เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์โลก => ข้อความที่เริ่มโดย: Sujittra ที่ 22 พ.ค. 12, 18:37



กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 22 พ.ค. 12, 18:37
ในฐานะผู้ร้องขอให้เปิดหน้า "ประวัติศาสตร์โลก" กระผมจึงใคร่ขอเปิดกระทู้แรกสำหรับหน้านี้ หวังว่าทุกท่านคงกรุณา

ผมขอเริ่มด้วยเรื่องประวัติศาสตร์ของชาติที่ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต มีความยิ่งใหญ่และเป็นที่หมายปงของตาช่างชาติตลอดมา เพียงแต่อาจหลับไหลไปข้างในบางช่วงของกาลเวลา นั่นคือ ประวัติศาสตร์ของจีน

        ประวัติศาสตร์ของจีนนับแต่อดีตกาลที่มีเรื่องเล่าต่อกันมา เริ่มจากเรื่องราวตำนานของผานกู่เบิกฟ้าแยกดินและเทพหนี่อัวสร้างมนุษย์ที่เล่าขานกันต่อมา ทว่า ความเจริญทางวิทยาศาสตร์ในยุคต่อมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความก้าวหน้าทางโบราณคดีและมนุษย์โบราณ รวมถึงทางธรณีวิทยา ได้เปิดเผยความลับต้นกำเนิดของแผ่นดิน และวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตในโลกมนุษย์ ปัจจุบันนี้ บรรดาผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดีและมนุษย์โบราณได้ขุดพบซากฟอสซิลของมนุษย์ ซึ่งมีอายุกว่า 3,000,000 ปีในทวีปอาฟริกา ดังนั้น จึงเชื่อถือกันว่าทวีปอัฟริกาเป็นสถานที่ต้นกำเนิดของเผ่าพันธุ์มนุษย์

        สำหรับในประเทศจีนนั้น ที่อำเภออูซานในมณฑลฉงชิ่งก็ได้มีการขุดพบซากฟอสซิลโบราณของ ‘มนุษย์อูซาน’ที่มีอายุกว่า 2,000,000 ปี นอกจากนี้ ยังพบซากฟอสซิลมนุษย์โบราณจำนวนมากในบริเวณกว้างอาทิ มนุษย์หยวนเหมย มนุษย์หลันเถียน มนุษย์ปักกิ่ง และ มนุษย์ถ้ำ เป็นต้น ดังนั้น นักโบราณคดีจีนจึงได้เสนอว่า พื้นที่ในแถบเอเชียอาคเนย์ ก็เป็นแหล่งต้นกำเนิดเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ด้วยเช่นกัน


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 22 พ.ค. 12, 18:53
       ที่มาของวิวัฒนาการมนุษย์มีส่วนสัมพันธ์กันอย่างมากกับการใช้แรงงาน เนื่องจากเครื่องมือเครื่องใช้ที่มนุษย์ยุคแรกทำขึ้นเองนั้นได้แก่เครื่องมือหินกระเทาะ ซึ่งนักโบราณคดีได้ชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างเครื่องมือหินในยุคหลังที่เป็นเครื่องมือที่เกิดจากการฝนหรือลับ ดังนั้นพวกเขาจึงแบ่งยุคของการใช้เครื่องมือหินที่เกิดจากการกะเทาะนี้ว่า ยุคหินเก่า ส่วนช่วงเวลาที่มีการใช้วิธีการฝนหินในการสร้างเครื่องมือหิน เรียกว่า ยุคหินใหม่ 

 ยุคหินเก่า

       เพื่อสะดวกในการศึกษาทางโบราณคดี พวกเขายังแบ่งแต่ละยุคออกเป็น 3 ตอนได้แก่ ตอนต้น ตอนกลางและตอนปลาย โดยยุคหินเก่าที่แบ่งเป็น 3 ตอน นั้นจัดแบ่งตามลักษณะพิเศษของการยืนตัวตรงของมนุษย์ ได้แก่ มนุษย์วานร มนุษย์โบราณ และมนุษย์ยุคใหม่ ซึ่งเครื่องมือหินที่ผลิตในยุคหินเก่าตอนต้นนั้น มีลักษณะที่เรียบง่าย หยาบ หนาและหนัก รวมทั้งมีลักษณะพิเศษที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือได้หลายชนิด เมื่อมาถึงยุคหินเก่าตอนปลายนั้น เครื่องมือหินที่ทำการผลิตออกมานั้นมีขนาดเล็กลงและหลากหลายมากขึ้น โดยแบ่งเป็นชนิดของเครื่องมือต่าง ๆ ที่ขุดพบได้แก่ ธนู หอกพุ่ง เป็นต้น ซึ่งต้องใช้เทคนิคในการขุดเจาะ อีกทั้งยังพบเครื่องมือหินส่วนหนึ่งที่เกิดจากการฝนหินหรือลับหินอีกด้วย

       ในยุคหินเก่านั้น ผู้คนต้องยังชีพด้วยการเก็บผลไม้ป่าและการตกปลาล่าสัตว์ พวกเขาไม่รู้จักการสร้างบ้าน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันตามโพรงถ้ำ ในยุคหินเก่าตอนต้นนั้น ผู้คนรู้จักการใช้ไฟแล้ว โดยเริ่มจากการเก็บกิ่งไม้ที่เกิดจากไฟไหม้ป่า ต่อมาภายหลังจึงรู้จักวิธีการจุดไฟด้วยตัวเอง เช่นการตีหินให้เกิดประกายไฟ การฝนไม้ให้เกิดความร้อน เป็นต้น และการรู้จักใช้ไฟนี้เองมีส่วนสำคัญต่อวิวัฒนาการของมนุษย์เป็นอย่างมาก พวกเขาเริ่มใช้ไฟส่องทาง ขับไล่สัตว์ป่าที่ดุร้าย ขับไล่ความหนาวเย็น และยังได้เปลี่ยนแปลงความเคยชินจากการบริโภคอาหารดิบมาเป็นอาหารสุกอีกด้วย       

        "จากการกินอาหารที่สุกในยุคหินเก่านี้เอง ได้ช่วยลดกระบวนการในการย่อยอาหาร ทำให้ร่างกายมนุษย์ได้รับสารอาหารที่มากขึ้น และทำให้ระบบการหมุนเวียนโลหิตเปลี่ยนแปลงไป และเร่งการเจริญเติบโตทางสมองยิ่งขึ้น มนุษย์ปักกิ่งเมื่อ 300,000 ปีก่อน มีปริมาตรสมองโดยเฉลี่ย 1,059 มล. ในขณะที่ มนุษย์ถ้ำซึ่งอาศัยอยู่ในช่วงเวลา 100,000 ปีก่อน มีขนาดสมองเฉลี่ย 1,200 – 1,500 มล. ซึ่งใกล้เคียงกับปริมาตรสมองของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน"


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 22 พ.ค. 12, 19:28
เพื่อให้เห็นภาพรวมก่อนจะลงไปในรายละเอียด จึงขออนุญาตแสดงข้อมูลการครองราชย์ของแต่ละยุคสมัยนับแต่อดีตกาลเสียก่อน


ผู้ปกครอง                   เมืองหลวง                                 ปี
ก่อนประวัติศาสตร์                                                     3 ล้านปี - ศตวรรษที่ 21 ก่อนคริสต์ศักราช(B.C.)
ราชวงศ์เซี่ย                                                              ศตวรรษที่21 - 17 B.C.
ราชวงศ์ซาง                      อิน (殷)             1350 ปีก่อน ค.ศ. - 1046 ปีก่อน ค.ศ.
ราชวงศ์โจวตะวันตก.           เฮา (鎬)             1046 ปีก่อน ค.ศ. - 771 ปีก่อน ค.ศ.
ราชวงศ์โจวตะวันออก         ลั่วหยาง (洛陽)              770 ปีก่อน ค.ศ. - 256 ปีก่อน ค.ศ.
ราชวงศ์ฉิน            เสียนหยาง (咸陽)              221 ปีก่อน ค.ศ. - 206 ปีก่อน ค.ศ.
ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก       ฉางอาน (長安)              206 ปีก่อน ค.ศ. - ค.ศ. 9
ราชวงศ์ชิน               ฉางอาน (長安)                         ค.ศ. 8 - ค.ศ. 23 (พ.ศ. 551 - พ.ศ. 566)
ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก          ลั่วหยาง (洛陽)                       ค.ศ. 25 - ค.ศ. 194 (พ.ศ. 568 - พ.ศ. 737)
ราชวงศ์ฮั่นสมัยเฉาเชา         ซวี่ฉาง (许昌)                      ค.ศ. 194 - ค.ศ. 220 (พ.ศ. 737 - พ.ศ. 763)
ราชวงศ์จิ้นตะวันตก           ลั่วหยาง (洛陽)                      ค.ศ. 265 - ค.ศ. 316 (พ.ศ. 808 - พ.ศ. 859)
ราชวงศ์จิ้นตะวันออก          เจียนขั่ง (建康).                     ค.ศ. 317 - ค.ศ. 420 (พ.ศ. 860 - พ.ศ. 963)
ราชวงศ์สุย                 ต้าซิง (大興)                    ค.ศ. 581 - ค.ศ. 618 (พ.ศ. 1124 - พ.ศ. 1161)
ราชวงศ์ถัง              ฉางอาน (長安)                      ค.ศ. 618 - ค.ศ. 907 (พ.ศ. 1161 - พ.ศ. 1450)
ราชวงศ์ซ่งเหนือ                ไคฟง (開封)                      ค.ศ. 960 - ค.ศ. 1127 (พ.ศ. 1503 - พ.ศ. 1670)
ราชวงศ์ซ่งใต้              หลินอัน (臨安).                    ค.ศ. 1127 - ค.ศ. 1279 (พ.ศ. 1670 - พ.ศ. 1822)
ราชวงศ์หยวน                 ต้าตู (大都)                  ค.ศ. 1264 - ค.ศ. 1368 (พ.ศ. 1807 - พ.ศ. 1911)
ราชวงศ์หมิง               นานกิง (南京)                  ค.ศ. 1368 - ค.ศ. 1420 (พ.ศ. 1911 - พ.ศ. 1963)
ราชวงศ์หมิง                ปักกิ่ง (北京)                  ค.ศ. 1420 - ค.ศ. 1644 (พ.ศ. 1963 - พ.ศ. 2187)
ราชวงศ์ชิง                ปักกิ่ง (北京)                  ค.ศ. 1644 - ค.ศ. 1911 (พ.ศ. 2187 - พ.ศ. 2454)
สาธารณรัฐจีน                 ปักกิ่ง (北京)                    ค.ศ. 1912 - ค.ศ. 1928 (พ.ศ. 2455 - พ.ศ. 2471)
สาธารณรัฐจีน                นานกิง (南京)                  ค.ศ. 1928 - ค.ศ. 1937 (พ.ศ. 2471 - พ.ศ. 2480)
สาธารณรัฐจีน.                 อู่ฮั่น (武漢)                  ค.ศ. 1937 (พ.ศ. 2480 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2)
สาธารณรัฐจีน                ฉงชิ่ง (重慶)                  ค.ศ. 1937 - 1945 (พ.ศ. 2480 - 2488)
สาธารณรัฐจีน               นานกิง (南京)                  ค.ศ. 1945 - 1949 (พ.ศ. 2488 - 2492)
สาธารณรัฐจีน              กว่างโจว (廣州)                    ค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492 สงครามกลางเมืองภายในจีน)
สาธารณรัฐจีน                 ฉงชิ่ง (重慶)                    ค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492 สงครามกลางเมืองภายในจีน)
สาธารณรัฐประชาชนจีน        ปักกิ่ง (北京)                  ค.ศ. 1949 (พ.ศ. 2492) - ปัจจุบัน
 


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 22 พ.ค. 12, 19:31
ต้องขออภัยด้วยครับที่แถวตอนดูบิดเบี้ยว อันนี้คงสุดปัญญาเพราะได้พยายามจัดเป็นแถวตอนที่สวยงามแล้วเมื่อตอนลงข้อมูล แต่เมื่อปรากฏจริงกลับบิดเบี้ยว
ข้าน้อยสมควรตาย ขอทุกท่านโปรดอภัยด้วย


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 พ.ค. 12, 20:53
ดิฉันก็ไม่เคยตั้งแถวได้ตรงเหมือนกันค่ะ    ไม่ต้องเป็นห่วง

มาติดตามอ่าน และหาภาพประกอบมาเพิ่มเรตติ้ง


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 22 พ.ค. 12, 22:49
ขออนุญาตครับ

ช่วงรอยต่อระหว่าง ฮั่นตะวันออก ก่อนมาราชวงศ์จิ้นตะวันตก น่าจะต้องมีราชวงศ์เว่ย ด้วยนะครับ เพราะ เฉาพิ(โจผี) ได้ปราบดาภิเษกเป็น เว่ยเหวินตี้ และพระราชทานยศให้พระราชบิดา(เฉาเชา: โจโฉ) เป็นที่ เว่ยอู่ตี้ ถึงแม้ราชวงศ์นี้จะสั้น ๆ แต่นักประวัติศาสตร์จีนก็ยอมรับเป็นราชวงศ์นะครับ

อีกประการ ราชวงศ์ฮั่นตะวันออกยุคเฉาเชา ตรงนี้ส่วนใหญ่เขาก็ไม่ค่อยจะนับกัน เพราะยังถือว่า ฮั่นเสวียนตี้ (เหี้ยนเต้) ยังเป็นจักรพรรดิอยู่นะครับ และราชวงศ์ฮั่นมาสิ้นสุดเมื่อ เว่ยเหวินตี้ ปราบดาภิเษกครับ


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 พ.ค. 12, 23:11
พระเจ้าโจผี หรือ เฉาพิ( 曹丕  หรือ Cáo Pi)


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 22 พ.ค. 12, 23:27
ขออนุญาตครับ

ช่วงรอยต่อระหว่าง ฮั่นตะวันออก ก่อนมาราชวงศ์จิ้นตะวันตก น่าจะต้องมีราชวงศ์เว่ย ด้วยนะครับ เพราะ เฉาพิ(โจผี) ได้ปราบดาภิเษกเป็น เว่ยเหวินตี้ และพระราชทานยศให้พระราชบิดา(เฉาเชา: โจโฉ) เป็นที่ เว่ยอู่ตี้ ถึงแม้ราชวงศ์นี้จะสั้น ๆ แต่นักประวัติศาสตร์จีนก็ยอมรับเป็นราชวงศ์นะครับ

อีกประการ ราชวงศ์ฮั่นตะวันออกยุคเฉาเชา ตรงนี้ส่วนใหญ่เขาก็ไม่ค่อยจะนับกัน เพราะยังถือว่า ฮั่นเสวียนตี้ (เหี้ยนเต้) ยังเป็นจักรพรรดิอยู่นะครับ และราชวงศ์ฮั่นมาสิ้นสุดเมื่อ เว่ยเหวินตี้ ปราบดาภิเษกครับ

ต้องขอบพระคุณที่ช่วยชี้แนะ ผมขอเวลาในการศึกษาประเด็นที่ท่านทักท้วงก่อนนะครับ ถ้าได้ข้อสรุปอย่างไรจากการศึกษา ผมจะขออนุญาตปรึกษาท่าน samun007 อีกครั้งนะครับ ตอนนี้ขออภัยที่จะคงเช่นนี้ไว้ก่อน เพราะต้องรีบไปเตรียมการประชุมสำหรับพรุ่งนี้เช้าครับ


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 22 พ.ค. 12, 23:39
ขอขอบพระคุณท่านเทาชมพูที่ช่วยเพิ่มเรตติ้งโดยการหารูปมาประกอบ
ที่จริงผมก็อยากหารูปมาประกอบครับ เพียงแต่ว่า ผมใช้ iPad มิได้ใช้คอมฯ จะบอกว่า โหลดรูปมาลงด้วย iPad ไม่เป็นก็รู้สึกกระดากอายอย่างมาก
ช่วยชี้แนะผมด้วยครับ
ขอบคุณครับ


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 23 พ.ค. 12, 15:12
ขออนุญาตครับ

ช่วงรอยต่อระหว่าง ฮั่นตะวันออก ก่อนมาราชวงศ์จิ้นตะวันตก น่าจะต้องมีราชวงศ์เว่ย ด้วยนะครับ เพราะ เฉาพิ(โจผี) ได้ปราบดาภิเษกเป็น เว่ยเหวินตี้ และพระราชทานยศให้พระราชบิดา(เฉาเชา: โจโฉ) เป็นที่ เว่ยอู่ตี้ ถึงแม้ราชวงศ์นี้จะสั้น ๆ แต่นักประวัติศาสตร์จีนก็ยอมรับเป็นราชวงศ์นะครับ

อีกประการ ราชวงศ์ฮั่นตะวันออกยุคเฉาเชา ตรงนี้ส่วนใหญ่เขาก็ไม่ค่อยจะนับกัน เพราะยังถือว่า ฮั่นเสวียนตี้ (เหี้ยนเต้) ยังเป็นจักรพรรดิอยู่นะครับ และราชวงศ์ฮั่นมาสิ้นสุดเมื่อ เว่ยเหวินตี้ ปราบดาภิเษกครับ

ช่วงรอยต่อนั้นแท้ที่จริงแล้วมีสองช่วงคือ ระหว่างปี ค.ศ. 194 ถึง 265 และระหว่าง ค.ศ. 420 ถึง 581
เหตุที่เป็นดังนี้เพราะในช่วงแรกนั้นเป็นสมัยของ "สามก็ก" เข้าใจว่าคงตัดสินยากว่าใครคือฮ่องเต้ที่แท้จริง ข้อมูลที่ค้นมาแต่แรกจึงเว้นว่างไว้ (ฮั่นเฉาเชาก็ืคือ โจโฉ ตัวละครเอกในสามก๊ก ซึ่งที่จริงแล้วควรเอาออกจากตารางดงกล่าวข้างต้น จึงเรียนมา ณ ที่นี้)
เช่นเดียวกับในช่วงหลังที่เป็นข่วงสมัยของ "รัฐเหนือใต้" ซึ่งก็เช่นกันเพราะยากที่บอกว่าใครคือฮ่องเต้ที่ปกครองผืนแผ่นดินจีนทั้งปวง

ท่านใดมีความเห็นต่างเชิญแถลงเพื่อเป็นวิทยาทานด้วยครับ


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 23 พ.ค. 12, 15:19
ผมขอเริ่มในรายะเอียดจากราชวงศ์เซี่ยก่อนนะครับ และค่อยๆไล่เรียงไปตามยุคสมัย ถ้าท่านใดมีข้อมูลก็เชิญเข้ามาร่วมกันไขข้อกระจ่างด้วยนะครับ

ราชวงศ์เซี่ย (2,100 ปีก่อนคริสต์ศักราช – 1,700 ปีก่อนคริสต์ศักราช)

                    ราชวงศ์เซี่ยถือเป็นราชวงศ์แรกในประวัติศาสตร์จีนที่เริ่มระบบการปกครองแบบพ่อสืบทอดให้ลูก จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ของซือหม่าเชียน ทำให้นักประวัติศาสตร์จีนมักเริ่มนับยุคสมัยเซี่ยโดยเริ่มจากเซี่ยหวี่ ถึงลวี่กุ่ย หรือเซี่ยเจี๋ย ในระยะเวลา 400 กว่าปี มีกษัตริย์ครองบัลลังก์ 17 พระองค์ มีการสืบทอดอำนาจถึง 14 ชั่วคน       

                    การก่อตั้งราชวงศ์เซี่ยซึ่งมีรากฐานของอำนาจจากการยึดครองทรัพย์สินเป็นของส่วนตัว เป็นสัญญาณว่าสังคมยุคดึกดำบรรพ์ที่ทรัพย์สินเป็นของสาธารณะอันยาวนาน กำลังถูกแทนที่ด้วยสังคมแบบยึดครองทรัพย์สินส่วนตัว และนี่ก็เป็นวิวัฒนาการในประวัติศาสตร์ช่วงเวลาหนึ่ง ทว่า โดยปกติการก่อเกิดของระบบใหม่ มักต้องเผชิญกับแรงต้านจากฝ่ายอนุรักษ์ เมื่อเซี่ยฉี่ บุตรของเซี่ยหวี่เข้ารับสืบทอดตำแหน่งของบิดา ก็ได้เชิญบรรดาหัวหน้าชนเผ่าจากดินแดนต่าง ๆ มาร่วมในงานเลี้ยง เพื่อรับรองการขึ้นสู่ตำแหน่งใหม่ของเขา       

                    กลุ่มฮู่ซื่อไม่พอใจเซี่ยฉี่ ที่ยกเลิกระบบ การคัดสรรผู้มีความสามารถเพื่อดำรงตำแหน่งผู้นำที่มีอยู่เดิม จึงไม่ได้เข้าร่วมในงานเลี้ยงนั้น เซี่ยฉี่จึงยกกองทัพออกไปปราบฮู่ซื่อ โดยทำศึกกันที่กานฮู่ซื่อพ่ายแพ้ถูกลบชื่อออกไป ชัยชนะจากการรบครั้งนี้ ทำให้ก้าวแรกของระบบอำนาจใหม่นี้แข็งแรงขึ้น

                    ระบบการปกครองแบบใหม่นี้ค่อย ๆพัฒนาขึ้น ขณะที่ผู้ปกครองคนใหม่ ต้องเผชิญปัญหาการขาดประสบการณ์ในการปกครอง รากฐานของอำนาจที่มาจากการยึดครองทรัพย์สินเป็นของส่วนตัว ในช่วงระยะของการฟูมฟักของการก้าวขึ้นสู่อำนาจที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ สภาพการขูดรีด แย่งชิง และความกระหายในการเสพสุขของผู้ปกครองก็ยังเป็นไปอย่างรุนแรง และย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงจากการแย่งชิงผลประโยชน์และอำนาจในกลุ่มผู้ปกครองด้วยกันเองได้        

                    ดังนั้น เมื่อเซี่ยฉี่ตายลง บุตรชายของเขาทั้งห้าคนก็แย่งชิงอำนาจกัน ผลคือเมื่อไท่คังได้ขึ้นครองบัลลังก์ต่อจากฉี่ (ครองราชย์ 29 ปี) ก็ไม่สนใจดูแลกิจการงานเมือง เฝ้าหมกมุ่นอยู่กับสุรานารี ต่อมาจึงถูกอี้ซึ่งเป็นผู้นำของรัฐฉง สบโอกาสเข้าแย่งชิงอำนาจ ภายหลังเมื่ออี้ถูกขุนนางของเขาที่ชื่อหานจั๋วสังหารแล้ว เส้าคัง (ครองราชย์ 21 ปี) บุตรชายของไท่คังซึ่งหลบหนีไปรัฐโหย่วหวี ได้รับความช่วยเหลือจากโหย่วหวี รวบรวมขุมกำลังเก่าของเซี่ยขึ้นใหม่ แล้วอาศัยช่วงเวลาที่ภายในของกลุ่มหานจั๋วเกิดความวุ่นวาย เข้าช่วงชิงอำนาจเพื่อกอบกู้ราชวงศ์เซี่ยกลับคืนมา       

                    นี่คือเหตุการณ์ที่เป็นหลักหมายทางประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์เซี่ย ที่เรียกขานกันว่า ‘ไท่คังเสียเมือง อี้ยึดครองเซี่ย และเส้าคังฟื้นฟูเซี่ย ’

                    เมื่อถึงปลายราชวงศ์เซี่ย ศูนย์อำนาจภายในเกิดความวุ่นวาย ภายนอกก่อหวอดไม่หยุดยั้ง ข้อขัดแย้งทางชนชั้นนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อเซี่ยเจี๋ย ได้ขึ้นครองบัลลังก์(ช่วงก่อนคริสศักราช 1763 ครองราชย์ 52 ปี) ก็ไม่คิดจะปฏิรูปแก้ไขสิ่งใด ยังคงเห่อเหิมฟุ้งเฟ้อในอำนาจ โดยสั่งให้ก่อสร้างตำหนักพระราชวัง ใช้จ่ายเงินทองฟุ่มเฟือยมากมาย ร่ำดื่มสุรานารีทุกคืนวัน โดยไม่สนใจใยดีต่อความทุกข์ยากของเหล่าประชาราษฎร์

                     ไพร่ฟ้าจึงพากันก่นด่าประณาม เหล่าขุนนางที่จงรักภักดี กลับถูกสั่งคุมขังหรือประหารชีวิต บรรดาเจ้านายชั้นสูงต่างก็พากันเอาใจออกห่าง เซี่ยเจี๋ยจึงตกอยู่ในฐานะโดดเดี่ยว ซางทัง ซึ่งเป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ซาง เห็นเป็นโอกาสเหมาะ จึงใช้ข้ออ้าง ‘ฟ้ากำหนด’ กล่าวหาว่าเซี่ยทำผิดต่อฟ้า จึงต้องถูกลงทัณฑ์ โดยขอให้ทุกคนรวมพลังกันเข้าโจมตี เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์แห่งฟ้า การศึกระหว่างซางทังและเซี่ยเจี๋ยที่หมิงเถียว ซางทังชนะ เจี๋ยหลบหนีไป และเสียชีวิตที่หนันเฉา ราชวงศ์เซี่ยจึงถึงกาลอวสาน


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 พ.ค. 12, 15:40
ยุคราชวงศ์เซี่ย นี้ใช่ที่ขุดค้นพบกระดองเต่าทำนาย ใช่หรือไม่ครับ  ???


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 23 พ.ค. 12, 16:35
ยุคราชวงศ์เซี่ย นี้ใช่ที่ขุดค้นพบกระดองเต่าทำนาย ใช่หรือไม่ครับ  ???

เท่าที่ถามอากู๋ดูปรากฏว่าเป็นราชวงศ์ซางครับ


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 23 พ.ค. 12, 20:23
ขอปรับเสียงอ่านนิดนึงนะครับ

鎬 เฮ่า
许昌 สวี่ชาง
建康 เจี้ยนคัง


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 23 พ.ค. 12, 22:06
ขอปรับเสียงอ่านนิดนึงนะครับ

鎬 เฮ่า
许昌 สวี่ชาง
建康 เจี้ยนคัง

นี่แหละครับคือความประสงค์ที่ต้องการของผม นั่นคือ ผมตั้งกระทู้และรับผิดชอบปั่นไปเรื่อยๆ และหวังว่าท่านผู้รู้ทั้งหลายจะมาช่วยกันปรับแก้ไขเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์จะได้เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่แวะเข้ามาอ่านโดยเฉพาะอย่างยิ่งคืออนุขนคนไทยของเราที่จะต้องดูแลบ้านเมืองต่อไป

ดังนั้นขออย่าได้เกรงใจที่จะชี้แนะปรับปรุง

ต้องขอขอบพระคุณท่าน CrazyHorse เป็นอย่างมากที่ชี้แนะ ขอบคุณครับ




กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ค. 12, 22:24
จัดหาภาพประกอบมาให้จขกท.
ไม่ทราบว่าระบบของเรือนไทยเปิดโอกาสให้ browse รูปจาก IPAD ได้หรือเปล่า   ไม่เคยลอง     ต้องรอแอดมินมาตอบค่ะ

พระเจ้าอวี่  ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์เซี่ย


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ค. 12, 22:29
เซี่ยเจี๋ย  ปัจฉิมกษัตริย์ของราชวงศ์เซี่ย


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 23 พ.ค. 12, 23:21
ถัดจากราชวงศ์เซี่ยก็มายังราชวงศ์ซางหรือชาง

ราชวงศ์ซาง(1,700 ปีก่อนคริสต์ศักราช – 1,100 ปีก่อนคริสต์ศักราช)

              วงการประวัติศาสตร์ของจีนมักจะเห็นว่าราชวงศ์เซี่ยเป็นราชวงศ์ที่โบราณที่สุดของจีน แต่ข้อมูลเกี่ยวกับราชวงศ์เซี่ยส่วนใหญ่เป็นบันทึกในหนังสือยุคหลังทั้งสิ้น จนถึงปัจจุบันก็ยังค้นไม่พบพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือทางโบราณคดี ส่วนราชวงศ์แรกที่มีพยานหลักฐานที่เชื่อถือได้ และได้จากการค้นพบทางโบราณคดีของจีน คือ ราชวงศ์ชาง

              ในสมัยซางได้มีความเชื่อเกี่ยวกับ ‘ฟ้า’ เกิดขึ้นแล้ว อักษรจารบนกระดูกสัตว์ที่ขุดพบมีอักษรคำว่า ตี้หรือเต้ ซึ่งก็คือ ฮ่องเต้อยู่ด้วย ดังนั้น เมื่อครั้งที่ซางทังยกทัพปราบเซี่ยเจี๋ยกษัตริย์ การขุดค้นทางโบราณคดีและการวิจัยทางศึกษาวิชาการพิสูจน์ว่า ในสมัยราชวงศ์ซาง มีประเทศเกิดขึ้นแล้ว ระบอบกรรมสิทธิ์ก็ได้กำหนดขึ้น ตั้งแต่สมัยนี้เป็นต้นมา จีนก็ได้พัฒนาเข้าสู่สมัยอารยธรรม ในรสชวงศ์ชางนี้ถือได้ว่ามีการประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นใช้เป็นครั้งแรก โดยพบจารึกบนกระดองเต่า และกระดูกวัว เรื่องที่จารึกส่วนใหญ่เป็นการทำนายโชคชะตา จึงเรียกว่า “กระดูกเสี่ยงทาย”


                เมื่อราชวงศ์ซางสืบทอดอำนาจแทนราชวงศ์เซี่ยแล้ว ก็ถือเป็นยุคสมัยที่สองของประเทศจีนที่มีสืบทอดอำนาจแบบสันตติวงศ์ จากสมัยของรัชสมัยไท่อี่หรือซางทัง จนถึง ตี้ซิ่งหรือซางโจ้ว ทั้งสิ้น 17 รุ่น 31 รัชกาล รวมระยะเวลากว่า 600 ปี      

                หลังจากที่ซางทังก่อตั้งประเทศแล้ว เนื่องจากได้รับบทเรียนจากการล่มสลายของราชวงศ์เซี่ย จึงเลิกการกดขี่บังคับราษฎรเช่นอย่างในสมัยของเซี่ยเจี๋ย โดยหันมาใช้หลักเมตตาธรรมในการปกครอง  ทำให้การเมืองภายในของราชวงศ์ซางค่อนข้างเป็นไปด้วยดี ไม่ค่อยมีความขัดแย้ง สภาพทางการเมืองค่อนข้างมีเสถียรภาพ กำลังทหารก็เข้มแข็งมากขึ้น จึงเริ่มทำสงครามกับแว่นแคว้นรอบนอก ซึ่งโดยมากก็ประสบชัยชนะ ดังในบันทึกของเมิ่งจื่อ เมธีแห่งสำนักปรัชญาของขงจื้อ ระบุไว้ว่า ‘ทังสู่สนามรบโดยไร้ผู้ต่อต้าน’ สะท้อนให้เห็นว่าภายใต้การปกครองของซางทัง จีนได้กลายเป็นรัฐที่เข้มแข็งทางการทหาร

                ในรัชสมัยของซางทังผู้ปกครองพระองค์แรก มีเสนาบดีที่ฉลาดปราดเปรื่องคอยช่วยเหลืออยู่ถึง 2 คน ได้แก่ อีหยิ่น และจ้งฮุย จากหลักฐานบันทึกว่า พวกเขาทั้งสองมีบทบาททางการเมืองในการบริหารราชการแผ่นดินไม่น้อยทีเดียว โดยหลังจากพวกเขาดำรงตำแหน่งเสนาบดีซ้ายขวาแล้ว ก็มีผลงานดีเด่นในการบริหารบ้านเมือง รักษาความสงบ และพัฒนาการผลิต เป็นต้น หลังจากจ้งฮุยเสียชีวิต บทบาททางการเมืองของอีหยิ่นก็ยิ่งโดดเด่นมากขึ้น จนกลายเป็นเสนาบดีเก่าแก่คนสำคัญในรัชสมัยซางทังจนถึงไท่เจี่ย      

                หลังจากซางทังสิ้นพระชนม์ เนื่องจากบุตรชายคนโตไท่ติง ได้เสียชีวิตไปก่อน ดังนั้นราชบัลลังก์จึงตกเป็นของบุตรชายคนรองชื่อไว่ปิ่ง เมื่อไว่ปิ่งเสียชีวิต น้องชายของเขาจงเหยิน ก็สืบตำแหน่งต่อมา เมื่อจงเหยินสิ้นชีวิตลง ราชบัลลังก์ก็ส่งผ่านไปยังบุตรชายของไท่ติง อันได้แก่ ไท่เจี่ย ซึ่งก็ถือว่าเป็นรุ่นหลานของซางทัง      

                จากบันทึกประวัติศาสตร์ว่าด้วยชนเผ่ายิน กล่าวว่า “ไท่เจี่ยครองราชย์สามปี ไม่อยู่ในธรรม ไม่เคารพกฎของซางทัง จนถูกอีหยิ่นจับคุมขังไว้ในวังถึง 3 ปี จึงรู้สำนึกผิด อีหยิ่นจึงเชิญไท่เจี่ยกลับสู่บัลลังก์ จากนั้น ไท่เจี่ยก็ปกครองแผ่นดินด้วยเมตตาธรรม กระทั่งเหล่าขุนนางยอมสยบ ไพร่ฟ้าอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข นี่เป็นเรื่องเล่าที่แสดงว่า อีหยิ่นเป็นผู้ธำรงการปกครองโดยหลักธรรม ทำให้ราชวงศ์ซางสามารถปกครองแผ่นดินด้วยความสงบร่มเย็นมาเป็นเวลานาน และได้กลายเป็นเรื่องเล่าขานต่อมา จนทำให้ชื่อเสียงของอีหยิ่น ได้รับการเชิดชูและนำมาใช้เรียก ผู้ที่มีเมตตาธรรมและคุณธรรมสูงส่ง

                ทว่า การปกครองด้วยการแบ่งชนชั้น ย่อมไม่อาจสลายความละโมบในอำนาจและการแก่งแย่งผลประโยชน์ภายในวังหลวงได้ บันทึกประวัติศาสตร์ของชนเผ่ายิน ระบุไว้ว่า “นับแต่รัชสมัยจ้งติงเป็นต้นมา ผู้ปกครองได้ละทิ้งความชอบธรรม แต่งตั้งเชิดชูแต่พวกพ้อง เหล่าญาติมิตรต่างพากันแบ่งฝักฝ่ายเพื่อแย่งชิงอำนาจ เกิดความวุ่นวายไม่หยุดหย่อน เป็นเหตุให้เหล่าขุนนางกบฏก่อศึกล้มล้างราชบัลลังก์”      

                จากสมัยจ้งติงจนถึงผานเกิงนับได้ 9 ชั่วรุ่น เต็มไปด้วยการแย่งชิงบัลลังก์ภายในราชวงศ์ซาง อันเป็นต้นเหตุแห่งการล่มสลายของราชวงศ์ และท่ามกลางความวุ่นวายในช่วงนี้ ก็ได้มีการย้ายเมืองหลวงอยู่บ่อยครั้ง      

                มีหลักฐานระบุว่า ในสมัยราชวงศ์ซางมีการย้ายเมืองหลวงถึง 5 ครั้ง ได้แก่ รัชสมัยจ้งติงย้ายจากเมืองป๋อไปเมืองอ๋าว รัชสมัยเหอตั้นเจี่ยย้ายจากอ๋าวไปเมืองเซี่ยง รัชสมัยจู่อี่ย้ายไปเมืองปี้ รัชสมัยหนันเกิงย้ายไปเมืองอั่นและรัชสมัยผานเกิงย้ายจากเมืองอั่นไปเมืองเป่ยเหมิงหรือเมืองยิน (บริเวณเมืองอันหยางของมณฑลเหอหนานในปัจจุบัน)

                ราชวงศ์ซางนี้บางคนก็เรียกราชวงศ์อินซาง เป็นยุคแห่งไสยศาสตร์โดยแท้ นิยมการเสี่ยงทายด้วยกระดองเต่ากันมาก ราชวงศ์นี้ ได้มีการขุดพบหลักฐานมากมาย จึงเชื่อว่ามีอยู่จริง โดยหลักฐานที่ขุดได้เป็นแผ่นจารึกตัวอักษรโบราณและเศษกระดองเต่า เป็นยุคที่เชื่อถือในอำนาจแห่งสวรรค์มาก ถือว่าทุกสิ่งนั้นสวรรค์เป็นผู้กำหนด

               กษัตริย์องค์สุดท้ายคือ พระเจ้าอินโจวหรือโจ้ว (ติวอ๋อง) ซึ่งในประวัติศาสตร์ประณามไว้ว่า เป็นคนโหดร้ายทารุณมาก นิยมการสงคราม และหลงใหลในอิสตรี โดยเฉพาะสนมเอกชื่อ ต๋าจี หรือขันกี ซึ่งเป็นคนวิปริตผิดมนุษย์ คอยยุยงให้โจ้วฆ่าคนเป็นผักปลา สร้างสระเหล้าดงเนื้อขึ้น (เอาน้ำเหล้ามาใส่ในสระ แล้วเอาเนื้อสัตว์มาห้อยไว้ตามต้นไม้) ต่อมา โจวอู่หวัง เจ้าผู้ครองแคว้นโจว ทางตะวันตก ได้ยกทัพมาปราบโจ้วอ๋อง โดยอ้างว่า ได้รับ "อาณัติ" หรือ "เทียนมิ่ง" จากสวรรค์ให้มาปราบ และได้ชัยชนะ โจ้วอ๋องจึงฆ่าตัวตายโดยกระโดดลงกองไฟ แต่จริงๆ แล้ว นักประวัติศาสตร์ยังไม่แน่ใจนัก ว่าโจ้วอ๋องจะโหดร้ายเช่นนั้นจริงหรือไม่ เพราะไม่มีหลักฐานชัดเจน รวมทั้งเรื่องเกี่ยวกับต๋าจีด้วย เรื่องราวในตอนท้ายราชวงศ์ซางนี้ ได้มีการนำไปแต่งเป็นนิยายหลายเรื่อง หนึ่งในเรื่องนั้นก็คือ "นาจา" นั่นเอง และหนังสือพงศาวดารชื่อว่า "ฮ่องสิน" โดยจะเน้นหนักไปทางอิทธิปาฏิหาริย์เสียมาก


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ค. 12, 09:13
เคยสอนพงศาวดารเรื่อง ห้องสิน ให้นศ.ปริญญาโทของสถาบันวิจัยภาษาฯ ของมหิดล เพื่อศึกษาภาษาไทยที่ใช้แปลพงศาวดารจีนสมัยต้นรัตนโกสินทร์      เรื่องห้องสิน เราเคยคุยกันมาในเรือนไทยบ้างค่ะ
พูดจากเนื้อเรื่อง ถ้าตัดส่วนที่เสริมแต่งเข้าไปเป็นปาฏิหาริย์โลดโผนตื่นเต้น    มองด้านการเมืองก็พอจะมองเห็นได้ว่า นางขันกีน่าจะเป็นไส้ศึกของฝ่ายใดฝายหนึ่งที่ประสงค์จะล้มล้างบัลลังก์พระเจ้าติวอ๋อง    นี่ตัดประเด็นว่านางเป็นโรคจิตประเภท Sadism ออกไปนะคะ     เพราะพฤติกรรมของนางที่เหี้ยมโหดบ้าคลั่ง อย่างไร้ที่มาที่ไป  ข่มเหงรังแกราชสำนักและแม่ทัพนายกองฝีมือดี  ล้วนเป็นการบั่นทอนกำลังของพระเจ้าติวอ๋องให้อ่อนแอลงจนเสียบัลลังก์ในที่สุด

ในห้องสิน  แปลปีศาจที่มาสิงนางขันกี ว่าเป็นปีศาจเสือปลา     แต่ปัจจุบันอ่านในอินทรเนตร ที่ทำเป็นหนังสือและภาพยนตร์  เรียกว่าปีศาจจิ้งจอก      ตัวนี้น่าจะเป็นตัวเดียวกับที่เกร็ดพงศาวดารจีนยุคหลังอย่างเรื่องจอยุ่ยเหม็งเรียกว่าตัวฮู่ลี้   ในเรื่องจอยุ่ยเหม็งแปลว่าชะมด   
ฝากถามคนรู้ภาษาจีนว่า ฮู่ลี้นี่มันตัวอะไรกันแน่ คะ


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: POJA ที่ 24 พ.ค. 12, 11:10
เข้ามาลงทะเบียนเรียน
แต่ยังอ่านตามไม่ทัน

ยังไม่สอบใช่ไหมเจ้าคะ
 
 :)   :D   ;D


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 24 พ.ค. 12, 13:54
ฮู่ลี้คือ 狐狸 (จีนกลางอ่านว่า หูหลี) แน่นอนว่าเป็นตัวเดียวกับปีศาจเสือปลาหรือปีศาจจิ้งจอกที่เข้าสิงนางขันกี  และก็ชะมดในจอยุ่ยเหม็งด้วยครับ

ลองเอาชื่อ 狐狸 ไปหยอดใน google ดูสิครับ


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 พ.ค. 12, 14:19
狐狸 = หมาจิ้งจอก

แล้วทำไมแปลเป็นเสือปลากับชะมดไปได้

 ???


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 24 พ.ค. 12, 20:33

ช่วงรอยต่อนั้นแท้ที่จริงแล้วมีสองช่วงคือ ระหว่างปี ค.ศ. 194 ถึง 265 และระหว่าง ค.ศ. 420 ถึง 581
เหตุที่เป็นดังนี้เพราะในช่วงแรกนั้นเป็นสมัยของ "สามก็ก" เข้าใจว่าคงตัดสินยากว่าใครคือฮ่องเต้ที่แท้จริง ข้อมูลที่ค้นมาแต่แรกจึงเว้นว่างไว้ (ฮั่นเฉาเชาก็ืคือ โจโฉ ตัวละครเอกในสามก๊ก ซึ่งที่จริงแล้วควรเอาออกจากตารางดงกล่าวข้างต้น จึงเรียนมา ณ ที่นี้)
เช่นเดียวกับในช่วงหลังที่เป็นข่วงสมัยของ "รัฐเหนือใต้" ซึ่งก็เช่นกันเพราะยากที่บอกว่าใครคือฮ่องเต้ที่ปกครองผืนแผ่นดินจีนทั้งปวง

ท่านใดมีความเห็นต่างเชิญแถลงเพื่อเป็นวิทยาทานด้วยครับ


ถ้าลองอ่านดูในคำศัพท์ที่ใช้บันทึกระหว่างแต่ละก๊ก นักประวัติศาสตร์อย่างเฉินโซ่ว ใช้ราชาศัพท์กับก๊กเว่ย หรือ เฉาเว่ย ครับ

ส่วนก๊กสู่ กับ ก๊กหวู ใช้คำศัพท์สำหรับหวัง(อ๋อง) ธรรมดาเท่านั้น

ในช่วง ระหว่างปี ค.ศ. 194 ถึง 265 ยังต้องนับเป็น ฮั่นตะวันตก อยู่ เพราะ เฉาเชา ไม่ได้สถาปนาตัวเองเป็น เทียนตี้(ฮ่องเต้ : Emperor) แต่เป็นแค่ เว่ยหวัง(วุยอ๋อง Wei Wang) ใน ค.ศ. ๒๑๖ เท่านั้น

จนกระทั่ง ค.ศ. ๒๒๐ เฉาผิ จึงได้ปราบดาภิเษกเป็น จักรพรรดิเว่ยเหวิน (เว่ยเหวินตี้) นั่นเอง

ตามธรรมเนียมจีน สามารถมีเจ้าผู้ครองนครในแผ่นดินได้หลายองค์ แต่เจ้าผู้ครองนครทุกองค์ ต้องอยู่ภายใต้กษัตริย์(เทียนตี้) องค์เดียวเท่านั้น

เพราะฉะนั้น จะมี ฉีหวัง, ฉู่หวัง, เว่ยหวัง, เยี่ยนหวัง, ฉินหวัง, จ้าวหวัง, หานหวัง ฯลฯ อื่น ก็ได้แล้วแต่ใครจะสถาปนาแคว้นตัวเองได้ แต่ถ้าตราบใดยังไม่ได้สถาปนาตัวเองเป็น เทียนตี้ ก็เป็นแค่สถานะเจ้าผู้ครองนครธรรมดาเท่านั้นเอง

ถ้าเทียบกับยุคอยุธยา ก็คงจะเป็น เจ้านครเชียงใหม่, พระมหาธรรมราชาแห่งพิษณุโลก , พระยาศรีธรรมาโศกราชแห่งนครศรีธรรมราช ซึ่งทั้งหมด ต้องอยู่ใต้อาณัติของ พระมหากษัตริย์แห่งพระนครศรีอยุธยานั่นเองครับ


  


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ค. 12, 22:57
狐狸 = หมาจิ้งจอก

แล้วทำไมแปลเป็นเสือปลากับชะมดไปได้

 ???
ห้องสินแปลในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ด้วยกรรมวิธีเดียวกับสามก๊ก คือมีคณะแปลทั้งจีนและไทย     ขอเดาว่าซินแสจีนคงอพยพมาอยู่ในอาณาจักรไม่นานพอจะรู้จักหมาจิ้งจอก   เมื่อพยายามอธิบายตัวหูหลีว่ามันคืออะไรให้ท่านมหาทั้งหลายฝ่ายไทยฟัง    ก็เกิดการตีความกันขึ้นทางฝ่ายไทย    แล้วคงมีใครสักคนลงความเห็นว่าเป็นเสือปลา(ละมั้ง)
ในจอยุ่ยเหม็ง เมื่อนางปีศาจแปลงตัวมาเป็นสาวงาม  ถูกจอยุ่ยเหม็งหักนิ้วกลาง ฤทธิ์ก็เสื่อม กลายร่างกลับไปเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง หน้าแหลม หางเป็นพวง ตาแดงเป็นไฟ   ผู้แปลอธิบายว่าเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง คล้ายๆชะมด   บทต่อๆมาเรียกว่าปีศาจชะมดเต็มปาก

ชาวกรุงรัตนโกสินทร์น่าจะคุ้นกับหน้าตาชะมด และเสือปลา มากกว่าหมาจิ้งจอก   เดาจากการแปลเกร็ดพงศาวดารจีน

คุณเพ็ญชมพูคงรู้จักดีทั้งหมาจิ้งจอกและชะมด  ว่าคล้ายกันมากน้อยแค่ไหน   


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 24 พ.ค. 12, 23:30
ขอบคุณท่าน Samun007 ที่ช่วยเติมเต็มในส่วนที่ขาดครับ


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 25 พ.ค. 12, 11:03
มาติดตามราชวงศ์ต่อไปของจีนกันต่อนะครับ ราชวงศ์ต่อไปคือ

ราชวงศ์โจวตะวันตก (1,100 ปีก่อนคริสต์ศักราช – 771 ปีก่อนคริสต์ศักราช)

                 โจวมีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน เดิมอาศัยอยู่ในแถบเสียกาน ต่อมาอพยพไปตั้งรกรากยังโจวหยวนซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของอำเภอฉีซานมณฑลส่านซีของจีน เมื่อ 1,100 ปีก่อนคริสต์ศักราชชนเผ่าต้นตระกูลโจวก็มีขุมกำลังเข้มแข็งขึ้น พวกเขาทางหนึ่งรวบรวมรัฐเล็ก ๆรอบข้างเข้ามา อีกทางหนึ่งโยกย้ายนครหลวงจากโจวหยวนมายังดินแดนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเฟิง หรืออำเภอฉางอานในปัจจุบัน โดยตั้งเป็นเมืองเฟิงจิง จากนั้นแพร่ขยายอิทธิพลไปทางทิศตะวันออก ทำให้เกิดข้อพิพาทกับราชวงศ์ซาง        

                 ขณะนั้นราชวงศ์ซางในรัชสมัยตี้ซิ่งหรือซางโจ้วนั้น ได้กักขังซีป๋อชั่ง(หรือต่อมาเป็นโจวเหวินหวังผู้นำของราชวงศ์โจว)ไว้ที่โหย่วหลี่มาระยะเวลาหนึ่งแล้ว ขุนนางของโจวถวายหญิงงามและเพชรนิลจินดามากมายให้แก่ซาง ตี้ซิ่งจึงยอมปล่อยตัวซีป๋อชั่ง เมื่อซีป๋อชั่งกลับถึงรัฐของตน ก็เร่งระดมพลเพื่อยกทัพบุกซาง ในเวลานั้น การเมืองภายในราชวงศ์ซางล้มเหลวฟอนเฟะ เกิดการแตกแยกทั้งภายในนอก โจวเหวินหวัง  เห็นว่าสถานการณ์สุกงอมแล้ว ขณะตนใกล้สิ้นลมจึงกำชับสั่งเสียให้บุตรชายไท่จื่อฟา หรือโจวอู่หวัง  รวบรวมไพร่พลยกทัพบุกซาง

                 เมื่อโจวอู่หวังขึ้นสืบทอดราชบัลลังก์ต่อจากโจวเหวินหวัง ก็กรีฑาทัพครั้งใหญ่โดยมี พลรถ 300 พลทหารราบ 450,000 หน่วยกล้าตาย 3,000 มุ่งสู่ตะวันออก ระหว่างทางบรรดารัฐเล็ก ๆได้แก่ ยง  สู  เชียง  จง  เวย  หลู  เผิง  ผู  เป็นต้น ต่างยอมสวามิภักดิ์เข้าร่วมกับกองทัพ โจวอู่หวังได้ประกาศโทษทัณฑ์ความผิดของซางโจ้ว ซางโจ้วจึงจัดทัพ 170,000 ออกมาสู้รบด้วยโจวอู่หวัง ทว่าเหล่าทหารของซางไม่มีกำลังใจสู้รบ ต่างพากันทิ้งอาวุธหลบหนี เป็นเหตุให้ทัพโจวได้ชัยชนะ ฝ่ายซางโจ้วหลบหนีไป ภายหลังเสียชีวิตที่ลู่ไถ ราชวงศ์ซางจึงล่มสลาย นับแต่นั้นมา ประวัติศาสตร์จีนก็เข้าสู่ยุคราชวงศ์โจว 

                 โจวอู่หวังเมื่อได้ชัยชนะเหนือซางแล้ว ก็เข้าครอบครองดินแดนที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของซาง อีกทั้งยังปราบปรามรัฐเล็ก ๆ รอบข้าง ทว่าปัญหาอันหนักอึ้งที่โจวอู่หวังต้องเผชิญก็คือการจะรักษาผืนแผ่นดินตะวันออกนี้ไว้ได้อย่างไร ดังนั้น เขาจึงเลือกใช้นโยบาย ‘เมืองหน้าด่าน’ โดยมอบหมายให้ญาติพี่น้องและขุนนางที่มีความดีความชอบออกไปปกครองยังดินแดนต่าง ๆ ตั้งให้เป็นผู้ครองแคว้น โดยผู้ครองแคว้นจะได้รับอำนาจในการปกครองดินแดนรอบนอกผืนหนึ่ง อีกทั้งพวกเขาเหล่านั้นยังถือเป็นผู้พิทักษ์ราชสำนักโจวอีกด้วย จึงนับได้ว่าราชวงศ์นี้เป็นราชวงศ์แรกที่เริ่มใช้ระบบ "ศักดินา" และเป็นราชวงศ์แรกที่เริ่มแบ่งดินแดนออกเป็นแคว้นและแต่งตั้งเชื้อพระวงศ์แซ่เดียวกันขึ้นเป็น อ๋อง พร้อมกับส่งอ๋องเหล่านั้นไป ปกครองแคว้นต่างๆ

                 โจวอู่หวังยังได้แต่งตั้งให้อู่เกิง บุตรของซางโจ้วดูแลแคว้นซาง เพื่อสามารถควบคุมชาวซางต่อไป โดยส่งน้องชายของเขา ได้แก่ ก่วนซู่  ไช่ซู่ และฮั่วซู่ ให้คอยตรวจสอบอู่เกิง นอกจากนี้ ยังแต่งตั้งให้โจวกงตั้น ไปปกครองแคว้นหลู่ ส่วนเจียงซ่างไปปกครองแคว้นฉี และเส้ากงซื่อ ไปครองแคว้นเอี้ยน        

                 หลังจากโจวอู่หวังสิ้นพระชนม์ เฉิงหวัง บุตรชายของเขาได้สืบทอดราชบัลลังก์ แต่เนื่องจากยังอยู่ในวัยเยาว์ จึงมอบหมายให้โจวกงตั้นหรือโจวกง เป็นผู้สำเร็จราชการแทน เป็นเหตุให้ก่วนซู่และไช่ซู่ไม่พอใจโจวกง จึงปล่อยข่าวใส่ร้ายโจวกงกล่าวหาว่าวางแผนชิงบัลลังก์ ต่อมา อู่เกิงก็เข้าร่วมกับก่วนซู่และไช่ซู่รวบรวมแว่นแคว้นเล็ก ๆ ทางภาคตะวันออก อันได้แก่สวี เหยี่ยน ป๋อกู เป็นต้น เพื่อเป็นฐานก่อการกบฏ โจวกงจึงต้องใช้กำลังทหารเข้าปราบปราม โดยใช้เวลา 3 ปี สุดท้ายจึงสามารถปราบกบฏอู่เกิง ก่วนซู่และไช่ซู่ลงได้ ประหารอู่เกิงและก่วนซู่ เนรเทศไช่ซู่ จากการปราบกบฏครั้งนี้ ทำให้ราชวงศ์โจวมีรากฐานที่มั่นคงยิ่งขึ้น 

                 สืบเนื่องจากโจวอู่หวังเมื่อล้มล้างราชวงศ์ซางแล้ว ก็กลับไปนครหลวงเฮ่าจิง (ย้ายมาจากเฟิงจิง)แล้วพบว่า ระยะทางระหว่างเมืองเฮ่าจิงกับศูนย์กลางการปกครองแห่งใหม่อยู่ห่างไกลกันเกินไป ดังนั้นจึงคิดจะย้ายมาสร้างเมืองหลวงใหม่ในแถบลุ่มแม่น้ำอีและแม่น้ำลั่ว ซึ่งเป็นศูนย์กลางของชนเผ่าเซี่ยมาแต่เดิม แต่ความคิดนี้ยังไม่ทันได้เป็นจริง ก็ล้มป่วยสิ้นพระชนม์ลงเสียก่อน จากจารึกที่ขุดได้จากเมืองเป่าจีพบว่า โจวเฉิงหวัง เมื่อได้สืบทอดราชบัลลังก์แล้ว ก็ได้สานต่อแนวปณิธานของโจวอู่หวัง โดยกำหนดตั้งเมืองหลวงใหม่บริเวณลุ่มแม่น้ำอีและแม่น้ำลั่วซึ่งอยู่ใกล้เมืองลั่วหยัง ในปัจจุบัน โดยใช้เมืองใหม่นี้เป็นศูนย์กลางการปกครองแห่งใหม่ ซึ่งก็สามารถร่นระยะทางไปได้มากทีเดียว  

                 เพราะเพื่อการนี้ เฉิงหวังได้เคยแต่งตั้งให้เส้ากงซื่อหรือเส้ากง ไป ‘สำรวจ’ละแวกเมืองลั่วหยัง ไม่นานนัก เมืองหลวงแห่งใหม่คือ ลั่วอี้หรือนครหลวงตะวันออก ก็รวมเข้ากับเมืองเฮ่าจิง เมืองหลวงเดิมซึ่งโจวอู่หวังได้สร้างไว้ กลายเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรม การปกครอง และการทหารของราชวงศ์โจวตะวันตก และเพื่อล้มล้างแนวคิดกอบกู้บ้านเมืองของประชาชนชาวซาง เฉิงหวังจึงอพยพชาวยินหรือซางเข้าสู่เมืองเฉิงโจวเมืองหลวงแห่งใหม่

                 "เมื่อโจวหวังพระราชทานที่ดินและไพร่พลให้แก่บรรดาเจ้าแคว้นนั้น ก็ต้องจัดพิธีรับที่ดินและไพร่พลนั้น เหล่าเจ้าครองแคว้นที่ได้รับการแต่งตั้ง ต้องมีกำหนดเวลาแน่นอนเพื่อเข้าเฝ้าโจวหวัง โดยมีภารกิจในการปกป้องราชสำนักโจว พวกเขายังจะต้องส่งบรรณาการให้กับโจวหวังด้วย (รวมทั้งการเกณฑ์ทหารไพร่พล) หากไม่ส่งบรรณาการก็จะถือว่าคิดการก่อกบฏต่อราชสำนัก" 

               ราชวงศ์นี้มีกษัตริย์ปกครองทั้งสิ้น 12 พระองค์ ก่อนที่จะสิ้นสุดราชวงศ์ในรัชสมัยของ พระเจ้าโจวอิวหวัง

               สมัยของโจวอิวหวาง กษัตริย์องค์ที่ 12 ซึ่งหลงใหลมเหสีมาก มเหสีมีนามว่า เปาสี กล่าวกันว่านางเป็นคนสวยมาก แต่เป็นคนยิ้มไม่เป็น ทำให้โจวอิวหวางกลุ้มใจมาก ถึงกับตั้งรางวัลไว้พันตำลึง สำหรับผู้ที่ออกอุบายให้นางยิ้มได้ วันหนึ่ง คิดอุบายได้ด้วยการจุดพลุให้อ๋องต่าง ๆ เข้าใจว่า ข้าศึกบุกเมืองหลวงแล้ว เมื่อยกทัพมาถึงกลับไม่มีอะไร ทำให้เปาสียิ้มหัวเราะออกมาได้ แต่อ๋องต่าง ๆ โกรธมาก แล้วในที่สุด ก็มีข้าศึกยกมาตีเมืองหลวงจริง ๆ โจวอิวหวางได้จุดพลุขึ้นอีกครั้ง แต่คราวนี้ไม่มีอ๋องคนไหนเชื่อ เลยไม่มีใครยกทัพมาช่วย ข้าศึกจึงตีเมืองได้ โจวอิวหวางถูกฆ่าตาย นางเปาสีถูกจับตัวไป ยิ้มของนางต่อมาถูกเรียกว่า "ยิ้มพันตำลึงทอง" ซึ่งเป็นยิ้มที่นำความวิบัติ มาสู่ราชวงศ์โจวโดยแท้ ต่อมา พวกอ๋องต่าง ๆ ได้ยกทัพมาช่วยตีข้าศึก แล้วตั้งโจวผิงหวาง โอรสของโจวอิวหวาง เป็นกษัตริย์ต่อไป ราชวงศ์โจวจึงต้องย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่ลกเอี๋ยง (ลั่วหยาง ในปัจจุบัน) ซึ่งอยู่ทางตะวันออก เรียกว่า ราชวงศ์โจวตะวันออก หรือ ตงโจว (Eastern Zhou)

ราชวงศ์โจวตะวันออก(771-256 ปีก่อน ค.ศ.) เป็นราชวงศ์ที่ปกครองสืบต่อจากราชวงศ์โจวตะวันตกโดยมีเมืองหลวงอยู่ที่ลั่วหยาง ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของเมืองซีอาน เมืองหลวงเก่าของราชวงศ์โจวตะวันตกปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์นี้คือพระเจ้าโจวผิงหวัง ราชวงศ์นี้เป็นราชวงศ์แค่ในนามเพราะองค์กษัตริย์ทรงไร้พระราชอำนาจที่จะปกครองเหล่าอ๋องต่างๆ ได้ เนื่องจากอ๋องต่างๆ ได้แข็งเมืองและทำสงครามแย่งชิงอำนาจกัน
ในสมัยราชวงศ์นี้การแย่งชิงอำนาจกันของเหล่าอ๋องแบ่งเป็น 2 ยุคโดยยุคแรกเรียกว่า ยุคชุนชิว ยุคที่สองเรียกว่า ยุคจ้านกว๋อ



กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 25 พ.ค. 12, 11:41
ชุนชิว - จ้านกั๋ว (770 - 221 B.C.)

ยุคชุนชิว (แปลว่า ยุคฤดูใบไม้ผลิและใบไม้ร่วง หรือ ฤดูวสันต์และฤดูสารท ภาษาอังกฤษ: Spring and Autumn Period, ภาษาจีน: 春秋時代, พินอิน: Chūnqiū Shídài) ยุคสมัยหนึ่งกินระยะเวลาประมาณ 770 ปีก่อนคริสต์ศักราช – 453 ปีก่อนคริสต์ศักราช (บางข้อมูลถือ 365 ปีก่อนคริสต์ศักราช - 482 ปีก่อนคริสต์ศักราช) เป็นยุคหนึ่งในราชวงศ์โจว ราชวงศ์ที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์จีน นับเป็นยุคสมัยที่ได้รับการกล่าวขานอย่างมากในแง่ต่าง ๆ เนื่องจากเป็นยุคที่นครรัฐแต่ละรัฐรบด้วยด้วยกลอุบายที่แยบยล ก่อให้เกิดเป็นตำนานและเรื่องเล่าขานมากมายจนปัจจุบัน และเป็นต้นเรื่องที่ทำให้เกิดวรรณคดีจีนเรื่องสำคัญอีกเรื่อง คือ เลียดก๊ก ซึ่งการรบในยุคเลียดก๊กนั้นหลายเรื่องได้ถูกอ้างอิงในสามก๊กที่เกิดหลังจากนี้อีกนับพันปีต่อมา
อีกแง่หนึ่ง เป็นยุคที่นักปราชญ์บัณฑิตแต่ละสาขาได้ถือกำเนิดและมีชีวิตอยู่ ซึ่งได้แต่งตำราหรือคำสอนต่าง ๆ ที่ตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน เช่น ขงจื๊อ, เล่าจื๊อ, เม่งจื๊อ, ม่อจื๊อ เป็นต้น ในส่วนของปราชญ์แห่งสงคราม ก็คือ ซุนวู นั่นเอง

                 ราชวงศ์โจวปกครองด้วยกษัตริย์อย่างเข้มแข็งมากว่า 11 องค์ จนกระทั่งถึงรัชกาลของโจวอิวหวาง รัชกาลที่ 12 อำนาจของราชวงศ์โจวก็เริ่มเสื่อมถอย เพราะโจวอิวหวางงมัวแต่หมกมุ่นกับสุราและนารี จนกระทั่งถูกข้าศึกจับกุมตัวไป 7 ปีต่อมา กองทัพผสมของอ๋องต่าง ๆ ในแต่ละรัฐได้รวมตัวกันขับไล่ข้าศึกออกไป และอัญเชิญโอรสของโจวอิวหวางขึ้นครองราชย์ มีพระนามว่า โจวผิงหวาง ได้มีการย้ายเมืองหลวงจากเมืองเฮ่าจิง มาอยู่ที่ลกเอี๋ยง (ลั่วหยาง ในปัจจุบัน) ซึ่งอยู่ทางตะวันออก ยุคนี้ต่อมานักประวัติศาสตร์จึงได้เรียกว่า ยุคราชวงศ์โจวตะวันออก (Eastern Zhou) หรือ ยุคชุนชิว นั่นเอง (ที่เรียกว่า ชุนชิว ที่หมายถึง ฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วงนั้นมาจากชื่อคำภีร์ของขงจื๊อที่บันทึกเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ในยุคนี้ ที่ชื่อ บันทึกแห่งฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง หรือ ชุนชิว ซึ่งเป็นคำภีร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของขงจื๊อด้วย ผู้คนจึงเรียกชื่อยุคนี้ตามคำภีร์ และคำภีร์เล่มนี้ก็นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า ชุนชิว เช่นกัน) ซึ่งยุคนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ยุคใหญ่ต่อเนื่องกัน ๆ คือ
ยุคชุนชิว (770 ปีก่อนคริสต์ศักราช – 453 ปีก่อนคริสต์ศักราช)
ยุคจ้านกว๋อ (เลียดก๊ก ในภาษาแต้จิ๋ว) (477 ปีก่อนคริสต์ศักราช - 222 ปีก่อนคริสต์ศักราช)

                ในยุคชุนชิวนั้น นครรัฐต่าง ๆ ที่เคยมีอย่างมากมายในยุคราชวงศ์โจวก่อนหน้านั้น เหลือเพียง 140 รัฐ จากการถูกผนวกรวมเป็นหนึ่งเดียวกับรัฐที่เข้มแข็งกว่า มีบันทึกว่า รัฐหลู่ทำลาย 58 รัฐ รัฐจิ้นทำลาย 24 รัฐ รัฐฉินทำลาย 15 รัฐ รัฐฉีทำลาย 14 รัฐ รัฐเจิ้งทำลาย 6 รัฐ รัฐอู๋ทำลาย 5 รัฐ และรัฐทั้ง 140 รัฐนี้ มีรัฐที่เรียกได้ว่าเป็นรัฐขนาดใหญ่ มีอำนาจที่แท้จริงไม่ถึง 10 รัฐ
                รัฐใหญ่เหล่านี้ มีผู้ปกครองเรียกว่า "อ๋อง" มเหสีเรียกว่า "ฮองเฮา" และอัครมหาเสนาบดีเรียกว่า "ไจ่เซี่ยง" เช่นเดียวกับราชวงศ์โจว แม้กษัตริย์ของราชวงศ์โจวยังคงอยู่ในตำแหน่ง แต่ก็ต้องโอนเอียงไปตามความปรารถนาของอ๋องแต่ละรัฐ นับได้ว่าเป็นเพียงหุ่นเชิดเท่านั้น
สำหรับเจ้าผู้ครองรัฐใหญ่เหล่านี้ ต่างแย่งชิงกันเป็น "ป้าจู่" (ปาอ๋อง) หมายถึง เจ้าผู้ปกครองรัฐที่มีอำนาจสูงสุด สำหรับอ๋องในยุคชุนชิวที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็น ปาอ๋อง อย่างแท้จริงมี 5 คน คือ ฉีหวนกง, จิ้นเหวินกง, ฉินมู่กง,ซ่งเซียงกง และ ฉู่จวงหวาง

อุบายนางงามไซซี
                ไซซี หรือ ซีซือ เป็นหนึ่งในสี่หญิงงามแห่งแผ่นดินจีน เกิดประมาณ ปี 506 ก่อนคริสตกาล ซึ่งตรงกับยุคชุนชิว ที่มณฑลเจ้อเจียง ในรัฐเยว่ (State of Yue)
                ไซซีได้รับฉายานามว่า "มัจฉาจมวารี" (沉魚) ซึ่งหมายถึง "ความงามที่ทำให้แม้แต่ฝูงปลายังต้องจมลงสู่ใต้น้ำ" (so beautiful as to make swimming fish sink)
                ในยุคเลียดก๊กที่แต่ละรัฐรบกันนั้น รัฐอู๋เป็นรัฐที่มีกองกำลังทหารที่แข็งแกร่งจึงสามารถรบชนะรัฐเยว่และจับตัว เยว่อ๋องโกวเจี้ยน และอัครเสนาบดีฟ่านหลีไปเป็นตัวประกันที่รัฐอู๋ด้วย เยว่อ๋องโกวเจี้ยนต้องการที่จะแก้แค้นเพื่อกู้ชาติแต่จำต้องยอมจงรักภักดี เพื่อให้อู๋อ๋องไว้ใจ
                ครั้งหนึ่งอู๋อ๋องเกิดมีอาการปวดท้อง บรรดาหมอหลวงทั้งหลายไม่สามารถให้การรักษาได้ เยว่อ๋องโกวเจี้ยนได้ชิมอุจจาระของอู๋อ๋องต่อหน้าเสนาธิการทั้งปวง และบอกว่าอู๋อ๋องเพียงแค่มีพระวรกายที่เย็นเกินไป หากได้ดื่มสุราและทำร่างกายให้อบอุ่นขึ้นก็จะมีอาการดีขึ้นเอง และเมื่ออู๋อ๋องได้ทำตามก็หายประชวร อู๋อ๋องเห็นว่าเยว่อ๋องโกวเจี้ยนมีความจงรักภักดีจึงปล่อยตัวกลับคืนสู่รัฐ เยว่ เมื่อกลับสู่รัฐเยว่ เยว่อ๋องโกวเจี๋ยนก็วางแผนที่จะกู้ชาติทันที โดยมีฟ่านหลี่เป็นอำมาตย์คอยให้คำปรึกษา ฟ่านหลี่ได้เสนอแผนการสามอย่าง คือ ฝึกฝนกองกำลังทหาร พัฒนาด้านกสิกรรม และ ส่งสาวงามไปเป็นเครื่องบรรณาการ พร้อมกับเป็นสายคอยส่งข่าวภายในให้ ไซซีเป็นหญิงสาวชาวบ้าน ลูกสาวคนตัดฟืนที่เขาจู้หลัวซาน (ภาษาแต้จิ๋ว กิวล่อซัว) นางถูกพบครั้งแรกขณะซักผ้าริมลำธาร นางมีหน้าตางดงามมาก พร้อมกับนางเจิ้งตัน (แต้ตัน) ซึ่งมีความงามไม่แพ้กัน ฟ่านหลี่ (เถาจูกง) เสนาบดีรัฐเยว่เป็นผู้ดูแลอบรมนางทั้ง 2 ให้มีอุดมการณ์เพื่อบ้านเมือง เป็นเวลานานถึง 3 ปี เพื่อที่จะไปเป็นบรรณาการให้กับรัฐอู่ เพื่อมอมเมาให้อู่อ๋องฟูซา เจ้านครรัฐอู่ ลุ่มหลงอยู่กับเสน่ห์ของนาง จนไม่บริหารบ้านเมือง ซึ่งอู๋อ๋องฟูซาหลงใหลนางไซซีมากกว่านางเจิ้งตัน ทำให้นางเจิ้งตันน้อยใจจนผูกคอตาย ขณะที่มาอยู่ได้เพียง 2 ปีเท่านั้น ผ่านไป 13 ปี เมื่อรัฐอู่อ่อนแอลง รัฐเยว่ก็สามารถเอาชนะได้สำเร็จในที่สุด
ภายหลังจากที่อู่อ๋องฟูซา ฆ่าตัวตายไปแล้ว นางกับอำมาตย์ฟ่านหลี่ที่ว่ากันว่า ได้ผูกสัมพันธ์ทางใจไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว ก็ได้หายตัวไปพร้อมกันหลังเหตุการณ์นี้ บ้างก็ว่าทั้งคู่ได้เดินทางท่องเที่ยวไปเรื่อย ๆ และไปใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันที่ทะเลสาบไซ้โอว (ทะเลสาบซีหู) เป็นต้น

                ราชวงศ์โจวและยุคชุนชิวยุคสุดท้าย คือ ยุคจ้านกว๋อ หรือ เลียดก๊ก ซึ่งเป็นยุคที่แต่ละรัฐรบกันอย่างต่อเนื่อง ในปี 246 ก่อนคริสต์ศักราช ฉินหวังเจิ้ง (ต่อมาคือ ฉินสื่อหวง หรือ จิ๋นซีฮ่องเต้ ฮ่องเต้องค์แรกของจีน) ได้สืบราชบัลลังก์รัฐฉินต่อมา โดยมีที่ปรึกษาเช่น เว่ยเหลียว, หลี่ซือ เป็นต้น ช่วยเหลือในการรวบรวมแผ่นดิน บ้างใช้เงินทองล่อซื้อบรรดาขุนนางของ 6 รัฐที่เหลือ แทรกซึมเข้าไปก่อความวุ่นวายในการปกครองของนครรัฐทั้ง 6 บ้าง อีกทั้งส่งกองกำลังรุกเข้าประชิดดินแดนปีแล้วปีเล่า เมื่อถึงปี 230 ก่อนคริสต์ศักราช รัฐฉินโจมตีนครรัฐหานแตกพ่ายไป เมื่อถึงปี 221 ก่อนคริสต์ศักราชกำจัดรัฐฉีสำเร็จ จากนั้น 6 นครรัฐต่างก็ทยอยถูกรัฐฉินกลืนตกไป แผ่นดินจีนจึงรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ในยุคใหม่ คือ ราชวงศ์ฉิน


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 พ.ค. 12, 14:37
ไซซีเป็นหนึ่งในสี่หญิงงามผู้พลิกประวัติศาสตร์จีน   อีกสามคนคือหวังเจาจวิน หยางกุ้ยเฟย และเตียวเสี้ยน
(นางขันกีไม่ยักติดอันดับ)

ตอนไปเที่ยวเมืองจีน   พบว่ารูปและประวัติของสี่หญิงงามแพร่หลายอยู่ในรูปของของที่ระลึกต่างๆสำหรับนักท่องเที่ยว   ไกด์จีนที่พาเที่ยวก็ดูปลื้มๆอยู่กับนางงามของเขาไม่น้อย
ใน 4 คนนี้ดูเหมือนไซซีจะโชคดีที่สุด   หมดภารกิจในหน้าที่แล้วก็แฮปปี้เอนดิ้งไปกับคนรัก   ไม่น่าสงสารเหมือนนางงามคนอื่นๆ


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 25 พ.ค. 12, 14:43
เปิดหน้าหลักของเว็บ "เรือนไทย" แล้วเหนื่อยใจ

เหตุที่เหนื่อยใจเพราะ กระทูนี้มี "ตอบ" เข้ามา 26 ซึ่งก็น่าจะดูดีสำหรับกระทู้ที่เพิ่งเริ่ม

แต่

กระทู้ที่อยู่เหนือขึ้นติดกันคือ "สัตว์ประหลาด" มี "ตอบ" เข้ามาถึง 2401!

เหนื่อยครับ

แต่ไม่ท้อ



กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 พ.ค. 12, 14:53
อย่าเหนื่อยเลยค่ะ   กระทู้สัตว์ประหลาดเริ่มมานานแล้วค่ะ  ตั้งแต่  13 พ.ค. 2510   จากนั้นคุณเพ็ญชมพูกับดิฉันก็ผลัดกันโพสรูปสัตว์ต่างๆ    มีคุณดีดีและท่านอื่นๆเข้ามาแจมบางครั้ง   
รูปจากดิฉันหมดสต๊อค  คุณเพ็ญชมพูก็ยังปักหลักหาสัตว์แปลกๆมาลงอย่างไม่ท้อถอย   กระทู้เข้าไป 1000 ค.ห. ดิฉันก็นึกว่าจบแล้ว     ที่ไหนได้จน 2000  ก็ยังไม่จบ
ถ้าจะให้กระทู้ประวัติศาสตร์จีน ยาวสัก 2000  เห็นจะต้องเชิญคุณเพ็ญชมพูมาเจิมทุกระยะ 


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 พ.ค. 12, 15:19
กระทู้ที่อยู่เหนือขึ้นติดกันคือ "สัตว์ประหลาด" มี "ตอบ" เข้ามาถึง 2401!

"รูปเก่าเล่าเรื่อง-เมืองบางกอก" ทำสถิติไว้ ๓,๑๕๘

กระทู้สัตว์ประหลาดเริ่มมานานแล้วค่ะ  ตั้งแต่  13 พ.ค. 2510   

โอ้โฮ !  อายุกระทู้ "สัตว์ประหลาด" ปาเข้าไป ๔๕ ปีแล้วหรือนี่

ยังนึกว่าผ่านมาแค่ ๒ ปีเอง

 ;D


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 25 พ.ค. 12, 15:36
อย่าเพิ่งเหนี่อยนะครับ คุณ Sujittra การเล่าประวัติศาสตร์จีนนั้นยาวนาน แต่ละยุคย่อมมีรายละเอียดปลีกย่อยได้สนทนากันอย่างมาก

เห็นภาพสาวงามที่รวบรวมมาได้สี่ยอดงามเมือง ทราบว่าแต่ละนางนั้นไม่งามพร้อมอย่างแท้จริง ทางคนจีนมีคำเปรยว่า สี่หญิงงามนั้นมีตำหนิที่แตกต่างกันไปในแต่ละนาง

ไซซี มีปัญหาที่ เท้าใหญ่

หวังเจาจิน มีปัญหาที่ ไหล่ไม่เท่ากัน

เตียวเสี้ยน  นั้นมีปัญหาที่ ติ่งหูสั้นไป
 
หยางกุ้ยเฟย  นั้นมีกลิ่นตัวแรงมาก จึงต้องอาบน้ำเสมอ ๆ 


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 25 พ.ค. 12, 15:42
ส่งแผนที่ยุคชุนชิว ประกอบเรื่องจะได้เห็นลักษณะเขตการปกครอง และเมืองต่าง ๆ


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 25 พ.ค. 12, 15:45
บรรดาแคว้นรัฐต่าง ๆ แห่งยุคชุนชิว


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 25 พ.ค. 12, 20:46
ขอบคุณทุกท่านครับที่มาร่วมเพิ่มเรตติ้ง โดยเฉพาะรูปประกอบซึ่งทำให้เรื่องน่าสนใจขึ้นมาก

ว่าแต่ทางฝ่ายเทคนิคมีคำแนะนำสำหรับผมเพื่อโหลดรูปโดยการใช้ iPad รึยังครับ

ถ้ามีรบกวนชี้แนะด้วยครับ


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: admin ที่ 25 พ.ค. 12, 21:36
เกรงว่าจะไม่สามารถใส่รูปประกอบจาก iPad ได้ครับ เป็นข้อกำหนดในเรื่องระบบการรักษาความปลอดภัยของ iOS น่ะครับ ต้องให้ บ. Apple เป็นคนทำครับ :)


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 25 พ.ค. 12, 21:48
น่าเสียดาย

ขอบคุณท่าน admin ครับ


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 พ.ค. 12, 21:51
คุณ Sujitra ส่งรูปที่ต้องการนำลงมาให้ดิฉันหลังไมค์ก็ได้นี่คะ   ดิฉันจะนำลงให้เอง


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 25 พ.ค. 12, 22:05

                 ราชวงศ์โจวปกครองด้วยกษัตริย์อย่างเข้มแข็งมากว่า 11 องค์ จนกระทั่งถึงรัชกาลของโจวอิวหวาง รัชกาลที่ 12 อำนาจของราชวงศ์โจวก็เริ่มเสื่อมถอย เพราะโจวอิวหวางงมัวแต่หมกมุ่นกับสุราและนารี จนกระทั่งถูกข้าศึกจับกุมตัวไป 7 ปีต่อมา กองทัพผสมของอ๋องต่าง ๆ ในแต่ละรัฐได้รวมตัวกันขับไล่ข้าศึกออกไป และอัญเชิญโอรสของโจวอิวหวางขึ้นครองราชย์ มีพระนามว่า โจวผิงหวาง ได้มีการย้ายเมืองหลวงจากเมืองเฮ่าจิง มาอยู่ที่ลกเอี๋ยง (ลั่วหยาง ในปัจจุบัน) ซึ่งอยู่ทางตะวันออก ยุคนี้ต่อมานักประวัติศาสตร์จึงได้เรียกว่า ยุคราชวงศ์โจวตะวันออก (Eastern Zhou) หรือ ยุคชุนชิว นั่นเอง (ที่เรียกว่า ชุนชิว ที่หมายถึง ฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วงนั้นมาจากชื่อคำภีร์ของขงจื๊อที่บันทึกเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ในยุคนี้ ที่ชื่อ บันทึกแห่งฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง หรือ ชุนชิว ซึ่งเป็นคำภีร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของขงจื๊อด้วย ผู้คนจึงเรียกชื่อยุคนี้ตามคำภีร์ และคำภีร์เล่มนี้ก็นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า ชุนชิว เช่นกัน) ซึ่งยุคนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ยุคใหญ่ต่อเนื่องกัน ๆ คือ
ยุคชุนชิว (770 ปีก่อนคริสต์ศักราช – 453 ปีก่อนคริสต์ศักราช)
ยุคจ้านกว๋อ (เลียดก๊ก ในภาษาแต้จิ๋ว) (477 ปีก่อนคริสต์ศักราช - 222 ปีก่อนคริสต์ศักราช)

                ในยุคชุนชิวนั้น นครรัฐต่าง ๆ ที่เคยมีอย่างมากมายในยุคราชวงศ์โจวก่อนหน้านั้น เหลือเพียง 140 รัฐ จากการถูกผนวกรวมเป็นหนึ่งเดียวกับรัฐที่เข้มแข็งกว่า มีบันทึกว่า รัฐหลู่ทำลาย 58 รัฐ รัฐจิ้นทำลาย 24 รัฐ รัฐฉินทำลาย 15 รัฐ รัฐฉีทำลาย 14 รัฐ รัฐเจิ้งทำลาย 6 รัฐ รัฐอู๋ทำลาย 5 รัฐ และรัฐทั้ง 140 รัฐนี้ มีรัฐที่เรียกได้ว่าเป็นรัฐขนาดใหญ่ มีอำนาจที่แท้จริงไม่ถึง 10 รัฐ
                รัฐใหญ่เหล่านี้ มีผู้ปกครองเรียกว่า "อ๋อง" มเหสีเรียกว่า "ฮองเฮา" และอัครมหาเสนาบดีเรียกว่า "ไจ่เซี่ยง" เช่นเดียวกับราชวงศ์โจว แม้กษัตริย์ของราชวงศ์โจวยังคงอยู่ในตำแหน่ง แต่ก็ต้องโอนเอียงไปตามความปรารถนาของอ๋องแต่ละรัฐ นับได้ว่าเป็นเพียงหุ่นเชิดเท่านั้น
สำหรับเจ้าผู้ครองรัฐใหญ่เหล่านี้ ต่างแย่งชิงกันเป็น "ป้าจู่" (ปาอ๋อง) หมายถึง เจ้าผู้ปกครองรัฐที่มีอำนาจสูงสุด สำหรับอ๋องในยุคชุนชิวที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็น ปาอ๋อง อย่างแท้จริงมี 5 คน คือ ฉีหวนกง, จิ้นเหวินกง, ฉินมู่กง,ซ่งเซียงกง และ ฉู่จวงหวาง



ขออนุญาตขัดจังหวะครับ

๑.. นครรัฐต่าง ๆ ในยุคชุนชิว ไม่ได้เป็น "หวัง (王) : จีนกลาง , อ๋อง : จีนแต้จิ๋ว " เสมอไปนะครับ ขึ้นอยู่กับว่า นครรัฐนั้น ๆ มีขนาดใหญ่หรือเล็กแค่ไหน ซึ่งทั้งหมดต้องได้รับการพระราชทานจาก เทียนตี้ (ฮ่องเต้)
อย่าง นครรัฐไช่ เจ้าผู้ครองนครมีศักดิ์เป็นแค่ "โหว : 侯 " (พระยา : เทียบศักดินาทางไทย) เท่านั้น บางรัฐก็เป็นแค่ "กง : จีนกลาง , ก๋ง (แต้จิ๋ว)" (สมเด็จเจ้าพระยา) , แต่ก็มีบ้าง ที่ตั้งตัวเองขึ้นมาเป็น "หวัง" โดยไม่สนใจธรรมเนียมการพระราชทานลงมา เช่น เจ้าผู้ครองนครรัฐฉู่ (ฌ้อ : จีนแต้จิ๋ว) ซึ่งเป็นรัฐที่คนในกวนตง มองว่าเป็นรัฐบ้านนอก ป่าเถื่อน ไม่มีใครอยากจะคบด้วย

๒.. ภาษาจีนที่ใช้ ถ้าเป็นไปได้อยากให้แยกชัดเจนครับ เพราะบางคำที่พิมพ์เป็นแต้จิ๋ว แต่บางคำเป็นจีนกลาง ถ้าเป็นไปได้ควรใช้สำเนียงใด สำเนียงหนึ่งไปเลย แล้ววงเล็บอีกสำเนียงไว้เปรียบเทียบกัน น่าจะดีกว่าครับ

๓.. เจ้าผู้ครองนครคนแรกของรัฐไช่ (Cai : ฉั่ว : จีนแต้จิ๋ว) คือ ไช่ชูตู้(蔡叔度 : Cai Shu Du) นะครับ ชื่อเดิมของท่านคือ จี้ (姬)  ต้องขออภัยที่ต้องขัด เนื่องจากเป็นบรรพชนด้านนามสกุลของผมน่ะครับ


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 26 พ.ค. 12, 00:00
ไม่ต้องขออภัยครับ

ผมต่างหากควรที่ทจะต้องขอบคุณคุณ Samun007 เพราะผมไม่สันทัดทางภาษาจีน เพียงแต่ตั้งใจให้เกิดความสมบูรณ์เท่าที่จะทำได้

ขอบคุณครับที่ช่วย edit เพื่อประโยชน์ของผู้อ่าน


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 26 พ.ค. 12, 07:46
บรรดาแคว้นรัฐต่าง ๆ แห่งยุคชุนชิว

รูปนี้จะเป็นปลาย ๆ ยุคชุนชิว ก่อนจะขึ้นเป็นจั๋นกวอครับ สังเกตได้จากหลาย ๆ นครรัฐหายไปแล้ว เพราะโดนนครรัฐอื่น ๆ ควบรวมกิจการไป ส่วนที่เห็นเขียนว่า Wei ( 卫 || เว่ย :จีนกลาง ) ตรงนี้ จะเป็นคนละนครรัฐ Wei (魏 อ่านว่า เว่ย:จีนกลาง , อุ้ย หรือ วุุ่ย ในจีนแต้จิ๋ว ) ในยุคจั๋นกวอนะครับ ชื่อรัฐทั้งสองเป็นคำพ้องเสียงครับ แต่เป็นคนละรัฐกัน

เพื่อกันความสับสน ผมขอเรียกรัฐเว่ยเล็ก สำหรับในความหมายของ Wei ( Pinyin : 卫 ) นะครับ

รัฐเว่ยเล็กเป็นนครรัฐที่อายุยืนยาวที่สุดในบรรดานครรัฐที่ตั้งมาตั้งแต่ยุคชุนชิว ยืนยาวมาคู่กับนครรัฐมหาอำนาจอย่างรัฐฉิน (จิ๋น : จีนแต้จิ๋ว) โดยที่ไม่มีใครไปล้ม ทั้ง ๆ ที่รัฐนี้ก็ไม่ได้เข้มแข็งอะไรแต่อย่างใด

รัฐนี้มาโดนล้มโดย ฉินซื่อหวัง เจ้าผู้ครองนครรัฐฉิน ที่ภายหลังปราบดาภิเษกเป็น ฉินซื่อหวังตี้ หรือ จิ๋นซีฮ่องเต้ นั่นเอง

ส่วนนครรัฐเว่ย Wei (魏 อ่านว่า เว่ย:จีนกลาง , อุ้ย หรือ วุุ่ย ในจีนแต้จิ๋ว ) เป็นนครรัฐที่แตกออกมาจากนครรัฐจิ้น (晉 )อีกทีหนึ่ง พร้อม ๆ กับ นครรัฐจ้าว , นครรัฐหาน  
และเจ้าผู้ครองนครรัฐเว่ยนี้ จัดเป็นผู้นำของทุก ๆ นครรัฐเป็นคนแรก และเป็นรัฐมหาอำนาจรัฐแรกในยุคจั๋นกวอ

(http://i1186.photobucket.com/albums/z377/armeng007/500px-Chinese_plain_5c_BC-en.png)
ภาพสมัยยุคชุนชิว

 

(http://i1186.photobucket.com/albums/z377/armeng007/EN-WEI260BCE.jpg)
ยุคจั้นกวอ



กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 26 พ.ค. 12, 09:14
ขอบคุณท่าน samun007 ครับที่ช่วยหารูปมาประกอบพร้อมกับรายละเอียดที่น่าสนใจ

อยากให้ทุกท่านช่วยกัยเติมเต็มให้เนื้อหาเกิดความสมบูรณ์เพื่อประโยชน์สำหรับผู้ที่รักการค้นคว้าและผู้ที่สนใจ


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 พ.ค. 12, 10:28
ดิฉันก็อยากจะมาช่วยเหมือนกันละค่ะ   แต่ขอให้คุณ Sujitra เห็นใจอย่างหนึ่งว่าหัวข้อประวัติศาสตร์จีน ไม่ใช่เรื่องที่คนไทยทั่วไปจะรู้กันแพร่หลาย     แม้แต่นักวิชาการที่ไม่ได้เรียนมาทางสาขานี้  ก็ไม่รู้
นี่ยังไม่ต้องรวมถึงคนอ่านในเรือนไทย ซึ่ง 99% นิยมอ่านเงียบๆ  มากกว่าจะเข้าร่วมวงตอบ   
เป็นคำตอบว่าทำไมคนเข้ามาตอบกระทู้นี้กันไม่กี่คน

ขณะนี้เรือนไทยมีสมาชิกทั้งหมด 2481 คน    แต่ถ้าคุณ Sujitra ลากเม้าส์ลงไปดูจำนวนสมาชิกที่ล็อคอินเข้ามาอ่าน (หมายความว่าสามารถจะตอบได้ด้วย)   ไม่เคยมีถึง 10 คนพร้อมกันเลย   ส่วนใหญ่มีประมาณ 4-5 คนก็เก่งแล้ว
ในบรรดาสี่ห้าคนที่ล็อคอินนี้ก็ไม่ได้ตอบทุกกระทู้   บางคนล็อคอินเข้ามาอ่านเฉยๆ  บางคนเข้ามาตอบกระทู้เดียวที่ตนเองสนใจ

ส่วนคำว่า ผู้ใช้งานขณะนี้  ..... บุคคลทั่วไป
ไม่ได้หมายความว่านี่คือยอดคนอ่านเรือนไทยจากทุกมุมโลกต่อวัน   แต่หมายความว่าในนาทีนั้นเดี๋ยวนั้น มีคนอ่านพร้อมกันอยู่กี่คน      พอเวลาผ่านไปสักครึ่งชั่วโมงหรือชั่วโมง  พอคนอ่านกลุ่มเดิมออกไป  คนอ่านกลุ่มใหม่เข้ามา ตัวเลขก็จะบอกจำนวนคนที่กำลังอ่านกลุ่มใหม่อีก
ดิฉันก็เลยไม่รู้เหมือนกันว่ายอดคนอ่านแต่ละวันเท่าใด   รู้แต่ว่าวัฒนธรรมเงียบ เป็นวัฒนธรรมของเรือนไทยมา 12 ปีแล้วค่ะตั้งแต่เริ่มมีห้องนี้    แต่วัฒนธรรมอ่านเติบโตขึ้นเรื่อยๆ   
ตรวจดูในฐานข้อมูล    เดือนๆหนึ่งมีการคลิกเข้ามาอ่านประมาณ 700,000 ครั้ง 

เพราะฉะนั้นถึงมีคนเข้ามาตอบน้อย  ก็ขอให้คุณ Sujitra สบายใจอยู่อย่างว่าจำนวนคนอ่านไม่ได้น้อยเหมือนคนตอบ ค่ะ


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 26 พ.ค. 12, 10:31
รัฐ ฉู่ จีนแต้จิ๋วว่า "ฉ้อ" ครับ
รัฐ ฉิน ว่า ชิ้ง
กง แต้จิ๋วไม่เรียก ก๋ง แต่จะเรียก กง เหมือนจีนกลางนั่นแหละครับ

เป็นปริศนาสำคัญเรื่องหนึ่งว่าทำไมวรรณยุกต์ถึงได้เพี้ยนเมื่อภาษาจีนเข้ามาในภาษาไทย แต่สาเหตุหนึ่งที่ผมเห็นว่าเป็นมากกับเด็กไทยรุ่นใหม่ คือผันวรรณยุกต์ไทยไม่ถูกครับ บางทีเขียนผิดๆ บางทีรู้ตัวว่าเขียนผิดแน่ๆ ละวรรณยุกต์ไปดื้อๆก็มี

ส่วนชื่อเก่าๆที่เพี้ยน อีกสาเหตุหนึ่งคือไปถอดเสียงเอาจากตัวโรมัน โดยไม่รู้ระบบเสียงของเขา มั่วเอาเองดื้อๆ ชื่อจุงกิง ฮวงโห ฯลฯ พวกนี้น่าจะมาทางนี้ครับ


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 พ.ค. 12, 10:32

เห็นภาพสาวงามที่รวบรวมมาได้สี่ยอดงามเมือง ทราบว่าแต่ละนางนั้นไม่งามพร้อมอย่างแท้จริง ทางคนจีนมีคำเปรยว่า สี่หญิงงามนั้นมีตำหนิที่แตกต่างกันไปในแต่ละนาง

ไซซี มีปัญหาที่ เท้าใหญ่


ขอแทรกด้วยเกร็ดเรื่องการรัดเท้าให้เล็กของหญิงจีน   มีตำนานที่มาหลายตำนานด้วยกัน  ตำนานหนึ่งคือนางขันกีของเรานี่เอง
ตำนานบอกว่า  ปีศาจจำแลงเป็นนางขันกี   (ในห้องสินบอกว่าปีศาจฆ่านางแล้วเข้าสิงร่าง) แต่อย่างหนึ่งที่แปลงไม่ได้คือเท้า  ยังมีลักษณะเป็นอุ้งตีนอยู่   นางปีศาจจึงใช้ผ้าพันเท้าไว้   แล้วบอกใครๆว่าการรัดเท้าเล็กเป็นความงาม
ก็เลยเกิดเป็นกระแสนิยมขึ้นมา สำหรับนางในวังและลูกสาวผู้ดีทั้งหลาย

ไซซีเป็นหญิงชาวบ้าน  ไม่ต้องรัดเท้า เพราะต้องทำงานหนักอย่างชาวชนบททั่วไป    เท้าเติบโตตามธรรมชาติ  เห็นจะเป็นอย่างนี้จึงกลายเป็นจุดด้อยว่าเท้าใหญ่ละมังคะ


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 26 พ.ค. 12, 11:34
รัฐ ฉู่ จีนแต้จิ๋วว่า "ฉ้อ" ครับ
รัฐ ฉิน ว่า ชิ้ง
กง แต้จิ๋วไม่เรียก ก๋ง แต่จะเรียก กง เหมือนจีนกลางนั่นแหละครับ

เป็นปริศนาสำคัญเรื่องหนึ่งว่าทำไมวรรณยุกต์ถึงได้เพี้ยนเมื่อภาษาจีนเข้ามาในภาษาไทย แต่สาเหตุหนึ่งที่ผมเห็นว่าเป็นมากกับเด็กไทยรุ่นใหม่ คือผันวรรณยุกต์ไทยไม่ถูกครับ บางทีเขียนผิดๆ บางทีรู้ตัวว่าเขียนผิดแน่ๆ ละวรรณยุกต์ไปดื้อๆก็มี

ส่วนชื่อเก่าๆที่เพี้ยน อีกสาเหตุหนึ่งคือไปถอดเสียงเอาจากตัวโรมัน โดยไม่รู้ระบบเสียงของเขา มั่วเอาเองดื้อๆ ชื่อจุงกิง ฮวงโห ฯลฯ พวกนี้น่าจะมาทางนี้ครับ

ขอบคุณครับ

เพราะที่อ่านจากสำนวนการแปลตั้งแต่ จีนที่แปลชุดของเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ก็เรียกชื่ออย่างนี้มานาน แต่ก็อาจจะเป็นอย่างที่คุณหัวหน้าเผ่าบอกก็ได้ครับว่า คนไทยพอฟังแล้วไม่คุ้นหู จึงฟังผิด


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 26 พ.ค. 12, 12:02
ขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมกระทู้ ทำให้มีกำลังใจเพิ่มขึ้นครับ

ถ้าเช่นนั้นผมขอดำเนินเรื่องต่อไปยังราชวงศ์ลำดับต่อไปคือ ราชวงศ์ฉิน

ราชวงศ์ฉิน (Qin Dynasty, 秦朝) หรือจิ๋น เป็นราชวงศ์ที่ปกครองแผ่นดินจีนระหว่าง พ.ศ. 322–พ.ศ. 337 (221 ปีก่อนค.ศ. – 206 ปีก่อนค.ศ.) ดังที่ได้ทราบแล้วว่าก่อนหน้านี้จีนได้แตกแยกออกเป็น 7 รัฐ ได้แก่ ฉิน  หาน เว่ย ฉู่ จ้าว เอี้ยนและฉี ทั้ง 7 รัฐนี้ได้ทำสงครามกันอยู่เนืองๆ ต่อมาอ๋องแห่งรัฐฉินนามเดิมว่า “ อิ๋งเจิ้ง” ได้รวมประเทศจีนเป็นหนึ่งเดียวเป็นครั้งแรก และสถาปนาตัวเองเป็นจักรพรรดิ (ฮ่องเต้) โดยใช้พระนามว่า ฉินสื่อหวงตี้ คือ จิ๋นซีฮ่องเต้ นั่นเอง จิ๋นซีฮ่องเต้ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 322 – พ.ศ. 333 ในช่วงนี้แผ่นดินจีนมีความเป็นปึกแผ่นมั่นคงมาก เป็นราชวงศ์แรกที่มีความเป็นเอกภาพ มีหลายชนชาติและใช้ระบบการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่อำนาจส่วนกลาง แต่เมื่อจิ๋นซีฮ่องเต้ทรงเสด็จสวรรคต ราชวงศ์ฉินก็สั่นคลอนอย่างหนัก และล่มสลายลงใน พ.ศ. 337

           จิ๋นซีฮ่องเต้ ได้ย้ายเมืองหลวงจากเมืองลั่วหยางมาอยู่ที่เมืองเสียนหยาง (หรือซีอานในปัจจุบัน) เหตุที่ฉินอ๋องเลือกหาชื่อใหม่ให้แก่ตนเนื่องจากเห็นว่า ตนสามารถรวบรวมแผ่นดินเป็นปึกแผ่นได้ คำว่า อ๋อง ไม่ยิ่งใหญ่พอ จึงได้เลือกคำว่า หวงตี้ (ฮ่องเต้) ซึ่งแปลว่า "โอรสแห่งสวรรค์" มาใช้ แล้วเรียกชื่อตน ตามชื่อราชวงศ์ว่า ฉินซีฮ่องเต้ ฮ่องเต้เรียกตัวเองว่า "เจิ้น" (เดิมเรียกว่า "กู" ) เป็นการเปิดฉากโอรสแห่งสวรรค์ครองเมือง และเพื่อเพื่อขจัดความกระด้างกระเดื่องของเชื้อพระวงศ์ 6 รัฐเดิม หลี่ซือ อัครมหาเสนาบดีเสนอแนะให้รวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ฉินซีฮ่องเต้ทรงเห็นชอบด้วย  กล่าวโดยสรุปแล้วก็คือสลายระบบเจ้าผู้ครองนครรัฐ การใช้อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่องค์จักรพรรดิหรือฮ่องเต้แต่ผู้เดียว แบ่งเขตการปกครองราชอาณาจักรออกเป็น 36 เขตหรือ”จุ้น” (ต่อมาเพิ่มเป็น 42 เขต) แต่ละเขตมีผู้ว่าการทั้งฝ่ายพลเรือนและทหาร และตำแหน่งผู้ตรวจการอีกตำแหน่งหนึ่ง แต่ละเขตหรือ”จุ้น”ยังแบ่ง เขตปกครองออกเป็นอำเภอหรือ”เสี้ยน”รองลงมาเป็น”ตำบล”และ   ”หมู่บ้าน”เป็นต้น นับเป็นผลงานอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อสายของรัฐเดิมทั้ง 6 ทำการเคลื่อนไหวโค่นล้มราชวงศ์ฉิน พระองค์จึงสั่งย้ายพวกเขาไปอยู่”กวนจง”หรือมณฑลส่านซีในปัจจุบัน และ ”ปาสู่”หรือมณฑลเสฉวนในปัจจุบัน ขนาด รวบอำนาจไว้เช่นนี้แล้วก็ยังไม่วางพระทัย ฉินซีฮ่องเต้ทรงสั่งการให้ริบ อาวุธของรัฐทั้ง 6 นำไปทำลายและห้ามชาวบ้านครอบครองอาวุธด้วย

             เพื่อให้การปกครองทั่วทั้งอาณาจักรได้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและให้มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากันได้โดยสะดวก ฉินซีฮ่องเต้ ทรงมีพระบรมราชโองการกำหนดให้ทั่วทั้งอาณาจักรใช้ภาษาหนังสือและมาตราชั่งตวงวัดเป็นมาตรฐานอย่างเดียวกันทั้งหมด และเนื่องด้วยฉินซีฮ่องเต้ทรงเกรงว่านักคิดปัญญาชนเรียนรู้ประวัติศาสตร์แล้วจะนำความรู้ที่เล่าเรียนมาคัดค้านการปกครองและทำให้ประชาชนในอาณาจักรพลอยสับสนไปด้วย พระองค์จึงมีพระบรมราชโองการให้เผาทำลายหนังสือประวัติศาสตรที่บันทึกเรื่องราวของรัฐต่างๆ ทั้งหมด ยกเว้นประวัติศาสตร์ของรัฐฉิน และหนังสือว่าด้วยการแพทย์ การทำนายพยากรณ์และการเกษตร ตามข้อเสนอของหลี่ซือ เสนาบดีของพระองค์ ส่วนใครที่ยังชอบวิพากษ์วิจารณ์ พระองค์ จะทรงถือเป็น การดูหมิ่นพระองค์อย่างรุนแรง ทรงมีบัญชาให้ดำเนิน  การสอบสวน และท้ายสุด ให้ลงโทษด้วยการฝังทั้ง เป็นซึ่งมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 460 คน  นี่ก็คือเหตุการณ์”เผาหนังสือฝังปัญญาชน” ในประวัติศาสตร์จีนสมัยฉิน

             เพื่อให้สะดวกในการเคลื่อนย้ายกำลังทหาร การติดต่อคมนาคม และ การสื่อสารระหว่างกันภายในอาณาจักร  นอกจากการพัฒนาประดิษฐ์เพลารถแล้ว ฉินชีฮ่องเต้ยังได้ทรงบัญชาให้สร้างทางหลวงขึ้นรวมทั้งให้ขุดคลองเพื่อการคมนาคมทางน้ำด้วย  หนึ่งในทางหลวงสำคัญสองสายเริ่มต้นจากเสียนหยางเมืองหลวงของ รัฐฉินมุ่งไปทางตะวันออกผ่านมณฑลเหอเป่ยและซานตงในปัจจุบันไปสุดฝั่งทะเลตะวันออก  ส่วนอีกทางหนึ่งตัดลงทางใต้ไปยังมณฑลเจียงซูและเจ้อเจียงในปัจจุบัน   นอกจากนั้น  ยังมีการสร้างถนนระหว่างมณฑลหูหนาน เจียงซี กว่างตุงและกว่างซี ในปัจจุบัน ตลอดไปจนถึงเขตที่อยู่ห่างไกล เช่นมณฑลหยูนหนานและ กุ้ยโจว ส่วนการขุดคลองนั้น มีการขุดคลองหลิงฉวีในเขตปกครองตนเองชนชาติจ้วงกว่างซีในปัจจุบันเพื่อเชื่อมกับแม่น้ำหลีเจียงและแม่น้ำเซียงเจียงในมณฑลหูหนานในปัจจุบัน

              มีการปฏิรูประบบตัวอักษร ระบบชั่ง, ตวง, วัด (เช่น เพลารถ) ให้เหมือนกันทั้งประเทศ (สำหรับตัวอักษรนั้น อ่านออกเสียงต่างกันได้ แต่จะต้องเขียนเหมือนกัน เช่นเลข 1 เขียนด้วยขีดแนวนอนขีดเดียว จีนกลางออกเสียงว่า "อิ๊" แต่แต้จิ๋วอ่านว่า "เจ๊ก") และแบ่งการปกครองเป็นระบบจังหวัด, อำเภอ 

              ทางด้านเศรษฐกิจ   ฉินซีฮ่องเต้ทรงสนพระทัยการเกษตร แต่ไม่ได้ส่งเสริมการค้า ส่งเสริมการพัฒนาระบบกรรมสิทธิ์ส่วนตัวของที่ ดินแบบสังคมศักดินา ปี 216 ก่อนคริสต์ศักราช ฉินซีฮ่องเต้ทรงสั่งการให้เจ้า ของที่ดินและเกษตรกรที่ทำไร่ไถนาซึ่งได้ครอบครองที่ดินอยู่แล้วเพียงแต่แจ้งจำนวนที่ดินและเสียภาษีแก่รัฐบาลเท่านั้น รัฐบาลก็จะให้การรับรองหรือคุ้มครองกรรมสิทธิ์ของพวกเขา จากนั้น จึงได้กำหนดระบบ กรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลในที่ดินไว้ตั้งแต่บัดนั้น

              ฉินซีฮ่องเต้ ปกครองด้วยความเฉียบขาด อำมหิต กล่าวกันว่า แค่มีคนจับกลุ่มคุยกัน ก็จะถูกจับไปประหารทันที ข้อหาให้ร้ายราชสำนัก มีการยัดเยียดข้อหาแล้วประหารทั้งโคตร การประหารมีทั้งตัดหัว, ตัดหัวเสียบประจาน หรือ "ห้าม้าแยกร่าง" (เอาเชือกมัดแขนขาไว้กับม้าหรือรถม้า 5 ทิศ แล้วให้ม้าควบไป ฉีกร่างออกเป็นชิ้นๆ) และกรณีที่อื้อฉาวมากคือ การเผาตำราสำนักขงจื๊อ แล้วจับบัณฑิตสำนักขงจื๊อสังหารหมู่ ด้วยการเผาทั้งเป็น, ฝังทั้งเป็น หรือฝังดินแล้วตัดหัว แม้แต่รัชทายาทฝูซู (พระโอรสองค์โต) ยังถูกเนรเทศไปชายแดน ไป "ช่วย" เหมิงเถียนสร้างกำแพงเมืองจีน ด้วยข้อหา ขัดแย้งกับพระองค์ จึงมีคนหาทางปลงพระชนม์ตลอดเวลา แม้แต่พระสหายที่สนิทก็ตาม นอกจากนี้ พระองค์ยังกลัวความตายมาก พยายามเสาะแสวงหายาอายุวัฒนะมาทุกวิถีทาง แต่สุดท้าย ฉินซีฮ่องเต้ก็ป่วยหนัก และสิ้นพระชนม์ลง ในระหว่างที่ออกตามหายาอายุวัฒนะ ในแดนทุรกันดารนั่นเอง และได้มีพระราชโองการเรียกฝูซู รัชทายาทกลับมา เพื่อสืบราชบัลลังก์ (โอรสองค์นี้มีนิสัยอ่อนโยนกว่าบิดา และยังเก่งกาจอีกด้วย จึงเป็นที่คาดหวังจากราษฎรเป็นอย่างมาก) แต่หูไห่ โอรสอีกองค์ ได้ร่วมมือกับเจ้าเกาขันทีและอัครเสนาบดี และหลี่ซือ ปลอมราชโองการ ให้ฝูซูและเหมิงเถียนฆ่าตัวตาย แล้วตั้งหูไห่เป็นฮ่องเต้องค์ถัดมา เรียกว่า พระเจ้าฉินที่สอง หรือฉินเอ้อซื่อ ซึ่งเป็นฮ่องเต้ที่โหดเหี้ยม แต่ไร้สามารถ ผิดกับพระบิดา แถมยังอยู่ใต้การชักใยของเจ้าเกาขันทีตัวแสบ ทำให้ราชวงศ์ฉินล่มจม หูไห่ได้ใช้เงินทองจำนวนมหาศาล ในการก่อสร้างสุสานของฉินซีฮ่องเต้ และยังรีดภาษีจากราษฎรอีก ทำให้ประชาชนก่อกบฏขึ้น

                ในเวลานั้น มีกบฏอยู่หลายชุด มีข้อตกลงกันว่า หากใครบุกเข้าทางกวนจง ของราชวงศ์ฉินได้ก่อน จะได้เป็นใหญ่ หลิวปัง ได้ก่อกบฏต่อต้านราชวงศ์ฉินขึ้น และได้ผู้ช่วยมือดีมา 3 คน คือ หานซิ่น จางเหลียง และเซียวเหอ มาช่วยในการวางแผนรบ และประสานงานต่างๆ จึงโค่นราชวงศ์ฉินลงได้ โดยเจ้าเกาได้ฆ่าหลี่ซือ ปลงพระชนม์หูไห่ แล้วตั้งจื่ออิง หลานของหูไห่เป็นฮ่องเต้แทน แต่เจ้าเกาก็ถูกจื่ออิงฆ่าตาย จื่ออิงยอมสวามิภักดิ์ต่อหลิวปัง เวลาเดียวกัน เซี่ยงอี้ ได้ละเมิดข้อตกลง โดยตั้งตัวเป็นซีฉู่ป้าอ๋อง หรือฌ้อป้าอ๋อง (แปลว่า อ๋องแห่งแคว้นฉู่ ที่ยิ่งใหญ่เหนืออ๋องอื่นๆ ว่ากันว่า เซี่ยงอี้นิยมสงคราม และคิดจะทำให้แผ่นดินแตกแยก กลับไปสู่ยุคจ้านกว๋ออีกครั้ง) เซี่ยงอี้ได้เผาพระราชวังอาฝางกงของฉินซีฮ่องเต้ ปลงพระชนม์จื่ออิง แล้วสู้รบกับหลิวปัง การสู้รบได้ยืดเยื้ออยู่นาน เซี่ยงอี้คิดจะแบ่งแผ่นดินปกครองกับหลิวปัง แต่ในที่สุด หลิวปังได้ยกทัพเข้าสู้รบขั้นเด็ดขาด ทำให้เซี่ยงอี้ต้องฆ่าตัวตายในที่สุด

                ในสมัยจ้านกว๋อ ชาว”ซงหนู”ชนชาติที่เร่ร่อนอยู่ตามที่ราบ กว้างใหญ่ทางภาคเหนือและยังชีพด้วยการเลี้ยงสัตว์นั้นชำนาญการ รบบนหลังม้ามาก พวกนี้มักจะยกกำลังมารุกรานปล้นสะดมตามพรม แดนด้านเหนือของรัฐฉิน จ้าวและเอี้ยน ทำให้รัฐเหล่านี้ต้องสูญเสียทั้ง ชีวิตผู้คนและทรัพย์สินอยู่เสมอ เจ้าผู้ครองทั้งสามรัฐดังกล่าวจึงได้ สร้างกำแพงเมืองขึ้นตามบริเวณชายแดนของรัฐตน เพื่อเป็นปราการป้องกัน การรุกรานของพวก”ซงหนู”หลังจากได้รวบรวมรัฐ ต่างๆเข้าเป็นอาณาจักรเดียวกันแล้ว ฉินซีฮ่องเต้จึงได้ส่งแม่ทัพหม่ง เถียนไปปราบปรามพวก”ซงหนู”และเชื่อมต่อกำแพงระหว่างรัฐทั้ง สามเข้าด้วยกันและขยายออกไปทั้งทางตะวันตกและตะวันออกจากหลินเถา(ในอำเภอหมินเสี้ยนในปัจจุบัน)จนถึงเหลียวตงทางตะวันออกเป็น ระยะทางราว6,000กิโลเมตร เท่ากับ 12,000 ลี้ชื่อต่อมาเรียกกันว่า “ว่านหลี่ฉางเฉิง “หรือ”กำแพงหมื่นลี้” เป็นสิ่งมหัศจรรย์หนึ่งในเจ็ดของโลก

                เรื่องราวสมัยราชวงศ์ฉิน มีอยู่ในวรรณกรรมไซ่ฮั่น ซึ่งกล่าวถึงการสิ้นสุดราชวงศ์ฉินและการสถาปนาราชวงศ์ฮั่น "เจาะเวลาหาจิ๋นซี" และหนึ่งในภาพยนต์ในดวงใจคือ "HERO"

                ปัจจุบัน ราชวงศ์ฉินได้รับการยอมรับจากนักประวัติศาสตร์ให้เป็นราชวงศ์แรกของจีน ด้วยมีหลักฐานทางโบรารคดีและประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการมากที่สุดและแผ่นดินก็ยงได้ถูกรวมเป็นหนึ่งครั้งแรก และยกให้ จิ๋นซีฮ่องเต้ เป็นจักรพรรดิองค์แรกของจีนด้วย ด้วยคำว่า "China" ในภาษาอังกฤษ หรือคำว่า "จีน" ในภาษาไทยก็ล้วนเพี้ยนมาจากคำว่าฉินนี้ทั้งสิ้น ราชวงศ์ฉิน เป็นราชวงศ์ที่สั้น ๆ มีอายุเพียง 15 ปี เท่านั้น แต่ได้วางรากฐานที่สำคัญต่อมาแก่คนรุ่นหลัง และได้สร้างสิ่งมหัศจรรย์ของโลกมากมาย เช่น กำแพงเมืองจีน, สุสานจิ๋นซีฮ่องเต้ เป็นต้น


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 26 พ.ค. 12, 21:10
ในหนังภาพยนต์ส่วนมากจะกล่าวกันว่า "หลี่ซือ" อาจจะเป็นบิดาของจิ๋นอ๋องแบบลับ ๆ

จิ๋นซีฮ่องเต้ปรากฎเป็นจิ๋นอ๋องที่ในวัยเยาว์มีความอ่อนแอและไม่เฉลียวฉลาด แต่เมื่อได้รับการสนับสนุนจากมหาเสนา หลี่ซือ ทำให้ความสามารถด้านการบริหารการปกครอง และความเฉียบขาด รวมทั้งความโหดร้ายได้เริ่มเผยโฉม ซึ่งก็เป็นผลดีในด้านการปกครองในสมัยนั้น เนื่องจากสามารถปราบปรามแคว้นรัฐต่าง  ๆ จนสามารถรวมดินแดนได้เป็นหนึ่งเดียวได้ (ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ทำได้ แต่ภายยุคราชวงศ์หลังต่อมา บ้านเมืองก็แตกเป็นรัฐเล็ก รัฐน้อย และรวมตัวกัน) มีผู้วิเคราะห์ว่า การรวมประเทศให้เป็นหนึ่งนั้นประเทศต้องมีมาตรฐานเป็นหนึ่งเดียว คือ

1. มาตราชั่งตวง ต้องเป็นระบบเดียวกัน ไปเมืองไหนก็ชั่งได้เท่ากัน

2. ระบบเงินตรา มีเงินรูปดาบ เงินรูปอักษรจีน ก็ต้องเป็นระบบ หน่วย น้ำหนัก เดียวกัน

3. ระบบอักษรจีน การเขียนอักษร เส้นอักขระ ต้องอ่านได้เหมือนกันทั่วอาณาจักรแม้ว่าจะเผาตำราไม้ไผ่ทิ้งกันอย่างขนาดใหญ่


แม้ว่าในคราวสิ้นพระชนม์ของพระองค์ มีการปกปิดพระศพและการปลอมราชโองการ ทำให้บ้านเมืองล่มสลายในที่สุด แต่การสร้างสุสานของพระองค์นั้น เป็นงานฝีมือที่ดีเลิศ ยิ่งใหญ่และอลังการ เหล่าทหารดินเผาหน้าตาแตกต่างกันทุกตัว ม้า รถลาก งดงามเหนือคำบรรยาย อีกทั้งเครื่องสังเวยต่าง ๆ ใช้ในโลกหน้า เช่น หมู ไก่ เป็ด ปลา นักกายกรรม ก็จำลองไว้ในสุสานซึ่งมีเมืองจำลองใต้ดิน มีดวงดาวราศีบนเพดาน แวดล้อมไปด้วยทะเลปรอท ซึ่งนักโบราณคดีเคยขุดเจาะสำรวจพบว่า บริเวณใกล้สุสานพบสารปรอทอยู่สูงผิดปกติ แต่ทางรัฐบาลก็ไม่กล้าที่จะขุดค้นเปิดสุสานออกมาให้ปรากฎ เนื่องจากทางรัฐบาลเห็นว่า มีผลเสียมากกว่าผลดี คือ การโจรกรรมสุสาน และ การ Oxidize ของโบราณวัตถุที่โดนอากาศทำให้เสียหลักฐานด้านโบราณคีดไปอย่างน่าเสียดาย (กรณีนี้เกิดมาแล้วในคราวขุดค้นทหารดินเผา ซึ่งพบว่ามีการทาสีอยู่ แต่ได้ซึดจางไปแล้ว)


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: art47 ที่ 26 พ.ค. 12, 21:40

ในหนังภาพยนต์ส่วนมากจะกล่าวกันว่า "หลี่ซือ" อาจจะเป็นบิดาของจิ๋นอ๋องแบบลับ ๆ


"หลีปู้เหว่ย" กระมั้งออกขุน ที่กล่าวกันว่าเป็นบิดาของอิ๋งเจิ๊งอย่างลับๆ

"หลี่ซื่อ" เป็นขุนนางคนสนิทมิใช่ดอกหรือ  ???


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 27 พ.ค. 12, 00:27
หลวี่ปู้เหวย (吕不韦) ครับ แซ่หลวี่ (吕) แซ่เดียวกับลิโป้ และคุณชวน หลีกภัยครับ


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 28 พ.ค. 12, 15:07
ต้องขออภัยที่หายหน้าไปหนึ่งวันเพราะมัวแต่ไปรับใช้ภารกิจให้ภรรยา

ราชวงศ์ต่อจากราชวงศ์ฉินคือ

 ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก(206 ปีก่อน ค.ศ. - ค.ศ. 9)

เมื่อกองทัพหลิวปังเอาชนะกองทหารของเซี่ยงอี้สำเร็จ หลิวปังจึงสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิองค์แรกของราชวงศ์ฮั่นอันยิ่งใหญ่และยาวนาน มีพระนามว่า พระเจ้าฮั่นเกาจู่ โดยตั้งเมืองหลวงที่ ฉางอาน (ใกล้บริเวณเมืองซีอาน มณฑลส่านซีปัจจุบัน) แล้วเรียกชื่อประเทศว่า อาณาจักรฮั่น นักประวัติศาสตร์จีนแบ่งยุคสมัยของราชวงศ์ฮั่นเป็นสองยุคตามที่ตั้งของเมืองหลวง คือ ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (เริ่มต้นโดยพระเจ้าฮั่นเกาจู่) และราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (เริ่มต้นที่พระเจ้าฮั่นกวงอู่) ราชวงศ์ฮั่นเป็นยุคทองของจีน คนจีนในยุคหลังจะเรียกตัวเองว่าเป็นชาวฮั่น ราชวงศ์ฮั่นอยู่ได้เป็นเวลานาน กว่า 400 ปี (ราว ๆ ช่วง พ.ศ. 335 - 763) (หรือราว ๆ ช่วง ก่อนคริสต์ศักราช 206 ปี - ค.ศ. 220) และล่มสลายมาเป็นยุคสามก๊ก (ราว ๆ พ.ศ. 763 - 823)(หรือ ๆ ค.ศ. 220 - 280) เนื่องจากความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองอันมากด้วยวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ยาวนาน  จึงมีศัพท์จีนคำหนึ่งซึ่งได้ยินติดหูและใช้เรียกในชีวิตประจำวัน คือ ชาวฮั่น ภาษาฮั่น ซึ่งหมายถึง ชาวจีน ภาษาจีน นั่นเอง สิ่งนี้แสดงถึงความภาคภูมิใจของคนจีนที่สืบเนื่องกันมาตั้งแต่ยุคอาณาจักรฮั่นโบราณ

หลังจากปราบปรามกองทหารของเซี่ยงอี้และกลุ่มต่อต้านอื่นสำเร็จแล้ว หลิวปังหรือพระเจ้าฮั่นเกาจู่รวบรวมแผ่นดินเป็นหนึ่งเดียวกัน สังคมสงบอีกครั้ง แต่อยู่ในภาวะอ่อนล้าจากสงครามนับสิบปี บ้านเมืองเสียหายหนัก ประชาชนอดอยากเพราะผลิตพืชผลได้ไม่เต็มที่ พระเจ้าฮั่นเกาจู่และเสนาบดีส่วนใหญ่ล้วนมาจากสามัญชน จึงเข้าใจความทุกข์ยากของชาวบ้านอย่างลึกซึ้ง พระองค์ดำเนินนโยบายการปกครองแบบไม่ปกครองเพื่อช่วยฟื้นฟูความเป็นอยู่ของราษฎรและบ้านเมือง

การปกครองแบบไม่ปกครอง
นโยบายปกครองของพระเจ้าฮั่นเกาจู่ซึ่งใช้กับราษฎรหลังสงครามยาวนาน เรียกว่า การปกครองแบบไม่ปกครอง มันเป็นการปกครองตามการผันแปรของธรรมชาติ อันทำให้สังคมมีเสถียรภาพ ผลผลิตเพิ่มขึ้น ความเป็นอยู่ของราษฎรดีขึ้น ส่วนนโยบายลดภาระของราษฎรซึ่งมีต่อรัฐ เช่น ลดอัตราภาษีส่งรัฐ งดและลดการเกณฑ์แรงงาน และอื่นๆ อันส่งผลให้ชีวิตราษฎรมีอิสระเพิ่มขึ้น ส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และพัฒนาผลผลิตของตน บ้านเมืองจึงฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว

นโยบายการปกครอง
ช่วงแรกของการครองราชย์นั้นพระเจ้าฮั่นเกาจู่แต่งตั้งเจ้านครรัฐซึ่งร่วมทำสงครามชิงอำนาจกับเซี่ยงอี้ไปปกครองนครรัฐทั้งเจ็ดเพื่อตอบแทนน้ำใจ ต่อมาเมื่ออำนาจของพระองค์มั่นคงขึ้นจึงวางแผนใส่ร้ายพวกเขาว่าเป็นกบฏแล้วกำจัดทั้งหมด จากนั้นแต่งตั้งให้ราชนิกุลดำรงตำแหน่งแทนเจ้านครรัฐเหล่านั้น

ปราบกบฏเจ้านครรัฐทั้งเจ็ด
ผู้สืบทอดราชบัลลังก์ต่อจากพระเจ้าฮั่นเกาจู่ต่างช่วยกันพัฒนาและฟื้นฟูบ้านเมืองอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราษฎรมีความสุข อาณาจักรเจริญรุ่งเรืองจนกระทั่งนักประวัติศาสตร์เรียกช่วงการครองราชย์ของพระเจ้าฮั่นเหวินตี้ (สมเด็จพระจักรพรรดิเหวินแห่งราชวงศ์ฮั่น หรือ ฮั่นเหวินตี้ (202 ปีก่อนคริสตกาล-157 ปีก่อนคริสตกาล) ทรงมีพระนามเดิมว่า หลิวเฮง โดยเป็นพระราชโอรส องค์ที่ 5 ในจักรพรรดิฮั่นเกาจู และพระสนมโป ซึ่งภายหลังเมื่อทรงครองราชย์แล้วทรงสถาปนาพระราชมารดาเป็นโปไทเฮา ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อ 180 ปีก่อนคริสตกาล (พ.ศ. 363) เมื่อพระชนม์ได้ 22 พรรษา ทรงมีพระนามว่า จักรพรรดิฮั่นเหวินตี้) และพระเจ้าฮั่นจิ่งตี้ (สมเด็จพระจักรพรรดิจิงแห่งราชวงศ์ฮั่น หรือ ฮั่นจิงตี้ (188 ปีก่อนคริสตกาล - 141 ปีก่อนคริสตกาล) ทรงมีพระนามเดิมว่าหลิวฉี เป็นพระราชโอรสของจักรพรรดิฮั่นเหวินตี้ และพระสนมตู้ พระสนมองค์โปรด ซึ่งภายหลังจักรพรรดิเหวินตี้ทรงสถาปนาพระสนมตู้ขึ้นเป็นตู้ฮองเฮา และสถาปนาองค์ชายหลิวฉีขึ้นเป็นรัชทายาท ทรงเป็นหนึ่งในแม่ทัพที่ปราบกบฏ 7 แคว้น) ว่า การปกครองสมัยเหวิน - จิ่ง 

เมื่อบ้านเมืองมีความสงบสุขและมั่นคง พระเจ้าฮั่นจิ่งตี้มีการปรับนโยบายปกครองประเทศด้วยการลดทอนดินแดนในครอบครองของเจ้านครรัฐ อันเป็นเหตุให้เกิดจลาจลเจ็ดเจ้านครรัฐ พระองค์มีคำสั่งให้แม่ทัพโจวย่าฟูไปปราบจลาจล เพียงสามเดือนรัฐอู๋และรัฐฉู่ซึ่งเป็นรัฐใหญ่ถูกปราบราบคาบ อีกห้ารัฐถูกสยบด้วยเวลาไม่นานนัก ชัยชนะครั้งนี้ส่งผลให้เจ้านครรัฐกลายสภาพเป็นผู้ครอบครองดินแดนในนามเท่านั้น ไม่มีอำนาจปกครองประชาชนอีกต่อไป เมื่ออำนาจของส่วนกลางมั่นคง การปกครองแผ่นดินจึงเป็นไปอย่างราบรื่น ต่อมาสมัยพระเจ้าฮั่นอู่ตี้เห็นว่าอาณาเขตของเจ้านครรัฐยังกว้างใหญ่และมีเศรษฐกิจดี ซึ่งอาจก่อปัญหาต่อราชสำนักภายหน้า จึงประกาศนโยบายมรดกศักดินาโดยยอมให้เจ้านครรัฐนำที่ดินในครอบครองแบ่งแก่ทายาทของตนได้ อันนับได้ว่าเป็นแผนแยบยลเพื่อลดขนาดดินแดนของเจ้านครรัฐอันส่งผลมิให้เจ้านครรัฐมีอำนาจต่อรองหรือกดดันราชสำนักได้อีก

จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ มหาราชลือนามในแผ่นดิน
หลิวเช่อ เป็นพระนามเดิมของพระเจ้าฮั่นอู่ตี้ ทรงขึ้นครองราชย์เมื่ออายุ 16 พรรษา ปกครองอาณาจักรฮั่นนานถึง 54 ปี (ปี 140 – 87 ก่อน ค.ศ.) ผลงานปรับปรุงประเทศและแผ่ขยายอิทธิพลของพระองค์ทำให้นักประวัติศาสตร์ถือเป็นมหาราชซึ่งมีชื่อเสียงมากในประวัติศาสตร์ของจีน พระองค์กำหนดปีรัชสมัยของตนขึ้นเป็นครั้งแรกในชื่อว่า “เจี้ยนหยวน” นับจากนี้ไปกษัตริย์จีนองค์ต่อมาต่างถือเป็นประเพณีตั้งชื่อรัชศกของตนมาจนกระทั่งสิ้นสุดยุคจักรพรรดิ

นโยบายการปกครอง
พระองค์ปรับประบบการเข้ารับราชการใหม่ โดยกำหนดให้ทุกท้องที่เลือกผู้มีจิตกตัญญูหรือขุนนางซื่อสัตย์ไปที่เมืองหลวงเพื่อเป็นข้าราชการ ทำให้ระบบคัดเลือกขุนนางแบบเดิมซึ่งสืบทอดตำแหน่งโดยทายาทลดความสำคัญลงไปอย่างมาก คุณภาพของขุนนางดีขึ้นอันส่งผลดีต่อการทำงานเพื่อบ้านเมืองและความสุขของราษฎรมาก

นโยบายด้านเศรษฐกิจ
พระเจ้าฮั่นอู่ตี้ก่อสร้างพระราชวังและมีการทำสงครามแผ่ขยายอำนาจบ่อยครั้ง จึงมีความจำเป็นต้องใช้เงินมาก พระองค์ออกข้อกำหนดเข้มงวดในทางเศรษฐกิจแตกต่างจากอดีตเพื่อนำเงินไปใช้จ่ายในภารกิจดังกล่าว ตัวอย่างเช่น การสร้างกิจการผูกขาดโดยรัฐ และห้ามบุคคลทั่วไปทำกิจการนี้ อันได้แก่ การค้าเกลือ โลหะและเหล้า การกำหนดใช้เงินตราสกุลเดียวกัน โดยสร้างเงินเหรียญ 5 จู ซึ่งมีน้ำหนักเท่ากับน้ำหนักของเมล็ดข้าวโพด 500 เมล็ด มีอักษรจีนคำว่า 5 จู กำกับไว้
รัฐทำการค้าขายเอง โดยกระจายสินค้าเครื่องบรรณาการจากรัฐต่างๆหรือประเทศข้างเคียงส่งไปขายที่เมืองอื่นเพื่อเพิ่มพูนรายได้ของรัฐ และตั้งหน่วยงานในเมืองหลวงรับซื้อสินค้าต่างๆอันเป็นการปรับกลไกของตลาดและควบคุมราคาสินค้าได้ด้วย

นโยบายด้านการทหาร
พระเจ้าฮั่นอู่ตี้ส่งขุนพลเว่ยชิงและขุนพลฮั่วชี่ปิ้งนำกองทัพนับแสนคนบุกโจมตีถึงกลางดินแดนที่ตั้งของชนเผ่าซงหนู ซึ่งอาศัยทางเหนือของจีนและเข้าปล้นชิงทรัพย์สินของชาวฮั่นบ่อยครั้ง ในที่สุดชนเผ่านี้ต้องถอยขึ้นไปทางเหนือของทะเลทรายมองโกเลีย ชายแดนทางเหนือของแผ่นดินฮั่นตะวันตกจึงสงบสุขได้ยาวนาน
พระองค์ได้ยกทัพไปตีเกาหลีและดินแดนของชนกลุ่มน้อยต่างๆ โดยจัดตั้งเป็นเขตปกครองและดูแลเข้มงวด อาณาจักรแผ่ขยายใหญ่กว่าอาณาจักรฉินมาก นอกจากนั้นยังส่งทูตไปเจริญไมตรียังดินแดนตะวันตก อันได้แก่ ที่ราบสูงทาร์มทางตะวันออกของชงหลิงถึงทางตะวันตกของด่านอี้เหมินกวนและด่านหยังกวน แล้วยังจัดตั้งเขตปกครองพิเศษดินแดนส่วนนี้ นับเป็นการเริ่มต้นปกครองดินแดนตะวันตกอย่างเป็นทางการ

ความรุ่งเรืองสูงสุดของอาณาจักรฮั่น
แม้พระเจ้าฮั่นอู่ตี้จักสร้างความสำเร็จในการพัฒนาบ้านเมืองและประชาชนอยู่ดีกินดีอย่างมาก แต่ทรงมีนิสัยชอบทำการใหญ่โต สุรุ่ยสุร่าย งมงาย และทำศึกสงครามตลอดรัชสมัย ทำให้เงินคงคลังร่อยหรอลง ฐานะความมั่นคงของประเทศเสื่อมโทรมลงในตอนปลายรัชสมัย ผู้สืบทอดบัลลังก์รุ่นต่อมา คือ พระเจ้าฮั่นเจาตี้ และ พระเจ้าฮั่นเซวียนตี้ พยายามแก้ไขปัญหาทับถมจากอดีตด้วยการระมัดระวังการแต่งตั้งขุนนาง ละเว้นภาษีค่าเช่าที่นาเพื่อลดความเดือดร้อนของราษฎร พัฒนาด้านเกษตรกรรมและหัตถกรรมอันส่งผลต่อการเพิ่มผลผลิตในชาติ จึงมีการยกย่องให้พระเจ้าฮั่นเซวียนตี้ เป็นเจ้าแห่งความเฟื่องฟู ด้วยการทำประโยชน์ของกษัตริย์ทั้งสองพระองค์จึงประคองและรักษาความรุ่งเรืองของราชวงศ์ต่อไปอีกพักใหญ่ก่อนวาระแห่งการล่มสลายจักมาเยือนราชวงศ์อันยิ่งใหญ่นี้

วาระเสื่อมสลายของราชวงศ์ฮั่นตะวันตก
อำนาจปกครองของราชวงศ์นี้หลังจากพระเจ้าฮั่นอู่ตี้สิ้นพระชนม์ตกอยู่ในมือของพระญาติวงศ์และขันที กษัตริย์รุ่นต่อมาใช้ชีวิตสุขสำราญเป็นหลัก การบริหารบ้านเมืองจึงอยู่ในมือของญาติวงศ์ สมัยพระเจ้าฮั่นหยวนตี้นั้นครอบครัวตระกูลหวังของพระมเหสีได้รับการวางใจเป็นพิเศษ เมื่อถึงสมัยพระเจ้าฮั่นเฉิงตี้ พระญาติวงศ์สกุลหวังเข้ากุมอำนาจปกครองต่อเนื่องและมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น ต่อมาไม่นานหวังมั่งยึดครองอำนาจเบ็ดเสร็จจากรัชทายาทของพระเจ้าฮั่นผิงตี้แล้วสถาปนาตนเองเป็นจักรพรรดิ ตั้งชื่อราชวงศ์ของตนว่า ราชวงศ์ซิน


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 28 พ.ค. 12, 15:52
ข้อความที่คุณ Sujittra ยกมาจาก th.wikipedia.org ซึ่งอนุญาตให้เผยแพร่ภายใต้ "สัญญาอนุญาตครีเอทีฟคอมมอนส์ แบบแสดงที่มา-อนุญาตแบบเดียวกัน"

ขอความกรุณาแจ้งที่มาเพื่อหลีกเลี่ยงการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยนะครับ


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 28 พ.ค. 12, 18:43
ขอบคุณท่าน CrazyHOrse ที่ทักท้วงครับ
ทีทจริงแล้วผมเพียงแต่รวบรวมจากที่โน่นที่นี่รวมทั้งวิกิพีเดียซึ่งเป็นแหล่งใหญ่และปรับปรุงเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์และสะดวกแก่ผู้ติดตาม ที่จริงแล้วยังมีอีกหลายแหล่งครับ
ผมต้องขออภัยที่ไม่ได้สื่อสารในประเด็นนี้ด้วยครับ
ขอความกรุณาทุกท่านได้โปรดเข้าใจว่าผมมิได้แปลและเขียนขึ้นเอง เพราะมิได้สันทัดในภาษาจีนดังเช่นท่าน Samun007 หรือท่าน CrazyHOrse และอีกหลายท่านในเว็บ "เรือนไทย" นี้
กราบขออภัยทุกท่านด้วยครับ


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: samun007 ที่ 28 พ.ค. 12, 22:28
ขอเพิ่มเติมเรื่องความเสื่อมถอยของราชวงศ์ฮั่นตะวันตกในยุคของจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้นะครับ นอกจากจะเป็นตามที่ท่านเจ้าของกระทู้บรรยายมาแล้ว ยังมีเรื่องของ "การซื้อขายตำแหน่งขุนนาง" ซึ่งถ้าจำไม่ผิด จะเริ่มที่ยุคนี้เป็นครั้งแรก ว่ากันเป็นหลักแสนตำลึง จนไปถึงล้านตำลึงครับ เพื่อชดเชยการคลังที่กำลังง่อนแง่น เพราะเอาแต่รบนั่นเอง


กระทู้: ประวัติศาสตร์จีน
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 29 พ.ค. 12, 20:00
ราชวงศ์ต่อไปคือราชวงศ์ซิน

ราชวงศ์ซิน (新朝) ถูกสถาปนาโดย จักรพรรดิซินเกาจู่ หรือ หวังหมั่ง (หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อว่า อองมัง) (พ.ศ. 543 - 567) ซึ่งสืบเชื้อสายจากขุนนางสกุลหวังในรัชสมัย จักรพรรดิฮั่นเฉิงตี้ เป็นพระญาติทางฝ่ายไทเฮาของจักรพรรดิฮั่นเฉิงตี้และเป็นจักรพรรดิองค์แรกและองค์เดียวแห่งราชวงศ์ซิน 

ในรัชกาลจักรพรรดิฮั่นเฉิงตี้ ตระกูลหวังมีอำนาจอย่างมาก เมื่อหวังหมั่งเห็นราชวงศ์ฮั่นเริ่มอ่อนแอลงก็พยายามจะยึดอำนาจ แต่ล้มเหลวเพราะฮั่นเฉิงตี้สวรรคตเสียก่อน ฮั่นผิงตี้จึงขึ้นครองราชย์แทน แต่บ้านเมืองก็ยิ่งอ่อนแอลงกว่าเก่า และอำนาจของสกุลหวังยิ่งมีมากขึ้น

ครั้นเมื่อฮั่นผิงตี้สวรรคตลงในปี ค.ศ. 8 (พ.ศ. 551) หยูจื่ออิงพระญาติชันษา 1 พรรษาจึงขึ้นครองราชย์ (แหล่งข้อมูลบางแห่งก็ว่าครองราชย์เมื่อ 7 พรรษา) หวังหมั่งในฐานะอัครมหาเสนาบดีจึงใช้โอกาสนี้ปลดหยูจื่ออิงออกจากราชสมบัติและสถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิซินเกาจู่

ตลอดรัชกาลเป็นรัชกาลที่อ่อนแอและเหี้ยมโหด ความล้มเหลวของระเบียบใหม่ได้สร้างกระแสต่อต้านจากประชาชน เกิดเป็นกบฏชาวนาในพื้นที่ต่าง ๆ อาทิ กองกำลังคิ้วแดง ที่นำโดยฝานฉงจากแถบซานตง และกองกำลังลี่ว์หลิน ซึ่งนำโดยหลิวซิ่ว จากหูเป่ย เป็นต้น โดยในบรรดากองกำลังเหล่านี้ ถือว่ากองทัพของหลิวซิ่วมีกำลังกล้าแข็งที่สุด ภายหลังการศึกที่คุนหยัง ชัยชนะอย่างเด็ดขาดของกองกำลังลี่ว์หลินต่อกองทัพราชวงศ์ใหม่ ทำให้หลิวซิ่วถือเป็นโอกาสเข้ากลืนขุมกำลังติดอาวุธขนาดเล็กทางตอนเหนือ ขยายฐานกำลังไปยังเหอเป่ย ซึ่งเป็นดินแดนทางภาคเหนือของจีนในปัจจุบัน เมื่อซินเกาจู่สวรรรคตลงในปี ค.ศ. 24 (พ.ศ. 567)  หลิวซิ่วได้สถาปนาพระองค์เป็น จักรพรรดิฮั่นกวงตี้ ปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันออก และทรงย้ายเมืองหลวงจาก ฉางอัน มาสู่ ลั่วหยาง จึงทำให้ราชวงศ์ซินที่ปกครองจีนเป็นเวลา 16 ปีล่มสลายลง