เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์โลก => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.พ. 06, 13:57



กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.พ. 06, 13:57

กระทู้นี้สืบเนื่องมาจากกระทู้
 http://www.vcharkarn.com/include/vcafe/showkratoo.php?Cid=20&Pid=45163&PHPSESSID=81fe7e060a06c3bb713bfba474ce244a
**************************************
ตามที่เล่าตอนจบไว้ในกระทู้ก่อน ว่า
เมื่อพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 เสด็จสู่สวรรคาลัยไปแล้วในปีค.ศ. 1685  
พระอนุชาองค์เดียว เจ้าชายเจมส์ ดยุคแห่งยอร์คก็ขึ้นครองราชบัลลังก์ต่อ
ด้วยความเห็นชอบของรัฐสภาและประชาชน

ทั้งนี้เพราะพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 ทรงแผ้วถางทางเดินไว้ให้มั่นคงดี
คือไม่ทรงรับโอรสนอกกฎหมายคนใดของพระองค์ขึ้นเป็นเจ้าฟ้า
อันจะทำให้มีสิทธิ์ในการสืบราชสมบัติต่อจากพระองค์
ทำให้เส้นทางของเจ้าชายเจมส์(น่าจะ)ราบรื่นไร้ขวากหนาม

แต่ก็น่าจะเป็นกรรมของราชวงศ์สจ๊วต  เพราะพระเจ้าเจมส์พระราชาองค์ใหม่นี้ก็ออกจะมีคุณสมบัติ
และพระนิสัยบางอย่างที่ไม่ค่อยจะนำคุณประโยชน์มาสู่ตัวเอง   อยู่ไม่มากก็น้อย
คล้ายๆพระบิดา คือพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ซึ่งถูกประหารด้วยฝีมือครอมเวลล์
ทำให้ประสบชะตากรรมที่คล้ายกันแม้ว่าไม่เลวร้ายเท่า


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.พ. 06, 14:00

เชิญมาดูกันดีกว่านะคะ   ว่าพระประวัติของดาราเอกของเราในกระทู้นี้ คือพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ทรงมีความเป็นมายังไง

พระเจ้าเจมส์ทรงเติบโตขึ้นในช่วงเจ้านายต้องพลัดถิ่นจากบ้านเมือง   พี่ชายน้องชายไปกันคนละทาง

เจ้าชายหนุ่มน้อยแห่งอังกฤษตกยาก  ต้องเข้ารับราชการเป็นนายทหารเรือในราชนาวีฝรั่งเศส ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14
หรือสุริยราชันย์ผู้มีอำนาจเป็นที่เลื่องลือ
พระองค์เป็นทหารเรือธรรมดาๆ ไม่มีอภิสิทธิ์ใดๆ      นับว่าโชคดีที่มีงานทำเลี้ยงชีพไปได้ไม่ลำบาก
เมื่อพระเชษฐาได้บัลลังก์อังกฤษคืนมาอย่างสง่าผ่าเผยแล้ว    เจ้าชายก็อำลาชีวิตนายทหารเรือธรรมดาๆ  ก้าวกระโดดขึ้นเป็นแม่ทัพเรือของราชนาวีอังกฤษอย่างเต็มภาคภูมิ


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.พ. 06, 14:07
 ดวงของพระเจ้าเจมส์ตอนขึ้นครองราชย์ ถ้ามีโหรไทยอยู่ในราชสำนักก็คงจะทูลว่าทรง "บุญมีแต่กรรมบัง"
กรรมเรื่องแรกคือพายุการเมืองที่ตั้งเค้าอึมครึมอยู่ตั้งแต่ปลายรัชกาลก่อน   จากปรปักษ์ตัวสำคัญ  ดยุคแห่งมอนมัธ  หลานชายของพระองค์นั่นเอง

มอนมัธเป็นที่นิยมของประชาชนในความหนุ่มแน่นสง่างามและปรีชาสามารถ  
นอกจากนี้ยังนับถือคริสตศาสนานิกายโปรแตสแตนท์แบบเดียวกับชาวอังกฤษส่วนใหญ่
มากกว่าพระเจ้าเจมส์ที่แก่เฒ่า พระชนม์ปาเข้าไป  51 นับถือคาทอลิคอย่างเคร่งครัด และไม่ค่อยจะได้ใกล้ชิดกับราษฎรมาแต่รัชสมัยพระเชษฐาแล้ว

เขาถือว่าตัวเองคือผู้สืบราชบัลลังก์อังกฤษ   เพราะเชื่อว่าพระบิดาได้ทรงเสกสมรสอย่างลับๆ
กับลูซี วอลเตอร์มารดาของเขาตั้งแต่สมัยพระองค์ระเหเร่ร่อนพลัดถิ่นอยู่ในยุโรป
แต่ไม่ทรงเปิดเผยความลับนี้ต่อสาธารณชน  เพราะจะทำให้การอภิเษกสมรสกับพระนางแคทเธอรีนเป็นโมฆะไป

อย่างไรก็ตามทั้งรัฐสภาและพระเจ้าเจมส์ก็ปฏิเสธข้อนี้   พระเจ้าเจมส์จึงได้ครองราชย์
ในปีเดียวกันนั้นเอง  ห่างมาไม่กี่เดือนมอนมัธก็ประกาศตัวเองเป็นราชันย์แห่งอังกฤษ ยกทัพเข้าชิงราชบัลลังก์จากพระเจ้าเจมส์  


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 22 ก.พ. 06, 03:59
 เรื่องตามคำขอ แต่มาอย่างเงียบๆ เกือบตกสำรวจเลย

มาลงชื่อนั่งฟังเป็นคนแรกครับ อิอิอิ


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 22 ก.พ. 06, 06:23
 แวบเข้ามาลงชื่อกับพี่ปากกาด้วยคนนะครับ
ขอบพระคุณ อ.เทาฯ มากครับ สำหรับกระทู้นี้


ปล. ใครเข้ามาแล้วมีกาแฟเย็นแจกนะครับ อิอิ


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.พ. 06, 10:22

มอนมัธมีกองทหารของเขาและรวบรวมชาวบ้านที่เห็นด้วยได้อีกจำนวนหนึ่ง ปะทะกับทัพหลวงที่เซดจ์มัวร์  
แม้ว่ามอนมัธเป็นนายทหารผ่านการรบมาก่อน แต่กำลังพลน้อยกว่า ประกอบกับทหารหลวงใช้อาวุธหนักเช่นปืนใหญ่ยิงเข้าไป  กองกำลังของมอนมัธก็แตกพ่าย

ส่วนชาวบ้านอื่นๆที่มอนมัธหวังว่าจะเข้าข้างเขา ก็พากันอยู่เฉย   เพราะไม่มีใครอยากเห็นสงครามกลางเมืองที่ชาวอังกฤษต้องฆ่าฟันกันเองนองเลือดลุกลามกันไปใหญ่โต
มอนมัธเป็นฝ่ายพ่ายแพ้    หนีไปแต่ถูกจับตัวกลับมาได้ และถูกขึ้นศาลพิจารณาโทษขั้นประหารชีวิตด้วยข้อหาทรยศต่อประเทศและกบฏต่อราชบัลลังก์


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.พ. 06, 10:24
 มอนมัธยื่นฎีกาขออภัยโทษ  แต่ไม่เป็นผล     เขาถูกประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะที่ หอคอยแห่งลอนดอน(Tower of London)  
เพชฌฆาตต้องใช้ขวานฟันถึง 8 ครั้งกว่าหัวของมอนมัธจะหลุดจากบ่า

ตุลาการที่พระเจ้าเจมส์เลือกมาตัดสินคดีกบฏ ชื่อจอร์ช เจฟฟรีย์  เขาตัดสินคดีกบฏครั้งนี้อย่างเหี้ยมโหดเป็นประวัติการณ์ของยุค    
นอกจากมอนมัธแล้ว มีผู้ถูกตัดสินประหารถึง 320 คน  บางคนถูกประหารอย่างทารุณคือใช้ม้าลากไปตามถนน เอาขึ้นแขวนคอ แล้วเอาลงมาผ่าอกสับแขนขาเป็นชิ้นๆ
มี 800 คนถูกเนรเทศออกจากประเทศไปทำงานเป็นทาสใน West Indies
เท่ากับว่าเพียงไม่กี่เดือน   พระเจ้าเจมส์ก็นั่งบนบัลลังก์อาบเลือดชุ่มโชก


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.พ. 06, 10:28

มีเกร็ดเล็กๆ 2 เรื่อง เรื่องแรกเล่าแล้วไม่รู้ว่าสมาชิกเรือนไทยจะรู้สึกตลกหรือว่าสยอง

เรื่องมีอยู่ว่าเป็นธรรมเนียมของอังกฤษที่จะต้องวาดภาพเหมือน( portrait) ของบุคคลสำคัญ ระดับเจ้านายและขุนนางเอาไว้ประดับคฤหาสน์ เพื่อเป็นหลักฐานให้ลูกหลานรู้กันต่อๆไป
เป็นของจำเป็นขาดเสียมิได้   ในยุคที่ยังไม่มีกล้องถ่ายรูป

หลังจากมอนมัธถูกประหารไปแล้ว   ลูกเมียและผู้ที่เกี่ยวข้องก็นึกกันขึ้นมาได้ว่า มอนมัธยังไม่เคยมีภาพพอทเทรตของตัวเองสักภาพเดียว    
ทำไงดีล่ะ    
ในที่สุดก็ต้องไปขุดเอาศพของเขาขึ้นมาพร้อมกับหัว(ที่ขาดจากตัวไปแล้ว
ด้วยคมขวาน)แล้วจ้างช่างตัดเสื้อมาเย็บคอติดกับร่างกายซะใหม่
จับศพแต่งตัวโอ่อ่า นั่งบนเก้าอี้ โพสท่า  แล้วให้ศิลปินวาด ตบแต่งภาพวาดให้ออกมาหล่อเหลาคมคายมีชีวิตชีวา ดูเหมือนเขายังมีชีวิตอยู่

ใครจะว่ายังไงดิฉันไม่รู้  แต่ดิฉันว่าช่างตัดเสื้อและนายศิลปินคนนั้นนอกเหนือจากเห็นแก่ค่าจ้างแพงลิบลิ่วแล้ว  
ต้องเป็นคนประสาทแข็งยากจะหาใครเทียบอีกด้วย


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.พ. 06, 10:29
 เกร็ดที่สองคือ มีเรื่องเล่าลือกันว่าอันที่จริงมอนมัธไม่ได้ตายจริงหรอก    พระเจ้าเจมส์พระทัยไม่แข็งพอจะสั่งประหารหลานชาย
ก็เลยสร้างฉากให้เขาถูกประหารในหอคอยแห่งลอนดอน  ซึ่งเป็นที่มิดชิดไม่มีราษฎรเข้าไปเห็น
แล้วประหารหลอกๆ กัน    

ตัวจริงของมอนมัธถูกส่งไปขังคุกที่ฝรั่งเศสของพระเจ้าหลุยส์ พันธมิตรที่ดีของพระเจ้าเจมส์  
จับสวมหน้ากากเหล็กเอาไว้ไม่ให้ความลับแตก  อยู่ดีกินดีในคุกจนถึงแก่กรรมไปเอง
ตามก๊อสสิปนี้   ดยุคแห่งมอนมัธก็คือ Man in the Iron Mask ตัวจริง


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.พ. 06, 08:00
 กบฏมอนมัธคงจะทำให้พระเจ้าเจมส์ทรงหวั่นไหวอยู่ไม่มากก็น้อย  แม้ว่ากองทัพหลวงบดขยี้ศัตรูได้ง่ายดายก็ตาม
พระองค์จึงมีนโยบายปรับปรุงกองทัพด้วยการเลื่อนตำแหน่งนายทหารฝ่ายคาทอลิคให้มาคุมกำลังกันมากขึ้น  พวกนี้ทรงไว้ใจได้ว่าจงรักภักดี
นอกจากนี้ยังเป็นการคานอำนาจทางฝ่ายโปรแตสแตนท์ได้อีกด้วย
ไม่งั้นก็คงต้องทรงหวาดหวั่นเรื่อยไป ไม่รู้ว่าพวกโปรฯ จะหันกลับมาต่อต้านพระองค์เมื่อใด

เหตุผลที่ทรงประกาศเป็นทางการ ก็คือทรงแบ่งความสำคัญให้คาทอลิคและโปรแตสแตนท์เท่าๆกัน   ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง
รัฐสภาก็เริ่มไม่เป็นสุขละซีคะ   เพราะอำนาจทางคาทอลิคมากขึ้นเท่าไร อำนาจของโปรแตสแตนท์ก็ถูกบั่นทอนลงเท่านั้น
ในที่สุดก็นำมาสู่การขัดแย้งประท้วงกันรุนแรงกับพระเจ้าเจมส์
พระเจ้าเจมส์ก็ทรงทำอย่างที่พระบิดาและพระเชษฐาทำมาก่อน คือยุบสภามันเสียรู้แล้วรู้รอด


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.พ. 06, 08:10
 พระเจ้าเจมส์อาจจะทรงลืม หรือไม่ก็ดูไม่ออกว่าพระองค์ยังขาดคุณสมบัติสำคัญของพระเชษฐาอีกมาก
นั่นคือความเฉียบแหลมในการปกครองอาณาจักร  รู้ว่าตอนไหนควรยืดหยุ่น ตอนไหนควรเด็ดขาด
 
นอกจากนี้   ด้านคุณสมบัติส่วนพระองค์  พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 ก็เป็นผู้ที่มีเสน่ห์ เป็นกันเอง  เข้ากับคนง่าย   ไม่ถือพระองค์ เรียกว่าทรง"รู้เขารู้เรา" สามารถชนะใจราษฎรได้เสมอมา
ดังนั้นต่อให้รัฐสภามีมือเก่งๆแค่ไหน  แต่ถ้าพระราชามีราษฎรหนุนหลังอยู่  อำนาจของพระองค์ในการจัดการกับรัฐสภาก็ทำได้แบบไม่ยากเย็น

พระเจ้าเจมส์ไม่เป็นที่นิยมของราษฎรเท่าใดนัก เพราะอยู่คนละนิกายกันอย่างหนึ่งละ  
นอกจากนี้พระองค์ยังมีพระอุปนิสัยดื้อรั้นหัวชนฝาคล้ายๆพระบิดา(คือพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1) หากเชื่ออะไรก็ตั้งหน้าตั้งตาจะทำตามนั้น
เช่นทรงสนับสนุนคาทอลิคด้วยความเชื่อมั่นจากศรัทธาของพระองค์  
ทรงไม่เห็นเป็นความผิดที่ตรงไหนที่จะมีขุนนางที่มีศรัทธาคล้ายคลึงกันเป็นมือเป็นแขนล้อมรอบราชบัลลังก์

จะว่าไป มันก็ไม่ผิดหรอกไม่ว่าเรื่องจริยธรรมหรือกฎหมาย   เพียงแต่มันไปขัดต่อความรู้สึกของราษฎรส่วนใหญ่เท่านั้นเอง  
เมื่อราษฎรไม่เข้าข้าง พวกเขาก็ไม่ทำอะไรมาก เพียงแต่เย็นชาเฉยเมย ไม่ให้การสนับสนุนเมื่อถึงคราวคับขัน

พระเจ้าเจมส์เอาชนะเสียงในรัฐสภาไม่ได้  ก็ทรงตัดปัญหาด้วยการยุบสภา  ให้มันรู้แล้วรู้รอด
แทนที่จะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเงียบหงอยหมดฤทธิ์ไปอย่างที่ทรงคิดว่าน่าจะเป็น  มันก็เหมือนไปนั่งทับลูกระเบิดเอาไว้
รอเวลาระเบิดตูมขึ้นใน 3 ปีต่อมา

ก่อนจะมาถึงปลายรัชสมัยก็ต้องขอย้อนไปปูพื้นถึงเรื่องส่วนพระองค์ของพระเจ้าเจมส์สักหน่อยละค่ะ
เพราะมันมีผลกระทบโดยตรง


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ก.พ. 06, 08:55

พระเจ้าเจมส์ไม่ใช่ชายเจ้าสำราญแบบพระเชษฐา   พระองค์ทรงมีพระมเหสีและพระโอรสธิดาไปตามลำดับขั้นตอนตามกฎหมาย  
(ส่วนเรื่องพระสนมก็มีบ้าง แต่ไม่อื้อฉาว)
แต่ตามประสาคนบุญมีแต่กรรมบัง   เรื่องที่เริ่มต้นอย่างไม่น่าจะยุ่งยากก็พลิกผัน มีผลพลิกบัลลังก์ยิ่งกว่าเรื่องของมอนมัธร้อยเท่าก็ว่าได้

เมื่อครั้งยังทรงเป็นเจ้าชายเจมส์ ตกยากอยู่นอกอังกฤษ   พระเจ้าเจมส์มีหม่อมคนแรกชื่อเลดี้ แอนน์ ไฮด์ เป็นลูกสาวของเซอร์เอ็ดเวิร์ด ไฮด์ ผู้เป็นที่ปรึกษาคู่พระทัยของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2
พอหล่อนท้องขึ้นมา ก็ทรงสมรสกับหล่อนอย่างลับๆ ก่อน   แล้วค่อยเข้าพิธีเสกสมรสอย่างเปิดเผยเมื่อพระเชษฐาขึ้นครองราชย์แล้ว  เพื่อทำให้หล่อนเป็นชายาที่ถูกต้องตามกฎหมายของดยุคแห่งยอร์ค

แต่ดัชเชสแห่งยอร์คก็ไม่เป็นที่นิยมของราชสำนักเอาเลย    หล่อนถูกกล่าวหาว่าจุ้นจ้านในเรื่องราชการงานเมือง    เช่นผลักดันตัวเองให้เข้าไปนั่งร่วมประชุมคณะที่ปรึกษาของเจ้าชาย เพื่อจะควบคุมเรื่องรายจ่ายว่าเจ้าชายเอาเงินไปใช้เรื่องอะไรบ้าง

หล่อนพยายามครอบงำและจูงจมูกเจ้าชายเจมส์ไปเกือบทุกเรื่อง    เท่านั้นยังไม่ร้ายพอ  หล่อนยังถูกกล่าวหาอีกว่าสั่งฆาตกรรมหม่อมลับๆอีกคนของเจ้าชาย  แล้วยังพัวพันกับข้าราชสำนักที่ถูกเนรเทศออกไปจากวัง
ที่ร้ายกว่านี้คือหล่อนหันไปรับศีลเป็นคาทอลิคอีกด้วย ทั้งที่แต่แรกก็เป็นโปรแตสแตนท์อยู่แท้ๆ  
เรื่องเหล่านี้( เว้นแต่เรื่องคาทอลิค)จริงหรือว่าใส่ร้ายก็ตาม  แต่ก็แสดงให้เห็นชัดว่าดัชเชสไม่เป็นที่ยอมรับนับถือเอามากๆ  

ในเมื่อเมียถูกมองว่าร้ายกาจ  เจ้าชายก็เลยยากที่จะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้พระองค์เองขึ้นมาได้

ความอาภัพอีกอย่างของดยุคและดัชเชสแห่งยอร์คก็คือโอรสธิดา   แอนน์คลอดบุตรถึง 8 คน แต่ว่าตายกันไปเกือบหมดตั้งแต่ยังเล็กๆ   รอดมาได้แค่ 2 คน แต่ก็เป็นหญิงทั้งคู่
คือเจ้าหญิงแมรี่ (เกิดปี 1662) และเจ้าหญิงแอนน์ (เกิด ปี 1665) เมื่อพระบิดายังเป็นเจ้าชายเจมส์ ดยุคแห่งยอร์ค

ความอาภัพของดัชเชส ก็คือหล่อนไม่มีโอกาสขึ้นเป็นราชินีอังกฤษ    
หลังคลอดแอนน์ได้ไม่กี่สัปดาห์   ดัชเชสแห่งยอร์คก็ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งที่พระราชวังเซนต์เจมส์  
20 ปีก่อนเจ้าชายเจมส์ขึ้นครองราชย์

ภาพข้างบนนี้คือ แอนน์ ดัชเชสแห่งยอร์ค ค่ะ


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เฟื่องแก้ว ที่ 24 ก.พ. 06, 05:07
มาลงชื่อเข้าเรียนก่อนค่ะ เดี๋ยววิ่งกลับไปอ่านแต่แรกใหม่


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.พ. 06, 08:49

เมื่อดัชเชสแห่งยอร์คตายไปแล้ว   เจ้าชายเจมส์ก็ทรงสมรสใหม่  คราวนี้กับเจ้าหญิงต่างชาติคือเจ้าหญิงแมรี่  พระธิดาพระเจ้าอัลฟองโซที่ 4 แห่งโมดีนา
เจ้าหญิงองค์ใหม่ก็ไม่ได้ก่อความนิยมยินดีให้ราชสำนัก พอๆกับคนเก่า  เพราะเธอเป็นคาทอลิค  แถมเคร่งครัดมากๆเอาด้วย

ข้าราชบริพารรวมทั้งราษฎรเกลียดเธอเอามากๆ  
ข่าวซุบซิบแพร่สะพัดไปทั่วบ้านเมืองว่าเธอเป็นสายลับที่พระสันตปาปาคลีเมนต์ที่ 10 ส่งมาครอบงำเจ้าชาย
เพื่อเปลี่ยนประเทศอังกฤษไปเป็นคาทอลิคอีกครั้ง

เธอถูกสงสัยว่าพัวพันในแผน Popish Plot ที่กุขึ้นว่าพวกคาทอลิคจะลอบปลงพระชนม์พระเจ้าชาร์ลส์และยกเจ้าชายเจมส์ขึ้นครองราชย์แทน
เจ้าหญิงรอดพ้นไปได้แต่เลขานุการของเธอรับเคราะห์แทน   เธอกับเจ้าชายต้องลี้ภัยออกนอกอังกฤษชั่วคราวจนเรื่องสงบลง


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 24 ก.พ. 06, 09:00
 อาจารย์คะ มันเป็นแฟชันของราชวงศ์ยุโรปที่ชอบแต่งงานข้ามประเทศเหรอคะ (นึกเปรียบเทียบว่าถ้าเจ้าชายญี่ปุ่น
ไปรับสะใภ้ต่างชาติเข้ามาบ้าง จะเป็นอย่างไรกัน)


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีปิงเวียง ที่ 24 ก.พ. 06, 16:55
 สวัสดีทุกท่านที่เคารพครับ
ผมสังเกตเอาว่า สมัยก่อนราชวงศ์ยุโรปแต่งงานข้ามประเทศจนกระทั่งถึงต้นคริสตศตวรรษที่ 20
ถ้าจะหาเหตุว่าเป็นเพราะเหตุใด ต้องย้อนไปดูที่กระทู้พระเจ้าชาร์ลที่ 2 ครับ
ป.ล. ขอลงทะเบียนด้วยคนครับ    


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: นายสายธาร ที่ 24 ก.พ. 06, 17:24
 เข้ามาลงทะเบียนด้วยคนครับ
สำหรับเรื่องการแต่งงานข้ามประเทศกันนั้น ในความคิดผมนั้นเห็นว่าคงคล้ายกับบ้านเราในสมัยก่อน คือประเทศต่าง ๆ นั้น ยังคงเป็นอาณาจักรแบ่งแยกกันอยู่ จึงต้องมีการสานสัมพันธไมตรี หรือผูกมิตรกันไว้นั่นเอง ส่วนการผูกมิตรที่แน่นแฟ้นที่สุดก็คือการแต่งงาน เพราะว่า อาณาจักรพ่อตาคงไม่มาตีอาณาจักรลูกเขย และเมื่อเกิดปัญหาภายในก็จะได้แรงสนับสนุนจากต่างอาณาจักร(หรือต่างประเทศในกรณีของราชวงศ์ยุโรป) อีกด้วย
ไม่ทราบว่าความคิดของผมนี้จะถูกหรือผิดครับอาจารย์


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: HotChoc ที่ 24 ก.พ. 06, 19:45
 ฝ่ายชายได้สินสมรสด้วยครับ อาจจะเป็นเมืองซักสองสามเมือง หรือภาษีอากรจากเมืองท่า ขึ้นกับยศศักดิ์ฝายชาย ถ้าโชคดีอาจได้มรดกจากพ่อตาด้วย ตอนจักรพรรดิแม๊กซิมิเลียนที่ 1 ของโฮลีโรมันเอ็มไพร์ตาย ก็ยกดินแดนของตัวเองให้หลานตากษัตริย์คาร์ลอสที่ 1 ของสเปน ดินแดนที่ว่าก็คือออสเตรีย หัวเมืองอิตาลีทางเหนือ เนเธอร์แลนด์ปัจจุบัน เชคปัจจุบัน บางส่วนทางตะวันออกของฝรั่งเศส เรียกว่าคิงคาร์ลอสดูแลไม่ไหวเลยครับต้องให้น้องไปดูแลออสเตรียแทน

ถ้าโชคดีกว่านั้นลูกหลานอาจได้ไปเป็นกษัตริย์เลยก็ได้ อังกฤษเองก็เคยรับ"คนต่างชาติ"มาเป็นพระราชาหลายที ต้นตระกูลสจ๊วตเองก็มาจากสก๊อตแลนด์ เดี๋ยวอาจารย์เทาชมพูเล่าไปซักพักก็จะมีคนดัตช์มาเป็นกษัตริย์อังกฤษอีก ต่อจากนั้นก็จะเป็นคนเยอรมัน


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.พ. 06, 09:12
 นั่นแน่...คุณนุชนาไม่ได้อ่านกระทู้ราชาเจ้าสำราญ  หรืออ่านแล้วลืมไปน่ะสิคะ
ในนั้นบอกเหตุผลของการเสกสมรสของเจ้านายเอาไว้แล้วค่ะ  การอยู่คนละดินแดนอำนวยประโยชน์ให้มหาศาล โดยเฉพาะกับฝ่ายชาย

คำตอบของคุณสายธารและคุณ HotChoc ถูกทั้งสองคนค่ะ


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 25 ก.พ. 06, 10:15
 ok but not convinced ว่านั่นคือเหตุผล in most or all casesค่ะ

นึกถึง King James I เมื่อครั้งเป็นพระยุพราช ก็เสกสมรสกับเจ้าฟ้าหญิงแอนน์ของเดนมาร์ค
ทั้งๆที่ควีนเอลิซาเบท I ก็ทรงคัดค้าน ทรัพย์สินจากพ่อตาก็ไม่เห็นเป็นชิ้นเป็นอันสักเท่าไร


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.พ. 06, 10:32
 การเสกสมรสครั้งนั้นเป็นด้วยเหตุผลทางศาสนาค่ะ

James managed to significantly reduce the influence of the Roman Catholic nobles in Scotland. He further endeared himself to Protestants by marrying Anne of Denmark—a princess from a Protestant country and daughter of Frederick II of Denmark.

 http://en.wikipedia.org/wiki/James_I_of_England  


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.พ. 06, 17:04
เล่าความมาถึงตอนนี้แล้ว  ผู้อ่านบางท่านก็คงจะเกิดสงสัยขึ้นมาว่า  อะไรกันนักกันหนา กะแค่เรื่องนับถือศาสนาเดียวกัน แต่ต่างนิกายกันนี่น่ะ  
เป็นเหตุให้จงเกลียดจงชังกันขนาดนี้เทียวหรือ   ในเมื่อต่างก็มีพระเจ้าองค์เดียวกัน  พระศาสดาองค์เดียวกัน   ก็น่าจะประนีประนอมกันได้  อยู่ร่วมกันไปไม่ถึงกับมองหน้ากันไม่ติด
คำตอบคือความหมายไม่ได้จำกัดวงแค่ความเชื่อถือศรัทธาเท่านั้น แต่มันรวมไปถึงเหตุผลทางการเมืองด้วย

เพราะตั้งแต่โบราณกาลมา  ก่อนอาณาจักรทั้งหลายจะรวมตัวกันเป็นปึกแผ่นมั่นคง แบ่งกันเป็นฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมัน กรีซ ฯลฯ กันแบบมีเส้นขีดคั่นชายแดนกันแน่นอน
อำนาจที่ยิ่งใหญ่กว่าราชาทั้งหลายบนดินแดนต่างๆนั้นก็มีอยู่  คืออำนาจของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire)
ประมุขคือพระสันตปาปา หรือ Pope แห่งนครวาติกัน  ซึ่งเป็นเอกเทศไม่ขึ้นกับประเทศใด

การสวมมงกุฎราชาองค์ใดที่นับถือคริสต์ ( ตอนนั้นมีอย่างเดียวคือโรมันคาทอลิค)   ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากพระสันตปาปา  และราชาเหล่านั้นก็ต้องเสด็จไปรับพิธีราชาภิเษกโดยพระศาสนประมุขอีกด้วย
หรืออย่างน้อยก็ต้องมีตัวแทนของพระองค์มาทำพิธีให้

ดังนั้นอำนาจของสันตปาปาจึงยิ่งใหญ่    บรรดาบาทหลวงและพระราชาคณะทั้งหลายในอาณาจักรต่างๆก็ขึ้นกับพระองค์
รายได้ของวัด ส่วยสาอากรหรือข้าวของเงินทองของพวกมาทำบุญให้วัดก็ขึ้นตรงกับพระสันตปาปา   ไม่ได้ขึ้นกับเจ้าแผ่นดิน
พระราชาเองก็ต้องอ่อนน้อมยอมประพฤติองค์ตามข้อบังคับทางศาสนา

พระราชาอังกฤษองค์แรกที่ลุกขึ้น "ปฏิวัติ" เรื่องนี้คือพระเจ้าเฮนรี่ที่ ๘  (องค์ที่คุณชื่นใจอยากจะฟังเรื่องของท่านนั่นไงล่ะคะ)
เมื่อพระสันตปาปาไม่ยอมให้การอภิเษกสมรสของท่านกับพระนางแคทเธอรีนแห่งอารากอน มเหสีองค์แรกเป็นโมฆะ

พระเจ้าเฮนรี่ก็ไม่ใช้วิธีตื๊อจนพระสันตปาปาใจอ่อน หรือโต้เถียงเอาชนะคะคานให้ได้   เพราะแน่นอนว่าทำไปจนตายก็คงไม่ได้ผล
พระองค์ใช้ไม้เด็ด เปลี่ยนศาสนาประจำชาติ จากคริสตศาสนานิกายโรมันคาทอลิคมาเป็นโปรแตสแตนท์ นิกาย Church of England ซึ่งมี Archbishop of Canterbury เป็นประมุข
ท่านอาร์ชบิชอปก็ตกลงให้ทรงหย่าจากพระนางได้

นอกจากนี้พระเจ้าเฮนรี่ยังทรง" ลุย" วัดต่างๆของคาทอลิคเสียจนไม่มีเหลือ   บาทหลวงทั้งหลายต้องหลบหนีอาญาแผ่นดินซุกซ่อนกันจ้าละหวั่น
ข้าวของเงินทองที่ได้จากประสกสีกากันเหลือเฟือ  เป็นสมบัติของวัด ขึ้นตรงกับพระสันตปาปา  ก็ตกเป็นของท้องพระคลังแทน

ประวัติศาสตร์เป็นอย่างนี้   ก็คงพอจะมองเห็นภาพกันแล้วใช่ไหมคะ ว่าทำไมราษฎรที่นับถือโปรแตสแตนท์กันมานานร่วมศตวรรษ ถึงพากันเดือดร้อนไม่อยากกลับไปอยู่ใต้อาณัติของคาทอลิคอีก


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 26 ก.พ. 06, 00:12
 โหย คุณชื่นใจ Henry VIII เบื่อแล้ว  ฟังมาเยอะแล้ว ผมอ่านต่วยตูนพิเศษสมัยก่อนมีแต่เรื่องของราชาพระองค์นี้กับพระราชินีทั้ง 6ของพระองค์ โดยเฉพาะเรื่องของ แอนน์ โบลีน (พระราชมารดาของ Queen Elezabeth I ไงครับ) ที่มีการมาทำเป็นหนังเรื่องราชินีพันทิวา(จำชื่ออังกฤษไม่ได้) หรือแม้แต่เรื่องผีๆที่มีคนเห็นพระนางแอนน์โบลีนเดินไปมาอยู่ใน the Tower of London หรือไม่ก็ Hampton Court

เขาว่ากันว่า King Henry VIII เป็นนักดนตรีเอกด้วยนะ เพลง Greensleeves ร่ำลือกันว่าท่านเป็นผู้แต่งด้วยนะครับ

อิอิ แซวเล่นน่ะครับ ถ้า อ.เทาจะเขียนถึง Henry III ผมก็จะติดตามอ่านเหมือนเดิมแหละครับ


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ชื่นใจ ที่ 26 ก.พ. 06, 02:23
 โหย...(มั่ง)...คุณ padanini เห็นใจอิฉันบ้างเถอะ
ก่อนหน้านี้ไม่ได้เป็นคนขวนขวายเรื่องราวพวกนี้สักเท่าไหร่
ความรู้เลยต่ำเจ้าค่ะ...ก็ขอยกระดับความรู้ตัวเองให้สูงขึ้นสักนิด
ด้วยการจองเรื่องไว้ เผื่ออาจารย์เทาชมพูท่านจะกรุณา
...
ไหมล่ะ...คุณก็ยังจะตามอ่านต่อไปอยู่ดี    
...
ว่าไป อิฉันชักเริ่มเห็นเค้าลาง Terrible Tudors ขึ้นมารำไร
...
แต่ตอนนี้ กลับเข้าเรื่องของสจ๊วตต่อดีกว่าค่ะ


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: HotChoc ที่ 26 ก.พ. 06, 02:26
 ผมขอเสริมเรื่องศาสนาหน่อยนะครับ คาธอลิกตอนยุคนั้นกับตอนนี้ไม่เหมือนกันนะครับ ยุคนั้นคริสตจักรค่อนข้างเหลวแหลกทีเดียว โป๊ปมีอำนาจมากตามที่อ.เทาชมพูกล่าวไว้ การแต่งตั้งบิชอป(คล้ายๆเจ้าอาวาส)ขึ้นกับโป๊ปไม่ได้ขึ้นกับกษัตริย์ของประเทศ ทางพุทธอาจจะมองว่าไม่แปลกที่ทางสงฆ์จะตั้งเจ้าอาวาสกันเอง แต่นั่นพระสงฆ์ไทยไม่ยุ่งการเมือง คริสตจักรยุคนั้นยุ่งการเมืองเต็มตัวครับ โป๊ปมีอาณาจักรของตัวเองเลยเรียกว่า Papal State มีอาณาเขตอยู่ในภาคกลางของอิตาลี มีกองทัพเป็นของตัวเองเสร็จสรรพ ตียึดเมืองอื่นเพื่อขยายดินแดนก็เคยมาแล้ว โป๊ปบางคนเป็นแม่ทัพคุมทหารไปเองก็มี การแต่งตั้งบิชอปของตนเองในดินแดนอื่นก็คือการส่งสายลับเข้าไปดีๆนี่เอง

ทางธรรมก็เหลวแหลกครับ โป๊ปมีชีวิตหรูหราฟุ่มเฟือย คบชู้สู่สาวมีลูกนอกสมรสกันเป็นปกติ ตำแหน่งบิชอปคาร์ดินัลก็ซื้อขายกันเป็นว่าเล่น (บิชอปบางแห่งมีดินแดนเป็นของตัวเองเลย) สะสมสร้างสรรค์ภาพวาดงานปฏิมากรรมกัน สร้างมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์โดยการเรี่ยไรเงินประชาชนแบบน่ากังขา เช่นหลอกขายวัตถุมงคลศักดิ์สิทธิ์ ขายใบไถ่บาปที่ผู้ซื้อจะพ้นผิดจากบาปที่เคยทำได้ แค่นั้นยังไม่พอสามารถซื้อใบไถ่บาปให้ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วได้อีก (พ่อแม่พี่น้องลำบากอยู่ในนรก ไม่ซื้อใบไถ่บาปให้พวกท่านซะหน่อยล่ะ) ที่เด็ดที่สุดคือสามารถซื้อใบไถ่บาปเผื่อไว้สำหรับบาปที่ท่านจะกระทำในอนาคตได้ด้วย (กำลังจะไปเล่นชู้เหรอ ไม่ดีนะพระเจ้าห้าม แต่ยังไงซะก็ซื้อใบไถ่บาปเผื่อไว้ก่อนดีกว่า) บางทีก็บังคับขายกันเลย (ไม่ซื้อตกนรกนะท่าน เอ๊ะ!หรือว่าท่านฝักใฝ่ซาตานมากกว่าพระเจ้า)

มาร์ตินลูเธอร์ซึ่งเป็นพระเคร่งคาธอลิคสายออกัสตินตอนนั้นทนไม่ได้ ตอกคำประท้วง 95 ข้อลงบนประตูโบสถ์ที่วิตเทนเบิร์กในเยอรมัน เป็นจุดเริ่มต้นของการแตกนิกายโปรแตสแตนท์(Protestants, ผู้ประท้วง)ออกจากคาธอลิก ประชาชนและเจ้าชายเยอรมันส่วนมากเห็นชอบเพราะถูกรีดไถจากโรมมานาน ทางโรมก็พยายามทั้งประนามทั้งไกล่เกลี่ยก็ไม่เป็นผล สุดท้ายรบกันอยู่ 30 ปี นั่นเป็นสาเหตุที่เกลียดกัน


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.พ. 06, 12:21
ขอบคุณคุณ HotChoc ที่มาแจม ช่วยให้รายละเอียดเพิ่มเติมค่ะ
ดิฉันเล่าอยู่คนเดียวนานๆก็ชักจะคอแห้ง

ระบบบาปบุญที่ซื้อกันได้ ขายกันดี ฟังคุ้นๆยังไงไม่รู้
แต่ช่างเถอะ  เดี๋ยวจะออกนอกเส้นทางไปไกล   จำกัดวงไว้ในเรื่องนี้ดีกว่า

.ในยุคโน้น พฤติกรรมหรูหราฟุ่มเฟือย และยังผิดศีลของโป๊ป เป็นเรื่องที่ปิดกันไม่มิด
ในศาสนสำนักก็มี"หลานชาย"เข้ามายุ่มย่าม เดินกันว่อน  บางคนก็มีสมณศักดิ์สูงๆ หรือได้รับแต่งตังให้มีตำแหน่งเป็นองครักษ์
คนเขาก็รู้ว่าไม่ใช่หลานชงหลานชายอะไรหรอก    เป็นลูกนอกสมรสที่ท่านอุปถัมภ์อย่างดีต่างหาก


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.พ. 06, 11:04
ย้อนกลับมาเล่าถึงครอบครัวของเจ้าชายเจมส์ ดยุคแห่งยอร์ค  
การเสกสมรสกับเจ้าหญิงแมรี่ ก็มีเรื่องน่าเศร้าซ้ำรอยเดียวกับดัชเชสแห่งยอร์คคนแรก คือโอรสธิดาที่เกิดมา ถ้าไม่ตายตอนคลอดก็ตายแต่ยังเล็กๆ องค์แล้วองค์เล่า ถึง ๕ องค์ด้วยกัน
แทบว่าจะหมดความหวังที่จะได้รัชทายาทชาย  นอกเหนือจากพระธิดา ๒ องค์ที่เจริญพระชนม์เป็นสาวใหญ่แล้ว

ขอเล่าถึงพระธิดา ๒ องค์ที่เกิดจากดัชเชสคนแรกก่อนนะคะ
องค์โตคือเจ้าหญิงแมรี่  เสกสมรสไปด้วยเหตุผลทางการเมือง  กับลูกพี่ลูกน้องซึ่งเป็นเจ้าชายดัทช์ชื่อเจ้าชายวิลเลียมแห่งโอเรนจ์ ซึ่งแก่กว่าเธอ ๑๒ ปี  ทั้งสองเป็นโปรแตสแตนท์
(โปรดดูภาพประกอบ)
ชีวิตคู่ของเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าหญิงแมรี่หวานอมขมกลืน    เจ้าชายมีหม่อมซึ่งไม่ใช่ใครอื่น เป็นนางพระกำนัลของเจ้าหญิงนั่นเอง   ทรงเย็นชาและไม่เอาใจใส่พระชายา  
ส่วนเจ้าหญิงก็ไม่มีโอรสธิดา  ทางด้านส่วนตัว เธอกลายเป็นลูกไก่ในกำมือของพระสวามี เรียกว่าไม่กล้าหือกับเจ้าชายเอาเลย


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.พ. 06, 11:18
 ส่วนองค์เล็กคือเจ้าหญิงแอนน์   เป็นเด็กขี้โรค ป่วยหนักแบบเจียนจะตายเสียหลายหนตั้งแต่เด็ก  จนน่าอัศจรรย์ที่ทรงรอดมาได้จนโตเป็นสาว     เธอถูกจับให้เสกสมรส(ก็ด้วยเหตุผลทางการเมืองอีกนั่นละค่ะ) กับเจ้าชายจอร์ชแห่งเดนมาร์ค

เจ้าชายจอร์ชเป็นเจ้านายที่อ่อนแอ ไม่มีสุ้มมีเสียงอะไรทางด้านบริหาร  วันๆก็ทรงยุ่งอยู่กับปัญหาประจำตัวคือติดเหล้าอย่างหนัก   แต่ก็แปลกที่เจ้านายคู่นี้กลับปรองดองรักใคร่กันด้วยดี   เจ้าหญิงทรงรักพระสวามีมาก

สุขภาพของเธอเป็นปัญหาใหญ่  เจ้าหญิงแอนน์ทรงแท้งถึง 12 ครั้ง(ไม่อยากจะเชื่อ!!)  และมีโอรสธิดาที่รอดตายจนถึงคลอดออกมาได้อีก 5 องค์    แต่ก็ไม่มีองค์ไหนรอดมาได้จนโตเป็นหนุ่มสาว  


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.พ. 06, 11:36
พระเจ้าเจมส์ทรงหวังว่าจะได้รัชทายาทชายที่จะครองบัลลังก์อังกฤษสืบต่อจากพระองค์    ทรงตั้งพระทัยปลูกฝังให้เป็นคาทอลิคตั้งแต่แรกประสูติ   ไม่อยากให้เป็นอย่างเจ้าหญิงพระพี่นางทั้งสองที่เป็นโปรแตสแตนท์

เหตุการณ์ที่เรียกได้อีกครั้งว่า "บุญมีแต่กรรมบัง" ก็เกิดขึ้นอีกในปี 1688
บุญมี คือพระราชินีแมรี่แห่งโมดีนา ทรงคลอดเจ้าฟ้าชายจนได้   เป็นเด็กแข็งแรงดี ไม่แท้งหรือตายเสียแต่แรกเกิดอย่างก่อนหน้านี้
แต่ก็มีเสียงซุบซิบไล่หลังมาว่า เด็กคนนี้ไม่ใช่พระราชโอรสแท้จริงหรอก   มีการสับเปลี่ยนเอาเด็กชายลูกชาวบ้านเข้าไปในห้องคลอด
ทั้งนี้เพื่อเป็นการตบตาผู้คนว่ารัชทายาทชายได้ประสูติแล้ว   เพื่อจะสถาปนาเจ้าชายคาทอลิคขึ้นนั่งบัลลังก์

กรรมที่เข้ามาบังพอดี  ก็คือสถานการณ์ทางการเมืองตึงเครียดถึงจุดระเบิดพอดี     พรรคการเมืองทั้งวิกและทอรี่ตลอดจนผู้คนพลเมืองต่อต้านพระเจ้าเจมส์กันหมด     จึงเกิดรัฐประหารกลางเมืองขึ้นมาในปีเดียวกันนั้นเอง
พระราชินีแมรี่ทรงพาเจ้าฟ้าชายองค์น้อยหนีออกจากอังกฤษไปพึ่งพันธมิตรคาทอลิค คือฝรั่งเศส  
พระนางได้ชักชวนให้พระเจ้าเจมส์หนีตายไปด้วยกัน  ดีกว่าพยายามต่อต้านพวกกบฏ หรือยอมให้ถูกจับกุมอยู่ในพระราชวัง
ชะตากรรมอันน่าเวทนาของพระบิดาคงเป็นแรงผลักดันให้พระเจ้าเจมส์ยอมหนีมากกว่าจะสู้ตาย    ก็เลยทรงลี้ภัยออกนอกอังกฤษ

รัฐประหารครั้งนี้  รู้จักกันในนาม The Glorious Revolution


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 27 ก.พ. 06, 13:19
 .....องค์โตคือเจ้าหญิงแมรี่ เสกสมรสไปด้วยเหตุผลทางการเมือง กับลูกพี่ลูกน้องซึ่งเป็นเจ้าชายดัทช์
ชื่อเจ้าชายวิลเลียมแห่งโอเรนจ์ ซึ่งแก่กว่าเธอ ๑๒ ปี ทั้งสองเป็นโปรแตสแตนท์

ตรงนี้ขอขยายความว่ามารดาของเจ้าชายวิลเลียมคือ แมรี พระราชธิดาองค์โตของ King Charles I
ดังนั้นพระเจ้าเจมส์ II (พ่อตา) จึงเป็นน้องแม่ของเจ้าชายวิลเลียมนั่นเอง


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เฟื่องแก้ว ที่ 27 ก.พ. 06, 20:38
โอ มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์อันอลังการ มีที่มาอย่างนี้หรอกหรือนี่
ได้ทราบแล้วเศร้าใจ เฮ้อ...

เจ้าหญิงแอนน์ แท้ง 12 หน มีบุตรรอดมา 5 คน
รวมท้องทั้งสิ้น 17 ครั้ง

ผู้หญิงสมัยก่อนอายุไม่ค่อยยืนด้วยนะคะ
ท้องๆ แท้งๆ อยู่เกือบ 20 หน
ไม่ทราบเจ้าหญิงทรงเสกสมรสตั้งแต่กี่ขวบเนี่ย  

ดิฉันความรู้เท่าหางอึ่ง (ตัวเมีย) น้อยกว่าคุณชื่นใจอีกค่ะ
ไม่มีเกี่ยง เล่าอะไรสนุกๆให้ฟัง ฟังโม้ดค่ะ
อิอิ


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ชื่นใจ ที่ 28 ก.พ. 06, 00:25
 มาแข่งกันรู้น้อยดีกว่าค่ะ คุณเฟื่องแก้ว
อิฉันว่าคุณรู้เยอะกว่าอิฉันอยู่เรื่องนึงนะ
คือ...อึ่งตัวผู้กับอึ่งตัวเมีย หางมันไม่เท่ากันหรือคะ
จริงแล้วอึ่งมีหางหรือไม่มีกันแน่คะ
นี่ถามจริงๆ นะคะ ไม่ได้แกล้ง ไม่รู้จริงๆ  

(ไม่ได้มีเจตนาพูดจาออกนอกเรื่อง (จากสจ๊วตเป็นอึ่ง) นะคะ)


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.พ. 06, 09:12
 แวะคุยเรื่องอึ่ง พักยกก่อนก็ได้
อึ่ง มันไม่มีหางไม่ใช่หรือคะ หรือไม่ก็มีอะไรคล้ายๆกระดูก กุดอยู่นิดเดียว

เจ้าหญิงแอนน์ ประสูติ ค.ศ. 1665  เสกสมรส 1683  พระชันษา 18 ปี
สิ้นพระชนม์ 1714   รวมพระชันษา 49 ปี
เฉลี่ยแล้วระหว่างอายุ 18-40 เป็นเวลา 22 ปี  (ถ้านึกว่าอายุ 40 แล้วไม่น่าจะมีอีก)  ทรงพระครรภ์ 17 ครั้ง  ก็แสดงว่าทรงพระครรภ์ทุก 1 ปีกว่าๆ

กลับมาสู่เรื่องที่ค้างอยู่ค่ะ

พระราชบัลลังก์พระเจ้าเจมส์ถูกเลื่อยขาเก้าอี้ลงแล้ว  แต่เรื่องราวก็ยังไม่จบ
หลังจากศึกสายเลือดครั้งที่ 1คือศึกระหว่างพระเจ้าอาเจมส์ที่สองและหลานมอนมัธ จบลงเมื่อต้นรัชสมัย
ศึกสายเลือดครั้งที่สองก็ติดตามมาเมื่อสิ้นบัลลังก์ของพระเจ้าเจมส์  คือเป็นศึกระหว่างพ่อกับลูกสาว

รัฐสภาตกลงใจข้ามประเทศไปทูลเชิญเจ้าหญิงแมรี่พระธิดาองค์ใหญ่ผู้เป็นโปรแตสแตนท์มาครองอังกฤษสืบต่อไป  ตระเตรียมแผนกันตั้งแต่พระเจ้าเจมส์ยังอยู่บนบัลลังก์    
เมื่อสำเร็จผลสมความมุ่งหมายแล้ว ในตอนแรกรัฐสภาตั้งใจจะวางตัวเจ้าหญิงแมรี่เป็น "สมเด็จพระราชินีนาถ" คือเป็นนางพญาที่ปกครองราชบัลลังก์ในฐานะกษัตริย์  และเจ้าชายวิลเลียมอยู่ในฐานะ "เจ้าชายพระราชสวามี"

แต่ก็อย่างที่บอกไว้ข้างบนนี้ว่าเจ้าหญิงทรงหมอบราบคาบแก้ว อยู่ในอำนาจพระสวามี  แม้เจ้าชายปฏิบัติต่อเธออย่างใจจืดใจดำ  ไม่แคร์ความรู้สึกขนาดไหนก็เถอะ
เธอก็เลยไม่ยอมมีตำแหน่งสูงกว่าเจ้าชาย   แต่ยืนกรานให้รัฐสภาถวายราชบัลลังก์ให้เธอและพระสวามีครองร่วมกัน  เป็นพระเจ้าวิลเลียมและพระราชินีแมรี่    ทั้งที่เจ้าชายก็ถือสัญชาติดัทช์อยู่แท้ๆ หาใช่อังกฤษไม่
เพื่อให้เป็นไปตามนี้  ก็ทรงยอมที่จะทำตามเงื่อนไขอื่นๆของรัฐสภา   คือยอมจำกัดอำนาจกษัตริย์ลง  เพิ่มอำนาจให้รัฐสภามากขึ้น  
ในตอนนั้นพระเจ้าเจมส์ลี้ภัยอยู่ในยุโรป    เมื่อทรงทราบว่าพระธิดายอมถึงขนาดนี้ก็กริ้วมาก  ทรงสาปแช่งพระราชินีแมรี่เสียไม่มีดี


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.พ. 06, 09:16
 พระเจ้าเจมส์ตัดสินพระทัยจะมาทวงราชบัลลังก์คืนในปีต่อมา  ด้วยการยกพลฝรั่งเศสขึ้นที่ไอร์แลนด์   ซึ่งยังยอมรับว่าพระองค์เป็นราชันย์  เปิดฉากศึกที่ชายฝั่งตะวันออกของไอร์แลนด์  กับพระเจ้าวิลเลียมราชบุตรเขยซึ่งยกพลมาเต็มเพียบ
แม้ว่าพระเจ้าเจมส์ทรงเป็นแม่ทัพที่เคยกรำศึกมาก่อน   แต่ในยามเคร่งเครียดหนัก พระองค์บัญชาการรบผิดพลาด  พระทัยก็ฝ่ออีกด้วย   ทรงเสียขวัญ หนีออกจากสมรภูมิเอาพระองค์รอดไปก่อน ทำให้แม่ทัพนายกองไอริชที่สนับสนุนพระองค์จนญาติพี่น้องล้มตายกันไปเยอะ โกรธแค้นมาก  ถึงกับเรียกว่า James the Shit
พระเจ้าเจมส์กลับไปที่ฝรั่งเศสอย่างผู้ปราชัย   พระเจ้าหลุยส์ไม่ประสงค์จะให้พระเจ้าวิลเลียม เจ้านายของเนเธอร์แลนด์ซึ่งเป็นศัตรูเก่ามีอำนาจแผ่กว้างจนเป็นอันตรายแก่ฝรั่งเศส  จึงอุปการะพระราชาไร้บัลลังก์ด้วยดี     ประทานสิทธิ์ให้พำนักอย่างดี ในปราสาทที่แซงแจแมนอองเลย์     และทรงวางแผนลอบปลงพระชนม์พระเจ้าวิลเลียมในปี 1696  แต่ว่าแผนนี้ล้มเหลวเสียก่อน

พระเจ้าหลุยส์ทรงพยายามจะผลักดันให้พระเจ้าเจมส์ได้รับเลือกเป็นราชาแห่งโปแลนด์     อย่างน้อยถึงไม่ได้บัลลังก์อังกฤษก็ยังมีตำแหน่งสำคัญให้ครองบ้าง เพื่อเป็นพันธมิตรของฝรั่งเศสสืบต่อไป    
แต่พระเจ้าเจมส์มองไปอีกทางว่า ถ้าขืนสมัครพระทัยเข้ารับมงกุฎของโปแลนด์ก็จะทำให้ราษฎรชาวอังกฤษปฏิเสธพระองค์โดยสิ้นเชิง   ถือว่าเป็นไทต่างด้าวท้าวต่างแดนไปแล้ว   พระองค์ก็เลยไม่ยอมเข้าไปข้องแวะในเรื่องนี้

ในเมื่อเข็นไม่ขึ้นสักเรื่องเดียว   พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ก็ทรงระอาเต็มแก่   เลยวางมือจากราชาอังกฤษโดยสิ้นเชิง  
เรียกว่าทรงเลิกสนับสนุนเด็ดขาด  โดยเฉพาะเมื่อทรงเปลี่ยนพระทัย  หันไปทำสัญญาพันธมิตรกับพระเจ้าวิลเลียมแทน  ในปี 1697
ตามแบบคำพูดที่เราคงเคยได้ยินกันบ่อยๆว่า "ในการเมือง ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร"

ส่วนพระเจ้าเจมส์  ความหวังเรื่องราชบัลลังก์อังกฤษหลุดลอยไปโดยสิ้นเชิงแล้ว  ก็เก็บพระองค์เงียบ  หันไปถือศีลกินเพลเคร่งครัดเหมือนสละทางโลก  
จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ในอีก 2 ปีต่อมา เมื่อค.ศ. 1701 ด้วยโรคเลือดออกในสมอง ( brain hemorrhage )   ไม่มีโอกาสกลับมาเห็นแผ่นดินอังกฤษอีก

แม้สิ้นพระเจ้าเจมส์แล้ว  ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตก็ใช่ว่าจะจบสิ้นอยู่ดีละค่ะ

ขอหยุดพักชั่วคราวก่อนจะกลับมาต่อ    กำลังมันกับงิ้วธรรมศาสตร์ทางคลิปวิดีโอค่ะ อิอิ


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เฟื่องแก้ว ที่ 28 ก.พ. 06, 18:00
 กำลังตื่นเต้นๆ อาจารย์ไปดูงิ้วเสียแล้ว
งั้นชวนคุยเรื่องอึ่งต่อดีกว่า อิอิ คุณชื่นใจอยู่ไหมคะ
เคยได้ยินแต่เขาเปรียบเทียบมีปัญญาเท่าหางอึ่งเท่านั้น
ไม่ได้ระบุว่าเป็นตัวผู้หรือตัวเมียด้วยซี
แต่ดิฉันขอเลือกเป็นตัวเมียแล้วกันค่ะ
เผื่อหางมันจะยาวกว่าตัวผู้น่ะ ไม่ใช่อาไร้ อิอิ

ดิฉันกำลังอินกับศึกสายเลือดเชียวค่ะ
ฟังชุลมุนเหมือนเทพปกรณัมกรีก
แต่เป็นโชค ที่อาจารย์เทาชมพู กรุณาค้นคว้าศึกษา
แล้วมาย่อยให้ฟัง แถมเล่าสนุกด้วยซี
ขอบพระคุณนะคะ

ยิ่งอ่านยิ่งสงสารพระเจ้าเจมส์ของเรียม
ความอาภัพอับโชค ไม่เข้าใครออกใครจริงๆ แม้แต่เจ้าแผ่นดิน
ฟังๆ ดูแล้ว เหมือนเจ้าชายวิลเลียมเป็นผู้ร้ายหน่อยๆ เลยนะคะ
(นอกจากจะมีในนิยายเบื้องหลังเรื่องนี้  มีแกเป็นพระเอก
แล้วแม่สนมคนสวย กินน้ำใต้ศอกเป็นนางเอก)
อ้อ ขอทายค่ะ
ที่ว่าศึกสายเลือดยังมีต่อนั่น
คือ น้องชายกลับมาแย่งบัลลังก์พี่สาวหรือเปล่าคะ


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 06, 17:01
 จะกินของอร่อยต้องใจเย็นๆค่ะ  ใจเย็น..เย็น
****************
กลับไปเล่าเรื่องทางอังกฤษดูบ้างว่า  เหตุการณ์ไปถึงไหน

หลังจากพระสวามีเอาชนะพระบิดาได้แล้ว พระราชินีแมรี่ก็ครองแผ่นดินอังกฤษมาอีกไม่นานนัก  สิ้นพระชนม์เมื่อ ค.ศ. 1694   ต่อจากนั้นพระเจ้าวิลเลียมก็ครองราชบัลลังก์ตามลำพัง  
อาจจะหงอยๆลงไปหน่อยเพราะว่าพระองค์เองไม่ได้เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขอังกฤษ   รัฐสภาเองก็ไม่ค่อยจะปลื้มนัก  
แต่ก็ไม่นานเท่าไรหรอกค่ะ  สิ้นพระชนม์ตามไปอีกองค์ใน 8 ปีต่อมา  
มีเกร็ดเล็กๆแทรกในตอนนี้ว่า  ระหว่างที่พระราชินียังมีพระชนม์ชีพอยู่   พระสวามีก็แสดงความไม่ไยดีเธอเอามากๆ แม้ว่าเธอแสนจะยกย่องจงรักภักดีต่อพระองค์     แต่พอเธอสิ้นพระชนม์ไป ก็กลับแสดงความโศกเศร้าอาลัยอาวรณ์เธอออกมามากมาย
ถ้าหากว่าเป็นความรู้สึกจริงๆ  ก็คงจะอธิบายได้ว่าคนเรามักไม่เห็นคุณค่าของของบางอย่าง  จนกว่าจะสูญเสียมันไป


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 06, 17:06
 ในเมื่อทั้งสองพระองค์ไม่มีพระโอรสธิดาเป็นรัชทายาท      เมื่อพระเจ้าวิลเลียมสิ้นพระชนม์  ราชบัลลังก์อังกฤษก็ตกเป็นของเจ้าหญิงแอนน์  พระน้องนางของราชินีแมรี่  
ซึ่งในตอนที่เธอเกิดและเติบโตมา ไม่มีใครคิดว่าผู้หญิงขี้โรคคนนี้จะได้นั่งบนราชบัลลังก์      เนื่องจากเธออยู่ในลำดับห่างไกลอยู่
หลายอันดับเอาการ

ในตอนเธอเป็นสาว  พระเจ้าเจมส์พระบิดาก็ยังหวังว่าจะมีรัชทายาทชายหรือหญิงได้อีก     และพระพี่นางแมรี่ก็อาจจะมีโอรสธิดาอีกเหมือนกัน    ราชสมบัติก็คงจะสืบต่อไปทางสายน้องๆและหลานๆของเธอมากกว่าย้อนกลับมาที่แอนน์

แต่ถ้าเราจะถือว่าแข่งเรือแข่งพายมันแข่งกันได้   แต่แข่งบุญวาสนาแข่งกันไม่ได้  ก็คงเป็นคำตอบว่าทำไมแอนน์จึงก้าวขึ้นครองบัลลังก์อังกฤษได้ในที่สุด  
แถมเป็นนางพญาอังกฤษองค์แรกในประวัติศาสตร์ที่สมรสแล้ว   ก่อนหน้าเธอคือพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ ๑ ก็ทรงเป็นโสดอยู่ตลอดรัชกาล

แต่พระราชินีนาถแอนน์ก็อาภัพเอาการ  ท้องๆแท้งๆอยู่นั่นเอง  (อ่านพบในเว็บหนึ่งว่าพระสวามีเป็นซิฟิลิส  ข้อนี้น่าจะเป็นสาเหตุให้พระโอรสธิดาไม่รอดกันเยอะ)
ดยุคแห่งกลอสเตอร์พระโอรสองค์เดียวจาก ๑๗ องค์ที่รอดมาได้ก็สิ้นพระชนม์ด้วยฝีดาษ  เมื่อพระชันษาได้แค่ ๑๑ ปี
ทำให้พระราชินีนาถแอนน์ทรงไร้รัชทายาทเช่นเดียวกับพระพี่นาง  


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 06, 17:18
 ดังที่เล่าแล้วว่าพระราชินีแอนน์เป็นคนขี้โรคมาตั้งแต่เกิด พระชนม์เลยสี่สิบไป พระสุขภาพทรุดโทรมอย่างหนัก  ประชวรจนต้องบรรทมแซ่วอยู่ในพระที่  
แพทย์หลวงก็ช่วยกันมะรุมมะตุ้มรักษา แบบมากหมอมากความ จนพระอาการแย่ลงกว่าที่ควรจะเป็น    เธอก็เลยต้องไปเฝ้าพระผู้เป็นเจ้าเมื่อพระชนม์ได้ 49 ปี
ในเมื่อเธอไม่มีพระโอรสธิดาจะนั่งบัลลังก์ต่อ  พระสวามีก็สิ้นพระชนม์ก่อนหน้านี้ไปแล้ว(หรือถึงไม่สิ้นก็ไม่มีสิทธิ์อยู่ดี) สิทธิ์ในการสืบราชสมบัติก็ตกไปอยู่กับพระญาติโปรแตสแตนท์ที่ใกล้ที่สุด คือเจ้าหญิงโซเฟียแห่งบาวาเรีย  

มาลำดับญาติกันก่อนนะคะ   อ่านแล้วไม่ต้องจำก็ได้    ชื่อเจ้านายฝรั่งนี่ซ้ำๆกัน อ่านแล้วเวียนหัวไม่รู้เจมส์ไหนชาร์ลส์ไหนเฮนรี่ไหนเอลิซาเบธไหน

ขอถอยลำดับกลับไปที่ทูลกระหม่อมปู่ของพระราชินีแอนน์ คือพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๑ ที่พระเศียรขาดไปนั่นไงคะ     พระองค์ท่านมีพระน้องนางองค์หนึ่งชื่อเจ้าหญิงเอลิซาเบธ  เสกสมรสไปกับพระราชาแห่งโบฮีเมีย
เอลิซาเบธมีศักดิ์เป็นย่าน้อยของพระราชินีแอนน์    พระธิดาของเธอคือเจ้าหญิงโซเฟีย   นับญาติกันก็คือลูกพี่ลูกน้องของพระเจ้าเจมส์พระบิดาของแอนน์
เจ้าหญิงโซเฟียเสกสมรสไปกับดยุคแห่งบรันสวิค-ลูนเบิร์กเจ้าผู้ครองแคว้นฮันโนเวอร์(เยอรมัน)    มีพระโอรสชื่อเจ้าชายจอร์ชซึ่งขึ้นครองฮันโนเวอร์ต่อจากพระบิดา
เจ้าชายองค์นี้เลือดเยอรมันเข้มข้น พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย   แต่ก็มีสิทธิ์ขึ้นครองราชบัลลังก์อังกฤษผ่านทางพระมารดา

รัฐสภาอังกฤษและพระราชินีแอนน์มองข้ามหัวเจ้าฟ้าชายเจมส์ เอ็ดเวิร์ด พระโอรสองค์เดียวของพระเจ้าเจมส์ที่ ๒ ไปซะเฉยๆ
ทั้งที่เจ้าฟ้าชายก็เป็นน้องคนละแม่ของแอนน์   จะว่าไปมีสิทธิ์นั่งบัลลังก์ก่อนแมรี่ด้วยซ้ำไป  ถ้าไม่ได้เป็นคาทอลิค


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เฟื่องแก้ว ที่ 02 มี.ค. 06, 19:30
 เย้ มาแล้ว....(นั่งติดจอ)

ขอบพระคุณอาจารย์ที่ช่วยลำดับญาติให้อีกครั้ง
เพราะไม่อย่างนั้น ดิฉันต้องกลับไปอ่านย้อนหลังเรื่อยเลยค่ะ  


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 มี.ค. 06, 21:15
 พูดถึงพระนามกษัตริย์อังกฤษและฝรั่งเศสนี่ก็ชวนปวดหัวสำหรับคนไทยอยู่อย่างหนึ่ง  คือชื่อช่างซ้ำๆซากๆกันราวกับว่าทั้งประเทศหาชื่ออื่นนอกจากนี้ไม่ได้อีกแล้ว
ทั้งที่แต่ละองค์จะเลือกพระนามอะไรใหม่ก็ได้เมื่อขึ้นครองราชย์   แต่ก็ไม่มีองค์ไหนเลือกฉีกแนวไปจากพระนามโหลพวกนี้
เราจึงต้องมีพระเจ้าเฮนรี่เรียงกันเป็นตับถึง ๘ องค์  จอร์ชดูเหมือนจะห้าหรือหก   ชาร์ลส์สอง เจมส์สอง วิลเลียมสี่
เจ้าหญิงก็ชื่อแมรี่  แอนน์  เอลิซาเบธ อะไรพวกนี้  เวลาอ่านแฟมิลี่ทรีแล้วตาลายในความซ้ำ

เห็นเขา"ว่ากันว่า" เจ้านายแท้ๆจะต้องมีพระนามเรียบง่าย ถือว่าสง่างาม   บอกบ่งเป็นเจ้าทุกกระเบียดนิ้ว
เป็นชื่อที่ถือกันว่า good , plain name
จะมีพระนามที่ฉูดฉาดสีสันสะดุดตาไม่ได้ ยังงั้นถือว่าเว่อ  ไร้รสนิยม
ด้วยความงามอยู่กับความง่ายนี่เอง  พระนามเจ้านายจึงไม่ต่างจากคนเดินดิน     บุรุษไปรษณีย์หรือเจ้าชายก็ชื่อแบบเดียวกัน

ก็เห็นมีเจ้าหญิงไดอาน่าซึ่งเดิมเป็นลูกสาวขุนนางนี่ละค่ะที่พระนามสวยสง่าสมตัว   แต่พี่น้องของท่านก็ชื่อธรรมดาๆ
อีกคนคืออดีตคุณนายคามิลล่า ดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์   ชื่อเธอเป็นนางเอกนิยายโรมานซ์จัง


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เฟื่องแก้ว ที่ 02 มี.ค. 06, 21:59
กลับกันกับคนไทยหรือเปล่าคะอาจารย์
ชื่อเจ้านายจะต้องยาว บรรจุคำสูงๆ มีความหมายไพเราะ
ส่วนคนเดินดิน ชื่อนายแมว อะไรก็ได้ แต่ห้ามพ้องกับชื่อเจ้านาย

อันนี้ ขอเรียนถามว่าจริงหรือไม่คะ
เพราะเด็กๆ เคยได้ยินว่าห้ามตั้งชื่อ พ้องกับชื่อเจ้านาย
แต่ทุกวันนี้ เห็นผ่านตาพอสมควรที่คนธรรมดา
มีชื่อพ้องกับพระบรมวงศานุวงศ์ระดับเจ้าฟ้า
เขียนเหมือนกันดิกเลยค่ะ
ถ้าอำเภออนุญาตพ่อแม่ตอนแจ้งชื่อเกิด
แสดงว่าที่ดิฉันเคยได้ยินมาก็เป็นความเชื่อผิดๆ น่ะสิคะ
.
.


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 มี.ค. 06, 11:14
มีสำนวนไทยสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ว่า ทำเทียมเจ้านาย จัญไรจะกิน    ค่ะ
เรื่องห้ามตั้งชื่อไม่ให้พ้องกับพระนามเจ้านาย ดิฉันก็เคยได้ยินเหมือนกัน   แต่ไม่ทราบว่ารวมพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นเจ้าฟ้าด้วยหรือเปล่า หรือจำกัดเฉพาะพระมหากษัตริย์และพระบรมราชินีเท่านั้น
คงต้องรอผู้รู้อย่างคุณ V_Mee คุณ UP คุณหยดน้ำ มาชี้แจงเพิ่มเติม
*******************
ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการที่พระราชินีแอนน์และรัฐสภาอังกฤษเอื้อมไกลไปสุดกู่  คว้าเอาพระญาติห่างๆที่เป็นไทต่างด้าวท้าวต่างแดนมาครองราชย์เฉยเลย  
มีทั้งฝรั่งเศสซึ่งไม่ต้องการพันธมิตรโปรแตสแตนท์จับมือกันคุกคามความมั่นคงของคาทอลิค    และอีกประเทศคือสกอตแลนด์ ซึ่งเป็นข้าแผ่นดินดั้งเดิมของราชวงศ์สจ๊วต  
ทั้งสองก็เริ่มฮึ่มฮั่มขู่จะประท้วง โดยยกเจ้าฟ้าชายเจมส์ ฟรานซิส เอ็ดเวิร์ด สจ๊วต เชื้อสายราชวงศ์สจ๊วตองค์จริงขึ้นมาเป็นผู้อ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์  โดยได้รับกองกำลังสนับสนุนจากพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส

ขอแวะอธิบายศัพท์หน่อยนะคะ
คำกริยา to pretend ในภาษาอังกฤษ แปลว่า เสแสร้ง หรือทำทีเป็นว่า...
แต่คำว่า pretender  ถ้ามาใช้ในประวัติศาสตร์ ไม่ได้แปลว่าผู้เสแสร้งแกล้งทำหรือตบตาคนอะไรทำนองนั้น    แต่มีความหมายเฉพาะว่า "ผู้อ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์"

pretender ในประวัติศาสตร์อังกฤษมีหลายคนด้วยกัน   ถอยหลังกลับไปได้หลายศตวรรษ  แต่จะบรรยายหมดก็เข้ารกเข้าพงไป     เอาเป็นว่าขอจำกัดแค่ราชวงศ์สจ๊วตก็พอ


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 มี.ค. 06, 11:19
 เจ้าฟ้าชายเจมส์ ฟรานซิส เอ็ดเวิร์ด สจ๊วต ลี้ภัยออกจากอังกฤษพร้อมพระบิดาและพระมารดา ตั้งแต่แบเบาะ  
ไปโตเป็นหนุ่มอยู่ในฝรั่งเศส    พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงโอ๋เจ้าชายพลัดถิ่นอย่างดียิ่ง  ไม่เหมือนสมัยพระเจ้าชาร์ลส์ที่๒ ที่ต้องตกระกำลำบาก เป็นเจ้าไม่มีศาลอยู่ตั้งสิบปี
เพราะพระเจ้าหลุยส์เองก็หวังว่าถ้าพระเจ้าเจมส์หรือเจ้าฟ้าชายกลับไปครองบัลลังก์ได้   ฝรั่งเศสก็จะได้ราชาคาทอลิคเป็นพันธมิตรสำคัญ

เมื่อพระเจ้าเจมส์ที่ ๒ สิ้นพระชนม์ในค.ศ. ๑๗๐๑  พวกผู้สนับสนุนพระเจ้าเจมส์ก็ยกเจ้าฟ้าชายวัย ๑๓ ขวบขึ้นเป็นพระเจ้าเจมส์ที่ ๓ แห่งอังกฤษ และเจมส์ที่ ๘ แห่งสกอตแลนด์  ทั้งที่ยังไร้บัลลังก์จะครอง

เจ็ดปีต่อมา เมื่อราชบัลลังก์อังกฤษอยู่ในมือของพระราชินีแอนน์  พระราชาหนุ่มน้อยพระชนม์ได้ ๒๐ เพิ่งหายจากประชวรหัด  ก็ตกลงพระทัยยกพลฝรั่งเศสที่พระเจ้าหลุยส์ประทานมา ลงเรือไปทวงสิทธิ์ของพระองค์จากพระพี่นาง
แต่ยังไม่ทันจะขึ้นฝั่ง ก็เผชิญเข้ากับทัพเรืออังกฤษเสียก่อน  


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: OrThoMorPheUs! ที่ 03 มี.ค. 06, 19:49
 ขอถามนอกเรื่องหน่อยได้มั้ยครับ ผมเพิ่งเข้ามาในหมวดนี้เลยอยากรู้ว่าคุณ เทาชมพูและคุณนิลกังขาเป็นอาจารย์รึป่าว มีความรู้มากทั้งคู่เลย บอกหน่อยนะครับ


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: Nuchana ที่ 03 มี.ค. 06, 20:03
 ตอบ คห 44
 http://www.vcharkarn.com/include/vcafe/showkratoo.php?Cid=130&Pid=28117

คุณพระนิลอยู่บัวแก้วมังคะ แต่ความรู้แพรวพราวเหลือเกิน คาดว่าจะพบตัวจริงวันที่ 5 มีนาคม
ที่ชาวเรือนไทยจะมีตติ้งสังสรรค์ แล้วจะเล่าให้ฟังค่ะ


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 03 มี.ค. 06, 21:24
 เข้ามาตามไล่อ่านกระทู้ครับอาจารย์
กว่าจะสอบเสร็จได้ เหงื่อตกน่าดู

วันนี้มีทั้งสอบ ทั้งส่งงาน ทั้งนำเสนองานหน้าห้อง รวมกัน 5 อย่าง
ไม่ต้องไปไกลถึงเชียงใหม่นิสิตทั้งคณะก็เดินกันว่อนเป็นแพนด้าซะแล้วล่ะครับ


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เฟื่องแก้ว ที่ 03 มี.ค. 06, 22:47
อยากเห็นบรรยากาศมีทติ้งด้วยคนค่ะ คงสนุกมากๆ เลยนะคะ
อุ่นเครื่องไว้ในหลาย ๆ กระทู้แล้ว อิจฉาจังค่ะ อาจารย์
(แต่คงไม่กล้าไปเองค่ะ ยังอายอยู่ แหะๆ)

คุณออโถ ฯ ดิฉันนับถือผู้รู้ในวิชาการ ฯ เป็นครูเป็นอาจารย์ผู้ให้ความรู้ทุกท่านเลยนะคะ
แน่นอนโดยเฉพาะอาจารย์เทาชมพู และคุณพระนิล ฯ
นอกจากมีความรู้กว้างขวางแล้ว ยังเล่าเรื่องสนุกด้วยซีคะ

คุณติบอ เรียนอะไรคะ ทำไมทั้งคณะมีแต่แพนด้า
คงน่ารักนะคะ อย่างนี้ ไม่ต้องสั่งมาจากจีนอีกแล้ว
อยากเห็นแพนด้า กรุณาแจ้งติบอ อิอิ
.
.


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มี.ค. 06, 12:41
 ตอบคุณ  OrThoMorPheUs
คุณนกข.เป็นข้าราชการประจำ รับเชิญไปบรรยายในมหาวิทยาลัยบ้างเป็นครั้งคราว
ส่วนดิฉันมีหลายอาชีพค่ะ  เอาแน่ไม่ได้
***********************
มาต่อจากเมื่อวานนะคะ
ทัพเรืออังกฤษซึ่งเหนือกว่าทั้งชั้นเชิงและกำลัง  ก็รุกไล่เรือฝรั่งเศสจนต้องถอยกลับไป    พระราชาหนุ่มไม่มีโอกาสแม้แต่จะเหยียบแผ่นดินพ่อ
ศึกสายเลือดครั้งนี้ก็จบลงเพียงแค่ในทะเลนอกชายฝั่ง     อังกฤษแทบไม่กระทบกระเทือนแต่อย่างใด

ก่อนหน้านี้   จะว่าพระราชินีนาถแอนน์และรัฐสภาอังกฤษใจไม้ไส้ระกำกับพระราชาตัวจริงก็ไม่เชิงนัก   ต้องให้เครดิตไว้ ณ ที่นี้ว่าทางอังกฤษลาดพรมกำมะหยี่รับพระเจ้าเจมส์ที่ ๓ นี้อยู่เหมือนกัน
เพราะต่างก็เล็งเห็นว่าแอนน์ไม่มีพระโอรสธิดา    ถ้าสิ้นพระชนม์เมื่อไรพระเจ้าเจมส์ในฐานะน้องชายคนละแม่  สายเลือดใกล้ชิดที่สุดก็ควรกลับมารับบัลลังก์ต่อไปได้เลย

แต่...มีคำว่า "แต่" ตัวโตเสียด้วย

แต่พระเจ้าเจมส์ที่ ๓ จะต้องเปลี่ยนนิกายศาสนามานับถือโปรแตสแตนท์เช่นเดียวกับชาวอังกฤษส่วนใหญ่
เงื่อนไขอันนี้  พระเจ้าเจมส์ที่ ๓ ปฏิเสธเด็ดขาด

เมื่อพระราชินีนาถสิ้นพระชนม์ลงจริงๆ   มงกุฎก็เลยเปลี่ยนมือไปสู่พระญาติห่างๆ แต่ว่าสายเลือดใกล้ที่สุดเท่าที่จะหาได้ คือเจ้านายเยอรมันราชวงศ์ฮันโนเวอร์ ที่พูดอังกฤษไม่ได้สักคำ
คือองค์ในภาพนี้ค่ะ


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มี.ค. 06, 12:46
 ปณิธานด้านศาสนาของพระราชาพลัดถิ่นนับว่ามั่นคงน่าสรรเสริญ อย่างน้อยก็ไม่หักหาญจิตใจพันธมิตรใหญ่คือพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔  และพระสันตปาปาแห่งโรมที่อุดหนุนจุนเจือมาตลอด   แต่ในทางการเมืองแล้วกลับตาลปัตรเป็นผลร้ายกับพระองค์  

เพราะการเมืองเปรียบได้กับกังหันต้องลมหมุนวน  ไม่รู้กี่หนต่อวัน    นโยบายที่เห็นว่าดีงามถูกต้องที่สุดในวันนี้อาจพลิกผันเป็นเลวที่สุดในวันพรุ่งนี้     ศัตรูที่แยกเขี้ยวเล่นงานกันชนิดไม่เผาผีอาจจะจับมือกลายเป็นมิตรกันด้วยดี   อะไรที่เป็นไปไม่ได้ก็เป็นไปได้ทั้งนั้นในด้านการเมือง

นักการเมืองที่ช่ำชองอย่างพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๒ ย่อมเรียนรู้ข้อนี้ดี  ถึงได้ทรงเอาตัวและประเทศรอดมาได้จนตลอดรัชกาล   ไม่เพลี่ยงพล้ำเสียทีใคร  
แต่ว่าพระเจ้าเจมส์ที่ ๒ พระอนุชาและหลานเธออย่างพระราชาหนุ่ม  ที่ประวัติศาสตร์ขนานนามให้ภายหลังว่า The Old Pretender หมุนตามลมไม่ทัน


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มี.ค. 06, 12:55
 เมื่อถึงปี ๑๗๑๔  เป็นปีที่ราชบัลลังก์อังกฤษเปลี่ยนไปสู่มือเจ้านายเยอรมัน   ในปีนั้น  ฝรั่งเศสแพ้สงคราม ต้องจำยอมทำสนธิสัญญาประนีประนอมกับอังกฤษ    
ข้อตกลงข้อหนึ่งที่เป็นการมัดมือชกพระเจ้าหลุยส์คือพระองค์ต้องเนรเทศพระเจ้าเจมส์ที่ ๓ ออกจากฝรั่งเศส ไม่ให้การสนับสนุนอีก

เมื่อสถานการณ์ชักคับขัน   ขบวนการผู้สนับสนุนพระราชาอังกฤษสายพระเจ้าเจมส์ ที่มีชื่อเรียกเฉพาะว่า "พวกจาโคไบท์" ก็แสวงหาขุมกำลังใหม่ที่จะช่วยเกื้อหนุนให้พระราชาของพวกเขาได้กำลังไปทำศึกกับพระเจ้าจอร์ชที่ ๑ จากฮันโนเวอร์ที่เสด็จมาครองอังกฤษ    คือเล็งไปที่สกอตแลนด์  ถิ่นเดิมของราชวงศ์สจ๊วต
พระเจ้าเจมส์ที่ ๓ ก็เสด็จออกจากฝรั่งเศสไปที่นั่น

สกอตแลนด์แบ่งเป็น clan เยอะแยะ  จะเรียกว่าเผ่าก็จะฟังเหมือนอินเดียนแดงไป   คือพวกนี้มาจากตระกูลต่างๆในสกอตแลนด์ที่รวมกันอยู่กับประมุข   ดูไปก็คล้ายกับในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นที่มีปราสาทนั้นปราสาทนี้ของขุนนางตระกูลต่างๆอยู่เหมือนกัน

พวกจาโคไบท์พยายามรวบรวมหัวหน้า clan  ต่างๆในสกอตแลนด์ ก่อกบฎ  เพื่อรวมรวมพลเข้าด้วยกันเป็นหมวดหมู่เดียว  เป็นกองทัพให้พระราชา
แต่ก็ล้มเหลว ทำไม่สำเร็จ     พระเจ้าเจมส์ก็จำต้องต้องบ่ายหน้าจากสกอตแลนด์กลับไปฝรั่งเศสอีกครั้ง


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มี.ค. 06, 09:02
 การกลับไปฝรั่งเศสอย่างผู้ปราชัยในครั้งนี้  ชะตากรรมที่รอคอยอยู่ยิ่งเลวร้าย   เพราะพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔  สุริยราชันย์ผู้ยิ่งใหญ่ได้ดับแสงสิ้นรัชกาลลงไปแล้ว    
รัฐบาลของฝรั่งเศสรังเกียจพระราชาไร้บัลลังก์  ไม่ประสงค์จะรับไว้เป็นภาระ เพราะมีแต่เสีย ไม่มีได้ประโยชน์อะไรขึ้นมาสักอย่าง  จึงบีบให้พระเจ้าเจมส์ที่ ๓ ออกไปจากอาณาจักร
แต่ในเมื่อพระองค์เป็นคาทอลิค    สันตปาปาแห่งโรมจึงอ้าแขนต้อนรับด้วยดี      เจมส์ ฟรานซิส เอ็ดเวิร์ด สจ๊วต หรือพระเจ้าเจมส์ที่ ๓ เสด็จไปพำนักอยู่ที่โรมจนสิ้นอายุขัย
แต่ศึกสายเลือดก็ยังไม่จบอยู่ดี


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มี.ค. 06, 09:10
 เมื่ออายุ ๓๑  พระเจ้าเจมส์ที่ ๓ เสกสมรสกับเจ้าหญิงเชื้อสายกษัตริย์โปแลนด์ชื่อเจ้าหญิงมาเรีย  คลีเมนตินา   มีโอรสด้วยกัน ๒ องค์คือชาร์ลส์ ฟรานซิส สจ๊วต และเฮนรี่ เบเนดิค สจ๊วต
เจ้าชายองค์เล็กเมื่อโตขึ้นก็บวชเป็นพระคาร์ดินัล   ไม่มีบทบาททางการเมืองอีกนอกจากเป็นผู้สนับสนุนด้านการเงินและที่อยู่ให้พี่ชาย
ส่วนเจ้าชายองค์ใหญ่  ผู้ซึ่งต่อมาโลกรู้จักในนาม Bonnie Prince Charlie  เป็นภาษาสก๊อต แปลว่า"เจ้าชายชาร์ลส์รูปงาม"

Bonnie Prince Charlie เป็นบุคคลหนึ่งที่แม้ไม่ได้สวมมงกุฏกษัตริย์  แต่ก็มีชื่อเสียงเลื่องลือในประวัติศาสตร์ วรรณคดีและเพลงพื้นบ้าน  ยิ่งกว่ากษัตริย์อังกฤษอีกไม่รู้ว่ากี่องค์

ว่ากันว่าพระองค์เกิดมารูปหล่อจริงๆ    นอกจากสง่างามแล้วยังมีเสน่ห์และบุคลิกอันน่าประทับใจแก่ผู้พบเห็น      ราวกับเจ้าชายในเทพนิยาย  
ทำให้ขบวนการจาโคไบท์เกิดความหวังขึ้นมาอีกครั้งว่าจะเจ้าชายสามารถสานต่องานที่พระบิดาทรงล้มเหลวมาแล้ว  


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มี.ค. 06, 09:19
 พระราชาไร้บัลลังก์นั้นเมื่อพระชนม์มากขึ้นก็ยิ่งหมดสภาพที่จะกลับไปกอบกู้ราชบัลลังก์คืนมา  
ทรงกลายเป็นคนอารมณ์ร้ายชอบทะเลาะวิวาทกับคนอื่นๆแม้แต่ลูกเมีย    เป็นผลจากความระทมขมขื่นในความล้มเหลว  
ทรงเจ็บปวดที่ใครต่อใครตั้งสมญาพระองค์ว่า Mr. Misfortune หรือเรียกอย่างชาวบ้านก็คงเป็น "ท่านโคตรซวย"
อารมณ์ขึ้นๆลงๆนี้ก็ติดตัวไปจนตลอดพระชนม์ชีพ  แต่ก็ไม่ย่อท้ออยู่เรื่องหนึ่งคือความฝันที่จะกลับไปครองอังกฤษได้อีกครั้ง

สภาพแวดล้อมนับว่าเป็นใจให้เจ้าชายชาลี   สันตปาปาแห่งกรุงโรมให้การอุปถัมภ์เจ้าชายด้วยดี    ทรงเติบโตขึ้นมาแบบเจ้าชายทุกกระเบียดนิ้ว  
ส่วนประเทศอื่นๆที่นับถือคาทอลิคก็เล็งว่าบอนนี่ ปรินซ์ ชาร์ลี เหมาะสมจะกลับคืนสู่บัลลังก์อังกฤษอีกครั้ง   ถ้าหากว่าทำได้  พวกนี้ก็จะได้อังกฤษเป็นพันธมิตรที่ยิ่งใหญ่ของตน  
และนอกจากนี้หลายประเทศก็ไม่ชอบเจ้าเยอรมันที่ส้มหล่นได้ครองอังกฤษอีกด้วย

เจ้าชายถูกปลูกฝังให้ถือว่าหน้าที่และภารกิจสำคัญคือนำราชบัลลังก์อังกฤษกลับคืนมา    พระบิดาทรงส่งพระโอรสไปรับการฝึกหัดอย่างทหารตั้งแต่พระชนม์ยังน้อยๆ
เมื่อเจริญวัยขึ้นเป็นหนุ่ม เจ้าชายก็เป็นนายทหารที่มีฝีมือคนหนึ่งเสียด้วย

พระเจ้าเจมส์ที่ ๓ ทรงลอบติดต่อกับฝรั่งเศส(ซึ่งกังหันหมุนกลับมาให้การสนับสนุนพระราชาราชวงศ์สจ๊วตอีกครั้ง) ให้พระโอรสได้เข้าไปเป็นผู้บังคับบัญชากองทหารหน่วยรบนอกประเทศของฝรั่งเศส   เพื่อจะยกทัพไปรุกรานอังกฤษโดยเฉพาะ


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: OrThoMorPheUs! ที่ 07 มี.ค. 06, 19:49
 ข้อยซื่อ"ออร์โธฯ" บ่ไซ่"ออโถ"ดอก


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มี.ค. 06, 09:54
 ทางด้านอังกฤษ  ราชวงศ์ฮันโนเวอร์ที่เข้ามาครองบัลลังก์ก็ใช่ว่าจะผาสุกนัก  
ราชาเยอรมันคือพระเจ้าจอร์ชที่ ๑ ตรัสภาษาอังกฤษไม่ได้    ทรงขลุกขลักไปเสียเกือบทุกเรื่องแม้แต่จะสั่งการมหาดเล็กในวัง    
ผลคือข้าราชสำนักอังกฤษแอบพากันหัวเราะเยาะลับหลัง ไม่ค่อยจะยำเกรงเจ้าเหนือหัว เพราะเห็นว่าเป็นไทต่างด้าวท้าวต่างแดน

ส่วนการบริหารบ้านเมืองก็ต้องทรงพึ่งเซอร์โรเบิร์ต  วอลโพล อัครมหาเสนาบดีให้เป็นผู้พิจารณาตัดสินในเรื่องสำคัญๆ
เพราะพระองค์ไม่มีความรู้ความเข้าใจถึงความเป็นอยู่ในอาณาจักรอังกฤษ

รวมความแล้วอำนาจก็ไม่ค่อยจะอยู่ในพระหัตถ์กี่มากน้อย     ส่วนใหญ่ก็เลยไม่ค่อยจะเสด็จมาอยู่ในอังกฤษ แต่ประทับอยู่ในถิ่นเดิมที่เยอรมัน ที่พระองค์ปลอดโปร่งโล่งพระทัยมากกว่า    

ในสมัยนี้จึงเป็นสมัยแรกที่อำนาจของรัฐสภาและคณะเสนาบดีโดยมีอัครมหาเสนาบดีเป็นประธาน  เริ่มฟอร์มตัวได้แข็งแกร่งในการบริหารประเทศ  
โดยที่พระราชาเป็นฝ่ายโอนอ่อน   รัฐสภาจึงไม่ต้องพึ่งหรือขัดแย้งกับกษัตริย์อย่างเมื่อก่อน


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มี.ค. 06, 10:06
 พระเจ้าจอร์ชนั่งบัลลังก์อยู่ ๑๓ ปีจนถึงปี ๑๗๒๗  ตอนนั้นบอนนี่ปรินซ์ชาร์ลีอายุได้ ๗ ขวบ   พระองค์ก็สิ้นพระชนม์

พระโอรสจากราชวงศ์ฮันโนเวอร์ทรงพระนามว่าพระเจ้าจอร์ชที่ ๒ ขึ้นครองอังกฤษสืบต่อจากพระบิดา  
ด้วยพระชนม์ ๓๐ พระเจ้าจอร์ชองค์ใหม่ยังหนุ่มแน่นพอจะเรียนรู้วัฒนธรรมความเป็นอยู่ของอังกฤษได้เก่งกว่าพระบิดา      
จวนๆจะกลายเป็นอังกฤษได้องค์หนึ่งทีเดียว แต่ก็ยังต้องทรงพึ่งพาเซอร์โรเบิร์ตเรื่องการบริหารกิจการบ้านเมืองอยู่ดี

โดยนิสัยส่วนตัว  พระเจ้าจอร์ชที่ ๒ โปรดด้านการทหาร   ทรงนำการรบลงสมรภูมิเองในสงครามกับฝรั่งเศส  
มีกองกำลังของอังกฤษ ฮันโนเวอร์และออสเตรียนผนึกกำลังกันแข็งแกร่งอยู่ฝ่ายหนึ่ง   และฝรั่งเศสอยู่อีกฝ่ายหนึ่ง  
รบกันในเยอรมนี  ที่เดททิงเง่น   ฝรั่งเศสก็เป็นฝ่ายปราชัย

ข้อนี้ทำให้อำนาจของอังกฤษเมื่อผนึกเข้ากับเยอรมันกลายเป็นทีประหวั่นของประเทศคาธอลิคอื่นๆ  เพราะเท่ากับดุลย์แห่งอำนาจในยุโรปตะแคงมาที่อังกฤษมากกว่าที่ควรเป็น
ฝรั่งเศสจึงหันกลับมาปั้นเจ้าชายราชวงศ์สจ๊วตให้ขึ้นสู่บัลลังก์อีกครั้ง  เพื่อจะให้คะแนนอำนาจกลับมาทางคาทอลิค

เป็นความเคราะห์ร้ายของบอนนี่ปรินซ์ชาร์ลี ที่ภารกิจสืบทอดจากพระบิดา มาประจวบเข้ากับรัชสมัยของสิงห์ลำพองจากฮันโนเวอร์
เจ้าชายก็เลยเหมือนกวางหนุ่ม แม้ว่ามีเขางดงาม   แต่กวางก็ต้องมาสู้กับสิงโต

ภาพนี้คือการรบที่เดททิงเง่น พระเจ้าจอร์ชที่ ๒ เข้าทำศึกด้วยองค์เอง


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มี.ค. 06, 12:09


   ทางฝรั่งเศสวางแผนจะส่งกำลังทัพเรือ นำโดยบอนนี่ ปรินซ์ ชาร์ลีเข้าโจมตีอังกฤษ   แต่แผนนี้ก็ล้มเหลวไปตั้งแต่ยังไม่ทันจะลงมือด้วยซ้ำ  

เพราะทัพเรือของอังกฤษในตอนนั้นแข็งแกร่งมาก  ยากจะเอาชนะ    

สเปนที่มีกองทัพเรือ 'สแปนิช อาร์มาด้า' ที่โด่งดังในอดีตก็ไม่สามารถส่งมาช่วยได้  เพราะอากาศเกิดเลวร้ายขึ้นมาในช่วงนั้น   ฝรั่งเศสก็เลยเลิกล้มแผนนี้



เจ้าชายมีขัตติยมานะพอจะไม่ยอมท้อถอยง่ายๆ   เมื่อฝรั่งเศสไม่ช่วย พระองค์ พร้อมด้วยผู้ติดตามไม่กี่คน ก็ออกจากฝรั่งเศส บ่ายหน้าไปที่สกอตแลนด์เพื่อขอความช่วยเหลือจากหัวหน้าตระกูลต่างๆที่ยังภักดีต่อราชวงศ์สจ๊วต

ตอนนั้นเจ้าชายมีพระชนม์ได้ ๒๕ ปี  


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มี.ค. 06, 12:15

กองกำลังสก๊อตรวมตัวกันช่วยเจ้าชายอย่างแข็งขัน   พระองค์ยึดเอดินบะระได้   แล้วข้ามมาถึงชายแดนอังกฤษ  
ทัพสก๊อตขนาดย่อมๆ สามารถรบชนะทหารอังกฤษที่ เพรสตันแพนส์(Prestonpans) แล้วรุกต่อมาได้ถึงเมืองดาร์บี้  ขวัญและกำลังใจของทัพสก๊อตดีขึ้นเป็นลำดับ
มีผู้มาสมทบในทัพจนเพิ่มจาก ๑๐๐๐กว่าคน ในตอนแรกเป็น ๗๐๐๐ กว่า

ในตอนนั้นเองทัพหลวงของอังกฤษนำโดยพระโอรสของพระเจ้าจอร์ชที่ ๒ คือดยุคแห่งคัมเบอร์แลนด์  ผู้มีสมญาว่า "นักเชือด" ก็ยกพลที่เหนือกว่าทั้งด้านกำลังคน คือ ๘๐๐๐ คน และอาวุธครบมือ ไปปะทะก่อนที่ทัพเจ้าชายจะรุกคืบหน้ามามากกว่านั้น  
สมรภูมินองเลือดที่คัลโลเดน (Culloden) ใกล้อินเวอร์เนสก็เกิดขึ้น    ว่ากันว่าเป็นศึกนองเลือดครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์อังกฤษ


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มี.ค. 06, 12:18

กองทัพอังกฤษบดขยี้ทัพสก๊อตไม่ปรานีปราศรัย     ฝ่ายชาวสก๊อตที่ภักดีต่อเจ้าชายต้องเอาชีวิตมาสังเวยนับเป็นพันๆคน  เป็นจุดจบของขบวนการจาโคไบท์นับแต่นั้น

ชัยชนะที่บอนนี่ปรินซ์ชาร์ลีมองเห็นแค่เอื้อมหากว่าไปถึงลอนดอนได้  พลิกผันเป็นตรงกันข้ามภายในไม่กี่ชั่วโมง   พระองค์ต้องหนีเอาตัวรอดเช่นเดียวกับพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๒ ทรงเคยทำมาแล้ว    

ในการหนีกลับไปซุ่มซ่อนตัวอยู่ตามเกาะต่างๆในสกอตแลนด์ถึง ๕ เดือนนี่เอง  เป็นที่มาของเพลงพื้นบ้านกล่อมเด็กของสกอตแลนด์ซึ่งตรึงใจผู้คนต่อมาอีกนานหลายร้อยปี  
(แต่งขึ้นมาหลังเหตุการณ์นี้นานพอใช้  ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง) คุณ paganini อาจจะเคยได้ยินมาบ้าง
ชื่อ The Skye Boat Song  เป็นเพลงที่กล่าวถึงเจ้าชายระหว่างหลบหนีไปที่เกาะสกายในสกอตแลนด์ หลังจากศึกคัลโลเดนที่ชาวสก๊อตเอาชีวิตมาถมสมรภูมิอังกฤษเสียมากมาย  

เนื้อเพลงและทำนองเศร้าแต่สง่างาม   สรรเสริญพระเกียรติยศของเจ้าชายผู้มีรูปโฉมและชาติกำเนิดดุจเจ้าชายในเทพนิยาย   แต่ว่าต้องพบกับชีวิตจริงที่แสนโศกสลด


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มี.ค. 06, 12:55



ขอนำเนื้อเพลง The Skye Boat Songมาลงไว้ ณ ที่นี้ค่ะ

ทำนองฟังได้ที่เว็บนี้


 http://chrsouchon.free.fr/skyeboat.htm



Speed bonnie boat like a bird on the wing

"Onward"  the sailors cry

Carry the lad that's born to be king

Over the sea to Skye



Loud the wind howls, loud the waves roar,

Thunderclaps rend the air

Baffled our foes, stand by the shore

Follow they will not dare



Many's the lad fought on that day

Well the claymore did wield

When the night came, silently lain

Dead on Culloden field



Though the waves heave, soft will ye sleep

Ocean's a royal bed

Rocked in the deep, Flora will keep

Watch by your weary head



Burned are our homes, exile and death

Scatter the loyal men

Yet e'er the sword cool in the sheath

Charlie will come again.



ทางอังกฤษตั้งค่าหัวเจ้าชาย ไว้อย่างมหาศาลถึง ๓๐,๐๐๐ ปอนด์สำหรับคนนำจับ   มากพอที่จะทำให้ชาวนาจนๆกลายเป็นเศรษฐีได้ทันที   แต่พวกสก๊อตที่ช่วยเหลือเจ้าชาย ต่างยึดมั่นว่าพระองค์คือเจ้าเหนือหัวของพวกเขา ก็ซื่อสัตย์ไม่ยอมขายนายจนแล้วจนรอด



มีโรมานซ์น่ารักเหมือนนวนิยายแทรกอยู่เรื่องหนึ่งในตอนนี้  คือเรื่องของสาวน้อยฟลอร่า แม็คโดนัลด์กับบอนนี่ปรินซ์ชาร์ลี

ขอตัวไปเรียบเรียงก่อนนะคะ


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 มี.ค. 06, 10:23
 เรื่องราวของสาวน้อยฟลอร่าและเจ้าชาย มีรายละเอียดแตกต่างกันไปเป็นหลายสำนวน    แต่ถ้าจะให้เล่าแบบมีสีสันโรแมนติคหน่อยก็จะได้แบบนี้ละค่ะ

ชาวสก๊อตในยุคที่บอนนี่ปรินซ์ชาร์ลีพยายามกอบกู้บัลลังก์กลับคืนมา อาจแบ่งได้เป็น ๓ กลุ่มใหญ่ๆ คือ

-พวกที่จงรักภักดียอมตายถวายชีวิตให้สายเลือดราชวงศ์สจ๊วต เพราะถือว่านี่คือพระเจ้าแผ่นดินองค์แท้จริงตามที่สวรรค์ทรงประทานมา ด้วยชาติกำเนิดของพระองค์
-พวกที่เห็นว่ายังไงบอนนี่ปรินซ์ชาร์ลีก็ไม่มีทางสู้ราชวงศ์ฮันโนเวอร์ที่ครอบครองอังกฤษมายาวนานร่วม ๓๐ ปีเข้าไปแล้ว  
นอกจากนี้เจ้านายฮันโนเวอร์ก็ไม่ได้รังแกพวกสก๊อตแต่อย่างใด   ปล่อยให้อยู่กันอย่างสงบ  สมัครเข้ารับราชการกับอังกฤษก็ได้ไม่มีปัญหา  
พวกเขายอมอ่อนน้อมศิโรราบต่อเจ้านายใหม่เพื่อการอยู่รอดเห็นจะดีกว่า
-พวกที่สามคือพวกอยู่เฉยๆ  ไม่ได้ไยดีอะไรนักกับจาโคไบท์ที่พยายามจะผลักดันราชวงศ์สจ๊วตกลับไปครองอังกฤษ  
แต่พวกนี้ก็ไม่ใจเหี้ยมพอจะส่งเจ้าชายผู้หลบหนีเอาชีวิตรอดกลับไปให้ศัตรู  เพราะยังยึดถือเมตตาธรรมอยู่มาก และเห็นใจเจ้าชายเชื้อสายสก๊อตด้วยกัน

หนึ่งในชาวสก๊อตที่สังกัดกลุ่มที่ ๓ คือสาวน้อยฟลอร่า แม็คโดนัลด์  เกิดเมื่อ ค.ศ. ๑๙๒๕ อ่อนกว่าเจ้าชาย ๕ ปี  เธอเป็นลูกสาวบุญธรรมของผู้บังคับการทหารสังกัดกองทัพอังกฤษ ที่เมืองเบนบีคิวล่า  เธอมีคู่หมั้นแล้วเป็นนายทหารสก๊อตในกองทัพอังกฤษเช่นกัน

ในช่วงที่บอนนี่ปรินซ์ชาร์ลีหนีระหกระเหินนอนกลางดินกินกลางทราย หลบซ่อนอยู่ในที่ทุรกันดาร แทบเอาชีวิตไม่รอดท่ามกลางทหารอังกฤษที่ตามล่าเหยื่อเหมือนหมาล่าเนื้อ    ญาติคนหนึ่งของฟลอร่าพยายามให้ความช่วยเหลือเจ้าชาย โดยติดต่อหญิงสาวขอให้ช่วยพาเจ้าชายหนี  


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 มี.ค. 06, 10:26
 เพราะดูๆแล้ว ไม่มีใครน่าไว้ใจเท่าเธอ ในด้านความฉลาดปราดเปรียวและเก่งกล้า  
นอกจากนี้ความเป็นลูกสาวบุญธรรมของนายทหารใหญ่ ก็อาจจะแนบเนียนรอดสายตาทหารอังกฤษไปได้โดยไม่มีใครสงสัย
หน้าที่ของฟลอร่าคือลักลอบพาเจ้าชายออกจากเกาะเบนบีคิวล่า ไปที่เกาะสกาย เพื่อจะหาเรือโดยสารกลับไปฝรั่งเศส  ญาติของเธอกลัวว่าถ้าทหารอังกฤษมาพบเจ้าชายที่นี่ละก็  เป็นเดือดร้อนกันไปทั้งถิ่น  
ดีไม่ดีจะโดนแขวนคอกันระนาว

ในตอนแรกฟลอร่าปฏิเสธไม่อยากจะหาเรื่องใส่ตัว    แต่เมื่อเจ้าชายปรากฏกายขึ้น  
เธอตื่นตะลึงกับความงามสง่าเหมือนเจ้าชายในเทพนิยาย
เจ้าชายทรงปฏิบัติต่อเธออย่างสุภาพบุรุษ น้อมองค์ลงจุมพิตมือหญิงสาว  
ก็ก่อความประทับใจอย่างแรงกล้าให้ฟลอร่า
จนเธอตัดสินใจได้ว่าจะยอมเสี่ยงชีวิตช่วยพาพระองค์หนีไปให้ได้  


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 มี.ค. 06, 10:31
 บอนนี่ปรินซ์ชาร์ลีหลบซ่อนอยู่ ๑ สัปดาห์ในบ้านของฟลอร่ารอจังหวะจะหนีภัย    
ใน ๑ สัปดาห์ที่ทรงพบปะหญิงสาว  ทั้งที่ต้องเสี่ยงอันตรายอยู่ทุกขณะ  ความรักแรกพบก็ได้เบ่งบานขึ้นสำหรับคนทั้งสอง  
แม้ยังมองไม่เห็นหนทางเป็นไปได้ที่จะลงเอยด้วยกันก็ตาม

เรื่องน่าใจหายใจคว่ำเกิดขึ้น  เมื่อนายพลแคมป์เบลของอังกฤษข้ามมาที่เมืองเบนบีคิวล่าเพื่อจะตามล่าตัวเจ้าชาย    
แต่ท่านนายพลอาจจะคว้าน้ำเหลวมาแล้วหลายแห่งจนเบื่อหน่ายเต็มที   ก็เลยคิดว่ามาที่นี่ก็คงเหมือนๆอีกหลายที่  ที่มีแต่ข่าวโคมลอย
หรือจริงๆแล้วท่านนายพลเองก็อาจจะไม่อยากจับลูกหลานของเจ้านายเก่าไปขึ้นศาลพิพากษาโทษ  ซึ่งแน่นอนว่าต้องประหารลูกเดียว
ก็เลยไม่สนใจเบาะแสที่นักเทศน์โปรแตสแตนท์คนหนึ่งแจ้งมา  
ทำให้พลาดเรื่องเจ้าชายไปอย่างฉิวเฉียด


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 10 มี.ค. 06, 11:37
ผมเคยไปที่สมรภูมิ Culloden ด้วยครับ อยู่ใกล้ๆกับ Inverness เมืองท่องเที่ยวสำคัญใน Highland ครับ คนสก็อตจะบอกว่าสมรภูมินี้ไม่ใช่การรบแต่เป็นการสังหารหมู่ชาวสก็อต ที่สั่งการโดยผู้นำทัพอังกฤษคือ  Duke of Cumberland

 http://www.undiscoveredscotland.co.uk/inverness/culloden/

นึกแล้วก็สงสารพวกสก็อตเพราะถูกอังกฤษข่มเหงมาตลอด ใครที่ดูหนัง Brave hearth คงจะนึกภาพออก
เรื่องนั้นเกิดขึ้น 500 ปีก่อนสมรภูมิที่ Culloden ในสมัยนั้น King Edward ที่หนึ่ง (Longshanks) มีความคิดติดหัวว่า "The trouble with Scotland is that it is full of Scots" เลยสังหารโหดไปซะเยอะ ห้าร้อยปีผ่านไป Duke of Cumberland ก็คิดแบบเดียวกัน

ที่แย่กว่านั้นคือในสมรภูมิ Culloden ทหารที่สังหารพวกจาโคไบต์ก็เป็นพวกสก็อตด้วยกันเองนั่นแหละ ชาวสก็อตที่อยู่ฝ่ายตรงข้างกับเจ้าชายรูปงามมีมากกว่าชาวสก็อตที่ยืนเคียงข้างพระองค์ ช่างน่าเศร้าจริงๆ


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 มี.ค. 06, 12:14
 เข้าไปอ่านในเว็บที่คุณจ้อลิ้งค์ให้    น่าสงสารเจ้าชายจริงๆ  
เขาว่า...ถ้าเพียงแต่ทัพสก๊อตไม่รวนเร  บรรดาหัวหน้านายกองอยากถอยกลับเสียกลางทางที่ดาร์บี้    แต่รุกหน้าต่อไปถึงลอนดอน
ก็จะได้ทัพเวลส์ มาช่วย  ลอนดอนก็ระส่ำระสายเต็มที
เจ้าชายก็คงชนะได้ขึ้นครองอังกฤษ  ประวัติศาสตร์ก็คงเปลี่ยนไปอีกแยะ

แต่มันก็เป็นเพียง....ถ้า...if  เท่านั้นเอง


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เฟื่องแก้ว ที่ 13 มี.ค. 06, 02:24
     เจ้าชายกับฟลอร่าจะลงเอยอย่างไรคะเนี่ย

ลุ้นค่ะ ลุ้น


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 มี.ค. 06, 08:21
 เล่าเรื่องต่อในวันจันทร์   วีคเอนด์ไปพักผ่อนกันที่ไหนบ้างคะ
***********************************
ฟลอร่าวางอุบายตบตา จับเจ้าชายแต่งตัวเป็นสาวใช้ประจำตัวของเธอ    ปลอมชื่อให้ใหม่ว่า "เบตตี้ เบิร์ก"
ในเมื่อเป็นธรรมเนียมว่าหญิงสาวฐานะดีย่อมมีบริวารติดหน้าตามหลังไปด้วยเวลาเดินทาง  
ก็ไม่มีใครเอาใจใส่หรือเฉลียวใจสงสัยหญิงรับใช้ร่างใหญ่แต่งตัวรุ่มร่าม ท่าทางเงอะงะที่ติดตามคุณหนูฟลอร่าออกจากเกาะข้ามไปที่เกาะสกาย
(ขอให้สังเกตว่าในเพลง Skye Boat Song มีชื่อฟลอร่าอยู่ด้วย)

เจ้าชายกับฟลอร่าข้ามไปถึงเกาะสกายได้อย่างปลอดภัย    ทั้งคู่พร้อมด้วยญาติของฟลอร่าอีก ๒ คน เดินทางระเหระหนต่อไปอีกหลายเกาะ  
ต้องนอนค้างอ้างแรมในกระท่อมตามทาง  รอดเงื้อมมือพวกทหารอังกฤษได้อย่างหวุดหวิด    จนมาถึงเกาะราเซย์  

ณ ที่นั้นมีเรือเล็กพาพระองค์ข้ามไปสู่เรือใหญ่ที่จะไปฝรั่งเศส ฟลอร่าก็จำต้องกล่าวคำอำลาเจ้าชายของเธอด้วยความโศกสลด    

เจ้าชายทรงถอดสร้อยพร้อมล็อกเก็ตพระรูป ที่ด้านในนั้นมีปอยพระเกศามอบให้เธอเป็นที่ระลึก ทรงกล่าวกับเธอเป็นคำสุดท้ายว่า
" เราจะได้พบกันอีกครั้งที่พระราชวังเซนต์เจมส์"

ทั้งนี้ เพราะพระองค์ยังมีความเชื่อมั่นว่าจะได้กลับไปครองบัลลังก์อังกฤษได้อีกครั้งในภายหน้า    
ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็จะทรงเชิญเธอไปที่พระราชวังที่ประทับ  ส่วนในฐานะอะไรเราก็คงพอเดากันได้ไม่ยาก

ฟลอร่าได้แต่ยืนมองอยู่ที่ชายฝั่งของเกาะสกาย  ขณะเรือเล็กพาเจ้าชายของเธอห่างออกไปทุกที    จนลับสายตา  
เธอไม่อาจรู้ว่าครั้งนั้นคือครั้งสุดท้ายที่เธอจะได้พบบอนนี่ ปรินซ์ ชาร์ลี  


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 มี.ค. 06, 08:23
 เมื่อกลับมาที่บ้านเดิม    แผนการณ์ช่วยเจ้าชายรั่วไหลออกไป   ฟลอร่าถูกจับส่งตัวขึ้นศาล   เธอถูกตัดสินลงโทษจำคุกที่หอคอยแห่งลอนดอน  
แต่ชื่อเสียงของฟลอร่าขจรขจายไปทั่วประเทศแล้วในตอนนั้น ทำให้รัฐบาลอังกฤษไม่กล้ารุนแรงกับเธอมากนัก  
เธอได้รับสิทธิพิเศษให้อยู่สะดวกสบายพอใช้ในหอคอย  มีบุคคลสำคัญไปเยี่ยมเยียนเสมอ  
เธอต้องโทษอยู่ไม่นาน   ปีต่อมาก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ  เป็นอิสระกลับไปบ้านเดิม  

แต่ฟลอร่าก็ยังไม่ได้แต่งงานกับคู่หมั้นในทันที  ต่อจากนั้นอีก ๓ ปี ถึงตกลงใจสมรสกับเขา  
เมื่อบิดาเลี้ยงถึงแก่กรรม เธอก็ได้ครอบครองคฤหาสน์ของตระกูลแม็คโดนัลด์   แต่ว่าบ้านใหญ่นั้นทรุดโทรมเกินกว่าจะฟื้นคืนสภาพได้อีกแล้ว


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 มี.ค. 06, 08:26
 ยี่สิบสี่ปีต่อมา ฟลอร่ากับสามีพร้อมกับลูกๆ ๗ คน อพยพไปอเมริกา  ตั้งหลักแหล่งทำไร่ไถนาอยู่ที่คาโรไลน่าเหนือ
เป็นเกษตรกรเจ้าของฟาร์มที่ประสบผลสำเร็จดี    จนกระทั่งสงครามประกาศอิสรภาพของอเมริกาปะทุขึ้นมา  

สามีของเธอสมัครเข้าเป็นกองกำลังข้างฝ่ายอังกฤษ  เขาถูกจับเป็นเชลยศึกและถูกเนรเทศไปที่โนวา สโคเทีย  (นิคมทางตะวันออกของแคนาดา)ในปี ๑๗๗๙  
สงครามทำให้เธอต้องสิ้นเนื้อประดาตัว    ฟลอร่าอพยพกลับไปที่เกาะสกายอีกครั้ง   สามีเดินทางมาสมทบกับเธอในภายหลัง

๑๑ ปีต่อมา ฟลอร่าถึงแก่กรรมเมื่ออายุได้ ๖๕ ปี ในค.ศ. ๑๗๙๐ บนเตียงที่บอนนี่ปรินซ์ชาร์ลีเคยบรรทม    
ว่ากันว่าร่างของเธอถูกห่อด้วยผ้าปูที่นอนที่เจ้าชายเคยบรรทม และเธอเก็บไว้อย่างดีไม่ให้ใครแตะต้องอีก  
เมื่อวางโลงลงในหลุมศพ  มีปอยพระเกศาของบอนนี่ปรินซ์ชาร์ลี-ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของเธอ  
วางแนบร่างติดตัวเธอไปสู่ปรโลกด้วย

หมายเหตุ:ล็อกเก็ตข้างบนนี้ไม่ใช่ของฟลอร่าค่ะ แต่เป็นล็อกเก็ตภาพของเจ้าชายเช่นกัน  


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 มี.ค. 06, 08:28

ชื่อเสียงของฟลอร่า แม็คโดนัลด์อยู่ลำดับต้นของวีรสตรีในหน้าประวัติศาสตร์ของสกอตแลนด์  
ชื่อของเธอยังเป็นที่ยกย่องอยู่จนทุกวันนี้  ปัจจุบันนี้หลุมศพของเธอที่สกายก็ยังเป็นที่ที่นักท่องเที่ยวแวะไปเยี่ยมเยียนอยู่เสมอ
มีอนุสาวรีย์ของเธอสร้างอยู่ตรงหน้าปราสาทอินเวอร์เนสด้วยค่ะ  โปรดดูภาพข้างบน


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ศรีปิงเวียง ที่ 13 มี.ค. 06, 16:43
 ชะตากรรมบอนนีชาร์ลส์จะเป็นอย่างไร ติดตามตอนต่อไปครับ......


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เฟื่องแก้ว ที่ 13 มี.ค. 06, 22:06

ฮืออออออออออออออออออ....

ชีวิตรักเศร้าหวานน้ำตาลเคล้าน้ำตาอีกแล้ว
สักวัน จะต้องไปเยี่ยมฟลอร่าที่สก๊อตแลนด์ให้ได้ค่ะ
อยากจะไปเกาะสกายด้วย

พูดถึงปรินซ์ชาร์ลีแล้ว พลอยให้นึกถึงเรื่องผู้หญิงเฟย์
อยากจะขอความกรุณาอาจารย์เล่าเรื่อง Fey Women
ถ้าหากไม่รบกวนจนเกินไปนะคะ ขอบพระคุณค่


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 มี.ค. 06, 07:55
ตอนท้ายของ "คู่กรรม" ฉบับสก๊อต   คุณเฟื่องแก้วคงจะต้องเสียน้ำตาเป็นโอ่ง
ดิฉันเตรียมผ้าเช็ดหน้าไว้ให้คุณเฟื่องแก้วหลายโหลแล้วละค่ะ
เพราะว่าชะตากรรมของเจ้าชายพระเอกของเรา น่าเศร้ายิ่งกว่าสาวน้อยฟลอร่าเสียอีก

พระองค์กลับไปถึงฝรั่งเศสได้โดยปลอดภัยก็จริง  แต่ใน ๓ ปีต่อมาก็ต้องถูกเนรเทศจากประเทศเพราะสนธิสัญญาอิกซ์-ลา-ชาแปล ระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส
ที่มีเงื่อนไขข้อหนึ่ง ว่าฝรั่งเศสจะต้องไม่ให้ที่พักพิงแก่เชื้อสายราชวงศ์สจ๊วตอีกต่อไป

พระองค์ทรงระเหเร่ร่อนไปอยู่หลายประเทศในยุโรปอย่างเจ้าไม่มีศาล   แต่ก็ไม่ทรงละทิ้งพระปณิธานเดิม  
เจ้าชายทรงลอบกลับมาที่ลอนดอนอย่างเงียบๆเมื่อพระชนม์ได้ ๓๐ และอีกครั้งเมื่อพระชนม์ ๓๔  
เพื่อจะหาพรรคพวกสนับสนุนในการขึ้นครองบัลลังก์ แต่ก็ล้มเหลวทั้งสองครั้ง    
อังกฤษได้เดินหน้าไปในไกลในสมัยราชวงศ์ฮันโนเวอร์เกินกว่าจะย้อนกลับมาสู่ราชวงศ์สจ๊วตได้อีก  โดยเฉพาะกับเจ้าชายที่เป็นคาทอลิค


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 มี.ค. 06, 07:56

ส่วนเรื่องกลับมาระดมกำลังพลที่สกอตแลนด์ก็เป็นอันว่าไม่มีทาง   ความปราชัยที่คัลโลเดนและบทลงโทษผู้เกี่ยวข้องอย่างสาหัสสากรรจ์ จากดยุคแห่งคัมเบอร์แลนด์บาลอังกฤษ
ก็เป็นสิ่งที่ทำให้พวกสก๊อตไม่กล้าช่วยเหลือพระองค์อีกต่อไป   เพราะยังไงก็มองเห็นลางแพ้อยู่ข้างหน้า

เจ้าชายทรงแบกความผิดหวังกลับไปยุโรป   บัดนี้พระองค์ไม่อาจใช้พระนามว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓ ได้อีกต่อไปแล้ว  จำต้องใช้พระยศว่า "ดยุคแห่งอัลบานี"  
ยิ่งเมื่อพระบิดาสิ้นพระชนม์ลง  ความหวังก็ยิ่งดับสูญ  พระองค์กลายเป็นที่รู้จักในนาม The Young Pretender คู่กับ The Old Pretender คือพระบิดา


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 มี.ค. 06, 07:59
 เจ้าชายทรงสมรสกับเจ้าหญิงหลุยส์เดอสโตลเบอร์ก แต่ก็หย่าร้างกันใน ๑๐ ปี  มีพระธิดาองค์เดียว
ความขมขื่นจากความล้มเหลวทั้งการงานและส่วนตัวทำให้พระองค์กลายเป็นชายชราอ้วน ฉุ ติดเหล้า  มีอารมณ์ร้ายเกรี้ยวกราด  
ในบั้นปลายทรงกลับไปอยู่ที่โรมอีกครั้งจนสิ้นพระชนม์เมื่อค.ศ. ๑๗๘๘   พระชนม์ได้ ๖๘ ปี   ก่อนฟลอร่าตายเพียง ๒ ปี

ที่ฝังพระศพของพระองค์ที่โบสถ์เซนต์ปีเตอร์ จารึกไว้ว่า พระเจ้าชาร์ลส์ที่ ๓  
ต่อจากพระบิดาคือพระเจ้าเจมส์ที่ ๓ และน้องชายของพระองค์คือเฮนรี่ที่ ๙  
ทั้งสามพระองค์ไม่มีโอกาสครองราชบัลลังก์อังกฤษ   แต่ก็เป็นที่ยอมรับจากสก๊อตแลนด์และวาติกันว่าทรงเป็นพระราชาที่ถูกต้องโดยสายเลือดของราชวงศ์สจ๊วต  


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 มี.ค. 06, 08:02
 ๓๑ ปีหลังจากสิ้นพระชนม์  เจ้าชายผู้สำเร็จราชการแห่งอังกฤษ(ต่อมาคือพระเจ้าจอร์ชที่ ๔- โปรดดูรูปประกอบ)
ทรงสั่งให้ประติมากรสร้างอนุสาวรีย์หินอ่อนสลักอย่างโอ่อ่า
เพื่อประดับพระเกียรติแก่ที่ฝังพระศพของเจ้าชาย พระบิดาและทูลกระหม่อมปู่คือพระเจ้าเจมส์ที่ ๒ ทั้ง ๓ องค์  
แต่เป็นเกียรติที่สายเกินไปสำหรับเจ้าชายเสียแล้ว

แต่สำหรับพระนามบอนนี่ปรินซ์ชาร์ลี  ยังคงเป็นที่จดจำคู่กับประวัติศาสตร์สกอตแลนด์ในฐานะวีรบุรุษคนหนึ่ง    อนุสาวรีย์ของพระองค์ที่เกล็นฟินนันยังมีอยู่ให้เยี่ยมชมจนทุกวันนี้  


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 มี.ค. 06, 08:03

อนุสาวรีย์ของบอนนี่ปรินซ์ชาร์ลี ที่เกล็นฟินนัน


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 มี.ค. 06, 08:08
 เป็นอันว่าศึกสายเลือดจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของราชวงศ์สจ๊วต    
ราชวงศ์ฮันโนเวอร์ครองแผ่นดินอังกฤษต่อมา ด้วยพระราชาทรงพระนามว่าจอร์ชติดๆกันถึง ๔ องค์ นับจากจอร์ชที่ ๑ ไปถึงจอร์ชที่ ๔  

ในสมัยพระเจ้าจอร์ชที่ ๓    อาณานิคมใหญ่แยกออกเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา  

เมื่อพระเจ้าจอร์ชที่ ๔ สิ้นพระชนม์ ไม่มีพระโอรสธิดาครองราชย์ต่อ   พระอนุชาคือพระเจ้าวิลเลียมที่ ๔ ขึ้นครองราชย์สืบต่อมา
แต่ก็ไม่ทรงมีพระโอรสธิดาตามกฎหมายที่จะครองราชย์ต่อได้อีกนั่นแหละ  มีแต่นอกกฎหมายเกิดจากนางละครชื่อมิสซิสจอร์แดน ถึง ๑๐ คน

พระอนุชารองลงไปจากพระเจ้าวิลเลียมมีพระนามว่าดยุคแห่งเค้นท์  เจ้านายองค์นี้สิ้นพระชนม์ตั้งแต่หนุ่ม  ทิ้งพระธิดาเล็กๆที่ยังเป็นทารกไว้องค์หนึ่ง

ความนิยมในราชวงศ์ฮันโนเวอร์ตกต่ำในสายตาประชาชนตั้งแต่พระเจ้าจอร์ชที่ ๓  จนถึงพระเจ้าวิลเลียมที่ ๔ ก็ยิ่งทรุดหนักลงไปใหญ่
พระองค์ทรงพระชราเมื่อขึ้นครองราชย์ เก็บตัวเงียบเชียบไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับราษฎร  

เมื่อสิ้นพระชนม์ลงไป ก็ไม่มีใครหวังว่าเจ้าหญิงสาวน้อยชันษา ๑๘ ปี พระธิดาของดยุคแห่งเค้นท์จะทำอะไรให้ประเทศชาติได้กี่มากน้อย
แต่ในเมื่อทรงมีสิทธิ์อย่างถูกต้องในการสืบราชบัลลังก์  ชาวอังกฤษก็ไม่มีข้อขัดข้อง

พระราชินีสาวน้อยองค์นี้เอง ต่อมาก็คือนางพญาผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์  
อังกฤษเปลี่ยนจากเกาะเล็กๆเป็นจักรวรรดิยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกเป็นยุคที่ได้ชื่อว่า พระอาทิตย์ไม่เคยตกดินในจักรภพอังกฤษ
ค่ะ ใช่  พระองค์คือสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย      

ถ้าหากว่าคุณวิวันดาพอหายเหนื่อยจากงานประจำเมื่อไร  อาจจะมาเปิดหน้าต่างโลกเล่าให้ฟัง    
กรุณาอดใจรอ  


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 มี.ค. 06, 08:21
 เว็บไซต์อ้างอิง ที่มาของบทความ

 http://en.wikipedia.org/wiki/Lady_Anne_Hyde
http://scotlandvacations.com/stuart.htm
http://www.scotshistoryonline.co.uk/charlieb.html
http://digital.library.upenn.edu/women/marshall/england/england-92.html
http://www.rampantscotland.com/famous/blfamflora.htm
http://www.royalty.nu/Europe/Charlie.html
http://scotlandvacations.com/flora.htm
http://en.wikipedia.org/wiki/James_III_of_England
http://en.wikipedia.org/wiki/James_Scott,_1st_Duke_of_Monmouth
http://www.britannia.com/history/monarchs/mon51.html
http://www.historic-uk.com/HistoryUK/England-History/KingsandQueens.htm
http://womenshistory.about.com/od/rulerspre20th/p/mary_modena.htm
http://departments.kings.edu/womens_history/anne.html
http://www.nndb.com/people/402/000093123/
http://www.rampantscotland.com/songs/blsongs_skye.htm
http://nc.essortment.com/whowasbonniep_rlhk.htm
http://www.camelotintl.com/heritage/rulers/mary_ii.html  


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เฟื่องแก้ว ที่ 14 มี.ค. 06, 16:55
โฮฮฮฮฮฮฮฮฮฮฮฮฮ....
สงสารบอนนี่ ปริ๊นซ์ ชาร์ลีจังค่ะ
แบกความผิดหวัง บวกขัตติยะมานะชั่วชีวิตเลยนะคะ
ไม่น่าแปลกใจที่พอแก่ตัวลงท่านจะเกรี้ยวกราด
ปล่อยตัวแบบนั้น

เอ แต่ท่านเป็นคาธอลิก หย่าได้ด้วยหรือคะ
หรือว่าเลิกกันเฉยๆ แบบแต่งงานใหม่ไม่ได้

ขอบพระคุณอาจารย์อีกครั้งค่ะ
.
.


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 มี.ค. 06, 18:51
เจ้าหญิงหลุยส์ขอเลิกกับเจ้าชายเองค่ะ ด้วยการกล่าวโทษว่าพระสวามีทำร้ายร่างกาย
แต่ข้อนี้ก็อาจเป็นผลจากเธอคบชู้กับกวีอิตาเลียนก็เป็นได้
อย่างไรก็ตามทั้งสองก็สมัครใจเลิกร้าง  แยกกันไปคนละทาง
เจ้าชายมีความสัมพันธ์กับสตรีอีกหลายคน ล้วนแต่เป็นหม่อมนอกกฎหมาย  
มีพระธิดานอกกฎหมายอีกองค์หนึ่งชื่อเจ้าหญิงชาร์ล็อตต์
ซึ่งได้รับตำแหน่ง ดัชเชสแห่งอัลบานี
แต่ไม่มีสิทธิ์ในการสืบราชสมบัติทั้งสกอตแลนด์และอังกฤษ

เรื่อง Fey woman เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยปะปนอยู่ในวรรณคดีบ้างบทกวีนิพนธ์บ้าง  
ไม่ใช่เรื่องยาวๆที่ชัดเจนอย่างประวัติศาสตร์อังกฤษ
ขอเวลาไปรวบรวมก่อนค่ะ


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เฟื่องแก้ว ที่ 15 มี.ค. 06, 00:41
กราบขอบพระคุณอาจารย์ด้วยค่ะ
เฟื่องละชอบนักเรื่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
อยากเป็นผู้หญิงเฟย์บ้างจัง อิอิ

ชอบรูปนางฟ้าปีกชมพู กับน้องแมวจังเลยค่ะ
.
.


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ชื่นใจ ที่ 15 มี.ค. 06, 03:52

ขอบคุณนะคะอาจารย์ ที่เล่าเรื่องศึกสายเลือดให้พวกเราฟังจนจบบริบูรณ์ ...
แล้วหลังจากนี้ จะติดเรื่องอะไรอีกดีล่ะคะ (ทำเหมือนติดละครไปได้)  


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 15 มี.ค. 06, 07:02
แวะมาตามอ่านจนจบครับอาจารย์
ขอบพระคุณครับผม


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 15 มี.ค. 06, 16:29
 ขอบพระคุณอาจารย์ครับที่เล่าเรื่องสนุกๆให้พวกเราฟัง เดี๋ยวผมขอเอากระทู้ไป Edit เป็นบทความสั้นลงในส่วนของหน้าต่างโลกนะครับ

ไปค้นภาพเก่าๆตอนไปเที่ยว Highland มาครับ เจอรูปอนุสาวรีย์ของบอนนี่ปรินซ์ชาร์ลี ที่เกล็นฟินนัน ด้วยครับเลยเอามาฝากกัน


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เฟื่องแก้ว ที่ 15 มี.ค. 06, 16:42
 โอ้ สวยจังเลยค่ะ คุณจ้อ

สักวันๆๆ จะต้องไปเยี่ยมเจ้าชายด้วยตัวเองให้ได้ค่ะ
ขอบคุณสำหรับภาพสวยๆค่ะ


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 มี.ค. 06, 18:26
ด้วยความยินดีค่ะคุณจ้อ
edit เสร็จแล้วขอให้ส่งเมล์มาให้ด้วยนะคะ  
เผื่อจะตัดหรือเพิ่มเติมอะไรให้เรียบร้อย

ดูภาพแล้วก็ยังอดรู้สึกไม่ได้ว่าบอนนี่ปรินซ์ชาร์ลี
ก็ยังอยู่อย่างโดดเดี่ยวเหมือนเดิม


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 03 มิ.ย. 13, 01:37
แวะไปตระเวนสกอตแลนด์ 8 วัน 7 คืน อึไหลไคลย้อย(อาหารเป็นพิษ:))ไปตามๆ กัน แวะไปดูทุ่งหญ้าสมรภูมิคัลโลดอนและหลุมฝังศพของฟลอร่า แมคโดนัล เลยต้องเอาภาพมาฝาก ขอขุดเอากระทู้เก่าขึ้นมา update  ซะหน่อยครับ

ทุ่งหญ้าที่เป็นสมรภูมิคัลโลดอนอยู่นอกเมือง Inverness เมืองทางตอนเหนือๆ ต้นทะเลสาบ Loch Ness ไปไม่ไกล ราวๆ 5 ไมล์เท่านั้น พอดีผมขับรถผ่านเห็นป้ายบอกเลยแวะเลี้ยวไปดูซะหน่อย ผู้สนใจจะดูแต่ทุ่งก็ได้ดูฟรี เข้าไปเดินดูได้เลย หรือจะดูนิทรรการจัดแสดงก็ได้แต่เสียเงิน ผมเลยเลือกอย่างแรก  ;D


คัลโลดอนเห็นเค้าเขียนไว้ว่าเป็นสมรภูมิสุดท้ายที่รบกันบนแผ่นดินใหญ่อังกฤษ  ทหารสกอตตายและบาดเจ็บประมาณ 700 คน ไม่รวมพวกที่ถูกจับและไปตายระหว่างทางล่องเรือไปไต่สวนที่ลอนดอนอีกหลายร้อยคน ส่วนทหารฝ่ายอังกฤษตายราว 50 คน

ภาพแรกเป็นทางเข้ามีป้ายบอกใหญ่โตรับรองไม่พลาด เลี้ยวเข้าไปก็หาที่จอดรถได้เลย
ภาพที่สองเป็นป้ายบอกให้เคารพสถานที่ ด้านหลังคือทุ่งที่เค้ารบกัน
อาคารที่เห็นสีเทาๆ ลิบๆ คืออาคารแสดงนิทรรศการแต่ดูไม่ฟรีเลยไม่ได้เข้าไปดูครับ


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 03 มิ.ย. 13, 01:42
ในทุ่งจะมีป้ายบรรยายเรื่องราวสั้นๆ หรือบอกจุดที่มีการรบนองเลือดหรือตำแหน่งที่แม่ทัพนายกองต่างๆ บัญชาการรบกันทั้งฝ่ายอังกฤษและสกอต  รวมทั้งกองหินไว้อาลัยทหารสกอตตระกูลต่างๆ ที่เอาชีวิตมาทิ้งที่นี่  รวมทั้งทหารอังกฤษด้วย มีตระกูลแมคอินทอชด้วย ไม่รู้ลูกหลานคนไหนมาโด่งดังเป็นทั้งดารานักร้องที่เมืองไทย


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 03 มิ.ย. 13, 01:52
ถัดไปสองสามวันแวะไปเกาะ Skye ต้องบอกว่าเกาะนี้ธรรมชาติอลังการมากๆ ภูเขาโล่งๆ บางช่วงขับรถไปนึกว่าอยู่บนดาวอังคาร ใครไม่ได้ไปต้องร้องกิ๊วๆ เสียดายแทน
ขับๆ รถไปเห็นมีสุสานทางตอนเหนือของเกาะเลยแวะไปดูซะหน่อยก็แจ็ตพอตพอดี กลายเป็นว่าที่นี่คือสุสานที่ฝังศพของฟลอร่า แมคโดนัลพอดีซะด้วย ต้องแวะลงไปไว้อาลัยยกย่องเธอซะหน่อย


ภาพแรกภาพถนนคดเคี้ยวบนเกาะ จริงๆ มีวิวอลังการกว่านี้มากแต่อยากให้เห็นถนนครับ ชอบ คดดี เลยเลือกภาพนี้มา ขับรถรอบเกาะนี่สนุกมากๆ วันนึงไม่พอเที่ยวจริงๆ
ภาพที่สองเป็นพิพิธภัณฑ์ของเกาะ ค่าดูคนละ 2.5 ปอนด์ แสดงให้เห็นบ้านเรือนสมัยที่ฟลอร่ามีชีวิตอยู่ช่วงๆ นั้นแหละ  ชีวิตบนเกาะน่าจะลำบากมาก ขนาดปัจจุบันช่วงตอนเหนือของเกาะยังดูน่าเหงามากเลย  พิพิธภัณฑ์นี้อยู่ปากทางเข้าสุสานครับ
ภาพหลุมศพของฟลอร่า แมคโดนัล


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 03 มิ.ย. 13, 09:12
             ตามไปสกายด้วยคน ครับ

ฝากเพลง Skye Boat Song   version นี้ที่ชอบ ครับ

            http://www.youtube.com/watch?v=Ufz2yaFMEtg
 


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 มิ.ย. 13, 09:34
เห็นแล้วอยากขึ้นไปถึง Skye บ้างค่ะ     แต่คงจะยาก เพราะต้องเช่ารถจากลอนดอน ขับไปเอง   
เพลง Skye Boat Song  ฟังเท่าไรก็ไม่เบื่อ  


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 มิ.ย. 13, 20:53
คุณประกอบผ่าน Loch Ness เจอเนสซี่ หรือร่องรอยของเนสซี่  เอามาฝากคุณเพ็ญชมพูบ้างไหมคะ
เดี๋ยวนี้เขาเลิกเชื่อเรื่องเนสซี่กันหรือยัง


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 03 มิ.ย. 13, 22:44
เจอครับ เขียวเชียว เลยซื้อมา 2 ตัว กะว่าเอาไปฝากอีหนูเจสแถวบ้านตัวนึง กับให้เด็ดติดรถอีกตัวนึง แต่ยังไม่ทันถ่ายรูปเอาไปลงกระทู้สัตว์ประหลาด 2 เผลอแป๊บเดียวเด็กเจี๊ยะเรียบร้อยไปแล้ว  ;D

เด็กติดรถตั้งตัวเป็นผู้เชียวชาญเรื่องเนสซี่ บอกให้ฟังว่าเนสซี่เป็นผู้หญิง และเด็กถามคำถามตอบยากมาคำถามนึง ทะเลสาบ Loch Ness เค็มหรือจืด? ไอ้ผมก็ลืมชิมดู


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 มิ.ย. 13, 23:04
คลิปนี้ควรจะอยู่ในกระทู้สัตว์ประหลาด 2   แต่ขอเอามาฝากหนุ่มน้อยของคุณประกอบในกระทู้นี้ค่ะ

http://www.youtube.com/watch?v=6YqzYHAfg34


กระทู้: ศึกสายเลือดในราชวงศ์สจ๊วตของอังกฤษ
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 04 มิ.ย. 13, 08:30
ทุ่งหญ้าที่เป็นสมรภูมิคัลโลดอนอยู่นอกเมือง Inverness เมืองทางตอนเหนือๆ ต้นทะเลสาบ Loch Ness  ไปไม่ไกล ราวๆ 5 ไมล์เท่านั้น พอดีผมขับรถผ่านเห็นป้ายบอกเลยแวะเลี้ยวไปดูซะหน่อย ผู้สนใจจะดูแต่ทุ่งก็ได้ดูฟรี เข้าไปเดินดูได้เลย หรือจะดูนิทรรการจัดแสดงก็ได้แต่เสียเงิน ผมเลยเลือกอย่างแรก  ;D

แผนที่ประกอบ  ;)

(http://www.visitsouthlochness.com/uploads/images/loch-ness-map.gif)

และเด็กถามคำถามตอบยากมาคำถามนึง ทะเลสาบ Loch Ness เค็มหรือจืด? ไอ้ผมก็ลืมชิมดู

คุณประกอบตอบเด็กที่บ้านได้เลยว่า น้ำในทะเลสาบ Ness (Loch ในภาษาสกอตแปลว่า ทะเลสาบ) มีรสจืด ไม่เชื่อไปถาม คุณพี่วิกกี้  (http://en.wikipedia.org/wiki/Loch_Ness) ดูก็ได้

ว่าง ๆ คุณประกอบไปแวะ กระทู้สัตว์ประหลาด  (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3296.msg121573#msg121573) บ้างเน้อ

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)