เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 01 ธ.ค. 12, 10:15



กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ธ.ค. 12, 10:15
...มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งให้กรมโยธาธิการ สร้างถนนขึ้นใหม่สายหนึ่งแทรกลงในระหว่างกลางแห่งถนนเจริญกรุงแลถนนสามเพ็ง  ตั้งต้นแต่ป้อมมหาไชยตัดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้  เข้าบรรจบถนนเจริญกรุง  ตรงตะพานวัดสามจีน  โดยยาว ๑๔๓๐ เมเตอ (หรือ ๓๕ เส้น ๑๕ วา) โดยกว้าง ๒๐ เมเตอ (หรือ ๑๐ วา)  เปนทางรถกว้าง  ๗ วา  ทางคนเดินกว้างข้างละ ๖ ศอก  พระราชทานชื่อว่า "ถนนเยาวราช"..

ข้อความข้างบนเป็นประกาศกรมโยธาธิการ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ร.ศ. ๑๑๐  ลงพระนาม "นริศรานุวัตติวงษ์"  เล่าถึงกำเนิดของถนนเยาวราช ในรัชกาลที่ ๕ 


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ธ.ค. 12, 10:20
      ถนนเยาวราชเป็นถนนหนึ่งใน ๑๘ สายที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ขณะดำรงพระอิสริยยศพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ เสนอให้สร้าง  ถนนอื่นๆนอกจากนี้ก็เช่น ถนนจักรวรรดิ ถนนราชวงศ์ ถนนอนุวงศ์
       ถนนเยาวราชเริ่มตั้งแต่คลองรอบกรุงตรงข้ามกับป้อมมหาไชยตัดลงไปทางทิศใต้บรรจบกับถนนราชวงศ์ซึ่งสร้างแยกจากถนนเจริญกรุงตรงไปฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (ท่าราชวงศ์) สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์กราบบังคมทูลว่าจะสร้างถนนใน พ.ศ. ๒๔๓๔ โดยตั้งพระทัยจะให้ชื่อถนนว่า ถนนยุพราช แต่พระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่าถนนเยาวราช
      ในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๔  ได้มีพระบรมราชโองการให้ออกประกาศกรมโยธาธิการแจ้งให้ราษฎรทราบว่า การตัดถนนเยาวราชเนื่องจากมีพระราชประสงค์จะให้บ้านเมืองเจริญและเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไปเพื่อมิให้ราษฎรพากันตกใจขายที่ดินไปในราคาถูก เพราะเข้าใจว่าจะซื้อเป็นของหลวง หรือบางทีเข้าใจว่าการชิงขายเสียก่อน ถึงจะได้ราคาน้อยก็ยังดีกว่าจะสูญเปล่า และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตึกที่ยื่นล้ำเข้ามาในแนวถนนไม่เกินกว่า ๑ วา ไม่ต้องรื้อถอนด้วย


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 01 ธ.ค. 12, 10:54
ขอมอบแผนที่แนวเส้นทางการวางผังถนนเยาวราชให้ชมกันครับ แนวทางเริ่มกรุยทางตั้งแต่ถนนมหาไชย สะพานหัน เรื่อยไปจนกระทั่งจรดถนนเจริญกรุง



กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 01 ธ.ค. 12, 11:06
ขอเจาะลึกต้นถนนเยาวราช บริเวณสะพานภาณุพันธ์ - ปัอมมหาไชย หน้าวังบุรพา

บริเวณนี้เลือกทำถนนเนื่องจากกระทบพื้นที่ประชาชนน้อยที่สุดครับ ตัวถนนกินพื้นที่คลอง ลำรางเก่ามาก และไปเบียดพื้นที่ของตลาดปีระกา ซึ่งเป็นที่ดินเดิมของราชสกุลยุคลครับ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ธ.ค. 12, 14:25
ขอบคุณคุณหนุ่มสยาม เข้ามาแจมด้วยแผนที่อย่างเร็วไว ปานกามนิตหนุ่ม ค่ะ   :D

ถนนเยาวราชเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๕ ก็จริง   แต่ความเป็นมาของถนนย้อนกลับไปได้ถึงรัชกาลที่ื ๑     เริ่มเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงย้ายเมืองหลวงจากธนบุรีมาฝั่งตรงกันข้าม     ที่ดินฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้เป็นที่ดินว่างเปล่า  หากแต่มีการตั้งชุมชนอยู่ก่อนแล้ว   ตอนนั้นคือชุมชนบ้านเรือนคนจีนที่มีหัวหน้าคือพระยาราชาเศรษฐี     เมื่อจะทรงสร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นใหม่ริมฝั่งแม่น้ำตรงที่เดียวกัน   จึงโปรดเกล้าฯให้ชุมชนคนจีนย้ายบ้านเรือนไปอยู่ในที่ใหม่ ลึกเข้าไปห่างจากแม่น้ำเจ้าพระยา  นอกเขตกำแพงพระราชวังไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้

ที่ใหม่ที่ว่านั้นเป็นที่สวน  อยู่ตั้งแต่คลองวัดสามปลื้ม(วัดจักรวรรดิราชาวาส) ไปจนถึงคลองวัดสามเพ็ง(วัดปทุมคงคา)ชาวจีนอพยพไปอยู่ ในชื่อที่รู้จักกันว่า "สำเพ็ง"   ต่อมาขยายตัวเป็นแหล่งชุมชนคนจีนใหญ่ที่สุดในเมืองหลวง    และถือได้ว่าเป็นชุมชนคนจีนโพ้นทะเลที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก   ถือกำเนิดมาพร้อมกับกรุงเทพพระมหานครอมรรัตนโกสินทร์เมื่อพ.ศ. ๒๓๒๕


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ธ.ค. 12, 21:32
  เนื่องจากไทยมีนโยบายต้อนรับคนจีนโพ้นทะเลให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานทำมาหากินได้อย่างไม่รังเกียจเดียดฉันท์    คนจีนก็เลยอพยพเข้ามาไม่ขาดสาย   ทำให้สำเพ็งกลายเป็นชุมชนคึกคักมาตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์   เห็นได้จากนิราศเมืองแกลงของสุนทรภู่ ที่บรรยายบรรยากาศตอนดึกของกรุงเทพฯ    ย่านอื่นๆ ชาวบ้านชาวช่องน่าจะนอนหลับกันหมดแล้ว   แต่สำเพ็งก็ยังครึกครื้นมีชีวิตชีวาอยู่

       ถึงสำเพ็งเก๋งตั้งริมฝั่งน้ำ                                    แพประจำจอดเรียงเคียงขนาน
       มีซุ้มซอกตรอกนางจ้างประจาน                            ยังสำราญร้องขับไม่หลับลง
       โอ้ธานีศรีอยุธยาเอ๋ย                                        นึกจะเชยก็ได้ชมสมประสงค์
       จะลำบากยากแค้นไปแดนดง                               เอาพุ่มพงเพิงเขาเป็นเหย้าเรือน

      จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่าทำไมชุมชนคนจีนจึงขยายตัวรวดเร็ว และไม่หยุดยั้ง   แผ่ขยายจนล้นสถานที่ ออกพ้นวัดสามปลื้มขึ้นมาถึงคลองรอบกรุง   ทางใต้ก็ขยายไปจนข้ามคลองวัดสำเพ็งลงไปทางบ้านญวนหรือบ้านองเชียงสือ    ทางตะวันออก ขยายจากริมแม่น้ำไปตามแนวคลองวัดสามปลื้ม  คลองโรงกะทะ   และคลองวัดสำเพ็ง
     ผลก็คือ เกิดย่านการค้าใหม่ๆของคนจีนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ  เช่น ตลาดน้อย ตลาดวัดเกาะ  ตลาดสำเพ็ง ตลาดเก่า และตลาดสะพานหัน


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ธ.ค. 12, 21:34
สำเพ็งในอดีต


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 02 ธ.ค. 12, 07:48
สำเพ็งในอดีต

ภาพนี้คือสะพานหัน สมัยที่ยังเป็นสะพานเหล็ก เปิด-ปิด ได้ครับ .. เป็นทางผ่านออกจากกำแพงเมืองเข้าสู่สำเพ็ง ด้วยถนนหน้าวัดสามปลื้ม
รูปยอดของประตู มีลักษณะเดียวกับประตูสามยอดครับ

จำชื่อประตูนี้ไม่ได้ .. จำได้แต่ว่าประตูนี้ทะลายลงมาเองเนื่องจากเครื่องบนผุพังไป จึงมีพระราชดำรัสให้รื้อลงเสีย



กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ธ.ค. 12, 09:35
ยินดีที่เห็นคุณลุงไก่เข้ามาร่วมวง เที่ยวถนนเยาวราชกันอีกคนหนึ่งค่ะ

สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น  ในรัชกาลที่ ๑-๓  คนกรุงเทพยังสัญจรกันทางน้ำ  ไม่มีถนนบนบก  จนถึงรัชกาลที่ ๔ ถึงมีการตัดถนนตามความประสงค์ของทูตานุทูตฝรั่งที่ต้องการนั่งรถม้าไปพักผ่อนหย่อนใจนอกบ้าน      แต่ความที่สำเพ็งแออัดมาก  และขยายตัวไปจนชาวจีนในชุมชนนี้มีจำนวนมากไม่ได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำลำคลอง  จึงมีการสร้างทางสัญจรทางบกขึ้นสายหนึ่งในรัชกาลที่ ๓   เป็นตรอกที่ตัดผ่านสำเพ็ง    มีบ้านช่องร้านค้าชั้นเดียวของชาวจีนตั้งอยู่เรียงรายสองข้างทาง
ตรอกนี้ในหนังสือไม่ได้บอกชื่อ     เดาว่าเป็นตรอกสำเพ็ง   แต่ถ้าไม่ใช่  ใครทราบกรุณาบอกด้วยนะคะ

ในรัชกาลที่ ๓  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงเปิดโอกาสให้คนจีนอพยพกันเข้ามาระลอกใหญ่  เพื่อใช้แรงงาน และเป็นโอกาสให้ได้งานศิลปะจากจีนมาเสริมสร้างในวัดต่างๆที่ทรงทะนุบำรุงอยู่ด้วย     จำนวนคนจีนไม่เคยลดน้อยลงนับจากนั้น   ในรัชกาลที่ ๔  สนธิสัญญาเบาริงที่คนไทยรุ่นหลังมองว่าเป็นปัญหาใหญ่ทำให้ไทยเสียเปรียบทางสิทธิสภาพนอกอาณาเขต     ความจริงในสมัยที่ทำ  ก่อให้เกิดผลดีทางการค้า เศรษฐกิจ และพ่วงมาด้วยแรงงานจีนที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างมหาศาล
 
ผลพวงจากสนธิสัญญาเบาริงคือ  เรือสินค้าจากต่างแดนก็เข้ามาค้าขายกับสยามอย่างเป็นล่ำเป็น    สำเภาแบบโบราณที่อุ้ยอ้ายอาศัยแรงลม พัฒนาขึ้นมาเป็นเรือกำปั่นใบ และเรือกลไฟแบบตะวันตกที่ช่วยให้การเดินทางระหว่างเมืองท่าเป็นไปได้คล่องตัว  ทำให้เกิดบริการเส้นทางเดินเรือขึ้นตามเมืองท่าต่างๆ โดยเฉพาะจากจีนมากรุงเทพ  ตั้งแต่ปี ๒๔๒๕  ทำให้คนจีนอพยพกันเข้ามากันไม่หยุดยั้ง
บัญชีสำมะโนครัวไทยเมื่อพ.ศ. ๒๔๕๒  แสดงยอดคนจีนในกรุงเทพว่ามีถึง ๑๘๘,๐๖๕ คน


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 02 ธ.ค. 12, 20:19
ชาวจีนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในเขตสัมพันธวงศ์นั้น ส่วนมากเป็นชาวจีนเชื้อสายแต้จิ๋วเป็นหลัก และมีชาวฮกเกี้ยน, กวางตุ้ง, ไหหลำ, แคะ เข้ามาอยู่จัดเป็นกลุ่ม ๆ ไปโดยมีศูนย์กลางคือ "ศาลเจ้า"

และที่น่าแปลกคือ ความผสมผสานกันลงตัวของจีน และ แขก ซึ่งริมท่าน้ำละแวกวัดเกาะ มีมัสยิดมุสลิมตั้งอยู่ในท่ามกลางชาวจีนได้อย่างลงตัว


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ธ.ค. 12, 20:30
ความผสานกันลงตัวอย่างคุณ siamese ว่า ทำให้ความเป็นอยู่ในชุมชนคึกคัก  ยิ่งนานปีไปก็ยิ่งหนาแน่น  ยิ่งหนาแน่นก็ยิ่งแออัดยัดเยียด   ด้วยเหตุนี้ผลพลอยเสียของบ้านเรือนแออัดคือทำให้สำเพ็งเกิดไฟไหม้หลายครั้ง   บ้านเรือนและทรัพย์สินเสียหายกันครั้งละมากๆ   ผู้คนก็โกลาหลอลหม่าน  จนกลายเป็นสำนวนเปรียบเทียบความโกลาหลใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นว่า
"เหมือนไฟไหม้สำเพ็ง"
ความวุ่นวายของคนในชุมชนก็กลายเป็นสำนวนที่บางท่านอาจเคยได้ยิน คือ
"เจ๊กตื่นไฟ"

ในพ.ศ. ๒๓๔๓   พงศาวดารบันทึกไฟไหม้ครั้งใหญ่ในสำเพ็งไว้ว่า "...เกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่วัดสามปลื้ม   ไหม้ตลอดลงไปถึงตลาดน้อยวัดสำเพ็ง" นับระยะทางแล้วยาวกว่าหนึ่งกิโลเมตร   บ้านเรือนเสียหายมากแค่ไหนก็ลองนึกภาพดูเองนะคะ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 ธ.ค. 12, 09:33
พื้นที่ในกลุ่มสำเพ็ง - เยาวราช - วัดเกาะ ต่างประสพปัญหาเรื่องไฟไหม้ในหน้าประวัติศาสตร์มานานตั้งแต่ครั้งต้นกรุงรัชกาลที่ ๑ มาเลยครับ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ธ.ค. 12, 10:03
ด้วยเหตุที่ว่ามานี้  เพื่อให้ชุมชนจีน "โปร่ง"ขึ้น  มีทางเข้าออกสะดวกกว่าในอดีตที่มีบ้านเรือนเต็มแน่นไปทุกทิศทาง    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าจึงทรงเห็นความจำเป็นในการตัดถนนเพิ่มขึ้นหลายสาย   ต่อกับถนนที่มีอยู่แล้ว   คือถนนทรงวาด  ถนนทรงสวัสดิ์  ถนนอนุวงศ์  และถนนพาดสาย
สิ่งที่โปรดเกล้าฯให้สร้างอีกอย่างคือตึกแถวริมถนน ให้คนจีนได้อยู่อาศัย ใช้เป็นที่ค้าขาย   ผลที่ตามมาคือเศรษฐกิจก็ยิ่งเจริญขึ้น    สำเพ็งกลายเป็นย่านการค้าใหญ่สุดในสมัยรัชกาลที่ ๕ 
จากนั้น  การตัดถนนสายสำคัญที่เป็นชื่อของกระทู้นี้ ก็ตามมาในพ.ศง ๒๔๓๕

รูปข้างล่างนี้คือสำเพ็งในรัชกาลที่ ๕


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ธ.ค. 12, 10:44
ขอแยกซอยหน่อยนะคะ เรื่องสำเพ็ง
สำเพ็ง ยังเป็นถิ่นกำเนิดของลูกสาวชาวจีน  ซึ่งต่อมาได้เข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวัง และต่อมาได้เป็นฝ่ายใน  คือเจ้าจอมสมบูรณ์ในรัชกาลที่ ๕ 
เจ้าจอมสมบูรณ์เป็นธิดาของนายซุ้ย และนางบุญมา  ครอบครัวนี้ต่อมาใช้นามสกุลว่า "มันประเสริฐ" เพราะสืบเชื้อสายมาจากหมื่นประเสริฐ หรือ เจ้าสัวมัน นายอากรในรัชกาลที่ ๓
เจ้าจอมสมบูรณ์รับราชการฝ่ายในมาตลอดทั้งในพระบรมมหาราชวัง และในพระราชวังสวนดุสิต  จนสิ้นรัชกาลที่ ๕ จึงกราบถวายบังคมทูลลาออกมาพักอยู่บ้านเดิมในสำเพ็ง แต่ยังคงถวายการรับใช้พระวิมาดาเธอกรมพระสุทธาสินีนาฎมาตลอด จนพระวิมาดาฯสิ้นพระชนม์ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๒

เจ้าจอมสมบูรณ์ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุด คือ ทุติยจุลจอมเกล้า ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐  ท่านอายุยืนยาวถึง ๘๒ ปีจึงถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๑  ด้วยโรคเบาหวาน

เสียดายไม่มีรูปของเจ้าจอมสมบูรณ์  ไม่ทราบว่าคุณ siamese หรือคุณ art47 มีไหมคะ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 ธ.ค. 12, 14:04
สำเพ็งในอดีต

ภาพถ่ายสะพานสำเพ็ง (สะพานหัน) และประตูเมืองนี้เป็นภาพที่ถ่ายโดยช่างภาพชาวต่างประเทศชื่อ เจ อันโตนิโอ ครับ มีสตูดิโอที่หัวมุมถนนตรอกชาเตอร์แบงก์ ปัจจุบันเป็นร้านขายเครื่องเขียน ใกล้โรงเรียนอัสสัมชัญบางรักครับ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 ธ.ค. 12, 14:14

รูปข้างล่างนี้คือสำเพ็งในรัชกาลที่ ๕

ภาพนี้มีประวัติครับ อ.เทาชมพู

ภาพนี้ถ่ายไว้บริเวณห้องแถวย่านวัดเกาะ เป็นแหล่งที่พ่อค้าชาวจีนและอินเดียทำมาหากินด้วยความกลมกลืนกัน (ชายแก่ กลางถนนเป็นจีนนุ่งโสร่ง....แขกนั่งร้านสวมรองเท้าเกี๊ย)

ที่มีเรื่องเล่าคือบรรยากาศของภาพนี้ได้รับการถ่ายทอดจากเฮียสมชัย ซึ่งมีบ้านอาศัยอยู่ถ้ดไปไม่กี่ห้องแถว ผมได้สัมภาษณ์ภาพนี้ว่า ตึกแถวด้านขวามือเราเป็นตึกแถวที่ได้รับการสร้างใหม่ เพราะว่ามีเหตุการณ์ไฟไหม้ย่านวัดเกาะ ซึ่งแนวอาคารเดิม (เส้นประสีแดง) ยังคงทิ้งร่องรอยเอาไว้ ซึ่งเป็นถนนที่แคบมาก ทรงมีพระราชกำหนดการสร้างอาคารแบบใหม่ให้ถนนมีความกว้างเพิ่มขึ้น จึงต้องกระเถิบอาคารเข้าไปอย่างที่เห็นในภาพ

ส่วนในวงกลมข้างบนเป็นกลุ่มตึกแถวรุ่นหลัง ซึ่งได้รับอิทธิพลจากไฟไหม้ คือ "ที่บังไฟ" ให้สร้างไว้ด้านบนอาคาร

ผมก็ถามต่อว่า ร้านขายเพชรพลอยเจ้าของร้านยังอยู่ไหม ก็ทราบว่า เป็นรุ่นเหลนที่ดำเนินการ แต่ได้ปิดบ้านหายตัวไปราว ๓ เดือนมาได้ ยินว่าทางบ้านป่วยหนักเลยกลับไปอินเดียแล้วยังไม่กลับมาเลย ซึ่งตู้กระจกก็ยังคงอยู่

ส่วนร้านอาเฮียก็อยู่ตรงป้ายอักษรภาษาจีน (เยื้องหัวเด็กกลางภาพขวามือ) เป็นร้านเขียนโพยก๊วน ครับ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 ธ.ค. 12, 14:21

เสียดายไม่มีรูปของเจ้าจอมสมบูรณ์  ไม่ทราบว่าคุณ siamese หรือคุณ art47 มีไหมคะ

หามีไม่ ขอรับ  ;D


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ธ.ค. 12, 14:29
ขอบคุณมากสำหรับ "ข้างหลังภาพ" เวอร์ชั่นหนุ่มสยาม ให้สีสันเพิ่มขึ้นแก่กระทู้มากค่ะ

สะดุดตาตั้งแต่เห็นรูปนี้แล้ว เป็นภาพที่มีชีวิตชีวามาก      สังเกตว่าเถ้าแก่ขายสร้อยขายแหวนในร้านหน้าตาโอ่อ่านี่ไม่ใช่อาแปะ แต่เป็นอาบังแต่งกายภูมิฐานตามวัฒนธรรมของเขา   มีพรรคพวกซึ่งก็คงเป็นพี่น้องเจ้าของร้านด้วยกันนั่งทอดอารมณ์อยู่หน้าร้าน   พอมีคนไปตั้งกล้องถ่ายรูป  คนทั้งถนนก็เหลียวมองเป็นตาเดียวกันอย่างสนใจ  แต่ไม่หนีไปไหน  แถมยังมีอาตี๋หน้าทะเล้นมาโผล่อยู่หน้ากล้องทางซ้ายมืออีกด้วย
ไม่รู้ว่าย่านนี้ปัจจุบันเป็นยังไงนะคะ
 


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 ธ.ค. 12, 14:41
ไม่รู้ว่าย่านนี้ปัจจุบันเป็นยังไงนะคะ
 

ถนนสายเดียวกัน แต่ต่างกันแค่เวลา  :D


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ธ.ค. 12, 14:51
การตัดถนนในสมัยนั้นเป็นเรื่องยาก    ที่ว่ายากนี้ไม่ได้หมายถึงลำบากอย่างตัดถนนเข้าดงพระยาเย็น   แต่ยากเพราะชาวบ้านไม่เข้าใจ   พอตัดถนนใหม่ข่าวลือก็แพร่สะพัดไปว่า ที่ดินสองข้างถนนจะถูกยึดให้ตกเป็นของหลวงบ้าง  หรือตัดถนนแล้วก็จะสร้างตึกของหลวงสองข้างทางบ้าง   แย่งที่ของประชาชนไป    
คนที่เชื่อข่าวลือก็ตกอกตกใจ รีบขายที่ทางกันยกใหญ่เสียก่อนล่วงหน้า โดนโขกราคาถูกขนาดไหนก็ยอม เพราะนึกว่ายังไงก็ยังดีกว่าโดนหลวงยึดไปฟรีๆ    ดังนั้นก่อนตัดถนนเยาวราช  กรมโยธาธิการถึงกับต้องแถลงเป็นทางการว่า

"...จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ประกาศมาให้ทราบทั่วกัน ว่าการตัดถนนสายนี้ พระราชประสงค์จะทรงอุดหนุนให้เป็นการเจริญแก่บ้านเมือง แลเปนประโยชน์แก่คนทั้งหลายฝ่ายเดียว    ไม่ได้ตัดถนนเพราะจะต้องพระราชประสงค์ที่สองข้าง   อย่าให้ชนทั้งหลายตื่นตกใจ     เหตุที่จะตัดถนนสายนี้  โดยทรงพระราชดำริหเห็นว่า พื้นที่แขวงสำเพ็งเปนทำเลที่ประชุมชนไปทำมาค้าขายมาก    แต่ทางไปมาลำบากเพราะแคบเล็ก    ไม่สมกับประโยชน์ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ในที่นั้นอีกเปนอันมาก"

แต่ถึงชี้แจงแล้ว อุปสรรคการตัดถนนเยาวราชก็มีมากมายหลายเรื่อง  ทำให้ถนนสายนี้กินเวลานานถึง ๘ ปีกว่าจะสร้างเสร็จ คือตั้งแต่พ.ศ.๒๔๓๕ ถึงพ.ศ. ๒๔๔๓


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 ธ.ค. 12, 16:34
ใช่ครับ การตัดถนนเยาราช พบกับปัญหาต่าง ๆ มากมายที่เกิดตามมา ทั้งเรื่องความไม่เข้าใจในเรื่องที่ดิน ความไม่เข้าในเรื่องการปลูกตึกแถว ที่สำคัญการที่ถนนเยาวราชต้องคดไป คดมาไม่ตัดตรงแน่วเหมือนถนนบำรุงเมือง ก็ด้วยพบกับปัญหาการที่เจ้าของที่ดินไม่ยอมให้ตัดผ่านที่ดินของตนเอง อันเป็นปัญหามากมายครับ ดังนั้นวิธีแก็ก็เบนถนนออกไปจากแนวถนนเดิม

ประการหนึ่งก็คือการฟ้องร้องเพื่อที่จะเรียกเงินเวนคืนในจำนวนมาก และอุปสรรค์จากบ้านของจีนหรือแขกในร่มธงต่างประเทศ ที่ไม่ยอมย้ายและต้องขึ้นศาลประเทศนั้น ๆ เสียเวลามาก ๆ ครับ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 ธ.ค. 12, 16:37
มีผู้ให้ขอ้สักเกตุว่า การโค้งของถนนเยาวราชนั้นมีด้วยกัน ๒ โค้ง ซึ่งโค้งหนึ่งเพื่อเลี่ยงพื้นที่ของเวิ้งท่านเลื่อน (ฤทธิ์) และอีกโค้งเพื่อเลี่ยงบ้านเจ๊สัวเนียม ซึ่งตรงกับพื้นที่สีเขียวในภาพ ทำให้ถนนเยาวราชต้องเบนความโค้งออกครับ แต่ปัจจุบันกลับมองไปยังลักษณะของลำตัวมังกรที่ทอดยาวอยู่บนผืนแผ่นดิน


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ธ.ค. 12, 20:26
ใช่ค่ะ  อย่างที่คุณหนุ่มสยามว่า  คือมีอุปสรรคนานัปการในการสร้างถนนเยาวราช   นอกจากยากเย็นกับเอกชนแล้ว  ก็ยากกับราชการไม่น้อยกว่ากัน   ถึงขั้นปีนเกลียวกันระหว่างกระทรวงโยธาธิการกับกระทรวงนครบาล เรื่องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน
แต่ก็เอาเถอะ  ในที่สุดทางการก็ฝ่าฟันอุปสรรค สร้างไปจนสำเร็จ  หลัง 8 ปีอันยาวนาน     ถ้าหากว่าเป็นโครงการสมัยนี้  8 ปีคงเปลี่ยนรัฐบาลไปหลายชุดแล้ว     ผลก็คือถนนคดโค้งเป็นพญามังกรเลื้อย  ไม่ได้ตัดตรงแน่วอย่างถนนเจริญกรุง

งานนี้  กระทรวงโยธาธิการเอาจริงเอาจังกับการตัดถนนมาก    ส่วนไหนที่หลบรอดจากปัญหาเจ้าของที่ดิน คือไปเจอที่ดินว่างเข้า  ก็ขยายความกว้างของถนนจาก ๑๐ วาเป็น ๑๒ วากันตรงนั้น    แต่เนื่องจากถนนเยาวราชมีการสร้างอาคารริมถนนแล้ว   กระทรวงจึงต้องรีบขุดรางน้ำขึ้นถมปลายถนน  และกันที่เอาไว้สำหรับทำทางเท้า ที่เรียกกันว่าฟุตปาท    นอกจากนี้ยังปลูกต้นไม้ห่างจากริมถนน ๑๐ วาอันเป็นอัตรากำหนดของถนน ๑๐ ศอก

ถนนเยาวราชบางส่วนก็ผ่าเข้าไปในถิ่นฐานบ้านช่องคนจีน  แต่บางส่วนก็เป็นป่ารก  และเป็นที่ใช้เลี้ยงหมู เป็ด ไก่ สำหรับเอาไปขายที่สำเพ็ง  ส่วนนี้คือส่วนที่ปัจจุบันตรงกับวงเวียนโอเดียน ไปจนถึงสี่แยกวัดตึก


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 ธ.ค. 12, 20:53
ถ้าผมปีนเข้าตึกสีเข้มขวามือ (ตึกตรงสามแยกถนนเจริญกรุง-ถนนเยาวราช) และถ่ายภาพลงมายังวงเวียนโอเดียน จะได้ภาพนี้ครับ (วัดไตรมิตรซ้ายมือ - ด้านหน้าถนนซ้ายมือคือ เจริญกรุงมุ่งหน้าสี่พระยา หรือ ยืนหันหลังให้ถนนเยาวราช)


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ธ.ค. 12, 10:44
ภาพข้างบนนี้น่าจะถ่ายในยุค 2490s  เพราะเห็นสามล้ออยู่เต็มถนน

เรือนไทยเคยนำภาพสี่แยกที่มุมหนึ่งเป็นห้างใต้ฟ้ามาลง   อาจจะเป็นฝีมือคุณหนุ่มสยามนี่เองละค่ะะ และอีกมุมเป็นธนาคารศรีนคร จำได้ไหมคะ
ในอดีต ตรงนี้เคยเป็นที่เทอุจจาระและเป็นส้วมสาธารณะคนเดินทางที่เข้ามาค้าขายซื้อสินค้าในสำเพ็ง     อาจเป็นที่มาของชื่อ "ตรอกอาจม" ก็เป็นได้   ทุกวันนี้คนไทยยังคงเรียกสี่แยกนี้ว่า กงซีหลงซี้กัก   หรือสี่แยกสุขา
เขียนมาถึงตรงนี้ต้องขอคุณ Crazy HOrse ให้ตรวจสอบภาษาจีนอีกทีว่าดิฉันสะกดถูกหรือเปล่านะคะ
แถวนี้มีตรอกอีกตรอกชื่อ ตรอกป่าช้าหมาเน่า   ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นถนนแปลงนาม     ฟังชื่อก็พอจะเห็นภาพของความสกปรกน่ากลัวของสถานที่ได้
การตัดถนน ช่วยทำให้บริเวณนี้โปร่งตาทันสมัยขึ้นทันตาเห็น     จากป่ารกเรื้อมีแต่สัตว์และของสกปรกก็กลายเป็นถนนโอ่อ่าในสมัยรัชกาลที่ ๕   ตึกแถวสองชั้นริมถนนตามมา   ยุคนั้นคงเป็นภาพน่าตื่นตาตื่นใจมากเมื่อเทียบกับบ้านเรือนไม้เล็กๆสมัยก่อน 

ตึกแถวเหล่านี้ ทางการโอนที่ดินริมถนนจักรวรรดิด้านฝั่งตะวันออก เรื่อยมาตามถนนเยาวราช     สร้างเป็น ๔ ตอน จำนวน ๑๑๙ ห้อง  ให้ชาวจีนเช่าเพื่ออยู่อาศัยและค้าขาย   ก็มีคนแห่กันเข้ามาเช่ากันเนืองแน่น     ริมถนนเยาวราชคึกคักหนาแน่นไม่ต่างจากสำเพ็ง
ตึกแถวที่ว่าน่าจะยังเหลืออยู่ให้เห็นจนบัดนี้นะคะ คุณหนุ่มสยามพอมีรูปไหมคะ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 04 ธ.ค. 12, 10:52

ตึกแถวเหล่านี้ ทางการโอนที่ดินริมถนนจักรวรรดิด้านฝั่งตะวันออก เรื่อยมาตามถนนเยาวราช     สร้างเป็น ๔ ตอน จำนวน ๑๑๙ ห้อง  ให้ชาวจีนเช่าเพื่ออยู่อาศัยและค้าขาย   ก็มีคนแห่กันเข้ามาเช่ากันเนืองแน่น     ริมถนนเยาวราชคึกคักหนาแน่นไม่ต่างจากสำเพ็ง
ตึกแถวที่ว่าน่าจะยังเหลืออยู่ให้เห็นจนบัดนี้นะคะ คุณหนุ่มสยามพอมีรูปไหมคะ

ยกแผนที่สมัยรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๔๔ มาให้ คงใกล้เคียงกับการเปิดถนนเยาราชใหม่ ๆ จะเห็นว่า ด้านตะวันออกของวัดจักรวรรดิ์ (ล่างซ้าย) เป็นอาณาบริเวณของท่านเลื่อน (ฤทธิ์) หรือเวิ้งท่านเลื่อน ซึ่งตอนเด็ก ๆ ทางครอบครัวผมอยู่ในหลังเวิ้งนี้ และเรียกตำแหน่งนี้ว่า "เซียง หวู่ ไหล"

ที่ดินของเวิ้งท่านเลื่อน เมื่อมีการตัดถนนเยาวราชพาดผ่านที่ดิน ท่านก็ขายที่ดินให้ตกเป็นของหลวง ดุแลโดยพระคล้งข้างที่ ซึ่งพระคลังข้างที่ก็จัดการก่อสร้างอาคารห้องแถว จัดแบ่งเสียใหม่ (ตามแผนที่) ส่วนฝั่งตรงข้ามถนนก็เป็นฝั่งวัดตึก ก็เป็นที่หลวงเช่นเดียวกัน มีการปลูกห้องแถวให้ประชาชนซื้อหา เช่าได้ครับ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 04 ธ.ค. 12, 11:01
ลักษณะห้องแถวแบบเก่าที่ด้านถนนเยาวราชฝั่งตะวันออก (ตามภาพ) จะเป็นห้องแถวสองชั้นหลังคาสูง มุงด้วยกระเบื้องว่าวทำด้วยปูนซิเมนต์ (กระเบื้องฟารันโด) ปลูกเป็นช่วง ๆ แนวยาว ครับ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 04 ธ.ค. 12, 11:08
ภาพถนนเยาวราช บริเวณแยกตัดกับถนนราชวงศ์ ซ้ายบนจะเห็นพระเจดีย์ของวัดจักรวรรดิ์ ถัดมาทางซ้ายนิด ๆ ก็จะเจอเวิ้งท่านเลื่อน และถนนเยาวราช ภาพนี้น่าจะถ่ายในช่วงรัชกาลที่ ๖ ปลาย ๆ ครับ เพราะว่าในสมัยรัชกาลที่ ๗ บริเวณที่เป็นพุ่มไม้ใหญ่ ๒ ต้นนั้น ได้เกิดเพลิงไหม้กินบริเวณกว้างมาก จนกระทั่งอาคารริมถนนเยาวราชบางส่วนไฟไหม้ไปหมด

เมื่อไฟสงบลงแล้ว บริเวณที่เคยเกิดไฟไหม้ก็ถูกสร้างเป็นตึกแถวคอนกรีตเสริมเหล็กแทนที่ (ปัจจุบันเป็นอาคารที่จัดแสดงหอศิลป์ธนาคารกรุงไทย) 


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ธ.ค. 12, 11:13

ยกแผนที่สมัยรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๔๔ มาให้ คงใกล้เคียงกับการเปิดถนนเยาราชใหม่ ๆ จะเห็นว่า ด้านตะวันออกของวัดจักรวรรดิ์ (ล่างซ้าย) เป็นอาณาบริเวณของท่านเลื่อน (ฤทธิ์) หรือเวิ้งท่านเลื่อน ซึ่งตอนเด็ก ๆ ทางครอบครัวผมอยู่ในหลังเวิ้งนี้ และเรียกตำแหน่งนี้ว่า "เซียง หวู่ ไหล"

ที่ดินของเวิ้งท่านเลื่อน เมื่อมีการตัดถนนเยาวราชพาดผ่านที่ดิน ท่านก็ขายที่ดินให้ตกเป็นของหลวง ดุแลโดยพระคล้งข้างที่ ซึ่งพระคลังข้างที่ก็จัดการก่อสร้างอาคารห้องแถว จัดแบ่งเสียใหม่ (ตามแผนที่) ส่วนฝั่งตรงข้ามถนนก็เป็นฝั่งวัดตึก ก็เป็นที่หลวงเช่นเดียวกัน มีการปลูกห้องแถวให้ประชาชนซื้อหา เช่าได้ครับ

ท่านเลื่อน(ฤทธิ์) ผู้นี้ท่าทางจะเป็นวีไอพีในสมัยรัชกาลที่ ๕    คุณหนุ่มสยามพอจะเล่าเรื่องท่านให้ฟังหน่อยได้ไหมคะ    ท่านเป็นคหบดี หรือว่าขุนนาง


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 04 ธ.ค. 12, 11:29

ยกแผนที่สมัยรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๔๔ มาให้ คงใกล้เคียงกับการเปิดถนนเยาราชใหม่ ๆ จะเห็นว่า ด้านตะวันออกของวัดจักรวรรดิ์ (ล่างซ้าย) เป็นอาณาบริเวณของท่านเลื่อน (ฤทธิ์) หรือเวิ้งท่านเลื่อน ซึ่งตอนเด็ก ๆ ทางครอบครัวผมอยู่ในหลังเวิ้งนี้ และเรียกตำแหน่งนี้ว่า "เซียง หวู่ ไหล"

ที่ดินของเวิ้งท่านเลื่อน เมื่อมีการตัดถนนเยาวราชพาดผ่านที่ดิน ท่านก็ขายที่ดินให้ตกเป็นของหลวง ดุแลโดยพระคล้งข้างที่ ซึ่งพระคลังข้างที่ก็จัดการก่อสร้างอาคารห้องแถว จัดแบ่งเสียใหม่ (ตามแผนที่) ส่วนฝั่งตรงข้ามถนนก็เป็นฝั่งวัดตึก ก็เป็นที่หลวงเช่นเดียวกัน มีการปลูกห้องแถวให้ประชาชนซื้อหา เช่าได้ครับ

ท่านเลื่อน(ฤทธิ์) ผู้นี้ท่าทางจะเป็นวีไอพีในสมัยรัชกาลที่ ๕    คุณหนุ่มสยามพอจะเล่าเรื่องท่านให้ฟังหน่อยได้ไหมคะ    ท่านเป็นคหบดี หรือว่าขุนนาง

ตึกแถวนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับซื้อที่ดินจากคุณหญิงเลื่อนฤทธิ์ และสร้างตึกแถวให้เช่า พร้อมทั้งพระราชทานกรรมสิทธิ์แก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช และจากวิกิให้ข้อมูลว่าพลเอกพระยาเทพหัสดินฯ (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2420 - 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2494) พลเอก หัวหน้าคณะทูตทหารไทยที่เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 นักโทษประหาร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม
 
พลเอกพระยาเทพหัสดินฯ ได้รับพระราชทานยศ บรรดาศักดิ์ และราชทินนามเต็มว่า พลเอก พระยาเทพหัสดิน สยามพิชิตินทร์ สวามิภักดิ์อุดมศักดิ์เสนีย์ พิริยะพาหะ เป็นบุตรชายคนที่ ๑ ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด ๘ คน ของพันเอกหลวงฤทธิ์นายเวร (พุด เทพหัสดิน ณ อยุธยา พี่ชายต่างมารดาของ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)) ซึ่งเป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับคุณหญิงเลื่อนฤทธิ์ เกิดเมื่อวันขึ้น ๓ ค่ำ ปีฉลู ตรงกับวันพุธที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๒๐ ณ.บ้านสำเพ็ง หน้าวัดจักรวรรดิราชาวาส พระนคร พระยาเทพหัสดิน มีศักดิ์เป็นหลานอาของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี แต่มีอายุไล่เลี่ยกัน

ดังนั้นมรดกจึงตกมาอยุ่ในสิทธิ์ของคุณหญิงเลื่อนฤทธิ์ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ที่ดินตรงนี้ถนนจะเลี่ยงผ่านไปครับ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 04 ธ.ค. 12, 11:42
ราชสกุล เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นสายพระปฐมวงศ์ สืบลงมาจากสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พระโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์น้อยแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ

           สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ มีพระโอรสธิดาเป็นหม่อมเจ้า ตามพระเกียรติยศ โอรสธิดาของเจ้าฟ้า ที่ประสูติแต่มารดาสามัญชน

           สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ มีหม่อมห้ามผู้นับว่าเป็นหม่อมเอก ชื่อว่า หม่อมผ่อง หม่อมผ่องผู้นี้เป็นธิดาของท่านเจ้าขรัวทอง (หรือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯรับสั่งเรียกว่า ‘เจ้าข้าวทอง’) ท่านเจ้าขรัวทอง เป็นพี่ยาของท่านเจ้าขรัวเงิน พระชนกของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ หม่อมผ่อง จึงเป็นลูกผู้พี่ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงฯ

           หม่อมผ่องมีพระธิดา พระนาม ‘หม่อมเจ้าฉิม’ แสดงว่าเป็นธิดาคนใหญ่ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงฯ

           หม่อมเจ้าฉิมเสกสมรสแล้ว ตามที่ทราบกันโดยเปิดเผยนั้นว่า หม่อมเจ้าฉิมทรงมีโอรสท่านหนึ่ง เรียกกันว่า ‘คุณช้าง’ ในทางราชการเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๔ จดว่า ‘หม่อมราชวงศ์ช้าง’ และจดชื่อบุตรธิดาของหม่อมราชวงศ์ช้างเป็น ‘หม่อมหลวง’ ทุกคน

           ทว่าในครั้งกระโน้นมีผู้สันนิษฐานว่าหม่อมราชวงศ์ช้างนี้ คงจะเป็นพระโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงฯ นั่นเอง เกิดแต่หม่อมชาวนครราชสีมา ชื่อแปลก หากแต่อาจมีความจำเป็นบางประการ หรืออาจจะทรงพระชราแล้ว สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงฯ จึงประทานคุณช้างให้เป็นพระโอรสบุญธรรมในหม่อมเจ้าฉิม

           ที่พากันสันนิษฐานดังนี้ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ผู้ทรงเป็นหลานลุงของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงฯ ทรงยกย่องคุณช้างมากยิ่งกว่า ผู้เป็นเพียงหม่อมราชวงศ์ท่านอื่นๆ เมื่อเริ่มเข้ารับราชการ ก็มิต้องขึ้นจากชั้นเล็ก โปรดฯให้เป็นพระยาราชภักดีเลยทีเดียว และเมื่อพระราชโอรสธิดาโสกันต์ ก็โปรดฯให้เสด็จไปลาพระยาราชภักดีทุกพระองค์

           เมื่อหม่อมราชวงศ์ช้างรับราชการ จึงมีบุตรหลานรับราชการมีบรรดาศักดิ์กันต่อๆ มา ผิดจากพระโอรสองค์อื่นในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงฯ ซึ่งแม้เป็นหม่อมเจ้าเมื่อมิได้เข้ารับราชการตลอดถึงลูกหลาน จึงไม่ปรากฏชื่อเสียงเด่นแต่ประการใด มาเด่นในทางราชการก็แต่ลูกหลานของพระยาราชภักดี (ม.ร.ว.ช้าง)

           ถึงรัชกาลที่ ๖ มีพระราชบัญญัตินามสกุลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ จึงโปรดฯ พระราชทานนามสกุลที่สืบสายลงมาจากสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ว่า ‘เทพหัสดิน’ โดยเอาพระนามกรมข้างหน้าของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงฯ กับ ‘หัสดิน’ ที่แปลว่า ‘ช้าง’ รวมเข้าด้วยกัน เป็นการแปลกกว่าราชสกุลอื่น ซึ่งมักจะมาจากพระนามจริงหรือพระนามกรมแต่อย่างเดียว

           พระยาราชภักดี (ม.ร.ว.ช้าง) มีบุตรธิดามากตามความนิยมของสมัยนั้น บุตรชายคนใหญ่ เกิดแต่เอกภรรยาชื่อ หม่อมหลวงเจียม ธิดาอีกคนชื่อ หม่อมหลวงถนอม เป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๕

           หม่อมหลวงเจียม เป็นเจ้ากรมในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง แต่ยังทรงกรมเป็นกรมขุนพินิตประชานาถ เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว โปรดฯให้เป็นพระยาไชยสุรินทร์ (ม.ล.เจียม) เจ้ากรมพระคลังข้างที่

           พระยาไชยสุรินทร์ (ม.ล.เจียม) มีบุตรธิดามาก รวมถึง ๓๒ คน

           ที่เกิดแต่เอกภรรยา ชื่อ นายพุด และ ธิดาถวายตัวเป็นเจ้าจอมพระสนมในรัชกาลที่ ๕ สามท่านคือ เจ้าจอมกลีบ เจ้าจอมลิ้นจี่ และ เจ้าจอมฟักเหลือง

           ส่วนนายพุดนั้น รับราชการเป็นที่โปรดปรานในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมาก ได้เป็นที่หลวงฤทธิ์นายเวร

           หลวงฤทธิ์นายเวร (พุด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ผู้นี้ เป็นบิดาของ พลเอก พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา)

           ส่วนเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นน้องชายต่างมารดาของหลวงฤทธิ์นายเวร (พุด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นคนที่ ๑๘ ในจำนวนพี่น้อง ๓๒ คน

ที่มา ราชสกุลเทพหัสดิน ณ อยุธยา (http://www.dek-d.com/board/view.php?id=2017960)


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ธ.ค. 12, 12:38
อ้างถึง
ตึกแถวนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับซื้อที่ดินจากคุณหญิงเลื่อนฤทธิ์ และสร้างตึกแถวให้เช่า พร้อมทั้งพระราชทานกรรมสิทธิ์แก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช และจากวิกิให้ข้อมูลว่าพลเอกพระยาเทพหัสดินฯ (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2420 - 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2494) พลเอก หัวหน้าคณะทูตทหารไทยที่เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 นักโทษประหาร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม

ข้อความข้างบนนี้คงมีอะไรพิมพ์ผิดสักอย่าง อ่านแล้วไม่เข้าใจ     พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทรงซื้อที่ดินจากคุณหญิงเลื่อนฤทธิ์ เจ้าของเดิม   ทรงสร้างตึกแถวให้เช่า พระราชทานกรรมสิทธิ์ในตึกแถวแก่พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าอุรุพงศ์ฯ  หมายความว่าทั้งตึกแถวและค่าเช่าตึกแถวตกเป็นของพระองค์เจ้าอุรุพงศ์ฯ ท่าน   
คำว่า "จากวิกิให้ข้อมูลว่าพระเอกพระยาเทพหัสดิน ฯลฯ " ไปจนจบย่อหน้า แปลว่าอะไรคะ   แปลว่าพระราชทานกรรมสิทธิ์ร่วมให้พระยาเทพหัสดินฯด้วยอย่างนั้นหรือ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ธ.ค. 12, 21:28

ยกแผนที่สมัยรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๔๔ มาให้ คงใกล้เคียงกับการเปิดถนนเยาราชใหม่ ๆ จะเห็นว่า ด้านตะวันออกของวัดจักรวรรดิ์ (ล่างซ้าย) เป็นอาณาบริเวณของท่านเลื่อน (ฤทธิ์) หรือเวิ้งท่านเลื่อน ซึ่งตอนเด็ก ๆ ทางครอบครัวผมอยู่ในหลังเวิ้งนี้ และเรียกตำแหน่งนี้ว่า "เซียง หวู่ ไหล"

ที่ดินของเวิ้งท่านเลื่อน เมื่อมีการตัดถนนเยาวราชพาดผ่านที่ดิน ท่านก็ขายที่ดินให้ตกเป็นของหลวง ดุแลโดยพระคล้งข้างที่ ซึ่งพระคลังข้างที่ก็จัดการก่อสร้างอาคารห้องแถว จัดแบ่งเสียใหม่ (ตามแผนที่) ส่วนฝั่งตรงข้ามถนนก็เป็นฝั่งวัดตึก ก็เป็นที่หลวงเช่นเดียวกัน มีการปลูกห้องแถวให้ประชาชนซื้อหา เช่าได้ครับ

คุณ siamese พอจำได้ไหมคะว่า "เวิ้ง" ของท่านเลื่อนมีลักษณะเป็นยังไง    ทำไมเรียก "เวิ้ง"  แทนที่จะเรียกว่า "บ้าน" หรือ "ที่ดิน"   ดิฉันรู้จักแต่เวิ้งนาครเขษม   ยังนึกๆว่าจะถามเหมือนกันว่า คำว่า "เวิ้ง" มีที่มายังไง


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ธ.ค. 12, 22:04
ถ้าไม่รีบดึงกระทู้ขึ้นมาคงจะตกหน้าไปในวันสองวัน

ทั้งๆตัดถนนเยาวราชให้ท้องถิ่นชุมชนคนจีน โปร่งตาสะดวกสบายขึ้น   แต่ไฟก็ยังตามมาไหม้ไม่ละลดอยู่ดี   มีบันทึกเอาไว้ว่าในปี ๒๔๓๖ เพลิงลุกไหม้ขึ้นที่บ้านจีนขำ แล้วลุกลามต่อกันไปจนกินบ้านเรือนอีกยาว   ไฟไหม้ครั้งนั้นเริ่มเวลา ๘ ทุ่มครึ่ง  กว่าจะดับได้ก็ ๓ ยามเศษ
๘  ทุ่มครึ่งนี่มันเท่าไหร่คะ ?  สองทุ่มครึ่งใช่ไหม?

จากนั้นพ.ศ. ๒๓๖๕  ไฟก็ไหม้ขึ้นมาอีกครั้ง เริ่มที่ตรอกอาม้าเก็ง  อ.จักรวรรดิ  ต่อมาปี ๒๔๗๕  ก็ไหม้ตรอกเต๊าตอนถนนสำเพ็ง   แต่ครั้งใหญ่สุดคือไฟไหม้ปี ๒๔๘๙   เริ่มที่ถนนมังกร แล้วต้องกินวงกว้างมาก เพราะไหม้ข้ามถนนไปถึงถนนไมตรีจิตต์   ถนนมิตรสัมพันธ์ไปจนถึงถนนพลับพลาชัย   ตัดไปหลังสถานีตำรวจกลาง  ออกถนนสันติภาพไปจนถึงวงเวียน ๒๒  กรกฎา
ไหม้ตั้งแต่ ๒๔ น.เศษ มาจนถึง ๗ โมงเช้า  เพลิงจึงสงบ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 ธ.ค. 12, 12:19

ยกแผนที่สมัยรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๔๔ มาให้ คงใกล้เคียงกับการเปิดถนนเยาราชใหม่ ๆ จะเห็นว่า ด้านตะวันออกของวัดจักรวรรดิ์ (ล่างซ้าย) เป็นอาณาบริเวณของท่านเลื่อน (ฤทธิ์) หรือเวิ้งท่านเลื่อน ซึ่งตอนเด็ก ๆ ทางครอบครัวผมอยู่ในหลังเวิ้งนี้ และเรียกตำแหน่งนี้ว่า "เซียง หวู่ ไหล"

ที่ดินของเวิ้งท่านเลื่อน เมื่อมีการตัดถนนเยาวราชพาดผ่านที่ดิน ท่านก็ขายที่ดินให้ตกเป็นของหลวง ดุแลโดยพระคล้งข้างที่ ซึ่งพระคลังข้างที่ก็จัดการก่อสร้างอาคารห้องแถว จัดแบ่งเสียใหม่ (ตามแผนที่) ส่วนฝั่งตรงข้ามถนนก็เป็นฝั่งวัดตึก ก็เป็นที่หลวงเช่นเดียวกัน มีการปลูกห้องแถวให้ประชาชนซื้อหา เช่าได้ครับ

คุณ siamese พอจำได้ไหมคะว่า "เวิ้ง" ของท่านเลื่อนมีลักษณะเป็นยังไง    ทำไมเรียก "เวิ้ง"  แทนที่จะเรียกว่า "บ้าน" หรือ "ที่ดิน"   ดิฉันรู้จักแต่เวิ้งนาครเขษม   ยังนึกๆว่าจะถามเหมือนกันว่า คำว่า "เวิ้ง" มีที่มายังไง

รอยอินให้คำจำกัดความของ "เวิ้ง" ไว้ว่า = ที่เปิดกว้างเข้าไปถัดจากที่แคบ เช่น พ้นปากถ้ำไปเห็นเป็นเวิ้ง
อาจจะเป็นด้วยกลุ่มการก่อสร้างห้องแถวที่ติดกับถนน เปิดทางเดินเจาะช่องไว้สัก ๑ ห้องเพื่อเข้าสู่เวิ้งด้านหลังอาคาร ซึ่งเป็นพื้นที่กว้างและมีการสร้างห้องแถวรายรอบ ๆ อีกกระมังครับ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 ธ.ค. 12, 12:24
ถ้าไม่รีบดึงกระทู้ขึ้นมาคงจะตกหน้าไปในวันสองวัน

ทั้งๆตัดถนนเยาวราชให้ท้องถิ่นชุมชนคนจีน โปร่งตาสะดวกสบายขึ้น   แต่ไฟก็ยังตามมาไหม้ไม่ละลดอยู่ดี   มีบันทึกเอาไว้ว่าในปี ๒๔๓๖ เพลิงลุกไหม้ขึ้นที่บ้านจีนขำ แล้วลุกลามต่อกันไปจนกินบ้านเรือนอีกยาว   ไฟไหม้ครั้งนั้นเริ่มเวลา ๘ ทุ่มครึ่ง  กว่าจะดับได้ก็ ๓ ยามเศษ
๘  ทุ่มครึ่งนี่มันเท่าไหร่คะ ?  สองทุ่มครึ่งใช่ไหม?

๘ ทุ่มครึ่ง ตรงกับเวลา ตีสองครึ่ง
๓ ยาม ตรงกับ ตีสาม ดังนั้นไฟดับ ๓ ยามเศษ ก็ตก ตี 3 กว่า ๆ

รวมความได้ว่า "ไฟไหม้เมื่อตอนตีสองครึ่ง และดับเมื่อตีสามกว่า ๆ"


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ธ.ค. 12, 19:13
ขอบคุณสำหรับคำเฉลยค่ะ   นึกภาพออกแล้วว่าเวิ้งของท่านเลื่อนฤทธิ์ น่าจะมีบริเวณกว้างขวางอยู่ด้านหลังห้องแถวริมถนน   ผ่านไปตามถนนสายเก่าๆในกรุงเทพ  มองทะลุผ่านประตูระหว่างห้องแถวเข้าไป   บางครั้งเห็นบ้านเก่าแก่ซ่อนตัวอยู่ด้านหลัง    น่าจะเป็นร่องรอยที่เหลือมาจาก "เวิ้ง" ในสมัยหนึ่ง

บ้านเรือนที่เปลี่ยนจากไม้มาเป็นตึก มี 2 ชั้นอย่างมาก  แต่เยาวราชก็สร้างปรากฎการณ์ทางสถาปัตยกรรมเอาไว้  คือเริ่มสร้างตึกสูงหลายชั้นขึ้นเป็นแห่งแรก      ตึกแรกคือ"ตึก 6 ชั้น"  ของ พระยาสารสิน สวามิภักดิ์ (หมอเทียนอี้ ต้นตระกูลสารสิน) ผู้เป็นหมอหลวงในรัชกาลที่ 5   
ตึกนี้ยังคงอยู่มาจนปัจจุบัน  กลายเป็น "เซี่ยงไฮ้ แมนชั่น บูติค โฮเต็ล" ตกแต่งใหม่โดยยังคงเอกลักษณ์จีนเอาไว้   


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ธ.ค. 12, 14:48
เมื่อมีตึกหกชั้น  ก็มีตึกเจ็ดชั้นมาเป็นความสง่าทันสมัย มีหน้ามีตาของถนนเยาวราช


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ธ.ค. 12, 16:46
รูปข้างบนนี้ไม่แน่ใจว่าเป็นตึกเจ็ดชั้นหรือตึกเก้าชั้นของเยาวราช  ใครพอทราบบ้างคะ?

พูดถึงตึกเก้าชั้น ประวัติศาสตร์ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2  ของถนนเยาวราชบันทึกไว้ถึงแหล่งบันเทิงขึ้นชื่อ ของ"นายหรั่ง เรืองนาม"  เขาเป็นเจ้าของคณะระบำ ที่เรียกกันว่า “ระบำมหาเสน่ห์”  บนตึก ๙ ชั้น ถนนเยาวราช ตั้งแต่เพิ่งสร้างตึกเสร็จใหม่ๆ
ระบำนายหรั่งเรียกกันตรงไปตรงมาว่าระบำโป๊     แต่ถ้าสาวๆเห็นว่าโป๊สมัยนั้นเป็นยังไงคงหัวเราะกันงอหาย     เพราะเสื้อผ้าที่เรียกว่าโป๊ที่สุดคือเปิดไหล่ เปิดพุงและสั้นเห็นเข่านิดหน่อย   แค่นี้ก็ถือว่าหวาดเสียวแก่สายตามากแล้ว

คุณจุรี โอศิริ ผู้ทันเห็นนายหรั่ง เล่าว่า นายหรั่งเป็นชายร่างสูงใหญ่ ผิวขาว จมูกโด่ง ตาสีน้ำข้าว ผมเป็นสีแดง คล้ายๆลูกครึ่ง สไตล์การแต่งกายค่อนข้างโก้  คือแต่งตัวเป็นท้าวอุศเรน สวมหมวกใหญ่เหมือนหมวกทหารม้าของพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซีย ออกมาหน้าโรงใช้โทรโข่งเรียกคนดู พร้อมด้วยขบวนสาวน้อยพุงขาวๆ มาเต้นระบำในชุดนุ่งแต่น้อยห่มแต่น้อย เต้นเป็นหนังตัวอย่าง หรือไม่ก็อาจเรียกได้ว่า เป็น ทีเซอร์โฆษณา เรียกคนดูให้เสียสตางค์เข้าไปดูเรื่องยาวในโรง

นายหรั่งและคณะระบำแสดงอยู่ที่ตึก ๙ ชั้น จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ ๒ จึงย้ายมาแสดงบนเวทีบนตลาดบำเพ็ญบุญ หลังสงครามเลิกแล้ว  หลังสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามสงบเรียบร้อยแล้ว


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ธ.ค. 12, 20:01
ขอบันทึกถึงประวัตินายหรั่งเอาไว้ในกระทู้นี้ ในฐานะที่เขาเป็นคนหนึ่งที่สร้างสีสันชีวิตชีวาให้ถนนเยาวราช   เมื่อ 70 ปีก่อนค่ะ

ไม่ทราบวันเดือนปีเกิดของนายหรั่ง  ทราบแต่ว่าเป็นชาวพระประแดงเชื้อสายมอญ  พ่อเป็นฝรั่ง  ชื่อจริงของเขาคือนายบุญศรี สอนชุ่มเสียง  เมื่อโตเป็นหนุ่มนายหรั่งเคยสมัครเข้ารับราชการทหารเรือ เคยเดินทางไปรับเรือที่อิตาลี (ไม่รู้ว่าเรือรบลำไหน)   ต่อมาลาออกจากทหารเรือไปตั้งคณะระบำ
นายหรั่งนับว่าเป็นผู้มีฐานะดีคนหนึ่ง นอกจากมีธุรกิจระบำแล้วยังมีบ้านให้เช่าอีกหลายหลัง  ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ธนบุรี ริมถนนเทศบาลสาย 2 ด้านหลังวัดบุปผารามหรือวัดดอกไม้   บ้านนายหรั่งเป็นบ้านไม้สองชั้นปลูกอย่างดีสองหลังเรียงกัน   ลักษณะซอยเป็นห้องๆทั้งชั้นล่างและชั้นบน หน้าห้องมีระเบียงกั้น มีทางเดินถึงกันตลอด     ที่แบ่งเป็นห้องหลายห้องเพราะนายหรั่งมีภรรยาหลายคน ล้วนเป็นนางระบำในคณะ   และยังมีผู้คนอื่นๆในคณะที่ต้องเลี้ยงดูด้วย

นายหรั่งแต่งตัวหรูหรา นุ่งกางเกงสวมเสื้อแขนยาว มีเสื้อกั๊กอย่างลิเกทับ และสวมสร้อยคอห้อยเสมาพระปรมาภิไธยในรัชกาลที่ 6 ฝังเพชร  ซึ่งไม่ทราบว่าได้มาอย่างไร   โดยปกตินายหรั่งแต่งกายเรียบร้อยประณีตดูดี

นายหรั่งดำเนินกิจการระบำโป๊ที่เยาวราชมาจนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2  จึงมาเปิดกิจการใหม่เป็นวิกลิเก แสดงที่ตลาดบำเพ็ญบุญ ตรงข้ามโรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง  เป็นที่ฮือฮากันมากเพราะมีการตกแต่งประดับประดาฉากด้วยข้าวของเครื่องใช้มีค่า  เช่นเครื่องเงิน เครื่องทอง เครื่องแก้ว  ตัวแสดงก็ประดับสร้อยถนิมพิมพาภรณ์ของแท้   แต่แสดงอยู่ไม่กี่เดือนก็เลิกไป

นายหรั่งถึงแก่กรรมเมื่อใดไม่ปรากฎ   ทรัพย์สินคงแบ่งกันไประหว่างลูกๆ   ส่วนบ้านเดิมปัจจุบันกลายเป็นอพาตเมนต์ทั้งหมด


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 16 ธ.ค. 12, 14:07
กองทัพเรือไทยได้เคยสั่งต่อเรือรบจากอิตาลีตามโครงการตามโครงการสร้างเรือ พ.ศ.๒๔๗๖ โดยใช้งบประมาณในการบำรุงทางเรือกรรมการเผยแพร่ทหารเรือในสมัยนั้น
ได้รณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันบำรุงกำลังทางเรือ สื่อในการโฆษณาสมัยนั้นได้แก่ ภาพยนต์ ละคร จำอวด ดนตรี และ เอกสารสิ่งพิมพ์
ผู้ที่บริจาคเงินบำรุงกำลังทางทหารเรือได้แก่ พ่อค้า ประชาชน ข้าราชการ ตำรวจ ทหาร รวม ๙ ลำ ดังนี้

เรือหลวงชุมพร
เรือหลวงตราด
เรือหลวงภูเก็ต
เรือหลวงปัตตานี
เรือหลวงสุราษฎร์
เรือหลวงจันทบุรี
เรือหลวงระยอง
เรือหลวงชุมพร
เรือหลวงชลบุรี และ
เรือหลวงสงขลา


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 16 ธ.ค. 12, 14:56
อ้างถึง
ตึกแถวนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับซื้อที่ดินจากคุณหญิงเลื่อนฤทธิ์ และสร้างตึกแถวให้เช่า พร้อมทั้งพระราชทานกรรมสิทธิ์แก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช และจากวิกิให้ข้อมูลว่าพลเอกพระยาเทพหัสดินฯ (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2420 - 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2494) พลเอก หัวหน้าคณะทูตทหารไทยที่เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 นักโทษประหาร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม

ข้อความข้างบนนี้คงมีอะไรพิมพ์ผิดสักอย่าง อ่านแล้วไม่เข้าใจ     พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทรงซื้อที่ดินจากคุณหญิงเลื่อนฤทธิ์ เจ้าของเดิม   ทรงสร้างตึกแถวให้เช่า พระราชทานกรรมสิทธิ์ในตึกแถวแก่พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าอุรุพงศ์ฯ  หมายความว่าทั้งตึกแถวและค่าเช่าตึกแถวตกเป็นของพระองค์เจ้าอุรุพงศ์ฯ ท่าน   
คำว่า "จากวิกิให้ข้อมูลว่าพระเอกพระยาเทพหัสดิน ฯลฯ " ไปจนจบย่อหน้า แปลว่าอะไรคะ   แปลว่าพระราชทานกรรมสิทธิ์ร่วมให้พระยาเทพหัสดินฯด้วยอย่างนั้นหรือ

นาวาเอกสวัสดิ์ จันทนี ได้บันทึกในหนังสือ นิทานชาวไร่ ตอนที่ ๗๙ กล่าวถึง เวิ้งเลื่อนฤทธิ์ ไว้ดังนี้
"คุยกันถึงพระยาเทพหัสดิน คุณหลวง (หมายถึง หลวงวรภักดิ์ภูบาล) บอกว่าเป็นท่านบุตรท่านเลื่อน ภรรยาหลวงนายฤทธิ์ คนทั้งหลายเรียกกันว่าท่านเลื่อนฤทธิ์ ชื่อเลื่อนฤทธิ์คงจะคุ้นหูกับคนแถววัดชัยชนะสงคราม (วัดตึก) มาก เพราะท่านเลื่อนฤทธิืมีห้องแถวให้คนเช่าหลายสิบห้องที่เขาเรียกกันว่าเวิ้งท่านเลื่อนฤทธิ์นั่นแหละ
เวิ้งนี้บางคนไม่อยากเดินเข้าไปในเวลากลางวันกลัวจะเห้นคนมองหน้า ต้องเดินในเวลากลางคืน เขาว่าเป็นเมืองสวรรค์น้อยๆ เหมือนกัน พวกคนคอๆ เขาบอกว่าเป็นที่อยู่ของ "อีปิ้ด" ศัพท์นี้เป้นศัพทืที่ใช้ในสมัย ๓๐ ปีมาแล้ว คนชั้นธรรมดาๆ ไม่มคร่มีใครกล้าอยู่เพราะกลัวคนมองหน้าเอา เดี๋ยวจะหาว่าเป็นคนพรรค์อย่างนั้นไป ซึ่งที่แท้ทั้งคนมองและคนถูกมองมันก็เป้นคนพรรค์อย่างนั้นกันทั้งนั้น ม่ายอย่างงั้นจะไปมองกันที่เวิ้งนี้ยังไง"

ทำให้พอสันนิษฐานได้ว่า คำว่า "เวิ้ง" หมายถึง พื้นที่โล่งว่างที่นำมาปลูกตึกแถว ตลาด ร้านค้า ให้เช่า ที่เทียบกับสมัยนี้เรียกกันว่า "พัฒนาที่ดิน" กระมัง
และทำให้ได้ทราบเพิ่มเติมว่านอกจากสำนักโคมเขียว โคมแดง แถบสะพานถ่าน, สะพานเหล็กบนแล้ว ยังมีที่เวิ้งเลื่อนฤทธิ์นี้ด้วย


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ธ.ค. 12, 18:33
คุณลุงไก่ทำให้นึกถึงสีสันอีกอย่างหนึ่งของถนนเยาวราช เริ่มมาราวสองร้อยกว่าปีก่อนโน้น    คือ สํานักโคมเขียวหรือโรงโคมเขียว  ซึ่งหมายถึงสํานักโสเภณี   
ที่ชาวบ้านเรียกกันอย่างนี้เพราะหน้าสํานักแขวนโคมสีเขียวไว้เป็นเครื่องหมายเทรดมาร์คของธุรกิจชนิดนี้   ที่เยาวราชมีตรอกชื่อ "ตรอกโรงโคม" เป็นอนุสรณ์ถึงทำเลที่ตั้ง       สาวบริการมักเป็นสาวจีน กวางตุ้ง ที่เรียกว่าหยําฉ่า หรือหญิงโรงนํ้าชา เพราะแต่เดิม โรงโคมเขียวเปิดบริการเป็นโรงนํ้าชาก่อนจะกลายมาเป็นสำนักโสเภณี แต่บางแห่งก็ทําเป็นโรงนํ้าชาบังหน้า



 


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 ธ.ค. 12, 07:21
คุณลุงไก่ทำให้นึกถึงสีสันอีกอย่างหนึ่งของถนนเยาวราช เริ่มมาราวสองร้อยกว่าปีก่อนโน้น    คือ สํานักโคมเขียวหรือโรงโคมเขียว  ซึ่งหมายถึงสํานักโสเภณี   
ที่ชาวบ้านเรียกกันอย่างนี้เพราะหน้าสํานักแขวนโคมสีเขียวไว้เป็นเครื่องหมายเทรดมาร์คของธุรกิจชนิดนี้   ที่เยาวราชมีตรอกชื่อ "ตรอกโรงโคม" เป็นอนุสรณ์ถึงทำเลที่ตั้ง       สาวบริการมักเป็นสาวจีน กวางตุ้ง ที่เรียกว่าหยําฉ่า หรือหญิงโรงนํ้าชา เพราะแต่เดิม โรงโคมเขียวเปิดบริการเป็นโรงนํ้าชาก่อนจะกลายมาเป็นสำนักโสเภณี แต่บางแห่งก็ทําเป็นโรงนํ้าชาบังหน้า



 

โรงโคมเขียวนั้น ผมให้น้ำหนักไปที่ "สำเพ็ง" มากกว่าเทไปที่ถนนเยาวราชครับ สำหรับถนนเยาวรราชนั้นผมจะให้น้ำหนักไปที่ "โรงน้ำชา" ซึ่งคอยให้บริการอยู่บนถนนเยาวราช แต่ก่อนมีโรงน้ำชาเยอะมาก ต่างก็พากันปิดตัวลงไป อันที่จริงโรงน้ำชา เป็นที่ชุมนุมและสรรค์สรรของชาวจีน พบปะ พูดคุย ซึ่งถ้าวัยรุ่นก็เทียบกับเป็น "เซ็นเตอร์พอยต์" ก็ว่าได้ และที่มีการบริการทางเพศแอบแฝงเข้ามายังโรงน้ำชา ก็ทำให้บรรยากาศด้อยค่าลงไปมากครับ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ธ.ค. 12, 17:53
จริงของคุณหนุ่มสยามค่ะ   เคยได้ยินคำว่า โรงน้ำชาเยาวราช บ่อยกว่า  แต่เข้าใจว่าโรงน้ำชาคือโรงโคมเขียวประเภทหนึ่ง   เพียงแต่มีการสังสรรค์กินน้ำชาของลูกค้าเอาไว้บังหน้า    ไม่ได้เปิดกิจการตรงๆอย่างโรงโคมเขียว
คิดว่าโรงน้ำชาในไทยมาจากเมืองจีน    แต่ยังหารูปจากจีนมาลงไม่ได้ว่าโรงน้ำชาในจีนโบราณหน้าตาเป็นอย่างไร     เพราะยังหาไม่เจอว่าคำนี้ในภาษาอังกฤษเรียกว่าอะไรค่ะ
ใครทราบหรือหารูปได้ช่วยบอกด้วยนะคะ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 18 ธ.ค. 12, 15:40
เมื่อมีตึกหกชั้น  ก็มีตึกเจ็ดชั้นมาเป็นความสง่าทันสมัย มีหน้ามีตาของถนนเยาวราช

ตึกหกชั้น นี้เป็นตึกที่สูงที่สุดในกรุงเทพ ก่อนที่จะถูกโค่นแชมป์ด้วยตึกเจ็ดชั้นที่อยู่ฝั่งตรงกันข้ามครับ

ตึกหกชั้นนี้ เจ้าของคือ หมอเทียนฮี้ สารสิน ซึ่งเป็นหมอหลวงในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานราชทินนามคือ "พระยาสารสินสวามิภักดิ์" ปัจจุบันนี้อาคารหกชั้นได้รับการปรับปรุงใหม่แล้วกลายเป็นโรงแรมเซี่ยงไฮ้แมนชั่น


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 19 ธ.ค. 12, 07:19
ที่ตั้งของเวิ้งเลื่อนฤทธิ์



กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ธ.ค. 12, 08:49
มีเกร็ดเกี่ยวกับโรงน้ำชาอีกนิดหน่อยค่ะ

ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีหนังสือจากอธิบดีกรมตำรวจพระนครบาลและตำรวจภูธร เสนอต่อเจ้าพระยายมราช เสนาบดีกระทรวงนครบาล ขอความดำริเรื่องพระยาอธิกรณ์อนุญาตให้ร้านขายน้ำชาเป็นโรงหญิงนครโสเภณี ลงวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2465 โดยมีคำชี้แจงว่าเป็นที่ทราบชัดว่าหญิงขายน้ำชาเหล่านี้ได้เคยเป็นหญิงนครโสเภณีทางลับ จึงควรออกใบอนุญาตเพื่อตรวจตราสะดวกและยังได้เงินค่าภาษี ทั้งยังป้องกันคนต่างประเทศ (ในที่นี้หมายถึงญี่ปุ่น) เข้าครอบครองกิจการโรงน้ำชา

ช่วงเวลาดังกล่าวน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการกลายรูปจากโรงนครโสเภณีมาสู่การให้บริการในรูปแบบอื่นๆ อาทิ โรงน้ำชา หรือโรงหยำฉ่า
มัยรัชกาลที่ 6 ยังมีคำสั่งเนรเทศชาวจีนผู้ตั้งโรงหญิงนครโสเภณีโดยไม่ได้รับอนุญาตออกจากพระราชอาณาจักรสยามบ่อยครั้ง ส่วนใหญ่วางโทษไว้ไม่ต่ำกว่า 10 ปี


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ธ.ค. 12, 08:53
จากตึกหกชั้นมาถึงตึกเจ็ดชั้น และตึกเก้าชั้น  ตึกสูงสุดของถนนเยาวราช   ตั้งอยู่ฝั่งซ้ายของถนนเยาวราชก่อนถึงถนนมังกร สร้างในสมัยปลายรัชกาลที่ 6 คาดว่าตอนเริ่มสร้างคงไม่ถึงเก้าชั้น มาต่อเติมทีหลัง เพราะว่ามีการตกแต่งแค่สามชั้นล่าง ปัจจุบันด้านหลังเป็นโรงแรมเก้าชั้น ส่วนด้านหน้าเป็นร้านขายทอง "ฮั่วเซ่งเฮง"


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 19 ธ.ค. 12, 13:34
มังกรทองเยาวราช ... ทำเลที่มีชีวิต
หัวมังกร บริเวณวงเวียนโอเดียน - ซุ้มประตูเปรียบเสมือนสวมมงกุฏให้กับหัวมังกร เป็นการเพิ่มพลังอำนาจแก่มังกร
ท้องมังกร บริเวณตลาดเก่า - ทำเลที่เหมาะสำหรับธุรกิจอาการการกิน
หางมังกร โบกสะบัดไปมา บริเวณเวิ้งนครเขษม - ธุรกิจเกี่ยวกับน้ำ






กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ธ.ค. 12, 17:10
ตำนานอีกเรื่องที่ยังแกะรอยได้เพียงคร่าวๆ  แม้ว่าเป็นเรื่องขึ้นชื่อที่สุดของถนนสายนี้    ไม่มีแหล่งอื่นในกรุงเทพจะเทียบได้   คือตำนานร้านทองของเยาวราช   
จากประวัติ  "เยาวราช" ไม่ได้เป็นถนนสายหลักในการซื้อขายทองคำอย่างปัจจุบัน    แต่ด้วยเพราะยุคสมัยเปลี่ยนไป  คลองหลายสายถูกถม กลายเป็น ถนนลูกรัง ถนนดินเรียบ จนเป็นถนนหลายเลนอย่างที่เห็น ทำให้ร้านทองหลายร้านอยู่ในถนนวานิชด้านในหรือสำเพ็งในปัจจุบัน  ขยับออกมาอยู่ด้านหน้าบนถนนเยาวราช  ทำมาค้าขึ้น เพราะผู้คนพลุกพล่านกว่าถนนวานิชมาก

เยาวราชจึงกลายมาเป็นถนนสายทองคำ แทนถนนวานิชในอดีต 

ดิฉันยังไม่เจอว่าร้านทองแห่งแรกคือร้านไหนกันแน่   ขอฝากเป็นการบ้านให้ท่านผู้อ่านด้วย     พบแต่ว่าร้านทองตั้งโต๊ะกังมีอายุยาวนานกว่า 140 ปี  ถ้าไม่ใช่ร้านแรกก็เป็นร้านรุ่นแรกๆของเยาวราช



กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ธ.ค. 12, 17:12
รู้จากบันทึกประวัติของร้านว่า รากเหง้าของตั้งโต๊ะกังเริ่มต้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5  มีหนุ่มจีนคนหนึ่งชื่อนายโต๊ะกัง แซ่ตั้ง หรือเรียกแบบจีนว่าตั้งโต๊ะกัง   มีอาชีพเป็นช่างทำเงินฝีมือดีมาก่อนในเมืองจีน   เขาลี้ภัยจากสงครามในจีน (ไม่ทราบว่าสงครามครั้งไหน)  โดยทางเรือมุ่งหน้าสู่สยาม  มาตั้งหลักแหล่งที่กรุงเทพ  โต๊ะกังได้สะสมเงินจากการรับจ้างเป็นช่างเงิน  ใช้เป็นเงินทุนรอนสำหรับเปิดร้าน รับจ้างทำทองได้ในท้ายที่สุด

ตั้งโต๊ะกังกลายเป็นเจ้าของกิจการรับทำทองขนาดเล็ก ร้านขนาดหน้ากว้างไม่กี่เมตรบนถนนวานิช    มีเพียงโต๊ะไม้ขนาดเล็กตั้งไว้ในร้านที่ตั้งตามชื่อและนามสกุลของตัวเองว่า "ตั้งโต๊ะกัง" ใช้เป็นโต๊ะต้อนรับลูกค้าที่มาจ้างทำทองรูปพรรณ  ลวดลายตามต้องการ   นอกจากนี้ก็ยังมีลูกค้าที่มาแลกเปลี่ยนซื้อขายทองอีกด้วย
เขาใช้สัญลักษณ์ค้างคาวเป็นตราสินค้า "ตั้งโต๊ะกัง" จนกระทั่งเปลี่ยนจากห้างเล็กเป็นห้างใหญ่ในเวลาต่อมา

ต่อมาในรัชกาลที่ 6   ในปี พ.ศ.2464 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เต็กกวง เจ้าของยี่ห้อ "ตั้งโต๊ะกัง" เป็นผู้ประกอบกิจการค้าทองในพระบรมราชูปถัมภ์พร้อมพระราชทานตราตั้งให้ด้วย  และพระราชทานตราครุฑซึ่งประดิษฐานไว้หน้าร้านจนถึงทุกวันนี้


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ธ.ค. 12, 21:35
พิพิธภัณฑ์ทองคำฯตั้งโต๊ะกัง ตำนานทองคำแห่งเยาวราช

ผู้จัดการออนไลน์   5 กุมภาพันธ์ 2551
โดย หนุ่มลูกทุ่ง

พอใกล้ถึงวันตรุษจีน หรือวันปีใหม่ของชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนทั้งหลาย มองไปทางไหนก็มีแต่สีแดงกับสีทอง โดยเฉพาะแถวๆ ย่านเยาวราชนั้น สีแดงกับทองเต็มพรืดไปหมดโดยสีแดงนั้นเป็นสีมงคลของชาวจีน เชื่อกันว่าหากใส่เสื้อผ้าสีแดงในวันตรุษจีนจะทำให้พบแต่ความโชคดี ส่วนสีทองนั้นก็เป็นสีมงคลเช่นกัน มีความหมายถึงความเจริญรุ่งเรือง และแน่นอนว่าหมายถึงทองคำที่ตอนนี้ราคาพุ่งขึ้นสูงถึงบาทละ 14,000 แล้วด้วย

พูดถึงเรื่องทองขึ้นมา ฉันก็นึกได้ว่า ที่ย่านเยาวราชนี้เป็นย่านที่มีร้านทองมากที่สุด คือมีถึง 132 ร้านด้วยกัน แต่มีร้านทองร้านหนึ่งที่น่าสนใจ และถือว่าเป็นร้านทองที่เก่าแก่ที่สุดในย่านนี้ โดยมีอายุถึงกว่า 140 ปีแล้ว นั่นก็คือ "ห้างทองตั้งโต๊ะกัง" ซึ่งวันนี้ฉันก็ได้แวะเวียนมาเยี่ยมชมห้างทองแห่งนี้ แต่ไม่ได้มาซื้อทองแต่อย่างใดเพราะสตางค์ในกระเป๋ามีไม่พอ แต่ที่มาชมก็เพราะว่านอกจากที่นี่จะขายทองแล้ว ก็ยังได้เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำทองให้ดูกันอีกด้วย นั่นก็คือ "พิพิธภัณฑ์ทองคำห้างทองตั้งโต๊ะกัง" นั่นเอง


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ธ.ค. 12, 21:36
ที่นี่ฉันได้พบกับคุณไชยกิจ ตันติกาญจน์ ผู้สืบทอดกิจการของห้างทองตั้งโต๊ะกังเป็นรุ่นที่ 4 ซึ่งคุณไชยกิจก็เป็นผู้เล่าเรื่องราวความเป็นมาของห้างทองตั้งโต๊ะกังให้ฉันได้ฟังว่า ห้างทองแห่งนี้มีอายุเกือบๆ 140 ปีแล้ว ผู้ก่อตั้งก็คือคุณปู่ทวดซึ่งเดินทางจากเมืองจีนหอบเสื่อผืนหมอนใบเข้ามารับจ้างเป็นช่างทำทองในเมืองไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ห้า แม้ในตอนเริ่มต้นจะมาเพียงตัวเปล่าๆ แต่ก็ทำมาเรื่อยๆ จนมีทุนรอนพอเพียงและสามารถเปิดร้านของตัวเองขึ้นมา

"คุณทวดชื่อว่าโต๊ะกัง แซ่ตั้ง ก็เลยใช้ชื่อร้านว่าตั้งโต๊ะกัง ร้านทองแต่ก่อนก็ไม่ได้เป็นอย่างที่เห็นทุกวันนี้ ไม่ได้มีทองโชว์หน้าร้านหรือมีสต็อกทองเก็บไว้ขาย จะมีก็แค่โต๊ะทำงานของช่างทอง ซึ่งจะนั่งทำไปตามที่ลูกค้ามาสั่งทำ เส้นละบาทสองบาท สลึงสองสลึงก็ว่ากันไป ทำเป็นชิ้นๆ งานไป เพิ่งจะมาเริ่มทำเป็นสต็อกก็ช่วงหลังๆ จากที่เริ่มมีทุนรอนมากขึ้น รู้ว่าลูกค้าซื้อลายนี้ประจำ น้ำหนักขนาดนี้ประจำ ก็ทำเผื่อไว้เลย ลูกค้ามาก็ไม่ต้องมานั่งคอย รับของไปได้เลย" คุณไชยกิจเล่าให้ฉันฟัง

เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำทองในอดีต

ร้านทองตั้งโต๊ะกังในสมัยก่อตั้งนั้นก็ถือว่าเป็นไปด้วยดี เพราะทำเลที่ตั้งของร้านอยู่ใกล้กับท่าน้ำราชวงศ์ซึ่งจะมีเรือมาลงสินค้า มาซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากัน จึงถือเป็นจุดที่เริ่มต้นของการค้าขาย แล้วพอคนค้าขายได้เงินมาก็มักจะมาซื้อทองเก็บเอาไว้

ไม่เพียงแต่ความเก่าแก่ของร้านทองเท่านั้นที่น่าสนใจ เพราะแม้แต่ตัวตึกอาคารก็ยังมีความเก่าแก่ถึง 80 ปี แถมยังมีความไม่ธรรมดาตรงที่เมื่อสร้างเสร็จใหม่ๆ นั้น ตึกหลังนี้ถือว่าเป็นตึกสูงที่สุดในเยาวราชอีกด้วย


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ธ.ค. 12, 21:37
"ตึกนี้สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 คนสร้างก็คือคุณปู่ ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการรุ่นที่สอง ในตอนนั้นได้รับพระราชทานตราตั้งครุฑจากรัชกาลที่ 6 ก็เลยสร้างตึกใหม่ขึ้นเพื่อจะรับตราตั้งนี้ ก็เลยสร้างเป็นตึกเจ็ดชั้น ถือว่าเป็นตึกที่สูงที่สุดของเยาวราชในสมัยนั้น มีสถาปนิกชาวฮอลันดาออกแบบตัวตึก แต่ตกแต่งภายในและเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เป็นแบบจีน ถือว่าเป็นตึกที่โดดเด่นมากในเยาวราชสมัยนั้นที่มีแต่ตึกสองชั้นเป็นส่วนมาก ซึ่งก็ช่วยในเรื่องของความน่าเชื่อถือ ดูสมฐานะของร้านทองอีกด้วย" คุณไชยกิจ กล่าว

ทีนี้ก็มาถึงเรื่องของความเป็นพิพิธภัณฑ์ห้างทองกันบ้าง คุณไชยกิจตั้งต้นเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนตึกเจ็ดชั้นนี้ก็ใช้เป็นที่ทำงานและที่อยู่อาศัยของคุณปู่คุณพ่อด้วย แต่ต่อมามีการตัดถนนหนทางเยอะขึ้น รถราวิ่งกันหนวกหู จึงใช้ตึกนี้เป็นสถานที่ทำงาน แล้วไปพักอาศัยที่อื่น ดังนั้นตึกตั้งแต่ชั้นที่ 4 ขึ้นไปที่เคยเป็นที่พักจึงถูกปิดเอาไว้เฉยๆ และปิดร้างอยู่อย่างนี้นานถึง 30-40 ปีเลยทีเดียว

"พอคุณปู่กับคุณพ่อย้ายไป ตั้งแต่ชั้นสามลงมาก็ยังใช้อยู่ แต่ชั้นบนสุดปิดไว้จนไม่มีใครกล้าขึ้น ข้าวของต่างๆ ที่บรรพบุรุษสะสมมาก็เต็มไปหมด อีกทั้งตึกนี้ก็เริ่มโทรม เลยรู้สึกว่าอุตส่าห์สร้างตึกมาอย่างดีแล้ว แล้วก็ได้รางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์อีกด้วย เราก็ควรจะตกแต่งให้ดีๆ"

"แล้วเมื่อประมาณสิบหกปีก่อน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้เสด็จมาเยาวราช และเสด็จมาที่ร้านทองตั้งโต๊ะกังเป็นครั้งแรก เราก็รู้สึกว่าอยากจะตกแต่งให้ดูดี จะได้สมฐานะของพระองค์ด้วย" คุณไชยกิจ เล่า


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ธ.ค. 12, 21:38
ในการปรับปรุงตกแต่งตึกและจัดเก็บข้าวของต่างๆ นั้น ก็ได้มีบรรดาเครื่องมือที่ใช้ทำทองในสมัยก่อนอยู่มากมาย แต่ปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้วเนื่องจากมีเครื่องจักรเข้ามาช่วย คุณไชยกิจมีความคิดว่า เครื่องมือช่างเหล่านี้ถ้าโยนทิ้งก็คือสูญ ไม่มีค่าอะไรเลย และจะกลายเป็นว่าของที่บรรพบุรุษอุตส่าห์ทำขึ้นและอุตส่าห์เก็บไว้จะโดนทิ้งขว้างไป อีกทั้งตึกชั้น 4-6 ถ้าไม่ทำอะไรก็จะถูกปิดร้างไปจนโทรมอีก สู้ทำอะไรซักอย่างหนึ่งที่น่าจะดึงคนเข้ามาดู แล้วของที่มีอยู่ก็ไม่ได้ทิ้งเสียหายไป แถมยังเป็นความรู้ให้เด็กรุ่นใหม่ๆ รู้อีกด้วยว่าทองนี่เกิดจากอะไร

"เครื่องไม้เครื่องมือทำทองเหล่านี้ไม่ใช่ว่ามีเงินแล้วก็จะมาซื้อเอาไปแล้วผลิตทองได้เลยนะ สมัยก่อนมันไม่ใช่ แต่มันคืองานฝีมือจริงๆ ก็เลยคิดว่าทำพิพิธภัณฑ์ให้ลูกหลานดูดีกว่า เค้าจะได้รู้ว่าความลำบากในสมัยก่อนว่ากว่าจะได้ทองมาแต่ละเส้นมันเป็นยังไง แล้วจะได้เห็นเครื่องไม้เครื่องมือสมัยก่อนที่เป็นอาจารย์ของเครื่องจักรสมัยนี้"

"และช่างสมัยนี้ซึ่งใช้เครื่องจักรเป็นส่วนมากก็จะได้ไปศึกษาว่าเมื่อก่อนเค้าทำยังไง เครื่องมือเหล่านี้ก็เหมือนกับเป็นตำราให้ช่างได้เรียนรู้ หากทิ้งไปก็ไม่มีค่า แต่เมื่อเก็บไว้ก็มีคุณค่ามหาศาลสำหรับช่าง เลยเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้คนขึ้นมาชมได้เมื่อประมาณ 4-5 ปีนี้เอง" คุณไชยกิจ กล่าว

ในส่วนของพิพิธภัณฑ์ซึ่งตั้งอยู่บนชั้น 6 นั้น แม้จะไม่ได้เป็นห้องขนาดใหญ่โต แต่ก็เต็มไปด้วยเครื่องไม้เครื่องมือในการทำทอง เช่น แม่พิมพ์ในการปั๊มทองคำ ซึ่งทำเป็นบล็อกมีลวดลายต่างๆ เช่น รูปมังกร รูปสิงโตจีน รูปเทวดานางฟ้า เวลาจะทำลวดลายก็นำแผ่นทองคำมาวางบนแม่พิมพ์แล้วใช้แรงกระแทกบนแม่พิมพ์ ก็จะเกิดลายขึ้น

แล้วก็ยังมีตราชั่งไม้โบราณที่ไว้ใช้ชั่งน้ำหนักทองก่อนที่จะมีตราชั่งดิจิตอลอย่างสมัยนี้ มีไหน้ำกรดที่ใช้เก็บน้ำกรดเพื่อใช้ในการสกัดทองคำบริสุทธิ์ที่สั่งทำมาเป็นพิเศษจากจังหวัดราชบุรี ในตอนนี้ก็เปลี่ยนเป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติกกันหมดแล้ว และนอกจากนั้นก็ยังมีเครื่องมือประเภทปากคีบ คีมหนีบ ค้อน ตะไบ กรรไกร ฯลฯ ที่ใช้สำหรับทำลวดลายของทอง ซึ่งเครื่องมือบางชิ้นช่างทองก็ยังมาหยิบยืมเอาไปใช้บ้างก็มี แล้วก็ยังมีเบ้าหลอมทอง แท่นตีทอง และมีเตาต้มทองซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการทำทองให้ชมกันอีกด้วย


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ธ.ค. 12, 21:38
นอกจากนั้น ก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอย่างรูปภาพเก่าๆ ทั้งภาพบรรพบุรุษผู้ก่อตั้งห้างทองแห่งนี้ และยังมีครุฑสองตัวซึ่งเป็นครุฑตัวแรกๆ ของห้างทองตั้งโต๊ะกังหลังจากได้รับพระราชทานตราตั้งครุฑจากรัชกาลที่ 6 อีกทั้งยังมีโต๊ะช่างทองที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มาทรงทดลองทำทองเมื่อครั้งที่เสด็จมายังห้างทองตั้งโต๊ะกังอีกด้วย

และนอกจากจะได้ชมเครื่องไม้เครื่องมือการทำทองแล้ว ก็ยังมีการสาธิตการหลอมทองให้ได้ชมกัน และหากมาถูกเวลาที่ช่างทองไม่ยุ่งอยู่กับงานเท่าไรนัก ก็จะได้ชมการทำงานของช่างทองกันที่โต๊ะอย่างใกล้ชิดอีกด้วย

คุณไชยกิจออกตัวว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็ยังไม่ได้สมบูรณ์เท่าไรนัก ก็แค่เก็บให้มันเป็นสัดส่วน เวลาคนขึ้นมาชมจะได้สะดวกสบายหน่อย

"คนมาชมก็มีทั้งนักศึกษา ทั้งนักท่องเที่ยว เพราะเรื่องแบบนี้บางคนเขาจะหวง แต่ของเราเปิดหมดเลย ก็เชิญชมได้ ไม่เป็นไร นักท่องเที่ยวก็เยอะ ฝรั่งก็มีเดินมาบอก เนี่ย... รู้มาว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ เราก็เปิดให้เขาเข้าชม เพราะร้านทองไหนๆ ก็ไม่มีพิพิธภัณฑ์ แล้วที่ทางแถวนี้ก็ไม่ใช่ถูกๆ ก็ไม่มีใครจะมานั่งทำพิพิธให้คนชม บางทีก็มีกรุ๊ปทัวร์มาขอขึ้นมาชมก็มี เราก็ยินดี เพราะเราก็ไม่ได้เสียอะไรมาก ตัวตึกเองก็น่าสนใจ ถ้าได้มาชมข้างในก็จะได้รู้ว่าข้างในมีอะไรบ้าง แล้วคนที่มาก็จะได้รู้จักว่าห้างทองตั้งโต๊ะกังนั้นคือใคร นี่ก็เป็นจุดสำคัญเหมือนกัน" คุณไชยกิจกล่าว


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 20 ธ.ค. 12, 07:59
นอกจากนั้น ก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอย่างรูปภาพเก่าๆ ทั้งภาพบรรพบุรุษผู้ก่อตั้งห้างทองแห่งนี้ และยังมีครุฑสองตัวซึ่งเป็นครุฑตัวแรกๆ ของห้างทองตั้งโต๊ะกังหลังจากได้รับพระราชทานตราตั้งครุฑจากรัชกาลที่ 6

นำใบพระราชทานตราครุฑ พระราชทานเมื่อ ๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๔ มาให้ชมครับ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 20 ธ.ค. 12, 08:06
ตึกเก้าชั้น สูงสุดในยุคนั้น ใคร ๆ ก็ต้องเข้ามาชม มาขึ้นตึกที่สูงที่สุดในกรุงเทพ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 20 ธ.ค. 12, 08:07
ร้านทอง "หลานตั้งโต๊ะกัง"


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ธ.ค. 12, 08:19
ในส่วนของพิพิธภัณฑ์ซึ่งตั้งอยู่บนชั้น 6 นั้น แม้จะไม่ได้เป็นห้องขนาดใหญ่โต แต่ก็เต็มไปด้วยเครื่องไม้เครื่องมือในการทำทอง เช่น แม่พิมพ์ในการปั๊มทองคำ ซึ่งทำเป็นบล็อกมีลวดลายต่างๆ เช่น รูปมังกร รูปสิงโตจีน รูปเทวดานางฟ้า เวลาจะทำลวดลายก็นำแผ่นทองคำมาวางบนแม่พิมพ์แล้วใช้แรงกระแทกบนแม่พิมพ์ ก็จะเกิดลายขึ้น

แล้วก็ยังมีตราชั่งไม้โบราณที่ไว้ใช้ชั่งน้ำหนักทองก่อนที่จะมีตราชั่งดิจิตอลอย่างสมัยนี้ มีไหน้ำกรดที่ใช้เก็บน้ำกรดเพื่อใช้ในการสกัดทองคำบริสุทธิ์ที่สั่งทำมาเป็นพิเศษจากจังหวัดราชบุรี ในตอนนี้ก็เปลี่ยนเป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติกกันหมดแล้ว และนอกจากนั้นก็ยังมีเครื่องมือประเภทปากคีบ คีมหนีบ ค้อน ตะไบ กรรไกร ฯลฯ ที่ใช้สำหรับทำลวดลายของทอง ซึ่งเครื่องมือบางชิ้นช่างทองก็ยังมาหยิบยืมเอาไปใช้บ้างก็มี แล้วก็ยังมีเบ้าหลอมทอง แท่นตีทอง และมีเตาต้มทองซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการทำทองให้ชมกันอีกด้วย

http://www.youtube.com/watch?v=NHkC4uij5dU

 ;D


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ธ.ค. 12, 08:42
กรุณาอ่านราชทินนามราชเลขาธิการให้หน่อยได้ไหมคะ

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5464.0;attach=37887;image)


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ธ.ค. 12, 08:57
พระยาจักรปาณีศรีศิลวิสุทธิ์ (ลออ ไกรฤกษ์)

http://www.vcharkarn.com/varticle/381#P4

 ;D


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 ธ.ค. 12, 09:28
อาคารนี้สวยครับ สร้างบนถนนเยาวราชฝั่งสำเพ็ง โค้งรับกับแนวถนนได้สวยงามจริง ๆ เป็นโรงแรมครับ

(http://sphotos-c.ak.fbcdn.net/hphotos-ak-ash3/529486_115566061918649_1481387494_n.jpg)


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ธ.ค. 12, 09:34
เห็นรูปเก่าๆของคุณหนุ่มสยามแล้วมักจะน้ำลายหก     ไม่ได้อยากกินตึกหรือถนน  แต่เสียดายว่ากรุงเทพยุคเก่าของเราสวยกว่ายุคนี้มาก   
อาคารที่ว่านี้ปัจจุบันยังอยู่ไหมคะ?

ที่ขึ้นชื่ออีกอย่างของเยาวราชคืออาหารการกิน    เหมาะจะไปลุยในยามค่ำคืนซึ่งคึกคักไม่น้อยหน้าตอนกลางวัน หรืออาจจะมากกว่าเสียอีก
เป็นบรรยายกาศที่ไม่แพ้ไชน่าทาวน์แห่งใดในโลกค่ะ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 ธ.ค. 12, 09:52
เห็นรูปเก่าๆของคุณหนุ่มสยามแล้วมักจะน้ำลายหก     ไม่ได้อยากกินตึกหรือถนน  แต่เสียดายว่ากรุงเทพยุคเก่าของเราสวยกว่ายุคนี้มาก   
อาคารที่ว่านี้ปัจจุบันยังอยู่ไหมคะ?

อาคารนี้ยังอยู่ครับ เป็นอาคารโรงแรมเอ็มไพร์ ของบริษัท เอ็มไพร์โอเต็ล จำกัดครับ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ธ.ค. 12, 10:10
ดูหน้าตาไม่มีเค้าเดิมเลยค่ะ    :'(


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 ธ.ค. 12, 18:29
ใครมราบที่มาของชื่อถนน  "ยุพราช" แล้วเปลี่ยนมาเป็น "เยาวราช"   บ้างคะ
อยากขอความรู้  /ความเห็น


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 23 ธ.ค. 12, 19:30
เครดิตภาพจากแฟ้มภาพของพี่ไข่ Disapong ใน facebook

สังเกตว่าไม่มีรถรางแล่นให้บริการแล้ว น่าจะราวๆ พ.ศ. ๒๕๑๐


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 25 ธ.ค. 12, 09:28
อาคารนี้สวยครับ สร้างบนถนนเยาวราชฝั่งสำเพ็ง โค้งรับกับแนวถนนได้สวยงามจริง ๆ เป็นโรงแรมครับ

(http://sphotos-c.ak.fbcdn.net/hphotos-ak-ash3/529486_115566061918649_1481387494_n.jpg)

พอดีเจอภาพเก่าที่เก็บไว้เอง จำไม่ได้แล้วว่าที่ไหน จะใช่ตึกเดียวกับที่คุณหนุ่มให้ไว้หรือไม่คะ
ถ่ายเมื่อประมาณปี 2530 ค่ะ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 25 ธ.ค. 12, 09:47
อาคารนี้สวยครับ สร้างบนถนนเยาวราชฝั่งสำเพ็ง โค้งรับกับแนวถนนได้สวยงามจริง ๆ เป็นโรงแรมครับ


พอดีเจอภาพเก่าที่เก็บไว้เอง จำไม่ได้แล้วว่าที่ไหน จะใช่ตึกเดียวกับที่คุณหนุ่มให้ไว้หรือไม่คะ
ถ่ายเมื่อประมาณปี 2530 ค่ะ

ดูแล้วจำนวนชั้น ไม่เท่ากันนะครับผม  ;D


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 25 ธ.ค. 12, 19:51
จากหนังสือขุนวิจิตรมารตรา กล่าวไว้ในความทรงจำว่า

"เวิ้งท่านเลื่อนฤทธิ์ ในเวิ้งนี้มีน้ำชาขาย ถ้าเดินเข้าไปจะได้ยินเสียง "เจี๊ยแต๋จ๊อ" ของแม่สาวจีน คนไทยและจีนแวะดื่มได้ ราคา "หกสลึง" จากเวิ้งท่านเลื่อนฤทธิ์ไปเป็นตึกแถวสี่แยกราชวงศ์ ข้ามถนนไปก็เป็นตึกแถว มีร้าน "ขี่จันเหลา" เหมือน "ปักจันเหลา" และมีห้าง "ตั้งโต๊ะกัง" ขายพวกทองใบทองรูปพรรณที่มีชื่อเสียง ตึกตอนนี้มี "เทียนกัวเทียน" โรงงิ้ว และตึกแถวตลอดไปจนถึงตึกใหญ่ที่เป็นหัวโค้งเลี้ยวไปถนนเจริญกรุง ดูเหมือนชื่อ "นานยาง" เป็นอันสุดเขตถนนเยาวราช


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 27 ธ.ค. 12, 01:12
อาคารที่หัวถนนเยาวราช ที่มีสภาพหัวเลี้ยวตัดถนนเจิญกรุง


(http://imageshack.us/photo/my-images/171/69775105.jpg/)


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 27 ธ.ค. 12, 01:31
(http://img171.imageshack.us/img171/8522/69775105.jpg)


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 27 ธ.ค. 12, 01:38
สภาพจริงของตึกโรงแรมเอ็มไพร์ที่ถนนเยาวราชจากมุมด้านข้าง จะเห็นเป็นโค้งไม้เห็นปลายตึกอีกด้านหนึ่ง

(http://img33.imageshack.us/img33/11/48700717.jpg)


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 27 ธ.ค. 12, 01:44
เทียบกับภาพด้านข้างของตึก ที่คุณ Poja นำเสนอ ที่เพิ่งถ่ายเมื่อตอนสาย

ตึกดังกล่าวปัจจุบันถูกแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ในการถือครองออกเป็นหลายเจ้าของ

ทั้งถูกตบแต่งจนดูแปลกแยก


(http://img15.imageshack.us/img15/8159/34887834.jpg)


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 27 ธ.ค. 12, 01:55
เมื่อเพ่งดูรายละเอียดของอาคารจะเห็นความต่างของระเบียงชั้นสามและสี่ ที่ต่างกัน

ซึ่งพอจะสรุปได้ว่า อาคารนี้มีการต่อเติมในชั้นหลัง


(http://img90.imageshack.us/img90/1714/84555631.jpg)


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 27 ธ.ค. 12, 02:00
แม้ว่าด้านนอกของอาคารจะถูกเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ หรือถูกทาสีฉูดฉาด แต่ยังเหลือร่องรอยเพื่อการเปรียบเทียบกับภาพเก่า

เช่นในส่วนของกรอบสี่เหลี่ยมที่เดิมเป็นกรอบของอักษรที่ผมเข้าใจว่าเป็นคำมงคลเหลืออยู่บนผนัง

(http://img845.imageshack.us/img845/3756/13460232.jpg)


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 ธ.ค. 12, 07:38
ให้คุณ Namplaeng  ดูภาพนี้ครับ ให้เห็นแนวโค้งของตึกสวยดังกล่าว เทียบกับปัจจุบันนี้ ดังนั้นตึกนี้ควรจะเป็นที่ตั้งของโรงแรมเอ็มไพร์ ไม่ใช่อาคารที่คุณ Poja และ คุณNamplaeng  อ้างถึงเนื่องจากอาคารของคุณ Poja เป็นอาคารแนวตรงไม่มีส่วนความโค้งขอรับ  ;D


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 ธ.ค. 12, 07:40
ตรงนี้ก็ที่เดียวกัน เดิมเป็นห้าง เคียม ฮั่ว เฮง (สาขาแห่งใหม่)


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 ธ.ค. 12, 07:57
ขยายอีกทีครับ ให้เห็นความโค้งของถนน และขวามือเป็นช่วงถนนลำพูนไชยครับ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ธ.ค. 12, 09:50
เห็นรูปเก่าๆ แล้วยิ่งเสียดายที่เราไม่สามารถอนุรักษ์ตึกงามๆนี้ไว้ในลักษณะเดิมได้

ตำนานอีกอย่างหนึ่งคือถนนเยาวราชคือโรงมหรสพ  ในที่นี้รวมทั้งโรงงิ้วและโรงหนัง      โรงงิ้วนั้นไม่สามารถเล่าให้ฟังได้เพราะเคยแต่ผ่าน ไม่เคยเข้าไปดู   ต้องอาศัยท่านผู้รู้เรื่องเยาวราชเล่าให้ฟังอีกทีค่ะ    
ส่วนโรงหนังจำได้แม่นคือโรงภาพยนตร์เทกซัส   ชื่ือเป็นฝรั่ง ทำเลอยู่ในไชน่าทาวน์ของกรุงเทพ แต่ฉายหนังอินเดีย    คอหนังเชื้อสายจีนคงไปอุดหนุนกันมากพอสมควร  โรงหนังนี้จึงอยู่ยงคงกระพันมาได้นานหลายปีจนกระทั่งเลิกกิจการกลายเป็นร้านสุกี้ไปในตอนหลัง
ดาราหนังอินเดียรุ่นนั้นคงล้มหายตายจากกันไปเกือบหมดแล้ว
ซ้าย นีรูปารอย  ขวา ราชกาปูร์


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 ธ.ค. 12, 15:17
มหรสพอีกอย่างก็คือ โรงหนังที่ใช้ห้องแถวได้อย่างลงตัวครับ  .... ซุปเปอร์แมน บนถนนเยาวราช กว่า ๕๐ ปี


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ธ.ค. 12, 20:31
โรงหนังที่ใช้ห้องแถว เขาจัดทำเป็นโรงหนังให้คนดูได้ยังไงคะ   
หมายถึงรื้อผนังที่กั้นห้องแถวออกเป็นห้องยาวๆงั้นหรือ ใช้กี่ห้องด้วยกัน


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 28 ธ.ค. 12, 06:49
โรงหนังที่ใช้ห้องแถว เขาจัดทำเป็นโรงหนังให้คนดูได้ยังไงคะ   
หมายถึงรื้อผนังที่กั้นห้องแถวออกเป็นห้องยาวๆงั้นหรือ ใช้กี่ห้องด้วยกัน

เขาสร้างโรงหนังอยู่บนที่ว่างหลังห้องแถว แต่ใช้ทางเข้าทางห้องแถวโดยรื้อผนังขวางออกครับ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 28 ธ.ค. 12, 12:20
มหรสพอีกอย่างก็คือ โรงหนังที่ใช้ห้องแถวได้อย่างลงตัวครับ  .... ซุปเปอร์แมน บนถนนเยาวราช กว่า ๕๐ ปี

ตัวอาคารโรงภาพยนต์จะอยู่ด้านหลังตึกแถวที่อยู่ด้านหน้า ประตูผนังเหนือทางเข้าจะใช้สำหรับติดป้ายโฆษณา




กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ธ.ค. 12, 19:47
มหรสพอีกอย่างก็คือ โรงหนังที่ใช้ห้องแถวได้อย่างลงตัวครับ  .... ซุปเปอร์แมน บนถนนเยาวราช กว่า ๕๐ ปี
นึกอยากจะรู้ว่าซุปเปอร์แมนคนนี้มาจากหนังซุปเปอร์แมนเวอร์ชั่นไหน เพราะในประวัติหนังทำกันมานับไม่ถ้วน     คุณหนุ่มสยามบอกว่ากว่า 50 ปี  ก็น่าจะเป็นเวอร์ชั่นถ่ายทำราวๆปี 1960   คงเป็นหนังสีแล้วในตอนนั้นเพราะหุ่นซุปเปอร์แมนเล่นสีแดงกับฟ้าฉูดฉาดตัดกัน

เมื่อขอให้อินทรเนตรช่วยมอง  ก็พบว่าในปี 1960  มี Superman ออกมา 4 เรื่อง    หนึ่งในนั้นเป็นภาพยนตร์ชุดทางทีวี เป็นอันว่าตัดทิ้งไป  ส่วนหนังที่ฉายตามโรงอีก 3 เรื่อง เป็นซุปเปอร์แมนอินเดีย   :o  :o  :o  ทั้งหมด
มีนีรูปารอยเป็นนางเอกเสียด้วย  ;D


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 28 ธ.ค. 12, 20:25
โรงภาพยนต์ศรีราชวงศ์ ใกล้สี่แยกถนนเยาวราชตัดถนนราชวงศ์

ปัจจุบันเป็นอาคารกาญจนทัตครับ



กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ธ.ค. 12, 20:38
ตัวหนังสือเหนือคำว่า มนุษย์กายสิทธิ์  (ซึ่งเป็นคำแปลชื่อซุปเปอร์แมนในสมัยนั้น) เขียนว่า "ภาคจบ" แสดงว่ามีภาคต้นก่อนหน้านี้
ในค.ศ. 1960 มีหนังซุปเปอร์แมนผลิตออกมาฉาย 2 เรื่องคือ  Superman  และ Return of Mr. Superman
พระเอกชื่อ P. Jairaj  ดูได้จากรูปข้างล่าง
แต่ไม่ฟันธงลงไปว่าเรื่องนี้ เพราะซุปเปอร์แมนอินเดียแต่งตัวแบบแขก ไม่สวมชุดผ้ายืดเอากางเกงในไว้ข้างนอก อย่างซุปเปอร์แมนฝรั่ง ค่ะ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 29 ธ.ค. 12, 00:32
 ;D ;D

(http://img204.imageshack.us/img204/9519/125s.png)


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 29 ธ.ค. 12, 00:40
โรงภาพยนตร์บนถนนเยาวราช เขาสร้างเป็นโรงภาพยนตร์มาตรฐานแต่เริ่มแรก

ในโรงส่วนมากมีสองชั้น ทั้งมีเสารับน้ำหนักของชั้นสองแต่เพียงตรงส่วนกลางโรงที่เป็นทางเดินเพื่อไม่บังการชม

ซึ่งต่างจากโครงสร้างของอาคารตึกแถว

หากแต่โรงภาพยนตร์สร้างอาคารร้านค้าตื้นๆไว้ตรงส่วนหน้าของโรงภาพยนตร์

ไม่ใช่การทุบแต่งเรือนแถว  ;D


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 29 ธ.ค. 12, 00:49
อาคารจอดรถฮั่วเซ่งเฮงบนถนนเยาวราชปัจจุบัน เดิมก็เป็นโรงภาพยนตร์ เทียนกัวเทียน

ด้านหน้าแต่เดิมก็ดูเป็นห้องแถว แต่จริงๆแล้วโรงภาพยนตร์อยู่บนส่วนของชั้นสอง-สี่

ชั้น 5 ของอาคารเป็นสถานบันเทิง


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 29 ธ.ค. 12, 01:08
เกิด และโตที่เยาวราช ปีนี้เป็นปีแรกในวัยเลยกลางคนที่เห็นบรรยากาศนี้บนเยาวราช

[img]http://img217.imageshack.us/img217/3840/126bn.jpg[img]


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 29 ธ.ค. 12, 01:11
(http://img217.imageshack.us/img217/3840/126bn.jpg)


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 29 ธ.ค. 12, 01:21
ครั้งแรกที่เห็นต้นคริสต์มาสบนเยาวราชก็รู้สึกสวยแปลกตา แต่พอมีเวลานั่งใคร่ครวญ ผมกลับรู้สึกประหวั่น และถามตัวเองว่า นอกจากภาพเก่าแล้ว

เราควรจะอนุรักษ์สิ่งที่เป็นหลักฐานแสดงการลงรากปักฐานของชาวจีนรุ่นแรกๆบนถนนเยาวราชไว้ให้ประจักษ์กับคนรุ่นหลังไหม

ผมนึกถึงบ้านเก่ากลางสามเพ็งที่ซอมซ่อ ทั้งๆที่มันขึ้นทะเบียนศาลเจ้าไว้กับกรมการปกครอง

อาคารที่จัดผังแบบแต้จิ๋วแท้ๆที่เรียกว่า เต็กกอฉู่  หรือผังเรือนข้อไผ่ ที่หลายคนคงจะไม่รู้จัก

ทั้งเป็นศาลเจ้าขงจื้อหลังสุดท้ายใน กทม.

ปัจจุบันถูกใช้เป็นโกดังเก็บสินค้าสกปรก ไร้คนดูแล.....


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 29 ธ.ค. 12, 06:39
ครั้งแรกที่เห็นต้นคริสต์มาสบนเยาวราชก็รู้สึกสวยแปลกตา แต่พอมีเวลานั่งใคร่ครวญ ผมกลับรู้สึกประหวั่น และถามตัวเองว่า นอกจากภาพเก่าแล้ว

เราควรจะอนุรักษ์สิ่งที่เป็นหลักฐานแสดงการลงรากปักฐานของชาวจีนรุ่นแรกๆบนถนนเยาวราชไว้ให้ประจักษ์กับคนรุ่นหลังไหม

ผมนึกถึงบ้านเก่ากลางสามเพ็งที่ซอมซ่อ ทั้งๆที่มันขึ้นทะเบียนศาลเจ้าไว้กับกรมการปกครอง

อาคารที่จัดผังแบบแต้จิ๋วแท้ๆที่เรียกว่า เต็กกอฉู่  หรือผังเรือนข้อไผ่ ที่หลายคนคงจะไม่รู้จัก

ทั้งเป็นศาลเจ้าขงจื้อหลังสุดท้ายใน กทม.

ปัจจุบันถูกใช้เป็นโกดังเก็บสินค้าสกปรก ไร้คนดูแล.....

ขอตำแหน่งและภาพด้วยครับ(หากมี)

ในสมัยก่อนการตั้งศาลเจ้าจะต้องขออนุญาตตั้งและจดทะเบียนกับทางราชการตามกฎหมายที่ยังใช้บังคับอยู่จนถึงปัจจุบัน คือ

กฎเสนาบดีว่าด้วยกุศลสถานชนิดศาลเจ้า พ.ศ. ๒๔๖๓ ออกตามความในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗

http://ilab.dopa.go.th/internal/legal/knowledge/18/rule2463.pdf

ไม่ใช่เป็นการขึ้นทะเบียนเพื่อการอนุรักษ์เพื่อเป็นโบราณสถานนะครับ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมศิลปากร






กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 29 ธ.ค. 12, 07:21
โรงภาพยนต์ศรีราชวงศ์ ใกล้สี่แยกถนนเยาวราชตัดถนนราชวงศ์
ปัจจุบันเป็นอาคารกาญจนทัตครับ



จากข้อความที่อ้างถึงในความเห็นก่อนที่ว่าเป็นโรงภาพยนต์ศรีราชวงศ์ ผมได้มาพบภาพอีกภาพหนึ่งที่ระบุว่าเป็นโรงภาพยนต์ศรีราชวงศ์
ในคำประกอบภาพจากเวปต้นฉบับกล่าวว่ามีโรงภาพยนต์ "ศรีเยาวราช" อยู่ใกล้ๆ กัน ห่างกันราว ๓๐ เมตร
 "ซุปเปอร์แมน มนุษย์กายสิทธิ์" จากภาพในความเห็นที่อ้างถึงนี้ คือโรงภาพยนต์ศรีเยาวราช


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 29 ธ.ค. 12, 16:30
โรงหนังเฉลิมบุรีครับ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 29 ธ.ค. 12, 16:33
โรงแรมฮั่วเซีง ตึกเจ็ดชั้น ที่เข้าครอบครองความเป็นเจ้าแห่งตึกสูงที่สุดในยุคที่ ๒


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 29 ธ.ค. 12, 16:47
กำจั่นเหลา ให้บริการอาหารฝีมือรสเลิศ ทั้งฝรั่ง และจีน ที่ถนนเยาวราช


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ธ.ค. 12, 19:06
ปัจจุบัน มีอาหารนอกเหลาอยู่มากมาย

http://www.youtube.com/watch?feature=player_embedded&v=n6YKNDAZLfE#!


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 29 ธ.ค. 12, 23:15
ร้านที่เห็นเป็นร้านขายก๋วยจั๊บหน้าโรงภาพยนตร์ ที่ดูเป็นห้องแถวอีกโรงหนึ่ง

ซึ่งที่จริงแล้วอาคารนี้ทั้งอาคารสร้างเพื่อเป็นโรงภาพยนตร์อยู่บนชั้นสองและสามของอาคาร

ส่วนชั้นที่สี่อดีตเป็นโรงแรมคาเธ่ย์ แต่ปัจจุบันเลิกให้บริการ แต่ก็ยังเปิดให้ใช้ถ่ายทำภาพยนตร์ในบรรยากาศของห้องพักโรงแรมโบราณ หรือต่างจังหวัด

(http://img22.imageshack.us/img22/6418/123fw.png)


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 29 ธ.ค. 12, 23:28
ศาลเจ้า เก่าที่ถูกนำขึ้นทะเบียนโดยหวังผลทางการเมืองในครั้งกระนั้น ล้วนตกอยู่ในปกครองของกรมการปกครองที่มีอำนาจในการดูแล จัดการสินทรัพย์ทั้งมวลของศาลเจ้าที่ตกและขึ้นทะเบียนแล้วนั้น ซึ่งสินทรัพย์นั้นรวมทั้งที่ดินของศาลเจ้าและอื่นๆ 

แต่ท่านได้จัดตั้งผู้ดูแลแทน โดยผู้ดูแลหาได้มีอำนาจในการจัดสร้าง ต่อเติม หรือแก้ไขโครงสร้างอาคารศาลเจ้าโดยอำเภอใจ การใดๆล้วนแต่ต้องแจ้งและขออนุญาตจากนายทะเบียน

หากที่เป็นอยู่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองละเลยไม่ได้เหลียวแล....

สภาพของศาลเจ้าที่ผมกล่าวถึงจึงมีสภาพดังนี้

(http://img685.imageshack.us/img685/1292/126ft.jpg)


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 29 ธ.ค. 12, 23:35
ศาลเจ้าข้างต้นตั้งอยู่ที่ 456 ซ.อิสรานุภาพ ถนนเยาวราช หากไม่สังเกตหลายคนมักผ่านเลย...

ป้ายของศาลเจ่าที่ต้องมีตามข้อกำหนดของบ้านเมือง สกปรกและเลือนลางอยู่มุมหนึ่งของหน้าเรือน

ศาลเจ้ามีสภาพเป็นห้องแถวแบบจีนแต้จิ๋ว จำสวนหนึ่งห้อง

ภายในเรือนแบ่งผังออกเป็นเรือนส่วนหน้า ที่ชั้นสองเป็นศาลบูชา

มีลานโล่งรับแสงแดด และถ่ายเทอากาศอยู่ตรงกลางบ้าน

ถัดเข้าไปจะมีอีกเรือนหนึ่งใช้พักอาศัย

ลักษณะที่เป็นช่วงแบ่งเป็นชั้นนี่เองเป็นที่มาของชื่อ เรือนปล้องไผ่


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 30 ธ.ค. 12, 09:41
เทียบกับภาพด้านข้างของตึก ที่คุณ Poja นำเสนอ ที่เพิ่งถ่ายเมื่อตอนสาย

ตึกดังกล่าวปัจจุบันถูกแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ในการถือครองออกเป็นหลายเจ้าของ

ทั้งถูกตบแต่งจนดูแปลกแยก


(http://img15.imageshack.us/img15/8159/34887834.jpg)

คุณน้ำเพลิง ถ่ายอาคารนี้จากที่ไหนหรือคะ ภาพถ่ายของดิฉันนานมากจนจำสถานที่ไม่ได้แล้ว คาดว่าจะเป็นตึกเดียวกัน จะใช่อาคารโรงแรมเดียวกับที่คุณหนุ่มโพสต์ไว้หรือไม่  ไม่แน่ใจค่ะ
แต่ความสูงของโรงแรมเอ็มไพร์ปัจจุบันสูงกว่าของเดิมหลายชั้น อีกทั้งไม่ได้อยู่ตรงโค้งสำเพ็งอย่างที่รูปเก่าบอกด้วยค่ะ  ???


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 30 ธ.ค. 12, 18:13
เจอแล้วค่ะ มาเฉลยเอง อยู่ตรงข้ามห้างขายยาวัดสามจีนนี่เอง
ถ่ายจาก Google View น่าจะเป็นปี 2554 ผิดจากรูปของคุณ Namplaeng นะคะ
โลกหมุนเร็วมากค่ะ ดูจากใน Google เหมือนยังเปิดกิจการโรงแรมอยู่นะคะ
แต่คงไม่ใช่โรงแรมโค้งสวยโรงนั้นแล้วค่ะ

ขอรบกวนท่าน อ.เทาชมพู และทุกท่านแต่เพียงเท่านี้ ขอบคุณมากค่ะ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 30 ธ.ค. 12, 19:22
ไปเจอมาครับว่า ตึกสวยงามนี้เคยมีใบโฆษณาว่า เป็น "ห้านนานยาง" ครับ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 31 ธ.ค. 12, 01:03
คุณ  POJA ครับ ขออ่าน Namplaeng ว่า นามแปลง นะครับ

ส่วนอาคารที่คุณว่าข้างต้น ปัจจุบันท่านเปิดให้เช่าเป็นห้องพักรายเดือน ชื่อ นิวหัวลำโพงพาเลส กินพื้นที่ทางปีกซ้ายของอาคาร ส่วนปีกด้านขวาแบ่งถือกรรมสิทธิ์โดยร้านค้าหลายร้าน


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 31 ธ.ค. 12, 07:55
คุณ  POJA ครับ ขออ่าน Namplaeng ว่า นามแปลง นะครับ

ส่วนอาคารที่คุณว่าข้างต้น ปัจจุบันท่านเปิดให้เช่าเป็นห้องพักรายเดือน ชื่อ นิวหัวลำโพงพาเลส กินพื้นที่ทางปีกซ้ายของอาคาร ส่วนปีกด้านขวาแบ่งถือกรรมสิทธิ์โดยร้านค้าหลายร้าน

คุณนามแปลง นิวาสถานอยู่ถนนแปลงนามหรือครับ?

เมื่อห้าวันที่แล้วเดินเข้าไปชมร้านขายตะเกียง ... โคมไฟวอชิงตัน สวยมากๆ เลย ... ร้านข้าวต้ม 24 น. อาหารก็ใช้ได้เลย .. ปอเปี๊ยะทอดรถเข็นของลุงกับป้าตรงปากทางก็อร่อย

ฮ่อยจ้อ หลังแฟลต .. ผมลืมชื่อตลาดเสียนี่




กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 31 ธ.ค. 12, 10:25
สี่แยกแปลงนาม กำลังจะถูกแปลงนามเป็น "สถานีวัดมังกร" ในไม่ช้านี้


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 01 ม.ค. 13, 09:24
มาดูภาพเก่าในวันต้อนรับปีใหม่ ๒๕๕๖ กันนะครับ

ภาพนี้เป็นภาพงานอะไรสักอย่าง ผู้คนหนาแน่นมีกระบวนรถพระพุทธจำลองมากมาย ตรงนี้เกิดขึ้นที่ "วงเวียนโอเดียน" ในปัจจุบันครับ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 01 ม.ค. 13, 19:07
โรลครบุตรมหินทร มีถิ่นสถานอยู่ที่ เวิ้งเลื่อนฤทธิ์



กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 01 ม.ค. 13, 19:36
ยกแผนที่ระวางพ.ศ. 244กว่า ๆ มาเทียบประกอบ เนื่องจากบริเวณเวิ้งท่านเลื่อนมาการเปลี่ยนแปลงรูปแบบหลายครั้งและหลายหน แผนที่นี้ในกรอบสีน้ำเงินคือ บริเวณเวิ้งท่านเลื่อนฯ หากอ้างถึงการโฆษณาก็จะเห็นว่าอาคารโรงละครนั้นจะหันหน้าเข้าหาสำเพ็ง หันหลังให้เยาวราช ซึ่งมีถนนเล็ก ๆ เชื่อมไปออกสำเพ็งได้ ซึ่งบ้านทวดของหนุ่มสยามก็พำนักอยู่ใกล้เคียงนี้ เดินผ่านซอยนี้ประจำ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 01 ม.ค. 13, 20:44
ประโยคในโฆษณาว่า "ซึ่งมีตลาดใหม่อยู่ใกล้เคียง แลหนทางรถม้าไปมาได้โดยสดวก" จะหมายถึง ตลาดใกล้กับโรงละคร หรือตลาดปีระกาในเวิ้งนครเกษม

ผมคิดว่าน่าจะเป็น ตลาดปีระกา

ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่ง คือ ในโฆษณาพิมพ์คำว่า ท่านเลื่อน "ฤทธิ" จะมีความหมายเป็นนัยอย่างไรหรือไม่





กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 02 ม.ค. 13, 10:28
โรงละครของนายบุศที่เวิ้งท่านเลื่อน ภายหลังนายบุศล้มละลายแล้วโรงละครก็ตกเป็นของท่านเลื่อนครับ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 02 ม.ค. 13, 14:45
ตึกบริษัทเอ็มไพร์โฮเต็ลกับโรงหนังเฉลิมบุรี จะอยู่คนละฟากถนนกันของถนนเยาวราชครับ เยื้องกันนิดหน่อย



กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 02 ม.ค. 13, 14:59
เดินวนไปวนมา ผลที่ได้จะเป็นดังนี้ครับ

ขออภัย โรงหนังเฉลิมบุรี ต้องขยับตำแหน่งขึ้นไปด้านบนของภาพอีกนิดครับ





กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 ม.ค. 13, 08:38
ภาพสามแยกถนนเจริญกรุง เชื่อมกับ ถนนเยาวราช อันเป็นจุดเริ่มต้นของ "วงเวียนโอเดียน"

(http://sphotos-c.ak.fbcdn.net/hphotos-ak-prn1/66793_182570261884895_1689231853_n.jpg)


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 03 ม.ค. 13, 09:35
ภาพสามแยกถนนเจริญกรุง เชื่อมกับ ถนนเยาวราช อันเป็นจุดเริ่มต้นของ "วงเวียนโอเดียน"

(http://sphotos-c.ak.fbcdn.net/hphotos-ak-prn1/66793_182570261884895_1689231853_n.jpg)

สันนิษฐานว่า เป็นวันแรกของการเดินรถด้วยไฟฟ้า (ไม่ใช่ใช้ม้าลากอย่างแต่ก่อน)

...

โรงภาพยนต์ศรีเยาวราชเดิม .. ร้านทองโต๊ะกังเยาวราชปัจจุบัน

ดูเฉพาะหน้าอาคาร รูปแบบหน้าตาคล้ายกันมาก .. แต่ดูรวมทั้งอาคารกลับมองเหมือนแตกต่างกัน อาคารหลังนี้อยู่ติดกับอาคารกาญจนฑัตที่ระบุว่าเป็นที่ตั้งของโรงหนังศรีราชวงศ์เดิม ใกล้สี่แยกราชวงศ์




กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 03 ม.ค. 13, 09:44
เหล็กรางรถยังยังคงสภาพอยู่บนถนนเจริญกรุงใต้ผิวแอสฟัลต์ ตั้งแต่ปากซอยโยธาเชิงสะพานพิทยเสถียรจนถึงแยกโอเดียน

แต่บางตำแหน่งก็สึกกร่อนไปตามกาลเวลา

คุณหนุ่มขับรถไปดูได้นะ แล้วแวะเข้าไปดูป้อมข้างในด้วยก็ได้ อยู่ใกล้ๆ กัน



กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 03 ม.ค. 13, 09:56
ภาพนี้เป็นภาพงานอะไรสักอย่าง ผู้คนหนาแน่นมีกระบวนรถพระพุทธจำลองมากมาย ตรงนี้เกิดขึ้นที่ "วงเวียนโอเดียน" ในปัจจุบันครับ

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5464.0;attach=38154;image)

ดูภาพชัด ๆ

 ;D


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 ม.ค. 13, 12:38

ดูภาพชัด ๆ

 ;D

คุณเพ็ญฯ คาดว่าเป็นงานอะไร ทำไมผู้คนช่างมากมายเช่นนี้  ???


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 03 ม.ค. 13, 14:24
ดูผู้คนสนใจตื่นเต้นกับรถรางไฟฟ้ากันมาก มามุงดูรถรางใช้ไฟฟ้าเพราะเป็นเป็นของแปลกกระมัง

ที่น่าสนใจคือทุกคนสวมหมวก เป็นความนิยมในสมัยนั้นของคนกรุงเทพทั่วไปหรือเฉพาะคนแถวนั้น

 ???


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 ม.ค. 13, 14:29
ดูผู้คนสนใจตื่นเต้นกับรถรางไฟฟ้ากันมาก มามุงดูรถรางใช้ไฟฟ้าเพราะเป็นเป็นของแปลกกระมัง

ที่น่าสนใจคือทุกคนสวมหมวก เป็นความนิยมในสมัยนั้นของคนกรุงเทพทั่วไปหรือเฉพาะคนแถวนั้น

 ???

คงไม่ใช่งานดูรถไฟฟ้าหรอกครับ  8) ผมว่าเป็นงานวัดหรืองานแห่เกี่ยวกับทางศาสนาสักอย่าง เห็นมีพระพุทธรูป ช้างหมอบ ลิง จำลองด้วยนะครับ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 03 ม.ค. 13, 20:56
ดูผู้คนสนใจตื่นเต้นกับรถรางไฟฟ้ากันมาก มามุงดูรถรางใช้ไฟฟ้าเพราะเป็นเป็นของแปลกกระมัง

ที่น่าสนใจคือทุกคนสวมหมวก เป็นความนิยมในสมัยนั้นของคนกรุงเทพทั่วไปหรือเฉพาะคนแถวนั้น

 ???

คงไม่ใช่งานดูรถไฟฟ้าหรอกครับ  8) ผมว่าเป็นงานวัดหรืองานแห่เกี่ยวกับทางศาสนาสักอย่าง เห็นมีพระพุทธรูป ช้างหมอบ ลิง จำลองด้วยนะครับ

ขบวนแห่ในภาพที่คุณหนุ่มอ้างถึง คงจะต้องเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติตอนนี้แน่นอน แต่จะเป็นงานของวัดงานอะไร และงานของวัดใด วัดที่ใกล้ที่สุดก็คือวัดสามจีน หรือวัดไตรมิตรในปัจจุบัน



กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ม.ค. 13, 15:51
ฉลองพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์? 
เทศกาลไหนคะ?


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 15 ม.ค. 13, 12:20
ใครมราบที่มาของชื่อถนน  "ยุพราช" แล้วเปลี่ยนมาเป็น "เยาวราช"   บ้างคะ
อยากขอความรู้  /ความเห็น

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งชื่อถนนนี้เพื่อถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ แต่พระเจ้าลูกยาเธอฯ เสด็จสิ้นพระชนม์เสียก่อน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๘

การก่อสร้างถนนเยาวราช เป็นการก่อสร้างและปรับปรุงถนนหนทางเพื่อให้เป็นโครงสร้างพื้้นฐานของกรุงเทพฯ ตามความเห็นที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เสนาบดีองค์แรกของกรมโยธธิการทูลถวายความเห็นแด่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕ เป้นการตัดถนนขึ้นใหม่แทนที่การปรับปรุงขยายถนนสำเพ็งซึ่งมีอยู่เดิม ซึ่งเป็นเรื่องยากลำบากที่จะต้องมีการขับไล่ประชาชนและร้านค้าริมถนนให้ออกไป เป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวสำเพ็ง

สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงทรงมีพระราชดำริและพระบรมราชานุญาตให้ตัดถนนขึ้นใหม่แทนการขยายถนนสำเพ็งเดิม


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 16 ม.ค. 13, 10:14
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ในการก่อสร้างสะพานเพื่อเป็นอนุสสรณ์แห่งการครองราชสมบัติในรัชกาลของพระองค์ เพื่อประโยชน์แก่การสัญจรเดินทางของประชาชน และได้พระราชทานนามสะพานแต่ละแห่งไว้ ดังนี้


พระราชทานนามสพานเฉลิม

   ด้วยสพานเฉลิมซึ่งเรียกตามเลขปีแห่งพระชนม์พรรษานั้นสำเหนียกยาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามตามบาญชีต่อไปนี้

ที่ ๑ - ถนนสามเสน ข้ามคลองบางขุนพรม ชื่อสพานเฉลิมศรี ๔๒
ที่ ๒ - ถนนหัวลำโพงนอก ข้ามคลองริมถนนสนามม้า ชื่อสพานเฉลิมศักดิ์ ๔๓
ที่ ๓ - ปลายถนนสาทรฝั่งใต้ ข้ามคลองหัวลำโพง ชื่อสพานเฉลิมเกียรติ ๔๔
ที่ ๔ - ถนนวรจักร ข้ามคลองวัดพิเรนทร์ ชื่อสพานฉลิมยศ ๔๕
ที่ ๕ - ถนนเยาวราช ข้ามคลองตรอกเต๊า ชื่อสพานเฉลิมเวียง ๔๖
ที่ ๖ - ถนนอุนากรรณ์ ข้ามคลองสพานถ่าน ชื่อสพานเฉลิมวัง ๔๗
ที่ ๗ - ถนนเจริญกรุง ข้ามคลองวัดจักรวรรดิ ชื่อสพานเฉลิมกรุง ๔๘
ที่ ๘ - ถนนเจ้าพระยาสุรศักดิ์ ข้ามคลองสาทร ชื่อสพานเฉลิมเมือง ๔๙
ที่ ๙ - ปลายถนนสุรวงษ์ ข้ามคลองหัวลำโพง ชื่อสพานเฉลิมภพ ๕๐
ที่ ๑๐ - ถนนเฟื่องนคร ข้ามคลองสพานถ่าน ชื่อสพานเฉลิมพงษ์ ๕๑
ที่ ๑๑ - ถนนประทุมวัน ข้ามคลองริมถนนสนามม้า ชื่อสพานเฉลิมเผ่า ๕๒
ที่ ๑๒ - ถนนเจิญกรุง ข้ามคลองวัดสามจีน ชื่อสพานเฉลิมพันธุ์ ๕๓
ที่ ๑๓ - ถนนเจริญกรุง ข้ามคลองสีลม ชื่อสพานเฉลิมภาคย์ ๕๔
ที่ ๑๔ - ถนนราชดำริห์ แลประแจจีน ข้ามคลองบางกะปิ ชื่อสพานเฉลิมโลก ๕๕

อนึ่ง สพานที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเปิดในการเฉลิมพระชนม์พรรษาภาคที่ ๒ พฤศจิกายนน่า ที่ถนนพญาไทข้างคลองบางกะปินั้น จะพระราชทานนามว่า สพานเฉลิมหล้า (๕๖)

อ้างถึง - ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒๖ น่า ๑๑๗๙ วันที่ ๒๙ สิงหาคม รศ ๑๒๘ (พ.ศ. ๒๔๕๒)





บนถนนเยาวราช ในอดีตยังมีสะพานหนึ่งทอดตัวตั้งอยู่อย่างน้อย ๒ สะพาน

"ถนนเยาวราช ข้ามคลองตรอกเต๊า ชื่อสพานเฉลิมเวียง ๔๖" กับ "สะพานข้ามคลองวัดจักรวรรดิ์ ก่อนถึงเวิ้งท่านเลื่อน"


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 16 ม.ค. 13, 10:19
ภาพสะพานเฉลิมเวียง ๔๖


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 24 ม.ค. 13, 15:19
เอาภาพโรงแรมเอมไพร์ งาม ๆ มาฝากครับ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 28 ม.ค. 13, 21:21
ไปเดินเล่นเจอหนังสือเล่มนี้ รีบซื้อ
เคยอ่านสมัยอยู่มัธยมต้นที่ห้องสมุดโรงเรียน

ไม่เกี่ยวกับถนนเยาวราช
น่าเกี่ยวกับ  แถวสาธร เจริญกรุง และสีลม


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ม.ค. 13, 21:25
^
เป็นหนังสือที่มีค่ามากค่ะ 


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 28 ม.ค. 13, 22:43
ไปเดินเล่นเจอหนังสือเล่มนี้ รีบซื้อ
เคยอ่านสมัยอยู่มัธยมต้นที่ห้องสมุดโรงเรียน

เล่มอื่น ๆ ที่น่าอ่าน

http://www.openbase.in.th/satienbookall

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 29 ม.ค. 13, 17:33
ขอบคุณครับ คุณเพ็ญชมพู
หนังสือเล่มนี้พิมพ์ตั้งแต่ปี 2547 แต่ผมเพิ่งเคยเห็น
ตอนอ่านครั้งก่อนยังเป็นเด็กอยู่    อ่านแล้วชอบ
อ่านในยุคเดียวกับนิทานชาวไร่ 

คุณเพ็ญชมพู    มี บุ๊คออนไลน์ไหมครับเรื่อง นิทานชาวไร่


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 29 ม.ค. 13, 20:17
เรื่อง นิทานชาวไร่

ใจเย็น ๆ ครับ วันก่อนผมได้เห็นเจ้าของหนังสือนิทานชาวไร่ ออกมาประกาศว่า จะจัดการพิมพ์ขึ้นใหม่ ตรงตามต้นฉบับเดิมครับ ใจเย็น ๆ รอไว้สักนิด ได้อ่านแน่ ๆ ครับ  ;D


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ม.ค. 13, 20:28
นิทานชาวไร่ มีบางตอนที่ผิดพลาด เพราะท่านเจ้าของเรื่องฟังผิด   เช่นชื่อเจ้าจอมสดับ ท่านเขียนเป็นเจ้าจอมตลับ   หวังว่าบรรณาธิการหนังสือเล่มที่พิมพ์ใหม่ คงจะทำเชิงอรรถอธิบายไว้ด้วยค่ะ  เพื่อประโยชน์สำหรับคนอ่าน 


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 29 ม.ค. 13, 20:34
คุณเพ็ญชมพู    มี บุ๊คออนไลน์ไหมครับเรื่อง นิทานชาวไร่

มีแต่ตัวอย่างเรียกน้ำย่อยในเรือนไทย

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=1219.0

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: puyum ที่ 04 ก.พ. 13, 21:09
จากวันวาน ถิ่นชนจีน

เก้าชั้น โรงน้ำชา โรงงิ้ว โรงระบำ หญิงสำเพ็ง หนังสือปกขาว ตั้งโต๊ะกัง เซ่งเฮงหลี ห้างเมืองทอง บูโรว่า ไซโก้ ห่านคู่ การันดาช ห้างเวียงฟ้า เชียงกง
เจ้าคุณเป๋อ ทรงสมัย  เฉลิมบรุรี เท็กซัส ศรีราชวงค์ พาหุรัด แม่ทองใบ วัดจีน วัดแขก ไอ้บอดวัดสามปลื้ม ฯ
 
ถึงวันนี้ ธันวา-มกรา นกนางแอ่นบนสายไฟฟ้า  ยังมีอยู่ไหมครับ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 05 ก.พ. 13, 21:20
ประมาณปี 20 นางแอ่นเยาวราชย้ายไปสีลม

ตอนผมเรียนจบ  ก็ไม่มีนางแอ่นบินเป็นฝูงในกรุง...

ยี่สิบปีที่แล้ว ผมไปราชการ พบพวกนางแอ่นเยาวราชบินไกลย้ายลงไปถึงสงขลา

ปัจจุบันไม่ทราบยังมีมั้ย ?


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: shiromax ที่ 09 ธ.ค. 13, 02:34
ภาพสามแยกถนนเจริญกรุง เชื่อมกับ ถนนเยาวราช อันเป็นจุดเริ่มต้นของ "วงเวียนโอเดียน"

(http://sphotos-c.ak.fbcdn.net/hphotos-ak-prn1/66793_182570261884895_1689231853_n.jpg)

สันนิษฐานว่า เป็นวันแรกของการเดินรถด้วยไฟฟ้า (ไม่ใช่ใช้ม้าลากอย่างแต่ก่อน)

...

โรงภาพยนต์ศรีเยาวราชเดิม .. ร้านทองโต๊ะกังเยาวราชปัจจุบัน

ดูเฉพาะหน้าอาคาร รูปแบบหน้าตาคล้ายกันมาก .. แต่ดูรวมทั้งอาคารกลับมองเหมือนแตกต่างกัน อาคารหลังนี้อยู่ติดกับอาคารกาญจนฑัตที่ระบุว่าเป็นที่ตั้งของโรงหนังศรีราชวงศ์เดิม ใกล้สี่แยกราชวงศ์



ผมเป็นเด็กเยาวราชตั้งแต่เกิดเลยขออนุญาตเข้ามาตอบครับ

คุณลุงไก่ให้ข้อมูลผิดครับ ผมขอแก้ดังนี้
ภาพขาวดำด้านซ้ายมือคือโรงหนังศรีราชวงศ์
ภาพสีด้านขวามือคือโรงหนังศรีเยาวราช

ผมมีภาพอดีตกับปัจจุบันของโรงหนังศรีราชวงศ์ มาให้ชมครับ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: shiromax ที่ 09 ธ.ค. 13, 02:47
ผมทำภาพเทียบอดีตกับปัจจุบัน โดยเทียบภาพเก่า

โรงแรมเจ็ดชั้นในอดีต ที่เคยสูงที่สุดใน กรุงเทพฯ  ปัจจุบันกลายเป็นภัตตาคารหูฉลามสกาล่า


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: shiromax ที่ 09 ธ.ค. 13, 02:55
ปากซอยเยาวพานิช ถนนเยาวราช

ภาพเก่าจะเห็นห้างทองเทียนกั่วเทียนด้านซ้ายมือ ส่วนภาพปัจจุบันเปลี่ยนเป็นห้างทองฮั่วเซ่งเฮง
ถามว่าทำไมถึงเปลี่ยน คุณพ่อผมเล่าให้ฟังว่าเจ้าของเทียนกั่วเทียนติดการพนันจนเป็นหนี้ ไม่มีเงินหมุนเวียนเพื่อทำธุรกิจค้าทอง และร้านทองปิดกิจการร่วมสิบปี สุดท้ายจึงเซ้งตึกทิ้งให้ฮั้วเซ่งเฮงซึ่งอยู่ฝั่งตรงกันข้าม
ตลอดร่วมสิบปีฮั่วเซ่งเฮงพยายามขอซื้อมาโดยตลอด ความหมายของชื่อ "เทียนกั่วเทียน" แปลว่า "เหนือฟ้ายังมีฟ้า"


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: shiromax ที่ 09 ธ.ค. 13, 03:02
หน้าเวิ้งนครเกษม ฝั่งเยาวราช เลยแยกวัดตึกมา


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: shiromax ที่ 09 ธ.ค. 13, 03:22
เรื่องโรงแรมเอ็มไพร์ ถนนเยาวราช ถามกันเยอะ ทำไมถึงหน้าตาเปลี่ยน
เพราะตึกเก่าเจ้าของได้รื้อทิ้งและสร้างตึกใหม่ให้สูงขึ้น แข่งกับตึกเก้าชั้น ตึกเจ็ดชั้น ตามความนิยมสมัยนั้น


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 11 ธ.ค. 13, 00:37
ผมทำภาพเทียบอดีตกับปัจจุบัน โดยเทียบภาพเก่า

โรงแรมเจ็ดชั้นในอดีต ที่เคยสูงที่สุดใน กรุงเทพฯ  ปัจจุบันกลายเป็นภัตตาคารหูฉลามสกาล่า

โรงแรมเจ็ดชั้นในอดีต มีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง แม้แต่เคยเป็นบ่อนพนันใหญ่ สักสามสิบปีที่แล้วเกิดไฟไหม้ เลยปิดไปสิบกว่าปี ภายหลังได้รับการปรับปรุงและเปิดให้บริการอีกครั้งหนึ่ง ในชื่อ  โรงแรม เดอะ ไชน่าทาวน์ (The China Town)

(http://images.hotelsthailand.com/hotel-photos/bangkok/china-town-hotel/pic1-china-town-hotel.jpg)

หากเข้าเยาวราช จากจากวงเวียนโอเดี้ยน  โรงแรมจะอยู่ฝั่งซ้าย

(http://img132.imageshack.us/img132/6830/70938037.jpg)

(ถาพจาก http://forum.thaidvd.net/lofiversion/index.php/t116067-3900.html)


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 11 ธ.ค. 13, 00:57
ตรงข้ามโรงแรมเจ็ดชั้น เดิมเป็นตึกที่รู้จักกันในนาม  ตึกหกชั้น  สมัยผมเด็กบนตึกเป็นบ้านเช่า ชั้นบนเป็นสถานเริงรมย์ ที่มีลิฟท์บริการ

ระหว่างกลางตึกจะเปิดเป็นช่องว่างผ่ากลางอาคาร ตัวอาคารยาวไปจรด โรงภาพยนตร์เท็กซัส ที่ช่องกลางอาคารนี้เป็นที่ตั้งของร้านเช่าหนังสือใหญ่หลายๆเจ้า หนอนหนังสือในอดีตชอบจะไปเช่าหนังสือกำลังภายในจากที่นี่ ปัจจุบันตึกหกชั้นถูกปรับปรุงเป็นโรงแรมเซี่ยงไฮ้อินน์

ส่วนภัตตาคารหูฉลามสกาล่าในภาพข้างต้น อยู่ข้างโรงแรมเซี่ยงไฮ้ฯ ในปัจจุบัน เดิมเป็นห้างสรรพสินค้า “ เซ้าท์แปซิฟิค ” ห้างนี้ปิดร้างไปสักสิบยี่สิบปี และเพิ่งจะทำการซ่อมต่อเติมเสริมเป็นอาคารภัตตาคารเมื่อไม่กี่ปีนี้เอง


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 12 ธ.ค. 13, 14:30
โรงหนัง ศรีเยาวราช เจ้าของเดียวกับ ศรีราชวงศ์ ไหม
อยู่ใกล้กันไหม?   




กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: scarlet ที่ 24 ม.ค. 14, 09:23
อ่านเรื่องนี้ด้วยความเพลิดเพลิน เพราะเด็กๆพี่ชายพาไปเที่ยว เดินจากบ้านซึ่งตอนนั้นอยู่สี่พระยา ใกล้โรงแรมแปซิฟิคและบริษัท F&N (Fraser & Neves ท่านผู้ใดรู้จักบริษัทนี้บ้างครับ?) ออกไปตลาดน้อย ต่อไปโอเดียนแล้วถึงเยาวราช ไปตอนกลางคืนครับ หลังจากกลับมาจากโรงเรียน ทำการบ้านเสร็จแล้ว

ในกระทู้นี้กล่าวถึงโรงภาพยนต์ศรีราชวงศ์ จำได้ว่าเคยเปลี่ยนชื่อเป็นสิริรามาหรืออะไรนี่แหละ
ทะลุตรอกเท็กซัส ออกถนนเจริญกรุง เลี้ยวซ้ายเล็กน้อย ฝั่งตรงข้ามเคยเป็นโรงภาพยนต์ แต่ปัจจุบันเป็นที่จอดรถของวัดมังกร ส่วนชื่อลืมไปแล้วครับ เป็นโรงภาพยนต์ที่ไม่ยืนยาวเหมือนเท็กซัส ศรีเยาวราช

อ้อ ยังมีอีกโรงครับ นึกชื่อขึ้นมาได้เดี๋ยวนี้เอง เฉลิมบุรี แต่ที่ชื่อดังกว่าโรงหนังคือ พระรามลงสรง


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ม.ค. 14, 10:15
เคยไปโรงหนังเฉลิมบุรีตอนเล็กๆ  เพราะมีช่วงหนึ่งเขาเอาการ์ตูนเรื่องยาวของวอลท์ ดิสนีย์มาฉาย  จำได้ว่าเป็นโรงหนังเก่าโทรมมาก
ไม่สวยทันสมัยเหมือนเฉลิมไทย   หรือเฉลิมกรุง

พระรามลงสรง คุณ visitna หมายถึงอาหารข้างล่างนี้หรือคะ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: scarlet ที่ 25 ม.ค. 14, 11:03
 ^ ^
น่าจะใช่ครับ องค์ประกอบหลักคือเนื้อหมูกับผักบุ้งและน้ำราด (ไม่เคยกิน เพราะตอนนั้นเด็กมาก แต่จากชื่อเดาว่าคงไม่ใช่ราด แต่จุ่มแช่แบบสุกี้มากกว่า)

โรงภาพยนต์เฉลิมบุรีที่เคยเห็น ผมว่าสภาพใหม่กว่าศรีเยาวราชหรือศรีราชวงศ์ด้วยซ้ำ แต่รู้สึกว่าจะเลิกฉายไปก่อน (ไม่แน่ใจ) และวงดนตรีพยงค์ มุกดาเคยมาเล่นที่นี่
พอหมดสิ้นเฉลิมบุรี พระรามลงสรงก็เหมือนกับหมดสิ้นตามไปด้วย เพิ่งนึกชื่ออกตอนมาอ่านกระทู้นี้แหละครับ ท่านเจ้าเรือนเก่งจังที่ไปหาภาพมาได้ อิอิ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ม.ค. 14, 11:14
 ;D


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ม.ค. 14, 11:16
สมัยเด็กน้อยชื่อ Visitna ไปดูหนังที่เฉลิมบุรี    โรงหนังยังคึกคักแบบนี้มั้งคะ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: visitna ที่ 25 ม.ค. 14, 11:23
อาจารย์ผมไม่เคยดูโรงนี้


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ม.ค. 14, 11:24
อ้าว   งั้นคุณ visitna  ดูโรงไหนล่ะคะ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: scarlet ที่ 25 ม.ค. 14, 11:33
จะว่าไป เฉลิมบุรีโลเกชั่นดีกว่าศรีเยาวราช ศรีราชวงศ์ เท็กซัสมาก หน้าโรงกว้างว่า มีบริเวณ รอบๆและด้านหลังเป็นร้านขายอาหาร ร้านพระรามลงสรงก็อยู่ด้านหลังนี่แหละครับ ลักษณะไม่แออัดเลย แต่การเลิกกิจการ คงมีหลายสาเหตุ อย่างหนึ่งก็คือคงหมดยุคโรงภาพยนต์ในรูปแบบนั้น แต่เป็นแบบสยาม ลิโดมากกว่า

ท่านเจ้าเรือน ผม scarlet ครับ อิอิ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ม.ค. 14, 12:06
เพล้ง!!!

ป.ล. ชื่อ Visitna กับ Scarlet ก็สะกดคนละอย่าง   ตาลายไปได้ยังไงหนอเรา
ขออำภัยท่านทั้งสองค่ะ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: scarlet ที่ 25 ม.ค. 14, 12:14
เป็นไรมิได้ครับ :)

แหม ถ้าหอยทอดตรอกเท็กซัสยังอยู่ จะพาไปเลี้ยงปลอบใจ กรอบและอร่อย
แต่เข้าใจว่า ตอนนี้คงไม่มีแล้ว
จะกินหอยทอด ต้องไปที่ร้านนายโซวครับ อร่อย ไม่แพง (น่าจะเรียกได้ว่าถูกนิดๆเสียด้วยซ้ำ) สะดวก สะอาด ร้านกว้างขวาง ติดแอร์ บริการรวดเร็ว อร่อยกว่าหอยทอดคือเผือกสวรรค์ หะแรกคิดว่าเจ้าที่หน้าศาลเจ้าพ่อเสืออร่อยแล้ว เจอเผือกร้านนายโซว คนละเลเวลเลยครับ สงสัยได้สูตรจากวังในนครปักกิ่ง


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 26 ม.ค. 14, 12:58
เคยไปโรงหนังเฉลิมบุรีตอนเล็กๆ  เพราะมีช่วงหนึ่งเขาเอาการ์ตูนเรื่องยาวของวอลท์ ดิสนีย์มาฉาย  จำได้ว่าเป็นโรงหนังเก่าโทรมมาก
ไม่สวยทันสมัยเหมือนเฉลิมไทย   หรือเฉลิมกรุง

พระรามลงสรง คุณ visitna หมายถึงอาหารข้างล่างนี้หรือคะ
(http://www.oknation.net/blog/home/user_data/file_data/201303/13/510942cd7.jpg)
ภาพจาพ http://www.oknation.net/blog/yaya2508/2013/03/13/entry-1

พระรามลงสรง ยุคเฉลิมบุรี จะขายร่วมในร้านหมูสะเตะ เสริฟทานควบกับหมูสะเตะ ลักษณะเป็นข้าวสวย เคียงด้วยผักบุ้งลวก  ประดับหน้าด้วยเนื้อหมูลวกน้ำร้อน แล้วลาดหน้าด้วยน้ำจิ้มสะเตะดังภาพ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ม.ค. 14, 13:07
คุณ Namplaeng    ดิฉันนึกว่าพระรามลงสรงเป็นเนื้อวัวเสียอีก  ขอบคุณสำหรับคำอธิบายค่ะ

คุณ Scarlet          ดิฉันเคยไปร้านนายโซวมาแล้วค่ะ     อร่อยสมคำลือ จำได้ว่ามื้อนั้นสั่งมาเท่าไหร่ พรรคพวกช่วยกันจัดการเสียเหลือแต่จานเปล่าๆ หมดทุกจาน
  ว่าแต่คุณ Scarlet เคยไปกินที่ริมถนนเยาวราชตอนกลางคืนหรือเปล่าคะ          


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 26 ม.ค. 14, 13:15
สมัยเด็กน้อยชื่อ Visitna ไปดูหนังที่เฉลิมบุรี    โรงหนังยังคึกคักแบบนี้มั้งคะ

สภาพคึกคักที่หน้าโรงภาพยนตร์ดังภาพจะไม่เกิดบ่อยนัก ส่วนใหญ่จะเป็นบรรยากาศของรอบปฐมทัศน์ ที่เวลานั้นมีธรรมเนียมจะต้องมีการแสดงดนตรี และเชิญดารานำมาโชว์ตัว ผู้คนที่เห็นแออัดกันหน้าโรง มักจะเป็นคนที่มาดักคอยดูดาราตัวเป็นๆ หรือดักจับไม้จับมือ 
อีกช่วงหนึ่งที่จะมีคนมากมายก็จะเป็นช่วง ปีใหม่ หรือ ตรุษจีน นอกนั้นในเวลาปกติ แม้คนดูจะเต็มโรงในรอบนั้นๆก็ไม่ถึงกับล้นหลามออกมานอกโรง


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: scarlet ที่ 26 ม.ค. 14, 23:47
คุณ Scarlet          ดิฉันเคยไปร้านนายโซวมาแล้วค่ะ     อร่อยสมคำลือ จำได้ว่ามื้อนั้นสั่งมาเท่าไหร่ พรรคพวกช่วยกันจัดการเสียเหลือแต่จานเปล่าๆ หมดทุกจาน
  ว่าแต่คุณ Scarlet เคยไปกินที่ริมถนนเยาวราชตอนกลางคืนหรือเปล่าคะ    
[/color]
[/i]
เท่าที่จำได้ ไม่เคยครับ ส่วนหนึ่งคือเดินทางลำบากและเห็นว่าถนน ฟุตบาทคือทางสัญจร คมนาคมไม่ใช่ที่เอาของมาวางขาย ไร้ระเบียบกฎเกณฑ์และเอาเปรียบสังคม แต่ที่เยาวราชยังดี มาขายเฉพาะตอนเย็น กลางวันฟุตบาทยังเดินได้สบาย ประตูน้ำขายทั้งวัน และแผงใหญ่โต เรียกว่าเอาแต่ได้
มีบางคราวไปกินอาหารแถวนั้น ก็ไปกินตามร้าน ที่เคยไป ผมลืมชื่อไปแล้ว เป็นร้านอาหารแบบในฮ่องกง ขายขนมจีบซาลเปา พวกติ่มซำน่ะครับ ร้านสะอาด บริการรวดเร็ว การทำงานมีระบบ พนักงานทุกคนเป็นชาวอีสาน แต่ผ่านการอบรมมาดี จากวงเวียนโอเดียนไป ร้านนี้อยู่บริเวณป้ายจอดรถประจำทางป้ายแรกครับ อร่อย แต่รู้สึกว่าผงชูรสจะแยะ อิอิ

[td]สภาพคึกคักที่หน้าโรงภาพยนตร์ดังภาพจะไม่เกิดบ่อยนัก ส่วนใหญ่จะเป็นบรรยากาศของรอบปฐมทัศน์ ที่เวลานั้นมีธรรมเนียมจะต้องมีการแสดงดนตรี และเชิญดารานำมาโชว์ตัว ผู้คนที่เห็นแออัดกันหน้าโรง มักจะเป็นคนที่มาดักคอยดูดาราตัวเป็นๆ หรือดักจับไม้จับมือ  
อีกช่วงหนึ่งที่จะมีคนมากมายก็จะเป็นช่วง ปีใหม่ หรือ ตรุษจีน นอกนั้นในเวลาปกติ แม้คนดูจะเต็มโรงในรอบนั้นๆก็ไม่ถึงกับล้นหลามออกมานอกโรง
[/i][/color][/color]

ยุคนั้น โรงหนังส่วนมากก็จะมีเวทีหน้าโรงครับ เปิดรอบปฐมทัศน์ก็จะจัดงานขึ้น คงเอาอย่างละครเวทีเฉลิมไทยกระมังครับ ก่อนละครเล่น ก็มีดนตรี เคยฟังคุณบุญช่วยให้สัมภาษณ์ว่า เขียนเนื้อร้องไว้ที่ฉากกันลืม 55

นึกไม่ออกว่าเฉลิมบุรีอยู่ในเครือไหน เพราะยุคนั้นโรงภาพยนต์ชอบตั้งชื่อนำหน้าด้วยเฉลิม เฉลิมกรุง เฉลิมไทย(เฉลิมเหมือนกัน แต่ไม่ใช่เครือเดียวกับเฉลิมกรุง เจ้าของโรงคือคุณพิสิฐ ตันสัจจา) เฉลิมเขต ก็รู้สึกขององค์ชายใหญ่
ยังมีเฉลิมสิน เฉลิมเวียงอีกครับ ฯลฯ



กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 27 ม.ค. 14, 01:17

ยุคนั้น โรงหนังส่วนมากก็จะมีเวทีหน้าโรงครับ เปิดรอบปฐมทัศน์ก็จะจัดงานขึ้น คงเอาอย่างละครเวทีเฉลิมไทยกระมังครับ ก่อนละครเล่น ก็มีดนตรี


หนังรอบปฐมทัศน์ในยุคที่ผมทันดู ไม่ใช่ละครโรงเล็ก หรือเวทีดนตรีเล็กหน้าโรงนะครับ

รอบปฐมทัศน์ในยุคสี่สิบกว่าปีที่แล้ว หมายถึงการจัดดนตรี หรือโชว์ อลังการเป็นพิเศษในวันแรกที่ฉายภาพยนตร์ เขาจะเก็บค่าชมแพงกว่ารอบปกติ แต่จะมีการแสดงบนเวทีในโรงภาพยนตร์นั่นแหละ และดารานำก็จะต้องมาปรากฏตัวในงานนี้ด้วย สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ การแสดงขับร้องเพลงเอกของหนัง

ส่วนที่ว่าวันธรรมดา คนจะไม่ล้นออกมา เพราะโรงภาพยนตร์ยุคก่อนเขามักจะทำลานกว้างไว้ตรงหน้าประตู เพื่อให้ผู้คนมายืนรอกันก่อนห้องฉายจะเปิดครับ

การที่คนจะล้นมาอออยู่หน้าโรงอย่างในภาพของอาจารย์นั้นต้องเป็นวันพิเศษที่มีคนมามากจริๆ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 27 ม.ค. 14, 01:39

ในกระทู้นี้กล่าวถึงโรงภาพยนต์ศรีราชวงศ์ จำได้ว่าเคยเปลี่ยนชื่อเป็นสิริรามาหรืออะไรนี่แหละ
ทะลุตรอกเท็กซัส ออกถนนเจริญกรุง เลี้ยวซ้ายเล็กน้อย ฝั่งตรงข้ามเคยเป็นโรงภาพยนต์ แต่ปัจจุบันเป็นที่จอดรถของวัดมังกร ส่วนชื่อลืมไปแล้วครับ เป็นโรงภาพยนต์ที่ไม่ยืนยาวเหมือนเท็กซัส ศรีเยาวราช


ลานจอดรถเอกชนที่ไม่เกี่ยวอะไรกับวัดมังกรฯ ที่ คุณ Scarlet เล่านี่แหละ เป็นที่ตั้งของโรงภาพยนตร์สิริราม่า ที่เปลี่ยนมาจากชื่อ  “ โรงหนังพัฒนากร ”

ส่วนศรีราชวงศ์ อยู่ใกล้กับแยกราชวงศ์นั่น ปัจจุบันเป็นอาคารกาญจนทัศน์


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 27 ม.ค. 14, 03:17
ขอโทษครับ อาคารกาญจนทัต


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ม.ค. 14, 09:46
เมื่อวาน  วันนี้และวันพรุ่งนี้ เยาวราชคงคึกคักเป็นพิเศษ
สุขสันต์วันตรุษจีนค่ะ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: scarlet ที่ 30 ม.ค. 14, 17:13
เมื่อวาน  วันนี้และวันพรุ่งนี้ เยาวราชคงคึกคักเป็นพิเศษ
สุขสันต์วันตรุษจีนค่ะ

ที่ไหนได้ครับ? ตรุษจีน คนจีนหยุดพักผ่อน เพราะวันอื่นๆทำงานหรือค้าขายทุกวัน ไม่มีวีคเอนด์หรือวันหยุดตามเทศกาล เข้าพรรษา วิสาขะ มาฆะ คริสต์มาสเหมือนชนชาติอื่นๆ ถึงแม้ปัจจุบัน ทำธุรกิจ / กิจการระบบสากล ต้องให้ลูกจ้างมีวันหยุดตามกฎหมายแรงงาน แต่ก็ยังมีที่ดำเนินกิจการค้าขายแบบเดิมอยู่ ตามร้านขายอาหารไงครับ ลูกจ้างก็ผลัดกันหยุด แต่ร้านเปิดบริการทุกวัน

ดังนั้น ตรุษจีนจึงเป็นเวลาที่เข้าใจว่าเยาวราชคงไม่คึกคักเหมือนปกติ แต่ก็มีการจัดงานฉลองทดแทน คึกคักไปอีกบรรยากาศ
เด็กๆชอบตรุษจีนมาก เพราะได้แต๊ะเอีย และบรรยากาศสงบๆ ไม่วุ่นวาย ท้องถนนในกรุงเทพแทบจะว่างเปล่า แต่คงไม่ใช่ทุกวันนี้แล้ว


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ม.ค. 14, 17:14
ยุคนี้ ตามถนนหนทาง   สงกรานต์น่าจะว่างเปล่ามากกว่าตรุษจีนค่ะ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: scarlet ที่ 30 ม.ค. 14, 17:26
ตรุษจีน นอกจากวัดมังกรกมลาวาสที่คนจีนจะไปทำบุญอย่างหนาแน่น (ขออภัย ถ้าหากเป็นการคาดเดา เพราะตามจริงแล้ววันตรุษจีน scarlet ไม่เคยไปวัดมังกรเลย วันอื่นๆ / โอกาสอื่นๆละเคยนับเป็นร้อยครั้งในชั่วชีวิต แถวเยาวราชก็ไปความถี่ปานกลาง ไม่บ่อยแต่ก็ไม่ทอดทิ้ง ที่ไม่ไปวันตรุษจีนก็เพราะไม่ได้อยู่ในพื้นที่)) อีกวัดหนึ่งที่รู้สึกว่าคนจีนนิยมไปทำบุญคือวัดกัลยาน์หรือวัดซำปอกง ตรงข้ามปากคลองตลาด ก็คงมีสาเหตุ นัยว่าหลวงพ่อซำปอกงท่านศักดิ์สิทธิ์

ศักดิ์สิทธิ์หรือท่านมีชื่ออย่างไรนั้น สมาชิก/ผู้เชี่ยวชาญในเรือนไทยคงทราบ เพราะค้นเรื่องเก่าๆเก่งมาก อิอิ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ม.ค. 14, 17:42
ต้องส่งไม้ต่อให้คนอื่นค่ะ     ดิฉันเคยไปไหว้ซำปอกงหนเดียว  วัดเล่งเน่ยยี่ก็อีกหนหนึ่งเหมือนกัน
คุณ scarlet ไปเยาวราชด้วยความถี่กว่าดิฉันมาก  แนะนำอาหารอร่อยยามค่ำคืนบ้างได้ไหมคะ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: scarlet ที่ 30 ม.ค. 14, 18:22
ต้องส่งไม้ต่อให้คนอื่นค่ะ     ดิฉันเคยไปไหว้ซำปอกงหนเดียว  วัดเล่งเน่ยยี่ก็อีกหนหนึ่งเหมือนกัน
คุณ scarlet ไปเยาวราชด้วยความถี่กว่าดิฉันมาก  แนะนำอาหารอร่อยยามค่ำคืนบ้างได้ไหมคะ

ผมไม่ใช่นักอ่านรอบรู้ แต่ทำไมวันหนึ่งอ่านที่คุณวณิช จรุงกิอนันต์เขียนไว้ในนิตยสารเล่มหนึ่ง(น่าจะเป็น ฟมท. หรือไม่ก็มติชนสัปดาห์)ว่า จะรู้ว่าร้านอาหารร้านไหนอร่อยหรือไม่อร่อย ง่ายนิดเดียว ดูที่ลูกค้า ถ้ามีคนแย่งกันเข้าไปกิน นั่นแหละการันตีได้ว่าต้องอร่อย จำข้อความนี้แม่นไม่ลืม เป็นความจริงอย่างที่คุณวณิชเขียนไว้ครับ 100 % จะยกเว้นก็แต่ร้านที่อร่อยแต่แพงมากๆเท่านั้น

ถ้าไปเยาวราชตอนกลางคืนจะเห็นครับ บางร้านงี้ ไม่รู้คนมาจากไหน มืดฟ้ามัวดิน ยกตัวอย่าง ปากตรอกเท็กซัสด้านเยาวราชนี่แหละครับ ที่เห็นมี 2 ร้าน ร้านหนึ่งเป็นร้านซีฟู้ด คนนั่งเป็นร้อยกระมัง ทั้งที่อยู่ริมถนน คงถูกและอร่อย ตรงข้ามกัน (อีกด้านของปากตรอก) เป็นร้านกวยจั๊บ เลือดหมู คนแยะเหมือนกัน แต่รู้สึกไม่เท่าซีฟู้ด ท่านเจ้าเรือนสนใจจะลองไปแวะดูก็ได้นะครับ

ร้านก้วยจั้บที่เยาวราชดังๆหลายเจ้าครับ อีกร้านที่มืดฟ้ามัวดินคือปากตรอกตลาดเก่า (ไม่ทราบว่าเรียกอย่างงี้ฤาเปล่า แต่เป็นตรอกที่ทะลุไปออกทรงวาด เข้าไปในตรอกประมาณ 50 เมตรเป็นศาลเทพเจ้าอาชาที่ว่ากันว่าศักดิ์สิทธิ์ 2 วันก่อนออกทีวี) นั่งกินข้างถนนแหละครับ แบบว่ายังไงก็ยอม สงสัยว่าจะราคาถูกด้วย
ร้านขนมปังปิ้ง อยู่ฝั่งตรงข้ามตรอกเท็กซัส ปิ้งควันโขมงน่าอร่อย มีทั้งนั่งกินข้างร้่านและเทคโฮม
ฯลฯ
เล่าไม่หมดหรอกครับ แต่ที่เล่ามานี่ เห็นนะครับ ไม่ได้ไปกินกับเขาด้วย ไม่มีเวลาคอย อีกอย่างหน้าร้อน กินของพวกนี้ไม่ค่อยถูกโอกาส ถ้าหน้าหนาวละพอลุ้น
แนะนำร้านติ่มซำฮ่องกงที่เคยเล่าไว้ในกระทู้ก่อนหน้า 5-6 กระทู้ครับ อร่อย สะอาด สะดวก 1 คน น่าจะ 100-150 ก็อิ่ม ยกเว้นสั่งของแพงๆ ร้านเปิดก่อนเที่ยง น่าจะเลิกประมาณ 3-4 ทุ่ม

ส่วนร้านหูฉลาม ไม่มีอะไรแนะนำ เพราะไม่เคยเข้า อิอิ
นอกจากนี้มีของหวาน น้ำแข็งไส จาระไนไม่หมดครับ อยากรู้ต้องไปดูเอง จอดรถที่อาคารกาญจนทัตของคุณแปลงนาม

สรุปคือ พื้นที่ไชน่าทาวน์เป็นสวรรค์ของนักกินที่ยิ่งใหญ่ไพศาล อาณาเขตของกินที่อร่อย ยังต่อมาถึงเวิ้งนาครเกษม (ตอนนี้เห็นซบเซา) เจริญกรุง สามยอด พลับพลาไชย ฯลฯ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: scarlet ที่ 30 ม.ค. 14, 18:38
นึกขึ้นมาได้ว่าคุณวณิชเรียกร้านที่ฝีมือไม่ดึงดูดว่า mediocre คืองั้นๆ ไม่มีอะไรให้ตื่นเต้น เป็นต้นเรื่องที่คุณวณิชเกริ่น แล้วร่ายยาวถึงร้านอร่อยที่ลูกค้าเข้าไปแย่งกันกิน ;D ;D
จำได้แค่นี้แหละครับ รายละเอียดลืมไปหมดแล้ว ท่านเจ้าเรือนไม่มาคุ้ย ผมก็ไม่เคยนึกไปถึง


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ม.ค. 14, 20:19
ขอบคุณค่ะ  พาพรรคพวกไปเมื่อไหร่ จะรับประทานเผื่อนะคะ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: scarlet ที่ 30 ม.ค. 14, 20:51
วันนี้คุณนามแปลงเจ้าถิ่นไม่มาชี้แจง เสริมรายละเอียด สงสัยว่าคงสวดมนต์ขอพรเทพดวงชะตาอยู่ บังเอิญตรุษจีนพอดี อิอิ


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 01 ก.พ. 14, 01:41
ซิงเจียอยู่อี่ ซิงที่เกี่ยงคัง  กันทุกท่านนะครับ ;D

วันนี้จำต้องปวดหัวกับเสียงประกาศทางโทรโข่ง ของร้านหูฉลามข้างบ้าน

ซึ่งปกติถ้ามีลูกค้าเข้าร้านเขาก็จะหยุดส่งเสียงเรียกแขก

แต่วันนี้ คนยุคใหม่ไม่นิยมทาน หรือฝีมือตกไม่ทราบ เธอเลยเปิดเสียงดังอย่างไม่เกรงอกเกรงใจใครทั้งวัน....

ยังไงผ่านแปลงนามอุดหนุนหูฉลามร้านเล็กที่ไม่มีแขกหน่อย ผมจะได้ไม่ต้องปวดหัวมาก  :-\
 



กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 01 ก.พ. 14, 01:51
วันนี้ บนหน้าเฟสบุ๊ค เพื่อนผมเขาแชร์รูปของคุณ Takraw Man มาอวยพรตรุษจีน


(https://fbcdn-sphotos-c-a.akamaihd.net/hphotos-ak-ash3/t1/1620710_489747247802514_1499278196_n.jpg)

เมื่อครั้งผมเยาวัย ตุ๊กตาอย่างงี้จะเป็นพระเอก บนถนนเยาวราชในช่วงตรุษจีนเลยนะจะบอกให้

ยิ่งกว่านั้น มันยังจะมีกลไกลซุกซ่อนอยู่ข้างใต้ตัวตุ๊กตา ที่จะทำให้มันเคลื่อนไหวไปมาได้ด้วย




กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 01 ก.พ. 14, 02:06
เมื่อก่อนโน้น.....  ในช่วงตรุษจีน โรงภาพยนตร์ย่านเยาวราช เขาจะตั้งเวที “ หุ่นกล ” เล็กๆไว้หน้าโรงภาพยนตร์ ชุดหุ่นจะถูกจัดวางและเคลื่อนไหวได้เพื่อเล่าเรื่องตอนสำคัญของภาพยนตร์ เป็นการเชิญชวนผู้คนให้เข้าไปชมภาพยนตร์

แต่ละโรงก็จะทำโรงหุ่นกลอย่างประณีตออกมาโชว์ประชันกันเป็นที่ตื่นตาของผู้คนยุคนั้น คนจีนจากต่างจังหวัดชอบจะหอบลูกจูงหลานมาเที่ยวเยาวราชเพื่อดูหุ่นกล และชมภาพยนตร์

นอกจากหุ่นแล้ว ร้านรวงบนถนนเยาวราชต่างประดับไฟจนสว่างไสวน่าชม  ร้านทองบนถนนเยาวราชที่ปกติจะปิดตอน 18:45 น. ในช่วงเทศกาลตรุษจีนเขาจะเปิดถึงสี่ทุ่มเที่ยงคืน  ทั้งยังมีการนำวงดนตรีเครื่องสาย อย่างขิมและซอ มาบรรเลงหน้าร้านตั้งหัวค่ำจนกระทั่งปิดร้าน

บรรยากาศตรุษจีนบนถนนเยาวราชเมื่อสี่ห้าสิบปีที่แล้ว ถือว่าแกรนด์ไม่มีที่ใดเทียบเชียวนะจะบอกให้


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 01 ก.พ. 14, 02:32
ประมาณยุค 2500 บนถนนเยาวราชยาวจรดย่านวังบูรพา จะถูกควบคุมไม่ให้มี หาบเร่ แผงลอย โดย จนท.ตำรวจ อย่างเคร่งครัด ด้วยถือเป็นเขตเศรษฐกิจและหน้าตาของประเทศ

แผงลอยขายอาหารยามค่ำจะมีได้แต่ในโซนที่จัดให้ เช่น ในซอยสามเพ็งยามค่ำ ในซอยตลาดใหม่ หรือบริเวณสวนกวางตุ้งที่้เป็นร้านอาหารโต้รุ่งเท่านั้น

ในช่วงตรุษจีน สองฟากฝั่งของถนนจะเนืองแน่นไปด้วยผู้คนที่มาท่องเที่ยว  หลายคนเป็นคนจีนจากต่างแดน เช่นมาเลย์ สิงคโปร์ และเขมร

แต่เยาวราชยามนั้นก็สามารถรองรับผู้คนมากมายนั้น ให้สามารถเดินเหินได้อย่างสะดวกสบาย ไม่รู้สึกติดขัด หรืออึดอัดเพราะติดโต๊ะ หรือแผงลอยริมถนนที่ถูกจับจองอย่างไร้ระเบียบเช่นปัจจุบัน   :(


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: scarlet ที่ 01 ก.พ. 14, 09:53
ต้องส่งไม้ต่อให้คนอื่นค่ะ     ดิฉันเคยไปไหว้ซำปอกงหนเดียว  วัดเล่งเน่ยยี่ก็อีกหนหนึ่งเหมือนกัน
คุณ scarlet ไปเยาวราชด้วยความถี่กว่าดิฉันมาก  แนะนำอาหารอร่อยยามค่ำคืนบ้างได้ไหมคะ

อ่านสะเปะสะปะ บังเอิญเจอเข้าครับเรื่องวัดซำปอกง(แปลว่าพระรัตนตรัยกระมัง?)

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=4474.0


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 01 ก.พ. 14, 10:00
ถนนเยาวราช พ.ศ. ๒๕๐๔


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ก.พ. 14, 10:31
ไม่คับคั่งจอแจเหมือนทุกวันนี้


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: scarlet ที่ 01 ก.พ. 14, 11:27
ทุกวันนี้ แรงงานจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือลมหายใจของเยาวราช มาพร้อมกับความชุลมุนอะไรบางอย่าง
เหมือนเหรียญ2หน้า ร้านซีฟู้ดที่ท่านเจ้าเรือนสนใจ ก็ปิ้ง ย่างด้วยคนเหล่านี้
แต่รวมๆข้อดี-ข้อเสีย ข้อดีน่าจะมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งแง่เศรษฐกิจ
อ้อ งิ้วก็คนอีสานเล่นนิ...

ในอนาคตอันใกล้ แรงงานจะไม่ใช่คนไทยภาคอีสานเหมือนที่เป็นมาหลายสิบปี แต่จะเป็นชนชาติเพื่อนบ้านทั้งหญิงและชาย ถ้าใครสังเกต ตอนนี้ก็มีบ้างแล้ว


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: winter_rain ที่ 01 ก.พ. 14, 11:58
ใช่ค่ะ กุ๊กจีนในเหลาเป็นคนอีสานทั้งน้าน

แรงงานปัจจุบันเป็นต่างชาติกันหมด
ทางเยาวราชใช้พวกพม่าและกระเหรี่ยง
ทางชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา เป็นกัมพูชา
ญาติเล่าว่าตอนไปดูโรงงานที่เขมร คนงานตักแป้งผสมหกเลอะพื้น เลยให้เขาเอาไม้กวาดมาจัดการ
คนงานตอบว่าเขามีหน้าที่ผสมแป้ง ไม่ใช่กวาดพื้น ซึ่งความกระด้างกระเดื่องอย่างนี้คนงานไทยยังไม่เทียบชั้น
บทสรุปคือไม่รู้ว่าไก่เกิดก่อนไข่หรือไข่เกิดก่อนไก่ เพราะโรงงานจ้างค่าแรงเดือนละ 100 USD เท่านั้น
ในขณะที่ค่าครองชีพเขาก็จ่อๆ กับบ้านเรา

พอเขมรประท้วงเรียกร้องค่าแรงเพิ่มอีกเดือนละ 20 USD
ก็โดนตีแทบล้มประดาตาย


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: winter_rain ที่ 01 ก.พ. 14, 12:08
เด็กเยาวราชวันนี้ หน้าขาวๆ อาตี๋อาหมวย แต่ภาษาจีนไม่กระดิกหูก็มี


เคยไปยูนิเวอร์แซล สิงคโปร์ คนมาเลย์มาทักทายว่าคนจีนในไทยใช่ไหม
พวกเราตอบว่าใช่ แต่โดนกลืนหมดแล้ว เป็นลูกหลานจีนแต่พูดจีนไม่ได้

แปลก...ชาวฮกเกี้ยนในมาเลย์และสิงคโปร์ยังรักษาขนบธรรมเนียมไว้ได้อย่างเหนียวแน่น
แต่ชาวจีนแต้จิ๋วในไทย นับวันแบบแผนเก่าๆ จะโรยรา


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 01 ก.พ. 14, 13:07
ลูกจีนเยาวราชทุกวันนี้ถูกส่งไปโรงเรียนเครือคาทอลิก 

ขณะที่โรงเรียนสอนภาษาจีนที่เยาวราชอย่าง เผยอิง มีลูกอีสานที่ขายของให้ชาวมาเลย์ สิงคโปร์ ที่นิยมมาเที่ยวเยาวราชเรียนเป็นส่วนใหญ่

จึงไม่แปกลกที่ลูกจีนเยาวราชพูดคุย หรืออ่านจีนไม่ได้ “ เป็นส่วนมาก ”

เมื่อไม่กี่ปีก่อนมีเสี่ยห้างใหญ่ย่านเยาวราช เอา “ โคมขาว ” ขึ้นแขวนประดับหน้าห้าง ในช่วงตรุษจีน

งานนั้นโคมถูกแขวนไม่ถึง 24 ชั่วโมงก็ต้องรีบเอาลง.......  เพราะถูกสรรเสริญก้องเยาวราช


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 01 ก.พ. 14, 13:26

ส่วนร้านหูฉลาม ไม่มีอะไรแนะนำ เพราะไม่เคยเข้า อิอิ

(http://0.static-atcloud.com/files/entries/9/91564/images/1_display.jpg)


จากหูฉลามแห้ง แข็งๆข้างต้น ทำจนมาได้สภาพนี้

(http://heng-sharkfin.com/images/theme/home/banner4.jpg)

ในอดีตต้องผ่านการต้มด่าง และขัดล้างหลายขั้นตอน ยุ่งยาก

แต่ในโลกเคมีอาหารเฟื่องฟู ต้มล้างเพียงรอบสองรอบเนื้อเยื้อและโปรตีนที่ห่อหุ้มหูฉลามก็สูญหายไปในพริบตา

เหลือแต่เพียงเส้นไฟเบอร์นิ่มๆที่หลายท่านชื่นชอบ

ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจว่า โดยเนื้อแท้ของหูฉลามนั้นไม่มีรสชาติ หรือวิตามินธรรมชาติที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายหลงเหลืออยู่เท่าไร

รสของหูฉลามที่ติดลิ้นใครหลายคน เป็นรสของน้ำซุบที่เติมแต่งลงไป  ซึ่งซุบนั้น บางเจ้าอาจจะได้จากการต้มเคี่ยวกระดูก หรือเนื้อ

แต่หลายเจ้าก็เติมกลูตาเมตสงเคราะห์ ให้ได้รสชาติถูกปากลูกค้าทั่วๆไป...



กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 01 ก.พ. 14, 13:38
ตำราที่เคยอ่านบอกว่า สูตรหูฉลาม เป็นอาหารถิ่นขึ้นชื่อของอาหารตระกูลแต้จิ๋ว

ที่เยาวราชมีภัตตาคารสูตรแต้จิ๋วที่เก่าแก่หลายร้านอยู่ในถนนพาดสาย หลังห้างทองฮั่วเซ่งเฮง ไม่ว่าจะเป็น กวงเม้ง ยิ้มยิ้ม หรือตั้งใจอยู่

หูฉลามจากภัตตาคารเหล่านี้จะมีรสชาติเอกลักษณ์ต่างจากหูฉลามของร้านแผงลอยบนถนนเยาวราช ที่ก๊อปรสชาติอย่างหูฉลามฮ่องกง

และนิยมใส่ถั่วงอกลงไปเพิ่มปริมาณ  จนบ่อยครั้งผมอดสงสัยไม่ได้ว่า  ที่เสริฟให้ลูกค้านั้น เป็นต้มถั่วงอกใส่หูฉลามหรือรัย ?


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: scarlet ที่ 01 ก.พ. 14, 13:39
เด็กเยาวราชวันนี้ หน้าขาวๆ อาตี๋อาหมวย แต่ภาษาจีนไม่กระดิกหูก็มี


เคยไปยูนิเวอร์แซล สิงคโปร์ คนมาเลย์มาทักทายว่าคนจีนในไทยใช่ไหม
พวกเราตอบว่าใช่ แต่โดนกลืนหมดแล้ว เป็นลูกหลานจีนแต่พูดจีนไม่ได้

แปลก...ชาวฮกเกี้ยนในมาเลย์และสิงคโปร์ยังรักษาขนบธรรมเนียมไว้ได้อย่างเหนียวแน่น
แต่ชาวจีนแต้จิ๋วในไทย นับวันแบบแผนเก่าๆ จะโรยรา

จะรักษาขนบธรรมเนียมไว้ได้หรือไม่ น่าจะขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตและสภาพสังคม อาตี๋ อาม่วยรุ่นนี้หรือก่อนหน้านี้ เช้าขึ้นก็อยู่ที่โรงเรียน กว่าจะเรียนหนังสือจบ อายุ 20กว่าๆหรือเกือบ 30 โน่น ระบบต่างๆในสถานศึกษาก็แบบตะวันตก 100% (ถ้าสถาบันเก่าแก่ ปนไทย10-20%) ต้องรู้ภาษาอังกฤษในระดับพอสมควรด้วย เมื่อไม่ต้องใช้ภาษาจีน ก็คงพูดไม่คล่องหรือพูดไม่ได้เลย เป็นเรื่องธรรมดาครับ

ใช่ค่ะ กุ๊กจีนในเหลาเป็นคนอีสานทั้งน้าน

แรงงานปัจจุบันเป็นต่างชาติกันหมด
ทางเยาวราชใช้พวกพม่าและกระเหรี่ยง
ทางชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา เป็นกัมพูชา
ญาติเล่าว่าตอนไปดูโรงงานที่เขมร คนงานตักแป้งผสมหกเลอะพื้น เลยให้เขาเอาไม้กวาดมาจัดการ
คนงานตอบว่าเขามีหน้าที่ผสมแป้ง ไม่ใช่กวาดพื้น ซึ่งความกระด้างกระเดื่องอย่างนี้คนงานไทยยังไม่เทียบชั้น[/i]




ตรงนี้ยังบอกไม่ได้แน่ชัดว่าเป็นความกระด้างกระเดื่องหรือเปล่าครับ แต่จากประสบการณ์ พบว่าผู้ชายเขมรมีนิสัยออกไปทางแข็งกร้าว เวลาขัดใจหรือไม่เข้าใจ จะดื้อและกระด้าง แต่ฝีมืองานละเอียด ไม่สุกเอาเผากิน เจอช่างเขมรมา2 คน ทำงานละเอียดดี คนหนึ่งค่อนข้างสนิทกัน บอกว่าลงไม้ลงมือกับเมียก็มี (ไม่รุนแรง) และให้ข้อมูลว่าเมียน่ะแหละดุกว่าตัวเขาเอง 55



กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: scarlet ที่ 11 พ.ค. 14, 20:26
Milestone เกี่ยวกับถนนเยาวราชที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกไม่นานคือ มีรถไฟฟ้าใต้ดิน ที่ทราบเพราะผ่านไปค่อนข้างบ่อย ธุระ (เล็กๆ) บ้าง เที่ยวเตร่บ้าง แลเห็นมาตลอด จะว่าผ่านเยาวราชก็ไม่ใช่ เพราะความจริง อยู่ใต้ถนนเจริญกรุง แต่เยาวราชก็คือฝาแฝดของเจริญกรุงนั่นเอง สามารถเชื่อมต่อกันได้ รู้สึกว่าสถานีจอดอยู่หน้าวัดเล่งเน่ยยี่เสียด้วย ใครจะไปไหว้เจ้าคงสะดวกกว่าแต่ก่อน ไหว้เสร็จก็ขึ้นรถไฟฟ้ากลับ ไม่ต้องขับรถไป เพราะไม่มีที่ให้จอด

เข้าใจเอาเองว่าที่ไม่ผ่านใต้ถนนเยาวราช เป็นเพราะเรื่องวัดเล่งเน่ยยี่นี่เองส่วนหนึ่ง เป็นโครงการก่อสร้างที่ไม่เคยมีเสียงคัดค้านเกิดขึ้น ไม่เหมือนโครงการอื่นๆ ห้างสรรพสินค้าที่อยู่ติดกับวัด สร้างอาคารพาณิชย์ที่คลองถม ฯลฯ

เส้นทางรถไฟฟ้าไปสิ้นสุดที่รร.ราชินีบนซึ่งอยู่ติดกับปากคลองตลาด วัดโพธิ์ ท่าเตียน ต่อมานิดเดียวคือวัดพระแก้วซึ่งเป็นจุดท่องเที่ยวอันดับหนึ่ง ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จาก MRT สายนี้ช่างมหาศาล
เป็นเส้นทางนครบางกอกที่คิดได้ยอดเยี่ยมจริงๆ และเข้าใจว่าเพราะ MRT เฟสนี้ ถนนเยาวราชจะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

** หูฉลามแถวบ้านคุณนามแปลงคงขึ้นราคาเท่าตัว เพราะลูกค้าเดินทางไปรับประทานได้สะดวก  :D ;D


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 14 พ.ค. 14, 23:38
รถไฟฟ้า ลบตำนาน.....

(https://fbcdn-sphotos-a-a.akamaihd.net/hphotos-ak-frc3/t1.0-9/p720x720/10313056_10152400089407450_5860195874271712437_n.jpg)

รถไฟฟ้า ลบตำนาน.....


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: scarlet ที่ 15 พ.ค. 14, 11:56
^ ^

ไม่น่าจะสาเหตุจากรถไฟฟ้าใต้ดิน เพราะเรื่องจะเปลี่ยนแปลงเวิ้งนาครเกษมมีมานาน ก่อนมีรถไฟฟ้าที่หัวลำโพงอีกครับ และสร้างใต้ดิน จะว่าไปอาจช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้นด้วย


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 15 พ.ค. 14, 21:52
ข่าวว่า เวิงจะเปลี่ยนแปลงมีมานานแล้วครับ

คนเวิ้งก็ลงขันเจรจากับเจ้าของที่เพื่อซื้อ หรือขอมีส่วนเข้าร่วมจัดการมานานหลายปี

แต่การเปลี่ยนแปลง ที่เริ่มจากการซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์ ระหว่างกลุ่มทายาทผู้มีสิทธิ์ในที่ดินเวิ้งกับกลุ่มทุนเพิ่งจะเปลี่ยนมือหลังมีการขุดรถไฟฟ้าใต้ดิน

พร้อมกับนโยบาย “ ภาครัฐ ” โดยรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่พรรคการเมืองแยกไม่ออกจากกลุ่มทุน

ทำการแก้ไขกฎเกณฑ์ผังเมือง ที่คุ้มครองชุมชนเยาวราช  โดยแก้ไขอนุญาตให้ใช้ที่ดินสร้างอาคารคอมเพล็กขนาดใหญ่ ในพื้นที่ใกล้เคียงสถานีรถไฟฟ้า.....


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 15 พ.ค. 14, 22:16
มโน  เยาวราช ยุคใหม่ ที่ตามหลังโครงการรถไฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน

ภายใต้ระบบนายทุนนำพรรค อีกไม่เกินยี่สิบปี เยาวราชจะเปลี่ยนไปในทิศทางที่คนยุคใหม่เรียกว่า การพัฒนาเมือง

เริ่มจากการเปลี่ยนแปลงที่นำโดยแลนด์ลอร์ด จะนำการเปลี่ยนแปลงด้วยโครงการคอมเพล็กขนาดใหญ่ ทั้งที่เวิ้งเอง และคอมเพล็กตึกแฝดที่มีทางลอดใต้ถนนเจริญกรุง ตรงบริเวณใกล้วัดเล่งเน่ยยี่ สถาปนิกจะจำลองสภาพอาคารเก่าย่านเยาวราชเข้าไปในคอมเพล็ก ที่ต้องด้วยหลักฮวงจุ้ย มีสวนหย่อม คุ้งน้ำ ท้องมังกร ห้องประชุม และลานนิทรรศการ.....
อีกทั้งที่ปรึกษาทางวัฒนธรรมก็จะเข้าไปจัดกิจกรรมในคอมเพล็ก ที่จำลองวิถีชีวิตจีนเยาวราช ให้ครึกครื้นมีชีวิตชีวา และสม่ำเสมอตลอดทั้งปี........

คนไทยรุ่นใหม่ๆ ที่มีความรู้ และสามารถสื่อสารได้หลากหลายภาษาจากทั่วสารทิศจะเข้ามาประกอบกิจการที่ทันสมัย ในคอมเพล็กที่เป็นดั่งโรงละครโรงใหม่เฉกเช่นไชน่าทาวน์หลายต่อหลายแห่งในโลก


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 15 พ.ค. 14, 22:36
เมื่อตึกยักษ์กำเนิดและสร้างความเจริญให้ที่ดิน “ ด้อยพัฒนา ”  อาคารระดับรองๆลงมาก็จะผุดตามมาอย่างรวดเร็ว

สาธารณูปโภคต่างๆที่เคยมีใช้อย่างเหมาะสมลงตัว ก็ต้องเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตาม ตั้งแต่การขุดวางสายไฟฟ้าใต้ดินใหม่สักสามปี ตามด้วยสายโทรศัพท์หรืออินเตอร์เนตสักสองปี และท่อน้ำประปา......

เมื่อถนนช้ำได้ที่ก็จะได้เวลา ปรับปรุงท่อระบายน้ำ และถมทำถนนใหม่ให้สูงขึ้น.......

จากนั้นชาวบ้าน ร้านค้า ก็จำต้องปรับปรุงอาคารเพื่อให้สวยงามรับกับการเปลี่ยนแปลง
อย่างน้อยๆก็ต้องถมเสริมพื้นร้านให้สูงขึ้น พร้อมกับการทำท่อระบายน้ำใหม่
เพราะหากไม่ทำ น้ำที่ท่วมล้นจากผิวถนนยามฝนตกก็จะไหลเข้ามาท่วมในบ้านหรือร้านค้า.....

อาคารเก่า ทั้งที่เป็นเรือนแบบจีนตามซอกซอยที่สร้างสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
กระทั่งอาคารที่จำลองรูปลักษณะอย่างอาคารในฮ่องกง หรือเซี่ยงไฮ้ก็คงต้องทุบและสร้างใหม่เพื่อยกระดับพื้นล่างอาคาร

ผู้ไม่มีปัญญาปรับปรุงบ้านหรือร้านค้าก็จำต้องถอยหนี หรือย้ายไปเสีย คนอื่นที่ีเห็นโอกาสพร้อมจะเข้ามาพัฒนาแทนที่ตลอดเวลา....

ย้ำนะครับทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเพียงมโน ที่ไม่เหลือที่สำหรับคนเก่า หรือจิตวิญญาเยาวราช....

เพราะนั่นไม่ใช่สาระของ “ ความเจริญยุคใหม่ ”.......


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 16 พ.ค. 14, 10:36
          เคยผูกพันกับย่านนี้หลายปีเมื่อตอนเป็นนักเรียน ทุกๆ เช้านั่งรถเมล์ไปร.ร. ผ่านเยาวราช
ตกเย็นก็นั่งรถเมล์กลับทางเจริญกรุง จนจำตึกแถว, อาคารต่างๆที่รายเรียงอยู่ริมถนนได้
           ติดตามข่าวความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อยู่ห่างๆ ด้วยความเป็นห่วง และ...ทำใจ ครับ

ภาพจากหนังคุณภาพนอกกระแส ที่นักวิจารณ์ยกย่อง เรื่อง In the Mood for Love(2000)
ของผู้กำกับชื่อดัง หว่อง กาไหว่


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 16 พ.ค. 14, 10:37
ใช้ย่านเยาวราชเป็นฉากฮ่องกงปี 1962


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 16 พ.ค. 14, 12:50
那样,不要用地铁吧!况且,不要用泰语,普通话也不要用。

就是慢慢的走路,用老家方言聊一聊!

真是好极了!


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 16 พ.ค. 14, 17:11
;D ดูคุณ han_bing ท่านว่า

那样,不要用地铁吧!อย่างนั้น ก็ไม่ต้องใช้รถไฟฟ้าใต้ดิน

况且,不要用泰语,普通话也不要用。นอกจากนี้ ไม่ต้องพูดภาษาไทย  ภาษาจีนกลางก็ไม่ต้องใช้

就是慢慢的走路,用老家方言聊一聊!ก็ค่อยๆเดินเท้ากันไป  ใช้ภาษาถิ่นของโครตเง้าในการพูดคุย

真是好极了!มันช่างเยี่ยมจริงๆ

ภาษาจีนระดับ ป.4 อาจจะแปลผิด รบกวนคุณ han_bing ช่วยแก้ไขด้วยก็แล้วกันนะ  :(

*********************************************************
ความเห็นที่ 190 มีความจริงว่า

“ ภาครัฐ ” โดยรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่พรรคการเมืองแยกไม่ออกจากกลุ่มทุน

ทำการแก้ไขกฎเกณฑ์ผังเมือง ที่คุ้มครองชุมชนเยาวราช  

โดยแก้ไขอนุญาตให้ใช้ที่ดินสร้างอาคารคอมเพล็กขนาดใหญ่ ในพื้นที่ใกล้เคียงสถานีรถไฟฟ้า.....

( บังเอิญให้ “ ระยะใกล้สถานี ” ตามข้อบังคับผังเมืองใหม่มันช่างให้บรรจบยาวต่อเนื่องไปตลอดถนนหลักเหนือทางรถไฟฟ้า )

หมายความว่า ผ้งเมืองเดิม เห็นคุณค่าของชุมชนเก่า ทั้งที่เป็นส่วนบอกรากเง่าของคนบางกลุ่มในบ้านเรา

และ ผลดีต่อการท่องเที่ยว ตามอย่างมุมมองของอารยประทศ จึงให้การคุ้มครอง



รถไฟฟ้าสามารถมีได้โดย ไม่ก่อผลร้ายมากมายอะไรต่อชุมชนเก่า หากมีการวางแผนใช้ที่ดินเท่าที่จำเป็น

อย่างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินที่ถนนสีลมที่จำกัดการใช้พื้นที่แต่ก็อำนวยความสะดวกได้ดี

กรณีอื่นผมคงไม่ขอแสดงความเห็นอะไรด้วย เพราะรู้ตัวดีว่า ความรู้และประสพการณ์คงไม่เท่าคนผ่านเมืองนอกเมืองนามา  

ยังไงก็เมตตาชี้แนะด้วยก็แล้วกัน


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 16 พ.ค. 14, 22:14
ก็อย่างที่คุณแปล

ถ้าอย่างนั้น ไม่ต้องใช้รถไฟฟ้าใต้ดิน ชิวๆ ภาษาไทยก็ไม่ต้องใช้ ภาษาจีนกลางก็ไม่ต้องใช้ ใช้ภาษาถิ่นเดิมคุยกัน (คุณแปลว่า "ใช้ภาษาถิ่นโคตรเง้าในการพูดคุย" ต่างกันนิดหน่อย) ดีจริงๆเลยเชียว

อนุรักษ์ไว้ก็ดีแล้วนี้นา จริงไหม 是吧!



กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: scarlet ที่ 17 พ.ค. 14, 02:27
ครอบครัวอัศวโสภณได้ออกแถลงการณ์ให้แก่สื่อมวลชนที่ไปร่วมงานสวดอภิธรรมศพของนายชัชวาล อัศวโสภณ เจ้าของห้างดนตรีย่งเส็ง ที่วัดเทพศิรินทราวาส มีเนื้อหาดังนี้

เรียนสื่อมวลชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง...

ตามที่สื่อมวลชนหลายฉบับได้เสนอข่าวกรณีนายชัชวาล อัศวโสภณ เสียชีวิต โดยออกข่าวในลักษณะเป็นการกระโดดน้ำเพื่อฆ่าตัวตายนั้น ขณะนั้นยังไม่มีหลักฐานพิสูจน์ในเรื่องดังกล่าว ทางครอบครัวอัศวโสภณขอเรียนชี้แจงข่าวดังกล่าว ดังนี้

- นายชัชวาล อัศวโสภณ มีอาการเครียดจากการถูกเวนคืนที่ดินบริเวณที่ประกอบการค้าจริง ประกอบกับมีอาการป่วยเกี่ยวกับทางเดินหายใจและความดันโลหิตอยู่แล้ว

- นายชัชวาล อัศวโสภณ มักจะเดินทางไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ ศาลเจ้าจีจินเกาะอยู่เป็นประจำ และจากหลักฐานภาพกล้องวงจรปิดพบว่าวันดังกล่าว นายชัชวาล อัศวโสภณ ได้เดินทางไปสถานที่ดังกล่าวจริงและมานั่งพักที่ท่าเรือ เนื่องจากท่าเรือเวลาเรือวิ่งแล้วจะมีคลื่นมา ทำให้ท่าเรือโคลงเคลง อาจทำให้นายชัชวาลเสียการทรงตัวลื่นไถลจมน้ำ โดยมีคุณลุงผู้เห็นเหตุการณ์เป็นพยานเห็นชัดว่านายชัชวาลได้ลื่นไถลลงน้ำ และไปแจ้งพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำศาลเจ้าว่ามีชายวัยกลางคนจมน้ำ ทั้งนี้เจ้าพนักงานได้ระบุถึงสาเหตุการเสียชีวิตว่าเป็นการขาดอากาศหายใจ เนื่องจากการจมน้ำ

ดังนั้นครอบครัวอัศวโสภณขอความร่วมมือมายังท่าน โปรดกรุณาชี้แจงให้สาธารณชนได้ทราบในข้อเท็จจริงดังกล่าวและข่าวสารที่ถูกต้องด้วย จักเป็นพระคุณอย่างสูง


ขอแสดงความนับถือ
ครอบครัวอัศวโสภณ  - See more at: http://home.truelife.com/detail/3115792#sthash.QqqUFB6T.dpuf


กระทู้: ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
เริ่มกระทู้โดย: Namplaeng ที่ 17 พ.ค. 14, 12:48
ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวคุณ ชัชวาล อัศวโสภณ

และคงต้องแยกเรื่องกรณีการเสียชีวิตของท่าน ออกจากเรื่องการไล่, ล้างตำนาน เวิ้งฯ และปัจจัยเร่ง