เรือนไทย

General Category => วิเสทนิยม => ข้อความที่เริ่มโดย: ลุงไก่ ที่ 06 ก.พ. 11, 09:12



กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 06 ก.พ. 11, 09:12
จำได้ว่าคนไทยเราได้รู้จักกับ "น้ำแข็ง" เป็นครั้งแรกในสัยรัชกาลที่ ๔ จากการนำเข้ามาจากสิงคโปร์

แล้ว "ไอติม" (icecream) ล่ะ เด็กไทยได้รู้จักและทานกันมาตั้งแต่เมื่อไร

ถามเรื่องโรงผลิต "น้ำแข็ง" กับ "ไอติม" แห่งแรกในเมืองไทยด้วย




กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 06 ก.พ. 11, 11:07
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เรือไฟชื่อ เจ้าพระยา เดินเมล์และรับส่งสินค้าระหว่างไทยกับสิงคโปร์ ซึ่ง ๑๕ วันจะเข้าเทียบท่าครั้งหนึ่งได้นำน้ำแข็งเป็นก้อนใส่หีบกลบด้วยขี้เลื่อยมาถวายรัชกาลที่ ๔ อยู่เป็นประจำ สิ่งแปลกประหลาดแบบนี้เชื้อพระวงศ์ เจ้านาย ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ได้ลิ้มลองกันทั่วหน้า ทำให้ติดอกติดใจเพราะน้ำแข็งสามารถดับร้อนผ่อนกระหายได้เป็นอย่างดี

มาดูข้อมูลเรือไฟ "เจ้าพระยา" ตามที่คุณหลวงเล็กเคยใส่ลิงค์บางกอกคาเลนเดอร์ ของหมอบรัดเลย์ เป็นเรือแบบใบพัด ยาว ๒๐๕ เมตร กว้าง ๒๘ เมตร ระบุชื่อเจ้าของเรือคือ "เจ้าสัวยิ้ม"

ซึ่งเจ้าสัวยิ้ม มีกิจการเดินเรือระหว่างกรุงเทพฯ - สิงค์โปร์ ๑ รอบกินเวลา ๑๕ วัน


กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 06 ก.พ. 11, 11:28
ส่วนในหนังสือจดหมายเหตุเสด็จหว้ากอ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ เรือกลไฟของเจ้าสัวยิ้มก็ได้รับใช้ในราชกาลด้วย ในการนำข้าราชการไปที่ตำบลหว้ากอด้วย แต่ใช้คำว่า "เรือเจ้าพญา" เป็นเรือค้าขายของพระยาพิสณฑ์เจ้าสัวยิ้ม

น้ำแข็งจึงเป็น “ของนอก” ที่คนธรรมดาทั่วไปไม่รู้จักและไม่มีโอกาสลิ้มลอง ด้วยเหตุนี้พระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน (แฉล้ม อมาตยกุล) ซึ่งเห็นใจประชาชนที่ขาดโอกาสจึงได้ริเริ่มตั้งโรงน้ำแข็งแห่งแรกของสยามขึ้น คาดว่าก่อนปี พ.ศ. ๒๔๔๒ เป็นโรงน้ำแข็งเล็ก ๆ ตั้งอยู่ภายในบริเวณบ้านหน้าวัดเลียบ หรือชื่อปัจจุบันว่าวัดราชบูรณะราชวรวิหาร จำหน่ายน้ำแข็งให้แก่ประชาชนทั่วพระนคร คาดว่าน้ำแข็งเป็นของใหม่ ขายเป็นก้อนน้ำแข็งล้วน ๆ ทำให้ไม่สะดวกในการกิน และไม่จูงใจให้ซื้อกิน ด้วยเหตุนี้โรงน้ำแข็งจึงได้หยุดกิจการในเวลาไม่นานนัก


อีกหลายปีต่อมา นายเลิศ เศรษฐบุตร หรือบรรดาศักดิ์ว่า พระยาภักดีนรเศรษฐ ได้ริเริ่มตั้งโรงน้ำแข็งขึ้นที่เชิงสะพานพิทยเสถียร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ กิจการโรงน้ำแข็งเจริญรุ่งเรืองมาก แล้วสมัยนั้นการกินน้ำแข็งเราจะนำน้ำแข็งมาไสให้เป็นเกล็ด แล้วอัดให้เป็นแท่ง เอาไม้เสียบสำหรับเป็นด้ามจับ บางครั้งก็ทำเป็นน้ำแข็งไสใส่น้ำหวานเติมนมสด ปัจจุบันยังมีตรอกโรงน้ำแข็ง เชิงสะพานทิทพเสถียร เพื่อเป็นอนุสรณ์อีกด้วย


กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 06 ก.พ. 11, 12:35
ด้วยความเคารพ

ขออนุญาตท้วงติงหน่วยวัดความยาวในความเห็นที่ ๑ ครับ ว่าน่าจะเป็นหน่วยเป็นฟุตครับ ไม่ใช่เป็นเมตร






กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.พ. 11, 09:36
มีหนังสือของคุณลาวัณย์ โชตามะระ เล่าถึงกำเนิดไอศกรีมในสยาม    ขอเวลาไปค้นสัก ๒-๓ วันนะคะ


กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: pathuma ที่ 08 ก.พ. 11, 11:08
น้ำแข็งที่เรารู้จักนั้นน่าจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือน้ำแข็งธรรมชาติ(Natural ice) และน้ำแข็งเทียม (Artificial ice) ที่มนุษย์สร้างขึ้นมา  Nicholas Carr นักเขียนเรื่องเทคโนโลยี ได้อ้างไว้ในหนังสือชื่อ The Big Switch ว่า ตั้งแต่ปี 1800  คนอเมริกันได้ทำให้น้ำแข็งกลายเป็นุรกิจที่ขยายตัวอย่างกว้างขวาง  ในฤดูหนาวพวกเขาจะเลื่อยน้ำที่แข็งเป็นแผ่นตามทะเลสาบและแม่น้ำของรัฐในตอนเหนือ จากนั้นก็จะนำน้ำแข็งเก็บไว้ในที่เก็บเฉพาะที่เรียกว่า Ice house  จากนั้นก็จะแพ็คด้วยฟางและหุ้มด้วยเปลือกไม้ น้ำแข็งจะถูกส่งไปตามที่ต่างด้วยรถใช้รางหรือนำลงเรือใบเพื่อส่งไปยังลูกค้าที่อยู่ไกลถึงอินเดียหรือสิงคโปร์  ในช่วงที่ธุรกิจน้ำแข็งบูมที่สุดราวปี 1880 บริษัทน้ำแข็งของอเมริกันนำน้ำแข็งออกจำหน่ายนับสิบล้านตัน เฉพาะแม่น้ำ  Kennebec ในรัฐเมนเพียงแห่งเดียว มีบริษัทที่ทำธุรกิจน้ำแข็ง 36 บริษัทและมี Ice house ถึง 53 แห่ง หลังจากนั้นอีกแค่ 2-3 ทศวรรษ ธุรกิจน้ำแข็งพวกนี้ก็ค่อยๆหายไปเพราะการสร้างตู้เย็นและเครื่องทำน้ำแข็งที่ใช้ไฟฟ้าได้เข้ามาแทนที่ ในยุคนั้น Frederic Tudor ผู้ก่อตั้งบริษัท Tudor Ice Company เป็นผู้ที่คนอเมริกันรู้จักในนาม Ice Kingแห่งบอสตัน บริษัทของเขาได้ส่งน้ำแข็งไปทั่งตั้งแต่แถบคาริบเบียน ยุโรป จนถึงอินเดีย
ในหนังสือเรื่องเกี่ยวกับประเพณีไทย(เนื่องในเทศกาลตรุษสารท) ของเสฐียรโกเศศ กล่าวไว้ในเรื่อง “เล่นน้ำวันสงกรานต์” ตอนหนึ่งว่า “ ถ้าเป็นสมัยนั้น น้ำแข็งแม้มีแล้ว แต่ก็ยังไม่แพร่หลาย ได้ทราบว่าเมื่อยังไม่มีโรงทำน้ำแข็ง ฝรั่งที่เคยกินน้ำแข็งต้องสั่งน้ำแข็งบรรทุกมากับเรือกำปั่นไฟจากเมืองใหม่หรือสิงคโปร์ เมื่อมาทีแรกๆราษฎรยังไม่เคยเห็นและก็มีมากคนที่ไม่เชื่อว่าจะปั้นน้ำให้เป็นตัวได้ถึงต้องนำน้ำแข็งใส่ถาดไปตั้งให้ราษฎรดูที่ในมิวเซียมหรือหอพิพิธภัณฑ์ในพระบรมมหาราชวังลางคนไม่แน่ใจต้องเอามือแตะดูและขอน้ำแข็งก้อนเล็กๆที่เจ้าหน้าที่แจกนำไปอวดทางบ้าน แต่เอาไปไม่ถึงไหนเจ้าก้อนน้ำแข็งก็ละลายไปหมด  ต่อมาเมื่อมีโรงน้ำแข็งแล้วตั้งอยู่ที่ในตรอกข้างที่"โทรศัพท์กลาง"เดี๋ยวนี้น้ำแข็งซึ่งแต่เดิมมีราคาแพงมีผู้กินมันได้ก็แต่ผู้ดีคนมั่งมี ต่อมาก็มีราคาพอคนสามัญจะซื้อกินได้ จึงเกิดมีร้านจีนขายน้ำหวานลอยก้อนน้ำแข็งขายแก้วละอัฐหรือเท่ากับสตางค์ครึ่งเดี๋ยวนี้ “
“โทรศัพท์กลาง” ในที่นี้คงจะหมายถึงชุมสายโทรศัพท์วัดเลียบเพราะตรงกับที่คุณ Siamese กล่าวไว้ว่า”เป็นโรงน้ำแข็งเล็กๆตั้งอยู่บริเวณบ้านหน้าวัดเลียบ” ชุมสายวัดเลียบตอนนี้ไม่มีแล้วย้ายไปอยู่แถวสำราญราษฎร์ซึ่งอยู่ไม่ไกลกันนักชื่อ ชุมสายโทรศัพท์สำราญราษฎร์


กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.พ. 11, 12:08
ยังหาหนังสือของคุณลาวัณย์ไม่เจอ    ขอตอบไปก่อนจากความทรงจำว่า สมัยปลายรัชกาลที่ ๕ ต่อมาถึงต้นรัชกาลที่ ๖ มีภัตตาคารปรุงอาหารฝรั่งสำหรับชาวต่างประเทศในกรุงเทพ  จ้างลูกมือกุ๊กเป็นคนจีน  พวกนี้เรียนรู้วิธีทำไอศกรีมจากนายจ้าง  เมื่อภัตตาคารเลิกไป เขาก็จำวิธีทำไอศกรีมมาทำเมื่อมาเปิดร้านของเขาเอง   ดังนั้นไอศกรีมในยุคแรกจึงมาจากกุ๊กจีนที่รู้วิธีทำอาหารฝรั่ง
เมื่อมีน้ำแข็ง  การทำไอศกรีมก็ง่ายขึ้น  ชาวบ้านมาทำเองได้ พลิกแพลงเป็น ไอติมหลอด ไอติมหวานเย็น  แบบไทยๆ   ใส่กระติกเดินขายไปตามบ้าน

ไอติมไทยสมัยโน้นที่ดิฉันเคยกิน เหมือนเชอร์เบ็ตสมัยนี้คือทำด้วยน้ำแข็งเกล็ดละเอียดกับน้ำหวาน   ไม่มีครีมหรือนม  อัดเป็นแท่ง ต้องรีบกินเสียก่อนละลาย


กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 09 ก.พ. 11, 12:31
ไปค้นภาพเก่าๆ ว่าที่ทำการโทรศัพท์กลางใกล้วัดเลียบอยู่ตรงไหน ก็ได้พบ ...

ขอเพิ่มเติมเรื่องของ "เรือเจ้าพระยา" กับเรื่องเรือลำอื่นๆ ในรุ่นเดียวกับเรือเจ้าพระยาด้วย ทั้งที่ไม่เกี่ยวข้องกับน้ำแข็งและไอติมแต่อย่างใด

"... ครั้งนั้นอังกฤษเอาเรือกลไฟเหล็กเข้ามาขายลำหนึ่งชื่อ "เจ้าพระยา" จีนเรียกว่า "ญี่ปุ่น" บรรทุกสินค้า ๗,๕๐๐ หาบ พระภาษีสมบัติบริบูรณ์ซื้อไว้เป็นเงิน ๕๕,๐๐๐ เหรียญ พระยาพิศาลศุภผลต่อเรือกลไฟใหญ่ขึ้นลำหนึ่งชื่อ "อาลิเกเตบร์" แล้วตีใช้หนี้เงินหลวง โปรดให้ชื่อ "อยุธยาเดช" แล้วซื้อเรือกลไฟใหญ่ทำด้วยเหล็กลำหนึ่งชื่อ "ไวคอนแกหนึ่ง" จีนเรียกว่า "สาบานกิม" โตกว่าเจ้าพระยา จุ ๙,๐๐๐ หาบ เรือลูกค้าพวกอเมริกันมารับจ้างลากเรือลูกค้า ๒ ลำ ชื่อ "เยวอด" ลำหนึ่ง ชื่อ "ไพเนีย" ลำหนึ่ง.
ภายหลังพวกเจ้าสัวและนายห้างก็ทำเรือกลไฟเล็กๆ ขึ้นอีกหลายลำ ลูกค้าวาณิชก็นำม้าเทศ, ม้าเกาะอาแจ และรถเข้ามาถวายเป็นอันมาก."

อ้างอิง - "หลักการสงคราม", อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก หลวงสวัสดิสรยุทธ (ดล บุนนาค), ๒๕๑๒




กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: pathuma ที่ 10 ก.พ. 11, 11:09
การทำน้ำแข็งสมัยโบราณที่บ่อ Spy Pond เมือง Arlington รัฐ แมสซาชูเซตส์


กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: pathuma ที่ 10 ก.พ. 11, 11:20
โรงเก็บน้ำแข็งโบราณที่ฝรั่งเศส [urlhttp://en.wikipedia.org/wiki/Ice_house_(building)][/url]


กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.พ. 11, 11:31
วิธีทำไอศกรีม จากในถัง

(http://alpineicebowl.net/images/history2.jpg)


กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: pathuma ที่ 10 ก.พ. 11, 11:44
โรงน้ำแข็งสมัยก่อนจะเดินเครื่องด้วยเครื่องจักรไอน้ำ บางโรงเป็นกิจการเดียวกับโรงเลื่อยเพราะใช้เคื่องจักรไอน้ำเครื่องเดียวกัน  โรงน้ำแข็งมักตั้งอยู่      ไกล้แหล่งน้ำส่วนใหญ่จะอยู่ริมแม่น้ำ  น้ำแข็งที่ผลิตออกมาได้เมื่อนำออกมาจากซองน้ำแข็งแล้วจะเป็นก้อนน้ำแข็งสี่เหลี่ยมก้อนใหญ่เรียกว่า "ซอง" หรือ ทั่วๆไปมักเรียกว่า “ลูก”  น้ำแข็งจากโรงน้ำแข็งเป็นลูกๆ จะถูกส่งไปยังเอเย่นต์น้ำแข็งเพื่อขายปลีก น้ำแข็ง 1 ลูกจะถูกเลื่อยออกเป็นก้อนสี่เหลี่ยมย่อยๆเรียกว่า “กั๊ก” น้ำแข็ง 1 ลูกจะแบ่งได้ 4 กั๊ก แต่ละกั๊กจะถูกแบ่งย่อยออกเป็นก้อนสี่เหลี่ยมเล็กๆเรียกว่า “ มือ” 1 กั๊กแบ่งได้เป็น 4 มือ  น้ำแข้งที่นำมาไสบนแท่นไสน้ำแข็งก็คือน้ำแข็ง 1 มือนั่นเอง  หลังจากที่มีเครื่องทำน้ำแข็งด้วยไฟฟ้าโรงน้ำแข็งประเภทที่ว่าก็หายไปหมดรวมทั้งโรงเลื่อยแบบเครื่องจักรไอน้ำก็ไม่มีให้เห็นอีกแล้วและที่เครื่องจักรไอน้ำของโรงน้ำแข็งนี่เองที่ทำให้ผมรู้จักอุปกรณ์ของเครื่องจักรไอน้ำชิ้นหนึ่งที่เรียกว่า “กาวานา”(Governor)


กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 ก.พ. 11, 13:23
ภาพการใช้น้ำแข็ง และห้องเย็นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ภาพนี้ถ่ายจากโรงน้ำแข็ง และโรงทำน้ำโซดาตั้งอยู่ตรอกโรงน้ำแข็ง สี่พระยา

บริษัท Bangkok Manufacturing Company Limited ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1901 ผลิตน้ำแข็งโดยใช้เครื่องจักรขนาด ๒๐ ตัน ๑ ตัว และขนาด ๖ ต้น ๒ ตัว เพื่อทำการผลิตน้ำแข็ง นอกจากนี้ยังจะสามารถผลิตน้ำอัดลม (โซดา) ได้ 2,000 โหล เพื่อจำหน่าย

อ้างถึงหนังสือ Twenty Century Impressions of Siam


กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.พ. 11, 14:21
ประวัติไอศกรีม

http://www.youtube.com/watch?v=hLbI1bR52Rw


กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.ค. 11, 22:28
ดึงกระทู้นี้ขึ้นมาอีกครั้ง เพราะเพิ่งไปเจอกระทู้เก่าเรื่องไอศกรีม
ตอบคำถามเรื่องประวัติไอศกรีมในประเทศไทยได้ส่วนหนึ่ง

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=1099.0

ลาวัณย์ โชตามระ เล่าไว้ในหนังสือ มรดกไทย ว่า
ไอศกรีมเพิ่งเป็นที่รู้จักในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมตะวันตกที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำมาเผยแพร่ในสยาม หลังเสด็จประพาสอินเดีย ชวาและสิงคโปร์
น้ำแข็งในตอนแรกๆ สยามผลิตไม่ได้เอง ต้องสั่งเข้ามาจากสิงคโปร์
ต่อมาไทยสั่งเครื่องทำน้ำแข็งเข้ามาทำไอศกรีม ถือว่าเป็นของเสวยชั้นดีเลิศ สำหรับเจ้านายในพระบรมมหาราชวังเท่านั้น
สมเด็จกรมพระยาดำรงฯทรงบันทึกไว้ว่า
"ไอศกรีมเป็นของที่วิเศษในเวลานั้น เพราะเพิ่งได้เครื่องทำน้ำแข็งอย่างเล็กๆที่สำหรับเขาทำกันตามบ้านนอกเข้ามาถึงเมืองไทย
ทำบางวันน้ำก็แข็ง บางวันก็ไม่แข็ง มีไอศกรีมตั้งเครื่องแต่บางวัน จึงเห็นเป็นของวิเศษ"


กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.ค. 11, 22:28
ไอศกรีมในพระบรมมหาราชวัง ทำด้วยน้ำมะพร้าวอ่อน ใส่เม็ดมะขามคั่ว
น่าจะแบบเดียวกับใส่เมล็ดอัลมอนด์สมัยนี้ เคี้ยวมันๆ อร่อยดี
ดิฉันไม่แน่ใจว่าใส่นมลงไปหรือเปล่า ถ้าไม่ใส่ก็จะเป็นเชอร์เบ็ต มากกว่าไอศกรีม

ส่วนไอศกรีมอย่างของฝรั่งใส่นมสด นมข้น เติมกาแฟ ช็อกโกแลต จะมีได้ก็ต่อเมื่อมีงานเลี้ยงใหญ่ๆรับแขกเมืองเท่านั้น เพราะของประกอบพวกนี้แพงมาก 

จนกระทั่งคนไทยมีโรงงานทำน้ำแข็ง ไอศกรีมถึงได้แพร่หลายให้ประชาชนได้ลิ้มรสกัน
ไอศกรีมชั้นดีทำแบบไอศกรีมฝรั่ง อย่างที่เรากินกันทุกวันนี้ คนทำเป็นฝรั่งที่มาทำงานเป็นเชฟในวัง มีคนจีนเป็นลูกมือ ถ่ายทอดวิชาทำไอศกรีมเอาไว   เมื่อฝรั่งหมดสัญญาจ้างเดินทางกลับบ้านเมืองไปแล้ว คนจีนก็ขายไอศกรีมแทน 


กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.ค. 11, 22:29
 ส่วนไอศกรีมแบบชาวบ้าน ทำอย่างประหยัดเงินด้วยการใช้น้ำตาลทรายละลายน้ำ เติมมะพร้าวน้ำหอมลงไปพอได้กลิ่นรส หั่นเนื้อมะพร้าวสับโรยลงไปอีกที
แล้วใส่ถังสังกะสี สวมลงไปบนถังไม้ โรยน้ำแข็งทุบกับเกลือลงบนชั้นนอกถังสังกะสี
เขย่าจนน้ำผสมในถังแข็งตัวเป็นเกล็ด

ไอศกรีมที่ตามมาทีหลังในสมัยรัชกาลที่ ๗ คือไอศกรีมหลอด ไม่มีน้ำมะพร้าว ใช้น้ำผสมสีต่างๆละลายน้ำตาลจนเข้ากัน ใส่ลงหลอดสังกะสีแล้วเขย่าให้แข็งแบบเดียวกับไอศกรีม ถ้าเป็นเดี๋ยวนี้ก็ต้องเรียกว่า เชอร์เบ็ตเพราะไม่มีนมหรือครีมผสม
ราคาถูกมาก เพียงหนึ่งสตางค์แดงเท่านั้นเอง

ไอศกรีมชาวบ้านทำ ไม่ค่อยสะอาดนัก ใช้น้ำคลอง ไม่มีการฆ่าเชื้อ ความเย็นของไอศกรีมฆ่าเชื้อโรคไม่ได้
คนกินไอศกรีมหลอดจึงท้องร่วงกันง่ายมาก
ต่อมาก็มีการผลิตไอศกรีมเป็นอุตสาหกรรม ใส่ถ้วยกระดาษเล็กๆมีฝาปิดเหมือนไอศกรีมวอลล์เดี๋ยวนี้ ชื่อไอศกรีมห้องเย็น
เริ่มขายเมื่อประมาณ ๕๐ ปีก่อน


กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 07 ก.ค. 11, 11:05
ตอนเด็ก ๆ เคยกิน ไอศครีมไข่แข็ง แต่บ่อยนัก
จำได้ว่าอร่อยมาก
เดี๋ยวนี้ไม่เห็นมีใครทำ ยังพอหาที่ไหนได้บ้างคะ


กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 07 ก.ค. 11, 13:58
ตอนเด็ก ๆ เคยกิน ไอศครีมไข่แข็ง แต่บ่อยนัก
จำได้ว่าอร่อยมาก
เดี๋ยวนี้ไม่เห็นมีใครทำ ยังพอหาที่ไหนได้บ้างคะ

๑. ไอศครีมไข่แข็ง ตลาด200ปี รังสิต http://topicstock.pantip.com/food/topicstock/2008/08/D6856758/D6856758.html

๒. ที่หาดใหญ่ http://topicstock.pantip.com/food/topicstock/2011/05/D10589724/D10589724.html

๓. ร้านไอศครีมไข่แข็ง ตลาดสวนหลวง


กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 08 ก.ค. 11, 11:36
ไม่ค่อยเหมือนค่ะ ไอศครีมไข่แข็ง ที่เคยกิน อยู่แถวเสาชิงช้า
ใช้ไข่ดิบแช่แข็ง หมกอยู่ในไอศครีม ไม่ได้กวนรวมกันอย่างที่รังสิตค่ะ
ที่ร้านต้องทำทีละถ้วย ใช้เวลานาน เลยไม่มีคนอยากทำต่อ กระมังคะ


กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 ต.ค. 12, 11:55
นักเขียนชาวอังกฤษ นายเออร์เนสต์ ยัง (Ernest Young) เขียนถึง "ไอศกรีมโบราณ" ของคนจีน ไว้ในหนังสือ  "ราชอาณาจักรแห่งผ้ากาสาวพัสตร์" (http://archive.org/stream/yellowrkingdomof00younrich#page/n27/mode/2up) (The Kingdom of The Yellow Robe) หน้า ๘-๙ ใน พ.ศ. ๒๔๔๑ ไว้ดังนี้

"Isa-kee! Isa-kee!" It is a queer sound when you hear it for the first time. A Chinaman comes staggering along the road, carrying two heavy pails at the ends of the usual bamboo pole. He bawls in long, loud, nasal tones, "Isa-kee! Isa-kee!"

The man is wet with the perspiration that streams down his bare yellow body and soaks the cloth round his loins, that forms his only clothing. Presently, crowds of little boys, dressed in even less than the noisy vendor, collect round him and purchase with avidity the strange-looking mess denominated "isa-kee." He collects the coppers, and places them in a small leather purse, tied round his waist with a bit of string, there to lie in company with a little rank, black tobacco, or opium, until time will permit him to lose them in the maddening excitement of the gambling dens.

"Isa-kee" is the vendor's reproduction of the English word "ice-cream", though there is little resemblance between the commodity he disposes of with such extraordinary rapidity, and the fashionable European delicacy whose name it has borrowed. A more truthful name and description of the article sold in the streets of Bangkok, would be "ice-mud." It is apparently a concoction of dirty water, half-frozen slush, and sugar. Being cold and sweet it is a favourite sweetmeat with the native children, and the ice-cream merchant may generally be found doing a roaring trade outside the different schools during playtime.

When ice itself was first introduced to the Siamese by the European residents, they promptly coined for it the short and expressive name of " hard-water." It is amusing to hear the little ones exclaim as they swallow the frozen fluid, "Golly! How it burn!"

 ;D


กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ต.ค. 12, 20:57
เห็นภาพใน ค.ห.ที่ 10 ของคุณเทาชมพู ทำให้หวนความหลังนึกถึงเมื่อครั้งยังเยาว์วัยมาก จำได้เลยถึงลักษณะของถังไม้และก้านมือหมุนซึ่งต่อเป็นแกนไปหมุนเฟืองให้ไปหมุนใบพายสองอันที่อยู่ในแกนตั้ง เพื่อกวาดเพื่อกวนม้วนเครื่องปรุงที่อยู่ภายในถังเหล็กลักษณะทรงท่อกลมๆ ให้ทั้งถังเหล็กและใบพายหมุนทวนกันในถังไม้ที่ใส่น้ำแข็งโรยเกลือ จำได้ว่า กว่าจะได้เป็นไอติมนั้นนานมาก หลายคนต้องช่วยกันผลัดกันหมุนอยู่นานโข

สำหรับไอศครีมไข่แข็งที่คุณ Poja กล่าวถึงนั้น เป็นอันเดียวกับ Eggnog หรือเปล่าครับ


กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ต.ค. 12, 21:22
ขอแจมเรื่อน้ำแข็งหน่อยนึงครับ

แม้ว่าจะมีโรงทำน้ำแข็งอยู่ในทุกจังหวัด เมื่อสมัยที่ผมทำงาน (ประมาณปี พ.ศ.2514) อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี  เรียกได้ว่าที่อำเภอนี้ไม่มีน้ำแข็งขาย อยากจะกินก็ต้องสั่งและขนมาทางเรือจากตัวจังหวัด ใส่กระสอบ ใส่แกลบอัดมาอย่างดี น้ำแข็งก้อนขนาดกั๊กหนึ่งที่ขนมา บางทีเหลือเพียงประมาณมือหรือสองมือเท่านั้น ระยะเวลาเดินทางประมาณ 6-8 ชม.   

น้ำแข็งที่โรงน้ำแข็งผลิตจะเป็นก้อนใหญ่ แต่ละก้อนที่ผลิตออกมาเรียกว่าขนาด ซอง หนึ่ง เอามาแบ่งเป็นสี่ส่วนเรียกแต่ละส่วนว่า กั๊ก หนึ่ง แต่ละกั๊กจะซอยย่อยออกมาเป็นก้อนที่ซื้อขายกันทั่วไป เรียกขนาดของแต่ละก้อนนี้ว่า มือ  หากจำไม่ผิดน้ำแข็งกั๊กหนึ่งแบ่งออกได้เป็น 16 มือ ขนาดของแต่ละมือก็ประมาณ 6x6x12 นิ้ว

น้ำแข็งเป็นที่รู้จักของทุกคน แต่หากอยู่ไกลๆก็อาจจะไม่สามารถซื้อหากินได้ ดังกรณีที่ได้เล่ามานี้  เมื่อเริ่มมีเครื่องผลิตน้ำแข็งหลอดขายกัน ทำให้ที่ใดที่มีไฟฟ้าก็เลยสามารถผลิตน้ำแข็งหลอดขายกันได้ ชุมชนและชาวบ้านห่างไกลก็เลยได้มีโอกาสกินน้ำแข็งกันอย่างทั่วถึง (จำปีที่เริ่มไม่ได้แล้วครับ)


กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ต.ค. 12, 21:28
เห็นภาพใน ค.ห.ที่ 10 ของคุณเทาชมพู ทำให้หวนความหลังนึกถึงเมื่อครั้งยังเยาว์วัยมาก จำได้เลยถึงลักษณะของถังไม้และก้านมือหมุนซึ่งต่อเป็นแกนไปหมุนเฟืองให้ไปหมุนใบพายสองอันที่อยู่ในแกนตั้ง เพื่อกวาดเพื่อกวนม้วนเครื่องปรุงที่อยู่ภายในถังเหล็กลักษณะทรงท่อกลมๆ ให้ทั้งถังเหล็กและใบพายหมุนทวนกันในถังไม้ที่ใส่น้ำแข็งโรยเกลือ จำได้ว่า กว่าจะได้เป็นไอติมนั้นนานมาก หลายคนต้องช่วยกันผลัดกันหมุนอยู่นานโข

สำหรับไอศครีมไข่แข็งที่คุณ Poja กล่าวถึงนั้น เป็นอันเดียวกับ Eggnog หรือเปล่าครับ

ไอศกรีมที่คุณตั้งพูดถึงคือหวานเย็นหรือเปล่าคะ


กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 ต.ค. 12, 22:18
^
ไม่ใช่ครับ  เป็น Ice cream จริงๆ คือมีส่วนผสมของไข่ นม แป้ง น้ำตาล  ได้ไอศครีมที่ต้องใช้ช้อนตักออกมา     เป็น Ice cream จริงๆครับ คือเหมือนกับไอศครีมที่กำลังอ่อนตัวเหลวๆ  ไม่ใช่ไอศครีมที่แข็งโป๊กจนช้อนกดตักไม่ลง     การหมุนในช่วงสุดท้ายจึงหนืดมาก คนหนึ่งต้องจับถังไว้ไม่ให้เคลื่อนไปมา อีกคนต้องออกแรงหมุน ก็หมุนกันจะไม่มีแรงครับ จึงจะได้ไอศครีมตามสภาพที่เล่ามา  จำได้ว่าที่บ้านทำอยู่สองสามครั้งเท่านั้น คงจะเพาะเป็นงานที่ต้องใช้แรงงานและใช้หลายคน ใช้เวลาเตรียมและทำเป็นชั่วโมง อร่อยอยู่เดี๋ยวเดียวเท่านั้นเอง
     
สำหรับหวานเย็นนั้น ผมยังสะสมกระติกน้ำแข็งทรงยาวและตะกร้าหิ้วที่ทำจากหวายที่คนขายหวานเย็นใช้ห้อยแขนเดินสั่นกระดิ่งขาย  มีอยู่สองใบ ก็ยังใช้ใส่น้ำแข็งสำหรับกิจกรรมตอนแดดล่มอยู่จนทุกวันนี้   ซื้อมานานมากแล้ว ใบละยี่สิบบาท ปัจจุบันไปถาม เขาขายกันใบละเป็นพันบาทครับ


กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ต.ค. 12, 17:01
นึกออกแล้วค่ะ  น่าจะเป็นถังทำไอศกรีมที่เคยหอบหิ้วกลับมาบ้านด้วยหลังเรียนจบ  ด้วยความภูมิใจว่าต่อไปนี้จะทำไอศกรีมกินเอง ไม่ต้องไปซื้อเขาให้เปลืองเงิน
ว่าแล้วสองคนก็ขมีขมันเปิดตำรา ไปซื้อส่วนประกอบมาผสม ใส่ลงในถัง  ใส่น้ำเกลือ อัดเกลือเม็ดลงไปในถังชั้นนอก ให้เย็นจัด     ปั่นไป เขย่าไป เติมน้ำแข็งไป   ชุลมุนกันอยู่ค่อนวันเพื่อให้ไอศกรีมข้างในจับแข็งเป็นก้อน 
กว่าจะได้ไอศกรีมมาก็หมดแรง   กินเข้าไปก็งั้นๆแหละ ไม่เห็นอร่อยเท่าไหร่    แถมหมดน้ำแข็งไปเป็นก่ายเป็นกอง  บวกลบแล้วเปลืองกว่าไปซื้อมาสองถ้วยกินกันเอง จบภายใน ๕ นาที
ถังไอศกรีมก็เลยขึ้นหิ้งอยู่ในห้องเก็บของมาจนบัดนี้    สงสัยจะผุหมดแล้ว


กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ต.ค. 12, 11:01
ยังคิดถึงหวานเย็น ที่มีคนสะพายกระติกเดินขายตามบ้าน   เป็นอาชีพหนึ่งที่น่าจะสูญไปแล้ว
มีรถขายหวานเย็นเข้ามาแทนที่


กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: mrpzone ที่ 29 ต.ค. 12, 14:29
^
^

สนับสนุนความคิดเรื่อง..อาชีพคนสะพายกระติกหวานเย็น ของ อ.เทาชมพู ว่าน่าจะสูญไปแล้วครับ

แต่ถ้าเป็นไอติมแท่ง แถวบ้านผม นานๆ ที..ก็จะเห็นคนขับรถมอเตอร์ไซค์มัดกระติกแช่เย็นใส่ท้ายรถ ขายไอติมแบบโบราณ (น่าจะเรียกแบบนี้นะครับ) ลักษณะของไอติมจะเป็นทั้งแท่งกลมๆ ยาวๆ หรือแบบสี่เหลี่ยมแท่งยาวๆ มีกระดาษเป็นเยื่อบางๆ พันแต่ละแท่งเอาไว้ ตอนจะขายเค้าก็จะตัดแท่งไอติมเป็นท่อนๆ แล้วเอาไม้ลูกชิ้นเสียบเป็นอันเสร็จพิธี

รสที่ผมชอบมาก คือ รสถั่วดำ เสียอย่างเดียวถ้าเย็นจัดๆ ถั่วจะแข็งโป๊กเคี้ยวทีฟันแทบหักเลยครับ  ;D


กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ต.ค. 12, 14:42
ดิฉันชอบสีแดงค่ะ    เห็นรูปแล้วยังคิดถึงอยู่เลย


กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 ต.ค. 12, 19:45
ของดีๆอร่อยๆ หายไปหมดเลยนะครับ

พอจำได้อยู่ว่า ฝ่ายคนที่ทำงานในงานสาธารณสุขจะคอยออกเตือนอยู่เรื่องๆว่า ทั้งหวานเย็นและไอติมแ่ท่ง (แบบตัดเสียบไม้) นั้น ไม่ค่อยจะสะอาด ให้ระวังจะท้องเสียหรือท้องร่วงโดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน 

น่าจะมีคนคิดทำขึ้นมาอีก แล้วขายในร้านอาหารแบบมีระดับ ผมว่าน่าจะขายได้ดี    จะใส่กระติกแล้วคล้องแขนสั่นกระดิ่งเดินขาย คงจะไปไม่รอด สู้พวกรถพ่วงที่ขายไอศครีมยี่ห้อต่างๆไม่ได้


กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 30 ต.ค. 12, 12:50
ยังคิดถึงหวานเย็น ที่มีคนสะพายกระติกเดินขายตามบ้าน   เป็นอาชีพหนึ่งที่น่าจะสูญไปแล้ว
มีรถขายหวานเย็นเข้ามาแทนที่

สมัยเด็กๆ ตอนปิดเทอมใหญ่ มีร้านทำไอติมแท่งแบบนี้ ผมก็ไปรับมาขาย ทางร้านเขาก็จะมีกระติกให้ยืมไปด้วย เราก็เลือกเอาเองว่าจะเอาสีไหน รสอะไร อัดให้เต็มกระติก ไปเร่ขาย แท่งละสลึงหรือ ๒๕ สตางค์ ถ้าขยันหน่อย อาจจะขายได้ถึงวันละ ๓ เที่ยว ถ้าห่วงเล่นก็แค่วันละเที่ยวเดียว

บางคนขยันมาก รับครั้งละ ๒ หรือ ๓ กระติกต่อเที่ยว เดินแบกกันหลังแอ่น

ตัวไส้ในจะเป็นกระบอกแก้วสุญญากาศเคลือบด้วยสารปรอทภายใน สอดไว้ในกระบอกโลหะทำจากสังกะสีแผ่น ฝากระติกเป็นไม้โอ๊คขนาดใหญ่กว่าปากกระติกเล็กน้อย แล้วใส่ไว้ในกระเช้าหวายมีหูหิ้วสำหรับคล้องไหล่ และจะมีกระดิ่งอันเล็กๆ ให้ยืมไปด้วย



กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ต.ค. 12, 13:22
จำได้ว่าอุดหนุนเจ้าที่เดินเข้ามาในซอยบ้าน อยู่เป็นประจำ 
ไอติมทั้งหมดในรูปข้างล่างนี้ เคยกินมาทั้งนั้น  วัยเด็กเป็นวัยที่กินอะไรก็อร่อย  รสชาติไอติมแท่งจึงยังไม่เคยลบเลือน   โตขึ้นได้ไปกินอีกหลายชนิดในร้านต่างๆ  แต่ไม่เคยลืมไอติมแท่งเพื่อนเก่าเลยค่ะ


กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 01 พ.ย. 12, 07:22
ยกบทความจากหนังสือ Where the strange trails go down สมัยรัชกาลที่ ๖ มาให้อ่านกัน


กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 พ.ย. 12, 08:40
บทที่ ๑๐  THROUGH THE GOLDEN CHERSONESE TO ELEPHANT LAND หน้า ๒๑๙ (http://archive.org/stream/wherestrangetra00powegoog#page/n266/mode/2up)

The ice cream vendors drive a roaring trade in a concoction the basis of which is finely shaven ice, looking like half-frozen and very dirty slush, sweetened with sugar and flavored, according to the purchaser's taste from an array of metal-topped bottles such as barbers use for bay rum and hair oil. But, being cold and sweet, "Isa-kee," as the Chinese vendors call it, is as popular among the lower classes in Siam as ice cream cones are in the United States.

 ;D


กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: mrpzone ที่ 01 พ.ย. 12, 09:19
^

จาก.. "Isa-kee" as the Chinese vendors call it..

ถ้าหนังสือเค้าจะเพิ่มอีกนิด ว่า..  "I-tim" as the Thai vendors call it..
หรือ.. "Nam-whan" as the Thai vendors call it.. ก็น่าจะดีนะครับ

ใช่จะมีแต่พ่อค้าไอติมจีน ผูกขาดขายในเสียมประเทศชาติเดียวซะเมื่อไหร่
ต้องมีพ่อค้าไอติมไทยรับมาแบ่งขายบ้างแน่ๆ ^_^

ว่าแต่ว่า พ่อค้าไอติมจีนสมัยก่อนโน้น เค้าออกเสียงว่า ไอ-สะ-คี จริงๆ เหรอครับ?  ???


กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 พ.ย. 12, 09:50
ต้องถามคุณลุงไก่ผู้มีประสบการณ์    ตอนเล็กๆ คนขายที่เป็นคนจีนเขาร้องว่า ไอสะคี หรือเปล่าคะ


กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 พ.ย. 12, 11:40
ไอศกรีมชั้นดีทำแบบไอศกรีมฝรั่ง อย่างที่เรากินกันทุกวันนี้ คนทำเป็นฝรั่งที่มาทำงานเป็นเชฟในวัง มีคนจีนเป็นลูกมือ ถ่ายทอดวิชาทำไอศกรีมเอาไว   เมื่อฝรั่งหมดสัญญาจ้างเดินทางกลับบ้านเมืองไปแล้ว คนจีนก็ขายไอศกรีมแทน  

ส่วนไอศกรีมแบบชาวบ้าน ทำอย่างประหยัดเงินด้วยการใช้น้ำตาลทรายละลายน้ำ เติมมะพร้าวน้ำหอมลงไปพอได้กลิ่นรส หั่นเนื้อมะพร้าวสับโรยลงไปอีกที
แล้วใส่ถังสังกะสี สวมลงไปบนถังไม้ โรยน้ำแข็งทุบกับเกลือลงบนชั้นนอกถังสังกะสี
เขย่าจนน้ำผสมในถังแข็งตัวเป็นเกล็ด

เชฟฝรั่งในวังพูดว่า "icecream"

ลูกมือคนจีนพูดเพี้ยน เมื่อออกไปทำขาย จึงร้องว่า"ไอสะคี"

เด็ก ๆ ที่เป็นลูกค้าฟังคนจีนพูดยาวไป เลยเรียกสั้น ๆ ว่า "ไอติม"

เป็นการเดินทางของคำว่า "icecream" ไปสู่คำว่า "ไอติม" ที่เราไม่เคยทราบ

 ;D



กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 01 พ.ย. 12, 14:42
แต้จิ๋วเรียกไอศครีมแท่งว่า ซึงกี ครับ

ซึงแปล น้ำแข็ง กี แปลว่าแท่ง

ถ้าไอศครีมอย่างตักจะเรียก ซึงกอ โดยกอหมายถึงอะไรที่ข้นๆ เป็นยางๆ ครับ

isa-kee นี่ผมไม่เคยได้ยิน เป็นไปได้ว่าเกิดไม่ทัน แต่ kee ต้องอ่านว่า กี ที่แปลว่าแท่งแน่ๆ ครับ


กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 01 พ.ย. 12, 22:25
ปัจจุบันนี้คนจีนเรียกไอสครีม โดยออกเสียงเป็นภาษาจีนกลางว่า "ปิง ชี หลิน" (冰淇淋:bing qi lin)

ถ้าออกเป็นเสียงแบบฮกเกี้ยน (闽南话) จะออกว่า ปิง กี๋ หลำ bing gi lam

ออกเสียงแบบแต้จิ๋ว (潮州话) ออกเสียงว่า เปียน คี ลิม bian ki lim

ออกเสียงแบบกวางตุ้ง (广州话) ออกเสียงว่า ปิง เข่ย์ ล่ำ bing kei lam

เทียบเสียงได้จากเว็ปนี้ http://cn.voicedic.com/

วิธีใช้ ทำโดยกดที่ตัวอักษรจีน แล้วกดคำว่า 查询 แปลว่าสอบถาม สุดท้ายจึงกดไปที่แต่ละคำที่เป็นรูปลำโพง ก็จะได้เสียงออกมา

ข้าพเจ้าเขียนเสียงวรรณยุกต์ไทยไม่ค่อยจะถูก ต้องขออภัยด้วย


กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 02 พ.ย. 12, 12:06
ผมเข้า cn.voicedic.com ไม่ได้มาหลายวันแล้วครับ นึกว่าเว็บล่มเสียอีกครับ

ภาษาจีนมาตรฐานเรียกไอศครีมว่า ปิงฉีหลิน (冰淇淋) น่าสนใจว่า ปิงแปลว่าน้ำแข็ง แต่ ฉี และ หลิน ไม่ได้มีความหมายอะไรเกี่ยวข้องกับไอศครีมเลย เป็นการเขียนให้ออกเสียงใกล้เคียงกับ "ครีม" เท่านั้นเอง

ฟังดูยิ่งประหลาดเข้าไปใหญ่ ฉีหลิน กับ ครีม มันใกล้กันตรงไหน?

ต้องไปดูร่องรอยในจีนสำเนียงอื่น ซึ่งเชื่อว่าเป็นผู้สร้างศัพท์นี้ขึ้นมาแต่ต้น ให้เดาก็คงเมืองท่าการค้าที่ฝรั่งเข้ามาติดต่อกับจีนเมืองไหนสักเมืองนี่แหละครับ

ลักษณะเดียวกับ ม่านกู่ กับ บางกอก นั่นแหละครับ ฟังแล้วไม่รู้มาได้อย่างไร จีนกลางว่าม่านกู่ โดยอ่านจากตัวอักษร 曼谷 ซึ่งคนแต้จิ๋วปัจจุบันออกเสียงว่า หมั่งก๊ก ในขณะที่พจนานุกรมแต้จิ๋วว่า บ่วงก๊ก ด้วยซ้ำไป (แต่ผมไม่เคยได้ยินใครออกเสียงแบบนี้นะครับ)

แต่วิธีที่คุณ han bing เอาคำจีนกลางไปเปิดพจนานุกรมว่าสำเนียงถิ่นอื่นออกเสียงอย่างไร กรณีนี้ใช้ไม่ได้ครับ คำบางคำแต่ละถิ่นเรียกไม่เหมือนกันเลย อาจสื่อสารได้ถ้าคนฟังนึกออกว่าคนพูดใช้วิธีทับศัพท์คำในภาษาจีนมาตรฐาน แต่คนแต้จิ๋วจะไม่เรียกไอศครีมว่า เปียขี่ลิ้ม แน่ๆ (ตัว n ถ้าเสียน bian ระบบสัทอักษรแต้จิ๋วแทนเสียงขึ้นจมูกครับ ไม่ใช่ น เขียนเป็นไทยไม่ได้ แต่ใกล้เคียงที่สุดคือละไว้ครับ)

พจนานุกรมแต้จิ๋วใน gaginang.org ให้คำที่มีความหมายว่าไอศครีมไว้ดังนี้ครับ

1. ga7 lem1 (ไม่มีตัวเขียน) แสดงว่าเป็นภาษาปาก มีที่มาจาก cream อย่างชัดเจน (เช่นเดียวกับ ฉีหลิน ในภาษาจีนมาตรฐาน)
2. seung1 go1 ซึงกอ (霜膏) ที่ผมเคยยกมาแล้ว
3. sot4 go1 เซาะกอ (雪膏) เสาะแปลว่าหิมะ ตัว t ท้าย sot บังคับให้สระเสียงสั้นเฉยๆ นะครับ ไม่ใช่ตัวสะกด เสียงวรรณยุกต์เอกของเสาะ ตามด้วยเสียงสามัญ คือของกอ จะบังคับให้เสาะต้องเลื่อนเสียงวรรณยุกต์เป็นเสียงสามัญ ระบบการเขียนภาษาไทยมีข้อจำกัดไม่สามารถเขียนคำกำกับสระเสียงสั้นเป็นเสียงสามัญได้ ผมจึงเขียนเป็นเซาะครับ

ถ้าเป็นไอศครีมแท่ง (popsicle)
1. seung1 gi1 ซึงกี (霜支)  ที่ผมเคยยกมาแล้ว
2. sot4 diao5 เซาะเตี๊ยว (雪條) เตี๊ยวแปลว่าแท่งยาวๆ
3. sot4 gi1 เซาะกี (雪支)

มานึกเล่นๆ isa-kee อาจจะมาจาก ไอ..เซาะ..กี? คือ เอา..ไอ..ติม (มั้ย) ก็เป็นได้ครับ หากท่านใดสงสัยว่าคนขายไอติมโฆษณาแบบเสียงในฟิล์มเช่นนี้แล้ว คนซื้อจะฟังออกหรือ? ผมเดาว่ากลุ่มเป้าหมายของเขาอาจจะเป็นคนจีนด้วยกัน หรือไม่ก็เขาอาจจะมไม่สนใจเลยว่าคนฟังจะฟังออกหรือเปล่า ผมจำได้ว่าตอนเด็กๆ ยังมีพวกพ่อค้าเร่พวกนี้เดินขายของ บางคนร้องอะไรฟังไม่เป็นภาษาสักภาษา แต่ลูกค้าก็รู้ เพราะเขาร้องเป็นเพลงประจำตัวครับ เหมือนรถไอศครีมในสมัยนี้ เพลงไม่มีเนื้อร้องแต่ทุกคนรู้ว่าไอศครีมมาแล้ว

: )


กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 02 พ.ย. 12, 14:15
มานึกเล่นๆ isa-kee อาจจะมาจาก ไอ..เซาะ..กี? คือ เอา..ไอ..ติม (มั้ย) ก็เป็นได้ครับ  

คุณเออร์เนสต์ ยัง ว่าไว้อีกอย่างหนึ่ง

นักเขียนชาวอังกฤษ นายเออร์เนสต์ ยัง (Ernest Young) เขียนถึง "ไอศกรีมโบราณ" ของคนจีน ไว้ในหนังสือ  "ราชอาณาจักรแห่งผ้ากาสาวพัสตร์" (http://archive.org/stream/yellowrkingdomof00younrich#page/n27/mode/2up) (The Kingdom of The Yellow Robe) หน้า ๘-๙ ใน พ.ศ. ๒๔๔๑ ไว้ดังนี้

"Isa-kee" is the vendor's reproduction of the English word "ice-cream"

ที่คุณม้าว่ามาก็น่าสนใจ แต่มีคำถามดังนี้

๑. ถ้า isa kee มาจากคำแต้จิ๋วว่า ซึงกี หรือ เซาะกี  แล้ว คำว่า "ไอ" ข้างหน้าหมายถึงอะไร

๒. เป็นไปได้ไหมว่า isa kee เป็นคำผสมระหว่างภาษาอังกฤษและจีนแต้จิ๋ว คือ isa มาจาก ice ในคำว่า icecream ส่วน กี มาจากคำว่า 支 ที่แปลว่า แท่ง

หากท่านใดสงสัยว่าคนขายไอติมโฆษณาแบบเสียงในฟิล์มเช่นนี้แล้ว คนซื้อจะฟังออกหรือ? ผมเดาว่ากลุ่มเป้าหมายของเขาอาจจะเป็นคนจีนด้วยกัน หรือไม่ก็เขาอาจจะมไม่สนใจเลยว่าคนฟังจะฟังออกหรือเปล่า ผมจำได้ว่าตอนเด็กๆ ยังมีพวกพ่อค้าเร่พวกนี้เดินขายของ บางคนร้องอะไรฟังไม่เป็นภาษาสักภาษา แต่ลูกค้าก็รู้ เพราะเขาร้องเป็นเพลงประจำตัวครับ เหมือนรถไอศครีมในสมัยนี้ เพลงไม่มีเนื้อร้องแต่ทุกคนรู้ว่าไอศครีมมาแล้ว

เหมือนกับคนจีนร้องขายปาท่องโก๋สมัยก่อน

คุณวิกกี้ (http://คุณวิกกี้) เล่าว่า

ส่วนที่คนไทย เรียกว่า ปาท่องโก๋ นั้น เพราะจำมาผิด เนื่องจาก สมัยก่อนชาวจีนที่ขายปาท่องโก๋ (ขนมน้ำตาลทรายขาวซึ่งออกเสียงว่า แปะทึ่งกอ หรือ แปะถึ่งโก้) มักจะขายอิ่วจาก้วยด้วย พอคนขายตะโกนขายปาท่องโก๋ จึงเข้าใจว่า ปาท่องโก๋ คือ แป้งทอดอิ่วจาก้วย นั่นเอง แต่ในพื้นที่ภาคใต้ผู้คนยังคงนิยมเรียกว่า อิ่วเจี่ยโก้ย อยู่หรืออาจเรียกสั้น ๆ ว่า เจี่ยโก้ย ตามแบบภาษาฮกเกี้ยน

ปัจจุบันคนไทยก็เรียก อิ่วจาก้วย 油炸檜 ซึ่งเป็นแป้งทอดน้ำมัน เป็นแท่งประกบติดกัน ว่า ปาท่องโก๋ (http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=1262) หลายคนรับประทานเป็นประจำอยู่ทุกเช้า

ส่วน แปะทึ่งกอ 白糖糕 ตัวจริง เป็นขนมน้ำตาลทรายขาว รูปสี่เหลี่ยม เนื้อคล้ายขนมถ้วยฟู มีน้ำตาลโรยอยู่บนหน้า


คนฟังไม่เข้าใจ ทำให้เรียกผิดมาจนถึงทุกวันนี้

 ;D


กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: mrpzone ที่ 02 พ.ย. 12, 14:22
ง่า.. เซาะกี ไม่เคยได้ยินครับ เคยได้ยินแต่..เซาะกราว จากเดี่ยว 9 (โนส อุดม)  :-[

isa-kee อาจจะมาจาก ไอ..เซาะ..กี? คือ เอา..ไอ..ติม (มั้ย)
แนวคิดของคุณม้านี้เข้าทีครับ อ่านแล้วรู้สึกว่าเป็นเหตุเป็นผลดีทีเดียว
isa มาจาก ice ในคำว่า icecream ส่วน กี มาจากคำว่า 支 ที่แปลว่า แท่ง
และแนวคิดคำผสมของคุณเพ็ญก็น่าฟังเช่นกัน

ในความเห็นส่วนตัวแล้วรู้สึกแปลก กลับเป็นคำไทย ไอ-ติม น่าจะเพี้ยนเป็น ไอ-คีม มากกว่าอีกครับ  ;D


กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 02 พ.ย. 12, 15:24
isa-kee มาจาก ice cream อย่างที่คุณยังแกบอกจริงหรือไม่? ก็อาจจะใช่ แต่ก็อาจจะไม่ใช่ได้พอๆ กันครับ เพราะไม่รู้ว่าคุณยังแกได้เรื่องนี้จากผู้รู้จริงว่าคนขายร้องว่าอะไร หรือก็ว่าเดาเอาเอง?

แล้วถ้าเดาเอาเอง คุณยังแกรู้ภาษาแต้จิ๋วหรือไม่? เรื่องนี้ผมว่าเป็นประเด็นสำคัญเหมือนกันครับ

ไอ เซาะ กี... ไอมาจากไหน

ไอ่ แปลว่า เอา ครับ ไอเซาะกีหม่าย แปลว่า เอาไอศครีมมั้ย

ผมว่าก็พอไปได้เหมือนกันนะครับ

 ;D


กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 พ.ย. 12, 18:36
จากไอติมแท่ง  ไอศกรีมเดินทางมาไกลมากในปัจจุบัน
อาแปะผู้ขายไอศกรีมเดินทางข้ามเวลามาถึงวันนี้ อาจจำหน้าตาไอศกรีมไม่ได้


กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 พ.ย. 12, 20:00
นำภาพตลาดหนองแค สระบุรี พ.ศ 2481 เข็นไอติมขายมาให้ชมครับ
เครดิตภาพ คุณไข่


กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 พ.ย. 12, 15:10
ป้ายภาษาจีนตรงกลางตลาดเขียนว่า 髮剪新民 เป็นป้ายชื่อร้านตัดผม คุณหาญปิงและคุณม้าคงอธิบายรายละเอียดเรื่องภาษาได้ดีกว่า

จากป้ายนี้ทำให้เราทราบว่า นอกจากจะขายไอติมแล้วคนจีนสมัยนั้นยังทำอาชีพตัดผมอีกด้วย

ปัจจุบันการตัดผมเป็นอาชีพสงวนเฉพาะสำหรับคนไทย

 ;D


กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 พ.ย. 12, 19:57
เอาอาชีพขายไอศกรีมของฝรั่งมาให้ดูบ้างค่ะ


กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: ศานติ ที่ 09 ม.ค. 13, 22:19
ป้ายภาษาจีนตรงกลางตลาดเขียนว่า 髮剪新民 เป็นป้ายชื่อร้านตัดผม คุณหาญปิงและคุณม้าคงอธิบายรายละเอียดเรื่องภาษาได้ดีกว่า

จากป้ายนี้ทำให้เราทราบว่า นอกจากจะขายไอติมแล้วคนจีนสมัยนั้นยังทำอาชีพตัดผมอีกด้วย

ปัจจุบันการตัดผมเป็นอาชีพสงวนเฉพาะสำหรับคนไทย

 ;D
แปลกดีครับ อาชีพที่คู่กัน ตัดผมด้วยชายไอติมด้วย  ชวนให้คิดถึงสมัยเด็ก อาชีพที่คู่กันแต่ดูท่าทีไม่เข้ากันอีกอย่าง คือ ทำฟัน(ส่วนมากถอนอย่างเดียว)กับถ่ายรูป (ทั้งขายกล้อง ขายฟิลม์ ล้างฟิลม์ ถ่ายรูป)


กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ม.ค. 13, 10:11
อาชีพช่างตัดผมในยุโรปโบราณ ก็ควบคู่ไปกับทำหน้าที่หมอผ่าตัดและหมอ(ถอน)ฟันด้วยค่ะ  เป็นที่มาของกระบอกสีแดงขาวที่หมุนๆอยู่หน้าร้านจนทุกวันนี้  
สีแดงขาว ว่ากันว่ามาจากผ้าพันแผล ที่ช่างตัดผมเอาไปตากไว้หน้าร้าน  ตอนหลังในอเมริกาเติมสีน้ำเงินเข้าไปอีกสีหนึ่ง


กระทู้: ถามเรื่องของ "ไอติม" (icecream) กับ "น้ำแข็ง"
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 12 ม.ค. 13, 23:01
อ่านว่า หมิน ซิน เจี่ยน ฝ่า (民新剪发: min xin jian fa) แปลว่า คนใหม่ตัดผม  :-\