เรือนไทย

General Category => ชมรมอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: yutthana ที่ 04 ก.พ. 10, 23:18



กระทู้: ภาพพระบฎ
เริ่มกระทู้โดย: yutthana ที่ 04 ก.พ. 10, 23:18
สวัสดีสำหรับสมาชิกชมรมอนุรักษ์ทุกท่านนะครับ     ความจริงผมไม่ค่อยเขียนรายละเอียดให้ยืดยาวนักเนื่องจากเป็นภาพจะน่าดูและน่าสนใจกว่า    แต่เห็นว่าบางครั้งเรานำภาพมาลงแต่ข้อมูลเชิงลึกนั้นไม่ค่อยได้อธิบาย เท่าที่ควร   ก็เลยถือโอกาสนำเรื่องภาพพระบฎ  มาเล่าสู่กันฟังครับ
สมัยเรียนจิตรกรรมไทยผมมักจะสนใจงานจิตรกรรมไทยตามฝาผนังโบส์ถวิหารต่างๆ   หรือตามสมุดข่อยแต่ก็มีภาพจิตรกรรมอีกชนิดหนึ่ง    ซึ่งปัจจุบันเหลือน้อยเต็มที   เนื่องจากพกพาสะดวก  ขโมยออกมาขายง่าย   ไปอยู่ต่างประเทศก็มาก   พอๆกับสมุดข่อยเลย    นั่นก็คือ ภาพพระบฎ  นั่นแหละครับ


กระทู้: ภาพพระบฎ
เริ่มกระทู้โดย: yutthana ที่ 04 ก.พ. 10, 23:19
พระบฎคืออะไร
พระบฎหรือเรียกอีกอย่างว่าพระบฎ    เป็นจิตรกรรมประเภทหนึ่งที่เขียนลงบนผ้า  ลักษณะคือแขวนห้อยตามความยาวของผ้า   ตามรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า   มีไม้สอดสำหรับแขวนหัวและท้าย   มีภาพทำเป็นหัวเม็ดที่ปลายไม้ด้วย ครับเพราะเราทำเพื่อพุทธศาสนา


กระทู้: ภาพพระบฎ
เริ่มกระทู้โดย: yutthana ที่ 04 ก.พ. 10, 23:21
ภาพพระบฎการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตาย
ผ้าที่นำมาเขียนภาพพระบฎแต่เดิมนั้นใช้ผ้าที่ผู้ตายใช้สอยเป็นประจำ   หรือผ้าที่ผู้ตายรักชอบมาก    หรือผ้าขาวสำหรับคลุมหีบศพ   ถือเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตายอีกทางหนึ่ง


กระทู้: ภาพพระบฎ
เริ่มกระทู้โดย: yutthana ที่ 04 ก.พ. 10, 23:23
ทำอย่างไรกับการทำพื้นภาพพระบฎก่อนเขียนภาพ
การเตรียมพื้นภาพผ้าพระบฎนั้นเขาจะนำผ้ามาขึงให้ตึง    ลองพื้นด้วยกาวเม็ดมะขามผสมกับดินสอพองเล็กน้อยเพื่อให้ภาพดูดสีได้ดีและติดทนนาน   กาวเม็ดมะขามคือเม็ดมะขามหวานนั่นเองแต่มีใครไม่รู้จำไม่ได้ให้ใช้เม็ดมะขามเปรี้ยวบอกว่าดีกว่าอันนี้ไม่ทราบได้เพราะยังไม่เคยลองเสียที    วิธีการคือเอาเม็ดมะขามที่แห้งแล้วมาคั่วในกะทะให้กรอบพอเปลือกกระเทาะออก   แกะเปลือกเมล็ดออกและเอาเนื้อด้านใน  มาต้มผสมน้ำให้เหลวพอควรผสมดินสอพองแล้วทาลองพื้นภาพทาแล้วขัดให้เรียบแล้วทำแบบเดิมจนมีความหนาพอสมควร  แล้วขัดหน้าให้เรียบ  บางครั้งมีการกวดหน้าผ้าชั้นสุดท้ายให้แน่นอีกทีหนึ่ง   อย่าผสมดินสอพดงมากเกินไปจะทำให้งานหลุดร่อนและไม่ทนทาน


กระทู้: ภาพพระบฎ
เริ่มกระทู้โดย: yutthana ที่ 04 ก.พ. 10, 23:24
ใช้สีอะไรเขียนภาพพระบฎ
นี่ถ้าตูตอบแบบกำปั้นทุบดินคงตอบว่าสีฝุ่น   เดี๋ยวคนจะเข้าใจผิดไปซื้อสีฝุ่นตามร้านก่อสร้างหรือร้านขายเครื่องเขียน    แต่ก็ใช้เขียนได้นะแต่คุณภาพจะไม่ค่อยดีเหมือนสีฝุ่นโบราณ       สีแดง   มากจากดินแดง   ดินบางตัวมีสีน้ำตาลอมแดงก็มี   นำมาบดกับน้ำให้ละเอียด (พวกนี้เป็นอ๊อกไซด์จึงมีสีแดง)และกรองให้ละเอียดที่สุดด้วยผ้าขาวบางผสมกาวยางไม้ บดลงในโกร่ง    สีแดงอีกอย่างคือชาด    ไม่ว่าจะเป็นชาดหรคุณ   หรือเงี่งจูมีขายที่ร้านเจ้ากรมเป๋อวัดสามปลื้ม    ชาดสีแดงนั้นราคาแพงส่วนใหญ่ไว้ใช้ตัดเส้นบนทองเพราะเส้นจะจมบนทองไม่ลอยอยู่บนทองเหมือนสีแดงตัวอื่น   เวลาบดต้องบดกับเหล้าขาวหรือแอลกอฮอล์ เพราะชาดจะไม่ละลายในน้ำ    อีกตัวหนึ่งคือรังของครั่ง อันนี้หายากเพราะผิดกฏหมายเขาห้ามนำออกจากป่า     สีดำ  จากหมึกจีน    หรือเข่มานำมาบดและผสมกาวยางไม้(แนะนำให้ใช้กาวกระถิน  หรือกาวยางมะขวิด  อย่าใช้กาวหนังควายเด็ดขาดเพราะเหม็นมาก)    สีเหลือง   จากยางของต้นรงค์   หรือต้นรงค์ทอง   เป็นก้อนๆเวลาใช้นำมาบดละลายน้ำแล้วใช้ได้เลยเป็นกาวยางไม้ในตัวอยู่แล้ว   สีเหลืองอีกสีทำจากหรดาล  ที่ใช้เขียนลายรดน้ำมีสีเหลืองเป็นประเภทกำมะถัน   ต้องหมักไว้หลายปีก่อนนำมาใช้ผสมกาวยางไม้แล้วใช้ได้เลย     ในหมู่สีเขียวใช้  สนิมของทองแดง   คือสนิมเขียวนั่นเอง  โดยการนำแผ่นทองแดงมาแช่น้ำส้มสายชูทิ้งไว้จนเกิดสนิมสีเขียวนำมาขูดเอาสีเขียวของสนิมออกมาผสมกาวยางไม้เราเรียกว่าสีเขียว ตังแช
สีเขียวอีกอย่างเรียกว่าเขียวใบแค   อันนี้ไม่รู้สูตรใคร   รู้ช่วยบอกที   เคยเห็นเขาเอาใบแคมาหมักและบดจนได้สีเขียวสำหรับเขียนจริงๆ    แต่เขาไม่ได้บอกกระบวนการหมักว่าทำอย่างไร    สีน้ำเงินของคราม    สีขาวจากเปลือกหอยเผา    หรือดินขาว  นำมาบดและผสมกาวยางไม้   เท่าที่รู้ก็มีแค่นี้แหละครับ   สมัยนั้นเราใช้สีที่สั่งจากจีนเป็นส่วนมากและเป็นสีฝุ่นธรรมชาติ    สีมักจะออกทึมๆเบรคๆทำให้งานขลังและสวยเมื่อปิดทอง(อ้อลืมบอกว่าเวลาปิดทองใช้ยางของมะเดื่ออุทุมพรนะครับ   ทาไปส่วนที่จะปิดทองรอให้แห้งและปิดได้เลยครับ    สมัยก่อนไปเขียนภาพต่างจังหวัด   ยางมะเดื่อดันหมด  จะซื้อหาก็ลำบากพอดีมีอยู่หลายต้นหลังป้าช้าของวัด    ต้องไปกรีดเอายางมะเดื่อกันตอนตีสี่ตีห้าเพราะน้ำยางออกมากที่สุดพูดถึงแล้วขนหัวลุกจริงๆสีสมัยใหม่หมายถึงสีฝุ่นที่ขายมักเป็นสีสังเคราะห์สีจะสดมากเกินไปทำให้งานที่เขียนบางครั้งกลายเป็นงานการ์ตูนมากกว่าเป็นจิตรกรรมไทยจริงๆคือเขียนภาพไทยแต่สีเป็นการ์ตูนวอทดิสนี่เลย


กระทู้: ภาพพระบฎ
เริ่มกระทู้โดย: yutthana ที่ 04 ก.พ. 10, 23:26
เขียนภาพอะไรในพระบฎ
ส่วนใหญ่ภาพพระบฎจะเขียนเป็นรูปพระพุทธเจ้าเป็นส่วนมากมีสาวกเฝ้าประกอบบ้าง  มีบ้างเป็นตอนมารผจญ   อย่างที่เคยเห็นที่เจ้าสามพระยา    แต่ตอนนี้ไม่รู้อยู่ไหนแล้วใครไม่เคยเห็นไปดูได้ในกระทู้เก่าๆเรื่องภาพพระบฏครับ
ทำไมต้องใส่ไม้ด้านลงและด้านล่างของภาพพระบฎ
ไม้กลึงกลมๆสอดเข้าไปใต้ผ้าที่เย็บเป็นซองเป็นเครื่องถ่วง   และยึดตึงไม่ให้ผ้าย่น  ช่วยให้ภาพเขียนอยู่ในสภาพดี  และใช้สำหรับเป็นแกนสำหรับม้วนภาพ   ด้านบนจะมีเชือกสำหรับผูกห้อยหรือแขวน    ภาพพระบฎจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ขึ้นอยู่กับความศรัทธาและความประสงค์ของผู้สร้าง   ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับสถานที่ด้วย


กระทู้: ภาพพระบฎ
เริ่มกระทู้โดย: yutthana ที่ 04 ก.พ. 10, 23:27
กำเนิดและความเป็นมาของพระบฎ
สรุปง่ายๆว่านักวิชาการบางท่านบอกว่าได้รับอิธิพลภาพแขวนของจีน    ส่วนหนึ่ง  บางท่านก็ว่าพัฒนามาจากตุงที่ใช้แขวนห้อยเป็นพุทธบูชา    อย่างไรก็ดีคำว่าพระบฎหรือ บฎ  มาจากภาษาบาลีแปลว่าผ้าขาวหรือผืนผ้าเมื่อรวมเรียกว่าพระบฎ ก้แปลได้ว่าผ้าที่เขียนภาพเรื่องราวของพระพุทธเจ้า  ใครเป็นคนริเริ่มนั้นหาหลักฐานได้น้อยเต็มที ส่วนมากเป็นภาพในสมัยรัตนโกสินทร์ทั้งนั้น       ผมเองอยากไปดูภาพพระบฎที่เพชรบุรีที่วัดจันทราวาส  เพราะท่านอ.ศิลป  เคยไปดูเมื่อพ.ศ.  ๒๕๐๑  (จะยังเหลืออยู่หรือเปล่าเนี่ยตูยังไม่เกิดเลย)  “ ท่านบอกว่าผืนหนึ่งเป็นเรื่องทศชาติฝีมือราวๆรัชกาลที่๓     อีกผืนหนึ่งเป็นพุทธประวัติตั้งแต่ประสูตรจนถึงปรินิพพานคงเขียนก่อนรัชกาลที่๓ “


กระทู้: ภาพพระบฎ
เริ่มกระทู้โดย: yutthana ที่ 04 ก.พ. 10, 23:28
รูปแบบและลักษณะของภาพพระบฎ
              ภาพพระบฎเท่าที่มีเหลืออยู่   เนื้อเรื่องเขียนเกี่ยวกับเรื่องพุทธศาสนาทั้งสิ้นแต่ที่นิยมเขียนมากที่สุดเห็นจะเป็นภาพแบบสองด้านเหมือนกัน   คือมีพระพุทธเจ้านั่งหรือยืนและมีสาวกอยู่ด้ายข้าง     ด้านบนจะมี  เทวดาหรือวิทยาธรต่างๆลอยอยู่ด้านบนบ้างเขียนเรื่องจุฬามณี    บ้างเขียนพุทธประวัติ    บ้างเขียนเรื่องชาดกก็มี   ดังตัวอย่างภาพคร่าวๆที่สอดแทรกอยู่ตามบทความเพื่อไม่ให้สมาชิกเบื่อหน่ายในการอ่านนัก


กระทู้: ภาพพระบฎ
เริ่มกระทู้โดย: yutthana ที่ 04 ก.พ. 10, 23:32
ส่วงนภาพชุดนี้เป้นขาวดำจากวัดจันทราวาส  ในจังหวัดเพชรบุรีเห็นมีบันทึกเขียนไว้ว่ามีอยู่๙ภาพไม่รู้ว่าจะได้เห็นหรือเปล่าไปเพชรคราวนี้


กระทู้: ภาพพระบฎ
เริ่มกระทู้โดย: yutthana ที่ 04 ก.พ. 10, 23:33
อีกภาพครับภาพที่๒


กระทู้: ภาพพระบฎ
เริ่มกระทู้โดย: yutthana ที่ 04 ก.พ. 10, 23:37
ภาพที่๓เป็นภาพสุดท้ายที่พอค้นได้ครับเอาไว้ไปดูของจริงที่เพชรดีกว่าครับ(ถ้ายังอยู่นะ)     ส่วนจะไปวัดไหนนี่คงแล้วแต่สมาชิกกันอีกที


กระทู้: ภาพพระบฎ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 05 ก.พ. 10, 00:19
สวัสดีครับ คุณยุทธนา เข้ามารอชมภาพพระบฏสวยๆกันนะครับ ได้อ่านคำบรรยายเรื่องเขียนสีฝุ่นแล้วชักอยากจะลองเขียนดูบ้างจัง โบราณท่านมีวิํธีการซับซ้อนจริงๆ

รู้สึกว่า ทางอินเดียจะมีพระบฏด้วยนะครับ เรียกว่า ปฏจิตร (Patacitra) ก็คือการเขียนภาพลงบนผ้านั่นเอง ปฏ ก็คือคำเดียวกับคำว่า บฏ

เลยเอาพระบฏรุ่นแรกๆของโลกมาให้ดูกัน เขาว่ากันว่าที่แถบสี่เหลี่ยมผืนผ้า เขียนรูปพระพุทธเจ้า ที่มีเทพเชิญอยู่ 2 องค์นั้น คือพระบฏ เท็จจริงอย่างไรก็ลองดูกันครับ

พระปางมหาปาฏิหาริย์ที่สราวัสติ ศิลปะคันธาระ พุทธศตวรรษที่ 6-8 ครับ

ใส่ที่มาด้วย

http://www.indiamike.com/photopost/data/500/Lahore_Museum_Gandhara_Art_Sravasti.jpg


กระทู้: ภาพพระบฎ
เริ่มกระทู้โดย: yutthana ที่ 05 ก.พ. 10, 01:16
สวัสดีครับ  ก็อาจจะเป็นไปได้ครับที่ประติมากรรมในภาพอาจเป็นพระบฎ  แต่ยังไม่ชัดเจนนักจริงๆภาพแขวนส่วนมากมีอยู่หลายประเทศเหมือนกันโดยเฉพาะในเรื่องศาสนา เช่นทิเบต   จีน   เขมรหรือพม่าก็มี  น่าจะเป็นการทำขึ้นเพื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ได้  เช่นอาจจะนำติดตัวเวลาเดินทางเอาไว้เครพบูชาก็อาจจะเป็นได้ครับ   หรืออาจจะไว้ประกอบการทำกิจกรรมทางศาสนาก็อาจจะเป็นได้    แต่ที่แน่ๆ ภาพพระบฎเป็นงานจิตรกรรมบนผืนผ้าที่งามมาก  และได้ความรูสึกงามมากเวลาแขวนด้านหลังองค์พระซึ่งเป็นประติมากรรม  ถ้ายิ่งจุดเทียนให้แสงนะงามอย่าบอกใคร   ปัจจุบันศิลปินบางท่านก็นิยมเขียนภาพแบบภาพพระบฎเหมือนกัน แทนที่จะใส่กรอบ   สำหรับรูปที่แนบเพิ่มมาให้ดูเป็นรูปที่ถ่ายไว้นานมาก  ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นภาพที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์วัดมหาธาตุในจังหวัดเพชรบุรีถ้าไม่ใช่ต้องขออภัยเพราะหลายสิบปีแล้วภาพนี้ครับ   เหลืออยู่แค่สองภาพครับ


กระทู้: ภาพพระบฎ
เริ่มกระทู้โดย: yutthana ที่ 05 ก.พ. 10, 01:20
ภาพขยาย
ภาพชิ้นนี้จัดภาพได้สวยงามลงตัวมากโดยเฉพาะสีบัวโรย(สีชมพูตุ่นๆนิดๆเหมือนสีของดอกบัวเวลาโรย)ยิ่งสีทองที่ปิดองค์พระพุทธเจ้าทำให้ภาพงามน่าดูครับ


กระทู้: ภาพพระบฎ
เริ่มกระทู้โดย: yutthana ที่ 05 ก.พ. 10, 01:26
รูปนี้จะเห็นชัดคือพื้นสีชมพู(บัวโรย)  ลายดอกไม็บนซุ้มใช้สีเขียวสลับแดงและตัดเส้นขาวภายในมีใบโพธฺ์สีเขียวใบแคแซมพื้นน้ำตาลในขณะที่ตัวซุ้มเรือนแก้วเป็นสีขาวโดยสอดสีเขียวแดงสลับกันไป  โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาดที่ตัดเส้นทองบนพระพักต์ของพระพุทธเจ้างามจริงๆครับ


กระทู้: ภาพพระบฎ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 05 ก.พ. 10, 07:56
ผมคิดว่าภาพแขวนเป็นเรื่องสากลที่มีอยู่ทั่วไปในทุกศาสนาทั่วโลกเลยนะครับ

น่าเสียดายที่ทุกวันนี้ เราไม่นิยมทำพระบฏกันแล้ว ไม่อย่างนั้นเวลามีงานวัด เอาพระบฏมาแขวนๆไว้ทั่วศาลา คงอลังการเหมือนพวกธิเบตแขวนทังกา

ดูรูปของคุณยุทธแล้วก็คิดว่า คนโบราณท่านไม่มีสีสดๆใช้ เหมือนที่กรมนริศท่านเรียกว่าีสีสวรรค์ แต่เวลาเขียนออกมาแล้วกลับสวยประหลาด ดูเคร่งขรึมเข้ากับบรรยากาศศักดิ์สิทธิ์ในโบสถ์ที่มืดๆ สว่างอยู่แค่แสงเทียนวับๆแวมๆ

สมัยนี้โบสถ์ติดไฟนีออนสว่างจ้า ทาสีขาวล้วน เป็นความคิดสมัยใหม่แบบตะวันตกเมื่อไม่นานมานี้เอง ว่าห้องสีขาวและสว่างสื่อถึงความสะอาด แล้วมันก็ลามเข้าไปถึงวัดวาอาราม ทั้งๆที่จริงๆแล้วคนโบราณท่านใช้ประโยชน์จากความลึกลับคลุมเครือของบรรยากาศ จูงใจคนเข้าสู่ความศักดิ์สิทธิ์ เพราะศาสนาเป็นเรื่องลึกลับที่ไม่อาจทำให้โปร่งใสได้ด้วยตา


เคยได้ยินมาว่าบางวัดที่ไม่มีภาพจิตรกรรมเป็นผนังโล่งๆ เวลามีงานเขาก็เอาพระบฏนั่นแหละมาแขวนไว้แทนภาพเขียนเต็มหมดทุกห้องผนัง



กระทู้: ภาพพระบฎ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 05 ก.พ. 10, 09:34
ลองเอาพระบฏเก่าแก่ของพม่ามาให้ดูกันครับ มีอายุช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 16-17 ร่วมสมัยกับทวารวดีตอนปลาย เชื่อว่าน่าจะเป็นพระบฏที่เก่าที่สุดในเอเ้ซียตะวันออกเฉียงใต้ (เพราะแถวนี้มันชื้้น เลยรักษาอะไรไ้้วไม่ได้นาน)

ชิ้นนี้พบพับๆอยู่ในวิหารแห่งหนึ่งในเมืองพุกาม เพราะอากาศมันแห้งเลยรักษาสภาพเอาไว้ได้ ทุกวันนี้อยู่ในพิพิธภัณฑ์พุกาม แน่นอนว่าห้ามถ่ายรูป ก็เลยต้องถ่ายเอาจากหนังสือครับ

ลักษณะก็คล้ายกับอินเดียศิลปะปาละทีเดียว


กระทู้: ภาพพระบฎ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 05 ก.พ. 10, 11:00
ของจริงมีขนาดพอสมควร เท่าที่เหลือก็พอๆกับโปสเตอร์ปิดผนัง แต่เขาลงรูปไว้แค่นี้

ไม่แน่ใจว่าเรื่องสุตโสมชาดกหรือเปล่า ตอนพระเจ้าสุตโสมถูกรากษสจับตัวไป แต่ขอกลับมาลาลูกเมียก่อน จากนั้นก็กลับไปให้รากษสกิน (ชาดกกินคนอีกแล้ว)


กระทู้: ภาพพระบฎ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 05 ก.พ. 10, 11:01
ภาพขยาย อายุของภาพตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 17 ลงมา ก็ประมาณ 900 ปีแล้ว ถือเป็น masterpiece ชิ้นหนึ่งของศิลปะพุกามทีเดียว


กระทู้: ภาพพระบฎ
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 05 ก.พ. 10, 12:03
คุณยุทธเปิดกระทู้งามๆอีกแล้ว ขอบคุณนะครับ

มีเรื่องขออนุญาตเรียนถามครับ ว่าสีบัวโรยที่คุณยุทธพูดถึงผสมยังไงหรือครับ
ผมแอบถูกใจสีนี้ในจิตรกรรมภาพสีฝุ่นมานานแล้วครับ
แต่ไม่เคยได้ทราบเรื่องที่มาของสีแบบที่คุณยุทธเอามาลงไว้นี่เลยครับ
ขอบคุณมากๆนะครับ


กระทู้: ภาพพระบฎ
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 05 ก.พ. 10, 16:25
เรื่องพระบฎในไทยที่มีหลักฐานแน่ชัดที่สุด ปรากฎครั้งแรกในสมัยสุโขทัยตอนกลาง เพราะมีศิลาจารึกบันทึกข้อความไว้อย่างชัดเจน เท่าที่ค้นหามายืนยันได้ในบัดนี้ คือ ศิลาจารึกหลักที่106 กล่าวถึงชีวประวัติของพนมไสดำ ซึ่งเป็นสามีของแม่นมเทศ เป็นผู้ที่ใกล้ชิดสมเด็จพนะมหาธรรมราชาที่1(พระยาลิไทย )มาก น่าจะเป็นพระพี่เลี้ยงของพระองค์ ได้กระทำบำเพ็ญกุศลต่างๆที่เป็นถาวรวัตถุไว้ในศาสนาเป็นอันมาก จากศิลาจารึกของพนมไสดำนี้บ่งบอกปรศักราชไว้ชัดเจนว่า
"ศักราชแต่พระเจ้าเนียรพานได้ พันเก้าร้อยยี่สิบเจ็ด ในปีชวด เดือน6 บวรรณมี พุทธพาร พนมไสดำ เอาใจตั้ง สบรรธา หรรษาดีเรก อเนกไมตรี ศรีสักยะ เพื่อจักใคร่ข้ามจากสงสาร เมื่อเนียรพานที่มั่น อันพรรณนาเถิงศีล เพียร ประหญา ฯลฯ "
 ศักราชที่กล่าวไว้นั้น คือ ปีพุทธศักราช1927 ศิลาจารึกนี้ว่าในปีมะเส็ง เดือน5 พนมไสดำ"แต่งทั้งกุฎี ชีบวชแล้วจึงมาตั้งกระทำ หอพระปิฎกธรรมสังวรใจ บูชาพระอภิธรรม กับด้วยพระบดจีนมาไว้ ได้ปลูกทั้งพระศรีมหาโพธิ อันเป็นจอมบุญจอมศรียอ..............พระบดอันหนึ่ง ด้วยสูง14ศอก กระทำให้บุญแก่สมเด็จมหาธรรมราชา"
  ข้อความนี้ทำให้เข้าใจได้ทันทีว่า ในสมัยสุโขทัย ระหว่างปีพุทธศักราช1927ซึ่งเป็นปีชวดมาถึงปีพุทธศักราช1932อันเป็นปีมะเส็งนั้น นิยมทะพระบฎ อุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เช่น พนมไสดำในฃที่นี้ได้ทำ"พระบดอันหนึ่ง ด้วยสูงได้14ศอก กระทำบุญไปแก่สมเด็จมหาธรรมราชา"ซึ่งตามจารึกนี้ก็น่าจะหมายถึงสมเด็จพระมาหาธรรมราชาลิไทย
  พระบด หรือ พระบฎ ในสมัยสุโขทัย สูงถึง 14 ศอก(ประมาณ7เมตร) นับว่าเป็นพระบฎที่มีขนาดใหญ่มาก และต้องมีที่แขวนไว้ด้วย ส่วนในเรื่องที่จารึกกล่าวถึงพระบฎจีนนั้น น่าจะพิจารณาได้ว่า ใสมัยสุโขทัย คงจะมีพระบฎหลายชนิด อย่างน้อยที่สุดก็มีพระบฎจีนซึ่งน่าจะคนละชิ้นกับที่ระบุว่าสูง14ศอก หรือถ้ามห้คาดคะเนว่าไทนเราอาจจะได้อิทธิพลการเขียนภาพพระบฎจากจีนก็เป็นได้ เพราะมีการค้าขายมาตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงแล้ว(อันนี้ผมคิดเอาเองนะ)
  เรื่องสีฝุ่นและกาวเม็ดมะขามขอทำความเข้าใจที่ถูกต้องแทนคุณยุทธเพื่อความถูกต้องดังนี้ครับ
   -กาวเม็ดมะขาม เม็ดมะขามที่ใช้จะต้องเป็นมะขามเปรี้ยว(Tamarindur indiea)เท่านั้นนะครับ เพราะมะขามเปรี้ยวมีความฝาดเวลานำไปทำสมุกจะจับติดผนังได้ดี มะขามหวานใช้ไม่ได้เด็ดขาดครับ วิธีทำก็นำเอาเม็ดมะขามมาใส่กระทะตั้งไฟคั่วให้สุก ขณะสุกใหม่ๆกำลังร้อนจัดๆนั้นรีบเอาลงแช่น้ำเย็น ทิ้งไว้1คืนพอรุ่งขึ้นเปลือกมะขามจะยุ่ยพองออก นำมาปลิ้นเอาเม็ดในที่มีสีขาวนวลๆออกใส่วนเปลือกที่ยุ่ยพองนั้น นำไปรองพื้นบนผนังไม้เพื่อเขียนจิตรกรรมบนผนังบานประตูหรือหน้าต่างและผนังอาคารที่เป็นฝากระดานได้เป็นอย่างดี ก่อนที่จะทาสมุกรองพื้นกาวเม็ดมะขามและดินสอพอง เรื่องการเคี่ยวกาวยังมีขั้นตอนยุ่งยากอีก ขี้เกียจอธิบาย เอาเป็นว่ารู้พอหอมปากหอมคอเท่านี้นะครับ
  -สีเขียวใบแค เป็นสีเขียวเข้มออกค่อนข้างคล้ำดำ เกิดจากการผสมสีรงกับเข่ม่าหรือหมึกจีน หรือไม่ก็นำสีรงผสมกับสีครามก็จะได้สีเขียวเข้มมากยิ่งขึ้น(Sap Green) ที่ได้ชื่อว่าสีเขียวใบแคนั้นก็เพราะลักษณะของสีที่มีลักษณะเขียวอย่างใบต้นแค แต่มิใช่เอาใบแตมาทำเป็นสีอย่างที่เข้าใจกัน ตัวผมเองกับอาจารย์ วีรธรรม ตระกูลเงินไทย สมัยเรียน เคยลองเอาใบแคมาหมักแล้วคั้นเอาน้ำแต่มันไม่ได้ให้สีอย่างใบมันจริงได้วยครับ ถ้าเอามาตำอาจจะได้มากกว่า แต่ก็เหม็นเขียวเหมือนใบไม้ทั่วๆไปครับ แถมใบมันเล็กถ้าเอามาใช้จริงคงต้องล่อทั้งต้นกว่าจะได้สีสักกระปุกนะครับ
   -สีบัวโรย  โบราณเรียกสีว่า"รงค์" คำว่าบัวโรย คงเป็นศัพท์ที่ไม่แพร่หลายในเชิงช่าง เพียงแต่เป็นคำเปรียบเปรยอย่างสีเขียวใบแค ไม่เหมือนชือเรียกสีทางช่างอย่างเป็นทางการเช่น สีหงสบาท(แดงแท้+ขาว) สีหงส์ดิน(สีดินแดง+สีขาว) สีแดงเสน(แดงเสน+ขาว) ถ้าผสมตามทฤษฎีสีในปัจจุบัน น่าจะเป็นสีหงสบาท(แดงแท้+ขาว)-เขม่าเล็กน้อย
    สำหรับทริป4ที่ว่าจะไปเพชรบุรีกันแบบหลายวัน ขอให้ลงขันกันนั่งรถตู้ครับ ขอคำยืนยันวันเวลาที่แน่นอน เพื่อตระเตรียมความพร้อมก่อนเนิ่นๆก็จะดี มวลหมู่สมาชิกลงชื่อลงความเห็นกันเลยครับ (ภาพประกอบ ภาพพระบฎแบบล้านนาที่พพิพิธภัณฑ์เชียงใหม่ ถ้าจำไม่ผิดอายุกว่า700ปี)


กระทู้: ภาพพระบฎ
เริ่มกระทู้โดย: yutthana ที่ 05 ก.พ. 10, 19:31
ขอบคุณท่านหัวหน้าชมรมที่ให้ความกระจ่างเพิ่มในส่วนรายละเอียดครับ   ส่วนเรื่องสีเขียวใบแคนี่ผมเคยเห็นอาจารย์ วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ไปจัดงานที่เมืองทองเรื่องผ้าและสีโบราณ   มีสีอยู่ในโกร่งเป็นสีๆ   เห็นสีเขียวใบแคอยู่ในโกร่งเลยถามลูกศิษย์แกดูยังเห็นเป็นเยื่อของใบไม้อยู่ครับสอบถามแล้วก็บอกว่าหมักจากใบแคลองเขียนดูก็น่าจะจริงแต่วันหลังเจออาจารย์ วีรธรรม ตระกูลเงินไทย จะสอบถามอีกทีแล้วกันครับ   ส่วนเรื่องสีนั้นเป็นชื่อเรียกในแผ่นสีสมัยก่อนอ.สมปองเคยให้ทำชาร์ตสีโบราณของไทยไว้แล้วเขียนชื่อกำกับไว้  ส่วนจะเป็นที่นิยมเรียกหรือไม่อันนี้ไม่ทราบครับ  เรื่องทริป  คงต้องรวบรวมว่าใครไปกี่คนจะได้เฉลี่ยกันได้ครับถ้าพี่ยีนส์ไปด้วยคงได้อะไรดีๆอีกเยอะนะครับ  ขอบคุณที่ให้ความกระจ่างครับ


กระทู้: ภาพพระบฎ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 09 ก.พ. 10, 08:48
บอร์ดร้างมากมายเลยครับช่วงนี้ ไม่มีใครเข้ามาชมเลย  :'(

เรื่องเพชรบุรีนั้นก็อยากไปครับ ขอลงชื่อไว้ก่อนละกันครับ

มาอัพบอร์ดหน่อยครับ ผมชอบพระบฏผืนนี้จริงๆ อยู่ในมิวเซียมวังหน้า เสียดายว่าม้วนปลายเก็บไว้หน่อยเพราะผนังสูงไม่พอ รูปรอยลายเส้นยังดูติดวี่แววรัตนโกสินทร์ตอนต้นอยู่


กระทู้: ภาพพระบฎ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 09 ก.พ. 10, 08:49
พระมหาชนกครับ แต่ผมดูแล้วกลับนึกไปถึงตอนศุภลักษณ์อุ้มสมมากกว่า


กระทู้: ภาพพระบฎ
เริ่มกระทู้โดย: yutthana ที่ 09 ก.พ. 10, 09:14
ภาพพระบฎที่โครงสีสวยมากครับอยู่ที่วังหน้าหรือครับมีเวลาต้องแวะไปดูบ้างแล้ว  อยากเห็นรูปเต็มๆครับไม่ทราบว่าคุณกุถ่ายเเบบเต็มมาหรือเปล่าครับ


กระทู้: ภาพพระบฎ
เริ่มกระทู้โดย: jean1966 ที่ 09 ก.พ. 10, 09:24
ผมก็รออยู่ว่าจะมีใครมาลงชื่อไปทริปนี้หรือไม่ เห็นวางโครงการกันไว้ ว่าอยากไปเพชรบุรี แต่สงสัยงานนี้จะแห้วซะแล้วมั๊ง สำหรับคุณKurukura ก็ยินดีครับที่จะได้ไปร่วมกัน เดี๋ยวผมจะเปิดกระทู้ทริป4แล้วกัน สำหรับพระบฎพื้นนี้ผมก็ชอบครับ ว่าแต่คุณKarukaraมีถ่ายมาเยอะมั๊ยครับ ลงให้ชมหน่อย ฝีมือของช่างน่าจะถึงสมัยร.1ไม่เกิน ร.3แน่นอนครับ


กระทู้: ภาพพระบฎ
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 09 ก.พ. 10, 09:30
อ่่าา ถ่ายไม่ได้เลยครับ ติดกระจกเสียขนาดนั้น เท่าที่เอามาลงก็ชัดสุดแล้วครับ อยู่ในห้องรัตนโกสินทร์ชั้นล่าง เห็นฝีมือแล้วก็ตกใจ สวยและสมบูรณ์มาก งานก่อนรัชกาลที่ 3 เขียนคนตัวใหญ่ๆทั้งนั้น

ทริปไม่ล่มหรอกครับ คุณ jean1966 เพราะยังไงผมก็ต้องไปเมืองเพชรอยู่แล้ว ไปก่อนหน้าันั้นหน่อยก็ได้ ผมไปวันที่ 2-4 ครับ


กระทู้: ภาพพระบฎ
เริ่มกระทู้โดย: Buratoey ที่ 15 มี.ค. 10, 23:08
สวัสดีค่ะท่านผู้รู้ทุกท่าน

      ตอนนี้สนในเรื่องพระบฏในภาคเหนืออยู่อะค่ะ (พระบฏสมัยโบราณ) เลยอยากจะถามว่า ใครพอจะทราบเรื่องราวเกี่ยวกับพระบฏล้านนาบ้างอะคะ หรือว่าพอจะหาหนังสือเรื่องไหนอ่านได้บ้าง

      รบกวนท่านผู้รู้ทุกท่านด้วยนะคะ


กระทู้: ภาพพระบฎ
เริ่มกระทู้โดย: thai ที่ 29 ธ.ค. 10, 15:13
เรียนถามyutthana ต้องการทราบภาพพระบฎที่เขียนพระพุทธเจ้าทรงเครื่องผืนนั้น เป็นของที่ไหนคะ ขอทราบรายละเอียดด้วยค่ะ


กระทู้: ภาพพระบฎ
เริ่มกระทู้โดย: yutthana ที่ 30 ธ.ค. 10, 00:37
สวัสดีครับ เนื่องจากทางชมรมเรามีนโยบาย ในการเผยแพร่งานศิลปกรรมไทย โดยบางครั้งไม่สามารถบอกที่มาได้เนื่องจากจะเป็นชี้ช่องให้โบราณวัตถุเหล่านี้สูญหายได้ เพราะพื้นที่นี้เป็นสาธารณะครับ
 อย่างไรก็ดี ถ้าเป็นการถามเพื่อเป็นความรู้  ยินดีตอบเป็นส่วนตัวทางเมล์ครับ  vatsuwan00@yahoo.com   ต้องขอโทษที่ทำให้ยุ่งยากนิดนึง


กระทู้: ภาพพระบฎ
เริ่มกระทู้โดย: ศศิศ ที่ 30 ธ.ค. 10, 11:10
ผ้าพระบฏ ในล้านนา ที่ใช้กันเป็นประจำทุกปี ก็ผ้าพระบฏที่ใช้ในงานเลี้ยงดง (หรือเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะ)

(http://sphotos.ak.fbcdn.net/hphotos-ak-ash1/hs505.ash1/29881_130534066963671_100000212340744_357878_4657711_n.jpg)