เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: NAVARAT.C ที่ 10 พ.ย. 14, 15:17



กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 พ.ย. 14, 15:17
ผมเคยเขียนถึงท่านผู้มาแล้วนิดๆหน่อยๆ เพราะเพิ่งจะรู้จักท่านโดยบังเอิญขณะที่กำลังค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อเขียนเรื่อง “หลวงอดุล-หลวงพิบูล คู่รัก, พล.ต.อ อดุล-จอมพล ป. คู่แค้น”  ทำให้ยังคาใจอยู่ว่าผมเขียนเรื่องราวของท่านน้อยไป ไม่สมกับผลกับการที่ท่านได้ยอมเสี่ยงตัวเองเพื่อประโยชน์ใหญ่ของชาติ ตัดสินใจฝืนคำสั่งของนายที่ยึดมั่นถือมั่นแต่ตนเองแบบลุแก่อำนาจ ผลจากการตัดสินใจครั้งนั้น ได้ทำให้ชะตาของประเทศไทยพลิกผันข้ามจุดผ่านที่สำคัญในสงครามโลกครั้งที่ ๒  จากจะเป็นผู้แพ้สงครามอยู่แล้วมาเป็นไม่แพ้ ซึ่งถึงแม้จะไม่ใช่ผู้ชนะ แต่ก็พอที่จะช่วยให้ชาติไทยรักษาเอกราชอธิปไตยไว้ได้อย่างฉิวเฉียด

ในขณะที่หลายต่อหลายท่านกลายเป็นวีรบุรุษเสรีไทย คนๆนี้กลับถอยตนเองออกไปอย่างเงียบๆ และท้ายสุดในทุกวันนี้ ชื่อของท่านที่ปรากฏในโลกไซเบอร์ก็เป็นเพียงผู้เขียนบทวิชาการไม่กี่ฉบับ ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวอะไรกับประสพการทางการเมืองหรือบทบาทนายตำรวจสันติบาลที่ผ่านมาของท่านเลย กระทู้ที่แล้วผมจึงได้สรุปไว้ว่า วีรบุรุษตัวจริง “ร.ต.อ. โพยม จันทรัคคะเดินออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์เหมือนทหารนิรนาม ท่านดีกว่าพวกนั้นหน่อยที่ท่านรอดชีวิตจากสงคราม แต่ทหารนิรนามก็ดีกว่าท่าน ตรงที่มีผู้สร้างอนุสาวรีย์ให้ มีคนไปวางพวงมาลาทุกๆปี”

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3419.180 (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3419.180)

ตั้งแต่ คคห.ที่ ๑๙๑


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 พ.ย. 14, 15:19
กระทู้นี้ผมจึงขอเขียนอุทิศให้ท่านโดยเฉพาะ และมีความหวังว่าผู้สนใจในประวัติศาสตร์ของขบวนการเสรีไทย จะมีโอกาสคลิ๊กเข้ามาเจอ และทำความรู้จักวีรบุรุษหลังองค์พระปฏิมาท่านนี้บ้าง

เรื่องราวภายในของสันติบาล ปกติก็เป็นความลับที่บุคคลภายนอกจะเข้าไปรู้เรื่องอะไรด้วยนั้นยากยิ่ง เพราะถ้ามันโปร่งใสจะไปได้ฉายาว่าตำรวจลับอย่างไรได้ เท่าที่ผมหาเจอมีว่า กรมตำรวจยุคพล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส เป็นอธิบดีนั้น มี พล.ต.จ.ขุนศรีศรากร เป็นผู้บังคับการสันติบาล พ.ต.อ. หลวงสัมฤทธิ์สุขุมวาท เป็นรองผู้บังคับการ ร.ต.อ.รัตน์  วัฒนะมหาตม์ เป็นสารวัตรกองกำกับการ ๑ ทำหน้าที่ดูแลเรื่องต่างประเทศ ร.ตท.โพยม  จันทรัคคะ ทำงานอยู่กองนี้ นอกนั้นก็มีกองกำกับการ ๒  ร.ต.อ. ประสิทธิ์ รักประชาเป็นสารวัตร และกองกำกับการ ๓  ร.ต.อ. ชีพ ประพันธ์เนติวุฒิ เป็นสารวัตร


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 พ.ย. 14, 15:24
ผู้ที่จะมาเป็นนายตำรวจสันติบาลได้ก็ต้องมือระดับพระกาฬ ใครที่ถูกจัดว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองกับรัฐบาล มักจะไม่รอดพ้นจากการจับกุมด้วยข้อหาฉกาจฉกรรจ์ ตามนโยบายของเพื่อนรักนักปฏิวัติที่ย้ายจากกองทัพบกมาครองตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ ทำให้จอมพลแปลก พิบูลสงครามมีความมั่นคงในตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลอยู่ได้หลายปี ส่วนฝ่ายตรงข้าม ไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มอำนาจเดิมก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือกลุ่มอำนาจใหม่หลังช่วงชิงการปกครองมาได้ ก็ล้วนแต่มีอันเป็นไป ต้องโทษประหารบ้าง ถูกจำคุกอยู่บางขวางบ้าง โดนเนรเทศไปอยู่เกาะอันไกลโพ้นเพื่อให้ตายอย่างผ่อนส่งโดยชอบด้วยกฎหมายบ้าง หากญี่ปุ่นไม่ทำท่าจะเป็นฝ่ายแพ้สงคราม สงสัยจอมพล ป.จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีจนกระทั่งแก่ตาย

พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส แม้บางนิยามจะว่าเป็นคนตงฉิน เด็ดขาด เที่ยงธรรม แต่นั่นก็คือมุมมองที่ฝ่ายเดียวกับท่านเห็น หากมองจากมุมของฝ่ายที่โดนกระทำ ก็จะมีคำร้องทุกข์กล่าวโทษว่า อธิบดีตำรวจผู้นี้ อาจเที่ยงธรรมก็ในหมู่พรรคพวกของตนเอง แต่อยุติธรรมต่อผู้ที่ท่านระแวงว่าไม่ใช่พวกของท่าน ฉายา “นายพลตาดุ” นั้น ถ้าดุแค่สายตาก็ไม่มีความหมาย แต่นี่ ในยุคที่ท่านเถลิงอำนาจนั้น หากท่านจ้องไปที่ใครแล้วก็สามารถสั่งเป็นสั่งตายได้เลย
เรื่องนี้ คงไม่มีใครรู้ดีเท่าลูกน้อง  แม้แต่บรรดานายตำรวจสันติบาล จะมีใครหรือที่กล้าหือกล้าอือ ฝ่าฝืนคำสั่งนายคนนี้


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 พ.ย. 14, 15:39
ผมเพิ่งจะบรรลุความเข้าใจ หลังจากการอ่านหนังสือหลายเล่มที่ต่างคนต่างเขียนโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะยกย่องบุคคลที่ตนนิยมชมชอบ แต่ละเลยที่จะกล่าวถึงบุคคลอื่น อาจจะเป็นเพราะไม่ทราบว่าใครทำอะไรกันอยู่บ้างในตอนนั้น เพราะงานกู้ชาติของเสรีไทยมิได้ดำเนินไปอย่างมีเอกภาพ แต่ต่างคนต่างกระทำไปโดยมีจุดหมายร่วมกันอย่างเดียวที่จะขับไล่ญี่ปุ่นไปให้พ้นเมืองไทยเท่านั้น

การเอาบันทึกทั้งหลายมาปะติดปะต่อกันในคราวก่อน จึงปรากฏตัวประกอบที่ถึงระดับวีรบุรุษหลายคน  แต่ผมยังไม่พบว่าใครจะเล่าเรื่องของตนเองน้อยบรรทัดเท่า ร.ต.ท. โพยม จันทรัคคะ ดูท่านจะถ่อมตนมากต่อบทบาทที่แอบให้เสรีไทยสายอังกฤษซึ่งตำรวจจับมากักขังไว้ไม่ให้เคลื่อนไหวใดๆ ใช้วิทยุของกลางที่โดนยึดไว้ ติดต่อกับกองบัญชาการใหญ่ของสัมพันธมิตรที่เมืองแคนดี้ ศรีลังกาจนเป็นผลสำเร็จ ซ้ำยังแอบพาเสรีไทยผู้ถือหนังสือสำคัญของแม่ทัพอังกฤษมามอบให้ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ ไปพบนายปรีดี พนมยงค์โดยปกปิดไม่ให้นายทราบ การกระทำเหล่านี้ ถ้าพล.ต.อ.อดุลจับได้ก็เท่ากับกบฏต่อนาย ถ้าชีพไม่ดับอนาคตของท่านก็ต้องดับ
 
ดังนั้น หากเหตุการณ์ช่วงนี้ขาดจิ๊กซอร์ตัวเล็กๆอย่าง ร.ต.อ. โพยม จันทรัคคะ ป่านนี้อธิบดีกรมตำรวจก็คงยังเห็นเสรีไทยหน่อมแน้มอยู่นั่นเอง ประวัติศาสตร์ของชาติก็อาจจะหักเหไปอีกมุมหนึ่ง เพราะอังกฤษและอเมริกาคงยังไม่ไว้วางใจคนไทย  ขนาดอเมริกันยอมเสี่ยงให้เจ้าหน้าที่ของเขาลอบบินข้ามน้ำข้ามทะเลมาบอกให้พล.ต.อ.อดุลกับนายปรีดีจับมือกันทำงานเสียที ไอรำคาญเต็มทนแล้ว  นั่นแหละนายปรีดีกับหลวงอดุลจึงยอมยุติความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันลงชั่วคราวเพื่อชาติ

หลังจากหนทางเปิดโล่ง กำลังพลพรรคเสรีไทยจึงถูกส่งเข้ามาอีกมากมาย สามารถปฏิบัติการได้เต็มสูบในการฝึกอาวุธให้อาสาสมัครคนไทยจนพร้อมจะทำการรบขับไล่ญี่ปุ่นแล้ว แต่ต้องดึงๆไว้เพราะเมื่อขออนุญาตอเมริกันๆตอบกลับมาให้ใจเย็นๆไว้ก่อน อย่างเพิ่งดำเนินการใดๆจนกว่าไอจะพร้อม อีกไม่กี่วันต่อมาคำว่าพร้อมของอเมริกันจึงแปลความได้ว่า พร้อมปล่อยระเบิดปรมาณูลงฮิโรชิมาและนางาซากิ สงครามจึงยุติลงก่อนที่เลือดจะนองปฐพี สัมพันธภาพไทยกับญี่ปุ่นก็ไม่ชอกช้ำ                            


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 พ.ย. 14, 18:12
ก่อนจะถึงเหตุการณ์ช่วงนั้น ผมอยากจะย่อเรื่องราวของสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในเมืองไทยให้เป็นการปูพื้นกันก่อน ความจริงในเรือนไทยก็มีกระทู้ที่กล่าวถึงเรืองนี้อยู่ คือเรื่อง “เมื่อญี่ปุ่นบุก : ไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา” เปิดประเด็นโดยท่านอาจารย์เทาชมพู

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5000.0 (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5000.0)

ดังนั้น ท่านที่อยากรู้ความโดยละเอียดก็เชิญเข้าไปอ่านดู  ส่วนกระทู้นี้ผมจะว่าสั้นๆเป็นการโหมโรงโดยอาศัย “ประมวลเหตุการณ์และบุคคลที่เกี่ยวข้องในขบวนการเสรีไทย  ระหว่าง พ.ศ.๒๔๘๔ - ๒๔๘๘   รวบรวมโดย ดร.วิชิตวงศ์  ณ  ป้อมเพชร” เป็นเอกสารนำสืบ และ “ตำนานเสรีไทย โดยสำนักพิมพ์แสงดาว” ความหนาเกือบหนึ่งคืบเป็นบทขยาย


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 พ.ย. 14, 18:49
๘  ธันวาคม  พ.ศ.๒๔๘๔

เริ่มตั้งแต่เวลา ๒นาฬิกา  กองทัพญี่ปุ่นได้ยกทัพจากกัมพูชาบุกเข้าประเทศไทยทางชายแดนอรัญประเทศ และยกพลขึ้นบกที่บางปู  จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อมุ่งเข้ากรุงเทพ และตามหัวเมืองชายฝั่งทะเลต่างๆที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านอ่าวไทย ไล่ลงไปตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์  ชุมพร  สุราษฎร์ธานี  นครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี ทหาร  ตำรวจ  ยุวชนทหารและพลเรือนในพื้นที่  ได้ทำการต่อต้านอย่างกล้าหาญสุดความสามารถ ทั้งสองฝ่ายบาดเจ็บล้มตายเป็นอันมาก

หลังรีบเดินทางกลับจากชายแดนด้านอรัญประเทศของจอมพล แปลก พิบูลสงคราม  นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุดเพื่อมาเป็นประธานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีที่มาประชุมกันตั้งแต่หัวค่ำ เพราะทูตมายื่นขอให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านแดนไปรบกับอังกฤษที่พม่ากับมลายู แต่ตกลงใจอะไรไม่ได้ พอนายกมาก็มีมติยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่าน โดยมีข้อตกลงว่าญี่ปุ่นจะเคารพเอกราชอธิปไตย และเกียรติยศของประเทศไทย รัฐบาลมีคำสั่งให้หยุดการต่อต้านเมื่อเวลาประมาณ  ๐๗.๐๐ น.

ในตอนค่ำ นายปรีดี  พนมยงค์ ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจครั้งนี้ ได้นัดหมายให้กลุ่มบุคคลร่วมอุดมการณ์นับสิบคนมาคุยกันที่บ้านในตอนค่ำ และตกลงใจกันที่จะจัดตั้ง “องค์การต่อต้านญี่ปุ่น”  ทั้งในประเทศและต่างประเทศนับแต่วันนั้น  โดยนายปรีดีรับเป็นหัวหน้า

ในวันเดียวกันตามเวลาท้องถิ่น ม.ร.ว.เสนีย์  ปราโมช  อัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน  ได้เข้าพบนายคอร์เดล ฮัลล์  รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐเพื่อสอบถามเหตุการณ์ในประเทศไทย  และต่อมาได้แจ้งต่อรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐว่า ตนได้ประชุมปรึกษากันแล้ว  เจ้าหน้าที่สถานทูตทุกคนตกลงใจที่จะอยู่สหรัฐฯต่อไป และสถานทูตไทยอาจจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นด้วย


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 พ.ย. 14, 09:55
๑๑  ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งพิเศษ โดยนายกรัฐมนตรีแจ้งว่าญี่ปุ่นเสนอให้รัฐบาลไทยทำสัญญาร่วมมือเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น  ซึ่งจอมพล ป. เห็นว่าไหนๆก็ไหนๆ “เราจะเข้ากับเขาแล้ว  ก็เข้าเสียให้เต็ม ๑๐๐ เขาก็คงเห็นอกเห็นใจเรา  ส่วนการข้างหน้าจะเป็นอย่างไร  ทายไม่ถูก”  
เมื่อทายไม่ถูก ความเห็นดังกล่าวจึงถูกนายปรีดีและนายวิลาศ โอสถานนท์โต้แย้งรุนแรง แต่ไม่ว่าจะยกเหตุผลอะไร รัฐมนตรีส่วนใหญ่ที่เงียบเสียงก็ลงมติยกมือให้ข้างจอมพล ป. เรื่องการคัดค้านของนายปรีดีและนายวิลาศในการประชุมค.ร.ม.ครั้งนี้ได้รั่วไหลไปเข้าหูญี่ปุ่น แสดงว่ารัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งที่คบหากับญี่ปุ่นอยู่คงนำความไปเล่าให้เขาฟัง

๑๔  ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔  
ญี่ปุ่นเดินแผนใหม่  เสนอให้ทำสัญญาเป็นพันธมิตรต่อกัน  และขอให้รัฐบาลไทยส่งกำลังทหารไปร่วมรบกับญี่ปุ่นด้านประเทศจีน  โดยไทยกับญี่ปุ่นตกลงเรื่องเขตการรบ  โดยไทยรับผิดชอบตั้งแต่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวินถึงลำน้ำโขง

 ๑๕  ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔    
ญี่ปุ่นบีบจอมพล ป.ให้ปลดนายปรีดี  และนายวิลาศ ผู้มีความคิดเป็นปฏิปักษ์กับญี่ปุ่นพ้นจากคณะรัฐมนตรี การปรับค.ร.ม.คราวนี้ จอมพล ป.นายกรัฐมนตรี ควบคนเดียวสามตำแหน่งคือเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้วย

นายปรีดี  พนมยงค์ ได้ตำแหน่งใหม่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ ในองค์คณะที่ประกอบด้วยบุคคล ๓ท่าน

แม้นายปรีดีจะดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์  แต่ก็ยังคงอยู่ในตำแหน่งผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองต่อไป ม.ธ.ก.นี้นายปรีดีตั้งขึ้นแบบมหาวิทยาลัยเปิด ใครจบเทียบเท่ามัธยมแปดก็สมัครเข้าเรียนได้โดยไม่ต้องสอบแข่งขัน วิชาที่เรียนนั้นจบ ๔ปีแล้วได้ธรรมศาสตร์บัณฑิต หากินทางเป็นทนายความต่อได้ คนไทยทั้งเด็กและแก่จึงไปสมัครเรียนกันเป็นพันๆคน นายปรีดีจึงได้สานุศิษย์ส่วนหนึ่งเป็นฐานการเมืองของตน  และได้ใช้ธรรมศาสตร์เป็นที่ตั้งกองบัญชาการองค์การต่อต้านญี่ปุ่นที่จัดตั้งขึ้นแบบลับๆ


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 พ.ย. 14, 10:59
ภายหลังที่รัฐบาลไทยได้ตกลงทำสัญญาร่วมมือทางทหารกับญี่ปุ่นแล้ว  พล.ต.ต.อดุล  อดุลเดชจรัส  อธิบดีกรมตำรวจถูกสั่งให้เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการจับกุมตัวบุคคลสัญชาติอังกฤษและสัญชาติอเมริกัน ซึ่งกลายเป็นชนชาติศัตรูไปแล้ว ก่อนที่ญี่ปุ่นจะชิงจัดการเอง

พล.ต.ต.อดุล เป็นรัฐมนตรีอยู่ในค.ร.ม.ที่ไม่เห็นด้วยกับจอมพล ป. แต่ไม่กล้าขัดใจลูกพี่ และเพราะเข้าใจเจตนารมณ์ของนายปรีดีที่เปิดเผยในที่ประชุม จึงติดต่อขอให้นายปรีดีแบ่งสถานที่ส่วนหนึ่งของธรรมศาสตร์เป็นค่ายกักกันเชลยศึก เพราะเชื่อว่าผู้ถูกกักกันจะได้รับการดูแลความเป็นอยู่อย่างดีที่สุด ก่อนที่จะมีการแลกเปลี่ยนเชลยศึกและถูกส่งตัวกลับประเทศ
การให้การดูแลแก่คนอังกฤษและคนอเมริกันอย่างดียิ่งในค่ายกักกันมิให้ตกเป็นเชลยญี่ปุ่นนี้  ถือผลงานที่สำคัญประการหนึ่งของนายปรีดีและบุคคลากรของธรรมศาสตร์ ซึ่งส่งผลสนองภายหลังสงคราม


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 พ.ย. 14, 11:11
๒๑  ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔
ไทยกับญี่ปุ่นได้ลงนามต่อหน้าพระพุทธปฏิมากรพระแก้วมรกต ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในประกาศกติกาสัญญาพันธไมตรี ร่วมวงศ์ไพบูลย์ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและการทหาร แถมภาคผนวกลับท้ายสัญญาว่า ญี่ปุ่นจะช่วยให้ไทยให้ได้รับดินแดนที่ถูกอังกฤษกับฝรั่งเศสยึดไปในสมัยล่าอาณานิคมคืน  โดยไทยจะช่วยญี่ปุ่นทำสงครามเพื่อ “การสถาปนาระเบียบใหม่ในเอเชียบูรพา”เป็นการแลกเปลี่ยน

รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ นายแอนโทนี  อีเดน  ได้เรียกพระมนูเวทย์วิมลนาถ (เบี๋ยน  สุมาวงศ์) อัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอนไปแจ้งว่า อังกฤษได้ขอให้ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ดูแลผลประโยชน์ของอังกฤษในประเทศไทย  และได้สั่งเซอร์โจซาย อาครอสบี  อัครราชทูตอังกฤษประจำกรุงเทพให้เดินทางออกจากประเทศไทยแล้ว  แปลความหมายว่าหน้าที่ทูตของพระมนูเวทย์วิมลนาถได้สิ้นสุดลง ณ บัดนั้นเช่นกัน เชิญกลับประเทศได้


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 พ.ย. 14, 11:16
๒๔  ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔
รัฐบาลมีคำสั่งตั้งกองทัพพายัพ  ให้พล.ต.หลวงเสรีเริงฤทธิ์ เป็นแม่ทัพ ประกอบด้วยกองพลทหารราบ ๓ กองพล (กองพลที่ ๒ จากจังหวัดปราจีนบุรี  กองพลที่ ๓ จากจังหวัดนครราชสีมา กองพลที่ ๔ จากจังหวัดนครสวรรค์) กองพลทหารม้า ๑ กองพล และกรมทหารม้าอิสระ (กรมทหารม้าที่ ๑๒) ๑ กรม กับหน่วยขึ้นสมทบคือ ๑ กองพันทหารราบ ๒ กองพันทหารปืนใหญ่และ ๔ กองพันทหารช่าง เคลื่อนกำลังขึ้นไปตั้งมั่นในภาคเหนือ

วันเดียวกัน ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน  ยื่นบันทึกต่อกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ แจ้งว่าการกระทำของรัฐบาลไทยไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประชาชนชาวไทย

ส่วนรัฐบาลอังกฤษมีคำสั่งให้เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำกรุงวอชิงตัน  ยื่นบันทึกช่วยจำต่อกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐว่า  การที่รัฐบาลไทยทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นย่อมเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะประกาศสงครามกับไทยได้   แต่เนื่องจากมีคนไทยจำนวนมากที่วางตนเป็นปฏิปักษ์กับญี่ปุ่น  จึงสมควรให้ความสนับสนุน โดยอังกฤษจะยังไม่ประกาศสงครามกับไทย และจะไม่เริ่มดำเนินการทางทหารใดๆต่อไทย อังกฤษยังไม่ถือว่าประเทศไทยเป็นศัตรู  แต่เป็นดินแดนที่ถูกศัตรูยึดครอง 
สหรัฐตอบเห็นชอบด้วยกับความเห็นของอังกฤษ


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 พ.ย. 14, 14:07
ทหารญี่ปุ่นจำนวนมากได้เคลื่อนพลเข้าสู่พระนครเต็มไปหมด และได้ใช้สถานที่ทางราชการบางแห่งเป็นที่ทำการ รัฐบาลไทยได้ประกาศให้ญี่ปุ่นเป็นมหามิตร ประชาชนทุกคนต้องให้ความร่วมมือและสนับสนุนกับทางญี่ปุ่นอย่างเต็มที่ การกระทำใด ๆ ที่เป็นปรปักษ์มีโทษถึงประหารชีวิต

๘  มกราคม พ.ศ.๒๔๘๕
กรุงเทพมหานครถูกเครื่องบินอังกฤษจากฐานทัพในย่างกุ้งมาทิ้งระเบิดเป็นครั้งแรก โดยอังกฤษอ้างว่ามาทิ้งระเบิดทหารญี่ปุ่นที่ยึดครองกรุงเทพ

การทิ้งระเบิดครั้งนั้นค่อนข้างสะเปะสะปะเพราะเครื่องบินมาไกล ต้องรีบๆปลดระเบิดให้เสร็จจะได้หันหัวกลับ แม่คุณเจียวต้ายเขียนบันทึกไว้อย่างละเอียดยิบว่า ๑.ฝั่งธนบุรี บ้านเอกชนหลังหนึ่งถูกทำลาย ๒.เยาวราช ตึกแถวใกล้เจ็ดชั้นทลายและไฟไหม้ ๓.หัวลำโพง โรงรับจำนำและโรงแรมทลาย ๔.วัดตะเคียน เพลิงไหม้ไม้กระดาน ๕.บางรัก ไปรษณีย์กลางไม่เป็นอันตราย เพราะลูกระเบิดด้าน แต่ถูกโรงพยาบาล และบ้าน ร้านขายรองเท้า และ โรงเรียนอัสสัมชัญ ๖.ริมคลองหลอด เขื่อนพังเล็กน้อย กระทรวงมหาดไทยเสียหายห้องหนึ่ง

รวมทั้งหมดคนบาดเจ็บ ๑๑๒ คน เสียชีวิต ๓๑ คน โดยมากเป็นจีนและแขก


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 พ.ย. 14, 14:38
๒๓  มกราคม พ.ศ.๒๔๘๕
 
ฝ่ายคนไทยที่เชียร์ญี่ปุ่นได้เฮ เมื่อได้ข่าวว่าเรือประจัญบานปรินซ์ออฟเวล และรีพัลส์ ซึ่งเป็นเรือประจันบานอันทรงอานุภาพ ใหญ่ที่สุดของอังกฤษซึ่งประจำการอยู่ในเอเซียตะวันออก ถูกโจมตีโดยเครื่องบินรบของญีปุ่นจมนอกชายฝั่งเมืองกวนตันในมลายู อย่างไร้ทางสู้


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 พ.ย. 14, 14:43
วันรุ่งขึ้น เครื่องบินสัมพันธมิตรมาทิ้งระเบิดกรุงเทพอีก  คราวนี้ยิ่งสะเปะสะปะหนักขนาดพระที่นั่งอนันตสมาคมได้รับความเสียหายและมีผู้เสียชีวิต รัฐบาลถือโอกาสปลุกระดมให้คนไทยเกลียดอังกฤษและอเมริกัน


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 พ.ย. 14, 15:12
๒๕  มกราคม พ.ศ.๒๔๘๕
สงครามโลกด้านยุโรปขณะนั้น เยอรมันกำลังเป็นฝ่ายรุก หลังจากเข้ายึดครองฝรั่งเศสและประเทศใกล้เคียงอย่างเด็ดขาด ทหารอังกฤษต้องถอนทัพหนีข้ามช่องแคบอย่างทุลักทุเลแล้ว ก็ได้หันไปบุกรัสเซีย รุกไล่เข้าไปจนเกือบจะถึงสตาลินกราดแล้ว
ส่วนศึกรอบๆเมืองไทยนั้นเล่า แค่ยกแรก ญี่ปุ่นยังได้สำแดงฤทธิ์จมเรือประจันบานยักษ์ของอังกฤษทีเดียวถึงสองลำ กองทัพบกก็ตลุยเข้ามลายูและไม่ช้าสิงคโปร์ก็จะไปไหนเสีย ส่วนในพม่าญี่ปุ่นก็รุกคืบเกือบจะถึงย่างกุ้งเมืองหลวงของประเทศอยู่รอมร่อ  กุนซือข้างตัวจอมพล ป.จึงทำนายว่าอย่างนี้ไม่นาน เยอรมันก็จะสำเร็จศึกทางรัสเซียแล้วมุ่งตะวันออก มาบรรจบกับทัพญี่ปุ่นในอินเดียเพื่อปิดเกม ดังนั้นไทยควรจะถือโอกาสร่วมพันธมิตรกับญี่ปุ่นให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อจะเป็นฝ่ายชนะกับเขาด้วย

ด้วยเหตุดังกล่าว ประเทศไทยจึงออกอากาศประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา อ้างเหตุว่าเพราะอังกฤษมาทิ้งระเบิดเมืองไทย โดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ 
พระบรมราชโองการฉบับนี้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ลงพระนามและลงนามเพียง ๒คน คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และพลเอกเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน  ส่วนนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการฯอีกคนหนึ่งมิได้ร่วมลงนามด้วยเพราะหายตัวไปอย่างลึกลับ ต่อมาท่านอ้างว่าตนอยู่ต่างจังหวัดในวันนั้น


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 พ.ย. 14, 16:40
๓๐  มกราคม พ.ศ.๒๔๘๕
นักเรียนไทยในประเทศอังกฤษทำหนังสือถึง ม.ร.ว.เสนีย์  ปราโมช  อัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน  แจ้งให้ทราบว่า คนไทยในอังกฤษมีความปรารถนาจะเข้าร่วมในขบวนการเสรีไทย  และขอเชิญให้ ม.ร.ว.เสนีย์เดินทางมาอังกฤษ

ก่อนหน้านั้น พระมนูเวทย์วิมลนาถ  อัครราชทูตไทยได้แนะนำให้นักเรียนไทยเดินทางกลับประเทศตามคำสั่งของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด แต่หลายคนได้ปรึกษากันแล้วเห็นว่าควรจะขัดขืน และน่าจะจัดตั้งคณะเสรีไทยขึ้นในอังกฤษเช่นเดียวกับในสหรัฐอเมริกา ทว่าเรื่องนี้มีปัญหาที่ทาบทามแล้วไม่มีผู้ใหญ่จะยอมรับเป็นผู้นำ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ ทรงปฏิเสธว่าไม่มีพระประสงค์จะเกี่ยวข้องกับการเมือง  และได้ทรงสมัครเข้ารับหน้าที่ในกองรักษาดินแดนของอังกฤษอยู่แล้ว   สำหรับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี  พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗  และ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงส์สนิท สวัสดิวัตน์ พระเชษฐา สนพระทัยที่จะร่วมงานกับเสรีไทย แต่ทรงขัดข้องว่าหากทรงรับเป็นผู้นำ อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดในด้านการเมืองในประเทศไทยได้


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 พ.ย. 14, 11:33
๖  กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๕  
อังกฤษประกาศสงครามตอบไทย  ประเทศต่างๆในเครือจักรภพอังกฤษ  เช่น ประเทศแคนนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์เป็นต้น  ได้ถือโอกาสร่วมขบวนประกาศสงครามกับไทยด้วย

๑๕  กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๕  
กองทัพอังกฤษในสิงคโปร์ยอมแพ้ญี่ปุ่นโดยไม่มีเงื่อนไข ฐานะของจอมพล ป. เข้มแข็งขึ้น

๒๒  เมษายน พ.ศ.๒๔๘๕  
รัฐบาลส่งคณะทูตสันถวไมตรี นำโดยพล.ท.พจน์ พหลโยธิน(พระยาพหลพลพยุหเสนา)อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางไปกระชับสัมพันธไมตรีที่กรุงโตเกียว เป็นเวลา  ๑  เดือน


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 พ.ย. 14, 12:47
พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๕
กองพลที่ ๓  แห่งกองทัพพายัพ เข้าประทะกับกองพลที่ ๙๓ ของฝ่ายจีนก๊กมินตั๋งภายใต้บังคับบัญชาของจอมพลเจียงไคเช็ค ซึ่งอังกฤษได้มอบพื้นที่ยึดครองให้ก่อนที่จะถอนตัวออกจากรัฐฉานของพม่า มีการปะทะเล็กน้อยก่อนทหารจีนจะปล่อยให้ทหารไทยเข้ายึดนครเชียงตุงไว้ได้


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 พ.ย. 14, 13:15
เดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๕ เช่นกัน นักเรียนไทยจำนวนประมาณ ๓๐คน ได้มาร่วมประชุมกับข้าราชการสถานอัครราชทูตที่กรุงวอชิงตัน  ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช แจ้งว่ารัฐบาลสหรัฐต้องการอาสาสมัครไปทำงานจารกรรมในเมืองไทย จก ณ ระนองนักเรียนทุนหลวงจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดถามว่า อาสาสมัครคนไทยเหล่านี้จะถือว่าทำงานให้แก่ใคร ม.ร.ว. เสนีย์ตอบว่าทำงานให้สถานทูตไทย นายจกกล่าวว่า ถ้าให้ทำเพื่อสถานทูตไม่เอา แต่ทำเพื่อชาติจะยินดีเสียสละ พร้อมกับให้ความเห็นว่าคนไทยควรรวมตัวกันอย่างอิสระเพื่อต่อต้านศัตรูเช่นเดียวกับขบวนการฝรั่งเศสเสรี ที่รัฐบาลประเทศสัมพันธมิตรให้การรับรอง ที่ประชุมเห็นด้วย จึงตกลงใช้คำว่าเสรีไทย (Free Thai) สำหรับจัดตั้งกลุ่มต่อต้านญี่ปุ่นในเมืองไทยขึ้นอย่างเป็นทางการตามข้อเสนอของ จก  ณ ระนองนับจากนั้น


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 พ.ย. 14, 14:33
ผู้เข้าประชุมตกลงตั้งกรรมการเสรีไทยขึ้น โดยมี ม.ร.ว. เสนีย์เป็นประธาน การทำงานแยกออกเป็นสองส่วนคือ งานการเมืองมีสถานอัครราชทูตรับผิดชอบ การทหารหรืออาสาสมัครเสรีไทย มี พันโท หม่อมหลวงขาบ กุญชร ทูตทหารประจำสหรัฐอเมริกา เป็นผู้บังคับบัญชา


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 พ.ย. 14, 07:34
๔  มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๕   
นายมณี  สาณะเสน  เดินทางจากกรุงวอชิงตันถึงกรุงลอนดอน  ก่อนออกเดินทาง กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐได้ให้ความเห็นชอบปฏิบัติการนี้

นายมณีได้ติดต่อสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษเพื่อขออนุมัติเดินทางไปลอนดอนด้วยวัตถุประสงค์  ๓ ประการ
(๑) ประสานงานกับคนไทยในอังกฤษและยุโรป 
(๒) ปรึกษาหารือกับฝ่ายอังกฤษและสหประชาชาติในการประชาสัมพันธ์
(๓) คัดเลือกบุคคลเพื่อจัดตั้งหน่วยทหารอาสาสมัครที่จะส่งเข้าไปปฏิบัติการในประเทศไทย



กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 พ.ย. 14, 07:43
๑๓  มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๕
ประธานาธิบดีรูสเวลต์แห่งสหรัฐฯ  ออกคำสั่งจัดตั้งสำนักงาน  โอ.เอส.เอส. (OSS -The Office of Strategic Services) ขึ้น มีหน้าที่ประมวลข่าวกรองทางยุทธศาสตร์ เพื่อวางแผนการรบแบบกองโจรหลังแนวรบของศัตรู ร่วมกับกลุ่มต่อต้านในดินแดนที่ถูกยึดครอง และได้เริ่มการฝึกทหารเสรีไทยสายอเมริการุ่นที่ ๑  จำนวน ๒๑นาย  เพื่อเดินทางเข้าไปปฏิบัติการในประเทศไทย
 
สิงหาคม  พ.ศ.๒๔๘๕     
เสรีไทยสายอังกฤษได้ถูกจัดตั้งขึ้นเป็นผลสำเร็จจากการประสานงานของนายมณี  สาณะเสน แต่ต้องเข้าเป็นพลทหารในหน่วยการโยธาของกองทัพบกอังกฤษเพื่อทดสอบความจริงใจ ก่อนที่จะส่งไปปฏิบัติงานในหน่วยอื่นๆ ตามคุณวุฒิและความรู้ความสามารถของแต่ละบุคคล สำหรับผู้ที่ตรวจร่างกายไม่ผ่านและพวกสตรีก็ปฏิบัติงานในด้านพลเรือน

ระหว่างครึ่งปีหลังของ พ.ศ.๒๔๘๕  เสรีไทยทั้งสายอังกฤษและสายอเมริกาที่สมัครเป็นทหาร  ได้รับการฝึกอย่างหนักเพื่อเตรียมตัวเดินทางไปปฏิบัติการในภาคพื้นเอเชีย


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 พ.ย. 14, 08:49
     พ.ศ.๒๔๘๖
   

๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๖   
ญี่ปุ่นเริ่มเพลี่ยงพล้ำในหลายสมรภูมิ จึงกระตุ้นรัฐบาลไทยให้สั่งกองทัพพายัพทำการรุกครั้งที่ ๒ โดยเคลื่อนเข้าประชิดดินแดนจีนตามแนวแม่น้ำลำ คราวนี้จอมพล ป.พิบูลสงครามเริ่มกลยุทธถอยฉากทางการเมือง โดยสั่งการเป็นทางลับให้พยายามติดต่อกับทหารจีนคณะชาติให้ตกลงเล่นละครกัน รบหลอกๆเพื่อลวงญี่ปุ่น

กองพล ๙๓ของจีนไม่ได้เห็นไทยเป็นศัตรูที่คู่ควรจะมาเสียเลือดเนื้อให้ นอกจากญี่ปุ่นแล้วยังมีทหารจีนคอมมิวนิสต์ นำโดยนายพลเหมาเจ๋อคุงที่รบติดพันกันก่อนที่ญี่ปุ่นจะเข้ามาขัดจังหวะ คือศัตรูตัวจริงที่รอจังหวะจะห้ำหั่นกันต่อ จึงยอมเอออวยเล่นละครกับไทยเพื่อถนอมกระสุนและชีวิตทหาร


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 พ.ย. 14, 09:20
๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๖   
นายปรีดีมอบหมายให้จำกัด พลางกูร ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด  และเป็นสมาชิกขบวนการเสรีไทยในประเทศ เล็ดลอดออกไปพบกับจอมพลเจียงไคเช็ค ที่จุงกิงเมืองหลวงเฉพาะกิจ ก๊กมินตั๋งเป็นจีนที่อยู่ในฝ่ายสัมพันธมิตร นายปรีดีจึงคิดว่าน่าจะช่วยประสานงานกับอเมริกาและอังกฤษให้ช่วยเหลือได้
นายจำกัดและคณะเดินทางผ่านนครพนมไปท่าแขก แล้วเดินทางข้ามเวียดนามเข้าสู่ประเทศจีน เพื่อหาทางบอกกล่าวเรื่องขบวนการเสรีไทยในประเทศ
 
กรุงวอชิงตันได้รับทราบรายงานเรื่องราวของนายจำกัด ผ่านรัฐบาลจีนในปลายเดือนมีนาคม แต่ยังสงวนท่าทีอยู่


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 พ.ย. 14, 09:55
๑๔ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๖   
เสรีไทยสายอเมริการุ่นที่ ๑ จำนวน ๒๑ นาย เดินทางจากสหรัฐมาขึ้นบกที่เมืองบอมเบย์ ประเทศอินเดีย ก่อนที่จะเดินทางไปพรมแดนแล้วขึ้นเครื่องบินข้ามเทือกเขาหิมาลัยไปเมืองจุงกิง ประเทศจีน เพื่อรอคำสั่งให้เข้าปฏิบัติการในเมืองไทย

เสรีไทยสายอังกฤษที่ผ่านการฝึกเข้าบรรจุเป็นทหารจำนวน ๓๖ นาย ได้ออกเดินทางจากท่าเรือเมืองลิเวอร์พูลตั้งแต่ ๑๙ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๖   มาเมืองบอมเบย์ประเทศอินเดีย ก่อนถูกส่งต่อไปถึงเมืองปูนาในศรีลังกา ในเดือนนี้ เพื่อทำการฝึกเฉพาะทางก่อนส่งเข้าปฏิบัติการในเมืองไทยเช่นกัน


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 พ.ย. 14, 10:24
มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๖
นายปรีดีวางแผนเหนือเมฆ โดยชักชวนให้นายทวี บุณยเกตุ  ซึ่งเพิ่งลาออกจากรัฐมนตรีเพราะถูกจอมพล ป.เขม่น ให้เข้าร่วมในขบวนการเสรีไทย หลังจากนั้นก็ได้ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสายของตน เสนอญัตติและลงมติเลือกนายทวี เป็นประธานสภา ซึ่งหากสำเร็จตามแผน นายปรีดีในฐานะผู้สำเร็จราชการ นายทวี ประธานสภา และม.ล.กรี เดชาติวงศ์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรี จะเล็ดลอดออกไปตั้งรัฐบาลไทยพลัดถิ่นในอินเดียอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ
 
ผลปรากฏว่าสภาผู้แทนราษฎรลงมติด้วยเสียงส่วนใหญ่เลือกนายทวี บุณยเกตุ เป็นประธานสภา และพ.ต.ควง อภัยวงศ์ เป็นรองประธานสภา แต่เนื่องจากความขัดแย้งส่วนตัว จอมพล ป.จึงไม่ยอมลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ นายทวีและนายควง จึงต้องลาออกจากตำแหน่งทั้งคู่

เมื่อนายทวีไม่ได้เป็นประธานสภาแผนนี้จึงเป็นอันถูกระงับ นายปรีดีเลยต้องฝากความหวังไว้กับนายจำกัด พลางกูร ซึ่งปฏิบัติการอยู่ในจุงกิงเท่านั้น


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 พ.ย. 14, 10:53
๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๖
พลเอกฮิเดกิ โตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เดินทางโดยเครื่องบินถึงกรุงเทพ และได้เข้าพบ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ในวันรุ่งขึ้น ทั้งสองได้ตกลงในหลักการที่จะมอบดินแดนทางเชียงตุงและ ๔ รัฐในมลายูให้กับไทยเป็นของขวัญ


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 พ.ย. 14, 11:30
สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๖
ในเมืองจุงกิง นายจำกัด พลางกูร ได้เข้าพบเอกอัครราชทูตสหรัฐ และได้แจ้งให้ทราบถึงการก่อตั้งขบวนการใต้ดินขึ้นภายในประเทศไทย และได้เข้าพบ เซอร์ โฮรัส เซย์มัวร์ เอกอัครราชทูตอังกฤษ เพื่อปรึกษาเรื่องการที่จะจัดตั้งรัฐบาลเสรีไทยพลัดถิ่นขึ้นในอินเดีย จึงได้รับแจ้งเรื่องขบวนการเสรีไทยที่ถูกจัดตั้งในอเมริกาและอังกฤษ โดยทูตทั้งสองแนะนำให้ประสานงานกันเองก่อน

นายจำกัด ใช้เวลาไปถึง ๔เดือนในประเทศจีนกว่าจะได้ถึงขั้นนั้น เพราะถูกเจ้าหน้าที่จีนขัดขวางและอำนวยความลำบากให้ตลอดตั้งแต่ผ่านชายแดนเข้าไป นโยบายเบื้องลึกนั้น รัฐบาลเจียงไคเช็กเห็นว่าไทยอยู่ภายในเขตอิทธิพลของจีน จึงไม่ต้องการให้ฝ่ายไทยติดต่อกับอังกฤษหรืออเมริกาโดยตรง จึงหาทางประวิงการทำงานของนายจำกัดให้ล่าช้าเข้าไว้

ต่อมาอังกฤษก็ได้ส่งพ.ต. ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน เสรีไทยสายอังกฤษ ให้เดินทางจากอินเดียมาพบนายจำกัดที่จุงกิง  ซึ่งจากข้อมูลของนายจำกัดที่ม.จ.ศุภสวัสดิ์ยืนยันว่าน่าเชื่อถือได้ ทำให้อังกฤษได้ตัดสินใจวางแผนติดต่อกับนายปรีดี ด้วยการส่งเสรีไทยลักลอบเข้าสู่ประเทศไทย

ต่อจากนั้น ม.จ.ศุภสวัสดิ์ได้รับมอบอำนาจจากอังกฤษให้ส่งคนเดินสารชาวจีนจากยูนนาน เดินทางเข้ามากรุงเทพ โดยถือหนังสือจากกองทัพอังกฤษถึงนายปรีดี พนมยงค์ ใช้โค็ดลับว่า “รูธ – Ruth” ขอให้จัดการรับเสรีไทยสายอังกฤษชุดแรกที่จะเดินทางโดยเรือดำน้ำ มาขึ้นบกที่ฝั่งทะเลตะวันตกของประเทศไทยในเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๖
(แต่กว่า “รูธ” จะได้รับสารนั้นก็เป็นเวลาภายหลังเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๗ แล้ว)


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 พ.ย. 14, 12:25
 ๒๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๖
จอมพล ป.พิบูลสงคราม กับเอกอัครราชทูตซึโบกามิ ได้ลงนามในสัญญาว่าด้วยอาณาเขตประเทศไทย ซึ่งเพิ่มดินแดนรัฐกลันตัน ตรังกานู เกดาห์ ปะลิส ในมลายู เชียงตุงในพม่า และเมืองพานในลาว มาเป็นของไทย ซึ่งมีอารัมภบทว่า เพื่อประโยชน์ในการดำเนินสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐ ให้บรรลุชัยชนะบริบูรณ์ และเพื่อสร้างมหาเอเชียบูรพาบนมูลฐานความยุติธรรม และมีการสวนสนามที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ฉลองการได้ดินแดน

(ไทยได้ส่งข้าราชการไปปกครองในเมืองดังกล่าวเหล่านี้แบบเช้าชามเย็นชามตามถนัด เมื่อสงครามเลิก ทุกคนต่างรีบขนข้าวขนของกลับบ้านแบบรู้งาน ก่อนที่เจ้าของดินแดนตัวจริงจะจับอาวุธเข้าขับไล่

ที่เชียงตุงนั้น รัฐบาลสั่งปลดประจำการทหารเกณฑ์ทันทีที่ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ และไม่จัดยานพาหนะส่งให้ถึงจังหวัดต้นสังกัด ทุกคนจึงต้องขวนขวายหาทางช่วยตนเอง ตรงนี้เองที่เกิดวลีว่า “เดินนับไม้หมอนกลับบ้าน”)


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 พ.ย. 14, 13:39
๒๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๖
รัฐมนตรีประเทศสหรัฐ คอร์เดล ฮัลล์ ชี้แจงท่าทีของรัฐบาลสหรัฐต่อขบวนการเสรีไทยให้สำนักงานโอ.เอส.เอส.ทราบ มีสาระสำคัญว่า สหรัฐถือว่าไทยเป็นเอกราช แต่ตกอยู่ในการยึดครองของกองทัพญี่ปุ่น สหรัฐไม่รับรองรัฐบาลพิบูลสงครามแต่ไม่ประกาศสงครามตอบ สหรัฐรับรองม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ในฐานะหัวหน้าเสรีไทย และสนับสนุนขบวนการเสรีไทยที่จัดตั้งขึ้นในสหรัฐ รัฐบาลสหรัฐถือว่านายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการฯ เป็นตัวแทนที่สืบเนื่องของรัฐบาลไทย และเชื่อว่านายปรีดีเป็นผู้นำขบวนการเสรีไทยในประเทศไทย

แต่สรุปในตอนท้ายว่า ทั้งหมดนี้ถือเป็นนโยบายชั่วคราวระหว่างรอการแสดงออกที่ชัดเจนของประชาชนชาวไทย


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 พ.ย. 14, 13:50
๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๖
นายจำกัด พลางกูร ถึงแก่กรรมที่จุงกิง
(ถือว่าเป็นเสรีไทยคนแรกที่ได้สละชีพเพื่อชาติ ภายหลังสงครามอดีตเสรีไทยผู้นี้ได้รับยศทหารเป็นพันตรี รวมทั้งได้รับการจารึกชื่อไว้ ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ)


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 พ.ย. 14, 13:56
๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๖  
เปิดการประชุมนานาชาติแห่งมหาเอเชียบูรพาในกรุงโตเกียว โดยมี พลเอก โตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเป็นประธาน สำหรับผู้แทนประเทศต่างๆ ได้แก่ ประธานาธิบดีวังจิงไวแห่งรัฐบาลจีนนานกิง ประธานาธิบดีจังจิงฮุยแห่งแมนจูกัว ประธานาธิบดีโฮเซลอร์เรลแห่งฟิลิปปินส์ ประธานาธิบดีบามอร์แห่งพม่า และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ที่ปรึกษาการต่างประเทศ จากประเทศไทย(ที่ ๕จากซ้าย ติดกับนายพลโตโจ) นอกจากนี้ยังมีนายสุภาส จันทรโภส หัวหน้ารัฐบาลอินเดียอิสระ ในฐานะผู้สังเกตการณ์

การประชุมซึ่งมีจนกระทั่งวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ได้ตกลงในหลักการที่จะปลดเปลื้องมหาเอเชียบูรพาจากมหาอำนาจตะวันตก และร่วมมือกันสร้างระเบียบใหม่ขึ้น


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 พ.ย. 14, 14:08
พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๖ 
ร.ต.สวัสดิ์ ศรีสุข กับ ร.ต.พัฒพงศ์ รินทกุล เสรีไทยสายอังกฤษคู่แรก เดินทางโดยเรือดำน้ำของอังกฤษชื่อ “เทมปล้าร์” จากฐานทัพทรินโกมาลี ในศรีลังกา มาขึ้นบกที่บ้านท้ายเหมือง จังหวัดพังงา เพื่อสืบสถานการณ์ทั่วไปในภาคใต้ของประเทศไทย แล้วนัดหมายวันรับกลับ

ทั้งคู่พลาดเรือดำน้ำที่มารับตามนัดล่าช้า จึงแยกกันทำงาน
 
ในเวลาไล่เลี่ยกัน กองกำลัง ๑๓๖ ได้ส่ง ร.ต.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ร.ต.ประทาน เปรมกมล และ ร.ต.สำราญ วรรณพฤกษ์ โดยเรือดำน้ำจากลังกา เพื่อไปขึ้นบกที่จังหวัดพังงาเช่นเดียวกัน ตามที่ได้นัดหมายให้ขบวนการเสรีไทยในประเทศคอยรับ แต่เนื่องจากไม่มีใครในประเทศได้รับการติดต่อจากคนเดินสาร จึงไม่มีผู้ไปคอยรับ ทำให้นายทหารเสรีไทยทั้ง ๓ต้องเดินทางกลับศรีลังกา และเข้าฝึกการโดดร่มเพื่อเดินทางเข้าประเทศไทยอีกครั้งทางเครื่องบินพร้อมเครื่องรับส่งวิทยุ

(อีก ๓ เดือนต่อมา ร.ต.พัฒพงศ์ทราบข่าวว่ามีเสรีไทยกลุ่มหนึ่งอยู่ในความดูแลของตำรวจอย่างปลอดภัย จึงเดินทางเข้ากรุงเทพ เมื่อเข้ามอบตัวกับ พล.ต.ต.อดุล อดุลเดชจรัสแล้วจึงเดินทางไปรับ ร.ต.สวัสดิ์ ศรีศุข ขึ้นมากรุงเทพด้วย)


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 พ.ย. 14, 06:20
พ.ศ.๒๔๘๗

๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๗
สัมพันธมิตรเริ่มตีโต้ฝ่ายอักษะอย่างหนัก ในเอเซียนั้นญี่ปุ่นตกเป็นฝ่ายปราชัยแก่สหรัฐทุกแนวรบ

จอมพล ป.พิบูลสงคราม สั่งพล.ต.หลวงหาญสงคราม (พิชัย หาญสงคราม) ผ.บ.กองพลที่ ๓ แห่งกองทัพพายัพ ซึ่งประจัญหน้าอยู่กับกองพลที่ ๙๓ ของจีน โดยมีลำน้ำลำเป็นเส้นแบ่งเขตแดน ให้ติดต่อกับ ผ.บ.กองพลที่ ๙๓ ของจีน เพื่อหาช่องทางเจรจาปรับความเข้าใจและผูกไมตรีระหว่างกองทัพไทยกับจีน
คณะผู้แทนของกองพลที่ ๓ ที่มีพ.ท.หลวงไกรนารายณ์ (อาจ ณ บางช้าง)เป็นหัวหน้า จึงได้ไปขอเข้าพบกับ ผ.บ.กองพลที่ ๙๓ ที่เมืองเชียงล้อ ซึ่งได้รับการต้อนรับดี
 
แต่หลังจากที่ พล.ต.หลวงหาญสงคราม ได้รับหนังสือของ พ.ท. ม.ล.ขาบ กุญชร หัวหน้าเสรีไทยสายอเมริกาซึ่งขณะนั้นนำคณะเดินทางมาอยู่ที่ซือเหมา ได้ฝากคนนำสารเข้ามาแจ้งว่าเสรีไทยได้เข้ามาปฏิบัติการในจีนแล้ว ขอให้ส่งนายทหารไทยไปติดต่อด้วย พล.ต.หลวงหาญสงครามจึงได้ส่งนายทหารชุดเดิมไปพบ พล.ต.ลิววิเอ็ง ผ.บ.กองพล ๙๓ ที่เชียงล้ออีกครั้ง เพื่อขออำนวยความสะดวก แต่คราวนี้ฝ่ายจีนกลับไม่ยอมให้ พ.ท. ม.ล.ขาบ ซึ่งเดินทางมารบพบที่เชียงล้อ ได้พบกับคณะนายทหารจาก พล. ๓ของไทย

(รัฐบาลก๊กมินตั๋งของเจียงไคเช็กคาดการณ์ว่า หากญี่ปุ่นแพ้สงคราม ทหารจีนคงจะได้รับมอบหมายจากสัมพันธมิตรให้เข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นและไทยในฐานะผู้แพ้สงคราม จึงไม่อยากให้เรื่องพลิกผันไปเป็นอื่น)


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 พ.ย. 14, 06:52
(เป็นโชคดีของไทยหลายต่อ เพราะนอกจากจะไม่เป็นอย่างที่เจียงไคเช็กคาดแล้ว พอญี่ปุ่นวางอาวุธยุติสงคราม และทหารจีนกำลังเตรียมเคลื่อนพลเข้ากรุงเทพ คนจีนนกรู้ก็ชักธงชาติจีนกันพรึ่บแถวเยาวราชรอต้อนรับอยู่แล้ว เสรีไทยต้องรีบแจ้งให้กองทัพอังกฤษรีบเข้ามากันท่า แต่ขณะที่ยังไม่พร้อม ทางโน้นจีนคอมมิวนิสต์อันมีรัสเซียหนุนหลังก็ได้เปิดฉากทำการรบรุกศัตรูทางการเมืองภายในประเทศทันที จีนก๊กมินตั๋งซึ่งสหรัฐป้อนอาวุธให้ได้พยายามต่อสู้เต็มที่ แต่ในที่สุดก็แพ้พ่ายต้องอพยพครัวเรือนทรัพย์สมบัติหนีไปเกาะไต้หวัน ลอยแพให้กองพล ๙๓ เคว้งคว้างอยู่บริเวณชายแดนพม่า พม่าก็ส่งกองทัพขึ้นไปขับไล่ให้พ้นบ้านเขา จนไต้หวันต้องนำเครื่องบินมาอพยพไปอยู่ด้วยกัน  ทหารจีนส่วนหนึ่งที่ไม่ยอมไปก็ทะลักเข้ามาทางดอยแถบชายแดนภาคเหนือ ทำมาหากินด้วยการปลูกฝิ่นขายอยู่หลายสิบปี ไทยจะทำอะไรรุนแรงอเมริกันก็คอยเบรคๆไว้ กว่าที่จะส่งเงินมาอุดหนุนให้รัฐบาลไทยเปลี่ยนพฤติกรรมคนกลุ่มนี้ ใช้เวลาหลายทศวรรษกว่าจะยอมปลูกพืชเมืองหนาวขายอย่างทุกวันนี้ได้) 


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 พ.ย. 14, 06:58
กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๗
ระยะนี้ทั้งเดือน กรุงเทพถูกเครื่องบินสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดหลายครั้ง

นายทหารเสรีไทยสายอเมริกาเริ่มเดินทางจากซือเหมาเข้าสู่ประเทศไทยโดยทางถนนและทางเดินเท้า


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 พ.ย. 14, 07:04
๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๗
ร.ต.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พร้อมด้วย ร.ต.ประทาน เปรมกมล และ ร.ต.เปรม บุรี เสรีไทยสายอังกฤษจากกองกำลัง ๑๓๖ เดินทางโดยเครื่องบินแบบลิเบอเรเตอร์จากกัลกัตตา พร้อมด้วยเครื่องรับ-สิ่งวิทยุ และสารจากกองบัญชาการทหารสัมพันธมิตรถึงหัวหน้าขบวนการเสรีไทย มาโดดร่มลงที่บ้านวังน้ำขาว อำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 พ.ย. 14, 07:34
ผมได้นำท่านผ่านขั้นตอนความพยายามของคนไทยเลือดรักชาติหลายกลุ่มที่อยู่กันคนละซีกโลก ซึ่งได้พยายามรวมกำลังในกลุ่มของตนเพื่อเชื่อมประสานกับกลุ่มอื่น เพื่อจะร่วมทำงานกู้ชาติร่วมกันในบ้านเกิดเมืองนอนมาถึงจุดนี้ ท่านจะพบว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่มิได้เกิดขึ้นง่ายๆ ต้องใช้ทั้งสติปัญญา ความอดทนต่อความยากลำบากและความเสียสละ กว่าจะผ่านระยะเวลาอันยาวนานมาใกล้จุดแตกหัก

ในภาคต่อไป ท่านจะได้พบว่า ความพยายามของพวกเขาเหล่านั้นไปติดอยู่ที่ความเก่งฉกาจของบุคคลคนเดียว ซึ่งหากไม่ได้ธาตุแท้ของบุคคลคนหนึ่ง ความพยายามทั้งหมดที่เสรีไทยหลายชีวิตหลายฐานะที่ได้ดำเนินการมาถึงจุดนี้ ก็คงก้าวหน้าต่อไม่ได้  ประวัติศาสตร์ของชาติไทยอาจจะไม่สวยอย่างทุกวันนี้

ผมจำเป็นต้องใช้เวลาสักพักหนึ่งเพื่อเรียบเรียงรายละเอียดที่หนังสือต่างๆบันทึกไว้คล้ายๆ แต่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น…พักสักครู่ครับ


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 พ.ย. 14, 20:01
ต่อครับ


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 พ.ย. 14, 20:08
ชุดปฏิบัติการที่กระโดดร่มมาเที่ยวนี้มีชื่อรหัสว่า แอพพรีซิเอชั่น 1 ร.ต. ป๋วย อึ้งภากรณ์ ผู้มีอาวุโสที่สุดหัวหน้าชุด อีกสองคนคือ ร.ต.ประทาน เปรมโกมล และร.ต.เปรม บุรี
ร.ต. ป๋วยเป็นธรรมศาสตร์บัณฑิตรุ่นแรกและเคยทำงานที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองซึ่งนายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ประศาสน์การอยู่ ก่อนที่จะสอบแข่งขันได้เป็นนักเรียนทุนกระทรวงการคลังไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยลอนดอน เมื่อสอบได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง นายปรีดีเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอยู่ในขณะนั้น ได้ส่งโทรเลขไปแสดงความยินดีด้วย คุณสมบัติดังกล่าวทำให้อังกฤษตัดสินใจส่งร.ต. ป๋วยเข้ามา หวังจะเชื่อมต่อกับหัวหน้าเสรีไทยในประเทศ.ให้ได้โดยเร็ว

แต่อังกฤษก็ไม่ได้เล่นไพ่ใบเดียว   ร.ต. ป๋วยเขียนเล่าว่า เมื่อกำลังจะขึ้นเครื่องบิน ซึ่งจะเกาะหมู่ไปด้วยกันหลายลำโดยมีเครื่องบินทิ้งระเบิดไปปฏิบัติการลับลวงพรางในครั้งนี้ด้วยนั้น ก็ได้ทราบโดยบังเอิญว่ามีลำหนึ่งจะนำหน่วยสืบราชการลับของจีน ๔คน มีเป้าหมายจะไปกระโดดร่มลงที่นครปฐมด้วย

ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญมาก


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 พ.ย. 14, 20:14
ปฏิบัติการคืนนั้นไม่สำเร็จ เครื่องบินวนหาที่หมายไม่พบเพราะอากาศปิด จากคืนนั้นมาอีกหนึ่งสัปดาห์ จึงได้รับคำสั่งให้ออกปฏิบัติการอีกครั้ง คราวนี้พอบินเข้าเขตประเทศไทยเครื่องได้บินต่ำมากจนมองเห็นแสงไฟจากหมู่บ้านเบื้องล่าง เวลาประมาณตีหนึ่งก็ได้รับแจ้งว่าพบที่หมายแล้วและมีคำสั่งให้โดดลง ทั้งๆที่ตกลงกันไว้ว่าจะต้องมาลงในป่า มิใช่ทุ่งนาและหมู่บ้านดังที่ปรากฏแก่สายตา แต่ทุกคนก็จำต้องปฏิบัติตามคำสั่งเฉพาะหน้า
           
สองคนลงมาปลอดภัยดี มีร.ต. ป๋วยเท่านั้นที่เคราะห์ร้าย ตกลงบนคันนาถึงกับขาแพลง เมื่อนำแผนที่ออกมาดู ก็ทราบว่าได้ลงมาผิดที่จากจุดหมายถึง ๒๐-๓๐ กิโลเมตร และอยู่ใกล้หมู่บ้านมากด้วย ทุกคนจึงต้องรีบรวบรวมสัมภาระและอาหารที่เตรียมมาอย่างเร่งรีบ แล้วขุดหลุมฝังร่มเพื่ออำพรางหลักฐาน ซึ่งกินเวลาร่วม ๒ชั่วโมงกว่าจะแล้ว แถมร่มหนึ่งที่หายไป ตามหาดูปรากฏว่ามันลอยเข้าไปตกลงกลางหมู่บ้าน ทั้งหมดจึงต้องรีบหนีจากที่นั่นหลบไปค้างคืนกันในป่าละเมาะใกล้ๆกันนั้นเอง

แต่พอตี่สี่ ชาวบ้านที่ออกมาหาฟืนในป่าก็ได้มาพบ แต่ก็รีบหลบไป


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 พ.ย. 14, 20:20
ขาป๋วยเริ่มบวมและปวดจึงต้องอยู่กับที่ หมอเปรมและประทานได้ช่วยกันออกสำรวจพื้นที่เพื่อหาแหล่งน้ำ เย็นวันนั้นประทานได้พยายามติดต่อกับฐานทัพทางวิทยุแต่ไม่สำเร็จ สองวันต่อมา ตอนบ่ายหมอเปรมและประทานได้ออกไปหาน้ำโดยอีกทิ้งป๋วยไว้คนเดียว ได้ยินเสียงคนเอะอะแต่ไกลจึงรีบกลับมาดู พบว่าชาวบ้านกำลังรุมล้อมป๋วยอยู่ ทั้งสองจึงต้องรีบหนีเข้าไปซ่อนตัวอยู่ในป่า ตกกลางคืนก็รีบออกเดินทางต่อไปอย่างไร้จุดหมาย และไม่รู้ชะตากรรมของป๋วย

เมื่อเห็นราษฎรกลุ่มใหญ่ร่วมสามสิบคนพร้อมอาวุธครบมือ บางคนคนชูปืนพกโผล่เข้ามาล้อมที่พัก ป๋วยจึงแกล้งตะโกนให้ดังๆว่า ยอมแพ้แล้ว ให้เข้ามาจับไปได้เลย  หวังจะให้หมอเปรมและประทานได้ยินเสียงจะได้หลบไป และแม้จะบอกว่าตนไม่สู้กับคนไทย แต่ถ้าเป็นญี่ปุ่นจะสู้ ชาวบ้านซึ่งคิดว่าป๋วยเป็นนักบินที่เข้ามาทิ้งระเบิด พอเห็นเป็นคนไทยก็แปลกใจ พากันด่าทอว่าเข้ามาทำร้ายบ้านเมืองของตนเองได้อย่างไร บางคนก็เตะต่อยเข้าให้หลายตุ้บตั้บ ตำรวจคนหนึ่งของขึ้นเอาปืนพกที่กวัดแกว่งอยู่นานเข้ามาจ่อหลังทำท่าจะยิงทิ้ง เดชะบุญบุญธรรม ปานแก้วทหารประจำการที่อยู่ระหว่างลาราชการซึ่งอยู่ในที่นั้น ได้ปัดมือออกไป แล้วบอกว่าควรจะจับเป็นเชลยให้ทางการสอบสวนดีกว่า  ป๋วยจึงรอดตาย แต่ถูกชาวบ้านจับมัดมือไพล่หลังด้วยผ้าขาวม้าเอาไปล่ามโซ่ไว้บนศาลาวัดวังน้ำขาว อำเภอวัดสิงห์ โดยเจ้าหน้าที่บอกกับชาวบ้านว่านายคนนี้เป็นไอ้กบฏใจอำมหิต


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 พ.ย. 14, 05:25
ความเห็นของชาวบ้านแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเชื่อตามนั้น ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าป๋วยมิได้มีท่าทีว่าจะมีพิษสงอะไร ปลัดอำเภอคนหนึ่งเข้ามาคุยด้วย พอได้ทราบว่าป๋วยเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลที่ส่งไปอังกฤษ ก็แสดงความสุภาพและตั้งคำถามหลายข้อเกี่ยวกับสถานะสงคราม ในขณะที่ปลัดอีกคนหนึ่งคอยตะคอกชาวบ้านไม่ให้เข้าใกล้ไอ้กบฏ

บันทึกของศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ เขียนเล่าไว้ด้วยข้อความที่กินใจว่า “...ในตอนบ่ายชาวบ้านที่มาจากหมู่บ้านอื่นๆได้ขึ้นมาบนศาลาเพื่อดูพลร่ม เขานั่งล้อมวงไม่ไกลข้าพเจ้า เพราะเหตุว่าเจ้าหน้าที่ที่เกลียดชังข้าพเจ้า ไล่ให้เขาออกไปห่างๆอยู่เสมอ และพอตกบ่ายเจ้าหน้าที่บางคนม่อยหลับไป ชาวบ้านถึงได้กระเถิบเข้ามาใกล้ทุกที และเริ่มซักถามข้าพเจ้า ในหมู่ชาวบ้านหน้าซื่อเหล่านั้นมีหญิงผู้หนึ่งอายุค่อนข้างมาก ข้าพเจ้าสังเกตว่าแกนั่งใกล้ข้าพเจ้าอยู่นานถึงสองชั่วโมง พูดกับข้าพเจ้าเสียงแปร่งๆว่า พุทโธ่หน้าเอ็งเหมือนลูกข้า ข้าพเจ้าถามว่า ลูกของป้าอยู่ไหน ได้รับคำตอบว่าถูกเกณฑ์ทหารไปนานแล้ว ไม่รู้ว่าไปอยู่ที่ไหน เสียงอันเยือกเย็นซึ่งแสดงถึงน้ำใจของหญิงผู้นี้ ทำให้ข้าพเจ้าตื้นตัน และรู้สึกว่าได้มีรสหวานอันเป็นรสแห่งความรักของมารดาห้อมอยู่ในศาลานั้น"


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 พ.ย. 14, 12:40
อาหารทุกมื้อที่ชาวบ้านเมตตานำมาให้กินล้วนอร่อยเพราะความหิว ความหิวนี้เองที่ป๋วยมารู้ทีหลังว่าเพื่อนทั้งสอง หลังจากหนีกระเซอะกระเซิงก็ไปไหนไม่ได้ไกล ต้องตัดสินใจเข้าไปหาอาหารในหมู่บ้านใส่ท้อง ขณะที่กำลังกินก๋วยเตี๋ยวยังไม่อิ่มดีก็ถูกตำรวจจับ เพราะความแปลกแยก ไม่ได้สวมหมวกตามรัฐนิยมของท่านผู้นำ ยังดีที่ตำรวจเมตตาให้กินจนอิ่มท้องจึงได้เอาตัวไปขัง ก่อนส่งตัวลงไปกรุงเทพ

คืนนั้นป๋วยหลับสนิทด้วยความอ่อนเพลียทั้งร่างกายและจิตใจ วันรุ่งขึ้นตำรวจและชาวบ้านได้ร่วมกันนำตัวป๋วยขึ้นเกวียนไปส่งโรงพักที่ตัวอำเภอวัดสิงห์ ตลอดการเดินทางทั้งวันก็ได้รับความเอื้ออารีจากทุกคน โดยเฉพาะตำรวจสองนายที่คุมตัวไป ซึ่งกลายเป็นเพื่อนไปแล้ว แถมยังได้ควักกระเป๋ารวมเงินกัน ๑๒บาทใส่กระเป๋าให้ เผื่อจำเป็นต้องใช้ภายหน้า

เมื่อถึงโรงพักในเย็นวันนั้น ป๋วยจึงได้เป็นผู้ต้องหาคดีกบฏอย่างเป็นทางการ มีผู้ต้องหาอยู่ในกรงขังแล้วสองคน คนหนึ่งเป็นฆาตกร อีกคนหนึ่งเป็นนักหาแร่ต่างถิ่น โชคร้ายไปขุดๆคุ้ยๆแถวนั้นเลยซวย ต้องสงสัยว่าโดดร่มมาทำจารกรรมกับเขาด้วย จะปฏิเสธอย่างไรก็โดนจับยัดข้อหาเดียวกับป๋วย และได้อยู่ในฐานะเสรีไทยกับเขาในสันติบาลด้วยจนกระทั่งสิ้นสงคราม ตำรวจจึงได้ปล่อยกลับบ้านไปหาลูกหาเมีย


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 พ.ย. 14, 13:50
วันรุ่งขึ้น ท่านข้าหลวงจังหวัดชัยนาท พร้อมกับผู้กำกับการตำรวจและผู้พิพากษาได้เดินทางมาดูผู้ต้องหาคนสำคัญ แล้วรับไปตัวจังหวัดโดยทางเรือ ระหว่างทางป๋วยยังคงถูกล่ามโซ่ตามระเบียบแม้ผู้สั่งให้ล่ามจะรู้สึกกระดากใจก็ตาม แต่เมื่อถึงแล้ว ท่านข้าหลวงก็สั่งแยกตัวป๋วยไปที่จวนของท่าน ให้อาบน้ำอาบท่าพักผ่อนอยู่ระยะหนึ่งก่อนที่ผู้กำกับจะกลับมาถึงพร้อมด้วยอัยการเพื่อสอบปากคำ ซึ่งป๋วยก็ให้การไปตามที่ถูกอบรมมาหากถูกจับได้

คืนนั้น ป๋วยถูกส่งไปนอนในกรงขังของโรงพัก และวันรุ่งขึ้นก็ถูกย้ายไปขังในเรือนจำของจังหวัดซึ่งสบายกว่าอีกสิบวันเศษ  ตลอดเวลาที่นั่น แม้พ้ศดีจะเมตตาหาอาหารมาเสริมให้ทุกมื้อ ก็ไม่พอเพียงเพราะต้องแบ่งปันกับเพื่อนผู้ต้องขังบางคนด้วย เงิน ๑๒บาทที่ป๋วยรับไว้จึงได้ใช้ประโยชน์ สำหรับซื้อขนมนมเนยบ้างในบางมื้อ

หลังจากได้รับคำสั่งจากวังปารุสก์แล้ว ผู้กำกับก็คุมตัวผู้ต้องหากบฏด้วยตนเอง เอาลงเรือล่ามโซ่ล่องลงมาพระนคร ค่ำที่ไหนก็จอดเรือนอนที่นั่น และได้เป็นแขกรับเชิญไปกินข้าวกับท่านข้าหลวงอ่างทองคืนหนึ่ง นนทบุรีอีกคืนหนึ่ง ทั้งสองแห่งมีคนมารอดูพลร่มกันมากมายเหมือนดารามาโชว์ตัว ท่านผู้ว่าอ่างทองบอกป๋วยว่า เราก็เหมือนเล่นงิ้วนะ บนเวทีก็รบกันไป เลิกแล้วก็มานั่งกินข้าวต้มกันต่อ

เรือตำรวจมาถึงพระนครโดยเข้าเทียบที่ท่าช้าง ที่นี่ไม่มีใครรู้จักและสนใจป๋วยเลย สักสองชั่วโมงเห็นจะได้ รถตำรวจจึงมารับไปกองกำกับการตำรวจสันติบาล สระปทุม ซึ่งที่นั่นป๋วยได้พบว่า ทั้งประทานและเปรมได้ถูกจับมารออยู่ก่อนแล้ว


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 พ.ย. 14, 14:45
บันทึกของประทานเล่าว่า หลังจากปล่อยให้ได้กินก๋วยเตี๋ยวตามสบาย ตำรวจก็คุมตัวไปขังไว้ที่โรงพัก เย็นวันนั้นมีนายตำรวจใหญ่คนหนึ่ง ได้นำมะละกอสุกรสชาติอร่อยมาผ่าให้แก่ผู้ต้องหาทั้งสองได้ฉลองศรัทธาอย่างเต็มอิ่ม แต่กระนั้นนายตำรวจท่านนี้ยังพูดเปรยๆว่า นี่ผมยิงทิ้งคุณเสียก็ได้นะ

ก็นับว่าเป็นความกรุณาอย่างสูงที่เขาพูดเล่น เสรีไทยทั้งสองถูกขังอย่างนักโทษฉกรรจ์ มีโซ่ล่ามเท้าอย่างแน่นหนา แม้จะไม่สะดวกและอึดอัดปานใด พอทั้งสองก็ล้มตัวลงก็หลับเป็นตายด้วยความอ่อนเพลีย แต่หูยังแว่วๆ รู้สึกว่าคนทั้งหมู่บ้านจะพากันมาดูพลร่มกันอย่างเอิกเกริก คลับคล้ายคลับคลาว่าได้เห็นคนหนึ่งชี้มือไปที่หมอเปรมแล้วว่า ไอ้คนนั้นเหมือนมอรอคโคแฮะ
หมอเปรมเป็นชาวเหนือผิวค่อนข้างขาว แต่ไม่เข้าใจว่าจะเหมือนมอรอคโคตรงไหน

หลังจากนั้นอีกสองวัน จึงมีตำรวจจากสันติบาล ๒นาย แต่งกายนอกเครื่องแบบเดินทางไปรับ ปลดโซ่ตรวนออกแล้วให้แต่งกายธรรมดา เดินทางเข้าพระนครโดยทางเรือยนต์โดยสาร เมื่อถึงที่หมายแล้วก็ถูกส่งตัวเข้าห้องขังเดี่ยวที่ชั้นบนของตึกสันติบาล แผนกต่างประเทศ ขึ้นป้ายหน้าห้องว่าผู้ต้องหากบฏ

ต่อมาอีกสองวัน ป๋วยจึงถูกส่งตัวมาถึงที่นั่น ทุกคนจ้องมองกันด้วยความตื่นเต้นระคนด้วยความตื้นตันใจ ที่ต่างพบว่าเพื่อนมีชีวิตรอดมาได้ เพื่อที่จะร่วมชะตากรรมกันต่อ
 
ทุกๆวันจะมีตำรวจขึ้นมาที่สันติบาลกอง ๑ เพื่อดูโฉมหน้ากบฏ สารวัตรสันติบาลกอง ๑ ฝ่ายต่างประเทศขณะนั้น คือ ร.ต.อ.โพยม จันทรัคคะ เป็นเจ้าของคดีนี้ ร.ต.อ.โพยม เคยเป็นนักเรียนอัสสัมชัญแผนกฝรั่งเศสรุ่นก่อนป๋วย แต่รู้จักป๋วยดี บรรยากาศตึงเครียดในสันติบาลของผู้ต้องหากบฏจึงค่อยคลายลง


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 พ.ย. 14, 19:03
จากคำให้การในฐานะพยานของพล.ต.อ.อดุล ในคดีที่อัยการฟ้องจอมพล ป.พิบูลสงครามและพวก เป็นจำเลยในคดีอาชญากรสงครามนั้น มีตอนหนึ่งที่พล.ต.อ.อดุลเบิกความว่า ในราวปี ๒๔๘๔ ทางอังกฤษได้ส่งลูกจีนที่เกิดในเมืองไทยมาโดดร่มลงบริเวณรางรถไฟ ที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม  ๔คน แต่ตำรวจยิงตายไป ๑คน จับเป็นได้ ๒คน พร้อมวิทยุและสัมภาระทั้งหมด หนีหายไป ๑คน ญี่ปุ่นรู้เข้าก็จะขอตัวไปสอบสวนแต่ท่านไม่ยอม แต่ถ้าจะสอบสวนร่วมกันก็ได้ ผลการสอบทราบว่าอังกฤษส่งให้มาดูลาดเลา และแจ้งพิกัดที่ตั้งของทหารญี่ปุ่น หลังการสอบสวนตำรวจก็คุมยังคุมตัวไว้ ส่วนวิทยุญี่ปุ่นขอไป แต่ท่านก็สังให้ถอดอะไหล่สำคัญตัวหนึ่งออกเพื่อให้ญี่ปุ่นใช้การไม่ได้

ผมว่า ญี่ปุ่นคงไม่ได้อยากได้วิทยุไปใช้ แต่ถ้าฝ่ายไทยอยากจะคุมเชลยไว้ก็คุมไป ไม่มีวิทยุเสียอย่างก็รายงานกลับไปโน่นไม่ได้ ส่วนพลร่มจีนคนที่หนีไปนั้น สุดท้ายได้ไปตกอยู่ในมือของญี่ปุ่น ตามที่ผู้บัญชาการชาวพุทธเขียนหนังสือเล่าไว้ใน “ความทรงจำของนายพลนากามูระ”

พล.ต.อ.อดุลให้การต่อไปว่า ในปลายปีนั้น ตำรวจก็จับพลร่มได้อีก ๓คน บริเวณจังหวัดชัยนาท อุทัยธานี เป็นนักเรียนไทยในอังกฤษชื่อ ป๋วย ประทานและเปรม เมื่อได้รับรายงาน ท่านได้สั่งให้รักษาเป็นความลับ แล้วส่งของที่ยึดได้ใส่หีบตีตราครั่ง ส่งมาให้ท่านโดยด่วน หลังจากนั้นให้คุมตัวลงมากรุงเทพ ท่านว่าเองว่าความลับนี้ปิดไม่มิด ญี่ปุ่นล่วงรู้จากสายสืบที่แฝงตัวอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ

ระหว่างคุมตัวพลร่มเหล่านั้นไว้ที่สันติบาลแล้ว นายปรง พหูชนม์ปลัดจังหวัดอุทัยธานีได้มาขอเข้าพบด่วน และแจ้งว่านักเรียนไทยที่มานี้ ถือหนังสือลับเฉพาะของลอร์ดหลุยส์ เมาต์แบตเตน แม่ทัพใหญ่อังกฤษภาคเอเซียมาเพื่อจะมอบให้นายปรีดี ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินด้วย หลังจากนั้นให้พยายามติดต่อ พล.ต.อ.อดุล หรือ หลวงนฤเบศร์มานิต (สงวน จูฑะเตมีย์) โดยไม่ระบุชื่อจอมพล ป.ไว้ด้วย


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 พ.ย. 14, 09:46
ความตามนัยยะของย่อหน้าสุดท้ายข้างบนนี้ก็คือ พล.ต.อ.อดุลได้เบิกความต่อศาลว่า ท่านได้ส่งคนของท่านเข้าไปเมืองจีนสองสามครั้ง เพื่อหาทางติดต่อกับฝ่ายสัมพันธมิตร เช่นเดียวกับที่นายปรีดีส่งนายสงวนไปเแทนนายจำกัด ซึ่งได้เลยจากจีนไปถึงอเมริกาและอังกฤษเช่นกัน ผิดแต่เพียงว่าคนของท่านสาปสูญไป ณ ตำบลใดท่านไม่ทราบ  แต่เมื่อมีชื่อท่านติดโผพร้อมกับนายปรีดีก็แสดงว่าคนของท่านคงทำงานได้ผล แต่จอมพล ป.ซึ่งพยายามติดต่อกับจีนกองพลที่ ๙๓ เช่นกัน แต่ฝรั่งไม่ให้เครดิต ว่างั้นเถอะ

พล.ต.อ.อดุลได้นำสัมภาระที่ยึดได้มาตรวจสอบ แล้วกั๊กเอกสารสำคัญบางอย่างไว้ นอกนั้นเอาไปรายงานจอมพล ป.โดยไม่ได้บอกความข้างต้น เพราะกลัวจอมพล ป.จะอิจฉา (ท่านว่าเองนะครับ ผมไม่ได้ใส่ไข่) จอมพลฉุนมาก คิดว่าอังกฤษส่งคนมาปั่นป่วน หวังจะเสี้ยมให้ญี่ปุ่นกับไทยระแวงกัน หรือไม่ก็คงส่งคนพวกนี้มาลอบฆ่าบุคคลสำคัญ
 
พล.ต.อ.อดุลกลับมาแล้วจึงสั่งให้นายตำรวจระดับรองจากท่านไปบอกให้เสรีไทยกลุ่มนี้เขียนรายงานถึงจอมพล ป. โดยสอนวิธีเขียนโดยใช้สรรพนามว่าฉันตามรัฐนิยม เน้นความรักชาติของตนเองให้มากๆ และบอกว่าลอร์ดหลุยส์ใช้มาให้พยายามหาทางติดต่อประสานกับท่านผู้นำ ให้เขียนยกยอท่านแบบจัดหนักเข้าไว้  ดังนั้นเมื่อจอมพล ป. เมื่ออ่านรายงานนี้จึงยิ้มออก และตกลงให้พล.ต.อ.อดุลดูแลเรื่องนี้ต่อไปแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด คนอื่นไม่ต้องมายุ่งแม้แต่ตัวนายกรัฐมนตรีเอง


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 พ.ย. 14, 10:01
ส่วนญี่ปุ่นที่ขอตัวเสรีไทยไปสอบสวน ก็ทำได้แค่อย่างเดิมคือสอบสวนร่วมกันเช่นครั้งที่แล้ว โดยมีตำรวจไทยติวเข้มให้ว่าถ้าถูกถามอะไรก็จะต้องตอบว่าอย่างไร พล.ต.อ.อดุลบอกว่าฝ่ายญี่ปุ่นพอใจ แต่อ่านหนังสือที่นายพลนากามูระเขียนแล้ว ญี่ปุ่นไม่เคยไว้วางใจคนอย่างพล.ต.อ.อดุลแม้น้อย

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าพล.ต.อ.อดุลท่านแน่มาก อาจจะเพราะควบตำแหน่งทั้งรัฐมนตรีมหาดไทยและอธิบดีตำรวจ  มีอำนาจคุมทั้งผู้ว่าและผู้กำกับทุกจังหวัด เสรีไทยโดดร่มลงมาหรือเล็ดลอดเดินข้ามชายแดนเป็นอันเสร็จท่านหมด ไม่มีใครเหลือรอดได้ แสดงว่าเสรีไทยที่ฝรั่งฝึกไว้นั้นมือยังไม่ถึงฝ่ายไทย หากพล.ต.อ.อดุลเอาใจอยู่ข้างญี่ปุ่นแล้ว คณะกู้ชาติเหล่านี้คงตายหมดไม่มีทางทำงานสำเร็จ เสรีไทยสายอเมริกาคณะหนึ่งซึ่งเดินเท้าจากซือเหมา ผ่านญวนเข้ามาในลาว ซึ่งตอนนั้นเป็นจังหวัดล้านช้างของไทย ถูกตำรวจจับได้แล้วยิงทิ้งเสียด้วยความเคยชินในเรือกลางแม่น้ำโขงไปสองคน เมื่อพล.ต.อ.อดุลทราบรายงานก็สั่งห้ามขาด ให้จับเป็นส่งมากรุงเทพทุกคน

แต่น่าทึ่งที่หน่วยสืบราชการลับของญี่ปุ่นเองสามารถจับจารชนจีนได้อย่างน้อย ๒กลุ่ม โดยที่ฝ่ายไทยไม่ได้รับรู้อะไรกับเขาด้วยเลย


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 พ.ย. 14, 10:39
หลังจากนั้นไม่นาน เสรีไทยจากอังกฤษ ๖คน ไม่นับคนหาแร่ ชาวจีนอีก ๒คนและเสรีไทยจากอเมริกา ๘ คน ได้ถูกจับมาแออัดเกินห้องขัง ตำรวจจึงได้ย้ายให้ไปนอนอยู่ห้องแถวของพวกตำรวจที่ว่างอยู่อย่างอิสระ ไม่ได้ถูกจองจำในฐานะนักโทษใดๆทั้งสิ้น แถมพล.ต.อ.อดุลยังได้สั่งจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้คนละ ๒ บาทต่อวัน ชีวิตว่างมาก จนบางคนต้องไปเที่ยวช้อนปลากัดมาเล่นแก้เบื่อ คราวใดที่หวอมา ก็จะข้ามถนนไปวัดปทุมคงคา ขอคุณพระคุณเจ้าให้ช่วยคุ้มครองจากภัยลูกระเบิดของสัมพันธมิตรอยู่ใต้ถุนกุฏิหลวงพี่  เช่นเดียวกับครอบครัวตำรวจทั้งหลาย

แม้ระเบิดจากเครื่องบินจะถูกทิ้งสะเปะสะปะลงมาหนักกว่าเดิม พล.ต.อ.อดุลท่านก็ยังพอใจที่จะให้พวกเสรีไทยอยู่เฉยๆ เดือนแล้วเดือนเล่าวิทยุที่ยึดไปก็ไม่คืนมาให้ใช้ เรื่องนี้ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ได้เขียนในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพของพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัสไว้ว่า ท่านได้เปิดเผยภายหลัง ท่านไม่แน่ใจพวกเสรีไทยในประเทศว่าจะทำงานจริงจังเพียงใด ๑ กับไม่เชื่อว่าพวกเสรีไทยจากต่างประเทศว่าจะไม่ปรารถนาผลทางการเมืองอีก ๑
 
ในฐานะคนอ่านผมสรุปเองว่า ดร.ป๋วยท่านพยายามหลีกเลี่ยงที่จะระบุให้ชัดลงไปว่า พล.ต.อ.อดุลท่านไว้ใจนายปรีดีแต่ไม่ไว้ใจสมุนบริวารของนายปรีดีบางสาย(ซึ่งหลังสงครามก็มีการล้างบางกัน) และไม่ไว้พวกสมาชิกในพระราชสกุลที่ลี้ภัยอยู่ประเทศอังกฤษ ว่าจะพยายามมีบทบาททางการเมืองโดยแฝงมากับเสรีไทยหรือไม่

ความใจเย็นเป็นทองไม่รู้ร้อนเช่นนี้เองที่ทำให้คนหนุ่มทนไม่ไหว ร.ต.อ.โพยม ซึ่งได้รับมอบหมายแต่เพียงผู้ดียวให้ดูแลพวกเสรีไทย และนำคำถามคำตอบที่พล.ต.อ.อดุลต้องการทราบมาประสานทั้งสองฝ่าย ทำให้ร.ต.อ.โพยมพลอยได้ทราบสถานการณ์ต่างๆไปด้วย และมากกว่าที่นายเข้าใจด้วยซ้ำ


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 พ.ย. 14, 13:55
จากความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องอัสสัมชัญที่ทันเห็นและรู้จักกัน ร.ต.อ.โพยมย่อมยอมรับนับถือนักเรียนหัวกะทิระดับนักเรียนทุนอย่างป๋วย ความใกล้ชิดสนิทสนมครั้งใหม่ในสันติบาล ย่อมทำให้เข้าอกเข้าใจลึกซึ้งขึ้นว่าเสรีไทยเหล่านี้ ยอมเสี่ยงชีวิตกลับมาบ้านเกิดเมืองนอนด้วยวัตถุประสงค์อะไร  แต่บัดนี้งานของเขาเหล่านั้น ซึ่งเปรียบเหมือนคนว่ายฝ่ากระแสน้ำเชี่ยว จะถึงฝั่งอยู่รอมร่อ กลับมีไอ้เข้โผล่ขึ้นมาขวางคลองไว้เฉยๆ ถ้าไม่มีผู้กล้าลงไปช่วยให้พ้นจากตรงนี้ก็จบ

ในที่สุด ร.ต.อ.โพยมคือผู้ที่ตัดสินใจยอมเสี่ยงกับไอ้เข้  ลงไปพาเสรีไทยดำน้ำหลบไอ้เข้เข้าฝั่ง ถ้าโชคดีก็รอดทั้งหมด ถ้าโชคร้ายก็ยอมให้ไอ้เข้กินไป

ในหนังสือ “ตำนานเสรีไทย” ซึ่งลงบันทึกเรื่องราวแต่ละคนในคณะเสรีไทยประมาณร้อยห้าสิบทั้งชายและหญิง ซึ่งส่งประวัติกันมาคนละห้าหน้าสิบหน้าจนหนังสือหนาเป็นคืบ แต่ปรากฏของ ร.ต.อ.โพยม จันทรัคคะมีเพียงไม่กี่บรรทัดว่าดังนี้

“ข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งสารวัตรแผนกต่างประเทศในสันติบาล กองที่ ๑ มีหน้าที่โดยตรงตามคำสั่งของท่านอธิบดีกรมตำรวจ พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส โดยไม่ต้องรายงานผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น คือรองผู้กำกับการกอง ๑ และ/หรือ ผู้กำกับการกอง ๑ ตลอดจนผู้บังคับการตำรวจสันติบาลแต่ประการใด

บรรดาเสรีไทยจากประเทศอังกฤษและเสรีไทยจากประเทศสหรัฐอเมริกา ในชั้นแรกได้จัดที่พักให้อยู่ในกองตำรวจสันติบาล ต่อมาจึงได้โยกย้ายไปอยู่คนละแห่งซึ่งท่านอธิบดีกรมตำรวจพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส ได้เป็นผู้จัดหาให้”

ข้อความในอัญประกาศ แสดงว่าเขียนโดย ร.ต.อ.โพยม มีเพียงเท่าที่ผมคัดลอกมานี้จริงๆ นอกนั้น ที่กล่าวถึงบทบาทของท่าน กองบ.ก.ก็ตัดตอนข้อความมาจากบันทึกของเสรีไทยอื่นๆ แม้จะมีที่ดร.ป๋วยเขียนไว้ด้วยก็จริง แต่ก็ขาดข้อความสำคัญที่ดร.ป๋วยเปิดเผยไว้เฉพาะในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๑๓ ความว่า

 “พวกผม รวมทั้งคุณพะโยมย่อมใจร้อนกว่าคุณหลวงอดุล ระหว่างที่เรารอการตัดสินใจของท่านนั้น พวกเราได้ล่วงละเมิดแอบทำการบางอย่าง ด้วยความช่วยเหลือและรับผิดชอบของคุณพะโยม กล่าวคือ แอบไปพบอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระมหากษัตริย์และหัวหน้าเสรีไทย แอบไปส่งวิทยุพยายามติดต่อกับฐานทัพอังกฤษที่อินเดียจนสำเร็จ แอบไปรับเอาพลร่มมาลงที่หัวหินรุ่นหนึ่งเป็นต้น ทั้งนี้เป็นการทำลับหลังคุณหลวงอดุลทั้งนั้น ผมเลยถือโอกาสนี้ กราบขออภัยโทษท่านที่ได้ละเมิดกระทำการไป และหวังว่าท่านคงประทานอภัย เพราะพวกเราหนุ่มกว่าท่าน ใจร้อนกว่าท่าน แต่กระทำไปเพื่อบ้านเมืองเหมือนเจตนาของท่าน”

หนังสือทุกเล่มที่เขียนกันก่อนหน้านั้น มีใจความเป็นอื่นทั้งสิ้น เหมือนกลัวว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวจะไปลดคะแนนบุคคลสำคัญที่เขามุ่งจะยกย่องเชิดชูกัน


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 พ.ย. 14, 15:16
การที่ดร.ป๋วยได้พบกับนายปรีดีนั้น บางสำนวนกล่าวว่า

"เมื่อนายปรีดีได้รับรายงานว่า ร.ต. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ถูกตำรวจนำไปอารักขาไว้ที่สันติบาล ก็ได้ให้นายวิจิตร ลุลิตานนท์ (เลขาธิการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง) ซึ่งเป็นเลขาธิการของกองบัญชาการเสรีไทยในประเทศด้วย หาทางติดต่อกับ ร.ต.อ. โพยม จันทรัคคะ นายตำรวจผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมตำรวจให้เป็นผู้รับผิดชอบดูแลบรรดาเสรีไทยที่เล็ดลอดเข้ามาในประเทศไทย ให้หาวิธีนำตัว ร.ต. ป๋วยมาพบที่บ้านของนายวิจิตรที่บางเขน ร.ต.อ. โพยม และ ร.ต. ป๋วยเป็นอัสสัมชนิกด้วยกัน ดังนั้นในเวลาไม่ช้า ร.ต. ป๋วยก็ได้พบกับหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ทั้งนี้โดยอธิบดีกรมตำรวจไม่ทราบ นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ มีสาส์นจากลอร์ด เมานท์แบตเทน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์มามอบให้แก่นายปรีดี พนมยงค์ มีเนื้อหาเป็นการให้กำลังใจและเสนอความช่วยเหลือและความร่วมมือทางทหารโดยให้มีการติดต่อกัน"

ตรงนี้ผมเชื่อว่าจริงที่นายวิจิตรจะเป็นฝ่ายติดต่อเข้ามาหา ร.ต.อ.โพยมก่อน เพราะนายปรีดีท่านก็มีหูทิพย์ตาทิพย์อยู่ทั่วประเทศเหมือนกัน จึงทราบว่ามีพลร่มจากต่างประเทศถูกจับมาไว้ที่สันติบาลเป็นจำนวนมาก และการที่ผู้ใหญ่จะติดต่อมาหาเด็ก ย่อมง่ายกว่าเด็กจะเป็นฝ่ายติดต่อไปหาผู้ใหญ่ก่อน โดยเฉพาะกรณีย์นี้ ดีไม่ดีถ้าไปจ๊ะเอ๋เข้ากับไอ้เข้ยักษ์อีกตัวหนึ่งเข้า จะยิ่งยุ่งกันใหญ่


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 พ.ย. 14, 15:23
การที่นายปรีดีได้รับสารของลอร์ดหลุยส์ในครั้งนี้จะว่ามีความสำคัญอยู่มากก็จริงอยู่ แต่ก็จะไม่มีประโยชน์อะไรเลยถ้าฝ่ายอังกฤษจะไม่ได้รับการยืนยันว่า หัวหน้าเสรีไทยได้รับทราบแล้ว และพร้อมรับการสนับสนุนจากภายนอกเพื่อเปิดฉากขับไล่กองทัพญี่ปุ่นต่อไป
 
ดังนั้นร.ต.อ.โพยมจึงต้องเสี่ยงนำวิทยุของกลางที่นายสั่งให้ยึดไว้ เอามาให้พวกเสรีไทยใช้ติดต่อกลับไปกองบัญชาการกองทัพอังกฤษในอินเดีย
 
ประทาน เปรมกมล วิศวกรหนุ่มจากจุฬาผู้ไปเรียนต่อที่อังกฤษ ได้บันทึกส่วนตัวไว้ให้ลูกสาวได้รับรู้และภาคภูมิใจในตัวพ่อ เล่าเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า

"จากนั้นไม่นาน ร.ต.อ.โพยม ก็พาพวกนักวิทยุมีเปรม รจิต และพ่อ พร้อมเครื่องวิทยุไปปฏิบัติงานที่บ้านเล็กๆแห่งหนึ่ง ทราบว่าเป็นบ้านของแม่ยายของท่าน บ้านหลังนี้เป็นบ้านหลังเล็กๆชั้นเดียว อยู่ที่ตำบลสามเสน บริเวณสวนอ้อย ซึ่งขณะนี้ชำรุดทรุดโทรมมากแล้ว เมื่อไปถึงเราได้นำวิทยุออกมา และทดลองส่งเรียกไปที่สถานีกองบัญชาการที่กัลกัตตา วันนั้น เป็นวันปลายสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน
   
คืนนั้นนับเป็นคืนประวัติศาสตร์คืนหนึ่ง เพราะเราได้ทำการติดต่อกับสถานี (Home Station) ที่กัลกัตตาได้เป็นผลสำเร็จ พวกเราตื่นเต้นกันสุดขีด จนเหงื่อท่วมตัว มือไม้สั่นไปหมดขณะที่เคาะวิทยุ ทั้งนี้ถือว่าเป็นความสำเร็จที่สำคัญยิ่ง นับเป็นประวัติการณ์ของการปฏิบัติงานครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้เพราะเราได้พยายามติดต่อทางวิทยุมาเป็นเวลาหลายเดือน แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากทางกองบัญชาการเข้าใจว่าเราถูกจับไปแล้ว จึงไม่ติดต่อตามกำหนดนัดหมาย จนกระทั่งต้องใช้การสื่อสารทางจดหมายติดต่อกับเจ้าหน้าที่จุงกิง และใช้วิทยุกระจายเสียงของกรมโฆษณาการ แต่งบทความสนทนาเป็นความนัยของพวกเรา “ ช้างเผือก ” ให้ทางอินเดียรู้ ทางอินเดียเริ่มติดต่อเข้ามาใหม่ และเผอิญได้รับสัญญาณของเรา ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้น ปลาบปลื้มสุดจะบรรยายทีเดียว
"

ข้อความที่ขีดเส้นใต้ แปลความว่ากระไรครับ


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 พ.ย. 14, 15:40
มันแปลว่า ร.ต.อ.โพยมได้แอบนำวิทยุมาพวกเสรีไทยให้ใช้งานนานแล้ว นานเป็นเดือนๆก่อนที่นายปรีดีจะเรียกเข้าพบ แต่ก็ไม่ได้แพร่งพรายให้ทราบจนกระทั่งได้รับความสำเร็จ และไม่ได้เกิดขึ้นหลังการพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจอมพล ป. ดังที่เอกสารบางฉบับได้กล่าวไว้ด้วย


ครั้งแรกที่ติดต่อกับฐานทัพได้นั้น วิทยุของพ่อรับฟังรหัสจากอินเดียได้ตลอดเวลา พ่อก็ส่งรหัสของพ่อไป ทางอินเดียเริ่มรับรหัสของเราได้ ก็ถอดรหัสแล้วเคาะตอบมา พ่อก็ถอดรหัส และใส่โค้ดเคาะตอบไปอีก เพื่อป้องกันรหัสปลอม เมื่อได้รับการโต้ตอบด้วยรหัสที่ถูกต้อง พ่อก็รู้ว่า เราทำได้แล้ว ความรู้สึกมันพองโตไปทั้งตัว จากระเบียงบ้านกลางย่านสวนอ้อยนั่นเอง บ้านหลังนั้นพ่อถือว่าเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์เลยทีเดียว...

ผลสำเร็จครั้งนี้ต้องยกให้เป็นเพราะการตัดสินใจที่ถูกกาลเวลาของร.ต.อ.โพยมแต่ผู้เดียว เพราะท่านเป็นผู้ตัดสินใจโดยมิได้แจ้งให้ใครทราบ แม้แต่คุณหลวงอดุลฯก็ไม่ทราบเรื่อง ต่อเมื่อ ร.ต.อ.โพยมรายงานขึ้นไปให้ท่านผู้ใหญ่ทราบ ถึงผลแห่งการติดต่อของเรานั่นแหละ จึงได้ทราบกัน ต่อจากนั้นทุกสิ่งทุกอย่างก็ง่ายเข้า และได้ทำการติดต่อการปฏิบัติงานและสื่อข่าวสารกับทาง H.Q. (กองบัญชาการทางอินเดีย) ได้ทุกวัน  ขณะที่เราได้ทำการติดต่อโดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาตจากท่านผู้ใหญ่นั้น เราสามารถติดต่อกับทางอินเดีย และรับเอาพรรคพวกของเราให้มาโดดร่มได้ คือคุณ ประเสริฐ ปทุมมานนท์ และคุณกฤษณ์ โตษยานนท์ ทั้งสองคนนี้มาโดดลงที่หัวหิน และยังได้ติดต่อกับพวกเสรีไทยผู้อื่นอีกบ้าง


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 พ.ย. 14, 16:38
อ้างถึง
"คืนนั้นนับเป็นคืนประวัติศาสตร์คืนหนึ่ง เพราะเราได้ทำการติดต่อกับสถานี (Home Station) ที่กัลกัตตาได้เป็นผลสำเร็จ พวกเราตื่นเต้นกันสุดขีด จนเหงื่อท่วมตัว มือไม้สั่นไปหมดขณะที่เคาะวิทยุ ทั้งนี้ถือว่าเป็นความสำเร็จที่สำคัญยิ่ง นับเป็นประวัติการณ์ของการปฏิบัติงานครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้เพราะเราได้พยายามติดต่อทางวิทยุมาเป็นเวลาหลายเดือน แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากทางกองบัญชาการเข้าใจว่าเราถูกจับไปแล้ว จึงไม่ติดต่อตามกำหนดนัดหมาย จนกระทั่งต้องใช้การสื่อสารทางจดหมายติดต่อกับเจ้าหน้าที่จุงกิง และใช้วิทยุกระจายเสียงของกรมโฆษณาการ แต่งบทความสนทนาเป็นความนัยของพวกเรา “ ช้างเผือก ” ให้ทางอินเดียรู้ ทางอินเดียเริ่มติดต่อเข้ามาใหม่ และเผอิญได้รับสัญญาณของเรา ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้น ปลาบปลื้มสุดจะบรรยายทีเดียว"

ใครใช้ใครในข้อความนี้ ผมละสุดเดาจริงๆ
นอกจากจะเป็นชาวจีนสองคนข้างล่าง

อ้างถึง
แต่อังกฤษก็ไม่ได้เล่นไพ่ใบเดียว   ร.ต. ป๋วยเขียนเล่าว่า เมื่อกำลังจะขึ้นเครื่องบิน ซึ่งจะเกาะหมู่ไปด้วยกันหลายลำโดยมีเครื่องบินทิ้งระเบิดไปปฏิบัติการลับลวงพรางในครั้งนี้ด้วยนั้น ก็ได้ทราบโดยบังเอิญว่ามีลำหนึ่งจะนำหน่วยสืบราชการลับของจีน ๔คน มีเป้าหมายจะไปกระโดดร่มลงที่นครปฐมด้วย

ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญมาก

อ้างถึง
จากคำให้การในฐานะพยานของพล.ต.อ.อดุล ในคดีที่อัยการฟ้องจอมพล ป.พิบูลสงครามและพวก เป็นจำเลยในคดีอาชญากรสงครามนั้น มีตอนหนึ่งที่พล.ต.อ.อดุลเบิกความว่า ในราวปี ๒๔๘๔ ทางอังกฤษได้ส่งลูกจีนที่เกิดในเมืองไทยมาโดดร่มลงบริเวณรางรถไฟ ที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม  ๔คน แต่ตำรวจยิงตายไป ๑คน จับเป็นได้ ๒คน พร้อมวิทยุและสัมภาระทั้งหมด หนีหายไป ๑คน ญี่ปุ่นรู้เข้าก็จะขอตัวไปสอบสวนแต่ท่านไม่ยอม แต่ถ้าจะสอบสวนร่วมกันก็ได้ ผลการสอบทราบว่าอังกฤษส่งให้มาดูลาดเลา และแจ้งพิกัดที่ตั้งของทหารญี่ปุ่น หลังการสอบสวนตำรวจก็คุมยังคุมตัวไว้ ส่วนวิทยุญี่ปุ่นขอไป แต่ท่านก็สังให้ถอดอะไหล่สำคัญตัวหนึ่งออกเพื่อให้ญี่ปุ่นใช้การไม่ได้

ผมหาเอกสารที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้อีกไม่ได้เลยครับ มันลึกลับจริงๆ



กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 พ.ย. 14, 11:46
กองกำลัง ๑๓๖ ของอังกฤษเพื่อปฏิบัติการในประเทศไทยนั้น  มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่เคยอยู่ในเมืองไทยหลายคน ทราบดีว่าประเทศนี้มีคนจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และเมื่อญี่ปุ่นรุกรานจีน ก็ย่อมเป็นเดือดเป็นแค้นด้วย จึงน่าจะตั้งหน่วยปฏิบัติราชการลับที่เป็น “ลูกจีนเกิดในเมืองไทย” โดยเฉพาะ  น่าจะเป็นประโยชน์และบางทีอาจจะดีกว่าคนไทยนักเรียนนอกในหลายๆเรื่องด้วยซ้ำ จึงได้ประสานกับจุงกิงและได้รับคนจีนพูดไทยดังกล่าวมาฝึกที่อินเดียหลายคน อังกฤษเรียกพวกนี้ว่าพวกแดง ในขณะที่เรียกเสรีไทยว่าพวกเหลือง เอ้ย พวกขาว

ผมเจอแล้วครับ ว่า  ชุดปฏิบัติการจีนที่ส่งมาโดดร่มลงเป็นหน่วยแรกที่นครไชยศรีเป็นนายทหารจีนล้วน ประกอบด้วย ร.อ.หลิน เจี้ยงหง   ร.อ.หอ เฉินถง ซึ่งถูกยิงเสียชีวิต ร.อ.ตง หยุนกัง  ร.อ.วุน ฮั่นอู่  สองคนนี้ถูกจับไปอยู่สันติบาลร่วมกับเสรีไทยอื่นๆ ส่วนคนที่หนีรอดไปได้ ชื่อจีนไม่ทราบ แต่มีชื่อไทยว่า ร.อ.สมบูรณ์ สุดศรีวงศ์ สามารถติดต่อกับเครือข่ายของนายสงวน ตุลารักษ์ในเมืองไทยได้ แล้วถูกส่งไปปฏิบัติการลับอยู่ที่ปากน้ำโพ ผมจึงเล่าต่อไม่ได้ว่าไปทำอะไร เพราะจบกันแค่นั้น

อีกสองคนที่อยู่สันติบาลก็คงไม่ได้ถูกส่งกลับเมืองจีน แต่ถูกปล่อยตัวที่กรุงเทพนี่เองเมื่อสงครามยุติ แต่หาเรื่องราวต่อ(ยัง)ไม่ได้เช่นกัน
ฉะนั้น มีคนเดียวที่อยู่ในข่ายที่จะได้รับความไว้วางใจให้เดินสาร “จดหมายติดต่อกับเจ้าหน้าที่จุงกิง” อันสำคัญยิ่งได้ ก็คือ ร.อ.โผน อินทรทัต

ร.อ.โผน เป็นนายทหารเสรีไทยสายอเมริกาที่มารอเข้าเมืองไทยอยู่ที่ซือเหมา สุดท้ายได้เดินทางโดยทางเท้าตามลำพังจากเมืองล่าซึ่งอยู่ตอนใต้ของจีนเข้าสู่ลาวทางแขวงพงสาลี แล้วข้ามแม่น้ำโขงสู่ประเทศไทยทางจังหวัดน่าน และเดินทางต่อไปจังหวัดแพร่
ร.อ.โผนเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและถูกส่งไปให้ พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส และได้ถูกส่งไปพบกับ นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย(ซึ่งขณะนั้นทั้งสองผู้ยิ่งใหญ่ได้เปิดใจและร่วมมือทำงานกันแล้ว) เพื่อแจ้งข่าวสารต่างๆ หลังจากนั้น พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส ได้ให้ตำรวจสันติบาลพา ร.อ.โผน ไปส่งที่ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เพื่อเดินทางกลับไปประเทศจีนอีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะเดินทางไปประสานกับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชที่กรุงวอชิงตัน

ความจริงสารลับนั้นใส่รหัสหายชั้นเพื่อความปลอดภัย แต่มีใจความเพียงว่า เสรีไทยสายอังกฤษยังไม่สามารถติดต่อกับแคนดี้ได้ เพราะทางนี้รับทางโน้นได้ แต่ทางโน้นไม่รับของทางนี้ ฉะนั้นให้ทางจุงกิงแจ้งไปทางโน้นให้เปิดช่องรับคลื่นของทางนี้ด้วย  แต่กว่าทางโน้นจะได้รับแจ้ง ทางอังกฤษก็ทราบก่อนจากวิทยุคลื่นสั้น ซึ่งนายปรีดีประสานเครือข่ายในสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ให้ออกอากาศหลังข่าวเป็นสารคดีกึ่งนิยาย คนไทยที่ทำงานด้านการข่าวของอังกฤษที่เมืองแคนดี้ก็เข้าใจความหายแฝง จึงสั่งเจ้าหน้าที่วิทยุติดต่อกลับมาตามนัด ทำให้ทั้งสองฝ่ายสื่อประสานกันได้ตามที่ประทานได้เล่าไว้แล้ว

ก่อนหน้านั้น ทางอังกฤษเห็นว่าหายไปหลายเดือน นึกว่าตายกันไปหมดแล้วจึงเลิกติดตาม และหลังจากนี้การติดต่อประสานกับเสรีไทยก็พรั่งพรูเป็นกิจวัตร


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 พ.ย. 14, 18:18
ผมอยากให้อ่านข้อความที่อยู่ในหนังสือเรื่อง “ความทรงจำของนายพลนากามูระ” แม่ทัพใหญ่ของญี่ปุ่นในประเทศไทยช่วงสงครามสักหน่อย เพื่อให้เห็นภาพครบๆ

“ประเทศไทยนั้นเป็นประเทศเอกราช ไม่เหมือนกับประเทศอื่นๆที่ถูกยึดครองหรือไม่ก็เป็นสนามรบ
ฉะนั้นเมื่อถึงครึ่งหลังของปี ๒๔๘๗ มีสถานการณืการสู้รบที่ญี่ปุ่นเสียเปรียบอยู่ ในการต่อสู้ของพวกสายลับก็มีการส่งสายลับจากนอกประเทศเข้ามา และการต่อสู้นั้นเป็นไปอย่างรุนแรง…

…ตามข้อตกลงของสนธิสัญญาพันธมิตรไทย-ญี่ปุ่นนั้น การป้องกัน สกัดกั้น และการทำลายการดำเนินงานของสายลับฝ่ายสัมพัธมิตร เป็นภารกิจร่วมกันของฝ่ายญี่ปุ่นและไทย แต่ทางฝ่ายไทยนั้นมีสถานการณ์ทางการเมืองที่ซับซ้อน มีความสามารถในปฏิบัติการตอบโต้กับพวกสายลับค่อนข้างน้อย และมีนโยบายที่จะไม่จัดการในเรื่องสายลับนี้ด้วย ฝ่ายญี่ปุ่นต้องเข้าจัดการเพียงฝ่ายเดียว เพราะฉะนั้นกองสารวัตรทหารญี่ปุ่นจึงมีงานล้นมือและมีอุปสรรคมาก

ยกตัวอย่างเช่น ตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ๒๔๘๕ มีการจับคลื่นส่งวิทยุลึกลับ แต่ฝ่ายเราไม่อาจระบุที่ตั้งได้ โดยความพยายามของหน่วยสอบสวนวิทยุของกองสารวัตรทหารญี่ปุ่น จึงสามารถค้นหาสถานีวิทยุลับได้ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน

ฝ่ายเราได้เข้าโจมตีสถานีวิทยุดังกล่าวซึ่งอยู่ในเขตกรุงเทพนี้เอง และได้จับกุมนายทหารยศร้อยเอก มีสังกัดขึ้นโดยตรงกับกองทัพของเจียงไคเช็ก สามารถยึดหลักฐานต่างๆได้มากมาย อีกคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ร่วมงานของเขาเป็นผู้หญิง

ทั้งสองคนนี้ในแง่กฎหมายต้องถูกลงโทษสถานหนักในข้อหาทำจารกรรมในช่วงสงคราม แต่การจับกุมคราวนีทำอย่างลับและรวดเร็ว ดังนั้นข่าวเรื่องการจับกุมสายลับทั้งสองคนนี้ทางฝ่ายจุงกิงจึงไม่ทราบ ฝ่ายเราตกลงใจมี่จะใช้สายลับทั้งสองให้ป็นประโยชน์คือใช้เป็นสายลับซ้อน ได้ชักชวนให้เขาเข้าใจแล้วทำการเปิดสถานีวิทยุขึ้นใหม่ โดยยู่ภายใต้การควบคุมของสารวัตรทหารญี่ปุ่นอย่างเคร่งครัด โดยวิธีนี้ คำสั่งจากจุงกิงที่ส่งให้มาฝ่ายเราจึงรับทราบได้หมด


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 พ.ย. 14, 20:17
“ในเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ๒๔๘๗ หน่วยสอบสวนวิทยุของกองสารวัตรทหารญี่ปุ่นได้จับกระแสวิทยุลึกลับได้อีก โดยความร่วมือทั้งทางบกและทางอากาศ เราจึงค้นหาที่ตั้งของสถานีนั้นได้
กล่าวคือเมื่อเดือนตุลาคม พบว่าสถานีวิทยุตั้งอยู่ที่หมู่บ้านของชาวบ้านที่แวดล้อมด้วยป่าในเขตธนบุรี

ฝ่ายเราได้บุกเข้าไปทันที แต่ระดับหัวหน้าของที่นั่นได้หนีไปหมดแล้ว ฝ่ายเราจับกุมได้เด็กหนุ่มคนหนึ่งซึ่งหนีไปไม่ทัน พร้อมกับหลักฐานมากมาย สอบสวนได้ความว่าเด็กคนนี้แซ่ลี้ อายุ ๑๗ปี จากการให้ปากคำของเด็กหนุ่มคนนี้ฝ่ายเราได้ทราบเรื่องทั้งหมด ยึดเครื่องวิทยุต่างๆได้และยึดเอกสารได้เป็นอันมาก….

….กรณีย์ดังกล่าวเป็นสายลับจากจุงกิง และสายลับของอเมริกากับอังกฤษ มีศูนย์ปฏิบัติงานอยู่ที่เดลฮีและโคลัมโบ….”

ผมไม่ทราบว่าระดับหัวหน้าที่หนีไปได้นั้น จะมีความเกี่ยวข้องกับ ร.อ.สมบูรณ์ สุดศรีวงศ์ หรือเครือข่ายของนายสงวน ตุลารักษ์หรือหาไม่

ส่วนท่านที่เป็นห่วงชะตากรรมของอาตี๋ใหญ่ว่าจะเป็นตายร้ายดีอย่างไร ผมขอให้สบายใจได้ นายพลนากามูระท่านเป็นคนใจพระ หนุ่มแซ่ลี้นั้นถูกศาลทหารของญี่ปุ่นสั่งประหารชีวิต แต่เขาได้รับโอกาสให้เขียนจดหมายถึงอาเตี่ยและอาม้า ท่านนายพลเอาไปอ่านแล้วเกิดเมตตา ใจอ่อนเกินภาพพจน์ซามูไรเลือดบูชิโด ท่านสั่งการให้งดโทษประหาร อาตี๋ถึงกับร้องไห้โฮกราบเท้าแล้วบอกท่านว่า ลี้นั้นตายไปแล้ว บัดนี้เกิดใหม่เป็นคนญี่ปุ่น ขอให้ท่านตั้งชื่อให้ด้วย เลยได้ชื่อว่า คาซูโอะ คาซูม่า ญี่ปุ่นเลี้ยงดูอย่างดี สอนภาษาญี่ปุ่นให้ด้วย พอสงครามเลิกเขาสามารถอ่านออกเขียนได้


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 พ.ย. 14, 20:22
แต่ตอนนั้น ร.ต.อ. โพยม ท่านคงไม่ทราบธาตุแท้ของนายพลนากามูระที่เป็นคนใจอ่อน ผมคิดว่า ท่านเสี่ยงมากที่เอาเสรีไทยไปรับส่งวิทยุที่บ้านแม่ยายของท่าน แม้สวนอ้อยจะใกล้เขตที่ตั้งทหารไทย แต่ไม่แน่ว่าถ้าญี่ปุ่นพบแล้วอะไรจะเกิดขึ้น

ตามข้อเท็จจริง แม้จะยังจับจุดไม่ได้มั่นเหมาะแต่ญี่ปุ่นก็ทราบดีว่ามีการส่งวิทยุจารกรรมในกรุงเทพ ภายใต้ความคุ้มครองของข้าราชการไทย และประท้วงรัฐบาลไทยอย่างรุนแรงครั้งหนึ่งในปลายปี ๒๔๘๖ ซึ่งจอมพล ป.นายกรัฐมนตรีตอบว่าเรือ่งดังกล่าวรัฐบาลพิบูลสงครามในปัจจุบันยังไม่ทราบ แต่ถือว่าพวกนี้พยายามก่อการกบฏต่อรัฐบาลไทย นายพลนากามูระเจอลูกนี้เข้าให้ก็ถึงกับอึ้ง

แต่หน่วยสอบสวนวิทยุของกองสารวัตรทหารญี่ปุ่นก็หาได้เลิกรา และรถจับสัญญาณวิทยุก็เข้ามาป้วนเปี้ยนใกล้ๆสวนอ้อยมากขึ้น ครั้งหนึ่ง ขณะเคาะระหัสสัญญาณในเวลากลางคืน ไม่รู้อย่างไรไฟฟ้าในบ้านเกิดกระพริบตามเป็นจังหวะๆไปด้วย  คนในบ้านถึงกับวิ่งขึ้นมาโวยวายว่านี่จะบอกชาวบ้านแถวนี้หรืออย่างไรว่าบ้านนี้เป็นสถานีวิทยุ คืนนั้นจึงต้องเลิกส่ง และหันมาส่งในเวลากลางวันแทน

สงสัยว่า ร.ต.อ. โพยมคงไม่กลัวแม่ยายเรียกลูกสาวคืน แต่ครั้นพล.ต.อ.อดุลเข้าร่วมกับนายปรีดีเต็มตัวแล้ว เสรีไทยจึงได้เปลี่ยนที่ส่งวิทยุใหม่ เป็นที่พระที่นั่งอุดรภาค  ซึ่งเป็นอาคารเชื่อมต่อกับพระที่นั่งอัมพรสถาน เคยเป็นที่ประทับของพระนางเจ้าสุขุมมาลศรี พระวรราชเทวี และเคยเป็นสถานที่รับรองพระราชอาคันตุกะ เมื่อได้รับรายงานว่าญี่ปุ่นส่งรถจับสัญญาณมาใกล้ๆ  พล.ต.อ.อดุลก็สั่งให้นำรถถังมาจอดที่หน้าประตู ๒คัน อ้างว่าเพื่อคุ้มครองพระราชฐาน  ญี่ปุ่นไม่ได้กลัวนะครับ เพียงแต่ตอนนั้นดูเหมือนท่านแม่ทัพจะรู้ชะตากรรมของประเทศญี่ปุ่นแล้ว ถ้าไทยไม่เป็นฝ่ายเริ่มลุกขึ้นไล่ฆ่าทหารญี่ปุ่นๆก็คงไม่ทำอะไรรุนแรงกับคนไทย


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 พ.ย. 14, 07:21
อ้างถึง
ผมเจอแล้วครับ ว่า  ชุดปฏิบัติการจีนที่ส่งมาโดดร่มลงเป็นหน่วยแรกที่นครไชยศรีเป็นนายทหารจีนล้วน ประกอบด้วย ร.อ.หลิน เจี้ยงหง   ร.อ.หอ เฉินถง ซึ่งถูกยิงเสียชีวิต ร.อ.ตง หยุนกัง  ร.อ.วุน ฮั่นอู่  สองคนนี้ถูกจับไปอยู่สันติบาลร่วมกับเสรีไทยอื่นๆ ส่วนคนที่หนีรอดไปได้ ชื่อจีนไม่ทราบ แต่มีชื่อไทยว่า ร.อ.สมบูรณ์ สุดศรีวงศ์ สามารถติดต่อกับเครือข่ายของนายสงวน ตุลารักษ์ในเมืองไทยได้ แล้วถูกส่งไปปฏิบัติการลับอยู่ที่ปากน้ำโพ ผมจึงเล่าต่อไม่ได้ว่าไปทำอะไร เพราะจบกันแค่นั้น

อ้างถึง
“ในเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ๒๔๘๗ หน่วยสอบสวนวิทยุของกองสารวัตรทหารญี่ปุ่นได้จับกระแสวิทยุลึกลับได้อีก โดยความร่วมมือทั้งทางบกและทางอากาศ เราจึงค้นหาที่ตั้งของสถานีนั้นได้
กล่าวคือเมื่อเดือนตุลาคม พบว่าสถานีวิทยุตั้งอยู่ที่หมู่บ้านของชาวบ้านที่แวดล้อมด้วยป่าในเขตธนบุรี

ฝ่ายเราได้บุกเข้าไปทันที แต่ระดับหัวหน้าของที่นั่นได้หนีไปหมดแล้ว ฝ่ายเราจับกุมได้เด็กหนุ่มคนหนึ่งซึ่งหนีไปไม่ทัน พร้อมกับหลักฐานมากมาย สอบสวนได้ความว่าเด็กคนนี้แซ่ลี้ อายุ ๑๗ปี จากการให้ปากคำของเด็กหนุ่มคนนี้ฝ่ายเราได้ทราบเรื่องทั้งหมด ยึดเครื่องวิทยุต่างๆได้และยึดเอกสารได้เป็นอันมาก….

….กรณีย์ดังกล่าวเป็นสายลับจากจุงกิง และสายลับของอเมริกากับอังกฤษ มีศูนย์ปฏิบัติงานอยู่ที่เดลฮีและโคลัมโบ….”

ตามข้อเท็จจริง แม้จะยังจับจุดไม่ได้มั่นเหมาะแต่ญี่ปุ่นก็ทราบดีว่ามีการส่งวิทยุจารกรรมในกรุงเทพ ภายใต้ความคุ้มครองของข้าราชการไทย และประท้วงรัฐบาลไทยอย่างรุนแรงครั้งหนึ่งในปลายปี ๒๔๘๖ ซึ่งจอมพล ป.นายกรัฐมนตรีตอบว่าเรื่องดังกล่าวรัฐบาลพิบูลสงครามในปัจจุบันยังไม่ทราบ แต่ถือว่าพวกนี้พยายามก่อการกบฏต่อรัฐบาลไทย นายพลนากามูระเจอลูกนี้เข้าให้ก็ถึงกับอึ้ง

อ้างถึง
ผมไม่ทราบว่าระดับหัวหน้าที่หนีไปได้นั้น จะมีความเกี่ยวข้องกับ ร.อ.สมบูรณ์ สุดศรีวงศ์ หรือเครือข่ายของนายสงวน ตุลารักษ์หรือหาไม่

บรรทัดเล็กๆที่ผมเจอระหว่างการอ่านหาข้อมูลก็คือ

๑๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๗  
รัฐบาล(จอมพล ป.) มีประกาศว่านายสงวน ตุลารักษ์ เป็นชนชาติศัตรู


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 พ.ย. 14, 08:10
กลับมาดูที่สถานการณ์ทางการเมืองของไทยกันบ้าง

๒๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๗  
เมื่อเห็นลางที่ญี่ปุ่นจะแพ้สงครามแน่ ส.ส.ในสภาที่สังกัดมุ้งของนายปรีดีก็ผลึกเสียงกับ ส.ส.ฝ่ายค้าน ลงมติด้วยคะแนนลับล้มคณะรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ด้วยการไม่เห็นชอบกับพระราชกำหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑล นายกรัฐมนตรี จึงต้องลาออกจากตำแหน่งตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ

๓๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๗  
พล.ท. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลาออกจากตำแหน่ง ด้วยว่าทรงกลัวหากจะต้องแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีใหม่แล้วจะถูกจอมพล ป.ขึ้นบัญชีแค้น เพราะจอมพล ป. กำลังหาทางจะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก
 
๑ สิงหาคมพ.ศ.๒๔๘๗   สภาผู้แทนราษฎรลงมติแต่งตั้งให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่เพียงผู้เดียว
และในวันเดียวกันนั้น ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพันตรีควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๗  
แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีประกอบด้วยบุคคลระดับหัวหน้าในขบวนการเสรีไทยภายในประเทศหลายนาย แต่ที่พลิกล๊อกก็คือ นาวาเอกบุง ศุภชลาศัย เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแทนพล.อ.มังกร พรหมโยธี ส่วน พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส หลุดจากการเป็นรัฐมนตรีช่วย โดยจะเป็นแค่อธิบดีกรมตำรวจตำแหน่งเดียว  และ รัฐบาลใหม่ได้แถลงนโยบายว่า “จะร่วมมือกับญี่ปุ่นโดยใกล้ชิดตามสัญญาพันธกรณีที่ได้มีต่อกันไว้ด้วยดี”

แต่รัฐบาลใหม่ก็หาได้มีเสถียรภาพไม่ เพราะจอมพล ป. ยังควบคุมกำลังทหารอยู่ และมีการประชุมบรรดาแม่ทัพนายกองกันที่ลพบุรีหลายครั้ง จนกระทั่งในปลายเดือนเดียวกันรัฐบาลจึงหาทางออกได้ ด้วยการประกาศยุบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด และแต่งตั้งให้ พล.อ.พจน์ พหลโยธิน(ซึ่งกำลังป่วยเป็นโรคอัมพฤกษ์) เป็นแม่ทัพใหญ่ มีอำนาจสิทธิ์ขาดบังคับบัญชาแม่ทัพบก แม่ทัพเรือ และแม่ทัพอากาศ และแต่งตั้งให้ พล.ท.ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นรองแม่ทัพใหญ่ สำหรับตำแหน่งแม่ทัพบกก็ได้เปลี่ยนจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็น พล.อ.พจน์ พหลโยธิน

คืนวันออกประกาศนี้ นายปรีดีต้องจัดให้ พล.อ.พจน์ หลบไปพำนักอยู่ในเซฟเฮ้าส์เป็นการป้องกันไว้ก่อน หากจะเกิดมีการปฏิวัติของนายทหารที่สนับสนุนจอมพล ป.


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 พ.ย. 14, 12:56
มาดูบทบาทของ ร.ต.อ.โพยม จันทรัคคะ กันต่อครับ

สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๗ 
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลแล้ว ร.ต.อ.โพยม จันทรัคคะ  ได้พา ร.ต.อานนท์ ณ ป้อมเพชร เสรีไทยที่ถูกส่งเข้ามาจากสหรัฐให้ได้พบกับ พล.ต.อ.อดุล และต่อมาพล.ต.อ.อดุล ได้นำ ร.ต.อานนท์ เข้าพบนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทย ผู้เป็นพี่เขยที่ทำเนียบท่าช้าง เพราะเดาว่านายปรีดีคงจะได้ทราบในทางลับอยู่เหมือนกันว่าตำรวจจับน้องภรรยามาไว้ที่สันติบาล

เดือนเดียวกันนั้น รัฐบาลได้ออกพระราชกฤษฎีกามอบอำนาจให้พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ  ทำการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อันเกี่ยวกับราชการกรมตำรวจ





กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 พ.ย. 14, 13:44
๗ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๗
ร.ต.อ.โพยม จันทรัคคะ  ได้แอบร่วมมือกับ ร.ต.ป๋วย และร.ต. เปรม นัดแนะกับกองบัญชาการอังกฤษทางวิทยุจากบ้านแม่ยายที่สวนอ้อย ให้ ร.ต.กฤษณ์ โตษยานนท์ และ ร.ต.ประเสริฐ ปทุมานนท์ เสรีไทยสายอังกฤษจากกองกำลัง ๑๓๖ มาโดดร่มลงใกล้สนามกอล์ฟรถไฟ อำเภอหัวหิน ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในกระทู้ก่อนๆหน้านี้ โดยปฏิบัติการนี้ได้นายปรีดีประสานให้เสรีไทยในประเทศไปคอยรับ แต่ยังปกปิดไม่ให้ พล.ต.อ.อดุลได้ล่วงรู้
 
ปฏิบัติการนี้สำคัญเพราะอังกฤษต้องการทดสอบการทำงานของเสรีไทยในประเทศ ก่อนที่จะทำการใหญ่ต่อไป ดังนั้น พล.ต.อ.อดุล ผู้ซึ่งยังไม่ได้เปิดหัวใจเข้าร่วมในขบวนการเสรีไทยจึงจะรู้ก่อนไม่ได้ เพราะเกิดมีความเห็นเป็นอื่นขึ้นมาอาจทำตัวเป็นเข้ใหญ่ งานของเสรีไทยก็เสียของหมดเท่านั้น


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 พ.ย. 14, 14:13
แล้วก็มาถึงปฏิบัติการครั้งสำคัญอีกครั้ง

๙ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๗  
ร.ท.บุญมาก เทศะบุตร และ ร.ต.วิมล วิริยะวิทย์  เสรีไทยสายอเมริกา แต่งเครื่องแบบนายทหารอเมริกันมาโดดร่มลงที่อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ บริเวณชายป่าในเขตสัมปทานของเจ้าวงศ์แสนศิริพันธ์
เมื่อโดดร่มลงจากเครื่องบินแล้วทั้งคู่ได้พลัดกัน ร่มของ ร.ต.วิมลตกลงบนยอดไม้สูงลิบลิ่ว ซึ่งเมื่อลงสู่พื้นดินแล้ว ร.ต.วิมลก็ได้ใช้เวลา ๕ วัน เดินทางค้นหา ร.ท.บุญมากในป่าทึบโดยไร้ผล

๑๘ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๗  
ร.ต.วิมล พบรอยท๊อปบูตของ ร.ท.บุญมากมุ่งเข้าหมู่บ้าน จึงตามไปและถูกผู้ใหญ่บ้านกับลูกบ้านควบคุมตัวไว้ ทำให้ได้ทราบว่าร.ท.บุญมากก็ได้ถูกควบคุมตัวเช่นกันแต่หลบหนีไปแล้ว  ร.ต.วิมลถูกส่งไปยังสถานีตำรวจอำเภอร้องกวาง จากอำเภอก็ถูกควบคุมตัวเข้าจังหวัดแพร่ ซึ่งเขาขอให้ผู้กำกับการตำรวจภูธรผู้สอบสวนส่งโทรเลขถึง พล.ต.อ.อดุลโดยใช้ชื่อจริง ซึ่งก็ได้รับโทรเลขตอบมาให้รีบส่งตัวเข้ากรุงเทพด่วน

เมื่อเดินทางถึงกองตำรวจสันติบาลที่แล้ว ร.ต.อ.โพยม จันทรัคคะได้นำ ร.ต.วิมลไปอารักขาร่วมกับเสรีไทยสายอเมริกา ซึ่งขณะนั้นมีทั้งหมดรวม ๗นายแล้ว คือ ร.ต.อานนท์ ณ ป้อมเพชร  ร.ต.บุญเย็น ศศิรัตน์  ร.ต.เป้า ขำอุไร  ร.ต.การุณ เก่งระดมยิง  ร.ต.สวัสดิ์ เชี่ยวสกุล  ร.ต.เอี่ยน ขัมพานนท์ และ ร.ต.พิสุทธิ์ สุทัศน์ ณ อยุธยา
ในขณะเดียวกันนายทหารเสรีไทยจากอังกฤษในความอารักขาของ ร.ต.อ.โพยม ยังมีอีก ๘นาย คือ ร.ต.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ร.ต.ประทาน เปรมกมล  ร.ต.เปรม บุรี  ร.ต.สวัสดิ์ ศรีศุข  ร.ต.พัฒพงศ์ รินทกุล  ร.ต.สำราญ วรรณพฤกษ์ ร.ต.ธนา โปษยานนท์ และ ร.ต.รจิต บุรี





กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 พ.ย. 14, 15:45
๒๒ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๗ 
ร.ต.อ.โพยม ได้พา ร.ต.วิมลไปพบ พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัสด้วยวิธีการแบบเดียวกับ ร.ต.ป๋วย  ร.ต.อานนท์และคนอื่นๆ กล่าวคือพล.ต.อ.อดุลจะไม่ยอมให้ผู้ใดรู้เป็นอันขาดว่าตนเองได้พูดคุยกับเสรีไทยคนใดคนหนึ่งเป็นการส่วนตัว  มีคนเดียวที่รู้คือ ร.ต.อ.โพยม แต่ก็ไม่ให้รู้ว่าพูดกันเรื่องอะไร การนัดหมายแต่ละครั้งจะใช้เวลากลางคืน บางครั้งตีหนึ่งตีสอง ร.ต.อ.โพยมจะต้องพาคนที่นายต้องการพบไปนั่งรถเล่นก่อน จนได้เวลานัดพบจึงไปส่งลงยังสถานที่ต่างๆ เช่นที่ลานพระรูปบ้าง ถนนราชดำเนินบ้าง เมื่อเห็นว่าปลอดคน พล.ต.อ.อดุล จึงจะปรากฏตัว แล้วชวนเดินคุยกันไปแบบใจดี ตั้งแต่เรื่องสถานการณ์รบ เรื่องใครอยู่เบื้องหลัง เรื่องพ่อแม่พี่น้องทางนี้เป็นต้น หลังจากนั้นก็พาไปกินข้าวต้มแถวเยาวราช แล้วจึงกลับมาส่งลงที่เดิมให้ร.ต.อ.โพยมพากลับที่พัก

ที่ท่านทำตนเหมือนสายลับในหนังฝรั่งก็เพราะไม่ไว้ใจหน้าอินทร์หน้าพรหมใดๆทั้งสิ้น ผมอ่านหนังสือที่นายพลนากามูระเขียนแล้วจึงเข้าใจ ในบรรดาดาวหางไทย ๓ ดวงฝ่ายอังกฤษและอเมริกัน(ผู้แปลมิได้ให้คำอธิบายว่าทำไมแม่ทัพญี่ปุ่นจึงใช้คำว่าดาวหาง ผมต้องถามคุณกุ๊กทานเสลด ได้ความว่าดาวหางเป็นสัญลักษณ์ของตัวที่ทำให้ซวยในความเชื่อของญี่ปุ่น) มีด้วยกันคือ ๑ นายปรีดี ๒ ม.ร.ว.เสนีย์ และ ๓ พล.ต.อ.อดุล ซึ่งเป็นตัวแสบสุด นอกจากจะทำตัวเป็นคนพบยาก ไม่คบหาผู้ใด สายลับญี่ปุ่นหาตัวไม่เคยเจอเพราะชอบทำงานกลางคืน ซ้ำยังจับนายวณิชย์ ชายในดวงใจของกองทัพญี่ปุ่นไปขังด้วยข้อหาฉ้อโกงแบบไม่ไว้หน้าจอมพล ป. หวังตีวัวกระทบคราดให้นายกรัฐมนตรีแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก (ไหนว่านายพลนากามูระรู้จักเมืองไทยดี แต่ท่านสอบตกตรงนี้ มีอย่างที่ไหนที่นักการเมืองไทยจะหน้าบางแบบคนญี่ปุ่นอย่างน้ า น )  และก็ฉลาดที่ไม่ตั้งข้อหาทางการเมืองอันจะทำให้ญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงได้ แล้วอยู่ดีๆนายวณิชย์ก็ผูกคอตายในห้องขังของตำรวจเสียเฉยๆ เรื่องนี้ญี่ปุ่นแค้นนัก

หนังสืออีกเล่มหนึ่งกล่าวว่า ญี่ปุ่นเตรียมสายลับไว้จะสอย พล.ต.อ.อดุล เหมือนกัน พอสายสืบของตำรวจมารายงาน ท่านก็ตัวเย็นเฉียบไปเหมือนกัน แล้วก็ยิ่งระวังตัวหนักขึ้นไปอีก


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 19 พ.ย. 14, 16:15
คราวนั้นท่านจึงไม่ลงเดิน เพียงจอดรถแวะหิ้วร.ต.วิมลที่เชิงสะพานเทวกรรม ให้คนขับๆรถไปเรื่อยๆแล้วคุยกันไป  ร.ต.วิมลได้เล่าให้พล.ต.อ.อดุล ตระหนักใจว่าสถานการณ์สงครามคงไม่ยืดเยื้อยาวนานแล้ว และแจ้งให้ทราบถึงภารกิจพิเศษที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลสหรัฐ  ครั้นได้ฟังแล้ว พล.ต.อ.อดุล เลยตัดสินใจพา ร.ต.วิมล เข้าพบนายปรีดีทันที ซึ่งบังเอิญคืนนั้น มีนายดิเรก ชัยนามอดีตอัครราชทูตไทยประจำโตเกียวร่วมวงสนทนาอยู่ด้วย  ร.ต.วิมลได้แจ้งให้บุคคลสำคัญทั้งสองทราบว่า ในครั้งนี้  ทางการสหรัฐได้ส่งเข้ามาเพื่อติดต่อกับนายปรีดี พนมยงค์ และ พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัสโดยเฉพาะ เพื่อขอให้ทั้งสองได้ร่วมมือกันปฏิบัติงานในขบวนการเสรีไทย โดยสหรัฐอเมริกาจะให้การสนับสนุนทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะเป็นอาวุธยุทโธปกรณ์ การฝึกพลพรรค ตลอดจนการเมืองภายหลังสงคราม
 
ถ้าหากเสรีไทยยังไม่มีการร่วมมือกันอย่างเป็นเอกภาพ สหรัฐก็ไม่สามารถสนับสนุนได้อย่างเต็มที่ 

ณ เพลานั้นเอง นายปรีดี พนมยงค์ และพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส จึงได้จับมืออย่างแนบแน่นที่จะร่วมกันทำงานเพื่อชาติ และถือเป็นวันที่เริ่มงานในประเทศไทยอย่างจริงจังของอเมริกากับเสรีไทย


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 พ.ย. 14, 09:11
วันรุ่งขึ้น นายปรีดีสั่งการให้เครือข่ายเสรีไทยในประเทศติดตามตัวร.ท.บุญมาก เทศะบุตร พบว่าร.ท.บุญมากหลบหนีไปถึงตัวเมืองแพร่ที่คุ้นเคย แล้วได้ครูบัวเขียว(รังคสิริ)ช่วยไว้ และเจ้าวงศ์แสนศิริพันธ์ได้ช่วยให้คนพามาส่งที่กรุงเทพ

นอกจากนั้นในเดือนกันยายนเดียวกัน นายปรีดี ได้มอบให้นายถวิล อดุล ผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมด้วย พ.ท.พระอภัยพลรบ ถือหนังสือไปมอบให้กับจอมพลเจียงไคเช็ค ที่นครจุงกิง โดยมี ร.ต.การุณ เก่งระดมยิง ร่วมเดินทางไปด้วย คณะของนายถวิล อุดล เดินทางถึงจุงกิงในต้นเดือนธันวาคม

ส่วน พล.ต.อ.อดุล หลังจากทราบเรื่องนี้ก็ได้อนุญาตให้ ร.ต.อ.โพยม จันทรัคคะ ดำเนินการประสานงานให้ส่งข่าวผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยคลื่นสั้นเป็นรหัสตามที่ได้ตกลงกับทางแคนดี เรื่องนี้ถือเป็นการอนุญาตย้อนหลังที่กระทำไปก่อนที่ท่านจะทราบ จนสำเร็จผลมาแล้ว สำหรับวิทยุและอุปกรณ์ต่างๆ ของเสรีไทยสายอเมริกาที่นำติดตัวมาและถูกตำรวจยึดไว้ ก็ได้นำมาคืนเพื่อตรวจซ่อมความชำรุดเสียหาย และใช้ในการติดต่อกับศูนย์ปฏิบัติเสรีไทยสายอเมริกาที่ซือเหมา


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 พ.ย. 14, 09:28
๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๗ 
ร.ต.เป้า ขำอุไร ติดต่อทางวิทยุกับศูนย์ปฏิบัติการที่ซือเหมาได้สำเร็จ โดยส่งวิทยุจากบ้านเลขที่ ๓๔๘ ซอยสวนอ้อย บ้านแม่ยายของ ร.ต.อ.โพยม นั่นเอง ผู้รับวิทยุทางทางซือเหมาได้แก่ ร.ต.วิเชียร วายวานนท์ กับ ร.ต.นิธิพัฒน์ ชาลีจันทร์ ศูนย์ปฏิบัติการซือเหมาได้รับทราบความสำเร็จในความร่วมมือเป็นเอกภาพของขบวนการเสรีไทย  และได้ติดต่อให้ทางแคนดีทราบทันที หลังจากนั้นเสรีไทยสายอเมริกาก็ได้ติดต่อกับ โอ.เอส.เอส.ที่แคนดี ทางวิทยุโดยตลอด

การที่เสรีไทยไปใช้สถานที่นี้รับส่งวิทยุบ่อยๆนั่นเอง ทำให้อานนท์ ณ ป้อมเพชรได้ตกหลุมรักลูกสาวเจ้าของบ้าน และต่อมาได้แต่งงานเข้ามาดองกับร.ต.อ.โพยมอีกคนหนึ่ง ในภาพคือนางอัมพร ทุกขนิโรธ เจ้าของบ้านผู้เสียสละ


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 พ.ย. 14, 18:21
หลังจากนั้นก็พรั่งพรู

พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๗  
โอ.เอส.เอส. ส่ง ร.ต.เฉลิม จิตตินันท์ ร.ต.อุดมศักดิ์ ภาสวณิช และ ร.ต.สิทธิ เศวตศิลา เสรีไทยสายอเมริการุ่นที่ ๒  มาโดดร่มลงที่จังหวัดเชียงใหม่ ใกล้ดอยอิทนนท์ ตำรวจสันติบาลไปรับตัวนำมาอารักขาไว้ในธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ก่อนเข้าค่ายร.ต.อุดมศักดิ์สามารถใช้วิทยุติดต่อกับศูนย์ปฏิบัติการ ๔๐๔ ของ โอ.เอส.เอส. ที่แคนดีได้

ร.ต.กุศะ ปันยารชุน และ ร.ต.อานนท์ ศรีวรรธนะ เสรีไทยสายอเมริกา เดินทางโดยเรือดำน้ำมาขึ้นที่เกาะกระดาน จังหวัดตรัง และถูกควบคุมตัวขึ้นมาอารักขาไว้ในธรรมศาสตร์เช่นกัน

ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๗  
ร.ต.เสนาะ นิลกำแหง ร.ต.ประโพธิ เปาโรหิต และ ร.ต.เทพ เสมถิติ เสรีไทยสายอังกฤษแห่งกองกำลัง ๑๓๖ โดดร่มลงที่อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี โดยมีนายตำรวจสันติบาล และข้าหลวงจังหวัดอุทัยธานีไปคอยรับ


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 พ.ย. 14, 19:18
ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๗ 
นายปรีดี ได้มีโทรเลขไปยังกองบัญชาการทหารสัมพันธมิตร ขอให้ระมัดระวังมิให้เครื่องบินสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดพระบรมมหาราชวัง และวังเจ้านายต่างๆ ตลอดจนที่ตั้งรัฐบาลไทย ซึ่งทางสัมพันธมิตรก็ได้ตอบรับว่าจะปฏิบัติตามคำขอร้องดังกล่าว

โอกาสเดียวกัน กองบัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรเอเชียอาคเนย์ ได้เชิญนายปรีดี ขอให้ส่งคณะผู้แทนทางทหารออกไปปรึกษาหารือที่แคนดี นายปรีดีตอบตกลง โดยจะส่งนายดิเรก ชัยนาม อดีตอัครราชทูตประจำโตเกียวและรัฐมนตรีต่างประเทศกับคณะไป  ครั้นรัฐบาลอังกฤษทราบเรื่องนี้ก็มีคำสั่งห้าม พล.ร.อ.ลอร์ด หลุยส์ เมาน์ทแบทเตน ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้พูดแต่เรื่องการรบเท่านั้น ห้ามเจรจาในเรื่องของการเมืองกับฝ่ายไทย
 
ก่อนสิ้นปิ พล.ต.อ.อดุลติดต่อขอส่งตำรวจชุดแรกออกไปฝึกการข่าวกรองที่อินเดีย โดยให้ ร.ต.สวัสดิ์ ศรีศุข พาออกไป  โดยอังกฤษได้ส่งเครื่องบินทะเลแคตาลินามารับที่หลังเกาะตะรุเตา จังหวัดสตูล  และนายสวัสดิ์ อุทัยศรี เสรีไทยสายศุลกากรเป็นผู้นำเรือไปส่ง ตำรวจสันติบาลชุดนั้นประกอบด้วย ร.ต.อ.อรัตน์ วัฒนมหาตม์ ส.ต.อ.ผัน สาตรปรุง ส.ต.ต.จวง โอบอ้อม พลฯ สุธี ไมตรีจิตต์ พลฯ ฉกรรจ์ กรรเจียก พลฯ วิบูลย์ ธรรมดุษฎี พลฯ วิทย์ ตุงคสามล ในเครื่องที่มานั้นมี ร.ต. ม.จ.การวิก จักรพันธ์ ได้บินมารับตำรวจไทยชุดนี้ด้วย


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 พ.ย. 14, 20:11
พ.ศ.๒๔๘๘    

๑๓ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๘   
การประชุมร่วมระหว่าง ประธานาธิบดีรูสเวลต์แห่งสหรัฐอเมริกา นายกรัฐมนตรีวินสตัน เชอร์ชิลล์แห่งสหราชอาณาจักร และจอมพลโจเซฟ สตาลินแห่งสหภาพรัสเซีย ณ เมืองยัลตา แหลมไครเมีย ในเดือนกุมภาพันธุ์ที่จะมาถึงนั้น วันนี้กระทรวงต่างประเทศสหรัฐได้ทำบันทึกสำหรับท่านประธานาธิดี ที่จะใช้ในการสนทนาเรื่องสถานภาพในอนาคตของประเทศไทย มีสาระสำคัญว่า สหรัฐปรารถนาจะเห็นประเทศไทยที่มีเอกราชและมีเสรีภาพ  พร้อมด้วยประชาธิปไตยที่ไม่ถูกบั่นทอน และปกครองโดยรัฐบาลที่เลือกโดยตนเอง สหรัฐได้ติดต่อกับนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งได้ช่วยเหลือสัมพันธมิตรอย่างจริงจังในด้านข่าวกรอง และเป็นผู้ที่แสดงความประสงค์ที่จะให้ประเทศไทยทำสงครามต่อต้านญี่ปุ่น โดยให้กองทัพไทยทำการรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับสัมพันธมิตร


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 พ.ย. 14, 07:05
 ๒๔ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๘   
ร.ต.ทศ พันธุเสน ร.ต. ม.จ.จีริดนัย กิติยากร และ ร.ต.บุญส่ง พึ่งสุนทร แห่งกองกำลัง ๑๓๖ เดินทางโดยเครื่องบินจากกัลกัตตา พร้อมด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์และสัมภาระ โดดร่มลงที่สนามบินลับบนภูกระดึง โดยมี ร.อ.เสนาะ นิลกำแหง ร.ต.ประโพธิ เปาโรหิตย์ และ ร.ต.เทพ เสมถิติ และเสรีไทยภายในประเทศไปคอยรับ นายอุดม บุญประกอบ ข้าหลวงประจำจังหวัดขอนแก่น และนายอำเภอชุมแพ ได้ขึ้นไปรับบนภูกระดึง และพามาพักที่จังหวัดขอนแก่น ก่อนที่จะส่งตัวลงมาพบนายปรีดีที่กรุงเทพ

 ๒๖ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๘   
นายปรีดีได้ส่ง นายกนต์ธีร์ ศุภมงคล หัวหน้ากองการเมือง กรมการเมืองตะวันตก กระทรวงการต่างประเทศ ให้เดินทางไปกรุงวอชิงตัน เพื่อช่วย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เจรจากับฝ่ายสหรัฐเรื่องสถานภาพของประเทศไทยภายหลังสงคราม
 
เครื่องบินที่มารับนายกนต์ธีร์มีนายทหารอเมริกันมาด้วย ๒ นาย คือ พ.ต.ดิค กรีนลี และ ร.อ.จอห์น เวสเตอร์ พร้อมกับร.ต.พูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ เสรีไทยสายอเมริกา ถือว่าเป็นนายทหารอเมริกันชุดแรกที่เข้ามาประเทศไทย พ.ต.กรีนลี ก็กลับออกไปพร้อมกับแผนที่แสดงที่ตั้งของทหารญี่ปุ่นในประเทศไทยในอีก ๕ วันต่อมา
 
นายกนต์ธีร์ ได้พบกับนายสงวน ตุลารักษ์ ที่แคนดี และเสรีไทยทั้ง ๒ นาย ก็ได้เดินทางต่อไปกรุงวอชิงตัน พร้อมกับ พล.ต.วิลเลี่ยม โดโนแวน หัวหน้าหน่วย โอ.เอส.เอส.


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 พ.ย. 14, 08:06
๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๘    
งานฝ่ายการทูตด้านอังกฤษนั้น นายดิเรก ชัยนาม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้า  พร้อมด้วยพลโทหลวงชาตินักรบ(สุข ชาตินักรบ) และนายถนัด คอมันตร์ ซึ่งได้เดินทางโดยเครื่องบินทะเลจากบริเวณเกาะเต่าไปถึงแคนดี แต่โดยคำสั่งจากลอนดอน ทำให้คณะของนายดิเรกไม่ได้เข้าพบลอร์ดหลุยส์ เมาน์ทแบทเตน ได้แต่เจรจาฝากความกับ พล.ต.แมกแคนซี และนายเฮ็ม.อี.เดนนิงซึ่งเป็นเลขานุการแทน
 
ชะตากรรมของประเทศไทยหลังสงครามจะเป็นอย่างไร เป็นบทบาทของนักการทูตที่จำเป็นต้องอ้างอิงผลงานทางด้านการทหาร ระหว่างระยะเวลาที่เหลือน้อยนี้พลพรรคใต้ดินของเสรีไทยจึงจะต้องสร้างบทบาทให้เข้าตาสัมพันธมิตร เหมือนขบวนการฝรั่งเศสเสรีที่จับอาวุธเข้าต่อสู้กับนาซี จนได้ชื่อว่าเป็นฝ่ายชนะสงครามไปกับเขาด้วย ทั้งๆที่ตลอดหลายปี ฝรั่งเศสอยู่ใต้ท๊อปบู๊ตของเยอรมันโดยมีรัฐบาลวีชี่เป็นหุ่น
ในภาพเป็นการประชุมระหว่างฝรั่งเศสกับอเมริกาและอังกฤษ ซึ่งถือเป็นสัมพันธมิตรร่วมรบ อย่างว่าแหละนะ รัฐบาลวีชี่ของฝรั่งเศสไม่ได้บังอาจไปประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกา และออกอากาศยั่วยุ หมิ่นสถาบันสูงสุดของเขาเหมือนมหาอำนาจบางประเทศที่ประชาชนสวมมาลาตามคำสั่งท่านผู้นำ

จากซ้าย นายพลอองรี เจลฮ์ ประธานาธิบดีรูสเวลต์ นายพล ชาร์ล เดอ โกล และนายกรัฐมนตรีเชอร์ชิลล์


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 พ.ย. 14, 09:01
ดังนั้น ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๘ เป็นต้นมา งานของเสรีไทยก็เข้าสู่ขั้นตอนของการเตรียมการรบเพื่อขับไล่ญี่ปุ่นเคียงข้างกับกองทัพของสัมพันธมิตร

บทบาทของร.ต.อ.โพยม และคุณนายอัมพร ทุกขนิโรธเจ้าของบ้านที่สวนอ้อยได้หมดลงแล้ว เสรีไทยได้ย้ายที่ทำการส่งวิทยุไปอยู่ตามสถานที่ต่างๆที่ปลอดภัยมากขึ้น และเสรีไทยจากนอกและในประเทศได้ถูกส่งเข้าๆออกๆเป็นว่าเล่น เพื่อจัดทำสนามบินลับ และขนอาวุธเข้ามาฝึกการรบแบบกองโจรให้อาสาสมัคร ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศนับพัน ดังนี้

ร.ต.อรุณ สรเทศน์ และ ร.ต. ม.จ.การวิก จักรพันธุ์ จากกองกำลัง ๑๓๖ เดินทางโดยเครื่องบินมาโดดร่มลงที่จังหวัดสุโขทัย โดยมี ร.ต.ทศ ร.ต.บุญส่ง และ ร.ต.ม.จ.จีริดนัย ไปคอยรับ และได้ร่วมกับเสรีไทยในประเทศจัดตั้งค่ายฝึกพลพรรคและสร้างสนามบินลับที่จังหวัดตาก

นายสุภัทร สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง หัวหน้าชุด พร้อมด้วยนายโชติ พรโสภณ นายปิยะ จักกะพาก นายธวัช บุณยเกตุ นายเสริม บุญสุตม์ นายดำริ บุณย์ประสิทธิ์ และนายนิตย์ ตะเวทิกุล ออกเดินทางโดยเครื่องบินทะเลจากบริเวณเขาสามร้อยยอดไปรับการฝึกที่ศรีลังกา
 
นายวงศ์ พลนิกร หัวหน้าชุด พร้อมด้วยนายไชยณัฐ ธีรพัฒน์ นายแปลง คำเมือง นายถนอม นพวรรณ นายอำนวย สุวรรณกิจบริหาร นายละออ เชื้ออภัย นายประหยัด อดุลเดชจรุง และ พ.ท.เอกศักดิ์ ประพันธโยธิน  ออกเดินทางไปตามเส้นทางเดียวกัน นายแปลง คำเมือง และ ร.ต.ชโรช โล่ห์สุวรรณ ได้กลับเข้ามาปฏิบัติการในประเทศไทยภายหลังที่สำเร็จหลักสูตรการฝึกวิชาทหาร โดยโดดร่มลงที่จังหวัดแพร่
 
ต่อมาในเดือนกรกฎาคม เสริม บุญสุตม์ ได้นำทหารอเมริกัน ๔นายมาโดดร่มลงที่บริเวณมาบตาพุด จังหวัดระยอง คราวนั้นเสริมได้ประกอบวีรกรรม ซึ่งทำให้รับเหรียญกล้าหาญชั้นบรอนซ์สตาร์จากสหรัฐ


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 พ.ย. 14, 10:11
“...พอออกจากแรงกูน คณะของผมก็ตามมาขึ้นเครื่องบิน จุดที่จะกระโดดลงคือที่มาบตาพุดจังหวัดระยอง ออกจากโน่นสี่ ห้าทุ่มนี่แหละ ก็มาถึงเขตที่จะมารับ เขามีไฟสัญญาณบอกไว้ พอมาถึงเขาก็โยนอาวุธ ทิ้งอาวุธลงมา ทั้งเครื่องอุปกรณ์ ทั้งหยูกยา พวกกระติกน้ำ รองเท้า เสื้อผ้า อะไรต่ออะไรทุกอย่าง พวกนี้มัดแล้วก็ถีบลงมา พวกอาวุธเท่านั้นที่เป็นหีบทิ้งร่มลงมา เมื่อทิ้งร่มแล้ว เครื่องบินก็ไต่ระดับขึ้นไป แล้วก็บอกว่าคนเตรียมตัวได้แล้ว คนแรกที่กระโดดคือกัปตัน ต่อมาคือ นิค ผมคนที่สาม คนที่สี่ เรด คนที่ห้า แจ็ค เขาบอกให้เตรียมตัวดูไฟสัญญาณตรงขอบประตูเอาขอเกี่ยวเชือก เปิดสัญญาณ พอไฟแดงวาบปั๊บ มีพนักงานคุมอยู่ตรงปากทางก็รีบทันที เพราะเขากำหนดต้องลงตรงเวลา และตรงจุดที่เขากะไว้ ผมลงตามติดๆกันหมดเลยทั้งห้าคน”

เสริมเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ ไม่เคยฝึกโดดจริงมาก่อนเลยแต่ต้องโดดร่มจากเครื่องบินในครั้งนี้ ปรากฏว่าร่มเกิดไปติดอยู่ที่หางไม่หลุดไปจากเครื่อง พอเอี้ยวตัวเชือกมันก็พันหมุนตีเกลียวเต็มที่ ลอยเคว้งหมุนไปหมุนมาอยู่หลายนาทีจนเครื่องบินเริ่มไต่ระดับขึ้นสูง มุ่งหน้าจะกลับฐานทัพแล้ว เสริมก็พยายามคู้ขาเข้าหาตัว ใช้มือดึงปืนออกมาได้แล้วยิงลอดขาจนหมดแมกกาซีน เสียงปืนที่ดังสอดเสียงเครื่องทำให้นักบินรู้ทันทีว่าเกิดอุบัติเหตุแล้ว จึงบินวนลดระดับลง แล้วพนักงานในเครื่องสองคนได้ช่วยกันดึงเสริมเข้าไปในเครื่องได้ แต่ไม่วายหัวฟาดเข้ากับขอบเครื่องบินจนบวม หน้าตาแตกหมดเพราะโดนเส้นผมตี เนื่องจากลมข้างนอกแรงมาก


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 พ.ย. 14, 10:34
พอถึงสนามบิน ทั้งคนไทยและอเมริกันต่างเฮกันมารับถึงเครื่อง นายทหารคนหนึ่งยื่นสารชมเชยในความกล้าหาญและแสดงความยินดีที่รอดชีวิตมาได้จากผู้บังคับบัญชาหน่วยซีแอคให้อ่าน ก่อนนำตัวส่งไปเช็คที่โรงพยาบาลทันที ปรากฏว่าเรียบร้อยดี อเมริกันเลยถามว่าพรุ่งนี้ยูไปอีกได้ไหม รู้ทีหลังว่าอเมริกันเป็นห่วงทหารทั้งสี่นายของเขามากว่าจะเป็นหรือตาย เพราะต้องอาศัยเสริม ตอนนั้นเสริมตอบว่าไม่มีปัญหา พอออกจากโรงพยาบาล ๖โมงเช้า เข้าไปห้องไปกินทานอาหารนิดหนึ่ง แล้วเข้าไปเช็คร่มตัวใหม่ เดินทางไปทำงานเลย ไปคนเดียว จุดเดิม

คราวนี้ร่มกาง แต่มีปัญหาที่ลมแรงพัดร่มไปติดยอดไม้ในป่าแสมชายทะเล แถมกิ่งหักหล่นลงพงหนาม พักใหญ่เสริมจึงได้ยินเสียงตะโกนเรียกหา บอกว่าเป็นส.ห.หน่วยพิเศษที่มารับ จึงได้ตะโกนตอบรับ หลังจากนั้นจึงได้พามาที่แคมป์วัดเขา จังหวัดชลบุรี เป็นหน่วยฝึกอาวุธของนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันมี พล.ร.ต.หลวงสังวรสุวรรณชีพ เป็นหัวหน้าหน่วย


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 พ.ย. 14, 11:02
ผู้บังคับหน่วยยังแปลกใจว่าเสริมยอมไปโดดร่มได้อย่างไร แบบนี้ถ้าเป็นทหารอเมริกันจะต้องให้พักสักสองสัปดาห์ เสริมบอกว่าไม่เป็นไร คนไทยไม่กลัวตายและมีกำลังใจที่จะโดดได้  เมื่อเป็นความประสงค์ของเจ้าตัวด้วยเขาก็เลยจัดให้ แล้วรายงานไปยังกองบัญชาการที่แคนดี้  กองบัญชาการยอมรับว่าคนไทยคนนี้กล้าหาญจริง  จึงได้มอบเหรียญชั้นบรอนซ์สตาร์ให้เป็นเกียรติยศ ซึ่งเป็นเพียงเหรียญเดียวที่รัฐบาลสหรัฐได้มอบให้พลเรือนไทย ที่ปฏิบัติการเช่นเดียวกับทหารในสมรภูมิสงคราม สำหรับความกล้าหาญและความเสียสละอย่างสูงในครั้งนั้น

ซึ่งถือว่าเป็นเกียรติยศต่อประเทศไทยด้วย


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 พ.ย. 14, 10:02
 มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๘
เหตุการณ์ทั้งหมดที่ผ่านมา ฝ่ายญี่ปุ่นได้ระแคะระคายมานานแล้ว ฝ่ายเสนาธิการของโตเกียวและกองทัพใหญ่ในอินโดจีนได้แนะนำนายพลนากามูระหลายครั้งให้จัดการในเรื่องนี้ให้เด็ดขาด มิฉะนั้นญี่ปุ่นจะลำบาก แต่นายพลนากามูระได้แสดงความไม่เห็นด้วย โดยกล่าวว่า แม้ไทยจะมีฝ่ายที่อยู่ข้างสัมพันธมิตรอยู่กลุ่มใหญ่ แต่การใช้กำลังทหารควรกระทำเมื่อจำเป็น และมีประโยชน์ต่อชาติญี่ปุ่นอย่างแท้จริงเท่านั้น ซึ่งตัวท่านเองเห็นว่ายังไม่ถึงเวลา

อย่างไรก็ดี ในเช้าวันที่ ๙ มีนาคม ท่านได้รับโทรเลขลับสุดยอดจากแม่ทัพใหญ่ในอินโดจีน แจ้งว่าในเวลา ๑๘.๐๐ กองทัพญี่ปุ่นจะยื่นคำขาดต่อข้าหลวงใหญ่อินโดจีนฝรั่งเศสที่ขึ้นกับรัฐบาลวีชี่ และเป็นพันธมิตรของญี่ปุ่น แต่มีพฤติกรรมที่เอาใจออกห่างเช่นเดียวกับที่ไทยกระทำ แม่ทัพญี่ปุ่นที่นั่นทนไม่ได้จึงจะขอปลดอาวุธ  โดยให้เวลาถึง ๒๐.๐๐ น. หากพ้นจากนั้นไปแล้ว ญี่ปุ่นจะปฏิบัติการตามที่เห็นสมควร ฉะนั้น โทรเลขนี้จะแพร่งพรายให้ใครรู้มิได้จนกว่าจะพ้นเวลาคำขาด

นายพลนากามูระเห็นว่า หลังเส้นตายดังกล่าวทหารญี่ปุ่นกับฝรั่งเศสอาจปะทะกัน และอาจมีทหารแตกทัพหนีเข้าพรมแดนไทยเข้ามา ถ้าไม่บอกฝ่ายไทยล่วงหน้าก็ไม่ใช่เพื่อนกันแล้ว ดังนั้น ท่านจึงเชิญนายควง นายกรัฐมนตรีและ พล.ร.อ. สินธุ์ กมลนาวิน รัฐมนตรีกลาโหม มาพบด้วยเรื่องด่วนในตอน ๑๘.๐๐น. ที่กองบัญชาการทหารญี่ปุ่น เมื่อทั้งสองมาแล้ว ท่านจึงแจ้งให้ทราบด้วยวาจาอันสุภาพ และขอโทษที่จะต้องขอให้อยู่กับท่านจนพ้นเวลา ๒๐.๐๐ น. จึงค่อยไป ซึ่งฝ่ายไทยก็เข้าใจดี

แต่ภายใต้ความเข้าใจนั้นก็คงลึกซึ้งด้วยว่า วันใดวันหนึ่งญี่ปุ่นก็อาจทำเช่นนั้นกับไทยเหมือนกัน ถึงใกล้แพ้ แต่กองทัพญี่ปุ่นในเมืองไทยซึ่งมีกำลังกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศร่วมสองแสนคนถือว่ายังสดอยู่ อาวุธยุทโธปกรณ์ก็แทบจะยังไม่ได้ใช้ ขืนรบกัน กองทัพไทยซึ่งหมดกระสุนไปเกือบหมดตั้งแต่ครั้งเล่นสงครามกับฝรั่งเศสและตอนญี่ปุ่นบุก คงแหลกละเอียด


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 พ.ย. 14, 09:39
ปฏิบัติการของญี่ปุ่นในครั้งนั้น ฝรั่งเศสมิได้กล้าหือ นอกจากมีนายทหารระดับผู้บังคับกองพันคนหนึ่งปฏิเสธที่จะอยู่ใต้อำนาจของญี่ปุ่น เขาจึงถูกประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะเช่นเดียวกับการประหารซามูไร แต่ไม่มีทหารญี่ปุ่นแตกทัพเข้ามาในไทย ก็ใครมันจะโง่เข้ามาทางนี้ ก็รู้ๆกันอยู่ว่าอะไรเป็นอะไร

การสำแดงพลังอำนาจของญี่ปุ่นแบบฉับพลันเช่นนี้ส่งผลให้อังกฤษและอเมริกันต้องหยุดและรอดูสถานการณ์ในประเทศไทยว่าญี่ปุ่นจะเอาอย่างไรอยู่สองสามสัปดาห์ ครั้นเห็นว่ายังเป็นปกติ จึงส่งเสรีไทยและหน่วยปฏิบัติการลับของกองทัพอเมริกันเข้ามาเพิ่ม

ในเดือนมีนาคมนี้ ร.ต.เจริญ เจริญรัชต์ภาคย์ ร.ต.ประยูร อรรถจินดา และ ร.ต.อำนวย พูนพิพัฒน์ เสรีไทยสายอเมริกาได้เดินทางเข้าไทยโดยเครื่องบินทะเล เมื่อดูลาดเลาแล้วว่าปลอดโปร่งอเมริกันจึงส่ง พ.ต.ริชาร์ด กรีนลี พร้อมด้วย ร.อ.โฮเวิร์ด ปาล์มเมอร์ จึงเดินทางเข้ามาด้วยวิธีเดียวกัน


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 พ.ย. 14, 18:25
 ๙ เมษายนพ.ศ.๒๔๘๘ 
ไม่ทราบว่าสหรัฐได้คุยกับอังกฤษในเรื่องอนาคตของไทยอย่างไร แต่แทนที่จะเป็นอังงกฤษ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐกลับเชิญ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และนายกนต์ธีร์ ศุภมงคล ไปพบ และแจ้งว่าอังกฤษยินยอมให้แจ้งต่อฝ่ายไทยด้วยวาจาว่า

(๑) เป้าหมายสุดท้ายของอังกฤษและสหรัฐฯ เป็นอย่างเดียวกัน 
(๒) อังกฤษไม่มีความสงสัยในความจริงใจของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ปรารถนาจะร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตร และ
(๓) อังกฤษจะติดต่อโดยตรงกับนายปรีดี พนมยงค์ ไปจนกว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวในประเทศไทยขึ้น ตามดำริของนายปรีดี ผู้สำเร็จราชการ
นายกนต์ธีร์ได้เดินทางกลับประเทศไทยโดยเครื่องบินทะเลอังกฤษนำมาส่งที่ชายฝั่งหัวหิน

๑๒ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๘   
แห่งสหรัฐอเมริกาถึงอสัญกรรม แฮร์รี เอส  กระทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งแทนในอีกสองวันต่อมา รองประธานาธิบดีทรูแมน และประธานาธิบดีรูสเวลต์


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 พ.ย. 14, 18:42
 ๑๔ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๘    
โรงไฟฟ้าสามเสนและโรงไฟฟ้าวัดเลียบ ถูกระเบิดเสียหายหนักไม่สามารถผลิตไฟฟ้าต่อไปได้ กรุงเทพทั้งเมืองต้องตกอยู่ในความมืดมิดหลังจากพระอาทิตย์ตก

ทางราชการได้นำเรือดำน้ำที่มีอยู่ทั้งหมด ๔ลำ แต่ละลำมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดใหญ่สำหรับระบบขับเคลื่อน มาจอดที่ท่าราชวรดิษเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับรถราง ให้วิ่งบริการได้ต่อไป


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 พ.ย. 14, 18:45
๒๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๘     
น.ท.ทวี จุลละทรัพย์ ได้เดินทางจากกรุงเทพฯ ไปทำหน้าที่นายทหารติดต่อฝ่ายกองทัพอากาศที่แคนดี โดยมีคณะนายทหารอเมริกัน ๓นาย ที่ได้เข้ามาอยู่ที่บ้านมลิวัลย์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาติดกับทำเนียบท่าช้างของผู้สำเร็จราชการ ปรีดี พนมยงค์ คือ ร.อ.จอห์น เวสเตอร์ ร.อ.โฮเวิร์ด ปาล์มเมอร์ และ ร.ท.แมคแกรรี นักบินที่เครื่องบินตกที่แม่ฮ่องสอน ร่วมเดินทางไปกับเครื่องบินทะเลลำที่นำนายทหารเสรีไทยสายอเมริกา ๓ นาย คือ ร.ต.สมจิต ยศสุนทร ร.ต.เชื้อ หุ่นจำลอง และ ร.ต.การุณ เก่งระดมยิง เข้ามายังประเทศไทย

น.ท.ทวี จุลละทรัพย์ เดินทางไปๆมาๆระหว่างกรุงเทพฯกับอินเดีย ๓ครั้ง โดยปฏิบัติงานภายใต้ พล.อ.ท.หลวงเทวฤทธิพันลึก ผ.บ.กองทัพอากาศ และ โอ.เอส.เอส.

 ๒๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๘   
เบนิโต มุสโสลินี ผู้นำเผด็จการของอิตาลีถูกจับได้และถูกประชาชนนำไปประหารชีวิต และแขวนศพประจานพร้อมภรรยา


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 พ.ย. 14, 18:54
๒๙ เมษายนพ.ศ.๒๔๘๘
ร.ต.วัฒนา ชิตวารี และ ร.ต. ม.จ.ภีศเดช รัชนี แห่งกองกำลัง ๑๓๖ เดินทางเข้าประเทศไทยโดยเครื่องบินทะเล ณ บริเวณเกาะเต่าในอ่าวไทย

ในวันเดียวกัน พ.ต. ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิทฯ พร้อมด้วย พล.จ. วิคเตอร์ เจคส์ และ พ.ต.ทอมัส ฮอบส์ แห่งกองทัพอังกฤษ เดินทางโดยเครื่องบินทะเลเข้ามาพบนายปรีดี พนมยงค์ ในกรุงเทพฯ คณะนายทหารอังกฤษได้พบปะกับบุคคลชั้นหัวหน้าของขบวนการเสรีไทยในประเทศบนเรือกลไฟกลางแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิเช่น พล.ท.ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ นายดิเรก ชัยนาม พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส พล.ท.หลวงชาตินักรบ โดยมี พ.อ.เนตร เขมะโยธิน ร่วมด้วย

นับเป็นครั้งสำคัญที่บุคคลระดับแกนนำของคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้ทำงานร่วมกับพระโอรสของกรมพระสวัสดิ์ฯคู่อริ ผู้ทรงเป็นอดีตนายทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 พ.ย. 14, 19:59
๓๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๘   
อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ท่านผู้นำแห่งเยอรมนีฆ่าตัวตาย ขณะที่กองทัพโซเวียตเข้าล้อมกรุงเบอร์ลิน

ต้นเดือนพฤษาคม พ.อ.เนตร เขมะโยธิน และ ร.อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ พร้อมด้วย พล.จ.เจคส์ และ พ.ต.ฮอบส์ ได้เดินทางโดยเครื่องบินทะเลไปอินเดีย โดยพ.อ.เนตรจะทำหน้าที่เป็นนายทหารติดต่อประจำอยู่แคนดีในฐานะผู้แทนของขบวนการเสรีไทย และเป็นผู้ดูแลบรรดาเสรีไทยในประเทศที่ส่งออกไปฝึกการรบที่อินเดียและ
ในเดือนเดียวกัน น.อ.หลวงยุทธกิจพิลาส (มี ปัทมนาวิน) ร.น. ร.ท.ชลิต ชัยสิทธิเวช ร.น. และนายกุมุท จันทร์เรือง ได้ถูกส่งไปช่วยเหลืองานสถานอัครราชทูต และทูตทหารที่กรุงวอชิงตัน

๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๘   
เยอรมันยอมจำนนโดยปราศจากเงื่อนไขที่กองบัญชาการทัพของนายพลไอเซนฮาวร์ และในวันรุ่งขึ้น ประธานาธิบดีทรูแมนก็ประกาศเป็นวันชัยชนะของสัมพันธมิตรในยุโรป



กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 พ.ย. 14, 20:41
พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๘
เสรีไทยได้เร่งปฏิบัติการอย่างคึกคัก   

ร.อ.สวัสดิ์ ศรีศุข เสรีไทยสายอังกฤษ ได้กระโดดร่มลงที่หลังเขาหัวหิน  พ.ต.จอห์น ฮอลลาเดย์ และ ร.ต.ฉลอง ปึงตระกูล กระโดดร่มลงที่สกลนคร พลพรรคเสรีไทยทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือนได้ร่วมกันจัดสร้างสนามบินลับขึ้นที่จังหวัดสกลนคร เลย นครราชสีมา อุบลราชธานี ชัยภูมิ ทำให้การเดินทางเข้าออกประเทศไทย ทำได้สะดวกทั้งทางเครื่องบินบก และเครื่องบินทะเล ตำรวจสันติบาลที่ถูกส่งไปฝึกงานก็เริ่มทยอยกลับเข้ามาเมืองไทย สวนกับรุ่นต่อไปที่ออกไปฝึกที่อินเดีย อาวุธยุทโธปกรณ์ได้ถูกทยอยส่งเข้ามาซุกซ่อนไว้เพื่อรอการใช้รบกับทหารญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นเริ่มตรวจพบสนามบินลับเหล่านั้นทางเครื่องบิน และได้ขอให้ไทยส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเข้าร่วมกับญี่ปุ่นในการพิสูจน์ทราบทางภาคพื้นดิน ฝ่ายไทยได้รีบให้คนไปปักกล้าอ้อยกล้ามันเพื่อกลบเกลี่อน ญี่ปุ่นเห็นแล้วได้ฟังคำอธิบายก็ได้แต่พยักหน้าหงึกๆ อ้อ ประเทศนี้เขาปลูกพืชไร่กันเป็นแปลงยาวๆเหมือนเส้นก๋วยเตี๋ยวกลางป่า


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 พ.ย. 14, 06:33
 ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๘   
นายปรีดี พนมยงค์ ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศสหรัฐมีสาระสำคัญว่า ขบวนการเสรีไทยได้กระทำตามข้อแนะนำของฝ่ายอเมริกันตลอดมา ว่าจะไม่ปฏิบัติต่อสู้ญี่ปุ่นอย่างเปิดเผยก่อนถึงเวลาอันควร แต่บัดนี้ญี่ปุ่นได้มีความสงสัยมากขึ้น และรัฐบาลจะลาออกถ้าญี่ปุ่นยืนยันจะขอเงินกู้จากไทยเพิ่มอีก ดังนั้น รัฐบาลใหม่ที่จะตั้งขึ้นจะประกาศยกเลิกข้อตกลงต่างๆ ที่ได้เคยทำกับญี่ปุ่นไว้ รวมทั้งการที่ได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐด้วย  โดยไทยจะลุกขึ้นต่อสู้กับญี่ปุ่น จึงขอแจ้งให้สหรัฐทราบเสียก่อน

“ข้าพเจ้าเชื่อว่าในวันที่เราลงมือปฏิบัติการนั้น สหรัฐฯจะประกาศเคารพความเป็นเอกราชของประเทศไทย และถือว่าประเทศไทยเป็นสมาชิกหนึ่งของสหประชาชาติ และไม่ถือว่าประเทศไทยเป็นศัตรู ทั้งนี้จะเป็นการส่งเสริมกำลังใจอย่างใหญ่หลวงต่อมวลราษฎรไทย ซึ่งเตรียมพร้อมแล้วในการเสียสละใดๆ และข้าพเจ้าได้แจ้งเรื่องทั้งหมดนี้ไปยังผู้บัญชาการทหารสูงสุดสัมพันธมิตรภาคเอเชียอาคเนย์ (พล.ร.อ.ลอร์ด เมาน์ทแบทเตน) ด้วยแล้ว”

๒๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๘   
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ส่งหนังสือตอบนายปรีดีกลับมาว่า สหรัฐขอให้ตระหนักถึงการปฏิบัติการใดๆ ของขบวนการเสรีไทยจะต้องสอดคล้องกับแผนยุทธการของสัมพันธมิตร มิฉะนั้นจะเท่ากับเป็นการเร่งให้ญี่ปุ่นยึดประเทศไทย จึงขอให้รอไว้ก่อน

๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๘   
นายปรีดี มีหนังสือตอบไปว่าจะพยายามสนองเจตจำนงของสัมพันธมิตร ซึ่งมิใช่จะกระทำได้โดยง่าย เนื่องจากเหตุการณ์รัดตัวใกล้เข้ามาทุกขณะ


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 พ.ย. 14, 06:41
 ๒๕ มิถุนายนพ.ศ.๒๔๘๘   
กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐส่งบันทึกแจ้งต่อเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำกรุงวอชิงตัน มีสาระสำคัญว่า สหรัฐและอังกฤษมีพื้นฐานเกี่ยวกับประเทศไทยที่คล้ายคลึงกัน คือใคร่จะฟื้นฟูเสรีภาพ เอกราช และอธิปไตยของไทย และเห็นพ้องกันว่าไทยจะต้องคืนดินแดนที่เอาไปจากพม่า อินโดจีน และมลายู โดยสหรัฐฯกับอังกฤษไม่มีความปรารถนาดินแดนส่วนใดของไทย นอกจากนั้นอังกฤษและสหรัฐ  ก็ยังเชื่อในความจริงใจของนายปรีดีที่ต้องการจะเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ในการผลักดันญี่ปุ่นออกจากประเทศไทย สหรัฐมีนโยบายที่จะรับรองรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายของไทยโดยเร็ว  และหวังว่าสถานะสงครามระหว่างอังกฤษกับไทยจะเป็นอันสิ้นสุดลงในเวลาอันสั้นที่สุด


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 พ.ย. 14, 08:03
มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๘     
นายทหารเสรีไทยทั้งสายอังกฤษและสายอเมริกาได้เข้าร่วมปฏิบัติงานกับเสรีไทยในประเทศ ทั้งทหาร ตำรวจและพลเรือน ซึ่งในหลายหน่วยมีนายทหารสัมพันธมิตรเข้ามาร่วมปฏิบัติงานด้วย
ภารกิจหลักก็คือ การรับอาวุธยุทธภัณฑ์ที่สัมพันธมิตรส่งมาให้อย่างขนานใหญ่ทางสนามบินลับทุกแห่ง และการฝึกการรบแบบใต้ดินแก่พลพรรค ซึ่งเป็นชาวบ้านในอาณาบริเวณนั้น


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 พ.ย. 14, 08:05
๒๖ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๘   
สัมพันธมิตรปิดการประชุมพร้อมกับลงมติรับรองกฎบัตรสหประชาชาติ


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 พ.ย. 14, 08:09
๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๘   
ญี่ปุ่นวางอาวุธ นายพลดักลาส แมคอาเธอร์ ประกาศปลดปล่อยฟิลิปปินส์


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 พ.ย. 14, 09:17
๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๘  
แม่ทัพนากามูระเชิญพล.ร.อ.สินธุ์ รัฐมนตรีกลาโหม และพล.อ.หลวงสินาทโยธารักษ์ แม่ทัพบกพร้อมทั้งคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ในกองทัพบก เรือและอากาศไปเยี่ยมชมแนวปราการที่ถนนพญาไท บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งญี่ปุ่นสร้างโดยนำซุงไม้สักมาเรียงซ้อนไว้อย่างมั่นคงแข็งแรง ติดตั้งอาวุธหนักเบาครบครัน โดยอ้างว่าเพื่อรับมือการโจมตีของสัมพันธมิตร แต่ความจริงแล้วก็คือไม่ไว้ใจฝ่ายไทยนั่นเอง การเชิญมาครั้งนี้จึงถือเป็นการปรามมิตรร่วมรบไม่ให้เอาใจออกห่าง หันมาฆ่าเพื่อนด้วยกันเอง

การที่ญี่ปุ่นสร้างปราการขนาดใหญ่ได้ในเวลารวดเร็วนั้น ญี่ปุ่นว่าได้สร้างความพิศวงให้คณะนายทหารไทยมาก และในภาคบรรยายซึ่งเสนาธิการทหารของญี่ปุ่นผู้มีประสพการณ์ในการรับมือการบุกของกองทัพสัมพันธมิตรในพม่า ได้มาเผยจึงกลยุทธต่างๆ จบด้วยปาฐกถาของนายพลนากามูระว่า ญี่ปุ่นพยายามเต็มที่ๆจะไม่ให้กรุงเทพเมืองหลวงของไทยต้องตกเป็นสมรภูมิรบ แต่ญี่ปุ่นจะประมาทมิได้เนื่องจากตระหนักดีถึงความเคลื่อนไหวของกองกำลังใต้ดิน จึงต้องเตรียมพร้อมที่จะป้องกันตนเอง ส่วนสนามบินลับต่างๆที่ญี่ปุ่นทราบแล้วว่าอยู่ที่ไหนบ้างนั้น จะใช้มาตรการเด็ดขาดดำเนินการต่อไป

ท่านแม่ทัพว่าคำกล่าวของท่านเหมือนลูกระเบิดที่ทำความประหวั่นพรั่นใจให้ทหารไทยไม่น้อย แต่ท่านก็ไม่ได้เขียนต่อว่าหลังจากนั้น ทหารไทยก็ตั้งบังเกอร์บ้าง ทุกแห่งที่ญี่ปุ่นมีรังปืนกลไทยก็ต้องไปตั้งอยู่ใกล้ๆระยะยิง ญี่ปุ่นยังงงๆอยู่ ไหนบอกว่าจะเอาไว้ยิงสู้ฝรั่งอั้งม้อ แต่ไหง๋ตั้งปืนหันมาหาวาตาชิ วะ


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 พ.ย. 14, 10:40
๑๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๘   
นายพลนากามูระ แม่ทัพใหญ่ญี่ปุ่นในไทย ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์สำทับอีกครั้งหนึ่งว่า อย่าได้หลงผิดว่าญี่ปุ่นจะถูกขับไล่ออกจากประเทศไทยโดยง่าย เพราะทหารญี่ปุ่นแสนกว่าคนจะต่อสู้จนคนสุดท้าย

นายพลนากามูระได้แย้มทำนองว่าสัมพันธมิตรอาจช่วยสร้างสนามบินลับในประเทศไทยหลายแห่ง
ดังนั้น การต่อสู้ของญี่ปุ่นต้องอาศัยความร่วมมือเต็มที่จากคนไทยด้วย


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 พ.ย. 14, 10:46
๑๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๘    
เริ่มการประชุมสุดยอดที่ปอตสดัมในเยอรมนี ระหว่างประธานาธิบดีทรูแมน นายกรัฐมนตรีเชอร์ชิลล์ และจอมพลสตาลิน ผู้นำสัมพันธมิตรทั้งสามตกลงประกาศปอตสดัม แจ้งไปยังนายกรัฐมนตรีกันตาโร ซูซูกิของญี่ปุ่นในวันที่ ๒๖ มิถุนายน ให้ยอมจำนนโดยทันที มิฉะนั้นญี่ปุ่นจะถูกทำลาย
แต่ญี่ปุ่นไม่ยอมรับ

๒๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๘      
นายเดนิง ที่ปรึกษาฝ่ายการเมืองของลอร์ดเมาน์ทแบทเตน ผบ.สูงสุด สัมพันธมิตรในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ รายงานกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษว่า สถานการณ์ภายในประเทศไทยตึงเครียดยิ่งขึ้น ไม่แน่ใจว่าญี่ปุ่นจะจัดการกับประเทศไทยหรือไม่ และไทยจะโต้ตอบอย่างใด เนื่องจากฝ่ายสัมพันธมิตรได้ยื่นคำขาดต่อญี่ปุ่น ซึ่งไทยอาจประกาศตนเปิดเผยเข้าข้างสัมพันธมิตรก่อนที่ญี่ปุ่นจะยอมจำนน


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 พ.ย. 14, 11:04
๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๘    
นายปรีดี รับเชิญจากญี่ปุ่นให้เข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับสนามบินลับ ในขณะนั้นทหารญี่ปุ่นจำนวนมากได้เคลื่อนกำลังออกไปค้นหาสนามบินลับที่จังหวัดขอนแก่นและสกลนคร การประชุมร่วมมีขึ้นในวันที่ ๓ สิงหาคม

ที่ประชุมตกลงจะให้ทหารญี่ปุ่นและไทย ร่วมกันปฏิบัติการค้นหาและทำลายสนามบินและฝ่ายตรงข้าม โดยจะมีการกำหนดเวลาต่อไป

ทั้งสองฝ่ายต่างคิดอยู่ในใจว่า ถ้าเกิดอย่างนั้นจริง การต่อสู้ระหว่างกำลังทหารญี่ปุ่นและไทยคงอุบัติขึ้นแน่นอน เพราะทหารไทยคงไม่ยอมให้ทหารญี่ปุ่นฆ่าเพื่อนร่วมชาติต่อหน้าต่อตา หากตนเองมีอาวุธอยู่ในมือเช่นกัน


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 พ.ย. 14, 11:13
๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๘   
เครื่องบินสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดปรมาณูลูกแรกลงที่นครฮิโรชิมา ทำลาย ๒๒๐,๐๐๐ ชีวิต ในวันเดียวกัน

๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๘   
ระเบิดปรมาณูลูกที่สอง ถูกทิ้งลงที่นครนางาซากิ มีประชาชนเสียชีวิต ๔๐,๐๐๐ คน



กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 พ.ย. 14, 11:26
๑๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๘    
มีประกาศพระบรมราชโองการของสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโต ยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตร โดยปราศจากเงื่อนไข และให้บรรดาทหารญีปุ่นทั้งหมดวางอาวุธโดยสิ้นเชิง

ในวันเดียวกัน พล.ร.อ.ลอร์ดหลุยส์ เมาน์แบทเตน ผบ.สูงสุด สัมพันธมิตรในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ ให้ส่งสารถึงนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และหัวหน้าขบวนการเสรีไทย แนะนำให้นายปรีดี ออกประกาศ ปฏิเสธการประกาศสงครามของไทยต่ออังกฤษและสหรัฐ โดยด่วนที่สุด
กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษให้ลอร์ดเมาน์ทแบทเตน แจ้งต่อนายปรีดีด้วยว่า หากนายปรีดีได้กระทำตามที่แนะนำข้างต้น อังกฤษก็พร้อมที่จะไม่บังคับให้ไทยต้องแสดงการยอมจำนนโดยปราศจากเงื่อนไข เช่น การปฏิบัติของประเทศผู้แพ้สงครามพึงต้องกระทำโดยปรกติ ทั้งนี้ก็เพราะความสนับสนุนที่ขบวนการเสรีไทยได้ให้แก่อังกฤษ และการที่สัมพันธมิตรได้ยับยั้งการปฏิบัติการต่อสู้ของไทย ที่นายปรีดีได้แสดงเจตจำนงเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ที่ผ่านมา

๑๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๘    
นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้ประกาศสันติภาพ มีสาระสำคัญว่า เมื่อกองทัพญี่ปุ่นได้ยาตราเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ทหาร ตำรวจ และประชาชนชาวไทยได้ต่อสู้การรุกรานและได้เสียชีวิตไปเป็นอันมาก ซึ่งแสดงว่าการประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐฯ เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ตลอดจนการกระทำทั้งหลายซึ่งเป็นปรปักษ์ต่อสหประชาชาตินั้นเป็น “การกระทำอันผิดจากเจตจำนงของประชาชนชาวไทย และฝ่าฝืนขืนขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และกฎหมายบ้านเมือง” และคนไทยทั้งภายใน และภายนอกประเทศก็ได้กระทำทุกวิถีทางในการช่วยเหลือสหประชาชาติ ดังนั้น “ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงขอประกาศโดยเปิดเผยแทนประชาชนชาวไทยว่า การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกา และบริเตนใหญ่เป็นโมฆะ ไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย” และ “ประเทศไทยได้ตัดสินใจที่จะกลับคืนมาซึ่งสัมพันธไมตรีอันดี อันเคยมีมากับสหประชาชาติเมื่อก่อนวันที่ ๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ และพร้อมที่จะร่วมมือเต็มที่ทุกทางกับสหประชาชาติในการสถาปนาเสถียรภาพในโลกนี้” นอกจากนั้น “บรรดาดินแดนซึ่งญี่ปุ่นได้มอบให้ไทยครอบครอง” ก็พร้อมที่จะมอบคืนให้อังกฤษ และบรรดาความเสียหายใดๆ ก็จะชดใช้ให้โดยชอบธรรม พระบรมราชโองการประกาศสันติภาพดังกล่าวนี้ นายทวี บุณยเกตุ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

สภาผู้แทนราษฎร ในการประชุมวันเดียวกันนั้น ได้ลงมติให้ความเห็นชอบกับประกาศสันติภาพเป็นเอกฉันท์

พระยามานวราชเสวี ประธานสภาฯ ได้กล่าวต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า “ประกาศสันติภาพจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ตรงกับความประสงค์ของประชาชนชาวไทยอย่างแท้จริง”


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 พ.ย. 14, 06:43
ผมได้เสนอบทบาทของขบวนการเสรีตั้งแต่ต้นจนจบสงคราม เพื่อให้ผู้ที่ติดตามอ่านเรื่องนี้ได้ประจักษ์ว่า ขบวนการเสรีไทยนั้น มีต้นกำเนิดจากทั้งภายนอกและภายในประเทศ ซึ่งต่างฝ่ายต่างมีวัตถุประสงค์ที่จะกู้ชาติกู้แผ่นดิน แต่ก็ทำงานกันไปโดยไม่ทราบว่าจะให้เป็นผลสำเร็จได้ด้วยวิธีใด

เสรีไทยในประเทศก็พยายามจะส่งคนไปเมืองจีนเพื่อหาทางติดต่อกับฝรั่ง แต่ก็โดนจีนกันท่าไว้เสียเนิ่นนาน ในขณะที่เสรีไทยทั้งอเมริกาและอังกฤษ  ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีแผนแบบการจัดตั้งที่เป็นเรื่องเป็นราวกว่า และได้ฝึกการรบหลังแนวข้าศึกมาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่ก็ไม่ทราบว่าถ้าถูกส่งเข้ามาในเมืองไทยแล้ว จะมาหากลุ่มคนไทยที่มีใจต่อต้านญี่ปุ่นได้ที่ไหน
  
เราได้ทราบความจริงว่า เสรีไทยที่โดดร่มหรือเดินป่าเข้ามา จะช่วยตนเองให้รอดก็ยังไม่ได้เลย ถ้าไม่ถูกจับเป็นก็ถูกจับตายหมดด้วยฝีมือของตำรวจไทย ภายใต้การบัญชาการของพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส  ผู้ซึ่งมีความระแวงว่า เสรีไทยจะเป็นขบวนการทางการเมืองที่จัดตั้งโดยฝ่ายเชื้อพระวงศ์  ทำให้เสียเวลาไปหลายเดือน จนฝรั่งเองเกือบหมดใจที่จะสนับสนุนคนไทยเหล่านี้เสียแล้ว เพราะขนาดกลุ่มที่ถูกคัดอย่างดีที่สุดโดยมีฉายาว่ากลุ่มช้างเผือก ก็ยังหายเงียบไปเฉยๆหลังจากกระโดดร่มเข้ามาแล้ว  ไม่ติดต่อกลับบ.ก.แม้แต่ครั้งเดียวถึงห้าหกเดือน
  
ถ้าไม่มีกบฏทางความคิดเกิดขึ้นในสันติบาล ขบวนการเสรีไทยก็ไร้น้ำยา ผมขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ถ้าขาดร.ต.อ. โพยม จันทรัคคะ นายทหารเสรีไทยก็ไม่มีโอกาสติดต่อทางวิทยุกลับไปกองบัญชาการของสัมพันธมิตรภาคตะวันออกไกลได้ และงานของเสรีไทยก็ไม่มีวันเป็นผลสำเร็จ

เพราะร.ต.อ. โพยม จันทรัคคะ เสรีไทยจึงมีโอกาสได้แสดงบทบาท ตั้งแต่ได้เชื่อมโยงหัวหน้าขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นในประเทศ และดึงเอาความช่วยเหลือทางการทหารจากสัมพันธมิตรเข้ามาจัดตั้งหน่วยจรยุทธ ซึ่งถึงแม้จะเป็นเพียงแค่เตรียมการที่จะรบ ยังไม่ได้รบจริงเพราะสงครามยุติลงก่อน แม้ก่อนหน้านั้นญี่ปุ่นซึ่งรู้ดีถึงความเคลื่อนไหวของขบวนการใต้ดิน ได้ขู่จะจัดการอย่างเด็ดขาด คนไทยก็โชคดีที่แม่ทัพญี่ปุ่นผู้ประกาศตนเองว่าเป็นชาวพุทธอย่างนายพลนากามูระ ไม่ได้บ้าระห่ำที่จะเป็นฝ่ายลงไม้ลงมือก่อน  ดังนั้น เมื่อนายปรีดี พนมยงค์ถือเอาคำขู่นั้นไปปรึกษาสหรัฐเพื่อขอไฟเขียวที่จะเปิดศึกกับญี่ปุ่น  ก็ถือว่าโชคดีซ้ำสองที่สหรัฐเบรกไว้  หาไม่แล้ว กองกำลังของญี่ปุ่นร่วมสองแสนนาย คงได้เข่นฆ่าคนไทยตายเป็นเบือไป เพราะเสรีไทยทั้งในและนอกประเทศที่ติดอาวุธแล้วมีอยู่แค่หลักพัน  ส่วนทหารประจำการที่มีอาวุธหนัก ก็มีจำนวนน้อยกว่าญี่ปุ่นมาก และก็ไปกระจุกตัวอยู่ทางภาคเหนือเสียเป็นส่วนใหญ่

เคราะห์ดีเหลือเกิน  ที่ถึงแม้เสรีไทยจะยังไม่ได้ฆ่าญี่ปุ่นสักคนเดียว  สัมพันธมิตรก็ยังคิดคะแนนให้ o คือ ไม่บวกและไม่ติดลบ  ได้เป็นผู้ที่ไม่แพ้และไม่ชนะในสงครามโลกครั้งนี้

หากคนรุ่นหลังจะคิดถึงคุณความดี ความเสียสละของบรรดาเสรีไทย และบุคคลสำคัญๆในขนวนการนี้หลายๆท่านแล้ว โปรดได้ระลึกถึงร.ต.อ. โพยม จันทรัคคะด้วย  ถ้าไม่ได้ท่านแล้ว ไทยจะทำคะแนนถึงเกรดที่รอดจากการเสียอธิปไตยได้จากไหนยังไม่ทราบ
ส่วนตัวท่านเอง ได้เดินออกจากหน้าประวัติศาสตร์ไปแล้วหลังจากที่หมดบทบาท  ไม่มีแม้แต่รูปถ่ายแบบพระเอกสักรูป นอกจากภาพที่ท่านไปปรากฏตัวพร้อมกับภรรยาในงานแห่งหนึ่ง ในยามที่มีอายุมากแล้วข้างล่างนี้


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 พ.ย. 14, 06:53
ผมคงต้องจบ “โพยม จันทรัคคะ ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้ ” ลง ณ คคห.นี้  ขอยอมรับว่าผมรู้สึกแปลกๆที่ไม่มีทั้งขาประจำและขาจรเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นเลยแม้แต่คนเดียว  ยังเดาไม่ถูกว่าเป็นเพราะเหตุใด ทั้งๆที่จำนวนผู้ที่ติดตามอ่านก็มีไม่ใช่น้อย
 
ฤาจะเป็นเพราะตัวท่านเอง  “โพยม จันทรัคคะ”  ผู้ปรารถนาที่จะเป็นวีรบุรุษนิรนาม  ผู้มา แล้วก็ไปอย่างเงียบเชียบ


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 28 พ.ย. 14, 08:53
แห่ะๆ  มาลงชื่อว่าแอบอ่านเงียบๆ  ตลอดครับ  กลัวเดี๋ยวท่านนวรัตนจะน้อยใจ  ที่ไม่ออกความเห็นเพราะความรู้น้อยและข้อมูลอ้างอิงมีจำกัด  ไว้ท่านนวรัตนลองเขียนกระทู้เป็นเรื่องแนวๆ ปัจจุบันสิครับ รับรองท่านอาจารย์ใหญ่ตามแจกไม้เรียวลบความเห็นผมไม่ทันแน่ ;D


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 28 พ.ย. 14, 09:05
พูดถึงเรื่องเสรีไทย ต่อต้านญี่ปุ่น เลยขอเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ที่ไม่มีใครบันทึกเรื่องหนึ่ง

ผมมีคุณตาคนหนึ่ง คุณตาคนนี้เป็นน้องชายแท้ๆ ของยายผม  โดนเกณฑ์ทหารช่วงสงครามโลกนี่แหละ แกได้ไปรบแถวเชียงตุง หรือไปสงครามอินโดจีนผมก็ไม่แน่ใจ  พอปลดทหารแล้วก็มาขี่สามล้ออยู่กรุงเทพ  มีอยู่คืนหนึ่งมีนายทหารญี่ปุ่นเมา 2 คนมาเรียกสามล้อแกไปส่งที่ไหนซักที่ ระหว่างทางไม่รู้ทะเลาะอะไรกัน หรือทหารญึ่ปุ่นเบ่งใส่แกยังไงไม่รู้ แกคนเดียวแต่ไม่เมาเลยกระทืบญี่ปุ่นเมาทั้งสองคนซะตายเลย  แล้วแกก็รีบเผ่นไปบ้านนอก ไม่มีตำรวจหรือทหารที่ไหนไปตามจับแก  จนสงครามเลิกแกถึงค่อยกลับมากรุงเทพ ไม่รู้พอนับว่าเป็นเสรีไทยได้มั่งหรือเปล่า

เรื่องนี้ได้ยินมาตั้งแต่สมัยผมเด็กๆ พอโตแล้วจะไปสัมภาษณ์รายละเอียดซะหน่อยแกก็ชิงตายไปตั้งแต่สิบกว่าปีก่อนแล้ว


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 พ.ย. 14, 09:20
ไม่เคยได้ยินแฮะ เคยแต่ฟังญาติผู้ใหญ่เล่าว่า ทหารญี่ปุ่นเมา นั่งสามล้อแข่งกันโดยชักดาบซามูไรมาวางแหงนคมไว้บนอาน เล่นเอาคนขี่เกือบตายไปตามๆกัน


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 พ.ย. 14, 09:28
แห่ะๆ  มาลงชื่อว่าแอบอ่านเงียบๆ  ตลอดครับ  กลัวเดี๋ยวท่านนวรัตนจะน้อยใจ  ที่ไม่ออกความเห็นเพราะความรู้น้อยและข้อมูลอ้างอิงมีจำกัด  ไว้ท่านนวรัตนลองเขียนกระทู้เป็นเรื่องแนวๆ ปัจจุบันสิครับ รับรองท่านอาจารย์ใหญ่ตามแจกไม้เรียวลบความเห็นผมไม่ทันแน่ ;D

ปัจจุบันนี้มีคนโขมยชื่อเสรีไทยไปใช้เพื่อหวังผลทางการเมืองของตนเองโดยไม่ศึกษาประวัติศาสตร์

เสรีไทยของแท้ดั้งเดิมนั้น ท่านตกลงสลายตัวทันทีที่สงครามเลิก ไม่เอาความเชื่อทางการเมืองของตนมาสร้างความแตกแยกให้กับชาติ  ถึงคนหน้าเดิมๆในกลุ่มจะซุกซ่อนอาวุธที่ฝรั่งให้มาเพื่อปฏิบัติงานใต้ดินเพื่อลัทธิของตนต่อ แต่ก็มิได้แอบอ้างชื่อขบวนการเสรีไทยมาหาเสียง

ผมเขียนกระทู้นี้ไปก็ต้องระวังไป กลัวใครจะคิดว่าผมปัดฝุ่นของเก่าขึ้นมาเพื่อสร้างเครดิตให้เสรีไทยปลอม


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 พ.ย. 14, 09:43
พูดถึงเรื่องเสรีไทย ต่อต้านญี่ปุ่น เลยขอเล่าเกร็ดประวัติศาสตร์ที่ไม่มีใครบันทึกเรื่องหนึ่ง

ผมมีคุณตาคนหนึ่ง คุณตาคนนี้เป็นน้องชายแท้ๆ ของยายผม  โดนเกณฑ์ทหารช่วงสงครามโลกนี่แหละ แกได้ไปรบแถวเชียงตุง หรือไปสงครามอินโดจีนผมก็ไม่แน่ใจ  พอปลดทหารแล้วก็มาขี่สามล้ออยู่กรุงเทพ  มีอยู่คืนหนึ่งมีนายทหารญี่ปุ่นเมา 2 คนมาเรียกสามล้อแกไปส่งที่ไหนซักที่ ระหว่างทางไม่รู้ทะเลาะอะไรกัน หรือทหารญึ่ปุ่นเบ่งใส่แกยังไงไม่รู้ แกคนเดียวแต่ไม่เมาเลยกระทืบญี่ปุ่นเมาทั้งสองคนซะตายเลย  แล้วแกก็รีบเผ่นไปบ้านนอก ไม่มีตำรวจหรือทหารที่ไหนไปตามจับแก  จนสงครามเลิกแกถึงค่อยกลับมากรุงเทพ ไม่รู้พอนับว่าเป็นเสรีไทยได้มั่งหรือเปล่า

เรื่องนี้ได้ยินมาตั้งแต่สมัยผมเด็กๆ พอโตแล้วจะไปสัมภาษณ์รายละเอียดซะหน่อยแกก็ชิงตายไปตั้งแต่สิบกว่าปีก่อนแล้ว

คงไม่ได้มั๊งครับ แต่ยังดีกว่าพวกหัวโขมยที่ชอบซุกซ่อนไปกับรถไฟลำเลียงยุทธสัมภาระของญี่ปุ่นไปรบในมลายู พอได้ทีก็ถีบหีบห่อลงไปข้างทาง รอพรรคพวกมาเก็บไปขายเอาเงิน พวกนี้ได้ชื่อแบบโก้ว่าขบวนการไทยถีบ เผลอๆก็อ้างตนเป็นเสรีไทยกับเขาด้วย


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 พ.ย. 14, 15:13
ผมคงต้องจบ “โพยม จันทรัคคะ ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้ ” ลง ณ คคห.นี้  ขอยอมรับว่าผมรู้สึกแปลกๆที่ไม่มีทั้งขาประจำและขาจรเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นเลยแม้แต่คนเดียว  ยังเดาไม่ถูกว่าเป็นเพราะเหตุใด ทั้งๆที่จำนวนผู้ที่ติดตามอ่านก็มีไม่ใช่น้อย
 
ฤาจะเป็นเพราะตัวท่านเอง  “โพยม จันทรัคคะ”  ผู้ปรารถนาที่จะเป็นวีรบุรุษนิรนาม  ผู้มา แล้วก็ไปอย่างเงียบเชียบ

ในกระทู้ก่อนๆ    คุณ NAVARAT.C มักจะชอบเล่ารวดเดียวให้จบเรื่อง  แล้วค่อยเปิดโอกาสให้นักเรียนโค่งในชั้นทยอยกันยืนขึ้นพูดทีละคนสองคน    จนชาวเรือนไทยจับสไตล์ได้   ก็เลยไม่มีใครกล้าขัดจังหวะระหว่างเล่า      เกรงจะถูกดุว่า..ขอให้ผมเล่าจบก่อนนะครับ แล้วจะออกความเห็นก็เชิญ
เหตุผลอีกข้อคือ พวกเราในที่นี้ไม่เคยได้ยินชื่อคุณโพยมมาก่อน อย่าว่าแต่จะได้ยินบทบาทเลย   ชื่อก็แค่แวบๆหนสองหนเท่านั้น  จึงไม่มีใครรู้ว่าจะต่อความไปได้ยังไงแบบไหน   ท่านเองก็ดูเหมือนว่าไม่ประสงค์จะเปิดเผยบทบาทมากกว่านี้   เป็นผู้ปิดทองหลังพระอย่างแท้จริง
รัฐบาลชุดสงครามโลกก็ไม่รู้   ชุดต่อมาก็ไม่รู้   ชุดต่อๆๆๆมาก็ยิ่งไม่รู้หนักเข้าไปอีก    ส่วนชาวเรือนไทยก็แน่นอนว่าเกิดไม่ทันกันทั้งนั้น จึงได้แต่นั่งฟังกันตาปริบๆ
ิิอย่างไรก็ตาม  วีรกรรมก็คือวีรกรรม ถึงมีผู้รู้เห็นน้อยก็หาทำให้วีรกรรมนั้นคลายคุณค่าลงไปไม่     บัดนี้ก็มีผู้รู้เห็นประจักษ์แล้ว แม้เวลาผ่านมาเนิ่นนานก็ตาม     วิญญาณของคุณโพยมก็คงจะโสมนัสกับความอุตสาหะของคนรุ่นหลังที่นำวีรกรรมของท่านมาเชิดชูอีกครั้ง     อินทรเนตรทำให้เรื่องนี้ไปได้ทั่วโลกในทุกแดนที่มีคนไทยอยู่ สามารถเปิดเข้ามาอ่านได้    ก็คงจะทำให้ชื่อของท่านเป็นที่รู้จักกัน สมเจตนาของคุณนวรัตน  ขอปรบมือให้ค่ะ



กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 พ.ย. 14, 16:45
ผมคงต้องจบ “โพยม จันทรัคคะ ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้ ” ลง ณ คคห.นี้  ขอยอมรับว่าผมรู้สึกแปลกๆที่ไม่มีทั้งขาประจำและขาจรเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นเลยแม้แต่คนเดียว  ยังเดาไม่ถูกว่าเป็นเพราะเหตุใด ทั้งๆที่จำนวนผู้ที่ติดตามอ่านก็มีไม่ใช่น้อย
 
ฤาจะเป็นเพราะตัวท่านเอง  “โพยม จันทรัคคะ”  ผู้ปรารถนาที่จะเป็นวีรบุรุษนิรนาม  ผู้มา แล้วก็ไปอย่างเงียบเชียบ

ในกระทู้ก่อนๆ    คุณ NAVARAT.C มักจะชอบเล่ารวดเดียวให้จบเรื่อง  แล้วค่อยเปิดโอกาสให้นักเรียนโค่งในชั้นทยอยกันยืนขึ้นพูดทีละคนสองคน    จนชาวเรือนไทยจับสไตล์ได้   ก็เลยไม่มีใครกล้าขัดจังหวะระหว่างเล่า      เกรงจะถูกดุว่า..ขอให้ผมเล่าจบก่อนนะครับ แล้วจะออกความเห็นก็เชิญ
ขนาดนั้นเชียวหรือครับ แย่จัง


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 28 พ.ย. 14, 17:04
ถึงบางครั้งผมจะออกอาการหงุดหงิด แต่มันก็คงเป็นไปตามท้องเรื่องของมัน การเขียนกระทู้ก็ต้องมีความเข้าใจดีอยู่แล้วว่า ใครก็ย่อมจะเข้ามาแทรกความคิดเห็นใดๆได้อยู่ตลอดเวลา ที่นี่ เราเคยรับลูกโยนลูกกันสนุกสนาน แม้ว่าบางครั้งจะมีคนหัวปักหัวปำไปบ้าง ก็ยังเป็นวงกระทู้อยู่ดี ไม่เคยวงแตกกลางคันสักครั้ง

เอาเถิดครับ ผมรู้สึกเบื่อเดี่ยวกระทู้เต็มที จึงขอเชิญทุกท่านร่วมเสวนาเพิ่มเติม หรือผู้ใดจะซักถามก็ได้นะครับ :D


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 28 พ.ย. 14, 18:11
ฮิฮิ  พูดถึงคนหัวปักหัวปำแล้วรู้สึกร้อนตัวขึ้นมาทันที  ;D

พูดถึงเสรีไทยแล้ว ลองนึกถึงถ้าผมเป็นชาวบ้านสมัยนั้น หรือเป็นตำรวจชั้นลูกกระจ๊อกอยู่ภูธรบ้านป่าเมืองเถื่อน คงไม่ได้รู้ความเคลื่อนไหวหรือสถานการณ์ทางกรุงเทพมากนักว่าสงครามเป็นไปยังไงบ้าง  ความรู้สึกนึกคิดก็คงเชื่อตามที่ท่านผู้นำสั่งให้เชื่อ เวลามีสายลับกระโดดร่มลงมา ผมคงเข้าใจว่านี่เป็นแนวที่ห้าเป็นพวกทำลายชาติ มากกว่าจะเป็นคนที่ทางฝั่งสัมพันธมิตรส่งมากู้ชาติปลดแอกจากญี่ปุ่น

ดังนั้นถ้าจับตัวได้ ด้วยเลือดรักชาติ ผมก็อาจจะตุ้บตั้บพลร่มไปก่อนโดยไม่รู้สึกผิดมากนัก ไม่น่าแปลกใจที่ท่านอาจารย์ป๋วยเลยโดนเข้าไปหลายชุด    ส่วนเสรีไทยที่โดนยิงตายสองท่าน เข้าใจว่าเป็นฝีมือของตำรวจที่อยากปล้นทองที่เสรีไทยพกติดตัวมา เลยวิสามัญซะเลย  ก็นับว่าเป็นความสูญเสียที่น่าเศร้าและน่าเสียดายยิ่งนัก



กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 พ.ย. 14, 21:48
ส่วนเสรีไทยที่โดนยิงตายสองท่าน เข้าใจว่าเป็นฝีมือของตำรวจที่อยากปล้นทองที่เสรีไทยพกติดตัวมา เลยวิสามัญซะเลย  ก็นับว่าเป็นความสูญเสียที่น่าเศร้าและน่าเสียดายยิ่งนัก

เสรีไทยสายอเมริกา ๒ ท่านนี้คือร้อยเอกการะเวก ศรีวิจารณ์ และร้อยโทสมพงษ์ ศัลยพงษ์

แครี่ (การะเวก ศรีวิจารณ์) รู้จักชายแดนตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอย่างดี เขาเป็นคนขรึม กำลังกายปานกลางและรู้จักชั่งใจ พ.อ. ขาบถือว่าเขาเป็นสื่อสารดีที่สุด คู่ของเขา คือ ทาซานแซล (สมพงษ์ ศัลยพงศ์) ขี้โกรธและใจเร็ว ไม่กลัวใครหรือสิ่งใด ทั้งสองทำงานร่วมกันดี แครี่สามารถนำกำลังของแซลให้เป็นประโยชน์

เนื่องจากเป็นการเดินทางเข้าประเทศไทย เป็นครั้งแรกของเสรีไทยสายอเมริกา โดยที่ยังไม่มีการประสานงานมาก่อน ทำให้คณะของการะเวกและสมพงษ์ ที่มีนายบุญช่วยเป็นผู้นำทาง ถูกตำรวจคุมตัวที่ตำบลบ้านด่าน อำเภอเชียงแมน จังหวัดล้านช้าง (ซึ่งเป็นของไทยในขณะนั้น) ในวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๘๗ ระหว่างทางทั้งสามถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงเสียชีวิต โดยอ้างว่าบุคคลทั้งสามขัดขืนและต่อสู้เจ้าหน้าที่ แต่จากคำให้การของ โล่ห์ โจ๊ะทอง ซึ่งเป็นนายท้ายเรือให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ให้การต่อศาลในเวลาต่อมาว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจฆ่าคนทั้งสามเพื่อชิงทรัพย์

แต่การเสียชีวิตของการะเวกและสมพงษ์ไม่สูญเปล่า เพราะการที่ตำรวจได้นำหลักฐานเช่นวิทยุและเอกสารต่าง ๆ รายงานให้ พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส รับทราบ จึงรู้ว่ามีความพยายามในการติดต่อจากต่างประเทศเข้ามา

๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๗  ตำรวจเชียงแมนจับกุมการะเวกและสมพงษ์ข้อหาจารชนและยึดปืนพกไว้ ตามคำสั่งรัฐบาลต้องส่งทั้งสองไปที่กรุงเทพฯ แต่ตำรวจกลับควบคุมตัวเป็นเชลยลอยเรือไปกลางลำน้ำโขง เมื่อเวลาราว ๑๕.๔๐ น. ส.ต.ท.สมวงษ์ จันทศร และพลตำรวจถึง มูลพิชัย ได้ยิงปืนใส่ทั้งสอง และผู้นำทาง ร.อ.การะเวกกับผู้นำทางเสียชีวิตทันที ส่วนร.ท.ยังไม่ตายร้องขึ้นว่า"ผมเป็นคนไทยแท้ ๆ ผมมาทำงานเพื่อชาติ ไม่ควรยิงผมเลย"

แต่ตำรวจทั้งสองไม่ปรานีมุ่งค้นสมบัติที่เสรีไทยทั้งสองนำติดตัวมา และเมื่อได้ทองคำที่ทั้งสองได้รับจาก O.S.S.มาใช้ในงานกู้ชาติก็โยนร.ท.สมพงษ์ลงน้ำโขง เมื่อว่ายขึ้นมาก็ใช้ไม้ค้ำคอลงไปในลำน้ำ ขณะที่กำลังว่ายหนีไปอยู่ที่แก่งหินกลางน้ำ พลตำรวจถึงยิงใส่ร.ท.สมพงษ์จมหายไปท่ามกลางกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว

เรือลำนั้นกลับมาที่สถานีตำรวจเชียงแมนเเวลา ๑๗.๐๐ น. แล้วอ้างว่าจารชนขัดขืน ต่อสู้แย่งชิงปืนตำรวจจึงถูกวิสามัญฆาตกรรม จากนั้นยึดปืน,กระสุนปืน,พันธบัตร,ทองคำ,เครื่องรับส่งวิทยุไว้ ศพของ"แครี่"การะเวกกับคนนำทางถูกทิ้งไว้หน้าสถานีตำรวจ จนเย็นวันรุ่งขึ้นจึงนำไปขุดฝังไว้หลังสถานี ส่วนศพของสมพงษ์ไม่มีผู้พบเห็นทำให้ญาติยังฝังใจมาจนทุกวันนี้ว่าเขายังไม่ ตายจากเหตุการณ์ครั้งนั้น

๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘ ปรีดี พนมยงค์ "รูธ"หัวหน้าขบวนการเสรีไทย กล่าวปราศรัยก่อนสลายขบวนการเสรีไทยตอนหนึ่งว่า

"ขอให้ท่านได้สำนึกถึงวีรกรรมของเพื่อนร่วมตาย ซึ่งต้องเสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้คือนายจำกัด พลางกูร ,นายการะเวก ศรีวิจารณ์ และนายสมพงศ์ ศัลยพงศ์ ชีวิตเขาสิ้นไปเพื่อได้มาซึ่งเอกราช และความคงอยู่ของชาติไทย ซึ่งชาวไทยไม่ควรลืม"

ข้อมูลจาก หนังสือตำนานเสรีไทย โดยดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร และบทความ ๖๐ ปีเสรีไทย โดยธนาพล อิ๋วสกุล (http://chorchangsinging.blogspot.com/2011/08/blog-post_14.html)

ภายหลังวีรชนเสรีไทยทั้ง ๒ ท่านนี้และอีกท่านหนึ่งที่เสียชีวิตที่จุงกิงคือคุณจำกัด พลางกูร ได้รับพระราชทานยศเป็น "พันตรี" ชื่อของทั้ง ๓ ท่านถูกจารึกไว้ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมาจนตราบทุกวันนี้




กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 พ.ย. 14, 07:27
ขอบคุณคุณประกอบที่เอ่ยถึง และคุณเพ็ญที่ช่วยขยายความ บทบาทและความเสียสละถึงแก่ชีวิตของร้อยเอกการะเวก ศรีวิจารณ์ และร้อยโทสมพงษ์ ศัลยพงษ์ นายทหารเสรีไทยสายอเมริกาทั้งสองท่าน

ยศสุดท้ายนำหน้านามตามที่จารึกไว้ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิคือ นายพันตรี


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 พ.ย. 14, 08:27
ความโดยย่อ คุณเพ็ญก็หามาลงไปแล้วพร้อมระโยงให้อ่านเพิ่มเติม แต่ต้นฉบับที่ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร เขียนลงในหนังสือตำนานเสรีไทยมีเรื่องราวโดยละเอียดขณะเกิดเหตุการณ์อันน่าเศร้าสลด ที่เกิดขึ้นกับร้อยเอกการะเวก ศรีวิจารณ์ และร้อยโทสมพงษ์ ศัลยพงษ์

ผมไม่อาจจะย่อความให้ได้ความรู้สึกทัดเทียมกับ จึงขอสแกนมาลงไว้ให้คนรุ่นหลังได้อ่าน


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 พ.ย. 14, 08:34
2


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 พ.ย. 14, 08:34
3


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 พ.ย. 14, 08:35
4


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 พ.ย. 14, 08:39
5


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 พ.ย. 14, 08:53
6


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 พ.ย. 14, 08:55
7


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 พ.ย. 14, 09:13
8


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 พ.ย. 14, 09:28
9


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 พ.ย. 14, 09:29
10


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 พ.ย. 14, 09:35
11


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 พ.ย. 14, 09:39
บิดาของผู้เสียสละทั้งสอง เป็นผู้ที่ได้รับมอบเกียรติยศแทนลูกชาย


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 30 พ.ย. 14, 11:45
"ผมเป็นคนไทยแท้ๆ ผมมาทำงานเพื่อชาติ ไม่ควรยิงผมเลย"

หวังว่าคำขอสุดท้ายของพันตรีสมพงษ์ ศัลยพงษ์ จะเป็นข้อคิดเตือนใจสำหรับคนไทยทุกคนในปัจจุบัน

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/smiley17.png)


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ธ.ค. 14, 11:09
เรื่องราวของ ร.ต.อ.โพยม จันทรัคคะ คงจะยังไม่สมบูรณ์ หากผมไม่ขยายความต่อ ตามหัวเรื่องที่ผมกล่าวว่า ไทยอาจเสียอธิปไตยได้ นั้นน่ะ จะเสียอะไรแค่ไหนอย่างไร
จริงอยู่ที่บางท่านจะคิดว่าผลงานของเสรีไทยเท่าที่ปฏิบัติมาน่าจะเพียงพอแล้วที่จะทำให้ประเทศชาติรอดตัวจากสภาพของของผู้แพ้สงคราม แต่ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในแต่ละขั้นแต่ละตอนนั้น มันก็ไม่ง่ายนักทีเดียว

พอสงครามสงบแล้ว ผู้แทนกองทัพอังกฤษได้เข้าพบนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เพื่อขอให้ส่งตัวแทนไปเจรจากับอังกฤษที่เมืองแคนดี้ เกี่ยวกับข้อการปฏิบัติหลังสงคราม ซึ่งรัฐบาลไทยได้แต่งตั้ง พลเอก หลวงเสนาณรงค์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกเป็นหัวหน้าคณะ ไปประชุมกับฝ่ายอังกฤษที่เมืองแคนดี้ ในวันที่ ๔ กันยายน ๒๔๘๘

คณะผู้แทนฝ่ายไทยได้รับการต้อนรับอย่างดี ก่อนเริ่มการเจรจา พลเอก ลอร์ดหลุยส์ เม้าท์แบตแตน ได้มานั่งหัวโต๊ะเป็นประธานในการเลี้ยงอาหารกลางวัน หัวโต๊ะอีกด้านหนึ่งนั้น นายเอสเลอร์ เดนนิ่ง (ภายหลังเป็น Sir Esler Denning) ที่ปรึกษาฝ่ายการเมืองของแม่ทัพอังกฤษนั่ง ครั้นรับประทานอาหารเสร็จ นายเดนนิ่งก็นำเอกสารมาแจกคนละปึกใหญ่ โดยลอร์ดหลุยส์กล่าวนำว่า เพื่อให้การปลดอาวุธญี่ปุ่นและการคืนสถานการณ์ปกติกับประเทศไทย นายเดนนิ่งจึงได้เสนอข้อตกลงนี้เพื่อให้ผู้แทนรัฐบาลไทยลงนามให้เรียบร้อย อังกฤษจะได้ดำเนินการต่อตามความมุ่งหมายของไทย คือยุติการเป็นปฏิปักษ์ระหว่างไทยกับอังกฤษได้

คณะผู้แทนฝ่ายไทยพออ่านเสร็จก็ถึงกับเหงื่อแตกพลั่กไปตามๆกัน


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ธ.ค. 14, 07:26
พลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ ได้เขียนบันทึกความจำ ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพตัวท่านเอง กล่าวถึงเหตุการณ์ช่วงนี้ว่า

ข้าพเจ้าอ่านข้อความเป็นเลาๆและเรียนต่อท่านหัวหน้าคณะว่า ไม่ไหว ถ้าเราขืนเซ็นต์ไปก็เท่ากับเรายกเอาประเทศไทยให้เป็นเมืองขึ้นเขา เซ็นต์ไม่ได้แน่ คุณทวี ตะเวทิกุลหน้าแดง บ่นว่ากำลังจะเป็นไข้ ดร.เสริม พูดอะไรไม่ออกเลย พ.อ.สุรจิต และ พ.อ.เนตร หันมาทางประธานแล้วพูดว่า อย่าเซ็นต์ ๆ ดร.ป๋วยบอกว่าไม่เคยเห็นสัญญานี้มาก่อน หันมาทางข้าพเจ้าว่าจะทำอย่างไรดี ท่านประธานจึงให้ข้าพเจ้าแปลคำพูดแจ้งไปว่า ขอเวลานำไปพิจารณาเสนอรัฐบาลก่อน แต่นายเดนนิ่งบอกว่าไม่จำเป็น เพราะทางรัฐบาลไทยได้ยืนยันมาแล้วว่าคณะของเรามีอำนาจเต็มทุกประการ แต่อำนาจเต็มของเราในความหมายของเราคืออำนาจเต็มในการเจรจา แต่ไม่มีอำนาจเต็มในการที่จะหยิบยื่นอธิปไตยของชาติไปให้ใคร


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 11 ธ.ค. 14, 08:35
พลอากาศเอกทวี หรือที่ตอนที่ท่านดังสุดๆนั้น หนังสือพิมพ์จะเรียกท่านว่าเสธฯวี ในอดีตเป็นนักบินมือเยี่ยมของกองทัพอากาศช่วงสงครามโลก และได้เข้าร่วมขบวนการเสรีไทยด้วยความเข้มข้นจนได้การยอมรับนับถือจากนายทหารอเมริกัน ชีวิตของท่านโลดโผนกว่าบทพระเอกจอเงินที่ท่านเคยเป็นพระเอกมาแล้วตั้งแต่ครั้งที่ยังติดยศเรืออากาศเอกในหนังดังเรื่อง “บ้านไร่นาเรา”
ขณะที่ไปปฏิบัติราชการที่แคนดี้ครั้งนี้ท่านเป็นนาวาอากาศโทแล้ว  นายปรีดีคัดเลือกให้นายทหารผู้นี้ไปเพราะเคยไปฝึกปฏิบัติการลับอยู่ที่นั่นนาน คุ้นเคยกับนายทหารสหรัฐที่ยังคงประจำการอยู่เป็นอย่างดี

บรรยากาศในห้องประชุมเสธฯวีบอกว่าอึดอัดเต็มที จึงลุกขึ้นคำนับท่านประธาน ขออนุญาตออกไปเพราะไม่สบาย ปวดท้องเหลือกำลัง ลอร์ดหลุยส์ก็พยักหน้าแถมบอกให้แวะไปหาหมอในกองบัญชาการของท่านเสียด้วย เสธฯวีออกมาได้ก็ดิ่งไปหาพลจัตวาทิมเบอร์แมน ผู้แทนกองทัพอเมริกันที่พักอยู่ในเรือนรับรองเดียวกัน แล้วส่งสัญญาฉบับนั้นให้อ่าน ซึ่งเขาอ่านอย่างรวดเร็วจนถึงหน้าสุดท้ายก็ร้องดังๆว่า เฮ้ ไทยไม่ใช่ศัตรู อังกฤษไม่ควรทำขนาดนี้นี่นา แล้วบอกเสธฯวีว่าจะรีบติดต่อวอชิงตันเดี๋ยวนั้นเลย


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ธ.ค. 14, 07:13
พลจัตวาทิมเบอร์แมนหายไปชั่วครู่ก็กลับมาบอกว่า คุยกับพลตรี วิลเลียม โดโนแวน ผู้บัญชาการ O.S.S.แล้ว พลตรีวิลเลียมกำลังไปพบเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของกระทรวงต่างประเทศ ขอให้แจ้งกับคณะว่าอย่าให้คนไทยไปเซ็นต์สัญญาอะไรฉบับนี้เข้าเป็นอันขาดทีเดียว เสธฯวีก็โทรศัพท์เข้าไปที่ห้องประชุม ขอพูดกับพลตรีเฉลิมศักดิ์นายทหารคนสนิทของหัวหน้าคณะ เรื่องคำแนะนำของฝ่ายอเมริกันทันที

สักพักใหญ่ในห้องประชุมนั้น ทหารเข้ามาตามนายเดนนิ่งออกไปรับโทรศัพท์นอกห้อง เขากลับเข้าอีกครั้งเพื่อกระซิบอะไรบางอย่างกับลอร์ดหลุยส์  ผู้ซึ่งซึ่งหลังจากนั้นได้แจ้งกับผู้แทนรัฐบาลไทยว่ารัฐบาลอังกฤษไม่ติดใจที่จะให้ฝ่ายไทยลงนามในข้อตกลงฉบับนั้นแล้ว เพราะยังมีอีกหลายประเด็นที่จะต้องพิจารณาให้รอบคอบ

เป็นอันว่าอังกฤษถูกบีบด้วยมือที่ใหญ่กว่าให้คลายมือที่กำลังบีบไทยให้แบนแต๊ดแต๋ ด้วยกำหนดเวลาภายใน ๔๘ชั่วโมงของลอร์ดหลุยส์ที่ฝ่ายไทยจะต้องลงนามให้เสร็จสิ้น ส่วนเรื่องว่าอเมริกันทราบเรื่องที่กำลังประชุมกันอยู่ได้อย่างไร  จึงมีปฏิกิริยาโดยทันทีนั้นไม่มีที่ใดกล่าวถึงนัก นอกจากในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพลอากาศเอก ทวี จุลละทรัพย์ ซึ่งเจ้าตัวบันทึกเหตุการณ์ช่วงนี้ไว้สองสามย่อหน้า จากหนังสือที่มีความหนาสักหกร้อยหน้าเห็นจะได้ ถ้าผมไม่ได้บังเอิญซื้อมาจากร้านขายหนังสือเก่าในงานสัปดาห์หนังสือครั้งที่แล้ว ก็คงไม่ได้เขียนความตอนนี้อย่างนี้


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ธ.ค. 14, 07:40
บทความเรื่อง “การเจรจาทางทหารระหว่างไทยกับฝ่ายสัมพันธมิตรหลังสงครามโลกครั้งที่ 2” หาได้ในเว็บ เขียนถึงเหตุการณ์ตอนนี้ว่า

นโยบายและข้อเรียกร้องของอังกฤษต่อไทยนั้นกำหนดขึ้นในระหว่างสงคราม และเตรียมไว้บังคับใช้กับไทยไปจนกว่าสงครามจะยุติ และมีข้อผูกมัดไทยไปจนถึงหลังสงครามยุติแล้ว  อังกฤษมีความคิดว่า หลังจากสัมพันธมิตรขับไล่ญี่ปุ่นออกไปแล้ว และมีการจัดตั้งรัฐบาลปลดปล่อยของไทย (Siamese Liberation Government) รัฐบาลปลดปล่อยต้องยอมรับข้อเรียกร้องทางการเมืองและทางทหารของอังกฤษ ที่ใช้บังคับในระหว่างสงคราม (การต่อสู้กับญี่ปุ่นจนประสบชัยชนะ) และผูกมัดไทยต่อไปหลังสงคราม (การร่วมมือทางเศรษฐกิจและทหาร) ที่สำคัญก็คือ   สถานะสงครามระหว่างไทยกับอังกฤษจะสิ้นสุดลง และอังกฤษจะฟื้นคืนความสัมพันธ์กับไทยก็ต่อเมื่อรัฐบาลปลดปล่อยของไทยได้ปฏิบัติตามข้อตกลงที่กำหนดไว้ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ อังกฤษใช้การรับรองรัฐบาลไทยและการฟื้นคืนความสัมพันธ์ทางการทูต เป็นตัวบีบให้ไทยยอมรับข้อเรียกร้องของตน…
…คณะทูตทหารของไทยเห็นว่า การลงนามในสัญญา จะทำให้ไทยตกอยู่ภายใต้การยึดครองของอังกฤษ จึงนำความไปบอกทหารอเมริกันหน่วย OSS (Office of Strategic Services) อันนำไปสู่การแทรกแซงของสหรัฐฯ การเข้าแทรกแซงนี้ทำให้อังกฤษต้องยอมแก้ไขสัญญาดังกล่าว

เป็นที่เปิดเผยภายหลังว่า เมื่อ OSS ที่แคนดี้โดยนายพลทิมเบอร์แมนรายงานไปยังนายพลโดโนแวนที่วอชิงตันสำนักงานใหญ่นั้น ได้กลายเป็นเรื่องเร่งด่วนถึงขั้นที่นายดีน อาชีสัน (Dean Acheson) รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอเมริกัน ได้โทรศัพท์สายตรงไปยังนายเออร์เนสท์ เบวิน (Ernest Bevin)รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษทันที  แต่นายเบวินไม่อยู่ จึงสั่งการให้นายกิลเบอร์ต ไวนันท์ (Gilbert Winant) เอกอัครทูตประจำกรุงลอนดอนเข้าพบนายเคลมองท์ แอทท์ลี(Clement Attlee) นายกรัฐมนตรีอังกฤษโดยตรงในกลางดึกของคืนนั้น
  
โดยหลักการ สหรัฐได้บอกกับอังกฤษและฝรั่งเศสไว้ก่อนหน้าแล้วว่าไม่เห็นด้วยที่โลกจะกลับไปอยู่ในระบอบมหาอำนาจกับอาณานิคมเช่นครั้งก่อนสงคราม โดยเฉพาะสหรัฐได้ลงทุนไปมากเพื่อการเอาชนะสงครามครั้งนี้ จึงไม่อยากเห็นอังกฤษและฝรั่งเศสฉกฉวยประโยชน์ อย่างเช่นที่กำลังจะปฏิบัติต่อไทย ด้วยค่าใช้จ่ายของสหรัฐ
โดยทั่วไปจะสรุปกันว่าอังกฤษยอมแก้ไขสัญญา โดยส่งให้สหรัฐเห็นชอบก่อนที่จะบังคับให้ไทยลงนามต่อไป


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 12 ธ.ค. 14, 07:49
ยังครับ ยังไม่จบ เรื่องที่ว่านี้ไม่มี Happy Ending


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 12 ธ.ค. 14, 17:59
ติดตามอย่างจดจ่อ รอลุ้นตอนต่อไปค่ะ ;D


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ธ.ค. 14, 09:21
^
:D

เอกสารที่อังกฤษเสนอปึกใหญ่นั้นเป็นข้อความทั่วๆไปที่พอรับได้ แต่ที่ระบุว่าเป็นข้อตกลงที่รัฐบาลไทยจะต้องรับปฏิบัติ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ๒๑ข้อนั้น บางข้อถือเป็นเรื่องใหญ่ที่หากรับไปแล้วจะเท่ากับการมอบอธิปไตยของชาติ ยอมอยู่ใต้บงการของอังกฤษอย่างไม่มีกำหนดเวลาโดยปริยาย
ผมได้ลอกหนังสือ “ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ ๒” ของท่านศาสตราจารย์ ดร. ดิเรก ชัยนาม อดีตนักการทูตที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งได้เปิดเผยไว้โดยไม่ตัดตอน มาลงไว้ในกระทู้นี้สำหรับผู้ที่สนใจโดยเฉพาะ


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ธ.ค. 14, 09:29
เพื่อเจรจาเรื่องนี้ที่เมืองแคนดี้ เกาะลังกา รัฐบาลไทยตกลงและได้ส่งคณะผู้แทนไปเมื่อวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘ (ค.ศ. ๑๙๔๕) เพื่อเจรจารายละเอียดเกี่ยวกับการทหารของสัมพันธมิตร ซึ่งจะจัดการให้ญี่ปุ่นทำพิธียอมแพ้และปลดอาวุธของกองทัพญี่ปุ่น ฝ่ายอังกฤษได้เสนอร่างความตกลง ๒๑ ข้อต่อคณะผู้แทนไทย มีความดังนี้

๑.ให้ยุบองค์การทหาร องค์การกึ่งทหาร องค์การการเมือง ซึ่งกระทำการโฆษณาเป็นปฏิปักษ์   
ต่อสหประชาชาติ
๒.ส่งมอบบรรดาเรือทั้งหมดที่เป็นของสหประชาชาติ ซึ่งอยู่ในท่าเรือให้แก่เจ้าหน้าที่
สัมพันธมิตร
๓.จะกระทำทุกวิธีทางเพื่อปลดเปลื้องบรรเทาทุกข์เชลยศึก และผู้ที่กักกันสัมพันธมิตร และจะ
ออกค่าใช้จ่ายในการจัดอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยา อนามัย และการขนส่ง ให้มีจำนวนเพียงพอ โดยปรึกษา
กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายสัมพันธมิตร
๔.จะรับผิดชอบในการป้องกันรักษาและซ่อมแซมชดใช้ซึ่งทรัพย์สินของสัมพันธมิตรทั้งหมด
๕.ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ทางการทหารฝ่ายสัมพันธมิตรในเรื่อง
   ก.ปลดอาวุธญี่ปุ่นในประเทศไทย และส่งมอบให้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร
   ข.ยึดและมอบเครื่องอุปกรณ์ในการสงครามของญี่ปุ่นให้แก่เจ้าหน้าที่ทางการทหารฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งจะได้จัดตั้ง รวมทั้งเรือรบ เรือสินค้าทุกชนิด เครื่องบิน อาวุธ กระสุน ยานยนต์ และยานอื่นๆ คลังทหารต่าง ๆ รวมทั้งน้ำมันที่ใช้ในการบิน และน้ำมันอื่นๆ กับเชื้อเพลิง เสื้อผ้า เครื่องมือเครื่องของวิทยุ และทรัพย์สมบัติอื่นๆ ซึ่งเป็นของกองทัพญี่ปุ่น
๖.ห้ามทำการค้ากับศัตรูของสัมพันธมิตร
๗.ยึดทรัพย์ของญี่ปุ่นทั้งหมด (และศัตรูอื่น) มอบให้กับสัมพันธมิตร
๘.ร่วมมือในการฟ้องร้องและสอบสวนบุคคลซึ่งต้องหาว่าเป็นอาชญากรสงคราม หรือผู้ที่ร่วมมือ
กับญี่ปุ่น หรือกับศัตรูของสัมพันธมิตรโดยเปิดเผย
๙.ส่งมอบตัวกบฏซึงเป็นชนชาติสัมพันธมิตรให้แก่เจ้าหน้าที่สัมพันธมิตร
๑๐.จะบำรุงรักษา และพร้อมที่จะช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ฝ่ายสัมพันธมิตร ทั้งทางทัพเรือ ทัพบก และทัพอากาศ ตลอดจนท่าเรือ สนามบิน สิ่งก่อสร้าง เครื่องมือเครื่องใช้ ทางคมนาคม อาวุธและคลังทุกชนิด ตามที่จะได้ระบุ และนอกจากนั้น รวมทั้งสิ้นปลูกสร้างบนพื้นดินและคลังสัมภาระอื่นๆ ตามแต่เจ้าหน้าที่ทหารสัมพันธมิตรจะได้แจ้งความประสงค์เป็นครั้งคราว เพื่อใช้เป็นที่พักทหารในการที่จะเข้ามาปลดอาวุธญี่ปุ่น และเป็นที่เก็บของด้วย
๑๑.จะให้ใช้ท่าเรือและให้ความสะดวกในการจราจรแก่เจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายสัมพันธมิตรในดินแดนไทยได้ตามความประสงค์
๑๒.จัดการตามความประสงค์ของเจ้าหน้าที่สัมพันธมิตรในการควบคุมหนังสือพิมพ์ ตรวจตรา และควบคุมวิทยุ การติดต่อทางสายต่าง ๆ การติดตั้งหรือกิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการคมนาคมภายใน
๑๓.จะดำเนินการปกครองทางพลเรือนต่อไปโดยปฏิบัติตามความประสงค์ของเจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติกิจการของเขาได้
๑๔. ในกรณีที่ต้องการจะให้มีความสะดวกการการเกณฑ์แรงงาน และในการใช้ประโยชน์ในดินแดนไทย ซึ่งการประกอบการอุตสาหกรรมขนส่ง ตลอดจนการคมนาคม โรงไฟฟ้า สาธารณกิจ และความสะดวกอื่น ๆ คลังเชื้อเพลิง และวัตถุอื่น ๆ ตามแต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารสัมพันธมิตรจะแสดงความประสงค์มา
๑๕. เรือสินค้าของชาวไทย ไม่ว่าจะอยู่ในน่านน้ำไทยหรือต่างประเทศ ต้องอยู่ในความควบคุมของสัมพันธมิตร เมื่อสัมพันธมิตรต้องการเพื่อผลประโยชน์ของสัมพันธมิตร
๑๖. ยอมให้จัดตั้งคณะผู้แทนทางทหาร ซึ่งแต่งตั้งโดยเจ้าหน้าที่ทางการทหาร เพื่อเป็นที่ปรึกษาในการจัดกำลัง การฝึก และการจัดเครื่องมือเครื่องใช้กำลังของกองทัพไทย
๑๗. ห้ามไม่ให้นำข้าว ดีบุก ยาง และไม้สัก ออกนอกประเทศชั่วระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่สัมพันธมิตรจะเห็นว่าจำเป็น โดยพิจารณาจากเหตุการณ์ทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นอยู่ในขณะนั้น เว้นแต่ในความอำนวยของคณะกรรมการผสมฝ่ายสัมพันธมิตร หรือเจ้าหน้าที่คล้ายกัน ที่จะมาแทนคณะกรรมการคณะนี้
๑๘. ตลอดเวลาที่โลกยังขาดแคลนข้าว ตามความเห็นของคณะกรรมการผสมสัมพันธมิตร หรือเจ้าหน้าที่สัมพันธมิตร จะต้องปรับปรุงข้าวให้ได้ผลเป็นจำนวนมากที่สุด และจำนวนที่เหลือจะต้องมีไว้ให้กรรมการข้าวสัมพันธมิตร ด้วยราคาที่จะตกลงกับคณะกรรมการข้าว โดยถือราคาควบคุมข้าวที่อยู่ในประเทศอื่นๆในเอเชีย
๑๙. จะตกลงรายละเอียดกับคณะกรรมการข้าวของสัมพันธมิตรในเรื่องเกี่ยวกับวิธีการที่จะให้บังเกิดผลตามข้อตกลงข้างบนนี้ ข้อตกลงดังกล่าวนี้จะต้องกินความถึงรายละเอียดตามภาคผนวกแห่งข้อตกลงนี้ และนอกจากนั้นจะจัดให้มี
   ก. สัมพันธมิตรจะเข้าควบคุมเพื่อให้กิจการต่างๆที่สัมพันธมิตรต้องการ ให้เป็นไปตามความประสงค์ จนกว่ารัฐบาลไทยจะมีประกันให้แก่สัมพันธมิตร
   ข. เพื่อให้มีการร่วมมือภายหลังต่อไปอีก ระหว่างรัฐบาลไทยกับคณะกรรมการข้าวสัมพันธมิตร ในการที่จะบริการข้อผูกพันใดๆ ซึ่งได้มีขึ้นแล้วนั้นต่อไป
   ๒๐. การวางนโยบายการเงินของไทย (รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งกำหนดเมื่อเริ่มต้น) ต้องเป็นไปตามคำแนะนำของผู้แทนฝ่ายสัมพันธมิตร โดยยึดหลักความสะดวกที่จะให้การปลูกข้าวมีผลมากที่สุด และให้บังเกิดอุปโภคอื่นๆ ที่ยังขาดแคลนอยู่ และเพื่อหลีกเลี่ยงการยุ่งยากทางเศรษฐกิจ
   ๒๑. จะให้ข่าวที่ประสงค์โดยเร็วที่สุด และจะปฏิบัติตามภาคผนวก ซึ่งได้แนบมาด้วย


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ธ.ค. 14, 09:32
                            ภาคผนวก A

วิธีการซึ่งคิดว่าจำเป็นเพื่อประกันให้จำนวนข้าวเป็นสินค้าออกได้มากที่สุด

   (ก)  ให้เจ้าของข้าวแจ้งปริมาณข้าวเปลือก และข้าวสาร
   (ข)  ให้คาดคะเนข้าวที่เหลือใช้ในประเทศไทย
   (ค)  เก็บข้าวที่เหลืออยู่หรือได้มาจากองค์การตุนข้าว หรือถ้าจำเป็นให้เกณฑ์
   (ง)  ให้จัดข้าวที่เหลือนี้ขายให้คณะกรรมการข้าวสัมพันธมิตร ดังปรากฏในข้อ ๑๓ ในราคาที่ไมเกินราคาข่าวของพม่าที่ตั้งไว้
   (จ)  ห้ามส่งข้าวเปลือกหรือข้าวสารออกนอกประเทศ เว้นแต่จะโดยคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายสัมพันธมิตร
   (ฉ)  ห้ามเก็บภาษีสินค้าออกหรือภาษีข้าวสารหรือข้าวเปลือก เว้นไว้แต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ข้าวฝ่ายสัมพันธมิตร
   (ช)  สนับสนุนให้มีการปลูกข้าวให้มากที่สุดในประเทศไทย
   (ซ)  จะทะเบียนโรงสีทุกแห่ง และจำกัดราคาซื้อขายข้าวโรงสีไม่ให้เกินราคาที่กะไว้
   (ด)  บูรณะโรงสีใหม่โดยทุก ๆ ทางที่สามารถ รวมทั้งการสับเปลี่ยนเครื่องจักรจากโรงสีที่เสียหายมากไปยังโรงสีที่เสียหายน้อย เพื่อให้โรงสี่ที่
              ใช้งานได้มีพอเพียงที่จะสีข้าว
   (ต)  ในการขนส่งข้าวจากนาไปโรงสี จากโรงสีไปท่าเรือ ให้มีการขนส่งที่เพียงพอกับข้าวที่เก็บเกี่ยวได้
   (ถ)  ให้รีบจัดการบูรณะท่าเรือให้เพียงพอ
   (ท)  ควบคุมการแจกจ่ายเครื่องบริโภค ในลักษณะที่ชักจูงให้เกิดชาวกสิกรรมจำนวนมากที่สุด
   (น)  การควบคุมข้าวข้างบนนี้จะทำชั่วระยะเวลาหนึ่ง จนกว่าความอัตคัดข้าวจะสิ้นสุดลง


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 ธ.ค. 14, 10:02
จะเห็นได้ว่าหากไทยต้องปฏิบัติตามนั้นแล้ว ก็จะต้องสูญเสียอธิปไตยทางการทหาร(ข้อ๑ และข้อ๑๖) การศาล โดยสัมพันธมิตรจะเข้ามาร่วมจัดตั้งศาลอาชญาการสงครามในประเทศไทย(ข้อ๘)  การปกครอง ต้องเป็นไปตามความประสงค์ของสัมพันธมิตร(ข้อ๑๓) การเศรษฐกิจ ในเรื่องสินค้าออกที่สำคัญของไทย(ข้อ๑๗) โดยเฉพาะเรื่องข้าว ที่ต้องขายให้สัมพันธมิตรในราคาที่เขากำหนด(ข้อ๑๘ และ ๑๙) การเงิน การคลัง จะต้องดำเนินนโยบายตามที่เขาจะแนะนำ(ข้อ๒๐)

ทั้งนี้ ไม่มีการกำหนดเวลาแน่นอนว่าจะสิ้นสุดพันธะกันได้เมื่อไหร่ด้วย


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 13 ธ.ค. 14, 20:25
อ่านแล้วเดือดปุดๆ  >:( หน็อย! ทำยังกะเราเป็นเมืองขึ้น  ขอโทษค่ะ...เผลอสติหลุดไปนิด :-[


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 ธ.ค. 14, 07:06
คือเขาก็คิดอย่างนั้นกลายๆแหละครับ

เรื่องนี้ทำให้นายปรีดีต้องวางหมากการเมืองใหม่ ให้นายทวี บุณยเกตุลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลีกทางให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อดีตอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกาและหัวหน้าเสรีไทยที่รัฐบาลอเมริกันรับรอง เข้ามารับหน้าเสื่อเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศแทน โดยหวังว่าจะมีประโยชน์ในการเจรจาต่อรองกับอังกฤษ  

หลังจากการเข้ารับตำแหน่งดังกล่าวเพียง ๕ วัน อังกฤษก็ให้ทูตเข้าพบเพื่อแจ้งว่า ให้รัฐบาลไทยส่งคณะทูตไปแคนดี้ เพื่อเจรจาเกี่ยวกับการคืนความสัมพันธ์ระดับปกติระหว่างอังกฤษกับไทยต่อโดยเร็วที่สุด รัฐบาลไทยจึงแต่งตั้งคณะผู้แทนซึ่งส่วนใหญ่ก็คือบุคคลหน้าเดิมยกเว้นตัวประธาน ซึ่งเปลี่ยนจาก พลเอกหลวงเสนาณรงค์ ซึ่งเป็นทหาร ไปเป็นหม่อมเจ้าวิวัฒน์ไชย ไชยันต์ (ต่อมาทรงเป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย) ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์การเงิน ขาดนาวาอากาศโท ทวี จุลละทรัพย์ไปคนเดียว ทำให้ท่านน้อยใจอยู่ไม่น้อยสังเกตุได้จากบันทึกของท่าน  แต่เรื่องนี้มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าอังกฤษเคืองๆอยู่ในเรื่องคราวที่แล้ว  ขืนไปให้เห็นหน้าเห็นจะมีรายการเสียมู๊ด


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 14 ธ.ค. 14, 08:38
ครั้งแรกที่ผู้แทนคณะนี้ไปเจรจา ปรากฏว่าฝ่ายไทยก็ได้รับร่างสัญญาฉบับใหม่หนักไปกว่าเดิมอีก จากคราวที่แล้ว ๒๑ข้อ  อังกฤษเรียบเรียงใหม่เป็น ๕๑ข้อ  นำไปสู่ความเข้าใจของไทยว่าอังกฤษโกรธที่นำความไปบอกสหรัฐ  ข้อที่เพิ่มให้ชัดเจนจากครั้งที่แล้วก็คือ ไทยจะต้องให้ข้าวแก่อังกฤษเป็นจำนวน ๑ล้าน ๕แสนตันโดยไม่คิดราคา มูลค่าขณะนั้นไม่ต่ำกว่า ๒๕๐๐ล้านบาท เดี๋ยวนี้เป็นเท่าไหร่คงต้องคงต้องลองเทียบกับราคาก๋วยเตี๋ยวชามละบาทในสมัยเดียวกันดู   โดยอังกฤษอ้างว่าจะนำไปเลี้ยงดูผู้ที่อดอยากยากจนจากผลกระทบจากสงครามทั่วโลก ที่อยู่ในเครือจักรภพอังกฤษ

ผู้แทนไทยได้ส่งร่างสัญญาฉบับนี้มาให้รัฐบาลพิจารณาอย่างด่วน แม้ว่าอังกฤษจะบอกว่าแก้ไขถ้อยคำน่ะได้ แต่ถ้อยความแก้ไขไม่ได้  รัฐบาลไทยก็ยังยืนยันที่จะขอให้แก้ไขหลายข้อ  โดยเฉพาะเรื่องจำนวนของข้าวที่ไทยขอลดหย่อนบ้าง เพราะไทยได้บริจาคข้าวผ่านอังกฤษไปแล้ว ๒๔๐,๐๐๐ตันครั้งสงครามเลิกใหม่ๆ หากต้องกระทำตามที่ถูกบังคับ ไทยอาจจะกลายเป็นประเทศยากไร้ต้องขอรับบริจาคเสียเอง ฝ่ายอังกฤษจึงยอมรับไปปรึกษากับทางลอนดอน การเจรจาเริ่มยืดเยื้อ  แต่ในที่สุดอังกฤษก็แจ้งว่า ถ้าไทยยอมรับเรื่องข้าว อังกฤษก็จะยอมแก้ไขเรื่องอื่นๆที่ไทยขอไป

เมื่อไม่ได้ข้อยุติ คณะผู้แทนไทยจึงขอกลับกรุงเทพก่อน


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ธ.ค. 14, 06:58
สองสามเดือนต่อมา อังกฤษแจ้งมาใหม่ให้ไปเจรจากันต่อที่สิงคโปร์  ไทยก็ตอบตกลง

ก่อนออกเดินทางวันเดียว อังกฤษได้ส่งเจ้าหน้าที่มายื่นจดหมายของนายเดนนิ่งถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศ  มีความสำคัญว่า อังกฤษถือว่าความช่วยเหลือที่ฝ่ายไทยให้กับฝ่ายต่อต้านศัตรูของอังกฤษนั้น ยังไม่เป็นที่ประทับใจ  เพราะยังไม่มีประโยชน์แก่การดำเนินสงครามอย่างจริงๆจังๆ  อังกฤษยอมรับว่าฝ่ายไทยได้แสดงความประสงค์ที่จะลุกขึ้นต่อต้านญี่ปุ่นในเดือนพฤษภาคม  ๒๔๘๘ จริง  แต่อังกฤษเห็นว่า ไทยยังไม่มีอาวุธครบมือและได้รับการฝึกพอเพียง ต้องพึ่งพาแรงสนับสนุนจากสัมพันธมิตรต่อ ตรงกันข้าม ไทยน่าจะพอใจที่ฝ่ายสัมพันธมิตรทำให้ญี่ปุ่นยอมแพ้ได้เสียก่อนจะมีการรบเกิดขึ้นจริงๆในประเทศไทย ฉะนั้นคนไทยจึงยังไม่ได้ผจญกับความทารุณโหดร้ายของสงคราม บรา ๆ ๆ ๆ ๆ

อนึ่ง พึงรับทราบด้วยว่า การที่อังกฤษยังดำเนินนโยบายแข็งกร้าวและพยายามทำให้ไทยเป็นผู้แพ้สงครามให้ได้ ก็เพราะแค้นว่าไปประกาศสงครามกับเขาแล้วออกวิทยุปลุกระดมด่าว่าเขาเสียๆหายๆ  เท่านั้นยังไม่พอ ยังส่งทหารเข้าร่วมรบกับญี่ปุ่นและเข้ายึดดินแดนบางส่วนของอาณานิคมอังกฤษในพม่าและมลายาเสียอีก  ด้วยความเชื่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศ อังกฤษจึงไม่เคยรับรองขบวนการเสรีไทยดังเช่นสหรัฐอเมริกา  และหลีกเลี่ยงที่จะใช้คำว่าเสรีไทยมาตลอดเพราะเกรงว่าจะทำให้เสรีไทยมีฐานะคล้ายกับรัฐบาลพลัดถิ่น แถมเตือนสหรัฐตลอดมาไม่ให้เอออวยตามที่ม.ร.ว. เสนีย์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทยในอเมริกาพยายามจะขอจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นของไทยขึ้นเสมอมา  ส่วนเสรีไทยสายอังกฤษที่ถูกส่งเข้าปฏิบัติการลับระหว่างสงครามทั้งหมด  อังกฤษถือเสมอว่าเป็นนายทหารอังกฤษ  มิฉะนั้นแล้ว อังกฤษจะเล่นงานไทยหลังสงครามให้จมเขี้ยวไม่ได้ 


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ธ.ค. 14, 08:47
หม่อมเจ้าวิวัฒนไชยทรงรายงานฉบับแรกมายังรัฐบาลมีถ้อยคำค่อนข้างยาว ผมอ่านแล้วประมวลความสั้นๆว่า เมื่อเปิดประชุม นายเดนนิ่งก็กล่าวสุนทรพจน์ในเชิงปฐมเทศนาว่าด้วยเหตุที่ต้องมีการชดใช้กรรมเช่นนี้ ก็เพราะไทยได้บังอาจประกาศสงครามกับอังกฤษไว้ และได้หยามประเทศมหาอำนาจระดับโลกของไอด้วยการกระทำการนู่นนี่นั่นโน่น ที่ยูอ้างคำหนึ่งก็เสรีไทยสองคำก็เสรีไทยนั้น  อังกฤษก็คำนึงถึงความดีของเสรีไทยอยู่หรอก แต่พวกยูก็อย่ามาโม้มากนัก เสรีไทยของยูน่ะยังหน่อมแน้มมาก ยังไม่ได้ยิงกับญี่ปุ่นแม้สักกะสักโป้งเดียว ฉะนั้น จึงขอให้ประเทศไทยของยูก้มหน้ารับกรรมไป ข้อเสนอของไอนี้ถือว่าขาดตัว(Minimum)แล้ว เด็ดขาดต่อรองไม่ได้

เอกสารปึกนี้จั่วหัวว่า “Head of Ageement” หรือข้อตกลงฉบับร่าง นายเดนนิ่งนำมาเสนอให้อ่านดูเพื่อแก้ไขตัวสะกดถ้อยคำ แต่ห้ามแก้ไขความใดๆเพราะอังกฤษจะไม่ยอมถอยแม้แต่ก้าวเดียว หากคณะผู้แทนที่มานี้พร้อมละลงนามก็กระทำกันได้เลย ถ้าไม่พร้อมอังกฤษก็เตรียมเครื่องบินไว้แล้วให้บินกลับไปขอความเห็นจากรัฐบาลที่กรุงเทพ  แล้วจะกลับมาลงนามกันก็ย่อมได้

แต่แม้หากลงนามกันใน“Head of Ageement”แล้วยังถือว่าไม่จบนะพระคุณท่าน ต้องมีการลงนามใน “Formal Agreement” หรือเอกสารไทยเรียกว่า ความตกลงสมบูรณ์แบบอีกครั้งหนึ่ง เพราะจะต้องส่งไปลอนดอนเพื่อนำ Head of Ageement ไปเรียบเรียงอีกครั้งด้วยถ้อยความภาษากฎหมายก่อนจะให้ผู้นำรัฐบาลลงนาม  ส่วนกำหนดจะเป็นเมื่อไรก็ขึ้นอยู่ว่าทนายทั้งสองฝ่ายจะแก้ไขสำนวนกันมากน้อยยาวนานแค่ไหน ที่ยากตรงนี้เพราะทนายหัวเปรื่องค่าตัวแพงทั้งหลายชอบประดิษฐ์ถ้อยร้อยประโยคให้มันอ่านเข้าใจยากๆเข้าไว้ เวลาตีความจะได้ดิ้นไปดิ้นมาได้ เพื่อแสวงความได้เปรียบหากทะเลาะกันแล้วจะต้องไปจบคดีความในชั้นศาล

ไม่น่าจะเดาไม่ถูกที่เมื่อเจออย่างนี้ ท่านวิวัฒน์ไชยจึงทรงมีโอกาสแค่จดบันทึก วันรุ่งขึ้นนั้นเอง ก็ทรงขอให้บริการของกองทัพอากาศอังกฤษ เสด็จกลับกรุงเทพไปตั้งหลัก


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ธ.ค. 14, 09:26
ถึงตอนนี้ขออนุญาตเสริมเรื่องภาษาที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตอนนี้

มีศัพท์สแลงภาษาอังกฤษอยู่คำหนึ่งคือ "Siamese talk" หมายถึง การที่พูดอย่างหนึ่งแต่แท้จริงแล้วเป็นอีกอย่างหนึ่ง  (http://2bangkok.com/why-foreigners-criticize-thai-people-who-speak-siamese-talk.html) ถ้าใช้คำรุนแรงก็คือว่า กลับกลอก นั่นเอง นั่นเกิดจากความรู้สึกของพวกฝรั่งต่อไทยเหตุการณ์หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒

คุณจุลลดา ภักดีภูมินทร์ เล่าเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดกับประเทศไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เกี่ยวกับเรื่อง Siamese talk  (http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2007/09/K5790297/K5790297.html#18) ไว้ในนิตยสารสกุลไทย ฉบับที่ ๒๗๑๒ ปีที่  ๕๒ ประจำวัน  อังคาร ที่  ๑๐ ตุลาคม  ๒๕๔๙ ในบทความเรื่องใครเป็นนายกฯนานที่สุด และสั้นที่สุด บางตอนดังนี้

เมื่อเกิดสงครามโลก ญี่ปุ่นเข้าบุกประเทศไทย จอมพล ป. นายกฯ ขณะนั้น จำเป็นต้องทำสัญญาร่วมรบด้วย ใช้คำว่า จำเป็น เพราะถึงแม้จะมีเหตุผลอื่นใด ๆ อีกก็ตาม แต่ถ้าไม่ยอมก็อาจถึงกับแหลกทั้งประเทศ

ทว่า ขณะที่รัฐบาลยอมร่วมกับญี่ปุ่น ก็เกิดมีคนไทยที่เรียกกันว่า เสรีไทย ไม่ยอม จึงร่วมมือกันทั้งในประเทศ นอกประเทศ ต่อต้านด้วยวิธีการต่าง ๆ (ว่ากันว่า รัฐบาล หรือพูดกันตรง ๆ ก็คือจอมพลป.ผู้นำเวลานั้นตลอดจนอธิบดีตำรวจก็รู้ แต่บางทีก็ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น นี่ตามที่ว่ากันในหนังสือบางเล่มที่ท่านผู้รู้เห็นเขียนเล่ากันมา)

ครั้นเมื่อใกล้สงครามยุติ ฝ่ายอักษะ คือ ญี่ปุ่น เยอรมนี อิตาลี เป็นฝ่ายเสียเปรียบ อิตาลี เยอรมันยอมแพ้ก่อน ในที่นี้จะไม่เล่าละเอียด สรุปว่า รัฐมนตรีทำสัญญากับญี่ปุ่น ต้องลาออก ไทยเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี เป็น นายควง อภัยวงศ์

พอญี่ปุ่นยอมแพ้ สงครามเลิก เรามีเสรีไทยหลายสายทั้งในประเทศ นอกประเทศ ท่านเหล่านี้เป็นผู้มีส่วนยืนยันให้การประกาศสงครามของไทยต่อสัมพันธมิตรเป็นโมฆะ

แล้วยังได้พระบารมีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล ซึ่งทรงบรรลุนิติภาวะพอดี เสด็จนิวัติประเทศไทย เมื่อกองทัพของฝ่ายสัมพันธมิตร โดยเฉพาะอังกฤษ อเมริกา เข้ามาสวนสนามแสดงแสนยานุภาพ พวกเสรีไทยเข้าร่วมขบวนสวนสนามด้วย พลเอก ลอร์ด หลุยส์ เมานต์เบตเตน ผู้บัญชาการทหารฝ่ายพันธมิตร ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้กราบทูลเชิญเสด็จตรวจพลสวนสนามพร้อมกัน เท่ากับถวายพระเกียรติยศ และให้เกียรติประเทศไทยว่ามิใช่ผู้แพ้สงคราม

เวลานั้นพวกฝรั่งได้พากันเยาะเย้ยว่า ประเทศไทยพูดจากลับกลอกอะไรทำนองนั้น ถึงกับมีคำศัพท์ว่า Siamese talk ซึ่งก็...ช่างมัน ยังดีกว่าถูกปรับว่าเป็นประเทศแพ้สงคราม ถูกแบ่ง ถูกบังคับ ต่าง ๆ นานา





กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ธ.ค. 14, 13:24
แล้วยังได้พระบารมีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล ซึ่งทรงบรรลุนิติภาวะพอดี เสด็จนิวัติประเทศไทย เมื่อกองทัพของฝ่ายสัมพันธมิตร โดยเฉพาะอังกฤษ อเมริกา เข้ามาสวนสนามแสดงแสนยานุภาพ พวกเสรีไทยเข้าร่วมขบวนสวนสนามด้วย พลเอก ลอร์ด หลุยส์ เมานต์เบตเตน ผู้บัญชาการทหารฝ่ายพันธมิตร ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้กราบทูลเชิญเสด็จตรวจพลสวนสนามพร้อมกัน เท่ากับถวายพระเกียรติยศ และให้เกียรติประเทศไทยว่ามิใช่ผู้แพ้สงคราม

ม.ร.ว.เสนีย์  ปราโมช ท่านเล่าไว้ว่า เมื่อญี่ปุ่นประกาศยอมสงบศึกในสงครามโลกครั้งที่ ๒ แล้ว  อังกฤษแจ้งมาว่าจะส่งทหารเข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นประเทศไทย
รัฐบาลไทยได้ตอบไปว่า ไม่ต้องมาเพราะญี่ปุ่นวางอาวุธแล้ว  แต่อังกฤษก็ยังฝืนส่งทหารแขกจากเมืองขึ้นเข้ามา  พร้อมกับข้อเรียกร้องแบบเบ็ดเสร็จ
เมื่อส่งทหารเข้ามาแล้ว ลอร์ดหลุยส์เมาท์แบทเทน  ยังจะจัดสวนสนามทหารสหประชาชาติที่ท้องสนามหลวง  โดยตัวลอร์ดหลุยส์ฯ จะขึ้นแท่นรับความเคารพ
เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท  ในหลวงรัชกาลที่ ๘ ได้มีรับสั่งกับนายกเสนีย์ว่าจะยอมให้รับลอร์ดหลุยส์ทำเช่นนั้นไม่ได้
เพราะจะเท่ากับว่าประเทศไทยถูกอังกฤษยึดครองแล้ว  จะเสด็จฯ ไปในงานนั้นและจะทรงขึ้นแท่นรับความเคารพด้วยพระองค์เอง  
จึงได้มีภาพดังกล่าวเกิดขึ้น  ท่านนายกเสนีย์เล่าว่า ตัวลอร์ดหลุยส์นั้นดูจะไม่ค่อยพอใจแต่ทำอะไรไม่ได้
ส่วนที่มีเสรีไทยเข้าร่วมสวนสนามที่อ้างกันว่าเป็นความคิดนายปรีดีนั้น  จำไม่ได้ว่าเป็นกระแสพระบรมราชโองการหรือไม่
ส่วนข้อเรียกร้องแบบเบ็ดเสร็จนั้นก็ดูเหมือนจะโปรดเกล้าฯ พระราชทานแนวทางให้คณะผู้แทนไปเจรจาต่อรองจนลดลงมาเหลือ ๕ หรือ ๖ ข้อ
ตอนที่คณะผู้แทนฯ จะไปเจรจาตกลงสัญญาเบ็ดเสร็จนั้นได้เฝ้าฯ กราบถวายบังคมลา  ได้พระราชทานสัมผัสพระราชหัตถ์กับคณะผู้แทนเป็นรายบุคคลด้วย


เคยเห็นกันหรือยังครับ

http://www.britishpathe.com/video/military-parade-in-bangkok (http://www.britishpathe.com/video/military-parade-in-bangkok)


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ธ.ค. 14, 14:31
http://www.youtube.com/watch?v=5jBPb78Ih8E#ws (http://www.youtube.com/watch?v=5jBPb78Ih8E#ws)

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ธ.ค. 14, 14:36
ถึงตอนนี้ขออนุญาตเสริมเรื่องภาษาที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตอนนี้

มีศัพท์สแลงภาษาอังกฤษอยู่คำหนึ่งคือ "Siamese talk" หมายถึง การที่พูดอย่างหนึ่งแต่แท้จริงแล้วเป็นอีกอย่างหนึ่ง  (http://2bangkok.com/why-foreigners-criticize-thai-people-who-speak-siamese-talk.html) ถ้าใช้คำรุนแรงก็คือว่า กลับกลอก นั่นเอง นั่นเกิดจากความรู้สึกของพวกฝรั่งต่อไทยเหตุการณ์หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒

คุณจุลลดา ภักดีภูมินทร์ เล่าเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดกับประเทศไทยในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ เกี่ยวกับเรื่อง Siamese talk  (http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2007/09/K5790297/K5790297.html#18) ไว้ในนิตยสารสกุลไทย ฉบับที่ ๒๗๑๒ ปีที่  ๕๒ ประจำวัน  อังคาร ที่  ๑๐ ตุลาคม  ๒๕๔๙ ในบทความเรื่องใครเป็นนายกฯนานที่สุด และสั้นที่สุด บางตอนดังนี้

เมื่อเกิดสงครามโลก ญี่ปุ่นเข้าบุกประเทศไทย จอมพล ป. นายกฯ ขณะนั้น จำเป็นต้องทำสัญญาร่วมรบด้วย ใช้คำว่า จำเป็น เพราะถึงแม้จะมีเหตุผลอื่นใด ๆ อีกก็ตาม แต่ถ้าไม่ยอมก็อาจถึงกับแหลกทั้งประเทศ

ทว่า ขณะที่รัฐบาลยอมร่วมกับญี่ปุ่น ก็เกิดมีคนไทยที่เรียกกันว่า เสรีไทย ไม่ยอม จึงร่วมมือกันทั้งในประเทศ นอกประเทศ ต่อต้านด้วยวิธีการต่าง ๆ (ว่ากันว่า รัฐบาล หรือพูดกันตรง ๆ ก็คือจอมพลป.ผู้นำเวลานั้นตลอดจนอธิบดีตำรวจก็รู้ แต่บางทีก็ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น นี่ตามที่ว่ากันในหนังสือบางเล่มที่ท่านผู้รู้เห็นเขียนเล่ากันมา)

ครั้นเมื่อใกล้สงครามยุติ ฝ่ายอักษะ คือ ญี่ปุ่น เยอรมนี อิตาลี เป็นฝ่ายเสียเปรียบ อิตาลี เยอรมันยอมแพ้ก่อน ในที่นี้จะไม่เล่าละเอียด สรุปว่า รัฐมนตรีทำสัญญากับญี่ปุ่น ต้องลาออก ไทยเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี เป็น นายควง อภัยวงศ์

พอญี่ปุ่นยอมแพ้ สงครามเลิก เรามีเสรีไทยหลายสายทั้งในประเทศ นอกประเทศ ท่านเหล่านี้เป็นผู้มีส่วนยืนยันให้การประกาศสงครามของไทยต่อสัมพันธมิตรเป็นโมฆะ

แล้วยังได้พระบารมีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล ซึ่งทรงบรรลุนิติภาวะพอดี เสด็จนิวัติประเทศไทย เมื่อกองทัพของฝ่ายสัมพันธมิตร โดยเฉพาะอังกฤษ อเมริกา เข้ามาสวนสนามแสดงแสนยานุภาพ พวกเสรีไทยเข้าร่วมขบวนสวนสนามด้วย พลเอก ลอร์ด หลุยส์ เมานต์เบตเตน ผู้บัญชาการทหารฝ่ายพันธมิตร ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้กราบทูลเชิญเสด็จตรวจพลสวนสนามพร้อมกัน เท่ากับถวายพระเกียรติยศ และให้เกียรติประเทศไทยว่ามิใช่ผู้แพ้สงคราม

เวลานั้นพวกฝรั่งได้พากันเยาะเย้ยว่า ประเทศไทยพูดจากลับกลอกอะไรทำนองนั้น ถึงกับมีคำศัพท์ว่า Siamese talk ซึ่งก็...ช่างมัน ยังดีกว่าถูกปรับว่าเป็นประเทศแพ้สงคราม ถูกแบ่ง ถูกบังคับ ต่าง ๆ นานา

เรื่อง Siamese Talk นี่ ผมได้ยินมาหลายครั้งต่างกรรมต่างวาระ  ผมว่าเป็นสำนวนที่คนอังกฤษประชดประชันแบบเพื่อนหยอก ทำนอง “ไอ้นี่มันโคตรพูดเอาตัวรอดเลย” ประมาณนั้น มากกว่าจะเป็นการเชือดเฉือนน้ำใจ แบบ  “ไอ้นี่มันกระล่อนตลบตะแลง” ชนิดคบกันอีกไม่ได้เลยทีเดียว

ความจริงแล้ว ภาพพจน์ทางการทูตของไทยเราดีตลอด ผมยกตัวอย่าง นายเอดวิน แสตนตัน เอกอัครราชทูตอเมริกันประจำประเทศไทยคนหนึ่งในช่วงหลังสงครามเลิกใหม่ๆ ได้เขียนในหนังสือเรื่อง “Brirf Authority” เกี่ยวกับการเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ของเขาในเมืองไทยไว้ในเชิงยกย่องมาก
 
Siamese Talk ที่มีความหมายเสียดสีเชิงด่าว่ากันจริงๆแล้ว ผมเห็นคนไทยนี่แหละที่ยกคำนี้มาด่าว่ากันเองมากกว่าคนชาติอื่นเสียอีก


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ธ.ค. 14, 14:46
ส่วนเรื่องการสวนสนามของเสรีไทยนั้น ได้ถูกจัดให้มีขึ้นสองครั้ง ก่อนที่จะเป็นการสวนสนามในรูปและเรื่องของคุณเพ็ญชมพู พอสงครามเลิกปั๊บ  คณะพรรคเสรีไทยก็ได้จัดสวนสนามขึ้นครั้งหนึ่งในวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๔๘๘ โดยนายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเป็นประธาน ผู้ร่วมสวนสนามเป็นคนไทยล้วนๆจากเสรีไทยทั้งในและนอกประเทศ เพื่อสร้างภาพก่อนการเจรจาเพื่อยุติฐานะความเป็นศัตรูกับสัมพันธมิตรจะเริ่มต้น


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ธ.ค. 14, 15:15
อ้างถึง
ม.ร.ว.เสนีย์  ปราโมช ท่านเล่าไว้ว่า เมื่อญี่ปุ่นประกาศยอมสงบศึกในสงครามโลกครั้งที่ ๒ แล้ว  อังกฤษแจ้งมาว่าจะส่งทหารเข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นประเทศไทย รัฐบาลไทยได้ตอบไปว่า ไม่ต้องมาเพราะญี่ปุ่นวางอาวุธแล้ว  แต่อังกฤษก็ยังฝืนส่งทหารแขกจากเมืองขึ้นเข้ามา  พร้อมกับข้อเรียกร้องแบบเบ็ดเสร็จ เมื่อส่งทหารเข้ามาแล้ว ลอร์ดหลุยส์เมาท์แบทเทน  ยังจะจัดสวนสนามทหารสหประชาชาติที่ท้องสนามหลวง  โดยตัวลอร์ดหลุยส์ฯ จะขึ้นแท่นรับความเคารพ เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท  ในหลวงรัชกาลที่ ๘ ได้มีรับสั่งกับนายกเสนีย์ว่าจะยอมให้รับลอร์ดหลุยส์ทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะจะเท่ากับว่าประเทศไทยถูกอังกฤษยึดครองแล้ว  จะเสด็จฯไปในงานนั้นและจะทรงขึ้นแท่นรับความเคารพด้วยพระองค์เอง  

จึงได้มีภาพดังกล่าวเกิดขึ้น  ท่านนายกเสนีย์เล่าว่า ตัวลอร์ดหลุยส์นั้นดูจะไม่ค่อยพอใจแต่ทำอะไรไม่ได้
ส่วนที่มีเสรีไทยเข้าร่วมสวนสนามที่อ้างกันว่าเป็นความคิดนายปรีดีนั้น  จำไม่ได้ว่าเป็นกระแสพระบรมราชโองการหรือไม่

 “ความตกลงสมบูรณ์แบบ”ที่ผมยังว่ายังไม่จบ ค้างอยู่คคห.โน้น ยังไปไม่ถึงวันลงนามสัญญากับอังกฤษในวันที่ ๑มกราคม ๒๔๘๙ อย่างไรก็ดี บอกได้เลยว่าหากไม่มีการลงนามสัญญา เลิกความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันแล้ว ไม่มีทางที่ลอร์ดหลุยส์จะเดินทางมากรุงเทพ แล้วปฏิบัติตน แสดงต่อองค์พระมหากษัตริย์ของไทยด้วยความเคารพตามแบบแผนประเพณี ในวันสวนสนามเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๔๘๙ ขนาดนั้น

อ้างถึง
ส่วนข้อเรียกร้องแบบเบ็ดเสร็จนั้นก็ดูเหมือนจะโปรดเกล้าฯ พระราชทานแนวทางให้คณะผู้แทนไปเจรจาต่อรองจนลดลงมาเหลือ ๕ หรือ ๖ ข้อ

ตอนที่คณะผู้แทนฯ จะไปเจรจาตกลงสัญญาเบ็ดเสร็จนั้นได้เฝ้าฯ กราบถวายบังคมลา  ได้พระราชทานสัมผัสพระราชหัตถ์กับคณะผู้แทนเป็นรายบุคคลด้วย
ย่อหน้าหลังผมไม่ทราบ แต่ย่อหน้าแรกนั้น ท่านอ่านเองก็แล้วกัน




กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ธ.ค. 14, 17:29
มีของแถมเล็กๆน้อยๆให้ในช่วงนี้ครับ

จากการที่อังกฤษเรียกร้องจำนวนข้าวจากไทยนั้น อังกฤษอ้างจากข้อมูลที่เขาส่งเครื่องบินมาถ่ายภาพทางอากาศ แบบสแกนประเทศไทยทั้งประเทศ เพื่อคำนวนพื้นที่นา และปริมาณข้าวที่คาดว่าไทยจะผลิตได้ ภาพชุดดังกล่าวกรมแผนที่ทหารของไทยยังเก็บไว้ใช้ประโยชน์ต่อมาได้อีกหลายสิบปี

นักบินคนหนึ่งที่มาปฏิบัติการนี้ ได้ถ่ายรูปเมืองและโบราณสถานต่างๆของไทยในระดับต่ำลงมาไว้ด้วย รู้จักกันในนามว่าภาพถ่ายชุด Peter William-Hunt สามารถเข้าไปชมได้ตามระโยงข้างล่างนี้ครับ

https://www.facebook.com/media/set/?set=a.355565291218313.83621.121587384616106&type=1 (https://www.facebook.com/media/set/?set=a.355565291218313.83621.121587384616106&type=1)


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 ธ.ค. 14, 09:03
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พร้อมด้วยสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จนิวัตประเทศไทยด้วยเครื่องบินพระที่นั่ง ซึ่งเอื้อเฟื้อจัดถวายโดยรัฐบาลอังกฤษนั้น มาถึงสนามบินดอนเมืองวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๔๘๘ 

ในช่วงแรกที่เสด็จอยู่เมืองไทยนั้น ทรงใฝ่พระทัยในงานของทางราชการอย่างยิ่ง โปรดเกล้าฯให้เชิญข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกรมกองต่างๆผลัดเปลี่ยนกันเข้าไปถวายรายงานเรื่องต่างๆ ซึ่งพระองค์จะทรงซักถามและพระราชทานความเห็น อันเรื่องการเจรจาระหว่างไทยกับอังกฤษในเรื่องข้อเสนอต่างๆ เป็นข่าวใหญ่ทั้งในเมืองไทยและสิงคโปรขณะนั้น  พระองค์ทรงต้องสนพระทัยและคงจะให้บุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าเฝ้า และน่าจะทรงมีข้อแนะนำอย่างที่คุณวี_มีว่า แต่ก็น่าจะทรงเข้าใจดี ว่าไทยไม่มีอำนาจในการต่อรองใดๆกับอังกฤษเลย ส่วนอเมริกันนั้นเล่า โดยพื้นฐานของรัฐบาลกับรัฐบาลแล้วเขาก็เกรงใจอังกฤษมากกว่าความเห็นใจประเทศไทย เรื่องการต่อรองนี้จึงหวังไม่ได้ว่าอเมริกันจะเข้าข้างไทย

แต่เมื่อไม่มีบันทึกเป็นทางราชการ การบอกเล่าทางวาจาปากต่อปากจึงอาจเพี้ยนไปได้  ที่กล่าวว่า พระราชทานแนวทางให้คณะผู้แทนไปเจรจาต่อรองจนลดลงมาเหลือ ๕ หรือ ๖ ข้อนั้น ผมเชื่อว่าน่าจะเป็น พระราชทานแนวทาง ๕ หรือ ๖ ข้อ ให้คณะผู้แทนไปขอเจรจาต่อรองมากกว่า


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 ธ.ค. 14, 09:20
ขณะนั้นไทยกำลังใช้ทั้งวิธีการทูตและทางกฎหมายที่พยายามบรรเทาความเสียหายหากจะต้องถูกบีบบังคับให้ลงนามในสัญญา หม่อมเจ้าวิวัฒน์ไชยต้องเสด็จไปๆมาๆระหว่ากรุงเทพและสิงคโปร์หลายเที่ยว และทรงพยายามที่จะให้อังกฤษเสนอ ร่างความตกลงสมบูรณ์แบบมาให้พิจารณากันเลยทีเดียว ข้อเกี่ยงกันไปๆมาๆเหล่านี้ผมจะไม่ขอลงรายละเอียดนะครับ บางครั้งก็มีทิ้งไพ่ให้ดูด้วยว่า ถ้าอังกฤษไม่ยอมแก้ตรงนั้นตรงนี้แล้ว ไทยจะไม่ยอมลงนาม ทั้งนี้ไทยหวังว่าพอถึงจุดนั้นอเมริกันจะต้องเข้าแทรกแซงอีกที่หนึ่ง

แล้วพี่กันท่านก็เข้ามาแทรกแซงจริงๆซะด้วย  วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๔๘๘ นายโยสต์ อุปทูตสหรัฐอเมริกาก็มาแมรี่คริสตมัศนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว. เสนีย์ด้วยถ้อยความว่า บัดนี้อังกฤษได้ยอมผ่อนปรนตามข้อเสนอแก้ไขของฝ่ายอเมริกันไปแล้วเป็นส่วนมาก รัฐบาลของไอได้รับความพอใจ จึงขอถอนคำแนะนำที่ไม่ให้ฝ่ายไทยลงนามนั้นเสีย  สำหรับเรื่องข้าวและค่าเสียหายที่ต้องจ่ายชดใช้สัมพันธมิตรนั้น จะมีคณะกรรมการผสมที่มีอเมริกันอยู่ด้วย จะทำการประเมินปริมาณข้าว และจำนวนเงินค่าเสียหายอีกทีในตอนนั้น แล้วจะได้กำหนดให้เหมาะสมไม่เกินกำลังที่พวกยูจะจ่ายได้

แปลอีกทีหนึ่งว่า เรื่องที่ไทยกับอังกฤษยังเกี่ยงกันอยู่โดยอังกฤษจะเอามากไทยจะจ่ายน้อยนั้น  อเมริกันบอกให้ลงนามไปก่อนแล้วค่อยไปว่ากันทีหลัง เมื่อถึงเวลาแล้ว อเมริกันจะช่วยอีกทีหนึ่งให้ไทยจ่ายเท่าที่จะจ่ายได้

ดังนั้นไทยกับอังกฤษจึงจบกันได้ และร่วมลงนามในสัญญาความตกลงสมบูรณ์แบบกันในวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๘๙


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 ธ.ค. 14, 10:26
คราวใดที่ผมอ่านเรื่องที่เขาเขียนยกย่องท่านโน้นบ้างท่านนี้บ้างที่ทำให้เรื่องคอขาดบาดตายครั้งสงครามโลกจบลงได้อย่างที่เห็น ผมจึงนึกถึง ร.ต.อ. โพยม จันทรัคคะขึ้นมาทุกครั้งไป  พวกเสรีไทยกี่สายๆที่ส่งกันมาถูกตำรวจของหลวงอดุลจับได้หมดไม่เหลือรอดสักคน  หมดโอกาสติดต่อกับกองบัญชาการของสัมพันธมิตรหากไม่มีคนอย่างร.ต.อ. โพยมที่ยอมเสี่ยงด้วย หากโชคชะตาของไทยต้องเป็นไปตามเกมของหลวงอดุล จนจบสงครามโดยไร้ผลงานของเสรีไทยอย่างสิ้นเชิงแล้ว คำพูดและการกระทำของอังกฤษจะรุนแรงอย่างไร และอเมริกันจะช่วยเราไหม มีใครจะพอนึกออกบ้างไหมครับ

สุดท้ายก็คือ การประกาศสงครามของไทยครั้งนี้ถือเป็นโมฆะ ไทยต้องคืนดินแดนที่ได้มาในช่วงสงครามให้อังกฤษและฝรั่งเศสพร้อมเงินชดเชยค่าเสียหายให้กับเขาอีกห้าล้านสองแสนปอนด์ และส่งมอบข้าวสาร 1.5 ล้านตันให้สหประชาชาติผ่านอังกฤษ  ซึ่งพอส่งไปได้หน่อยหนึ่งก็ส่งไม่ได้ ด้วยว่าไม่มีใครมาขายข้าวให้รัฐบาลในราคาซื้อที่ตั้งไว้ เพราะพ่อค้ารับซื้อในตลาดมืดในราคาสูงกว่า เกินกำลังรัฐบาลจะเข้าไปแย่งซื้อได้  ทั้งนี้เพราะยามนั้นข้าวเป็นที่ต้องการของตลาดโลกมาก ข้าวจึงถูกลักลอบส่งไปขายนอกประเทศโดยรัฐบาลไม่สามารถหยุดยั้งได้ อังกฤษก็ไม่ทราบจะบังคับรัฐบาลไทยอย่างไร เพราะไทยอ้างว่าขาดบุคคลากรและเครื่องไม้เครื่องมือในการบริหารจัดการ เพราะขาดงบประมาณที่ถูกรีดไปจ่ายค่าชดเชยให้อังกฤษหมดกระเป๋า  จนอังกฤษต้องเปลี่ยนจากการให้เปล่าเป็นซื้อในราคาตลาดนั่นแหละ  อังกฤษจึงได้ข้าวในปริมาณที่ต้องการไปเลี้ยงคนของตัว

นี่แหละหนา ทำไมผมจึงว่าโอกาสของไทยที่จะรักษาอธิปไตยหลังสงครามครั้งนี้ให้รอดได้ จึงเกือบสายเกิน


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ธ.ค. 14, 11:35
เป็นการรอดปากเหยี่ยวปากกามาให้อย่างน่าใจหายใจคว่ำ
ขอยกย่องวีรบุรุษตัวจริง ที่ช่วยกันอย่างไม่เห็นแก่ชีวิต อนาคต การงาน เพื่อบ้านเมือง  ท่านเหล่านี้มีผลงานที่ยิ่งใหญ่ แต่การตอบแทนน้อยมาก บางท่านก็ไม่เป็นที่รับรู้แม้แต่ในยุคหลัง อย่าว่าแต่ในยุคของท่านเลย

ขอคารวะ


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 16 ธ.ค. 14, 19:32
"เรื่องสั้นสันติภาพ" ที่ดิฉันได้รับมาจากงานเสวนารำลึกถึง"เสนีย์ เสาวพงศ์" เมื่อวานก็มีเรื่องของเสรีไทย เป็นจดหมายเหตุรายวันของ "จำกัด พลางกูร" อ่านแล้วยกย่องในความเสียสละของท่านและภรรยาเป็นอย่างมาก

เสียดายที่ดิฉันเพิ่งมาสนใจเรื่องนี้เอาตอนนี้ เมื่อครั้งเป็นเด็ก ดิฉันเคยมีโอกาสได้คุยกับเสรีไทยสายอเมริกาท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่ของเพื่อนสนิท ยอมรับว่าตอนนั้นท่านเล่าอะไรให้ฟัง มันฟังรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง จึงได้แต่เออออคะขาไปตามมารยาท ตอนนี้อยากฟังท่านเล่าแทบขาดใจ...แต่ท่านก็ไม่อยู่เล่าให้ฟังเสียแล้ว :'(


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 ธ.ค. 14, 17:14
"เรื่องสั้นสันติภาพ" ที่ดิฉันได้รับมาจากงานเสวนารำลึกถึง"เสนีย์ เสาวพงศ์" เมื่อวานก็มีเรื่องของเสรีไทย เป็นจดหมายเหตุรายวันของ "จำกัด พลางกูร" อ่านแล้วยกย่องในความเสียสละของท่านและภรรยาเป็นอย่างมาก

๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๖
นายจำกัด พลางกูร ถึงแก่กรรมที่จุงกิง
(ถือว่าเป็นเสรีไทยคนแรกที่ได้สละชีพเพื่อชาติ ภายหลังสงครามอดีตเสรีไทยผู้นี้ได้รับยศทหารเป็นพันตรี รวมทั้งได้รับการจารึกชื่อไว้ ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ)


วันนี้วันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ เป็นวาระ ๑ ศตวรรษ จำกัด พลางกูร วีรบุรุษเสรีไทย ผู้ถูกขานชื่อและเรื่องราวสั้น ๆ ว่า เสียชีวิตในเมืองจีน ระหว่างภารกิจส่งสารไปถึงฝ่ายสัมพันธมิตร

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนเรื่องจำกัดไว้ใน “ป๋วย” จุลสารเตรียมงานรำลึก ๑๐๐ ปีชาตกาล ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ว่า จำกัด (๓๐ ต.ค. ๒๔๕๗ - ๗ ต.ค. ๒๔๘๖) เป็นบุตรคนโตของพระยาผดุงวิทยาเสริม (กำจัด พลางกูร) เจ้ากรมแต่งตำรา กระทรวงธรรมการ

สอบชิงทุนรัฐบาลสยามได้ที่ ๑ ศึกษาต่อมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด สาขาวิชาปรัชญา การเมืองและเศรษฐศาสตร์

ปี ๒๔๗๙ เขียนหนังสือ ปรัชญาแห่งสยามใหม่ เสนอว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ เป็นดั่งเรเนสซองค์ของสยามทลายฝากั้นฝั่งราษฎรและวัฒนธรรม เปิดทางให้สยามเข้าสู่โลกใหม่อันมีฐานมาจากราษฎร

เขียนบทความวิจารณ์รัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม ท่านผู้นำไม่พอใจสั่งให้ขอขมา จำกัดปฏิเสธ ถูกสั่งห้ามไม่ให้เข้ารับราชการ จำกัดเดินหน้าต่อไป รวบรวมนักเรียนไทยในอังกฤษ เมื่อกลับไทย ร่วมมือกับ เตียง ศิริขันธ์ จัดตั้งคณะกู้ชาติ

การต่อสู้อีกด้าน จำกัดกับฉลบชลัยย์ พลางกูร ภรรยาเปิดโรงเรียนดรุโณทยาน มุ่งหมายไม่เพียงสอนให้เด็กมีวิชาความรู้เท่านั้น ยังมุ่งมั่นบ่มเพาะให้เด็กเป็นพลเมืองที่รักบ้านเมืองและรักประชาธิปไตย

สงครามโลกครั้งที่ ๒ ปี ๒๔๘๔ จำกัดรับมอบหมายจากนายปรีดี พนมยงค์ เดินทางไปเมืองจุงกิง เมืองหลวงของจีนเวลานั้น เพื่อติดต่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตร ทราบถึงการทำงานของขบวนการเสรีไทยในประเทศ

ปี ๒๔๘๖ จำกัดแต่งงานกับฉลบชลัยย์ได้ ๓ ปี เดินทางเสี่ยงการจับกุมของทหารญี่ปุ่น ไปจนถึงเมืองจุงกิง

ภารกิจสำคัญ คือการเจรจากับจอมพลเจียงไคเช็ก ให้รับรองคณะเสรีไทย และรับรองอิสรภาพของไทยหลังสงคราม

เมื่อจีนเป็นต้นเสียงใหญ่...รับรองอิสรภาพให้ไทย สหรัฐฯและอังกฤษก็ต้องออกเสียงตามความคิดของบางประเทศมหาอำนาจ...ที่จะยึดไทยเป็นรัฐในอารักขา แบ่งประเทศไทยออกเป็นไทยเหนือ ให้ฝ่ายคณะราษฎรปกครอง และไทยใต้ให้ฝ่ายเจ้าปกครอง จึงเป็นอันล้มเลิกไป

กล่าวได้ว่า ไทยได้เป็นเอกราชได้มาถึงทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการเจรจาของจำกัด ที่เมืองจุงกิงนี่เอง

อีกภารกิจที่สำคัญไม่น้อยกว่า ในเมืองจุงกิงนั่นเอง จำกัดได้เจรจากับ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ ผู้นำเสรีไทยในอังกฤษ นอกจากได้ความร่วมมือระหว่างเสรีไทยในไทยและในต่างประเทศ

การเจรจาครั้งนั้น เป็นสมานไมตรีระหว่างฝ่ายเจ้ากับฝ่ายคณะราษฎร ที่บาดหมางกันมาตั้งแต่เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕

เป็นการสมานไมตรีที่ได้ผลดี แม้จะไม่ได้รับความร่วมมือจาก ราชนิกุล ผู้นำเสรีในสหรัฐอเมริกา อย่างเท่าที่ควร

ข้อเขียนของกษิดิศ อนันทนาธร ชี้ว่า ผลงานของจำกัดพลางกูร ยิ่งใหญ่ยืนยาว...เป็นคุณูปการอันใหญ่หลวง ที่คนไทยทั้งปวงจะต้องจดจำ...จึงไม่ใช่เรื่องราวสั้น ๆ จำกัดตายระหว่างการเดินทาง...แต่อย่างใดเลย

ภารกิจเพื่อชาติจบ...ชีวิตจำกัด พลางกูรก็จบ หลังการเดินทางอันยากลำบาก ภายใต้สภาพแวดล้อมเลวร้าย การทำงานที่มีความกดดันสูง ในเมืองจุงกิง จำกัด พลางกูร วัย ๒๘ ปี ก็เสียชีวิตลง

แพทย์ลงความเห็น จำกัดเป็นมะเร็งตับและโรคกระเพาะอาหาร...แต่ฝ่ายสืบราชการลับของฝ่ายสัมพันธมิตร สงสัย เขาอาจถูกวางยาพิษ จากฝ่ายจีนหรือญี่ปุ่น

วันนี้ นับจากวันที่จำกัด พลางกูร เกิดมาครบ ๑๐๐ ปีพอดี เขายังเป็นวีรบุรุษเสรีไทย...เป็นเสรีไทยขนานแท้

เป็นเสรีไทย ท่ีสละชีวิตเพื่อชาติ เพื่อคนไทย...ชื่อของเขาจึงยังดังก้อง กล่าวขาน ไม่เคยตายไปจากหัวใจคนไทยด้วยกันเลย.

กิเลน ประลองเชิง (http://www.thairath.co.th/content/459938)


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ธ.ค. 14, 19:42
"เรื่องสั้นสันติภาพ" ที่ดิฉันได้รับมาจากงานเสวนารำลึกถึง"เสนีย์ เสาวพงศ์" เมื่อวานก็มีเรื่องของเสรีไทย เป็นจดหมายเหตุรายวันของ "จำกัด พลางกูร" อ่านแล้วยกย่องในความเสียสละของท่านและภรรยาเป็นอย่างมาก

๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๖
นายจำกัด พลางกูร ถึงแก่กรรมที่จุงกิง
(ถือว่าเป็นเสรีไทยคนแรกที่ได้สละชีพเพื่อชาติ ภายหลังสงครามอดีตเสรีไทยผู้นี้ได้รับยศทหารเป็นพันตรี รวมทั้งได้รับการจารึกชื่อไว้ ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ)


วันนี้วันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ เป็นวาระ ๑ ศตวรรษ จำกัด พลางกูร วีรบุรุษเสรีไทย ผู้ถูกขานชื่อและเรื่องราวสั้น ๆ ว่า เสียชีวิตในเมืองจีน ระหว่างภารกิจส่งสารไปถึงฝ่ายสัมพันธมิตร

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนเรื่องจำกัดไว้ใน “ป๋วย” จุลสารเตรียมงานรำลึก ๑๐๐ ปีชาตกาล ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ว่า จำกัด (๓๐ ต.ค. ๒๔๕๗ - ๗ ต.ค. ๒๔๘๖) เป็นบุตรคนโตของพระยาผดุงวิทยาเสริม (กำจัด พลางกูร) เจ้ากรมแต่งตำรา กระทรวงธรรมการ

สอบชิงทุนรัฐบาลสยามได้ที่ ๑ ศึกษาต่อมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด สาขาวิชาปรัชญา การเมืองและเศรษฐศาสตร์

ปี ๒๔๗๙ เขียนหนังสือ ปรัชญาแห่งสยามใหม่ เสนอว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ เป็นดั่งเรเนสซองค์ของสยามทลายฝากั้นฝั่งราษฎรและวัฒนธรรม เปิดทางให้สยามเข้าสู่โลกใหม่อันมีฐานมาจากราษฎร

เขียนบทความวิจารณ์รัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม ท่านผู้นำไม่พอใจสั่งให้ขอขมา จำกัดปฏิเสธ ถูกสั่งห้ามไม่ให้เข้ารับราชการ จำกัดเดินหน้าต่อไป รวบรวมนักเรียนไทยในอังกฤษ เมื่อกลับไทย ร่วมมือกับ เตียง ศิริขันธ์ จัดตั้งคณะกู้ชาติ

การต่อสู้อีกด้าน จำกัดกับฉลบชลัยย์ พลางกูร ภรรยาเปิดโรงเรียนดรุโณทยาน มุ่งหมายไม่เพียงสอนให้เด็กมีวิชาความรู้เท่านั้น ยังมุ่งมั่นบ่มเพาะให้เด็กเป็นพลเมืองที่รักบ้านเมืองและรักประชาธิปไตย

สงครามโลกครั้งที่ ๒ ปี ๒๔๘๔ จำกัดรับมอบหมายจากนายปรีดี พนมยงค์ เดินทางไปเมืองจุงกิง เมืองหลวงของจีนเวลานั้น เพื่อติดต่อให้ฝ่ายสัมพันธมิตร ทราบถึงการทำงานของขบวนการเสรีไทยในประเทศ

ปี ๒๔๘๖ จำกัดแต่งงานกับฉลบชลัยย์ได้ ๓ ปี เดินทางเสี่ยงการจับกุมของทหารญี่ปุ่น ไปจนถึงเมืองจุงกิง

ภารกิจสำคัญ คือการเจรจากับจอมพลเจียงไคเช็ก ให้รับรองคณะเสรีไทย และรับรองอิสรภาพของไทยหลังสงคราม

เมื่อจีนเป็นต้นเสียงใหญ่...รับรองอิสรภาพให้ไทย สหรัฐฯและอังกฤษก็ต้องออกเสียงตามความคิดของบางประเทศมหาอำนาจ...ที่จะยึดไทยเป็นรัฐในอารักขา แบ่งประเทศไทยออกเป็นไทยเหนือ ให้ฝ่ายคณะราษฎรปกครอง และไทยใต้ให้ฝ่ายเจ้าปกครอง จึงเป็นอันล้มเลิกไป

กล่าวได้ว่า ไทยได้เป็นเอกราชได้มาถึงทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการเจรจาของจำกัด ที่เมืองจุงกิงนี่เอง

อีกภารกิจที่สำคัญไม่น้อยกว่า ในเมืองจุงกิงนั่นเอง จำกัดได้เจรจากับ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ ผู้นำเสรีไทยในอังกฤษ นอกจากได้ความร่วมมือระหว่างเสรีไทยในไทยและในต่างประเทศ

การเจรจาครั้งนั้น เป็นสมานไมตรีระหว่างฝ่ายเจ้ากับฝ่ายคณะราษฎร ที่บาดหมางกันมาตั้งแต่เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕

เป็นการสมานไมตรีที่ได้ผลดี แม้จะไม่ได้รับความร่วมมือจาก ราชนิกุล ผู้นำเสรีในสหรัฐอเมริกา อย่างเท่าที่ควร

ข้อเขียนของกษิดิศ อนันทนาธร ชี้ว่า ผลงานของจำกัดพลางกูร ยิ่งใหญ่ยืนยาว...เป็นคุณูปการอันใหญ่หลวง ที่คนไทยทั้งปวงจะต้องจดจำ...จึงไม่ใช่เรื่องราวสั้น ๆ จำกัดตายระหว่างการเดินทาง...แต่อย่างใดเลย

ภารกิจเพื่อชาติจบ...ชีวิตจำกัด พลางกูรก็จบ หลังการเดินทางอันยากลำบาก ภายใต้สภาพแวดล้อมเลวร้าย การทำงานที่มีความกดดันสูง ในเมืองจุงกิง จำกัด พลางกูร วัย ๒๘ ปี ก็เสียชีวิตลง

แพทย์ลงความเห็น จำกัดเป็นมะเร็งตับและโรคกระเพาะอาหาร...แต่ฝ่ายสืบราชการลับของฝ่ายสัมพันธมิตร สงสัย เขาอาจถูกวางยาพิษ จากฝ่ายจีนหรือญี่ปุ่น

วันนี้ นับจากวันที่จำกัด พลางกูร เกิดมาครบ ๑๐๐ ปีพอดี เขายังเป็นวีรบุรุษเสรีไทย...เป็นเสรีไทยขนานแท้

เป็นเสรีไทย ท่ีสละชีวิตเพื่อชาติ เพื่อคนไทย...ชื่อของเขาจึงยังดังก้อง กล่าวขาน ไม่เคยตายไปจากหัวใจคนไทยด้วยกันเลย.

กิเลน ประลองเชิง (http://www.thairath.co.th/content/459938)


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ธ.ค. 14, 19:44
เชิญอ่านต่อได้ที่กระทู้นี้ค่ะ

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=6177.msg139885;topicseen#msg139885 (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=6177.msg139885;topicseen#msg139885)
ชีวิตและผลงานของเสรีไทยที่ถูกอ้างอิงเพื่อใช้ประโยชน์มากที่สุด


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 ธ.ค. 14, 17:18
กองกำลัง ๑๓๖ ของอังกฤษเพื่อปฏิบัติการในประเทศไทยนั้น  มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่เคยอยู่ในเมืองไทยหลายคน ทราบดีว่าประเทศนี้มีคนจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และเมื่อญี่ปุ่นรุกรานจีน ก็ย่อมเป็นเดือดเป็นแค้นด้วย จึงน่าจะตั้งหน่วยปฏิบัติราชการลับที่เป็น “ลูกจีนเกิดในเมืองไทย” โดยเฉพาะ  น่าจะเป็นประโยชน์และบางทีอาจจะดีกว่าคนไทยนักเรียนนอกในหลายๆเรื่องด้วยซ้ำ จึงได้ประสานกับจุงกิงและได้รับคนจีนพูดไทยดังกล่าวมาฝึกที่อินเดียหลายคน อังกฤษเรียกพวกนี้ว่าพวกแดง ในขณะที่เรียกเสรีไทยว่าพวกเหลือง เอ้ย พวกขาว

ผมเจอแล้วครับ ว่า  ชุดปฏิบัติการจีนที่ส่งมาโดดร่มลงเป็นหน่วยแรกที่นครไชยศรีเป็นนายทหารจีนล้วน ประกอบด้วย ร.อ.หลิน เจี้ยงหง   ร.อ.หอ เฉินถง ซึ่งถูกยิงเสียชีวิต ร.อ.ตง หยุนกัง  ร.อ.วุน ฮั่นอู่  สองคนนี้ถูกจับไปอยู่สันติบาลร่วมกับเสรีไทยอื่นๆ ส่วนคนที่หนีรอดไปได้ ชื่อจีนไม่ทราบ แต่มีชื่อไทยว่า ร.อ.สมบูรณ์ สุดศรีวงศ์ สามารถติดต่อกับเครือข่ายของนายสงวน ตุลารักษ์ในเมืองไทยได้ แล้วถูกส่งไปปฏิบัติการลับอยู่ที่ปากน้ำโพ ผมจึงเล่าต่อไม่ได้ว่าไปทำอะไร เพราะจบกันแค่นั้น

จากเว็ปเพจหน้าหนึ่งซึ่งผมเพิ่งจะเจอเมื่อค้นข้อมูลคุณจำกัด พลางกูร เจอebookเล่มหนึ่ง เขียนโดยอดีตนายทหารของกอ.รมน. มีข้อความอันสอดคล้องกับคำถามของผมเข้า เลยเอามาให้อ่านกัน เพราะทำให้ทราบว่าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในระหว่างสงครามได้รับการจัดตั้งที่นครสวรรค์ จึงทำให้จีนคณะชาติส่งสายลับเข้าไปฝังตัวอยู่ก็ได้


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: Almansos ที่ 20 เม.ย. 15, 16:41
อาจารย์ครับ แล้วเสรีไทยชื่อ "วนัช" ที่โดดร่มลงมาแล้วแอบไปพบอังศุมาลิน ที่ใช้รหัสเรียกแทนชื่อว่า "ไม้ขีดไฟ" ในเรื่องคู่กรรม มีตัวตนจริงหรือเปล่าครับ


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 เม.ย. 15, 18:37
บร๊ะ  มันจะจริงได้ยังไงครับ



กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 เม.ย. 15, 18:47
ถ้า"นายเข้ม เย็นยิ่ง" โดดร่มลงมาแล้วแอบไปพบอังศุมาลิน ละก็ นายเข้ม เย็นยิ่งมีตัวตนจริงครับ ชื่อป๋วย อึ๊งภากรณ์ แต่เรื่องแอบไปพบอังศุมาลิน เป็นนิยาย

อธิบายอย่างนี้คงเข้าใจ


กระทู้: “โพยม จันทรัคคะ” ถ้าท่านนี้ไม่ตัดสินใจ ไทยอาจเสียอธิปไตยได้
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 20 เม.ย. 15, 19:01
อนึ่ง รหัสเรียกแทนชื่อว่า "ไม้ขีดไฟ" หรือวัสดุสิ่งของอื่นใด ไม่มีในระบบของเสรีไทยนะครับ เขาจะใช้นามแฝงกัน จะเรียกว่าระหัสก็ได้ แต่ก็เป็นชื่อเรียกที่คนทั่วไปได้ยินแล้วไม่สะดุดหู เช่นเข้ม แดง ดี อะไรนี่ 
เวลาไปตลาด หากพูดกันว่า "แดง กินโอเลี้ยงมั้ย" แม่ค้าจะได้ไม่สงสัย
หากเรียกว่า "ไม้ขีดไฟ กินหนมจีนซี่ หร้อยจังฮู้"  แม่ค้าคงเหล่ขึ้นมามองหน้า