เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: NAVARAT.C ที่ 21 ต.ค. 12, 13:06



กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ต.ค. 12, 13:06
กัปตันซามูเอล โยเชฟ เบิร์ด เอมส์ (Captain Samuel Joseph Bird Ames พ.ศ. 2375 - พ.ศ. 2444) เป็นคนอังกฤษชาวเมืองWeymouth เกิดเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 1832  เคยเป็นนายเรือสินค้าแบบเรือใบสี่เสากระโดง ตระเวนไปตามเมืองท่าของทะเลแถบแอตแลนติก และเมื่อบริษัทขยายเส้นทางมายังตะวันออกไกล แถวอินเดีย ลังกา พม่า และสุดท้ายมาที่สยาม ทำให้กัปตันหนุ่มผู้นี้หลงเสน่ห์ประเทศนี้เอามากๆ ถึงกับเมื่อกลับไปอังกฤษแล้ว ได้เกลี้ยกล่อมเคทเธอรีน โซเฟีย บราวน์ Katherine Sophia Brown ผู้เป็นภรรยา ให้ตัดสินใจนำบุตรชาย 2 คนเดินทางอพยพเข้ามาเพื่อตั้งรกรากในกรุงเทพ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ต.ค. 12, 13:09
กัปตันเอมซ์คงจะเบื่อชีวิตทะเลที่ต้องจากลูกเมียไปครั้งละนานๆ จึงเริ่มต้นอาชีพใหม่บนแผ่นดินสยามในฐานะผู้รับเหมาก่อสร้าง เพราะมีพื้นเพความรู้ทางงานช่างมาก่อนแล้ว งานชิ้นแรกที่ได้รับเป็นสะพานเล็กๆแถวตรอกโรงภาษี ผลงานเป็นที่ยอมรับจึงได้งานต่อมาเรื่อยๆ

จนถึงปีพ.ศ. 2403 ขณะอายุได้ 29ปี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯโปรดฯให้เจ้าพระยายมราช(ครุฑ บ่วงราบ)เป็นแม่กอง จัดตั้งกิจการตำรวจสยามเรียกว่า“กองโปลิศคอนสเตเบิ้ล”ตามแบบยุโรปขึ้น เพื่อทำหน้าที่แทนข้าหลวงกองจับและกองตระเวนซ้ายขวาแบบโบราณ กัปตันเอมส์จึงได้สมัครเข้ารับราชการตามประกาศ ได้รับการคัดเลือกให้เป็นโปลิศคนแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย มีตำแหน่งเป็นผู้บังคับกอง ติดยศร้อยเอกในปีนั้น


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ต.ค. 12, 13:11
โรงพักที่สมัยก่อนเรียกว่าโรงตำรวจพระนครบาล จัดตั้งขึ้นแห่งแรกในย่านคนจีนแถวตรอกโรงกระทะ(เดี๋ยวนี้เป็นสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์) ใช้แขกมลายูและอินเดียที่เคยเป็นลูกน้องเก่าของกัปตันเอมส์เป็นพลตระเวน เริ่มปฏิบัติงานในสำเพ็งและพาหุรัดเป็นย่านแรกเพราะเป็นท้องที่ทำมาหากินของพวกขโมยขโจรและนักฉกชิงวิ่งราว


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ต.ค. 12, 13:14
แรกๆคนก็เห็นโปลิศเป็นตัวตลก เพราะเป็นแขกโพกหัวด้วย เครื่องแบบสมัยเริ่มต้นก็ยังไม่มีเป็นเรื่องเป็นราว จึงพากันยั่วเย้ากระเซ้าแหย่ แต่พวกโปลิศก็ไม่เอาใจใส่ กัปตันเอมซ์ได้อบรมและกำชับเรื่องวินัยเป็นอย่างยิ่งไม่ให้ต่อล้อต่อเถียงกับชาวบ้าน แต่ถ้าเห็นผู้ใดทำผิดแล้วก็จะเอาจริงเอาจังไม่กลัวเกรง ปล้ำจับเอาตัวไปโรงตำรวจจนพวกหัวขโมยครั่นคร้าม ชาวบ้านก็พอใจให้ความนับถือมากขึ้นเพราะโปลิศคอนสเตเบิ้ลเอาจริงเอาจัง ไม่ได้เดินวางก้ามอวดเบ่งเฉยๆ ถือว่าการเริ่มต้นทำงานของโปลิศคอนสเตเบิ้ลได้ผล

ปัญหาของโปลิศแขกอยู่ที่ภาษา พูดกับชาวบ้านไม่รู้เรื่อง ยิ่งสมัยนั้นมีปัญหาการเมืองเรื่องคนในบังคับของต่างชาติอยู่ด้วย แม้จะเป็นคนไทยแต่เป็นสัปเยคของชาติอื่นก็เอาเขาขึ้นศาลไทยไม่ได้ และพวกนี้จะหัวหมอเป็นพิเศษ กัปตันเอมซ์ต้องใช้ความสุขุมรอบคอบในการจัดการกับพวกผิดกฎหมายเหล่านี้ จนได้รับคำกล่าวขวัญยกย่องจากบรรดากงสุลต่างๆ และให้ความร่วมมือกับทางการของสยามเป็นอย่างดี

ในภาพไม่ใช่ของจริงในเมืองไทยนะครับ เอาแขกหัวโตมาให้ชมพอให้ได้ความรู้สึกเท่านั้น


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ต.ค. 12, 13:16
กิจการโปลิศคอนสเตเบิ้ลในบังคับบัญชาของกัปตันเอมซ์ก้าวหน้าไปด้วยดีจนต้องขยายขนาดและย้ายโรงตำรวจพระนครบาลไปอยู่ที่สามแยกต้นประดู่ ชาวบ้านจะเรียก “โรงพักสามแยก”

คดีความต่างๆส่วนมากก็ไม่พ้นเรื่องโจรกรรมทั้งทางบกทางน้ำ สมัยที่คนไทยยังใช้คลองมากกว่าถนน เรือพายใครจอดทิ้งไว้ก็มักจะหายเป็นประจำ กัปตันเอมซ์ต้องใช้วิชาตำรวจกวดล่าวิชามารจนบ้านเมืองดีขึ้น แม้กระนั้นคนไทยก็ยังไม่สมัครใจมาเป็นโปลิศจับขโมย เพราะเห็นว่าเป็นงานของแขกยาม กองโปลิศคอนสเตเบิ้ลคงต้องสั่งสมชื่อเสียงเกียรติคุณอยู่หลายปี ปรับปรุงเครื่องแบบให้ดูดี จนคนไทยเห็นว่าบ้านเมืองน่าอยู่ขึ้นเพราะมีโปลิศช่วยปกป้องคุ้มครอง ก็เลื่อมใสศรัทธา พอราชการประกาศรับสมัครจึงมีคนไทยต้องการเป็นพลตระเวนจำนวนมากเกินพอ กองโปลิศจึงเริ่มมีทั่งคนอินเดีย มลายูและคนไทยเอง

พอมีคนหลายชาติหลายภาษา การทะเลาะเบาะแว้งกันเองก็มีเป็นประจำเหมือนกัน แต่ด้วยความสามารถของกัปตันเอมซ์ ก็สามารถใช้ระเบียบวินัยปกครองผู้ใต้บังคับบัญชาให้ทำงานร่วมกันได้ ต่อมาเมื่อจำนวนพลตระเวนคนไทยมากขึ้น คนต่างชาติก็กลายเป็นชนส่วนน้อยลงไปทุกทีๆ จนปัญหาที่ว่าได้หมดลงไปเองในที่สุด


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ต.ค. 12, 13:18
หน้าที่หลักของพลตระเวนก็คืออยู่ประจำถนนที่เป็นทางแยกซึ่งมีม้า มีรถม้า มีรถลาก ราษฎรเดินไปมามาก อยู่ประจำตรอก ประจำสถานที่ต่างๆ ที่มีผู้คนโคจรอยู่เสมอ คอยจับโจรผู้ร้าย ระงับการวิวาท ดับเพลิง ฯลฯ สุดแท้แต่จะมีเหตุการณ์ใดๆเกิดขึ้นตามถนนหนทาง และบ้านเรือนในละแวก

นอกจากนั้นยังใช้เรือสำปั้นเป็นพาหนะทำการลาดตระเวนรักษาท้องที่ลำน้ำ เวลากลางวันมีพลตระเวนลงเรือลำละ ๓-๔ คน พายเลียบไปตามริมฝั่งแม่น้ำลำคลอง ตรวจดูตามตลาดในท้องน้ำ แพบ่อน โรงงิ้วโรงลิเกโรงฝิ่นทั้งหลาย เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย จับกุมผู้กระทำผิดต่างๆ ส่วนเวลากลางคืนเพิ่มพลตระเวนในเรือเป็น ๖-๘ คน

เพื่อให้พลตระเวนเป็นโปลิสที่ดี เป็นที่พึ่งของราษฎรได้ จึงมีข้อห้ามบัญญัติไว้ต่างๆ เช่น
 
ห้ามรับสินบน ถ้าพลตระเวนคนใดรับสินบนให้ไล่ออกเสียจากกรมกองตระเวนทันที
ห้ามใช้กระบองตีจำเลยในกรณีจำเลยไม่ต่อสู้และยอมให้จับโดยดี ถึงแม้ว่าจำเลยจะด่าว่าหยาบคายอย่างไรก็ตาม
ห้ามใส่กุญแจมือจำเลยที่เป็น หญิง คนชรา และคนพิการ
ห้ามไมให้ไถลเชือนแช หรือคุยกับราษฎรเวลาอยู่ยาม
ห้ามเดินก้มหน้าหรือหลังค่อม อันจะทำให้เสียความสง่าผึ่งผายของพลตระเวนไป
ห้ามเอาชื่อของผู้แจ้งเหตุ(ผู้กล่าวหาหรือเจ้าทุกข์) และเรื่องที่แจ้งเหตุไปบอกหรือพูดกับผู้หนึ่งผู้ใด ตลอดจนบอกแก่พวกหนังสือพิมพ์ และบอกทนายความเป็นอันขาด เพราะอาจทำให้เสียรูปคดีได้
ห้ามไม่ให้พลตระเวนและภริยา กู้ยืมเงินดิดดอกเบี้ยซึ่งกันและกันเป็นอันขาด ถ้าห้ามไม่ฟังให้ไล่ออก(สงสัยจะห้ามแขกปล่อยกู้กินดอกคนไทย)
ฯลฯ

เมื่อพ.ศ. 2414 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้กัปตัน เอส.เย.เอมส์ เป็น "หลวงรัฐยาธิบาลบัญชา" ถือศักดินา 600  คุณหลวงรับราชการทั้งหมดเป็นเวลา 32 ปี จึงปลดเกษียณเมื่อ พ.ศ. 2435


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ต.ค. 12, 13:20
ในปีเดียวกันนั้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ทรงย้ายกลับจากตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอนมาดำรงตำแหน่งเสนาบดีกรมพระนครบาล ทรงเห็นว่ากิจการของกองโปลิศคอนสเตเบิ้ลเจริญรุ่งเรืองดีสมควรจะได้รับการยกฐานะขึ้นทัดเทียมกับหน่วยราชการอื่นๆในกรมพระนครบาล เมื่อจัดระเบียบใหม่แล้วจึงได้กำหนดเครื่องแบบใหม่ของตำรวจให้มีมาตรฐานขึ้นด้วย

เครื่องแบบที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกนี้ก็เอาความคิดมาจากตำรวจอังกฤษ  สวมกางเกงตามสมัยนิยม เสื้อสีน้ำเงินสวมหมวกยอด ส่วนพวกแขกซิกข์ที่ยังหลงเหลืออยู่บ้างอนุโลมให้โพกหัวตามขนบประเพณีได้แต่ต้องสวมหมวกยอดทับลงไป เมื่อสวมไปแล้วก็เท่ห์ดีเหมือนกันเพราะแขกจะปล่อยชายผ้าสีน้ำเงินห้อยลงมาท้ายหมวก กลายเป็นเครื่องประดับหมวกไป

ส่วนนายตำรวจนุ่งผ้าโจงกระเบน สวมเสื้อเครื่องแบบและหมวกยอด ดังที่เห็นในภาพ


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ต.ค. 12, 13:26
นายเออร์เนสต์ ยัง( Ernest Young )ชาวอังกฤษผู้เขียนหนังสือเรื่อง " ราชอาณาจักรแห่งจีวรเหลือง " ( The Kingdom of The Yellow Robe ) ในปีพ.ศ. 2441 ได้บรรยายถึงภาพลักษณ์ของพลตระเวน หรือโปลิศในสมัยนั้นว่า “ ..ตำรวจส่วนใหญ่เป็นคนไทย แต่งตัวสง่าสู้บุรุษไปรษณีย์ไม่ได้ ตำรวจใช้เครื่องแบบสีน้ำเงิน ตั้งใจเลียนแบบตำรวจกรุงลอนดอน แต่ผ้าที่ใช้สีตกและหดทำให้ดูตลก ตำรวจชอบถือร่ม ชอบถลกขากางเกงเหนือเข่า ไม่สวมรองเท้า สวมหมวกยู่ยี่ แม้ไม่มีบุคลิกน่าเกรงขาม แต่ก็ไม่ถูกต่อต้านจากผู้จับกุม มักเห็นตำรวจโทรมๆ เหล่านี้นำผู้ต้องหาสามสี่คนเดินไปโรงพัก ให้ผูกข้อมือไพล่หลังด้วยผ้าเช็ดหน้า หรือผ้าขะม้าของผู้ต้องหาเอง”

แต่ภาพข้างล่างนี้ เสื้อเครื่องแบบของพลตระเวนไม่น่าจะสีน้ำเงิน สงสัยหลังจากที่เรื่องดังกล่าวตีพิมพ์ ทางราชการจึงได้เปลี่ยนเครื่องแบบเสียใหม่ดังที่เห็น


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ต.ค. 12, 13:32
กัปตัน เอส.เย.เอมส์ นั้น หลังจากเคทเธอรีนภรรยาชาวอังกฤษ เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2405 ขณะที่เธอมีอายุเพียง29ปี หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2405 ได้แต่งงานใหม่กับหญิงไทยเชื้อมอญชื่อ นางหยา มีบุตรด้วยกัน 6 คนคือ

ด.ญ. โนรี (ถึงแก่กรรมตั้งแต่เยาว์)
นายเสน่ห์ เอมซ์บุตร (ถึงแก่กรรมตั้งแต่อายุน้อย)
อำมาตย์ตรี หลวงอนุสรณ์หิรัญการ (อั้น เอมซ์บุตร) ผู้ช่วยสมุหบัญชีใหญ่ กรมรถไฟ
รองอำมาตย์เอก ขุนสารสำรวจลักษณ์ (สุดใจ เอมซ์บุตร)
นางเขียน กล้าณรงค์ราญ สมรสกับนายพลจัตวา นายกล้าณรงค์ราญ (ปาน  เกสะรานนท์) ภายหลังเปลี่ยนเป็น กล้าณรงค์ราญ
นางวาศ์น จารุวัสตร์ สมรสกับ นายพันเอก หลวงชัยรณฤทธ์ (ชิต จารุวัสตร์)

ส่วนบุตรสองคนที่เกิดจากภรรยาชาวอังกฤษ เชื่อว่าเมื่อโตขึ้นก็ได้เดินทางออกจากประเทศไทยไป แต่เมื่อไหร่และที่ใดหลักฐานไม่ปรากฏ

กัปตัน เอส.เย.เอมส์ หลังจากเกษียณแล้วก็มิได้ทำกิจการอะไรอีก และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2444 อายุรวม 69 ปี
ตระกูล "เอมซ์บุตร" เป็นนามสกุลที่พระราชทานโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสำหรับลูกหลานของสุภาพบุรุษอังกฤษผู้นี้


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: สัตตบรรณ ที่ 21 ต.ค. 12, 14:02
ตามอ่านบทความดีๆเช่นเคยครับ  ;D
แต่พออ่านบทบัญญัติ แล้ว มามองปัจจุบัน ตำรวจไทยละเมิดทุกข้อ (ฮา)  :-X


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ต.ค. 12, 20:38
ขอบคุณสำหรับบทความดีๆค่ะ

ย้อนกลับไปอ่านประวัติความเป็นมาของตำรวจไทย  พบว่าถอยหลังไปได้ถึงสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อทรงแบ่งการปกครองบ้านเมืองเป็น 4 เหล่า เรียกว่า จตุสดมภ์ ( เวียง วัง คลัง นา) ก็ทรงตั้งให้มีตำรวจขึ้นด้วย  โดยขึ้นอยู่กับเวียง

กิจการตำรวจครั้งนั้นแบ่งออกเป็นตำรวจพระนครบาล ตำรวจภูธร  มีเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์สมุหนายกอัครมหาเสนาบดี เป็นผู้บังคับบัญชา 
อีกพวกหนึ่งคือตำรวจหลวง  ขึ้นอยู่กับวัง มีเจ้าพระยาธรรมาธิบดีศรีรัตนมณเฑียรบาล เป็นผู้บังคับบัญชา

ส่วนเรื่องศักดินา มีอยู่ในบทพระอัยการระบุตำแหน่งนายพลเรือน ตามนี้
หลวงวาสุเทพ   เจ้ากรมมหาดไทยตำรวจภูธร                                       ศักดินา   1000
ขุนพิศนุแสน   ปลัดขวา                                                       ศักดินา    600
ขุนเพชรอินทรา ปลัดซ้าย                                                       ศักดินา    600
หลวงเพชรฉลูเทพ   เจ้ากรมมหาดไทยตำรวจพระนครบาล               ศักดินา   1000
ขุนมหาพิชัย   ปลัดขวา                                                       ศักดินา   600
ขุนแผลงสท้าน ปลัดซ้าย                                                        ศักดินา   600
หลวงอินทราบดีศรีราช   รองเมืองเจ้ากรมกองตระเวรขวา               ศักดินา   1000
ขุนเทพฉลู   เจ้ากรมกองตระเวนซ้าย                                       ศักดินา   1000
หลวงพิเรณเทพบดีศรี   สมุหะเจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ขวา               ศักดินา    2000
พระอินณเทพบดีศรี   สมุหะเจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ซ้าย                       ศักดินา    2000
พระอนุชิตราชา   จางวางกรมตำรวจขวา                               ศักดินา   3000
พระยาอภัยรณฤทธิ์   จางวางกรมตำรวจซ้าย                               ศักดินา   3000


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 ต.ค. 12, 21:05

แต่ภาพข้างล่างนี้ เสื้อเครื่องแบบของพลตระเวนไม่น่าจะสีน้ำเงิน สงสัยหลังจากที่เรื่องดังกล่าวตีพิมพ์ ทางราชการจึงได้เปลี่ยนเครื่องแบบเสียใหม่ดังที่เห็น


พลตระเวนแบบนี้ เป็นประเภท "หัวแดง แข้งดำ" ใช่ไหมครับ แล้วใช่พวกเดียวกับ "หม่าต๋า" ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ไหมครับ ???


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 21 ต.ค. 12, 21:42
^
น่าจะใช่นะครับ

ส่วนคำว่า หม่าต๋า ผมเคยได้ยินว่าหมายถึงตำรวจ เป็นภาษาจีนเหรอครับ เป็นแสลงหรือเปล่า

อยากให้คุณหนุ่มสยามช่วยหาว่า ป้อมฮึกเหี้ยมหาญ ที่โรงพักแห่งแรกตั้งอยู่ใกล้ๆนั้น อยู่ที่ไหนของสำเพ็งด้วยน่ะครับ


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 ต.ค. 12, 07:07
^
น่าจะใช่นะครับ

ส่วนคำว่า หม่าต๋า ผมเคยได้ยินว่าหมายถึงตำรวจ เป็นภาษาจีนเหรอครับ เป็นแสลงหรือเปล่า


มาจากภาษาจีนครับ

จากนิราศเมืองปะเหลียน พ.ศ. ๒๔๒๒
"มีของกินต่างต่างวางไว้ขาย ผลไม้หลายพันธุ์จัดสรรใส่
แต่ราคาแพงกว่าของเมืองไทย ส้มโอใบหนึ่งค่าห้าสิบเซนต์
มีหมาต๋ารักษาทุกถนน  ใครซุกซนก่อเรื่องให้เคืองเข็ญ
ถ้าถูกจับตัวได้แล้วไม่เว้น ก็เป็นอันตกลงขังกรงความ"


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 ต.ค. 12, 07:40
หากจะจัดชื่อป้อม และที่ตั้งของป้อมในปัจจุบันซึ่งเป็นที่ตั้งของเขตสัมพันธวงศ์ ควรจะเป็น "ป้อมปิดปัจจนึก" มากกว่าป้อมฮึกเหี้ยมหาญ เนื่องจากในแผนที่ต่าง ๆ ชี้พิกัดมาตรงปากคลองผดุงกรุงเกษมครับ


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 ต.ค. 12, 07:46

อยากให้คุณหนุ่มสยามช่วยหาว่า ป้อมฮึกเหี้ยมหาญ ที่โรงพักแห่งแรกตั้งอยู่ใกล้ๆนั้น อยู่ที่ไหนของสำเพ็งด้วยน่ะครับ


เข้ามาดูแล้วพบว่า กองตะเวนตั้งอยู่ช่วงบริเวณใกล้สะพานทิพยเสถียรในปัจจุบันนี้ ซึ่งพิกัดอยู่หน้าป้อมปิดปัจนนึก ซึ่งเป็นพิกัดที่ออกตะเวนง่ายคือ ขึ้นเหนือก็เหมาสำเพ็งทั้งสาย ลงใต้ก็ถนนเจริญกรุงทั้งเส้นได้สบาย ๆ เป็นระยะกึ่งกลางสะดวกครับ

ทั้งนี้แนบแผนที่ตั้งกองตะเวนให้พิจารณาครับ


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ต.ค. 12, 08:33
^
ขอบคุณครับ
ก็คงใช่โรงพักนึงแหละ แต่ไม่ใช่โรงพักแรกที่ตั้งอยู่ใกล้โรงกระทะและป้อมฮึกเหี้ยมหาญ บริเวณสำเพ็ง

ป้อมที่ว่ามีชื่ออยู่ในรายชื่อป้อมเมืองกรุงเทพ คุณเพ็ญชมพู(ขออนุญาตพาดพิงโดยเจตนา)เคยเอามาลงไว้ด้วย แต่ผมหาแผนที่ไม่ได้


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ต.ค. 12, 08:36
ผมพยายามหาภาพพลตระเวนที่ว่าเป็นชาวอินเดียโพกผ้าอยู่นาน มาเห็นตรงนี้เอง ไม่ชัดแจ๋วแต่ก็พอไหวนะครับ


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ต.ค. 12, 09:17
กิจการตำรวจนั้นมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ คำว่าตำรวจแผลงมาจากตรวจ เพราะมีหน้าที่ตรวจตรา คงมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยด้วยซ้ำ แต่หลักฐานมาปรากฏในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดเกล้าฯให้ตราระเบียบการปกครองบ้านเมืองออกสองฝ่าย คือ ฝ่ายทหารทั้งปวง มีสมุหกลาโหม(เจ้าพระยาจักรีศรีองค์รักษ์)เป็นหัวหน้า และฝ่ายพลเรือนมีสมุหนายก(เจ้าพระยาเสนาบดี)เป็นหัวหน้า จตุสดมภ์ได้แก่ เวียง(พระนครบาล) วัง(พระธรรมาธิกรณ์) คลัง(พระโกษาธิบดี) นา(พระเกษตรธิการ)
 
ตำรวจสมัยโบราณส่วนหนึ่งสังกัด“วัง” เรียกว่าตำรวจหลวง ซึ่งคัดเลือกมาจากผู้มีเชื้อสายของผู้จงรักภักดี ถือเป็นข้าราชบริพารรับใช้ใกล้ชิด นอกจากตำรวจหลวงรักษาพระองค์และถวายความปลอดภัยพระราชวงศ์แล้ว ยังมีตำรวจอีกส่วนหนึ่งเรียกว่าตำรวจเวียง หรือนคราภิบาลมีหน้าที่รักษาความสงบ จับกุม ปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายทั่วไป พวกนี้สังกัดอยู่กับ“เวียง” 


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ต.ค. 12, 09:19
ภายใต้ระบบจตุสดมภ์ดังกล่าว อำนาจบังคับบัญชาในแต่ละอาณาเขตยังก้าวก่ายกันมากอยู่ เช่น ในเมืองหลวงและหัวเมืองฝ่ายเหนืออยู่ในความปกครองของสมุหนายก หัวเมืองฝ่ายใต้อยู่ในความปกครองของสมุหกลาโหม แต่หัวเมืองชายทะเลอยู่ในความปกครองของพระคลังผู้ดูแลกรมท่าเป็นต้น กรมพระตำรวจในยุคนั้นนอกจากจะขึ้นอยู่กับฝ่ายต่างๆที่กล่าวมา ตามหัวเมืองต่างๆ ตำรวจยังมีหลวงเมืองเป็นหัวหน้าขึ้นตรงต่อเจ้าเมือง และเจ้าเมืองต่างก็ดำเนินการในเขตการปกครองของตนเป็นเอกเทศตามนโยบายของต้นสังกัดอีกทีหนึ่ง

กิจการตำรวจยังคงรูปแบบเดิมๆนี้มาจนกระทั่งได้รับการปฏิรูปครั้งสำคัญภายหลังการเข้ามาของเซอร์จอห์น บาวริง ในสมัยรัชกาลที่สี่ เมื่อสยามทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีกับนานาประเทศตะวันตกแล้ว ในเรื่องอันเกี่ยวกับ“สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” ที่อารยะประเทศไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมแบบไทยๆ สยามจึงจำเป็นต้องว่าจ้างกัปตันเอมซ์ หรือหลวงรัฐยาภิบาลบัญชา มาเป็นผู้วางแบบแผนจัดตั้งกองตำรวจอย่างยุโรปเรียกว่ากองโปลิสคอนสเตเบิล ขึ้นอยู่กับกรมพระนครบาล แต่ขอบเขตการปฏิบัติการก็ยังจำกัดอยู่แต่ในเขตกรุงเทพชั้นใน ที่ชาวยุโรปและชาวเอเซียในบังคับของกงสุลชาติต่างๆอยู่กันหนาแน่นเท่านั้น เพราะคดีที่เกี่ยวข้องกับคนเหล่านี้อยู่นอกอำนาจศาลไทย ต้องส่งจำเลยไปขึ้นศาลกงสุล สำหรับคนไทยก็ส่งไปขึ้นศาลไทยตามเดิม


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 ต.ค. 12, 09:21
ช่วยอีกภาพ จะชัดขึ้นไหม  ???


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ต.ค. 12, 09:23
^
โอ้ชัด ขอบคุณครับ

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ห้า เมื่อกัปตันเอมซ์เกษียณอายุไปแล้ว ได้ทรงว่าจ้างกัปตันกูสตาฟ เชาว์(Captain Gustav Schau)ชาวเดนมาร์กมาเป็นผู้วางโครงการต่อเพื่อขยายกิจการของกองโปลิส และเขตรักษาการกว้างขวางออกไปเป็นลำดับ เพื่อให้คุ้มครองคนไทยทั่วไปได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น มีการจัดตั้งโรงพักพลตระเวนขึ้นในพระนคร นอกพระนคร และฟากกรุงธนบุรี รวมกันทั้งหมดถึง๖๔โรงพัก บางโรงพักก็ตั้งอยู่บนแพ มีหน้าที่ลาดตระเวนรักษาแม่น้ำลำคลอง เช่น โรงพักปากคลองสาน โรงพักปากคลองบางกอกใหญ่เป็นต้น
ในต่างจังหวัดก็มีจัดตั้งตำรวจภูธรขึ้นด้วยในรูปทหารโปลิสในปี พ.ศ.2419 ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นกรมกองตระเวนหัวเมือง จนถึงปี พ.ศ.2440 ได้ตั้งเป็นกรมตำรวจภูธรขึ้นในสังกัดกระทรวงมหาดไทยแทน โดยมีนายพลตรี พระยาวาสุเทพ (กูสตาฟ เชาว์) เป็นเจ้ากรม ใช้กฎหมายเกณฑ์คนเข้าเป็นตำรวจเช่นเดียวกับทหาร

เมื่อถึงรัชกาลที่หก จึงโปรดเกล้าฯให้รวมกรมตำรวจภูธรกับกรมพลตระเวนเข้าเป็นกรมเดียวกัน เรียกว่า “กรมตำรวจภูธรและกรมพลตระเวน” สังกัดกระทรวงนครบาลเมื่อวันที่13 ตุลาคม พ.ศ.2458


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ต.ค. 12, 09:29
นายพลตรี พระยาวาสุเทพ (กูสตาฟ เชาว์) ฝรั่งดีอีกคนหนึ่งของสยาม


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 ต.ค. 12, 11:46
ป้อมที่ว่ามีชื่ออยู่ในรายชื่อป้อมเมืองกรุงเทพ คุณเพ็ญชมพู(ขออนุญาตพาดพิงโดยเจตนา)เคยเอามาลงไว้ด้วย แต่ผมหาแผนที่ไม่ได้


จาก ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๒๕ เรื่องสถานที่แลวัดถุซึ่งสร้างในรัชกาลที่ ๔ (http://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%A3_%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88_%E0%B9%92%E0%B9%95)

๓๒ ขุดคลองแลทำถนนในจังหวัดพระนคร ๑ คลองผดุงกรุงเกษม เมื่อปีกุญ พ.ศ. ๒๓๙๔ โปรดให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ที่สมุหพระกลาโหมเปนแม่กอง ให้เจ้าหมื่นไวยวรนารถ ( วร ) เปนนายงานขุด คลองแต่ลำแม่น้ำที่ใต้วัดเทวราชกุญชรผ่านคลองมหานาคไปออกแม่น้ำ ที่เหนือวัดแก้วแจ่มฟ้าคลอง๑ ๑ เปนคูพระนครชั้นนอกกว้าง ๑๐ วาลึก ๖ ศอก ยาว ๑๓๗ เส้น ๑๐ วาสิ้นค่าจ้างขุดเปนเงิน ๒๗,๕๐๐ บาท สำเร็จในปีขาล พ.ศ. ๒๓๙๗ ได้เปิดคลองเมื่อ ณ วันอาทิตย์ เดือนอ้าย แรม ค่ำ ๑ พระราชทานนามว่า คลองผดุงกรุงเกษม แลมีงานมโหรศพ ฉลอง ๓ วัน ต่อมาโปรดให้สร้างป้อมตามแนวคลองเปนระยะห่างกันประมาณ ๑๒ เส้น รวม ๘ ป้อม คือ ๑ ป้อมป้องปัจจามิตร อยู่ฝั่งตวันตกที่ปากคลองสาร ๒ ป้อมปิดปัจนึก อยู่ที่ปากคลองผดุง ฯ ข้างใต้ ๓ ป้อมฮึกเหี้ยมหาญ ๔ ป้อมผลาญไพรีราบ อยู่ตรงตลาดหัวลำโพง ๕ ป้อมปราบสัตรูพ่าย อยู่ที่ริมวัดพลับพลาไชย  ๖ ป้อมทำลายแรงปรปักษ์ อยู่ตรงมุมถนนหลานหลวง ๗ ป้อมหักกำลังดัษกร อยู่ตรงถนนราชดำเนิน ๘ ป้อมพระนครรักษา อยู่ริมวัดนรนารถ ๑ วัดแก้วแจ่มฟ้า เดิมอยู่ตรงหลังธนาคารฮ่องกงเซี่ยงไฮ้ ย้ายไปอยู่ถนนสี่พระยา เมื่อ ในรัชกาลที่ ๕

๓๓ (ป้อม ๘ ป้อมนั้นสร้างไม่ทันแล้วหมด ถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อเขตรพระนครขยายต่อออกไปอิก ป้อมเหล่านั้นไม่เปนประโยชน์ดังแต่ก่อน จึงโปรดให้รื้อเอาที่สร้างสถานที่ต่าง ๆ โดยมาก ยังเหลืออยู่เวลานี้แต่ป้อมป้องปัจจามิตรข้างฝั่งตวันตกที่ปากคลองสาร กับป้อมปิดปัจนึก ข้างฝั่งตวันออกที่ปากคลองผดุง ฯ ข้างใต้ ๒ ป้อมเท่านั้น)

ป้อมฮึกเหี้ยมหาญ (http://3king.lib.kmutt.ac.th/King4_200/chap17/page18.html) อยู่ใกล้กับป้อมปิดปัจจนึก เป็นป้อมสำหรับยิงคำนับแขกเมือง (ภายหลังรื้อแล้ว)

พ.ศ. ๒๔๒๙ ไฟไหม้ไปถึงวัดญวน ตลาดน้อย ไปหยุดลงที่ป้อมปิดปัจจนึก

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=4741.0;attach=24305;image)

โรงโปลิศใกล้ป้อมฮึกเหี้ยมหาญที่คุณนวรัตนหา อาจจะเป็นโรงเดียวกับโรงที่อยู่ใกล้ป้อมปิดปัจจนึกก็เป็นได้

 ;D


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 ต.ค. 12, 11:50
^
อุ อุ ๒ เสียงแล้วนะครับ อ.NAVARAT.C   ;D ;D ;D ;D ;D


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 ต.ค. 12, 13:56
^
อุ อุ ๒ เสียงแล้วนะครับ อ.NAVARAT.C   ;D ;D ;D ;D ;D

ข้อมูลจากหนังสือ ลิ้นชักภาพเก่า ระบุว่า ป้อมอึกเหี้ยมหาญ ไม่ได้สร้าง ครับ


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ต.ค. 12, 15:39
แล้วตรอกกระทะที่ติดกับตรอกพระยาไกรอยู่ที่ไหนครับ ถ้าอยู่ใกล้ๆกับป้อม


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 ต.ค. 12, 16:01
แล้วตรอกกระทะที่ติดกับตรอกพระยาไกรอยู่ที่ไหนครับ ถ้าอยู่ใกล้ๆกับป้อม

อยู่หลังตลาดน้อย ถนนทรงวาดครับ ตรอกโรงกะทะ เปลี่ยนชื่อในนาม "ถนนเยาวพานิช" ครับ


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ต.ค. 12, 16:45
^ นั่นแหละครับ ต้องคลำทางจากตรงนั้น
ตรอกโรงกระทะก็คุ้นหูผมมากในสมัยเด็กๆ แต่ตอนนี้ยังนึกไม่ออกว่าอยู่ตรงไหนอยู่ดี

อ้างถึง
พ.ศ. ๒๔๒๙ ไฟไหม้ไปถึงวัดญวน ตลาดน้อย ไปหยุดลงที่ป้อมปิดปัจจนึก
โรงพักแรก ตั้งในปี๒๔๐๓ ห่างกันกับข่าวนี้ถึง๒๖ปี กองโปลิศคงขยายไปตั้งโรงพักที่ป้อมปิดปัจจนึกด้วยแล้ว แต่ที่นั่นไม่ใช่โรงพักแห่งแรกแน่นอน
ป้อมปิดปัจจนึกจากแผนที่ของคุณหนุ่ม ผมดูแล้วเห็นว่าอยู่ริมคลองผดุงกรุงเกษมตรงหัวมุมถนนเจริญกรุงมาชนกับถนนกรุงเกษมและถนนไมตรีจิต ที่บอกว่า “ขึ้นเหนือก็เหมาสำเพ็งทั้งสาย ลงใต้ก็ถนนเจริญกรุงทั้งเส้นได้สบาย ๆ เป็นระยะกึ่งกลางสะดวก” ก็คงไม่ใช่ จากป้อมปิดปัจจนึก กว่าจะไปถึงสำเพ็งต้องผ่านเยาวราชไปทั้งสาย เกือบสองกิโลเมตร ถ้าจับนักวิ่งราวได้คนนึงกว่าจะลากตัวมาโรงพักคงเหนื่อยแย่ สมัยนั้นยังไม่มีฉลามบกใช้นะคุณน้อง

ส่วนป้อมฮึกเหี้ยมหาญ แม้อาจจะสร้างไม่เสร็จคงค้างไว้แค่ไหนก็ตาม คนก็คงเรียกตามชื่อนั้น อาจเป็นเพียงจุดอ้างอิงที่โรงพักไปตั้งใกล้ๆที่นั่น บังเอิญผมหาแผนผังไม่ได้ว่า โบราณกำหนดจะสร้างไว้ที่ไหน รู้แต่ว่าใกล้ตรอกโรงกระทะเหมือนกัน


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: นอแรด ที่ 22 ต.ค. 12, 17:42
ขอแก้ไขครับ  ....คนละเรื่องเดียวกัน :-[


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 ต.ค. 12, 19:36
^ นั่นแหละครับ ต้องคลำทางจากตรงนั้น
ตรอกโรงกระทะก็คุ้นหูผมมากในสมัยเด็กๆ แต่ตอนนี้ยังนึกไม่ออกว่าอยู่ตรงไหนอยู่ดี


หยิบแผนที่สมัยรัชกาลที่ ๕ นำมาแหย่ ๆ ให้ชมครับ คงเห็นแล้วร้องอ๋อแน่นอนว่าคือ ถนนเยาวพานิช ซึ่งเดิมคือ "ตรอกกะทะ" และมีปากคลองกะทะตั้งอยู่  อ.NAVARAT.C คงจะหายงงแล้วนะครับ


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 22 ต.ค. 12, 22:05
ตามประวัติบอกว่า ป้อมฮึกเหี้ยมหาญ อยู่ใกล้กับป้อมปิดปัจจานึก เป็นป้อมเล็ก ๆ สำหรับยิงปืนคำนับแขกเมืองตามธรรมเนียมยิงสลุต

การยิงสลุตก็คงยิงเมื่อเรือของแขกเมืองวิ่งผ่านเข้ามาตามลำน้ำเจ้าพระยา ดังนั้นป้อมนี้ก็ควรจะอยู่ใกล้กับแม่น้ำ ไม่ใช่ริมคลองผดุงกรุงเกษม และเนื่องจากเป็นป้อมขนาดเล็กโดดๆไม่ต่อเนื่องกับกำแพง ถ้าอยู่ปลายตรอกกระทะตามแผนที่ข้างบนก็สมเหตุสมผลดีนะครับ


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ต.ค. 12, 19:21
เรามาวิเคระห์ข้อความนี้กันหน่อย


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ต.ค. 12, 19:24
ข้อความดังกล่าวชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ได้เขียนไว้ในหนังสือ “สยามสมัยโบราณ” ตีพิมพ์ในปี๒๕๒๐ แสดงว่ากองโปลิศเมื่อเริ่มตั้งขึ้นนั้น มิได้มีแห่งเดียวตามที่เข้าใจกันเสียแล้ว แต่มีสองแห่งคือ

๑ ตั้งอยู่ที่ปัจจุบันเป็นธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเยาวราช ในตรอกโรงกระทะหรือถนนเยาวพานิช สุดตรอกตอนนั้นคงยังไม่มีถนนทรงวาด เป็นที่ตั้งของป้อมปืนเล็กๆที่ไว้ยิงสลุตรับเรือรบของแขกบ้านแขกเมือง จึงน่าจะอยู่ริมแม่น้ำ ชื่อว่าป้อมฮึกเหี้ยมหาญ ตัวป้อมจะสร้างเสร็จหรืออาจสร้างแค่ฐานอะไรก็สุดแล้วแต่ ชื่อก็คงตั้งไว้แล้วและคนก็เรียกตามนั้น

ตรอกโรงกระทะหรือถนนเยาวพานิชมีซอยวานิช๑ตัดผ่าน สามารถเดินตรงไปเรื่อยๆจนถึงสำเพ็งในทุกวันนี้ได้


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ต.ค. 12, 19:29
๒ ตั้งอยู่ที่ปัจจุบันเป็นที่ทำการเขตสัมพันธวงศ์ เดิมเป็นอำเภอซึ่งปกครองสำเพ็งทั้งหมด หมายความว่า ก่อนจะตัดถนนเยาวราชขึ้นนั้น เมืองจีนทั้งย่านโดยมีตรอกที่เดี๋ยวนี้ชื่อว่าถนนวานิช๑ และถนนวานิช๒เป็นแกนกลาง เขาเรียกรวมกันว่าสำเพ็ง ไม่ใช่หมายถึงแค่ตรอกสำเพ็งตามที่ทุกวันนี้เราเข้าใจกัน
 
ตามประวัติระบุว่าที่ทำการอำเภอสร้างทับไปบนตัวป้อมปิดปัจจานึกพอดี เป็นการประหยัดเงินงบประมาณไม่ต้องถมที่


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 23 ต.ค. 12, 19:32
และด้วยข้อมูลดังกล่าว ผมจึงทดลองกำหนดจุดที่ตั้งป้อมต่างๆที่อยู่ตามแนวคลองผดุงกรุงเกษมได้ และขอเสนอไว้ให้วิจารณ์กันด้วยเป็นของแถม
อย่าลืมว่านอกแนวคลองออกไป สมัยนั้นยังเป็นท้องไร่ท้องนาอยู่ ป้อมต่างๆในแผนผังนี้เป็นป้อมโดดๆ เรียกว่า ป้อมปีกกาคือมีแต่ตัวป้อมไม่มีกำแพงเมืองต่อเนื่องกันไป เช่นอาณาบริเวณพระนครเดิมถัดจากคลองคูเมือง ยุทธวิธีโบราณที่จะใช้เมื่อเกิดศึกมาประชิดติดเมืองนั้น ก็จะปักระเนียดไม้ชักปีการะหว่างป้อมให้ถึงกันตลอดแนว แล้ววางกำลังทหารเป็นแนวต้านทานด่านหน้า

ตามที่ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๒๕ เรื่องสถานที่แลวัดถุซึ่งสร้างในรัชกาลที่ ๔ อันเป็นเอกสารที่เขียนขึ้นในชั้นหลังระบุว่า
 
๓๒ ขุดคลองแลทำถนนในจังหวัดพระนคร ๑ คลองผดุงกรุงเกษม เมื่อปีกุญ พ.ศ. ๒๓๙๔ โปรดให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ที่สมุหพระกลาโหมเปนแม่กอง ให้เจ้าหมื่นไวยวรนารถ ( วร ) เปนนายงานขุด คลองแต่ลำแม่น้ำที่ใต้วัดเทวราชกุญชรผ่านคลองมหานาคไปออกแม่น้ำ ที่เหนือวัดแก้วแจ่มฟ้าคลอง๑ ๑ เปนคูพระนครชั้นนอกกว้าง ๑๐ วาลึก ๖ ศอก ยาว ๑๓๗ เส้น ๑๐ วาสิ้นค่าจ้างขุดเปนเงิน ๒๗,๕๐๐ บาท สำเร็จในปีขาล พ.ศ. ๒๓๙๗ ได้เปิดคลองเมื่อ ณ วันอาทิตย์ เดือนอ้าย แรม ค่ำ ๑ พระราชทานนามว่า คลองผดุงกรุงเกษม แลมีงานมโหรศพ ฉลอง ๓ วัน ต่อมาโปรดให้สร้างป้อมตามแนวคลองเปนระยะห่างกันประมาณ ๑๒ เส้น รวม ๘ ป้อม คือ ๑ ป้อมป้องปัจจามิตร อยู่ฝั่งตวันตกที่ปากคลองสาร ๒ ป้อมปิดปัจนึก อยู่ที่ปากคลองผดุง ฯ ข้างใต้ ๓ ป้อมฮึกเหี้ยมหาญ ๔ ป้อมผลาญไพรีราบ อยู่ตรงตลาดหัวลำโพง ๕ ป้อมปราบสัตรูพ่าย อยู่ที่ริมวัดพลับพลาไชย ๖ ป้อมทำลายแรงปรปักษ์ อยู่ตรงมุมถนนหลานหลวง ๗ ป้อมหักกำลังดัษกร อยู่ตรงถนนราชดำเนิน ๘ ป้อมพระนครรักษา อยู่ริมวัดนรนารถ
 
ป้อมชื่อนั้นชื่อนี้อยู่ที่วัดหรือถนนโน่นนี่นั่น ความจริงแล้ว ช่วงเวลาที่ป้อมสร้างขึ้นสถานที่ดังกล่าวยังหามีไม่ แม้ตัวป้อมเองก็อาจมีแต่ชื่อ ยังไม่ได้สร้าง หรือยังสร้างยังไม่เสร็จก็ทิ้งฐานรากค้างไว้ด้วยหมดความจำเป็น เพราะยุทธวิธีในการรบชิงเมืองได้เปลี่ยนไปแล้ว
สมัยรัชกาลที่๕ ทางราชการจึงรื้อป้อมที่สร้างค้างไว้ลง เอาพื้นที่ให้เป็นประโยชน์อย่างอื่นแทน


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 ต.ค. 12, 20:41
^
คิดไว้เช่นเดียวกัน ;D

ภาพถ่ายไม่เคยโกหก.. ผมก็นั่งมองภาพนี้อยู่หลายวัน เป็นภาพถ่ายเรือเมล์เจ้าพระยา ของเจ้าสัวยิ้ม เบื้องหลังเป็นบ้านแบบจีน คงจอดไว้หน้าบ้านท่านริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งควรจะถ่ายมองไปฝั่งกรุงเทพช่วงตลาดน้อย จะเห็นสิ่งก่อสร้าง อยู่ ๓ อย่างที่น่าสงสัย

๑. อาคารสูงเท่ากับตึก ๒-๓ ชั้น มีหลังคาทรงคล้ายป้อม (ตรงนี้เป็นจุดที่สงสัยว่า ควรจะเป็นป้อมสักแห่ง)

๒. บ้านเจ้าสัวยิ้ม

๓. หลังคาวัด (คงเป็นวัดเกาะ)

ถ้าตรงนี้เป็นไปตามที่ผมสันนิฐานไว้ก็ตรงใจมากครับ


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ต.ค. 12, 07:13
^
เยี่ยม

กระทู้นี้เราพบข้อมูลเก่าใหม่เอี่ยมที่คนไม่กล้ากำหนดมาก่อนว่า ป้อมฮึกเหี้ยมหาญ อยู่ตรงไหน แล้วพลอยไม่กล้าลงจุดป้อมริมคลองผดุงกรุงเกษมต่างๆในแผนที่ไปด้วยเลย

คุณหนุ่มพอจะมีภาพละเอียดๆ พอที่จะตัดขยายเฉพาะส่วนที่คิดว่าเป็นป้อมให้ดูชัดๆกว่านี้ไหมครับ


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ต.ค. 12, 07:17
อ้างถึง
กิจการตำรวจยังคงรูปแบบเดิมๆนี้มาจนกระทั่งได้รับการปฏิรูปครั้งสำคัญภายหลังการเข้ามาของเซอร์จอห์น บาวริง ในสมัยรัชกาลที่สี่ เมื่อสยามทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีกับนานาประเทศตะวันตกแล้ว ในเรื่องอันเกี่ยวกับ“สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” ที่อารยะประเทศไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมแบบไทยๆ สยามจึงจำเป็นต้องว่าจ้างกัปตันเอมซ์ หรือหลวงรัฐยาภิบาลบัญชา มาเป็นผู้วางแบบแผนจัดตั้งกองตำรวจอย่างยุโรปเรียกว่ากองโปลิสคอนสเตเบิล ขึ้นอยู่กับกรมพระนครบาล แต่ขอบเขตการปฏิบัติการก็ยังจำกัดอยู่แต่ในเขตกรุงเทพชั้นใน ที่ชาวยุโรปและชาวเอเซียในบังคับของกงสุลชาติต่างๆอยู่กันหนาแน่นเท่านั้น เพราะคดีที่เกี่ยวข้องกับคนเหล่านี้อยู่นอกอำนาจศาลไทย ต้องส่งจำเลยไปขึ้นศาลกงสุล สำหรับคนไทยก็ส่งไปขึ้นศาลไทยตามเดิม

ผมเข้าไปเจอในเวปของกระทรวงยุติธรรมมาครับ มีข้อความน่ารู้ คือยุคต้นของตำรวจนั้น เมื่อจับผู้ร้ายได้ก็สามารถชำระคดีได้เองเลย คือมีศาลเหมือนกันเรียกว่าศาลพลตระเวน ถึงแม้ผู้จับไม่ใช่ผู้พิพากษา แต่ผู้พิพากษาก็เป็นตำรวจด้วยกัน

ในสมัยรัชกาลที่ 1 ประเทศไทยยังปกครองแบบจตุสดมภ์ กรมเมืองหรือที่เรียกกันว่า “กรมพระนครบาล” เป็นกรมหนึ่งในจตุสดมภ์ มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในกรุงเทพมหานคร มีศาลในสังกัดเรียกว่า “ศาลนครบาล” กรมพระนครบาลได้จัดตั้งกองตระเวนขึ้น 2 กอง คือ กองตระเวนซ้ายและกองตระเวนขวา มีพลตระเวนทำหน้าที่จับผู้ร้ายให้ผู้ใหญ่ในกรมชำระตัดสินความได้เอง โดยยังไม่มีผู้พิพากษาตัดสินความได้อย่างในปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 241 มีการปรับปรุงกิจการตำรวจซึ่งเรียกว่า “พลตระเวน” ในกรุงเทพมหานครออกเป็น 3 กอง พลตระเวนทั้งสามกองนี้ เมื่อจับผู้ร้ายได้ก็ชำระความเอง เรียกว่า “ศาลพลตระเวน” สังกัดกรมพระนครบาล หลังจากประกาศตั้งกระทรวงยุติธรรมแล้ว ในปี พ.ศ. 2436 (ร.ศ.111) ได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้ง "ศาลโปริสภา" เป็นศาลกองตระเวนสำหรับกรุงเทพมหานคร โดยยกเลิกศาลพลตระเวนเดิม ศาลโปริสภาที่จัดตั้งขึ้นมีอำนาจชำระและตัดสินความอาญาลหุโทษเฆี่ยน (ทวน) 50 ทีลงมา และโทษจำไม่ถึงคุก จำที่ตะรางตั้งแต่ 6 เดือนลงมา หรือปรับไม่เกิน 2 ชั่ง (160 บาท) ส่วนคดีแพ่งมีอำนาจชำระและตัดสินความทุนทรัพย์ไม่เกิน 2 ชั่ง (160 บาท)


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 24 ต.ค. 12, 10:15
^
เยี่ยม

กระทู้นี้เราพบข้อมูลเก่าใหม่เอี่ยมที่คนไม่กล้ากำหนดมาก่อนว่า ป้อมฮึกเหี้ยมหาญ อยู่ตรงไหน แล้วพลอยไม่กล้าลงจุดป้อมริมคลองผดุงกรุงเกษมต่างๆในแผนที่ไปด้วยเลย

คุณหนุ่มพอจะมีภาพละเอียดๆ พอที่จะตัดขยายเฉพาะส่วนที่คิดว่าเป็นป้อมให้ดูชัดๆกว่านี้ไหมครับ

ลองเปรียบเทัยบกับป้อมที่ก่อสร้างริมแม่น้ำเจ้าพระยา (ซ้ายภาพ) กับภาพสิ่งก่อสร้างคล้ายป้อม (ภาพขวา) ก็ลองดูนะครับว่าใช่หรือไม่


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 24 ต.ค. 12, 10:20
ชัดเลยครับ ขอบคุณมากๆ


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 ต.ค. 12, 14:24
ป้อมนี้มีนามว่ากระไรฤๅ

 ???


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 24 ต.ค. 12, 14:28
ป้อมนี้มีนามว่ากระไรฤๅ

 ???

ป้อมมหายักษ์ ครับคุณเพ็ญฯ (หายไปนานเลยนะ)


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 24 ต.ค. 12, 15:29
 ;D


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 25 ต.ค. 12, 00:31
ตามประวัติบอกว่า ป้อมฮึกเหี้ยมหาญ อยู่ใกล้กับป้อมปิดปัจจานึก เป็นป้อมเล็ก ๆ สำหรับยิงปืนคำนับแขกเมืองตามธรรมเนียมยิงสลุต

การยิงสลุตก็คงยิงเมื่อเรือของแขกเมืองวิ่งผ่านเข้ามาตามลำน้ำเจ้าพระยา ดังนั้นป้อมนี้ก็ควรจะอยู่ใกล้กับแม่น้ำ ไม่ใช่ริมคลองผดุงกรุงเกษม และเนื่องจากเป็นป้อมขนาดเล็กโดดๆไม่ต่อเนื่องกับกำแพง ถ้าอยู่ปลายตรอกกระทะตามแผนที่ข้างบนก็สมเหตุสมผลดีนะครับ

คลองผดุงกรุงเกษมทั้งสองด้านเปิดสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ดังนัั้นถ้าป้อมอยู่ใกล้กับริมปากคลอง ก็สามารถที่อยู่ใกล้แม่น้ำได้ด้วย
บริเวณตำแหน่งของโรงแรมรอยัลริเวอร์ ซึ่งอยู่ใกล้ปากคลองผดุงกรุงเกษม(ทางด้านสะพานทิพยเสถียร หรือ สี่พระยา) ก็สามารถอยู่ติดแม่น้ำในเวลาเดียวกันครับ


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 25 ต.ค. 12, 00:34
ผมชอบอ่านกระทู้ของคุณลุงเนาวรัตน์เพราะได้ความรู้เยอะมาก
กระทู้นี้ก็สนุก เพียงแต่ว่า.... เพียงแต่ว่าตำแหน่งของป้อมปืนทำให้เกิดความสับสน จนีู้สึกว่าอ่านแล้ว "ไม่ทะลุ"
คงต้องมาช่วยกันทำความกระจ่างชัดในเรื่องนี้


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 25 ต.ค. 12, 00:54
๒ ตั้งอยู่ที่ปัจจุบันเป็นที่ทำการเขตสัมพันธวงศ์ เดิมเป็นอำเภอซึ่งปกครองสำเพ็งทั้งหมด หมายความว่า ก่อนจะตัดถนนเยาวราชขึ้นนั้น เมืองจีนทั้งย่านโดยมีตรอกที่เดี๋ยวนี้ชื่อว่าถนนวานิช๑ และถนนวานิช๒เป็นแกนกลาง เขาเรียกรวมกันว่าสำเพ็ง ไม่ใช่หมายถึงแค่ตรอกสำเพ็งตามที่ทุกวันนี้เราเข้าใจกัน
 
ตามประวัติระบุว่าที่ทำการอำเภอสร้างทับไปบนตัวป้อมปิดปัจจานึกพอดี เป็นการประหยัดเงินงบประมาณไม่ต้องถมที่


รูปของที่ว่าการเขตสัมพันธวงศ์ที่คุณลุงกรุณานำมาประกอบนี้เป็นรูปของที่ว่าการใหม่ (ประมาณ 30-40ปีเห็นจะได้)
ที่ว่าการเดิมนั้นไม่ได้ตรงตำแหน่งในปัจจุบัน แต่อยู่ตรงบริเวณถนนโยธา1 (ถ้าดูจาก GoogleMap) อาคารเดิมเป็นอาคารไม้สองชั้น ตัวอาคารหันหน้าไปทางด้านทิศเหนือ (มิใช่ทิศตะวันออกดังเช่นอาคารปัจจุบัน) ด้านหน้าอาคารหลังเดิมจะมีสนามฟุตบอลขนาดย่อมๆแต่กว้างขวางพอให้เด็กละแวกนั้นเตะฟุตบอลได้ (แต่ต้องคอยเลี้ยงหลบเสาธง)
ด้านหลังอาคารที่ว่าการอำเภอสัมพันธวงศ์เป็นคูนำ้เล็กๆและมีบ้านของพ่อบ้านที่ดูแลอำเภออาศัยอยู่ รวมทั้งในสมัยก่อนบริเวณหลังอำเภอในบริเวณนั้นก็จะมีลานโล่ง และมีเสาไม้สูงมีวิทยุอยู่ข้างบน (เข้าใจว่าจะคล้ายหอกระจายข่าว)
ที่คลาสสิคคือหน้าที่ว่าการอำเภอติดกับถนนจะมีรั้วไม้ทาสีขาวเตี้ยกั้นพองาม ชาวบ้านละแวกนั้นชอบไปนั่งกินอาหารเย็นในสนามหญ้าของอำเภอ
อาคารหลังเก่าสวยมากเพราะทางเดินขึ้นขั้นสิงอยู่ด่านหน้าและนอกอาคาร ขึ้นได้สองข้าง สง่ามั๊กๆ

อาคารเดิมถูกไฟไหม้จึงได้มีอาคารสร้างใหม่ในตำแหน่งปัจจุบัน
ตำแหน่งของอาคารปัจจุบันแต่เดิมนั้นเป็นที่ที่โล่งๆมีบ้านไม้หลังเตี้ยๆอยู่ แต่มิได้มีป้อมอะไรในละแวกนั้น
ถ้าเป็นดังที่คุณลุงเนาวรัตน์ว่า ก็ไม่น่าจะหมายถึงตำแหน่งของอาคารสำนักงานเขตในปัจจุบัน อาจจะเป็นที่ว่าการเก่า

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาแล้วทั้งสองตำแหน่งก็อาจไม่เหมาะที่จะเป็นตำแหน่งของป้อมปืนยิงสลุตเพราะจะมีตัวโบสถ์วัดกาลหว่าร์บังแม่น้ำอยู่

หมายเหตุ: บ้านเดิมของผมอยู่ตรงข้ามที่ว่าการอำเภอเก่าครับ


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 25 ต.ค. 12, 07:07
๒ ตั้งอยู่ที่ปัจจุบันเป็นที่ทำการเขตสัมพันธวงศ์ เดิมเป็นอำเภอซึ่งปกครองสำเพ็งทั้งหมด หมายความว่า ก่อนจะตัดถนนเยาวราชขึ้นนั้น เมืองจีนทั้งย่านโดยมีตรอกที่เดี๋ยวนี้ชื่อว่าถนนวานิช๑ และถนนวานิช๒เป็นแกนกลาง เขาเรียกรวมกันว่าสำเพ็ง ไม่ใช่หมายถึงแค่ตรอกสำเพ็งตามที่ทุกวันนี้เราเข้าใจกัน
 
ตามประวัติระบุว่าที่ทำการอำเภอสร้างทับไปบนตัวป้อมปิดปัจจานึกพอดี เป็นการประหยัดเงินงบประมาณไม่ต้องถมที่




อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาแล้วทั้งสองตำแหน่งก็อาจไม่เหมาะที่จะเป็นตำแหน่งของป้อมปืนยิงสลุตเพราะจะมีตัวโบสถ์วัดกาลหว่าร์บังแม่น้ำอยู่


วัดกัลว่าร์ ได้รับพระราชที่ดินให้สร้างโบสถ์ในรัชกาลที่ ๓ ด้วยอาคารไม้ธรรมดา และมาก่อสร้างเป็นอาคารทรงฝรั่งแบบโกธิกใหญ่โตเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งหมายว่า การใช้งานในป้อมต่าง ๆ ไม่ได้ใช้งานแล้ว บางป้อมทิ้งโทรมครับ


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ต.ค. 12, 08:24
^
โบสถ์แม่พระลูกประคำ(กาลหว่าร์) ตั้งอยู่ที่ซอยวานิช 2 ถนนโยธา แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ มีประวัติความเป็นมาดังนี้
เมื่อปี ค.ศ.1786 (พ.ศ. 2329)  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯได้พระราชทานที่ดินให้สร้างโบสถ์หลังแรก ซึ่งทำด้วยไม้ยกพื้นสูงเพื่อหนีน้ำท่วมที่มีประจำบริเวณนี้

ในปี ค.ศ.1839 (พ.ศ. 2382)  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ปีเดียว ทางวัดได้สร้างโบสถ์หลังใหม่ขึ้นแทนหลังเดิม โดยตั้งชื่อว่า วัดแม่พระลูกประคำ แต่ชาวจีนยังคงเรียกว่า วัดกาลหว่าร์
 
โบสถ์หลังที่ 3 (หลังปัจจุบัน) ซึ่งมีลักษณะสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบโกธิค เริ่มสร้างปี ค.ศ.1891(พ.ศ. 2434) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ แล้วเสร็จในปี 1897(พ.ศ. 2440)

ซึ่งในปีที่เริ่มสร้างโบสถ์วัดกาลหว่าร์ที่เราเห็นในทุกวันนี้นั้น ตัวป้อมปิดปัจจานึกคงถูกรื้อลงเรียบร้อยแล้ว
เราไม่ทราบได้เลยว่าก่อนรื้อลงนั้น ป้อมถูกสร้างค้างคาไว้ในลักษณะใด รวมทั้งไม่เคยเห็นโบสถ์วัดกาลหว่าร์หลังเดิมว่าตั้งอยู่ตรงไหน สูงต่ำเท่าใด ขวางทางปืนของป้อมหรือไม่ด้วย


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ต.ค. 12, 08:27
อย่างไรก็ดี ท่านก็ไม่ได้ยิงสลุตที่ป้อมนี้ อาจเกรงใจบาทหลวงและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดก็ได้ จึงไปยิงที่ป้อมฮึกเหี้ยมหาญถัดขึ้นไปอีกหน่อยนึง ซึ่งเป็นป้อมที่สร้างไว้เฉพาะกิจการยิงสลุตโดยเฉพาะ

ตำแหน่งของป้อมฮึกเหี้ยมหาญ ผมมิได้นั่งเทียนเดาขึ้น และกำหนดไปตามหลักฐานที่บอกว่าอยู่ที่ใกล้โรงกระทะ  คำว่าโรงกระทะนี้ เป็นชื่อตรอกอยู่บริเวณสำเพ็ง มาจากสมญานามของพระยาอินทรอากร ผู้เป็นนายอากรบ่อนเบี้ยผูกขาดเก็บภาษีให้หลวงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และมีอาชีพค้าสำเภากับเมืองจีนจนร่ำรวย มีบริวารบ่าวไพร่มากมาย ขนาดต้องตั้งโรงครัวหุงข้าวด้วยกระทะขนาดยักษ์เรียงๆกันหลายเตาเพื่อให้พอเลี้ยงลูกน้อง จนได้สมญานามว่าเจ้าสัวเตากระทะ

พระยาอินทรอากรได้ถวายธิดาสาวคนหนึ่งชื่ออำภา ได้เป็นเจ้าจอมมารดา มีพระราชโอรสและพระราชธิดาถึง ๖ พระองค์ หนึ่งในนั้นคือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ หรือพระองค์เจ้าชายปราโมช ต้นราชสกุลที่ไม่ธรรมดาเลยทีเดียวในเมืองไทย (ถึงตรงนี้พลอยทำให้ผมนึกออกได้ว่า ทำไมหม่อมเจ้าฉวีวาด ท่านจึงหาเรือสำเภาขนละครหนีไปเขมรได้ง่ายๆเมื่อต้นรัชกาลที่๕)


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ต.ค. 12, 08:28
ส่วนเขตสัมพันธวงศ์นั้น รูปของอาคารที่มาแสดงไว้ผมไม่ได้ตั้งใจเจาะจงว่าป้อมปิดปัจจานึงตั้งอยู่ตรงตึกนี้เป๊ะ แต่อยู่ในพื้นที่ที่เคยเป็นที่ว่าการอำเภอสัมพันธวงศ์ ณ จุดใดจุดหนึ่ง เวลาผมกำหนดจุดในกูเกิลแมป ก็บังเอิญอยู่ในบริเวณเดียวกับที่คุณสุจิตราว่าไว้ แต่พอซูมออกไปแล้วมันคล่อมไปหมด


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ต.ค. 12, 08:36
อย่างที่ผมเขียนไปแล้ว ป้อมตามแนวของคลองผดุงกรุงเกษม มีจุดประสงค์ในการวางผังไว้สำหรับป้องกันการล้อมเมืองบนบกเป็นส่วนใหญ่ นอกจากป้อมที่อยู่ริมแม่น้ำเท่านั้นที่อาจจะได้ต่อสู้กับเรือข้าศึก ทางเหนือท่านวางไว้ป้อมเดียวตรงปากคลอง ทางใต้ท่านวางไว้สอง อยู่คนละฟากฝั่งแม่น้ำ ตรงปากคลองสารชื่อป้อมป้องปัจจามิตร ถ้าจะมีอีกป้อมหนึ่งตรงข้ามฝั่งคลองผดุงกรุงเกษมตรงโรงแรมรอยัลออคิด คงบังจะทางปืนกันเอง เพราะถ้าเรือข้าศึกเข้ามาจริงคงซัลโวตั้งแต่โผล่คุ้งน้ำแล้ว ไม่ต้องรอจนเข้ามาตรงหน้าจนตรงกับวัดกาลหว่าร์ดอกครับ


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ต.ค. 12, 09:01
ถ้าสองป้อมยิงประสานกัน จะเป็นแนวนี้ละครับ


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 25 ต.ค. 12, 09:32
^
โบสถ์แม่พระลูกประคำ(กาลหว่าร์) ตั้งอยู่ที่ซอยวานิช 2 ถนนโยธา แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ มีประวัติความเป็นมาดังนี้
เมื่อปี ค.ศ.1786 (พ.ศ. 2329)  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯได้พระราชทานที่ดินให้สร้างโบสถ์หลังแรก ซึ่งทำด้วยไม้ยกพื้นสูงเพื่อหนีน้ำท่วมที่มีประจำบริเวณนี้

ในปี ค.ศ.1839 (พ.ศ. 2382)  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ปีเดียว ทางวัดได้สร้างโบสถ์หลังใหม่ขึ้นแทนหลังเดิม โดยตั้งชื่อว่า วัดแม่พระลูกประคำ แต่ชาวจีนยังคงเรียกว่า วัดกาลหว่าร์
 
โบสถ์หลังที่ 3 (หลังปัจจุบัน) ซึ่งมีลักษณะสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบโกธิค เริ่มสร้างปี ค.ศ.1891(พ.ศ. 2434) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ แล้วเสร็จในปี 1897(พ.ศ. 2440)

ซึ่งในปีที่เริ่มสร้างโบสถ์วัดกาลหว่าร์ที่เราเห็นในทุกวันนี้นั้น ตัวป้อมปิดปัจจานึกคงถูกรื้อลงเรียบร้อยแล้ว
เราไม่ทราบได้เลยว่าก่อนรื้อลงนั้น ป้อมถูกสร้างค้างคาไว้ในลักษณะใด รวมทั้งไม่เคยเห็นโบสถ์วัดกาลหว่าร์หลังเดิมว่าตั้งอยู่ตรงไหน สูงต่ำเท่าใด ขวางทางปืนของป้อมหรือไม่ด้วย


ป้อมปิดปัจจนึก ยังคงอยู่เรื่อยมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๔๒ ครับผม ยืนยันด้วยแผนที่ป้อมปิดปัจนึกและโบสถ์วัดกัลวาร์


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 25 ต.ค. 12, 09:37
แผในที่ป้อมปิดปัจนึก และบริเวณใกล้เคียง สมัยร.ศ. ๑๑๕


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 25 ต.ค. 12, 09:45


ซึ่งในปีที่เริ่มสร้างโบสถ์วัดกาลหว่าร์ที่เราเห็นในทุกวันนี้นั้น ตัวป้อมปิดปัจจานึกคงถูกรื้อลงเรียบร้อยแล้ว



และแผนที่ พ.ศ. ๒๔๗๕ ยังคงปรากฎป้อมปิดปัจนึก (หมายเลข ๑๖๘) ส่วนอาคารหมายเลข ๑๖๕ คือ โบสถ์วัดกัลวาร์ ครับ


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 25 ต.ค. 12, 09:52

 
โบสถ์หลังที่ 3 (หลังปัจจุบัน) ซึ่งมีลักษณะสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบโกธิค เริ่มสร้างปี ค.ศ.1891(พ.ศ. 2434) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ แล้วเสร็จในปี 1897(พ.ศ. 2440)



ภาพนี้เป็นภาพถ่ายเมื่อโบสถ์กำลังทาสีจวนก่อสร้างเสร็จแล้ว นั่งร้านยังคงอยู่ แต่ไม่เห็นโครงสร้างของป้อมปัจจนึกซึ่งอยู่ด้านหลัง ถูกบดบังด้วยอาคารและพุ่มไม้


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 25 ต.ค. 12, 10:11
ท่านผู้มีเอกสารอยู่ในกำมือ ท่านไม่มีแผนที่ตรงปลายตรอกโรงกระทะหรือครับ


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 25 ต.ค. 12, 10:32
ท่านผู้มีเอกสารอยู่ในกำมือ ท่านไม่มีแผนที่ตรงปลายตรอกโรงกระทะหรือครับ

มีครับ พิจารณาดูนะครับผม ไม่มีป้อม ไม่มีอะไรนอกจากบ้านเรือน


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 25 ต.ค. 12, 15:17
นายเออร์เนสต์ ยัง( Ernest Young )ชาวอังกฤษผู้เขียนหนังสือเรื่อง " ราชอาณาจักรแห่งจีวรเหลือง " ( The Kingdom of The Yellow Robe ) ในปีพ.ศ. 2441 ได้บรรยายถึงภาพลักษณ์ของพลตระเวน หรือโปลิศในสมัยนั้นว่า “ ..ตำรวจส่วนใหญ่เป็นคนไทย แต่งตัวสง่าสู้บุรุษไปรษณีย์ไม่ได้ ตำรวจใช้เครื่องแบบสีน้ำเงิน ตั้งใจเลียนแบบตำรวจกรุงลอนดอน แต่ผ้าที่ใช้สีตกและหดทำให้ดูตลก ตำรวจชอบถือร่ม ชอบถลกขากางเกงเหนือเข่า ไม่สวมรองเท้า สวมหมวกยู่ยี่ แม้ไม่มีบุคลิกน่าเกรงขาม แต่ก็ไม่ถูกต่อต้านจากผู้จับกุม มักเห็นตำรวจโทรมๆ เหล่านี้นำผู้ต้องหาสามสี่คนเดินไปโรงพัก ให้ผูกข้อมือไพล่หลังด้วยผ้าเช็ดหน้า หรือผ้าขะม้าของผู้ต้องหาเอง”

The Kingdom of The Yellow Robe หน้า ๑๘ (http://archive.org/stream/yellowrkingdomof00younrich#page/n37/mode/2up)

Most of the policemen are Siamese, but their appearance is always a decided contrast to that of the neatly clad postmen. Their uniforms, made of blue cloth, are intended to be reproductions of those worn by their London brethren. But as they are made of a cloth that rapidly shrinks and fades, a caricature rather than an imitation is the result. They are partial to umbrellas, roll  their trousers above their knees, wear no shoes, and seem to revel in the possession of battered helmets. There is nothing whatever in thdr bearing that is characteristic of authority, neither are they men of great stature or commanding strength. Yet they seldom meet with any resistance in the exercise of their duties, and it is a common sight to see a puny-looking policeman leading three or four natives to the police-station, each prisoner being merely fastened by the arm to the one behind, with his own scarf or pocket-handkerchief.

 ;D


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 25 ต.ค. 12, 19:42
^
โบสถ์แม่พระลูกประคำ(กาลหว่าร์) ตั้งอยู่ที่ซอยวานิช 2 ถนนโยธา แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ มีประวัติความเป็นมาดังนี้
เมื่อปี ค.ศ.1786 (พ.ศ. 2329)  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯได้พระราชทานที่ดินให้สร้างโบสถ์หลังแรก ซึ่งทำด้วยไม้ยกพื้นสูงเพื่อหนีน้ำท่วมที่มีประจำบริเวณนี้

ในปี ค.ศ.1839 (พ.ศ. 2382)  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ปีเดียว ทางวัดได้สร้างโบสถ์หลังใหม่ขึ้นแทนหลังเดิม โดยตั้งชื่อว่า วัดแม่พระลูกประคำ แต่ชาวจีนยังคงเรียกว่า วัดกาลหว่าร์
 
โบสถ์หลังที่ 3 (หลังปัจจุบัน) ซึ่งมีลักษณะสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบโกธิค เริ่มสร้างปี ค.ศ.1891(พ.ศ. 2434) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ แล้วเสร็จในปี 1897(พ.ศ. 2440)

ซึ่งในปีที่เริ่มสร้างโบสถ์วัดกาลหว่าร์ที่เราเห็นในทุกวันนี้นั้น ตัวป้อมปิดปัจจานึกคงถูกรื้อลงเรียบร้อยแล้ว
เราไม่ทราบได้เลยว่าก่อนรื้อลงนั้น ป้อมถูกสร้างค้างคาไว้ในลักษณะใด รวมทั้งไม่เคยเห็นโบสถ์วัดกาลหว่าร์หลังเดิมว่าตั้งอยู่ตรงไหน สูงต่ำเท่าใด ขวางทางปืนของป้อมหรือไม่ด้วย


อาคารทางซ้ายมือในรูปคือโรงเรียนกุหลาบวัฒนา(โรงเรียนสำหรับสตรี)

อาคารทางขวามือคือโรงเรียนกุหลาบวิทยา(โรงเรียนชาย)

ปัจจุบันสองโรงเรียนรวมกันในชื่อว่า กุหลาบวิทยา

โรงเรียนชายคือโรงเรียนเก่าของผทสมัยปรัถมและมัธยมต้นครับ


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: Sujittra ที่ 25 ต.ค. 12, 19:52


ซึ่งในปีที่เริ่มสร้างโบสถ์วัดกาลหว่าร์ที่เราเห็นในทุกวันนี้นั้น ตัวป้อมปิดปัจจานึกคงถูกรื้อลงเรียบร้อยแล้ว



และแผนที่ พ.ศ. ๒๔๗๕ ยังคงปรากฎป้อมปิดปัจนึก (หมายเลข ๑๖๘) ส่วนอาคารหมายเลข ๑๖๕ คือ โบสถ์วัดกัลวาร์ ครับ

โอ! รูปนี้ชัดมาเลยครับ
ตำแหน่งในรูปคือตำแหน่งของที่ว่าการอำเภอสัมพันธวงศ์(อาคารเก่า)และที่ว่าการเขตสัมพันธวงศ์(อาคารใหม่)
ถนนด้านบน(ด้านทิศเหนือ)ของป้อมในรูปคือถนนโยธา ถนนด้านล่าง(ด้านทิศใต้)คือตรอกโรงน้ำแข็ง
เป็นดีงที่คุณลุงเนาวรัตน์ให้ข้อมูลจริง
(โทษผมไม่ได้นะครับเพราะผมเกิดไม่ทัน)
นับถือท่าน สยาม จริงๆ ที่มีข้อมูลที่ใครก็ปฏิเสธไม่ได้
 ;D


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 ต.ค. 12, 05:53
คุณหนุ่มสยามสะสมภาพเก่าๆมีค่าหายากไว้มากมายคนหนึ่งในโลกอินเทอเน็ท



รูปตรอกโรงกระทะนั้น บ้านเจ้าสัวยิ้มอยู่ตรงไหนหรือครับ แผนที่ทำพ.ศ.ใด หลังรูปถ่ายที่แลเห็นป้อมนานไหม


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 26 ต.ค. 12, 07:30
คุณหนุ่มสยามสะสมภาพเก่าๆมีค่าหายากไว้มากมายคนหนึ่งในโลกอินเทอเน็ท



รูปตรอกโรงกระทะนั้น บ้านเจ้าสัวยิ้มอยู่ตรงไหนหรือครับ แผนที่ทำพ.ศ.ใด หลังรูปถ่ายที่แลเห็นป้อมนานไหม

แผนที่ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ แต่อาจจะสำรวจก่อนหน้านั้นกว่า ๒-๓ ปีจึงตีพิมพ์ออกมาได้ สำหรับอาคารต่าง ๆ นั้นสูญหายไปอาจเป็นด้วยไฟไหม้ก็เป็นได้

นำข่าวเล็ก ๆ มาฝาก

"บางกอกรีคอร์ดเดอร์..หมอบรัดเลย์...ใบที่ ๑๘ ฉบับตีพิมพ์วันที่ 7 NOV. 1886

กัปปิตัน เอศ เซ บี เอม ซี เป็นนายกองตระเวนใหญ่ ทั้งลูกเมียทั้งหมดหมอสมิทและภรรยา จะไปอ่างหิน จะไปตากลมหายเหนื่อย จะไปอยู่ตึกซันนิเตเรียมที่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้สร้างไว้ เพื่อจะให้ชาติยุโรปอเมริกาไปพักอาศัยให้สบาย"


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 ต.ค. 12, 09:18
๑.
แผนที่ทำพ.ศ.ใด

คุณหนุ่มตอบแล้วว่า

แผนที่ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ แต่อาจจะสำรวจก่อนหน้านั้นกว่า ๒-๓ ปีจึงตีพิมพ์ออกมาได้ สำหรับอาคารต่าง ๆ นั้นสูญหายไปอาจเป็นด้วยไฟไหม้ก็เป็นได้

๒.
หลังรูปถ่ายที่แลเห็นป้อมนานไหม

ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เรือไฟชื่อ เจ้าพระยา เดินเมล์และรับส่งสินค้าระหว่างไทยกับสิงคโปร์ ซึ่ง ๑๕ วันจะเข้าเทียบท่าครั้งหนึ่งได้นำน้ำแข็งเป็นก้อนใส่หีบกลบด้วยขี้เลื่อยมาถวายรัชกาลที่ ๔ อยู่เป็นประจำ สิ่งแปลกประหลาดแบบนี้เชื้อพระวงศ์ เจ้านาย ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ได้ลิ้มลองกันทั่วหน้า ทำให้ติดอกติดใจเพราะน้ำแข็งสามารถดับร้อนผ่อนกระหายได้เป็นอย่างดี

มาดูข้อมูลเรือไฟ "เจ้าพระยา" ตามที่คุณหลวงเล็กเคยใส่ลิงค์บางกอกคาเลนเดอร์ ของหมอบรัดเลย์ เป็นเรือแบบใบพัด ยาว ๒๐๕ เมตร กว้าง ๒๘ เมตร ระบุชื่อเจ้าของเรือคือ "เจ้าสัวยิ้ม"

ซึ่งเจ้าสัวยิ้ม มีกิจการเดินเรือระหว่างกรุงเทพฯ - สิงค์โปร์ ๑ รอบกินเวลา ๑๕ วัน


(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=4226.0;attach=16945;image)

เรือกลไฟ "เจ้าพระยา" ในภาพ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๑ ภาพถ่ายอาจจะหลังจากนั้น ๑-๒ ปี

ภาพถ่ายเรือเมล์เจ้าพระยา ของเจ้าสัวยิ้ม เบื้องหลังเป็นบ้านแบบจีน คงจอดไว้หน้าบ้านท่านริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งควรจะถ่ายมองไปฝั่งกรุงเทพช่วงตลาดน้อย ถ้า

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5425.0;attach=36853;image)

ดังนั้นข้อมูลแผนที่ในข้อ ๑ จึงควรอยู่หลังภาพนี้ประมาณ (๒๔๓๙ - ๒ ถึง ๓) - (๒๔๐๑ + ๑ ถึง ๒) = ๓๓-๓๕ ปี

 ;D



กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ต.ค. 12, 09:41
อ้างถึง
"บางกอกรีคอร์ดเดอร์..หมอบรัดเลย์...ใบที่ ๑๘ ฉบับตีพิมพ์วันที่ 7 NOV. 1886

กัปปิตัน เอศ เซ บี เอม ซี เป็นนายกองตระเวนใหญ่ ทั้งลูกเมียทั้งหมดหมอสมิทและภรรยา จะไปอ่างหิน จะไปตากลมหายเหนื่อย จะไปอยู่ตึกซันนิเตเรียมที่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ได้สร้างไว้ เพื่อจะให้ชาติยุโรปอเมริกาไปพักอาศัยให้สบาย"

สะดุดหูกับคำว่าซันนิเตเรียม   น่าจะมาจากคำว่า sanitarium    ซึ่งแปลว่าโรงพยาบาล  หรือรวมถึงศูนย์พักฟื้น    มีใครพอจะทราบรายละเอียดบ้างไหมคะว่าหน้าตาเป็นอย่างไร  ยังอยู่มาจนทุกวันนี้หรือเปล่า


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 ต.ค. 12, 09:58
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อ่างศิลาเป็นสถานที่พักฟื้นของเจ้านายชั้นสูง และได้เสด็จประพาสอากาศที่สามมุข เมื่อวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๐๒ คัดจากหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ แต่งโดยเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) ความว่า

“ครั้นมาถึง ณ วันพุธ เดือนยี่ ขึ้น ๑๒ ค่ำ (๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๐๒) เสด็จพระราชดำเนินลงเรือพระที่นั่งมณีเมขลาใช้จักรจากท่านิเวศวรดิฐไปประพาสอากาศที่สามมุข แล้วเสด็จกลับทางปากน้ำบางปะกง ทอดพระเนตรเขาดิน แล้วก็เสด็จขึ้นไปตามลำน้ำถึงเมืองปราจีนบุรี แล้วก็เสด็จกลับเข้าพระนคร”

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) สร้างตึกใหญ่สำหรับให้ต่างชาติที่เจ็บไข้อยู่รักษาตัว

“ที่อ่างศิลา แขวงเมืองชล อากาศดี โปรดให้ทำที่ประทับแห่งหนึ่ง ได้ทำแต่อิฐปูนขึ้นไว้กับถมสะพานศิลาเป็นถนนออกมาสายหนึ่ง ฯพณฯ หัวเจ้าท่าน เจ้าพระยาศรีสุริยวงษ์ ที่สมุหกระลาโหมสร้างตึกใหญ่ขึ้นไว้หลังหนึ่ง เพื่อจะให้พวกยุโรปที่เจ็บไข้ไปอยู่รักษาตัวตากอากาศ ที่นั้นเป็นการบุญ แลที่ตลาดหลังเขาสามมุกนั้น โปรดให้ทำพลับพลาเป็นที่ประพาสขึ้นไว้หมู่หนึ่ง ให้ถมศิลาเป็นถนนออกมาสายหนึ่ง…”

หนังสือพระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ กล่าวถึงตึกที่สร้างไว้ว่า “ตึกอาไศรยสถาน”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสอ่างศิลาหลายครั้งและทรงโปรดปรานมาก ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์จดหมายเหตุ ฉบับวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๓๔๑๙ ว่า “…ที่อ่างศิลาเป็นที่สนุกแลเป็นที่สบายมาก เราอยากใคร่อยู่นาน ๆ แต่ไม่ใคร่จะมีเวลาจะไปอยู่พ้น ๑๐ วันเลย…”

จากหนังสือย้อนรอยเจ้าจอมก๊กออ ในรัชกาลที่ ๕ กล่าวถึงเจ้าพระยาภานุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) ว่า เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสต่างประเทศครั้งแรกที่ชวาและอินเดีย เจ้าพระยาภาณุวงศ์ก็ได้ตามเสด็จด้วย เมื่อทรงเสด็จประพาสพระพุทธบาทและเสด็จต่อไปยังนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และประทับที่อ่างศิลา เจ้าพระยาภานุวงศ์สร้างตำหนักขึ้นที่อ่างศิลาปลายปี พ.ศ. ๒๔๑๕ แล้วทำถนนจากอ่างศิลาไปชลบุรีและบ่อน้ำร้อนบางพระ ตำหนักที่อ่างศิลานี้เป็นสถานที่ที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพาเจ้านายและข้าราชการฝ่ายในไปตากอากาศอีกแห่งหนึ่งนอกเหนือจากที่บางปะอิน คณะทูตานุทูตชาวต่างประเทศต่างก็นิยมไปพักฟื้นรักษาตัว หรือตากอากาศที่อ่างศิลานี้เช่นกัน เจ้าพระยาภาณุวงศ์ชอบปลูกไม้ผลโดยเฉพาะมะม่วง จึงปลูกมะม่วงไว้รอบตำหนักอ่างศิลา

ต่อมา ปี พ.ศ. ๒๔๔๐ สมเด็จพระนางเจ้าศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ (ขณะนั้นทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ขณะเสด็จประพาสยุโรป) ได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ปฏิสังขรณ์อาคารทั้ง ๒ หลัง และพระราชทานนามอาคารหลังใหญ่ว่า “ตึกมหาราช” และอาคารหลังเล็กว่า “ตึกราชินี” เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในมงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๙ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ได้ประชวรพระโรคปอดในระยะเริ่มแรก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เสด็จจากพระบรมมหาราชวังไปประทับรักษาพระองค์ ณ อ่างศิลา และโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นตามเสด็จไปถวายการรักษาพยาบาลด้วย

ตลาดอ่างศิลาในปัจจุบันยังคงความงดงามและสง่างามด้วย “ตึกมหาราช” และ “ตึกราชินี” หรือ “ตำหนักราชินี” ซึ่งมีสีแดงตั้งเป็นสง่าอยู่ริมชายทะเลอ่างศิลา ตรงปากทางเข้าตลาดอ่างศิลานั่นเอง

จาก หนังสือพิมพ์บ้านเมือง (http://www.banmuang.co.th/2012/04/%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%95%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%99-%E0%B8%95%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A8/)

 ;D


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ต.ค. 12, 10:08
ไปหารูปมาประกอบ
ตึกมหาราช-ตึกราชินี


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 26 ต.ค. 12, 10:29
จาก ประชุมพงศาวดารภาคที่ ๒๕ เรื่องสถานที่แลวัดถุซึ่งสร้างในรัชกาลที่ ๔ (http://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%A3_%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88_%E0%B9%92%E0%B9%95)

๕๔ ที่ประพาศที่อ่างศิลา ทรงพระราชดำริห์ว่าที่ชายทะเลตำบลอ่างศิลาแขวงเมืองชลบุรีเปนที่อากาศดี ให้ทำเปนที่เสด็จประทับแห่ง ๑ กับที่เขาสมมุขข้างใต้ ตำบลอ่างศิลาก็โปรดให้ทำพลับพลาเปนที่ประพาศ ด้วย แต่การปลูกสร้างส่วนที่อ่างศิลาเปนแต่ได้กะที่บนเนินไว้สำหรับทำพลับพลาแลได้ถมศิลาที่ชายทะเลก่อนเปนท่าเรือจอด แต่ตำหนักของถาวรประจำที่ยังหาได้สร้างไม่ ทำแต่พลับพลาที่สมมุข ต่อมาเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ที่สมุหพระกลาโหมสร้างตึกอาไศรยสถาน (หลังใหญ่) ขึ้นหลัง ๑ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์สร้างตึกอาไศรยสถาน (หลังเล็ก) ขึ้นหลัง ๑ ที่ปลายแหลม  สำหรับให้คนป่วยไปพักรักษาตัวเปนการกุศล ถึงรัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จไปประพาศอ่างศิลาหลายครั้ง ทำแต่พลับพลารับเสด็จชั่วคราว หาได้ทำตำหนักของถาวรไม่ พลับพลาที่สมมุขนั้นนานมาก็ผุพังไปหมด แต่ตึกอาไศรยสถาน ๒ หลังนั้นเมื่อสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนารถ ทรงสำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์คราวเสด็จยุโรปเมื่อในรัชกาลที่ ๕ โปรด ฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์ในการพระราชกุศลเฉลิมพระชัณษาพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แลตกแต่งเครื่องใช้สอยครบบริบูรณ์แล้วพระราชทานนาม หลังใหญ่ว่า ตึกมหาราช นามหลังเล็กนั้นว่า ตึกราชินี ยังเปนที่อาไศรยสถานมาจนทุกวันนี้  

ซันนิเตเรียม  ที่ กัปปิตัน เอศ เซ บี เอม ซี ( S J B Ames - Captain Samuel Joseph Bird Ames แล้ว C ย่อมาจากอะไรหนอ ?) และครอบครัวเข้าพัก คงเป็น "ตึกมหาราช" ในปัจจุบันนั่นแล

 ;D


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ต.ค. 12, 07:59
ขอบคุณคุณเพ็ญชมพูนะครับ ที่บวกลบคูณหารระยะปีที่แตกต่างระหว่างรูปถ่ายที่แลเห็นป้อมฮึกเหี้ยมหาญกับแผนที่สมัยรัชกาลที่๕ ทำให้มั่นใจได้ว่าตำแหน่งป้อมที่ปลายตรอกโรงกระทะนั้น ไม่ผิด เพราะระยะเวลาที่ต่างกันสามสิบกว่าปี อะไรๆก็ปรับเปลี่ยนไปได้มาก

ส่วนปริศนาเรื่องตัว C คุณวิกี้อธิบายไว้ดังนี้

Commissioner is in principle the title given to a member of a commission or to an individual who has been given a commission (official charge or authority to do something, the noun's second meaning).

In practice, the title of commissioner has evolved to include a variety of senior officials, often sitting on a specific commission. In particular, commissioner frequently refers to senior police or government officials.
 
Commissioner is a senior rank used in many police forces and may be rendered Police Commissioner or Commissioner of Police.


ดังนั้น กัปปิตัน เอศ เซ บี เอม ซี ซึ่งหมายถีง  Captain S J B Ames นั้น คำว่า C น่าจะย่อมาจากย่อมาจาก Commissioner (of Police )

แต่ในแผนที่ข้างล่างของคุณหนุ่มที่เคยมาลงไว้ ผมอยากถอดความว่า Commission of Police Captain แต่อยากทราบซะหน่อยก่อน บนคำว่า COM. มีตัวหนังสืออะไรอยู่ผมอ่านไม่ออก คุณหนุ่มสยามช่วยถอกระหัสด้วยครับ จะได้ทราบว่าข้อสันนิฐานนี้ผิดหรือถูก




กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 ต.ค. 12, 08:28
COM.sr OF POLICE CAP.

ตัวยกที่เห็นคือ sr. ครับ


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ต.ค. 12, 08:43
COMMISSIONER ?

ต้องรอท่านอาจารย์ใหญ่ เอกภาษาอังกฤษมาตรวจการบ้านแล้วละครับ มันเข้าท่าหรือออกปากอ่าวไปก็ไม่ทราบ


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 ต.ค. 12, 08:47
COMMISSIONER ?

ต้องรอท่านอาจารย์ใหญ่ เอกภาษาอังกฤษมาตรวจการบ้านแล้วละครับ มันเข้าท่าหรือออกปากอ่าวไปก็ไม่ทราบ

ถ้าเห็นเป็น ER ผมก็เสอน COMMANDER ดีกว่าครับ


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ต.ค. 12, 09:41
เห็นเป็น SR ครับ

ปัญหาคือ COMMISSIONER มันหมายถึงที่ทำการได้ไหม ซึ่งผมคิดว่าได้

ตัวอย่างคือ UNHCR- United Nations High Commissioner for Refugees ก็เป็นชื่อองค์กร บางครั้งก็หมายถึงที่ทำการเหมือนกัน


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ต.ค. 12, 19:23
ชื่อที่ระบุในแผนที่ มักเป็นชื่อสถานที่ ไม่ใช่ชื่อคนหรือชื่อตำแหน่งอยู่แล้วค่ะ   แต่ไม่เคยเห็นคำย่อ com.sr  มาก่อน เลยไม่แน่ใจว่าหมายถึง commissioner หรือไม่
อ่านจากบริบทในแผนที่แล้ว เข้าใจว่าหมายถึงที่ทำการของหัวหน้าตำรวจ


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 30 ต.ค. 12, 10:17
มีข้อสังเกตเรื่องกบฏเงี้ยวเมืองแพร่  หลายประการคือ

เหตุใดจึงก่อกบฏยึดเมืองแพร่เป็นเมืองแรก  คำตอบคือการเดินทางขึ้นสู่ล้านนาในเวลานั้นมีเพียง ๒ เส้นทางคือ เดินทางบกจากอุตรดิตถ์ข้ามเขาพรึงไปเมืองแพร่  อีกเส้นทางจากเมืองตากไปตามลำน้ำปิงไปเมืองลำพูนและเชียงใหม่ตามลำดับ
การที่กบฏเงี้ยวยึดเมืองแพร่จึงเป็นการควบคุมเส้นทางการส่งกำลังจากอุตรดิตถ์ขึ้นไปสู่ล้านนา 

ประเด็นต่อมาเมืองแพร่นั้นเป็นชุมทางแยกไปนครน่านและนครลำปาง  เหตุไฉนพวกเงี้ยวจึงไม่ยกไปตีเมืองน่าน  แต่มุ่งไปนครลำปาง  ซึ่งเป็นชุมทางที่จะแยกไปเมืองงาว  พะเยา  เชียงราย  กับอีกทางหนึ่งไปลำพูน และเชียงใหม่
คำตอบในประเด็นนี้น่าจะอยู่ที่ นครน่านไม่มีป่าไม้สัก  และหากตีลำปางได้ก็ไม่ยากที่จะเลยไปตีนครเชียงใหม่

เมื่อคิดตามประเด็นเหล่านี้แล้วก็เกิดข้อสงสัยตามมาว่า พวกเงี้ยวจะวางแผนการยุทธได้เพียงลำพังหรือ?  ยิ่งได้อ่านรายงานของพระองค์เจ้าเพ็ญพัฒน์พงษ์ (กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม) ที่กราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๕ เมื่อคราวเสด็จตรวจราชการมณฑลพายัพหลังกบฏเงี้ยวราว ๖ เดือน  ที่ทรงกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ป่าไม้ชาวอังกฤษที่รัฐบาลสยามจ้างมาจากพมานั้นล้วนทุจริตต่อหน้าที่  และหาโอกาสเอารัดเอาเปรียบพ่อค้าไม้ชาวไทยของกลุ่มกิมเซ่งหลีอยู่ตลอดเวลา  ก็เลยยิ่งเชื่อว่าพวกพ่อค้าไม้ชาวอังกฤษอยูเบื้องหลังเรื่องนี้เป็นแน่ 


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 30 ต.ค. 12, 13:03
กระทู้นี้แยกออกไปที่

ตำรวจของเราแต่เก่าก่อน

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5436.0


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 30 ต.ค. 12, 15:36
นำเรื่อง "โปลิศ" พ.ศ. ๒๔๒๘ มาให้อ่านกันครับ

สยามไสมย จ.ศ. ๑๒๔๗

เรื่องโปลิศ

ข้าพเจ้า มองแวะ อยู่มาละแหม่งเข้ามาค้าขายอยู่ที่บางกอก อยู่แถวตำบลคอกควาย ได้เห็น "โปลิศ" เดินตามท้องถนนเหมือนที่เมืองข้าพเจ้ามะละแหม่ง แต่เมื่อเดินสำรวนไปย่านบางรักถึงถนนตก พบโปลิศเดินตามถนนน้อยมาก อีกทั้งถนนนี้มีนักเลง นักเล่นการพนันมากมาย เดินไปเรื่อย ๆ เห็นโปลิศอยู่สองคน เดินเหมือนมาเดินเล่น จึงเดินเข้าไปถามว่าทำไมไม่จับผู้ร้ายบ้างหรือ โปลิศตอบว่าไม่กล้าหรอก กลัวเขาตีเอา ก็เลยออกมาและคิดกลับไปถึงโปลิศที่เมืองมะละแหม่ง ที่มีความเข้มงวด กวดขัน เพราะฝึกอย่างอังกฤษและหวังกับโปลิศในสยามอย่างมาก


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 31 ต.ค. 12, 11:37
ตระกูล "เอมซ์บุตร" เป็นนามสกุลที่พระราชทานโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสำหรับลูกหลานของสุภาพบุรุษอังกฤษผู้นี้

คุณนวรัตนมีรายละเอียดไหมว่าพระราชทานให้ใคร เมื่อไร

พบแต่นามสกุล "เอมะบุตร์"

 ::)


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 ต.ค. 12, 12:02
ได้มาจากเวปของคนในตระกูลนี้ครับ

“เอมซบุตร” ได้มาจากการพระราชทานแต่งตั้งจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 พระราชทานนามสกุล เอมซบุตร ให้กับ กัปตัน เอส.เย.เบิร์ดเอมส์ (Captain Samuel Joseph Bird Ames) ซึ่งภายหลังได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น " หลวงรัฐยาธิบาลบัญชา " ให้เป็นผู้ก่อตั้ง " กองโปลิศคอนสเตเบิล ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2403 โดยกัปตัน เอส. เย. เบิร์ดเอมส์ ดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองโปลิศ ( อธิบดีกรมตำรวจคนแรกของประเทศไทย )"
ผมเห็นแล้วก็เดาว่า เขาอาจจะสับสนเรื่องพระนาม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯกับ King Mongkut เลยไปดั้นเมฆว่านามสกุลเอมซบุตร พระราชทานให้โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ไปโลด

http://www.mbutr-interior.com/about.html

หลังจากที่ลงกระทู้ไปแล้ว ผมเข้าไปตรวจสอบในหนังสือ “นามสกุลพระราชทาน” ไม่พบนามสกุลนี้เหมือนกัน
และได้มีโอกาสถามท่านผู้ใหญ่อายุใกล้๙๐ เมื่อก่อนแต่งงานท่านนามสกุลเอมซบุตร ท่านบอกว่าไม่เคยได้ยินว่านามสกุลท่านเป็นนามสกุลพระราชทานเหมือนกัน

ขอบคุณที่ทักท้วงครับ เลยได้จังหวะเข้ามาแจ้ง


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 31 ต.ค. 12, 14:00
กัปตัน เอส.เย.เอมส์ นั้น หลังจากเคทเธอรีนภรรยาชาวอังกฤษ เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2405 ขณะที่เธอมีอายุเพียง29ปี หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2405 ได้แต่งงานใหม่กับหญิงไทยเชื้อมอญชื่อ นางหยา มีบุตรด้วยกัน 6 คนคือ

ด.ญ. โนรี (ถึงแก่กรรมตั้งแต่เยาว์)
นายเสน่ห์ เอมซ์บุตร (ถึงแก่กรรมตั้งแต่อายุน้อย)
อำมาตย์ตรี หลวงอนุสรณ์หิรัญการ (อั้น เอมซ์บุตร) ผู้ช่วยสมุหบัญชีใหญ่ กรมรถไฟ (๑)
รองอำมาตย์เอก ขุนสารสำรวจลักษณ์ (สุดใจ เอมซ์บุตร) (๒)

นางเขียน กล้าณรงค์ราญ สมรสกับนายพลจัตวา นายกล้าณรงค์ราญ (ปาน  เกสะรานนท์) ภายหลังเปลี่ยนเป็น กล้าณรงค์ราญ
นางวาศ์น จารุวัสตร์ สมรสกับ นายพันเอก หลวงชัยรณฤทธ์ (ชิต จารุวัสตร์)

ถ้าข้อมูลไม่ผิดพลาด ๑ ใน ๒ ท่านข้างบนนี้คงเป็นคุณปู่ของท่านผู้ใหญ่ของคุณนวรัตน

 ::)


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 31 ต.ค. 12, 18:49
อำมาตย์ตรี หลวงอนุสรณ์หิรัญการ (อั้น เอมซ์บุตร) อดีตผู้ช่วยสมุหบัญชีใหญ่ กรมรถไฟ เป็นคุณตาของภรรยาผมครับ แม่ยายผมเป็นลูกสาวคนสุดท้อง

ถามแม่ยายผมแล้วได้ความว่า คุณตาได้เปลี่ยนนามสกุลตามบรรดาศักดิ์จากเอมซ์บุตรเป็นอนุสรณ์หิรัญการหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ตามประกาศของรัฐ

ถามว่า เขาไม่ได้บังคับ เราเลือกได้ ทำไมไปเปลี่ยนนามสกุลพระราชทาน

ท่านบอกว่า เป็นด้วยหรือ ไม่เห็นรู้เลย
.
.
อ้าว...จบกัน


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 พ.ย. 12, 10:07
ฝากภาพงาม ๆ คุณ NAVARAT.C ที่เห็นนี้แวบแรกเหมือนดั่งในประเทศอินเดีย แต่จริงแล้วเป็นภาพถ่ายชาวสยามซึ่งได้รับอิทธิพลการฝึกตำรวจแบบยุโรป มีพลขับเทียมรถม้าให้นายฝรั่งนั่งอย่างโก้ทีเดียว

และภาพที่คุณ NAVARAT.C อยากให้ชมอีกเป็น "แขกหัวโต" ที่อยากเห็นภาพชัด ๆ ในภาพนี้ก็ปรากฎให้เห็น


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 พ.ย. 12, 10:10
ผู้เลี้ยงม้า คงมีตำแหน่งไม่สูงมากนัก ไม่สวมรองเท้าถือแส้ไว้คอยปัดแมลง กับภาพขยายบุคคลต่าง  ๆ


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 03 พ.ย. 12, 10:31
ขอบคุณมากครับ เป็นภาพที่ไม่เคยเห็นมาก่อนอีกเหมือนกัน

แล้วนายตำรวจฝรั่งที่นั่งบนรถน่ะใครครับ


กระทู้: กัปตันเอมซ์ นายตำรวจแบบยุโรปคนแรกของสยาม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 03 พ.ย. 12, 11:23
ไม่แน่ใจครับเพราะภาพไม่ชัด แต่ว่าลักษณะคล้าย มิสเตอร์ อี. คูเต้ ช่างภาพในราชสำนัก รัชกาลที่ ๕ มากครับ