เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 11
  พิมพ์  
อ่าน: 35326 “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 19 พ.ย. 14, 12:56

มาดูบทบาทของ ร.ต.อ.โพยม จันทรัคคะ กันต่อครับ

สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๗ 
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลแล้ว ร.ต.อ.โพยม จันทรัคคะ  ได้พา ร.ต.อานนท์ ณ ป้อมเพชร เสรีไทยที่ถูกส่งเข้ามาจากสหรัฐให้ได้พบกับ พล.ต.อ.อดุล และต่อมาพล.ต.อ.อดุล ได้นำ ร.ต.อานนท์ เข้าพบนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย ผู้เป็นพี่เขยที่ทำเนียบท่าช้าง เพราะเดาว่านายปรีดีคงจะได้ทราบในทางลับอยู่เหมือนกันว่าตำรวจจับน้องภรรยามาไว้ที่สันติบาล

เดือนเดียวกันนั้น รัฐบาลได้ออกพระราชกฤษฎีกามอบอำนาจให้พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ  ทำการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อันเกี่ยวกับราชการกรมตำรวจ





บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 19 พ.ย. 14, 13:44

๗ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๗
ร.ต.อ.โพยม จันทรัคคะ  ได้แอบร่วมมือกับ ร.ต.ป๋วย และร.ต. เปรม นัดแนะกับกองบัญชาการอังกฤษทางวิทยุจากบ้านแม่ยายที่สวนอ้อย ให้ ร.ต.กฤษณ์ โตษยานนท์ และ ร.ต.ประเสริฐ ปทุมานนท์ เสรีไทยสายอังกฤษจากกองกำลัง ๑๓๖ มาโดดร่มลงใกล้สนามกอล์ฟรถไฟ อำเภอหัวหิน ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในกระทู้ก่อนๆหน้านี้ โดยปฏิบัติการนี้ได้นายปรีดีประสานให้เสรีไทยในประเทศไปคอยรับ แต่ยังปกปิดไม่ให้ พล.ต.อ.อดุลได้ล่วงรู้
 
ปฏิบัติการนี้สำคัญเพราะอังกฤษต้องการทดสอบการทำงานของเสรีไทยในประเทศ ก่อนที่จะทำการใหญ่ต่อไป ดังนั้น พล.ต.อ.อดุล ผู้ซึ่งยังไม่ได้เปิดหัวใจเข้าร่วมในขบวนการเสรีไทยจึงจะรู้ก่อนไม่ได้ เพราะเกิดมีความเห็นเป็นอื่นขึ้นมาอาจทำตัวเป็นเข้ใหญ่ งานของเสรีไทยก็เสียของหมดเท่านั้น


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 19 พ.ย. 14, 14:13

แล้วก็มาถึงปฏิบัติการครั้งสำคัญอีกครั้ง

๙ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๗  
ร.ท.บุญมาก เทศะบุตร และ ร.ต.วิมล วิริยะวิทย์  เสรีไทยสายอเมริกา แต่งเครื่องแบบนายทหารอเมริกันมาโดดร่มลงที่อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ บริเวณชายป่าในเขตสัมปทานของเจ้าวงศ์แสนศิริพันธ์
เมื่อโดดร่มลงจากเครื่องบินแล้วทั้งคู่ได้พลัดกัน ร่มของ ร.ต.วิมลตกลงบนยอดไม้สูงลิบลิ่ว ซึ่งเมื่อลงสู่พื้นดินแล้ว ร.ต.วิมลก็ได้ใช้เวลา ๕ วัน เดินทางค้นหา ร.ท.บุญมากในป่าทึบโดยไร้ผล

๑๘ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๗  
ร.ต.วิมล พบรอยท๊อปบูตของ ร.ท.บุญมากมุ่งเข้าหมู่บ้าน จึงตามไปและถูกผู้ใหญ่บ้านกับลูกบ้านควบคุมตัวไว้ ทำให้ได้ทราบว่าร.ท.บุญมากก็ได้ถูกควบคุมตัวเช่นกันแต่หลบหนีไปแล้ว  ร.ต.วิมลถูกส่งไปยังสถานีตำรวจอำเภอร้องกวาง จากอำเภอก็ถูกควบคุมตัวเข้าจังหวัดแพร่ ซึ่งเขาขอให้ผู้กำกับการตำรวจภูธรผู้สอบสวนส่งโทรเลขถึง พล.ต.อ.อดุลโดยใช้ชื่อจริง ซึ่งก็ได้รับโทรเลขตอบมาให้รีบส่งตัวเข้ากรุงเทพด่วน

เมื่อเดินทางถึงกองตำรวจสันติบาลที่แล้ว ร.ต.อ.โพยม จันทรัคคะได้นำ ร.ต.วิมลไปอารักขาร่วมกับเสรีไทยสายอเมริกา ซึ่งขณะนั้นมีทั้งหมดรวม ๗นายแล้ว คือ ร.ต.อานนท์ ณ ป้อมเพชร  ร.ต.บุญเย็น ศศิรัตน์  ร.ต.เป้า ขำอุไร  ร.ต.การุณ เก่งระดมยิง  ร.ต.สวัสดิ์ เชี่ยวสกุล  ร.ต.เอี่ยน ขัมพานนท์ และ ร.ต.พิสุทธิ์ สุทัศน์ ณ อยุธยา
ในขณะเดียวกันนายทหารเสรีไทยจากอังกฤษในความอารักขาของ ร.ต.อ.โพยม ยังมีอีก ๘นาย คือ ร.ต.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ร.ต.ประทาน เปรมกมล  ร.ต.เปรม บุรี  ร.ต.สวัสดิ์ ศรีศุข  ร.ต.พัฒพงศ์ รินทกุล  ร.ต.สำราญ วรรณพฤกษ์ ร.ต.ธนา โปษยานนท์ และ ร.ต.รจิต บุรี





บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 19 พ.ย. 14, 15:45

๒๒ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๗ 
ร.ต.อ.โพยม ได้พา ร.ต.วิมลไปพบ พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัสด้วยวิธีการแบบเดียวกับ ร.ต.ป๋วย  ร.ต.อานนท์และคนอื่นๆ กล่าวคือพล.ต.อ.อดุลจะไม่ยอมให้ผู้ใดรู้เป็นอันขาดว่าตนเองได้พูดคุยกับเสรีไทยคนใดคนหนึ่งเป็นการส่วนตัว  มีคนเดียวที่รู้คือ ร.ต.อ.โพยม แต่ก็ไม่ให้รู้ว่าพูดกันเรื่องอะไร การนัดหมายแต่ละครั้งจะใช้เวลากลางคืน บางครั้งตีหนึ่งตีสอง ร.ต.อ.โพยมจะต้องพาคนที่นายต้องการพบไปนั่งรถเล่นก่อน จนได้เวลานัดพบจึงไปส่งลงยังสถานที่ต่างๆ เช่นที่ลานพระรูปบ้าง ถนนราชดำเนินบ้าง เมื่อเห็นว่าปลอดคน พล.ต.อ.อดุล จึงจะปรากฏตัว แล้วชวนเดินคุยกันไปแบบใจดี ตั้งแต่เรื่องสถานการณ์รบ เรื่องใครอยู่เบื้องหลัง เรื่องพ่อแม่พี่น้องทางนี้เป็นต้น หลังจากนั้นก็พาไปกินข้าวต้มแถวเยาวราช แล้วจึงกลับมาส่งลงที่เดิมให้ร.ต.อ.โพยมพากลับที่พัก

ที่ท่านทำตนเหมือนสายลับในหนังฝรั่งก็เพราะไม่ไว้ใจหน้าอินทร์หน้าพรหมใดๆทั้งสิ้น ผมอ่านหนังสือที่นายพลนากามูระเขียนแล้วจึงเข้าใจ ในบรรดาดาวหางไทย ๓ ดวงฝ่ายอังกฤษและอเมริกัน(ผู้แปลมิได้ให้คำอธิบายว่าทำไมแม่ทัพญี่ปุ่นจึงใช้คำว่าดาวหาง ผมต้องถามคุณกุ๊กทานเสลด ได้ความว่าดาวหางเป็นสัญลักษณ์ของตัวที่ทำให้ซวยในความเชื่อของญี่ปุ่น) มีด้วยกันคือ ๑ นายปรีดี ๒ ม.ร.ว.เสนีย์ และ ๓ พล.ต.อ.อดุล ซึ่งเป็นตัวแสบสุด นอกจากจะทำตัวเป็นคนพบยาก ไม่คบหาผู้ใด สายลับญี่ปุ่นหาตัวไม่เคยเจอเพราะชอบทำงานกลางคืน ซ้ำยังจับนายวณิชย์ ชายในดวงใจของกองทัพญี่ปุ่นไปขังด้วยข้อหาฉ้อโกงแบบไม่ไว้หน้าจอมพล ป. หวังตีวัวกระทบคราดให้นายกรัฐมนตรีแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก (ไหนว่านายพลนากามูระรู้จักเมืองไทยดี แต่ท่านสอบตกตรงนี้ มีอย่างที่ไหนที่นักการเมืองไทยจะหน้าบางแบบคนญี่ปุ่นอย่างน้ า น )  และก็ฉลาดที่ไม่ตั้งข้อหาทางการเมืองอันจะทำให้ญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงได้ แล้วอยู่ดีๆนายวณิชย์ก็ผูกคอตายในห้องขังของตำรวจเสียเฉยๆ เรื่องนี้ญี่ปุ่นแค้นนัก

หนังสืออีกเล่มหนึ่งกล่าวว่า ญี่ปุ่นเตรียมสายลับไว้จะสอย พล.ต.อ.อดุล เหมือนกัน พอสายสืบของตำรวจมารายงาน ท่านก็ตัวเย็นเฉียบไปเหมือนกัน แล้วก็ยิ่งระวังตัวหนักขึ้นไปอีก


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 19 พ.ย. 14, 16:15

คราวนั้นท่านจึงไม่ลงเดิน เพียงจอดรถแวะหิ้วร.ต.วิมลที่เชิงสะพานเทวกรรม ให้คนขับๆรถไปเรื่อยๆแล้วคุยกันไป  ร.ต.วิมลได้เล่าให้พล.ต.อ.อดุล ตระหนักใจว่าสถานการณ์สงครามคงไม่ยืดเยื้อยาวนานแล้ว และแจ้งให้ทราบถึงภารกิจพิเศษที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลสหรัฐ  ครั้นได้ฟังแล้ว พล.ต.อ.อดุล เลยตัดสินใจพา ร.ต.วิมล เข้าพบนายปรีดีทันที ซึ่งบังเอิญคืนนั้น มีนายดิเรก ชัยนามอดีตอัครราชทูตไทยประจำโตเกียวร่วมวงสนทนาอยู่ด้วย  ร.ต.วิมลได้แจ้งให้บุคคลสำคัญทั้งสองทราบว่า ในครั้งนี้  ทางการสหรัฐได้ส่งเข้ามาเพื่อติดต่อกับนายปรีดี พนมยงค์ และ พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัสโดยเฉพาะ เพื่อขอให้ทั้งสองได้ร่วมมือกันปฏิบัติงานในขบวนการเสรีไทย โดยสหรัฐอเมริกาจะให้การสนับสนุนทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะเป็นอาวุธยุทโธปกรณ์ การฝึกพลพรรค ตลอดจนการเมืองภายหลังสงคราม
 
ถ้าหากเสรีไทยยังไม่มีการร่วมมือกันอย่างเป็นเอกภาพ สหรัฐก็ไม่สามารถสนับสนุนได้อย่างเต็มที่ 

ณ เพลานั้นเอง นายปรีดี พนมยงค์ และพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส จึงได้จับมืออย่างแนบแน่นที่จะร่วมกันทำงานเพื่อชาติ และถือเป็นวันที่เริ่มงานในประเทศไทยอย่างจริงจังของอเมริกากับเสรีไทย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 20 พ.ย. 14, 09:11

วันรุ่งขึ้น นายปรีดีสั่งการให้เครือข่ายเสรีไทยในประเทศติดตามตัวร.ท.บุญมาก เทศะบุตร พบว่าร.ท.บุญมากหลบหนีไปถึงตัวเมืองแพร่ที่คุ้นเคย แล้วได้ครูบัวเขียว(รังคสิริ)ช่วยไว้ และเจ้าวงศ์แสนศิริพันธ์ได้ช่วยให้คนพามาส่งที่กรุงเทพ

นอกจากนั้นในเดือนกันยายนเดียวกัน นายปรีดี ได้มอบให้นายถวิล อดุล ผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมด้วย พ.ท.พระอภัยพลรบ ถือหนังสือไปมอบให้กับจอมพลเจียงไคเช็ค ที่นครจุงกิง โดยมี ร.ต.การุณ เก่งระดมยิง ร่วมเดินทางไปด้วย คณะของนายถวิล อุดล เดินทางถึงจุงกิงในต้นเดือนธันวาคม

ส่วน พล.ต.อ.อดุล หลังจากทราบเรื่องนี้ก็ได้อนุญาตให้ ร.ต.อ.โพยม จันทรัคคะ ดำเนินการประสานงานให้ส่งข่าวผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยคลื่นสั้นเป็นรหัสตามที่ได้ตกลงกับทางแคนดี เรื่องนี้ถือเป็นการอนุญาตย้อนหลังที่กระทำไปก่อนที่ท่านจะทราบ จนสำเร็จผลมาแล้ว สำหรับวิทยุและอุปกรณ์ต่างๆ ของเสรีไทยสายอเมริกาที่นำติดตัวมาและถูกตำรวจยึดไว้ ก็ได้นำมาคืนเพื่อตรวจซ่อมความชำรุดเสียหาย และใช้ในการติดต่อกับศูนย์ปฏิบัติเสรีไทยสายอเมริกาที่ซือเหมา


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 20 พ.ย. 14, 09:28

๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๗ 
ร.ต.เป้า ขำอุไร ติดต่อทางวิทยุกับศูนย์ปฏิบัติการที่ซือเหมาได้สำเร็จ โดยส่งวิทยุจากบ้านเลขที่ ๓๔๘ ซอยสวนอ้อย บ้านแม่ยายของ ร.ต.อ.โพยม นั่นเอง ผู้รับวิทยุทางทางซือเหมาได้แก่ ร.ต.วิเชียร วายวานนท์ กับ ร.ต.นิธิพัฒน์ ชาลีจันทร์ ศูนย์ปฏิบัติการซือเหมาได้รับทราบความสำเร็จในความร่วมมือเป็นเอกภาพของขบวนการเสรีไทย  และได้ติดต่อให้ทางแคนดีทราบทันที หลังจากนั้นเสรีไทยสายอเมริกาก็ได้ติดต่อกับ โอ.เอส.เอส.ที่แคนดี ทางวิทยุโดยตลอด

การที่เสรีไทยไปใช้สถานที่นี้รับส่งวิทยุบ่อยๆนั่นเอง ทำให้อานนท์ ณ ป้อมเพชรได้ตกหลุมรักลูกสาวเจ้าของบ้าน และต่อมาได้แต่งงานเข้ามาดองกับร.ต.อ.โพยมอีกคนหนึ่ง ในภาพคือนางอัมพร ทุกขนิโรธ เจ้าของบ้านผู้เสียสละ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 20 พ.ย. 14, 18:21

หลังจากนั้นก็พรั่งพรู

พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๗  
โอ.เอส.เอส. ส่ง ร.ต.เฉลิม จิตตินันท์ ร.ต.อุดมศักดิ์ ภาสวณิช และ ร.ต.สิทธิ เศวตศิลา เสรีไทยสายอเมริการุ่นที่ ๒  มาโดดร่มลงที่จังหวัดเชียงใหม่ ใกล้ดอยอิทนนท์ ตำรวจสันติบาลไปรับตัวนำมาอารักขาไว้ในธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ก่อนเข้าค่ายร.ต.อุดมศักดิ์สามารถใช้วิทยุติดต่อกับศูนย์ปฏิบัติการ ๔๐๔ ของ โอ.เอส.เอส. ที่แคนดีได้

ร.ต.กุศะ ปันยารชุน และ ร.ต.อานนท์ ศรีวรรธนะ เสรีไทยสายอเมริกา เดินทางโดยเรือดำน้ำมาขึ้นที่เกาะกระดาน จังหวัดตรัง และถูกควบคุมตัวขึ้นมาอารักขาไว้ในธรรมศาสตร์เช่นกัน

ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๗  
ร.ต.เสนาะ นิลกำแหง ร.ต.ประโพธิ เปาโรหิต และ ร.ต.เทพ เสมถิติ เสรีไทยสายอังกฤษแห่งกองกำลัง ๑๓๖ โดดร่มลงที่อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี โดยมีนายตำรวจสันติบาล และข้าหลวงจังหวัดอุทัยธานีไปคอยรับ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 20 พ.ย. 14, 19:18

ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๗ 
นายปรีดี ได้มีโทรเลขไปยังกองบัญชาการทหารสัมพันธมิตร ขอให้ระมัดระวังมิให้เครื่องบินสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดพระบรมมหาราชวัง และวังเจ้านายต่างๆ ตลอดจนที่ตั้งรัฐบาลไทย ซึ่งทางสัมพันธมิตรก็ได้ตอบรับว่าจะปฏิบัติตามคำขอร้องดังกล่าว

โอกาสเดียวกัน กองบัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรเอเชียอาคเนย์ ได้เชิญนายปรีดี ขอให้ส่งคณะผู้แทนทางทหารออกไปปรึกษาหารือที่แคนดี นายปรีดีตอบตกลง โดยจะส่งนายดิเรก ชัยนาม อดีตอัครราชทูตประจำโตเกียวและรัฐมนตรีต่างประเทศกับคณะไป  ครั้นรัฐบาลอังกฤษทราบเรื่องนี้ก็มีคำสั่งห้าม พล.ร.อ.ลอร์ด หลุยส์ เมาน์ทแบทเตน ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้พูดแต่เรื่องการรบเท่านั้น ห้ามเจรจาในเรื่องของการเมืองกับฝ่ายไทย
 
ก่อนสิ้นปิ พล.ต.อ.อดุลติดต่อขอส่งตำรวจชุดแรกออกไปฝึกการข่าวกรองที่อินเดีย โดยให้ ร.ต.สวัสดิ์ ศรีศุข พาออกไป  โดยอังกฤษได้ส่งเครื่องบินทะเลแคตาลินามารับที่หลังเกาะตะรุเตา จังหวัดสตูล  และนายสวัสดิ์ อุทัยศรี เสรีไทยสายศุลกากรเป็นผู้นำเรือไปส่ง ตำรวจสันติบาลชุดนั้นประกอบด้วย ร.ต.อ.อรัตน์ วัฒนมหาตม์ ส.ต.อ.ผัน สาตรปรุง ส.ต.ต.จวง โอบอ้อม พลฯ สุธี ไมตรีจิตต์ พลฯ ฉกรรจ์ กรรเจียก พลฯ วิบูลย์ ธรรมดุษฎี พลฯ วิทย์ ตุงคสามล ในเครื่องที่มานั้นมี ร.ต. ม.จ.การวิก จักรพันธ์ ได้บินมารับตำรวจไทยชุดนี้ด้วย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 20 พ.ย. 14, 20:11

พ.ศ.๒๔๘๘    

๑๓ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๘   
การประชุมร่วมระหว่าง ประธานาธิบดีรูสเวลต์แห่งสหรัฐอเมริกา นายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิลล์แห่งสหราชอาณาจักร และจอมพลโจเซฟ สตาลินแห่งสหภาพรัสเซีย ณ เมืองยัลตา แหลมไครเมีย ในเดือนกุมภาพันธุ์ที่จะมาถึงนั้น วันนี้กระทรวงต่างประเทศสหรัฐได้ทำบันทึกสำหรับท่านประธานาธิดี ที่จะใช้ในการสนทนาเรื่องสถานภาพในอนาคตของประเทศไทย มีสาระสำคัญว่า สหรัฐปรารถนาจะเห็นประเทศไทยที่มีเอกราชและมีเสรีภาพ  พร้อมด้วยประชาธิปไตยที่ไม่ถูกบั่นทอน และปกครองโดยรัฐบาลที่เลือกโดยตนเอง สหรัฐได้ติดต่อกับนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งได้ช่วยเหลือสัมพันธมิตรอย่างจริงจังในด้านข่าวกรอง และเป็นผู้ที่แสดงความประสงค์ที่จะให้ประเทศไทยทำสงครามต่อต้านญี่ปุ่น โดยให้กองทัพไทยทำการรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับสัมพันธมิตร


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 21 พ.ย. 14, 07:05

 ๒๔ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๘   
ร.ต.ทศ พันธุเสน ร.ต. ม.จ.จีริดนัย กิติยากร และ ร.ต.บุญส่ง พึ่งสุนทร แห่งกองกำลัง ๑๓๖ เดินทางโดยเครื่องบินจากกัลกัตตา พร้อมด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์และสัมภาระ โดดร่มลงที่สนามบินลับบนภูกระดึง โดยมี ร.อ.เสนาะ นิลกำแหง ร.ต.ประโพธิ เปาโรหิตย์ และ ร.ต.เทพ เสมถิติ และเสรีไทยภายในประเทศไปคอยรับ นายอุดม บุญประกอบ ข้าหลวงประจำจังหวัดขอนแก่น และนายอำเภอชุมแพ ได้ขึ้นไปรับบนภูกระดึง และพามาพักที่จังหวัดขอนแก่น ก่อนที่จะส่งตัวลงมาพบนายปรีดีที่กรุงเทพ

 ๒๖ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๘   
นายปรีดีได้ส่ง นายกนต์ธีร์ ศุภมงคล หัวหน้ากองการเมือง กรมการเมืองตะวันตก กระทรวงการต่างประเทศ ให้เดินทางไปกรุงวอชิงตัน เพื่อช่วย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เจรจากับฝ่ายสหรัฐเรื่องสถานภาพของประเทศไทยภายหลังสงคราม
 
เครื่องบินที่มารับนายกนต์ธีร์มีนายทหารอเมริกันมาด้วย ๒ นาย คือ พ.ต.ดิค กรีนลี และ ร.อ.จอห์น เวสเตอร์ พร้อมกับร.ต.พูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ เสรีไทยสายอเมริกา ถือว่าเป็นนายทหารอเมริกันชุดแรกที่เข้ามาประเทศไทย พ.ต.กรีนลี ก็กลับออกไปพร้อมกับแผนที่แสดงที่ตั้งของทหารญี่ปุ่นในประเทศไทยในอีก ๕ วันต่อมา
 
นายกนต์ธีร์ ได้พบกับนายสงวน ตุลารักษ์ ที่แคนดี และเสรีไทยทั้ง ๒ นาย ก็ได้เดินทางต่อไปกรุงวอชิงตัน พร้อมกับ พล.ต.วิลเลี่ยม โดโนแวน หัวหน้าหน่วย โอ.เอส.เอส.


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 22 พ.ย. 14, 08:06

๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๘    
งานฝ่ายการทูตด้านอังกฤษนั้น นายดิเรก ชัยนาม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้า  พร้อมด้วยพลโทหลวงชาตินักรบ(สุข ชาตินักรบ) และนายถนัด คอมันตร์ ซึ่งได้เดินทางโดยเครื่องบินทะเลจากบริเวณเกาะเต่าไปถึงแคนดี แต่โดยคำสั่งจากลอนดอน ทำให้คณะของนายดิเรกไม่ได้เข้าพบลอร์ดหลุยส์ เมาน์ทแบทเตน ได้แต่เจรจาฝากความกับ พล.ต.แมกแคนซี และนายเฮ็ม.อี.เดนนิงซึ่งเป็นเลขานุการแทน
 
ชะตากรรมของประเทศไทยหลังสงครามจะเป็นอย่างไร เป็นบทบาทของนักการทูตที่จำเป็นต้องอ้างอิงผลงานทางด้านการทหาร ระหว่างระยะเวลาที่เหลือน้อยนี้พลพรรคใต้ดินของเสรีไทยจึงจะต้องสร้างบทบาทให้เข้าตาสัมพันธมิตร เหมือนขบวนการฝรั่งเศสเสรีที่จับอาวุธเข้าต่อสู้กับนาซี จนได้ชื่อว่าเป็นฝ่ายชนะสงครามไปกับเขาด้วย ทั้งๆที่ตลอดหลายปี ฝรั่งเศสอยู่ใต้ท๊อปบู๊ตของเยอรมันโดยมีรัฐบาลวีชี่เป็นหุ่น
ในภาพเป็นการประชุมระหว่างฝรั่งเศสกับอเมริกาและอังกฤษ ซึ่งถือเป็นสัมพันธมิตรร่วมรบ อย่างว่าแหละนะ รัฐบาลวีชี่ของฝรั่งเศสไม่ได้บังอาจไปประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกา และออกอากาศยั่วยุ หมิ่นสถาบันสูงสุดของเขาเหมือนมหาอำนาจบางประเทศที่ประชาชนสวมมาลาตามคำสั่งท่านผู้นำ

จากซ้าย นายพลอองรี เจลฮ์ ประธานาธิบดีรูสเวลต์ นายพล ชาร์ล เดอ โกล และนายกรัฐมนตรีเชอร์ชิลล์


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 22 พ.ย. 14, 09:01

ดังนั้น ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๘ เป็นต้นมา งานของเสรีไทยก็เข้าสู่ขั้นตอนของการเตรียมการรบเพื่อขับไล่ญี่ปุ่นเคียงข้างกับกองทัพของสัมพันธมิตร

บทบาทของร.ต.อ.โพยม และคุณนายอัมพร ทุกขนิโรธเจ้าของบ้านที่สวนอ้อยได้หมดลงแล้ว เสรีไทยได้ย้ายที่ทำการส่งวิทยุไปอยู่ตามสถานที่ต่างๆที่ปลอดภัยมากขึ้น และเสรีไทยจากนอกและในประเทศได้ถูกส่งเข้าๆออกๆเป็นว่าเล่น เพื่อจัดทำสนามบินลับ และขนอาวุธเข้ามาฝึกการรบแบบกองโจรให้อาสาสมัคร ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศนับพัน ดังนี้

ร.ต.อรุณ สรเทศน์ และ ร.ต. ม.จ.การวิก จักรพันธุ์ จากกองกำลัง ๑๓๖ เดินทางโดยเครื่องบินมาโดดร่มลงที่จังหวัดสุโขทัย โดยมี ร.ต.ทศ ร.ต.บุญส่ง และ ร.ต.ม.จ.จีริดนัย ไปคอยรับ และได้ร่วมกับเสรีไทยในประเทศจัดตั้งค่ายฝึกพลพรรคและสร้างสนามบินลับที่จังหวัดตาก

นายสุภัทร สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง หัวหน้าชุด พร้อมด้วยนายโชติ พรโสภณ นายปิยะ จักกะพาก นายธวัช บุณยเกตุ นายเสริม บุญสุตม์ นายดำริ บุณย์ประสิทธิ์ และนายนิตย์ ตะเวทิกุล ออกเดินทางโดยเครื่องบินทะเลจากบริเวณเขาสามร้อยยอดไปรับการฝึกที่ศรีลังกา
 
นายวงศ์ พลนิกร หัวหน้าชุด พร้อมด้วยนายไชยณัฐ ธีรพัฒน์ นายแปลง คำเมือง นายถนอม นพวรรณ นายอำนวย สุวรรณกิจบริหาร นายละออ เชื้ออภัย นายประหยัด อดุลเดชจรุง และ พ.ท.เอกศักดิ์ ประพันธโยธิน  ออกเดินทางไปตามเส้นทางเดียวกัน นายแปลง คำเมือง และ ร.ต.ชโรช โล่ห์สุวรรณ ได้กลับเข้ามาปฏิบัติการในประเทศไทยภายหลังที่สำเร็จหลักสูตรการฝึกวิชาทหาร โดยโดดร่มลงที่จังหวัดแพร่
 
ต่อมาในเดือนกรกฎาคม เสริม บุญสุตม์ ได้นำทหารอเมริกัน ๔นายมาโดดร่มลงที่บริเวณมาบตาพุด จังหวัดระยอง คราวนั้นเสริมได้ประกอบวีรกรรม ซึ่งทำให้รับเหรียญกล้าหาญชั้นบรอนซ์สตาร์จากสหรัฐ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 22 พ.ย. 14, 10:11

“...พอออกจากแรงกูน คณะของผมก็ตามมาขึ้นเครื่องบิน จุดที่จะกระโดดลงคือที่มาบตาพุดจังหวัดระยอง ออกจากโน่นสี่ ห้าทุ่มนี่แหละ ก็มาถึงเขตที่จะมารับ เขามีไฟสัญญาณบอกไว้ พอมาถึงเขาก็โยนอาวุธ ทิ้งอาวุธลงมา ทั้งเครื่องอุปกรณ์ ทั้งหยูกยา พวกกระติกน้ำ รองเท้า เสื้อผ้า อะไรต่ออะไรทุกอย่าง พวกนี้มัดแล้วก็ถีบลงมา พวกอาวุธเท่านั้นที่เป็นหีบทิ้งร่มลงมา เมื่อทิ้งร่มแล้ว เครื่องบินก็ไต่ระดับขึ้นไป แล้วก็บอกว่าคนเตรียมตัวได้แล้ว คนแรกที่กระโดดคือกัปตัน ต่อมาคือ นิค ผมคนที่สาม คนที่สี่ เรด คนที่ห้า แจ็ค เขาบอกให้เตรียมตัวดูไฟสัญญาณตรงขอบประตูเอาขอเกี่ยวเชือก เปิดสัญญาณ พอไฟแดงวาบปั๊บ มีพนักงานคุมอยู่ตรงปากทางก็รีบทันที เพราะเขากำหนดต้องลงตรงเวลา และตรงจุดที่เขากะไว้ ผมลงตามติดๆกันหมดเลยทั้งห้าคน”

เสริมเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ ไม่เคยฝึกโดดจริงมาก่อนเลยแต่ต้องโดดร่มจากเครื่องบินในครั้งนี้ ปรากฏว่าร่มเกิดไปติดอยู่ที่หางไม่หลุดไปจากเครื่อง พอเอี้ยวตัวเชือกมันก็พันหมุนตีเกลียวเต็มที่ ลอยเคว้งหมุนไปหมุนมาอยู่หลายนาทีจนเครื่องบินเริ่มไต่ระดับขึ้นสูง มุ่งหน้าจะกลับฐานทัพแล้ว เสริมก็พยายามคู้ขาเข้าหาตัว ใช้มือดึงปืนออกมาได้แล้วยิงลอดขาจนหมดแมกกาซีน เสียงปืนที่ดังสอดเสียงเครื่องทำให้นักบินรู้ทันทีว่าเกิดอุบัติเหตุแล้ว จึงบินวนลดระดับลง แล้วพนักงานในเครื่องสองคนได้ช่วยกันดึงเสริมเข้าไปในเครื่องได้ แต่ไม่วายหัวฟาดเข้ากับขอบเครื่องบินจนบวม หน้าตาแตกหมดเพราะโดนเส้นผมตี เนื่องจากลมข้างนอกแรงมาก


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 22 พ.ย. 14, 10:34

พอถึงสนามบิน ทั้งคนไทยและอเมริกันต่างเฮกันมารับถึงเครื่อง นายทหารคนหนึ่งยื่นสารชมเชยในความกล้าหาญและแสดงความยินดีที่รอดชีวิตมาได้จากผู้บังคับบัญชาหน่วยซีแอคให้อ่าน ก่อนนำตัวส่งไปเช็คที่โรงพยาบาลทันที ปรากฏว่าเรียบร้อยดี อเมริกันเลยถามว่าพรุ่งนี้ยูไปอีกได้ไหม รู้ทีหลังว่าอเมริกันเป็นห่วงทหารทั้งสี่นายของเขามากว่าจะเป็นหรือตาย เพราะต้องอาศัยเสริม ตอนนั้นเสริมตอบว่าไม่มีปัญหา พอออกจากโรงพยาบาล ๖โมงเช้า เข้าไปห้องไปกินทานอาหารนิดหนึ่ง แล้วเข้าไปเช็คร่มตัวใหม่ เดินทางไปทำงานเลย ไปคนเดียว จุดเดิม

คราวนี้ร่มกาง แต่มีปัญหาที่ลมแรงพัดร่มไปติดยอดไม้ในป่าแสมชายทะเล แถมกิ่งหักหล่นลงพงหนาม พักใหญ่เสริมจึงได้ยินเสียงตะโกนเรียกหา บอกว่าเป็นส.ห.หน่วยพิเศษที่มารับ จึงได้ตะโกนตอบรับ หลังจากนั้นจึงได้พามาที่แคมป์วัดเขา จังหวัดชลบุรี เป็นหน่วยฝึกอาวุธของนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันมี พล.ร.ต.หลวงสังวรสุวรรณชีพ เป็นหัวหน้าหน่วย


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.131 วินาที กับ 19 คำสั่ง