เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 01 มี.ค. 24, 08:33



กระทู้: พระมหากษัตริย์ไทยกับการเสียภาษี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 มี.ค. 24, 08:33
   คนไทยจำนวนมากยังเข้าใจผิดว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยอยู่เหนือการเสียภาษี  ประชาชนคนไทยเป็นฝ่ายเสียภาษีให้สถาบันในด้านค่าใช้จ่ายต่างๆ เพียงฝ่ายเดียว   ทั้งนี้ คงเป็นเพราะไปยึด พรบ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2491 ที่ยกเว้นให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไม่ต้องเสียภาษี
   แต่่ว่านับแต่ในสมัยรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ก็ได้ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีการดำเนินงานแบบใหม่ คือให้ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักทรัพย์สินฯ  ดำเนินการแยกเอาการลงทุนที่ดำเนินการแสวงหาผลกำไรในเชิงธุรกิจ จากเดิมที่สำนักงานทรัพย์สินถือหุ้นอยู่    เปลี่ยนแปลงด้วยการให้มีบริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด เข้ามาถือหุ้นแทน
    เมื่อบริษัททุนลดาวัลย์เข้ามาดำเนินงานแทน ก็ส่งผลเปลี่ยนแปลงทางการดำเนินธุรกิจ คือเมื่อก่อนนี้ บริษัทต่างๆ ที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถือหุ้นอยู่ ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้เมื่อได้รับเงินปันผล   แต่เมื่อบริษัททุนลดาวัลย์เข้ามา เงินปันผลต่างๆ จึงไม่อยู่ในขอบข่ายที่ได้รับการยกเว้นภาษี  สัำนักงานทรัพย์สินฯก็ต้องเสียภาษีเช่นเดียวกับการดำเนินธุรกิจโดยทั่วไป


กระทู้: พระมหากษัตริย์ไทยกับการเสียภาษี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 มี.ค. 24, 14:58
    ขอย้อนไปถึงเล่าถึงความเป็นมาของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ก่อน  เพราะยังมีผู้ไม่เข้าใจอยู่มากว่าหน้าที่และบทบาทของหน่วยงานนี้คืออะไร   บางคนก็เข้าใจว่าเป็นหน่วยราชการหน่วยหนึ่ง  บางคนก็เข้าใจว่าเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์
      เมื่อครั้งประเทศไทยยังปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์   กษัตริย์ไทยคือ "พระเจ้าแผ่นดิน" หมายความว่าทรงเป็นเจ้าของหรือผู้ปกครองอาณาจักร   ดังนั้นทรัพย์สินที่มีอยู่ในราชอาณาจักร จึงถือเป็นของพระมหากษัตริย์    อย่างไรก็ตามพระมหากษัตริย์ได้ทรงแยกทรัพย์สินท้ั้งหมดเป็น 2 ส่วน  ส่วนหนึ่งคือพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์  อีกส่วนคือทรัพย์สินของแผ่นดิน ซึ่งราชอาณาจักรได้มาหลายทาง เช่นจากการเก็บภาษี และการค้าขายกับนานาประเทศ   เป็นต้น  
     สมัยอยุธยาโดยเฉพาะตอนปลาย  การค้าขายกับต่างประเทศเฟื่องฟูมาก  อาณาจักรศรีอยุธยานับเป็นอาณาจักรมั่งคั่งที่สุดในเอเชียอาคเนย์  แต่หลังจากเสียกรุงครั้งที่ 2   ภาวะเศรษฐกิจก็ทรุดตัวหนักเกือบจะเหลือศูนย์ก็ว่าได้    การสถาปนาอาณาจักรธนบุรีขึ้นมาจึงเป็นผลดีไม่เฉพาะแต่ทางด้านการเมืองการปกครองเท่านั้น  แต่หมายถึงปากท้องและความเป็นอยู่ของคนไทยด้วย
     อย่างไรก็ตาม  ศึกสงครามที่มีอยู่ไม่ได้หยุดตลอด 15 ปีของอาณาจักรธนบุรี เรื่อยมาจน 27 ปีในรัชกาลที่ 1 และ 15 ปีในรัชกาลที่ 2 บั่นทอนการทำมาหากินและค้าขาย ทำให้เงินรายได้เหลือเข้าท้องพระคลังได้น้อย   ไม่พอค่าใช้จ่ายของอาณาจักร     ในรัชกาลที่ 2  ถึงมีการติดเบี้ยหวัดของขุนนางบ่อยๆ ต้องจ่ายเป็นผ้าลายบ้าง ทองคำที่ขุดได้จากบางสะพานบ้าง  เจ้านายส่วนใหญ่ก็ต้องขวนขวายทำการค้าเอง เพื่อจะมีรายได้พอเลี้ยงครอบครัวและข้าราชบริพาร  จะหวังเบี้ยหวัดจากท้องพระคลังที่เรียกกันว่า "พระคลังข้างที่"  ก็ไม่ไหว
    เศรษฐกิจของอาณาจักรรัตนโกสินทร์ดีขึ้นในรัชกาลที่ 3   เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคิดระบบ "เจ้าภาษี" ขึ้น


กระทู้: พระมหากษัตริย์ไทยกับการเสียภาษี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มี.ค. 24, 09:36
       พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงทำธุรกิจค้าขายกับจีนมาตั้งแต่ยังเป็นพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  เมื่อขึ้นครองราชย์ จึงหาวิธีเพิ่มพูนทรัพย์สินในท้องพระคลังด้วยการหาคนมาช่วยเก็บภาษี  เรียกว่าระบบเจ้าภาษี     มีการเปิดประมูลให้ผู้ที่ยื่นประมูลได้สูงสุดเป็นเจ้าภาษีในสินค้าผลผลิตประเภทต่างๆ เช่นพืชสวน  พืชไร่  รังนก สุรา ฯลฯ เงินเหลือจากที่ต้องส่งให้ราชการเท่าไหร่ก็เข้ากระเป๋าเจ้าตัว    เถ้าแก่และขุนนางใหญ่น้อยจึงผันตัวเองมาเป็นเจ้าภาษี  รวยขึ้นก็มาก และที่เจ๊งไปเพราะเก็บไม่ได้ตามเป้าหมายก็มีไม่น้อย    ส่วนราชการไม่เจ็บตัวเพราะยังไงก็มีข้อกำหนดว่าเจ้าภาษีต้องจ่ายเข้าท้องพระคลังตามราคาประมูลอยู่แล้ว  ทำให้ท้องพระคลังเริ่มอู้ฟู่ขึ้นมากในรัชกาลที่สาม ด้วยระบบเจ้าภาษี ซึ่งก็คือสัมปทานแบบหนึ่งนั่นเอง

      พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงเก็บสะสมกำไรที่ได้จากการค้าสำเภาซึ่งเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ไว้ในถุงผ้าสีแดงซึ่งเรียกกันว่า “เงินถุงแดง” ไว้ข้างพระแท่นที่บรรทม เรียกว่า “เงินข้างที่”
     ต่อมามีจำนวนมากขึ้นก็เก็บไว้ในห้องข้างๆ ที่บรรทม จึงเรียกว่า “คลังข้างที่”     เพื่อพระราชทานให้ไว้เป็นทุนสำรองให้แก่แผ่นดินสำหรับใช้ในยามบ้านเมืองเกิดภาวะคับขัน และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้เกิดเหตุวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 (พ.ศ.2426) ที่สยามเกิดกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสจึงได้นำเงินถุงแดงมาสมทบเพื่อเป็นการชดใช้ค่าเสียหายและค่าประกันแก่ฝรั่งเศส จนสามารถรักษาเอกราชอธิปไตยของชาติไว้ได้


กระทู้: พระมหากษัตริย์ไทยกับการเสียภาษี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มี.ค. 24, 09:54
    จะเห็นได้ว่าเมื่อถึงตอนนี้   ที่เก็บเงินของแผ่นดินเริ่มแยกออกเป็น 2  ส่วน คือพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งเป็นที่เก็บรายได้จากการเรียกภาษี และการค้าขายของอาณาจักร   กับ พระคลังข้างที่ เก็บพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
     แต่สองอย่างนี้ก็ยังไม่ได้แบ่งแยกกันเด็ดขาด  เนื่องจากมีเจ้าของคนเดียวกันคือพระเจ้าแผ่นดิน    เทียบง่ายๆเหมือนเราเก็บเงินตัวเองไว้ในกระเป๋าซ้ายบ้าง กระเป๋าขวาบ้าง  บางทีก็หยิบซ้าย บางทีก็หยิบขวา แล้วแต่สถานการณ์  เมื่อล่วงมาถึงรัชกาลที่ 5  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าควรจะมีการจัดระเบียบบ้านเมืองในหลายๆด้านให้ทันกับยุคสมัย  ดังมีพระราชดำริว่า
    “เห็นว่าการปกครองในบ้านเมืองเรา ซึ่งเป็นไปในปัจจุบันนี้ ยังไม่เป็นวิธีปกครองที่จะให้การทั้งปวงเป็นไปโดยสะดวกได้แต่เดิมมาแล้ว… การปกครองอย่างเก่านั้น ก็ยิ่งไม่เหมาะสมกับความต้องการของบ้านเมืองหนักขึ้นทุกที จึงได้มีความประสงค์อันยิ่งใหญ่ ที่จะแก้ไขธรรมเนียมการปกครองให้สมกับเวลา ให้เป็นทางที่จะเจริญแก่บ้านเมือง”



กระทู้: พระมหากษัตริย์ไทยกับการเสียภาษี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 มี.ค. 24, 10:25
     หลักฐานชัดเจนที่แสดงว่าทรงแยกเงินแผ่นดินออกจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์   ไม่เอาเงินทั้ง 2 ชนิดมาใช้จ่ายปะปนกันอีก  คือ พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ 3/336 ลงวันที่ 21 พฤษภาคม ร.ศ. 122 มีความตอนหนึ่งว่า
      “ที่ตำบลบางขุนพรหมริมคลองผดุงกรุงเกษมฝั่งเหนือ อยู่ในที่บริเวณสวนดุสิต ข้าพเจ้าได้ให้เจ้าพนักงานกระทรวงนครบาลจัดซื้อไว้ด้วยเงินพระคลังข้างที่… ที่ตำบลที่กล่าวมาแล้วนี้ ข้าพเจ้ามีความประสงค์จะทำเป็นบ้านให้ลูกชายเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพรได้อยู่เป็นสิทธิเป็นทรัพย์ของตนสืบไป… เพราะเงินรายนี้ข้าพเจ้ามิได้ใช้เงินสำหรับแผ่นดินที่จะจับจ่ายราชการ ได้ใช้เงินพระคลังข้างที่ซึ่งเป็นเงินสำหรับพระองค์ของพระเจ้าแผ่นดินเอง ไม่เกี่ยวข้องด้วยราชการแผ่นดิน

     เมื่อทรงแยกได้ชัดเจน   การพัฒนาประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงมีระเบียบชัดเจนกว่าเมื่อก่อน    เงินใดที่เป็นรายได้ของแผ่นดินเช่นการเก็บภาษีอาการ ก็แยกไว้ในพระคลังมหาสมบัติ   ส่วนพระคลังข้างที่ก็เป็นที่เก็บพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
 จะทรงใช้จ่ายอะไรในเรื่องส่วนพระองค์ก็ใช้ส่วนนี้   หรือถ้ามีพระราชประสงค์จะเพิ่มพูนรายได้ส่วนพระองค์ ก็มีหนทางทำได้
 โดยไม่ต้องไปเอาเงินของแผ่นดินมาใช้      อธิบายด้วยภาษาชาวบ้านคือ  "ท่านทรงทำมาหากิน  หารายได้เอง " นั่นเอง


กระทู้: พระมหากษัตริย์ไทยกับการเสียภาษี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มี.ค. 24, 18:32
     พระคลังข้างที่ มีรายจ่ายหลักๆ อยู่ 4 เรื่อง คือ
      1    จ่ายเบี้ยบำนาญสำหรับข้าราชการในวัง
      2    จ่ายทุนการศึกษาสำหรับพระราชวงศ์ในต่างประเทศ
      3    ให้ยืมดอกเบี้ยต่ำให้หน่วยงานและประชาชนทั่วไป
      4     ลงทุนทางตรงในธุรกิจต่างๆ
      การตั้งพระคลังข้างที่ ก็เพื่อจัดระเบียบรายรับรายจ่ายของพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่ยิ่งปีก็ยิ่งเพิ่มขึ้น  เพราะในระบอบเดิม เป็นหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ที่จะอุปถัมภ์พระราชวงศ์  นอกจากนี้    แต่ละรัชกาลก็มีพระราชโอรสพระราชธิดาและเจ้าจอมหม่อมห้ามเป็นจำนวนมาก จึงมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นเป็นเงาตามตัว    จึงต้องมีลงทุนเพื่อให้รายได้งอกเงยขึ้น  โดยการดำเนินงานของพระคลังข้างที่
     ส่วนพระราชวงศ์ทั้งหลาย  ถ้าเป็นชายก็มักจะถูกกำหนดให้รับราชการ    นอกจากจะเป็นกำลังของแผ่นดินเพื่อรับผิดชอบงานพัฒนาประเทศในด้านต่างๆแล้ว   ก็ยังมีรายได้เลี้ยงตัวและครอบครัวได้อีกด้วย   ส่วนพระราชโอรสก็ได้รับพระราชทานทุนไปศึกษาต่างประเทศ เพื่อเรียนรู้ให้ทันยุคสมัย  กลับมาทำงานเพื่อความก้าวหน้าของประเทศ   เห็นได้จากพระบรมราโชวาทพระราชทานแต่พระราชโอรสว่า
 
   “เงินค่าที่จะใช้สอยในการเล่าเรียนกินอยู่นุ่งห่มทั้งปวงนั้น จะใช้เงินพระคลังข้างที่ คือเงินที่เป็นส่วนสิทธิขาดแต่ตัวพ่อเอง ไม่ใช้เงินสำหรับจ่ายราชการแผ่นดิน… ถ้าจะใช้เงินแผ่นดินสำหรับให้ไปเล่าเรียนแก่ผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด กลับมาไม่ได้ทำราชการคุ้มกับเงินที่ลงไป ก็จะเป็นที่ติเตียนของคนบางจำพวกว่ามีลูกมากเกินไป… ไม่อยากจะให้มีมลทินที่พูดติเตียนเกี่ยวข้องกับความปรารถนา ซึ่งจะสงเคราะห์แก่ลูกทั่วถึงโดยเที่ยงธรรมนี้ จึงมิได้ใช้เงินแผ่นดิน… อีกประการหนึ่งเล่า ถึงว่าเงินพระคลังข้างที่นั้นเองก็เป็นเงินส่วนหนึ่งในแผ่นดินเหมือนกัน เว้นแต่เป็นส่วนที่ยกให้แก่พ่อใช้สอยในการส่วนตัว… เหตุที่พ่อเอาเงินส่วนที่พ่อจะได้ใช้เองนั้นออกให้ค่าเล่าเรียน ด้วยเงินรายนี้ ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดที่จะแทรกแซงว่าควรใช้อย่างนั้น ไม่ควรใช้อย่างนั้นได้เลย”


กระทู้: พระมหากษัตริย์ไทยกับการเสียภาษี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 มี.ค. 24, 18:49
     บทบาทของพระคลังข้างที่ จะว่าไปก็ไม่ต่างจากการจัดการทรัพย์สินส่วนตัวของหัวหน้าครอบครัวที่มีทรัพย์สมบัติตกทอดจากปู่ย่าตายายมาแต่เดิม    เป็นครอบครัวขยาย มีลูกหลานและบริวารจำนวนมากให้หัวหน้าครอบครัวต้องรับผิดชอบเลี้ยงดู     ยิ่งมีรายจ่ายมาก  ก็ยิ่งต้องขวนขวายหารายได้มาให้มากพอจ่าย    การหารายได้ของครอบครัวนี้ก็ทำนองเดียวกับคนที่มีทุนมากพอจะเอาเงินไปหมุนให้เกิดผลงอกเงย    เช่นปล่อยเงินกู้  และลงทุนในกิจการต่างๆที่จะทำให้ได้กำไรกลับคืนมาเป็นค่าใช้จ่ายให้ครอบครัวต่อไป
     สมัยรัชกาลที่ 5  สยามพัฒนาทางด้าสาธารณูปโภคต่างๆให้ทันสมัยตามแบบอารยประเทศ   พระคลังข้างที่ก็ปล่อยเงินกู้ให้ผู้ที่สนใจจะลงทุน  เป็นประชาชนทั่วไปไม่จำกัดเฉพาะพระราชวงศ์   เช่น ให้กู้แก่นายฮันเตอร์ พ่อค้าตะวันตกที่เข้ามาเปิดกิจการในไทย    เมื่อนำไปลงทุนแล้ว  เจ้าไหนที่ขาดทุนและไม่สามารถชำระคืนได้ แทนที่จะปล่อยให้หนี้สูญ เสียทั้งต้นทั้งดอก  พระคลังข้างที่ก็เข้าซื้อกิจการแทนเจ้าของเดิม  เพื่อดำเนินงานต่อไปได้ไม่สะดุด


กระทู้: พระมหากษัตริย์ไทยกับการเสียภาษี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มี.ค. 24, 11:12
      ข้ามเรื่องจุดกำเนิดของพระคลังข้างที่ไปหน่อย   ขอย้อนกลับไปว่าเมื่อมีการพัฒนาประเทศ  มีผู้เชี่ยวชาญเป็นฝรั่งจากยุโรปมาเป็นที่ปรึกษาในราชการไทยหลายคน   หนึ่งในนั้นคือผู้เชี่ยวชาญการคลังชาวอังกฤษชื่อนายมิตเชล อินเนส (Mitchel Innes) เข้ามาเป็นที่ปรึกษากระทรวงพระคลังมหาสมบัติ     
    อินเนสเสนอให้พระเจ้าอยู่หัวกู้เงินมาสร้างทางรถไฟ ซึ่งท่านก็ทรงเห็นด้วยว่า  “ถ้าจะกู้เพื่อการลงทุนเป็นดอกเป็นผล ก็ไม่รังเกียจ ถ้าหากกู้มาซื้ออาวุธจะไม่เห็นด้วย”
    อินเนสทูลเสนอต่อไปว่า การกู้เงินมหาชน (Public Loan) จำเป็นจะต้องมีการจัดทำงบประมาณแผ่นดิน เพื่อแสดงรายรับรายจ่าย โดยให้เหตุผลว่า “ให้มหาชนเชื่อในความมั่นคง (credit) ของประเทศนั้น” เพราะการแสดงฐานะทางการเงิน นอกจากเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนที่จะลงทุนพันธบัตรแล้ว ฐานะทางการเงินที่ดีจะช่วยให้ดอกเบี้ยหน้าตั๋วถูกลงด้วย เพราะว่าถ้านักลงทุนขาดความเชื่อมั่น พันธบัตรก็จะขายยาก ต้องเพิ่มดอกเบี้ยเข้าไปอีก จะส่งผลให้การกู้ครั้งต่อ ๆ ไป มีต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น
     นายอินเนสยังเสนอต่อไปว่าเขาจัดทำแนวทางงบประมาณแผ่นดินไว้แล้ว โดยให้โควต้าเงินส่วนพระองค์ 15% ของงบประมาณ ข้อนี้ นายอินเนสทูลว่าในยุโรป เขากำหนดกันเป็นจำนวนเงินที่แน่นอน พระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นชอบตามที่เสนอ   โดยสั่งให้กระทรวงพระคลังเป็นผู้กำหนดจำนวนเงินส่วนพระองค์มา   ข้อนี้สร้างความประทับใจให้นายอินเนส เป็นอย่างมาก จนถึงกับบอกว่าประเทศอื่นมีแต่พระเจ้าแผ่นดินเรียกร้องจะเอาเท่านั้นเท่านี้ แต่เมืองไทยกลับให้เสนาบดีเป็นผู้กำหนดมาให้
     เมื่อข้อเสนอของนายอินเนสผ่าน    จากนั้น ก็มีการแยกส่วนกัน คือกรมพระคลังมหาสมบัติยกฐานะขึ้นเป็น “กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ” ส่วน “กรมพระคลังข้างที่” ตั้งขึ้นมาดูแลพระราชทรัพย์ในราชการส่วนพระองค์
 
     ปัญหาที่เกิดขึ้นต่อมา  คือการใช้จ่ายใด ๆ ในส่วนพระองค์ (ที่ไม่ใช่่พระราชทรัพย์ในราชการส่วนพระองค์)  กลับถูกเสนาบดีจับยัดไปลงกรมพระคลังข้างที่หมด ไม่ว่าจะเป็นรายจ่ายซ่อม-สร้างวัง รายจ่ายบำเหน็จ-เครื่องราชฯ ไปจนถึงเรื่องอะไรก็ตามที่อยู่นอกเหนือจากหน้าที่เสนาบดีทั้งหลาย จนในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชปรารภกับกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่าเงินไม่พอใช้ (แต่ไม่ได้บ่นเอาความใดใดกับเสนาบดีพระคลัง) กระทั่งถึงปี พ.ศ. 2453 กระทรวงพระคลังจึงเพิ่มเงินส่วนพระองค์ให้เป็น 9 ล้านบาท แต่พอเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 6 กระทรวงพระคลังก็ตัดเหลือ 6 ล้านบาทเหมือนเดิม


กระทู้: พระมหากษัตริย์ไทยกับการเสียภาษี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มี.ค. 24, 15:20
      เรื่องเงินไม่พอใช้เกิดจากที่ประชุมเสนาบดีพิจารณากำหนดเงินพระคลังข้างที่สำหรับทรงใช้สอยเป็นส่วนพระองค์พระเจ้าอยู่หัว ปีละ 6,000,000 บาท    พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงรับมาตามนั้น แต่เมื่อกระทรวงพระคลังมหาสมบัติจัดเงินจำนวนดังกล่าวถวายมาได้เพียง 2 หรือ 3 ปี ก็ทรงพบว่าค่าใช้จ่ายทั้งหลายทั้งปวงนั้นมากเกินเงินที่ได้รับมา    แต่จะทำอย่างไรได้ ในเมื่อทรงลั่นพระวาจาไปแล้วว่าให้คณะเสนาบดีเป็นฝ่ายกำหนด   จะกลายเป็นไม่รักษาพระวาจา  ก็ทรงมีพระราชปรารภกับพระเจ้าน้องยาเธอ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย  ดังที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯทรงบันทึกไว้้ว่า
    “  (พระเจ้าอยู่หัว)ทรงอัตคัดด้วยเงินพระคลังข้างที่ไม่พอจะใช้    ครั้นจะปรับทุกข์กับกระทรวงพระคลังก็ได้ลั่นพระโอษฐ์แล้วว่าจะยอมรับเพียงปีละหกล้าน จะเป็นพูดไม่แน่นอน ตรัสปรึกษาฉันว่าจะทำอย่างไรดีจึงจะได้เงินพอใช้"
     สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ  จึงได้มีรับสั่งให้หาพระยาศุภกรณ์บรรณสาร (นุ่ม วสุธาร) รองอธิบดีกรมพระคลังข้างที่  มาวายคำชี้แจงให้ทรงทราบความโดยตลอดว่า


กระทู้: พระมหากษัตริย์ไทยกับการเสียภาษี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มี.ค. 24, 17:05
     “ในงบประมาณเดิมที่กำหนดเงินพระคลังข้างที่ว่า ๑๕ เปอร์เซนต์ของรายได้เงินแผ่นดินนั้น ไม่ได้รับจริงอย่างนั้น เป็นแต่เอาจำนวนเงินตามบัญชีที่ปรากฏว่าใช้สอยในราชสำนักปีละเท่าใดคิดถัวกัน ตั้งเป็นเกณฑ์ กำหนดเป็นอัตราจ่ายเงินพระคลังข้างที่ปีละเท่านั้น แต่ปีใดเงินไม่พอใช้ก็เรียกเพิ่มเติมได้ไม่มีจำกัด ก็แต่เงินพระคลังข้างที่นั้นมิใช่แต่สำหรับพระองค์พระเจ้าอยู่หัวทรงใช้สอย ยังต้องเอาไปใช้ในการอื่นอีกหลายอย่าง เป็นต้นว่าเงินงวดประจำปีที่พระราชทานเจ้านายเช่นตัวฉัน และเบี้ยหวัดเงินเดือนราชบริพารฝ่ายใน ตลอดจนรับแขกเมืองก็ใช้เงินพระคลังข้างที่... ครั้นทำงบประมาณแบบใหม่จำกัดกำหนดเงินพระคลังข้างที่ปีละหกล้านบาท ถ้าดูแต่ยอดจำนวนเงินก็เห็นมากกว่าที่กระทรวงพระคลังเคยจ่ายประจำปีมาแต่ก่อน แต่ที่จริง พระเจ้าอยู่หัวได้เงินพระคลังข้างที่น้อยลงกว่าเช่นเคยมาแต่ก่อน เพราะกระทรวงพระคลังตัดรายจ่ายเงินแผ่นดินซึ่งกระทรวงพระคลังเคยจ่ายในบรรดาการซึ่งเนื่องกับราชสำนัก เช่นเงินเดือนข้าราชการ ค่าใช้สอยในการเสด็จประพาส การก่อสร้างซ่อมแซมรักษาพระราชวังต่างๆ แม้ที่สุดจนการเลี้ยงช้างเผือก รวมทุกอย่างมาให้พระคลังข้างที่จ่ายในเงินหกล้านนั้น ผลของงบประมาณใหม่จึงกลายเป็นลดเงินพระคลังข้างที่น้อยลงกว่าแต่ก่อน เพราะถูกพ่วงรายจ่ายเพิ่มเข้ามาก


กระทู้: พระมหากษัตริย์ไทยกับการเสียภาษี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 มี.ค. 24, 13:46
      พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับเงินค่าใช้จ่ายจากพระคลังมหาสมบัติปีละ 9 ล้านบาทมาจนสิ้นรัชกาล   เมื่อเริ่มรัชกาลที่ 6 แทนที่จะพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะได้ 9 ล้านบาทในฐานะพระมหากษัตริย์  กลับทรงได้รับเงินเท่ากับเมื่อครั้งทรงเป็นสมเด็จพระยุพราช คือ 3 แสนบาทเท่าเดิม   มาจนหมดปี  คือสิ้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2453 ซึ่งนับป็นเดือนสุดท้ายของปีปฏิทินในยุคนั้น
     พอเริ่มปีใหม่  พ.ศ. 2454 กระทรวงพระคลังมหาสมบัติจัดเงินถวายในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ แทนที่จะเป็น 9   ล้านบาท  กลับย้อนไปเป็นจำนวน 6 ล้านบาทเหมือนเมื่อครั้งโน้น
     เหตุผลของกรมพระคลังมหาสมบัติ ตามที่ทรงบันทึกไว้ คือ
     “คลังก็ตัดเงินเสีย 3 ล้าน คงจ่ายให้ฉันเพียง 6 ล้าน  โดยอ้างว่าฉันเพิ่งเข้ารับตำแหน่งใหม่ ควรเริ่มรับเพียง 6 ล้านก่อน แล้วจะขึ้นให้ปีละ 5 แสน จนถึง 9 ล้านเป็นที่สุด ตามความจริงก็หาได้ขึ้นให้ฉันอย่างที่รับไว้นั้นไม่ คงจ่ายให้เพียงปีละ 6 ล้านถึง 6 หรือ 7 ปี แล้วจึงได้ยอมเริ่มขึ้นให้” [ประวัติต้นรัชกาลที่ 6]
     ในเมื่อรายจ่ายในราชสำนักสืบเนื่องจากรัชกาลก่อนยังไม่ลดลง   แค่รายได้ลดลงไปถึง 1 ใน 3  ทำให้ราชสำนักเกิดภาวะเงินฝืด     ซ้ำร้ายใน พ.ศ. 2456 เกิดวิกฤติการเงินในแบงก์สยามกัมมาจล  เพราะมีการโกงจนธนาคารเกือบจะล้มละลายลงไป   พระเจ้าอยู่หัวต้องเอาเงินพระคลังข้างที่เข้าไปพยุงไว้   เท่ากับสูญเงินไปกับแบงก์สยามกัมมาจลถึง 1,634,000 บาท


กระทู้: พระมหากษัตริย์ไทยกับการเสียภาษี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มี.ค. 24, 15:48
    ไม่เท่านั้น   สงครามโลกครั้งที่ 1  ที่เกิดขึ้นในรัชกาลที่ 6  แม้ว่าสมรภูมิอยู่ในยุโรป ไม่มีผลกระทบถึงเขตแดนสยาม  แต่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างจัง คือข้าวของในท้องตลาดแพงขึ้นมาก   ทำให้ค่าครองชีพถีบตัวขึ้นสูงเกินกว่ารายได้ของคนยุคก่อนสงครามจะตามทัน    ดังที่พระเจ้าอยู่หัวทรงบันทึกไว้ว่า
    “เกิดสงครามโลก ซึ่งทำให้ของทุกอย่างขึ้นราคาอย่างมหาโหด และหนี้สินที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนสงครามก็ต้องทำการชดใช้ในอัตราสงคราม นอกจากนั้นในระหว่างสงครามฉัน [รัชกาลที่ 6] ยังต้องเสียเงินเป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัวบางประการ ซึ่งฉันไม่สามารถหวังอะไรตอบแทนได้ นอกจากคำขอบคุณอย่างเป็นทางการ”
    ค่าของเงินเปลี่ยนไปมาก   หนี้สินเมื่อก่อนสงคราม ก็ต้องมาตีราคากันใหม่ในอัตราสงคราม หมายถึงต้องใช้หนี้แพงขึ้นทั้งๆไม่ได้ก่อหนี้เพิ่มขึ้น     ทำให้พระคลังข้างที่ประสบภาวะคับขัน   ถึงขนาดพระเจ้าอยู่หัวทรงระบายความคับข้องพระทัยไว้ว่า
     “มีหนี้สินทวีมากขึ้น ฉัน [รัชกาลที่ 6] ขอให้แบงก์สยามกัมมาจลช่วยโดยให้กู้เงินบ้างก็ไม่ยอมให้กู้ ฉันจะขอถอนเงินของฉันที่ฝากไว้ในแบงก์นั้นก็ไม่ให้ถอน, ฉันจะขายหุ้นส่วนของฉันบ้างก็ไม่ให้ขาย”
    สาเหตุที่ทรงระบุไว้คือ
    “กระทรวงพระคลังมหาสมบัตอำนวยการแบงก์สยามกัมมาจล, ว่าจะคิดจัดดำเนิรการตั้งรูปขึ้นให้เป็นธนาคารของชาติ (National Bank) เอาเงินแผ่นดินเข้าหุ้นไว้พอให้มีสิทธิเปนผู้ถือหุ้น, แล้วก็รวบเอาอำนาจไว้ในมือทั้งสิ้น, ส่วนกรรมการผู้แทนพระคลังข้างที่กลายเปนงงเข้าไปนั่งทำตาปริบๆ อยู่ในที่ประชุมสภากรรมการเท่านั้น”


กระทู้: พระมหากษัตริย์ไทยกับการเสียภาษี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มี.ค. 24, 16:02
  ยุครัชกาลที่ 6  สยามยังอยู่ในระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตย  หรือเรียกกันมา(ผิดๆ)ว่า "สมบูรณาญาสิทธิราชย์"  (Absolute Monarchy) หมายถึงว่า ระบอบการปกครองที่มีกษัตริย์เป็นผู้ปกครองและมีสิทธิ์ขาดในการบริหารประเทศ อยากทำอะไรก็อยู่ในพระราชอำนาจที่จะทำได้ทั้งสิ้น      แต่กระทู้นี้ก็คงจะทำให้เห็นกว่าในทางปฏิบัติ    พระเจ้าแผ่นดินสยามมิได้ทรงมีสิทธิ์ขาดอย่างนั้น  อย่างน้อย การจับจ่ายใช้สอยเงินทองก็ต้องผ่านความเห็นชอบของคณะเสนาบดี ทำให้พระเจ้าอยู่หัวต้องยุ่งยากพระทัยอยู่มาก ว่าจะทรงสร้างดุลย์ของการใช้จ่ายได้อย่างไรแบบไหน   หากว่าเงินทองที่ราชการถวายให้ เกิดไม่พอรายจ่ายขึ้นมา
    ล่วงมาถึง พ.ศ 2464   หนี้สินของพระคลังข้างที่ก็ยิ่งทวีจำนวนมากขึ้น  ถ้าเป็นสมัยนี้ต้องใช้คำว่า "ขาดสภาพคล่อง"  พระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริที่จะขอกู้เงินจากกระทรวงพระคลังมหาสมบัติจำนวน 3 ล้านบาท
     “เพื่อเอาไปผ่อนใช้หนี้รายที่เร่งร้อนตามส่วนที่ควรใช้ไปคราวหนึ่งก่อน… เพราะเห็นว่า มีเจ้าหนี้รายใหญ่เสียรายเดียวดีกว่ามีรายย่อยหลายๆ ราย, ซึ่งเปนการรุงรัง” [หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 6 กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ร.6 ค.4/12 เรื่องพระคลังข้างที่กู้เงินกระทรวงพระคลัง. (26 ธันวาคม-12 มกราคม 2464)]
       แต่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติมีลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า
      “การที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จ่ายเงินพระคลังมหาสมบัติรองไปในการผ่อนใช้หนี้พระคลังข้างที่นั้น เกรงด้วยเกล้าฯ ว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะรับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ปฏิบัติราชการไปให้เปนประโยชน์ต่อใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทได้ไม่ตลอด เพราะว่าข้าพระพุทธเจ้าไม่เลงเห็นอุบายที่จะป้องกันอันตรายในภายน่า หฤา วิถีทางที่จะรักษาราชการมิให้ทรุดโทรมไปได้เลย เปนอันจนด้วยเกล้าฯ ดังนี้ จึ่งนับว่าข้าพระพุทธเจ้าสิ้นความสามารถในราชการแล้ว”
          
      สรุปว่ากรมพระจันทบุรีฯ ไม่ทรงเห็นด้วยกับวิธีนี้    แปลอีกทีว่าไม่ให้กู้


กระทู้: พระมหากษัตริย์ไทยกับการเสียภาษี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 มี.ค. 24, 15:13
    ก็คงจะเดาได้ว่า เมื่อกรมพระจันทบุรีฯ ทรงตอบปฏิเสธไปเช่นนี้  พระเจ้าอยู่หัวจะทรงรู้สึกอย่างไรก็ไม่ต้องอธิบายกันมาก   แต่ก็มิได้ทรงวู่วาม  แต่ทรงนำความไปทรงปรึกษาด้วยเสนาบดีผู้ใหญ่อีกหลายท่าน  คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ, เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงนครบาล, เจ้าพระยาอภัยราชามหายติธรรมธร (ม.ร.ว.ลพ สุทัศน์)เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมล, เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว. ปุ่ม มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงวัง, และเจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล. เฟื้อ พึ่งบุญ) ผู้สำเร็จราชการมหาดเล็ก,   จากนั้น  ได้มีพระราชหัตถเลขาทรงตอบกลับมาว่า
      “ในเรื่องนี้ถ้าท่านไม่มีเหตุผลอย่างอื่นนอกจากไม่ไว้พระทัยในความสามารถของหม่อมฉันที่จะจัดการใช้จ่ายในครอบครัวของหม่อมฉันให้เปนที่เรียบร้อยได้ฉนั้นไซร้ ต้องถือว่าท่านไม่มีสิทธิอันใดเลยที่จะวินิจฉัย…ทางใดทางหนึ่ง ซึ่งหม่อมฉันจะใช้เงินในทางที่ผิดหรือชอบนั้นหาได้อยู่ในความรับผิดชอบของท่านไม่ เพราะฉะนั้นถ้าท่านขัดข้องแต่เพียงข้อนี้ข้อเดียวแล้วหม่อมฉันต้องสั่งให้ท่านรองจ่ายเงิน สามล้าน (3,000,000) บาทให้แก่กรมพระคลังข้างที่เพื่อผ่อนใช้หนี้ไปในบัดนี้
        ส่วนที่ท่านขอลาออกนั้น หม่อมฉันไม่เห็นมีเหตุผลพอเพียง ถ้าอนุญาตให้ท่านลาออก  เห็นว่าความครหาจะตกอยู่แก่หม่อมฉันว่าทำการปราศจากสติสัมปชัญญะ เพราะฉนั้นจะอนุญาตให้ท่านลาออกไม่ได้” [หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารกรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 6 กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ร.6 ค.4/12 เรื่องพระคลังข้างที่กู้เงินกระทรวงพระคลัง. (26 ธันวาคม-12 มกราคม 2464)]


กระทู้: พระมหากษัตริย์ไทยกับการเสียภาษี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 มี.ค. 24, 15:28
   สรุปว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงได้เงินกู้ 3 ล้านบาทจากกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ  จ่ายให้แก่กรมพระคลังข้างที่  แต่สภาพคล่องก็คงจะยังไม่ดีขึ้นเท่าไหร่  จึงต้องแสวงหาแหล่งเงินกู้เพิ่มขึ้นอีก เพื่อให้พระคลังข้างที่มีเงินหมุนเวียนงอกเงยขึ้นมา    เห็นได้จากทรงกู้ยืมเงินจากตลาดเงินกรุงลอนดอนเมื่อ พ.ศ. 2464 จำนวน 2 ล้านปอนด์ และอีก 3 ล้านปอนด์ใน พ.ศ. 2466 
   แต่เงินจำนวน 5 ล้านปอนด์นี้ไม่ได้นำมาใช้จ่ายส่วนพระองค์ล้วนๆ    แต่เอามาเพื่อช่วยรายจ่ายจากเงินคงพระคลังฯ ในการสร้างทางรถไฟ การทดน้ำ และการสาธารณะประโยชน์ต่างๆ ในพระราชอาณาจักร  ส่วนในราชสำนักก็็มีกรรมการองคมนตรีตรวจตัดรายจ่ายในพระราชสำนัก  ส่งผลให้ยุบเลิกส่วนราชการในพระราชสำนักไปหลายหน่วยในตอนปลายรัชสมัย 


กระทู้: พระมหากษัตริย์ไทยกับการเสียภาษี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 มี.ค. 24, 10:28
    รายได้ของพระคลังข้างที่ ยังคงติดลบอยู่เป็นจำนวนมากในปลายรัชกาลที่ 6  เพราะพระเจ้าอยู่หัวทรงนำพระราชทรัพย์ไปใช้ในกิจการที่เป็นประโยชน์ของแผ่นดิน แต่ไม่ได้งอกเงยในเชิงเศรษฐกิจ  เช่นกิจการเสือป่า   พระราชทานที่ดินของพระคลังข้างที่จำนวน 1,309 ไร่ ที่อำเภอปทุมวัน เพื่อจัดตั้งจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย   ซื้อตึกและที่ดินริมถนนสามเสน แล้วพระราชทานให้กระทรวงนครบาลจัดตั้ง “วชิรพยาบาล”  เป็นต้น 
     เมื่อสิ้นรัชกาล  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลดรายจ่ายของพระคลังข้างที่ ด้วยการยุบหน่วยงานในราชสำนักไปเป็นจำนวนมาก   เมื่อสยามถูกกระทบด้วยเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก   ก็ทรงลดรายจ่ายของพระคลังมหาสมบัติด้วยการตัดงบประมาณของแต่ละกระทรวงด้วยวิิธี "ดุลยภาพ" ข้าราชการ   คือให้ข้าราชการบางส่วนออกจากงานโดยไม่มีเบี้ยหวัดบำนาญ   เพื่อประหยัดงบประมาณแผ่นดิน  แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศได้   กลับก่อความไม่พอใจให้ข้าราชการที่ได้รับผลกระทบกระเทือน  ประกอบกับนักเรียนไทยที่ไปเรียนต่างประเทศมีความนิยมเลื่อมใสระบอบการปกครองแบบใหม่ของยุโรป  ที่ไม่มีพระมหากษัตริย์    จึงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในพ.ศ. 2475
    นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจแบบใหม่แก่สยามประเทศ  หนึ่งในนั้นคือการเก็บภาษีมรดก
    ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2475 มีการเสนอ"ร่างพระราชบัญญัติอากรมฤดกฯ" ต่อที่ประชุมคณะกรรมการราษฎร   พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในฐานะประธานคณะกรรมการราษฎร (นายกรัฐมนตรี) จึงเสนอร่างกฎหมายนี้ให้แก่ที่สภาฯ
   


กระทู้: พระมหากษัตริย์ไทยกับการเสียภาษี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 มี.ค. 24, 12:44
   แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังไปไม่ถึงไหน  พระยามโนฯ ก็ถูกพระยาพหลหลหยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร์ รัฐประหารยึดอำนาจจนพ้นตำแหน่งไปก่อน   ร่างกฎหมายภาษีมรดกจึงค้างเติ่งอยู่จน พ.ศ. 2476 ก่อนได้รับการพิจารณาอีกครั้ง
    ใจความสำคัญของร่างพ.ร.บ.นี้คือการเก็บภาษีพระราชทรัพย์อันเป็นพระราชมรดก   รวมทั้งรายได้จากพระคลังข้างที่ด้วย  โดยมีหลักว่าพระราชทรัพย์ใด ๆ ที่เป็นพระราชมรดกตกทอดไปยังผู้อื่นจะต้องเสียภาษีมรดก เว้นแต่ผู้สืบราชสมบัติที่ได้รับพระราชมรดกนั้น ไม่เสียภาษีมรดก
    แปลง่ายๆคือเงินทองของพระมหากษัตริย์ที่จะสืบทอดต่อไปยังพระราชโอรสธิดาหรือพระราชนัดดาต้องเสียภาษี 
     พระราชบัญญัติฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบของสภาฯ  เมื่อยื่นทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 7 เพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธย แต่พระองค์ได้เสด็จฯ ออกจากประเทศตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2477 เพื่อรักษาพระวรกาย การรับรองกฎหมายจึงเป็นหน้าที่ของสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์


กระทู้: พระมหากษัตริย์ไทยกับการเสียภาษี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 เม.ย. 24, 09:50
  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ มีพระราชประสงค์ให้แก้ไขเพิ่มเติมว่า “พระราชทรัพย์สินใด ๆ ที่เป็นพระราชมฤดกไปยังผู้อื่นนอกจากผู้สืบราชสมบัติต้องเสียอากรมฤดก นอกจากนั้นเป็นพระราชทรัพย์ฝ่ายพระมหากษัตริย์ ไม่ต้องเสียอากรมฤดก”
  แต่ข้อนี้ไม่ใช่ความต้องการของสภา ที่จะยื่นมือเข้ามาจัดการกับพระคลังข้างที่ หรืออีกนัยหนึ่งทรัพย์สินเงินทองของพระมหากษัตริย์  จึงมีการอ้างจากสภาว่า พระราชประสงค์นี้ทำไม่ได้  เพราะขัดกับกฎหมายมาตรา 38 และ 39 ของรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ที่กำหนดให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจเพียงแต่จะทรงลงหรือไม่ลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาแล้วภายในเวลา 1 เดือนเท่านั้น ไม่มีพระราชอำนาจที่จะแก้ไขเนื้อหาของกฎหมาย

  ทางออกของสภาที่ผ่านมติของคณะรัฐมนตรีจึงส่งตัวแทนไปเข้าเฝ้าผู้สำเร็จราชการฯ เพื่อชี้แจง  แปลอีกทีคือเกลี้ยกล่อมให้ทรงยอมลงพระปรมาภิไธยโดยไม่แก้ไขอะไร   เรียกว่าแล้วแต่สภาจะกำหนด

  ผลคือพระเจ้าอยู่หัวก็ยังไม่ทรงยินยอมอยู่ดี   รัฐบาลจึงเอาร่างกลัับไปสภาฯ  ผลปรากฎว่า สภาฯ ลงมติด้วยคะแนนเสียงข้างมาก ไม่ให้แก้ไขเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติอากรมฤดกฯ   กล่าวคือรัฐบาลเห็นอย่างไรก็ต้องทำอย่างนั้น


กระทู้: พระมหากษัตริย์ไทยกับการเสียภาษี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 เม.ย. 24, 11:00
    สมเด็จพระปกเกล้าฯทรงทราบดีว่ารัฐบาลเริ่มยื่นมือเข้ามาขอเอี่ยวกับพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์   เพื่อจะแบ่งส่วนหนึ่งเอาไปจัดการเอง  ส่วนที่ว่าจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติหรือประโยชน์ส่วนตนก็ทรงมองได้ไม่ยาก  จึงแสดงความในพระทัย จากบันทึกส่วนพระองค์ลงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2477 ความว่า

     “ภาษีมฤดกนี้ ฉันมีความคิดเห็นอยู่นานแล้วว่า เป็นภาษีที่ยังไม่ควรมีในประเทศสยาม เพราะอาจให้ผลร้ายมากกว่าผลดี แต่ก่อนนี้ฉันคิดว่าจะ veto พระราชบัญญัติเสียทีเดียว แต่ ม.จ. วรรณไวทยากรร้องขอกับฉันว่า อย่าให้ veto พระราชบัญญัติเลย เพราะจะเก็บแต่เล็กน้อย และมีไว้เพื่อ social justice…(หาก Veto) จะทำให้เกิดการแตกร้าวกันขึ้นในระหว่างตัวฉันกับรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร จึงได้ตกลงว่าจะปล่อย ทั้งที่ไม่เห็นชอบด้วยเลย โดยหวังว่าอาจเปลี่ยนแปลงได้…

     ฉันจำจะต้องขอให้มีบทยกเว้นพระราชทรัพย์ของพระมหากษัตริย์ เฉพาะส่วนที่ได้มาจากการสืบสันตติวงศ์เสียจากภาษีนี้ เพราะถ้าไม่มีข้อยกเว้นเช่นนี้จะเป็นการลำบากอย่างยิ่ง เพราะเป็นการยากที่จะแยกได้ว่าอะไรเป็นของส่วนพระองค์ อะไรเป็นของแผ่นดินด้วยปนเปเช่นนี้มานานแล้ว นอกจากนี้หากเก็บภาษีมฤดกจากพระมหากษัตริย์ ย่อมเป็นการทำลายฐานะของพระองค์ และต่อไปก็จะไม่สามารถดำรงพระเกียรติยศไว้ให้สมควรเป็นที่เชิดชูของชาติได้”


กระทู้: พระมหากษัตริย์ไทยกับการเสียภาษี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 เม.ย. 24, 14:46
     เมื่อร่างกฎหมายยังไม่ลงตัวกันสักที  รัฐบาลจึงตัดสินใจนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ซึ่งได้เปิดประชุมสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาว่าจะทำตามพระราชประสงค์หรือไม่ ในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2477 ผลปรากฎว่า สภาฯ ลงมติด้วยคะแนนเสียงข้างมาก ไม่ให้แก้ไขเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติอากรมฤดกฯ
      ปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2477 คณะรัฐมนตรีมีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อยกร่างกฎหมายฉบับใหม่ว่าด้วยการยกเว้นภาษีอากรอันเกี่ยวแก่พระราชสมบัติฝ่ายพระมหากษัตริย์ ในขณะเดียวกัน พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ส่งจดหมายลงวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2477 กราบทูลเรื่องการแต่งตั้งกรรมาธิการยกร่างกฎหมายใหม่นี้ และถวายคำมั่นแด่พระองค์ว่า รัฐบาลจะเสนอร่างกฎหมายใหม่นี้แก่สภาฯ ในการประชุมสมัยสามัญ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2477
     ดูรูปการณ์ก็เหมือนกันว่า รัฐบาลอะลุ่มอล่วย  ไม่เอาร่างกฎหมายเดิมแล้ว  แต่ร่างฉบับใหม่ขึ้นมาเพื่อเสนอแก่สภา   มองเผิินๆก็เหมือนว่าจะยอมทำตามประราชประสงค์   เพราะถ้าไม่ทำแล้วก็คงไม่ร่างกฎหมายใหม่ขึ้นมาให้เสียเวลา  แต่ผลก็หาเป็นเช่นนั้นไม่


กระทู้: พระมหากษัตริย์ไทยกับการเสียภาษี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 เม.ย. 24, 14:51
  เหตุการณ์จริงเป็นอย่างไร เห็นได้จากโทรเลขที่ทรงส่งให้แก่ผู้สำเร็จราชการฯ ลงวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2477 ว่า
  “เขา(หมายถึงรัฐบาลพระยาพหลฯ) ทำให้หม่อมฉันเซ็น พ.ร.บ. อากรมฤดก ด้วยวิธีหลอกลวง เขาทำให้หม่อมฉันเข้าใจว่าจะเสนอพระราชบัญญัติใหม่แถลงความหมายแห่งพระราชสมบัติส่วนพระมหากษัตริย์ตามนัยที่หม่อมฉันได้วางไว้ออกใช้เป็นกฎหมายให้เร็วที่สุดที่จะเร็วได้…ร่างพระราชบัญญัตินี้ควรร่างขึ้นได้ภายในเวลาครึ่งชั่วโมง แทนที่จะทำเช่นนั้น กลับตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อร่างพระราชบัญญัติ [ว่าด้วยการยกเว้นภาษีอากร อันเกี่ยวแก่พระมหากษัตริย์] นี้ ซึ่งจะทำให้หม่อมฉันอยู่ในฐานะเช่นเดียวกับฐานะของพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ
   สภาพการเช่นนี้หม่อมฉันจะยอมรับไม่ได้ สภาพการณ์ของทรัพย์สมบัติของกรมพระคลังข้างที่ในประเทศสยามไม่เหมือนกับพระราชทรัพย์ส่วนพระมหากษัตริย์ของอังกฤษ หม่อมฉันเห็นว่า เป็นความพยายามที่จะดึงเอาความครอบครองกรมพระคลังข้างที่ไปจากหม่อมฉัน วิธีการเช่นนี้อาจเป็นที่พึงพอใจสำหรับผู้อื่น แต่ไม่ใช่สำหรับหม่อมฉัน และหม่อมฉันก็คงจะต้องทักท้วงพระราชบัญญัติฉบับนี้อีก"


กระทู้: พระมหากษัตริย์ไทยกับการเสียภาษี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 เม.ย. 24, 18:52
   ที่สมเด็จพระปกเกล้าฯทรงเห็นว่าเป็นวิธีหลอกหลวง เกิดจากรัฐบาลไม่ได้ร่างกฎหมายใหม่ตามที่ทรงวางแนวไว้ กลับกลายเป็นว่าร่างกฎหมายใหม่นี้ เอื้อให้รัฐบาลยื่นมือเข้าไปจัดการกับพระราชทรัพย์ในพระคลังข้างที่ได้ถนัดยิ่งขึ้น    ผลคือทำให้ทรงกลับกลายเป็นว่า “มีฐานะเช่นเดียวกับฐานะของพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษ” คือพระราชทรัพย์ที่มีอยู่กลายเป็นของรัฐ ทั้งๆเป็นพระราชทรัพย์ของราชตระกูลพระมหากษัตริย์มาก่อน
    พระเจ้าอยู่หัวทรงดูออกว่าต่อไป  รัฐบาลและรัฐสภาคงจะไม่ยอมประนีประนอมตามข้อเรียกร้องหลาย ๆ ข้อของพระองค์ ผลคือพระมหากษัตริย์ก็คงจะอยู่ในฐานะหุ่น   ไม่สามารถทำอะไรจัดการอย่างใดได้ แม้แต่พระราชทรัพย์ที่ตกทอดกันมาในราชตระกูลดังนั้น   หนทางข้างหน้าคือก็จะทรงสละราชสมบัติ เพราะไม่มีประโยชน์อันใดที่จะอยู่ต่อไป
   เรื่องที่ทำให้สะเทือนพระทัยอีกเรื่องคือ  กรณีพระพิบูลย์ไอศวรรย์ (เปรียบ สุจริตกุล) ฟ้องกรมพระคลังข้างที่หลัง พ.ศ. 2475 ให้จ่ายเงินเลี้ยงชีพตามพินัยกรรมของรัชกาลที่ 6 ซึ่งถูกยกเลิกโดยรัชกาลที่ 7
    สมเด็จพระปกเกล้าฯทรงเห็นว่าหากคดีนี้พระคลังข้างที่เป็นฝ่ายแพ้    ก็จะทรงสละราชสมบัติ  เพราะการจัดการบริหารพระคลังข้างที่อยู่ในพระราชอำนาจ     ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงว่าไม่ทรงมีอำนาจหน้าที่จะจัดการพระคลังข้างที่อีก  ก็เท่ากับทรงถูกลิดรอนสิทธิ์ที่เคยเป็นของพระองค์เอง



กระทู้: พระมหากษัตริย์ไทยกับการเสียภาษี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 เม.ย. 24, 13:59
ความขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯและรัฐบาลไม่ได้มีเพียงเรื่องนี้เพียงเรื่องเดียว  แต่รวมเรื่องการเมืองด้วย  จนนำไปสู่การตัดสินพระทัยสละราชสมบัติในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 ภายหลังจากการเจรจาต่อรองที่ข้อเรียกร้องต่าง ๆ ของพระองค์ถูกปฏิเสธจากรัฐบาล

เในปี 2478 นั้นเอง รัฐบาลได้เสนอกฎหมายพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์  การจัดระเบียบคือรัฐบาลจัดการแบ่งทรัพย์สินที่เคยขึ้นกับพระมหากษัตริย์เสียใหม่  โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน  คือ "ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน", "ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" และ "ทรัพย์สินส่วนพระองค์"

รัฐบาลให้คำอธิบายว่า
1  "ทรัพย์สินส่วนพระองค์" คือของส่วนพระองค์ที่ทรงมีอยู่ก่อนขึ้นครองราชย์ หรือทรงได้รับมาจากบุคคลอื่นๆ ที่มิได้เป็นพระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรี ถือเป็นของส่วนพระองค์   ทรงมีสิทธิทำอะไรกับมันก็ได้โดยอิสระ
พูดอย่างชาวบ้านคือทรัพย์สินส่วนตัว
2   "ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน" คือพระราชวังเป็นต้น
คือทรัพย์สินที่ติดหรือตั้งอยู่บนส่วนของแผ่นดิน   ถ้าเป็นภาษาชาวบ้านคือบ้านที่ปลูกอยู่บนที่ดินที่ไม่ใช่ของเอกชน
3  "ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" คือทรัพย์ที่สืบทอดมาในพระราชวงศ์ จะทรงดำเนินใดๆ ได้ก็เพื่อประโยชน์ของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
    ภาษาชาวบ้านคือมรดก   แต่ต่างจากกฎหมายมรดกที่ใช้กับประชาชนตรงที่ประชาชนมีสิทธิ์ใช้มรดกของตนไปในเรื่องอะไรก็ได้ไม่จำกัด  เช่น  จะใช้เฉพาะส่วนตัว หรือแจกจ่ายคนอื่น   จะซื้อจะขายกับใคร   จะเปลี่ยนสภาพมรดกไปเป็นอะไรก็ได้    แต่สำหรับพระมหากษัตริย์  จะทรงใช้ทรัพย์สินส่วนนี้ได้เพื่อประโยชน์ของราชตระกูลเท่านั้น
    ข้อ 3  เดิมนั้นอยู่ในการดูแลของกรมพระคลังข้างที่  แต่รัฐบาลออกพระราชบัญญัติ เพื่อโยกย้ายการดูแลมาอยู่ในกระทรวงการคลัง  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาล
   
    เมื่อพรบ. ฉบับนี้ประกาศใช้  กรมพระคลังข้างที่ถูกลดบทบาทมาเป็น "สำนักงานพระคลังข้างที่" อยู่ภายใต้การดูแลของนายกรัฐมนตรีโดยตรง มีการตั้งสำนักงานทรัพย์สินฯ ขึ้นมาดูแลทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีสถานะเป็นกรม สังกัดกระทรวงการคลัง มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานที่ปรึกษา
    ดังนั้น หน่วยงานที่ชื่อว่า "สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" ถึงแม้ว่าชื่อทำให้ชวนเข้าใจว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าของ   รายได้จากสนง.เป็นทรัพย์สินในพระองค์      ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่