เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 16255 อาหารการกินใน" บ้านเล็ก"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 14 ธ.ค. 01, 23:57

เข้ามาชวนคุณพวงร้อยและท่านอื่นๆที่อ่านนิยายชุดบ้านเล็กคุยเรื่องอาหารในนั้น
คุณพวงร้อยเล่าว่าอาหารบางอย่างเขาก็เลิกทำกันไปแล้ว
ดิฉันอ่านฉบับแปลภาษาไทย แล้วมาอ่านฉบับภาษาอังกฤษภายหลัง
มีหลายคำที่นึกภาพไม่ออก อย่าง headcheese สุคนธรสแปล ๒ อย่างคือ หมูทับ กับเยลลี่หัวหมู
คือเอาหัวหมูต้มจนเปื่อยเนื้อหลุดจากกระดูก  พอเย็นมันก็แข็งเป็นวุ้นเพราะมีวุ้นออกมาจากกระดูก
เหล้าปอต pot-liquor ที่เอามาผสมกับเนื้อหมู  ทำเป็นอาหาร   เป็นเหล้าที่ต้มเองแบบเหล้าเถื่อนหรือเปล่าคะ
molasse หรือน้ำตาลเคี่ยว พอนึกออก คล้ายๆsyrub แต่ข้นกว่าใช่ไหม
บันทึกการเข้า
นนทิรา
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 27 พ.ค. 01, 16:44

ดิฉันอ่านเรื่องนี้มานานมาก  เกิน 20 ปีแล้ว ตอนที่อ่านก็ยังเด็กมาก จำได้ว่าลอร่าเคยไปเยี่ยมบ้านคุณปู่คุณย่า คุณย่าจะให้เด็กๆไปกอบหิมะนอกบ้านใส่จานหรือภาชนะคนละใบ แล้วคุณย่าก็เอา maple syrup ร้อนๆราดบนหิมะ maple syrup เมื่อโดนหิมะก็จะแข็งตัวเป็น maple candy ให้เด็กๆค่ะ จำได้เท่านี้เองค่ะ

ตอนที่อ่านยังเด็กเหลือเกิน ยังไม่ค่อยสนใจเรื่องอาหาร มีแต่ maple candy ของเด็กๆนี่แหละค่ะที่ทำให้นึกภาพตาม ตามประสาเด็ก นอกจากนี้ ก็จำกรรมวิธีที่ลอร่าบรรยายถึงการทำเนยของแม่ พอปั่นจนได้เป็นเนยแล้ว แม่ก็เอาเนยใส่พิมพ์ที่มีรูปสตรอเบอรี่สวยเชียว เรื่องอาหารอื่นๆจำไม่ได้เลยค่ะ จำได้แต่เหตุการณ์ ตอนอ่านยังนึกภาพ Nellie Ollison เต้นเร่าๆเพราะโดนปลิงเกาะเท้าอยู่เลยค่ะ ผมบลอนด์สีทองเป็นหลอดๆ ว่าแต่ว่าใช่ปลิงหรือเปล่าคะ ดิฉันอาจจะจำผิด
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 27 พ.ค. 01, 22:40

ขออภัยที่เข้ามาช้าด้วยค่ะ  มีเรื่องติดพันอยู่ที่ห้องอื่นสองสามที่  เลยปลีกตัวมาไม่ได้เลยค่ะ

อาหารสมัยยุคบุกเบิกนี่  คิดว่ายังเชื่อมโยงวัฒนธรรมดั้งเดิมจากยุโรปไว้มาก  คือต้องประหยัด  เก็บสะสมอาหารไว้กินหน้าหนาวอันแสนนานและทารุณ  แต่มาหลังๆนี่  การกสิกรรมทำกันเป็นอุตสาหกรรมแล้ว  มีอาหารเหลือเฟือราคาถูก  เค้าก็ทิ้งวัฒนธรรมการสงวนอาหารพวกนี้ไปอย่างไม่ใยดี  ฝรั่งอเมริกันรุ่นปัจจุบันนี่  
ทำยี้หน้าเกือบทุกคน  หากเห็นการเอาส่วนอื่นที่ไม่ใช่เนื้อกับกระดูก(ซุป)ของสัตว์มาทำอาหาร  แม้คนที่ไม่มีความคิดดูถูกวัฒนธรรมอื่นๆ  ก็ยังอดไม่ได้ที่จะเกิดอาการขยอกขย้อนกัน  ดิฉันเห็นเป็นเรื่องตลกและสนุกมาก  หากได้เตือนให้เค้ารู้ถึงประวัติศาสตร์การกินของเค้าเอง  ว่ามันสูญหายไปได้อย่างไร  ดิฉันว่า  วัฒนธรรมการกินนี่  มันเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ของเรา   ไปได้ไกลมากกว่าหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างอื่นๆทั้งหมด  ว่าไปแล้ว  น่าจะเรียกว่า  เป็นหลักฐานทางโบราณคดีด้วยซำ้  เพราะหากค้นลงไปลึกๆแล้ว  จะเห็นรอยต่อของอารยธรรมที่เราไม่คิดว่าจะมีอะไรร่วมกันได้เลย  อย่างวัฒนธรรมยิว-อาหรับ  ที่เป็นศัตรูคู่แค้นกันในปัจจุบัน  ที่จริงแล้ว  เป็นวัฒยธรรมเดียวกันมาก่อนนั่นแหละ  แม้จะมียิวที่ไปอยู่ยุโรปแล้วรับเอาอาหารยุโรปมาเป็นของตัว  แต่หากเอาอาหารหลายๆอย่างมาเทียบกันจานต่อจานแล้ว  ก็คือของอย่างเดียวกันนั่นเองค่ะ  เอ ชักจะเฉไฉไปมากแล้ว  กลับมาที่เรื่องอาหารใน "บ้านเล็ก" กันดีกว่าค่ะ อิอิ

headcheese ไม่เคยเห็นหรือทานจริงๆเลยค่ะ  อ่านจากดิคฯมีขาดเครื่องไปอีกอย่างคือ เท้าหมู (เอ เรียกว่ากีบหรือเปล่าคะ) ด้วยค่ะ  เห็นเค้าว่าเอาเนื้อ หนัง ต่างๆที่ขูดออกมากับนำ้ซุปที่เป็นวุ้น  มาม้วนอีกที  คงจะเทใส่ลงถาดให้มันแข็งตัวแล้วม้วน  หรือจะใส่ loaf pan คือถาดขอบสูงๆที่เค้าใช้อบขนมปังปอนด์  เพื่อให้มันเก็บง่าย ตัดออกมากินทีละหน่อยได้ง่ายๆมังคะ  ฝรั่งอเมริกันนี่เค้าจะยี้หน้าหากเอาอวัยวะส่วนหัวหมูให้ทาน  เคยลองมาแล้วค่ะ กั๊กๆๆ  เพื่อนแหม่มรูมเมตในเมืองไทยรบเร้าอยากให้พาไปบ้านนอก  ก็เลยพาไป  พ่อดิฉันก็เอา "ของดี" มาให้กิน  คือหูหมูสับเป็นชิ้นเล็กๆ  เคียงกับนำ้ส้มพริกดองมาให้  พ่อเค้าก็ไม่รู้เรื่องอะไร  ยัยแหม่มก็แทบหน้าเขียวเลยค่ะ  แต่ก็บอกดิฉันว่า  ในซุปเป้อร์มาร์เก็ตเดี๋ยวนี้  ยังหาซื้อเท้าหมูดอง(pickled pig feet)ได้  พอมาเมืองนอกก็ไปเสาะหา  ก็เจอจริงๆด้วยค่ะ  แปลกแต่จริง  แม้เค้าจะไม่กินเท้าหมูกัน  แต่ก็ไม่ค่อยแสดงความรังเกียจเท่าเมื่อเห็นหัวหมู  เพราะความเคยตาที่เห็นเท้าหมูดองวางอยู่ในร้านมาก่อน  เคยคุยกับเพื่อนฝรั่งที่เรียนจิตวิทยามา  เค้าก็ว่า  food bias หรืออคติในเรื่องการกินนี่  เป็นความเบี่ยงเบนในทางเลือกอาหาร  ที่ฝังลึกที่สุด  ที่เอาชนะได้ยากที่สุด  อย่างคนอีสานที่กินได้แทบทุกอย่างนี่  เค้ารังเกียจการกินข้าวต้มมากเลยค่ะ  ไม่ว่าจะเป็นข้าวต้ม เป็นโจ๊กก็แล้วแต่  ไม่กินกันทั้งนั้น  นี่พูดถึงคนอีสานแ้ๆนะคะ  ไม่รวมคนอีสานเทียมอย่างดิฉัน เอิ๊กๆๆ

pot-liquor  ไม่เคยได้ยินเหมือนกันค่ะ  แต่คำอะไรที่เติมหน้าด้วย pot นี่  จะมีนัยถึงความถูก ความสั่ว
หรือของอะไรที่ทำออกมาอย่างไม่พิถีพิถันน่ะค่ะ  อย่าง pot-boiler คืองานเขียนสั่วๆที่หวังเงินเข้าว่าลูกเดียว  pot-belly คือการลงพุงที่มาจากการสวาปามอย่างไม่บันยะบันยัง  คล้ายๆอีกคำที่ว่า beer-guts ซึ่งเฉพาะเจาะจงลงไปหน่อยว่า  สวาปามอะไรไป  pot-liquor คงเป็นอย่างคุณเทาฯว่าน่ะค่ะ  คือต้มเองอย่างเถื่อนๆ  อย่างไม่ประดิษฐ์ประดอยพิถีพิถัน  เอาแค่เมาเข้าว่า  เป็นเหล้าถูกๆที่เอามาทำกับข้าว  มีไวน์เกรดทำกับข้าวหลายอย่างค่ะ  แต่ระดับยังดีกว่า pot-liquor อีก  เช่น cooking wine หรือ cooking sherry อาหารฝรั่งก็คล้ายๆอาหารจีนที่ใช้เหล้าประกอบด้วย  เดี๋ยวนี้มักจะเป็นส่วนประกอบของซอสมากกว่าค่ะ  อย่างหรูๆหน่อยก็ต้องเอาเหล้าที่ใช้กินอย่างดีๆด้วยมาทำซ้อส  แต่สมัยก่อนคงใช้หมักเนื้อด้วย  เพราะนอกจากมีกลิ่นหอมแล้ว  ยังช่วยทำให้เนื้อเปื่อยลงได้อีก  คงมาจากการที่ไปล่าสัตว์ป่าหนังเหนียวเอามากิน  ที่มันเหนียวจนต้องทำอะไรหลายๆอย่างให้มันหายเหนียว  เช่น แขวนทิ้งไว้ให้มันเน่าหน่อยๆ  คือเริ่มเปื่อยไปเองด้วยการเน่าสลายตามธรรมชาติ  แล้วเอามาหมักให้หายเหม็นทีหลัง  เพราะเหตุนี้แหละค่ะ  เมื่อพริกไทยเข้าไปในยุโรปแล้ว  จึงเป็นที่นิยมจนมีราคาแพงกว่ทองทีเดียว  เพราะคนรวยๆกินเนื้อที่มีกลิ่นเน่ามาจนเอียนแล้ว  พริกไทยกลบกลิ่นเน่าได้ชะงัดนัก  เลยกลายเป็นของำเป็นไป  สำหรับคนรวยน่ะค่ะ  คนจนก็ต้องทนกินเนื้อที่มีกลิ่นไปพลางๆ

molasse  ในปัจจุบันเห็นว่า เป็น กากนำ้ตาล  คือเอามาจากส่วนที่เหลือจากการเคี่ยวนำ้อ้อยได้นำ้ตาลออกไปแล้ว  ที่ติดก้นหม้อมีกลิ่นไหม้ๆ ไม่ค่อยหวาน  ก็ไม่ทิ้ง  เอามาใช้ได้  โมลาสนี่เอามาใส่ขนมหรือซ้อสค่ะ  อย่างมี โมลาสคุกกี้  หรือคุกกี้บางอย่างที่เค้าไม่ต้องการให้มันหวานจัดเกินไป  ใส่โมลาสแล้วมันกรุ่นกลิ่นไหม้ๆนิดๆเหมือนติดควันที่ปลายจมูก  ก็อร่อยไปอีกแบบค่ะ  แต่ในดิคฯเห็นว่า เป็นนำ้ตาลที่ทำมาจาก sorghum ด้วย  เจ้า sorghum เคยเห็นในป่า  แต่ไม่รู้ว่ารสชาติจริงๆเป็นอย่างไร  เคยดูหนังที่ Zhen Yimou สร้างโดยให้ดาราสาวสวย Gong Li เล่น ชื่อ Red Sorghum ก็เป็นเรื่องตระกูลคนจีนในแดนกันดาร  ที่หากินด้วยการหมักเล้าจากศอร์กัมนี่แหละค่ะ  เข้าใจว่านำ้ของมันคงจะหวาน

ที่คุณนนทิราเล่ามาเค้าเรียก snow cone ค่ะ  คิดว่าเราเอามาเลียนแบบเป็นนำ้แข็งไสไงคะ  เดี๋ยวนี้ก็ยังมีตามงานวัดฝรั่งเลยค่ะ  เค้าจะมีเครื่องทำนำ้แข็งไส  แล้วราดนำ้หวานหลากสีเป็นสายรุ้ง  ก็มีแต่นำ้ตาลใส่สีเท่านั้นแหละค่ะ  แต่เด็กๆจะชอบกินกันโดยเฉพาะในหน้าร้อน

เนย ที่เพิ่งเชิร์น(ไม่รู้จะแปลว่าอะไรดีค่ะ  เพราะมันไม่ใช่เป็นการปั่น  มัน "ตบ" มากกว่าค่ะ  แล้วกระแทกขึ้นๆลงๆ  เพื่อให้เนยที่ emulsify เป็นไขหยดเล็กๆจากนำ้นม จากแรงกระแทก  เกาะตัวกันเป็นก้อนใหญ่ขึ้น)  นี่จะหอมหวานอร่อยมากเลยค่ะ  ต่างกับเนยที่เราซื้อมากินตามร้านเหมือน นำ้กะทิสดๆคั้นใหม่ๆหอมหวานเอามาทำแกงก็หวานจนไม่ต้องใส่นำ้ตาล  กับกะทิที่เราเทออกมาจากกระป๋องน่ะค่ะ  แกงใส่กะทิในร้านอาหารเมืองนอก  ต่อให้หรูแพงระยับขนาดไหน  ก็ไม่มีเทียบแม้กับนำ้แกงราดข้าวจากกระจาดแม่ค้าข้างถนนในเมืองไทยเลยค่ะ  เนยที่เพิ่งทำสดๆใหม่ๆปาดลงบนขนมปังที่เพ่ิงผ่านไออบจากเตา  ยังกรุ่นไอร้อน  ก็ไม่มีอะไรเทียบได้แล้วค่ะ  ปกติดิฉันไม่กินเนย  ขนมปังก็ไม่สู้จะชอบเท่าไหร่  นอกจากที่เพิ่งออกจากเตาสดๆน่ะค่ะ  ถ้าได้เนยสดๆด้วยละก็  กินได้ไม่อั้น  แต่ไม่ใช่ไม่กินเลยนะคะ  ปกติก็กินข้าวน่ะค่ะ  หาข้าวกินได้ไม่ยากเรื่องอะไรจะไปกินขนมปัง  แต่ถ้ามีขนมปังสดๆ  ก็อดใจไม่ได้น่ะค่ะ

นำ้ที่ขังเป็นสระตามทุ่งอย่างนั้น  ต่างจากเมืองไทยที่  ในเมืองไทยจะมีจอกแหนลอยเป็นแพ  แต่ในเมืองนอกจะมีสาหร่ายตะไคร่นำ้แบบเป็นเมือกๆลอยฟ่องปล่อยฟองฟ่อดหน้า  แค่นั้นไม่ต้องมีปลิงก็ไม่กล้าลงแล้วค่ะ  เพิ่งไปบ้านเพื่อนมาเมื่อวานเค้าเป็นนักชีววิทยา  ก็เอาสระว่ายนำ้มาทำสระเลี้ยงปลา  ปลูกดอกบัว ไม้นำ้  เลี้ยงปลาเลี้ยงกบด้วย  ดิฉันเอาลูกอ๊อดที่จับมาได้จากทุ่งป๊อปปี้ไปปล่อยน่ะค่ะ  เค้าบอกว่า  ลูกอ๊อดมันชอบกินไอ้สาหร่ายที่เป็นเมือกๆแบบนั้นแหละค่ะ  ดิฉันก็ยังไม่ค่อยจะอยากแตะเท่าไหร่  เค้านี่ยื่นมือเปล่าคว้าดึงทิ้งเลยค่ะ  เหมือนเราถอนหญ้า  เพราะไม่ต้องการให้มีสาหร่ายมากเกินไป  ปลิงนี่ดูเหมือนจะเคยได้ยิน  แต่ไม่เคยเห็น  รู้สึกจะมีเฉพาะทาง(ตะวันออกเฉียง)ใต้เท่านั้นมังคะ  ทางตะวันตกนี่คงไม่รอดเลยไม่เคยเห็นตามทุ่งตามทะเลทรายเลยค่ะ

เคยไปเล่าที่ห้องจิปาถะในไกลบ้านเมื่อไม่นานมานี้  ว่าแยมกับเยลลี่มันต่างกันอย่างไร  แยม ทำด้วยการเคี่ยวเนื้อผลไม้บดละเอียดไฟตำ่ๆไปนานมาก   และใส่นำ้ตาล อาจจะใส่นำ้มะนาวนิดหน่อย  ทำอย่างลำบากสาหัสสากรรจ์เชียวค่ะ  ส่วนเยลลี่นี่ทำง่าย  ตัวหลักที่ทำให้เกิดเยลลี่ หรือวุ้น ก็คือนำ้ตาลกับเพคตินเท่านั้นเอง  เพคตินนี่มีในผลไม้รสเปรี้ยวตามธรรมชาติอยู๋แล้ว  แต่สมัยนี้เค้าสกัดมาขายเป็นซองๆ  ทำให้สะดวกมากเลยค่ะ  สมัยลอร่านั้นคงยังไม่มีที่เป็นซองๆ  ต้องเคี่ยวนำ้ผลไม้กรองแล้วนานๆอยู่เหมือนกัน  ดิฉันรู้จักคุณย่าของเพื่อนท่านหนึ่ง  ท่านก็เป็นนักบุกเบิกเองด้วยเหมือนกัน  แต่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสมัยใหม่อยู่บ้าง  ท่านขึ้นชื่อนักเรื่องเอาอะไรมาทำเยลลี่ก็ได้  สิ่งที่ลูกหลานเอามาล้อเลียนกันก็คือ  เยลลี่ซังข้าวโพดของท่าน  คือท่านจะรวบรวมเอาซังข้าวโพดเหลือๆจากอาหารมื้อเย็นมาต้มนำ้  เพื่อสกัดเอา "กลิ่นข้าวโพด"  จะมีกลิ่นอย่างอื่นปนเปมาด้วยหรือไม่ ดิฉันไม่ยอมพิสูจน์ค่ะ  แล้วเอาไปต้มนำ้ตาลกับเพคตินซอง  ออกมาเป็น corn-cob jelly ด้วยค่ะ

เอ หากให้ดิฉันบรรยายเรื่องอาหารการกินในบ้านเล็กภาคพวงร้อยนี่  มันจะไม่น่ากินจนชวนเคลิ้มกระมัง  เกรงว่าจะกลายเป็นภาคชวนแหวะเสียมากกว่า เอิ๊กๆๆ
บันทึกการเข้า
N.K.Kh.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 28 พ.ค. 01, 04:01

Probably the liquor got its name from the utensil - the "pot" - used to make it. A kind of moonshine?



But "port" liquor is another kind of beverage. It's a sweet Portugease red wine, very sweet.



I think cooking and eating are the most basic aspects of any civilization, as Khun Puangroi said, bias over food is very hard to overcome. I don't know if it's only me, but Laura's description of her mom's American (Pioneer) homemade cooking reminds me of Khun Kampoon Boontawee's Luk Isarn. Uncle Kampoon also spent a big part of that book describing the food he ate in his childhood. His description makes my hungry (although I am sure that in reality I may not be brave enough to try some of the food - like kapom or lizards), and, while reading LukIsarn, I can feel the happiness of the family when they have something to eat to their hearts' content, like when they went to Moon (or Chee?) river on fishing expedition. It is almost the same feeling I feel when Laura's family finally survived another year and celebrated their good harvest together.
บันทึกการเข้า
N.K.Kh.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 28 พ.ค. 01, 04:05

In my line of work I have to train myself to eat anything. I don't have much trouble over any dish, but some I do not see what the fuss is about. For example, the Chinese dish that I can eat, but fail to understand why the Chinese think so highly about it - is Pling Thale or sea cucumber. I think it's like eating rubber.
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 28 พ.ค. 01, 08:08

pot liquor  ค่ะจำได้  
คงจะเป็น moonshine อย่างที่ว่า คงช่วยหมักเนื้อให้นุ่มและหอม
เหมือนตำรับไก่ทอดบางแห่ง    ต้องหมักไก่ในแม่โขงให้นิ่มเสียก่อนแล้วนำไปทอดให้เหลือง จะอร่อยมาก

เรื่องปลิง มีในเมืองหนาวค่ะ  ใน"บ้านเล็กริมห้วย" ลอราลงไปลุยน้ำนิ่งๆในหนองแล้วเจอปลิง
เคยอ่านพบว่าแพทย์สมัยโบราณในยุโรปใช้ปลิงดูดเลือดจากร่างผู้ป่วยเพื่อเอาเลือดร้ายออกไป

เรื่องลูกอีสาน  จำได้ว่าคุณคำพูนเคยให้สัมภาษณ์ว่าได้อ่านเรื่องบ้านเล็ก แล้วเลยได้แรงบันดาลใจบางส่วน

ในบ้านเล็ก อาหารการกินทุกอย่างต้องเก็บรักษาและใช้ให้คุ้ม    อย่างเลี้ยงไก่ พอแม่ไก่แก่จนวางไข่ไม่ได้ แม่ของลอราก็เอามาทำปายไก่
นกดำที่มากวนพืชผลในไร่ พ่อก็ยิงเอามากิน
blackbirds มันเป็นสัตว์ประเภทอีกาหรือเปล่าคะ  ลอราบรรยายว่าอร่อยจนดิฉันอยากกินไปด้วยแน่ะ

คนไทยสมัยโบราณก็ทำแบบเดียวกัน   ผักปลาทุกอย่างจะเอามากิน เก็บรักษาไว้ใช้กินให้คุ้ม
วัฒนธรรมนี้สูญไปเพราะการกินอยู่ตอนนี้สุขสบายอย่างคุณพวงร้อยว่า   เราก็เลยได้อ่านแต่ร่องรอยวัฒนธรรมเมื่อ ๑๐๐ ปีก่อนเท่านั้นเอง
บันทึกการเข้า
ภูมิ
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 28 พ.ค. 01, 08:35

ผมเคยลองทําตามสูตรนํ้าเกรวิ่ จากตอนฤดูหนาวอันแสนนานดู แต่กินไม่ได้เลย :-)
ไม่รู้ว่าทําผิด หรือเพราะเป็นอาหารยามยากเลย ไม่อร่อย

ลูกอีสาน อ่านแล้วรู้สึกการทําอาหารของชาวอีสานน่าสนุกมาก
แม้ว่าผมจะไม่กล้ากินก็เถอะ  

แต่ที่ชอบที่สุดคืออาหารในเรื่องอยู่กับก๋ง
บันทึกการเข้า
ด.เด็ก
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 28 พ.ค. 01, 09:27

ที่เจ๊พวงร้อยบอกว่าคนอีสานไม่กินข้าวต้มนั้นคงจะจริง เพราะที่อีสานเขากินข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก ผมไปหนองคายเมื่อปี๒๕๒๐ เดินหาร้านขายข้าวสวยแทบตาย ทั้งเมืองมีอยู่๓ร้าน ข้าวต้มนี่ทีชาวจีนเขากินกัน อย่างคนญวนจะกินจะกินข้าวต้มเส้นที่ไม่มีลักษณะข้าวเลย มันเหมือนขนมจีนมาต้ม แต่อร่อยดี การที่คนอีสานไม่กินข้าวต้ม อีกอย่างนึง คือมันไม่อยู่ท้องมากกว่านะครับ
บันทึกการเข้า
นนทิรา
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 28 พ.ค. 01, 11:05

คุณพวงร้อยคะ ดิฉันคิดว่า maple candy ที่ลอร่าพูดถึงเนี่ยเป็นคนละอย่างกับ snow cone นะคะ มีเพื่อนชาวแคนาเดียนเค้าเล่าว่าเค้าก็เคยกินอย่างลอร่าเหมือนกัน สมัยเค้ายังเด็กๆอยู่ คือ กอบหิมะใส่ภาชนะ แล้วก็เอา maple syrup ร้อนๆ มาราดบนหิมะ น้ำเชื่อมเมเปิ้ลก็จะแข็งตัวเป็น candy แล้วเค้าก็จะทานแต่ตัว candy ค่ะ แล้วก็ทิ้งหิมะไป ถ้าเป็น snow cone เนี่ยก็เป็นน้ำแข็งใสอัดแข็งๆ แล้วราดน้ำหวานหลากสีตามใจชอบ เวลาทาน ก็ดูดทานทั้งน้ำหวานและน้ำแข็งไปพร้อมๆกัน ไม่เหมือนกับ maple candy ของลอร่าค่ะ
บันทึกการเข้า
นนทิรา
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 28 พ.ค. 01, 12:14

เมื่อกี๊ post เข้ามาทีหนึ่งแล้ว ทำไมไม่ติดก็ไม่ทราบ post ใหม่ก็แล้วกันค่ะ

snow cone นี่เป็นคนละอย่างกับ maple candy ของลอร่านะคะคุณพวงร้อย ดิฉันมีเพื่อนชาวแคนาเดียน เค้าก็เล่าให้ฟังว่า เค้าก็เคยกิน maple candy ซึ่งทำแบบเดียวกันกับลอร่าเหมือนกันค่ะ สมัยที่เค้ายังเด็ก เค้าจะกอบหิมะที่ตกใหม่ๆใส่ภาชนะ แล้วก็ราดด้วย maple syrup ร้อนๆ     ซึ่งน้ำเชื่อมเมเปิ้ลเมื่อโดนความเย็นของหิมะ ก็จะแข็งตัวเป็น candy ค่ะ พอแข็งตัวแล้ว เค้าก็จะกินแต่ตัว maple candy ค่ะ ส่วนหิมะก็เททิ้งไป

snow cone นี่จะเป็นอย่างที่คุณพวงร้อยเล่า คือเอาน้ำแข็งใสมาอัดกันแน่นๆแข็งๆ ใส่กรวยกระดาษบ้าง ถ้วยกระดาษบ้าง แล้วก็เอาน้ำหวานหลากสีราด เวลากิน ก็ดูดกินน้ำแข็งและน้ำหวานไปพร้อมๆกัน
บันทึกการเข้า
นนทิรา
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 28 พ.ค. 01, 12:16

อ้าว...เลยติดสองทีเลย ทีแรกเปิดมาไม่เห็นความเห็นที่ 8 โผล่มา เลยลองโพสท์ใหม่ดู ขอประทานโทษนะคะที่โพสท์ซ้ำซ้อน
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 29 พ.ค. 01, 13:24

ตอนแรกก็ไม่แน่ใจเหมือนคุณ นกข น่ะค่ะว่า คุณเทาฯจะหมายถึง port รึเปล่า  แต่เมื่ออ่านความเห็นต่อไปจึงคิดว่าไม่ใช่  
คิดว่าคงเป็นเหล้าทำแบบถูกๆ  ใช้หม้อใช้ไหอะไรก็ได้มาต้ม  ถ้าจะเรียกว่าเป็นมูนไชน์ ก็คงเป็นมูนไชน์เกรดตำ่มากมังคะ  
ไว้หน้าร้อนนี้จะไปทางมิดเวสต์แล้วจะไปถามคนให้ค่ะ  ของอย่างนี้ต้องคนอยู่บ้านนอกๆหน่อยถึงจะทราบค่ะ

เหล้าพอร์ตนี่ก็เหมือนกันเหล้าเชอร์รี่นั่นแหละค่ะ  คิดว่าทำจากนำ้องุ่นเป็นไวน์ที่มีรสหวานและหมักไว้นานมาก  
เป็นสิบปีขึ้นไปถึงจะได้ความกลมกล่อมพอดี  เค้าต้องการบ่มให้กลิ่นไม้โอ๊คจากถังบ่มซึมซับเข้าไปในเนื้อเหล้าด้วยค่ะ  
เข้าใจว่าพวกพระเบเนดิคหรือเจซูอิตเป็นคนเริ่มคิดทำขึ้นมา  ก็มีทั้งจากสเปญและปอร์ตุเกสด้วยค่ะ  เอามาทำซอสของหวานเช่น
ลูกแพร์ราดซอสเชอร์รี่หรือพอร์ตเนี่ยะค่ะ  เป็นของหวานที่ดูหะรูหะราหน่อย  คือต้องปอกแพร์ให้เหลือแต่เนื้อกลมเกลี้ยงไร้รอยมีดเหลือขั้วเอาไว้  
นำไปต้มไฟรุมในซอส  แล้วเอาลูกแพร์ขึ้น  ต้มซอสต่อให้นำ้มันงวด  เวลาเสิร์ฟวางลูกแพร์สุกบานจาน  ราดด้วยซอสอีกที  
ดิฉันเอาตำราทำกับข้าวไปเก็บไว้ในโรงรถหมดแล้วค่ะ  ไม่ได้ทำอาหารมื้อใหญ่ๆมานานแล้ว  ต้องการเนื้อที่บนหิ้งไว้วางหนังสืออย่างอื่น  
เลยบอกวิธีได้แต่คร่าวๆเท่านั้นค่ะ  แต่ตอนนี้อยากกินมังคุดจังเลยยย

คนอีสานส่วนมากจะบอกว่าที่ไม่กินข้าวต้ม  เพราะมันไม่อยู่ท้อง  แต่สำหรับหลายๆคนแล้วเค้า "ถือ" น่ะค่ะว่า  ข้าวต้มนี่แม้แต่ขอทานก็ยังไม่กินกัน  
มันเป็นเรื่องการวางตัวทางสังคมด้วยน่ะค่ะ   คนอีสานนี่เรื่องกับข้าวไม่เกี่ยง  จะให้กินอะไรก็ได้  แต่เรื่องข้าวนี่เค้าจะพิถีพิถันกันมากเลยค่ะ  
จะว่ามันเป็นแกนทางวัฒนธรรมเลยทีเดียวก็คงจะได้   การกินข้าวเหนียวปั้นนี่เค้าถือว่าเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของเค้า  ทำไมเคร่งกันอย่างนั้น  
ถ้าจะให้เดาๆเอานะคะ  อาจจะเป็นได้ว่า  คนลาวนี่อพยพมาจากจีน  สมัยที่อยู่ในจีนตอนใต้นี่  
อาจมีการต่อสู้เพื่อรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตัวเอง  ไม่ให้ถูกกลืนชาติไปด้วยวัฒนธรรมจีน  คงมีส่วนให้เค้ายึดถือเรื่องกินข้าวอยู่  
จะสังเกตว่า  คนจีนกินข้าวต้มกันมาก  อาจจะเป็นจุดแยกทางสังคมก็ได้ค่ะ  คล้ายๆกับเป็นตัวแทนการต่อสู้ทางวัฒนธรรมอะไรอย่างนั้น  
ดิฉันก็มั่วๆเอาจากการสังเกตของตัวเองเท่านั้นนะคะ  ไม่รับรองอะไรว่าจะมีความเชื่อถือได้แต่อย่างใด

ขอบคุณคุณนนทิรามากค่ะที่ให้รายละเอียดเพิ่มเติม  นำ้ตาลเมเปิลนี่  ทำกันเป็นกิจลักษณะก็แต่ทางภาคตะวันออก  ดิฉันเลยไม่เคยเห็นค่ะ  
อาจเป็นไปได้ว่า ใโนว์โคนเป็นการเลียนแบบการกินนำ้ตาลเมเปิลอย่างนั้น  แต่เนื่องจากที่เค้าทำแบบนั้นได้  ก็คงจะเป็นต้นฤดูใบไม้ผลิที่ยังหนาวอยู่  
แต่ต้นเมเปิลเริ่มฉีดนำ้หล่อเลี้ยงขึ้นลำต้นเพื่อเร่งการผลิใบ  ถ้าอากาศอุ่นขึ้นแล้ว  ผลผลิตนำ้ตาลของต้นไม้ก็ลดลงทำนำ้ตาลไม่ได้  
ตอนที่อากาศหนาวๆอย่างนั้น  คนเลยไม่กินนำ้แข็งกัน  แต่พอมีเครื่องทำนำ้แข็งได้  ก็มาทำกันในหน้าร้อน   ไม่มีนำ้ตาลเมเปิลสดแล้ว  
ก็ใช้นำ้หวานเอา  เด็กๆนี่ชอบสีสดๆกัน  ใส่สีแล้วดูมัน "พิเศษ" ขึ้นเยอะน่ะค่ะ  เพราะนำ้ตาลเมเปิลมันสีนำ้ตาล  ดูก็งั้นๆแหละ  หน้าร้อนทางตะวันออก
ภาคใต้ และมิดเวสต์ของอเมริกานั้น  ทั้งร้อนทั้งชื้น  ไม่ผิดอะไรกับกรุงเทพฯเลยค่ะ  ทางตะวันตกก็ร้อนมากแต่แห้งกว่าหน่อย  
ได้กินนำ้แข็งไสแล้วก็ชื่นใจดีเหมือนอย่างอยู่บ้านเราน่ะค่ะ  อืม ชักคิดถึงนำ้แข็งไส ลอดช่องแตงไทยขึ้นมาตะหงิดๆ เหะๆๆ
บันทึกการเข้า
ชายต๊อง
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 29 พ.ค. 01, 14:08

เรื่องอาหารนี่นะครับ ชอบกินอย่างเดียว ไม่ชอบทำ  ชายสนใจอาหารที่มล.เนื่อง   นิลรัตน์  ทำ ในหนังสือ ชีวิตในวังนะครับ ว่าจะอร่อยแค่ไหน คิดๆแล้วก็หิวจังครับ
   ชายสงสัยว่า ข้าวตอกน้ำกระทิ เนี่ย เป็นไงหรือครับ อยากได้สุดมาทำกินบ้างนะครับ รู้สึกว่าจะเป็นของหวานนะครับแต่หากินไม่ได้เลย
บันทึกการเข้า
ชายต๊อง
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 29 พ.ค. 01, 14:09

โทษทีฮะ พิมพ์ผิด สูตร
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 30 พ.ค. 01, 12:59

ไม่เคยกินเหมือนกันค่ะ
ไม่รู้ว่าทำแบบแตงไทยน้ำกะทิหรือเปล่า

น้ำเกรวี่ แม่ของลอราเคยทำด้วยน้ำนมค่ะ
หลังจาากทอดหมูเค็มแล้วก็เหลือน้ำมันในกระทะเอาไว้บ้าง  แล้วรินนมลงไป กวนไปเรื่อยไม่หยุดมือจนกระทั่งสุก กลายเป็นน้ำเกรวี่
รสชาติคงจะมันๆเค็มๆ  อร่อยสำหรับฝรั่ง

เยลลี่ที่เรากินกับไอศกรีมเป็นของหวาน
 ในเรื่องบ้านเล็ก เขากินแบบเดียวกับแยม คือทาขนมปัง   ต่างจากแยมตรงที่ไม่มีเนื้อผลไม้ปน  มีแต่วุ้นใสๆ ปาดลงบนขนมปัง

อีกอย่างหนึ่งที่แปลไม่ถูกว่าคืออะไร เรียกว่า salt-rising bread เป็นอาหารบนโต๊ะในงานเต้นรำที่บ้านคุณปู่
  สงสัยว่าคือขนมปังที่ใช้เกลือ(แทนผงฟู) ทำให้ฟูเป็นก้อน?
  รสชาติคงเค็มไม่จืดอย่างขนมปังทั่วไป
ใครรู้จักบ้างคะ?
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.074 วินาที กับ 19 คำสั่ง