เรือนไทย

General Category => หน้าต่างโลก => ข้อความที่เริ่มโดย: puyum ที่ 18 มิ.ย. 12, 21:10



กระทู้: คนไทย กับ AEC
เริ่มกระทู้โดย: puyum ที่ 18 มิ.ย. 12, 21:10
ฅนไทย กับการสื่อสาร ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
เหลือเวลาอีกประมาณ ๙๐๐ วัน ก็จะเป็น ประชาคมเศรษฐกิจอาเชี่ยน (AEC) แล้ว
ดูเหมือนว่ารัฐ เตรียมความพร้อมให้ผู้คนของเราน้อย ในเรื่อง ภาษา 
ทุกประเทศ ได้เปรียบเรา เป็นต้นว่าประเทศทางตะวันออก สื่อภาษาของตน ภาษาฝรั่งเศส  ประเทศทางด้านตะวันตกและใต้ สื่อภาษาของตนและภาษาอังกฤษ ประเทศที่เป็นเกาะก็เช่นเดียวกัน คือสื่อได้อย่างน้อยก็สองภาษา
และผู้คนที่อยู่ชายแดนเรา แรงงานต่างด้าวของเรา ยังสื่อภาษาไทยได้อีกด้วย
เรา คนไทย ส่วนใหญ่ สื่อได้ กี่ภาษา ครับ
คงไม่ต้องคิด
จะใช้ภาษาอะไร เป็นสื่อ และทำอย่างไรดีครับ


กระทู้: คนไทย กับ AEC
เริ่มกระทู้โดย: กระต่ายหมายจันทร์ ที่ 18 มิ.ย. 12, 22:38
ขอตอบกระทู้ด้วยเรื่องชวนหัวและเกร็ดความรู้เรื่อง Asean จาก ดร. สมเกียรติ อ่อนวิมล

ต้นฉบับ อ่านได้ที่ https://www.facebook.com/notes/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%B4-%E0%B8%AD%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%A5-somkiat-onwimon/%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD-%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3/228762177182512

“อาเซียน คือ อะไร?”

โดย  สมเกียรติ อ่อนวิมล

“อาเซียน คือ อะไร?” คำถามนี้ไม่น่าจะต้องมาถามกันในเวลานี้ ในประเทศนี้ เพราะเวลานี้เป็นปี 2554/2011 อาเซียนมีอายุ 44 ปีแล้ว อีกทั้งอาเซียนก็เกิดในประเทศไทยและโดยความคิดของผู้นำไทยตั้งแต่แรกเริ่ม คนไทยรุ่นปี 2510 และรุ่นปัจจุบัน น่าที่จะมีความรู้พื้นฐานอย่างง่ายๆที่ควรจะรับรู้สืบต่อกันมาผ่านการเรียนการสอนในระบบโรงเรียน และผ่านข้อมูลข่าวสารสาธารณะจากสื่อสารมวลชนและประสบการณ์ผ่านกาลเวลา 44 ปี
 
แต่แล้วก็มีเหตุทำให้ต้องตั้งคำถามเช่นนี้กันอีก ราวกับว่าเรายังไม่รู้จักอะไรเกี่ยวกับอาเซียนกันอย่างแท้จริงเลย

ปี 2554 นี้มีการจัดงานเกี่ยวกับอาเซียนกันมาก ทั้งที่่จัดโดยส่วนราชการ ทั้งที่จัดโดยสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งที่จัดโดยภาครัฐ และ ที่จัดโดยภาคเอกชน บรรดางานต่างๆที่ผมมีโอกาสไปร่วมโดยตรงเป็นส่วนตัวเพราะได้รับเชิญเป็นผู้ร่วมเวทีเสวนาอภิปรายด้วยนั้นก็มีบางงานที่จัดโดยขาดความรู้ความเข้าใจพื้นฐานว่า “อาเซียน คือ อะไร?” โดยการแสดงออกมาโดยการตั้งชื่องาน และการจัดรูปแบบของงาน ไม่ว่าการตั้งชื่องานผิดๆ หรือ การจัดรูปแบบงานพลาดพลั้ง จะเป็นความผิดพลาดทางเทคนิควิชาการ หรืออาจเป็นความไม่รู้ลึกซึ้งของบริษัทผู้รับจัดงาน (เรียกว่า “Event Organizer” ซึ่งเป็นที่นิยมใช้บริการกันในยุคปัจจุบัน) ก็สุดแล้วแต่

(https://fbcdn-sphotos-a.akamaihd.net/hphotos-ak-ash4/s720x720/302104_267195789977841_1401557505_n.jpg)

ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 11-13 กันยายน 2554 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) กระทรวงศึการธิการ (ศธ.) จัดงานประชุมสัมมนาชื่องาน “การจัดการศึกษามัธยมศึกษาอย่างมืออาชีพสู่ประชาคมอาเซียน พ.ศ.2558” ชื่องานไม่มีประเด็นให้ถกเถียงเรื่องความถูก-ผิด แต่รูปแบบการจัดงานบนเวทีและนิทรรศการรอบๆงานมีความไม่ถูกต้องในนิยาม “อาเซียน” เพราะการประดับธงชาติและการแสดงนิทรรศการรวมประเทศต่างๆมากไปกว่ารัฐสมาชิกอาเซียนที่มีสิบประเทศ ปรากฏว่ามีการประดับธงชาติของประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย ร่วมอยู่บนเวทีและในงานด้วย แถมในตอนแรกยังใช้ธงชาติผิด โดยใช้ธงชาติของไต้หวันแทนที่จะเป็นธงชาติสาธารณประชาชนจีน ทำให้ต้องรีบแก้ปัญหาเปลี่ยนธงชาติสองจีนกันพัลวันเมื่อถูกผู้แทนสถานกงสุลจีนทักท้วง แต่การจัดงานอาเซียนโดยนำเสนอภาพงานเป็นอาเซียนผสมกับประเทศคู่เจรจาอื่นอีกหกประเทศ ทั้งๆที่มิใช่สมาชิกอาเซียนก็จัดกันไปจนจบงาน

(https://fbcdn-sphotos-a.akamaihd.net/hphotos-ak-snc7/s720x720/297996_267195893311164_402061238_n.jpg)

ที่ศูนย์การประชุมเมืองทองธานี นนทบุรี วันที่ 26 กันยายน 2554 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและทรัพยากรมนุษย์ (พม.) จัดงาน“เปิดเสรีอาเซียน 2558 : สังคมไทยก้าวทันการเปลี่ยนแปลง” งานนี้ผิดตั้งแต่การตั้งชื่องาน และ ผิดต่อไปถึงรูปแบบการตกแต่งประดับเวที การจัดนิทรรศการและการแสดงในงาน :

ชื่องาน “เปิดเสรีอาเซียน” ผิดเพราะอาเซียนเกิดมาก็เสรีแต่แรกเริ่ม ไม่มีการปิดมา 44 ปี แล้วจะมาหาทางเปิดเสรีในปีนี้หรือปีหน้า หรือปีไหนๆ ความผิดนี้ค้นหาต้นตอได้ว่ามาจากการเขียนนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ที่เขียนผิดในเรื่องนโยบายการศึกษา ดูในโยบายรัฐบาลข้อ 4.1.7 เขียนว่านโยบายการศึกษาของรัฐบาลฯพณฯนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรจะ “เพิ่มขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ เพื่อรองรับการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน” อธิบายความผิดของรัฐบาลตามตัวอักษรได้ว่า รัฐบาลไม่รู้จักว่าประชาคมอาเซียนคืออะไร รัฐบาลสับสนระหว่าง “เขตการค้าเสรีอาเซียน” กับ “ประชาคมอาเซียน” รัฐบาล (หรือผู้เขียนนโยบายให้รัฐบาล) ใช้คำว่า “ประชาคม” กับ “เขตการค้า” เสมือนเป็นเรื่องและคำเดียวกัน จึงทำให้เข้าใจผิดต่อไปว่ามีการปิดอาเซียนมานานจนกำลังจะถึงวันเปิดอาเซียนในเร็ววันนี้ จะเปิดอะไรของอาเซียนก็สุดแล้วแต่

(https://fbcdn-sphotos-a.akamaihd.net/hphotos-ak-ash4/s720x720/320587_267196026644484_1294776232_n.jpg)

ธงชาติที่ประดับในงานก็ใช้ธงชาติ 16 ประเทศ แถมไม่มีธงอาเซียนในบางแห่งที่จัดแสดง งานนี้มีธงชาติของ 10 รัฐสมาชิกอาเซียน กับธงชาติของประเทศที่มิใช่สมาชิกอาเซียนอีก 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และ อินเดีย นอกจากนั้นภาพธงชาติต่างๆบนหน้าปกเอกสารแจกในงานก็มีธงชาติของ 16 ประเทศในขนาดที่แตกต่างกัน ใหญ่บ้างเล็กบ้าง ธงชาติลาว พม่า เวียดนาม บรูไนเล็ก มีขนาดมากจนน่าน้อยใจ หรืออาจเป็นชนวนประท้วงได้ก็มีบ้าง ภาพธงชาติออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย มีขนาดใหญ่กว่าภาพธงชาติรัฐสมาชิกอาเซียนบางประเทศอีกด้วย

การแสดงเปิดงานบนเวทีก็เป็นการแสดงที่เป็นตัวแทนของ 16 ประเทศทั้งหมดที่ว่ามานี้ มีนักแสดงแต่งกาย กล่าวทักทาย การฟ้อนรำและร้องเพลง บนเวทีแสดงความเป็น 16 ประเทศ 16 วัฒนธรรม เป็นการแสดงมากกว่าความเป็นอาเซียนไปอีก 6 ประเทศ

ตัวอย่างที่ยกมาบางส่วนสะท้อนความผิดพลาดทางเทคนิคข้อมูลความรู้ แม้จะไม่ถึงขนาดวิกฤติ แต่ว่าถ้าปล่อยให้เกิดความผิดพลาดเช่นนี้อยู่เป็นประจำ นานๆไปเด็กและเยาวชนที่เห็นความผิดเช่นนี้เกิดบ่อยๆอาจจะเข้าใจผิดต่อไปเป็นการถาวรได้

เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐาน ขอแก้ไขความผิดให้ถูกต้องดังนี้ :

อาเซียนมีสมาชิก 10 ประเทศ ตามลำดับอักษรชื่อประเทศดังนี้ : 1. Brunei Darussalam (บรูไน ดารุสซาลาม), 2. Kingdom of Cambodia (ราชอาณาจักรกัมพูชา), 3. Republic of Indonesia (สาธารณรัฐอินโดนีเซีย), 4. Lao People’s Democratic Republic (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว - สปป ลาว), 5. Malaysia (มาเลเซีย), 6. Republic of the Union of Myanmar (สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า), 7. Republic of the Philippines (สาธารณรัฐฟิลิปปินส์), 8. Republic of Singapore (สาธารณรัฐสิงคโปร์), 9. Kingdom of Thailand (ราชอาณาจักรไทย), และ 10. Socialist Republic of Vietnam (สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม)

ประเทศอื่นๆไม่เกี่ยวข้องเป็นสมาชิกอาเซียน แต่มีสถานภาพเป็นประเทศที่เข้ามามีความร่วมมือกับอาเซียนในรูปแบบหรือ “กรอบความร่วมมือ” ต่างๆกันไป หากร่วมมือกันมากสม่ำเสมอและใกล้ชิดมากก็เรียกว่า “ประเทศคู่เจรจา” หรือ “Dialogue Partner” ประเทศ จีน ญี่ปุ่น และ สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ถือเป็นประเทศคู่เจรจาในกรอบที่ตั้งชื่อเป็นทางการว่า “อาเซียน+3” หรือ “ASEAN+3”  ส่วน ออสเตรเลีย อินเดีย และ นิวซีแลนด์(ลำดับชื่อตามลำดับอักษร) ก็เป็น “ประเทศคู่เจรจา” อีกสามประเทศที่เข้ามารวมกับประเทศ+3 กลายเป็น +6 เป็นกรอบความร่วมมือขยายกว้างขึ้น เรียกเป็นทางการว่า “ASEAN+6”  ในปี 2554 นี้อาเซียนรับสหรัฐอเมริกาและรัสเซียเข้ามาเป็นประเทศคู่เจรจาอีกสองประเทศ ยังผลให้มีกรอบ “ASEAN+8” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างอาเซียน 10 ประเทศกับอีก 8 ประเทศคู่เจรจรา ดังนั้นจากนี้ไปเราจะได้พบคำว่า “ASEAN+3”, “ASEAN+6”,  “ASEAN+8” และ “ASEAN+1” อยู่เป็นระยะๆ ซึ่งมีความหายดังนี้:

ASEAN+3 หมายถึง ASEAN+China+Japan+Republic of Korea
ASEAN+6 หมายถึง ASEAN+China+Japan+Republic of Korea+Australia+India+New Zealand
ASEAN+8 หมายถึง ASEAN+China+Japan+Republic of Korea+Australia+India+New Zealand+Russia+USA 
ASEAN+1 หมายถึง ASEAN+ประเทศใดประเทศหนึ่งใน 8 ประเทศคู่เจรจา คำนี้ใช้ในกรณีที่มีการประชุมระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาประเทศหนึ่งประเทศเดียว

ประเทศอื่นที่มิใช่สมาชิก และมิได้มีสถานภาพเป็นประเทศคู่เจรจา อาจมีสถานภาพความสัมพันธ์กับอาเซียนในรูปแบบที่แตกต่างกัน สุดแต่ความเข้มข้นสม่ำเสมอและลักษณะความสัมพันธ์ กฎบัตรอาเซียนหมวด 12 ข้อ 44 บัญญัติในเรื่องสถานภาพของภาคีภายนอกว่าประเทศอื่นๆที่มิใช่สมาชิอาเซียนอาจได้รับสถานภาพแสดงบทบาทความสัมพันธ์กับอาเซียนอย่างเป็นทางการ ดังนี้ :

Dialogue Partner (ประเทศคู่เจรจา)
Sectorial Dialogue Partner (ประเทศหุ้นส่วนเจรจาเฉพาะสาขา)
Development Partner (หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา)
Special Observer (ผู้สังเกตการณ์พิเศษ)
Guest (ผู้ได้รับเชิญ)

สถานภาพอื่นที่อาเซียนอาจกำหนดจัดตั้งเพิ่มใหม่ต่อไปได้

ดังนั้นอาเซียนจึงมีสมาชิกเพียง 10 ประเทศ การจัดงานต่างๆที่เกี่ยวกับอาเซียนโดยเฉพาะ หากมิได้เป็นงาน “อาเซียน+”  จะต้องปรากฏภาพและธงของอาเซียนตั้งอยู่เป็นธงแรกสุดแล้วตามด้วยธงชาติสมาชขิกอาเซียน 10 ประเทศตามลำดับชื่อประเทศ จะไม่มีธงชาติประเทศคู่เจรจาและประเทศอื่นใดที่มิใช่สมาชิกอาเซียนมาเกี่ยวข้องด้วย

ในเรื่องการ “เปิดเสรี” และ “การสร้างประชาคมอาเซียน” นั้นแยกอธิบายได้ว่ามีเพียงเรื่อง “เขตการค้าเสรีอาเซียน” หรือ “ASEAN Free Trade Area” เรื่องเดียวเท่านั้นที่จะพูดเรื่องปิดเรื่องเปิดได้ เพราะอาเซียนมีความตกลงให้ภูมิภาคอาเซียนในขอบเขตภูมิรัฐศาสตร์ของรัฐสมาชิกทั้งสิบประเทศให้เปิดทำการค้ากันอย่างเสรีได้หลังจากที่อยู่กันมาแบบปิด ประเทศใครก็ประเทศของตน ตั้งแต่อาเซียนรับเรื่องเขตการค้าเสรีอาเซียนตามข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน ของไทย และต่อมามีความตกลงก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจากการประชุมสุดยอดอาเซียนที่บาหลีเมื่อปี 2003 เขตการค้าเสรีก็ค่อยๆเปิดกว้างมากขึ้นและหวังจะเกิดความสมบูรณ์ในปี 2015 อันเป็นทีบรรลุเป้าหมายของการสร้างประชาคมอาเซียนที่ครอบคลุม “ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน” “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” และ “ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน” ทั้งหมดเรียกรวมเป็นภาพกว้างว่า “ประชาคมอาเซียน” ดั้งนั้นเขตเศรษฐกิจการค้าของอาเซียนเปิิดแล้ว และเปิดนานแล้ว ที่ถือว่าเปิดเป็นทางวการก็เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2554 แต่ในทางปฏิบัติเขตการค้าเสรีอาเซียนค่อยๆเปิดตามความตกลงเรื่องการลดหรือยกเลิกข้อกีดขวางการค้าเสรีระดับต่างๆมาแต่แรกเริ่มแล้ว หลังจากที่ปิดมานานโดยธรรมชาติของความเป็นรัฐ

“ประชาคมอาเซียน” นั้นเป็นภาพรวมของชีวิตความเป็นอยู่ในสิบประเทศสมาชิกอาเซียนที่พยายามหลอมรวมความรู้สึกนึกคิดและจิตวิญญาณให้เข้าด้วยกันให้เป็นประชาคมเดียวกันในเรื่องวิสัยทัศน์ เรื่องอัตลักษณ์ และเรื่องความเป็นประชาคม เพื่อให้รู้สึกเป็น “คนบ้านเดียวกัน” ในที่สุด ความรู้สึกร่วมที่ว่านี้ ค่อยๆทำ ค่อยเป็นค่อยไป โดยหวังว่าในปี 2558/2015 จะบรรลุเป้าหมายที่คาดหวังในระดับที่พึงพอใจว่าจะเรียกเป็นประชาคมที่มีองค์ประกอบสมบูรณ์ในขั้นแรกเริ่มได้แล้วจะได้พัฒนากันต่อๆไป

สมเกียรติ อ่อนวิมล
30 กันยายน 2554


กระทู้: คนไทย กับ AEC
เริ่มกระทู้โดย: กระต่ายหมายจันทร์ ที่ 19 มิ.ย. 12, 00:33
เล่าความเห็นส่วนตัวนะคะ โดยอาชีพแล้วต้องทำงานกับผู้คนในเขตประเทศอาเซียนอยู่เสมอ (ยกเว้นแต่บรูไน ฟิลิปินส์ และกัมพูชาที่ยังไม่มีโอกาสได้สัมผัสมากนัก) ... เรื่องนี้คงต้องดูมาตรฐานการศึกษา และต้องยอมรับความจริงอันเจ็บปวดว่า คุณภาพการศึกษาไทย ยังตามหลังประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก แม้ว่าจะใช้เงินถึง 20% ของงบประมาณแผ่นดินในแต่ละปีไปกับการศึกษาก็ตาม

ส่วนตัวอยากให้คนไทยพัฒนาภาษาอังกฤษก่อน เอาให้ใช้งานได้ดี จากนั้นค่อยคิดว่าจะเอาภาษาที่สามเป็นภาษาใด


กระทู้: คนไทย กับ AEC
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 19 มิ.ย. 12, 06:06
แรงงานระดับที่มีฝีมือดี ๆ ไม่ต้องห่วงครับ ผมว่าไม่มีผลกระทบอะไรต่อเขาทั้งนั้น ตรงกันข้ามจะเป็นผลดีเสียอีก เพราะจะเพิ่มโอกาสในการเข้าไปหางานทำในต่างประเทศอย่าง สิงคโปร์ หรือ มาเลเซีย ได้มากขึ้นเมื่อกำแพงกีดกันแรงงานต่างชาติถูกพังลงด้วย AEC

ส่วนเรื่องปัญหาแรงงานต่างด้อยฝีมือจะมาทำงานบ้านเรา ตรงนี้ผมก็ไม่ห่วงมากเท่าไร เพราะปัจจุบันก็มีอยู่แล้ว แล้วก็มีเยอะเสียด้วย ถ้าเปิดเสรีแบบ AEC ก็คงไม่มากไปกว่านี้

สิ่งที่น่าห่วงมากกว่าคือ

1. เด็กไทยรุ่นใหม่เริ่มไม่สู้งาน ไม่อดทน งานที่ต้องใช้แรงงานบางอย่างไม่ทำกันแล้ว บางส่วนก็ยังใช้ชีวิตหลงระเริงไม่มีเป้าหมายในชีวิตมากพอ หากเปิด AEC พวกนี้จะยิ่งลำบากมากขึ้น

2. มาตรการด้านการความมั่นคงในประเทศ ที่ยังจัดว่าอยู่ในระดับแย่ หากเปิด AEC แล้วจะมีการควบคุม,จัดการ กับแรงงานอพยพจากต่างชาติอย่างไร

3. เรื่องภาษาที่เป็นห่วง ถ้าหากินในเมืองไทย ตรงนี้ไม่ต้องกังวลมาก เพราะแรงงานเหล่านั้นจะต้องพยายามพูดภาษาไทยให้ได้เอง ส่วนพวกที่จะไปหากินเมืองนอก ก็จะตะเกียกตะกายไปเรียนภาษาเพิ่มเอง


โดยสรุป ส่วนที่น่ากังวล คือเรื่องความมั่นคงของประเทศ กรณีแรงงานต่างชาติเข้าเมืองมา เกิดมีลูกขึ้นมา เขาจะได้สัญชาติไทยหรือเปล่า ?

นี่จะเป็นช่องทางการได้สัญชาติไทยโดยถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ?  จะมีปัญหาบุคคลสองสัญชาติตามมาอีกจำนวนมากแน่นอน

ไม่รวมถึงกลุ่มที่ประท้วงอะไรต่อมิอะไรในประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ ก็จะเข้ามาใช้ไทยเป็นฐานในการก่อความวุ่นวายมากขึ้นแน่นอน จะเห็นโรฮิงยาเดินประท้วงมากขึ้นแน่ ๆ เพราะไม่ต้องหลบซ่อนต่อไปอีกแล้ว


กระทู้: คนไทย กับ AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 มิ.ย. 12, 22:05
กระทู้นี้ น่าจะเป็นแหล่งให้ข้อมูล ความรู้และความรอบรู้ต่างๆเกี่ยวกับ AEC เป็นอย่างดี

น่าเสียดายที่ยังไม่ค่อยจะมีการเสวนา

น่าเสียดายมากที่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ AEC นี้มีน้อยมากในสื่อต่างๆ  เท่าที่ได้เห็นได้อ่านมามีแต่มุมมองในความฝันในข้อดีต่างๆ มีบอกว่าจะต้องเตรียมตัว แต่ก็ไม่เคยบอกว่าจะต้องเตรียมตัวอย่างไร เมื่อเข้าไปสู่ความเป็น AEC แล้วภาพ (Scenario) ในเรื่องและแง่มุมต่างๆจะเป็นเช่นใด ทั้งในทางบวกและทางลบ เช่น มีแต่ว่าตลาดจะใหญ่โตเพียงใด โดยไม่กล่าวไม่ให้ข้อมูลในเรื่อง Comparative advantage (แปลเป็นไทยไม่ออกครับ)  มีแต่บอกว่าให้ SME เตรียมตัว โดยที่ยังไม่ค่อยจะเข้าใจสถานภาพของ SME ของไทย  มีแต่ข่าวของฝั่งรัฐว่ามีการเตรียมตัว แต่ไม่เห็นมีการออกกฏหมาย มีการปรับปรุงกฏหมายให้รัดกุม หรือมีแนวนโยบายหรือการปฎิบัติที่จะทำให้ผู้ประกอบการของไทยใน Sector ต่างๆเข้มแข็งและแข็งแรงขึ้น ฯลฯ 

เอาตัวอย่างง่ายๆ  เปรียบเทียบระยะเวลาและเงื่อนไขระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ประกอบการที่เข้ามาตามระบบการส่งเสริมการลงทุน เขาเริ่มต้นได้เร็วกว่า มีระยะเวลาปลอดภาษี มีแหล่งทุน มี Connection  ฯลฯ ของไทยเราเพียงเรื่องภาษีก็เป็นการถูกเตะตัดขาเสียแล้ว

เป็นเรื่องน่ากลัวครับ หากยังมีแต่เพียงการป่าวประกาศแต่ยังไม่มีการกระทำ     คนใน กทม.ยังไม่ค่อยจะเข้าใจ แล้วชาวบ้านล่ะจะเป็นอย่างไร บอกให้เขาเตรียมตัว ก็ยังไม่รู้เลยว่าจะต้องเตรียมอย่างไร ในเรื่องอะไร  ขนาดฝ่ายรัฐเองยังแย่ ดังบทความที่คุณกระต่ายหมายจันทร์เอามาลง

จะพยายามค่อยๆเล่าไป เท่าที่ความรู้พอจะมีครับ และต่อไปก็จะไม่ให้เป็นการบ่นด้วย


กระทู้: คนไทย กับ AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 มิ.ย. 12, 17:15
กลับไปย้อนอ่านตั้งแต่ต้น
เลยเห็นว่า เรื่องที่ผมเขียนลงไปนั้นดูจะผิดวิกเสียแล้ว  :-[
ขออภัยจริงๆครับ




กระทู้: คนไทย กับ AEC
เริ่มกระทู้โดย: กระต่ายหมายจันทร์ ที่ 22 มิ.ย. 12, 18:24
กลับไปย้อนอ่านตั้งแต่ต้น
เลยเห็นว่า เรื่องที่ผมเขียนลงไปนั้นดูจะผิดวิกเสียแล้ว  :-[
ขออภัยจริงๆครับ




คุณตั้งจะเปิดกระทู้ใหม่คุยเรื่อง AEC หรือจะแจมกระทู้กันต่อดีคะ  :)


กระทู้: คนไทย กับ AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 มิ.ย. 12, 19:11
เรื่องภาษานี้ค่อนข้างจะน่าห่วงมากจริงๆ

ได้ยินผู้ให้สัมภาษณ์ทางวิทยุและที่ถกกันในหลายแห่ง ยังออกเสียงเรียกชื่ออาเซี่ยน (ASEAN) ว่าเอเชี่ยน (Asian) ก็มี เอเซี่ยนก็มี   เพียงเท่านี้ก็พอจะบอกได้ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องในระดับสูงยังไม่ได้ให้ความสนใจอย่างจริงจังกับอนาคตของประเทศ แสดงถึงการขาดการอ่าน การศึกษา และการพินิจพิเคราะห์อย่างลึกซึ้งและอย่างเข้าใจ ซึ่งก็คือรู้ (เท่าที่เขาเสนอมาให้อ่าน) แต่ไม่เข้าใจ (ความตื้นลึกหนาบางของเรื่อง)

ประเทศในอาเซี่ยนเกือบทั้งหมดเคยอยู่ในอาณัติของฝรั่ง มีหลายประเทศ (โดยเฉพาะประเทศที่ขนาดของเศรษฐกิจมีนัยสำคัญกับอาเซี่ยน) ต่างก็ใช้อักขระโรมันในภาษาของเขา ประชนในระดับชาวบ้านของเขาจึง (อย่างน้อยที่สุด) ก็สามารถอ่านอักขระออก  ผมไม่แน่ใจว่าในระบบการปูพื้นเรื่องภาษาของเราเป็นอย่างไรบ้าง รู้แต่ว่า เราเริ่มด้วยการสอนให้จำเป็นคำๆไป สำหรับเด็กที่มีโอกาสเรียนต่อไปได้ในระดับสูง ก็คงจะไม่มีปัญหา แต่สำหรับเด็กที่ไม่มีโอกาส เขาก็คงจะรู้เพียงว่าหากออกเสียงนั้นๆจะแปลว่าอะไร เรื่องอ่านเรื่องเขียนนั้นคงไม่ต้องพูดถึง ขนาดเด็กที่มีโิกาสยังอ่านและเขียนไม่ค่อยเอาอ่าวเลย

อีกประการหนึ่ง ภาษาอังกฤษ (ซึ่งคงจะเป็นภาษาทางการ_ภาษากลาง_ของอาเซี่ยน) นั้น ก็มีวิธีการเขียนและการใช้แยกออกเป็นสำหรับกลุ่มๆงาน วงการ และสังคม  แต่ละคำศัพท์ให้ความหมายที่มีความลึกซึ้งต่างกัน แถมบางทียังให้ความหมายที่แตกต่างกันด้วย  เช่น คำว่า  need, want, would like  หรือคำว่า shall กับ would หรือคำว่า appropriation ในอีกความหมายหนึ่งเกือบจะมิได้มีความเกี่ยวข้องกับความหมายของคำว่า appropriate ที่เราใช้กันในชีวิตประจำวันเลย   หรือในสัญญาที่บอกว่าการชำระเงินนั้น include tax หรือ plus tax ก็มีความต่างกัน    คำเหล่านี้ใช้สื่อความหมายที่ทำให้ต่างคนต่างเข้าใจไม่ตรงกัน (เป็นบางประสบการณ์ที่ผมต้องเข้าไปช่วยแก้ไข)

มิได้ประสงค์จะอวดว่าภาษาอังกฤษของผมดีนะครับ โดยแท้จริงแล้ว ภาษาอังกฤษของผมเองก็จัดอยู่ในเกณฑ์แย่ครับ

เล่ามาก็เพียงจะบอกว่า คงจะต้องมีการเอาจริงเอาจังกับการพัฒนาเรื่องภาษาอังกฤษกันแทบจะในทุกระดับและในทุกวงการเลยที่เดียว


กระทู้: คนไทย กับ AEC
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 มิ.ย. 12, 19:17
ผมคิดว่าคุณ puyum เปิดประเด็นในเรื่อง (context) ของการสื่อสาร และคงจะนำเดินเรื่องในแนวนี้

เลยคิดว่าคงจะต้องแยกเรื่องราวของ AEC ที่มา ที่ไป และผล ของมันไปในอีกกระทู้หนึ่งครับ


กระทู้: คนไทย กับ AEC
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 23 มิ.ย. 12, 10:28
ผมคิด(เอง)ว่า คุณPuyum เจ้าของกระทู้คงมีจิตปรารถนาให้คนในสังคมได้ตระหนักถึงการเตรียมพร้อมและการรับมือกับการมาของ AEC โดยอาจยกตัวอย่างปัญหาเรื่องภาษามาจุดชนวนความคิด (ถูกหรือเปล่าก็ไม่ทราบ)
ผมเคยได้มีโอกาสฟังคำชี้แจงของผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศในช่วง2-3 เดือนที่ผ่านมาในเรื่องรายละเอียดของ AEC โดยเฉพาะในเรื่องของสิ่งที่ไทยจะต้องปฏิบัติตามพันธะสัญญาดังกล่าว โดยหยิบยกเรื่อง FTA ระหว่างไทย-จีน และระหว่างไทย-ออสเตรเลียที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเกษตรกรและคนเลี้ยงวัวของไทย โดยที่คนเหล่านี้ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้รายละเอียด เพราะคนที่ไปลงนามคือคนบนหอคอยงาช้าง คือรัฐบาล (ที่ย่อมได้ผลประโยชน์ส่วนตนจากการลงนาม ภายใต้สิ่งที่เรียกว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตย(แบบทุนนิยม) ที่ผู้ร่ำรวยคือผู้ชนะ และคนในสังคมให้การยอมรับนับถือในความร่ำรวยนั้น โดยไม่อินังขังขอบว่าจะร่ำรวยมาด้วยวิธีการใด))

คำตอบที่ผมได้รับคือ รายละเอียดมีอยู่แล้วในเว็บของกระทรวงการต่างประเทศ ผมได้ฟังแล้วรู้สึกเหมือนได้ยินคำตอบว่า "รายละเอียดมีในเอกสารที่อยู่บนหัวเตียงที่บ้านผม"

ก็ชาวบ้านทั่วไปที่เขาจะได้รับและต้องรับผลกระทบและไม่ได้ฟังคำตอบจากปากของคุณนั้นเขาจะมีรู้ได้อย่างไรว่าเขาจะหาดูรายละเอียดได้ที่ไหน ผมเองได้ทราบก็ต่อเมื่อผมถาม แล้วชาวบ้านจะถามใครล่ะครับ?

ผมฝันว่า สักวันหนึ่ง"ระบบราชการ"จะทำงานในเชิงรุก โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์ การสื่อสารกับประชาชนที่จะได้รับผลกระทบในเรื่องที่มีความสำคัญต่างๆ โดยผ่านสื่อหรือช่องทางที่เหมาะสม (ผมได้มีโอกาสร่วมในกิจกรรมที่เป็นสาธารณะกุศล เป็นเรื่องของความมั่นคง และเป็นการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ท่านเชื่อหรือไม่ว่า ช่องทางที่ต้องการสื่อสารอย่างมากคือ โทรทัศน์ คิดราคาแพงหูฉี่ แล้วอย่างนี้ใครอยากจะลงแรงทำดีล่ะครับ) แต่รูปแบบการประชาสัมพันธ์ที่หน่วยงานราชการในปัจจุบันชอบใช้มากที่สุดคือ การจัดงานอีเวนต์เพื่อประชาสัมพันธ์โดยจัดตามโรงแรมต่างๆ โดยมีพิธีกรมืออาชีพ มีผู้จัดมืออาชีพ มีการจัดเวลาอลังการแบบ disposable (ใช้แล้วทิ้ง) นัยว่าจัดแต่ละครั้งใช้เงิน 2-4 ล้านบาท แต่กลุ่มผู้เข้าถึงนั้นแคบมาก คงไม่ต้องสาธยายต่อนะครับว่าทำไมถึงชอบใช้วิธีนี้ทั้งที่มีประสิทธิภาพต่ำมาก

ฟังดูคล้ายบ่นนิดๆ แต่อยากให้ผู้คนในเว็บนี้ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคนมีคุณภาพ ได้มาช่วยมองปัญหาเหล่านี้และเสนอแนะทางออก ทางแก้ เพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง


กระทู้: คนไทย กับ AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 มิ.ย. 12, 11:16
ผมคิดว่าคุณ puyum เปิดประเด็นในเรื่อง (context) ของการสื่อสาร และคงจะนำเดินเรื่องในแนวนี้

เลยคิดว่าคงจะต้องแยกเรื่องราวของ AEC ที่มา ที่ไป และผล ของมันไปในอีกกระทู้หนึ่งครับ
มาทวงการบ้านจากคุณตั้งค่ะ


กระทู้: คนไทย กับ AEC
เริ่มกระทู้โดย: กระต่ายหมายจันทร์ ที่ 29 มิ.ย. 12, 22:48
ระหว่างรอคุณตั้ง ตั้งกระทู้ใหม่ เอาข้อมูลมาฝากเกี่ยวกับ 7 วิชาชีพที่สามารถย้ายแรงงานฝีมือได้โดยอิสระใน Asean ค่ะ

(https://fbcdn-sphotos-a.akamaihd.net/hphotos-ak-snc7/c29.0.403.403/p403x403/376899_374530415933703_882662674_n.jpg)


กระทู้: คนไทย กับ AEC
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มิ.ย. 12, 00:36
^
จะเกิดปรากฎการณ์สมองไหล ไปสู่ประเทศที่ให้ค่าตอบแทนดีกว่าไหมคะ

ไปกินอาหารไทยในร้านที่เจ้าของเป็นลาว อยู่ในเมือง Des Moines , Iowa   แต่พูดไทยเก่งเพราะอยู่ที่หนองคายมาก่อน   เขาบอกว่าอีก 3 ปีจะกลับไปประกอบอาชีพในไทย
ประชาชนในชาติที่เห็นว่าไทยเป็นแหล่งให้โอกาสดีกว่า ก็จะเข้ามาทำงานในประเทศไทย   ทำนองเดียวกัน คนไทยก็อาจไปอยู่ประเทศอื่นที่ให้โอกาสดีกว่าเช่นกัน
ยังไม่มีสถิติว่า ระหว่างคนย้ายเข้ามาในไทยกับคนไทยย้ายออกไป จะทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นหรือลดลง   และในระยะยาว จะเป็นผลดีกับไทยมากน้อยแค่ไหน
ก็ต้องรอดูกันต่อไปค่ะ ภายใน 10 ปีคงจะรู้กัน


กระทู้: คนไทย กับ AEC
เริ่มกระทู้โดย: puyum ที่ 15 ก.ค. 12, 21:12
ขอบคุณทุกความคิดเห็น
ผมเคยอยู่จังหวัดชายแดน เพื่อนบ้านเจ็บไข้ได้ป่วย เข้ามารักษาในเมืองไทย
ลูกหลานก็เรียนโรงเรียนไทยได้
คนเข้ามาใช้แรงงาน มีลูกหลานเต็มบ้าน
เมืองไทย เมืองพุทธ ช่างใจงามจริง
ความคิดเห็นของคุณ   Sujittra  บรรทัดสุดท้าย ตรงใจผมจริงๆ  
ไม่อยากเป็นวิชาการมากนัก แต่อยากเห็นข้อแนะนำและวิธีการสำหรับชาวบ้านทั่วไปเข้าใจได้
๑๐ ปี คงรอดูผลได้  
แต่กลัวเห็นผล แล้วแก้ไขไม่ทันกาล ครับ


กระทู้: คนไทย กับ AEC
เริ่มกระทู้โดย: puyum ที่ 06 ก.ย. 12, 21:55
กลับเข้ามาอีกครั้ง หลังจากไปเข้าห้องเรียนที่เกี่ยวข้องมาหลายเพลา
วันนี้เห็นความพยามของรัฐมากยิ่งขึ้น ทางด้านการศึกษาก็พยามให้ความเข้าใจกับนักเรียน นิสิต นักศึกษา แต่ออกไปทางแนวรับและปรับตัว 
คือให้รู้จักที่ทาง ให้ความรู้ด้านต่างๆ  และเปิดกว้างให้เพื่อนรอบบ้านเข้ามารับรู้เรื่องของเรามากยิ่งขึ้น เช่นที่ ม.บูรพา และ ม.ในภาคอีสานบางแห่ง
แต่ทำไมรัฐไม่ส่งคนของเราเข้าไปศึกษาหาประสบการณ์หรือทำความใกล้ชิดกับเพื่อนรอบๆบ้านให้มากยิ่งขึ้นบ้าง (ปริมาณ)
หรือเรามองเพื่อนรอบบ้านด้อยกว่าเรา

นี่ต้องปรบมือให้ดังๆครับ
กรมพัฒนาฝีมือแรง  กระทรวงแรงงาน   เตรียมความพร้อมทักษะด้านภาษา
โดยเปิดรับสมัครฝึกอบรมการพูดภาษาอังกฤษและภาษาอาเซียนตลอดทั้งปีครับ
ใครสนใจ โทรไปที่นี่ครับ  ๐๒-๒๔๕-๔๐๓๕


กระทู้: คนไทย กับ AEC
เริ่มกระทู้โดย: puyum ที่ 10 ต.ค. 12, 23:22
ยังไม่ทันเป็น AEC เลย ผู้คนต่างชาติต่างถิ่น ก็เข้ามาเป็นผู้ใช้แรงงานเต็มไปหมด
แล้วเมื่อเข้าสู่เวลานั้น จะมากมายขนาดไหน ปัญหาต่างๆก็คงตามมามาก
ลูกหลานก็ชักเต็มบ้านเต็มเมือง  นี่แค่ลาว เขมร พม่า นะ ถึงเวลานั้นคงมีชาติอื่นตามมาอีก
สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกอย่าง คือ การบังคับใช้กฎหมาย  
เรื่องภาษา ก็ไม่เห็นมีใครบอกสักที ว่าที่แน่ๆ คือ
ผมเดาเอานะ  เราคงต้องใช้ภาษาอังกฤษ เป็นภาษากลาง
แล้วรัฐเตรียมความพร้อม แค่ไหน


กระทู้: คนไทย กับ AEC
เริ่มกระทู้โดย: puyum ที่ 15 พ.ย. 13, 23:15
กลับมาอีกครั้ง  พวกเราเองบอกว่า เราช้าลงๆในกลุ่ม
แล้ววันนี้เราทำอะไรกันอยู่  
เรานับเลขกันแบบไหน  ๐ ๑ ๒ ๓.....๑๐ 
หรือนับแบบเด็กๆ  ๑ ๒ ๓....... ๐


กระทู้: คนไทย กับ AEC
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 17 พ.ย. 13, 11:02
ยังไม่ทันเป็น AEC เลย ผู้คนต่างชาติต่างถิ่น ก็เข้ามาเป็นผู้ใช้แรงงานเต็มไปหมด
แล้วเมื่อเข้าสู่เวลานั้น จะมากมายขนาดไหน ปัญหาต่างๆก็คงตามมามาก
ลูกหลานก็ชักเต็มบ้านเต็มเมือง  นี่แค่ลาว เขมร พม่า นะ ถึงเวลานั้นคงมีชาติอื่นตามมาอีก
สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกอย่าง คือ การบังคับใช้กฎหมาย  
เรื่องภาษา ก็ไม่เห็นมีใครบอกสักที ว่าที่แน่ๆ คือ
ผมเดาเอานะ  เราคงต้องใช้ภาษาอังกฤษ เป็นภาษากลาง
แล้วรัฐเตรียมความพร้อม แค่ไหน

ถ้าเป็นกลุ่ม พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม ใช้ภาษาไทยคุยกับเขาได้เลยครับ ฟังออก พูดได้แน่นอน

จะยกเว้นก็แต่ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเชีย ฟิลิปปินส์ ที่ต้องภาษาอังกฤษ  แต่ถ้าพวกที่มาเมืองไทยบ่อย ๆ ก็พูดภาษาไทยได้เลย

ผมว่าคงต้องแยกเป็นกรณีไปครับ อย่าไปเหมารวมทั้งหมด ที่เรากลัว ๆ กันว่า เดี๋ยวเราจะคุยกับเขาไม่รู้เรื่องน่ะ ตรงนั้นเป็นการมองอย่างวิชาการครับ แต่ของจริงไม่ใช่อย่างที่คิดแน่ ๆ 



กระทู้: คนไทย กับ AEC
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 17 พ.ย. 13, 11:09
กลับมาอีกครั้ง  พวกเราเองบอกว่า เราช้าลงๆในกลุ่ม
แล้ววันนี้เราทำอะไรกันอยู่  
เรานับเลขกันแบบไหน  ๐ ๑ ๒ ๓.....๑๐  
หรือนับแบบเด็กๆ  ๑ ๒ ๓....... ๐

ส่วนตัวผมมองว่า เราไม่เคยช้าลงครับ เราแค่เดินหน้าแล้วก็ถอยหลัง กลับไปกลับมาแบบนี้ ซึ่งมันก็เป็นมาตั้งนานแล้ว ตามพฤติกรรมของคนไทยโดยส่วนมาก ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่แต่อย่างใด

การมุ่งแต่เดินหน้าอย่างเดียว โดยไม่ดูพื้นฐานของคนในประเทศเลย ผมกลัวว่ามันจะเป็นเหมือนเราเร่งปุ๋ยใส่ในต้นไม้ เร่งมาก ๆ สุดท้ายต้นไม้ก็ไม่ไหวนะครับ เพราะพื้นฐานทางแนวคิด หรือแม้แต่พฤติกรรมของคนไทยยังไม่พร้อมครับ ซึ่งก็ไม่พร้อมมานานแล้ว แล้วก็จะไม่พร้อมอีกต่อไปอีกนานครับ  ;D ;D



กระทู้: คนไทย กับ AEC
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 17 พ.ย. 13, 11:14

ช่วงนี้ มีสารคดีของสำนักข่าว BBC ที่ทำออกมา เพื่อดูว่าทำไมหนอ ประเทศเยอรมันถึงประสพความสำเร็จในเกือบทุก ๆ เรื่องนะ

9bTKSin4JN4

คำตอบที่ คนเยอรมันมี แต่คนไทยส่วนใหญ่ไม่เคยจะมีก็คือ  ระเบียบวินัย ครับ


คำถามก็คือ คนไทยส่วนใหญ่ สามารถนำข้อดีของคนเยอรมันมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันของคนไทยได้หรือเปล่า ?

ส่วนตัวผมเชื่อว่า ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้  มีแต่จะต้องบอกว่า จะทำ หรือไม่ทำ แค่นั้นเอง


กระทู้: คนไทย กับ AEC
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 17 พ.ย. 13, 11:25
(http://i117.photobucket.com/albums/o58/LordSri/heaven-is-where-the-police-are-british_zps1b9fd4ba.jpg)

นี่คือตลกร้ายของฝรั่งครับ ถ้าลองเอามาประยุกต์ถามกับคนไทยบ้าง เราจะได้คำตอบอะไรบ้างนะ ?