เรือนไทย

General Category => วิเสทนิยม => ข้อความที่เริ่มโดย: naitang ที่ 10 ส.ค. 19, 20:30



กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ส.ค. 19, 20:30
ไปตลาด หรือ ไปจ่ายตลาด  ดูคล้ายกับว่ากำลังเป็นวลีที่ค่อยๆเลือนจางหายไปและถูกทดแทนด้วยวลี ไปเทสโก ไปโลตัส ไปบิ๊กซี หรือไปแม็คโคร   แต่หากสังเกตดูก็จะเห็นว่า วลีทั้งสองกลุ่มนั้นใช้พูดในช่วงเวลา(ของวัน)ที่ต่างกัน และยังต่างกันในความนิยมและความถี่ของการใช้ในการพูดในระหว่างผู้คนที่มีรายได้ต่างระดับกัน

ความหมายของวลีในกลุ่มหลัง หมายรวมๆไปในรูปของการไปจับจ่ายทั้งเครื่องบริโภคและอุปโภค ในขณะที่วลีในกลุ่มแรกอาจจะต้องมีคำต่อท้ายว่าเป็นตลาดสด หรือ ตลาดนัด ซึ่งในกรณีที่เป็นตลาดสดก็มักจะต้องระบุด้วยว่าเป็น ตลาดเช้า หรือ ตลาดเย็น เพื่อจำแนกลักษณะของตลาดและสินค้าที่มีการนำมาจำหน่าย 

แล้วก็ยังมีตลาดที่จำหน่ายของเฉพาะประเภทใดประเภทหนึ่ง  ตลาดไข่ ตลาดผลไม้ ตลาดดอกไม้ ตลาดผ้า ตลาดวัว ตลาดควาย ตลาดปลา ตลาดต้นไม้ ตลาดน้ำ ตลาดคนเดิน ตลาดพระ .....


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ส.ค. 19, 20:39
ตลาดเป็นสถานที่รวมของสรรพสิ่งที่บ่งชี้ในเชิงคุณภาพทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และตัวผู้คนในละแวกนั้นๆ รวมทั้งผู้คนที่มามาจับจ่ายใช้สอยในตลาดนั้นๆ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ส.ค. 19, 18:52
คำว่า ตลาด ที่ใช้พูดในเวลาที่ต่างกันในระหว่างผู้คนที่อยู่ในพื้นที่เมืองกับผู้คนนอกเขตเมืองนั้นดูจะมีความต่างกันอยู่ไม่น้อย   

  - เมื่อพูดในช่วงเวลาเช้า ผู้คนทั้งสองกลุ่มจะหมายถึง ตลาดสด หรือตลาดเช้า 
  - เมื่อพูดในช่วงเวลาประมาณ 9 - 15 น. ทั้งสองกลุ่มจะหมายถึงการไปหาซื้อในกลุ่มเครื่องอุปโภคและการจัดการเรื่องทางธุรกิจต่างๆในเมือง ซึ่งบ้างก็อาจใช้คำว่า เข้าเมือง
  - เมื่อพูดในช่วงเวลาบ่ายแก่ๆ คนในเขตเมืองจะหมายถึงที่นิยมเรียกว่า ตลาดโต้รุ่ง   ในขณะที่คนนอกเขตเมืองจะหมายถึง ตลาดเย็น ที่มีการขายทั้งเครื่องอาหารสดและอาหารสำเร็จรูป
  - แต่หากเป็นในช่วงเวลาหลังเที่ยงคืนไปจนถึงเวลาประมาณตี 4 หรือ ตี 5 จะหมายถึง ตลาดขายส่ง


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ส.ค. 19, 19:35
ผมนั้นเป็นคนที่ชอบเดินตลาด เมื่อเดินทางไปที่ใดๆก็ตาม ก็จะพยายามหาโอกาสและช่องเวลาที่จะไปเดินตลาด ไม่ว่าจะเป็นตลาดเช้าหรือตลาดเย็น รวมทั้งเดินชมย่านร้านขายของๆชุมชนต่างๆ (ที่การเรียกขานชื่อของพื้นที่นั้นๆในองค์รวมว่า ตลาด)

จากประสบการณ์ก็ได้พบว่า   ตลาดเช้า เป็นตลาดที่มีความหลากหลายในเชิงของวัตถุดิบที่จะนำมาปรุงเป็นอาหาร     ตลาดเย็น เป็นตลาดที่ทำให้เห็นถึงความหลากหลายในการประกอบอาหารที่ได้จากการใช้วัตถุดิบที่ได้พบเห็นในช่วงเวลาของตลาดเช้า       


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ส.ค. 19, 19:12
ยังมีอีกคำหนึ่งที่มักจะใช้กับคำว่าตลาด คือ คำว่า ติดตลาด หรือ ตลาดติด    ซึ่งเป็นวลีที่มีความหมายว่า ที่ตลาดนั้นๆ ณ ช่วงเวลานั้นๆ มีพ่อค้า/แม่ค้านำของมาวางขายกันแล้วหรือ? (....ติดตลาดหรือยัง? ตลาดติดแล้วหรือ? ...)

คำว่า ตลาดติด หรือ ติดตลาด นี้ ดูจะไม่มีสาระใดๆมากนัก แต่สำหรับคนที่ต้องทำหรือชอบทำอาหารกลับค่อนข้างจะให้ความสำคัญกับช่วงเวลาแรกๆของการติดตลาด/ตลาดติด  ด้วยว่าของดีๆ สดๆ ใหม่ๆ หลายๆอย่างจะมีขายอยู่ในช่วงเวลาของตลาดเช้า ของดีๆหลายๆอย่างที่ต้องแปรรูปจากของสดที่ได้มาในแต่ละวันจะวางขายกันในตลาดบ่าย ซึ่งเมื่อตลาดติดโดยสมบูรณ์แล้ว (เมื่อ พ่อค้า/แม่ค้า ทั้งหลายได้นำของมาวางขายกันถ้วนหน้า) ของดีๆเหล่านั้นก็มักจะผ่านการจับต้อง ผ่านการคัด และถูกซื้อไปก่อนแล้ว


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ส.ค. 19, 20:12
ตลาดจะติด หรือ จะติดตลาด เมื่อใด ก็ดูจะมีเวลาที่เป็นมาตรฐานอยู่เหมือนกัน   เวลาปกติของการติดตลาดของตลาดประจำถิ่นในระดับตำบล อำเภอ และบางจังหวัด โดยทั่วๆไปสำหรับตลาดเช้าดูจะเริ่มตั้งแต่เวลาประมาณตีห้า และตลาดจะวายในช่วงเวลาประมาณแปดโมงเช้า  ส่วนตลาดเย็นก็จะเริ่มตั้งแต่เวลาประมาณบ่ายสามโมงครึ่งและจะวายตั้งแต่ช่วงเวลาประมาณหกโมงเป็นต้นไป   

สำหรับในกรุงเทพฯนั้น ดูจะนิยมเรียกกันว่า ตลาดเช้าวัด.... ซึ่งจะเริ่มเวลาประมาณหกโมงเช้าและจะเริ่มซาลงในเวลาประมาณแปดโมงครึ่ง และตลาดเย็น(วัด....) ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เวลาประมาณบ่ายสามโมงครึ่งและจะเริ่มซาลงตั้งแต่เวลาประมาณทุ่มครึ่ง ทั้งนี้ บางคนก็เรียกตลาดเย็นว่า ตลาดนัด   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ส.ค. 19, 20:30
ที่จริงแล้วยังมีอีกตลาดหนึ่งที่มักจะอยู่ในพื้นที่ชายเขตเมือง ก็คือ ตลาดขายส่ง  ตลาดนี้ผู้คนสามารถจับจ่ายได้ทั้งในรูปของผู้ซื้อรายย่อยหรือผู้ซื้อแบบเหมา และมีทั้งแบบที่ขายกันทั้งวัน หรือขายกันเป็นช่วงเวลา  ในกรุงเทพฯก็มีอาทิ ตลาดศาลาน้ำเย็น และ ตลาดศาลาน้ำร้อน ซึ่งตั้งอยู่ในละแวกสถานีรถไฟธนบุรี    มีของกินอร่อยๆหลายอย่างทำขายกันอยู่ในตลาดลักษณะเช่นนี้


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ส.ค. 19, 20:06
ตลาดขายส่งในพื้นที่อื่นใดนอกจากกรุงเทพฯแล้วนั้น มักจะมีอยู่ในเมืองหรือย่านชุมชนที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ต้นทางหรือปลายทางในการเดินทาง เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทาง(hub)ระหว่างผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ต่างย่าน/ต่างถิ่นกัน ซึ่งสำหรับกรุงเทพฯนั้นดูจะต่างออกไป คือมีตลาดขายส่งที่เจาะจงเฉพาะสินค้าบางอย่าง เช่น ตลาดไข่-เทเวศ  ตลาดผลไม้-สะพานขาว  ตลาดดอกไม้-ปากคลองตลาด ตลาดผ้า-โบ้เบ๊   สะพานปลากรุงเทพฯ .....

ตลาดขายส่งที่เป็นแหล่งซื้อขายระหว่างผู้ทำมาค้าขายด้วยกันในลักษณะของธุกิจแบบ B to B  ตลาดพวกนี้จะติดตลาดกันตั้งแต่ประมาณเที่ยงคืนเป็นต้นไป มีการค้าขายกันเป็นห่วงโช่ผสมผสานกันไปจนกระทั่งเช้า ระหว่างผู้ผลิตกับผู้ซื้อรายแรก ระหว่างผู้ซื้อรายแรกกับผู้ซื้อรายย่อยต่อๆกันไป   เมื่อเข้าสู่ช่วงเวลาก่อนฟ้าจะเริ่มสาง ก็ดูจะเป็นการซื้อขายระหว่างผู้ขายกับผู้นำไปขายต่อในตลาดอื่นๆในชุมชนต่างๆ รวมทั้งผู้ซื้อที่นำไปแปรรูปเป็นอาหาร   เมื่อฟ้าเริ่มส่งแสงรำไร ก็ถึงเวลาการปรากฎตัวของพ่อบ้าน/แม่บ้านทั้งหลายที่จะไปจับจ่ายเลือกของดีๆมาทำกินกัน ก็เข้าไปสู่ลักษณะธุรกิจแบบ B to C   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ส.ค. 19, 20:23
ตัวผมเองชอบเดินตลาดในช่วงฟ้าเริ่มสาง  ด้วยของดี ของสด ของคัดต่างๆจะถูกนำมาจัดวางเป็นหมวดหมู่ให้พิจารณาได้อย่างชัดเจน เมื่อเห็นแล้วก็ชวนให้นึกถึงว่าน่าจะเอาไปทำอะไรได้อย่างอร่อยๆบ้าง แถมยังกระตุ้นให้เกิดการคิดสำหรับการทำอาหารในวันต่อๆไปอีกด้วย  อาทิ ยอดมะกอกอ่อนทำให้นึกถึงการนำไปเป็นผักแนมกับหลนต่างๆ ดอกสะเดาทำให้นึกถึงน้ำปลาหวานกับกุ้งเผาบนเตาไฟแรงๆ หรือกับปลาดุกย่าง (โดยเฉพาะที่เป็นปลาดุกนา และปลาดุกอุย)  เห็นปลาใบขนุนก็ทำให้นึกถึงการเอามาทอดให้กรอบ จะกินกับข้าวต้มหรือข้าวสวยก็ได้ จิ้มกับเต้าเจี้ยว หรือกับน้ำปลามะนาวใส่พริกขี้หนูเม็ดเล็กซอยละเอียดและหอมแดงเชียงใหม่ซอยบางๆ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ส.ค. 19, 08:51
รู้จักตลาดเช้าค่ะ  มีอยู่ทั่วไปในต่างจังหวัด  ตอนเช้าๆมีผักมีหมูขาย   ชาวบ้านก็มาเดินจับจ่ายกัน 
พอสายหน่อยตลาดก็วายแล้ว   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ส.ค. 19, 19:24
ตลาดเช้าในต่างจังหวัดนั้น หากอยู่ในตัวเมืองจังหวัด ก็มักจะเป็นตลาดสดเทศบาล สำหรับในจังหวัดที่เป็น hub ใหญ่ของการเดินทาง ก็มักจะมีตลาด(สด)เทศบาล 1 และ 2   ตัวผมยังไม่เคยเห็นมีตลาดสดเทศบาล 3 ที่จังหวัดใดเลย    หากเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างการคมนาคมทางรถไฟกับทางรถยนต์ ตลาดสดก็จะไปอยู่ที่บริเวณสถานีรถไฟนั่นเอง  เมื่อห่างไกลจากเมืองออกไป ยิ่งมากเท่าไร สภาพของตลาดก็จะยิ่งเปลี่ยนไป เป็นนั่งร้านไม้กระดานที่วางไม่ค่อยจะเป็นระเบียบใต้โครงหลังคา ไปจนถึงวางของขายบนพื้นดินบนถุงปุ๋ย

ก็ยังมีตลาดสด ตลาดเช้า ตลาดบ่าย ในอีกรูปแบบหนึ่ง    แต่ก่อน ในสมัยที่รถไฟสายกาญจนบุรี-สถานีน้ำตก(เขาพัง)ยังใช้รถจักรไอน้ำอยู่ (หากความจำผมยังใช้ได้อยู่ รถจักรคันนี้เป็นหมายเลข 725)  ตลาดสดของชาวบ้านในพื้นที่ตั้งแต่เลยสะพานข้ามแม่น้ำแควขึ้นไปจนถึงสถานีน้ำตก ตลาดจะติด ณ จุดที่รถไฟจอด ขบวนรถไฟสายนี้จะพ่วงรถนั่ง 2 โบกี้ และรถตู้ขนสินค้า 3 ตู้ (หากความจำยังถูกต้อง)   การพ่วงตู้ขบวนของรถไฟสายนี้ในขาไปยังสถานีน้ำตก จะจัดเป็นโบกี้โดยสารอยู่ด้านส่วนหัวขบวนตามด้วยตู้สินค้า ในขากลับมายังตัวเมืองกาญจนบุรีก็จะกลับทางกัน    เมื่อรถไฟจอดที่ป้ายหยุด ตลาดก็จะติดในทันใด ประตูตู้สินค้าจะเลื่อนออกกว้างขึ้น ชาวบ้านที่ทำไร่ทำสวนอยู่แถวนั้นก็จะมาจับจ่ายสินค้ากับแม่ค้าที่นั่งมาอยู่ในตู้สินค้านั้น   พขร.รถไฟก็ดูจะเป็นกันเองดี มีน้ำใจอย่างดีเยี่ยมกับแม่ค้าและชาวบ้านแถวนั้น จะมีมากเพียงใดก็พอจะดูได้จาก การรอหรืออกรถช้าๆจนกว่าการการชำระและการทอนเงินจะเสร็จสิ้น หรือการช่วยถ่ายน้ำของหัวรถจักรลงถัง 200 ลิตรที่ชาวบ้านนำมาวางเตรียมไว้  ชาวบ้านแถบนั้นขาดน้ำใช้ค่อนข้างจะสาหัสในสมัยนั้น (ในพื้นที่ๆเรียกว่า สามชั้น)     รถไฟขาไปสู่สถานี้น้ำตกก็เป็นจะสินค้าจากเมือง  สำหรับรถไฟขากลับสู่เมืองกาญจน์ก็จะเป็นสินค้าที่มาทางเรือจากทาง อ.ทองผาภูมิ ที่ขนมาทางแม่น้ำแควน้อยมาขึ้นบกที่ท่าน้ำ บ.ปากแซง


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ส.ค. 19, 19:37
เมื่อพอจะได้เห็นที่มาที่ไปของความเป็นตลาดเช้าแล้ว ก็คงจะพอนึกออก เดา หรือคาดการณ์ได้บ้างว่า ในช่วงเวลาใดของปี ของการติดตลาด ของตลาดในพื้นที่ใด ว่าจะมีอะไรดีๆที่สามารถหาซื้อเอามาทำกินให้อร่อยหรือเป็นเมนูเด็ดได้     ก็จะลองพยายามไล่เรียงดูครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ส.ค. 19, 19:28
ในพื้นที่ทั่วๆไปในปีนี้ ตั้งแต่แรกฝนเปลี่ยนฤดู ไทยเรามีฝนตกแบบพระพรมน้ำมนต์ เป็นฝนตกไม่มีน้ำและเป็นแบบตกๆหยุดๆ  กระนั้นก็ตาม บรรดาพืชผักหลากหลายชนิดที่ปลูกขายกันในเชิงธุรกิจ ก็ยังเห็นมีวางขายกันตามปกติ มากบ้างน้อยบ้างตามแต่จะสามารถเก็บเกี่ยวได้    ต่างไปจากพืชผักตามธรรมชาติที่ดูจะงงงวยกับฤดูกาล เลยแตกยอด แตกใบ ออกดอก ออกผลกันหลายครั้ง  ที่สังเกตเห็นในตลาดสดชุมชนในพื้นที่กรุงเทพฯก็มี ยอดสะเดา ยอดมะกอก ลิ้นฟ้า(เพกา)ผักหนาม เห็ดเผาะ(เห็ดถอบ) ..... สำหรับใน ตจว.นั้น ตามตลาดในภาคเหนือก็เห็นมี ยอดหวาย(หางหวาย) ยอดจิก(กระโดน) ผักขี้หูด ผักเชียงดา ดอก(ต้น)ข่า ...  สำหรับในตลาดในภาคอื่นๆนั้นไม่มีโอกาสได้ไปเห็นครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ส.ค. 19, 20:33
ตามปกติ สะเดาจะออกดอกในช่วงฤดูหนาว ที่ผมรู้มีอยู่ 2 สายพันธ์ุ คือ สะเดาที่มีรสขมมาก พวกนี้ขอบใบจะออกสีแดงเรื่อๆ  กับสะเดาที่ใม่มีรสขมน้อย  พวกนี้ใบจะออกสีเขียวนวลทั้งใบ ซึ่งชาวสวนเรียกกันว่าสะเดาสวน หรือ สะเดามัน  ทางภาคเหนือเรียกกันว่า เสลี่ยมหวาน  (อ.ทุ่งเสลี่ยม ของ จ.สุโขทัย มีพื้นที่เป็นป่ารอยต่อกับ อ.เถิน จ.ลำปาง อุดมไปด้วยต้นสะเดาป่า ซึ่งมีเนื้อลายไม้ออกสีชมพู สวยงามมาก)

เมื่อใดที่เห็นดอกสะเดา คนสูงวัยก็มักจะนึกถึงเมนูอาหาร กุ้งเผาสะเดาลวก   ซึ่งกุ้งที่ใช้ก็จะต้องเป็นกุ้งก้ามกรามแม่น้ำ เมื่อกุ้งแม่น้ำหาได้ยากและมีราคาสูงมาก ประกอบกับจะเอากุ้งอื่นๆมาเผาก็อร่อยสู้ไม่ได้ ก็เลยเปลี่ยนไปเป็นปลาดุกย่างแทน แต่ก็อีกนั่นแหละ ปลาดุกที่อร่อยจริงๆก็จะต้องเป็นปลาดุกอุยอีกด้วย ปลาดุกอุยจะมีเนื้อเหลืองเมื่อย่างสุกแล้ว ก็น่าเสียดายที่กลายเป็นของหายากเอามากๆในปัจจุบัน จะเรียกว่าสูญพันธุ์ไปแล้วก็ดูจะไม่ผิดนัก  ก็มีปลาดุกเลี้ยงที่เอามาย่างขายเห็นเนื้อสีเหลืองๆกันอยู่ เป็นสายพันธุ์อะไรก็ไม่รู้ที่เนื้อไม่ต่างไปจากปลุกด้านสายพันธุ์เอามาเลี่ยงเป็นธุกิจกัน แถมอาจจะโดนแต้มขมิ้นให้มีสีให้เหลืองในขณะย่างอีก   ได้ยินมาว่าในปัจจุบันนี้ในเขมรยังพอมีปลาดุกอุยนาตามธรรมชาติอยู่ จะจริงเท็จเช่นใดก็มิทราบ หากมีโอกาสก็ลองหากินดูนะครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ส.ค. 19, 18:23
ในเมนูสะเดานี้ กุ้งเผาควรจะมีลักษณะออกไปทาง mediun rare  เผาโดยการวางกุ้งบนตะแกรงเหนือเตาถ่านไฟแรง เปลือกกุ้งจะต้องใหม้นิดๆเป็นหย่อมๆ กุ้งจึงจะมีกลิ่นที่หอมชวนกิน   แต่ก่อนนั้น เมื่อจะกินก็ใช้วิธีลอกเปลือกกุ้งออกทั้งตัวและถอดหัวโขน ในปัจจุบันนี้เกือบทั้งหมดจะใช้วีธีผ่ากุ้งแบะออกเป็นสองซีก อาจจะเป็นเพราะกุ้งมีราคาแพงมากกระมัง ก็เลยแบ่งให้แต่ละคนกินได้ครึ่งตัว?

เนื้อกุ้งเอาไปกินร่วมกับสะเดาและน้ำปลาหวานเข้ากันได้ อร่อยดี  แต่ส่วนที่เป็นมันเหลวหรือมันแก้วในหัวกุ้ง รวมทั้งเหงือกและกรีกุ้งนั้น (ซึ่งเคี้ยวหนึบหนับดี) ดูจะไม่ไปด้วยกันกับน้ำปลาหวานเลย ในเมนูนี้จึงต้องมีน้ำปลา ซึ่งถ้าจะให้อร่อยถึงใจเลยก็จะต้องใช้น้ำปลาดีๆ(กลิ่นหอม) ที่ใส่หอมแดงซอยบางๆ  ใส่พริกขี้หนูสวนซอยบางๆ(ไม่สับ) บีบมะนาวดีๆ(พวกมะนาวแป้นเปลือกบาง)

ตัวผมเองมีความชอบและรู้สึกอร่อยมากกับดอกและใบอ่อนของทั้งสะเดาขมและสะเดามัน สำหรับกุ้งเผานั้นก็สนใจอยู่แต่ที่เหงือกและกรีของมัน  แต่ในปัจจุบันต้องลดละไปเพราะอาจจะเกิดอาการแพ้ได้หากเป็นพวกกุ้งเลี้ยง   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ส.ค. 19, 18:54
ปลาดุกย่างที่จะเอามากินกับสะเดาน้ำปลาหวาน ที่อร่อยก็ควรจะเป็นปลาดุกพันธุ์พื้นบ้านของเรา และยิ่งเป็นปลาดุกนาที่ย่างแล้วจะยังมีสาบกลิ่นโคลนติดอยู่บ้างก็จะยิ่งอร่อย ปลาดุกบ้านจะมีขนาดตัวไม่ใหญ่ ต่างกับปลาดุกเลี้ยงที่จะมีขนาดตัวใหญ่และมีมันในท้องมาก ปลาดุกบ้านนี้ก็ยังพอจะหาซื้อได้ในตลาดชุมชนบางตลาดในกรุงเทพฯ 

แต่ก่อนนั้น การย่างปลาดุกจะมีความพิถีพิถันมากกว่าในปัจจุบัน เป็นการย่างบนตะแกรงด้วยไฟอ่อนปิดด้วยใบตองกล้วย แล้วจึงรมด้วยความร้อนจากกาบมะพร้าว กลิ่นคาวปลาก็จะหายไปหมด สุกทั่วทั้งตัว เนื้อปลาจะออกไปทางค่อนข้างแห้ง  เนื้อปลากินร่วมกับดอกสะเดาและน้ำปลาหวานได้ดี แต่ดูจะเหมาะที่จะกินกับต้นผักชีมากกว่ากับสะเดา

ของอร่อยสำหรับหลายๆคน รวมทั้งตัวผมด้วย คือส่วนที่เป็นหัวและครีบปลาดุก เอามาจิ้มน้ำปลาที่ทำอย่างที่เล่ามา  ก็เป็นเรื่องที่ต้องกินด้วยมือแบบโบราณ กินสลับกันไปมาระหว่างสะเดากับน้ำปลาหวาน และครีบและส่วนที่กินได้ของหัวปลาจิ้มกับน้ำปลา 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ส.ค. 19, 19:08
สะเดาน้ำปลาหวานเป็นของอร่อย เป็นอาหารที่ไม่มีอยู่ในเมนูของร้านหรือภัตตาคารอาหารทั่วๆไป   แต่เราพอจะหาซื้อกินได้ตามตลาดพื้นบ้าน ซึ่งแม่ค้าจะขายในลักษณะเป็นชุด ซึ่งมักจะมีเพียงสะเดาลวกและน้ำปลาหวาน สำหรับกุ้งนั้นต้องไปหาซื้อกุ้งสดแล้วนำเอาไปเผาเอง  ส่วนปลาดุกย่างนั้นเป็นองค์ประกอบที่แยกออกไปสุดแท้แต่จะชอบของเจ้าใด


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ส.ค. 19, 19:17
ยังไม่เคยเจอร้านอาหารที่มีน้ำปลาหวาน กุ้งเผา สะเดาลวกในเมนูค่ะ  แม้แต่ปลาดุกย่างแทนที่กุ้งเผา ก็ยังไม่เจอ
รุ่นลูกของดิฉันกินของพวกนี้ไม่เป็นแล้วค่ะ  ไม่เข้าใจว่าของขมๆกินอร่อยได้ยังไง


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ส.ค. 19, 20:08
น้ำปลาหวานนั้นทำไม่ยาก แต่จะทำให้อร่อยนั้นดูจะยากและใช้เวลาในการทำ     องค์ประกอบหลักของน้ำปลาหวานนั้น มิใช่มีแต่เพียงน้ำตาลปึกกับน้ำปลาเอาตั้งไฟคนให้เข้ากัน (แม่ค้าหลายเจ้าทำเช่นนี้)  มันจะต้องมีน้ำมะขามเปียกใส่ลงไปช่วยปรุงรสด้วย  แล้วก็มีหอมเจียว กระเทียมเจียว และพริกแห้งทอดโรยหน้าก่อนที่จะคลุกเคล้าแล้วตักกินกัน    

ความอร่อยอย่างลงตัวของน้ำปลาหวานนั้นจึงมาจากองค์ประกอบหลายๆอย่าง กระเทียมที่จะเจียวนั้นก็มีทั้งกระเทียมไทยและกระเทียมจีนที่จะเลือกใช้ ทำได้ทั้งแบบทุบทั้งเปลือกแล้วสับหรือปอกเปลือกแล้วสับ หรือจะค่อยๆซอยเป็นแว่นบางๆแล้วจึงเจียวให้กรอบแต่ไม่ให้ใหม้   หอมก็เช่นกัน มีทั้งหอมแดงไทยและหอมอื่นๆที่จะนำมาซอยบางแล้วเจียว  พริกแห้งที่จะเอามาใช้ จะไช้แบบเม็ดใหญ่หรือเม็ดเล็ก จะทอดหรือจะคั่วแห้ง ??      หากไม่สามารถทำเองได้ อย่างน้อยก็น่าจะเลือกซื้อในลักษณะที่แม่ค้าแยกส่วนประกอบส่วนที่เป็นของเจียว

สำหรับผม นิยมกระเทียมไทยและหอมไทยซอยเป็นแว่นบางๆแล้วเจียว นิยมพริกแห้งเม็ดเล็กคั่วแห้ง


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ส.ค. 19, 19:39
ยังไม่เคยเจอร้านอาหารที่มีน้ำปลาหวาน กุ้งเผา สะเดาลวกในเมนูค่ะ  แม้แต่ปลาดุกย่างแทนที่กุ้งเผา ก็ยังไม่เจอ
รุ่นลูกของดิฉันกินของพวกนี้ไม่เป็นแล้วค่ะ  ไม่เข้าใจว่าของขมๆกินอร่อยได้ยังไง

แต่ก่อนนั้นเมนูนี้ดูจะเป็นหนึ่งในอาหารชั้นดีที่อยู่ในสำรับอาหารของบ้านของผู้มีอันจะกินที่มีการทำครัวเอง  เมนูนี้คงจะหลงเหลืออยู่ไม่มากนักในหมู่คนที่มีบ้านและที่ยังพอจะมีเวลาเดินตลาดซื้อหามาจัดเป็นสำรับอาหารเย็น  เมนูนี้จะว่าไปแล้วก็เป็นเพียงอาหารพื้นบ้านและเป็นเพียงอาหารประจำฤดูกาลเท่านั้น  ซึ่งผมเห็นว่าคนรุ่นใหม่ในพื้นที่เมืองไม่นากนักที่จะรู้จัก เพราะเขาดูจะใช้ช่วงเวลาของชีวิตนอกบ้านมากกว่าในบ้าน บ้านดูจะเป็นเพียงสถานที่สำหรับนอนเท่านั้น  ประกอบกับการที่มักจะเป็นครอบครัวเล็ก ได้รับวัฒนธรรมการกินอาหารเป็นแบบจานใครจานมัน (one plate meal) แม้กระทั่งการจัดอาหารบนโต๊ะอาหารก็ดูจะเอาเป็นเพียงให้ครบว่าจะต้องมีผัดผัก มีแกงรสเผ็ดหรือรสจืด และมีจานที่ชอบอีกหนึ่งหรือสองจาน

เมนูสะเดานี้คงจะไม่เหมาะกับการจัดงานแบบ Smorgasboard หรือ Buffet เป็นแน่ ดูจะเหมาะแต่เฉพาะการกินภายในครอบครัวหรือระหว่างเพื่อนฝูงที่สนิทกันมากๆและนั่งในโต๊ะอาหารร่วมกัน   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ส.ค. 19, 17:59
ก่อนและหลังช่วงเวลาที่มีดอกสะเดามาวางขายกันทั่วๆไป ก็จะเห็นมีพวกยอดอ่อนมาวางขายกัน พวกที่เป็นใบนี้ไม่ค่อยจะเห็นมีที่แม่ค้าลวกให้เรียนร้อยแล้ว  มักจะต้องซื้อเอามาลวกเอง

การสะเดานั้นก็มีหลักอยู่เหมือนกันว่า การเอาต้มลงไปในน้ำเดือดๆชั่วครู่ เมื่อคะเนว่าสุกพอดีแล้วจึงตักออกมาใส่ลงไปในกะละมังน้ำเย็น แช่ไว้เช่นนั้นให้หายร้อนจนถึงเวลาพร้อมที่จะจัดลงจาน  มิฉะนั้นความร้อนที่ผักยังอมอยู่จะทำให้ผักสุกเกินไปจนเปลี่ยนสี สยบ นิ่ม ดูเฉา ไม่สด ไม่น่ากิน  ดังนั้น หากจะซื้อแบบที่แม่ค้าลวกให้แล้วก็เลือกกำที่ยังแช่น้ำอยู่ในกะละมัง

สำหรับที่เป็นใบสะเดาอ่อนนั้น เอามาทำได้ทั้งแบบลวกเพื่อกินกับน้ำปลาหวาน หรือเอามารมเหนือไฟแรงปานกลางแล้วกินเป็นผักแนมแกล้มกับพวกลาบทั้งหลาย เข้ากันได้ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นลาบปลา หมู เนื้อ จะเป็นลาบใส่เครื่องเทศแบบทางเหนือ หรือจะใส่ข้าวคั่วแบบอีสาน ก็อร่อยทั้งนั้น


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ส.ค. 19, 18:51
ในช่วงเวลานี้ ตามตลาดเย็นของชุมชนในเมืองที่มีการขายอาหารสำเร็จรูป จะเห็นว่ามีฝักเพกา (ลิ้นฟ้า มะลิดไม้_ ลิ้นไม้ ?) ที่เผาสุกแล้ววางขายอยู่บนแผงขายประดาน้ำพริก วางอยู่กับผักที่ให้ลูกค้าเลือกซื้อตามชอบ

แต่ก่อนนั้น เพกาเป็นต้นไม้ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ จะออกฝักและเก็บเกี่ยวนำมาวางขายในตลาดพื้นบ้านใน ตจว. ในช่วงปลายหนาว  ปัจจุบันนี้มีการปลูกกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว สายพันธุ์ของมันแต่เดิมนั้นมีลักษณะเป็นต้นเดี่ยวๆ ตรงๆ สูงชลูด มีฝักออกที่ส่วนยอด จะเก็บฝักกันที่ก็ต้องใช้วิธีแหงนคอตั้งบ่าสอยเอา  แต่ในปัจจุบันนี้มีการพัฒนาจนเกิดมีสายพันธุ์เตี้ยขึ้นมา ทำให้เก็บเกี่ยวได้ง่าย แถมยังให้ผลที่เก็บเกี่ยวได้หลายเดือน  รูปทรงของฝักมีลักษณะคล้ายกับฝักหางนกยูง  เนื้อในของฝักที่แก่จัดเป็นสมุนไพรในกลุ่มมีรสเย็น ที่เห็นการใช้คุ้นตามากๆก็ในส่วนประกอบในการทำน้ำจับเลี้ยง ที่เป็นเป็นแผ่นที่มีเมล็ดอยู่ตรงกลางและมีปีกคล้วยเยื่อไม้บางๆนั้นแหละ 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ส.ค. 19, 19:13
ในตลาดใน ตจว. จะเห็นฝักเพกาวางขายกันแบบเป็นฝักสดๆ และเห็นได้ทั้งในตลาดเช้าและตลาดเย็น   ต่างไปจากในกรุงเทพฯที่จะเห็นเฉพาะในตลาดเย็น ซึ่งเป็นแบบที่เผาสุกและหั่นเป็นท่อนๆวางอยูตามแผงขายน้ำพริก อาจจะเห็นบ้างว่ามีขายเป็นฝักสดบนแผงขายของสดที่ขายพืชผักและเครื่องปรุงประกอบอาหารแบบพื้นบ้านของผู้คนชาวอีสานและชาวเหนือ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ส.ค. 19, 06:43
เคยได้ยินชื่อแต่ไม่เคยกินค่ะ   ใช้จิ้มน้ำพริกเหมือนผักทั่วไป หรือว่าเอาไปผัดเหมือนสะตอคะ
รสชาติเป็นยังไงคะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: unicorn9u ที่ 19 ส.ค. 19, 09:08
เคยได้ยินชื่อแต่ไม่เคยกินค่ะ   ใช้จิ้มน้ำพริกเหมือนผักทั่วไป หรือว่าเอาไปผัดเหมือนสะตอคะ
รสชาติเป็นยังไงคะ

ฝักอ่อน เผาไฟ ลอกผิวออก หรือไม่ก็ต้ม กินกับนำพริก พวกแจ่วปลาร้า

รส ขมครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ส.ค. 19, 10:41
ขอบคุณค่ะ   เจอลาบเพกา เลยนำมาฝาก

http://www.inmu.mahidol.ac.th/gallery/inmucooking/Western_food/%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%81%E0%B8%B2.html


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ส.ค. 19, 18:08
เพกาเป็นสินค้าที่มีราคาไม่สูง  ฝักสดจะขายกันที่ราคาฝักละ 5 - 10+ บาท ไม่ว่าจะเป็นในช่วงใดของฤดู  เมื่อแม่ค้าขายน้ำพริกนำมาเผาขายก็จะตัดแบ่งออกเป็นท่อนๆ ยาวท่อนละประมาณ 15 ซม. ก็ยังขายกันในราคา 5 หรือ 10 บาทอยู่เช่นนั้น 

ครับ...  เพกาเอามาทำอาหารได้หลายอย่าง แต่ที่นิยมกันมาแต่ดั้งเดิมนั้น คือการเอามาทำเป็นผักจิ้มน้ำพริก   เพกาเป็นผักโปรดของผมที่เมื่อเห็นมีวางขายก็จะต้องเร่เข้าไปดู ไม่ว่าจะเป็นฝักสดหรือที่ทำสุกแล้วที่วางอยู่บนแผงขายน้ำพริกก็ตาม      ผมเรื่องมากนิดหน่อยกับเพกา ผมชอบฝักที่กระเดียดไปทางแก่ เลือกซื้อฝักสดเอามาทำเอง หรือที่สุกแล้วจากการเผาบนไฟกลางค่อนข้างแรง ไม่นิยมฝักอ่อนและแบบที่แม่ค้าเผา ขูดผิว แล้วล้างน้ำเสียจนเขียวนวล สะอาดอ่อง 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ส.ค. 19, 19:12
ฝักเพกาที่กระเดียดไปทางแก่นั้นค่อนข้างจะมีปื้นสีดำและจุดดำคล้ายกับการพ่นสีสเปรย์สีดำลงไปห่างๆ ฝักมีความแข็งพอควร   เมื่อนำมาเผา จะได้กลิ่นที่หอมชวนกินมากกว่าฝักอ่อน   ตามปกติแต่เดิมก็จะเผาแบบพลิกไปพลิกมาในเตาถ่าน ไม่ใช้ตะแกรง    แต่ในปัจจุบันนี้เราคนในเมืองใช้เตาแกสกันทั้งนั้น ก็ไม่เป็นไร ยังสามารถทำให้ออกมาหอมอร่อยได้

ใช้เตาแกสไฟแรงปานกลาง เอาฝักเพกาวางบนตะแกรง ค่อยๆเลื่อนฝักให้อยู่เหนือเปลวไฟไปช้าๆตามความยาวของฝัก พลิกไปมาเมื่อสุดปลาย เป็นการอุ่นให้ทั้งฝักมีความร้อนเท่าๆกัน   ในขณะที่ผิวนอกของฝักเริ่มจะแห้งและเริ่มปูดเป็นจุดๆ ความชื้นภายในฝักก็จะร้อนระอุทำให้เนื้อในค่อยๆสุก   เมื่อคะเนว่าสุกแล้ว หรือจะใช้มีดหรือส้อมจิ้มดูก็ได้ ซึ่งหากระอุดีแล้วก็จะเห็นเป็นไอที่พุ่งขึ้นมาตามรูที่มีดหรือส้อมเจาะลงไป   ก็เร่งไฟให้แรงเพื่อเผาให้ผิวแห้งจนเกิดลักษณะใหม้ กลิ่นก็จะหอมฉุนออกมาในทันใดเลย     

จากนั้นก็เอามามีดมาขูดผิวที่ใหม้เกรียมออกไป ใช้มือลูบผิวให้สะอาดก็พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องเอาไปล้างน้ำจนสะอาดเกลี้ยงเกลา ซึ่งจะทำให้กลิ่นหอมอันชวนกินนั้นหายไป ซึ่งยิ่งหากย่างได้ไม่ดี ดีไม่ดีก็กลับจะได้กลิ่นเหม็นเขียวออกมาแทนเสียด้วยซ้ำไป   แล้วแทนที่จะหั่นเป็นชิ้นๆ เป็นดุ้นๆ   ก็หั่นเฉลียงเป็นแผ่นให้บางหน่อย คล้ายกับการตักสังขยาวางบนข้าวเหนียวมูล  เราก็จะได้ผักจิ้มน้ำพริกที่แสนอร่อย หอม นิ่มแต่เคี้ยวกรุบๆ แล้วยังเป็นสมุนไพรอีกด้วย

เพกากินกับน้ำพริกกะปิ น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกปลาร้าสับ น้ำพริกปลาทู(หรือปลาทูแมงดา)... ก็อร่อยทั้งนั้น  แต่ดูจะไม่ค่อยจะไปด้วยกับพวกน้ำพริกแห่งป่นทั้งหลาย


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ส.ค. 19, 19:37
ขอแนะนำเมนูง่ายๆที่อร่อยได้ที่เลยทีเดียว จะกินกับข้าวสวย หรือกับข้าวเหนียวปั้นจิ้มก็อร่อยทั้งนั้น

ใช้เพกาสดหรือที่แม่ค้าทำมาแล้ว(แบบต้มหรือแบบเผา)ท่อนหนึ่ง เอามาซอยขวางเป็นแว่นๆ หนาประมาณหอมซอยที่ใส่ในลาบอิสาน   ต่อยไข่ใส่ถ้วย ตีไข่พอแหลก เอาเพกาที่ซอยไว้ใส่ลงไป คนให้เข้ากันดี เอาลงกระทะผัด คล้ายมะระผัดไข่ ผักกาดดองผัดไข่ หัวไชไป้วผัดไข่...


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ส.ค. 19, 18:39
ในช่วงเวลาที่เห็นมีฝักเพกาวางขายในตลาดทั่วๆไป ก็แสดงว่าในตลาดชุมชนพื้นบ้าน(หมู่บ้าน)ในพื้นที่นอกเขตเมือง(โดยเฉพาะในภาคเหนือและอิสาน) ก็จะต้องมียอดหวายมาวางขายกัน

ยอดหวายนี้ยังมีชื่อเรียกกันอีกว่า หน่อหวาย และ หางหวาย  ซึ่งทุกชื่อที่ใช้เรียกขานก็ถูกต้องทั้งนั้น    ต้นหวายนั้น เมื่อแทงยอดออกมา ก็คงจะไม่ผิดที่จะเรีกว่า ยอดหวาย หรือ หน่อหวาย เมื่อมันเจริญเติบโตยืดยาวไปเรื่อยๆ ก็คงจะไม่ผิดที่จะเรียกส่วนปลายของมันว่า หางหวาย หรือ ยอดหวาย

หวายเป็นไม้ป่าที่ขึ้นอยู่ในป่าบริเวณที่เป็นตลิ่งห้วยที่มีความชื้นสูง ดังนั้น เมื่อเราเห็นมียอดหวายวางขายอยู่ในเพิงขายของข้างทางของชาวบ้าน ก็จึงเป็นสิ่งบ่งบอกอย่างหนึ่งว่าในพื้นที่นั้นๆควรจะ
ยังคงเป็นผืนป่าที่ค่อนข้างจะมีความสมบูรณ์ หรือยังคงมีความเป็นธรรมชาติอยู่    อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้ได้มีการนำหวายมาปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจ เพื่อการตัดหน่อขาย   หน่อที่ตัดมาแต่ละหน่อจะมีความยาวประมาณหนึ่งศอก แต่ด้วยความที่หวายเป็นพืชมีหนามและผู้ซื้อก็ดูจะไม่นิยมเอาไปทำเองมากนัก แม่ค้าก็เลยปอกเปลือก(กาบ)ให้เสร็จ เหลือแต่แกนในเป็นแท่งกลมขาวขนาดประมาณนิ้วชี้ (คล้ายกับการปอกหยวกกล้วยอ่อน)


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ส.ค. 19, 18:54
หยอดหวายแบบปอกหรือลอกกาบนี้จะมีวางขายอยู่ในตลาดชุมชนพื้นบ้าน  (ภาษาที่ถูกต้องควรจะเป็นปอก หรือ ลอก ครับ ?)  แต่สำหรับยอดหวายที่ยังไม่ได้ปอก จะมีขายอยู่ตามแผงขายของข้างทางหลวงในช่วงที่เป็นพื้นที่ป่าเขา (เช่น เส้นทาง ตาก-แม่สอด, เส้นทาง เชียงใหม่-เชียงราย ...) 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ส.ค. 19, 19:39
ยอดหวายนี้ ผู้คนในภาคเหนือนิยมเอาไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของผักใส่ในแกงแค ในขณะที่ผู้คนอิสานนิยมเอามาใช้เป็นผักใส่ในแกงอ่อม  แม้ว่าแกงของทั้งสองภาคจะมีความต่างกันในเชิงของเครื่องแกงและวิธีการปรุง แต่ต่างก็ดูจะนิยมใช้ยอดหวายไปในเชิงของเครื่องผักและเครื่องปรับรส   ยอดหวายมีรสขม เป็นสมุนไพรในกลุ่มรสเย็น

ยอดหวายนั้น มีคนไม่มากนักที่นิยมเอาไปเป็นผักจิ้มน้ำพริก ซึ่งโดยส่วนมากก็จะใช้วิธีการเอาไปต้ม ซึ่งก็จะทำให้รสขมหายไปเกือบหมด แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้ความหอมของพืชผักหายไปหมดด้วยเช่นกัน เหลือแต่เพียงรสสัมผัสกรุบๆ    ในความเป็นจริงแล้วความอร่อยของยอดหวายที่จะได้ครบทั้งกลิ่น รส และเนื้อสัมผัส นั้น จะได้มาจากการทำด้วยวิธีการเผายอดหวายที่ยังไม่ลอกในเตาถ่านหรือในกองไฟเพื่อให้ให้เนื้อในระอุสุก ก็จะได้กลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เตะจมูกน่ากินมาก  ก็ในทำนองเดียวกันกับพวกอาหารอร่อยที่ต้องย่างและรมควันทั้งหลาย


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 21 ส.ค. 19, 09:27
น้ำปลาหวาน สะเดา นั้น ของโปรดแม่ผมเลยครับ แต่ก็แบบที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวไว้แหละครับ มาถึงรุ่นผม ผมก็ไม่กิน แหะๆ
ไม่แน่นะครับ เมื่อตอนยังอายุน้อยกว่านี้ ผมก็ไม่กินมะระครับ เพราะมันขม อยู่มาวันหนึ่งผมก็เกิดรู้สึกว่ามะระอร่อยขึ้นมาเอง ทุกวันนี้ก็กินได้แล้วครับ ฉะนั้น ถ้าผมอายุมากขึ้นอีก สะเดาอาจอร่อยขึ้นมาเองก็ได้ครับ 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ส.ค. 19, 18:26
มะระเป็นพืชผักที่อร่อย หลายๆคนจะไม่กินและไม่อยากจะลองกิน สาเหตุหลักก็คงจะเป็นเพราะคำตอบที่ได้รับเมื่อถามไปว่า รสชาติเป็นอย่างไร ซึ่งไม่ว่าคำตอบที่ได้รับจะเป็นขมนิดหน่อย หรือขมนิดๆ ผู้ถามก็จะขยาด ไม่อยากจะลองเสียแล้ว 

มะระที่มีวางขายอยู่ในตลาดดูจะมีอยู่ 4 ชนิด คือ แบบลูกเล็กทรงรีโป่งกลาง ดูป้อมๆ ปลายแหลมขนาดประมาณหัวแม่มือ ที่เรียกว่ามะระขี้นก  มีแบบลูก


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ส.ค. 19, 18:57
ส่งซ้ำอีกครั้งครับ     วัย '70s นี้  อวัยวะทั้ง 32 อย่างดูจะไม่ค่อยมีความสัมพันธ์ระหว่างกันดี มีการกบฎระหว่างกันและกันบ้างในบางเวลา  ขออภัยด้วยครับ
 

มะระเป็นพืชผักที่อร่อย หลายๆคนจะไม่กินและไม่อยากจะลองกิน สาเหตุหลักก็คงจะเป็นเพราะคำตอบที่ได้รับเมื่อถามไปว่ารสชาติเป็นอย่างไร ซึ่งไม่ว่าคำตอบที่ได้รับจะเป็นขมนิดหน่อย หรือขมนิดๆ ผู้ถามก็จะขยาด ไม่อยากจะลองเสียแล้ว 

มะระที่มีวางขายอยู่ในตลาดเท่าที่เคยเห็นมีอยู่ 4 ชนิด คือ แบบลูกเล็กทรงรีโป่งกลาง ป้อมๆ ปลายแหลม ขนาดประมาณหัวแม่มือ ที่เรียกว่ามะระขี้นก   มีแบบคล้ายมะระขี้นกแต่มีขนาดใหญ่กว่าและยาวประมาณนิ้วกลาง   มีแบบลูกใหญ่ๆขนาดใกล้ๆแขนเรา สีตองอ่อน ที่เรียกว่ามะระจีน  และมะระสีเขียวเข้ม ผิวเป็นตุ่มลึกใหญ่บ้างเล็กบ้างปนกันอย่างไม่มีระเบียบ มีความยาวประมาณคืบ ที่เรียกว่ามะระญี่ปุ่น


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ส.ค. 19, 19:15
มะระขี้นกทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่นั้น เกือบจะไม่เห็นมีวางขายในตลาดสดใม่ว่าจะเป็นตลาดเช้าหรือตลาดบ่าย จะเห็นก็จะเป็นแบบต้มหรือนึ่งสุกแล้วในแผงขายน้ำพริกในตลาดเย็น

มะระจีนเป็นมะระที่จะเห็นขายอยู่ในตลาดสดทุกตลาด จะเห็นขายเป็นของสดในตลาดเช้ามากกว่าตลาดเย็น 

มะระญี่ปุ่น อันนี้เกือบจะไม่เห็นมีวางขายบนแผงขายผักสดเลย  แต่จะเห็นได้ในร้าน super market 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 21 ส.ค. 19, 19:26
เข้ามาแสดงตัวว่าซุ่มโป่งอยู่หลังห้องนะครับ พยายามเก็บให้ครบทุกเม็ดทุกดอก พร้อมกับสงสัยว่าทำไมสมองผมถึงได้ไม่ค่อยจดจำอะไร สมัยเรียนมัธยมนั่งคู่กับเพื่อนคนไหนยังไม่ได้เลย  :'(


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ส.ค. 19, 20:07
มะระขี้นก ดูเหมาะที่จะกินเป็นผักกับน้ำพริกเท่านั้น โดยเฉพาะกับน้ำพริกกะปิ น้ำพริกหนุ่มแบบพื้นบ้านดั้งเดิม และน้ำพริกปลาร้า (ปลาร้าสับผัด หรือ ปลาร้าปลาทู ...) จะใส่แมลงดาหรือไม่ใส่ก็อร่อยทั้งนั้น    มะระขี้นกที่จะกินกับน้ำพริกเหล่านั้นจะทำแบบต้มหรือนึ่ง ซึ่งจะกินแบบทั้งลูก หรือจะผ่าครึ่ง หรือจะผ่าครึ่งแล้วเอาเมล็ดออกก็ได้ทั้งนั้น     หากเป็นลูกที่ยังอ่อนและสดอยู่ ก็สามารถจะกินได้ทั้งกับน้ำพริกและกับลาบแบบอิสาน  มะระขี้นกดิบดูจะไม่เข้ากันได้ดีกับอาหารของภาคเหนือเอาเสียเลยครับ    


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ส.ค. 19, 10:21
มาเสนอเมนูสำหรับคนชอบกินมะระขี้นกค่ะ

https://goodlifeupdate.com/healthy-food/recipe/27188.html

ดังที่เรียกว่า “ขมเป็นยา” นั่นละ ในส่วนของสรรพคุณอื่นๆ ทางยาไทย มะระขี้นกยังช่วยบรรเทาอาการปวดเจ็บจากการอักเสบและช่วยแก้ปากเปื่อยได้ดีอีกด้วย เมื่อนำมาผัดกับกะปิและพริกขี้หนูบุบแบบไทยๆ จะช่วยให้คุณรับประทานรสขมได้อร่อยยิ่งขึ้น

ส่วนผสม (สำหรับ 2 ที่) เตรียม 20 นาที ปรุง 20 นาที
มะระขี้นก 10 ลูก
กะปิอย่างดี 2 ช้อนโต๊ะ
กุ้งแห้งทอดกรอบ ¼ ถ้วย
กระเทียมกลีบเล็กปอกเปลือกออกบางส่วนสับละเอียด 2 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลทราย ½ ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลปี๊บ 1 ช้อนโต๊ะ
น้ำเปล่าสำหรับละลายกะปิ 2 ช้อนโต๊ะ
มะนาว 1 – 2 ซีก
พริกขี้หนูสวนติดขั้ว บุบพอแตกตามชอบ
น้ำมันสำหรับผัด
น้ำเปล่าสำหรับลวกมะระ
เกลือสำหรับลวกมะระ

วิธีทำ
1. ตั้งหม้อน้ำผสมเกลือสำหรับลวกมะระ ผ่าครึ่งมะระขี้นกตามยาว คว้านเมล็ดออกเตรียมไว้ เมื่อน้ำเดือดใส่มะระลงไป ปิดฝาหม้อไว้ 5 นาที ปิดไฟ ตักมะระขึ้นแช่ในน้ำเย็นจัดสักพัก ตักขึ้นพักให้สะเด็ดน้ำ แล้วซอยมะระเป็นเส้นเตรียมไว้

2. ละลายกะปิกับน้ำพักไว้จากนั้นตั้งกระทะด้วยไฟกลางค่อนไปทางอ่อน ใส่น้ำมันแล้วใส่กระเทียมกับพริกขี้หนูลงไป เจียวจนกระเทียมเริ่มเหลืองใส่กะปิลงผัดให้หอม ใส่กุ้งแห้งทอด ปรุงรสด้วยน้ำตาลทั้งสองชนิดแล้วจึงใส่มะระที่ซอยไว้ลงผัด เร่งไฟขึ้นผัด
พอเข้ากัน ปิดไฟแล้วบีบมะนาว ผัดพอเข้ารสกับส่วนผสม จึงตักใส่จานเสิร์ฟ

Tip :
ควรเลือกซื้อมะระขี้นกที่มีสีเขียวสด ไม่เหี่ยว และยังไม่สุกเหลือง เพราะเมล็ดมะระขี้นกที่สุกแล้วจะมีพิษระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร อาจเป็นอันตรายได้


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 22 ส.ค. 19, 12:52
เข้ามาฟังอาจารย์naitangครับ
กำลังนึกถึงอาจารย์เทาชมพูเรื่องภาพประกอบพอดีเลย


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ส.ค. 19, 13:20
สวัสดีค่ะคุณ Jalito   ไม่เห็นในเรือนไทยเสียนานทีเดียวค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ส.ค. 19, 18:46
ดีใจและขอบคุณที่คุณ Naris, คุณ superboy, คุณ Jalito, และคุณ unicorn9u ได้เข้ามาร่วมแจมด้วย  และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อ.เทาชมพู ที่ยังได้กรุณาช่วยเรื่องภาพประกอบเพิ่มเติมเข้าไปด้วย

ขอบคุณมากครับ  ;D


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ส.ค. 19, 19:34
เป็นคนไม่กินของขมค่ะ แต่เคยปลูกมะระไว้ดูเล่น อย่างในภาพซ้าย   พอออกลูกมาก็แจกชาวบ้าน
ปลูกเองลูกออกมาขนาดเล็กกว่าที่ขายตามตลาด   คงเป็นเพราะบำรุงไม่เป็น 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ส.ค. 19, 19:37
เมนูมะระขี้นกผัดกะปิใส่พริกขี้หนูสวนนี้  ผมไม่เคยทาน  ก็ดูน่ากินและน่าจะอร่อยดีนะครับ    เมื่อดูจากส่วนผสมแล้วก็พอจะเห็นว่ากลัวรสขมกันเต็มที่เลย มีทั้งลวกน้ำใส่เกลือก่อนนำไปผัด เมื่อผัดก็ยังใส่ทั้งน้ำตาลปี๊บและน้ำตาลทราย และใส่พริกขี้หนูสวนบุบใส่ลงไป การเพิ่มรสเผ็ดก็เป็นวิธีทางเทคนิคในการเพิ่มความจี๊ดจ๊าดเข้าไปช่วยกลบและปรับรสอันไม่พึงปรารถนา    

มะระขี้นกมีรสขมค่อนข้างมาก มีเนื้อที่แน่นและค่อนข้างจะแข็ง โดยเฉพาะเมื่อมันเริ่มแก่จัด(เมล็ดในออกสีแดง) เมื่อไปตัดแบ่งหรือทำให้มันช้ำ มันก็จะส่งกลิ่น(เหม็นเขียว)ออกมามาก  กระบวนการเอามะระขี้นกมาทำกินจึงต้องผ่านการทำให้มันสุกด้วยการลวก ต้ม หรือนึ่ง   ซึ่งในความเห็นของผมในการทำเช่นนั้นก็คือเพื่อไปช่วยลดความเข้มข้น(เนื้อสัมผัส รส และกลิ่น)ให้ลดลง

มระขี้นกพันธุ์เล็กที่ยังไม่แก่นั้น จะมีเนื้อสัมผัส รส และกลิ่นที่อ่อน จึงนำมากินสดได้    


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ส.ค. 19, 19:59
https://www.youtube.com/watch?v=y4oGPYWfQ04


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 23 ส.ค. 19, 12:53
สวัสดีค่ะคุณ Jalito   ไม่เห็นในเรือนไทยเสียนานทีเดียวค่ะ
สวัสดีอาจารย์เทาชมพู และสมาชิกเรือนไทยทุกท่านครับ
ความจริงได้เข้ามาอ่าน มาฟัง ตามทุกท่านทุกวันน่ะแหละครับ เพียงแต่ความเป็นสมาชิกบางช่วงหลุดหายไป

เมื่อกี้เดินผ่านร้านก๋วยเตี๋ยวไก่มะระในซอยสาทร 8 ได้ชะโงกดูว่ายังมีมะระสดซอยแถมเป็นเครื่องเคียงอยู่หรือเปล่า ปรกฏว่ายังเหมือนเดิม
ร้านนี้ช่วงเที่ยงลูกค้าชาวอ๊อฟฟี๊ซจะมีมาก ขนาดต้องข้ามไปรอคิวอีกฟากซอย


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ส.ค. 19, 15:07
https://www.youtube.com/watch?v=68jX0Kq113o


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ส.ค. 19, 18:25
ก๋วยเตี๋ยวไก่ตุ๋นมะระดังภาพทำให้นึกย้อนไปถึงก๋วยเตี๋ยวไก่ตุ๋นของร้านหนึ่งในตัว จ.ตาก ในช่วงเวลาของ พ.ศ. 2515 +/-  ทำขายโดยคุณป้าวัยสูงเลยทีเดียว วันๆหนึ่งแกทำไม่มาก ลูกค้าทุกคนจะถูกบังคับให้กินได้ชามเดียว แกบอกว่าแบ่งให้คนอื่นเขาได้กินมั่ง มีลูกค้าแน่นทุกวัน เปิดร้านไม่นานก็หมดแล้ว อร่อยจริงๆครับ  วันหนึ่งๆแกทำขายอยู่ประมาณ 50 ชามกระมัง เคยถามป้าด้วยความสงสัยว่า ทำไมไม่ทำให้มากกว่านี้ แกบอกว่าแค่นี้ก็ทำจะไม่ใหวอยู่แล้ว

จนกระทั่งเมื่อตัวเองได้ลงมือทำอาหารอย่างจริงจัง ก็เลยถึงบางอ้อ การจะต้มหรือตุ๋นไก่ให้ได้น้ำแกงที่ใส มีกลิ่นหอมชวนกิน ได้ไก่ที่มีเนื้อที่สุก เปื่อย ไม่เละแต่นุ่มนวลนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลามากและจะต้องใจเย็นๆ   ขนาดเราทำเองกับการใช้ไก่สับเพียง 1 ตัว ยังยากเลย  จะทำกับไก่หลายๆชิ้นในน้ำซุบปริมาณมาก เลือกไก่ที่มีมันเหมาะสม ใช้เตาถ่าน และใช้เวลาในการจัดการในขณะที่เคี่ยวนั้น  อืม์...ต้องมีความอดทนจริงๆ 

ทำให้ เมื่อผนวกกับภาพที่ อ.เทาชมพู นำมาแสดง + กับคำบรรยายเรื่องคนที่มารอกินที่คุณ Jalito เล่ามา ก็อนุมาณได้เลยในทันทีว่า ต้องเป็นของที่อร่อยจริงๆ 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ส.ค. 19, 18:48
เดี๋ยวนี้มีก๋วยเตี๋ยวไก่มะระขายกันทั่วไป แต่ขาดคำว่า "ตุ๋น" (มิใช่ "ไก่ตุ๋นมะระ")   ก็ถูกของแม่ค้านะ คือแทนที่จะใช้ผักสดลวก(ที่เป็นถั่วงอก ใบตำลึง .....)ก็ใช้มะระซอยเป็นแว่นบางๆใช้ลวกเป็นองค์ประกอบแทนผักเหล่านั้น เนื้อไก่ที่ใส่ลงไปก็เป็นไก่ต้มแล้วฉีกเป็นเส้นๆชิ้นเล็ก   ยิ่งด้วยที่ลูกค้านิยมสั่งเป็นก๋วยเตี๋ยวแบบต้มยำ(แห้งหรือน้ำ) องค์ประกอบของอาหารในชามตามลักษณะดังกล่าวก็เลยดูจะเหมาะสมที่สุด มากกว่าที่จะพยายามปรุง "ก๋วยเตี๋ยวไก่ตุ๋นมะระ" ให้มีรสออกเป็นก๋วยเตี๋ยวต้มยำ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ส.ค. 19, 19:30
มะระที่คุยกันอยู่ในขณะนี้ เป็นมะระจีน (ยกเว้นมะระผัดไข่ใส่พริกขี้หนูสวนใน คห.38 ที่ใช้มะพระขี้นก)

มะระจีนผัดไข่(คห.44) ก็เป็นเมนูโปรดของผมเช่นกัน ซึ่งผมนิยมที่จะทำกินเอง เพราะว่า(สำหรับตัวเองแล้ว)มันมีวิธีการที่จะเพิ่มหรือระเบิดความอร่อย เนื้อสัมผัส และความหอมหวลชวนกิน

เริ่มต้นด้วยการเอามะระจีนมาผ่าครึ่ง ขูดเอาใส้ในออก จะด้วยช้อนหรือด้วยหัวแม่มือก็ได้ และก็ไม่จำเป็นจะต้องขูดออกให้หมดจนเหลือแต่เนื้อส่วนที่เป็นเปลือก  หั่นเป็นแว่นๆ แต่ละแว่นหนาประมาณครึ่ง ซม. ถึง 3/4 ซม.  บุบกระเทียมไทยซอย(หรือสับแบบเพื่อเจียว) เอากระทะเหล็กตั้งบนไฟแรง (ไม่เหมาะที่จะใช้กระทะเคลือบแบบไม่ติดก้นกระทะ) ใส่น้ำมันลงไป พอน้ำมันร้อนก็ใส่กระเทียมสับลงไป เว้นระยะนิดนึง เอามะระที่หั่นซอยไว้ใส่ลงไป เราจะได้กลิ่นเกรียมของกระเทียมและมะระสด เว้นระยะไว้อีกนิดนึง แหวกก้นกระทะให้โล่งแล้วต่อยไข่ใส่ลงไป เมื่อเนิ้อไข่เริ่มจะขุ่น ก็เอามะระคลุกเคล้าผัดกันให้ทั่ว ใช้ซีอิ้วขาวเหยาะลงไปเพื่อเอากลิ่นหอม ใช้เกลือทะเลป่นเพื่อเอารส ดูว่ามะระกำลังจะเริ่มนิ่มอ่อนก็ตักใส่จาน หรือจะเร่งไฟให้ทุกอย่างเริ่มจะเกรียมก็ได้  เท่านั้นเองครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ส.ค. 19, 19:54
ยกมาเสิฟอีกชามค่ะ  มะระต้มซี่โครงหมู


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ส.ค. 19, 18:12
เมนูมะระ ค่ะ

https://cookpad.com/th/search/%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B0


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ส.ค. 19, 18:18
มะระจีนเอามาทำอาหารได้หลากหลายจริงๆนะครับ     

ผมมีข้อสังเกตว่า แต่ก่อนโน้น อาหารที่ใช้มะระปรุงนั้น จะมีอยู่แต่การทำกินกันในบ้าน ส่วนตามร้านขายอาหารประเภทข้าวแกงและใส่ถุงกลับบ้านนั้นดูจะมีแต่ต้มจืดผักกาดดองกับมะระ ต่อมาไม่นานจึงเห็นแผงขายอาหารดารดาษไปด้วยต้มมะระยัดใส้และมะระต้มซี่โครงหมู กระนั้นก็ตาม การทำขายก็ยังแสดงถึงความกล้าๆกลัวๆว่าจะขมและจะมีลูกค้าหรือไม่ (ดูจากลักษณะการขูดเอาใส้ในออกมากจนเหลือเพียงส่วนเนื้อบางๆ)  ตัวผมเองชอบต้มมะระซี่โครงหมูมากๆกว่าต้มมะระยัดใส้   

มะระยัดใส้ที่ทำขายกันนั้น ดูจะเป็นความนิยมที่จะใช้หมูแบบบดละเอียด(มากๆ)คลุกกับวุ้นเส้น(บางเจ้าก็+แครอท)   จะทำให้อร่อยจริงๆ ผมนิยมใช้หมูติดมัน(สันคอหมู) สับบะช่อ ใส่กระเทียมไทยสองสามกลีบ ใสรากผักชี พริกไทยเม็ดบุบ ปรุงรสเล็กน้อยด้วยซีอิ๊วขาวหรือน้ำปลา(หรือทั้งสองอย่าง)


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ส.ค. 19, 18:34
บางช่วงเวลาในตลาดในเมืองของ ตจว. ก็เห็นมียอดเถามะระวางขายกันเป็นกำๆ ทำให้นึกถึง เอามาลวกหรือนึ่งเป็นผักกินกับน้ำพริก หรือเอามาทำแกงเลียง  บางครั้งเดินท่อมไปท่อมมา  อ๊ะ! เจอยอดเถาตำลึง ยอดเถาฟักทอง แถมอาจเจอยอดเถากะทกรกป่า บวบเหลี่ยมอ่อนๆ   ทำให้คิดได้สองอย่าง จะทำแกงเลียงดี หรือ จะเพียงเอามาต้มกินกับน้ำพริกดี ?  ทั้งสองเมนูนี้ใช้เวลาในการทำไม่ต่างกันมากนัก


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ส.ค. 19, 18:50
ก่อนจะข้ามเรื่องของมะระไป  ก็จะขอขยายความอีกนิดนึง

มะระญี่ปุ่นนั้น เป็นที่นิยมกินกันในหมู่คนญี่ปุ่นอยู่ไม่น้อย เป็นอาหารเอกลักษณ์ของเกาะโอกินาวา ซึ่งเมนูที่นิยมกินกันก็คือการนำมาผัดไข่  มะระนี้ยังมีการนำมาแปรรูปด้วยการเอามาหั่นเป็นแว่นๆ ตากแห้ง แล้วเอามาใส่น้ำร้อนชงเป็นชา  กลายเป็นของฝาก(ราคาสูงเล็กน้อย)ที่เห็นวางขายอยู่ทั่วไปในญี่ปุ่น  เป็นมะระที่เกือบจะไม่มีความขมและความเหม็นเขียวเด่นออกมา ผมสั่งมาทานค่อนข้างจะบ่อยในมื้ออาหารกลางวัน


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ส.ค. 19, 20:03
มะระญี่ปุ่น


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ส.ค. 19, 20:04
มะระญี่ปุ่นผัดไข่


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ส.ค. 19, 18:07
ขอบพระคุณ อ.เทาชมพู สำหรับภาพประกอบครับ
 
ที่เห็นผมผลุบๆโผล่ๆอยู่ในกระทู้นี้ก็เป็นเพราะมีนัดหรือไปนัดกับหมอในเรื่องสุขภาพครับ   ก็เป็นปกติวิสัยของธรรมชาติ ในแต่ละช่วงเวลาของวัยในวัฎจักรของการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย มันก็มีโรคภัยไข้เจ็บมาคอยเคาะประตูถามหาอยู่เสมอ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ส.ค. 19, 19:07
กลับไปเรื่องของยอดผักที่วางขายกันอยู่ในตลาด   

เราไม่ค่อยพบเห็นว่ามียอดผักวางขายอยู่บนหิ้งของซุบเปอร์มาเก็ตทั้งหลาย แต่กลับจะเห็นค่อนข้างจะเป็นปกติในตลาดสดชานเมืองและตาม ตจว.   สำหรับยอดผักที่เห็นมีวางขายในพื้นที่ชุมชนเมืองนั้นมักจะเป็นยอดตำลึง เป็นบางที่ๆเห็นมียอดผักอื่นๆวางขายอยู่ด้วย ที่บอกว่าเป็นยอดฟักแม้ว ยอดฟักทอง ยอกถั่วลันเตา...

เมื่อเราๆเห็นยอดตำลึง ก็มักจะนึกถึงแต่เพียงแกงจืดตำลึงหมูสับ ต้มเลือดหมู(ต้มเครื่องในหมู) และก๋วยเตี๋ยวตำลึง    แท้จริงแล้ว ตำลึงนั้นเอามาทำอาหารได้มากกว่าที่เราคุ้นเคยมากมาย  จะใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริกก็ได้ จะผัดไข่ก็ได้ จะผัดน้ำมันก็ได้ ใช้เป็นลักษณะของผักในเมนูจานต่างๆก็ได้....   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ส.ค. 19, 19:43
ผมมีข้อสังเกตว่าคนที่มีพื้นเพอยู่ในภูมิภาคที่ต่างกันเหล่านั้น แม้ว่าจะนึกถึงอาหารที่ทำด้วยยอดผักแตกต่างกันออกไป ก็ยังมีที่นึกถึงเหมือนๆกันอยู่อย่างหนึ่ง คือเอามาจิ้มน้ำพริก จะต่างกันก็วิธีการที่นิยมและการเรียกชื่อวิธีการนั้นๆ ซึ่งหลักๆก็มี สด ต้ม ลวก นึ่ง   การใช้วิธีหมกให้สุกก็มี โดยเฉพาะกับยอดกะทกรกบ้าน(กะทกรกป่า_ก็เรียก) ด้วยการเอาใบตองกล้วยมาห่อแล้วหมกใว้ในขี้เถ้าร้อนใต้เตาถ่าน ซึ่งจะทำให้ได้กลิ่นที่หอมชวนกินมากอยู่     

เมื่อจะทำให้ดูน่ากินมากยิ่งขึ้น ซึ่งพบเห็นเป็นปกติในตลาดในพื้นที่เมือง ก็จะใช้วิธีการที่จะทำให้ผักดูเขียวสด อาจจะแต่งเติมให้มากขึ้นด้วยการราดด้วยกะทิสักเล็กน้อย หรือไม่ก็เอาไปชุบแป้งทอด       


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ส.ค. 19, 20:11
ก็มียอดผักประเภทที่เห็นแล้วเกือบจะไม่นึกถึงการเอามาทำเป็นผักจิ้มน้ำพริกเลย  ก็มีอาทิ ผักกะเฉด ผักบุ้ง ชะอม ส้มป่อย ผักปู่ย่า ....   หากแต่กลับไปนึกถึงการเอาไปยำ ไปต้ม ไปแกง

(ไปตลาดก็ดีเช่นนี้ครับ แม้จะดูว่ามีแต่เรื่องกิน แต่ก็เป็นการกินที่แรกคิดถึงเมนูที่เริ่มจากผักมากกว่าที่จะเริ่มคิดจากเนื้อสัตว์)


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ส.ค. 19, 19:57
ตลาดที่น่าจะให้ความสนใจมากที่สุด น่าจะเป็นตลาดสดในช่วงต้นฝนแรก เพราะจะมีของกินประเภทจำกัดเวลาอยู่ในช่วงแรกฝน ก็มี

เห็ดเผาะ  ขายแบบเห็ดสดกันในช่วงราคากิโละ 6 - 800 บาท แต่เมื่อนำมาทำเป็นอาหารแล้วก็พอจะกล่าวได้ว่านับจำนวนขายกันเลยทีเดียว (ในระดับ 80 บาท สำหรับ 15 - 20 ลูก ..)  เห็ดเผาะนี้อร่อยมาก มีการนำไปทำให้สุกแล้วใส่กระป๋องวางจำหน่าย ราคาต่อกระป๋องอยู่ในระดับ 2 - 300 บาท     อาหารไทยคลาสสิคบางเมนูจะใส่เห็ดเผาะนี้ด้วย เช่น แกงคั่วสับปะรดกับไข่แมงดาทะเลใส่เห็ดเผาะ    สำหรับชาวบ้านในภาดเหนือและอิสานนิยมเอาไปต้มกับใบมะขามแล้วกินกับน้ำพริก   

สำหรับตัวผมเอง จะเอามาต้มเค็มหวานกับหมูสามชั้น    ก็เอามาเห็ดมาล้างน้ำให้สะอาด ผ่าพอเปิดให้น้ำแกงสามารถเข้าไปในส่วนเนื้อในของตัวเห็ด เอาน้ำตาลปึกลงกระทะตามด้วยซีอิ๊วขาว ใช้ ไฟอ่อน เมื่อส่วนผสมเริ่มละลายเข้ากันก็บุบรากผักชีใส่ลงไป บุบพริกไทยดำใส่ลงไป คลุกเคล้าแล้วตามลงไปด้วยหมูสามชั้นที่หั่นแบบทรงแท่งสี่เหลี่ยม เมื่อหมูรัดตัวดีแล้วก็เติมน้ำลงไปเพื่อละลายส่วนที่ได้ทำมานั้น เมื่อน้ำเริ่มเดือดก็ใส่เห็ดลงไป ปรุงรสด้วยเกลือทะเล ต้มไปจนสุก ดับไฟแล้วเก็บค้างคืนไว้  อุ่นอีกครั้งหนึ่งหรืออีกสอสามครั้งถัดไป น้ำแกงจะงวดลง ความอร่อยก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ส.ค. 19, 18:21
พูดถึงแกงหรือต้มที่ทำแล้วต้องทิ้งค้างคืนไว้ เอามาอุ่นให้เดือดอีกครั้งสองครั้ง จึงจะได้รสที่อร่อยและเข้มข้นเข้าเนื้อ  ก็มีอยู่หลายอย่างเหมือนกัน อาทิ บรรดาแกงส้มทั้งหลาย ต้มบะกุ๊ดเต๋ซี่โครงหมู ไข่พะโล้ ต้มมะระ ต้มจับฉ่าย ...  กระทั่งสตูว์ต่างๆที่เป็นอาหารฝรั่ง 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ส.ค. 19, 19:18
ยอดมะกอก  ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่จะเห็นมีวางขายกันในช่วงเวลาของฝนแรก  ซึ่งส่วนมากจะนึกกันไม่ค่อยออกว่าจะเอาไปทำอะไรกิน  สำหรับคนไทยรุ่นเก่าในภาคกลางน่าจะนึกถึงเอาไปกินเป็นผักดิบแนมกับบรรดาหลนต่างๆ เช่น หลนเต้าเจี้ยว หลนปูเค็ม หลนกะปิ หลนแหนม หลนปลาเค็ม ....    คนในภาคเหนือและอิสานจะนึกถึงเอาไปเป็นผักสดจิ้มน้ำพริกประเภทที่ใส่ปลาร้า  ส่วนคนในภาคใต้น่าจะนึกไปถึงเอาไปเป็นผักเหนาะกินกับขนมจีนและแกงไตปลา

สำหรับผมนึกไปถึงการเอาไปยำ  ทำแบบง่ายๆสุดๆเลยก็เพียงเอายอดมะกอกอ่อนมาล้างน้ำแล้วเอาไปลนไฟให้ใบสยบ ใบจะเปลี่ยนจากสีเขียวไปเป็นสีชมพูเรื่อๆ จะมีใหม้ที่ขอบใบนิดๆหน่อยๆก็ไม่เป็นไร จะทำบนเตาถ่านหรือเตาแกส จะวางบนตะแกรงหรือไม่ก็ได้ทั้งนั้น เมื่อใบมะกอกสยบดีแล้ว (เปลี่ยนจากใบที่กรอบเป็นนิ่ม) ก็รูดเอาใบและส่วนที่เป็นก้านอ่อนๆ ขยุ้มเข้าด้วยกัน เอามาซอยขนาดหนาประมาณ 3-5 มม.     เอาหมูสับมาลวกน้ำให้สุกดี (เลือกหมูสับแบบมีมันปนน้อยหน่อย) แล้วเอาลงชามอ่าง พักให้เย็นนิดนึงแล้วจึงยีให้กระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย  เอายอดมะกอกที่ซอยไว้เทลงไปรวมกัน ยีให้กระกระจาย แล้วจึงคลุกเคล้ากันให้คละทั่วกันดี  เหยาะน้ำปลาดีลงไป คะเนว่าพอจะได้รสเค็มปะแล่มๆ  คราวนี้ก็เคล้ากันให้ทั่ว โรยพริกป่นหรือพริกคั่วป่นปริมาณตามชอบ แล้วก็ขยำแบบบีบ(กำ)เค้นเพื่อให้รสที่เป็นแก่นของเครื่องปรุงออกมาปนกัน ยีให้กระจายแล้วจัดลงจาน 

จะกินเป็นของกินเล่น ของแกล้ม หรือเป็นกับข้าวก็ได้ทั้งนั้น     ครั้งแรกๆที่ทำอาจจะต้องมีการทำซ้ำเพื่อการปรับรส   เชื่อว่าในการทำครั้งที่สองและต่อๆไปนั้น เชื่อว่าไม่ต้องปรับรสอะไรเลย  ความอร่อยทั้งหมดมันออกมาจากยอดมะกอดนั่นแหละ แต่กลับจะเป็นการปรับปริมาณยอดมะกอกกับหมูเสียมากกว่า


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ส.ค. 19, 19:37
วิธีการทำยอดมะกอกอ่อนยำนี้ สามารถแปลงหรือทำผันแปรไปได้อีกหลายเมนู จะใช้คอหมูย่างก็ได้ จะใช้หมูหรือเนื้อย่างแห้งๆก็ได้ (ผมยังไม่เคยทำกับไก่ย่างสักที) จะใส่หอมแดงซอยใส่ร่วมลงไปด้วยก็ได้ จะใช้พริกขี้หนูสดซอยละเอียดแทนพริกป่นก็ได้   

หรือจะลองทำแบบเรื่องมากก็ได้    แบบเรื่องมากก็เพียงเอาหอมแดงเผา 6-7หัว กระเทียมเผาหัวนึง เอากะปิดีห่อใบตองกล้วยแล้วหมกใต้เตาหรือย่างไฟให้มันสุก เอาพริกแห้งมาย่าง หรือจะคั่วแห้งหรือจะคั่วน้ำมันในกระทะก็ได้  เอาทั้งหมดใส่ครกโขลกให้ละเอียด  แล้วก็ใช้น้ำพริกนี้แหละขยำลงไปในการยำ ก็จะได้กลิ่นและรสอีกแบบหนึ่ง   

จะทำแบบใดก็อร่อยทั้งนั้นครับ ทำเมื่อใดก็กินกันหมดทุกครั้งไป


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ย. 19, 09:47
ไปเจอในเว็บ เลยเอามาผสมโรงด้วยค่ะ

ยำใบมะกอกใส่หมูสามชั้น
http://cooking.teenee.com/side-dish/533.html


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ก.ย. 19, 17:40
ยำใบมะกอกกับหมูสามชั้นดูจะออกไปทางเป็นผัดหมูสามชั้นกับใบมะกอกมากกว่าจะไปทางยำนะครับ  ก็ดูน่าจะอร่อยได้อยู่ เพราะว่าใบมะกอกมีรสฝาดรวมอยู่ด้วย ซึ่งจะไปช่วยแก้ความรู้สึกมันจากน้ำมันได้มากเลยทีเดียว   

หากท่านใดชอบอาหารที่ออกไปทางมันบ้าง ผมแนะนำให้ใช้คอหมูย่าง แล้วทำตามวิธีทำที่ผมได้เล่ามา ก็จะได้ยำที่มีความมันกำลังดี คือไม่มากจนรู้สึกเยิ้มไปด้วยน้ำมัน


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ก.ย. 19, 18:34
ผักพาย  เป็นพืชที่ขึ้นในพื้นที่ฉ่ำน้ำ พบในธรรมชาติตามทางส่งน้ำเข้านา หรือปลูกเอง หรือปลูกเป็นแปลงผักเพื่อขาย (ทำเป็นอาชีพ)  ผักพายนี้ขึ้นได้ในทุกภูมิภาค แต่ที่นิยมเอามากินกันจะอยู่ในอิสาน กินได้ทั้งแบบเป็นผักสดแนมกับพวกลาบ ส้มตำ และต้มจิ้มน้ำพริก

ผักพาย มีชื่อเรียกอื่นๆว่า ผักกานจอง ผักกันจอง ผักคานจอง ผักคันจอง (ก็สะกดไปตามเสียงที่เขาเรียกกัน จะสะกดเช่นใดถูกก็ไม่รู้ครับ) เรียกตาลปัตรฤาษีก็มี (ต้องสะกดเช่นนี้เพราะว่าในแป้นพิมพ์ไม่มี สระอาหางยาว หรือตัวเองเลอะเทอะก็ไม่รู้  ;D  หากตัวเองถูก ก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ภาษาไทยถูกบังคับให้เปลี่ยนไปด้วยเทคโนโลยี)    ที่จริงแล้วชื่อของผักพายที่ว่ากันอยู่นี้ก็ยังเคยได้ยินมีการเรียกในชื่ออื่นๆอีก  ซึ่งดูจะไปเกี่ยวข้องกับชนิดของพืชที่เอามากินกัน ที่ปกติเราแยกกันอย่างง่ายๆว่า ผักพายใหญ่ กับ ผักพายเล็ก


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ก.ย. 19, 18:58
ผักพายเล็ก  เป็นเรื่องการกินของคนพื้นบ้านในท้องถิ่น เกือบจะไม่เห็นมีการนำมาวางขายกัน   ที่จะเห็นมีวางขายกันในตลาดชุมชนใน กทม.ก็จะมีแต่ผักพายใหญ่ที่วางขายบนแผงของคนขายเครื่องทำอาหารของคนอิสานและแม่ค้าที่เป็นชาวสวนในพื้นที่ต่างๆของ กทม.

ผักพาย  ลองซื้อมากินกันบ้างนะครับ จะเริ่มต้นกินแบบเป็นผักแนมกับส้มตำก็ได้ ไม่มีรส ไม่มีกลิ่น มีแต่ความรู้สึกสัมผัสที่ไปกระตุ้นความอร่อยให้มากขึ้น    แต่หากสามารถทำครัวได้ ก็จะได้เมนูที่อร่อยมากขึ้นไปอีก  ซื้อมาสักกำมือหนึ่ง ล้างให้สะอาด ตัดเป็นสองหรือสามท่อน สับกระเทียมใส่ลงไปในกระทะน้ำมันร้อน เอาผักพายใส่ลงไป เร่งไฟ ใส่น้ำมันหอยลงไป เคล้ากันให้ทั่ว คะเนว่าได้ที่แล้วก็ตักลงจาน กินกับข้าวร้อนๆ  ก็คล้ายกับการผัดผักบุ้ง หากผัดนานไปก็สยบหมดไม่เห็นว่าเป็นผักอะไร


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ก.ย. 19, 18:29
หน่อไม้  ก็มีออกมาวางขายเป็นฤดูเหมือนกัน   แต่ในปัจจุบันนี้มีการปลูกพันธุ์ที่ได้หน่อตลอดปีในรูปของการทำสวนเกษตร มิใช่ปล่อยให้เจริญงอกงามไปตามธรรมชาติ
    (ศัพท์คำใดที่เหมาะสมในภาษาเขียน ครับ ?   การผลิบาน ใช้คำว่า ออกหน่อ หรือ แทงหน่อ ?   ลักษณะนาม ใช้คำว่า หน่อ หรือ หาง หรือ อัน ? )

ในตลาดทั่วไปจะต้องมีแผงหนึ่งที่ขายของพวกเต้าหู้ เส้นก๋วยเตี๋ยว ถั่วงอก...  ก็จะเห็นหน่อไม้สีเหลืองที่วางขายอยู่ด้วย มีทั้งที่มีรูปลักษณะเป็นแท่งของต้นไผ่อ่อน และลักษณะเป็นก้อนทรงกรวย  บางเจ้าก็มีแบบหั่นซอยวางขายอยู่ด้วย   หน่อไม้ออกสีเหลืองอ่อนพวกนี้จะเรียกรวมกันว่าหน่อไม้ปี๊บก็ได้ เพราะมาจากการเอาหน่อไม้สดไปต้มในปี๊บแล้วปิดผาส่งขายไปยังตลาดต่างๆ

อาหารที่ใส่หน่อไม้พวกนี้ที่เราคุ้นเคยกัน มักจะอยู่ในรูปของแกงเผ็ดและผัดเผ็ดที่ใช้เนื้อไก่  ไม่ใช้กับเนื้อวัวและปลา    สำหรับที่ทำเป็นแกงนั้น ตัวผมเองค่อนข้างขาดความเป็นมิตรกับมัน หากจะต้องทานก็จะเลือกทานกับขนมจีนและขอให้ใส่ไข่พะโล้ใสมาด้วย ผมว่าเข้ากันได้ดี โดยเฉพาะหากมีน้ำปลามะนาวใส่หอมซอยด้วย ก็จะยิ่งโอเคเลย       ส่วนจานที่ทำเป็นผัดเผ็ดนั้น ก็จะขอเพิ่มไข่ดาวไข่ขาวกรอบสัก 1 ฟอง โดยเฉพาะแบบที่ไข่แดงเป็นยางมะตูม (ทอดในน้ำมันร้อนๆในกระทะก้นลึก) แล้วก็น้ำปลามะนาวใส่หอมซอย   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.ย. 19, 18:55
นี่หรือคะ ผักพาย


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.ย. 19, 18:57
ตอนเด็กๆไม่แพ้หน่อไม้  มาแพ้เมื่อเป็นผู้ใหญ่  ลมพิษขึ้นทั้งตัว
เลยอดกินหน่อไม้มานานแล้วค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ก.ย. 19, 19:12
สำหรับผม เมื่อผมเห็นหน่อไม้ปี๊บที่เป็นก้อนๆแล้วทำให้นึกถึงข้าวหน้าไก่  ก็มักจะเดินเร่ไปดูเห็ดฟางตูมๆ เห็ดหอมสด สันในไก่ และอื่นๆ

กลับมาถึงบ้านก็จัดการล้างและหั่นตามชอบ เตรียมเครื่องปรุงอื่นๆให้พร้อม (กระเทียมสับ แป้งข้าวโพด พริกไทย ซีอิ้ว .....)  เอากระทะเหล็กหล่อแบบโบราณ หรือกระทะสมัยใหม่แบบเนื้อหนา ใส่น้ำมัน ตั้งไฟร้อนปานกลาง  ร้อนดีแล้วก็ใส่กระเทียมลงไป ดูดีแล้วก็ใส่ไก่ลงไป ปรุงรสด้วยเกลือทะเลและซีอิ๊วขาว ดูดีแล้วก็ใส่หน่อไม้ ตามด้วยเห็ด คละเคล้าเบาๆให้ทั่วกัน ใสน้ำลงไปพอท่วม ใส่ซุปไก่ก้อนลงไป เมื่อทุกอย่างดูกระจายเข้ากันดีแล้ว ก็อาจเติมเน้ำลงไปให้พอเหมาะ เร่งไฟแรงให้เดือดสองสามนาที หรี่ไฟลงเล็กน้อย เอาแป้งข้าวโพดละลายน้ำในถ้วยแล้วใส่ลงไป ให้ได้น้ำข้นตามชอบ เมื่อแป้งสุกแล้วก็ใส่หอมสดลงไป ตักใส่โถ จัดวางบนโต๊ะ    

ตักราดข้าวสวยร้อนๆตามชอบ จะเหยาะด้วยจิ๊กโฉ่ว หรือซอสไก่งวง หรือซอส Lee & Perrin  ก็ล้วนแต่อร่อย    บางครั้งก็จัดไข่ดาวแบบอาหารเช้าฝรั่ง (Sunny side up หรือ Over easy) ใส่ลงไปด้วย ก็เข้ากันได้ดี   หรือจะเอารสไปแบบสุดๆ ก็โรยด้วยพริกป่น และ/หรือ น้ำส้มพริกดองก็ยังพอไหว


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.ย. 19, 19:19
ข้าวหน้าไก่


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ก.ย. 19, 19:25
นี่หรือคะ ผักพาย

รูปนี้เป็นที่เรียกกันว่าผักพายเล็ก ครับ

ผักพายใหญ่ที่ว่าเอามาทำกินอร่อยนั้น ลำต้นจะเป็นทรงสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ประมาณนิ้วก้อย เมื่อบีบลำต้นจะรู้สึกว่ามีความนิ่มแบบสวกๆคล้ายกับก้านผักตบชวา ครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ก.ย. 19, 20:11
ตอนเด็กๆไม่แพ้หน่อไม้  มาแพ้เมื่อเป็นผู้ใหญ่  ลมพิษขึ้นทั้งตัว
เลยอดกินหน่อไม้มานานแล้วค่ะ

หมอเถื่อนแบบผมคิดว่า อ.เทาชมพู ไม่ได้แพ้ตัวหน่อไม้ แต่อาจจะแพ้สารบางอย่างที่ผู้ผลิตเขาใส่ลงไปในระหว่างการแปรรูปวัตถุดิบ โดยเฉพาะในระหว่างการทำหน่อไม้ปี๊บ  ผมเคยได้ยินเรื่องราวในกระบวนการทำหน่อไม้ใส่ปี๊บต้ม (จำรายละเอียดไม่ได้แล้วครับ) แล้วก็จำได้ว่าเคยได้รับการเตือนจากชาวบ้านในพื้นที่ๆมีการผลิตว่าไม่ควรจะไปกินหน่อไม้ปี๊บเลย ตัวกอไผ่ที่ผลิตหน่อไม้นั้นมิได้มีการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงใดๆ แต่ในกระบวนการต้มสุกและทำเป็นปี๊บต่างหากเล่าที่มีการมีการใช้


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.ย. 19, 20:36
ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าอาจแพ้สารเคมีในหน่อไม้ก็ได้   ขอบคุณมากค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 03 ก.ย. 19, 21:04
ผมเคยได้ยินเรื่องราวในกระบวนการทำหน่อไม้ใส่ปี๊บต้ม (จำรายละเอียดไม่ได้แล้วครับ) แล้วก็จำได้ว่าเคยได้รับการเตือนจากชาวบ้านในพื้นที่ๆมีการผลิตว่าไม่ควรจะไปกินหน่อไม้ปี๊บเลย

หากเตรียมและบรรจุหน่อไม้ในปี๊บอย่างไม่เหมาะสม หรือหน่อไม้ในปี๊บดิบหรือปรุงไม่สุกเพียงพอ จะมีอันตรายต่อผู้บริโภคถึงตายได้

สาเหตุของอันตรายนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Clostridium botulinum ซึ่งพบได้ในดิน ในสภาวะแวดล้อมที่มีออกซิเจนน้อยเช่นในกระป๋องบรรจุอาหาร ในขวดที่ปิดสนิท หรือในปี๊บ เชื้อก็จะเจริญได้ดีและสร้างสารพิษ (botulinum toxin) ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของจุดเชื่อมระหว่างระบบประสาทและกล้ามเนื้อ (neuromuscular junction) ทำให้กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต สารพิษตัวนีในวงการเสริมความงามรู้จักกันดีในนาม "โบท็อกซ์" (https://th.m.wikipedia.org/wiki/ชีวพิษโบทูลินัม) ใช้ฉีดในปริมาณน้อย ๆ ภายใต้การควบคุมของแพทย์เพื่อลบริ้วรอยย่นและอาการผิดปรกติบางอย่างบนใบหน้า แต่หากรับประทานเข้าไป อาการอาจรุนแรง กล้ามเนื้อในระบบหายใจอ่อนแรง จนทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถหายใจได้เพียงพอซึ่งทำให้เสียชีวิตได้

สามารถอ่านรายละเอียดของโรคที่เกิดจากสารพิษของเชื้อตัวนี้ได้ที่
https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=432


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.ย. 19, 07:50
เข้าลิ้งค์ไปอ่านแล้ว น่ากลัวมากค่ะ
ยังดีที่ปรุงให้สุกแล้วจะปลอดภัยได้  แต่ก็ต้องต้มนานเอาการเหมือนกัน

 "หากอาหารที่บรรจุขวด กระป๋อง และ ปี๊บนั้นเป็นอาหารประเภทที่สามารถปรุงให้สุกได้ เช่น หน่อไม้ ควรต้มอาหารนั้นให้เดือดเป็นเวลาอย่างน้อย 10 นาทีเพื่อทำลายสารพิษที่ปนเปื้อนมากับอาหารนั้นก่อนการบริโภค"


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ก.ย. 19, 08:05
คำแนะนำจาก อย. (https://oryor.com/media/k2/pdfs/691.pdf?fbclid=IwAR0ji0son1qp3aU3MBtXKP8DJETZi-R9Al6E4Qp8picko3OWgBZageT4OFU)


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.ย. 19, 09:05

ผักพายใหญ่ที่ว่าเอามาทำกินอร่อยนั้น ลำต้นจะเป็นทรงสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ประมาณนิ้วก้อย เมื่อบีบลำต้นจะรู้สึกว่ามีความนิ่มแบบสวกๆคล้ายกับก้านผักตบชวา ครับ

ที่มีอีกชื่อว่า ตาลปัตรฤๅษี หรือเปล่าคะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ก.ย. 19, 17:53
ใช่ครับ ตาลปัตรฤาษี


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.ย. 19, 19:05
เอาเมนูผักพายใหญ่มาฝากค่ะ 
 
ลาบหมูใส่ผักพาย
1.เนื้อหมูสับละเอียด (แนะนำให้ซื้อเนื้อหมูสันนอกมาสับเอง เพื่อความสะอาดปลอดภัย) 500 กรัม / ตับหมูหั่นเป็นชิ้นหนา ล้างน้ำจนตับเริ่มสีซีดเป็นอันใช้ได้ (ถ้าไม่ล้างเลือดออกจากตับให้หมด เมื่อสุกแล้วตับจะแข็ง)

​2.ผักพาย ล้างสะอาดแล้วหั่นเป็นท่อนสั้นๆ 200 กรัม

​3.ข้าวคั่ว พริกป่น น้ำปลา มะนาว สัดส่วนชิมตามชอบ

​4.ผักชีฝรั่ง ต้นหอม ผักชีหั่นเป็นท่อนสั้นๆ และใบสะระแหน่เด็ดเป็นใบๆ

​5.หอมแดงซอยเป็นแว่นบางๆ 3-5 หัว

​6.ผักกินเคียงตามแต่ชอบ (แนะนำใบมะตูมแขก ใบมะกอก และดอกข่า)

วิธีปรุงลาบ

1.บีบน้ำมะนาว 1 ลูกใส่เนื้อหมูสด แล้วใช้มื้อคั้นเนื้อหมูกับน้ำมะนาวจนเนื้อหมูนิ่ม (เป็นเคล็ดลับของคนโบราณ เรียกว่าวิธี ‘สะเออะ’ ช่วยให้เนื้อหมูในจานลาบนุ่มอร่อย) จากนั้นบีบเอาน้ำมะนาวพักไว้ใส่ถ้วย ก่อนนำน้ำมะนาวที่ได้มาคั่วกับหมูสับและตับหมูจนสุกดี
​2.ลวกผักพายในน้ำเดือด จากนั้นตักขึ้นมาบีบน้ำออกให้สนิท
3.นำผักพายลงคลุกกับหมูสับและตับหมูที่คั่วจนสุกดีแล้ว เบาไฟอ่อน ค่อยๆ คนให้เข้ากัน

​4.ปรุงรสด้วยข้าวคั่ว พริกป่น น้ำปลา

​5.ปิดเตา แล้วจึงบีบมะนาว ไม่อย่างนั้นลาบจะมีรสขมเฝื่อนไม่อร่อย ชิมรสดูจนชอบใจ แล้วจึงใส่หอมแดง ผักชีฝรั่ง และต้นหอมผักชีที่หั่นแล้วลงไปคลุกเคล้าจนเข้ากัน
6.เสิร์ฟพร้อมผักพื้นบ้าน เน้นผักที่มีรสฝาดและเปรี้ยวอย่างมะตูมแขก ใบมะกอก และดอกข่า จะยิ่งช่วยเสริมรสให้ลาบจานนี้อร่อยขึ้นกว่าเดิม
https://www.greenery.org/articles/rosbaan-pakpie/


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ก.ย. 19, 19:08
คุณเพ็ญชมพูได้กรุณาเพิ่มเติมเรื่องความเป็นพิษของหน่อไม้ให้ได้ทราบกัน ขอบคุณครับ

เรื่องความเป็นพิษของหน่อไม้นี้ เป็นเรื่องที่ชาวบ้านไม่รู้กัน แต่ที่ยังคงมีเมนูอาหารที่ใช้หน่อไม้ที่แสนอร่อยสืบต่อเนื่องกันมาช้านาน ก็เพราะว่าเขามิได้ข้ามขั้นตอนสำคัญในการทำกับหน่อไม้ก่อนที่จะนำมาปรุงเป็นอาหาร ซึ่งการถ่ายทอดองค์ความรู้ของการกินให้ปลอดภัยนั้นดูจะอยู่ในเชิงของวิธีการทำอาหาร อาทิ
  - การพูดเปรยๆในทำนองว่า ไปเที่ยวป่า กินแต่หน่อไม้ เจ็ดวันก็ตาย   (ก็ใช่ เพราะหน่อไม้ที่เอามต้มกินกันนั้น มันต้มได้ไม่ถึงระดับที่มีความปลอดภัยด้วยอุปกรณ์ทำครัวที่พกพาเข้าไป)
  - ก่อนที่จะเอาหน่อไม้มาทำอาหาร (รวมทั้งหน่อไม้ปี๊บด้วย) จะต้องเอาไปต้มในน้ำเดือดสักน้ำสองน้ำเพื่อกำจัดรสขมและรสขื่นออกไปและเพื่อที่จะทำให่้หน่อไม้มีรสหวาน (ก็ใช่ เพราะ
    เป็นการกำจัดพิษในหน่อไม้ให้ลดลงไป)

ผมเองก็ไม่เคยรู้หรอกครับว่าหน่อไม้มันมีพิษ มารู้เอาจากการอ่านก็เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยที่เด็กเขาว่าเป็นผู้อาวุโส  แม้ว่าจะรู้แล้วก็ยังคงชอบกินอยู่ เพียงแต่ลดความบ่อยครั้งลงและลดปริมาณลง


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ก.ย. 19, 19:16
เกือบลืมไปว่า มันมีความแตกต่างระหว่าง Allergic reaction กับ Toxic reaction 

ต้องขอความกรุณาคุณเพ็ญชมพู รวมทั้งคุณหมอทั้งหลายได้กรุณาช่วยขยายความ และช่วยชี้แนะการรับกับสถานการณ์ที่เกิดจากทั้งสองสาเหตุด้วยครับ 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ก.ย. 19, 19:33
เอาเมนูผักพายใหญ่มาฝากค่ะ.....
ลาบหมูใส่ผักพาย.....

น่าอร่อยนะครับ  ดูเป็นลาบลูกผสมที่เข้าท่าดีระหว่างภาคกลาง อิสาน และเหนือ บวกกับภาคใต้นิดๆ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 ก.ย. 19, 20:36
ผมเองก็ไม่เคยรู้หรอกครับว่าหน่อไม้มันมีพิษ

สารพิษจากหน่อไม้ปี๊บกับหน่อไม้สดเป็นคนละตัวกัน แต่สามารถถูกทำลายได้ด้วยการต้มให้สุกเช่นเดียวกัน ในหน่อไม้ปี๊บคือ botulinum toxin ส่วนในหน่อไม้สดคือ ไซยาไนด์ (cyanide) ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้การหายใจผิดปรกติ ความดันต่ำ ชีพจรเต้นแรง ปวดศีรษะ มึนงง สมองขาดออกซิเจน ถ้ารักษาไม่ทันมีอันตรายถึงชีวิต

มีงานวิจัยเรื่อง "การประเมินความเสี่ยงของสารไซยาไนด์จากการบริโภคหน่อไม้ของคนไทย" ให้อ่านเพิ่มเติม

http://dmsc2.dmsc.moph.go.th/net/BDMS/data/5326779.pdf


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 ก.ย. 19, 17:05
มันมีความแตกต่างระหว่าง Allergic reaction กับ Toxic reaction 

การแพ้โดยเฉพาะจากอาหาร แต่ละคนก็ต่างกันไป เช่นบางคนรับประทานหน่อไม้แล้วแพ้ แต่บางคนรับประทานแล้วเป็นปรกติ ตัวที่ทำให้เกิดอาการแพ้เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายซึ่งตอบสนองผิดปรกติ อาหารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ จะถูกประเมินว่าเป็นอันตราย จึงมีการกระตุ้นให้เกิดการผลิตสารภูมิต้านทาน (Antibody) ที่เรียกว่า Immunoglobulin ชนิด E หรือ IgE ในครั้งต่อไปที่ร่างกายสัมผัสสารก่อภูมิแพ้จากอาหารชนิดนั้น ๆ อีก ระบบภูมิคุ้มกันที่จดจำไว้แล้วว่าสารดังกล่าวเป็นอันตราย จะมีการสร้าง IgE ขึ้นมามาก  IgE นี้จะไปเกาะบนผิวของแมสต์เซลล์ (Mast cell) ซึ่งเป็นเซลล์ขนาดใหญ่ที่อยู่ตามเนื้อเยื่อเกี่ยวพันต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่ขนานกับหลอดเลือด ทำให้เกิดการหลั่งสารเคมีที่ทำให้เกิดอาการแพ้อย่าง “ฮีสตามีน” (Histamine) ขึ้นมา พูดง่าย ๆ ก็คือ ร่างกายจะสร้างสารต่อต้านก็ต่อเมื่อเคยรู้จักกับสารนั้น ๆ มาแล้ว ถ้ามีการหลั่งของฮีสตามีนบริเวณใดก็จะมีอาการคันหรือบวมที่ตรงนั้น เช่น ที่ปาก คอ ก็จะทำให้หายใจลำบากหรือกลืนอาหารลำบาก

สำหรับอาการจากสารพิษ เกิดจากตัวสารนั้นโดยตรงซึ่งเมื่อรับประทานเข้าไป จะไปขัดขวางการทำงานระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น botulinum toxin ไปขัดขวางการทำงานของระบบประสาททำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือสารไซยาไนด์จะไปขัดขวางการใช้ออกซิเจนของเซลล์ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ก.ย. 19, 19:05
ขอบพระคุณครับ

สรุปแบบลวกๆก็คือ อาการของการแพ้มักจะปรากฎให้เห็นในรูปของผื่นคันและปื้นนูนของผิวหนัง ซึ่งเป็นอาการที่ไม่รุนแรงนัก   ก็มีอาการแพ้ที่ปรากฎอาการอยู่ภายในร่างกายซึ่งมีความอันตรายมาก โดยเฉพาะพวกที่เกิดในส่วนที่เป็นลำคอซึ่งอาจมีผลทำให้ถึงแก่ชีวิตได้โดยง่าย คือหายใจไม่ออก   แล้วก็มีอาการแพ้แบบท้องปั่นป่วนไปจนถึง "ลุต้อง" (ถ่ายท้องหรือท้องเสีย) ซึ่งก็น่าจะเป็นได้ทั้งการแพ้แบบฮิสตามีนและแพ้สารพิษ     ส่วนอาการวิงเวียนหลังอาหารมื้อนั้นๆ ไม่รู้ครับ ??

สำหรับอาการที่ปรากฎทางผิวหนังนั้น ก็คงจะมีทั้งที่เกิดมาจากการบริโภค และที่เกิดมาจากการสัมผัส  ซึ่งการรักษาทางการแพทย์ก็จะมีทั้งการกินยาพวก Antihistamine และการใช้ยาทาเช่น Calamine Lotion หรืออื่นใด    แต่สำหรับชาวบ้านนั้น การแก้แพ้ก็มักจะใช้เพียงยาหม่องต่างๆ มีอะไรที่คว้าได้ก็ใช้ไป  ก็โชคดีที่ยาหม่องของเรานั้นทำขึ้นมาให้มีจุดประสงค์ของการใช้แบบอเนกประสงค์ มันก็เลยมีตัวยาผสมผสานอยู่ทั้งแก้เมื่อย แก้ปวด แก้หวัดคัดจมูก .... ต่อมาก็มีการผสมสารสกัดจากสมุนไพรเช่น เสลดพังพอน ไพล ....      แล้วการใช้เพียงยาหม่องก็ทำให้หายได้ ซึ่งสอดคล้องไปกับช่วงเวลาพอดีๆที่การต่อสู้โดยระบบของร่างการของเราเอาชนะสิ่งแปลกปลอมนั้นๆได้ 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ก.ย. 19, 20:08
เกิดความสงสัยขึ้นมาครับ  ว่าอาการคันคอที่เกิดจากการกินต้นบุก กินไหลบอน รวมทั้งอาการคันจากการสัมผัสกับยางไม้ต่างๆ จัดเป็นเรื่องของการแพ้ทางฮิสตามีน หรือแพ้พิษ หรืออื่นใด   

ขออภัยที่เลี้ยวเข้าไปในเรื่องทางสาธารณสุขอีกครั้งครับ  ;D   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 06 ก.ย. 19, 17:05
บุกและบอน ในเซลล์มีผลึกของ calcium oxalate ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปเข็มที่สามารถทิ่มแทงผิวหนังและเนื้อเยื่อในปากในคอ ทำให้เกิดอาการคัน

สำหรับในยางไม้ มีส่วนประกอบหลักคือ resin ester complex acids และสารที่ยังไม่ทราบว่าเป็นสารประกอบใด เรียกว่า resenes  ยางไม้บางชนิด เช่น ยางจากต้นมะม่วงหิมพานต์ ยางจากพืชจำพวกสลัดได มีสาร phenolic ทำให้เกิดการระคายเคืองอย่างมาก

พิษจากพืชไม่ใช่มีเฉพาะในบุก บอน และยางไม้ ยังมีอีกมากมายหลายหลาก

http://www.medplant.mahidol.ac.th/tpex/poison/poison.htm
https://med.mahidol.ac.th/poisoncenter/th/pois-cov/Plant


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ก.ย. 19, 19:42
ขอบพระคุณครับ โดยเฉพาะที่ได้กรุณาให้ลิงค์ที่ให้ความรู้ดีๆ   

คำบรรยายและศัพท์เฉพาะทางในเรื่องราวที่ปรากฎอยู่ในลิงค์นั้น ท่านผู้อ่านทั้งหลายจะเข้าถึงหรือเข้าไม่ถึงบ้างเช่นใดก็ตาม ก็อย่าได้เป็นกังวลหรือไปกลัวอะไรไปให้มากนักนะครับ อะไรที่เกินพอดีไปมันก็เป็นโทษทั้งนั้น    เอกสารทางวิชาการที่เป็นวิชาการไม่ว่าจะเป็นของสาขาวิชาใด ต่างก็มักจะเริ่มต้นด้วยเรื่องของอะไรๆที่รู้สืบต่อกันมา ตามด้วยเรื่องขององค์ความรู้ใหม่ที่ได้จากการทดลอง ทดสอบ สอบทาน ประเมิน ฯลฯ    รายงานสรุปแล้วต่อท้ายด้วยผลกระทบอันพึงมี      ที่น่าแปลกใจอยู่ก็คือ มักจะเป็นรายงานที่ให้ภาพในมุมมองด้าน Qualitative ที่เป็นภาพลบ  แต่กลับเกือบจะไม่เห็นเรื่องราวในด้าน Quantitative  และการแก้ไขทั้งในเชิงของการป้องกัน (preventive measures) และการเยียวยา (curitive measures)


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ก.ย. 19, 19:34
ในความเห็นของผม เห็นว่าการกินพืชผักและผลไม้ทั้งหลายนั้น หากเป็นการกินที่เป็นไปอย่างธรรมชาติก็ไม่น่าจะมีผลไปในทางลบ เพราะว่ามันมีการจำกัดใม่ให้กินเกินพอดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะทำให้อยู่ในรูปของความเป็นยาหรือในรูปของอาหารก็ตาม เช่น ด้วยปริมาณที่หาได้ ด้วยปริมาณต่อมื้ออาหาร ด้วยกระบวนวิธีทำตามภูมิปัญญาของผู้คนแต่โบราณ     

ความพอดีที่เราเห็นกันจนคุ้นตาก็น่าจะเป็นความหลากหลายของเครื่องปรุงที่คละกันในสัดส่วนที่เหมาะสม เช่น เครื่องปรุงในน้ำพริกแกงของแกงชนิดต่างๆ  การใช้มะขามเปียกในแกงหลายๆชนิด การใช้ขิงหรือข่าในต้มบางชนิด  การใช้กลุ่มพืชผักบางอย่างเฉพาะกับแกงหรือต้มบางอย่าง     


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: pratab ที่ 08 ก.ย. 19, 20:14
ในความเห็นของผม เห็นว่าการกินพืชผักและผลไม้ทั้งหลายนั้น หากเป็นการกินที่เป็นไปอย่างธรรมชาติก็ไม่น่าจะมีผลไปในทางลบ เพราะว่ามันมีการจำกัดใม่ให้กินเกินพอดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะทำให้อยู่ในรูปของความเป็นยาหรือในรูปของอาหารก็ตาม เช่น ด้วยปริมาณที่หาได้ ด้วยปริมาณต่อมื้ออาหาร ด้วยกระบวนวิธีทำตามภูมิปัญญาของผู้คนแต่โบราณ     

ความพอดีที่เราเห็นกันจนคุ้นตาก็น่าจะเป็นความหลากหลายของเครื่องปรุงที่คละกันในสัดส่วนที่เหมาะสม เช่น เครื่องปรุงในน้ำพริกแกงของแกงชนิดต่างๆ  การใช้มะขามเปียกในแกงหลายๆชนิด การใช้ขิงหรือข่าในต้มบางชนิด  การใช้กลุ่มพืชผักบางอย่างเฉพาะกับแกงหรือต้มบางอย่าง     
 
       อยากเรียนถาม คุณ naitang ว่าท่านเคยใช้ marijuana ประกอบการปรุงอาหารบ้างไหมครับ มันทำให้อาหารอร่อยขึ้นจริงหรือและอร่อยตั้งแต่คำแรกหรือไม่ หรือต้องรอให้ออกฤทธิ์ก่อน ขอบคุณครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ก.ย. 19, 18:42
ตัวผมเองไม่เคยใช้พืชชนิดนี้ในการประกอบอาหาร เคยแต่กินอาหารที่มีการใส่พืชนี้ลงไปด้วย     

สามสี่คำแรกใม่รู้หรอกครับว่ามีการใส่ลงไปด้วย หลังจากนั้นจึงจะเริ่มรู้สึกว่าทำไมอาหารอร่อยถูกปากจังเลย เมื่อใกล้จะจบมื้ออาหารก็จะเห็นทุกคนเริ่มคุยกันด้วยอารมณ์ที่ดี เพียงหยอกล้อกันนิดๆหน่อยๆต่างก็ปล่อยหัวร่อออกมากัน ผู้คนในวงสำรับนั้นต่างก็นั่งอมยิ้มกันทุกคนพร้อมที่จะหัวร่อออกมา   เห็นทุกอย่างเป็นเรื่องที่น่าขำ ถ้อยทีถ้อยอาศัยเล่าเรื่องสู่กันฟัง สนทนากันด้วยอารมณ์ที่ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเหตุการณ์ที่คับขันหรือที่น่ากลัว    ปริมาณการกินอาหารที่ตามปกติจะรู้สึกอิ่มตึงท้องกันแล้วก็จะยังรู้สึกว่ายังกินได้อีก  ยิ่งเป็นของกินที่ออกรสหวานๆหรือของที่หวานมากๆก็จะยิ่งมีความรู้สึกว่ามีความอร่อยเป็นพิเศษ ก็จะยิ่งกินกันหนุบหนับคล้ายกับแกล้ม กินไปดื่มน้ำไปแบบเอร็ดอร่อยเอามากๆ     

 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ย. 19, 18:52
https://amprohealth.com/magazine/why-cannabis-on-food-good-taste/
อาหารที่มีส่วนผสมกัญชารสชาติอร่อยจริงหรือ ?


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ก.ย. 19, 19:16
สำหรับอาการของแต่ละบุคคลก็สามารถสังเกตได้จากตาที่เยิ้มหวานเชื้่อม (หนังตาบวม...) กล้ามเนื้อส่วนโหนกแก้มยก ดึงให้มุมปากยกขึ้นนิดๆ และอื่นๆเช่นอารมณ์ดี   ในด้านการเคลื่อนไหวของร่างกายนั้นอาจจะสังเกตได้ยากหน่อย อาการที่สำคัญก็คือ ความคล่องแคล่วความว่องไวลดลง ความนุ่มนวลต่างๆมีมากขึ้น แต่มิใช่ในเรื่องของกำลัง/พลัง   การคิดสะระตะมีมากขึ้นก่อนที่จะทำอะไรลงไป และก็เป็นความคิดในด้าน safe side   คิดในด้าน defensive มากกว่าที่จะเป็นในด้าน offensive  

อีกเรื่องหนึ่งที่มักจะกล่าวถึงกันก็คือ อาการกลัวในลักษณะ exaggerate (เช่น เห็นหนูตัวเท่าช้าง เห็นร่องกระดานปูพื้นบ้านกว้างจนไม่กล้าเดินข้าม....)  ในเรื่องนี้ผมมีความเห็นต่างว่าเกินความเป็นจริง เห็นว่าเป็นการกล่าวถึงในเชิงของการเปรียบเทียบเพียงเท่านั้น  


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ก.ย. 19, 19:43
ทำงานในพื้นที่มานาน ก็เลยมีข้อมูลและความรู้สะสมมาพอควร  แต่คงจะเล่าอะไรๆได้ไม่มากนักด้วยข้อจำกัดต่างๆ     จริงๆแล้วก็อยากจะเล่าประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ในทางวิชาการ ด้วยคิดว่าคงจะมีบุคคลไม่มากนักที่มีประสบการณ์ในด้านที่เป็น tangible คือสัมผัสจริง แม้ว่าจะเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของเรื่องราวก็ตาม   ซึ่งก็ยังจะต่างไปจากการรับรู้และความรู้สึกที่สัมผัสได้ในรูปของ ภาพที่เป็น intangible


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: pratab ที่ 09 ก.ย. 19, 20:21
ขอบคุณมากครับทั้งคุณ naitang และคุณเทาชมพู ทำให้เข้าใจได้ว่า 1.สำหรับผู้ที่ไม่เคยทราบว่ามันผสมอาหารได้และออกฤทธิ์ดังที่ท่านกล่าวมาแล้ว ไม่มีทางรู้เลยว่าอาหารนั้นผสมพืชชนิดนี้ลงไป และ 2. ตาม link ที่กรุณาส่งให้อ่าน สารในพืชนี้เป็นอันตรายต่อผู้เป็นโรคหัวใจบางอย่างซึ่งจะมากน้อยขึ้นกับความเข้มข้นที่ใส่ลงไปซึ่งเข้าใจว่าไม่มีมาตรฐานกำหนด


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ย. 19, 08:58
สรุปว่ากัญชาไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย มีแต่โทษสำหรับผู้มีสุขภาพไม่สมบูรณ์ เช่นเป็นโรคหัวใจ

เคยได้ยินตรงกับคุณตั้งเล่า ว่ากินกัญชาเข้าไปแล้วอารมณ์ดี    คุณแม่เคยเล่าว่า  สมัยก่อนถ้าใครนึกสนุก เวลาแกงเขียวหวานหรือแกงเผ็ด จะแอบใส่กัญชาลงไปนิดหน่อย
กินกันแล้วนั่งหัวเราะอารมณ์ดีกันทั้งวง   แต่ก็ไม่มีอันตรายอะไร   พออาหารย่อยหมดแล้วก็แล้วกันค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 10 ก.ย. 19, 09:22
เนื่องจากกัญชาอาจมีผลข้างเคียงกับผู้ป่วยบางโรค ถ้าคิดจะใส่ลงไปในอาหาร คงต้องมีการบอกกันไว้ให้ชัดเจนนะครับ (เหมือนที่ปัจจุบันต้องเขียนไว้ที่ฉลากว่า มีส่วนผสมอะไรบ้างที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้) ไม่งั้นคนที่ป่วยเขาอาจจะไม่รู้เผลอไปกินเข้า จะแย่เอานะครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ย. 19, 09:43
 เมื่อ 100 ปีก่อนความรู้เรื่องผลข้างเคียงของพืชหรือสารต่างๆ ไม่มีเหมือนสมัยนี้       ไม่มีใครรู้ว่ากัญชามีผลต่อหัวใจ  เพราะไม่มีใครรู้ว่าโรคหัวใจคืออะไร    อาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน โบราณเรียกว่า "เป็นลมปัจจุบัน"  คือหน้ามืดล้มลงเหมือนเป็นลมแล้วไปเลย
  กัญชาในแกงเขียวหวานก็คงใส่กันสนุกๆน่ะค่ะ  กินแล้วไม่ตายก็ถือว่าไม่อันตราย      แต่ปัจจุบันนี้ เพื่อความปลอดภัยอย่าใส่เสียเลยดีกว่า


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ก.ย. 19, 17:44
.......คุณแม่เคยเล่าว่า  สมัยก่อนถ้าใครนึกสนุก เวลาแกงเขียวหวานหรือแกงเผ็ด จะแอบใส่กัญชาลงไปนิดหน่อย
กินกันแล้วนั่งหัวเราะอารมณ์ดีกันทั้งวง   แต่ก็ไม่มีอันตรายอะไร   พออาหารย่อยหมดแล้วก็แล้วกันค่ะ

ถูกต้องครับ    กัญชามักจะใช้ในแกงเขียวหวานและแกงเผ็ด ทั้งนี้ก็ยังจะต้องเป็นแกงที่ใช้เนื้อวัวติดมัน(ซึ่งเป็นเนื้อส่วนที่ทำให้เปื่อยได้ไม่ง่ายนัก)อีกด้วย   จะกล่าวว่า เพื่อแขกจะได้ไม่ต้องมาบ่นกันในเรื่องของ tough & chewy ก็น่าจะพอได้อยู่    แกงทั้งสองนี้นิยมทำกันในวาระที่ต้องมีการรับรอง(เลี้ยง)คนหมู่มาก กินได้ทั้งกับขนมจีนและข้าวสวย และก็ยังใช้เครื่องเคียงร่วมกันได้อีกด้วย เช่น ปลาตะเพียนแดดเดียวทอด ปลาสละเค็มทอด แล้วก็น้ำปลามะนาวใส่หอมแดงซอยและพริกขี้หนูซอย      เรื้่องราวทั้งหลายก็ดูจะสื่อว่าต้นตำหรับในการใช้กัญชาผสมลงไปในอาหารน่าจะมาจากผู้คนในภาคกลางที่จะกระทำกันในงานที่เลี่ยงคนหมู่มาก     


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ก.ย. 19, 18:03
สำหรับในภาคเหนือและอิสานนั้น  ผมไม่เคยเห็นว่ามีเมนูอาหารในวาระพิเศษใดๆจะใช้กัญชาใส่ลงไปในการปรุงอาหารด้วย    ก็อาจจะเป็นเพราะว่าบรรดาอาหารเกือบทั้งหมดจะเป็นแบบแห้งหรือน้ำขลุกขลิก อีกทั้งน้ำพริกแกงก็เป็นแบบง่ายๆ   

เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน เป็นว่ากัญชาเหมาะที่จะใส่ในอาหารประเภทที่มีน้ำมาก มากกว่าที่จะใส่ในอาหารที่มีน้ำขลุกขลิกหรือแห้ง   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ก.ย. 19, 18:36
กัญชามีส่วนที่เป็นใบและเป็นดอกที่มีการนำมาใช้กัน   ในประเทศเราและรอบๆบ้านเรานิยมใช้ส่วนที่เป็นดอกที่เรียกกันว่า กะหรี่  ใช้ในการสูบ  ส่วนการนำมาใส่ในอาหารนั้นจะนิยมใช้เมล็ดและใบโขลกรวมไปในการตำน้ำพริกแกง  น้อยนักที่จะเห็นมีการใช้ในลักษณะการใช้ในแกงต่างๆเฉกเช่นการใช้ใบโหระพา ใบกระเพรา ใบยี่หร่า ใบแมงลัก....   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ก.ย. 19, 18:49
ก็มีพืชพรรณไม้อีกหลายชนิดนักเป่ากัญชาแต่เก่าก่อนรู้จักกันอาทิ ไม้ข่อย พญามือเหล็ก กำแพงเจ็ดชั้น ชะเอม ....

เดี๋ยวจะไปไกล เพียงเท่านี้ก็น่าจะพอนะครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 11 ก.ย. 19, 09:00
เริ่มไม่ไปตลาด จะไปตะรางแทนละครับ อิอิ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ย. 19, 09:46
คุยเรื่องกัญชามาหลายค.ห. นึกได้ว่ายังไม่เคยเห็นหน้าตากัญชา  เลยไปค้นรูปมาดูค่ะ

บางรัฐของอเมริกาอย่างโคโลราโด อนุญาตให้ปลดล็อคกัญชาจากยาเสพติด    แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นกัญชาเสรี   
เขาจำกัดในการขายลูกค้าคนละน้อยนิดมาก ในแต่ละวัน  จำไม่ได้ว่าเท่าไหร่แต่น้อยนิดปานประหนึ่งครึ่งขีด ทำนองนี้ละค่ะ
เหมือนซื้อยาอันตราย
ในเมื่อกฎหมายเข้มงวดเรื่องนีิ     เรื่องจะจ้างเด็กมาซื้อแทน หรือซื้อแล้วซื้ออีกวนเวียนกันไปมา  ย่อมทำไม่ได้  คนขายโดนกฎหมายเล่นงานอ่วมแน่ๆ

ถึงกระนั้น ก็มีผู้ใหญ่จำนวนมากที่ไม่สบายใจกับเรื่องนี้  เพราะถึงจะเสพได้ทีละนิดก็ตาม แต่เมื่อเสพนานๆมันก็มีผลต่อสมองและร่างกาย  อารมณ์ซึมเศร้าได้ง่าย นำไปสู่ยาเสพติดที่แรงกว่าชนิดอื่นๆ  ทำให้วัยรุ่นเสียผู้เสียตนกันไปมากเพราะเริ่มต้นจากกัญชานี่ละค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ก.ย. 19, 17:49
เริ่มไม่ไปตลาด จะไปตะรางแทนละครับ อิอิ

กลัวอยู่ครับ ก็เลยต้องรีบลงเอย  :-X


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ก.ย. 19, 19:07
เรือกำลังออกปากอ่าว จะกลับหัวก็ต้องใช้พื้นที่อีกเล็กน้อย  ;D   

ก็มีศัพท์อยู่คำหนึ่งว่า hallucination ซึ่งดูจะตรงกับคำว่า ประสาทหลอน (??)     

เพียงแต่อยากจะเรียนถามท่านที่มีความรู้หรือขัอมูลด้านสาธารณสุขว่า ในพืชผักหลายชนิดที่เราบริโภคกันอยู่นั้นมีสารที่ทำให้เกิดอาการเพี้ยน (hallucinogens) อยู่บ้างใหม    และว่ามันถูกกำจัดหรือทำลายไปด้วยวิธีการทำอาหารที่ีได้รับรู้ถ่ายทอดกันต่อๆมาหรือเปล่า   หรือว่าเป็นเพราะเรากินมันในปริมาณน้อยจึงไม่ส่งผลให้มีอาการแสดงออกมา   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ย. 19, 11:10
นึกออกแต่ฝิ่น ค่ะ

https://hilight.kapook.com/view/184315

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 เว็บไซต์เวิลด์ออฟบัซ รายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจและทีมเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขของมาเลเซีย เดินทางเข้าตรวจสอบร้านอาหารแห่งหนึ่ง ในรัฐเปรัก หลังพบว่าลูกค้าจำนวนหนึ่งรวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ รู้สึกไม่สบายและเกิดอาการประสาทหลอน หลังจากมากินอาหารที่ร้านนี้ โดยการตรวจสอบเผยให้เห็นความจริงอันน่าตกใจ เพราะทางร้านใส่สารเสพติดลงไปในอาหาร !

เจ้าหน้าที่ได้ยึดอาหารหลายอย่าง ตั้งแต่ข้าวสวย ไก่ทอด ผัก ซอสปรุงรส เครื่องปรุง และวัตถุดิบอื่น ๆ รวมทั้งยึดตัวอย่างภาชนะใส่อาหารพวกกล่องโฟมและกล่องพลาสติกไปตรวจสอบ เพื่อค้นหาว่ามีส่วนผสมที่เป็นอันตรายหรือไม่ และอะไรทำให้ผู้บริโภคเกิดอาการหลอน

          นอกจากนี้แล้ว เจ้าหน้าที่ก็ได้ควบคุมตัวพ่อครัวและคนงานครัว 2 คน ไปตรวจปัสสาวะเพื่อหาสารเสพติด ผลก็ออกมาเป็นบวกเหมือนกับลูกค้า โดยในระหว่างสอบปากคำนั้นพ่อครัวอ้างว่า วัตถุดิบ เครื่องปรุงต่าง ๆ ภายในร้านอาหารของเขานั้นสะอาดถูกต้องทุกอย่าง ไม่มีอะไรผิดกฎหมาย และไม่มีปัญหาอะไร แต่สุดท้ายเขาก็ได้ยอมรับว่าตัวเองใช้ "เมล็ดฝิ่น" ที่บดเป็นผงแล้ว ใส่ลงไปในอาหารเพื่อชูรสชาติ แต่อ้างว่าใช้แค่ในปริมาณที่เล็กน้อยเท่านั้น

          เจ้าหน้าที่จึงจับกุมพ่อครัวฐานใช้สารเสพติดผิดกฎหมาย ทั้งนี้ จะต้องมีการสอบสวนสืบสวนอย่างละเอียดอีกครั้ง และต้องรอผลการตรวจสอบอาหารจากห้องแล็บ คาดว่าน่าจะได้ทราบผลในเร็ว ๆ นี้


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ก.ย. 19, 11:35
มีเห็ดชนิดหนึ่งซึ่งมักเป็นข่าวคู่กับงานฟูลมูนปาร์ตี้ ที่เกาะพงัน จ.สุราษฎร์ธานี คือ เห็ดขี้ควาย (Psilocybe cubensis)

นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมกินโดยนำไปปั่นรวมกับนม เป็นมิลค์เชคเห็ดขี้ควาย หรือนำไปทำเป็นเหล้าปั่น บางคนอาจจะนำไปปรุงเป็นเมนูอาหารอื่น ๆ เช่น ไข่เจียวเห็ดขี้ควาย
 
ที่มีชื่อว่า เห็ดขี้ควาย ก็เพราะว่ามักจะพบเห็ดชนิดนี้ขึ้นอยู่บนกองขี้ควายเก่า ๆ ที่แห้งแล้ว ในเห็ดขี้ควายจะมีสาร ๒ ชนิด คือ psilocybine และ psilocine  ซึ่งมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทอย่างรุนแรง ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ประสาทหลอน เห็นภาพแสงสีต่าง ๆ ลวงตา รู้สึกเหมือนมีเข็มมาทิ่งแทงตามตัว ได้ยินเสียงฟ้าร้องฟ้าผ่า สับสน ไม่สามารถลำดับทิศทางได้ และหากเสพในปริมาณมาก ๆ อาจทำให้เสียชีวิตได้

การบริโภคเห็ดขี้ควาย หากนำไปปั่นผสมกับเหล้า เหมือนที่นักท่องเที่ยวนิยมกันในงานฟูลมูนปาร์ตี้ จะทำให้เพิ่มปริมาณของสารออกฤทธิ์มากขึ้น เนื่องจากแอลกอฮอล์จะเป็นตัวทำละลาย ทำให้ออกอาการเร็วและรุนแรงมากขึ้น และไม่ว่าจะผ่านความร้อนสูงเท่าไหร่ก็ไม่สามารถจะทำลายสารนี้ได้


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ก.ย. 19, 11:38
เห็ดขี้ควาย และ กัญชา ในทางกฎหมายอยู่ในสถานะเดียวกันคือถือเป็นยาเสพติดให้โทษ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีประโยชน์หากรู้จักวิธีนำมาใช้

ในตำรายาไทยก็มีการกล่าวถึงด้วยว่า มีรสเบื่อเมา มีสรรพคุณแก้ลมกองละเอียด แก้นอนไม่หลับ แก้พิษไข้ร้อน กระสับกระส่าย แพทย์แผนไทยใช้เห็ดขี้ควายเป็นยาทำให้ง่วงหรือนอนหลับ จึงเรียกยานี้ว่ายาสุขไสยาสน์

ที่สำคัญยิ่งในภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย โดยเฉพาะในภาคอีสานมีการใช้เห็ดขี้ควายในตำรับยาต่าง ๆ มากกว่า ๒๐ ตำรับ ที่มีการปรุงยากันมาก ได้แก่ ตำรับยาแก้ไข้หมากไม้ (ไข้ที่เป็นในช่วงเปลี่ยนฤดูกาล มักเป็นในช่วงที่มีผลไม้ออกมาก ๆ ไข้ชนิดนี้เมื่อเป็นแล้วห้ามทานผลไม้) ยกตัวอย่างยาแก้ไข้หมากไม้ ให้เอาเห็ดขี้ควายปิ้งให้แห้ม (เกรียม) ฮากข้าว ฮากแตงกัว (แตงกวา) ฝนกินดีแล

ยารักษาโรคผิวหนัง ที่มีการใช้เห็ดขี้ควาย เช่น

ยาออกสุก (เป็นอีสุกอีใส) ตุ่มบ่ขึ้น (ตุ่มไม่ออก) ให้เอา ไข่เป็ด ๑ เห็ดขี้ควาย ๑ ทาดีแล หรืออีกตำรับให้ใช้ ฮากแค้งขม (มะแว้ง) เห็ดขี้ควาย ขนบั่วไก่ขาว (ขนอ่อนของไก่ชี) ฝนใส่น้ำหน่อไม้ส้ม ทาดีแล

ย่าฆ่าตุ่ม (เมื่อเป็นไข้หมากไม้ ต้องมีตุ่มออกมาลำตัว) ให้เอาเห็ดขี้ควาย ยางแมงวัน (ยางจากต้นมะม่วงหัวแมงวัน) มาขั้ว (ใส่กระเบื้องหรือกระทะตั้งไฟให้ร้อน แล้วคนไปจนสุกหรือเกรียม) สมกัน (ผสมกัน) ทาดีแล

ยาลวงแก้วตาควาย (โรคผิวหนังชนิดหนึ่ง มีลักษณะเหมือนตาควาย) ให้เอา เห็ดขี้ควาย ๑ คาบงู ๑ เอาเถ้าเขาควายขาด เผาดอม (ด้วย) กันใส่ดี

ในท้องถิ่นอีสานบ้านเฮานั้น เห็ดขี้ควายเป็นเห็ดที่กินได้ เคยมีการนำมาใส่ในอาหารต่างๆ เพื่อเพิ่มรสชาติ บางพื้นที่ก็นำมาทาเกลือปิ้งกิน

ข้อมูลจาก สมุนไพรเพื่อสุขภาพ / โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย
https://www.matichonweekly.com/column/article_153570


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ก.ย. 19, 11:40
ที่นครเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา มีการลงประชามติเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เห็นชอบให้ผ่อนคลายข้อจำกัดสำหรับการครอบครองและใช้เห็ดขี้ควาย หรือที่เรียกกันว่า ‘เห็ดวิเศษ’ (magic mushrooms) เป็นการส่วนบุคคล สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ ๒๑ ปีขึ้นไป

ผลการทำประชามติครั้งนี้จะจำกัดเฉพาะในเมืองเดนเวอร์เท่านั้น และสาร psilocybin ในเห็ดขี้ควายก็ยังคงจัดเป็นสารเสพติดให้โทษประเภทที่ ๑ ตามกฎหมายของรัฐโคโลราโด และกฎหมายส่วนกลางของสหรัฐ

กลุ่ม Decriminalize Denver ซึ่งเรียกร้องให้มีการทำประชามติปลดล็อคเห็ดขี้ควายชี้ว่า สาร psilocybin มีประโยชน์ในทางการแพทย์หลายอย่าง ช่วยลดความเครียดและความกังวล และสามารถใช้บำบัดผู้ที่ติดบุหรี่ เหล้า ฝิ่น รวมถึงบรรเทาอาการของผู้ที่มีภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง (post-traumatic stress disorder - PTSD) ได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายที่คัดค้านเกรงว่าการปลดล็อคเห็ดขี้ควายจะยิ่งทำให้เดนเวอร์มีภาพลักษณ์เป็นเมืองยาเสพติด เนื่องจากรัฐโคโลราโดก็เป็นรัฐแรก ๆ ในอเมริกาที่อนุญาตให้พลเมืองวัยผู้ใหญ่ใช้กัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสันทนาการได้

ชาวเมืองเดนเวอร์ลงประชามติยกเลิกโทษอาญาสำหรับการครอบครองกัญชาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๗ ก่อนที่รัฐโคโลราโดจะผ่านกฎหมายปลดล็อคกัญชาทั่วทั้งรัฐในอีกหลายปีต่อมา ซึ่งนำมาสู่การออกใบอนุญาตร้านจำหน่ายกัญชา และการเก็บภาษีจากผลิตภัณฑ์กัญชาอย่างเป็นระบบ

สำหรับในประเทศไทย พืชที่ให้สาร psilocybine หรือ psilocine และรวมถึงส่วนต่าง ๆ ของพืชดังกล่าว เช่น ดอกเห็ด ก้านเห็ด และสปอร์ของเห็ด ถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ิ

https://mgronline.com/around/detail/9620000044498


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ย. 19, 13:17
มีเห็ดชนิดหนึ่ง หน้าตาสีสันสวยน่ารักมาก    ปรากฏอยู่ในภาพประกอบนิทานเด็ก ในหนังสือการ์ตูนฝรั่ง รวมทั้งออกแบบเป็นของเล่นด้วย ค่ะ
เป็นเห็ดสีแดงสด มีจุดกลมสีขาว 
มารู้เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้วว่าเป็นเห็ดพิษ
แต่ไปค้นกูเกิ้ลแล้ว  ไม่รู้ว่าชื่ออะไรแน่   มีทั้ง Toadtools  (หรือPoisonous Mushroom)Amanita muscaria, หรือ fly agaric


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ก.ย. 19, 19:38
ใน คห. 110 ของ อ.เทาชมพู เกี่ยวกับเรื่องพ่อครัวชาวมาเลเซียใส่เมล็ดฝิ่นบดลงไปในอาหาร ทำให้คนกินเกิดไม่สบาย และเมื่อตรวจปัสสาวะต่างก็พบผลเป็นบวกนั้น   

ก็เกิดเอะใจขึ้นมาว่า  ผมไม่เคยรู้และไม่เคยมีความรู้ใดๆเลยว่ามีการนำเมล็ดฝิ่นมาใช้ในการปรุงอาหารกัน  รู้แต่ว่ามีการใช้ poppy seeds ในด้านของรสและสัมผัสในอาหารฝรั่ง โดยเฉพาะในพวกขนมปังและขนมอบหลายชนิด      poppy seeds แปลตรงตัวก็คือ เมล็ด(ของดอก)ฝิ่น   แต่ที่ใช้ในการทำอาหารนั้น poppy seeds เป็นชื่อเรียกของ "งาขี้ม่อน" ซึ่งก็คือเมล็ดของต้นชิโสะ (?) ซึ่งมีกลิ่นและรสประหลาดๆ เป็นใบไม้สีเขียวขอบหยักๆที่คนญี่ปุ่นนิยมเอามาแต่งจานและกินคู่กับพวกอาหารทะเลสดดิบ    ในไทยเราจะใช้งาขี้ม่อนในการทำอาหารมากน้อยเมนูเพียงใดผมไม่รู้  แต่ที่รู้แน่นอนมีอยู่ 1 เมนู ก็คือข้าวเหนียวคลุกงา (หรือหนุกงา) ของอร่อยในช่วงฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงของการเก็บเกี่ยวได้ข้าวเหนียวใหม่ นึ่งสุกแล้วก็พรมน้ำเกลือแล้วคลุกเคล้ากับงาขี้ม่อน แล้วห่อด้วยใบตองกล้วย  อร่อยดีแท้ครับ      ก็ดูแปลกเหมือนกันที่ไม่นิยมห่อด้วยใบตองตึงดังเช่นข้าวเหนียวตามปกติ เลยเดาเอาว่าก็คงจะเป็นเพราะข้าวหนุกงาจัดอยู่ในกลุ่มเป็นพวกของหวาน   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ก.ย. 19, 20:22
เลยทำให้เกิดความสงสัยขึ้นมาว่า ด้วยที่เมล็ดฝิ่นจากดอกฝิ่นจริงๆนั้นหายาก  ถึงจะหาได้ก็คงต้องเป็นการลักลอบซื้อขายกัน และก็คงจะไม่บ้าบิ่นพอที่จะเอามาใส่ในอาหารทำขายผู้คนทั่วไป  ผมว่าเมล็ดฝิ่นที่พ่อครัวผู้นั้นใช้ จึงน่าจะเป็นงาขี้ม่อนนั่นเอง   เลยทำให้เกิดความสนใจต่อไปว่า ถ้าเช่นนั้นงาขี้ม่อนนั้นจะมีสารที่ไม่เป็นมิตรต่อร่างกายหรือไม่ และในปริมาณมากน้อยเพียงใดจนทำให้อาการดังข่าวนั้น 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ก.ย. 19, 21:09
ข่าวจาก สื่อมาเลเซีย (https://www.businessinsider.my/people-started-hallucinating-after-eating-nasi-kandar-from-a-shop-in-perak-and-the-cook-tested-positive-for-drugs/)

People started hallucinating after eating nasi kandar from a shop in Perak – and the cook tested positive for drugs

The three, aged 30 to 70 years old, tested positive for opiates.

Opiate เป็นสารที่ได้มาจากฝิ่น (Papaver somniferum) ฉะนั้นเมล็ดฝิ่นในข่าวนี้มาจากดอกฝิ่นจริง ๆ

เมล็ดฝิ่นที่ตากแห้งแล้ว ในทางการค้าเรียก poppy seed หรือ maw seed ใช้เป็นอาหาร เช่น ใส่ในขนมปัง คุกกี้ น่าจะหาซื้อได้ไม่ยากนัก

https://youtu.be/spn3K7AG0F4


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ก.ย. 19, 11:17
ปรกติเมล็ดฝิ่นสามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัย แต่หากรับประทานผิดวิธีอาจเกิดโทษได้

James McDougall เจ้าหน้าที่ชันสูตร รัฐควีนส์แลนด์ รายงานถึงการเสียชีวิตของหญิงวัยรุ่นอายุ ๑๙ ปีจากย่าน Greenbank ทางใต้ของนครบริสเบนเมื่อเดือนเมษายน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๕ ระบุว่าวัยรุ่นหญิงคนนี้เสียชีวิตจากการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของสารเสพติด หลังจากดื่มชาทำเองที่มีส่วนผสมหลักเป็นเมล็ดฝิ่นผสมกับยารักษาโรคที่ใช้แก้ไข้ทั่วไป

จากการสอบสวนพบว่าพบว่า วัยรุ่นสาวผู้ตายและเพื่อน ๆ ของเธอได้ซื้อเมล็ดฝิ่นมาจากซูเปอร์มาร์เก็ต แล้วนำมาผสมกับยาแก้ไข้เอามาชงเป็นชาแบ่งกันดื่ม ในขณะที่ทุกคนมีอาการง่วงและกำลังหลับ เพราะฤทธิ์ของสารมอร์ฟีนซึ่งออกมาจากเปลือกของเมล็ดฝิ่นเมื่อเอาไปแช่น้ำและสารอื่น ๆ  เพื่อนได้ยินเสียงผู้ตายหายใจด้วยเสียงผิดปรกติ ก่อนที่ทุกคนจะม่อยหลับไป

https://www.couriermail.com.au/news/queensland/poppy-seed-tea-fatality-prompts-drug-alert-from-coroner/news-story/d8c34033bd0804e4e40e835eda755074 (https://www.couriermail.com.au/news/queensland/poppy-seed-tea-fatality-prompts-drug-alert-from-coroner/news-story/d8c34033bd0804e4e40e835eda755074)

https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-1503/poppy-seed (https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-1503/poppy-seed)


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ก.ย. 19, 19:00
ขอบพระคุณครับสำหรับข้อมูลที่ถูกต้องในเรื่องของ poppy seed    และขออภัยท่านสมาชิกและท่านผู้ที่ติดตามอ่านทุกๆท่านในสิ่งที่ผมได้เขียนไปบนฐานข้อมูลที่ผิดๆ  :-[

ที่จริงก็มีความรู้อยู่ว่ามีการปลูกฝิ่นอย่างถูกกฎหมายอยู่ในหลายประเทศ และแหล่งผลิตเมล็ดฝิ่นสำคัญก็อยู่ในประเทศเช็คติดๆกันอยู่กับออสเตรียที่ไปประจำการ  แล้วก็รู้อยู่ว่าเมล็ดฝิ่นกับงาขี้ม่อนดูนั้น เมื่อดูผิวเผินก็แทบจะแยกกันไม่ออก      ในระหว่างที่เขียน สมองมันก็จินตนาการเอาเรื่องต่างๆมาผสมผูกพันกัน ผนวกกับความเลอะเทอะตามวัย หลงลืม สับสน ก็เลยได้เรื่องราวใหม่ ผนวกไปอีกด้วยกับการขาดการตรวจทานในเรื่องทางข้อมูลและตรรกะ  ก็เลยเกิดเป็นความผิดพลาดที่น่าละอายเป็นอย่างยิ่ง     ก็ดีนะครับที่ยังได้รับความกรุณาจากท่านผู้รู้จริงที่ได้กรุณาติดตามอ่าน ชี้นำ และแก้ไข     บางทีก็นึกอยู่ว่าเราน่าจะหยุดเล่าเรื่องราวอะไรต่อมิอะไรได้แล้ว แยกตัวไปอยู่ทางด้าน audit ก็ดูจะดีเหมือนกัน  แต่ก็อดไม่ได้ที่อยากจะถ่ายทอดสาระบางอย่างในประสบการณ์ของตัวเองที่ได้พบพานมา ให้เป็นองค์ประกอบของความรู้นอกตำราเพื่อความสมบูรณ์ของความรู้ในองค์รวม 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: pratab ที่ 13 ก.ย. 19, 19:02
ตามความเห็นที่ 115 ของคุณ naitang ที่ว่า 

   "poppy seeds แปลตรงตัวก็คือ เมล็ด(ของดอก)ฝิ่น   แต่ที่ใช้ในการทำอาหารนั้น poppy seeds เป็นชื่อเรียกของ "งาขี้ม่อน" ซึ่งก็คือเมล็ดของต้นชิโสะ " 

     ผมใคร่ขอความกรุณาท่านผู้รู้ช่วยบอกทีว่า ที่ฝรั่งเขาเรียกว่า Perilla seed ซึ่งเป็นธัญพืชที่สามารถรับประทานได้ทั้งเมล็ดและใบ ลักษณะของเมล็ดจะคล้ายงา มีสีน้ำตาลเข้มหรือเทามักใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารกินเล่นเช่นคุกกี้ หรือ begal อบโรยหน้าด้วยเมล็ดพืชชนิดนี้ มันเรียกว่าอะไรในภาษาไทย ในอาหารไทยมีใช้หรือไม่ครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ย. 19, 19:07
 ตอบคุณตั้ง
  อย่าหยุดเขียนเลยค่ะ คุณตั้ง   เล่าต่อไปเถอะ   ลืมเล็กๆน้อยๆไม่ใช่เรื่องสำคัญ     เดี๋ยวก็มีคนเข้ามาช่วยแก้ไขให้เอง
 ประสบการณ์และอรรถรสที่เล่าเรื่องต่างๆหาฟังยาก เป็นสิ่งสำคัญกว่าค่ะ

  ตอบคุณ pratab
  Perilla seed  คือ งาขี้ม่อนค่ะ
  https://www.honestdocs.co/perilla-seed

  ถามคุณเพ็ญชมพู
  อ่านเรื่องสาววัย 19  กินเมล็ดฝิ่นผสมชากับยา แล้วถึงตาย  ยังสงสัยว่า เมล็ดฝิ่นกินยังไงถึงปลอดภัยคะ
  ถ้ามันผสมอะไรแล้วถึงตาย ก็น่าจะเป็นสารอันตราย  ไม่น่าปล่อยให้ขายในซูเปอร์ได้อย่างเสรี


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: pratab ที่ 13 ก.ย. 19, 19:42
ผมยังมีความข้องใจอยู่ว่า poppy seed ที่มีขายอยู่ในประเทศไทยตาม super stores และ ขาย on-line อยู่นั้นแพคเป็นซอง ประมาณ 250 ถึง 300 กรัม ราคา 190 บาทขึ้นไปไม่น่าจะใช่เมล็ดฝิ่น น่าจะเป็น perilla seed มากกว่า เพาะแม้แต่ยาแก้ไอที่เรียกว่า brown mixtures ซึ่งมีฝิ่นผสมอยู่เล็กน้อยในรูปของ camphorated opium tincture ยังถูกห้ามเอกชนผลิตขาย มีแต่ผู้ผลิตยาของรัฐเท่านั้นที่ทำขายได้(เอกชนผลิตขายได้แต่ต้องไม่เข้าฝิ่น) แต่ในต่างประเทศผมไม่แน่ใจอาจเป็นเมล็ดฝิ่นแท้ก็ได้ครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 ก.ย. 19, 20:07
ถามคุณเพ็ญชมพู
อ่านเรื่องสาววัย 19  กินเมล็ดฝิ่นผสมชากับยา แล้วถึงตาย  ยังสงสัยว่า เมล็ดฝิ่นกินยังไงถึงปลอดภัยคะ

ถ้ามันผสมอะไรแล้วถึงตาย ก็น่าจะเป็นสารอันตราย  ไม่น่าปล่อยให้ขายในซูเปอร์ได้อย่างเสรี

Side Effects & Safety

Poppy seed is LIKELY SAFE for most adults when taken by mouth in amounts commonly found in food. In some people, eating poppy seed can cause allergies, but this is uncommon.

Poppy seed is POSSIBLY SAFE when taken by mouth in amounts used for medical purposes. A single beverage or yogurt containing 35-250 grams of poppy seed has been used safely.

Drinking poppy seed tea is POSSIBLY UNSAFE. Poppy seed tea is made by soaking poppy seeds in water. The outer surface of poppy seed can contain morphine. When poppy seed is soaked in water to make the tea, the morphine can seep into the water. Drinking this water can cause side effects or death due to the morphine content.

เป็นเหตุผลว่าทำไมสาวน้อยวัย ๑๙ เสียชีวิตเพราะดื่ม poppy seed tea


Eating very large amounts of poppy seeds is also POSSIBLY UNSAFE. Eating very large amounts of poppy seed can block the bowels. But this is very uncommon.

จากลิ้งก์ที่ให้ไว้ในคคห. ๑๑๘
https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-1503/poppy-seed


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ย. 19, 20:51
สรุปว่า ต้องกินโดยไม่ละลายน้ำ     และกินน้อยๆ อย่ากินเข้าไปมาก


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 ก.ย. 19, 07:35
มีเห็ดชนิดหนึ่ง หน้าตาสีสันสวยน่ารักมาก  ปรากฏอยู่ในภาพประกอบนิทานเด็ก ในหนังสือการ์ตูนฝรั่ง รวมทั้งออกแบบเป็นของเล่นด้วย ค่ะ
เป็นเห็ดสีแดงสด มีจุดกลมสีขาว  
มารู้เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้วว่าเป็นเห็ดพิษ


(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=7026.0;attach=71567;image)

เด็กเสียชีวิตจากการรับประทานเห็ดพิษ Amanita muscaria ออกข่าวเมื่อวานนี้เอง  :'( :'(

https://youtu.be/qNHkW3i1MyQ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.ย. 19, 09:41
ไม่รู้ว่าเห็ดที่ยายให้หลานกินเข้าไปคือเห็นอะไร แต่เห็ดสีแดงจุดขาวมีชื่อว่า Toadstool แปลตามตัวว่าม้านั่งของคางคก    มาจากความเชื่อของชาวบ้านดั้งเดิมในยุโรปว่าคางคกชอบนั่งบนเห็ดชนิดนี้
เห็ดแดงชนิดนี้ไม่น่าจะมีในประเทศไทย   ไม่เคยเห็นค่ะ
แต่เป็นเห็ดมีพิษแน่นอน


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 ก.ย. 19, 15:44
ไม่รู้ว่าเห็ดที่ยายให้หลานกินเข้าไปคือเห็ดอะไร

ในข่าวบอกว่าเป็น Amanita muscaria ;D

ญาติ ๆ ได้เก็บตัวอย่างเห็ดมาตรวจสอบที่โรงพยาบาล พบว่าเห็ดที่รับประทานคือเห็ดพิษลักษณะมีหมวกสีแดง มีลายจุดสีขาว จากการตรวจสอบเป็นเห็ดพิษสายพันธุ์ “อะมานิตา มัสคาเรีย” เห็ดชนิดนี้คล้ายกับเห็ดโคนที่สามารถนำมาประกอบอาหารและหามาวางขายได้จำนวนมาก จนเป็นเหตุทำให้เกิดความเข้าใจผิดและนำมาประกอบอาหารในครั้งนี้ขึ้น ทั้งเวลาดอกเห็ดตูมและบาน จะมีสารพิษที่สำคัญคือ “มัสคารีน” เมื่อรับประทานเข้าไปประมาณ ๑๕-๓๐ นาที จะมีอาการตัวร้อน ใจสั่น หัวใจเต้นช้าลง เส้นเลือดขยาย มีอาการผิดปกติเกี่ยวกับการเห็นภาพ ม่านตาหรี่ เหงื่อ น้ำลาย น้ำตาถูกขับออกมา ปวดบริเวณช่องท้อง คลื่นไส้อาเจียน แน่นหน้าอก หายใจขัด และอาจเสียชีวิตฉับพลันได้

https://workpointnews.com/2019/09/13/chaiyaphum-poisonous-mushrooms/


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ก.ย. 19, 18:44
ตอบคุณตั้ง
  อย่าหยุดเขียนเลยค่ะ คุณตั้ง   เล่าต่อไปเถอะ   ลืมเล็กๆน้อยๆไม่ใช่เรื่องสำคัญ     เดี๋ยวก็มีคนเข้ามาช่วยแก้ไขให้เอง
 ประสบการณ์และอรรถรสที่เล่าเรื่องต่างๆหาฟังยาก เป็นสิ่งสำคัญกว่าค่ะ ....

ขอบพระคุณสำหรับความปราถนาดีและไมตรีจิตครับ

ก็คงจะไม่หยุดเขียนและไม่หยุดเอาประสบการณ์ที่ได้สัมผัส ได้รับ และได้เรียนรู้จากภาคสนามและสัมผัสต่างๆที่ได้รับในช่วงเวลาของวัยที่ยังทำงาน เอามาเล่าสู่กันฟัง    คิดไว้แต่แรกเข้าเป็นสมาชิกเรือนไทยแล้วว่า เรือนไทยเป็นพื้นที่สาธารณะในภาคขององค์ความรู้ประกอบนอกตำราที่กระเดียดไปทาง writing journal ซึ่งข้อมูลมีแหล่งที่มาและอ้างอิงๆได้ตามควร  จึงเหมาะที่จะเป็นพื้นที่สำหรับการถ่ายทอดเรื่องราวที่เป็นเกล็ดความรู้เสริม เป็นเกล็ดเล็กๆน้อยๆที่อาจจะดูไร้สาระแต่กลับอาจจะไปมีคุณค่าไปกระตุ้นให้เกิดกระบวนทัศน์ใหม่ (paradigm shift) หรือ ตรรกะความคิดใหม่ๆ (conceptual )


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ก.ย. 19, 19:20
ผมเชื่อว่าผู้อาวุโสทั้งหลายล้วนแต่มีประสบการณ์และมีเรื่องราวทั้งในทางภาคปฎิบัติและภาคความคิดเห็นที่สามารถนำมาเล่าแล้วเกิดเป็นประโยชน์อย่างมากมายแก่ผู้คนรุ่นหลังๆที่เขากำลังหาอ่านหรือกำลังทำการค้นหาและค้นคว้า(search & research)เพื่อเลือกเส้นทางในการดำเนินชีวิต   ผมจึงเลือกที่จะคายองค์ความรู้ที่ตนมีทั้งหลายมากกว่าที่จะอมพะนำหรือขยักหวงเก็บเอาไว้  ประกอบกับสำนึกได้ว่าชีวิตเราได้มีโอกาสมากกว่าคนอื่นๆมากมายหลายเท่านัก การคายองค์ความรู้ที่พอจะมีในรูปแบบบ้านๆให้แก่สังคมและคนที่มีโอกาสน้อยกว่าหรือจำกัดกว่าก็ดูจะเป็นคุณมากกว่าที่จะขยักเก็บเอาไว้


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ก.ย. 19, 18:37
ขอกลับไปต่อเรื่องหน่อไม้นะครับ

ได้ข้อยุติแล้วว่า หน่อไม้จะต้องกินแบบสุกเพียงอย่างเดียวเพื่อจะได้ของที่มีการลดหรือกำจัดสารพิษให้หมดไปแล้ว แม้ว่าวิธีการทำให้สุกจะมีหลากหลาย เช่น ต้ม นึ่ง หมก เผา ย่าง อบ .... แต่วิธีที่ใช้กันมากที่สุดก็คือการต้ม ซึ่งส่วนมากก็มักจะต้มกันสองน้ำ   ทั้งนี้ การต้มในความรู้และความเข้าใจที่ได้รับการถ่ายทอดกันต่อๆมาในหมู่คนที่นิยมทำครัวและชาวบ้านทั้งหลายก็คือ เพื่อเป็นการลดความขื่นและขมของหน่อไม้  ซึ่งก็ดูจะเป็นการบังเอิญอีกด้วยว่า เมื่อต้มหน่อไม้นั้น น้ำที่ต้มจะเปลี่ยนสีออกไปทางสีเหลืองส้มอ่อนๆ ซึ่งเมื่อผนวกกับที่เรานิยมความสะอาดแบบขาวใส ก็เลยต้มน้ำที่สองหรือสามจนได้สีน้ำจางมากๆหรือหายไป แล้วจึงเอาหน่อไม้นั้นมาจิ้มน้ำพริกหรือทำอาหารในเมนูต่างๆ  ทั้งหลายก็เป็นการกำจัดสารพิษให้หมดไปโดยไม่รู้ตัว    แม้กระทั่งหน่อไม้ป่าที่ชาวบ้านออกไปตัดเก็บมาจะมีการเผาเพื่อการลอกเปลือกและเพื่อกำจัดขนไผ่ที่ระคายเคือง (อันเป็นผลให้หน่อไม้สุกก็ตาม) ก็ยังมีการเอามาต้มในปี๊บกันอีก   

พื้นที่ๆมีการหาหน่อไม้ป่ามาต้มขายกันอย่าเป็นล่ำเป็นสันที่ผมเคยได้ประสบพบเห็นนั้น มีอยู่ในป่าย่านบ้านแม่ระมาดน้อย จ.ตาก และ ป่ารอยต่อระหว่าง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์  อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย และ อ.เด่นชัย จ.แพร่   ในปัจจุบันนี้คงเปลี่ยนไปหมดแล้ว


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ก.ย. 19, 18:53
ก็มีประเด็นที่อยากจะขอความรู้จากท่านผู้มีความรู้ทั้งหลายว่า  การทำหน่อไม้ให้สุกด้วยวิธีการที่นอกเหนือไปจากการต้มนั้น จะกำจัดสารพิษในหน่อไม้ให้ลดลงหรือให้หมดไปได้หรือไม่ ?  ก็พอจะมีความรู้อยู่บ้างว่าสารประกอบไซยาไนด์บางตัวสลายได้เพียงได้รับความร้อนจากแสงแดด แต่ไม่รู้ว่าสารในหน่อไม้จะเป็นเช่นนั้นด้วยหรือไม่ครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.ย. 19, 19:29
https://www.facebook.com/HealthHerbal/posts/429518563920361/

ดังนั้น! เพื่อความปลอดภัยที่น่าจะมั่นใจได้ที่สุด นพ.บุญชัย แนะนำว่า หน่อไม้สด-ดอง-ต้ม ซื้อจากที่ไหนมาก็ตาม ให้นำไปต้มใหม่อีกรอบด้วยตนเองจะดีที่สุด เพราะการศึกษาพบว่า ถ้านำไปต้มในน้ำเดือด 10 นาที ไซยาไนด์ที่ซุกอยู่ในหน่อไม้จะหายไป 91% ต้ม 20 นาที ไซยาไนด์จะหายไป 98%...และถ้า 30 นาที ไซยาไนด์จะถูกทำลายหมดไม่มีเหลือ

ต้องตากหน่อไม้ไว้กลางแดดนานเท่าไรกันคะ ถึงจะได้รับความร้อนเท่ากับต้มน้ำเดือด 30 นาที?


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ก.ย. 19, 19:31
หน่อไม้ดองเป็นเรื่องของวิธีการถนอมอาหารอย่างหนึ่ง  ก็เข้าใจเอาเองว่าคงจะเป็นอีกวิธีการหนึ่งในการลดหรือกำจัดสารพิษในหน่อไม้ (อยู่ในลักษณะขององค์ความรู้แอบแฝง)

หลายเมนูอาหารที่ใช้หน่อไม้ดอง เช่น ผัดกับกับพริกแห้งตำใส่เนื้อหรือหมูสับ จะใส่ใบกระเพราและอาจจะแถมด้วยใบโหระพาด้วยก็ได้  เป็นจานรู้สึกเผ็ดร้อนแรงดี คักหลายครับ    รวมถึงการใช้หน่อไม้ดองในการทำแกงกะทิหรือแกงอื่นใดที่นิยมจะทำกับเนื้อสัตว์ที่มีกลิ่น เช่น กับพวกปลาหนัง (ปลาค้าว ปลาสวาย ....)    

หน่อไม้ดองเอามากินกับน้ำพริกกะปีที่ตำแบบออกรสไปทางหวานปะเล่มๆก็เข้าท่าดีนะครับ

หากมีโอกาสนะครับ ลองหาหน่อไม้ดองใหม่ๆที่ใช้ส่วนยอดของหน่อ สีจะขาว จะเอามาทำอะไรกินก็อร่อยทั้งนั้น จะลองเอาไปใส่ลงในไข่เจียวก็อร่อยนะ    น่าเสียดายที่เรามักจะเห็นแต่หน่อไม้ดองที่ใช้ส่วนที่เป็นโคนของหน่อเอามาดองวางขายอยู่ในตลาดทั่วๆไป  


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ก.ย. 19, 19:17
แต่ก่อนโน้น หน่อไม้ดองเป็นของโปรดของผม ไม่ว่าจะทำเป็นแกงหรือผัดเผ็ด  แต่ในปัจจุบันนี้เกือบจะไม่ได้กินเลย เพราะเคยไปอ่านพบงานเขียนที่เกี่ยวกับการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการเจ็บป่วยเป็น Lymphoma กับสิ่งแวดล้อมและวิถีการดำเนินชีวิตของคนที่เป็นโรค   ก็อย่าเพิ่งไปเชื่อมากนัก มันเป็นเพียงรายงานที่รวบรวมมาจากข้อสังเกตจากประวัติของคนไข้  โรคนี้เกิดจาก Ebstein Barr Virus (EBV) ก็ได้   ดูจะยังไม่มีข้อสรุปถึงสมุฎฐานหลักๆที่ชัดเจน       

ผมเคยป่วยเป็นโรคนี้ (Extranodal NK T- cell nasal type Lymphoma) ก็เลยอ่านรายงานและเอกสารทางการแพทย์และสาธารณสุขค่อนข้างมากครับ เล่ามาเผื่อจะเป็นประโยชน์บ้างเล็กๆน้อยๆ   ท่านสมาชิกและท่านผู้อ่านที่อยู่ในภาคการสาธารณะสุขคงจะขยายความเป็นภาษาง่ายๆได้มากกว่านี้ โดยเฉพาะในด้านที่เกี่ยวกับอาการบ่งชี้แต่แรกเริ่มต่างๆ  (โรคนี้อันตรายมากๆแต่หากจะสามารถเล่าความผิดปรกติแต่แรกให้หมอฟังได้ มันก็พอเอาอยู่ได้)

ขออภัยครับที่ได้ก้าวข้ามเขตของความรู้ทางวิชาการ   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ก.ย. 19, 19:55
ไม่ได้กินหน่อไม้ดองของโปรด ก็ยังได้กินเมนูอื่นๆที่อร่อยๆที่ใช้หน่อไม้เป็นองค์ประกอบ  ก็มีอาทิ หน่อไม้ผัดกับวุ้นเส้นใส่ไข่  ซุปหน่อไม้  หน่อไม้ต้มกับใบย่านาง ....   แต่ที่เป็นของอร่อยและโปรดมากๆก็คือ หน่ออั่ว หรือหน่อไม้ยัดใส้หมูสับปรุงรสแล้วชุบแป้งทอด หากปรุงรสหมูสับกับรสแป้งดีๆ ก็ไม่ต้องจิ้มกับน้ำจิ้มอะไรเลย  แต่หากชอบที่จะต้องจิ้มน้ำจิ้มก็ใช้น้ำจิ้มไก่ย่างรสหวานก็อร่อยได้ไม่แพ้กันเลย


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ก.ย. 19, 20:40
หน่อไม้ที่นำมาขายในตลาดมีอยู่หลายชนิดมาก แต่ที่นิยมนำมาทำอาหารกินกันนั้น ชื่อที่มักจะได้ยินและเห็นวางขายกันตามตลาดพื้นบ้านก็มีอาทิ หน่อไม้รวก หน่อไม้ไร่ หน่อไม้บง หน่อไผ่ตง   ที่จริงแล้วหน่อไผ่อื่นๆก็นำมากินได้อยู่ เพียงแต่ต้องกำจัดรสขมให้จางลงหรือหมดไป ต้องต้มน้ำหลายครั้ง    หน่อเหล่านั้นจึงมักจะถูกเอาไปทำเป็นหน่อไม้ดอง

ที่ไม่ค่อยจะได้เห็นกันในตลาดสดก็คือหน่อไม้ตากแห้ง ทั้งแบบที่หั่นเป็นแว่นๆ หั่นเป็นเส้นแบนๆตามยาว และที่หั่นซอยละเอียด (หน่อไม้หอง)   ผมไม่มีความรู้ว่าเป็นหน่อของต้นไผ่อะไร คิดว่าน่าจะเป็นไผ่บง (ทั้งแบบไม่มีขนและที่มีขน_บงคาย) และ/หรือไม่ก็ไผ่ตง     สำหรับชนิดที่หั่นเป็นแว่นๆนั้นดูจะนิยมเอาต้มกับซี่โครงหมู  ที่ทำเป็นเส้นคล้ายๆเส้นก๋วยเตี๋ยวเส้นกลางก็ดูจะนิยมเอาไปทำแบบต้มพะโล้หรือใส่ในก๋วยเตี๋ยว ส่วนเส้นฝอยนั้นก็เอาไปต้มกับหมูสามชั้นใส่ถั่วลิสง ที่เรียกันว่าต้มหอง หรือแกงหอง


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.ย. 19, 19:03
ย้อนกลับไปเรื่องของเห็ดพิษ   

ในช่วงเวลาของการทำงานขณะที่อยู่ในพื้นที่ป่าดงของผม  ผมจะไม่เก็บกินพืชผักป่าอยู่สองอย่าง คือเห็ด และผักหวาน  ซึ่งเหตุผลที่สำคัญก็คือไม่รู้จริงกับเรื่องราวของมัน และบางชนิดมันมีพิษมากพอที่จะทำให้ตายได้ในระยะเวลาสั้นๆ

ในกรณีของเห็ดนั้น โดยหลักง่ายๆที่สอนต่อๆกันมาก็ว่า เห็ดที่มีสีจะเป็นเห็ดที่มีพิษ ไม่ควรเก็บมาทำกิน  แต่มันก็มีเห็ดที่มีสีแต่เอามาทำกินได้และยังมีราคาสูงอีกด้วย เช่น เห็ดไข่เหลือง เห็ดก่อ เห็ดหนัง  ในขณะที่เห็ดสีขาวที่ไม่น่าจะมีพิษกลับมีพิษ เช่น เห็ดบางชนิดที่มีรูปทรงคล้ายเห็ดโคน   แล้วก็มีเห็ดที่เรารู้จักกันดีแต่ชาวบ้านป่าเขาบอกต่อกันว่าห้ามเก็บกิน เช่น เห็ดหูหนูที่ขึ้นอยู่บนขอนไม้สัก ซึ่งจะทำให้เห็ดหูหนูกลายเป็นเห็ดมีพิษ     

ผมก็เลยกินแต่เห็ดที่เขาเพาะขายกัน จะเว้นแต่ก็เฉพาะเห็ดเผาะและเห็ดโคนที่เป็นของป่าเพียงสองชนิดที่หากมีราคาพอสมควรก็จะซื้อมาทำกิน แล้วก็ซื้อมาครั้งละมากๆ เป็นครึ่งกิโลหรือหนึ่งกิโลเลย เรียกว่าเอามาทำกินให้สะใจครั้งหนึ่งในแต่ละรอบปี   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ย. 19, 19:20
ตัวอย่างเห็ดพิษ ค่ะ
https://www.honestdocs.co/poisonous-mushrooms-do-not-eat


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ย. 19, 19:24
  เพิ่งรู้ว่าเห็ดพิษหน้าตาน่ารัก มีชื่อไทยว่า "เห็ดแมลงวัน"
  ฝรั่งเรียกอะมานิตา มัสคาเรีย (Amanita muscaria) เป็นเห็ดที่พบมากในที่อากาศค่อนข้างหนาวเย็น ในประเทศไทยอาจพบไม่บ่อยนัก มีลักษณะเด่นคือมีหมวกสีแดงสด และมีจุดสีขาวกระจายบนหมวก


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.ย. 19, 19:24
ในกรณีของผักหวานนั้น  ผมได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับการเข้าไปเก็บผักหวานป่าของชาวบ้านมาทำกินกันแล้วเกิดอาการเมา บ้างก็ตาย    เขาว่า..ก็ไปเก็บจากต้นเดียวกันมาทำกิน บ้านนึงไม่เมา แต่อีกบ้านนึงกลับเมา   ผมก็เลยเลือกที่จะไม่กินผักหวานป่า กินก็แต่เฉพาะผักหวานบ้านที่ทำการปลูกกันขึ้นมาเท่านั้น  


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ก.ย. 19, 18:38
ในตลาดสดทั่วๆไป เราจะเห็นมีเห็ดสดวางขายอยู่ไม่กี่ชนิด ที่เห็นมากที่สุดจะเป็นเห็ดฟางและเห็ดนางรม แต่เดี๋ยวนี้จะเห็นเห็ดออรินจิ(Oringi_เห็ดนางรมหลวง)มาวางขายกันมากขึ้น ส่วนเห็ดหอมสด เห็ดนางฟ้า และเห็ดหูหนูสดนั้น ที่เราคุ้นกันนั้นจะมีวางขายกันเป็นช่วงๆเวลา    สำหรับเห็ดอื่นๆ เช่น เห็ดเข็มทอง (Enokitake) เห็ดโคนญี่ปุ่น (Yanagi Mutsutake) ... มักจะเห็นวางกันอยู่ในตลาดซุปเปอร์มาเก็ตมากกว่าในตลาดสดทั่วไป     

เห็ดพื้นบ้านที่ชาวบ้านเข้าป่าไปหากันมาทำกินและวางขายกันนั้น ในภาคเหนือและอิสานดูจะไม่มีชนิดที่แตกต่างกัน   แต่ที่น่าสนใจก็คือในบางพื้นที่ในบางตลาดระดับตำบล จะมีเห็ดกระดุมสด (Champignons)ใส่ถุงๆวางขายกันในราคาถูก


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ก.ย. 19, 20:11
เห็นเห็ดสดแล้วนึกว่าซื้อเอาทำอาหารอะไรกินกันดี  ผมคิดว่าน่าจะนึกถึงอาหารต่างๆที่เราคุ้นๆกันเป็นแน่   เห็ดหอมก็เช่นอบซีอิ๊ว    เห็ดฟางก็เช่นต้มยำ    เห็ดนางรมหลวงก็เช่นผัด   เห็ดนางรมก็เช่นต้มข่า  มาถึงเห็ดเข็มทองก็ชักจะนึกไม่ค่อยจะทัน  ยิ่งเป็นเห็ดกระดุมด้วยก็ยิ่งชักจะนึกไม่ออก  แต่ที่นึกไม่ออกเอาเลยก็น่าจะเป็นเห็ดป่าของพื้นบ้าน (ด้วยที่ตัวเองระวังการกินเห็ด เลยเป็นข้อจำกัด)


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.ย. 19, 08:19
เห็ดหอมผัดน้ำมันหอย ค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.ย. 19, 08:22
https://www.youtube.com/watch?v=JLte_K2sDsI


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.ย. 19, 08:24
https://www.youtube.com/watch?v=Z0gW76-UKss


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ก.ย. 19, 19:34
เห็นรูปแล้วนึกถึงข้าวสวยร้อนๆเลยครับ  เป็นลักษณะวิธีการนำเห็ดมาปรุงอาหารของคนในภาคกลาง   สำหรับคนพื้นบ้านในภาคเหนือและอิสานนิยมจะเอามาทำเป็นต้มหรือแกงใส่ปลาร้า ทำเป็นแกงรวมเห็ดสามอย่างบ้าง แกงใส่ใบแมงลักบ้าง ใส่ยอดชะอมบ้าง ใส่ผักหวานบ้าง แกงกับใบย่านางบ้าง ใส่ในต้มเปรอะบ้าง ....

เดี๋ยวนี้มีพัฒนาการเอาเห็ดเข็มทองและเห็ดนางรมมาชุบแป้งทอดกรอบ สำหรับกินกับน้ำพริกหรือไม่ก็จิ้มน้ำจิ้มไก่ย่าง มีวางขายอยู่บนแผงที่ขายบรรดาผักชุบแป้งทอด เช่น ผักบุ้ง ผักกระเฉด ฟักทอง ข้าวโพดอ่อน และมะเขือยาวซึ่งเปลี่ยนจากการชุบไข่ไปเป็นชุบแป้งแทน   เลยทำให้นึกถึงชะอมทอดไข่และมะเขือยาวชุบไข่ทอด ที่กำลังเปลี่ยนไปอยู่ในลักษณะของไข่เจียวใส่ชะอมหรือใส่มะเขือ  ซึ่งคิดว่าในอีกไม่นาน ชะอมทอดไข่และมะเขือชุบไข่ทอดกินกับน้ำพริกที่คนรุ่นหลังจะรู้จัก ก็จะเป็นในรูปของไข่เจียวใส่ชะอมหรือมะเขือยาวเท่านั้น     


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.ย. 19, 20:39
เห็ดเข็มทองทอดกรอบ

เห็ดเข็มทอง 200 กรัม
แป้งทอดกรอบ 100 กรัม
น้ำเย็น 1/2 ถ้วยตวง
พริกไทยป่น 1 หยิบมือ
เกลือ 1 หยิบมือ
น้ำมันสำหรับทอด

ขั้นตอน   
15-20 นาที
นำเห็ดเข็มทองมาตัดรากทิ้ง แล้วล้างน้ำให้สะอาด พักไว้ให้สะเด็ดน้ำ
นำแป้งทอดกรอบ น้ำเย็น พริกไทย เกลือ มาผสมให้เข้ากัน
ฉีกเห็ดเข็มทองเป็นเส้นๆพอหยาบๆ
นำเห็ดเข็มทองมาคลุกในส่วนผสมที่เราเตรียมไว้
เทน้ำมันใส่กระทะ ตั้งไฟ ใช้ไฟกลาง พอร้อนจัด นำเห็ดใส่ลงไปในกระทะ ค่อยๆทอด ใจเย็นๆ อย่าให้เห็ดจับตัวเป็นก้อน ใส่เป็นเส้นๆทีละน้อย
เมื่อเห็ดเริ่มมีสี้หลืองทอง ก็ตักออกใส่จานเสิร์ฟได้ทันที
ทานคู่กับน้ำจิ้มไก่ กรอบฟิน อร่อยสุดๆไปเลยยยย
https://cookpad.com/th/recipes/3402286-%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B9%87%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%87%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%9A
 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ก.ย. 19, 18:41
ไปตลาดไม่ได้มาสามวัน เป็นไข้หวัดครับ ดีที่เป็นแบบธรรมดา มิใช่แบบมีผู้ชักใยอยู่ข้างหลัง (สายพันธุ์) อาจจะเพราะได้ตัดสินใจแต่เนิ่นๆไปฉีดวัคซีนป้องกันพวกสายพันธุ์ที่ชอบชักใยอยู่ข้างหลัง

ช่วงนี้เรากำลังอยู่ในสภาวะที่มีการผันแปรของสภาพทางภูมิอากาศ มีทั้งแดดจัด (sunny ?)  อากาศร้อน (warm ?) อากาศร้อนเปรี้ยง (hot?)    อุณหภูมิก็ผันแปรค่อนข้างจะรวดเร็วภายในช่วงระยะเวลาสั้นๆ (swing temperature ?)    ฝนก็มีทั้งฝนตกแบบมีลมร่วมด้วย (thunder storm ?) ฝนลงเม็ดบางๆ (drizzle ?) ฝนลงเม็ดหนา (downpour, heavy rain ?) ฝนตกพรำๆ (rain ?) ฝนตกปรอยๆ (shower ?) ฝนตกเป็นฝอยๆ(mist ?) และตกแบบนับเม็ดได้ (few drop)       

เดาะภาษาอังกฤษในวงเล็บมาด้วย ก็เพียงอยากจะทราบความเห็นว่า คำในภาษาไทยกับคำในภาษาอังกฤษ(ที่อ้างถึงในวงเล็บนั้น)มีความหมายตรงกันหรือต่างกันมากน้อยเพียงใด  แน่นอนครับว่าลักษณะของฝนที่ตกในแต่ละละติจูด แต่ละทวีป แต่ละประเทศนั้นมีความแตกต่างกัน     แต่คำที่น่าจะเป็นตัวแทนของฝนตกที่เป็นกลางๆที่ให้ภาพของฝนตกในลักษณะที่ใกล้ๆกันน่าจะเป็นคำใดดี 

กำลังเพ้อไข้ครับ   :) :D;D


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.ย. 19, 18:47
ฝนก็มีทั้งฝนตกแบบมีลมร่วมด้วย (thunder storm ?) ฝนลงเม็ดบางๆ (drizzle ?) ฝนลงเม็ดหนา (downpour, heavy rain ?) ฝนตกพรำๆ (rain ?) ฝนตกปรอยๆ (shower ?) ฝนตกเป็นฝอยๆ(mist ?) และตกแบบนับเม็ดได้ (few drop)       

เดาะภาษาอังกฤษในวงเล็บมาด้วย ก็เพียงอยากจะทราบความเห็นว่า คำในภาษาไทยกับคำในภาษาอังกฤษ(ที่อ้างถึงในวงเล็บนั้น)มีความหมายตรงกันหรือต่างกันมากน้อยเพียงใด 
thunder storm  = ฝนตกฟ้าคะนอง  พายุฝนฟ้าคะนอง
ฝนตกแบบมีลมร่วมด้วย  = rainy and windy
โปรดพิจารณาค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.ย. 19, 19:55
มีสำนวนเก่าเกี่ยวกับฝนหนัก  คือ raining cats and dogs  แปลตามตัวคือตกเป็นหมาเป็นแมว  หมายถึงฝนตกหนักไม่ลืมหูลืมตา ค่ะ  คุณตั้งคงเคยอ่านเจอในหนังสือมาบ้าง  ปัจจุบันไม่ได้ยินใครพูดสำนวนนี้กันแล้ว


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.ย. 19, 18:25

เดี๋ยวนี้มีพัฒนาการเอาเห็ดเข็มทองและเห็ดนางรมมาชุบแป้งทอดกรอบ สำหรับกินกับน้ำพริกหรือไม่ก็จิ้มน้ำจิ้มไก่ย่าง มีวางขายอยู่บนแผงที่ขายบรรดาผักชุบแป้งทอด เช่น ผักบุ้ง ผักกระเฉด ฟักทอง ข้าวโพดอ่อน และมะเขือยาวซึ่งเปลี่ยนจากการชุบไข่ไปเป็นชุบแป้งแทน   เลยทำให้นึกถึงชะอมทอดไข่และมะเขือยาวชุบไข่ทอด ที่กำลังเปลี่ยนไปอยู่ในลักษณะของไข่เจียวใส่ชะอมหรือใส่มะเขือ  ซึ่งคิดว่าในอีกไม่นาน ชะอมทอดไข่และมะเขือชุบไข่ทอดกินกับน้ำพริกที่คนรุ่นหลังจะรู้จัก ก็จะเป็นในรูปของไข่เจียวใส่ชะอมหรือมะเขือยาวเท่านั้น     
พูดถึงผักชุบแป้งทอด    เมื่อก่อนนี้ ถ้ากินขนมจีนน้ำพริก ต้องนึกถึงใบเล็บครุฑชุบแป้งทอด     เดี๋ยวนี้ใบเล็บครุฑคงจะหายาก เลยไม่ได้กินมานานแล้วค่ะ
เคยปลูกเล็บครุฑไว้ที่บ้าน   แต่เพลี้ยลงเลยต้องถอนทิ้งไป น่าเสียดายมาก


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.ย. 19, 18:46
สำนวนนี้ คิดว่าไม่เคยผ่านตาเลยครับ   เคยแต่ได้ยินการใช้คำว่า hammering downpour ครับ  

ในปัจจุบันนี้ดูจะนิยมใช้คำว่า torrential rain ในภาคข่าวภูมิอากาศที่ออกอากาศตามสื่อต่างๆ  


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.ย. 19, 19:13
ที่มาของสำนวน it's raining cats and dogs ยังคลุมเครืออยู่  รู้แต่ว่ามาจากอังกฤษโบราณค่ะ   
อาจารย์เคยอธิบายว่า หมายถึงฝนซัดกระหน่ำหนัก ไม่หยุดยั้ง  ราวกับหมาแมวอาละวาดฟัดกันเต็มเหนี่ยว  แต่ในกูเกิ้ล บอกที่มาเอาไว้หลายอย่างด้วยกัน
https://www.loc.gov/rr/scitech/mysteries/rainingcats.html


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.ย. 19, 19:48
ขนมจีนน้ำพริกเป็นเมนูอาหารโปรดของผมอีกอย่างหนึ่ง หากินได้ไม่ยากนักในภาคกลางและภาคใต้(แต่ก็ยังค่อนข้างจะหายากอยู่)   แต่สำหรับในภาคเหนือและอิสานนั้นคงจะหากินได้แต่เฉพาะในงานรับรองที่จัดขึ้นเพื่อฉลองวันมงคลใดๆที่จัดในโรงแรมและในช่วงเวลากลางวันเท่านั้น  

สำหรับตัวผมนั้นเห็นว่า ขนมจีนน้ำพริกเป็นหนึ่งในนวัตกรรมทางด้านอาหารไทยที่อยู่ในระดับสุดยอดอีกอย่างหนึ่ง เป็นการผสมผสานของอาหารพื้นฐานของผู้คนต่างชาติต่างเผ่าพันธุ์ต่างๆที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคนีเลยทีเดียว


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.ย. 19, 20:33
แปลกใจว่าทำไมเรียกน้ำพริกที่กินกับขนมจีนว่า "น้ำพริก" ทั้งๆ มันไม่ใช่น้ำพริกชนิดใดเลย   เผ็ดก็ไม่เผ็ดด้วยซ้ำไป


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.ย. 19, 18:18
นั่นนะซิครับ  น้ำพริกมีรสไม่เผ็ด ออกไปในทางหวาน ในขณะที่น้ำยาแทนที่จะออกรสไปทางขื่นและกลิ่นแรง กลับกลายเป็นเผ็ดเอาการอยู่เลยทีเดียว


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.ย. 19, 18:33
ขนมจีนซาวน้ำอีกอย่าง ทำไมถึงเรียกอย่างนี้ล่ะคะ

เชิญคุณตั้งพาไปจ่ายตลาดต่อค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.ย. 19, 19:48
ขนมจีนน้ำพริกที่ผมเห็นว่าเป็นการผสมผสานของอาหารพื้นฐานที่ทำกินกันในหมู่คนต่างชาติต่างภาษานั้น เมื่อเราแยกแยะดูก็พอจะได้เห็นภาพดังนี้    

ขนมจีน โดยชื่อเรียกขานก็พอจะบ่งชี้ได้ว่าเป็นของๆกินที่ทำกันในดินแดนของประเทศจีน  ผู้คนในภาคเหนือและอิสานนิยมเรียกขนมจีนว่า ขนมเส้น   และที่ใช้คำว่าขนมนำหน้าก็น่าจะเป็นเพราะว่ามันมิใช่เป็นของกินที่จัดเป็นอาหารในสำหรับอาหารมื้อหลัก  ก็เลยคิดเอาเองเออเองว่ามันเป็นของกินเล่นในช่วงเวลาบ่าย (น่าจะพอเทียบได้กับ high tea ของอังกฤษ)  

น้ำพริกที่ใช้กับขนมจีน ตัวเนื้อน้ำพริกเองทำด้วยถั่ว ก็ดูจะคล้ายๆกับแกงถั่วของแขกที่เรียกว่า แกง dal  แต่เราลดการใช้เครื่องเทศ น้ำพริกของเรามีทั้งแบบใส่และไม่ใส่เนื้อสัตว์(กุ้ง)ลงไป แล้วเราก็มีการปรุงรสด้วยน้ำตาลปึก น้ำมะขามเปียก และเกลือ ให้ออกรสไปทางหวาน เค็ม เปรี้ยว แล้วปรับแต่งรสและกลิ่นให้ละเอียดละเมียดละไมด้วยมะกรูด ส้มซ่า หอมเจียว กระเทียมเจียว

จะว่าไปโดยพื้นๆก็คือการแปลงแกง dal ของแขกที่เขาทำเพื่อกินกับโรตีหรือข้าว เอามากินกับขนมจีน


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.ย. 19, 20:27
ก็มาถึงในส่วนที่เป็นไทย  คนไทยกินน้ำพริกกับผัก   เมื่อพิจารณาขนมจีนน้ำพริกดูแล้วก็พอจะเห็นภาพได้อยู่เหมือนกันว่า ขนมจีนคลุกกับน้ำพริกก็เป็นภาพคล้ายๆกับข้าวคลุกน้ำพริกที่ต้องกินกับผัก แล้วผักอะไรบ้างที่กินอร่อยเข้าคู่กับน้ำพริกคลุกขนมจีนนี้ดีที่สุด   

ที่เป็นผักสดก็ดูจะมีอยู่เพียงไม่กี่อย่าง ก็มีเช่น ยอดกระถิน ซึ่งแม้จะมีกลิ่นออกไปทางเหม็นเขียว แต่กลับเข้ากันได้ดีอย่างเหลือเชื่อ คล้ายกับการกินกระถินร่วมกับหอยนางรมสด   ปลีกล้วยซอยละเอียด ซึ่งจะให้ดีที่สุดก็จะต้องเป็นปลีกล้วยตานีอีกด้วย  ซอยแล้วแช่ในน้ำที่ฝานมะนาวแช่ลงไปสักครึ่งลูก ก็จะทำให้ปลีกล้วยที่ซอยนั้นไม่ดำ แต่จะขาวสวยน่ากิน  ผักสดอีกอย่างหนึ่งที่นิยมกันแต่ไม่ค่อยจะได้เห็นมีการใช้กันแล้วก็คือ มะละกอดิบ สับซอยแบบส้มตำแต่ให้มีความละเอียดมากกว่ามากๆ

มีผักสดแล้วก็มีผักสุก(ลวกหรือต้ม) ที่นิยมก็จะมี ผักบุ้ง ซึ่งก็มีทั้งแบบหั่นซอยเป็นเส้นฝอยตามยาวหรือหั่นเป็นข้อสั้นๆ  มีมะระจีนซอยขวางเป็นแผ่นบาง  มีถั่วพูซอย   ไม่มีถั่วงอกในงานนี้เพราะไม่เข้ากันกับอาหารจานนี้เลย

แล้วก็มีผักทอดและอื่นๆ ค่อยๆว่ากันต่อไปครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 ก.ย. 19, 20:43
ขนมจีน โดยชื่อเรียกขานก็พอจะบ่งชี้ได้ว่าเป็นของๆกินที่ทำกันในดินแดนของประเทศจีน  ผู้คนในภาคเหนือและอิสานนิยมเรียกขนมจีนว่า ขนมเส้น   และที่ใช้คำว่าขนมนำหน้าก็น่าจะเป็นเพราะว่ามันมิใช่เป็นของกินที่จัดเป็นอาหารในสำหรับอาหารมื้อหลัก  ก็เลยคิดเอาเองเออเองว่ามันเป็นของกินเล่นในช่วงเวลาบ่าย (น่าจะพอเทียบได้กับ high tea ของอังกฤษ)

ว่าด้วยขนมจีนและชาวมอญ

ขนมจีนน้ำยา แม้จะพบว่ามีแพร่หลายทั่วไปทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เป็นที่ชัดเจนว่า เป็นอาหารที่มีต้นกำเนิดจากชาวมอญ ชาวมอญเรียกว่า "คะนอม" หรือภาษาพูดว่า “หะนอม” ซึ่ง “หะนอม” แปลว่า “เส้น” ส่วน “จิน” ที่เกิดจากการเรียกของคนไทย แปลว่า “สุก” กินกับน้ำยาที่มอญเรียกว่า "ฮะก่ม" หรือ "ทะก่ม"

สำหรับที่มาของชื่อขนมจีนนั้น ว่ากันว่า มีเรื่องเล่ากันว่าคนไทยได้ยินชาวมอญถามกันขณะที่กำลังทำอาหารเส้น ๆ ชนิดนี้ว่า “หะนอมจิน” ซึ่งหมายถึงเส้นสุกหรือยัง เนื่องจากกระบวนการทำเส้นขนมจีนนี้ต้องผ่านการทำให้แป้งสุกด้วยความร้อนหลายครั้ง เมื่อคนมอญบอกว่า “จิน” (สุกแล้ว) บ่อยครั้ง คนไทยจึงได้จดจำเรียกผสมรวมเข้าเป็นสร้อยคำว่า “ขนมจีน” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

จาก FB รามัญคดี - MON Studies (https://www.facebook.com/612365295504993/posts/1574055646002615?sfns=mo)


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 26 ก.ย. 19, 08:03
ขนมจีนน้ำพริกหากินยากมากพอๆ กับข้าวมันส้มตำ ที่พอหาเจอรสชาติไม่เหมือนสมัยเด็กน้อย ราคแอบแพงอีกต่างหาก เศร้า :(


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ย. 19, 08:51
ชอบข้าวมันส้มตำมากกว่าข้าวเหนียวส้มตำค่ะ  แต่หาได้ยากมาก มีขายในร้าน ซึ่งก็จอดรถลงไปกินได้ไม่ง่ายนัก สรุปคืออดกินมาหลายปีแล้ว

ข้าวมันส้มตำเป็นอาหารภาคกลาง    ไม่แน่ใจว่าดัดแปลงมาจากส้มตำอีสานหรือเปล่า   รู้แต่่ว่าชาวกรุงเทพกินข้าวมันส้มตำกันมาก่อนส้มตำอีสานจะเข้ามาแพร่หลายในเมืองหลวง อย่างทุกวันนี้      พอข้าวมันต้องหุงด้วยกะทิซึ่งเป็นของแสลงสำหรับคนรักอนามัย   ข้าวมันส้มตำก็เลยต้องลงจากเวที หลีกทางให้ไก่ย่างส้มตำอีสาน

แต่ถ้าใครอยากกินข้าวมันส้มตำ มีวิธีทำที่นี่ค่ะ
https://pantip.com/topic/35174810


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ก.ย. 19, 18:19

ว่าด้วยขนมจีนและชาวมอญ
ขนมจีนน้ำยา แม้จะพบว่ามีแพร่หลายทั่วไปทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เป็นที่ชัดเจนว่า เป็นอาหารที่มีต้นกำเนิดจากชาวมอญ ชาวมอญเรียกว่า "คะนอม" หรือภาษาพูดว่า “หะนอม” ซึ่ง “หะนอม” แปลว่า “เส้น” ส่วน “จิน” ที่เกิดจากการเรียกของคนไทย แปลว่า “สุก” กินกับน้ำยาที่มอญเรียกว่า "ฮะก่ม" หรือ "ทะก่ม"

จาก FB รามัญคดี - MON Studies (https://www.facebook.com/612365295504993/posts/1574055646002615?sfns=mo)

ขอบพระคุณครับ  เป็นข้อมูลที่น่าสนใจยิ่ง  การค้นพบนี้น่าจะพอใช้เป็นข้อบ่งชี้ว่ามอญมีอิทธิพลทางวัฒนธรรมครอบคลุมพื้นที่ของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว   ทำให้คิดเลยเถิดไปว่า ด้วยเหตุใดผู้คนหลายชาติพันธุ์ที่มีเมนูอาหารลักษณะนี้กลับใช้คำเรียกชื่ออื่นๆแทนคำในภาษามอญ เช่น ชาวลาวและคนไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนจะเรียกว่า ข้าวปุ้น   ชาวมาเลย์ สิงคโปร์ อินโดฯเรียกว่า หลักซา  กลุ่มคนไทยใหญ่เรียก ข้าวเส้น (?)       


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ก.ย. 19, 19:03
ไปถึงพวกเหมือดของขนมจีนน้ำพริกที่ทำด้วยวิธีการทอดหรือชุบแป้งทอด  ผมเห็นว่าเหมือดชนิดนี้เป็นสิ่งที่สร้างความมีระดับและความมีราคาทั้งในทางรูปธรรมและนามธรรมให้กับขนมจีนน้ำพริกเลยทีเดียว ก็เป็นสุนทรีย์และเอกลักษณ์ของแต่ละแม่ครัวที่จะรังสรรค์เสริมสร้างเข้าไปในเมนูขนมจีนน้ำพริก  จะเป็นก้านผัก เป็นใบไม้ หรือเป็นดอกไม้ก็ได้ ซึ่งต่างก็ยังให้เกิดความรู้สึกอยากกินหรือไม่อยากกินแตกต่างกันไป     

การเปรียบเทียบต่างๆก็จะมีดังเช่น การใช้ใบเล็บครุฑ การใช้ใบพริก ใบกุหลาบ ....    ซึ่งทั้งหมดก็ยังสามารถลงรายละเอียดลงไปได้อาทิ การใช้ใบเล็บครุฑแบบใบเล็กฝอยกับใบใหญ่ ก็ให้เกิดความรู้สึกในความสุนทรีย์ที่ต่างกัน     พวกผักก้านก็เช่นกัน (ผักบุ้ง เห็ดเข็มทอง ผักกระเฉด...)     

แล้วถ้าเป็นพวกดอกไม้ล่ะ จะมิยิ่งน่าสนใจและรู้สึกดีมากขึ้นเพียงใดที่จะเลือกลิ้มลอง ที่พอจะมีการทำกันก็อาทิ ดอกเข็ม ซึ่งยังเย้ายวนให้ลิ้มลองได้มากขึ้นอีกด้วยการบอกว่าใช้ของดอกเข็มสีใด เป็นต้น   

คิดว่าสักวันหนึ่ง ก็คงจะได้เห็นขนมจีนน้ำพริกใช้เหมือดที่ทำด้วยดอกไม้ชุบแป้งทอดดังเช่นเทมปุระชั้นดีของญี่ปุ่น  เคล็ดลับสำคัญก็คือ แป้งที่ใช้ชุบจะต้องแช่ในตู้เย็นจนมีความเย็นทั่วกัน หากจะใช้เกล็ดขนมปังก็ต้องแช่เย็นด้วย   ทั้งนี้หากจะทำแล้วก็ทำให้มากๆหน่อย ให้เป็นมื้อเท็มปุระไปด้วยเลย ทำน้ำจิ้มแบบง่ายๆแต่มีระดับด้วยการใช้เกลือป่นผสมกับใบชาเขียวป่นเท่านั้นเอง 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ก.ย. 19, 19:23
ของแนมกับขนมจีนน้ำยาที่จะต้องมีเสมอคือไข่ต้มแบบยางมะตูมที่ค่อนไปทางสุก ต้องผ่าครึ่งซีกอีกเสียด้วยจึงจะน่ากิน และที่ขาดไม่ได้เสียเลยก็คือพริกแห้งทอด ซึ่งก็จะต้องไม่ใช้พริกแห้งใหญ่  แล้วก็จะต้องเป็นการทอด มิใช่การคั่วแห้งกับกระทะหรือใชวิธีการอบ   

เพิ่มหอมเจียวและผักชีโรยหน้าจานอาหารสักหน่อยก็จะยิ่งเพิ่มความอร่อยทั้งกลิ่นและรสสัมผัส

เช่นนี้แล้ว ขนมจีนน้ำพริกจะมิใช่เป็นเมนูอาหารแบบสุดยอดหรือไร


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ย. 19, 19:47
สงสัยว่า เหมือด ที่กินกับขนมจีน เป็นภาษามอญด้วยหรือเปล่า


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 ก.ย. 19, 20:28
ท่านรอยอินให้ความเห็นไว้ดังนี้

“เหมือด” เป็นชื่อเครื่องกินกับขนมจีนน้ำพริก มีหลายอย่าง เช่น หัวปลีหั่นฝอย ผักบุ้งซอยผัดน้ำมัน ถั่วพูลวก ผักทอด เช่น ยอดพริกทอด ใบเล็บครุฑทอด กุ้งฝอยทอด ฯลฯ.

คำว่า “เหมือด” น่าจะเป็นคำไท มีใช้ในภาษาไทถิ่นอื่นบางถิ่น เช่น ภาษาไทเหนือของชาวไทซึ่งอยู่ในมณฑลยุนนานหรือหยุนหนาน. ทางใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีน มีคำที่ออกเสียงว่า “เหมิด” หมายถึง เครื่องปรุงรส. คำ “เหมิดหอม” หมายถึง เครื่องปรุงรสมีขิงและกระเทียมเป็นต้น. สันนิษฐานว่า คำว่า “เหมิด” กับ “เหมือด” เป็นคำเดียวกัน.

http://www.royin.go.th/?knowledges=เหมือด-๓๑-มกราคม-๒๕๕๐ (http://www.royin.go.th/?knowledges=เหมือด-๓๑-มกราคม-๒๕๕๐)


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ย. 19, 21:07
ขอบคุณค่ะคุณเพ็ญชมพู  นึกแล้วว่าต้องหาคำตอบมาให้ได้
ส่วนตัวยังไม่ค่อยเชื่อท่านรอยอิน
เพราะ "เหมือด" กับ "เหมิด" เป็นคนละชนิด  คนละหน้าที่   เหมือดไม่ได้มีไว้ปรุงรสน้ำพริกของขนมจีน แต่มีลักษณะเป็นเครื่องเคียง หรือผักแนมกับน้ำพริก
ก็ได้แต่สงสัยต่อไปค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ก.ย. 19, 18:39
คำว่า "เหมือด" จะมีต้นตอมาจากภาษาใดก็มิทราบ  ดูๆก็จะมีแต่เพียงคนในภาคกลางและภาคใต้เท่านั้นที่มีการใช้คำนี้     

นานมาแล้วผมเคยได้ยินการใช้คำว่าเหมือดกับลูกชิ้นปลาที่ลอยขาวเด่นหม้อน้ำยาป่าและน้ำยากะทิ ลักษณะเช่นนี้หรือไม่ที่เรียกว่า "เหมิด" ดังที่ท่านรอยอินได้วิสัชนาไว้    ซึ่งหากเป็นไปในลักษณะดังที่กล่าวถึงนี้ ขนมจีนที่เรียกว่า"ขนมจีนน้ำเงี้ยว"จึงน่าจะเป็นขนมจีนที่ความหอมและอร่อยเกิดจากใส่เหมิดที่ครบถ้วน ที่สำคัญๆในเครื่องแกงก็จะมี ถั่วเน่า มะเขือส้ม และดอกงิ้ว  ที่โรยหน้าก็จะมี กระเทียมเจียว (จะใส่หอมแดงเจียวหรือไม่ก็ได้)  แล้วก็แคบหมูฝอย แนมด้วยพริกแห้งคั่วแห้งหรือคั่วน้ำมัน 

หากจะยกระดับให้น่ากินและอร่อยมากขึ้น ก็เพียงใช้ซี่โครงหมูอ่อน สับเป็นท่อนเล็กๆไม่เกินประมาณองคุลี เลือดหมูก็ตัดเป็นชิ้นเล็กพอๆกับท่อนซี่โครงสับ ถั่วเน่าก็เอาไปอังไฟให้สุกหอมจริงๆ มะเขือส้มก็ต้องเป็นมะเขือส้มพื้นบ้าน มิใช่ใช้มะเขือเทศลูกเล็กของสายพันธุ์ต่างๆ  ดอกงิ้วตากแห้งก็เอามาแช่น้ำแล้วนึ่งให้สุกนิ่มจริงๆ แกงเข้าด้วยกัน  กินกับขนมจีนเส็นเล็ก ก่อนกินก็บีบมะนาวซีกหนึ่งลงไป  กินแนมกับแคบหมูติดมันบางๆ ชิ้นเล็กๆขนาดประมาณองคุลี  เท่านี้เอง       


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ก.ย. 19, 19:10
ลองแฉลบไปดูขนมจีนน้ำยากัน

น้ำยานั้นแยกออกได้เป็น 2 พวก คือ ที่ไม่ใช้กะทิ กับ ที่ใช้กะทิ     

จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า ยา หรือเสียงคล้ายๆเสียงนี้แปลว่า ปลา    เป็นคำในภาษาของชาวเขา แต่นึกไม่ออกเลยว่าจะเป็นของเผ่าใดในพื้นที่ภาคเหนือหรือภาคตะวันตก   ยกเรื้องนี้ขึ้นมาก็เพียงจะเพื่อผูกเรื่องเข้าไปว่า น้ำยาทั้งหลายแต่ดังเดิมนั้นล้วนแต่ใช้เนื้อปลาต้มสุก แกะแล้วยีให้ละเอียดใส่ลงในหม้อแกงที่มีเครื่องน้ำพริกละลายน้ำตั้งไฟให้รอให้เดือดอยู่   ในปัจจุบันนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก มีการใช้เนื้อไก่ ใช้เนื้อหมู รวมไปถึงกุ้ง และอื่นๆ    ที่กำลังฮิตและยังสูงด้วยราคาก็คือ การใช้เนื้อปู  (ในเนื้อน้ำแกงอาจจะเป็นเนื้อปูอัดที่ทำมาจากเนื้อปลาใส่กลิ่นปูก็ได้)


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: pratab ที่ 28 ก.ย. 19, 20:06
อ่านที่คุณ naitang เล่าถึงขนมจีนน้ำเงีี้ยวแล้วอยากทราบว่าปัจจุบันยังมี "ข้าวกั้นจิ้นน้ำเงี้ยว"  กินกันในหมู่คนทางภาคเหนือหรือไม่ครับ(ข้าวกั้นจิ้น คือข้าวสวยคลุกเลือดและส่วนประกอบต่างๆแล้วนำไปนึ่ง ??)


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ก.ย. 19, 17:29
ข้าวกั๋นจิ้นยังมีการทำขายอยู่ครับ แต่ก่อนนั้นมีวางขายในตลาดเช้าในเมืองและทั่วไป  แต่ในปัจจุบันนี้ในตลาดเช้าที่ต่างๆเกือบจะไม่เห็นเลย กลายมาเห็นวางขายกันในตลาดบ่าย  เข้าใจว่า แต่ก่อนนั้นการชำแหละหมูจะทำกันในเวลาเช้ามืด จึงมีเลือดสดๆใหม่ๆในตอนเช้า เอาเลือดสดๆมาคั้นกับใบตะไคร้รอข้าวหุงสุกและเนื้อหมูสับ เอามาคลุกเคล้ากันแล้วห่อนึ่ง  แต่ในปัจจุบันนี้มีตู้เย็นช่วยในการยืดอายุของสด การทำจึงไม่ถูกจำกัดด้วยเงื่อนเวลา ก็เลยอาจจะเป็นเหตุให้สามารถทำมาขายในตลาดบ่ายได้   ที่ยังคงเหมือนเดิมทุกประการก็คือการห่อด้วยการใช้ใบตองกล้วย กลัดด้วยไม้กลัดแล้วเอาไปนึ่ง ห่อคล้ายกับการห่อขนมหวานของคนในภาคกลาง   

เมื่อเราซื้อ แม่ค้าก็จะเปิดห่อออก เอากระเทียมเจียวเหยาะลงไป เอาหอมแดงซอยใส่ลงไป แล้วเอาพริกแห้งทอดใส่ลงไป แล้วห่อกลับใส่ถุงส่งให้เรา ซึ่งตามปกติก็จะมีมะนาวเสี้ยวนึงและผักชีต้นนึงใส่มาให้ด้วย   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ก.ย. 19, 18:40
ขนมจีนน้ำเงี้ยวก็เช่นกัน แต่ก่อนโน้นก็มีวางขายในพื้นที่ขายอาหารในตลาดสด แล้วก็ขยายออกมาขายเป็นอาหารกลางวัน ขายแข่งกับข้าวซอยและก๋วยเตึ๋ยว เปิดทางให้นักท่องเที่ยวสามารถเลือกกินได้ตามชอบ

ตามหมู่บ้านในภาคเหนือที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก ขนมจีนน้ำเงี้ยวก็ยังจัดเป็นของกินรับรองในวาระงานทางพิธีต่างๆ เช่น ในงานบุญ ในงานปอย ในงานเสียศพ (เผาศพ)  เป็นของกินเล่นแก้หิวที่จัดให้มีได้ในทุกช่วงเวลาที่ต้องการ (เช้า สาย บ่าย เย็น)  มิใช่เป็นการจัดในลักษณะเป็นอาหารในแต่ละมื้ออาหาร    ก็อาจจะมีแต่ละคนจัดทำมาช่วย จะเรียกว่าเป็นการนำของมาช่วยแบบข้าวหม้อแกงหม้อก็น่าจะพออนุโลมได้   ขนมจีนน้ำเงี้ยวแบบนี้จะไม่มีการจัดเครื่องเคียงอื่นใด ที่มักจะมีก็จะมีแต่ต้นหอมสดซอยและผักชีซอยโรยหน้าเท่านั้น  ก็คล้ายๆกับข้าวต้มหมูหรือข้าวราดแกงธรรมดาๆในงานบุญของคนภาคกลาง


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ก.ย. 19, 19:34
กลับไปที่น้ำยา
 
แต่ก่อนนั้น น้ำยาที่ไม่ใช้กะทิก็มักจะเรียกกันว่า น้ำยาป่า ก็คงเพื่อจะทำให้รู้สึกว่าน่ากินเพราะมัดูจะแปลกออกไปจากน้ำยากะทิที่พบเห็นกันเป็นปกติในพื้นที่ภาคกลางตอนล่างลงไปตลอดภาคใต้ ก็เลยจะขอใช้คำว่าน้ำยาป่าสำหรับน้ำยาพวกที่ไม่ใช้กะทิ

น้ำยาป่านั้น แม้ว่าแต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างกันก็ตาม  แต่ทั้งหลายเหล่านั้นจะมีหลักการทำเหมือนๆกัน คือ มีเครื่องน้ำพริกที่ผสมไปด้วยสมุนไพรดับคาวปลา (โดยเฉพาะกระชาย _หัวระแอน) และใช้ปลาชนิดที่เมื่อต้มสูกแล้วแกะเอาเนื้อมาโขลกจะมีเนื้อเหนีนวแน่นแต่จะฟูเมื่อละลายในน้ำ ซึ่งก็จะมักจะเป็นปลาช่อน(ปลาค้อ) และปลาชะโด(ปลาแมลงภู่) 

น้ำยาพื้นบ้านแท้ๆแต่เก่าก่อนนั้น น่าจะยังพอเห็นได้ในภาคอิสานตอนบนแถวริมโขง เมื่อสั่งข้าวปุ้นก็ไม่ต้องถามเลยว่าน้ำยาอะไร บางเจ้าก็อาจจะใส่ปลีกล้วย บางเจ้าก็อาจใส่ปลาร้า บางเจ้าก็อาจเป็นแกนในของหยกกล้วยซอยบางๆ       ในภาคใต้ลึกๆก็อาจจะเป็น้ำยาที่ใช้ปลาเค็ม     

ก็มีข้อน่าสังเกตอยู่ว่า ในภาคเหนือนั้นไม่มีเมนูขนมจีนน้ำยา  (ประสบการณ์อาจผิดพลาดหรือลึกเข้าไปไม่ถึงแก่นก็ได้ ครับ)   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ย. 19, 09:35
ขนมจีนอีกอย่างที่หากินได้ยาก คือขนมจีนซาวน้ำ  ทีแรกดิฉันนึกว่าเป็นอาหารเหนือ  มาอ่านในบทความนี้ถึงรู้ว่าไม่ใช่
  ถ้าไม่ใช่อีสาน ก็เป็นอาหารภาคกลาง 

https://www.silpa-mag.com/from-the-fingertip/article_330


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: choo ที่ 30 ก.ย. 19, 15:28
อ่านจาก link ที่อาจารย์เทาชมพูให้มาแล้วนึกไม่ออกครับว่าคืออาหารอะไรที่ชาวเหนือที่ใช้ “เส้นชนิดแข็งๆ กระด้างๆ แบบที่คนเหนือชอบผัดเหยาะซีอิ๊วดำใส่ผักดองและถั่วงอก”


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ย. 19, 16:15
อ่านจาก link ที่อาจารย์เทาชมพูให้มาแล้วนึกไม่ออกครับว่าคืออาหารอะไรที่ชาวเหนือที่ใช้ “เส้นชนิดแข็งๆ กระด้างๆ แบบที่คนเหนือชอบผัดเหยาะซีอิ๊วดำใส่ผักดองและถั่วงอก”
เดาว่าเป็นผัดขนมจีน หรือขนมจีนผัดซีอิ็วดำค่ะ คุณ choo



กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ก.ย. 19, 18:28
เส้นขนมจีนผัดกับซีอิ๊วดำและน้ำตาลอ้อย  จัดเป็นพวกอาหารว่างและของกินเล่นยามบ่าย  ในปัจจุบันนี้ นานๆจึงจะเห็นสักครั้ง อาจจะพอเห็นได้บ้างเป็นบางครั้งในตลาดงานวัด   ชื่อที่เรียกขานกันก็มี คั่วหมี หมี่คั่ว ผัดหมี หมี่ผัด   

ผมเข้าในเอาเองว่า ด้วยที่ในงานบุญต่างๆจะนิยมทำขนมจีนน้ำเงี้ยว  เมื่อขาย(แจกจ่าย)ไม่หมด ตัวน้ำเงี้ยวที่เหลือนั้นยังพอจะอุ่นเก็บค้างไว้ได้ หรือกินในลักษณะเป็นแกงกับกับข้าวเหนียว  แต่เส้นขนมจีน(ซึ่งเป็นการทำแบบแป้งสด)ที่เหลือนั้นมันจะแห้งกระด้าง ไม่อร่อยแล้ว ก็เลยเอามาลงกระทะผัดเป็นคั่วหมี่ กินกับผักกาดดองและแคบหมูติดมันน้อยๆ    ก็มีการแปลงหรือปรับปรุงให้ดูน่ากินยิ่งขึ้น เช่นด้วยการใส่หอมซอย ไข่ซอยเป็นเส่้น(จากไข่ที่ทำแบบขนมเบื้องไข่) ....  เดี๋ยวนี้ก็เพิ่มการปรุงรสให้แซบขึ้นไปด้วยชุดเครื่องปรุงของก๋วยเตี๋ยว     

ที่ดูจะเป็นความยากในกระบวนการทำก็น่าจะเป็นการผัดโดยมิให้เส้นติดกระทะและแหลกจนไม่น่ากิน เมนูนี้ผมไม่เคยทำก็เลยไม่รู้ว่าจะแก้อย่างไร  เคยแต่ทำกับเส้นก๋วยเตี๋ยวซึ่งใช้แป้งข้าวเจ้าเหมือนกัน  ซึ่งมันก็มีเคล็ดและวิธีการที่จะไม่ทำให้เป็นจานที่อุดมไปด้วยน้ำมัน 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ก.ย. 19, 19:01
ย้อนกลับไปนิดนึงเรื่องน้ำยาที่นิยมใช้ปลาช่อนหรือปลาชะโด   

ผมมีความเห็นว่า โดยหลักๆแต่โบราณแล้วน่าจะเป็นการใช้ปลาชะโด (และที่เรียกในชื่ออื่นๆ)   ปลาชะโดมักจะมีขนาดใหญ่กว่าปลาช่อน มีเนื้อสีขาวสวย แต่มีรสจืดเอามากๆ จะเอาไปต้มยำทำแกงใดๆก็ไม่อร่อยเท่าปลาช่อน การเอามาใช้ในการทำน้ำยากินกับขนมจีนจึงดูจะเป็นความเหมาะสมที่สุด คือได้ปริมาณเนื้อมาก และเนื้อปลาที่ฟูนั้นผสมผสานเข้ากันได้อย่างดีกับน้ำพริกแกง ทำให้ได้น้ำแกงที่มีความเข้มข้นน่ากินมากกว่า

ที่ จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งมีแม่น้ำน่านไหลผ่านนั้น ปลาตะโกกดูจะเป็นปลาหลักๆที่พบอยู่ในธรรมชาติ  ในความทรงจำของผมนั้น ปลาตะโกกเป็นปลาที่พบได้ในแม่น้ำน่านเป็นปกติ พบได้ตลอดลำน้ำตั้งแต่ในพื้นที่เหนือเขื่อนสิริกิติ์     ที่ จ.อุตรดิตถ์ ก็เลยมีขนมจีนน้ำยาปลาตะโกก    ปลาตะโกกนี้ แม้จะมีก้างตัว y เหมือนปลาตะเพียน แต่ก็เป็นก้างที่ใหญ่ มีอยู่ไม่หนาแน่น เอาออกได้ไม่ยากนัก  ก็เป็นขนมจีนน้ำยาที่อร่อยดีนะครับ หากมีโอกาสก็ลองกินกันดู   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ก.ย. 19, 19:29
ขนมจีนน้ำยา   

เครื่องแกงก็จะต้องใส่กระชาย แล้วก็ต้องมีใบแมงลักกินพร้อมไปด้วย เพียงเท่านี้ก็กินได้อร่อยแล้ว  อ้อ ต้องมีพริกป่นหรือแห้งแบบคั่วแห้งไว้ปรับรสอีกเล็กน้อย   นอกจากนั้นก็คือผักเหนาะ นิยมจะเป็นผักสด ซึ่งในตลาดพื้นบ้านทั่วๆไปก็จะมีถั่วฝักยาว ถั่วงอก แตงกวา เป็นหลัก   แต่ในภาคใต้จะมีถาดหรือกะละมังผักเหนาะ(ผักแนม)วางไว้ให้แนมตามใจอยาก ก็มีอาทิ ยอดกระถิน ฝักกระถิน ยอดมะม่วงหิมพานต์ ยอดชะมวง ยอดมะกอก ยอดมะปราง บัวบก ลูกเนียง ลูกเหรียง(หน่อเหรียง) สะตอ   หากห่างออกไปนอกพื้นที่ทางผ่านก็อาจจะมี แปะตำตึง ใบหูเสือ ใบมันปู ... 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ต.ค. 19, 18:41
จนมจีนซาวน้ำ   ดั้งเดิมคงจะเป็นอาหารว่างยามบ่ายของคนในภาคกลาง ผมเห็นว่าเป็นขนมจีนประเภทไฮโซ คือต้องใช้ทั้งคนและเวลาค่อนข้างมากในจัดการทำเครื่องปรุงต่างๆ แถมหากจะทำแบบชุ่ยๆหรือขอไปทีก็จะดูไม่น่ากินเอาเสียเลย  เครื่องปรุง/องค์ประกอบต่างๆจะต้องออกไปทางสะอาดและปราณีต  จัดได้ว่าเป็นงานการโชว์ระดับฝีมือของแม่ครัวเลยทีเดียว

เริ่มต้นจากเส้นขนมจีน  จับขมจีนก็จะจับกันในลักษณะเป็นก้อนกลมขนาดระหว่างลูกกอล์ฟกับลูกเทนนิส ไม่ใช้ขนมจีนที่จับกันเป็นแพๆดังที่เห็นอยู่ตามตลาดทั่วๆไป  การจะจับขนมจีนเพื่อให้ได้ในทรงนี้ แต่เดิมก็จะจับกันในกระบวนการทำเส้นขนมจีน   ในปัจจุบันนี้คงจะต้องเป็นการสั่งทำเป็นพิเศษ หรือไม่ก็ต้องแปลงเอาด้วยการเอาจับขนมจีนที่จับไว้ในลักษณะเป็นแพนั้นมาลวกในน้ำอุ่นเพื่อกระจายเส้นให้แยกออกจากกันแล้วทำการจับใหม่ในลักษณะและขนาดตามที่ชอบ 

ทำให้ผมนึกย้อนกลับไปถึงเมื่อครั้งยังเป็นเด็กและยังเห็นทุกอย่างเป็นเรื่องสนุกที่น่าเล่น  เริ่มต้นตั้งแต่การโม่แป้งด้วยโม่หิน ค่อยๆใช้ช้อนสังกะสีตักข้าวสารที่แช่น้ำในสัดส่วนที่เหมาะสม หยอดลงไปในรูด้านบนของโม่ ค่อยๆหมุนไปเพื่อโม่เม็ดข้าวให้ละเอียดเป็นแป้งขาวผสมน้ำ   เห็นว่าสนุกดีก็อาสาผู้ใหญ่หรือแย่งโม่เขามาทำ สักพักก็จะเริ่มรู้สึกเบื่อหน่าย แต่ผู้ใหญ่ก็จะบอกให้โม่ไปเรื่อยๆจนหมดเพราะเอาเวลาไปเตรียมเครื่องอย่างอื่น    เอาละซี น่าเบื่ออกจะตายไป ก็ต้องคิดหาวิธีการที่จะทำให้เสร็จเร็วๆ  ที่คิดออกแบบเด็กๆก็คือ ตักข้าวกับน้ำหยอดครั้งละมากๆแล้วก็หมุนโม่ให้เร็วๆ เดี๋ยวเดียวก็หมดเอง  แต่หารู้ไม่ว่าอยู่ในสายของผู้ใหญ่ตลอดเวลา ความฉลาดของเราก็เลยกลายเป็นความเขลา  ครับ..การโม่ช้าๆในความเร็วที่เหมาะสมกับน้ำหนักของตัวหินของโม่ที่ในบดทับ จะทำให้ได้แป้งที่มีเนื้อละเอียดนวล โม่ไม่ดีก็จะได้แป้งเม็ดหยาบ หากโม่แบบไม่มีความคงที่ใดๆเลย ก็จะได้แป้งหยาบปนละเอียด ทีนี้ก็คงพอจะนึกออกนะครับว่า แล้วขนมมันจะเป็นอย่างไร ก็คงจะไม่นุ่มเนียนแต่จะออกไปทางกระโดกกระดากหรือหยาบหรือมีเม็ดกรุบๆ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ต.ค. 19, 19:03
การโม่แป้งเพื่อให้ได้แป้งที่มีเนื้อเนียนจึงเป็นเรื่องของความใจเย็น  แม่ครัวเขาก็จะใช้เวลานี้คุยกับไป หยอกล้อกันไป เด็กฟังไม่รู้เรื่องราวก็จะรู้สึกน่าเบื่อ  ก็จึงอยากจะเร่ง อยากจะเห็น(เรียนรู้)กระวนการต่อไป

โม่ข้าวเสร็จก็เอาข้าวกับน้ำที่โม่ได้นั้นใส่ถุงผ้าหรือห่อด้วยผ้าฝ้านเนื้อละเอียด มัดปลายแล้วแขวนห้อยเอาไว้หลายชั่วโมงจนสะเด็ดน้ำ ยิ่งนานก็ยิ่งได้แป้งที่มีความชื้นน้อยลงไป   ทีนี้เราก็จะได้แป้งสดที่เอามาทำขนมจีนที่เรียกกันว่าขนมจีนแป้งสด   ก็คงพอจะนึกออกถึงสีของเส้นขนมจีนที่จะได้จากข้าวสารต่างชนิด ต่างนา ต่างสายพันธุ์

แล้วก็ไปสนุกต่อกันอีกรอบหนึ่งตอนทำให้เป็นเส้นขนมจีน   ผมไม่รู้ว่าเขาผสมแป้งกันอย่างไรจนได้เป็นมวลของเหลวที่จะใส่ในภาชนะสำหรับกดหยอดให้เป็นเส้นลงไปในกระทะต้มน้าร้อนจัด  เส้นขนมจีนที่ลอยฟ่องอยู่ในกระทะน้ำร้อนก็จะถูกตักออกมาใส่ลงในอ่างหรือกระทะที่ใส่น้้าเย็น แล้วก็จึงจะจับเส้นขนมจีนให้เป็นรูปทรงและขนาดใดๆตามต้องการก็ตรงนี้แหละ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ต.ค. 19, 20:03
ออกนอกเรื่องไปนิดนึงครับ    ก็คงพอจะเห็นภาพได้บ้างว่า ด้วยเหตุใดขนมไทยจึงทำยาก  สาเหตุส่วนหนึ่งก็เพราะเราเริ่มจากแป้งสดที่ไม่มีมาตรฐานทั้งในด้านความชื้นและขนาดของเม็ดแป้งและอื่นๆ  ต่างจากแป้งที่ผลิตจากกระบวนการอุตสาหกรรมซึ่งผลิตออกมาอย่างมีมาตรฐานเฉพาะตัว  กระทั่งน้ำตาลมะพร้าว/ตาลตะโหนด..ฯลฯ ที่ใช้กัน  มาจากต่างถิ่นต่างแหล่งผลิตกันก็ให้ความละเมียดละไมที่ต่างกัน  จะใช้คำว่าทั้งหลายเหล่านั้นไม่อยู่ในบริบทของมาตรชั่ง ตวง วัด ก็น่าจะพอได้อยู่ ขนมไทยที่อร่อยมากๆจึงไปขึ้นอยู่กับฝีมือและสัมผัสอันลึกซี้งของแม่ครัวหรือของผู้ทำนั้นๆ   สุนทรีย์ของความอร่อยของขนมไทยจึงมิใช่เป็นเรื่องของรูปร่าง/รูปทรง หากแต่เป็นเรื่องของการผสมผสานในทุกๆเรื่อง


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ต.ค. 19, 18:40
เครื่องประกอบอื่นก็มี ขิง   ซึ่งต้องเลือกเหง้าที่ไม่แก่ไปจนเนื้อเป็นเสี้ยน และก็ไม่อ่อนไปจนไม่มีรส กลิ่นและเนื้อสัมผัส  เอามาขูดผิวให้ขาวสะอาดแล้วใช้มีดบางคมๆฝานตามยาวให้เป็นแผ่นๆบางๆ แล้วจึงซอยให้เป็นเส้นละเอียด ความน่ากินก็คือ ขิงที่ซอยจะต้องมีความสะอาด สีเหลืองอ่อน ขนาดค่อนข้างเสมอกันคือยาวประมาณ 3-4 ซม. และเส้นโตขนาดประมาณกึ่งหนึ่งของไม้จิ้มฟัน    ก็แสดงถึงความพิถีพิถันในการทำ

มีกระเทียมซอยแบบขวางกลีบเป็นแว่นบางๆ แล้วก็ควรจะต้องเป็นกระเทียมไทยกลีบขนาดไม่ใหญ่อีกด้วย  เพราะจะให้กลิ่นและรสที่ฉุนแต่ไม่แรงจนไม่น่ากิน  การซอยบางๆก็เป็นวิธีการที่ทำให้ความฉุนลดลงและได้รสที่ละเมียดละมัยมากขึ้น

มีสับปะรดสับหรือหั่นซอยให้เป็นชิ้นเล็กๆ   เครื่องประกอบอันนี้ทำไม่ง่าย เริ่มตั้งแต่การเลือกสับปะรดให้ถูกต้อง คือเนื้อต้องแน่นและฉ่ำพอ มิใช่ฉ่ำจนเยิ้มไปด้วยน้ำหวาน แล้วก็จะต้องมีรสหวานอมเปรี้ยวเพียงนี๊ดเดียว มิใช่หวานจนแสบคอ   แม่ครัวผู้เลือกจึงต้องรู้จักสายพันธุ์และแหล่งปลูกพอสมควร แล้วก็ต้องมีความสามารถในการเลือกผลที่ถูกต้องด้วยการใช้นิ้วชี้ดีดที่ผิวลูกสับปะรด (ซึ่งเป็นวิธีการแยกแยะความฉ่ำหรือความพอดีของสับปะรดได้อย่างดี)   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ต.ค. 19, 19:07
การจะทำให้เครื่องปรุงทั้งสามอย่างนั้นออกมาดูสวยงามได้นั้น ขึ้นอยู่กับความคมของมีดที่ใช้  การใช้มีดทื่อจะไม่สามารถฝานและซอยขิงหรือกระเทียมกลีบเล็กๆให้บางและเป็นเส้นเล็กๆได้  และจะยิ่งแย่หนักเข้าไปใหญ่เมื่อใช้ในการสับซอยสับปะรด ซึ่งจะทำให้ได้ของที่เป็นดั่งโคลนไปเลย

เครื่องปรุงทั้ง 3 อย่างนี้ มีทั้งแบบที่แม่ครัวเขาเอามาคลุกรวมกันในสัดส่วนที่เห็นว่าเหมาะสมดีแล้ว ก็อาจจะเป็นการกันหรือแก้มิให้ผู้กินที่ไม่รู้ว่าสัดส่วนของเครื่องปรุงแต่ละชนิดควรจะเป็นปริมาณเช่นใด    แล้วก็มีแบบที่แม่ครัวเขาทำวางแยกส่วนผสมทั้ง 3 นี้ ซึ่งน่าจะเป็นเพราะว่า รู้ว่าผู้กินเคยกินอยู่แล้วจึงรู้อยู่แล้วว่าควรจะตักเครื่องปรุงในปริมาณใดให้เหมาะสมกับจานนั้นๆ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ต.ค. 19, 19:38
ถึงตรงนี้ก็จะขออนุญาตแหกกฎของเรือนไทยสักครั้งหนึ่ง

สำหรับท่านที่นิยมขนมจีนและอยากจะกินขนมจีนหลากชนิดในมื้อเดียวกัน กินแบบตักเอง ตักเครื่องประกอบ/เครื่องปรุงเอง   ที่ผมรู้ก็มีอยู่แห่งหนึ่งในโรงแรมแถวสะพานกรุงธน ซึ่งจะได้เห็นองค์ประกอบและเครื่องเคียงของขนมจีนแต่ละชนิดวางคละกันอยู่  แล้วก็อาจจะได้เห็นความสับสนของผู้กินในการเลือกตักคู่ตุนาหงันที่เหมาะสมกับน้ำราดขนมจีน


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: choo ที่ 02 ต.ค. 19, 21:21
ผมเดาว่าเป็น The Royal River ครับ ที่นี่เก่งเรื่องอาหารไทยเช่นข้าวแช่ และขนมจีนต่างๆ ถ้าการเอ่ยชื่อเป็นการโฆษณา ท่านเจ้าเรือนกรุณาลบให้ด้วยนะครับ แต่ผมเห็นว่าไม่น่าเป็นการแหกกฏ เช่นเราพูดเรื่องรถยนต์ ก็เอ่ยชื่อยี่ห้อได้ครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ต.ค. 19, 07:48
ไม่เป็นไรค่ะคุณ choo   ดูตามความตั้งใจค่ะ
บุฟเฟ่ต์ขนมจีนมีอยู่หลายแห่ง เคยไปกินที่โรงแรมแถวสุริยวงศ์ก็มีเหมือนกันค่ะ

ขนมจีนเมืองเหนืออีกอย่างที่คุณตั้งคงรู้จักดี คือขนมจีนน้ำเงี้ยว 
ส่วนดิฉันชอบขนมจีนแกงเขียวหวานค่ะ จะเป็นไก่หรือลูกชิ้นปลากรายก็ได้

ขนมจีนในปัจจุบันพลิกแพลงไปทำอาหารได้หลายอย่าง รวมทั้งยำขนมจีนด้วย

https://www.wongnai.com/recipes/rice-vermicelli-spicy-salad


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 03 ต.ค. 19, 08:04
จะได้เห็นองค์ประกอบและเครื่องเคียงของขนมจีนแต่ละชนิดวางคละกันอยู่  แล้วก็อาจจะได้เห็นความสับสนของผู้กินในการเลือกตักคู่ตุนาหงันที่เหมาะสมกับน้ำราดขนมจีน

ภาพจาก http://happydelights.blogspot.com/2014/04/blog-post_28.html


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 03 ต.ค. 19, 18:13
ดิฉันพึ่งทราบเลยค่ะว่าเครื่องเคียงของขนมจีนก็มีมาก


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ต.ค. 19, 18:33
เห็นภาพนำเสนอของคุณเพ็ญชมพูแล้วก็คงจะนึกออกได้ว่า มันมีโอกาสสร้างความสับสนได้    

ที่น่าสนใจก็คือ ไปทีไร(ขออนุญาตใช้ภาษาบ้านๆ) ก็จะเห็นคนที่ไม่รู้จักขนมจีนว่าแต่ละชื่อแต่ละอย่างนั้นมันมีความแตกต่างกันอย่างไร  บ้างก็รู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นและไม่เคยกิน  จึงได้ยินการคุยถามกันในระหว่างการตัก/จัดลงจานว่า อันนี้ใช่ใหม? อันนั้นล่ะ? แล้วมีอะไรอีก? เหล่านี้เป็นต้น   ที่มากไปกว่านั้นก็คือถึงขนาดตักน้ำแกงราดลงปนกัน แต่ตักเครื่องเคียงที่ไม่ใช่ของคู่กัน (ก็ทำได้หากรู้ว่าเขาก็มีทำกันในภาคใต้ แต่เขาแนมด้วยผักเหนาะสด)
 
ทั้งหลายดังที่ขยายความมานี้ น่าจะแสดงถึงความเปลี่ยนแปลงในสังคมและวัฒนธรรมพื้นๆของคนไทยเราได้ดีเลยทีเดียว คือจากวิถีชีวิตบนฐานของสังคมและวัฒนธรรมพื้นบ้านไปเป็นวิถีชีวิตบนฐานของสังคมและวัฒนธรรมแบบเมือง  

ตัวผมเองก็ทำแต่ทำในอีกรูปแบบหนึ่ง คือจัดให้มีขนมจีนสองสามอย่างอยู่ในจานเดียวกันแต่ไม่คลุกปนกัน ขนมจีนแต่ละจับ(แต่ละก้อนเล็กๆ)ก็จะมีองค์ประกอบและเครื่องเคียงเฉพาะของมันตามที่ตนเองชอบและอยาก แยกขาดจากกัน      ขนมจีนเป็นของมักของผม แต่ด้วยที่เป็น สว.แล้ว ก็เลยกินอย่างละคำสองคำพอแก้อยาก ก็พอแล้ว    ยกเว้นขนมจีนซาวน้ำที่จำเป็นจะต้องแยกไปเป็นจานเฉพาะ ด้วยว่าความสุนทรีย์ของรสชาติที่ได้นั้น จะเกิดจากการจัดสัดส่วนของเครื่องปรุงให้เหมาะสม ทำให้เมื่อผสมผสานกันแล้วก็จะได้รสที่เราชอบแบบของตน ค่อนข้างจะมีความเป็นปัจเจกเฉพาะตัว


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ต.ค. 19, 19:17
เขียนไปแล้ว มือไปโดนป่มใดก็ไม่รู้ หายไปเลย  เอาไว้ต่อพรุ่งนี้ก็แล้วกันนะครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ต.ค. 19, 18:03
ขนมจีนซาวน้ำยังมีเครื่องปรุงอื่นอีก

ก็มีน้ำตาลทราย ที่นิยมกันก็จะเป็นน้ำตาลทรายขาว   

มีมะนาวผ่าซีก ซึ่งก็จะใช้มะนาวแป้นซึ่งมีผิวบาง ก็เพื่อลดสารและกลิ่นที่ไม่พึงปราถนาที่มีอยู่มากในผิวของมะนาวเปลือกหนา   

มีพริกขี้หนูซอย ซึ่งก็ต้องเป็นพริกขี้หนูสวนอีกด้วยจึงจะมีความหอมและได้รสเผ็ดที่อร่อย มีความนุ่มนวลกำลังพอดี เมล็ดพริกมีเนื้อละเอียด ไม่รู้สึกกระด้างและก็ไม่มีกลิ่นเหม็นเขียว   

แล้วก็มีกุ้งแห้งที่ตำจนได้เนื้อละเอียดฟู  กุ้งแห้งก็ยังต้องเลือกใช้ชนิดที่ไม่มีเปลือก ตัวกลมๆและเป็นของค่อนข้างใหม่ คือตัวกุ้งยังไม่ออกสีคล้ำๆและแห้งผาก มิฉะนั้นก็จะมีเปลือกมาปนด้วย ทำให้รู้สึกระคายเมื่อกิน  และหากเก่าหรือแห้งเกินไป เมื่อตำออกมาก็จะได้ของเป็นผงที่คล้ายกับเม็ดทรายละเอียดๆ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ต.ค. 19, 19:08
ที่ทำยากสุดท้ายก็คือตัวน้ำกะทิที่ใช้ราดเพื่อให้เป็นตัวเชื่อมรสและสัมผัสของสรรพเครื่องปรุงทั้งหลายของขนมจีนซาวน้ำ    กะทิที่ใช้ควรจะเป็นกะทิคั้นสด เพราะสามารถควบคุมและปรับผลที่ต้องการได้ (ต่างไปจากการใช้กะทิสำเร็จรูปที่ผ่านกระบวนการ homogenized มาแล้ว)  จะให้ได้กะทิดีก็ควรจะต้องเริ่มต้นตั้งแต่การขูดเนื้อมะพร้าวห้าวด้วยกระต่ายโดยมิให้ถึงผิวในของกะลา มิฉะนั้นก็จะได้กะทิที่มีสีไม่ขาว 

การนั่งขูดมะพร้าวด้วยกระต่ายขูดมะพร้าวนี้ก็สนุกดีนะครับ  ก็อีกแหละ เป็นเรื่องสนุกของผมเหมือนกัน  เมื่อยังเป็นเด็กใจร้อน จะขูดให้เสร็จไวๆก็ใช้วิธีขูดด้วยการกดด้วยแรงมากๆ ซึ่งจะได้มะพร้าวออกมาเป็นเส้นหรือเป็นขุยขนาดเม็ดใหญ่  ทำให้คั้นกะทิไม่ออกเท่าที่พึงจะได้     เทคนิคจริงๆก็คือค่อยๆขูดและหมุนกะลามะพร้าวไปเรื่อยๆ ลายเส้นที่ขูดมันจะตัดกันทำให้ได้เนื้อมะพร้าวออกมาเป็นขุยขนาดเท่าๆกัน   ขูดหมดแล้วก็เอาใส่กะละมัง ใส่น้ำอุ่นลงไปพอแฉะ ใช้มือขยำ กำ บีบให้แน่น แล้วก็เอาใส่กระชอนกรอง คั้นเอาแต่น้ำ คั้นให้แห้งแล้วก็ทำแบบเดิม ใส่น้ำอุ่นในกากอีกรอบแล้วทำแบบเดิม แยกน้ำกะทิส่วนแรกนี้ออกไปเพื่อเอาไปเคี่ยวทำเป็นหัวกะทิ     กะทิที่คั้นต่อไปจากนั้นก็จะเป็นส่วนที่เรียกว่าหางกะทิ ก็สุดแท้แต่ว่าจะทำกันให้จางไปถึงระดับใหน   

จากนี้ไปก็จะเป็นเทคนิคของแต่ละแม่ครัว  บ้างก็จะแยกหัวกับหางกะทิห่างขาดจากกันไป แล้วใช้หัวกะทิเพียงหยอดแต่งเมื่อจะกิน  บ้างก็แยกทำหัวกะทิก่อนแล้วค่อยผสมกลับเมื่อเคี่ยวไล่น้ำในหางกะทิให้หวดลงไปมากพอแล้ว   บ้างก็ทำแบบไม่แยกหัวแยกหางกะทิ แต่ควบคุมการเคี่ยวกะทิให้สุกและแตกมันมากน้อยตามที่ต้องการ

จะว่าง่ายก็ใช่ จะว่ายากก็ใช่    นี่แหละครับอาหารไทยประเภทมีกะทิของฝีมือของแต่ละแม่ครัวจึงมีความแตกต่างกันมาก ความอร่อยมิได้อยู่แต่เพียงที่รส แต่มีอยู่ด้วยความดีในหลายๆองค์ประกอบ   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ต.ค. 19, 19:24
เห็นว่า ขนมจีนซาวน้ำ น่าจะได้รับการส่งเสริมให้เป็นอาหารคู่แฝดในด้าน


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ต.ค. 19, 20:12
นิ้วมันกระดิกไปกดอะไรก็ไม่รู้ครับ  เลยเขียนไม่จบ

ขนมจีนซาวน้ำ น่าจะได้รับการส่งเสริมให้เป็นอาหารคู่แฝดกับอาหารประเภท kaiseki ของญี่ปุ่น   ด้วยมันเป็นเมนูที่มี delicacy (นึกคำแปลไม่ออกครับ)  มันมีอัตลักษณ์ และมันเป็นอาหารที่ควรค่าแก่การที่จะลองค้นหาความเป็นตัวตนที่น่าทึ่งของมัน   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ต.ค. 19, 17:31
ในปัจจุบันนี้ มีการนำขนมจีนไปใช้เป็นองค์ประกอบในเมนูอาหารอื่นๆอีกด้วย ที่นึกออกในทันทีก็คือ ใช้เป็นหนึ่งในเครื่องเคียงของแปะซะปลาช่อน  ใช้กินกับส้มตำ (แต่ไม่ทราบว่าอะไรจะเป็นจานหลัก อะไรจะเป็นจานแนม ??)  และใช้ในการตำส้มตำที่เรียกว่า ตำซั่ว    ซึ่งทั้งสามเมนูนี้ดูเหมือนจะสร้างสรรค์ขึ้นมาโดยพ่อครัวแม่ครัวชาวอิสานตอนบน (ในพื้นที่ย่านที่ติดกับลำน้ำโขง) และก็น่าจะเป็นในช่วงเวลาประมาณ พ.ศ.2510+/- ??


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ต.ค. 19, 18:14
แป๊ะซะปลาช่อน  ในอดีตนั้นเคยเป็นหนึ่งในเมนูยอดนิยมในร้านอาหารไทยและร้านอาหารจีนต่างๆ (บ้างก็ใช้ปลากระพงก็มี)  ในปัจจุบันนี้ไม่ค่อยจะเห็นเมนูแป๊ะซะนี้แล้ว จะยังพอเห็นเมนูนี้อยู่บ้างก็ในร้านประเภทสวนอาหารในต่างจังหวัด   

ผมมีข้อสังเกตและมีความเห็นเกี่ยวกับความนิยมที่ลดลงไปว่า  เกิดจากสภาพของความเป็นอยู่และวิถีการใช้ชีวิตของผู้คนในปัจจุบันที่สอคล้องไปกับลักษณะของสังคมและเศรษฐกิจที่แปรเปลี่ยนไป    และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ปลาช่อนมีราคาสูงและหายากมากขึ้น มีแต่ปลาชะโดทั้งที่ได้จากแหล่งน้ำของเขื่อนต่างๆและจากการนำเข้า ซึ่งปลาชะโดจะมีรสเนื้อที่จืดและไม่นุ่มเหมือนปลาช่อน จะว่าขาดความโอชะไปเลยก็น่าจะพอได้   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ต.ค. 19, 19:00
เปิดกูเกิ้ลจะหาภาพแป๊ะซะปลาช่อนมาประกอบกระทู้   เจอแต่ภาพแกงส้มแป๊ะซะปลาช่อนค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ต.ค. 19, 19:22
ปลาเป็นและปลาสดต่างๆนั้น นิยมจะนำมาวางขายกันในตลาดเช้า  ในตลาดสมัยก่อนนั้นเราจะเห็นแม่ค้า(ส่วนมากจะเป็นพ่อค้า)เอาปลาที่ตายแล้วใหม่ๆสดๆมาวางขายในถาด และจะเห็นถังกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 80 ซม. สูงประมาณหนึ่งศอก มีฝาปิดซึ่งจะเจาะเป็นรูกลมๆขนาดประมาณลูกปิงปอง  ถังกลมเหล่านั้นจะทำมาจากแผ่นสังกะสี เบอร์ 26 หรือ 28 (แผ่นเหล็กชุบสังกะสีที่มีความหนาและแข็งแกร่งเพียงพอสำหรับการใช้ในการขนย้ายไปมาตลอดเวลา) ถังกลมเหล่านี้จะใส่ปลาเป็นไว้ให้เลือกซื้อกัน ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นปลาช่อนและปลาดุก บางเจ้าก็จะมีอ่างใส่ปลาไหลที่ทำด้วยไม้วางรวมอยู่ด้วย   ถังกลมดังกล่าวนี้หายไปเกือบหมดแล้ว ทดแทนด้วยการใช้ถังพลาสติกทรงสี่เหลี่ยมสีต่างๆ

เมื่อครั้งผมยังหนุ่มแน่น เมื่อเดินตลาดเช้าและเห็นปลาช่อนก็มักจะนึกถึงต้มยำ โดยเฉพาะการใช้ส่วนหัวและส่วนท้องพร้อมเครื่องใน เรียกรวมๆกันว่าพุงปลาช่อน  ในขณะที่หลายคนอาจจะนึกถึงห่อหมกหัวปลาช่อน หรือห่อหมกพุงปลาช่อน   หากเป็นแม่บ้านก็อาจจะนึกถึงปลาช่อนผัดกับใบคื่นไช่ใส่เต้าเจี้ยว  สูงวัยมากๆหน่อยและมีเชื้อสายจีนก็อาจจะนึกถึงปลาช่อนทอดแล้วต้มกับผักกาดดองและเต้าหู้ยี้ ......ฯลฯ  

เมนูอาหารที่ใช้ปลาช่อนในการทำมีหลากหลายจริงๆ      


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 05 ต.ค. 19, 19:25
ปลาช่อนแป๊ะซะ  ;D

คุณ  OverEat ให้ความเห็นว่า

ปลาช่อนแป๊ะซะเลือนหายไปนานพร้อม ๆ กับยุคคาเฟ่เริ่มล่มสลาย สมัยก่อนแทบทุกโต๊ะในคาเฟ่ต่าง ๆ เมนูปลาช่อนแป๊ะซะ ถือเป็นเมนูบังคับ พอ ๆ กับ ยำปลาดุกฟู  ต่อมาร้านเทพรสตรงข้ามกับห้างพาต้าปิ่นเกล้า ทำแกงส้มแป๊ะซะออกมาตีตลาดแป๊ะซะปลาช่อนดั้งเดิม เรียกว่ามาแบ่งตลาดกันเลย  แถมคนนิยมมากจนระบาดไปทั่วเมือง

จาก https://pantip.com/topic/36139409


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ต.ค. 19, 20:19
แกงส้มแป๊ะซะปลาช่อน
วิธีทำ
https://www.youtube.com/watch?v=Wg1eEJWk6Gs


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ต.ค. 19, 18:03
ปลาช่อนแป๊ะซะนี้คงจะมีอยู่ในรายการอาหารของคนไทยมานานแล้ว ผมรู้จักชื่อ วิธีการทำ และวิธีการกินมาตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นเด็กอยู่ใน ตจว.   

เมื่อเข้าเดือนเมษาฯน้ำในสระ หนอง บึงทั้งหลายก็เริ่มแห้งขอด ชาวบ้านก็จะนัดรวมตัวกันลงหาปลาในหนองบึงทั้งหลายที่น้ำใกล้จะแห้งหายไป ในภาษาเหนือเรียกกันว่า ฮะป๋า คือช่วยกันครูดดินก้นบ่อเอามาทำเป็นเขื่อนกั้นน้ำเตี้ยๆ แยกออกเป็นพื้นที่เล็กๆแล้วก็ช่วยกันวิดน้ำให้แห้ง แล้วก็ลงจับปลากันด้วยยอขนาดเล็กบ้าง ด้วยแซะบ้าง ด้วยสุ่มบ้าง ได้ปลามาแล้วก็จะใส่ลงในข้องที่ผูกกระเดียดไว้ที่เอว (น่าจะสะกดว่า ค่อง ตามลักษณะเสียงที่เปล่งออกไป)  ปลาที่ได้ส่วนมากก็จะเป็นปลากระดี่และ ปลาหมอ และปลาเล็กปลาน้อยทั้งหลาย 

หากได้ปลากระดี่มากก็จะเอาไปคลุกเกลือ เสียบไม้ แล้วตากให้แห้ง ถนอมเก็บไว้ใช้ในภายหลังต่อๆไป ซึ่งก็มักจะเอามาใช้ในการตำน้ำพริก ที่มักจะเรียกกันว่า น้ำพริกฮ้าปลากระดี่ (ปลาร้าปลากระดี่)  หากได้ปลาเล็กปลาน้อยมามาก ก็จะเอาไปทำปลาร้าหมักเก็บไว้ในให    คนในภาคเหนือทำปลาร้าเก่งสู้คนในอิสานไม่ได้ ยิ่งในปัจจุบันนี้จะหาคนที่ทำปลาร้าเป็นได้น้อยมาก ซื้อกินแต่ปลาร้าของภาคกลางด้านตะวันตกโดยเฉพาะของสุพรรณบุรี     

หากได้ปลาเล็กปลาน้อยในปริมาณที่ไม่มากนัก ก็นิยมจะเอาไปทำเป็นแอบกัน คือใส่เครื่องพวกพริก ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด และอื่นๆ ห่อใบตองกล้วย หมกใว้ที่กองไฟ หรือย่าง แล้วเอามากินร่วมกัน นั่งล้อมวงกินกันเป็นกับข้าวหรือเป็นของแกล้มแนมกรึ๊บกรั๊บกันสนุกเฮฮาแก้เหนื่อยยามบ่ายคล้อย   มันไม่ได้ปลามากมายอะไรหรอกครับ มันเป็นความสุขของคนที่อยู่ในสังคมบ้านๆที่ยังคงมีประเพณีการลงแขก ในปัจจุบันนี้ก็ยังมีอยู่นะครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ต.ค. 19, 18:36
หลานของผมทั้งหญิงและชายก็ยังมีโอกาสได้ลงไปร่วม ฮะป๋า คลุกโคลน และจับปลากันอย่างสนุกสนาน ที่ต้องให้ชาวบ้านเขาช่วยระวังอยู่อย่างเดียวก็คือ เมื่อลงสุ่มลงไปแล้วได้ปลาดุก เรื่องนี้ยังสอนหลานไม่ได้  ซึ่งวิธีการจับปลาดุกก็ไม่ยากนัก ค่อยๆกางมือกดเบาๆลงไปบนตัวปลาแล้วกางนิ้วชี้กับนิ้วกลางออก ค่อยๆรูดคล่อมตามตัวปลาไปทางด้านหัวจนนิ้วชี้และนิ้วกลางสอดเข้าไประหว่างเงี่ยงกับตัวปลา เอานิ้วหัวแม่มือช่วยดันที่ปากเพื่อให้สามนิ้วนั้นจับปลาได้แน่นๆ ปลากดุกก็จะยักไม่ได้   จับปลาช่อนจะยากกว่า เพราะว่าไม่มีอะไรเลยที่จะให้ล็อกตัวมันได้

ก็ปลาช่อนที่จับได้นี้แหละ คุณพ่อผมก็เอามาทำแปะซะ เป็นของแกล้มอร่อยๆ แต่เราอดกินส่วนหัวกับพุงและครีบ  พอเข้าวัยทำงานก็เลยนิยมจะกินแต่หัว พุง และครีบ จนกลายเป็นคนที่ชอบแทะหัวปลาและครีบปลาต่างๆ   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: pratab ที่ 06 ต.ค. 19, 19:00
อ่านที่คุณ naitang เล่าแล้วยังไม่ค่อยเข้าใจวิธีจับปลาดุกนัก คือ:-
"ซึ่งวิธีการจับปลาดุกก็ไม่ยากนัก ค่อยๆกางมือกดเบาๆลงไปบนตัวปลาแล้วกางนิ้วชี้กับนิ้วกลางออก ค่อยๆรูดคล่อมตามตัวปลาไปทางด้านหัวจนนิ้วชี้และนิ้วกลางสอดเข้าไประหว่างเงี่ยงกับตัวปลา **เอานิ้วหัวแม่มือ**ช่วยดันที่ปากเพื่อให้สามนิ้วนั้นจับปลาได้แน่นๆ ปลากดุกก็จะยักไม่ได้ " คือเมื่อกางนิ้วชี้กับนิ้วกลางออก นิ้วหัวแม่มือย่อมอยู่หลังนิ้วทั้งสอง จะไปดันที่ปากปลาได้อย่างไรครับ หรือเอานิ้วหัวแม่มือของอีกมือหนึงช่วย ถ้าเป็นอย่างนั้นปากข้องต้องเข้าได้สองมือหรือครับ(ขออภัยที่ถามเนื่องจากไม่เคยเห็นการจับปลาด้วยข้องจริงๆ เห็นแต่ในรูปเท่านั้นครับ)


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ต.ค. 19, 19:34
แป๊ะซะโดยพื้นๆแล้วก็น่าจะเป็นเพียงปลานึ่งสุกที่กินกับผักนึ่งสุก ซึ่งผักนึ่งสุกจะต้องนึ่งไปพร้อมกับปลาหรือไม่ก็ไม่รู้   หากเป็นเช่นนั้น จานปลาอื่นใดที่ใช้วิธีการนึ่งทั้งหลายก็น่าจะเรียกขานว่าแป๊ะซะได้ เครื่องประกอบปลาในเวลานึ่งก็คล้ายๆกัน เช่น ใช้ขิงซอย ใช้บ๊วยดอง ใช้ต้นหอมซอย ใช้ใบและต้นคื่นไช่ ...  

ผมมีข้องสังเกตอยู่ว่า เมื่อใดที่ใช้คำว่าแป๊ะซะ ก็จะหมายถึงจานปลานึ่งที่ไม่ใช้ซีอิ๊วขาวในการปรุงรส มาพร้อมกับผักนึ่งและน้ำจิ้ม ซึ่งรสที่สร้างให้เกิดความอร่อยก็คือน้ำจิ้ม   ในขณะที่เมื่อใดใช้คำว่าปลานึ่ง(บ้วย ซีอิ็ว เห็ดหอม....) จานเหล่านี้จะไม่มีผักแนม ความอร่อยจะไปอยู่ที่ฝีมือของพ่อครัวในการปรุงรสปลาก่อนนึ่ง


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: unicorn9u ที่ 07 ต.ค. 19, 15:30
อ่านที่คุณ naitang เล่าแล้วยังไม่ค่อยเข้าใจวิธีจับปลาดุกนัก คือ:-
"ซึ่งวิธีการจับปลาดุกก็ไม่ยากนัก ค่อยๆกางมือกดเบาๆลงไปบนตัวปลาแล้วกางนิ้วชี้กับนิ้วกลางออก ค่อยๆรูดคล่อมตามตัวปลาไปทางด้านหัวจนนิ้วชี้และนิ้วกลางสอดเข้าไประหว่างเงี่ยงกับตัวปลา **เอานิ้วหัวแม่มือ**ช่วยดันที่ปากเพื่อให้สามนิ้วนั้นจับปลาได้แน่นๆ ปลากดุกก็จะยักไม่ได้ " คือเมื่อกางนิ้วชี้กับนิ้วกลางออก นิ้วหัวแม่มือย่อมอยู่หลังนิ้วทั้งสอง จะไปดันที่ปากปลาได้อย่างไรครับ หรือเอานิ้วหัวแม่มือของอีกมือหนึงช่วย ถ้าเป็นอย่างนั้นปากข้องต้องเข้าได้สองมือหรือครับ(ขออภัยที่ถามเนื่องจากไม่เคยเห็นการจับปลาด้วยข้องจริงๆ เห็นแต่ในรูปเท่านั้นครับ)

หงายด้านฝ่ามือไปทางหัวปลาครับ แล้วเอานิ้วโป้งล็อคปากปลาไว้


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 ต.ค. 19, 17:13
วิธีนี้จับทางหัวปลาดุก

https://youtu.be/jLxcisFvKzk


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ต.ค. 19, 18:26
ขอบคุณครับ  คงจะเห็นภาพชัดเจนแล้วว่าจะจับปลาดุกกันอย่างไร

จับปลาดุก ที่ว่ายากก็เพราะมันเป็นปลาหนัง มีเมือกมาก และมีเงี่ยงที่เมื่อเราถูกยักแล้วจะรู้สึกปวดเอาเรื่องอยู่ทีเดียว  การจับปลาดุกในโคลนในบางกรณีก็ง่ายเพราะโคลนนั้นมีเม็ดทรายละเอียดเป็นองค์ประกอบอยู่มาก บางครั้งก็ยากเพราะว่าโคลนนั้นเป็นเนื้อดินเหนียวเหมือนกับที่เราเอามาทำเครื่องปั้นดินเผา   

จับปลาช่อนก็มีทั้งง่ายและยากเช่นกัน เพราะมันเป็นปลาที่มีกำลังในการดิ้นและการสะบัดตัวมาก เป็นปลาที่ต้องจับมันที่หัว หากเป็นตัวขนาดที่มือเราพอจะกำได้เกือบรอบหัวของมันก็จะพอเอาอยู่ แต่หากมันมีขนาดใหญ่กว่านั้นและเราได้พยายามจับมันหลายครั้งมาแล้ว ก็มักจะลงเอยด้วยการปล่อยมันไปหรือไม่ก็ใช้วิธีเอาไม้ทุบหัวมัน

ปลาอีกชนิดหนึ่งที่จับยากซึ่งผมมักจะยอมแพ้ ก็คือ ปลาหมอ ตัวอ้วนกลมป้อมสั้นแต่มีของแหลมเกือบจะทั้งตัว ที่ครีบหลัง ครีบท้อง และปลายแก้ม ทั้งหลายนี้จะกางออกเมื่อเวลาเขาจนมุม


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ต.ค. 19, 18:40
การจับปลาด้วยวิธีการวิดน้ำให้แห้งนี้ ในบางครั้งก็เจองู แต่ผมไม่รู้ว่าจะเป็นงูอะไรบ้าง ในบางครั้งก็เจอปลาไหล ซึ่งทางภาคเหนือและอิสานเรียกว่า ปลาเอี่ยน    การเจองูหรือปลาไหลนี้ในบางครั้งก็เป็นเรื่องสนุกสนานกัน เมื่อเอาสุ่มครอบลงไป เอามือล้วงลงไปควาน เจอตัวอะไรยาวๆ อยู่ในน้ำโคลนมองไม่เห็นตัว ก็ต้องคิดละว่ามันจะเป็นปลาไหลหรือเป็นงู   วิธีแก้ไขก็คือค่อยๆยกสุ่มออกแล้วเอาแซะตักโยนขึ้นตลิ่งหรือในพื้นที่แห้ง   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ต.ค. 19, 19:04
ณ ริมหนองบึงที่ลงแขกหาปลากันนั้น พวกปลาตัวใหญ่ (ปลาช่อน ปลาดุก ปลาหมอ) ก็มักจะเอามาย่างหรือเผาไฟ นั่งล้อมวงกินกัน  หากเอากลับไปกินร่วมกันที่บ้าน ปลาช่อนก็มักจะเอาไปนึ่งกับผัก กินกับน้ำจิ้มหรือน้ำพริก เป็นทั้งกับแกล้มและกับข้าว    หากเป็นปลาดุกก็จะเอาไปย่าง หรือสับเป็นท่อนๆผสมกับเครื่องแล้วห่อด้วยใบตองกล้วย ทำเป็นแอบหรือหมก   หากเป็นปลาหมอ ที่เห็นทำกันก็ดูจะเอาไปย่างเพียงอย่างเดียว ค่อยๆฉีก ค่อยๆแคะ แบ่งกันคนละตัว  แต่สำหรับชาวบ้านในภาคกลางก็ดูจะนิยมเอาปลาหมอไปทำฉู่ฉี่


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ต.ค. 19, 20:01
ปลาหมอ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ต.ค. 19, 20:26
ในอดึตนั้น ปลาช่อนดูจะเป็นปลาชนิดเดียวที่ชาวบ้านเอาไปนึ่งกินกับผักนึ่ง จะใช้คำว่านึ่งก็คงจะไม่ถูกนัก วิธีการทำก็ง่ายๆ คือเอาปลามาขดไว้ในหม้อ ใส่น้ำลงไปสักครึ่งตัวปลา โรยเกลือเม็ดลงไปคะเนว่าพอเค็ม ใส่ข่าบุบ ตะไคร้บุบ ใบมะกรูด ปิดฝาหม้อให้สนิท ยกตั้งบนไฟปานกลางประมาณ 15-20+ นาที ก็ยกลง ตักใส่จาน ทำน้ำจิ้มให้ถูกปาก สำหรับผักนึ่งก็แยกทำ  

แล้วอยู่ดีๆก็เกิดการเอาปลาช่อนทั้งตัวมานึ่งแบบยืดตัวยาว จัดวางบนภาชนะรูปตัวปลาวางบนเตาไฟอุ่นให้ร้อนตลอดเวลา รองตัวปลาด้วยผักกาดขาว โรยด้วยขิงซอย คื่นไช่ และต้นหอม  น้ำที่ใช้นึ่งปลาก็ปรุงรสด้วยบ้วยดองเป็นหลัก แล้วเรียกกันว่า แป๊ะซะ

เริ่มต้นง่ายๆคล้ายๆกัน แต่มีพัฒนาการที่ต่างกันจนทำให้จานแป๊ะซะของแต่ละเจ้ามีลักษณะเฉพาะตัว มีความอร่อยไม่เหมือนกัน  ที่สำคัญก็ดูจะเป็นเรื่องของน้ำจิ้มและการใช้ผักชนิดที่แตกต่างกันออกไป เช่น ผักกระเฉด เห็ดหอม ใบแมงลัก  น้ำที่ใช้นึ่งปลาก็อาจจะมีความต่างกันเหมือนกัน เช่น มีกระเทียมดองใส่ลงไปด้วย

แล้วก็มีการแปลงออกไปเป็นแกงส้มแป๊ะซะปลาช่อน   แปลงไปเป็นแป๊ะซะปลาอื่นๆ เช่น ปลานิล ปลาทับทิม ปลากระพง    แปลงไปเป็นใช้ปลาที่ทอดสุกแล้ว ....      ในขณะที่อาหารจีนตามร้านอาหารจีนที่มีเมนูจานปลานึ่งแต่ใช้ปลาอื่นๆที่ใช้น้ำปรุงรสในการนึ่งปลาคล้ายๆกับปลาแป๊ะซะ กลับไม่ใช้คำว่าปลาแป๊ะซะ แต่ใช้คำอื่นๆ เช่น นึ่งซีอิ๊วบ้าง นึ่งบ๊วยบ้าง นึ่งมะนาวบ้าง    หรือจะเป็นเพราะว่า แป็ะซะหมายถึงการนึ่งแบบจืดๆ เป็นอาหารที่ต้องกินกับน้ำจิ้ม ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็น่าจะพอเรียกหมูสามชั้นนึ่ง หั่นเป็นชิ้นบางจิ้มกับเต้าเจี้ยว ว่าเป็นแปะซะหมูสามชั้น ??

สติเฟื่อง คิดมากไปเองครับ  ???


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 07 ต.ค. 19, 20:39
จับปลาแบบวิดน้ำให้แห้งผมเคยทำครับ ช่วยเขาวิดจนเหลือแต่โคลนแล้วหนีขึ้นมานั่งดูข้างบน ได้ปลาซิวค่อนข้างเยอะนำมาทอดให้กรอบๆ เป็นกับแกล้มอร่อยมาก แต่ตอนนั้นผมยังเด็กดื่มเหล้าดื่มเบียร์ไม่เป็น


ปลาหมอกับผมเคยมีอดีตร่วมกัน วันนั้นไปตกปลากับเพื่อนแล้วเพื่อนตกได้ปลาหมอ ดึงเบ็ดขึ้นมาปรากฎว่าปลาบินข้ามไปสวนเพื่อนบ้าน เพื่อนผมเลยไปตามหาปลาทิ้งให้ผมอยู่ที่นั่นลำพัง ตัวเองก็เลยลองตกปลากับเขาดูบ้าง...ไม่น่าเชื่อ! หย่อนเบ็ดลงไปไม่ถึง 1 นาทีปลาหมอฮุบเหยื่อแล้ว  ::)

ปัญหาก็คือมันหลุดจากเบ็ดมาดิ้นกระแด่วๆ บนพื้น (ทำไมปลาหมอหลุดเบ็ดง่ายจังแปลกดี) ส่วนผมกลัวโดนปลายักพยายามจะจับแต่ไม่กล้า เราสองคนจ้องตากันอยู่นานสองนาน สุดท้ายน้องปลาลงไปอยู่ในน้ำเหมือนเดิม และนี่ก็คือประสบการณ์ตกปลาครั้งเดียวในชีวิต หลังจากนั้นนั่งดูสถานเดียวครับ ปลาที่เพื่อนตกขึ้นมาได้ก็ไม่กิน ถ้าจะกินคือแปลงสภาพเป็นชิ้นๆ แล้ว ไปร้านอาหารแล้วเขาให้เลือกปลา กุ้ง หอย ที่ยังเป็นๆ ก็ไม่เอา เดินไปนั่งโต๊ะไม่กล้าสบตาน้องๆ ทุกตัว เวลาเดินมาเจอปลาริมถนนยังช่วยจับไปปล่อยในน้ำ แต่ต้องเอากระดาษมาห่อก่อนกลัวโดนยัก


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 07 ต.ค. 19, 20:46
แป๊ะซะหมายถึงการนึ่งแบบจืดๆ เป็นอาหารที่ต้องกินกับน้ำจิ้ม ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็น่าจะพอเรียกหมูสามชั้นนึ่ง หั่นเป็นชิ้นบางจิ้มกับเต้าเจี้ยว ว่าเป็นแปะซะหมูสามชั้น ??

หมูต้มแป๊ะซะ  ;D

https://youtu.be/chbN8Xw3VnQ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ต.ค. 19, 08:31
คุณตั้งเคยรัชประทานไหมคะ  แป๊ะซะปลานึ่งกับขนมจีน

https://www.youtube.com/watch?v=v-yzdC0aTYM


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ต.ค. 19, 16:51
จำได้ว่าแป๊ะซะสมัยเด็กๆคือปลาตัวใหญ่นึ่งหรือต้ม นอนมาในจานเปล ตามภัตตาคารจีน   รสชาติจืดๆ    มีซีอิ๊วให้จิ้ม     แต่สรุปแล้วรสชาติก็งั้นๆ  คือจืดกับเค็ม   ไม่ได้ติดใจเท่าไหร่ค่ะ
ต่อมาแป๊ะซะพัฒนาขึ้น  นอกจากแกงส้มแป๊ะซะ รสชาติออกไทยๆ มีกลิ่นมีรสแกงส้มที่เปรี้ยวเผ็ดเค็ม   กินกับข้าวได้อร่อย 
เปิดกูเกิ้ล เจอไก่แป๊ะซะด้วยค่ะ

https://www.thairath.co.th/content/470169


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ต.ค. 19, 18:30
คุณตั้งเคยรัชประทานไหมคะ  แป๊ะซะปลานึ่งกับขนมจีน
https://www.youtube.com/watch?v=v-yzdC0aTYM

เคยครับ แต่ไม่โปรด  แป๊ะซะที่มีเส้นขนมจีนเป็นเครื่องเดียงมาด้วยนั้น ผมมีข้อสังเกตว่าเป็นที่นิยมกันในภาคอิสาน แรกๆก็มักพบเฉพาะในอิสานตอนบน เช่น อุดรธานี เลย  มีบ้างในโคราช แล้วมากขึ้นเรื่อยในพื้นที่ขอนแก่น  ซึ่งผมเดาเอาว่าน่าจะมาจากเหตุเพราะในพื้นที่เหล่านั้นมีหนองมีบึงกระจายอยู่มากกว่าในพื้นที่อื่นๆ

ก็มีข้อสังเกตอีกเรื่องหนึ่งคือ ปลาช่อนนั้นเป็นปลาที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีลักษณะเป็นหนองบึง ที่ทางลักษณะทางธรณีสัณฐาน (Geomorphology) ที่มักจะเป็นส่วนของแม่น้ำที่คงค้างอยู่เนื่องจากแม่น้ำได้เปลี่ยนเส้นทางของการไหลไปแล้ว มีชื่อเรียกขานตามปกติว่า Oxbow lake  หรือเป็นหนองบึงที่เกิดจากการทรุดตัว (sinkhole) หรือพื้นที่ลุ่มต่ำที่เกิดจากกระบวนการกัดกร่อนทางเคมีในพื้นที่ๆส่วนประกอบของหินมีพวกสาร calcium carbonate (ปูน) หรือเป็นแอ่งน้ำในพื้นที่ต่ำของที่ราบลอนคลื่น (undulating terrain)     

ปลาที่มีลักษณะตัวคล้ายปลาช่อนนั้น หากอยู่ในแม่น้ำในบริเวณที่เป็นน้ำลึกของแม่น้ำสายใหญ่ ก็มักจะเรียกกันว่าปลาชะโด  หากอยู่ในบิเวณน้ำลึกของลำห้วยขนาดใหญ่ที่มีน้ำไหลตลอดปี ก็มักจะเรียกกันว่าปลาแมลงภู่    แต่หากพบอยู่ในลำห้วยขนาดเล็กที่มีน้ำไหลเกือบตลอดทั้งปี ก็มักจะเป็นปลาที่เรียกกันว่าปลากั้ง

ปลาชะโดตามธรรมชาติที่จับได้กันนั้น มักจะมีตัวขนาดใหญ่ ใหญ่เกินกว่าจะเอาทั้งตัวมาขดลงจานหรือใส่บนจานทรงรูปปลาแล้วนึ่งทำเป็นแป๊ะซะ   ยิ่งเป็นปลาแมลงภู่ก็ยิ่งตัวใหญ่เข้าไปอีก ปลาทั้งสองชื่อนี้มีเนื้อที่ขาวออกไปทางซีด เนื้อมีที่มีรสจืดเอามากๆ เอาไปใช้ดีในเมนูอาหารประเภทรสแซ่บทั้งแบบผัดและแบบต้มจึงจะกินได้อร่อย   สำหรับปลากั้ง(ปลาก้าง)นั้น ตัวจะเล็ก หัวโต เนื้อน้อย เอามาทำให้อร่อยได้ก็เพียงต้มยำและเสียบไม้ย่าง


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ต.ค. 19, 19:06
ที่เล่ามาก็เพียงจะสะท้อนภาพว่า เมื่อมีเขื่อนมากขึ้น มีการเลี้ยงปลาโตเร็วในกระชังมากขึ้น  ปลาชะโดตัวขนาดปลาช่อนก็ถูกเอาใช้แทนปลาช่อนมากขึ้นในเมนูซึ่งปลาช่อนเคยเป็นตัวชูโรงของอาหารจานนั้นๆ เรื่องนี้ก็อาจจะทำให้อาหารหลายเมนูที่ใช้ปลาช่อนตัวจริงทำแล้วว่าอร่อยนั้นถูกลดความอร่อยลง จนในที่สุดเราก็เกือบจะไม่เห็นเมนูที่ว่าใช้ปลาช่อน (จริงๆ)ทำ

ก็ว่าไปตามที่พอจะมีความรู้อยู่บ้าง    เมื่อครั้งทำงานอยู่ในพื้นที่ของ จ.อุตรดิตถ์ พ.ศ. 2512-13 นั้น ปลาช่อนในตลาดสดแถวนั้นกิโลกรัมละประมาณ 20 บาท ใกล้เคียงกับเบี้ยเลี้ยงในการเดินทางไป ตจว.ของราชการเลยทีเดียว  ไม่รู้ว่าแพงขนาดนั้นได้อย่างไร น่าจะเป็นเรื่องของการหายาก


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ต.ค. 19, 19:33
เมนูปลาช่อนที่ยังหลงเหลืออยู่ในร้านอาหารในปัจจุบันนั้น คิดว่าน่าจะเป็น ปลาช่อนลุยสวน   สำหรับในตลาดพื้นบ้านทั่วๆไปก็น่าจะเป็นปลาช่อนย่างเกลือ (หรือเมี่ยงปลาช่อน)   หากเป็นร้านอาหารตามท้องถิ่นก็น่าจะเป็นปลาช่อนแดดเดียวทอด และ/หรือมีเครื่องเคียงหรือเครื่องจิ้มไปทางยำ   

สำหรับตัวผมนั้น ผมนิยมกินแบบแดดเดียวทอด กินกับข้าวสวย  หรือแดดเดียวนึ่ง กินกับข้าวเหนียว  ซึ่งของที่อร่อยก็จะอยู่ในช่วงเวลาต้นหนาวและหนาวนี้แหละ เพราะเป็นของทำใหม่หลังจากการจับในช่วงหลังน้ำหลาก  ของดีก็จะเป็นของพิษณุโลกที่ขายโดยชาวบ้านตามแผงเล็กๆช้างทางในพื้นที่ย่าน อ.บางกระทุ่ม อ.บางระกำ  ซึ่งอย่างน้อยก็จะเป็นปลาช่อนนาแท้ๆ

ที่ผมชอบอีกอย่างหนึ่งคือ ปลาร้าปลาช่อน หากินได้ยากนักเลยทีเดียว   ของดีที่ยังพอมีการทำกันมากอยู่ก็ดูจะอยู่ในพื้นที่ของ จ.สุรินทร์     หากกินปลาเค็มได้ ก็ลองกินปลาร้าปลาช่อนทอดดูนะครับ อร่อยไม่แพ้กันทีเดียว ความต่างก็จะมีเพียงแต่ปลาเค็มจะนิยมกินกับข้าวต้ม ส่วนปลาร้าจะนิยมกินกับข้าวเหนียว ทั้งนี้ จะกินกับข้าวเจ้าก็อร่อยไม่แพ้กันเลย   ปลาเค็มที่ได้กล่าวถึงนี้หมายถึงปลาเค็มที่ทำด้วยปลากุเลา ซึ่งก็เป็นของดีมีราคาและหายากเหมือนกัน(ที่ไม่มีกลิ่นโอ่)   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ต.ค. 19, 19:38
ปลาช่อนลุยสวน


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 ต.ค. 19, 18:19
สำหรับตัวผมนั้น ผมนิยมกินแบบแดดเดียวทอด กินกับข้าวสวย  หรือแดดเดียวนึ่ง กินกับข้าวเหนียว  ซึ่งของที่อร่อยก็จะอยู่ในช่วงเวลาต้นหนาวและหนาวนี้แหละ เพราะเป็นของทำใหม่หลังจากการจับในช่วงหลังน้ำหลาก  ของดีก็จะเป็นของพิษณุโลกที่ขายโดยชาวบ้านตามแผงเล็กๆช้างทางในพื้นที่ย่าน อ.บางกระทุ่ม อ.บางระกำ  ซึ่งอย่างน้อยก็จะเป็นปลาช่อนนาแท้ๆ

ปลาช่อนแดดเดียวที่มีชื่อเสียงระดับประเทศเห็นจะเป็นปลาช่อนแม่ลาของสิงห์บุรี ในคลิปยังแถมห่อหมกปลาช่อนกับปลาช่อนย่างเกลือมาให้น้ำลายไหลอีกด้วย   :)

https://youtu.be/3wI0Qv3s_9E


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ต.ค. 19, 18:30
ปลาช่อนทั้งตัว ขอดเกล็ดให้ดี ล้างให้สะอาด บั้งให้ได้พอคำ ผึ่งให้แห้ง เอาใส่ถุงพลาสติกใหญ่ๆที่ใส่แป้งข้าวเจ้าลงไปประมาณสองสามหยิบมือ ปิดถุงแบบให้โป่งลม เขย่าถุงให้แป้งเป็นฝุ่นคลุกไปทุกส่วนทั่วตัวปลา เอาลงทอดทั้งตัวในกระทะที่ใส่น้ำมันมากขนาดท่วมตัวปลา  เมื่อสุกเหลืองทั่วกันดีแล้วก็ตักออกมาวางบนจาน เอามือกดที่สันหลังของปลา เนื้อที่บั้งไว้ก็จะแยกออกจากก้างกลาง แล้วจึงทำน้ำราดที่ใส่หมูสับ ขิง ต้อนหอม อร่อยครับ   เห็นพ่อครัวพม่าในร้านอาหารจีนชั้นดีรุ่นเก่าในย่างกุ้ง(พม่า)ทำดังที่ได้เล่ามานี้  

ทำปลาแบบนี้แล้วก็เอาไปปรุงแต่งให้เป็นหลากเมนูได้ กินกับน้ำปลาพริกขี้หนู่ใส่หอมซอยและมะม่วงซอยเป็นก็ได้ จะทำเป็นปลาช่อนลุยสวน เป็นเมี่ยงปลาช่อนก็ได้ จะทำเป็นปลาช่อนสามรสก็ได้ เอาไปทำแกงส้มปลาช่อนทอดก็ได้ หรือแกงส้มแป๊ะซะก็ได้   คิดว่าน่าจะมีเมนูอื่นๆอีกแต่นึกไม่ออกแล้วครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ต.ค. 19, 19:34
ใช่ครับ ปลาช่อนแม่ลา โด่งดังมาก   นักเดินทางขึ้นเหนือในครั้งกระโน้นที่ใช้เส้นทางถนนพหลโยธินจะรู้จักกันดี (เมื่อครั้งถนนสายเอเซียยังอยู่ในระหว่างการสร้างเสร็จเป็นช่วงๆ) มักจะต้องแวะกินกัน  ผมไม่ค่อยแน่ใจนักว่าปลาช่อนแม่ลาจะมีความอร่อยเป็นพิเศษมากน้อยเพียงใด ที่แน่นอนก็คือมันเป็นปลาช่อนจริงที่จับได้ในหนองบึง (Oxbow lake) ที่เป็นแม่น้ำส่วนค้าง (Meander scar)ของแม่น้ำเจ้าพระยาที่ได้ไหลเปลี่ยนทิศทางไป   โดยนัยก็คือ สิงห์บุรี - อ่างทอง มีแหล่งที่สามารถจับได้ในปริมาณมากและทั้งปี  ต่างไปจากของพิษณุโลกที่พื้นที่บางบริเวณที่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ปลาจึงสะสมอยู่ในพื้นที่ส่วนที่เป็นลักษณะก้นแอ่ง การได้ปลาจึงค่อนข้างจะเป็นตามฤดูกาล

แล้วก็ดูจะมีเหตุผลว่าด้วยเหตุใดนักเดินทางจึงมักจะแวะพักเหนื่อยการเดินทางที่สิงห์บุรี


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ต.ค. 19, 13:48
ดิฉันชอบปลาช่อนที่ทำแบบง่ายๆที่สุดคือปลาช่อนทอดน้ำปลาค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ต.ค. 19, 17:43
อร่อยครับ แต่ต้องรู้วิธีทำ มิฉะนั้นก็จะไม่ได้เนื่้อปลาที่นุ่มฟู   หลักใหญ่ๆก็คือ ปลาควรจะผึ่งลมให้แห้งหมาดๆ  ใช้กระทะก้นลึก ใช้น้ำมันใหม่ (ถ้าเป็นน้ำมันหมูก็จะยิ่งดี) ทอดแบบ deep fried  (น้ำมันอย่งน้อยก็ต้องท่วมชิ้นปลา) และไม่ทอดในน้ำมันที่ร้อนจัด  หากจะทำกินเองก็สามารถจะหั่นปลาให้เป็นชิ้นเล็กลงมีขนาดเหมาะสมกับอุปกรณ์ในการทำครัวของตน


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ต.ค. 19, 18:47
ทิ้งค้างไว้เรื่องแวะพักเหนื่อยแถวสิงห์บุรี

ในปัจจุบันนี้ ในการเดินทางขึ้นเหนือเราใช้ถนนถนนหลวงที่เรียกว่าถนนสายเอซีย ซึ่งเป็นถนนที่ค่อนข้างจะตัดเป็นเส้นทางตรงเชื่อมระหว่างจังหวัดต่างๆ หากสังเกตก็จะเห็นว่าระยะทางที่เชื่อมระหว่างตัวเมืองจังหวัดและอำเภอสำคัญๆต่างๆ ตั้งแต่กรุงเทพฯไปจนถึงนครสวรรค์ จะมีช่วงระยะทางประมาณ 30+ กม.   การเดินทางจากกรุงเทพฯถึงนครสวรรค์ด้วยความเร็วรถประมาณ 100 กม./ชม. ก็จะใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง     

แต่ในอดีต ในช่วงของโครงการก่อสร้างถนนสายเอเซียนี้ เราจะต้องใช้ถนนพหลโยธินดั้งเดิม ซึ่งเป็นเส้นทางซิกแซ๊กเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดต่างๆ ต้องใช้เส้นทางผ่าน อ.วังน้อย (อยุธยา) เช้าเมืองอยุธยาแล้วเลาะหลังเมืองไป จ.อ่างทอง ต่อไปยัง จ.สิงห์บุรี เข้า อ.อินทร์บุรี ไปตามตลองชลประทานสู่ จ.ชันาท แล้วจึงไป อ.พยุหะคีรี ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่สะพานเดชาติวงค์ เข้าปากน้ำโพ (ตัวเมืองนครสวรรต์)   

ก็เพียงแสดงจะว่า ในปัจจุบัน การเดินทางไป จ.สิงห์บุรี เราใช้เวลาประมาณ 1 ชม.ครึ่ง (ที่ความเร็วรถประมาณ 100+/- กม./ชม.)  ในขณะที่แต่ก่อนนั้นจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ชม.จึงจะถึงสิงห์บุรี (ที่ความเร็วรถระหว่าง 60-80 กม./ชม.)  สิงห์บุรีก็เลยกลายเป็นแหล่งพักรถและคนที่นั่งรถกันมาหลายชั่วโมง ประกอบกับมีร้านดีและมีอาหารถิ่นดีอีกด้วย ต่อมาของดีของสิงห์บุรี (ปลาต่างๆ) ก็ผันไปเป็นกับแกล้มชั้นดี สิงห์บุรีก็เลยเป็นจุดพักรถที่ดีสำหรับนักเดินทางในช่วงเวลากลางวัน (ออกเดินทางจากกรุงเทพฯในช่วงเช้า) แล้วก็ดีสำหรับในช่วงเวลาโพล้เพล้ (แดดร่มลมตก) หากออกเดินทางในช่วงบ่ายๆ  และดูจะดีมากสำหรับพวกที่ออกเดินทางหลังเวลาเลิกงานแล้ว   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ต.ค. 19, 19:07
ต่อมามีโครงการตัดถนนเส้นใหม่เพื่อเชื่อมต่อ จ.พิษณุโลก เริ่มต้นเส้นทางที่ อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี  เฉียด จ.พิจิตร  ไปถึง อ. วังทอง จ.พิษณุโลก    อิทร์บุรีก็เลยกลายเป็นแหล่งเติมน้ำมันและพักรถของพวกรถสิบล้อและรถทัวร์สายเหนือ  ยังผลให้ร้านอาหารและเมนูปลาช่อนแม่ลาลดระดับความนิยมลงไปมากเลยทีเดียว

ไปตลาดก็กำลังจะเลยเป็นไปเที่ยวเสียแล้ว  ;D     ที่จริงก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจอยู่นะครับ ในประเด็น เรื่องของกินของดีรายทางตามเส้นทางถนนทางหลวงแผ่นดินสายหลัก (ถนนพหลโยธิน ถนนเพชรเกษม ถนนสุวรรณศร ถนนแสงชูโต ... เป็นต้น)   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ต.ค. 19, 19:01
ในตลาดเช้าจะมีปลาเป็นขาย แต่ในตลาดบ่ายหรือเย็นจะมีแต่ปลาตาย    ในตลาดชุมชนในเมืองนั้นปลาที่วางขายมักจะเป็นปลาช่อน ปลาดุก ปลานิล และปลาทะเลต่างๆ ในขณะที่ในตลาดชุมชนต่างจังหวัด ปลาที่วางขายจะมีอื่นๆอีก เช่น ปลาตะโกก ปลารากกล้วย ปลาหลด ปลากระทิง ปลาแค้ (น่าจะสะกดด้วยไม้เอก?) ปลากด ปลาคัง ปลาค้าว ปลาไหล ....

เมื่อเห็นปลาเหล่านี้แล้ว จะนึกว่าเอามาทำอาหารเมนูใดบ้างหนอ  ("หนอ" แวะมาเยี่ยมครับ  ;D) 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ต.ค. 19, 09:47
ชอบปลาที่ทำง่ายๆ ไม่มีวิธีหรือเครื่องปรุงที่ซับซ้อนค่ะ  อย่างปลาค้าว ก็ปลาค้าวทอดน้ำปลา 
ร้านอร่อยที่สุดที่เคยกินมาอยู่ที่บ้านโป่ง

ไปเจอวิธีทำในกูเกิ้ล เลยยกวิดีโอมาให้ดูค่ะ
https://www.youtube.com/watch?v=f203hQuH5y4


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ต.ค. 19, 09:48
ปลาค้าวทอดน้ำปลา


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ต.ค. 19, 19:07
คิดเหมือนกันเลยครับ 

ปลาหนังเป็นกลุ่มปลาที่มีหนวดและมีเงี่ยง เป็นปลาที่ค่อนข้างจะมีกลิ่นคาว และอุดมไปด้วยไขมันสะสมอยู่ที่ส่วนท้อง(พุง)  เมื่อจะเอามาทำอาหารจึงต้องเลือกระหว่างจะลดความมันลงหรือจะคงความมันไว้   ในกรณีที่จะลดความมันลงก็มักจะใช้วิธีการทอดหรือผึ่งให้แห้ง(แบบแดดเดียว)แล้วเอามาทอด ที่ต่างกันก็ดูจะเป็นเพียงการทำแบบไม่ปรุงรสก่อนทอดกับแบบปรุงรสก่อนทอด ซึ่งก็มีทั้งแบบการใช้เกลือหรือใช้น้ำปลา และทั้งแบบทอดสดหรือผึ่งให้แห้งก่อนทอด   หากบุบกระเทียมคลุกปลาหรือใส่ลงไปในทอดกับปลา ก็จะผันไปเป็นแบบทอดกระเทียม  ซึ่งหากจะให้อร่อยขึ้นไปอีก ก็จะไปอยู่ที่เครื่องจิ้ม ตั้งแต่ใช้น้ำปลาดีอย่างเดียว  ทำน้ำปลาบีบมะนาวใส่พริกขี้หนูกับหอมแดงซอย หรือจะเป็นแบบใส่มะม่วงเปรี้ยวซอยลงไปด้วย  หรือจะใช้ซอสพริกก็อร่อยได้เหมือนกัน    หรือจะต่อยอดไปเป็นปลาเจี๋ยนก็น่าจะพอได้ (หากได้ชิ้นปลาส่วนที่มีมันน้อย)


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ต.ค. 19, 19:36
อีกวิธีการหนึ่งที่นิยมทำอาหารด้วยปลาหนังเพื่อลดความรู้สึกมันก็คือ เอามาทำต้มยำรสจัด ถึงเครื่อง และออกไปทางเปรี้ยว โดยเฉพาะการใช้มะขามเปียกช่วยปรับรส  งานครัวเรื่องนี้เป็นเรื่องของการทำแบบต้องทำในขณะที่น้ำร้อนจัดทุกเวลา(ที่จุดเดือดหรือใกล้จุดเดือดมากที่สุด) ก็เพื่อลดความคาวของปลาลง    เมนูต้มยำนี้ดูจะมีความแปลกอยู่อย่างหนึ่ง คือ ผมไม่เคยเห็นมีการใช้ทำกับปลาดุก    ที่แปลกสุดกับเมนูต้มปลาดุกที่ผมมีประสบการณ์ก็คือ ต้มปลาดุกทั้งตัวกับยอดชะอม และใช้เพียงเกลือปรุงรส  กลิ่นและรสชาตินั้นบรรยายไม่ถูกเลยครับ ก็กินได้อยู่นะครับ กลิ่นชะอมมันดับกลิ่นคาวปลาได้ยอดเยี่ยมอยู่เหมือนกัน   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ต.ค. 19, 19:44
ปลาค้าวทอดน้ำปลาที่เคยกิน  ไม่ได้เค็มอย่างเดียวค่ะ  น้ำปลาที่หล่อมาในจานเปลมีรสหวานๆปนอยู่ด้วย  เค็มไม่มาก  น่าจะผสมน้ำมันหอย หรือมีน้ำตาลด้วยนิดหน่อยเวลาทอด    หนังกรอบแต่นุ่มใน ต้องกินร้อนๆจึงจะอร่อยมาก
ปลากระพง ปลาค้าว ทอดน้ำปลากินอร่อย   ส่วนปลาทับทิมทอดกระเทียม สุดยอดค่ะ

ตอนไปอยู่ที่โคโลราโด เที่ยวไปตามรัฐใกล้เคียง   แวะกินอาหารตามร้านทีไร พบว่าเมนูปลาที่ยอดนิยมคือปลา Tilapia ทอด   รสชาติคล้ายปลาทับทิม  แต่เขาไม่ทอดกระเทียม  ทอดเฉยๆ แล้วบีบมะนาวเวลากิน
พบว่าปลาทิลาเปียก็คือปลานิลนั่นเองค่ะ

ปลาทับทิมทอดกระเทียม


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ต.ค. 19, 19:45
ปลาทิลาเปียทอด


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ต.ค. 19, 20:16
ก็มีเมนูอาหารที่เข้ากะทิและใช้ปลาหนังอยู่หลายเมนูเข่นกัน ซึ่งก็คงจะพอนึกออกได้ในทันใด มีทั้งผัดทั้งแกงเลยครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ต.ค. 19, 18:55
Tilapia เป็นปลาสายพันธุ์หนึ่งในกลุ่มปลานิล เป็นปลาชนิดหนึ่งที่เลี้ยงกันในรูปแบบของการอุตสาหกรรม ทำกันอยู่ในหลายประเทศ    เท่าที่พอจะมีความรู้เล็กน้อย ปลานี้อยู่ใด้ทั้งในน้ำจืดและน้ำกร่อย (ไม่กร่อยมาก) ซึ่งหมายความว่ามันเติบโตได้ในน้ำที่ไม่จำเป็นต้องมีคุณภาพดีนัก  ในไทยเราจึงมีการทำฟาร์มปลานิลอยู่ในหลายพื้นที่ในหลายจังหวัดที่ผืนดินไม่ค่อยจะอำนวยผลผลิตที่ดีให้กับการทำไร่ทำสวน

อาหารของเราที่ทำด้วยปลานิลของเรานั้นได้เปลี่ยนไปมาก จากแต่เดิมที่เป็นเพียงการทอดแล้วจิ้มหรือราดหน้าด้วยเครื่องอื่นใด  อบ/ย่างกินกับน้ำจิ้มหรือทำเป็นเมี่ยง  ต้ม/แกง ซึ่งดูจะยังจำกัดอยู่เพียงเอาไปทำต้มยำหรือเอาไปทำแกงส้ม    ในปัจจุบันนี้ เอาไปทำต้มส้มก็มี เอาไปทำปลาวงก็มี (หากเป็นตัวขนาดประมาณปลากระดี่ตัวใหญ่) ตัวเขื่องขึ้นมาหน่อยก็เอาไปทำปลาแดดเดียว  ตัวใหญ่ขึ้นมาประมาณฝ่ามือก็เอาไปทำปลาส้มและปลาร้า สำหรับปลาส้มนั้นอยู่ในระดับที่จัดได้ว่ากินอร่อยแล้ว  แต่ที่ทำเป็นปลาร้าแบบหมักเป็นตัวๆนั้นยังอยู่ในขั้นเพียงก็พอกินได้  ตลาดขายส่งที่สำคัญที่ผมเคยเห็นใน กทม. น่าจะเป็นตลาดท่าเตียน

ผมชอบปลาส้มทอด กินกับหอมแดงซอยและพริกแห้งคั่ว จะกินกับข้าวเหนียวหรือข้าวเจ้าก็อร่อยทั้งนั้น  ปลาส้มทำได้จากปลาหลายชนิด ทั้งปลาหนังและปลาเกล็ด สำหรับตัวผมนั้นชอบแบบที่ทำด้วยปลาเกล็ดตัวใหญ่ขนาดไม่ต่ำกว่าฝ่ามือ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ต.ค. 19, 19:10
ปลาส้มทอด


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ต.ค. 19, 19:18
เลยเข้าเรื่องปลาหนังที่เอามาทำอาหารแบบเข้ากะทิ    เมนูที่เด่นที่สุดน่าจะเป็นเอามาทำแบบฉู่ฉี่ อีกเมนูหนึ่งก็คือแกงกับหน่อไม้ดอง ซึ่งทั้งสองเมนูนี้ก็ดูจะใช้แต่เพียงปลาสวายและปลาเทโพ

นึกขึ้นได้ว่า ปลาหนังพวกตัวเล็กทั้งหลาย ดูจะนิยมเอาไปทำต้มยำกัน   ปลาหนังขนาดกลาง(ตัวประมาณปลาดุก) ดูจะนิยมเอาไปทำแกงแบบไม่ใส่กะทิ (พวกแกงป่า) และเอาไปผัดเผ็ดแบบรสซาบซ่า  ปลาหนังขนาดใหญ่ดูจะนิยมหั่นเป็นแว่นๆแล้วเอาไปทอด เอาไปทำแกงแบบเข้ากะทิ บางสายพันธุ์ก็นิยมเอาไปลวกจิ้ม

  


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ต.ค. 19, 19:37
ปลาดุกเป็นปลาโปรดของผม ที่ชอบจริงๆก็มีอยู่ 5 เมนู คือปลาดุกย่าง (กินแบบจิ้มกับน้ำปลา) ปลาดุกทอดกรอบแล้วเอาไปผัดเผ็ด (บ้างก็ว่าปลาดุกทอดกรอบผัดพริกแกง) หลนปลาร้าที่ใส่ปลาดุก (บ้างก็ว่าเห็นหลนปลาร้าใส่ปลาดุก) ปลาดุกฟู  และปลาดุกร้าของ จ.พัทลุง    ที่ชอบรองลงไปก็คือ แกงเขียวหวานปลาดุก แกงเผ็ดปลาดุกใสใบยี่หร่าแบบทางใต้ ปลาดุกผัดฉ่า อร่อยได้ทั้งที่ทำด้วยปลาดุกทะเลหรือปลาดุกน้ำจืด


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ต.ค. 19, 19:47
แกงป่าปลาดุก


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ต.ค. 19, 19:52
ตอนเด็กๆอาหารจานโปรดจานหนึ่งคือปลาดุกย่าง  แค่ตักเนื้อเหลืองออกมา เหยาะน้ำปลา คลุกข้าวก็อร่อยแล้ว


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ต.ค. 19, 19:54
ผัดเผ็ดปลาดุก ก็สุดยอดค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 14 ต.ค. 19, 13:39
จำได้ว่าเคยกินแกงเขียวหวานปลาดุก...อร่อยมากกกกกค่ะ แต่เดี๋ยวนี้หาไม่ได้เลยค่ะ ไม่เคยเจอร้านไหนทำขาย ไม่ว่าร้านอาหารหรือร้านข้าวแกง


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ต.ค. 19, 14:40
พอคุณ Annaพูดถึงก็อยากกินขึ้นมาทันที ไม่ว่าแกงเผ็ดหรือแกงเขียวหวานปลาดุกค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 14 ต.ค. 19, 18:18
ยิ่งถ้าเป็นปลาดุกอุย ยิ่งน่าอร่อย  ;D


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ต.ค. 19, 19:18
ผมก็ชอบแกงเขียวหวานปลาดุกเหมือนกัน แต่ชอบกินกับขนมจีนที่ใส่ข้าวปนลงไปประมาณหนึ่งในสามส่วน  

หากเป็นอาหารจานเดียวแบบข้าวราดแกง ผมชอบข้าวผสมขนมจีน จะราดด้วยแกงเผ็ดหรือแกงเขียวหวานก็ได้ เพียงแต่จะเลือกดูว่าแกงใหนดูน่ากินและคู่ควรกว่ากัน ใส่ไข่พะโล้ด้วยหนึ่งใบ (อาจจะมีหมูสามชั้นแถมมาด้วยสักชิ้นก็ไม่ว่ากัน) หากไม่มีไข่พะโล้ จะเป็นไข่ต้มยางมะตูมก็ได้ ซึ่งหากเป็นไข่เป็ดก็จะยิ่งดีใหญ่เลย  และยิ่งมีน้ำปลาพริกซอยใส่หอมซอยแล้วบีบมะนาวไห้ลิ้นพอรับรู้ว่ามีรสเปรี้ยวอยู่ด้วย ก็สุดยอดไปเลย  

ทำให้นึกถึงไข่พะโล้แบบโบราณที่ใช้ไข่เป็ด และใช้วิธีผัดน้ำมันรากผักชี พริกไทยบุบเแหลก และเกลือทะเลป่น บางสูตรก็เจียวกระเทียมก่อนแล้วจึงผัดเครื่อง ใส่น้ตาลปี๊บลงไปผัดด้วยจนได้ caramel สีเข้มตามชอบ จากนั้นจึงใสน้ำลงไปเล็กน้อยเพื่อละลายคาราเมล ใส่หมูสามชั้นลงไปผัดพอหนังและมันกระชับ  จากนั้น บ้างก็ใส่ไข่เป็ดที่ต้มแล้วลงไปคลุกแล้วจึงเติมน้ำ บ้างก็เติมน้ำลงไปก่อน ตามด้วยอบเชยและโปยกั๊ก (เคยเห็นมีการใส่ข่าลงไปด้วยสักแว่นหนึ่ง) เมื่อน้ำร้อนดีแล้วจึงใส่ไข่และเต้าหู้ลงไป แต่มิใช่ใช้เต้าหู้ทอดดังที่ทำกันในปัจจุบัน  ก็เคยเห็นเมือนกันที่ใส่ฟองเต้าหู้ที่แช่น้ำจนนิ่มแล้วลงไปด้วย      

สำหรับฝีมือของคนทำที่จะสรรสร้างความต่างและความอร่อยอย่างเด็ดขาดลงไปนั้น เท่าที่พอจะรู้อย่างหนึ่งก็คือกระบวนการจำกัดความมันของหมูสามชั้นให้ลดลงไป และการทำให้หมูสามชั้นนั้นออกไปทางกรุบอร่อยมากกว่าในทางนิ่มเละ  ส่วนในด้านความหอมน่ากินนั้นก็มีการใช้สมุนไพรที่เราเรียกว่า พริกหอม(พริกพราน มะแขว่น หรือซวงเจีย) บางสายพันธุ์ที่ไม่มีกลิ่นแรง


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ต.ค. 19, 20:30
ยิ่งถ้าเป็นปลาดุกอุย ยิ่งน่าอร่อย  ;D

เรื่องนี้ไม่ค่อยแน่ใจครับ   ด้วยที่ปลาดุกอุยมีลักษณะเนื้อที่ค่อนข้างจะออกไปทางหยาบและไม่ละเอียดแน่นเหมือนกับปลาดุกด้าน  การเอาไปย่างจึงดูจะเหมาะกว่าการเอาไปทำแกง การย่างช่วยทำให้เนื้อปลาดุกอุยแห้งและฟู ประกอบกับมีสีของเนื้อออกไปทางเหลืองอ่อนด้วย จึงทำให้ดูน่ากินกว่าปลาดุกด้านที่มีสีเนื้อออกไปทางขาวซีด

เท่าที่ตัวเองพอจะมีความคุ้นเคยมา ปลาดุกอุยจะนิยมนำไปย่างกินในเมนูปลาดุกอุยย่างกินกับดอกสะเดาและน้ำปลาหวาน  หรือย่างแล้วกินกับน้ำปลาปรุงรสต่างๆ (น้ำปลามะนาว น้ำปลามะนาวกับพริกขี้หนูสวนและหอมซอย น้ำปลาใส่มะม่วงเปรี้ยวซอย ...) ปลาดุกอุยในเมนูที่นำไปทำแบบผัดเผ็ดหรือแกงนั้น ผมนึกไม่ออกเลยว่าได้เคยลิ้มรสในพื้นที่ต่างจังหวัดใดๆ จะมีก็คงจะเป็นในพื้นที่ของกรุงเทพฯและปริมณฑลเท่านั้น   

ปลาดุกที่ว่าเป็นปลาดุกอุยที่ย่างขายกันอยู่ในตลาดทั่วๆไปนั้น ผมเห็นว่าเป็นปลาดุกเลี้ยงทั้งนั้น อาจจะมีบางสายพันธุ์ที่มีสีเนื้อเป็นสีเหลืองอ่อน(เมื่อย่าง) หรือไม่ก็ประด้วยน้ำขมิ้นอ่อนๆหรือสีผสมอาหารที่จะทำให้เนื้อมีสีเหมือนปลาดุกอุยเมื่อย่าง   ผมไม่เคยเห็นปลาดุกอุยที่มีขนาดลำตัวที่ใหญ่เท่ากับปลาดุกด้านที่เลี้ยงขายส่งกันอยู่ในตลาดต่างๆในปัจจุบันนี้


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ต.ค. 19, 08:56
ปลาดุกย่าง  (ไม่รู้ว่าอุยหรือเปล่านะคะ)น้ำปลาหวาน สะเดาลวก


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ต.ค. 19, 11:09
ปลาดุกทำอาหารอร่อยได้อีกอย่างหนึ่ง คือยำปลาดุกฟูค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ต.ค. 19, 18:35
หายไป ตจว.มาครับ ได้ไปเดินตลาดอย่างที่ชอบทำเป็นกิจวัตร ซึ่งได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจอยู่พอควร

ในเบื้องแรก จะขอแบ่งตลาดขายของเพื่อการบริโภคสำหรับการสนทนาในกระทู้นี้ออกเป็น 5 ลักษณะหลักๆ ได้แก่ ตลาดเช้า ตลาดบ่าย ตลาดขายส่งเฉพาะสินค้าบางประเภท ตลาดกลาง และตลาดเพื่อนักท่องเที่ยว

ตลาดขายส่งเฉพาะสินค้าบางประเภท ก็มีอาทิ ตลาดไข่ ที่เทเวศน์  ตลาดผลไม้ ที่สะพานขาว(ตลาดมหานาค) ...     แต่ก่อนโน้นมีตลาดท่าเตียนและปากคลองตลาด ซึ่งเป็นแหล่งรวมของสินค้าที่เป็นผลผลิตทางเกษตรกรรมที่สามารถขนส่งได้ทางน้ำ กล่าวได้ว่าเป็นแหล่งรวมของสรรพผลิตผลและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรในพื้นที่ภาคกลางที่สามารถขนส่งผ่านระบบคูคลองที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยา   ในปัจจุบันนี้ระบบการขนส่งหลักได้เปลี่ยนไปเป็นทางบกโดยใช้รถกระบะและรถ 10 ล้อ พืชผลทางการเกษตรก็เลยไปวางรวมรอการขายส่งอยู่ที่ตลาดกลางของพื้นที่ต่างๆ     


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ต.ค. 19, 18:57
ตลาดขายส่งเฉพาะสินค้าบางประเภทในต่างจังหวัดนั้น เท่าที่นึกออกได้ในทันใดก็จะเป็นตลาดที่จะเรียกกันว่าสะพานปลา   ในกรุงเทพฯเองก็มีอยู่ในพื้นที่ขององค๋การสะพานปลาในย่านเจริญกรุง  ในพื้นที่รอบๆกรุงเทพฯก็จะมีเช่นที่ปากน้ำ(สมุทรปราการ) มหาชัย(สมุทรสาคร) แม่กลอง(สมุทรสงคราม)  ที่ไกลออกไปก็จะมีเช่น อ่างศิลา(ชลบุรี) ระยอง ชะอำ หัวหิน ชุมพร ระนอง ฯลฯ  ก็คือตามจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายทะเลทั้งหลาย 

ด้วยที่แต่ก่อนนั้นการท่องเที่ยวภายในประเทศของเรามีข้อจำกัดค่อนข้างจะมาก ทั้งในด้านเส้นทางและโครงข่าย ด้านการสื่อสารคม ด้านยานพาหนะ ด้านที่พักค้างแรม ....  สถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่พักผ่อนที่จัดว่าดีและเหมาะสมที่สุดน่าจะอยู่ในระยะของการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวที่ใช้เวลาประมาณครึ่งวัน ประกอบกับนิยมกระทำกันเป็นครอบครัวและไปเล่นน้ำทะเล ก็จึงมุ่งไปพักค้างแรมในที่ๆมีลักษณะของความเป็นส่วนตัว ซึ่งก็คือ บังกาโล  แล้วก็ไปสะพานปลาตามเวลาที่เรือหาประมงเข้าเทียบท่า จับจ่ายของทะเลสดๆมาทำกินกันที่บังกาโล  เป็นความสุขของคนรุ่น สว.ในปัจจุบัน 

ต่างกับสมัยนี้มากๆที่จะนอนก็ในโรงแรม จะกินก็ต้องเป็นไปตามเมนูของร้านอาหาร แถมเจอวิธีการทำแบบของเขามิใช่แบบที่ชอบของเรา


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ต.ค. 19, 19:54
แท้จริงแล้ว แต่ละสพานปลาก็จะมีของทะเลสดที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะของการทำประมง หากจะจำแนกออกง่ายๆแบบของผมก็น่าจะมีอยู่ 3 ประเภท คือประมงชายฝั่ง ประมงน้ำลึก และประมงในน่านน้ำสากล   

สำหรับประมงชายฝั่งนั้น ของ(สัตว์)ทะเลก็ยังมีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ซึ่งส่วนหนึ่งของเรื่องก็ไปเกี่ยวข้องกับตะกอนที่พื้นท้องทะเลว่าจะเป็นหิน (rocky) เป็นทรายหยาบ (sandy) เป็นทรายละเอียด (silty / loamy) หรือเป็นโคลน (clayey / muddy)   อีกส่วนหนึ่งก็ไปเกี่ยวกับเรื่องของความเค็มของน้ำทะเล(salinity)  แล้วก็ยังไปเกี่ยวข้องกับเรื่องของการไหลเวียนของกระแสน้ำที่ก้นทะเล (abyssal current) ที่ส่วนบน (เช่น long shore current)  เรื่องของอุณหภูมิ เรื่องของกายภาพของพื้นท้องทะเล   เพียงนี้ก็คงจะพอ คงจะไม่ลงไปถกในทางวิชาการต่อไปนะครับ

เอาเป็นว่าแต่ละพื้นที่ชายทะเลก็จะมีของทะเลหลักๆที่ต่างกันหรือที่อร่อยไม่เหมือนกัน   อาทิ แถบสมุทรสงครามก็จะมีหอยแครง หอบแมลงภู่ หอยหลอด เป็นต้น  แถบอ่างศิลาก็จะมีหอยนางรม หอยกะพง แถวสงขลาก็จะมีปลากระบอก  แถวระยองก็จะมีปลาหมึก  เป็นต้น

จึงคงจะมิใช่เรื่องที่ถูกต้องนักที่จะไปหากินหอยแครงหรือหอยแมลงภู่แบบสดใหม่อร่อยๆในพื้นที่ชายทะเลย่านชลบุรี ระยอง...   เช่นกัน ไปหาดใหญ่ สงขลา ก็คงจะต้องกินปลากระบอกนึ่ง หรือทอดจึงจะถูกโฉลก 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ต.ค. 19, 18:42
ลองสำรวจดูว่า จังหวัดที่อยู่ชายทะเลใดมีของทะเลหรืออื่นใดที่โดดเด่นที่ผู้คนมักจะกล่าวถึงบ้าง ไล่เรียงขึ้นมาตั้งแต่ จ.ตราดเลย

ตั้งแต่ครั้งกระโน้น...เรื่อยมาจนถึงเมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว การไปเมืองตราดของบุคคลปกติทั่วๆไปมักจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพลอย แล้วก็คุ้นกับชื่อของสถานที่เพียงสองสามแห่ง โดยเฉพาะบ่อไร่และเขาสมิง (ปัจจุบันมีระดับเป็นอำเภอ) ซึ่งเป็นแหล่งขุดพลอย ก็เพียงเพื่อจะหาซื้อไพลิน ทับทิมสยาม เขียวบางกระจะ และพุดน้ำบุษ  ขากลับก็แวะซื้อผลไม้แถว อ.ขลุงของจันทบุรี  คิดว่าก็จนกระทั้งเริ่มมีการเผาพลอยเพื่อให้ได้สีที่เข้มขึ้น การไปตราดจึงเป็นการไปหาซื้อของธรรมชาติที่ไม่ผ่านการเผา   สุดท้ายเมื่อพลอยทุกชิ้นได้ผ่านการเผาและมีการนำเข้ามาจาก ตปท. ผนวกกับพื้นที่ชายทะเลทางภาคตะวันออกได้มีการพัฒนามากขึ้นและอน่างรวดเร็ว  การคิดจะไปตราดจึงได้เปลี่ยนไปเป็นเรื่องของการท่องเที่ยว ไปเกาะช้าง เกาะกูด...   

ก็อาจจะด้วยเพราะพัฒนาการดังกล่าว ของทะเลของเมืองตราดจึงไม่เด่นดังออกมา กระทั่งของดีในพื้นที่บนบกที่ใช้เป็นองค์ประกอบในเครื่องต้มเครื่องแกงก็ไม่เด่นดังออกมา    หน่อเร่ว ครับ     


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ต.ค. 19, 19:38
จันทบุรี  ก็มีพัฒนาการคล้ายๆกับตราด เพียงแต่จันทบุรีเป็นเมืองที่มีผู้คนมากกว่าและอยู่ใกล้มากกว่าตราด  ผมยังนึกไม่ออกถึงของทะเลเด่นๆจากการประมงชายฝั่งของจันทบุรี น่าจะเป็นปลาหมึก ? เพราะมีระบบชายฝั่งทางธรรมชาติที่ต่อเนื่องกับระยอง  แต่ของอร่อยแน่นอนแต่ดั้งเดิมก็คือ การใช้ใบชะมวง หน่อเร่ว และกระวาน ในการทำอาหารบางเมนู

ชะมวงเป็นต้นไม้ที่ขึ้นง่าย ผลที่ตกลงสู่ผืนดินก็สามารถจะงอกเงยได้ไม่ยาก ในภาคเหนือเรียกกันว่า ส้มป้อง และนิยมเอามาทำอาหารคู่กับเห็ดถอบ(เห็ดเผาะ)    การทำอาหารที่ใส่ใบชะมวงนั้นไม่ยากอย่างที่คิด จะกินสดกับลาบก็ได้ จะใส่แกงเ้พื่อให้ออกรสส้มๆก็ได้ จะใช้แบบฉีกสดๆใส่ลงไปในขณะปรุงก็ได้ หรือจะอังไฟให้นิ่มๆก่อนจะฉีกใส่ลงไปก็ได้   

แต่เมนูที่ผมว่าอร่อยจริงๆนั้น จะเรียกว่าผัดหรือแกงก็ไม่รู้    เอาข่าอ่อนมาหั่นเป็นแว่นๆย่างไฟให้หอม เอาหอมแดงและกระเทียมหมกไฟพอสุก เอาพริกแห้งเม็ดใหญ่ย่างไฟอ่อนๆให้น้ำมันพริกออกจนหอม กะปิก็เช่นกัน ห่อใบตองกล้วยปิ้งให้สุกออกกลิ่นหอม  ซอยตะไคร้สดบางๆ เอาเกลือทะเลเม็ดใส่ครก เอาพริกแห้งลง โขลกให้แหลกแล้วจึงค่อยๆทะยอยใส่เครื่องอื่นๆลงไป โขลกรวมกันให้แหลก(ไม่จำเป็นต้องให้ละเอียด)  เอาน้ำมันใสกระทะ พอร้อนก็ใส่เครื่องแกงที่ตำไว้ลงไป ผัดจนหอม หมูสามชั้นเนื้อมากๆหน่อยที่หั่นไว้ใส่ลงไปผัดด้วย พอเนื้อหมูตึง ก็ใส่น้ำลงไปพอขลุกขลิก เติมรสเค็มลงไป แต่งรสด้วยน้ำตาลปี๊บ เอาใบชะมวงที่อังไฟไว้จนนิ่มฉีกใส่ลงไป ปิดฝากระทะบนตั้งไฟปานกลาง คะเนว่าทุกอย่างสุกระคนกันดีแล้ว ก็เป็นอันว่าใช้ได้     


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ต.ค. 19, 18:04
นึกออกว่ามีเมนูเด็ดที่ไม่ค่อยจะกล้าลิ้มลองกันนัก คือตัวเพรียง เอามากินสดๆกันในวงอาหารแกล้ม ตัดเป็นท่อนๆขนาดยาวประมาณนิ้วครึ่งถึงสองนิ้ว เอาตะเกียบคีบแช่่น้ำจิ้มพริกพริกกระเทียมตำรสเปรี้ยวหวาน แล้วหย่อนใส่ปาก  ผมเคยลองกินมาครั้งหนึ่งเมื่อประมาณเกือบๆ 50 ปีมาแล้ว เมื่อครั้งที่เริ่มเป็นของแปลกเข้ามาอยู่ในเมนูของร้านอาหารริมชายทะเลแถวท่าใหม่ (อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี) แล้วก็อีกครั้งหนึ่งหลังจากครั้งแรกประมาณเกือบๆ 30 ปี  คิดยังว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆในรูปแบบของอาหารและรสน้ำจิ้ม มีความต่างกันเล็กน้อยที่ตัวเพรียงมีความสะอาดขึ้นและมีการตัดให้เป็นท่อนสั้นๆเพื่อให้กินง่ายขึ้น   

สำหรับเรื่องของตัวเพรียงว่าจะมีลักษณะเป็นเช่นใดและจะมีกี่ชนิดนั้น คงจะหาได้ตามสื่อออนไลน์ต่างๆไม่ยากนัก รวมทั้งชนิดที่เอามากินกันด้วย   

ที่น่าสนใจก็คือ เพรียงที่นำมากินนี้พบอาศัยอยู่ในไม้โกงกางและไม้ตะบูน แต่ที่แปลกก็คือ ป่าโกงกางนั้นพบอยู่ในชายทะเลที่มีพื้นเป็นโคลนซึ่งมีอยู่ในหลายพื้นที่ในประเทศไทย แต่กลับพบว่าเพรียงที่พบมากที่สุดนั้นมีอยู่ในพื้นที่ของ จ.จันทบุรีและตราด  ในพื้นที่อื่นๆทั้งในด้านอ่าวไทยและในด้านฝั่งอันดามันที่มีชายทะเลเป็นโคลนก็มีป่าโกงกางเช่นกัน แต่พบไม่มาก


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ต.ค. 19, 18:17
หมูชะมวง เป็นอาหารที่อร่อยมาก   น่ารับประทานถ้าไม่กลัวไขมันในเส้นเลือดนะคะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ต.ค. 19, 18:23
เพิ่งรู้ว่าเพรียงเป็นอาหารจานเด็ด    ถ้าทำให้สุกแล้วก็กินได้ค่ะ  แต่ถ้าสดๆอย่างคุณตั้งเล่ามาเห็นจะมิบังอาจ
คุณเพ็ญชมพูรู้จักอาหารทะเลจานนี้ไหมเอ่ย?  เพรียงเป็นสัตว์ทะเลประเภทหอย หรืออะไรคะ?


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ต.ค. 19, 18:25
ก็เลยมีสองเรื่องที่ควรจะต้องขยายความ

เรื่องแรกคือไม้ที่เพรียงนิยมอาศัยอยู่ที่เรียกว่า ไม้ตะบูน นั้น   ผมคิดว่ามีคนรู้จักไม้ชนิดนี้ไม่มากนัก ยกเว้นเฉพาะคนในพื้นที่ชายทะเลแถวระยอง จันทบุรี และตราด    ต้นตะบูนนั้นดูจะพบมากอยู่ในพื้นที่ชายทะเลของ จ.ตราด  ผู้คนชาวถิ่นแต่ดั้งเดิมนิยมจะเลื่อยเป็นแว่นๆเอามาทำเขียง มีความคงทนมาก พอจะกล่าวได้ว่าใช้กันชั่วลูกชั่วหลานเลยทีเดียว มีความต่างกับเขียงไม้มะขามตรงที่จะมีเนื้อไม้ที่แน่นกว่า ผิวจะไม่เป็นขุยซึ่งจะไม่อมคมมีดและน้ำมันเมื่อใช้สับเนื้อสัตว์   ไปเที่ยวกันในพื้นที่ย่านนั้นก็ลองหาซื้อดูนะครับ ราคาอาจจะสูงหน่อย แต่ดีกว่าการใช้เขียงโพลิเมอร์สีสวยงามต่างๆ หรือเขียงไม้แบบฝรั่งที่ทำจากไม้อะไรก็ไม้รู้ แถมยังถูกเคลือบน้ำยาอะไรก็ไม่รู้อีก  


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ต.ค. 19, 18:25
เพรียงผัดพริกไทยดำ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ต.ค. 19, 18:51
เพรียงมิใช่เมนูโปรดของผม  ก็แหยงๆที่จะตักเอาเข้าปากอยู่เหมือนกันครับ ไม่ว่าจะเป็นแบบกินสดหรือกินแบบสุก  เขาก็ว่ากันว่าเป็นยาโด๊ปและยังกินอร่อยกว่าหอยนางรมสดเสียอีก  ผมเห็นว่าเพรียงยังมีกลิ่นที่แรงและคาวเมื่อตักเข้าไปอยู่ในปาก ประกอบกับยังไม่พบว่ามีของแนมอื่นใดที่เข้ากันได้ดีที่จะเอาไปเคียวรวมกันในปากจนเกิดความรู้สึก Umami     ต่างไปจากการกินหอยนางรมดิบไม่ว่าจะเป็นแบบโรยแต่เกลือหรือบีบมะนาวแบบฝรั่งนิยม หรือจะกินแบบไทยที่มีชุดเครื่องเคียงต่างๆกันแต่จะต้องไม่ขาดยอดกระถิน  ตัวผมเองนิยมกินหอยนางรมดิบตัวขนาดประมาณนิ้วหัวแม่โป้ง   หอยนางรมตัวขนาดใหญ่เป้งนั้น ผมว่ากินสดไม่อร่อย ผมกลับชอบเอาไปลวกในหม้อไฟที่ต้มน้ำกับผักกาดดอง แล้วเอามาตัดแบ่งครึ่งทาน


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 26 ต.ค. 19, 08:03
ผมเคยได้มีโอกาสลองทาน 2-3 ครั้งเหมือนกันครับ เมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว ที่ร้านอาหารริมป่าชายเลน แถวๆ สำนักงานป่าไม้เขตที่อำเภอขลุง จันทบุรี
ก็เพราะเจ้าถิ่นแหละครับ เป็นคนพาไปพร้อมกับสั่งเมนูนี้ มาให้ลองวัดใจ ซึ่งก็ต้องทำใจอยู่นานเหมือนกันครับ เพราะเขากินกันแบบที่เห็นใน youtube นี้เป๊ะๆ

เพรียงไม้ (https://www.youtube.com/watch?v=AYYf0rlVDho)

และถ้าผมจำไม่ผิด ดูเหมือนว่า ตัวเพรียงที่ลองทาน ตัวเขาจะมีสีออกขาวเหลือง(ไม่ดำ) สีคล้ายๆสีน้ำเต้าหู้ เหมือนสีหอยนางรม
ซึ่งอาจเป็นเพราะว่า ในสมัยนั้น ยังไม่นิยมทำนากุ้งในบริเวณป่าชายเลนใดๆ ทำให้น้ำทะเลบริสุทธิ์กว่าในสมัยนี้
แต่ก็เริ่มมีการลักลอบตัดป่าชายเลนกันบ้างแล้วครับ จึงทำให้ต้องออกไปร่วมสำรวจพื้นที่เพื่อทำแผนที่ป่าชายเลนในขณะนั้น


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ต.ค. 19, 08:59
เพรียงทะเลทอด  พอไหวไหมคะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ต.ค. 19, 17:25
เพรียงทะเลทอดน่าจะพอไหวนะครับ เมนูนี้ไม่เคยทดลองทานครับ   ตามภาพก็คงจะเป็นการเอามาชุบแป้งทอด ตัวสดๆของมันมีน้ำเยอะ หากจะเอาลงกระทะทอดเลยก็คงจะต้องใช้น้ำมันมากๆแบบ deep fried แล้วก็คงจะต้องมีฝา่ปิดกระทะด้วย มิฉะนั้นน้ำมันคงจะกระเด็นน่าดูเลย

เมื่อดูลักษณะของน้ำจิ้มที่เห็นอยู่ในภาพ  ดูเป็นน้ำจิ้มประเภทที่มีรสออกไปทางหวาน ไม่ออกไปทางเปรี้ยวและเผ็ด  เลยทำให้พอจะสันนิษฐานไปได้ว่า เมื่อเอามาชุบแป้งทอดแล้ว ความเป็นตัวตนของมันได้แปรเปลี่ยนหายไปหมดเลย


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ต.ค. 19, 18:19
ใน คห.262 ของคุณ ninpaat  ได้กล่าวว่าในสมัยนั้นได้เริ่มมีการลักลอบตัดป่าชายเลนเพื่อทำนากุ้งกันบ้างแล้ว  ก็เลยขอโยงเข้าไปหาเรื่องที่จะขยายความอีกเรื่องหนึ่ง(นอกเหนือไปจากไม้ตะบูน)ใน คห.259 ของผมว่า ด้วยเหตุใดจึงเพรียงจึงมีอุดมอยู่ในพื้นที่ชายทะเลแถวจันทบุรี-ตราด  จะพยายามเรียบเรียงเรื่องราวแบบสั้นๆง่ายๆนะครับ

ในพื้นที่บนบกย่านจันทบุรีและตราดนั้น เป็นบริเวณที่มีหินหนืดใต้โลกโผล่ขึ้นมา เรียกว่าหิน Basalt  ในเนื้อของหินชนิดนี้เองที่มีผลึกของแร่ในตระกูล Corumdum ผสมอยู่ด้วย ซึ่งมีทั้งเม็ดขนาดเม็ดเล็กและขนาดเม็ดใหญ่ เมื่อหินนี้ผุพังลงมากลายเป็นกรวดหินดินทราย ตัวแร่ Corumdum ซึ่งทนทางต่อการผุพังมากกว่าก็จะยังคงสภาพอยู่ แต่ก็จะถูกพัดพากลิ้งไปมา กระเทาะออกบ้างจนเม็ดเล็กลงและมีความมนกลมมากขึ้น   ในหิน Basalt นี้มีกลุ่มธาตุทางเคมีที่สำคัญๆในบางกลุ่มต่างไป(ทั้งชนิดและปริมาณ)จากพวกหินชนิดอื่นๆ ธาตุที่สำคัญก็มี เหล็ก แมกนีเซียม โปแตสเซียม และซิลิก้าในรูปของแร่ Tridymite   

ขยายความมาเพียงนี้ก็คงจะพอเห็นภาพได้บ้างแล้วว่า ด้วยเหตุใด เราจึงพลอยในตระกูล Corundum ในพื้นที่ย่านนี้ สีของพลอยก็จะแตกต่างกันออกไปสุดแท้แต่จะมีธาตุใดมาผสมอยู่ด้วยมากน้อยเช่นใด เราก็เลยมีพลอยทีเรียกว่าทับทิมสยาม ไพลิน พุดน้ำบุษ เขียวบางกระจะ....ฯลฯ       


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ต.ค. 19, 18:51
นั่นเป็นเรื่องของสวยงาม   ส่วนเรื่องที่เกี่ยวกับของกินก็เป็นอีกทางหนึ่ง

ดินที่ผุพังลงมาจากหิน Basalt อุดมไปด้วยธาตุเหล็กทั้งชนิดที่มีประจุบวกสองและบวกสาม มีธาตุแมกนีเซียม มีธาตุโปแตสเซียม และ Tridymite  ทั้งหมดนี้คือธาตุในดินที่แสดงถึงความสมบูรณ์ของผืนดินสำหรับพืชพรรณไม้ต่างๆ  ที่ดูจะสำคัญมากๆก็จะเป็นโปแตสเซียม ก็คงจะนึกออกได้ว่า ปุ๋ยที่เราใช้กันอยู่นั้น มันประกอบด้วยธาตุ NPK คือ โซเดียม ฟอสฟอรัส และโปแตสเซียม ตัว K คือตัวที่ทำให้พืชผักผลไม้ออกดอกออกผลดี  ย่านจันทบุรี-ตราดก็เลยเป็นแหล่งปลูกผลไม้ที่ให้ผลผลิตที่ดีและอร่อย 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ต.ค. 19, 19:41

ขยายความมาเพียงนี้ก็คงจะพอเห็นภาพได้บ้างแล้วว่า ด้วยเหตุใด เราจึงพลอยในตระกูล Corundum ในพื้นที่ย่านนี้ สีของพลอยก็จะแตกต่างกันออกไปสุดแท้แต่จะมีธาตุใดมาผสมอยู่ด้วยมากน้อยเช่นใด เราก็เลยมีพลอยทีเรียกว่าทับทิมสยาม ไพลิน พุดน้ำบุษ เขียวบางกระจะ....ฯลฯ       
คุณตั้งคงหมายถึงพลอยบุษราคัม  หรือ yellow sapphire   พุดน้ำบุศย์ เป็นชื่อต้นไม้ดอกสีเหลืองค่ะ
ส่วนเขียวบางกระจะ คงเป็นอย่างเดียวกับเขียวส่อง green sapphire   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ต.ค. 19, 05:16
....ปุ๋ยที่เราใช้กันอยู่นั้น มันประกอบด้วยธาตุ NPK คือ โซเดียม ฟอสฟอรัส และโปแตสเซียม ตัว K คือตัวที่ทำให้พืชผักผลไม้ออกดอกออกผลดี  ย่านจันทบุรี-ตราดก็เลยเป็นแหล่งปลูกผลไม้ที่ให้ผลผลิตที่ดีและอร่อย 

ย้อนกลับไปอ่าน ก็ได้พบข้อผิดพลาด ตัว N ในปุ๋ยนั้น คือ ไนโตรเจน ครับ มิใช่โซเดียม ซึ่งใช้สัญลักษณ์ Na 

ขออภัยในความผืดพลาดครับ ใจมัวแต่ไปนึกถึงกลุ่มธาตุที่สามารถพบร่วมกันได้ในการเกิดแร่ชนิดหนึ่ง ซึ่งจะมี โซเดียม Na  แคลเซียม Ca  และโปแตสเซียม K  (หากเกิดในสภาพที่อุณหภูมิสูง ก็จะมี K มากหรือทั้งหมด)  คือกำลังนึกไปถึงผลของแปรเปลี่ยนของแร่่ตัวหนึ่ง (Feldspar)ซึ่งมีธาตุทั้งสามตัวนี้ ที่จะทำให้ดินมีธาตุสมบูรณ์เช่นใด    แล้วก็กำลังนึกถึงธาตุแคลเซียม Ca กับแม็กนีเซียม Mg ที่เป็นพวกคาร์บอเนต (Carbonate) ที่จะไปช่วยลดความเป็นกรดของดินในป่าโกงกาง

เอาไว้ต่อตอนเย็นนะครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ต.ค. 19, 09:04
เขียวส่องบางกะจะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ต.ค. 19, 09:08
บุศราคัม จันทบุรี


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ต.ค. 19, 18:07
ก่อนจะต่อเรื่องดิน จะขอกลับไปเรื่องพลอยที่ อ.เทาชมพู ได้ให้ความเห็นไว้

ก็ต้องขออภัยอีกครับ  ชื่อพลอยสีเขียวและสีเหลืองที่ผมเรียกนั้น เป็นชื่อเรียกขานที่เข้าใจกันในการถกทางวิชาการในสนาม เป็นชื่อที่ค่อนข้างจะเจาะจงในคุณสมบัติบางประการสำหรับสิ่งที่จะพูดถึง ซึ่งก็มีทั้งที่เรียกแบบหลวมๆหรือเจาะจงลงไปถึงขั้นรายละเอียดเล็กน้อยให้ชัดเจนเลย ผมเขียนเพลินไปเลยใช้ชื่อแบบที่คนเขาไม่ใช้กัน   ชื่อเรียกขานที่ผู้คนโดยทั่วไปเรียกว่า เขียวส่อง และ พลอยน้ำบุษ นั้นถูกต้องแล้วครับ

พลอยซึ่งเป็นผลึกโปร่งใสนั้น เมื่อมีแสงผ่านตัวมัน แสงก็จะกระจายออกไปตามโครงสร้างของผลึก ด้วยที่แสงแต่ละสีมีคลื่นความถี่ที่ต่างกัน แสงที่ทะลุผ่านมาถึงผิวแต่ละแห่งจึงมีความต่างกัน   ในพลอยสีต่างๆนั้น หากดูที่ด้านข้างบริเวณรอยต่อของ crown กับ pavilion ก็จะเห็นอีกสีหนึ่ง  การตั้งแกนเม็ดพลอยเพื่อจะเจียรนัยให้ได้สีที่โดดเด่นออกมาจึงเป็นเรื่องของความชำนาญและฝีมือของคนเจียรนัย   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ต.ค. 19, 18:38
ความสมบูรณ์ของดินในพื้นที่จันทบุรี ตราด และระยองในบางส่วน ก็เป็นไปดังที่ได้กล่าวถึงแล้ว   ดินบนบกทั้งหลายก็ถูกพัดพาสู่ที่ราบต่ำชายทะเล ประกอบกับในพื้นที่ย่านนั้นก็ยังมีหินปูนซึ่งเป็นหินที่ประกอบไปด้วยแร่ธาตุที่เป็นด่าง และมีธาตุแคลเซี่ยม Ca และ แม็กนีเซียม Mg ปนกันอยู่ในตัว ซึ่งจะไปช่วยปรับความเป็นกรดของผืนดิน  แล้วจะมิทำให้พื่นที่ทั้งบนบกและชายทะเลบริเวณที่เรียกว่าเขตในอิทธิพลของน้ำขึ้นน้ำลง (littoral zone)มีความสมบูรณ์หรือ สัตว์ทะเลพวกตัวเล็กๆที่เป็นต้นทางของห่วงโซ่อาหารต่างๆก็ชอบ  ป่าชายเลนก็สมบูรณ์ตามไปด้วย มีไม้ขึ้นหนาแน่น เกิดใหม่แล้วก็ตายไป  จัดเป็นระบบนิเวศน์ที่ดีมากทีเดียว    ส่วนหนึ่งก็คงจะพอเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงมีเพรียงมากกว่าที่อื่นเขา


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ต.ค. 19, 18:58
ได้กล่าวถึงชื่อ Tridymite ไว้  เพียงเพื่อจะบอกว่า มันเป็น Silica ที่เกิดในรูปแบบหนึ่ง  เท่าที่พอจะมีความรู้อยู่บ้าง แร่ควอร์ซหรือซิลิก้าเป็นสารที่พืชมีความจำเป็นต้องใช้ในการสร้างความแข็งแรงให้กับรากเพื่อการหาอาหารและลำต้น 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ต.ค. 19, 19:29
จากจันทบุรีก็มาถึงระยอง  ระยองมีชายทะเลที่เป็นหาดทรายและมีพื้นท้องทะเลเป็นทรายสะอาดและมีบางที่เป็นกรวดหิน (เช่นแถวบ้านเพ-เกาะเสม็ด) ซึ่งบ่งชี้ว่าเป็นบิเวณที่มีคลื่นลมและมีกระแสน้ำ (longshore current) ค่อนข้างแรง  ซึ่งหมายถึงต่อไปว่าเป็นพื้นที่ๆน้ำทะเลสะอาด มีออกซิเจนสูง และได้รับแร่ธาตุสำคัญจากย่านจันทบุรี-ตราด  ที่ระยองนี้จึงดูจะเป็นพื้นที่ๆอุดมไปด้วยสัตว์ทะเลตัวเล็กๆที่อยู่ต้นๆของห่วงโซ่อาหาร และเป็นแหล่งปลาหมึก 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ต.ค. 19, 18:49
คนที่เดินทางผ่านหรือค้างแรมที่ระยอง คงจะนึกถึง บ้านเพ เกาะเสม็ด ปลาหมึกแห้ง กะปิ น้ำปลา และทุเรียนหมอนทอง มากกว่าที่จะนึกถึงอาหารจากสัตว์ทะเลใดๆแบบจำเพาะเจาะจง   ดูเหมือนว่าหมู่บ้านชาวประมงที่สำคัญจะมีอยู่ที่บ้านเพอยู่เพียงแห่งเดียว และก็ยังเป็นการทำประมงแบบใกล้ฝั่งและยังค่อนข้างจะเน้นเป็นพวกสัตว์ผิวน้ำอีกด้วย(Pelagic animals) เช่น เคย ปลาหมึก ปลากะตัก...

ปลาหมึกแห้งนั้น แต่ก่อนนิยมจะทำแบบผ่าตามยาวตัว แบะออกแล้ววางตากแดด  คัดขนาดแล้วส่งขายกันไปทั่วประเทศ ก็มีการเอาไปแช่น้ำขี้เถ้าทำเป็นปลาหมึกกรอบที่ใส่อยู่ในชามเย็นตาโฟ แต่ส่วนมากมักจะไปลงเอยด้วยการเอาไปปิ้งบนเตาถ่านแล้วฉีกกินเป็นของแกล้ม  หรือไม่ก็ไปอยู่ที่ท้ายรถจักรยานหรือรถสามล้อขายปลาหมึกย่าง ซึ่งจะมีเตาไฟถ่านเล็กๆ มีเครื่องรีดเพื่อยืดให้ตัวปลาหมึกย่างบางลง มีขนาดใหญ่ขึ้น และลดความเหนียวลงไป กินกับน้ำจิ้มแบบเดียวกันกับน้ำจิ้มเต้าหู้ทอด ใส่ในกระทงใบตองแห้งใบเล็กๆ  หลายท่านคงจะได้ทันเห็นเมื่อครั้งสนามหลวงยังเป็นแหล่งพักผ่อนสำหรับเด็กไปเล่นว่าวในขณะที่ผู้ใหญ่นั่งขับวงสนทนากันพร้อมไปกับเครื่องดื่มในช่วงเวลาแดดร่มลมตก   

ผมก็ยังไปหาซื้อเครื่องรีดปลาหมึกของเก่ามาเก็บไว้ดูเล่นอยู่เลยครับ

สมัยนี้มีผลิตภัณฑ์จากปลาหมึกหลายรูปแบบ แต่ที่น่าจะดูอร่อยมากกว่าเพื่อนก็เห็นจะเป็นหมึกกะตอย


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ต.ค. 19, 18:51
สำหรับพื้นที่บนบกส่วนต่อเนื่องระหว่าง จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง นั้น  แต่ก่อนโน้นได้ถูกแผ้วถางเพื่อทำเป็นไร่มันสำปะหลัง  ผมเคยเห็นไร่มันที่กว้างใหญ่สุดลูกหูลูกตาในพื้นที่ย่านนี้ จนกระทั่งถึงวาระที่เลิกรากันไป จะด้วยราคาหรือปริมาณผลผลิตที่ลดลงอย่างมากอย่างใดก็ไม่รู้  ต่อมาก็ได้เห็นพื้นที่ๆเป็นดินทราย แห้งแล้ง และมีแดดร้อนจ้า ไร้ร่มเงาใดๆ   แล้วก็ได้ค่อยๆเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่ๆมีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติเพิ่มขึ้นเรื่อยๆด้วยพระกรุณาอันล้นพ้นของในหลวงรัชกาลที่ 9    


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ต.ค. 19, 19:26
จากระยองเข้ามาตามเส้นทางถนนเดิม(ถนนสุขุมวิท) ผ่าน อ.สัตหีบ ก็จะมาถึงหมู่บ้านชาวประมงที่สำคัญ คือ บางเสร่  ของทะเลส่วนมากจะเป็นปลาซึ่งชาวประมงจะจับกันได้ไม่มากนักด้วยที่เป็นเรือขนาดเล็ก แต่ที่สำคัญคือมันเป็นปลาสดที่สดจริงๆของแต่ละวัน คือไม่ผ่านกระบวนการแช่เย็นใดๆ ก็เลยมีชื่อโด่งดัง   และก็ด้วยที่สถานที่นี้อยู่ห่างจากแหล่งชุมชนขนาดใหญ่ มีความสงบเงียบ และมีทิวทัศน์สวยงามพอควร ก็เลยกลายเป็นสถานที่นิยมสำหรับผู้ที่ต้องการความสงบเงียบ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการบรรยากาศที่ออกไปทาง(improvised) ความเป็นส่วนตัว ความเป็นครอบครัว ความผ่อนคลาย และโรแมนติก


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ต.ค. 19, 20:17
ยังนึกไปถึงปลาหมึกแช่ด่าง   เอามาแช่น้ำ ล้างให้สะอาด บั้งด้านเนื่อในเป็นตารางสี่เหลี่ยมเล็กๆ หั่นเป็นขิ้นๆพอคำ  จะเอามายำก็อร่อย ทำเหมือนยำเนื้อย่าง ใส่หอมใหญ่ ใบคื่นไช่ พริกขี้หนูสวนบุบ/ซอย น้ำปลา มะนาว อาจจะแถมด้วยน้ำตาลทรายแดงนิดนึงก็ได้    ปัจจุบันนี้ มีร้านขายอาหารน้อยรายที่จะบั้งก่อนที่จะตัดแบ่งออกเป็นชิ้นๆ เกือบทั้งหมดจะเอาปลาหมึกมาหั่นเป็นชิ้นๆเลย แม้จะหั่นแบบสไลด์ก็ยังไม่ทำกัน ทำให้ขาดความอร่อยและรสสัมผัสไปหมด      เอามาจิ้มน้ำจิ้มที่เรียกว่าน้ำจิ้มซีฟู๊ดก็อร่อยดีเหมือนกัน 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ต.ค. 19, 08:31
ยำปลาหมึกสด


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 ต.ค. 19, 16:59
ปลาหมึกแห้งนั้น แต่ก่อนนิยมจะทำแบบผ่าตามยาวตัว แบะออกแล้ววางตากแดด  คัดขนาดแล้วส่งขายกันไปทั่วประเทศ ก็มีการเอาไปแช่น้ำขี้เถ้าทำเป็นปลาหมึกกรอบที่ใส่อยู่ในชามเย็นตาโฟ

https://youtu.be/sf5zHl-LNCs

ยังนึกไปถึงปลาหมึกแช่ด่าง   เอามาแช่น้ำ ล้างให้สะอาด บั้งด้านเนื่อในเป็นตารางสี่เหลี่ยมเล็กๆ หั่นเป็นขิ้นๆพอคำ  จะเอามายำก็อร่อย

ขี้เถ้ามีฤทธิ์เป็นด่าง หมึกแช่ขี้เถ้าข้างบน กับ หมึกแช่ด่างข้างล่างเหมือนกันไหมหนอ ❓


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ต.ค. 19, 19:41
ขี้เถ้ามีฤทธิ์เป็นด่าง หมึกแช่ขี้เถ้าข้างบน กับ หมึกแช่ด่างข้างล่างเหมือนกันไหมหนอ ❓

เป็นคำถามที่น่าสนใจมาก    เคยได้ยินว่าทำปลาหมึกนี้ด้วยการแช่ในน้ำผงฟูก็ได้เช่นกัน ซึ่งผงฟูก็คือ โซเดียมไบคาร์บอเนต (NaHCO3) และก็มีฤทธิ์เป็นด่าง หากทำออกมาแล้วได้ผลดีและไม่เป็นอันตรายในการบริโภค อันนี้คงจะถูกต้องกับคำพูดที่ใช้คำว่าหมึกแช่ด่าง   

น้ำด่างนั้นสามารถทำได้จากสารทางเคมีหลายชนิด และแต่ละชนิดก็มีความรุนแรงต่างกันไปในการมีปฏิกริยากับสารทางอินทรีย์เคมีและอนินทรีย์เคมีต่างๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารละลาย อุณหภูมิ และภายใต้ความดันบรรยากาศที่มากน้อยต่างกันไปอีกด้วย การเลือกใช้อย่างเข้าใจและมีความเหมาะสมในห่วงโซ่ของการเตรียมอาหารจึงมีความเป็นทั้งศาตร์และศิลป์ ซึ่งในมากกรณีก็เกิดมาจากภูมิปัญญาของบรรพชน     


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 ต.ค. 19, 20:11
เคยได้ยินว่าทำปลาหมึกนี้ด้วยการแช่ในน้ำผงฟูก็ได้เช่นกัน ซึ่งผงฟูก็คือ โซเดียมไบคาร์บอเนต (NaHCO3) และก็มีฤทธิ์เป็นด่าง

NaHCO3 ชื่อสามัญคือ Baking Soda หรือ โซดาทำขนม เป็นส่วนประกอบตัวหนึ่งในผงฟู (Baking Powder)

https://youtu.be/8gS1kzvo5dI

ไม่ว่าจะใช้น้ำด่างชนิดใด สุดท้ายก็จะได้หมึกกรอบเหมือนกัน  ;D



กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ต.ค. 19, 20:24
ที่น่าสนใจมากกว่านั้นก็คือตัวขี้เถ้าจากไม้ฟืนที่เมื่อเอามาใสในน้ำแล้วทำให้น้ำมีฤทธิ์เป็นด่าง และไม้ต่างชนิดกันก็ยังดูให้น้ำที่มีความเป็นด่างต่างกันด้วย  

ก็ต้องขออภัยอีกครั้ง แต่ก็คิดว่าเป็นประโยชน์แม้ดูจะนอกเรื่องออกไปทางวิชาเกินมากไปหน่อย    เอาไว้ต่ออีกนิดนึงพรุ่งนี้ ครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 30 ต.ค. 19, 12:23
เคยลองทำปลาหมึกแช่ด่างอย่างที่เขาแนะนำกันใน youtube พอทำเสร็จแล้ว สีออกมาใช่เลยค่ะ...เหมือนเปี๊ยบ แต่ไม่กรอบ ไม่อร่อยเลยค่ะ ไม่ทราบผิดพลาดตรงไหน  :-\


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ต.ค. 19, 18:00
ผมไม่เคยทำเลย เคยแต่เห็นเขาทำนามมามากแล้ว ทำแบบหมักน้ำขี้เถ้าในกะละมัง ดูไม่น่ากินเอาเสียเลย  เอาออกมาล้างแล้วถลกผิวออก ล้างให้สะอาดอีกหลายน้ำ แล้วก็แช่น้ำเพื่อมิให้มันแห้งก่อนที่จะเอามาทำอะไรๆ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ต.ค. 19, 18:54
เคยสังเกตใหมครับว่า ปลาหมึกกรอบที่มีวางขายกันในตลาดนั้น แต่ละเจ้าแต่ละตลาดในพื้นที่ต่างๆนั้น ดูจะมีความแตกต่างกันทั้งในเชิงของสีและของความหนา แล้วก็อาจจะเคยสังเกตพบว่ารสของปลาหมึกกรอบที่ใส่ในเย็นตาโฟของร้านแต่ละร้าน หรือที่อยู่ในเมนูของร้านอาหารระดับภัตตาคารนั้น ของแต่ละร้านของแต่ละภัตตาคารก็มักจะมีความแตกต่างกัน  ซึ่งหมายถึงว่ามันจะต้องมีที่สาเหตุแน่ๆ แล้วสาเหตุนั้นๆมันคืออะไร

ในความเห็นของผมและที่เคยประสบมา พวกร้านอาหารเก่าแก่ทั้งที่เป็นภัตตาคารหรือเป็นแบบ Street Foods เก่าแก่ทั้งหลายเหล่านั้น ปลาหมึกกรอบที่ใช้จะไม่มีรสออกขม สีของปลาหมึกจะค่อนข้างอ่อน มีเนื้อที่ออกไปทางใสเหมือนยางหนังสติ๊ก ไม่มีความขุ่นและไม่ออกไปทางหยาบกระด้าง     ทำให้นึกออกอยู่เพียงอย่างเดียวว่า น่าจะคงจะเป็นเพราะการเลือกใช้ปลาหมึกกรอบที่ทำด้วยการหมักแบบโบราณในน้ำขี้เถ้า 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ต.ค. 19, 20:04
เมื่อย้อนกลับไปดูว่า แล้วขี้เถ้านั้นก็ล้วนแต่ได้มาจากการใช้ไม้ฟืนที่ต่างกัน     

ขี้เถ้าเป็นสารที่ตกค้างมาจากการเผาใหม้เนื้อไม้ที่เป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon) ก็คือเกือบจะทุกอย่างที่เป็นสารประกอบของธาตุไฮโดรเจนกับธาตุคาร์บอนจะถูกสลายไปเกือบหมด (ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิในการเผาและโครงสร้างของคาร์บอนกับไฮโดรเจนและอ๊อกซิเจนที่ประกอบกันเป็นเนื้อไม้นั้นๆ)   

เกรงว่าจะไปกันใหญ่  เอาง่ายๆเป็นว่า แล้วมีอะไรทีตกค้างอยู่ในขี้เถ้าบ้าง  ก็น่าสนใจนะครับ คือในขี้เถ้าต่างๆนั้นมีส่วนประกอบที่ไม่หเมือนกันเลย โดยหลักๆก็จะมีแคลเซียมคาร์บอเนต ซึ่งก็คือธุลีของหินปูน นอกจากนั้นก็อาจพบธาตุอื่นๆและโลหะหนักในลักษณะของ trace elements  ขึ้นอยู่กับว่าเป็นไม้ที่ขึ้นอยู่ในพื้นที่ใด   

ก็ดูจะน่าสนใจตรงที่บรรพบุรุษได้ค้นพบและได้ถ่ายทอดภูมิปัญญาต่อๆกันมาว่าขี้เถ้าจากไม้อะไรจะทำให้ได้ปลาหมึกกรอบทีดูดี ปลอดภัย และกินอร่อย


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ต.ค. 19, 20:18
อาหารอย่างหนึ่งที่ใช้ปลาหมึกกรอบ(โดยเฉพาะส่วนที่เป็นหนวด)เป็นเครื่องปรุงร่วมกับหมูหั่นชิ้นเล็กๆ(หรือหมูสับ) คือ บะเต็ง หรือ หมึกบะเต็ง  ซึ่งจะกินกับข้าวสวยร้อนๆก็ได้ หรือจะตักคลุกกับมี่ซั่วก็อร่อยเหลือหลาย  (เช่นเมนูหนึ่งของภัตตาคารแห่งหนึ่งในย่านรพ.หัวเฉียวฯ)   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ต.ค. 19, 21:31
หนวดปลาหมึกผัดบะเต็ง


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 31 ต.ค. 19, 12:43
แล้วมีอะไรทีตกค้างอยู่ในขี้เถ้าบ้าง  ก็น่าสนใจนะครับ

ในขี้เถ้ามีสารประกอบและแร่ธาตุต่าง ๆ หลายชนิดตกค้างอยู่ แต่ตัวสำคัญที่ทำให้น้ำขี้เถ้ามีฤทธิ์เป็นด่าง คือ โปแตสเซียมคาร์บอเนต (K2CO3) เมื่อแช่หมึกแห้งในน้ำขี้เถ้า อนุภาคโปแตสเซียมจะเข้าไปแทนที่ไฮโดรเจนซึ่งมีขนาดเล็กกว่าในโครงสร้างโปรตีนของเนื้อหมึกบวกกับจะน้ำที่ตามเข้าไปทำให้หมึกแห้งดูสดและใหญ่ขึ้น เมื่อเทียบกับการใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต (NaHCO3) หมึกกรอบที่ได้จากการใช้น้ำขี้เถ้าจะมีขนาดใหญ่กว่าเพราะว่าอนุภาคโปแตสเซียมมีขนาดใหญ่กว่าโซเดียม

https://www.facebook.com/506996079338831/posts/1371520892886341?sfns=mo


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ต.ค. 19, 19:09
ขี้เถ้าที่ได้จากไม้ส่วนมากจะประกอบไปด้วยแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCo3)  มีโปแตสเซียมคาร์บอเนต (K2CO3) เป็นอันดับสองรองลงมา   แต่ตัวหลังนี้สามารถละลายน้ำได้ดีกว่ามาก ก็จึงเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้น้ำละลายขี้เถ้ามีความเป็นด่าง 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ต.ค. 19, 19:58
มันก็ฟังดูมีเหตุมีผลละค่ะ  แต่ถ้าใช้ความรู้สึกเข้าไปวัด    ปลาหมึกกับขี้เถ้าไม่น่าจะเป็นสองสิ่งที่สัมพันธ์กันได้เลย


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ต.ค. 19, 20:25
นึกได้อีกเรื่องหนึ่งว่า แต่ก่อนนั้นระยองก็มีชื่อเรื่องกุ้งแห้ง และก็เป็นประเภทกุ้งแห้งไม่มีเปลือก  เลยพาลทำให้ไปนึกถึงต้มจืดวุ้นเส้นที่เรียกว่า แกงร้อน  

แกงร้อนเป็นต้มจืดวุ้นเส้นที่มีเครื่องมากมาย ซึ่งดูจะเป็นต้มจืดชนิดเดียวที่ใช้ชื่อเรียกขานว่า แกงร้อน   เครื่องประกอบของแกงร้อนก็จะมีวุ้นเส้น ซึ่งก็จะต้องเป็นวุ้นเส้นที่ทำด้วยแป้งถั่วเขียว 100% เท่านั้น เส้นจึงจะมีความใส ไม่บวมอืดเมื่อตักวางไว้นานหรือเมื่อเก็บค้างไว้  มีเส้นเล็ก ไหลลื่น ใสและไม่กระด้าง   มีดอกไม้จีนแห้ง(Day Lily)ที่นำมาแช่น้ำไว้จนนุ่มแล้วผูกเป็นปม   มีฟองเต้าหู้แผ่นแห้งที่เอามาแช่น้ำอุ่นๆไว้จนนิ่ม จะบิออกเป็นชิ้นเล็กๆก่อนแช่น้ำอุ่นหรือจะแช่น้ำจนนิ่มแล้วตัดออกเป็นขิ้นเล็กก็ได้ตามแต่จะเห็นควร  มีปลาหมึกแห้งฉีกออกเป็นชิ้นเล็กๆ   มีหมูบะช่อสับพร้อมกับกระเทียม ปรุงรสด้วยเกลือ น้ำปลา หรือซีิอิ๊วขาว และพริกไทย   มีหอมใหญ่  มีรากผักชี มีผริกไทยดำบุบพอแหลก มีต้นหอมสด มีผักชีไว้โรยหน้า  บางคนก็มีกระทียมเจียวหอมๆเพื่อเหยาะเล็กน้อยในชามแกง   บางคนก็ต้มน้ำกระดูกหมูก่อนที่จะทำการใส่เครื่องปรุงปรุงใดๆ     แกงร้อนก็เลยการเป็นแกงจืดวุ้นเส้นแบบครบเครื่องที่หากินได้ค่อนข้างยาก ซึ่งแท้จริงแล้วทำได้ค่อนข้างจะง่ายเอามากๆ    


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ต.ค. 19, 20:40
แปลงออกไปหน่อยให้เป็นซุปแบบเสฉวน ก็เพียงใช้น้ำต้มกระดูกในปริมาณไม่มากเหมือนทำแกงจืด หรือจะใช้น้ำต้มที่ใส่ซุบก้อนก็ได้  แทนที่จะใช้หมูสับก็ใช้ไก่ต้มฉีกเนื้อออกเป็นเส้นๆ ใส่ไก่ฉีกมากหน่อยในปริมาณที่ใกล้กับวุ้นเส้น ใช้หอมใหญ่ที่หั่นออกเป็นชิ้นเล็กๆ  เมื่อน้ำเดือดก็ต่อยไข่ลงไปสักลูกสองลูก กวนให้เป้นเส้นในหม้อต้ม ปรุงรสให้ออกไปทางเค็มอ่อนๆ  จะทำให้มีความข้นมากขึ้นก็ใส่น้ำละลายแป้งมันลงไป (ค่อยๆใส่ลงไป แล้วทิ้งให้เดือดเพื่อให้แป้งสุก)  เมื่อจะทานก็ตักออกใส่ถ้วย เหยาะด้วยจิ๊กโฉ่วหรือ Worcestershire sauce  ก็จะกลายเป็นซุปแบบเสฉวนแบบเทียมหรือแบบที่แปลงออกห่างไกลไปเลย


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 พ.ย. 19, 11:02
ซุปเสฉวน


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 พ.ย. 19, 11:06
แกงร้อน


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 พ.ย. 19, 17:45
ซุปเสฉวนของจริงมีหน้าตาคล้ายกับภาพใน คห.295 ของ อ.เทาชมพู   ของที่ผมทำนั้นเป็นการแปลงออกไปจากแกงร้อนหรือต้มจืดวุ้นเส้นที่เหลือค้างอยูในหม้อ และก็ทำอยู่หลายเมื่อครั้งไปเป็นผู้ควบคุมงานอยู่ที่แคนาดา  เหตุที่ทำแปลงออกไปก็เพราะว่า เมื่อเราอุ่นของที่ค้างไว้น้ำแกงก็จะงวดลงและวุ้นเส้นก็จะบวมน้ำมากขึ้น ทำให้แกงนั้นมีความข้น ก็เลยคิดแปลงออกไปด้วยการฉีกเนื้อไก่ต้มใส่งไป เพิ่มปริมาณเห็ดหอมซอยบางๆลงไป อาจจะใส่เต้าหู้ขาวหั่นเป็นลูกเต๋าเล็กๆลงไปด้วย ก่อนที่น้ำแกงจะงวดลงมากก็ตีไข่ใส่ลงไปกวน ปรุงให้มีรสจัดขึ้น แล้วปรับแต่งรสด้วยซอส Lea & Perrins sauce ก็จะได้ของกินสภาพที่คล้ายกับซุปเสฉวน ซึ่งฝรั่งนิยมเรียกว่าซุปเปรี้ยวหวาน (Hot and sour soup)  ซุปนี้ดูจะเป็นที่นิยมกันของผู้คนที่เป็นชาวยุโรป และก็พอจะกล่าวได้ว่าเป็นเมนูที่ต้องมีอยู่ในร้านอาหารทุกร้านที่บอกว่าเป็นร้านอาหารจีน

ผู้คนในเวียดนามตอนบนก็นิยมกินซุปที่ทำคล้ายกับซุปเสฉวนนี้ หากแต่ใช้เนื้อปลาไหลฉีกแทน ท่านที่กินปลาไหลได้น่าจะต้องลองเมื่อมีโอกาส เป็นของดีของอร่อยของเขา ซึ่งผมก็เห็นว่าเป็นของอร่อยที่หากินได้ไม่ง่ายนัก    ร้านอาหารจีนเก่าแก่ในพม่าก็มีเมนูนี้เหมือนกัน     เลยชักสงสัยว่าซุปเสฉวนดั้งเดิมนั้น ฤาุจะเป็นซุปเนื้อปลาไหล ?


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 พ.ย. 19, 18:58
จากบางเสร่ขึ้นมา ถึงจอมเทียน พัทยา เรื่อยมาจนถึงศรีราชากระมังจึงจะเริ่มได้เห็นตลาดในความหมายที่เรารู้จักกัน ที่ศรีราชานี้มีสะพานปลา แต่ดูจะไม่เป็นตลาดของคนต่างถิ่น ซึ่งก็เป็นมาในลักษณะเช่นนี้ตลอดมา ศรีราชาเป็นพิกัดในเรื่องของการกินของนักท่องเที่ยวคล้ายกับบางเสร่ มากกว่าจะเป็นแหล่งจับจ่ายของทะเล

จากศรีราชาก็เข้าสู่บางแสน    แต่เดิมนั้นตัวตลาดด้านใน(ตลาดหนองมน)เป็นจุดสำหรับการหาซื้อของทะเลสด (ลูกชิ้นปลาที่ขายอยู่ในตลาดสดนี้ แต่ก่อนนั้นจัดว่าเป็นของที่ดีและอร่อยมากเลยทีเดียว)  สำหรับตลาดริมถนนก็จะเป็นพวกของแห้งและฝาก ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นผลผลิตของที่ใด (ผมเดาเอาว่า ก็คงจะมาจากอ่างศิลา) 

ของกิน/ของฝากเด่นดังของตลาดหนองมน(ริมถนน)นั้น ที่ยังคงกะพันอยู่ก็คือ ข้าวหลาม จนได้ชื่อเรียกเป็นการจำเพาะว่า "ข้าวหลามหนองมน"   สำหรับของเด่นดังอื่นๆก็แปรเปลี่ยนความเด่นดังไปตามความนิยมและตามกาลเวลา ซึ่งก็มีสินค้าเช่น ปูม้าดองน้ำปลา กั้งดองน้ำปลา  หอยเสียบดองน้ำปลา เป็นต้น             


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 พ.ย. 19, 18:39
ข้าวหลามหนองมน กับ ข้ามหลามนครปฐม ที่แม่ค้าแต่ละเจ้านำมาวางขายกันอยู่นั้น มีลักษณะภายนอกไม่แตกต่างกัน แต่เนื้อในของแต่เจ้าอาจจะแตกต่างกัน   

แต่ก่อนโน้นสัก 50 ปีที่ผ่านมา ผมไปทำงานสำรวจทางธรณีฯและพักแรมอยู่ในพื้นที่แถวนั้นในช่วงเวลาสั้นๆ เราจะรู้จักกันเฉพาะข้าวหลามของแม่ค้าคนใหนที่อร่อย หลายเจ้ายังวางอยู่ในกระจาดนั่งวางขายอยู่ข้างตลาดสดอยู่เลย ต่อมาก็มีวางขายอยู่สองพื้นที่ คือริมถนนกับในตัวตลาด แล้วก็เริ่มเข้าสู่ยุคมีชื่อกำกับว่าเป็นข้าวหลามของแม่อะไรต่อมิอะไร  ในครั้งกระนั้นยังเห็นมีการทำการเผาข้าวหลามจริงๆในพื้นที่ฝั่งตรงข้ามเยื้องๆกันกับตลาด   

ความอร่อยต่างกันของเนื้อข้าวหลามนั้น ผมเห็นว่าแต่ละคนจะมีความเห็นต่างกันไป บ้างก็เน้นไปที่ความมันจากกะทิ บ้างก็เน้นไปที่รสที่กลมกล่อมอย่างพอดีของรสที่ออกไปทางหวานที่ถูกปรับแต่งด้วยความเค็ม (คล้ายข้าวเหนียวปิ้งใส้ต่างๆ) บ้างก็เน้นไปที่ปริมาณถั่วดำที่ใส่ผสมลงไปในข้าวหลาม บ้างก็เน้นไปที่ความใหม้เกรียมของข้าวเหนียวกับกะทิ ซึ่งจะให้ทั้งความหอม ความมัน เนื้อสัมผัส และรสชาติ บ้างก็เน้นไปที่เยื่อไผ่ที่จะให้ความหอมของของข้าวหลามเมื่อผสมกับเยื่อไม้ไผ่ ซึ่งเมื่อผ่ากระบอกข้าวหลามแล้วก็ยังควรจะต้องคงห่อข้าวหลามให้ยังคงเป็นทรงแท่งอยู่ 

จะด้วยที่ได้กล่าวมาหรือไม่ก็ไม่รู้ เดาเอานะครับ เมื่อไม้ไผ่ในพื้นที่ย่านนั้นและย่านใกล้เคียงเริ่มหายาก ต้องใช้ไม้ไผ่จากพื้นที่อื่นโดยเฉพาะของ จ.กาญจนบุรี (เรื่องไม้จากเมืองกาญจน์นี้ได้มาจากการพูดคุยกับแม่ค้าโดยตรง) จึงได้เกิดการพัฒนาข้าวหลามออกไปอย่างหลากหลายเพื่อให้ยังสามารถคงคุณสมบัติต่างๆไว้ได้บ้าง 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 พ.ย. 19, 20:14
พัฒนาการต่างๆก็มีอาทิ มีการใช้ข้าวเหนียวดำ มีการใช้ของอื่นๆลงไปด้วย เช่น เผือก เม็ดบัว มะพร้าวอ่อน ....ฯลฯ   มีการปิดหน้าข้าวหลามในกระบอกด้วยสังขยา...ฯลฯ  มีการใช้แกสในการเผาแทนการใช้ถ่านไม้ ฟืน หรือกาบมะพร้าว  มีการเผาแบบพอเป็นพิธีว่ามีการเผาแล้วนะ คือเพียงเผาให้เห็นว่ามีร่องรอยของการเผาใหม้อยู่ที่กระบอกไม้ไผ่บริเวณข้อต่อของปล้องไม้ไผ่  มีแม้กระทั่งมูลข้าวเหนียวสุกกับกะทิก่อนที่จะเทใส่กระบอกแล้วจึงเอาไปเผา   

ตัวผมเองมีความสนใจอยู่เรื่องหนึ่งว่า การทำข้าวหลามของนครปฐม กับ ของหนองมน นั้น ใครเริ่มต้นก่อนใครหรือใครลอกเลียนใคร   

ข้าวหลามของทางภาคเหนือนั้น เขามีตัวตนและเอกลักษณ์ที่ต่างออกไป เช่น การเลือกใช้ไม้ไผ่เฉพาะชนิด การทำแบบหลามเต็มปล้องไม้ไผ่  ทำกันในช่วงฤดูหนาว อากาศเย็น  ทำกันโดยใช้ข้าวเหนียวใหม่ของฤดูการเพาะปลูกนั้นๆ (ที่เก็บเกี่ยวกันในช่วงประมาณประมาณเดือนพฤศจิกายน)  ข้าวหลามที่ได้ก็จะมีความนิ่มและนุ่มนวลมาก มีความหอมในตัวเองผนวกกับความหอมของไม้ไผ่ที่ตัดกันมาสดๆ ซึ่งจะคายน้ำออกมาผสมกับข้าวเหนียวและกลิ่นใหม้เล็กน้อยของเยื่อไผ่  โดยนัยหนึ่งก็คงจะกล่าวได้กระมังว่าเป็นการนึ่งข้าวเหนียวใหม่ในกระบอกไม้ไผ่ ซึ่งทำออกมาในรูปของการเป็นของกินแบบกินเล่น/ของหวาน  หรือไม่ก็กินกับน้ำตาลอ้อยซึ่งจะหีบอ้อยหันในช่วงปลายปี โดยเฉพาะน้ำตาลส่วนสุดท้ายในกระทะเคี่ยวน้ำตาลที่มักจะนิยมใส่กะทิ(และเนื้อมะพร้าว)ลงไปด้วย ทำให้กินได้อย่างอร่อยมากๆ     

การท่องเที่ยวน่าจะรื้อฟื้นวิถีชาวบ้านบางอย่างดังเล่ามา อาจจะช่วยสร้างเสริมตวามแข็งแรงของวิถีชุมชนและเสริมสร้างรายได้จำเพาะฤดูกาลได้พอควรทีเดียว


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 พ.ย. 19, 19:01
น้ำตาลสดก็เป็นอีกสินค้าหนึ่งที่มีวางขายอยู่ตลาดริมถนนหน้าตลาดหนองมน  ผมไม่ได้ไปแถวนั้นนานมากแล้ว เลยไม่รู้ว่ายังมีทำกันอยู่อีกหรือไม่ แม้เมื่อครั้งกระโน้นก็ยังมีไม่มากเจ้า ปัจจุบันนี้ชุมชนขยายตัวมากขึ้น สวนมะพร้าวก็ถูกแปรสภาพหายไปมาก ก็เลยเดาเอาว่าคงจะยังคงพอมีขายอยู่เป็นบ้าง โดยเฉพาะที่เป็นหาบแร่ ด้วยก็ยังคงมีสวนมะพร้าวเล็กๆอยู่บ้างในพื้นที่และในที่ๆอยู่ไม่ห่างไกลนัก   

จากตลาดหนองมนก็ไปตลาดอ่างศิลา  แต่ก่อนนั้นเป็นหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ สินค้าในตลาดส่วนมากจะเป็นพวกของทะเลตากแห้ง พวกของทะเลสดส่วนมากดูจะถูกนำไปขายในตลาดหนองมน บางส่วนก็ไปอยู่ในร้านอาหารแถวแหลมแท่น  แหลมแท่นก็เลยมีของอร่อยประจำถิ่น เช่น น้ำพริกไข่ปู ซึ่งเข้ากันได้ดีกับผักแนมเหง้าขมิ้นขาว   พล่าปลากุแล ที่ทำง่ายๆด้วยเครื่องเคราเพียง หอมแดง ตะไคร้ และพริกชี้ฟ้า ซอยบางๆ ปรุงรสด้วยน้ำปลากับมะนาว ปรับความน่ากินสุดท้ายด้วยใบสะระแหน่   ไข่เจียวหอยนางรม ซึ่งดูจะแปลกตรงที่ไม่ค่อยจะมีชื่อในย่านนี้ แต่กลับเป็นเมนูโด่งดังในที่อื่นๆ   ที่นึกออกอีกอย่างหนึ่งคือปูม้า เป็นพวกตัวไม่ใหญ่ แต่อร่อยด้วยความสด

ในปัจจุบันนี้ อ่างศิลามีสะพานปลาที่ค่อนข้างจะมีชีวิตชีวา น่าจะเป็นแหล่งแวะซื้อของทะเลสดๆก่อนกลับ กทม. ทั้งนี้ก็จะต้องดูช่วงเวลาที่เรือประมงเข้ามาเทียบท่าด้วย             


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 พ.ย. 19, 19:35
ขัดจังหวะเรื่องของทะเลนิดนึง  ของดังของอ่างศิลาอย่างหนึ่งก็คือ ครกหินอ่างศิลา    ผมเองไม่รู้ประวัติความเป็นมาที่เกี่ยวข้อง เลยคิดได้แต่เพียงจากการประมวลสภาวะแวดล้อมและร่องรอยต่างๆในเชิงวิชาการ ผนวกกับความรู้ในเรื่องราวอื่นๆที่พอจะมี เลยทำให้พอจะเห็นว่าน่าจะเป็นอุตสาหกรรมพื้นบ้านที่เกิดขึ้นไม่นานนัก   

ค่อยๆว่ากันต่อ ครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 พ.ย. 19, 17:31
ประวัติความเป็นมาครกหินอ่างศิลา
อ่างศิลา   
     ลักษณะภูมิประเทศตำบลอ่างศิลา ประกอบด้วยหินอัดเป็นประเภทหินแกรนิตและหินทราย หินแกรนิตที่พบแทรกตัวขึ้นมาสลับระหว่างหินชันซึ่งพบมากตามแหล่งที่เป็นเขา ติดกับฝั่งทะเล และจากการที่มีหินแกรนิตซึ่งมีสีขาวนวล, สีเหลืองอ่อนและมีความแข็งแกร่งจำนวนมากที่ตำบลอ่างศิลาทำให้เกิดอาชีพการท ครกหินและกลายเป็นสัญญลักษณ์ของหมู่บ้านชาวประมงอ่างศิลา
            สภาพหมู่บ้านตำบลอ่างศิลาเดิมเรียกว่า “อ่างหิน” เนื่อง จากมีอ่างหินขนาดใหญ่ตั้งอยู่ภายในหมู่บ้านอาชีพที่สำคัญของชาวตำบลอ่างศิลา นอกจากการทำประมงทางทะเล ทอผ้าแล้วอาชีพที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ อาชีพแกะสลักหิน เมื่อกล่าวถึง “อ่างศิลา” สิ่ง แรกที่คนทั่วไปจะนึกถึงก็คือครกหิน เพราะครกหินเป็นสัญญลักษณ์ของสินค้าพื้นเมือง ที่นำชื่อเสียงมาให้แก่ชาวตำบลอ่างศิลาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเนื่องจาก ครกหินอ่างศิลามีจุดเด่นอยู่ที่หินมีความแข็งแกร่งตำแล้วไม่เป็นทรายและมีสี ขาวนวลหรือเหลืองอ่อนนอกจากการทำครกหินแล้วชาวตำบลอ่างศิลายังนำหินมาแกะ สลักเป็นรูปต่าง ๆเช่นรูปเจ้าแม่กวนอิม พระพุทธรูป ซึ่งมีความสวยงามมาก
มีคนจีนอพยพและมาอาศัยอยู่ในตำบลอ่างศิลาซึ่งต้องการทำของต่าง ๆ เช่น อาหารขนมเครื่องเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่มีส่วนผสมที่ทำมาจากข้าวแล้วนำมาบดให้ ละเอียดเป็นแป้ง คนจีนเหล่านั้นจึงหาวิธีที่จะนำหินมาทำโม่เพื่อโม่แป้งและเห็นว่าอ่างศิลามี หินที่เหมาะสมที่จะทำโม่ จึงสกัดหินมาเพื่อใช้ทำโม่ และเมื่อมีเศษหิน เหลือชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่ไม่สามารถทำโม่ได้แล้วจึงลองนำมาทำครกหินดูเพื่อ ใช้ตำน้ำพริก และหรือบดของอื่น ๆจนกระทั่งกลายมาเป็นของใช้ประจำบ้านอย่างหนึ่งแต่เดิมครกที่ทำที่ตำบลอ่าง ศิลาจะไม่มีการซื้อขายครกกันในพื้นที่ของตำบลแต่จะนำไปส่งขายที่ กรุงเทพฯหรือ ต่างจังหวัด ดังนั้นชื่อเสียงของครกหินอ่างศิลาจึงเป็นที่รู้จักของชาว กรุงเทพฯและคนในจังหวัดอื่น ๆ เป็นอย่างดี
                        ต่อมาความต้องการสินค้าประเภทครกหินเพิ่มมากขึ้นอาชีพการทำครกหินก็มากขึ้น จนบ้านอ่างศิลา ได้ถูกสกัดหินนำมาใช้จนหินมีปริมาณเหลือน้อย ดังนั้น จึงนำหินจากต่างจังหวัดเข้ามาทำครกหินกันในตำบลอ่างศิลา รวมทั้งมีการปรับปรุงรูปแบบและมีเอกลักษณ์เป็นการเฉพาะตัวคือ “ครกหินอ่างศิลาจะต้องมีสองหู” เท่านั้น

 http://fusionstone.blogspot.com/p/blog-page.html


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 พ.ย. 19, 20:06
สะดุดที่ประโยค "ครกอ่างศิลาแท้จะต้องมีสองหู"  เลยทำให้นึกถึงเรื่องที่น่าจะตั้งข้อสังเกตไว้

ชลบุรีตั้งอยู่ในพื้นที่ชายทะเลใกล้กับปากแม่น้ำบางปะกง มีป่าชายเลนตลอดตั้งแต่ปากแม่น้ำไปจนถึงอ่างศิลา (ปัจจุบันนี้ไม่มีแล้วเพราะถูกถมทำเป็นเมืองใหม่)  แต่ก่อนนั้นก็มีการทำนาเกลือในพื้นที่บริเวณก่อนถนนจะขึ้นเนินเข้าสู่พื้นที่เมือง ซึ่งเทคโนโลยีและเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆก็เหมือนๆกับที่ชาวนาเกลือแถวสมุทรสาครและสมุทรสงครามใช้กัน ทั้งระหัดน้ำและกังหันลม  มีการเลี้ยงหอยกะพงเหมือนกัน แต่ภายหลังทางอ่างศิลาหันไปเลี้ยงหอยนางรม ทางแม่กลองหันไปเลี้ยงหอยแมลงภู่ หอยแครง หอยลาย..  มีกระบวนแนวคิดในการถนอมอาหารจากของทะเลเหมือนๆกันทั้งน้ำปลา ชนิดของๆแห้ง (กุ้งแห้ง หอยแห้ง ปลาเ๕้มที่ทำจากปลากุเลา...)    ทั้งหมดนี้ดูจะบ่งชี้ว่าเมืองดังที่กล่าวนี้มีชาวจีนที่มาจากภูมิภาคเดียวกันมาตั้งถิ่นฐานแต่แยกกันอยู่  ก็เลยมีประเพณีวัฒนธรรมที่คล้ายๆกันปรากฏให้เห็นอยู่หลายอย่างทั้งในเรื่องบริโภคและอุปโภค    ครกมีหู ก็เป็นเรื่องหนึ่ง

 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 พ.ย. 19, 20:24
อันที่จริงแล้ว ครกของเก่าจากเมืองจีนนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบมีสองหู (มีตุ่มอยู่สองตุ่มที่ขอบครก)  หากแต่จะเป็นครกที่ทำด้วยหินอัคนีชนิดหนึ่งทีมีสีออกไปทางเขียวๆดำๆ เป็นหินที่มีชื่อเรียกว่า หินแอนเดอไซท์ (Andersite) มีคุณสมบัติในด้านมีเนื้อที่แน่นเหนียว ไม่กะเทาะเมื่อโขลกตำ  หน้าตาของหินก็เหมือนกับหินที่ใช้เป็นอับเฉาของเรือสำเภาที่มีการแกะสลักเป็นตัวสิงห์ เป็นตัวยักษ์ ฯลฯ ที่เราเอามาจัดวางไว้หน้าวัดหรือหน้าบ้าน   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 พ.ย. 19, 20:56
 หิน andesite


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 พ.ย. 19, 18:12
เกิดมาเอะใจว่า คนเชื้อสายจีนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่รอบๆส่วนหัว ก.ไก่ ของอ่าวไทยตอนบน เกือบทั้งหมดจะเป็นคนแต้จิ๋ว   ซึ่งเมนูอาหารแบบเก่าๆของพวกเขาที่ยังพอหลงเหลือให้เราได้เห็นได้ลิ้มลองรสกันนั้น ก็จะเป็นพวกที่มีรสไม่จัด มักจะมีน้ำจิ้มเป็นองค์ประกอบ และมาจากวิธีการทำให้สุกด้วยการทอด การต้ม การอบหรือการนึ่ง   ยังนึกไม่ออกว่ามีเมนูอาหารใดที่ต้องใช้ครกในการเตรียมเครื่องปรุง  ต่างกับโม่ที่ต้องใช้โม่เม็ดธัญพืชหลายชนิดเพื่อทำเป็นแป้งชนิดต่างๆสำหรับทำอาหารต่างๆที่หลากหลายต่างกันไป   

ผมมีความเห็นว่า ครกอ่างศิลาที่มีชื่อเสียงมาแต่เก่าก่อนนั้น น่าจะเริ่มจากความต้องการของคนไทยที่ต้องใช้ในการตำบรรดาน้ำพริกที่ใช้ในการทำอาหารทั้งหลาย คือต้องการเปลี่ยนจากการใช้ครกดินเผาซึ่งมักจะแตกและจะตำน้ำพริกที่มีเนื้อละเอียดเนียนไม่ได้ เปลี่ยนไปเป็นการใช้ครกหินซึ่งจะตำเครื่องแกงได้แหลกละเอียดมากกว่า    แต่ครกหิน andesite (ผมสะกดผิดไป ใส่ตัว จากเมืองจีนนั้นคงจะมีน้อยและหาได้ยาก ซึ่งผมก็เดาเอาอีกว่า ครกหินของจีนที่เข้ามาในไทยในสมัยนั้นเป็นครกที่ใช้สำหรับการบดสมุนไพรต่างๆในการทำยาแผนโบราณ เช่น พวกยาหอม ยานัตถ์ ทั้งหลาย 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ย. 19, 18:16
อาหารแต้จิ๋ว


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 พ.ย. 19, 18:44
นิ้วมือมันซน เลยไปกดเอาอะไรก็ไม่รู้ ส่งข้อความไปเลย  ที่จริงกำลังปรับข้อความอยู่ครับ  เอาเป็นว่าอ่านได้เข้าใจก็แล้วกันนะครับ

ต่อประโยคท้ายว่า  ครกหินของจีนที่ผมมีเก็บไว้นั้นก็เป็นของคุณยายของผมซึ่งเป็นแพทย์แผนโบราณ เมื่อครั้งยังเป็นเด็กๆไปเยี่ยมคุณยายที่แม่กลองก็ยังเคยซนขอช่วยตำสมุนไพรบางอย่าง ในภาษาของแพทย์แผนโบราณเขาเรียกครกที่ใช้บดยาว่า โกร่งยา     โกร่งยาที่ตกทอดมาทางสายของภรรยาผมเป็นครกเหล็ก ตัวสากก็มีหัวเป็นเหล็กแต่มีด้ามทำด้วยไม้ แถมมีแผ่นหนังสวมสากเพื่อปิดมิให้สมุนไพรกระเด็นเมื่อเวลาบดตำอีกด้วย     


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 พ.ย. 19, 20:02
ย้อนกลับไปต่อเรื่องครกหินและโม่หิน 

ผมมีข้อสังเกตที่อาจจะไม่มีความถูกต้องใดๆเลยก็ได้ คือ ในบรรดาโม่หินของเก่าที่ผมได้เคยเห็นทั้งในบ้านคนและในตลาดของเก่านั้น ดูคล้ายกับว่าจะเป็นโม่ที่ทำมาจากหินแกรนิตเท่านั้น    ก็ไม่แน่นะครับ ดีไม่ดีแหล่งที่ผลิตโม่ขายแต่ดั้งเดิมอาจจะเป็นที่อ่างศิลาก็ได้

พักไว้ว่ากันต่อในวันพรุ่งนี้ครับ

ขอคั่นเวลาด้วยเมนูหอยกะพงผัดกับเต้าเจี้ยวและใบโหระพา   เป็นของอร่อยที่หายไปจากพื้นที่ใกล้ทะเลรอบหัวตัว ก.ไก่ ของอ่าวไทยตอนบน ซึ่งได้หายไปนานมากแล้ว  หอยกะพงมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีซังเหมือนหอยแมลงภู่ เป็นหอยที่เติบโตได้ดีในพื้นที่อิทธิพลของน้ำขึ้นน้ำลงเช่นเดียวกับหอยแมลงภู่    หอยกะพงน่าจะเริ่มค่อยๆหายไปพร้อมๆกับการเริ่มธุรกิจในรูปแบบใหม่ของไทยเราในช่วงประมาณ พ.ศ.2510+   หอยกะพงเป็นหอยที่มีราคาย่อมเยาว์มาก สามารถเลี้ยงและกู้ได้ต่อครั้งในปริมาณมากๆ  ได้ผันแปรไปจากการเป็นอาหารบริโภคของคนไปเป็นอาหารของสัตว์เลี้ยงจำพวกสัตว์ปีก  ก็ดูจะเริ่มต้นจากธุรกิจการเลี้ยงเป็ด ที่แปรเปลี่ยนไปจากการเลี้ยงแบบไล่ทุ่งไปสู่การเลี้ยงแบบขุน


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ย. 19, 20:05
โกร่งยา เป็นคำเก่าไม่ผ่านสายตามานานมาก     ตัววัตถุเองก็ไม่เห็นมาหลายสิบปีแล้วค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ย. 19, 20:07
หอยกะพงผัดโหระพา


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 พ.ย. 19, 19:21
หอยกะพงผัด ใส่เต้าเจี้ยว ใสใบโหระพาแบบดั้งเดิมนั้น จะใส่หอยลงไปทั้งตัว ไม่ใช้หอยที่แกะแล้ว และก็เป็นการผัดแบบไม่ใส่พริกเช่นเดียวกันกับผัดหอยลาย     

คิดว่าประมาณช่วงต้น '20s กระมัง จึงได้เริ่มเห็นเมนูผัดหอยลายเข้าไปปรากฎอยู่ในร้านอาหารประเภทข้าวต้มโต้รุ่ง เป็นการผัดแบบใส่น้ำพริกเผา แล้วก็กลายเป็นเมนูหอยลายผัดน้ำพริกเผายอดนิยมที่แพร่กระจายไปทั่วทุกแห่งอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งกลายเป็นวิธีการที่ดูจะเป็นมาตรฐานสำหรับการทำอาหารกับหอยลาย    ส่วนหอยกะพงผัดซึ่งเป็นเมนูอาหารแบบครอบครัวเช่นเดียวกับหอยลาย ไม่ปรากฏโฉมออกมาตามร้านอาหารเลย     หอยกะพงยังพอหาซื้อได้ในบางตลาด แต่จะเป็นแบบแกะเอาเปลือกออกแล้ว เมื่อเอามาผัดก็จะดูไม่น่ากิน  เช่นกัน หอยลายแกะเปลือกแล้วเอามาผัดก็ดูไม่น่ากินเหมือนกัน     

หอยชนิดต่างๆที่เป็นหอยน้ำจืดหรือหอยน้ำเค็มเหล่านั้น แต่ละเมนู แต่ละวิธีการทำ แต่ละวิธีการปรุงให้เป็นอาหาร ต่างก็เป็นเรื่องที่ได้รับถ่ายทอดต่อกันมา ยังไม่ค่อยเห็นว่ามีวิธีการอื่นใดที่แหกคอกออกไป เมนูอร่อยที่เกี่ยวกับหอยจึงดูค่อนข้างจะมีจำกัด             


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 พ.ย. 19, 19:28
หอยกะพงผัดโหระพา ทั้งเปลือกค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 พ.ย. 19, 20:41
พื้นที่ชายทะเลของชลบุรีมีระบบนิเวศน์เกี่ยวพันกับระบบของปากแม่น้ำบางปะกง ซึ่งน่าสนใจว่าอาจจะเป็นพื้นที่ๆมีลักษณะจำเพาะสำหรับการเจริญเติบโตและการแพร่พันธุ์ของหอยสองฝาหลายชนิด   หลักฐานเก่าที่สุดที่มีอยู่ก็คือสุสานหอยที่พบอยู่ในพื้นที่เชิงเนินบนถนนสายเก่าก่อนเข้าสู่พื้นที่เมืองชลบุรี  ซากหอยเหล่านั้นได้ถูกขุดออกไปเพื่อเอาไปบดผสมเป็นอาหารสัตว์ ก็คิดว่าน่าจะยังคงพอเหลือให้เห็นอยู่บ้าง    

ในระบบนิเวศน์วงใหญ่ของอ่าวไทยในพื้นที่หัวตัว ก.ไก่ ซึ่งเป็นพื้นที่ต่อเนื่องของปากแม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำเพชรบุรี   หากจะนึกคิดไปว่า ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบนนี้มีกระแสน้ำไหลหมุนเวียนเพื่อช่วยเกลี่ยอาหารและความสมบูรณ์ไปให้ได้รับทั่วๆกัน  แล้วนึกคิดต่อไปว่าสุสานหอยที่ชลบุรีกับสุสานหอยที่ปทุมธานีน่าจะได้บอกอะไรบ้าง  เรื่องหนึ่งที่แน่นอนที่สุดก็คือ ในอ่าวไทยตอนบนนี้จะต้องอุดมไปด้วย plankton ซึ่งเป็นอาหารของพวกสัตว์ทั้งประเภทว่ายน้ำตัวเล็กและประเภทอยู่กับที่ตามดินโคลนใต้ท้องน้ำ   จึงไม่แปลกใจนักที่อ่าวไทยตอนบนนี้จะอุดมไปด้วยหอยอร่อยชนิดต่างๆอยู่กระจายเป็นกลุมๆไป  อาทิ หอยหลอด หอยแครง หองแมลงภู่ ที่แม่กลอง    หอยพิม ที่มหาชัย    หอยนางรม ที่อ่างศิลา หอยกะพง ในอ่าวชลบุรี (นึกชื่ออ่าวไม่ออกครับ)  

ก่อนจะลืม  มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งบอกผมว่า ชื่อแม่น้ำบางปะกงนั้น ปะกงหรือปะกอง เป็นภาษาเขมร แปลว่า กุ้ง  แต่ก่อนคงจะอุดมไปด้วยกุ้งจริงๆ

    


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 พ.ย. 19, 18:55
ถอยกลับไปให้จบเรื่องครกหินอ่างศิลากันก่อนนะครับ

ในพื้นที่ใกล้ทะเลรอบอ่าวไทยตอนบนของเรานี้ พบว่ามีหินแกรนิตกระจายตัวอยู่เป็นหย่อมๆในพื้นที่ใกล้ชายทะเลเฉพาะในเขตพื้นที่ของ จ.ชลบุรี  ซึ่งโดยเฉพาะที่อ่างศิลานั้นพบอยู่ที่ชายทะเลเลยทีเดียว และก็เป็นชายทะเลของอ่าวที่มีความสมบูรณ์ของกุ้งหอยปูปลาที่เหมาะสำหรับการตั้งถิ่นฐานเพื่อทำการประมงอีกด้วย   

หินแกรนิตเป็นหินอัคนีชนิดหนึ่งที่แต่ละแหล่งที่พบจะมีองค์ประกอบของกลุ่มแร่หลักๆเหมือนกัน หากแต่ว่าแร่ที่เป็นองค์ประกอบเหล่านั้นจะมีความต่างกันออกไปในเชิงทางเคมี (ธาตุที่เป็นองค์ประกอบ..) และต่างกันในเชิงทางกายภาพ (ขนาด รูปร่าง...) ซึ่งเหล่านี้ล้วนแต่ขึ้นอยู่กับสภาพที่มันกำเนิดมาและจะเป็นบริวณใดๆที่เป็นตัวตนของมัน     หินอัคนีเป็นของร้อน เมื่อแทรกซอนขึ้นมาในสิ่งแวดล้อมที่มีความเย็นกว่า ส่วนที่อยู่บริเวณผิวก็ย่อมจะต้องเย็นตัวลงได้เร็วกว่าส่วนที่อยู่ด้านในและส่วนที่อยู่ลึกกว่า  ทำให้แร่ที่ตกผลึกอยู่ใกล้ผิว อยู่ส่วนใน และที่อยู่ลึก จะมีขนาดแตกต่างกัน   ซึ่งทั้งหลายเหล่านี้ล้วนจะทำให้เนื้อหินในบางส่วนมีความแข็งแกร่งและเหนียวแน่นเป็นพิเศษ คล้ายกับสัดส่วนการผสมปูนกับทรายและหินเพื่อให้ได้คอนกรีตที่เหมาะสมที่สุดกับงานก่อสร้างสำหรับงานต่างๆที่ต่างกันไป    องค์ประกอบที่กล่าวมาเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หินแกรนิตแตกออกเป็นกาบๆ (exfoliation)


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 พ.ย. 19, 20:11
ที่อ่างศิลามีองค์ประกอบทั้งหลายครบเลย ที่ด้านคน ภูมิปัญญา วัตถุดิบ และตลาด  มีหินที่มีเนื้อแน่นดี มีความแกร่งพอ มีหินที่ธรรมชาติช่วยกะเทาะออกเป็นกาบๆหนาหรือบางให้แล้ว ฯลฯ   

ก็ทำกันมานาน ผนวกกับเป็นสินค้าขายดีที่นิยมกันทั่วประเทศ ผลิตขายกันจนกระทั่งวัตถุดิบที่ขุดหามาได้ง่าย หาได้ยากมากขึ้นและมีความจำกัดมากขึ้น  ซึ่งมิได้หมายความว่าหมดไป แต่หมายถึงสภาพที่หาได้ง่ายนั้นหมดไปหรือถูกจำกัดลง   ประกอบกับจากที่แต่เดิมทำด้วยมีอและใช้ฝีมือทำให้ครกเรียบ ได้เปลี่ยนไปเป็นการทำแบบอุตสาหกรรม กลายเป็นของหาง่าย มีขนาดและรูปทรงมาตรฐาน มีราคาลดลงพร้อมไปกับคุณค่า  แล้วก็มีแหล่งผลิตจากที่อื่น (จ.ลำปาง) เข้ามาแข่งขัน   

ไปๆมาๆ ก็ดูกำลังกลายเป็นว่าแข่งกันที่ฝีมือการทำ เพราะแหล่งวัตถุดิบดูจะมาจากพื้นที่เดียวกันใน จ.ตาก   ก็สุดแท้แต่ๆละคนจะชอบกัน เลือกดูครกเห็นเกล็ดแวววับในเนื้อหินน้อยๆ เลือกดูครกที่มีเนื้อหินดูแน่นเนียนดี สีครกที่ทำด้วยหินแกรนิตสีชมพูก็มีให้เลือกซื้อได้ แต่ราคาน่าจะสูงกว่าปกติมากอยู่


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 พ.ย. 19, 20:23
มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งบอกผมว่า ชื่อแม่น้ำบางปะกงนั้น ปะกงหรือปะกอง เป็นภาษาเขมร แปลว่า กุ้ง  แต่ก่อนคงจะอุดมไปด้วยกุ้งจริงๆ

ข้อสันนิษฐานอีกทางหนึ่ง ปะกง อาจมาจากชื่อปลา

ในนิราศเมืองแกลงของสุนทรภู่ มีชื่อเรียกหมู่บ้านประมงชาวจีนแห่งหนึ่งว่า "บ้านบางมังกง"

ถึงหย่อมย่านบ้านบางมังกงนั้น
ดูเรียงรันเรือนเรียบชลาสินธุ์
แต่ล้วนบ้านตากปลาริมวาริน
เหม็นแต่กลิ่นเน่าอบตลบไป
เห็นศาลเจ้าเหล่าเจ๊กอยู่เซ็งแซ่
ปูนทะก๋งองค์แก่ข้างเพศไสย
เกเลเอ๋ยเคยข้ามคงคาลัย
ช่วยคุ้มภัยปากอ่าวเถิดเจ้านาย


บ้านบางมังกง หมายความถึงบ้านที่มีปลามังกง หรืออีกชื่อหนึ่งว่า ปลาอีกง (Mystus gulio) เป็นปลาน้ำจืดและน้ำกร่อยชนิดหนึ่ง มีอยู่ชุกชุมในแม่น้ำบางปะกงอาจเป็นที่มาของคำว่า บางปะกง ก็เป็นได้


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 พ.ย. 19, 20:41
ไม่เคยกินปลามังกง   คุณเพ็ญชมพูทราบไหมคะว่าเขาเอามาทำเมนูแบบไหน   
ถ้าคำว่าแม่น้ำบางปะกงมาจากชื่อปลามังกง ทั้งๆในแม่น้ำย่อมมีปลาไม่รู้ว่ากี่สิบชนิด   ปลามังกงต้องเด่นมากถึงได้รับการยกเป็นชื่อแม่น้ำ   
ในยุคนั้น   ไม่มีทำฟาร์มเลี้ยงปลา  ไม่มีการเลี้ยงเป็นสัตว์สวยงาม   ปลามังกงย่อมมีไว้กินอย่างเดียว   สงสัยจริงว่าทำอะไรกินได้บ้างคะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 พ.ย. 19, 20:45
 ;D

https://youtu.be/pKAmxYMCHjQ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 พ.ย. 19, 20:50
กลับมาต่อเรื่องกุ้ง

กุ้งน่าจะเป็นของโปรดของทุกคน แต่ก็มีคนที่แพ้กุ้ง บางคนก็แพ้กุ้งน้ำจืด บ้างก็แพ้กุ้งทะเล บ้างก็แพ้เพราะไปเลือกกินของอร่อยที่มิใช่ส่วนที่เป็นเนื้อกุ้ง (มัน เหงือก กรี)  บางคนก็แพ้บ้างไม่แพ้บ้าง ขึ้นอยู่กับว่าไปเลือกกินถูกโฉลกกับกุ้งตัวที่สะสมสารเคมีไว้มากหรือไม่มาก  

ในความเห็นของผม กุ้งก้ามกรามและกุ้งนางซึ่งเป็นกุ้งน้ำจืดนั้น เป็นกุ้งที่อร่อยที่สุด มีทั้งกลิ่นและรสสัมผัสที่เป็นเอกลักษณ์  

กุ้งก้ามกราม (กุ้งตัวผู้) เหมาะที่จะนำไปเผากับเตาถ่าน เผากับไฟแรงพอประมาณ กำหนดให้ได้เนื้อออกไปทาง medium rare   ซึ่งแม้ว่าจะได้ผลไปทาง medium rare ใกล้ไปทาง raw    หรือจะไปทาง medium rare ใกล้ไปทาง done ก็อร่อยทั้งนั้น    กุ้งนาง (กุ้งตัวเมีย) เหมาะที่จะเอาไปทำกุ้งทอดกระเทียมพริกไทย  ก่อนจะทอดก็เอาไปคลุกกับรากผักชี เกลือ และพริกไทยที่โขลกแหลกแล้ว หมักทิ้งไว้ในครกสักพักใหญ่ๆ  เอาน้ำมันหมูลงกระทะบนไฟแรงปานกลาง พอน้ำมันเริ่มจะร้อนจัด ก็ใส่กุ้งทั้งหมดที่คลุกกับเครื่องลงไป กะทะนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องของกุ้งจะสุกหรือไม่สุกมากน้อยเพียงใด แต่จะขึ้นอยู่กับกลิ่นว่าหอมเย้ายวนใจได้ที่หรือยัง  ตักลงจานอาหารพร้อมกับน้ำมันในกระทะ  ทำน้ำปลาใส่หอมแดงซอย พริกขี้หนูซอย บีบมะนาว   เมนูจานนี้ไม่ค่อยจะเห็นว่ามีอะไรๆเหลือติดอยู่ที่ก้นจาน น้ำมันกับเศษกระเทียมก็ถูกตักเอาไปคลุกข้าวกันจนหมด


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 พ.ย. 19, 21:00
ปลามันกง หรือ อีกง ไม่เคยได้ยินชื่อเลยครับ   ไปเปิดหาข้อมูลของคุณวิกกี้ อ้าว ก็มีชื่อเรียกอื่นๆที่รู้จักเรียกันอยู่ คือ ปลากดหมู 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 พ.ย. 19, 08:29
กุ้งทอดกระเทียม


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 พ.ย. 19, 08:33
ขอบคุณค่ะคุณเพ็ญชมพู  ปลาอีกงน่าจะเป็นปลาท้องถิ่น  ทำอาหารได้หลายอย่าง แต่หายากหรือไงไม่ทราบ  ไม่ค่อยเคยได้ยินชื่อ
ข้างล่างนี้คือแกงคั่วปลาอีกง   น่าจะใส่ชาม แต่กลับไปใส่จาน


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 พ.ย. 19, 10:47
ปลาอีกงอยู่ในวงศ์ปลากด (Bagridae) ปลาในวงศ์นี้หากขนาดใหญ่เรียกรวม ๆ กันว่า "ปลากด" และเรียกว่า "ปลาแขยง" ในปลาขนาดเล็ก

ปลาอีกงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ปลาแขยงกง ปัจจุบันได้รับการส่งเสริมให้เพาะเลี้ยงเป็นปลาเศรษฐกิจ

https://youtu.be/RoG7BgpJ_6I


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 พ.ย. 19, 11:28
ถ้าพูดถึงปลากด ญาติสนิทของปลาอีกง ละก็ รู้จักค่ะ   แกงคั่วปลากดใส่หน่อไม้ดอง เป็นเมนูดังของคนคอเผ็ดทั้งหลาย

https://www.youtube.com/watch?v=azgX7efkCyo


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 พ.ย. 19, 18:03
ผมมีความเห็นว่า คุณเพ็ญชมพูท่านมีความรู้ทางวิชาการอย่างหลากหลายในเรื่องของสัตว์บกและสัตว์น้ำต่างๆ  หากท่านจะพิจารณาตั้งกระทู้เพื่อขยายความเกี่ยวกับเรื่องของความต่างของสัตว์น้ำที่มีลักษณะทางกายภาพคล้ายๆกัน ที่มีชื่อเรียกต่างๆกัน ที่มีวางขายอยู่ในตลาดในภูมิภาคต่างๆของไทยเราที่เราเอามาทำกินจนเป็นอาหารขึ้นชื่อเหล่านั้น (เช่น พวกปลาหนังที่มีหนวดทั้งหลาย พวกปลาเกล็ดสีขาวทั้งหลาย พวกกุ้งต่างๆ ...)  เพื่อเป็นวิทยาทานและความรอบรู้สำหรับสำหรับสมาชิกและผู้อ่านที่อยู่ในวัยกระตือรือร้นสะสมข้อมูลต่างๆเพื่อการดำเนินชีวิตในเชิงคุณภาพที่ดีขึ้น 

Please... 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 พ.ย. 19, 18:36
มาเชียร์อีกคนค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 พ.ย. 19, 19:22
พวกปลาหนังทั้งหลาย รวมถึงปลาไหลด้วย  ล้วนแต่เป็นพวกที่ลำตัวมีเมือกมากและมักจะมีกลิ่นคาวแรง   การกำจัดเมือกและกลิ่นคาวให้ลดลงหรือหมดไปนั้นดูจะมีอยู่หลายวิธีการ ก็มีทั้งการใช้เกลือ การใช้มะนาว ใช้น้ำส้มสายชู ใช้น้ำอุ่น(ออกไปทางร้อน) ใช้การซับด้วยกระดาษหรือผ้า  แบบพื้นบ้านของเราทีร่ใช้เฉพาะกับปลาไหลก็จะเป็นการใช้ขี้เถ้ารูด หรือใช้ใบต้นข่อยรูด  

หากสังเกตดูอาหารไทยที่ทำกับกับปลาที่มีเมือกมากก็จะพบว่ามีอยู่ 3 หลักการ   หลักแรก คือการใช้ความร้อนจัดในการปรุงเมื่อแรกใส่ปลาลงไปในกระทะหรือในหม้อแกง(น้ำต้องเดือดหรือร้อนจัๆด) ตามมาด้วยกฏว่าห้ามคน ต้องรอจนเนื้อปลาหดตัวรัดแน่นดีแล้ว สุกดีแล้ว จึงจะใช้ช้อนหรือตะหลิวให้เนื้อปลาพลิกกลับไปมาเพียงสองสามครั้ง มิฉะนั้น เนื้อปลาก็จะแหลกกระจาย ทำให้กินยากเพราะจะมีเศษก้างปลากระจายทั่วไป     หลักที่สอง คือควรจะต้องทำเป็นอาหารรสจัดและเผ็ดร้อน และใช้หัวกระชายเพื่อช่วยในการกลบกลิ่นคาว    หรือหลักที่สาม คือ เอาปลาที่จะนำมาปรุงอาหารนั้นไปย่างให้ผิวแห้งและเนื้อในพอสุกเล็กน้อยเสียก่อนที่จะนำมาผัดมาแกง      ในตลาดอาหารโดยทั่วๆไป มองผ่านๆก็จึงพอจะรู้ได้ว่าแม่ค้าเจ้าใหนมีศิลปะและมีความเข้าใจในการทำอาหารที่ใช้พวกปลาดังกล่ว      

สำหรับการทำอาหารตามหลักที่สามนี้ส่วนมาก(หรือทั้งหมด) จะทำกินกันเองในหมู่พวกที่นิยมกรึ๊บในช่วงแดดร่มลมตก ซึ่งทำได้ทั้งในรูปของต้มโคล้ง ต้มแซบ ต้มยำ  จะใช้เครื่องสด เครื่องแห้ง เครื่องหมก เครื่องเผา ก็อร่อยทั้งน้าน.... ;D    


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 พ.ย. 19, 19:27
กินปลาไหลได้ ไม่ว่าปลาไหลไทยหรือญี่ปุ่น   แต่อย่าให้เห็นตัวเป็นๆนะคะ 
ถ้าปรุงสำเร็จมาในจานก็ไม่มีปัญหา


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 09 พ.ย. 19, 19:56
พวกปลาหนังที่มีหนวดทั้งหลาย

ปลาหนังพวกนี้มีชื่อเรียกรวม ๆ ว่า catfish คงเนื่องจากมีหนวดเหมือนแมว คนไทยเห็นคำว่า catfish มักนึกถึงแต่ปลาดุก แม้จริงแล้ว "ปลาแมว" มีความหมายกว้างกว่านั้น กินความถึงปลาสวาย ปลาเทโพ ปลาเทพา ปลาบึก ปลากด ปลาแขยง และปลาในอันดับ (order) ปลาหนัง (Siluriformes) ทั้งหลาย

แต่ถ้าถามผู้เชี่ยวชาญภาษาอังกฤษ จะได้อีกความหมายหนึ่ง

ถ้าถามคำว่า catfish คืออะไร กับคุณเพ็ญชมพูและคุณธสาคร  คงจะได้คำตอบมายาวเหยียดถึงตระกูลปลาหนัง

แต่ถ้าถามในโลกเสมือนถึง catfish  คำนี้คือคำที่คนรู้ความหมายจะแนะนำให้ถอยห่าง   หรือบนบานศาลกล่าวขออย่าได้เจอ เพราะมันหมายถึงมิจฉาชีพที่อาศัยโลกออนไลน์ทำมาหากิน   เข้าถึงคนได้ง่ายมาก โดยเฉพาะพวกเล่น facebook  พวกชอบแชทกับคนหน้าใหม่ ๆ โดยเฉพาะฝรั่ง ผ่านเฟซ หรือผ่านไลน์ หรือเมสเซนเจอร์    ยิ่งพวกเปิดเฟซแบบ public  ใครก็แวะเข้ามาคุยได้นี่แหละ  เป็นกลุ่มเป้าหมาย

catfish คือพวกปลอมหน้า ปลอมชื่อ ปลอมอาชีพ ปลอมมันหมดทุกอย่างที่จะปลอมได้   เพื่ออ่อยเหยื่อให้เคลิบเคลิ้มหลงเชื่อ

คงไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์น้ำเหมือนคุณธสาคร ขออนุญาตให้ความเห็นเพิ่มเติมในกระทู้ตามที่ทราบน่าจะเหมาะสมกว่า  ;D


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 พ.ย. 19, 20:51
"คงไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์น้ำเหมือนคุณธสาคร ขออนุญาตให้ความเห็นเพิ่มเติมในกระทู้ตามที่ทราบน่าจะเหมาะสมกว่า"

รับทราบครับ และขออภัยที่สื่อสารไม่ชัดเจนครับ  ผมหมายถึงกระทู้ในเชิง general knowledge มิใช่ในเชิงของ academic aspect ครับ 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 พ.ย. 19, 18:48
ด้วยที่ตัวจังหวัดชลบุรีมีลักษณะเป็นเมืองผ่าน นักท่องเที่ยวและนักเดินทางทั้งหลายจะไม่นิยมหยุดแวะกัน จะเดินทางผ่านไปเลย    ในช่วงเวลาที่พัทยากำลังเริ่มตั้งไข่อยู่นั้น นักท่องเที่ยวก็จะเดินทางผ่านไปพักผ่อนค้างแรมกันที่บางแสนหรือเดินทางผ่านไประยอง นิยมไปหาอาหารทานกันที่ศรีราชาหรือแถวแหลมแท่นใกล้ๆบังกาโลที่พัก ขากลับก็จะไปซื้อของที่ตลาดหนองมนหรืออ่างศิลาก่อนกลับกรุงเทพฯ ในปัจจุบันนี้มีถนนเลี่ยงเมือง สภาพก็จึงคงจะไม่ต่างกันมากนักจากเดิม       ผมเองก็ไม่ได้เข้าไปเดินตลาดในตัวเมืองชลบุรีมานานแล้ว เลยฉายได้เฉพาะภาพเก่าๆ ผู้คนที่ตั้งใจเข้าตลาดนี้ดูจะเข้าไปหาซื้อของทางด้านอุปโภคเสียมากกว่า (ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเรื่องของผ้า)


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 พ.ย. 19, 20:12
จากชลบุรีเข้ากรุงเทพฯ ในสมัยนี้คงจะไม่มีอะไรน่าสนใจให้กล่าวถึงแม้จะใช้เส้นทางถนนสุขุมวิทสายเก่าก็ตาม   แต่ก่อนนั้น บนถนนสายเก่าช่วง จ.สมุทรปราการ-ชลบุรี ก็ไม่ค่อยจะมีอะไรระหว่างทางที่น่าสนใจอยู่แล้ว จะมีเป็นบางช่วง เช่น ช่วงแถวบางปู ซึ่งเป็นสถานที่ตากอากาศ และช่วงก่อนเข้าและออกจากตัวเมืองสมุทรปราการ    ช่วงแถวบางปูก็จะมีปูทะเลตัวใหญ่ก้ามใหญ่ วางเรียงกันเป็นตั้งในแผงไม้ นานต่อมาหลายปีเข้า ตัวปูก็มีขนาดเล็กลงๆ   เมื่อเริ่มเข้าเขตเมืองก็ยังมีปูทะเลขายกันอยู่ มีขนมจาก บางจุดก็มีเกลือทะเลของชลบุรีวางขายอยู่ด้วย  แต่ขาออกนอกเมืองกลับกรุงเทพฯนี่ซิ จะเห็นทั้งปูทะเล ขนมจาก และปลาสลิดบางบ่อ  มีวางขายตามเพิงข้างถนนเกือบจะต่อเนื่องกัน   ภาพเหล่านี้คงไม่มีโอกาสได้เห็นอีกแล้ว เพราะเมืองได้ขยายตัวออกไปมาก เกิดชุมชนใหม่ๆขึ้นมามากมาย  ป่า(ต้น)จากขึ้นในพื้นที่น้ำกร่อยหายไป ถูกนำพื้นที่ไปใช้ในการพัฒนาความเป็นเมือง ป่าโกงกางก็เริ่มลดความหนาแน่นลง ดูผู้คนทั่วๆไปจะสนใจดูนกนางนวลมากกว่าจะดูปลาตีนว่ามันทำอะไรๆที่น่าเอ็นดูบ้าง ปลาตีนเป็นสัตว์ที่พบในป่าโกงกางที่หาดูได้ยากมากขึ้นทุกวัน   

ถนนสุุขุมวิทช่วงสมุทรปราการกับชลบุรีนี้ เป็นถนนที่เป็นเส้นแนวเขตกั้นระหว่างน้ำเค็มของด้านอ่าวไทยกับน้ำจืดของด้านแผ่นดิน  ในปัจจุบันก็ยังคงรักษาสถานะของความเป็นเส้นแบ่งเขตอยู่เช่นเดิม


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 พ.ย. 19, 18:05
ปูทะเลและขนมจากที่วางขายอยู่ตามเพิงข้างถนนหายไป มิใช่เฉพาะแถวสมุทรปราการ บนเส้นทางถนนพระราม 2 ตั้งแต่สมุทรสาครไปจนสมุทรสงครามก็หายไปด้วยเช่นกัน  ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าป่าชายเลยหายไป พื้นที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในทางอื่นๆ ก็มีเช่น โรงงานอุตสาหกรรม ที่พักอาศัย บ่อปลาและนากุ้ง   สำหรับขนมจากนั้นยังพอจะหาซื้อได้แถวสมุทรสงคราม โดยเฉพาะที่ร้านริมถนนบริเวณแยกจากถนนพระราม 2 ซึ่งเป็นแยกเข้าถนนชบบทเพื่อเข้าสู่ตัวเมืองเพชรบุรี เป็นทางที่ใช้สำหรับเลี่ยงการจราจรที่หนาแน่นบนถนนหลวงสายหลักในช่วงฤดูกาลต่างๆ

สำหรับปูทะเลนั้น จะไปพบเห็นอยู่ในเมนูของร้านอาหารที่มีราคาค่อนข้างสูง   ในปัจจุบันนี้ ปูทะเลคงจะเป็นของที่ผู้คนไม่นิยมหาซื้อเอามาทำอาหารด้วยตัวเอง แม้กระทั่งว่าจะเป็นการทำอาหารที่ง่ายที่สุดด้วยวิธีการต้มหรือนึ่ง ซึ่งก็มีเหตุผลอยู่เพียง 2 เรื่องที่ไม่สลับซับซ้อนอะไรคือ ปูจะต้องสดจริงๆ ซึ่งหมายถึงปูที่ตายใหม่ๆ ก็คือเอาปูเป็นๆมาฆ่าให้ตายก่อนทำอาหารนั่นเอง  อีกเรื่องหนึ่งคือวิธีการทำให้ปูตาย ซึ่งวิธีการที่ดีที่สุดที่จะทำให้มันตายโดยเร็ว ให้มันทรมานน้อยที่สุดก็คือ เปิดตะปิ้งของมันแล้วใช้มีดกดผ่าลงไปที่ร่องกลางตัว ไม่จำเป็นก็คงจะไม่อยากทำใช่ใหมครับ   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 พ.ย. 19, 19:10
จากสมุทรสาครก็ไปเดินตลาดแม่กลอง ชื่อเดิมของตลาดนี้เรียกกันว่าตลาดบ้านแหลม  แล้วก็กำลังจะเปลี่ยนไปเรียกกันว่าตลาดร่มหุบ   ตลาดนี้เป็นตลาดเก่าที่มีอายุน่าจะยาวนานกว่า 100 ปี  เท่าที่ผมสามารถจะนึกภาพเก่าๆออกตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นเด็ก ตลาดนี้ยังคงให้ภาพที่ไม่ต่างไปจากแต่เดิมมากนักจนทำให้ไม่คุ้นตา ทั้งในเชิงของความต่างและความหลากหลายสินค้า ในเชิงของรูปแบบและรูปร่างของสินค้า กระทั่งช่วงเวลาของการติดตลาดแบบเต็มรูป


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 พ.ย. 19, 20:09
ของดีที่เป็นเอกลักษณ์ของตลาดแม่กลองมีอะไรบ้าง   

ที่เด่นก็คงจะเป็นปลาทูโป๊ะ ซึ่งเป็นปลาทูตัวไม่โต จับได้ในโป็ะที่ทำดักปลาในพื้นที่ปากอ่าว มีลักษณะเด่นเป็นปลาทูคอหักในเข่งปลาทูนึ่ง     มีหอยแมลงภู่(เค็ม)หวาน ออกรสเด่นไปทางหวาน  ใช้หอยแมลงภู่ตัวเล็กขนาดประมาณสององคุลีนิ้วก้อย เอาหนวดออกแล้วขัดล้างจนสะอาด  ในปัจจุบันนี้ไม่มีแม่ค้าทำขายแล้ว (ไม่ถึง 10 ปีมานี้เอง) เปลี่ยนเป็นไปใช้หอยชนิดอื่นแทน (นึกชื่อไม่ออกครับ) กระนั้นก็ยังไม่ค่อยจะเห็นทำออกมาขาย  เข้าไปเดินตลาดนี้เมื่อใดก็อย่าลืมโฉบๆไปดู แม่ค้าที่ทำจะวางขายอยู่ในตลาดใกล้ปากทางเข้าออกตลาด ของที่ขายจะอยู่ในกะละมัง อาจจะดูไม่น่าสนใจที่จะซื้อกัน  เป็นอาหารที่ทำแบบโบราณ เป็นของอร่อย กินกับข้าวต้มมื้อเช้าละก็ยอดไปเลย   

ในบริเวณเดียวกันก็จะมีหอยแครงดองเค็มหวานวางขายเช่นกัน ซึ่งก็เป็นของที่อร่อยและเป็นของโปรดของผม  เลือกดูหอยแครงดองของแม่ค้าที่มีการคัดขนาดตัวเท่าๆกัน (การดองนี้เขาจะเลือกใช้หอยตัวเล็กตัวขนาดประมาณหนึ่งองคุลีของนิ้วชี้) มีการล้างและขัดจนเปลือกหอยเกือบขาวสะอาด แล้วเลือกดูเจ้าที่มีหอยแครงบางตัวเริ่มจะอ้านิดๆ ซึ่งหมายถึงว่าที่ทำมาทุกอย่างกำลังพอดี จะแกะก็ง่าย    ผมจะเอามาแกะและฉีกออกให้เหลือฝาเดียว หั่นมะนาวไว้ซีกหนึ่ง เมื่อจะกินตัวใดก็บีบมะนาวเหยาะลงไป อืม์ อร่อย   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 พ.ย. 19, 20:12
ตลาดร่มหุบ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 พ.ย. 19, 20:33
คงไม่ต้องกล่าวถึงของสดกันมากนัก ตลาดแม่กลองมีของสดทั้งจากการทำประมงในทะเลลึกและประมงชายฝั่ง ของที่ตัวใหญ่และสวยงามจนเกินไปมาจากทะเลลึกเป็นแน่ แน่นอนว่าจะต้องผ่านกระบวนการแช่แข็งตามระบบและกรรมวิธีของการทำประมงน้ำลึก ต่างกับการแช่น้ำแข็งของการทำประมงชายฝั่ง ซึ่งขนาดของสัตว์น้ำอาจจะตัวไม่ใหญ่ แต่ผมว่าดูน่ากินมากกว่าเมื่อเอามาทำอาหารกินกันในครอบครัว อย่างน้อยก็ได้ความสดที่ใหม่กว่า

สำหรับของแห้ง สำหรับผมก็มีอยู่ 2 อย่าง คือ ปลาเค็มที่ทำจากกุเลาที่มีขนาดตัวปลาไม่ใหญ่กว่าขนาดของปลาดุกย่างตัวใหญ่ที่เราเห็นกันในตลาดทั่วๆไป   และหอยพิม ซึ่งในปัจจุบันนี้หายากและมีราคาสูงมากๆๆๆ นัยว่าทัวร์จีนนิยมกินกันมาก ยังผลให้หอยในธรรมชาติลดปริมาณลง หายากเข้า เลยทำให้มีการโก่งราคากัน  ได้ยินว่าหลายพันบาทต่อกิโลกรัมเลยทีเดียว  


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 พ.ย. 19, 08:51
หอยพิม


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 13 พ.ย. 19, 14:21
โกร่งยา เป็นคำเก่าไม่ผ่านสายตามานานมาก     ตัววัตถุเองก็ไม่เห็นมาหลายสิบปีแล้วค่ะ

มีครกอย่างในรูปนี้ใบหนึ่งค่ะ ซื้อมาจากเซ็นทรัล ที่ซื้อเพราะมันน่ารักดีเลยซื้อเอามาไว้ดูเล่น ต่อมาก็ลองใช้ตำพริกกระเทียมเล็กๆน้อยๆ เพิ่งรู้วันนี้เองว่ามันเป็นโกร่งบดยา แต่ถึงจะใช้งานผิดประเภทมันใช้ได้ดีเลยนะคะ ;)


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 พ.ย. 19, 18:15
โกร่งบดยาแบบสีขาวนั้นเป็นเซรามิกส์ครับ มีทั้งแบบมีรอยครูดเป็นร่องเล็กๆที่ก้นโกร่ง กับแบบก้นโกร่งเรียบๆ   ขนาดของมันก็มีตั้งแต่ความกว้างของปากตั้งแต่ประมาณ 2 นิ้ว ขึ้นไปจนถึงประมาณ 1 คืบ  เนื้อของมันจะมีความแข็งแกร่งแต่ไม่มีในเชิงของความเหนียวแน่น เหมือนกับเครื่องเซอรามิกส์ทั่วๆไปที่กะเทาะหรือแตกได้ง่าย

สามารถเอามาใช้บดใช้ตำพวกพริกไทยเม็ด เกลือเม็ด ได้ดี  หรือจะใช้บุบพวกพริก รากผักชี กระเทียม ก็ได้  เพียงแต่ต้องใช้ในลักษณะของการบุบ บด หรือยี มิใช่ในลักษณะของการตำจนละเอียด คือเอามาใช้ตำน้ำพริกที่กินกับผักจิ้มได้ แต่มิใช่ใช้ในการตำพวกน้ำพริกแกงต่างๆ   

สำหรับท่านที่ชอบทำอาหารแบบเป็นครั้งคราวและชอบความสวยงามของอุปกรณ์เครื่องครัวด้วย  ผมเห็นว่าอาจจะเลือกซื้อครกแบบฝรั่งที่ทำด้วยหินอ่อนก็ได้  ครกหินอ่อนเหล่านี้จะไม่มีที่เป็นสีขาวโพลน ซึ่งหากเห็นพวกสีขาวโพลนก็ไม่สมควรจะเลือกซื้อมัน    ก็มีเหตุผลทางวิชาการอยู่นิดนึงว่า หินอ่อนสีขาวโพลนนั้น เนื้อของมันประกอบไปด้วยผลึกของแร่ที่กะเทาะง่าย  ให้เลือกซื้อพวกที่มีสีเทาซึ่งมักจะมีเส้นลายขาวๆอยู่ในเนื้อหิน  หินสีเทาพวกนี้จะมีเนื้อที่แกร่งและเหนียวแน่นพอสำหรับการครัวอาหารไทยแบบมัครเล่น 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 พ.ย. 19, 18:48
ย้อนกลับไปเรื่องปลาสลิดอีกหน่อยครับ 

เมื่อมีคนพูดถึงปลาสลิด เรามักจะนึกถึงปลาสลิดแดดเดียว  แต่เมื่อเข้าไปซื้อในตลาดก็มักจะพบว่า ปลาที่วางขายของแม่ค้าเจ้าเดียวกันนั้น มีสองราคา คือราคาสำหรับปลาสลิดแดดเดียว กับ ราคาของปลาสลิดหอม   ความต่า่งของสลิดแดดเดียวกับสลิดหอมในทางกายภาพก็คือ สลิดแดดเดียวจะมีลำตัวที่เต่งตึงดูสดใส  ต่างกับสลิดหอมที่ตัวดูจะผอมแห้ง   คุยกับแม่ค้าจึงได้รู้ว่า มันต่างกันที่กระบวนการทำ

พวกสลิดแดดเดียวใช้วิธีการเอาปลาสดที่ตัดหัว แยกไข่และควักใส้แล้ว เอามาแช่ในน้ำเกลือ จะเป็นน้ำเกลือเปล่าๆหรือเป็นน้ำเกลือที่ผสมเกลือเม็ดที่เคล้าติดกับตัวปลาก่อนนำมาแช่ (หมัก) ก็ตาม  แช่ค้างไว้ตามระยะเวลาที่กำหนด แล้วจึงเอามาตากแห้งกับแดดหรืออบ

สำหรับปลาสลิดหอม ก็ทำปลาสดเหมือนกัน แต่จะใช้วิธีหมักด้วยเกลือตามระยะเวลาที่กำหนด รูดเอาเกลือออก แล้วตากแห้งสองสามแดด   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 พ.ย. 19, 19:17
สลิดแช่น้ำเกลือ ตัวปลาก็จะบวมน้ำ ได้น้ำหนัก   สลิดแช่เกลือ ตัวปลาก็จะแห้งน้ำ(เกลือดูดน้ำออกไป) น้ำหนักหายไปมาก   สลิดหอมก็เลยต้องแพงกว่าสลิดแดดเดียว   

สำหรับตัวผมชอบสลิดหอมเพราะอร่อยกว่าสลิดแดดเดียวมากๆ แล้วที่ชอบเป็นพิเศษก็คือส่วนครีบและหางของมันเมื่อทอดได้สุกกรอบกำลังดี      สำหรับสลิดแดดเดียวนั้น มักจะไม่อร่อยเมื่อนำมาทอดเอง การทอดให้อร่อยจะต้องใช่้น้ำมันมาก ทอดแบบ deep fried และใช้เวลาในการทอดเพื่อช่วยกำจัดมันที่มีอยู่มากในตัวของมัน   หากจะเอามาทอดเองก็ยังพอมีวิธีทำให้พวกสลิดแดดเดียวมีความร่อยมากขึ้นได้ ก็คือ ทอดให้สุกครั้งแรก  ทิ้งไว้ให้เย็นพอแกะเนื้อได้ แกะออกเป็นชิ้นใหญ่ๆ (เป็นซีกครึ่งตัว) เอาลงทอดอีกครั้งหนึ่งในกระทะน้ำมันร้อนๆ  อย่าลืมทอดครีบ หาง และก้างของมันด้วย (ของกรอบอร่อยจริงๆ)

ปลาสลิดเป็นปลาที่พบอยู่ในนาข้าวที่มีน้ำท่วมขัง   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 พ.ย. 19, 19:44
พูดถึงไข่ปลาสลิดค้างไว้ ไข่ปลาสลิดก็เป็นของอร่อย ในอาหารไทยพื้นบ้านดูจะนิยมเอามาใส่ในแกงส้มกัน   ไข่ปลาสลิดแห้งตากแห้งเอามาทอดแล้วกินเป็นกับข้าวต้มพุ้ยก็อร่อย     

ผมไปหาหมอตามนัดที่ รพ.ศิริราช บ่อยๆ  ก็มักจะเดินเข้าตลาดวังหลัง แวะซื้อไข่ปลาสลิดที่ทอดเสร็จแล้วของแม่ค้าแผงลอยเจ้าหนึ่ง บางทีก็ซื้อปลาสลิดทอดมาด้วยสองสามตัว   เอามาทำของกินแบบฝรั่งง่ายๆ  ก็เอาเส้นสปาเก็ตตี้ใส่ลงไปในหม้อน้ำต้มเดือดที่ใส่เกลือลงไปด้วยแล้ว ลวกเส้นจนสุกดีตามเกณฑ์  เอากระทะตั้งไฟ ใส่น้ำมันมะกอกลงไป (บางทีก็+เนยลงไปด้วยนิดหน่อย)  ร้อนแล้วก็ใส่กระเทียมจีนลงไปเจียวพอได้กลิ่น ใส่เนื้อปลาสลิดที่แกะแล้วลงไป ใส่ไข่ปลาสลิดตามลงไป  คะเนดูว่าร้อนทั่วกันดีแล้วก็ใส่เส้นสปาเก็ตตี้ลงไป เคล้ากันให้ทั่ว ปรุงรสด้วยเกลือกับพริกไทย สุดท้ายก็ใส่ใบโหระพาคลุกเคล้าให้ทั่วแล้วยกลง  จะโรย Pamesan cheese หรือไม่ก็แล้วแต่ว่ามีอยู่หรือไม่มี  ปรับแต่งรสในจานของเราสุดท้ายด้วยซีอิ๊วขาวหรือแม็กกี้   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 พ.ย. 19, 18:42
ปลาสลิดทอดนั้นจะกินค่อนข้างยากกว่าปลาอื่นๆ เพราะจะต้องใช้มือฉีก จะใช้ช้อนกับซ่อมและมีดก็ไม่ค่อยจะได้ผล เพราะฉีกเนื้อไม่ออก  ก็เลยเป็นปลาที่ซื้อมากินที่บ้านจะรู้สึกอร่อยมากกว่ากินนอกบ้าน  เป็นปลาชนิดหนึ่งที่ต้องดึงครีบท้องและครีบหลังออกก่อนจะแยกส่วนเนื้อออกมาฉีกเป็นชิ้นย่อย  หลังจากเอาครีบออกแล้ว จากนั้นก็เพียงแหวะท้องออกก็จะได้เนื้อปลาเป็นสองด้าน ดึงก้างกลางออกก็จะได้เนื้อไม่ติดก้าง  ส่วนครีบและหางนั้น เอาไปทอดอีกครั้งพอให้ส่วนที่เป็นกระดูกกรอบ ก็จะกลายเป็นของดีมีประโยชน์สูง ได้ทั้งแคลเซียมและน้ำมันปลา

แต่ก่อนนั้นต้องคอยแกะเนื้อให้ลูกกินเพราะกลัวก้างจะไปติดคอ เราก็กินแต่ของดี (ครีบ หาง และท้อง)  เมื่อลูกโตเข้า ที่แกะแยกไว้ก็ถูกแย่งกินเหลือแต่ส่วนเนื้อให้เรา  ตอนนี้ลงไปถึงระดับหลานที่กำลังเข้ามาแย่งกินของดี


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 พ.ย. 19, 19:19
จริงค่ะ  ปลาสลิดทอดถ้าใช้ช้อนกับส้อม ดึงเนื้อออกมาก็จะได้เพียงส่วนเดียว   กินได้ไม่เต็มที่
ถ้าใช้ช้อนอย่างกินข้าวต้มก็ตักไม่ได้เลย 
พูดแล้วนึกถึงข้าวต้มร้อนๆขึ้นมาทันที


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 พ.ย. 19, 20:01
หากไม่สะดวกในเรื่องของการเดินตลาดและมีข้อจำกัดในการเอาปลาทั้งตัวมาแกะเอง  ในปัจจุบันนี้ก็มีปลาสลิดทอดหรืออบที่เป็นส่วนเฉพาะเนื้อ ทำใส่กล่องพลาสติกใสวางขายอยู่ตามห้างต่างๆ  ราคาอาจจะสูงหน่อย แถมแต่ละหน่วยบรรจุก็ยังมีปริมาณมากอีกด้วย  ซื้อก็แพง กินไม่ทัน ต้องเก็บค้างไว้นาน ก็เลยจะไม่ค่อยซื้อมากินกัน แต่นิยมจะซื้อเป็นของฝากกัน  ผู้ได้รับของฝากก็เลยกินไม่ทันอีกเช่นกัน     ก็มีทางออกนะครับ
  
วิธีการหนึ่งก็คือ ในขณะที่มันยังมีความกรอบหรือแห้งอยู่นั้น จะเอามายำก็ได้  หรือเอามาใส่ครกตำให้แหลก (มิใช่ตำจนละเอียด)  เอาใส่ขวดเก็บไว้ใช้คลุกข้าวกินกับน้ำพริกผักแนมต่างๆ เพื่อเพิ่มรสสัมผัส หรือจะตำแล้วคลุกกับพริกป่นที่คั่วเอง(ด้วยกระทะร้อนจนได้ความหอมจากน้ำมันหอมระเหยของพริก) เอาไว้เป็นน้ำพริกคลุกข้าวในระหว่างการเดินทางหรือยามยาก  และอีกหลายวิธีแปลง เช่น เอาไปต้มโคล้งกับยอดมะขาม (ต้มโพล้ง ต้มโฮกอือ ก็เรียก)

สำหรับผม ไปนึกถึงแกงใบขี้เหล็กใส่ปลาสลิดที่แกะเสร็จใส่กล่องพลาสติกใสที่ว่าราคาสูงนั้น  ได้มา กินไม่ทันก็เลยเอามาทำกับแกงขี้เหล็กของโปรด (เหมาะสำหรับคนอยู่ ตปท.)  ก็เอาน้ำพริกแกงเผ็ด ใส่กระชายเพิ่มลงไปให้หอม เอาใบขี้เหล็กแช่แข็งที่มีขาย เอามาต้มน้ำทิ้งไป เอาน้ำพริกที่ซอยกระชายสดใส่เพิ่มลงไปนั้นลงหม้อ ละลายด้วยกะทิสำเร็จรูป เติมน้ำลงไปมากพอที่จะลดความเข้มข้นของกะทิ พอร้อนดีเริ่มเดือดก็ใส่ปลาสลิดลงไป ลดไฟและคะเนว่าหลาสลิดนั้นได้ฉ่ำน้ำแกงพอควรแล้ว ก็เร่งไฟแล้วใส่ใบขี้เหล็กลงไป ใส่น้ำเติมลงไปพอท่วม ปรุงรสด้วยเกลือ  สุกดีแล้วก็ยกลง  จะอร่อยมากยิ่งขึ้นหากได้อุ่นค้างไว้สักวันสองวัน              


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 พ.ย. 19, 20:27
เห็นภาพปลาสลิดใน คห.ของอ.เทาชมพู  ทำให้นึกถึงอีกเรื่องหนึ่งว่า ปลาสลิดแดดเดียวที่ตัวยังเปล่งปลั่งใสอยู่นั้น เมื่อจะเอาลงกระทะทอดก็จะบั้งทะแยงที่ตัวปลาตามภาพนั้น  แต่หากเป็นสลิดหอมที่ตากแดดมาสองสามวันจนตัวแห้งแล้ว การบั้งปลาจะใช้วิธีการเซาะไปตามตะเข็บระหว่างครีบหลังกับเนื้อ จะเซาะเพียงด้านเดียวหรือสองด้านก็แล้วแต่ว่าจะพิถีพิถันมากน้อยเพียงใด

หากจะซื้อปลาสลิดเอามาทอดเอง ก็อย่าลืมดมกลิ่นที่บริเวณท้องของแต่ละตัวด้วย สำหรับพวกปลาสลิดแดดเดียวนั้น ตัวที่หมักความเค็มไม่ถึงจุดจะมีกลิ่น "โอ่" คือกลิ่นฉุนใกล้เน่า 

สำหรับพวกปลาสลิดหอมก็จะมีกลิ่นโอ่ได้เหมือนกัน ก็เลือกตัวที่มีกลิ่นเกือบจะเริ่มโอ่จึงจะหอมอร่อยเมื่อเอาไปทอด คล้ายกับว่าเป็นปลาที่หมักได้ที่ ณ จุดแบ่งเขตระหว่างความเค็มพอดีๆ(ไม่มาก) กับเขตของการ ferment (ที่จะให้กลิ่นโอ่_เน่า หรือเปรี้ยว)   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: pratab ที่ 14 พ.ย. 19, 21:03
ขออนุญาตเรียนถามด้วยความเคารพว่า ท่านที่ชอบกินปลาสลิดท่านไม่รู้สึกถึงกลิ่นสาบประจำตัวซึ่งน่าจะมาจากไขมันของปลาชนิดนี้บ้างหรือครับสำหรับคนซึ่งไม่เคยชินกับปลาชนิดนี้อย่างผมรู้สึกไม่น่ากินเลยครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 พ.ย. 19, 07:16
ขออนุญาตเรียนถามด้วยความเคารพว่า ท่านที่ชอบกินปลาสลิดท่านไม่รู้สึกถึงกลิ่นสาบประจำตัวซึ่งน่าจะมาจากไขมันของปลาชนิดนี้บ้างหรือครับสำหรับคนซึ่งไม่เคยชินกับปลาชนิดนี้อย่างผมรู้สึกไม่น่ากินเลยครับ
คงหมายถึงกลิ่นคาวปลา   ดิฉันชอบกินปลาสลิดก็เลยเคยชินกับกลิ่นคาวปลา ไม่ได้เดือดร้อนอะไรค่ะ
พูดถึงกลิ่นแรงๆของอาหาร แต่ละชาติก็มีกลิ่นแรงกันไปคนละแบบ  คนชอบอาหารชนิดนั้นก็มักจะว่าหอมเสียอีก  คุณตั้งเคยไปประจำในยุโรปคงนึกออกว่า กลิ่นเนยแข็งชนิดต่างๆมันแรงเสียยิ่งกว่ากลิ่นปลาร้า   แต่ฝรั่งที่ลมจับเวลาได้กลิ่นปลาร้าก็กินเนยแข็งกันได้อร่อย
คนไทยโบราณเป็นพวกเหม็นนมเหม็นเนยกันก็มีมาก     ผิดกับเดี๋ยวนี้ ไม่มีใครเหม็นเวลาเดินเข้าเบเกอรี่กันสักคน     


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 พ.ย. 19, 07:42
ลางเนื้อชอบลางยา  ;D

https://pantip.com/topic/31263140


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 พ.ย. 19, 18:23
ลางเนื้อชอบลางยา  ;D

ครับ ลางเนื้อชอบลางยา  ;D   

สำหรับกลิ่นปลานั้น ปลาแต่ละชนิดก็มีกลิ่นประจำคัวของมัน กลิ่นแรงบ้างไม่แรงบ้าง   พ่อครัวแม่ครัวที่ชำนาญการเขาก็มีวิธีการ(ที่ได้รับจากการถ่ายทอดต่อๆกันมา)เพื่อกำจัดหรือลดความรุนแรงของกลิ่นมันลง หรือไม่ก็ได้รับมาจากการเรียนหรือการฝึกอบรมเป็นการเฉพาะ   

ซาชิมิ กับ ซูชิ ของญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างที่ดีของการทำของทะเลสดที่สามารถกำจัดกลิ่นคาวต่างๆออกไปได้เป็นอย่างดี    เท่าที่พอจะรู้บ้างจากการสอบถาม ผนวกกับข้อสังเกตที่พอมี เห็นว่า วิธีการสำคัญตั้งอยู่บนหลายหลักการสำคัญ คือ ทำอย่างพิถีพิถันเพื่อให้เนื้อช้ำน้อยที่สุด ซึ่งหมายถึงว่า มีดต้องคมกริบ การหั่นหรือเฉือนส่วนที่ไม่ต้องการทิ้งๆไป รวมทั้งการตัดแบ่งชิ้นเนื้อจะต้องเฉือนไปทางเดียวให้ขาด มิใช่เถือไปมาจนเนื้อช้ำ    ใช้น้ำไหลแบบไม่เสียดายน้ำเพื่อชำระเลือดและเมือกต่างๆให้หมดไป   บางกรณีก็ใช้วิธีลอกหนังทิ้งๆไป  บางกรณีก็ใช้วิธีพ่นไฟให้ผิวเนื้อแห้ง (ยุติการทำงานของเซลที่บริเวณพื้นผิว)   หากจะต้องต้มก็จะใช้น้ำเดือดและไม่ใช้ช้อนคนไปมา   และอื่นๆ..... ทั้งหลายเหล่านี้ก็เพื่อการกำจัดและการระวังการไปกระตุ้นการหลั่งสารของเหลวอื่นใดที่สร้างกลิ่นคาว     


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 พ.ย. 19, 19:16
หากมีความสนใจในเรื่องของการทำอาหาร ก็จะพบว่า น่าจะมีเพียงอาหารไทยเท่านั้นที่ทำอาหารกับปลาที่มีกลิ่นคาวได้หลากหลาย โดยเฉพาะกับพวกปลาหนังที่มีกลิ่นแรงทั้งหลาย  อาหารของชาติอื่นๆนั้นส่วนมากจะละเว้น ไม่กิน หรือหลีกเลี่ยงปลาที่มีกลิ่นคาวรุนแรง  หากจำเป็นจะต้องกินกินก็จะใช้วิธีการลอกหนังเอาแต่เนื้อ จะทำเป็นอาหารประเภททำแบบแห้งๆ หรือหมักไว้ก่อนทำ และก็จะเป็นแบบของทอดหรืออบ ของเหลวในจานก็จะเป็นเพียงน้ำปรุงรสหรือซอส       อาหารไทยเท่านั้นที่อาจหาญนำเอาปลาพวกที่มีกลิ่นทั้งหลายมาผัดมาแกงได้อย่างเอร็ดอร่อย เป็นที่ติดใจของคนทั่วโลก  ต้มยำกุ้งก็ใช่ ต้มยำโป๊ะแตกก็ใช่  แกงเผ็ดกับหน่อไม้ดองก็ใช่ (ปลาสวย เทโพ..)  ต้มยำ(ปลาทู ปลากด..) ต้มกะทิปลาทูกับสายบัว ต้มปลาเค็มหวาน (ปลาทู ปลาตะเพียน) ต้มเปรต(ปลาไหล ปลากด...)  ผัดเผ็ด(ปลาดุก ปลาไหล..)  ผัดฉ่า  ฉู่ฉี่ น้ำยาที่กินกับขนมจีน ..... ฯลฯ     

ความคาวที่ว่าแรงนั้นไม่เหลืออยู่ในจานอาหารเลย    เราใช้เครื่องปรุงและรสบางอย่างเข้าช่วยกลบกลิ่นทั้งหลาย หลักๆก็มีไม่กี่อย่าง ในกลุ่มที่ทำต้มยำแบบพื้นๆก็จะมี ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด อาจจะแต่งกลิ่นด้วยกระเพราขาวและกระเพราแดงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือปนกัน ใช้พริกขี้หนูสด และอาจจะใส่กะทิและน้ำพริกเผาลงไปด้วย    ในอีกกลุ่มหนึ่งพวกต้มโคล้งหรือโฮกอือ ก็ใช้เครื่องเผาพวกข่าเผาพอหอม หอมแดงเผา พริกแห้งเผา   อีกกลุ่มหนึ่งที่ทำอาหารแบบเด็กกินได้ผู้ใหญ่กินดี ก็ใช้ความสามารถในการผสมผสานระหว่างความมันของกะทิกับของเปรี้ยวเช่นมะดัน ตะลิงปลิง  หากจะเป็นพวกผัดก็จะเติมกระชายซอยลงไปช่วยดับกลิ่น บ้างก็เพิ่มพริกไทยสดลงไปด้วย  กระชายใส่ในแกงก็มีเช่นที่ซอยใส่ในแกงป่าและแกงลูกชิ้นปลา  ที่จักเป็นเส้นเพื่อกินกับกะปิทอด(ที่สับกระชายใส่ไปด้วยแล้ว) หรือกับปลาหวานในเมนูข้าวแช่ยามหน้าร้อนของเราก็มี     


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 พ.ย. 19, 20:05
กลิ่นของปลาส่วนหนึ่งนั้นมาจากมันที่อยู่ในส่วนท้องของมัน ปลาในธรรมชาติจริงๆเราจะไม่เห็นมันแยกออกมาเป็นก้อนที่ท้องของมัน จะพบมากก็ในพวกปลาที่เลี้ยงขายกัน การทำปลาสดตัดหัวหรือควักใส้ออกนั้น หากเป็นเจ้าที่พิถีพิถันหน่อยก็จะควักมันออกไปให้หมดหรือให้มากที่สุด  พวกกลุ่มปลาหนังมีหนวดทั้งหลายนั้น นอกจากจะมีมันแยกออกมาเป็นก้อนแล้วก็ยังมีที่ฝังอยู่ในเนื้อส่วนท้องของมัน มันปลามีประโยชน์ แต่มีมากไปก็จะไปแปรกลิ่นและรสให้ออกไปทางไม่น่ากินได้

ผมมีความเห็นว่า สำหรับปลาสลิดที่เมื่อซื้อเอามาทอดแล้วยังเห็นมันใสๆติดอยู่กับครีบท้องที่ดึงแยกออกมานั้น เป็นปลาสลิดแดดเดียวจริงๆที่ทำโดยวิธีการแช่น้ำเกลือเพื่อให้ตัวมันบวมอ้วนได้น้ำหนักดี  ก็คงเป็นปลาที่เลี้ยงมาดี อ้วนท้วนแข็งแรง สมบูรณ์จนมันท่วมอก จะตากแดดถึงระดับที่ควรจะเป็น น้ำหนักก็จะหายมากเกินไป     เมื่อเราซื้อมาทำกิน จะแก้ไขเพื่อลดความมัน เพื่อลดกลิ่น และเพื่อให้อร่อยมากขึ้น ก็น่าจะลองแกะออกเป็นสองซีกหลังจากทอดครั้งแรกแล้วเอา ลงกระทะทอดใหม่ให้แห้ง ก็น่าจะได้ของอร่อยที่กลิ่นหายไปหรือลดน้อยลงไป


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 พ.ย. 19, 19:04
การกำจัดกลิ่นคาวที่ได้ผลดีอีกอย่างหนึ่งก็คือการเอาไปย่างเหนือไฟแรงๆ หนังก็จะแห้งและเนื้อก็จะหดตัวลงอย่างเร็ว  จากนั้นก็พลิกไปพลิกมาจนกระทั่งเนื้อใกล้ครึ่งสุกครึ่งดิบ แล้วจึงเอามาทำอาหาร วิธีการเช่นนี้เป็นวิธีของคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ป่าดง ใช้กับเนื้อสัตว์ที่มีกลิ่นแรงทั้งหลายทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ (ปลา งู และสัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบก_กบ อึ่งอ่าง กบ เขียด ....)  กระนั้น ในบางเมนูก็ยังใช้กระชายเข้าไปช่วยดับกลิ่นด้วย ซึ่งหากลองสังเกตดูก็จะเห็นว่า ในบรรดาที่เรียกว่าอาหารป่าเหล่านั้นมักจะมีการใส่กระชายเข้าไปด้วย    ในภาคใต้จะใช้ขมิ้นช่วยดับกลิ่นมากกว่าการใช้กระชาย หรือใช้ทั้งสองอย่างร่วมกัน +กับความเผ็ดจากพริก ความร้อนจากพริกไทย การใช้ใบยี่หร่า การใช้ใบชะพลู และการทำเป็นแกงแห้งหรือน้ำข้น 

ว่าไปแล้วก็เลยพาลให้นึกถึงแกงหอยแครง(หรือหอยคราง)ของสุราษฎร์ธานีที่ทำกันในพื้นที่แถบนั้น    ที่ยังพอจะหากินได้ทุกวันในกรุงเทพฯก็ดูจะอยู่ในตลาดอาหารเล็กริมถนนสาม(สี่)แยกเกษตร

           


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 พ.ย. 19, 20:01
มีข้อสงสัยส่วนตัวอยู่เรื่องหนึ่ง คือ คนญี่ปุ่นเป็นนักกินของที่หลายคนว่ามีกลิ่นคาว ญี่ปุ่นก็ใช้วิธีการย่างเหมือนกัน แต่ต่างออกไป คือแทนที่จะย่างเหนือไฟ กลับเป็นการย่างใต้ไฟ  นัยว่าเพื่อเป็นการลดควัน  ซึ่งเตาในลักษณะนี้ก็มีการขายอยู่ในบ้านเราที่เรียกหรือโฆษณากันว่าเป็นเตาย่างไร้ควัน   

ในการย่างเนื้อต่างๆตามอเมริกันนิยมหรือยุโรปนิยมนั้น โดยหลักที่ถือปฏิบัติกันก็คือการย่างให้ได้ความสุกขนาด medium rare   ย่างให้ส่วนกลางของเนื้อสุกแต่ยังคงความนิ่มที่สัมผัสได้(เมื่อเคี้ยวเนื้อชิ้นที่ตัดเข้าปากผสมกับกลิ่น รส และสัมผัสของเนื้อสุกที่บริเวณผิว)  ซึ่งหมายถึงการย่างอย่างมีฝีมือด้วยการพลิกกลับเพียงครั้งเดียวหรือสองสามครั้งเท่านั้น  โดยหลักก็คือเมื่อย่างอยู่เหนือความร้อน ผิวที่สัมผัสอยู่เหนือความร้อนโดยตรงก็จะแห้งและหดตัว ขับน้ำในเนื้อขึ้นสู่ด้านบน เมื่อได้ที่แล้วก็พลิกกลับด้านเพื่อบังคับให้น้ำถูกกักอยู่ในส่วนกลางของเนื้อชิ้นนั้นๆ   ได้อรรถรสแบบ medium rare ที่แท้จริง     แต่การย่างของญี่ปุ่นที่ใช้ความร้อนอยู่ด้านบน จะหมายถึงวิธีการใช้ความร้อนเพื่อกำจัดของเหลวในเนื้อที่ผุดลอยขึ้นมาที่ผิวเพื่อการกำจัดกลิ่นหรือเปล่าก็ไม่รู้   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ย. 19, 10:37
ไม่กินเนื้อวัวมาค่ะ  แต่นานๆทีก็เลี่ยงไปกินเนื้อแกะแทน     แต่เนื้อแกะมีปัญหาอยู่ที่กลิ่นสาบแรงมาก   แม้แต่ในห้องอาหารของโรงแรมบางแห่งก็ยังกำจัดกลิ่นออกจากเนื้อแกะไม่ได้   ทำให้คนกินกล้ำกลืนพะอืดพะอม  หั่นคำเดียวแล้วจำใจทิ้งเหลือในจาน
ชอบเนื้อแกะ midium well  คือเกือบจะสุกค่ะ   ไม่ชอบกิน medium ที่ยังมีเลือดออกมาเลอะในจาน 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 พ.ย. 19, 19:07
เนื้อแกะเป็นของอร่อย แต่คนกินมักจะขยาดด้วยกลิ่นสาบและราคา  จะว่าขยาดด้วยราคาก็ดูจะมิใช่นัก ราคาต่อกิโลกรัมก็พอๆกับปลาแซลมอน ประมาณ 1000 บาท แท้จริงแล้วเนื้อแกะจะถูกกว่าเล็กน้อยด้วยซ้ำไป  ในร้านอาหารราคาสูง เนื้อแกะที่อยู่ในเมนูจะเป็นส่วนของเนื้อติดซี่โครงดังภาพของ อ.เทาชมพู  เรียกกันว่า Lamb Chop แต่หากเป็นซี่โครงทั้งแถบต่อเนื่องกันที่ยังไม่ตัดแบ่งก็จะเรียกว่า Rack of Lamb   ร้านที่ขายเนื้อแกะจะมีทั้งแบบซี่โครงทั้งแถบและตัดแยกออกเป็นแต่ละซี่โครงแล้ว และมีก้อนเนื้อส่วนใหล่ และขาหลัง

หากจะลองซื้อมาทำกินเอง (ซึ่งทำไม่ยากเลย) ก็พึงจะต้องรู้ว่าซื้อเนื้อแกะอะไรมา  มีเนื้อแกะ(Sheep)อยู่สามชนิด คือที่เรียกว่า Spring Lamb หมายถึงเนื้อแกะน้อย ซึ่งจะมีกลิ่นไม่แรงและเนื้อนุ่มมาก  ที่เรียกว่า Lamb ซึ่งหมายถึงแกะในวัยรุ่น ซึ่งจะมีกลิ่นสาบเนื้อแรงขึ้นมา คราวนี้ก็เลยไปอยู่ที่บริษัทผู้ผลิตว่าจะเลือกใช้แกะในวัยรุ่นกระเตาะหรือในวัยรุ่นลายคราม เนื้อก็จะเหนียวขึ้นมาหน่อย กลิ่นสาบก็จะแรงตามมามากขึ้น จึงไปขึ้นอยู่กับตลาดที่ขายเนื้อแกะ   สุดท้ายก็เป็นที่เรียกว่า Mutton ซึ่งหมายถึงเนื้อของแกะสูงวัว ก็จะมีกลิ่นสาบและตวามเหนียวของเนื้อที่สอดคล้องกับวัย


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 พ.ย. 19, 19:35
Mutton นั้น จะนิยมเอาไปทำอาหารที่ต้องใช้เวลาในการเคี่ยว เช่น Stew และอาหารที่ใส่พวกเครื่องเทศมาก เช่น ของอินเดีย ที่เรียกกันว่า Mutton curry (หรือ Curry mutton)...  หรือที่เสียบเหล็กแหลมย่างไฟ (Lamb skewer) ของตะวันออกกลาง     

ในออสเตรเลียก็มีการใช้ Mutton กันอยู่ไม่น้อย อาหารของชาวเหมืองแร่หรือในชุมชนเล็กก็ใช้ Mutton กัน อาหารหนักในมื้อเช้าก่อนออกไปทำงานก็มักจะสเต็กเนื้อแกะ(แก่)ชิ้นบาง หนาประมาณ 1- 1.5 ซม. กินกับไข่ดาวลูกนึง ขนมปัง และอื่นๆ...

ในยุโรปก็มีอาหารอร่อยอย่างหนึ่งของชาวไอร์แลนด์ที่ได้รับความนิยมมากพอที่จะมีอยู่ในเมนูหลักของร้านอาหารประเภทอินเตอร์ในหลายๆประเทศ ที่เรียกว่า Irish stew ซึ่งจะใช้เลือกใช้เนื้อแกะประเภทวัยหนุ่มจัด 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 พ.ย. 19, 19:45
เมื่อแรกเริ่มจะกินเนื้อแกะใหม่ๆ หากเป็นไปได้ก็ควรจะเลือกกินเนื้อที่เรียกกันว่า Spring lamb หรือไม่ก็เลือกร้านที่เขาว่าเนื้อแกะอรอย ไม่มีกลิ่นเลย ซึ่งก็เดาเอาว่าคงจะเป็นร้านที่เลือกใช้เนื้อแกะวัยอ่อนๆ  แล้วมันก็จะพัฒนาไปเอง จะค่อยๆก้าวไปหาร้านที่ใช้เนื้อแกะประเภท Lamb แล้วก็จะต่อไปหาร้านที่ว่าทำเนื้อแกะอร่อนจริงๆนั้น ตัวเนื้อจะต้องมีกลิ่นสาบแกะสักหน่อย กระทั่งว่ามันของ(ที่เป็นแหล่งกลิ่น)ก็อาจจะยังถูกตำหนิว่าเลาะเอาออกมากไป


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ย. 19, 20:33
Irish lamb stew


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 พ.ย. 19, 18:13
Lamb stew มีอยู่หลายสูตรในการทำ แต่พื้นฐานก็จะเหมือนๆกัน คือเอาเนื้อแกะหั่นให้เป็นก้อนขนาดประมาณหัวแม่มือ โรยเกลือ พริกไทย คลุกกับแป้ง แล้วเอาลงทอดในน้ำมันมะกอกหรือเนย หรือผสมกัน   จากนั้นก็เป็นเรื่องของผักพื้นฐาน ที่แน่นอนก็จะต้องมีมันฝรั่งและแครอท ซึ่งความต่างในการเลือกชนิดและสายพันธุ์ ก็จะทำให้เกิดความต่างในเชิงของความอร่อย นอกจากผักสองอย่างนี้แล้วก็อาจมีการใส่หอมใหญ่ คื่นช่ายฝรั่ง(celery) หรือต้นกระเทียมฝรั่ง(leek)  สำหรับสมุนไพรที่ใช้โดยพื้นฐานก็จะเป็นใบ thyme ซึ่งปลูกได้ในกรุงเทพฯบ้านเรา (ที่เห็นเป็นจุดสีเขียวๆในภาพใน คห.ของ อ.เทาชมพู) ใบไทม์นี้นัยว่าถูกโฉลกมากกับมันฝรั่ง  สมุนไพรอื่นก็จะมีใบต้นผักชีฝรั่ง(parsley)    หากทำเองแล้วอยากจะได้กลิ่นที่เราคุ้นๆมากหน่อย เราก็อาจจะใส่ใบกระวาน(bay leaf)ลงไปสักใบสองใบ  ใส่กานพลูลงไปสักดอกหนึ่ง ใสลูกกระวานลงไปสักลูกหนึ่ง ก็ไม่ผิดกติกาใดๆ  และก็อย่าลืมใช้ซุปก้อนด้วย แต่งรสด้วยเกลือ พริกไทย และอาจจะด้วยแม็กกี้ก็ได้

ความอร่อยของ stew ยังขึ้นอยู่กับการเคี่ยวและเวลาที่ใช้  โดยหลักแล้วควรจะต้องใช้หม้อเหล็กหล่อ ซึ่งเราจะไม่มีกันเพราะว่าเกือบจะไม่ได้ใช้งานใดๆ แถมยังมีราคาสูงมากอีกด้วย ก็ควรจะใช้หม้อที่ก้นหนา หรืออย่างน้อยก็เป็นหม้อที่มีเนื้อโลหะหนา  ตั้งไฟแรงปานกลางให้น้ำแกงเดือดแล้วหรี่ไฟลงให้แรงพอเพียงกับการเดือดปุดๆเบาๆ  เคี่ยวไปสักชั่วโมงหนึ่งแล้วยกลงเก็บค้างคืนเอาไว้ รุ่งขึ้นก็อุ่นอีกรอบหนึ่งสักพักใหญ่ๆ ก็พอจะตักกินได้แล้ว ความอร่อยของมันแบบเข้าถึงเนื้อในจริงๆจะออกมาก็เมื่อได้อุ่นไปแล้วหลายๆรอบ   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 พ.ย. 19, 18:30
ลืมไปครับ จะใส่ใบ Rosemary ลงไปบ้างด้วยก็ได้

ท่านที่ทำสตูว์เป็นคงจะเห็นว่าส่วนผสมที่ผมเล่ามานั้น มั่วขนาด เลย    การทำอาหารมันเป็นศิลปะ และมันก็มีศาสตร์อยู่ในเรื่องของมัน   การใส่เครื่องปรุงใดๆลงไปแบบไม่รู้จักตัวตนของมัน ก็คงจะได้อาหารที่เรียกว่าไม่เป็นสับปะรดเลย   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: pratab ที่ 18 พ.ย. 19, 19:08
สูตรทำสตูว์ที่คุณ naitang เล่ามานั้นไม่มั่วแน่นอนครับ ผมทำกินเป็นประจำเพียงแต่จะใส่ไวน์แดงลงไปเคี่ยวด้วยแต่ไม่ใช้ซุปก้อนเพราะกลัวผงชูรสและสารปรุงแต่งต่างๆ จะใช้น้ำสต๊อกที่เคี่ยวจากกระดูกและผักรวมกันแทน และถ้าเปลี่ยนจาก mutton เป็นเนื้อ chevon ก็ต้องเพิ่มผง curry ลงไปด้วยเล็กน้อยจะอร่อยถูกปากขึ้นครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 พ.ย. 19, 19:19
กลิ่นของเนื้อแกะที่เป็น Lamb chop นั้น  ผมแก้ง่ายๆด้วยการใช้ลูกจันทน์ป่นโรยลงไปหมักไว้เล็กน้อยก่อนจะนำไปย่าง บางทีก็ปรับรสด้วยการใช้ mustard ทาบางๆไปให้ทั่วชิ้นเนื้อ หมักไว้สักพักแล้วก็เอามาย่าง บางทีก็โรยใบโรสแมรี่แห้งหรือสด(หากมี)   ไม่ได้ทำให้สวยและดูน่ากินแบบในร้านอาหาร แต่ก็อร่อยๆม่แพ้กัน    

สำหรับต้นโรสแมรี่นั้น ปลูกได้ทั้งในภาคเหนือและในกรุงเทพฯ จัดได้ว่าเป็นสมุนไพรคู่หูกับเนื้อสัตว์บกทั้งหลาย เด็ดมาสักกิ่งหนึ่งวางไว้ในกระทะร้อน น้ำมันเล็กน้อย เอาเนื้อหมูหรือเนื้อวัวหั่นเป็นแผ่นตามความหนาที่ต้องการ วางทับลงไป เมื่อเห็นของเหลวปุดขึ้นมาที่ผิวหน้าด้านบนฉ่ำดีแล้วก็พลิกกลับทับลงไปบนก้านโรสแมรี่นั้น หรือจะใช้ก้านใหม่ก็ได้  เราก็จะได้อาหารอร่อยๆแบบง่ายๆที่มีกลิ่นชวนกินแบบกลิ่นสาบเนื้อลดลงไปหรือไม่มีเลย   โรสแมรี่ใช้กับปลาก็ได้เหมือนกันแต่ไม่นิยมกัน

ต้นไทม์นั้น ปลูกง่ายกว่าต้นโรสแมรี่ เป็นสมุนไพรกลิ่นอ่อน ฝรั่งนิยมเอามาใช้กับอาหารที่มีเนื้อละเอียดที่มีกลิ่น ที่นำมาทำแบบนึ่งหรือต้ม เช่น ไข่ ปลา มันฝรั่ง และกับไก่ในบางเมนู   มันคงจะเป็นเรื่องของคนจมูกไวต่อกลิ่นคาวจริงๆ   จมูกและรสสัมผัสของผมจำแนกได้ยากมากหรือไม่ออกเลยว่้ามีการใส่ไทม์หรือไม่มี  


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ย. 19, 19:37
สูตรทำสตูว์ที่คุณ naitang เล่ามานั้นไม่มั่วแน่นอนครับ ผมทำกินเป็นประจำเพียงแต่จะใส่ไวน์แดงลงไปเคี่ยวด้วยแต่ไม่ใช้ซุปก้อนเพราะกลัวผงชูรสและสารปรุงแต่งต่างๆ จะใช้น้ำสต๊อกที่เคี่ยวจากกระดูกและผักรวมกันแทน และถ้าเปลี่ยนจาก mutton เป็นเนื้อ chevon ก็ต้องเพิ่มผง curry ลงไปด้วยเล็กน้อยจะอร่อยถูกปากขึ้นครับ
ไม่เคยกิน chevon stew  ไม่ทราบว่ารสชาติคล้ายคลึงกับแกะมากน้อยแค่ไหนนะคะ
ลองไปหารูปมาให้ดูกันค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 พ.ย. 19, 19:58
สูตรทำสตูว์ที่คุณ naitang เล่ามานั้นไม่มั่วแน่นอนครับ ผมทำกินเป็นประจำเพียงแต่จะใส่ไวน์แดงลงไปเคี่ยวด้วยแต่ไม่ใช้ซุปก้อนเพราะกลัวผงชูรสและสารปรุงแต่งต่างๆ จะใช้น้ำสต๊อกที่เคี่ยวจากกระดูกและผักรวมกันแทน และถ้าเปลี่ยนจาก mutton เป็นเนื้อ chevon ก็ต้องเพิ่มผง curry ลงไปด้วยเล็กน้อยจะอร่อยถูกปากขึ้นครับ

Chevon = เนื้อแพะ  หากินได้ยากกว่าเนื้อแกะอีก  ผมไม่เคยเอามาทำกินเอง แต่ชอบกินข้าวหมกแพะ ซึ่งร้านที่ทำอร่อยจริงๆอยู่ที่เชียงรายโน่น เป็นฝีมือแบบปากีสถาน  ถ้าในกรุงเทพฯก็มีแถวป้อมพระสุเมรุ  อีกแห่งหนึ่งก็เป็นตุ๋นแบบจีน อยู่แถวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

คุณ pratab ว่าเปลี่ยนจาก mutton เป็นเนื้อ chevon แล้วเพียงเพิ่มผงกะหรี่ลงไปด้วยก็อร่อยแล้ว  เห็นทีผมจะอยู่ไม่สุขต้องลองทำเสียแล้ว    เรื่องใส่ไวน์แดงลงไปนั้นผมก็ทำเหมือนกัน แล้วก็ใช้ไวน์ที่เหลือกินเก่าเก็บนั้นแหละครับ  


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ย. 19, 20:06
เผื่อใครสนใจจะทำแพะตุ๋นบ้างค่ะ

https://www.youtube.com/watch?v=Q929b-PakcQ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: pratab ที่ 18 พ.ย. 19, 20:19
mutton stew กับ chevon stew รสชาติคล้ายกันครับสำหรับผู้ที่คุนเคยกับเนื้อ mutton มากกว่าจะบอกว่าเนื้อ chevon กลิ่นแรงและเนื้อสัมผัสหยาบกว่าครับ จริงๆต้องบอกว่าแล้วแต่ความชอบ ความคุ้นเคย สำหรับผมชอบ chevon ที่เป็นเนื้อติดหนังเอามาทำเป็น stew ได้อร่อยมากกว่า แต่ถ้าย่างต้องยกให้ lamb ครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ย. 19, 20:54
ถ้าแพะกับแกะมีรสชาติคล้ายกัน     มีแกะย่างได้ก็ต้องมีแพะย่างได้เหมือนกัน   ไปเจอรูปเนื้อแพะย่างค่ะ  มีคำบรรยายประกอบว่าปรุงรสด้วย กระเทียม  oregano และมะนาว
oregano ภาษาไทยเรียกว่าอะไรไม่รู้   มีคำอธิบายว่าอยู่ในตระกูลเดียวกับ mint
เนื้อแพะย่างในรูปดูน่ากินนะคะ  ไม่แพ้สเต๊กเนื้อวัว


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 พ.ย. 19, 18:09
เคยกินแต่แพะย่างทั้งตัว เขาเฉือนเอาแค่เนื้อมาให้กินเป็นของแกล้ม เขาว่าเช่นนั้นแต่ไม่รู้ว่าถูกหรอกหรือไม่ เพราะสี่ขาพวกนี้ เมื่อตัดหัว ตัดหาง ตัดเท้า ทำให้ดีก็ดูไม่ออกหรอกว่าเป็นตัวอะไร   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 พ.ย. 19, 18:38
ซี่โครงแพะย่าง กับซี่โครงแกะย่าง   ไม่รู้อย่างไหนอร่อยกว่ากันนะคะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 พ.ย. 19, 18:44
เนื้อแกะเอามาทำแบบไก่ผัดเม็ดมะม่วงหิมพานต์ก็อร่อยครับ แต่ทำแบบผัดแห้งๆ ให้รสออกไปทางเค็ม ผัดกับหอมใหญ่ พริกแห้งเม็ดใหญ่ที่ทอดแล้ว และเม็ดมะม่วงหิมพานต์

ผมทำแกงเนื้อแกะ lamb curry ไม่เป็น แต่หากเข้าร้านอาหารอินเดียก็ชอบที่จะสั่งมากินกับโรตีชนิดที่เรียกว่า Naan   หากเป็นร้านอาหารอินโดนีเซียก็จะกินกับข้าวสวยซึ่งจะเข้ากันได้ดีและอร่อยกว่ามาก


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 พ.ย. 19, 19:12
ดูไม่ออกเลยครับว่าจานใดเป็นแกะ ? จานใดเป็นแพะ ?

ถ้าจะให้เดา คิดว่าจานซ้ายน่าจะเป็นแพะ เพราะไม่เคยเห็นอาหารจานแกะที่มีการเสร์ฟซี่โครงย่างมาทั้งแถบ (rack)  ธรรมดาเห็นมีแต่เพียงสองหรือสามชิ้น และคิดว่าก็ไม่เคยเห็นจานแกะที่จะเสิร์ฟมากับมันบดอีกด้วย    สำหรับจานขวานั้นน่าจะเป็นแกะ เพราะคุ้นตากับซอสราดสีเขียวๆนั้น (มัสตาร์ด ใบสะระแหน่.....)   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 พ.ย. 19, 19:18
ท่านที่เคยทานข้าวหมกแกะช่วยเล่าประสบการณ์ด้วยครับ  เมนูนี้ดูจะมีอยู่แต่ในเฉพาะตะวันออกกลางและเอเซียกลาง


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 พ.ย. 19, 19:34
Lamb curry  = แกงกะหรี่แกะ? 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: pratab ที่ 20 พ.ย. 19, 21:30
ซี่โครงแพะย่าง กับซี่โครงแกะย่าง   ไม่รู้อย่างไหนอร่อยกว่ากันนะคะ

สำหรับผมโดยชาติพันธ์คุ้นเคยกับทั้งแกะและแพะ สั่งจากร้านเดียวกันที่ขายเนื้อทั้งสองชนิดผมว่าแกะย่างอร่อยกว่าเพราะใช้เครื่องปรุงแต่งเพื่อลดกลิ่นสาบ(แพะจะมีต่อมกลิ่นที่โคนหางหากทำไม่ดีแม้คนที่คุ้นเคยกินก็ไม่ชอบ)น้อยกว่าและมีความนุ่มนวลกว่า ทำกินแบบ mediumได้ดี


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 พ.ย. 19, 18:28
พูดถึงเรื่องกลิ่นสาบเนื้อนี้ สัตว์ทุกชนิดมันก็มีกลิ่นเฉพาะตัว

คนแต่เก่าก่อนนั้นต่างก็ได้พบวิธีกำจัดหรือการทำให้กลิ่นมันเบาลงที่คล้ายๆกัน แต่ก็มีบ้างที่ทำต่างกันไปบ้าง    ที่ได้กล่าวถึงไปแล้วก็คือวิธีการใช้ไฟสองขั้นตอน  ครั้งแรกเพื่อเผากำจัดขน กลิ่น แล้วเอาเครื่องในออก ครั้งที่สอง ย่างเพื่อเพิ่มกลิ่นหอมให้กับเนื้อและการทำให้เนื้อรัดตัวคงความฉ่ำไว้ก่อนที่จะเอาไปปรุงต่อไป ซึ่งเป็นวิธีการที่ชาวบ้านใช้กันทั่วไปกับสัตว์เล็ก ที่ต่างกันออกไปก็มี อาทิ การชุบน้ำให้เปียกก่อนเผา หรือการเผาไปเลย   ก็คงจะเป็นเรื่องจริง หากเข้าตลาดไปลองซื้อไก่สดที่ทำแบบชาวบ้าน คือถอนขนแล้วเอาไปเผาพื่อกำจัดขนอ่อนให้หมดไป กับไก่สดที่ทำมาจากระบบอุตสาหกรรม กลิ่นจะต่างกันมากๆเลย   เพียงแต่ด้วยการทำอาหารของไทยเรา เราใช้พวกสมุนไพรที่ฤทธิ์กลบ/บดบังกลิ่นอยู่ในเครื่องปรุง อาทิ กระเทียม รากผักชี ใบมะกรูด กระเพราะ โหระพา ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ......  กลิ่นสาบไก่ซึ่งมีไม่มากก็เลยค่อนข้างจะหายไป

สำหรับสัตว์ใหญ่ก็จะใช้วิธีการถลกหนัง ซึ่งสำหรับสัตว์ที่มีกลิ่นแรงมากๆนั้น ก็จะต้องรีบตัดเลาะเอาอวัยวะเพศออกไปเมื่อตายใหม่ๆ ซึ่งก็ดูจะมีเหตุผลเพราะการหลั่งสารก่อนสิ้นชีวิตแบบช๊อค นั้นมันมี    การถลกหนังก็จะต้องค่อยๆทำมิให้ขนไปสัมผัสหรือติดอยู่ที่เนื้อใน     


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 พ.ย. 19, 19:35
พูดไปถึงเรื่อง ไก่  เลยคิดถึงอาหารจานไก่ว่ามีอะไรกันบ้าง

คงจะหนีไม่พ้น 2 เมนูยอดฮิตที่มีขายในร้านข้าวแกงทั่วไป ซึ่งในปัจจุบันนี้ดูจะขยายวงเข้าไปอยู่ในร้านประเภทภัตตาคารหรูในโรงแรม ที่ไปอวดโฉมอยู่ในร้านอาหารจำนวนมากในหลายประเทศก็มี ต้มข่าไก่ และ แกงเขียวหวานไก่ 

ก็มีอีกเมนูหนึ่ง คือ ข้าวมันไก่ ที่ดูเหมือนว่าอาหารจานนี้กำลังถูกแย่งชิงสร้อยห้อยท้ายคำไปเป็นข้าวมันไก่สิงค์โปร์   ผมไม่มีความรู้ว่า ข้าวมันไก่ที่ใช้น้ำจิ้มเต้าเจี้ยวใส่ขิง หรือใช้ซีอิ๊วหวานนั้น เป็นแบบไทย แบบแต้จิ๋ว หรือแบบไหหลำ....      แต่ข้าวมันไก่สิงค์โปร์ที่กำลังดังใน ตปท. ซึ่งดูจะมีความเด่นอยู่ที่การสับไก่เป็นชิ่นใหญ่ ราดด้วยซีอิ๊วขาวผสมน้ำมันงา เสิร์ฟมากับน้ำจิ้มซีอิ๊วขาว น้ำส้มพริกตำรสอ่อนๆผสมผสานเปรี้ยว-หวาน (จะเป็นแบบฮกเกี้ยน ?) เหล่านั้น  เท่าที่ตัวเองได้มีโอกาศเดินทางไปต่างแดนหลายครั้ง ชื่อนี้เพิ่งจะมีปรากฎเมื่อประมาณ 20 ปีมานี้เอง   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 พ.ย. 19, 19:15
ต้มข่าไก่เป็นอาหารของคนในเมือง  ต้มยำไก่เป็นอาหารนิยมของชาวบ้าน เครื่องปรุงพื้นฐานของทั้งสองเมนูเหมือนกัน เพียงแต่อย่างหนึ่งใช้น้ำเปล่า อีกอย่างหนึ่งใช้น้ำกะทิ  ความต่างกันอีกอย่างก็คือของที่ใช้ในการเพิ่มส่วนที่เป็นเนื้อให้มากขึ้น สำหรับต้มข่าไก่ก็เช่น การใส่หัวปลี กล่ำปลี เห็ด และข่าอ่อน    ส่วนต้มยำก็เช่น ยอดมะขามอ่อน เห็ด และเนื่อสัตว์อื่น (หมู กุ้ง ปลาหมึก)   

หากเป็นชิ้นส่วนของไก่ คนในเมืองกับชาวบ้านจะนึกถึงเมนูอาหารต่างกันมาก   ส่วนที่เป็น คอ ดูจะไม่ให้ความสนใจเหมือนๆกัน ก็จึงเห็นยังติดอยู่กับโครงไก่สดที่วางขาย ซึ่งผู้ซื้อจะเอาไปทำอยู่สองอย่างหลักๆ คือ ทำน้ำต้มกระดูก (น้ำ stock) สำหรับทำกับข้าวอื่นใดต่อไป  หรือเอาไปชุบแป้งทอดแล้วสับให้แหลกเป็นอาหารของสุนัข  ก็มีอยู่บ้างที่ซื้อเอาไปทำต้มยำสำหรับซดน้ำและแทะกระดูกกันในวงเมรัยยามเย็น     ส่วนที่เป็นปีก ชาวบ้านก็ดูจะยังคงจำกัดความนึกคิดเพียงการเอาไปทำต้มยำ มีบ้างที่นึกถึงเอาไปผัดเผ็ด  ต่างกับคนในเมืองที่คิดถึงการเอาไปทำอาหารอย่างหลากหลายนับไม่ถ้วน เช่นเดียวกับชิ้นส่วนอื่นๆของตัวไก่ จะมียกเว้นที่พอเห็นอยู่บ้างก็เห็นจะเป็นเพียงตีนไก่เท่านั้น  ตีนไก่ในความคิดของชาวบ้านก็ยังคงเป็นเรื่องของต้มยำอยู่ดี


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 พ.ย. 19, 19:59
https://craftlog.com/th/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3/ext-%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%81%E0%B9%88-%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%94-3nfH5


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 พ.ย. 19, 19:06
ต้มข่าไก่นี้ดูคล้ายๆกับว่าจะทำง่าย แม้จะกินของแม่ครัวคนใดร้านใดก็ว่าอร่อยเกือบทั้งนั้น แต่เมื่อจะทำเข้าจริงๆก็กลับกลายเป็นว่ายากอยู่เหมือนกันด้วยที่ว่ามันเป็นอาหารที่มีรสอ่อนนุ่มนวลแต่ใช้เครื่องประกอบที่มีกลิ่นและรสค่อนข้างแรง    น้ำแกงที่เป็นกะทิอยู่ในหม้อที่จะใช้ต้มเครื่องปรุงต่างๆให้สุกนั้น จะต้องมีความเข้มข้นให้พอดี พร้อมไปกับการควบคุมเตาไฟมิให้แรงหรืออ่อนมากไปเพื่อควบคุมให้น้ำแกงมีควานร้อนมากพอที่จะทำให้เครื่องปรุงต่างๆสุกและนานพอที่จะให้เครื่องแกงเหล่านั้นคายกลิ่น รส และความเป็นตัวตนของมันออกมาโดยมิทำให้กะทิแตกมันมากจนเกินไปจนกลายเป็นแกงน้ำมันมะพร้าวใส่กะทิ  ก็เลยต้องมาถึงการเลือกเครื่องปรุงที่จะใช้ด้วย ซึ่งจะต้องคำนึงถึงหลัก ยิ่งแก่ก็ยิ่งเหนียว ยิ่งแข็ง และยิ่งมีกลิ่นแรง ยิ่งใหญ่ยิ่งหนาก็ยิ่งสุกให้ทั่วถึงได้ยาก 

ผมเห็นว่าต้มข่าไก่นั้น มันมีทั้งศาสตร์และศิลป์แฝงอยู่ในการทำอยู่มากพอสมควร  มันมี complexity อยู่ในตัวของมัน ก็จึงไม่แปลกนักที่จะเห็นเมนูนี้ปรากฎอยู่ในร้านอาหารที่มีระดับและในร้านอาหารแบบ Fusion cuisine ในยุโรป ซึ่งก็เพราะด้วยที่คนยุโรปค่อนข้างจะมีความไวต่อกลิ่นและรสของเครื่องปรุงต่างๆในอาหารแต่ละเมนู เขาสัมผัสได้ถึงการผสมผสานของเครื่องปรุงต่างๆที่มีอย่างพอดี ต้มข่าไก่ก็จึงสามารถไปอวดโฉมอยู่ได้ในระดับนั้น มิได้ปรากฎอยู่ในร้านอาหารตามปกติ   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 พ.ย. 19, 20:17
ผมมีขัอสังเกตว่า ชิ้นส่วนของไก่ที่ใช้ในการต้มข่าไก่ที่ว่าอร่อยนั้นจะเป็นเนื้อส่วนตะโพกและขา มิใช่ส่วนที่เป็นเนื้ออก   ใน ตปท.ที่เคยได้มีโอกาสลิ้มรส ร้านเหล่านั้นก็ใช้เนื้อไก่ส่วนนี้เหมือนกัน นัยว่าจะได้รสเนื้อที่ชุ่มฉ่ำและสัมผัสที่ดีกว่า

และก็มีข้อสังเกตว่า ต้มข่าไก่แต่ก่อนโน้นทำได้อร่อยกว่าในปัจจุบันนี้ อย่างน้อยน้ำแกงก็ไม่มันย่อง  มีน้ำปลาพริกขี้หนู ใส่หอมแดงซอย ใส่มะนาวฝานทำแช่ค้างคืนไว้ เป็นตัวช่วยปรับแต่งรสเมื่อตักมากินกับข้าว  อร่อยเหลือหลาย     ต้มข่าไก่แต่ก่อนนั้นใช้กะทิคั้นเองจากมะพร้าวขูด จึงสามารถแยกส่วนที่จะเป็นหัวกะทิออกจากหางกะทิได้ ทำให้สามารถปรับความเข้มข้นของน้ำแกงต้มข่าไก่ได้  ใช้หางกะทิในการต้มเพื่อรีดกลิ่นและรสของข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด และต้มเนื้อไก่ให้สุก แล้วใช้หัวกะทิช่วยควบคุมการทำให้แกงมีความเข้มข้นและแตกมันออกมาอย่างพอเหมาะกับเครื่องผักอื่นๆที่จะใส่ลงไป (หัวปลี เห็ด กล่ำปลี มะเขือเทศ...) ความมันจากการแตกมันของกะทิจึงสามารถควบคุมได้ดี   ต่างกับในปัจจุบันนี้ จะเข้าตลาดหาซื้อมะพร้าวขูดก็หายากเต็มทน เกือบจะหาไม่ได้เลย ต้องใช้กะทิสำเร็จซึ่งเป็นกะทิที่ทำแบบ homogenized คือกระจายมันไปให้ทั่วเท่าๆกัน (เหมือนกับนมกล่องที่เป็น homogenized milk ซึ่งจะต่างกับนมสดจากเต้าของวันนั้นๆที่ใส่ขวดแก้วขาย ซึ่งจะให้ความมันในอีกสัมผัสหนึ่งที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง)     


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 พ.ย. 19, 18:48
มาถึงส่วนขาของไก่ ก็จะมีอยู่ 2 อย่าง คือ เอ็นข้อ กับ ตีน   เอ็นข้อนั้นเอามาทอด เป็นของกินที่ไม่ค่อยจะเหมาะกับคนสูงวัย  ก็แปลกอยู่ที่เกือบจะไม่เห็นมีวางขายอยู่ตามแผงขายไก่ในตลาดสดชาวบ้าน  เอ็นไก่ทอดไปปรากฎเป็นเมนูในร้านอาหารประเภทสวนอาหารเกือบจะทุกแห่ง  ต่างกับตีนไก่ที่จะวางขายกันทั่วๆไป ซึ่งในตลาดชาวบ้านก็จะมีแต่ตีนไก่สดที่ตัดมาโดยที่ยังมิได้มีการปรับแต่งใดๆ ส่วนตลาดในเมืองก็จะมีให้เลือกอีกแบบหนึ่ง คือแบบที่เลาะกระดูกออกให้เรียบร้อย ขาวสะอาด ฟูเปล่งปลั่ง และยังเปลี่ยนชื่อเรียกขานไปเป็น เล็บมือนาง อีกด้วย

ตีนไก่ทั้งกระดูกนั้น ชาวบ้านนิยมเอาไปทำต้มยำซดน้ำรสจี๊ดจ๊าดแบบที่มีชื่อเรียกขานว่าต้มแซบหรือต้มซุบเปอร์  ผมเคยกินต้มแบบนี้มาตั้งแต่ 2508  เป็นต้มที่จะได้กินก็เมื่อร้านอาหารกำลังจะปิดครัวปิดร้าน และเราเองจะต้องมีความสนิทสนมพอควรกับเจ้าของร้านหรือกับพ่อครัว  การทำก็ง่ายๆ เพียงตักเอาน้ำซุปและกระดูกไก่ในหม้อน้ำซุปที่ตั้งเคี่ยวไว้ตั้งแต่เช้า(สำหรับใช้ในการทำกับข้าวต่างๆ) เนื้อหนังเกือบจะไม่มีอะไรเลย มีแต่ส่วนปลายปีกและเนื้อติดกระดูกและซี่โครงที่ต้มมานานจนเปื่อยยุ่ย(รวมทั้งเอ็น ข้อ และกระดูกอ่อน) ตักใส่ชามแกงที่มีข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด พริกสดบุบแหลก น้ำปลา มะนาว   เป็นการต้มแบบไม่พิถีพิถัน ไม่เลือกว่าข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด จะต้องมีความมีความแก่หรืออ่อนอย่างไร พริกสดจะต้องเป็นพริกอะไร ขาดมะนาวก็ใช้น้ำส้มสายชูแทน ....  อร่อยเหลือหลายจริงๆครับ ความอร่อยนั้นน่าจะมาจากพื้นฐานของน้ำซุปที่เคี่ยวไว้นานหลายชั่วโมงนั่นเอง (ซึ่งก็คือน้ำ stock ที่ร้านอาหารดีๆที่ขึ้นชื่อว่าทำอาหารอร่อยต่างก็ให้ความใส่ใจและให้เวลาในการทำนั่นเอง)     


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ย. 19, 19:07
เอ็นไก่ กับตีนไก่


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 พ.ย. 19, 19:35
ต้มตีนไก่ที่เรียกว่า ต้มซุปเปอร์ นั้น เจ้าที่ทำอร่อยก็คือเจ้าที่ใช้เวลาในการต้มเคี่ยวนานมากกว่าเจ้าอื่นๆ คือทำอยู่บนหลักการเดียวกันดังที่เล่ามา    

เดี๋ยวนี้ได้เห็นตีนไก่ต้มน้ำปลาวางขายอยู่ในตลาดเย็นหลายตลาดแล้ว

ตีนไก่ก็ถูกนำไปทำเป็นอาหารที่มีระดับเหมือนกัน โดยเฉพาะในเมนู Dim Sum เท่าที่พอจะรู้และเคยลิ้มลองก็มี ตีนไก่น้ำแดง ตุ๋น และพะโล้

ตีนไก่เป็นคำเรียกที่ดูจะไม่มีคำสุภาพที่จะใช้เรียกแทน   ก็มีการใช้คำว่า แข้งไก่บ้าง และเท้าไก่บ้าง จะไปใช้นามแฝง_เล็บมือนาง_ก็ดูจะให้ภาพที่ไม่ตรงกับความหมายที่ใช้กันต่อเนื่องตลอดมาหลายๆสิบปีแล้ว    


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ย. 19, 19:51
ยำเล็บมือนาง


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 พ.ย. 19, 18:11
ผมรู้จักและได้ลิ้มลองรสยำเล็บมือนางเป็นครั้งแรกก็เมื่อประมาณ 2508 เช่นกัน เป็นเมนูที่เกือบจะไม่เห็นในร้านอาหารทั่วๆไป จะมีก็ในร้านอาหารดังๆเท่านั้น ก็มีความเข้าใจว่าเป็นของที่ครัวต้องทำการเลาะกระดูกเอง เป็นงานที่ค่อนข้างจะเสียเวลาในการเตรียม   ต่างกับในปัจจุบันที่มีการทำเสร็จเรียบร้อยแล้ววางขายอยู่ในตลาดต่างๆ   ยำเล็บมือนางเป็นอาหารที่หนักไปทางเป็นของแกล้มหรือของกินเล่นมากกว่าที่จะเป็นกับข้าวในโต๊ะอาหาร  ซึ่งเดี๋ยวนี้ได้ออกจากร้านอาหารลงมาถนนแล้ว มีขายอยู่ในแผงลอยที่ขายบรรดาสารพัดยำ

ก็เลยนำพาไปให้นึกถึงอาหารที่เรียกว่า Street foods  แต่ก่อนจะเข้าสู่เรื่องนี้ จะขอย้อนกลับไปสักนิด


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 พ.ย. 19, 19:23
กล่าวถึงต้มแซบ ทำให้นึกถึงการแปลงอาหารของคนที่นิยมสังคมในช่วงเวลา "แดดร่มลมตก"

กิจกรรม "แดดร่มลมตก" ของเรา ดูจะอยู่ในลักษณะที่ฝรั่งเขาเรียกว่า High Tea  หากแต่ทั้งสองนี้มีความต่างกันอย่างมากเลยทีเดียว  ของเราออกไปทางการนั่งโต๊ะสังสรรเฮฮาและหนักไปทางเมรัย ซึ่งมักจะต่อเนื่องไปถึงอาหารมื้อเย็น และอาจจะต่อเนื่องไปถึงมื้อเบาๆรอบดึกเลยทีเดียว   ของฝรั่งเขาหนักไปทางยืน/เดินพูดคุย กินของว่างที่เป็นเนื้อเป็นหนัง(คล้ายๆกับการกิน Dim Sum รอบบ่ายแก่ๆ)เป็นเวลาสั้นๆแล้วก็แยกย้ายกลับไปทานอาหารเย็นของใครของมัน   

จะใช้คำว่า Thai High Tea Style จะพอใหวใหมครับ ?  (ทั้งนี้ก็คงจะต้องตัดตอนออกไปจากช่วงเวลาที่เป็นอาหารเย็น(dinner) และที่เป็นอาหารรอบดึก(late supper))  ก็ช่วงเวลานี้เองที่บรรดาของอร่อยของเราจะแสดงตัวออกมา ออกมาแสดงถึงความเข้าใจในตัวตนของเครื่องเคราต่างๆที่ใช้ในการปรุงอาหารในเมนูนั้นๆ  แสดงถึงฝีมือของคนที่ทำอาหารเมนูนั้นๆ รวมทั้งเข้าใจในรสและการรีดเอาความรู้สึก Umami ออกมาให้กับผู้ที่กินอาหารเมนูนั้นๆ         


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 พ.ย. 19, 19:47
ตีนไก่ทั้งกระดูกนั้น ชาวบ้านนิยมเอาไปทำต้มยำซดน้ำรสจี๊ดจ๊าดแบบที่มีชื่อเรียกขานว่าต้มแซบหรือต้มซุบเปอร์  ผมเคยกินต้มแบบนี้มาตั้งแต่ 2508

ทำไมเรียกต้มยำตีนไก่รสแซ่บว่า "ต้มซุปเปอร์" หรือ "ต้มซูเปอร์" ตามหลักการทับศัพท์ภาษาอังกฤษของท่านรอยอิน

ข้อมูลจาก พันทิป โดย คุณสมาชิกหมายเลข ๑๔๔๕๖๙๓ วันที่ ๓ กันยายน ๒๕๕๗


ข้อมูลที่ผมรับทราบมาประมาณร่วม ๔๐ ปีแล้วครับ ปัจจุบันผมอายุ ๖๑ ปีแล้ว คือว่าเคยมีคนขายต้มไก่ซึ่งจะแปลกจากต้มไก่ทั่วไปที่เคยกินกันในยุคนั้น จะว่าต้มยำก็ไม่ใช่ครับ แต่คล้าย ๆ กันเท่านั้น คนขายก็บอกไม่ได้ว่าอาหารชนิดนี้มันคืออะไรครับ จุดเด่นของอาหารชนิดนี้คือใช้ตีนไก่ล้วน ๆ ครับ และน้ำซุปที่รสจัดจ้านมาก เปรี้ยวนำ เผ็ดตาม ใช้มะนาวแท้ ๆ ไม่มีรสหวาน ที่สำคัญอีกอย่างใช้พริกขี้หนูสวนครับ และที่สำคัญคือ ตีนไก่ที่ต้มจนเปื่อยชนิดที่พอใส่ปากแล้วรูดเนื้อออกได้หมดในพริบตาเลยครับ

ตอนนี้ก็ถึงตอนที่มาที่ไปของคำว่าว่า " ขาไก่ซูเปอร์" แล้วนะครับ คือว่าร้านนี้เค้าขายอยู่บริเวณโรงแรมซูเปอร์ถนนพหลโยธินใกล้ ๆ กับขนส่งหมอชิตเก่าทะลุออกสถานีโทรทัศน์ช่อง ๗ สีได้อะครับ คนในยุคนั้นเวลาจะไปกินต้มขาไก่เจ้าที่ว่าไม่รู้จะสื่อสารกันยังไงดี ก็เลยเรียกกันว่าต้มขาไก่ที่ข้างโรงแรมซูเปอร์ ต่อมาก็เหลือแค่คำว่า "ขาไก่ซูเปอร์" มาจนบัดนี้ครับ

ข้อมูลอีกอย่างคือโรงแรมซูเปอร์พหลโยธินนี้สร้างมานานมากแล้วครับ ตอนนั้นยังไม่ได้สร้างถนนวิภาวดีรังสิต ใครจะเดินทางขึ้นสายเหนือก็ต้องใช้เส้นพหลโยธินอย่างเดียว มาถึงช่วงหลัง ๆ ของจอมพลสฤษต์ นายกรัฐมนตรีและต่อเนื่องจอมพลถนอม รัฐบาลในยุคนั้น ได้มีการขยายถนนพหลโยธินให้กว้างขึ้นกว่าเดิม และเรียกถนนนั้นว่า "ซูเปอร์ไฮเวย์" จนเป็นที่มาของคำว่าโรงแรมซูเปอร์ในภายหลังครับ

https://pantip.com/topic/30276395


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 พ.ย. 19, 20:33
แท้จริงแล้ว ต้มแซบ จะเป็นต้มอะไรก็ได้ที่ใช้เครื่องต้มยำหลักอันมี ข่า ตะไคร ใบมะกรูด แล้วปรุงให้ออกรสเปรี้ยว เค็ม เผ็ด    ในวงแดดร่มลมตกของผมเมื่อครั้งยังทำงานอยู่ในพื้นที่ไกลปืนเที่ยงก็นิยมต้มแซบเหมือนกัน ทำเองบ้าง ขอร้องให้ร้านค้าเขาทำบ้าง  ก็มีอาทิ เอาน้ำเป็ดพะโล้มาเจือจางลงเล็กน้อย แล้วบุบข่า ตะไคร ใบมะกรูด ใส่ลงไป ทำการปรุงรสแบบต้มยำ ใส่คอ ปีก ซี่โครง ตีน กระดูกลงไปก็เป็นอันใช้ได้ ในปัจจุบันนี้เมื่อนึกสนุกขึ้นมาก็ยังทำอยู่เลย ก็ทำตั้งแต่เริ่มต้มเป็ดกับเครื่องพะโลเลยทีเดียว     พวกน้ำซุปก๋วยเตี๋ยวเนื้อ หมู ไก่ เหล่านี้ก็เอามาทำได้ทั้งนั้น  ไม่ต้องไปคำนึงมากว่าจะต้องใช้พริกสดหรือพริกทอดฉีก ฯลฯ   มีอะไรที่เคยเห็นว่ามีการใส่อยู่ในชามต้มยำที่เคยกินก็เป็นอันว่าโอเคเกือบทั้งนั้น ที่จะต้องยกเว้นก็จะมีเพียงน้ำพริกเผาและกะทิเท่านั้น     ก็ดังที่ว่าไว้ ต้มแซบจะอร่อยก็อยู่ที่น้ำซุปที่เคี่ยวไว้นานหลายชั่วโมงนั่นเอง ในปัจจุบันนี้ก็มี ต้มเล้ง ที่ใช้น้ำซุปกระดูกหมู ซึ่งก็กำลังเริ่มเป็นที่นิยมกัน


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 พ.ย. 19, 09:20
ต้มแซบกระดูกหมูอ่อน


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 พ.ย. 19, 20:22
ืทิ้งค้างไว้เรื่อง Street Foods ที่ว่าเป็นแหล่งของอาหารอร่อย   

Street Foods ในภาษาของไทยดูจะใช้คำรวมๆว่า อาหารข้างถนน หรืออาหารริมถนน  ซึ่งมีลักษณะบ่งชี้เป็นนัยๆว่าเป็นพวกร้านอาหารที่ไม่ค่อยจะถูกสุขลักษณะมากนัก   แท้จริงแล้วคำว่า Street foods ดูจะมีความหมายรวมๆถึงสถานที่ขายอาหารที่อยู่นอกอาคารทั้งหลาย ซึ่งก็มีอยู่ 2 รูปแบบคือ แบบเร่ร่อน ที่เราใช้คำว่า หาบเร่แผงลอย (Food vender) ซึ่งของไทยส่วนมากก็จะใช้กำลังแข้งขาในการเคลื่อนย้ายเป็นหลัก ต่างกับของฝรั่งที่เคลื่อนย้ายด้วยกำลังจากเครื่องยนต์เป็นหลัก   อีกแบบหนึ่งของ Street Foods ก็คือตั้งอยู่กับที่ เราใช้คำว่าตลาดอาหาร ตลาดโต้รุ่ง ซุ้มอาหาร... (Food Kiosk, Food Stall ... )  หากอยู่ในอาคารก็ใช้ทับศัพท์ว่า Food Park    ก็ยังมีร้านอาหารอีกรูปแบบหนึ่งที่ดูจะอยู่ในความหมายของคำว่า Street Foods (จะใช่หรือไม่ก็ไม่รู้) ก็คือบรรดาร้านอาหารจานเดียวแบบจานด่วน เช่น ร้านขายก๋วยเตี๋ยว ขายข้าวแกง ผัดไทย หอยทอด ฯลฯ ร้านเหล่านี้เราเรียกว่าร้านอาหาร ซึ่งไม่ตรงกับความหมายในภาษาอังกฤษของคำว่าภัตตาคาร (Restaurant)  จะเรียกว่า Fast Foods Shop ก็น่าจะพอได้ แต่ก็ดูจะแปร่งๆอยู่ไม่น้อย 

ว่าจะว่าเรื่องของความอร่อยเป็นพิเศษของอาหารข้างถนนก็มัวแต่ไปจำแนกในเรื่องอะไรก็ไม่รู้ แต่มันก็มีความโยงใยไปถึงความอร่อยที่จะกล่าวถึง และก็ยังไปสัมพันธ์กับตลาดอีกด้วย   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 พ.ย. 19, 08:12
ตลาดโต้รุ่งบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์  จังหวัดนครปฐม   เป็น street foods ที่รู้จักกันดีแห่งหนึ่งของไทย
อาหารที่นี่ขึ้นชื่อลือชาไม่แพ้ภัตตาคาร 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 พ.ย. 19, 08:17
อาหารริมทาง

https://www.youtube.com/watch?v=llMRLP849EA


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 พ.ย. 19, 10:34
Street foods in Thailand


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 พ.ย. 19, 18:49
ขอบพระคุณสำหรับภาพประกอบครับ ผมเห็นด้วยว่า Street Foods ของนครปฐมมีของอร่อยอยู่มากมาย

Street Foods นอกจากจะจำแนกตามลักษณะแล้ว ก็น่าจะจำแนกได้ตามช่วงเวลาที่มีการค้าขายอีกด้วย ก็จะมีพวกที่ติดตลาดในช่วงเช้าคู่ขนานไปกับการค้าขายในตลาดสด ซึ่งมีอยู่ทั่วไปทุกแห่งที่มีตลาดสดหรือตลาดเทศบาล   มีพวกที่ติดตลาดในช่วงเวลากลางวันซึ่งมีอยู่สองรูปแบบคือ เฉพาะช่วงก่อนและหลังของเวลาการพักทานอาหารกลางวันของหน่วยงานทางราชการและธุรกิจต่างๆ ซึ่งจะอยู่ในพื้นที่ใกล้ๆ ระยะทางเดินไม่ไกล และมักจะมีแผงสินค้าประเภทอุปโภควางขายรวมอยู่ด้วย  สำหรับพวกที่ติดตลาดในช่วงเวลาเย็นก็จะมีสองรูปแบบเช่นกัน คือพวกที่เรียกว่าตลาดโต้รุ่ง ซึ่งส่วนมากจะเลิกรากันไม่เกินเวลาประมาณเที่ยงคืน กับพวกที่เป็นร้านอาหารที่เราเรียกกันว่าร้านข้าวต้มโต้รุ่ง คือเปิดทั้งคืน   

สัก 4-5 ปีที่แล้ว ผมได้สัมผัสกับอาหารข้างถนนอีกแบบหนึ่งในช่วงเวลาก่อนเวลารุ่งเช้าของวันใหม่ ช่วงเวลาประมาณตี 4 หรือก่อนนั้นถึงเวลาประมาณตี 5   อันนี้เป็น Street vendor แน่นอน เพราะเป็นรถเข็นขายไข่ลวก กาแฟ และปาท่องโก๋ (ไม่แน่ใจว่ามีของกินอะไรอื่นอีกหรือไม่)  พบเห็นได้ตามวินมอเตอร์ไซด์หน้า รพ. สถานีจอดรถประจำทาง และจุดจอดรอรถสาธารณะต่างๆทั้งใน กทม.และ ตจว.   

ในบรรดาร้านขายอาหารข้างถนนที่เราเรียกรวมกันว่าหาบเร่แผงลอย(Street Foods)ที่กล่าวถึงนี่แหละ คือแหล่งหรือศูนย์รวมความหลากหลายของศาสตร์และศิลป์ในการทำอาหารของคนไทย ทั้งในเรื่องทางเทคนิค กระบวนวิธีและขั้นตอนในการทำ การแปร และการปรุงแต่ง เพื่อดึงเอารสสัมผัส Umami ของเครื่องปรุงแต่ละอย่างออกมารวมกันอยู่ในเมนูอาหารนั้นๆ เด่นออกมาจนติดอันดับความอร่อยระดับโลก แถมยังถูกลอกเลียนโดยคนทำครัวหลายชาติ เอาไปปรับแต่งเป็น Fusion Foods เป็นอาหารดังมีระดับของตนเอง


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 พ.ย. 19, 19:20
สาเหตุสำคัญของความอร่อยของ Street Foods ของไทยเราที่ว่าอะไรๆก็ดูจะอร่อยไปทั้งหมดนั้น ก็น่าจะมาจากการทำอาหารในลักษณะที่คนทำขายแต่ละคนได้รับการถ่ายทอดสืบสานต่อกันมาส่งต่อกันมาทางครอบครัว เป็นการทำอาหารแบบไร้ข้อกำหนดของวัสดุ....  ไร้ข้อจำกัดของเครื่องปรุง.... มีความหลากหลายทางตรรกะ และไร้ข้อจำกัดว่าจะต้องเป็นเช่นนั้นเป็นเช่นนี้  ต่างกับร้านอาหารที่เป็นภัตตาคารที่แต่ละร้านจะต้องพยายามรักษามาตรฐานและคุณภาพของอาหารของคนให้คงที่จนทำให้เกิดมีข้อจำกัด มีความช้าในการปรับตัวสู้กับพวกหาบเร่แผงลอยที่เปลี่ยนไปได้ทุกวันตามคำตำหนิเพื่อก่อของลูกค้าต่างๆ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ธ.ค. 19, 18:17
หายไป ตจว.ครับ มีธุระจำเป็นต้องไป แล้วก็เลยอยู่โต้ลมหนาวรอเวลาทำธุระอีกเรื่องหนึ่งก่อนจะกลับกรุงเทพฯ เลยกลายเป็นหายไปหลายวัน  ต้องขออภัยที่มิได้บอกกล่าวไว้แต่ล่วงหน้าครับ 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ธ.ค. 19, 19:17
ต้อนรับคุณตั้งกลับเรือนค่ะ
หนาวๆแบบนี้ นึกถึงอาหารในรูปข้างล่าง   คุณตั้งและท่านอื่นๆนึกถึงอะไรบ้างคะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ธ.ค. 19, 19:23
ทิ้งท้ายไว้ในกระทู้ก่อนจะหายไป ตจว.ว่า  สาเหตุของความอร่อยของ street foods นั้นมาจากอะไร  

โดยสรุปก็คือ แต่ละร้านต่างก็ทำอาหารตามแบบฉบับที่แต่ละครัวเรือนและญาติพี่น้องของตนได้ทำต่อๆกันมา ผนวกกับที่ตนเองเห็นว่าน่าจะปรับแต่งองค์ประกอบของเครื่องปรุงและรสให้เป็นไปเช่นใด แล้วก็ยังปรับแต่งให้เหมาะสมกับผู้คนที่มาแสวงหาของกินในตลาดของแต่ละย่านแต่ละชุมชนนั้นๆ ปรับแต่งให้เหมาะสมกับชาติพันธุ์ของผู้ที่มากินทั้งในแบบองค์รวม กระทั่งการปรับแต่งแบบแต่ละจาน   เหล่านี้ทำให้เกิดความหลากหลายทั้งในเชิงของ varieties และ versions ของอาหารในเมนูเดียวกันของ street foods ของไทย เช่นนี้แล้วจะมิทำให้บรรดาอาหารเหล่านั้นถูกปากคนทุกชาติทุกเผ่าพันธุ์เชียวหรือ ?  


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ธ.ค. 19, 20:27
อ.เทาชมพู นึกถึงข้าวจี่ ชโลมด้วยไข่แล้วปิ้งให้หอม  ก็คือข้าวเหนียวใหม่นึ่งสุกนุ่มๆ ปั้นเป็นก้อนหรือแผ่นเสียบไม้ ทาด้วยไข้ แล้วนำไปปิ้ง ก็จะได้กลิ่นหอมของไข่และข้าวเหนียว หอมชวนกิน  คิดว่าเป็นของกินเล่นของหลายประเทศในภูมิภาคเรา ในญี่ปุ่นก็มีทำกันในช่วงฤดูใบไม้ผลิ โดยเฉพาะในช่วงดอกท้อบาน  ในบ้านเรา เท่าที่ได้สัมผัสมาก็จะมีทำกันในช่วงต้นฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงของข้าวเหนียวใหม่ของฤดูใหม่ และก็มีเฉพาะในภาคเหนือและอิสานตอนบน

ผมไปนึกถึงข้าวหนุกงา ซึ่งก็คือข้าวเหนียวใหม่คลุกกับงาขี้ม่อน  (งาขี้ม่อนก็คือเม็ดของพืชตระกูลชิโสะ (shiso) ใบชิโสะเป็นใบธัญพืชที่คนญี่ปุ่นเอาใบไปทานกับปลาดิบและ sashimi ทั้งหลาย)    อันดับต่อๆไปก็นึกถึง ผักขี้หูดต้ม กินกับน้ำพริกหนุ่มใส่แมลงดานาดองย้ำปลา 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ธ.ค. 19, 09:17
ข้าวหนุกงา


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ธ.ค. 19, 14:41
น้ำพริกหนุ่มใส่แมงดา


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ธ.ค. 19, 14:47
ผักขี้หูด


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ธ.ค. 19, 16:26
https://www.youtube.com/watch?v=XALRPkxwpLY


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ธ.ค. 19, 19:09
อาหารสำหรับฤดูหนาวที่ผมได้รับรู้มาจากชาวถิ่นในช่วงที่ไปใช้ชิวิตในช่วงฤดูหนาวใน ตปท.หลายครั้ง โดยหลักใหญ่ๆก็คือ ให้ได้รับปริมาณแคลอรี่มากพอสำหรับการเผาผลาญในแต่ละช่วงเวลาของมื้ออาหารในแต่ละวัน ให้ได้รับปริมาณวิตามินและเกลือแร่เพียงพอที่จะรักษาสมดุลย์และความสมบูรณ์ของร่างกาย ซึ่งก็คือความเพียงพอที่จะทำให้ร่างกายมีความพร้อมและแข็งแรงพอที่จะต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บต่างๆที่มากับฤดูหนาว  ทั้งนี้ ความเหมาะสมต่างๆก็ขึ้นอยู่กับลักษณะของกิจกรรมในการดำเนินชีวิตประจำวัน สภาพและสิ่งแวดล้อมทางกายภาพและภูมิอากาศของพื้นที่โดยรวม

แท้จริงแล้ว ร่างกายของเรามันสื่อสารไปยังสมองให้บอกว่าตัวเราเองรู้สึกอยากจะกินอะไรเพื่อไปช่วยปรับความไม่สมดุลย์ที่เกิดขึ้นในร่างกายของตัวเราเองในช่วงเวลาต่างๆ  อาจจะนึกถึงกาแฟหวานๆหรือขนมหวานเมื่อต้องการพลังงานเร่งด่วน อาจจะนึกถึงซุปหรือสตูว์ร้อนๆเมื่อต้องการคาร์โบไฮเดรตและไขมันเพื่อพลังงานและเก็บเกี่ยวพวกวิตามินพวกที่ละลายด้วยไขมัน หรืออาจจะนึกถึงพวกผักมีสีที่มี essential trace elements ที่ต้องการใช้สำหรับการทำงานที่สมบูรณ์ของเซลส์ต่างในร่างกาย   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ธ.ค. 19, 19:26
ซุปหน้าหนาวอย่างแรกที่นึกถึงคือซุปเห็ดข้น  กินกับขนมปังปิ้งค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ธ.ค. 19, 20:09
ที่เป็นข้อสังเกตของผมก็พอจะมีอยู่ว่า    มีอาหารและธัญพืชหลายอย่างของภาคเหนือที่อยู่ในโภชการเฉพาะช่วงฤดูหนาวของทางภาคเหนือซึ่งดูจะสอดคล้องกับความต้องการของร่างกายและระบบ metaboliam ของคนในช่วงเวลาดังกล่าว    ก็มีอาทิ แกงกระด้าง ข้าวกั๋นจิ้น ผักขี้หูด ผักกาด(จอ) มะเขือม่วง(หำแพะ) ยอดหวาย ข้าวเหนียวใหม่คลุกงาขี้ม่อน ...    


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ธ.ค. 19, 20:39
ไม่รู้จักแกงกระด้างค่ะ  ชืื่อแปลก   ไปค้นภาพดูถึงรู้ว่าไม่ใช่แกง  แต่เป็นการเคี่ยวขาหมูจนกระทั่งวุ้นในกระดูกออกมา พอเย็นก็กลายเป็นวุ้นแท่งหุ้มเนื้อหมู   
เหมือน headcheese  ของฝรั่ง
เพียงแต่ของเราใส่เครื่องปรุงแบบไทย  รสชาติและกลิ่นจึงผิดแผกกันไปบ้าง


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ธ.ค. 19, 20:39
นี่คือ headcheese


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ธ.ค. 19, 20:49
ของโปรดของผมเหมือนกันครับ    

จะยิ่งอร่อยมากขึ้นหากแทนขนมปังปิ้งด้วย crutons แบบทอด (มิใช่แบบอบ)   ที่จริงก็เพิ่งจะไปซื้อซุปแบบซองมาวันนี้เอง เป็นแบบผงแล้วเอาไปละลายในน้ำร้อนจัด   สำหรับ crutons นั้นจะต้องทำเอง ก็เอาขนมปังแบบ whole wheat หรือ whole grains แบบหั่นเป็นแผ่นหนา เอามาตัดขอบ ตัดย่อยออกเป็นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า แล้วเอาลงทอดในกระทะน้ำมันค่อนข้างร้อน ซึ่งจะทำแบบทอดในน้ำมันมาก หรือทอดในน้ำมันน้อยพอติดก้นกระทะก็ได้  หรือจะทานซุปกับขนมปังแบบฝรั่งเศส (Baguette) ปิ้งทาเนยผสมกระเทียม หรือกับขนมปังที่ีทำด้วยแป้งหมักที่เรียกว่า sourdough ก็อร่อยเช่นกัน

ทำให้คิดเลยเถิดไปถึงซุปหอยลายข้น (Clam chowder) ที่เสิร์ฟมาในขนมปัง Sourdough ก้อนกลมที่ควักใส้กลางออก มากับไวน์ขาวแก้วหนึ่ง  รสเค็มของซุปกับรสเปรี้ยวของไวน์ผสมกันกับบรรยากาศนั่งกินนอกอาคารในอากาศเย็นๆช่วงเวลาบ่ายที่มีแดดอ่อนๆ  ช่างเข้ากันได้ดีเหลือเกินจริงๆ    


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ธ.ค. 19, 21:35
ซุปหอยลายข้นกับขนมปังกระเทียม


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ธ.ค. 19, 19:58
อาหารริมทางของเรามีความหลากหลายมากๆทั้งในเชิงของ varieties และ variation (ต้องขออภัยที่นึกคำไทยที่เหมาะสมไม่ออก)

ตัวอย่างในเชิงของ varieties  ก็มีอาทิที่เรียกว่าต้ม ก็มีต้มยำ ต้มจืด ต้มส้ม ต้มข่า ต้มโคล้ง ต้มแซบ ต้มเปรอะ....   ในเชิงของ varieties ก็เช่นต้มยำแบบน้ำใส แบบใส่น้ำพริกเผา ใส่ใบผักชีฝรั่ง ใส่มะเขือเทศ ใส่พริกแห้งทอด ใส่ใบกระเพรา หรือแบบป่าๆหน่อยก็ใช้มะขามเปียก ใส่ลูกมะกอก หรือใส่ใบผักไผ่(ผักแพว)ก็ทำกัน     

ตัวอย่างอีกหนึ่งของ variation ก็เช่นผัดกระเพรา  การใช้เนื้อสัตว์(เนื้อวัว หมู ไก่ ปลา กุ้ง...) ทำแบบหั่นเนื้อสัตว์เป็นชิ้นๆหรือแบบสับ ใช้ไข่เยี่ยวม้าก็มี มีทั้งใช้พริกขี้หนู ใช้พริกชี้ฟ้า ใช้กระเพราขาวหรือกระเพราแดง หรือใช้ทั้งสองกระเพราผสมกัน บ้างก็ใส่น้ำมันหอย บ้างก็ใส่ถั่วฝักยาว บ้างก็ใส่ใบมะกรูด บ้างก็แต่งหน้าด้วยใบกระเพราทอดกรอบ(ใบมะกรูดทอดกรอบก็เคยพบ)  กระทั่งไข่ดาวที่มาเป็นของคู่กันก็มีทั้งทอดแบบนิ่มทั้งใบ (sunny side up) แบบไข่ขาวกรอบแต่ไข่แดงยังไหล หรือเป็นแบบไข่เจียวก็มี
 
ความหลากหลายดังเช่นตัวอย่างที่ยกมานี้เองที่ผมเห็นว่าได้ทำให้อาหารไทยโด่งดังไปทั่วโลก  เป็นในลักษณะของอาหารที่สามารถสั่งมาทานได้ทั้งในลักษณะเป็นสำรับหรือเป็นจานด่วน แถมสั่งให้ทำได้ตามความต้องการของตน เป็นอาหารที่ปรุงสุกสดใหม่ ร้อนๆ เห็นขั้นตอนและกระบวนวิธีการทำต่อหน้าของตน


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ธ.ค. 19, 20:16
ผัดกระเพราเป็นอาหารจานเดียวยอดนิยม ที่น่าอัศจรรย์มาก   ใช้เนื้อสัตว์ได้หมดไม่ว่าเนื้อวัว  หมู ไก่ กุ้ง   กินกับไข่ดาวก็หลากหลายแบบ   สุกมากสุกน้อย ได้หมด 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ธ.ค. 19, 21:42
ผัดกระเพราปลาหมึก


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 11 ธ.ค. 19, 22:19
โอ๊ย! ไม่น่าหลงเข้ามากลางดึกเลย  :'(


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ธ.ค. 19, 10:54
ยังไม่หมดค่ะ  ผัดกระเพราทะเลก็น่ากินนะคะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ธ.ค. 19, 19:00
กระเพราเป็ดย่างและกระเพราะขาหมูก็มีเหมือนกันครับ    สำหรับกระเพราะเป็ดย่างนั้น ในกรุงเทพฯเคยได้กินในร้านอาหารย่านสถานีขนส่งสายใต้เก่า อีกแห่งหนึ่งก็ในเชียงใหม่แถวกาดต้นพยอม (ถนนหลัง มช.)   ส่วนกระเพราขาหมูนั้น เคยสั่งกินในร้านขายข้าวขาหมูแห่งหนึ่งในเมืองพิษณุโลกตามที่มีอยู่ในเมนูอาหาร ก็อร่อยทั้งนั้นครับ   

จะว่าไปแล้ว ผัดกระเพรากับอะไรๆก็ดูจะอร่อยไปทั้งนั้น เป็นที่น่าอัศจรรย์มากดังที่ อ.เทาชมพู ว่าไว้  ซึ่งผมคิดว่าน้ำมันหอมระเหยของกระเพรานั่นแหละที่เป็นต้นตอของรสและความรู้สึก Umami  ยิ่งเมื่อไปผสมกับน้ำมันหอมระเหยของพริกก็เลยยิ่งเพิ่มรสและความรู้สึกให้มากเข้าไปอีก    แล้วก็ยิ่งฉงนเข้าไปอีกว่าเมื่อมีผัดกระเพราก็ต้องมีไข่ดาว แถมยังเปลี่ยนจากการเป็นจานผัดกระเพราในสำรับอาหารไปเป็นอาหารจานเดียวหรือจานด่วน คือ ออกจากบ้านลงถนนจนไปดังในระดับโลกแม้ว่าจะอยู่นอกสายตาในเมนูของการส่งเสริมอาหารไทยก็ตาม   กระเพราหมูหรือไก่+ไข่ดาว ได้พัฒนาจากการเป็นของผัดราดหน้าข้าวสวยไปเป็นใส้ของขนมปังแบบ Bun (โดยเฉพาะ Hot dog bun) กลายเป็นอาหารจานด่วนขายดีในหลายๆแห่ง   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ธ.ค. 19, 19:10
ขนมปังไส้กระเพราหมูสับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ธ.ค. 19, 19:13
ขนมปังไข่ ไก่กะเพรา


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ธ.ค. 19, 19:27
เกิดเอะใจขึ้นมาว่า ที่ถูกต้องจะสะกดเช่นใด กระเพรา กะเพรา กระเพา หรือกะเพา   เลยไปเปิดดูว่าท่านราชบัณฑิตฯว่าไว้เช่นใด ท่านว่าที่ถูกจะต้องเป็น กะเพรา   เราพูดคิดปากกันตั้งแต่เด็กว่า กระเพรา  ในยุคนี้ที่ตัว ร เรือ และ ล ลิง หายไป กลายเป็น กะเพา  ก็เลยต้องปรับความจำใหม่แบบเอาของเก่ามาผสมของใหม่ว่า ที่ถูกต้องตามท่านว่าคือ กะเพรา    ก็เลยต้องขอแก้คำผิดจากที่เคยเขียนว่า กระเพรา ให้สะกดใหม่ว่า กะเพรา      เลยยังตกภาษาไทยอีกเช่นเคย


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ธ.ค. 19, 20:17
ขนมปังไข่ ไก่กะเพรา จานนี้น่าสนใจนะครับ     

ก็ทำขนมปังไข่ดังภาพเป็นอาหารมื้อเช้าทานอยู่บ้าง มีผักสลัดและมะเขือเทศจัดวางอยู่ บางครั้งก็มี Canadian ham แฮมสักแผ่น หรือใส้กรอก(breakfast sausage)     เห็นภาพแล้วก็น่าจะลองทำแบบผัดกะเพราเหยาะลงไปบ้าง แนมด้วยผักสลัดและมะเขื้อเทศลูกใหญ่ฝาน หรือไม่ก็กับถั่วฝักยาวหั่นเฉียงแบบ french cut แล้วผัดกับน้ำมันที่ทอดเบคอน   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ธ.ค. 19, 20:27
ขนมปังไส้แกงเขียวหวานก็มีนะคะ
ที่จริงก็ไม่แปลก  ขนมปังใช้แทนข้าวได้ในหลายๆเมนูค่ะ     
คนรุ่นคุณแม่ดิฉันทำแกงเผ็ดเนื้อ แล้วจิ้มกินกับขนมปังปอนด์    ทอดมันแบบไทยก็กินกับขนมปังปอนด์ได้เหมือนกัน


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ธ.ค. 19, 08:34
ไม่เฉพาะแต่ขนมปัง  พิซซ่าก็เอามากินกับแกงน้ำข้นของไทยได้อร่อยไม่แพ้กัน
อย่างเช่น พิซซ่าแกงเขียวหวานทะเล



กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ธ.ค. 19, 08:37
ขอย้อนกลับมาที่ผัดกะเพรา อาหารมหัศจรรย์อีก    พิซซ่าหน้าไก่กะเพราก็มีนะคะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: pratab ที่ 13 ธ.ค. 19, 14:49
ไม่ทราบว่าปลาน้ำจืดหรือน้ำเค็มนำมาทำผัดกะเพราปลาได้ไหมครับ เห็นมีแต่ปปลาผัดฉ่า


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ธ.ค. 19, 18:19
ปลาน้ำจืดเอามาผัดกะเพรายังไม่เคยเห็นครับ แต่ก็น่าจะทำได้อยู่หากว่าเป็นพวกปลาที่มีเนื้อค่อนข้างแน่น หากเป็นปลาเกล็ดก็เช่นปลาช่อน ปลาชะโด และปลาแมลงภู่  และหากเป็นพวกปลาหนังก็น่าจะเป็นพวกตัวขนาดใหญ่เช่น ปลาคัง ปลาสวายส่วนที่เป็นเนื้อๆ ปลาบึก เหล่านี้ ซึ่งจะต้องเอามาทอดให้สุกพอที่จะทำให้เนื้อปลารัดตัวแน่นก่อนที่จะเอาไปผัดกะเพรา   

สำหรับปลาน้ำเค็มว่าจะเอามาผัดกะเพราได้ใหม โดยหลักก็จะเช่นเดียวกันกับปลาน้ำจืด  ตัวผมเองไม่เคยทานผัดกะเพราปลาทะเลอื่นใดนอกจากปลากระพง แล้วก็มีอยู่ร้านเดียวที่สั่งได้และยินดีทำให้ แถมยังอร่อยมากๆเสียอีกด้วย ทำเป็นอาหารจานเดียว มีไข่ดาวแบบสั่งได้ว่าจะให้ทำแบบใดโปะหน้ามาด้วย  เป็นร้านอาหารอยู่ในโรงแรมที่อยู่บริเวณสี่แยกติดกับสถานีรถไฟฟ้าพญาไท  หลายท่านคงเคยไปทานซี่โครงหมูของร้านนี้   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: pratab ที่ 13 ธ.ค. 19, 18:47
ขอบคุณครับ  ถ้าพูดถึงร้านที่มีซี่โครงหมูอร่อยแถวสถานีรถไฟฟ้าพญาไท ต้องยกให้ร้าน Florida ในโรงแรมชื่อเดียวกัน ซี่โครงหมูอ่อนย่างซอสบาร์บิคิว อร่อยมาก ถ้าไม่ผิดคราวหน้าที่ไปต้องสั่งปลากระพงผัดกะเพรารับประทานบ้างแล้วครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ธ.ค. 19, 19:24
ผมมีข้อสังเกตอยู่ว่า ผัดกะเพราเป็นการปรุงอาหารที่เข้าขากันได้ดีกับบรรดาเนื้อสัตว์บก  ส่วนผัดฉ่านั้นดูจะเข้าขากันได้ดีกับบรรดาสัตว์น้ำทั้งหลาย   ทำให้ดูเหมือนจะเป็นหลักว่า กะเพราจะช่วยลดกลิ่นสาบเนื้อของสัตว์บก ส่วนกระชายซึ่งใช้ในผัดฉ่านั้นจะช่วยลดกลิ่นคาวของสัตว์ทะเลที่มีเมือกทั้งหลาย  และที่ดูจะมีความต่างกันไปอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความอร่อยของผัดกะเพรามาจากการเข้าคู่กันได้ดีระหว่างใบกะเพรากับพริกเม็ดเล็ก(โดยเฉพาะพริกขี้หนู) ส่วนของผัดฉ่าจะมาจากการเข้าคู่ของกระชาย ใบมะกรูด พริกไทยอ่อน และพริกจินดา  

อยากจะฝากให้ลองลิ้มรสผัดกะเพราที่ใส่ใบกะเพราขาวอย่างเดียว ใส่ใบกะเพราแดงอย่างเดียว ใส่ใบกะเพราทั้งสองชนิดอย่างละครึ่ง และที่รูดดอกกะเพราใส่ลงไปผัดด้วย จะเห็นความต่างกันที่สัมผัสได้เลยทีเดียว       ผัดฉ่าก็เช่นกัน ระหว่างกระชายซอยหยาบกับค่อนข้างละเอียด   กับใบมะกรูดที่มีความแก่อ่อนต่างกัน  และกับพริกไทยสดที่ค่อนไปทางแก่กับหนุ่ม  


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ธ.ค. 19, 09:17
ผัดฉ่าทะเล


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ธ.ค. 19, 09:27
หอยลายผัดฉ่า


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ธ.ค. 19, 18:43
ลืมไปว่า หากใส่ใบโหระพาลงไปในผัดฉ่าด้วย ก็จะยิ่งทำให้หอมน่ากินมากยิ้งขึ้น

ผัดฉ่าจะมีมานานเพียงใดแล้วก็ไม่รู้  ผมนึกย้อนไปไม่ออก  จากประสบการณ์ของผม มันเริ่มปรากฎตัวและเริ่มเป็นที่นิยมแพร่หลาย มีอยู่ในเมนูของร้านอาหารในพื้นที่ชายทะเลเมื่อประมาณ 30 ปีมานี้  อาจจะผิดนะครับเพราะเป็นช่วงเวลาไม่นานนักหลังที่ผมลงจากการทำงานในพื้นที่ป่าเขามาทำงานเร่ร่อนอยู่ในพื้นที่ราบ       


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ธ.ค. 19, 19:27
ผัดฉ่าเป็นการปรุงอาหารที่จัดได้ว่าเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างของอาหารไทยไม่ต่างไปจากผัดกะเพรา  ผัดฉ่ากำลังเข้ามาเป็นคู่แข่งกับผัดกะเพรา  ผัดฉ่าเริ่มรุกเข้าไปในพื้นที่ของการใช้เนื้อสัตว์บกและสัตว์น้ำจืดที่ผัดกะเพราเขาใช้กันอยู่ แต่ไม่รู้ว่าจะเข้าไปมีส่วนแบ่งในตลาดความนิยมได้มากน้อยเพียงใด เราเริ่มเห็นผัดฉ่ากบ ผัดฉ่าหมู ผัดฉ่าปลาน้ำจืดต่างๆปรากฎอยู่ในเมนูอาหารของบางร้าน หรือไม่ก็สามารถสั่งให้ร้านทำมาให้ทานได้ 

เท่าที่ผมมีความรู้นะ ทั้งผัดฉ่าและผัดกะเพราไม่ได้อยู่ในเมนูอาหารไทยที่เน้นการส่งเสริมดังเช่นต้มยำกุ้ง แกงเขียวหวาน และผัดไทย   ขอเลยเถิดไปนิดนึงว่า กระทั่งข้าวเหนียว ไก่ย่าง และส้มตำ  ก็เป็นอาหารของชอบของคนต่างขาติ ซึ่งระดับความนิยมในอาหารที่กล่าวถึงนี้(ซึ่งจัดอยู่ในประเภทอาหารริมถนนหรืออาหารข้างถนน)ก็มีมากพอที่จะทำให้คนต่างชาติลอกเลียนเอาไปเป็นเมนูอาหารพิเศษในร้านอาหารที่ตนเป็นเจ้าของ และก็มากพอที่จะทำให้เกิดมีตลาดสำหรับอาหารสำเร็จรูปบางอย่างเช่น ส้มตำ แคบหมู....


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ธ.ค. 19, 19:44
มองในมุมหนึ่ง ก็น่าจะเป็นตัวอย่างง่ายๆที่ทำให้คนต่างชาติได้เห็นถึงความหลากหลายอย่างไม่มีที่สิ้นสุดของอาหารไทยที่เราสามารถสร้างสรรค์ให้มันเกิดได้จาการใช้สมุนไพรที่ฝรั่งเขาเรียกรวมๆอย่างง่ายๆว่า basil  leaf เพียงตัวเดียว (กะเพรา โหระพา ใบแมงลัก)  แล้วจะไม่ให้เขาใช้คำว่า amazing และ yummy ได้อย่างไร (แทนที่จะใช้คำว่า delicious)   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ธ.ค. 19, 19:50
มีผัดอีกอย่างที่ก้าวหน้าไม่แพ้ผัดกะเพราและผัดฉ่า
คือผัดขี้เมาไงล่ะคะ

เมื่อก่อนมีก๋วยเตี่๋ยวผัดขี้เมา   เดี๋ยวนี้โกอินเตอร์เป็นสปาเกตตี้ผัดขี้เมา    ผัดขี้เมาไม่ใส่เส้น  ผัดขี้เมากินกับข้าว  มาม่าผัดขี้เมา



กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ธ.ค. 19, 19:52
สปาเกตตี้ผัดขี้เมาทะเล


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ธ.ค. 19, 18:30
ใช่ครับ ผัดขี้เมากำลังก้าวเข้ามาในวงของอาหารประเภทไม่มีสูตรอาหารตายตัวและเกือบจะไร้ข้อจำกัดในเรื่องขององค์ประกอบของเครื่องปรุง มากไปกว่าผัดกะเพราที่อย่างน้อยต้องมีพริกและใบกะเพรา และผัดฉ่าที่อย่างน้อยต้องมีพริกไทยอ่อนและกระชาย   

ลองพยายามนึกย้อนกลับไปว่าทั้งผัดกะเพรา ผัดฉ่า และผัดขี้เมา ว่ามันค่อยๆโผล่เข้ามาในเมนูอาหารของแต่เมื่อใด  ก็เลยพอจะเห็นภาพลางๆว่า เมื่อประมาณปี 2515 ในวัยที่กำลังเปลี่ยนการแต่งกายไปมาระหว่างการใส่กางเกงขาสั้นกับกางเกงขายาว ในช่วงเวลานั้นอาหารจานเดียวที่นิยมสั่งมากินกันจะเป็นข้าวราดหน้าผัดพริกหมูหรือเนื้อ ข้าวผัดแบบจีน(ใช้ซีอิ๊วดำ) และข้าวหมูทอด สำหรับข้าวไข่เจียวค่อนข้างจะเห็นมีการสั่งน้อยและจะเสิร์ฟมาคู่กับซอสพริกศรีราชา   

สำหรับข้าวผัดนั้น หากเป็นร้านอาหารที่มีระดับหน่อยก็จะมีข้าวผัดอเมริกันที่ผัดแบบใส่ซอสมะเขือเทศ ใส่เมล็ดถั่วลันเตาและข้าวโพด มีน่องไก่ทอดวางมาให้ชิ้นหนึ่งและ/หรือใส้กรอกท่อนหนึ่ง แล้วก็มีไข่ดาวทอดนิ่มๆแบบ sunny side up วางโปะบนข้าว เสิร์ฟมาพร้อมกับซอสมะเขือเทศ และแมกกี้   ข้าวผัดรถไฟที่โด่งดังมาตั้งช่วงเวลาประมาณ 2500+/- นั้นก็เป็นข้าวผัดอเมริกันแบบนี้แหละ ซึ่งผู้โดยสารที่พอมีเงินก็จะสั่งต้มยำกุ้งมาดัวย เป็นต้มยำน้ำใส กุ้งตัวใหญ่ 2 หรือ 3 ตัว  นับได้ว่าเป็นอาหารที่มีรสอร่อยจริงตามคำเล่าลือที่ได้ยินต่อๆกันมา   

ต่างไปจากข้าวผัดแบบจีนที่จะใช้เนื้อวัว หมู หรือไก่ ผัดคลุกไปกับข้าว เครื่องปรุงอื่นก็จะมีเพียงหอมหัวใหญ่และมะเขือเทศmujหั่นเป็นชิ้นๆใสคลุกลงไป  เมื่อสั่ง คนทำก็จะถามว่าใสไข่หรือไม่ ซึ่งก็มีอยู่สองแบบคือผัดรวมลงไปกับข้าว หรือทำเป็นไข่ดาวซึ่งจะทำมาเป็นแบบไข่ขาวกรอบแต่ไข่แดงใหล ก็เลยต้องกำชับกันต่อไปว่าจะเอาไข่ดาวแบบใหน  เสิร์ฟมาพร้อมกับน้ำปลาพริกขึ้หนูใส่หอมซอย  ก็นับว่าเป็นอาหารที่อร่อยมากๆเช่นกัน กลิ่นใหม้เล็น้อยของข้าวผสมกับซีอิ๊วดำ เหยาะด้วยน้ำปลาพริก+หอมแดง กินกับแตงกวา(หรือแตงร้าน)และต้นหอมสด อืม์   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ธ.ค. 19, 19:32
ข้าวผัดพริก ก็มีเพียงหัวหอมใหญ่ผัดกับพริกชี้ฟ้าและเนื้อสัตว์ (มักจะเป็นเนื้อหมูหรือเนื้อไก่) ไม่มีไข่ดาวโปะมาด้วย  ข้าวผัดกระเพรานั้นเกือบจะไม่เห็นมีคนสั่งทานกัน  เลยทำให้ข้าวผัดพริกและข้าวผัดกลายเป็นอาหารสิ้นคิดในยุคสมัยนั้น  ลืมไปว่าอีกจานหนึ่งที่ดูจะนิยมสั่งกันในกรณีที่ร้านนั้นมีของ ก็คือข้าวแหนมชุบไข่ทอด

เมื่อเข้าสู่ช่วงประมาณ 2510 เมื่อเสียงปืนแตกได้ไม่นาน เริ่มเข้าสู่ช่วงเวลาของความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองที่เข้มข้นขึ้น เป็นช่วงเวลาของการเดินทางของผู้คนมากมายในการเข้าไปทำงานในพื้นที่ทุรกันดารในต่างจังหวัด จึงเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงมีอาหารใหม่ๆเข้ามาปน

ผมคิดว่าได้เข้าไปสัมผัสกับการเปลี่ยนแปลงของอาหารไทยอย่างจริงจังตั้งแต่ 2512   ข้าวผัดและข้าวผัดพริกพริกเริ่มหายไป ข้าวแหนมชุบไข่ทอดก็หายไปด้วย  ผัดกระเพราเริ่มเห็นดาษดื่นมากขึ้น  ผัดขี้เมาเริ่มเห็นประปรายในหมู่คนที่ทำงานในพื้นที่ป่าเขาและในที่ห่างไกลจากชุมชน 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ธ.ค. 19, 10:11
ข้าวผัดพริก เปลี่ยนหน้าตาไปเยอะแล้วค่ะ   มีเมนูใหม่ๆขึ้นมานับไม่ถ้วน
หาได้แค่นี้ค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ธ.ค. 19, 18:58
ผมเมินผัดพริกมานาน เลยนึกไม่ทันว่ามันได้เปลี่ยนไปเช่นใดบ้าง อาจารย์มากระตุ้นเลยทำให้พอจะนึกออกว่า มันได้เปลี่ยนความนิยมจากการใช้เนื้อวัว หมู ไก่ ไปเป็นการใช้เนื้อสัตว์อื่นๆแทน อาทิ ตับหมู ตับไก่ ปลาหมึก หอยแมลงภู่ ปลากระพง กุ้ง   แล้วก็ยังใส่เพิ่มผริกไทยสด หรือพริกไทยดำบุบพอแตก  แล้วเรียกชื่อเป็นอาหารอีกจานหนึ่งเช่น ปลาหมึกผัดพริกไทยอ่อน เนื้อผัดพริกไทยดำ ตับผัดพริกไทยอ่อน .....

ตามร้านอาหารข้าวราดแกงและตลาดขายกับข้าวตอนเย็น ตับไก่ผัดพริกดูจะเป็นกับข้าวประจำร้านที่ขาดไม่ได้ ไม่ว่าจะอ้างว่าเป็นร้านข้าวแกงเมืองสุพรรณ เมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรี เมืองนครปฐม เมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง หรือที่อื่นใดก็ตาม 

ซึ่งแสดงว่าผัดพริกก็ยังคงเป็นที่นิยมกันอยู่ เพียงแต่ความนิยมได้เปลี่ยนจากท้องถิ่นนิยม (ในมุมมองของคนเดินทางเช่นผม) ไปเป็นชุมชนเมืองนิยม    ผัดกะเพราและผัดขี้เมาก็ดูคล้ายๆจะเป็นในลักษณะเดียวกัน  ข้าวผัดก็น่าจะเช่นกัน เพียงแต่เปลี่ยนไปเป็นข้าวผัดปู


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ธ.ค. 19, 20:12
ในภาพที่ผมเห็น ผัดขี้เมาแต่ก่อนโน้น ก็คือการเอาของสดเท่าที่พอจะมีในระหว่างการทำงานพักแรมในท้องถิ่นเอามาผัดรวมกัน(เท่าที่เราพอจะนึกได้ว่าอะไรที่มันเข้ากันได้และอะไรที่มันเข้ากันไม่ได้) เอามาผัดรวมกันเป็นกับข้าวของอาหารมื้อเย็น  ส่วนชื่อผัดขี้เมาจะกำเนิดขึ้นมาอย่างไรก็ไม่รู้  รู้แต่เพียงว่าเมื่อเราไปนั่งกินอาหารตามเพิงอาหารในท้องถิ่น ซึ่งส่วนมากจะเป็นช่วงเวลาบ่ายแก่ๆหลังกลับจากการทำงาน ด้วยที่ร้านมีวัตถุดิบไม่ครบ(ตามอาหารที่เราคนกรุงสั่ง) เราก็จะแนะว่าใช้ยังงั้นยังงี้ใส่แทนก็ได้ ซึ่งก็อาจจะเป็นเหตุบังเอิญที่ทำให้จานนั้นๆอร่อยและน่ากิน คำว่าผัดแบบที่ ขี้เมาสั่ง ก็จึงอาจจะเกิดขึ้นมาและกลายเป็นผัดขี้เมาก็เป็นได้

ก็มีข้อสังเกตอยู่นิดนึงว่า ผัดขี้เมาแบบเถื่อนๆ(แบบป่าๆ)หน่อยก็มักจะมีการใส่มะเขือเปราะ พริกจินดา และใบกะเพรา อาจจะมีใบการใส่กระชายและใบโหระพาด้วยก็มี ปรับรสให้เข้มข้นขึ้น   ส่วนแบบที่ทำกันในเมืองนั้นมักจะเป็นการปรับแต่งให้อาหารที่ทำกันตามรสปรกตินั้นให้เกิดมีรสเผ็ดด้วยพริก ร้อนด้วยพริกไทย และมีกลิ่นหอมด้วยใบกะเพราขาวหรือใบโหระพา (หรือด้วยใบมะกรูด)   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ธ.ค. 19, 08:24
อาหารผัดเครื่องปรุงเผ็ดๆเกิดขึ้นมากมายในระยะหลังนี้    เช่น น้ำพริกเผา ซึ่งเมื่อก่อนทาขนมปังก็ได้ คลุกข้าวก็ได้  บัดนี้เอามาผัดแทนเครื่องแกงได้เช่นกัน
เช่น หอยลายผัดน้ำพริกเผา


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ธ.ค. 19, 08:27
หมูกรอบผัดผงกะหรี่


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ธ.ค. 19, 18:22
น้ำพริกเผา 

ทำให้นึกถึงเมื่อครั้งยังเป็นเด็กช่วงอายุ 10+/-  กินเป็นครั้งแรกเมื่ออายุ 8 ขวบ เลิกแตะต้องมันเมื่ออายุ 12 แล้วกลับมาใช้มันอีกครั้งเป็นเวลาสั้นๆในช่วงดูหนังสือสอบก่อนจะจบระดับเตรียมอุดมศึกษา  ช่วงแรกใช้เป็นเครื่องชูรสอาหารด้วยการใช้คลุกข้าวสวย โดยเฉพาะอาหารมื้อเย็น คือกินเกือบจะทุกวัน บางทีก็เหยาะแม็กกี้หรือน้ำพริก(ซอส)ศรีราชาลงไปเพื่อเปลี่ยนรส  น้ำพริกเผาเป็นของที่เก็บได้นาน  ถ้าจำชื่อไม่ผิด ในสมัยนั้นก็จะเป็นน้ำพริกเผาแม่บาง  หากจะสงสัยว่ามันมีรสอร่อยดีเช่นใด ก็คงจะต้องนึกว่าเด็กอายุขนาดนั้นกินได้อย่างอร่อยได้อย่างไร โดยรวมๆก็คือรสไม่จัดจ้าน มีความกลมกล่อมพอดีๆในทุกรส    สำหรับตัวผมเองนั้นเห็นว่าของสมัยนั้นอร่อยกว่าของที่มีขายอยู่ในปัจจุบันนี้มาก  ของในปัจจุบันนี้ดูจะพยายามปรุงให้สามารถใช้เป็น paste ที่ใช้ได้กับอาหารทุกชนิด แม้จะมีที่ทำขายแบบทำเฉพาะสำหรับการทำอาหารในครัวก็ตาม   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ธ.ค. 19, 18:37
น้ำพริกเผาได้ถูกนำไปสร้างสรรค์เมนูอาหารที่หลากหลาย แต๋ก็ดูจะยังจำกัดการใช้อยู่แต่เฉพาะในพื้นที่ชุมชนเมือง  จะว่าไปแล้ว ผมไม่เคยเห็นมีการนำไปใช้ในการการทำอาหารของผู้คนในพื้นที่นอกเขตเมือง จะพอเห็นอยู่บ้างก็ในร้านอาหารประเภทโต้รุ่งที่อยู่ใกล้ๆท่ารถขนส่งและสถานีรถไฟ สำหรับร้านขายอาหารสำเร็จรูปที่ผมเห็นว่ามีอยู่บ้างก็จะเป็นเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางเท่านั้น


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ธ.ค. 19, 19:40
นิ้วไปกดผิดที่ เลยทำให้ที่เขียนไว้หายไปหมดเลย  ต่อพรุ่งนี้นะครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: pratab ที่ 17 ธ.ค. 19, 20:28
อยากทราบว่าที่คุณ naitang เคยกินน้ำพริกเผาเมื่อตอนเด็กๆ มันหวานมากและเนื้อเนียนละเอียดเหมือนที่ทำขายในปัจจุบันไหมครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ธ.ค. 19, 09:13
คุณตั้งยังไม่เข้ามา ขอตอบตัดหน้าไปก่อนว่า จำได้ว่าน้ำพริกเผาที่กินตอนเด็กๆ  มีรสเผ็ด   ไม่มีน้ำพริกเผาเผ็ดน้อย(คือแทบไม่เผ็ดเลย) อย่างทุกวันนี้ค่ะ 

อีกอย่างที่ผัดน้ำพริกเผาได้อร่อยแต่ไม่เหมาะกับสุขภาพผู้สูงวัย คือน้ำพริกเผาผัดกับกากหมู


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ธ.ค. 19, 13:36
หมูผัดน้ำพริกเผา


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ธ.ค. 19, 18:23
ก็อย่างที่ อ.เทาชมพู ว่าไว้ น้ำพริกเผาแต่ก่อนนั้นไม่มีการจำแนกระดับของความเผ็ดว่ามากหรือน้อยเพียงใด สำหรับความละเอียดของเนื้อของน้ำพริกนั้นจะมีความหยาบมากกว่าของในปัจจุบันเล็กน้อย    น้ำพริกเผาที่ทำขายกันอยู่ในปัจจุบันนี้มีให้เลือกอย่างค่อนข้างจะหลากหลายทั้งด้านของผู้ผลิต ทั้งรสความเผ็ด เค็ม หวาน  ทั้งความละเอียดของเนื้อที่มีไปจนถึงละเอียดเนียนดั่งโคลน อีกทั้งมีแบบใส่กะละมังตักขายตามน้ำหนัก ใส่ขวด ใส่กระป๋อง    แม้จะมีความหลากหลายก็จริง แต่ก็จะต้องรู้แหล่งที่จะหาซื้อตามแบบที่ตัวเองต้องการ พวกบรรจุขวดนั้นจะหาซื้อได้ในร้านสะดวกซื้อทั่วไป เพียงแต่อาจจะไม่ได้ยี่ห้อตามที่ตนต้องการ(เว้นแต่จะเป็นซุบเปอร์มาเก็ต)  สำหรับผู้ที่เป็นพ่อครัวหรือเป็นผู้นิยมทำอาหารแบบค่อนข้างจะพิถีพิถันหน่อย คนเหล่านี้จะเจาะลึกลงไปถึงระดับเลือกซื้อกับร้านค้าเฉพาะที่อยู่ในตลาดใดตลาดหนึ่ง ซึ่งก็มักจะเป็นตลาดสดเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักว่าเป็นตลาดที่มีของดีๆวางขาย   

ผมมีข้อสังเกตว่า พวกน้ำพริกเผาที่ซื้อขายกันแบบชั่งน้ำหนักนี้ จะพบอยู่แต่ในตลาดใหญ่ของจังหวัดหรืออำเภอที่เป็น hub ของการเดินทางและการกระจายสินค้า  ซึ่งน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราจะไม่ค่อยเห็นเมนูอาหารที่ใช้น้ำพริกเผาในร้านอาหารใน ตจว.   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ธ.ค. 19, 18:39
พ่อครัวแม่ครัวไทยนี้เก่งนะครับ  สามารถเอาน้ำพริกเผาไปใส่ในต้มยำที่ใส่นมสด(หรือกะทิบางๆ) ทำให้มันเป็นต้มยำน้ำข้นที่อร่อยได้ และก็เอาไปใส่ในต้มข่าไก่เพิ่มรสและกลิ่นที่ชวนกินเข้าไปอีก    ที่ดูจะเก่งเป็นพิเศษก็คือ ความสามารถที่ทำให้ต้มยำและต้มข่าไก่(ทั้งสองแบบที่กล่าวถึงนี้) ซึ่งมีองค์ประกอบของเครื่องปรุงเหมือนกัน ยังสามารถจำแนกออกได้แต่แรกเห็นว่ามันเป็นต้มยำหรือต้มข่า


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ธ.ค. 19, 19:34
สำหรับกากหมูผัดกับน้ำพริกเผาที่ อ.เทาชมพู นำมาแสดงนั้น ยังไม่เคยทานครับ   แต่ทำให้ผมนึกย้อนกลับไปเมื่อยังเป็นเด็กวัย 10+/- เมื่อช่วงแรกเริ่มใช้ชีวิตแบบ นร.ประจำ  อาหารที่เก็บได้นานอีกอย่างหนึ่งคือ ผัดพริกขิงกากหมู เอามาคลุกข้าวก็อร่อยพอได้อยู่   ผมไม่เคยทำผัดพริกขิงด้วยตนเองก็เลยมีแต่เพียงความรู้ผิวเผิน เมื่อผนวกกับความที่ไม่นิยมนัก ก็เลยรู้แต่เพียงว่าเอากากหมูมาผัดกับเครื่องแกงอย่างหนึ่ง

กากหมูเป็นของที่ได้มาจากการเจียวเอาน้ำมันจากมันของหมูเพื่อเอามาใช้เป็นน้ำมันสำหรับการทอดอาหาร การผัดอาหาร และการทำอาหารอื่นใดต่างๆ   เมื่อครั้งกระโน้นเราใช้น้ำมันหมูในการทำอาหาร ต่อมาก็ถูกชักชวนให้เปลี่ยนไปใช้น้ำมันพืช    คิดว่าในปัจจุบันนี้ในวงการสาธารณสุขกำลังมีความสงสัยเคลือบแคลงในความสัมพันธ์ดีหรือเลวระหว่างน้ำมันหมูหรือน้ำมันพืชกับเรื่องของไขมันสะสมในร่างกายของเรา   สำหรับตัวผมก็ยังมีเป็นครั้งคราวที่เข้าตลาดซื้อมันหมูมาเจียวเอาน้ำมัน เจียวให้กากหมูแห้งพอดีๆ แล้วเอามาจิ้มกินกับน้ำปลาดี ช่างเข้ากันได้ดีเหลือหลายเลยครับ 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ธ.ค. 19, 20:14
พริกขิงกากหมู


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ธ.ค. 19, 20:16
คิดว่าในปัจจุบันนี้ในวงการสาธารณสุขกำลังมีความสงสัยเคลือบแคลงในความสัมพันธ์ดีหรือเลวระหว่างน้ำมันหมูหรือน้ำมันพืชกับเรื่องของไขมันสะสมในร่างกายของเรา    
เรื่องนี้ดิฉันก็สงสัยเหมือนกัน    เพราะอ่านพบว่าตั้งแต่ประชาชนเปลี่ยนมาใช้น้ำมันพืช ไขมันในเส้นเลือดก็มาเยือนผู้คนแทบไม่เว้นแต่ละคน โดยเฉพาะผู้สูงวัย     หนุ่มสาวเองก็ไม่ใช่ว่าหนีพ้น
ก็เลยฝากถามผู้รู้ในเรือนไทย ว่าจริงๆแล้วเป็นยังไงกันแน่คะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ธ.ค. 19, 22:47
https://youtu.be/5hu1QnVDCZg


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ธ.ค. 19, 19:27
คุณเพ็ญชมพูได้กรุณานำคลิบที่ให้ความกระจ่างในเรื่องของการเลือกใช้น้ำมันในการทำอาหารชนิดต่างๆ   เรื่องของน้ำมันและไขมันที่ใช้ในการทำอาหารนี้ มันก็มีทั้งศาสตร์และศิลป์อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว  

วันนี้สมองตื้อครับ เขียนไม่ออก  :-[


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ธ.ค. 19, 20:39
ส่งอาหารบำรุงสมองมาให้ค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ธ.ค. 19, 18:27
ขอบคุณสำหรับอาหารบำรุงสมองครับ ทำให้สดชื่นขึ้นมาเป็นปกติเลย 

วิธีการกินสลัดที่มีองค์ประกอบของผักในลักษณะของจานนี้ เมื่อกินแบบสบายๆไม่เป็นการเป็นงาน ผมก็จะใช้น้ำสลัดมั่ว คือ ผสมผสานอย่างละนิดละหน่อยด้วยน้ำสลัด Blue cheese, Thousand Island, น้ำมันมะกอก และน้ำส้มสายชู Balsamic vinegar   ดูจะมั่วดีนะครับ แต่แท้จริงแล้วเป็นการปรับรสน้ำสลัดของผม น้ำสลัดที่เป็นพื้นฐานก็คือ Thousand Island ซึ่งจะมีหลากรสในตัวของมันเองอยู่แล้ว   เพิ่มความเค็มและความหอมด้วย Blue Cheese   เพิ่มความเปรี้ยวและความหอมด้วยน้ำส้ม Balsamic   ใช้น้ำมันมะกอกช่วยละลายให้เข้ากัน และแทนที่จะคลุกให้เข้ากันทั้งหมดก็ไม่ทำ ผมจะตักน้ำสลักแบบครีมทั้งสองวางข้างจานรวมๆกัน ส่วนน้ำส้มและน้ำมันมะกอกจะคลุกกับผักแบบเคล้าเบาๆ ซึ่งก็จะมีน้ำสลัดแบบครีมทั้งสองอย่างละลายมาผสมอยู่ด้วยบางส่วน เมื่อทานก็จะใช้ซ่อมจิ้มผักเป็นชิ้นๆไปจิ้มกับน้ำสลัดแบบครีมแล้วเอาเข้าปาก     ก็คงจะมีความประหลาดๆอยู่ไม่น้อย   
     


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ธ.ค. 19, 18:53
สลัดผัก


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ธ.ค. 19, 20:15
ที่ผมชอบกินสลัดแบบนั้น โดยแท้จริงแล้วมันมาจากการที่ผมชอบกินผักจิ้มน้ำสลัด ซึ่งเป็นได้ทั้งอาหารว่าง ของกินเล่น ของเรียกน้ำย่อย และของแกล้ม   น้ำสลัดที่ใช่จิ้มก็คือมายองเนสที่ปรุงรสเข้มข้นตามลักษณะอาหารไทยของเรา ซึ่งทำเองก็ได้ ไม่ยากนัก แต่อาจจะเสียเวลาแล้วก็ไม่ได้ผลตามที่หวังไว้(ว่าจะเหมือนกับที่มีขายกัน)  ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้กลายเป็นเรื่องไม่ยากแล้วที่จะทำน้ำสลัดด้วยตนเองสำหรับใช้กับผักจิ้ม แถมยังได้รสตามที่ตัวเองชอบอีกด้วย และก็ยังสามารถแปลงต่อไปได้อีกหลากหลายตามที่ตัวเองจะนึกฝัน    

เครื่องปรุงพื้นฐานก็ไม่มีอะไรมากมายและสลับซับซ้อน ก็มีอาทิ น้ำสลัดสำเร็จรูป โยเกิร์ตแบบครีม ซึ่งจะใช้เป็นตัวเนื้อหลัก   นมข้นหวาน มะนาว มัสตาร์ด เกลือ ซึ่งจะใช้ปรับแต่งรสพื้นฐาน   ที่เหลือก็จะเป็นพวกปรับกลิ่นและความน่ากินต่างๆ อาทิ การใช้เครื่องเทศต่างๆ  มะกอกดอง(ของฝรั่ง)สับสะเอียด ต้นหอมต่างๆเช่น Chive, Shallot(ต้นหอมบ้านเรา), Thyme, Oregano....ฯลฯ   ซึ่งทั้งหลายเหล่านี้ต่างก็หาซื้อได้ทั่วๆไป  หรือจะลองใช้ดอกและใบอ่อนโหระพา ดอกกะเพรา.....ก็น่าจะลองดู    

ผักจิ้มแบบฝรั่งตามปกติก็จะมีเพียง แคร็อท คื่นใช่ฝรั่ง(Celery) แตงร้าน(มิใช่แตงกวา)     หากจะทำให้เป็นแบบไทยๆ ในความเห็นของผมที่พอจะนึกออกในทันใดก็จะเป็นมะม่วงดิบบางพันธุ์ ดอกดาหลา ปลีกล้วย เป็นต้น        



  


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ธ.ค. 19, 20:31
แนะนำสลัดไทยใบบัวบกค่ะ
https://www.youtube.com/watch?v=gYtA_fm6Qjg


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ธ.ค. 19, 19:57
นักกินและคนนิยมทำครัวของไทยเราก็ไม่แตกต่างไปจากของประเทศอื่นๆ คือชอบที่จะปรับ แต่ง แปลงอาหารที่ได้รับการถ่ายทอดมาให้มีความแตกต่างออกไป ทั้งในเชิงขององค์ประกอบของเครื่องปรุงและรส ให้มีความเด่นหรือมีเอกลักษณ์เป็นการเฉพาะว่าเป็นฝีมือของผู้ใดเป็นผู้ทำ 

ผมมีความเห็นว่า วิธีการกินอาหารที่เป็นผักของคนเรานั้นมีอยู่สามวิธีคือ จัดเป็นอาหารจานผักแยกออกมา ซึ่งคงจะตรงกับคำว่า สลัด    จัดเป็นของเคียงของสำหรับจานอาหารเนื้อนั้นๆ เราเรียกว่า ผักแนม ?   และจัดเป็นอาหารจานคลุกระหว่างผักกับเนื้อสัตว์ที่เราเรียกว่า ยำ  ซึ่งเราจะใช้คำว่า ยำ นี้ในภาษาอังกฤษว่า สลัด     

ก็เลยขวนให้คิดฟั่นเฟือนไปว่า ไทยเป็นหนึ่งเดียวในหมู่ประเทศในภูมิภาคนี้หรือไม่ ที่มีอาหารจานผักแยกออกมาในลักษณะที่ใกล้เคียงกับจานสลัดในความหมายของฝรั่ง  แน่นอนว่าประเทศในอนุทวีปอินเดีย ในภูมิภาคเอเซียกลาง เอเซียไมเนอร์ และในตะวันออกไกล ต่างก็มีจานผักที่จัดแยกออกซึ่งแม้จะมีอยู่วางอยู่หลายอย่างในสำรับอาหาร แต่ต่างก็จะเป็นจานผักที่อยู่ในลักษณะของผักแนม (side dish)    ถ้าเป็นดังที่คิดเพี้ยนไปนี้ ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ทำให้คนต่างชาติทั้งหลายพอใจในอาหารจานสลัดที่ทำแบบไทย เป็นอาหารที่เบา มีรสจัดจ้านแต่กลมกล่อม (savory taste)    ทั้งนี้เราอาจจะปรับแต่งการจากใช้ผักกาดหอมไปเป็นใช้ผักกาดแก้ว หรือผักสลัดของฝรั่งอื่นใดต่างๆ รวมทั้งการใช้ผักพื้นบ้าน หรือผักตามธรรมชาติตามฤดูกาลของเรา อาทิ ยอดจิก ยอดมะกอก เกษรชมพู่มะเหมี่ยว ใบชะพลู ในบัวบก ....


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ธ.ค. 19, 18:15
ที่จริงแล้วก็อาจจะเปรียบเทียบกันได้ยาก เพราะว่าอาหารฝรั่งเป็นลักษณะของอาหารจานเดียวที่จัดสำหรับแต่ละคน แต่ของเอเซียมีลักษณะเป็นอาหารที่จัดเป็นสำรับกินร่วมกัน   ฝรั่งมีซุปจัดให้เป็นของแต่ละคน ของเอเซียจัดเป็นแกง/ต้มวางเป็นชามกลาง ในแต่ละมื้อของฝรั่งแต่ละคนจะเลือกกินเนื้อสัตว์ชนิดเดียว แต่ในสำรับอาหารของคนเอเซียอาจะมีเนื้อสัตว์หลายชนิดให้เลือกตักกินได้  เรามีจานผักในสำรับอาหารที่มักจะมีผักหลายอย่างและเป็นได้ทั้งที่เป็นผักสดและผักสุกแบบต่างๆ (นึ่ง ต้ม ย่าง ผัด...) และก็ยังมีแบบที่กินด้วยการจิ้มกับน้ำพริกอีกด้วย (dip sauce) ซึ่งต่างกับฝรั่งที่จะจัดเป็นของกินเล่นนอกโต๊ะอาหาร     

วิถึแบบเอเซีย/แบบไทยของเรานี้กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วตามสภาพสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ  แต่ก็ยังดีที่แม้จะเปลี่ยนไปเป็นแบบฝรั่งนิยมมากขึ้น ก็ยังคงรักษาวิถีเดิมนี้ไว้ในวาระที่มีการพบกันของคนในครอบครัว   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ธ.ค. 19, 19:00
กล่าวถึงอาหารเป็นสำรับที่กินร่วมกันภายในครอบครัวในวาระต่างๆ เลยทำให้นึกถึงว่าอาหารเหล่านั้นส่วนมากจะเป็นอาหารที่ทำเองตามที่ได้รับถ่ายทอดกันรุ่นต่อรุ่นส่งต่อกันมา ส่วนอาหารที่ซื้อมาสมทบนั้นมักจะเรียกกันว่าอาหารพิเศษ  ในความเห็นของผมนั้นเห็นว่า อาหารที่ถ่ายทอดต่อๆกันมานี้ล้วนแต่อร่อยและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวทั้งนั้น   ผมได้มีโอกาสกินของเหล่านั้นมิใช่ด้วยเพราะว่าเป็นคนในครอบครัวของเขา แต่ด้วยผลจากการเอื้อเฟื้อช่วยเหลือเผื่อแผ่ ความสนิทใจ ช่วยเหลือ และความซื่อที่มีต่อกัน  ซึ่งได้กลายมาเป็นความพอจะที่รู้ที่นำไปทำกินเอง นำไปพูดคุยแลกเปลี่ยนหาความรู้ต่อๆไปกับผู้คนอื่นๆต่างถิ่นต่างท้องที่กัน 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ธ.ค. 19, 20:14
เลยกลายเป็นความสุขและการผ่อนคลายที่ได้เดินตลาดท้องถิ่น ไปทุกแห่งเท่าที่จะมีเวลาและโอกาสที่จะทำได้  โดยเฉพาะที่เป็นตลาดสดยามเช้าทั้งในและ ตปท. ซึ่งทำให้ได้เห็นว่าของสิ่งเดียวกันนั้นมันมีความต่างกันในความคิดของคนขาย คนซื้อ และคนทำ   การที่คนขายจัดแต่งสิ่งสินค้าและจัดวางของนั้นๆแบบแยก แบบวางเป็นหมวดหมู่ หรือแบบวางคละกัน โดยเฉพาะกับของที่หาได้ตามฤดูกาลนั้นๆ ล้วนแต่เป็นการจุดประกายน้อยๆหรือสื่อให้ผู้ซื้อนึกถึงว่าจะซื้อไปทำอะไรดี    ฝ่ายคนซื้อ/คนทำก็จะนึกถึงว่า ซื้อเอาไปทำไอ้นั่นหรือไอ้นี่ถ้าจะดี

แต่ก่อนนั้นของขายในตลาดหลายๆอย่างจะมีวางขายตามที่หาได้ตามฤดูกาล ในปัจจุบันนี้เกือบจะกล่าวได้ว่ามีทุกอย่างทั้งในหรือนอกฤดูกาล เพียงแต่ราคาจะต่างกันค่อนข้างมาก  ก็เลยอาจจะทำให้ความกระตือรือร้นในการอยากขาย อยากซื้อ อยากทำลดน้อยลงและไม่เด่นชัด


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ธ.ค. 19, 07:59
ตลาดสดกรุงเทพ ตลาดอ.ต.ก.


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ธ.ค. 19, 08:01
ตลาดสดต่างจังหวัด


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 ธ.ค. 19, 12:12
ตลาดสดปากช่อง  ;D


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ธ.ค. 19, 12:19
ตลาดติดแอร์


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ธ.ค. 19, 18:48
ภาพใน คห.469 นั้น เป็นลักษณะของตลาดที่หลายคนเรียกกันว่า ตลาดแบกะดิน   

ภาพของตลาดในลักษณะนี้ ใน ตจว.จะบ่งบอกว่าผู้ขายจะเป็นชาวบ้านที่เอาพืชผลที่มีการปลูกอยู่ในท้องถิ่นมาวางขาย ซึ่งพอจะแบ่งอย่างคร่าวๆได้ว่ามีอยู่สองกลุ่ม คือ กลุ่มผู้ขายที่มีลักษณะเป็นพ่อค้าคนกลาง เสาะหาสินค้าต่างๆตามฤดูกาลมาวางขาย และกลุ่มผู้ขายที่เอาผลิตผลที่ได้จากการเพาะปลูกและจากการเก็บเกี่ยวอื่นใดของตนเองมาวางขาย    ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้จะพบเห็นเป็นปกติในพื้นที่นอกตัวตลาด (ในตลาดจะวางมีแผงขายของและต้องเสียค่าเช่า) กลุ่มแรกมักจะอยู่ใกล้บริเวณเส้นทางเข้าออกของตลาด กลุ่มที่สองจะอยู่กระจายกันห่างออกไป

ผมนิยมที่จะเดินในส่วนที่เป็นบริเวณของชาวบ้านเอาของที่ตนหาได้และทำเองมาวางขาย แม้ของขายเหล่านั้นจะมิได้มีความสวยงามใดๆนัก แต่เราก็จะได้ของที่อย่างน้อยก็ค่อนข้างจะมีความเป็นของที่ปลอดสารอันตราย แล้วก็มีพืชผักหลายๆอย่างที่เป็นผักป่าหรือพื้นบ้านที่เป็นพืชผลอินทรีย์ที่แท้จริง 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ธ.ค. 19, 19:23
ภาพใน คห.470  เป็นลักษณะของตลาดพื้นบ้านที่ออกไปในลักษณะธุรกิจขายครั้งละจำนวนมาก (ขายส่ง) ระหว่างผู้ผลิตกับผู้ใช้โดยตรง(เช่น การซื้อของร้านอาหาร)    ก็ยังเป็นภาพของผู้ขายที่ตั้งแผงขายอยู่นอกตัวตลาด  ตลาดปากช่องนี้ก็เป็นตลาดที่น่าเดินทีเดียว อุดมไปด้วยของขายประเภทดอกผลของพืชผักมากมาย ค่อนข้างจะต่างไปจากตลาดชุมชนอื่นๆที่มักจะวางขายพืชผักประเภทใบและเหง้า   

สำหรับคนที่เดินทางผ่านและนึกแวะเที่ยวชมตลาดปากช่องนั้น ผมมีความเห็นว่าในใจน่าจะนึกถีงเรื่องของผลไม้เสียมากกว่า(นอกเหนือไปจากตลาดกลางดง) และคิดว่าหลายคนคงจะนึกถึงพวกสัตว์น้ำที่จับได้ในอ่างเก็บของเขื่อนเก็บน้ำลำตะคอง (โดยเฉพาะ ปลากระทิง)


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 ธ.ค. 19, 21:06
ปากช่องมีตลาดสดอยู่ ๒ แห่ง แห่งแรกเป็นตลาดสดเทศบาล อยู่ในตัวเมือง

https://youtu.be/ICvedQgUeRA

อีกแห่งคือ ตลาดสดมิตรภาพ เป็นของเอกชน อยู่นอกเมืองออกไปนิดหน่อย

https://youtu.be/S_fY2RFeEZU


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ธ.ค. 19, 09:35
นครปฐมเป็นเมืองอาหาร  ทั้งของสดและของสำเร็จรูป   เป็นแหล่งป้อนอาหารให้กรุงเทพซึ่งไม่มีเนื้อที่ผลิตของสดด้วยตัวเอง
นครปฐมจึงมีตลาดสดมากมาย น่าเดินมากๆ  คุณตั้งคงเคยแวะไปแล้วหลายแห่ง

ตลาดข้างล่างนี้เป็นตลาดย้อนยุคเล็กๆที่ของกินไม่มากนัก แต่ก็มีพอให้อิ่ม   เหมาะจะขับรถไปเที่ยวในวันหยุด  แวะซื้อส้มโอของขึ้นชื่อประจำอำเภอกลับมากินกันที่บ้านค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ธ.ค. 19, 18:45
หน้าตาดูคล้ายตลาดท่านานะครับ    ถ้าใช่ ในบริเวณตัวตลาดจะมีร้านอาหารดังและอร่อยมากอยู่ร้านหนึ่ง คนเต็มตลอด   

เป็ดพะโล้ของเจ้าที่ทำอยู่ในตลาดก็อร่อยใช้ได้เลยทีเดียวนะครับ ซื้อกลับมาบ้านแล้วจัดการเลาะกระดูก เอาเนื้อมาหั่นแบบ slide (แทนที่จะสับเป็นชิ้นๆเท่านิ้วมือ)ก็จะยิ่งอร่อยมากขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง อร่อยและกินง่ายกว่าที่สับเป็นชิ้นหนาหรือสับทั้งกระดูก  ส่วนที่เลาะเนื้อไม่ได้ (คอ ปีก แข้ง ตีน และบั้นท้าย) ก็แยกออกมาไว้เป็นเสบียงสำหรับนักนิยมเมรัยยามบ่ายแก่ๆ    เลยพาลให้นึกถึงลิ้นเป็ดและปากเป็ดที่มีการทำแยกออกมาขายซึ่งเป็นของอร่อยราคาสูง เพียงแต่ความอร่อยจะได้มาจากการกินด้วยมือ   ก็แปลกอยู่ที่นักนิยมเมรัยมักจะเป็นพวกนิยมแทะเนื้อติดกระดูก

ก็ยังนึกไปถึงตีนเป็นผัดกับหน่อไม้(ฝรั่ง)กระป๋อง  หากินได้ยากเต็มทีแล้ว ที่พอจะหากินได้ก็น่าจะพอมีอยู่ในภัตตาคารอาหารจีนรุ่นเก่า แถวสี่แยกวิสุทธิกษัตริย์ก็มีอยู่ร้านหนึ่ง       


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ธ.ค. 19, 19:27
ได้เป็ดมาตัวหนึ่งแล้วและรู้ว่าไม่มีคนนิยมแทะกระดูก ก็อาจคิดไปถึงต้มจับฉ่ายโดยใช้โครงกระดูกเป็ดที่เลาะเอาเนื้อออกมากินนั้น ต้มเป็นน้ำซุปสำหรับต้มจับฉ่ายพร้อมไปกับผักใช้ใส่ในจับฉ่าย (หรือจะเป็นโครงเป็ดย่างก็ได้)   จับฉ่ายเป็นอาหารที่มีประโยชน์มาก เป็นอาหารสุขภาพ ไม่มีกลิ่นฉุนรุนแรง ทำได้ง่ายๆด้วยตนเอง อุ่นเก็บไว้ได้หลายวันและจะอร่อยมากยิ่งขึ้นทุกๆวัน ที่สำคัญคือเกือบจะไม่มีสูตร ข้อจำกัด หรือข้อที่ต้องทำ จะกล่าวว่าเป็นอาหารผักต้มที่ได้ความหวานจากรสผักที่มีรสและกลิ่นของซีอิ๊วก็น่าจะพอได้อยู่   

จับฉ่ายดูจะเป็นอาหารของคนในเมืองโดยเฉพาะ ผมเองไม่เคยเห็นมีเมนูนี้ในสำหรับอาหารของชาวบ้าน และก็เกือบจะไม่เห็นมีการวางขายที่ใช้ในการทำจับฉ่ายในตลาดพื้นบ้าน อาทิ ผักโขม มะระจีน ผักกวางตุ้ง หัวผักกาดขาว ผักกาดขาว คื่นช่าย ...


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ธ.ค. 19, 19:34
ใช่ค่ะ ตลาดท่านา หรือตลาดนครชัยศรี
ต้มจับฉ่ายเป็นของอร่อยอีกอย่าง ที่ไม่ตกยุค  แต่หากินตามตลาดและตามร้านไม่ได้


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ธ.ค. 19, 18:43
ขอข้ามเรื่องต้มจับฉ่ายไปสองสามกระทู้นะครับ 

มีเรื่องแปลกอยู่อย่างหนึ่ง คือเราเกือบจะไม่เห็นว่ามีเป็นสดวางขายอยู่ในตลาดสดใดๆเลย (หรือว่าผิดที่ ผิดเวลาก็ไม่ทราบ)  ผมเคยเห็นอยู่เพียงครั้งหรือสองครั้งเท่านั้นตลอดหลายสิบปีที่เดินตลาด และก็ยังขายเป็นทั้งตัว ไม่แบ่งขายอีกด้วย ไม่มีวางขายแม้นว่าจะเป็นตลาดที่อยู่ในพื้นที่ๆมีการเลี้ยงเป็ดก็ตาม

เป็ดมีหลายสายพันธุ์ทั้งพันธุ์ไข่และพันธุ์เนื้อ  เคยพยายามจะเลี้ยงแบบพื้นบ้านตามที่เคยเห็นเมื่อครั้งยังเด็กๆที่ๆบ้านเลี้ยงไว้เป็นฝูงเล็กๆ มันน่ารักดี เช้าได้กินอาหารแล้วก็ออกไปว่ายน้ำหาอาหารเสริม ตกเย็นก็เดินกลับเข้าคอกตามหัวหน้าฝูงที่เดินนำเด่นอยู่ เข้าคอกแล้วก็ทำการไซร้ขนทำความสะอาดตัวเองก่อนจะเข้านอนเงียบๆ    ก็มีวิธีการเลี้ยงแบบไล่ทุ่ง คือเลี้ยงเป็ดเป็นฝูงใหญ่ๆในพื้นที่นาข้าวที่ฉ่ำน้ำ คนเลี้ยงจะใช้เพียงถุงพลาสติกผูกที่ปลายไม้ ชูสูงเหนือหัวแล้วเดินนำฝูงเป็ดไปยังพื้นที่ๆจะให้พวกเป็ดได้สนุกสนาน หากินหอย หากินกบเขียด... ถึงที่ก็เอาไม้นั้นปักไว้ ฝูงเป็ดก็จะไม่ไปใหนไกลเกินกว่าที่สายตาจะมองเห็นถุงพลาสติคที่ปลายไม้นั้น  ตกเย็น คนเลี้ยงก็เพียงยกเอาไม้ที่ผูกถุงพลาสติกนั้นเดินกลับมายังคอกเป็ด เป็ดทั้งหลายก็จะเดินตามมาทั้งฝูง ไม่ตัวใดพยายามจะแหกคอกหนีไป เป็นภาพที่น่ารักดี
 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ธ.ค. 19, 19:12
น่าเสียดายที่ชาวบ้านที่พยายามจะเลี้ยงเป็ดเพียงเพื่อจะได้ไข่เป็ดมาทำอาหารกินบ้างและขยายพันธุ์บ้างกลับทำเกือบจะไม่ได้เลย  แรกเลยก็คือ ไม่รู้ว่าจะไปหาซื้อลูกเป็ดได้ที่ใหน และหากจะหาซื้อได้ เขาก็ไม่มีตัวผู้ขายให้หรือไม่ขายให้ ก็เลยได้เฉพาะแต่ตัวเมีย ทำให้ไม่มีรูปหล่อไปกระตุ้นให้มันอยากไข่ (ประสบมาด้วยตัวเองถึงได้รู้ แต่จะถูกหรือผิด ไม่รู้)   จะเป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่งอย่างใด หรือจะถูกจำกัดด้วยผลประโยชน์อื่นใดก็ไม่รู้  อย่างไรก็ตาม เรื่องส่วนหนึ่งก็คือ เป็ดไม่เป็นเนื้อสัตว์ที่นิยมเอามาทำอาหารของคนพื้นบ้านใน ตจว.   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 ธ.ค. 19, 19:41
เขาก็ไม่มีตัวผู้ขายให้หรือไม่ขายให้ ก็เลยได้เฉพาะแต่ตัวเมีย ทำให้ไม่มีรูปหล่อไปกระตุ้นให้มันอยากไข่ (ประสบมาด้วยตัวเองถึงได้รู้ แต่จะถูกหรือผิด ไม่รู้) 

ตรงนี้ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะไม่ว่าเป็ดหรือไก่ตัวเมียก็สามารถออกไข่ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีตัวผู้ ไข่นี้จะไม่มีน้ำเชื้อจากตัวผู้มาผสม เรียกว่า ไข่ลม เป็นไข่ซึ่งเรานำมารับประทานอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน  ;D


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ธ.ค. 19, 20:24
กลับมาเข้าเรื่องต้มจับฉ่าย

ผมเชื่อว่า ไม่มีผู้ใดรู้เครื่องปรุงและวิธีการทำที่เป็นต้นตำหรับที่แท้จริงของต้มจับฉ่าย ส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นด้วยเหตุเพราะคนจีนต่างเหล่าต่างชาติพันธุ์ต่างก็มีเครื่องปรุงและวิธีการทำที่เป็นที่นิยมเป็นการเฉพาะของพวกตนเอง  จับฉ่ายเป็นอาหารผู้กินแต่ละคนจะให้ความเห็นแตกต่างกันในเชิงของความน่ากินและความอร่อย    สำหรับตัวผมนั้น นิยมทำกินเอง ต้มวันแรกก็ยังงั้นๆ ไม่ออกรสที่น่ากินมากนัก ค้างคืนไปหนึ่งวันก็ดูมีรสกลมกล่อมขึ้น พอผ่านคืนที่สองหรือที่สามเท่านั้นเอง (ตั้งไฟอุ่นเช้าอุ่นเย็นทุกวัน) ความกลมกลืนของน้ำและเนื้อก็จะเสมือนเป็นหนึ่งเดียวกัน มิใช่แบบเนื้อไปทาง-น้ำไปทาง   หากจะให้เปรียบเทียบให้เห็นภาพของความเป็นหนึ่งเดียวกัน ก็น่าจะเป็นขนมกล้วยบวชชีหรือฟักทองแกงบวชของเจ้าที่ว่าอร่อย ซึ่งจะมาจากความพอดีของความนุ่ม ความนิ่มและขนาดของชิ้นที่พอเหมาะกับการตักขึ้นมาพร้อมกับน้ำกะทิในแต่ละช้อน ที่ทำให้ได้ในปริมาณและสัดส่วนที่สมดุลย์กับน้ำกะทิและรสของน้ำกะทิที่ปรุงแต่งรสไว้      


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ธ.ค. 19, 20:53
ขอบคุณครับคุณเพ็ญชมพู 

ผมก็เชื่อว่าการวางไข่ของไก่หรือเป็ดไม่จำเป็นต้องมีการผสมพันธุ์ก่อน แต่จำเป็นจะต้องมีแรงกระตุ้น มะลันดูแก-มะแลดูกัน ใหมครับ หรือถึงวาระและเวลามันก็ออกไข่เอง เพียงแต่ผมมีข้อสังเกตว่าได้เลี้ยงเขามาอย่างสมบูรณ์อยู่หลายเดือนมากเลยทีเดียว (ประมาณ 25 ตัว) มีทั้งอาหารและแหล่งน้ำแต่ไม่มีตัวใดรู้สึกอยากออกไข่เลย  เมื่อมีการออกไข่ก็มีแบบกระปริดกระปรอยวันละใบสองใบ หรือไม่มีเลย หรือว่าเป็นเพราะเป็นเป็ดพันธุ์เนื้อครับ ??

เลยขอเรียนถามต่อไปเลยว่า สัตว์ปีกอื่นๆจะมี period ของการวางไข่ไปเรื่อยๆเช่นเดียวกับไก่หรือเป็ดใหมครับ หรือเป็นไปตามฤดูกาล หรืออื่นใด


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ธ.ค. 19, 09:33
ขอคั่นด้วยอาหารที่หาไม่ได้ตามตลาดสดในไทย  เพื่อฉลองคริสต์มาสกันในกระทู้นี้ค่ะ
ทำไมไก่งวงถึงกลายเป็นอาหารจานหลักในมื้อสำคัญวันคริสต์มาส    ตามประวัติย้อนกลับไปได้ถึงสมัยพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ในศตวรรษที่ 16
พระองค์เป็นกษัตริย์อังกฤษพระองค์แรกที่โปรดให้นำไก่งวงมาขึ้นโต๊ะในวันคริสต์มาส    ไก่งวงกลายเป็นอาหารแพร่หลายตั้งแต่ศตวรรษนี้


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ธ.ค. 19, 09:37
ในสมัยวิคตอเรียน  ห่านอบถูกนำมาขึ้นโต๊ะอาหาร ฉลองคริสต์มาสเช่นกัน


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ธ.ค. 19, 09:41
นอกจากนี้ก็มีหมูย่าง   
เห็นมันมาหมอบอยู่ทั้งตัวตรงหน้า  รู้สึกว่าน่ากลัวมากกว่าน่ากิน


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ธ.ค. 19, 09:42
ถ้าเป็นชิ้นพอไหวค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ธ.ค. 19, 09:43
อาหารคริสต์มาส  ประกอบด้วยไก่งวงอบ ยัดไส้จะด้วยอะไรก็ได้หลายอย่าง เช่นแอปเปิ้ลอบ   นอกจากนี้มีมันฝรั่งบดราดน้ำเกรวี่    ซอสที่กินกับไก่งวงอบ คือซอสทำจากลูกแครนเบอรี่
ส่วนผักที่เป็นเครื่องเคียง ก็มีตั้งแต่หัวผักกาดแดง (แครอท) หัวผักกาดขาว(เทอร์นิป) พาสนิป เป็นต้น
ถ้าไม่มีไก่งวง จะมีไก่อบแทน หรือเนื้อวัวย่าง  หรือหมูแฮม ก็ได้
ของหวานที่นิยมคือพายฟักทอง หรือพายแอปเปิ้ล    พุดดิ้งลูกองุ่นแห้ง  คริสต์มาสพุดดิ้ง และเค้กผลไม้


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ธ.ค. 19, 15:56
Christmas pudding


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ธ.ค. 19, 15:59
เค้กผลไม้


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ธ.ค. 19, 15:59
พาออกนอกตลาดไปไกล
หมดคริสต์มาสแล้ว  กลับมาจ่ายตลาดตามเดิมนะคะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ธ.ค. 19, 19:06
ของน่ากินทั้งนั้นเลยครับ    ไปทำงานใน ตปท.คร่อมช่วงคริสต์มาสมาหลายครั้ง แต่ได้เคยลิ้มลองแบบเต็มชุดดังภาพเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

ในกลุ่มของหวานที่เป็นพายฟักทอง พายแอปเปิ้ล และเค็กผลไม้นั้น      พายเป็นของที่แควนของผมทำเองและก็มีความอร่อยอยู่มากเลยทีเดียว มักจะทำให้หลานกินกันเมื่อถูกร้องขอ  พายฟักทองที่อร่อยนั้นจะต้องเลือกใช้ฟักทองลูกที่เนื้อหนาและแน่น ไม่จำเป็นต้องเป็นฟักทองฝรั่งหรือฟักทองญี่ปุ่น    พายแบบไทยๆอย่างหนึ่งที่มีความอร่อยก็คือพายลูกตาล     ส่วนเค็กนั้นตามปกติไม่เป็นที่นิยมของผม แต่มีเค็กอยู่อย่างหนึ่งที่ผมชอบมาก แบบไทยๆนั่นแหละ คือ เค็กมะตูม  ในช่วงเวลาบ่ายเมื่อผมไปพบแพทย์ตามที่นัดไว้ที่ รพ.ศิริราช เรียบร้อยแล้ว ก็จะต้องเดินมาที่บริเวณสี่แยกเพื่อซื้อมะตูมเชื่อมเอาไปเก็บไว้ให้แควนทำเค็กมะตูม ก็จะเลือกซื้อแบบเป็นชิ้นเล็กๆส่วนหนึ่งและที่เป็นแว่นเต็มๆอีกส่วนหนึ่ง อย่างละประมาณ 1 กก.   ในพื้นที่ย่านนั้นมีชุมชนที่ทำอาชีพแปรผลิตผลลูกมะตูม อยู่กันเป็นกลุ่มจนถนนเข้าสู่ชุมชนได้ชื่อว่า ตรอกมะตูม    ช่วงปลายปีจะเป็นช่วงเวลาของการเก็บเกี่ยวลูกมะตูม

พายแอปเปิ้ลนั้นก็มีความอร่อยอยู่ ต้องใช้แอปเปิ้ลเขียว  แต่ที่อร่อยจริงๆคือ Affel Strudel ซึ่งเป็นของอร่อยของคนออสเตรีย ก็เป็นแผ่นแป้งบางๆม้วนห่อแอปเปิ้ลเชื่อมหลายชั้น ความอร่อยได้มาจากความพอดีของปริมาณแป้งแผ่นและใส้แอปเปิ้ลที่ไม่หวานจัด ปริมาณอบเชย และความนิ่มของเนื้อแอปเปิ้ล


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ธ.ค. 19, 19:26
Affel Strudel


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ธ.ค. 19, 19:33
ไก่งวงนั้นเป็นอาหารที่ดูน่ากิน เป็นอาหารที่อร่อย มีประโยชน์ และทำไม่ยาก เพียงแต่จะต้องมีอุปกรณ์และเครื่องปรุงค่อนข้างพร้อม ซึ่งบางอย่างก็มีราคาค่อนข้างสูง บางอย่างก็อาจจะหาได้ยาก ใช้เวลานานในการทำ และต้องใส่ใจในรายละเอียดบางอย่าง   ก็เคยทำเองอยู่หลายครั้งซึ่งแต่ละครั้งก็ลองใช้ใส้ที่จะยัด (Stuffed) ต่างกันไป ซึ่งมันก็ออกมาอร่อยทุกครั้งนะครับ แล้วก็กินกันไม่หมดในมื้อนั้นๆ  ต้องเก็บเอามากินหรือแปลงในวันต่อๆไป  หากเป็นฝรั่งก็มักจะฉีกเนื้อที่เหลือค้างเอามาทำเป็นใส้แซนวิช จัดเป็น Brown bag พกไปกินเป็นอาหารกลางวันเมื่อถึงวันเปิดทำงานหลังการฉลองปีใหม่

สำหรับกระบวนการอบไก่งวงแบบบ้านๆนั้นคงจะต้องเป็นในวันพรุ่งนี้   คิดว่าอาจจะเป็นประโยชน์บ้างสำหรับผู้ที่นิยมทำอาหาร


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ธ.ค. 19, 20:13
แซนด์วิชไส้ไก่งวง


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 ธ.ค. 19, 22:05
ผมก็เชื่อว่าการวางไข่ของไก่หรือเป็ดไม่จำเป็นต้องมีการผสมพันธุ์ก่อน แต่จำเป็นจะต้องมีแรงกระตุ้น มะลันดูแก-มะแลดูกัน ใหมครับ หรือถึงวาระและเวลามันก็ออกไข่เอง เพียงแต่ผมมีข้อสังเกตว่าได้เลี้ยงเขามาอย่างสมบูรณ์อยู่หลายเดือนมากเลยทีเดียว (ประมาณ 25 ตัว) มีทั้งอาหารและแหล่งน้ำแต่ไม่มีตัวใดรู้สึกอยากออกไข่เลย  เมื่อมีการออกไข่ก็มีแบบกระปริดกระปรอยวันละใบสองใบ หรือไม่มีเลย หรือว่าเป็นเพราะเป็นเป็ดพันธุ์เนื้อครับ ??

เลยขอเรียนถามต่อไปเลยว่า สัตว์ปีกอื่นๆจะมี period ของการวางไข่ไปเรื่อยๆเช่นเดียวกับไก่หรือเป็ดใหมครับ หรือเป็นไปตามฤดูกาล หรืออื่นใด


เรื่องการกระตุ้นด้วยการ 'มาลันดูแก' ไม่มีความจำเป็นโดยแท้ อาจเทียบได้กับการตกไข่แต่ละเดือนของผู้หญิง ก็เป็นไปตามธรรมชาติแม้ไม่ผู้ชายมาวอแวด้วยก็ตาม

เป็ดจะเริ่มไข่เมื่อมีอายุราว ๕ เดือน มีหลายปัจจัยที่มีผลต่อปริมาณไข่ ไม่ว่าจะเป็นปริมาณและชนิดของอาหาร แสงก็มีผลต่อการออกไข่เช่นกัน หากปริมาณแสงที่ได้รับต่อวันไม่พอเพียงไข่ก็จะลด ความเครียดที่เป็ดได้รับไม่ว่าจะเป็นความร้อน เสียงดังที่ทำให้เป็ดตกใจ ก็จะทำให้ไข่ลดหรือไม่ออกไข่เช่นกัน

สัตว์ปีกชนิดต่าง ๆ เมื่อมีอายุที่เหมาะสมก็จะออกไข่ ปริมาณของไข่แตกต่างกันไปตามแต่ชนิดของสัตว์ แต่ที่เหมือนกันคือการออกไข่ไม่จำเป็นต้องมีตัวผู้มากระตุ้นด้วยการ 'มาลันดูแก'  ;D


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ธ.ค. 19, 09:01
ก่อนคุณตั้งจะเข้ามาอบไก่งวงให้ชาวเรือนไทยน้ำลายไหลกัน   ขอย้อนกลับไปถึงอาหารที่เหลือจากมื้อใหญ่ คือมื้อฉลองคริสต์มาส
อาหารที่เหลือ ฝรั่งเขาไม่ค่อยเททิ้งอย่างบ้านเรา  แต่จะดัดแปลงเป็นอาหารอย่างอื่นเพื่อกินต่อไปจนกว่าจะหมด
ไก่งวงตัวใหญ่ เหลือชิ้นใหญ่น้อยอยู่ในจานเปล   ก็เอามาทำอาหารอย่างใหม่ เช่นพายไก่งวง
อย่างที่เคยเล่ามาแล้วในกระทู้ "บ้านเล็ก" ว่าพายของฝรั่งเป็นได้ทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน   พายไก่เป็นอาหารคาว พายไก่งวงก็เช่นกัน


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ธ.ค. 19, 18:28
ไข้ขึ้นเลยครับ หลงไปเขียนเรื่องอบไก่งวงเข้า

จะทำทั้งทีก็จะต้องสำรวจความพร้อมเกี่ยวกับเครื่องครัวของเรา ต้องมีการวางแผนว่าจะทำกันในวันใหนเพื่อจะได้เตรียมการซื้อของที่เป็นเครื่องปรุงต่างๆ แล้วก็ยังจะต้องค้นหาและอ่านค่อนข้างมากถึงเทคนิคและวิธีการต่างๆที่เหมาะสมกับสภาพการทำครัวของเรา ซึ่งรวมถึงการเลือกใส้(สิ่งของ)ที่จะทำการยัด(หรือไม่ยัด)เข้าไปในตัวไก่งวง

เรื่องความพร้อมของเครื่องครัว   เตาอบเป็นเรื่องแรกว่าจะใหญ่พอที่จะเอาไก่ตัวขนาดลูกฟุตบอลวางไว้บนถาดแล้วเอาเข้าเตาอบได้หรือไม่  มีจานเปลยาวประมาณหนึ่งศอกสำหรับใส่ไก่งวงที่อบสุกแล้วเพื่อวางบนโต๊ะอาหารหรือไม่  นอกจากนี้ก็เป็นเรื่องเล็กน้อยๆเช่น เชือกผูกไก่ แปรงด้ามยาวหน่อยสำหรับทาตัวไก่ในเตาอบ ฟอยล์อลูมิเนียม...

ต้องมีการวางแผนว่าจะทำกินกันวันใหน    ซึ่งก็น่าจะต้องเป็นวันที่ครอบครัวมาอยู่รวมกัน โดยเฉพาะครอบครัวที่มีลูกหลานหลายคน (ไก่งวง 1 ตัว กินกันได้มากกว่า 5 คนขึ้นไป) เพราะจะเป็นวันที่สนุกสนานของเด็กๆทั้งหลาย ในทำนองกลับกันก็เป็นวันชุลมุนของผู้ใหญ่ แต่ทุกๆคนต่างก็จะอิ่มไปด้วยความสุข    รู้วันแล้วก็จึงจะสามารถเตรียมในเรื่องของเครื่องปรุงได้ให้เหมาะสมตามอายุความสดใหม่ของเครื่องปรุงเหล่านั้น 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ธ.ค. 19, 19:06
ไก่งวงนั้นซื้อมาได้ก่อนเลย จะเป็นแบบแช่เข็ง หาตัวที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 3 กก. เพราะหลักพื้นฐานของการใช้เวลาอบให้สุกนั้น จะใช้เวลา 1 ชม.ต่อน้ำหนักไก่ 1 กก.   ไก่ขนาด 3 กก. ก็ต้องในการอบอย่างน้อย 3 ชม.  ไก่แช่แข็งนี้จะใช้เวลาข้ามคืนกับอีกประมาณครึ่งวันเพื่อทิ้งไว้ให้มันละลายจะถึงระดับอุณภูมิห้องก่อนที่จะทำอะไรต่อไปได้   หากเป็นไปได้ก็ควรจะต้องซื้อเมรัยที่เรียกว่า Port wine มาสักขวดด้วย เพื่อจะช่วยให้ไก่มีกลิ่นหอมและมีสีสวยเมื่ออบสุกแล้ว (ที่เหลือก็จิบเป็นของยาช่วยย่อยหลังอาหาร)  ชักหลายกะตังค์แล้วนะครับ ตอนนี้ก็สักสองพันบาทแก่ๆเข้าไปแล้ว

เครื่องปรุงอื่นๆก็จะเป็นพวกที่เอามายัดใส้ ซึ่งก็แล้วแต่จะเลือกเอาว่าจะทำใส้ยัดแบบใหน มีสูตรมากมายที่หาอ่านได้ตามเว็ปอาหารต่างๆ  แต่ที่เป็นหลักๆก็มีใบ sage  มีใบ Rosemary (จะเป็นแบบสดหรือแบบแห้งก็ได้) มีหอมใหญ่ มีคื่นช่ายฝรั่ง ขนมปัง แล้วก็อาจจะเป็นผลไม้แห้ง สด และพวก nuts ต่างๆ ....


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ธ.ค. 19, 19:44
เมื่อลงมือทำ มีความจำเป็นจะต้องเอาเกลือผสมพริกไทยทาในโพรงไก่ให้ทั่ว ที่ว่าจำเป็นก็เพราะว่ามันจะไปช่วยทำให้เนื้อไก่ทั้งตัวมีรส

ผัดเครื่องที่จะใช้ยัดในโพรงไก่ ตามที่สูตรเขาว่าไว้ พอหายร้อนแล้วก็เอาใส่เข้าไปให้เต็ม เย็บหนังส่วนโคนคอปิดให้สนิท ดึงหนังบริเวณก้นปิดแล้วเย็บ แล้วใช้เชือกผูกรัดข้อแข้งให้แนบกับตัว แล้วก็เอาไก่เข้าเตาอบ   ประมาณทุกๆ 20 นาที ก็เอาแปรงชุบน้ำที่ทำด้วยเนยละลายกับ Port wine ที่ใส่ถ้วยเตรียมไว้  เอาไทาทาตัวไก่ให้ทั่ว ทำเช่นนี้ประมาณทุกๆ 20 นาที จนได้เวลาของการอบไก่ตามหลักที่ว่าไว้  พอผ่านไปประมาณ 1 ชม. ผิวไก่ด้านอกที่เราจับมันนอนหงายไว้ตลอดเวลาของการอบนั้น ก็จะเริ่มเกรียม ก็จะต้องแก้ด้วยการตัดเอาฟอยล์อะลูมิเนียมมาแปะบังไว้ (ยกออกเพื่อทาแล้วก็ปิดไว้ตามเดิม) ใช้ฟอยล์แปะบังส่วนต่างๆที่ดูจะใหม้เกรียม

ความรื่นรมภ์ที่มีระหว่างการทำอาหารนี้ก็คือ กลิ่นหอมของอาหาร ความอยากรู้ว่าเมื่อใดจะเสร็จเสียที เมื่อไรจะได้กินเสียที ทำให้บรรดาลูกๆหลานๆทั้งหลายวิ่งเข้าวิ่งออกตามดูตามถาม  และดูจะมานั่งรอกันที่โต๊ะอาหารเมื่อใกล้จะยกออกจากเตา 

ก็เป็นความสุขของทุกคนในครอบครัวกับอาหารที่หากินได้ไม่ง่าย แต่คล้ายกับว่าทุกคนได้ร่วมกันทำ เป็นมื้อที่ใช้งบไม่มากไปกว่าการไปกินตามร้านอาหารดีๆสักแห่งแต่ลึกๆแล้วขาดความเป็นส่วนตัว 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ธ.ค. 19, 20:23
เขียนไปเขียนมาเลยนึกออกว่า สาเหตอย่างหนึ่งที่เราไม่ค่อยจะเห็นว่ามีเป็นสดขายในตลาด ตจว.ก็อาจจะเป็นเพราะว่า  คนไทยถือกันว่า หากไปหาไปซื้อเป็ดมาทำอาหารกันจะเป็นเหตุที่ทำให้เกิดความแตกแยกกันของครอบครัวและเพื่อนสนิทมิตรสหายต่างๆ    ความเชื่อในเรื่องนี้ผมได้ยินมานานมากตลอดช่วงเวลาที่เดินทำงานอยู่ในพื้นที่ต่างๆ    ตนเองก็ไม่เข้าใจอยู่นานจนกระทั่งมาพูดถึงเรื่องเป็ดว่ามีความสามัคคีกันมาก เดินรวมกันเป็นฝูง ไม่แตกฝูงออกไป ก็เลยพอจะนึกออกถึงเหตุผลลึกๆของคนพื้นบ้านเหล่านั้น คือเคำนึงถึงความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกันเป็นหลักใหญ่   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ธ.ค. 19, 10:32
อ่านแล้วอยากไปร่วมวงกับลูกหลานบ้างค่ะ

พูดถึงเป็ด เรามักนึกถึงเป็ดย่างตำรับของจีนเป็นหลัก  แต่ฝรั่งก็ทำเป็ดเป็นเหมือนกัน   คือเป็ดอบ  รสชาติออกมาเป็นฝรั่ง


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ธ.ค. 19, 10:36
ฝรั่งเศสขึ้นชื่อเรื่องทำเป็ดอบกับซอสส้ม


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ธ.ค. 19, 18:12
เป็ดอบของฝรั่งก็หอมและอร่อยดีนะครับ  แต่ควรจะต้องเป็นแบบอบทั้งตัวแล้วจึงสับแบ่ง ซึ่งส่วนมากจะสับแบ่งเป็นครึ่งตัว น้อยรายที่จะสับแบ่งเป็นสี่ส่วน  โดยส่วนมากแล้วตามร้านอาหารที่มีระดับหน่อยจะใช้เพียงเนื้อส่วนหน้าอกเป็ดในการทำ และจะทำแบบกึ่งทอดกึ่งอบ คือไม่ทอดจนสุกและก็ไม่อบจนสุกอย่างหนึ่งอย่างใดเพียงอย่างเดียว     

ในความเห็นของผม ความอร่อยที่แท้จริงของเป็ดอบแบบฝรั่ง ซึ่งมีแต่เกลือกับพริกไทยโรยคลุกเคล้าอยู่นั้น ก็อร่อยอยู่ในตัวของมันเองอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับความสุกของเนื้อ (มากไปก็เหนียว น้อยไปก็ดิบ) และความพอดีของการรีดไขมันออกไป  แต่จะมีความอร่อยเด่นขึ้นมาเป็นพิเศษขึ้นอีกด้วยองค์ประกอบอื่นจากฝีมือของพ่อครัว โดยเฉพาะซอส (หากจะใช้) และเครื่องเคียง (ผักอบ ต้ม ย่าง บด...)   สำหรับพวกฝรั่งเอง จะยิ่งอร่อยมากขึ้นไปอีกหากได้กินพร้อมกับไวน์พวก Full Body สีเข้มจัด (มีรสฝาดเด่น)
 
ก็ดูจะแปลกอยู่หน่อยที่คนส่วนมากจะรู้จักและเชื่อว่า เป็นอบราดด้วยซอสส้มแบบฝรั่งเศสเป็นจานที่อร่อย ซึ่งผมเห็นว่าก็งั้นๆแหละ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ธ.ค. 19, 18:43
เป็ดย่างฝีมือคนจีนเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในไทย    ร้านเป็ดย่างที่ขึ้นชื่อลือชา ดำเนินกิจการมาหลายสิบปี จนบัดนี้ก็ยังมีอยู่ให้เห็น
ข้ามทวีปไปถึงที่ไหนที่มีคนจีน  เป็ดย่างจะมีมาให้เห็นในร้านอาหารเสมอ
ดิฉันไปเปิดกูเกิ้ลดู พบว่าฝรั่งก็ย่างเป็ดไว้ขึ้นโต๊ะเหมือนกัน   ไม่เฉพาะแต่คนจีน  แต่เป็ดย่างฝรั่งน่าจะย่างคล้ายๆเนื้อวัว  ต้องถามคุณตั้งว่าชิมแล้วอร่อยกว่าเป็ดอบไหมคะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ธ.ค. 19, 19:15
เป็ดแบบฝรั่งที่เห็นว่ามีเนื้อที่ไม่เหนียวและไม่มีกลิ่นแรงดั่งเช่นเป็ดสดที่เราซื้อมาจากลาดสดนั้น   ผมมีความเห็นว่ามันมีเรื่องไปเกี่ยวข้องกับเรื่องของการหมักตัวเอง ดังนี้

เนื้อสัตว์เพื่อทำอาหารคุณภาพดีที่ส่งขายข้ามทวีปข้ามแดนกันนั้น ส่วนมากผ่านกระบวนการแช่แข็งที่เรียกว่า deep freezing คือประมาณ -18 องศาเซลเซียส เพื่อลดหรือยุติการทำงานของสิ่งมีชีวิตทั้งหมดในเนื้อก้อนนั้น เมื่อจะเอามาทำอาหารก็จะต้องทำให้มันกลับมาอยู่ที่อุณหภูมิห้อง กระบวนการนี้เรียกว่า Thawing ซึ่งควรจะต้องทำในตู้เย็น เพื่อค่อยๆปลุกให้สิ่งมีชีวิตในก้อนเนื้อก้อนนั้นๆค่อยๆตื่นขึ้นมาทำงานจนไปถึงส่วนในสุด  กระบวนการดังกล่าวนี้คือกระบวนการที่ทำให้เนื้อสัตว์ทั้งหลายกลับคืนสู่สภาพของความสดใหม่      

สำหรับสัตว์ปีกตัวใหญ่ (ห่าน) ที่ย้ายถิ่นในช่วงฤดูหนาวและฤดูการล่าสัตว์ของฝรั่งในฤดูหนาว เมื่อได้สัตว์แล้ว เขาก็จะเอาเครื่องในออกแล้วแขวนตากความเย็นไว้ประมาณเจ็ดวัน แล้วจึงถลกหนัง ถลกขน ชำแหละเอาเนื่อมาทำกิน และเก็บส่วนที่เหลือให้มันเข้าไปสู่สภาวะ deep freezing  ผมมีโอกาสได้รู้ข้อมูลนี้เมื่อครั้งไปทำงานในแคนาดา ได้เห็น ได้ช่วยเขาทำ และได้กิน ก็เลยพอจะรู้ถึงความต่างระหว่างเนื้อสัตว์สดๆที่มีกลิ่นแรงกับเนื้อที่ผ่านขั้นตอนดังที่เล่ามา    ที่จริงแล้ว ลึกๆกว่านั้นก็ดูจะเป็นเรื่องของการทำงานของจุลินทรีย์ที่ดีหรือไม่ดี ณ อุณหภูมิต่างๆกัน  อาหารที่มีการใช้คำว่า fresh (สดจริงๆ) กับคำว่า raw (สดปลอมๆ) ก็ดูจะต่างกันตรงนี้เอง

ความเข้าใจของผมอาจมีความผิดพลาดได้มากๆ    ขอความกระจ่างและคำอธิบายจาก คุณเพ็ญชมพู ด้วยครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ธ.ค. 19, 19:26
ห่านอบแบบฝรั่ง   ใช้เป็นอาหารจานเด็ดในเทศกาลคริสต์มาสเช่นเดียวกับสัตว์ปีกอื่นๆ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ธ.ค. 19, 19:41
ตอบอาจารย์ว่าไม่เคยครับ จะเรียกว่าไม่เคยเห็นในเมนูของร้านใดเลยก็ได้    ผมเป็นคนชอบทานเป็ดย่าง ร้านโปรดดั้งเดิมก็แถววัดโสมนัสฯ ซึ่งเลิกไปแล้ว  เวลานี้ก็โปรดร้านที่แยกวิสุทธิกษัตริย์ เพราะยังมีตีนเป็นผัดหน่อไม้ฝรั่ง(กระป๋อง)และเป็ดตุ๋นให้สั่งได้อยู่  

กรณีเป็ดย่างแบบฝรั่ง หากได้พบก็คงจะต้องสั่งมาลองเป็นแน่   ก็ดูจะแปลกอยู่นะครับ เป็ดย่าง รวมถึงหมูแดงหรืออื่นใดที่ต้องใช้เตาอบแบบห้อยแขวนนี้จะพบเห็นได้เฉพาะในร้านอาหารจีนเท่านั้น  อื่นใดนอกจากนี้ก็จะเป็นในลักษณะของการย่างบนตะแกรงเหนือไฟ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ธ.ค. 19, 20:39
อาหารฝรั่งก็มีเป็ดต้มเหมือนกัน เป็นต้มออกรสคล้ายๆพะโล้แต่ไม่ใช่กลิ่นของพะโล้ครับ  จำชื่อไม่ได้และเรียกไม่ถูกว่าจะเรียกชื่อว่าเมนูอะไร  เท่าที่มีประสบการณ์เมนูนี้เป็นอาหารพื้นบ้านในละแวกพื้นที่ชายแดนระหว่างกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกกับกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก(ในอดีต)  เป็ดเหล่านี้เป็นเป็ดเลี้ยงเพื่อการส่งออก ห่านก็ด้วย  เป็ดก็เลยจะดูเป็นอาหารที่อยู่ในเมนูของร้านอาหารทั่วๆไป     

ดูคล้ายกับว่าเมนูต้มจะพบมากอยู่ใกล้เขตต่อแดน ห่างเข้ามาในฝั่งตะวันตกจะเปลี่ยนไปเป็นเมนูอบ เมื่อถึงเขตในอิทธิพลของเมืองใหญ่ๆก็จะกลายเป็นเพียงเนื้อหน้าอกเป็ด   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 ธ.ค. 19, 23:26
เนื้อสัตว์เพื่อทำอาหารคุณภาพดีที่ส่งขายข้ามทวีปข้ามแดนกันนั้น ส่วนมากผ่านกระบวนการแช่แข็งที่เรียกว่า deep freezing คือประมาณ -18 องศาเซลเซียส เพื่อลดหรือยุติการทำงานของสิ่งมีชีวิตทั้งหมดในเนื้อก้อนนั้น เมื่อจะเอามาทำอาหารก็จะต้องทำให้มันกลับมาอยู่ที่อุณหภูมิห้อง กระบวนการนี้เรียกว่า Thawing ซึ่งควรจะต้องทำในตู้เย็น เพื่อค่อยๆปลุกให้สิ่งมีชีวิตในก้อนเนื้อก้อนนั้นๆค่อยๆตื่นขึ้นมาทำงานจนไปถึงส่วนในสุด  กระบวนการดังกล่าวนี้คือกระบวนการที่ทำให้เนื้อสัตว์ทั้งหลายกลับคืนสู่สภาพของความสดใหม่

ขอความกระจ่างและคำอธิบายจาก คุณเพ็ญชมพู ด้วยครับ

ขออนุญาตอธิบายเรื่อง deep freezing ดังนี้

การแช่เยือกแข็ง (deep freezing) เป็นกระบวนการถนอมอาหารอย่างหนึ่ง โดยลดอุณหภูมิลงทำให้น้ำในอาหารเป็นน้ำแข็ง มีผลยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย การทำงานของเอนไซม์ (enzyme) และปฏิกิริยาทางเคมีซึ่งมีผลต่อการเสื่อมคุณภาพของอาหาร

กระบวนการนี้ต้องเป็นไปอย่างฉับพลัน ผลึกน้ำแข็งที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะที่มีขนาดเล็กและละเอียด ลักษณะไม่แหลมคม เมื่อนำไปละลายน้ำแข็ง (thaw) ก่อนการปรุงอาหาร หรือการแปรรูป เซลล์ของเนื้อสัตว์ยังคงสภาพเดิม เนื้อสัตว์ที่ได้จึงมีคุณภาพดี และสูญเสียน้ำออกจากชิ้นเนื้อน้อย

หากการแช่เยือกแข็งเป็นไปอย่างช้า จะได้ผลึกน้ำแข็งที่มีขนาดใหญ่และมีลักษณะแหลมคม สามารถทำลายเนื้อเยื่อที่หุ้มเซลล์ เมื่อผลึกน้ำแข็งหลอมละลาย จะสูญเสียน้ำออกจากชิ้นเนื้อไปมาก เนื้อสัมผัสนิ่มและแห้ง มีคุณค่าทางโภชนาการลดลง


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ธ.ค. 19, 17:44
ขอบคุณครับ 



กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ธ.ค. 19, 18:34
ไปเจอวิธีย่าง(อบ?) เป็ด ของฝรั่งค่ะ  เลยส่งมาให้คุณตั้งดู
เขาใช้คำว่า
Place the roasting pan in the oven. After 15 minutes, lower the oven temperature to 350F. After 45 minutes, remove duck from oven.
หมายความว่าย่างด้วยเตาอบไฟฟ้า?


http://www.mapleleaffarms.com/duck/recipe/297/roasted-whole-duck---basic-recipe-for-crispy-skin/


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ธ.ค. 19, 19:20
ตามปกติ เมื่อเรานึกถึงเมนูอาหารที่ทำด้วยเนื้อเป็ด เรามักจะนึกถึงเป็ดย่างและเป็ดพะโล้ ไม่ว่าจะเป็นการสั่งมาเป็นอาหารในโต๊ะอาหาร หรือสั่งมาในลักษณะอาหารจานเดียว (ข้าวหน้า.. ก๋วยเตี๋ยว.. บะหมี่.. เป็ดตุ๋น..) ก็มักจะไม่จินตนาการไปไกลกว่าลักษณะนี้ แท้จริงแล้วยังมีเมนูอร่อยๆอีกมาก เช่น เป็ดเสฉวน เป็ดตุ๋นมะนาวดอง ตีนเป็ดผัดหน่อไม้ฝรั่ง เป็ดย่างชานอ้อย เป็ดปักกิ่ง   เหล่านี้เป็นอาหารที่โยงกับอาหารแบบที่คนจีนทำทั้งนั้น  แล้วอาหารไทยที่ใช้เนื้อเป็ดทำจะมีอะไรบ้าง  

คนไทยนักทำอาหารก็สร้างสรรค์เมนูที่แต่งแปลงออกไป ที่คงจะคุ้นกันก็คงจะมี อาทิ เอาเป็ดย่างมาทำเป็นแกงเผ็ดเป็ดย่าง (ซึ่งดูจะมีชื่อโดดเด่นอยู่แต่เฉพาะในพื้นที่เมืองและในพื้นที่ภาคกลาง)  เอาเนื้อเป็ดย่างมาผัดกะเพรา (เริ่มจะเริ่มเป็นที่นิยม)  เอาเนื้อเป็ดสดมาทำเป็นลาบ (ลาบเป็ดยโสธรตามแผงขายอาหารที่มีป้ายบอก)   ในปัจจุบันนี้ก็เริ่มเห็นเพิงข้างถนนทำเป็ดย่างเกลือขายกัน (อร่อยทีเดียวเลยนะครับ)   ส่วนเมนูนิยมของผม_ต้มยำเป็ดพะโล้นั้น ยังคงจำกัดอยู่ในเฉพาะนักเดินไพรหรือนักท่องไพรเช่นผม


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ธ.ค. 19, 20:20
เป็ดย่างเกลือ น่าชิมทีเดียวละค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ธ.ค. 19, 21:10
ไปเจอวิธีย่าง(อบ?) เป็ด ของฝรั่งค่ะ  เลยส่งมาให้คุณตั้งดู....

ผมมีความเห็นว่า หากจุดประสงค์เพียงเพื่อการทำให้ได้ผลลัพท์ตามที่ต้องการ ก็อาจจะใช้เครื่องอุปกรณ์ครัวที่ต่างกันก็ได้ เพียงแต่จะต้องมีกระบวนการจัดการเพื่อทำให้ได้ผลดังที่คาดหวังไว้   ซึ่งก็จะมีความต่างกันในเชิงคุณภาพค่อนข้างมาก  


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ม.ค. 20, 09:14
สุขสันต์วันปีใหม่ค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ม.ค. 20, 17:16
สุขสันต์วันขึ้นปีใหม่เช่นกันครับอาจารย์ และขอสวัสดีปีใหม่กับเพื่อนสมาชิกเรือนไทยทุกๆท่านด้วยเช่นกัน   

พร้อมนี้ก็ขออำนวยพรแก่ทุกท่าน   ขอให้ผลกรรมที่ได้สั่งสมกันตลอดมาจากการคิดดี ทำดี รวมทั้งการกระทำที่ไม่เป็นการเบียดเบียนเพื่อประโยชน์แห่งตน และขอให้อำนาจและบารมีของสรรพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่ได้ช่วยปกป้องคุ้มครองดูแลท่านทั้งหลายตลอดๆเวลาที่ผ่านมา เหล่านี้  ได้รวมกันเป็นพลังช่วยกันยังผลให้ท่านทั้งหลายได้พบแต่ความสุข ความสมหวัง มีสุขภาพที่ดีทั้งด้านกาย ใจ และจิต   ให้บังเกิดขึ้นกับท่านตลอดพุทธศักราชใหม่นี้และตลอดๆไป  สาธุ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ม.ค. 20, 17:58
ผมชอบภาพที่อาจารย์เทาชมพูคัดสรรค์ส่งมาให้นี้มาก   สำหรับผมนะครับ ภาพนี้บ่งบอกอะไรอยู่หลายอย่างเลยทีเดียว  มันบ่งบอกถึงก้าวย่างต่อไปบนฐานของความสุข มันบ่งบอกถึงความละเอียดอ่อนต่างๆในภาพของหยิน หยาง และซี่        ยากที่จะขยายความเป็นการเขียนตามที่ใจคิด ก็เลยขอพอเพียงนี้     


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ม.ค. 20, 18:21
ขอบคุณค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ม.ค. 20, 19:01
เมื่อวันที่ 30 ธค.62  ไปเดินตลาดสดชุมชนตอนเช้าและห้างขายส่งในตอนบ่าย  ได้เห็นภาพที่เกี่ยวกับคำว่าเศรษฐกิจไม่ดีที่น่าสนใจ    

แน่นอนว่าในตลาดสดชุมชนนั้นผู้ขายส่วนหนึ่งหยุด ผู้ขายอีกส่วนหนึ่งกลับบ้าน ตลาดก็เลยดูโล่งๆ ของวางขายที่เห็นว่ามีลักษณะที่ไม่เป็นไปตามปกติก็จะเป็นเนื้อวัว หมู และปลา   เขียงเนื้อวัวจะเน้นการชำเหละในลักษณะของการเอาไปเพื่อการย่างและต้ม(ตุ๋น)  เขียงหมูจะเน้นการชำแหละส่วนซี่โครงให้มีเนื้อติดมากกว่าปกติ เป็นเพื่อการเอาไปย่างทั้งแถบซี่โครง   ที่แผงปลาก็จะเห็นว่ามีปลาตัวใหญ่มาวางขาย แต่ก็จะเป็นปลาที่เหมาะสำหรับการนำไปต้มแกงหรือนึ่ง  มีบางเจ้าที่เอาปลาหลดแดดเดียว ปลารากกล้วยแดดเดียว ปลาซิวปลาสร้อย เหล่านี้เพื่อเอาไปทอดเป็นกับแกล้ม

ในห้างขายส่งจะเห็นคนแน่นไปหมด ผู้มาจับจ่ายดูจะมีอยู่สามกลุ่ม คือกลุ่มมาซื้อของเอาไปทำขาย กลุ่มมาซื้อของเอาไปทำกินฉลองวันหยุด และกลุ่มมาซื้อของที่ไม่มีขายในตลาดปกติ  ซึ่งเมื่อดูจากจุดที่ซื้อของแล้วก็พอจะเห็นภาพได้ว่า อาหารหลักที่จะเอาทำกันก็คือการเอาไปปิ้งหรือย่าง  

คือผู้คนไปหาซื้อของในห้างขายส่งมากกว่าในตลาดสด ดูคล้ายกับว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับมาตรฐานในเชิงของปริมาณและคุณภาพ    


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ม.ค. 20, 19:42
ขอบคุณค่ะ

เป็นความละเอียดอ่อนของการสื่อสารในบริบทของ abstract ที่น่าจะหายากได้เต็มทีนะครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ม.ค. 20, 09:24
ขอบคุณค่ะ

เป็นความละเอียดอ่อนของการสื่อสารในบริบทของ abstract ที่น่าจะหายากได้เต็มทีนะครับ



กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ม.ค. 20, 17:58
อย่าเพิ่งเป็นงงกับคำบรรยายความรู้สึกของผม ครับ

ผมเห็นว่ามันมีความต่างในความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับภาพนี้กับอีกภาพเดียวกันนี้หากเป็นภาพที่มีความคมชัดของเส้นอย่างเด่นชัด  คือต่างกันในเชิงของความมีไมตรีจิตและมิตรภาพที่จะเกิดชึ้นต่อไปยาวนานกับความรู้สึกว่าก็สำเร็จเสร็จสิ้นไปอีกเรื่องหนึ่งเพียงเท่านั้น     

อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ความพิถีพิถันและความเข้าใจในการใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมเพื่อการแสดงถึงความรู้สึกจริงใจ ซึ่งก็คือแก้วไวน์ที่ใช้ในภาพ  ดูผิวเผินก็ดูจะไม่เกี่ยวข้องอะไรกันนัก   แก้วใน์ที่ใช้เป็นแก้วรูปทรงที่เรียกว่า Flute glass ซึ่งบ่งบอกว่าของเหลวที่อยู่ในแก้วนั้นจะต้องเป็นพวกเมรัยมีฟอง ซึ่งอาจจะเป็น Sparkling wine หรือ Champagne ก็ได้  แต่ด้วยลักษณะการแต่งกายและบรรยากาศ มันบ่งบอกว่าต้องเป็น Champagne  สำหรับพวก Sparkling wine นั้น มักจะใช้แก้วไวน์ขาวธรรมดาๆ

ที่จริงก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าเรื่องของ Protocol, Etiquette และ Practice ที่จะแสดงออกถึงความรู้สึกลึกๆในวาระต่างๆ   ดูคล้ายๆกับว่าผมนิยมฝรั่งหรือเป็นคนหัวโบราณ  มิใช่เลยครับ วิถีของคนไทยก็มีเรื่องพวกนี้อยู่มากมาย

ผมอาจจะฝันเฟื่อง คิดมากไป  ก็ขออภัยด้วยครับ     


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ม.ค. 20, 18:25
เขียนไปเขียนมา อีท่าใหนก็ไม่รู้ ดันไปนึกถึงเมนูเป็ดอีกเมนูหนึ่ง ซึ่งผมเห็นว่ากำลังจะสูญหายไป สมัยก่อนเรียกกันว่าเป็นเสฉวน จะหากินได้เฉพาะในภัตตาคารอาหารจีน แล้วก็ยังมีร้านไม่มากนักที่มีเมนูนี้ ต้องไปกินกันหลายๆคนเพราะว่ามันมาเป็นตัว  ปัจจุบันนี้ดูจะเรียกว่าเป็ดล่อน ทำขายแบบครึ่งตัวก็มี และแบบจานเล็กก็มี (ร้านอาหารจีนแถวอนุสาวรีย์ชัยฯ น่าจะยังทำขายอยู่)  จะอย่างไรก็ตาม สำหรับผมนั้น เป็ดมาทั้งตัวดูจะอร่อยกว่ามากๆเลยทีเดียว แล้วก็เห็นว่าหากใช้เมล็ดถั่วลันเตากระป๋องด้วยละก็ นั่นแหละคือตัวชูรสของความอร่อยที่แท้จริง


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ม.ค. 20, 18:38
อย่าเพิ่งเป็นงงกับคำบรรยายความรู้สึกของผม ครับ
ผมอาจจะฝันเฟื่อง คิดมากไป  ก็ขออภัยด้วยครับ     
ไม่คิดมากหรอกค่ะ  ตั้งใจให้เป็นแชมเปญ ฉลองมิตรภาพ  ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ จริงๆค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ม.ค. 20, 18:41
ไม่ได้ยินชื่อเป็ดเสฉวนมานานมากแล้ว      เข้าใจว่าเป็นอาหารเหลาของคนยุคคุณพ่อดิฉัน     
ไม่เคยเห็นตามภัตตาคาร   ถ้าเป็ดปักกิ่งละก็พอหาได้  โดยเฉพาะตามโต๊ะจีนแพงๆ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ม.ค. 20, 18:54
เป็ดย่างชายอ้อย ก็เป็นของอร่อยอีกอย่างหนึ่ง ผมเรียกติดปากว่าเป็ดพะโล้แห้งมาตั้งเมื่อครั้งยังเป็นเด็กอายุยังไม่ครบรอบปีนักษัตร แล้วก็หากินไม่ได้ ไม่เคยได้กินอีกเลยจนกระทั่งเข้าสู่วัยสี่รอบนักษัตร จึงได้พบว่ามีการทำขายอยู่ในย่านตลาดใหญ่ที่เชื่อมระหว่างถนนเยาวราชกับถนนเจริญกรุง เรียกชื่อกันว่า เป็ดย่างชานอ้อย  ที่มีวางขายประจำก็จะเป็นส่วนอก สำหรับแบบทั้งตัวที่จัดวางเป็นทรงกลมนั้น จะเห็นมีวางขายบ้างเป็นครั้งคราว  

หากจะกินแบบไทย ซื้อมาแล้วก็เอามาหั่นบาง ใส่จานแล้วนึ่งให้นิ่ม จะจิ้มกับซีอิ๊วขาวหรือน้ำส้มพริกตำกินก็อร่อยทั้งนั้น (น่าจะเคยกล่าวถึงเรื่องนี้ไปแล้วในกระทู้เก่าๆ) กินเป็นแกล้มก็ได้ กับข้าวสวยหรือข้าวต้มก็ได้   หากคิดเป็นแบบฝรั่ง มันก็คือเป็ดรมควัน จะกินเป็นเนื้อสัตว์ประกอบในจานสลัด หรือจะทำเป็นอาหารอื่นใดก็ดูจะมีเมนูให้ทำที่เผยแพร่อยู่มากมาย


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ม.ค. 20, 08:49
เปิดในกูเกิ้ล เจอแต่เป็ดอบชานอ้อย คงจะเป็นอย่างเดียวกัน
เป็นเป็ดที่เนื้อแห้งๆ  ไม่ฉ่ำอย่างเป็ดย่าง    กินกับข้าวสวย   มีน้ำจิ้มทำจากกระเทียมและน้ำส้มสายชู อร่อยค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ม.ค. 20, 08:57
พอคุณตั้งบอกว่าฝรั่งมีเป็ดรมควัน  เลยไปหารูปมาให้สมาชิกดุกันค่ะ
นี่คือเป็ดรมควันด้วยไม้เชอรี่  แล่เอามาแต่เนื้ออก  ไม่เอาขาไม่เอากระดูก     กินกับซอสเชอรี่ที่เรียกว่า cherry salsa  


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ม.ค. 20, 15:23
อาหารไทยที่เอาเป็ดย่างมาทำได้อร่อยมาก คือแกงเผ็ดเป็ดย่าง


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ม.ค. 20, 18:36
จะเรียกว่า เป็ดย่างชานอ้อย หรือ เป็ดอบชานอ้อย  ชื่อใดจะถูกต้องนั้นผมก็ไม่ทราบ ขอเล่าเรื่องราวเพื่อพิจารณาดังนี้ก็แล้วกัน

เป็ดพะโล้แห้งที่ผมเคยได้กินและเคยได้ยินชื่อเรียกเมื่อยังเด็กอยู่นั้น ผมจำได้แต่ว่ามันมีแขวนขายอยู่หน้าร้านอาหารเฉพาะแต่ในตัวเมือง อ.แม่จัน จ.เชียงราย  ไม่เคยเห็นว่ามีขายอยู่ในตัวเมืองเชียงรายและที่อื่นๆ เช่น อ.พะเยา (จ.พะเยา ในปัจจุบัน) ซึ่งอยู่ใกล้ตัวเมืองเชียงรายที่สุด ระยะทางประมาณ 90 กม.)    ร้านอาหารที่ อ.แม่จัน ในครั้งกระนั้นก็ว่าเป็นร้านอาหารจีนของพวกจีนฮ่อ และเป็ดพะโล้แห้งนั้นก็เป็นอาหารแบบจีนฮ่อ       

ความรู้ของผมในสมัยก่อนนั้นมีจำกัดอยู่แต่เพียงว่า มีคนจีนอยู่สามกลุ่ม คือกลุ่มที่เรียกว่าจีนคณะชาติหรือจีนกองพล 93 กลุ่มคนจีนที่พบเห็นทั่วๆไปตามปกติ และกลุ่มคนจีนที่เรียกว่าจีนฮ่อ ซึ่งเข้าใจแต่เดิมว่าเป็นพวกคนจีนที่นับถือศาสนาอิสลาม    จนกระทั่งเรียนจบและทำงานแล้วจึงเริ่มรู้เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง/เกี่ยวพันกันทั้งหลาย และได้รับความกระจ่างกับคำว่าจีนฮ่อ    จากการสนทนากับคนที่เราเรียกเขาว่าเป็นจีนฮ่อ ก็ได้ความว่า คำว่าจีนฮ่อนั้น ฮ่อเป็นการออกเสียงที่เพี้ยนมาจากคำว่า ฮั่น ซึ่งก็คือคนจีนทางตอนใต้ของประเทศจีนที่มีที่อาศัยหรือถิ่นพำนักปะปนอยู่ในหมู่คนที่ใช้ภาษาไท   

ก็พอจะได้ความว่า ที่เรียกว่าเป็ดพะโล้แห้งนั้น เป็นการถนอมอาหารอย่างหนึ่งของพวกคนจีนในยุนนาน   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ม.ค. 20, 18:51
เป็ดอีกแบบค่ะ
เป็ดตุ๋นยาจีน


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ม.ค. 20, 19:23
แล้วชื่อ เป็ดย่างชานอ้อย นั้น มาได้อย่างไร   ผมรู้จักชื่อนี้เมื่อได้สนทนากับนักบริโภคนิยมผู้หนึ่ง คุยกันเรื่องเป็ดทั้งตัวที่ทำการผ่าแล้วแบะออกแล้วก็จัดส่วนหัวและขาจัดให้เป็นทรงกลมแบนก่อนที่จะนำไปย่างให้สุกเหนือกองไฟอ่อนๆที่ใช้ชานอ้อยเพื่อการรมควัน    ก็เป็นของขายที่ทำกันในฤดูหนาว(ปลายปี/ต้นปี)ในพื้นที่ชานเมืองของ กทม. แล้วนำมาขายตามร้านหรือแผงลอยข้างถนนเจริญกรุง/เยาวราช  ผมได้พูดคุยกับผู้ขายก็จึงได้รู้ว่า วิธิการทำนั้นมิใช่เป็นการเอาเป็ดไปต้มพะโล้ก่อนแล้วจึงเอามาย่างรมควันให้แห้ง  หากแต่เป็นการใช้ผงเครื่องพะโล้ไล้ให้ทั่วตัวเป็ดและหมักก่อนนำไปย่างรมควันจากชานอ้อย

ช่างเวลาหลังๆมานี้ ไปเดินหาซื้อเป็ดย่างชานอ้อยแบบทั้งตัว ก็พบว่าหายากมาก  มีแต่บอกว่ามีแต่อกเป็ดย่างชานอ้อย  ก็ตามไปจนพบร้านจำหน่ายที่เป๋นผู้ผลิต เลยได้รู้ว่าก็ผลิตกันในพื้นที่แถวๆนั้นเอง ซึ่งหมายถึงกระบวนการทำก็เปลี่ยนจาการย่างรมควันไปเป็นการอบรมควัน

ชื่อที่เรียกว่า เป็ดอบชานอ้อย ก็เลยน่าจะเป็นชื่อที่ถูกต้องที่แสดงถึงกระบวนการทำ   ส่วนชื่อที่ผมยังใช้เรียกขานอยู่นั้นกลายเป็นขื่อที่สื่อถึงอาหารและกระบวนการทำในอีกลักษณะหนึ่ง


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ม.ค. 20, 20:20
ที่เลิกย่างรมควัน อาจกลัวสารมะเร็งจากการย่างมั้งคะ   อบน่าจะปลอดภัยกว่า


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ม.ค. 20, 19:25
เป็ดตุ๋นยาจีนที่ทำมาในลักษณะเป็นน้ำแกงกินกับข้าว กับ เป็ดตุ๋นที่กินกับเส้นก๋วยเตี๋ยวหรือบะหมี่ มีความคล้ายกันมาก ทั้งสองอย่างใช้เครื่องปรุงพื้นฐานเหมือนกัน คืออบเชย โปยกั๊ก และซีอิ๊ว ความต่างที่มีดูจะเป็นเพียงอย่างแรกมีน้ำแกงที่ใสมากกว่า(ข้นน้อยกว่า) และมีสมุนไพรเก๋ากี้และฮ่วยซั่วใส่ลงไปด้วย  ส่วนอย่างหลังจะมีน้ำแกงที่รส มีสี และมีความข้นมากกว่า   

ตัวผมเองชอบก๋วยเตี๋ยวเป็ดตุ๋น ซึ่งก็ดูจะแปลกๆที่ในกรุงเทพฯไม่ค่อยจะมีร้านทำขายกันมากนัก จะพอหากินได้ก็เป็นในพื้นที่ชานเมือง   ต่างกับใน ตจว.ที่ดูเหมือนจะหากินได้ไม่ยากนัก และนิยมจะใช้ป้ายชื่อหน้าร้านว่า ก๋วยเตี๋ยวเป็ดบางเลน   

ก็มีก๋วยเตี๋ยวเป็ดตุ๋นร้านดังอยู่ร้านหนึ่งที่หัวหิน มีชื่อเสียงในด้านความอร่อย เป็นที่นิยมของผู้ที่เดินทางผ่านหรือไปพักผ่อนที่หัวหินมาหลายสิบปี    คิดว่าด้วยความอร่อยและความนิยมก๋วยเตี๋ยวเป็ดตุ๋นที่หัวหินนี้เอง ที่ดูคล้ายกับว่าจะเป็นกระตุ้นให้ในเวลาต่อมาได้เกิดมีก๋วยเตี๋ยวเป็ดตุ๋นกระจายไปในหลายๆจังหวัด (เป็นข้อสังเกตที่ประมวลมาจากการเดินทางของผมไปในพื้นที่ต่างๆในช่วงการทำงาน)     

สำหรับก๋วยเตี๋ยวเป็ด(พะโล้)นั้น ดูจะที่มีถิ่นกำเนิดในนครปฐม ดูจะเริ่มเป็นที่รู้จักกว้างขวางและขยายไปทั่วไทยหลังจากที่การสร้างถนนบรมราชชนนี   

ความเห็นของผมเหล่านี้อาจจะเป็นข้อสังเกตที่มีความผิดพลาดอย่างมหันต์ได้นะครับ   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ม.ค. 20, 20:12
พูดถึงก๋วยเตี๋ยวเป็ดตุ๋น ทำให้นึกถึงเกาเหลาเป็ดหรือเกาเหลาเป็ดตุ๋น ซึ่งผู้ขายก็จะเอาเพิ่มน้ำลงไปเล็กน้อยในชามเพื่อช่วยลดความเข้มข้นต่างๆ     ในเมนูนี้ บางเจ้าก็จะใส่เครื่องในพวกกึ๋นและตับหรือหัวใจมาด้วย มีน้อยเจ้ามากที่จะใส่ใส้มาด้วย     

ใส้เป็ด กึ๋น ตับ และหัวใจเหล่านี้ ไม่นิยมเอามาใส่ในหม้อตุ๋นร่วมกับเนื้อเป็ด จะถูกเอาไปทำเป็นแบบพะโล้เสียมากกว่า (ของโปรดของผมทั้งนั้นเลยครับ)   ปากเป็ด/ลิ้นเป็ดพะโล้ก็เป็นของอร่อยที่หากินได้ยากเช่นกัน  ตูดเป็ดก็อร่อยแต่จะต้องทำให้ดีแล้วก็จะต้องรู้จักการควักเอาต่อมน้ำมันที่บั้นท้ายของมันออกทิ้งไปด้วย

แล้วก็นึกถึงเป็นตุ๋นมะนาวดอง ซดคล่องคอดี  ก็เป็นของหากินได้ไม่งายอีกเหมือนกัน เมนูนี้ทำเองไม่ได้เพราะต้องใช้เวลานาน     


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ม.ค. 20, 20:18
นครปฐมเมื่อก่อนเป็นเมืองหมู   มีฟาร์มหมูหลายแห่ง ชนิดพอนั่งรถเข้าตัวเมืองก็จะได้กลิ่นหมูโชยมาเป็นสัญลักษณ์      ร้านอาหารดังขายข้าวหมูแดง ควบกับข้าวมันไก่
แต่หลังๆนี้เป็ดพะโล้มาแรงแซงหน้า     เจ้าดังขายที่ตลาดน้ำดอนหวาย ที่นครชัยศรี   เป็ดที่ป้อนเข้าร้านเดียวมีเป็นร้อยๆตัวต่อวัน
ในตัวเมือง มีเป็ดพะโล้ดังอยู่หลายเจ้าค่ะ    ใครสนใจไปหาในกูเกิ้ลก็จะเจอไม่ยาก


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ม.ค. 20, 20:20
เป็ดตุ๋นมะนาวดอง


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ม.ค. 20, 20:36
อาหารที่ทำด้วยเป็ดที่แปลกออกไปอย่างสิ้นเชิงก็น่าจะเป็นลาบเป็ดที่ทำแบบอิสาน   ซึ่งที่เราน่าจะพบเห็นมากที่สุดก็คงจะเป็น ลาบเป็ดยโส(ธร)    แท้จริงแล้วมีลาบเป็ดของหลายจังหวัดที่มีชื่อเสียง เช่น อุบล(ราชธานี)  อุดร(ธานี)  ชัยภูมิ  เป็นต้น       ซึ่งหากจะถามถึงความแตกต่าง   อืม์ ผมไม่รู้จริงๆครับ  


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ม.ค. 20, 20:55
ลาบดั้งเดิมทำจากเนื้อวัว   ต่อมาเมื่อคนเลิกกินเนื้อวัวกันเยอะแยะ   หมูก็เข้ามาแทนที่เนื้อ แล้วพบว่าอร่อยดีเสียด้วย
จากนั้นไก่ก็เข้ามาเป็นตัวเลือกแทนหมู สำหรับคนไม่กินหมู
เมื่อไก่ทำลาบได้ ทำไมเป็ดจะทำไม่ได้ล่ะคะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ม.ค. 20, 20:56
สมัยคุณตั้งบุกป่าฝ่าดงสำรวจทางธรณีวิทยา     กินอาหารป่ามาหลายชนิด   เคยกินเนื้อเม่นไหมคะ
ใน "เพชรพระอุมา"  ลูกหาบกินเนื้อเม่นย่าง   พระเอกบอกว่าทั้งเนื้อและรสชาติเหมือนเป็ดไม่มีผิด

https://www.silpa-mag.com/history/article_6303


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ม.ค. 20, 18:22
ตอบเรื่องเม่น แล้วค่อยกลับไปเรื่องลาบนัะครับ

เม่นที่พบเห็นและอาศัยอยู่ในป่าบ้านเรานั้น ในความรู้ของผมจะมีอยู่สองสายพันธุ์ คือ เม่นใหญ่ รูปทรงก็เป็นดั่งภาพทั้งหลายที่เรามักจะเห็นกันตามหนังสือต่างๆ  กับอีกพันธุ์หนึ่งซึ่งจะตัวเล็กกว่า มีหางที่เห็นได้ชัดเจน และมีที่ปลายหางจะมีขน(เม่น)อยู่เป็นพวง เรียกกันว่า เม่นหางพวง  ในภาษากะเหรี่ยงเรียกชื่อเม่นนี้ว่า ชะบา  เม่นทั้งสองชนิดนี้ออกหากินในเวลากลางคืน  ผมเคยกินเม่นทั้งสองชนิดนี้ ซึ่งก็มีความอร่อยและสัมผัสเนื้อที่ต่างกัน

ตามภาพในเว็ปที่อาจารย์แนบมา ที่แสดงอุปกรณ์ดักจับเม่นที่เรียกว่างาดักเม่นนั้น ผมไม่เคยเห็นมีการใช้ในหมู่บ้านป่าที่อยู่ในพื้นที่ป่าจริงๆ  ที่เห็นตามภาพนั้นดูคล้ายกับจะเป็นการทำกันในพื้นที่ไร่/สวนในบริเวณชายทุ่งซึ่งผืนดินไม่มีความชุ่มชื้นนัก ก็พอจะบ่งชี้ว่าในพื้นที่ชายป่าก็คงมีอาหารที่จำกัด เม่นจึงออกมาหาของกินพวกรากพวกหัวของพืชไร่ทั้งที่ปลูกเองหรือที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ชาวบ้านเขาก็เลยทำอุปกรณ์เพื่อจับมันเอามาเป็นอาหาร   

   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ม.ค. 20, 18:57
ในป่าจริงๆ ในประสบการณ์ของผม เราจะพบเม่นทั้งสองชนิดผืนป่าส่วนที่ผืนดินค่อนข้างจะมีความชุ่มชื้น ดินมีสีที่ออกไปทางสีคล้ำไปจนถึงดำ โดยเฉพาะในบริเวณที่มีกล้วยป่าและพืชเหง้า/ใบที่มีลักษณะคล้ายพวกต้นขิง ข่า (ผมไม่รู้จักชื่อ)   จะต่างกันอยู่หน่อยนึงก็ตรงที่เม่นหางพวงมักจะพบในพื้นที่ป่ากล้วย แต่เม่นใหญ่พบได้ในหลากหลายพื้นที่ และก็มักพบอยู่ในพื้นที่บริเวณหุบห้วย

ชาวบ้านป่าใช้วิธีการออกไปล่า (ด้วยปืนแก็บ) มากกว่าการดักจับโดยใช้เครื่องดักจับดังภาพในเว็ป    ชาวบ้านป่า(โดยเฉพาะคนกะเหรี่ยง)จะเลาะตัดเอาหนังส่วนจมูกของเม่นที่มีหนวดติดอยู่ เอามาปิดไว้ที่ฝาบ้านด้านกระไดขึ้นบ้าน เป็นความเชื่อว่าจะช่วยไล่หรือปัดเป่าสิ่งไม่ดีทั้งหลายให้พ้นไป       


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ม.ค. 20, 19:30
ก็มาถึงเรื่องของเนื้อเม่น  ที่จำได้ เนื้อของเม่นหางพวงจะออกไปทางคล้ายเนื้อหมู ออกไปทางละเอียดและไม่เหนียว  ต่างกับเนื้อของเม่นใหญ่ที่จะออกไปทางสีแดงก่ำ ออกไปทางหยาบและเหนียว ที่ว่าคล้ายเนื้อเป็ดก็คงจะเป็นด้วยเหตุนี้กระมัง   ก็มีที่ผมเห็นว่าแตกต่างไปจากที่บรรยายไว้ในเพชรพระอุมา คือเนื้อของเม่นใหญ่มีกลิ่นสาบที่ค่อนข้างแรง    เนื้อเม่นหางพวงอร่อยกว่ามากครับ

เคยเอาตับของเม่นใหญ่มาเสียบไม้ย่างไฟกิน ปรากฎว่าเกิดอาการคล้ายหมากยัน (ยันหมาก) รู้ในทันใดเลยว่าเม่นตัวนั้นมันไปกินพวกพืชหัวที่มีพิษ แล้วก็ปรากฎว่ากลิ่นเนื้อของมันสาบมากๆจนกินไม่ได้   

ในเชิงของพรานไพร สัตว์ที่มีเนื้อสีแดงก่ำ จะเป็นของพวกสัตว์กินเนื้อ พวกสีอ่อนจะเป็นของพวกสัตว์กินพืช  สัตว์ที่มีเนื้อสีแดงก่ำก็เลยไม่เป็นที่นิยมของชาวบ้านที่จะเอามาทำกินกัน เช่น นกกะปูดและนกยางที่พบอยู่มากมายตามชายทุ่ง หนองน้ำ และนาข้าว 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ม.ค. 20, 08:46
https://www.youtube.com/watch?v=QcwDETdShOw


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ม.ค. 20, 08:47
https://www.youtube.com/watch?v=lVRZJ2DEW8Y


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ม.ค. 20, 08:48
https://www.youtube.com/watch?v=Nyy1tM8_IqM


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ม.ค. 20, 19:18
ดูทั้งสามเรื่องราวแล้วมีความรู้สึกว่า เนื้อเม่นมันจะอร่อยได้ปานนั้นเชียวหรือ ถึงขนาดเอาเม่นมาเลี้ยงเพื่อเอาเนื้อมาทำอาหารกินกัน     ที่ชาวบ้านและที่ผมกินกันนั้น มันเป็นเรื่องในบริบทของการเอาชีวิตรอดในสภาพการณ์ที่ต้องอยู่ได้ด้วยตนเองในพื้นที่ป่าเขาที่ห่างไกลมากจากความเจริญต่างๆ (ใช้เวลาเดินระหว่างกันเป็นวันๆ)

สำหรับเนื้อค่างที่เอามาทำเป็นแบบคั่วกลิ้งนั้น ผมเห็นว่าที่กินอร่อยก็เพราะรสและกลิ่นของเครื่องปรุงที่ใช้ ผนวกกับความเผ็ดที่บดบังกลิ่นและสัมผัสของเนื้อค่างในมิติต่างๆ   เนื้อค่างและลิงมีความคาว (รวมทั้งเนื้องู ปลาไหล....)  ดังนั้นจึงต้องกลบกลิ่นคาวด้วยความเผ็ด+เครื่องปรุงเฉพาะบางอย่าง  หรือไม่ก็ต้องใช้วิธีการย่างรมควัน (จะทาเกลือหรือไม่ก็ได้)


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ม.ค. 20, 19:47
เนื้อสัตว์ป่าที่เอามาทำกินเพื่อการอยู่รอดนั้น เกือบทั้งหมดจะต้องผ่านการเผาเพื่อกำจัดไรขน แล้วก็จะเผาต่อไปจนเนื้อส่วนใกล้ผิวเริ่มสุก ก็มีที่ทำแบบย่างแล้วผ่าท้องเอาเครื่องในออก แล้วเอามาเผาอีกครั้ง หรือทำแบบการเผาเพียงครั้งเดียว  และก็ยังมีแบบเอาสัตว์ทั้งตัวเผาไปเลยหรือเอาไปแช่น้ำให้เปียกก่อนเผา  ก็จะเป็นการทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรคที่ผิวหนัง และการลดกลิ่นคาวเนื้อ  ส่วนสำหรับพวกสัตว์หนังหนา ก็จะเผาจนหนังใหม้เกรียมเล็กน้อย คล้ายกับการเผาขาหมูหรือหัวหมู     ขาหมูพะโล้ของเจ้าที่อร่อยต่างๆจะต้องมีการเผาจนถึงระดับหนึ่งจึงจะเอามาต้มกัน เช่นเดียวกันกับต้มยำขาหมูของเจ้าที่ว่าอร่อยๆเหล่านั้น  

เนื้อสัตว์ป่าเกือบทั้งหมดที่เอามาทำเป็นอาหาร จะทำในลักษณะเป็นอาหารที่มีน้ำขลุกขลิก มีไม่มากนักที่จะเอามาทำเป็นแบบต้มมีน้ำแกง  ก็คงจะด้วยเพราะภาชนะในการทำครัวที่สำคัญมักจะมีเพียงหม้อสองสามใบ อาหารประเภทผัดจึงเกือบจะไม่ปรากฎอยู่ในการทำอาหารป่าในภาคสนาม แต่จะเห็นได้ในพื้นที่ๆเป็นชุมชนเมือง     สำหรับเครื่องปรุงที่ใช้ในการทำอาหารในระหว่างการเดิน(ทำงาน)ในป่าที่ขาดไม่ได้เลย(สำหรับผม)ก็จะมีตะไคร้ พริกแห้ง หอมแดง กระเทียม กะปิเคยหรือกะปิมอญ และเกลือ บางทีก็มีแง่งข่า กระชาย และลูกมะกรูด สำหรับผักสดหากพอมีก็จะเป็นพวกมะเขือพวงและมะเขือเปราะ  


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ม.ค. 20, 20:25
ขอให้ข้อสังเกตและความเห็นนิดนึงนะครับ

อาหารที่ทำแบบป่าๆจริงๆในพื้นที่ไกลโพ้นนั้น จะแยกกันระหว่างจานเนื้อกับจานผักที่ชัดเจน คือ เมนูที่ทำด้วยเนื้อสัตว์ก็เกือบจะไม่มีผักใส่ลงไปด้วย ผักจะแยกไปเป็นอีกเมนูหนึ่ง กินกับน้ำพริก    ในพื้นที่ใกล้เมือง เมนูที่ใช้เนื้อสัตว์จะมีน้ำมากขึ้นใกล้จะเป็นแกงและมีผักที่เป็นพวกผลใส่ลงไปด้วยมากขึ้น  เมื่อเข้ามาอยู่ในพื้นที่เมืองทั้งหลายก็จะกลายเป็นแกงที่มีเนื้อสัตว์+ผักหลากหลายชนิด หรือเป็นในรูปของผัดเผ็ดที่ใส่เครื่องหอมต่างๆ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ม.ค. 20, 20:35
ขออภัยที่ชักลากเข้าป่าไปไกล ครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ม.ค. 20, 08:26
คุณตั้งพูดถึงอาหารป่า ทำให้นึกถึงอาหารป่าหลายชนิดที่ขึ้นโต๊ะในร้านอาหารในชื่ออาหารป่า แต่ความจริงกลายพันธุ์เป็นอาหารบ้านไปแล้ว
เมนูยอดฮิทคงไม่มีอะไรเกินผัดเผ็ดหมูป่า

ในช่วงทำงานสำรวจด้านธรณีวิทยา   คุณตั้งคงเจอหมูป่าหลายครั้ง    ถ้าไม่ปล่อยไป ยิงมาได้  เอามาทำอาหารแบบไหนคะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ม.ค. 20, 18:49
หมูป่าเป็นสัตว์ที่ออกหากินในเวลากลางคืน ผมเกือบจะไม่เคยเห็นตัวพวกมันในช่วงเวลาเดินทำงานเลย แม้ว่าจะได้พบกับจุดที่มันตีแปลงคลุกโคลนบนเส้นทางการเดินทำงานค่อนข้างจะบ่อยครั้งก็ตาม ซึ่งเราก็มักจะเดินหลบหากพบว่ายังเป็นร่อยที่ค่อนข้างใหม่ หรือไม่มันก็หลีกหนีไปแล้วจากการได้ยินเสียงพูดคุยและเสียงการต่อยหินในการทำงานของผม   ก็ไม่อยากจะเผชิญหน้ากับมัน ด้วยว่าปืนที่พกพาไปก็มีความประสงค์เพียงเพื่อป้องกันตัวและใช้กับสัตว์เล็ก เพียงเพื่อนำไปทำอาหารมื้อสองมื้อ    มีพรานไพรหลายคนที่เจ็บตัวเกือบตายจากการล่าหมูป่าเนื่องจากมีตำแหน่งการยิง การเลือกขนาดของปืนและลูกปืนที่ใช้ไม่เหมาะสม เลยถูกหมูป่ามันชาร์จเอา  เป็นที่รู้กันในหมู่พรานไพรว่าจะยิงหมูป่าจะต้องไม่ยิงซึ่งหน้า เพราะมันจะวิ่งสวนลูกปืน 

แต่ก็ใช่ว่าหมูป่าจะนออกลางวันและออกหากินเฉพาะในเวลากลางคืนเท่านั้น  ในเวลากลางวันบางทีมันก็เป็นเพียงการพักผ่อนเล่นโคลน โดยเฉพาะในกรณีที่แปลงคลุกโคลนนั้นอยู่ตรงจุดที่มีน้ำซับผุดออกมา   ก็มีชาวบ้านคนหนึ่ง ไปล่ากระทิงที่กำลังกินหญ้าอยู่ในทุ่ง(ที่โล่งเล็กๆในผืนผ่า) ยิงกระทิงแต่กลับถูกหมูป่าชาร์จเข้ามาโดยไม่ทันตั้งตัว ผมได้เห็นแผลเป็นบนตัวเขาแล้วยังนึกว่ารอดมาได้อย่างไร   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ม.ค. 20, 19:45
ด้วยที่ผมหาอาหารยังชีพในลักษณะของการพบ/เผชิญ (face off) มิใช่ในลักษณะของการไล่ล่า (active hunting) หรือการดักจับ (passsive hunting)    หมูป่า(ซึ่งได้มาในลักษณะของการไล่ล่า)ที่ผมได้กินในระหว่างการออกทำงานในพิ้นที่ป่าเขานั้นจึงได้มาจากชาวบ้าน  ผมไม่รู้ว่าส่วนเครื่องในหมูเขาเอาไปทำอะไรกันบ้าง  เท่าที่เคยสัมผัส สำหรับส่วนเนื้อติดหนังนั้น ส่วนหนึ่งจะเอาไปทำเป็นแกง (ทำกินมื้อเดียว)   

หมูป่าทั้งตัวจะมีการเอาไปเผา ขูดขนออกให้สะอาด ผ่าท้องเอาเครื่องในออก จะมีการแล่เนื้อแยกออกจากหนัง แล้วตัดเนื้อเป็นก้อนๆประมาณขนาดกำปั้นมือ เอามาคลุกเกลือ ย่างเหนือไฟอ่อนๆในลักษณะของการรมควันจนเนื้อในสุกแบบยังฉ่ำ (อันนี้เป็นเรื่องของฝีมือ) ทำเก็บเอาไว้ทำกินเป็นอาหารในรูปแบบอื่นๆในวันหลังๆ (ฉีกเนื้อกิน ยำ แกง)  ด้วยที่เนื้อหมูที่เป็นหมูป่าจริงๆนั้นมีมันในเนื้ออยู่ไม่มาก ก็เลยมีที่เอามาหมักทำเป็นร้าเนื้อ(ปลาร้าเนื้อ) อันนี้ซิ ของอร่อย    ส่วนหนังที่ชำแหละออกไปนั้น นึกไม่ออกว่าจะทิ้งไปหรือเอาไปทำอะไร       


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ม.ค. 20, 20:23
ไปเจอเมนูคั่วกลิ้งหมูป่า  มีการใช้หนังหมูด้วยค่ะ
น่าจะเป็นหมูป่าเลี้ยง รสชาติคงไม่ต่างจากหมูบ้านมากนัก

https://cookpad.com/th/recipes/10325779-%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%87?via=search&search_term=%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%B2


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 ม.ค. 20, 21:30
;D

https://youtu.be/5OoMejT6Wv8


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ม.ค. 20, 08:27
https://www.youtube.com/watch?v=12k2DZMdTWA


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ม.ค. 20, 18:40
ตามภาพใน คห. ก่อนหน้านี้ เป็นการทำอาหารป่าแบบในเมือง   

การย่างเนื้อสัตว์ขนาดกลาง(หมูป่า เลียงผา เก้ง กวาง...)ของชาวบ้านป่านั้น หากเป็นบ้านป่าแบบกลุ่มบ้านสามสี่หลังคา (อยู่ไกลโพ้นจริงๆ) ก็จะทำด้วยการเอาไม้มาทำเสาสามขาหรือสี่ขา สานต้นไผ่ผ่าแปดให้เป็นตะแกรง แขวนไว้เพื่อย่างเนื้อเหนือกองไฟอ่อนๆ เมื่อเนื้อสุก ผิวแห้งดีแล้ว ก็จะตัดแคร่ให้เนื้อตกลงไปคลุกกับขี้เถ้า เขี่ยพลิกไปมาสักพักก็เอาออกมาวางให้เย็นแล้วเก็บเป็นเสบียงสำหรับวันต่อๆไป   แต่สำหรับกลุ่มบ้านหลายหลังคาเรือน ก็เกือบจะไม่เห็นการย่างรมควันแบบนั้น เมื่อได้สัตว์แล้วก็จะชวนกันออกไปช่วยแบก/หามเอาเข้ามาชำแหละในหมู่บ้าน คราวนี้ทุกคน(ครอบครัว)ก็กลายเป็นมีส่วนร่วมช่วยกัน(และสั่งการ) ชำแหละแล้วก็ตัดแบ่งออกเป็นกองๆอย่างที่คิดว่าเสมอภาคกัน วางแยกกันเป็นกองๆบนใบตองกล้วย  คนที่เป็นผู้ล่าสัตว์มาได้ก็จะได้สิทธิพิเศษสำหรับชิ้นส่วนที่นิยมกินกันมากเป็นพิเศษ   สำหรับส่วนที่มีลักษณะเป็นเศษเหลืออยู่ก็จะเอามาทำเป็นกับแกล้ม ตั้งวงกินกันในหมู่ผู้ชาย เมนูพื้นๆก็คือลาบดิบ  สำหรับฝ่ายหญิง ได้เนื้อแล้วก็เอากลับบ้านไปทำเป็นแกงสำหรับกินกันทั้งครอบครัว     


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ม.ค. 20, 19:13
ชักจะเป็นเรื่องไปตลาดเพื่อหาซื้อวัตถุดิบเอามาทำอาหารป่าเสียแล้ว  ;D 

ที่จริงแล้ว ในส่วนลึกๆที่ผมชอบไปจ่ายตลาดนั้น ก็เพื่อไปดูวัตถุดิบในตลาดนั้นๆว่า ในวันนั้นๆจะมีอะไรๆขายในตลาดที่ทำให้นึกถึงการเอาทำอาหารแบบป่าๆบ้าง แบบพื้นบ้านบ้าง แบบโบราณบ้าง แบบเมืองกรุงบ้าง และแบบฝรั่งหรืออื่นๆบ้าง    อาทิ เห็นขนุนอ่อนก็นึกถึงแกงขนุน ยำขนุน  เห็นยอดหวายก็นึกถึงเอามาต้มหรือเผาจิ้มน้ำพริก  เห็นฝักลิ้นฟ้าหรือเพกาก็นึกถึงเอามาเผาจิ้มน้ำพริกหรือผัดไข่  เห็นซี่โครงหมูดีๆก็นึกถึงต้มบะกุ๊ดเต๋ ต้มมะระ หรือย่างแบบๆไทย/แบบฝรั่ง   เห็นหมูสันนอกติดกระดูกที่ตัดเป็นชิ้นหนาประมาณ 1 นิ้วก็นึกถึง Pork chop  หากหั่นบางก็นึกถึงเอามาชุบแป้งที่ผสมกับเครื่องแกงแล้วทอด  เห็นเนื้อสันคอหมูสวยๆก็นึกถึงเอามาทำ Irish stew  เห็นปลาใบขนุนก็นึกถึงเอามาทอดกรอบกินกับข้าวต้ม เห็นใบเหลียงก็นึกถึงเอามาผัดไข่กิน....ฯลฯ     ทั้งหลายก็เป็นเรื่องของความสุขทางใจบ้าง ทางปากบ้าง และทางสุนทรีย์ที่ได้ทำให้ครอบครัวและลูกหลานได้รู้จักกินกันบ้าง 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ม.ค. 20, 19:17
https://www.youtube.com/watch?v=UYWQvDzhmFA


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ม.ค. 20, 19:18
https://www.youtube.com/watch?v=_sBT8SZ1mDs


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ม.ค. 20, 19:37
https://www.youtube.com/watch?v=HQ0yEw8GSQ8


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ม.ค. 20, 20:24
ก่อนจะลืม ขอย้อนไปขยายความถึงเรื่องอาหารจากเนื้อค่าง (ค.ห.546)   คนที่เป็นชาวบ้านจริงๆนิยมจะเอาเนื้อค่างมาทำเป็นแกง แล้วใส่อุจาระของมันลงไปด้วยเล็กน้อย จะได้แกงที่หอมขี้ค่าง  ที่ต้องกินกับข้าวแบบใช้มือเปิบ เมื่ออิ่มแล้วล้างมือแล้วก็ยังดมกลิ่นที่ติดอยู่ตามนิ้วมือ     ชาวบ้านจะออกหาค่างในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แล้งน้ำ ไม่มีผนตก ด้วยเชื่อกันว่าค่างจะกินแต่ยอดไม้ ไม่ลงดิน ซึ่งยอดไม้เหล่านั้นก็คือสรรพสมุนไพรที่เป็นยาทั้งนั้น ดังนั้นของในตัวค่างทั้งหมดก็จึงเป็นยาอายุวัฒนะ  เนื้อเอามากิน มือตีนและเครื่องในทั้งหมดรวมทั้งขี้ของมัน เอามาหั่นเป็นชิ้นเล็กแล้วคลุกเกลือเอาลงหมักไว้ในปี๊บ ทำเป็นปลาร้าขี้ค่าง ขายกันหลายเงินอยู่ทีเดียว

ถ้าจะถามว่าขี้ค่างหอมหรือไม่ เรื่องนี้คงจะตอบยาก  เอาเป็นว่าเมื่อเดินป่าเข้าไปในหุบห้วยใหญ่ๆ หากมีค่างอาศัยอยู่อยู่ในพื้นที่นั้น เราจะได้กลิ่นโชยมาเลยทีเดียว หากไม่มีความรู้ว่าเป็นกลิ่นของขี้ค่างก็คงจะต้องบอกว่าหอม    


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ม.ค. 20, 21:31
https://www.youtube.com/watch?v=pSzVcA6vB94


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ม.ค. 20, 18:34
ดูคลิปแล้วรู้สึกเช่นใดครับ  แบบเราที่ทำกินกันนิยมจะตั้งอยู่บนฐานของความสดใหม่ ยิ่งสดยิ่งใหม่ก็ยิ่งดี     

อันที่จริงแล้ว การทำให้เนื้อสัตว์ที่เหนียวเพื่อให้มันคลายความเหนียวลง ปรับแต่งกลิ่น และเพิ่มรสสัมผัสด้วยวิธีการทิ้งไว้ให้จุลินทรีย์ตามธรรมชาติภายในตัวเนื้อของมันเองช่วยทำงานก็เป็นวิธีการหนึ่ง ฝรั่งเขาก็ทำกัน เราก็ทำกัน ความพอเหมาะพอดีนั้นอยู่ที่อุณหภูมิ ระยะเวลา สภาพของธรรมชาติ (แสงแดด การถ่ายเทของอากาศ...) และความชำนาญของคนทำ  ที่เหมือนๆกันก็คือ นิยมจะควักอวัยวะภายในออกก่อนที่จะดำเนินการใดๆ   ตัวอย่างก็เช่น พวกของที่มีสร้อยต่อท้ายว่าแดดเดียวทั้งหลาย  ซึ่งของบางอย่างสำหรับหลายๆคนก็จะต้องให้มีกลิ่นโอ่นิดๆจึงจะรู้สึกหอมอร่อยน่ากิน (ปลาสลิดหอม ปลากุเลา ปลาหลด ปลารากกล้วย...)     กระทั่งพวกผลไม้ที่เราต้องเก็บเมื่อมันแก่แล้ว แล้วก็ทิ้งไว้ให้มันบ่มด้วยตัวมันเองต่อไปจนมีความสุกพอดีกิน ที่เราใช้คำว่าทิ้งไว้ให้มันลืมต้น ก็เช่นพวกส้มชนิดต่างๆ มะม่วง กล้วย... 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ม.ค. 20, 19:11
ขอขยายความออกไปนิดเดียว ในความรู้ที่พอจะมีอยู่บ้างของผม     พวกที่มีสร้อยต่อท้ายว่าแดดเดียวนั้น จะเลือกทำกันใน 3 วิธี คือเอาของสดๆที่ทำความสะอาดแล้วมาตากเลยวิธีหนึ่ง  เอามาแช่ในน้ำเกลือบางๆระยะเวลาหนึ่งแล้วตากวิธีหนึ่ง  และอีกวิธีหนึ่งคือเอาของสดนั้นมาคลุกกับเกลือ ทิ้งไว้ระยะเวลาหนึ่ง ล้างเกลือออกแล้วตาก    ความต่างที่สำคัญที่ทำกันดูจะเป็นเรื่องในบริบทของการค้าขาย แบบแรกที่ทำจากของสดจริงๆนั้นหายาก เพราะจะของจะเน่าเสียได้ในระยะเวลาที่สั้นมาก     ในรูปแบบของการเอามาแช่น้ำเกลือนั้น เนื้อจะอมน้ำมากขึ้น ได้น้ำหนักดี ดูสด ดูเป็นแดดเดียวจริงๆ ดูมีเนื้อมีหนัง ไม่แห้งแฟบ คนชื้อชอบ แม่ค้าชอบเพราะขายง่ายและได้กำไรดี     ต่างกับวิธีการคลุกเกลือ เกลือจะดูดความชื้นในเนื้อออกไปพอสมควร ทำให้ได้เนื้อที่ค่อนข้างจะแห้ง ไม่ฟูดูสดใส  อาจจะต้องใช้เวลาในการตาก(สองสามครั้ง)ก่อนจะเข้าถึงจุดอร่อย เลยทำให้มีราคาสูงเพราะน้ำหนักหายไปและใช้เวลาในการทำ แต่ของที่ทำแบบนี้เป็นของที่ให้ความรู้สึกในบริบทของความอร่อยอย่างแท้จริง   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ม.ค. 20, 20:00
ก็จะขอเข้าไปในเรื่องของลาบ 

ในคลิปเรื่องกินแกงค่างนั้น จะได้ยินคำว่า ขี้เพี้ย ซึ่งเป็นของอย่างหนึ่งในตัวสัตว์(ป่า)ที่ชาวบ้านนิยมเอามาใส่ในอาหารพื้นบ้านพวกแกงและลาบ   ขี้เพี้ยนั้น นอกจากชาวบ้านจะใส่ในแกงแบบป่าๆแล้ว ก็ยังนิยมจะใส่ในลาบอีกด้วย   

ขี้เพี้ยก็คืออาหารที่ผ่านการย่อยในกระเพาะอาหารของสัตว์มาแล้ว พบได้ในช่วงของสำใส้ส่วนต่อจากกระเพาะอาหาร แต่จะเอามากินแบบได้รสที่ดีนั้น จะไปสิ้นสุดที่จุดใดของลำใส้เล็กก็ขึ้นอยู่กับผู้ชำนาญการ   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ม.ค. 20, 20:38
ขี้เพี้ยคือขี้ออ่อนในลำไส้ของวัว   ยังไม่เคลื่อนตัวไปถึงขั้นสุดท้ายที่ปลายลำไส้ใหญ่ ก่อนจะถูกขับออกจากร่างกาย
คนกินลาบเขาว่าอร่อย   ดิฉันยังไม่เคยลองจนบัดนี้ค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ม.ค. 20, 18:58
ลาบและแกง(ต้ม)ที่ใสขี้เพี้ยนั้น จะทำกับเนื้อสัตว์ไม่กี่ชนิดเท่านั้น เท่าที่มีประสบการณ์ ก็จะมีเพียงวัว ควาย เก้ง กวาง และค่าง เท่านั้นเอง  ซึ่งเป็นสัตว์ที่กินพืชตามธรรมชาติ มิใช่พวกสัตว์ที่กินอาหารหลากหลายชนิด 

ขี้เพี้ยมีทั้งแบบค่อนข้างหยาบไปจนถึงค่อนข้างละเอียด แบบใหนจะดีหรือไม่ดีก็ขึ้นอยู่กับความชอบของคนกินและของคนทำอาหารที่จะเลือกเอามาใช้  ซึ่งหลายๆคนก็ยังมีความสุนทรีย์ในการเลือกช่วงเวลาที่จะกิน ซึ่งไปเกี่ยวเนื่องกับฤดูกาลและพื้นที่ของแหล่งอาหารที่สัตว์เหล่านั้นหากิน     ลองนึกถึงความต่างระหว่างอาหารที่กินเป็นหญ้าแห้ง ระบัด (ต้นหญ้า ยอดไม้...) มะกอกป่า ลูกส้าน (มะตาด) ส้มป้อง (ชะมวง ส้มมวง) ก็คงจะพอมองออกว่าของที่ผ่านการย่อยของกระเพาะจะออกมาเป็นลักษณะใดและจะมีกลิ่นเช่นใด แล้วก็คงพอจะเห็นภาพด้วยว่าหากมิใช่เป็นของที่สดใหม่จริงๆมันน่าจะเป็นเช่นใด   

ตัวผมเองกินต้มแกงหรือลาบที่ใส่ขี้เพี้ยได้ แต่มิใช่เป็นของชอบ   ในชีวิตป่าจริงๆนั้น เนื้อสัตว์ขนาดตัวค่อนข้างใหญ่ที่จะได้มาเป็นอาหารมากบ่อยครั้งมากที่สุดก็คือเก้ง   กวางนั้นเป็นสัตว์ตัวใหญ่ที่ต้องมีความตั้งใจในการไปแสวงหาเอามาเป็นอาหารเพื่อการแบ่งปันกันในชุมชน   วิธีการการฉลองความสำเร็จในการได้มาซึ่งอาหารที่เป็นเนื้อเป็นหนังนี้ ก็คือการเฉือนส่วนที่เป็นเศษเนื้อในช่วงแรกของการแล่ เอามาทำลาบกินโดยไม่จำเป็นต้องมีการปรุงรสด้วยเครื่องปรุงรสอื่นใด เพียงใช้ขี้เพี้ยใส่คลุกลงไปก็ใด้รสแห่งความอร่อยสุดๆแล้ว  ก็ทำไปกินลาบไปในระหว่างกระบวนการชำแหละแบ่งปันเนื้อและชิ้นส่วนต่างๆสำหรับแต่ละครอบครัวในบ้านป่ากลุ่มเล็กๆน้้น     


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ม.ค. 20, 19:56
ด้วยผมมีนัดกันในหมู่เพื่อนๆวัยกระเตาะที่กำลังก้าวพ้นวัยของรอบนักษัตรที่ 6 เข้าสู่รอบนักษัตรที่ 7  จึงจะขอห่างเหินจากกระทู้นี้ไปสองสามวัน แล้วก็บังเอิญจะต้องตุหรัดตุเหร่ไปต่างจังหวัดต่อเนื่อง ก็เลยจะขอห่างเหินเพิ่มเติมไปอีกประมาณสัปดาห์หนึ่ง


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ม.ค. 20, 17:44
กลับมาได้หลายวันแล้วครับ   ในขณะที่โลกเขากำลังวุ่นวายอยู่กับเชื้อไวร้สสายพันธุ์ใหม่ที่ดูจะมีต้นตอโยงใยไปถึงตลาดสดด้วย ก็เลยยังไม่เข้ากระทู้ด้วยเห็นว่ายังมิใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมเท่าใดนัก ประกอบกับตั้งใจจะว่าลงไปในเรื่องของลาบซึ่งใช้เนื้อสัตว์หลายชนิดและมีการทำทั้งแบบปรุงสุกและแบบปรุงดิบอีกด้วย


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ม.ค. 20, 18:11
ก็จะขอเว้นระยะไปอีกสักเล็กน้อยนะครับ  ไม่ประสงค์จะให้มีเนื้อหาบางส่วนที่อาจจะถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน (ในลักษณะของ Conspiracy theory)


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ม.ค. 20, 18:15
ย้อนกลับไปดูจำนวนผู้อ่าน ณ ปัจจุบันกาลแล้ว เลยต้องตัดสินใจใหม่ครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ม.ค. 20, 18:24
คุณตั้งจะเล่าเรื่องต่อ หรือว่าจะตั้งกระทู้ใหม่คะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ม.ค. 20, 18:55
ผมมีความเห็นว่า ลาบ เป็นอาหารดั้งเดิมของคนไทยทุกชาติพันธุ์  แม้ว่าของฝรั่งและชาติอื่นๆก็มีเช่นกันแต่ก็ไม่เป็นที่นิยมกันนัก  

ลาบ ดูจะมีอยู่ 2 ความหมาย คือ เป็นจานอาหาร และ เป็นวิธีการจัดการกับเนื้อสัตว์ที่เอามาทำเป็นอาหาร ซึ่งก็คือการเอาเนื้อสัตว์มาสับให้ละเอียด อาจจะตรงกับคำในภาษาจีนว่า บะช่อ  

ลาบของคนไทยเราต่างกับของชาติอื่นๆตรงที่เราเน้นการทำเป็นจานอาหารมากกว่าเป็นการเตรียมเนื้อสัตว์เพื่อไปใช้ในการทำอาหารจานอื่นๆ  ในภาคเหนือ เรามีลาบที่ใส่เครื่องเทศ กินกับผักสด
ในภาคอิสาน เรามีลาบที่ใส่ข้าวคั่ว กินกับผักสด   ในภาคใต้ เรามีลาบที่ผัดกับเครื่องน้ำพริกที่เรียกกันว่า คั่วกลิ้ง กินคลุกข้าวกับผักเหนาะต่างๆ  

สำหรับจานลาบของฝรั่ง จะนิยมใช้เนื้อวัวส่วนที่ไม่มีมันแทรกในการทำ มีชื่อเรียกว่า Tatare Steak หรือ Steak Tatare มีลักษณะเป็นลาบดิบ จะนิยมโปะไข่แดงดิบๆมาบนกองเนื้อ ของกินแนมมักจะเป็นขนมปังแบบฝรั่งเศส (Baguette) ทาด้วยเนยกระเทียมแล้วอบแบบพอกรอบนอกนุ่มใน  หากมีโอกาสก็ลองกินดูนะครับ ไม่มีกลิ่น ไม่รู้สึกคาว แถมจัดเป็นอาหารจานเด็ด มีราคาสูงกว่าปกติ และยังเป็นการแสดงถึงฝีมือของ Chef ของร้านนั้นๆด้วย  


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ม.ค. 20, 19:15
ลาบ ดูจะเป็นอาหารที่ไม่มีความพิถีพิถันมากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วมันก็มีอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว ก็ตั้งแต่การเลือกใช้เนื้อที่สดใหม่จริงๆซึ่งจะหาซื้อได้ค่อนข้างจะง่ายในตลาดสดเช้า เนื้อตามเขียงเนื้อในตลาดในช่วงเวลาอื่นๆมักจะเป็นเนื้อที่ผ่านการแช่เย็นแล้ว ซึ่งก็จะมีแบบที่ผ่านการแช่แข็ง(freeze)และการละลาย(thaw)มาแล้ว เรียกว่าไม่สดใหม่จริงๆ มีแต่เพียงความดิบเท่านั้น


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ม.ค. 20, 20:01
Steak Tartare


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ม.ค. 20, 20:21
Beef Tartare


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ม.ค. 20, 18:54
beef tatare อีกนิดนึง   

อาหารจานนี้เกือบจะไม่มีปรากฎอยู่ในเมนูอาหารของร้านใดๆที่ขาย steak  หากจะสั่งนอกเมนูมาลองทานดู ก็อาจจะได้เนื้อที่บดด้วยเครื่อง มิใช่เนื้อที่ลาบ(สับ)ด้วยมือในขณะที่ค่อยๆใส่เครื่องปรุงรสลงไปตามลำดับ ซึ่งเมื่อต้กเข้าปากกินแล้วก็จะเห็นความต่างกันอยู่มากทีเดียว    เครื่องปรุงรสโดยพื้นฐานก็คล้ายๆกับของไทยเรา ก็มีหอมแดงแบบบ้านเรา(shallot) มีมะนาว มีต้นหอมฝรั่ง(chives) มีเกลือ มีพริกสด(jalapeno) และผักชีของฝรั่ง(parsley) ที่ต่างออกไปจากเราก็จะมีการใช้มัสตาร์ด พริกไทยดำ ผลไม้ดองบางอย่าง(Capers) และไข่แดง     

ความอร่อยที่วัดกันก็คือรสที่กลมกล่อมและความละเอียดเนียนของเนื้อที่ผสมส่วนผสมต่างๆเข้าไปแล้ว   ดูเผินๆก็คล้ายๆกับลาบของบ้านเรา ความแตกต่างที่สำคัญก็มีเพียง ของเรานิยมจะใช้วิธีคลุกเครื่องปรุงให้เข้ากัน   ของเราจะมีรสจัด เข้มข้น และรู้สึกแซบมากกว่ามาก   ของเรากินกับผักแนมที่เป็นผักสด (โดยเฉพาะผักที่มีเนื้อในฉ่ำ รสเย็น)  และของเราเป็นได้ทั้งเป็นอาหารกินเล่นและอาหารจานหลัก     


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ม.ค. 20, 19:42
แล้วรสของเขาเป็นยังไงคะ   คลุกไข่แดง(ดิบๆหรือเป็นยางมะตูม) เข้าไปกับเนื้อบดที่ปรุงเครื่องเทศ เข้าไปแล้วเข้ากันดีไหมคะ
ดูหน้าตาแล้วไม่น่ากินเลยค่ะ  คิดว่ามันคงจืดๆปนเครื่องเทศ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ม.ค. 20, 19:58
ลาบดิบ    ในประสบการณ์ชีวิตวิถีป่าและแบบชาวบ้านของผม ลาบดิบจะนิยมทำกันโดยใช้เนื้อสดๆที่แล่ออกมาจากสัตว์ที่เพิ่งจะถูกฆ่า (คือใช้เนื้อ flesh) ซึ่งเนื้อสัตว์เฉพาะที่จะใช้ในการทำก็มีเพียง วัว ควาย เก้ง กวาง และปลาเกล็ดน้ำจืดบางชนิดที่พบในสายน้ำตามธรรมชาติเท่านั้น (เช่น ตะเพียน ตะโกก ใบไม้)    เนื้อเหล่านี้จะออกรสหวานนุ่มนวลโดยตัวของมันเอง การแต่งรสเพิ่มเติมก็ดูจะมีเพียงการใช้ขี้เพี้ยเท่านั้นเอง แต่หากเป็นลาบวัวหรือลาบควายก็อาจจะมีการใส่น้ำดีเพิ่มลงไปด้วย  ส่วนเลือดที่เราเห็นใส่ลงไปในลาบดิบนั้น จะเป็นเลือดที่มีการขยำกับต้นตะไคร้เพื่อมิให้เลือดแข็งตัว จับตัวกันเป็นก้อน  ลาบดิบแบบป่าจริงๆนั้นจึงไม่มีการใส่เลือดลงไปด้วย (เพราะไม่มีตะไคร้)    


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ม.ค. 20, 20:33
แล้วรสของเขาเป็นยังไงคะ   คลุกไข่แดง(ดิบๆหรือเป็นยางมะตูม) เข้าไปกับเนื้อบดที่ปรุงเครื่องเทศ เข้าไปแล้วเข้ากันดีไหมคะ
ดูหน้าตาแล้วไม่น่ากินเลยค่ะ  คิดว่ามันคงจืดๆปนเครื่องเทศ

อธิบายไม่ถูกครับ เคยลองสั่งกินอยู่บ้างกับร้านที่เขามีให้สั่งอยู่ในเมนูอาหาร สัมผัสของอาหารคล้ายๆกับมะเขือม่วงย่างหรืออบ คือละเอียดเนียน ออกไปทางแฉะและแหยะๆเล็กน้อย ไม่มีความเข้มข้นทั้งรสและความมีกลิ่นหอม กลิ่นสาบของเนื้อไม่มีและก็ไม่มีกลิ่นหอมเด่นของเครื่องเทศ/สมุนใพรอีกด้วย  วิธีแก้ของผมเพื่อทำให้มันกินได้อร่อยมากขึ้นก็คือ โรยเกลือป่นให้มีรสเค็มเพิ่มมากขึ้น การกินก็ทำเสมือนหนึ่งกิน open sandwich คือเอาใส่ปากแล้วเคี้ยวเนื้อไปพร้อมกับขนมปังเนยกระเทียม จิบไวน์แดงเพื่อช่วยลดความรู้สึกเลี่ยน   จะว่าไปมันก็พอกินได้นะครับ ทุกอย่างมันก็เข้ากันได้ดี เพียงแต่มันไม่รู้สึกว่ามีความเข้มข้นในเชิงของรสและกลิ่นดังที่เราคุ้น     


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ม.ค. 20, 08:04
จากที่เล่าก็เหมือนเนื้อบด ปรุงรสด้วยเครื่องเทศนิดหน่อยพอมีกลิ่นรส เอามาย่างให้สุก แล้วคลุกกับไข่แดงเหลวๆ กินเข้าไปพร้อมกับขนมปังกระเทียม หรือมันฝรั่ง
คนที่ชินกับลาบไทยคงไม่อร่อยเท่าไหร่ค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ม.ค. 20, 18:55
ที่ว่าลาบดิบที่มีการทำกันตามปกติของเราที่เราเห็นกันนั้นจะมีการใส่เลือดลงไปด้วย ก็ใส่มากพอที่จะทำให้เนื้อที่ลาบนั้นมีความฉ่ำ ไม่แห้ง ในขณะที่ลาบดิบแบบป่าๆจริงๆที่ไม่มีการใส่เลือดสดลงไปด้วยนั้น ก็มีเหตุผลอยู่ คือแบบป่าๆนั้นเนื้อที่เอามาทำลาบนั้นมีความสดจริงๆ เลือดที่ยังคงอยู่ในชิ้นเนื้อที่ปาดออกมาทำลาบนั้นยังคงไม่ไหลออกไปจนทำให้เนื้อแห้งซีดดังเนื้อที่เห็นอยู่ตามเขียงขายเนื้อในตลาดสดต่างๆ

โดยพื้นฐานของอาหารจาน "ลาบ" นั้น  ผู้คนชาวพื้นบ้านโดยทั่วไปจะหมายถึงลาบดิบ หากต้องการลาบสุกก็จะต้องกำหนดหรือสั่งให้ทำ ในภาคเหนือจะเรียกว่า ลาบคั่ว ส่วนในภาคอิสานจะเรียกเช่นใดก็ไม่รู้

ปริมาณของเลือดที่ใส่ในลาบดิบนั้นก็ทำให้ชื่อของจานอาหารเปลี่ยนไปด้วย หากใส่เพียงเพื่อจะทำให้เนื้อลาบดูสด มีความชุ่มฉ่ำ ก็ยังอยู่ในความหมายของคำว่าลาบดิบ  เมื่อใส่มากจนทำให้มีลักษณะเป็นแกงขลุกขลิกหรือต้มก็จะไปใช้ในอีกชื่อหนึ่ง เช่น ในภาคเหนือก็เป็น หลู้   ในภาคอิสานก็เป็น ซกเล็ก   ในภาคกลางก็เป็น ลาบเลือด       


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ม.ค. 20, 20:13
ลาบเป็นอาหารนิยมของผู้คนที่บริโภคข้าวเหนียว เป็นหนึ่งในสำรับอาหารที่เป็น signature ของอาหารอิสาน (ข้าวเหนียว ส้มตำ ลาบ ไก่ย่าง) ซึ่งเป็นชุดอาหารหัวหอกที่นำพาอาหารไทยทะลวงสู่ความเป็นอาหารอร่อยระดับโลก

เป็นข้อน่าสังเกตอยู่ว่า ลาบในสำรับอาหาร signature ของอาหารของภาคเหนือ (ข้าวเหนียว ใส้อั่ว ลาบ น้ำพริกอ่อง แคบหมู) ไม่ค่อยจะเป็นที่นิยมแม้กระทั่งในหมูคนไทย  แต่แคบหมูกลับทะลวงเข้าไปมีแหล่งผลิตอยู่ในประเทศทางสแกนดิเนเวียน แถมยังมีคำพิมพ์ภาษาไทยที่บรรจุภัณฑ์ว่าแคบหมูอีกด้วย


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.พ. 20, 15:16
แคบหมูมีขายในอเมริกาค่ะ  มีหลายชื่อเรียก ไม่ว่าจะเป็น  Pork snack, Pork rind, Pork scratching หรือ pork crackling
เป็นแบบสดก็มี แบบบรรจุถุงก็มี


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.พ. 20, 15:18
เอามาปรุงรสก็ได้ค่ะ
https://www.cookingchanneltv.com/recipes/pork-rinds-chicharron-2268911


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ก.พ. 20, 19:44
ใช่ครับ ที่จริงแล้วหนังหมูกรอบก็มีทำกินกันและมีการทำขายอยู่ในหลายๆประเทศ ทั้งในอเมริกา แคนาดา อเมริกาใต้(อ่านพบ) ในยุโรป และในเอเซีย    ที่ได้กล่าวถึงแคบหมูที่ผลิดในสแกนดิเนเวียนนั้น เป็นด้วยความคิดและใจที่ผูกพันกับคำว่า'แคบหมู'แบบดั้งเดิมของทางภาคเหนือ (คือเป็นหนังหมูทอดกรอบแบบที่มีมันติดบางๆ) แล้วยังมีคำเขียนว่า "แคบหมู" บนห่อพลาสติกที่บรรจุด้วย

 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ก.พ. 20, 18:31
แคบหมูแต่ดั้งเดิมนั้นจะเป็นแบบติดมัน สมัยก่อนโน้นจะหาซื้อได้เฉพาะในตลาดสดเช้าในเมือง เพราะจะมีแผง(ร้าน)ที่เจียวมันหมูขายน้ำมัน   สำหรับในเป็นตลาดชุมชนชาวบ้านนั้น มักจะหาซื้อไม่ได้ จะมีก็เพียงเล็กน้อยวางขายกระจัดกระจายตามแผงต่างๆ ซึ่งก็จะมีคุณภาพที่แตกต่างกันไป  ต่างกับในปัจจุบันที่แคบหมูได้กลายเป็นสินค้าในเชิงของการผลิตทางอุตสาหกรรม มีผู้ผลิตทั่วไปในระดับอุตสาหกรรมขนาดจิ๋ว (micro SME)     


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.พ. 20, 19:29
ที่เคยเห็น แคบหมูอเมริกันมักกินกับอาหารเมกซิกันค่ะ  เช่นใส่เป็นไส้ทาโค่


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ก.พ. 20, 19:45
แคบหมูที่มีขายกันอยู่ในปัจจุบันนี้ โดยทั่วๆไปก็คงจะพอจำแนกออกได้เป็น 2 แบบ คือ แบบติดมัน และแบบไร้มัน    สำหรับแบบติดมันนั้นก็ยังแยกออกเป็นแบบดั้งเดิม(แต่ละชิ้นมีขนาดประมาณนิ้วหัวแม่มือ) กับแบบเส้นเล็ก(แต่ละชิ้นมีขนาดความกว้างน้อยกว่า 1 ซม. บางคนก็ว่า แคบหมูจากสันคอหมู)    

แล้วก็ยังมีแบบแคบหมูชิ้นเล็ก ซึ่งแต่ละชิ้นมีขนาดประมาณหนึ่งข้อนิ้วกลาง ซึ่งแบบนี้จะหาซื้อได้ใน ตจว.

แคบหมูไร้มันนั้น ผมมีความเห็นว่ามันเกิดขึ้นมาในช่วงเวลาแถวๆ พ.ศ.2510++   เห็นว่าเรื่องราวความเป็นมาของมันไปเกี่ยวข้องกับอาหารริมทางยอดฮิต(ก๋วยเตี๋ยวเรือรังสิต)   ก๋วยเตี๋ยวเรือรังสิตเป็นก๋วยเตี๋ยวที่แหกคอกออกมาจากก๋วยเตี๋ยวแห้งและน้ำแบบจีน คือไม่เน้นความนุ่มนวลละมุนละมัยของรส เครื่องปรุง และน้ำแกง  หากแต่ฉีกออกไปทางรสที่เข้มข้น ฉูดฉาด จัดจ้าน (ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องปรุงภาคบังคับแบบดั้งเดิม เช่น ถั่วงอก ตังฉ่าย หอม ผักชี คื่นช่าย) เป็นก๋วยเตี๋ยวหมูหรือเนื้อชามเล็ก ใส่เส้นน้อย ใส่ลูกชิ้น ใส่เนื้อหั่นบางลวก (หมูหรือเนื้อ) นิยมใช้ผักบุ้งหรือคะน้าแทนถั่วงอก อาจใส่เลือดทำให้เป็นน้ำข้น ใส่กระเทียมเจียวที่มีกากหมูด้วย   แต่ละเจ้าก็จะมีทีเด็ดที่แตกต่างกันไป โดยหลักๆก็เป็นเช่นนี้    ที่ดูจะเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งของผู้กินก็คือ ชอบที่จะต้องมีกากหมูให้มากหน่อย กากหมูเป็นตัวชูรสจริงๆในแต่ละคำที่เคี้ยวกิน   ผู้ขายคงจะจับไต๋ได้ดีก็เลยเอาแคบหมู(ติดมัน)มาวางแยกขายให้ใช้เป็นของแนม แต่แคบหมูหายากและมีราคาสูง ประกอบกับผู้คนเริ่มควบคุมการบริโภคไขมัน  นั่นดูจะเป็นต้นกำเนิดของแคบหมูไร้มัน (ซึ่งคนที่รู้จักแคบหมูตัวจริงในช่วงเวลานั้นจะเรียกว่าหนังพอง)        


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.พ. 20, 11:18
ก๋วยเตี๋ยวเรือรังสิตขึ้นชื่อมากเมื่อราว 40 ปีก่อน เดี๋ยวนี้ขึ้นบกหมดแล้ว
หรือไม่ก็อยู่ในร้านอาหารลอยน้ำ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ก.พ. 20, 18:59
ถูกของอาจารย์ครับ  ขึ้นไปอยู่บนบกหมดแล้ว แม้จะพยายามกลับลงน้ำไปปรากฎอยู่ตามตลาดน้ำต่างๆ ก็ไม่ค่อยจะเอาเอกลักษณ์และตัวตนของมันลงไปด้วย กลายเป็นอาศัยเพียงแต่ชื่อ ก็พอๆกันกับฝ่ายผู้บริโภคที่ต้องการชามใหญ่ รสไม่จัด กินชามเดียวอิ่ม ซึ่งขัดกับลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของก๋วยเตี๋ยวเรือ(จะต้องเป็นชามเล็กที่โซ้ยเข้าปากสองสามคำก็หมดชามแล้ว ต้องสั่งเพิ่มต่อๆกันไปไม่น้อยกว่า 2-3 ชามจึงจะรู้สึกอิ่ม หลายคนต้องกินถึง 5 ชามจึงจะรู้สึกแน่นท้องพอดีๆ)  ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือแบบดั้งเดิมนั้น จะต้องเห็นชามก๋วยเตี๋ยววางซ้อนกันหลายใบบนแต่ละโต๊ะของผู้ที่เข้ามาบริโภค           

ประมวลจากประสบการณ์ของผมที่ต้องเดินทางไปทำงานในหลากหลายพื้นที่  ผมมีความเห็นว่า แม้จะมีแม่ค้าพายเรือขายก๋วยเตี๋ยวและของกินอื่นๆอยู่ตามลำน้ำลำคลองทั่วไปนานมาแล้ว  แต่ความเป็นก๋วยเรือที่มีเอกลักษณ์นั้นดูจะเกิดขึ้นในพื้นที่ๆของคลองรังสิตและบิเวณหน้าเมือง จ.ปทุมธานี น่าจะเป็นในช่วงเวลาที่เดียวกันที่เรือสำปั้นเริ่มมีการติดเครื่องหางยาวกันอย่างแพร่หลาย  ก๋วยเตี๋ยวเรือมาดังเป็นพลุก็เมื่อมีพ่อค้าเอามาขึ้นบก ตั้งเป็นเพิง(ร้าน)ขายก๋วยเตี๋ยวอยู่ริมทาง ช่วงระหว่างจุดเชื่อมของถนนพหลโบธินกับถนนวิภาวดีกับสะพานข้ามคลองรังสิต    ต่อมาบรรดาพ่อค้าแม่ค้าก็ดูคล้ายกับจะนัดกันมาตั้งร้านกันแถวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และก้นซอยวัดมะกอก     ในปัจจุบันนี้ หากคิดถึงก๋วยเตี๋ยวเรือแบบเก่าๆจริงๆก็คงจะต้องไปหากินแถวตลาดท่าน้ำเมืองปทุมฯ   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ก.พ. 20, 19:25
ในยุคของก๋วยเตี๋ยวเรือโด่งดังและมีราคาถูกก็มีการพูดถึงในเรื่องของความสะอาด ซึ่งอาจจะเป็นเหตุหนึ่งที่นักกินเริ่มหากินของถูกอื่นๆ ก็มีผู้บริโภคไม่น้อยที่หันไปหาก๋วยเตี๋ยวแคะ(เส้นหมี่ลูกชิ้นแคะ)ที่มีการหาบขายไปตามถนนต่างๆ   

ตัวผมเองค่อนข้างจะชอบก๋วยเตี๋ยวแคะมากกว่าก๋วยเตี๋ยวเรือ  น่าเสียดายที่หาบเจ้าอร่อยหายไปจากถนนต่างๆ จะว่าขึ้นไปเป็นร้านแล้วก็หาที่อยู่ยาก    ในปัจจุบันนี้ก็ยังพอหากินได้ตามร้านก๋วยเตี๋ยวบางร้าน แต่เครื่องปรุงพวกหมูสับปั้น เต้าหู้ยัดใส้ ลูกชิ้นกุ้ง ฮือก้วย ลูกชิ้นปลา.... ไม่ค่อยจะมีครบเครื่องและมีความอร่อยไม่เหมือนเดิม ซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะมีการใช้แป้งผสมลงไปมากเกินควร     


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 03 ก.พ. 20, 19:34
ในช่วงปี 2516-2519 ผมเป็นลูกค้าประจำ อยู่ที่ริมคลองอนุสาวรีย์ชัยฯ ฝั่งซอยลือชา โดยชามก๋วยเตี๋ยวจะขนาดพอดีฝ่ามือ ชามละหนึ่งบาทเท่านั้น (ถ้าผมจำไม่ผิดนะครับ)
สูตรการสั่งของผมคือ เล็กน้ำตกเนื้อ น้ำสลับกับแห้ง ...วนไปสัก 2-3 รอบ มื้อหนึ่งก็ประมาณ 5-6 ชามครับ อิ่มนึงน่าจะไม่เกิน 10 บาท รวมโอเลี้ยงอีกหนึ่งแก้ว แก้เผ็ด

ส่วนเรื่องของความสะอาด ในตอนนั้นดูเหมือนว่า จะยังสามารถใช้น้ำในคลองล้างชามก๋วยเตี๋ยวได้อยู่นะครับ ถึงแม้น้ำจะไม่ค่อยใสสะอาดมากนัก แต่ก็ยังไม่ดำปิ๊ดปี๋เช่นภายหลัง


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ก.พ. 20, 20:10
ราคาชามละ 1 บาท คงจะไม่ผิดหรอกครับ  ถูกกว่าข้าวราดแกงซึ่งมีราคาจานละประมาณ 2 +/- บาท   ผมเห็นว่าถูกต้องแล้วครับที่สั่งโอเลี้ยงมาแก้เผ็ด   หากเป็นน้ำแข็งเปล่า (น้ำแข็งใส่น้ำที่ใส่น้ำกาแฟก้นถุงลงไปด้วยเพื่อให้คล้ายกับน้ำจากใบชา) ก็จะเป็นแก้วละ 25 สคางค์ และหากสั่งเป็น "ชาฟรี" ก็จะเป็นน้ำใส่สีจากน้ำกาแฟก้นถุง    สำหรับศัพท์คำว่า "ชาฟรี" จะหายไปตั้งแต่เมื่อใด ? จำไม่ได้แล้วครับ

สำหรับการล้างชามด้วยน้ำในคลองนั้น ผมว่าก็โอเคนะครับ พอจะมีสภาพของลักษณะสุขอนามัยอยู่บ้าง เพราะว่าก่อนจะเอาเส้นใส่ชามเขาจะใช้น้ำร้อนที่ใช้ลวกเส้นล้างชามเสียก่อน จะเสียก็แต่เพียงว่าน้ำล้างชามนั้นกลับลงหม้อลวกเส้นไปอีก ซึ่งก็ยังดีที่น้ำในหม้อน้ำลวกเส้นนั้นเดือดปุดๆตลอดเวลา ต่างกับในปัจจุบันนี้ที่น้ำลวกเส้นของร้านต่างๆจำนวนมากค่อนข้างจะเป็นเพียงน้ำร้อนมากกว่าน้ำเดือด 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 04 ก.พ. 20, 08:02

ส่วนเรื่องของความสะอาด ในตอนนั้นดูเหมือนว่า จะยังสามารถใช้น้ำในคลองล้างชามก๋วยเตี๋ยวได้อยู่นะครับ ถึงแม้น้ำจะไม่ค่อยใสสะอาดมากนัก แต่ก็ยังไม่ดำปิ๊ดปี๋เช่นภายหลัง


ผมต้องขอแก้ไขความทรงจำตรงนี้ครับ เพราะผมคงจะจำสับสนไป คือ การล้างชามช้อนตะเกียบ ทางร้านเขาจะมีกะละมังกับน้ำสะอาดใส่ถังมาล้างบนฝั่ง ด้านหลังร้านครับ ส่วนพวกเศษอาหารเขาก็จะมีถัง แยกใส่เก็บเอาไปทิ้งของใครของมัน อีกทั้งต้องช่วยรักษาความสะอาดบริเวณร้านทั้งบนฝั่งและในลำคลอง ตามสมควร

ส่วนการใช้น้ำร้อนในหม้อลวกชามก่อนใส่เส้นที่ลวกแล้ว ก็เป็นภาพที่ชินตาผมเช่นกัน และผมต้องขออภัยท่านอาจารย์ด้วยครับ ที่รีบร้อนเขียนเกินไปหน่อย ทำให้อาจเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.พ. 20, 08:13
ในอดีตสัก 40 ปีมาแล้ว เมื่อน้ำคลองแถวรังสิตยังถ่ายเทได้ ค่อนข้างสะอาด   ชามก๋วยเตี๋ยวเขาก็ล้างกันในคลองละค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ก.พ. 20, 18:46
........ และผมต้องขออภัยท่านอาจารย์ด้วยครับ ที่รีบร้อนเขียนเกินไปหน่อย ทำให้อาจเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ครับ

ไม่หรอกครับ ดีใจเสียอีกที่จะมีหลายท่านเข้ามาช่วยกันฉายภาพและเรื่องราวต่างๆทั้งในอดีตและในปัจจุบัน รวมทั้งข้อมูลในเชิงวิชาการ ทั้งที่มีและไม่มี ref. แต่เป็นเรื่องหรือสิ่งที่ตนเองประสบพบมาจริงหรือที่เป็นความเห็นอันบริสุทธิ์   ภาพ เรื่องราว และข้อมูลต่างๆที่กล่าวมาเหล่านั้น ผมเชื่อว่ามันเป็นองค์ความรู้ส่วนตัวที่จะหายไปกับตัวเราเมื่อแก่เฒ่า หลงลืม และตายจากไป แล้วก็เชื่อว่าเรื่องเหล่านั้นมีบางจุด บางส่วน บางความเห็นที่อาจจะเป็นประโยชน์หรือช่วยจุดประกายให้เกิดเรื่องราวหรือสิ่งใหม่ๆใดๆขึ้นมาสำหรับคนรุ่นหลัง   

ความตั้งใจของผมเป็นเช่นดังที่ได้กล่าวมา ก็จึงได้พยายามตั้งกระทู้ที่เป็นลักษณะของการฉายภาพและเรื่องราวทางสังคมที่ได้ประสบพบเห็นมาจากการเดินทางไปทำงานในพื้นที่ ตจว.และในพื้นที่ทุรกันดาร แล้วก็คิดว่าจะมีผู้อื่นที่มีประสบการณ์ใกล้เคียงหรือข้างเคียงเข้ามาร่วมแจม ให้ความเห็นและให้ข้อมูลอื่นใดเพิ่มเติม    ผมเองมิได้มีความคิดในเชิงของการใช้ social media แบบโน๊ตบุ๊คหรือยูทู๊ป (ซึ่งตนเองก็ไม่มีด้วย) 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ก.พ. 20, 19:18
เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของก๋วยเตี๋ยวแคะในบ้านเราก็คือ นิยมใช้เส้นหมี่ ต้องมีลูกชิ้นเต้าหู้ (เต้าหู้ยัดใส้) และใช้น้ำส้มพริกตำ   ความอร่อยของมันมีองค์ประกอบอยู่หลายอย่าง ตั้งแต่เส้นหมี่ที่ใช้จะต้องไม่มีกลิ่นหืน เต้าหู้ที่ใช้จะต้องเคี้ยวแล้วรู้สึกไม่ระคายเป็นเม็ดทราย หมูสับที่ยัดใส้และทำเป็นลูกชิ้นจะต้องมีความเหนียวและนุ่มพอดีๆ ก็คือมีส่วนผสมของแป้ง เนื้อและมันพอดีๆ....  สำหรับเจ้าที่อร่อยจริงๆนั้น น้ำซุปจะได้มาจากการต้มกระดูกหมู เมื่อตักใส่ชามแล้วเหยาะด้วยพริกไทย โรยด้วยต้นหอมซอยและใบผักชี นั่นแหละครับของอร่อยจริง

ลืมไปอีกเรื่องหนึ่งครับ หาบเร่ที่ขายก๋วยเตี๋ยวแคะจะใช้ตู้ที่ใส่ของเพื่อหาบที่ทำด้วยทองเหลือง เห็นที่ใหนก็ใช่เขานั่นแหละ   ต่างจากเจ้าก๋วยเตี๋ยวทั่วไปที่จะใช้รถสามล้อถีบ และมีการเคาะไม้เพื่อเรียกผู้กิน ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็ยังพอจะมีเห็นอยู่บ้างในหมู่บ้านหรือชุมชนที่ค่อนข้างจะปลอดเสียงยานพาหนะ       


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ก.พ. 20, 19:30
กล่าวถึงเต้าหู้แล้วเลยทำให้นึกถึงของโปรดของผมจานหนึ่ง คือเต้าหู้เหลืองแบบนิ่ม เอามาผัดกับหมูสับ ใส่เต้าเจี้ยว ใส่ต้นหอม เท่านั้นเอง  แต่ในช่วงฤดูอากาศเย็นเช่นนี้ ในตลาดสดจะมีต้นกระเทียมสดวางขาย  ผมก็จะเอาต้นกระเทียมมาใส่ในผัดเต้าหู้นี้ด้วย ง่ายๆเท่านี้เอง     


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.พ. 20, 20:55
ผัดเต้าหู้หมูสับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ก.พ. 20, 18:52
ผัดเต้าหู้ดังภาพ ดูจะเป็นลักษณะของอาหารที่ผู้กินและผู้ขายใช้เรียกกันในร้านข้าวราดแกง  หากตักเต้าหู้กับหมูสับมากหน่อยก็จะเป็นผัดเต้าหู้หมูสับ แต่หากตักถั่วงอกมากหน่อยกับหมูสับและเต้าหู้ มันก็จะเป็นผัดถั่วงอก   หากเป็นร้านขายอาหารสำเร็จรูป ผัดเต้าหู้หมูสับก็จะเป็นอีกรูปหนึ่ง เป็นการใช้เต้าหู้หลอด บ้างก็ทอดก่อน บ้างก็หั่นเป็นแว่นๆไปเลย คลุกกับน้ำข้นเหนียวคล้ายกับน้ำก๋วยเตี๋ยวราดหน้าที่มีหมูสับ มีแครอทหั่นสี่เหลี่ยมชิ้นเล็กๆและมีข้าวโพด 

แบบที่ผมทำกินเองเป็นประจำอยู่นั้น (ไม่เคยเห็นมีการทำขายอยู่ในที่แห่งใด) ผมทำแบบอาหารจีนแต่โบราณ จะใช้เต้าหู้นิ่มสีเหลือง หั่นแบ่งออกเป็นชิ้นสี่เหลี่ยม จะเป็น 4 ชิ้น 6 ชิ้น หรือจะกี่ชิ้นก็ตาม แต่แต่ละชิ้นจะต้องไม่เล็กกว่าขนาดประมาณกล่องไม้ขีดไฟ มิฉะนั้นเมื่อทอดและทำการผัดมันก็จะกลายเป็นเศษเล็กเศษน้อยมากจนดูไม่น่ากิน  อาหารจานนี้มีเครื่องปรุงน้อยมาก แต่มีเทคนิคในการทำอยู่พอควร    เรื่องแรกก็คือจะต้องทอดเต้าหู้ให้พอสุกพอมีสีคล้ำ มีขอบแข็งเกรียมแข็งเล็กน้อยเป็นบางจุด  อันนี้ทำยากหน่อยเพราะเต้าหู้มันจะติดกะทะ แต่มันก็ทำให้เกิดกลิ่นที่หอมและชวนน้ำลายสอ  ทางแก้ไขไม่ให้ติดกะทะดูจะมีอยู่สองทางคือ ใช้กะทะเคลือบสมัยใหม่ หรือใช้ไฟอ่อนในกรณีที่ใช้กะทะเหล็กรุ่นเก่า   ทอดเต้าหู้ได้แล้วก็ตักออกหรือกันไว้ที่ขอบกะทะ ใส่น้ำมันลงไปอีกเล็กน้อย เจียวกระเทียม เอาหมูสับใส่ลงไป ใส่เต้าเจี้ยวดีๆลงไปผัดให้เข้ากัน อาจจะใส่ซีอิ๊วขาวลงไปช่วยปรับรสอีกก็ได้ ใส่น้ำลงไปเล็กน้อยให้สิ่งที่ผัดไว้ไม่แห้งเกินไป เอาเต้าหู้ลงมาคลุก ใส่ต้นหอมหั่นเป็นท่อนลงไป เคล้ากันเข้ากันดีแล้วก็ตักใส่จาน จะกินกับข้าวสายร้อนๆหรือกับข้าวต้มก็อร่อยทั้งเพ

ที่จริงก็มีหลายร้านที่ทำในลักษณะที่ผมทำ แต่เขาจะใช้น้ำมันมากในการทอดเต้าหู้ (deep fried) ซึ่งจะทำให้เต้าหู้มีผิวเกรียมไปทั้งก้อน เพื่อให้เต้าหู้ยังทรงรูปทรงที่เป็นก้อนตามที่หั่นไว้   ทำให้เมื่อตักกินก็จะรู้สึกว่ามีความกระด้างเข้ามาปนอยู่ในความนุ่มนวลต่างๆ     


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ก.พ. 20, 19:25
เต้าหู้เป็นของที่มีขายอยู่ในตลาดสดทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นตลาดเช้า ตลาดบ่าย หรือตลาดเย็น   สำหรับเต้าหู้เหลืองนิ่ม เต้าหู้ขาวนิ่ม(เต้าหูกระดาน) และ/หรือที่เรียกว่าเต้าหู้สดนั้นจะมีวางขายกันในเฉพาะตลาดเช้า จะมีปริมาณจำกัด ขายหมดไว   ก็จะมีเพียงที่เรียกว่าเต้าหูขาว เต้าหู้เหลือง และเต้าหู้หลอดเท่านั้นที่จะมีวางขายอยู่เสมอทั้งในตลาดเช้าและเย็น 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ก.พ. 20, 19:32
น่าจะลองเลี้ยวเข้าซอยแยกเล็กๆจากระทู้นี้ดูว่า เมื่อได้ยินคำว่าเต้าหู้แล้ว นึกถึงของกินอะไรบ้าง ?   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ก.พ. 20, 17:43
เห็นเต้าหู้ขาว กับข้าวที่ผมนึกถึงก็มี

เอามาหั่นเป็นเป็นชิ้นหนาประมาณครึ่งเซ็นต์.. แต่ละชิ้นขนาดประมาณนิ้วหัวแม่มือ เอาลงทอดกับน้ำมันเล็กน้อยในกะทะ ให้สุกได้ผิวเหลืองสวย ตักออกพักไว้ เทน้ำมันออกเหลือไว้เล็กน้อย เอาน้ำตาลปี๊บและซีอิ๊วขาวใส่ลงไป คะเนว่ามีปริมาณมากพอสำหรับเอาเต้าหู้ที่ทอดไว้ลงไปคลุกให้ได้รสเค็มหวาน เคี่ยวน้ำตาลกับซีอิ๊วจนข้นคล้ายน้ำปลาหวานที่กินกับมะม่วงเปรี้ยว ผมนิยมที่จะใส่น้ำมะขามเปียกลงไปเล็กน้อยเพื่อให้ได้รสที่อร่อยมากขึ้น (แล้วแต่ว่าจะขยันหรือไม่ขยันมากน้อยเพียงใด) เอาเต้าหู้ลงคลุกหรือจะตักราดเต้าหู้ก็ได้  ทำเป็นกับของข้าวต้มมื้อเช้า

เอามาหั่นลักษณะเช่นเดียวกัน เอาไข่ไก่มาฟองหนึ่ง ตีให้แหลกในถ้วย ปรุงรสด้วยซีอิ้วขาวพอออกรส ตั้งกะทะใส่น้ำมันบนเดาไฟกลาง เอาเต้าหู้ลงคลุกกับไข่ที่ตีไว้ในถ้วย พอน้ำมันร้อนดี ก็ใช้ส้อมหรือช้อนค่อยๆตักเต้าหู้แต่ละชิ้นลงทอด  ใช้ตะเกียบหยิบจิ้มกับซีอิ็วขาวกิน แนมด้วยผักกิมจิของเกาหลีหรือผักดองแบบของเราๆ (ขิง กระเทียม หอม...)  กินเป็นของว่างยามบ่ายหรือของแกล้มยามเย็น หรือกินกับข้าวสวยพุ้ยเป็นอาหารคุมน้ำหนัก  สูตรนี้ได้มาจากคนเกาหลีที่ทำงานร่วมกัน 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ก.พ. 20, 18:41
หากเป็นช่วงวันหยุดหรือวันที่ครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้า ก็จะนึกถึงก๋วยเตี๋ยวหลอดที่เป็นแบบตักผสมกันในจานเอง  เมนูนี้ต้องซื้อเต้าหู้ 2 ชิ้นเอามาหั่นเป็นทรงแท่งขนาดใหญ่กว่าดินสอเล็กน้อย ยาวประมาณ 1 นิ้ว ซื้อหมูบดประมาณครึ่งกิโล.. ซื้อถั่วงอกสักสองขยุ้มมือ ซื้อก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ประมาณ 1 กิโล..    ได้มาแล้วก็เริ่มทำด้วยการเอากระเทียมไทยประมาณ 15-20 กลีบ มาปอกเปลือกแข็งๆออก บุบ แล้วสับให้แหลกพอประมาณเพื่อทำเป็นกระเทียมเจียว เอาน้ำมันลงกะทะมากหน่อย พอเริ่มร้อนก็เอากระเทียมลงไปเจียว เมื่อได้กลิ่นหอมและสุกเหลืองดูแห้งดีแล้วก็ตักออกใส่ถ้วยพร้อมน้ำมันแต่พอควร ตั้งแยกไว้  เอาหมูบดใส่กะทะ ปรุงรสด้วยเกลือและซี้อิ๊ว ผัดจนใกล้สุกแล้วจึงเอาเต้าหู้ที่หั่นไว้ใส่ผัดรวมลงไป ค่อยๆพลิกคลุกกันไปมาเพื่อมิให้เต้าหู้แหลก สุกและหอมดีแล้วก็ตักออกใส่ชามใว้ ในระหว่างที่ผัดเครื่องหมู ก็เอาลังถึง(ซึ้ง)ใส่น้ำปิดฝาตั้งไฟให้น้ำเดือดเป็นไอ เอาเส้นก๋วยเตี๋ยวใหญ่มายีให้เส้นกระจายแยกออกจากกัน ใส่ภาชนะแล้วนึ่งให้สุกร้อน  ระหว่างรอก็ล้างกะทะแล้วก็เอามาตั้งไฟ ใส่น้ำมัน เอากุ้งแห้งดีๆขนาดตัวไม่ใหญ่จนเคี้ยวลำบาก เอาลงทอดจนกรอบฟู ต้กออกพักไว้บนกระดาษซับน้ำมัน พอเย็นก็เอาใส้ถ้วย  เมื่อเส้นก๋วยเตี๋ยวสูกนิ่มดีแล้วก็ยกออกไปวางบนโต๊ะอาหาร เอาถั่วงอกที่ล้างน้ำแล้วใส่ภาชนะแล้วนึ่งในเวลาสั้นๆให้พอสุกกรอบ ยกออกเอาไปตั้งบนโต๊ะ งานส่วนที่เหลือก็เพียงเอาซีอิ๊วหวานส่วนหนึ่งกับซีอิ็วขาวส่วนหนึ่งใส่ถ้วยแล้วคนให้เข้ากันเพื้อทำเป็นน้ำราดเพื่อผสมผสานส่วนผสมต่างๆให้เข้ามารวมกัน  ส่วนประกอบสุดท้ายก็คือ น้ำตาลทราย พริกป่น และน้ำส้มพริกดอง ใส่ถ้วยตั้งแยกไว้

ปริมาณอาหารทำดังที่กล่าวถึงเพียงพอสำหรับประมาณ 5-7 คน  เมื่อลงมือกินกัน ก็มะรุมมะตุ้มต่างตนต่างตักส่วนผสมต่างๆในปริมาณตามที่ตนเองชอบ เป็นลักษณะของอาหารจานเดียว เมนูเดียวกัน เครื่องปรุงเหมือนกัน แต่ละคนปรุงได้เอง ได้รสและสัมผัสที่ต่างกัน ทุกๆคนรู้สึกอร่อยเหมือนๆกัน   เป็นอาหารครอบครัวแบบง่ายๆ เป็นกันเอง สนุกสนาน และมีค่าใช้จ่ายที่ถูกมาก


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.พ. 20, 19:15
ก๋วยเตี๋ยวหลอด


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ก.พ. 20, 19:25
เห็นเต้าหู้ขาวแล้วนึกถึงเต้าหู้ทอดก็มีบ่อยครั้ง   เต้าหู้ทอดเป็นของที่มีวิธีการที่ทำง่ายมาก แต่จะทำให้เป็นของอร่อยนั้นทำยาก  

ก็มีข้อสังเกตอยู่สองสามประการ   ทุกเจ้าที่ขายเต้าหู้ทอดจะต้องมีขนมผักกาดทอดและเผือกทอด(ตือคาโค)ขายอยู่ด้วย (ในปัจจุบันนี้เกือบจะไม่ได้ยินการใช้ชื่อ ตือคาโต)    เกือบจะทุกเจ้าที่ขายเต้าหู้ทอดจะเป็นร้านแผงลอย รถเข็น หรือมอเตอร์ไซด์พ่วงข้าง   เราจะเห็นเต้าหู้ทอดมีขายอยู่เกือบจะเฉพาะแต่ในตัวเมืองของจังหวัด และยังไม่มีทำขายในหลายๆจังหวัดอีกด้วย    เต้าหู้ทอดเป็นของกินที่ไม่มีขายกระจายอยู่ทั่วๆไป ต้องรู้สถานที่และเวลาออกขายจึงจะพอหาซื้อกินได้ โดยเฉพาะเจ้าที่กินถูกปากและที่ว่าอร่อย                    


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.พ. 20, 19:42
เต้าหู้ทอด เป็นของโปรด  ซื้อกินหลังโรงเรียนในสมัยเด็กๆ   แต่นานเข้าคนขายเต้าหู้ทอดก็หลีกทางให้ของกินเล่นอื่นๆ   หาตามร้านก็ไม่ค่อยเจอ
จนเกือบจะลืมไปแล้วละค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.พ. 20, 11:33
น่าจะลองเลี้ยวเข้าซอยแยกเล็กๆจากระทู้นี้ดูว่า เมื่อได้ยินคำว่าเต้าหู้แล้ว นึกถึงของกินอะไรบ้าง ?   
คำว่าเต้าหู ทำให้นึกถึงเครื่องดื่มชนิดนี้  น้ำเต้าหู้ หรือต่อมาเรียกว่านมถั่วเหลือง ค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.พ. 20, 11:45
น่าจะลองเลี้ยวเข้าซอยแยกเล็กๆจากระทู้นี้ดูว่า เมื่อได้ยินคำว่าเต้าหู้แล้ว นึกถึงของกินอะไรบ้าง ?   

ของอร่อยอีกอย่างที่ทำจากเต้าหู้ คือเค้าฮวย  ใส่น้ำขิง  กินกับปาท่องโก๋กรอบ
เมื่อก่อนหาได้ง่าย  เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยเจอแล้ว


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 07 ก.พ. 20, 14:15
น่าจะลองเลี้ยวเข้าซอยแยกเล็กๆจากระทู้นี้ดูว่า เมื่อได้ยินคำว่าเต้าหู้แล้ว นึกถึงของกินอะไรบ้าง ?  

บรามันเจะ หรือ พุดดิ้งน้ำเต้าหู้ สไตล์ญี่ปุ่นครับ

บรามันเจะ ขนมหวาน ญี่ปุ่น ที่ได้รับอิทธิพลมาจากฝรั่งเศส (https://cookpad.com/th/recipes/10967659-%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%B0-%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%88%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%B9%E0%B9%89)

เครดิตภาพ  : cookpad


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.พ. 20, 14:21
ขอลดขนาดภาพนะคะ  เพื่อแอดมินจะได้มีเนื้อที่เก็บกระทู้เพิ่มขึ้นค่ะ

น่าจะลองเลี้ยวเข้าซอยแยกเล็กๆจากระทู้นี้ดูว่า เมื่อได้ยินคำว่าเต้าหู้แล้ว นึกถึงของกินอะไรบ้าง ?  
ไอศกรีมเต้าหู้ค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 07 ก.พ. 20, 14:23
ขอบพระคุณครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ก.พ. 20, 17:50
พุดดิ้งเต้าหู้ เคยทานนานมาแล้วครับ จำไม่ได้แล้วว่าอร่อยหรือไม่อร่อยเช่นใด  ส่วนไอซ์ครีมเต้าหู้นั้นไม่เคยลอง ดูน่าจะอร่อยดีนะครับ

ทำให้นึกออกว่า สำหรับท่านที่ชอบสารพัดอาหารที่ทำบนฐานของเต้าหู้ หากมีโอกาสเดินทางไปโตเกียว ขอแนะนำให้ลองไปที่ร้านอาหารที่หอคอยโตเกียว   หรือหากไปเกียวโต ก็ต้องลองสารพัดอาหารเต้าหู้ของดีประจำถิ่นของเขาเช่นกัน


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ก.พ. 20, 18:03
เต้าฮวยใส่น้ำขิง ใส่ปาท่องโก๋กรอบ เป็นของอร่อยและหากินยากดังที่อาจารย์ว่า ความอร่อยจริงๆนั้นมาจากน้ำที่จะใช้ขิงอ่อนหรือแก่เพียงใดในการต้ม และการเลือกใช้น้ำตาลทรายแดงหรือน้ำตาลอ้อย   เป็นของที่เกือบจะสูญหายไปหมดแล้วจริงๆ แต่เดิมก็หาบขายกัน ต่อมาก็ขึ้น food court ในห้างดัง แล้วลดลงไปอยู่ในห้างระดับชุมชุน ในที่สุดก็หายไป  แล้วก็มีบัวลอยน้ำขิงเข้ามาปรากฎอยู่ในเมนูของร้านอาหารมีระดับในปัจจุบันทั้งหลาย

ทำให้นึกถึงเต้าฮวยเย็นหรือเต้าฮวยฟรุตสลัด  เป็นของหวานที่ฮิตกันมาพักหนึ่งแล้วก็ค่อยๆหายไปเช่นกัน


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ก.พ. 20, 18:50
ผมนึกถึงของกินที่ทำจากเต้าหู้ออกอีกอย่างหนึ่ง  คือเต้าหู้ที่เอามาซอยเป็นแผ่นบางๆ ตากแดดให้แห้ง เอามาทอด มันก็จะกรอบร่วนคล้ายข้าวเกรียบทอด แต่ก่อนนั้นจะมีการวางสองสามชิ้นบนหน้าโจ๊กหรือข้าวต้มเครื่อง ซึ่งทำให้อาหารดูดีมีความน่ากิน เพิ่มสัมผัสและความละเมียดละไมขึ้นไปอีกมากเลยทีเดียว   ผู้ขายจะทำเองก็ได้หรือจะซื้อแบบที่ตากแห้งแล้วก็มีขาย  บางเจ้าก็รสจืด บางเจ้าก็มีรสเค็มปะเล่มปะเล่ม ก็แปลกอยู่อย่างหนึ่งที่ร้านโจ๊กและข้าวต้มในกรุงเทพฯเกือบจะไม่มีการใช้กัน    สำหรับของทำสำเร็จแล้วที่เคยเห็นมีวางขายกันก็จะเห็นแต่เฉพาะในตลาดใหญ่(ตลาดขายส่ง)ในจังหวัดและพื้นที่ชานเมืองของกรุงเทพฯ เช่น ตลาดท่าน้ำนนท์  ตลาดนครปฐม ตลาดบ้านโป่ง ตลาดราชบุรี เป็นต้น    ลืมไปว่าหากินไม่ได้อีกแล้วนอกจากจะทำกินเอง

สำหรับวิธีกินที่ชอบของผมนั้นก็จะเอาแผ่นเต้าหู้แห้งดังกล่าวนี้มาทอดแล้วจิ้มกับน้ำจิ้มที่ทำด้วยน้ำพริกเผา   เพียงเอาน้ำพริกเผามาใส่น้ำตาลเล็กน้อยบีบมะนาวลงไปแล้วคนให้เข้ากันเท่านั้นเอง


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.พ. 20, 18:51
ของกินจากเต้าหู้อีกอย่างที่ไม่ได้กินมานานแล้ว คือเต้าหู้ยี้ ค่ะ
ตอนเด็กๆ พอไม่สบาย ต้องกินข้าวต้มทีไร  จะมีเต้าหู้ยี้สีแดงคล้ำๆใส่จานเล็กวางเคียงข้างมากับข้าวต้ม  เป็นของอร่อย  กินเท่าไหร่ไม่เบื่อ จนข้าวต้มหมดชาม
ต่อมามีข่าวว่าเต้าหู้ยี้มีส่วนผสมอันตราย คือสารย่อยโปรตีน ไฮโดรเจนซัลไฟล์    ก็เลยไม่ได้กินอีก
ไปตามซุปเปอร์ ไม่เห็นวางอยู่บนชั้น อาจจะดูไม่ทั่วถึงก็ได้ค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ก.พ. 20, 19:38
เต้าหู้ยี้ เป็นของยี้สำหรับผมเมื่ออยุ่ในวัยเด็กและวัยหนุ่ม   ก็เช่นกันครับ เมื่อป่วยและต้องกินอาหารอ่อน(ข้าวต้ม)ก็จะต้องเจอกับเต้าหู้ยี้และหนำเลี๊ยบ  เล่นเอาตั้งปณิธานเอาไว้เลยว่าจะไม่กินมันทั้งสองตลอดไป  แต่เมื่อเข้าวัย 50+ จึงได้ค้นพบความอร่อยของมันเมื่อมีการนำเข้าเต้าหู้ยี้ชนิดต่างๆที่เป็นผลิตภัณฑ์บรรจุอยู่ในขวดแก้วปากกว้าง ซึ่งมีทั้งชนิดหมักผสมกับข้าว หมักผสมกับเต้าเจี้ยว และหมักผสมกับข้าวแดง  กระนั้นเองก็ยังไม่ชอบเต้าหู้ยี้สีแดงเมื่อทานกับข้าวต้ม ไม่ว่าจะเป็นแบบห่อใบไผ่หรือไม่ก็ตาม ผมรู้สึกว่ามันมีรสไม่นุ่มนวล ออกรสฝาดมากเกินไป   

ในปัจจุบันนี้ผมต้องมีเต้าหู้ยี้ติดบ้านอยู่เสมอ  บางทีก็ใช้สำหรับจิ้มหมูสามชั้นหรือหมูสันในต้มที่หั่นเป็นชิ้นบางๆเป็นกับข้าวต้ม


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.พ. 20, 16:04
เต้าหู้ยี้ที่เอาไปทำซอสแดงใส่เย็นตาโฟ ก็อร่อยนะคะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ก.พ. 20, 20:24
เคยได้กินเย็นตาโฟที่ใช้เต้าหู้ยี้อยู่หลายครั้งครับ มีความอร่อยในเชิงรูปรสและกลิ่นที่มีความหลากหลาย เสียดายที่นึกไม่ออกและจำไม่ได้เลยว่าเคยกินที่ใหน   

ผมเป็นคนชอบกินเส้นใหญ่เย็นตาโฟ แต่อาจะเลือกมากและเรื่องมากกับมันสักหน่อย  แม้จะมีร้านประจำแต่ก็ไม่จำกัดตนเองที่จะสั่งกินตามร้านก๋วยเตี๋ยวทั่วๆไป    ที่ว่าเลือกมากและเรื่องมากก็เพียงดูจากเครื่องปรุง ซึ่งหากเป็นการใช้เครื่องปรุงแบบก๋วยเตี๋ยวแคะ (โดยเฉพาะที่มีเต้าหู้ยัดไส้และลูกชิ้นหมูสับ) ไม่ว่าจะใส่ครบหรือไม่ครบตามที่โชว์ไว้ ก็ถือว่าพอใจที่จะเข้าร้านไปสั่งทานแล้ว  ซอสสีแดงที่ใส่มานั้น หากมิใช่ทำจากเต้าหู้ยี้ก็แก้ไขรสประหลาดได้ด้วยการเติมน้ำตาลและน้ำส้มพริกตำเล็กน้อย   

ความอร่อยของเย็นตาโฟอีกอย่างหนึ่งดูจะมาจากการเหยาะกระเทียมเจียมที่มีกากหมูด้วย (กระเทียมที่ใส่ลงไปเจียวกับกากหมูก้นกะทะที่เจียวเอาน้ำมันหมู)


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: pratab ที่ 12 ก.พ. 20, 19:12
หลายปีมาแล้ว เพื่อนพาผมไปกินก๋วยเตี๋ยวอย่างหนึ่งแถวถนนเจริญกรุงใกล้ๆตรอกคลองถม มีลักษณะคล้ายเย็นตาโฟ มีลูกชิ้นและเต้าหู้ยัดใส้และพวกของทอด แต่ไม่ใส่ผักบุ้ง ซอสสีแดงเพื่อนบอกว่าทำจากข้าวหมากข้าวเหนียวแดงออกรสหวานนิดหน่อย ผมไม่ทราบว่าเป็นก๋วยเตี๋ยวแคะแบบที่คุณ naitang เคยกินหรือไม่(จากหาบที่เป็นตู้สี่เหลี่ยม)


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: unicorn9u ที่ 13 ก.พ. 20, 10:08
เคยได้กินเย็นตาโฟที่ใช้เต้าหู้ยี้อยู่หลายครั้งครับ มีความอร่อยในเชิงรูปรสและกลิ่นที่มีความหลากหลาย เสียดายที่นึกไม่ออกและจำไม่ได้เลยว่าเคยกินที่ใหน   

ผมเป็นคนชอบกินเส้นใหญ่เย็นตาโฟ แต่อาจะเลือกมากและเรื่องมากกับมันสักหน่อย  แม้จะมีร้านประจำแต่ก็ไม่จำกัดตนเองที่จะสั่งกินตามร้านก๋วยเตี๋ยวทั่วๆไป    ที่ว่าเลือกมากและเรื่องมากก็เพียงดูจากเครื่องปรุง ซึ่งหากเป็นการใช้เครื่องปรุงแบบก๋วยเตี๋ยวแคะ (โดยเฉพาะที่มีเต้าหู้ยัดไส้และลูกชิ้นหมูสับ) ไม่ว่าจะใส่ครบหรือไม่ครบตามที่โชว์ไว้ ก็ถือว่าพอใจที่จะเข้าร้านไปสั่งทานแล้ว  ซอสสีแดงที่ใส่มานั้น หากมิใช่ทำจากเต้าหู้ยี้ก็แก้ไขรสประหลาดได้ด้วยการเติมน้ำตาลและน้ำส้มพริกตำเล็กน้อย   

ความอร่อยของเย็นตาโฟอีกอย่างหนึ่งดูจะมาจากการเหยาะกระเทียมเจียมที่มีกากหมูด้วย (กระเทียมที่ใส่ลงไปเจียวกับกากหมูก้นกะทะที่เจียวเอาน้ำมันหมู)

พูดถึงเส้นใหญ่ นึกขึ้นได้ว่าทำไมยุคนี้ เส้นใหญ่ที่เจอส่วนใหญ่จะเป็นเส้นแบบเหนียวๆ ค่อนข้างใส เคี้ยวไม่่ค่อยจะขาด เคยให้ผู้ใหญ่ทาน เคี้ยวไม่ได้ก็กลืนลงไปทั้งก้อน เกือบจะอุดหลอดลมเอา เหมือนกับผสมแป้งมันหรือแป้งอะไรที่ไม่ใช่เป็นแค่แป้งข้าวเจ้าแบบแต่ก่อน เดี๋ยวนี้เลยไม่ค่อยได้ทานเส้นนี้อีก ทั้งๆที่แต่กอน เวลาทานก๋วยเตี๋ยวหมูสับหรือเย็นตาโฟ จะเลือกแต่เส้นใหญ่


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.พ. 20, 16:15
ดูวิธีทำเส้นใหญ่สมัยนี้ค่ะ

https://www.youtube.com/watch?v=badia7gzleo


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.พ. 20, 16:18
อีกวิธีค่ะ

https://www.youtube.com/watch?v=FTvXP7bXr5s


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ก.พ. 20, 18:47
หลายปีมาแล้ว เพื่อนพาผมไปกินก๋วยเตี๋ยวอย่างหนึ่งแถวถนนเจริญกรุงใกล้ๆตรอกคลองถม มีลักษณะคล้ายเย็นตาโฟ มีลูกชิ้นและเต้าหู้ยัดใส้และพวกของทอด แต่ไม่ใส่ผักบุ้ง ซอสสีแดงเพื่อนบอกว่าทำจากข้าวหมากข้าวเหนียวแดงออกรสหวานนิดหน่อย ผมไม่ทราบว่าเป็นก๋วยเตี๋ยวแคะแบบที่คุณ naitang เคยกินหรือไม่(จากหาบที่เป็นตู้สี่เหลี่ยม)

ผมไปเดินดูของเก่าที่ตลาดคลองถมตั้งแต่ตลาดยังไม่ขยายไปชนสี่แยกวรจักร จะเป็นวันเสาร์หรืออาทิตย์ก็ได้ จนกระทั่งของเก่าที่เป็นลักษณะของสะสมค่อยๆหายไป จึงได้เว้นระยะไปบ้าง หากจะไปก็เพื่อไปหาพวกเครื่องมือรุ่นเก่าๆบางอย่างที่มีคุณภาพดีกว่าของใหม่ในปัจจุบัน  ในปัจจุบันนี้เกือบจะไม่ได้ไปเดินแล้ว

อาหารตามลักษณะที่คุณ pratab ว่านั้น ดูคล้ายกับจะมำเป็นแบบเย็นตาโฟแบบไม่ใส่ผักบุ้ง จำได้ว่าก๋วยเตี๋ยวแคะที่หาบขายนั้นไม่มีเมนูใดที่ใส่เต้าหู้ยี้แดงบด/ยี (paste) แต่อาจจะผิดก็ได้นะครับเพราะไม่เคยสังเกตและไม่เคยเห็นผู้ใดสั่งกินเลย มีแต่สั่งว่า 'เส้นหมี่แคะ' เท่านั้น และก็เกือบจะไม่เห็นผู้ใดสั่งแบบแห้งอีกด้วย

สำหรับเต้าหู้ยี้สีแดงนั้น ถูกแล้วครับเขาหมักกับข้าวเหนียวแดง   ที่จริงก็น่าจะมีที่หมักกับข้าวเหนียวดำ(ข้าวก่ำ หรือ ข้าวลืมผัว)ด้วยนะครับ ยังไม่เคยเห็นสักที    เลยเกิดความอยากรู้ขึ้นมาว่า หากหมักกับข้าวสังข์หยด มันจะออกมาเป็นเช่นใด จะอร่อยใหม่ ?? 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ก.พ. 20, 19:02
อีกฝั่งหนึ่งของตลาดคลองถม (ฝั่งวัด) จะมีปอเปี็ยะสดขาหมู เป็นรถเข็นที่ตั้งขายอยู่เป็นจุดประจำ ไม่มีโต๊ะ มีแต่เก้าอี้ กินด้วยตะเกียบ ต้องใช้มือซ้ายประคองจานและใช้มือขวาแสดงฝีมือการใช้ตะเกียบกับปากในการกินชิ้นขาหมูติดกระดูก อร่อยและสนุกกับความพยายามครับ   หากจะให้อร่อยมากขึ้นก็ซื้อเอากลับมาบ้าน ใส่มัสตาดลงไปตามชอบ กินกับพริกดองน้ำส้ม ต้นหอมสด แล้วกินด้วยช้อนกับส้อม   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.พ. 20, 19:33
ปอเปี๊ยะสดขาหมู


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ก.พ. 20, 20:06
เห็นวิธีทำก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ที่ อ.เทาชมพู เอามาให้ดูแล้ว ทำให้นึกถึงอาหารอีกหลายอย่าง สักวันหนึ่งคงจะต้องลองทำกินเองดูบ้าง

เมื่อเข้าตลาดสดไปหาซื้อเส้นใหญ่มาทำอาหารกินเอง จะเลือกซื้อได้สองวิธี คือ ซื้อเป็นแผ่นแล้วเอามาตัดเองให้เป็นเส้นตามขนาดที่ต้องการ กับซื้อแบบที่เขาตัดเป็นเส้นใหญ่แล้ว (ก็ยังไม่เคยเห็นผู้ใดซื้อแล้วเอามาตัดทำเป็นเส้นเล็กด้วยตัวเอง)  จะเป็นอย่างใหนก็ตาม เมื่อซื้อมาแล้วก็ต้องเอามายีให้แต่ละเส้นแยกออกจากกัน แล้วก็ต้องเอาไปผ่านความร้อนก่อนนำมาใช้ จะด้วยวิธีการลวก การนึ่ง หรือการผัดในกะทะก็ตาม ทั้งหมดก็เพื่อทำให้มันสุก สะอาด และฆ่าเชื้อ    ก็มีข้อสังเกตอยู่ว่าเส้นก๋วยเตี๋ยวที่ขายอยู่ในแต่ละตลาดนั้น เมื่อเราเอามาผ่านกระบวนการก่อนใช้ดังที่กล่าวมา จะใด้ผลที่ต่างกัน ก็มีที่ยังคงสภาพทางกายภาพคล้ายเดิม กับที่มีสภาพต่างออกไป บ้างก็จะนิ่มเกินไปจนดูเละและบ้างก็จะเยิ้มติดกัน ซึ่งทางแก้ที่พอจะมี(ของผม)ก็คือการใช้น้ำมันกระเทียมคลุกเคล้าลงไป   ที่ผมใช้คำว่าแต่ละตลาดแทนที่จะใช้คำว่าแต่ละเจ้านั้น มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ คล้ายกับผู้ผลิตหรือผู้ส่งเขายึดเป็นพื้นที่การตลาดของเขา  


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ก.พ. 20, 18:52
ตัวผมเองชอบเส้นใหญ่ที่มีขนาดประมาณใหญ่กว่าแท่งดินสอนิดหน่อย ซึ่งดูจะมีแต่ในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะในภาคเหนือ  เส้นจะมีความหนาสองถึงสามเท่าของเส้นใหญ่ที่เราคุ้นเคยกันตามร้านก๋วยเตี๋ยวทั่วๆไป   ในปัจจุบันนี้เส้นใหญ่ที่ผมชอบนี้ก็ยังพอจะหากินได้อยู่ และก็ให้บังเอิญว่าร้านที่ใช้เส้นใหญ่แบบนี้มักจะเป็นเจ้าดังเจ้าอร่อยอีกด้วย   

ขอเลยเถิดไปอีกนิดนึงว่า ร้านก๋วยเตี๋ยวที่ใช้เส้นใหญ่ลักษณะดังที่กล่าวถึงนี้ มักจะมีเครื่องปรุงรสอีกอย่างหนึ่งนอกเหนือไปจากพวงเครื่องปรุงตามปกติที่เราคุ้นเคยกัน  คือพริกน้ำ (มิใช่น้ำส้มพริกตำ) ทำมาจากการตำพริกแห้งหรือที่คั่วพอได้กลิ่นน้ำมันหอมระเหย เอามาตำให้ละเอียดแล้วผสมกับน้ำ  พริกน้ำนี้เป็นเครื่องปรุงรสที่ผมเห็นว่าเป็นเครื่องชูรสที่เพิ่มความหอมและรสอร่อยให้ก๋วยเตี๋ยวแบบชาวบ้านที่ใช้ผักกาดขาว (จะปนกับถั่วงอกหรือไม่ก็ตาม)  แต่ดูจะไม่เข้ากันเลยกับที่ใช้ผักอื่นๆ (ตำลึง ถั่วฝักยาว ผักบุ้ง ...)     


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ก.พ. 20, 19:23
สำหรับผม พริกน้ำเป็นเครื่องแต่งกลิ่นหรือเครื่องชูรสอาหารที่น่าสนใจ     ลองเอาลูกชิ้นหมูเจ้าอร่อยมาผ่าครึ่ง ใส่หอมแดงผ่าสี่ ขิงแก่ปานกลางหั่นเป็นลูกเต๋า เอาพริกน้ำที่ทำแบบข้นหน่อยและใส่เกลือให้พอออกรสเค็มใส่ลงไปเสมือนเหยาะซ๊อสแต่มากหน่อย แล้วเคล้าให้ทั่วกัน อาจจะเพิ่มรสด้วยมะนาวหรือจะใช้มะนาวหั่นเป็นลูกเต๋าก็ไม่ว่ากัน  เป็นของกินเล่นยามบ่าย หรือจะเป็นเครื่องแก้มยามเย็นก็เด็ดดวง    (ผมแปลงมาจากของอร่อย หมูยอดังของเชียงรายสมัยที่ยังหาบขายยุคก่อน 2500 โน่น)


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ก.พ. 20, 20:22
ปอเปี๊ยะสดขาหมู

ปอเปี๊ยะสด จัดเป็นอาหารประเภทจานเรียกน้ำย่อย (starter / appetizer)  องค์ประกอบของเครื่องปรุงทั้งหลายหาได้ในตลาดเกือบจะทั้งหมด ที่มักจะไม่มีก็คือแป้งที่เอามาม้วน     ความอร่อยของมันส่วนมากก็ว่าอยู่ที่น้ำราด แต่ผมเห็นว่ามันอยู่ที่เครื่องในที่เอาเข้าไปม้วน  ที่ขาดหายไปเกือบจะสิ้นเชิงก็คือการใช้หมูตั้ง ในปัจจุบันนี้ดูจะมีแต่การใช้กุนเชียง  อีกอย่างหนึ่งก็คือไม่มีมัสตาร์ดป้ายมาให้ และใช้พริกสดแทนพริกดอง     เมื่อสั่งมาแล้วผมก็จะใช้พริกดองที่ใช้กับการปรุงก๋วยเตี๋ยวเพื่อช่วยปรับรส  คิดว่า หากใช้พริกดองแบบฝรั่ง (pickled pepper) น่าจะเข้ากันได้ดีมากยิ่งขึ้น       


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ก.พ. 20, 17:58
พูดถึงปอเปี๊ยะแล้วเลยนึกถึงฟองเต้าหู้ห่อเครื่องหมูสับแล้วนึ่ง  แต่ก่อนโน้นก็เกือบจะไม่มีร้านใดทำอยู่ขายแล้ว ในปัจจุบันนี้ไม่เคยเห็นอีกเลย อาหารจานนี้ยังมีปรากฎอยู่ในเมนูของร้านอาหารจีนในต่างประเทศ แต่จะต้องเป็นร้านอาหารจีนที่มีระดับหน่อย และก็จะต้องเป็นร้านที่ดำเนินการโดยคนจีนอีกด้วย มิใช่ร้านอาหารจีนที่ดำเนินการโดยคนขาติอื่น (เช่น เวียดนาม มาเลเซีย ...)

ฟองเต้าหู้ห่อไส้ที่เราเห็นกันจนชินตาในปัจจุบันนี้ก็คือ แฮ่กึ๊น เป็นชนิดที่ต้องใช้วิธีการทอดก่อนจะทานจึงจะมีความอร่อย ทั้งๆที่มันก็ผ่านการนึ่งให้สุกมาแล้ว  แต่ก่อนเป็นอาหารอยู่ตามเหลา ในปัจจุบันนี้ลงมาปรากฎตัวอยู่ตามตลาดและเพิงขายอาหารริมทาง จากอาหารที่เป็นจานกับข้าวเปลี่ยนมาเป็นของกินเล่น


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ก.พ. 20, 18:16
เขียนไปว่า 'แฮ่กึ๊น' อย่างเดียว   ที่จริงแล้วมี 'ห้อยจ๊อ' อีกด้วย   ทั้งสองอย่างนี้มีหน้าตาภายนอกเหมือนกัน แต่เนื้อในต่างกัน อันหนึ่งใช้เนื้อปู อีกอันหนึ่งใช้เนื้อกุ้ง ผมจำไม่แม่น มักจะสลับกันไปมา ก็เลยใช้วิธีสั่งด้วยการเรียกชื่อหนึ่งใดระหว่าง แฮ่กึ๊น กับ ห้อยจ๊อ แล้วต่อท้ายด้วยคำว่า กุ้ง หรือ ปู  ก็ได้ของมาดังที่ต้องการ   

เดี๋ยวนี้มีแบบใช้เนื้อไก่ทำเข้าไปอีก จะเรียกชื่อที่ถูกต้องว่าเช่นใดก็ไม่รู้  เห็นนิยมเรียกแบบย่อๆกันว่า 'จ๊อไก่'     ก็ดูง่ายดี ... จ๊อไก่ จ๊อกุ้ง จ๊อปู   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.พ. 20, 18:40
เขียนไปว่า 'แฮ่กึ๊น' อย่างเดียว   ที่จริงแล้วมี 'ห้อยจ๊อ' อีกด้วย   ทั้งสองอย่างนี้มีหน้าตาภายนอกเหมือนกัน แต่เนื้อในต่างกัน อันหนึ่งใช้เนื้อปู อีกอันหนึ่งใช้เนื้อกุ้ง
อาหารสองอย่างนี้ทำให้สับสนมาพักหนึ่ง    ตอนเด็กๆ รู้จักแฮ่กึ๊นดี  จะกินแฮ่กึ๊นต้องไปภัตตาคารจีน  แถวราชวงศ์มีให้กิน เป็นของอร่อย ทำด้วยแป้งผสมกับกุ้ง  ทอด หั่นเป็นชิ้นแบนๆรีๆ   กินกับน้ำจิ้มหวานๆ   ส่วนห้อยจ๊อเป็นห่อกลมๆ แขวนขายเป็นพวงๆ จะกินก็เอามาทอดอีกที
ต่อมา  เกิดอะไรขึ้นไม่ทราบ    อาหารที่เรียกว่าแฮ่กึ๊นเขาเรียกว่าห้อยจ๊อ   บางแห่งเรียกห้อยจ๊อว่าแฮ่กึ๊น   ทำเอางงว่าเรียกผิดมาตั้งแต่สมัยพ่อแ่ม่ทีเดียวหรือ   
มาอ่านกระทู้คุณตั้ง ต้องรีบกลับไปค้นในเน็ตว่าคำที่ถูกต้องคืออะไร    โล่งใจว่าเรียกถูกต้องมาแต่เดิมแล้วค่ะ

ข้างล่างนี้ซ้ายคือแฮ่กึ๊น  ขวาคือห้อยจ๊อ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ก.พ. 20, 18:55
ในปัจจุบันนี้ ฟองเต้าหู้เป็นของที่ยังมีการทำขายกันอยู่ แต่อาจจะต้องรู้แหล่งที่หาซื้อ หากจะหาซื้อก็ควรจะเข้าตลาดสดดั้งเดิม หรือที่ตั้งอยู่ในจุดที่เป็นชุมทางของการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างผู้คนต่างตำบล ต่างอำเภอ หรือระหว่างจังหวัด  (ในพื้นที่ใกล้กรุงเทพฯก็เช่น ตลาดท่าน้ำนนท์)

แต่ก่อนนั้น เราค่อนข้างจะเห็นว่ามีฟองเต้าหู้อยู่ในอาหารหลายอย่าง เช่น แกงจืดวุ้นเส้น  ผัดวุ้นเส้น ต้มจับฉ่าย ...  เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยจะเห็นแล้ว  สำหรับในต่างจังหวัดที่อยู่ไกลกรุงเทพฯค่อนข้างมากนั้น เกือบจะกล่าวได้เลยว่าหายไปหมดแล้ว คนรุ่นใหม่ไม่รู้จักกันแล้ว


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: pratab ที่ 16 ก.พ. 20, 19:30
พูดถึงปอเปี๊ยะแล้วเลยนึกถึงฟองเต้าหู้ห่อเครื่องหมูสับแล้วนึ่ง  แต่ก่อนโน้นก็เกือบจะไม่มีร้านใดทำอยู่ขายแล้ว ในปัจจุบันนี้ไม่เคยเห็นอีกเลย อาหารจานนี้ยังมีปรากฎอยู่ในเมนูของร้านอาหารจีนในต่างประเทศ แต่จะต้องเป็นร้านอาหารจีนที่มีระดับหน่อย และก็จะต้องเป็นร้านที่ดำเนินการโดยคนจีนอีกด้วย มิใช่ร้านอาหารจีนที่ดำเนินการโดยคนขาติอื่น (เช่น เวียดนาม มาเลเซีย ...) ........


ฟองเต้าหู้ห่อเครื่องหมูสับแล้วนึ่ง  นี้นำมากินได้เลยโดยไม่ต้องทอดก่อนหรือครับ เขาใช้น้ำจิ้มอะไรแล้วมีเครื่องเคียงด้วยหรือไม่ อาหารที่ว่านี้ยอมรับว่าไม่เคยกิน ที่คุ้นเคยคือ แฮ่กึ๊น และห้อยจ๊อ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ก.พ. 20, 19:42
ขอบพระคุณครับ   ความสับสนของผมก็คงยังจะต้องมีต่อไป  แต่ก็ได้จุดที่พอจะยุติความสับสนว่า ที่หั่นเฉียงนั้นเป็นเนื้อปู และที่เป็นก้อนกลมนั้นเป็นเนื้อกุ้ง (ซึ่งก็ไปเหมือนกับที่ใช้เนื้อไก่ซึ่งทำแบบก้อนกลมเหมือนกัน)  

นึกออกแล้วครับ แต่จะถูกหรือไม่ก็ไม่รู้  พวกเนื้อปูจะเป็นแท่งสั้น ที่เป็นเนื้อกุ้งจะเป็นม้วนยาว มัดเป็นข้อๆคล้ายใส้กรอกอีสาน ส่วนเนื้อไก่นั้นจะห่อเป็นแท่งสั้นแต่กลมต่างออกไปจากเนื้อปูที่ทำแบบคล้ายกับการห่อไว้เฉยๆ

ทำให้นึกออกอีกสองจ๊อ คือ จ๊อปลา และ จ๊อหมู     ก็เคยเห็นทั้งสองชนิดนี้ แต่ไม่เคยลองทาน   เคยทานแต่ 'ฮือก้วย' ทั้งแบบนึ่งและแบบทอด ซึ่งจะเป็นจ๊อกับเขาด้วยหรือเปล่าก็ไม่รู้  

จ๊อเหล่านี้เกือบจะไม่เห็นมีวางขายอยู่ในตลาดสดใน ตจว.  มันอยู่ในตลาดสั่งเสียมากกว่า


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ก.พ. 20, 20:25
.....ฟองเต้าหู้ห่อเครื่องหมูสับแล้วนึ่ง  นี้นำมากินได้เลยโดยไม่ต้องทอดก่อนหรือครับ เขาใช้น้ำจิ้มอะไรแล้วมีเครื่องเคียงด้วยหรือไม่ อาหารที่ว่านี้ยอมรับว่าไม่เคยกิน ที่คุ้นเคยคือ แฮ่กึ๊น และห้อยจ๊อ

ไส้ของมันนั้นมีลักษณะคล้ายกับไส้กรอกหมูสับกับไข่ที่ใส่ในต้มเลือดหมูหรือเย็นตาโฟ เพียงแต่มีเนื้อหมูสับมากและมีส่วนผสมอื่นๆ ไข่ใช้ในลักษณะเป็นเพียงตัวยึดเหนี่ยว (binder) มักจะเสิร์ฟมาในจานกลมประมาณ 8 ชิ้น ขนาดของแต่ละชิ้นก็ประมาณสองนิ้วมืออวบๆ (ใน ตปท.มักจะมีน้ำปรุงคล้ายๆกับน้ำก๋วยเตี๋ยวราดหน้าแบบไม่เหนียวราดหน้า) ไม่มีน้ำจิ้มเฉพาะของตัวมัน ก็ใช้ซีอิ๊วขาวหรือจิ๊กโฉ่วปรับรสตามแต่จะชอบ   แล้วก็ไม่มีเครื่องเคียงครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: pratab ที่ 16 ก.พ. 20, 20:36
ขอบคุณครับ อ่านแล้วทำให้นึกถึงหมูสับผสมไข่ที่เอามายัดในลำใส้เล็กหมูที่เรียกว่า "ลูกรอก" ที่ทำเป็นแกงจืดหรือหั่นมากินเล่นก็ได้


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.พ. 20, 20:48
แกงจืดลูกรอกเป็นแกงโบราณที่หาไม่เจอตามร้านอาหาร   เคยได้กินหนหนึ่งในงานเลี้ยงค่ะ   เป็นของหายากไปแล้ว
ดีใจที่มีคนจำได้ค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.พ. 20, 18:28
ลูกรอกยังหากินได้ในบางตลาดใน ตจว.ครับ ที่มีขายแน่ๆและเกือบจะทุกวันก็ในตลาดบ่ายในเมืองและบางตลาดในบางอำเภอของ จ.เชียงราย  ทำมาขายในรูปของแกงจืดวุ้นเส้นหมูสับใส่ลูกรอก   

ผมชอบกินลูกรอกแต่เป็นแบบกินเล่น  เคยเห็นที่บ้านทำเมื่อครั้งยังเด็กอยู่ กระบวนการทำค่อนข้างยากและเสียเวลามากอยู่  เริ่มจากเอาไส้หมูมาแต่งมาล้างให้สะอาด จากนั้นก็ถลกกลับชาติ เอาด้านในออกข้างนอก เอาใส่กะละมังใส่เกลือแล้วขยำเพื่อกำจัดมันและเมือกให้น้อยลง ขูดมันและสิ่งที่ไม่ต้องการทั้งหลายทิ้งไปให้สะอาดตามที่ต้องการ สะอาดพอใจดีแล้วก็ถลกกลับสู่แบบเดิม จากนั้นก็จึงเอาไข่หลายฟองมาตีให้แหลก ปรุงรส และใส่เครื่องอื่นใดตามต้องการ  ใช้กรวยกรอกไข่ลงไปในไส้ที่ผูกปลายด้านหนึ่งไว้ จากนี้ก็เป็นความชำนาญว่าจะต้องใช้ปริมาณไข่มากน้อยเพียงใดสำหรับขนาดความใหญ่ของลูกรอกตามที่ต้องการ เพราะว่าใส้สามารถยืดขยายได้ค่อนข้างมาก   กรอกไข่แล้วก็เอามาขดเป็นวงในถาดแต่งให้มันมีขนาดเท่าๆกันที่เส้น แล้วเอาไปนึ่งให้สุก จากนั้นก็เอามาตัดเป็นข้อๆตามขนาดที่ต้องการ เมื่อเอาที่หั่นแล้วไปต้มไปแกงอีกครั้งหนึ่ง ตัวไข่ก็จะบานออกส่วนตัวไส้ก็จะทำตัวคล้ายเป็นข้อรัด ก็เลยได้เป็นทรงลูกรอก

ลูกรอกเป็นของที่กินอร่อยอย่างบอกไม่ถูก มันมีเนื้อที่แน่นแต่นุ่ม (dense and moise) มีความเหนียวจากไส้มาช่วยให้รู้สึกว่าเคี้ยวมัน (chewy)  จำได้ว่าเคยจิ้มกับซอสพริกศรีราชา อร่อยเหลือหลายจริงๆ  น่าเสียดายว่ามันไม่มีเฉพาะลูกรอกวางขายแต่ใหนแต่ไรมาแล้ว


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.พ. 20, 19:07
ไส้อีกอย่างหนึ่งที่เกือบจะไม่มีวางขายในตลาดสดในกรุงเทพฯและในหลายตลาดในพื้นที่เมือง แต่ใน ตจว.กลับพบได้แม้ในตลาดชุมชน ก็คือ ใส้ตัน     เป็นของอร่อยอีกอย่างหนึ่งที่ทำกินง่ายๆเพียงเอามาลวกจิ้ม ซึ่งน้ำจิ้มที่ง่ายๆและเข้ากันได้ดีก็คือซีอิ๊วขาว จะให้ดูน่ากินมากขึ้นก็เจียวกระเทียมราดลงไปบนไส้ที่หั่นใส่จานแล้ว   แต่หากจะทำให้เป็นแบบร้านอาหาร/ภัตตาคารหน่อย ก็เอาไส้ที่ลวกแล้วมาทอดกับกระเทียมพริกไทยแล้วจิ้มกับซอสพริกศรีราชา  อร่อยทั้งนั้นเลยครับ

สำหรับไส้อ่อนนั้น จะพบเห็นได้ตามแผงลอยที่ขายอาหารอิสาน ที่เอามาปิ้งย่างแล้วจิ้มกับแจ่ว แผงที่ทำของปิ้งย่างขายแบบนี้ก็จะต้องมีลิ้นหมู มีหูหมู และเนื้อส่วนคอหมูย่างขายรวมอยู่ด้วย


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.พ. 20, 19:15
ไส้ตัน


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.พ. 20, 20:12
ก่อนที่จะลืม  ยังมีอีกไส้หนึ่งที่หากินได้ยากเต็มทีคือ ข้าวเหนียวยัดใส้  แผงหนึ่งเจ้าอร่อยที่ยังคงทำขายอยู่ ณ ขณะนี้ อยู่ที่ตลาดปีระกา

ข้าวเหนียวยัดไส้เป็นของคู่ที่มีการทำขายอยูในร้าน หาบเร่หรือแผงลอยที่ขายตือฮวนเกี้ยมไฉ่  อาหารเมนูนี้ ในประสบการณ์ของผมได้เห็นอยู่สองวิธีการกิน ซึ่งโดยหลักการแล้วก็เหมือนๆกันคือ เป็นอาหารชุดเครื่องในหมูกับข้าวเหนียวยัดไส้


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: superboy ที่ 17 ก.พ. 20, 21:21
ช่วงนี้ผมงานยุ่งมากเลย  :-\  แต่ยังตามอ่านอยู่เรื่อยๆ เพื่อเก็บความรู้นะครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.พ. 20, 08:11
ก่อนที่จะลืม  ยังมีอีกไส้หนึ่งที่หากินได้ยากเต็มทีคือ ข้าวเหนียวยัดใส้  แผงหนึ่งเจ้าอร่อยที่ยังคงทำขายอยู่ ณ ขณะนี้ อยู่ที่ตลาดปีระกา
ข้าวเหนียวยัดไส้เป็นของคู่ที่มีการทำขายอยูในร้าน หาบเร่หรือแผงลอยที่ขายตือฮวนเกี้ยมไฉ่  อาหารเมนูนี้ ในประสบการณ์ของผมได้เห็นอยู่สองวิธีการกิน ซึ่งโดยหลักการแล้วก็เหมือนๆกันคือ เป็นอาหารชุดเครื่องในหมูกับข้าวเหนียวยัดไส้
ข้าวเหนียวยัดไส้ ทำให้นึกถึงบ๊ะจ่างด้วยค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ก.พ. 20, 18:47
ก่อนที่จะลืม  ยังมีอีกไส้หนึ่งที่หากินได้ยากเต็มทีคือ ข้าวเหนียวยัดใส้  แผงหนึ่งเจ้าอร่อยที่ยังคงทำขายอยู่ ณ ขณะนี้ อยู่ที่ตลาดปีระกา
ข้าวเหนียวยัดไส้เป็นของคู่ที่มีการทำขายอยูในร้าน หาบเร่หรือแผงลอยที่ขายตือฮวนเกี้ยมไฉ่  อาหารเมนูนี้ ในประสบการณ์ของผมได้เห็นอยู่สองวิธีการกิน ซึ่งโดยหลักการแล้วก็เหมือนๆกันคือ เป็นอาหารชุดเครื่องในหมูกับข้าวเหนียวยัดไส้

วิธีการหนึ่งเป็นแบบที่เราคุ้นเคยกัน คือ กินโดยจิ้มกับซ๊อสข้นเหนียวสำดำ  ส่วนอีกวิธีการหนึ่งนั้นเคยเห็นที่เมืองฮานอยของเวียดนาม ซึ่งคิดว่าคงจะเป็นวิธีกินแบบดั้งเดิมของเขา (เห็นเมื่อสมัยเปิดประเทศใหม่ๆ) ที่เห็นนั้นเป็นเจ้าหาบเร่ ใช้ตู้สี่เหลี่ยมคล้ายหาบเร่ก๋วยเตี๋ยวแคะของบ้านเรา  มีเครื่องในหมูส่วนหนึ่งหั่นเป็นชิ้นค่อนข้างหนากับอีกส่วนหนึ่งที่ยังไม่หั่น แล้วก็มีข้าวเหนียวยัดไส้ แต่จะมีการใส่ถั่วแบบบ้านเราหรือไม่นั้น ไม่รู้ จำไม่ได้ว่ามีการใช้ผักอะไรด้วยหรือไม่ ชุดที่แม่ค้าขายประกอบไปด้วยเครื่องในตามสั่งใส่ในกระทงพร้อมกับข้าวเนียวยัดไส้ที่หั่นเฉียงเป็นแว่นๆ  เป็นลักษณะของการกินแบบกินข้าวเหนียวยัดไส้กับเครื่องในหมูต้ม หรือ กินเครื่องในหมูต้มกับข้าวเหนียวยัดไส้    (vise versa -วลีภาษาไทยสั้นๆที่เหมาะสมควรจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ ?)

ความอร่อยของข้าวเหนียวยัดใส้นั้นประกอบไปด้วยการเลือกใช้ข้าวเหนียวใหม่หรือไม่ก็ต้องแช่ข้าวเหนียวในน้ำนานข้ามคืนก่อนที่จะเอาไปทำ กระทั่งถั่วลิสงเองยังต้องรู้วิธีทำให้มันสุกนิ่มเนียนไปกับตัวข้าวเหนียว   อีกอย่างหนึ่งก็คือตัวน้ำจิ้ม ซึ่งจะมีสูตรลับเฉพาะของแต่ละเจ้าในการใช้เครื่องปรุงและการเคี่ยวจนได้ที่ ซึ่งมิใช่เรื่องง่ายๆแต่เพียงใช้ซีอิ๊วหวานหรือการผสมซีอิ๊วหวานทดแทนก็ได้

ทำเองไม่เป็นหรอกครับ ได้ความรู้บางส่วนมาจากการพูดคุยกับแม่ค้าแผงลอยเจ้าอร่อยที่ปากทางเข้าตลาดปีระกา


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ก.พ. 20, 19:37
ข้าวเหนียวยัดไส้ ทำให้นึกถึงบ๊ะจ่างด้วยค่ะ

บอกตรงๆว่าผมไม่ชอบบะจ่าง  ซึ่งก็มีอยู่เพียง 2 สาเหตุ คือ เรื่องของการขาดความพิถีพิถันในการเลือกใช้ข้าวเหนียว และการขาดความพิถีพิถันในการเลือกใช้เครื่องปรุงที่มีความกลมกลืนกันในเรื่องของรสและกลิ่น ไปเน้นในด้านความเป็นยอดของเครื่องที่ใส่ลงไปเสียมากกว่า  มันเลยทำให้ดูแห้งๆ รู้สึกกระด้าง รสกระโดกกระเดก  แต่ก็มีที่เคยกินแล้วรู้สึกว่าโอเคนะครับ

บะจ่างมีทั้งแบบเค็มและแบบหวาน ที่เห็นทำมาวางขายกันมากๆก็จะเป็นแบบเค็ม บะจ่างหวานนั้นดูจะหายากเต็มที    แต่ก่อนนั้นจะมีบะจ่างออกมาวางขายก็จะเป็นในช่วงที่เรียกกันว่าเทศกาลบะจ่าง (ประมาณกลางๆปี)  เดี๋ยวนี้เห็นมีวางขายกันทั้่งปี 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: pratab ที่ 18 ก.พ. 20, 19:38
น่าเสียดายนะครับแม่ค้าที่ขายตือฮวนกับข้าวเหนียวยัดไส้ที่ตลาดปีระกาเดี๋ยวนี้ไม่มีแล้วย้ายไปไหนไม่ทราบ ตั้งแต่เขาทุบตลาดเพื่อทำศูนย์การค้าเมื่อหลายปีก่อน


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.พ. 20, 20:37
ขนมและของว่างแบบโบราณของไทย สูญหายไปจากตลาดเยอะแล้วค่ะ
ที่ทำกันอยู่ รสชาติก็ไม่เหมือนเดิม


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ก.พ. 20, 20:39
ผมว่ายังอยู่นะครับ ไม่กี่เดือนมานี้ยังแวะไปเยี่ยมเยียนซื้อข้าวเหนียวยัดไส้อยู่เลยครับ แต่สภาพร้าน(ห้องแถว)ด้านหลังแผงลอยของแกนั้นปิดไปหมดแล้ว    

อนึ่ง อันว่าข้าวเหนียวยัดใส้นี้ หากจะซื้อมาทั้งแท่งแล้วเอามาหั่นเองนั้น จะต้องใช้มีดที่มีความคมมากๆ เถือไปในทิศทางเดียวให้ขาด หากเกือไปเถือมาก็ยังจะให้ย่นและเละไม่เป็นรูปทรงไปหมด

ตลาดปีระกาเป็นตลาดเก่า มีของกินดีๆอยู่ไม่น้อย เช่น มีเจ้าที่ขายเต้าหู้ขาวก้อนขนาดประมาณ 5x5 ซม.และขายกระเพาะหมูทั้งใบต้มสุกแล้วด้วย   มีเจ้าอร่อยที่ขายก๋วยเตี๋ยวเนื้อวัวและเจ้าที่ขายก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาอยู่ห้องแถวติดกัน เดี๋ยวนี้ย้ายไปขายที่ใหนก็ไม่รู้    แล้วก็มีเจ้ารถเข็นที่ขายบะหมี่หวาน ก็ย้ายไปอยู่ที่ใหนก็ไม่รู้อีกเช่นกัน


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.พ. 20, 20:53
บะหมี่หวาน เป็นยังไงคะ คุณตั้ง


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ก.พ. 20, 21:11
โยงให้นึกถึงขนมจ้างที่มีทรงห่อเหมือนๆกับบ๊ะจ่าง ตามปกติบ๊ะจ่างและขนมข้างจะทำออกมาขายในช่วงเวลาเดียวกัน  แต่ก่อนนั้นขนมข้างจะทำเป็นขนาดเล็กพอเหมาะสำหรับแต่ละคำ เดี๋ยวนี้ทำขนาดใหญ่ขึ้น ต้องกัดแบ่งออกเป็นสองสามคำ    เอาขนมจ้างมาจิ้มกับน้ำตาลทรายแดง อร่อยดีครับ  ก็เป็นของชอบของผมอีกเช่นกัน กล่าวได้ว่าเมื่อเห็นก็ต้องแวะดู แล้วก็จะเลือกเอาพวกที่มีห่อขนาดเล็กๆ    

ความอร่อยของขนมจ้างโดยส่วนตัวของผมก็คือ จะต้องมีความฉ่ำ เนื้อเนียนและนุ่มนวลคล้ายกับสัมผัสของแผ่นบนสุดของขนมชั้น    และขนาดที่เมื่อแกะห่อแล้วจะมีขนาดประมาณลูกชิ้นเนื้อ หมู หรือปลา    ซึ่งก็อีกละครับไม่เห็นว่ามีการทำกันในลักษณะที่กล่าวถึงนี้เลยใน ปัจจุบันนี้


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.พ. 20, 08:35
ขนมจ้าง   ไม่เจอมาหลายปีแล้วค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ก.พ. 20, 19:26
บะหมี่หวาน เป็นยังไงคะ คุณตั้ง

โดยภาพง่ายๆก็คือเต้าทึงหรือโบกเกี้ยที่ใส่เส้นบะหมี่ลงไปครับ    เต้าทึงก็มีทั้งแบบร้อนและแบบเย็นใส่น้ำแข็ง แต่ที่เคยเห็นจะเป็นแต่บะหมี่หวานแบบเย็น เคยลองแวะนั่งสั่งกินอยู่เพียงครั้งเดียว ก็ไม่ถึงขนาดไม่ชอบ แต่ด้วยที่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงความหวานให้มากที่สุด ก็เลยให้ความเห็นได้ไม่มากนัก มีแต่เพียงความเห็นว่า มันอุดมไปด้วยความหวานจริงๆ ทั้งความหวานแบบที่ให้พลังงานแบบทันใดและแบบที่ทะยอยปล่อยออกมา   

ผมอาจจะยังไม่เคยได้ลองกินเต้าทึงหรือโบกเกี้ยที่รู้สึกว่าอร่อยถูกใจจริงๆ มีแต่ความรู้สึกว่ารสของเครื่องปรุงแต่ละชนิดมันฉีกไปคนละทิศคนละทางจริงๆ มันยังไม่สามัคคีช่วยกันสร้างความเข้ากันได้อย่างดีอย่างมีความนุ่มนวล   

แท้จริงแล้วผมยังแยกความต่างระหว่างของหวานสองชื่อนี้ไม่ออกเลย  :-X       


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ก.พ. 20, 19:50
บ๊ะจ่างกับขนมจ้างเป็นของจีน ใช้ใบของพืชตะกูลไผ่ในการห่อ แล้วใช้วิธีการทำให้สุกด้วยการนึ่ง   

ทำให้นึกถึงของแบบไทยที่ใช้ข้าวเหนียวเช่นกัน ใช้วิธีการนึ่งให้สุกเหมือนกัน เรานิยมเรียกว่าข้าวต้มมัด เรียกว่าข้าวต้มผัดก็มี  และชื่ออื่นๆ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.พ. 20, 20:08
บะหมี่หวาน


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.พ. 20, 20:12
ฟังคำบรรยายบะหมี่หวานแล้ว   ถ้าได้กินก็คงไม่ชอบค่ะ
แต่ชอบข้าวต้มผัด   (ตอนหลังกลายเป็นเรียกว่าข้าวต้มมัด)  ถึงหวานก็ชอบอยู่ดี    เพราะหวานในเนื้อจากกล้วย และหวานมันจากกะทิ  ไม่ใช่หวานน้ำตาล

ข้าวต้มผัดสมัยก่อนอันใหญ่มาก  แค่กินสองชิ้นประกบกันก็อิ่มแทนข้าวมื้อหนึ่งเต็มๆ    ผิดกับเดี๋ยวนี้ เหลืออันเล็กนิดเดียวค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.พ. 20, 09:02
ของหวานที่เป็นข้าวเหนียวใส่น้ำหวานๆอีกอย่างที่ไม่ได้เห็นนานแล้ว คือข้าวต้มน้ำวุ้น
ขอสารภาพว่าไม่ชอบ และกินไม่ได้เลย ทั้งๆเป็นอาหารอร่อยของคนอีกมาก
รู้สึกว่าข้าวเหนียวกับน้ำเชื่อมไปด้วยกันไม่ได้ค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.พ. 20, 18:15
เห็นด้วยครับ ข้าวเหนียวกับน้ำเชื่อมไปด้วยกันไม่ได้ และเห็นว่าเป็นจริงในปัจจุบันนี้  เดี๋ยวนี้ร้านที่ขายของหวานพวกนี้ได้ย้ายขึ้นไปอยูใน Food court หรือ Food Center ของห้างสรรพสินค้ากันหมด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็มิได้มีขายกันทุกแห่งไป

แต่ก่อนนั้นยังพอมีเจ้าที่ทำข้าวต้มน้ำวุ้นได้อร่อยๆพอจะให้เลือกหากินได้    ซึ่งในความเห็นของผม ตัวข้าวต้มมัดนั้นจะมีขนาดเล็กพอตักใส่ปากได้ทั้งก้อนหรือเพียงตัดแบ่งครึ่ง มิใช่ต้องตัดออกเป็นสามส่วนเป็นอย่างน้อยดังในปัจจุบัน ตัวข้าวเหนียวที่ใช้จะเป็นข้าวเหนียวใหม่ ห่อไม่แน่นมากนัก ต้มในน้ำเดือดที่ใส่ใบเตยลงไปด้วย ซึ่งจะทำให้เมื่อต้มแล้วข้าวจะสุกนิ่มและหอม มิใช้แน่นจนเป็นก้อนแข็งขนาดใช้ข้อนตัดให้เป็นชิ้นเล็กลงได้ยากดังในปัจจุบัน ตัวน้ำเชื่อมที่ใส่ลงไปก็จะเป็น light syrup ที่หอมด้วยใบเตยอ่อนๆ  ไม่แน่ใจนักว่าผู้ขายเขาใช้น้ำเชื่อมทำจากน้ำตาลกรวดหรือจากน้ำตาลทราย เพราะรสจะออกไปทางรสเย็นมากกว่าหวานแหลม  และก็จะต้องใส่ขนุนฉีกเป็นเส้นๆ จะใส่ลูกชิดลงไปด้วยก็จะเพิ่มความอร่อยมากขึ้น  สำหรับผมนั้น จะให้เด็ดจริงๆก็จะต้องใส่ลูกลานเชื่อม (ของอร่อยที่หายาก)


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.พ. 20, 18:28
ข้าวเหนียวที่กินกับของหวานได้อร่อยอีกอย่างคือ ไอศกรีมกะทิใส่ข้าวเหนียวค่ะ     ทำไมรู้สึกว่าไปกันได้ดีกว่าข้าวเหนียวกับน้ำเชื่อมก็ไม่ทราบ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.พ. 20, 18:43
แต่ที่ชอบที่สุดคือไอศกรีมก้อนกลมๆอัดลงระหว่างขนมปัง โรยถั่ว มีลูกชิด ข้าวเหนียว แล้วแต่จะเลือกค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.พ. 20, 19:12
ข้าวเหนียวที่เอามาห่อด้วยใบพืชต่างแบบมีใส้หรือแบบไม่มีใส้แล้วเอาไปทำให้สุกด้วยการนึ่งหรือต้ม   ของกินที่ทำในลักษณะนี้ดูจะเป็นของกินที่มีความเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของสังคมและวัฒนธรรมของไทยเรา ไม่รู้ว่าจะจัดเป็นอาหารประเภทใดหรืออย่างไรดี   ก็มีทั้งที่เป็นอาหารเบาๆหรือเป็นของประทังความหิวและแก้ท้องว่างในช่วงเวลาต่างๆ เช่นในระหว่างการเดินทาง  ในช่วงพักงานเวลาบ่ายระหว่างการทำงานหนัก/ใช้แรงงาน  เป็นของกินเล่นแก้ปากว่าง....   และก็มีการทำที่ไปผูกพันกับประเพณีและวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับทางศาสนา เช่น ข้าวต้มลูกโยน....

ชื่อที่เราคุ้นๆหูกันเกี่ยวกับข้ามต้มก็จะมี  ข้าวต้มมัด ข้าวต้มผัด ข้าวต้มลูกโยน ข้าวต้มน้ำวุ้น ข้าวต้มกล้วย ข้าวต้มใส้ถั่ว ข้าวต้มมัดใต้ ข้าวต้มหัวหงอก ข้าวต้มจิ้มน้ำตาล ข้าวต้มใบกะพ้อ ข้าวต้มพวง      ท่านผู้ใดรู้จักข้าวต้มเหล่านี้ก็ขอได้ช่วยขยายข้อมูลและความรู้ด้วยครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.พ. 20, 19:27
ข้าวต้มลูกโยน


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.พ. 20, 19:35
แต่ที่ชอบที่สุดคือไอศกรีมก้อนกลมๆอัดลงระหว่างขนมปัง โรยถั่ว มีลูกชิด ข้าวเหนียว แล้วแต่จะเลือกค่ะ

ของอร่อยชิ้นนี้ไม่รู้ว่ามีจุดเริ่มต้นหรือได้สูตร/วิธีการผสมผสานมาจากใหน ผู้ใดเป็นต้นคิด ??  น่าสนใจนะครับ มันมีกระจายให้เห็นอยู่ทุกแห่งในประเทศของเราหากพื้นที่นั้นๆมีสามารถจะมีรถเร่ขายเดินทางเข้าไปได้  ผมรู้จักมันมาตั้งแต่เป็นเด็กอยู่ ตจว.  มันอาจจะเป็นเมนูไอศครีมที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยเราก็ได้ จำได้ว่าพบเห็นมันได้แม้กระทั่งในร้านขายไอศครีมของโรงหนังเฉลิมไทยที่แยกผ่านฟ้า (นั่นหลายสิบปีมาแล้ว)   คลับคล้ายคลับคลาว่าในร้านขายไอศครีมแฟรนไชล์ชื่อดังในปัจจุบันก็ยังพยายามจัดคู่กับข้าวเหนียวมะม่วง


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.พ. 20, 19:55
   ไอศกรีมแบบนี้มีขายในรถเข็น จอดอยู่ข้างประตูทางออกของโรงเรียน   ต้อนรับเด็กนักเรียนที่เดินออกมาเพื่อจะกลับบ้าน    เมื่อซื้อคนขายก็หยิบขนมปังแท่งยาวๆออกมาผ่าเป็นสองซีก   ใช้ช้อนตักไอศกรีมกะทิออกมาเป็นก้อนกลม อัดลงไปตรงกลางขนมปัง  เทนมสดในกระป๋องเจาะรูลงไป  โรยถั่ว ข้าวโพด ลูกชิด หรือข้าวเหนียว แล้วแต่จะมีอะไรเป็นของประกอบ แต่ที่กินประจำคือโรยถั่ว
   จนบัดนี้ยังไม่เคยลืมรสชาติว่าอร่อยกว่าไอศกรีมราคาแพงๆเสียอีก     หรือเป็นเพราะในวัยเด็ก กินอะไรก็อร่อยไปหมด ก็เป็นได้นะคะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.พ. 20, 12:34
มีของหวานอีกอย่างที่เอาขนมปัง น้ำหวาน นมข้นแล้วน้ำแข็งมารวมกัน  กินดับร้อนได้วิเศษนักในวัยเด็ก คือน้ำแข็งไสใส่น้ำแดง
ตอนเด็กๆเคยเห็นคนขายไสน้ำแข็งก้อนสี่เหลี่ยมใหญ่บนเครื่องไสทำด้วยไม้ มีใบมีดอยู่ตรงกลาง   ไสไปมาจนน้ำแข็งร่วงผ่านใบมีดลงเป็นฝอยๆสีขาวใสอยู่เบื้องล่าง  มีชามรองรับ  
จากนั้น ใส่ขนมปัง ราดน้ำหวานสีแดงและนมข้นลงไปผสมกัน      กลายเป็นของหวานที่ชื่นใจในฤดูร้อน สำหรับเด็กๆ

เดี๋ยวนี้ดูเหมือนจะเปลี่ยนสัญชาติเป็นเกาหลีไปแล้ว  ชื่ออะไรจำไม่ได้ ชามมหึมา กินไม่ไหวค่ะ
 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ก.พ. 20, 18:18
ของหวานแบบใส่น้ำแข็งของไทยเรา มีอยู่ 2 รูปแบบ คือ แบบที่ใช้น้ำแข็งทุบเป็นก้อนเล็กๆ กับแบบที่ใช้น้ำแข็งป่น   ของหวานบางชนิดก็ถูกบังคับให้ใช้ได้แต่เพียงน้ำแข็งทุบเป็นก้อนเล็ก ก็มีอาทิ ลอดช่องน้ำกะทิ ลอดช่องสิงคโปร์ และพวกผลไม้ลอยแก้วทั้งหลาย    บางชนิดก็อยู่ในภาคบังคับต้องใช้น้ำแข็งป่น เช่น ของหวานดังภาพของอาจารย์เทาชมพู

แต่ก่อนนั้นพวกที่ใช้น้ำแข็งป่นนี้จะมีชื่อเรียกแบบรวมๆว่า น้ำแข็งไส ซึ่งที่เด็กๆชอบกันมากก็คือแบบที่ทำโดยเอาน้ำแข็งไสอัดลงไปในแก้วให้แน่น เอาไม้เสียบไว้ตรงกลาง เมื่อเอาออกมาก็จะคล้ายกับแท่งไอศครีม เอาน้ำหวานราดลงไป น้ำหวานที่ใช้ก็มีอยู่เพียง 2 สี คือสีแดงที่เรียกว่าน้ำสละ กับ น้ำเขียว(ผมมารู้ชื่อในภายหลังว่า cream soda)    อีกอย่างหนึ่งที่เป็นของฮิตกันก็คือ ลูกชิดใส่น้ำแข็งไส ซึ่งตามต่อมาด้วยการผสมผสานเครื่องประกอบอื่นๆตามใจชอบ...ขนมปังหั่นแบบลูกเต๋า ลูกบัว ฟักทองเชื่อม ลูกเดือย...ฯลฯ  แล้วก็มาถึงจุดยอดของมันที่ยังอยู่คงกะพันจนถึงทุกว้นนี้ คือราดด้วยนมข้นที่พัฒนาต่อมาเป็นการใช้ครีมนม     


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ก.พ. 20, 18:44
การใส่นมหรือครีมนี้ทำให้นึกถึงคำว่า "ยกล้อ"

จะเริ่มมีจากที่ใหนและเมื่อใดก็มิทราบ จำได้อย่างเลือนลางว่ารู้จักและคุ้นๆกับชื่อนี้แถวๆ พ.ศ.2510 โน่น แล้วก็ไม่รู้ว่าความนิยมมันหดหายไปตั้งแต่เมื่อใด  เชื่อว่าบรรดาท่าน สว.ทั้งหลายน่าจะรู้จักดี น่าจะเคยกิน เคยลอง    แม้จะเป็นของที่ทำเองได้ไม่ยาก แต่หากจะยังลองสั่งทานนอกบ้านก็ยังพอมีร้านที่เขาสนองให้อยู่ แม้จะมิใช่ใช้วิธีการปรุงแบบดั้งเดิมก็ตาม (เจ้ามีฝีมือเกี่ยวกับเป็ดพะโล/เป็ดตุ๋นในตลาดนางเลิ้ง)


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.พ. 20, 16:19
รู้จักคำว่า "ยกล้อ" แปลว่าใส่นมสดลงไปในกาแฟดำ หรือโอเลี้ยง   ตอนเด็กๆจำได้ว่าเป็นเครื่องดื่มของผู้ใหญ่  เด็กๆไม่กินกาแฟหรือโอเลี้ยง ก็เลยไม่รู้ว่ารสชาติอร่อยขนาดไหนค่ะ
ตอนนี้ยกล้อไม่มีในรายการของร้านกาแฟ แล้วใช่ไหมคะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ก.พ. 20, 18:26
ต่อข้อสงสัยว่า โอเลี้ยงยกล้อยังมีอยู่ในรายการของร้านกาแฟหรือไม่ ผมไม่แน่ใจครับ ด้วยที่ทั้งวันผมจะดื่มกาแฟถ้วยเดียวในตอนเช้า เลยไม่ได้สัมผัสกับร้านขายกาแฟใดๆมากนัก ว๊อบแว็บวอมแวมเหมือนกับเคยเห็นในพื้นที่ชานเมืองที่ยังคงมีวิถีแบบชาวบ้านๆดั้งเดิมคงอยู่และใน ตจว. จะเป็นประเภทร้านขายกาแฟแบบตั้งบาร์อยู่หน้าบ้าน   

สำหรับอีกข้อสงสัยว่า รสชาติเป็นอย่างไร   ข้อนี้ตอบยากครับ เพราะมันมีข้อแตกต่างกันมากพอสมควร
   เรื่องแรกคือ โอเลี้ยงแต่เดิมนั้นเป็นการชงด้วยถุงกาแฟ กาแฟของบางเจ้าจะใช้ผงกาแฟสำเร็จที่คั่วและบดมาแล้ว บางเจ้าก็ใช้กาแฟที่คั่วเอง บดเอง   ความแตกต่างของน้ำกาแฟที่ได้จะมาจากส่วนผสมอื่นใดที่ใส่คั่วไปกับเมล็ดกาแฟหรือจะแยกคั่วแล้วใส่ผสมเอามาบดรวมกันกตาม (เป็นความรู้ที่ได้จากผู้เฒ่าที่มีอาชีพขายกาแฟ แกเสียชีวิตไปแล้วครับ) ส่วนผสมอื่นใดนั้นเป็นสูตรเฉพาะที่ต้องหาความลงตัวและมีความเป็นเอกลักษณ์ด้วยตนเอง มันจึงเป็นความลับที่ส่งต่อสืบทอดกันเฉพาะในหมู่ลูกหลาน  ส่วนผสมอื่นใดเหล่านั้นที่ผมพอจำได้ก็จะมีอาทิ เมล็ดข้าวโพดและ เมล็ดมะขาม ก็แล้วแต่จะเลือกใช้กัน หรือผสมกันในสัดส่วนเฉพาะตัวใดๆ  สำหรับส่วนผสมอื่นๆนอกจากนี้ผู้เฒ่าไม่ยอมบอก จำได้ว่าก็มีการใช้น้ำตาลทรายแดงและเนยเล็กน้อยอีกด้วย ??   
   เรื่องที่สอง ก็เป็นเทคนิคการชงกาแฟ  ท่าน สว.ที่เคยอยู่ใน ตจว. จะต้องเห็นวิธีการชงกาแฟอย่างน้อยใน 2 ลักษณะ  วิธีการหนึ่งคือ เมื่อเราสั่ง ผู้ขายก็จะตักน้ำร้อนเทผ่านกาแฟในถุงลงแก้วไปเลย กับอีกวิธีการหนึ่งคือจะวนใช้น้ำที่ผ่านกาแฟเอามาผ่านอีกสองสามครั้ง  วิธีการดังกล่าวนี้อย่างน้อยก็จะทำให้ได้กาแฟที่มีความเข้มข้นและความหอมต่างกัน   

ก็เลยมีเจ้ากาแฟเจ้าประจำและเจ้าอร่อย


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ก.พ. 20, 19:01
โอเลี้ยงในปัจจุบันนี้ก็มีอยู่ 3 รูปแบบ คือแบบที่ชงสำเร็จแล้วใส่ขวดวางขายตามห้างทั่วไป ผู้ขายก็เพียงหยิบขวดมาเทลงในแก้วที่ใส่น้ำแข็งแล้วโดยไม่ต้องปรุงรสใดๆเพิ่มเติม    แบบที่สองเป็นแบบที่ต้องสั่ง ยุ่งยากนิดหน่อย ก็เป็นเพียงผู้ขายใช้กาแฟบดแล้วยึ่ห้อต่างๆที่มีวางขาย หรือใช้กาแฟที่ทางร้านสั่งคั่วแล้วเอามาบดเอง เรียกกันว่ากาแฟสด เมื่อชงเป็นกาแฟแล้วเรียกว่า อเมริกาโน    และแบบที่สามที่ชงขายกันตามแผงขายกาแฟ ก็เพียงใช้กาแฟผงสำเร็จรูปมาชง ก็ดูจะเรียกกันว่า กาแฟดำ (แต่ที่เรียกกันว่าอเมริกาโน่ก็มี) 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.พ. 20, 19:11
 โอเลี้ยงก็คือกาแฟดำใส่น้ำแข็ง   แต่พอไปกินอเมริกาโน่เย็น กาแฟดำใส่น้ำแข็ง  ทำไมรู้สึกว่าไม่ใช่โอเลี้ยงก็ไม่รู้ค่ะ
คงมีการปรุงรสแตกต่างกัน 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ก.พ. 20, 19:34
โอเลี้ยงหรือกาแฟดำเมื่อครั้งกระโน้นกับในปัจจุบันนี้จึงมีความแตกต่างกันค่อนข้างจะมาก   เมื่อเราเอามา 'ยกล้อ' มันก็ย่อมจะต้องมีสัมผัสต่างๆที่มีความต่างกัน

กาแฟแบบโบราณจะเป็นของเหลวที่มีความเข้มข้นมากกว่ากาแฟในปัจจุบัน(ที่มีสัมผัสใกล้ไปทางสารละลาย)  หากจะใช้คำที่วิริศมาหราหน่อยก็คงจะต้องใช้คำว่าของโบราณนั้นให้สัมผัสแบบ full body   อีกประการหนึ่ง กาแฟชงแบบถุงในสมัยก่อนนั้นจะใช้น้ำตาลทรายแดงซึ่งจะให้รสหวานที่นุ่มนวลมากกว่าความหวานแหลมของน้ำตาลทรายขาวในปัจจุบัน    

จริงๆแล้วเราสามารถสัมผัสความต่างของรสและกลิ่นหอมของกาแฟเมื่อใช้น้ำตาลหรือสารให้ความหวานที่ต่างกัน   ลองใช้น้ำตาล caramel sugar กับกาแฟร้อน ก็จะเห็นความต่างที่ค่อนข้างจะเด่นชัด    


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.พ. 20, 20:46
ยังคิดถึงโอเลี้ยงชงด้วยถุง  รสชาติขมจัดหวานจัด เข้ากันสนิทค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.พ. 20, 16:14
พูดถึงโอเลี้ยงแล้วก็นึกถึงกาแฟดำร้อน ที่เรียกว่า โอยัวะ   เป็นกาแฟร้อนสำหรับผู้ใหญ่  เด็กๆไม่กินกัน เพราะกินแล้วจะตาแข็ง นอนไม่หลับ
เมื่อก่อนปากซอยต่างๆมักจะมีร้านขายกาแฟแบบจีนโบราณ  มีโต๊ะกลมปูด้วยหินอ่อนเก่าแก่ และม้านั่งกลมๆ   คนที่ออกจากบ้านมาแต่เช้าตรู่ก็จะแวะกินกาแฟร้อน   คู่กับปาท่องโก๋ร้อนๆจิ้มนมข้น    หรือไม่ก็กินกับขนมครกร้อนๆ อร่อยนักหนา   
เดี๋ยวนี้หาโอยัวะในร้านแบบนั้นไม่ได้แล้ว ในเมืองหลวง   ต่างจังหวัดน่าจะยังพอมี


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.พ. 20, 19:07
กาแฟชงด้วยถุงยังพอหาได้อยู่ครับ ในซอยบ้านผมก็มีอยู่เจ้าหนึ่ง เป็นรถเข็นที่เข็นเข้าเข็นออกบ้านทุกวัน ผู้พ่อได้เสียชีวิตไปเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ตอนนี้ขายโดยลูกสาว  ก็ยังมีคนกินอยู่แต่มักจะสั่งเป็นกาแฟเย็นที่ใช้น้มข้นหวาน+น้ำตาลทรายแดง แล้วเยาะหน้าด้วยครีมนม

ที่หายไปไม่เห็นหน้ากันเลยจริงๆก็น่าจะเป็น โอยั๊วะ  เห็นมีแต่คนสั่งกาแฟดำร้อนที่ชงด้วยกาแฟสำเร็จรูป ซึ่งก็อีกเช่นกันที่เกือบจะไม่ค่อยเห็นแล้ว จะพอเห็นอยู่บ้างก็ในตลาดเก่าๆที่พยายามจัดทำให้เป็น living museum สำหรับนักท่องเที่ยว   เดี๋ยวนี้ผู้คนต่างก็หันเข้าไปซื้อกาแฟร้อนและเย็นในร้านสะดวกซื้อ 

นึกถึงภาพในสมัยดูหนังสือสอบก่อนจะจบการศึกษาภาคโรงเรียน  ผมใช้โอยั๊วะนี่แหละเพื่อแก้ง่วง และใช้ขนมปังประกบกุนเชียงย่างกับเตา(ลวด)ไฟฟ้าเพื่อแก้หิว   เมื่อจบออกไปทำงานแล้ว ก็เปลี่ยนไปกินกาแฟร้อน(ใส่นมข้น ซึ่งอาจจะมียกล้อนิดหน่อย) กับไข่ลวก 2 ฟอง เพื่อเรียกกำลังคืนจากอาหารมื้อเย็นที่หนักไปทางน้ำมากไปหน่อย ก่อนที่จะกินอาหารเช้าที่หนักท้องก่อนเดินทางออกไปทำงาน 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.พ. 20, 20:11
กาแฟร้อนกับไข่ลวกสองฟอง ขนมปังปิ้งทาเนยโรยน้ำตาลแผ่นนึง ปาท่องโก๋อีกสองสามชิ้นจิ้มนมข้นหวาน เป็นเมนูอาหารเช้าแบบหนึ่งของผู้ที่ค่อนข้างจะรักสุขภาพ สำหรับพวกที่ต้องใช้พลังในการทำงานโดยทั่วๆไปก็จะต้องเป็นพวกข้าวราดแกง  หรือข้าวกับต้มเลือดหมู    ทั้งสามชุดเมนูพอจะจัดได้ว่าเป็นชุดอาหารเช้าของคนที่ต้องทำงานเข้าป่าเดินดงเช่นงานของผม   อาหารเหล่านี้มีขายอย่างพร้อมมูลในพื้นที่ของตลาดสดเช้าในเมืองตามจังหวัดต่างๆ

กาแฟก็มีเจ้าอร่อยดังที่เล่าถึงความต่างพอเป็นสังเขปแล้ว  สำหรับปาท่องโก๋(หรือที่ภาคใต้เรียกว่า อิ่วจาก้วย พม่าก็เรียกเช่นกัน) ดูจะมีอยู่ 2 แบบคือ แบบใช้แป้งหมักและแบบใช้แป้งสด   ที่ใช้แป้งหมักก็จะนิ่มและดูมีเนื้อมีหนัง แต่หากเป็นแบบแป้งสดก็จะออกไปทางกรอบ   



กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.พ. 20, 21:21
ยุคนี้ปาท่องโก๋ นมข้น กาแฟ กลายเป็นอาหารของผู้ไม่ค่อยรักสุขภาพเสียแล้วละค่ะ
แต่ก็ยังน่ากินอยู่ดี


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.พ. 20, 18:36
ของกินอีกอย่างหนึ่งที่มักจะตั้งอยู่ใกล้กับร้านกาแฟ-ไข่ลวก ก็คือ ร้านขายโจ๊ก  ผู้ที่สั่งโจ๊กกินมักจะเป็นพวกที่ทำงานอยู่ในเมือง    ก็มีข้อสังเกตอยู่เรื่องหนึ่งคือ คนไทยไม่กินโจ๊กแบบฉีกปาท่องโก๋ลอยหน้า เราจะกินแยกจากกัน และก็มีไม่มากนักที่จะกินปาท่องโก๋ในลักษณะเป็นของแนม   และอีกเรื่องหนึ่งก็คือมักจะปรุงรสโจ๊กให้มีรสจัดด้วยการใส่น้ำปลาหรือซีอิ๊วขาว ใส่พริกป่น และใส่น้ำส้มพริกดอง

โจ๊กที่อร่อยจะต้องใช้ปลายข้าวหอมกลางปี (ภาษาเหนือเรียกปลายข้าวว่า ข้าวเปี๋ยน) ใช้น้ำต้มกระดูกหมู และใช้เนื้อสันคอหมูในการทำบะช่อเพื่อใส่ในโจ๊ก  พื้นฐานที่สำคัญก็มีเพียงเท่านี้  แต่สามารถจะเพิ่มความอร่อยใด้อีกมากด้วยองค์ประกอบอื่นๆ ก็มี ในระหว่างการสับหมูก็ใส่รากผักชี เกลือ น้ำปลาหรือซีอิ๊วขาว และพริกไทย (และอาจจะใส่กระเทียมลงไปเล็กน้อยเพื่อดับกลิ่นคาวเนื้อก็ได้)  ปั้นเป็นก้อนล็กขนาดประมาณองคุลีนิ้วกลาง รูปร่างไม่ต้องกลมทรงเดียวกันไปหมด  ใช้ไข่เยี่ยวม้าแทนไข่ลวก ใช้ขิงกลางแก่กลางอ่อนซอยค่อนข้างละเอียด  ใช้หอมสดต้นเล็กและผักชีสำหรับโรยหน้า  ตักใส่ชามแล้วโรยด้วยเส้นหมี่ทอดกรอบ หรือด้วยแผ่นเต้าหู้ทอด   

สำหรับรสนิยมของผมนั้น จะเป็นโจ๊กใส่ไข่เยี่ยวม้า แก่ด้วยขิง หอมซอย ผักชี และพริกไทยป่นหยาบ  กินกับปาท่องโก๋จิ้มนมข้นหวาน   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.พ. 20, 19:27
ยังดีที่โจ๊กยังมีขายกันอยู่  โดยเฉพาะสามย่านค่ะ ยังมีหลายเจ้า และมีเจ้าอร่อย
โจ๊กที่คุณตั้งชอบคงเป็นแบบนี้


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.พ. 20, 19:29
กาแฟ-ไข่ลวก ปาท่องโก๋ โจ๊ก เป็นของกินที่พบได้ในทุกตลาดสดเช้าทั่วไทย  ก็มีของกินอื่นๆที่พบและบ่งบอกถึงลักษณะของวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น ในภาคเหนือซึกทางตะวันตกก็จะมีข้าวกั๋นจิ้น... ในซีกตะวันออกก็จะเป็นก็จะขนมจีนน้ำเงี้ยว...  ในภาคใต้ตอนบนก็จะมีข้าวเหนียวหน้าสังขยา... ภาคใต้ตอนล่างก็จะมีขนมจีนน้ำยา... ภาคใต้ตอนล่างสุดก็จะมีข้าวยำ... ในภาคอิสานตอนบนก็จะมีข้าวปุ้น(ขนมจีน)ต่างๆ  ในภาคกลางก็จะเป็นพวกต้มเลือดหมูเสียเป็นส่วนใหญ่...  ส่วนในอิสานตอนกลางและตอนล่าง รวมทั้งในภาคตะวันออกนั้นผมไม่มีข้อสังเกตุที่พอจะกล่าวถึงได้ครับ    ข้อสังเกตเหล่านี้ของผมเป็นเพียงประสบการณ์ที่สะสมมาในช่วงของการเดินทางทำงานในพื้นที่ต่างๆ จึงอาจจะมีความไม่ถูกต้องเลยก็ได้นะครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ก.พ. 20, 19:17
ตลาดสดเกือบทั้งหมดจะเป็นตลาดเช้า เริ่มติดตลาดตั้งแต่ประมาณตี 5 เป็นต้นไป แต่ของขายจะมีมาวางขายกันเต็มที่ในช่วงเวลาประมาณ 6 โมงเช้า ได้ข้อมูลจากการสนทนากับพ่อค้าแม่ค้าหลายๆคนสรุปได้ว่า บางคนคนจะต้องเตรียมของสำหรับขายกันตั้งแต่หลังเที่ยงคืน แต่ส่วนมากจะเริ่มตั้งแต่ประมาณตี 3 ตี 4   

สำหรับตลาดในต่างจังหวัดนั้น พวกผักสดและธัญพืชทั้งหลายอาจจะพอแยกออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ ที่เป็นของชาวบ้านปลูกเองหรือที่ไปรวบรวมมาจากผู้ปลูกในละแวกหมู่บ้านนั้นๆ กล่าวได้ว่าเป็นของสดจากเรือกสวนไร่นาจริงๆ  ของที่วางขายในลักษณะนี้มักจะอยู่ตามแผงเล็กๆ มีของแต่ละชนิดวางขายอยู่จำนวนไม่มาก มักจะหลากหลาย และไม่สวยงามนัก  ซึ่งก็อาจจะกล่าวได้อีกว่าค่อนข้างจะปลอดจากสรรพยาทั้งหลาย  ผู้ขายมักจะเป็นผู้สูงวัย    กับอีกกลุ่มหนึ่งเป็นของที่ผู้ขายไปซื้อมาจากแหล่งขายส่งแล้วเอามาจัดวางขาย ของพวกนี้มักจะเป็นของที่ผลิตกันในต่างถิ่นที่ ทำก้นในเชิงของสวนพืชผักเชิงเดี่ยว (ปลูกชนิดเดียวเพื่อให้ได้ปริมาณมากๆสำหรับการขายส่ง) มีระบบการคิดในเชิงอุตสาหกรรม  แผงที่ขายของพวกนี้มักจะเป็นแผงที่มีของขายแต่ละชนิดค่อนข้างมาก ขนาดและความสวยค่อนข้างจะใกล้เคียงกัน  ผู้ขายมักจะเป็นคนที่อยู่วัยหนุ่มใหญ่/สาวใหญ่  โดยนัย ของเหล่านั้นคงจะต้องผ่านการอุ้มชูด้วยสรรพยามาพอสมควร   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ก.พ. 20, 18:15
ตามภาพที่เล่ามา เมื่อผมไปเดินตลาดก็จึงนิยมที่จะเดินแร่ไปหาร้านแบกะดินที่แม่ค้านั่งวางของขายอยู่รอบๆอาคารตัวตลาด  นอกจากจะได้ของสดแบบธรรมชาติจริงๆแล้วก็ยังได้ของหายากที่มีอยู่ตามหัวไร่ปลายนา นอกจากนั้นแล้วก็ยังได้ช่วยเหลือเจือจุนให้เขามีรายได้เพิ่มขึ้นบ้าง ผมจะไม่ต่อรองราคาแต่จะใช้วิธีบอกว่าจะยังไม่ซื้อหรือยังนึกไม่ออกว่าจะเอาไปทำอะไรกิน (หากราคานั้นๆสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็นมากจนเกินไปมากๆ)      อีกประการหนึ่งคือ ผมได้มีโอกาสสัมผัสและพูดคุยกับชาวบ้านตัวจริง ได้เรียนรู้ปรัชญาและวิถีชิวิต ขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมของสังคม ผู้คนและของชุมชนในถิ่นนั้นๆ ได้ความรู้ในเชิงของภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ในการทำงานทั้งในเชิงวิชาการและในด้านของสถานการณ์ความปลอดภัยต่างๆ (โดยเฉพาะในช่วงเวลาของความขัดแย้งทางอุดมการณ์ และมีการปฏิบัติการทางการใช้กำลัง)

ตลาดในลักษณะดังกล่าวนี้ยังคงมีอยู่ในตัวเมืองของหลายๆจังหวัด (มักจะเป็นในพื้นที่กลางเมือง)   หากมีโอกาสได้ไปเที่ยวและค้างแรม ก็น่าจะหาโอกาสไปเดินชมบ้างก็นาจะดีนะครับ ผู้ขายทั้งหลายค่อนข้างจะเป็นมิตรกับนักท่องเที่ยว (เขาดูเราออกว่ามิใช่คนในพื้นที่) เพียงหยุดเมียงมองดูว่าของนั้นๆคืออะไรหว่า เขาก็จะบอกเราแล้วว่ามันคืออะไร บางที่ก็บอกด้วยว่าเอาไปทำอะไรกินโดยเราไม่ต้องถามต่อ   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ก.พ. 20, 19:21
ตลาดสดชุมชนในพื้นที่ กทม.และรอบๆ มีลักษณะที่น่าสนใจอยู่เรื่องหนึ่งคือ เป็นเสมือนสถานที่พบปะสังสรรค์ของผู้คน เรื่องต่างๆที่นำมาสนทนากันก็มักจะเป็นพัฒนาการของเรื่องราวต่างๆเกิดขึ้นในชุมชนนั้นๆ   เป็นพื้นที่ของผู้ที่ต้องการฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจที่พอจะดูแลตนเองได้   และเป็นพื้นที่ๆมีการแลกเปลี่ยนกันในเชิงขององค์ความรู้ต่างๆ   

จะน่าแปลกใจอยู่สักหน่อยก็คือ เกือบจะไม่ได้ยินการพูดหรือถกกันเรื่องของการเมืองทั้งในตลาดต่างจังหวัดและในพื้นที่ กทม.  แต่ก็อาจจะมีด้วยความระมัดระวังก็ได้


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ก.พ. 20, 18:47
ด้วยที่ตลาดชุมชนมักจะใช้พื้นที่ลานวัดในการตั้งโต๊ะหรือแผงลอยวางของขาย ตลาดเหล่านี้จึงมิใช่ตลาดใหญ่ แต่เป็นตลาดที่มีของสดวางขายค่อนข้างจะครบสำหรับการทำอาหารแบบไทยและแบบจีนทั่วๆไป รวมทั้งอาหารผรั่งบางชนิด  และด้วยว่าเมื่อมีวัดก็จะมีโรงเรียนอยู่ใกล้ๆด้วย ตลาดเหล่านี้ก็เลยมีพวกของกินและอาหารสำเร็จรูปขายอยู่ด้วย แต่มิใช่เพื่อขายเด็กนักเรียน เป็นของขายสำหรับผู้ปกครองที่จะซื้อกลับบ้านเตรียมใว้เป็นของกินแก้หิว(โซ)ของเด็ก และเป็นอาหารของครอบครัว    ตลาดวัดเหล่านี้บยังมีลักษณะเป็นกึ่งตลาดนัดด้วย คือในแต่ละวันของสัปดาห์ก็จะมีผู้ขายต่างถิ่นเอาของเฉพาะประเภทหรือเฉพาะอย่างมาวางขายตามวันที่มีการตกลงกันกับผู้ขายอื่นๆและผู้จัดการตลาด(มรรคทายก) ก็มีทั้งแบบโผล่มาสัปดาห์ละครั้งสองครั้ง หรือเดือนละครั้ง กระทั่งหลายๆเดือนครั้งตามวาระงานต่างๆของวัด

ผมไปตลาดวัดใกล้บ้านเช่นนี้จะว่าทุกวันก็ว่าได้ เช้าตลาดหนึ่งของวัดหนึ่ง เย็นของอีกวัดหนึ่ง แต่บางวันก็โฉบไปเดินตลาดอื่นที่ไกลออกไปเล็กน้อยอีกด้วย   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ก.พ. 20, 19:58
ผมมีข้อสังเกตว่า ตลาดวัดมีความสะอาดมากกว่าตลาดเอกชนโดยทั่วไป ซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะว่า มันเป็นตลาดเปิด ไม่อยู่ในโรงเรือน และไม่มีหลังคาถาวร มีแต่การใช้ร่มตั้ง  เมื่อแดดออก อากาศร้อน ผู้ซื้อก็ไม่ไป ตลาดก็จะวาย ผู้ขายก็จะเก็บของกลับบ้านกันไป พื้นที่ก็จะถูกปัดกวาดเพื่อใช้ประโยชน์อื่นใดต่อไป 

เมื่อตลาดชุมชนเหล่านี้ใช้พื้นที่ๆวัดจำแนกให้เป็นพื้นที่เพื่อกิจกรรมสาธารณะ ประกอบกับที่วัดแต่ละวัดมีลักษณะเป็นจุดศูนย์กลางของความเชื่อมโยงระหว่างผู้คนในชุมชนย่อยต่างๆที่กระจายกันอยู่ในพื้นที่นั้นๆ เมื่อเป็นในลักษณะเช่นนี้ ก็คงจะไม่แปลกนักที่จะมีฝ่ายปกครองเข้าไปช่วยสนับสนุนอยู่หลังม่านและช่วยดูแลกิจกรรมต่างๆและในแง่มุมต่างๆที่มีการดำเนินการโดยวัด อาทิ ไฟฟ้า ประปา และสุขอนามัยในด้านต่างๆ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.พ. 20, 16:45
ไม่รู้ว่าตลาดแถวบ้านคุณตั้งเงียบเหงาลงไปมากไหมคะ ในวันนี้     


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ก.พ. 20, 18:47
ตลาดเงียบลงไปใหม?  ขอตอบดังนี้ครับ  จำนวนผู้มาเดินซื้อของก็ดูเท่าๆเดิม ความหลากหลายและปริมาณของที่นำมาวางขายของแต่ละเจ้าก็ดูเท่าๆเดิม ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายเกือบทั้งหมดต่างก็ไม่ได้คาดที่ปิดจมูกกัน มีแต่เด็กๆที่มาเดินกับพ่อแม่ในวันเสาร์-อาทิตย์ที่คาดกรองปิดจมูก ก็คือเป็นสภาพของตลาดตามปกติครับ   

สำหรับที่เห็นว่าต่างออกไปจากปกติในช่วงเวลานี้ก็คือ ผู้ซื้อจะใช้เวลาเดินซื้อของเร็วกว่าปกติ ไม่ใช้เวลานานในพื้นที่ๆมีผู้คนเป็นจำนวนมากอยู่ร่วมกัน  ก็คือไม่ค่อยจะเดินนวยนาดและใช้เวลาพูดคุยกับพ่อค้าแม่ค้านานดังเช่นแต่ก่อน ตลาดก็เลยดูจะวายเร็วกว่าปกติเล็กน้อย   สำหรับเสียงบ่นของผู้ขายในกรณีผู้คนไม่ค่อยจะจับจ่ายซื้อของหรือขายของไม่ค่อยได้นั้น เป็นเรื่องที่ได้ยินเป็นปกติ โดยเฉพาะจากปากของพวกผู้ขายที่นำของมาขายตามนัด  เมื่อประกอบกับเป็นช่วงเวลาพวกเขาต้องเร่งทำเงินสะสมสำหรับการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลขึ้นศกใหม่กลางเดือนเมษายน ผนวกกับข่าวลือ-ลวง-จริงเกี่ยวกับเศรษฐกิจ การบ่นก็เลยมีมากขึ้น

ตลาดที่เงียบลงไปจริงๆที่ผมเห็นก็คือพวกตลาด supermarket   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ก.พ. 20, 19:51
ลองออกจากตลาดชุมชนในพื้นที่ของวัดไปดูตลาดใหญ่ประจำย่าน(ถิ่น)  ในกรุงเทพฯจะมีตลาดใดบ้างที่น่าสนใจ   ผมคิดว่าชื่อแรกสำหรับคนรุ่นใหม่ที่จะนึกออกก็คือ ตลาดบางลำพู  สำหรับนักกินรุ่นเก่าหน่อยก็อาจจะนึกถึง ตลาดนางเลิ้ง  สำหรับแม่บ้านที่ต้องจ่ายของเพื่อทำกับข้าวก็อาจจะนึกถึง ตลาดใหญ่ในถิ่นที่ตนอยู่ อาทิ ตลาดเก่าเยาวราช ตลาดปีระกา ตลาดประแจจีน ตลาดเทเวศร์ ตลาดบางขุนนนท์ ตลาดศาลาน้ำร้อน ตลาดพรานนก.....   แต่หากต้องหาจะซื้อของมาทำกินเฉพาะบางอย่าง ก็จำเป็นจะต้องไปซื้อในบางตลาดเป็นการเฉพาะ เช่น ฝักเพกา(ลิ้นฟ้า)ก็จะต้องไปตลาดเทเวศร์     ผักกุ่มดอง ก็จะต้องไปตลาดที่สี่แยกประชาชื่น    หากจะใช้เนื้อสัตว์สดทำอาหารแบบจัดเต็มหรือแบบฝรั่งก็คงจะต้องไป ตลาดพรานนก    เป็นผลไม้ ก็อาจจะต้องไปตลาดสะพานขาว   ดอกไม้ก็ไปตลาดปากคลอง (ปากคลองตลาด)....   

คงจะพอสังเกตได้ว่า ตลาดดังๆเหล่านี้ล้วนแต่อยู่ติดแม่น้ำลำคลองสายต่างๆ 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 มี.ค. 20, 18:21
อาจจะมีคำถามว่า ไปเดินตลาดบ่อยๆแล้วไม่รู้สึกเบื่อบ้างหรือ?   

ผมคิดว่าหากไปเดินตลาดเพื่อหาซื้อของของสดมาทำอาหารที่บ้านเพียงจุดประสงค์เดียว มันก็คงจะเป็นเรื่องที่น่าเบื่ออยู่ไม่น้อย  กลุ่มคนที่มีความรู้สึกเช่นนี้ก็คงจะหนีไม่พ้นกลุ่มผู้หญิงที่รับภาระเป็นฝ่ายแม่บ้านของครอบครัวอย่างเต็มตัว ต้องควบคุมรายจ่าย ต้องจัดเตรียมอาหารและเรื่องอื่นใดสำหรับสามีและบุตร/ธิดา โดยเฉพาะในกรณีของอาหารที่สามีและลูกชอบหรือไม่ชอบ กินหรือไม่กิน และข้อจำกัดต่างๆของแต่ละคน เมื่อผนวกกับความที่ตนเองก็มีข้อจำกัดในการทำอาหารที่มีความหลากหลายด้วย ก็จึงไม่แปลกและเป็นเรื่องปกติที่จะเห็นผู้คนเดินไปเดินมา เดินวนรอบตลาดรอบสองรอบหรือหลายๆรอบ รอบแรกก็อาจจะเป็นเพียงดูว่าในตลาดวันนี้มีอะไรที่ดูน่าจะเอามาทำอาหารที่ต่างไปจากปกติและที่ครอบครัวทุกคนกินได้  รอบที่สองก็จะเป็นรอบของการเลือกซื้อส่วนประกอบต่างๆให้ครบ รอบอื่นๆที่ตามมาก็อาจจะเกี่ยวกับความครบถ้วนของหมู่อาหารเช่นขนมและผลไม้ และเรื่อง shopping

   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 มี.ค. 20, 19:13
หลายคนไปตลาดเพราะเป็นแหล่งชุมนุมทางสังคม กลู่มคนพวกนี้จะเป็นพวกผู้ชาย และมีอยู่สองกลุ่มวัย คือพวกที่มีธุรกิจ กับพวกสูงวัย เกษียณแล้ว   ทั้งสองกลุ่มนี้ต่างก็จะมีมุม(จุด,บริเวณ)ที่จะไปสนทนากัน  กลุ่มคนพวกนี้ถูกบังคับในเชิงให้ต้องปรากฎตัว มิฉะนั้นก็จะถูกถามหา ซึ่งเมื่อมาปรากฎตัวหลังจากการหายตัวไปแล้ว ก็มักจะถูกซักถามในหลายๆเรื่องที่ผู้ตอบอาจจะรู้สึกอึดอัด

หลายคน(เช่นตัวผม) มิได้มีจุตประสงค์เรื่องหนึ่งเรื่องใดเป็นการเฉพาะนักในการไปเดินตลาด แม้ว่าจะเป็นเรื่องของการไปหาซื้อของมาทำกินเป็นหลักก็ตาม ตลาดมันก็มีพลวัตของมันในแต่ละวันแต่ละช่วงเวลา ตัวเราเองก็นึกอยากทำโน่นทำนี่กิน เมื่อไปตลาดแล้วก็อาจจะหาเครื่องต่างๆได้ไม่ครบหรือยังไม่ถูกใจ แต่ก็อาจจะไปพบของเตะตาอื่นๆที่ทำให้นึกถึงการทำอาหารแบบอื่นๆ ซึ่งหากยังไม่ถูกใจอีก ก็ยังสามารถเดินไปดูสินค้าแบกะดินตามท้ายตลาดได้อีก ผมได้ของเก่าประเภท collectible อยู่หลายชิ้นจากการเดินท้ายตลาดเช่นนี้


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 มี.ค. 20, 19:24
ด้วยมีเรื่องจะต้องไป ตจว.อีกครั้งหนึ่ง  ก็เลยจะขอหายแว๊ปไปสัก 10 วัน ครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มี.ค. 20, 20:21
ขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพค่ะ 
กลับมาค่อยเล่าว่า ของเก่าประเภท collectible ที่ได้มาหลายชิ้น คืออะไรบ้างคะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 มี.ค. 20, 18:24
กลับจาก ตจว.มาหลายวันแล้ว แต่ยังไม่เข้าห้องกระทู้เพราะมัวแต่ไปตามข่าว โควิด-19 อยู่ครับ

จังหวัดที่ไปหมกตัวอยู่ก็คือเชียงราย นักท่องเที่ยวหายไปเยอะเลยทีเดียว ไม่มี นทท.จีน มีแต่ฝรั่ง   ตลาดที่ดูจะมีคนค่อนข้างบางตาจนสังเกตเห็นได้ชัดก็คือตลาดบ่ายในตัวเมือง(ที่ขายอาหารสำเร็จรูปเป็นหลัก) ส่วนตลาดใหญ่ชองชุมชนท้องถิ่นยังคงมีปริมาณคนเดินเป็นปกติเหมือนเดิม หากแต่มีความแตกต่างออกไปอยู่อย่างหนึ่งว่า มีของสดพวกกุ้ง ปลา ปลาหมึก ออกมาวางขายเป็นจำนวนมากและในราคาที่จัดว่าถูกกว่าปกติ   ซึ่งก็คงจะเพราะว่ามีการใช้ตลาดชุมชนใน ตจว. เป็นแหล่งระบายสินค้าที่มีมากเกินพอในการทำอาหารให้กับนักท่องเที่ยว(ที่ลดปริมาณลงอย่างมากๆๆๆๆ)


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 มี.ค. 20, 19:05
อ้างถึง คห.232 และ 233 ในกระทู้ "เกี่ยวกับโคโรนาไวรัส อู่ฮั่น"

ผมเชื่อว่า อาหารกักตุนที่นึกถึงกันในอันดับต้นๆโดยทั่วๆไปก็คงจะหนีไม่พ้น ไข่ไก่ บะหมี่สำเร็จรูปหลากรส ต่างจากนี้ไปก็คงจะเป็นพวกอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง สำหรับผู้ที่อยู่กันแบบครอบครัวก็คงจะนึกถึง ข้าวสาร น้ำมันพืช เครื่องปรุงอาหารต่างๆ (เช่น แป้ง น้ำตาล....) และอาหารกระป๋องบางอย่าง   อะไรๆในทำนองนี้    จะตุนมากหรือน้อยเช่นใดก็ตาม เรื่องที่จะเกิดตามมาอย่างหนึ่งก็คือความเบื่อและจิตใจที่หงุดหงิดกับรูปแบบอาหารที่จำเจ

ก็เลยคิดว่า น่าจะลองมาดูกันว่าจะปรับแต่งหรือแปรรูปบรรดาของที่ตุนกันไว้ได้มากน้อยเพียงใด


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 มี.ค. 20, 19:09
ตั้งกระทู้ใหม่ไหมคะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 มี.ค. 20, 17:46
ก็น่าจะดีนะครับ เผื่อว่าจะมีเมนูอาหารใหม่ๆจากสมาชิกเรือนไทยปรากฎออกมาบ้าง รวมทั้งอาหารที่ดัดแปลงกันไปตามข้อจำกัดทางวัตถุดิบและเครื่องปรุงต่างๆเท่าที่มีเก็บหรือคงเหลืออยู่

ยังคิดไม่ออกว่าควรจะตั้งกระทู้ชื่ออะไรดีครับ    ชื่อกระทู้ว่า "อาหารการกินในสภาวะการณ์ปิดเมือง" จะดีใหมครับ ? 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 มี.ค. 20, 17:49
ดีค่ะ เชิญคุณตั้งไปตั้งเลยค่ะ
ที่บ้านตอนนี้มีไข่ ผัก  เครื่องกระป๋อง เต็มเพียบ  รวมทั้งขวดน้ำดื่มขนาดกลางด้วย  ขนาดเล็กเกลี้ยงแม็คโครเลยค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มี.ค. 20, 20:25
ต่อที่กระทู้นี้ค่ะ
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=7102.msg171669;topicseen#msg171669


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ก.ค. 20, 18:29
เมื่อมาตรการล็อกดาวน์ผ่อนคลายลง ตลาดก็เริ่มกลับมามีชิวิตชีวา  สินค้าและแม่ค้าที่เคยเห็นอยู่เป็นประจำก็ค่อยๆกลับมาปรากฎ   ตัววัตถุดิบพื้นฐานที่ใช้ในการทำอาหารแบบคนกรุงกลับมามีวางขายเหมือนเดิม แต่ที่เป็นของพื้นบ้านรวมทั้งผู้ขายยังไม่เหมือนอย่างที่เป็นไปตามปกติ ซึ่งส่วนหนึ่งคงจะเป็นเพราะอยู่ในช่วงการลงนากัน    สภาพต่างๆดูจะกลับมาเหมือนปกติแต่ก่อน แต่หากสังเกตดูลึกลงไปในรายละเอียดแล้ว มันมีการเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างจะมากในทุกด้านเลยทีเดียว จะเห็นผู้ขายหน้าใหม่ที่วัยเยาว์มากขึ้น มีอาหารที่แปลกใหม่มากขึ้น มีการจัดที่วางของขายที่แปลกออกไป มีการใช้เสียงพูดดังๆหรือตะโกนลดลง ....  แต่ที่สำคัญ คือ ผู้คนที่มาตลาดและพ่อค้าแม่ขายล้วนแต่คำนึงถึงการใช้หน้ากากและการเว้นระยะห่าง หากโล่งโปร่งก็ลดหน้ากากลง หากคนมากหรือคุยกันก็เอาขึ้นมาปิดจมูก และที่ในหลายจุดตลาดก็มีเก้าอี้วางแอลกอฮอล์เจลให้ใช้ทำความสะอาดมือกัน


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ก.ค. 20, 19:00
ในช่วงแรกๆของการเปิดตลาดแบบมีการควบควบคุม จะมีเชือกฟางขึงอยู่รอบๆตลาด มีช่องเปิดให้คนเข้าออก มีคนคอยวัดอุณหภูมิร่างกาย มีเจลให้ทำความสะอาดมือและคอยบอกให้ใส่หน้ากาก  ต่อมาคนที่มาคอยวัดอุณหภูมิก็มาบ้างไม่มาบ้าง แล้วก็เหลือแต่เจลทำความสะอาดมือวางไว้บนเก้าอี้  และในที่สุดก็หายไปทั้งหมด กลายสภาพเป็นอย่างที่เคยเป็นมาแต่ก่อน

ตลาดในช่วงแรกๆจะมีแต่ของบริโภค ต่อมาก็ค่อยๆมีพวกเครื่องอุปโภคมาวางขาย ในที่สุดก็ตามมาด้วยพวกขายของเก่าแบกะดิน

ตลาดสดเช้าของชุมชนทั่วๆไปทัังในกรุงเทพและต่างจังหวัดจะมีลักษณะเป็นสถานที่ทางสังคมด้วย     สำหรับใน ตจว. พอจะจำแนกผู้คนที่มาตลาดได้อยู่ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มาหาซื้อวัตถุดิบเอาไปทำอาหาร โดยเห็นว่าจะได้ของที่สดใหม่ กลุ่มคนพวกนี้เกือบทั้งหมดจะอยู่ในวัยกลางคน       มีกลุ่มที่มาตลาดเพื่อพบปะจับกลุ่มสนทนากันในเรื่องราวต่างๆที่เป็นที่น่าสนใจตั้งแต่ในระดับชุมชนไปจนถึงเรื่องในระดับประเทศ  กลุ่มคนพวกนี้มักจะเป็นพวกคนสูงวัยที่ยังมีสุขภาพแข็งแรง พบได้ตามสถานที่ๆขายกาแฟในพื้นที่ตลาด      และก็มีกลุ่มคนที่มีปัญหาสุขภาพทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งจะพบเห็นตามตลาดชุมชนในเมืองเป็นหลัก กลุ่มคนพวกนี้มีตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงวัย  ตลาดเป็นเสมือนพื้นที่ๆเป็นโลกกว้างของพวกเขา เป็นพื้นที่ปลดปล่อยข้อจำกัดของความอึดอัดทางกายและจิตใจต่างๆ   

หากมีโอกาส น่าจะลองจัดเวลาส่วนหนึ่งเข้าไปเดินในตลาดต่างๆ ทั้งตลาดขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ทั้งที่อยู่ในเมืองและในชนบท  เราจะได้พบเห็นอะไรต่อมิอะไรมากมายเลยทีเดียว


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ก.ค. 20, 19:36
ตลาด ไมว่าจะเป็นตลาสดเช้า ตลาดอาหารสำเร็จรูปบ่าย หรือตลาดโต้รุ่ง ล้วนแต่เป็นศูนย์การข่าวและศูนย์กระจายข่าวชั้นเยี่ยม ข่าวอะไรจะดีและเชื่อถือได้มากไปกว่าข่าวที่ได้ยินด้วยหูของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นแบบโดยตรงจากผู้ถูกจัดว่าเป็นผู้รู้จริงหรือจากปากต่อปาก  ในตลาดก็เลยมีทั้งข่าวจริง ข่าวโกหก ข่าวลือ ข่าวลวง เต็มไปหมด   คนที่ฟังข่าวแล้ววิเคราะห์หรือสังเคราะห์เป็น ก็เลยทำท่าจะเป็นกูรูประจำถิ่น น่าฟังมากกว่าข่าวจากวิทยุ ทีวี หรือสื่ออื่นใด   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ก.ค. 20, 20:21
แล้วด้วยเหตุใดข่าวจึงกระจายได้อย่างรวดเร็วและลงถึงทุกผู้คนในทุกหย่อมหญ้า     ด้วยที่ผมได้มีชีวิตคลุกคลีอยู่กับชาวบ้านและวิถีชีวิตของพวกเขาเป็นเวลาค่อนข้างนานและหลากหลายพื้นที่  ก็เลยมีความเห็นส่วนตนที่พอจะประมวลได้และเล่าโดยสังเขปได้ดังนี้

ชาวบ้านตื่นแต่เช้ามืดในช่วงเวลาประมาณตี 3 ถึง ตี 5  ฝ่ายชายเกือบทั้งหมดจะรีบออกบ้านไปดูเรือกสวนไร่นาของตน  ฝ่ายแม่บ้านก็จะเตรียมทำอาหารละเตรียมความพร้อมให้ลูกก่อนจะไปโรงเรียน เด็กที่เรียนในระดับประถมปลายและมัธยมจะเข้าไปเรียนในตัวเมือง ซึ่งรถรับจ้างรับส่งนักเรียนจะมารับในช่วงเวลาประมาณ 6 +/- โมงเช้าเพื่อให้ทันเข้าแถวเคารพธงชาติในเวลา 8.00 น   เวลาประมาณ 9-10 น. ฝ่ายชายจะกลับมาเพื่อกินข้าวเช้าที่บ้าน แล้วก็จะไปทำงานอื่นๆต่อไป เช่น รับจ้าง หาอาหาร ช่วยงานเอาแรงกัน งานสาธารณะประโยชน์ ฯลฯ  เสร็จงานก็ก๊งกันเล็กน้อยก่อนกลับถึงบ้านช่วงทุ่มสองทุ่ม  ในช่วงต้นปีและปลายปี ฟ้าจะมืดเร็วหน่อย ก็พอจะมีโอกาสได้อยู่บ้านก่อนมืด หรือไม่ก็ต้องออกไปนอนเถียงนาเฝ้านาเฝ้าไร่ เพราะเป็นช่วงเวลาของการผลิดอกออกผลของพืชพันธ์ุธัญญาหารต่างๆ   

ด้วยสภาพที่เล่ามาเป็นสังเขปนี้ คงพอจะเห็นได้ว่า มันไม่สัมพันธ์กับช่วงเวลาของการออกอากาศข่าวสารของทางราชการทั้งทางวิทยุและทีวี ซึ่งเป็นข่าวจริง(แต่ไม่มีคำอธิบายไม่ว่าจะในเชิงของ preamble และ obligation แถมการนำเสนอตัวข่าวก็ยังมักจะต้องแปลไทยเป็นไทย)   สำหรับหนังสือพิมพ์ ฉบับใหม่ล่าสุดที่ไปวางขายอยู่ใน ตจว.ก็จะเป็นข่าวของเมื่อวันหรือสองวันก่อน ราคาหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งก็มากพอที่จะซื้อกับข้าวได้ถุงนึงเลยทีเดียว จะใช้เน็ตก็เสียเงิน     แม่ค้าเอาของไปขายในตลาดในเมือง ไปได้ยินข่าวต่างๆที่พูดกันในตลาด เมื่อกลับมาบ้านในหมู่บ้านก็เอาไปเล่าสู่กันฟัง แต่งเติมเสริมสีใส่ไข่กันเล็กน้อยพองาม น่าฟังกว่าตั้งเยอะ

ข่าวสารถึงผู้คนที่เรียกว่ารากหญ้าก็จึงมักจะมาจากสภาพดังกล่าวนี้


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ก.ค. 20, 19:35
เรื่องที่เล่ามานั้น สำหรับเราๆหลายคนอาจจะเห็นว่าเป็นข่าวหรือเรื่องราวที่ไร้สาระ  แต่สำหรับผมไม่เห็นว่าเป็นเช่นนั้น  ผมเห็นว่าเรื่องราวเหล่านั้นบอกอะไรๆอยู่หลายอย่างเลยทีเดียว ทั้งนี้มิได้หมายความว่าจะต้องไปให้ความสนใจกับเรื่องราวเหล่านั้นอย่างจริงจัง  ปล่อยให้มันผ่านเข้าหูซ้ายทะลุหูขวาไป นานเข้ามันก็มีตะกอนตกสะสมมากพอที่จะกลายเป็นข้อมูล กลายเป็นตัวจิ๊กซอเล็กๆที่ทำให้ได้รู้ ได้เห็น และเข้าใจถึงความเชื่อมต่อกันของ social elements ต่างๆที่กระจายอยู่ในกลุ่มชนพวกเดียวกันที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ต่างๆ  สนุกไปในเรื่องของชาติพันธุ์ การอพยพ การตั้งถิ่นฐาน และ varieties ทางวัฒนธรรม สังคม ความเป็นอยู่ และอาหารการกินของพวกเขา     เมื่อครั้งยังทำงานอยู่นั้น ในระหว่างการทำงานสำรวจในพื้นที่ ตลาดคือแหล่งข่าวในเชิงความปลอดภัย เป็นแหล่งกระจายข่าวการเข้าพื้นที่ การเข้าไปทำงาน กระบวนการทำงาน การแสดงตนของคณะสำรวจ  และเป็นสถานที่เรียนรู้ความต่างต่างๆของพื้นที่นั้นๆ     


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ก.ค. 20, 20:28
ตลาดเย็นซึ่งมักจะเป็นตลาดขายอาหารสำเร็จรูปนั้น  เท่าที่ไปเดินตลาดในพื้นที่รอบนอกละแวกบ้าน ได้พบว่ามีแม่ค้าหน้าใหม่มาขายอยู่ไม่น้อย ใน ตจว.ที่เดินทางไปก็เช่นกัน   ได้ลิ้มลองฝีมือและรสอาหารที่แปลกออกไป  เท่าที่พูดคุยสอบถามกันก็ได้ความว่าเป็นอาหารแบบที่ครอบครัวทำกัน  หลายคนตกงานก็เลยซุ่มเงียบเรียนจากแม่แล้วเอามาทำขายหารายได้  ซึ่งดูจะขายดี เพราะมีที่บอกว่าจะเปลี่ยนอาชีพมาทำอาหารขายดีกว่า  ก็เลยพอจะนึกออกว่าคงจะทำกิจการแบบ food delivery    ใน ตจว.นั้น แม้จะเห็นว่าเมืองค่อนข้างจะเงียบๆ ร้านอาหารในเมืองเปิดกิจการแบบครึ่งกำลัง แต่จะเห็น food delivery เต็มไปหมด       


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 31 ก.ค. 20, 12:24
เรื่องที่เล่ามานั้น สำหรับเราๆหลายคนอาจจะเห็นว่าเป็นข่าวหรือเรื่องราวที่ไร้สาระ  แต่สำหรับผมไม่เห็นว่าเป็นเช่นนั้น  ผมเห็นว่าเรื่องราวเหล่านั้นบอกอะไรๆอยู่หลายอย่างเลยทีเดียว ทั้งนี้มิได้หมายความว่าจะต้องไปให้ความสนใจกับเรื่องราวเหล่านั้นอย่างจริงจัง  ปล่อยให้มันผ่านเข้าหูซ้ายทะลุหูขวาไป นานเข้ามันก็มีตะกอนตกสะสมมากพอที่จะกลายเป็นข้อมูล กลายเป็นตัวจิ๊กซอเล็กๆที่ทำให้ได้รู้ ได้เห็น และเข้าใจถึงความเชื่อมต่อกันของ social elements ต่างๆที่กระจายอยู่ในกลุ่มชนพวกเดียวกันที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ต่างๆ  สนุกไปในเรื่องของชาติพันธุ์ การอพยพ การตั้งถิ่นฐาน และ varieties ทางวัฒนธรรม สังคม ความเป็นอยู่ และอาหารการกินของพวกเขา     เมื่อครั้งยังทำงานอยู่นั้น ในระหว่างการทำงานสำรวจในพื้นที่ ตลาดคือแหล่งข่าวในเชิงความปลอดภัย เป็นแหล่งกระจายข่าวการเข้าพื้นที่ การเข้าไปทำงาน กระบวนการทำงาน การแสดงตนของคณะสำรวจ  และเป็นสถานที่เรียนรู้ความต่างต่างๆของพื้นที่นั้นๆ     

สำหรับคนกรุงเทพอย่างดิฉัน การไปตลาดก็แค่ซื้อของแล้วก็กลับ แทบไม่มีปฏิสัมพันธ์ใดกับผู้คนในตลาดเลย
เรื่องราวที่อาจารย์เล่ามานี้เป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ให้ดิฉันเลยค่ะ ขอบพระคุณนะคะที่กรุณาแบ่งปันประสบการณ์
ชอบฟังเรื่องราวเกี่ยวกับตจว. ป่าดงพงไพรที่อาจารย์เล่ามากค่ะ  :D
ชอบอ่านเรื่องเกี่ยวกับตจว.


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ก.ค. 20, 18:39
ขอบคุณครับ และผมก็ต้องขอบคุณ อ.เทาชมพู ที่ได้ช่วยกรุณาหาภาพต่างๆมาช่วยเสริมเรื่องราวจนมีความกระจ่างชัดขึ้น   กระบวนวิธีในการใช้เทคโนโลยีต่างๆนั้น ผมเชื่ิอว่าต่างก็ล้วนมี handicap กันในบางเรื่องหรือหลายๆเรื่อง ผมเองก็เป็นหนึ่งในกลุ่มคนเหล่านั้น   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 31 ก.ค. 20, 19:28
ช่วงนี้ทำงานออนไลน์ ไม่เสียเวลาเดินทางเลยมีเวลาว่างมากขึ้น กำลังไล่อ่านกระทู้ที่เคยปักหมุดไว้ค่ะ ;D


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ก.ค. 20, 19:48
กล่าวถึงตลาดมานาน ลืมไปว่ายังไม่ได้ว่าถึงประเภทของตลาดต่างๆเลย

ประเภทของตลาดที่เราเรียกชื่อและมีความเข้าใจตรงกันในทันที   สำหรับคนในเมืองหลวงและจังหวัดใหญ่ๆบางจังหวัด ก็มีอาทิ ตลาดสด ตลาดขายส่ง ตลาดขายผ้า ตลาดผลไม้ ตลาดนัด ตลาดน้ำ ตลาดดอกไม้ เป็นต้น  ชื่อเรียกเหล่านี้ต่างก็บ่งบอกว่าเป็นแหล่งรวมของสินค้าบริโภคหรืออุปโภค เป็นคำเรียกในเชิง collective noun (สมุหนาม) ที่บ่งชี้บนพื้นฐานเชิงปริมาณและความหลากหลายของสินค้านั้นๆเป็นหลัก    

ก็มีตลาดที่มีชื่อสถานที่กำกับ เช่น ตลาดบางลำพู ตลาดคลองถม ตลาดปีระกา(เลิกไปแล้ว) ตลาดปากคลองตลาด ตลาดพรานนก ตลาดเทเวศน์ ตลาดศาลาน้ำร้อน/ศาลาน้ำเย็น ตลาดน้อย ตลาดสามชุก ตลาดบ้านโป่ง ตลาดวังหลัง ตลาดแม่กลอง ตลาด อตก. ...เหล่านี้เป็นต้น  ตลาดที่มีชื่อสถานที่กำกับเหล่านี้ ส่วนมากจะเป็นตลาดที่มีการคัดคุณภาพของสินค้านำมาวางขาย คือเน้นไปในทางคุณภาพ

ตลาดอื่นๆจากนี้ก็มักจะเป็นตลาดขนาดเล็กของชุมชน หากเป็นในกรุงเทพฯก็มักจะอยู่ในพื้นที่ลานวัดหรือที่ๆเจ้าของพื้นที่ทำธุรกิจตลาด  หากเป็นใน ตจว.ก็จะเป็นตลาดในระดับตำบลหรือในระดับหมู่บ้าน

สำหรับตัวผม ผมชอบเดินตลาดชุมชน เว้นแต่กรณีจะต้องการหาซื้อของบางอย่างตามประสาคนเรื่องมากในบางเรื่องของผม ซึ่งบางครั้งก็มากเอาการเลยทีเดียว


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ส.ค. 20, 18:56
ช่วงนี้เริ่มมีฝนชุกขึ้น ต้นไม้ใบหญ้าต่างก็แตกหน่อออกใบอ่อนกัน  ท่านที่มีที่พักอาศัยอยู่ในย่านที่เป็นพื้นที่สวนทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยามีโอกาสที่จะได้กินพวกพืชผักอ่อนๆแตกหน่อแตกใบใหม่ต่างๆที่เป็นของติดสวน หาซื้อได้ในตลาดชุมชนซึ่งมักจะมีแม่ค้ามีอายุเก็บมาขาย บ้างก็สดๆ บ้างก็ทำสำเร็จรูปแล้ว     

ที่แนะนำก็จะมี หากชอบกินขิงอ่อนดองก็ควรจะซื้อกินในช่วงเวลานี้ น่าจะหาซื้อในตลาดชุมชนได้ไม่ยากนัก จะเป็นขิงที่อ่อนมาก อร่อยกว่าขิงดองที่กินกับอาหารญี่ปุ่นหรือที่มาจากธุรกิจทำขิงดองซึ่งเขาจะใช้ขิงที่แก่กว่านี้ คือมีเส้นในเนื้อใกล้จะเริ่มแข็ง   ขิงดองทางอุตสาหกรรมจะทำมาจากขิงดองเค็มแล้วนำมาแต่งรสในภายหลัง ต่างจากขิงอ่อนดองที่ทำกันกินกันเองตามบ้าน ซึ่งเป็นการดองกับน้ำดองที่ปรุงรสแล้ว    เมื่อผมยังเด็กอยู่ก็เคยช่วยคุณป้าทำ ขูดผิวแง่งขิงแล้วซอยสองด้านแบบขวางทางกัน แล้วไล้ด้วยมะนาวผ่าครี่งให้ทั่ว ก็จะได้ผลลัพท์ที่เป็นขิงดองออกสีชมพูอ่อนสวยงาม


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ส.ค. 20, 19:06
ขิงดอง


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ส.ค. 20, 19:12
ฝรั่งดองขิงเหมือนกัน เรียกว่า pickled ginger  คุณตั้งเคยรับประทานไหมคะ   เขามีไว้กินกับอะไร


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ส.ค. 20, 19:27
อีกเมนูหนึ่งใช้ยอดมะกอกอ่อนซึ่งมีวางขายแล้วในช่วงเวลานี้ เป็นเมนูโปรดของผม  เมนูนี้ต้องทำเอง ก็ซื้อมาสักกำมือหนึ่ง สรงน้ำเอามาแล้วเอามาย่างบนตะแกรงเหนือไฟเตาแกส (หากใช้เตาถ่าน ก็ไม่ต้องใช้ตะแกรง ซึ่งจะหอมอร่อยกว่ามาก) ย่างให้มันเหี่ยวสยบ รูดเอาก้านที่แข็งๆทิ้งไป เอาใบมาวางซ้อนกัน ม้วนแล้วซอยหนาประมาณครึ่งเซ็นต์  ยีให้แยกจากกัน ซอยหอมแดงประมาณ 5 หัว ใส่ลงไป  คราวนี้ก็เลือกเอาว่าใช้เนื้ออะไรและแบบใหน หากใช้หมูสับหรือไก่สับ ก็ลวกให้สุก  หากใช้คอหมูย่างก็เลือกส่วนที่มีมันน้อยหน่อย หั่นบาง  อาจจะใช้เนื้อเค็มทอดแบบชาวบ้าน(ทอดแห้งๆ) หั่นบางขวางเส้นกล้ามเนื้อ  จะใช้หมูสันนอกชิ้นบางเอามาย่างหรือทอดก็ได้ แม้กระทั้งหมูทอดกระเทียมพริกไทยแบบแห้งๆก็ได้   แล้วก็มาเลือกว่าจะปรุงรสแบบใหน จะใช้พริกขี้หนูสวนซอยหรือพริกป่นหอมๆ ใส่น้ำปลา  หรือจะใช้น้ำพริกตาแดงสัก 2 ช้อนกาแฟ   คลุกแบบขยำให้เข้าดี เอาใส่จาน ก็กินได้อย่างอร่อยแล้ว เป็นได้ทั้งกับแกล้มและกับข้าว จะกินกับข้าวสวยหรือข้าวเจ้าก็ได้ทั้งนั้น


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ส.ค. 20, 21:09
ฝรั่งดองขิงเหมือนกัน เรียกว่า pickled ginger  คุณตั้งเคยรับประทานไหมคะ   เขามีไว้กินกับอะไร

ผมไม่เคยทานอาหารฝรั่งที่มีขิงดองเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วยเลยครับ   เข้าใจว่าฝรั่งคงจะไปติดใจรสที่แปลกออกไปของขิงดองเมื่อไปทานอาหารญี่ปุ่น ก็เลยเอามาทำกินกันเอง   ฝรั่งเอาพืชผักของเขาหลายอย่างมาดอง ซึ่งส่วนมากจะเป็นส่วนที่เป็นผล จะใช้ส่วนที่เป็นใบและรากไม่กี่ชนิด

ในความเห็นของผม ความต่างที่สำคัญระหว่าง pickle ที่ทำแบบฝรั่งกับที่ทำแบบเอเซีย ก็คือแบบของฝรั่งนั้นจะมีการใส่ herbs ลงไปด้วย เช่น dill, thyme, rosemary, เม็ดมัสตาร์ด กระเทียม ลงไปด้วย ในขณะที่แบบเอเซียนั้นจะไม่มี


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ส.ค. 20, 19:08
นึกขึ้นได้ว่า ฝรั่งทางยุโรปให้ความสนใจขิงมากขึ้น ผมไม่ทราบว่าเขาเอาไปทำอะไรกันบ้าง    แน่นอนว่าเขามีความนิยมที่จะทำเค็กที่เรียกว่า ginger cake และ/หรือ ginger bread ซึ่งใส่ขิงแห้งป่นและเครื่องเทศบางอย่าง ทำกินกันเนื่องในโอกาสฉลองวันสำคัญและวันแห่งความร่าเริงที่สำคัญ โดยเฉพาะในช่วงปลายปี (คริสมาส ปีใหม่) ซึ่งทำกินกันเป็นประเพณีอยู่แล้ว

เข้าใจว่การใช้ขิงที่มีเพิ่มมากขึ้น อาจจะเพราะได้รับอิทธิพลบางส่วนมาจากการทำอาหารแบบจีนที่มีการเผยแพร่ทางทีวีว่า เริ่มต้นตั้งกระทะ ใส่น้ำมัน หั่นขิงสดแว่นหนึ่ง บุบให้แหลกแล้วสับอีกเล็กน้อย นำใส่ลงไนกระทะ จะใส่กระเทียบบุบพอแหลกสักกลีบหรือจะไม่ใส่ก็ได้ เมื่อกระทะร้อนดีแล้วก็เอาเครื่องปรุงต่างๆใส่ลงไป     อีกเหตุหนึ่งก็อาจะเป็นเพราะว่า ฝรั่งให้ความสนใจในสุขภาพตนเองมากขึ้น พยายามกินผลไม้แห้งต่างๆให้หลากหลายชนิด ขิงก็เลยเข้าไปอยู่ในกลุ่มอาหารพวกนี้ แต่ก็แปลกที่ชอบกินขิงเชื่อมกัน    หรืออีกเหตุหนึ่งก็อาจจะเพราะมีการอพยพหรือเคลื่อนย้ายกลุ่มคนที่ในการปรุงอาหารของพวกเขาจะต้องมีการใช้ขิงและเครื่องเทศอื่นๆเป็นองค์ประกอบ (ข้าวหมก แกงที่เรียกว่า curry ต่างๆ)


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ส.ค. 20, 21:19
เค้กขิง กับขนมปังขิง


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ส.ค. 20, 19:07
เมื่อไม่นานมานี้ ได้ขึ้นไปเชียงราย ก็ไปเดินตลาดต่างๆตามปกติ วันหนี่งก็ลองไปเดินตลาดที่เพิ่งเปิดใหม่(เปิดเมื่อปลายปีที่แล้ว) อยู่ฝั่งขาเข้าบนถนนเชียงราย - อ.เทิง ห่างจากสี่แยกแม่กรณ์ประมาณ 1 กม. นึกไม่ถึงเลยว่าตลาดอะไรจะใหญ่ปานนั้น มีทั้งส่วนที่เป็นตลาดสด ส่วนที่เป็นตลาดขายส่งผักสดผลไม้จากทั่วไทย (แยกเป็นส่วนผักและส่วนผลไม้) และส่วนที่เป็นตลาดขายพืชผักผลไม้นำเข้า ทั้งหมดอยู่ใต้ร่มชายคาเดียวกัน ขนาดใหญ่มากพอที่ในส่วนที่เป็นพื้นที่ขายส่งจะต้องใช้รถขับรถวนไปมาดูเอา สภาพคล้ายๆกับตลาดชาวบ้านสองฝั่งถนนสองช่องทางจราจรที่เราเห็นๆกัน แต่เป็นสองถนนที่ตัดเอามาวางคู่กัน อยู่ในชายคาเดียวกัน  ขับรถสวนกันได้ แม้จะมีรถจอดแวะซื้อของก็ไม่รู้สึกว่าเกะกะขวางทางใดๆ  ในขณะนี้มีอยู่ 2 ร่มชายคาที่เปิดใช้งานแล้ว พื้นที่โครงการทั้งหมดยังสร้างไม่เสร็จสมบูรณ์ คงยังมีการก่อสร้างอยู่ทั้งส่วนที่เป็น infrastructures (ถนนและที่จอดรถ) และส่วนที่เป็นอาคารพาณิชย์ที่อยู่รอบๆขอบของพื้นที่โครงการ

นัยว่าเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ส.ค. 20, 19:35
เศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดี กำลังซื้อจะมีหรือไม่มี  คงต้องพิจารณากันเองจากภาพบางส่วนที่ผมพอจะบรรยายสั้นๆดังต่อไปนี้นะครับ

ในส่วนที่เป็นตลาดสดนั้น ผมเห็นมีกุ้งมังกรตัวขนาดประมาณข้อมือผู้ชาย มีหอยหวาน หอบแครง ปลาทะเลสดต่างๆ  ก็ดูสดและใหม่พอได้เลยทีเดียวสำหรับที่จะหาซื้อได้ในสถานที่ห่างจากทะเลเป็น 1000 กม.  กุ้งมังกรกิโลละ 750 บาท ก็เลยถามไปว่า แล้วมีคนซื้อใหม ส่งมาจากที่ใหน  ได้คำตอบว่า ก็ขายได้ เป็นของส่งตรงมาจากสมุทรสาคร  กุ้งต่างๆก็ดูสดดี ตัวใสตาใส  หอยแครงยังขยับอยู่เลย  เขาบอกว่า ของทะเลหลายอย่างถูกส่งออกไป พม่าบ้าง ลาวบ้าง ซึ่งผมเข้าใจว่าจะไปจีนและพวกคนที่ลงทุนอยู่ลาว

สำหรับผลไม้คัดสวยๆนั้น อ้าว ! ส่วนหนึ่งมันไปวางกองขายอยู่ในตลาดนี้เอง   เลยดูคล้ายกับว่าผลไม้คุณภาพดีต่างๆไปวางขายอยู่ที่เชียงรายเสียมากกว่าตลาดทั่วๆไปในกรุงเทพฯ  ในภายหน้า หากจะหาของดีๆกินก็อาจจะต้องไปหาซื้อกินเอาที่ตลาดในพื้นที่เหนือสุดสยามของเรานี้เอง


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ส.ค. 20, 19:10
คนที่ชอบทำอาหารแบบหลากหลายจะทราบดีว่าแต่ละตลาดจะมีของดีหรือของที่ต้องการอะไรบ้าง   แต่ก่อนนั้นตลาดสดบางลำพูเป็นตลาดแหล่งรวมของหลายอย่างที่หลายๆอย่างไม่สามารถหาซื้อได้ที่ตลาดอื่นๆ เป็นของคัดคุณภาพ ของดี ราคาอาจจะสูงมากกว่าปกติอยู่บ้าง (ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา) เป็นตลาดที่ขายของที่ใช้ในการทำอาหารไทยเป็นหลัก (หรือไทย-จีน)  ตลาดในลักษณะนี้ในกรุงเทพฯมีไม่มากนัก เท่าที่นึกออกก็เช่น ตลาดกรุงธน ตลาดพรานนก ตลาดพระโขนง ตลาดราชวัตร      ตลาดที่ขายของที่ใช้ในการทำอาหารจีนเป็นส่วนมากก็เช่น ตลาดเก่าเยาวราช ตลาดปีระกา ตลาดประแจจีน    ส่วนตลาดที่มีของจากท้องถิ่น ตจว.มาวางขายก็เช่น ตลาดเทเวศน์ ท้ายตลาดจะมีของจากภาคเหนือและอิสาณ (เช่น ลิ้นฟ้า เห็ดเผาะ ยอดอ่อนใบไม้)   ตลาดตรงแยกเตาปูน(จำชื่อไม่ได้ครับ เป็นของๆภาคกลาง เช่น ผักกุ่มดอง ปลาร้าแบบภาคกลาง)   และตลาดขายของทำกินแบบชาวบ้านก็เช่น ตลาดท่าน้ำนนทบุรี  ตลาดบางขุนศรี

ตลาดเหล่านี้ได้เลิกลาหายไปแล้วก็มี ซบเซาลงไปจนไม่เหลือสภาพเดิมให้เห็นก็มี หรือยังคงมีอยู่และคึกคักเหมือนเดิมก็มี(แต่สินค้าต่างๆได้เปลี่ยนไป)     


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 ส.ค. 20, 19:35
ในสมัยก่อนนั้น ไม่ว่าจะเป็นการชอบทำอาหารมีคุณภาพตามสไตล์ของตนเอง หรือจะชอบใช้เครื่องปรุงที่มีคุณภาพในการทำอาหารที่ตนลงมือทำเอง ต่างก็ต้องรู้ว่าจะไปหาซื้อวัตถุดิบที่ใหน ซึ่งต่างกับในปัจจุบันนี้ที่พอจะหาซื้อวัตุถุดิบหลายอย่างได้ใน super market  ซึ่งล้วนแต่เป็นการถูกบังคับให้ซื้อเป็น package ในปริมาณที่มากกว่าหรือน้อยกว่าความต้องการ หรือก็มิใช่ในลักษณะทางกายภาพหรือส่วนที่ต้องการ (คือ ไม่มี variation ให้เลือก)       


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ส.ค. 20, 18:37
ตลาดในต่างจังหวัดก็เช่นกัน ของที่วางขายในแต่ละตลาดในละแวกไม่ไกลกันนักก็แตกต่างกัน และแต่ละตลาดก็ยังมีของอร่อย ของดังประจำตลาดนั้นๆ   

ในละแวกไม่ไกลจากกรุงเทพฯนัก บนถนนเส้นทางสายล่องใต้ เพียงกล่าวถึงชื่อก็คงพอจะรู้แล้วว่ามีอะไรดีบ้าง ตลาดท่านา (ร้านอาหาร)  ตลาดดอนหวาย (เป็ดพะโล้)  ตลาดศาลายา (ของสวนและอาหาร) ตลาดนครปฐม(มีหลายตลาด อยู่ใกล้ๆกัน มีทุกอย่าง)  ตลาดบ้านโป่ง (ของสดและของสวน)  ตลาดมหาชัย (ของทะเลไกลฝั่ง _ open sea) ตลาดแม่กลอง (ของทะเลใกล้ฝั่ง _ littoral zone) ตลาดเพชรบุรี (ของทะเลสดและแห้งตามฤดูกาล ขนมหวาน)   และตลาดของชุมชนอื่นๆในพื้นที่ จ.นครปฐมอีกเกือบจะทุกอำเภอและตำบล ซึ่งล้วนแต่มีของอร่อย เช่น ข้าวหลาม เป็ดพะโล้ ... ก็มีที่ยังติดใจอยู่ก็คือ ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ผัดกับต้นกระเทียมสด และอาหารจีนทำแบบคนจีนชาวบ้าน     


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 ส.ค. 20, 19:20
พูดถึงตลาดเหล่านี้ ก็เลยนึกถึงของกินสองสามอย่างที่อยากให้ลองหามากินก่อนที่จะไม่มีคนทำมาวางขายกัน 

เมนูแรกคือ กระเพาะปลาริวกิว เท่าที่เดินตลาดมาพบว่ายังพอหาซื้อได้ในตลาดฉัตรไชยที่หัวหิน ราคากิโลละหลายพันบาท ซื้อมาเพียงครึ่งขีดหรือขีดเดียวก็มากพอสำหรับ 1+ จาน เอามาทอดในน้ำมันร้อนๆ พลิกกลับไปมาเร็วๆจนพองกรอบไปทั่ว รีบตักขึ้นก่อนที่มันจะออกสีเหลือง วางบนกระดาษซับน้ำมัน   เอาน้ำพริกเผามาช้อนหนึ่ง บีบมะนาวลงไปสักค่อนลูก จะเติมน้ำตาลทรายลงไปเล็กน้อยก็ได้ คนให้เข้ากันเป็นน้ำจิ้ม หรือจะจิ้มกับน้ำปลาหอมๆก็ได้  อร่อยเหลือหลายเลยครับ

ที่ตลาดเพชรบุรี  หากชอบกินไข่แมงดาทะเล ก็ที่นี่แหละครับที่เหมาะจะหาซื้อ มีแมงดาทะเลมาวางขายเกือบตลอดเวลา   ปลากุแล เอามาทำเป็นพล่าปลากุแลก็อร่อย แต่ก่อนหากินได้ง่ายแถวบางแสนและอ่างศิลา ตอนนี้ยังมีขายคงเส้นคงวาอยู่ในตลาดสดเพชรบุรี    อีกอย่างหนึ่งก็คือปลาหมึกสาย อันนี้เขาหมักมาแบบเค็มจัด ต้องแช่น้ำสักพักใหญ่ๆก่อนที่จะนำไปทอด เคี้ยวหนึบๆ chewy ได้รสเค็มๆหวานๆ จะกินเล่นๆหรือกินกับข้าวก็อร่อยทั้งนั้น

ตลาดแม่กลอง  นอกเหนือจากปลาทูแล้ว ก็มีปลากุเลาแดดสองแดดตัวเล็กๆที่ยังพอหาซื้อได้ในเวลาช่วงใกล้เที่ยง   แล้วก็ปลากระเบนย่าง เมนูนี้กินยากหน่อย ต้องซื้อที่เขาทำใหม่ๆ เอามาฉีกกินจิ้มกับน้ำปลาก็อร่อยพอแล้ว    แล้วก็มีหอยพิมแห้ง เอามาทอดกิน ซึ่งของจริงๆหาได้ยากมากแล้ว 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ส.ค. 20, 18:32
ตลาดหลายตลาดได้เปลี่ยนไปเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ขายอาหารดังประจำถิ่นเสียมากกว่าขายวัตถุดิบที่ใช้ในการทำอาหาร  ตลาดเหล่านี้เป็นตลาดเก่าแก่ มีความสำคัญต่อผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ย่านนั้นๆ   

ด้วยที่ผมเดินทางผ่านหรือไปทำงานในพื้นที่ต่างๆค่อนข้างจะหลายๆพื้นที่ ตั้งแต่ปี 2512 ก่อนที่จะเริ่มมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฯที่เน้นไปทางการพัฒนาในด้านสาธารณูปโภค  ก็เลยพอจะได้สัมผัสและรับรู้ว่า ตลาดชื่อดังเหล่านั้นมันเป็นเสมือนหัวใจสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่นั้นๆได้ดำรงอยู่อย่างมีความสุข มีความสงบสุขอยู่บนพื้นฐานของของความพอเพียง พร้อมๆไปกับมีการค่อยๆพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง    ลักษณะสำคัญที่ของตลาดเหล่านี้ เท่าที่สังเกตก็จะพบว่า มักจะมีตำแหน่งที่ตั้งอยู่ ณ จุดที่เป็นจุดเชื่อมต่อของการเดินทางทั้งทางบกและทางน้ำจากพื้นที่ไกลปืนเที่ยงก่อนจะเข้าสู่เส้นทางสายหลักเข้าสู่ตัวเมือง (ตัวจังหวัด)  ตลาดบางแห่งก็มีลักษณะเป็นจุดแรกรับหรือจุดรวมของสินค้าเกษตรของชาวบ้านห่างไกล หลายแห่งเป็นแหล่งรวมสินค้าจากจุดแรกรับก่อนนำเข้าสู่ตลาดในเมือง  จะเรียกว่าตลาดขายส่งสมัยก่อนก็น่าจะพอได้     

ด้วยที่เป็นตลาดในลักษณะดังกล่าว ก็แน่นอนว่าจะต้องพ่อค้าแม่ค้าที่เป็นคนมีเงิน จึงไม่แปลกนักที่จะมีของเก่าอยู่มากมาย ทั้งตัวสถานที่ อาคาร และของใช้ต่างๆ   ของเก่าและของดีมากมายหลายอย่างถูกนำออกมาขายในตลาดของเก่า (บานประตู เก้าอี้ โต๊ะ ป้ายชื่อ ไม้ฉลุ .....)   ก็คงจนกระทั่งเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเริ่มเกิดอุตสากรรมบริการ เกิดบูมการท่องเที่ยว ตลาดเก่าก็เลยกลายเป็นจุดท่องเที่ยวอีกแหล่งหนึ่ง โดยเฉพาะในเรื่องของอาหารการกินที่มีชื่อและที่นิยมกันของถิ่น   ของเก่าหลายอย่างได้ถูกซื้อกลับไปแล้วพยายามติดตั้งในพื้นที่เดิมหรือตกแต่งให้เหมาะสม   ตลาดเหล่านี้ก็เลยกลายเป็นตลาดขายอาหารมีชื่อที่ทำแบบท้องถิ่น กลายเป็นตลาดโชว์และขายของเก่า


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 ส.ค. 20, 19:05
ตลาดเก่าที่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวมีชื่อก็เช่น ตลาดเก่าคลองสวน จ.ฉะเชิงเทรา   ตลาดสามชุก อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี   ตลาดเก่าอ่างศิลา จ.ชลบุรี   ตลาดเก่าโพธาราม จ.ราชบุรี   ตลาดเก้าเส้ง จ.สงขลา   ตลาดหัวตะเข้ ลาดกระบัง   ตลาดเชียงคาน จ.เลย เป็นต้น


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: pratab ที่ 06 ส.ค. 20, 21:31

            ขออนุญาตถามคุณ naitang ว่ากระเพาะปลาริวกิวที่ตลาดฉัตรไชยนั้น มีขายตลอดปีหรือเป็นบางฤดูกาลครับ และปลากระเบนย่างที่ตลาดแม่กลองคงจะสดใหม่ไม่มีกลิ่นแอมโมเนีย(เพราะไม่สดจริง)เหมือนที่เคยพบตามตลาดในกรุงเทพ ผมชอบเอามาผัดเผ็ดแบบแห้งกับมะเขือเทศครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ส.ค. 20, 19:13
กระเพาะปลาริวกิวที่ตลาดฉัตรไชยของหัวหินน่าจะมีขายทั้งปีนะครับ  ผมไปในช่วงเวลาใดก็หาซื้อได้ทุกครั้ง มีที่เปลี่ยนไปจากแต่ก่อนนั้นเพียงอย่างเดียว คือจากการตัดแยกกันเป็นชิ้นๆรูปตัว A แล้วตากแห้ง เปลี่ยนไปเป็นหั่นแยกต่อเนื่องกันเป็นเส้นยาว   กระเพาะปลาริวกิวนี้ แต่เดิมก็มีขายในตลาดแม่กลอง แต่ในปัจจุบันนี้หาซื้อไม่ได้เลย

ตลาดฉัตรไชยเป็นตลาดสดที่น่าเดินหาซื้อปลาทะเลสดขนาดตัวกำลังกินสำหรับทั้งครอบครัว  แต่ก่อนนั้นเป็นแหล่งจ่ายตลาดสำหรับผู้คนที่ไปพักผ่อนค้างแรมที่มีบ้าน(บังกาโล)ของตนเอง และกลุ่มคนที่ไปแบบครอบครัว ไปเช่าบังกาโลอยู่  ในปัจจุบันนี้ คนไปอยู่ในคอนโดหรือโรงแรมกัน ประกอบกับไม่ค่อยจะนิยมทำอาหารกินเอง นิยมออกไปกินนอกบ้านตามฟูดคอร์ดหรือฟูดปาร์ค   การไปเดินตลาดฉัตรไชยของผู้คนที่ไปท่องเที่ยวจึงมักจะเป็นการซื้อปลาแช่น้ำแข็งกลับกรุงเทพฯเสียมากกว่า  ปลาทะเลของหัวหินส่วนมากจะเป็นปลานอกชายฝั่ง

นึกถึงอาหารอร่อยของหัวหินแต่เก่าก่อนอยู่ 2 อย่าง คือ ก๋วยเตี๋ยวเป็ดตุ๋นเจ้าเก่าแก่ และข้าวต้มหมูสับกับปลาหมึกสดใหม่ โรยหน้าด้วยกระเทียมเจียวและผักคื่นช่าย (ทำเองหรือในตลาดโต้รุ่ง)   และของดีประจำถิ่น "ผ้าโขมพ้สตร์"


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 ส.ค. 20, 19:55
วันนี้ไปเดินตลาดชุมชน มีแม่ค้าเอาลูกกระคั่วและลูกกระบกคั่วมาวางขาย เลยซื้อมาแกะกินเล่นด้วยความอร่อย   

ลูกกระเป็นผลของไม้ป่าที่มีมากในภาคใต้ จะออกผลในช่วงประมาณเดียวกับช่วงเข้าพรรษา  ลุกกระนี้ (ดูเหมือนว่าคนใต้จะเรียกว่าลูกประ) มีการนำไปใช้ทำอาหารแต่ไม่รู้ว่าในเมนูอะไรบ้าง เคยทานอยู่ครั้งเดียวนานมากมาแล้วจนลืมไปเลย  ที่พอจะรู้อีกอย่างหนึ่งก็คือมีการเอาไปดอง แต่ยังไม่เคยลองทานสักครั้ง

สำหรับลูกกระบกนั้น มีอยู่ทั่วทุกภาค แต่มีความรู้แต่เพียงมีอีกชื่อหนึ่งว่า มะมื่น  มีสรรพคุณทางยาสมุนไพร

ทั้งสองนี้ได้เรียกชื่อเสียสวยว่า 'ลูก...'  แต่แท้จริงแล้วมันเป็นเมล็ด 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 08 ส.ค. 20, 12:16
เคยกินลูกกระเมื่อตอนเป็นเด็ก จำได้ว่ากรอบมันเคี้ยวเพลินดีจังค่ะ แต่ตั้งแต่โตเป็นผู้ใหญ่มานี่ไม่ได้กินอีกเลย หายาก ไม่เคยเห็นอีกเลยค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ส.ค. 20, 18:55
    .......... และปลากระเบนย่างที่ตลาดแม่กลองคงจะสดใหม่ไม่มีกลิ่นแอมโมเนีย(เพราะไม่สดจริง)เหมือนที่เคยพบตามตลาดในกรุงเทพ ผมชอบเอามาผัดเผ็ดแบบแห้งกับมะเขือเทศครับ

แสดงว่าคุณ pratab ชอบกินปลากระเบน และรู้จักวัตถุดิบนี้เป็นอย่างดี 

ถูกต้องเลยครับ ปลากระเบนจะต้องสดใหม่ มิฉะนั้นจะมีกลิ่นแอมโมเนีย ยิ่งนานกลิ่นก็ยิ่งแรง ฉุนจัดเลยทีเดียว   ผมมีความรู้เรื่องเกี่ยวกับปลากระเบนน้อยมาก  เท่าที่รู้จักก็มีปลากระเบนพันธุ์เล็กของปักษ์ใต้ที่เขาเรียกกันว่า 'จ้องม้อง'   คนใต้เขานิยมเอามาย่างหรือเอามาผัดเผ็ดกินกัน ทำให้นึกถึงบรรยากาศครั้งหนึ่งนานมาแล้ว นั่งล้อมวงยามเย็นช่วยกันย่างปลาจ้องม้องบนชายหาด ได้ทั้งความอิ่ม บรรยากาศ และความสุนทรีย์อื่นๆ   

ก็เคยเห็นมีการตกปลากระเบนในทะเลหลวงและทะเลสาบสงขลาตอนกลางซึ่งมีน้ำลึกประมาณ 1.5+/-เมตร เห็นเขาใช้ไม้ไผ่ปักโด่เด่อยู่ แต่ไม่เคยเห็นปลากระเบนที่ตกใด้   ในแม่น้ำแม่กลองก็มีปลากระเบนขนาดใหญ่เป็นพวกที่อยู่สองน้ำ ในแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงก่อนถึง จ.นครสวรรค์ก็มี   แต่ก็มีเพียงปลากระเบนในพื้นที่ทะเลสาบสงขลาเท่านั้นที่ผมรู้ว่ามีการตั้งใจจับเพื่อเอาไปทำอาหาร


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 ส.ค. 20, 19:31
ปลากระเบนในตลาดแม่กลองมีทำขายอยู่เจ้าเดียว เป็นการย่างแบบใช้ใบตองปิดคลุม ทำให้มีกลิ่นหอมแบบ smoked fish ของพวกปลาหนัง   เป็นเชิงของปลากระเบนตัวค่อนข้างใหญ่ ทำออกมาขายใหม่ๆทุกวัน หากจะซื้อก็ต้องบอกว่าจะเอาไปฉีกจิ้มน้ำปลากินหรือจะเอาไปผัด แม่ค้าจะเลือกให้อย่างพอดีๆ เพราะว่ามีทั้งลักษณะที่ย่างค่อนข้างแห้งกับย่างพอสุก  ซื้อแล้วก็ซื้อเครื่องผัดไปให้พร้อมเลย พริกแกง โหระพา กระชาย ใบมะกรูด  กลับมาถึงบ้านก็ผัดในวันนั้นเลย หากค้างไปอีกวันหนึ่งกลิ่นแอมโเนียก็จะเริ่มโชยออกมาแล้ว

ก็ว่ากันว่า ปลากระเบนเป็นของแสลงต่อโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ จะจริงเท็จมากน้อยเพียงใดก็ไม่ทราบ แต่อย่างน้อยกลิ่นแอมโมเนียที่มีโชยออกมาก็น่าจะทำให้นึกถึงผลที่จะยังไปถึงโรคเกาท์ที่แหยงๆกันก็ได้อยู่


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 ส.ค. 20, 19:38
ตลาดในช่วงนี้มีสะตอมาวางขายค่อนข้างมาก   สะตอมีอยู่ 3 สายพันธุ์ คือพันธุ์ที่ฝักค่อนข้างยืดตรง เรียกกันว่า สะตอดาน   อีกพันธุ์หนึ่งที่มีฝีกบิดเป็นเกลียว เรียกกันว่า สะตอข้าว   และก็มีสะตอป่าที่มีฝักค่อนข้างสั้น    ที่เราเห็นเอามาขายกันในตลาดส่วนมากนั้นจะเป็นสะตอดาน 

สะตอเอามาใช้ในเมนูอาหารหลายอย่าง แต่ที่เอามาทำเองได้ง่ายและอร่อยนั้น ผมเห็นว่าก็มี

เมนูสะตอผัดกะปิ (หรือผัดน้ำพริกกะปิ) ใส่กุ้ง(สด)  ก็มีอยู่หลายสูตร บ้างก็ใช้น้ำพริกที่เหลือ บ้างก็ตำใหม่(กระเทียม พริกขี้หนู กะปิ) บ้างก็ใส่หอมหัวใหญ่ลงไปผัดด้วย บ้างก็หั่นพริกชี้ฟ้าสดลงไปผัดด้วย ...ฯลฯ   จะใช้สูตรใหนก็อร่อยทั้งนั้นหากใช้น้ำตาลเล็กน้อยลงไปช่วยปรับแต่งรสให้มีความกลมกล่อมมากขึ้น

เมนูสะตอผัดกับแหนม (สิงห์เหนือเสือใต้)   จานนี้ก็ทำง่ายเช่นกัน เพียงเอาสะตอกับแหนมลงไปผัดกับน้ำมันในกระทะร้อนๆ ใส่น้ำลงไปหน่อย ใส่พริกขี้หนูสดบุบหรือซอยลงไปตามชอบ ปรุงด้วยน้ำปลา อาจจะแต่งรสด้วยมะนาวและน้ำตาลให้ออกรสเนียนมากขึ้น    ก็มีหลายสูตรอีกเช่นกัน บ้างก็ใส่หอมใหญ่ลงไปด้วย  บ้างก็ใส่กระเทียมโทนดองลงไปด้วย บ้างก็ใช้เพียงการหั่นแหนม บ้างก็ยีแหนม ...ฯลฯ

และเมนูง่ายที่สุดก็คือ เอามากินเป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือกับข้าวคลุกน้ำพริก  โดยเฉพาะกับน้ำพริกกะปิ และกับน้ำพริกไตปลาแห้ง กินสลับกันไปมากับผักอื่นๆ (ยอดมะกอก ขมิ้นขาว ยอดกระถิน ใบมันปู ใบแปะตำตึง ...)

ของอร่อยทั้งนั้นเลยครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ส.ค. 20, 18:42
ลืมไปว่า ในช่วงนี้จะมีผลไม้จากทางภาคใต้ขึ้นมาวางขายในตลาดต่างๆด้วย ก็มาจากแหล่งผลิตหลักๆในพื้นที่ของ จ.ชุมพร โดยเฉพาะ ย่าน อ.หลังสวน   จ.สุราษฎร์ธานี ย่าน อ.เวียงสระ และนาสาร    จ.นครศรีธรรมราช ย่าน อ.ลานสกา  และ จ.นราธิวาส ย่าน อ.ระแงะ และสุคิริน   ผลไม้จากแหล่งผลิตเหล่านี้ที่เราคุ้นเคยชื่อกันก็จะมี มังคุดหลังสวน  เงาะโรงเรียน  ลองกองตันหยงมัส  ซึ่งสายพันธุ์ผลไม้ของดีเหล่านี้ได้ถูกนำไปปลูกและพัฒนาคุณภาพในพื้นที่ของภาคอื่นๆ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกย่าน จ.รยอง จันทบุรี และตราด  ในภาคเหนือก็พอจะมีเช่นในพื้นที่ของ จ.อุตรดิตถ์  ส่วนในภาคอิสานนั้นไม่มีความรู้ครับ

ผมเคยได้มีโอกาสเดินทางเข้าไปทำงานในพื้นที่เหล่านั้น แต่ละครั้งเป็นเวลาสั้นๆในช่วงเวลาที่เป็นตะเข็บต่อระหว่างความสงบกับความไม่สงบของแต่ละพื้นที่ ก็เลยได้มีโอกาสเห็นและเดินในพื้นที่บางส่วนของสวนผลไม้เหล่านั้นบ้างเล็กน้อย  น่ากลัวดีครับ เพราะเราเป็นคนต่างถิ่นโดยสิ้นเชิงที่เป็นที่น่าสงสัยของชาวถิ่น ไม่เกิน 5 โมงเย็นก็ควรจะอยู่ในพื้นที่เมืองแล้ว


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 ส.ค. 20, 19:45
โดยพื้นฐานแล้ว ผลไม้จะแก่จัดและสุกไล่เรียงจากเหนือลงใต้   มะม่วงอกร่องที่ออกมาวางขายในตลาดในช่วงแรกๆเหล่านั้น ส่วนมากจะมาจากแหล่งปลูกในภาคเหนือตอนล่างหรือภาคกลางตอนบน เท่าที่ได้เห็นด้วยตนเอง แหล่งปลูกมะม่วงอกร่องในพื้นที่ๆกล่าวถึงนั้นอยู่ในย่านพื้นที่ประมาณครึ่งทางระหว่าง จ.กำแพงเพชร กับ ตาก    จะปลูกเหนือขึ้นไปจากนั้นก็ต้องเข้าไปในพื้นที่ๆราบเขาล้อมรอบ เช่น ลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน ซึ่งก็จะไม่ได้ผลดีนักเพราะในพื้นที่เหล่านั้นมักจะมีพายุลมแรงในช่วงเวลาที่มะม่วงกำลังจะแก่พอดี  (เป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่พอจะเล่าสู่กันฟังพอสังเขป)

เฉไฉไปเรื่องมะม่วงอกร่องเพียงเพื่อยกตัวอย่าง     กลับมาเข้าเรื่องต่อ    จ.อุตรดิตถ์ มีพื้นที่ๆเป็นป่าเขา แต่หุบเขาค่อนข้างกว้างและชุ่มชื้น มีน้ำไหลในห้วยต่างๆค่อนข้างดีถึงแม้ว่าอาจจะไม่มีนัำตลอดทั้งปีก็ตาม  ผมเดินทำงานในพื้นที่นี้เมื่อปี 2512 - 13   ในปัจจุบันนี้ก็ยังไม่เห็นความต่างไปมากอย่างมีนัยในเชิงวิกฤติ   ผลไม้ป่าและผลไม้ปลูกในอุตรดิตถ์มีหลายอย่าง แล้วก็ออกดอกออกผลอย่างเป็นไปตามฤดูกาลทางธรรมชาติ ชาวไร่ชาวสวนได้มีการพัฒนาพันธุ์มากมาย จนได้ผลไม้ของดีมีชื่อเป็นที่ต้องการของตลาด (ทุเรียนและลองกอง)  ที่สำคัญก็คือมีผลผลิตออกจำหน่ายก่อนที่อื่นๆเขา จะดีเลิศมากน้อยเพียงใดก็สุดแท้แต่รสนิยม แต่มันเป็นผลิตผลที่ออกมาในช่วงเวลาที่คนกำลังหาผลไม้ที่อร่อยน่ากินหลังจากเว้นระยะหาผลไม้อร่อยๆไม่ได้ไปช่วงเวลาหนึ่ง


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ส.ค. 20, 18:12
ต่อเรื่องมะม่วงอีกนิดนึงครับ    มะม่วงอกร่องในปัจจุบันนี้อวบอัดมากจนเกือบจะไม่เห็นร่องน่าอก แถมลูกก็เล็กและหอมน้อยกว่าแต่ก่อนอีกด้วย   อกร่องแบบเดิมๆนั้นหาได้ยากเต็มที จะพอมีอยู่ก็ในพื้นที่สวนเดิมๆ แถว อ.ภาชี จ.อยุธยา น่าจะยังพอหาได้อยู่


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ส.ค. 20, 18:58
กลับมาต่อความเรื่องเดิม ครับ

แหล่งผลิตผลไม้ที่สำคัญในปัจจุบันคือในพื้นที่ภาคตะวันออกของไทย     

ทุเรียนหมอนทองที่วางขายอยู่ดาษดื่นนั้น ส่วนมากจะเป็นของในพื้นที่ จ.ระยอง  ทุเรียนจากสวนดั้งเดิมของจันทบุรีก็มี แต่ดูเหมือนว่าจะถูกเหมารวมไปใช้ชื่อว่าเป็นทุเรียนระยอง  จัดเป็นทุเรียนที่มีคุณภาพ เริ่มต้นทำสวนปลูกกันอย่างเอาจริงเอาจังกันมาเมื่อประมาณ 40 ปีนี้เอง  ปัจจุบันได้กลายเป็นการทำสวนทุเรียนในลักษณะการอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกไปแล้ว   

มังคุด แต่เดิมแหล่งผลิตหลักๆอยู่ในพื้นที่ จ.จันทบุรี  แม้ว่าในปัจจุบันนี้จะมีปลูกกันในพื้นที่ของ จ.ระยอง  แต่ดูเหมือนว่าจะยังนิยมเรียกว่ามังคุดจันทบุรี   ในปัจจุบันนี้ก็ได้กลายสภาพไปเป็นอุตสาหกรรมไปแล้วเช่นเดียวกับทุเรียน

เงาะก็เช่นกัน เท่าที่เคยได้สัมผัสจากการทำงานและที่เคยรู้  เงาะมีมากในพื้นที่รอยต่อของ จ.จันทบุรี และ จ.ตราด  แต่เจ้าของพื้นที่ใน จ.ตราด และนักลงทุนต่างไปให้ความสนใจกับเรื่องของการขุดและค้าพลอยมากกว่าเรื่องของสวนผลไม้  เงาะที่ออกมาขายในตลาดก็เลยถูเหมารวมไปใช้ชื่อ 'เงาะจันทบุรี' หรือ 'เงาะสีชมพู' ตามลักษณะทางกายภาพของมัน


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 ส.ค. 20, 19:34
เมื่อผลไม้ของดีของภาคตะวันออกเริ่มซาหรือขาดหายไปเป็นช่วงๆ ก็ประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่ผลไม้ทางใต้เริ่มแก่ เก็บออกสู่ตลาดได้ ซึ่งก็คือในช่วงเวลาประมาณกลางเดือนของเดือนก่อนหน้านี้

ในช่วงเวลานี้ ทุเรียนบางสะพาน (อ.บางสะพาน จ.ประจวบฯ) ก็มีโผล่มาวางอยู่ในตลาด  ลองหาซื้อมาทานเพื่อเปรียบเทียบกับทุเรียนจากแหล่งผลิตอื่นๆก็น่าจะดีนะครับ  ถามแม่ค้าขายทุเรียนเจ้าที่ไว้ใจได้และดูไม่โกหกว่า เป็นทุเรียนมาจากที่ใหนก็น่าจะพอได้  (ทุเรียนจากอิสาน เช่น จ.ชัยภูมิ ก็มี) ตัวเราเองคงจะแยกแยะแหล่งที่มาจากการดูแต่เพียงรูปทรงของผลไม้ไม่ได้   

การรู้พื้นที่ของแหล่งผลิตหรือจากสวนใดจะทำให้การกินผลไม้มีความรู้สึกที่มีความสุขและสุนทรีย์เพิ่มมากขึ้น ไม่ต่างไปจากการเลือกร้านที่จะไปกินข้าวราดแกงหรือก๋วยเตี๋ยว   ซึ่งมันก็มีเครื่องปรุงและดูหน้าตาเหมือนๆกัน แถมบ้างก็อยู่ข้างถนน บ้างก็อยู่ในร้าน และบ้างก็อยู่ในสถานที่หรูๆ  แต่ด้วยเหตุใดจึงมีความอร่อยและให้ความสุนทรีย์หรือรสแห่งความสดชื่น Umami ที่ต่างกัน


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ส.ค. 20, 18:04
เงาะโรงเรียนของพื้นที่ในย่าน จ.สุราษฎร์ธานี   เป็นเงาะที่มีผลค่อนข้างกลม ผิวและขนค่อนกร้านและแข็ง มีสีออกไปทางสีแดง เนื้อในต่อนข้างหนา แห้ง กรอบ และร่อน   ต่างไปจากเงาะสีชมพูซึ่งจะมีสีออกไปทางสีชมพู ผิวและขนดูนุ่มละมุน เนื้อในค่อนข้างจะนุ่มและชุ่มฉ่ำ เนื้อไม่หนาเท่ากับเงาะโรงเรียน  ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆจนมีความอร่อยไม่น้อยหน้าเงาะโรงเรียนของดั้งเดิม 

ก็สุดแท้แต่ท่านใดจะชอบเงาะสายพันธุ์ใดนะครับ  สำหรับผมนั้นยังคงนิยมเงาะโรงเรียนแบบดั้งเดิมอยู่ ซึ่งจะว่าไปก็มีมาวางขายในตลาดน้อยลง แถมก็ยังมีในช่วงเวลาที่สั้นอีกด้วย   ก็เข้าใจเอาเองว่า ด้วยที่ราคามันดี ก็เลยทำให้มีการขยายพื้นที่การปลูกและการขยายพันธุ์กระจายออกไป ซึ่งมักจะยังผลให้เกิดการแปรเปลี่ยนไปในเชิงของคุณภาพทั้งในส่วนที่ดีขึ้นหรือลดลง ที่เราใช้คำว่า 'กลายพันธุ์' นั่นเอง  ซึ่งในหลายๆกรณีก็มิใช่ในเรื่องของสายพันธุ์ แต่เป็นเรื่องของคุณสมบัติของดินในพื้นที่ๆทำการเพาะปลูกกัน    คุณภาพของดินในพื้นที่ทำสวนนั้น ในหลายๆกรณีอีกเช่นกันที่ทำให้สวนที่อยู่ในละแวกเดียวกัน ให้ผลไม้ที่มีความอร่อยต่างกัน ก็จึงไม่แปลกนักที่จะมีการพูดถึงความอร่อยของผลไม้เจาะจงลงไปถึงระดับสวนบางสวน หรือกระทั่งบางส่วนของพื้นที่ในสวนเดียวกัน


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ส.ค. 20, 19:23
เพื่อความกระจ่าง ก็จะขอขยายความเล็กน้อยเกี่ยวกับดินในพื้นที่ๆปลูกผลไม้ต่างๆ

พื้นฐาน  ดินเกิดมาจากการแปรเปลี่ยนองค์ประกอบทางเคมีของแร่ที่ประกอบเป็นหิน ต่อมาเกิดการผุพังย่อยสลายจนกลายมาเป็นดิน   

ในพื้นที่จันทบุรี-ตราด โดยพื้นฐานแล้ว ต้นทางของดินเหล่านั้นคือหิน Basalt ซึ่งเป็นหินอัคนีประเภทลาวาอย่างหนึ่ง มีองค์ประกอบทางเคมีที่อุดมไปด้วยธาตุแมกนีเซียม เหล็ก โปแตสเซียม และ Trace elements ธาตุหายากบางอย่าง     

ย่าน จ.ระยอง  ต้นทางของดินมาจากหินในกลุ่มที่เรียกว่า Granitoid หรือ Granitic rock ซึ่งอุดมไปด้วยธาตุ โปแตสเซียม แคลเซียม โซเดียม ซิลิกา และ Trace elements พวกทองแดง ตะกั่ว สังกะสี และ Alkali elements อื่นๆ     

ย่าน จ.ชุมพร สุราษฎรธานี ยะลา ปัตตานี ...  ดินมีต้นทางมากจากหินในกลุ่ม Granitic rock ที่มีปริมาณโซเดียมสูง และหินปูน ผสมผสานกับซากพืชซากสัตว์(Humus) ซึ่งมีมากเนื่องจากเป็นพื้นที่มีความชื้นสูง

ก็คงพอจะเห็นภาพของความต่างของดินในพื้นที่ๆมีการปลูกผลไม้ของเราได้บ้าง

แล้วค่อยต่อของย่านอื่นๆบางย่าน ครับ 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ส.ค. 20, 17:47
เพิ่มความกระจ่างอีกนิดนึดนึงครับ  เอาแบบรวบรัดง่ายๆเลย คำว่าดินที่เราเรียกและรู้จักกันอยู่นั้น เรานิยมจะจำแนกมันด้วยลักษณะทางกายภาพ เช่น ดินร่วน ดินทราย ดินดำ ดินปนหิน คินแม่น้ำ ดินตะกอน ดินเค็ม .....   เนื้อของดินดังตัวอย่างที่กล่าวถึงเหล่านี้ บ้างก็มองว่ามีองค์ประกอบอยู่ 2 อย่าง คือ มีวัตถุทางอินทรีย์เคมี และ วัตถุทางอนินทรีย์เคมี    บ้างก็มองว่ามีองค๋ประกอบอยู่ 3 อย่างในสัดส่วนมากน้อยที่แตกต่างกันไป คือ ตัวเศษแร่และหินขนาดเล็กมากๆ (inorganic clay sized particles) ตัวแร่ดิน (clay minerals) และเศษซากพืชและซากสัตว์ (organic particles)   หรือบ้างก็พ่วงการมองลึกลงไปในมิติของเรื่องของการกำเนิด ซึ่งก็จะไปเกี่ยวข้องถึงเรื่องของความต่างของดินในเชิงของคุณภาพและการแผ่กระจาย (spatial distribution) ณ บริเวณต่างๆในพื้นที่ผืนเดียวกัน

หากมีโอกาสไปเที่ยวในย่านพื้นที่ๆมีการทำสวน จะนึกสนุกลองสังเกตดูความต่างในเชิงของความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์และผลผลิตต่างๆ ก็น่าจะพอได้เห็นอะไรๆบ้าง



กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ส.ค. 20, 19:13
เพิ่มเรื่องราวเกี่ยวกับแร่ดิน (Clay minerals) อีกเล็กน้อย ครับ

แร่ดินพอจะจำแนกออกอย่างง่ายๆได้เป็น 2 กลุ่ม คือ พวกที่พองน้ำได้ กับ พวกที่ไม่พองน้ำ  ทั้งสองพวกนี้อยู่ปนเปกันได้เนื่องจากลอยมากับน้ำจากแหล่งกำเนิดของตน มาตกตะกอนรวมกันอยู่ในพื้นที่เดียวกัน  แร่ดินมีลักษณะเป็นแผ่นประกบกัน ในระหว่างแผ่นจะมีแขนที่สามารถจับธาตุที่มีประจุบวก (ซึ่งล้วนแต่เป็น trace elements ที่มีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิต)

ก็น่าจะพอที่จะยังให้เกิดนึกคิดต่อไปในอีกหลายๆมุม อาทิ เรื่องของความอิ่มตัวของดิน(จากปุ๋ย)  การเกษตรอินทรีย์  การปรับความเป็นกรดเป็นด่างของดิน  การพรวนดิน พลิกดิน ตากดิน การเพิ่มความสมดุลย์ให้กับดิน ...ฯลฯ



กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ส.ค. 20, 19:31
สังเกตดูก็น่าจะพอเห็นว่า แหล่งปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารและผลไม้คุณภาพดีของไทยเราทั้งหลาย ส่วนมากจะอยู่ในพื้นที่ๆอยู่หรือเคยได้รับอิทธิพลในระบบสิ่งแวดล้อมที่มีน้ำเค็มเข้ามาเกี่ยวข้อง (coastal environment) 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ส.ค. 20, 19:26
เอาแบบสรุปง่ายๆอีกเช่นเคย     น้ำทะเลเมื่อประมาณ 6000 ปีก่อนมีระดับสูงกว่าในปัจจุบันประมาณ 10+/- เมตร  พื้นที่ราบที่มีส่วนต่อกับทะเลหลายพื้นที่จึงเคยมีธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับระบบของทะเล เช่น น้ำทะเลเคยขึ้นลงท่วมถึง มีการพัดพาเอาตะกอนมาตกหรือพัดพาออกไป   

น้ำทะเลและดินส่วนที่มีความฉ่ำค้างอยู่ เมื่อถูกแดดเผาก็จะทำให้ตัวน้ำ (H2O) ระเหยไป เหลือ/เกิดพวกเกลือของธาตุแคลเซียม แมกนีเซียม ในรูปของ carbonates   หรือของธาตุ แคลเซียม แมกนีเซียม และโปแตสเซียม ในรูปของ sulfates  และของธาตุโปแตสเซียม และโซเดียม ในรูปของ chlorides  แล้วก็พวกธาตุจำนวนน้อยนิด (trace elemants) แต่มีความสำคัญต่อความเจริญเติบโต ตวามแข็งแรง และความสมบูรณ์ของพืชและสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย (อาทิ สังกะสี ทองแดง แมงกานีส โบรอน ฟอสฟอรัส ....)  ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็จะไม่เหมือนกันอีก ขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของเกลือ(ต่างๆ)ที่ละลายอยู่ในน้ำทะเลในย่านนั้นๆ(salinity) ระยะเวลาและ/หรืออัตราการระเหยของน้ำ และลักษณะทางกายภาพของพื้นที่  เกลือที่ละลายอยู่ในน้ำทะเลและเกิดการตกตะกอนเนื่องจากความเข้มข้นของน้ำทะเลเปลี่ยนไปนี้เรียกว่า Evaporites   ซึ่งสิ่งที่ตกตะกอนค้างอยู่ในพื้นที่เหล่านั้นก็คือสารประกอบที่เป็นปุ๋ยนั่นเอง 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ส.ค. 20, 19:54
ที่ได้กล่าวถึงอย่างสรุปมานั้น ก็คงพอจะทำให้ได้เห็นภาพของเหตุแห่งความมีชื่อเสียงเลื่องลือของแหล่งผลิดผลไม้ที่มีชื่อของเราหลายๆแหล่งได้บ้างนะครับ    แล้วก็น่าจะพอทำให้นึกออกได้ว่า การผสมผสานการใช้ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์อย่างเหมาะสมด้วยความรู้จักพื้นที่และผืนดินของเรานั้นสำคัญเพียงใด 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ส.ค. 20, 19:00
สำหรับในพื้นที่ราบน้ำท่วมถึง (floodplain) จากน้ำของแม่น้ำสายใหญ่ต่างๆที่เอ่อล้นตลิ่งก็เป็นอีกระบบหนึ่ง   ลักษณะของดินของสันคันคลองตามธรรมชาติ (natural levee) จะมีลักษณะเป็นดินทรายละเอียด ยิ่งห่างออกไปทางท้องทุ่ง ระดับของพื้นดินก็จะค่อยๆลดลง ดินก็จะยิ่งมีเนื้อที่ละเอียดมากขึ้น จนถึงบริเวณที่มีระดับต่ำสุดก็จะเป็นดินโคลนหรือเป็นหนองตม  การเลือกปลูกพืชผักผลไม้ที่จะให้ผลผลิตที่ดีก็จึงไปเกี่ยวข้องกับการเลือกบริเวณที่เหมาะสม    บางทีก็นึกเสียดายที่พื้นที่เพื่อการเกษตรกรรมชั้นดีของเราหลายพื้นที่ได้ถูกเอาไปใช้ในกิจการทางอุตสาหกรรมและพัฒนาเป็นชุมชนขนาดใหญ่หรือเมือง (township)



กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ส.ค. 20, 19:51
ไปตลาดในช่วงนี้ได้เห็นลูกพลับของไทยเราจากสวนในภาคเหนือมีมาวางขายด้วย 

แต่ก่อนโน้น เมื่อเก็บลูกพลับได้ก็จะต้องเอามาแช่น้ำปูนใส ทิ้งค้างคืนไว้หนึ่งถึงสองคืนเพื่อขจัดความฝาด   เดี๋ยวนี้ ผู้ขายเขาจะเอาใส่ถุงพลาสติก ใส่แกสคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปแล้วปิดถุง บ่มไว้สามสี่วัน รสฝาดก็จะหายไป จึงเอาออกมาปอกมาทาน   

พอจะรู้ว่า ลูกพลับมีสองสายพันธุ์ คือ พันธุ์ฝาดและพันธุ์หวาน แต่ผมแยกไม่ออก   เคยเห็นและได้ความรู้จากชาวบ้านเมื่อครั้งอยู่ที่ญี่ปุ่นว่า พลับทรงเหลี่ยมเป็นพลับที่เอามากินกัน ส่วนพลับทรงกลมรีนั้น จะเก็บเมื่อแก่จัดแล้วเอามาแขวนตากลมจนแห้งพอสมควร  เอามาบีบให้แบน ตากให้แห้งแล้วเก็บไว้กิน   ก็ดูจะต่างจากพลับแห้งของจีนที่ทำให้แห้งสนิทจนแข็ง     เลยทำให้นึกถึงเต้าทึงที่ใช้ความหวานจากน้ำตาลกรวด 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 16 ส.ค. 20, 15:55
ไปตลาดในช่วงนี้ได้เห็นลูกพลับของไทยเราจากสวนในภาคเหนือมีมาวางขายด้วย 

แต่ก่อนโน้น เมื่อเก็บลูกพลับได้ก็จะต้องเอามาแช่น้ำปูนใส ทิ้งค้างคืนไว้หนึ่งถึงสองคืนเพื่อขจัดความฝาด   เดี๋ยวนี้ ผู้ขายเขาจะเอาใส่ถุงพลาสติก ใส่แกสคาร์อนไดออกไซด์ลงไปแล้วปิดถุง 
แก้สชนิดเดียวกับที่ออกจากท่อไอเสียรถหรือคะ :o


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ส.ค. 20, 19:01
ใช่ครับ แต่ไม่ถูกต้อง 100 %    ต้องขยายต่อไปว่า  ไอเสียของรถยนต์ต่างๆนั้น จะประกอบไปด้วยคาร์บอนไดออกไซด์  (CO2)  คาร์บอนโมน๊อกไซด์ (CO)  ไนโตรเจนออกไซด์ (์NOx)  น้ำ น้ำมันที่เผาใหม้ไม่หมด และเศษผงต่างๆ (Particulate Matters _ PM)   องค์ประกอบเหล่านี้ ของเครื่องยนต์ดีเซลกับของเครื่องยนต์เบนซินจะมีสัดส่วนที่ต่างกัน และต่างกันไปสำหรับเครื่องยนต์แต่ละเครื่อง

แกสที่เอามาอบบลูกพลับนั้น เป็นแกสที่มีความบริสุทธิ์มากพอที่จะนำมาใช้ในเรื่องเกี่ยวกับอาหาร   หากมีโอกาสขึ้นไปทางเหนือแลัวเห็นลูกพลับสดใหม่วางขายในตลาด ก็ลองซื้อมากินนะครับ แม่ค้าขายผลไม้ตัวจริงบางเจ้าจะเอาพลับใส่ถุงพลาสติค อัดด้วยแกสแล้วมัดปากให้แน่น เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ ทิ้งไว้วันสองวัน เปิดถุงออก เอามาปอกเปลือกกินได้แล้ว


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ส.ค. 20, 19:55
ไปเดินตลาดแล้วเห็นว่ามีฝักมะรุมมาวางขายด้วย  ก็อดจะแปลกใจอยู่นิดๆไม่ได้ว่า มะรุมน่าจะมีในช่วงปลายหนาว  ในช่วงเวลานี้เขาแตกใบอ่อนกัน 

กล่าวถึงชื่อมะรุม  ก็เชื่อว่าทุกคนจะนึกถึงแกงส้มมะรุม    ก็ให้แปลกอยู่อย่างหนึ่งว่า แกงส้มมะรุมที่อร่อยควรจะต้องแกงกับปลาช่อน (หรือปลาชะโด) จะสับปลาเป็นชิ้นๆหรือจะต้มแล้วแกะเนื้อปลาโขลกรวมไปกับน้ำพริกแกงเพื่อทำให้เป็นแกงส้มแบบข้นก็ได้  จะใช้ปลาน้ำจืดอื่นใดที่มีเนื้อมากหน่อยก็ได้ แต่ควรจะต้องเป็นปลาเกล็ด (ปลานิล ปลายี่สกเทศ ...) หากจะใช้ปลาทะเล ก็ดูจะมีอยู่อย่างเดียวที่เข้ากันได้ดี ก็คือปลากระบอก   แกงแล้วใส่ไข่ปลาสลิดหรือยีไข่ปลาดุกเลี้ยง(ตัวใหญ่ๆ) ลงไปด้วย จะทำให้ดูน่ากินเลยทีเดียว   

สำหรับฝักมะรุมนั้น มันก็มีวิธีทำที่ทำให้เกิดความรู้สึกน่ากินได้ เช่น การลอกเปลือกให้มีความบางได้พอดีๆ แล้วควั่นเป็นท่อนๆขนาดยาวประมาณ 4-5 ซม. เพื่มความสุนทรีย์เข้าไปด้วยการเลือกเอาแต่เมล็ดของฝักที่ค่อนข้างจะแก่หน่อย


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 ส.ค. 20, 19:56
หากมีโอกาสขึ้นไปทางเหนือแลัวเห็นลูกพลับสดใหม่วางขายในตลาด ก็ลองซื้อมากินนะครับ แม่ค้าขายผลไม้ตัวจริงบางเจ้าจะเอาพลับใส่ถุงพลาสติค อัดด้วยแกส (คาร์บอนไดออกไซด์) แล้วมัดปากให้แน่น เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ ทิ้งไว้วันสองวัน เปิดถุงออก เอามาปอกเปลือกกินได้แล้ว

วิธีการนี้นอกจากจะขจัดความฝาดแล้ว ยังทำให้ลูกพลับสุกช้ากว่าปรกติและเก็บรักษาไว์ได้นานขึ้นอีกด้วย  


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 17 ส.ค. 20, 13:33
ไปเดินตลาดแล้วเห็นว่ามีฝักมะรุมมาวางขายด้วย  ก็อดจะแปลกใจอยู่นิดๆไม่ได้ว่า มะรุมน่าจะมีในช่วงปลายหนาว  ในช่วงเวลานี้เขาแตกใบอ่อนกัน 

กล่าวถึงชื่อมะรุม  ก็เชื่อว่าทุกคนจะนึกถึงแกงส้มมะรุม    ก็ให้แปลกอยู่อย่างหนึ่งว่า แกงส้มมะรุมที่อร่อยควรจะต้องแกงกับปลาช่อน (หรือปลาชะโด) จะสับปลาเป็นชิ้นๆหรือจะต้มแล้วแกะเนื้อปลาโขลกรวมไปกับน้ำพริกแกงเพื่อทำให้เป็นแกงส้มแบบข้นก็ได้  จะใช้ปลาน้ำจืดอื่นใดที่มีเนื้อมากหน่อยก็ได้ แต่ควรจะต้องเป็นปลาเกล็ด (ปลานิล ปลายี่สกเทศ ...) หากจะใช้ปลาทะเล ก็ดูจะมีอยู่อย่างเดียวที่เข้ากันได้ดี ก็คือปลากระบอก   แกงแล้วใส่ไข่ปลาสลิดหรือยีไข่ปลาดุกเลี้ยง(ตัวใหญ่ๆ) ลงไปด้วย จะทำให้ดูน่ากินเลยทีเดียว   

สำหรับฝักมะรุมนั้น มันก็มีวิธีทำที่ทำให้เกิดความรู้สึกน่ากินได้ เช่น การลอกเปลือกให้มีความบางได้พอดีๆ แล้วควั่นเป็นท่อนๆขนาดยาวประมาณ 4-5 ซม. เพื่มความสุนทรีย์เข้าไปด้วยการเลือกเอาแต่เมล็ดของฝักที่ค่อนข้างจะแก่หน่อย
เคยกินแกงส้มมะรุมเมื่อหลายปีก่อน กินเป็นครั้งแรกและเป็นครั้งเดียวนับแต่นั้นมา เนื่องจากเกิดความรู้สึกประทับใจในทางลบกับมะรุมค่ะ คือกินไปต้องคายชานไปเหมือนกินอ้อย ทำให้รำคาญมากกว่าอร่อย กินไปแค่คำสองคำก็เลิกเลยค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ส.ค. 20, 18:49
............
วิธีการนี้นอกจากจะขจัดความฝาดแล้ว ยังทำให้ลูกพลับสุกช้ากว่าปรกติและเก็บรักษาไว์ได้นานขึ้นอีกด้วย 

ขอบคุณครับ 

กระบวนการเปลี่ยนแปลงหรือการแปรเปลี่ยนทางอินทรีย์เคมีนี้ยุ่งยากจริงๆ  ผลไม้บางอย่างใช้วิธีการบ่มด้วยแกส acetylene ที่ได้จากถ่านแกส (CaC2)  บ่มแบบชาวบ้านก็ใช้โอ่งบ้าง ใช้ผ้าคลุมบ้าง หรือใช้วิธีที่เก็บผลมาทิ้งไว้ให้ลืมต้นบ้าง


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ส.ค. 20, 19:29
เคยกินแกงส้มมะรุมเมื่อหลายปีก่อน กินเป็นครั้งแรกและเป็นครั้งเดียวนับแต่นั้นมา เนื่องจากเกิดความรู้สึกประทับใจในทางลบกับมะรุมค่ะ คือกินไปต้องคายชานไปเหมือนกินอ้อย ทำให้รำคาญมากกว่าอร่อย กินไปแค่คำสองคำก็เลิกเลยค่ะ

อย่าเลิกกินเลยครับ ของอร่อยๆ  คนทำขายส่วนมากจะไม่เลือกว่ามะรุมที่นำมาแกงนั้นจะเป็นฝักแก่หรือฝักอ่อน   

เอาอย่างนี้ก็แล้วกันครับ  ดูว่าท่อนมะรุมที่เห็นอยู่ในหม้อแกงที่วางขายอยู่นั้น หากยังเห็นแถบสีเขียวเข้มอยู่ที่ท่อนมะรุมเป็นริ้วกว้างหลายริ้ว หรือเห็นเส้นขาวๆเป็นเส้นๆชัดเจนขนาดประมาณไม้จิ้มฟันผ่าซึก หรือเห็นตัวเมล็ดของฝักมะรุมที่แยกออกมามีลักษณะแข็งกร้าน  นั่นแสดงว่าแกงหม้อนั้นใช้มะรุมฝักแก่  หากเห็นน้ำแกงค่อนข้างใสอีกด้วยก็ไม่ต้องซื้อเลย   แต่หากน้ำแกงมีความข้นและเห็นมะรุมค่อนข้างจะนิ่มเละ ก็พอจะซื้อมาทานได้ แก้ความรู้สึกว่าเคี้ยวชานอ้อยด้วยการใช้ช้อนกับซ่อมแบะ แผ่มะรุมออก แล้วขูดเอาแต่เนื้อนิ่มๆและเมล็ดในเอามาทาน     


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ส.ค. 20, 19:50
ใบอ่อนของมะรุมก็เอามาทำอาหารกินได้  เอามาลวกหรือนึ่งแล้วกินกับน้ำพริกก็ได้ เอามาผัดกับไข่ เอามาแกงก็ได้  น่าเสียดายที่อาจจะหาซื้อไม่ได้ในตลาดต่างๆ หากพบเห็นก็น่าจะเอามาลองทำกินดูนะครับ  ง่ายที่สุดก็ลวกจิ้มน้ำพริก หรือผัดไข่เหมือนกับมะมะระจีน

เมื่อครั้งที่ผมต้องฉายแสงนั้น ได้รับความรู้จากเพื่อนร่วมโรคว่า เพื่อแก้แพ้ ให้เอายอดมะรุมมาปั่นทำน้ำมะรุม กินวันละแก้วตอนเช้า  ก็รู้สึกว่าดีนะครับ ไม่ได้มีกลิ่นเหม็นเขียวใดๆ ไม่มีผลเสียหายใดๆ         


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ส.ค. 20, 19:21
ไปเดินตลาดเห็นมังคุดลูกขนาดกำลังกินก็เลยซื้อมา ที่จริงซื้อมาแล้วสองสามครั้ง พบว่าเป็นของดี เนื้อดีและรสดี เนื้อในแต่ละเมล็ดขนาดเท่ากันและไม่เป็นไตแข็ง รู้แน่นอนว่ามาจากภาคใต้   เมื่อจะซื้อก็ให้เลือกหน่อยนะครับ ลูกใหญ่ไปก็ไม่อร่อย (ขนาดลูกเทนนิส) ลูกขนาดไข่ไก่เบอร์ศูนย์จะกำลังดี ที่จริงลูกเล็กจะอร่อยกว่าลูกใหญ่มาก  หยิบแต่ละลูกขึ้นมา บีบเบาๆด้วยนิ้วชี้และนิ้วหัวแม่โป้ง มันจะต้องรู้สึกว่านิ่มคล้ายฝรั่งกำลังจะสุก หากเป็นของเก่า เปลือกมันก็จะแข็ง แข็งขนาดต้องใช้ฆ้อนบุบจึงจะผ่ามันออกได้ แล้วก็ยังกินไม่ได้อีกด้วย       ก็เลยนึกออกว่าลืมขยายความถึง 'ลองกอง' ที่ค้างไว้

ลองกองที่มีชื่อเสียงของภาคใต้ เรียกกันติดปากว่า 'ลองกองตันหยงมัส' ซึ่งแต่ละลูกจะมีลักษณะค่อนข้างกลม เนื้อในแห้ง เปลือกหนา ปอกง่าย ไม่มียาง    โดยแท้จริงแล้วตันหยงมัสก็คือชื่อตำบลที่เป็นที่ตั้งของตัว อ.ระแงะ  เป็นชื่อของสถานีรถไฟซึ่งเป็นสถานีขึ้นลงสินค้าอุปโภคและบริโภคของ จ.นราธิวาส    สินค้าเกษตรกรรมทั้งหลายในพื้นที่ย่านนั้นจึงถูกส่งมารวบรวมเพื่อเอาขึ้นรถไฟที่สถานีนี้ไปขายในพื้นที่อื่นๆ  ผมเคยไปทำงานวิ่งตะลอนๆในระยะเวลาสั้นๆในพื้นที่ไกลปืนเที่ยงในย่านนั้นของภาคใต้ จึงพอจะได้ทราบว่า สวนสวนลองกองนั้นมีกระจายอยู่ทั่วไป ผลผลิตในพื้นที่ใกล้ชายแดนส่วนมากจะถูกซื้อแล้วรวมรวมเอามาส่งขึ้นรถไฟที่สถานีตันหยงมัส สำหรับในพื้นที่อื่นๆก็ส่งกันตามจุดที่สะดวก เช่น ยะลา จะนะ   

ก็จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ไม่สงบปะทุขึ้น การเข้าสวนและการขนส่งในพื้นที่ชะงัก ลองกองของภาคใต้จึงเกือบจะไม่มีออกจากสวนส่งขึ้นมาขาย  ก็เป็นจังหวะเหมาะที่ได้มีผลผลิตลางสาดที่ได้จากการพัฒนาพันธุ์จนเป็นสายพันธุ์ที่ไม่มียางที่เปลือก  ซึ่งบางแห่งก็ได้พันธุ์ที่ดูผิวเผินแล้วใกล้เคียงกับลองกองของทางใต้ เช่น เปลือกไม่มียาง มีเปลือกหนากว่าปกติ ผลค่อนข้างกลม   ซึ่งก็ยังไม่เหมือนของภาคใต้ ก็ลองสังเกตดูนะครับ ของภาคใต้จะมีออกมาวางขายในช่วงเวลาประมาณนี้  ก่อนหน้านี้นั้น ที่เรียกว่าลองกองนั้น มิใช่เป็นของจากภาคใต้   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ส.ค. 20, 19:53
ไปเอ่ยถึงชื่อยะลาเข้า เลยทำให้นึกไปถึงคำว่า 'ทุเรียนยะลา' 
 
ทุเรียนยะลา ก็มีชื่อเสียงติดปากมาในลักษณะเดียวกันกับลองกองตันหยงมัส คือ ยะลาเป็นสถานีต้นทางที่ขึ้นของสำหรับการส่งขายไปในที่อื่นๆ   ผมจำแนกไม่ได้ว่าทุเรียนของภาคใต้ในพื้นที่ย่านนี้มีลักษณะจำเพาะเป็นเช่นใด เรื่องทุเรียนนี้ ผมมีความรู้น้อยเอามากๆเลยทีเดียว ก็ชอบกินอยู่นะครับ เพียงแต่ไม่ค่อยจะให้ความสนใจว่าจะต้องเป็นพันธุ์โน้นพันธุ์นี้ ให้ความสนใจอยู่แต่เพียงว่าเนื้อจะต้องไม่นิ่ม ไม่เละเหลวมากนัก   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ส.ค. 20, 19:22
ในอิสานก็มีการปลูกทุเรียนเช่นกัน  ในอิสานตอนบนก็เช่น สกลนคร  อิสานตอนกลางก็เช่น ชัยภูมิ  และอิสานตอนล่างก็เช่น ร้อยเอ็ด  พื้นที่ปลูกยังมีน้อยมาก หรือกล่าวได้ว่ามีอยู่ไม่กี่สวนในแต่ละพื้นที่  ก็มีผลผลิตออกมาแล้วแต่คงจะหาซื้อมาลองทานได้ยาก   ผมเคยได้ลิ้มลองทุเรียนเหล่านั้นมาบ้าง ยกเว้นแต่เพียงของจากอิสานตอนบน    เหตุที่ได้มีโอกาสลิ้มลองก็เพราะว่ามีแม่ค้าขายทุเรียนเจ้าประจำ (เคยเป็นอดีตเจ้าของสวนในพื้นที่นนทบุรี) ซึ่งยังคงสนุกกับการขายทุเรียนด้วยการนำทุเรียนดีๆจากสวนดีๆใน ตจว. โดยไปเลือกเหมาต้นดีๆเอามาจำหน่าย  ก็มีลูกค้าเจ้าประจำยืนรออยู่หน้าร้าน(เพิงหน้าทางเข้าบ้าน)ตลอดเวลา ซื้อแบบแกะใหม่ เลือกความนิ่ม/แข็งของเนื้อในเอง ไม่ต่อราคากัน และหลายคนซื้อกันครั้งละ 2-3 ลูก 

อาจจะมีคำถามว่า แล้วรู้สึกว่ามีความต่างกันอย่างไรบ้าง   คำตอบก็คือ มันก็อร่อยเหมือนกันทั้งนั้น มีกลิ่นแรงต่างกันบ้างแต่ก็ไม่มากจนสังเกตได้ชัดเจน เม็ดมีใหญ่เล็กตามปกติแต่เนื้อก็หนาดี  หากแม่ค้าไม่บอกว่าเป็นทุเรียนจากที่ใหนก็ไม่มีทางรู้เลยครับ   ทุเรียนของทางภาคใต้ดูจะสังเกตได้ง่ายกว่า เรื่องแรกก็คือช่วงเวลาที่มีผลผลิตออกมาวางขาย  ทุเรียนใต้ดูจะมีกลิ่นแรงมากกว่า และดูจะมีเนื้อที่ค่อนข้างจะนิ่ม


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ส.ค. 20, 19:33
เคยสังเกตใหมครับว่าการเลือกผลไม้เปลือกแข็งหลายชนิดเพื่อให้ได้คุณสมบัติตามต้องการนั้น จะนิยมใช้วิธีการเคาะหรือดีดที่ผลไม้ลูกนั้นๆ 

แล้วค่อยว่ากันครับ 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ส.ค. 20, 20:22
รอตอนต่อไปค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ส.ค. 20, 18:55
การเลือกคุณสมบัติของผลให้ได้ตามที่ต้องการด้วยการเคาะหรือดีดผลไม้นั้น มีอยู่หลายเรื่องเลยทีเดียว ก็มีในเรื่องของความแก่ ความสุก ความอ่อน/แข็ง  ความแน่นของเนื้อใน และความฉ่ำ    ตามปกติแล้วใช้แต่เพียงการดีดด้วยนิ้วมือเบาๆพอให้ได้ยินเสียงก็เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องดีดแรงหลายๆครั้งจนแม่ค้ามองหน้าและต่อว่าเอา   มีแต่ทุเรียนเท่านั้นกระมังที่ต้องใช้ใม้เคาะ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เราไม่ควรจะไปยุ่งเกี่ยวด้วย (ผมไม่คิดว่าเราจะมีความสันทัดถึงขนาดไปใช้ไม้เคาะทุเรียนที่เราไม่คุ้นมือของแม่ค้าแต่ละคนได้)

เสียงที่เราจะได้ยินจากการเคาะหรือการดีดด้วยนิ้วนั้น  หากไปถามที่แม่ค้าที่ทำ ก็อาจจะบอกแต่เพียงว่า ก็ฟังเสียง แปะๆ หรือ ปุๆ    แท้จริงแล้วที่แม่ค้าเขาแยกออกว่าผลใหนดีหรือไม่ดีนั้น มันมีทั้งในเชิงเปรียบเทียบกับของในล๊อตที่มานั้นๆ หรือกับแหล่งที่มา  หรือกับช่วงระยะเวลาที่ผลไม้นั้นๆออกมาสู่ตลาด     ดังนั้น แทคติคอย่างหนึ่งของเราที่พึงใช้ก็คือ ให้แม่ค้าเลือกให้เราก่อน(ตามความต้องการที่เราบอก) แล้วเราก็มาทำอีกทีเพื่อตัดสินใจว่าเราจะเอาผลใหน


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ส.ค. 20, 18:50
การใช้เสียงเคาะหรือดีดเพื่อบอกคุณสมบัติของผลไม้นั้นยากที่จะบอกกัน  แต่ละคนจะได้ยินไม่เหมือนกัน แม้กระทั่งตัวเราเองเมื่อครั้งยังเยาว์วัยกับตัวเราเองในอีกวัยหนึ่งเมื่อมีอายุมากขึ้น  ทั้งหลายนี้เกี่ยวกับความสามารถของหูของแต่ละบุคคลในการรับคลื่นเสียง ว่าจะรับความถี่ของคลื่นเสียงได้ดีในช่วงใด  เมื่อมีอายุมากขี้น ช่วงของคลื่นเสียงที่สามารถรับฟังได้ก็จะค่อยๆแคบลง  หากแย่หน่อยก็ไปถึงระดับคนแก่หูตึง

ไปเดินตลาดแล้วได้ยินแม่ค้าเขาคุยกันในลักษณะเสมือนกับตะโกนใส่กันนั้น สาเหตุหนึ่งก็มาจากเรื่องเกี่ยวกับหูนี้แหละ เพราะพ่อค้าแม่ค้าที่เรียกว่าเจ้าเก่าในตลาดที่ส่งเสียงดังๆส่วนมากจะเป็นคนสูงวัยทั้งนั้น เราไม่ค่อยจะเห็นคนขายของหนุ่มสาวเขาใช้เสียงดังกัน ยกเว้นเมื่อเขาตั้งใจตะโกนเรียกผู้ซื้อหรือประกาศสรรพคุณสินค้าของเขา   เสียงดังและคำพูดห้วนๆของแม่ค้าพ่อค้าต่างๆอาจจะเป็นเหตุหนึ่งนอกเหนือไปจากความรู้สึกถึงความสกปรกของตลาด เลยทำให้หลายคนไม่นิยมการเดินตลาด


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ส.ค. 20, 21:01
ขยายความเรื่องของเสียงออกไป เพียงเพื่อให้เห็นภาพว่าเราต้องลองทำด้วยตัวเราเอง จึงจะรู้ว่าลักษณะของเสียงนั้นๆสำหรับตัวเราแล้วหมายถึงคุณภาพเช่นใด   

ลองเอาถุงกับข้าวที่แม่ค้าเขาผูกแบบโป่งลม ลองใช้นิ้วดีดที่ถุงที่ตำแหน่งต่างๆเพื่อเปรียบเทียบเสียงระหว่างถุงแกงที่มีน้ำแกงในถุงประมาณหนึ่งในสี่ของถุง ครึ่งหนึ่งของถุง และที่เกือบเต็มถุง   ลองเปรียบเทียบระหว่างแกงน้ำข้น แกงน้ำใส และแกงแบบน้ำขลุกขลิก  .....      (อาจจะเป็นการเล่าความที่ไม่ชัดเจนและใช้การยกตัวอย่างที่ไม่ชัดเจน การอธิบายความแบบ one to many ก็ยากเช่นนี้  :()


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 23 ส.ค. 20, 07:11
.
ผมขออนุญาตเพิ่มเติม 'วิทยาศาสตร์การฟังเสียงเคาะผลไม้' จากเฟซบุ๊ค เคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว (https://www.facebook.com/textile.phys.and.chem)

การดีดฟังเสียงเพื่อเช็คความสุกของผลไม้
https://www.facebook.com/textile.phys.and.chem/posts/2478384768866609/ (https://www.facebook.com/textile.phys.and.chem/posts/2478384768866609/)

ซึ่งพอจะสรุปความได้ว่า ยิ่งสุกยิ่งหวาน เสียงก็ยิ่งต่ำ

ส่วนจะสูงจะต่ำแบบไหนอย่างไร คงต้องไปทดลอง ดีดและฟังดูกันด้วยตนเองนะครับ
.


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 23 ส.ค. 20, 08:35
จากเฟซบุ๊ค เคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว (https://www.facebook.com/textile.phys.and.chem)

การดีดฟังเสียงเพื่อเช็คความสุกของผลไม้
https://www.facebook.com/textile.phys.and.chem/posts/2478384768866609/ (https://www.facebook.com/textile.phys.and.chem/posts/2478384768866609/)

ซึ่งพอจะสรุปความได้ว่า ยิ่งสุกยิ่งหวาน เสียงก็ยิ่งต่ำ

ขออนุญาตเก็บความไว้เพื่อความสะดวกในการอ่าน

บ่อยครั้งที่ภูมิปัญญาไทยนั้นมักจะสอน การดีดฟังเสียงของผลไม้ที่มีความสุก แล้วบอกว่าผลไม้ที่สุกแล้วเมื่อดีดจะดังเสียง “ปุ ปุ” แต่ถ้ายังดิบอยู่จะได้ยินเสียง “แป๊ะ แป๊ะ”

แล้วมันเชื่อได้จริงมั้ยนี่?? คำตอบก็คือว่า “เชื่อได้” หากว่าเมื่อผลไม้นั้นสุกแล้วจะมีโพรงอากาศช่องว่างมากขึ้นเมื่อสุก เช่น ทุเรียน แตงโม หรือมีความฟ่ามของเนื้อผลไม้จนกระทั่งการเดินทางของเสียงจากแรงสั่นสะเทือนที่เราดีดลงไปนั้นเปลี่ยนไป

การเดินทางของเสียงผ่านวัสดุที่มีสมบัติวิสโคอิลาสติค (viscoelastic materials) อย่างผลไม้ที่มีความสุกต่าง ๆ กัน หรือวัสดุพอลิเมอร์ ฯลฯ นั้นจะแตกต่างกันไป เมื่อสถานะนั้นเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งบางทีเราก็จะเรียกสมบัตินี้ว่า “สมบัติทางเสียงของวัสดุ” (Acoustic properties of materials)

โดยมากวัสดุที่มีโครงสร้างแน่นมักจะให้คลื่นความถี่ที่สูงกว่า (เสียงก็จะสูงคล้าย ๆ กับเสียงตรี เช่น แป๊ะ/ เป๊ะ/ เปรี๊ยะ)

ในขณะที่วัสดุที่มีความโปร่ง หรือโครงสร้างที่มี amorphous ที่อยู่ในสถานะยางนั้น จะมีความถี่ต่ำลง เป็นเสียงเอก เช่น ปุ โผละ หรืออาจจะต่ำลงจนหูเราไม่ได้ยินกันเลยทีเดียว เนื่องจากพลังงานเสียงบางส่วนนั้นจะถูกใช้ไปในการทำให้อากาศขยับตัว หรือหมุนโครงสร้างของพอลิมอร์ เป็นต้น

เทคนิคการฟังเสียงผลไม้สุกนั้นมีงานวิจัยรองรับด้วย อย่าง งานวิจัยการวิเคราะห์เสียงของแตงพันธุ์ Juan Canary melon (http://www.aensiweb.com/old/anas/2011/242-246.pdf) พบว่าเสียงที่ได้จากการดีดแตงนั้นจะมีค่าในช่วง ๔.๐๐-๔.๔๙ kHz เมื่อเก็บเกี่ยวในวันที่ ๕๕/ ลดลงเหลือ ๒.๓๘-๒.๙๑ kHz ในวันที่ ๖๐/ ลดลงเหลือ ๑.๖๒-๑.๗๘ kHz ในวันที่ ๖๕/ ลดลงเหลือ ๑.๖-๑.๖๒ kHz ในวันที่ ๗๐/ และลดลงเหลือ ๐.๙๔-๑.๐๕ kHz ในวันที่ ๗๕

การศึกษาครั้งนี้ยังพบว่าค่าบริกซ์ของผลแตงที่ถูกดีดนั้นจะเพิ่มขึ้น เมื่อค่าความถี่ของเสียงลดลงด้วย จึงสรุปได้ว่า ค่าความหวาน (sweetness) และระดับความสุก (stage of rippening) นั้นจะแปรผกผัน กับค่าความถี่ของเสียงด้วย

ภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องการฟังเสียงผลไม้สุกนั้นมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือได้ ถ้าใช้เครื่องมือที่วัดได้อย่างแน่นอน แต่ปัญหาที่ทำให้เชื่อไม่ได้นั้นก็คือ หูเราไม่ดี เท่านั้นแหละ  ;D


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ส.ค. 20, 19:09
ขอบคุณทั้งสองท่านมากๆครับ 

ผมมัวแต่ไปนึกที่จะอธิบายในเชิงของความสัมพันธ์ระหว่างความถี่ของคลื่นเสียงกับความดิบ กับความสุก กับความฉ่ำ กับความหวาน และกับน้ำหนักของผลไม้  ซึ่งมันมีความเกี่ยวพันและโยงใยถึงกันและกัน (correlatable) ทั้งในเชิงของการช่วยกันส่งเสริม (complementary relationship) และในเชิงผกผัน (reciprocal relationship)   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ส.ค. 20, 20:04
สับปะรดเป็นผลไม้ที่เลือกกันด้วยการใช้นิ้วดีด  ในปัจจุบันนี้ดูจะไม่มีการดีดกันแล้ว  แต่ก่อนนี้ ผู้คนจะเลือกกินสับปะรดที่มีเนื้อฉ่ำและหวาน  แล้วก็ยังเลือกด้วยว่าจะต้องเป็น 'สับปะรดศรีราชา' จึงจะเป็นของดีของอร่อยสุดยอด     สับปะรดปราณบุรี ก็เคยมีชื่อเสียง แต่คนไม่นิยมกินกันมากนัก ซึ่งอาจจะเป็นด้วยเหตุว่า เขาปลูกเป็นสับปะรดเพื่อการอุตสาหกรรม เพื่อนำใปใช้ทำสับปะรดกระป๋อง

ในปัจจุบันนี้ สำหรับคนที่ชอบสับปะรดประเภทเนื้อฉ่ำก็จะไปเลือกกิน 'สับปะรดสวนผึ้ง' ของราชบุรี  ซึ่งยังใช้การดีดเพื่อการคัดเลือกอยู่      หากชอบประเภทเนื้อค่อนข้างแห้งและกรอบ ก็จะเลือกกิน 'สับปะรดภูเก็ต'     แต่หากชอบเนื้อฉ่ำปานกลาง ไม่หวานมากนัก กินได้ทั้งลูก ก็จะเลือก 'สับปะรดภูแล'        แท้จริงแล้วก็มีการปลูกสับปะรดในอีกหลายๆพื้นที่ๆทั่วประเทศและมีเอามาขายกันในตลาด เพียงแต่ทั้งหมดจะมีตลาดที่มีลักษณะจำกัดเป็นพื้นที่ๆไปหรือเป็นย่านๆไป 

เลือกสับปะรดด้วยการดีดก็เพื่อหาลูกที่มีเนื้อในฉ่ำและแน่น  เสียงดีดจะต้อง แปะ    แล้วก็จะต้องดูตาของมันด้วยว่ามันเบ่งบานเต็มที่ ตาค่อนข้างแบน และร่องระหว่างตาจะต้องไม่ลึก  แสดงว่าสับปะรดนั้นแก่ได้ที่  แล้วก็ดูสีของตาจากโคนถึงหัว สีของตาควรจะต้องเป็นสีเขียวอ่อนและค่อนข้างมีสีเสมอกัน  ตาสีเขียวเข้มแสดงถึงว่ามันยังอ่อน  หากตามีสีแสดแซมจะแสดงถึงความแก่จัด หรือเก่าเก็บ หรือใกล้มีกลิ่นโอ่ เหม็นเปรี้ยว   ซึ่งจะต้องพิจารณาร่วมกับความแห้งของขนตาของมันด้วย    ส่วนสำหรับความหวานของมันนั้น ตอบไม่ได้ แม้ว่ามันจะมีองค์ประกอบที่ดีตามนัยที่กล่าวถึงมาก็ตาม


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ส.ค. 20, 19:04
จะขอเล่าความเล็กน้อยเกี่ยวกับสับปะรดภูแล

จับมาจากความทรงจำของผมช่วงก่อน พ.ศ.2500 จากการเดินทางขึ้น-ล่องระหว่างเชียรายกับกรุงเทพฯ (สมัยนั้นเรียกกรุงเทพฯว่า 'พระนคร')  ซึ่งจะต้องนั่งรถยนต์มาต่อรถไฟที่ลำปาง (ชื่อเดิมของสถานีลำปางคือ 'เขลางค์นคร')  บนเส้นทางรถยนต์ประมาณ 23 หรือ 27 กม. จะมีด่านตรวจของตำรวจก่อนจะเข้าถึงตัว จ.ลำปาง (โดยเฉพาะเพื่อตรวจการลักลอบขนฝิ่น)  พื้นที่บริเวณด่านนี้เอง จะมีชาวบ้านนำสับปะรดมาวางขายอยู่ข้างทาง  นัยว่าเป็นแหล่งสำคัญที่ปลูกสับปะรดส่งตามจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน   

ต่อมาในช่วงต้นของทศวรรษ 2500 คุณพ่อผมก็ลองปลูกสับปะรดดูบ้างในพื้นที่ประมาณ 40 ไร่ แถวบ้านเด่นห้า (ปัจจุบันอยู่ในเขตตัวเมืองเชียงราย)  โดยเอาพันธุ์ศรีราชามาปลูก ซึ่งในช่วงเวลานั้นเป็นสับปะรดพันธุ์ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ต้องการของตลาดมาก (ด้วยมีความฉ่ำและความหวานที่ถูกใจผู้บริโภค) ผมมารู้เอาเมื่อใกล้จะจบการเรียนในภาคเตรียมอุดมศึกษาว่า สับปะรดศรีราชา เป็นสายพันธุ์ที่มีชื่อว่า Batavia     ผลผลิตจากสวนของพ่อมีปริมาณมากและถูกใจผู้บริโภคมาก จนทำให้สับปะรดของลำปางไม่สามารถส่งขึ้นมาขายถึงเมืองเชียงรายและเหนือขึ้นไปได้ เข้าใจว่าน่าจะส่งถึงพะเยาได้บางส่วนแต่ในปริมาณไม่มากนัก (ตอนนั้น จ.พะเยา ยังเป็นเพียงอำเภอหนึ่งของเชียงราย)         


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ส.ค. 20, 20:12
แท้จริงแล้ว ชาวบ้านก็มีการปลูกสับปะรดแต่ดังเดิมกันมาเป็นถิ่นๆไป ที่ลำปางก็ในพื้นที่ย่านด่านตำรวจที่ได้กล่าวถึงแล้ว   ที่เชียงรายก็มีในย่านบ้านดู่และบ้านนางแล (คนในพื้นที่จะเรียกชื่อรวมๆว่า บ้านดู่-นางแล)   ชาวบ้านในพื้นที่บ้านนางแลนั้น นิยมปลูกสับปะรดเพื่อส่งขายในตลาดในตัวเมืองเชียงรายและในพื้นที่เหนือขึ้นไป (อ.แม่จัน  อ.แม่สาย  อ.เชียงของ)   

เมื่อสับปะรดจากสวนเด่นห้าขายดี มีลูกใหญ่ มีเนื้อในฉ่ำ และมีรสหวานชื่นใจ  ชาวบ้านย่านบ้านดู่-นางแลก็เลยมาของซื้อหรือบ้างก็ขอปันพันธุ์เอาไปปลูกกัน  ในที่สุดก็มีผลผลิตออกมาขายมากมาย พร้อมๆกับมีเสียงบ่นว่าพันธุ์ไม่ดี ลูกเล็ก ไม่ใหญ่อย่างที่สวนของพ่อ  ผมเข้าใจว่ามันมีการกลายพันธุ์ต่อๆมาจนกระทั่งเป็นอย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบันนี้

ไม่นานพ่อก็เลิกปลูกสับปะรด (สมัยนั้นเรียกสวน ไม่เรียกว่าไร่สับปะรด) หันไปปลูกมะม่วงอกร่องแทน แล้วก็ลองทำสวนแตงโมในอีกที่หนึ่ง แล้วก็ลองปลูกลิ้นจี่ (มีอยู่สามต้น ถูกขโมยกินหมด ชาวบ้านเรียกว่า 'มะคอแลนหวาน') ทำสวนกุหลาบ ประมาณ 500 ต้น ทำแปลงปลูกสตอเบอรี ประมาณ10 แปลง      ผมก็เลยได้มีโอกาสเรียนรู้และสัมผัสกับของจริงในหลายๆเรื่องเกี่ยวกับเรื่องของพืชไร่พืชสวน

เอาเป็นว่าโดยพื้นฐานแล้ว สับปะรดภูแลน่าจะเป็นสับปะรดสายพันธุ์ปัตตาเวียที่กลายพันธุ์ไปเป็นพันธุ์จำเพาะเฉพาะถิ่น เช่นเดียวกันกับสับปะรดภูเก็ต (ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าเขาสื่อสารการซื้อขายกันด้วยใช้ชื่อเรียกว่าสับปะรดปัตตาเวีย) 

ที่เล่ามาก็เพียงเพื่อนำเสนอข้อมูลที่มาจากการได้เข้าไปคลุกคลี ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงและความเห็นในอีกทางหนึ่งที่อาจจะเป็นประโยชน์อื่นใดในบางเรื่อง


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ส.ค. 20, 08:11
สับปะรดภูเก็ต


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ส.ค. 20, 19:22
ขอบคุณอาจารย์สำหรับภาพประกอบครับ 

สับปะรดที่มีวางขายอยู่ในกรุงเทพฯเกือบทั้งหมดจะมาจาก 3 แหล่งผลิต  สับปะรดภูเก็ต มีลักษณะเด่นที่พอจะสังเกตได้คือ เป็นทรงกลมรี ส่วนโคนใหญ่กว่าส่วนหัว    สับปะรดสวนผึ้ง จะมีผลกลมรีเสมอกันทั้งส่วนโคนและส่วนหัว    สับปะรดภูแล จะมีขนาดผลเล็กประมาณกำปั้นมือ     

สำหรับสับปะรดที่ปอกขายกันตามรถเข็นขายผลไม้ ส่วนมากจะเป็นสับปะรดสวนผึ้งกับสับปะรดภูเก็ด (สับปะรดภูแลมักจะปอกวางขายกันตามแผงขายผลไม้ในตลาดต่างๆ) ที่เป็นเช่นนี้ก็ดูจะมีเพียงเหตุผลเดียวคือราคาต้นทุนต่อหน่วยที่ขาย เพราะสับปะรดภูแลมีราคาต้นทุนที่ค่อนข้างสูง   รถเข็นขายผลไม้นั้นค่อนข้างจะมีข้อจำกัดในเรื่องความสมดุลย์ระหว่างราคากับปริมาณของสินค้าที่ผู้ซื้อจะได้รับ ซึ่งเกือบจะทุกรถเข็นจะขายในราคา 10 บาทต่อสินค้า 1 หน่วย   

ด้วยเหตุของข้อจำกัดดังกล่าว เลยทำให้รถเข็นผลไม้ทั่วๆไปเกือบทั้งหมดจะขายผลไม้ค่อนข้างจะเหมือนๆกัน  ก็มีอาทิ สับปะรด มะละกอ ฝรั่ง แตงโม มะม่วงดิบตามฤดูกาล (โดยเฉพาะ แก้วขมิ้น พิมเสน มันเดือนเก้า โชคอนันต์) มีน้อยรายที่ยังขายผลไม้สดแบบรุ่นแต่เก่าก่อน เช่น มันแกว ชมพู่ มะกอกน้ำ ที่เกือบหายไปเลยก็เป็นพวกผลไม้ดอง เช่น มะม่วง มะปราง มะขาม มะยม มะกอก มะดัน   
และที่หายไปเลยก็เช่น อ้อยขวั้น         


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ส.ค. 20, 20:05
แตงโมก็เป็นอีกหนึ่งผลไม้ที่ใช้การเลือกด้วยวิธีการดีด   แตงโมมีหลายสายพันธุ์ อย่างน้อยที่เห็นได้ชัดเจนก็มี เนื้อในสีแดง กับ เนื้อในสีเหลีอง  และมีทั้งพันธุ์ทึ่มีผลทรงกลมและทรงรี    แตงโมนั้นเรากินกันที่ความสมดุลย์ของความฉ่ำ ความหวาน และความหอมของน้ำแตง   ไม่ได้มุ่งเน้นที่ความหวานแบบสุดๆ หรือที่เนื้อแตงต้องมีสีแดงหรือสีเหลืองสุดสดใส   

 ;Dแตงโมที่อร่อยจริงๆนั้นจะมีเรื่องของตัวเนื้อของแตงด้วย คือจะต้องมีลักษณะเป็นเนื้อทรายหยาบที่แห้งแต่ฉ่ำน้ำ มิใช่แบบทรายละเอียดที่อิ่มน้ำ   อีกทั้งเนื้อในส่วนแกนกลางจะต้องไม่ล้ม คือมีความเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่เป็นร่องเป็นโพรง   

เลือกยากแล้วก็เรื่องมากอีกด้วยเนาะ ;D     


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ส.ค. 20, 19:36
กว่า 50 ปีก่อนนั้น แตงโมที่มีชื่อเสียง มีชื่อว่า 'แตงโมบางเบิด' มีผลขนาดใหญ่กว่าแตงโมท้องถิ่นที่ชาวบ้านเขาปลูกกัน ชาวบ้านจึงนิยมเอาพันธุ์แตงโมบางเบิดไปปลูกแทนของเดิม   ผมรู้จักชื่อนี้เพราะคุณพ่อของผมก็เอาไปปลูกเช่นกัน  ก็เลยพอจะรู้อะไรเล็กๆน้อยเกี่ยวกับแตงโมบ้าง  จำได้แต่ว่ามันขึ้นในดินทรายได้ดี  มีลูกออกมาขนาดไม่เสมอกัน บ้างก็มีขนาดลูกบาสเกตบอล บ้างก็มีขนาดส้มโอ(ลูกใหญ่ๆ)  ลูกที่ค่อนข้างกลมจะมีความหวานมากกว่าลูกที่มีทรงรี แล้วก็มีเนื้อในไม่ฉ่ำจนแฉะเท่ากับเนื้อของลูกทรงรี   แล้วก็ ลูกที่แก่จัดๆจะมีปานสีน้ำตาลเป็นปื้นขนาดประมาณก้นแก้วน้ำขึ้นไป 

ในปัจจุบันนี้ชื่อ 'แตงโมบางเบิด' น่าจะไม่มีผู้ใดกล่าวถึงอีกแล้ว  พื้นที่ปลูกแตงโมมีกระจายอยู่ในทุกจังหวัด ซึ่งก็คงมีสายพันธุ์ใหม่ที่เลือกปลูกแตกต่างกันไป    เท่าที่ผมได้สัมผัสมา พื้นที่ปลูกแตงโมมากที่สุดน่าจะอยู่ในละแวกภาคกลางตอนบนย่าน จ.พิจิตร   ก็น่าสนใจอยู่เหมือนกันที่ชื่อของต้นทางแห่งความดังของแตงโมอยู่ในพื้นที่ภาคใต้(บ.บางเบิด อ.บางสะพานน้อย)ได้หายไป ในทำนองเดียวกันก็ไม่มีชื่อของแหล่งปลูกแตงโมที่มีชื่อเสียงรุ่นใหม่ดังเด่นออกมา     

เอาเป็นว่าเลือกซื้อลูกที่มีทรงค่อนข้างกลม ที่มีปานสีน้ำตาล และลูกที่มีขนาดประมาณลูกฟุตบอล  ก็ไม่น่าจะผิดหวัง 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ส.ค. 20, 20:23
แตงโมบางเบิด


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 ส.ค. 20, 21:11
แตงโมบางเบิดเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๓  ณ ไร่บางเบิด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมีหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร พร้อมกับศรีภรรยาและลูกน้อยอีก ๒ คน เป็นผู้ก่อสร้างฟาร์มบางเบิด

ฟาร์มบางเบิดได้นำพันธุ์แตงโมจากสหรัฐอเมริกา พันธุ์ Tom Watson และพันธุ์ Klondike มาปลูกจำหน่ายจนมีชื่อเสียงเป็นพันธุ์ที่รู้จักกันดีในนามของ “แตงโมบางเบิด”  ซึ่งได้รับการขนานนามว่าอร่อยที่สุดในประเทศไทย ซึ่งแตงโมที่ผลิตได้จะจำหน่ายในตลาดกรุงเทพฯ และปีนัง โดยการใช้เกวียนหลาย ๆ เล่มขนส่ง แล้วเอาไปขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟห้วยสัก จนแตงโมบางเบิดเป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อและมีชื่อเสียงไปทั่วประเทศ

https://www.bangburdtour.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539884038&Ntype=15



กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ส.ค. 20, 21:28
หากจะไปเที่ยวแบบขับรถล่องใต้ ก็อยากจะเสนอว่า ควรจะหาช่วงเวลาแวะเข้าไปนอนที่ อ.บางสะพานน้อย  ซึ่งเป็นพื้นที่ชายทะเลที่เงียบและยังคงมีความเป็นธรรมชาติสูง   พื้นที่นี้อยู่ในย่านที่ท้องทะเลอุดมไปด้วย Plankton  หากไม่มี plankton มากมายขนาดนั้นก็คงจะไม่เห็นฉลามวาฬมาป้วนเปี้ยนอยู่ในท้องทะเลแถวนั้น   กุ้ง หอย ปู ปลา แถวนี้จึงมีสุขภาพที่ดี แข็งแรง สมบูรณ์    ลองไปแวะพักและลิ้มลองอาหารทะเลจากพื้นที่ใกล้ชายฝั่ง(และในเขตน้ำขึ้นน้ำลง)ของพื้นที่นี้ แล้วลองเปรียบเทียบกับของพื้นที่อื่นๆดูครับ   อย่าลืมทายากันยุงไว้บ้างก็จะดีสำหรับในช่วงเวลาเปลี่ยนกระแสลมบกกับลมทะเล


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ส.ค. 20, 19:21
เห็นภาพเก่าของแตงโมบางเบิดแล้ว ฉุกให้คิดถึงบางเรื่อง  เรื่องแรกคือ ดูเหมือนว่าการกลายพันธุ์ของมันเกิดขึ้นได้ค่อนข้างง่าย  เรื่องที่สองคือ มันขึ้นได้ดีในดินทรายร่วนที่มีสภาพของความเป็นด่างหรือเป็นกรดไม่มาก ในพื้นที่ๆได้รับแสงแดดดี พื้นที่โปร่งและโล่ง และมีระดับน้ำผิวดินอยู่ไม่ลึก   

กรณีของเรื่องแรก ที่ผมได้เห็นเมื่อช่วงแรกๆของการเดินทางไปทำงานในหลายๆพื้นที่    ที่เรียกว่าแตงโมบางเบิดเหล่านั้น ล้วนแต่มีแต่ลักษณะผลออกไปทางกลมมากกว่าทางทรงรี มีผลขนาดใหญ่มากกว่าแตงโมพื้นบ้านที่มีผลขนาดประมาณผลส้มโอเท่านั้น

กรณีของเรื่องที่สอง แหล่งปลูกแตงโมที่นำมาขายกันตามรถเข็นผลไม้หรือในร้านซุปเปอร์มาเก็ตเหล่านั้น ผมเห็นว่าน่าจะมาจากพื้นที่ในย่าน จ.พิจิตร - พิษณุโลก    หากมีโอกาสเดินทางขึ้นเหนือโดยใช้ทางรถสายนครสวรรค์-พิษณุโลก จะสังเกตเห็นปริมาณกองแตงโมที่นำมาวางตามข้างทางได้  แตงไทยก็มีมากองวางขายอยู่มากมายเช่นกัน    แต่หากใช้ถนนเส้นทาง อ.อินทร์บุรี (จ.สิงห็บุรี)-อ.วังทอง (จ.พิษณุโลก) ก็จะเห็นมันแกววางขายอยู่ในพื้นที่ย่าน อ.ตากฟ้า (จ.นครสวรรค์)   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ส.ค. 20, 20:11
พื้นที่ภาคกลางของไทยเราเป็นพื้นที่ๆจัดได้ว่ามีความสมบูรณ์ที่สุดในทุกๆด้าน  เรามีบริเวณบริเวณที่เป็นสันคันคลองธรรมชาติ (natural levee) เหมาะสำหับการสร้างที่อยู่อาศัย ปลูกไม้ยืนต้น และทำสวน  เรามีบริเวณชื้นแฉะ (swamp) เหมาะสำหรับการทำนาและทำเกษตรกรรมบางอย่าง  เรามีพื้นที่ๆเรียกว่าตะพักลำน้ำ (terrace) ทั้งที่เรียกว่า high terrace และ low terrace มีทั้งที่เป็นดินกรวดทรายหยาบสภาพเป็นดินกรด  มีที่เป็นดินทรายทั้งแบบดินร่วนหรือไม่ร่วนซึ่งมีทั้งสภาพที่เป็นกรดและด่าง เหมาะสำหรับทำไร่และทำสวนที่ต่างกัน   เรามีแอ่งน้ำธรรมชาติ (oxbow lake) เหมาะสำหรับใช้เพื่อการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์น้ำ   เรามีพื้นที่ๆมีน้ำใต้ผิวดินที่เป็น brine หรือสารตกค้างจากการตกตะกอนของน้ำทะเล เหมาะสำหรับการปลูกพืชผลไม้บางชนิดให้มีคุณภาพสูงกว่าปกติ

ก็แตกหน่อเรื่องทางวิชาการออกมาเล็กๆน้อยๆมาก่อนที่จะพยายามลงไปผูกกับเรื่องของความหลากหลายของผลไม้และคุณภาพของผลไม้ที่มีชื่อจากแหล่งปลูกที่กระจายอยู่เป็นหย่อมๆทั่วไป

จะรอดหรือไม่ก็ยังไม่รู้เลย  :-X


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ส.ค. 20, 18:58
ลักษณะจำเพาะทางกายภาพและองค์ประกอบของภูมิประเทศที่กล่าวมาเหล่านั้น ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เกิดมาเป็นปกติทั่วๆไปของแม่น้ำสายหนึ่งที่ไหลอยู่ในพื้นที่ราบ  ยิ่งเป็นพื้นที่ราบกว้างและไกลจากปากแม่น้ำ ก็จะยิ่งมีการกระจายซ้ำซ้อนกันและทับซ้อนกัน ซึ่งทั้งหลายเหล่านั้นเกิดมาจากการกวัดแกว่างของเส้นทางน้ำ (meandering)  สิ่งที่ได้ตามมาก็คือปุ๋ยและแร่ธาตุที่ถูกกระจายออกไปเป็นบริเวณกว้าง   ยิ่งมีแม่น้ำหลายสายไหลผ่านที่ราบนั้นๆ ก็จะยิ่งปนเปสลับซับซ้อนกันจนแยกไม่ค่อยจะออกว่าเป็นของแม่น้ำสายใด ปุ๋ยและแร่ธาตุก็จะมีความหลากหลายมากขึ้น    อีกทั้งบางพื้นที่ก็อาจจะมีกระเปาะน้ำเค็มอยู่ในชั้นทรายใต้ดิน ซึ่งยังผลให้พื้นดินที่ใช้ปลูกต้นไม้นั้นมีความกร่อยอ่อนๆสำหรับพืชผักผลไม้และต้นไม้บางชนิดที่ชอบดินในลักษณะนี้  ในพื้นที่ของนครปฐมมีหลายบริเวณเลยครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ส.ค. 20, 19:32
คงพอจะให้ภาพได้ว่า พืชผลชั้นดีจึงมีกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ แล้วก็ดีมากพอจนมีชื่อทางภูมิศาสตร์ผูกติดอยู่ด้วยเพื่อจำแนกคุณลักษณะบางประการ เช่น __อัมพวา, __ดำเนินสะดวก,  __สามพราน, __ชัยนาท, __พิจิตร .....

พวกสัตว์น้ำก็เช่น __สุพรรณบุรี, __สิงห์บุรี, __บางบ่อ(สมุทรปราการ), __พิษณุโลก, __นครสวรรค์, __อุทัยธานี .....

คงจะนึกออกอีกเช่นกันว่าคำหน้าชื่อสถานที่เหล่านี้จะเป็นอะไรบ้าง   ของเหล่านี้หลายๆอย่างมีวางขายอยู่ทั่วไป หลายอย่างหาชื้อของจริงได้เฉพาะในพื้นที่ และหลายๆอย่างอาจจะถูกหลอกได้เช่นกัน   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ส.ค. 20, 19:59
เดินตลาดชาวบ้านในกรุงเทพฯก็มีโอกาสได้ซื้อผักสดผลไม้และของกินชื่อดังของจังหวัดต่างๆได้ และก็ยังค่อนข้างจะได้ของสดใหม่อีกด้วย  ซึ่งมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ ของที่แม่ค้าที่เป็นชาวเมืองหลวงเจ้าประจำของตลาดไปหาซื้อมาจากตลาดขายส่งแล้วเอามาวางขาย  และของที่แม่ค้าที่เป็นชาวถิ่น(ตจว.)เอามาวางขาย ซึ่งจะเห็นว่ามาบ้างไม่มาบ้างหรือไม่ก็มาเป็นฤดูกาล   

กรณีแรก   เราจะเห็นแผงขายสินค้าสินค้าพืชผักซึ่งมีอยู่หลายๆเจ้าในตลาดเดียวกัน แล้วเราก็จะเห็นผู้ซื้อแวะซื้อของเจ้านี้บ้างเจ้าโน้นบ้าง ทั้งๆที่ก็มีสินค้าชนิดเดียวกันวางขายอยู่  แน่นอนครับตัวเลือกเรื่องแรกคือราคา ต่อมาก็คือความสดใหม่ ต่อมาก็คือลักษณะทางคุณภาพ ซึ่งมีหลากหลายเรื่องมากๆ เช่น   จะเน้นการใช้ส่วนใหนของพืชนั้นๆในการทำอาหารเมนูนั้นๆ (ส่วนราก ส่วนโคนต้น ส่วนใบ หรือคละกัน) หรือจะเน้นที่ขนาด หรือจะเน้นที่ความอ่อนแก่ หรือจะเน้นที่เรื่องขอลสี หรือจะเน้นที่ซื้อเก็บไว้เผื่อเหลือเผื่อขาด  ฯลฯ    สำหรับในกรณีที่เป็นคนชอบทำอาหารที่ค่อนข้างจะละเมียดละไมและคำนึงถึงความปลอดภัย ก็อาจจะเลือกมากขึ้นไปกว่านั้นอีก คือลงไปถึงแหล่งผลิตหรือผู้ผลิตเลยทีเดียว   

กรณีที่สอง   แม่ค้าชาวต่างจังหวัดเอามาวางขายเอง  แผงขายของๆแม่ค้าประเภทนี้มีทั้งที่เป็นแผงใหญ่ มีของพื้นบ้านหลากหลายชนิดวางขาย    และมีแบบแผงเล็กๆที่มีของอยู่อย่างเดียวหรือไม่กี่อย่างวางขาย


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ส.ค. 20, 19:00
กรณีที่สองนี้มีเรื่องที่น่าสนใจ  ซึ่งจำแนกออกได้ะเป็น 3 รูปแบบ  คือตัวผู้ขายเองมาอยู่กรุงเทพฯเพราะมาอยู่/ดูแลคู่ชีวิต ญาติและลูกๆ  แล้วเอาของท้องถิ่นมาขายอาชีพเสริม      อีกรูปแบบหนึ่งคือ ตั้งใจมาทำหน้าที่เป็นตัวแทนขายของพื้นบ้านที่เก็บเกี่ยวได้ของชุมชนในละแวกที่ตนอยู่    และในรูปแบบสุดท้าย เป็นลักษณะของผู้ขายชั่วคราวที่กลับไปเยี่ยมบ้าน เมื่อกลับมาก็เอาของตามฤดูกาลของบ้านตนติดตัวมาวางขายหารายได้พิเศษเพิ่มเติมเล็กๆน้อยๆ

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับของที่กลุ่มผู้ขายเหล่านี้นำมาวางขายก็คือ มันเป็นของพื้นบ้านจริงๆที่หาซื้อไม่ได้หรือหาซื้อได้ยากตามตลาดแบบชาวเมือง มันเป็นพืชผักตามธรรมชาติที่ปราศจากสารเร่งต่างๆ และที่สำคัญคือมันไม่มียาฆ่าแมลง หรือหากจะมีก็น้อยมาก    ของเหล่านี้มันจะมีความสดใหม่ได้เช่นใด ไม่ยากเลย เขามีคนรวบรวมของที่ต้นทาง จัดส่งมาทางรถทัวร์บ้าง รถไฟบ้าง ส่งตอนบ่ายหรือตอนเย็น มาถึงตอนเช้าก็ไปรับของเอามาวางขายได้แล้ว   ของเหล่านี้คงจะพอจัดไห้อยู่ในลักษณะของ niche market ได้  (ซึ่งต่างไปจากของในลักษณะของ mass market)  จึงมิต้องผ่านกระบวนการออกไปรวบรวมซื้อจากผู้ผลิต นำไปขายในตลาดขายส่ง แล้วขนใส่รถนำมาส่งขายในตลาดขายส่งของแต่ละพื้นที่ แล้วจึงมีการกระจายไปยังตลาดต่างๆในพื้นที่เมือง   

ผมมีความเห็นว่าพืชผักผลไม้ที่ต้องผ่านกระบวนการตลาดขายส่งนั้น มันอยู่ในบริบทของเรื่องทางปริมาณและคุณภาพทางกายภาพ (appearance_ใหญ่กว่า สะอาดกว่า สวยกว่า ...) มิใช่ในบริบทของ a touch of taste and flavor     


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ส.ค. 20, 19:55
ผมนิยมที่จะไปเลือกซื้อหรือหยุดดูของที่วางขายในแผงของชาวบ้านดังกล่าวบน 2 พื้นฐานคือ ได้ของดีตามธรรมชาติการเติบโตของเขา ได้รสและกลิ่นที่เป็นจริงของเขา  มีความปนเปื้อนของสารเคมีต่างๆน้อย  และอีกพื้นฐานหนึ่งคือการช่วยกระจายรายได้ในเชิงของ wealth (แล้วค่อยขยายความในพื้นฐานความเห็นนี้)  ตราบใดที่การซื้อขายมีความสมดุลย์ระหว่างราคา คุณภาพ และปริมาณ ยังพอมีความเหมาะสมอยู่

ในนัยของพื้นฐานแรก  ลองเปรียบเทียบระหว่างผักที่มีใบใหญ่สวยงามไม่มีแมลงเจาะกินกับผักชนิดเดียวกันที่มีใบขนาดย่อมลงมาแล้วเห็นว่ามีจุดมีรูที่แมลงกิน   ลองเปรียบเทียบระหว่างผักที่มีใบสดปิ๊งกับผักที่มีใบสยบ(เหี่ยว)ไปตามระยะเวลาที่ถูกถอนออกมาจากการปลูก   ลองเปรียบเทียบระหว่างผักซื้อมาเก็บแล้วเหี่ยวแบบแห้งแต่ยังคงรูปทรงกับผักที่ค่อยๆเน่าไปจากขอบนอก   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ส.ค. 20, 19:07
แต่ก่อนนั้น แกงเขียวหวานจะต้องใสใบโหระพาแล้วคนให้ทั่วก่อนปิดฝาหม้อแล้วยกลงจากเตาในทันที  ปัจจุบันนี้ มีใส่บ้าง ไม่ใส่บ้าง หรือใส่แต่เพียงน้อยนิด  ที่ขายกันในร้านอาหารดีๆก็เลือกที่จะใช้ใบใหญ่โรยหน้าเสมือนหนึ่งผักชี   

ผมค่อนข้างจะเรื่องมากและเลือกมากในการเลือกซื้อแกงเขียวหวาน  ก็มีข้อสังเกตที่ใช้ในการเลือกซื้อด้วยการดูจากการหั่นมะเขือที่ใส่ลงไป ดูว่ามีการใส่มะเขือพวงด้วยหรือไม่ ดูว่ามีการใช้ใบโหระพาหรือไม่และอย่างไร  เหล่านี้ล้วนเป็นการแสดงออกของความรู้จักและความพิถีพิถันในการทำอาหารของผู้ขาย ซึ่งหมายถึงคุณภาพและความน่าจะอร่อย   มะเขือควรจะใช้ลูกประมาณไข่แดงต้มสุก ผ่าสี่ แล้วด้านที่ถูกมีดผ่าจะต้องไม่มีสีดำคล้ำ ใช้มะเขือพวงขนาดลูกไม่ใหญ่ ใบโหระพาดูยังเป็นใบโหระพา ผักเหล่านี้จะสุกแต่ยังคงรูป ไม่นิ่มจนเละ   

นำความมายืดยาวก็เพียงแต่จะบอกว่า จะซื้อแกงเขียวหวานที่ดูน่ากินมาจากแม่คนใดก็ได้ แล้วไปเดินตลาดชุมชน ซื้อใบโหระพาแบบชาวบ้านปลูกเอง ซึ่งจะมีใบที่หนากว่าพวกใบใหญ่ๆที่แก่ปุ๋ย  เด็ดใบใส่ลงไปในแกงในระหว่างที่ทำการอุ่น เราก็จะได้แกงเขียวหวานที่มีความหอมอร่อยแตกต่างออกไปในทันใด

ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของความต่างระหว่างพืชผักที่ชาวบ้านปลูกเองกับที่ปลูกเป็นธุรกิจเชิงอุตสาหกรรม


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ส.ค. 20, 19:59
ใบกะเพราก็เช่นกัน ก็มีกะเพราแบบพื้นบ้านปกติใบไม่ใหญ่กับแบบที่แก่ปุ๋ยซึ่งมีขนาดใบใหญ่ ความหอมของกะเพราพื้นบ้านจะมีมากกว่าพวกใบใหญ่ที่แก่ปุ๋ยมาก   คงทราบกันอยู่แล้วว่ากะเพรามี 2 ชนิด คือ กะเพราะแดง กับ กะเพราะขาว    กะเพราขาวมีวางขายอยู่ทั่วไป แต่กะเพราแดงจะหาซื้อได้ตามแผงของแม่ค้าที่ขายของแบบพื้นบ้าน   

เราคุ้นเคยกับกะเพราขาวมากกว่ากะเพราแดงเพราะว่าผัดกะเพราเกือบจะทุกร้านจะใช้กะเพราะขาว   กะเพราแดงจะมีกลิ่นที่ฉุนแรงมากกว่า ซึ่งก็จะมีไม่มากร้านในพื้นที่นอกเมืองของ ตจว.ที่ใช้กะเพราะแดง   แต่หากเราจะทำผัดกะเพรากินเอง ก็ลองนึกถึงการใช้กะเพราทั้งสองชนิดอย่างละเท่าๆกันในการผัดนั้นๆ ใช้พริกขี้หนู และเจียวไข่ดาวแบบไข่ขาวกรอบแต่ไข่แดงยังพอไหลอยู่  เราก็จะได้ผัดกะเพราไข่ดาวที่อร่อยสุดๆไปเลย ยิ่งมีน้ำปลาที่ใส่หอมแดงและพริกขี้หนูสวนซอยละเอียด บีบมะนาวลงไปเล็กน้อย  สุดยอด

หากเห็นกะเพราแดงก็น่าจะซื้อมา แล้วไปซื้อต้มยำอะไรก็ได้มาด้วย   กลับมาบ้านก็เทต้มยำใส่หม้ออุ่นให้ร้อนจัด เอาพริกขี้หนูมาบุบใส่ถ้วยแกง เหยาะน้ำปลาลงไป บีบมะนาวลงไป ริดใบกะเพราแดงใส่ลงไป แล้วตักต้มยำที่อุ่นร้อนๆนั้นใส่ลงไป เท่านั้นเองก็แซบเหลือหลายเลยทีเดียว  จะลองเปรียบเทียบเทียบกับการใช้กะเพราขาว ก็จะรู้สึกในความแตกต่างได้   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.ย. 20, 09:30
ไม่มีใครไม่รู้จัก


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ก.ย. 20, 18:44
ภาพของอาจารย์ทำให้เห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนดี     ผมเคยเห็นพวกแก่ปุ๋ย(ใบใหญ่)ที่มีทั้งสองสีปะปนกันอยู่ โดยพื้นๆทั่วไปจะมีลักษณะเป็นกะเพราขาว แต่ที่บริเวณขอบใบและกิ่งก้านจะมีขนสีเรื่อๆของกะเพราแดง  เคยซื้อมาทำผัดกะเพราอยู่ครั้งหนึ่ง แล้วก็ไม่ซื้ออีก และก็ไม่อยู่ในความสนใจอีกเลย  ความแตกต่างที่เด่นชัดเท่าที่พอจะนึกออกก็คือ เกือบจะบอกไม่ได้เลยว่านั่นคือผัดกะเพรา

ผัดกระเพรานี้ดูเป็นของทำไม่ยาก  สำหรับผม ในการผัดจะเลือกใช้พริกขี้หนูเม็ดใหญ่ที่ให้รสเผ็ด  แล้วใช้พริกขี้หนูสวนเม็ดเล็กซอยใส่น้ำปลากับหอมแดงเพื่อระเบิดความหอมและความเผ็ดที่ร้อนแรงออกมา

ผัดกระเพราเกือบทั้งหมดจะใช้เนื้อหมู  การใช้เนื้อไก่ดูจะไม่เข้ากันได้ดีนัก  สำหรับกะเพราเนื้อวัวจะให้ดีควรจะต้องใช้เนื้อที่หั่นเป็นชิ้นๆ ซึ่งจะอร่อยกว่าแบบที่ใช้เนื้อสับ    สำหรับผม หากร้านเขามีเครื่องและทำได้ ผมจะสั่งผัดกะเพราปลากะพง ของอร่อยอีกอย่างหนึ่งที่ดูง่ายๆแต่หากินไม่ค่อยจะได้  ก็มีแห่งหนึ่งที่สั่งกินได้ เป็นร้านอาหารในโรงแรมที่อยู่ติดกับสถานีรถไฟฟ้าพญาไท   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 ก.ย. 20, 19:48
ก็มีข้อสังเกตในตลาดอยู่เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับแผงขายของในตลาดของแม่ค้าชาวถิ่นที่มาจากต่างจังหวัด คือ ถิ่นที่มาของแม่ค้าเหล่านี้ก็ดูจะมีความจำกัดอยู่ในระดับหนึ่ง    ในประเภทพืชผัก แมลง และของหมักดอง จะเป็นแม่ค้าจากอิสานเป็นหลัก โดยเฉพาะจากกาฬสินธุ์      จากภาคใต้เป็นพวกพืชผักของทางใต้ เช่น สะตอ ใบเหลียง ลูกเนียง ขมิ้น ไตปลาแห้ง ... ซึ่งส่วนมากจะมาจากสุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช     จากภาคเหนือมักจะมุ่งเน้นไปในด้านอาหารสำเร็จรูป ซึ่งส่วนมากจะมาจากพะเยา โดยเฉพาะ อ.เชียงคำ

ในอีกมุมหนึ่ง อาหารอิสานโดยทั่วไปทั้งที่ขายในตลาดและในร้านอาหาร จะจำกัดอยู่แต่เฉพาะในกลุ่มของเมนูที่เรียกว่าข้าวเหนียว ส้มตำ ไก่ย่าง ซึ่งมีขายทั้งในลักษณะที่เรียกว่าหน้าปั้ม รถเข็น หรือร้านอาหารอิสาน    มีน้อยร้านมากที่จะขายอาหารประเภทที่อยู่ในในเมนูของสำรับใหญ่ (พวกอ่อม จี่ หลาม ต้ม ลวกจิ้ม ก้อย...)

ในอีกมุมของอาหารภาคเหนือ  ก็ดูจะจำกัดเช่นกัน 

(ต่อพรุ่งนี้ครับ)

   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 02 ก.ย. 20, 11:40
ผัดกะเพราปลากะพง ของอร่อยอีกอย่างหนึ่งที่ดูง่ายๆแต่หากินไม่ค่อยจะได้    
เวลาที่มีปลากะพงจะนึกออกแค่ข้าวต้มปลา นึ่งซีอิ้ว แกงส้ม เพิ่งทราบว่าปลากะพงผัดกะเพราได้อร่อย ขอบคุณนะคะที่แนะนำ มีโอกาสจะลองทำกินค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ก.ย. 20, 19:28
เลือกซื้อเนื้อปลาที่แล่แล้วของปลาตัวใหญ่ๆที่ตัดขายเป็นชิ้นๆนะครับ      หากใช้ปลากะพงตัวเล็ก เนื้อของมันจะค่อนข้างยุ่ยมาก พวกนี้เป็นปลากะพงขาวเลี้ยง เหมาะที่จะเอามานึ่งซีอิ๊ว นึ่งบ้วย นึ่งมะนาว 

หรือทำแปะซะที่ใส่กระเทียมดองสักลูกหนึ่งที่หั่นเป็นแว่นหนา จะเพิ่มขิงซอยก็ได้ แต่ก็ควรจะเป็นขิงอ่อน กินกับน้ำจิ้มแบบบ้านๆที่ทำแบบง่ายๆแบบรุ่นเก่า ด้วยการละลายน้ำตาลผสมกับน้ำส้มสายชู ใส่เกลือ และเจือน้ำลงไปเล็กน้อย คนให้เข้ากันดี แล้วใสถั่วลิลงบดหยาบ แต่งด้วยใบผักชีซอย  ผักนึ่งที่กินร่วมด้วยนั้น จะนึ่งไปพร้อมกับปลาก็ได้ หรือจะแยกนึ่งก็ได้ ซึ่งที่ดูจะเข้ากันได้ดีก็มี กะหล่ำปลี และใบคื่นช่าย   หากไปเดินตลาดแล้วนึกถึงเมนูนี้  ด้วยเหตุใดเล่าจะไม่แวะไปดูแผงผักพื้นบ้านที่ชาวบ้านเขาเอาวางขาย เพื่อซื้อพวกผักสมุนไพรเอามานึ่งกินร่วมด้วย เช่น ข่าอ่อน เชียงดา ก้านจอง(ผักพาย) สะแล ยอดเถาผักต่างๆ 

หรือไม่ก็นึกถึงการแล่เอาเนื้อออกมาชุบไข่และแป้งทอด    จะให้เป็นฝรั่งหน่อยก็กินกับ tartar sauce ที่ทำง่ายๆด้วยการใช้ครีมมายองเนส ใส่เกลือ ใส่พริกไทย ใส่ของดองแบบเค็มเปรี้ยว ใสต้นหอมสดซอย บีบมะนาว     จะกินกับผักเป็นสลัดก็ได้หรือจะกินกับข้าวสวยก็ได้ ดัดแปลงเสียหน่อยให้เกิดความสุนทรีย์ด้วยการใช้ตะเกียบ พุ้ยข้าวในถ้วยแทนการใช้จาน  สำหรับผมจะขอเพิ่มน้ำจิ้มวาซาบิในซีอิ๊วขาวและขิงดอง หรือไม่ก็เหยาะที่ชิ้นปลาด้วยซอสไก่งวง     


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 ก.ย. 20, 20:13
ปลากะพงมีอยู่หลายเผ่าพันธุ์ แต่ที่เรารู้จักกันแพร่หลายนั้น นิยมจะแยกออกเป็นเพียงปลากะพงขาวกับปลากะพงแดง   หากความจำของผมยังดีและยังมีความถูกต้องอยู่ จำได้ว่าแต่ก่อนนั้น ปลากะพงขาวมีราคาสูงมากกว่าปลากะพงแดง    ในปัจจุบันนี้มีการเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังกันมาก และมีการเลี้ยงเพื่อการขายในพิกัดขนาดต่างๆ (เช่น ในพื้นที่ชายทะเล จ.สตูล เป็นการเลี้ยงปลาขนาดใหญ่) แต่สำหรับปลากะพงแดงนั้นมีแต่จับได้ในทะเลเปิด ซึ่งดูจะหมายความว่าปลากะพงแดงซึ่งเป็นปลาที่จับได้ในธรรมชาติก็น่าจะมีราคาสูงกว่าและมี texture ของเนื้อที่ดูจะดีมากกว่าปลาเลี้ยง

อือม์


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: pratab ที่ 03 ก.ย. 20, 12:54
ผัดกะเพราปลากะพง ของอร่อยอีกอย่างหนึ่งที่ดูง่ายๆแต่หากินไม่ค่อยจะได้    
เวลาที่มีปลากะพงจะนึกออกแค่ข้าวต้มปลา นึ่งซีอิ้ว แกงส้ม เพิ่งทราบว่าปลากะพงผัดกะเพราได้อร่อย ขอบคุณนะคะที่แนะนำ มีโอกาสจะลองทำกินค่ะ
ก่อนจะลองทำกิน แนะนำให้คุณ Anna ลองหาเวลาไปชิมดูก่อนที่ห้องอาหารเก่าแก่ Florida ในโรงแรมชื่อเดียวกัน อยู่ใกล้รถไฟฟ้า BTS พญาไท อร่อยมาก อาจไม่มีในเมนูแต่สั่งได้ครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ก.ย. 20, 18:08
ถุกต้องครับ รายการนี้ไม่มีอยู่ในเมนูแต่สั่งได้  ลองไปชิมดูก่อนก็ดีครับ เป็นร้านเรียบง่ายๆ สะอาด และราคาไม่แพง   

แต่หากจะลองทำเองเลย ก็ควรจะหั่นปลาเป็นชิ้นขนาดพอคำ เอาลงทอดในน้ำมันร้อนๆให้สุกเกรียมเล็กน้อยที่ผิว เพื่อให้เนื้อปลารัดตัว ไม่แตกยุ่ย  ตักออกพักไว้ แล้วจึงเอามาผัดกะเพราตามวิธีการปกติ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ก.ย. 20, 18:38
ในอีกมุมของอาหารภาคเหนือ  ก็ดูจะจำกัดเช่นกัน 

ผมยังไม่เคยเห็นร้านอาหารที่ขายอาหารของภาคเหนือเป็นหลักเลย แม้กระทั่งในร้านอาหารพื้นที่ภาคเหนือเองก็มีอยู่น้อยมากๆ     อาหารของภาคเหนือที่ถูกจัดเป็นตัวแทนในเมนูอาหารในทางวัฒนธรรมดูจะมีแต่เพียงน้ำพริกอ่อง น้ำพริกหนุ่ม แคบหมู และใส้อั่ว   ซึ่งแท้จริงแล้วก็อื่นๆอีก เช่น แกงอ่อม จอผัก แกงฮังเล ข้าวซอย ....   

แล้วก็เลยนึกถึงตำส้มโอ  ของกินอร่อยๆที่ทำง่ายๆด้วยการเอาส้มโอผลที่ออกรสไม่หวานมาทำ       


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ก.ย. 20, 19:32
ผมมีความเห็นว่า อาหารไทยที่ใช้ส้มโอเป็นพื้นในการทำเมนูใดๆนั้นๆ น่าจะจัดเข้าเป็นอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ในเมนูทางวัฒนธรรมของอาหารไทยอีกหนึ่งเมนู   เรามีตำส้มโอ (ตำบะโอ) แบบทางทางเหนือ เรามียำส้มโอแบบภาคกลางและแบบภาคใต้ที่หลากหลายด้วยสัดส่วนของสมุนไพรที่นำมาใส่คลุกด้วย (ตะไคร้ มะพร้าวคั่ว ผิว/ใบมะกรูด ...)  เรามียำแบบ veggie  เรามียำแบบใส่เนื่อสัตว์ (พวกกุ้ง กั้ง)  เรามีการใช้ส้มโอเป็นส่วนประกอบในจานอาหาร เช่น ข้าวยำ    เราเอาเปลือกส้มโอมาเชื่อมน้ำตาลทำเป็นของหวาน    เราเอาส้มโอมาจิ้มกับน้ำปลาหวานหรือพริกกับเกลือ เป็นของกินเล่น   เท่าที่มีประสพการณ์จากการเดินทางมากพอควร ก็ยังไม่เห็นตวามหลากหลายในการใช้ส้มโอแบบไทยเราเลย  (คลับคล้ายคลับคลาว่า เหมือนกับจะเคยเห็นที่ศรีลังกา แต่ไม่แน่ใจนัก)   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 ก.ย. 20, 19:51
ส้มโอที่มีชื่อเสียงโด่งดังของไทยเรามานานจนเป็นตำนานแล้วก็คือส้มโอในพื้นที่นครชัยศรี สามพราน และบางแห่งในพื้นที่ลุ่มน้ำท่าจีนและแม่กลอง  แต่ดูเหมือนว่าทั้งหลายเหล่านี้ล้วนได้รับผลกระทบที่รุนแรงมากจากกรณีน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี '54   

ผมคิดว่า อ.เทาชมพู น่าจะเป็นผู้ที่ให้ความรู้และความเห็นได้อย่างดีเกี่ยวกับส้มโอในพื้นที่ย่านที่กล่าวถีงนี้


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 ก.ย. 20, 20:31
หายไปหลายวันเลยครับ ด้วยเหตุว่าต้องไปรบอยู่กับ HDD ของคอมพิวเตอร์ที่มีปัญหา มันรวน มันไม่ยอมตื่นและลุกออกมาจากที่นอน (ไม่ Boot) ทั้งๆที่ใช้งานมันเพียงไม่กี่เดือน  ก็เลยต้องเปลี่ยนใช้ตัวใหม่แล้วเอาตัวเก่าไปจัดการกู้ข้อมูล   ที่จริงแล้วก็กำลังค่อยๆจัดระบบข้อมูลเพื่อจะนำไปเก็บในอีกที่หนึ่ง (back up) แต่ด้วยที่งุ่มง่ามไปตามประสา สว. คิดช้าบ้าง ลืมบ้าง หลงบ้าง ...ฯลฯ เลยไม่ทันการณ์กับอาการง่อยเปลี้ยของมัน     

ใช้คอมพิเตอร์มาตั้งแต่ CPU 8086 ก็เพิ่งจะมาเจอะเจอกับความเสียหายที่รุนแรงในครั้งนี้ จะด้วยเหตุจากภายในตัวเอง (manufacturing) หรือจากสภาวะภายนอก (electrical surge หรืออื่นใด) ก็มิรู้ได้   ทำให้เห็นว่า การใช้ระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายในปัจจุบันนี้ ควรจะต้องมีการคำนึงถึงและมีความขยันในการจัดการ back up ข้อมูลลงไปในตัวกลางที่หลากหลายตามทิศทางและการเปลี่ยนแปลงไปตามแนวโน้มของเทคโนโลยี (เราเคยใช้ cassette และเทปก็หายไป เราเคยใช้ diskette ขนาด 3.5 นิ้วและขนาดอื่นๆก็หายไป  เราเคยใช้ external HDD ในปัจจุบันนี้เรามี SSD มาให้เลือกใช้  แม้กระทั่ง data format เองก็เปลี่ยนไปพอสมควรแล้ว....ฯลฯ) 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: pratab ที่ 12 ก.ย. 20, 22:16
การเก็บข้อมูลสมัยนี้ถ้าไม่ขยัน back up ไว้เสมอๆถ้าเกิดข้อมูลหายไปด้วยเหตุใดใดก็ตามอาจทำงานต่อไม่ได้และเกิดความเสียหายร้ายแรงเช่นข้อมูลลูกค้าหาย หรือข้อมูลคนไข้หาย ทำงานต่อไม่ได้และยุ่งยากในการกู้คืน(ยกเว้นจากข้อมูลที่ back up ไว้) จากเอกสาร ได้ติดตามคุณ naitang ในกระทู้นีัแล้วเกิดความสงสัยว่าทำไมที่เชียงรายจึงปลูกสับปะรดหรือแตงโมได้ดีเหมือนภาคตะวันออกและภาคกลาง แสดงว่าดินคงมีลักษณะเดียวกันใช่ไหมครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ย. 20, 18:00
หายไปหลายวันเลยครับ ด้วยเหตุว่าต้องไปรบอยู่กับ HDD ของคอมพิวเตอร์ที่มีปัญหา มันรวน มันไม่ยอมตื่นและลุกออกมาจากที่นอน (ไม่ Boot) ทั้งๆที่ใช้งานมันเพียงไม่กี่เดือน  ก็เลยต้องเปลี่ยนใช้ตัวใหม่แล้วเอาตัวเก่าไปจัดการกู้ข้อมูล   ที่จริงแล้วก็กำลังค่อยๆจัดระบบข้อมูลเพื่อจะนำไปเก็บในอีกที่หนึ่ง (back up) แต่ด้วยที่งุ่มง่ามไปตามประสา สว. คิดช้าบ้าง ลืมบ้าง หลงบ้าง ...ฯลฯ เลยไม่ทันการณ์กับอาการง่อยเปลี้ยของมัน      

ใช้คอมพิเตอร์มาตั้งแต่ CPU 8086 ก็เพิ่งจะมาเจอะเจอกับความเสียหายที่รุนแรงในครั้งนี้ จะด้วยเหตุจากภายในตัวเอง (manufacturing) หรือจากสภาวะภายนอก (electrical surge หรืออื่นใด) ก็มิรู้ได้   ทำให้เห็นว่า การใช้ระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายในปัจจุบันนี้ ควรจะต้องมีการคำนึงถึงและมีความขยันในการจัดการ back up ข้อมูลลงไปในตัวกลางที่หลากหลายตามทิศทางและการเปลี่ยนแปลงไปตามแนวโน้มของเทคโนโลยี (เราเคยใช้ cassette และเทปก็หายไป เราเคยใช้ diskette ขนาด 3.5 นิ้วและขนาดอื่นๆก็หายไป  เราเคยใช้ external HDD ในปัจจุบันนี้เรามี SSD มาให้เลือกใช้  แม้กระทั่ง data format เองก็เปลี่ยนไปพอสมควรแล้ว....ฯลฯ)  

เครื่องของคุณตั้งเจอไวรัส จากการโหลดอะไรลงหรือเปล่าคะ  
ส่วนเรื่องแบคอัพข้อมูล  ดิฉันใช้ external portable drive ค่ะ     อีกทางคือเอาไฟล์เก็บไว้ใน dropbox   ถ้าเครื่องเจ๊ง  ซื้อเครื่องใหม่มาก็เข้า dropbox  เอาข้อมูลที่เก็บไว้ออกมาใช้ได้เลย    อย่าทำรหัสผ่านหายก็แล้วกันค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 ก.ย. 20, 19:53
สำหรับข้อสงสัยของคุณ pratab นั้น    

การอธิบายความอาจจะต้องจำแนกออกเป็นเรื่องในทางวิทยาการของศาสตร์ทางวิชาธรณีวิทยา (Geological science) กับ ศาสตร์ทางวิชาปฐพีวิทยา (Soil science)  ซึ่งแม้เรื่องราวดูว่าน่าจะคล้ายๆกัน แต่มันก็มีลักษณะของการมองที่ค่อนข้างจะต่างกัน  ในทางธรณีฯจะมองไปในเชิงของที่มาของมันและการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นกับมันตลอดมาก่อนที่เราจะเห็นสภาพของมันที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งกระบวนการทางธรรมชาติในปัจจุบันที่ยังมีและยังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับมัน(Physically, Chemically, biologically)   ในทางปฐพีฯค่อนข้างจะให้ความสำคัญกับการมองไปในเชิงของคุณภาพของดินเป็นบริเวณๆหนึ่งใด และค่อนข้างจะจำกัดความลึกที่ไม่มากไปกว่าระดับน้ำใต้ผิวดินมากนัก คือค่อนข้างจะมองไปในมาง 2D (area-wise)
 
ขอต่อในวันพรุ่งนี้ครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 14 ก.ย. 20, 07:34
ถ้าท่านอาจารย์ใช้ windows ไม่ว่าจะเป็นรุ่นไหน ผมขอแนะนำโปรแกรมสำรองข้อมูลตัวนี้ครับ (ใช้ License แบบ GNU)
https://sourceforge.net/projects/robomirror/ (https://sourceforge.net/projects/robomirror/)

เมื่อตอนเริ่มใช้ อาจจะดูงงๆบ้างสักหน่อย แต่เมื่อใช้ได้แล้วก็น่าจะช่วยทำให้เบาใจได้ในระดับหนึ่งครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ก.ย. 20, 19:03
ขอบคุณสำหรับคำแนะนำและความเห็นเรื่องเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ต่างๆครับ

ที่ผมปฏิบัติเป็นปกติก็คือ ผมจะแบ่ง HDD ออกเป็นสามส่วน คือ C: สำหรับ OS และโปรแกรมต่างๆ  อีกส่วนคือ D: สำหรับการเก็บข้อมูลและการทำงานต่างๆบนข้อมูลเหล่านั้น  และ G: สำหรับเก็บข้อมูลดิบที่ยังไม่มีการปรับหรือปรุงแต่งใดๆ  การติดไวรัสส่วนมากจะไปรวนที่ C: ซึ่งเราสามารถทำ low format แล้วลง OS ใหม่ได้โดยที่ข้อมูลต่างๆยังอยู่ครบ ซึ่งก็เป็นวิธีการที่ดูค่อนข้างจะปลอดภัยดี    แต่ในครั้งนี้ เจอเข้าไปที่ความไม่ปกติของตัว HDD  ก็เป็นมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ไม่เอะใจมากนัก  ที่พบก่อนที่จะพังพาบก็คือ Boot ได้บ้างไม่ได้บ้างหลังจาก Window auto update และบางทีก็มี miss startup ของบางแอป เช่น WiFi  ซึ่งอาการก็ไม่ชี้ชัดว่าเป็นเพราะไวรัสหรืออื่นใด  ด้วยความรู้ที่มีไม่มากพอ ก็ทำได้เพียงการตรวจสอบ(สแกนหา)ไวรัสทั้งระบบ ซึ่งก็ปลอดภัยดี  ทำต่อไปด้วยการ Defrag. และ Optimized ซึ่งก็ดูดีทั้งหมด   จนกระทั่งมาเกิดเหตุและทราบจากผู้ที่ทำการกู้ข้อมูลในเบื้องแรกว่า ดูเหมือนปัญหาจะเกี่ยวกับระบบของกลไกการอ่านข้อมูล   

ตอนนี้ผมเลยคิดถึงการใช้ SSD คู่ไปกับ HDD และการใช้ external portable drive ดังที่ อ.เทาชมพู ได้กล่าวถึง


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ก.ย. 20, 19:05
ขอบคุณคุณ ninpaat สำหรับคำแนะนำครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ก.ย. 20, 20:40
...ได้ติดตามคุณ naitang ในกระทู้นีัแล้วเกิดความสงสัยว่าทำไมที่เชียงรายจึงปลูกสับปะรดหรือแตงโมได้ดีเหมือนภาคตะวันออกและภาคกลาง แสดงว่าดินคงมีลักษณะเดียวกันใช่ไหมครับ

ความเห็นสำหรับกรณีดิน(ของพื้นที่ๆคุณพ่อของผมปลูกนั้น) มีลักษณะเดียวกันใช่ใหม คำตอบของผมคือ ก็คงเป็นไปในลักษณะนั้น   

เท่าที่ผมได้เคยพบเห็นจากการเดินทางผ่านพื้นที่ปลูกแตงโมที่มีผลผลิตและมีคุณภาพดี    ข้อสังเกตแรกก็คือ  พื้นที่เหล่านั้นจะอยู่ในพื้นที่ราบที่เป็นบริเวณที่มีตะกอนดินทรายของระบบน้ำจืดตกสะสมทับถมกันอยู่ (เรียกรวมๆว่า alluvial deposit) เป็นดินทรายที่มีเนื้อค่อนข้างละเอียดมาก มีส่วนผสมในปริมาณพอๆกันระหว่างทรายละเอียด (find sand sized particles) ขนาดละเอียดมาก (silt sized particles) และขนาดละเอียดยิบ (clay sized particles) ซึ่งในทางปฐพีฯดูจะใช้คำว่า ดิน loam   

ด้วยที่พื้นที่เพาะปลูกแตงมักจะเป็นพื้นที่ๆมีการแตกระแหงของดิน ผมก็จึงมีความเห็นว่าดินเหล่านี้น่าจะมีแร่ดินในกลุ่มที่พองตัวและหดตัวได้เนื่องมาจากความชุ่มชื้น(แร่ดิน Smectite group) ผสมอยู่กับแร่ดินในกลุ่มดินเหนียว (แร่ดิน Kaolin group)                 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 ก.ย. 20, 20:55
ข้อสังเกตที่สองก็คือ ด้วยที่แตงโตเป็นผลผลิตส่วนที่เป็นผลของพืช ก็เลยเดาเอาว่า น่าจะบ่งชี้ว่าพื้นที่ๆมีผลผลิตดีก็ควรจะต้องเป็นบริเวณที่มีตวามผิดปกติ(anomaly)เกี่ยวกับธาตุ K (Potassium) คือมีธาตุ K สูงกว่าปกติ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.ย. 20, 21:08
ลักษณะดินที่ปลูกแตงโม


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 ก.ย. 20, 19:36
นอกจากจะเป็นดินที่มีส่วนประกอบทางอนินทรีย์ดังที่กล่าวแล้ว ก็จะต้องมีส่วนที่เป็นทางอินทรีย์อีกด้วย ซึ่งก็คือพวกซากพืชซากสัตว์ต่างๆที่ถูกพัดพามาหรือที่มีอยู่ในพื้นที่นั้นๆ   

ลักษณะดังกล่าวนี้ มองอย่างผิวเผิน พื้นที่ก็จะมีลักษณะเป็นดินทรายที่มีปุ๋ยธรรมชาติอยู่พอควร  ซึ่งด้วยชื่อก็ดูจะบ่งบอกว่าเป็นพื้นที่แห้งแล้ง  แต่หากมองลึกลงไป ความแล้งนั้นจะเป็นแต่เพียงผิวหน้าดิน ลึกลงไปดินก็จะยังคงมีความชุ่มชื้นอยู่ในระดับหนึ่ง (ซึ่งไปเกี่ยวกับเรื่องของความพรุนของเนื้อดิน _porosity และความสามารถในการไหลของน้ำผ่านเนื้อดิน _permeability)   ด้วยความรู้ที่พอจะมีของผม แตงโมและพืชเถาหลายชนิดล้วนมีรากที่สามารถหยั่งลึกลงไปหาความชื้นได้ลึกมาก มันก็เลยขึ้นได้ดีในพื้นที่ลักษณะดังกล่าวนี้ ซึ่งลักษณะของผืนดินเช่นนี้ก็พบเห็นได้ทั่วไป แต่ก็จะมีความต่างกันอยู่บ้างในเรื่องของความมีและปริมาณของ trace elements ที่ได้มาจากกลุ่มหินที่มีอยู่ในละแวกใกล้เคียงที่เป็นพวกที่เกิดในสภาวะอุณหภูมิและแรงดันสูง (high temperature & pressure) ซึ่งธาตุเหล่านั้นล้วนแต่เป็นตัวเสริมสร้างความเจริญเติบโตและความเป็นเอกลักษณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารต่างๆของแต่ละถิ่น

สรุปว่า ได้แหกโค้งออกไปไกลเพียงเพื่อจะกล่าวว่า ทั้งแตงโมและสับปะรดมีชื่อที่ปลูกได้ในพื้นที่ต่างๆกันนั้น  พื้นที่เหล่านั้นล้วนแต่เป็นพื้นที่ราบที่มีเหล่าหินพวก high T & P อยู่ในบริวณใกล้เคียงทั้งนั้น



กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: pratab ที่ 15 ก.ย. 20, 21:28
ขอบคุณมากครับคุณ naitang  ได้ความรู้เยอะเลยแม้ผมจะไม่ได้เรียนด้านนี้มาโดยตรง ก็พอเข้าใจได้ครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ก.ย. 20, 19:19
ติดค้างไว้ในเรื่องของส้มโอ เลยจะขอต่อให้จบ

ก็มีความแปลกอยู่ที่สมโอดีๆ อร่อยๆ ของแท้ๆ จะหาซื้อได้ยากในกรุงเทพฯ แถมยังอาจจะถูกหลอกว่าเป็นพันธุ์นั้นพันธุ์นี้หรือพันธุ์ดังๆต่างๆอีกด้วย   ตัวผมเองไม่มีความรู้เรื่องรูปร่างลักษณะของสายพันธุ์ต่างๆ ก็เลยไม่สามารถจำแนกส้มโอที่วางจำหน่ายในที่ต่างๆ(ที่ยังไม่แกะและที่แกะแล้ว)ไม่ได้ ซึ่งหลายๆท่านก็คงจะเป็นเช่นเดียวกัน   แต่ด้วยที่ผมเป็นคนที่ต้องเดินทางไปทำงานในพื้นที่ต่างๆ ก็เลยได้มีโอกาสได้ลิ้มรสของดีประจำถิ่นหลายๆอย่าง ก็เลยจะขอแนะนำท่านที่ต้องเดินทางผ่านพื้นที่ดังที่จะกล่าวถึงต่อไป ให้หาโอกาสแวะซื้อมาลองทานดู จะเป็นที่แกะแล้วหรือที่ยังไม่แกะก็ไม่เป็นไร เพราะส้มโอมีความจำเป็นจะต้องเก็บเอามาทิ้งไว้ให้ลืมต้น(อย่างน้อยก็สัปดาห์หนึ่ง จนถึงประมาณหนึ่งเดืนกระมัง ?) เมื่อผิวของมันเหี่ยวๆและนิ่มๆ กดยุบบุ๋ม เมื่อนั้นส้มโอก็จะให้รสที่ออกหวานอร่อย แต่ก็มิไช่เสมอไปและอาจจะต้องเอามาจิ้มพริกกับเกลือกินเพื่อปรับรส หรือเอาไปทำอาหารอื่นใด เช่น ใส่ในข้าวยำ ทำตำส้มโอ ทำยำส้มโอ .....

พันธุ์ขาวใหญ่ของย่านแม่กลอง อัมพวา   พันธุ์ขาวแป้นและขาวพวงของย่านนครชัยศรี   พันธุ์ทับทิมสยามของย่านปากพนัง(นครศรีธรรมราช)  พันธุ์ขาวแตงกวาของย่าน จ.ชัยนาท  และพันธุ์ท่าข่อยของย่าน จ.พิจิตร      ผมขับรถขึ้นเหนือบ่อยก็เลยพอจะคุ้นเคยกับขาวแตงกวาของชัยนาท แต่กับท่าข่อยของพิจิตรนั้น ไม่ค่อยจะได้จอดรถแวะซื้อ (ประกอบกับไม่ค่อยจะเห็นวางขายข้างทางของถนนสายนครสวรรค์-พิษณุโลก)


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ก.ย. 20, 20:17
วันนี้ได้ไปเดินตลาดเย็นของชุมชน พบแผงที่กำลังคั่วลูกกะ ซึ่งเป็นของจากทางภาคใต้ประจำฤดูกาลนี้ และลูกกระบก(มะรื่น)ที่คั่วแล้ว (ลูกกระบกมีมากในอิสานและภาคเหนือ) อดไม่ได้ที่จะซื้อเอามาขบ(กระเทาะ)เปลือกแล้วเคี้ยวกินมันๆ ราคาของลูกกะต่อหน่วยขายในช่วงนี้ดูจะสูงกว่าลูกเกาลัดที่นำเข้ามาเสียอีก 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ย. 20, 07:30
ลูกกะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: unicorn9u ที่ 17 ก.ย. 20, 09:49
ลูกกระบก

ทำไมลูกกะ กับกระบกของอาจารย์ ถึงเหมือนกันเปี๊ยบแบบนั้นครับ :D


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ย. 20, 11:09
ขอโทษค่ะ โพสรูปผิดค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.ย. 20, 18:27
ขอเลือกใช้สำนวน 'no sweat'  ครับ อาจารย์ ;D


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ย. 20, 18:45
ขอเลือกใช้สำนวน 'no sweat'  ครับ อาจารย์ ;D


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ก.ย. 20, 19:26
มีข่าวว่าจะมีการใช้สนามหลวงเป็นส่วนหนึ่งสำหรับเป็นพื้นที่ชุมนุม  เลยทำให้นึกถึงตลาดนัดสนามหลวง ซึ่งได้ปิดไปอย่างสมบูรณ์และได้ย้ายไปเป็นตลาดจตุจักรเมื่อประมาณปี 2520+ (??) คิดว่ามีหลายท่านน่าจะได้เคยเดินกัน    

ในวันเสาร์และอาทิตย์ ก็จะมีพ่อค้าแม่ค้ามาเปิดแผงขายของบนสองฝั่งถนนรอบวงในรอบสนามหลวง   ตลาดนัดมิได้มีการจัดโซนแยกกลุ่มสินค้าบริโภคและอุปโภคที่ชัดเจน แต่ก็ยังพอจะสังเกตได้บ้างเช่น โซนขายพืชผักและของแห้งจะอยู่บริเวณฝัุ่งตรงข้ามกับอาคารศาล โซนขายพวกเสื้อผ้าและสินค้าอุโภคจะอยู่แถวฝั่งตรงข้ามกับประตูพระบรมมหาราชวัง   สำหรับในพื้นที่ๆเป็นสนามหญ้าก็จะมีเก้าอี้เอนนอนผ้าใบ มีแม่ค้าขายเมี่ยงคำ มีว่าวสำหรับให้เด็กไดซื้อและเล่นกัน   แล้วก็มีหลายๆคนเดินวนไปจนถึงหน้าวัดมหาธาตุฯแล้วข้ามถนนเข้าวัดไปเพื่อไปเดินดูตลาดของเก่าที่จัดกันอยู่ในพื้นที่วัด  ผมเองได้ของเก่าในราคาถูกหลายอย่างจากตลาดของเก่าในวัดนี้   เดินทะลุวัดด้านหลังแล้วข้ามถนน เดินลึกเข้าไปฝั่งถนนซอยเลียบน้ำท่าพระจันทร์ หาร้านอาหารอร่อยๆนั่งกินริมน้ำ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่า ในปัจจุบันนี้ หลายๆเจ้าได้เลิกกิจการไป อาทิ ข้าวหมกไก่ ซุปเนื้อ และเนื้อสะเต๊ะ  แต่ก็ยังมีเจ้าเก่าที่ยังขายอยู่เหมือนเดิม เช่น โรตีมะตะบะ ...     หรือไม่ก็เดินตามถนนไปท่าช้าง ก็จะผ่านร้านอร่อยๆอีกหลายๆร้านเช่นกัน รวมทั้งภัตตาคารที่พวกนักศึกษา ม.ศิลปากร นิยมไปนั่งแช่กัน ซึ่งมีของอร่อยเช่น ต้มข่าไก่ สตูลิ้นวัว... (ร้านนี้เลิกไปแล้ว ??)

หากยังไม่เหนื่อยมากพอ เมื่อกินอิ่มแล้วก็นั่งเรือข้ามฟากไปท่าวังหลัง    


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 ก.ย. 20, 20:36
บรรยากาศในอดีตของตลาดนัดสนามหลวง  ;D

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=6978.0;attach=70971;image)
(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=6978.0;attach=70973;image)


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ก.ย. 20, 18:12
ภาพของคุณเพ็ญชมพูได้สื่อเรื่องราวอยู่พอควรเลยทีเดียว  แม้จะไม่ทราบว่าถ่ายไว้เมื่อ พ.ศ.ใด แต่อย่างน้อยก็ต้องก่อนปี 2520+ ที่มีการปิดสนามหลวง

ภาพที่สะดุดตาผมแต่แรกสุดเลยก็คือภาพใหญ่ด้านซ้ายบน  เห็นแม่ค้าใส่งอบ นั่งขายมะตูมเชื่อมที่วางเรียงอยู่ในหาบกระจาดโดยที่ยังมีคานหาบคาอยู่กับชุดหาบ  ดูจะบอกได้เลยว่าแม่ค้าเหล่านั้นน่าจะมาจากตรอกมะตูม ย่านกรมอู่ทหารเรือ  ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็ยังคงทำมะตูมเชื่อมและมะตูมตากแห้งขายกันอยู่     มะตูมจะออกผลมากในช่วงอากาศเย็น ในช่วงเวลานี้ก็พอจะมีขายบ้างแล้ว หากต้องการซื้อก็ลองไปดูที่สี่แยก รพ.ศิริราช (ฝั่งฟุตปาธขายของกิน) จะมีแม่ค้าอยู่เจ้าหนึ่งเอามาวางขาย(ตอนบ่าย) มีทั้งแบบเป็นชิ้นสวยงาม ไปจนถึงแบบเป็นชิ้นเล็กๆ ราคาอยู่ในเกณฑ์ประมาณ 100+/-    ท่านที่ยังไม่ต้องควบคุมปริมาณการบริโภคน้ำตาล อาจจะลองหาความสุนทรีย์ยามเย็น หรือจะเป็นตอนบ่ายแก่ๆ หรือหลังอาหารเย็นก็ได้ นั่งยกขาพาดเก้าอี้อีกตัวหนึ่ง ดูทีวีหรือเล่นเน็ต แล้วจิบน้ำชาร้อนๆกับมะตูมเชื่อม หรือหากจะได้เป็นเค็กมะตูมแบบอุดมไปด้วยเนื้อมะตูมเชื่อมในเนื้อละก็ จะยิ่งสุดยอดไปเลย ซึ่งก็จะต้องก็เป็นเค็กที่ทำกินเอง ผมชอบเค็กมะตูมเลยรู้ว่าต้องหาซื้อมะตูมเชื่อมที่ใหน

ที่ยังมีความแปลกใจอยู่บ้างก็คือ แม่ค้าใช้คานหาบแบบคานแข็ง ไม่ได้ใช้คานหาบแบบคานอ่อนแบบที่คนไทยในภาคกลางใช้สำหรับการหาบของที่ค่อนข้างหนัก  แต่เมื่อเหลือบไปเห็นเข่งที่วางอยู่ข้างตัวแล้ว ก็เลยรู้ว่าแม่ค้าน่าจะขนของมาโดยรถยนต์

 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ก.ย. 20, 18:51
สนามหลวงในวัธรรมดาต่างกับวันเสาร์และอาทิตย์โดยสิ้นเชิง  ในวันธรรมดาจะมีกิจกรรมดูหมอ(หมอดู) ซึ่งหมอดูส่วนมากนั่งหลบแดดอยู่ตามโคนต้นมะขาม อาศัยร่มเงาของต้นมะขาม   ส่วนที่ถนนรอบสนามหลวงด้านตรงกันข้ามกับประตูทางเข้าพระบรมมหาราชวัง ก็จะเป็นแหล่งจอดของรถสามล้อเครื่อง(สมัยก่อน)และรถตุ๊กตุ๊ก

นึกย้อนไปแล้วก็สงสารต้นมะขามรอบๆสนามหลวงอยู่เหมือนกัน มีแต่ตะปูที่พ่อค้าแม่ค้าตอกเอาไว้ผูกผ้าใบ เอาไว้แขวนสิ่งของต่างๆ  ไม่รู้ว่าเมื่อทำการปรับปรุงสนามหลวงนั้น ได้มีการถอนตะปูเหล่านั้นออกไปมากน้อยเพียงใด  อีกอย่างหนึ่งที่หายไปจากสนามหลวงคือนกพิราบ     


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ก.ย. 20, 20:34
เขียนไปเขียนมาก็เกิดความสับสนขึ้นมาเองกับการใช้คำว่า เม็ด กับ เมล็ด แล้วยังคิดโยงไปถึงคำว่า nut กับ seed   เลยแหย่มาให้ถกกันเล่นๆ

ไปเปิดดูท่านรอยอิน   ท่านว่า เม็ด - น. ส่วนภายในของผลไม้ที่เพาะเป็นต้นขึ้นได้ เช่น เม็ดมะม่วง เม็ดมะปราง     และท่านก็ว่า เมล็ด - น. ส่วนภายในของผลไม้ที่เพาะเป็นต้นขึ้นได้ เช่น เมล็ดมะม่วง เมล็ดมะปราง    ก็เป็นว่าเราจะเลือกหรือนิยมจะใช้คำใดก็ได้   ซึ่งก็หมายความต่อไปว่า nut กับ seed ของภาษาอังกฤษมีความหมายเหมือนกันในภาษาไทย  ฉะนั้น เม็ดแตงโมก็ในภาษาไทยก็สามารถแปล(เรียก)เป็น nut ในภาษาอังกฤษได้ มิจำเป็นต้องใช้คำว่า seed หรือ kernel

เพียงทำความกระจ่างเสียก่อนที่จะต่อไปเรื่องของเม็ดหรือเมล็ดของพืชผักผลไม้ที่บ้านเรานิยมเอามาทำกินกัน


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 ก.ย. 20, 07:23
คำว่า เมล็ด แผลงมาจากคำว่า เม็ด ท่านรอยอิน* อนุญาตให้ใช้แทนที่กันได้  (คำแผลงอีกคำคือ แมง-แมลง สมัยก่อนก็มีความหมายเหมือนกัน เพิ่งมาแยกความแตกต่างในภายหลัง)

สำหรับในภาษาอังกฤษ คุณ Yoo Angrit (https://www.facebook.com/YooAngrit/photos/a.195176713952664/749212071882456/?type=3) อธิบายว่า คำว่าเมล็ดในภาษาอังกฤษมีใช้อยู่หลายคำ ชวนปวดหัวน่าดูเชียว

๑. seed เป็นคำที่กว้างที่สุดใช้เรียกเมล็ดพืชทั่ว ๆมไปทุกประเภท อย่างเช่น Papaya seeds are small, round, sticky, and black.  หรือ We sell vegetable seeds and herb seeds suitable for home growing.

๒. stone ใช้กับเมล็ดของผลไม้ ที่มีขนาดเมล็ดค่อนข้างใหญ่ และแข็ง กินไม่ได้ เช่น เมล็ดของอาโวคาโด (avocado) พลัม (plum)  มะกอก (olive)

๓. pip ใช้กับเมล็ดของผลไม้ ที่เป็นเมล็ดกินไม่ได้ ให้อารมณ์เป็นเมล็ดที่ต้องถุยออก เช่น เมล็ดแอบเปิ้ล (apple) ส้ม (orange) องุ่น (grape)

๔. grain คือเมล็ดของข้าวหรือธัญพืชต่าง ๆ เช่น Basmati rice has a longer grain than Jasmine rice.

๕. nut ใช้กับเมล็ดพืชแข็ง ๆ ที่เอามารับประทานได้ เช่นเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ (cashew nut)  อัลมอนด์ (almond)  เกาลัด (chestnut)

๖. kernel แปลว่าเนื้อในของเมล็ดพืชประเภท nut ที่เราเอามารับประทาน อย่าง มะม่วงหิมพานต์ ประกอบด้วยส่วนที่เป็นผล (cashew apple) กับส่วนที่เป็นเมล็ด (seed) แล้วในเมล็ดมีเนื้อข้างใน (kernel) ที่เราเอามารับประทาน แล้วเรียกส่วนนั้นรวม ๆ ว่า cashew nut  คำว่า kernel ยังหมายถึงเมล็ดของข้าวโพด หรือเรียกว่า corn kernel ด้วย


* ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๓ ท่านรอยอิน (royin) จะเปลี่ยนชื่อเป็น ท่าน เอิร์สท (orst)
   https://www.facebook.com/206167399441363/posts/3458374397553964/


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ก.ย. 20, 19:27
ได้ความกระจ่างดีครับ

ก็มาติดใจกับคำว่า stone   ฝรั่งมีกลุ่มผลไม้ที่เรียกว่า stone fruits ซึ่งเป็นพวกที่มีเนื้อแน่น(firm) มีเม็ดเดี่ยว และสามารถแกะหรือเฉาะแยกเม็ดออกไปได้ง่าย   ในบ้านเราก็มีผลไม้ในลักษณะเช่นนั้น เช่น มะกอกน้ำ มะขามป้อม ชมพู่มะเหมี่ยว ลูกหว้า(มะเกี๋ยง) ลูกสมอ...  ซึ่งดูจะมีความสอดคล้องกับกลุ่มผลไม้พวก stone fruits    แต่สำหรับพวกผลไม้ที่มีเนื้อนิ่ม เช่น ทุเรียน มะม่วงสุก... และพวกที่มีเนื้อออกไปทางเป็นวุ้น (ลำไย เงาะ...) รวมทั้งผลไม้ในลักษณะเดียวกันแต่มีหลายเม็ด (ทุเรียน ละมุด มะขามหวาน...)  พวกนี้จะจัดเป็นกลุ่มที่เรียกว่าเป็นพวก stone fruits หรือไม่ ?? 

มากไปกว่านั้น บ้านเราก็มี มังคุด กระท้อน มะไฟ ... ซึ่งเป็นพวกที่เม็ดกับเนื้อเชื่อมต่อเป็นตัวตนเดียวกัน เม็ดกินไม่ได้ แถมยังมีหลายเม็ดในผลไม้ลูกเดียวกันอีก เลยเลือกใช้คำในภาษาอังกฤษไม่ถูกว่าจะใช้คำอะไรดี ??


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.ย. 20, 20:14
ลองนึกดูว่าเม็ดหรือเมล็ดผลไม้ไทย น่าจะจัดเข้าประเภทไหน

๑. seed  แตงโม
๒. stone เงาะ
๓. pip  ส้มโอ 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ก.ย. 20, 21:07
เม็ดฟักทอง เม็ดแตงโม ที่ยังไม่กะเทาะเปลือก ใช้คำว่า seeds แต่เมื่อกะเทาะเปลือกแล้วไปใช้คำว่า kernel     เม็ดถั่วทั้งหลายที่เกิดมาในลักษณะที่เป็นฝักเรียกว่า pea รวมทั้งเม็ดจากฝักถั่วลันเตา แต่เม็ดจากฝักกระถิน สะตอ และลูกเหรียง เหล่านี้ไม่มีความรู้ว่าการใช้คำว่า pea จะถูกต้องหรือไม่ หรือว่าจะต้องใช้คำอื่นใด   แต่ดูเหมือนกับจะใช้คำรวมๆว่า legume (ย่อสั้นมาจากชื่อสกุลทางพืชศาสตร์ Liguminosae) ต่อท้ายชื่อจำเพาะของพืชนั้นๆ  


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ก.ย. 20, 08:37
แต่ดูเหมือนกับจะใช้คำรวมๆว่า legume (ย่อสั้นมาจากชื่อสกุลทางพืชศาสตร์ Liguminosae) ต่อท้ายชื่อจำเพาะของพืชนั้นๆ  

Leguminosae คือพืชตระกูลถั่ว เป็นชื่อ family (วงศ์ หรือ ตระกูล) มาจากคำว่า legume ที่หมายถึงผลหรือฝักถั่ว ชื่อนี้เป็นชื่อเก่า ชื่อใหม่คือ Fabaceae มาจากคำว่า faba ซึ่งหมายถึงถั่ว (ในภาษาละติน) เช่นกัน

ตาม หลักการจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ (https://th.m.wikipedia.org/wiki/การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์) จะเรียงลำดับสิ่งมีชีวิตตามลักษณะร่วมจากน้อยไปหามาก เป็น ไฟลัม (phylum) ชั้น (class) อันดับ (order) วงศ์ (family) สกุล (genus) และชนิด (species)

การเขียนชื่อทางวิทยาศาสตร์ของสิ่งมีชีวิตจะระบุเพียง สกุล และ ชนิด เช่น กระถิน (หนึ่งในพืชตระกูลถั่ว) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Leucaena leucocephala  ชื่อแรกคือสกุล ชื่อหลังคือชนิดซึ่งมักบอกลักษณะจำเพาะของสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ ในกรณีกระถิน 'leucocephala' แปลว่า 'หัวขาว' ซึ่งมาจากลักษณะของดอกทรงกลมสีขาวของกระถิน


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.ย. 20, 18:46
ขอบคุณครับที่แก้และขยายความการจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ให้มีความกระจ่างและถูกต้องทั้งศัพท์และคำแปลภาษาไทยสำหรับเรื่องของ Biological Systematic Classification

ผมเรียนเรื่องการจำแนกเหล่านี้นานมากมาแล้ว ทั้งของ Animal Kingdom และ Plant Kingdom ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน  แถมด้วยที่ใช้กับสิ่งมีชีวิตตั้งแต่แรกพบในโลกเมื่อกว่า 3000 ล้านปีที่เรียกว่าบรรพชีวิน (Paleontology) ซึ่งเป็นการเรียนให้รู้มากพอที่จะใช้จำแนกเพื่อบอกถึงสิ่งแวดล้อมของธรรมชาติในอดีตด้วยหลักการทางธรณีฯ  Present is the key to the past และ Uniformitarianism   ทำให้เมื่อสื่อสารระหว่างคนทำงานด้วยกัน โดยเฉพาะพวกที่เป็นนักสำรวจเช่นผม(Field geologist) ซึ่งไม่สามารถจะบอกได้มากนักจากชิ้นส่วนที่เป็นเศษซากที่พบในระหว่างการสำรวจ  จึงใช้ชื่อเรียกง่ายๆเท่าที่พอจะบอกได้โดยไม่ได้อ้างอิงหรือคำนึงถึงระบบการจำแนกทางวิทยาศาสตร์มากนัก เช่น Vertebrate, Invertebrates, pelagic, abyssal, Mollusc, Crustacean, Cephalopods, Fusulinids, Ammonoids, Pelecypods, Brachiopods, Gastropods, Fenestella corals, Rugosa corals ฯลฯ  โดยมีข้อสังเกตอื่นๆร่วมไปด้วย เช่น เป็นหอย Gastropod พวกเกลียวหมุนซ้ายหรือขวา (Dextral หรือ Sinistral)   ชื่อ genus และ species ทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อได้มีการศึกษากันในทางวิชาการอย่างถ่องแท้แล้ว แถมในหลายกรณียังต้องไปรู้ถึงสร้อยต่อท้ายชื่อ species อีกด้วย

ก็ช่วยขยายความในองค์รวมเกี่ยวกับเรื่องทาง Biological science และ Paleontology ครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.ย. 20, 20:34
ลองนึกดูว่าเม็ดหรือเมล็ดผลไม้ไทย น่าจะจัดเข้าประเภทไหน
๑. seed  แตงโม   ๒. stone เงาะ     ๓. pip  ส้มโอ 

ขอลองนำเสนอว่า 

เม็ดแตงโม  น่าจะเป็นได้ทั้ง seed และ pip ในระหว่างที่กินเนื้อแตงโมแล้วต้องบ้วนเม็ดทิ้ง    จะเรียกเป็น nut ได้หรือไม่ ???  เพราะว่าเมื่อตากแห้งแล้วคั่วหรืออบ ก็จะมีเปลือกแข็งเช่นเดียวกับลักษณะของ nut ทั่วๆไป คือต้องขบให้แตกจึงจะได้กินเนื้อในได้   เนื้อในนั้นเรียกว่า kernel เหมือนที่ใช้กับ nut โดยทั่วๆไป     ก็โยงไปถึง เม็ดทานตะวัน ไม่รู้ว่าจะใช้คำว่า seed หรือ kernel หรืออะไรดี  มันก็มีเปลือกที่ต้องขบออกก่อนกินเหมือน nut  และมันก็ไม่ได้เป็น seed หรือ pip ที่อยู่ในตัวผลไม้   

เม็ดเงาะ  จะเรียกว่า stone ก็น่าจะพอได้ โดยเฉพาะสำหรับเม็ดของเงาะสายพันธุ์ที่ร่อน (เงาะทางภาคใต้)  เม็ดเงาะพวกนี้เมื่อก็เอาไปคั่วก็สามารถกินกันได้ แล้วก็มีการกินกัน ซึ่งก็ดูพอจะเข้าเกณฑ์ของคำว่า nut แต่จะเรียกว่า Rambutan Nut ได้ใหม ??

ส้มโอ  อืม์ เราแคะเอาเม็ดมันออกทิ้งไปก่อนที่จะกิน น่าจะเรียกว่า seed ?

ก็คงสับสนกันต่อไปพอควร      แล้วก็ยังมีคำว่า pit มาเกี่ยวข้องกับเรื่องของเม็ดของผลไม้อีก       


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.ย. 20, 17:25
แล้วเมล็ด กับเม็ด พริก ล่ะคะ คุณตั้ง 
ควรเรียกว่าอะไร


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ก.ย. 20, 18:11
ก็มีเรื่องเล็กๆน้อยพอที่จะทำให้สับสนได้อีกที่เกี่ยวกับการเรียกชื่อระหว่างภาษาไทยกับภาษาอังกฤษ

เราเรียก Walnut ว่า มันฮ่อ (ซึ่งผมเข้าใจเอาเองจากที่ได้กินมามากเมื่อครั้งยังเด็กๆ มันเป็นของที่ปลูกกันในจีน เอาเข้ามาทาง อ.แม่สาย มาขายกันมากที่ อ.แม่จัน โดยผู้ขายที่เป็นชาวจีนฮ่อ ก็เลยเรียกกันว่ามันฮ่อ ?)    เราเรียก Pistachio nut ว่า ถั่วปิตาชิโอ้    เราเรียก Cashew nut ว่า เม็ดมะม่วงหิมพานต์    เราเรียก Chesะnut ว่า ลูกเกาลัด   เรียก Pine nut ว่าเม็ดสน หรือ ถั่วเม็ดสน  


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ก.ย. 20, 19:01
แล้วเมล็ด กับเม็ด พริก ล่ะคะ คุณตั้ง 
ควรเรียกว่าอะไร

คำตอบของผมสำหรับข้อสอบภาษาไทยหากเป็นเมื่อครั้งยังเป็นเด็กๆที่เรียนภาษาไทยก็คือ ในพริกหนึ่งเม็ดจะมีเมล็ดอยู่ภายในหลายเมล็ด  หรือ เอาพริกมาเม็ดหนึ่ง ผ่าตามยาวแล้วขูดเอาเมล็ดออกทิ้งไป เพื่อให้มันมีความเผ็ดน้อยลง    ในปัจจุบันนี้เขาอนุโลมให้เลือกใช้ลักษณะนามว่าเม็ดหรือเมล็ดก็ได้ โดยไม่คำนึงหรือจำแนกตามลักษณะทางกายภาพที่เป็นธรรมชาติของมัน  ก็เลย ???

เรื่องที่ผมเขียนในกระทู้นี้ แต่แรกๆก็พยายามใช้ให้ถูกต้องตามที่จำได้จากความเข้าใจที่ได้เคยเรียนมา  จนกระทั่งไปเปิดเจอว่าท่านอนุโลมให้ใช้เช่นใดก็ได้ เขียนไป ก็ตะขิดตะขวงใจไป แต่ก็เอาละ ไปตามเทรนด์ของการใช้ภาษาไทยของเราก็แล้วกัน ก็เลยเลือกใช้คำว่าเม็ดทั้งหมด   ก็ไม่ทราบหรอกครับว่าตัวเองมีความเข้าใจผิดหรือถูกในเรื่องอะไรและมากน้อยไปเพียงใด ช่วยไขให้ความกระจ่างด้วยครับ   

คำว่า ปกติ กับ ปรกติ ก็เป็นอีกคำหนึ่งที่ผมใช้แบบไม่ค่อยจะสบายใจ แต่ก็เลือกใช้คำว่า ปกติ ตามนิยมเช่นกัน 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 ก.ย. 20, 20:08
คำว่า ปกติ กับ ปรกติ ก็เป็นอีกคำหนึ่งที่ผมใช้แบบไม่ค่อยจะสบายใจ แต่ก็เลือกใช้คำว่า ปกติ ตามนิยมเช่นกัน  

เลือกใช้ได้ตามอัธยาศัย ปกติ - บาลี และ ปรกติ - สันสกฤต  ;D


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ก.ย. 20, 18:36
กล่าวถึงลักษณะนามคำว่า 'เม็ด'  ก็เลยนึกถึงอาหารที่เอาส่วนผลของพืชนั้นๆ ซึ่งมีทั้งที่เราเรียกกันว่า 'ผลไม้' และที่เราเรียกว่า 'ลูก' หรือ 'เม็ด' (หรือเมล็ด) ของพืชนั้นๆมาใช้ในการปรุงอาหาร  อาหารบางอย่างก็ใช้เฉพาะเม็ดของมัน บางอย่างก็ใช้ทั้งส่วนที่เป็นเนื้อผลและเม็ดของมันพร้อมกันไป  บางอย่างก็ใช้แต่เพียงเมล็ดภายในแต่ละเม็ดของมัน

เมนูอาหารที่นิยมเอาผลของพืชมาทำอาหารนั้นมีกระจายอยู่ทั่วไปในประเทศของเรา   ทั้งนี้ อาหารที่นิยมเอาผลไม้มาปรุงด้วย ดูจะจำกัดอยู่แต่เฉพาะในภาคกลาง และก็ค่อนข้างจะแคบลงไปมีเฉพาะในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง   สำหรับอาหารที่นิยมเอาส่วนที่เรียกว่าเม็ดมาเป็นองค์ประกอบหนึ่งในอาหารจานต่างๆนั้น ดูจะจำกัดอยู่แต่เฉพาะในพื้นที่ภาคใต้

เมนูอาหารที่ใช้ส่วนที่เป็นผลของพืชในการปรุงนั้น ผมพอจะมีความรู้และทำได้แบบพื้นๆที่เขาทำกันทั่วๆไป  แต่สำหรับพวกเมนูที่ใช้ผลไม้และส่วนที่เราเรียกว่าเม็ดนั้น เกือบจะไม่อยู่ในความคิดที่จะทำเลย ซื้อที่เขาทำสำเร็จแล้ว เลือกซื้อเจ้าดีๆ ก็ได้ของอร่อยๆพอใจแล้ว


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ก.ย. 20, 19:32
ลักษณะข้อความและวิธีการสื่อสารที่เขียนไปนั้น คงจะดูเป็นการใช้ภาษาแบบผสมปนเประหว่างภาษาแบบราชการ วิชาการ และแบบบ้านๆธรรมดาๆ     ในความเห็นของผมนะ ก็นี่แหละครับคือการสื่อสารในลักษณะที่ต้องการให้มีความเข้าใจที่ตั้งอยู่บนฐานของความถูกต้อง ที่คำนึงถึงหลักภาษา วิชาการ และศัพท์แสงทางเทคนิควิชาการ ที่สามารถประมวลขึ้นมาได้ในระยะเวลาที่จำกัด  ซึ่ง reaction ที่จะได้รับกลับมาก็คือ พูดอะไร ไม่รู้เรื่อง เยิ่นเย้อ

สรุปเรื่องราวง่ายๆของที่เขียนมาก็มีเพียง   มีการใช้ส่วนที่เป็นผลของพืชและใช้เม็ดของมันเป็นส่วนประกอบของเครื่องปรุงในเมนูอาหารจานนั้นๆ  ซึ่งโดยทั่วๆไปก็ใช้ผล(เช่น มะเขือ, มะดัน...)  ภาคกลางมีการใช้ผลไม้ทั้งลูก (เช่น เงาะ, ลิ้นจี่...) ภาคใต้นิยมใช้เม็ด (เช่น เม็ดขนุน, ลูกประ _ลูกกะ)


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ก.ย. 20, 20:27
ไปเดินตลาด เห็นมะเขือพวง ก็นึกถีงเอามาเผาบนไฟค่อนข้างแรง พอสุกๆดิบๆ ก็จะออกรสหวาน เอามาผ่าแบะออกหรือจะใส่ครกบุบพอแหลกแล้วคลุกลงไปในน้ำพริกกะปิที่ซื้อมา ก็จะเปลี่ยนให้น้ำพริกกะปินั้นมีความหอมน่ากินและมีรสเปลี่ยนไป  ส่วนหนึ่งที่เผาแล้วนั้นก็แยกเอามาทำเป็นผักกินกับน้ำพริก อร่อยนักแล    จะเอามาต้ม มานึ่งให้สุกก็ได้ ก็อร่อยเหมือนกัน เพียงแต่ดูจะเหมาะกับพวกน้ำพริกหนุ่มและน้ำพริปลาร้าสับแบบผัดสุก หรือน้ำพริกปลา

มะเขือเป็นผักที่ต้องมีขายอยู่ในตลาดสดทุกแห่งทั่วประเทศไทย   

มะเขือเปราะ เดี๋ยวนี้เหลือแต่ชื่อ เพราะนำด้วยความเหนียวมากกว่าความเปราะกรอบ เลยถูกเปลี่ยนเอาไปใส่แกงต่างๆ กระนั้นเองก็ยังไม่เป็นผักใส่แกงที่อร่อยเพราะมีเปลือกค่อนข้างบางและมีแต่เม็ดหรือเมล็ดเต็มไปหมด  ก็เลยต้องเลือกซื้อมะเขือลูกกลมเล็กสีขาว หรือสีม่วง หรือสีเขียวใบตองมากินกับน้ำพริกแทน ได้ทั้งความกรอบ หวาน และไม่มีความขื่น   พวกมะเขือลูกกลมเล็กเหล่านี้ไม่เหมาะที่จะนำไปใส่ในแกงต่างๆ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ก.ย. 20, 19:15
มะเขือยาวก็เป็นของที่มีขายในทุกตลาด ผมมักจะนึกถึงการเอาไปทำกินอยู่ 2 อย่าง คือ เผาให้สุกจริงๆ ลอกเปลือกแล้วเอามากินกับน้ำพริก หรือเอามากินกับน้ำปลา พริกซอย หอมซอย บีบมะนาว  บางครั้งก็ทำให้เป็นจานที่ดูน่ากินมากขึ้นโดยทำเป็นลักษณะคล้ายยำ คือเอาหอมแดงซอยวาง ตามด้วยพริกขี้หนูซอย แล้วโรยด้วยกุ้งแห้งป่น เมื่อจะกินก็ใส่น้ำปลาบีบมะนาว เคล้าเบาๆให้ทั่ว ก็อร่อยแล้ว แต่ผมไม่ค่อยชอบ เพราะว่ากุ้งแห้งมันจะซับน้ำไปหมดทำให้รู้สึกระคายปาก ปริมาณกุ้งแห้งป่นที่ใส่ลงไปจึงต้องมีความพอดี  บางคนก็จะใส่ไข่ต้มยางมะตูมผ่าครึ่งจัดวางลงไปด้วย (ยิ่งเป็นไข่เป็ดต้มยางมะตูมด้วยละก็ สุดยอดเลย    ดูเป็นเมนูที่อร่อยที่ทำได้ง่ายๆ แต่ด้วยวิถีความเป็นอยู่ของเราในลักษณะปัจจุบันกลับทำให้เราเผามะเขือเองให้อร่อยไม่ได้ เพราะว่ามันต้องใช้เตาถ่าน มันต้องมีผิวใหม้เสมอกันทั้งลูก โดยที่เนื้อในก็สุกเท่าๆกันทั้งลูก   วิธีการเผาที่ทำกันมาแต่ก่อนโน้น ใช้วิธีการเอามะเขือแหย่เข้าไปเผาใต้เตาถ่าน(บางคนก็ใช้คำว่าหมก)     

ด้วยที่ความอร่อยมันไปอยู่ที่ตัวมะเขือเผาที่เมื่อเผาถึงจุดที่พอดี เนื้อจะไม่เละและจะออกรสหวาน    หากไปเดินตลาดชุมชน เราก็ยังมีโอกาสได้กินมะเขือเผาที่อร่อยอยู่ ด้วยการซื้อจากแผงขายน้ำพริก ซึ่งหลายเจ้ายังใช้วิธีการเผาด้วยเตาถ่านอยู่ เลือกเอาลูกที่มีขนาดไม่ใหญ่ ดูที่ยังคงมีรูปทรงเดิม ไม่แตกเละ ดูที่มีเม็ดไม่มากนัก ดูที่ผิวค่อนข้างจะแห้งๆ (เป็นของทำมาไม่นาน ไม่ผ่านกระบวนการแช่เย็นเพื่อกันเสีย)

อาหารอีกอย่างหนึ่งที่นึกถึงก็คือ เอาไปผัดกับใบโหระพาพื้นบ้าน ใส่หมูสับเล็กน้อย ใส่เต้าเจี้ยว พอหอม และใช้ซีอิ๊วขาวปรับรส   ที่ทำขายกันในร้านขายข้าวแกงหรือร้านข้าวต้มนั้น เขามักจะใส่พริกชี้ฟ้าลงไปด้วย บางเจ้าก็ใช้วิธีลวกมะเขือยาวก่อน บางเจ้าก็ใช้วิธีใส่น้ำลงไปเล็กน้อยในขณะที่ผัด ใช้ฝาปิดกระทะเพื่อให้มะเขือสุกนิ่มทั่วกัน  ผมชอบทำวิธีหลัง ไม่ใส่พริก และเลือกใช้เต้าเจี้ยวคุณภาพดี         


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ก.ย. 20, 20:58
มะเขือเทศ เมื่อเราเห็นก็จะรู้จักมันในทันที แต่ด้วยที่มันมีสายพันธุ์หลากหลายมาก เราก็อาจจะเรียกชื่อตามสายพันธุ์ของมันได้ไม่แม่นนัก  ในบางครั้ง ในบางตลาดสด ก็อาจจะเกิดความสับสนเกี่ยวกับชื่อของมันได้ เพราะชื่อเรียกไม่เหมือนกันระหว่างผู้ขายท้องถิ่นกับเราคนเมือง   

ก็มีมะเขืออีก 2 ชนิดที่มีวางขายในตลาดสดที่อาจหลายท่านจะไม่ค่อยจะคุ้นเคยกัน มีวางขายอยู่ในตลาดสดเฉพาะบางตลาด   ชนิดหนึ่งมีสีเหลือง ผิวเรียบเนียนสวย เรียกกันว่ามะเขือขื่น เหมาะที่จะใส่ในแกงป่า ผ่าแล้วแช่น้ำ บีบเอาเม็ดออกก่อนใส่ลงไปในแกง เป็นเครื่องปรุงที่ใส่สุดท้ายก่อนปิดฝาหม้อแกง ปล่อยให้เดือดแล้วยกลงยกลงทันที มะเขือขื่นนี้ก็จะออกรสหวาน    นอกจากนั้นแล้ว มะเขือขื่นก็ใช้ซอยใส่ในครกส้มตำปลาร้า   

อีกชนิดหนึ่งคือ มะเขือส้ม (ในความหมายว่าเปรี้ยว) มีลักษณะเป็นพวงคล้ายมะเขือพวง มะเขือแต่ละลูกในพวงนั้นมีความกลม มีขนาดไม่เท่ากัน ขนาดจะประมาณข้อนิ้วมือ จะมีสีไม่เหมือนกัน บ้างก็มีสีแดง บ้างก็เขียว บ้างก็ขาว สีเข้มบ้าง อ่อนบ้าง บ้างก็เป็นสีผสมของสามโทนสีที่กล่าวถึงนั้น  มะเขือพวกนี้เป็นเครื่องปรุงในอาหารของผู้คนในภาคเหนือและอิสาน  สำหรับเรานั้นเหมาะที่จะเอามาใช้ในการทำน้ำพริกอ่อง หรือไม่ก็เอามาผ่าครึ่งใบหรือบุบให้แตกใส่ลงไปในครกน้ำพริกกะปิ (หรือจะใส่น้ำพริกที่ซื้อมาก็ได้) 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.ย. 20, 07:58
มะเขือขื่น  มะเขือส้ม


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ก.ย. 20, 18:33
กล่าวถึงน้ำพริกกะปิ ทำให้นึกได้ว่า ลักษณะของการดำเนินชีวิตในเมืองในปัจจุบันของเรานั้นเกือบจะไม่มีการลงครัวทำอาหารใดๆ  จะด้วยเหตุเพราะสถานที่คับแคบ มีกลิ่น สกปรก หรืออื่นใดก็ตาม  บางทีอาจจะต้องลองคิดในอีกมุมหนึ่งว่า อาหารสำเร็จรูปที่ซื้อมากิน ซึ่งก็มักจะซื้อมาจากร้านที่คุ้นเคยและว่าอร่อยพอได้นั้น หากเราเอามาแต่เติมให้มันมีความเปลี่ยนแปลงต่างออกไป เราก็อาจจะได้ความอร่อย ได้รสและกลิ่นที่ต่างไปจากที่คุ้นเคยพอควรเลยทีเดียว   เพียงแต่ของที่จะนำมาปรุงแต่งให้แปลกออกไปนั้นส่วนมากจะหาซื้อได้ในตลาดสดของชุมชน  ซึ่งตลาดสดแต่ละแห่งก็จะมีความแตกต่างกันออกไปตามกลุ่มประชาชนที่มาอาศัยอยู่ในละแวกนั้นๆว่าส่วนมากจะมาจากพื้นที่ในภูมิภาคใด แต่ละตลาดจึงมีของขายที่เด่นแตกต่างกันไปตามภูมิภาค   ซึ่ง..หากเป็นนักเดินทาง หรือเป็นคนที่ชอบท่องเที่ยวและสนใจในเรื่องทางสังคมและวัฒนธรรมของถิ่นต่างๆ ในหลายๆกรณีก็น่าจะพอสามารถคาดเดาลึกลงไปได้ว่า ผู้คนในย่านนั้นๆมาจากจังหวัดใด กระทั่งอำเภอใดในบางกรณี


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.ย. 20, 18:39
น้ำพริกกะปิ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.ย. 20, 18:24
น้ำพริกกะปิสามารถเก็บค้างไว้ในตู้เย็นได้หลายวัน ของผู้ขายบางเจ้าก็ข้น บางเจ้าก็ใหลเป็นน้ำ มีทั้งแบบลอยพริกขี้หนูและมะเขือพวง และแบบไม่มีลอยอะไรเลย  ซื้อมาแล้วกินไม่อร่อยถูกใจก็เป็นเรื่องปกติ จะเป็นเพราะรู้สึกจำเจ เพราะรสชาติ หรือเพราะเผ็ดมากไป หรือเพราะผักแนม หรืออื่นใดก็ตาม  ของที่จะนำมาปรับปรุงหรือแก้ไขเพื่อให้การกินน้ำพริกมีความรู้สึกที่อร่อยมากขึ้น ส่วนมากจะหาได้ในตลาดสด บ้างก็จะมีเฉพาะในตลาดเช้า บ้างก็จะมีเฉพาะในตลาดเย็น

มะเขือพวงและมะเขือส้ม ได้เล่าไปแล้วว่าจะเอามาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงน้ำพริกกะปิได้อย่างไร   

มะเขือเปราะก็ใช้ได้ ด้วยการนำมาซอยเป็นขิ้นบาง ใส่ลงไปในน้ำพริกแล้วคนคลุกเคล้าให้เข้ากัน เราก็จะได้น้ำพริกที่มีความข้น มีเนื้อมีหนังมากขึ้น ความเฝื่อนของมะเขือเปราะจะช่วยลดความเผ็ดลงไปได้บ้างพอควร     

มะอึก (มะเขือขน) นำมาขูดขนให้เกลี้ยงแล้วทำแบบเดียวกันกับมะเขือเปราะ จะช่วยเพิ่มเนื้อของน้ำพริกและความเปรี้ยวลงไปในระดับเนื้อในของน้ำพริก     

มะม่วงดิบ  ก็เอามาสับซอยใส่ในน้ำพริกกะปิได้ ซึ่งเราสามารถเลือกความเปรี้ยวของมะม่วงได้จากสายพันธุ์ต่างๆที่ออกมาตามฤดูกาลต่างๆ หรือจะเลือกในเชิงของความแก่ความอ่อนของมะม่วงก็ได้       


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.ย. 20, 19:26
อีกอย่างหนึ่งคือ แมลงดา(แมลงดานา)  คิดว่าหลายท่านอาจจะไม่ชอบ  แมลงดาตัวผู้จะมีกลิ่นหอมฉุนน่ากิน  ที่ผู้ขายนำมาวางขายกันนั้น ในตลาดกรุงเทพฯส่วนมากจะเป็นตัวเมียที่ทำแบบหมักเกลือ ต่างกับในต่างจังหวัดที่จะมีทั้งแบบหมักเกลือ แบบนึ่งสุก และแบบทอด  ตัวผมเองนั้นชอบแบบดองน้ำปลาซึ่งดูจะไม่มีใครทำกันแล้ว 

ได้แมลงดามาจากตลาดก็เอามาเด็ดขาส่วนปลายทิ้งไป เด็ดปีกทิ้งไป....คิดว่าไม่เล่าต่อดีกว่านะครับ        วิธีทำน้ำพริกใส่แมลงดาด้วยวิธีการอื่นที่สุดง่ายก็มีครับ ก็เพียงเดินเข้าไปในตลาดหลักของชุมชนย่านต่างๆ ไปที่แผงขายสินค้าพวกหอมกระเทียมและซอสต่างๆ ซื้อกลิ่นแมลงดาเทียมมา แล้วเอามาหยดลงในน้ำพริกที่เราต้องการให้มีกลิ่นแมลงดา (น้ำพริกกะปิ น้ำพริกปลาร้า น้ำพริกตาแดง...)  เพียงหยดเดียวก็หอมพอสำหรับน้ำพริกถ้วยหนึ่งแล้ว   จะว่าไป บรรดาน้ำพริกที่ว่าใส่แมลงดาที่ขายอยู่ตามตลาดต่างๆนั้น ส่วนมากจะใช่วิธีการใส่กลิ่นแมลงดาเทียมเช่นนี้   

ด้วยความที่ผมชอบน้ำพริกใส่แมลงดา ผมก็เลยมีกลิ่นแมลงดาเทียมติดไว้ในครัวตลอดเวลา  แต่หากไปเดินตลาดแล้วพบที่ใส่ของจริงก็จะซื้อเลย(สังเกตได้จากชิ้นส่วนของตัวแมลงดาในน้ำพริกนั้นๆ)     กลิ่นและรสของแมลงดาของจริงจะให้กลิ่นและรสที่นุ่มนวลกว่า ต่างกับของเทียมที่จะออกไปทางฉูดฉาด ให้กลิ่นที่ฉุนกว่าปกติ ให้รสที่รู้สึกซ่าที่ลิ้น (ด้วยที่เป็นสารที่เป็นกรด) คือแหลมคมไปในทุกด้านของความรู้สึก

แมลงดานาจะมีมากในพื้นที่ๆราบภาคกลางที่มีการทำนาข้าว โดยเฉพาะในพื้นที่ของ จ.นครสวรรค์ พิจิตร และพิษณุโลก  แต่ในปัจจุบันนี้ดูเหมือนว่าจะต้องทำการเลี้ยงกัน


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.ย. 20, 19:31
ก็เป็นบางเรื่องที่เราพอจะหาช่วงเวลาไปเดินตลาดเพื่อหาของมาปรับปรุงหรือแปลงน้ำพริกที่ซื้อมาจากร้านอาหารสำเร็จรูป


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.ย. 20, 19:44
น้ำพริกแมงดา 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 ก.ย. 20, 20:05
น้ำพริกแมงดา  

บางทีระบบการเรียกชื่อสัตว์แบบ ท่านรอยอิน (royin) หรือ ท่านเอิร์สท (orst) กับชาวบ้าน ก็ยังมีปัญหาอยู่เหมือนกัน  ;D

คนไทยส่วนมากเมื่อพูดถึง "แมงดา"  สัตว์ที่นึกถึงอันดับแรกคือ  Lethocerus indicus ที่เราเอามาใส่น้ำพริก

(http://www.isan.clubs.chula.ac.th/para_norkhai/up_files/20120713061352.jpg)

ตัวนี้ชาวบ้านร้านตลาดเรียกว่า "แมงดา" แต่สังเกตให้ดีมันมี ๖ ขา ท่านรอยอินบอกว่างั้นเรียก "แมง" ไม่ได้ ต้องเป็น "แมลง" ฉะนั้นชื่อที่ถูกต้องคือ "แมลงดา"


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.ย. 20, 21:08
แล้วก็ไปถึงเรื่องของผักจิ้มน้ำพริก

โดยพื้นๆที่นึกถึงกันทั่วๆไปก็มักจะเป็นผักลวก ซึ่งก็จะมี กล่ำปลี ถั่วฝักยาว หน่อไม้ แครอท ข้าวโพดอ่อน และผักบุ้ง  ในขณะที่ตามแผงขายน้ำพริกทั่วๆไปมักจะมีผักลวกอื่นๆ เช่น ดอกแค ยอดแค มะระขี้นก หัวปลี ยอดผักเถาบางอย่าง ชะอม มะเขือเปราะต้ม บวบงู บวบเหลี่ยม แตงอ่อน ดอกขจร ดอกโสน...  บางเจ้าก็มีหน่อไม่ฝรั่ง ฟักทอง ผักโขม ผักเชียงดา...  ว่วนผักที่ต้องเผาให้สุกระอุก็มี เช่น ฝักเพกา มะเขือยาว มะเขือพวง  

ในต่างจังหวัดจะมีทั้งผักลวกและผักกินสดๆ  ที่ต้องลวกก็เช่น ผักขี้หูด ยอดกะทกรกพื้นบ้าน มะเขือหำแพะ ผักกาดจอ ยอดหวาย ข่าอ่อน ดอก(ต้น)ข่า ...  

สำหรับผักดองนั้น ส่วนมากจะขายในแผงที่แยกต่างหากออกไป หรือเป็นของเฉพาะถิ่น ก็มี เช่น ผักกุ่ม ผักหนาม ผักเสี้ยน ต้นหอมสดดอง ผักกาดดอง ถั่วงอกดอง ลูกเหรียงดอง สะตอดอง หน่อไม้ดอง ...


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.ย. 20, 21:20
รออีกแป๊บ  เดี๋ยวท่านออร์สท์เห็นคนยังเรียก"แมงดา" อยู่ ก็อนุโลมให้เองละค่ะ     


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ก.ย. 20, 21:44
แมง กับ แมลง

ที่เรียนมา ในทางชีววิทยา ท่านว่า หากมี 6 ขา ให้ใช้คำว่า แมลง     หากมี 8 ขา ให้ใช้คำว่า แมง

ก็แปลกใจอยู่นิดๆว่า ในบรรดาสัตว์ตัวเล็กที่เราคุ้นเคย กินได้ หรือสร้างความรำคาญให้กับเรา เกือบทั้งหมดกระมัง เป็นสัตว์ที่มี 6 ขา ที่ชาวพื้นบ้านทั้งหลายนิยมเรียกกันจนติดปากว่า แมง  แต่ได้ถูกกำหนดให้ใช้คำว่า แมลง      ในขณะที่พวกสัตว์ 8 ขาที่เราไม่ค่อยจะยินดีที่จะพบเห็นพวกมันนัก กลับถูกกำหนดให้เรียกว่า แมง    

ก็เลยดูจะขัดกับความรู้สึกในการออกเสียงที่ควรจะง่ายๆสำหรับสิ่งที่พบเห็นหรือคุ้นเคย คือออกเสียงพยางค์เดียว แทนที่จะต้องใช้คำที่ต้องออกเสียงเป็นสองพยางค์  


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ก.ย. 20, 19:14
ย้อนกลับไปหน่อยนึงถึงการแปลงนำพริกกะปิโดยที่ไม่ต้องตำเอง   ตลาดชุมชนในบางวันและในบางฤดูกาลก็จะมีของที่อาจจะพบเห็นและหาได้ค่อนข้างยากมากออกมาวางขาย เช่น มะดัน และ ตะลิงปลิง ทั้งสองอย่างนี้มีรสเปรี้ยว เอามาสับซอยใส่ในน้ำพริกได้ คนให้เข้ากัน อาจจะใช้ช้อนช่วยบี้หรือขยี้ให้มันแตกรสในถ้วยน้ำพริกก็ได้    มะกอกก็เอามาใส่ได้ ผ่าเอาเม็ดออกแล้วซอยเปลือกเป็นชิ้นๆขนาดตามต้องการ แล้วก็ขูดเอาเนื้อที่ติดเม็ดใส่ลงไปให้หมดเลย (เป็นน้ำพริกกะปิของโปรดของผมแบบหนึ่ง)   

บางครั้งไปเดินตลาดก็ได้พบมะนาวแป้นที่มีผิวเนียนสวยและมีเปลือกบาง ก็เลยซื้อเอามาแปลงน้ำพริกกะปิออกไปในอีกรูปหนึ่งเลย  เอากระเทียมจีน(กลีบใหญ่ ฉุนน้อยกว่าของไทย)มาชอยหนาหน่อย แล้วหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เอามะนาวมาผ่าครึ่งแล้วทำเช่นเดียวกับกระเทียมจีน มะอึกและมะเขือเปราะซอยก็ใส่ด้วย มะเขือพวงเอามาอังไฟให้นิ่ม(ระเบิดปุ๊ป๊ะ)แล้วผ่าครึ่ง สัดส่วนและปริมาณของแต่ละชนิดก็ตามแต่จะชอบ  เอาทั้งหมดใส่ลงในถ้วยน้ำพริก คนแล้วพยายามบี้เท่าที่พอจะทำได้ แล้วชิม ก็อาจจะต้องมีการปรับแต่งรสซึ่งอาจจะต้องใช้น้ำตาลปึกช่วยเล็กน้อยเพื่อช่วยกลบรสฝาดและช่วยเชื่อมโยงรสของเครื่องปรุงที่ใส่ลงไปให้มีความกลมกล่อมมากขึ้น  กินกับมะเขือยาวชุบไข่ทอด ชะอมไข่ทอด(แบบมีเนื้อชะอมมาก) และกับผักลวกพวกที่มีเนื้อไม่ออกไปทางนิ่มเละ    สำหรับผักโปรดของผมจะเป็นขมิ้นขาว ลิ้นฟ้า(เพกา) ยอดกุ่มดอง ผักหนามดอง มะระข้าวหรือมะระขี้นก ยอดมะระ  แล้วก็จะต้องหาปลาดุกย่างมาเป็นของแนมอีกจานหนึ่ง หาปลาตัวที่ย่างได้สุกพอดีๆที่ออกไปทางแห้งนิดๆ เพื่อเอามาแกะเล็มกินได้ตั้งแต่หัวถึงหางและครีบของมัน พร้อมกับน้ำปลาใส่พริกขี้หนูสวน(ซอยละเอียด) บีบมะนาวและใส่หอมแดงไทยซอย(หอมเชียงใหม่)


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ก.ย. 20, 20:14
เขียนไปแล้วก็ได้นึกออกว่ามันมีคำว่า รสฝาด รสเฝื่อน และ รสปร่า    ผมไปใช้คำว่า 'ฝาด' ซึ่งไม่ตรงกับเนื้อหาที่ต้องการจะสื่อสาร  ที่ประสงค์จะสื่อสารคือ 'รสเฝื่อน' หรือ 'รสปร่า' ก็ต้องขออภัยด้วยครับ

ทั้งสามคำที่กล่าวถึงนี้มีความหมายที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: pratab ที่ 26 ก.ย. 20, 21:12
เขียนไปแล้วก็ได้นึกออกว่ามันมีคำว่า รสฝาด รสเฝื่อน และ รสปร่า    ผมไปใช้คำว่า 'ฝาด' ซึ่งไม่ตรงกับเนื้อหาที่ต้องการจะสื่อสาร  ที่ประสงค์จะสื่อสารคือ 'รสเฝื่อน' หรือ 'รสปร่า' ก็ต้องขออภัยด้วยครับ

ทั้งสามคำที่กล่าวถึงนี้มีความหมายที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง
ขอความกรุณาช่วยยกตัวอย่างด้วยครับว่ากินอะไรถึงได้รสฝาด รสเฝื่อน และรสปร่า รสฝาดพอจะนึกออกได้ไม่ยากส่วนรสอื่นๆที่กล่าวมานึกตัวอย่างไม่ได้ครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ก.ย. 20, 17:41
รสเฝื่อน  ตัวอย่างง่ายที่สุดคือ น้ำเปล่า ซึ่งตามปกติจะต้องรู้สึกว่าจืดสนิทเมื่อดื่ม หากเข้าปากแล้วดื่มลงไปกลับรู้สึกว่าไม่จืดดังที่คุ้นเคย ก็จะใช้คำอธิบายว่ารสเฝื่อนๆ

รสปร่า  ตัวอย่างที่ดีน่าจะเป็นพวกอาหารที่ออกรสเปรี้ยว เค็ม หวาน โดยเฉพาะพวกยำ และต้มยำ  ความรู้สึกปร่าก็คือ อาหารจานนั้นจับรสไม่ได้ว่าจะออกเปรี้ยว เค็ม หรือหวาน ซึ่งอาจจะมาจากส่วนผสมบางอย่างที่ลองใส่เพิ่มเติมลงไป เช่น มะกอก ผักไผ่ ฯลฯ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: pratab ที่ 27 ก.ย. 20, 19:56
ขอบคุณครับ ต่อไปต้องคอยสังเกตดูอาหารใดจะเข้าหลัก รสเฝื่อน และรสปร่า


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ก.ย. 20, 20:22
ก็มีคำบรรยายเกี่ยวกับเรื่องของรสของอาหารของคนไทยอยู่หลายคำ ซึ่งดูจะไม่มีคำปรากฎอยู่ในภาษาอังกฤษ คือไม่ละเอียดพอที่จะใช้กับคำอธิบายการรับรู้รสของอาหารของคนไทย    ฝรั่งมีคำว่า harsh taste ซึ่งมีความหมายออกไปทางรสพิลึกกึกกือ กินไม่ได้ กินไม่ลง   มีคำว่า bitter taste ซึ่งมีความหมายออกไปทางรสขม ขื่น  มีคำว่า spicy หรือ savory taste ซึ่งมีความหมายออกไปทางรสซ่า ให้ความรู้สึกสดชื่น    ที่ได้ยินมาก็มักจะเป็นคำเหล่านี้

เรามีรสขม รสขื่น รสปร่า รสเฝื่อน รสเค็มนำ รสหวานนำ รสเปรี้ยวนำ รสเผ็ดจัด รสจืดสนิด รสหวานปะแล่ม เค็มปะแล่ม เปรี่้ยวปะแล่ม รสเข้มข้น รสจัด รสแซบ รสนัว รสกลมกล่อม รสฉูดฉาด..

แล้วเราก็ยังมีคำอธิบายต่อด้วยว่า รสเหล่านั้นมาจากใหน เช่น รสเปรี้ยวมะนาว เปรี้ยวมะขามเปียก เปรี้ยวมะดัน เปรี้ยวมะปลิง เปรี้ยวตะลิงปลิง เปรี้ยวมะม่วง เปรี้ยวมะกอก เปรี้ยวส้มควาย หวานน้ำตาลมะพร้าว หวานน้ำตาลตะโหนด หวานอ้อนสามสวน(ชะเอม) เผ็ดพริกขี้หนู เผ็ดพริกขี้หนูสวน เผ็ดพริกชี้ฟ้า เผ็ดพริกจินดา  ขมมะระ ขมสะเดาขม ขมสะเดาหวาน ขมยอดหวาย ขื่นมะเขือ ขื่น ฯลฯ

สำหรับผม จึงไม่มีความรู้สึกแปลกใจเลยถึงเหตุแห่งความเด่นดังของอาหารไทยอาหารไทยที่กระจายไปทั่วโลก เรารับรู้รสและจำแนกแยกแยะได้ละเอียดมากกว่าที่คนชาติพันธุ์อื่นเขารู้ๆกัน เราจึงสามารถปรับแต่งรสของอาหารให้มีความกลมกล่อมได้อย่างนัว 
 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ก.ย. 20, 18:31
นึกถึงต้นหอม-ผักชี  ผักทั้งสองอย่างนี้เป็นของที่คนทำอาหารและคนที่ไปจ่ายตลาดนึกถึงอยู่ในใจเสมอ ไปเดินจ่ายตลาดกับคนที่ทำครัวทั้งหลายจะต้องได้ยินคำพูดต้นหอม-ผักชี  เป็นผักที่ใช้ในปริมาณเพียงนิดเดียว ส่วนมากก็จะใช้เพียงเพื่อการแต่งกลิ่นและโรยหน้าอาหาร   ผมเดินตลาดตั้งแต่ยุคแม่ค้าแถมให้ต้นสองต้น ไปสู่การขายมัดละสลึง ก็คงอยู่ในระดับราคานี้นานพอควรเลยทีเดียว แล้วก็ข้ามผ่านมัดละห้าสิบสตางค์และหนึ่งบาทในช่วงสั้นๆ  ตอนนี้ในตลาดชุมชนจะอยู่ที่ราคามัดละห้าบาท สามมัดหรือสามกำราคาสิบบาท จะเลือกสามกำผสมรวมกับมัดผักอื่นๆก็ได้  ก็จะมีให้เลือกทั้งแบบหนึ่งมัดมีผักชนิดใดมากกว่ากัน สำหรับต้นหอมกับผักชีมักจะมัดรวมกัน หากต้นผักชีมีรากมากหน่อยก็อาจจะมีน้อยต้น  ก็มีแบบมัดแต่ผักชี มัดแต่หอม มัดแต่ผักชีฝรั่ง มัดผักชีกับต้นคื่นไช่ มัดหอมกับต้นคื่นใช่ แล้วแต่จะเลือกซื้อกัน

ผักพวกนี้เราซื้อมาถูก แต่สามารถเอาไปใส่ในอาหารสำเร็จรูปที่เราซื้อมา แปลงให้มันอร่อยและหอมน่ากินมากขึ้นไปได้     ข้าวต้ม ก็ใช้ใบคื่นไช่ ผักชี และหอม ล้างน้ำให้สะอาดแล้วซอยใส่ลงๆไป หากมีตังฉ่ายก็ใส่ลงไปด้วยสักหยิบมือ    โจ๊ก ก็ใช้ต้นหอมและผักชี แล้วเพิ่มขิงอ่อนซอยใส่ลงไปด้วย  หากพอมีเวลาก็อาจจะซื้อเต้าหู้ขาว เอามาซอยเป็นแว่นบางๆ เอาตากแดดให้แห้งเก็บไว้ เมื่อจะกินโจ๊กก็เอามาทอดให้สุกพอง โรยหน้าชามโจ๊ก  ทำทั้งหมดเหล่านี้ก็จะเป็นการย้อนเวลาของกินอร่อยๆในอดีต   

ในตลาดก็จะมีปาท่องโก๋ ซึ่งจะมีการทำอยู่ 2 อย่าง คือ ใช้แป้งสด ที่มักจะทำเป็นตัวขนาดย่อมๆ มีความกรอบทั้งตัว ไม่ค่อยจะมีเนื้อใน  กับอีกอย่างหนึ่งใช้แป้งหมัก ซึ่งค่อนข้างจะมีเนื้อแน่น  ปาท่องโก๋ทั้งสองชนิดนี้เข้ากันได้ดีกับโจ๊กและข้าวต้ม ยิ่งจิ้มกับนมข้นด้วยละก็ อืม์ 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ก.ย. 20, 19:09
ชีวิตการทำงานใน ตจว.ในสมัยก่อนนั้น มักจะเริ่มต้นเช้าด้วยการไปนั่งตามร้านกาแฟในตลาด สั่งไข่ลวก กับกาแฟ และปาท่องโก๋  ก็จะเห็นว่ามีบางเจ้าที่ขายดี บางเจ้าก็มีคนน้อย  ของขายก็เหมือนกัน ง่ายจนเกือบจะไม่มีการปรุงแต่งใดๆเลย 

ความต่างมันก็มีอยู่ครับ มากทีเดียวเหมือนกัน  ตัวกาแฟนั้นมีความต่างกันแน่ในเรื่องของความหอมซึ่งไปเกี่ยวกับเรื่องของการคั่ว ก็มีทั้งต่างยี่ห้อหรือคั่วเอง สำหรับการชงนั้นก็เป็นเรื่องของฝีมือที่แตกต่างกันไปของแต่ละคน ไข่ลวกก็ต่างกัน ต่างคนต่างก็มีมาตรฐานในการลวกไข่ของตนเอง พ่วงด้วยความพอใจของผลผลิตที่ผู้บริโภคชอบ  สำหรับปาท่องโก๋นั้น ด้วยที่ในตลาดมักจะมีเพียงเจ้าสองเจ้าเท่านั้น ก็จึงมีแบบที่ไปเอามาจากที่อื่น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้ลูกค้าได้รู้สึกถึงความต่างไปจากปกติ

ที่น่าสนใจอยู่เรื่องหนึ่งก็คือ กาแฟ+ขนม ที่มีขายอยู่ข้างถนนในช่วงเวลาตี 3 ถึงตี 5 กระมัง    ผมเคยเห็นอยู่ในพื้นที่หน้าโรงพยาบาลที่ต้องแย่งกันไปรับคิวเพื่อเข้ารับการตรวจ  เป็นประสบการณ์ตรงของผมในกรุงเทพฯนี้เอง  มิใช่เป็นรถเข็นแต่ใช้รถมอเตอร์ไซด์


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ก.ย. 20, 19:33
ก็นึกถึงอีกเรื่องหนึ่ง  เมื่อไปซื้อกับข้าวถุง ร้านขายหลายร้านมักจะมีของทอดกระเทียมพริกไทย ลองเลือกซื้อพวกไก่หรือปลาที่เป็นชิ้นเล็กและทอดไม่แห้งจนกรอบ หรือจะเป็นพวกที่เรียกว่ารวนก็ได้ ซื้อข้าวสวยมาถุงหนึ่ง ซื้อซุปไก่ก้อนหรือซุปหมูก้อนมาด้วย   เมื่อจะกินก็เอาน้ำใส่หม้อประมาณให้มากกว่าปริมาณข้าวที่เราจะใส่ลงไป ใส่ซุปก้อนประมาณหนึ่งในสี่ส่วนลงไป เมื่อละลายดีแล้วก็ใส่ไก่หรือปลาทอดกระเทียมที่ซื้อมาลงไป ใส่ข้าวลงไป คะเนว่าได้ที่(ตามใจเรา) ก็ตักออกมาใส่ชาม ใส่ตังฉ่ายลงไป ใส่หอม คื่นไช่ ผักชี ตามลงไป ก็จะได้ข้าวต้มสูตร 'ตัวเราเอง' อร่อยๆ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ก.ย. 20, 19:37
สำหรับผักชีผรั่งนั้น เหมาะที่จะใช้ใช้ใส่ลงไปในอาหารประเภทยำและต้มยำต่างๆ   มะกอกป่าก็เช่นกัน 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ก.ย. 20, 19:38
ผมจะหายไปประมาณ 10 วัน ครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ต.ค. 20, 17:42
 ;D  หายไป 10 วัน คูณด้วย 2 ครับ

ไปแล้วก็ยังไปจ่ายตลาดดังที่เคยทำมาเป็นประจำ  แต่ไปในครั้งนี้ได้พบของอร่อยที่หายไปจากตลาดในเมืองไทยมา(น่าจะ)ประมาณ 40 ปีแล้ว  คือ 'ปลาดุกอุย'    ซื้อที่แม่ค้าย่างสุกแล้ว เอามากินจนหนำใจ แล้วก็ยังซื้อกลับมาอีก 6 ตัว เอามากินกับลูกและฝากเพื่อนหมอ   ก็โชคดีที่ไปพบเข้า มีอยู่เจ้าเดียวในตลาด ย่างกันใหม่ๆหลังแผงที่ขายนั้นเอง เห็นมีขายอยู่ที่เพียงตลาดเดียวซึ่งเป็นตลาดบ่ายของชุมชนในพื้นที่นอกตัวเมือง  ตลาดนี้ผมไปเดินเป็นประจำ เป็นตลาดที่ขายทั้งของสดและมีกับข้าวอร่อยๆฝีมือชาวบ้าน ผักสดก็เป็นพวกที่เขาปลูกกันท้ายบ้านท้ายนา ไม่อุดมไปด้วยปุ๋ยและสารเคมีต่างๆ เป็นของที่มีคุณสมบัติตามธรรมชาติของมันมากกว่าที่จะเป็นของที่ถูกปรับแต่งด้วยเทคโนโลยี


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ต.ค. 20, 18:39
ปลาดุกอุยที่กล่าวถึงนี้เป็นปลาดุกเลี้ยง ตัวใหญ่กว่าปลาดุกอุยที่พบอยู่ตามธรรมชาติเล็กน้อย ขาดแต่เพียงกลิ่นโคลนของหล่มบึงหรือหนองน้ำไปนิดนึง   เมื่อเพาะเลี้ยงได้ก็ต้องมีที่ส่งขาย ก็ยังไม่รู้ว่ามีส่งไปขายที่ใหนกันบ้าง  ปลาดุกย่างตัวใหญ่ตามตลาดในกรุงเทพฯที่เราเห็นว่ามีเนื้อสีเหลือง เสมือนว่าเป็นปลาดุกอุยนั้น ก็ยังมีเนื้อตามลักษณะของปลาดุกด้าน มีแต่เพียงสีเหลืองของเนื้อเท่านั้นที่คล้ายกับปลาดุกอุย

ปลาดุกอุยมีลักษณะของสีสรรที่ลำตัวต่างกับปลาดุกด้าน เอามาทำอาหารจานได้อร่อยที่สุดก็เพียงเอาไปย่างแล้วจิ้มกับน้ำปลาบีบมะนาวที่ใส่หอมแดงซอยบางและพริกขี้หนูสวนซอยละเอียด เมื่อย่างสุกแล้วเนื้อของจะมันแห้งและนิ่มฟู ลักษณะคล้ายๆกับเนื้อปลาแซลม่อน(ส่วนกลางตัว)ย่างเกลือตามร้านอาหารญี่ปุ่น  ด้วยความที่มันเอามาย่างกินแล้วอร่อยมาก คนไทยแต่ก่อนจึงไม่นิยมเอาไปใช้ในการทำอาหารประเภทผัดและแกง ก็จึงเลือกไปใช้ปลาดุกด้านซึ่งจะมีเนื้อที่ค่อนข้างจะแน่น รัดตัวดี ไม่แตกยุ่ยเมื่อสุก   

'ปลาดุกอุยย่าง' เข้ากันได้ดีกับเมนูน้ำปลาหวานไม่ว่าจะกินกับใบสะเดา ดอกสะเดา หรือผักชี  เมนูนี้เป็นเมนูหลักที่มีความอร่อยสำหรับช่วงเวลา 'หมดฝน ต้นหนาว'  ต้นสะเดาออกดอก สู่ช่วงเวลาลงนาเกี่ยวข้าว น้ำในหนองบึงแห้งลงเหมาะที่จะลงไปวิดน้ำหาปลากัน แล้วจะมีอะไรจะอร่อยไปกว่าเมนูน้ำปลาหวาน   น้ำปลาหวานก็ปรุงรสให้กลมกล่อมด้วยน้ำปลา มะขามเปียก และน้ำตาลปึก แล้วเพิ่มความอร่อยเข้าไปด้วยหอมแดงซอยบางแล้วทอด(ห้ามใช้หอมแขก) กระเทียมซอยบางแล้วทอด (จะใช้กระเทีนมจีนก็ได้) พริกจินดาแห้งทอด(จะใช้พริกแห้งใหญ่ก็พอได้)


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ต.ค. 20, 18:57
สำหรับตัวผม ความอร่อยของผมกับ'ปลาดุกอุย'ไปอยู่ที่ครีบ หัวปลา และส่วนใกล้หางปลา กินง่ายๆกับนำปลาที่ทำแบบที่พูดถึง และกินด้วยมือ  ก็ไม่จำกัดนักว่าจะต้องเป็นปลาดุกอุย จะเป็นปลาดุกด้านก็ได้แต่ต้องย่างให้ครีบและหัวปลาแห้ง ก็อาจจะเป็นเพียงความรู้สึกส่วนตัวว่าก้างและครีบของปลาดุกอุยนั้นค่อนข้างจะขบเคี้ยวให้แหลกได้ง่าย  แต่จะว่าไปแล้ว ผมนิยมกินเนื้อที่ติดอยู่ที่ครีบของปลา 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ต.ค. 20, 08:26
นึกถึงตอนเด็กๆ   ปลาดุกย่างสมัยนั้นย่างด้วยเตาถ่านจนหอมกรุ่นมาแต่ไกล  ย่างทั้งตัว  ไม่แล่ออกมาเป็นชิ้น   แต่บั้งไว้เห็นเนื้อข้างในเหลืองอร่ามน่ากิน  
แกะเนื้อออกมาคลุกข้าว เหยาะน้ำปลาหน่อย   อร่อยสุดใจสำหรับเด็กค่ะ
ส่วนผู้ใหญ่ก็จะมีน้ำปลาพริก  หรือกินกับน้ำพริก


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ต.ค. 20, 10:41
ยำปลาดุกฟูอีกอย่าง อร่อยมากค่ะ  


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ต.ค. 20, 18:44
ปลาดุกฟู  ทำให้นึกถึงปลาสลิดแดดเดียวที่ทำแบบทอดสองครั้ง ทอดครั้งแรกให้สุก เมื่อเย็นลงแล้วก็แกะออกเป็นชิ้นๆขนาดใหญ่หน่อย เก็บส่วนที่เป็นครีบไว้ ทิ้งส่วนที่เป็นก้างกลางไป แล้วเอาลงทอดอีกครั้งหนึ่งก็จะได้เนื้อที่ฟูและครีบที่กรอบ  จะใช้เป็นกับข้าว กินกับข้าวต้ม กินเป็นของแกล้มยามเย็น กินกับข้าวคลุกน้ำพริก(ลงเรือ ...)  หรือ(แอบ)หยิบกินเล่นก็ได้

ไข่ปลาสลิดที่ตากแดดพอแห้งแล้วเอามาทอดก็อร่อย เอามากินกับข้าวต้มก็ได้ หรือจะเอามาผัดกับสปาเก็ตตี (ไข่ปลาสลิดที่ทอดแล้วหาซื้อได้เกือบจะทุกวันในตลาดวังหลัง)ใส่เนื้อของมันลงไปด้วย ใส่ใบโหระพา เคล้ากันให้ดีแล้วก็ตักออก ก่อนจะกินก็โรย Parmesan Cheese ลงไปสักหน่อย (หากชอบ)    ด้วยที่ทั้งไข่และเนื้อปลาล้วนแต่ออกรสเค็ม จานนี้แลยเหมาะที่จะกินกับขนมปังกระเทียม แล้วทาด้วยแยมบางๆเพื่อช่วยปรับรสให้นุ่มนวลมากขึ้น (ใช้แยมลูกหม่อนก็ได้)  สำหรับเส้นก็ลวกให้นิ่มมากกว่าปกติเพื่อช่วยให้มีความชุ่มชื้นนุ่มนวลในอาหารให้มีมากขึ้น 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ต.ค. 20, 19:15
สำหรับไข่ปลาดุกนั้น แต่ก่อนโน้นค่อนข้างจะหาได้ยาก แต่ในปัจจุบันนี้หาซื้อได้ไม่ยากนักในตลาดชุมชน  หากจะหาซื้อของสดก็ต้องเป็นตลาดเช้า ในตลาดเย็นก็จะเห็นอยู่ในอาหารสำเร็จรูป โดยเฉพาะในแกงส้ม  มีน้อยรายที่เอามาเสียบไม้แล้วทอดหรือห่อใบตองแล้วนึ่ง    ซึ่งทั้งแบบที่ทอดและนึ่งนั้น ก็เอามายีให้แตกเป็นขิ้นใหญ่บ้างเล็กบ้างคละกันไป  เอามะม่วงดิบมาสับซอย ใส่หอมแดงซอย พริกขี้หนูสวนซอยละเอียด เอาลงคลุกเคล้ากัน ขยำบ้างเล็กน้อย ปรุงรสด้วยน้ำปลา ก็จะได้ยำไข่ปลากดุกแบบง่ายๆที่มีคุณค่าทางโภชนาการ   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ต.ค. 20, 20:31
วิธีทำยำไข่ปลาดุก น่าจะคนละแบบกับที่คุณตั้งทำ  ไปเจอในยูทูปค่ะ

https://www.youtube.com/watch?v=_TVi6IZuDtg


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ต.ค. 20, 08:05
ไข่ปลาสลิดทอด


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ต.ค. 20, 17:35
วิธีทำยำไข่ปลาดุก น่าจะคนละแบบกับที่คุณตั้งทำ  ไปเจอในยูทูปค่ะ

ก็เป็นวิธีการทำง่ายๆ นิยมทำกินกันแบบนั่งล้อมวงสนทนากันก่อนที่จะแยกย้ายกลับบ้านหลังสิ้นสุดกิจกรรมนัดรวมพลลงหาปลาในหนองบึง


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ต.ค. 20, 18:44
อาหารที่เรียกว่า 'ยำ' ของไทยเรานั้น เป็นอาหารที่ไม่เหมือนหรือไม่คล้ายกับอาหารของชนชาติใดๆเลย ต่างไปจนไม่สามารถจะหาคำศัพท์เฉพาะที่พอจะบรรยายให้เห็นลักษณะของอาหารได้ ศัพท์ภาษาอังกฤษที่มีความใกล้เคียงและนิยมใช้กันก็ดูจะเป็นคำว่า Salad อะไรสักอย่างใดอย่างหนึ่ง   

ยำไข่ปลาดุกแบบง่ายๆที่ได้กล่าวถึงนั้น ดูจะไปเข้าข่ายที่เรียกว่า savory paste  ซึ่งถ้าหากได้มีการคลุกเคล้าจนเกือบจะกลายเป็นเนื้อเดียวกัน ก็น่าจะไปเข้าข่ายของคำว่า dip หรือ dip sauce  ซึ่งลักษณะของอาหารบนจานเล็กๆหรือในถ้วยเล็กๆทั้งหลายนี้ มีอยู่ทั่วไปในประเทศต่างๆ

'ยำ' ต่างๆของไทยเราต่างออกไปตรงที่มันมีลักษณะเป็นอาหารจานหลักในสำรับอาหาร  มีทั้งยำประเภทที่ใช้เนื้อสัตว์นำ ใส่พืชผักเป็นเครื่องปรุงประกอบ  มีทั้งยำประเภทที่ใช้พืชผักนำ ใส่เนื้อสัตว์เป็นเครื่องปรุงประกอบ  นอกจากนั้นแล้วเครื่องปรุงหลักและรองยังมีการใช้ทั้งแบบที่เป็นของสดหรือของหมักของดอง มากไปกว่านั้นก็ยังมีแบบที่เอาของสดผสมกับของหมักของดองมาทำยำด้วยกันอีกด้วย 

ยำต่างๆของเราเกือบจะไม่มีการใช้น้ำตาลเลย มีอยู่ไม่มากนักที่ต้องใข้  เครื่องปรุงหลักที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ หอมแดง มะนาว พริกขี้หนู  นอกไปจากนี้ก็มีอย่างอื่นตามชอบ เข่น มะพร้าวคั่ว กะทิ พริกป่น พริกแห้งคั่ว พริกแห้งทอด น้ำมะนาวดอง ถั่วลิสง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ฯลฯ   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ต.ค. 20, 19:15
อาหารประเภทยำของเราก็ยังมีหลักแหล่งที่อยู่ของมันอีกด้วย

ในร้านข้าวต้มโต้รุ่งก็จะมีเช่น ยำกุนเชียง ยำกุ้งแห้ง ยำผักกาดดอง ยำไข่เค็ม ยำไข่ดาว ฯลฯ
   
หากเป็นร้านที่นั่งแช่รับลมเย็นหรือพักผ่อนยามแดดร่มลมตกก็จะมีเช่น ยำวุ้นเส้น ยำปลาหมึก ยำเครื่องในหมู ยำเนื้อ ยำไข่เยี่ยวม้า ยำหูหมู พล่าต่างๆ หมู/เนื้อน้ำตก ฯลฯ
 
หากเป็นร้านอาหารติดแอร์ก็จะมีเช่น ยำถั่วพู ยำมะเขือยาว ยำใหญ่ ยำไข่แมงดาทะเล ยำสามกรอบ ยำเห็ดโคน ยำทะเล ฯลฯ
 
หากเป็นตามบ้านหรือที่ทำกินเองก็มีเช่น ยำมะม่วงกับ.... ยำยอดมะกอกอ่อนกับ.... ยำปลาสลิด ยำปลากระป๋อง ยำส้มโอ ยำผักกระเฉด ยำผักกูด ยำเห็ดโคน ฯลฯ 

จะว่าไป คนไทยเราดูจะมีความสามารถที่จะเอาอะไรมาทำเป็นอาหารจานยำได้ทั้งนั้น


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ต.ค. 20, 18:55
ในช่วงเวลานี้ ได้พบเห็นหอยโข่งตัวเขื่องๆวางขายอยู่บนแผงของแม่ค้าชาวอีสานที่ขายพืชผักและของกินที่ใช้ทำอาหารแบบพื้นบ้าน ตีนหอยโข่งเป็นของอร่อย มีลักษณะในองค์รวมคล้ายกับตืนหอยขม หอมชักตีน หอยหวาน เป๋าฮื้อ   หอยโข่งพบอยู่ในน้ำที่ค่อนข้างจะปราศจากสารเคมี แต่ก่อนนั้นชาวบ้านชาวนานิมยมเอามากินกันแบบดิบด้วยการทำเป็นจานอาหารที่เรียกว่า 'ก้อย' ซึ่งการกินแบบดิบๆนั้นมีอันตรายมาก เพราะมันเป็นตัวนำพาพยาธิร้ายแรงเข้าสู่ร่างกายเรา (vector)  ฝ่ายงานทางการสาธารณสุขของไทยต้องใช้เวลารณรงค์อยู่นานเพื่อชักชวนให้มีการต้องทำให้สุกก่อนที่จะมาเป็นอาหารกินกัน

ที่จริงแล้วมีหอยน้ำจืดอีกหลายชนิดที่มีการเอามากินกัน นอกจากพวกที่มีเปลือกขดแล้ว (พวก Gastropod) ก็มีพวกหอยสองฝา (พวก Bivalve) ซึ่งชาวบ้านจะใช้ชื่อเรียกในลักษณะรวมๆกันว่า 'หอยกาบ'  มีทั้งชนิดที่เนื้อค่อนข้างจะคาว บ้างก็มีเนื้อเหนียวมาก  แต่ด้วยที่หอยสองฝาตามธรรมชาติอยู่กันแบบกระจัดกระจาย เก็บมาได้ไม่พอมื้อ ก็เลยเกือบจะไม่เห็นที่เป็นจานอาหาร  ยกเว้นเฉพาะบางชนิดที่น้ำมาเลี้ยงในบ่อขุด ซึ่ง..เมื่อเอามาต้มหรือนึ่งกับตะไคร้เพื่อกลบกลิ่นคาว กินกับน้ำจิ้มแซบๆก็พอเป็นของแกล้มทานได้ยามแดดร่มลมตก   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ต.ค. 20, 19:06
ไปเจอเมนู หอยโข่งผัดฉ่า ในเฟซบุ๊คค่ะ
https://www.facebook.com/kinnkeng/posts/390626428016791/


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ต.ค. 20, 19:10
คุณตั้งคงเคยรับประทาน escargot มาแล้ว   
หอยทากที่เขาเอาใส่่เปลือกหอยโข่งมาเสิฟ เป็นอาหารชั้นนำของฝรั่งเศส
เทียบกับหอยโข่งของเราแล้วเป็นอย่างไรบ้างคะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ต.ค. 20, 20:26
พูดถึงตีนหอยแล้วก็เลยทำให้นึกถึงเมนนูอาหารฝรั่งเศสประเภทหรูอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่าหรือที่จะสั่งอาหารกันแบบง่ายๆว่า Escargot (มีหลากหลายตำราและวิธีการทำ) ซึ่งโดยหลักๆมันก็คือตีนหอยทากสายพันธุ์หนึ่งที่เอามาผัดกับเนยและกระเทียม ใส่สมุนไพรบางอย่าง(เช่น Parsley คล้ายผักชี) แต่งรสด้วยเกลือและพริกไทยดำ แล้วเอาไปอบ  สุกหอมดีแล้วก็เอาออกมากินกับขนมปังกระเทียม จะใช้ขนมปังแป้งหมัก (พวก Sour dough) หรือแบบฝรั่งเศสก็ได้ (Baguette)ก็ได้

อาจจะลองเริ่มทำง่ายๆด้วยการผัดเนื้อหอยลายกับเนยและกระเทียม แล้วลองเหยาะสมุนไพรฝรั่งที่เรียกว่า Thyme ลงไปด้วย หรือจะเป็นใบโหระพาก็ได้  เอาเนยผัดกับกระเทียมแล้วเอามาทาบนขนมปังปิ้ง เอาเข้าเตาอบหากมี หรือไม่ต้องทาขนมปังด้วยอะไรเลยก็ได้ กินหอยลายที่ผัดกับขนมปังก็อร่อยพอได้อยู่แล้ว จะกินแต่ละคำแยกกันหรือจะตักราดบนขนมปังปิ้งก็ได้ทั้งนั้น    อาจจะลองใช้กระทะขนมครกในการปรุงหอยแต่ละหลุมสำหรับแต่ละคำ เพื่อให้ใกล้กับแบบที่ฝรั่งเขากินกันก็ได้       แล้วจึงค่อยพิจารณาใช้หอยในบ้านเราทำให้เป็นอาหารแบบฝรั่งที่ต่างกันออกไป  ;D


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ต.ค. 20, 20:43
คุณตั้งคงเคยรับประทาน escargot มาแล้ว   
หอยทากที่เขาเอาใส่่เปลือกหอยโข่งมาเสิฟ เป็นอาหารชั้นนำของฝรั่งเศส
เทียบกับหอยโข่งของเราแล้วเป็นอย่างไรบ้างคะ

เคยครับ แล้วก็ยังชอบอีกด้วย
ยังไม่เคยใช้หอยโข่งทำแบบ escargot ครับ  ที่ทำบ่อยๆก็ใช้หอยลาย กินกับขนมปัง baguette ทาเนยกระเทียม บางครั้งก็ใช้ขนมปังที่ทำจากแป้ง sour dough 

อันที่จริงแล้วบรรดาตีนหอยที่เราคนในเมืองกินกันนั้น (หอยหวาน หอยชักตีน...) เราก็ใช้น้ำจิ้มที่เกือบจะเหมือนกับที่น้ำที่ชาวบ้านเขาใช้คลุกทำก้อยหอยโข่ง จะต่างก็แต่เพียงแบบคนในเมืองเราจะใช้วิธีจิ้มกิน แต่ชาวบ้านเขาใช้วิธีเอาไปคลุกแล้วใส่ข้าวคั่ว


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ต.ค. 20, 11:27
ชอบหอยลายอบกระเทียมมากกว่าค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ต.ค. 20, 19:04
หอยขม นิยมเอามาทำเป็นแกงคั่วหอยขม ซึ่งเป็นแกงที่ค่อนข้างจะมีวางขายอยู่เป็นประจำในตลาดที่มีการขายอาหารสำเร็จรูปแบบใส่ถุงกลับบ้าน เป็นแกงที่แม่ค้าส่วนมากจะทำได้รสดี แต่หากจะเจาะหาเจ้าที่อร่อยกว่าที่เห็นขายกันตามปกติ ก็ควรจะต้องดูเจ้าที่ใช้หอยที่มีขนาดตัวเท่าๆกันและตัวไม่ใหญ่นัก และต้องมีการใส่ยอดผักชะอมจนเห็นได้ชัด   ยิ่งเป็นแกงที่ใส่ใบชะพลูและยอดชะอมด้วยละก็ จะทำให้พอรู้ได้ว่าเป็นแกงที่ทำแบบดั้งเดิมของคนภาคกลางที่น่าจะการันตีความอร่อยได้ในระดับหนึ่งเลยทีเดียว

ก็มีเมนูหอยขมแบบที่เอาแต่เนื้อมาผัดแห้งๆกับน้ำพริกแกงคั่วและกะทิ   และมีแบบที่เอาแต่เนื้อในมาแกงคั่วโดยไม่ต้องจุ๊บ ซึ่งจะมีอยู่ในเมนูของบางร้านอาหารเพื่อที่ลูกค้าจะได้ไม่ต้องเปรอะเปื้อนมือกัน     

เชื่อว่าท่านสมาชิกส่วนมากคงจะไม่เคยลิ้มลองแบบจิ้มน้ำจิ้มแซบๆ และไม่น่าจะเคยลิ้มลองแบบที่เอามาทำเป็นแกงน้ำใสใส่กะปิและโหระพา

ก็มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับหอยขมอยู่ 2 เรื่อง คือ เกือบจะไม่เคยเห็นแผงขายหอยขมสดในตลาดชุมชนใดๆเลย แม้กระทั่งใน ตจว.  มีแต่แกงหอยขมที่ทำแบบแกงคั่วหรือแบบอิสาน  อีกเรื่องหนึ่งก็คือ เราทั้งหลายน่าจะเคยกินหอยขมแบบที่มีลูกอ่อน เคยได้ยินเขาว่าการที่มันจะมีหรือไม่มีลูกนั้น ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นข้างขึ้นหรือข้างแรม เรื่องนี้จะจริงเท็จเช่นใดก็ไม่รู้ 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ต.ค. 20, 20:19
แกงคั่วหอยขม


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ต.ค. 20, 18:04
ไปตลาดเมื่อเช้านี้ ได้ปลาบึกมาชิ้นหนึ่ง น้ำหนักใกล้หนึ่งกิโลกรัม ได้ความจากผู้ขายว่าเป็นปลาจากสิงห์บุรี นึกถึงเอามาทำอาหารอยู่ 3 อย่าง คือ ผัดฉ่า ชุบน้ำปลาทอด และต้มยำ   ในที่สุดก็เลือกทำต้มยำ และทำแบบพื้นฐาน ใช้เพียงแต่ข่า ตะไคร้ และใบมะกรูด แต่ใช้ในปริมาณมากกว่าปกติ ใส่ลงไปในหม้อแกงที่ใส่เกลือลงไปเล็กน้อยในน้ำต้มน้ำเดือด เพื่อช่วยทำให้สีของเครื่องปรุงดูสดใหม่และช่วยในเรื่องคาว  ในขณะที่น้ำเดือดอยู่ก็ค่อยๆหย่อนปลาลงไปที่ละชิ้น คะเนว่าปลาสุกแล้วก็แต่งรสด้วยเกลือให้ออกเค็มนิดๆ  ก่อนจะกินก็เอาพริกขี้หนูมาบุบใส่ชามแกง เหยาะน้ำปลา บีบมะนาวลงไป แล้วจึงตักน้ำแกงร้อนๆและชิ้นปลาใส่ตามลงไป     พรุ่งนี้จึงจะค่อยแปลงรสส่วนที่เหลือในหม้อ ซึ่งยังไม่ตัดสินใจว่าจะใส่อะไรลงไป ของที่จะใส่ลงไปเพื่อแปลงให้เป็นต้มที่ต่างออกไปได้ก็มีอาทิ มะเขือส้ม ผักชีฝรั่ง ผักไผ่ ใบกะเพรา มะขามป้อม มะขามเปียก หอมแดงเผา พริกแห้งคั่วหรือเผา น้ำพริกเผา เป็นต้น     


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ต.ค. 20, 18:10
ต่มยำปลาบึก  เนื้อปลาบึกทำต้มยำอร่อยมากค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ต.ค. 20, 18:57
ในช่วงเวลานี้ จะเห็นแม่ค้าเอา 'มะขามป้อม' มาวางขายกัน   ผมไม่มีความรู้ว่ามะขามป้อมเอามาทำอาหารอื่นใดได้อีกบ้างนอกเหนือไปจากการเอามาทำน้ำพริกและใส่แกง  มะขามป้อมนิยมเอามาดองและทำแช่อิ่มกัน เป็นของกินเล่นที่ผมชอบอย่างหนึ่ง     อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมจึงเอามาวางขายกัน ว่าคนที่ซื้อเขาเอาไปทำอะไรกัน ถามผู้ขายจึงได้คำตอบว่า เอาไปใส่แกงก็มี เอาไปทำน้ำพริกก็มี แต่ส่วนมากจะเอาไปขบกินแก้กระหายน้ำ (นึกถึงเมื่อครั้ที่ผมยังทำงานเดินป่าเดินดง ผมก็เก็บมะขามป้อมกินแก้กระหายเหมือนกัน)   มานึกดูแล้วก็ดูจะไม่แปลกนัก เพราะมีคนเข้ามาใช้แรงงานในโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคในกรุงเทพฯค่อนข้างมาก ก็เป็นของขบเคี้ยวง่ายๆและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ  

มะขามป้อมมีปริมาณวิตามินซีค่อนข้างสูง ช่วยในเรื่องของภูมิต้านทานต่างๆในร่างกายของเราได้เป็นอย่างดี   มะขามป้อมเป็นหนึ่งในส่วนผสมของตำรับยาโบราณมานานนับเป็นพันปี คือ ตรีผลา ซึ่งมีส่วนผสมของมะขามป้อม สมอพิเภก และสมอไทย  

ผมเคยให้ความสนใจกับตรีผลาในเรื่องของตัวยาแต่ดังเดิมว่ามีสัดส่วนระหว่างกันเช่นใดและมันเป็นยาผสมแบบแห้งหรือเป็นแบบต้ม(และในความเข้มข้นเช่นใด)   ที่เห็นวางขายกันอยู่ในปัจจุบันนี้จะบอกแต่เพียงว่าใช้ผสมกันในสัดส่วนที่เท่ากัน แถมราคายังแตกต่างกันค่อนข้างกว้างระหว่างสินค้าของผู้ผลิตต่างๆ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ต.ค. 20, 19:09
ต่มยำปลาบึก  เนื้อปลาบึกทำต้มยำอร่อยมากค่ะ

อาจารย์เคยทานแบบลวกจิ้มใหมครับ ผมยังไม่เคยทานเลยครับ   ว่าจะลองทำกินเองแบบลวกเสร็จแล้วราดด้วยน้ำมันกระเทียมเจียวนิดหน่อย   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ต.ค. 20, 20:09
ไม่เคยค่ะ   ถ้าลวกจิ้ม เคยกินแต่ปลาคัง
ปลาบึกน่าจะอร่อยไม่แพ้กัน หรือมากกว่า


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ต.ค. 20, 09:35
นำวิธีทำปลาบึกผัดเผ็ดมาฝากค่ะ

https://www.youtube.com/watch?v=AFpdzQdKKZg


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ต.ค. 20, 09:36
ปลาบึกเอามาทอดซีอิ๊วก็ได้ค่ะ

https://www.youtube.com/watch?v=63IvkgQjftI


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ต.ค. 20, 18:52
ปลาบึกผัดเผ็ดน่าจะอร่อยกว่าเอามาทอดซึอิ๊วนะครับ ทั้งสองเมนูนี้คงจะต้องเลือกใช้เนื้อปลาส่วนที่ติดมันไม่มากนัก ก็คือใช้ส่วนครึ่งบนของตัวปลา 

เคยอ่านพบว่ามันของปลาบึกมีปริมาณของ Omega 3 สูงมาก มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างยิ่ง  แต่หากจะต้องกินส่วนที่มีมันมากๆ ก็อาจจะเหมาะสมกว่าที่จะเอาไปแช่น้ำปลาแล้วตากแดดสักหนึ่งแดดให้เต็มที่แล้วเอามาทอด โดยใช้วิธีการทอดสองระดับ แรกเริ่มด้วยน้ำมันร้อนปานกลาง เพื่อรีดมันออกไปบ้าง แล้วเร่งไฟเพื่อทอดให้ผิวนอกแห้งลงก็เป็นอันเสร็จ จะกินกับน้ำจิ้มแบบอาหารทะเลหรือกับน้ำปลาพริกขี้หนูบีบมะนาวก็ได้  ผมไม่มีความสันทัดมากพอในการทำอาหารต่างๆด้วยการใช้ปลาบึก


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ต.ค. 20, 19:11
หน้าตาปลาบึกทอดน้ำปลา  ก็ดูน่าอร่อยค่ะ



กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ต.ค. 20, 19:27
ถึงช่วงเวลานี้ก็นึกถึงปลาใบขนุน เป็นปลาชนิดหนึ่งที่ไม่มีขายเป็นประจำในตลาดชุมชน จะมีมาวางขายบ้างเป็นบางวันและแต่ละครั้งจะมีขนาดต่างกัน    หลายสิบปีก่อนโน้น ปลาใบขนุนทอดจะเป็นเมนูหลักอย่างหนึ่งในหมู่ร้านอาหารข้าวต้มรอบค่ำ ทั้งที่เป็นร้านห้องแถวหรือร้านในตลาดโต้รุ่ง ใช้ปลาตัวขนาดประมาณฝ่ามือของผู้หญิง   ในปัจจุบันนี้ไม่เคยเห็นปรากฎอยู่ในเมนูของร้านอาหารใดๆอีกเลย ต้องซื้อมาทำกินเองที่บ้าน ที่แย่ก็คือจะมีแต่ตัวใหญ่ซึ่งทอดแล้วไม่อร่อย

แล้วก็เลยพาลนึกถึงปลากุเลาที่ทำในลักษณะปลาเค็มแดดเดียว เลือกเอาตัวยาวขนาดประมาณไม้บรรทัด เอามาบั้งแล้วทอด กินกับข้าวสวยร้อนๆ สุดยอดไปเลย    ปลากุเลาจะเริ่มมีชุกในช่วงปลายปี เป็นของดีของอ่าวไทยตอนล่าง นิยมเอามาทำเป็นปลาเค็ม ซื้อเอามาทอดแล้วแกะเนื้อใส่ผสมลงไปในหมูสับ ปั้นเป็นก้อนแล้วกดให้แบน เอาไข่แดงของไข่เค็มกดใส่ไว้ตรงกลางแล้วเอาไปนึ่งให้สุก กินกับข้าวต้ม ซึ่งจะอร่อยมากขึ้นหากกินแบบใช้ตะเกียบ      


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ต.ค. 20, 08:27
ปลาใบขนุน จำชื่อได้ค่ะ แต่เหมือนจะอยู่แต่ในอดีต ไม่มีในปัจจุบัน   เมนูตามร้านอาหารก็ไม่มีชื่อปลาชนิดนี้


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ต.ค. 20, 08:29
ปลากุเลาทอด สุดยอดอาหารกินกับข้าวต้ม  อ้อ มีคู่แข่งคือปลาอินทรีทอดค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 27 ต.ค. 20, 20:25
เห็นกระทู้นี้แล้วดิฉันนึกขึ้นมาได้ว่าวันก่อนได้ดูคลิปหนึ่งที่เขาเอาเมนูจากตำราแม่ครัวหัวป่าก์มาทำเลยทำให้ทราบว่าสมัยก่อนการทำอาหารเขาตวงส่วนประกอบเป็นหน่วยบาท สตางค์กัน


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ต.ค. 20, 08:15
ปลาอินทรีทอด


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ต.ค. 20, 18:53
เห็นกระทู้นี้แล้วดิฉันนึกขึ้นมาได้ว่าวันก่อนได้ดูคลิปหนึ่งที่เขาเอาเมนูจากตำราแม่ครัวหัวป่าก์มาทำเลยทำให้ทราบว่าสมัยก่อนการทำอาหารเขาตวงส่วนประกอบเป็นหน่วยบาท สตางค์กัน

เรื่องนี้ไม่เคยทราบว่ามีการใช้กันในการทำอาหารไทย  รู้แต่ว่ามีการใช้ในการทำอาหารจีนประเภทที่ทำในลักษณะเป็นยา ซึ่งก็คือพวกต้ม/ตุ๋นเนื้อสัตว์ต่างๆ   

คุณยายของผมเป็นแพทย์แผนโบราณ มีร้านขายสมุนไพรเครื่องยาต่างๆ ผมก็เลยพอจะมีความคุ้นเคยเล็กน้อยกับการชั่งตวงแบบนี้    เครื่องยาสมุนไพรต่างๆตามปกตินั้นเป็นของแห้งเกือบจะทั้งหมด เมื่อนำแต่ละชนิดมาชั่งให้ได้น้ำหนักตามตำรับยาแล้วก็จะใช้ผ้าขาวบางมัดรวมกันเพื่อเอาไปต้มหรือดองสำหรับกินกัน หากเป็นยาแบบแห้งก็ต้องเอาไปโขลกด้วยครกและสาก(ที่เป็นหัวเหล็ก)ให้ละเอียดแล้วใช้น้ำผึ้งมาประสานปั้นเป็นลูกกลอน    ตุ้มน้ำหนักที่ใช้ในการชั่งนั้นมีหลายขนาดและมีตราครุฑประทับอยู่ เท่าที่จำได้ขนาดเล็กที่สุดจะมีขนาดประมาณกระดุมเสื้อ ระดับของน้ำหนักที่มีการใช้มากที่สุดดูจะเป็น บาท และ สลึง   ผมชอบเปิดลิ้นชักยาเอาชะเอมมาเคี้ยวกินน้ำหวานๆของมัน  แล้วก็ชอบไปดูชะมดเช็ด (ที่น้ำมันจากขนของมันที่ครูดสีอยู่ก้บกรงนั้น ราคาแพงสุดๆไปเลย)    ปัจจุบันนี้ ผมก็ยังสนใจในศาสตร์เรื่องยาสมุนไพรอยู่ ก็ได้สะสมตำราเก่าๆไว้บ้าง ตำราของราชการก็มี ประเภทสารานุกรมพืชและต้นไม้แบบชื่อต่างๆที่ใช้เรียกขานก็มี อ่านไปได้ความรู้เยอะครับ แม้ว่าจะจำได้เป็นส่วนน้อยแต่ก็ทำให้รู้ว่าหากอยากจะรู้อะไรก็พอจะมีแหล่งที่ค้นหาได้


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ต.ค. 20, 19:02
เห็นกระทู้นี้แล้วดิฉันนึกขึ้นมาได้ว่าวันก่อนได้ดูคลิปหนึ่งที่เขาเอาเมนูจากตำราแม่ครัวหัวป่าก์มาทำเลยทำให้ทราบว่าสมัยก่อนการทำอาหารเขาตวงส่วนประกอบเป็นหน่วยบาท สตางค์กัน
ยังไม่เจอหน่วยบาท สตางค์ ในเมนูจากตำรานี้ค่ะ   เจอแต่แบบนี้

ข้าวบุหรี่อย่างแขกเทศ – ๓๗๕

เครื่องปรุง – ข้าวไก่ตัวหนึ่ง เนยฆี ถ้ามีกลิ่นแรงนักใช้เนยฝรั่งแทนก็ได้ ลูกเอน เครื่องเทศ พริกไทย

กระวาน กานพลู ลูกผักชี ลูกจันทน์ นมสด ใบกานพลู

วิธีทำ – เอาไก่ตัดเป็นท่อน ๆ แล้วทุบให้ช้ำ เอาน้ำลงหม้อตั้งไฟให้เดือด เอาไก่เทลงเคี่ยวไปจนไก่นั้น

สุกดีน้ำไก่นั้นข้น ตักเอาเนื้อไก่ขึ้นแล้วฉีกไว้ แต่เนื้อหน้าอกไก่นั้นฉีกให้ละเอียด เอาไว้ต่างหากสำหรับโรยหน้า แล้วเอาเนยประมาณหนึ่งช้อนคาวเทลงในหม้อตั้งไฟให้ร้อน ลูกกระวาน ลูกผักชี กานพลู พริกไทยทั้งเมล็ด ลูกจันทน์ ของเหล่านี้ประมาณสิ่งละหยิบมือหนึ่ง เทลงในเนยที่ตั้งไฟไว้ ใส่เกลือเล็กน้อยผัดไปพอหอม จึงเอาข้าวซาวน้ำให้ขาวสะอาดเทลงคนให้ข้าวทั่วกันดี น้ำนมสดเทลงสักชามปลักไปล่อย่างย่อม แล้วเอาน้ำต้มไก่เติมลงพอท่วมข้าว ใบกานพลูสด ๖ – ๗ ใบ ลูกเอนที่ไทยเราเรียกกันว่าลูกกระวานเทศ สัก ๕ ผล กับลูกจันทน์นิดหน่อยป่นละเอียดเทลงในข้าวด้วยกันทั้งใบกานพลู แล้วปิดฝาหม้อให้สนิท เคี่ยวไปจนน้ำแห้งแล้วยงด้วยจ่าแล้วปิดฝาไว้ เอาไก่ที่ฉีกไว้เทลงในข้าว เอาด้ามจ่ายงอีกทีให้เนื้อไก่ระคนเข้ากันกับข้าวให้ดีแล้วปิดฝาหม้อไว้จนข้าวนั้นสุกระอุดี ตักลงชามเอาเนื้อหน้าอกไก่ที่ฉีกไว้โรยลงข้างหน้าข้าวแล้วยกไปตั้งให้รับประทานกับแกงมัสมั่น


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ต.ค. 20, 20:08
เรื่องของการชั่ง/ตวง/วัดเครื่องปรุงที่ใช้ในการทำอาหารไทยของเรานั้น ในหนังสือตำราอาหารไทยเก่าๆเท่าที่ผมมี ผมเห็นว่าก็จะมีแต่เพียงการบอกถึงปริมาณที่เหมาะสมสำหรับการเริ่มต้นทำอาหารเมนูนั้นๆ  เมื่อจะทำกินให้อร่อยแบบจริงจังก็มักจะต้องไปถามแม่ครังที่มีฝีมือชั้นครู ซึ่งคำตอบที่ได้รับก็มักจะเป็นว่า  มาก/น้อยพอสมควร สัก...  คะเนดูว่า...  ปะแล่มปะเล่ม  พอ... ฯลฯ  ทั้งหลายเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้ประสาทสัมผัสที่ 5 ไปพร้อมๆกัน ซึ่งมิได้เป็นมาตรฐานที่ quantify (วัดเป็นตัวเลข)ได้     แล้วก็ยังมีบางอย่างที่การทำครัวของคนชาติอื่นๆเขาไม่ค่อยจะทำกัน อาทิ บางอย่างจะต้องทำให้สุกแล้วเก็บไว้ค้างคืนหรือสองคืนจึงจะอร่อย เช่น แกงส้ม และไข่พะโล้  บางอย่างก็ต้องทำแบบใหม่สดแต่ง่าย เช่น ส้มตำ และยำต่างๆ  บางอย่างก็ทำแบบสดใหม่และร้อนฉ่า เช่น ต้มยำ และต้มแซบต่างๆ  บางอย่างก็ใช้วิธีแยกเครื่องรสต่างๆแล้วให้มันผสมกันผรุงรสกันในปากขณะเคี้ยว เช่น ขนมจีนซาวน้ำ และเมี่ยงคำ     ....ฯลฯ  


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 ต.ค. 20, 16:36
เขาเอาเมนูจากตำราแม่ครัวหัวป่าก์มาทำเลยทำให้ทราบว่าสมัยก่อนการทำอาหารเขาตวงส่วนประกอบเป็นหน่วยบาท สตางค์กัน

เป็นหน่วยชั่งน้ำหนัก ที่เห็นมี บาท สลึง เฟื้อง

มัสหมั่น—๑๗

“มัสหมั่นแกงแก้วตา   หอมยี่หร่ารสร้อนแรง
ชายใดได้กลืนแกง     แรงอยากให้ใฝ่ฝันหา”

เครื่องปรุง—พริกแห้งหนัก ๒ บาท หอมหนัก ๓ บาท ตะใคร้หนัก ๑ เฟื้อง รากผักชีหนัก ๒ สลึง เยื่อเคยแกงหนัก ๑ บาท ดอกจันหนัก ๑ เฟื้อง กระวาน ๑ เฟื้อง อบเชยหนัก ๑ เฟื้อง พริกไทยหนัก ๑ เฟื้อง ยี่หร่า ๑ เฟื้อง ลูกผักชีหนัก ๑ สลึง ของ ๑๒ สิ่งนี้เปนพริกขิง น้ำมันหมูหนัก ๓ บาท เนื้อไก่หนัก ๔๖ บาท น้ำกระทิหนัก ๘๐ บาท น้ำเคยดีหนัก ๕ บาท ๒ สลึง น้ำตาลหม้อหนัก ๕ บาท ส้มมะขามหนัก ๑๐ บาท หัวหอมหัวใหญ่ ๔ ศีร์ษะ ถั่วลิสงขั้วปอกเอาแต่เนื้อหนัก ๘ บาท ใบกานพลูสดนิดหน่อย น้ำซ่มซ่าหนัก ๕ บาท ลูกกิจสะเหม็จสุลตาลนาหนัก ๒ บาท

วิธีทำ—ให้เอาของ ๑๒ สิ่งที่จะโขลกเปนพริกขิงนั้น ลงกระทะขั้วให้หอม แล้วจึงค่อยโขลกให้เลอียดเมื่อจะแกงเอามันหมูเทลงในหม้อแกงพอร้อน เอาเนื้อไก่มาตัดเปนท่อนโต ๆ ทั้งกระดูกลงผัดพอให้เหลืองทั่วกัน ตักน้ำมันขึ้นเสียบ้างเหลือไว้แต่พอสมควร เอาพริกขิงที่ตำไว้คนให้ทั่วกัน น้ำเคยดีราดลงไปหน่อยหนึ่ง เมื่อคนทั่วกันดีแล้ว เอาน้ำกระทิข้นที่คั้นไว้เทลงคนให้เข้ากันแล้ว น้ำเคยดีที่ยังเหลืออยู่ หนักประมาณ ๕ บาท ๒ สลึงนั้นเติมลง น้ำตาลหม้อ ส้มมะขามเปียกคั้นให้ข้น ถั่วลิสงเม็ดใหญ่ขั้วแล้วปอกเปลือกเอาแต่เนื้อเทลงไปด้วย ปิดฝาหม้อเคี่ยวไปด้วยกัน จนไก่สุกจวนจะได้ จึงเอาหอมหัวใหญ่หย่อนลงเคี่ยวไปเมื่อจวนจะได้จึงเอาน้ำส้มซ่า ลูกกิจสะเหม็จแลใบกานพลูสดแทรกลงชิมดู เมื่อจืดเค็มอย่างไรก็เติมลงเคี่ยวไปจนไก่เปื่อยกระดูกล่อนก็เปนสุกใช้ได้ ตักลงชามไปตั้งให้รับประทาน

หมายเหตุ—แกงมัสหมั่นนี้แกงไว้ค้างคืนก็ได้ พริกขิงใช้เครื่องเทศที่ตำเปนผงเรียกว่าเคอรีเพาน์เดอร์ก็ได้ เปนแต่ผิดรศไป ถ้าแกงอย่างแขกต้องใช้เนยแลฆีคือเนาวนิต ฤๅเปรียงแทนน้ำมันหมู แต่ต้องฆ่ากลิ่นเสียก่อนด้วยศีร์ษะหอม

https://vajirayana.org/แม่ครัวหัวป่าก์/บริจเฉท-๓-ต้มแกง (https://vajirayana.org/แม่ครัวหัวป่าก์/บริจเฉท-๓-ต้มแกง)


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 ต.ค. 20, 17:16
เรื่องของการชั่ง/ตวง/วัดเครื่องปรุงที่ใช้ในการทำอาหารไทยของเรานั้น ในหนังสือตำราอาหารไทยเก่าๆเท่าที่ผมมี ผมเห็นว่าก็จะมีแต่เพียงการบอกถึงปริมาณที่เหมาะสมสำหรับการเริ่มต้นทำอาหารเมนูนั้นๆ  เมื่อจะทำกินให้อร่อยแบบจริงจังก็มักจะต้องไปถามแม่ครังที่มีฝีมือชั้นครู ซึ่งคำตอบที่ได้รับก็มักจะเป็นว่า  มาก/น้อยพอสมควร สัก...  คะเนดูว่า...  ปะแล่มปะเล่ม  พอ... ฯลฯ  ทั้งหลายเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้ประสาทสัมผัสที่ 5 ไปพร้อมๆกัน ซึ่งมิได้เป็นมาตรฐานที่ quantify (วัดเป็นตัวเลข)ได้  

ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์นับเป็นท่านแรกที่เขียนตำราทำอาหาร โดยใช้การชั่งตวงปริมาณเครื่องปรุงแทนการกะปริมาณและใช้ความชำนาญ

คำปรารภของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์


ในการประกอบทำกับเข้าของกินและเครื่องปรุงอาหารอย่างเทศทุกตำราตามที่ได้พบเห็นก็ใช้ตราชูตาชั่งเครื่องตวงเปนปริมาณ ในการปรุงอาหารที่ผสมส่วนกันทั้งนั้น แต่การทำกับเข้าของกินอย่างไทยของเราแต่โบราณกาลมาจนบัดนี้ ไม่เคยใช้ชั่งตวงแลมีตราชูตาชั่งเครื่องตวงไว้สำหรับในครัวเลย เพราะอาไศรยคะเนของผู้ทำฤๅคนครัวนับจำนวนในสิ่งที่เปนธรรมดาของเครื่องปรุงอาหารนั้นเอง จึงไม่มีความนิยมในเครื่องชั่งตวงสำหรับทำกับเข้าของกินที่ปรุงทำสืบกันมาก็แล้วแต่ความชำนาญ แลรู้จักโอชะแลรศดีของผู้ทำด้วยอาไศรยความคิดแลปากชิม แลลดหย่อนผ่อนเพิ่มเติมเครื่องปรุงนั้นตามชอบใจก็เปนวิธีอันหนึ่งซึ่งได้ทำกันสืบมา ตัวฉันก็เคยเรียนทำด้วยความสังเกต คเนนับจำนวนสิ่งของเครื่องปรุงอาหารมาแต่เดิมเหมือนกัน ครั้นมาได้เห็นตำรากับเข้าของกินอย่างเทศที่ใช้ตราชูตาชั่งเครื่อง​ตวงเปนหลักฐานมาทุกตำรา จึงได้ทดลองทำดูบ้างก็เห็นว่าดีอยู่ รศมักยืนที่ไม่ค่อยแปลกเหมือนความปริมาณด้วยการคะเน ฤๅกะส่วนดังทำกันมาทุกแห่งหน ฉันจึงได้เริ่มใช้ในวิธีทำกับเข้าของกิน อาไศรยใช้ชั่งตวงเปนหลักมาโดยมากสิ่ง การอันนี้ก็เช่นกับสิ่งอื่นๆซึ่งชักนำเข้ามาใช้เปนการเลอียดละออเข้าแต่ว่าเมื่อเปนการช้า ๆ ก็เปนที่ระอิดระอาหนาใจ แลเห็นเปนการลำบากเปลืองเวลาแก่ผู้ที่ชำนาญทำโดยความคะเนนับที่เคยคล่องแคล่วมาเสียแล้ว การอันนี้จึงยังไม่เปนที่นิยมกันก็ทำเนา แต่อย่างไรก็ดีเปนที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่ตาชั่งเครื่องตวงเปนหลักปริมาณนั้นถูกต้องดีจริง การอันนี้ก็เปนที่เห็นได้อยู่ในผู้ที่แรกจะหัดทำควรใช้ชั่งตวงเปนปริมาณอันดีก่อน ฉันก็เคยเปนแก่ตัวมาในแรก ๆ ครั้นชินหนักเข้าก็เคยไป แลในภายหลังนี้วิธี​ชั่งตวงปรุงทำกับเข้าของกินอย่างเทศ ก็หันลงใช้เครื่องชั่งตวงที่เทียบกันมีใช้ภาชน์ช้อนฤๅถ้วยแลเทียบขนาดอัตราตาชั่งเปนต้น

https://vajirayana.org/แม่ครัวหัวป่าก์/บริจเฉท-๑ (https://vajirayana.org/แม่ครัวหัวป่าก์/บริจเฉท-๑)


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ต.ค. 20, 19:06
เป็นตำราอาหารที่ทำยากน่าดูเลยครับ   

จากลักษณะของน้ำหนักของเครื่องปรุงที่ใช้ ดูจะบอกว่าในครัวสมัยนั้นจะต้องมีตาชั่งอยู่ 2 แบบ คือ แบบที่เห็นตามร้านขายเครื่องยาสมุนไพร (ตั้งพื้น มีสองถาดซ้าย-ขวา) ตาชั่งแบบนี้จะใช้ในการชั่งน้ำหนักในระดับหน่วยเป็นบาทลงไปถึงระดับหน่วยเป็นเฟื้อง (ตุ้มน้ำหนักขนาดเฟื้องนั้นมีขนาดเล็ก บางและเบามาก)   ตาชั่งอีกแบบที่ต้องใช้ก็คือแบบแขวน (มีถาดเดียว มีก้านไม้ที่มีขีดเพื่อบอกหลักหน่วยและเศษ) ตาชั่งลักษณะนี้เหมาะที่จะใช้เพื่อการชั่งสำหรับน้ำหนักในระดับหน่วยเป็นชั่งและเศษในระดับตำลึง 

เป็นการสมควรที่จะให้ความเคารพอย่างยิ่งในความพยายามที่จะ quantify เครื่องปรุงต่างๆในอาหารใทยของเรา  ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ง่ายนักในการที่จะพยายามบอกถึงปริมาณส่วนผสมของเครื่องปรุงต่างๆที่ทำให้เกิดรสของความสุนทรีย์แบบ umami ในอาหารไทยของเรา   ที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นก็คือ ตำราอาหารในลักษณะนี้อาจจะเป็นการแสดงว่ามีชาวต่างชาติในยุคสมัยนั้นๆติดใจในความอร่อยของอาหารไทยตามเมนูที่ปรากฎอยู่ในตำรา จนต้องมีการขอทราบวิธีการทำ (recipes)   

น่าจะลองแกะตำรา ทำตามนั้นเพื่อดูว่าสัมผัสของความอร่อยในสมัยนั้นกับในสมัยนี้ เหมือนหรือต่างกันเช่นใด 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ต.ค. 20, 19:34
ตำรา 'มัสหมั่น' ที่กล่าวถึงนี้มีความน่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง คือ มีการใช้เนื้อไก่ในการทำแกงมัสหมั่นแทนการใช้เนื้อวัว  แกงมัสหมั่นตามปกติในยุคของเราแต่ก่อนนั้น จะใช้เนื้อว้วส่วนที่ไม่มีมันและตัดเป็นก้อนๆ จะเห็นลูกกระวานและถั่วลิสงลอยอยู่ในน้ำแกง  เพิ่งไม่นานมานี้เอง(สัก 40+ มานี้กระมัง) ที่เริ่มมีการเลิกกินเนื้อวัวกันอย่างจริงจัง แกงมัสหมั่นก็ได้เปลี่ยนไปเป็นการใช้ไก่ส่วนเนื้อตะโพก มีการใส่มันฝรั่งลงไป แล้วก็ไม่มีลูกกระวานลอยให้เห็นอยู่อีกด้วย

 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ต.ค. 20, 20:42
เบื่ออาหาร ไม่รู้จะกินอะไรดี   ลองซื้อแกงมัสมันมา กินกับอาจาดและขนมปังปิ้ง จะให้ความรู้สึกคล้ายๆกับการกินขนมปังปิ้งและหมูสะเต๊ะ หรือกับโรตีเนื้อนุ่มหนาที่ไม่ใส่นมข้นหวาน ทำอาจาดง่ายๆด้วยการเอาน้ำตาลทรายแดง(หรือขาว) อาจจะเริ่มด้วยด้วยน้ำและน้ำตาลอย่างละประมาณ 1 ช้อนแกง เมื่อละลายแล้วก็เติมน้ำส้มพริกดองลงไปให้ออกรสดังอาจาดที่กินกับหมูสะเต๊ะ แล้วเทลงไปในถ้วยที่ใส่แตงกวาซอยและหอมแดงซอย  เป็นอาหารที่กินได้ทั้งในลักษณะของอาหารมื้อเช้า ของกินเล่นยามบ่าย หรือเป็นอาหารเย็นแบบเบาๆ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ต.ค. 20, 08:02
น่าอร่อยมากค่ะ แกงมัสมั่นกับขนมปัง มีอาจาดแก้เลี่ยน


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 30 ต.ค. 20, 09:15
ขอบพระคุณที่ชี้แนะเรื่องเรื่องของการชั่งตวงส่วนประกอบของการทำอาหารไว้ด้วยค่ะ ดูจะทำยากอย่างที่คุณ naitang ว่าจริงๆ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ต.ค. 20, 18:43
แกงมัสมั่นเป็นแกงที่มีเครื่องปรุงมาก มีหลายขั้นตอนในการทำ แม้แต่เครื่องแกงบางชนิดก็ยังมีสองสามขยักในการทำ  ในสมัยก่อนนั้น หากจะคิดทำแกงมัสมั่นก็อาจจะต้องถึงขั้นยึดครัวกันเลย  จากประสบการณ์ของผมเมื่อครั้งยังเป็นเด็กอยู่ จำได้เลยว่า เริ่มต้นด้วยการเอามะพร้าวห้าวมาปอกเปลือก ใช้มีดขูดให้ผิวกะลาเกลี้ยงแล้วใช้สันมีดกระเทาะกะลาให้แตกออกแบบผ่าครึ่งตามขวางของลูกมะพร้าว แล้วใช้กระต่ายขูดมะพร้าวขูดเอาเนื้อมะพร้าวให้ออกมาในลักษณะเป็นเม็ดหรือผงทราย ซึ่งเพื่อที่จะให้ได้เนื้อมะพร้าวเป็นขุยดังกล่าว มันก็มีวิธีการที่จะต้องหมุนกะลามามะพร้าวไปในทิศทางต่างๆเพื่อให้แนวเส้นเนื้อมะพร้าวตัดกันไปมา ผสมผสานกับการเลี้ยงให้ความบางลงของเนื้อมะพร้าว(ที่ติดอยู่กับกะลา)มีความเสมอกัน ก็เพื่อลดโอกาสที่จะให้การขูดเนื้อมะพร้าวนั้นไม่ไปขูดเอาส่วนที่เป็นกะลาเข้า เมื่อเอาไปคั้นก็จึงจะได้น้ำกะทิสีขาวสวย 

ในการคั้นกะทิก็จะใช้น้ำอุ่นใส่ลงไปในกะละมังใบเล็กที่ใส่มะพร้าวขูดไว้ ใส่ลงไปในปริมาณมากพอจนคล้ายสภาพดินโคลน ใช้มือขยำสักพัก ก็เอาไปเทใส่กระชอนที่ใช้ไม้ไผ่สานที่วางบนกะละมังอีกใบหนึ่ง  ใช้มือบีบคั้นให้น้ำกะทิออกไปจนหมาด แล้วก็ใส่น้ำใหม่ ทำซ้ำสามสี่ครั้ง น้ำกะทิที่ได้ในการคั้นครั้งแรกหรือกับครั้งที่สองก็เอาแยกออกไว้ทำเป็นหัวกะทิ น้ำต่อๆมาก็คือหางกะทิที่ใช้เป็นทำตัวน้ำแกง

เมื่อจะทำอาหาร ก็จะตักหัวกะทิส่วนหนึ่งใส่กระทะหรือหม้อแกง เสมือนหนึ่งเป็นน้ำมัน ตั้งไฟให้เดือดจนแตกมันเล็กน้อยแล้วจึงเอาเครื่องแกงลงไปผัดให้สุกหอม ผัดให้กะทิแตกมันออกมาตามต้องการแล้วจึงเอาเนื้อสัตว์ใส่ลงไปผัดให้เนื้อหดตึง แล้วใส่หางกะทิลงไปตามสมควร  ดูว่าเนื้อสัตว์เกือบจะสุกแล้ว ก็ใส่ผัก ใส่หางกะทิเพื่อทำให้มันเป็นแกง ปรุงรสต่างๆด้วยน้ำตาล เกลือ และน้ำมะขามเปียก ให้ออกรสตามชอบ   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ต.ค. 20, 19:31
เรื่องขูดมะพร้าวและคั้นกะทินี้ เคยทำเมื่อครั้งยังเป็นเด็กอยู่   ผู้หญิงจะนั่งบนกระต่ายขูดมะพร้าวเหมือนกับการนั่งซ้อนมอเตอร์ไซด์เม่อใส่กระโปรง   สำหรับการปอกมะพร้าวห้าวนั้นมาทำเป็นตอนโตมากแล้ว เพราะต้องใช้กำลังค่อนข้างมากในการเฉาะและการฉีกกาบ    ก็คงจะเป็นความฝังใจอะไรบางอย่าง เลยทำให้เมื่อเห็นกระต่ายขูดมะพร้าวของเก่าที่คนขายของเก่าเอามาวางขายจึงมักจะอดไม่ได้ที่จะต้องแวะเวียนเข้าไปดู แต่ก็ยังไม่มีอันใดถูกใจจริงๆ มีแต่เก่าเพียงฟันแต่ตัวไม่เก่าจริง

ในปัจจุบันนี้มีน้ำกะทิสำเร็จรูปวางขายอยู่ทั่วไป ทำขายเป็นน้ำกะทิแบบผสมกลมกลืนกันระหว่างหัวกับหางกะทิ (จะเรียกว่า emulsion หรือ homogenized coconut milk อย่างไรก็ไม่แน่ใจนัก)   ก็ง่ายต่อการเอามาใช้ในการทำอาหารต่างๆที่เข้ากะทิ แต่ในความรู้สึกลึกๆของผมแล้ว เห็นว่าอาหารเหล่านั้นมันยังไม่อร่อยถึงใจเหมือนกับที่เขาทำกันในสมัยก่อน  อาจจะเกี่ยวกับเรื่องของวิธีการใช้กะทิก็ได้ แต่ก่อนนั้น หัวกะทิส่วนหนึ่งใช้ผัดเครื่องแกง อีกส่วนหนึ่งใช้ใส่แกงก่อนที่จะยกลงจากเตา   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ต.ค. 20, 19:42
ในปัจจุบันนี้มีเครื่องแกงมัสมั่นสำเร็จรูป g8pใช้ทำเมื่ออยู่ ตปท. อร่อยพอได้อยู่นะครับ ลองทำกินเองดูครับ ไม่ยาก และอาจจะแปลงให้แปลกออกไปจากปกติด้วยการใช้มันเทศแทนมันฝรั่งก็ได้  กินกับขนมปัง กับโรตี หรือกับ Pita bread  มีอาจาดแนม จัดจานให้สวยดังภาพใน คห.ของ อ.เทาชมพู ก็เข้าท่าดีนะครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ต.ค. 20, 20:53
สำหรับเครื่องปรุงอื่นๆที่ว่ามีสองสามขั้นตอนในการทำนั้น ก็คือเครื่องเทศที่บางอย่างที่ต้องเอาไปคั่ว(แห้ง)ให้มีกลิ่มหอมก่อน แล้วจึงเอาไปตำให้แหลกละเอียดในครกหิน ซึ่งจะต้องรู้ด้วยว่าจะเอาอะไรใส่ลงไปตำเรียงลำดับกันไป มิฉะนั้นก็จะมิสามารถตำให้เครื่องแกงละเอียดจนผสมผสานเป็นเนื้อเนียนเดียวกันได้ 

ในปัจจุบันนี้ แกงของอาหารไทยประเภทที่มีการใส่เครื่องเทศลงไปด้วย ที่ว่าอร่อยนั้น ผมเห็นว่าส่วนมากจะเป็นแต่เพียงรสลิ้นและดูดีทางตา แต่ไม่เด่นในทางกลิ่น มีไม่มากนักที่จะโชยกลิ่นจนรู้สึกว่าน่ากิน ซึ่งบ่งชี้ว่าไม่ค่อยจะมีการคั่วเครื่องเทศในการตำน้ำพริกแกง     การคั่ว(เผา อบ ย่าง)เครื่องเทศหรือสมุนไพรให้หอม แม้จะเป็นเพียงบางอย่างที่ใช้ในการตำน้ำพริก จะช่วยให้แกงนั้นๆมีความอร่อยมากขึ้นในความรู้สึกในองค์รวม     คั่วยี่หร่าสักนิดสำหรับน้ำจิ้มหมูสะเต๊ะ  คั่วมะแขว่นสักนิดในอาหารเหนือบางอย่าง เผาข่าสักหน่อยในน้ำพริกแกงหมูชะมวง  ย่างอบเชยสักหน่อยก่อนใส่ในหม้อพะโล้ เผามะเขือพวงสักหน่อยสำหรับใส่น้ำพริกกะปิ ... เหล่านี้เป็นต้น


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 ต.ค. 20, 18:31
วันนี้ไปทั้งตลาดเช้าและตลาดเย็น ปรากฏว่าตลาดเช้ามีผู้ซื้อและผู้ขายมากกว่าปกติ ในขณะที่ตลาดเย็นมีน้อยกว่าปกติมากๆ แผงขายอาหารหลายเจ้าหยุดไปเลย ได้ความว่าหยุดวันลอยกระทง  กระทงที่วางขายในตลาดของปีนี้นั้น ก็ดีใจที่ได้เห็นว่าเป็นกระทงทำจากต้นกล้วยเกือบทั้งนั้น   

เกิดความอยากรู้ขึ้นมาว่า ในเทศกาลเดือน 12 หรือ ยี่เป็ง มีเมนูอาหารพิเศษที่เป็นประเพณีสำหรับการฉลองกันบ้างใหมครับ ?   มีอยู่อย่างหนึ่งที่ต้องมีแน่ๆคือ น้ำอมฤต ที่ดื่มกันไม่ว่าจะเป็นในบรรยากาศโรแมนติก หรือในบรรยากาศของการปล่อยทุกข์ไปแล้ว กำลังต้อนรับความสุขด้วยความสนุกเฮฮา   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 พ.ย. 20, 20:12
เมื่อถึงวันเพ็ญเดือนสิบสอง เราก็จะนึกถึงวันลอยกระทงกัน ลอยทุกข์ลอยโศกออกไปแล้วเริ่มต้นอะไรใหม่ๆที่ยังให้เกิดความสุขกับชีวิตของตนเองและครบครัว   หากมองในอีกมุมมองหนึ่ง พิเคราะห์ดูก็อาจจะเห็นได้ว่า มันเป็นช่วงเวลาของการเก็บเกี่ยวผลผลิตต่างๆที่ได้ลงทุนลงแรงไปเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา อีกทั้งก็ยังมีผลิตผลที่เป็นไปตามวัฎจักรทางธรรมชาติของสรรพสิ่งเหล่านั้นอีกด้วย ซึ่ง ในปัจจุบันนี้เราอาจจะไม่เคยได้สัมผัสกับความเป็นไปตามธรรมชาติของสิ่งเหล่านั้น เรามีเกือบจะทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อการบริโภคและที่ใช้ในด้านอุโภคไม่มากน้อยต่างกันตลอดทั้งปี อาจจะต่างชนิดต่างสายพันธุ์กันบ้าง

แต่ก่อนนั้นเราปลูกข้าวกันปีละครั้ง จนกระทั่งมีระบบชลประทาน จึงได้มีการปลูกกันปีละ 2 ครั้ง ในปัจจุบันนี้ในบางพื้นที่มีการปลูกกันถึงปีละ 3 ครั้ง  ทำให้เกิดคำว่านาน้ำฟ้า กับ นาชลประทาน เมื่อทำนาได้ก็ต้องมีน้ำ (ยกเว้นการปลูกข้าวไร่) เมื่อมีน้ำก็มีพืชน้ำพวกสังเคราะห์แสงและสัตว์ตัวเล็ก ตามมาด้วยกุ้ง หอย ปู ปลา ตามต่อมาด้วยนักล่าอื่นๆแต่ละชั้นตามระบบนิเวศน์  เมื่อเข้าสู่ช่วงเวลาก่อนเดือนสิบสองไม่นาน ฝนตกก็จะเริ่มจางหายไป ไล่ลงไปจากภาคเหนือลงสู่ภาคใต้ ก็เป็นช่วงเวลาที่พืชและสัตว์ตามธรรมชาติจะโตเต็มวัยก่อนที่จะเข้าสู่สภาวะการมีน้ำจำกัด ความสมบูรณ์ของอาหารการกินแบบชาวบ้านหลายๆอย่างก็จึงอยู่ในช่วงเวลาปลายฝนต้นหนาวนี้เอง   ไม่น่าจะแปลกใจนักที่จะมีเมนูอาหารอร่อยๆประจำในแต่ละช่วงเวลาของรอบปี


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 พ.ย. 20, 17:38
ทำให้นึกนึงเพลง 'ฝนสั่งฟ้า' เป็นเพลงที่มี 2 ทำนอง  ทำนองหนึ่งขับร้องโดยคุณเพ็ญศรี พุ่มชูศรี อีกทำนองหนึ่งขับร้องโดยคุณจินตนา สุขสถิตย์  ทั้งสองทำนองนั้นเป็นเพลงที่ฟังแบบสบายๆ แต่หากฟังในยามเย็นในขณะที่มองนาที่ข้าวสุกเหลืองอร่ามไปทั้งทุ่ง ก็อาจจะเกิดความรู้สึกเหงาๆได้เช่นกัน ผมได้ยินเพลงทั้งสองทำนองนี้มาตั้งแต่เด็กจากเสียงร้องและเสียงฮำของพ่อ ซึ่งได้กลายมาเป็นเพลงโปรดที่ผมจะนึกถึงในช่วงเวลาปลายฝนต้นหนาวของทุกปี (แต่ไม่เคยจำเนื้อร้องทั้งหมดได้เลย)


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 พ.ย. 20, 18:37
พูดถึงนาข้าวก็เลยมีเรื่องเล็กๆน้อยๆพอจะเล่าให้ฟังได้

ผมมีพื้นที่พอทำนาได้อยู่ประมาณ 3 ไร่ ก็เลยได้ลองลงทุนทำเมื่อไม่กี่ปีมานี้ แล้วก็เลยทำต่อมาทุกๆปี เป็นประเภทนาน้ำฝน  ก็แบ่งปลูกทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว  ข้าวเจ้าใช้พันธุ์หอมมะลิ ข้าวเหนียวใช้พันธุ์ กข.6 หรือ กข.10 สลับกัน   พันธุ์ กข.6 ค่อนข้างจะดีเมื่อมีน้ำน้อย ค่อนข้างนิยมปลูกกันในภาคอิสาน ได้ข้าวเหนียวแบบที่เราซื้อกินตามแผงค้าข้าวเหนียวส้มตำ    พันธุ์ กข.10 ค่อนข้างจะดีเมื่อมีน้ำมากพอควร จะนิยมปลูกกันในภาคเหนือ  ได้ข้าวเหนียวที่ค่อนข้างจะเนื้อนุ่ม   (สำหรับข้าวเหนียวเขี้ยวงูนั้นค่อนข้างจะแข็ง จึงเหมาะเอาไปทำพวกข้าวเหนียวมูน)  สำหรับความรู้เรื่องข้าวอื่นๆนั้นหาอ่านได้จากเน็ตต่างๆ

ที่จะบอกเล่าก็คือ ข้าวที่ชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆปลูกกันตามฤดูกาลทางธรรมชาติเหล่านี้ จะเก็บเกี่ยวในช่วงเวลาประมาณเดือนพฤศจิกายน และจะเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้นกันไม่เกินปลายเดือนพฤศจิกายน ชาวบ้านหลายๆคนยืนยันว่า ไม่ว่าจะปลูกต่างกันในเวลาต่างกันถึงระดับเดือนหนึ่ง ข้าวก็จะสุกในเวลาใกล้ๆกันหรือพร้อมๆกันและจะต้องเก็บเกี่ยวกันเสร็จสิ้นไม่เกินวันที่ 5 ธันวาคม  นานไปกว่านี้ข้าวก็จะร่วง ผลผลิตเสียหาย


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ย. 20, 18:54
ทำให้นึกนึงเพลง 'ฝนสั่งฟ้า' เป็นเพลงที่มี 2 ทำนอง  ทำนองหนึ่งขับร้องโดยคุณเพ็ญศรี พุ่มชูศรี อีกทำนองหนึ่งขับร้องโดยคุณจินตนา สุขสถิตย์  ทั้งสองทำนองนั้นเป็นเพลงที่ฟังแบบสบายๆ แต่หากฟังในยามเย็นในขณะที่มองนาที่ข้าวสุกเหลืองอร่ามไปทั้งทุ่ง ก็อาจจะเกิดความรู้สึกเหงาๆได้เช่นกัน ผมได้ยินเพลงทั้งสองทำนองนี้มาตั้งแต่เด็กจากเสียงร้องและเสียงฮำของพ่อ ซึ่งได้กลายมาเป็นเพลงโปรดที่ผมจะนึกถึงในช่วงเวลาปลายฝนต้นหนาวของทุกปี (แต่ไม่เคยจำเนื้อร้องทั้งหมดได้เลย)

https://www.youtube.com/watch?v=Zm8Q32MTxKk


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 พ.ย. 20, 18:57
https://www.youtube.com/watch?v=h1q9hwcb0bc


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 พ.ย. 20, 19:11
ในปัจจุบันนี้ เราเกือบจะไม่เห็นว่ามีการลงแขกดำนาและเกี่ยวข้าว มีการใช้รถปลูกข้าวและใช้รถเกี่ยวข้าวแทนการลงแขกหรือการจ้างแรงงาน  การไถนาก็ใช้รถแทร็กเตอร์แทนควายเหล็ก  ก็จึงไม่แปลกนักที่จะเห็นลูกหลานชาวบ้านเป็นจำนวนไม่น้อยที่ได้ร่ำเรียนหนังสือและมีอาชีพการงานที่มั่นคง ก็ทำนา ทำโดยการใช้โทรศัพท์บริหารจัดการ ประสานงานนัดแนะต่างๆ มีบิดามารดาและญาติพื่น้องที่ยังอยู่ในพื้นที่ๆเพียงช่วยกำกับดูแลงานต่างๆให้มันเป็นไปตามที่มันพึงจะเป็น  

ผมได้เห็นความต่างอยู่เรื่องหนึ่งในพื้นที่ของผมคือ เรื่องของนาดำแบบลงแขก กับนาดำที่ใช้เครื่องจักรกล    นาดำแบบลงแขกนั้นจะมีการเว้นระยะห่างระหว่างกอข้าวมากกว่านาดำแบบใช้เครื่องจกรกล  การใช้เครื่องจักรกลนั้นดูจะไม่ต่างไปจากการทำนาหว่านมากนัก การเว้นระยะของแต่ละกอข้าวมีไม่มาก เสมือนเป็นเพียงการจัดกอข้าวของนาหว่านให้ดูมีระเบียบขึ้นเท่านั้น  สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือความต่างของขนาดของกอต้นข้าว  ซึ่งโดยพื้นๆตามปกติแล้วกอต้นข้าวที่ใหญ่จะให้ผลผลิตข้าวที่มากกว่า  อย่างไรก็ตามเรื่องจะทำอย่างำร เช่นใด ทั้งหลายเหล่านี้ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสภาพและสิ่งแวดล้อมต่างๆทั้งในเชิงของธรรมชาติและสิ่งที่มีการดัดแปลงปรุงแต่งขึ้นมา


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 พ.ย. 20, 20:13
ข้าวใหม่จากนาของตนเองมันช่างหอมจริงๆนะครับ เปิดฝาหม้อข้าวก็ได้กลิ่นโชยออกมาอย่างแรง  เลยได้รู้จักว่าคุณสมบัติและคุณภาพที่แท้จริงของข้าวหอมมะลิของจริงว่ามันเป็นเช่นใด

ก็มีเรื่องบอกเล่าอีกเรื่องหนึ่ง    นา 1 ไร่ ปลูกข้าวจะได้ผลผลิตอย่างแย่สุดๆ(หากไม่ขาดน้ำจนเกินไป)ก็จะประมาณ 50 ถัง  หากมีการดูแลกันบ้างตามสมควรก็จะได้ประมาณ 70 -80 ถัง หากแก่ปุ๋ยและน้ำดีก็อาจจะได้ถึง 100 ถัง  คืออย่างน้อยที่สุดก็จะได้ข้าวที่สีแล้วไม่น้อยกว่า 25 ถัง หรือประมาณ 350 กิโลกรัม หรือประมาณ 25 ถุงข้าวสาร (15 กก.)ที่ขายกันตามห้างสรรพสินค้า  หากมีนา 2 ไร่ก็ได้ข้าวบริโภคมากขึ้นอีกเท่าหนึ่ง ก็เป็นตัวเลขที่น่าสนใจสำหรับไปปรับใช้ในวิถีชีวิตแบบพอเพียง


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 พ.ย. 20, 18:19
ไปตลาดต่างๆในช่วงเวลานี้ เรามักจะเห็นแม่ค้านั่งแกะขนุนขายอยู่เจ้าหนึ่งอยู่เสมอ แล้วก็มักจะไม่ค่อยเห็นว่าขายผลไม้อื่นร่วมอยู่ด้วย ราคาขายก็จะอยู่ประมาณ 80 บาทต่อกิโลฯ ผู้ซื้อก็มักจะซื้อกั้นครั้งละครึ่งกิโลฯ   ได้รับรู้จากแม่ค้าว่า ขนุนลูกหนึ่งๆนั้น ราคาหลายร้อยบาทอยู่ เมื่อซื้อก็จะต้องคะเนเอาว่าจะได้เนื้อในสักกี่กิโลฯ  ตามลักษณะของการขายดังที่เล่า แสดงว่าก็น่าจะได้กำไรอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว สำหรับเม็ดขนุนนั้นไม่มีราคานัก ก็จึงมีทั้งให้และขาย

ขนุนเป็นผลไม้ที่มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย เป็นผลไม้ที่เอามาเป็นอาหารได้ทั้งในรูปของผลไม้ ทำอาหารคาว อาหารหวาน และแต่งกลิ่นอาหาร  ใช้ประโยชน์ได้ทั้งลูก ตั้งแต่มันยังอ่อนจนแก่ จนสุกเละร่วงจากต้น 

ในประสบการณ์เดินป่าเดินดงในการทำงานของผม ได้พบว่า เมื่อใดที่ได้พบหมู่บ้านเล็กๆที่อยู่ห่างไกลจากการคมนาคมทั้งหลายแต่มีต้นขนุนปลูกให้เห็นโด่เด่อยู่ ผืนดินของพื้นที่นั้นๆจะค่อนข้างมีความชุ่มชื้นและร่มรื่นไปด้วยพืชพรรณไม้   ขนุนเป็นต้นไม้ที่บ่งชี้ถึงความสมบูรณ์ของผืนดิน บ่งชี้ถึงความสงบสุขของผู้คนในชุมชน และยังบอกถึงความสงบทางจิตใจของผู้คนในชุมชนแห่งนั้นๆ         


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 พ.ย. 20, 18:50
ขนุนอ่อน เอามาทำอาหารใน 3 รูปแบบ คือ

แบบแรก เอามาต้ม ตำให้แหลกกับเครื่องปรุง(น้ำพริก) หากทำในแบบภาคเหนือก็จะเอาไปผัดกับน้ำมัน โรยด้วยกระเทียมเจียวกรอบๆ ในภาคเหนือเรียกว่า ตำขนุน กินกับแคบหมู(แบบติดมัน)อร่อยนักแล ทำแบบดั้งเดิมก็จะมีการใส่มะเขือส้มลงไปด้วย  ทำแบบอิสานก็เรียกว่า ตำบักมี่ ใส่น้ำปลาร้าและข้าวคั่ว  สำหรับแบบตำนี้ดูจะทำกันเฉพาะในภาคเหนือและอิสาน 

แบบที่สอง คือเอามาทำเป็นต้มหรือแกง เรีกกว่า แกงขนุนอ่อน    ทำแบบภาคเหนือก็ใส่มะเขื้อส้มและชะอม บางคนก็ใส่มะแขว่น(พริกพราน พริกหอม ซวงเจี่ย)ลงไปเล็กน้อย เนื้อสัตว์ที่ใช้ก็มีได้ทั้งปลาแห้ง ซี่โครงหมู ไม่นิยมใช้เนื้อไก่   ทำแบบภาคใต้ก็จะทำเป็นแบบแกงเผ็ดเข้ากะทิ ซึ่งส่วนมากก็จะใช้เนื้อไก่     ขนุนอ่อนที่เอามาทำเป็นแกงนั้น เกือบจะไม่พบเห็นในภาคอิสานเลย

แบบที่สาม คือ ฝานเป็นแว่นๆ เอามาต้ม แล้วเอามากินกับน้ำพริก พบเห็นได้ทั้งภาคเหนือ อิสาน และภาคใต้ 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 พ.ย. 20, 18:57
ตำขนุน


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 พ.ย. 20, 19:00
แกงขนุนอ่อน


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 พ.ย. 20, 19:21
ขนุนแก่หรือขนุนสุก  ดูจะเป็นเรื่องเฉพาะของผู้คนในภาคกลาง  โดยพื้นๆผู้คนก็ดูจะมีการเลือกกินตามลักษณะของเนื้อขนุน เช่น หอม แห้ง กรอบ นิ่ม นุ่ม หวาน  ก็จึงเลยไปถึงเรื่องของสายพันธุ์ชื่อต่างๆซึ่งมีอยู่มากมาย   อย่างไรก็ตาม ด้วยที่การแกะขนุนเป็นเรื่องที่แม้จะไม่ยากแต่ก็ไม่ง่าย  การซื้อกินที่แม่ค้าแกะเสร็จแล้วจะสะดวกมากว่ามากๆ โอกาสที่จะเลือกกินเฉพาะสายพันธุ์ที่ชอบก็จึงมีข้อจำกัด  มิฉะนั้นก็จะต้องปลูกเอง

ปลูกขนุนเองก็สนุกดีนะครับ น้ำในดินฉ่ำมากไปมันก็ตาย  เมื่อมันโตแล้วยังไม่ออกดอกออกรวงก็ต้องแกล้งมันหรือต้องบังคับข่มขู่มัน  โบราณท่านว่าให้ใช้มีดฟันที่ต้นมัน จะเป็นการกระทำที่ถูกต้องหรือไม่ก็ไม่ทราบ  แต่ผมเคยทำ แล้วมันก็รีบออกดอกดอกออกรวงจริงๆ ก็จึงอาจจะเป็นการกระทำที่มีเหตุผลอยู่ไม่น้อย   หากท่านทั้งหลายมีโอกาสเดินผ่านต้นขนุนที่มีลูก ก็น่าจะสังเกตเห็นรอยแผลเป็นจากการถูกมีดฟันอยู่ไม่น้อย  


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 พ.ย. 20, 19:39
ขอบคุณอาจารย์ครับ    เห็นภาพแล้วนึกถึงความอร่อยของมัน กินกับข้าวเหนียวใหม่นิ่มๆ(ยิ่งเป็นเหนียวที่หลามด้วยไม้ไผ่ข้าวหลามแบบไม่ผสมกะทิ ก็จะสุดยอดไปเลย) ก้บแคบหมูทอดใหม่ๆ กับพริกแห้งทอดกรอบๆ  ตั้งสำรับหรือตั้งโตกที่มีน้ำพริกหนุ่มตำแบบแห้งๆใส่น้ำปลาร้าปลากระดี่และแมลงดานา แนมด้วยผักกาดดอก(ผักกาดจอ) ผักขี้หูด ยอดหวาย ผักเชียงดา ฟักทอง ลวก/นึ่ง มีหมูชุบแป้งบางๆทอดหรือเนื้อวัวนึ่ง  อื์ม 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 พ.ย. 20, 20:09
แถมวิธีทำค่ะ

https://www.youtube.com/watch?v=_GlNw7sGTOk


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 พ.ย. 20, 18:25
ตำราอาหารของหมึกแดง (หม่อมหลวงศิริเฉลิม สวัสดิวัตน์)ถือว่าใช้ได้ดีนะครับ   อย่างน้อยก็ถือว่าเป็นต้นทางสำหรับปริมาณเครื่องปรุงต่างๆของเมนูที่จะเลือกทำนั้นๆ  ผมเอาสูตรทำแพนเค็กหอยทอดมาทำเป็นหอยทอดแบบบ้านๆที่เราคุ้นกัน ทำเลี้ยงแขกอยู่หลายครั้งเมื่อครั้งยังประจำการอยู่ ตปท.  ด้วยที่ทำอาหารเป็น ก็เลยพอจะรู้ว่าจะแปลงได้อย่างไรให้ออกมาคล้ายๆกับหอยทอดที่เราคุ้นเคยกัน ก็เพียงเปลี่ยนจากการใช้ไข่ 4 ฟองมาเป็นใช้ 2 ฟอง แล้วใช้น้ำแทนปริมาณไข่ที่หายไป ก็เพียงเท่านั้นเอง  ใช้หอยแมลงภู่ของนิวซีแลนด์ตัวใหญ่  ใช้วิธีทอด 2 ขยัก ครั้งแรกทอดให้สุก ครั้งที่สองทอดให้แห้งกรอบ ใช้กระทะค่อนข้างร้อน ต่อยไข่ใส่ลงไปในขณะทอดด้วย  ดูเีแล้วก็ก้นไว้ขอบกระทะ เจียวกระเทียมเล็กน้อย ใส่ถั่วงอกลงไป เหยาะซีอิ๊วขาวลงไป พลิกไปมาเร็วๆสองสามครั้งแล้วเอาหอยที่กันไว้ข้างกระทะมาโปะทับ ตักใส่จาน  แต่ละจานใช้ประมาณ 8-10 ตัว ก็จะได้ปริมาณพอดีสำหรับแต่ละคน     ลองทำกินเองที่บ้านแล้วจะรู้ว่ามันอร่อยกว่าหรือไม่อร่อยกว่าที่เขาทำขายกันเพียงใด 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 พ.ย. 20, 18:38
ฟังคำบรรยายแล้วอยากกินหอยแมลงภู่ทอดกรอบขึ้นมาทันทีค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 พ.ย. 20, 19:13
กลับมาเรื่องของขนุน เราคงเคยจะได้ยินชื่อ 'ขนุนสำปะลอ'  ซึ่งคิดว่าเราส่วนมากจะไม่เคยเห็นต้นของมัน หรือเมื่อเห็นต้นของมันแล้วก็นึกว่าเป็น 'ต้นสาเก'     เช่นกัน เมื่อเห็นลูกของมันก็อาจจะนึกว่าเป็นลูกสาเก   หากจะว่าไปอย่างหลวมๆก็คือ ขนุนสำปะลอคือสาเกที่มีแต่เม็ด ส่วนสาเกที่เอามาเชื่อมกินกันนั้นเป็นสาเกที่มีแต่เนื้อ ไม่มีเม็ด    ก็อาจจะเป็นเรื่อง(ที่ผม)ไม่รู้เลยว่า มันเป็นต้นตัวผู้กับต้นตัวเมีย ????

เม็ดขนุนสำปะลอนิยมเอามาต้มกินกัน ผมไม่มีความรู้ว่ามีการเอาไปทำอาหารอะไรกันบ้าง นอกเสียจากเอาเม็ดของมันมาต้มกินเท่านั้น    ต่างกับเม็ดขนุนที่แกะขายกันท้่วไปซึ่งผู้คนในภาคต่างๆจะเอามาต้มกินเป็นของกินเล่น  แตกต่างไปจากในภาคใต้ที่จะเอาเม็ดขนุนมาทำอาหาร  ใส่ทั้งในผัดเผ็ดและแกงในบางเมนู    

กินเม็ดขนุนต้มก็มักจะให้มีลมในท้องใส้เยอะ ท้องขึ้นและผายลมมากกว่าปกติ ก็ไม่แน่ใจนักว่าเม็ดขนุนสำปะลอจะให้ผลเช่นนั้นหรือไม่   สำหรับเม็ดขนุนที่ใส่ในผัดและแกงของภาคใต้นั้น ด้วยที่ในเครื่องแกงจะมีการใส่กระชายและขมิ้นซึ่งเป็นสมุนไพรที่ใช้ขับลมอยู่แล้ว ก็จึงอาจจะไม่เป็นปัญหาที่ทำให้ท้องขึ้นมากนัก  

ว่ากันว่า คำว่า 'สำปะลอ' เพี้ยนมาจากคำว่า 'กำมะลอ'  ก็เลยอยาถามความเห็นท่านอาจารย์ทั้งหลายว่า คำว่า 'กำมะลอ' นี้พอจะตรงกับคำว่า 'quasi' ได้หรือไม่ ครับ  



กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 พ.ย. 20, 20:34
ฟังคำบรรยายแล้วอยากกินหอยแมลงภู่ทอดกรอบขึ้นมาทันทีค่ะ

ก็มีเรื่องสำคัญที่ซ่อนอยู่ในการทำให้มันออกมาดูดีครับ ก็คือ ควรจะต้องเลือกใช้กระทะแบบหนาที่ออกแบบให้ทนไฟแรง (ทนความร้อนสูง) ซึ่งมักจะน้ำหนักมากกว่าปกติ  แต่ก็ไม่จำเป็นจะต้องใช้กระทะแบบเหล็กหล่อ ซึ่งค่อนข้างจะมีราคาสูงมาก     

กระทะเหล็กหล่อ(ทั้งแบบมีร่องและไม่มีร่อง)นั้นเหมาะที่จะใช้ทำอาหารประเภทที่ต้องใช้ความร้อนคงที่ในการปรุง  เช่น ใช้นาบชิ้นเนื้อสัตว์ให้สุกสำหรับการทำอาหารในรูปของสเต็ก  หากมีขอบสูงหรือเป็นหม้อก็เหมาะที่จะใช้ในการทำอาหารประเภทซุปหรือที่ต้องต้มตุ๋นเนื้อสัตว์ให้เปื่อยด้วยความร้อนต่ำ  หากเป็นหม้อที่มีฝาปิด ก็จะใช้ในลักษณะของเตาอบที่เรียกกันว่า Dutch oven ซึ่งจะใช้ทำได้ทั้งสตูว์ ขนมปัง และขนมอบต่างๆ (เมื่อออกไปตั้งแคมป์ ...)     จัดเป็นประเภทของอยากได้มากกว่าเป็นของจำเป็นที่จะต้องมีประจำครัวในวิถีชีวิตแบบบ้านเรา แต่ละใบจะมีราคาในหลักหลักพันบาทกลางๆไปจนถึงหมื่นบาทต้นๆ   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 พ.ย. 20, 07:58
Dutch pan


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 พ.ย. 20, 19:14
นึกไปถึงเมื่อครั้งขาดอุปกรณ์ทำอาหารในขณะเดินทำงานในป่าดง ได้ปลามาจากการลงตะคัด(ตาข่าย)ในห้วยขาแข้งช่วงที่มีน้ำลึกประมาณหน้าอก   

ปลาที่อยู่ในห้วยมีน้ำไหลทั้งหลายนั้น เกือบทั้งหมดจะเป็นปลาเกล็ดที่มีรูปทรงภายนอกดูเหมือนๆกัน ความแตกต่างของแต่ละชนิดเพื่อการจำแนกและเรียกชื่อ ก็จะดูกันอย่างหลวมๆที่ความสั้น ยาว ความหนาและความกว้างของลำตัว ดูลักษณะหัวและหน้าตา ดูลักษณะเกล็ด สี และลวดลายของเกล็ด ดูลักษณะครีบ หางและสีของมัน   ปลาที่ใช้เป็นมาตรฐานกลางสำหรับใช้ในการบรรยายเปรียบเทียบ(เมื่อมีการสอบถามถึงชื่อของปลา)เพื่อการจำแนกชนิดก็จะใช้ปลาตะเพียนกัน   เมื่อครั้งยังทำงานอยู่ ก็พอจะมีความสามารถจำแนกชนิดปลาได้เมื่อเห็นในทันใด นานเข้าจนเป็นผู้เฒ่าความจำก็ถดถอย จำได้แต่ชื่อและแถมด้วยความสับสนอีกต่างหาก  คงเหลือแต่ปลาตะเพียนและปลาตะโกก(ของชอบ)เท่านั้น ที่จำแนกได้ในทันทีที่เห็น

ยกเรื่องปลาเกล็ดขึ้นมากล่าวถึงก็เพียงแต่จะขยายความว่า ปลาเกล็ดเหล่านั้น ส่วนมากจะมีก้างรูปทรงตัว Y แทรกอยู่ในเนื้อ  ซึ่งวิธีทำกินในแบบพื้นบ้านมักจะมีอยู่ 3 วิธี คือ ย่าง ต้มเป็นแกง หรือหมักดอง   สำหรับคนชาวเมืองก็จะมีวิธีการทำอาหารเพิ่มขึ้นไป กรณีใช้ปลาสด ก็บั้งปลาให้ถี่มากๆแล้วทอดให้กรอบ  หรือแล่ปลาแล้วแบะออกตากแดด แล้วจึงเอามาทอดให้กรอบ  หรืออีกวิธีหนึ่งก็คือการต้มจนก้างเปื่อยยุ่ย (ต้มเค็มหวาน) 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 พ.ย. 20, 19:33
ปลาเกล็ดที่เป็นปลาน้ำจืดที่มีวางขายอยู่ตามแผงปลาในตลาดใน กทม. เกือบทั้งหมดจะเป็นปลานิลและปลาตะเพียน  ที่จะมีแปลกออกไปก็จะเป็นตลาดชุมชนที่เน้นการขายวัตถุดิบสำหรับการทำอาหารจีน ซึ่งจะมีที่ปลาเราเรียกชื่อคละกันไปว่าปลาจีน หรือปลาใน (หรือปลาหลีฮื้อ)  แล้วก็ยังมีบางพื้นที่ๆมีปลาน้ำจืดของท้องถิ่น (ทั้งธรรมชาติและเพาะเลี้ยง) เช่นปลานวลจันทร์ ปลายี่สกเทศ ปลาม้า ปลาชิกคัก เป็นต้น


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 พ.ย. 20, 20:30
เอื้อนมาเสียยืดยาวก็มาถึงคราวที่จะเอาปลาเหล่านี้ไปทำอาหาร   ลองซื้อสดเอามาทำกินเองแบบง่ายๆ ซึ่งก็คือการเอามานึ่งนั่นเอง   หากดูวิธีการทำแล้วอาจจะเห็นว่ายุ่งยาก ก็ลองทำแบบไปตั้งแคมป์ริมห้วยในอุทยานที่ใช้วิถีชีวิตง่ายๆแบบใช้หม้อใบเดียวทำอาหารทุกอย่างก็พอได้อยู่    ขอดเกล็ดปลา ควักใส้ออก ล้างให้สะอาด ทาเกลือ เอาปลาลงหม้อ ใส่น้ำลงไปประมาณครึ่งตัวปลา ปิดฝาหม้อ ยกหม้อไปตั้งไฟ พอน้ำเดือดก็เบาไฟลง คะเนว่าปลาสุกนิ่มทั่วกันทั้งตัวแล้วก็เอาออกมากิน  ลักษณะของอาหารก็จะคล้ายๆกับการทำแปะซะ  ซึ่งด้วยจินตนาการในลักษณะนี้ เราก็สามารถที่จะปรับแต่งเมนูนี้ให้เป็นไปตามที่ใจนึกได้ ไม่ว่าจะเป็นกลิ่น รส เครื่องเคียง และเครื่องจิ้ม เช่น ใส่ขิงซอยหรือหั่นเป็นแว่น หรือใช้ข่า หรือใช้ตะไคร้หั่นเป็นท่อนๆวางรองตัวปลา ใช้ซีอิ๊วขาวแต่งรส ใส่เห็ดหอมสด ใส่ต้นหอม คื่นช่าย ผักชี รากผักชี ผักกาดขาว กล่ำปลี ข่า ใบมะกรูด ฯลฯ  เครื่องจิ้มก็อาจจะเป็นซีอิ๊วขาวใส่หอมแดงและพริกซอย เต้าเจี้ยวกับขิงและพริกสด(เหมือนน้ำจิ้มข้าวมันไก่ตอน) น้ำจิ้มซีฟู๊ด ฯลฯ   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 06 พ.ย. 20, 10:11
ข้าวใหม่จากนาของตนเองมันช่างหอมจริงๆนะครับ เปิดฝาหม้อข้าวก็ได้กลิ่นโชยออกมาอย่างแรง  เลยได้รู้จักว่าคุณสมบัติและคุณภาพที่แท้จริงของข้าวหอมมะลิของจริงว่ามันเป็นเช่นใด

ข้าวหอมมะลิที่ขายตามซุปเปอร์สมัยนี้ไม่หอมเลยสักนิด คงปลูกแบบเอาปริมาณไม่เน้นคุณภาพแบบของอาจารย์นะคะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 พ.ย. 20, 10:25
 :)


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 พ.ย. 20, 18:38
ทำกินเองง่ายๆก็จะได้หน้าตาอย่างภาพนั้นแหละครับ หากเลือกใช้ปลาที่ค่อนข้างจะคาว ก็ควรจะต้องใช้เกลือลูบตัวปลา ทิ้งใว้สักพักก็ล้างออก หรือไม่ก็ผสมน้ำส้มสายชูในน้ำที่ใช้ล้างและทำความสะอาดปลา และเมื่อเอามาทำอาหารก็ปรับรสให้ออกไปทางเปรี้ยว จะด้วยมะนาว มะขามเปียก หรือน้ำส้มสายชูก็ได้  กระเทียมดองและน้ำดองกระเทียมก็สามรถช่วยได้มากทีเดียว   

จึงเป็นเรื่องไม่แปลกนักที่ฝรั่งจะดื่มไวน์ขาวกับเนื้อสัตว์สีขาวซึ่งส่วนมากจะมีกลิ่นคาวหรือกลิ่นสาบบางกลิ่น ก็เพื่อใช้รสเปรี้ยวและกลิ่นหอมของไวน์ขาวไปช่วยดับความคาวของเนื้อและกลิ่นของเนื้อสัตว์   สำหรับไวน์แดงก็มุ่งไปที่ความฝาดของไวน์เพื่อลดความรู้สึกในเรื่องของไข(มัน)ที่คงค้างอยู่ในปากเมื่อกินเนื้อสัตว์ที่มีสีแดง ซึ่งส่วนมากจะเป็นพวกเนื้อที่มีมันและต้องมีมันติดหรือมีมันแทรกจึงจะได้เนื้อที่นิ่มและนุ่มนวลเมื่อทำสำเร็จเป็นอาหาร  เนื้อที่มีไขมันมากจึงเหมาะกับไวน์แดงที่มีความข้นและมีรสฝาดมาก ไม่ต่างไปจากการจิบชาร้อนฝาดๆคู่กับอาหารจีนมันๆ

อาหารไทยจึงจับคู่กับไวน์ขาวหรือไวน์แดงได้ยาก เพราะมีหลากรส หลากกลิ่น แถมยังเป็นอาหารที่ปรุงแบบผสมผสานระหว่างรสเนื้อกับรสของเครื่องปรุงที่เข้ากันได้ดีแบบ 'นัว'  จะปรับรสให้จัดได้หรือไม่ให้จัดก็ได้โดยที่ยังความอร่อยอยู่เหมือนเดิม   ก็เห็นว่าพอจะมีข้อชวนพิจารณาอยู่บ้างว่า ด้วยที่อาหารไทยมักจะต้องมีรสเผ็ด เปรี้ยว เค็มและหวาน ซึ่งรสที่ทำให้เกิดความอร่อยๆขึ้นมามักจะเป็นรสหวานที่ซ่อนอยู่  บางทีการเลือกใช้ไวน์ที่ออกรสไปทางหวาน (ไม่ว่าขาวหรือแดง) ก็อาจจะเข้ากันได้ดีกับอาหารไทย โดยเฉพาะหากเป็นเมนูอาหารที่เรารู้ลึกลงไปถึงลักษณะเด่นที่เป็น Umami ของเมนูอาหารไทยสำรับนั้นๆ   

คงจะไม่เหมาะที่จะให้ความเห็นส่วนตัวของผมในเรื่องการจับคู่ระหว่างอาหารไทยกับไวน์ไปมากกว่านี้ไม่ได้แล้วครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 พ.ย. 20, 20:00
กลับเข้าไปเดินตลาดต่อครับ

ตลาดเช้าของชุมชนนอกเมืองในกับในเมืองใน ตจว.มีความแตกต่างกันในภาพที่เราน่าจะพอนึกออกได้    สำหรับตลาดนอกเมืองนั้น สินค้าที่นำมาวางขายเกือบทั้งหมดจะเป็นพวกที่ผู้ขายเองลงแรงทำการผลิตและที่อาจไปเก็บเกี่ยวหาได้ตามที่พบอยู่ในธรรชาติ สินค้าที่วางขายส่วนมากจะอยู่ในกลุ่มวัตถุดิบพื้นฐาน เป็นตลาดที่ผมชอบเดินมากที่สุด    ตลาดในเมืองจะมีลักษณะต่างออกไปตรงที่มีความปนเประหว่างการขายส่งกับการขายแบบผู้ผลิตถึงมือผู้ซื้อ สินค้าที่ขายก็มีทั้งแบบผลิตผลของผู้ผลิตรายเล็กหรือจากการรวบรวมของพ่อค้าคนกลาง     ตลาดนอกเมืองมีลักษณะเป็นตลาดเพื่อการยังชีพของทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ และเป็นสถานที่สำคัญในทางสังคม(และการสื่อสาร) ในขณะที่ตลาดในเมืองเป็นตลาดเพื่อกิจกรรมทางธุกิจต่างๆ (Hub)    ตลาดชุมชนใน กทม.มีความต่างออกไปอีก คือเป็นตลาดในเชิงของกิจกรรมในสาขาการบริการและเป็นสถานที่ทางสังคมของชุมชนย่อยต่างๆ ผู้ที่มาเดินตลาดจะมีทั้งคนที่เกษียณอายุ ผู้สูงวัย ผู้คนที่ไม่แข็งแรง ทุพพลภาพ ฯลฯ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 พ.ย. 20, 19:00
ตลาดเย็นของชุมชนทั้งในพื้นที่เมืองและนอกเมืองจะมีลักษณะคล้ายๆกันทั้งหมด คือตลาดเย็นมีแต่คนที่เลิกจากงานแล้วแวะเวียนเข้ามาเพื่อซื้ออาหารมื้อเย็นกลับบ้าน ตลาดเย็นโดยส่วนมากจะมีแผงขายอาหารสำเร็จรูปและผลไม้มากกว่าตลาดเช้า จะมีผู้ที่ขายของสดแต่ละชนิดอยู่เพียงเจ้าหรือสองเจ้าเท่านั้น ซึ่งก็เป็นลักษณะปกติที่มีมาตั้งแต่เก่าก่อน   

พัฒนาการของสินค้าที่นำมาขายในตลาดเย็นที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้คือ มีแผงขายวัตถุดิบประเภทเนื้อสัตว์สำหรับเมนูสุกี้ยากี้ เช่น เนื้อปลา แมงกะพรุน กระเพาะหมู ปลาหมึก ผ้าขี้ริ้ว ใส้อ่อนหมู ... ขายแบบชั่งน้ำหนัก แถมน้ำต้มสุกี้ฯและน้ำจิ้ม จะดูแปลกไปหน่อยนึงก็ตรงที่มีผ้าขี้ริ้วของวัววางขายรวมอยู่ด้วย    แล้วก็มีแผงขายเครื่องในหมูต้มแล้ว ตัดเป็นชิ้นๆคละกัน แล้วแต่จะเลือกซื้อ ขายแบบชั่งน้ำหนักเหมือนกัน ขายทั้งแบบทำเป็นต้มแซบและลวกจิ้ม ก็จะมีเช่น ลิ้น ใส้อ่อน ใส้ตัน ปอด กระเพาะ ...  บางตลาดก็มีแผงที่ขายเครื่องในวัวอีกด้วย 

ผมอดไม่ได้ที่จะต้องเดินแวะเวียนไปดูแผงพวกนี้  มีของโปรดอยู่สองสามอย่างที่ต้องตัดใจว่าจะซื้อหรือไม่ ก็คือ กระเพาะหมู ผ้าขี้ริ้ว แมงกะพรุน ปลาหมึกกรอบ ลิ้นหมู และใส้ตัน ซื้อเอามาเป็นของแกล้มยามเย็น ซื้อมาแล้วก็เอามาลวกอีกอีกครั้งหนึ่ง จิ้มกับซีอิ๊วขาวกิน ซึ่งจะอร่อยมากกว่าจิ้มกับพวกน้ำส้มพริกตำเสียอีก เพียงแต่แทนที่จะซื้อแบบให้เขาหั่นให้เสร็จ ก็จะเอามาเพื่อหั่นเอง เราก็จะได้ของกินที่ดูปราณีตและน่ากินมากกว่าแบบที่สักแต่ว่าหั่นให้เป็นชิ้นๆ  บางครั้งเมื่อเอามาลวกและหั่นเสร็จแล้วก็เจียวกระเทียมราดลงไปด้วย

หากเป็นของโปรดก็ควรจะต้องระวังเรื่องโรค Gout ให้มากๆด้วย ครับ     


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 พ.ย. 20, 20:08
และพาลให้นึกถึง ตือฮวนกับข้าวเหนียวใส่ถั่ว (จุกบี้ ?)   

นานมาแล้ว ตือฮวนเป็นอาหารที่พบในลักษณะหาบเร่ ทั้งสองด้านของคานหาบจะเป็นตู้สี่เหลี่ยม ด้านหนึ่งของคายหาบจะเป็นเรื่องของอุปกรณ์ในการกิน อีกด้านหนึ่งจะเป็นเรื่องของตัวอาหาร  เคยมีที่ยกระดับจากการหาบเข้าสู่ร้านห้องแถว ทำเป็นเมนูตือฮวนกินกับข้าวเปล่า ซึ่งก็ได้รับความนิยมกันในช่วงเวลาหนึ่งแล้วก็เลิกราหายกันไป  จะเป็นด้วยเพราะว่าเกิดความนิยมการกินต้มเลือดหมูหรือต้มเครื่องในหมูกับข้าวสวยร้อนๆที่เสิร์ฟมาในถ้วยแล้วกินแบบพุ้ยด้วยตะเกียบก็มิรู้ได้

เมื่อตลาดในปัจจุบันมีแผงขายเครื่องในหมูทำสุกแล้ว ผักกาดดองก็มีขายอยู่ทั่วไป จะไม่น่าลองทำกินเองบ้างหรือ ?   มันก็ไม่ต่างไปมากนักจากต้มจืดผักกาดดองกับซี่โครงหมู  เพียงแต่จะต้องใช้ผักกาดดองส่วนที่เป็นใบมากหน่อย ต้มให้เปื่อยนิ่มนานหน่อย สำหรับเครื่องในนั้น เราก็เลือกซื้อชนิดของเครื่องในหมูตามที่ชอบเอามาหั่นให้หนาบางตามชอบของเรา  เมื่อจะกิน ตักใส่ชามแล้วเอากระเทียมเจียวเหยาะลงไป กินกับข้าวร้อนๆ    หากต้มยังเหลือมากอยู่ก็จัดการให้มันเป็นข้าวต้มได้อีกมื้อหนึ่ง   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 พ.ย. 20, 18:48
นอกจากตือฮวนแล้ว  พวกเครื่องในหมูเหล่านั้นก็เอามาทำอาหารอื่นๆได้อีกหลายอย่างที่ค่อนข้างจะหาทานได้ยากในปัจจุบันี้ เช่น กระเพาะหมูผัดเกี้ยมฉ่าย ใส้ตันทอดกระเทียมพริกไทย ตับอ่อนผัดพริก(แห้งตำ) ตับเอามาทำยำ หนวดปลาหมึกกรอบเอามาผัดบะเต็งกับหมูแล้วผัดกับหมี่ซั่ว  ลิ้นหมูเอามาทำสตูว์ เป็นต้น

สำหรับผัดเกี้ยมฉ่ายนั้น จะต้องหั่นก้านเกี้ยมฉ่ายแบบสไลด์ให้บางหน่อยเพื่อจะได้ผักชิ้นใหญ่แต่มีกากเส้นใยสั้น    สำหรับใส้ตัน ก็ควรจะต้องใช้กะทะร้อน พลิกไปมาเร็วๆ เมื่อกระเทียมใกล้จะใหม้ก็รีบตักออก กินกับซอสพริกศรีราชา    ผัดตับอ่อน ก็เพียงตำพริกแห้งกับกระเทียม ผัดเครื่องที่ตำไว้ให้หอมแล้วจึงใส่ตับอ่อน ควรจะใส่น้ำตาลเล็กน้อยเพื่อทำให้รสนุ่มนวลขึ้น    สำหรับผัดบะเต็ง หนวดปลาหมึกกรอบและหมูควรจะหั่นเป็นทรงลูกเต๋าเท่าๆกัน จะยิ่งอร่อยมากขึ้นหากใส่ต้นกระเทียมลงไปผัดในหมี่ซั่วด้วย     

สำหรับสตูว์ลิ้นหมูนั้นทำแบบแก้ขัดหรือมีข้อจำกัดต่างๆได้ไม่ยากนัก  หั่นลิ้นหมูเป็นชิ้นๆให้มีความหนาประมาณ 1 ซม.  ใส่ลงไปในหม้อ เติมน้ำ ตั้งไฟ เมื่อน้ำร้อนจัดก็ใส่ซุปหมูก้อนประมาณครึ่งก้อนลงไป ใส่ลูกกระวาน 1 ลูก ใส่ใบกระวาน(หรือใบเทพทาโร) 1-2 ใบลงไป ตั้งไฟให้เดือดแล้วหรี่ไฟลง สักพักก็ยกลงจากเตา  เอามันฝรั่งมาปอกเปลือก หั่นเป็นชิ้นไม่ใหญ่หรือหนานัก เอาแช่น้ำไว้ เอาหอมหัวใหม่มาปอกแล้วหั่น ปริมาณตามชอบ เอามะเขือเทศมาหั่น    เอากระทะตั้งไฟ ใส่น้ำมันเล็กน้อย หากจะให้เป็นฝรั่งมากขึ้นก็ใส่เนยลงไปผสมกับน้ำมัน เอาหอมใหญ่ใส่ลงไปผัด ตามด้วยมันฝรั่ง ตักน้ำต้มลิ้นใส่ลงกระทะ ตั้งให้เดือดสักพ้ก หรือคะเนว่ามันฝรั่งสุกดีแล้ว ตักลิ้นหมูใส่ลงไป ใส่ซอสมะเขือเทศ ใส่มะเขือเทศ ปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาวหรือแม็กกี้ ใส่น้ำตาลเล็กน้อย เท่านั้นเอง   เป็นการทำสตูว์แบบสดแบบเร็ว จะว่าเป็นสตูว์เทียมก็ว่าได้ 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 พ.ย. 20, 20:12
ผมไม่ได้มีความรู้ทางวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ดังเช่นที่เขาเรียนมากัน แต่ผมมีความเห็นว่า ตลาดชุมชนน่าจะเป็นเครื่องบ่งชี้สภาพทางเศรษฐกิจได้ดีพอสมควร    เห็นว่าการโยกย้ายถ่ายเทหรือการเปลี่ยนมือของสิ่งของหรือทรัพย์สินเพื่อการบริโภคและอุปโภคในเชิงปริมาณระหว่าง Entity ต่างๆนั้น เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละ Entity และของพื้นที่ ซึ่งมันบ่งบอกถึงการเชื่อมโยงระหว่าง Entity ระดับต่างๆในเกือบจะทุกด้าน       


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 พ.ย. 20, 20:41
สตูว์ลิ้นหมู


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 พ.ย. 20, 17:57
เห็นภาพแล้วนึกถึงสตูว์ลิ้นวัวอีกด้วย  แต่ก่อนนั้นมีขายเป็นประจำอยู่ที่ร้านร้านอาหารหนึ่งละแวกท่าช้าง ในปัจจุบันนี้คงจะต้องทำกินเอง   แต่ก่อนนั้นลิ้นวัวสดยังมีวางขายตามแผงขายเนื้อวัวในตลาดสด กระนั้นก็ยังหาซื้อไม่ต่อยได้ ต้องสั่งให้ผู้ขายเก็บไว้ให้  ในปัจจุบันนี้ไม่มีวางขายตามแผงขายเนื้อในตลาดสดต่างๆเลย แต่ก็สามารถจะหาซื้อได้ในดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ขนาดใหญ่ที่ขายส่งเครื่องบริโภคและอุปโภคต่างๆ   

สตูว์หมูและเนื้อที่ทำแบบฝรั่งปนจีนก็มี มีร้านหนึ่งในแพร่งภูธรที่ทำขายอยู่เป็นประจำ ขายดีในช่วงเวลาอาหารกลางวัน กินเสร็จแล้วก็อาจจะต้องเดินข้าถนนไปกินไอติมกะทิสด  ในปัจจุบันนี้ ร้านเหล่านี้จะเลิกขายหรือพัฒนาไปเป็นเช่นใดก็ไม่ทราบ  ไม่ได้แวะเวียนไปเดินแถบนั้นมานานมากๆแล้วครับ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 พ.ย. 20, 19:11
ย้อนกลับไปเรื่องเครื่องบ่งชี้สภาพทางเศรษกิจและสังคมที่เห็นได้จากตลาดชุมชน   

ตามที่ผมได้ประสบพบเห็นมา ตลาดชุมชนน่าจะจำแนกออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ประเภทที่เป็นตลาดประจำ มีการติดตลาดเป็นประจำทุกวันตามเวลาที่เคยปฎิบัติกันมา  กับประเภทตลาดนัด ที่มีการติดตลาดกันตามตามวันและช่วงเวลาที่นัดกัน ซึ่งมีทั้งแบบที่นัดกันทุกสัปดาห์ และที่นัดกันเป็นแต่ละเดือน หรือตามวันเทศกาลของชุมของแต่ละท้องถิ่น   

ตามปกติของการมองถึงสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนย่านนั้นๆ อย่างง่ายๆก็คือการมองในเชิงของ dynamic(พลวัติ ?)ของตลาดเหล่านั้น       ผมเองก็มองในเชิง dynamic  ใช้ข้อสังเกตในองค์รวมอยู่ 4 เรื่อง ทั้งในเชิงของปริมาณและคุณภาพ คือ ลักษณะและสภาพของเงินตราที่มีการใช้หมุนเวียนกันในตลาดนั้นๆ (มูลค่าและความเก่าใหม่ของเงินตรา_ธนบัตรและเหรียญกษาปน์)    ความหลากหลายของผู้คนที่มาจับจ่ายใช้สอย (พื้นที่อยู่อาศัย วัย ความเชื่อมโยงทางเผ่าพันธุ์และทางสังคม ฯลฯ)    พาหนะที่ีใช้มาจ่ายตลาดกัน (เก่า ใหม่ รุ่น ตบแต่ง ฯลฯ)    และปริมาณการสัญจรของยานพาหนะต่างๆในพื้นที่ (ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล) 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 พ.ย. 20, 19:49
เห็นภาพแล้วนึกถึงสตูว์ลิ้นวัวอีกด้วย  แต่ก่อนนั้นมีขายเป็นประจำอยู่ที่ร้านร้านอาหารหนึ่งละแวกท่าช้าง ในปัจจุบันนี้คงจะต้องทำกินเอง   แต่ก่อนนั้นลิ้นวัวสดยังมีวางขายตามแผงขายเนื้อวัวในตลาดสด กระนั้นก็ยังหาซื้อไม่ต่อยได้ ต้องสั่งให้ผู้ขายเก็บไว้ให้  ในปัจจุบันนี้ไม่มีวางขายตามแผงขายเนื้อในตลาดสดต่างๆเลย แต่ก็สามารถจะหาซื้อได้ในดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ขนาดใหญ่ที่ขายส่งเครื่องบริโภคและอุปโภคต่างๆ   

สตูว์หมูและเนื้อที่ทำแบบฝรั่งปนจีนก็มี มีร้านหนึ่งในแพร่งภูธรที่ทำขายอยู่เป็นประจำ ขายดีในช่วงเวลาอาหารกลางวัน กินเสร็จแล้วก็อาจจะต้องเดินข้าถนนไปกินไอติมกะทิสด  ในปัจจุบันนี้ ร้านเหล่านี้จะเลิกขายหรือพัฒนาไปเป็นเช่นใดก็ไม่ทราบ  ไม่ได้แวะเวียนไปเดินแถบนั้นมานานมากๆแล้วครับ
ร้านอาหารจีนที่เจ้าของทำอาหารฝรั่งสไตล์จีน เรียกว่ากุ๊กช็อป  เป็นหนึ่งในตำนานร้านอาหารในเมืองหลวงที่ปัจจุบันเกือบสูญหายไปหมดแล้ว     
ได้ยินมาว่ากำเนิดของร้านอาหารแบบนี้คือกุ๊กชาวจีนที่เป็นลูกมือเชฟฝรั่งมาก่อน  เมื่อหัวหน้าเลิกกิจการกลับบ้านเกิดเมืองนอน ก็มาเปิดร้านของตัวเอง   
กลายเป็นอาหารฝรั่งรสชาติถูกปากคนไทย  เช่นพวกสตูว์ต่างๆ กินกับขนมปังที่เจ้าของร้านทำเอง อร่อยมาก

หนึ่งในนี้คือสีลมภัตตาคาร  ร้านเก่าปิดกิจการ แต่ลูกหลานมาเปิดใหม่ ทำสตูว์อร่อยเหมือนเดิมค่ะ 
ไม่บอกละนะคะ  ว่าอยู่ตรงไหน เดี๋ยวจะกลายเป็นโฆษณา


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 พ.ย. 20, 20:11
เมื่อไปตลาด ก็พอจะเห็นได้แล้วว่าสภาพและสถานะทางด้านเศรษฐกิจของผู้คนในพื้นที่เป็นเช่นใด  ดูแรกเริ่มได้จากยานพาหนะที่เขาใช้มาจ่ายตลาดกัน  พิจารณาง่ายๆแต่แรกเริ่มได้จากการดูการแต่งรถ / การดัดแปลงรถ โดยเฉพาะการยกสูง โหลดเตี้ย การเปลี่ยนขนาดกะทะล้อ ยางและดอกยาง.... ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เงิน หากรายได้ไม่ดีหรือไม่มีเงินส่วนเกินก็คงทำไม่ได้    เมื่อทำการจับจ่าย ก็สังเกตได้จากความสามารถในการรับและทอนเงินธนบัติมูลค่าสูงของผู้ขายได้   เรื่องของความเก่าของธนบัตรและเหรียญกษาปน์ก็เป็นสิ่งที่บอกถึงสภาพวงจรของการหมุนเวียนได้ว่ามันมีความเชื่อมโยงกับภายนอกมากน้อยเพียงใด    ผมเก็บ(สะสม)เหรียญกษาปน์ตามปีที่ผลิตออกมาใช้ (เผื่อหลานจะชอบ) ก็ได้เหรียญที่ผลิตปีเก่าๆได้จากตลาดชุมชนใน ตจว.นี้เอง


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 พ.ย. 20, 20:46
อาหารอร่อยแบบฝรั่งผสมจีนนั้นมีอยู่หลายเมนูดังที่ อ.เทาชมพู ว่าไว้     อื่นๆที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ไว้ได้ดีและปรากฎอยู่ในหลายภัตตาคารก็มี สลัดเนื้อสัน ซี่โครงหมูย่าง พอร์คช้อบที่ราดซอสใส่เมล็ดถั่วลันเตากระป๋อง เนื้อผัดน้ำมันหอย (ซึ่งอาจจะดัดแปลงมาจาก Beef Stroganoff)  สำหรับซุปข้าวโพดนั้นดูจะหายไปเลย    อ้อ ซุปแบบเสฉวนนั้นก็เป็นที่นิยมของฝรั่ง แต่ดูจะไม่เป็นที่นิยมทำขายกันในร้านอาหารจีนในไทย หรือว่ามันถูกแทนที่ไปด้วยกระเพาะปลา ?    เลยทำให้นึกถึงเมนูตีนเป็ดผัดกับหน่อไม้กระป๋อง ครับ  ;D   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 พ.ย. 20, 09:27
ตีนเป็ดผัดกับหน่อไม้กระป๋อง


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 พ.ย. 20, 09:32
ซุปเสฉวน


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 พ.ย. 20, 09:39
อาหารอร่อยแบบฝรั่งผสมจีนนั้นมีอยู่หลายเมนูดังที่ อ.เทาชมพู ว่าไว้     อื่นๆที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ไว้ได้ดีและปรากฎอยู่ในหลายภัตตาคารก็มี สลัดเนื้อสัน ซี่โครงหมูย่าง พอร์คช้อบที่ราดซอสใส่เมล็ดถั่วลันเตากระป๋อง เนื้อผัดน้ำมันหอย (ซึ่งอาจจะดัดแปลงมาจาก Beef Stroganoff)  ;D   
พอร์คช็อปภั่วลิสง
มีวิธีทำอยู่ที่นี่ค่ะ
https://www.maeban.co.th/menu_detail.php?bl=3452


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 พ.ย. 20, 09:42
สลัดเนื้อสัน 
เดี๋ยวนี้ก็หากินยากแล้วค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 พ.ย. 20, 10:40
เนื้อผัดน้ำมันหอย


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 พ.ย. 20, 18:31
เนื้อผัดน้ำมันหอยนั้นมีทำในอีกวิธีหนึ่ง คือ ผัดเนื้อกับเห็ดแชมปิญองและต้นหอมสด ซึ่งแต่ก่อนนั้นจะต้องใช้เห็ดกระป๋อง ในปัจจุบันนี้ เราสามารถเพาะเห็ดแชมปิญองได้  มีขายสดในฤดูของมันแม้กระทั่งในตลาดชุมชนนอกเขตเมืองและในราคาที่ไม่แพงอีกด้วย ขายกันเป็นกองๆหรือเป็นกิโลกรัม  ดอกเห็ดสดของเราจะมีขนาดใหญ่กว่าเห็ดกระป๋องค่อนข้างมาก คนไทยเรียกเห็ดแชมปิญองว่า เห็ดกระดุม  ตัวผมไม่มักกับเห็ดชนิดนี้ ชอบเห็ดหอมสดและเห็ดฟางดอกตูมๆมากกว่า ด้วยเห็นว่าเห็ดแชมปิญองมันไม่ค่อยจะเข้ากันได้ดีกับอาหารไทยต่างๆ     

เกิดสงสัยขึ้นมาว่า ในภาษาไทยเราออกเสียงเรียกชื่อและสะกดเขียนว่า แชมปิญอง   การออกเสียงที่แท้จริงคือ ช(ฌ)อมปิญอง ใช่หรือไม่ครับ  (จะเขียนว่า 'ใช่หรือเปล่า' ตามภาษาพูดก็ดูจะไม่อยู่ในสมัยนิยม ครับ  ;D) 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 พ.ย. 20, 20:31
ภัตตาคารที่ขายอาหารประเภททำแบบจีนผสมฝรั่ง หรือประเภทผสมผสานกับอาหารจีนแบบต่างๆ (กวางตุ้ง ไหหลำ เสฉวน ฮกเกี้ยน ...) หรือผสมผสานกับอาหารของชาติอื่นใดนั้น น่าจะมีอยู่ไม่กี่ร้านในกรุงเทพฯ  สำหรับใน ตจว.ก็ยังพอจะพบได้เหมือนกันในบางจังหวัด (ซึ่งส่วนมากมิได้เป็นในลักษณะของภัตตาคารหรู)   

อาหารที่ทำในลักษณะการผสมผสานนี้ก็คงไม่ผิดนักที่จะเรียกว่าเป็น fusion foods   ซึ่งเมนูอาหารของภัตตาคารในบ้านเราเกือบทั้งหมดจะอยู่ในรูปของการเอาอาหารของคนอื่นเขามาแปลงเป็นแบบไทย-จีน    ก็มีข้อน่าสังเกตอยู่ว่า สำหรับอาหารไทยที่มีความอร่อยขนาดติดอันดับโลกต่างๆที่เรียกกันว่า Street foods เหล่านั้น มันกลับทางกัน มันอยู่ในลักษณะที่เขา(คนอื่นๆ)เอากระบวนวิธีทำ รส และเครื่องปรุงเราไปปรับไปแปลงให้เป็นอาหารของเขา  ???


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 พ.ย. 20, 18:26
ไปพบแกงคั่วตะลิงปลิงแกงกับหมูสามชั้นในตลาดแถวบางใหญ่ นนทบุรี  ก็เลยต้องซื้อมาทานเพราะว่าตามปกติก็ไม่ค่อยจะมีคนแกงขายอยู่แล้วและก็ยังเป็นตะลิงปลิงนอกฤดูกาลอีกด้วย  ต้นตะลิงปลิงมีลักษณะต้นและใบที่ดูนุ่มนวล นำมาปลูกเป็นไม้ประดับบ้านหรือสวน(ที่มีเนื้อที่ค่อนข้างมาก)ให้ดูร่มรื่นและสวยงามได้ดี  ผลของมันเอามาใส่น้ำพริก ใส่ในแกง และทำแช่อิ่มได้ 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 พ.ย. 20, 18:39
เห็ดแชมปิญอง หรือ เห็ดกระดุม  หน้าตาเหมือนกระดุมจริงๆด้วย


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 พ.ย. 20, 18:45
เกิดสงสัยขึ้นมาว่า ในภาษาไทยเราออกเสียงเรียกชื่อและสะกดเขียนว่า แชมปิญอง   การออกเสียงที่แท้จริงคือ ช(ฌ)อมปิญอง ใช่หรือไม่ครับ  (จะเขียนว่า 'ใช่หรือเปล่า' ตามภาษาพูดก็ดูจะไม่อยู่ในสมัยนิยม ครับ  ;D)  
ถ้าออกเสียงแบบฝรั่งเศสจริงๆ จะออกว่า ฌองปินยง ค่ะ
เสียง ย ขึ้นจมูก


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 พ.ย. 20, 19:23
ในภาษาฝรั่งเศส Champignon แปลว่า เห็ด ถ้าจะระบุว่าเป็นเห็ดชนิดที่เราเรียกว่า เห็ดแชมปิญอง หรือ เห็ดกระดุม ต้องเรียกว่า Champignon  de Paris (Agaricus bisporus)


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 พ.ย. 20, 20:30
ไปเดินตลาดแล้วจดจ่ออยู่กับแต่เรื่องของๆคาวก็อาจจะเริ่มเป็นที่น่าเบื่อกันแล้ว  ลองแวบไปดูในเรื่องของหวานกันบ้าง  

ของหวานที่มีนำมาวางขายในตลาดนั้น เป็นตัวบ่งบอกถึงเทศกาล วันสำคัญทางศาสนา วัฒนธรรม และสังคมในแต่ละช่วงเวลาของปีได้เป็นอย่างดี  ไทยเรามีของกินประเภทของหวานที่มากมายและหลากหลายอย่างมากๆๆๆ ทั้งที่เป็นลักษณะแบบกลางๆทั่วไป แบบของแต่ละภาค ของชาวถิ่น และของชุมชน   นอกจากนั้นก็ยังมีของหวานประจำแต่ละฤดูกาล กระทั่งของหวานที่พึงทำกินตามสภาพของภูมิอากาศในช่วงเวลาต่างๆ    

ผมจะหายไปประมาณ 10 วัน ครับ  มีนัดกับหลานร่วมกันไปเปิดวันลงแขกเก็บเกี่ยวข้าวกัน ครับ  


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 19 ม.ค. 21, 18:42
พอดีมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาหารนิดหน่อยค่ะขอมาสอบถามในกระทู้นี้เลยนะคะจะได้ไม่ต้องตั้งกระทู้ใหม่

คืออยากทราบว่า อาหารประเภทห่อหมก เป็นอาหารประเภทเดียวกับ หมกกบ หมกปลา หมกหน่อไม้ไหมคะ

และทอดมันเป็นอาหารประเภทเดียวกับปลาเห็ดไหมคะ

คือดิฉันไปอ่านเจอตามเน็ตบางท่านก็ว่าชนิดเดียวกัน บางท่านก็ว่าคนละชนิดกันเพราะบางอย่างใส่กะทิไม่ใส่เครื่องแกง หรือบางอย่างใส่พริกแกงแต่ไม่ใส่กะทิด้วยเลยอยากถามท่านๆในห้องนี้ว่าคิดเช่นไรค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ม.ค. 21, 20:19
ประมวลจากที่ได้เห็นและเรียนรู้จากที่ต่างๆของผม พอจะสรุปได้ว่า ห่อหมก__  หมก__ และแอบ(แอ๊บ)__ นั้น มีเครื่องน้ำพริกพื้นฐานที่ใช้เหมือนๆกัน ใช้วิธีการห่อด้วยใบตองกล้วยเพื่อนำไปทำให้สุกเหมือนๆกัน และใช้วิธีการทำให้สุกแบบช้าๆโดยนัยของการอบให้ระอุ  แต่ความต่างกันที่กระบวนการทำให้อาหารนั้นสุก บ้างก็นิยมใช้วิธีการนึ่ง บ้างก็ใช้วิธีการปิ้งหรือย่าง บ้างก็นิยมใช้วิธีการหมกใต้ขี้เถ้าร้อนๆของเตาที่ใช้ไม้ฟืนหรือถ่าน     

เข้าใจเอาเองว่าเป็นวิธีทำอาหารแบบโบราณอย่างหนึ่งของผู้คนในภูมิภาคนี้ ของคนไทยเราดูจะมีความต่างออกไปตรงที่มีการใช้ส่วนผสมของเครื่องแกงพื้นฐานเหมือนๆกันทั้งในภาคเหนือ กลาง อีสาน และใต้   ซึ่งประกอบด้วยพริกแห้ง หอม กระเทียม ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ในปริมาณมากน้อยของส่วนผสมที่แตกต่างกันไป สุดแท้แต่ฝีมือของคนทำและความเหมาะสมกับชนิดของเนื้อสัตว์ที่เอามาทำ (บางอย่างก็ใช้ผิวมะกรูดด้วย บางอย่างก็ใส่ขมิ้นด้วย)   ทั้งนี้ ในแต่ละภาคก็มีความต่างออกไปอีกเล็กๆน้อยๆ

ในภาคเหนือดูจะนิยมเรียกว่า แอบ หรือ แอ๊บ  ในภาคอีสานดูจะนิยมเรียกว่า หมก   ทำคล้ายๆกันด้วยการคลุกเครื่องแกงที่ตำหยาบๆกับเนื้อสัตว์ อาจจะเพิ่มผักชีลาว ผักชีล้อม ใบมะกรูดซอยใส่คลุกเข้าไปด้วย จะใส่ไข่เมื่อทำกับเนื้อสัตว์ที่บดหรือสับ(ลาบ)บางชนิด  ในพื้นที่ชนบทจริงๆหรือในหมู่บ้านห่างไกลก็ยังใช้วิธีการหมกในขี้เถ้าร้อนๆอยู่ แต่ที่ทำขายกันในตลาดนั้นใช้วิธีการปิ้งเอาทั้งนั้น ซึ่งทั้งสองวิธีการจะให้ความหอมและความอร่อยที่ต่างกัน คล้ายกับการหมกหอมหมกกระเทียมใต้เตาก่อนเอามาตำน้ำพริกกับการใช้วิธีเสียบไม่ย่าง เราจะได้น้ำพริกที่หอมและอร่อยต่างกัน


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ม.ค. 21, 21:28

และทอดมันเป็นอาหารประเภทเดียวกับปลาเห็ดไหมคะ
ปลาเห็ดเป็นชื่อดั้งเดิมของทอดมันค่ะ  เรียกกันในต่างจังหวัด


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 ม.ค. 21, 08:53
ที่คล้ายกับห่อหมกคือ งบ ต่างกันตรงการทำให้สุก  ;D


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 ม.ค. 21, 09:49
คืออยากทราบว่า อาหารประเภทห่อหมก เป็นอาหารประเภทเดียวกับ หมกกบ หมกปลา หมกหน่อไม้ไหมคะ

คำว่า 'หมก' ใน ห่อหมกปลา กับ หมกปลา มีความหมายต่างกัน

ห่อหมกปลา คือ การเอาน้ำพริกแกงและเครื่องปรุงต่าง ๆ มาคลุกรวมกัน พอจัดกระทงเสร็จก็เอาใบยอหรือผักอื่นรองข้างล่างแล้วตามด้วยเนื้อปลาและเครื่องแกง ราดหน้าด้วยกะทิเพื่อปกปิดสิ่งที่อยู่ด้านในจึงเรียกว่า 'หมก' ทำให้สุกโดยการนึ่ง

หมกปลา คุณพวงร้อย (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=437.msg7369#msg7369) บรรยายว่าทางอีสาน คือ การเอาปลาสดสับใส่กับข่า ตะไคร้ หอม พริก เกลือ หรือปลาร้า  กลัดใบตองให้เรียบร้อย  แล้วทำให้สุกโดย 'การหมกไฟ' จะหอมกลิ่นใบตองไหม้  หอมเครื่องมีนำ้ชลุกชลิกนิดหน่อย ไม่มีไขมันจากกะทิอย่างห่อหมก (ปัจจุบันการทำให้สุกใช้วิธีนึ่งบ้างเหมือนกัน)


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ม.ค. 21, 18:55
ที่คล้ายกับห่อหมกคือ งบ ต่างกันตรงการทำให้สุก  ;D

ยังมีอีก 2 งบที่ไม่เกี่ยวกับการปิ้งย่างเลย

อย่างแรก คือ งบน้ำอ้อย  เมื่อเคี่ยวน้ำอ้อยจนเหนียวได้ที่แล้วก็จะหยอดลงในวงกลมที่ทำด้วยไม้ไผ่เหลาให้บางคล้ายตอก แล้วถูกจับม้วนให้เป็นวงกลมตามขนาดที่ต้องการ วางอยู่บนเสื่อที่ใช้ตอกไม้ไผ่ในการจักสาน   ในปัจจุบันนี้ มีการทำแบบง่ายๆด้วยการเทลงในแบบสี่เหลี่ยม แล้วตัดให้เป็นก้อนสี่เหลี่ยมเล็กน่ากิน  บางแห่งก็ใช้ถ้วยดินเผา บางแห่งก็เป็นถาดหลุมแบบขนมครกที่ใช้โลหะที่ทำขึ้นมา 

อย่างที่สอง มีรูปทรงเหมือนงบน้ำอ้อย มีคำนำหน้าว่า 'พระ'  เป็นพระเครื่องทรงกลมแบน เรียกกันว่า 'พระงบน้ำอ้อย'

ก็ยังมีของกินอีกอย่างหนึ่งที่ใช้ใบไม้ห่อแล้วปิ้ง แต่ไม่เรียกว่างบ ก็คือ ขนมจาก   ซึ่งยังพอหาซื้อกินได้อยู่สองสามเจ้าที่สมุทรสงคราม ที่บริเวณปากทางถนนจากบางตะบูนก่อนที่จะ U turn กลับเข้าถนนพระราม 2 เข้ากรุงเทพฯ  เป็นขนมที่อร่อยนะครับ แต่ก่อนโน้นมีขายกันมากมายตามริมถนนสายกรุงเทพฯ - ปากน้ำ (สมุทรปราการ) - บางปู 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ม.ค. 21, 19:25
งบน้ำอ้อย คงไม่ทำกันแล้วมั้งคะ    หารูปในกูเกิ้ลเจอแต่พระเครื่อง   
ตอนเล็กๆคำว่า "งบน้ำอ้อย" เป็นคำเปรียบถึงอะไรที่เล็กๆ เช่นพูดถึงเด็กน้อยว่า หน้าเท่างบน้ำอ้อย   
ส่วนขนมจากเป็นของดีของปากน้ำ   ถ้าจะไปเที่ยวบางแสนต้องผ่านปากน้ำ  ก็แวะซื้อขนมจากมาเป็นหอบๆ เอามาแจกคนทางบ้าน
รสชาติหวานมันน้อยๆ  มีกลิ่นปิ้งไฟหอมอยู่ในเนื้อด้วย
ปัจจุบันยังมีขายอยู่  แต่โอกาสจะกินหายากกว่าเมื่อก่อนมากค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 ม.ค. 21, 20:01
งบน้ำอ้อย คงไม่ทำกันแล้วมั้งคะ    หารูปในกูเกิ้ลเจอแต่พระเครื่อง

ต้องใช้คำค้นว่า 'น้ำอ้อยงบ'

ภาพน้ำอ้อยงบ จาก  บ้านบ่อโพง ตำบลถ้ำกระต่ายทอง อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร

https://www.gotoknow.org/posts/531403


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ม.ค. 21, 20:08
ก็เกิดความสงสัยขึ้นมาว่า คำว่า 'งบ' นั้น แต่เดิมอาจจะหมายถึงวิธีการเอาอาหารมาห่อ/มัดด้วยใบไม้ที่มีลักษณะใบยาว เช่นใบไผ่ ใบจาก ใบเตย ใบกะพ้อ .. แล้วเอาไปปิ้ง ย่าง ต้ม หรือรมควันให้สุกและให้มีกลิ่นหอมจากใบไม้นั้นๆ  งบนั้นดูจะเป็นการทำของกินชิ้นเล็กๆแต่พอคำสองคำ และก็อาจจะทำกับของกินที่สุกแล้วก็ได้ เช่น งบน้ำตาลอ้อย

ผมพอจะคุ้นเคยกับภาพของการทำอาหารในลักษณะที่กล่าวมาเมื่อครั้งยังเดินทำงานอยู่ในป่าลึก เป็นการทำกินเพื่อความอยู่รอดกับวัตถุดิบที่เก็บหามาได้เล็กๆน้อยๆในระหว่างการเดินสำรวจ ซึ่งจะต้องทำให้สุกก่อนกิน  


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ม.ค. 21, 20:59
ในประสบการณ์ของผมสองครั้ง ที่ อ.เกาะคา จ.ลำปาง และ อ.เชียงคำ จ.พะเยา (เชียงรายสมัยก่อนโน้น)

ชาวบ้านเขาจะออกไปตัดอ้อยและหีบอ้อยเพื่อทำน้ำตาลอ้อยกัน(ตั้งแต่กี่โมงก็ไม่รู้)  คิดว่าคงจะประมาณตี 3 ตี 4 กระมัง ผมได้ไปเห็นในช่วงเวลาประมาณตี 5 กว่าๆ ก็จะเห็นวัวเดินเป็นวงรอบเพื่อหมุนเครื่องหีบอ้อย คน 2-3 คนจะคอยดูแลเรื่องวัว อีกลุ่มหนึ่งจะดูและเรื่องการเคี่ยวน้ำอ้อยในกระทะใบบัวซึ่งมีอยู่ 2-3 ใบ  ใช้ใบพายใหญ่คนน้ำอ้อยในกระทะที่มีน้ำอ้อยเดือดรุมๆ  กระทะที่เคี่ยวได้น้ำอ้อยที่ข้นเหนียวจนเป็นน้ำตาลได้ที่แล้ว ก็จะมีคนช่วยกันตักมาหยอดใส่พิมพ์     

น้ำตาลอ้อยทำกันในฤดูหนาว ก็เลยมีการนั่งจับกลุ่มผิงไฟอยู่รอบๆกองไฟ  คุยกันสารพัดเรื่องแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่คุยแบบโล้งเล้งเสียงดังกัน ดูมีแต่ความสงบและความสุข   เมื่อถึงกระทะสุดท้าย ก่อนที่จะยุติการเคี่ยวน้ำอ้อย ก็จะมีการทำน้ำตาลอ้อยใส่มะพร้าว(ห้าวแบบยังไม่แก่จัดๆ)  เทน้ำมะพร้าวลงไปผสม ผ่ามะพร้าวแล้วเอาเนื้อออกมาหั่นเป็นชิ้นบางๆใสผสมลงไป เมื่อน้ำตาลใกล้จะได้ที่ก็ราไฟ หรือยกเอากระทะออกจากเตา ทิ้งใว้ให้เย็นพอกินได้แล้วก็ควักมาเป็นก้อนเล็กๆกินกัน อร่อยสุดๆจริงๆ  ในปัจจุบันนี้ก็ยังพอหาซื้อทานได้อยู่ แต่ไม่อร่อย หอม และมันเหมือนกับสมัยก่อน

ยังนึกถึงภาพใส่เสื้อหนาวนั่งล้อมวงรอบกองไฟ มีกลิ่นโชยทั้งจากควันไฟและบุหรี่  ดูวัวเดินหมุนไปรอบๆ มีเสียงอี๊ดอาดของเครื่องหีบอ้อย   หากเป็นในสมัยยนี้คงจะสุดยอดไปเลย นั่งคุยกัน จิบกาแฟกันไป อากาศเย็นๆ ใส่หมวกถัก ใส่เสื้อหนาว กินข้าวเหนียวคลุกงาขี้ม่อน กับน้ำตาลอ้อยใหม่ๆหรือกับน้ำตาลอ้อยมะพร้าว นั่งกันจนกระทั่งฟ้าเริ่มสาง แสงแดดเริ่มมี เริ่มส่องแสงกระทบไอน้ำในทุ่งอ้อย   ชิวิตแบบชิลๆ เรียบง่าย และสงบ 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ม.ค. 21, 11:15
บรรยายเห็นภาพเลยค่ะ   ชาวเรือนไทยหลายคนอ่านแล้วคงอยากไปนั่งร่วมวงด้วย  ช่วงสวยที่สุดน่าจะเป็นตอนฟ้าสางไปจนถึงรุ่งเช้า


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 22 ม.ค. 21, 12:38
ขอบพระคุณหลายท่านที่มาชี้แนะค่ะ พึ่งทราบว่ามีอาหารประเภทงบด้วย

ขอถามเพิ่มนะคะว่าอาหารประเภทยำ กับ ประเภทหมก เป็นอาหารพื้นถิ่นของภาคเหนือ ภาคอีสานแล้วค่อยเข้ามาสู่ภาคกลาง หรืออาหารประเภทยำ กับ ประเภทหมกก็เป็นอาหารพื้นถิ่นภาคกลางเหมือนกันค่ะ คือดิฉันเห็นภาคเหนือ อีสานทำกันเยอะมากเลยสงสัยว่าเป็นอาหารเฉพาะถิ่นทางนั้นก่อนแล้วค่อยเข้ามาสู่ภาคกลางหรือเปล่าน่ะค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ม.ค. 21, 14:23
ไม่ทราบประวัติว่าอาหารประเภทยำ เกิดในถิ่นเหนือหรืออีสาน หรือภาคกลาง  แต่บอกได้อยู่อย่างว่า ยำ เป็นอาหารที่มีมาในภาคกลางตั้งแต่สมัยอยุธยา    สืบเนื่องต่อมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นคือกว่า 200 ปีก่อน
เห็นได้จากกาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวาน  พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2

ยำใหญ่ใ่ส่สารพัด            วางจานจัดหลายเหลือตรา
รสดีด้วยน้ำปลา              ญี่ปุ่นล้ำย้ำยวนใจ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 ม.ค. 21, 14:38
;D

https://youtu.be/GC6lPJdrxN4


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 ม.ค. 21, 15:15
เรื่องของ 'หมก' คุณวิกกี้ (https://th.m.wikipedia.org/wiki/หมก) อธิบายว่า

หมก เป็นอาหารอีสานและอาหารลาวประเภทหนึ่ง เป็นการนำเนื้อสัตว์และผักมาเคล้ากับน้ำพริกแกง ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า ห่อด้วยใบตองทรงสูง นำไปนึ่งหรือย่างให้สุก ต้นหอมและใบแมงลักเป็นเครื่องปรุงสำคัญ บางถิ่นใส่ผักชีลาวด้วย ตัวอย่างอาหารประเภทหมก ได้แก่ หมกหน่อไม้ หมกไข่ปลา หมกหัวปลี หมกไข่มดแดง หมกปลา หมกเห็ด หมกฮวก เครื่องแกงส่วนใหญ่ประกอบด้วย พริกขี้หนูแห้ง หอมแดง ตะไคร้ซอย ใบมะกรูดบางถิ่นใส่กระชายหรือข่าด้วย
 
หมกในอาหารอีสานต่างจากหมกในอาหารลาว โดยในอาหารอีสาน อาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่นำไปเคล้ากับเครื่องแกง ปรุงรสและทำให้สุกไม่ว่าจะย่างหรือนึ่งจะเรียกว่า 'หมก' ทั้งสิ้น ส่วนในอาหารลาวหลวงพระบางนั้น ถ้าห่อใบตองทรงสูงนำไปย่างเรียก 'หมก' นำไปนึ่งเรียก 'มอก' หรือ 'เมาะ' ถ้าห่อใบตองทรงแบนนำไปย่างเรียก 'ขนาบ'


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ม.ค. 21, 19:36
ผมมีความเห็นว่า อาหารที่มีคำว่าหมกอยู่ในชื่อเรียกนั้น แต่ดั้งเดิมคงมิได้หมายถึงว่าจะต้องมีลักษณะใดหรือรูปแบบเช่นใดเป็นการจำเพาะ เพียงแต่เพื่อบ่งบอกถึงวิธีการทำให้อาหารจานนั้นๆสุกจนกินได้   

ในวิถีชีวิตของผู้คนชาวบ้านป่าซึ่งน่าจะยังสื่อได้ถึงภูมิปัญญาที่ส่งต่อถ่ายทอดกันมานั้น มีอาหารหลายอย่างที่เรียกว่าหมกโดยใช้วิธีการหมกให้สุกในเศษถ่านผสมขี้เถ้ากองไฟร้อนๆของเตาสามขา(ทำด้วยหิน)ที่ใช้ไม้ฟืน   ประเภทที่ไม่ต้องห่อก็เช่น หมกยอดหวาย หมกปลา(ที่มีเกล็ดใหญ่) หมกต้นบุก หมกพืชหัวต่างๆ  ประเภทที่ต้องห่อนั้นจะใช้กับพวกปลาเล็กปลาน้อย ซึ่งก็จะทำแบบไม่มีเครื่องแกง มีแต่เพียงเกลือหรือใส่พริกเข้าไปด้วย หรือใส่พืชที่ให้กลิ่นหอมหรือลดกลิ่นคาวรวมเข้าไป    แบบที่เป็นน้ำพริกกินกับผักก็เคยเห็นและเคยได้ลองกินอยู่เหมือนกัน    เมื่ออยู่ในพื้นที่ๆการคมนาคมพอจะเข้าถึงได้ ของกินที่เรียกว่าหมกก็มีการใส่เครื่องมากขึ้น มีการใส่เครื่องที่หั่นหยาบๆ_พริก ตะไคร้ หอม_ ไม่มีข่า ไม่มีมะกรูดและอื่นใด

เรื่องของการหมกนี้ ในอีกลักษณะหนึ่งก็เป็นวิธีการเก็บรักษาถนอมอาหาร   เนื้อสัตว์ใหญ่ที่ชาวบ้านป่าหามาได้ จะเอามาวางบนตะแกรงที่สานด้วยไม้ไผ่ ที่แขวนห้อยอยู่กับสามขาที่คร่อมอยู่เหนือกองฟืนกรุ่นๆ เมื่อผิวของเนื่อสัตว์แห้งพอสมควรแล้ว ก็จะเขี่ยเนื้อสัตว์ให้ตกลงไปหมกอยู่ในกองขี้เถ้าร้อนๆ เนื้อจะค่อยๆสุกไปทั้งก้อน ผิวนอกจะถูกเคลือบด้วยขี้เถ้าเพื่อกันแมลงและดูดซับความชื้น เป็นลักษณะของ slow cooking ที่จะทำให้เนื้อไม่เหนียวแต่ chewy       


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ม.ค. 21, 19:54
ผมมีความเห็นว่า อาหารที่มีคำว่าหมกอยู่ในชื่อเรียกนั้น แต่ดั้งเดิมคงมิได้หมายถึงว่าจะต้องมีลักษณะใดหรือรูปแบบเช่นใดเป็นการจำเพาะ เพียงแต่เพื่อบ่งบอกถึงวิธีการทำให้อาหารจานนั้นๆสุกจนกินได้  

คำอธิบายของคุณตั้งทำให้ดิฉันนึกถึง "ข้าวหมกไก่" ค่ะ  อาหารจานนี้เป็นคนละเรื่องกับหมกอีสานและลาว

ไปค้นดูว่าข้าวหมกไก่ดั้งเดิมจากอินเดีย เขาทำกันอย่างไร  ก็ได้คำตอบมาตามนี้ค่ะ
วิธีการทำ
ขั้นตอนที่ 1
หั่นไก่เป็นชิ้นเล็กและหมักด้วยเครื่องปรุงด้านบน 1 ชั่วโมง

ขั้นตอนที่ 2 การหุงข้าว
ล้างและปล่อยให้เปียกไว้ก่อนหุงข้าว 30 นาที
เติมเนยอินเดียลงในกระทะ จากนั้นเติมกระวาน, ใบเบย์, อบเชย, กานกลู และกระวานเขียว
เติมข้าวที่เปียกและผัดจนข้าวมีการแตกตัว
ไม่ต้องเติมน้ำเพิ่ม
ขั้นตอนที่ 3 - การทำไก่
เติมเนยลงในกระทะจากนั้นใส่เครื่องเทศ กระวาน, อบเชยและใบเบย์ ผัดเล็กน้อยแล้วเติมหอมใหญ่ ผัดจนกระทั่งหอมใหญ่เป็นสีน้ำตาล จากนั้นเติมมะเขือเทศสับและผัดจนกว่าจะจะเข้ากันดี
เติมเครื่องปรุงทั้งหมด ผงพริก กาแรม มาซาลา, ผงผักชี, เบอร์ยานิ มาซาลา ผัดประมาณ 1 นาทีจากนั้นเติมไก่ที่หมักไว้และผัดต่อจนไก่สุกและนำเอาจากเตา
ขั้นตอนที่ 4 – การจัดเรียงไก่และข้าว
เตรียมหม้อขนาดใหญ่และทาเนยอินเดียบนข้าวที่ผัดแล้ว และวางทับด้วยไก่ที่สุกแล้ว
ชั้นที่ 2 เติมข้าวและไก่จากนั้นต่อด้วยข้าวที่ผสมหญ้าฝรั่น (เติมนมกับหญ้าฝรั่งใส่ข้าวและคนให้เข้ากัน)
เติมหอมใหญ่ผัด, ผักชีสับและใบสะระแหน่
ปิดหม้อด้วยผ้าและเปิดไฟอ่อน 10 นาที
เมื่อร้อนและให้เสิร์ฟคู่กับไรต้า

ไรต้า – คือน้ำจิ้มโยเกิร์ตที่ทำมาจากแตงกวาและหอมใหญ่ โรยด้วยใบผักชี
https://www.siammakro.co.th/horeca_food_detail/276/%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%AA%E0%B9%84%E0%B8%95%E0%B8%A5%E0%B9%8C%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%A2


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ม.ค. 21, 20:43
ข้าวหมกไก่ เป็นของโปรดของผมเลยครับ ผมชอบไก่ส่วนที่เป็นตะโพกซึ่งจะมีเนื้อนุ่มนวลมากกว่าส่วนน่องและอก  ที่ทำขายกันส่วนมากจะเลือกใช้น่องและอกไก่ ซึ่งดูจะให้เนื้อที่ค่อนข้างหยาบและแห้ง 

อ่านจากที่อาจารย์ได้บรรยายมาแล้วดูคล้ายๆว่าจะทำได้ไม่ยาก แต่เมื่อลงมือทำจริงๆแล้วไม่ได้ง่ายดังที่ดังที่คิด  ด้วยความที่เป็นอาหารโปรดอย่างหนึ่ง ได้เคยลองทำดู เลยได้รู้ว่ามันเป็นอาหารประเภทที่ต้องมีศิลปะและฝีมือในการทำค่อนข้างสูง ตั้งแต่การเลือกใช้องค์ประกอบของเครื่องเทศในเชิงของชนิด ปริมาณ และสัดส่วน ไปจนถึงเรื่องของข้าวสารที่ใช้ ภาชนะที่ใช้หุงข้าวหมก และความแรงของไฟที่ใช้ในการหุง     


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 23 ม.ค. 21, 16:16
ขอบพระคุณสำหรับความรู้ค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ม.ค. 21, 18:47
เท่าที่เคยกินข้าวหมกมา พบว่า ส่วนมากจะอร่อยแม้ว่าจะใช้ส่วนผสมและสัดส่วนของเครื่องเทศไม่เหมือนกัน กระทั่งวิธีการทำ     

เมื่อประมวลจากที่ได้เห็นการทำ ได้ฟังจากพ่อครัวเมื่อครั้งยังเด็กและเมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้ว รวมทั้งที่เคยได้เห็นจากสารคดีเกี่ยวกับวิถีชีวิตและสังคมของกลุ่มคนและชาติพันธุ์ต่างๆที่นับถือศาสนาอิสลาม  ก็พอจะสรุปง่ายๆในเบื้องแรกได้ว่า ข้าวหมกนั้นเป็นอาหารที่ใช้เลี้ยงดูผู้คนที่มาชุมนุมเนื่องในการเฉลิมฉลองวันสำคัญต่างๆ เช่น วันสำคัญทางศาสนา วันแต่งงาน วันชุมนุมญาติ ฯลฯ เป็นอาหารของเป็นลักษณะของอาหารหลักจานเดียว เป็นอาหารแบบที่ช่วยกันทำคนละไม้คนละมือ ทำแต่ละครั้งในปริมาณมากจึงใช้หม้อใบใหญ่ หรือทำแบบอาหารที่เรียกว่า Paella โดยใช้กระทะใบบัว     ด้วยลักษณะดังกล่าวนี้ ข้าวหมกไก่จึงค่อนข้างจะมีความหลากหลาย สุดแท้แต่จะได้รับการถ่ายทอดสูตรและวิธีการทำมาเช่นใด  ยิ่งเมื่อนำมาทำขายก็ยิ่งมีการแปลงไปให้เหมาะสมกับสภาพทางสังคมและเศรษฐกิจของพื้นที่นั้นๆ  เราก็เลยได้เห็นข้าวหมกไก่รูปแบบต่างๆ มีทั้งแบบหมกจริง หมกปลอม ใช้น้ำจิ้มไก่ย่างก็ยังมี ฯลฯ   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 ม.ค. 21, 19:57
สำหรับตัวอย่างของความต่างของส่วนผสมต่างๆนั้น เพื่อให้เห็นถึงความต่างก็ต้องขอใช้ส่วนผสมที่ อ.เทาชมพู ได้นำเสนอเป็นพื้นฐาน  ก็จะมีอาทิ การเพิ่มขิงป่น ดีปลี และยี่หร่า  การใช้ใบเทพทาโรแทนใบเบย์(ใบกระวาน) การใช้น้ำมันพืชแทนน้ำมันเนย (Ghee) 

ความต่างอีกอย่างหนึ่งก็คือการเลือกใช้ข้าว  โดยพื้นฐานแล้ว ข้าวหมกจะใช้ข้าวที่มียางน้อย โดยนัยก็คือใช้ข้าวเก่าหรือข้าวเก่าค้างปี  ข้าวหมกจึงค่อนข้างจะร่วน คนไทยเราดูจะไม่ค่อยชอบข้าวที่ไม่มียาง แต่ก็กินได้หากข้าวนั้นได้หุงจนขึ้นหม้อ ก็ให้บังเอิญว่าข้าวหมกก็จะไม่หุงจนข้าวขึ้นหม้อ  แต่ในปัจจุบันนี้มีหลายเจ้าที่ใช้ข้าวหอมมะลิ ก็เลยทำให้ข้าวนิ่มน่ากินมากขึ้น   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ม.ค. 21, 20:27
ชอบข้าวหมกไก่แบบไทยๆค่ะ  คงเป็นเพราะเคยชิน   ชอบกลิ่นขมิ้น และรสชาติของหอมเจียวค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ม.ค. 21, 19:09
ข้าวหมกไก่เป็นชื่อของอาหารจานหนึ่ง  แต่คำนี้ ก็ใช้เป็น collective noun (สมุหนาม ?) ที่สื่อถึงร้านที่ขายอาหารอิสลาม     หลายร้านที่ขายข้าวหมกไก่ มักจะมีเมนูซุปหางวัวทำขายอยู่ด้วย  บางร้านก็มีทั้งข้าวหมกไก่และข้าวหมกเนื้อ ซุปก็มีทั้งซุปหางวัวและซุปเนื้อ  บางร้าน(จำนวนน้อยมาก)ก็มีข้าวหมกแพะด้วย    แต่สิ่งที่เป็นตัวชูรสของอาหารจานเหล่านี้ก็คือการโรยด้วยหอมเจียว ดังที่ อ.เทาชมพูได้ว่าไว้   ซึ่งก็ออกดูจะแปลกๆที่มันทำให้เกิดความรู้สึกที่เรียกว่า umami แทนที่จะเกิดจากการรับรสสัมผัสที่ลิ้นเป็นหลัก  สำหรับผมนั้นมีความเห็นว่า หอมเจียวที่ใช้หอมแดงของไทยที่เรียกกันว่าหอมเชียงใหม่นั้น ให้ความรู้สึกสัมผัส umami มากกว่าหอมแขกมากๆ

ดูจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากสำหรับการทำขาย หากจะต้องทำแยกแต่ละหม้อสำหรับหมกไก่ หมกเนื้อ หมกแพะ   ก็ดูจะมีวิธีการที่แยบยลอยู่เหมือนกัน  ช้าวหมกเนื้อและข้าวหมกแพะนั้น ด้วยที่เป็นเนื้อที่มีราคาค่อนข้างสูงมาก ประกอบกับคนทั่วไปไม่ค่อยจะนิยมกินมากนัก ก็จึงไม่ต้องทำให้เป็นไปตามวิธีการหมกที่พึงทำ  เพียงทำข้าวหมกไก่เป็นหลัก แต่ใช้ข้าวในปริมาณมาก  สำหรับเนื้อวัวและแพะก็แยกปรุงออกไป เมื่อต้องการข้าวหมกเนื้อหรือข้าวหมกแพะก็เอามาจัดใส่รวมในจานเดียวกัน  หรือแยกทำเนื้อวัวและเนื้อแพะในรูปของแกง  ตักมาเป็นถ้วยกินกับข้าวของหม้อข้าวหมกไก่


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ม.ค. 21, 20:47
อยากรู้ว่าข้าวหมกแพะ รสชาติเป็นอย่างไรคะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ม.ค. 21, 20:55
ช่วงเวลานี้มีดอกสะเดาออกมาขายในตลาดค่อนข้างมาก เข้าตลาดซื้อมาสักกำหนึ่ง ปลาดุกย่างตัวหนึ่ง และน้ำปลาหวาน 1 ชุด  หากไปได้สะเดาที่รู้สึกขมเกินกว่าจะรับได้ ก็เอาหอมแดงซอย พริกขี้หนูสวนซอย บีบมะนาว ใส่น้ำปลาดี   แล้วค่อยๆแกะปลาดุกย่าง เอามาจิ้มน้ำปลาหรือตักน้ำปลาที่ติดหอมซอยและพริกขี้หนูมาใส่ปลากินกับข้าวก็อร่อยแล้ว   ปลาดุกที่จะซื้อก็เพียงเลือกจากแผงของแม่ค้าที่ขายปลาดุกย่างที่เนื้อออกสีเหลืองๆหน่อยก็แล้วกัน

สำหรับผลไม้ในช่วงฤดูนี้ นอกจากส้มแล้วก็มีสตรอเบอรี่     สำหรับผมจะเลือกสตรอเบอรี่สีแดงจัดในกองที่วางขายกลุ่มลูกเล็กซึ่งแม่ค้ามักจะแถมพริกกับเกลือให้ด้วย เอามาทำแบบฝรั่งเขา  คือเอามาแช่น้ำล้างให้สะอาด  เอา liqueur ผลไม้ส้มเหยาะลงไปบนจานคล้ายจะทอดไข่ในกระทะก้นแบนแบบใช้น้ำมันน้อยๆ เอาสตรอเบอรีผ่าครึ่งคว่ำด้านที่ผ่าลงพื้นจานนั้น แล้วเอาเข้าตู้เย็น เมื่อเอาออกมากินเราก็จะได้สตรอเบอรีที่มีความหอมชวนกินและหวานมากขึ้น ทำให้รู้สึกสดชื่นกระชุ่มกระชวยมากขั้นจริงๆ  ใช้เป็น refreshment ยามบ่ายสำหรับผู้สูงวัย        


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ม.ค. 21, 18:47
อยากรู้ว่าข้าวหมกแพะ รสชาติเป็นอย่างไรคะ

ที่ผมเคยกินมามีอยู่ 3 รูปแบบ แบบหนึ่งเป็นการทำแบบหมกไปพร้อมกับการหุงข้าว แบบที่สองเป็นการเอาเนื้อแพะที่ทำแยกไว้ จัดวางมาบนข้าวหมก(ไก่)  และแบบที่สามเป็นลักษณะการทำแกงแพะ ตักมาเป็นถ้วยแยกจากข้าวหมก(ไก่)   ด้วยที่แพะมีขนาดตัวเล็ก มีมันน้อยและมีเนื้อไม่มากนัก จึงใช้วิธีสับเป็นชิ้นๆทั้งกระดูก โชคดีก็ได้ส่วนที่เป็นเนื้อมากหย่อย ส่วนมากจะได้ชิ้นเนื้อติดกระดูก และซี่โครง   คนทำต้องมีฝีมือค่อนข้างมาก สามารถจะทำให้เนื้อแพะเปื่อยยุ่ยได้อย่างพอเหมาะพอดี ไม่มีกลิ่นสาบเนื้อ และไม่มีกลิ่นเครื่องเทศที่รุนแรง

ผมมีความเห็นว่า ข้าวหมกมีความน่าชวนกินสืบเนื่องมาจากกลิ่นและรสของของส่วนที่เป็นข้าว สำหรับส่วนที่เป็นเนื้อนั้น หากเป็นการทำแบบหมกไปพร้อมกับการหุงข้าว เนื้อจะค่อนข้างแห้งและไม่ออกรสเด่นในทางใด ซึ่งไม่ต่างไปจากที่ทำแบบแยกและนำมาจัดวางบนจานข้าว ทั้งสองรูปแบบนี้กินกับน้ำจิ้มเดียวกันกับหมกไก่    ตัวผมเองชอบแบบที่ทำในรูปแกงขลุกขลิก กินกับน้ำจิ้มหมกไก่และอาจาด

ข้าวหมกแพะนั้นหากินได้ยาก ด้วยที่เนื้อแพะหาได้ยากและมีราคาสูง ก็จึงไม่มีการทำขายทุกวัน   ใน กทม.เท่าที่รู้ ก็แถวถนนพระอาทิตย์ บางลำภู   ตัวผมเองมีเจ้าประจำอยู่ในตัวเมืองเชียงราย แต่ก่อนนั้นก็มีขายเป็นบางวัน ปัจจุบันนี้มีขายทุกวัน เป็นฝีมือของแม่ครัวเชื้อสายปากีสถาน   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ม.ค. 21, 19:37
กล่าวถึงน้ำจิ้มที่เรียกว่า อาจาด  ก็เป็นของชอบของผมอีกเช่นกัน กินเป็นเครื่องเคียงแก้เลี่ยนได้กับอาหารหลายอย่าง เช่น หมูสะเต๊ะ แกงกะหรี่ ขนมเบื้องไทย ขนมเบื้องญวน..  เมื่อไปซื้ออาหารเหล่านี้เรามักจะได้อาจาดมาในปริมาณน้อย บางเจ้าก็ยังทำดูใม่น่ากินอีกด้วย   ลองทำกินเองแบบถูกใจเรา ถูกรสลิ้นเราก็น่าจะเป็นการดี 

ผู้สูงวัยทั้งหลายมักจะมีปัญหาต้องควบคุมความหวาน (ปริมาณการบริโภคน้ำตาล)  ผมเองก็เช่นกัน  ก็ไปพบว่าในบ้านเรามีการผลิตน้ำเชื่อมจากหญ้าหวานวางจำหน่ายอยู่ตามร้านที่จำหน่ายสินค้าเพื่อสุขภาพต่างๆ   ไปตลาด เลือกซื้อแตงกวา เลือกลูกที่ไม่นิ่ม เลือกลูกที่ไม่อ้วนกลม ซื้อพริกชี้ฟ้า เอามาล้าง เอามาซอยหนาบางตามชอบ   ในอีกถ้วยหนึ่ง ใส่น้ำเชื่อมจากหญ้าหวาน ใส่น้ำส้มสายชู ใส่เกลือป่นลงไปเล็กน้อย ปรุงรสให้ออกเปรี้ยวหวานตามชอบ  แล้วใส่ลงไปในถ้วยที่ใส่แตงกวา หอมแดง และพริกซอยในปริมาณประมาณหนึ่งในสี่ของของที่ซอย เราก็จะได้ของกินสุขภาพฝีมือเราทำเอง


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ม.ค. 21, 19:41
เนื้อแพะ รสชาติคล้ายเนื้อแกะไหมคะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ม.ค. 21, 21:23
เนื้อแพะ รสชาติคล้ายเนื้อแกะไหมคะ

สำหรับผม เนื้อแพะเท่าที่เคยกินมาส่วนมากจะเป็นชิ้นเล็กขนาดประมาณกลักไม้ขีดไฟและหนาประมาณครึ่งนิ้ว ดูจะเป็นเนื้อประเภทที่มีพังผืดมาก ค่อนข้างจะเปื่อย ไม่รู้สึก chewy มากนัก และเกือบจะไม่มีกลิ่นสาบ แม้จะทำเป็นแบบหันก็ตาม (แบบนี้ก็อร่อยครับ แต่ต้องทำเอง)

สำหรับเนื้อแกะนั้น คงจะต้องแยกออกเป็น 2 ชนิด คือเนื้อแกะที่เรียกว่า lamb ซึ่งมาจากแกะวัยรุ่น (อายุ 3-6 เดือน ?) และที่เรียกว่า mutton (แกะอายุมากๆ ?)

lamb นั้นจะมีกลิ่นสาบที่น้อยหรือเกือบจะไม่มีเลย(แม้กระทั่งในส่วนที่เป็นมัน) เนื้อไม่เหนียว อร่อยมาก มีราคาค่อนข้างจะสูง  ในร้านอาหารหรูหราหน่อยจะมีเมนูเช่น   Rack of lamb และ Lamb cutlet  หากเป็นร้านอาหารภัตตาคาปกติก็มักจะมีเมนูเช่น Poached lamb และ Irish Lamb stew  ซึ่งร้านทั้งหลายเหล่านั้นจะเลือกใช้เนื้อแกะที่เรียกว่า lamb แต่ต่างก็มีศิลปะที่จะเลือกใช้แบบมีกลิ่นนิดๆหรือไม่มีเลยสำหรับอาหารจานต่างๆ   

mutton นั้นจะมีกลิ่นสาบที่ค่อนข้างแรง มีเนื้อเหนียว ซึ่งหากเราพอจะมีความคุ้นเคยกับกลิ่นเนื้อของ lamb ที่มีอายุเข้าสู่วัยฉกรรจ์แล้ว   เนื้อ mutton จากแกะที่เริ่มเข้าสู่วัยแก่ก็เป็นอะไรที่กินกับไวน์แดงฝาดๆแบบ full body ได้สะใจดี    mutton ใช้ในการทำแกงที่ใส่เครื่องเทศจัดๆเช่นในอาหารอินเดียบางอย่าง  ในออสเตรเลียใช้ทำเป็น breakfast steak กินกับไข่ดาว ขนมปัง เป็นอาหารมื้อเช้าของกลุ่มคนที่ต้องทำงานหนักเช่นพวกชาวปศุสัตว์และพวกชาวเหมืองแร่   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ม.ค. 21, 08:11
ไปค้นหาเมนูแพะ  พบว่าอาหารจีนที่ใช้เนื้อแพะก็มีเหมือนกันค่ะ 
ในรูปนี้คือแพะตุ๋นน้ำแดง  หน้าตาน่ากินทีเดียว


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ม.ค. 21, 08:15
แพะตุ๋นยาจีน ใส่เครื่องยาจีน 10 กว่าอย่าง เช่น โป๊ยกัก กุ๊ยพั๊ว, ข่าแก่ ฯลฯ เป็นเจ้าเก่าของเยาวราช  ขอไม่บอกชื่อร้าน เดี๋ยวจะกลายเป็นโฆษณาให้
แต่ถ้าท่านใดสนใจ ใช้รูปค้นหาดูในกูเกิ้ลคงจะเจอได้ไม่ยากค่ะ   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ม.ค. 21, 18:15
ซี่โครงแพะย่าง


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 28 ม.ค. 21, 18:50
เห็นคุณ naitang พูดถึงสตรอเบอรี่แล้วทำให้นึกถึงสมัยก่อนที่คนรู้จักเขาอยู่เชียงใหม่เลยจะซื้อมาฝากอยู่บ่อยๆ  ส่วนเนื้อแพะทั้งแกะส่วนตัวไม่เคยกินเลยไม่รู้ว่าจะคล้ายเนื้อไก่ เนื้อหมูไหม 555

แล้วเรื่องอาหารประเภทหมกถ้าดิฉันจะขอติต่างว่าแบบหนึ่งรับมาจากอีสาน แบบหนึ่งรับมาจากทางแขกคงไม่ผิดอะไรใช่ไหมคะ

และถ้าไม่ว่าอะไรดิฉันขอถามถึงอาหารอีกประเภทนะคะคือประเภทตำ คือดิฉันเห็นภาคเหนือ อีสาน เขานิยมนำอาหารที่มีรสเปรี้ยว รสหวาน (ส่วนใหญ่จะเปรี้ยว) มาตำให้เข้าด้วยกันในครก ดิฉันเลยทราบว่าภาคกลางมีเมนูตำโดยนำอาหารมาตำให้เข้าด้วยกันในครกนอกจากตำน้ำพริก ตำส้มตำไหมคะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ม.ค. 21, 19:09
แพะตุ๋นแบบจีนมีทำกันขายกันตามร้านอาหาร/ภัตตาคารจีนเก่าๆอยู่หลายร้าน แถวอนุสาวรีย์ชัยฯก็มีอยู่ร้านหนึ่ง     ที่ยังไม่เคยได้กินเลยก็ผัดเนื้อแพะ ซึ่งที่จริงแล้วก็ไม่เคยเห็นอยู่ในเมนูของร้านใดๆเช่นกัน    

เลยนึกไปถึงเนื้อแกะที่ทำแบบเดียวกับไก่ผัดเม็ดมะม่วงหิมพานต์ อร่อยนะครับ และก็อร่อยมากเสียด้วย ไม่ต้องใช้เครื่องเทศใดๆเลย เพียงแต่ลดรสหวานลง เสียแต่ว่าจะต้องทำกินเอง  หากคิดจะลองทำก็คงจะต้องคิดถึงเมนูอื่นๆที่ใช้เนื้อแกะด้วย เพราะเป็นของนำเข้าที่ขายเป็นแพ็คละประมาณ 1 กก.และมีราคาสูง   สำหรับเมนูแถมอื่นที่คิดว่าน่าจะชอบกันก็คือ เอาไปย่างหรือจี่ในกระทะเหล็กร้อนๆ  ก็หั่นเป็นชิ้นหนาประมาณ 2 ซม.โรยด้วยลูกจันท์ป่นและเกลือ   หรือจะทำแบบคลุกกับใบ Rosemary สดหรือแห้ง   หรือจะทำแบบโรยเกลือ ทาด้วย mustard แล้วโรย parsley แห้ง หรือโรยด้วย fennel seed (เทียนข้าวเปลือก ลักษณะคล้ายยี่หร่า_cumin แต่สีอ่อนกว่า)   ต่างก็จะหอมน่ากิน ไม่มีกลิ่นสาบใดๆ  

อีก 2 เมนูทำเองที่น่าจะกินแล้วพอใจ แต่อาจะแฝงไปด้วยความกล้าๆกลัวๆในการทำและในการกิน ก็คือ Irish lamb stew และ Poached lamb  ของทำกินเองที่ง่าย มีสูตรการทำเยอะมาก ซึ่งค้นหาอ่านได้ตามเว็บไซด์อาหารทั่วๆไป      


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ม.ค. 21, 19:22
Irish lamb stew และ Poached lamb 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 ม.ค. 21, 21:19
.....แล้วเรื่องอาหารประเภทหมกถ้าดิฉันจะขอติต่างว่าแบบหนึ่งรับมาจากอีสาน แบบหนึ่งรับมาจากทางแขกคงไม่ผิดอะไรใช่ไหมคะ...

ที่เห็นว่า อาหารประเภทหมกแบบหนึ่งรับมาจากแขกนั้น คงจะมิใช่    ในความเห็นของผมแบบเข้าใจเอาเองนั้น คำว่า "หมก" ที่ใช้ในเรื่องของอาหาร หมายถึงวิธีการทำอาหารในลักษณะที่เอาของที่ยังดิบไปทำให้สุกด้วยการนำเอาไปซุกในจุดที่มีมวลความร้อนสูงอยู่รอบๆตัว     ซึ่งด้วยอุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการทำอาหารต่างกัน  การทำอาหารแบบฝรั่งซึ่งแต่ดั้งเดิมใช้เตาผิงในบ้านเป็นเตาที่ใช้ทำอาหารด้วย ก็จะใช้คำว่า "อบ"  อาหารประเภทที่ใช้วิธีการอบของฝรั่งจึงมีอยู่หลากหลายมากมาย      สำหรับของบ้านเรา ในภาษาเหนือจะนิยมใช้คำว่า "แอบ" (แอบซุกเอาไว้) ซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะว่าอยู่ในพื้นที่ๆมีอากาศเย็น ผู้คนนิยมใช้ไม้ฟืนที่เป็นกิ่งไม้ใหญ่หน่อยติดไฟแล้วดับยาก ก็เพื่อประโยชน์ในการนั่งผิงไฟแก้หนาวพร้อมไปด้วย  แอบ จึงดูจะออกไปในทางทำให้สุกแบบค่อยเป็นค่อยไป     ในภาษาอีสานจะนิยมใช้คำว่า "หมก" ก็อาจจะเป็นเพราะผู้คนชอบวิถีชีวิตที่ฉับไว การทำอาหารเมนูต่างๆจะใช้เวลาน้อย เอาแต่พอสุก พอคลุกเคล้าเข้ากันได้ก็พอจะกินได้แล้ว  "หมก" จึงดูจะออกไปในทางทำให้สุกแบบค่อนข้างเร็ว     สำหรับอาหารแบบหมกของภาคกลาง(ซึ่งดูจะมีแต่เพียงห่อหมก)นั้น ผมเข้าใจเอาเองว่า น่าจะเอามาจากวิธีการทำอาหารแบบจีน ซึ่งใช้วิธีการทำอาหารคาวให้สุกด้วยการนึ่ง(อบด้วยไอน้ำร้อนๆ) นำมาประยุกต์ใช้กับการทำห่อหมกแบบที่เราเคยชิน   ทั้งนี้ แม้ว่าวิธีการนึ่งจะมีใช้ในการหุงหาอาหารของเผ่าไทยมาแต่เก่าก่อน แต่ก็ดูจะจำกัดอยู่แต่ในเรื่องของการหุงข้าวเหนียวและการทำของกินเล่น/ของหวาน

ความเห็นของผมเหล่านี้ เป็นความเห็นที่มิได้มีการสืบค้นใดๆทั้งสิ้น เป็นเพียงการพิเคราะห์ตามประสบการณ์ที่ตัวผมเองได้สัมผัสและคิดว่าเข้าใจ        


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 ม.ค. 21, 21:46
แล้วเรื่องอาหารประเภทหมกถ้าดิฉันจะขอติต่างว่าแบบหนึ่งรับมาจากอีสาน แบบหนึ่งรับมาจากทางแขกคงไม่ผิดอะไรใช่ไหมคะ

แบบที่รับมาจากแขก คุณดาวคงหมายถึง 'ข้าวหมก' หรืออีกชื่อหนึ่ง 'ข้าวบุหรี่'


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ม.ค. 21, 19:00
....และถ้าไม่ว่าอะไรดิฉันขอถามถึงอาหารอีกประเภทนะคะคือประเภทตำ คือดิฉันเห็นภาคเหนือ อีสาน เขานิยมนำอาหารที่มีรสเปรี้ยว รสหวาน (ส่วนใหญ่จะเปรี้ยว) มาตำให้เข้าด้วยกันในครก ดิฉันเลยทราบว่าภาคกลางมีเมนูตำโดยนำอาหารมาตำให้เข้าด้วยกันในครกนอกจากตำน้ำพริก ตำส้มตำไหมคะ

อาหารประเภทตำโดยพื้นๆแล้วจะเป็นอาหารของผู้คนในภาคเหนือและอีสาน มีอยู่มากมายหลากหลายเมนู  เกือบทั้งหมดจะเป็นในรูปของน้ำพริก และก็มีทั้งแบบที่ใช้กินกับผักแนมหรือใช้ข้าวเหนียวจิ้มกินเปล่าๆ  อาหารเหล่านี้จะมีคำนำหน้าว่า "ตำ..." เช่น ตำส้มโอ ตำพริกหนุ่ม ตำน้ำปู ตำน้ำผัก ตำมะเขือ ตำขนุน ตำมะยม ตำมะขาม ตำมะกอก ปลาร้า ตำแตง(แตงร้าน) ตำถั่ว(ฝักยาว ถั่วแปบ ...) ตำหน่อ(ไม้) ตำมะละกอ(บะหุ่ง, มะก๊วยเตส) ตำเห็ด(เห็ดไข่, เห็ดหล่ม...) ตำขนุน(บักมี่, บะหนุน) ตำแซบ ตำนัว ตำมะคอแลน(หมากแงว).... ฯลฯ   ตำเหล่านี้ บางอย่างก็เป็นของกินเล่น เช่น ตำส้มโอ ตำมะยม ตำมะคอแลน ตำมะขาม  บางอย่างก็เป็นของที่กินเล่นก็ได้หรือจะกินเป็นกับข้าวก็ได้ ขึ้นอยู่กับการปรุงรส ที่จริงแล้วก็ยังมีประเภทตำที่ใส่แมลงลงไปด้วย เช่น แมงมัน แมงนูน แมงชี้เบ้า แมงดา แมงกระชอน จิ้งกุ่ง(จิ้งโกร่ง) ...ฯลฯ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ม.ค. 21, 21:14
อาหารประเภทตำของภาคเหนือและอีสานนั้น ครกที่ชาวบ้านใช้กันแต่ก่อนโน้นจะเป็นครกที่ทำด้วยไม้จริง(ประดู่ ชิงชัน มะค่า...) ไม้ไผ่(ไผ่หก) และที่ทำด้วยดินเผา  การใช้ทำอาหารจึงอยู่ในเกณฑ์ที่ตำให้พอแหลกแบบหยาบๆมากกว่าการตำให้ละเอียด  โดยนัยก็จะเป็นลักษณะของการย้ำให้พอแหลกเพื่อคั้นรสชาติของแต่ละเครื่องปรุงให้ออกมาแล้วคลุกเคล้าให้เข้ากัน  ซึ่งก็จะเป็นลักษณะเดียวกันกับการเอาเครื่องปรุงต่างๆมาบีบขยำด้วยมือในขณะที่ทำการคลุกเคล้าให้เข้ากันให้เป็นอาหารที่คนในภาคกลางเราเรียกว่า "ยำ" ซึ่งจะมีรสและความอร่อยมากกว่าการทำที่ใช้เพียงแต่การคลุกให้เข้ากัน    ในภาษาพื้นบ้านของภาคเหนือและอีสานไม่มีคำว่ายำ ลักษณะของวิธีการยำของคนในภาคกลางนั้น ภาษาเหนือใช้คำว่า "สุน" หรือ "สูน"  ในภาษาอีสานดูจะใช้คำว่า "ซาว"

การใช้ครกของคนภาคกลางมักจะเน้นไปในเรื่องของการตำทุกอย่างให้อยู่ในเกณฑ์ละเอียดดังเช่นการตำน้ำพริกแกงทั้งหลาย  เมนูอาหารที่ตักออกจากครกแล้วจัดลงจานวางในสำรับอาหารได้เลยนั้นดูจะมีน้อยมาก ที่พอจะนึกออกในทันทีก็จะมีพวกเนื้อทุบ และพวกเครื่องปรุงบางอย่าง เช่น กุ้งแห้งป่น พริกป่น ถั่วลิสงป่น   

การใช้ครกของคนในภาคกลางจะอยู่ในรูปของการใช้เพื่อเครียมเครื่องปรุงเสียส่วนมาก นอกจากเพื่อตำน้ำพริกแล้วก็จะใช้ในเรื่องของของหวาน เช่น ในการทำหน้าปลาแห้งสำหรับข้าวเหนียวมูนและแตงโม ในการทำถั่วเขียวกวนสำหรับของหวานหลายชนิด การทำข้าวตอก การทำข้าวตู การทำงาขี้ม่อนสำหรับคลุกข้าวเหนียว...ฯลฯ     ในกรณีของการทำของคาวก็เช่น ในการใช้ตำเนื้อปลาเพื่อทำทอดมัน  การใช้ตำรากผักชี กระเทียม และพริกไทยเพื่อใช้ทำอาหารประเภททอดกระเทียมพริกไทย (หมู กุ้ง มันกุ้ง ปลา)... ฯลฯ       


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 ม.ค. 21, 19:34
ตลาดในช่วงเวลานี้เริ่มมีผลไม้หลายอย่างออกมาวางขาย ผลไม่หลักก็ยังคงเป็นส้ม อื่นๆก็มีประปรายเป็นบางว้น เช่น มะม่วงอกร่อง ละมุด ชมพู่ มะปราง และมะยงชิด   เห็นแล้วพาลให้นึกถึงเมนูของหวานประเภทลอยแก้วของไทยเราซึ่งใช้ผลไม้สด แตกต่างไปจากแบบของที่อื่นๆที่ใช้ผลไม้แห้งหรือที่เชื่อมแล้ว

"ผลไม้ลอยแก้ว" เหมาะที่จะทำกินในหน้าร้อน เพราะจะช่วยทำให้รู้สึกสดชื่นและกระปรี้กระเปร่า  น่าจะเป็นอีกเมนูหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของอาหารไทยประเภทของหวาน หรือของกินเล่นยามบ่าย  ของที่ทำกันแบบดั้งเดินนั้นมีความละเอียดและพิถีพิถันมากกว่าที่ทำกันในปัจจุบันมากๆ ในปัจจุบันนั้นเป็นเสมือนการทำแบบลวกๆ คือเพียงเอาน้ำตาลทรายขาวมาละลายในน้ำร้อนให้เป็นน้ำหวาน หรือใกล้จุดที่จะเป็นน้ำเขื่อม  เมื่อจะกินก็จะแล้วน้ำแข็งใส่ลงไปเพื่อช่วยให้เย็นและช่วยลดความหวานลง ซึ่งบ้างก็ใช้น้ำแข็งป่น บ้างก็ใช้น้ำแข็งหลอดก้อนใหญ่   เกือบจะไม่เห็นมีการใช้วิธีการแช่ให้เย็นในตู้เย็น หรือใช้น้ำแข็งหลอดชนิดก้อนเล็ก(ซึ่งจะทำให้ดูน่ากินมากกว่าเยอะ)

ผมไม่เคยทำผลไม้ลอยแก้ว เคยแต่กินและคุยถามไถ่กับแม่ครัวรุ่นเก่าถึงกระบวนการทำ จึงรู้ว่าใช่้น้ำตาลกรวดในการทำน้ำหวาน ซึ่งจะทำให้ได้รสที่นุ่มละมุนไม่หวานแหลมฉูดฉาดเช่นน้ำตาลทราย แล้วลอยด้วยดอกไม้หอมเพื่อทำให้น้ำหวานนั้นมีกลิ่นหอมชวนทานมากยิ่งขึ้น    พอจะจำได้ลางๆว่าผลไม้ลอยแก้วแต่ก่อนโน้น แม่ค้าจะตักออกมาจากหม้อดินเผา  ซึ่งของเหลวที่ใส่ไว้ในภาชนะดินเผานั้นจะมีความเย็นกว่าของเหลวที่วางอยู่นอกหม้อ   


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 30 ม.ค. 21, 20:19
ขอบคุณสำหรับความรู้เรื่องอาหารจากทุกท่านค่ะ สรุปว่าทางภาคกลางก็ไม่มีเมนูตำพวกผัก ผลไม้เหมือนทางเหนือ อีสานใช่ไหมคะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 10 ก.พ. 21, 21:07
ขอเรียนถามถึงอาหารที่มาจากการถอมอาหารให้เก็บไว้กินได้นานๆ (มากกว่าสองวันหรืออาทิตย์หนึ่ง) ของคนภาคกลางทั้งอาหารคาว อาหารหวานหน่อยค่ะว่าคนภาคกลางมีอาหารที่มาจากการถอมอาหารประเภทนี้อยู่เยอะไหมคะเมื่อเทียบกับภาคเหนือ อีสาน ใต้ คือเวลาดูเมนูอาหารของทางภาคกลางทั้งอาหารคาว อาหารหวาน จะรู้สึกว่าหลายอย่างเหมาะกับการกินในวันที่ทำเสร็จเลยหรือเก็บไว้กินได้แค่วัน สองวัน หรือตรงนี้สมัยก่อนก็เก็บได้มากกว่าสองวันแต่สมัยนี้อาการร้อนขึ้นเลยเก็บได้น้อยลงคะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.พ. 21, 10:41
ช่วงตรุษจีน ไม่แน่ใจว่าคุณตั้งจะมีกิจธุระ จนไม่ได้เข้ามาอ่านหรือไม่  จึงขอตอบแทนนิดหน่อยพอไม่ให้กระทู้ตกลงไปมาก

คนไทยภาคกลางมีวิธีถนอมอาหารไว้กินมากมาย  ไม่ว่าจะเป็นการทำกะปิ น้ำปลา  ปลาร้า ปลาเจ่า ไตปลา
 ผักดอง   รวมทั้งอาหารตากแห้งทั้งหลายเช่นปลาแห้ง เนื้อเค็ม  ค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 11 ก.พ. 21, 17:42
ขอบคุณสำหรับคำตอบค่ะคุณเทาชมพู ส่วนใหญ่จะเป็นส่วนประกอบหนึ่งในการประกอบเมนูอาหารมากกว่าจะเป็นอาหารชนิดหนึ่งเลยซินะคะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.พ. 21, 18:10
มีน้ำพริกหลายชนิดที่เก็บไว้ได้นานค่ะ 
ส่วนของหวาน  พวกแช่อิ่ม ก็เก็บไว้ได้นานเช่นกันค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 14 ก.พ. 21, 15:43
ขอบสำหรับข้อมูลเพิ่มเติมค่ะดิฉันอ่านชื่ออาหารแล้วรู้สึกว่าน่าจะเป็นอาหารที่หลายภาคก็ทำกัน ขอรบกวนถามคุณเทาชมพูเพิ่มหน่อยค่ะว่ามีชื่ออาหารที่เกิดจากถนอมอาหารแบบเป็นเอกลักษณ์ โดดเด่นของคนภาคกลางบ้างไหมคะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.พ. 21, 17:11
ขอบสำหรับข้อมูลเพิ่มเติมค่ะดิฉันอ่านชื่ออาหารแล้วรู้สึกว่าน่าจะเป็นอาหารที่หลายภาคก็ทำกัน ขอรบกวนถามคุณเทาชมพูเพิ่มหน่อยค่ะว่ามีชื่ออาหารที่เกิดจากถนอมอาหารแบบเป็นเอกลักษณ์ โดดเด่นของคนภาคกลางบ้างไหมคะ

ไม่ค่อยเข้าใจคำถามค่ะ   เดาว่า
1  เอาของสด (ไม่ว่าเนื้อหรือผัก) มาใช้กรรมวิธีถนอมให้กินได้หลายๆวัน
2  ของกินชนิดนี้กลายเป็นอาหารในชื่อใหม่   
    เพราะฉะนั้นถ้าจะตอบว่า ผัก(ชื่ออะไรก็ได้) ดอง  ก็ไม่เข้าข่าย เพราะภาคไหนๆก็ดองผักได้ทั้งนั้น
3  มีเด่นอยู่ในภาคกลาง ภาคอื่นไม่มี
จะตอบว่าปลาร้า   อีสานก็มีเหมือนกัน    จะตอบว่า "แสร้งว่า" ซึ่งหมายถึงไตปลาทูหมักเกลือ บางตำราใช้กุ้ง ปรุงรสด้วยผักสวนครัวอย่าง ตะไคร้ ขิง หอมแดง ใบมะกรูด สะระแหน่  ก็ไม่รู้ว่าตรงกับคำถามของคุณหรือเปล่านะคะ

ใครนึกออก กรุณาตอบแทนดิฉันด้วยนะคะ 


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 17 ก.พ. 21, 19:24
ขอบคุณค่ะคุณเทาชมพู ดิฉันขออนุญาตยกตัวอย่างอาหารเหนือที่มาจากการถนอมอาหารที่ค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์ในแง่ชื่ออาหาร วิธีการทำของทางนั้นค่ะ

จิ้นเน่า หรือเนื้อเน่า​ ทำจากเนื้อวัว​โดยการนำเนื้อที่สดมาย่างไฟ​อ่อน​ ๆ​ เอาแค่ผิวเนื้อมันแห้งเกียม​ กึ่งสุก​ กึ่งดิบ​ ย่างเสร็จก็​มาคลุกเคล้ากับเกลือ​ และเครื่องสมุนไพร​ ได้เเก่​ ​ข่า​ ตะไคร้​ ใบมะกรูด​ กระเทียม​ โขลก​ คลุกเคล้าให้เข้ากัน​​จากนั้นก็นำมาตากแดดอีกประมาณ​ 30​ นาที​ เพื่อให้กลิ่นของวัตถุดิบออกมาเข้ากันกับเนื้อ​ วิธีการเหล่านี้ต้องพิถีพิถันเป็นอย่างมากทำให้สะอาดที่สุด​ไม่ให้มีสิ่งเจือปนอยู่ภายในเนื้อ​และล้างวัตถุดิบทุกอย่างให้สะอาดก่อนหมัก​ เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนต่อไปจะได้ไม่มีเชื้อโรค​ การหมักขั้นตอนที่​ 2​ เป็นขั้นตอนสุดท้าย​ ​เตรียมกระสอบ​ 1​ ใบ​ ถุงพลาสติก​ 3-4  ใบ​ นำเนื้อที่หมักเสร็จใส่ถุงพลาสติกปิดปากให้มิดชิด​และห่อให้หนาที่สุดโดยการใช้ถุงพลาสติกห่อ​ 3-4​ ชั้น​เพื่อป้องกันไม้ให้พวกแมลงที่เป็นตัวนำเชื้อเข้ามาตอมได้​ เมื่อห่อถุงเสร็จก็เอามาใส่กระสอบอีกชั้นหนึ่ง​  จากนั้นมัดปากกระสอบให้แน่นด้วยเชือกเส้นใหญ่​ แล้วเอาขึ้นไปแขวนไว้บนต้นไม้ให้สูงที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงพวกแมลงต่าง​ ๆ​ เข้าถึงน้อยที่สุด​ การแขวนจะใช้เวลาประมาณ​ 7​ วัน​ จะเป็นช่วงเวลาของเนื้อเน่าที่พอดี​ ในขณะแขวนไว้นั้นห้ามเปิดดูโดยเด็ดขาด​ เพราะจะทำให้อากาศเข้าทำให้การเน่าของเนื้อไม่เป็นไปตามสูตร ... จากเว็บ https://food.trueid.net/detail/zgxmYq5KbwZO

ที่ดิฉันถามไว้ว่ามีชื่ออาหารที่เกิดจากถนอมอาหารแบบเป็นเอกลักษณ์ โดดเด่นของคนภาคกลางบ้างไหมคะ ก็ประมาณนี้ค่ะ ที่จริงจะของสด ไม่สดได้หมดค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.พ. 21, 10:23
ภาคกลาง มีปลาเจ่า อย่างหนึ่งละค่ะ

https://www.youtube.com/watch?v=yCQoJrKIFRM


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.พ. 21, 10:24
อ่านรายละเอียดได้ที่นี่ค่ะ 

https://pantip.com/topic/31412756


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.พ. 21, 10:27
ปลาส้ม
https://www.youtube.com/watch?v=l4FnOOuGUqQ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.พ. 21, 10:31
ไตปลา
https://www.youtube.com/watch?v=3MrAJFSNRCs


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: ดาวกระจ่าง ที่ 19 ก.พ. 21, 16:22
ขอบพระคุณสำหรับความรู้ค่ะ


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.พ. 21, 19:17
หายไปหลบนอนสัมผัสกับความหนาวเย็นอยู่ในพื้นที่ไกลปืนเที่ยงตั้งแต่ต้นเดือน เพิ่งกลับมาถึงบ้านที่กรุงเทพฯเมื่อเย็นวานนี้เองครับ   

ในพื้นที่บริเวณที่ไปอยู่นั้น สัญลักษณ์ความแรงของสัญญาณโทรศัพท์บนมือถือมีให้เห็นเพียงเป็นจุดและยังไม่เสถึยรอีกด้วย จึงให้ความรู้สึกในลักษณะที่เป็นการถอยตัวออกห่างไปจากการใช้ชีวิตตามวิถีของคนที่อยู่ในเมืองหลวง ถอยกลับไปอยู่ในลักษณะของการใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายกับสรรพสิ่งที่เป็นของพื้นๆตามวิถีพื้นบ้านของผู้คนต่างๆ  ก็เป็นการ retreat ในรูปแบบของผมที่แตกต่างไปจากรูปแบบต่างๆที่นิยมกระทำกัน

ได้เปิดอ่านเรือนไทย ก็พบว่าในกระทู้นี้คุณดาวกระจ่างได้ยกประเด็นเรื่องการถนอมอาหารของผู้คนในภาคต่างๆของไทยเรา ซึ่ง อ.เทาชมพู ได้มีความเห็นให้ไว้บ้างแล้ว ก็เลยจะขอขยายความเพิ่มเติมบนพื้นฐานของประสบการณ์ที่สั่งสมมา


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.พ. 21, 19:26
ต้อนรับกลับเรือนไทยค่ะ
ขอเชิญคุณตั้ง ตั้งกระทู้ใหม่ดีไหมคะ กระทู้นี้ยาวมากแล้ว


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.พ. 21, 20:43
คงจะต้องเริ่มขยายความด้วยการจำแนกวิธีการถนอมอาหารที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน  ซึ่งสำหรับตัวผมมีความเห็นว่า อาจจะจัดเป็นกลุ่มได้บนพื้นฐานการใช้เกลือ การใช้แสงแดด การใช้ความร้อนของฟืนไฟ และการใช้ความหวาน      สำหรับผู้อื่นก็อาจจะนิยมการจำแนกที่ต่างกันออกไป อาทิ บนพื้นฐานของรส เช่น ดอง แช่อิ่ม    บนพื้นฐานของกระบวนการทำ เช่น ดอง หมัก     บนพื้นฐานของการแปรสภาพ(ผลิตผล) เช่น ตากแห้ง แดดเดียว คั่ว      


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ก.พ. 21, 20:54
ต้อนรับกลับเรือนไทยค่ะ
ขอเชิญคุณตั้ง ตั้งกระทู้ใหม่ดีไหมคะ กระทู้นี้ยาวมากแล้ว

ได้ครับ  คงจะเป็นกระทู้สั้นๆ "ว่าด้วยเรื่องของการถนอมอาหารแบบพื้นบ้านของคนไทย"    จะพอไหวใหมครับ ?


กระทู้: ไปตลาด
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.พ. 21, 21:44
ดีค่ะ