระเจ้าอุทุมพรอยู่ในพระสถูปทรงโกศ ที่สุสานลินซินกอน ได้รวมตัวกันไปขออนุญาตทางทางการรัฐมัณฑเลย์ เพื่อเข้าขุดค้นหาหลักฐานที่อาจจะยังอยู่ในพระสถูป หากเจอก็จะขอนำไปบรรจุในพระสถูปองค์ใหม่ในวัด  ซึ่งเจ้าอาวาสวัดที่อยู่ใกล้ๆกันนั้น  อนุญาตให้ใช้ที่ดินได้
เมื่อได้รับความเห็นชอบในหลักการจากฝ่ายพม่าแล้ว คณะคนไทยเหล่านั้นจึงได้กลับมาระดมทุน จะจัดหาจิตอาสาไปทำงานนี้ ภายใต้นามของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์

6- (ราชการ) ๒๘ กันยายน ๒๕๕๕  คณะของรองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ นายดำรง ใคร่ครวญ ซึ่งได้เดินทางไปพบผู้ว่าการรัฐมัณฑเลย์ ทางโน้นจึงแจ้งให้ทราบว่าทางเอกชนไทย โดยนายวิจิตร ชินาลัยได้มาร้องขอไว้ก่อนแล้ว  แต่หากรัฐบาลไทยสนใจในเรื่องนี้ รัฐบาลพม่าก็จะยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมกันทำโครงการนี้ในลักษณะทวิภาคี
เนื่องจากกระทรวงการต่างประเทศไม่ได้มีหน้าที่ในเรื่องการอนุรักษ์โบราณสถาน จึงรายงานเรื่องดังกล่าวไปยังกระทรวงวัฒนธรรม

7- (ราชการ) ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๕   นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า นายดำรง ใคร่ครวญ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร นักวิชาการ ได้มาหารือกับตนแจ้งว่า หลังจากมีการนำเสนอข่าวสถูปสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรไปแล้ว ได้ประสานไปยังเทศบาลเมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งขณะนี้เทศบาลเมืองมัณฑะเลย์แจ้งกลับมาว่า ยินดีชะลอเรื่องไว้ก่อน
และนายสมชาย ยังกล่าวไปว่า กระทรวงการต่างประเทศจะได้นำนักวิชาการและเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรลงไปตรวจสอบสถูป และเก็บข้อมูลจากการสอบถาม ตลอดจนหาเอกสารที่ปรากฏเรื่องดังกล่าวที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ของพม่า เพราะปัจจุบันยังมีความเห็นที่แตกต่างและไม่ชัดเจน

8- (ราชการ) ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๕   นายสมชาย เสียงหลายปลัดกระทรวงเองได้นั่งเป็นประธานการประชุมร่วมระหว่างกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงต่างประเทศ และกรมศิลปากร  โดยเชิญนายวิจิตร ชินาลัย ในฐานะตัวแทนของสมาคมสถาปนิกสยามเข้าร่วมด้วย เพื่อขอทราบรายละเอียดในงานที่ได้ทำไปแล้ว
แต่การที่ฝ่ายพม่าต้องการให้เข้าไปดำเนินการในเรื่องนี้โดยเร็วนั้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยทำไม่ได้ เพราะติดปัญหาเรื่องงบประมาณ ดังนั้น ในเมื่อสมาคมสถาปนิกสยามพร้อมอยู่  จึงขอร้องให้สมาคมกระทำภารกิจนี้ในนามของรัฐบาลไทยไปเลย
ที่ประชุมจึงเป็นพ้องว่าควรจะบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน  โดยกำหนดบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศที่จะเป็นผู้ประสานกับรัฐบาลพม่า ตลอดจนอำนวยความสะดวกแก่คณะผู้แทนฝ่ายไทย อันมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านโบราณคดีจากกรมศิลปากรและผู้แทนของสมาคมสถาปนิกสยาม ในฐานะผู้ดำเนินการสำรวจและขุดค้น เพื่อหาหลักฐานอันจะเป็นประโยชน์ต่อไป

(แต่หลังจากประชุมเสร็จ กลับไม่มีการสนองต่อมติดังกล่าวจากหน่วยงานราชการใดทั้งสิ้น แต่พ.ศ. ๒๕๕๗ อธิบดีกรมศิลป์ได้ออกมาโจมตีว่าการขุดค้นไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ เนื่องจากไม่มีนักโบราณคดีร่วมอยู่ด้วย)

ดังนั้น  1  2 3 4  ของเอกชน และ 5 6 7 8  ของราชการ  จึงไม่ได้เป็นอย่างที่ท่านอาจารย์เทาชมพูว่า คือเป็นแบบ 1 ถึง 4 เอกชน มีความกระตือรือร้นที่จะดำเนินการมาตั้งแต่แรกเริ่ม  เช่นประสานงานกับฝ่ายพม่าไม่ว่าในระดับรัฐบาลหรือระดับท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความคืบหน้า ส่วนราชการโผล่มาเมื่อถึง 5  เพื่อบอกว่า ไม่มีงบประมาณ
  
ที่ถูกต้อง 1 ถึง 3 เป็นเรื่องเดิมของพม่า  4 ราชการไทยเข้าไปต่อ   5 เอกชนเข้าไปเริ่มต้นทำ  6 7 และ 8 ราชการไทยเป็นฝ่ายมีบทบาท โดยในข้อสุดท้าย ได้เชิญเอกชนไปร่วมประชุม เพื่อขอร้องให้เป็นตัวแทนของรัฐบาลไทย โดยทางฝ่ายราชการจะให้การสนับสนุนทางด้านการทูต และวิชาการ ด้านขุดค้นโบราณสถาน
 
นี่จึงไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่าคำตอบคลาสสิคของราชการ ในการปฏิเสธที่จะดำเนินการที่อ้างการไม่มีซึ่งงบประมาณ  ถ้าภาครัฐมีความสุจริตใจ หากไม่ประสงค์จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้เปื้อนมือ(เพราะพวกกรมศิลป์เห็นว่าไม่ใช่มาตั้งแต่ต้น)  ก็บอกฝ่ายเอกชนในที่ประชุมให้ทราบสิครับว่าเมื่อพวกคุณอยากทำ ก็เข้าไปทำเองก็แล้วกัน ทางราชการจะขอดูอยู่ห่างๆ  นี่ไปตั้งเขาเป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาลไทยทำไม  เขาไม่ได้เข้ามาร้องขอ จึงไม่ใช่เรื่องไม่ตอบโจทย์เขา แล้วที่แสบสุด ก็คือหักหลังเขาตั้งแต่ออกจากห้องประชุม  ปล่อยให้เขาทำตามข้อตกลงในที่ประชุมไปฝ่ายเดียว  โดยเสมือนใช้เป็นเบ๊ไปหลอกฝ่ายรัฐของพม่าด้วยว่าฝ่ายราชการไทยกำลังดำเนินความร่วมมือระดับทวิภาคีอยู่

คือหลอกทั้งคนไทยและคนพม่าว่างั้นเถอะ  นอกจากไม่ช่วยแล้ว ยังตามไปเหยียบเขาเสียอีกด้วยถ้อยคำที่อธิบดีกรมศิลปากรและลูกน้องให้สัมภาษณ์สื่อ  ภาษามาเฟียเค้าใช้คำว่าทรยศหักหลัง  ต้นเหตุที่บุคคลระดับนั้นต้องฆ่าล้างแค้นกันนั่นแล


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 พ.ย. 17, 08:20
“ยังมีรายละเอียดแทรกกลางระหว่างนี้  อีกมาก” รายละเอียดดังกล่าวคืออะไร
ลอกตรงนี้มาให้อ่านค่ะ

นายนิติ แสงวัณณ์ นักโบราณคดีเชี่ยวชาญ กรมศิลปากร ตั้งข้อสังเกตว่า ตนลงพื้นที่จริง และได้พิจารณารายงานสรุปผลการปฏิบัติงานด้านโบราณคดีที่สุสานลินซินกง พบว่า เอกสารต่างประเทศ ที่ทางภาคเอกชนไปขุดค้นกล่าวอ้างถึงว่า มีการบันทึกถึง สถูปองค์นี้ว่ามีการบรรจุ พระบรมอัฐิ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ซึ่งทั้งที่จริงแล้วเอกสารฉบับดังกล่าว บอกว่ามีหลักฐานที่ถือว่าสำคัญมากชิ้นหนึ่ง คือ ภาชนะ ทำด้วยดินเผาประดับกระจก มาถึงหน้าสุดท้ายกลับมาเรียกภาชนะนี้ว่าบาตรแก้วมรกต ทำไมจึงไม่ใช้ชื่อนี้ตั้งแต่ต้น ถือว่าเป็นการเขียนที่ไม่สุจริต เป็นการโน้มน้าวในข้อมูลอยากให้คนอื่นเข้าใจได้ว่า บาตรนี้เกี่ยวข้องกับเจ้านายที่เป็นพระสงฆ์

ความเดียวกันนี้ ถ้าใครดูวีดีโอที่คุณหมอเพ็ญชมพูนำมาโยงไว้ให้ในความคิดเห็นที่ 116 จะเห็นว่าอธิบดีกรมศิลปากรก็กล่าวถ้อยความเดียวกับนายนิติ แสงวัณณ์ เปี๊ยบ โดยกล่าวหาภาคเอกชนด้วยถ้อยคำรุนแรงว่าไม่สุจริต  ไม่ทราบว่าใครจำฝีปากใครมาพูด  ซึ่งผมได้ตอบไปในความคิดเห็นที่ 148 ข้อ ๑ ให้วิญญูชนคนอ่านเข้าใจไปบ้างแล้ว  แต่อยากจะขอขยายความเพิ่มให้ชัดๆ

สิ่งที่ในรายงานปรากฏคำว่า ภาชนะบ้าง บาตรประดับกระจกบ้าง บาตรมรกตบ้าง ตามแต่แรกที่สิ่งนั้นจะกระทบสายตาใคร อย่างไร แต่ในรายงานที่เป็นทางการใช้คำว่า "บาตรดินเผาลงรักปิดทองประดับกระจก"  อย่างไรก็ดีคำเหล่านี้ล้วนเป็นสมมติบัญญัติ  ไทยกับพม่าเรียกต่างกัน  ดูเหมือนว่า คำว่าบาตรมรกตคนพม่าจะเป็นผู้เรียกขึ้นก่อน ตามลักษณะสีของกระจกเคลือบ ทีมงานไทยบางคนก็เรียกตามเขาบ้าง  หากกรมศิลปากรอยากจะรู้ว่าสิ่งนั้นจริงๆเป็นอะไรก็ต้องไปดูด้วยตา  เหมือนหากสงสัยว่า จิงโจ้กับแกงการูมันเป็นตัวเดียวกันหรือเปล่า  ก็ต้องใช้ตาดูรูป หรือดูไม่ออกก็ต้องไปดูตัวเป็นๆ 

ในรายงานเขาก็มีภาพถ่ายให้ดูเพียบทุกมุมมอง  ถ้าไม่สะใจก็ไปขอเขาเปิดดูของจริงก็ได้  ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์  และโบราณวัตถุของพม่าเอาหลักฐานมาอธิบายให้กระจ่างว่าภาชนะนี้ ราชสำนักพม่าใช้อย่างไรก็ได้  อันที่จริงผู้เชี่ยวชาญของเขาก็เดินทางมาเมืองไทยเพื่อจะอรรถาธิบายให้คนไทยฟังในงานอาสา ทั้งปี ๒๕๕๖ และ ๒๕๕๗  ก็ไม่สนใจที่จะไปแลกเปลี่ยนทัศนะกับเขา แต่ได้บังอาจกล่าวคำว่า “ไม่สุจริต”  ไม่ทราบหมายถึงใคร  แล้วทุจริตไปเพื่ออะไร

ปากจัดอย่างนี้ น่าจะลองวิจารณ์หน่อย  ของสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของไทยที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกสนใจ มาเมืองไทยต้องหาโอกาสเข้าไปดูนั้น  พอถึงเวลา ไกด์จะเริ่มอธิบาย  ความสำคัญมีว่าที่เรียกว่ามรกตนั้นที่แท้คือหยกสีเขียวดุจมรกต นั้น  อธิบดีกับลูกน้องมีความเห็นอย่างไร

ยังมี “รายละเอียดแทรกกลางระหว่างนี้  อีกมาก”  ข้อไหนอีกไหมครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 พ.ย. 17, 08:39
ส่วน parabaike  หรือสมุดข่อย  จะออกเสียงว่าพาราไบค์หรือพาราไบเก  ดิฉันไม่ค่อยจะติดใจนัก   แต่มาติดใจตรงนี้

นักโบราณคดีเชียวชาญ (หมายถึงคุณนิติ แสงวัณณ์)กล่าวอีกว่า รายงานฉบับนี้ นักโบราณคดีทั่วโลกไม่ถือเป็นรายงานทางโบราณคดี เพราะไม่มีการอ้างอิงกระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบ เช่น ไม่บอกกำหนดอ้างอิง ไม่บอกพิกัดที่ตั้ง ไม่บอกลักษณะการขุด เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการรายงานถึงการอ้างอิงเอกสารว่า เอกสารที่เกี่ยวเนื่องกับสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพร นั้น มาจากเอกสารโบราณพม่า ชื่อ พาราไบเก เอกสารพาราไบเกเก็บไว้ที่ ห้องสมุดลอนดอน ชิ้นที่ 99 /288 บันทึกถึงที่ตั้งพระสถูป ตนขอยืนยันว่า ข้อความนี้ไม่มีบรรจุไว้ในเอกสารพาราไบเก ไม่มีระบุขนาดนั้น

ติดใจว่า เอกสารที่ว่าไม่ได้บันทึกถึงที่ตั้งพระสถูป จริงหรือเปล่า    และถ้าไม่ได้ระบุขนาดนั้น ระบุขนาดไหน   ข่าวนี้ไม่ได้บอกเสียด้วย



สมุดข่อยพม่า ที่คุณม้าค้นหาศัพท์มาได้ในความคิดเห็นที่ 153   กล่าวว่า “parabaik หรือบางทีเป็น parabeik ก็มี (แน่นอนว่าออกเสียงว่าพาราไบค์) ” ส่วน parabaike  ไม่มีนะครับ  ถ้ามีแล้วใครจะออกเสียงว่าพาราไบค์หรือพาราไบเก  ผมก็ไม่ติดใจเหมือนกัน  
ความจริงยังสงสัย คำว่า พาราไบค์ไม่น่าจะเป็นภาษาพม่าตามที่วิกี้อ้าง เพราะสมุดเล่มที่กล่าวถึงนี้  คนพม่าเรียก “เตวั้งรุปซุงประบุท” แปลว่า เอกสารการบันทึกของราชสำนัก มีภาพเขียนประกอบ

ส่วนคำตอบสำหรับข้างบน ผมได้เขียนไว้แล้วเหมือนกัน
อักษรพม่าที่จารึกไว้ แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า
The third founder of Ratanapura  and Lord of the White Elephant, fought and won Ayodaya, together with the King.
The King was brought here. During the reign of his brother , the founder of Amarapura, the King while in monkhood, died at Amarapura. At Linzin-gon cemetery, he was entombed/cremated with great honor entitled to a monarch.
This is the image of Chaofa Ekadath

ถอดความเป็นภาษาไทยอีกที สำนวนตรงไปตรงมาได้ความดังนี้
พระผู้ทรงสถาปนารัตนปุระ(อังวะ) ผู้ทรงเป็นพระเจ้าช้างเผือก(หมายถึงพระเจ้ามังระ) ทรงรบชนะอโยธยาและกษัตริย์
กษัตริย์ได้ถูกนำมาที่นี่   ระหว่างรัชกาลของพระราชอนุชา(หมายถึงพระเจ้าปดุง) กษัตริย์ซึงทรงอยู่ในสมณเพศได้เสด็จสวรรคตในอมรปุระ  ที่ลินซิงกอง พระสรีระของพระองค์ได้รับการถวายพระเพลิงและบรรจุพระสถูปอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติในฐานะทรงเป็นกษัตริย์
นี่เป็นภาพของเจ้าฟ้าเอกทัศน์

ประโยคสุดท้ายนี้อธิบายภาพของบุรุษผู้แต่งกายแบบฆราวาสสวมชฎา ซึ่งมิได้เกี่ยวข้องกับเรื่องที่บรรยายในหน้าเดียวกันโดยตรง อาจจะต้องการประกอบความในหน้าอื่น

เรื่องของเรื่องที่มาที่ไปคือ ในปีพ.ศ.๒๔๒๘  พม่าเสียเอกราชให้แก่อังกฤษในรัชกาลพระเจ้าสีป่อ ทหารอังกฤษได้เข้าปล้นเอาสิ่งของต่างๆในพระราชวังมัณฑะเลย์ รวมถึงทรัพย์สมบัติในท้องพระคลังของราชวงศ์คองบองไปจนหมด  แม้กระทั่งเตวั้งรุปซุงประบุทก็ยังถูกขนไปจากหอพระสมุดที่เรียกว่าวังแก้ว แล้วนำไปเก็บไว้ที่ British Commonwealth Library, London ดังว่า  เตวั้งรุปซุงประบุท หรือ parabike ที่มีข้อความข้างบนนี้ เป็นเอกสารชิ้น ที่ ๙๙  Serial Number หมายเลข  ๒๘๘


สรุปสั้นๆ ในพาราไบค์เขียนว่า พระบรมศพได้รับการถวายพระเพลิงที่ลินซินกอง (เท่านั้น  ไม่ได้บอกพิกัดว่าเป็นจุดที่พบพระสถูปทรงโกศ)


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ย. 17, 08:40
    ดิฉันขอสรุปตามแบบของตัวเองบ้างนะคะ
    1  ผู้จุดประกายเรื่องสถูป คือ นายแพทย์ ทิน หม่อง จี ผู้อ้างหลักฐานจากสมุดข่อย parabaike  ที่ British Commonwealth Library  ว่ามีกษัตริย์ทรงพระนามว่าพระเจ้าอุทุมพร  และคาดว่าพระบรมอัฐิของพระองค์ จะอยู่ในพระสถูปทรงโกศ  ในสุสานลินซินกอน (Linzingong ) ซึ่งอยู่ที่อมรปุระ
    2  หลักฐานทางฝ่ายไทย ที่ผู้เชี่ยวชาญของกรมศิลปากรค้นจากพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ และอื่นๆ  ไม่มีที่ไหนระบุว่าพระเจ้าอุทุมพรทรงอยู่ที่อมรปุระ     มีแต่หลักฐานว่าอยู่ที่เมืองอื่น
    3  ผู้เชี่ยวชาญไปดูสถานที่แล้ว บอกว่าสถูป(หรือเจดีย์)ที่ว่า ไม่ใช่ศิลปะไทย เป็นศิลปะพม่า
    4  หลักฐานชิ้นหนึ่งที่พบในสถูป   ทางฝ่ายเอกชนผู้ขุดพบเรียกว่า บาตรมรกต   กรมศิลปากรไม่เห็นด้วยกับข้อนี้
    5  ด้วยเหตุผลดังกล่าวๆ และมีอีก 2-3 ข้อซึ่งไม่ได้เอามาลงตรงนี้   (ดูในค.ห.148) กรมศิลปากรก็ฟันธงลงไปว่า หลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะเชื่อว่าเป็นสถูปพระเจ้าอุทุมพร  
   พูดอีกทีคือไม่เชื่อว่าจะเป็นสถูปพระเจ้าอุทุมพร

   เมื่อไม่เชื่อก็จบทางฝ่ายกรมศิลปากร    อะไรๆที่ตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้ก็ยุติหมด     แต่อีกฝ่ายจะรู้สึกยังไง ทำอะไรต่อไป  กรมศิลปากรถือว่าไม่อยู่ในกิจการของราชการอีกแล้ว


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 พ.ย. 17, 08:47
ก็ไม่ใช่ที่ว่าอะไรๆที่ตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้ก็ยุติหมด เขายุติตั้งแต่เดินออกจากห้องประชุมแล้ว  แต่อีกฝ่ายจะรู้สึกยังไง ทำอะไรต่อไป  กรมศิลปากรถือว่าไม่อยู่ในกิจการของราชการอีกแล้ว ก็ไม่ใช่ เพราะตามไปให้สัมภาษณ์ทำลายเขา  เพื่ออะไร ?


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 พ.ย. 17, 08:58
1   ผู้จุดประกายเรื่องสถูป คือ นายแพทย์ ทิน หม่อง จี ผู้อ้างหลักฐานจากสมุดข่อย parabaike  ที่ British Commonwealth Library  ว่ามีกษัตริย์ทรงพระนามว่าพระเจ้าอุทุมพร  และคาดว่าพระบรมอัฐิของพระองค์ จะอยู่ในพระสถูปทรงโกศ  ในสุสานลินซินกอน (Linzingong ) ซึ่งอยู่ที่อมรปุระ
จนถึงทุกวันนี้ ฝ่ายเอกชนทุกคนยังใช้คำว่า  “เชื่อว่า” หมด  ทางวิชาการหากไม่เจอป้าย หรือหลักฐานที่แน่ชัด จะไม่มีการยืนยัน ๑๐๐%

 2  หลักฐานทางฝ่ายไทย ที่ผู้เชี่ยวชาญของกรมศิลปากรค้นจากพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ และอื่นๆ  ไม่มีที่ไหนระบุว่าพระเจ้าอุทุมพรทรงอยู่ที่อมรปุระ     มีแต่หลักฐานว่าอยู่ที่เมืองอื่น
เรื่องราวประวัติศาสตร์ของพม่าในบ้านในเมืองของเขา เราจะเชื่อบันทึกหลักฐานของคนไทยหรือจะเชื่อของพม่า

3   ผู้เชี่ยวชาญไปดูสถานที่แล้ว บอกว่าสถูป(หรือเจดีย์)ที่ว่า ไม่ใช่ศิลปะไทย เป็นศิลปะพม่า
พม่าก็บอกว่าไม่ใช่ของพม่าเช่นกัน แต่อาจารย์ปฏิพัฒน์ พุมพวงแพทย์ อดีตหัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์อยุธยากล่าวว่า เสายอดบัวทรงนี้ พบมากมายที่โบราณสถานวัดโคกพระยา สถานที่สำเร็จโทษเจ้านายสมัยกรุงเก่า

4  หลักฐานชิ้นหนึ่งที่พบในสถูป   ทางฝ่ายเอกชนผู้ขุดพบเรียกว่า บาตรมรกต   กรมศิลปากรไม่เห็นด้วยกับข้อนี้
ตอบแล้วเมื่อกี้นี้

5  ด้วยเหตุผลดังกล่าวๆ และมีอีก 2-3 ข้อซึ่งไม่ได้เอามาลงตรงนี้   (ดูในค.ห.148) กรมศิลปากรก็ฟันธงลงไปว่า หลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะเชื่อว่าเป็นสถูปพระเจ้าอุทุมพร  
   พูดอีกทีคือไม่เชื่อว่าจะเป็นสถูปพระเจ้าอุทุมพร

ไม่เป็นไร


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ย. 17, 09:25
ขอถามว่า ทางฝ่ายขุดค้นจะทำอะไรต่อไปคะ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 พ.ย. 17, 09:47
เลยชวนให้นึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาได้


จากกรณีที่นายสด แดงเอียด ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีและอดีตอธิบดีกรมการศาสนา (ศน.) ได้เปิดเผยบันทึกส่วนตัวเมื่อปี ๒๕๓๐ ครั้งเดินทางไปค้นหาหลักฐานเกี่ยวกับสถูปบรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔(สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร) หรือขุนหลวงหาวัด กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาและได้พบพระอินตาคา เจ้าอาวาสวัดข่ามีนเว เมืองสะกาย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ นำไปสู่การค้นพบหลักศิลาจารึก ซึ่งบ่งบอกว่ามีเจ้านายไทยในสมณะพระภิกษุมรณภาพมีการจัดพิธีปลงพระศพใหญ่โต  แต่กล่าวว่าได้นำพระบรมอัฐิมาบรรจุที่เจดีย์ของวัดข่ามีนเวนั้น

               ล่าสุดเมื่อวันที่ ๗ มีนาคม นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้พบหลักฐานสำเนาหลักศิลาจารึก ภาษามอญโบราณของนายสัญชัย หมายมั่น อดีตหัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ซึ่งเป็นคณะทำงานที่ร่วมเดินทางไปกับนายสดเมื่อปี ๒๕๓๐ ซึ่งเก็บรักษาไว้ ณ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ในประเทศไทย ขณะนี้สั่งให้คณะทำงานเร่งการตรวจสอบเอกสารและให้ผู้เชี่ยวชาญแปลออกเนื้อหาของศิลาจารึกดังกล่าวออกมา คาดว่าภายใน ๑ สัปดาห์น่าจะแปลเสร็จเรียบร้อย หากเนื้อความระบุว่ามีเจ้านายไทยในสมณะพระภิกษุ มรณภาพและนำพระบรมอัฐิมาบรรจุที่เจดีย์วัดข่ามินเวจริง ก็จะประสานกรมโบราณคดี พิพิธภัณฑ์และหอสมุด กระทรวงวัฒนธรรม เมียนมาร์ เพื่อส่งชุดคณะทำงานไปศึกษารายละเอียดร่วมกันอีกครั้งพร้อมหารือถึงแนวทางศึกษาต่อไป


๑ สัปดาห์ของนายเอนกได้ผ่านมาสามปีแล้ว ยังเงียบจ๋อย ไม่ทราบว่าผู้เชี่ยวชาญแปลออกหรือเปล่า แล้วออกมาว่าอย่างไร


ขอตรงนี้ต่ออีกหน่อย จะได้เห็นความเพ้อเจ้อของนายเอนกที่สำแดงเมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๗

ความจริงผมอยากจะพิมพ์ข้อความในเอกสารรายงานของอาจารย์ปฏิพัฒน์ พุ่มพวงแพทย์ ณ วันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๖ ซึ่งเคยส่งให้กรมศิลปากรด้วย เพื่อให้บางท่านนำสำเนาไปอ้างอิงต่อได้ง่าย แต่ติดขัดด้วยเวลา ขอใช้ถ่ายสำเนามาให้อ่านแทนก็แล้วกัน


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 พ.ย. 17, 10:13
ขอถามว่า ทางฝ่ายขุดค้นจะทำอะไรต่อไปคะ

ต้องขอความกรุณาให้รอภาค ๓ ซึ่งจะเป็นภาคสุดท้ายที่จะแสดงให้เห็นว่า พระวิบากของพระมหาเถระเจ้าอุทุมพรในปัจจุบันกาล ใครเป็นผู้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายให้พระองค์ครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 06 พ.ย. 17, 16:17
อ้างจาก: NAVARAT.C link=topic=6834.msg159479#msg159479

สมุดข่อยพม่า ที่คุณม้าค้นหาศัพท์มาได้ในความคิดเห็นที่ 153   กล่าวว่า “parabaik หรือบางทีเป็น parabeik ก็มี (แน่นอนว่าออกเสียงว่าพาราไบค์) ” ส่วน parabaike  ไม่มีนะครับ  ถ้ามีแล้วใครจะออกเสียงว่าพาราไบค์หรือพาราไบเก  ผมก็ไม่ติดใจเหมือนกัน  
ความจริงยังสงสัย คำว่า พาราไบค์ไม่น่าจะเป็นภาษาพม่าตามที่วิกี้อ้าง เพราะสมุดเล่มที่กล่าวถึงนี้  คนพม่าเรียก “เตวั้งรุปซุงประบุท” แปลว่า เอกสารการบันทึกของราชสำนัก มีภาพเขียนประกอบ


Parabaik แปลว่าสมุดไทย ส่วนเตวั้งรุปซุงประบุทเป็นชื่อเรื่องครับ

สมุดไทยเล่มนี้เป็นกุญแจสำคัญของเรื่องนี้ และควรได้รับการศึกษาทั้งเล่ม น่าจะมีนักประวัติศาสตร์พม่าเข้าไปดูนะครับ

ส่วนใครผิดใครถูกตรงไหนอย่างไร ขอฟังตอนจบของภาคสามก่อนครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 พ.ย. 17, 16:43
คงต้องทำอย่างเป็นเรื่องเป็นราวครับ ตอนนี้ระดับรัฐทั้งสองฝ่ายต่างไม่ขยับ ทางพม่าบอกว่าเขาเชื่อ รัฐบาลไทยไม่เชื่อก็เป็นเรื่องของรัฐบาลไทย

เอ็ดเวิร์ด ฟาน รอย (Edward van Roy) ดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเทกซัส นักวิชาการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวในระหว่างสัมมนาเรื่องการค้นพบโบราณสถานอันมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับพระเจ้าอุทุมพรว่า ในทางโบราณคดีนั้น  หากพบหลักฐานที่ระบุชัดเจนว่าสิ่งที่ค้นพบนั้นคืออะไร ของใคร (ในกรณีย์ของพระเจ้าอุทุมพร อาจหมายถึงจารึกพระนามของพระองค์ หรือดวงพระชาตา ในตำแหน่งที่พบบาตรบรรจุพระอัฐิ) จะเรียกว่า Hard evidence

แต่หากว่าไม่เจอหลักฐานที่เป็น  Hard evidence ก็อาจจะใช้หลักฐานแวดล้อม เรียกว่า  Circumstantial evidence พิจารณาว่าสิ่งที่ค้นพบนั้นคืออะไร ของใคร ก็ย่อมได้ ในประเทศไหนๆก็มีอย่างนี้อยู่แยะไป

ในกรณีย์ของโบราณสถานที่ค้นพบใหม่ที่ลินซินกง ถือว่ามี Circumstantial evidence เพียบ แต่หากอีกฝ่ายหนึ่งผู้มีอำนาจปักหลักที่จะไม่เชื่อ ก็คงไม่เกิดประโยชน์อันใด ถึงแม้ว่าจะเจอ Hard evidence ฝ่ายนั้นก็อาจจะบอกว่าเป็นของปลอมที่ทำขึ้นก็ได้

มีเพื่อนสถาปนิกเล่าให้ผมฟังเมื่อบ่ายนี้ ผมชอบใจจึงนำมาเล่าต่อ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 พ.ย. 17, 17:14
Parabaik แปลว่าสมุดไทย

Parabaik แปลได้หลายอย่างเช่น สมุดไทย, สมุดข่อย, พับสา, หนังสือบุด  จริง ๆ แล้วในรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้หากใช้คำไทยแทน Parabaik หรือ Parabike หรือ พาราไบก์ หรือ พาราไบเก น่าจะดีกว่า

คำไทยที่เหมาะสมขอเสนอ (ถึงคณะทำงานฝ่ายเอกชนและกรมศิลปากร) ว่าควรจะเป็น "สมุดข่อย" หากใช้คำว่า "สมุดไทย" ในเรื่องที่เกี่ยวกับต่างประเทศอาจจะทำให้สับสนหรือเข้าใจผิดได้



กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 06 พ.ย. 17, 18:17

อ่านความเห็นที่ 182 แล้ว
ผมขอวิจารณ์ความเห็นของคุณนิติ แสงวัณณ์ นักโบราณคดีเชี่ยวชาญ กรมศิลปากร ต่อสักเล็กน้อยครับ
"เป็นการโน้มน้าวในข้อมูลอยากให้คนอื่นเข้าใจได้ว่า บาตรนี้เกี่ยวข้องกับเจ้านายที่เป็นพระสงฆ์"


ที่ขีดเส้นใต้ บาตรนี้เกี่ยวข้องกับเจ้านายที่เป็นพระสงฆ์ หลักฐานที่ค้นพบเป็น  Hard evidence แน่นอน
การพูดตามนายไปเรื่อยเปื่อยไม่เป็นผลดีต่อใครเลย

แต่จะเป็นบาตรบรรจุพระอัฐของพระเจ้าอุทุมพรหรือไม่นั้น Circumstantial evidence ยังไม่ตัดชื่อเจ้าชายอื่น ๆ ออกไปด้วย

1. พระเถระพระเจ้าอุทุมพร มิได้เป็นเจ้าอาวาสวัดโยเดีย
2. นอกจากพระเจ้าอุทุมพรแล้วยังมีเจ้าชายสยามองค์อื่น ๆ ครองเพศบรรพชิตในเวลาใกล้เคียงด้วย
3. นามตามสมณศักดิ์ เจ้าอาวาสวัดโยเดีย ในเวลาต่อมาคล้ายกับนามเจ้าชายองค์อื่นมากกว่าพระเจ้าอุทุมพร


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 06 พ.ย. 17, 18:26

ยกมาจากความเห็น 98 อีกที่ครับ

เรื่องนี้มีอรรถาธิบายว่า จากที่พระราชพงศาวดารพม่าฉบับคองบองระบุไว้ ในปีพ.ศ.๒๓๓๖ เมื่อพระเจ้าบะจีดอว์(หรือคนไทยเรียกพระเจ้าจักกาย(สะกาย)แมง)ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าปะดุง พระองค์ถวายพระสุพรรณบัตรให้แก่พระสงฆ์ผู้ใหญ่ในราชอาณาจักรอมรปุระหลายรูป  หนึ่งในนั้นมีเจ้าอาวาสวัดโยเดีย นามว่าพระติสรณะ ได้ฉายาใหม่ว่า พระเถระ นรินทะชะมหาธรรมราชาคุรุ  วัดโยเดียอยู่ในลำดับต่อจากวัดตองเลยลุง ซึ่งปัจจุบันตั้ง อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของสุสานลินซินกอง ห่างไปประมาณ ๓๐๐ เมตร การที่วัดโยเดียอยู่ในลำดับต่อจากวัดต่องเลยลุง แสดงว่า วัดทั้งสองน่าจะอยู่ใกล้เคียงในบริเวณเดียวกัน 


พ.ศ. ๒๓๓๖  น่าจะเป็น พ.ศ. ๒๓๗๖ มากกว่า
สมณศักดิ์พระเถระ นรินทะชะมหาธรรมราชาคุรุ ผมนึกถึงเจ้าชายพระองค์หนึ่งคือ เจ้าฟ้านเรนทร์ ซึ่งถ้าไม่สิ้นพระชนม์ในสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ ก็ต้องถูกนำไปพม่าเหมือนพระเจ้าอุทุมพร
ซึ่งสามารถเป็น candidate สำหรับเจ้าอาวาสวัดโยเดียองค์แรกได้


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 พ.ย. 17, 18:27
ถ้าคำพม่าแท้ๆที่อ่านออกเสียงว่าพาราไบค์นี่จะสะกดภาษาอังกฤษว่า parabaik , parabeik หรือ parabike ก็ไม่น่าจะผิด ตราบใดที่ไม่อ่านออกมาเป็นพาราไบเก  ภาษาพม่าที่สะกดด้วยภาษาอังกฤษอื่นๆก็ไม่ค่อยจะเหมือนกันอยู่แล้ว

แต่ผมเห็นด้วยนะที่จะเรียกเป็นภาษาไทยว่าสมุดข่อย และได้เริ่มเรียกแล้วตั้งแต่ความเห็นที่ ๑๗๒


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 พ.ย. 17, 18:32
ทำไมพระมหาเถระเจ้าอุทุมพรจึงไม่ใช่เจ้าอาวาสวัดโยเดียครับ หากพระเจ้าปะดุงทรงสร้างให้พระองค์จำพรรษา

ส่วนพระนามของพระองค์จริงๆในภาษาพม่านั้น ขอผลัดเป็นพรุ่งนี้เช้านะครับ วันนี้เหนื่อยแล้ว ไม่อยากจิ้มนิ้วข้อความยาวๆ

ปล. คุณคนโคราชคงชอบแน่ๆ ถ้าได้เห็นพระราชพงศาวดารพม่าที่ระบุว่ามีเจ้านายกรุงศรีถึงสองพันคน ถูกพระเจ้ามังระเอาไปพม่า จดชื่อไว้ด้วย คุณม้าอาจจะอ่านออก


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 06 พ.ย. 17, 18:42

อ้างถึง ความเห็น 98 ครับ

อนึ่ง จากการวิเคราะห์ขนาดของอิฐที่ใช้ในการก่อสร้างที่พบในพื้นที่โครงการฯแล้ว พิสูจน์ได้ว่า วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยเดียวกันกับพระราชวังอมรปุระ หลังย้ายมาจากกรุงอังวะ  ช่วงเวลาเดียวกันกับที่พระเจ้าอุทุมพรเสด็จมาประทับอยู่ ณ เมืองอมรปุระ  จึงอาจจะเป็นไปได้ว่า วัดนี้สร้างขึ้นเป็นที่จำพรรษาสำหรับพระเจ้าอุทุมพรโดยเฉพาะ  และเมื่อพระองค์เสด็จสรรคตแล้ว เจ้านายโยเดียรุ่นหลังๆจึงนำพระอัฐิอังคารของบรรพชนมาสร้างสถูปบรรจุไว้ตามๆกันมา


เป็นข้อสันนิษฐานเช่นเดียวกัน


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 06 พ.ย. 17, 18:44
วัดในความเห็นข้างบนหมายถึงวัดโยเดีย ที่สร้างที่ลินซินกองนะครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 พ.ย. 17, 07:14
พระภิกษุพระเจ้าอุทุมพร พม่าขนานพระนามว่า มหาเถระอุถุมบาระ สะกดในภาษาอังกฤษว่า Maha Thera Udumbara 

คำว่ามหาเถระนี่ก็เหนือว่าพระเถระ ที่พระภิกษุนรินทะชะมหาธรรมราชาคุรุได้ถือสมณศักดิ์อยู่แล้ว
และคำว่ามหาเถระของพม่านี่ไม่ใช่ธรรมดานะครับ ในประวัติศาสตร์ไทยเราได้รู้จักท่านหนึ่ง ของเราเรียกพระมหาเถรคันฉ่อง ผู้มีบทบาทอันสำคัญในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ในคติของพม่า พระสงฆ์ระดับมหาเถระเชื่อว่าเป็นพระอรหันต์ ในประวัติศาสตร์กล่าวว่ามีเพียง ๔ องค์เท่านั้น และมหาเถระอุถุมบาระเป็นหนึ่งในสี่ จึงไม่แปลกว่าพระอัฐิธาตุของพระองค์หลังถวายพระเพลิงแล้ว จะมีผู้ขอแบ่งนำไปประดิษฐานในพระสถูปเจดีย์ต่างๆแยะไปหมด ทั้งในอังวะ สะกาย และมัณฑะเลย์ ดังที่นายสด แดงเอียดได้เคยไปพบองค์หนึ่งเมื่อเกือบยี่สิบปีที่แล้ว

มีคำถามเช่นกันว่า ถ้าพระสถูปหลักของพระองค์อยู่ที่ลินซิน ทำไมจึงไม่เจอแผ่นป้ายจารึกอะไรบ้างเลย
คำตอบคือ สถานที่แห่งนั้นถูกคนเข้าไปบุกรุกรบกวนมากตั้งแต่ครั้งอดีตใครเห็นประโยชน์อะไรก็นำไปใช้โดยพลการนับร้อยปีมาแล้ว  แต่ไม่แน่ จารึกแผ่นใดแผ่นหนึ่งอาจจะยังฝังดินอยู่ รอการเปิดหน้าดินอย่างจริงจังในอนาคตแล้วจึงปรากฏก็ได้ หรือจะอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำ ซึ่งแม่บ้านชาวพม่านิยมเอาแผ่นจารึกที่ติดไว้หน้าหลุมฝังศพในสุสานที่เป็นหินอ่อนไปเป็นแผ่นรองซักผ้า พบเห็นได้ทั่วไปในย่านนั้น


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 07 พ.ย. 17, 10:33
ผมขออนุญาตร่วมแสดงความเห็นครับ
หลังจากที่ได้อ่านเรื่องราวทั้งหมดที่อาจารย์ได้กรุณาเรียบเรียงมา ผมมีมุมมองอีกมุมหนึ่งเกี่ยวกับท่าทีที่แตกต่างกันของรัฐบาลไทย และรัฐบาลเมียนมาครับ ซึ่งอาจจะยังไม่สามารถชี้ว่าใครคิดถูกหรือคิดผิด หรือแม้แต่อาจจะไม่ใช่อย่างที่ผมคิดเลยก็ได้ครับ
อันดับแรกผมมองว่า การที่สองประเทศร่วมกันศึกษาประวัติศาสตร์ในเรื่องนี้ มีคุณค่าในตัวเองอยู่แล้วครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ก็ตาม แต่ถ้าเป็นสถูปจริงก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น

ย้อนกลับไปที่มูลเหตุของเรื่องนี้ เริ่มจากตรงจุดที่รัฐบาลเมียนมา (ในกระทู้แรกเริ่มใช้คำว่า “ทางการพม่า”) ต้องการที่จะพัฒนาที่ดินบริเวณใต้เมืองมัณฑเลย์ โดยที่ดินที่พัฒนานี้เป็นที่ตั้งของกลุ่มสุสานโบราณ ที่เรียกว่า "สุสานล้านช้าง"

การพัฒนาที่ดินที่ว่านี้ ผมไม่แน่ใจนะครับว่า จะพัฒนาให้สุสานกลายเป็นอะไร แต่ผมขอเดาเอาว่า ปัจจุบันสะพานไม้อูเบ็ง ที่อยู่ไม่ไกลนัก เริ่มเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงขึ้นมาแล้ว พื้นที่สุสานซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่รกร้างอีกทั้งยังสกปรกเต็มไปด้วยขยะจึงดูไม่งาม สมควรมีการปรับปรุงให้สวยงาม และยังอาจใช้เป็นพื้นที่รองรับนักท่องเที่ยวซึ่งจะทำให้พื้นที่บริเวณนั้นมีคุณค่าทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น

แต่เมื่อจะลงมือพัฒนาพื้นที่ ทางการเมียนมากลับพบว่า พื้นที่ดังกล่าวน่าจะมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ จะมากหรือน้อยยังไม่รู้ แต่น่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยี่ยมชมได้อีกมาก เพราะเป็นประวัติศาสตร์ของประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง การพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ให้กลายเป็น Historical site ย่อมทำให้เกิดมูลค่าทางการท่องเที่ยวที่สูงกว่าการทำเป็นพลาซ่าหลายสิบหลายร้อยเท่า ซึ่งถ้ามองด้วยมุมมองนี้ จะสามารถอธิบายท่าทีของทางการเมียนมาได้เป็นอย่างดีครับ เหตุใดทางโน้นถึงค่อนข้างจะเชื่อว่านี้เป็นสถูปของอดีตพระมหากษัตริย์ของไทยแน่นอน


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 07 พ.ย. 17, 10:34
(ต่อ)
ย้ายฝั่งกลับมาที่ท่าทีของทางการไทย อย่างที่ผมได้เรียนไปแต่ต้น การขุดค้นนี้มีคุณค่าในตัวเองอยู่แล้วในเชิงประวัติศาสตร์และความร่วมมือของสองชาติ แต่สำหรับประเทศไทย เรื่องนี้ไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด ตรงกันข้ามเป็นการนำเอาเงินของรัฐบาลไทยไปช่วยสร้างสถานที่ท่องเที่ยวให้กับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อดูดเงินคนไทยออกนอกประเทศด้วยซ้ำ จริงอยู่ครับ ประวัติศาสตร์นั้นไม่อาจตีราคาเป็นเงินได้ แต่การทำเอาเงินงบประมาณไปลงทุนในสิ่งที่ไม่แน่ว่าจะใช่หรือเปล่านั้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่อธิบายได้ง่ายนัก

ดังนั้น เมื่อเรื่องนี้มีคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ ท่าทีของรัฐบาลก็คือ ไม่ปิดกั้นที่นักประวัติศาสตร์จะดำเนินการต่อไป แต่การใช้งบประมาณเพื่อสนับสนุนเรื่องนี้ ยังไม่ได้

ย้อนกลับไปที่ฝั่งเมียนมา เมื่อรัฐบาลไทยแสดงท่าทีอย่างนี้ ทางการเมียนมาเริ่มที่จะลำดับความสำคัญของพื้นที่ใหม่อีกครั้ง เพราะหากรัฐบาลไทยไม่ช่วยการันตีว่า นี่คือสถูปของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีตจริงๆ คนไทยคงไม่มาเที่ยวที่นี่เยอะอย่างที่คาดการไว้ และแน่นอนว่า คนลาว คนเวียตนาม คนอินเดีย คงไม่มีใครสนใจจะมาดูสถูปของพระมหากษัตริย์ไทยแน่ ที่มั่นใจว่า Historical site จะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงกว่า Plaza นั้นก็ไม่แน่เสียแล้ว ฉะนั้น ฉันกลับไปดำเนินการตามแผนเดิมน่าจะดีกว่า

นี่คือมุมมองของผมครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 07 พ.ย. 17, 10:56
(ต่อ)
ผมกราบขออนุญาตบังอาจแนะนำครับ

คือถ้าหากจะดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป น่าจะนำเสนอเหตุผลความจำเป็นต่อรัฐบาลในแง่มุมอื่นๆ ที่นอกเหนือจากเหตุผลทางประวัติศาสตร์โดยแท้ มาประกอบการพิจารณาด้วย เช่น โครงการนี้ จะช่วยประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ที่ดีของคนไทยและของรัฐบาลไทย ในแง่ที่ว่า คนไทยมีความเคารพรักและผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแน่นแฟ้น แม้แต่พระมหากษัตริย์ในอดีตกว่าสองร้อยปีล่วงมาแล้ว คนไทยก็ถวายความเคารพต่อพระองค์ท่านโดยไม่ละเลยทอดทิ้ง

หรือการนำเสนอเป็น Packageg เช่น การดำเนินการในครั้งนี้ นอกจากจะมีการขุดค้นและบูรณะองค์สถูปแล้ว คณะผู้ดำเนินการยังอยากให้รัฐบาลไทยจะจัดสร้างศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์ไทย-เมียนมา ไว้ ณ บริเวณข้างสถูปด้วย สำหรับสถูปที่จะบูรณขึ้นใหม่นั้น คณะผู้ดำเนินการอยากให้รัฐบาลไทยช่วยเจรจากับทางการเมียนมาให้สามารถจัดสร้างขึ้นเป็นสถูปทรงไทยศิลปอยุธยาตอนปลายได้ แทนสถูปทรงพม่า ซึ่งนอกจากจะเป็นการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าอุทุมพรผู้ซึ่งทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาประการหนึ่งแล้ว การที่มีศิลปะไทยตั้งอยู่ตรงนั้น จะเป็นเครื่องประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวสนใจประเทศไทยได้อีกทางหนึ่งด้วย (ทำนองว่า ไปเที่ยวพม่า แต่กลับมีศูนย์แนะนำการท่องเที่ยวไทยอยู่ตรงนั้นแบบเนียนๆ)

หรืออะไรอื่นๆในแนวนี้ เพื่อให้เห็นว่า เรื่องนี้มีความคุ้มค่าที่จะจ่ายเงินหนะครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 พ.ย. 17, 11:06
ย้อนกลับไปที่มูลเหตุของเรื่องนี้ เริ่มจากตรงจุดที่รัฐบาลเมียนมา (ในกระทู้แรกเริ่มใช้คำว่า “ทางการพม่า”) ต้องการที่จะพัฒนาที่ดินบริเวณใต้เมืองมัณฑเลย์ โดยที่ดินที่พัฒนานี้เป็นที่ตั้งของกลุ่มสุสานโบราณ ที่เรียกว่า "สุสานล้านช้าง"

การพัฒนาที่ดินที่ว่านี้ ผมไม่แน่ใจนะครับว่า จะพัฒนาให้สุสานกลายเป็นอะไร แต่ผมขอเดาเอาว่า ปัจจุบันสะพานไม้อูเบ็ง ที่อยู่ไม่ไกลนัก เริ่มเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงขึ้นมาแล้ว พื้นที่สุสานซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่รกร้างอีกทั้งยังสกปรกเต็มไปด้วยขยะจึงดูไม่งาม สมควรมีการปรับปรุงให้สวยงาม และยังอาจใช้เป็นพื้นที่รองรับนักท่องเที่ยวซึ่งจะทำให้พื้นที่บริเวณนั้นมีคุณค่าทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น

ความคิดเห็นที่ 20 ผมได้ให้ข้อมูลไว้ว่า รัฐบาลท้องถิ่นแห่งรัฐมัณฑเลย์ต้องการจะล้างสุสานลิซินกอง เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของอมรปุระ ซึ่งเป็นศัพท์ที่เรียกศูนย์การค้าให้ดูมีระดับขึ้นมาหน่อย  รายละเอียดก็คือ จะเปิดให้นักลงทุนเข้าไปประมูลเพื่อได้สิทธิ์นั้น โดยมีข่าวว่าลูกชายของผู้มีอำนาจในรัฐบาลกลางได้คั่วไว้แล้ว


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 พ.ย. 17, 11:13
แต่เมื่อจะลงมือพัฒนาพื้นที่ ทางการเมียนมากลับพบว่า พื้นที่ดังกล่าวน่าจะมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ จะมากหรือน้อยยังไม่รู้ แต่น่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยี่ยมชมได้อีกมาก เพราะเป็นประวัติศาสตร์ของประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง การพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ให้กลายเป็น Historical site ย่อมทำให้เกิดมูลค่าทางการท่องเที่ยวที่สูงกว่าการทำเป็นพลาซ่าหลายสิบหลายร้อยเท่า ซึ่งถ้ามองด้วยมุมมองนี้ จะสามารถอธิบายท่าทีของทางการเมียนมาได้เป็นอย่างดีครับ เหตุใดทางโน้นถึงค่อนข้างจะเชื่อว่านี้เป็นสถูปของอดีตพระมหากษัตริย์ของไทยแน่นอน

ข้อเท็จจริงก็คือ แม่เหล็กการท่องเที่ยวสำคัญที่อยู่ห่างออกไปไม่กี่ก้าว คือสะพานอูเบ็ง วันๆหนึ่งมีนักท่องเที่ยวแห่แหนกันเข้ามาเที่ยวชมมากอยู่แล้ว เป็นพันเป็นหมื่น โดยไม่จำเป็นต้องหาแม่เหล็กใดมาเพิ่ม  แต่สิ่งที่ขาดอยู่ก็คือ facility กล่าวคือพวกห้องน้ำห้องท่าที่ทันสมัย ร้านอาหารและร้านจำหน่ายของที่ระลึกอันเป็นสิ่งที่จะทำให้นักท่องเที่ยวควักกระเป๋าออกมาส่งเสริมเศรษฐกิจของเมืองมากขึ้น ซึ่งในประเด็นดังกล่าว การทำพลาซ่าย่อมดีกว่า Historical site แน่นอน

แต่การที่คณะทำงานของไทยไปเปิดเจอโบราณสถานที่สำคัญเช่นนี้  ทำให้ทางการพม่าต้องเลิกล้มความคิดที่จะใช้ที่ดินนั้นทำศูนย์การค้า เพราะขัดกับกฏหมายว่าด้วยการอนุรักษ์  ถือว่าเขาเสียประโยชน์ มากกว่าได้  สถูปพระเจ้าอุทุมพร ดึงความสนใจได้เฉพาะนักท่องเที่ยวไทย ซึ่งจะพัฒนาหรือไม่พัฒนาก็มีคนดั้นด้นไปขอหวยอยู่แล้ว แต่การมีพลาซ่า เขาได้นักท่องเที่ยวชาติอื่นๆด้วยอีกเยอะมาก โดยเฉพาะทัวร์จีน

ย้ายฝั่งกลับมาที่ท่าทีของทางการไทย อย่างที่ผมได้เรียนไปแต่ต้น การขุดค้นนี้มีคุณค่าในตัวเองอยู่แล้วในเชิงประวัติศาสตร์และความร่วมมือของสองชาติ แต่สำหรับประเทศไทย เรื่องนี้ไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด ตรงกันข้ามเป็นการนำเอาเงินของรัฐบาลไทยไปช่วยสร้างสถานที่ท่องเที่ยวให้กับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อดูดเงินคนไทยออกนอกประเทศด้วยซ้ำ จริงอยู่ครับ ประวัติศาสตร์นั้นไม่อาจตีราคาเป็นเงินได้ แต่การทำเอาเงินงบประมาณไปลงทุนในสิ่งที่ไม่แน่ว่าจะใช่หรือเปล่านั้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่อธิบายได้ง่ายนัก

คำนึงก็ทางการไทย สองคำก็รัฐบาลไทย กรุณาย้อนไปอ่านเรื่องนี้อีกทีเถิดครับ ว่าที่ผ่านมาถึงจุดนี้พวกนั้นทำอะไร  การที่บอกว่ารัฐบาลไทยจะไปช่วยสร้างสถานที่ท่องเที่ยวให้กับประเทศเพื่อนบ้านนั้น เป็นสิ่งที่ไปไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง รัฐบาลมีแค่งบส่งข้าราชการไปเที่ยวต่างประเทศเท่านั้น

ขอประทานโทษ กรุณาเห็นศีรษะคนทำงานจริงๆบ้างเถิดครับ  สิ่งที่ทางการหรือรัฐบาลไทยมีผลงานในเรื่องนี้ก็คือ การทรยศหักหลังพวกเขาตั้งแต่ต้นจนจบ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 พ.ย. 17, 11:18
ดังนั้น เมื่อเรื่องนี้มีคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ ท่าทีของรัฐบาลก็คือ ไม่ปิดกั้นที่นักประวัติศาสตร์จะดำเนินการต่อไป แต่การใช้งบประมาณเพื่อสนับสนุนเรื่องนี้ ยังไม่ได้

การประกาศบ้าๆบอๆออกไปโดยไม่มีศิลปะทางการทูต แล้วบอกว่าไม่ปิดกั้นที่ฝ่ายเอกชนจะทำอะไรต่อไปนั้น  คนฉลาดเขามีวิธีพูดและกระทำดีกว่านี้แน่นอน

เช่น ไปพบกับรัฐบาลพม่า และเรียกสมาคมสถาปนิกสยามไปพบ บอกจุดยืนกับเขาให้ห้องประชุมอย่างตรงไปตรงมาว่า ถ้าไม่มี Hard Evidence แล้ว รัฐบาลไทยคงให้การรับรองไม่ได้ว่าอัฐิที่เจอนั้น เป็นพระบรมอัฐิของพระเจ้าอุทุมพร ไม่ใช่ไปพูดปาวๆฝากหนังสือพิมพ์ กล่าวโทษว่าพวกเขาไม่สุจริต ให้ลอยไปถึงหูถึงตาเขา

ถ้าพูดกันด้วยเหตุด้วยผล ใครก็ยอมรับได้ครับ แล้วจะได้ปรึกษากันต่อว่า ในเมื่อรัฐบาลทั้งสองไม่มีงบประมาณ ก็ควรจะสนับสนุนฝ่ายเอกชนให้ทำอย่างไรต่อไป
ยังไงก็ไปห้ามฝ่ายพม่าไม่ได้ว่าไม่ให้ไปทำอะไรต่อ  ก็มันประเทศของเขา


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 พ.ย. 17, 11:21
ย้อนกลับไปที่ฝั่งเมียนมา เมื่อรัฐบาลไทยแสดงท่าทีอย่างนี้ ทางการเมียนมาเริ่มที่จะลำดับความสำคัญของพื้นที่ใหม่อีกครั้ง เพราะหากรัฐบาลไทยไม่ช่วยการันตีว่า นี่คือสถูปของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีตจริงๆ คนไทยคงไม่มาเที่ยวที่นี่เยอะอย่างที่คาดการไว้ และแน่นอนว่า คนลาว คนเวียตนาม คนอินเดีย คงไม่มีใครสนใจจะมาดูสถูปของพระมหากษัตริย์ไทยแน่ ที่มั่นใจว่า Historical site จะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงกว่า Plaza นั้นก็ไม่แน่เสียแล้ว ฉะนั้น ฉันกลับไปดำเนินการตามแผนเดิมน่าจะดีกว่า

อันนี้ผมอธิบายไปบ้างแล้ว  ยังไงเขาก็กลับไปสร้างพลาซ่าไม่ได้ครับ ผิดกฏหมาย


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 พ.ย. 17, 11:28
ผมกราบขออนุญาตบังอาจแนะนำครับ

คือถ้าหากจะดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป น่าจะนำเสนอเหตุผลความจำเป็นต่อรัฐบาลในแง่มุมอื่นๆ ที่นอกเหนือจากเหตุผลทางประวัติศาสตร์โดยแท้ มาประกอบการพิจารณาด้วย เช่น โครงการนี้ จะช่วยประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ที่ดีของคนไทยและของรัฐบาลไทย ในแง่ที่ว่า คนไทยมีความเคารพรักและผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแน่นแฟ้น แม้แต่พระมหากษัตริย์ในอดีตกว่าสองร้อยปีล่วงมาแล้ว คนไทยก็ถวายความเคารพต่อพระองค์ท่านโดยไม่ละเลยทอดทิ้ง

หรือการนำเสนอเป็น Package เช่น การดำเนินการในครั้งนี้ นอกจากจะมีการขุดค้นและบูรณะองค์สถูปแล้ว คณะผู้ดำเนินการยังอยากให้รัฐบาลไทยจะจัดสร้างศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์ไทย-เมียนมา ไว้ ณ บริเวณข้างสถูปด้วย สำหรับสถูปที่จะบูรณขึ้นใหม่นั้น คณะผู้ดำเนินการอยากให้รัฐบาลไทยช่วยเจรจากับทางการเมียนมาให้สามารถจัดสร้างขึ้นเป็นสถูปทรงไทยศิลปอยุธยาตอนปลายได้ แทนสถูปทรงพม่า ซึ่งนอกจากจะเป็นการถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าอุทุมพรผู้ซึ่งทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาประการหนึ่งแล้ว การที่มีศิลปะไทยตั้งอยู่ตรงนั้น จะเป็นเครื่องประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวสนใจประเทศไทยได้อีกทางหนึ่งด้วย (ทำนองว่า ไปเที่ยวพม่า แต่กลับมีศูนย์แนะนำการท่องเที่ยวไทยอยู่ตรงนั้นแบบเนียนๆ)

หรืออะไรอื่นๆในแนวนี้ เพื่อให้เห็นว่า เรื่องนี้มีความคุ้มค่าที่จะจ่ายเงินหนะครับ


ผมเชื่อว่า คณะทำงานฝ่ายเอกชนคงจะรับความเห็นของคุณไปพิจารณาทำเท่าที่ทำได้  นอกจากการบากหน้าเข้าไปขอร้องอะไรกับรัฐบาลอีก เพราะที่แล้วๆมา บากหน้าไปขอนัดพบกี่ทีๆ ก็ไม่มีใครยอมให้เข้าพบ ทำหนังสือเข้าไป ก็หายต๋อม



กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 พ.ย. 17, 13:59
ภาค ๓


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 พ.ย. 17, 14:02
ความเดิม หลังการไปทัวร์พม่าของอธิบดีกรมศิลปากรและคณะ ซึ่งคราวนั้นได้พานายสด แดงเอียด ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีและอดีตอธิบดีกรมการศาสนา ซึ่งเมื่อปี ๒๕๓๐ พระอินตาคา เจ้าอาวาสวัดข่ามีนเว เมืองสะกาย บอกนายสดว่าในวัดมีหลักศิลาจารึก บ่งบอกว่ามีเจ้านายไทยในสมณะเพศมรณภาพ มีการจัดพิธีปลงพระศพใหญ่โต  และได้นำพระบรมอัฐิมาบรรจุที่เจดีย์ของวัดข่ามีนเว ไปด้วย  อันเป็นเหตุหนึ่งที่กรมศิลปากรไม่เชื่อว่าอัฐิที่ค้นพบที่ลินซินกอง จะเป็นของพระเจ้าอุทุมพร แล้วให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ สร้างความเสื่อมเสียให้รัฐบาลพม่า จึงทำหนังสือแจ้งให้ระงับการดำเนินการโครงการเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะได้รับคำชี้แจงจากรัฐบาลไทย  นับตั้งแต่วันที่ ๑๐ มี.ค. ๒๕๕๗ นั้น

๑๔ มีนาคม ๒๕๕๗ รัฐมนตรีวัฒนธรรมรัฐมัณฑะเลย์ ดร. มินท์ คิว ได้เดินทางมาที่โครงการ เพื่อตรวจดูว่าได้ทำอะไรไปถึงไหนแล้ว แต่มิได้แสดงท่าทีอะไรกับคณะทำงาน
หลังจากนั้นคณะทำงานได้รับแจ้งให้ทราบว่า ยังสามารถคงคนงานไว้รักษาสถานที่ได้ และเมืองอมระปุระจะไม่สั่งรื้อรั้วลวดหนามที่ล้อมรอบพื้นที่ ๑ เอเคอร์ที่ได้กันให้ไว้

๒๐ มีนาคม ๒๕๕๗   สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสมาคมจิตพรรณ จัดแถลงข่าว ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพ

๓ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ผู้อำนายการโครงการ ถวายรายงานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในงานสถาปนิก '๕๗

๔ พฤษภาคม ๒๕๕๗ งานเสวนาอนุรักษ์ไร้พรมแดน "ตามรอยพระบาทมหาเถระพระเจ้าอุทุมพร" ภาคสอง ในงานสถาปนิก '๕๗  โดยมีนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ของพม่า และอาจารย์ปฏิพัฒน์ พุ่มพวงแพทย์ นักโบราณคดีของโครงการ มาร่วมชี้แจงด้วย แต่ไม่มีนักวิชาการฝ่ายราชการไทยให้ความสนใจเช่นเดียวกับเมื่อปีที่แล้ว

เมื่อทำท่าจะถึงทางตัน ซึ่งเป็นเหตุให้คนทำงานเสียกำลังใจมาก  หากว่าการกระทำนั้นมาจากฝ่ายพม่า พวกเขาจะไม่เสียใจเลย เพราะคนต่างชาติก็ต่างวัฒนธรรม เขาอาจไม่รู้จักสิ่งที่คนไทยเรียกว่ามารยาทผู้ดี จนถึงบัดนี้พวกเขายังคิดไม่ออก ว่าทำไมฝ่ายรัฐจึงได้กระทำต่อผู้ที่ฝ่ายรัฐเองมอบหมายให้ไปทำงานแทนตน  ถึงปานฉะนั้น

วัฒนธรรมของข้าราชการไทยเช่นนี้  ใครไม่โดนเข้าไปเองคงไม่รู้สึก

เมื่อบุคคลในภาครัฐไม่มีใครดูดาย เหมือนหนึ่งพวกเขาไปกระทำความผิดฉกรรจ์อะไรมาสักอย่าง ประชาชนด้วยกันจึงเข้าโอบอุ้ม ทั้งในนามของสมาคมสถาปนิกสยาม และการแสดงออกของบุคคลเป็นการส่วนตัว การยืนยันอย่างขันแข็งที่จะสนับสนุนพวกเขาต่อไปโดยไม่หวั่นไหว  ได้ทำให้คนทำงานสามารถกู้คืนกำลังใจกลับคืนมา และพร้อมที่ฟันฝ่าอุปสรรคต่อ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 พ.ย. 17, 14:06
สำหรับหลักฐานพยานวัตถุทางโบราณคดีที่สำคัญที่สุดได้แก่ อัฐิธาตุจำนวน ๖ ชิ้น (แต่ยังจะมีอีกมากในบาตร) และทันตธาตุหน้าส่วนบน ๑ ชิ้น และตัวบาตรกับองค์ประกอบที่ประดับกระจกฝีมือระดับเครื่องราชูปโภค หรือสมณูโภคของพระมหาเถระชั้นสูงเท่านั้น

จากหลักฐานทั้งหมด คณะนักโบราณคดีพม่าเชื่อว่า โบราณสถานสิ่งก่อสร้างเหล่านี้มีความสัมพันธ์ต่อสายสกุลที่สำคัญยิ่งสายสกุลหนึ่ง ที่นิยมปลงศพด้วยการเผา ซึ่งไม่ใช่สายสกุลฝ่ายพม่าแน่ เพราะพม่านิยมการฝัง ที่จะเผาก็จะมีเฉพาะพระเถระเท่านั้น ส่วนชนชาติโยเดียนิยมการเผาศพเมื่อเผาแล้วก็จะนำอัฐิเข้าบรรจุในสถูปรายล้อมสถูปของบุคคลสำคัญในสายสกุล เมื่อพิจารณาหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้ว ไม่มีสายสกุลของชาวต่างชาติใดในพม่าที่จะใหญ่เท่าสายราชสกุลวงศ์ของพระเจ้าอุทุมพร ที่มีเจ้านายโยเดียได้ตามเสด็จไปด้วยนับร้อยนับพันพระองค์ ทั้งนี้ยังไม่รวมข้าราชบริพารอีกเป็นจำนวนมากอีกด้วย

อย่างไรก็ดี คณะทำงานได้ย้ำว่า ไม่มีหน้าที่ที่จะวินิจฉัยประเด็นดังกล่าว ข้อยุติจะต้องมาจากคณะกรรมการที่รัฐบาลของทั้งสองฝ่ายตั้งขึ้น ตามโครงการที่จะบูรณาการร่วมกันระหว่างพม่ากับไทยเท่านั้น

ในเมื่อฝ่ายเอกชนไม่ได้จะเป็นจะตายในเรื่องที่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลทั้งสองประเทศ  ผู้บริจาคทุนทรัพย์ก็เข้าใจอยู่แล้ว เงินทองโอนมาให้สมาคมสถาปนิกสยามเรียบร้อย สุดแล้วแต่ผู้เชี่ยวชาญของสมาคมจะตัดสินใจจะทำอะไรต่อไป  ก็เชื่อใจเต็มร้อย
นักวิชาการฝ่ายไทยและฝ่ายพม่าในสมาคมจิตพรรณจึงนั่งคุยกันว่า การที่จะไปชี้แจงทุ่มเถียงในประเด็นเรื่องใช่ไม่ใช่พระบรมอัฐินั้น ก็เป็นประเด็นหนึ่ง  แต่ที่สำคัญกว่าก็คือ ในเมื่อทางการพม่าได้มอบพื้นที่ถึง ๑ เอเคอร์ให้แล้ว ถ้ามัวแต่มาติดบ่วงเรื่องที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับทิษฐิของมนุษย์  ก็จะเป็นการเปล่าประโยชน์

แต่แรกเริ่มเลยที่รัฐบาลไทยจะเข้ามาตั้งให้สมาคมสถาปนิกสยามเป็นตัวแทน  ทางคณะทำงานเคยคิดกันก็เพียงแต่ว่า  หากขุดหาหลักฐานพบสิ่งของใดในสถูปที่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับมหาเถระอุดุมบารา ก็จะนำไปบรรจุในสถูปใหม่ที่จะสร้างขึ้นในวัดใกล้ๆนั้น  เพื่อให้เป็นอนุสรณ์สถานของพระองค์
คุยกันใหม่ครั้งนี้  คนพม่าถามว่าคนไทยรู้จักอนุสรณ์สถานหรือเปล่า ในพม่ามีอนุสรณ์สถานของพระเจ้าบุเรงนองอยู่สี่ห้าแห่งทั่วประเทศ  ที่ตั้งของอนุสรณ์สถานเหล่านั้นก็ไม่ใช่ว่าเกี่ยวข้องกับพระราชประวัติใดๆของพระองค์เลย   ทำไมเราจึงจะไม่บูรณะโบราณสถานที่ค้นพบบนเนินลินซินที่ทางการของพม่ายกให้แล้วนี้   ให้เป็นอนุสรณ์สถานของมหาเถระอุดุมบารา อดีตกษัตริย์พระองค์หนึ่งของกรุงศรีอยุธยา ผู้ทรงมาใช้ชีวิตในพม่าถึง ๒๙ ปี จนกระทั่งเสด็จสวรรคตในฐานะพระอรหันต์ในความเชื่อถือศรัทธาของชาวพม่า

จริง…ทำไมคนไทยจะไม่รู้จักอนุสรณ์สถาน ยกตัวอย่าง ในเมืองไทยก็มีอนุสรณ์สถานของสมเด็จพระนเรศวรนับสิบแห่ง โดยไม่ได้ระบุว่า ณ จุดนั้นพระองค์ได้เคยเสด็จไปประทับพระบาทเช่นกัน

ถึงจุดนี้ ทั้งสองฝ่ายจึงเห็นพ้องกันว่า จะดำเนินงานต่อไป ภายใต้ชื่อว่า “โครงการอนุรักษ์ปฏิสังขรณ์อุทยานประวัติศาสตร์มหาเถระอุดุมบารา” โดยฝ่ายพม่าจะเป็นผู้ดำเนินการ  ฝ่ายเอกชนไทยจะเป็นผู้สนับสนุนในด้านการแบบก่อสร้างและเงินทุน  ตามหลักการเดิมเป็นดีที่สุด แต่เมื่อไม่มีฝ่ายรัฐทั้งสองประเทศสนับสนุนแล้ว ก็จำเป็นต้องหาบุคคลที่รัฐบาลพม่าเกรงใจมาเป็นผู้นำ

คณะทำงานฝ่ายพม่าได้คนเชื้อสายโยเดียเข้ามาเป็นแนวร่วม  และมีความเห็นว่าควรอาราธนาพระสงฆ์ผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นที่เคารพและศรัทธาของมหาชนชาวพม่าสักองค์หนึ่งมาเป็นองค์อุปถัมภ์ เพื่อที่จะยื่นขออนุญาตต่อทางราชการเมืองมัณฑะเลย์  ในการทำโครงการอนุรักษ์ปฏิสังขรณ์อุทยานประวัติศาสตร์มหาเถระอุดุมบาราดังกล่าวนี้ต่อไป


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 พ.ย. 17, 17:56
สี่เดือนหลังจากวันที่ถูกระงับ

๗ กรกฏาคม ๒๕๕๗ กองกิจการสังคม สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เดินทางไปเยี่ยมชมสถานที่ตั้งโครงการ เป็นกำลังใจให้แก่คณะทำงาน

๙ กรกฏาคม ๒๕๕๗ คณะทำงานได้เข้ากราบนมัสการหลวงพ่อษิตากู อธิการบดีมหาวิทยาลัยพุทธศาสนานานาชาติของพม่าที่มาสาขาทั่วโลก นิมนต์ให้ท่านเป็นองค์อุปถัมภ์โครงการอนุรักษ์ปฏิสังขรณ์อุทยานประวัติศาสตร์มหาเถระอุดุมบารา หลวงพ่อท่านแบ่งรับแบ่งสู้ว่าควรจะอาราธนาพระสงฆ์ไทยเข้าร่วมด้วย


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 พ.ย. 17, 17:59
ขณะที่ความเห็นของฝ่ายเอกชนพม่ายังไม่มีความพร้อมเป็นเอกภาพดังเช่นฝ่ายไทย  โครงการจึงถูกทิ้งร้างหลังจากถูกสั่งระงับ ภาพที่ถ่ายเมื่อ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๗ แสดงให้เห็นถึงเห็นสภาพพื้นที่ที่กลับมารกรุงรังเช่นเคย


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 พ.ย. 17, 18:01
๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๗ คณะกรรมการโครงการฝ่ายไทย พร้อมด้วยนายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เดินทางมาเยี่ยมชมบริเวณหน้างาน และขอให้ฝ่ายพม่าช่วยว่าจ้างคนดูแลรักษาสถานที่

๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๗ คณะกรรมการร่วมไทยพม่า พร้อมด้วยนายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้าพบรัฐมนตรีวัฒนธรรม ดร. มินท์ คิว เพื่อให้ความมั่นใจว่าเอกชนไทยจะสนับสนุนทั้งความรู้และประสบการณ์ รวมทั้งเงินทุนที่จะทำโครงการอนุรักษ์ปฏิสังขรณ์อุทยานประวัติศาสตร์มหาเถระอุดุมบาราให้แล้วเสร็จ  เพื่อมอบให้เป็นของขวัญให้กับรัฐบาลและประชาชนชาวพม่า


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 พ.ย. 17, 18:13
๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ มีพระสงฆ์ผู้ใหญ่ของไทยระดับพระราชาคณะ มีความประสงค์จะไปสร้างวัดไทยในย่างกุ้ง แต่ได้รับคำแนะนำว่าควรจะมาสร้างที่อมรปุระดีกว่า โดยให้ขอพื้นที่ของสุสานลินซินกงที่ทางการไถไว้แล้ว แต่ยังไม่มีแนวคิดจะทำอะไรต่อ เพราะพื้นที่ส่วนหนึ่งได้ถูกกันเป็นเขตอนุรักษ์โบราณสถานไปแล้ว โดยจะขอสร้างวัดไทยในพื้นที่ส่วนที่เหลือ

๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ มิกกี้ ฮาร์ทได้เป็นตัวแทนของสมเด็จฯ นำหนังสือไปยื่นถึง พระมหาสังฆนายกแห่งสาธารณรัฐเมียนมาร์ เพื่อขออนุญาต

๑๘ มีนาคม ๒๕๕๘ สมเด็จฯ ทำหนังสือถึง พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่องที่มีความประสงค์จะสร้างวัดดังกล่าว เรื่องถูกส่งไปยังสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติๆจึงทำหนังสือถึงกระทรวงต่างประเทศให้ช่วยประสานงานต่อไป


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 พ.ย. 17, 18:17
๙ มิถุนายน  ๒๕๕๘  ทางการเมืองมัณฑะเลย์ แจ้งว่าต้องการให้คณะทำงาน พม่า-ไทย ที่ถูกระงับการดำเนินโครงการ ให้กลับมาทำงานต่อ  คณะทำงานรวมไทย-พม่าจึงอาราธนาให้หลวงพ่อษิตากูยื่นแบบขออนุญาตในนามของท่าน

๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๘ เอกอัครราชทูต พิษณุ สุวรรณะชฎเข้าพบผู้ว่าการรัฐมัณฑะเลย์เพื่อติดตามเรื่องการขอสร้างวัดไทย

๒๒ กย ๒๕๕๘ ธรรมกายจัดมหกรรมตักบาตรพระสงฆ์ ๑๐๐๐๐ รูปในมัณฑะเลย์ เหตุการณ์นี้ได้สร้างความวิตกกังวลให้แก่รัฐบาลพม่าเกี่ยวกับบทบาทขิงคณะสงฆ์ไทยมาก

๓๐ พ.ย. ๒๕๕๘ ผู้แทนหลวงพ่อษีตะกูนำเสนอรายละเอียดและแผนการดำเนินการต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีรัฐมัณฑะเลย์

๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๘ ทางการเมืองมัณฑเลย์ออกใบอนุญาตให้หลวงพ่อษีตะกู ดำเนินโครงการอนุรักษ์อนุสรณ์สถาน มหาเถระอุดุมบาราได้ในเนื้อที่เท่าเดิม คือ ๑ เอเคอร์ และไม่อนุญาตให้สร้างวัดในพื้นที่ที่เหลือของลินซินกอง


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 พ.ย. 17, 18:19
๒๗ กุมภาพันธุ์ ๒๕๕๙ คณะทำงานฝ่ายไทยลงพื้นที่เพื่อปฎิบัติงาน

๑ เมษายน ๒๕๕๙  รัฐบาลทหารของพม่าพ้นอำนาจ รัฐบาลนางออง ซาน ซูจีเข้ารับหน้าที่ต่อ ผู้บริหารระดับท้องถิ่นล้วนเปลี่ยนแปลงหมด

๒๑ เมษายน ๒๕๕๙  ผู้รับเหมาเริ่มทำงาน

๒๒ เมษายน ๒๕๕๙  ภาพข่าวThe Global New Light of Myanmar รายงานว่าคณะกรรมการพัฒนาแห่งรัฐมัณฑะเลย์ใด้ออกเอกสารอนุญาตเป็นทางการ แก่หลวงพ่อษิตากู พระเถระผู้เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงฆ์ของพม่า ตั้งแต่ วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๘  เพื่อให้บูรณะต่อเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความสัมพันธ์ของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท และ ความสัมพันธ์ ระหว่างพระสงฆ์ไทยและพระสงฆ์พม่า ที่มีมาแต่ในอดีตซยาวนานนับพันปี   โดยให้ใช้ชื่อโครงการว่า " Mahathera King Udumbara memorial ground project (MKUMG) " ภายในพื้นที่ 2.5 ไร่ โดยกำหนดให้เสร็จสมบูรณ์ในเดือนตุลาคม๒๕๕๙


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 พ.ย. 17, 18:22
๒๘ เมษายน ๒๕๕๙ เริ่มเกิดการเดินขบวนประท้วงเรื่องโรฮินยา และลามกลายเป็นความขัดแย้งระหว่าชาวพุทธและมุสลิมทั่วประเทศ ในอมระปุระนั้น ชาวมุสลิมได้รวมตัวกันเรียกร้องตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว เมื่อเห็นโครงการดำเนินการก่อสร้างรั้วถาวรและดำเนินการบูรณะพระสถูป จึงต้องการจะขอกันพื้นที่ในสุสานอิสลามบ้าง

จนงานแล้วเสร็จถึงขั้นที่กำหนดจะอาราธนาคณะสงฆ์พม่าและไทย  ทำประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุลงบริเวณคอระฆัง และพระเครื่องและพระบูชาลงในกรุกลางพระสถูปองค์ประธานซึ่งเป็นพุทธเจดีย์   แล้วจะบรรจุบาตรและพระอัฐิที่เชื่อว่าเป็นพระบรมอัฐิพระเจ้าอุทุมพร แม้ว่าจะพิสูจน์ด้วยวิทยาศาสตร์ไม่ได้  ลงยังที่เดิมที่ค้นพบ แล้วจึงจะบูรณะพระสถูปองค์นั้นต่อไปตามแบบที่ได้รับอนุญาต
 
ชาวพม่ามุสลิมในพื้นที่ได้กดดันรัฐบาลรุนแรงขึ้น โดยอ้างว่าในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว  รัฐบาลได้รับคะแนนเสียงจากชาวมุสลิมมากมาย ผู้บริหารใหม่ของเมืองมัณฑเลย์เป็นนักการเมืองรุ่นเก่าที่เพิ่งได้รับการปลดปล่อยจากที่คุมขัง  ขาดประสบการณ์ในการต่อรองกับฝูงชน 


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 พ.ย. 17, 18:25
๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๙  ภาพข่าวThe Global New Light of Myanmar รายงานว่าอาจจะมีการแจ้งให้ชลอการดำเนินการเป็นการชั่วคราว  โดยรัฐบาล มีแนวคิดว่า อาจจะมีการพิจารณานำเทคโลโลยีที่ทันสมัยมาใช้ โดยอาจตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วย  แต่เรื่องนี้เป็นเพียงข่าวเท่านั้น 


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 พ.ย. 17, 18:28
๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๙  รัฐบาลท้องถิ่นมัณฑเลย์ ได้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการสั่งระงับโครงการเป็นการชั่วคราวอีกครั้งหนึ่ง และสั่งให้เจ้าหน้าที่นำกุญแจมาล๊อคประตู ห้ ามผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตเข้าไปในพื้นที่ของโครงการ

๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๙  The Global New Light of Myanmar ออกข่าวว่า รัฐบาลท้องถิ่นมัณฑะเลย์ประกาศว่าโครงการอนุรักษ์สถูปกษัตริย์ไทยบนเนินลินซินที่มีความขัดแย้งกันนั้น จะดำเนินการต่อหลังจากรัฐบาลทั้งสองประเทศได้ปรึกษากันแล้ว
แต่ก็อดไม่ได้ที่จะเอาตัวรอดตามเคยว่า ผู้ทำงานในโบราณสถาน(ผู้รับเหมา?)ควรจะเคารพกฏหมาย เพราะการสั่งระงับนี้เกิดตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว

หนังสือพิมพ์บอกว่านักวิจัยและนักโบราณคดีทั้งพม่าและไทยต่างเชื่อว่าพระเจ้าอุทุมพรกษัตริย์โบราณไทย มีพระสถูปอยู่ในเนินลินซินแห่งนี้


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 พ.ย. 17, 06:23
งานบูรณะ Mahathera King Udumbara memorial ground project  ขณะนั้นเกือบจะเสร็จแล้วตามกำหนดการในการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและบรรจุพระอัฐิ กลับลงในพระเจดีย์ ที่หลวงพ่อษิตากูกำหนดใว้ในวันที่ ๒๖ มิย ๒๕๕๙  ซึ่งท่านใด้  นิมนต์พระเถระไทย และนานาชาติอื่นๆใว้เรียบร้อยแล้วเป็นจำนวนมาก  คนไทยที่ทราบข่าวก็เดินทางกันไปพร้อมกับนำพระพุทธรูปเตรียมไปบรรจุในพระเจดีย์กันแยะมาก
แต่เมื่อไปถึงก็ได้แต่ชมโครงการอยู่นอกรั้วอนุสรณ์สถานเท่านั้น


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 พ.ย. 17, 06:37
ผมอยากที่จะให้ท่านที่สนใจกระทู้ของผมได้ชมภาพเปรียบเทียบ ผลงานที่คณะทำงานของสมาคมสถาปนิกสยามได้กระทำลงไปจนถึงวันที่ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลท้องถิ่นของพม่า ให้ระงับการดำเนินโครงการเป็นการชั่วคราวอีกครั้ง  ซึ่งเนื้องานที่เห็นถือว่าเสร็จไปแล้ว ๘๕% เทียบกับภาพของสภาพก่อนหน้า day one ที่เข้าไปเริ่มหักล้างถางพง
ภาพชุดนี้ถือเป็นการส่งท้ายก่อนจบ ภาค ๓


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 พ.ย. 17, 06:38
.


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 พ.ย. 17, 06:38
.


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 พ.ย. 17, 06:39
.


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 พ.ย. 17, 06:39
.


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 พ.ย. 17, 06:40
.


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 พ.ย. 17, 06:40
.


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 พ.ย. 17, 06:41
.


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 พ.ย. 17, 06:42
.


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 พ.ย. 17, 06:43
.


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 พ.ย. 17, 06:43
.


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 พ.ย. 17, 06:45
งานที่ยังเหลืออยู่ตามแบบ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 พ.ย. 17, 08:05
การต่อเติมลักษณะนี้ อาจารย์พีรศรีเคยตั้งคำถามไว้

การต่อเติมโบราณสถานดังในภาพ perspective ไม่ทราบว่าเอาหลักฐานที่ไหนมา
ถ้านึกเอาเอง ผิดหลักการของกฎบัตรเวนิซ (Venice Charter) อย่างร้ายแรงนะครับ  


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 พ.ย. 17, 08:14
.


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 พ.ย. 17, 08:15
ในกระทู้ที่แล้ว “สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?” ความเห็นของท่านผู้นี้ผมอยากตอบเต็มกำลัง แต่พิจารณาแล้วว่าผมคงตอบสั้นไม่ได้ คงไม่เข้าใจ หากยาวก็คงสับสนไปหมด เพราะเนื้อเรื่องมันดำเนินมาอย่างพัลวันพัลเก จับต้นชนปลายไม่ถูก จึงเป็นเหตุให้ต้องเปิดกระทู้นี้

สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมถ์เป็นสมาคมวิชาชีพ ก่อตั้งมาแปดสิบปีแล้ว ตั้งแต่สี่สิบห้าปีที่แล้วมา บทบาทเด่นของสมาคมประการหนึ่ง คืองานอนุรักษ์  โดยผ่านกรรมาธิการศิลปสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นที่ระดมสมองของบุคคลากรทรงคุณค่าของชาติในด้านนี้ ทั้งจากภาคราชการและเอกชน  มีผลงานที่เป็นรูปธรรมมากมาย งานที่คณะทำงานของสมาคมเข้าไปอาสาเฉพาะงานนี้  เห็นชื่อบุคคลากรแล้วก็นอนใจได้
สถาปนิกเราเข้าใจครับ งานของเราถ้าเกี่ยวข้องกับงานที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพเฉพาะทาง เช่นวิศวกรสาขาต่างๆ  นักสิ่งแวดล้อม  แพทย์ ฯลฯ หรือนักโบราณคดี เราต้องเชิญเข้ามาร่วมงานด้วยเสมอ  พวกนี้มีศัพท์เฉพาะของฝรั่งเรียกว่า associate  แต่นักโบราณคดีอาวุโสผู้ร่วมทีมงานอยู่ด้วยนั้น  กรมศิลปากรไม่ยักเห็น

ส่วนภาพที่นำมาซึ่งคำถามของคุณพีรศรีนั้น  สถาปนิกได้ออกแบบร่างไว้หลายแบบ เผื่อให้คณะกรรมาธิการทวิภาคีของสองรัฐบาลเป็นผู้เลือก ยอดสถูปทรงไทยก็เป็นแนวคิดหนึ่งในสองสามแบบที่เตรียมไว้  แต่ก็ไม่ได้เสนอ  

สำหรับหลักการคร่าวๆของการบูรณะโบราณสถานก็คือ หนึ่ง จะใช้ preservation หรือสงวนรักษาสิ่งที่พบไว้ในลักษณะเดิมทุกประการ หรือจะใช้ สอง  conservation หรืออนุรักษ์โดยให้ความเคารพต่อส่วนสำคัญของโบราณที่ปรากฏอยู่  แล้วปฏิสังขรณ์ส่วนที่พังสูญหายมลายทรากไปแล้ว ให้กลับมาใช้งานได้ใหม่  ซึ่งสุดท้าย รัฐบาลพม่าเป็นผู้ตัดสินใจแต่ฝ่ายเดียวในการเลือกการอนุรักษ์ (ซึ่งตรงกับแนวคิดของคณะทำงาน)

วิธีการอนุรักษ์ก็คือ ทำการบันทึกทั้งภาพถ่ายและภาพเขียน ก่อนจะรื้ออิฐโบราณออกมาคัดเกรด เลือกไว้ที่จะนำกลับไปก่อใหม่โดยกรรมวิธีเดิม แต่อาจเปลี่ยนปูนก่อเป็นสมัยใหม่เพื่อความทนทานในอนาคต  ส่วนใดของโบราณสถานเคยมีปูนฉาบผิวอยู่ ก็ซ่อมเข้าไปใหม่ตามสภาพเดิม ในส่วนที่ไม่มีหลักฐานเดิมเหลืออยู่เลย ก็ต้องใช้วิธีการสันนิษฐาน โดยนำโบราณสถานชนิดเดียวกัน ในยุคเดียวกันมาเปรียบเทียบ แล้วกำหนดแบบ ก่อสร้างเสร็จแล้วให้คนยุคหลังรู้ชัดๆว่าส่วนใดเป็นการก่อสร้างสมัยไหน  แต่ตรงนี้ผู้รู้จริงระบุไม่ได้หรอกครับว่า ส่วนที่บูรณะขึ้นมาใหม่นั้นจะผิดหรือถูกต้องตรงกันกับของจริงๆในอดีต  จะมีก็แต่นักวิจารณ์เท่านั้นที่จะแสดงภูมิรู้  (ขอโทษนะครับ ประโยคหลังนี้ไม่ได้ว่าคุณพีรศรี)


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 พ.ย. 17, 08:18
พระสถูปองค์ใหญ่ ซึ่งแต่แรกคาดหวังว่าจะพบพระอัฐิ จึงจินตนาแบบเตรียมไว้เป็นทรงไทย แต่เมื่อพบว่าเป็นพระพุทธเจดีย์ จึงเปลี่ยนความคิด สร้างจริงๆเป็นทรงพม่า


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 พ.ย. 17, 08:19
สถูปทรงโกศ ซึ่งมีร่องรอยให้เห็นมากที่สุด


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 พ.ย. 17, 08:22
พระสถูปที่พบบาตรบรรจุพระอัฐิ มียอดเป็นทรงไทย เป็นการเคารพสิ่งที่คนพม่า "เชื่อว่า" ตามหลักฐานแวดล้อมของเขา


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 พ.ย. 17, 08:24
สถูปทรงพม่า ซึ่งยังไม่มีการสำรวจภายใน ซึ่งทีมงานไทย-พม่าเชื่อว่าต้องเป็นของบุคคลที่สำคัญรองลงมาจากท่านเจ้าอาวาสองค์แรก


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 พ.ย. 17, 08:28
อิฐก่อรูปหม้อแบบบูรณคตะ(หม้อใส่ดอกไม้บูชาพระตามวัฒนธรรมอินเดียโบราณ) ซึ่งมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์มาก จะทำการ preservation ไว้ในสภาะเดิม


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 พ.ย. 17, 08:33
แบบจริงๆที่ใช้ในการก่อสร้างเหล่านี้  สถาปนิกผู้เชี่ยวชาญชาวพม่าที่หลวงพ่อษิตากูเชิญมา เป็นผู้ตัดสินใจ แต่ทั้งนี้ก็ต้องเป็นไปตามกำหนดของทางการพม่าผู้อนุญาต ซึ่งถือเป็นเงื่อนไข  ใครก็ตาม ไม่สามารถจะกระทำตามอำเภอใจได้

เอกสารตัวจริงออกให้เป็นภาษาพม่า คณะทำงานต้องจ้างผู้แปลที่ทางราชการรับรอง แปลออกมาเป็นภาษาไทยตามที่เห็น


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 พ.ย. 17, 11:36
ของขวัญจากแฟนเพจในเฟซบุคของผม เมื่อเห็นภาพพระสถูปทรงโกศ

อาวุธ เทพนิมิตร ทางปักษ์ใต้เขาเรียกบัว เพื่อเก็บอัฐิพระราชาและเจ้านายชั้นสูง เช่นบัววัดแจ้ง ที่นครศรีธรรมราช เขาจะใช้รูปทรงแบบนี้ครับ

ม.ล. ชัยนิมิตร นวรัตน ขอบคุณมากนะครับที่ชี้เป้าให้


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 พ.ย. 17, 12:24
จบภาค ๓

ขึ้น

ภาค ๔


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 พ.ย. 17, 12:26
เวลาที่ผ่านไป ๑ ปี เพื่อให้การเมืองของพม่านิ่งนั้น เป็นที่เข้าใจได้ของทีมงานไทย  ดังนั้นสิ่งที่พึงกระทำก็คือ ทำใจ แล้วรอเวลา

ถามว่า มาถึงขั้นนี้แล้ว มันคุ้ม หรือไม่คุ้มที่เข้าไป “เปลืองตัว” ทำงานนี้

คำตอบของวิจิตร  ชินาลัย ผู้อำนวยการโครงการตอบด้วยความมั่นใจว่า “Once in a life time – คุ้ม  ลองคิดดูว่าถ้าสมาคมไม่เข้าไป ป่านนี้หลักฐานต่างๆของพระเจ้าอุทุมพรคงถูกปาดไปรวมกับกองขยะที่เขาขนไปทิ้ง  คนไทยจะไม่มีวันรู้ว่าหลังจากที่ทรงตกเป็นเชลยศึก ต้องไปอยู่เมืองพม่านั้น ทรงมีชีวิตอย่างไร ชาวไทยทั้งหลายที่ไปอยู่ที่นั่นต้องไปตกระกำลำบากเป็นข้าทาษพม่าหรือเปล่า

การค้นพบหลักฐานที่สำคัญ คือบาตรประดับกระจกเป็นสีมรกต ซึ่งนักโบราณคดีของพม่าเห็นแล้วต้องตะลึง เพราะเป็นเครื่องราชูปโภคที่กษัตริย์พม่าทรงใช้เอง หรือพระราชทานให้ผู้ใดเป็นพิเศษเท่านั้น  แต่ก็จะต้องเป็นบุคคลที่มีฐานันดรศักดิ์ระดับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินเช่นกัน  แล้วเป็นเหตุให้นักประวัติศาสตร์ของเขาช่วยกันค้นคว้าต่อ จนทำให้คนไทยพลอยทราบไปด้วยว่า พระองค์ได้รับการถวายพระเกียรติยศในฐานะพระราชาไปตลอดการเดินทางสู่เมืองอังวะ ซึ่งทรงประทับอยู่ถึง ๒๙ ปี ในเมืองพม่า เป็นขวัญกำลังใจของคนไทยพลัดถิ่นที่สิ้นหวังในการจะหาทางกลับบ้านกลับเมือง  เพราะเกรงว่าจะเป็นการหนีเสือปะจระเข้เข้ามาตายเปล่า  จึงทำใจยอมรับสภาพและกลายเป็นคนพม่ากลมกลืนไปกับเขา

แต่ที่ยิ่งกว่านั้น พระจริยาวัตรในสมณะเพศของพระองค์ได้เป็นที่เคารพสักการะของคนพม่า นับตั้งแต่พระเจ้าแผ่นดินไปจนถึงชาวบ้านชาวเมือง สูงสุดกระทั่งได้รับความเชื่อถือว่าทรงเป็นพระอรหันต์  ทรงได้รับการเอาพระทัยใส่อย่างดีจากกษัตริย์พม่าทุกพระองค์ จนถึงรัชสมัยพระเจ้าปะดุง เมื่อทรงทิ้งเมืองอังวะไปสร้างราชธานีใหม่ที่อมระปุระ  ได้ทรงสร้างวัดโยเดียให้ประทับจำพรรษา บนพื้นที่ที่เป็นเสมือนพระราชอุทยาน แล้วอาราธนาพระมหาเถระอุดุมบะระให้เสด็จตามไปด้วย จนกระทั่งเสด็จสรรคต และได้รับพระราชทานเพลิงศพอย่างยิ่งใหญ่  โดยมีหลักฐานบันทึกว่าที่เนินลินซิน

จะมีคนไทยสักที่คนที่รู้เรื่องนี้   ส่วนใหญ่ก็คาดเดาว่าพระชะตากรรมของพระองค์คงจะคล้ายๆกับเจ้าอนุเวียงจันทน์  และเชลยศึกชาวลาวที่ถูกกว่าต้อนมากรุงรัตนโกสินทร์  การได้รู้ความจริงเช่นนี้เป็นสิ่งที่ล้ำค่าต่อความสัมพันธ์ระหว่างชนชาติไทยและพม่าอย่างยิ่ง  ในการที่ต้องอยู่ร่วมกันในประชาคมอาเซียนและประชาคมโลก
ถ้าไม่มีเรื่องการขอขุดค้นพระสถูปเกิดขึ้น  ความรู้ด้านประวัติศาสตร์เช่นนี้คงไม่มีใครสนใจจะขุดขึ้นมาพูด

สำหรับงานที่เป็นรูปธรรมที่ได้กระทำไป  เราก็ได้อนุสรณ์สถานของพระเจ้าอุทุมพร  หรือ Mahathera King Udumbara Memorial Ground ที่ไม่มีใครจะรื้อทำลายลงไปได้อีกต่อไป


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 พ.ย. 17, 12:28
ถามว่าคณะทำงานใช้เงินไปแล้วเท่าไหร่

ก็ประมาณยี่สิบล้านบาท  งานที่ล่าช้าทำให้งบของเราบานปลายไปบ้าง แต่ดีว่าผมประหยัดมากนะ ไปกันทีไรก็นอนโรงแรมคืนละห้าร้อยบาท ใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง  มีบัญชีรายจ่าย งบดุลส่งให้สมาคมตลอด ทั้งๆที่เงินทุนสำหรับโครงการนี้ไม่ได้มาจากสมาคมโดยตรงนะ  แต่มีผู้บริจาคมาเข้าบัญชีของสมาคม ซึ่งยังเหลืออีกประมาณสิบล้าน  พอเพียงกับปริมาณงานที่เหลือ ซึ่งเราต้องกลับไปทำให้เสร็จ

หากถูกขัดขวางไม่ให้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ  เราก็ยังมีหน้าที่จะต้องนำพระอัฐิกลับไปฝังไว้ในที่เดิมที่ขุดออกมา  แล้วต่อยอดสถูปทั้งหลายให้เสร็จตามแบบที่เคยได้รับอนุญาต และทำระบบป้องกันน้ำท่วมในหน้าน้ำ กับรั้วที่ถาวร ตลอดจนห้องน้ำห้องท่าสำหรับผู้มาเยี่ยมชมสักการะ  

แต่งานพวกนี้ก็ใช้เงินไม่มากแล้ว อีกห้าหกล้านก็คงจบ




กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 พ.ย. 17, 12:31
แล้วต่อไปจะบริหารอย่างไรไม่ให้เป็นที่หากินของบรรดาเหลือบ

เราเคยปรึกษากันในเรื่องนี้กับหลวงพ่อษิตากูและทีมงานชาวพม่า มีแนวคิดพ้องกันว่าจะจัดตั้งมูลนิธิขึ้นมารับมอบ ซึ่งหลวงพ่อก็ได้จัดตั้งเป็นสมาคมวัฒนธรรมมหาเถระอุดุมบาราขึ้นมาแล้ว หากยกระดับขึ้นเป็นมูลนิธิ เช่นเดียวกับมูลนิธิสุสานทหารสัมพันธมิตรในย่างกุ้ง ซึ่งมีระเบียบการบริหารที่ดี  มีผู้ไว้วางใจส่งเงินมาบริจาคจากทั่วโลก ให้ดูสถานที่จนเป็นระเบียบสวยงาม

แต่เรื่องนี้พวกเราคงไปช่วยเขาจัดตั้งในตอนแรกเท่านั้นนะ   หลังจากเป็นไปตรงกับทิศทางแล้วก็คงต้องปล่อยให้คนพม่าดูแลกันไปเอง


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 พ.ย. 17, 12:36
แล้วคาดว่ารัฐบาลพม่าจะยอมให้เราเข้าไปดำเนินการต่อเมื่อไหร่

เริ่มมีสัญญาณมาแล้วจากคนของรัฐบาลพม่าที่ไปพบกับคนของเราในที่ประชุมนานาชาติ  เขาบอกว่าเราสามารถไปยื่นขอทำงานต่อได้แล้ว โดยให้ไปขอตรงกับรัฐบาลกลางที่เมืองเนปิดอว์  ซึ่งฝ่ายเราก็ประชุมหารือกันไปเมื่อต้นเดือนที่แล้ว ว่าใครจะมีความคิดเห็นเช่นไร

คือตั้งแต่โครงการถูกระงับ พื้นที่ก็เริ่มรก นานไปนานไปเกิดมีคนเอาขยะไปทิ้งในบริเวณที่ทางราชการไปปราบพื้นที่ไว้  ชาวเมืองก็เริ่มโวยบ้าง ตอนนั้นปาดทิ้งสุสานปู่ย่าตายายของเขาไป โดยอ้างว่าจะพัฒนาพื้นที่ให้เจริญตา  แต่กลับปล่อยให้เป็นที่ทิ้งขยะตามเดิม จะทำอนุสรณ์สถานก็ไประงับไว้อีก 

หลวงพ่อษิตากูก็ไม่ได้ทอดทิ้ง ท่านพยายามทวงถามตลอดเวลา เป็นเรื่องที่กดดันพวกผู้บริหารมากทั้งระดับเทศบาลเมืองอมระปุระ และรัฐมัณฑะเลย์  แต่เขาต้องการให้เรื่องผ่านรัฐบาลกลาง ให้ทางโน้นสั่งลงมา เพราะการระงับโครงการครั้งนั้นก็เป็นนโยบายจากเบื้องสูงที่ต้องการให้ลดข้อขัดแย้งกับชาวมุสลิมที่นอกเรื่องโรฮินยา  ซึ่งตอนนี้เรื่องโรฮินยารัฐบาลพม่าก็ควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 พ.ย. 17, 17:37
สำหรับเหตุการณ์ประจำวันในช่วงสุดท้ายมีดังนี้

๒๔ เมษายน ๒๕๖๐ นายอองโกลิน ตัวแทนของหลวงพ่อษิตะกู ได้ยื่นขอประดิษฐานพระธาตุและปรับปรุงพระสถูปต่อ เพื่อให้ประชาชนได้เคารพบูชา และอนุรักษ์โบราณสถานที่ทรุดโทรมใกล้พังทลาย  ต่อทางการเขตมัณฑะเลย์

๙ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ผู้ว่าการเขตมัณฑะเลย์ ได้ส่งหนังสือไปยังสำนักงานบริหารเมืองอมรปุระ  ให้รวบรวมความคิดเห็นจากผู้ที่อยู่อาศัยในเมือง ประเด็นดังกล่าว

๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๐   สำนักงานบริหารเมืองอมรปุระเปิดประชุม ผู้ปกครองท้องถิ่น และหมู่บ้าน ที่ประชุมสรุปว่า ให้ผู้อำนวยการเมืองถามความคิดเห็นจากมหาเถระสมาคม ส่วนผู้อยู่อาศัยในเมืองไม่มีการคัดค้าน

๑ มิถุนายน ๒๕๖๐ ผู้อำนวยการเมืองอมรปุระทำหนังสือถึง มหาเถระสมาคมของพม่า ขอทราบความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว

๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๐   มหาเถระสมาคมเขตเมืองของอมระปุระ ได้ตอบหนังสือกลับว่า มหาเถระสมาคมไม่ทราบรายละเอียดในเรื่องนี้ จึงแจ้งความเห็นว่าผู้เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการต่อได้ตามกฏหมายและหลักเกณฑ์

๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๐   สำนักบริหารเมืองอมรปุระ ทำหนังสือถึงสำนักบริหารเขตมัณฑะเลย์ทราบว่า การดำเนินการปรับปรุงพระสถูป และอนุรักษ์โบราณสถาน ที่ลินซินกง เพื่อให้ประชาชนได้เคารพบูชา ทำได้โดยปฏิบัติตามกฎหมาย มหาเถระสมาคมเมืองและผู้ที่อยู่อาศัยในเมืองไม่มีการคัดค้าน

๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๐   สำนักงานบริหารเขตมัณฑะเลย์จัดประชุมระหว่างผู้บริหารเขตมัณฑะเลย์ และเมืองอมระปุระทุกตำแหน่งที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งราษฎรอาวุโส ผู้แทนชุมชน โดยอนุญาตให้นายอองโกลิน ตัวแทนของหลวงพ่อษิตะกูเข้าร่วมด้วย โดยประธานที่ประชุมแจ้งว่า ประชาชนในท้องถิ่นและมหาเถระสมาคมไม่คัดค้านเรื่องดังกล่าว โดยให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบ แต่ประธานเองมีความเห็นว่า ควรต้องมีการพบปะพูดคุยและขออนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและศาสนา รัฐบาลสาธารณรัฐเมียนมาร์กับฝ่ายไทย  ในเรื่องการดำเนินการปรับปรุงเจดีย์และการบำรุงรักษาอาคารโบราณสถาน ซึ่งจะมีการบริจาคจากกองทุนของไทย

๕ กันยายน  ๒๕๖๐   นายอองโกลิน ได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและศาสนา หากคณะนำโดยเอกอัครราชทูตอาเซียน ฯพณฯ ประดาป พิบูลสงคราม (Thai Representative for ASEAN connectivity Coordinating Committee Ambassador Extraordinary and Plenipotentiary of Thailand) จะขอเข้าพบ 

๑๑  กันยายน  ๒๕๖๐  รองเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและศาสนาทำหนังสือตอบนายอองโกลินมาว่าสามารถทำได้

๒๙ กันยายน ๒๕๖๐ คณะทำงานฝ่ายไทยนัดปรึกษาหารือ

ตุลาคม ๒๕๖๐ เดือนแห่งความอาลัย  คนไทยไม่มีกะจิตกะใจจะทำงาน

พฤศจิกายน  ๒๕๖๐ มีเหตุให้ผมจำต้องศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียด เพื่อนำมาเขียนลงเรือนไทย  หวังจะสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเผื่อบางท่านที่พลัดหลงเข้ามาอ่านจะได้เมตตา ปรับอคติที่เคยมีกับคณะทำงานของสมาคมสถาปนิกสยามที่อุทิศตนไปทำงานโดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก ด้วยจิตอาสาและความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

อนาคตอันใกล้นี้  หากไม่มีใครไปสร้างพระวิบากถวายพระองค์อีก  ไม่ช้าไม่นาน คนไทยจะได้เห็นอนุสรณ์สถานพระมหาเถระเจ้าอุทุมพร ในแผ่นดินพม่า  และจะได้ทราบว่าพระองค์ทรงเป็นที่เคารพสักการะของคนพม่าเพียงไร  บางที ความแค้นเคืองเกลียดชังของคนไทยที่มีต่อคนพม่าในอดีตจะจางลง  ส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ของคนรุ่นหลังทั้งสองชนชาติในภายภาคหน้า


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 08 พ.ย. 17, 17:40
จบภาคอดีตถึงปัจจุบัน  อาจมีภาคอนาคตหากมีความชัดเจน


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 09 พ.ย. 17, 14:35

จากรูปประกอบความเห็นที่ 235

ในสมัยเมืองอมรปุระ พระเถระพระเจ้าอุทุมพรน่าจะห่มจีวรแบบห่มคลุม มากกว่าจะมีผ้าคาดแบบสยามวงศ์นะครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 09 พ.ย. 17, 15:05
ผลลัพท์ลงท้ายว่าไงเรื่องของผลลัพท์นะครับ ทว่าเรื่องราวที่เผยแพร่ตั้งแต่ต้นจนจบ เป็นประสบการณ์ที่หาได้ยากและน่าสนใจมาก หวังว่าตัวเองในอนาคตจะได้ทำอะไรแบบนี้บ้าง ถอนหายใจหนึ่งเฮือก


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 พ.ย. 17, 15:38

จากรูปประกอบความเห็นที่ 235

ในสมัยเมืองอมรปุระ พระเถระพระเจ้าอุทุมพรน่าจะห่มจีวรแบบห่มคลุม มากกว่าจะมีผ้าคาดแบบสยามวงศ์นะครับ


เป็นภาพในจินตนาการของนักเขียนการ์ตูนพม่าน่ะครับ อย่าไปซีเรียสอะไรเลย ใครจะไปรู้ได้ในสมัยนั้นพระองค์ท่านจะครองจีวรอย่างไร ก็สันนิษฐาน(แปลว่าเดา)เอาทั้งนั้น


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 พ.ย. 17, 15:39
ผลลัพท์ลงท้ายว่าไงเรื่องของผลลัพท์นะครับ ทว่าเรื่องราวที่เผยแพร่ตั้งแต่ต้นจนจบ เป็นประสบการณ์ที่หาได้ยากและน่าสนใจมาก หวังว่าตัวเองในอนาคตจะได้ทำอะไรแบบนี้บ้าง ถอนหายใจหนึ่งเฮือก

เรื่องนี้ผมไม่ได่แต่งขึ้นเองตามจินตนาการนะครับ อะไรที่ยังไม่เกิด ก็จะไม่เขียน


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 09 พ.ย. 17, 16:39
จากข่าวนี้ก็เช่นกัน

เมื่อเร็วๆ นี้ นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร ได้นำคณะผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดี และประวัติศาสตร์ เดินทางไปยังเมืองมัณฑะเลย์ และเมืองสะกาย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ตามโครงการศึกษาทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี เรื่อง ชาวอยุธยาในเมียนมาร์ นายเอนก เล่าว่า เมื่อปี 2555 กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ได้แจ้ง วธ.ว่า คณะกรรมการพัฒนาเมืองมัณฑะเลย์ มีแผนปรับสภาพพื้นที่สุสานลินซินกง ที่เมืองอมรปุระ ซึ่งเชื่อว่า มีสถูปบรรจุพระอัฐิสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพร กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ดังนั้น กต.ร่วมมือ วธ.โดยกรมศิลปากร มาศึกษาเรื่องของประวัติศาสตร์และโบราณคดีเรื่องราวของชาวอยุธยาในเมียนมาร์ เพื่อศึกษาความเป็นอยู่ ชุมชนของคนไทย ในมิติทางวัฒนธรรมระหว่าง 2 ประเทศ
      
ตนได้นำคณะมาที่โบสถ์วัดมหาเตงดอจี หมู่บ้านลินซิน ในเมืองสะกาย พบภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนภาพปราสาทและลายเส้นสินเธาว์แบบหยักฟัน โดยใช้สีแดง สีขาว สีเขียว และสีดำ ที่สำคัญยังพบภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนลายรูปพระปรางค์มียอดนภศูล แสดงถึงหลักฐานของฝีมือช่างแบบอยุธยาตอนปลายอายุกว่า 200 ปี ที่สำคัญเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังเพียงแห่งเดียวที่ยังคงเหลือและบ่งชี้ถึงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชาวอยุธยาที่เคยอาศัยอยู่ในเมียนมาร์
      
ดร.ม.ร.ว.รุจยา อาภากร ผู้อำนวยการศูนย์โบราณคดีและวิจิตรศิลป์ (สปาฟา) องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีมีโอ) ผู้ศึกษาภาพจิตรกรรมฝาหนังวัดมหาเตงดอจี กล่าวว่า เมื่อหลายปีก่อนตนได้มาศึกษาและถ่ายรูปภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดแห่งนี้ไว้ แต่วันนี้มีการนำปูนมาโบกทับภาพจิตรกรรมบริเวณด้านล่างลงมาทั้งหมด
      
อย่างไรก็ตาม ทางกรมศิลปากรจะประสานกรมโบราณคดีของเมียนมาร์ เพื่อส่งนักโบราณคดีของไทยที่มีความเชี่ยวชาญเข้าไปทำการบูรณะและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับภาพจิตรกรรมโดยเร็วที่สุด

ข่าวหลังไมค์แจ้งว่า ท่านเจ้าอาวาสตื่นเต้นมาก ที่บุคคลระดับอธิบดีกรมศิลปากรของไทยแลนด์ได้บอกกับท่านเช่นนั้น แต่แล้วก็คอยหาย คอยหาย ทำท่าจะกลายเป็น Simese Talk อีกรูปแบบหนึ่งไป

คณะคนไทยหากไปเที่ยวแล้วพบท่าน ก็จะได้รับคำฝากมาช่วยถามไถ่ จนกระทั่งเมื่อเร็วๆนี้ คณะถ่ายทำสารคดีของ Thai PBS ได้ไปที่นั่นและได้รับฟังถ้อยความอย่างเดียวกัน ทางคณะจึงได้รับปากจะเป็นผู้ระดมเงินทุนมาดำเนินการให้เองโดยไม่ต้องไปหวังอะไรลมๆแล้งๆจากผู้ที่เคยออกปากไว้แต่เดิม
 

มีความคืบหน้าในเรื่องนี้เช่นกัน จากข่าวดีที่ได้รับเมื่อตะกี้

https://www.facebook.com/chartchai.ketnust/posts/10155190177311622

เอกชนไทยเดี๋ยวนี้มีศักยภาพสูงมาก รัฐพึงสนับสนุนให้ถูกทางเท่านั้น หากไม่อยากสนับสนุนก็เพียงแต่นั่งดูเฉยๆได้ไหม อย่าใช้ความอิจฉาริษยาออกมาเตะตัดขาเขา


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 10 พ.ย. 17, 10:40

ในสมัยพระเจ้าปดุง ก่อนสร้างเมืองอมรปุระ บังคับให้พระภิกษุห่มจีวรแบบคลุม ไม่มีผ้ารัดอกครับ


คำให้การมหาโค มหากฤช เรื่องเมืองพม่า ถามในรัชกาลที่ ๒

ข้าพระพุทธเจ้า พระยาอุไทยธรรม พระราชสมบัติ พระเทพรัตนนรินทร์ หมื่นมณีรักษา พร้อมกันทั้งหลวงอไภยณรงค์บุญสาหลวงสุนทรภักดีบุญไทย ขุนชำนาญภาษาทองคำ นายอยู่ล่ามพม่านั่งฟังคำมหาโคผู้บิดา มหากฤชผู้บุตร ซึ่งหนีจากเมืองพม่าเข้ามาสู่พระบรมโพธิสมภาร เมืองวิเชียรปราการมลาประเทศเชียงใหม่บอกส่งมาถึงกรุงเทพฯ ศรีอยุทธยาณวันจันทร์ เดือน ๕ แรม ๑๒ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๗๒ ปีมะเมียนักษัตรโทศก ขอพระราชทานกราบทูลพระกรุณาให้ทราบใต้ลอองธุลีพระบาท
           
          ด้วยข้อความว่าเมื่อครั้งอ้ายพม่ายกมาตีกรุงเทพฯ ศรีอยุทธยาได้นั้น มหาโคเปนฆราวาศอายุ ๒๗ ปี ตามเจ้าวัดประดู่ไปพลัดกันตกอยู่ณเมืองเปร จึงบวชเปนภิกษุได้ ๑๔ พรรษา แล้วสึกออก มีภรรยาเกิดบุตรคือตัวมหากฤชนั้น ได้อาไศรยในสำนักมารดาเจ้าจีนกู ครั้นหม่อง ๆ ชิงเอาสมบัติของจีนกูได้ ได้อยู่ ๗ วัน ประโดงชิงเอาสมบัติหม่อง ๆ นั้นต่อไป แล้วให้ฆ่าเจ้าหม่อง ๆ เจ้าจีนกูเสีย มหาโคไปอาไศรยอยู่ด้วยแมงฉ่วยตองละ เมื่อเจ้าประโดงได้ราชสมบัติเมืองอังวะ ณข้างขึ้นเดือนห้าปีขาลนักษัตรจัตวาศกนั้น จัดแจงกิจการบ้านเมืองทั้งคฤหัสถ์แลสมณะ เจ้าอังวะถือความว่า มีเพลงนิมิตรเปนคำชาย ๔ ว่าแก่หญิง ๆ ตอบชายออกชื่อบ้านหม่องต่อง จึ่งให้นิมนต์เอาพระสงฆ์บ้านหม่องต่องมาเปนอาจารย์ ให้อาจารย์กับสังฆการีพร้อมกันถามกิจวินัยสิกขา แก่พระสงฆ์ราชาคณะสำรับเก่าเปนหลายประการ แต่ประการหนึ่งนั้น ว่าพระราหุลสามเณรเปนบรมพุทธโอรสก็ทรงจีวรคลุมเปนอย่างอยู่ เหตุใดจึงไม่กระทำตามสิกขาซึ่งมีมาแต่ต้น เอาพระอะตุลาจารย์ผู้เปนราชาคณะใหญ่ กับทั้งราชาคณะผู้น้อยสำรับเก่าเปนผิด ให้สังฆการีฉุดคร่าแย่งเอาจีวรกาสาเสีย เอาผ้าขาวให้นุ่งแล้วมัดเอาตัวออกไปเสียจากที่ปิฎกสถานจำไว้ ครั้นเวลารุ่งเช้า ให้โกนเศียรสี่แฉกเอาหมึกทาหน้าเอาแป้งทาตัว ให้ทัดดอกไม้รัง ๆ หู เอาเชือกผูกเอวอะตุลาจารย์ใส่กะชะแสรกหาม ส่วนผู้น้อยนั้นให้มัดมือไพล่หลังเอาเชือกร้อยหู แล้วผูกฅอตีฆ้องตะเวนไปทั่วเมือง แล้วตั้งราชาคณะใหม่ ให้ห่มจีวรคลุมทั้งสมณะ แลสามเณรสืบมา หามีรัตคตอกไม่ตราบเท่าจนทุกวันนี้ ข้อหนึ่งเจ้าอังวะให้หาประชุมโหรพม่า แลพราหมณาจารย์อันรู้ซึ่งวิไสยไตรเพทางคปกรณ์ทั้งปวงมาซักไล่จนไปเปนอันมาก จึงตั้งตัวเปนอาจารย์บอกสอนเอาเปนสานุศิษย์ ให้แจกตำราอากาศปกรณ์แก่ราชาคณะอธิการทั้งปวงให้เรียนดูดาวนักขัตฤกษ์ แลวิเศษดาราแลดาวพระเคราะห์ทั้งปวงทั่วทุกอาราม แล้วให้นิมนต์พระสงฆราชาคณะอธิการทั้งหลาย เข้าไปในวังเวลากลางคืนเนือง ๆ เจ้าอังวะออกถามพระสงฆ์ทั้งปวงให้ชี้บอกดวงดาวราษีนักษัตรแลดาวพระเคราะห์




กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 พ.ย. 17, 14:27
ผมยอมแพ้ครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 พ.ย. 17, 15:55

จากรูปประกอบความเห็นที่ 235

ในสมัยเมืองอมรปุระ พระเถระพระเจ้าอุทุมพรน่าจะห่มจีวรแบบห่มคลุม มากกว่าจะมีผ้าคาดแบบสยามวงศ์นะครับ


เป็นภาพในจินตนาการของนักเขียนการ์ตูนพม่าน่ะครับ อย่าไปซีเรียสอะไรเลย ใครจะไปรู้ได้ในสมัยนั้นพระองค์ท่านจะครองจีวรอย่างไร ก็สันนิษฐาน(แปลว่าเดา)เอาทั้งนั้น

ผมไปเจอรูปนี้ในขณะที่พยายามหาภาพมาประกอบเรื่องให้ท่านดูเพลินๆ ไม่ได้ตั้งใจจะแสดงเป็นหลักฐานว่าพระภิกษุพระเจ้าอุทมพรทรงครองผ้าอย่างนั้น ส่วนที่คุณคนโคราชทักมาก็คงเพียงจะแสดงความเห็นเฉยๆ ไม่ได้ตั้งตนเป็นอธิบดีมาจับผิดผม แล้วพลอยหมดความเชื่อถือในเรื่องที่ผมพยายามนำเสนอไปด้วย
คำให้การของมหาโค มหากฤช ผมอ่านแล้ว ข้อความตามขีดเส้นใต้ก็ผ่านตาแต่ไม่ฝังลงสมอง พออ่านซ้ำจึงนึกออก ก็ขอบคุณครับที่นำหลักฐานมาแสดง

ผมก็ขอฝากที่มาของภาพประกอบ ให้ชมเฉยๆนะครับ ไม่ได้ต้องการต่อความอะไรนอกกรอบของโครงการก่อสร้างอนุสรณ์สถาน พระมหาสมณะเจ้าอุทุมพร แต่หากคุณคนโคราชจะขยายความเพิ่มได้ก็ยินดีที่จะได้รับปันความรู้ครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 10 พ.ย. 17, 16:35

ขอขยายความเพิ่มเติมท่านอาจารย์นวรัตน์นิดเดียวครับ

พระเถระพระเจ้าอุทุมพร เมื่อทรงแรกอุปสมบทนั้นน่าจะห่มจีวรตามแบบสยามนิกาย

ในยุคของพระเจ้าปดุง เมืองอมรปุระ ทรงเปลี่ยนให้พระภิกษุสวมจีวรแบบห่มคลุม
เนื่องจากอนุสรณ์สถานนี้เกี่ยวข้องกับยุคอมรปุระ พระเถระพระเจ้าอุทุมพรจึงน่าจะห่มคลุมจีวรตามประกาศในยุคดังกล่าวด้วย

ภาพประกอบเป็นพระเถระลังกา
องค์ซ้าย ต้นวงศ์สยามนิกาย บวชให้โดย พระอุบาลี ปี ค.ศ. 1753
องค์ขวา ต้นวงศ์อมรปุระนิกาย บวชให้โดย พระสังฆราชพม่า ปี ค.ศ. 1800


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 พ.ย. 17, 17:17
^


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 พ.ย. 17, 17:19
คงจะเป็นแบบที่พระจอมเกล้าฯท่านทรงนำมาให้สงฆ์ธรรมยุติกนิกายห่ม ที่ทรงเรียกว่าแบบมอญ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 10 พ.ย. 17, 21:25
น่าคิดว่าเรื่องนี้ยาวนานหลายปี ผ่านอธิบดีกรมศิลปากรหลายท่าน (และหลายรัฐบาลหลายขั้วการเมือง) แต่ท่าทีของกรมศิลป์ก็ดูเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างน่าสนใจนะครับ

นอกจากนี้ปัญหานี้กลายเป็นปัญหาซับซ้อนเรื่องความสัมพันธ์ระดับชาติ และความขัดแย้งภายในระหว่างกลุ่มชนต่างศาสนาในพม่าเข้าไปอีก เรื่องก็เลยวุ่นวายยืดเยื้อ

แต่ที่ผมแปลกใจที่สุดคือ ในขณะที่มีข่าวออกสื่อให้ฮือฮากันเป็นระยะๆ แต่ในวงวิชาการเรื่องนี้กลับเงียบ เหมือนจะไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร เท่าที่หาได้ (อย่างจำกัด) พบว่ามีความเห็นของนักประวัติศาสตร์แตกต่างกันไป อย่าง อ.พิเศษ เจียจันทร์พงศ์เคยให้ข่าวเมื่อท่านนั่งรักษาการอธิบดีกรมศิลป์เมื่อหลายปีที่แล้ว (ไม่ทราบว่าถึงปัจจุบันท่านจะมีทัศนะต่อเรื่องนี้เปลี่ยนไปหรือไม่อย่างไร) อ.สุเนตร ชุตินธรานนท์ เคยไปออกรายการวิทยุคุยยาวเหยียด (ในเชิงสนับสนุนอย่างมาก หาฟังได้ใน youtube ครับ) และ อ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เคยโพสต์ใน facebook (ทัศนะไม่ชัดเจน แต่ดูเหมือนจะตามข่าวอยู่ไกลมาก ทั้งรายละเอียดและเชิงเวลา) ส่วนนักโบราณคดีที่อยู่วงในโครงการนี้อย่างคุณปฏิพัฒน์ พุ่มพงศ์แพทย์ ถ้าดูจากในคลิปท่านก็ให้ความเห็นว่าไม่สามารถยืนยันถึงขั้นว่านี่คือพระบรมอัฐิของพระเจ้าอุทุมพร

เรื่องนี้ผมว่าถ้ามีการอภิปรายในวงกว้าง เรื่องนี้น่าจะมีความก้าวหน้ามากกว่านี้ จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จะได้ข้อสรุปหรือไม่ได้ผมว่าไม่ใช่สาระสำคัญ และที่สำคัญคือผมไม่เห็นว่ากรมศิลป์จะสามารถชี้ถูกชี้ผิดอะไรในเชิงวิชาการได้ครับ แต่เมื่อความคาดหวังของโครงการนี้คือต้องการบทสรุปอย่างเป็นรูปธรรม (อนุสรณ์สถาน) เลยต้องไปพึ่งท่าทีของทางราชการ กลายเป็นเรื่องปวดใจ น่าเห็นใจคณะทำงานอยู่ครับ

ป.ล. ผมสงสัยเรื่องมาตรฐานการบูรณะโบราณสถาน เพราะโดยความเข้าใจของผม การต่อเติมโดยไม่ทราบรูปแบบเดิมไม่น่าจะทำได้ไม่ใช่หรือครับ หรือว่ามีข้อยกเว้นอย่างไรบ้าง (แต่เรื่องนี้อย่าไปถามกรมศิลป์นะครับ  :-X)


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 พ.ย. 17, 06:16
ก่อนที่ผมจะตอบคุณม้า ก็อยากให้ชมคลิ๊ปนี้สักหน่อย แต่ทั้งเรื่องจะยาวมาก ผมจึงลัดมาให้ดูความเห็นของคุณดำรง ใคร่ครวญ รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศในปี ๒๕๕๕ ที่ท่านไปศึกษาเรื่องนี้ และนำมารายงานให้ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมทราบครับ ประมาณสิบกว่านาที

http://youtu.be/I7pcdSJL_7s?t=487 (http://youtu.be/I7pcdSJL_7s?t=487)



กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 พ.ย. 17, 06:27
และคุณปฏิพัฒน์ พุ่มพงศ์แพทย์

http://youtu.be/I7pcdSJL_7s?t=5438 (http://youtu.be/I7pcdSJL_7s?t=5438)


ถ้าดูจากในคลิปท่านก็ให้ความเห็นว่าไม่สามารถยืนยันถึงขั้นว่านี่คือพระบรมอัฐิของพระเจ้าอุทุมพร เพราะไม่เจอนามบัตรของพระองค์อยู่ในนั้น


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 พ.ย. 17, 07:36
อ้างถึง
ป.ล. ผมสงสัยเรื่องมาตรฐานการบูรณะโบราณสถาน เพราะโดยความเข้าใจของผม การต่อเติมโดยไม่ทราบรูปแบบเดิมไม่น่าจะทำได้ไม่ใช่หรือครับ หรือว่ามีข้อยกเว้นอย่างไรบ้าง (แต่เรื่องนี้อย่าไปถามกรมศิลป์นะครับ)

คำถามนี้สั้น แต่ต้องตอบยาวและจริงจังนะครับ ขอเวลาผมด้วย


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: srinaka ที่ 11 พ.ย. 17, 07:38
คำแปลอีกเวอรชันหนึ่ง

ภาพพระเจ้าอุทุมพร จากเอกสาร ชเวนันเลทง (Shwe nan let thon) ต้นฉบับเก็บรักษาไว้ที่ห้องสมุดอาณานิคมในลอนดอน ภาพนี้จากฉบับที่คัดลอกมาเมื่อพ.ศ. ๒๔๓๗ คำบรรยายใต้ภาพเป็นภาษาพม่า  นายแพทย์ทิน มอง จี” (Tin Maung Kyi) นักวิชาการทางสังคมศาสตร์หลังเกษียณ ผู้มีเชื้อสาย "โยดะยา" (ไทย) แปลจากภาษาพม่าเก่าแบบบรรทัดต่อบรรทัด ความว่า

"ผู้ก่อตั้งที่สามแห่งรัตนปุระ (อังวะ) และพระเจ้าช้างเผือก
ต่อสู้และชนะอโยธยา,
กับกษัตริย์
กษัตริย์ถูกนำตัวมาที่นี่ ในช่วงการครองราชย์ของพระเชษฐาของพระองค์ (กษัตริย์บาดุง)
กษัตริย์ (ไทย) ขณะอยู่ในสมณเพศ, มรณภาพที่อมรปุระ ที่ลินซิน-กอง
สุสาน, พระองค์ถูกบรรจุ/เผาพระศพด้วยสมพระเกียรติในความเป็นเชื้อพระวงศ์
นี่คือภาพของเจ้าฟ้าเอกทัศน์"

บรรทัดสุดท้าย คุณหมอสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นความเข้าใจผิดเรื่องชื่อ เพราะควรเป็นชื่อของเจ้าฟ้าอุทุมพร เนื่องจากในประวัติศาสตร์พม่าและประวัติศาสตร์ไทย กษัตริย์จากกรุงศรีอยุธยาองค์สุดท้ายสวรรคตจากเหตุสงครามที่กรุงศรีอยุธยานั่นเอง

ข้อมูลจากบทความเรื่อง สถูปเจ้าฟ้าอุทุมพร และลูกหลานชาวโยดะยาในพม่า “คุณหมอทิน มอง จี” โดย คุณวลัยลักษณ์ ทรงศิริ (http://lek-prapai.org/home/view.php?id=967) จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉบับที่ ๙๖ ตุลาคม-ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5567.0;attach=39716;image)



ผมไม่กล้าถามท่านเจ้าของกระทู้  ขอถามคุณเพ็ญชมพูผู้ที่สนับสนุนข้อมูลสมุดข่อยแผ่นเดียวนี้ ว่าได้มีการสืบสาวไปที่ต้นตอ ขอตรวจสอบต้นฉบับว่ามีอยู่จริงหรือไม่หรือยัง เราควรทราบความเต็มๆนั้นไหม ยกตัวอย่างเช่นถ้ามีใครไปตัดความจากศิลาจารึกมาส่วนหนึ่ง ท่านจะตีความได้ทะลุปรุโปร่งหรือครับ หรือว่าผมสมองไม่ถึง อ่านกระทู้ไม่ละเอียด กรุณาให้ความรู้ด้วยครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 พ.ย. 17, 08:06
ผมไม่กล้าถามท่านเจ้าของกระทู้  ขอถามคุณเพ็ญชมพูผู้ที่สนับสนุนข้อมูลสมุดข่อยแผ่นเดียวนี้ ว่าได้มีการสืบสาวไปที่ต้นตอ ขอตรวจสอบต้นฉบับว่ามีอยู่จริงหรือไม่หรือยัง เราควรทราบความเต็มๆนั้นไหม ยกตัวอย่างเช่นถ้ามีใครไปตัดความจากศิลาจารึกมาส่วนหนึ่ง ท่านจะตีความได้ทะลุปรุโปร่งหรือครับ หรือว่าผมสมองไม่ถึง อ่านกระทู้ไม่ละเอียด กรุณาให้ความรู้ด้วยครับ

คุณศรีนาคาคงเข้าใจคลาดเคลื่อนเรื่องที่ว่าเป็นผู้สนับสนุนข้อมูลในสมุดข่อยเวอร์ชันข้างบน เป็นเพียงแต่เสนอข้อมูลเท่านั้น

ส่วนเวอร์ชันนี้แปลโดยผู้เชี่ยวชาญภาษาพม่าที่กรมศิลปากรมมอบหมายให้แปล แต่จากต้นฉบับที่ British Commonwealth Library ที่กรุงลอนดอนหรือเปล่าไม่ระบุ   ;D

สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ หรือ พระเจ้าเอกทัศ เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 33 มีใจความว่า ภาพเจ้าฟ้าเอกทัศน์ กษัตริย์โยดะยา ผู้ซึ่งตกอยู่ภายใต้เบื้องพระยุคลบาท สมเด็จพระบรมมหาปัยกาธิบดี สี่น ผยู่ ฉิ่น พระผู้ทรงสถาปนากรุงรัตนปุระเป็นราชธานีนับเป็นครั้งที่ 3 ทรงตีอาณาจักรโยดะยาและสามารถยึดเอาเมืองพร้อมกับกษัตริย์ได้แล้ว ภายหลังเสด็จสวรรคต ขณะอยู่ในผ้าเหลือง ณ เมืองอมรปุระ ในรัชกาลสมเด็จพระบรมมหาปัยกาธิบดี พระอนุชา (ของกษัตริย์พระองค์นั้น) พระผู้ทรงสถาปนากรุงอมรปุระเป็นราชธานี และทรงสงเคราะห์อย่างใหญ่โต ณ สุสานลินซินโกง

ซึ่งถ้าคำแปลนี้ถูกต้อง มีความเห็นดังนี้

ผู้บันทึกได้บันทึกหลังพิธีปลงพระศพหลายสิบปี (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=6834.msg159343#msg159343) จึงอาจมีความคลาดเคลื่อนได้บ้าง ข้อความในบันทึกเป็นได้ ๒ กรณี คือ

๑. บันทึกคลาดเคลื่อนจาก ภาพพระเจ้าอุทุมพร เป็นภาพพระเจ้าเอกทัศน์

๒. เป็นภาพพระเจ้าเอกทัศน์จริง แต่ "กษัตริย์" ที่กล่าวต่อมาว่าสวรรคตในผ้าเหลืองที่อมรปุระควรเป็นพระเจ้าอุทุมพร ไม่ใช่พระเจ้าเอกทัศน์ (นอกจากจะมีหลักฐานว่าพระเจ้าเอกทัศน์สวรรคตที่พม่า)



กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: srinaka ที่ 11 พ.ย. 17, 08:13
ขอบคุณครับ.


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 พ.ย. 17, 08:16
เหตุจากที่คุณ srinaka กล่าวว่าไม่กล้าถามผม ผมจึงขอโอกาสที่จะเป็นผู้ตอบด้วย
ก่อนอื่น ผมต้องขออภัยที่ไม่ทราบไปทำอะไร จึงไปสร้างความรู้สึกให้คุณขนาดนั้น แต่ก่อนจะขยายความต่อไป ขอให้คุณอ่านข้อความที่ผมเขียนไว้แล้ว แต่คุณอาจจะข้ามไปเสียก่อน

อักษรพม่าที่จารึกไว้ แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า
The third founder of Ratanapura  and Lord of the White Elephant, fought and won Ayodaya, together with the King.
The King was brought here. During the reign of his brother , the founder of Amarapura, the King while in monkhood, died at Amarapura. At Linzin-gon cemetery, he was entombed/cremated with great honor entitled to a monarch.
This is the image of Chaofa Ekadath

ถอดความเป็นภาษาไทยอีกที สำนวนตรงไปตรงมาได้ความดังนี้
พระผู้ทรงสถาปนารัตนปุระ(อังวะ) ผู้ทรงเป็นพระเจ้าช้างเผือก(หมายถึงพระเจ้ามังระ) ทรงรบชนะอโยธยาและกษัตริย์
กษัตริย์ได้ถูกนำมาที่นี่   ระหว่างรัชกาลของพระราชอนุชา(หมายถึงพระเจ้าปดุง) กษัตริย์ซึงทรงอยู่ในสมณเพศได้เสด็จสวรรคตในอมรปุระ  ที่ลินซิงกอง พระสรีระของพระองค์ได้รับการถวายพระเพลิงและบรรจุพระสถูปอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติในฐานะทรงเป็นกษัตริย์
นี่เป็นภาพของเจ้าฟ้าเอกทัศน์

ประโยคสุดท้ายนี้อธิบายภาพของบุรุษผู้แต่งกายแบบฆราวาสสวมชฎา ซึ่งมิได้เกี่ยวข้องกับเรื่องที่บรรยายในหน้าเดียวกันโดยตรง อาจจะต้องการประกอบความในหน้าอื่น

เรื่องของเรื่องที่มาที่ไปคือ ในปีพ.ศ.๒๔๒๘  พม่าเสียเอกราชให้แก่อังกฤษในรัชกาลพระเจ้าสีป่อ ทหารอังกฤษได้เข้าปล้นเอาสิ่งของต่างๆในพระราชวังมัณฑะเลย์ รวมถึงทรัพย์สมบัติในท้องพระคลังของราชวงศ์คองบองไปจนหมด  แม้กระทั่งเตวั้งรุปซุงประบุทก็ยังถูกขนไปจากหอพระสมุดที่เรียกว่าวังแก้ว แล้วนำไปเก็บไว้ที่ British Commonwealth Library, London ดังว่า  เตวั้งรุปซุงประบุท หรือ parabike ที่มีข้อความข้างบนนี้ เป็นเอกสารชิ้น ที่ ๙๙  Serial Number หมายเลข  ๒๘๘

สุสานลินซินกอง ที่นักประวัติศาสตร์ไทยรู้จัก แต่ไพล่ไปเรียกว่าสุสานล้านช้างนั้น เพราะคนพม่าเองก็ยังไม่ทราบความหมายที่แท้จริงของชื่อนี้ ซึ่งหากแปลตรงตัวก็มีความหมายว่าหอสูง จึงอาจจะให้ข้อมูลที่ผิดแล้วยังเกิดการเดาซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจผิด  ความจริงนักประวัติศาสตร์พม่าทราบแต่เพียงว่า ในอดีตเป็นสุสานสาหรับชนชันสูงที่เป็นชาวต่างชาติเท่านั้น  

เมื่อความสำคัญของ parabike มีถึงเช่นนี้ หากจะเชื่อข้อมูลฝ่ายพม่าเพียงอย่างเดียวอาจมีปัญหาหากเอกสารดังกล่าวไม่มีอยู่จริง เพื่อความรอบคอบ วิจิตรจึงได้ขอให้คนรู้จักที่อยู่ในลอนดอนช่วยไปติดตามดู และยืนยันกลับมาให้ทราบด้วย

หลังจากใช้ระยะเวลาอันยาวนานและอดทน เนื่องจากในครั้งแรกเจ้าหน้าที่หาเอกสารนั้นไม่พบ สุดท้ายได้คุณเพลิน นักศึกษาที่นั่น สามารถสืบได้ตัวภัณฑารักษ์ซึ่งเป็นคนพม่าชื่อ ซาน ซาน เมย์ ผู้ค้นพบเอกสารนั้นและนำออกมาให้ ดร.ทิน หม่อง จี ดูเมื่อหลายปีที่แล้ว เธอได้กล่าวว่าเอกสารชิ้นนั้นได้ถูกย้ายที่เก็บไปอยู่ห้องอินเดีย และหมายเลขที่ถูกต้องก็คือ OMS/Mss Burmese 199 หน้า 48

คุณเพลินได้พยายามขอให้ ซาน ซาน เมย์ เป็นผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษให้ แต่เธอทำไม่ใด้ เนื่องจากมีระเบียบบังคับอยู่ แต่ได้อ่านที่สำคัญให้ฟังโดยสรุปว่ากษัตริย์ไทยพระองค์นี้ได้มาอยู่เมืองพม่า มีพิธีพระบรมศพที่ยิ่งใหญ่ ที่บรรจุพระบรมศพอยู่ที่ Linzhin Amarapura

เป็นอันว่าหายใจโล่งอกไปได้เปลาะหนึ่ง ในอนาคตหากรัฐบาลไทยให้ความสำคัญและเป็นผู้ติดต่อดำเนินการขอหลักฐานนี้พร้อมคำแปลอย่างเป็นทางการ ก็คงไม่เหลือวิสัย
ข้างล่างคือภาพที่วิจิตรได้รับในครั้งนั้น



กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: srinaka ที่ 11 พ.ย. 17, 08:40
ที่ผมไม่กล้าถาม ก็ด้วยความที่เป็นนักเรียนปลายแถว ตามเลคเชอร์อาจารย์ไม่ค่อยทัน เลยเข้าไปแอบข้างหลังคุณเพ็ญชมพู กระมิดกระเมี้ยนถามเสียงเบาๆ เพราะกลัวอาจารย์ดุ

อ่านที่ท่าน กรุณาเอาของเดิมที่เคยบอกแล้ว แต่ผมเข้าใจไม่แตกเอง ก็ยังอด สงสัยไม่ได้ว่า การโล่งอกบนข้อมูลที่ท่านวิจิตรได้จากการบอกต่อๆกันมา ถ้าหากอาจารย์จะยืนยันว่า นั่นเพียงพอแล้วจะเอาอะไรกันนักกันหนา...ผมก็จะขอไปแอบหลังคุณเพ็ญชมพูต่อ ละครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 พ.ย. 17, 08:46
เมื่อเขียนไปแล้วในครั้งนั้น ผมจึงได้ทราบเพิ่มเติมจากความในจดหมายที่คุณเพลินเขียนมาถึงคุณวิจิตรว่า สมุดข่อยดังกล่าวเป็นเรื่องของเจ้านายต่างเชื้อชาติหลายองค์ที่มาอยู่พม่า ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นกษัตริย์โยเดีย ซึ่งผู้บันทึก(ภายหลังพระองค์สวรรคตแล้วประมาณ ๙๐ ปี) สลับสับสนไปใส่ชื่อว่าพระเจ้าเอกทัศน์ ทั้งๆที่พงศาวดารอื่นๆของพม่าและไทยกล่าวตรงกันว่าพระองค์สวรรคตคราวกรุงแตก

ถ้าฟังคุณดำรง ใคร่ครวญพูดในคลิ๊บ ท่านเชื่อว่าความสำคัญในสมุดข่อย ที่ว่าพระองค์อยู่ในสมณเพศ และได้เสด็จสวรรคตในอมรปุระ  ที่ลินซิงกอง พระสรีระของพระองค์ได้รับการถวายพระเพลิงและบรรจุพระสถูปอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติในฐานะทรงเป็นกษัตริย์ นั้นว่า พม่าคงไม่ได้แต่งขึ้นเองเพื่อบิดเบือนความจริงอะไร เพราะพระเจ้าอุทุมพรไม่ได้มีความสำคัญในเรื่องความสัมพันธ์ของไทยและพม่า(ในเวลาที่บันทึก)ถึงขนาดจะต้องไปแต่งเรื่องขึ้น

ส่วนอีกประเด็นหนึ่งที่ผมสนใจ คำแปลนี้มักจะใส่ชื่อสถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพว่า ลินซิงกอง(หรืออะไรที่สำเนียงคล้ายกัน) แต่เอกสารพม่าที่เป็นภาษาอังกฤษหลายฉบับจะพบว่าเขียนแค่ Linzhin ตรงกับที่คุณเพลินขอให้เจ้าหน้าที่ห้องสมุดคนพม่าแปลให้

คำว่าลินซินเฉยๆนั้นแปลว่าหอสูง ที่สูง หรือเนิน หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของพม่าจะเรียกสถานที่นั้นว่า Linzin hill บ้าง Linzin hillock บ้าง ซึ่งคำหลังนี้แปลว่าเนิน น่าจะเหมาะกว่าคำแรกที่แปลว่าภูเขา
ลินซินในสมุดข่อยจึงหมายถึงเนิน มากกว่าจะหมายถึงสุสาน(จากคำว่ากอง)  ที่มาเรียกกันที่หลังตามสภาพที่มันกลายไปหลังราชอาณาจักรพม่าล่มสลาย


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 พ.ย. 17, 08:50

อ่านที่ท่าน กรุณาเอาของเดิมที่เคยบอกแล้ว แต่ผมเข้าใจไม่แตกเอง ก็ยังอด สงสัยไม่ได้ว่า การโล่งอกบนข้อมูลที่ท่านวิจิตรได้จากการบอกต่อๆกันมา ถ้าหากอาจารย์จะยืนยันว่า นั่นเพียงพอแล้วจะเอาอะไรกันนักกันหนา...ผมก็จะขอไปแอบหลังคุณเพ็ญชมพูต่อ ละครับ

ไม่เลยครับ คุณวิจิตรไม่ได้เชื่อข้อมูลที่(พม่า)บอกต่อๆกันมา ท่านขอให้คนรู้จักกันที่ลอนดอนช่วยสอบให้ ล้มเหลวก็หลายคน สุดท้ายคุณเพลินเป็นผู้เจอแล้วรายงานกลับมา จึงมั่นใจว่าเอกสารนั้นมีจริง ถ้อยคำก็เป็นไปตามนั้น
คุณดำรง ในคลิ๊บก็กล่าวว่าท่านสั่งการให้สถานทูตไทยที่นั่น ไปตรวจสอบแล้ว รายงานมากระทรวงข้อมูลถูกต้องตรงกัน

น่าเสียดายที่คุณดำรงต้องย้ายไปเป็นออท.ประจำมาเลเซีย ข้าราชการในกระทรวงสลับตำแหน่งกันหมด ผู้ที่มาใหม่ไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้ เรื่องก็เป็นอันถูกเก็บเข้าลิ้นชักตามระบบอันดีของราชการ ท่านยังได้แสดงความเสียใจกับคุณวิจิตรว่าท่านได้ช่วยอะไรต่อไม่ได้


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 พ.ย. 17, 09:34

ป.ล. ผมสงสัยเรื่องมาตรฐานการบูรณะโบราณสถาน เพราะโดยความเข้าใจของผม การต่อเติมโดยไม่ทราบรูปแบบเดิมไม่น่าจะทำได้ไม่ใช่หรือครับ หรือว่ามีข้อยกเว้นอย่างไรบ้าง (แต่เรื่องนี้อย่าไปถามกรมศิลป์นะครับ  :-X)

ผมเคยกล่าวเรื่องนี้ไว้แล้วตามนี้
สำหรับหลักการคร่าวๆของการบูรณะโบราณสถานก็คือ หนึ่ง จะใช้ preservation หรือสงวนรักษาสิ่งที่พบไว้ในลักษณะเดิมทุกประการ หรือจะใช้ สอง  conservation หรืออนุรักษ์โดยให้ความเคารพต่อส่วนสำคัญของโบราณที่ปรากฏอยู่  แล้วปฏิสังขรณ์ส่วนที่พังสูญหายมลายทรากไปแล้ว ให้กลับมาใช้งานได้ใหม่   ซึ่งสุดท้าย รัฐบาลพม่าเป็นผู้ตัดสินใจแต่ฝ่ายเดียวในการเลือกการอนุรักษ์ (ซึ่งตรงกับแนวคิดของคณะทำงาน)

วิธีการอนุรักษ์ก็คือ ทำการบันทึกทั้งภาพถ่ายและภาพเขียน ก่อนจะรื้ออิฐโบราณออกมาคัดเกรด เลือกไว้ที่จะนำกลับไปก่อใหม่โดยกรรมวิธีเดิม แต่อาจเปลี่ยนปูนก่อเป็นสมัยใหม่เพื่อความทนทานในอนาคต  ส่วนใดของโบราณสถานเคยมีปูนฉาบผิวอยู่ ก็ซ่อมเข้าไปใหม่ตามสภาพเดิม ในส่วนที่ไม่มีหลักฐานเดิมเหลืออยู่เลย ก็ต้องใช้วิธีการสันนิษฐาน โดยนำโบราณสถานชนิดเดียวกัน ในยุคเดียวกันมาเปรียบเทียบ แล้วกำหนดแบบ ก่อสร้างเสร็จแล้วให้คนยุคหลังรู้ชัดๆว่าส่วนใดเป็นการก่อสร้างสมัยไหน  
 

ภาพที่นำมาให้ดูนี้คือตัวอย่างในหลายประเทศ ที่เขาอนุรักษ์โดยการบูรณะปฏิสังขรณ์อาคารโบราณ ที่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ก็ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ ให้กลับมาใช้ได้ใหม่ โดยถึงแม้จะทราบรูปแบบเดิมแต่ก็ยังไม่ทำอย่างนั้นเปี๊ยบ และได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างได้ตามกฏหมาย  
หลายหลังยังหลังได้รับรางวัลด้วย


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 พ.ย. 17, 09:38
ตัวอย่างนี้เป์นอาคารใช้งานทางด้านศาสนา


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: srinaka ที่ 11 พ.ย. 17, 10:30

ผมขอเรียนถามอาจารย์อีกข้อครับ

ตามสมุดข่อยพม่า ได้กล่าวถึงเจ้าฟ้าเอกทัศน์ (ซึ่งพระองค์มีบทบาทในการต่อสู้ ในขณะที่ท่านมหาสมณะมิได้มีบทบาทใดๆเลย) แม้ไทยเราจะมีบันทึกว่าพระศพเจ้าฟ้าเอกทัศน์ถูกฝังไว้ที่โคกพระเมรุ ตรงหน้าพระวิหารพระมงคลบพิตร อยุธยา

แต่ถ้าจะยึดความตามสมุดข่อยพม่า จะตีความว่าพระเจ้าเอกทัศน์ ได้ไปสวรรคตที่พม่า ไม่ได้หรือครับ 


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 พ.ย. 17, 10:40
ไม่ได้ครับ เพราะพงศาวดารพม่าอื่นๆ ได้กล่าวถึงการสวรรคต ว่าทหารพม่าพบพระบรมศพในบริเวณพระมหาราชวัง และนำมาถวายพระเพลิงที่หน้าวัดพระศรีสรรเพชญ์ไว้ชัดเจน สอดคล้องกับพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาของไทย ซึ่งยืนยันถึงการสรรคตของพระองค์ แม้จะกล่าวอย่างรวบรัดก็ตาม


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: srinaka ที่ 11 พ.ย. 17, 21:03
ขอบคุณครับท่านอาจารย์ ที่กรุณาตอบ
แม้จะยังมีอีกหลายแง่มุมที่ต้องค้นหาความจริงต่อไป...


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 พ.ย. 17, 06:39
สงสัยมุมไหน ขอให้ถาม อย่าเก็บไว้ในใจนะครับ

ไม่ต้องเกร็งเรื่องเห็นต่าง ในเรื่องประวัติศาสตร์และโบราณคดีความเห็นต่างเกิดขึ้นได้เสมอ  ขนาดศิลาจารึกหลักที่ ๑ ซึ่งถูกนำมาเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ว่ากรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของชาติไทย วันทีคืนดียังมีผู้ออกมาเสนอความเห็นใหม่ว่า พ่อขุนรามคำแหงไม่ได้ทำ คนทำคือพระจอมเกล้า สื่อสนใจเสนอข้อมูลทั้งฝ่ายเห็นด้วยไม่เห็นด้วยอยู่หลายปีจึงจะสงบ แต่คนเชื่อไม่เชื่อจะเปลี่ยนทัศนะคติอย่างไรหรือไม่ ก็ไม่มีใครทราบ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 พ.ย. 17, 09:34
ตอบคุณม้าต่อครับ

สำหรับเรื่องแบบของอนุสรณ์สถานพระเจ้าอุทุมพรนี้ ผมต้องขอให้คุณวิจิตร ชินาลัยช่วยชี้แจง  แต่เนื่องจากพี่ท่านไม่ถนัดงานพิมพ์  จึงขอเล่าให้ฟังโดยให้ผมเป็นผู้ถ่ายทอดมาลงกระทู้อีกที่หนึ่ง

คุณวิจิตรกล่าวว่า เรื่องกฏเกณฑ์ของงานอนุรักษ์นั้น   มีหลักสากลที่ยูเนสโกเป็นผู้กำหนดและพยายามให้ทุกประเทศปฏิบัติตาม โดยมีกองทุนมรดกโลกมาเป็นเครื่องล่อ  แต่ประเทศในเอเซียที่มีวัฒนธรรมของตนเองสืบเนื่องมานับพันปีแล้ว ไม่ค่อยให้ความสนใจ นอกจากที่อยากได้เงินของเขามาพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวหาเงินเข้าประเทศอีกที  ส่วนพม่า เขามีโบราณสถานเป็นพันเป็นหมื่นแห่งที่ยังเป็นโบราณสถานที่ยังมีชีวิต ( Living Monument)  มีประชาชนเข้าไปกราบไหว้ทำพิธีกรรมทางศาสนาอยู่ ฝรั่งจะมากำหนดให้เขาทำอย่างโน้นอย่างนี้  หลายอย่างเช่นห้ามจุดธูป ต้องเปิดปิดเป็นเวลา ห้ามเข้าในเวลากลางคืน ทำเหมือนเป็นพิพิธภัณฑ์ เขาไม่เห็นด้วย แล้วเรื่องที่จะปล่อยให้วัดที่เขายังเข้าไปกราบไหว้เป็นทรากอิฐ ถ้าเขามีเงินมีทอง เขาจะไม่ยอมให้เป็นเช่นนั้นเลย

ของฝรั่งก็เช่นกัน  ถ้าเป็นอาคารทางศาสนาแล้วเขาก็ไม่ยอมถูกบังคับ  แต่ละศาสนาและนิกาย เขาจะมีข้อกำหนดกฏเกณฑ์ของเขาเอง

เมื่อเราทำแบบร่างพอเป็นแนวทางจะให้คณะกรรมการร่วมพม่า-ไทย พิจารณาครั้งแรก ก็เขียนแนวทางไปให้ดูกันหลายแบบ  ทั้งแบบการสงวนรักษาสภาพไว้เช่นเดิม คือทิ้งอิฐไว้แดงๆเลย  กับแบบที่ซ่อมแซมส่วนที่ผุพัง พระสถูปที่เอนก็ดีดขึ้นให้ตรง
กับแนวทางที่บูรณะให้สมบูรณ์ แต่แสดงให้เห็นอย่างขัดเจนว่าส่วนใดเป็นของเก่าดั้งเดิม ส่วนใดเป็นของใหม่   ส่วนที่เป็นของใหม่ก็ยังมีหลายทางเลือก ทั้งแบบไทย และแบบพม่า ซึ่งได้จากการวิจัยสถูปร่วมสมัยในเมืองอมรปุระ  เมื่อปรากฏว่าภาครัฐของไทยไม่สนใจที่จะเข้าร่วมด้วย  ทางฝ่ายพม่าก็เป็นผู้ตัดสินใจ

ประเทศเมียนมาร์นั้นมีทรากโบราณสถานเยอะมากเสียจนซ่อมไม่หวาดไม่ไหว  อันไหนสำคัญเขาก็ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานไว้  อะไรไม่สำคัญก็ปล่อยไป กฏหมายไทยก็เช่นกัน ที่ว่าอะไรทำได้ไม่ได้นั้น ก็บังคับเฉพาะอาคารเก่าทรงคุณค่าที่กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้วเท่านั้น  ที่ไม่ขึ้น เจ้าของที่ดินที่อาคารเก่านั้นตั้งอยู่ก็สามารถจะทำอะไรกับทรัพย์สินของตัวก็ได้  แม้กระทั่งรื้อทิ้ง  สุสานลินซินกองไม่ใช่โบราณสถานที่กรมโบราณคดีพม่าขึ้นทะเบียนไว้แล้ว  จึงจะทำอะไรก็ได้แม้กระทั่งไถทิ้ง ดังเช่นที่เกือบจะทำไปแล้ว


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 พ.ย. 17, 09:37
สถูปเจดีย์เก่าแก่โบราณ  ขนาดไม่ได้นับพวกสถูปบรรจุอัฐิพระสงฆ์รวมเข้าไปด้วย  เอาเฉพาะพระพุทธเจดีย์ก็มีมากมายมหาศาลไม่รู้กี่พันแห่งที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน  ส่วนใหญ่ก็ถูกพวกอังกฤษเจาะทำลายเอาสมบัติไปหมด เสร็จแล้วถูกปล่อยทิ้งให้พังทลายไปเองตามธรรมชาติ  แต่เมื่อใดหากมีญาติโยมประสงค์จะบูรณะพุทธเจดีย์นั้นขึ้น  กฏหมายของเขาระบุชัดเจนว่าจะทำครึ่งๆกลางๆไม่ได้  ต้องบรรจุพระบรมสารีริกธาตุลงบนส่วนคอฆอระฆัง และต้องทำให้จบยอดเจดีย์ด้วย  ซึ่งเมื่อทำเช่นนั้นแล้ว กฏหมายจะให้ความคุ้มครองทันที ใครจะรื้อทำลายไม่ได้อีกต่อไป

ดังนั้นถ้าตั้งใจจะสถาปนาพระพุทธเจดีย์ขึ้นมาใหม่ดังเดิม แนวทางสงวนรักษาสภาพตามที่เห็นก็ตกไป  และจะต้องอนุรักษ์ตามแนวทางที่ผมอธิบายหลักการไปแล้วในคคห.ที่ ๒๖๓  ส่วนองค์สถูปที่จะทำขึ้นใหม่ในยุคนี้นั้น  แบบที่ฝ่ายไทยนำเสนอเข้าไปพิจาณา ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายพม่ามีความเห็นว่าก็ยังไม่ตรงกับแบบในสมัยของพระเจ้าปะดุง ฝ่ายเราก็ดีใจที่เขาจะเป็นผู้รับผิดชอบตรงนี้  ซึ่งเขาชำนาญในเรื่องข้อกำหนดกฏเกณฑ์ของพม่า (คคห.๒๓๒) มากกว่า  ที่ดีอีกข้อนึงก็คือ หากเสร็จแล้วใครไม่ต้องใจ อยากจะด่าจะได้เชิญไปด่าฝ่ายพม่าคนออกแบบโน่นเลย

แต่ขอบอกก่อนนะครับ ผู้ออกแบบคืออูวินหม่อง  คนนี้เป็นสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการยอมรับนับถืออันดับหนึ่งของพม่า  มีผลงานเต็มไปหมดทั้งในพม่าและต่างประเทศ  ที่ไหนมีงานด้านอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมของพม่า ถ้าขอร้องมาที่รัฐบาลพม่าๆก็จะส่งคนนี้ไป  คราวที่วัดศรีชุม เมืองลำปาง ไฟไหม้เมื่อปี ๒๕๓๕  แบบเดิมเป็นอย่างไรก็ไม่มี มีแต่ภาพถ่ายข้างล่างแผ่นเดียวนี่แหละ กรมศิลปากรก็ขาดความรู้เรื่องศิลปกรรมพม่าที่ต้องใช้ในองค์ประกอบของอาคาร จึงได้ขอให้รัฐบาลพม่าช่วย เขาก็ส่งอูวินหม่องคนนี้แหละมาอยู่ถึง ๓ เดือน กลับไปแล้วก็เขียนแบบส่งกลับมา จนกระทั่งสร้างใหม่ได้อย่างสวยงามดังที่คนทุกวันนี้เห็น


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 พ.ย. 17, 09:41
ตอนที่อธิบดีกรมศิลปากรไปที่ลินซินกอง อูวินหม่องจึงอุส่าห์มารับรองจะอธิบายข้อสงสัย  คนในคณะที่รู้จักเขาก็มี แต่ไม่เห็นสนใจจะซักถามอะไร กลัวจะเสียเวลาไปเที่ยวต่อตามรายการทัวร์

สำหรับองค์พุทธเจดีย์ที่เห็นตามภาพถ่ายนั้นแหละ เขาออกแบบ อูวินหม่องกล่าวว่าสถูปเจดีย์ในสมัยพระเจ้าปะดุงได้รับอิทธิพลของโยเดียมาพอสมควร  งานที่เขาออกแบบนั้น ศึกษาจากฐานที่เหลืออยู่จะบ่งบอกถึงลักษณะและสัดส่วนจากสถูปร่วมสมัย  แต่รายละเดียดนั้น เขาได้นำศิลปะที่ดูแล้วเป็นพม่าก็ไม่ใช่ ไทยก็ไม่เชิง  พวกพม่าเชื้อสายโยเดียชอบมาก  Everybody’s happy.


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 12 พ.ย. 17, 16:02
ขอบพระคุณมากครับ คำอธิบายละเอียดชัดเจนมากครับ น่าจะเป็นประโยชน์กับใครที่ผ่านมาและข้องใจอย่างผมครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 พ.ย. 17, 16:21
น่าคิดว่าเรื่องนี้ยาวนานหลายปี ผ่านอธิบดีกรมศิลปากรหลายท่าน (และหลายรัฐบาลหลายขั้วการเมือง) แต่ท่าทีของกรมศิลป์ก็ดูเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างน่าสนใจนะครับ

ผมอยากจะแสดงความเห็นอะไรต่อในเรื่องนี้บ้าง แต่ดูจะกลายเป็นตีแผ่อคติในใจผมที่มีต่อคณะของกรมศิลปากรที่เกี่ยวข้องไปเสียหมด แต่แล้วก็ได้รับสำเนานี้มา เป็นบทความในหนังสือของ ดร.วรพัฒน์ อรรถยุกติ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ ผู้เดินทางไปร่วมกับคณะของรองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ นายดำรง ใคร่ครวญ เพื่อพบปะสนทนากับผู้ว่าการรัฐมัณฑเลย์ เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๕ ท่านเขียนเล่าเรื่องราวต่างๆที่ได้ลงพื้นที่ร่วมกับข้าราชการกระทรวงต่างประเทศและกรมศิลปากร รวมแล้วหลายหน้ากระดาษ ผมคงไม่นำมาเสนอซ้ำซาก แต่อยากให้อ่านในตอนสุดท้ายที่กล่าวถึงความเห็นของข้าราชการกรมศิลปากรโดยสรุป

นั่นละครับ ตามนั้นเลย
และเป็นเรื่องที่น่าคิดต่อไป ว่าถึงพ.ศ.นี้แล้ว หลักฐานต่างๆผุดงอกออกมามากมาย คนรุ่นใหม่ในกรมศิลป์ได้เปลี่ยนทัศนะคติไปบ้างหรือยัง


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 พ.ย. 17, 10:30
http://lek-prapai.org/home/view.php?id=967
สถูปเจ้าฟ้าอุทุมพร และลูกหลานชาวโยดะยาในพม่า “คุณหมอทิน มอง จี”
บทความโดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ

ตัดตอนมาให้อ่านตอนหนึ่งค่ะ
สำหรับสถูปทรงดังกล่าวนี้ อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดมแนะนำให้ไปเปรียบเทียบกับสถูปรูปยอดบัวที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก อันเป็นที่บรรจุอัฐิธาตุของพระครูหลวงโพนสะเม็กหรือ “ยาคูขี้หอม” ที่วัดธาตุฝุ่น เมืองจำปาสัก ทางเขตลาวตอนใต้

ลักษณะสถูปที่บรรจุอัฐิธาตุของพระสงฆ์ผู้ใหญ่ของคนสองฝั่งโขงมีรูปแบบแทบจะเหมือนทั้งหมดหรือคล้ายคลึงจนกล่าวได้ว่า น่าจะมีวิธีคิดและความตกผลึกในทางวัฒนธรรมจากแหล่งที่มาที่ใกล้เคียงหรือในกลุ่มเดียวกัน

การใช้สถูปที่บรรจุอัฐิธาตุของบรรพบุรุษเป็นรูปยอดบัวและตัวเรือนเป็นเสารูปกลมหรือสี่เหลี่ยม ไม่ใช่เป็นเรื่องประหลาดแต่อย่างใดในสังคมการปลงศพและบูชาบรรพบุรุษหรือผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้วในสังคมไต-ลาว ที่นับถือพุทธศาสนา ดังที่พบสถูปบรรจุอัฐิของพระสงฆ์ผู้ใหญ่ของชุมชนในวัดทางอีสานหลายแห่ง เช่น ที่วัดเก่าแก่แบบคนลาวบ้านลุมพุก อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีษะเกษซึ่งอยู่ในกลุ่มคนเชื้อสายเขมรเป็นส่วนใหญ่ ก็มีการสร้างสถูปบรรจุอัฐิธาตุของพระผู้ใหญ่ของชุมชนแบบดั้งเดิม และรูปแบบสถูปเป็นแบบคู่สองแห่ง รูปแบบเช่นนี้พบคล้ายคลึงกับการทำสถูปคู่ทำจากหินทรายที่เชิงเขาทางฝั่งไทยก่อนทางขึ้นปราสาทพระวิหารเช่นกัน

“การเข้าบัว” เป็นประเพณีบูชาบรรพบุรุษที่สำคัญอย่างหนึ่งทางภาคใต้ “บัว” คือสถูปที่บรรจุกระดูกของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วในตระกูลต่างๆ การใช้สัญลักษณเป็นรูปดอกบัวในการบรรจุอัฐิธาตุไว้สำหรับบูชานั้นจึงเป็นพื้นฐานของสังคมทางพุทธศาสนาแบบไต-ลาว ที่รวมไปถึงวัฒนธรรมการบูชาบรรพบุรุษของผู้นับถือพุทธศาสนาทางคาบสมุทร รูปแบบสถูปบรรจุอัฐิเช่นนี้คงไม่พบในสังคมการปลงศพแบบพม่าหรือทางมอญ จึงถูกกล่าวว่า รูปแบบของสถูปที่ค้นพบไม่เหมือนกับสถูปหรือเจดีย์อื่นใดในกลุ่มเมืองเก่า เช่น สะกาย อังวะ อมรปุระ หรือมัณฑะเลย์ 


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 พ.ย. 17, 11:12
ผลการพิสูจน์ทางโบราณคดีของอาจารย์ปฏิพัฒน์ พุ่มพวงแพทย์ของสถูปทรงโกศที่มียอดบัวดังกล่าว ปรากฏว่าเป็นเสา เพราะข้างในตัน ไม่ใช่ที่บรรจุอัฐิ นักวิชาการพม่าให้ความเห็นว่านั่นเป็นเครื่องหมายของตำแหน่งที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพ ซึ่งอาจารย์ปฏิพัฒน์กล่าวสนับสนุนความเชื่อดังกล่าวในคลิป คคห. ๒๕๔ ว่า เสายอดบัวนี้พบมากในวัดโคกพระเมรุ สถานที่สำเร็จโทษเจ้านายสมัยกรุงศรีอยุธยา แสดงสัญญลักาณ์เครื่องหมายที่ฝังพระศพเจ้านายเหล่านั้น


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 พ.ย. 17, 11:22
เมื่อวันที่ 31 ต.ค. นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวภายหลังการประชุมหารือกับนักวิชาการเรื่องการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อยุติเกี่ยวกับสถูปสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า ซึ่งเชื่อว่าบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร (ขุนหลวงหาวัด) พระมหากษัตริย์ในยุคเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 ซึ่งพระองค์ถูกควบคุมไปยังพม่าและสิ้นพระชนม์ที่เมืองมัณฑะเลย์ ว่า ที่ประชุมหารือกับนักวิชาการที่เคยศึกษาเรื่องดังกล่าว อาทิ นายพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ นายสุเนตร ชุติธรานนท์ หม่อมราชวงศ์รุจยา อาภากร และสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งได้ศึกษาเรื่องนี้มานานกว่า 9 ปี

ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นตรงกันยังไม่มีหลักฐานและเอกสารยืนยันชัดเจน จึงมีความเห็นเป็น 2 แนวทาง ได้แก่ 1.กรณียังไม่มีเอกสารยืนยันชัดเจนนั้นว่าเป็นของสถูปสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จึงเห็นตรงกันว่าให้กรมศิลปากรรวบรวมเอกสารทั้งหมดของนักวิชาการที่เคยศึกษามาแล้ว ที่สำคัญให้ไปศึกษาข้อมูลจากห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ในประเทศอังกฤษด้วย เพราะเคยมาปกครองพม่า เนื่องจากอาจจะมีหลักฐานและข้อมูลบ่งชี้เกี่ยวกับสถูปดังกล่าวบ้าง

อ่านข่าวต่อได้ที่: https://www.thairath.co.th/content/302759


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 พ.ย. 17, 11:39
กว่าที่กระทรวงวัฒนธรรมจะได้จัดประชุมขึ้นตามที่ได้แถลงข่าวไว้ก็เป็นเวลาอีกสามสัปดาห์ โดยนายสมชาย เสียงหลายปลัดกระทรวงเองได้นั่งเป็นประธานการประชุมนี้เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๕   และเชิญนายวิจิตร ชินาลัย ในฐานะตัวแทนของสมาคมสถาปนิกสยามเข้าร่วมด้วย เพื่อขอทราบรายละเอียดในงานที่ได้ทำไปแล้ว

ปัญหาหลักที่ฝ่ายพม่าต้องการให้รัฐบาลไทยเข้าไปดำเนินการในเรื่องนี้ต่ออย่างรวดเร็วนั้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยสนองต่อได้ยาก เพราะกว่าจะของบประมาณและผ่านการอนุมัติก็ต้องใช้เวลาสองปีเข้าไปแล้ว กว่าจะใช้งบได้จริงๆก็คงอีกร่วมปี ในขณะที่ผู้แทนสมาคมสถาปนิกสยามกล่าวว่าไม่มีปัญหาทางด้านการงานและเงิน ไม่ว่าโครงการนี้จะต้องใช้อีกเท่าไร เมื่อใด ที่ประชุมจึงเป็นพ้องว่าควรจะบูรณาการความร่วมมือระหว่าภาครัฐกับเอกชน อันได้แก่กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงต่างประเทศ และ สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยกำหนดบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศที่จะเป็นผู้ประสานกับรัฐบาลพม่า ตลอดจนอำนวยความสะดวกแก่คณะผู้แทนฝ่ายไทย อันมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านโบราณคดี(จากกรมศิลปากร) และผู้แทนของสมาคมสถาปนิกสยาม  ในฐานะผู้ดำเนินการสำรวจและขุดค้นเพื่อหาหลักฐานอันจะเป็นประโยชน์ต่อไป

ความคิดเห็นที่ ๓๓

^ ข้างบนของท่านอาจารย์เป็นเรื่องเก่าตั้งแต่ ปลายปี ๒๕๕๕ นะครับ ซึ่งที่ปลัดว่าจะทำอะไรนั้น เอาเข้าจริงถึงบัดนี้ยังไม่ได้ทำ

อนึ่งการย้ายสถูปคงทำไม่ได้ ที่สมาคมสถาปนิกตั้งใจจะทำแต่แรกก็คือ ขอขุดหาหลักฐานภายในพระสถูป(ที่กำลังจะถูกไถทิ้ง) ถ้าเจอสิ่งของภายใน ก็จะนำไปบรรจุในสถูปองค์ใหม่ ที่จะสร้างขึ้นในวัดที่อยู่ใกล้เคียง และได้รับความเห็นชอบจากเจ้าอาวาสแล้ว


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 พ.ย. 17, 13:22
ที่ยกมา ไม่ได้ตั้งใจจะให้เห็นว่าเก่าหรือใหม่ค่ะ   แต่จะยกมาให้ท่านที่อาจสงสัยว่าทำไมวงวิชาการถึงเงียบนักในเรื่องนี้   ก็เลยยกมาให้ดูว่า นักวิชาการที่เชี่ยวชาญทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ เข้าประชุมในระดับกระทรวง  (คือสูงกว่ากรม) รับรู้เรื่องนี้กันทั้งนั้น
แต่หลักฐานที่หาได้ ยังคลุมเครือ  ไม่ชัดเจนพอจะฟันธงลงไปได้ว่าเป็นสถูปของพระเจ้าอุทุมพรจริง
ตอนนี้ดิฉันก็พยายามหาว่ามีหลักฐานอะไรเพิ่มเติมขึ้นอีกไหม   ก็ยังไม่เจอว่ามีการค้นพบอะไรใหม่ๆ ที่ชัดเจนขึ้น 


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 พ.ย. 17, 13:51

เอาเป็นหลักฐานของพม่า ที่เขาแสดงมาความรู้เรื่องคนโยเดียในบ้านเขาให้เราฟัง ตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ ๒๕๕๗ ยังไม่สนใจจะไปขอตรวจหลักฐานอะไรเขา แต่รอให้ค้นพบอะไรใหม่ในบ้านเรานั้น เห็นจะเหวงเต็มทน ยิ่งเดี๋ยวนี้คนพวกนั้นเกษียณ หรือเปลี่ยนตำแหน่งไปหมดแล้ว หมดคนสนใจจะสานต่อตามวัฒนธรรมของข้าราชการไทย ถ้าไม่มีผู้ใหญ่จริงๆจี้ลงมา

ตอนนี้ฝ่ายรัฐของไทยจะฟันธงอย่างไร คงไม่มีใครสนใจแล้ว เพราะอย่างไรก็ตาม โบราณสถานตรงนั้นก็ได้รับการคุ่มครองจากกฏหมาย ไม่มีใครจะสามารถทำลายได้อีก ส่วนอนุสรณ์สถานพระมหาเถระเจ้าอุทุมพรก็เสร็จไปกว่าแปดสิบเปอร์เซนต์ รอเวลาที่จะได้กลับไปทำ finishing touch เท่านั้น


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 พ.ย. 17, 13:52
 เพิ่งพูดโทรศัพท์กับดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์มาเมื่อกี้นี้เอง
ท่านก็ติดตามและสนใจเรื่องสถูปพระเจ้าอุทุมพรอยู่นะคะ    แต่เรื่องยังค้างเติ่งอยู่จนบัดนี้ ก็เพราะหลักฐานที่ค้นพบได้ ไม่เพียงพอที่จะชี้ลงไปได้ว่าเป็นสถูปที่บรรจุพระอัฐิของพระเจ้าอุทุมพร
นอกจากภาชนะประดับกระจกสีเขียว บรรจุอัฐิแล้ว   ไม่มีหลักฐานที่ระบุได้ว่าเจ้าของอัฐินั้นเป็นใคร  ไม่พบข้าวของเครื่องใช้ หรือหลักฐานอะไรอย่างอื่นบ่งชี้     ดังนั้น เจ้าของอัฐิอาจจะเป็นบุคคลสำคัญ ในเพศฆราวาส หรือบรรพชิต ท่านใดท่านหนึ่งของพม่า หรือเป็นคนชาติอื่นไม่ใช่พม่า แต่มีความสำคัญทางใดทางหนึ่งอยู่ในถิ่นนั้น   ก็เป็นได้ทั้งสิ้น
ก็มีแต่คำบอกเล่าของชาวบ้านต่อๆกันมา   ซึ่งยังต้องอาศัยหลักฐานประกอบทางอื่นเพิ่มด้วย  มีหลายๆหลักฐานมายันกันชัดเจนลงไปถึงจะบอกได้ค่ะ



กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 พ.ย. 17, 14:00
ก็ตามนั้นแหละครับ อาจารย์ปฏิพัฒน์คนขุดเองยังบอกทำนองว่าหลักฐานแวดล้อมเพียบ แต่ไม่พบนามบัตรของท่าน ใส่ไว้ว่า ชื่อว่าอุทุมพร


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 พ.ย. 17, 14:05
เพิ่งพูดโทรศัพท์กับดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์มาเมื่อกี้นี้เอง
ท่านก็ติดตามและสนใจเรื่องสถูปพระเจ้าอุทุมพรอยู่นะคะ    แต่เรื่องยังค้างเติ่งอยู่จนบัดนี้ ก็เพราะหลักฐานที่ค้นพบได้ ไม่เพียงพอที่จะชี้ลงไปได้ว่าเป็นสถูปที่บรรจุพระอัฐิของพระเจ้าอุทุมพร
นอกจากภาชนะประดับกระจกสีเขียว บรรจุอัฐิแล้ว   ไม่มีหลักฐานที่ระบุได้ว่าเจ้าของอัฐินั้นเป็นใคร  ไม่พบข้าวของเครื่องใช้ หรือหลักฐานอะไรอย่างอื่นบ่งชี้     ดังนั้น เจ้าของอัฐิอาจจะเป็นบุคคลสำคัญ ในเพศฆราวาส หรือบรรพชิต ท่านใดท่านหนึ่งของพม่า หรือเป็นคนชาติอื่นไม่ใช่พม่า แต่มีความสำคัญทางใดทางหนึ่งอยู่ในถิ่นนั้น   ก็เป็นได้ทั้งสิ้น
ก็มีแต่คำบอกเล่าของชาวบ้านต่อๆกันมา   ซึ่งยังต้องอาศัยหลักฐานประกอบทางอื่นเพิ่มด้วย  มีหลายๆหลักฐานมายันกันชัดเจนลงไปถึงจะบอกได้ค่ะ



ดังนั้น เจ้าของอัฐิอาจจะเป็นบุคคลสำคัญ ในเพศฆราวาส หรือบรรพชิต ท่านใดท่านหนึ่งของพม่า หรือเป็นคนชาติอื่นไม่ใช่พม่า  ตัดคำว่าเพศฆราวาสออกได้เลย เพราะอัฐิเจอในบาตร เหลือแต่ว่าเป็นพระ ซึ่งต้องเป็นพระที่มีสมณศักดิ์สูงด้วย พระพม่าทรงสมณศักดิ์ในรัชกาลนั้น จดหมายเหตุของพม่าจดชื่อไว้น่าจะทุกองค์ แต่มีองค์เดียวที่มีหลักฐานชัดเจนว่าได้รับพระราขทานเพลิงพระศพอย่างสมพระเกียรติที่เนินลินซิน คือ(อดีต)กษัตริย์โยเดีย


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 พ.ย. 17, 14:17
บาตร(สำหรับใส่อั)ฐิ พระระดับรองสังฆนายกร่วมสมัย ทั้งหมดเป็นดินเผาลงรักลวดลายประดับกระจก เปรียบเทียบกับที่ขุดพบ (ขาดฝาบาตรยอดบัวตูมและพานแว่นฟ้า เป็นไม้ประดับกระจกซึ่งผุไปหมดแล้ว เหลือแต่กระจกเขียนลายกินรี)


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 พ.ย. 17, 14:18
ภาชนะที่ขุดพบ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 พ.ย. 17, 14:35
หลักฐานแวดล้อมทั้งโบราณคดีและประวัติศาสตร์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญของชาติพม่าเชื่อหมดว่าใช่ เสียดายก็แต่นักวิชาการไทยที่ไม่เชียวชาญจริงเรื่องพม่า(เมื่อเทียบกับเขา) ถ้าข้องใจประเด็นใดในทางประวัติศาสตร์ ทำไมไม่ไปขอให้เขาช่วยคัดลอกและอรรถาธิบายให้แจ่มแจ้ง  ส่วนประเด็นทางโบราณคดี หลังเจอหลักฐานชิ้นสำคัญแล้ว ก็มีเหตุผลที่จะขอเขา ทำการเปิดหน้าสำรวจโดยละเอียดเพื่อหาหลักฐานเพิ่มเติม ซึ่งคณะทำงานเองบอกว่าน่าจะหลงเหลืออีกมาก ที่ไม่ทำให้จบก็เพราะหมดเวลาที่ได้รับอนุญาตไว้


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: srinaka ที่ 13 พ.ย. 17, 15:43
สงสัยมุมไหน ขอให้ถาม อย่าเก็บไว้ในใจนะครับ

ไม่ต้องเกร็งเรื่องเห็นต่าง ในเรื่องประวัติศาสตร์และโบราณคดีความเห็นต่างเกิดขึ้นได้เสมอ  ขนาดศิลาจารึกหลักที่ ๑ ซึ่งถูกนำมาเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ว่ากรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของชาติไทย วันทีคืนดียังมีผู้ออกมาเสนอความเห็นใหม่ว่า พ่อขุนรามคำแหงไม่ได้ทำ คนทำคือพระจอมเกล้า สื่อสนใจเสนอข้อมูลทั้งฝ่ายเห็นด้วยไม่เห็นด้วยอยู่หลายปีจึงจะสงบ แต่คนเชื่อไม่เชื่อจะเปลี่ยนทัศนะคติอย่างไรหรือไม่ ก็ไม่มีใครทราบ

ในเมื่ออาจารย์เปิดโอกาส ผมก็ขออนุญาตเรียนถามสิ่งที่คาใจนะครับ

1. ดูเหมือนว่า 5ปีผ่านไป ฝ่ายราชการโดยกรมศิลป์ ไม่ยอมขยับ ดังนั้นฝ่ายเอกชน จะดำเนินการเองไม่ได้หรือครับ เพื่อให้ชัดเจน ตามที่เขาสงสัยกันว่า... (ให้ไปศึกษาข้อมูลจากห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ในประเทศอังกฤษด้วย เพราะเคยมาปกครองพม่า เนื่องจากอาจจะมีหลักฐานและข้อมูลบ่งชี้เกี่ยวกับสถูปดังกล่าวบ้าง).. ในเมื่อกระทรวงต่างประเทศก็ดูไม่ขัดข้อง เงินทุนก็เเหลือเฟือ คณะดำเนินงานฯ จะขอสำเนาสมุดข่อยมาทั้งเล่ม แล้วจ้างคณะผู้เชี่ยวชาญแปลภาษาพม่าเป็นไทย สังเคราะห์ เอาเนื้อความให้ชัดๆได้ไหมว่า สมุดข่อยนี้ใครเป็นผู้บันทึก เชื่อถือได้มากแค่ไหน ตรงกับหลักฐานอื่นมากหรือน้อย ...การที่มีเนื้อหาบางส่วนสอดคล้อง แต่บางส่วนก็ขัดแย้งกับหลักฐานอื่น จะเชื่อได้แค่ไหน ขนาดชื่อกษัตริย์คู่สงครามที่ควรจะมีความสำคัญต่อการบันทึก ยังเขียนผิด จำผิด และบันทึกไว้แบบผิดฝาผิดตัวเอาชื่อพระเชษฐามาใส่พระอนุชา แล้วอย่างนี้ข้อความส่วนอื่นๆจะไปเชื่อถือได้สักเท่าไร

2. พระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่าที่ว่าเป็นผู้ยกย่องเชิดชูและอวยยศให้แก่พระมหาสมณะเจ้า และได้จัดการพระบรมศพอย่างสมพระเกียรติ์นั้น คือองค์เดียวกับที่ส่งทหาร มากมายถึง9 กองทัพมารุกรานกรุงรัตนโกสินทร์แต่ก็พ่ายแพ้กลับไปหรือเปล่าครับ ทั้งยังมีบันทึกว่าพม่ายังไม่ยอมหยุดยั้ง ยังส่งทัพมารุกรานเราอีกหลายครั้ง ....จะอธิบายว่า ในทางหนึ่งพระเจ้าปดุงก็จ้องรุกรานราชอาณาจักรไทยไม่เลิกรา แต่อีกทางหนึ่ง แม้จะรบไม่สำเร็จตีเมืองไม่ได้ ก็ไม่มีอารมณ์ถือโทษโกรธเคืองไทย พอว่างๆพระองค์ ก็ทรงหันมายกย่องเชิดชู ให้ความสำคัญต่อพระภิกษุเชลยไทยอดีตกษัตริย์ผู้ถูกกวาดต้อนมา ตอนพม่าชนะศึก ตีกรุงแตกทั้งฆ่าทั้งเผาจนกรุงศรีอยูยาป่นปี้ยับเยิน .. พระเจ้าปดุงจะไม่ดูพระเอกจ๋าไปหรือครับ  

3. สิ่งที่บรรจุอัฐิที่ขุดพบ ทางคณะผู้ขุดว่าเป็นบาตร แต่เมื่อมีคนว่าเป็นภาชนะ นอกจาก การใช้เหตุผลแวดล้อมมาอธิบายว่านี่คือบาตรๆๆๆแล้ว ท่านมีตัวอย่างบาตรที่สมบูรณ์ๆ ขัดเจนๆ ว่าเคยมีบาตรบรรจุอัฐิแบบนี้ เคยใข้กับเจ้านายพระองค์ใด ที่ไหน เมื่อใด หร๊อเปล่าครับ จะได้ยืนยันว่า มีหลักฐานแน่น ยิ่งกว่านามบัตร
  
ขอบพระคุณครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 พ.ย. 17, 17:00
ดูเหมือนว่า 5ปีผ่านไป ฝ่ายราชการโดยกรมศิลป์ ไม่ยอมขยับ ดังนั้นฝ่ายเอกชน จะดำเนินการเองไม่ได้หรือครับ เพื่อให้ชัดเจน ตามที่เขาสงสัยกันว่า... (ให้ไปศึกษาข้อมูลจากห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ในประเทศอังกฤษด้วย เพราะเคยมาปกครองพม่า เนื่องจากอาจจะมีหลักฐานและข้อมูลบ่งชี้เกี่ยวกับสถูปดังกล่าวบ้าง).. ในเมื่อกระทรวงต่างประเทศก็ดูไม่ขัดข้อง เงินทุนก็เเหลือเฟือ คณะดำเนินงานฯ จะขอสำเนาสมุดข่อยมาทั้งเล่ม แล้วจ้างคณะผู้เชี่ยวชาญแปลภาษาพม่าเป็นไทย สังเคราะห์ เอาเนื้อความให้ชัดๆได้ไหมว่า สมุดข่อยนี้ใครเป็นผู้บันทึก เชื่อถือได้มากแค่ไหน ตรงกับหลักฐานอื่นมากหรือน้อย ...การที่มีเนื้อหาบางส่วนสอดคล้อง แต่บางส่วนก็ขัดแย้งกับหลักฐานอื่น จะเชื่อได้แค่ไหน ขนาดชื่อกษัตริย์คู่สงครามที่ควรจะมีความสำคัญต่อการบันทึก ยังเขียนผิด จำผิด และบันทึกไว้แบบผิดฝาผิดตัวเอาชื่อพระเชษฐามาใส่พระอนุชา แล้วอย่างนี้ข้อความส่วนอื่นๆจะไปเชื่อถือได้สักเท่าไร

สุสานลินซินกอง ที่นักประวัติศาสตร์ไทยรู้จัก แต่ไพล่ไปเรียกว่าสุสานล้านช้างนั้น เพราะคนพม่าเองก็ยังไม่ทราบความหมายที่แท้จริงของชื่อนี้ ซึ่งหากแปลตรงตัวก็มีความหมายว่าหอสูง จึงอาจจะให้ข้อมูลที่ผิดแล้วยังเกิดการเดาซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจผิด  ความจริงนักประวัติศาสตร์พม่าทราบแต่เพียงว่า ในอดีตเป็นสุสานสาหรับชนชันสูงที่เป็นชาวต่างชาติเท่านั้น  

เมื่อความสำคัญของ parabike มีถึงเช่นนี้ หากจะเชื่อข้อมูลฝ่ายพม่าเพียงอย่างเดียวอาจมีปัญหาหากเอกสารดังกล่าวไม่มีอยู่จริง เพื่อความรอบคอบ วิจิตรจึงได้ขอให้คนรู้จักที่อยู่ในลอนดอนช่วยไปติดตามดู และยืนยันกลับมาให้ทราบด้วย

หลังจากใช้ระยะเวลาอันยาวนานและอดทน เนื่องจากในครั้งแรกเจ้าหน้าที่หาเอกสารนั้นไม่พบ สุดท้ายได้คุณเพลิน นักศึกษาที่นั่น สามารถสืบได้ตัวภัณฑารักษ์ซึ่งเป็นคนพม่าชื่อ ซาน ซาน เมย์ ผู้ค้นพบเอกสารนั้นและนำออกมาให้ ดร.ทิน หม่อง จี ดูเมื่อหลายปีที่แล้ว เธอได้กล่าวว่าเอกสารชิ้นนั้นได้ถูกย้ายที่เก็บไปอยู่ห้องอินเดีย และหมายเลขที่ถูกต้องก็คือ OMS/Mss Burmese 199 หน้า 48

คุณเพลินได้พยายามขอให้ ซาน ซาน เมย์ เป็นผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษให้ แต่เธอทำไม่ใด้ เนื่องจากมีระเบียบบังคับอยู่ แต่ได้อ่านที่สำคัญให้ฟังโดยสรุปว่ากษัตริย์ไทยพระองค์นี้ได้มาอยู่เมืองพม่า มีพิธีพระบรมศพที่ยิ่งใหญ่ ที่บรรจุพระบรมศพอยู่ที่ Linzhin Amarapura

เป็นอันว่าหายใจโล่งอกไปได้เปลาะหนึ่ง ในอนาคตหากรัฐบาลไทยให้ความสำคัญและเป็นผู้ติดต่อดำเนินการขอหลักฐานนี้พร้อมคำแปลอย่างเป็นทางการ ก็คงไม่เหลือวิสัย
ข้างล่างคือภาพที่วิจิตรได้รับในครั้งนั้น


จากที่ผมเล่าไว้ใน คคก. ๘๙ เราก็ทำแล้ว แต่จะให้ไปขอมาแปลทั้งเล่มนั้น คุณวิจิตรบอกว่า หน้าอื่นๆก็เป็นเรื่องของเจ้านายต่างชาติระดับเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ที่มาเป็นเชลย หรือตัวประกันอยู่ในพม่า ส่วนมากเป็นเป็นชาวไทยใหญ่ เห็นว่ามีเจ้านายไทยเพียงพระองค์เดียว ที่บอกว่าเป็นพระสงฆ์ แต่ระบุนามไม่ตรงกับเนื้อเรื่อง

และจากคลิปที่ผมนำมาในคคห. ๒๕๓

http://youtu.be/I7pcdSJL_7s?t=487

คุณดำรง ใคร่ครวญ รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศในปี ๒๕๕๕ กล่าวว่า ทางกระทรวงได้ห้สถานทูตไทยในลอนดอนไปถ่ายเอกสารที่เกี่ยวข้องในสมุดข่อยเล่มที่ว่าส่งมาใหเ ซึ่งก็ได้รับ ๑ แผ่น เช่นเดียวกับที่คุณวิจิตรได้มาเช่นกัน

ดังนั้น สมาคมสถาปนิกสยามคงไม่ลงทุนส่งคนไปขอถ่ายมาทั้งเล่ม แล้วจ้างคนแปล เพราะไม่รู้จะทำไปทำไม ยิ่งจ้างคนไปนั่งค้นคว้าข้อมูลทางประวัติศาสตร์ กรรมการบริหารสมาคมสถาปนิกคงไม่เอาด้วย  เพราะเรื่องที่ต้องทำในสมาคมเองก็มากพออยู่แล้ว

แต่ถ้าคุณสนใจใคร่รู้จริงจัง ผมก็ขอแนะนำให้คุณฟังคลิปนั้นแต่ต้นจนจบ โดยเฉพาะผู้พูดคนสุดท้าย ซึ่งเป็นนักวิจัยประวัติศาสตร์  คุณจะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่ใครซึ่งไม่รู้ภาษาพม่า จะไปนั่งค้นเรื่องราวต่างๆในห้องสมุดหนังสือโบราณ ซึ่งกระจัดกระจายมิได้เป็นหมวดหมู่

ส่วนเรื่องที่เอกสารเขียนชื่อพระเจ้าเอกทัศ คุณดำรง ซึ่งเรียนมาทางประวัติศาสตร์เช่นกันก็ได้อธิบายไว้แล้ว ว่าผู้บันทึกๆหลังจากที่พระเจ้าอุทุมพรสวรรคตไปแล้วเกือบ ๑๐๐ ปี ชื่อจึงสลับสับสนได้  แต่ที่ท่านเชื่อว่าใจความทั้งหมด เขาหมายถึงพระเจ้าอุทุมพร เพราะอะไร

เรื่องนี้ ผมเองมีความเห็นว่า ที่เขาเขียนอธิบายใต้ภาพกษัตริย์ที่ทรงชุดฆราวาสว่าพระเจ้าเอกทัศ ก็ถูกแล้วนี่ครับ ถ้าภาพนั้นเป็นภาพพระภิกษุตามเนื้อเรื่อง จึงน่าจะตั้งข้อสงสัย


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 พ.ย. 17, 17:24
พระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่าที่ว่าเป็นผู้ยกย่องเชิดชูและอวยยศให้แก่พระมหาสมณะเจ้า และได้จัดการพระบรมศพอย่างสมพระเกียรติ์นั้น คือองค์เดียวกับที่ส่งทหาร มากมายถึง9 กองทัพมารุกรานกรุงรัตนโกสินทร์แต่ก็พ่ายแพ้กลับไปหรือเปล่าครับ ทั้งยังมีบันทึกว่าพม่ายังไม่ยอมหยุดยั้ง ยังส่งทัพมารุกรานเราอีกหลายครั้ง ....จะอธิบายว่า ในทางหนึ่งพระเจ้าปดุงก็จ้องรุกรานราชอาณาจักรไทยไม่เลิกรา แต่อีกทางหนึ่ง แม้จะรบไม่สำเร็จตีเมืองไม่ได้ ก็ไม่มีอารมณ์ถือโทษโกรธเคืองไทย พอว่างๆพระองค์ ก็ทรงหันมายกย่องเชิดชู ให้ความสำคัญต่อพระภิกษุเชลยไทยอดีตกษัตริย์ผู้ถูกกวาดต้อนมา ตอนพม่าชนะศึก ตีกรุงแตกทั้งฆ่าทั้งเผาจนกรุงศรีอยูยาป่นปี้ยับเยิน .. พระเจ้าปดุงจะไม่ดูพระเอกจ๋าไปหรือครับ 

ในคคห.ที่ ๘๕ ผมก็ได้กล่าวไว้แล้วในย่อหน้าสุดท้ายว่า ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๖ พระเจ้าปดุงได้สถาปนาเมืองหลวงใหม่ขึ้นที่อมรปุระ จึงโปรดให้พระมหาเถระดอกเดื่อย้ายมาประทับที่กรุงอมรปรุะด้วย แม้อีกสองปีต่อมาทรงกรีฑาทัพถึง ๗ ทัพจะไปตีกรุงเทพพระมหานคร แต่พ่ายแพ้ยับเยินกลับมาก็มิได้กระทำการแก้แค้นอะไรกับคนไทยที่นั่น  ตราบจนกระทั่งพระมหาเถระเจ้าอุทุมพรได้เสด็จสวรรคตลงในปี พ.ศ. ๒๓๓๙  ซึ่งยังเป็นรัชกาลของพระเจ้าปดุงนั้นเอง

คือสงครามระหว่างไทยกับพม่านั้น ระบบการศึกษาของไทยเราปลูกสำนึกให้อนุชนว่าเป็นสงครามระหว่างชาติต่อชาติ ทำให้เกิดความเคียดแค้นชิงชังเขาเพราะเราเป็นผู้แพ้ แต่ในคราวที่เราเป็นผู้ชนะ ไปกระทำต่อชาติอื่น กลับละเลยไม่ค่อยจะพูดถึง แล้วไปทำเป็นงงว่าทำไมคนลาว หรือคนมลายูภาคใต้ จึงได้เกลียดเรา

ในพม่านั้น เนื่องจากเขาเป็นสหภาพมาแต่ไหนแต่ไร คือคนหลายเชื้อชาติมารวมกันอยู่เป็นราชอาณาจักร ซึ่งพอราชอาณาจักรไหนอ่อนแอ กษัตริย์อีกราชอาณาจักรหนึ่งก็จะยกทัพไปทำสงสราม แย่งชิงอำนาจการปกครองและทรัพยากรไปเป็นของตน
ในบรรดาทรัพยากรทั้งหลาย ทรัพยากรมนุษย์เป็ยสิ่งมีค่าที่สุด พลเมืองที่ถูกกวาดต้อนจากเมืองหนึ่ง ไปเป็นพลเมืองของอีกเมืองหนึ่ง ก็ถูกนำไปบุกเบิกไร่นา ปลูกข้าวและทำการเกษตร สร้างความมั่งคั่งและมั่นคงต่อราชอาณาจักร ดังนั้นครัวเรือนที่ถูกต้อนกันไปจึงไม่ได้ถูกมองเป็นศัตรู ตรงข้ามกษัตริย์มีหน้าที่ต้องสยบให้นิ่งด้วยสิ่งที่เรียกว่าพระมหากรุณาธิคุณ คนเหล่านี้ไม่นาน ไม่ว่าประเทศไหนๆก็เหมือนกัน ภายใน ๓ ชั่วคนก็กลายเป็นพลเมืองดีของประเทศนั้นๆหมด

ไม่แปลกเลยครับที่พระเจ้าปะดุงจะเป็นเช่นเดียวกัน และกระทำตามที่ประวัติศสาตร์ได้กล่าวไว้


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 พ.ย. 17, 17:32
สิ่งที่บรรจุอัฐิที่ขุดพบ ทางคณะผู้ขุดว่าเป็นบาตร แต่เมื่อมีคนว่าเป็นภาชนะ นอกจาก การใช้เหตุผลแวดล้อมมาอธิบายว่านี่คือบาตรๆๆๆแล้ว ท่านมีตัวอย่างบาตรที่สมบูรณ์ๆ ขัดเจนๆ ว่าเคยมีบาตรบรรจุอัฐิแบบนี้ เคยใข้กับเจ้านายพระองค์ใด ที่ไหน เมื่อใด หร๊อเปล่าครับ จะได้ยืนยันว่า มีหลักฐานแน่น ยิ่งกว่านามบัตร

ที่อธิบดีกรมศิลปากรกับนักวิชาการข้างกายบอกว่า ข้อมูลไม่น่าเชื่อถือเพราะไม่จริงใจ ตอนแรกเรียกว่าภาชนะ ตอนกลังมาเรียกว่าบาตรมรกตเพื่อชักจูงให้เชื่อว่าอัฐิที่พบเป็นอัฐิของพระ
ผมก็อธิบายไปแล้วเช่นกัน มันมาจากบันทึกประจำวัน วันแรก(เย็นแล้ว) เขาเจอสิ่งนี้ จมอยู่ในดินโผล่มาเพียงให้เห็นว่าเป็นภาชนะ เขาก็บันทึกไปตามที่เห็น แล้วก็หมดเวลาทำงาน ต้องปิดหลุมไว้ก่อน


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 พ.ย. 17, 17:34
วันรุ่งขึ้น พอเอาขึ้นมาจากหลุม เห็นว่าเป็นบาตร เขาก็บันทึกว่าเป็นบาตร


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 พ.ย. 17, 17:47
พอชำระแล้วเห็นสิ่งนั้นชัดเจน เขาจึงบันทึกว่า เป็นบาตรดินเผา ลงรักประดับกระจกสีมรกต ขอบบาตรเดินทอง แต่มีบางคำที่เรียกอย่างสั้นว่าบาตรมรกตบ้าง ผมผ่านตาแว๊บๆ พอกลับไปค้นหา เล่มมันหนาไม่เจอ

แต่ไม่เห็นว่าเป็นสาระที่จะต้องถูกนำมาขยายความเพื่อจับผิดอะไรกันตรงนี้ เหมือนเด็กๆขี้อิจฉาเอาเพื่อนไปฟ้องผู้ให่ญ่


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 พ.ย. 17, 18:01
บาตรที่สมบูรณ์ๆ ขัดเจนๆ ว่าเคยมีบาตรบรรจุอัฐิแบบนี้ เคยใข้กับเจ้านายพระองค์ใด ที่ไหน เมื่อใด หร๊อเปล่าครับ จะได้ยืนยันว่า มีหลักฐานแน่น ยิ่งกว่านามบัตร

ผมมีภาพที่ชัดเจนที่สุดเพียงภาพนี้ เพิ่งลงไปในคคห.๒๘๓  เป็นบาตรบรรจุอัฐิของพระสงฆ์ระดับรองสังฆนายก แต่ก็ยังไม่เลิศเท่าบาตรที่ขุดพบข้างบน

ส่วนบาตรที่บรรจุอัฐิเจ้านายพม่าที่เป็นสงฆ์ ผมคิดว่าหายากนะครับ ถึงอังกฤษจะโขมยได้ไปบ้าง แต่ British Museum อาจจะเก็บงำไว้ห้องใต้ดิน ไม่ยอมนำมาแสดงก็ได้เพราะไม่อยากถูกทวงคืน

ถ้าจะเอานามบัตรให้ได้ ก็คงยากพอๆกับหาใบเสร็จของนักการเมือง


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 พ.ย. 17, 18:31
บาตรและสิ่งที่บรรจุอยู่ภายใน

https://youtu.be/pXrgy3WUNbw


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: srinaka ที่ 13 พ.ย. 17, 18:33
ผมขอกราบของพระคุณอาจารย์เป็นเบื้องต้น ท่านใช้เวลาแป๊ปเดียว ก็ตอบอธิบายข้อสงสัยผมได้ทุกข้อ แม้จะยังมีจุดที่ไม่กระจ่าง
แต่สำหรับผมมือยังห่างชั้นท่าน กว่าจะถามได้สักข้อก็ต้องไตร่ตรองเป็นวันๆ รู้ว่าท่านเมตตา แต่ก็เกรงจะลบหลู่ครูบาอาจารย์
ผมขออนุญาตอ่านให้แตก สังเคราะห์อีกรอบ และค้นคว้าเพิ่มเติม หวังว่าจะได้เรียนถามอาจารย์ผู้ใจดีต่อไปอีกครับ

ของพระคุณอีกครั้งครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 พ.ย. 17, 21:16
พอชำระแล้วเห็นสิ่งนั้นชัดเจน เขาจึงบันทึกว่า เป็นบาตรดินเผา ลงรักประดับกระจกสีมรกต ขอบบาตรเดินทอง แต่มีบางคำที่เรียกอย่างสั้นว่าบาตรมรกตบ้าง ผมผ่านตาแว๊บๆ พอกลับไปค้นหา เล่มมันหนาไม่เจอ

แต่ไม่เห็นว่าเป็นสาระที่จะต้องถูกนำมาขยายความเพื่อจับผิดอะไรกันตรงนี้ เหมือนเด็กๆขี้อิจฉาเอาเพื่อนไปฟ้องผู้ให่ญ่

ถ้าเราจะพูดเรื่องนี้กันในเชิงศึกษาหาความรู้ต่อไป   ดิฉันขอร้องให้คุณ NAVARAT.C เลิกใช้คำกระแหนะกระแหนแบบนี้ จะเหมาะกว่านะคะ
การที่คุณไม่เห็นว่าเป็นสาระ  คนอื่นเขาอาจจะเห็นว่ามีสาระก็ได้  อย่างดิฉันเองก็ยังตั้งข้อกังขาเกี่ยวกับภาชนะชิ้นนี้   ยังไม่ปักใจจะเรียกว่า บาตร   จึงใช้คำกลางๆ ว่า "ภาชนะ" ไปก่อน   เพราะมันหมายถึงอะไรก็ได้ ที่บรรจุสิ่งของลงไปได้   
แต่พอมาเจอคำตัดบทว่า ไม่เห็นเป็นสาระ ก็เลยไม่อยากจะถามต่อ    เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าข้อสงสัยของดิฉัน นอกจากไม่มีสาระแล้ว ยังกลายเป็นการจับผิด    เจอคำพูดสะกัดหน้า  คนจะถามก็ท้อที่จะถาม
การออกความเห็นและคำถามที่อยู่ในประเด็น   ไม่ได้ออกนอกเรื่องสถูปและพระเจ้าอุทุมพร     น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อนรับด้วยดี   คำถามนั้นจะตื้นหรือจะลึก แคบหรือกว้าง ก็โปรดเมตตาว่า คนถามเขาถามเพราะสนใจ   ถามเพราะไม่รู้ถึงได้ถาม  ไม่ใช่จับผิด
อะไรก็ตามที่มันไม่มีผิดจะให้จับ  จับไปก็ไม่เจอผิดอยู่ดี  แต่ถ้ามันผิดเสียแล้ว ถึงไม่จับมันก็ผิดค่ะ




กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 พ.ย. 17, 07:13
ถ้าเราจะพูดเรื่องนี้กันในเชิงศึกษาหาความรู้ต่อไป   ดิฉันขอร้องให้คุณ NAVARAT.C เลิกใช้คำกระแหนะกระแหนแบบนี้ จะเหมาะกว่านะคะ

ขอโทษครับ ความจริงผมไม่ได้กระแนะกระแหน ถ้าอ่านทั้งบริบทจะเห็นว่าที่ผมวิจารณ์คือคำพูด เช่นข้างล่างนี้
นายนิติ แสงวัณณ์ นักโบราณคดีเชี่ยวชาญ กรมศิลปากร ตั้งข้อสังเกตว่า ตนลงพื้นที่จริง และได้พิจารณารายงานสรุปผลการปฏิบัติงานด้านโบราณคดีที่สุสานลินซินกง พบว่า เอกสารต่างประเทศ ที่ทางภาคเอกชนไปขุดค้นกล่าวอ้างถึงว่า มีการบันทึกถึง สถูปองค์นี้ว่ามีการบรรจุ พระบรมอัฐิ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ซึ่งทั้งที่จริงแล้วเอกสารฉบับดังกล่าว บอกว่ามีหลักฐานที่ถือว่าสำคัญมากชิ้นหนึ่ง คือ ภาชนะ ทำด้วยดินเผาประดับกระจก มาถึงหน้าสุดท้ายกลับมาเรียกภาชนะนี้ว่าบาตรแก้วมรกต ทำไมจึงไม่ใช้ชื่อนี้ตั้งแต่ต้น ถือว่าเป็นการเขียนที่ไม่สุจริต เป็นการโน้มน้าวในข้อมูลอยากให้คนอื่นเข้าใจได้ว่า บาตรนี้เกี่ยวข้องกับเจ้านายที่เป็นพระสงฆ์

คำว่าไม่สุจริต มันรุนแรงพอที่จะทำลายน้ำใจคนทำงานทั้งสองฝ่าย และที่สำคัญ ได้ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทำให้โครงการสะดุด เสียเวลา เสียเงินทองไปไม่น้อย กว่าที่จะกู้สถานการณ์และสภาพงานก่อสร้างให้คืนกลับสู่ที่เดิมได้

อย่างดิฉันเองก็ยังตั้งข้อกังขาเกี่ยวกับภาชนะชิ้นนี้   ยังไม่ปักใจจะเรียกว่า บาตร   จึงใช้คำกลางๆ ว่า "ภาชนะ" ไปก่อน   เพราะมันหมายถึงอะไรก็ได้ ที่บรรจุสิ่งของลงไปได้  
แต่พอมาเจอคำตัดบทว่า ไม่เห็นเป็นสาระ ก็เลยไม่อยากจะถามต่อ    เดี๋ยวจะกลายเป็นว่าข้อสงสัยของดิฉัน นอกจากไม่มีสาระแล้ว ยังกลายเป็นการจับผิด    เจอคำพูดสะกัดหน้า  คนจะถามก็ท้อที่จะถาม
การออกความเห็นและคำถามที่อยู่ในประเด็น   ไม่ได้ออกนอกเรื่องสถูปและพระเจ้าอุทุมพร     น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อนรับด้วยดี   คำถามนั้นจะตื้นหรือจะลึก แคบหรือกว้าง ก็โปรดเมตตาว่า คนถามเขาถามเพราะสนใจ   ถามเพราะไม่รู้ถึงได้ถาม  ไม่ใช่จับผิด
อะไรก็ตามที่มันไม่มีผิดจะให้จับ  จับไปก็ไม่เจอผิดอยู่ดี  แต่ถ้ามันผิดเสียแล้ว ถึงไม่จับมันก็ผิดค่ะ

ผมไม่ได้แคร์เลยที่ใครจะเรียกสิ่งนั้นว่าอะไร เคยเขียนไว้ในกระทู้นี้ด้วยว่าชื่อที่เรียกขาน มันเป็นแค่สมมติบัญญัติ ตามองสิ่งเดียวกัน ใครจะเรียกว่าภาชนะ หรือบาตร หรือพม่าเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า bowl หรือ urn ซึ่งคุณมิกกี้พยายามแปลมาจากภาชนะที่คนไทยเรียกว่าโกศ(ใส่อัฐิ) ซึ่งความจริงแล้วรูปทรงน่าจะเป็นลุ้งมากกว่า จะอะไรก็ตามทุกคนก็หมายถึงสิ่งเดียวกัน ถึงตรงนี้ไม่มีใครผิด
ส่วนตัวผมเลือกเรียกว่าบาตร แต่ก็บอกแล้วว่า บาตรที่เห็นนี้ไม่ใช่บาตรที่พระสงฆ์จะใช้บิณฑบาต แต่เป็นของประดับเกียรติ ความจริงพม่าต้องมีคำเรียกเฉพาะ แต่ไม่มีใครเขียนไว้ ผมก็เรียกบาตรเพื่อกันความสับสนในกระทู้ของผม หลังจากที่เรียกว่าภาชนะเมื่อยังไม่เห็นรูปทรงทั้งใบ แต่ใครยังไม่เห็นด้วย ผมคงไม่ตัดบท หรือกระแนะกระแหนว่าไม่เป็นสาระ เป็นอันขาด

ดังนั้น ถ้าคำเขียนของผมได้สร้างความไม่สบายใจให้แก่ใคร ตรงไหนบ้าง ผมก็ขออภัยอย่างจริงใจ ส่วนคคห.ข้างบน เอาเป็นว่าผมขอถอนประโยค “แต่ไม่เห็นว่าเป็นสาระที่จะต้องถูกนำมาขยายความเพื่อจับผิดอะไรกันตรงนี้ เหมือนเด็กๆขี้อิจฉาเอาเพื่อนไปฟ้องผู้ใหญ่”

เราจะได้เข้าประเด็นวิชาการกันต่อ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 พ.ย. 17, 07:21
อ้างถึง
เพิ่งพูดโทรศัพท์กับดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์มาเมื่อกี้นี้เอง
ท่านก็ติดตามและสนใจเรื่องสถูปพระเจ้าอุทุมพรอยู่นะคะ    แต่เรื่องยังค้างเติ่งอยู่จนบัดนี้ ก็เพราะหลักฐานที่ค้นพบได้ ไม่เพียงพอที่จะชี้ลงไปได้ว่าเป็นสถูปที่บรรจุพระอัฐิของพระเจ้าอุทุมพร
นอกจากภาชนะประดับกระจกสีเขียว บรรจุอัฐิแล้ว   ไม่มีหลักฐานที่ระบุได้ว่าเจ้าของอัฐินั้นเป็นใคร  ไม่พบข้าวของเครื่องใช้ หรือหลักฐานอะไรอย่างอื่นบ่งชี้     ดังนั้น เจ้าของอัฐิอาจจะเป็นบุคคลสำคัญ ในเพศฆราวาส หรือบรรพชิต ท่านใดท่านหนึ่งของพม่า หรือเป็นคนชาติอื่นไม่ใช่พม่า แต่มีความสำคัญทางใดทางหนึ่งอยู่ในถิ่นนั้น   ก็เป็นได้ทั้งสิ้น
ก็มีแต่คำบอกเล่าของชาวบ้านต่อๆกันมา   ซึ่งยังต้องอาศัยหลักฐานประกอบทางอื่นเพิ่มด้วย  มีหลายๆหลักฐานมายันกันชัดเจนลงไปถึงจะบอกได้ค่ะ

อ้างถึง
ดังนั้น เจ้าของอัฐิอาจจะเป็นบุคคลสำคัญ ในเพศฆราวาส หรือบรรพชิต ท่านใดท่านหนึ่งของพม่า หรือเป็นคนชาติอื่นไม่ใช่พม่า ตัดคำว่าเพศฆราวาสออกได้เลย เพราะอัฐิเจอในบาตร เหลือแต่ว่าเป็นพระ ซึ่งต้องเป็นพระที่มีสมณศักดิ์สูงด้วย พระพม่าทรงสมณศักดิ์ในรัชกาลนั้น จดหมายเหตุของพม่าจดชื่อไว้น่าจะทุกองค์ แต่มีองค์เดียวที่มีหลักฐานชัดเจนว่าได้รับพระราขทานเพลิงพระศพอย่างสมพระเกียรติที่เนินลินซิน คือ(อดีต)กษัตริย์โยเดีย

ตรงนี้จะเขียนแค่ว่าเพราะอัฐิเจอในบาตรเพียงอย่างเดียวก็คงไม่ได้ ผมตกสาระสำคัญ คืออัฐินั้นถูกห่อด้วยจีวร มีสายรัดประคตด้วย


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: srinaka ที่ 14 พ.ย. 17, 07:57
เข้ามาเรียนอาจารย์NAVARAT.C ก่อนไปทำงานว่า เมตตาในเชิงผู้รู้ของท่านนั้นมากล้น กระพี้ที่เป็นโวหารเพื่อแต่งเติมแก่นสาระให้สมบูรณ์นั้น ดูเป็นการกระแนะกระแหน หรือกระแนะกระนำก็ได้  แต่สำหรับชนรุ่นหลัง ก็มองว่าเป็นสีสันในข้อเขียนของท่านในหลายเรื่อง
ดูคลิบสัมนาวิชาการ ที่ด๊อกเตอร์สาวสวยพูดแขวะหนังพระนเรศวร ก็พอได้เห็นร่องรอยของการ ไปกระทบอาจารย์บางท่านนะครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 14 พ.ย. 17, 09:48
ผมยังติดตามอ่านเรื่องนี้อยู่นะครับ

ถ้าเรื่องนี้เป็นการพิจารณาคดีในศาล จุดสำคัญของเรื่องนี้คงอยู่ตรงที่การนำสืบพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อโน้มน้าวให้ศาลเชื่อว่า สถูปที่พบนั้น บรรจุอัฐิของพระเจ้าอุทุมพรจริง ซึ่งถ้าเป็นในศาลฝ่ายกล่าวอ้างก็มีหน้าที่ต้องนำสืบพิสูจน์ ซึ่งในเรื่องนี้ภาคเอกชนได้นำสืบพิสูจน์ข้อเท็จจริงมาหลายประการตามที่อาจารย์ได้กรุณาเล่าให้ฟังแล้ว

แต่เนื่องจากพยานหลักฐานที่นำเสนอในครั้งนี้ มีแต่พยานแวดล้อม มิใช่เป็นประจักษ์พยาน (ก็อย่างที่อาจารย์ว่าแหละครับ ไม่มีนามบัตร) แม้ว่าพยานแวดล้อมในครั้งนี้ จะน่าเชื่อถือเป็นอย่างยิ่ง แต่ถ้าจะพูดในทางหลักการชั้งน้ำหนักพยาน ก็คงต้องพูดว่าเรื่องนี้จึงยังไม่กระจ่างชัดทั้ง 100% อาจจะกระจ่างไป 80% หรือ 90% หรือ 99% แต่ไม่ใช่ 100% อย่างแน่นอน

ทีนี้ก็มาถึงปัญหาที่ว่า ถ้าไม่ 100% เสียแล้ว ต้องกี่ % ถึงจะเชื่อได้?

อันนี้ผมไม่กล้าชี้เหมือนกันครับ แต่ผมมีข้อสังเกตว่าเรื่องนี้ ไม่ใช่ความเชื่อส่วนบุคคล แต่เป็นเรื่องของการรับรองข้อเท็จจริงโดยประเทศไทย คือ ถ้ากรมศิลปากรตอบว่า เชื่อแล้ว ก็หมายความว่า ประเทศไทยรับรองข้อเท็จจริงตามนี้เลยว่า ใช่ ถูกต้อง ความสำคัญระดับนี้ ผมยังมองว่า ก็ต้อง 100% นั่นแหละครับ 


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 14 พ.ย. 17, 13:46

กรมศิลปากร
ภารกิจ

ภารกิจของกรมศิลปากร เกี่ยวกับการคุ้มครอง  ป้องกัน  อนุรักษ์  บำรุงรักษา  ฟื้นฟู  ส่งเสริม  สร้างสรรค์  เผยแพร่  ศึกษา  ค้นคว้า  วิจัย  พัฒนา  สืบทอดศิลปะและทรัพย์สินมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ   เพื่อธำรงคุณค่าและเอกลักษณ์ของความเป็นชาติ  อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคมไทยและความมั่นคงของชาติ  มีหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลศิลปวัฒนธรรมของชาติแขนงต่าง ๆ  ได้แก่  งานด้านโบราณคดี  ประวัติศาสตร์  พิพิธภัณฑ์  สถาปัตยกรรม  หัตถศิลป์  นาฏดุริยางคศิลป์  ด้านเอกสาร  ภาษา  และหนังสือ  ด้านการจัดการศึกษาศิลปวัฒนธรรม

บทบาทหน้าที่        

๑.  ปกป้อง คุ้มครอง  อนุรักษ์  ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมธำรงจารีตประเพณี  พระราชพิธี  และรัฐพิธีให้คงความเป็นเอกลักษณ์ของชาติเพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศ

๒.  สืบทอด  สร้างสรรค์  เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม

๓.  ปรับเปลี่ยนระบบและกลไกการบริหารจัดการมรดกศิลปวัฒนธรรม

๔.  บริหารจัดการองค์ความรู้และพัฒนามรดกศิลปวัฒนธรรมให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยว

๕.  จัดการศึกษาเฉพาะด้านศิลปวัฒนธรรมเพื่อการอนุรักษ์   สืบทอดและพัฒนาอย่างยั่งยืน


กรณีที่เกี่ยวข้องนี้ กรมศิลปากรมิได้ทำหน้าที่ตามที่สังคมคาดหวังว่าควรจะทำ
การศึกษา ค้นคว้า วิจัย ศิลปะและทรัพย์สินมรดกทางศิลปวัฒนธรรม
เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและอนุรักษ์นับเป็นส่วนสำคัญของภารกิจตามกฎหมายของกรมนี้

ไม่จำเป็นต้องให้ได้คำยืนยัน 100% แล้วค่อยออกมาขึ้นทะเบียนครับ
ยกตัวอย่างเช่น เจดีย์ยุทธหัตถี อยู่ที่ใด ไม่มีใครทราบแน่ชัด 100% กรมศิลปากรก็เข้าไปบูรณะและรับรองทุกที่ ถ้าเจ้านายในรัฐบาลสั่ง
กรณีนี้ คาดว่าเจ้านายไม่สั่ง บวกกับคนเก่งๆในกรมศิลปากร เกษียณอายุไปหมดแล้วครับ
 


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 14 พ.ย. 17, 13:47

...


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 พ.ย. 17, 14:52
ไม่จำเป็นต้องให้ได้คำยืนยัน 100% แล้วค่อยออกมาขึ้นทะเบียนครับ
ยกตัวอย่างเช่น เจดีย์ยุทธหัตถี อยู่ที่ใด ไม่มีใครทราบแน่ชัด 100% กรมศิลปากรก็เข้าไปบูรณะและรับรองทุกที่ ถ้าเจ้านายในรัฐบาลสั่ง
กรณีนี้ คาดว่าเจ้านายไม่สั่ง บวกกับคนเก่งๆในกรมศิลปากร เกษียณอายุไปหมดแล้วครับ


แม้แต่มียุทธหัตถีระหว่างพระนเรศวรและพระมหาอุปราชาหรือไม่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกัน

รองศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ได้ถอดความพงศาวดารพม่าฉบับอูกาลา มีรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ตอนนี้ ระบุว่าไม่มีการชนช้างหรือยุทธหัตถีระหว่างพระนเรศวรและพระมหาอุปราชา แต่พระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์เพราะถูกปืนยิง พระศพถูกอัญเชิญกลับสู่กรุงหงสาวดี

ครั้นทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชา ก็ไสพระคชาธารเข้ายังตำแหน่งที่จอมทัพพม่านั้นประทับอยู่โดยแรงเร็ว ฝ่ายเจ้าเมืองซามะโรครั้นเห็นพระนเรศวรขับพระคชาธารตรงรี่หมายเข้าชิงชนช้างประทับก็เปิดผ้าคลุมหน้าช้างพระหนะแห่งตนออก หมายมุ่งพุ่งสกัดช้างทรงองค์นเรศวร แต่ช้างตกน้ำมันเชือกนั้นกลับหันรีหันขวางแลกลับตัวเข้าแทงโถมเอาช้างทรงองค์อุปราชาโดยกำลังแรง พระมหาอุปราชาจึงจำต้องขับพระคชาธารเข้ารับไว้ ซึ่งช้างทรงองค์จอมทัพพม่าถึงจามสนั่น (ด้วยบาดเจ็บสาหัส) แลขณะนั้นข้างอยุธยาก็ระดมยิงปืนสวนทางมากระสุนถูกเอาองค์อุปราชาโดยถนัดจนสิ้นพระชนม์ซบกับคอคชาธาร คุเยงพละกลางช้างพระที่นั่งเห็นมหาอุปราชาต้องปืนใหญ่ (ปืนที่ยิงมหาอุปราชานั้นอูกาลาระบุว่า คือปืนชนิดเดียวกับที่เรียกว่า Jingal ในภาษาอังกฤษ) ก็เข้าพยุงพระศพไว้ และบังคับช้างเข้ากำบังในพุ่มไม้ ข้างพระนเรศวรยังไม่ทรงทราบว่ามหาอุปราชาหาพระชนม์ชีพไม่ จึงไม่ทรงขับพระคชาธารตามติดปะทะ เพียงยั้งรออยู่
.........................................

ฝ่ายข้าทหารใหญ่น้อยได้ฟังความตามตรัสก็เห็นคล้อย จึงต่อโลงใส่พระศพด้วยไม้มะม่วงอย่างเลิศ แลเอาปรอทกรอกพระศพแล้วก็จัดกระบวนรี้พลเชิญพระศพองค์อุปราชากลับคืนพระนคร เดือนมีนาคมก็บรรลุถึงหงสาวดี องค์ธรรมราชามหากษัตริย์ ครั้นสดับข่าวว่าพระราชาโอรสมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์ชีพ และพระศพนั้นถูกอัญเชิญกลับคืนมาก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยอัครมเหสีราชมารดาออกรับพระศพ และลุเลิกพระศพเยี่ยงพระจักรพรรดิราช ห้อมล้อมด้วยช้างม้าไพร่พลสกลไกร การพระศพกระทำท่ามกลางความโศกเศร้าโศกาดูรยิ่ง ฯลฯ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 14 พ.ย. 17, 15:26

สนับสนุนภาพประกอบเพิ่มเติมครับ

บริเวณที่ตั้งอนุสรณ์สถานที่เชื่อกันว่าเคยเป็นบริเวณวัดโยเดีย นับเป็นทำเลทองติดทะเลสาบสมัยเมืองอมรปุระเลยทีเดียว
สภาพภูมิศาสตร์มีชุมชนอาศัยอยู่หนาแน่นสองฟากของสะพานอูเบียน



กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 14 พ.ย. 17, 15:38
เรื่องกรมศิลป์รับรองหรือไม่ ผมไม่เห็นเป็นเรื่องสำคัญครับ ยิ่งสถานการณ์ตอนนี้ที่เดินหน้าโดยกำหนดให้เป็นอนุสรณ์สถานพระเจ้าอุทุมพรโดยไม่ต้องไปยึดติดกับข้อเท็จจริงว่าอัฐิที่พบจะต้องเป็นพระอัฐิของพระเจ้าอุทุมพรอย่างแน่นอนหรือไม่ ก็ไม่เห็นว่าจะต้องพึ่งการรับรองจากทางการอีก

ที่น่าคุยกันต่อไปเป็นเรื่องทางวิชาการมากกว่าครับ

เกณฑ์ความน่าเชื่อถือน่าจะอ้างอิงเทียบเคียงกับกรณีพระศพพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 เมื่อไม่กี่ปีก่อน น่าจะได้ไหมครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 พ.ย. 17, 15:53
เกณฑ์ความน่าเชื่อถือน่าจะอ้างอิงเทียบเคียงกับกรณีพระศพพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 เมื่อไม่กี่ปีก่อน น่าจะได้ไหมครับ

นึกถึงวิธีการพิสูจน์ตัวบุคคลใน กรณีพระเจ้าริชาร์ดที่ ๓ แห่งอังกฤษ (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5564.0)

ว่าแต่ว่าเราจะพอหาเชื้อสายของพระเจ้าอุทุมพรในปัจจุบันได้บ้างไหมหนอ


(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5510.0;attach=38733;image)


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 14 พ.ย. 17, 17:02
อย่างแรกที่น่าทำคือ carbon dating อัฐิที่พบ เพราะตอนนี้อ้างอายุโดยดูจากขนาดอิฐที่ใช้ในการก่อสร้างสถูปว่าขนาดเดียวกับที่ใช้สร้างเมืองอมรปุระ ซึ่งทางกรมศิลป์เห็นว่าวิธีนี้ใช้ไม่ได้

อันที่จริง ถ้าในอิฐมีส่วนประกอบของอินทรียสารก็อาจจเอามาทำ carbon dating ด้วยนะครับ อย่างน้อยเรื่องเวลาจะได้จบไปเรื่องหนึ่ง


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 พ.ย. 17, 17:13
ไม่จำเป็นต้องให้ได้คำยืนยัน 100% แล้วค่อยออกมาขึ้นทะเบียนครับ
ยกตัวอย่างเช่น เจดีย์ยุทธหัตถี อยู่ที่ใด ไม่มีใครทราบแน่ชัด 100% กรมศิลปากรก็เข้าไปบูรณะและรับรองทุกที่ ถ้าเจ้านายในรัฐบาลสั่ง
กรณีนี้ คาดว่าเจ้านายไม่สั่ง บวกกับคนเก่งๆในกรมศิลปากร เกษียณอายุไปหมดแล้วครับ


แม้แต่มียุทธหัตถีระหว่างพระนเรศวรและพระมหาอุปราชาหรือไม่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกัน

รองศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ได้ถอดความพงศาวดารพม่าฉบับอูกาลา มีรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ตอนนี้ ระบุว่าไม่มีการชนช้างหรือยุทธหัตถีระหว่างพระนเรศวรและพระมหาอุปราชา แต่พระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์เพราะถูกปืนยิง พระศพถูกอัญเชิญกลับสู่กรุงหงสาวดี

ครั้นทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชา ก็ไสพระคชาธารเข้ายังตำแหน่งที่จอมทัพพม่านั้นประทับอยู่โดยแรงเร็ว ฝ่ายเจ้าเมืองซามะโรครั้นเห็นพระนเรศวรขับพระคชาธารตรงรี่หมายเข้าชิงชนช้างประทับก็เปิดผ้าคลุมหน้าช้างพระหนะแห่งตนออก หมายมุ่งพุ่งสกัดช้างทรงองค์นเรศวร แต่ช้างตกน้ำมันเชือกนั้นกลับหันรีหันขวางแลกลับตัวเข้าแทงโถมเอาช้างทรงองค์อุปราชาโดยกำลังแรง พระมหาอุปราชาจึงจำต้องขับพระคชาธารเข้ารับไว้ ซึ่งช้างทรงองค์จอมทัพพม่าถึงจามสนั่น (ด้วยบาดเจ็บสาหัส) แลขณะนั้นข้างอยุธยาก็ระดมยิงปืนสวนทางมากระสุนถูกเอาองค์อุปราชาโดยถนัดจนสิ้นพระชนม์ซบกับคอคชาธาร คุเยงพละกลางช้างพระที่นั่งเห็นมหาอุปราชาต้องปืนใหญ่ (ปืนที่ยิงมหาอุปราชานั้นอูกาลาระบุว่า คือปืนชนิดเดียวกับที่เรียกว่า Jingal ในภาษาอังกฤษ) ก็เข้าพยุงพระศพไว้ และบังคับช้างเข้ากำบังในพุ่มไม้ ข้างพระนเรศวรยังไม่ทรงทราบว่ามหาอุปราชาหาพระชนม์ชีพไม่ จึงไม่ทรงขับพระคชาธารตามติดปะทะ เพียงยั้งรออยู่
.........................................

ฝ่ายข้าทหารใหญ่น้อยได้ฟังความตามตรัสก็เห็นคล้อย จึงต่อโลงใส่พระศพด้วยไม้มะม่วงอย่างเลิศ แลเอาปรอทกรอกพระศพแล้วก็จัดกระบวนรี้พลเชิญพระศพองค์อุปราชากลับคืนพระนคร เดือนมีนาคมก็บรรลุถึงหงสาวดี องค์ธรรมราชามหากษัตริย์ ครั้นสดับข่าวว่าพระราชาโอรสมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์ชีพ และพระศพนั้นถูกอัญเชิญกลับคืนมาก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยอัครมเหสีราชมารดาออกรับพระศพ และลุเลิกพระศพเยี่ยงพระจักรพรรดิราช ห้อมล้อมด้วยช้างม้าไพร่พลสกลไกร การพระศพกระทำท่ามกลางความโศกเศร้าโศกาดูรยิ่ง ฯลฯ

บรรยากาศเริ่มคึกคักเป็นกระทู้สไตล์ผมขึ้นมาอีกครั้ง ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเสริมให้สนุกนะครับ

ข้อขัดแย้งในความเชื่อด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีกรณีย์ยุทธหัตถีนี่ ไม่ต้องไปดูไกลถึงพม่าครับ ในเมืองไทยนี่แหละ เราเคยเถียงกันจะเป็นจะตายมาแล้วในสมัยคนรุ่นเรานี่แหละ เพราะเกิดมีการไปขุดเจออาวุธโบราณรวมทั้งกระดูกคนกระดูกสัตว์มากมายที่อำเภอพนมทวน แบบที่ไม่เคยเจอมาก่อนที่ดอนเจดีย์ พอผมเข้าไปเสิร์ชดู พบว่าข้อขัดแย้งนี้ยุติลงได้ก็เพราะ

ผู้ยุติเรื่องที่ตั้งเจดีย์ยุทธหัตถี

             ในที่สุดกลุ่มมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นำโดยจมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) ได้ออกมาแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบกลุ่มกาญจนบุรีว่า เรื่องเจดีย์ยุทธหัตถีอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นพระราชวินิจฉัยของรัชกาลที่ 6 โดยอ้างถึงเหตุการณ์ตอนเสด็จพระราชดำเนินในพิธีบวงสรวงพระเจดีย์ที่ดอนเจดีย์  พวกตนในฐานะผู้จงรักภักดีต้องตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณต่อสถาบันพระมหากษัตริย์จึงขอยืนยันความถูกต้องเรื่องนี้  เหตุผลที่คนกลุ่มนี้ยกมาเพื่อยุติการโต้แย้งที่เกิดขึ้นนานถึง 5 ปี ก็คือ "ทางชาติบ้านเมืองเรา ก่อสร้างพระอนุสาวรีย์ของพระนเรศวรไว้เคารพสักการะ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันเสด็จเปิดพระเจดีย์มาแล้ว การแปรเปลี่ยนเอาเจดีย์ไปไว้ที่อื่นให้ผิดไปจึงไม่เห็นด้วย และชาติบ้านเมืองเวลานี้ต้องการความสามัคคีเป็นใหญ่ จึงควรยุติเรื่องลงได้แล้วว่า พระเจดีย์ควรอยู่ที่ตำบลหนองสาหร่าย ตามที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชวินิจฉัยไว้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันก็ทรงรับรอง จึงเสด็จไปกระทำพิธีอย่างหนึ่ง รัฐบาลของเราก็รับรองไปสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรอย่างหนึ่ง ไม่ควรมีคนคิดจะยกเอาไปไว้ที่อื่น ถ้าหากว่ามีคนหาญกล้าจะทะนงทำอย่างนั้น ผมเห็นว่ามันจะเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" คำอภิปรายของจมื่นอมรดรุณารักษ์เมื่อ 3 มีนาคม 2516 กรมประชาสัมพันธ์ได้พิมพ์คำบรรยายนี้ใน จมื่นดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช)พระราชกรณียกิจสำคัญในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องอนุสรณ์ดอนเจดีย์พระนเรศวร(กรุงเทพ:คุรุสภา 2520)

             การยุติเรื่องที่ตั้งเจดีย์ยุทธหัตถีของกลุ่มมหาดเล็กในรัชกาลที่ 6 โดยยกเรื่องความสามัคคีในชาติ ความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทำให้การสืบค้นเรื่องในเชิงวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และโบราณคดีเป็นอันต้องยุติลงอย่างน่าเสียดาย

ไม่ได้เป็นฝีมือของนักวิชาการกรมศิลปากรเลย (อดไม่ได้จะต้องแวะตรงนี้อีกแล้ว)

http://brainbank.nesdb.go.th/Default.aspx?tabid=222&articleType=ArticleView&articleId=243


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 พ.ย. 17, 17:23
อย่างแรกที่น่าทำคือ carbon dating อัฐิที่พบ เพราะตอนนี้อ้างอายุโดยดูจากขนาดอิฐที่ใช้ในการก่อสร้างสถูปว่าขนาดเดียวกับที่ใช้สร้างเมืองอมรปุระ ซึ่งทางกรมศิลป์เห็นว่าวิธีนี้ใช้ไม่ได้

อันที่จริง ถ้าในอิฐมีส่วนประกอบของอินทรียสารก็อาจจะเอามาทำ carbon dating ด้วยนะครับ อย่างน้อยเรื่องเวลาจะได้จบไปเรื่องหนึ่ง

พระอัฐิที่พบมีชิ้นที่ใหญ่และสมบูรณ์อยู่ชิ้นหนึ่ง เป็นกระดูกกราม ซึ่งคุณหมอทินหม่องจีพิจารณาแล้วบอกว่า เป็นของคนที่มีอายุเกินหกสิบแน่นอน ดูง่าย (แบบเดียวกับเซียนดูพระเครื่อง)
แต่อย่างว่าแหละ คนที่ไม่อยากเชื่อก็คงไม่เชื่อ เพราะจากหลักฐานเอกสารของพม่า สามารถคำนวณหาพระชนมายุของพระเจ้าอุทุมพรได้ว่าสวรรคตเมื่อ ๖๔ ชนษา (ตรงนี้ถ้าผิดเลขตัวหลังไปก็ขออภัยนะครับ ขี้เกียจย้อนกลับไปค้น)


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 พ.ย. 17, 17:43
บาตรและสิ่งที่บรรจุอยู่ภายใน

https://youtu.be/pXrgy3WUNbw

กระดูกกราม นาทีที่ ๑.๑๘ - ๑.๓๐


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 พ.ย. 17, 17:46
เกณฑ์ความน่าเชื่อถือน่าจะอ้างอิงเทียบเคียงกับกรณีพระศพพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 เมื่อไม่กี่ปีก่อน น่าจะได้ไหมครับ

นึกถึงวิธีการพิสูจน์ตัวบุคคลใน กรณีพระเจ้าริชาร์ดที่ ๓ แห่งอังกฤษ (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5564.0)

ว่าแต่ว่าเราจะพอหาเชื้อสายของพระเจ้าอุทุมพรในปัจจุบันได้บ้างไหมหนอ


(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5510.0;attach=38733;image)




กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 พ.ย. 17, 17:47
พี่วิจิตรชวนผม เมื่อผมแสดงความสนใจในงานที่พี่เค้ากำลังทำเป็นครั้งแรก ให้ไปพบทายาทของพระเจ้าเอกทัศด้วยกัน ผมก็ไป

สุภาพบุรุษท่านนั้นอยู่ในวัยก่อนเกษียณเล็กน้อย คณะทำงานคนหนึ่งพามาที่ห้องประชุมของสมาคมสถาปนิกสยามให้พวกเราได้รู้จัก นี่ผมขออนุญาตท่านแล้วที่จะขอเปิดเผยเรื่องนี้
ท่านเล่าว่า ผู้ใหญ่เล่าให้ฟัง บรรพบุรุษปฐมวงศ์ของท่านชื่อหม่อม(เจ้า)ก้อนแก้ว เมื่อกรุงแตกนั้น รวดพ้นจากการถูกกวาดต้อนไปเมืองพม่า แต่ไม่สามารถแสดงตัวได้ ท่านก็ไม่ทราบว่าด้วยเหตุใด อาจจะอายหรือเกรงถูกทำร้ายเพราะความที่เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าเอกทัศ (เรื่องนี้ผมเสริมว่า ถ้าท่านเปิดเผยก็ตายสิครับ เพราะพระเจ้าตากท่านไม่เอาไว้เจ้านายเก่าที่เป็นชาย หนีไปถึงโคราชท่านก็ตามไปสำเร็จโทษหมด ถือเป็นภารกิจแรกในรัชกาล)

ท่านได้เอาสาแหรกของสกุลมาให้พวกเราดู รุ่นปู่ของท่านนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าพระราชทานนามสกุลให้ว่ารัตนทัศนีย์ ท่านบอกว่าที่ผ่านมาญาติๆก็ไม่ค่อยจะเปิดเผยเรื่องนี้ เพราะกลัวจะถูกหาว่าแอบอ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับเก็บไว้เป็นความลับ
เมื่อครั้งเรียนที่คณะสถาปัตย์นั้น อาจารย์ของผมท่านหนึ่งมีนามว่า ศาสตราจารย์เฉลิม รัตนทัศนีย์ ถามแล้ว ท่านบอกว่าเป็นลุงของท่าน

แต่ก็นั่นแหละครับ นอกจากกระดาษแผ่นนั้นแล้ว ท่านก็ไม่มีอะไรมายืนยันอีกได้ว่า หม่อมก้อนแก้วเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าเอกทัศจริงๆ เราฟังแล้วก็ต้องปลง ขืนเปิดตัวออกมาก็คงมีคนไม่เชื่อ รวมทั้งวิธีการพิสูจน์DNA ฟังว่ากระดูกที่เผาไฟแล้วหลักฐานจะเปลี่ยนหมด ไม่เหมือนของพระเจ้าริชาร์ด ซึ่งฝังพระศพลงไปเฉยๆ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 พ.ย. 17, 18:03

สนับสนุนภาพประกอบเพิ่มเติมครับ

บริเวณที่ตั้งอนุสรณ์สถานที่เชื่อกันว่าเคยเป็นบริเวณวัดโยเดีย นับเป็นทำเลทองติดทะเลสาบสมัยเมืองอมรปุระเลยทีเดียว
สภาพภูมิศาสตร์มีชุมชนอาศัยอยู่หนาแน่นสองฟากของสะพานอูเบียน


ด้วยความขอบคุณ ผมก็มีภาพประกอบมาประกอบภาพของคุณคนโคราชอีกทีครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 พ.ย. 17, 18:09
รวมทั้งวิธีการพิสูจน์DNA ฟังว่ากระดูกที่เผาไฟแล้วหลักฐานจะเปลี่ยนหมด ไม่เหมือนของพระเจ้าริชาร์ด ซึ่งฝังพระศพลงไปเฉยๆ

หากใช้ดีเอ็นเอจากไมโตคอนเดรียอาจจะพอมีหวัง

ไมโตคอนเดรียลดีเอ็นเอยังมีคุณสมบัติที่ถือว่าเป็นข้อเด่นหลายประการ เชํน สามารถใช้แสดงความสัมพันธ์ในเครือญาติฝ่ายมารดา ใช้ในกรณีที่สิ่งส่งตรวจไม่สามารถตรวจด้วยนิวเคลียร์ดีเอ็นเอได้อยำงสมบูรณ์ในหลายกรณี เชํน กรณีสิ่งส่งตรวจเป็นเส้นผม โครงกระดูกที่มีอายุเก่าหรือมีการเผาไหม้  หรือในสิ่งส่งตรวจที่มีการเน่าสลาย

จากบทความเรื่อง ไมโตคอนเดรียลดีเอ็นเอและการประยุกต์ใช้ในงานนิติวิทยาศาสตร์ (http://www.forensicchula.net/FMJ/journal/topic/10-5.pdf)


(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 14 พ.ย. 17, 18:49
mtDNA สืบทอดมาทางฝ่ายหญิง น่าจะยิ่งยากหรือเปล่าครับ สายหม่อมก้อนแก้ว หากเป็นทายาทพระเจ้าเอกทัศจริง ก็ยังไม่ใช่สายตรงพระเจ้าอุทุมพรอยู่ดีครับ เรื่องตรวจสอบโดยสายเลือดนี้ผมไม่กล้าหวังครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 พ.ย. 17, 18:54
หม่อมก้อนแก้วเป็นผู้ชายครับ คือเจ้านายชั้นสูงหากถูกถอดแล้วจะเรียกว่าหม่อม

ว่าแต่ว่า การพิสูจน์ขอคุณหมอเพ็ญ เมืองไทยทำได้หรือครับ ค่าใช้จ่ายแพงไหม พระเจ้าอุทุมพรเป็นน้องร่วมพระราชบิดามารดา กับพระเจ้าเอกทัศ อาจมี DNA ร่วมกัน


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 14 พ.ย. 17, 20:06
ครับ ผมเขียนไม่ชัดเจนเองครับ หมายถึงว่าถ้าใช้ mtDNA จะสืบทอดมาทางฝ่ายหญิงเท่านั้น แปลว่าหม่อมก้อนแก้วเป็นโอรสพระเจ้าเอกทัศจริง หม่อมก้อนแก้วจะไม่ได้ mtDNA จากพระเจ้าเอกทัศ แต่จะได้มาทางแม่แทน ดังนั้นตรวจด้วย mtDNA แบบพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 ไม่ได้ครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 14 พ.ย. 17, 20:11
งานนี้ถ้าหานามบัตรไม่เจอคงยากที่จะยืนยันเป็นมั่นเหมาะได้ เพราะจะยืนยันตัวตนด้วยสารพันธุกรรมน่าจะยิ่งวุ่นวายหนักเข้าไปอีก ต้องใช้วิธีตีวงหลักฐานอื่นให้แน่นหนาขึ้น เช่นหาหลักฐานระบุให้ได้ว่าตรงนั้นเคยเป็นวัดโยเดีย กำหนดอายุอัฐิด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ หาเอกสารยืนยันว่ามีพระเถระสำคัญกี่รูปในเวลานั้นและเป็นใครบ้าง หาตัวอย่าง "บาตรมรกต" อื่นๆมาเทียบรูปแบบและวัสดุที่ใช้ ฯลฯ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 พ.ย. 17, 20:17
เป็นอันว่าจบเรื่องนี้ไป ซึ่งวันนั้นคุณวิจิตรก็กล่าวหลายครั้งว่า ในทางโบราณคดีเขาไม่จำเป็นต้องทำกันถึงขนาดนั้น (หมายถึงหาDNA)

ส่วนเรื่องที่คุณม้าว่า อยู่ที่ความพยายามของฝ่ายไทย แต่ทางสมาคมสถาปนิกคงไม่ต้องการตามไปพิสูจน์ต่อในเรื่องที่นอกขอบเขตวิชาชีพ เพราะสามารถอนุรักษ์พื้นที่ตรงนั้นไว้ได้แล้ว ปล่อยให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องเขาทำบ้าง

ความจริงในยกตัวอย่างของคุณม้า ทางฝ่ายพม่าเขาก็พิสูจน์ไปบ้างแล้ว เรามีหน้าที่ไปพิสูจน์เขาอีกที แต่ก็ไปตัดบทตัวเองเสีย


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 พ.ย. 17, 20:59
โชคดีที่การตรวจสอบ DNA ไม่จำเป็นต้องตรวจจากสายเลือดตรงของริชาร์ดเท่านั้น เพราะนักวิทยาศาสตร์ใช้การตรวจที่เรียกว่า mtDNA คือการตรวจจากไมโตคอนเดรียซึ่งเป็นองค์ประกอบเล็กๆ ในเซลที่ทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานจากอาหารให้เป็นพลังงานที่เซลล์นำไปใช้ได้ และไมโตคอนเดรียจะถ่ายทอดจากยีนของแม่สู่ลูกเท่านั้นโดยไม่มีส่วนของพ่อเข้ามาปะปน เพราะในขั้นตอนการปฏิสนธิ ไมโตคอนเดรียจากสเปิร์มของพ่อจะถูกทำลายลง  ดังนั้นลูกหลานที่สิบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษเพศหญิงคนเดียวกัน จะมีไมโตคอนเดรียที่เหมือนกัน อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือกลายพันธุ์บ้างแต่องค์ประกอบสวนใหญ่จะเหมือนกัน  ดังนั้นไมโตคอนเดรียจึงใช้สืบหาบรรพบุรุษร่วมได้

ดังนั้นในกรณีของริชาร์ด ตัวริชาร์ดเอง  กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 4 และเจ้าหญิงแอนน์แห่งยอร์คซึ่งทั้งสามเป็นพี่น้องกันจะมีไมโตคอนเดียเหมือนกันผ่านทางมากดาของทั้งสาม  ดังนั้นแม้ริชาร์ดไม่มีรัชทายาทสายตรง ถ้าสามารถสืบสายตระกูลฝ่ายหญิงทางสายของเจ้าหญิงแอนน์แห่งยอร์ค ก็จะสามารถระบุความเกี่ยวพันทางสายเลือดกับริชาร์ดที่ 3 ได้

ปัญหาก็คือ การสืบสายตระกูลนั้นมักจะมีบันทึกไว้ทางฝ่ายผู้ชาย มากกว่าจะบันทึกทางฝ่ายผู้หญิง ดังนั้นการสืบเสาะหาสายตระกูลผ่านทางมารดาจึงยากกว่าการสืบผ่านทางฝ่ายบิดามาก  แถมในกรณีของริชาร์ดต้องมีการสืบย้อนหลังไปมากกว่า 500 ปี จึงเป็นเรื่องที่ลำบากสุดๆ

พระเจ้าอุทุมพรและพระเจ้าเอกทัศน์มีพี่น้องที่เป็นหญิงร่วมพระราชบิดาและพระราชมารดาหลายพระองค์ ถ้าเราหาทายาทซึ่งสืบสายเลือดมาทางฝ่ายหญิงได้ ก็สามารถใช้การตรวจโดยใช้ mtDNA พิสูจน์เรื่องนี้ได้เช่นกัน


ว่าแต่ว่า การพิสูจน์ขอคุณหมอเพ็ญ เมืองไทยทำได้หรือครับ ค่าใช้จ่ายแพงไหม

ถ้าหากหาผู้เป็นทายาทฝ่ายหญิงพบ เรื่องจะหา lab ที่ไหนตรวจ คงไม่ยาก   ;D


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 14 พ.ย. 17, 22:06

ผมคิดว่ามีทางพิสูจน์อย่างน้อยหนึ่งวิธี
หลักฐานสำคัญอยู่ในเจดีย์นี้


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 14 พ.ย. 17, 23:06
ถ้าออกมาแล้วเป็นพี่น้องกันก็คงฮือฮากันมาก แต่ถ้าไม่ตรงกัน คงต้องมีคนตั้งข้อสงสัยอยู่ดีว่าในเจดีย์นี้ใช่เจ้าฟ้ากุ้งจริงหรือเปล่านะครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 14 พ.ย. 17, 23:50

Reliable genetic identification of burnt human remains.
Schwark T, Heinrich A, Preusse-Prange A, von Wurmb-Schwark N.

Abstract
The identification of severely burnt human remains by genetic fingerprinting is a common task in forensic routine work. In cases of extreme fire impact, only hard tissues (bones, teeth) may be left for DNA analysis. DNA extracted from burnt bone fragments may be highly degraded, making an amplification of genetic markers difficult or even impossible. Furthermore, heavily burnt bones are very prone to contamination with external DNA. We investigated whether authentic DNA profiles can be generated from human bones showing different stages of fire induced destruction (well preserved, semi-burnt, black burnt, blue-grey burnt, blue-grey-white burnt). DNA was extracted from 71 bone fragments derived from 13 individuals. Obtained genetic patterns (STRs and mtDNA sequences) were compared to the genetic pattern of the respective bodies. Our results show that the identification via DNA analysis is reliably and reproducibly possible from well preserved and semi-burnt bones. In black burnt bones the DNA was highly degraded and in some cases no nuclear DNA was left, leaving mitochondrial DNA analysis as an option. Blue-grey burnt bones lead only sporadically to authentic profiles. The investigation of blue-grey-white burnt bones barely led to reliable results.

ถ้าอีฐิที่พบเป็นกรณี semi-burnt bones สามารถใช้  y-DNA ตรวจสอบกับทายาทชายสายพระเจ้าเอกทัศน์ได้ครับ
แต่ถ้าเป็น black burnt bones ต้องใช้ mtDNA เทียบกับตัวอย่างที่เหลืออยู่ในประเทศครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 พ.ย. 17, 08:05

ถ้าหากหาผู้เป็นทายาทฝ่ายหญิงพบ เรื่องจะหา lab ที่ไหนตรวจ คงไม่ยาก   ;D

หาทายาททางฝ่ายหญิงก็ยังยากอยู่ดีครับ

ในหนังสือราชสกุลวงศ์ฯเขียนไว้ว่า พระเจ้าอุทุมพรมีพระเชษฐภคินีร่วมพระมารดา ๕ พระองค์ ได้แก่ เจ้าฟ้าประชาวดี เจ้าฟ้าประภาวดี เจ้าฟ้าพินทวดี เจ้าฟ้ากษัตรีย์   แต่มีเจ้าฟ้าพินทวดีพระองค์เดียวที่มีพระประวัติ  และทรงมีพระชนมายุอยู่จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

ในวิกกิ ซึ่งเชื่อถือไม่ค่อยจะได้เขียนว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพบเจ้านายพระองค์นี้ในค่ายโพธิ์สามต้น เพราะทรงประชวรอยู่พม่าจึงยังไม่ได้นำไปกรุงอังวะ  จึงโปรดให้เสด็จมาประทับในพระราชวังกรุงธนบุรี และทรงอุปการะยกย่องเป็นอันดี (เจ้าครอกทองอยู่เป็นพระอัครชายาในกรมพระราชวังหลังกรุงรัตนโกสินทร์)  ความในวงเล็บของวิกกิดูหมือนจะต้องทรงเปลี่ยนพระนาม
ราชสกุลวงศ์สายวังหลังนั้นมีเพียง ๒ ราชสกุล ที่สืบจากสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์และพระชายาทองอยู่ คนทั้งปวงเรียกว่า “เจ้าข้างใน” หรือ เจ้าครอกข้างใน” คือ ปาลากะวงศ์ ณ อยุธยา และ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา

ทว่า เห็นจะไม่ใช่ตามนั้น  เพราะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่อง พระราชพิธีโสกันต์ไว้ตอนหนึ่งว่า
"...เจ้าฟ้าพินวดี ซึ่งเป็นพระราชธิดาพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาโบราณนั้น ท่านเคยลงสรงโสกันต์ด้วยพระองค์เอง แลเห็นการงานต่าง ๆ เมื่อเวลาลงสรงโสกันต์ เจ้าพี่เจ้าน้องของท่านๆทราบการทุกอย่าง เป็นผู้แนะนำอย่างธรรมเนียมโบราณอื่น ๆ ต่าง ๆ หลายอย่างหลายประการในกรุงเทพฯ นี้ เมื่อท่านเห็นว่าเจ้าฟ้า ๗ พระองค์ที่โสกันต์ ไม่ได้ทำเต็มตามตำราพระราชพิธีแต่สักพระองค์หนึ่ง จนหมดเจ้าฟ้าไปแล้ว ท่านก็บ่นนักว่าการอย่างธรรมเนียมพระราชพิธีลงสรงโสกันต์เจ้าจะสาบศูนย์ไป เสียแล้ว ท่านก็ทรงชราแล้ว เมื่อไม่มีพระชนม์ท่าน ถ้าการสืบไปมีเวลาที่จะได้ทำขึ้น ใครจะมาแนะชี้การให้ถูกต้องตามแบบแผนได้เล่า ท่านจึงคิดอ่านจดหมายการงานลงสรงโสกันต์ต่าง ๆ ลงไว้ แล้วชี้แจงให้ผู้ใหญ่ผู้น้อยข้างหน้าข้างในเรียนดูรู้ไว้ด้วยกันมาก เพื่อจะไม่ให้การสาบศูนย์ไป ความที่เจ้าฟ้าพินทวดีทรงพระวิตกนั้น กรมพระราชวังฯ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงเห็นชอบด้วย จึงทรงสร้างเขาไกรลาสมีพระมณฑปเป็นยอด และมีสระอโนดาต และท่อไขนำจากปากสัตว์ทั้ง ๔ ตามอย่างเจ้าฟ้าพินทวดีชี้การให้ทำ ครั้นการเขาไกรลาสเสร็จแล้ว ก็กราบทูลขอแต่พระเจ้าอยู่หัวได้โปรดให้ทำการโสกันต์ พระราชบุตร แลพระราชบุตรีของท่าน ที่เป็นแต่พระองค์เจ้าสมมติให้เป็นดังเจ้าฟ้า ทำการทั้งนี้แม้นผิดอย่างธรรมเนียม ก็เพื่อว่าจะให้เห็นเป็น (ตัว) อย่างทันเวลาเมื่อเจ้าฟ้าพินทวดียังทรงพระชนม์อยู่ จะให้มีผู้ได้รู้ได้เห็นไว้เป็นอันมากมิให้การสาบศูนย์ไป"
หากทรงเปลี่ยนพระนามจริง ในพระราชนิพนธ์คงไม่ออกพระนามเจ้าฟ้าพินวดี

ดูเหมือนจะเชื่อได้เพียงว่า เจ้าครอกทองอยู่เป็นเพียงข้าหลวงในที่เคยตามเสด็จเจ้าฟ้าพินวดีเท่านั้น

ใช้วิธีการที่คุณคนโคราชเสนอน่าจะง่ายกว่าแยะ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 พ.ย. 17, 08:26
ถ้าออกมาแล้วเป็นพี่น้องกันก็คงฮือฮากันมาก แต่ถ้าไม่ตรงกัน คงต้องมีคนตั้งข้อสงสัยอยู่ดีว่าในเจดีย์นี้ใช่เจ้าฟ้ากุ้งจริงหรือเปล่านะครับ

งั้นเอาหลักฐานอะไรมาระบุว่า เป็นเจดีย์เจ้าฟ้ากุ้ง?


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 พ.ย. 17, 09:10
ความเห็นเช้านี้จากคุณวิจิตร ชินาลัย เขียนมาถึงผมครับ

เรื่อง การตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ นั้นมีการออกมาพูดกันมาตั้งแต่ 2556-2557 * มาจากประเด็นว่าอัฐิเหล่านั้นใช่หรือไม่ใช่ ของพระองค์ท่าน.
( แต่ก็หาเจ้าภาพตัวจริงๆ ไม่ใด้เสียที ก็เลยยังมีการหารือกัน จนถึงทุกวันนี้ )

ผมเป็นเอกชนที่มุ่งมั่นในประเด็นเรื่องการขออนุญาตต่อทางการพม่าในฐานะเอกชนคนไทย  เพื่ออนุรักษ์สงวนรักษาพื้นที่ไว้ สำหรับเป็นอนุสรณสถานของพระองค์ท่านเอาไว้ก่อน ในภายหลังจะค้นคว้าขุดเจาะอย่างไร หรือจะ ดีเอ็นเอ ประเภทไหนก็สามารถทำได้ทุกเมื่อ ในอนาคต5-6-10 ปีข้างหน้าอาจมีเครื่องมือที่ตรวจสอบได้ง่ายๆ

ขนาดแค่ประเด็นเพียงอนุสรณสถาน ยังต้องทำๆหยุดๆ มา5ปีแล้ว และรับปากกับครูบาอาจารย์ไว้แล้วว่า จะพยายามต่อไปเพื่อจะให้เสร็จสิ้น ก่อน 22 เมษายน 2561ชึ่งเป็นวันที่ท่านจำต้องเสด็จออกจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อพศ. 2330 พร้อมกับคนไทยหลายแสนคน.

หมดเมื่อใดที่โครงการฯเสร็จ และมั่นคงดีแล้ว และ หากยังพอมีกำลังเหลืออยู่บ้าง ผมจะกลับมาร่วมด้วยช่วยกันกับพี่น้องนักวิชาการทั้งหลาย เพื่อที่นำเสนอในเรื่องการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ครับ.


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 15 พ.ย. 17, 10:50
อย่างแรกที่น่าทำคือ carbon dating อัฐิที่พบ เพราะตอนนี้อ้างอายุโดยดูจากขนาดอิฐที่ใช้ในการก่อสร้างสถูปว่าขนาดเดียวกับที่ใช้สร้างเมืองอมรปุระ ซึ่งทางกรมศิลป์เห็นว่าวิธีนี้ใช้ไม่ได้

อันที่จริง ถ้าในอิฐมีส่วนประกอบของอินทรียสารก็อาจจเอามาทำ carbon dating ด้วยนะครับ อย่างน้อยเรื่องเวลาจะได้จบไปเรื่องหนึ่ง

ตกลงมีการทำ carbon dating จากอัฐิที่พบหรือไม่ครับ
ดูอายุว่าอัฐินั้นมีอายุผ่านมากี่ปีแล้ว
ผมเห็นด้วยกับคุณ CrazyHoarse ว่าถ้าอายุอัฐิไม่อยู่ในช่วงปี พ.ศ.ที่พระเจ้าอุทุมพรสิ้นพระชนม์ก็จบข่าวเลยครับ
ไม่ต้องไปสืบหาอะไรให้ยุ่งยากอีกต่อไป


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 พ.ย. 17, 11:00
ยังไม่ได้ทำครับ แต่จะทำก็คงไม่ยากแล้ว

อันที่จริงอายุของพระอัฐิ ย่อมไม่ต่างกับอายุของสถูปที่บรรจุ ซึ่งทราบโดยอิฐก่อ นักโบราณคดีของพม่าระบุว่าเป็นอิฐรุ่นเดียวขนาดเดียวกับที่ใช้ก่อกำแพงเมืองอมรปุระ คุณปฏิพัฒน์นำมาชี้แจงในงานเสวนาของสมาคมสถาปนิกแบบลงรายละเอียด ก็อย่างว่า มีคนทั้งเชื่อและไม่่เชื่อตามเคย



กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 15 พ.ย. 17, 11:02
ยังไม่ได้ทำครับ แต่จะทำก็คงไม่ยากแล้ว

อันที่จริงอายุของพระอัฐิ ย่อมไม่ต่างกับอายุของสถูปที่บรรจุ ซึ่งทราบโดยอิฐก่อ นักโบราณคดีของพม่าระบุว่าเป็นอิฐรุ่นเดียวขนาดเดียวกับที่ใช้ก่อกำแพงเมืองอมรปุระ คุณปฏิพัฒน์นำมาชี้แจงในงานเสวนาของสมาคมสถาปนิกแบบลงรายละเอียด ก็อย่างว่า มีคนทั้งเชื่อและไม่่เชื่อตามเคย



ไม่แน่เสมอไปครับ
เพราะอาจจะมีการบูรณะสถูปแบบที่ไม่บันทึกไว้เป็นหลักฐาน
อิฐที่หยิบไปตรวจอาจจะไม่ใช่ของดั้งเดิมครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 15 พ.ย. 17, 11:40

ตัวอย่างที่อายุสองร้อยกว่าปีนี่ใช้คาร์บอนเดทติงไม่ได้ผลครับ อายุน้อยความคลาดเคลื่อนสูง


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 พ.ย. 17, 11:41
ยังไม่ได้ทำครับ แต่จะทำก็คงไม่ยากแล้ว
อันที่จริงอายุของพระอัฐิ ย่อมไม่ต่างกับอายุของสถูปที่บรรจุ ซึ่งทราบโดยอิฐก่อ นักโบราณคดีของพม่าระบุว่าเป็นอิฐรุ่นเดียวขนาดเดียวกับที่ใช้ก่อกำแพงเมืองอมรปุระ คุณปฏิพัฒน์นำมาชี้แจงในงานเสวนาของสมาคมสถาปนิกแบบลงรายละเอียด ก็อย่างว่า มีคนทั้งเชื่อและไม่่เชื่อตามเคย



ไม่แน่เสมอไปครับ
เพราะอาจจะมีการบูรณะสถูปแบบที่ไม่บันทึกไว้เป็นหลักฐาน
อิฐที่หยิบไปตรวจอาจจะไม่ใช่ของดั้งเดิมครับ

ที่ว่า อิฐที่หยิบไปตรวจ(แล้วพบว่าเป็นอิฐรุ่นเดียวกับกำแพงเมือง) ยังอาจจะไม่ใช่ของดั้งเดิม  หมายความว่า คืออาจจะมีที่เก่ากว่านั้นไปอีกหรือครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 พ.ย. 17, 11:48

ตัวอย่างที่อายุสองร้อยกว่าปีนี่ใช้คาร์บอนเดทติงไม่ได้ผลครับ อายุน้อยความคลาดเคลื่อนสูง


ความเห็นนี้ตรงกับที่ผู้ร่วมเสวนาท่านหนึ่งกล่าว


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 15 พ.ย. 17, 12:06

ที่ว่า อิฐที่หยิบไปตรวจ(แล้วพบว่าเป็นอิฐรุ่นเดียวกับกำแพงเมือง) ยังอาจจะไม่ใช่ของดั้งเดิม  หมายความว่า คืออาจจะมีที่เก่ากว่านั้นไปอีกหรือครับ

หมายถึง เราไม่มีทางทราบได้ว่าสถูปนี้เคยมีการบูรณะมาก่อนหรือไม่ อาจจะบูรระเล็กๆน้อยโดยไม่มีการบันทึกเป็นหลักฐาน
การหยิบเอาอิฐจากสถูปจึงมีโอกาสหยิบผิด
ต่างจากการนำอัฐิไปตรวจโดยตรงครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 พ.ย. 17, 12:39
ในอนาคตคงได้มีการทำทุกระบบนะครับ หวังว่า รอให้ท่านผู้มีหน้าที่ตื่นขึ้นมาก่อน


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 15 พ.ย. 17, 22:04

ผมขออธิบายขยายตวามเพิ่มเติมถึงแนวทางการตรวจสอบ DNA ที่เป็นไปได้ในกรณีนี้ครับ

1. y-DNA

     ในกระดูกที่ถูกไฟเผาบางส่วน (semi-burnt) สารพันธุกรรมในนิวเคลียสของเซลล์ยังไม่เสื่อมสภาพ
เช่น กระดูกกราม และ ฟ้น ตามที่เห็นจากภาพ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะสกัด y-DNA ออกมา

     y-DNA จะถ่ายทอดจากบิดาสู่บุตรชาย และ สืบต่อไปยังหลานชาย ไปเรื่อยๆ
ในกรณีนี้ y-DNA ของพระเจ้าบรมโกศ จะถ่ายทอดไปยังพระราชโอรส ทุกพระองค์
เข่น เจ้าฟ้ากุ้ง กรมหมื่นเทพพิพิธ พระเจ้าอุทุมพร พระเจ้าเอกทัศน์ มี y-DNA เหมือนกันทุกพระองค์
นั่นหมายถึง พระราชโอรสของเจ้าฟ้ากุุ้ง และ พระเจ้าเอกทัศน์ด้วย
หากลูกหลานสายตระกูล รัตนทัศนีย์ สืบเชื้อสายจากหม่อมก้อนแก้ว และพระเจ้าเอกทัศน์จริง
ทายาทฝ่ายชายก็จะมี y-DNA ของพระเจ้าบรมโกศ ซึ่งจะเหมือนกับ y-DNA ของพระเจ้าอุทุมพรด้วย
โอกาสผ่าเหล่ามีน้อยมากในช่วงคนไม่กี่รุ่นนี้

    อย่างไรก็ตาม y-DNA ของพระเจ้าบรมโกศ เหมือนกับ พระเจ้าท้ายสระ พระเจ้าเสือ
หรืออาจขึ้นไปถึงพระนารายณ์ และพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งก็อาจมีทายาทสายตรงหลงเหลืออยู่ด้วย
พระภิกษุเจ้าฟ้านเรนทร์ ก็จะมี y-DNA เดียวกัน แต่หลักฐานทางอ้อมชี้ไปที่พระเจ้าอุทุมพรมากกว่า

   ดังนั้น วิธี y-DNA นี้น่าจะเป็นการยืนยันพระอัฐิได้ดีในระดับหนึ่ง รวมทั้งเชื้อสายตระกูลรัตนทัศนีย์
จะได้พิสูจน์ทราบความเชื่อมโยงทางพันธุกรรมกับบรรพบุรุษด้วย

   ถ้าผลเป็นเนกาทีฟ ก็เจ๊ากันไป สรุปว่ายังยืนยันไม่ได้ทั้งสองฝ่าย อาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้
   แต่ถ้าผลเป็นโพสิทีฟ เกิดตรงกันขึ้นมา ก็เรียกว่าหานามบัตรเกือบเจอแล้ว เป็นพระเถระเจ้าชายสยามแน่นอน

2. mtDNA

     ในกระดูกที่ถูกไฟไหม้ดำ (dark burnt) สารพันธุกรรมในนิวเคลียสเสื่อมสภาพแล้ว
เหลือแต่ สารพันธุกรรมในไมโตคอนเดรีย mtDNA ที่ถ่ายทอดจากมารดาสู่บุตร ธิดา
 
      กรมหลวงอภัยนุชิตมารดาของเจ้าฟ้ากุ้ง และ กรมหลวงพิพิธมนตรีมารดาของพระเจ้าอุทุมพร เป็นพี่น้องกัน มี mtDNA เหมือนกัน
ดังนั้น เจ้าฟ้ากุ้งและเจ้าพี่น้องร่วมอุทร จึงมี mtDNA เหมือนกับพระเจ้าอุทุมพรและเจ้าพี่น้องร่วมอุทรด้วย

"เมื่อพระเจ้าตากมีชัยชนะพม่าแล้ว ตั้งพักกองทัพ อยู่ที่ในค่ายพม่า ที่โพธิ์สามต้น ขณะนั้นผู้คนและทรัพย์สมบัติ ซึ่งสุกี้มิได้ส่งไปเมืองพม่า เอารวบรวมรักษาไว้ ในค่ายแม่ทัพ มีพวกข้าราชการที่พม่าจักเอาไปไว้หลายคน คือ พระยาธิเบศร์บดี จางวางมหาดเล็ก เป็นต้น ต่างพากันมาเฝ้าถวายบังคมเจ้าตาก ทูลให้ทราบถึงที่ พระเจ้าเอกทัศสวรรคต สุกี้ให้ฝังพระบรมศพไว้ที่ในกรุงฯ และทูลว่า ยังมีเจ้านาย ซึ่งพม่าจับได้ ต้องกักขังอยู่ในค่ายนั้นหลายพระองค์ ที่เป็นพระราชธิดา ของพระเจ้าบรมโกษฐ์ คือ เจ้าฟ้าสุริยาพระองค์หนึ่ง เจ้าฟ้าพินทวดีพระองค์หนึ่ง เจ้าฟ้าจันทวดีพระองค์หนึ่ง พระองค์เจ้าฟักทองพระองค์หนึ่ง รวม 4 พระองค์ ที่เป็นชั้นหลานเธอ คือ หม่อมเจ้ามิตร ธิดาของกรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) องค์หนึ่ง หม่อมเจ้ากระจาด ธิดากรมหมื่นจิตรสุนทรองค์หนึ่ง หม่อมเจ้ามณี ธิดากรมหมื่นเสพภักดีองค์หนึ่ง หม่อมเจ้าฉิม ธิดาเจ้าฟ้าจีด องค์หนึ่ง รวม 4 องค์ เจ้านายทั้ง 8 องค์นี้ เมื่อพม่าจับได้ประชวรอยู่ จึงยังมิได้ส่งไปยัง เมืองอังวะ..."


   หม่อมเจ้าหญิงเหล่านี้ สิ้นพระชนม์ในสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งน่าจะมีหนทางสืบหาพระอัฐิได้ นอกจากพระอัฐิของเจ้าฟ้ากุ้ง
   ไม่จำเป็นต้องสืบหาทายาทสายสตรีในปัจจุบัน  
   การเทียบ mtDNA ของพระอัฐิกับอัฐิพระที่ขุดพบหากตรงกันก็จะเป็นการยืนยันนามบัตรของพระเจ้าอุทุมพรได้แน่นอน


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 พ.ย. 17, 06:50
ขอบคุณในความรู้ที่นำมาขยายครับ

ต่อไปใครที่ทราบเบาะแสที่บรรจุพระอัฐิเจ้านายไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาว่าอยู่ที่ไหน ก็คงได้เรื่อง ของเจ้าฟ้าพินทวดีน่าจะง่ายที่สุด เพราะพระองค์สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๔ พระราชทานเพลิงพระศพเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๓๔๕ ณ วัดสุวรรณาราม บางกอกน้อย ซึ่งอาจตามไปพบสถูปบรรจุพระอัฐิได้ไม่ยาก ใครบ้านอยู่แถวนั้นหากจะช่วยสำรวจแล้วรายงานสู่กันฟังได้ก็จะเป็นพระคุณยิ่ง

ส่วนเจ้าฟ้ากุ้ง พระราชพงศาวดารกล่าวเพียงสั้นๆว่า หลังต้องพระราชอาญาสิ้นพระชนม์แล้ว ให้นำพระศพทั้งสองพระองค์ไปฝัง ณ วัดไชยวัฒนาราม ไม่ได้มีการระบุว่ามีการทำพระเจดีย์ทับไว้ที่ใด องค์ไหน ที่เชื่อว่าเป็นองค์นี้ก็เป็นการสันนิษฐานเท่าๆกับของพระเจ้าอุทุมพร ที่ลินซินกอง ซึ่งอดีตอธิบดีกรมศิลป์ไปประกาศ "ถือว่ารัฐบาลไทยไม่รับรอง" จนเป็นเรื่องนั่นแหละ ความยากจึงอยู่ที่เหตุเหล่านี้


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: srinaka ที่ 16 พ.ย. 17, 09:09
"ถือว่ารัฐบาลไทยไม่รับรอง" จนเป็นเรื่องนั่นแหละ ความยากจึงอยู่ที่เหตุเหล่านี้


ที่ต้องประกาศเช่นนั้น อาจเป็นเพราะว่า ยังไม่สามารถพิสูจน์อะไรได้ชัดเจน แต่เมื่อคณะเอกชนสามารถพิสูจน์เรื่องอัฐิได้เช่นนี้ ก็จะยิ่งมีความชอบธรรมมากขึ้นในการดำเนินการเรื่องนี้ในแผ่นดินของชาติอื่น กระแสสนับสนุนก็คงตามมาอีกมากมาย รัฐบาลก็อาจจะต้องเปลี่ยนท่าทีก็ได้

เพียงแต่ ถ้าผลออกมาว่าไม่ใช่ ก็จะยิ่งแสดงให้เห็นถึงความสุขุมรอบคอบ ของรัฐบาลเช่นกัน..


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 พ.ย. 17, 09:34
ผมมีความเห็นว่ามันด่วนเกินไปที่ตอนนั้นจะไปสรุปว่ารัฐบาลไทยไม่รับรองครับ

การเข้าร่วมในกรรมการทวิภาคีตามที่ไปตกลงกับเขาไว้ก่อน เพื่อเสาะหาข้อเท็จจริง ดูหลักฐานของเขาของเราเปรียบเทียบแล้ว ไม่เชื่อ จะออกมาแถลงอย่างนั้นก็ยังไม่สาย
นี่ยังไม่ทันดู อ้างข้อมูลเก่าๆที่ยังไม่ได้ update ของเรา แถมมีการกล่าวหาว่าไม่สุจริตอีก มันไม่ใช่ความสุขุมรอบคอบแล้ว

ทว่า เรื่องนี้ถ้าพูดผิดไปก็พูดใหม่ได้ ตอนนี้ตัวบุคคลเปลี่ยน ทัศนคติและนโยบายของกรมก็อาจเปลี่ยน หรือผู้มีอำนาจเข้าใจเรื่องแล้วสั่งลงมาให้เปลี่ยน ท่าทีก็คงเปลี่ยนให้เป็นคุณแก่ความเข้าใจอันดีระหว่างสองชาติก็ย่อมได้ครับ

แต่ฟังดูน้ำเสียงของคนทำงาน เขาคงต้องวางเรื่องทวิภาคีของรัฐไว้ สมาคมวัฒนธรรมเจ้าฟ้าดอกเดื่อและหลวงพ่อษิตากู คงผลักดันจนได้ใบอนุญาตให้ดำเนินการก่อสร้างอนุสรณ์สถานพระมหาเถระเจ้าอุดุมบาระต่อจนเสร็จ เงินทองฝ่ายเอกชนไทยก็อยู่ในบัญชีพร้อมช่วยเหลือสนับสนุนอยู่แล้ว รัฐบาลไทยจะยังคงไม่รับรองหรือเปลี่ยนท่าที ก็ไม่มีผลอะไรในเรื่องนี้

ในอนาคต ถ้ามีการเปลี่ยนท่าที ก็คงเกิดประโยชน์ในทางปรับปรุงประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะเรื่องราวของเชลยไทยกว่าสองแสนที่ถูกกวาดต้อนไปพม่า ว่าได้อยู่ได้กินสุขทุกข์อย่างไร บางทีอาจจะล้างทัศนคติที่เป็นศัตรูคู่อาฆาตกันก็ได้ เหมือนชาติต่างๆในยุโรป เขาก็เคยทำสงคราม ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ แต่เดี๋ยวนี้เขาลืมความเป็นศัตรู หันมาเป็นมิตรกันหมดแล้ว


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 พ.ย. 17, 10:22
"ถือว่ารัฐบาลไทยไม่รับรอง" จนเป็นเรื่องนั่นแหละ ความยากจึงอยู่ที่เหตุเหล่านี้


ที่ต้องประกาศเช่นนั้น อาจเป็นเพราะว่า ยังไม่สามารถพิสูจน์อะไรได้ชัดเจน แต่เมื่อคณะเอกชนสามารถพิสูจน์เรื่องอัฐิได้เช่นนี้ ก็จะยิ่งมีความชอบธรรมมากขึ้นในการดำเนินการเรื่องนี้ในแผ่นดินของชาติอื่น กระแสสนับสนุนก็คงตามมาอีกมากมาย รัฐบาลก็อาจจะต้องเปลี่ยนท่าทีก็ได้

เพียงแต่ ถ้าผลออกมาว่าไม่ใช่ ก็จะยิ่งแสดงให้เห็นถึงความสุขุมรอบคอบ ของรัฐบาลเช่นกัน..

อีกนิดเดียวครับ เพิ่งจะสังเกตุเห็น
ตอนที่อดีตอธิบดีกรมศิลปากรออกมาแถลงนั้น ก็ว่าตามหลักฐานที่พบพระอัฐิแล้ว(เห็นจากรูปถ่าย)นั่นแหละ  หลังจากนั้นทางเอกชนยังไม่พบอะไรเพิ่มขึ้นอีกเลย ไม่แน่ หากได้อนุญาตให้ขุดหาต่อก็อาจจะพบเพิ่มได้

ส่วนที่ว่า(เอกชน)มีความชอบธรรมในการดำเนินการเรื่องนี้ในแผ่นดินของชาติอื่น มากน้อยเพียงใด ผมว่ามันไม่น่าจะใช่ประเด็น
ประการแรก ที่ทำไปในครั้งแรกจนถึงขั้นพบหลักฐานนั้น ได้ทำไปในฐานะตัวแทนของรัฐบาลไทย ยังไงๆก็ชอบธรรมอยู่แล้ว
ประการที่สอง หลังจากถูกระงับ เพราะทางพม่าไม่พอใจท่าทีของรัฐบาลไทย เอกชนไทยก็ถอนตัวจากองค์กรร่วมพม่า-ไทย เปลี่ยนฐานะเป็นผู้บริจาคเท่านั้น ก็ชอบธรรมอยู่ดี


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: srinaka ที่ 16 พ.ย. 17, 11:10

ในอนาคต ถ้ามีการเปลี่ยนท่าที ก็คงเกิดประโยชน์ในทางปรับปรุงประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะเรื่องราวของเชลยไทยกว่าสองแสนที่ถูกกวาดต้อนไปพม่า ว่าได้อยู่ได้กินสุขทุกข์อย่างไร บางทีอาจจะล้างทัศนคติที่เป็นศัตรูคู่อาฆาตกันก็ได้ เหมือนชาติต่างๆในยุโรป เขาก็เคยทำสงคราม ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ แต่เดี๋ยวนี้เขาลืมความเป็นศัตรู หันมาเป็นมิตรกันหมดแล้ว

[/color]

เรื่องความเป็นศัตรูคู่สงครามที่มีมาแต่อดีตกาลนั้น ผมเห็นว่ามีแต่นักวิชาการ(บางคน) และนักเขียนนิยาม(บางคน)เท่านั้นที่นิยมนำประเด็นนี้มาใช้หาประโยชน์ เท่าที่ผมเคยไปทำงานที่พม่านานนับแรมปี แม้รัฐบาลทหารของพม่าจะมีความเข้มงวดและมีวิธีคิดแตกต่างจากบ้านเราไปบ้าง แต่ก็ไม่เคยเป็นปัญหาในการที่คนไทยและคนพม่าจะทำงานร่วมกัน เราสามารถเดินทางขึ้นเหนือลงไต้ได้เป็นปรกติ เวลาออกเยี่ยมตลาดในพม่า คนไทยก็ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดียิ่ง ไม่เคยได้พบท่าทีเหยียดหยามว่าเราเป็นผู้แพ้สงคราม มีแต่เขาจะให้เกียรติที่บ้านเราเดี๋ยวนี้ บ้านเมืองเจริญรุดหน้ากว่าบ้านเขาไปไกล คนบ้านเขาที่มาอยู่บ้านเรานั้น ก็มากกว่าเชลยไทยเราที่ว่าหลายเท่า แถมมีเงินมีทองส่งไปเลี้ยงดูพ่อแก่แม่เฒ่าที่บ้านเกิดมากมาย ก็เห็นว่าคนบ้านเขาต่างก็ชื่นชมยินดีต่อความสัมพันธ์ระดับนี้  

ส่วนเรื่องในระดับรัฐบาลนั้น ผมเห็นด้วยครับว่า ท่านทั้งหลาย ควรคิดไตร่ตรองให้ดีๆ ก่อนจะแถลงอะไรออกมา... แต่ไม่แปลกนะครับ ผู้บริหารบางสถาบัน ออกแถลงการณ์ออกมา ยังต้องรีบลบข้อความทิ้งเลยครับ วุฒิภาวะเป็นเลิศ.


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 พ.ย. 17, 11:57
เรื่องทัศนคติอันเนื่องมาจากประวัติศาสตร์นั้น คนพม่าดีกว่าคนไทยแน่ เพราะเขาไม่ได้ปลูกฝังความเคียดแค้นชิงชังระหว่างเพื่อนบ้าน แต่ก็อย่างว่าแหละ เขาเป็นฝ่ายกระทำ เราเป็นผู้ถูกกระทำ ความรู้สึกย่อมต่างกัน แต่มันถึงเวลาแล้วที่ควรจะอโหสิ จะเป็นศัตรูข้ามภพข้ามชาติกันไปถึงไหน

ผมยังจำบรรยากาศเมื่อสมัยหนุ่มๆ พม่าเปิดประเทศใหม่ๆและส่งทีมฟุตบอลมาแข่งคิงส์คัพ คนไทยโห่เขาตั้งแต่นาทีที่ลงสนาม แถมโจ๋ไทยเอาระเบิดขวดไปปาเขาด้วย อ้างว่าล้างแค้น นักฟุตบอลพม่างงไม่หาย นี่ตูเพิ่งจะโผล่จากกระดองมาเล่นบอลกะสู แล้วตูเคยไปสร้างแค้นให้สูแต่เมื่อไหร่

แต่เดี๋ยวนี้ก็ดีขึ้นมากแล้วครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: srinaka ที่ 16 พ.ย. 17, 12:53
มโนคติ และทัศนคติของอาจารย์ NAVARAT.Cนั้น ทำให้ท่านเป็นขวัญใจสาวพม่าแน่ๆเลยครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 พ.ย. 17, 07:10
ประชาชนหว่านเมตตา ประชาชาติหว่านสงคราม


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 พ.ย. 17, 12:03
แล้วกาลเวลา..ก็เริ่มกลืนทุกสรรพสิ่ง

ภาพล่าสุดถ่ายเมื่อสองสามวันที่แล้วที่ผมได้รับทางหลังไมค์ครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 พ.ย. 17, 12:07
.


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: katathorn ที่ 20 พ.ย. 17, 19:29
น่าเศร้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นโดยพวกมือไม่พายเอาเท้าราน้ำครับ ผมขอสนับสนุนและเอาใจช่วยทีมงานค้นคว้าครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 พ.ย. 17, 08:48
ขอบคุณที่อยู่ในฝ่ายเชื่อนะครับ

ผมดีใจที่ได้ทราบว่า บทความหนักๆของผมเรื่องนี้มีผู้สนใจติดตามอ่าน จนเข้าใจเจตนาและความพยายามของบุคคลผู้มีอุดมการณ์กลุ่มนี้ครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: srinaka ที่ 25 พ.ย. 17, 16:04
เมื่อคืนนี้(ศุกร์24 พ.ย.60) ตอนดึกราวๆเที่ยงคืน มีรายการสารคดีทางช่อง NOWเกี่ยวกับเรื่องการขุดพบบาตรมรกตนี้ ตื่นมาทันได้ดูแค่ตอนจบ ..ที่บอกว่าปัจจุบันรัฐบาลพม่าได้ระงับการขุดค้นแล้ว เสียดายที่ไม่ได้ดูเนื้อหาทั้งหมด
 


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 พ.ย. 17, 16:59
ใช่ครับ ณ วันนี้อยู่ที่สถานะนั้น

ภาพข้างล่างคือสภาพล่าสุดที่คนไทยไปถ่ายมาลงเน็ท


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 พ.ย. 17, 17:01
ยังดีที่สิ่งที่ทำไว้ไม่ได้ถูกใครทำลาย


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 พ.ย. 17, 17:03
สถูปองค์ที่ขุดได้บาตรบรรจุพระอัฐิ คงอยู่ในสภาพที่รอจะนำสิ่งที่นำขึ้นมา กลับคืนสู่ที่เดิม

ภาพมุมล่างขวา คือฐานของสถูปเล็กๆอีกมากที่ยังไม่มีเวลาพอจะขุดค้นหลักฐานประกอบ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: srinaka ที่ 25 พ.ย. 17, 20:33
ผมหวังว่าสถานการณ์จะคลี่คลายในเร็ววันนะครับ เสียดายที่ทางฝ่ายคณะของอาจารย์ ลงทุนลงแรงไปมากแล้ว งบก็ยังเหลือ ฝ่ายที่จะได้ประโยชน์ด้านท่องเที่ยวก็คือเจ้าของพื้นที่ ทั้งๆที่ เขาก็ไมต้องลงทุนอะไรมากมาย ...
คงจะคิดได้สักวันครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 พ.ย. 17, 07:55
ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว(ของพม่า) นี่เป็นมุมมองของคนไทยที่มักจะประเมินไปทางนั้นอยู่เสมอ และก็เป็นเหตุผลข้อแรกๆของคนกรมศิลปากรที่ว่า คนพม่า (พุ่งเป้าไปที่นพ.ทินหม่องจี ผู้เขียนเรื่องสถูปพระเจ้าอุทุมพรเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนและทำให้คนไทยรู้เรื่องนี้นั้น) มั่วหลักฐานขึ้นมาเพราะต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยว

ที่น่าแปลกก็คือเวลาที่ผ่านมาเนิ่นนานจนสองสามปีนี้ คนกรมศิลป์ก็ยังอ้างเหตุผลข้อนี้ในการไม่รับรองวัตถุหลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบ ณ ตำแหน่งนั้นอีก

ผมอยากจะให้ท่านมองอีกมุมหนึ่งบ้างว่า การที่องค์การบริหารเมืองมัณฑเลย์ต้องเสียประโยชน์อันพึงจะได้จากการล้างป่าช้าลินซินกอง เพื่อให้นายทุนประมูลสร้างศูนย์รับนักท่องเที่ยวที่มาชมทัศนียภาพสะพานอูเบง แม่เหล็กของเมืองที่ดึงดูดทั้งคนพม่าและคนต่างชาติ มาชมสะพานไม้สักรื้อออกมาจากพระราชวังเมืองอมรปุระ ซึ่งยาวที่สุดในโลก วันนึงๆนับพันๆคนอยู่แล้ว กับการที่ต้องกันพื้นที่ออกไปให้เป็นเขตโบราณสถาน เพื่อสร้างอนุสรณ์สถานให้กับอดีตกษัตริย์อยุธยา แล้วยกเลิกการประมูลสร้างโครงการดังกล่าวไป อย่างไหนจะหวังเม็ดเงินเข้ากระเป๋าได้มากน้อยกว่ากัน


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 พ.ย. 17, 07:58
สะพานอูเบงอยู่ห่างจากลินซินกองนิดเดียว เดินสักสิบนาทีก็ถึง

๑ คือปลายสะพานด้านอมระปุระ
๒ เจดีย์น้อย จุดสังเกตุ
๓ ตำแหน่งอนุสรณ์สถานพระมหาเถระเจ้าอุทุมพร

(ขอบคุณเจ้าของภาพครับ ขอมาทำประโยชน์เพื่อสาธารณะหน่อย)


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 พ.ย. 17, 08:00
ตามภาพถ่ายดาวเทียมของกูเกิลเอิร์ธ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 พ.ย. 17, 08:09
ขอบอกว่าสะพานอูเบงเป็นหลักของวงจรการท่องเที่ยวที่เริ่มต้นจากที่พักแรมในตัวเมืองมัณฑเลย์ มาเที่ยวสะกาย อมรปุระ และอังวะ ก่อนกลับไปนอนพักผ่อนร่างกายที่มัณฑเลย์อย่างเดิม ตลอดเส้นทางนี้มีจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจเยอะมากทั้งด้านโบราณสถานและทัศนียภาพที่สวยงาม
ผมเกรงว่าอนุสรณ์สถานพระพระเถระเจ้าอุทุมพรคงจะมีคนไทยเท่านั้นที่สนใจจะไปเยี่ยมชม และจะต้องตัดรายการท่องเที่ยวสถานที่อื่นตามโปรแกรมมาตรฐานของทัวร์ด้วย


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 พ.ย. 17, 08:10
สุดท้ายสำหรับวันนี้ ผมขอเชิญท่านเข้าไปชมกระทู้พันทิปของป้าฟู ซึ่งลงไว้หลายปีแล้ว อยากให้อ่านเรื่องราว และชมภาพที่ตรงตามประเด็นกระทู้นี้ของผมด้วยครับ

https://2g.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E11787906/E11787906.html


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: srinaka ที่ 26 พ.ย. 17, 19:43
ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว(ของพม่า) นี่เป็นมุมมองของคนไทยที่มักจะประเมินไปทางนั้นอยู่เสมอ และก็เป็นเหตุผลข้อแรกๆของคนกรมศิลปากรที่ว่า คนพม่า (พุ่งเป้าไปที่นพ.ทินหม่องจี ผู้เขียนเรื่องสถูปพระเจ้าอุทุมพรเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนและทำให้คนไทยรู้เรื่องนี้นั้น) มั่วหลักฐานขึ้นมาเพราะต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยว

ที่น่าแปลกก็คือเวลาที่ผ่านมาเนิ่นนานจนสองสามปีนี้ คนกรมศิลป์ก็ยังอ้างเหตุผลข้อนี้ในการไม่รับรองวัตถุหลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบ ณ ตำแหน่งนั้นอีก

ผมอยากจะให้ท่านมองอีกมุมหนึ่งบ้างว่า การที่องค์การบริหารเมืองมัณฑเลย์ต้องเสียประโยชน์อันพึงจะได้จากการล้างป่าช้าลินซินกอง เพื่อให้นายทุนประมูลสร้างศูนย์รับนักท่องเที่ยวที่มาชมทัศนียภาพสะพานอูเบง แม่เหล็กของเมืองที่ดึงดูดทั้งคนพม่าและคนต่างชาติ มาชมสะพานไม้สักรื้อออกมาจากพระราชวังเมืองอมรปุระ ซึ่งยาวที่สุดในโลก วันนึงๆนับพันๆคนอยู่แล้ว กับการที่ต้องกันพื้นที่ออกไปให้เป็นเขตโบราณสถาน เพื่อสร้างอนุสรณ์สถานให้กับอดีตกษัตริย์อยุธยา แล้วยกเลิกการประมูลสร้างโครงการดังกล่าวไป อย่างไหนจะหวังเม็ดเงินเข้ากระเป๋าได้มากน้อยกว่ากัน


 ตราบใดที่ท่านไม่เปิดใจกว้างยอมรับความเห็นต่าง ความเห็นใดๆก็ไร้ค่า
 โดยวุฒิภาวะ และความนับถือ ผมขอยอมแพ้ดีกว่าครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 พ.ย. 17, 08:26
ผมหวังว่าสถานการณ์จะคลี่คลายในเร็ววันนะครับ เสียดายที่ทางฝ่ายคณะของอาจารย์ ลงทุนลงแรงไปมากแล้ว งบก็ยังเหลือ ฝ่ายที่จะได้ประโยชน์ด้านท่องเที่ยวก็คือเจ้าของพื้นที่ ทั้งๆที่ เขาก็ไมต้องลงทุนอะไรมากมาย ...
คงจะคิดได้สักวันครับ

คุณศรีนาคาครับ ผมเสียดายที่เรือนไทยไม่มีเครื่องหมายกิ๊ฟหรือไลค์ให้ความเห็นที่ถูกใจ มิฉะนั้นผมจะได้มอบให้กับความเห็นนี้ข้างบนของคุณไปแล้ว แม้ว่าผมจะมีความเห็นต่างอยู่บ้างก็ตาม

แต่อย่างนี้ครับ

ความเห็นต่างเป็นเรื่องปกติในการแสดงความเห็นในเวทีสื่อเสรีที่พบเห็นได้ทางอินเทอเน็ต ซึ่งส่วนใหญ่คนมักใช้วิธีตะแบงความคิดของตนเอง จนถึงด่าทอผู้ที่คิดเห็นไม่ตรงกับตนเอง กระทั่งเป็นเรื่องปกติ แต่ไม่ใช่ที่นี่  ในเรือนไทยนั้นถึงแม้จะมีความเห็นต่างในหลายต่อหลายกระทู้ แต่ทุกคนก็พยายามยกเหตุผลขึ้นมาหักล้างกัน ซึ่งทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยอมรับได้สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง แต่ถึงแม้จะไม่มีใครยอมรับใคร ก็ไม่เป็นไร คงค้างไว้ให้คิดกันก่อน ไม่ใช้ไม่รับฟังนะครับ นั่นน่ะรับฟังแล้ว ทว่าบางเรื่องมันก็ต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนความคิดเหมือนกัน

ความเห็นต่างบางเรื่องมันสามารถหาข้อยุติได้โดยการใช้เหตุผลมาวินิฉัย เช่นข้อพิสูจน์จากหลักฐานเชิงประจักษ์ อันมีภาพถ่าย และเอกสารอ้างอิง แต่ก็อย่างว่าแหละ บางครั้งถึงคู่กรณีย์จะยังไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน ก็ไม่เป็นไร ถือว่าผู้อ่านได้อาหารสมองไปแล้วเต็มๆ จะเชื่อใครไม่เชื่อใครก็ไปตรองเอาเอง
แต่สำหรับผมแล้ว ถ้าเห็นข้อมูลใหม่ของคนอื่นที่ผมไม่เคยทราบมาก่อน สามารถหักล้างความคิดเดิมๆของผมได้ ผมก็จะยอมรับแต่โดยดี ไม่คิดว่าเป็นเรื่องที่จะต้องหน้าแตก คนเราไม่ใช่ว่าจะต้องรู้ไปหมดถูกไปหมดซะทุกเรื่องที่ไหน แต่หากเป็นเรื่องที่ผมทราบดีอยู่จากความรู้และประสบการณ์ ผมก็ยืนหยัดถกเถียงไม่ยอมแพ้เช่นกัน ถ้าคุณติดตามอ่านข้อเขียนของผม คุณจะได้ทราบนิสัยของผมตรงนี้

ส่วนความเห็นต่างที่ใช้อารมณ์เป็นเครื่องตัดสินประเภทสีเขียวสวยกว่าสีแดง ผมจะหลีกเลี่ยงไม่เข้าร่วมวงด้วย อันนี้รวมถึงสามประการที่ทุกคนจะมีความเห็นของใครของมัน อันเป็นคำสอนของอาจารย์ท่านหนึ่งของผมที่ยังติดสมองอยู่ ท่านกล่าวว่า การเมืองหนึ่ง ศาสนาหนึ่ง และความสวยของอิสตรีหนึ่ง ไม่ควรนำถกเถียงกันหากแสวงมิตร

แต่อย่างไรก็ดี อันคำว่าประโยชน์ของการท่องเที่ยว ที่คุณเห็นว่าเป็นความเห็นต่าง แต่ผมเห็นว่าเป็นวลีที่ผมจำเป็นต้องอธิบายเพิ่มเติม เพื่อความเข้าใจอันดีของผู้ที่เข้ามาอ่าน ว่าทางการพม่าเขาไม่ได้มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องส่งเสริมการท่องเที่ยว คุณจะเห็นได้ว่าผมพยายามทำการบ้านมาอย่างดีที่สุดที่จะทำให้ผู้อ่านของผมเข้าใจประเด็นที่ผมพยายามจะสื่อ ทั้งข้อมูลและรูปภาพ ไม่ได้ใช้สำนวนโวหารแบบโต้วาทีแม้น้อย

อีกประการหนึ่ง ผมอยากให้เข้าใจว่าที่ผมเปิดกระทู้นี้ขึ้น ก็เพื่อหาโอกาสตอบคำถามแทนเพื่อนพ้องสถาปนิกนักอนุรักษ์ที่ผมรู้จักมาสี่สิบกว่าปีแล้ว จากหลายคำถามในกระทู้ “สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?” ก่อนหน้าในเวทีเดียวกันนี้ เพราะฉะนั้นอะไรที่เป็นประเด็นให้ผมชี้แจงได้ ผมจะหยิบยกขึ้นมาหมด

แม้ตัวผมเองจะมีความเข้มข้นในวิถีนี้น้อยกว่าหลายคนในกลุ่มนี้มาก แต่ก็ประจักษ์แจ้งว่า การที่พวกเขาอุทิศตนเป็นจิตอาสาทำงานอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมในนามของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ไม่ได้เป็นเพราะอะไรในความหมายของคำว่าผลประโยชน์เลยแม้น้อย ไม่ว่าจะเพื่อตนเองหรือเพื่อใคร ไม่เคยขอเงินสนับสนุนNGOของรัฐบาลหรือองค์กรต่างประเทศ ผลงานที่ผ่านมาในอดีตที่พวกเขาพยายามไปอนุรักษ์สถาปัตยกรรมทรงคุณค่าที่กรมศิลปากรไม่สนใจ(คือเขามีงานที่ต้องทำตามหน้าที่มากอยู่แล้ว อะไรที่อยู่นอกขอบเขตและงบประมาณเขาจะไม่สนใจ) ด้วยไปกระตุ้นเตือนให้หน่วยงานราชการและเอกชนผู้เป็นเจ้าของอาคารที่เก่าแก่จวนเจียนจะพังเหล่านั้นให้หันมาใช้วิธีการอนุรักษ์ แทนที่จะทุบทิ้งเอาที่ดินสร้างอาคารใหม่ และสนับสนุนกำลังใจด้วยการเสนอผลงานที่ทำได้ดี ให้ได้รับรางวัลพระราชทานจากพระหัตถ์สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ผลงานของพวกเขาเหล่านี้มีนับร้อยชิ้น ไม่ใช่เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวนะครับ แต่เป็นเพื่อรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติไว้ให้กับคนรุ่นหลัง

อนุสรณ์สถานพระมหาเถระเจ้าอุทุมพรก็เช่นกัน คราวนี้พวกเขาก้าวไกลเข้าไปในดินแดนของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อจะอนุรักษ์หลักฐานทางโบราณดคีชิ้นหนึ่ง ที่ชัดเจนว่า อดีตกษัตริย์อยุธยาผู้ไปพม่าอย่างเชลยศึก แต่ ๒๙ ปีในเพศบรรพชิตหลังจากนั้น ทรงมีชีวิตอยู่เป็นขวัญกำลังใจของคนไทยพลัดถิ่น และได้รับความเคารพสักการะจากคนพม่าตั้งแต่กษัตริย์ลงมาถึงสามัญชน ตราบจนได้เสด็จสู่พระนิพพานตามความเชื่อของอดีตศัตรูที่ปัจจุบันคือมิตร  
อนุสรณ์สถาน ณ เนินลินซิน สถานที่ตามระบุในหลักฐานว่ากษัตริย์พม่าได้พระราชทานเพลิงพระบรมศพที่นั่น จะทำให้คนไทยได้ระลึกถึงพระองค์ไปตราบนิจนิรันดร์


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 พ.ย. 17, 16:42
ข่าวตั้งแต่วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๗ แต่ผมเพิ่งเห็น

กรมศิลปากร ขุดพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณในพื้นที่เอกชนลพบุรี คาดสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สันนิษฐานเป็น"พระปีย์" และ "เจ้าพระยาวิชาเยนทร์" ที่ถูกสังหาร ในครั้งที่พระเพทราช ก่อกบฏ เมื่อปลายรัชสมัยช่วงปี พ.ศ.2231...

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 8 ต.ค. 57 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก นายแมน แสงอิ่ม อายุ 52 ปี ชาวบ้านที่อยู่บริเวณซอยพญาอนุชิต ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ว่า เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรได้มาทำการขุดสำรวจพื้นที่บริเวณพื้นที่เอกชน ตรงข้ามวัดสันเปาโล ซึ่งเป็นโบราณสถานสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่สร้างโดยบาทหลวงชาวฝรั่งเศส จึงเดินทางไปตรวจสอบ

จากการตรวจสอบ พบฐานอิฐและโครงกระดูกมนุษย์ โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นของเอกชนที่ขายต่อกันมา มีเนื้อที่ประมาณ 2 งาน เจ้าหน้าที่กรมศิลปกรที่ 4 โดยนายจารึก วิไลแก้ว ผู้อำนวยการสำนักศิลปกรที่ 4 ทำการขุดสำรวจ เมื่อประมาณกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และทำการขุดพบซากฐานอิฐ โดยสันนิษฐานว่า เป็นฐานโบสถ์คริสเตียน นอกจากนี้แล้ว เมื่อขุดลงไปประมาณ 1.50 เมตร ก็พบโครงกระดูกมนุษย์ ที่ไม่มีกะโหลกศีรษะ และจากโครงกระดูกที่พบมีร่องรอยกระดูกหน้าแข้งหัก และโครงกระดูกจะเป็นมนุษย์ ที่มีความสูงไม่เกิน 140 เซนติเมตร รอบๆ จะมีหม้อดิน ถ้วยชาม และที่นิ้วมือมีแหวนที่ทำจากหิน และอีก 1 โครงกระดูกอยู่ห่างกันประมาณ 5 เมตร ก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน แต่โครงกระดูกนี้จะเป็นมนุษย์สูงใหญ่ อายุของโครงกระดูกทั้ง 2 น่าจะมีอายุราว 300 กว่าปี

นายจารึก กล่าวว่า จากการตรวจสอบตามพงศาวดาร มีความเป็นไปได้ว่า โครงกระดูกที่พบ โครงแรกที่เป็นมนุษย์มีความสูงไม่เกิน 140 เซนติเมตร สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระปีย์ ซึ่งเป็นโอรสบุญธรรมของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ถูกผลักตกจากที่สูง และถูกประหารโดยการตัดศีรษะ โดยสมเด็จพระนารายณ์ทรงเรียกว่า "ไอ้เตี้ย" และอีกโครงกระดูก น่าจะเป็น เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ หรือ คอนสแตนติน ฟอลคอน ที่ถูกตีด้วยท่อนจันทร์ บริเวณประตูวังนารายณ์ และประหารด้วยการตัดศีรษะ ซึ่งในสมัยนั้นประมาณปี 2231 ที่พระเพทราชก่อกบฏ ทำให้มีการประหารชีวิต ข้าราชการชั้นสูง รวมทั้งมีนโยบายต่อต้านชาวต่างชาติ และที่โบสถ์แห่งนี้ก็เป็นของผรั่งเศส ผู้ที่ถูกประหารทั้ง 2 คน เป็นเจ้านายระดับสูง จึงมีการนำศพมาฝังไว้ในโบสถ์ดังกล่าว รวมทั้งพระปีย์ก็ได้เข้ารีตเป็นคริสเตียนอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การขุดค้นพบโครงกระดูกในครั้งนี้ก็นับว่า มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ที่พระราชทานพื้นที่ตรงที่พบโครงกระดูกให้ทำการก่อสร้างวัดในคริสต์ศาสนาของฝรั่งเศส และหอดูดาวอีกด้วย.

อ่านข่าวต่อได้ที่

: https://www.thairath.co.th/content/455419

ไม่ทราบว่ากรมศิลปากรได้รับรองโครงกระดูกที่ไม่มีนามบัตรนี้ว่าเป็นของผู้ใดตามคำสันนิษฐานหรือเปล่า


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 พ.ย. 17, 17:04
ปล. ข้อมูลตามประวัติศาสตร์กล่าวว่า เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ถูกนำไปประหารชีวิตที่วัดซาก(ทราก) ใกล้ทะเลชุบศร เนื่องจากไม่ได้เป็นเจ้า จึงไม่ได้โดนทุบด้วยท่อนจันทน์ดังว่า แต่คงโดนทรมานทรกรรมเพียบก่อนตายตามสำนวนที่ฝรั่งเขียน  ส่วนพระปีย์ถูกผลักตกจากระเบียงพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ในคืนวันที่สมเด็จพระนารายน์สวรรคต แม้มีระบุว่าถูกนำไปประหารที่วัดโคก แต่ประวัติศาสตร์บางสำนวนกล่าวว่าพอถูกผลักจากระเบียงพระปีย์ก็ร้องว่าทูลกระหม่อมแก้วช่วยด้วย ครั้นถึงไปถึงพื้นก็โดนฆ่าปิดปากเสียในบัดดลนั้นเอง

มีข้อสันนิษฐานอีกว่า ทั้งสองร่างได้ถูกผู้จงรักภักดีลอบขุดมาฝังที่โบสถ์คริตส์ อันเป็นที่พบโครงกระดูกทั้งสองร่างดังกล่าว ถ้งงั้นก็มีคำถามจากผมอีกว่า เวลาที่ผ่านมาตั้ง ๓ ปีนี้ กรมศิลปากรได้มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ใดบ้างไหม อย่างน้อยก็เพื่อยืนยันว่า โครงที่บอกว่าร่างใหญ่นั้นเป็นกระดูกของชาวยุโรป ส่วนร่างเล็ก มีสภาพพิการ และเป็นกระดูกคนไทย


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 27 พ.ย. 17, 19:20

ถ้าโครงกระดูกพระปีย์สวมแหวนหินได้
กรมศิลป์ก็แต่งนิทานได้ไม่จำกัดแล้วครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 28 พ.ย. 17, 11:29
ผมมาเดาอีกแล้วครับ ครั้งนี้ ผมเดาว่า ก็ไม่มีหลักฐานใดมายืนยันหรอกครับ เรื่องนี้ก็เทาๆ คือ ไม่ 100% เช่นกัน

แต่สิ่งที่แตกต่างคือ เรื่องนี้เกิดขึ้นในประเทศเราเองครับ การชูโรงว่า ใช่แล้ว ใช่แน่ๆเลย ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นในประเทศไทยครับ ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ด้านไหนก็ตามที่อาจเกิดขึ้น ก็จะส่งผลดีแก่ชุมชนหรือแก่ประเทศไทยทั้งสิ้น เช่น หากจะมองด้านการท่องเที่ยว หากที่นั่นขายได้ในฐานะ Historical site รายได้ที่เกิดขึ้นก็ย่อมเป็นเป็นรายใด้ให้กับ อบต. หรือ ให้กับชุมชนตรงจุดนั้นนั่นเองครับ

เพราะฉะนั้น ถ้าจะอุปมา ครั้งนี้ อบต.ทะเลชุบศร จะแสดงท่าทีเหมือนเป็นเทศบาลเมืองมัณฑะเลย์ ที่เชื่อไปแล้วว่าใช่ และอยากให้มีหน่วยงานระดับชาติ หรือนานาชาติมาให้การรับรองว่าใช่ และหากผมจะสมมุติเรื่องราวต่อไปว่า หากนายก อบต.ทะเลชุบศรหรือกรมศิลปากรไทย ติดต่อไปยังรัฐบาลประเทศกรีซ (ใช่ไหมครับ ออกญาฟอลคอน ท่านเป็นชาวกรีกหรือเปล่าครับ) ให้ส่งผู้เชี่ยวชาญ หรืออะไรต่อมิอะไรมา เพื่อศึกษาร่วมกัน หรือเพื่อบูรณะ หรืออะไรก็ตาม ท่าทีของรัฐบาลกรีซก็คงแสดงท่าทีเหมือนรัฐบาลไทยในเรื่องที่แล้ว นั่นคือจะขอดูนามบัตรเช่นกันครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 พ.ย. 17, 11:45
ร่วม ๓ ปีมาแล้ว หาข่าวภาคสองไม่มีเลย สงสัยจะฝ่อไปเรียบร้อยละครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: ศุศศิ ที่ 30 พ.ย. 17, 11:18
ความจริงตามประวัติศาสตร์ กลายเป้นขึ้นกับว่าใครได้ประโยชนืแล้วหรือ
เหมือนวัดบางแห่งที่นครเชื่อจริงจังว่าเป็นสถานที่พระเจ้าตากหนีมาผนวช


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 30 พ.ย. 17, 17:58
ผมมีหนังสือโยเดียกับราชวงศ์พม่า ของคุณมิคกี้ ฮาร์ท มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อยู่บ้าง ขออนุญาตลงไว้เพื่อการศึกษานะครับ เป็นฉบับพิมพ์ครั้งแรก ไม่ทราบว่ามีการปรับปรุงเนื้อหาในการพิมพ์ครั้งหลังๆหรือไม่


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 30 พ.ย. 17, 23:35
นั้นเตวั้งรุปซุงประบุท เขียนขึ้นในยุคไหน?

เรื่องนี้อาจจะอธิบายได้ว่าทำไมถึงมีรูปและพระนามพระเจ้าเอกทัศมาสวมประวัติของพระเจ้าอุทุมพร

ผมคิดว่าคนเขียนไม่รู้จักพระเจ้าอุทุมพรและพระเจ้าเอกทัศ ไม่อย่างนั้นต้องไม่ผิดร้ายแรงขนาดนี้

คุณมิคกี้ว่าเจ้าราชจอว์เทงเขียนขึ้นในรัชกาลเจ้าชายเมงราย แค่เปิดประเด็นมาก็มึนงงแล้วครับ เจ้าชายเมงรายคือใคร? กษัตริย์พม่าพระองค์ใดคือเจ้าชายเมงราย หรือถ้าเจ้าราชจอว์เทงจะรับราชการอยู่กับเชื้อพระวงศ์พระนามเจ้าชายเมงรายแล้วทำไมถึงเรียกว่ารัชกาล?

พอมีดูปีที่เจ้าราชจอว์เมงสิ้นพระชนม์ คุณมิคกี้ว่าเป็นปี พ.ศ.2436 ในรัชกาลพระเจ้ามินดุง ยิ่งมึนหนักเข้าไปอีก เพราะพระเจ้ามินดงครองราชย์ พ.ศ.2396-2421 อีกทั้งปี พ.ศ.2436 พม่าก็สิ้นกษัตริย์ไปเรียบร้อยแล้วด้วย ดังนั้นตัวเลขนี้ต้องผิดแน่ แต่ผมหวังว่าข้อมูลเรื่องสิ้นพระชนม์ในรัชกาลพระเจ้ามินดงเป็นเรื่องถูกต้อง ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นก็พอจะกำหนดช่วงเวลาให้แคบลงได้

ที่แน่ๆ เมื่อบันทึกนี้กล่าวถึงการปลงพระบรมศพพระเจ้าเอกทัศ (หรือพระเจ้าอุทุมพรก็ตาม) ซึ่งมีข้อมูล (ที่เชื่อได้หรือไม่?) ว่าเป็นปี 2339 แสดงว่าปีที่บันทึกนี้ถูกเขียนขึ้นต้องอยู่หลังปีนั้น แสดงว่าจะต้องอยู่ระหว่างปี 2339-2421

ยังกว้างมากอยู่นะครับ แต่ก็พอกำหนดได้ว่าต้องอยู่ในรัชกาลใดรัชกาลหนึ่งต่อไปนี้
- พระเจ้าปดุง
- พระเจ้าจักกายแมง
- พระเจ้าแสรกแมง
- พระเจ้าพุกามแมง
- พระเจ้ามินดง

ถ้ายึดตามคุณมิคกี้ว่าเจ้าราชจอว์เทงสิ้นพระชนม์ในรัชกาลพระเจ้ามินดุง โดยยังมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีอยู่ แสดงว่าเวลานั้นน่าจะยังมีพระชนม์ไม่มากจนเกินจะทรงงานไหว สำหรับคนสมัยนั้นเต็มที่ก็คงสัก 70 ชันษา(?)

มีโอกาสไม่น้อยที่เจ้าราชจอว์เทงไม่รู้จักกับพระเถระพระเจ้าอุทุมพรนะครับ เมื่อไม่รู้จัก ดังนั้นเจ้าราชจอว์เทงต้องเขียนเรื่องนี้จากข้อมูลที่มีอยู่ในเอกสารเก่า เพียงแต่ปะติดปะต่อผิดพลาดครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ธ.ค. 17, 08:26
อ้างถึง
คุณมิคกี้ว่าเจ้าราชจอว์เทงเขียนขึ้นในรัชกาลเจ้าชายเมงราย แค่เปิดประเด็นมาก็มึนงงแล้วครับ เจ้าชายเมงรายคือใคร? กษัตริย์พม่าพระองค์ใดคือเจ้าชายเมงราย หรือถ้าเจ้าราชจอว์เทงจะรับราชการอยู่กับเชื้อพระวงศ์พระนามเจ้าชายเมงรายแล้วทำไมถึงเรียกว่ารัชกาล?

พอมีดูปีที่เจ้าราชจอว์เมงสิ้นพระชนม์ คุณมิคกี้ว่าเป็นปี พ.ศ.2436 ในรัชกาลพระเจ้ามินดุง ยิ่งมึนหนักเข้าไปอีก เพราะพระเจ้ามินดงครองราชย์ พ.ศ.2396-2421 อีกทั้งปี พ.ศ.2436 พม่าก็สิ้นกษัตริย์ไปเรียบร้อยแล้วด้วย ดังนั้นตัวเลขนี้ต้องผิดแน่ แต่ผมหวังว่าข้อมูลเรื่องสิ้นพระชนม์ในรัชกาลพระเจ้ามินดงเป็นเรื่องถูกต้อง ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นก็พอจะกำหนดช่วงเวลาให้แคบลงได้

ผมคงตอบคำถามข้างบนของคุณม้าเองไม่ได้ แต่สาระในเรื่องนี้ตามที่ผมได้เขียนไว้แล้วมีดังนี้

หลักฐานอีกชิ้นหนึ่งที่สำคัญยิ่ง ซึ่งผมเกริ่นไว้ตั้งแต่ต้นกระทู้แล้วก็คือ  สมุดแผ่นพับกระดาษสาที่ฝรั่งเรียกว่าพาราไบ้ก์ (Parabike) พม่าเรียก “เตวั้งรุปซุงประบุท” แปลว่า เอกสารการบันทึกของราชสำนัก มีภาพเขียนประกอบ  เล่มที่กล่าวถึงกษัตริย์โยเดียบันทึกโดยราชเลขาจอว์เทง  ซึ่งเป็นพระราชปนัดดาของ พระเจ้าปดุง เจ้าจอว์เทงมีตำแหน่งเจ้ากรมหอพระสมุด  สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ.๒๔๑๗ อันเป็นรัชกาลของพระเจ้ามินดง
(ความคิดเห็นที่ ๘๖)

อักษรพม่าที่จารึกไว้ แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า
The third founder of Ratanapura  and Lord of the White Elephant, fought and won Ayodaya, together with the King.
The King was brought here. During the reign of his brother , the founder of Amarapura, the King while in monkhood, died at Amarapura. At Linzin-gon cemetery, he was entombed/cremated with great honor entitled to a monarch.
This is the image of Chaofa Ekadath

ถอดความเป็นภาษาไทยอีกที สำนวนตรงไปตรงมาได้ความดังนี้
พระผู้ทรงสถาปนารัตนปุระ(อังวะ) ผู้ทรงเป็นพระเจ้าช้างเผือก(หมายถึงพระเจ้ามังระ) ทรงรบชนะอโยธยาและกษัตริย์
กษัตริย์ได้ถูกนำมาที่นี่   ระหว่างรัชกาลของพระราชอนุชา(หมายถึงพระเจ้าปดุง) กษัตริย์ซึงทรงอยู่ในสมณเพศได้เสด็จสวรรคตในอมรปุระ  ที่ลินซิงกอง พระสรีระของพระองค์ได้รับการถวายพระเพลิงและบรรจุพระสถูปอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติในฐานะทรงเป็นกษัตริย์
นี่เป็นภาพของเจ้าฟ้าเอกทัศน์

ประโยคสุดท้ายนี้อธิบายภาพของบุรุษผู้แต่งกายแบบฆราวาสสวมชฎา ซึ่งมิได้เกี่ยวข้องกับเรื่องที่บรรยายในหน้าเดียวกันโดยตรง อาจจะต้องการประกอบความในหน้าอื่น

เรื่องของเรื่องที่มาที่ไปคือ ในปีพ.ศ.๒๔๒๘  พม่าเสียเอกราชให้แก่อังกฤษในรัชกาลพระเจ้าสีป่อ ทหารอังกฤษได้เข้าปล้นเอาสิ่งของต่างๆในพระราชวังมัณฑะเลย์ รวมถึงทรัพย์สมบัติในท้องพระคลังของราชวงศ์คองบองไปจนหมด  แม้กระทั่งเตวั้งรุปซุงประบุทก็ยังถูกขนไปจากหอพระสมุดที่เรียกว่าวังแก้ว แล้วนำไปเก็บไว้ที่ British Commonwealth Library, London ดังว่า  เตวั้งรุปซุงประบุท หรือ parabike ที่มีข้อความข้างบนนี้ เป็นเอกสารชิ้น ที่ ๙๙  Serial Number หมายเลข  ๒๘๘

(ความคิดเห็นที่ ๘๘)

สุสานลินซินกอง ที่นักประวัติศาสตร์ไทยรู้จัก แต่ไพล่ไปเรียกว่าสุสานล้านช้างนั้น เพราะคนพม่าเองก็ยังไม่ทราบความหมายที่แท้จริงของชื่อนี้ ซึ่งหากแปลตรงตัวก็มีความหมายว่าหอสูง จึงอาจจะให้ข้อมูลที่ผิดแล้วยังเกิดการเดาซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจผิด  ความจริงนักประวัติศาสตร์พม่าทราบแต่เพียงว่า ในอดีตเป็นสุสานสาหรับชนชันสูงที่เป็นชาวต่างชาติเท่านั้น  

เมื่อความสำคัญของ parabike มีถึงเช่นนี้ หากจะเชื่อข้อมูลฝ่ายพม่าเพียงอย่างเดียวอาจมีปัญหาหากเอกสารดังกล่าวไม่มีอยู่จริง เพื่อความรอบคอบ วิจิตรจึงได้ขอให้คนรู้จักที่อยู่ในลอนดอนช่วยไปติดตามดู และยืนยันกลับมาให้ทราบด้วย

หลังจากใช้ระยะเวลาอันยาวนานและอดทน เนื่องจากในครั้งแรกเจ้าหน้าที่หาเอกสารนั้นไม่พบ สุดท้ายได้คุณเพลิน นักศึกษาที่นั่น สามารถสืบได้ตัวภัณฑารักษ์ซึ่งเป็นคนพม่าชื่อ ซาน ซาน เมย์ ผู้ค้นพบเอกสารนั้นและนำออกมาให้ ดร.ทิน หม่อง จี ดูเมื่อหลายปีที่แล้ว เธอได้กล่าวว่าเอกสารชิ้นนั้นได้ถูกย้ายที่เก็บไปอยู่ห้องอินเดีย และหมายเลขที่ถูกต้องก็คือ OMS/Mss Burmese 199 หน้า 48

คุณเพลินได้พยายามขอให้ ซาน ซาน เมย์ เป็นผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษให้ แต่เธอทำไม่ใด้ เนื่องจากมีระเบียบบังคับอยู่ แต่ได้อ่านที่สำคัญให้ฟังโดยสรุปว่ากษัตริย์ไทยพระองค์นี้ได้มาอยู่เมืองพม่า มีพิธีพระบรมศพที่ยิ่งใหญ่ ที่บรรจุพระบรมศพอยู่ที่ Linzhin Amarapura

เป็นอันว่าหายใจโล่งอกไปได้เปลาะหนึ่ง ในอนาคตหากรัฐบาลไทยให้ความสำคัญและเป็นผู้ติดต่อดำเนินการขอหลักฐานนี้พร้อมคำแปลอย่างเป็นทางการ ก็คงไม่เหลือวิสัย

(ความคิดเห็นที่ ๘๙)


หมายเหตุเพิ่มเติม ผมมาทราบภายหลังช่วงปลายๆของกระทู้นี้ เมื่อดูคลิ๊ปที่คุณดำรง ใคร่ครวญ อดีตรองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศพูดออกสื่อ (ความคิดเห็นที่ ๒๘๗ ) ว่าช่วงนั้น ท่านได้สั่งการให้สถานทูตไทยในลอนดอนไปถ่ายสำเนาส่งมาให้กระทรวงแล้ว ท่านจึงเชื่อว่าประเด็นที่ว่านี้มีมูล จึงประสานกับกระทรวงวัฒนธรรมให้ดำเนินการ แต่เมื่อท่านย้ายไปเป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์แล้ว เรื่องนี้ก็ไม่มีการดำเนินการสืบทอดต่อ

แม้ว่าในเตวั้งรุปซุงประบุทหรือพาราไบ้ก์จะบันทึกหลักฐานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ว่า  มีกษัตริย์ไทยในสมณเพศสวรรคตที่อมรปุระ และได้รับการปลงพระบรมศพอย่างสมพระเกียรติที่ลินซินกองก็จริงอยู่ แต่ก็ยังมีผู้เชี่ยวชาญของพม่าแสดงความกังขา เพราะผู้บันทึกได้บันทึกในรัชกาลหลังต่อมาหลายสิบปี  เพราะหากวิเคราะห์ตามหลักฐานอื่นแล้ว ในรัชกาลของพระเจ้าปดุง หรือในสมัยที่พระเจ้าอุทุมพรยังมีพระชนม์ชีพอยู่นั้น  บริเวณที่เรียกว่าลินซินกองยังไม่ได้เป็นที่ฝังศพ ที่ดินอันมีที่ตั้งสวยงามนี้อาจจะเป็นอุทยานหลวงด้วยซ้ำ  แต่สุสานได้เกิดขึ้นหลังจากพระเจ้ามินดงราชธานีย้ายราชธานีไปอยู่มัณฑะเลย์แล้ว

มีผู้วิเคราะห์ลึกลงไปถึงพิธีปลงศพและพระศพตามประเพณีวัฒนธรรมของชาวโยเดียซึ่งพบว่า จะกระทำฌาปนกิจและนำอัฐิไปบรรจุไว้ในสถูปที่นิยมสร้างไว้ในวัด  ดังนั้น จึงสันนิษฐานว่า อาณาบริเวณที่สถูปใหญ่น้อยทั้งหลายกระจุกตัวอยู่ และได้ถูกค้นพบในครั้งนี้นั้น  น่าจะเป็นวัดหลวงที่เกี่ยวข้องกับราชนิกูลอยุธยา ก่อนที่วัดจะร้างไปและถูกนำพื้นที่มาใช้เป็นสุสานของผู้มีสกุลสูงชาวต่างชาติก่อน แล้วพวกคริสต์จะกระทำตาม ต่อด้วยพวกมุสลิม พม่าและจีนในที่สุด

เรื่องนี้มีอรรถาธิบายว่า จากที่พระราชพงศาวดารพม่าฉบับคองบองระบุไว้ ในปีพ.ศ.๒๓๓๖ เมื่อพระเจ้าบะจีดอว์(หรือคนไทยเรียกพระเจ้าจักกาย(สะกาย)แมง)ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าปะดุง พระองค์ถวายพระสุพรรณบัตรให้แก่พระสงฆ์ผู้ใหญ่ในราชอาณาจักรอมรปุระหลายรูป  หนึ่งในนั้นมีเจ้าอาวาสวัดโยเดีย นามว่าพระติสรณะ ได้ฉายาใหม่ว่า พระเถระ นรินทะชะมหาธรรมราชาคุรุ  วัดโยเดียอยู่ในลำดับต่อจากวัดตองเลยลุง ซึ่งปัจจุบันตั้ง อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของสุสานลินซินกอง ห่างไปประมาณ ๓๐๐ เมตร การที่วัดโยเดียอยู่ในลำดับต่อจากวัดต่องเลยลุง แสดงว่า วัดทั้งสองน่าจะอยู่ใกล้เคียงในบริเวณเดียวกัน  

ทุกวันนี้ไม่มีวัดที่ชื่อวัดโยเดียอยู่แล้ว และไม่มีโบราณสถานแห่งอื่นในบริเวณใกล้เคียงที่พออนุมานได้ว่าจะเป็นวัดร้าง  นอกจากกลุ่มโบราณสถานที่ค้นพบใหม่ในสุสานลินซินกอง อันปรากฏกำแพงแก้วล้อมรอบพระเจดีย์องค์ใหญ่ แสดงว่าในอดีตต้องเป็นวัด  และยังพบส่วนฐานที่เป็นพื้นของอาคารขนาดใหญ่ ในลักษณะของวิหาร และทรากอาคารเสนาสนะอีกหลายรายการ  จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าโบราณสถานเหล่านั้นจะเป็นวัดโยเดียที่สูญหาย

อนึ่ง จากการวิเคราะห์ขนาดของอิฐที่ใช้ในการก่อสร้างที่พบในพื้นที่โครงการฯแล้ว พิสูจน์ได้ว่า วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยเดียวกันกับพระราชวังอมรปุระ หลังย้ายมาจากกรุงอังวะ  ช่วงเวลาเดียวกันกับที่พระเจ้าอุทุมพรเสด็จมาประทับอยู่ ณ เมืองอมรปุระ  จึงอาจจะเป็นไปได้ว่า วัดนี้สร้างขึ้นเป็นที่จำพรรษาสำหรับพระเจ้าอุทุมพรโดยเฉพาะ  และเมื่อพระองค์เสด็จสรรคตแล้ว เจ้านายโยเดียรุ่นหลังๆจึงนำพระอัฐิอังคารของบรรพชนมาสร้างสถูปบรรจุไว้ตามๆกันมา

เมื่อพระเจ้ามินดงทรงย้ายเมืองหลวงจากอมรปุระไปอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์อีกครั้ง เจ้านายชาวโยเดียก็จำต้องทิ้งวัดนี้เพื่อตามไปอยู่มัณฑะเลย์ด้วย  แม้สถูปต่างๆยังคงอยู่ แต่หลังจากกาลเวลาผ่านไปได้ระยะหนึ่งก็กลายมาเป็นสุสานของชาวพม่าเชื้อสายอื่นที่เป็นชาวพุทธ และธรรมเนียมพม่าเองก็ถือว่าสถานที่เก็บอัฐิคนตายนั้นเป็นสถานที่อัปมงคล เหมาะสำหรับใช้เป็นสุสาน จึงนำศพมาฝังร่วมด้วย ฉะนี้

(ความคิดเห็นที่ ๙๘)



กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: puyum ที่ 01 ธ.ค. 17, 15:26
ติดตามอยู่ครับ อยากให้สมาคมฯ ดำเดินงานต่อ เหมือนกับที่ทำงานอนุรักษ์ฯ ในประเทศครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ธ.ค. 17, 16:04
ทำอยู่ครับ งานที่ทำไปแล้วเหลือไม่ถึง ๑๕ % อย่างไรเสียก็คงต้องจบครับ จะจบในรัฐบาล(พม่าหรือไทย)ไหนเท่านั้น


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 06 ธ.ค. 17, 19:07
ขออภัยคุณ Navarat.C ครับ ผมอ่านแล้ว แต่ลืมแล้วครับ ไม่ได้กลับไปอ่านใหม่ก็เลยปล่อยไก่ฉายหนังซ้ำครับ

ประเด็นเรื่องที่ว่ารูปกับคำบรรยายระบุชื่อพระเจ้าเอกทัศผมเคยสงสัยว่าอาจจะเป็นความแยกกันกับเนื้อหาส่วนอื่น แต่ดูจากการจัดหน้าซึ่งมีรูปอยู่ข้างบน แต่คำบรรยายที่ว่าเป็นพระเจ้าเอกทัศนั้นไปอยู่ข้างล่าง บวกกับที่มีการบอกว่าเอกสารฉบับนี้เป็นการรวบรวมข้อมูลเชื้อพระวงศ์ต่างชาติในพม่า ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าทุกหน้าจะมีลักษณะคล้ายๆกันอย่างนี้ คือมีรูปจั่วหัว แล้วมีคำบรรยายอยู่ข้างล่าง แต่ก็เป็นการเดาทั้งหมดนะครับ หากอยากรู้ความจริงคงต้องไปดูเอกสารทั้งฉบับ ซึ่งถ้าไม่ได้กำหนดปีที่บันทึกไว้ก็น่าจะเดาได้ใกล้เคียงจากรายชื่ออื่นๆที่ปรากฏในเอกสารนี้

ผมอ่านเจอในหนังสือพม่าอ่านไทย (อ.สุเนตรเป็นบรรณาธิการ) มีบทความหนึ่งโดยอูหม่องหม่องทิน แปลโดย ส.หยกฟ้าและอ.สุเนตร พูดถึงชื่อเลงเซงโกง (linzin gong) ว่าแปลว่าดอนล้านช้าง ถึงแม้ว่าคำแปลจะอยู่ในวงเล็บเข้าใจว่าผู้แปลจะแปลเพิ่มเติมเอง แต่ย่อหน้าก่อนหน้าก็พูดถึง เลงเซง อมุทาน ซึ่งหมายถึงเชลยจากเวียงจัน (ล้านช้าง) เป็นความที่เชื่อมโยงกันแน่ๆ ดังนั้นที่ว่าการเรียก linzin ว่าล้านช้างเป็นเรื่องที่ฝ่ายไทยทำเองนั้นน่าสงสัยอยู่นะครับ ผมคิดว่าส่วนนี้มาจากนักวิชาการฝ่ายพม่าครับ

แต่ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไทยหรือฝ่ายพม่า ถ้าสมุดข่อยฉบับนั้นระบุว่าเลงเซงโกงเป็นที่ปลงพระศพพระเจ้าเอกทัศ(หรือพระเจ้าอุทุมพร) หากไม่ได้ระบุชื่อสถานที่ผิดพลาด เรื่องนี้ก็ต้องถือว่ามีความเป็นไปได้ครับ

ผมอยากอ่านบทความของอ.พิเศษที่เขียนลงในศิลปวัฒนธรรม อยากรู้ว่าท่านแย้งในประเด็นใดบ้าง น่าเสียดายว่าในบทความ 8 หน้า มีแต่หน้าแรกกับหน้าสุดท้ายให้อ่านได้ในเน็ต อีก 6 หน้า(ซึ่งน่าจะเป็นส่วนสำคัญ) กลับหาอ่านไม่ได้ ท่านใดมีในมือ กรุณาสงเคราะห์ด้วยครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 07 ธ.ค. 17, 00:27

ถ้าลินซินกอง แปลว่าดอนล้านช้าง ก็เป็นคนละที่กันละครับ
ที่ตรงนั้นเป็นที่ลุ่ม ไม่เป็นที่ดอน


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ธ.ค. 17, 07:26
ขอสนทนากับคุณม้าก่อน
ผมอ่านเจอในหนังสือพม่าอ่านไทย (อ.สุเนตรเป็นบรรณาธิการ) มีบทความหนึ่งโดยอูหม่องหม่องทิน แปลโดย ส.หยกฟ้าและอ.สุเนตร พูดถึงชื่อเลงเซงโกง (linzin gong) ว่าแปลว่าดอนล้านช้าง ถึงแม้ว่าคำแปลจะอยู่ในวงเล็บเข้าใจว่าผู้แปลจะแปลเพิ่มเติมเอง แต่ย่อหน้าก่อนหน้าก็พูดถึง เลงเซง อมุทาน ซึ่งหมายถึงเชลยจากเวียงจัน (ล้านช้าง) เป็นความที่เชื่อมโยงกันแน่ๆ ดังนั้นที่ว่าการเรียก linzin ว่าล้านช้างเป็นเรื่องที่ฝ่ายไทยทำเองนั้นน่าสงสัยอยู่นะครับ ผมคิดว่าส่วนนี้มาจากนักวิชาการฝ่ายพม่าครับ

แต่ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไทยหรือฝ่ายพม่า ถ้าสมุดข่อยฉบับนั้นระบุว่าเลงเซงโกงเป็นที่ปลงพระศพพระเจ้าเอกทัศ(หรือพระเจ้าอุทุมพร) หากไม่ได้ระบุชื่อสถานที่ผิดพลาด เรื่องนี้ก็ต้องถือว่ามีความเป็นไปได้ครับ

บังเอิญว่าผมมีหนังสือเล่มนั้นอยู่เช่นกัน แต่เมื่ออ่านครั้งแรกคำๆนี้ผ่านตาไปเฉยๆไม่เข้าถึงสมอง  ครั้นไปตรวจดูใหม่ พบสองที่ที่กล่าวถึงเลงเซง ในความหมายของล้านช้าง แต่ทั้งสองแห่งไม่มีตัวสะกดภาษาอังกฤษกำกับอยู่นะครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ธ.ค. 17, 07:27
.


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ธ.ค. 17, 07:33
ดังนั้นที่ว่าการเรียก linzin ว่าล้านช้างเป็นเรื่องที่ฝ่ายไทยทำเองนั้นน่าสงสัยอยู่นะครับ

ผมเคยงงกับคำที่บางคนให้ความหมายคำว่า linzin gong เป็นสุสานล้านช้าง เลยเขียนไปตามที่คุณม้าทัก ตอนนั้นก็ยังนึกว่า gong แปลว่าสุสาน กว่าจะมาหาเจอว่าน่าจะแปลว่า เนิน หรือ ดอน หรือ โคก มากกว่า เรื่องก็ดำเนินไปพอสมควรแล้ว
ที่เอะใจในเรื่องนี้ก็สืบเนื่องมาจากรายงานของสมาคมสถาปนิกสยามหน้าข้างล่าง เป็นคำถามของผู้สนใจเข้าร่วมฟังการแถลงข่าวของกรรมการเมืองอมรปุระ เรื่องที่จะร่วมกับทางการของไทย ขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อหาหลักฐานในสถูปที่คาดว่าน่าจะเป็นของพระเจ้าอุทุมพร

ท่านที่ถามคนแรกแบบไม่กลัวเด๋อ คือถามว่าลินซินนั้น จริงๆแล้วเป็นภาษาไทยหรือพม่า และแปลว่าอย่างไร แสดงว่าคนส่วนใหญ่ไม่รู้จักคำนี้  อ่านออกเสียงว่าลินซินบ้าง เลงเซงบ้าง ผมก็ไม่มีความรู้อักระวิธีที่ใข้อักษรโรมันมาสะกดคำพม่าว่าตกลงจริงๆแล้ว linzin อ่านออกเสียงในภาษาพม่าว่าอย่างไร และเขียนในภาษาพม่าว่าอย่างไร เขียนแบบ ลิน ซิน หรือลินซิน


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ธ.ค. 17, 07:52
คือความตั้งใจที่ผมพยายามจะสื่อก็คือ ไม่อยากให้ใช้คำว่า สุสานล้านช้าง เพราะมันมักจะทำความเข้าใจผิดให้แก่หลายคนที่อาจจะคิดว่า แล้วทำไมกษัตริย์ไทยจึงไปอยู่ที่สุสานล้านช้างได้ เป็นตุเป็นตะขนาดว่าสถูปยอดบัวเป็นสถาปัตยกรรมล้านช้างไปเลยทีเดียว ผมจึงใช้ทับศัพท์ว่าลินซินกอง หรือ เนินลินซิน ตามที่หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของทางการพม่ามักจะเรียกว่า Lin Zin Hill หรือ Lin Zin Hillkock


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ธ.ค. 17, 07:54
อย่างไรก็ดี คำว่า Lin Zin หรือ Linzin คงหมายถึงล้านช้างแน่นอน แต่จะหมายถึงคน หรือ ราชอาณาจักร ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง ประวัติของ หรือบุเรงนอง หาได้ในวิกกี้ก็กล่าวถึงคำๆนี้

In the 1570s, Bayinnaung launched another campaign, this time directed against the kingdom of Lan Xang (Lin Zin) in today's Laos. King Sai Setthathirath I and many residents of Vientiane (Vieng Chan) fled to the surrounding jungles where they resisted the invasion. Bayinnaung could pursue them but not fight them. So he could not establish decisive control over the land; therefore he returned to Burma.


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ธ.ค. 17, 07:55
และ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ธ.ค. 17, 08:14
ส่วนว่าทำไมปรากฏมีคำว่าลินซินกอง หรือ  Lin Zin Hill ในอมรปุระ blog ทางประวัติศาสตร์ผมค้นเจอโดยอินทรเนตรเล่าว่า พระเจ้ามังระกวาดต้อนครัวเรือนจากล้านช้างมาถึงสองครั้ง ในปี ๑๗๖๓ กับ ๑๗๖๕ และนำมาอยู่ใกล้ทะเลสาปตองตามัน ไม่ไกลจากกรุงอังวะ ที่ตรงนั้นเลยถูกเรียกว่าเนินล้านช้าง (Lin Zin Hill) นับแต่บัดนั้น ขณะดังกล่าวเมืองอมรปุระยังไม่ได้สร้าง

ส่วนในล้อมกรอบถัดมา ระบุว่าพระเจ้าอุทุมพร ในเพศบรรพชิต เสด็จสวรรคตที่หมู่บ้าน(นั้น) ในปี ๑๗๙๖ ห่างจากการขนานนามสถานที่ว่าเนินล้านช้างถึงสามสิบกว่าปี


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 07 ธ.ค. 17, 08:51

ถ้าลินซินกอง แปลว่าดอนล้านช้าง ก็เป็นคนละที่กันละครับ
ที่ตรงนั้นเป็นที่ลุ่ม ไม่เป็นที่ดอน


สถานที่ตรงนั้นอยู่หลังพุ่มไม้ริมทะเลสาปครับ คนเรียกอย่างนั้นเป็นคนแรกคงมองในภาพใหญ่ มากกว่าจะพิจารณาว่าบางปีที่น้ำท่วมใหญ่ พื้นที่บางแห่งอาจมีน้ำท่วมขังบ้าง
ถ้าในเมืองอมรปุระ(หรือในพม่า)มีตรงไหนที่เรียกว่าลินซินกองอีกค่อยน่าสงสัย


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 14 ธ.ค. 17, 23:53
ดูจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Burmese_alphabet เข้าใจว่าเสียง i ของพม่าออกเสียงคล้าย เอย์ นะครับ linzin จึงออกเสียงคล้าย เลย์งเซย์ง ซึ่งเป็นการออกเสียงคำว่าล้านช้างอย่างที่หูคนพม่าได้ยิน ซึ่งคำนี้เป็นคำโบราณที่พม่าใช้เรียกศูนย์กลางอำนาจของอาณาจักรลาวที่เวียงจันทน์ ไม่แปลกที่ชาวบ้านพม่ารุ่นใหม่จะไม่รู้จักครับ

บทความของอูหม่องหม่องทินเขียนราวปี 1984 (ต้องขออภัยถ้าจำผิดสัก 2-3 ปี เพราะผมจำตัวเลขแน่นอนไม่ได้ อ่านเมื่อหลายวันก่อน แต่เพิ่งมีเวลามาเขียนครับ) ซึ่งเป็นเวลาก่อนเรื่องวุ่นวายทั้งหมดจะเกิดขึ้น โดยส่วนตัวผมเข้าใจว่าเป็นฝ่ายนักวิชาการพม่าที่บอกว่าเลงเซงคือล้านช้างแน่

เรื่องนี้ไม่ได้ลดทอนความน่าเชื่อถือว่าเลงเซงโกงเป็นสถานที่ปลงพระศพพระเจ้าอุทุมพรแต่อย่างใดเพราะช่วงเวลาที่พระเจ้ามังระกวาดต้อนไพร่พลจากล้านช้างมาที่นี่ในปี 1763 หรือ 1765 นั้น เป็นช่วงเวลาที่ราชวงศ์โกนบ่องมายึดเชียงใหม่ เวียงจันทน์ เตรียมเปิดศึกกับอยุธยาในอีกไม่กี่ปีต่อมาครับ

แต่เรื่องที่ผมว่าน่าคิดคือ สถานะของมหาเถระพระเจ้าอุทุมพรนั้นมีความสำคัญในพม่าแค่ไหน?
อย่างแรกสุดคือ อยากรู้ว่าหน้าอื่นๆในสมุดข่อยนี้กล่าวถึงเจ้านายขาติอื่นๆอย่างไร การถวายพระเกียรติพระเจ้าอุทุมพรมีความพิเศษกว่าเจ้านายอื่นๆหรือไม่
เรื่องถัดมาคือ พม่าในยุคนั้นวุ่นวายกับเรื่องการชำระความขัดแย้งในพระพุทธศาสนาอยู่มาก ประทุกันหลายระลอกในช่องเวลา 100-200 ปี โดยปัญหา(ที่ยกมาวางไว้บนโต๊ะ ที่อยู่ใต้โต๊ะนั้นน่าจะใหญ่กว่านี้มาก) คือเรื่องห่มจีวรเปิดไหล่หรือห่มคลุม ซึ่งสมัยพระเจ้าปดุงก็มีการจัดระเบียบล้างบางองค์กรสงฆ์ในพม่าครั้งใหญ่ (อ่านได้ในมหาวงศ์) ซึ่งการจัดระเบียบนี้นำโดย พระสังฆราช (เขาเรียกมหาสังฆราชา) กับพระราชาคณะอีก 4 รูป (เรียกว่า สังฆราชา) ซึ่งดูจากชื่อแล้วน่าจะเป็นผู้นำสงฆ์ในหมู่ชนชาติต่างๆในพม่า แต่ไม่มีพระเถระโยเดียอยู่ในพระราชาคณะทั้ง 4 นี้ ถึงช่วงปลายรัชกาลจะเพิ่มสังฆราชาเป็น 8 รูปก็ยังไม่มีอยู่ดี และเวลานั้นพระเถระพระเจ้าอุทุมพรก็ละสังขารไปแล้วหลายปีครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ธ.ค. 17, 09:03
ขอบคุณคุณม้าที่เข้ามาช่วยสรุปในประเด็นของลินซินกอง ซึ่งถึงหน้านี้ก็แปลว่า เนินล้านช้าง ไม่ใช่สุสานล้านช้างแน่ เพราะเป็นที่ๆพม่านำครัวเรือนที่กวาดต้อนจากเวียงจันทน์มาลงหลักปักฐาน และไม่ได้เป็นสุสานจนเลยสมัยที่พระมหาเถระเจ้าอุทุมพรเสด็จสวรรคตไปแล้ว และพม่าเสียเมืองให้อังกฤษ
คำว่าสุสานนี้ ไม่ทราบว่าพม่าเรียกอะไร น่าจะมีคำๆนี้มาต่อหลังคำว่าลินซินกอง

ส่วนประเด็นหลังเกี่ยวกับวงการพระสงฆ์ ตรงที่คุณม้าใช้คำว่า ซึ่งดูจากชื่อแล้วน่าจะเป็นผู้นำสงฆ์ในหมู่ชนชาติต่างๆในพม่า
ผมก็ขอน่าจะบ้างแล้วกันว่า ชนชาติเหล่านั้นคงเป็นมอญ ยะไข่ ไทในรัฐฉาน ซึ่งเป็นเมืองขึ้นเกือบจะถาวรของพม่าแบบถือเป็นชนกลุ่มน้อย มากกว่าชาวโยเดียที่ยังทำสงครามกันมิทันจะขาดตอน



กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: katathorn ที่ 17 ธ.ค. 17, 06:24
อ่านบทความซ้ำไปซ้ำมาแล้วนอนไม่หลับ อยากช่วยเหลือทีมงานมาก แต่ความรู้มีจำกัด ทรัพย์ก็จำกัด เลยทำได้แค่จำลองบาตรเป็นงาน 3d ประกอบบทความไปก่อน ไว้ได้ละเอียดส่วนฝาบาตรเสร็จจะนำมาลงอีกทีครับ

(https://scontent.fbkk2-2.fna.fbcdn.net/v/t1.0-9/25299529_10212789184423007_6833216311730702523_n.jpg?_nc_eui2=v1%3AAeHHu8FRnqcAS3hpxBsuhSVdmzPPkFTKDckOQSv7P1ym2HrZbA2CwXGMApTtaiIbVmike6UGzfQEw6-XkSUB73pPvbqzfSoFt0leev1v752H5w&oh=06f5d250647b230bfadeea529cf80b45&oe=5AD343A4)


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ธ.ค. 17, 07:55
ขอบคุณในน้ำใจของคุณคฑาธรมากนะครับ ผมเชื่อว่าพวกทีมงานสร้างอนุสรณ์สถานพระมหาเถระเจ้าอุทุมพรคงจะชื่นใจ หากได้เข้ามาเห็น

เรื่องบาตรพระของพม่านี้ หลังจากที่ได้ฟังคำสัมภาษณ์ของนายเอนก อธิบดีกรมศิลปากรตอนนั้นที่พูดออกสื่อ วิจารณ์ภาชนะที่เห็นในภาพถ่ายว่า ก็เหมือนบาตรประดับกระจกธรรมดาๆ  พบเห็นได้ง่ายๆทั่วไปตามร้านขายของจำพวกนี้ในมัณฑเลย์ ผมก็พยายามใช้อินทรเนตรส่องหาดู  พบว่าบาตรพระของพม่ารูปทรงผิดจากของไทยแล็กน้อย ส่วนฝาบาตรสามารถใช้วางของได้ในลักษณะเดียวกับถาด


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ธ.ค. 17, 08:03
แต่ถ้าจะหาทั้งบาตร ฝาและเชิงบาตรเป็นชุดสวยงามแล้ว จะหาเจอในร้านเครื่องเขิน ซึ่งตกแต่งประดับประดาสำหรับใส่ของอย่างอื่น ที่ไม่ได้ใช้สำหรับออกบิณฑบาต


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ธ.ค. 17, 08:12
ผมพยายามหาที่เป็นภาชนะดินเผาประดับกระจก ก็ไม่มีเลย ถามคนในทีมงานว่าเคยเห็นในร้านที่พม่าไหม ก็ไม่มีใครเคยเห็น พวกเขาบอกว่า ฐานรองที่พบในพระสถูปนั้นเป็นพานแว่นฟ้า เพราะทำด้วยไม้จริง ประดับกระจก เป็นรูปทรง ๖ เหลี่ยม คงหาไม่ได้

พวกเครื่องเขินที่เป็นโบราณวัตถุ มีโฆษณาขายในเว็บของฝรั่งนั้น ที่มีสวยงามใกล้เคียงก็ดังในรูป แต่ก็ยังไม่เหมือนกับสิ่งที่พบ


ฉะนั้นที่นายเอนกบอกว่าพบเห็นได้ง่ายๆทั่วไปนั้น  นายเอนกคงหมายถึงของคนละประเภทกันโดยสิ้นเชิง


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ธ.ค. 17, 09:59
ศิลปวัตถุที่ใกล้เคียงสิ่งที่ขุดพบนั้น เป็นบาตร(ประดับบารมี)ของพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ของพม่าชิ่้นหนึ่ง ซึ่งเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ของวัด อยู่ในเมืองอังวะ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 18 ธ.ค. 17, 00:13
น่าสนใจครับ บาตรใบนี้ดูคล้ายกันกับบาตรที่ใส่อัฐิในเจดีย์ ผมเคยค้นรูปบาตรพม่า เห็นว่าฝาจะแบนเรียบๆอย่างบาตรพระทั่วไป บาตรในเจดีย์มีฝาที่แตกต่าง รูปนี้ถือว่าเป็นคำตอบข้อข้องใจได้ครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ธ.ค. 17, 10:08
เอาภาพบาตรที่ว่าตอนขึ้นจากกรุมาให้คุณม้าชมอีกชัดๆ สิ่งๆนี้บางคนเรียกผอบ บางคนเรียกลุ้ง หรือคนพม่าที่พอรู้ภาษาไทยอย่างคุณมิกกี้ ฮาร์ท จะพยายามเรียกว่าโกศ อยากทราบเหมือนกันภาษาพม่าเรียกว่ากระไร


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 18 ธ.ค. 17, 11:27
(https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/9/90/Bodleian_MS._Burm._a._12_Life_of_Buddha_03-12.jpg)


ภาพวาดสมัยพระเจ้ามินดง พระพุทธเจ้าทรงบาตรมรกต


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ธ.ค. 17, 11:52
คุณคนโคราชครับ ผมได้ส่งรูปนี้ไปให้คุณวิจิตร ชินาลัย หังหน้าคณะทำงาน ได้คำตอบรับมาดังนี้ครับ

ขอบคุณครับ จะส่งให้ทีมงานใด้เห็น ไม่ทราบว่าภาพนี้อยู่ทีไหนครับ....จะได้ศึกษาต่อในรายละเอียดเช่น ในคำอธิบายภาพ หากมี.


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 18 ธ.ค. 17, 12:00
สำหรับตัวผม นี่ เป็นสมุดพับภาพวาด ที่นั่งดูได้ไม่เบื่อจริงๆ ครับ

และถ้าเลื่อนภาพมาทางขวาสุด ก็จะเห็นภาพบาตรมรกตในขณะที่พระพุทธองค่ ทรงกำลังฉันภัตตาหารในบาตร อีกด้วยครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 18 ธ.ค. 17, 13:00

parabiak ตามรอยจากนี่เลยครับ

https://en.wikipedia.org/wiki/Parabaik (https://en.wikipedia.org/wiki/Parabaik)

Oxford Digital Library

[Parabeik illustrating scenes from the life of the Buddha]

Digitized Burmese picture book (parabeik). Panoramic scenes in watercolour on paper folded in concertina fashion of the life of the Buddha

Date (created) 18th century

Subject  |a Gautama Buddha |v Art (LCSH) Burma -- Social life and customs -- Pictorial works (LCSH)
Language codes bur
Other Identifier MS. Burm. a. 12 (shelfmark)

British Library
http://www.bl.uk/manuscripts/Viewer.aspx?ref=or_5757_f009r (http://www.bl.uk/manuscripts/Viewer.aspx?ref=or_5757_f009r)



กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 18 ธ.ค. 17, 13:53

แถมภาพ เจ้าจุก-เจ้าแกละ เต้น B-boying ในเมืองพม่า

http://www.bl.uk/manuscripts/Viewer.aspx?ref=or_14405_fs001r (http://www.bl.uk/manuscripts/Viewer.aspx?ref=or_14405_fs001r)


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 ธ.ค. 17, 14:14
ชัดเจน ขอบคุณครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 ธ.ค. 17, 10:42
บาตรสีเขียวบอกอะไรเราได้บ้าง
บอกว่าสร้างเพื่อพระเถระเจ้า
บาตรประดับกระจกเขียวเกี่ยวเรื่องราว
ช่วยบอกกล่าวใครเจ้าของน่าตรองดู


(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5567.0;attach=41585;image) (http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5567.0;attach=41584;image)


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 20 ธ.ค. 17, 03:50
เป็นนักเรียนที่เข้าเรียนไม่สม่ำเสมอก็ต้องอ่านรวดเดียวยันรุ่งเช้าเลย
กระทู้นี้ไม่เพียงแค่ให้ความรู้แต่เป็นเหมือนเวทีวิชาการให้ผู้รู้หลากหลายสาขามาช่วยกันคิดช่วยกันเสนอทางออกกัน นี่คือความน่าประทับใจของเรือนไทยครับ
ส่วนผมไม่มีความรู้อันใดจะร่วมวงเสวนาได้ ก็ได้แต่ชื่นชมทุกท่านครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ธ.ค. 17, 11:53
ขอบคุณทั้งสองท่านมากครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ธ.ค. 17, 08:48
เรียน มล.ชัยนิมิตร

วันนี้ผมมีโอกาสได้อ่านความคิดเห็นที่ 383 ถึง 388 ของเรือนไทย มีการกล่าวถึงภาชนะเหมือนบาตรประดับกระจกแล้ว จึงใด้กลับไปค้นรายงานที่ผูู้เชี่ยวชาญชาวพม่าทั้ง 5-6 ท่านใด้สรุปแจ้งกับรัฐบาลมัณฑะเลย์ถึงสาเหตุที่พวกเขากล้ายืนยันว่าสถานที่บริเวณแห่งนี้ ณ Linzin Hill    มีความเกี่ยวโยงโดยตรงกับพระมหาเถระเจ้าอุทุมพร ด้วยเหตุสำคัญ 7 ประการ  และเรื่องบาตรดังกล่าวนั้น มีนัยยะที่สำคัญมากอันเป็น hard evidence ประการหนึ่ง”ได้ ตามระบุใว้ในข้อ 5 และข้อ 6 ขอส่งมาเพื่อแบ่งปันกันให้ทราบว่า นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญชาวพม่าเขามีความเห็นเช่นไรเกี่ยวกับภาชนะทรงบาตรนี้

(อนึ่ง ภาชนะใดๆก็ตามที่ใช้ในการบรรจุอัฐินั้น นักวิชาการพม่า เรียกตรง ๆ ตามภาษาบาลีออกเสียงว่า โกศ ครับ ผมเองไม่แม่นเรืองบาลี อาจมาจากคำว่า"กลศะ" เพื่อนๆผู้รู้อาจช่วยกันแบ่งปันความคิดเห็นได้นะครับ )

และความเห็นดังกล่าว ซึ่งมีทั้หมด 7 ประการนี้  เป็นเหตุส่งผลให้มุขมนตรีรัฐบาลมัณฑะเลย์ ณ ขณะนั้น  ออกหนังสืออนุญาตให้สมาคมมิตรภาพพม่า-ไทย ดำเนินการอนุรักษ์และซ่อมแซมพื้นที่แห่งนี้ใว้เป็นอนุสรณ์สถานพระมหาเถระเจ้า อุทุมพรใด้ภายในเนื้อที่ 2.5 ไร่ เมื่อ 24 พฤศจิกายน 2556 ซึ่งสมาคมก็ดำเนินการไปจนเกือบเสร็จแล้ว แต่ฝ่ายไทยไม่เชื่อแถมโจมตี   รัฐบาลมัณฑะเลย์ จึงขอให้ระงับเป็นการชั่วคราวใว้ก่อนตามความทราบกันแล้ว ตั้งแต่ความเห็นที่ 151 ใน เรือนไทย.


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ธ.ค. 17, 08:49
ส่วนข้อความในข้อ 5 และ 6 ที่อ้างถึง มีดังนี้

6.  สำหรับการเรียกภาชนะนี้ว่า “พระโกศ” นักวิชาการไทยบางท่านอาจจะไม่เห็นด้วยว่า ภาชนะชิ้นนี้เป็นพระโกศ เพราะไม่เหมือนกับพระโกศไทย ในที่นี้ผู้เขียนยอมรับว่าอาจจะไม่เหมือนกับพระโกศทรงไทยเสียทีเดียว แต่ก็อธิบายได้คือ ภาษาอังกฤษเรียกภาชนะนี้ว่า Urn หรือ Relic Casket หมายความว่า ภาชนะที่ใช้เก็บอัฐิ ยกตัวอย่าง ในเมื่อครั้งประมาณปลายคริสต์ศตวรรษที่19 นักธุรกิจชาวอังกฤษท่านหนึ่งชื่อว่า Mr. W. C. Peppe ได้พบภาชนะชิ้นหนึ่งลักษณะเป็นหม้อ มีฐานสูงประมาณ ๖ นิ้ว ทำด้วยหินสบู่ (Soap stone) มีจารึกอักษรพราหมณ์ เขียนเป็นภาษาบาลี ที่หมู่บ้านปิปรวะ (Piprawa) ที่แคว้นพิหาร ทางภาคเหนือของประเทศอินเดีย นักโบราณคดีผู้เชี่ยวชาญ ณ เวลานั้น เช่น  Rhys David,  A Smith เป็นต้น อ่านแล้วก็เชื่อกันว่าเป็นภาชนะบรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์พระพุทธเจ้า ภาชนะชิ้นนี้ภาษาบาลีเรียกว่าพระโกศ (พระบรมสารีริกธาตุที่พบในพระโกศดังกล่าว บางส่วนประดิษฐานอยู่ที่พระเจดีย์ภูเขาทอง ณ เวลานี้) ดังนั้น ภาชนะบรรจุอัฐิที่สันนิษฐานว่าเป็นของพระเจ้าอุทุมพรก็เรียกได้ว่าเป็นพระโกศเหมือนกัน นอกจากพระโกศดังกล่าวแล้ว ภาชนะดินเผาที่ประดับตกแต่งด้วยกระจกสีและปิดทองลักษณะนี้ ยังมีที่พบจากการขุดแต่งบริเวณด้านนอกกำแพงแก้วของเจดีย์ประธาน ต่างกันที่ว่าไมได้เป็นทรงบาตรและไม่ได้ตั้งอยู่บนพานแว่นฟ้า หรือมีภารชนะรองรับใดๆ แต่วางไว้กับพื้นโดยตรง ต่างกันกับพระโกศบรรจุอัฐิ ที่สันนิษฐานว่าเป็นของพระเจ้าอุทุมพรที่ตั้งอยู่บนพานแว่นฟ้า หากตามจารีตประเพณีขัตติยะวงศ์ในประเทศพม่า ผู้มีสิทธิใช้พานแว่นฟ้า จะต้องเป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงหรือได้รับพระราชทานจากพระเจ้าแผ่นดินแต่เพียงเท่านั้น นอกจากกรณีนี้แล้ว ผู้ใดนำไปใช้ถือว่าผิดจารีตและกฎหมาย ดังนั้น พระโกศที่ตั้งอยู่บนพานแว่นฟ้าจึงหมายความว่าอัฐิที่บรรจุในพระโกศนั้น ต้องเป็นของพระมหากษัตริย์ หรือผู้ที่ได้รับพระราชทานจากพระมหากษัตริย์เท่านั้น แต่หากไม่มีพานแว่นฟ้ารองรับก็หมายความว่า โกศนี้บรรจุอัฐิของพระเถระผู้ใหญ่หรือเจ้านายชั้นธรรมดา


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ธ.ค. 17, 08:52
7.  โบราณวัตถุที่พบในพระโกศที่ตั้งอยู่บนพานแว่นฟ้า นอกจากอัฐิที่ผ่านการเผาไฟแล้ว ยังพบกระดุมสายรัดประคด (เข็มขัดของพระ) ทั้งหมดห่ออยู่ในผ้าจีวร จึงสันนิษฐานได้ว่าน่าจะเป็นอัฐิของพระสงฆ์ที่มีสมณะศักดิ์สูงที่ได้รับพระราชทานเครื่องประกอบสมณะศักดิ์เป็นพานแว่นฟ้าจากพระมหากษัตริย์ หรืออาจจะเป็นเจ้านายชั้นสูงที่อยู่ในสมณะเพศ อนึ่ง จากการศึกษาหลักฐานเอกสารทางประวัติศาสตร์พบว่า แม้จะมีการเชิญพระมหากษัตริย์ต่างชาติที่แพ้สงครามมาประทับที่พม่ามาโดยตลอด เช่น พระเจ้าอโนรถาเชิญเสด็จพระเจ้ามนูหะมาจากเมืองสะเทิม พระเจ้าบุเรงนองเชิญพระเมกุติกษัตริย์เชียงใหม่มาประทับที่หงสาวดีจนสิ้นพระชนม์ด้วยโรคบิดและเข้าสู่สภาพ “นัต” และได้เป็นนัตตนที่ 37 ในทำเนียบนัตหลวงของพม่า หรือตัวอย่างที่ร่วมสมัยกันก็คือพระเจ้ายะไข่ ที่พระเจ้าปดุงเขิญมาประทับที่อมรปุระและเสด็จสวรรคตที่นั่น แต่กษัตริย์ต่างชาติที่สวรรคตในสมณะเพศในพม่านั้นมีการกล่าวถึงเพียงองค์เดียว คือ พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา

มีข้อมูลอีกชุดหนึ่งซึ่งได้จากการวิเคราะห์อัฐิที่พบในโกศทางกายวิภาควิทยาของชิ้นส่วนที่เป็นกะโหลกศีรษะ (Cranial) และกระดูกกรามล่าง (Mandible) ดร. ทิน หม่อง จี นายแพทย์ชาวพม่าได้วิเคราะห์ว่าเป็นกระดูกของผู้ที่มีอายุหกสิบปีขึ้นไป ซึ่งตามการคำนวณพระชันษาของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร พระองค์ท่านมรณภาพเมื่อพระชนม์มายุได้เจ็ดสิบพรรษา ดังนั้น จึงพอที่จะสันนิษฐานได้ว่า อัฐิที่ได้พบนั้นน่าจะเป็นพระบรมอัฐิของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ธ.ค. 17, 08:52
อย่างไรก็ดี จากหลักฐานที่พบจากการปฏิบัติงานและการตีความของคณะทำงานโครงการฯ และผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีชาวพม่า ทำให้คณะทำงานโครงการอนุสรณ์สถานมหาเถระพระเจ้าอุทุมพรเห็นความสำคัญในการเก็บรักษาพื้นที่นี้ไว้ให้เป็นโบราณสถานและอุทยานประวัติศาสตร์ที่อยู่คู่เมืองอมร  ปุระต่อไป ซึ่งเป็นการรักษาสมบัติของชาติพม่า และรักษาแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ของชาวไทยในพม่าให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ และเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ที่นักศึกษาด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยา สามารถเข้ามาค้นคว้าหาข้อมูลต่อยอดไปได้ แทนที่จะถูกรื้อทำลายตามโครงการพัฒนาเมืองของเทศบาลมัณฑะเลย์ (ซึ่งคงจะดำเนินไปในช่วงเดือนสิงหาคม ๒๕๕๖ แล้ว) หากคณะทำงานโครงการฯ ไม่ได้พบหลักฐานสำคัญดังกล่าว อันจะทำให้ประวัติศาสตร์สำคัญของชาติไทยหน้านี้ถูกลืมและหายไปอย่างไม่มีวันกลับคืน

วิจิตร ชินาลัย


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ธ.ค. 17, 09:09
ดูจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Burmese_alphabet เข้าใจว่าเสียง i ของพม่าออกเสียงคล้าย เอย์ นะครับ linzin จึงออกเสียงคล้าย เลย์งเซย์ง ซึ่งเป็นการออกเสียงคำว่าล้านช้างอย่างที่หูคนพม่าได้ยิน ซึ่งคำนี้เป็นคำโบราณที่พม่าใช้เรียกศูนย์กลางอำนาจของอาณาจักรลาวที่เวียงจันทน์ ไม่แปลกที่ชาวบ้านพม่ารุ่นใหม่จะไม่รู้จักครับ

บทความของอูหม่องหม่องทินเขียนราวปี 1984 (ต้องขออภัยถ้าจำผิดสัก 2-3 ปี เพราะผมจำตัวเลขแน่นอนไม่ได้ อ่านเมื่อหลายวันก่อน แต่เพิ่งมีเวลามาเขียนครับ) ซึ่งเป็นเวลาก่อนเรื่องวุ่นวายทั้งหมดจะเกิดขึ้น โดยส่วนตัวผมเข้าใจว่าเป็นฝ่ายนักวิชาการพม่าที่บอกว่าเลงเซงคือล้านช้างแน่

เรื่องนี้ไม่ได้ลดทอนความน่าเชื่อถือว่าเลงเซงโกงเป็นสถานที่ปลงพระศพพระเจ้าอุทุมพรแต่อย่างใดเพราะช่วงเวลาที่พระเจ้ามังระกวาดต้อนไพร่พลจากล้านช้างมาที่นี่ในปี 1763 หรือ 1765 นั้น เป็นช่วงเวลาที่ราชวงศ์โกนบ่องมายึดเชียงใหม่ เวียงจันทน์ เตรียมเปิดศึกกับอยุธยาในอีกไม่กี่ปีต่อมาครับ

แต่เรื่องที่ผมว่าน่าคิดคือ สถานะของมหาเถระพระเจ้าอุทุมพรนั้นมีความสำคัญในพม่าแค่ไหน?
อย่างแรกสุดคือ อยากรู้ว่าหน้าอื่นๆในสมุดข่อยนี้กล่าวถึงเจ้านายขาติอื่นๆอย่างไร การถวายพระเกียรติพระเจ้าอุทุมพรมีความพิเศษกว่าเจ้านายอื่นๆหรือไม่
เรื่องถัดมาคือ พม่าในยุคนั้นวุ่นวายกับเรื่องการชำระความขัดแย้งในพระพุทธศาสนาอยู่มาก ประทุกันหลายระลอกในช่องเวลา 100-200 ปี โดยปัญหา(ที่ยกมาวางไว้บนโต๊ะ ที่อยู่ใต้โต๊ะนั้นน่าจะใหญ่กว่านี้มาก) คือเรื่องห่มจีวรเปิดไหล่หรือห่มคลุม ซึ่งสมัยพระเจ้าปดุงก็มีการจัดระเบียบล้างบางองค์กรสงฆ์ในพม่าครั้งใหญ่ (อ่านได้ในมหาวงศ์) ซึ่งการจัดระเบียบนี้นำโดย พระสังฆราช (เขาเรียกมหาสังฆราชา) กับพระราชาคณะอีก 4 รูป (เรียกว่า สังฆราชา) ซึ่งดูจากชื่อแล้วน่าจะเป็นผู้นำสงฆ์ในหมู่ชนชาติต่างๆในพม่า แต่ไม่มีพระเถระโยเดียอยู่ในพระราชาคณะทั้ง 4 นี้ ถึงช่วงปลายรัชกาลจะเพิ่มสังฆราชาเป็น 8 รูปก็ยังไม่มีอยู่ดี และเวลานั้นพระเถระพระเจ้าอุทุมพรก็ละสังขารไปแล้วหลายปีครับ


มีข้อมูลอย่างอื่นมาฝากคุณม้าด้วยครับ สักครู่


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ธ.ค. 17, 09:31
พระเจ้าอุทุมพรถวายเครื่องสักการะพระมหามัยมุนี

ในเวลาที่พระเจ้าอุทุมพรเมื่อทรงผนวชประทับอยู่ที่กรุงอมรปุระนั้น พระองค์ได้ทรงถวายสิ่งของเป็นพระราชอุทิศแด่พระมหามัยมุนี ที่วัดยะไข่ (อาระกัน) ในเมืองอมรปุระด้วย ดังปรากฏหลักฐานในบัญชีรายการสิ่งของพระราชอุทิศ ซึ่งพระเจ้าอุทุมพรได้ถวายแด่พระมหามัยมุนี เอกสารฉบับนี้ต้นฉบับเป็นสมุดดำเขียนด้วยเส้นดินสอขาว พบที่วัดบายาร์จี หมู่บ้านทากุดทะเนล เขตบูดาลิน ตอนเหนือของเมืองมนยวา วัดนี้ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นโดยพระสังฆราชของพม่านามว่า หม่องทาง ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๙๐-๒๓๙๒ แต่เอกสารที่พบนี้น่าจะมีความเก่าแก่กว่านั้น
 
ในภาพคือวัดบายาร์จี


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ธ.ค. 17, 09:34
เนื้อความในสมุดข่อยเป็นภาษาพม่า มีใจความว่า พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา(ซึ่งทรงผนวช)ได้ถวายสิ่งของต่างๆ แด่พระมหามัยมุนี เช่น เครื่องสูง สัปทน ฯลฯ อันเป็นหลักฐานที่สำคัญว่า หลังจากที่พระเจ้าอุทุมพรเมื่อทรงผนวช แม้พระองค์จะไปประทับที่เมืองอมรปุระแล้ว ยังได้ถวายสิ่งของเพื่อเป็นพระราชอุทศแด่พระราชมหามัยมุนีอีกด้วย



กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ธ.ค. 17, 09:38
.


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 22 ธ.ค. 17, 18:47

พระมังหละเจ้าจันทร์นรินทร์ พระราชกุมารกรุงศรีอยุธยานี่คือใครครับ  ???


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ธ.ค. 17, 20:44
น่าจะเป็นเจ้านายพระองค์หนึ่งในจำนวนนับพันที่ถูกนำไปพม่าด้วยครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 23 ธ.ค. 17, 07:48

ขอบคุณมากครับท่านอาจารย์
เป็นเอกสารที่น่าสนใจมากครับ

ผมตีความว่าเป็นบันทึกตั้งแต่สมัยอยุธยา
ก่อนราชวงศ์อลองพญา สมัยที่พระมหามุนียังอยู่ที่ยะไข่ ครับ



กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ธ.ค. 17, 08:44
ทำไมจึงตีความเช่นนั้นล่ะครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 23 ธ.ค. 17, 09:53

มีพระราชา พระอุปราช พระราชบุตร
ควรเป็นอยุธยาก่อนสมัยพระเจ้าอุทุมพรครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ธ.ค. 17, 10:37
ตอนนั้นพระราชาของกรุงศรีอยุธยาอยู่ในฐานะมิตรหรือศัตรูกับพม่าหรือครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 23 ธ.ค. 17, 11:09

ไทยไม่เคยรบกับยะไข่ครับ

ช่วงปลายอยุธยา พม่ากรุงอังวะอ่อนแอมากครับ
จนสิ้นวงศ์แล้วอลองพญาได้อำนาจ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ธ.ค. 17, 11:31
ผมก็เชื่อว่าอยุธยาไม่เคยรบกับยะไข่ และไม่คิดว่ามีความสำคัญพอที่พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาจะส่งคนไปถึงที่โน่น โดยทางบกหรือทางทะเลก็ไม่ทราบ แต่จะพ้นหูพ้นตาพม่าได้อย่างตลอดปลอดภัยอย่างไร เสี่ยงชีวิตเจ้านายพระองค์หนึ่งกับข้ารับใช้สามสี่คน เพียงเพื่อเอาของไม่กี่ชิ้นไปถวายพระพุทธรูปสำคัญเพื่อเป็นพุทธบูชา


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 23 ธ.ค. 17, 13:15

ไทยกับพม่ากลับเป็นไมตรีกันสมัยพระเจ้าปราสาททองครับ
ราชวงศ์ตองอูอ่อนแอลงเรื่อยๆสูญเสียอำนาจควบคุมมอญ
ไทยยึดมะริดเป็นเมืองท่าสำคัญนับแต่สมัยพระนารายณ์เป็นต้นมา
เส้นทางการค้ามะริด พะโค อาระกัน เบงกอล รุ่งเรือง เดินเรือได้เป็นปกติ จนถึงสมัยพระบรมโกศ
อนึ่งในบันทึกดังกล่าวพระราชบุตรเป็นผู้รวบรวมของถวาย มิได้กล่าวถึงการเสด็จฯโดยพระองค์อย่างชัดเจน ตามความเท่าที่ได้อ่านครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ม.ค. 18, 10:28
ขอโทษครับที่เพิ่งเข้ามาเห็น
 
ผมยังไม่คล้อยตามคุณคนโคราชอยู่ดี อาระกันหรือยะไข่เวลานั้นไม่ค่อยจะญาติมิตรกับพม่า เพราะพม่าเองก็จ้องพระพุทธรูปทองคำนี้ตาเป็นมัน ในที่สุดก็ปล้นเมืองเขา เอาพระมหามุนีไปจนได้ เมื่อได้ไปแล้วก็เฉลิมฉลองกันใหญ่โต (เหมือนเมื่อไทยได้พระแก้วมรกตมาจากการตีเวียงจันทน์ แล้วนำมาเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง)

อ่านข้างล่างนี้อีกทีเถิดครับว่าอะไรจะสมเหตุสมผลกว่ากัน  ระหว่างกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาที่หมายถึงพระเจ้าอุทุมพร หรือพระเจ้าปราสาททอง มีจัดของถวายให้พระมหาเถระผู้ดูแลซึ่งเป็นชาวพม่าด้วยนะครับ ถ้าพระองค์นี้ยังอยู่ในอาระกัน พระเถระพม่าจะไปเกี่ยวอะไรด้วย

แล้วพระเจ้าปราสาททองหรือจะมีพระราชศรัทธา ขนาดส่งพระราชบุตรเอาของถวายพระไปกับนายมอง นายท้วย นายกะลา ไม่มีขุนนางหรือขุนทหารไปถวายอารักขาสักคน การเดินทางไปมะริดสมัยนั้นต้องใช้เรือ จากอยุธยาเข้าแม่น้ำเพชรบุรีไปจนสุดสาย แล้วเดินเท้าข้ามเทือกเขาตะนาวศรี ถึงฝั่งโน้นก็นั่งแพ ถ่อตามลำธารไปลงเรือที่เมืองตะนาวศรี แล้วจึงจะถ่อบ้าง ใช้ใบบ้างจนถึงมะริด เปลี่ยนไปลงเรือใหญ่ของพ่อค้า ไม่แขกก็ฝรั่ง เพื่อเดินทางต่อ ในทะเลก็มีโจรสลัดมากมายกว่าจะถึงยะไข่ มันจะคุ้มค่ากับชีวิตของพระราชบุตรและพระราชทรัพย์ที่ต้องจ่ายหรือครับ สำหรับการนำของไปถวายพระแค่รายการที่พม่าบันทึก

และผมยังเดาว่าในบันทึกใบลานฉบับนั้น คงมีข้อความอื่นๆอีกมาก หากเป็นเรื่องของยักไข่แล้ว ผู้แปลชาวพม่าคงไม่นำมาสรุปความเห็นว่าเป็นพระราชกิจของพระเจ้าอุทุมพรแน่


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ม.ค. 18, 14:28
ปีใหม่ศักราชใหม่ ในวันที่ 1 มกราคม 2561 เวลา 21:21 น.  หน้าเฟซบุคของศิลปวัฒนธรรมก็ได้ปล่อยบทความเรื่อง สถูปเจ้าฟ้าอุทุมพร และลูกหลานชาวโยดะยาในพม่า “คุณหมอทิน มอง จี”  ออกมาอีกเผยแพร่ครั้งหนึ่ง


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ม.ค. 18, 14:29
บทความนี้มีที่มาจากนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ ธันวาคม 2555   โดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ แห่งมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์เป็นผู้เขียนไว้นมนานกว่าห้าปีมาแล้ว
และเฟซบุคของศิลปวัฒนธรรมเองก็เคยนำมาลงไว้ครั้งหนึ่ง เมื่อ วันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2559 ซึ่งก็เป็นช่วงหลังที่อดีตอธิบดีกรมศิลปากรได้แสดงวาทกรรมจนเสียเรื่องเสียราว เสียไมตรีกับทางราชการของพม่าไปเรียบร้อย แต่ก็ยังเอาบทความเก่านั้นมาลงไว้ทั้งดุ้น สร้างความสับสนให้กับผู้อ่านที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่มาก่อนไม่รู้ว่ากี่คน เฉพาะที่กด Like ให้ก็ ๑๗๐๐ รายเข้าไปแล้ว แต่ท่านลองดูความเห็นเหล่านี้สิครับว่า ได้สะท้อนความรู้ความเข้าใจอะไรที่คนเหล่านี้ได้ไปจากศิลปวัฒนธรรมบ้าง


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ม.ค. 18, 14:33
นั่นแสดงว่า คนในสำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรมไม่ลืมหูลืมตาหาข้อมูลใหม่ๆที่ได้ปริวรรตอยู่ตลอดเวลาที่ผ่านมา โดยกระทำตัวประหนึ่งแก้วที่มีน้ำเต็ม ไม่ยอมรับอะไรได้อีกแล้ว  หรือหาไม่ก็ในปัจจุบัน สำนักพิมพ์นี้ขาดคนที่มีคุณภาพที่จะกำกับดูแลเรื่องนี้ เพราะสภาพเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวยต่อธุรกิจ  จึงจำเป็นต้องตัดทอนทุกอย่างลง เพื่อดิ้นรนจะยืดวันดับออกไป

นี่คืออันตรายแท้จริงแห่งอนาคต เมื่อสื่อสิ่งพิมพ์ดีๆถูกสื่ออินเทอเน็ตทำลายย่อยยับไปแล้ว สิ่งที่มันจะทำลายให้สิ้นทรากต่อไปคือมันสมองของคนอ่าน มนษย์ยุคใหม่จะได้เสพย์เฉพาะเรื่องราวที่มักง่ายจากผู้เขียนไร้คุณภาพและความรับผิดชอบ ซึ่งสมัยก่อนนั้น ใครจะผ่านขึ้นเป็นนักเขียนในนิตยสารได้ก็ต้องเจอกับระบบคัดกรองหลายด่าน จนถึงสำนักพิมพ์และบรรณาธิการ ถ้าไม่ดีจริงก็ไม่มีทางเสนอผลงานออกสู่สาธารณะได้ หรือหากใครจะลงทุนพิมพ์หนังสือของตนเอง ก็ต้องลงทุนจ่ายค่าพิมพ์ไม่ใช่น้อยๆ ซึ่งก็ไม่แน่ไม่นอนว่าจะมีกำไรหรือขาดทุน  แต่สมัยนี้ ใครคันไม้คันมือมือใคร่อยากจะเขียนอะไรก็ไม่ต้องลงทุนลงแรง สามารถจิ้มก๊อกๆแก๊กๆไปแปะไว้ในเฟซที่มีคนอ่านแยะๆได้เลย เราจึงได้พบเห็นบทความกเฬวรากเยอะมาก คนก็ชอบแห่เข้าไปเม้นต์ด้วยความเมามัน ไม่ได้อะไรติดสมองออกมาเลยนอกจากโทษะและโมหะ  สังคมในอนาคตจะเป็นอย่างไรผมก็ไม่อยากจะคาดเดา


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ม.ค. 18, 14:34
เนื่อเรื่องเต็มๆ ผมก็ได้ทำระโยงไว้ให้แล้วดังนี้

https://www.silpa-mag.com/club/art-and-culture/article_5046

แต่เพื่อความสะดวกในการวิจารณ์  ผมได้ถ่ายทอดบทความนี้มาเป็นรูปภาพ ซึ่งผมจะล้อมกรอบถ้อยความบางตอนไว้ด้วยสีแดง อันเป็นเรื่องที่ศิลปวัฒนธรรมควรจะปรับปรุงให้ทันต่อเหตุการณ์ในปัจจุบัน


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ม.ค. 18, 14:37
.


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ม.ค. 18, 14:41
ที่ผ่านมา สมาคมสถาปนิกสยามได้แถลงข่าว และจัดเวทีอภิปรายไม่รู้จักกี่ครั้งแต่กี่ครั้ง คนในวงการไม่มีใครตกข่าว หรืออย่างน้อยก่อนจะนำมาลงใหม่ ผู้กำกับหน้าเฟซก็ควรจะลองเข้าไปตรวจสอบข้อมูลในเน็ตก่อน จะได้ไม่ปล่อยอะไรที่น่าจะเลิกพูดไปแล้วออกมา "หลอก" คนอ่านอีก


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ม.ค. 18, 14:42
.


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ม.ค. 18, 14:42
.


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ม.ค. 18, 14:55
ความเห็นของอาจารย์พิเศษ จันทร์เจียพงศ์ที่แสดงไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๕ ผมก็อนาถใจว่าจนถึงทุกวันนี้ยังมีการนำมาอ้างอิงกันอีก ความจริงน่าไปถามท่านใหม่ว่าท่านมีความคิดเห็นอย่างไร เปลี่ยนไปไหม กับการที่หลักฐานต่างๆได้ถูกเปิดเผยออกมามากขึ้นแล้วดังนี้ หากท่านยังยืนความเห็นเดิม ก็น่าจะจัดเวทีโบราณคดีให้ถกกับอาจารย์ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ ให้ผู้สนใจอื่นๆได้รับฟังด้วย ก็จะเป็นประโยชน์ทางวิชาการมากกว่าจะเล่นกันในสื่อคนละทีสองที


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ม.ค. 18, 14:56
.


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ม.ค. 18, 15:02
เป็นที่ทราบกันแล้วว่าสถูปทรงบัวนั้น ถึงพบว่าในเมืองไทยก็มี ไม่เฉพาะในเมืองลาว แต่ที่ลินซินกอง สถูปทรงกระบอกยอดบัวที่ว่าเป็นเพียงเครื่องหมายแสดงตำแหน่ง ส่วนอัฐิหรือพระอัฐิหรือพระบรมอัฐิที่เจออยู่ในสถูปองค์อื่นที่เพิ่งเห็นกันหลังเปิดหน้าดินแล้ว


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ม.ค. 18, 15:10
ปัญหาในปัจจุบันมิใช่ว่าโบราณสถานนี้จะถูกทุบทิ้งทำลาย เพราะเอกชนโดยสมาคมสถาปนิกสยามได้ออกกำลังสติปัญญาและกำลังทรัพย์ อนุรักษ์และปฏิสังขรณ์มาได้ถึงระดับหนึ่งแล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่อธิบดีกรมศิลปากรในอดีตให้สัมภาษณ์ดูหมิ่นข้าราชการและนักวิชาการของพม่าในโครงการนี้ไว้ ซึ่งทางราชการของพม่ายังคงรอให้ทางราชการไทยไปชี้แจงในเรื่องดังกล่าว ซึ่งบัดนี้ตัวบุคคลของทั้งสองฝ่ายได้เปลี่ยนไป น่าจะเริ่มต้นคุยกันใหม่ได้แล้ว จะได้ทำงานส่วนที่เหลืออีกประมาณ ๑๕ % ให้จบเสียที


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ม.ค. 18, 15:11
.


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ม.ค. 18, 15:11
.


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ม.ค. 18, 15:16
.


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ม.ค. 18, 15:16
ความเห็นของคุณวลัยลักษณ์ ทรงศิริ ผู้เขียนบทความตามล้อมกรอบนี้ แม้จะผ่านมาแล้วห้าปี ก็ยังใช้ได้อยู่ครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 03 ม.ค. 18, 15:25
บทความนี้มีที่มาจากนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ ธันวาคม 2555   โดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ แห่งมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์เป็นผู้เขียนไว้นมนานกว่าห้าปีมาแล้ว

บทความนี้น่าจะตีพิมพ์ในจดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ เป็นครั้งแรก

บทความเรื่อง สถูปเจ้าฟ้าอุทุมพร และลูกหลานชาวโยดะยาในพม่า “คุณหมอทิน มอง จี” โดย คุณวลัยลักษณ์ ทรงศิริ (http://lek-prapai.org/home/view.php?id=967) จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉบับที่ ๙๖ ตุลาคม-ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 03 ม.ค. 18, 16:20

ขอตอบท่านอาจารย์นวรัตน์ เรื่องของถวายพระมหามุนี เมืองยะไข่ต่อนะครับ

จากสมัยพระเจ้าปราสาททองเป็นต้นมา ไทยส่งทูตไปพม่าและยะไข่ หลายครั้งครับ
จากบันทึกของวันวลิต

พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ทำให้อาจกล่าวได้ว่าเป็นเวลาหลายศตวรรษทีเดียวที่ไม่เคยมีกษัตริย์สยามพระองค์ใดขึ้นครองบัลลังก์อย่างกล้าหาญชาญชัย มีความระแวดระวังเป็นเยี่ยมหรือมีอุบายฉลาดหลักแหลมมาก เช่นกษัตริย์พระองค์นี้ ดังนั้น นอกเหนือไปเสียจากความโหดเหี้ยม ซึ่งพระองค์แสดงให้เห็นในตอนเริ่มต้นรัชกาลของพระองค์แล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่าพระองค์ทรงมีคุณสมบัติเพียบพร้อมทุกประการที่จำเป็นสำหรับการครองราชย์ที่ดี ถึงแม้พระองค์ไม่มีฐานันดรศักดิ์ที่จะสืบราชสมบัติ พระองค์ก็มีคุณวุฒิของกษัตริย์โดยแท้จริง ฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่า ความสำเร็จที่น่ายินดีทั้งมวลทางด้านกิจการงานเมืองที่ยิ่งใหญ่นั้น เป็นผลของการปฏิบัติงานอย่างดีเยี่ยมของพระองค์ยิ่งกว่าจะเป็นเพราะโชคอำนวย

ชาวเมืองปัตตานีปฏิเสธไม่ยอมถวายความจงรักภักดี ตามที่เคยปฏิบัติต่อกษัตริย์สยามเสมอมา ดังนั้นเพื่อที่จะไม่ให้คนเหล่านี้แสวงหาพรรคพวกจากเพื่อนบ้านประเทศใกล้เคียงมาช่วยเสริมกำลังในการก่อกบฏหรือ รบกวนความสงบสุขของประเทศด้วยการสงครามกับต่างประเทศ พระองค์ จึงส่งคณะทูตสำคัญไปยังกษัตริย์แห่ง Athein และกษัตริย์แห่งยะไข่ (Arracan) ในระยะแรกที่ขึ้นครองราชย์เพื่อต่อสัญญาพันธมิตร พันธไมตรีและการติดต่อซึ่งก่อน ๆ ทรงทำไว้กับกษัตริย์ทั้งสองนี้กับได้ทำสนธิสัญญาสันติภาพกับประเทศนั้นด้วย ถึงแม้เหตุการณ์ต่อมามีทีท่าว่าสนธิสัญญานี้จะไม่ยืดยาวต่อไปถึงที่สุดก็ตาม พระเจ้าแผ่นดินก็ยังคงใช้สนธิสัญญานี้ เป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งชาวปัตตานีให้กลับมาถวายความเคารพและเชื่อฟังต่อพระองค์

ในสมัยพระเจ้าบรมโกศ บันทึกเรื่องไทยส่งทูตไปพม่าอังวะค่อนข้างละเอียด เรียกได้ว่ากลับมาค้าขายกันได้โดยสนิททีเดียว
อนึ่ง พระสังฆนายกฝ่ายขวา ฝ่ายซ้าย อรัญวาสี และคามวาสี ก็เป็นตำแหน่งเรียกแบบไทย
ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้มากกว่าที่จะเป็นของถวายโดยตรงจากอยุธยาครับ

ผมยังเดาว่าเป็นเรื่องที่บันทึกในสมัยพระเจ้าท้ายสระ หรือพระเจ้าบรมโกศมากกว่าครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ม.ค. 18, 16:46
บทความนี้มีที่มาจากนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ ธันวาคม 2555   โดย วลัยลักษณ์ ทรงศิริ แห่งมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์เป็นผู้เขียนไว้นมนานกว่าห้าปีมาแล้ว

บทความนี้น่าจะตีพิมพ์ในจดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ เป็นครั้งแรก

บทความเรื่อง สถูปเจ้าฟ้าอุทุมพร และลูกหลานชาวโยดะยาในพม่า “คุณหมอทิน มอง จี” โดย คุณวลัยลักษณ์ ทรงศิริ (http://lek-prapai.org/home/view.php?id=967) จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ฉบับที่ ๙๖ ตุลาคม-ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕

ก็เป็นไปได้เช่นกันครับว่าคุณวลัยลักษณ์จะส่งบทความเรื่องเดียวกัน ไปตีพิมพ์ในนิตยสารทั้งสองเล่ม แต่ข้อมูลข้างต้น ผมก็นำมาจากเฟซของศิลปวัฒนธรรม เรื่องเดียวกันนี้แหละ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ม.ค. 18, 17:01
ส่วนของคุณคนโคราช ความจริงถ้าจะถกกันต่อเรื่องที่คุณคัดมาก็คงเข้าซอยไปได้อีกยาว ซึ่งไม่ได้อยู่ในประเด็นที่ผมต้องการนำเสนอในหัวเรื่องนี้

ขอยืนความเห็นแต่เพียงว่า คนพม่าที่แปลหน้าจารึกในใบลานแผ่นนี้ คงจะไม่ใช่ขนาดอ่านในหน้าอื่นๆทั้งเล่มแล้วรู้ชัดว่าเป็นเรื่องของกษัตริย์อยุธยาองค์อื่น แต่ก็ยังยกเมฆดั้นด้นให้เป็นพระเจ้าอุทุมพร เพื่อวัตถุประสงค์แอบแผงอะไรก็สุดแล้วแต่

และ นายมอง นายท้วย นายกะลา ไม่ใช่ชื่อบุคคลที่ควรจะประกอบอยู่ในคณะราชทูตจากกรุงศรีอยุธยาครับ แต่เป็นชื่อของทายกที่รับใช้พระ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 04 ม.ค. 18, 13:05

เห็นด้วยครับ ถ้ามีข้อมูลเพิ่มเติมนอกจากนี้ก็จะชัดเจนขึ้นมาก

ประวัติศาสตร์นั้นยาวนาน

จาก คำบรรยายของ คุณหมอทินเมืองจี
นอกเหนือจากบาตรมรกตบรรจุพระอัฐิ ในเจดีย์ชั้นในแล้ว

มีการค้นพบภาชนะบรรจุอัฐิอีกหนึ่งใบในสถูปทรงพม่าทางตะวันออก
และอีกใบหนึ่งที่ฐานเจดีย์น้อยด้านใต้
คาดว่าจะมีภาชนะบรรจุอัฐิเพิ่มเติมรอการค้นพบในบริเวณสุสานลินซินกงนี้ต่อไป


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ม.ค. 18, 15:47
ครับ ผมได้ทราบจากคุณวิจิตร ชินาลัยเหมือนกันว่า ก่อนจะหมดเวลาที่ได้รับอนุญาตจากทางการพม่าให้ขุดค้นหาหลักฐานทางโบราณคดีในบริเวณที่กำหนด ได้เจาะช่องเล็กๆสำหรับสอดกล้องวิดีโอและไฟฉายลงไปถ่ายในห้องกรุของสถูปที่เหลือ และได้เห็นรูปพรรณสัณฐานของภาชนะใส่อัฐิที่อยู่ภายใน แต่พบว่าไม่มีความอลังการเช่นอันแรก และสมควรแก่เวลาที่จะปิดโครงการแรกตามกำหนด จึงปิดช่องไว้เป็นอย่างดี เก็บไว้รอโอกาสหน้า

หากมีการสำรวจกันอีกครั้งให้เป็นเรื่องเป็นราวมากกว่านี้ ก็อาจจะได้เจอหลักฐานที่สนับสนุนแนวทางที่สันนิษฐานว่า แต่เดิมตรงนั้นเป็นวัดของคนไทยสมัยศรีอยุธยา ซึ่งนิยมสร้างสถูปบรรจุอัฐิ(พม่าไม่มีคตินี้) หลังจากพระมหาเถระเจ้าอุทุมพรแล้ว จึงได้สร้างสถูปเจ้านายและบุคคลสำคัญในชุมชนไว้ ณ สถานที่เดียวกันนี้ด้วย


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.พ. 18, 11:21
ขออนุญาตแจ้งความก้าวหน้าล่าสุดหน่อยครับ เมื่อต้นปีที่ผ่านมารัฐบาลพม่าตกลงอนุญาตให้มีการดำเนินโครงการอนุสรณ์สถานพระเจ้าอุทุมพรต่อแล้ว


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.พ. 18, 11:22
ข้อความของคุณวิจิตร ชินาลัย


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ก.พ. 18, 11:33
ผมก็อดที่จะมีความสุขกับคุณตาไม่ได้ งานของคุณตาเหลืออีกนิดเดียว ไปอีกสองสามครั้งก็คงเสร็จสิ้นสมบูรณ์แบบแล้ว


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 ก.พ. 18, 09:41
สภาพพื้นที่เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561

รูปถ่ายที่เห็นใด้รับจากคณะขององค์กร Home run ที่ใด้เข้าเยี่ยมชมโครงการการ อนุรัษ์ปฏิสังขรณ์เพื่อให้เป็น "อนุสรณสถานพระมหาเถระเจ้าอุทุมพร " ซึ่งเพิ่งจะใด้รับอนุญาตให้ดำเนินการต่อใด้ จากกรมโบราณคดีรัฐบาลเนปิดอร์และรัฐบาลท้องถิ่นรัฐมัณฑะเลย์ เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้เองหลังจากโครงการถูกแจ้งให้ระงับการปฏิบัติการเป็นการชั่วคราวมาตั้งแต่ 26 มิถุนายน 2559

ในช่วง 1ปี 8เดือนที่ผ่านมาซึ่งมีทั้งพายุฝน มีน้ำท่วมอย่างหนัก พื้นที่ทั้งหมด 2.5 ไร่ กลับไปเป็นป่าเช่นเดิม เต็มไปด้วยวัชพืชและต้นไม้น้อยใหญ่ขึ้นปกคลุมเต็มไปหมดมองอะไรไม่เห็น เต็มไปด้วยงูนานาชนิด
ต้องขอบคุณทีมงานของ U Win Moung และ เจ้าหน้าที่จากกรมโบราณคดีประเทศพม่าที่ช่วยกันเร่งรีบกำจัดวัชพืชและเคลียร์พื้นที่ทั้งหมดจนสอาดใด้ภายใน10 วันที่ผ่านมา

โชคดีเป็นอย่างมากที่เจดีย์ทรงโกศ เราตีโครงไม้ยึดใว้อย่างแข็งแรงตั้งแต่ต้นปี 2559 ไม่เช่นนั้นคงล้มไปแล้วจากพายุฝนและน้ำท่วมใหญ่และแผ่นดินไหวที่ผ่านมาในบริเวณนี้  การดำเนินการต่อตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปคงต้องเริ่มที่เจดีย์ทรงโกศองค์นี้แหละเพราะเป็น symbolic ของ " สถานที่ ที่เชื่อกันมานมนานแล้วว่าเป็น สถานที่ ที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพ และมีการบรรจุพระบรมอัฐิใว้ในบริเวณนี้ ตามระบุใว้ใน Parabike ของพม่า

* ภาพพระเจดีย์หมายเลข 3 ซึ่งใด้ขุดค้นพบภาชนะทรงบาตรประดับกระจกตั้งบนพานแก้วแว่นฟ้า เมื่อกำจัดวัชพืชแล้วใด้พบว่า มีดอกบานไม่รู้โรยบานอยู่ที่ฐานพระเจดีย์ ท่ามกลางวัชพืชที่ปกคลุมเต็มไปหมด

ต้องขอบคุณ คณะ Home run ที่กรุณาส่งภาพมาให้ผมเมื่อเช้านี้ ซึ่งผมอยากจะ Share กับเพื่อนๆที่ ห่วงใย สนใจและติดตามเรื่องโครงการนี้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2555 ให้ทราบสถานะภาพของโครงการนี้ ณ วันนี้และเดี๋ยวนี้ครับ


วิจิตร ชินาลัย


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 ก.พ. 18, 09:43
.


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 ก.พ. 18, 09:44
.


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 ก.พ. 18, 14:49
Vichit Chinalai  ภาพนี้เป็นพื้นที่บริเวณทิศตะวันออกเฉียงใต้ ภายในพื้นที่ 2.5 ไร่ของโครงการฯ เดิมก่อนที่เราจะเริ่มโครงการ เมื่อพศ.2555 นั้น ไม่เคยมีใครเห็นภาพเช่นนี้มาก่อนเป็นร้อยปี เพราะซากโบราณสถานที่เห็นนี้อยู่ใต้ระดับดินเดิมลงไปอีกประมาณ 1.5 เมตร แถมยังมีขยะ50ปี-100 ปี ถมทับกันอย่างแน่นหนาปกคลุมตลอดทั่วบริเวณ โดยมีความหนาเฉลี่ยสูงขึ้นมาอีก 2เมตร
หลังจากเริ่มโครงการเราจำเป็นต้องเปิดหน้าดินให้มีระดับเท่าระดับฐานของพระเจดีย์องค์ประธาน จึงใด้ค้นพบซากงานสถาปัตยกรรมโบราณที่สลับซับซ้อนดังที่เห็น.

หากโครงการนี้มั่นคงดีแล้ว ในอนาคต หากนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายใดๆก็ตาม ต้องการขุดค้นใต้ดินหรือใต้ฐานวิหารหรือฐานเจดีย์เหล่านี้เพิ่มเติมภายหลัง คงจะใด้พบ Hard Evidence ทางโบราณคดี เพิ่มเติมอย่างแน่นอน
(ตั้งแต่เริ่มโครงการมาเมื่อ พศ.2555เป็นต้นมา คณะทำงานภาคเอกชน ทั้งฝ่ายพม่าและฝ่ายไทย ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆทั้งสิ้น จนถึงวันนี้)


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.พ. 18, 07:12
แนวโน้มที่ดีเริ่มปรากฏชัดขึ้นมากแล้วครับ  วันวานนี้ ค่ายมติชน-ศิลปวัฒนธรรมได้ยอมรับความคิดเห็นจากนักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ ร.ศ. ศานติ ภักดีคำ  โดยเชิญมาเป็นองค์ปาฐก เรื่อง “ จากศรีอยุธยาสู่อมรปุระ ตามรอย “ขุนหลวงหาวัด” กษัตริย์ผู้สละราชย์” ซึ่งต่อยอดจากเดิมที่นักประวัติศาสตร์รุ่นเก่าของค่ายนี้เชื่อเฉพาะแต่หลักฐานฝ่ายไทยที่ว่า พระเจ้าอุทุมพรทรงประทับอยู่ที่สะกาย(สะเกียง)เท่านั้น


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.พ. 18, 07:15
อาจารย์ศานติพูดทั้งหมดสักสี่ชั่วโมง แบ่งออกเป็นสองภาค ภาคแรกกล่าวถึงพระประวัติในช่วงก่อนเสียกรุง

http://www.youtube.com/watch?v=3iWVxZJzebQ

และช่วงที่สอง เมื่อทรงตกเป็นเลยศึกของพม่าร่วมกับเจ้านายพระองค์อื่นนับพัน และราษฎรร่วมสองแสน ต้องเดินทางจากกรุงศรีอยุธยา ผ่านเส้นทางต่างๆไปยังกรุงอังวะเมืองหลวง และหลังจากนั้น ครัวเรือนไทยได้แยกย้ายไปอยู่ยังที่แห่งใดบ้าง และทำไมพระมหาเถระเจ้าอุทุมพรจึงได้ไปประทับที่อมรปุระ และเสด็จสรรคตที่นั่น

http://www.youtube.com/watch?v=wpN2Q-6Afgo





ส่วนคลิ๊ปข้างล่างเป็นช่วง ๕ นาทีสุดท้ายของปาฐกถา ที่อาจารย์ศานติกล่าวถึงหลักฐานที่แสดงว่า พระบรมศพได้รับการถวายพระเพลิงที่สุสานลินซินกอง และโบราณสถานที่เกี่ยวข้องยังปรากฏทรากในปัจจุบัน


https://youtu.be/wpN2Q-6Afgo?t=3917


หวังว่าความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันนี้จะส่งเสริมให้การสถาปนาอนุสรณ์สถานพระมหาเถระเจ้าอุทุมพร บนแผ่นดินพม่าโดยคนไทยในยุคปัจจุบัน ให้ปราศจากอุปสรรคในขั้นตอนสุดท้ายจากฝีมือคนไทยด้วยกันเองนะครับ

ป.ล. ผมพยายามจะให้ระโยงข้างบนแสดงแค่ url ทั้ง ๒ ภาค และคลิ๊ปที่ผมตัดตอนให้ขึ้นเป็นภาพของยูทูปเลย แต่มันสลับกันอย่างที่เห็น ผมไม่ทราบสาเหตุเหมือนกัน ถ้าคุณหมอเพ็ญชมพูจะกรุณาช่วยแก้ไขให้ได้ก็จะเป็นพระคุณครับ




กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 ก.พ. 18, 09:14
ส่วนคลิ๊ปข้างล่างเป็นช่วง ๕ นาทีสุดท้ายของปาฐกถา ที่อาจารย์ศานติกล่าวถึงหลักฐานที่แสดงว่า พระบรมศพได้รับการถวายพระเพลิงที่สุสานลินซินกอง และโบราณสถานที่เกี่ยวข้องยังปรากฏทรากในปัจจุบัน

url ล่างสุดแสดงภาพเช่นเดียวกับคลิปที่สอง ส่วนคลิปช่วงสุดท้ายที่คุณนวรัตนพูดถึง อาจดูได้จากคลิปที่สองนี้ช่วงนาทีที่ ๑.๑๒.๑๐ - ๑.๒๐.๓๕

https://youtu.be/wpN2Q-6Afgo


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.พ. 18, 09:34
^ ผมก็ทำออกมาได้อย่างนี้แหละครับ ไม่ได้ออกมาตรงนาทีที่บันทึกไว้ เหมือนดังที่เปิดจากระโยงนี้

https://youtu.be/wpN2Q-6Afgo?t=3917


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 ก.พ. 18, 11:04
คำบรรยายของอาจารย์ศานติ ภักดีคำ ในส่วนของพระเจ้าอุทุมพรเมื่อประทับในพม่า จากคลิปที่สอง นาทีที่ ๑.๐๕.๑๕ - ๑.๑๒.๑๐


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ก.พ. 18, 11:44
ขอบคุณครับ นั่นส่วนหนึ่ง แต่ในคำบรรยายจริงมีกล่าวถึงพระองค์ทรงย้ายมาจำพรรษาที่วัดโยเดีย และพาราไบ้คที่เราคุยกันไปแล้วพอสมควร


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 23 ก.พ. 18, 21:23
ขอแสดงความยินดีกับคณะของคุณวิจิตรนะครับที่ได้สานงานต่อ ยิ่งมีงานเสวนาทางวิชาการแบบนี้ยิ่งน่ายินดี ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ผมเห็นว่ามาถูกทางแล้วครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ก.พ. 18, 07:53
ขอบคุณคุณม้าที่กลับเข้ามาแสดงความเห็นครับ
ความจริงในห้าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงที่ขุดเจอโบราณวัตถุหลักฐาน จะมีเสวนาทางวิชาการบ่อยมาก แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีความเปลี่ยนแปลงไปในครรลองเดียวกันอย่างชัดเจน

สำหรับความก้าวหน้าทางหน้างาน ถ้าพี่วิจิตรไม่ล้มเจ็บด้วยโรคติดเชื้อในปอด หมอสั่งหยุดทำงานเด็ดขาด ให้นอนอย่างเดียวเพื่อรักษาตัว ก็คงจะแล่นไปอยู่ในพื้นที่ก่อสร้างแล้ว นี่ผ่านมาร่วมเดือนได้ข่าวว่าหายดีหมออนุญาตให้ไปได้ ก็กำลังจะเดินทางไปในวันสองวันนี้

หากมีข่าวคืบหน้าอย่างไร ผมจะนำมารายงานต่อไป หวังว่ากระทู้นี้จะสมบูรณ์แบบตั้งแต่แรกเริ่มโครงการจนจบลงด้วยดีครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 มี.ค. 18, 16:02
ความคืบหน้าของโครงการล่าสุด

Timeline ก่อนหน้านี้

อ้างถึง
๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๙  The Global New Light of Myanmar ออกข่าวว่า รัฐบาลท้องถิ่นมัณฑะเลย์ประกาศว่าโครงการอนุรักษ์สถูปกษัตริย์ไทยบนเนินลินซินที่มีความขัดแย้งกันนั้น จะดำเนินการต่อหลังจากรัฐบาลทั้งสองประเทศได้ปรึกษากันแล้ว

๒๔ เมษายน ๒๕๖๐ นายอองโกลิน ตัวแทนของหลวงพ่อษิตะกู ได้ยื่นขอประดิษฐานพระธาตุและปรับปรุงพระสถูปต่อ เพื่อให้ประชาชนได้เคารพบูชา และอนุรักษ์โบราณสถานที่ทรุดโทรมใกล้พังทลาย  ต่อทางการเขตมัณฑะเลย์

๙ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ผู้ว่าการเขตมัณฑะเลย์ ได้ส่งหนังสือไปยังสำนักงานบริหารเมืองอมรปุระ  ให้รวบรวมความคิดเห็นจากผู้ที่อยู่อาศัยในเมืองตามประเด็นดังกล่าว

๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๐   สำนักงานบริหารเมืองอมรปุระเปิดประชุม ผู้ปกครองท้องถิ่น และหมู่บ้าน ที่ประชุมสรุปว่า ให้ผู้อำนวยการเมืองถามความคิดเห็นจากมหาเถระสมาคม ส่วนผู้อยู่อาศัยในเมืองไม่มีการคัดค้าน

๑ มิถุนายน ๒๕๖๐ ผู้อำนวยการเมืองอมรปุระทำหนังสือถึง มหาเถระสมาคมของพม่า ขอทราบความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว

๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๐   มหาเถระสมาคมเขตเมืองของอมระปุระ ได้ตอบหนังสือกลับว่า มหาเถระสมาคมไม่ทราบรายละเอียดในเรื่องนี้ จึงแจ้งความเห็นว่าผู้เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการต่อได้ตามกฏหมายและหลักเกณฑ์

๑๖ มิถุนายน ๒๕๖๐   สำนักบริหารเมืองอมรปุระ ทำหนังสือถึงสำนักบริหารเขตมัณฑะเลย์ทราบว่า การดำเนินการปรับปรุงพระสถูป และอนุรักษ์โบราณสถาน ที่ลินซินกง เพื่อให้ประชาชนได้เคารพบูชา ทำได้โดยปฏิบัติตามกฎหมาย มหาเถระสมาคมเมืองและผู้ที่อยู่อาศัยในเมืองไม่มีการคัดค้าน

๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๐   สำนักงานบริหารเขตมัณฑะเลย์จัดประชุมระหว่างผู้บริหารเขตมัณฑะเลย์ และเมืองอมระปุระทุกตำแหน่งที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งราษฎรอาวุโส ผู้แทนชุมชน โดยอนุญาตให้นายอองโกลิน ตัวแทนของหลวงพ่อษิตะกูเข้าร่วมด้วย โดยประธานที่ประชุมแจ้งว่า ประชาชนในท้องถิ่นและมหาเถระสมาคมไม่คัดค้านเรื่องดังกล่าว โดยให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบ แต่ประธานเองมีความเห็นว่า ควรต้องมีการพบปะพูดคุยและขออนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและศาสนา รัฐบาลสาธารณรัฐเมียนมาร์กับฝ่ายไทย  ในเรื่องการดำเนินการปรับปรุงเจดีย์และการบำรุงรักษาอาคารโบราณสถาน ซึ่งจะมีการบริจาคจากกองทุนของไทย

๕ กันยายน  ๒๕๖๐   นายอองโกลิน ได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและศาสนา หากคณะนำโดยเอกอัครราชทูตอาเซียน ฯพณฯ ประดาป พิบูลสงคราม (Thai Representative for ASEAN connectivity Coordinating Committee Ambassador Extraordinary and Plenipotentiary of Thailand) จะขอเข้าพบ  

๑๑  กันยายน  ๒๕๖๐  รองเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและศาสนาทำหนังสือตอบนายอองโกลินมาว่าสามารถทำได้

๒๙ กันยายน ๒๕๖๐ คณะทำงานฝ่ายไทยนัดปรึกษาหารือ

ตุลาคม ๒๕๖๐ เดือนแห่งความอาลัย  คนไทยไม่มีกะจิตกะใจจะทำงาน

ต่อจากข้างต้น

พฤศจิกายน  ๒๕๖๐  หลังจากงานออกพระเมรุแล้ว  นายประดาป พิบูลสงคราม ผู้แทนของคณะทำงานสมาคมสถาปนิกสยามได้ไปพบอธิบดีกรมเอเซียใต้ กระทรวงต่างประเทศคนปัจจุบัน  เพื่อเล่าความเป็นมาของโครงการและความเห็นของผู้ว่าการเขตมัณฑะเลย์ ที่ต้องการให้ฝ่ายไทยเข้าพบพูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและศาสนาของเมียนมาร์ในเรื่องดังกล่าว  โดยขอให้กระทรวงต่างประเทศให้ความเห็นชอบให้ตน หรือผู้ใดผู้หนึ่งไปดำเนินการในเรื่องนี้

หลังจากรอทั้งเดือนธันวาคม ก็ไม่มิได้มีความคืบหน้ากระทรวงต่างประเทศ แต่มีข่าวว่า เป็นเพราะนายดำรง ใคร่ครวญ อดีตรองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศในปี ๒๕๕๕ ผู้เริ่มต้นเรื่องนี้ได้ถูกย้ายไปเป็นเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ บัดนี้ครบเทอม ๔ ปีแล้ว ได้รับคำสั่งให้กลับมาดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ  จึงต้องการรอให้คุณดำรงกลับมาเป็นผู้ประสานงานในเรื่องนี้ต่อด้วยตนเอง


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 มี.ค. 18, 16:16
ในขณะเดียวกันทางด้านพม่า ซึ่งทางสมาคมวัฒนธรรมเจ้าฟ้าดอกเดื่อและหลวงพ่อษิตากู  หลังจากให้นายอองโกลินเป็นผู้แทน ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและศาสนา ตั้งแต่เดือนกันยายน  ๒๕๖๐ ก็มิได้นิ่งเฉย แต่ได้พยายามกดดันฝ่ายรัฐบาลพม่าตลอดมา ยกตัวอย่างโครงการที่คนไทยไปช่วยบูรณะจิตรกรรมฝาผนังในวิหารวัดมหาเต็งดอจี รัฐสะกาย อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ในขณะที่พม่าไม่ได้ทำอะไรสักอย่างเดียว แล้วมุ่งประเด็นว่า  ความล่าช้าของโครงการอนุสรณ์สถานพระมหาเถระเจ้าอุทุมพรทำให้รัฐมัณฑะเลย์เสียโอกาส  เพราะทางไทยแนชั่นแนลเฮอริเทจฟันด์ผู้บริจาคเห็นว่าโครงการทำๆหยุดๆ ทางการให้ใบอนุญาตมาแล้วก็ออกใบระงับชั่วคราวโดยไม่แจ้งเหตุผล ได้แต่ฝากความเห็น ทำให้ทางโครงการจึงต้องคืนเงินที่เหลือให้กองทุนไทยไปหมดแล้ว

เรื่องนี้ไปได้ผลที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและศาสนา ในกรุงเนปิดอว์ ผู้ให้ความสนใจและสั่งให้ศึกษาปัญหา พบความอันสำคัญว่า พื้นที่อันเป็นโบราณสถาน หรือศาสนสถานที่เกี่ยวกับสถาปัตยกรรมทั้งประเทศ  ความจริงแล้วสิทธิ์ขาดตามกฏหมายขึ้นอยู่กับกรมโบราณคดี ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เนปิดอว์เมืองหลวง มีอำนาจบริหารจัดการได้ทั่วทั้งประเทศ  เขาจึงติดต่อมายังตัวแทนหลวงพ่อษิตากู  และนายอูวินหม่อง โดยเริ่มเจรจากันตั้งแต่ธันวาคม ปลายปีที่แล้ว


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 มี.ค. 18, 16:18
มกราคม ๒๕๖๑   สมาคมวัฒนธรรมเจ้าฟ้าดอกเดื่อติดต่อผู้แทนสมาคมสถาปนิกสยาม ถึงความเป็นไปได้ที่จะสนับสนุนเงินทุนในการบูรณะโบราณสถานต่อตามโครงการ  ซึ่งฝ่ายไทยตอบไปว่า ในฐานะผู้บริจาค  ถ้าฝ่ายพม่าพร้อมที่จะกลับมาดำเนินโครงการต่อ  ต้องมีความชัดเจน มิฉะนั้นฝ่ายไทยคงไม่นำเงินกลับไปทำให้
  
ข้อที่ ๑ ของความชัดเจนคือ ภาครัฐของพม่าจะต้องเข้ามาร่วมกับอูวินหม่อง  สถาปนิกผู้เชี่ยวชาญด้านอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมของพม่า ที่ได้รับการยอมรับนับถือทั้งในพม่าและต่างประเทศ  โดยกรมโบราณคดีของพม่าจะต้องเข้ามาเป็นผู้จัดการโครงการร่วมกับอูวินหม่อง  
ข้อนี้  ฝ่ายพม่าไม่มีปัญหาเพราะเป็นความต้องการอยู่แล้ว  หากการดำเนินงานอยู่ภายใต้กรมโบราณคดี ก็จะมีสิทธิ์เต็มที่ตามกฏหมาย ก็ไม่ต้องไปขออนุญาตท้องถิ่นอีกไม่ว่ามัณฑเลยหรืออมรปุระ  แต่จะขอให้มีชื่อนายวิจิตร ชินาลัย เป็นหนึ่งในผู้บริหารจัดการโครงการนี้ ขึ้นป้ายร่วมกับชาวพม่าคนอื่นๆด้วย

ข้อที่ ๒ โครงการนี้จะต้องใช้ชื่อว่า โครงการอนุสรณ์สถานพระมหาเถระเจ้าอุทุมพร เหมือนเดิม  
สำหรับเรื่องนี้ไม่มีปัญหา

ข้อที่ ๓ การกระทำทั้งหลายทั้งปวง จะต้องทำโดยกรมโบราณคดีพม่า ในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบ และเมื่องานก่อสร้างเสร็จแล้ว จะทำพิธีมอบให้หลวงพ่อษิตากู เป็นเจ้าของโครงการ ดูแลรับผิดชอบในการบริหารจัดการต่อ  หากว่ากรมโบราณคดีจะเข้ามาร่วมในการบำรุงรักษาก็ว่ากันไป  หรือหากจำเป็นต้องใช้งบประมาณในส่วนงอกของโครงการ ก็ให้แจ้งให้ฝ่ายไทยทราบในภายหลัง  

เงื่อนไขเหล่านี้  ฝ่ายพม่ารับได้หมดและขอเร่งให้ดำเนินงานได้ต่อเลย  

กุมภาพันธุ์ ๒๕๖๑  กรมโบราณคดีพม่าได้ส่งคนเข้ามา จ้างคนงานมาระดมถางวัชพืชดายหญ้า รื้อป้ายเก่าต่างๆออก (ตามภาพที่ผมนำมาลงก่อนหน้า) แล้วยกป้ายขึ้นมาใหม่ว่าเป็นโครงการของกรมโบราณคดี  รอรับคณะของฝ่ายไทยที่จะไปลงนามในข้อตกลงฉบับใหม่

สภาพพื้นที่เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561

รูปถ่ายที่เห็นใด้รับจากคณะขององค์กร Home run ที่ใด้เข้าเยี่ยมชมโครงการการ อนุรัษ์ปฏิสังขรณ์เพื่อให้เป็น "อนุสรณสถานพระมหาเถระเจ้าอุทุมพร " ซึ่งเพิ่งจะใด้รับอนุญาตให้ดำเนินการต่อใด้ จากกรมโบราณคดีรัฐบาลเนปิดอร์และรัฐบาลท้องถิ่นรัฐมัณฑะเลย์ เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้เองหลังจากโครงการถูกแจ้งให้ระงับการปฏิบัติการเป็นการชั่วคราวมาตั้งแต่ 26 มิถุนายน 2559

ในช่วง 1ปี 8เดือนที่ผ่านมาซึ่งมีทั้งพายุฝน มีน้ำท่วมอย่างหนัก พื้นที่ทั้งหมด 2.5 ไร่ กลับไปเป็นป่าเช่นเดิม เต็มไปด้วยวัชพืชและต้นไม้น้อยใหญ่ขึ้นปกคลุมเต็มไปหมดมองอะไรไม่เห็น เต็มไปด้วยงูนานาชนิด
ต้องขอบคุณทีมงานของ U Win Moung และ เจ้าหน้าที่จากกรมโบราณคดีประเทศพม่าที่ช่วยกันเร่งรีบกำจัดวัชพืชและเคลียร์พื้นที่ทั้งหมดจนสอาดใด้ภายใน10 วันที่ผ่านมา

โชคดีเป็นอย่างมากที่เจดีย์ทรงโกศ เราตีโครงไม้ยึดใว้อย่างแข็งแรงตั้งแต่ต้นปี 2559 ไม่เช่นนั้นคงล้มไปแล้วจากพายุฝนและน้ำท่วมใหญ่และแผ่นดินไหวที่ผ่านมาในบริเวณนี้  การดำเนินการต่อตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปคงต้องเริ่มที่เจดีย์ทรงโกศองค์นี้แหละเพราะเป็น symbolic ของ " สถานที่ ที่เชื่อกันมานมนานแล้วว่าเป็น สถานที่ ที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพ และมีการบรรจุพระบรมอัฐิใว้ในบริเวณนี้ ตามระบุใว้ใน Parabike ของพม่า

* ภาพพระเจดีย์หมายเลข 3 ซึ่งใด้ขุดค้นพบภาชนะทรงบาตรประดับกระจกตั้งบนพานแก้วแว่นฟ้า เมื่อกำจัดวัชพืชแล้วใด้พบว่า มีดอกบานไม่รู้โรยบานอยู่ที่ฐานพระเจดีย์ ท่ามกลางวัชพืชที่ปกคลุมเต็มไปหมด

ต้องขอบคุณ คณะ Home run ที่กรุณาส่งภาพมาให้ผมเมื่อเช้านี้ ซึ่งผมอยากจะ Share กับเพื่อนๆที่ ห่วงใย สนใจและติดตามเรื่องโครงการนี้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2555 ให้ทราบสถานะภาพของโครงการนี้ ณ วันนี้และเดี๋ยวนี้ครับ


วิจิตร ชินาลัย


คคห. ๔๔๑


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 มี.ค. 18, 16:29
๒๗ กพ ๖๑ วิจิตรและคณะเดินทางไปพม่า

๒๘ กพ ๖๑ คณะทำงานจากสมคมสถาปนิกสยาม ได้ประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐของพม่า ผู้เชี่ยวชาญภาคเอกชน และผู้แทนกลุ่มอนุรักษ์มรดกของแผ่นดินพม่าร่วมกับสมาคมวัฒนธรรมเจ้าฟ้าดอกเดื่อ  ซึ่งได้รับมอบหมายจากหลวงพ่อษิตากู องค์อุปถัมภ์สมาคมฯ  เพื่อดำเนินการโครงการนี้ซึ่งจะเป็น ผู้ที่จะดำเนินการและควบคุมการซ่อมแซมอนุรักษ์โบราณสถานในโครงการ โดยที่ประชุมสรุปคาดการณ์จะให้เสร็จสี้นสมบูรณ์ก่อนฤดูฝนที่จะมาถึงในปีนี้ 


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 มี.ค. 18, 16:38
ผู้เข้าร่วมประชุมทางฝ่ายพม่าได้แก่
 
อูเอหล่วย (U Aye Lwin)  รอง ผอ.สำนักโบราณคดีประจำรัฐมัณฑะเลย์  กระทรวงวัฒนธรรมประเทศพม่า  ผู้ที่ได้รับมอบหมายจากส่วนกลางให้มีหน้าที่กำกับดูแลการอนุรักษ์ซ่อมแซมเจดีย์และโบราณสถานแห่งนี้   ให้เป็นไปตามมาตรฐานพม่าและสากลจนเสร็จสิ้นงาน โดยจะเข้ามาควบคุมการซ่อมแซมโครงการนี้ด้วยตนเอง

อูวินหม่อง (U Win Maung) สถาปนิกอาวุโสและนักอนุรักษ์โบราณสถานและศาสนสถานที่มีชือเสียงที่สุดในประเทศพม่า และจะเข้าควบคุมการดำเนินงานร่วมกับกรมโบราณคดีจนเสร็จสี้นงาน

มิกกี้ ฮาร์ท (Mr.Myint Hsan Heart) สถาปนิกอาวุโสชาวพม่า นักประวัติศาสตร์  นักโบราณคดี  นักอ่านศิลาจารึกภาษา พม่ามอญเขมรไทยพยู  มีชื่อเสียงมากในพม่าและในต่างประเทศ เป็นผู้ควบคุมการประสานงานของโครงการนี้จนเสร็จสิ้น


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 มี.ค. 18, 16:47
ภาพถ่ายเมื่อวานนี้ครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 เม.ย. 18, 07:09
แม้วีดีโอคลิ๊ปนี้จะมาล่าช้าสักหน่อย แต่จะทำให้ผู้สนใจได้เห็นภาชนะที่บรรจุ และพระอัฐิธาตุที่ต้นพบภายในนั้นอย่างชัดเจน ซึ่งชิ้นหนึ่งเป็นกระดูกกรามล่าง หากมีการค้นคว้าต่ออย่างเป็นทางการ(ซึ่งไม่ใช่ภารกิจของสมาคมสถาปนิกสยามแล้ว) ก็อาจจะนำพระทันตธาตุที่ค้นพบคราวเมื่อกรุพระศิลปอยุธยาในวัดใกล้ๆกันนั้นแตกภายหลังจากเหตุการณ์นี้ ก็จะได้ข้อพิสูจน์ที่เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น
http://www.youtube.com/watch?v=_hRCBBVILQQ&feature=share (http://www.youtube.com/watch?v=_hRCBBVILQQ&feature=share)


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 พ.ค. 18, 18:33

จากข่าวนี้ก็เช่นกัน

เมื่อเร็วๆ นี้ นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร ได้นำคณะผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดี และประวัติศาสตร์ เดินทางไปยังเมืองมัณฑะเลย์ และเมืองสะกาย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ตามโครงการศึกษาทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี เรื่อง ชาวอยุธยาในเมียนมาร์ นายเอนก เล่าว่า เมื่อปี 2555 กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ได้แจ้ง วธ.ว่า คณะกรรมการพัฒนาเมืองมัณฑะเลย์ มีแผนปรับสภาพพื้นที่สุสานลินซินกง ที่เมืองอมรปุระ ซึ่งเชื่อว่า มีสถูปบรรจุพระอัฐิสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพร กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ดังนั้น กต.ร่วมมือ วธ.โดยกรมศิลปากร มาศึกษาเรื่องของประวัติศาสตร์และโบราณคดีเรื่องราวของชาวอยุธยาในเมียนมาร์ เพื่อศึกษาความเป็นอยู่ ชุมชนของคนไทย ในมิติทางวัฒนธรรมระหว่าง 2 ประเทศ
       
ตนได้นำคณะมาที่โบสถ์วัดมหาเตงดอจี หมู่บ้านลินซิน ในเมืองสะกาย พบภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนภาพปราสาทและลายเส้นสินเธาว์แบบหยักฟัน โดยใช้สีแดง สีขาว สีเขียว และสีดำ ที่สำคัญยังพบภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนลายรูปพระปรางค์มียอดนภศูล แสดงถึงหลักฐานของฝีมือช่างแบบอยุธยาตอนปลายอายุกว่า 200 ปี ที่สำคัญเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังเพียงแห่งเดียวที่ยังคงเหลือและบ่งชี้ถึงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชาวอยุธยาที่เคยอาศัยอยู่ในเมียนมาร์
       
ดร.ม.ร.ว.รุจยา อาภากร ผู้อำนวยการศูนย์โบราณคดีและวิจิตรศิลป์ (สปาฟา) องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีมีโอ) ผู้ศึกษาภาพจิตรกรรมฝาหนังวัดมหาเตงดอจี กล่าวว่า เมื่อหลายปีก่อนตนได้มาศึกษาและถ่ายรูปภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดแห่งนี้ไว้ แต่วันนี้มีการนำปูนมาโบกทับภาพจิตรกรรมบริเวณด้านล่างลงมาทั้งหมด
       
อย่างไรก็ตาม ทางกรมศิลปากรจะประสานกรมโบราณคดีของเมียนมาร์ เพื่อส่งนักโบราณคดีของไทยที่มีความเชี่ยวชาญเข้าไปทำการบูรณะและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับภาพจิตรกรรมโดยเร็วที่สุด

ข่าวหลังไมค์แจ้งว่า ท่านเจ้าอาวาสตื่นเต้นมาก ที่บุคคลระดับอธิบดีกรมศิลปากรของไทยแลนด์ได้บอกกับท่านเช่นนั้น แต่แล้วก็คอยหาย คอยหาย ทำท่าจะกลายเป็น Simese Talk อีกรูปแบบหนึ่งไป

คณะคนไทยหากไปเที่ยวแล้วพบท่าน ก็จะได้รับคำฝากมาช่วยถามไถ่ จนกระทั่งเมื่อเร็วๆนี้ คณะถ่ายทำสารคดีของ Thai PBS ได้ไปที่นั่นและได้รับฟังถ้อยความอย่างเดียวกัน ทางคณะจึงได้รับปากจะเป็นผู้ระดมเงินทุนมาดำเนินการให้เองโดยไม่ต้องไปหวังอะไรลมๆแล้งๆจากผู้ที่เคยออกปากไว้แต่เดิม


บัดนี้กลุ่มเอกชนได้ผนึกกำลังกัน เข้าไปมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ปฏิสังขรณ์ภาพฝาผนังฝีมือช่างจากกรุงศรีอยุธยาในพระอุโบสถวัดมหาเต็งดอจี งานก้าวหน้าไปอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้การกำกับดูแลของกรมโบราณคดีพม่า โดยไร้เงาข้าราชการกรมศิลปากรไทยทุกระดับที่ไปรับปากเขาไว้

https://www.facebook.com/MahaTheinTawGyiTemple/


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 29 พ.ค. 18, 18:48
https://www.facebook.com/pongkwan.lassus/posts/10213644212194210


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ค. 23, 11:32
หลังจาก ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๖ อันเป็นวันที่คณะทำงานไทยส่งมอบพระโกศทรงบาตรประดับแก้วอังวะสีมรกตที่พบในพระสถูปองค์สำคัญ  บรรจุลงหีบเหล็กจำนวนสองใบ ให้แก่ศาลาว่าการรัฐมัณฑะเลย์ (MCDC) เพื่อเก็บรักษาไว้ โดยคล้องกุญแจ ๒ ชุด ไทยและพม่าเก็บรักษาฝ่ายละชุด หากจะเปิดอีกเมื่อใดต้องนำกุญแจทั้งสองชุดมาพร้อมกัน จึงจะกระทำการเปิดได้

หลังจากผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีพม่าเชื่อตามหลักฐานแวดล้อม(Circumstance Evidence) โดยปราศจากข้อสงสัยว่าพระอัฐิธาตุที่พบ คือพระบรมอัฐิของพระมหาเถระเจ้าอุทุมพร  คณะทำงานไทยจึงได้พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะเร่งบูรณะสถานที่แห่งนั้นให้เป็นอนุสรณสถานของพระองค์ เพื่อจะได้นำพระบรมอัฐิลงบรรจุคืนยังพระสถูปองค์เดิมโดยเร็วที่สุด  แต่ไม่ว่าจะทำเรื่องขออนุญาตไปคราวใด ก็ให้มีเหตุขัดข้องทุกครั้ง ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากสภาวะทางการเมืองของสองประเทศที่เปลี่ยนรัฐบาล พม่า ๓ ครั้ง ไทย ๒ ครั้ง ทุกครั้งก็จะมีผลกระทบต่อโครงการเสมอมา

จนกระทั่งเวลาผ่านไป ๑๐ ปี ทางกรมโบราณคดีพม่าได้ทำหนังสือแจ้งอนุญาตให้ไปรับหีบเหล็กที่ฝากไว้ ไปดำเนินการตามความประสงค์ได้ในวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๖ พอดิบพอดี คุณวิจิตร ชินาลัยหัวหน้าคณะฝ่ายไทยได้กล่าวกับทุกคนก่อนออกเดินทางไปตามนัดว่า งานครั้งนี้ต้องสำเร็จแน่ จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ เพราะจะตรงกับนักษัตรที่ ๘  (ราชาฤกษ์) ต่อเนื่องติดตามด้วยนักษัตรที่ ๙ (สมโณฤกษ์) อันเป็นมหามงคลอย่างยิ่ง

พิธีกรรมครั้งนี้ทางรัฐบาลพม่าได้ขอให้คณะทำงานร่วมฝ่ายไทยและพม่ากระทำกันเองอย่างเรียบง่าย เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์แทรกซ้อนอันไม่พึงประสงค์ เจ้าหน้าที่กรมโบราณคดีจะไปในฐานะผู้สังเกตการณ์เท่านั้น โดยมีกองกำลังทหารรักษาความปลอดภัยกระจายอยู่นอกบริเวณ ซึ่งทางเราก็ได้ปฏิบัติตาม จนทุกสิ่งจบสิ้นลงด้วยดีตามฤกษ์

ก่อนกระทำพิธีมหาบังสุกุล คณะทำงานและคนไทยที่ทราบข่าวและมาร่วมงานได้พร้อมกันเปล่งวาจาดังนี้

ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

ข้าพระพุทธเจ้า…(ทุกคนออกนามตนเอง)…ขอกราบบังคมทูลขมาโทษต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ในการที่ได้อัญเชิญพระบรมอัฐิออกจากพระสถูป เพื่อกระทำการบูรณะปฏิสังขรณ์สถานที่แห่งนี้ ให้สมเป็นอนุสรณ์สถานของพระองค์ ไปตราบชั่วกาลปวสาน
ณ บัดนี้เป็นมงคลวโรกาส ที่จะอัญเชิญพระบรมอัฐิกลับสู่พระสถูปดังเดิม หากว่า การกระทำทั้งปวงของข้าพระพุทธเจ้า ได้เกิดจากความสุจริตใจเป็นที่ตั้งแล้ว ขอให้ข้าพระพุทธเจ้า มีความสุขความเจริญสืบไป

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม
ขอเดชะ

บทบาทและหน้าที่ของคณะทำงานไทย ที่มุ่งมาตรปรารถนาจะรักษาพระสถูปของพระมหาเถระเจ้าอุทุมพร ไม่ให้ถูกไถทิ้งทำลายเพื่อหลีกทางให้โครงการก่อสร้างตึกแถวเพื่อการท่องเที่ยวของเมืองอมรปุระ จนกลายมาเป็นอนุสรณ์สถานที่มีกฎหมายคุ้มครองไม่ให้ถูกทำลายได้อีกต่อไปนั้น  ถือว่าบรรลุความสำเร็จแล้ว สามารถยุติบทบาทได้


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ค. 23, 11:34
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อัมพร อัมพโร) ทรงเมตตา อธิษฐานจิตสู่บาตรมุกที่จะอัญเชิญไปบรรจุพระบรมอัฐิพระมหาเถระเจ้าอุทุมพรแทนพระโกศทรงบาตรเดิม ที่ต้องส่งมอบให้กรมโบราณคดีพม่า ในฐานะที่เป็นโบราณวัตถุของชาติตามกฎหมาย

และในวโรกาสเดียวกัน ทรงประทานผ้าไตรจีวร ๑ สำรับ สำหรับบังสุกุลพระบรมอัฐิ และจีวร ๑ ผืนเพื่อห่อพระบรมอัฐิก่อนบรรจุลงพระโกศบาตรมุกด้วย


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ค. 23, 11:34
วันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๖ ณ ศาลาว่าการรัฐมัณฑะเลย์ (MCDC) และภายในห้องรับรองที่จะทำการส่งมอบ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ค. 23, 11:38
ขัดข้องทางเทคนิก ขอเวลาสักครู่ครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ค. 23, 11:52
ติดตามข่าวนี้อยู่ทาง FB   กำลังคิดว่าจะไปขอข้อเขียนของท่านอาจารย์ใหญ่กว่า มาลงในเรือนไทย
ให้เรื่องที่ค้างอยู่ได้จบลง   ผู้อ่านเรือนไทยก็จะได้หายค้างคาใจค่ะ
มีปัญหาอะไรทำให้นำลงไม่ได้ ช่วยบอกมาด้วยนะคะ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ค. 23, 11:55
บริเวณอนุสรณ์สถาน ณ ลินซินกอง เช้าวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๖


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ค. 23, 11:55
คุณวิจิตร ชินาลัย หัวหน้าคณะฝ่ายไทย และคุณมิกกี้ ฮาร์ท หัวหน้าคณะฝ่ายพม่า ได้ร่วมกันนำพระบรมอัฐิในภาชนะที่แยกไว้เป็นส่วนๆมารวมกันใหม่บนจีวรที่สมเด็จพระสังฆราชอัมพรประทานมา ก่อนจะมัดด้วยสายรัดประคตแล้วบรรจุลงพระโกศบาตรมุก


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ค. 23, 11:56
เวลา ๑๕.๓๐ น. พระสงฆ์พม่าเจริญพระพุทธมนต์ อุทิศถวายพระราชกุศล เสร็จพิธีกรรมฝ่ายพม่าแล้ว อัญเชิญพระโกศไปยังหน้าพระสถูป คุณวิจิตร ชินาลัย หัวหน้าคณะฝ่ายไทย ทอดผ้าบังสุกุลประทานจากสมเด็จพระสังฆราชอัมพรบนพระโกศพระบรมอัฐิ แล้วนิมนต์พระสงฆ์ไทยขึ้นพิจารณาผ้าบังสุกุล


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ค. 23, 11:57
คณะคนไทยพร้อมกันเปล่งวาจากราบบังคมทูลขอขมา และขอพระราชทานพร เสร็จแล้วทั้งสองฝ่ายช่วยกันนำพระโกศพระบรมอัฐิลงสู่พระลองนอก ทำด้วยสเตนเลสทนต่อความชื้น ก่อนส่งต่อให้พนักงานรับลงไปบรรจุในช่องกรุที่ตระเตรียมไว้อย่างดีภายในพระสถูป


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ค. 23, 11:58
คณะทำงานฝ่ายไทยทยอยกันร่วมเทคอนกรีตพอเป็นพิธีลงสู่กรุภายในพระสถูป ตามด้วยผู้ที่มาร่วมงานทั้งชาวไทยและพม่า


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ค. 23, 12:00
พระสงฆ์ไทยกล่าวอนุโมทนารัมคาถา ก่อนเสร็จสิ้นพิธีกรรม


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ค. 23, 12:01
ภาพถ่ายก่อนแยกย้ายกันกลับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 01 ก.ค. 23, 12:09
จบภารกิจในความพยายามที่จะไม่ให้พระเกียรติของพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์หนึ่ง ตกต่ำไปกว่าพระวิบากกรรมที่ทรงชดใช้แล้ว บัดนี้ทรงพ้นจากการถูกทับถมอยู่ภายใต้กองขยะ หรือต้องถูกฝังอยู่ใต้ตึกแถวพม่า
มาเป็นอนุสรณ์สถานพระมหาเถระเจ้าอุทุมพร

ถือว่าคณะทำงานไทย ภายใต้สมาคมสถาปนิกสยามสามารถประกาศวางมือได้ หลังจากใช้เวลาไปกว่าสิบปี

ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามเอาใจช่วยครับ


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ค. 23, 13:31
ขอบคุณที่นำมาเล่าให้ได้ทราบด้วยกันค่ะ
ขออนุโมทนากับกุศลที่ทุกท่านผู้เกี่ยวข้องได้ทำครั้งนี้ด้วย   พระอัฐิพระเจ้าอุทุมพรแม้ไม่ได้กลับประเทศไทย ก็ยังได้รับการถวายพระเกียรติตามที่สมควรได้รับแล้ว


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 01 ก.ค. 23, 14:06
...
ผมขออนุโมทนาร่วมกับทุกๆท่านครับ ในกุศลเจตนาและความอุตสาหะที่จะถวายพระเกียรติยศต่อพระมหาเถระเจ้าอุทุมพรพระองค์นั้น จนสำเร็จสมดั่งความตั้งใจด้วยดีทุกประการ
...


กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 04 ก.ค. 23, 18:21
พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาลสิ้นสุดแล้ว
.
.
บทนำ
ส่งเสด็จพระสู่ สรวงสวรรค์
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=pfbid0x3pcFKDdMHbsAaTLpXzXJypfqtrw9kX1XZDgW9nP1NH1Y4frZZyVCjtg3h9A99THl&id=100063747391962

ตอนที่ ๑
เหตุผลที่กรมศิลปากรไม่รับรอง
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=pfbid0WH4kQozunzpUhxPZjL8mmf3rjLyZ66ZkVwUVhzEbDckjDAa5sgfkbe6TnX3f3iC8l&id=100063747391962

ตอนที่ ๒
พระสถูปทรงโกศ และ หลักฐานบ่งบอกว่าเป็นพระบรมอัฐิ
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=pfbid02bwMH63UNt6BUWVqeQpJRdWt2SFTgEqb5f2Epyg3ESeZbto5No44cbgwnEAghbko9l&id=100063747391962

ตอนที่ ๓
ความเชื่อของพุทธศาสนิกชนพม่าอันมีต่อพระมหาเถระเจ้าอุทุมพร
https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=pfbid02PyehZLsekioPphVia812RZKXmPy3tYtfHsFaqauL3RCzHZi5sdkjXoKq1WHD45TPl&id=100063747391962



กระทู้: พระมหาเถระเจ้าอุทุมพร พระวิบากของพระองค์ในปัจจุบันกาล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.ค. 23, 19:18
ตราบใดที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ DNA ได้  เราก็คงจะต้องพอใจกับหลักฐานเท่าที่มีอยู่     ต่อให้มีการค้นพบว่าอัฐืในสถูปไม่ใช่พระเจ้าอุทุมพร    อย่างน้อยก็รู้ว่าเป็นพระเถระสำคัญที่พม่าให้ความเคารพนับถืออย่างสูง   ก็ย่อมจะเป็นที่นับถือสำหรับคนไทยได้เช่นกัน