เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: Wandee ที่ 28 ธ.ค. 10, 14:09



กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 28 ธ.ค. 10, 14:09


คัดจาก  หนังสืออนุสรณ์  ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา ท.จ.ว.

วันที่ ๒๙  ตุลาคม  พุทธศักราช ๒๕๒๙


คัดย่อจากบทความของท่านผู้หญิงทัศนีย์  บุณยคุปต์ เรื่อง "๙๖ ปีของคุณแม่" เป็นส่วนใหญ่

กราบขออนุญาติถ่ายทอดเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับชีวิตในพระบรมมหาราชวัง  ชีวิตนักเรียนหญิงในประเทศญี่ปุ่น

เวลาในประเทศอังกฤษ  ของกุลสตรีไทยผู้หนึ่ง




(รักษาตัวสะกดตามหนังสือฉบับนี้)



       


กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 ธ.ค. 10, 14:39
ภาพปก ฝีมือ คุณจักรพันธุ์ โษยกฤต


กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 28 ธ.ค. 10, 15:07
      
       หนังสืออนุสรณ์ฉบับนี้  เป็นเรื่องราวที่สนุกและน่าสนใจมาก


       เรื่องราวต้นสกุลของท่านผู้หญิง ๕ หน้า   มีประโยชน์ยิ่งสำหรับนักค้นคว้าสาแหรกสกุลขุนนาง    ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่า

เด็กผู้หญิงกำพร้าจากครอบครัวนายร้อยโท  ได้กลับกลายมาเป็นข้าหลวงสมเด็จพระพันปีหลวง  ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณส่ง

ไปเรียนที่ประเทศญี่ปุ่น       ความสนุกสนานของพวกเด็ก ๆ ๔ - ๕ คนที่คอยขัดขวางการบรรทมของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า  เมื่อพระชนมายุ

๓ พรรษาเศษโดยการเห่รับ  การเห่กล่อมของพระนมสาย        เกร็ดจากบทนิพนธ์ของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ ยุคล เมื่อเข้าเฝ้า

พระบาทสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า กราบทูลลาไปศึกษาต่อยังประเทศอังกฤษ      ซึ่งจะทยอยนำมาเล่าตามลำดับไป      

นักการทูตญี่ปุ่นเมื่อมาคุยกับท่านผู้หญิงก็เล่าว่า  ท่านหญิงเล่าเหตุการณ์ในอดีตเป็นตอนๆเหมือนกับสาวเส้นไหมออกมาจากเครื่องปั่นฝ้าย  และได้ร้องเพลง

ญี่ปุ่นโบราณกัน  สรรเสริญทหารเรื่อญี่ปุ่นสมัยสงครามญี่ปุ่นรบกับรัสเซีย    เพลงที่คนไม่รู้จักเสียแล้ว


     หนังสือเล่มนี้  ดิฉันเคยอ่านมาสองครั้ง   และเมื่อไม่นานมานี้ได้มาจากร้านหนังสือเก่าแห่งหนึ่งที่กำลังจะส่งหนังสือจำนวนมากไปประเทศ

ออสเตรเลีย    ห้องสมุดในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งสั่งซื้อไว้    จึงเลือกได้มาสิบกว่าเล่มจากกอง   เจ้าของร้านยินดีที่หนังสือในรุ่นนี้ยังจะอยู่เมืองไทยต่อไป

ดิฉันได้ปลอบโยนเจ้าของร้่านหนังสือผู้เปรียบเสมือนน้องชายว่า  ไม่เป็นไรหรอก  งบอาจารย์ญี่ปุ่นหาหนังสือในเมืองไทยขึ้นอีกแล้ว  ๕๐%


     ขอเรียนเชิญทุกท่านในเรือนไทยลงมาพูดคุยแสดงความคิดเห็นหรือเพิ่มเติมเรื่องหลังจากดิฉันได้จบเรื่องแล้ว      ท่านที่มีหนังสือเล่มนี้ขอเรียนเชิญ

ให้ปาดได้ทุกขณะ  เพื่อรักษาเนื้อเรื่องตามที่ตั้งใจไว้


กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 28 ธ.ค. 10, 15:09


ขอบคุณ คุณเพ็ญชมพู  ค่ะ


กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 28 ธ.ค. 10, 15:35

       
       บิดาชื่อจร  มารดาชื่อหวาน      ตอนนั้นยังไม่มีการใช้นามสกุล

บิดาเป็นทหาร  ในยุคนั้นยังไม่มียศเป็นศัพท์ไทย  เรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Lieutenant  ว่า

เลฟตาแน้นท์  เมื่อคำนั้นยาวและไม่สะดวกปากจึงย่อกันว่า "เล็บ"   บิดาท่านจึงเป็น "เล็บจร"


       คุณปู่คือหลวงประจักษ์ศิล(เปลี่ยน) เป็นเจ้ากรมของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม

คุณย่าชื่อหนูเสน  เป็นลูกสาวคหบดีที่บางจาก   แต่งงานแล้วก็ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บางจากนั่นเอง  เป็นสวนผลไม้นานาชนิด

ผลไม้ที่ขึ้นชื่อก็มีเงาะและทุเรียน     เมื่อถึงฤดูเงาะออกผล  เจ้ากรมเปลี่ยนจะกราบบังคมทูลเสด็จพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง

เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเก็บเงาะที่สวน         คุณปู่ปลูกพลับพลาที่ประทับขึ้นในบริเวณกลุ่มต้นเงาะที่ได้คัดแล้วว่าผลงาทและรสชาติดีที่สุด

ทอดสะพานไม้กระดานยาวจากพลับพลาไปยังท่าเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยา        พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจะเสด็จประประพาสต้น

พร้อมเจ้าจอมและข้าราชบริพาร  ประทับเสวยพระกระยาหารและทรงพระสำราญพระราชอิริยาบทอยู่ ณ พลับพลาจนเย็นค่ำ  จึงจะเสด็จกลับ

โดยเรือพระที่นั่ง        พระองค์ท่านได้เสด็จเช่นนี้เป็นประจำอยู่หลายปี  จนถึงปีก่อนสวรรคตจึงทรงงดเพราะพระพลานามัยไม่ดีเหมือนแต่ก่อน

(สำหรับทุเรียนนั้นไม่โปรดเสวยเลย      ท่านผู้หญิงเล่าว่าในสมัยนั้นห้ามนำทุเรียนเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง)


กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 28 ธ.ค. 10, 15:59

       นายร้อยโทจร รับราชการอยู่พระบรมมหาราชวัง  ได้มีโอกาสเข้าเฝ้า  รับใช้สนองพระเดชพระคุณ

พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงและสมเด็จพระพันปีหลวงอย่างใกล้ชิดเป็นประจำ      ส่วนคุณหวานก็

ก็เข้ามาเฝ้าฯ สมเด็จพระพันปีหลวงอยู่เสมอ      


       ท่านผู้หญิงเล่าว่าคุณหวานนุ่งโจงกระเบนผ้าพื้นสีตามวัน  ใส่เสื้อแขนกระบอก  และสะพายผ้าแพรสีนวล ๆ

มิได้เปลี่ยนเป็นสีประจำวันอย่างที่เป็นที่นิยมในสมัยนั้น      ท่านสวมรองเท้าแตะเมื่ออยู่นอกวัง  เมื่อถึงเขต

ประตูพระบรมหาราชวังก็จะถอดรองเท้าแตะออก  ถือข้ามธรณีประตูและเดินเท้าเปล่าเข้าไปจนถึงพระที่นั่งสุทธาศรี

ซึ่งเรียกกันว่า "ที่บน"   จะนั่งรอเฝ้าที่ขั้นอัฒจรรย์ใหญ่จนกว่าจะเสด็จออก

       วันหนึ่งคุณหวานซึ่งตั้งครรภ์แรกเข้าเฝ้าอยู่    สมเด็จพระพันปีหลวงตรัสว่า   ถ้าลูกในท้องเป็นผู้หญิงก็ขอเถอะ

จะเอามาเลี้ยงให้  ถ้าเป็นผู้ชายไม่เอา

       สิบเดือนหลังจากท่านผู้หญิงเกิด   บิดา"เล็บจร" ก็ถึงแก่กรรม


กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 28 ธ.ค. 10, 20:48
ขอบคุณครับ คุณ Wandee ที่กรุณานำหนังสือมาให้ได้ชม และอ่านกัน, ผมเก็บหนังสือเล่มนี้ไว้นานมากแล้ว พออ่านกระทู้แล้ว ก็เกิดระลึกถึง ท่านผู้หญิงและท่านเจ้าคุณขึ้นมา จึงไปปัดฝุ่นหนังสือดัวกล่าวออกมาอ่านอีกรอบ (ตัวผมเกิดไม่ทันท่านหรอกครับ แต่รู้จักท่านด้วย หนังสือและคำบอกเล่าของท่านผู้ใหญ่ )

อ่านกระทู้ใน เรือนไทย.วิชาการ.คอม มานานแล้วครับ แต่ยังไม่ได้ สมัครสมาชิกซักที จึงได้คราวนี้เป็นเหตุแล้วครับ

ถ้าเป็นเว็บไซด์อื่น คงต้องขอฝากเนื้อฝากตัวกันเป็นอารัมภบทก่อน....... แต่เป็นเว็บไซด์นี้ คงต้องขอ "ยกพาน หญ้าแพรก, ดอกเข็ม, ดอกมะเขือ, ข้าวตอก แล ธุปเทียน" เป็นการไหว้ครู ขอบพระคุณทุกท่านที่ ได้เป็นเสมือนอาจารย์ครับ 

กำลังรวบรวมเหตุการณ์ บางอย่างของไทยอยู่ครับ คงต้องได้รบกวนทุกท่านได้โปรดอนุเคราะห์ ..........ขอบพระคุณครับ


กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 28 ธ.ค. 10, 21:37



ยินดีต้อนรับแทนทุกคนในเรือนไทยค่ะ    ดิฉันอ่านหนังสือเก่าอย่างเดียวค่ะ    เรื่องสาแหรกทั้งหลายก็พอผ่านตา

วรรณคดีก็พออ่านพอออก      นี่ก็หวั่นไหวระทึกเพราะคุณหลวงเล็กท่านว่าจะต้อนรับปีใหม่โดยการตั้งคำถาม ๑๐๐ ข้อ

เกี่ยวกับวรรณคดีเรื่องหนึ่ง     มาช่วยกันตอบนะคะ  ถือว่ารื่นเริงด้วยกัน   คงจะหวิดสอบได้กันหลายคนทีเดียว

ขอบคุณที่เข้ามาอ่านค่ะ         ดิฉันมีหนังสือของท่านเจ้าคุณอีกเล่มด้วย



กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 29 ธ.ค. 10, 07:52


ชีวิตในวัง


       เมื่อท่านผู้หญิงอายุได้ประมาณ ๗ ขวบ     สมเด็จพระพันปีหลวงได้ทรงเตือนว่า  เมื่อไรจะให้เข้ามาอยู่ในวังเสียที

ถ้ามาอยู่จะให้เรียนหนังสือ  จะโกนจุกให้  และจะให้เป็นข้าหลวงทูลกระหม่อมเอียดน้อย(พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว)

ท่านผู้หญิงก็ได้เข้าเฝ้าถวายตัวเป็นข้าหลวงสมเด็จพระพันปีหลวงและเป็นข้าหลวงสำหรับเล่นกับทูลกระหม่อมเอียดน้อย

ในสมัยนั้น  สมเด็จพระพันปีหลวงทรงอุปการะเด็ก ๆ ไว้มาก   ส่วนหนึ่งจะเป็นพระราชนัดดาชั้นหม่อมเจ้า  และส่วนหนึ่งจะเป็นบุตรธิดา

ของข้าราชการบ้าง  ข้าราชบริพารบ้าง  ห้องพระราชนัดดานั้นเรียกว่า "ห้องหม่อมเจ้า"  เป็นห้องกว้างใหญ่  อยู่ชั้นล่างของพระที่นั่ง

เทพดนัย         ท่านก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้อยู่ในห้อง "หม่อมเจ้า"


เด็ก ๆ ที่ยังไม่ได้โกนจุกจะมีพี่เลี้ยงคอยดูแล   พี่เลี้ยงคนหนึ่งจะดูแลเด็ก ๔ คน  ในเรื่องของการอาบน้ำ  ทาขมิ้น  แต่งตัว  เกล้าจุก 

กันไรจุก  และให้เด็กๆขึ้นเฝ้าฯทุกวันเมื่อเสด็จออก    ท่านผู้หญิงทัศนีย์ เขียนไว้ว่า  คุณแม่บรรยายให้ฟังว่าพี่เลี้ยงของท่านดุยังกับเสือ

และท่านเบื่อที่สุดก็ตอนเกล้าจุก  กันไร  เพราะต้องนั่งนิ่ง ๆ  ถ้าไม่นิ่งก็จะถูกดุ  หรือกลัวมีดโกนบาด


ข้าหลวงทูลกระหม่อมฯคือพระสหายในการเล่น  เป็นผู้หญิงทั้งสิ้น  อายุ ๗ - ๙ ขวบ      ทูลกระหม่อมจะเล่นอะไรข้าหลวงก็จะเล่นเป็นเพื่อน

การเล่น ๒ - ๓ อย่างที่อยู่ในความทรงจำของท่านคือการเล่นไปเที่ยวศรีราชาและเก็บหอยตามชายหาด  โดยจะนำลูกกวาดและช็อคโกแลต 

ซึ่งหม่อมศรีพรหมมาเป็นผู้เบิกมาจากห้องขนมและเอามาโปรยกันที่พื้นสมมุติว่าเป็นหอยบนหาดทราย   เด็กๆสนุกในการเก็บขนม

รับประทานเป็นที่ครื้นเครง   ข้าหลวงจึงชวนทูลกระหม่อมให้ทรงเล่นไปเที่ยวชายทะเลอยู่เนือง ๆ


       ขณะนั้นกำลังโปรดเกล้าให้สร้างสวนดุสิต   ดังนั้นแทบทุกเย็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงและสมเด็จพระพันปีหลวงจะเสด็จ

ไปทอดพระเนตรการก่อสร้าง   การเสด็จนั้นเสด็จกันคนละกระบวนโดยรถม้า   กระบวนของสมเด็จพระพันปีหลวงจะมีข้าหลวง

เด็ก ๆขี่จักรยานตามเสด็จ    ข้าหลวงเด็ก ๆ จะต้องแต่งตัวชุดโจงกระเบน  ใส่เสื้อคอแบบเชิ้ต  แขนหมูแฮม  สวมถุงน่องรองเท้า

และสวมหมวกฟาง   รถที่ท่านผู้หญิงได้รับพระราชทานคือรถฮัมเบอร์สีเขียว(ถือว่าโก้หนักหนาและช้อยในเรื่องสี่แผ่นดินก็ชื่นชม)   

หน้ารถมีตะกร้าที่เด็ก ๆ จะใส่ขนมและแตงโมลูกแก้ว      สมเด็จพระพันปีหลวงประทับรถม้าพระที่นั่งเปิดประทุน  มีคุณท้าวตามเสด็จ   

ราชองค์รักษ์ขี่ม้าตามเสด็จเยื้องมาเบื้องหลัง     ขบวนจักรยานของเด็ก ๆ ตามมาอีกทีหนึ่ง         


ราชองค์รักษ์มีชื่อว่าจมื่นไวยวรนารถ      แต่ด้วยเหตุที่มีผมน้อยมาก    ท่านหญิงพรพิมล(ท่านแม่ของพระองค์หญิงวิภาวดี)

จึงทรงตั้งชื่อให้ใหม่ว่า  "จมื่นเกศาพินาศ"  และแอบเรียกกันจนเจ้าตัวก็รู้



กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 29 ธ.ค. 10, 16:18

       สมเด็จพระพันปีหลวงได้ทรงพระกรุณาให้ข้าหลวงเด็ก ๆ ของท่านได้มีโอกาสเรียนหนังสือ       เมื่อตอนเล็กอยู่

จะให้ผู้ใหญ่หรือเจ้านายผู้ใหญ่สอน


       เมื่ออายุประมาณ ๑๐ - ๑๑ ขวบ  นักเรียนจะออกมาเรียนที่โรงเรียนวังนอก  คือ  ที่กรมศิลปากร  แต่ก่อนเป็นวังของ

กรมหมื่นปราบปรปักษ์   การเรียนเรียนรวมกันทั้งชายหญิงและเรียนเป็นชั้น ๆ   การแต่งกายออกมาเรียนนอกวังต้องสวมถุงน่องรองเท้า

และต้องเดินเป็นแถว   ออกจากพระบรมมหาราชวังทางประตูวิเศษไชยศรี    ในภาคเช้าจะเรียนภาษาไทยมีครูผู้ชายชื่อครูเพื่อนเป็นผู้สอน

ส่วนในภาคบ่ายเรียนภาษาอังกฤษ  มีแหม่มลูกครึ่งปอร์ตุเกส  ชื่อ Miss Bellamin da Costa  เป็นผู้สอน

        
       ท่านผู้หญิงเล่าว่าการเรียนภาษาไทยสนุกสนานมาก   หนังสือที่ใช้สมัยนั้นเป็นชุด คือ มูลบทบรรพกิจ  วาห์นิติ์นิกร  

อักษรประโยค  สังโยคพิธาน  พิศาลการันต์   ท่านไม่ได้เล่าว่าเรียนไปถึงเล่มไหนแต่เล่าเรื่องซุกซนไว้ว่า  หม่อมศรีพรหมา

เพื่อนรักของคุณแม่ได้บรรยายเกี่ยวกับครูเพื่อนไว้ว่า      "...ครูเพื่อนมีลักษณะโบราณ   ทุกส่วนเป็นสีน้ำตาล  ตั้งแต่สีผิว

ผม  ผ้านุ่ง  เสื้อ  มือ  เล็บ  แม้แต่ฟัน  เด็ก ๆ ไม่ค่อยเกรงใจครูเลย   จะว่าก็ไม่ฟัง"


       วันหนึ่งขณะหยุดพักกลางวัน   ครูเพื่อนเอาเสื้อนอกแขวนห้อยจากเพดานกลางห้อง  เพราะกลัวเด็กจะค้น   แต่ก็ไม่พ้นมือ

นักเรียนซน ๆ  ได้เอาเก้าอี้มาต่อกันแล้วค้นกระเป๋าครู   แก้ห่อหมากแห้งของครูออกมาค้น  แล้วหยิบสมุดบันทึกเก่า ๆ ที่ครู

บันทึกเกี่ยวกับนักเรียนมาอ่านเป็นที่ขบขัน   ครูบันทึกเป็นนัย ๆ ไว้ว่า


"คุณจร(ท่านผู้หญิง)  กาหล"  หมายความว่าเอ็ดตะโร

"คุณสายหยุดกางร่ม"  หมายความว่าดื้อดัน

คุณศรีโดนว่า "โคมลอย"  ซึ่งหมายความว่าพูดไม่ได้ความ          แล้วครูยังเขียนไว้ว่า  "นักเรียนเหล่านี้  ว่ายากจริงแฮ  

บาปที่ทำเช่นนี้    กรากขึ้นทันตาเห็น"

เมื่อนักเรียนอ่านแล้วก็เป็นที่ขบขัน  และขบขันกันมากเมื่อครูพบว่าหมากแห้งหายไป ๒ - ๓ คำ  ไม่พอสำหรับคนกินตลอดวัน



กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 30 ธ.ค. 10, 07:20


       ถึงแม้นักเรียนจะซนและแกล้งครูเช่นนั้นก็ตาม  แต่ก็ยังมีใจรักและเห็นอกเห็นใจครูในบางโอกาส  เช่นในวันเกิดของ

เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ท่านมักจะแจกผ้านุ่ง   ครูเพื่อนได้รับแจกมาผืนหนึ่งแล้ว   แต่นักเรียนก็ยังไปขอมาให้ครูเพื่อนอีก ๒  - ๓  ผืน


       การเรียนภาษากับครูแหม่ม Bellamin  ไม่มีโอกาสได้ซนเท่ากับเวลาเรียนกับครูเพื่อน   นอกจากจะสอนอ่านและเขียน 

ยังสอนให้ร้องเพลงฝรั่งและเต้นรำแบบง่าย ๆ   ครูให้จับคู่กับเก้าอี้และร้อง one, two, three, hop  แล้วยกเก้าอี้   ต่อจากนั้น

นักเรียนก็จับคู่กันแล้วเต้นตาม    เด็กนักเรียนบางครั้งเก็บดอกจำปาจำปีมาให้แหม่ม        การออกกำลังของแหม่มในเวลาว่างคือ

ตีกอล์ฟที่ท้องสนามหลวงกับพวกฝรั่งด้วยกัน   บางครั้งเวลาสมเด็จพระพันปีกริ้วแหม่ม  ท่านทรงเรียกว่า "แหม่มแบหลา"   

ตอนหลังแหม่มได้แต่งงานกับชาวอังกฤษและเปลี่ยนชื่อเป็น Mrs. Spivey    แหม่มอยู่ประเทศไทยนาน  เมื่อถึงแก่กรรม

ศพก็ไว้ที่สุสานในกรุงเทพ ฯ



กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 31 ธ.ค. 10, 06:39

ชีวิตในประเทศญี่ปุ่น (พ.ศ. ๒๔๔๖ - ๒๔๕๑)

 
       เหตุที่ท่านผู้หญิงได้รับพระมหากรุณาธิคุณรับพระราชทานทุนไปศึกษา ณ ประเทศญี่ปุ่นสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์

ใน พ.ศ. ๒๔๔๕ เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมงกุฎราชกุมาร  ระหว่างเสด็จกลับจากการศึกษาที่ประเทศอังกฤษ 

ได้เสด็จประพาสประเทศญี่ปุ่นและทรงเห็นความก้าวหน้าของหัตถกรรมและศิลปะญี่ปุ่น  จึงมากราบบังคมทูล  และรับสั่งว่า

ถ้าสมเด็จแม่มีเด็กที่มีแววทางนี้ก็น่าจะส่งให้ไปเรียนที่ประเทศญี่ปุ่น  เมื่อเรียนจบกลับมาแล้วจะได้มาสอนคนไทยบ้าง

สมเด็จพระพันปีหลวงทรงเห็นชอบในพระราชดำริ  จึงทรงเลือกกุลสตรี ๔ คน มี  แม่พิศหลานท่านผะอบ   แม่นวลซึ่งมีป้าอยู่ห้องเครื่อง

แม่หลีซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของข้าหลวงพระองค์นารี  และ ท่านผู้หญิง    สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชก็ได้ทรงเลือกมหาดเล็กของพระองค์

๔ ​คนให้เดินทางไปศึกษาด้วย          ท่านผู้หญิงกับคุณพิศไปเรียนวิชาปักสะดึงและวาดเขียนแบบญี่ปุ่น   คุณหลีกับคุณนวลไปเรียนการทำดอกไม้แห้ง

ออกเดินทางประมาณเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๖    สมเด็จพระพันปีหลวงได้ทรงฝากให้เดินทางไปกับ นาย โทคิชิ  มาซาโอะ(นายเมาเซา) และภรรยา

นายเมาเซา  รับราชการเป็นที่ปรึกษาในกระทรวงยุติธรรม  เป็นผู้เริ่มให้ญี่ปุ่นยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตในไทย   ต่อมาได้รับพระราชทาน

บรรดาศักดิ์ให้เป็นพระยามหิธรมนูปกรณโกศลคุณ

       การเดินทางไปญี่ปุุ่นสมัยนั้นมีอยู่ทางเดียวคือโดยเรือเดินสมุทรซึ่งใช้เวลาเกือบหนึ่งเดือน   ต้องไปขึ้นฝั่งที่ฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้  แล้วไปขึ้นฝั่งที่โยโกฮามา

แล้วขึ้นรถไฟต่อไปยังกรุงโตเกียวไปพักอยู่กับครอบครัวญี่ปุ่นซึ่งเป็นทั้งครูและผู้ปกครอง

       ในตอนเช้าท่านผู้หญิงเดินไปโรงเรียนเพื่อเรียนภาษาญี่ปุ่น  แล้วกลับมากินอาหารกลางวันที่บ้าน   ในตอนบ่ายจะไปเรียนวิชาพิเศษที่บ้านครู

บางวันไปเรียนวาดเขียน  บางวันไปเรียนปักสะดึง    บ้านครูพิเศษนี้อยู่ในทิศทางตรงกันข้ามกับโรงเรียน   ต้องเดินไปไกลพอใช้   ในฤดูที่อากาศดี

ก็ไม่ลำบาก  แต่ถ้าฝนตกหรือหิมะตกและต้องเดินเท้าแบบญี่ปุ่นยำ่หิมะก็ทุลักทุเล

       เมื่อท่านผู้หญิงอยู่ญี่ปุ่น  ท่านเป็นที่นิยมรักใคร่ในแวดวงของท่าน    เขาตั้งชื่อญี่ปุ่นให้ท่านว่า  ฮานาโซนะ  ยูริโกะ  แปลว่า  ดอกลิลลี่(ว่าน)ในสวนดอกไม้


กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 31 ธ.ค. 10, 07:44

ชีวิตในวังหลังจากกลับจากญี่ปุ่น พ.ศ. ๒๔๕๑ - ๒๔๕๕


        เมื่อสำเร็จการศึกษาและกลับสู่ประเทศไทยใน พ.ศ. ๒๔๕๑    ท่านผู้หญิงได้กลับมาเป็นข้าหลวงรับใช้เบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระพันปีหลวงเช่นเดิม  

ซึ่งในขณะนั้นประทับที่พระตำหนักสวนสี่ฤดูพระราชวังดุสิต        สมเด็จพระพันปีหลวงทรงมีพระเสาวณีย์ให้คุณแม่ไปเป็นครูที่โรงเรียนราชินี  

มี ม.จ. พิจิตรจิราภา ทรงเป็นอาจารย์ใหญ่    สอนวิชาวาดเขียนและปักสะดึงแทนครูญี่ปุ่นซึ่งกลับไปเมื่อหมดสัญญา

เวลาไปโรงเรียนก็ไปเรือเลียบฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและไปขึ้นที่ท่าราชินี  


       ท่านผู้หญิงพักอยู่ที่เรือนไม้ ๒ ชั้น  ข้างล่างเป็นที่อยู่ของ "นายแดง"  (แต่เป็นผู้หญิง)หัวหน้าห้องเครื่องซึ่งชอบพอกับคุณแม่มาก  

และมีข้อตกลงกันว่าถ้าคุณแม่หิวก็ให้หย่อนเชือกลงมาแล้วนายแดงก็จะห่ออาหารผูกเชือกให้ท่านผู้หญิงสาวเชือกขึ้นไป    บางครั้งนายแดง

ก็จะใจดีห่ออะไรแอบมาวางให้ในห้อง   ถ้าท่านไม่อยู่หรือเผลอ  ท่านหญิงพรพิมลพรรณซึ่งอยู่ห้องติดกันทรงแกล้งเอาไปซ่อน  หรือแอบเอาไปเสวย

เสียก่อน          นายแดงมีความสามารถในการทำและจัดอาหาร   ในการตั้งเครื่องทุกครั้งจะมี เครื่องใหญ่ซึ่งเป็นกับข้าวหลักนานาชนิด

เต็มหนึ่งถาดใหญ่  มีเครื่องเคียงอีกหนึ่งถาด  แล้วถึงจะถึงเครื่องหวาน   ที่เก่งกว่าปกติคือจัดเครื่องพิเศษ  ซึ่งจะเสวยเมื่อใดก็เมื่อนั้น

ไม่มีกำหนดล่วงหน้า   สามารถจัดถวายได้ในระยะเวลาอันสั้น   ทั้งๆที่สมัยนั้นไม่มีตู้เย็นสำหรับถนอมอาหารสดไว้มาก ๆ

หรือมีเครื่องผ่อนแรงอย่างสมัยนี้แต่ประการใด    


กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: เทพกร ที่ 31 ธ.ค. 10, 14:09
ขอบคุณสำหรับเรื่องดี ๆ ครับ  :D


กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 31 ธ.ค. 10, 14:53


ขอบคุณคุณเทพกรอย่างยิ่ง


     การอ่านเรื่องราวดี ๆ ที่สนุกและให้ความรู้เป็นการแบ่งปันความสุขกันค่ะ   เป็นความสุขที่หาได้ง่าย

ปัดและเป่าทุกข์บางประการให้ห่างออกไป    สร้างกำลังใจเมื่อเรียนรู้ว่าผู้ใหญ่ที่มีเกียรติยศ  ชื่อเสียง

และบรรดาศักดิ์หลายต่อหลายท่านมาจากสามัญชน  เรียนรู้ว่าท่านเหล่านั้นคิดอย่างไร  ทำตัวอย่างไร

และประสบความสำเร็จปานใด  มีครอบครัวเป็นสุขและบุตรหลานที่ดีงาม มีการศึกษา  มีชื่อเสียงเป็นที่เคารพทั่วไป



ในปีที่ผ่านมานี้  ดิฉันคิดว่าเป็นปีที่ดีที่สุดในชีวิตเพราะได้พบปะและสนทนากับเพื่อน ๆ ในเรือนไทย

ได้รับโอกาสจากท่านเจ้าเรือนให้เขียนถึงเรื่องราวบางประการที่ดิฉันคิดว่าสำคัญ   โดยมีหลักฐานพอสมควร

ได้รวมรวมหนังสืออนุสรณ์ที่กระจัดกระจายอยู่ในบ้านให้มารวมอยู่ในตู้หนังสือ    ได้รับคำแนะนำจากเพื่อนๆ

หลายคนว่าการเสริมความรู้และหาหลักฐานเพิ่มเติมทำอย่างไร        เพื่อน ๆ ของดิฉันเป็นนักอ่านค่ะ  เราอ่านหนังสือ

แข่งกันและคุยกันแต่เรื่องหนังสือโดยเฉพาะหนังสือเก่าที่มีค่าและหายาก     


เมื่อวานนี้ได้รับเชิญจากนักสะสม ริชาร์ด  ใจสิงห์  ให้ไปอ่านหนังสือที่ห้องสมุดของเธอ    ต้องจดรายละเอียดเอง 

ไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายรูปเพราะหนังสือโบราณคร่ำคร่า    ดิฉันได้พบหนังสือ "ราชินีบำรุง" แล้วส่วนหนึ่งค่ะ  แต่ยังไม่เจอรุ่นที่หม่อมเสมอ แปล

คุณพ่อขายาวไว้  หวังว่าคงจะได้พบเป็นแน่ในเวลาไม่นานนัก


       ขอบคุณที่อ่านและกรุณาโพสรูป   เพื่อน ๆ จะได้เห็นว่า ท่านผู้หญิงเฟี้ยวขนาดไหน  และละมุนละม่อมปานใด

       สวัสดีปีใหม่ค่ะ    และเราคงเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันต่อไป



กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 31 ธ.ค. 10, 15:29


       การไปเป็นครูที่โรงเรียนราชินีทำให้ท่านผู้หญิงมีสิทธิพิเศษกว่าข้าหลวงอื่นที่ไม่ได้เป็นครู   คือไม่ต้องเฝ้าฯ รับใช้

หลัง ๒ ยาม  เพราะเกรงจะตื่นไปโรงเรียนไม่ทัน   เพราะฉะนั้นถ้าจะมีพระราชเสาวนีย์หรือเกิดโกลาหลอะไรขึ้น  ถ้าเกิน ๒ ยามแล้ว

ท่านเป็นไม่รับรู้ทั้งสิ้น      หลังกลับจากญี่ปุ่นแล้วท่านก็ยังเกล้าผมแบบญี่ปุ่นอยู่เพราะสมเด็จพระพันปีหลวงโปรด    และยังทรงอนุญาต

เป็นพิเศษให้ท่านผู้หญิงเก็บดอกกุหลาบที่ปลูกไว่ในบริเวณพระตำหนักมาปักผมด้วย   ตอนนั้นข้างในนิยมผมเกล้าแบบญี่ปุ่นกัน   

ท่านก็ได้เกล้าให้เจ้าจอมหลายคน


       นอกจากการเป็นครูแล้วเมื่อกลับจากโรงเรียนก็คงรับใช้ในหน้าที่ข้าหลวง  แต่เลื่อนขึ้นเป็นข้าหลวงผู้ใหญ่   หน้าที่ต่างๆตามที่ท่านเล่าให้

ท่านผู้หญิงทัศนีย์  บุณยคุปต์ บุตรสาวของท่าน ผู้เขียนความทรงจำนี้ฟัง  มีต้องขึ้นเฝ้าฯ เชิญเครื่อง  ตั้งเครื่อง  รับใช้ขณะเสวย

บางครั้งสมเด็นพระพันปีหลวงก็ทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้ไปป้อนข้าวหลาน ๆชั้นหม่อมเจ้า  ท่านจำได้ว่าเคยป้อนข้าวถวายสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี 

ท่านหญิงพิบูลย์เบญจางค์  และท่านหญิงพวงรัตนประไพเป็นต้น        บางครั้งก็ช่วยแต่งพระองค์และตามเสด็จ         ขณะนั้นเป็นเวลาที่พระบาทสมเด็จ

พระพุทธเจ้าหลวงทรงเริ่มสร้างวังพญาไท        ทุกเย็นทั้งสองพระองค์เสด็จมาทรงสำราญ ณ ที่นั้น  แต่ไม่ได้เสด็จพร้อมกัน  จะเสด็จมาองค์ละที

แลมาประทับเสวยร่วมกัน


       ตอนนั้นสมเด็จพระพันปีหลวงโปรดการปลูกข้าว ดำนา  บริเวณรอบวังพญาไทสมัยนั้นยังเป็นท้องนาโดยรอบ   ท่านจะทรงดำนาจากบนเรือ 

มีชาวนาเข็นเรือไปตามแนวที่จะปลูกข้าว   และจะมีข้าหลวงถวายพระกรดเดินตามอยู่ในน้ำ    ชาวนาเล่าให้ท่านผู้หญิงฟังว่าปลิงชุมระวังให้ดี 

ทำให้ท่านกลัวปลิงเกาะเพราะย่ำอยู่ในน้ำกว่าครึ่งน่อง      พอรู้สึกว่ามีอะไรผ่านน่องไปก็ร้องด้วยเสียงอันดังด้วยความตกใจมิได้เกรงกลัวพระอาญา   

สมเด็จพระพันปีหลวงงตกพระทัย  ทรงถามว่าเป็นอะไรจึงร้องดังเช่นนั้น     ท่านกราบทูลว่ารู้สึกเหมือนปลิงเกาะ    เลยโดนกริ้วว่า

ร้องอะไรตกอกตกใจกันไปหมด     ตั้งแต่วันนั้นมาถ้าเลี่ยงการถวายพระกรดและลงน้ำได้ท่านเป็นเลี่ยง



กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 02 ม.ค. 11, 06:00


       การที่ท่านผู้หญิงไปเป็นครูที่โรงเรียนราชินี  เป็นโอกาสให้คุณหลวงอภิบาลบุริมศักดิ์(ยศในเวลานั้นของท่านเจ้าคุณภะรตราชา)

รับราชการในกระทรวงธรรมการ เป็นครูโรงเรียนสวนกุหลาบ และเป็นเลขานุการส่วนตัวของเสนาบดีไปตรวจโรงเรียนต่าง ๆ

ในพระนครไปพบท่านผู้หญิง    ต่อมาจึงขอให้มารดา(เอี่ยม  ราชดรุณรักษ์)  ไปกราบบังคมทูลขอพระราชทานต่อสมเด็จพระพันปีหลวง

ท่านผู้หญิงทัศนีย์  บุณยคุปต์ เล่าว่า  คุณย่านั้นสมเด็จพระพันปีหลวงทรงรู้จักมักคุ้น  เพราะบ้านคุณย่าตั้งกี่ทอผ้าขาย  และได้ทอพระภูษาทรง

ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง   เมื่อนำเข้ามาถวายครั้งใดสมเด็จพระพันปีหลวงจะทรงเลือกด้วยพระองค์เอง   คุณย่าจึงได้เฝ้า

อยู่เสมอ  ผ้าพื้นของคุณย่านั้นท่านจะย้อมสีและดัดแปลงการผสมสีโดยค้นคว้าประดิษฐ์ขึ้นเอง  ทำให้มีผ้าสีแปลก ๆ   นอกจากนั้นผ้าพื้น

ของคุณย่ามีขนาดกว้าง  เนื้อแน่น และเนื้อดี      พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงโปรดผ้าพื้นที่คุณย่าทอ   ท่านเคยรับสั่งว่า 

ผ้านุ่งของแม่เอี่ยมนุ่งสบายและสีสวย              การที่ล้นเกล้าทั้งสองพระองค์ทรงรู้จักคุณย่า   และการที่คุณพ่อเป็นข้าราชการในราชสำนัก

รับใช้สนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างใกล้ชิด            จึงทำให้คุณย่ากล้าเข้าไปเฝ้าฯ ขอพระราชทานข้าหลวง

ของสมเด็จพระพันปีหลวง   โดยคิดว่าจะไม่มีอุปสรรคประการใด      แต่การหาได้เป็นเช่นนั้นไม่           สมเด็จพระพันปีหลวงไม่รับสั่งประการใด

ท่านหวงข้าหลวงของท่านเฉพาะอย่างยิ่งคุณแม่ที่ท่านได้อุปการะมาตั้งแต่เด็ก   ทั้งคงจะโปรดและมีความรู้สึกว่าคุณแม่ยังเด็กอยู่

ซึ่งที่จริงตอนนั้นคุณแม่อายุประมาณ ๒๑ ปี  ไม่เป็นเด็กแล้ว           ฝ่ายคุณย่าเมื่อเห็นสมเด็จพระพันปีหลวงทรงเฉย 

แสดงว่าไม่ทรงเต็มพระทัยจะประทานข้าหลวงของท่านแล้ว   ก็ไม่กล้าเข้าเฝ้าฯหรือกราบบังคมทูลเรื่องนั้นอีกต่อไป


       อยู่มาวันหนึ่ง  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ  เสด็จมาเฝ้าฯ   สมเด็จพระพันปีหลวงก็รับสั่งฟ้องพระราชโอรสของท่านว่า

ดูสิลูกโต  เจ้าหลวงอภิบาลฯ กำเริบมาขอข้าหลวงของแม่          แทนที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ จะทรงคล้อยตามกลับทรงพระสรวลและรับสั่งว่า 

เด็กมันก็โตด้วยกันแล้ว   สมเด็จแม่น่าจะประทานให้เขาไป   แล้วหม่อมฉันจะรับเลี้ยงดูเขาเอง  เมื่อทรงได้ยินพระราชโอรสตรัสเช่นนั้นแล้ว   

สมเด็จพระพันปีจึงทรงแย้มสรวล  และรับสั่งว่าอย่สงนั้นรึลูก   เป็นอันว่าท่านทรงอนุญาต


ฝ่ายคุณย่าก็ถูกกริ้วอีกว่า  ดูสิแม่เอี่ยมมาขอข้าหลวงของฉันแล้วเงียบหายไป  ไม่เห็นมาติดต่อถามข่าวคราวอย่างไรเลย       เมื่อคุณย่า

ทราบจึงต้องรีบเข้าเฝ้าฯ  เพื่อรับพระราชทานพระเสาวนีย์เกี่ยวกับการสมรสของคุณพ่อและคุณแม่



กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 02 ม.ค. 11, 07:39


       วันแต่งงานคือวันที่ ๑๙​ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๕     ในบ่ายวันนั้น  ได้มีพระราชเสาวณีย์ให้จัดรถม้าคอยอยู่นอกประตูวัง

เจ้าสาวเดินออกไปขึ้นรถม้า   คุณเฒ่าแก่ชื่อคุณช้อยนั่งเคียงไปด้วย   ไปที่บ้านคุณย่าที่ถนนพระสุเมรุ    ในพิธีสมรสวันนั้น

สมเด็จพระเจ้าน้องเธอ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถทรงสวมมงคลและประทานน้ำสังข์แก่คู่บ่าวสาว    พระบาทสมเด็จ

พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเงิน ๑๐๐ ชั่ง


       เมื่อแต่งงานแล้วท่านผู้หญิงก็ยังไปสอนที่โรงเรียนราชินีอยู่จนกระทั่งตั้งครรภ์ลูกคนโต   จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณ

ให้หยุดสอนเพื่อที่จะได้ปฏิบัติหน้าที่ทางครอบครัวอย่างเต็มที่





กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ม.ค. 11, 08:24
ช่วยหาภาพมาประกอบเรื่องครับ


กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ม.ค. 11, 08:53
อ้างถึง
ตอนนั้นสมเด็จพระพันปีหลวงโปรดการปลูกข้าว ดำนา  บริเวณรอบวังพญาไทสมัยนั้นยังเป็นท้องนาโดยรอบ   ท่านจะทรงดำนาจากบนเรือ 


กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 02 ม.ค. 11, 10:50

       ขอบคุณคุณ Navarat.C  ค่ะ  สวัสดีปีใหม่ค่ะ




กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 02 ม.ค. 11, 11:05

ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา  มาลากุล  เขียนคำอาลัยท่านผู้หญิงขจรภะรตราชาไว้ว่า  

       เป็นผู้มีพระคุณ  เป็นครูคนแรกที่โรงเรียนราชินี  


       ท่านอุ้มเด็กอายุ ๓ ขวบกว่าไปอาบน้ำประแป้งวันละสองครั้งและป้อนข้าว

ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลารับว่าท่านดื้อและเอาแต่ใจตนเองอยู่เสมอจนมารดาสู้ไม่ไหว    ท่านว่าท่านซนที่สุดในโรงเรียนด้วย

ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชากำลังสาวและสวยมาก  ไว้ผมดอกกระทุ่ม  ใส่เสื้อคอตั้ง  ใบหน้างามอิ่มเอิบ  สวยงามน่ารัก


       ท่านอาจารย์เจ้าคุณภะรตราชาได้เคี่ยวเข็ญ  ให้ท่านผู้หญิงแต่งเพลงให้โรงเรียนวชิราวุธ  และท่านผู้หญิงดุษฎีมาลาเกรงบารมี

จึงพยายามแต่งออกมา ๑๐ เพลง   บทเพลงมหาวชิราวุธราชสดุดี  เป็นที่ชื่นชมมาก



กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ม.ค. 11, 11:48
สวัสดีปีใหม่ครับ คุณพี่วันดี

ท่านเจ้าคุณภะรต(อ่านว่าพะ-รดนะครับ ไม่ใช่ภา-ระ-ตะ) ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย พระเอกในเรื่องของคุณวันดีนี้ ท่านเป็นบูรพาจารย์ของกระผมเอง ภาพที่นำเสนอนี้เป็นปางใจดี ซึ่งหาได้ยากมากๆ ส่วนใหญ่พวกเราจะเจอแต่ปางหน้าดุ เพียงแค่โดนท่านจ้อง เข่าก็อ่อนแล้ว

ตอนที่เข้าไปเป็นศิษย์ของท่าน ดูเหมือนท่านจะ๗๓เข้าไปแล้ว รูปตอนหนุ่มๆยังหาไม่เจอครับ


กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 02 ม.ค. 11, 11:52
คุณหญิงอุบล  หุวะนันท์   เขียน  ระลึกถึงพระคุณท่านผู้หญิงไว้ว่า


       คุณหญิงเล่าว่า  ท่านเป็นญาติปลายอ้อปลายแถว    ครอบครัวและตัวคุณหญิงได้รับความอุปการะจากครอบครัวของท่านเจ้าคุณมาถึง ๓ ชั่วอายุคน

บิดาและป้าเป็นกำพร้าแต่ยังน้อย    คุณยายของท่านเจ้าคุณคืออาแท้ ๆ รับมาเลี้ยงไว้       มารดาท่านเจ้าคุณคือป้าของคุณหญิงอุบล


       รูปสมบัติของท่านผู้หญิงขจรประกอบด้วยบุคลิกงดงาม  จะพูดตามคำชาวบ้านก็เรียกว่า  ท่านทั้งสวยและงาม   จะดูเป็นแหม่มก็ได้  เป็นญี่ปุ่นก็ดี

มารยาทก็แช่มช้อยเพราะอยู่ในวังมาตั้งแต่เด็ก          สำเนียงที่พูดจาก็นิ่มนวล  บอกลักษณะของผู้มีอารมณ์อ่อนโยน  


กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 02 ม.ค. 11, 11:59

จำได้ว่าคุณ Navarat  เคยเขียนเรื่องโรงเรียนวชิราวุธ และท่านผู้บังคับการไว้

ดิฉันมีหนังสืออนุสรณ์ของท่านด้วยค่ะ   คงหาประเด็นที่น่าสนใจมาลงไว้

ยังไม่ลืมที่จะค้นหารูปที่ต้องการค่ะ     

นักสะสมริชาร์ด ใจสิงห์บอกว่ามีรูปวังหน้าอยู่บ้าง  แต่ไม่ทราบใครเป็นใคร  และจะค้นมาให้



กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ม.ค. 11, 12:31
ขอบพระคุณล่วงหน้าครับ

และขอถือโอกาสเอารูปท่านผู้บังคับการพิมพ์นิยม ปางหน้าดุ มาลงไว้ใช้ชมด้วย จะได้อ่านเรื่องท่านผู้หญิงของท่านออกรสยิ่งขึ้น
สมัยผมเป็นนักเรียน ท่านยังเป็นคุณหญิงครับ


กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ม.ค. 11, 13:16
ได้มาแล้วครับ

พระยาและคุณหญิงภะรตราชา ถ่ายภาพพร้อมบุตรธิดา ระหว่างท่านเจ้าคุณไปดำรงตำแหน่งผู้ดูแลนักเรียนไทยในอังกฤษคนแรก ในพ.ศ.๒๔๖๔ - ๒๔๖๙


กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ม.ค. 11, 13:24
หลังจากกลับจากอังกฤษ ท่านเจ้าคุณได้เป็นเลขานุการเสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ แล้วจึงย้ายไปเป็นคณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๐ และได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในอีกสองปีต่อมาควบคู่กับตำแหน่งหน้าที่เดิม จนออกจากราชการเมื่อวันที่๑สิงหาคม พ.ศ.๒๔๗๕

ในภาพเป็นครอบครัวของท่านหลังกลับจากอังกฤษ


กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ม.ค. 11, 13:55
เมื่อออกจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระยาภะรตราชาได้รับแต่งตั้งเป็นปลัดเทศบาลนครกรุงเทพคนแรกในสมัยที่พลเอก เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) เป็นนายกเทศมนตรี ต่อมาได้เป็นเทศมนตรีหลายสมัยและเป็นสมาชิกวุฒิสภาสองสมัย ระหว่างนั้น ท่านได้มาเป็นครูพิเศษสอนในวชิราวุธวิทยาลัยด้วย

ต่อมาได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย ในวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๖ และคงอยู่ในตำแหน่งนี้เกือบ๓๒ปี ขาดไปไม่กี่วันเท่านั้น ท่านถึงอนิจกรรมโดยสงบที่บ้านพักของท่านในโรงเรียนนั่นเอง คืนนั้นเป็นคืนวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๘  สิริอายุรวม ๘๙ปี


กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ม.ค. 11, 14:00
ขอเชิญคุณพี่วันดีนำท่านผู้อ่านกลับไปที่เรื่องของท่านผู้หญิงต่อด้วยครับ


กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 02 ม.ค. 11, 14:28
       ในประเทศอังกฤษ   ท่านผู้หญิงขจรได้ช่วยดูแลนักเรียนไทยที่ต้องจากบ้านไปศึกษาต่อ ณ ต่างแดน   ในวันหยุด

ท่านจะทำกับข้าวไทยให้รับประทาน  นักเรียนจะไปมาที่บ้านได้อย่างสบายใจ   จะมากันเมื่อไร  มาค้างเมื่อไรได้ตามสะดวก

สมเด็จพระพันปีหลวงทรงฝากพระนัดดาหลายองค์ให้อยู่ในความดูแล


       พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์  ยุคล  นิพนธ์  "แด่แม่เมืองอังกฤษ"  ไว้ว่า


       เมื่อพระองค์อายุได้ ๑๓ ปี   พระบาทสมเด็จพระมหาวชิราวุธ  พระบาทสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า   ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

ให้เข้าไปเฝ้ากราบทูลลาเพื่อไปศึกษาต่อยังประเทศอังกฤษ    ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยุ่ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง

และโปรดเกล้าให้พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์เข้าเฝ้าเป็นการไปรเวท   ในเวลากลางคืนก่อนเสวยพระกระยาหารค่ำ       ทั้งนี้เป็นว่าทรงคุ้นเคยเอ็นดู

อยู่มาก  เพราะว่าสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ  พระราชมารดาได้ทรงขอมาจากบิดามารดาซึ่งทรงรับราชการอยู่เมืองนครศรีธรรมราช

เพื่อมาทรงชุบเลี้ยงใกล้ชิดพระองค์ตั้งแต่อายุ ๔ ขวบ    จึงได้เข้าเฝ้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสมอมาเมื่อเสด็จฯ เฝ้าพระมารดาที่วังพญาไท


       หลังจากที่ได้พระราชทานพระบรมราชโอวาทสั่งสอนต่าง ๆ อยู่พักใหญ่        ครั้นแล้วก็รับสั่งว่า    "ชายยังเป็นเด็กอยู่มาก  

ที่จะต้องจากบ้านช่องไปไกลคงต้องว้าเหว่มาก   โดยเฉพาะสมเด็จย่าเพิ่งสวรรคตไปใหม่ ๆ  ลุงสงสาร(รับสั่งเรียกพระองค์เองกับข้าพเจ้าเสมอมา)  แล้วยังต้อง

จากย่า อา พ่อแม่ไปไกลเป็นเวลานานวัน  แต่เอาเถอะ  ลุงจะสั่งพระยาภะรตราชาผู้ดูแลนักเรียนในประเทศอังกฤษ  ขณะนี้เป็นข้าสนิทของลุงเองให้เขาดูแลให้ดี"


เมื่อไปถึงอังกฤษ   ท่านเจ้าคุณก็มารับเสด็จพาไปพักบ้่านท่านที่อยู่ตำบลพัตนี่ใกล้ลอนดอน    พระเจ้าวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์  พบท่านผู้หญิงที่รักและเอาใจใส่

ท่านเล่าว่า  "แม่เป็นคนใจดี  น่ารัก  มีกิริยาเรียบร้อย  อ่อนหวาน  ร่าเริง คุยสนุก"   ท่านได้เลี้ยงและให้ความอบอุ่นให้เด็กชายคนหนึ่งที่ชื่อว่า "ภาณุพันธุ์"




กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 02 ม.ค. 11, 14:45



       ท่านผู้หญิงทัศนีย์  บุณยคุปต์  เล่าไว้ว่า     


       "คุณแม่ได้ปรับปรุงตัวเองให้ทันสมัย  ได้จ้างครูมาสอนทั้งภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสที่บ้านพัก   

บ้านของท่านก็เปรียบเสมือนบ้านที่สอง  หรือบ้านในต่างถิ่น  ของบรรดานักเรียนไทยในสมัยนั้น  ไม่เฉพาะแต่นักเรียนไทยเท่านั้น

เจ้านายและข้าราชการไทยก็ไปมาหาสู่คุณพ่อกับคุณแม่เป็นประจำ        คุณแม่เล่าว่าสมเด็จพระราชบิดากรมหลวงสงขลานครินทร์

จะเสด็จมาทรงพระสำราญที่บ้านบ่อย ๆ       ในระยะนั้นสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชินีไม่ค่อยได้เสด็จมาที่บ้านบ่อยนักเพราะทรงพระครรภ์

สมเด็จพระพี่นางเธอ  เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ       สมเด็จพระราชบิดาได้เสด็จมาทอดพระเนตรของใช้สำหรับเด็กที่บ้านคุณแม่  และทรงปรึกษา

ถึงเรื่องจะซื้ออะไรบ้าง        บางครั้งจะทรงชวนคุณแม่ออกไปซื้อของเด็กด้วย"   



กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: เทพกร ที่ 02 ม.ค. 11, 19:45
ภาพท่านเจ้าคุณ พระยาภะรตราชา  :) ภาพนี้คงไม่ใช่ภาคดุนะครับ


กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 02 ม.ค. 11, 20:25
ภาพข้างบนของคุณเทพกรเขียนโดย จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิษย์คนโปรดคนหนึ่งที่ท่านประคบประหงมอุ้มชูสุดกำลัง พี่จักรพันธุ์จึงไม่น่าจะรู้สึกว่าท่านดุเท่าที่ควร รูปจึงออกมาตามนั้น

รูปนี้ตีพิมพ์ในหนังสืองานศพของท่าน


กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 03 ม.ค. 11, 07:29
"บ้านคุณย่า" ที่ท่านผู้หญิงทัศนีย์เล่าว่า เป็นเรือนหอของพระยาภะรตราชาและท่านผู้หญิงขจรนั้น  ปัจจุบันคือ ธนาคารกรุงเทพ  สาขาสะพานผ่านฟ้า  ท่านผู้บังคับการเคยเล่าให้ผู้ใกล้ชิดฟังว่า ท่านขายบ้านนั้นให้บุคคลหนึ่งไปในราคา ๓ ล้านบาท  ต่อมาอีก ๒ ปี ผู้ที่ซื้อบ้านนั้นได้ขายต่อให้พระเอกชื่อดัง มิตร  ชัยบัญชา ในราคา ๖ ล้านบาท  นัยว่าจะสร้างโรงภาพยนตร์ขึ้นที่นั่น  จึงได้นำที่ดินผืนนั้นไปจำนองไว้กับธนาคารกรุงเทพ  แต่ยังมิทันได้ลงมือทำอะไรมิตร  ชัยบัญชาก็มาเสียชีวิต  ธนาคารจึงบังคับจำนองและสร้างเป็นสาขาธนาคารขึ้นที่นั่น


กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 03 ม.ค. 11, 07:31
ภาพนี้ไม่ทราบว่าจะเรียกว่าปางอะไรดี  เป็นภาพที่นักเรียนไทยในอังกฤษเขียนลงในสามัคคีสารเมื่อครั้งพระยาภะรตราชาเป็นผู้ดูแลนักเรียนไทยในอังกฤษ



กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 03 ม.ค. 11, 07:38
ปางนี้เห็นทีจะเป็นปางแสดงอภินิหาร  เป็นภาพที่บรรดาศิษย์ของท่านคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี  เพราะท่านแสดงท่านี้ทีไรมีเจ็บตัวกันทุกคราว  และแม้ว่าท่านจะจากไปหลายสิบปีแล้วก็ตาม  แต่ในงานนิทรรศการวชิราวุธ ๑๐๐ ปีที่เพิ่งผ่านพ้น  ท่านก็ยังแสดงอภินิหารให้บรรดาศิษย์เกิดการสะดุ้งในทันทีที่เห็นภาพขนาดเท่าตัวจริงภาพนี้  พร้อมกับแสดงความเคารพด้วยความซาบซึ้งในพระคุณของท่าน



กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ม.ค. 11, 07:45
^
^
โฮ้ย...กัว ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ


กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 ม.ค. 11, 08:42
อ้างถึง
"บ้านคุณย่า" ที่ท่านผู้หญิงทัศนีย์เล่าว่า เป็นเรือนหอของพระยาภะรตราชาและท่านผู้หญิงขจรนั้น  ปัจจุบันคือ ธนาคารกรุงเทพ  สาขาสะพานผ่านฟ้า  ท่านผู้บังคับการเคยเล่าให้ผู้ใกล้ชิดฟังว่า ท่านขายบ้านนั้นให้บุคคลหนึ่งไปในราคา ๓ ล้านบาท  ต่อมาอีก ๒ ปี ผู้ที่ซื้อบ้านนั้นได้ขายต่อให้พระเอกชื่อดัง มิตร  ชัยบัญชา ในราคา ๖ ล้านบาท


กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 03 ม.ค. 11, 09:47
ท่านผู้หญิงทัศนีย์  บุณยคุปต์  เล่าไว้ว่า



         "เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  คุณพ่อในขณะนั้นมีอายุ ๔๖ ปีได้ลาออกจากราชการ

ฐานะทางครอบครัวดั้งเดิมก็มิได้อยู่ในขั้นที่ร่ำรวย   คุณแม่ได้ปรับการดำรงชีวิตของครอบครัวลงมาให้อยู่ในเกณฑ์ที่จะไม่ต้องไปเป็นหนี้สินใคร

ตัดทอนรายจ่ายที่ไม่จำเป็นหรือฟุ่มเฟือยออกหมด    สอนลูกๆ ให้รู้จักประหยัด  และอบรมให้รับคติที่ว่า  คุณค่าของคนไม่ได้อยู่การมีเงิน   

ขณะนั้นลูกสาวของคุณแม่สองคนเรียนที่เดียวกัน  คุณแม่ก็ซื้อหนังสือชุดเดียวให้ใช้ด้วยกัน  สอนให้เย็บจักรและตัดเสื้อผ้าใช้เอง   เสื้อผ้าก็ต้องซ่อมชุน

ลูกๆ ก็ถูกฝึกให้ทำงานบ้านตั้งแต่ทำความสะอาด  ทำกับข้าว  ล้างถ้วยชาม  ซักรีดเสื้อผ้า  ตลอดจนทำสวนดอกไม้ให้สวยงาม     

ท่านปลูกฝังให้รู้สึกว่าการทำอะไรให้เป็นและทำด้วยตนเองเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ     



       คุณพ่อมีรายได้พิเศษจากการไปสอนภาษาอังกฤษ และคณิตศาสตร์ที่วชิราวุธวิทยาลัย          ต่อมาก็ไปสอนภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัย

เกษตรศาสตร์  และแต่งตำราการเรียนและการสอนภาษาอังกฤษออกจำหน่าย


       คุณแม่ก็สามารถควบคุมการใช้จ่ายของครอบครัวให้คงอยู่ได้ด้วยความสุขสบายตามสมควรแก่สถานการณ์"



กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 03 ม.ค. 11, 09:59

       ท่านผู้หญิงขจรมีความรักและผูกพันกับวชิราวุธ  ที่ท่านได้อยู่ร่วมกับท่านผู้บังคับการเป็นเวลา ๓๒ ปี

โรงเรียนเป็นชีวิตจิตใจของท่าน    ท่านไม่เคยเหนื่อยหน่ายต่อหน้าที่   สนับสนุนส่งเสริมงานของสามีให้ดำเนินไปอย่างราบรื่น

ท่านพักอยู่บ้านบุตรสาวที่ซอยกล้วยน้ำไทหลังจากท่านเจ้าคุณถึงแก่อนิจกรรมแล้ว


ท่านผู้หญิงจากไปเมื่ออายุ ๙๖ ปีกว่า          ท่านเป็นคนรุ่นเก่าแต่ไม่ยอมเก่าอยู่กับที่     

ท่านปรับตัวให้เข้ากับสมัยโดยไม่ยอมละทิ้งคุณธรรมที่เป็นหลักของความดีงามและความถูกต้อง


กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ม.ค. 11, 06:03
สงสัยว่าคุณพี่วันดีคงจะจบเรื่องท่านผู้หญิงขจรตรงนี้เสียแล้ว
ผมจึงเอารูปท่านผู้หญิงมาลงปิดท้ายเป็นการคารวะ


กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 05 ม.ค. 11, 07:05
นักเรียนวชิราวุธในยุคท้ายๆ ที่พระยาภะรตราชาเป็นผู้บังคับการ  จะจดจำท่านผู้หญิงขจรที่นักเรียนมักจะออกนามท่านว่า "คุณหญิง" ได้เป็นอย่างดี

ทุกเช้าก่อนเข้าเรียนชั่วโมงแรกตอนเจ็ดโมงเช้าถึงราวแปดนาฬิกาที่เป็นเวลาพักรับประทานอาหารเช้า  จะเห็นคุณหญิงสวมเสื้อขาวนุ่งกระโปรงสีน้ำเงินเหมือนเป็นเครื่องแบบของท่าน  เดินชมสวนที่ท่านออกแบบจัดไว้อย่างสวยงามภายในโรงเรียน  พร้อมกับออกคำสั่งให้คนสวนที่ประจำอยู่ในพื้นที่นั้นๆ ปลูกและถอนไม้ประดับตามที่ท่านต้องการ  บางครั้งท่านก็ลงนั่งถอนหญ้าหรือเด็ดก้านบัวที่โรยลงด้วยตัวท่านเอง  ยามที่นักเรียนเดินผ่านและหยุดคำนับท่าน  ท่านก็ยิ้มรับด้วยความเมตตา 

เสร็จภารกิจการตรวจสวนซึ่งท่านออกแบบตกแต่งเป็นสวนโรมัน  สวนญี่ปุ่น  และสวนนานาชาติในโรงเรียน  จนกล่าวกันว่า ในสมัยพระยาภะรตราชานั้น  วชิราวุธวิทยาลัยเป็นโรงเรียนที่มีสวนงดงามที่สุดเลยทีเดียวแล้ว  คุณหญิงก็จะกลับขึ้นเรือนซึ่งเป็นบ้านพักอยู่ฝั่งตรงข้ามคณะผู้บังคับการ  ในวันเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานประกาศนียบัตรประจำปี  ก็จะได้เห็นคุณหญิงแต่งเครื่องแบบครูมาอำนวยการจัดพระสุธารสก่อนที่จะให้นักเรียนเชิญขึ้นทอดถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศ์ทุกพระองค์  รวมทั้งเป็นผู้อำนวยการจัดอาหารว่างเลี้ยงผู้มีเกียรติและผู้ปกครองที่มาร่วมงาน


กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 05 ม.ค. 11, 11:54
หลังจากดูปางดุๆ ของท่านเจ้าคุณมาแล้ว มาดูภาพสวีท หวานๆ ซึ่งไม่ค่อยจะนึกมโนภาพออกซักที........ ทั้งสองท่านใช้ชีวิตร่วมกันเป็นเวลา64 ปี (ขาด 22 วัน) นับเป็นแบบอย่างที่ดีของการครองเรือนครับ


กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 05 ม.ค. 11, 12:01
อันนี้ เป็นคำไว้อาลัยของท่านผู้หญิง ในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ ท่านเจ้าคุณ

ผมอ่านแล้ว รู้สึกได้ถึงความรักความผูกพันระหว่างท่านทั้งสอง ตัวจริงที่ลงในหนังสือเป็นตัวเขียนลายมือท่านผู้หญิง  เพื่อให้อ่านง่ายขึ้น จึงตัดตอนพิมพ์มาลงให้อ่านกันครับ

ความสูญเสียอันใหญ่ยิ่ง
ในชีวิตรของดีฉัน

"เจ้าคุณภะรตราชา เมื่อมีบรรดาศักดิ์ เป็นหลวงอภิบาลบุริมศักดิ์ ท่านได้ไปทูลขอพระราชทานดีฉัน ต่อสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระราชชนนี พันปีหลวง

เจ้าคุณกับดีฉัน ได้สมรสเมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2455 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ ทรงสรวมมงคลและประทานน้ำสังข์ ล้นเกล้าล้นกระหม่อม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า พระราชาทานเงิน 100 ชั่ง เจ้าคุณกับดีฉันอยู่ด้วยกันมาเป็นเวลา 64 ปี (ขาด 22 วัน) ......

เราได้ร่วมทุกข์ ร่วมศุขมาด้วยกันตลอดเวลา เป็นธรรมดาอย่างโบราณท่านว่า “ลิ้นกับฟันก็ต้องมีกระทบกัน” เจ้าคุณแม้ท่านจะโกรธดีฉันมากน้อยเพียงไรก็ตาม ท่านไม่เคยกล่าวคำหยาบคายต่อดีฉันเลยแม้แต่คำเดียว ก่อนที่เราจะจากกัน ยังพูดคุยกัน พอ 2 ชั่วโมงกว่าเท่านั้น ท่านได้จากดีฉันไปแล้ว จากไปอย่างไม่มีวันกลับมาอีก ดีฉันตกใจจนสุดขีดในชีวิตรไม่เคยตกใจอะไรเช่นนี้ ไม่ทราบว่าจะอธิบายอย่างไรถูก ทำไมในเวลาเช่นนี้ ดีฉันจึงไม่หลับตาตายตามท่านไปด้วย จะได้ไม่ต้องทนทุกข์ เวทนาและว้าเหว่อย่างนี้ ดีฉันบกพร่อง นอนหลับเพลินไปจนตามหมอไม่ทัน หรือจึงได้ยินแต่ลมหายใจครั้งสุดท้ายของท่านเพียง 2 ครั้งเท่านั้น นึกขึ้นมาแล้วดีฉันแทบเป็นบ้า

เผอินวันหนึ่งนายแพทย์สมพร บุณยะคุปต์ ซึ่งเป็นแพทย์รักษาท่านเป็นประจำ ได้สละเวลาอันมีค่าของท่านมาอธิบายให้ฟังว่า ไม่ใช่ความบกพร่องอะไรทังนั้น ผู้ที่เป็นเช่นนี้ ใครจะช่วยอะไรไม่ทันเลย ..............ผู้ที่ไปเช่นนี้ ไปอย่างสบายที่สุด ไม่รู้สึกเจ็บปวดอะไรเลย หลับไปอย่างสบายทีเดียว แต่สำหลับคนอยู่ข้างหลังแล้ว โปรดนึกดูเถิดจะได้รับความตกใจและเศร้าโศกเพียงไร เพราะศุขภาพของท่านดีทุกอย่าง รับประทานได้ นอนหลับ แจ่มใสสดชื่น กำลังตระเตรียมการรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะเสด็จมาเพื่อนพระราชทานประกาศนีย์บัตรแก่นักเรียน
...........

ถ้าสวรรค์ชั้นใดๆ ที่สูงสุดมีจริงแล้ว ขอให้ท่านได้ไปสู่ศุขติศุขในที่นั้นเถิด ท่านเป็นผู้บริสุทธิ์จริงๆ และชาติน่าถ้ามีจริง ขอให้เราได้พบและเป็นคู่ครองกันอีก เมื่อถึงวาระอันสุดท้ายที่จะต้องจากโลกมนุษย์แล้วก็ขอให้เราได้จากไปพรอ้มๆ กัน หรือเวลาอันใกล้เคียงกัน ดีฉันจะได้ไม่ต้องทนทุกข์ เวทนาว้าเหว่อย่างนี้อีก
"

ขจร ภะรตราชา


กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 05 ม.ค. 11, 12:03
แก้ตัวครับ.....(รักษาตัวสะกดเดิมไว้)

ความสูญเสียอันใหญ่ยิ่ง
ในชีวิตรของดีฉัน

"เจ้าคุณภะรตราชา เมื่อมีบรรดาศักดิ์ เป็นหลวงอภิบาลบุริมศักดิ์ ท่านได้ไปทูลขอพระราชทานดีฉัน ต่อสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระราชชนนี พันปีหลวง

เจ้าคุณกับดีฉัน ได้สมรสเมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2455 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ ทรงสรวมมงคลและประทานน้ำสังข์ ล้นเกล้าล้นกระหม่อม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า พระราชาทานเงิน 100 ชั่ง เจ้าคุณกับดีฉันอยู่ด้วยกันมาเป็นเวลา 64 ปี (ขาด 22 วัน) ......

เราได้ร่วมทุกข์ ร่วมศุขมาด้วยกันตลอดเวลา เป็นธรรมดาอย่างโบราณท่านว่า “ลิ้นกับฟันก็ต้องมีกระทบกัน” เจ้าคุณแม้ท่านจะโกรธดีฉันมากน้อยเพียงไรก็ตาม ท่านไม่เคยกล่าวคำหยาบคายต่อดีฉันเลยแม้แต่คำเดียว ก่อนที่เราจะจากกัน ยังพูดคุยกัน พอ 2 ชั่วโมงกว่าเท่านั้น ท่านได้จากดีฉันไปแล้ว จากไปอย่างไม่มีวันกลับมาอีก ดีฉันตกใจจนสุดขีดในชีวิตรไม่เคยตกใจอะไรเช่นนี้ ไม่ทราบว่าจะอธิบายอย่างไรถูก ทำไมในเวลาเช่นนี้ ดีฉันจึงไม่หลับตาตายตามท่านไปด้วย จะได้ไม่ต้องทนทุกข์ เวทนาและว้าเหว่อย่างนี้ ดีฉันบกพร่อง นอนหลับเพลินไปจนตามหมอไม่ทัน หรือจึงได้ยินแต่ลมหายใจครั้งสุดท้ายของท่านเพียง 2 ครั้งเท่านั้น นึกขึ้นมาแล้วดีฉันแทบเป็นบ้า

เผอินวันหนึ่งนายแพทย์สมพร บุณยะคุปต์ ซึ่งเป็นแพทย์รักษาท่านเป็นประจำ ได้สละเวลาอันมีค่าของท่านมาอธิบายให้ฟังว่า ไม่ใช่ความบกพร่องอะไรทังนั้น ผู้ที่เป็นเช่นนี้ ใครจะช่วยอะไรไม่ทันเลย ..............ผู้ที่ไปเช่นนี้ ไปอย่างสบายที่สุด ไม่รู้สึกเจ็บปวดอะไรเลย หลับไปอย่างสบายทีเดียว แต่สำหลับคนอยู่ข้างหลังแล้ว โปรดนึกดูเถิดจะได้รับความตกใจและเศร้าโศกเพียงไร เพราะศุขภาพของท่านดีทุกอย่าง รับประทานได้ นอนหลับ แจ่มใสสดชื่น กำลังตระเตรียมการรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะเสด็จมาเพื่อนพระราชทานประกาศนีย์บัตรแก่นักเรียน

...........

ถ้าสวรรค์ชั้นใดๆ ที่สูงสุดมีจริงแล้ว ขอให้ท่านได้ไปสู่ศุขติศุขในที่นั้นเถิด ท่านเป็นผู้บริสุทธิ์จริงๆ และชาติน่าถ้ามีจริง ขอให้เราได้พบและเป็นคู่ครองกันอีก เมื่อถึงวาระอันสุดท้ายที่จะต้องจากโลกมนุษย์แล้วก็ขอให้เราได้จากไปพรอ้มๆ กัน หรือเวลาอันใกล้เคียงกัน ดีฉันจะได้ไม่ต้องทนทุกข์ เวทนาว้าเหว่อย่างนี้อีก"

ขจรภะรตราชา


กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ม.ค. 11, 17:53
อ้างถึง
กำลังตระเตรียมการรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะเสด็จมาเพื่อนพระราชทานประกาศนีย์บัตรแก่นักเรียน


ในสมัยของท่านผู้บังคับการพระยาภะรตราชา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถจะเสด็จมาวชิราวุธวิทยาลัยปีละ๒ครั้ง ในวันที่๒๕พฤศจิกายนเพื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งหนึ่ง และประมาณเดือนกุมภาพันธุ์ เพื่อพระราชทานรางวัลและประกาศนียบัตร ตลอดจนทอดพระเนตรนิทรรศการวิชาการ การแสดงและกีฬาหน้าพระที่นั่ง อันเป็นประเพณีมาแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่๖ ทั้งนี้ไม่นับการเสด็จส่วนพระองค์มาทอดพระเนตรการเรียนการสอนของโรงเรียน และพระราชทานโอกาสให้นักเรียนวชิราวุธได้เข้าเฝ้าใกล้ชิดในหลายวโรกาสอันเป็นมงคลต่างๆ ณ พระตำหนัก

นักเรียนวชิราวุธในสมัยนั้นจึงนับว่าโชคดีมาก
สิ้นพระยาภะรตราชาแล้ว ผู้บังคับการคนต่อๆมาก็ยากที่จะนำพานักเรียนให้มีบุญวาสนาเช่นอดีตได้


กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ม.ค. 11, 19:15
รุ่นน้องคนหนึ่งที่ใกล้ชิดกับท่านมากเพราะเป็นหัวหน้าคณะผู้บังคับการในปีสุดท้าย เล่าเหตุการณ์ช่วงที่ท่านเสียชีวิตให้ผมฟังว่า ตอนหัวค่ำคืนนั้นมีการแข่งขันชิงชนะเลิศบาสเก็ตบอลภายในระหว่างคณะถึง๒รุ่น คือรุ่นเล็กและรุ่นกลางที่คณะผู้บังคับการเข้าชิงทั้งคู่  ปีการศึกษานั้นถือว่าคณะผู้บังคับการตกต่ำทางกีฬามาก ยังไม่ชนะเลิศได้ถ้วยกีฬาใดๆสักประเภทหนึ่งเลย สร้างความผิดหวังให้พระยาภะรตเจ้าของสโลแกน “กีฬาย่อมมีทั้งแพ้และชนะ แต่วันนี้เธอจะแพ้ไม่ได้เป็นอันขาด” มาตลอด ทว่าคืนนั้นมีการพลิกดวงครั้งมโหฬาร คณะผู้บังคับการชนะอย่างเฉียดฉิวทั้งสองรุ่น สร้างความตื่นเต้นดีใจให้แก่กองเชียรสุดขีด เพราะเป็นโอกาสสุดท้ายของปี ที่จะได้ถ้วยชนะเลิศอะไรกับเขาบ้าง ท่านผู้บังคับการที่ลุ้นสุดๆขนาดนั่งไม่ติดเก้าอี้ทั้งสองเกม ได้แสดงความดีใจอย่างออกหน้าออกตา ทั้งๆที่ท่านอยู่ในฐานะประธานการแข่งขัน ที่ควรจะวางมาดว่าเป็นกลางอย่างเคร่งครัด 

คืนนั้นที่คณะมีการฉลองถ้วยกันยกใหญ่ ซึ่งพวกนักเรียนก็แปลกใจเหมือนกันที่ท่านผู้บังคับการไม่มาปรากฏตัวในฐานะที่เป็นผู้กำกับคณะของคณะนี้ด้วย แต่ก็ไม่สงสัยอะไรเพราะระยะหลังๆที่ท่านชรามากแล้วนั้น ท่านก็ไม่ไหวที่จะกระทำอะไรอย่างที่เคยอยู่บ่อยๆ  ประมาณตีสองตีสามนั่นเอง นักเรียนบางคนสังเกตุว่าที่เรือนท่านผู้บังคับการเปิดไฟสว่างและมีคนเข้าออกผิดปกติ เช้าวันรุ่งขึ้นเป็นวันอาทิตย์ ปกตินักเรียนจะได้ตื่นสายเล็กน้อยเพราะไม่มีเรียน แต่ครูอรุณ แสนโกสิก ผู้กำกับคณะจิตรลดาได้ขึ้นมาปลุกพวกหัวหน้าพร้อมกับแจ้งว่า ท่านผู้บังคับการเสียชีวิตแล้วตั้งแต่เมื่อคืน เพราะหัวใจหยุดเต้นไปเฉยๆ

เด็กคณะผู้บังคับการรุ่นนี้มักจะคุยว่า พวกเขานี่แหละที่ทำให้ท่านตายอย่างเป็นสุขเพราะความดีใจ ไม่แน่ใจว่าคุณวีหมีของผมจะอยู่ร่วมสมัยกับเขาด้วยหรือเปล่า

แล้วตกลงเจ้าพวกเหล่านี้ได้บุญหรือได้บาป



กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: piyasann ที่ 06 ม.ค. 11, 00:23
ขออนุญาตเสริมจากคุณ NAVARAT.C เรื่องวันถึงแก่อนิจกรรมของท่านเจ้าคุณได้ด้วยครับ

ได้เคยเขียนบทสัมภาษณ์คุณสุรพล ทองมาก (ลุงเสาร์ หรือต่อมาคือ พระเสาร์ คนสนิทของท่านเจ้าคุณภะรตราชา) ไว้เมื่อปี พ.ศ. 2535 มีใจความว่า

"...... วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นวันใกล้สิ้นปีแล้ว ย่อมมีลูกศิษย์มาคารวะท่านอย่างไม่ขาดสายตลอดทั้งวัน ตั้งแต่เวลาประมาณ 11 โมงเช้า ไปจนบ่าย 3 - 4 โมงเย็น จนท่านไม่มีเวลาได้พักผ่อนช่วงกลางวัน .... เมื่อแขกกลับไปหมดแล้ว ท่านออกมายืนบ่นว่า "แขกเจ้ากรรมอะไร มากันมากมาย หิวจนตาลายแล้ว" ท่านผู้หญิงขจรเพิ่งกลับมาจากจ่ายตลาด ขึ้นมาบนตึกได้เอ่ยถามท่านว่า "เป็นอะไรค่ะท่าน" เจ้าคุณภะรตบอกว่า หิว ท่านผู้หญิงจึงจัดซุปให้ทาน ตกเย็นท่านก็ไปดูแข่งขันบาสเก็ตบอลรอบชิงชนะเลิศ  อากาศตอนนั้นหนาว ท่านจึงเรียกให้ไปหยิบผ้าพันคอสีน้ำเงิน-ฟ้า ติดไปด้วย การแข่งขันวันนั้น คณะผู้บังคับการชนะทั้งสองรุ่น ซึ่งทำให้ผู้บังคับการ (ในฐานะผู้กำกับคณะผู้บังคับการ) ดีใจมาก........เมื่อจบการแข่งขันแล้วท่านก็เข้านอนตามปกติ เวลาประมาณเที่ยงคืนเศษ(เที่ยงคืนครึ่ง) ท่านผู้หญิงขจร ได้ยินเสียงเหมือนสะอึกซัก 2 ที จึงใช้ให้นายเพชร คนขับรถไปตามบุรุษพยาบาลสวรรค์ไปดูอาการท่าน แต่เมื่อบุรุษพยาบาลมาถึง ท่านก็สิ้นลมไปแล้ว รวมสิริอายุได้ 89 ปี กับอีก 9 วัน รวมระยะเวลาดำรงตำแหน่งผู้บังคับการ ขาดอีก 3 วันก็จะครบ 33 ปีบริบูรณ์"

เรื่องการพระราชทานเพลิงศพของท่านเจ้าคุณภะรตราชา ก็เป็นกรณีที่ "พิเศษ" เช่นกันครับ ขอรบกวนคุณ V_Mee โปรดเล่ารายละเอียดให้ฟังด้วยครับ ขอบคุณครับ



กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 06 ม.ค. 11, 07:24
เมื่อท่านผู้บังคับการพระยาภะรตราชาถึงอนิจกรรมนั้น  ผมจบไปปีเศษแล้วครับ  แต่เมื่อเช้าวันที่  ๑๙  ธันวาคม  ซึ่งท่านมีอายุครบ ๗๙ ปีบริบูรณ์นั้นได้ไปกราบท่าน  ได้มีโอกาสสนทนากับท่านเป็นครั้งสุดท้าย  จำได้ว่าวันนั้นท่านยังถามถึงเพื่อนๆ ว่าไปเรียนอะไรกันบ้าง  ในวันนั้นท่านยังแสดงความห่วงใยถึงเพื่อนผมคนหนึ่งที่ไม่มีโอกาสได้เรียนต่อเพราะต้องสืบทอดธุรกิจของครอบครัวต่อจากบิดาที่เสียชีวิตไป

อีก ๙ วันต่อมาไปเยี่ยมน้องที่โรงเรียน  น้องบอกว่าท่านผู้บังคับการเสียชีวิต  ผมยังพูดกับน้องที่กำลังเรียนอยู่ชั้น ป.๕ ว่า พูดจาอัปมงคล  แต่พอเห็นครูบรรจง  ลวพันธุ์ ครูประจำคณะเด็กเล็กเล็กแต่งชุดดำก็เชื่อโดยสนิทใจว่า ท่านผู้บังคับการจากไปแล้ว  จึงรีบกลับบ้านเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวไปร่วมรดน้ำศพท่านที่ศาลาบัณณรศภาค  วัดเลญจมบพิตร  วันนั้นมีผู้มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก 

เมื่อท่านผู้บังคับการกราบถวายบังคมลาถึงอนิจกรรมนั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับการศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์โดยตลอด  พระราชทานพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม ๗ คืน  ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ๗ วัน ๕๐ วัน และ ๑๐๐ วันพระราชทาน  สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี พระราชทานพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมต่อจากของหลวง ๗ คืน  และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงบำเพ็ญพระกุศลพระราชทานอีก ๑ คืน  จากนั้นบรรดาศิษย์จึงได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพในการสวดพระอภิธรรมจนถึงวันออกเมรุ  ในการบำเพ็ญพระราชกุศลออกเมรุพระราชทานศพพระยาภะรตราชานั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระมหากรุณาพิเศษยิ่งกว่าที่พระราชทานแก่องคมนตรีเสียอีก  โดยในวันนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินขึ้นเมรุพระราชทานเพลิงศพด้วยพระองค์เองแทนที่จะทรงจุดฝักแคพระราชทานเพลิงตามลำดับชั้นผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาวชิรมงกุฎ ซึ่งได้รับพระราชทานโกศแปดเหลี่ยม


กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: tb ที่ 14 ม.ค. 11, 16:06
ชอบมากๆเลยเนื้อหาดีจริงๆ :D ;D


กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 14 ม.ค. 11, 17:12


ขอบคุณที่แวะมาอ่านนะคะ

อยากจะเสนอสายสกุลทั้งสองฝ่ายไว้เพื่อท่านที่สนใจคนอื่น ๆ ด้วย

เพราะหนังสือหายากเข้าทุกที




โปรดติดตามประวัติบุคคลที่น่าสนใจคนอื่น ๆ นะคะ        ยังมีอีกหลายท่าน

ตั้งใจว่าจะเสนอสตรีไทยโบราณก่อน         นักการศึกษาที่ไม่เป็นที่รู้จักมากก็ยังมี

และมีงานเขียนที่หายากประกอบด้วยค่ะ


ขอต้อนรับค่ะ




กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: ritti018 ที่ 14 ม.ค. 11, 22:09
อาบน้ำ ประแป้งรอท่าไว้เลยครับ ชอบมากๆ น้อยคนนักที่จะมีข้อมูล ทั้งก็น้อยคนนักที่จะสนใจ+ใส่ใจ แต่ผมคนนึงแหละครับ ที่ไม่พลาดด้วยประการทั้งปวง ยังคงเพียรมาเเวะชมอยู่แทบทุกวัน เพียงแต่ว่าไม่ได้เข้ามาร่วมวงสนทนาก็เท่านั้น...


กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 14 ม.ค. 11, 22:41

เชิญร่วมวง  และแลกเปลี่ยนข้อมูลนะคะ     เราเป็นเพื่อนกันทุกคน

แต่บางทีก็ไม่สามารถจะตอบคำถามได้  เพราะไม่มีคำตอบ

ต้องเห็นข้อมูลในหนังสือเล่มอื่น  และจดไว้  จึงจะกล้านำมาลง

ชีวิตของท่านผู้มาก่อนนั้น  มีที่น่าสนใจและมีประโยชน์ในเรื่องการทำมาหากิน  ไม่งอมืองอเท้า

ดิฉันไปค้นหนังสือจากลังมารวม ๆ กันไว้         อะไรที่สนุกก็อยากนำมาเล่าต่อ

บางอย่างมีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องอย่างแน่นอน  ดิฉันก็จะข้่ามความนั้นเสีย   คิดว่าคงมีโอกาสไปแก้ข้อความนั้นด้วยเอกสารฉบับอื่น ๆทีหลัง

ความรู้อย่างหนึ่งคือว่า  วัดได้อบรมลูกจีนให้เป็นขุนนางและนักปราชญ์ไทยไปได้      เมื่อรับราชการและรุ่งเรืองในหน้าที่แล้ว

บุตรหลานของท่านเหล่านั้นก็เป็นบุตรหลานข้าราชการ  เป็นผู้มีตระกูลไปได้ทันที



กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 14 ม.ค. 11, 22:54
อยากร่วมวงและแลกเปลี่ยนข้อมูลครับ

แต่ความรู้น้อย ด้วยประสบการณ์ จึงนิยมเป็นผู้ฟังผู้ชมมากกว่า ;D

(คุณวันดีคงไม่ว่าหากข้าน้อยศิษย์ผู้หลานจะติดตามซือแป๋เรื่อยๆ)


กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 14 ม.ค. 11, 23:03


ยินดีมากค่ะ  แต่ไม่ใช่นักวิชาการ  เรื่องหนังสืออ้างอิงและโบราณพอมี

คุณอาร์ตเป็นคนที่มีน้ำอดน้ำทนและชอบค้นคว้่า       

ลองเป็นนักอ่านเรื่องโบราณไปก่อนนะคะ



กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: tb ที่ 16 ม.ค. 11, 01:36
เห็นทุกคนคุยกันแล้วอิจฉาจังความรู้เราแค่หางอึ่งเพิ่งจะมารู้กว้างๆก็ตอนนี้ว่าเรามีปราชญ์ที่เก่งด้านประวัติศาสตร์หลายคนในเรือนไทยวิชาการข้าน้อยขอคารวะจากใจจริง :)ขอฝากตัวด้วยนะเพิ่งมาเป็นสมาชิกใหม่จ้าโปรดชี้แนะด้วยเถิด


กระทู้: ดอกลิลลี่ในสวนดอกไม้ ท่านผู้หญิงขจรภะรตราชา
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 16 ม.ค. 11, 07:20



สวัสดีค่ะ  ยินดีต้อนรับ   คนที่รู้จริงทั้งลึกและกว้างและสูง  แวะเข้ามาอ่านกระทู้ของ เรือนไทย แทบทุกวัน

ได้ข่าวว่าตอนนี้ติดกระทู้ แฟนพันธุ์แท้รามเกียรติ์   นักปราชญ์ตัวจริงหัวเราะอย่างรื่นรมย์ว่าสนุกจริงหนอที่เล่นกันอย่างจริงจังปานนั้น


       ร้านขายหนังสือทางเน็ตแห่งหนึ่งที่เป็นร้านที่มีระดับขายสูงสุด   เจ้าของที่เป็นสมาชิกเรือนไทย  ติดโฆษณาชวนอ่านว่า  เป็นกระทู้ที่มีสาระที่สุดเวลานี้

นำข่าวไปเรียนจขกทที่กำลังป่วยหนัก   เป็นโรคเจ็บคอหรือคอเจ็บ  พูดแทบไม่ได้  ท่านหัวเราะเสียงแคร่ก ๆ ครากๆ และพูดอะไรบางอย่าง

ตีความเป็นภาษาได้ว่าโถ...คุณโทนี่ ฮุย  แล้วจขกทกระทู้รามเกียรติ์แฟนพันธุ์แท้ก็แน่นิ่งไป  สงสัยว่ากระโดดตัวลอยจนตกเตียง


คุณโทนี่คนนี้แวะมาอ่านอะไรต่อมิอะไรเสมอ  แล้วก็ตัดสินใจมาเป็นสมาชิกเพราะความอยากคุยนั่นล่ะค่ะ    นานไปท่านก็นำรูปหนังสือหายากมาโพสให้เราดูกันบ้าง

ท่านเล่าว่ามีแฟนานุแฟนของท่านมาถามหาหนังสือเก่าแปลก ๆ    ก็สงสัยว่า  อะไรมาถามพร้อมๆกันอย่างนี้   แฟนานุแฟนแจ้งว่าแวะมาอ่านในเรือนไทยอย่างไรเล่า



คุณหลวงเล็ก บัญชาลอยๆไปในอากาศ  ด้วยความหวังอันลางเลือนว่าดิฉันคงรับไปปฎิบัติการว่า อยากรู้จังว่าหนังสือรามเกียรติ์ทั้งหลายขายเพิ่มขึ้นบ้างไหม

ดิฉันเองนั้นหลงป่าเข้าไปในกระทู้  แล้วก็ติดอยู่ที่นั่น          ได้นัดผู้ร่วมชะตากรรมว่า  กระนั้นสหายเราจงพากันหนีทัพ โดยรอดท่อก้มกึ  ออกไปนอกกำแพงเมือง

แล้วมุ่งไปทางทิศตะวันออกกันเถิดจะได้ไปเป็นใหญ่เป็นโตที่เมืองอื่น     มีผู้เห็นด้วยโดยพร้อมเพรียงค่ะ         แต่พอคุณหลวงเล็กโพสคำถาม    ทุกคนก็กระโจนเข้าตอบ

แบบไม่พูดจากัน  ได้แต่ชำเลืองดูผู้ที่เสร็จก่อน      เป็นการทรมานบันเทิงอย่างหนึ่ง


เรื่องปราชญ์นั้น  สหายแถวนี้ไม่ได้เป็นหรอกค่ะ    นัก "ปาด" น่ะ มีแน่      แน่จริงต้องปาดให้พ้นนะเพื่อน

คุณ  tb  คะ   มาฝากตัวทั้งที     เรามาพยุงกันเดินไปนะคะ