เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 11 12 [13] 14 15 ... 29
  พิมพ์  
อ่าน: 139420 หลวงอดุล-หลวงพิบูล คู่รัก, พล.ต.อ อดุล-จอมพล ป. คู่แค้น
prickly heat
อสุรผัด
*
ตอบ: 22


ความคิดเห็นที่ 180  เมื่อ 19 ก.ค. 10, 13:17

มาครับ........... ยิ้มกว้างๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 181  เมื่อ 19 ก.ค. 10, 13:31

นักเรียนมานั่งรอครูเจ้าของกระทู้กันสลอน    เกรงว่าจะหลับไปเสียก่อน  เล่าเรื่องภาคบ่ายคั่นเวลาไปก่อนนะคะ
ขอเล่าประวัติของเสรีไทยอีกท่านหนึ่ง   เป็นหัวหน้าเสรีไทยสายอีสาน  ชื่อ นายเตียง  ศิริขันธ์  ใครที่สนใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยคงเคยได้ยินชื่อของท่าน

นายเตียงหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "ครูเตียง" เกิดที่สกลนคร เมื่อ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๒ บิดาชื่อบุดดี ศิริขันธ์ (ขุนนิเทศพาณิช) ชาวบ้านเรียกว่า"นายฮ้อยบุดดี" เพราะเคยมีอาชีพต้อนวัวควายมาขาย    ท่านมีเชื้อสายลาวญ้อมาจากฝั่งเมืองมหาชัยก่องแก้ว ห่างแม่น้ำโขง
ครูเตียงได้รับการศึกษาดีกว่าหนุ่มๆวัยเดียวกันโดยมาก คือได้เข้าเมืองหลวงมาเรียนที่โรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศในพระนคร จบประกาศนียบัตรครูประถม (ป.ป.) เมื่อพ.ศ.๒๔๗๐ และศึกษาต่อคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนิสิตรุ่นแรกของคณะร่วมชั้นกับนายเปลื้อง ณ นคร เรียนจบได้วุฒิประกาศนียบัตรครูมัธยม (ป.ม.) (สมัยนั้นคณะอักษรศาสตร์ยังไม่เปิดระดับปริญญาตรี)   จากนั้นทำงานเป็นครูโรงเรียนหอวัง ประมาณ ๒ ปีก็กลับมาอีสาน เป็นผู้ช่วยครูใหญ่โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล

ชีวิตครูเตียงเริ่มมีสีสันเข้มข้นขึ้น  เมื่อตกเป็นจำเลยคดีคอมมิวนิสต์ เมื่อ ๙ กรกฎาคม ๒๔๗๘ สาเหตุช่วงนั้นมีการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์ และมีคนชักธงรูปค้อนเคียวขึ้นยอดเสาธงโรงเรียน   ครูเตียงกับเพื่อนครูอีกสามคนถูกหมายหัวถูกฟ้อง คือ ครูปั่น แก้วมาตย์ ครูสุทัศน์ สุวรรณรัตน์ และครูญวง เอี่ยมศิลา ถูกคุมขังอยู่ประมาณสองเดือนต่อสู้คดี กระทั่งศาลพิพากษายกฟ้อง มีเพียงครูญวงคนเดียวถูกตัดสินจำคุก ๑๐ ปี

จากนั้นครูเตียงลาออกจากอาชีพครู  มาสมัครส.ส. ได้รับเลือกเมื่ออายุ ๒๘ ปี  การเข้าสู่วงการเมืองทำให้มีโอกาสรู้จักนายปรีดี พนมยงค์ซึ่งครูเตียงนับถือและเลื่อมใส    ครูเตียงเป็นคนหนึ่งที่ต่อต้านญี่ปุ่น  จึงเข้าร่วมขบวนเสรีไทย  จัดตั้งกองกำลังขึ้นที่อีสานถิ่นเกิดของท่าน  กระจายไปหลายจังหวัด  โดยใช้ชื่อแฝงว่า "พลูโต"

ผู้ร่วมขบวนการเสรีไทยที่เป็นแกนนำสำคัญคนอื่นๆ คือนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายจำลอง ดาวเรือง นายถวิล อุดล นายแพทย์อ้วน นาครทรรพ  นายสวัสดิ์ และนายสวาสดิ์ ตราชู นายสนิท ประสิทธิ์พันธุ์ นายถวิล สุนทรศาลทูล นายครอง จันดาวงศ์


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 182  เมื่อ 19 ก.ค. 10, 13:52

อย่างที่เคยเล่าไว้ในค.ห.ก่อนหน้านี้  ว่าเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ จบลง หน้าที่ของเสรีไทยก็จบ  เสรีไทยส่วนใหญ่สลายตัวกลับไปประกอบอาชีพของใครของตัว    แต่บางส่วนก็ก่่อตัวพรรคการเมืองสนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ต่อไป เช่นครูเตียงและเพื่อนอีสานแห่งพรรคสหชีพด้วยกัน ล้วนชะตารุ่ง   ได้เป็นรัฐมนตรี ๓ สมัย ๓ รัฐบาล คือ รัฐบาลนายทวี บุณยเกตุ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และรัฐบาลพล.ร.อ.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์       

อุดมการณ์ของพรรคสหชีพคือการเรียกร้องเพื่อปากท้องของประชาชนโดยเฉพาะชาวอีสาน   พร้อมกับได้ตำหนิการทำงานหลายอย่างของรัฐ เช่นการจัดสรรงบประมาณด้านการทหารมากเกินไป ข้อนี้ทำให้พรรคสหชีพถูกทหารเขม่นอยู่ไม่น้อย  

งานสำคัญของครูเตียงและพรรคพวก   คือหนุนเวียตนามเรียกร้องเอกราชจากฝรั่งเศส  โดยไปช่วยฝึกอาวุธให้ขบวนการกู้ชาติญวนของโฮจิมินห์  ตั้งค่ายฝึกอยู่ที่อีสาน    และไปช่วยฝึกอาวุธให้ขบวนการลาวอิสระของเจ้าสุภานุวงศ์ ได้สนับสนุนจัดตั้งและให้มาฝึกอาวุธเช่นกัน นอกจากนี้เสรีไทยอีสานบางส่วนยังข้ามน้ำโขงไปช่วยลาวและเวียดนามอีกด้วย ดังนั้น อาวุธเสรีไทยจึงได้ถูกลำเลียงไปสนับสนุนลาว และเวียดนาม

ในเดือนกันยายน ๒๔๙๐ ครูเตียง กับกลุ่มแกนนำภาคอีสานได้ก่อตั้งขบวนการสันติบาตเอเชียอาคเนย์ เพื่อต่อต้านการหวนกลับมาของฝรั่งเศส มีครูเตียง เป็นประธาน เจ้าสุภานุวงศ์ เป็นเลขาธิการ นายถวิล อุดล เป็นประชาสัมพันธ์ และนายเลอ ฮาย เป็นเหรัญญิก  

ส่วนทางประเทศไทย   หลังสงครามโลกสิ้นสุดลง รัฐประหารก็ก่อตัวถี่ยิบกว่าสมัยก่อนสงคราม   การผลัดเปลี่ยนและชิงอำนาจระหว่างผู้นำทำให้นายปรีดีต้องหลบหนีไปตั้งหลักที่สิงคโปร์(ก่อนจะลี้ภัยไปในจีนและฝรั่งเศส)หลังจากก่อกบฏวังหลวง      ส่วนครูเตียงหลบขึ้นภูพานฐานที่มั่นเดิม และเตรียมกำลังติดอาวุธจะลงมายึดอำนาจ แต่นายปรีดีออกวิทยุกระจายเสียงขอร้องไว้ เพื่อมิให้คนไทยต้องฆ่ากัน
 
รัฐบาลตั้งข้อหาครูเตียง"กบฏแบ่งแยกดินแดนอีสาน" และมีอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่สามารถจับตัวได้  จนหนังสือพิมพ์ยุคนั้นพร้อมใจกันตั้งสมญานามให้ว่า "ขุนพลภูพาน" ต่อมาทางการจับครูครอง จันดาวงศ์ และมิตรสหายของครูเตียงอีก 15 คน สร้างแรงกดดันจนเขาตัดสินใจมอบตัวต่อทางการในเดือนมีนาคม 2491 ทั้งหมดถูกดำเนินคดีในข้อหากบฏแบ่งแยกดินแดนอีสาน แต่ท้ายที่สุดศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง

 4 ปีต่อมา เดือนพฤศจิกายน 2495 รัฐบาลจอมพล ป. ได้กวาดล้างจับกุมฝ่ายค้านจำนวนมากในข้อหากบฏ ที่เรียกกันต่อมาว่า"กบฏสันติภาพ" รัฐมนตรี 4 คนถูกสังหารในครั้งนั้นด้วย ครูเตียงดำรงตำแหน่ง ส.ส.ในคณะกรรมการนิติบัญญัติฝ่ายรัฐบาล เขาถูกตำรวจตามตัวออกจากรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2495 ตั้งแต่นั้นมาก็หายสาบสูญไป ไม่ปรากฏตัวอีกเลย

ต่อมา ในรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้สั่งรื้อฟื้นคดีนี้ ปรากฏหลักฐานว่าครูเตียง ถูกฆ่ารัดคอหลังถูกควบคุมตัวไปสองวัน แล้วนำศพไปเผาทิ้งเชิงเขาโล้น ต.แก่งเสี้ยน อ.เมือง กาญจนบุรี เสียชีวิตขณะมีอายุเพียง ๔๓ ปี
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 183  เมื่อ 19 ก.ค. 10, 19:20

งานของเสรีไทยถือเป็นความลับสุดยอด  เสรีไทยเป็นผู้ไม่มีตัวตน ไม่มีชื่อเสียงเรียงนามจริง   ต้องสมมุติชื่อรหัสขึ้นมาในการปฏิบัติงาน
นายปรีดี พนมยงค์ ใช้ชื่อว่า "รู้ธ"
ม.จ. ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท  ใช้ชื่อว่า "อรุณ"
เตียง ศิริขันธ์ ใช้ชื่อว่า "พลูโต"
ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ใช้ชื่อว่า "เข้ม"
ทศ พันธุมเสน (บุตรชายของพระยาทรงสุรเดช) ใช้ชื่อว่า "บุญ"
หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ ใช้ชื่อรหัสว่า เจน (Jane)
พระพิศาลสุขุมวิท ใช้ชื่อรหัสว่า แม็ค (Mac)

เพิ่มเติม  พันเอกโยธี   - พลเอกเนตร เขมะโยธิน

หลังสงครามจบลงไปเกือบ ๒๐ ปี ดร.ป๋วยเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เขียนบทความ ใช้ชื่อว่านายเข้ม เย็นยิ่ง   วิจารณ์การทำงานของ "ผู้ใหญ่ทำนุ  เกียรติก้อง"  
ผู้ใหญ่คนนั้นก็คือนายกรัฐมนตรีในยุคนั้น จอมพลถนอม กิตติขจร
 
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 22 ก.ค. 10, 19:16 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12603



ความคิดเห็นที่ 184  เมื่อ 20 ก.ค. 10, 08:07

เพิ่มเิติม

หลวงอดุลเดชจรัส  เมื่อเป็นเสรีไทยมีชื่อจัดตั้งว่า  "พูเลา"


อยากให้ท่านอาจารย์ใหญ่และใหญ่กว่าลองวิเคราะห์วิจารณ์จดหมายฉบับนี้

จดหมายของจอมพล  ป.พิบูลสงคราม  ถึงนายปรีดี  พนมยงค์   

"เรียน  อาจารย์ที่เคารพและนับถือ

ผมเห็นงานของอาจารย์มีมาก  ไม่อยากจะมารบกวนอะไร  แต่บัดนี้ผมเป็นคนเคราะห์ร้ายไม่รู้จะหันไปพึ่งใครได้  ก็จำเป็นต้องขอพึ่งอาจารย์ตามแต่จะกรุณาได้

ประการแรก  อยากขอปรับความเข้าใจแก่อาจารย์  ซึ่งบางทีจะมีเมตตาจิตเกิดแก่ผมบ้างตามสมควร  ถ้าอาจารย์จะผูกพยาบาทผมเกี่ยวแก่เดิม ๆ  มาบ้าง  ซึ่งอาจเป็นการเข้าใจไม่ตรงตามเป็นจริง  อาจารย์จะได้ทราบความจริงไว้  คือ  บางทีอาจารย์อาจเข้าใจว่าผมเป็นคนช่วยปิดสภาและเนรเทศอาจารย์  เกี่ยวแก่หาว่าเป็นคอมมิวนิสต์  เรื่องนี้ผมไม่ได้ทำเลย  การปิดสภานั้นพระยามโนเรียกผมไป  ซึ่งเวลานั้นผมเป็นเด็กอยู่มากในการเมือง  เกลี้ยกล่อมให้ผมเซ็นเป็นคนสุดท้าย   ครั้นเห็นทุกคนเขาลงชื่อกัน   ผมไม่ลงชื่อกับเขาก็เกรงจะเป็นภัยร้ายแรง  จึงได้ลงชื่อตามพระยาพหลไป   เรื่องเนรเทศอาจารย์นั้นถามหลวงอดุลดูว่า   เป็นใครวิ่งเต้น  ความจริงจะทราบว่าพระยาทรงสุรเดช  ผมกับหลวงอดุลถูกหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์  วันหนึ่งไปพบพระยาทรงฯ  ท่านยังถามว่าลื้อกับอดุลแดงเรื่อ ๆ  แล้วนะ  เมื่อผมเปิดสภาฯ  พระยาราชวังสันยังโทรศัพท์ถามผมว่าจะเอาอะไร  ผมตอบว่าเปิดสภาฯ  ท่านยังถามต่อไปว่าไม่แดงนะหรือจะแดงกัน  ผมเลยวางหูโทรศัพท์

การทำการกันครั้งนั้น  เขาประชุมกัน  ๔-๕  คน  มีพระยามโนเป็นหัวหน้า  เมื่อเขาจะทำอะไรก็ทำกัน  ผมรู้จริงจังภายหลังเสมอ ซึ่งแก้อะไรไม่ได้  เพราะเป็นเด็กในการเมืองอยู่มาก....

เมื่อพระยาทรงฯ  ออกไปแล้ว  ผมรักษาการที่กาแฟนรสิงห์ตอนกลางคืน  ผมจำได้ว่าไปกับหลวงอดุล  ทราบภายหลังว่า  พระยาราชวังสัน  พระยาฤทธิ  พระยามโน  จะให้ทหารเรือจับผมขังที่นั่น  เข้าใจว่าพลตรีขำหิรัญ  เป็นผู้ถูกชวน  เรื่องเก่า ๆ  มีความจริงอย่างนี้  ขออาจารย์กรุณาเข้าใจว่า  ผมไม่ได้เป็นคนแกล้งอะไรเพื่อนฝูงเลย  คนอื่นเขาทำกันเองแล้วผมยังช่วยในเมื่อมีโอกาส...

ผมเรียนมานี้หวังจะได้รับความกรุณาจากอาจารย์บ้างตามสมควร  ในทางการเมืองของผมนั้น  เวลานี้หรือต่อไป  ผมเข็ด  และรู้สึกตัวว่าภัยมาสู่ตัวร่ำไป  ผมเลยขอเป็นชาวไร่ชาวนาดีกว่า  ขออาจารย์อย่าเป็นห่วงผมในทางการเมือง  ผมเข็ดแล้ว  เป็นตามีตามาดีกว่าสำหรับตัวผม

ผมพูดมามากแล้ว  ถ้ามีผิดและรบกวนอาจารย์ก็ขออภัยด้วย  ผมได้เขียนเล่าการปฏิบัติการต่อสู้ญี่ปุ่นและส่งไปทางประธานสภาฯ  และให้เพื่อนฝูงอ่าน  มีความประสงค์อย่างเดียว  จะช่วยให้เพื่อนฝูงไม่เป็นอาชญากรสงครามรวมทั้งผมด้วย  ตามสัญชาตญาณของคนต้องป้องกันตน  อาจารย์ขอได้กรุณาแต่ผมในเรื่องนี้ด้วย  ถ้านิ่งไว้คนไม่รู้เหตุผล  การปฏิบัติของเราก็จะหาว่าเป็นคนขายชาติอยู่ตลอดไป  ชื่อเสียงก็จะเสีย  ผมดีใจว่าที่เราทำมาแล้วนั้น  อย่างน้อยพระแก้วมรกตยังอยู่  ญี่ปุ่นไม่ขนเอาไปอย่างแห่งอื่น"

จากหนังสือ  "พลิกแผ่นดิน" ของ ประจวบ  อัมพะเศวต
บันทึกการเข้า
proudtobethai
มัจฉานุ
**
ตอบ: 79


ความคิดเห็นที่ 185  เมื่อ 20 ก.ค. 10, 09:08

มารายงานตัวเข้าห้องเรียนก่อนค่ะ
เดี๋ยวต้องไปไล่อ่านใหม่อีกรอบล่ะค่ะ เพราะไม่ได้เข้าห้องเรียนหลายวัน กลับมาอีกทีถึงหน้า 13 เข้าไปแล้ว
ขอไปเข้าคอร์สเรียนพิเศษก่อนนะคะ  ยิ้มกว้างๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 186  เมื่อ 20 ก.ค. 10, 09:30

จดหมายนี้น่าจะเขียนตอนสิ้นสงครามโลก เมื่อจอมพลป.จะถูกนำขึ้นศาลในฐานะอาชญากรสงคราม

ขอวิเคราะห์เป็น ๒ ส่วน   ขอย้ำว่าเป็นความเห็นส่วนตัวนะคะ  ท่านกูรูใหญ่กว่าท่านจะเห็นอย่างอื่นก็ได้   ต้องรอฟังท่าน

๑ ส่วนของจอมพลป. เป็นธรรมดาอยู่เองว่าจำเลยในคดี ย่อมมีสิทธิ์ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาให้ตัวเองพ้นโทษ     ส่วนจะฟังได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นกับเนื้อหา
น่าสังเกตว่าในจดหมายฉบับนี้   เรื่องที่จอมพลป.ยกขึ้นมา ว่านายปรีดีโดนอะไรต่อมิอะไรนั้น   คนอื่นเป็นคนทำทั้งนั้น ไม่ใช่ท่านจอมพลทำ  ถึงมีหลักฐานว่าร่วมกระทำด้วย ท่านก็บอกว่าเป็นการถูกบีบบังคับ
"เรื่องเนรเทศอาจารย์นั้นถามหลวงอดุลดูว่า   เป็นใครวิ่งเต้น  ความจริงจะทราบว่าพระยาทรงสุรเดช"  
ตรงนี้จริงหรือไม่จริงดิฉันก็ไม่เห็นด้วย  พระยาทรงสุรเดชตายไปตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๘๗ ระหว่างสงคราม   ไม่มีโอกาสมาชี้แจงความจริงได้  ตามธรรมเนียมไทยเขาไม่อ้างคนตายเพื่อประโยชน์แก่ตัวเอง

๒  ไม่เชื่อว่าจอมพล ป. หลุดจากข้อหาอาชญากรสงครามเพราะจดหมายฉบับนี้   แต่หลุดเพราะมีการออกพ.ร.บ. ซึ่งไม่มีผลย้อนหลัง  
    ในแง่กฎหมาย อังกฤษไม่ควรยื่นมือเข้ามามีอำนาจเหนืออำนาจตุลาการไทย  ซึ่งอาจจะมีผลกระทบแบบลูกโซ่ต่อการตัดสินในกฎหมายเรื่องอื่นๆของไทยได้   รัฐบาลชุดใหม่ และนายปรีดีจึงตัดไฟแต่ต้นลม       ออกกฎหมายพ.ร.บ. ฉบับนี้ให้จอมพล ป. รอดไปได้ดีกว่า  จบเรื่องราวกันไป
       อาจเป็นได้ว่านายปรีดี ถือหลักว่าเพื่อนจะไม่ล้างเพื่อนที่ร่วมอุดมการณ์ปฏิวัติ ๒๔๗๕ กันมา   คนอื่นทำกันแต่ท่านไม่ทำ   ช่วยกันครั้งนี้ถือว่าอโหสิกรรมกันไป     นอกจากนี้นายปรีดีคงเชื่อว่าจอมพลป.ไม่มีโอกาสกลับมาเป็นนายกฯอีกแล้ว ในเมื่อรัฐสภาไม่เอาด้วย    หลังสงคราม พรรคการเมืองใหม่อย่างสหชีพก็เกิดขึ้น    กระแสความนิยมก็เปลี่ยนไป  ไทยไม่ต้องการคนที่ร่วมมือกับญี่ปุ่นอีก     ก็ตกลงปล่อยท่านจอมพลป. ล้างมือทางการเมือง อยู่อย่างสงบเหมือนพระยาพหล และทหารเสืออื่นๆ
      ผลจากการมองแบบนี้  จอมพลป. ไม่ได้ออกไปทำไร่ทำนาเป็นตามีตามาอย่างที่ท่านบอกไว้ในจดหมาย  แต่หวนกลับมาทำรัฐประหาร ชิงอำนาจคืนกลับไปได้  จนนายปรีดีต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ  เมื่อย้อนกลับมาทำรัฐประหารในชื่อกบฏวังหลวงก็พ่ายแพ้   ต้องออกไปอยู่ต่างประเทศตลอดชีวิต
             สุนทรภู่ให้ความเห็นในพระอภัยมณี ไว้ก่อนหน้านี้หนึ่งร้อยปี ว่า
             ประเพณีตีงูให้หลังหัก               มันก็มักทำร้ายเมื่อภายหลัง
             จระเข้ใหญ่ลงน้ำมีกำลัง             ถึงเสือขังเข้าดงก็คงร้าย
             อันแม่ทัพจับได้แล้วไม่ฆ่า           ไปข้างหน้าศึกจะใหญ่ขึ้นใจหาย
             .....................................
             อาจจะไม่จริงในทุกกรณี  แต่บางกรณีก็เป็นไปได้   ขอตอบคุณเพ็ญชมพูด้วยการลงท้ายว่า โปรดพิจารณาด้วยวิจารณญาณ
บันทึกการเข้า
CVT
องคต
*****
ตอบ: 452


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 187  เมื่อ 20 ก.ค. 10, 09:59

เห็นคล้อยตามอาจารย์เทาชมพูครับ
บันทึกการเข้า
manit peuksakondh
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 188  เมื่อ 20 ก.ค. 10, 13:13

ได้ข้อมูลใหม่อีกแล้วครับ ผมนึกว่าท่านเตียงสิ้นชีวิต เพราะโดนโจรมะลายูที่กำแหงมากเหลือหลายแย่งตัวที่กม. 13.-14 เสียอีก ครับผม
มานิต
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12603



ความคิดเห็นที่ 189  เมื่อ 20 ก.ค. 10, 13:23

โจรมลายู ?

นั่นคือแพะที่ตำรวจอ้างในคดีสังหาร ๔ อดีตรัฐมนตรี พ.ศ. ๒๔๙๒

http://th.wikipedia.org/wiki/คดีสังหาร_4_อดีตรัฐมนตรี_พ.ศ._2492

 เศร้า
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 190  เมื่อ 20 ก.ค. 10, 13:52

เมื่อคืนผมกลับมาอย่างอ่อนเพลีย หายไปครึ่งวันกับอีก1คืน กลับมาตอนเช้าเข้าเรื่องต่อในกระทู้ไม่ถูก กระทู้วิ่งเร็วมาก กระโดดเกาะพลาดไปเดี่ยวโดนกระทู้ทับตาย เรื่องเดินไปไกลจนผมต้องนั่งงงอยู่ พยายามทบทวน หรือว่าตัวเองเอาสมองไปทิ้งค้างอยู่ที่ไหน ตอนนี้คิดออกแล้ว ผมขอโดดกลับเข้าห้องตรงตำแหน่งเดิมของผมก่อนก็แล้วกัน อย่างอื่นขอว่าที่หลัง ขออภัยด้วยคร้าบ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 191  เมื่อ 20 ก.ค. 10, 13:54

ตอนที่นายป๋วยโดดร่มลงที่ชัยนาทแล้วถูกปลัดอำเภอนำชาวบ้านกว่าสามสิบคนล้อมจับได้นั้น ชายคนหนึ่งเอาปืนทิ่มหลังแล้วบอกว่าไอ้คนขายชาติ เอ็งสมควรตาย ดีแต่ว่าอดีตพลทหารเกณฑ์คนหนึ่งเอามือปัดกระบอกปืนไปบอกว่า จับเป็นเชลยได้ดีกว่าจับตาย ส่งให้บ้านเมืองเขาสอบสวนดีกว่า กระนั้นก็ยังโดนชาวบ้านสั่งสอนไปหลายตุ้บ

คนขายชาติคืออะไร สำหรับผมแล้ว หากผู้ใดไม่ฆ่าหรือชี้นำคนต่างชาติให้ฆ่าคนชาติเดียวกัน เพื่อประโยชน์ร่วมของตนเองและคนต่างชาตินั้น ไม่ใช่คนขายชาติ แม้จะมีพฤติกรรมและแนวความคิดทางการเมืองตรงข้ามกับคนส่วนใหญ่ในชาติ(ขณะนั้น)ก็ตาม

อ่านพบการที่นายป๋วยบอกเพื่อนเสรีไทยในเครื่องแบบทหารอังกฤษพร้อมอาวุธครบมือ ที่ถูกส่งมาปฏิบัติการลับในเมืองไทยแบบสุ่มเสี่ยง ไม่รู้จะเป็นตายร้ายดีอย่างไรนั้น ตกลงกันว่าถ้าเจอคนไทยด้วยกันจะฆ่าตนเพราะเข้าใจผิดว่าเป็นศัตรูนั้น จะยอมถูกฆ่า ดีกว่าจะเป็นผู้ฆ่าเขาก่อน หรือไม่ก็ยอมให้ถูกจับโดยดี แต่ถ้าเจอญี่ปุ่นแล้วจะสู้ตาย คนเช่นนี้ แม้สงครามโลกจะกลับกลายเป็นญี่ปุ่นชนะ ก็ไม่ใช่คนขายชาติ

นายวณิชก็ไม่มีพฤติกรรมในการชี้ตัวคนไทยที่เกลียดญี่ปุ่น(อย่างพล.ต.อ.อดุล) หรือคนไทยอื่นๆให้ญี่ปุ่นเชือด นายวณิชจึงไม่ควรถูกประนามว่าเป็นคนขายชาติในหน้าประวัติศาสตร์เพียงเพราะคบกับญี่ปุ่น


พล.ต.อ.อดุลพยายามวางตนอย่างระมัดระวังเต็มที่ไม่ให้มือเปื้อนเสรีไทยที่จับมาได้ โดยมอบให้ลูกน้องที่ไว้วางใจสุดๆชื่อร.ต.อ.โพยม จันทะรัคคะเป็นผู้ดูแลพวกผู้ต้องหาเสรีไทยทั้งหมด แม้จะกินอยู่ไม่เหมือนติดคุก แต่จดหมายของลอร์ดหลุยส์ เมาท์แบตแตนส์ที่เขียนถึงนายปรีดีมีความสำคัญอย่างไร อะไรจะเกิดขึ้นหากเสรีไทยจากต่างประเทศจะสามารถปฏิบัติการร่วมกับเสรีไทยในประเทศ และจะเป็นผลอย่างไรกับกองทัพญี่ปุ่น  คนอย่างพล.ต.อ.อดุลย่อมรู้ แต่ก็เก็บงำไว้หลายเดือนไม่มอบให้ผู้รับ จนตัวตายพล.ต.อ.อดุลยังไม่รู้เลยว่า ลูกน้องที่ไว้ใจสุดยอดนั้นได้กบฏต่อตน โดยลักลอบนำนายป๋วยไปพบกับนายปรีดี


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 192  เมื่อ 20 ก.ค. 10, 14:01

ร.ต.อ.โพยมเป็นนักเรียนอัสสัมชัญรุ่นไล่ๆกับนายป๋วย จึงสนิทสนมกันเร็ว  จึงได้รับทราบการเคลื่อนไหวของเสรีไทยและจุดประสงค์ที่ลักลอบเข้ามาปฏิบัติการ และมีความร้อนรนใจพอๆกับนายป๋วย ที่หลายเดือนแล้ว นายยังไม่ได้สั่งอะไรเป็นเรื่องเป็นราวในเรื่องนี้ ทั้งที่เชลยเสรีไทยถูกจับส่งมาที่สันติบาลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกกลุ่มที่เข้ามาจากสายอังกฤษล้วนถือจดหมายของลอร์ดหลุยส์ จะให้เอาไปให้นายปรีดีให้ได้ ในเดือนที่สี่ร.ต.อ.โพยมจึงตัดสินใจลักลอบพานายป๋วยไปหานายปรีดีโดยไม่ให้นายรู้ และนายป๋วยก็อุตส่าห์มีจดหมายของลอร์ดหลุยส์ไปให้นายปรีดีอีกฉบับหนึ่งได้ด้วย ไม่รู้แอบซุกไว้หรือร.ต.อ.โพยมจิ๊กออกมา ไม่แต่เท่านั้นร.ต.อ.โพยมยังซ่อมวิทยุที่นายป๋วยเอาติดตัวมาจนใช้การได้หลังจากที่พล.ต.อ.อดุลสั่งให้ถอดชิ้นส่วนสำคัญออก แล้วพานายป๋วยไปแอบส่งสัญญาณที่บ้านเมีย คืนนั้นนายป๋วยคิดว่าไม่สำเร็จแต่เท็จจริงแล้วอังกฤษรับสัญญาณได้แต่แผ่วมาก ตั้งแต่นั้นมาปฏิบัติการในเมืองไทยจึงก้าวหน้าขึ้นมาก อเมริกาได้ทราบจากอังกฤษก็ตอนนี้เอง จึงส่งเสรีไทยที่ตนฝึกไว้เข้ามาปฏิบัติการโดยไม่เกี่ยวข้องกับอังกฤษ

 พล.ต.อ.อดุลคิดว่านายปรีดีทราบเรื่องเสรีไทยตอนที่ตนนำนาย อานนท์ ณ ป้อมเพชรซึ่งเป็นน้องภรรยาที่เพิ่งจะจับได้ไปพบที่ทำเนียบ นายปรีดีก็เล่นละครว่าเป็นเรื่องใหม่เอี่ยมที่ตนเพิ่งทราบ  คงจะไม่ไว้ใจปาท่องโก๋  พล.ต.อ.อดุลเลยยังลังเลกลับไป ไม่กล้าถลำลงไปเป็นเสรีไทยเต็มตัวเหมือนกัน  ถ้าพล.ต.อ.อดุลมีญาณวิถีใดที่จะสามารถอ่านหนังสืองานศพของตน ก็จะได้ทราบข้อเท็จจริงที่เป็นข้อเท็จจริงจริงๆเอาในตอนนี้เอง เพราะผู้เปิดเผยเขียนขอขมาไว้



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 193  เมื่อ 20 ก.ค. 10, 14:03

เสรีไทยนอกประเทศยังพยายามเป็นแม่สื่อที่จะให้บุคคลต่างขั้วนี้เปิดใจเข้าหากันให้ได้ เสรีไทยจากอเมริกาชุดหนึ่งพอกระโดดมาได้ก็บอกกับพวกตำรวจที่มาจับเลยว่าตนเป็นสายลับของพล.ต.อ.อดุล ถ้าสารวัตรใหญ่ไม่เชื่อก็เลยขอให้ส่งโทรเลขใช้นามจริงส่งไปให้พล.ต.อ.อดุลเลย เพราะแน่ใจ มีข้อมูลแน่นว่าพล.ต.อ.อดุลจำชื่อเสรีไทยสายอเมริกาได้ทุกคนโดยไม่ต้องเปิดตำรา พล.ต.อ.อดุลเห็นโทรเลขก็สะดุ้งสุดตัวร้องเฮ้ย บอกลูกน้องรีบพามาหาฉันเร็วๆเดี๋ยวญี่ปุ่นรู้

เสรีไทยท่านนี้คือนายวิมล วิริยะวิทย์ เมื่อพบพล.ต.อ.อดุลแล้วก็แจ้งว่า อเมริกาทราบว่าพล.ต.อ.อดุล ต้องการขับไล่ญี่ปุ่น และยินดีจะสนับสนุนขบวนการเสรีไทยในประเทศเต็มที่ทุกรูปแบบ และขอให้พาไปพบนายปรีดีด้วย  พล.ต.อ.อดุลจึงพานายวิมลไปพบนายปรีดี เจอกันคราวนี้นายวิมลก็เล่นบทพ่อสื่อนำความลับมาเผยว่า ในเมื่อทั้งสองก็มีใจให้แก่กันและกันอยู่แล้ว เพียงแต่ต่างคนต่างปฏิบัติ อเมริกาขอเรียกร้องให้ทั้งสองร่วมมือกัน มิฉะนั้นลำบากจะตกกับอเมริกา และยังบอกอีกว่าคนของอเมริกา7นาย กับคนของอังกฤษ 8 นายถูกพล.ต.อ.อดุลเอาไปเก็บตัวไว้ พร้อมที่จะปฏิบัติการอยู่   พล.ต.อ.อดุลจะดองไว้ทำไม อีกนานมั้ย

เจอเข้าไม้นั้น ทั้งสองจึงต้องเลยตามเลย พล.ต.อ.อดุลตกลงใจแน่วแน่ที่จะสลับขั้ว จากที่ซี้ปึ่กกับจอมพล ป. มาจับมือกับนายปรีดี เพื่อกู้ชาติ ขับไล่ญี่ปุ่นที่กำลังจะเป็นผู้แพ้ออกไปจากเมืองไทย อยู่ข้างอเมริกาที่จะเป็นฝ่ายชนะอย่างแน่นอนดีกว่า



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 194  เมื่อ 20 ก.ค. 10, 14:05

หลังจากเลิกแอบจิตแล้ว พล.ต.อ.อดุลก็สั่งให้ร.ต.อ.โพยมยอมให้นายป๋วยและเสรีไทยที่นำวิทยุเข้ามาส่งวิทยุได้ โดยให้หลบซ่อนระวังญี่ปุ่นด้วย ร.ต.อ.โพยมก็พาพวกนั้นไปใช้สถานที่ต่างๆสลับไปเรื่อยๆ ตามพระตำหนักบ้าง ตึกร้างบ้าง บ้านญาติบ้าง ครั้งหนึ่งถึงขนาดออกรายการวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยคลื่นสั้น เล่านิยายเรื่องสามเกลอเดินทางผจญภัยไปด้วยกัน แล้วพลัดหลงไปคนหนึ่ง แล้วพบกันได้อย่างไร คนต่างชาติฟังแล้วก็ผ่านไป แต่คนไทยที่แคนดี้มีหน้าที่ต้องฟังวิทยุแห่งประเทศไทยเพื่อติดตามข่าวได้ฟังก็ไชโย เข้าใจว่าพลร่มชุดที่กระโดดลงไปล่าสุดปลอดภัยแล้ว

ร.ต.อ.โพยมทำงานลับๆแบบปิดทองหลังพระ ไม่โอ้ไม่อวด แม้ในตำนานเสรีไทยที่เล่มหนาเพราะจะมีประวัติของทุกคนจำนวนเกือบครึ่งร้อย ร.ต.อ.โพยมถูกจัดว่าเป็นเสรีไทยสายในประเทศ แต่ก็มีเรื่องของร.ต.อ.โพยมน้อยมาก รูปที่ลงไว้ก็ไม่ชัดเจนคล้ายๆกับไปครอปมาจากภาพอื่นที่ท่านไม่ได้อยู่ตรงกับโฟกัส ประวัติคร่าวๆก็จบลงด้วยการบอกว่าร.ต.อ.โพยมใช้ชีวิตหลังเกษียนอย่างสงบจนถึงที่สุดแห่งชีวิต เห็นได้ว่าท่านผู้นี้มิปรารถนาจะโอ้อวดวีรกรรมของตนเอง ถ้าผมไม่ขยายไว้ตรงนี้ก็ยากที่ใครจะรู้ว่า ขบวนการเสรีไทยที่ทำงานสำเร็จตามเวลาอย่างเฉียดฉิวก่อนที่ญี่ปุ่นจะยอมแพ้ และไทยจะเป็นผู้แพ้ร่วมกับเขาอย่างสมบูรณ์นั้น เกิดจากความเสี่ยงที่จะยอมเป็นคนกบฏต่อเจ้านาย และขายชาติให้สัมพันธมิตรของท่านผู้ที่มีนามว่า ร.ต.อ.โพยม จันทะรัคคะ

คนเดียว หนึ่งเดียว ฟันเฟิร์ม


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 11 12 [13] 14 15 ... 29
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.074 วินาที กับ 19 คำสั่ง