เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 68 69 [70] 71 72 ... 77
  พิมพ์  
อ่าน: 85328 ฉากประทับใจในหนังเก่า (3)
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 1035  เมื่อ 24 มี.ค. 22, 08:46

พล่ามเรื่อง Diner ต่อ....



(โฆษณานี้มีอยู่ในหนัง  ในช่วงที่เพื่อนคนหนึ่งไปหาแฟนในห้องส่ง ทีวี  ผมติดใจที่รถ Renault รุ่นนี้มีแตรให้เลือกใช้ 2 แบบ (1.02) คือแบบ city horn และแบบ country horn  ผมเห็นรถรุ่นนี้วิ่งให้ว่อนในกรุงเทพฯ มาตั้งแต่จำความได้  แต่ไม่เคยรู้เรื่องแตรนี้มาก่อน)


ฉากนี้เป็นการเล่าประสบการณ์ของคนที่แต่งงานแล้วให้กับหน้าใหม่ที่กำลังจะแต่งงาน ทำนองกฤษณาสอนน้อง มุมมองของเธอน่าฟังไม่หยอก  เป็นอีกหนึ่งบทของการเรียนภาษาอังกฤษกับหนังที่หาไม่ได้ในชั้นเรียน (ใน clip มีคำบรรยายอยู่แล้ว) เริ่มต้นที่ 0.50

[(1.47) – ‘We can “bullshit”]


บทเรียนบทที่ 3 เป็นความรู้รอบตัว


เริ่มที่ 0.10
A spaceship is stranded on the planet Mercury outside of the libration areas.
It is night, and pitch black outside.
 
For 10 points, how long must the explorers wait until sunrise?

Kevin Bacon พูดแทรก .... The sun doesn't rise on Mercury.

(ชื่อสาวผู้เข้าแข่งขัน ฟังไม่ออก)… They won't get a sunrise because Mercury has one side perpetually turned toward the Sun and the other away from it.

That's right. They would have to wait forever. That's the answer.


ผมล่อ clips ใน youtube มาจน (เกือบ) หมด  รวมถึงฉากเดี่ยวเปียโนของเพื่อนคนที่ 6 (นึกว่าจะแค่เอ่ยถึงเฉย ๆ เสียแล้ว) ในเรื่องเธอกำลังศึกษา ป. โทอยู่  และกลับมาเพื่อร่วมงานแต่งเพื่อน (SG) ซึ่งเกือบจะไม่ได้เกิดขึ้นด้วยเหตุผลงี่เหง้าคือ สาวรู้เรื่อง American football  ได้ไม่สะใจหนุ่มเท่าที่ควร

นักแสดงคนนี้ชื่อ Timothy Daly (ต่อมาเหลือแค่ Tim) เธอเล่นเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกแล้วก็มีหนังให้เล่นมาตลอดรวมถึงหนังชุดทางทีวี  แต่ไม่มีเรื่องไหนเด่น  เท่าที่เคยดูมาผมว่าบท ศาสตราจารย์สติเฟื่อง ใน Dr. Jekyll and Ms. Hyde (1995) น่าจะคุ้นตาพวกเราที่สุด (น่าเล่าไม่หยอก)



หนังจบที่งานแต่งงานของเพื่อนที่ว่าซึ่งคนดูไม่มีโอกาสเห็นหน้าเจ้าสาว (ทุนเงินค่าจ้างนักแสดงไป)  ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของเพื่อนกลุ่มนี้ทำให้หนังมีบรรยากาศอบอุ่นมาก  มีอยู่บางฉากที่ส่อให้คิดไปล่วงหน้าได้ว่า 'เดี๋ยวเหอะมึง  เลือดสาด'  แต่ก็ปรากฏว่าเหตุการณ์พลิกผันกลายเป็นเรื่องที่แก้ไขได้โดยละม่อมหรือไปไม่ถึงจุดนั้น (ด้วยความโล่งอก) น่าเสียดายฉากเหล่านี้และอีกหลาย ๆ ฉากที่ไม่มีใครเอามาปล่อย  ครั้นจะทำเองก็กลัวลิขสิทธิ์


(Timothy Daly, Mickey Rourke, Daniel Stern, Kevin Bacon, Steve Guttenberg, Paul Reiser  แต่ละคนหน้าตาบ้องแบ๊ว)


และอีกอย่าง (ความจริง 2) ที่ผมชอบในหนังเรื่องนี้คือเพลงประกอบในยุคนั้นที่คุ้นหูยัดเข้ามาเป็นกระตั๊ก  รวมถึงรถสวย ๆ ที่ฉวัดเฉวียนอยู่ในฉาก  โดยเฉพาะ Hudson Hornet 1952 คันโปรดคันนี้ 


(ในท้องเรื่องของหนัง (1959) นี่ มันอายุ 7 ปีแล้ว)
 
รุ่น Commodore/Hornet (หน้าตาเหมือนกันดิก  ต้องสังเกตแผ่นป้ายที่ติดที่ตัวถัง  และถ้ามีหงอนสามเหลี่ยมที่หน้าหม้อก็ Hornet  รุ่น Hornet เครื่องจะแรงกว่า)  เริ่มการผลิตมาตั้งแต่ปี 1941  พอถึงปี 1948 อันเป็นสายการผลิตของรุ่นที่ 3  โครงสร้างตัวถังที่ออกแบบใหม่ทำให้มันเป็นรถที่มีชื่อเสียงในแง่ที่ว่าเป็นรถอเมริกันยี่ห้อแรก ๆ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2  ที่เปลี่ยนโฉมในการเข้าไปนั่งภายในห้องโดยสาร  ซึ่งปกติรถสมัยนั้นเวลาจะเข้า  ต้องก้าวขึ้นบันไดเข้าไปภายใน  แต่รถ Hudson ตั้งแต่ปี 1948 ไม่มีบันไดแบบเก่า  จึงแค่ ‘ก้าวเข้าไป’ เหมือนรถปัจจุบัน
 
การออกแบบเช่นนี้ทำให้จุดศูนย์ถ่วงของรถต่ำอันเป็นผลให้เกาะถนนได้แน่นหนากว่ารถอื่น ๆ ในยุคเดียวกัน แล้วก็ไม่โคลงเคลงเวลาเข้าโค้ง  บวกกับการออกแบบตัวถังเป็นแบบที่เรียกว่า ‘stepdown’  (สังเกตจากด้านหลัง  จากหลังคาก้าวลงมาเรื่อย ๆ จนถึงดิน) ทำให้มันวิ่งได้เร็วหายห่วง (รุ่น Hornet จะใช้เป็นรถแข่งประจำ) แล้วยังปลอดภัยด้วย  รุ่นที่ 3 นี่สร้างชื่อเสียงให้กับบริษัทฯ ที่สุด

บ. ผลิต รุ่น Commodore/Hornet มาตั้งแต่ปี 1941 จนถึงปี 1952  จากนั้นเสถียรภาพของบริษัทก็คลอนแคลนจนถึงปี 1954 ก็ต้องรวมกับบริษัทรถยี่ห้ออื่นเพื่อความอยู่รอด



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33590

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1036  เมื่อ 24 มี.ค. 22, 17:19

อยากเล่าถึง Bridge of Medison County  รอจังหวะเหมาะๆก่อนค่ะ
บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 1037  เมื่อ 25 มี.ค. 22, 09:02

Edward Scissorhands (1990) เป็นผลงานของ ผกก. Tim Burton เท่าที่ติดตามมาในครั้งเก่า ๆ หนังทุกเรื่องของเธอเป็นแนว fantasy แบบแหวกแนวที่ได้รับการยอมรับจากนักวิจารณ์และคนดูมาตลอด

เรื่องนี้แนวหนังเป็น fantasy เช่นกันและผสมความโรแมนติกเข้าไป เป็นเรื่องของ Edwards  เธอไม่ใช่คนแต่เป็นสิ่งประดิษฐ์ของนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง  มือของเธอเป็นกรรไกร  แต่ก่อนที่พ่อนักวิทย์ฯ จะมีโอกาสเปลี่ยนให้เป็นมือจริง ๆ ก็หัวใจวายตายเสียก่อน  เธอก็เลยมีชื่อว่า Edward Scissorhands



E เป็นเด็กกำพร้าได้ไม่นานก็มีคนอุปการะคือสาว Avon  ที่ไปกดออดเพื่อขายของแล้วพบเข้า  ก็เลยพากลับมาบ้าน





แรก ๆ เพื่อนบ้านก็ระแวง  แต่แล้วเวลาพิสูจน์ว่าเธอเป็นเด็กดีไม่ได้น่ากลัวเหมือนรูปลักษณ์  ใคร ๆ ก็มอบความเป็นมิตรให้ดี  E ก็ตอบแทนด้วยการช่วยทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งปรากฏว่าเธอเป็นเด็กหัวศิลป์  จัดแต่งสวนได้สวยมาก  จากงานแต่งสวนก็มาเป็นงานแต่งขนสัตว์เลี้ยง  แล้วในที่สุดก็มาเป็นช่างทำผม





แต่ทุกคนไม่ได้เป็นเพื่อนกับ E เสียหมด  Jim แฟนของลูกสาวของผู้อุปการะ เป็นหนึ่งในคนที่ไม่ชอบขี้หน้า E  เพราะดู ๆ ไปแล้วแฟนของตนกำลังหลงรักพ่อหนุ่มตัวประหลาดนี้



เรื่องถึง climax ตรงที่ J ก่อเรื่องกับ E  แล้วบานปลายถึงขนาดสูญเสียชีวิต  ต่อนั้นชีวิตของ E ก็ตกที่นั่งลำบากเพราะภาพพจน์ของตนบ่งบอกถึงความเป็นคนร้ายอยู่แล้ว



มาถึงตอนจบ ในที่สุดความมีใจที่บริสุทธิ์ของ E ทำให้เธอไม่สามารถอยู่ร่วมกันเหล่าคนที่เต็มไปด้วยกิเลสได้ จึงต้องกลับไปอยู่เดิม



ตัวอย่างหนัง



เป็นประเพณีทุกปีระหว่างงาน super bowl ที่จัดในอเมริกา  จะมีผู้จัดทำโฆษณาออกมาแข่งขันกัน  โฆษณามีหลายแบบ  ทั้งเหล้า รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอื่น ๆ อีกมากมาย  ทุกชิ้นแฝงไอเดียบรรเจิด  ส่วนใหญ่แนวออกตลก  ประเพณีนี้นับวันก็จะมีผู้เข้าร่วมมากขึ้นเรื่อยๆ สังเกตจากจำนวนโฆษณาที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี

ในปี 2021  บ. GM จัดทำโฆษณารถ Cadillac  ลงแข่งขันในกลุ่มโฆษณารถด้วยกัน  theme โฆษณาเป็นแนวของหนัง Edward Scissorhands  โดยให้ Timothee Chalamet  ที่ดังจากหนังเกย์เรื่อง Call me by your name เล่นเป็นลูกชายของ Edward SH ชื่อ Edgar ที่อาศัยอยู่กับแม่  เธอมีลักษณะเหมือนพ่อทุกประการคือมีจิตใจอ่อนโยน  รวมถึงมีมือเป็นกรรไกร  ทำให้การใช้ชีวิตประสบความลำบากมาก  โดยเฉพาะในการเดินทาง  วันหนึ่งแม่ก็ซื้อรถใหม่ให้ขับ  มันคือ Cadillac Lyriq ที่สามารถขับได้โดยไม่ต้องใช้มือ



หมายเหตุ - เสาร์-อาทิตย์ 'จาร พักตาแล้ววันจันทร์ (+) แวะมาอ่านเรื่อง The sound of music นะครับ


บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 1038  เมื่อ 28 มี.ค. 22, 08:48

เพิ่งดู มนตร์รักเพลงสวรรค์ จบไปครั้งที่เท่าไรก็เลิกนับไปแล้ว  ดูจบทีไรก็นึกดีใจที่มีคนสร้างหนังที่ให้ความบันเทิงอย่างสูงสุดมาประดับโลกที่นับวันจะโหดร้ายขึ้นเรื่อย ๆ
 
ผมได้ดูหนังเรื่องนี้ครั้งแรกตอนที่หนังออกฉายทั่วโลกเป็นครั้งแรก  บ้านเราฉายที่โรงกรุงเกษม (เช็คกับ Wikiฯ แล้ว  ถูกต้อง  แสดงว่าความจำยังดี)  จนป่านนี้ยังสามารถจำรูปวาดขนาดยักษ์ของ Maria หิ้วกีต้าร์วิ่งนำฝูงเด็ก ๆ ที่ติดอยู่หน้าโรงได้อย่างชัดเจน
 
เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้ดูหนังยาวมากขนาดต้องมีการหยุดพักให้คนดูออกไปยืดเส้นยืดสายหรือเข้าห้องน้ำ  ผมยังเด็กมาก  ไม่ได้ปวดฉี่บ่อย  ก็นั่งกินขนมที่เอามาจากบ้านไปพลางดูวิวในโรงที่สว่างด้วยแสงไฟ  ดูคนในโรงลุกขึ้นไปทำธุระของตน  แล้วก็พยายามมองหาผู้ปกครองของตัวเองว่าเมื่อไรจะกลับมาจากไปส้วมเสียที  จะหาผมเจอหรือจะกลับมานั่งทันก่อนทางโรงจะปิดไฟรึเปล่าก็ไม่รู้

ผมไม่รู้ว่าหนังมาฉายที่โรงกี่ครั้ง  แต่ครั้งที่สองที่ผมได้ดู  ฉายที่โรงอินทรา  ตอนนั้นผมเรียนอยู่ ม. ปลายแล้ว  วันนั้นเป็นประสบการณ์ที่จำได้ไม่ลืม  คือผมลืมเอาแว่นสายตาไปด้วย  ไปนึกได้เมื่อถึงโรง  ครั้งที่ 2 นี่เลยได้ดูหนังมัว ๆ ตลอดเรื่อง  ทั้ง ๆ ที่ความจริงมันควรจะสะใจเพราะโรงอินทรามีจอพิเศษกว้างกว่าชาวบ้าน  ยังจำเสียงมอเตอร์เลื่อนจอออกไปทั้ง 2 ข้าง ซ้ายขวา ได้  คิดไปถึงทีไร  มันช่างน่าเจ็บใจจริง ๆ

จากประสบการณ์ที่ได้ดูหนังมานับจำนวนเรื่องไม่หวาดไม่ไหวตั้งแต่จำความได้  มันเป็นหนังเพลงเรื่องเดียวที่มีเพลงติดหูผมทุกเพลงไม่มีเว้น (หมายถึงเฉพาะหนังเพลงที่นักแสดงยืนแหกปากร้องปาว ๆ แบบนี้)  แม้แต่เพลงใน Mary Poppins  ก็ยังไม่ติดหูครบทุกเพลง  

เพลงใน TSOM เพราะทุกเพลงและผมสามารถร้องตามได้ทุกเพลง  แผ่นเสียงก็ฟังจนปรุ  พอฉบับ cd ออกก็ซื้อมาเก็บไว้ฟังแทนแผ่น ฯ  ระบบเสียงที่พัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ฟังกับเครื่องเสียงบวกลำโพงชั้นนำ  เสียงกระหึ่มเลย ทีเดียว  โดยเฉพาะฉากเปิดเรื่องนี้



อ่านจากบทความเบื้องหลังการถ่ายทำรวบรวมโดย Internet Movie ฯ  มีเรื่องราวสนุก ๆ มากมายเป็นต้นว่า

ตอนต้นของฉากนี้ถ่ายจาก helicopter ซึ่ง Julie Andrews เล่าว่าถ่ายหลาย take มาก  เพราะ helicopter บินวนอยู่ใกล้ ๆ แรงลมจากใบพัดมักพัดเธอไม่ซวนเซก็หกล้มหกลุกอยู่ร่ำไป  และอากาศบนเขาในเดือน ก.ค. ปีนั้นก็หนาวเหน็บทั้งๆ ที่แดดจ้า  

หนำซ้ำคืนวันก่อนการถ่ายทำฉากนี้ฝนตกหนักมาก  เธอบอกว่าเช้าวันรุ่งขึ้นคนที่เกี่ยวข้องต่างลุยโคลนขึ้นเขาไป  และที่เห็นเธอวิ่งอย่างเริงร่าอุดมไปด้วยความสุขหาใดปานบนเขานั่น  ความจริงบนพื้นเป็นดินโคลนเฉอะแฉะน่าขยะแขยงเป็นที่สุด


ฉากนี้ฟังจากลำโพงดี ๆ กระหึ่มมาก การนำเพลงต่าง ๆ ในเรื่องมาผสมผสานกันได้กลมกลืนไม่มีรอยต่อเลย




ในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง มีคำถามถาม Maria ตัวจริงว่า  ตอนอยู่กับเหล่าแม่ชีเธอมีนิสัยเหลือขอเหมือนอย่างที่บรรยายไว้ในเพลงรึเปล่า  เธอหัวเราะคิกคักแล้วบอกว่า ‘I was worse!’



ช่วง 4.22 ที่เห็นในฉาก Julie Andrews สะดุดนั้นเป็นของจริง ซึ่ง ผกก. กลับชอบใจมากและไม่ตัดทิ้ง  คนดูจะได้รับอารมณ์ประหม่าของ Maria


ฉากที่ผมชอบที่สุด  อยากให้เกิดกับผมบ้าง  ตอนเด็ก ๆ อยู่บ้านคุณยาย  เวลาฝนตกฟ้าร้องแรง ๆ  หัวผมจะมุดอยู่ใต้หมอนเสมอ



มีต่อ...
บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 1039  เมื่อ 29 มี.ค. 22, 07:40

ต่อ...


ฉากนี้ระหว่างการถ่ายทำเกิดอุบัติเหตุเมื่อหญิงสาวสะดุดขณะกระโดดข้ามม้านั่งทำให้ข้อเท้าเป็นแผลต้องปิดพลาสเตอร์ซึ่งสามารถสังเกตได้ตอนดูในโรง  เมื่อเทคนิคทาง computer เกิดขึ้นจึงมีการลบรอยออกไป

Gazebo ของจริงยังคง (ไม่ทราบวันที่ที่บันทึกเรื่องนี้ว่าเมื่อไร) เปิดให้ชมอยู่ที่ Salzburg แต่ห้ามเข้าไปข้างในหลังจากเคยมีแฟนหนังพันธุ์แท้ซึ่งมีอายุแก่กว่าปีที่หนังออกฉาย  พยายามเลียนแบบด้วยการขึ้นไปวิ่งและกระโดดข้ามม้ายาวรอบ ๆ Gazebo หลังเล็ก ๆ นั้นเพื่อเลียนแบบฉากในหนัง ยังผลให้พลาดตกลงมาหัวร้างข้างแตก

ส่วนในช่วงที่เห็นหนุ่มสาววิ่งร่าเริงกันนั้นถ่ายทำที่โรงถ่าย  โดยสร้างขึ้นใหม่ให้มีขนาดโอ่โถงพอที่จะเข้าไปวิ่งรอบ ๆ ได้สบาย ๆ   ส่วนวิวภายนอกใช้ฉากประกอบ  ถ้าสังเกตใบไม้ตามต้นไม้ไม่กระดิกเลยเพราะมันเป็นภาพวาด



ฉากนี้ไม่ใช่ทำกันเล่น ๆ  ผู้อยู่เบื้องหลังคือคณะหุ่นชักมืออาชีพระดับโลก (ในเวลานั้น)



JA เพิ่งเล่นกีต้าร์เป็นก็จากเรื่องนี้  ตอนแรกเธอไม่คิดจะรับเล่นเรื่องนี้ด้วยซ้ำ (ตัวเลือกแรกคือ Doris Day แต่เธอปฏิเสธ) เพราะเห็นว่าบุคลิก Maria คล้ายกับ Mary Poppins  แต่ผลคือเธอได้รับการเสนอเข้าชิง Oscar เป็นครั้งที่ 2

ในเรื่องจริง Maria ไม่ได้สอนเด็ก ๆ ให้ร้องเพลง  แต่เป็นพระหนุ่มที่มาพักในคฤหาสน์ของ Captain เป็นผู้สอน  Maria ตัวจริงรำพึงว่าไม่อยากให้คนทั้งโลกเข้าใจผิดและน่าจะให้เครดิตแก่พระหนุ่ม

ส่วนเสื้อผ้าของทั้งฝูงที่ตัดมาจากผ้าม่านนั้น  เป็นความคิดที่ลอกเลียนมาจาก Gone with the wind



ฉากนี้นักแสดง Peggy Wood รับบทคุณแม่อธิการ  ในเรื่องเธอต้องร้องเพลง  แต่เธอไม่ชำนาญ  ทางทีมงานเลยต้องใช้ lip-sync  แต่ก็มีปัญหาอีกเพราะ PW ไม่สามารถขยับปากให้พอดีกับคำแรกของเนื้อร้อง  ถ่ายทำอยู่หลาย take ก็ไม่ประสบผล  ทีมงานเลยจัดฉากใหม่ให้เธอเริ่มร้องเพลงขณะหันหลังให้กล้อง (0.15) จนกระทั่งเธอขยับปากได้พอดีกับเนื้อร้องแล้วค่อยหันมา  กลายเป็นภาพที่เนียนจนคนนึกว่าเธอร้องเพลงเอง (เธอได้เข้าชิง Oscar จากบทนี้)

หมายเหตุ – ฉากที่ Christopher Plummer ร้องเพลง  เสียงเธอใช้ได้  แต่ในที่สุด ผกก. ตัดสินใจใช้ lip-sync แทน



ในหนังนั้น Maria กับ Captain พึงพอใจกันอย่างรวดเร็ว  แต่ในความเป็นจริง  เธอไม่เคยคิดอยากแต่งงานแต่อยากกลับไปบวชชีมากกว่า  สิ่งที่ทำให้เธอเปลี่ยนใจในที่สุดคือเธอรักเด็ก ๆ มาก  การที่จะได้ใกล้ชิดกับพวกเขาก็คือต้องแต่งงาน  ซึ่งกว่าเธอจะรู้สึกรัก Captain ก็กินเวลาหลายปีต่อมา

เธอเล่าว่าที่จริงนิสัยของ Captain ไม่เชิดหยิ่งอย่างที่เห็นในหนัง  ลูก ๆ ตัวจริงก็ไม่ชอบใจที่คนทั้งโลกเห็นพ่อของตัวเองเป็นแบบนั้น  และขอร้อง ผกก. ให้ปรับนิสัยเป็นอ่อนโยนลงบ้าง  แต่ถูกปฏิเสธ

ในทางตรงกันข้าม Joan Gearin นักประวัติศาสตร์ก็ได้เคยขุดคุ้ยและพบความจริงที่เธอไม่อยากไปเปลี่ยนภาพพจน์ Maria ของคนดูทั่วโลก  เธอบอกคร่าว ๆ ว่า  ตัวจริงของ Maria ไม่ได้เป็นแม่พระแบบที่เห็นในจอ

Christopher Plummer ไม่เคยชอบหนังเรื่องนี้  เธอให้สัมภาษณ์ว่าในช่วงเลิกงานในแต่ละวันเธอต้องแวบออกไป pub ไปกินและเมาให้ปลิ้นเพื่อดับความน่าเบื่อ  ยังผลให้ต้องมีการแก้ไขเสื้อผ้าอยู่เรื่อย ๆ เพราะเธออ้วนเอา ๆ (อันนี้ผมเคยสังเกตว่าบางฉากเธอก็ผอม บางฉากเธอก็อ้วน)  

เธอเคยสารภาพว่า  มีครั้งหนึ่งเธอบอกกับคนใน pub ว่าความจริงเรื่องนี้ควรเปลี่ยนชื่อเป็น ‘The sound of mucus’

นอกจากนี้  เธอเคยล้อลับหลัง JA ว่า Miss Disney และวิจารณ์การทำงานร่วมกับ JA ว่าเหมือนกับ "being hit over the head with a big Valentine's Day card, every day. อย่างไรก็ตามทั้งคู่ก็เป็นเพื่อนที่ดีต่อกันจนกระทั่งฝ่ายหนึ่งตายจากไป

หลวงพ่อ (3.03) คือตัวจริง (Archbishop of Salzburg (at the time, Andreas Rohracher))  ท่านต้องเข้าร่วมในฉากเพราะทางทีมงานลืมจัดนักแสดงมาทำหน้าที่นี้)


มีต่อ...

บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 1040  เมื่อ 30 มี.ค. 22, 09:40

ต่อ...


ฉากนี้เป็นฉากท้าย ๆ ของการถ่ายทำ แม่หนูคนสุดท้องที่ขี่หลัง Christopher Plummer นั้นคือตัวแสดงแทน  ตัวจริงนั้นอ้วนขึ้นกว่าเดิมมากเพราะกินดีอยู่ดี  CP ไม่ยอมให้ขี่หลังเพราะกลัวหลังหัก  ส่วนภาพใบไม้ใบหญ้าไหวยวบยาบนั้นไม่ใช่ลมบนเขาแต่เป็นใบพัดของ helicopter ที่วนถ่ายอยู่รอบ ๆ

ตามท้องเรื่องในหนังครอบครัว Von Trapp เดินข้ามภูเขา Alps ไปยัง Switzerland  แต่ในความเป็นจริง ครอบครัว ฯ แค่ ‘เดิน’ ไปยังสถานีรถไฟที่ใกล้ที่สุดแล้วขึ้นรถไฟข้ามประเทศไปยัง Italy  ก่อนจะหลบหนีต่อไปยัง London

จากเรื่องราวในหนัง  ถ้าจะให้ครอบครัว ฯ เดินข้ามแดนจริง ๆ เป็นไม่ไหวเพราะไกลจาก Switzerland มาก  และถ้าเดินจริงบนเทือกเขานี้ก็จะไปลงที่ Germany เข้าปาก Hitler พอดี


ทั้งหมดที่เล่ามาคือฉากเพลงโปรดของผม  ความจริงฉากที่ชอบยังมีอีกแต่เป็นฉากธรรมดาเช่น ตอนครอบครัวไปแอบหลบพวกนาซีข้างในสุสานของโบสถ์  ดูทีไรก็ตื่นเต้นทุกที  (เสียดายที่ clip ยาวไปไม่พอ)



รวมไปถึงฉากแม่ชีสารภาพบาปกับคุณแม่อธิการพลางหยิบอะไหล่รถที่ตัวเองแอบถอดขึ้นมาแสดงประกอบคำสารภาพ




CP ให้สัมภาษณ์ในหนังสือ People ในปี 2015 ว่า  นักแสดงสาว Eleanor Parker (ในบท The Baroness ซึ่งในเรื่องจริงเป็นเจ้าหญิงจากยุโรปองค์หนึ่ง – ข้อมูลมีเท่านี้) สวยมากและน่ารักสุด ๆ  ในช่วงเวลาของการถ่ายทำ  เธอไปตกหลุมรัก camera man คนหนึ่ง  ความรักพัฒนาตัวหลังจากนั้นท่ามกลางความอิจฉาของตัว CP เมื่อเห็นคู่รักจูงมือกันตลอดเวลา “I think their story is much more romantic than The Sound of Music."  CP สรุป


ฉากนี้มีเบื้องหลังสนุก ๆ
 

แม่หนู Gretl คนสุดท้องว่ายน้ำไม่เป็น  ขณะการถ่ายทำฉากนี้  ทีมงานตกลงให้ July Andrews อยู่ใกล้แม่หนูจะได้สามารถคว้าแม่หนูได้หลังจากเรือล่ม  Take แรกขลุกขลัก  จึงต้องถ่าย take สอง  ปรากฏว่า take นี้  ขณะเรือล่ม  JA หงายหลังแต่แม่หนูหน้าคว่ำ  คนที่คว้าแม่หนูได้คือ Louisa   ไม่ใช่ JA ตามที่ตกลงกัน  พอขึ้นมาบนบกแม่หนูก็อ้วกใส่ Louisa เพราะการผิดคิวทำให้เสียเวลา  เธอก็เลยกินน้ำเข้าไปมากเกิน  ทีมงานตกลงที่ฉากนี้เพราะไม่งั้นจะเป็นการทรมานแม่หนู ฉากผิดคิวนี้ทำให้ JA รู้สึกผิดไปนานหลายปี


การถ่ายทำหนังเรื่องนี้ใช้เวลานาน  ระหว่างนั้นเด็ก ๆ ต่างก็โตกันอย่างว่องไว  ผิดสัดส่วนดั้งเดิม  ทางทีมงานจึงต้องอาศัยเล่ห์กลต่าง ๆ  เพื่อให้ภาพออกมาคงสัดส่วนเดิม  เป็นต้นว่าลูกชายคนโตสูงขึ้น 6 นิ้ว  เริ่มแรกเธอเตี้ยกว่าพี่สาว  แต่ตอนหลังพี่สาวต้องยืนบนลัง


จาก ‘ขวาไปซ้าย’ - Liesl, Friedrich, Louisa, Kurt, Brigitta, Marta, and Gretl

ชื่อของเด็ก ๆ ในหนังเป็นชื่อสมมติทั้งหมด  มีศิลปินมารับการทดสอบบทมากมายเช่น (เอาเฉพาะที่พวกเราคุ้นหู) Kurt Russell และพี่น้องนักดนตรี Osmonds

ระหว่างการถ่ายทำ  ความใกล้ชิดทำให้ เด็ก ๆ เกิดความรักกันวุ่นวาย เช่น Louisa แอบหลงรัก Friedrich  ในขณะที่ Friedrich แอบหลงรัก Liesl  ส่วน Liesl ก็แอบหลงรักพ่อตัวเอง (CP)  แล้วไป ๆ มา ๆ CP ซึ่งไม่ชอบขี้หน้า JA ในตอนต้น  ในวันหนึ่งก็แอบหลงรักเธอ

หนัง Mary Poppins กับ TSOM ถ่ายทำในเวลาใกล้เคียงกัน  ในช่วงเวลาหนึ่งขณะถ่ายทำ TSOM  ระหว่างพักผ่อน JA จะร้องเพลง "Supercalifragilisticexpialidocious" จากในหนัง MP ให้เด็ก ๆ ฟังอยู่เนือง ๆ  เนื่องจากหนัง MP เสร็จแล้วแต่ยังไม่ได้ออกฉายและ JA ก็ไม่ได้เผยที่มาที่ไปของเพลงนี้  เด็กๆ ต่างก็นึกว่า JA แต่งขึ้นมาเอง ก็เลยชอบใจกันใหญ่



ความสำเร็จทางด้านรายได้ของหนัง TSOM ช่วยกู้สถานภาพทางการเงินของ 20th Century Fox จากการกระเป๋าแหกที่เรื่อง Cleopatra (1963) ก่อไว้  มันเป็นหนังเพลงที่เมื่อปรับเรื่องค่าเงินเฟ้อแล้วมีรายได้สูงสุดตลอดกาล  รองลงมาคือ Grease (1978)

สมัยที่เทคนิคทำม้วนวิดีโอหนังออกสู่สายตาโลกเป็นผลสำเร็จ  ตอนนำหนังเรื่องนี้มาลงวิดีโอ  มันติดอันดับวิดีโอขายดีอยู่นานเกือบ 5 ปีเต็ม
 
ส่วนแผ่นเสียงซึ่งออกขายพร้อมหนังฉาย  ติดอันดับใน Billboard Pop Chart อยู่นาน 233 สัปดาห์  ปัจจุบัน (รวมถึง CD ด้วย) ยังปั๊มออกมาขายอยู่เรื่อย ๆ


Maria ตัวจริงโผล่เข้ามาร่วมในฉาก



Screen test



จบแล้ว...
บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 1041  เมื่อ 31 มี.ค. 22, 08:09

Beetlejuice (1988) เป็นผลงานอีกเรื่องของ ผกก. Tim Burton เล่าเรื่อง ผีมือใหม่ผัวเมียหนุ่มสาวที่เพิ่งเสียชีวิตแล้วมาสิงอยู่ในบ้านตัวเอง  วันหนึ่งบ้านก็ถูกขายทอดตลาด  เจ้าของใหม่เป็นผัวเมียเฮงซวยชอบทรมานผี สองผีผัวเมียต้องการไล่ด้วยการแสดงการหลอก  แต่ความเป็นมือใหม่  นอกจากไม่น่ากลัวแล้วสองผัวเมียเฮงซวยยังชอบใจ

ผีผัวเมียเลยไปปลุกผีแสบ Beetlejuice ให้มาช่วย  ผีแสบออกมาได้แล้วทรยศ  ในขณะที่ผัวเมียเฮงซวยสามารถจับผีผัวเมียเจ้าของบ้านได้แล้วเอามาทรมาน  ลูกสาวผัวเมียเฮงซวยซึ่งเป็นมีเมตตาทนไม่ไหวเลยไปว่าขอร้องผีแสบ Beetlejuice ให้มาช่วยผีผัวเมีย  งานสำเร็จแต่ผีแสบกลับไม่ยอมจบง่าย ๆ

ฉากต้นเรื่องอธิบายว่าผัวเมียหนุ่มสาวตายอย่างไร (Alec Baldwin ตอนหนุ่ม ๆ หล่อขาดใจ)


หน้าตา 'สนง. ตรวจคนเข้าเมืองหลังความตาย'


ผีแสบ Beetlejuice เป็นผีต้องห้ามเพราะแสบมาก  แต่ผีผัวเมียดื้อเลยไปปลุกขึ้นมาให้ไล่ผัวเมียเฮงซวย  วิธีปลุกคือเรียกชื่อซ้ำ ๆ 3ครั้ง


ความเป็นผีหน้าใหม่เลยสร้างความวุ่นวายให้กับเมืองหลังความตาย ‘จนท.’ เลยเรียกไปด่า


ในที่สุดผีสองผัวเมียก็โดนผัวเมียเฮงซวยจับเอาไปทรมาน  ลูกสาวเลยต้องไปขอความช่วยเหลือจาก Beetlejuice อีกครั้ง


งานสำเร็จแต่ Beetlejuice ไม่จบง่าย ๆ


ฉากนี้ไอเดียเยี่ยมเกิดตอนต้นเรื่องเมื่อผีผัวเมียมือใหม่สำแดงฤทธิ์หลอกผัวเมียเฮงซวยปรากฏว่ากลับเป็นที่ชื่นชอบถึงขนาดจะหาทางจับตัว


ตัวอย่างหนัง


บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 1042  เมื่อ 01 เม.ย. 22, 08:36

Knowing (2009) กล่าวถึง professor ที่ค้นพบ time capsule  ภายในบรรจุกระดาษที่มีตัวเลขเต็มพืดไปหมด  หลังจากศึกษาไปเรื่อย ๆ เขาก็พบว่าบรรดาตัวเลขเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับช่วงเวลาการเกิดหายนะในโลกทั้งในอดีตและที่กำลังจะเกิดขึ้น

หนังมหันตภัยแบบนี้ไม่มีอะไรให้กล่าวถึงมากนอกจากเทคนิคพิเศษอลังการจริง ๆ (ณ เวลาที่กำลังดู) นี่ถ้าได้ดูในโรงที่มีระบบเสียงสนั่นโลกนะ  อื้อฮือ... คงจะสนุกตื่นเต้นหาใดปาน





ตอนจบมีความสัมพันธ์กับตอนต้นเรื่องอย่างไรต้องหาหนังมาดู





ตัวอย่างหนัง


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33590

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1043  เมื่อ 02 เม.ย. 22, 12:14

   The Bridges of Madison County (สะพานรักสะพานอดีต) เป็นหนังเล็กๆ ถ่ายทำฉากสำคัญๆเสร็จใน 52  วัน  ฉากก็อิงทิวทัศน์ของจริงในชนบท  ไม่ได้มีฉากไหนหรูหราตระการ  แต่ออกฉายแล้วฟันเงินไป $182,016,617 เพราะดาราเล่นกันเด็ดขาด  สคริปต์หนังก็กินใจ  ฝีมือสร้างและกำกับโดยคลิ้นท์ อีสต์วู้ด  ซึ่งพิสูจน์ว่าปู่ก็มีฝีมือไม่เบา ไม่ได้เก่งเฉพาะบทคาวบอย
   เนื้อเรื่องดูธรรมดาเสียจนถ้าเป็นในไทยเรา คงไม่มีใครกล้าซื้อมาทำหนังหรือละครทีวี  เป็นเรื่องของฟรานเชสก้า แม่บ้านวัยกลางคนมีลูกสองคนโตเป็นวัยรุ่นแล้ว  อยู่กับสามีเจ้าของฟาร์มเล็กๆในรัฐไอโอวา 
   เหตุการณ์ย้อนยุคไปถึงปี 1965  ที่บ้านนอกในยุคนั้นก็บ้านนอกจริงๆ   ไม่มีความบันเทิงเริงรมย์ใดๆนอกจากวิทยุเครื่องเล็กๆ ไว้เปิดฟังเพลงแก้เหงา วันๆก็จำเจอยู่ในครัว ทำอาหาร ซักผ้า รีดผ้า ถูบ้าน  หัวไม่วางหางไม่เว้นตั้งแต่เริ่มมีครอบครัวจนแก่ตายไป ไม่ต่างกันเลยสักวัน
  ชีวิตของฟรานเชสก้าพลิกผันไปในพริบตาเดียวเมื่อสามีกับลูกๆไปเที่ยวงานออกร้าน  ซึ่งกินเวลาหลายวันติดกัน ต้องไปค้างในเมืองนั้น   เธอปฏิเสธไม่ไปด้วยเพื่อจะได้มีเวลาพักผ่อนบ้างสัก 3-4 วัน   ในช่วงนั้นเอง เกิดมีช่างภาพของนิตยสาร National Geographic  ที่จะมาถ่ายภาพสะพานประวัติศาสตร์ใกล้ๆกันนั้นขับรถพลัดหลงมาถึงหน้าบ้าน   เธอก็เลยพาเขาไปถึงสถานที่หลังจากอธิบายเท่าไรอีกฝ่ายก็ไม่รู้เรื่อง
 ตรงนั้นเองคือจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ ที่ทั้งสองเองก็ไม่ได้ตั้งใจ   เขาไม่ใช่ผู้ชายเจ้าชู้ชอบตีท้ายครัวชาวบ้าน  ส่วนเธอเองก็ไม่ใช่ผู้หญิงแร่ด    แต่รักแท้ที่ไม่มีใครนึกถึงมันมีเส้นทางของมันเอง จนทั้งคู่เองก็จบลงบนเตียง ด้วยความพิศวงว่าชีวิตจะดำเนินต่อไปอย่างไร   
  ตรงนี้แหละที่ชนะใจคนดูทั้งโลก   

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33590

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1044  เมื่อ 03 เม.ย. 22, 11:58

  ถ้าฟรานเชสก้าตัดสินใจหนีตามช่างภาพไป  หนังก็จะจบแบบคู่นี้หวานกันสักพักน้ำผึ้งก็ขม  เหมือนคนดูทาย(หรือแช่ง)ไว้  เพราะฝ่ายชายไม่ได้จริงจังด้วย ก็จะเป็นหนังเล็กๆราคาเยา ที่คนดูบอกว่า "นึกแล้ว" เมื่อถึงตอนจบ
  แต่ถ้าเธอตัดใจไม่ไปต่อ แล้วต่างคนต่างก็กลายเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน ส่งข่าวสารทุกข์สุกดิบกันจนกระทั่งไม่กี่ปีต่อมา ลูกๆโต บินจากรัง เธอก็ขอหย่าสามีไปทำตามใจปรารถนา เรื่องนี้ก็กลายเป็นหนังของฮอลมาร์ค เอาไว้ฉายตอนคริสต์มาส 
  แต่หนังเรื่องนี้จบแบบดูเหมือนง่าย แต่ไม่ง่าย  คือชายหญิงสองคนพบว่า รักแบบที่เกิดได้เพียงครั้งเดียวในชีวิตนั้น เป็นรักที่ไม่อาจครอบครองได้    ต่างคนต้องจากกัน   มีแต่ความทรงจำติดตัวไปจนตาย
  จะพบกันได้อีกครั้งก็เมื่อทั้งสองกลายเป็นเถ้าถ่าน โปรยลงสู่ใต้สะพานที่เป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33590

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1045  เมื่อ 04 เม.ย. 22, 07:24

ฉากนี้เป็นฉากจากลาที่สะเทือนอารมณ์ที่สุดในเรื่อง   เป็นการจากลาที่พระเอกนางเอกเห็นกันอยู่ห่างๆ   นางเอกนั่งอยู่ในรถของสามี พระเอกเดินลงมาจากรถของตัวเอง มาหยุดกลางถนน
ต่างคนต่างเห็นกัน ต่างรู้ว่าเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะได้เห็น  ไม่มีโอกาสพูด ไม่มีโอกาสลา   ฝน(เจ้ากรรม)ตกลงมาพอดี  มองเห็นแต่สายตาที่ส่งให้กันห่างๆ  แล้วต่างคนต่างก็แยกกันไปตามทางของตน
เป็นฉากที่ไม่มีคำพูด  ไม่มีการแสดงความรัก  แต่คนดูสัมผัสอารมณ์ของทั้งสองคนได้ตลอด ผ่านทางแววตาและสายฝน
โดยเฉพาะตอนท้าย เมื่อรถสองคนออกแล่นตามกันไป มาถึงทางแยก  รถพระเอกจอดนิ่งอยู่นานจนสามีนางเอกกดแตรไล่ อย่างรำคาญว่าทำไมไอ้คนคันนี้มันไม่ไปสักที
คนดูรู้ว่าทำไม 
แล้วรถก็เลี้ยวกันไปคนละทาง  เป็นสัญญาณถึงชีวิตของคนทั้งสองว่าไม่มีวันบรรจบกันอีก

การเล่าเรื่องและเล่าอารมณ์โดยไม่ต้องมีบทพูดสักคำเดียวนี่แหละ ถือเป็นสคริปต์สุดยอดของหนัง

บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 1046  เมื่อ 04 เม.ย. 22, 08:30

จำได้ว่าช่วงหนังวนเวียนฉายอยู่ในโรงฯ  และคนดูแห่กันไปชม  หนังฮิตถึงขนาดมีการตามรอยสถานที่การถ่ายทำ

บันทึกการเข้า
nathanielnong
อสุรผัด
*
ตอบ: 13


ความคิดเห็นที่ 1047  เมื่อ 04 เม.ย. 22, 08:43

เสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมาเกิดความน่ายินดีขึ้นกับผมโดยบังเอิญ  กล่าวคือขณะท่อง youtube เรื่อยเปื่อยก็ไปพบว่า  มีผู้ใจดีนำ (เจ้าของเรียกว่า กาก) หนังไทยที่ผมติดใจและคิดถึงมาตลอดตั้งแต่เด็กมาปล่อยให้ชม

หนังชื่อ เจ้าแม่สาริกา (2512)  ผมไปดูกับป้าสะใภ้-สิงห์สาวเซียนหนังไทย/จีน  จำความรู้สึกขณะนั่งดูอยู่ในโรงได้ว่าหนังน่ากลัวมาก  มีฉากสาริกาโดดน้ำตกตาย  โดยเฉพาะฉาก ถวัลย์ คีรีวัตร กลายเป็นผีแล้วมาหลอกที่หน้าต่างบ้าน  เห็นแค่หน้าเละ ๆ เต็มจอ  เสียดายที่ฉากเหล่านี้ไม่มีในเศษหนังที่เห็น  แต่ดูไปก็ยังสุขใจ

ตามประสาเด็กจิตอ่อน  ดูหนังจบก็เก็บความน่ากลัวกลับมาบ้านที่ปกติก็ดูน่ากลัวอยู่แล้ว (บ้านไม้โบราณ)  ผมนอนไม่หลับไปหลายคืนเพราะปลายเท้าเป็นหน้าต่างที่เปิดอ้าไว้ตลอดทั้งวันทั้งคืน  ช่วงนั้นถ้าคืนไหนผมดันเสือกตื่นขึ้นมากลางดึกละก็เป็นเหงื่อแตกพลั่ก





หลังจากได้ดูหนังผีเรื่องโปรดสมัยเด็กไปแล้ว  ก็นึกถึงอีกเรื่อง  เรื่องนี้เก่ากว่าอีก  ผมจำได้ว่าเคยตามหาแล้วได้ข้อมูลว่าฟิล์มหนังถูกทำลายด้วยเหตุบางอย่างไปแล้ว  แต่จะหาอีกทีก็ไม่มีอะไรเสียหาย  แล้วผมก็เจอ (จนได้)

หนังชื่อ พระรถ-เมรี หรือ นางสิบสอง (2508)  ผมจำรายละเอียดอะไรในหนังไม่ได้มากนอกจาก  นักแสดงหญิงมากมายของยุคนั้นมารวมอยู่ที่นี่  จำได้ว่า ปรียา รุ่งเรือง เล่นเป็นพี่คนโต  เอื้อมเดือน อัษฎา (คนสวยของผม) เล่นเป็นน้องคนสุดท้อง  มี น้าต้อย (บุษกร สาครรัตน์) กับ วรรณา แสงจันทร์ทิพย์ แล้วก็ อภิญญา วีระขจร ด้วย 

ฉากที่จำได้ไม่ลืมคือฉากนางสิบสองปิ้งปลากิน  ทุกคนร้อยปลาที่ลูกตาทั้งสองข้าง  แต่น้องคนเล็ก (เอื้อมเดือน) เกิดความสงสาร  จึงร้อยปลาที่ตาข้างเดียว (21.30)  อานิสงค์เกิดขึ้นในเวลาต่อมาเมื่อนางยักษ์สั่งให้ควักลูกตานางสิบสอง  แต่สำหรับน้องคนเล็กให้ควักตาเพียงข้างเดียว  อีกข้างเหลือไว้คอยปรนนิบัติพี่ ๆ (สยองขวัญไม่น้อย)

หนังดูเกือบไม่ได้แต่ก็ยังดี  ได้บรรยากาศความหลังที่ตามหามานาน





ยังมีหนังที่ติดใจอีกแต่ยังตามหาไม่ได้ เช่น ธนูทอง (2508) เมืองแม่หม้าย (2512) วิวาห์พาฝัน (ตอนต่อของ เกาะสวาท-หาดสวรรค์ - 2514) ฯลฯ

ส่วนเรื่อง แม่นาคพระนคร (2513) ที่ผมติดใจฉากที่คนสร้างเอาการ์ตูนมาถ่ายผสมกับการแสดงในฉากที่ พี่มาก ตกตึกแล้วแม่นาครุดมาช่วยไม่ทันจึงเอื้อมมือ (เป็นการ์ตูน) ยาว ๆ ไปคว้าพี่มากได้ทันกลางอากาศ  ผมทึ่งกับฉากนี้มาตั้งแต่เด็ก ๆ จำได้ไม่ลืม
 
ตอนแก่ ๆ สมัยยังทำงานอยู่เคยมีโอกาสได้ดูที่หอภาพยนตร์ไทย ศาลายา  ตอนนั้นยังไม่เจริญ  ดูทางม้วนวิดีโอ  นั่งดูกับจอทีวีขนาดเล็ก  หนังที่ติดใจในสมัยเด็ก  มาดูตอนแก่ก็น่าเบื่อเป็นธรรมดา  ดูไปหลับไปกว่าจะถึงฉากมือการ์ตูนที่ว่า  แต่ทำไมไม่ยักมีใครเอามาปล่อยใน youtube แฮะ  วัตถุดิบก็มีอยู่แล้ว  แปลกจัง


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 1048  เมื่อ 04 เม.ย. 22, 10:18

              จำได้ว่า,เมื่อสิบกว่าปีก่อนตอนที่ได้ดู "สะพานรักต้องห้าม"  รู้สึกคล้อยตามไปกับเรื่องราว แม้ว่าจะขัดใจ
การเขียนบทแบบจงใจเน้นๆ ของฮอลลีวู้ด(พระเอก - ตากล้องท่องโลกกว้าง กับ แม่บ้านนอกโลกแคบ) ต้องยอมรับว่า
ส่วนใหญ่มาจากบารมีและฝีมือการแสดงของสองนักแสดงนำ
         แต่ในวันนี้ เมื่อลองย้อนนึกดู รู้สึกขัดใจขึ้นไปอีก เพราะรู้สึก ยากจะเชื่อว่า นางเอก สว. จะหวั่นไหวราวกับ สน.
(สาวน้อย) ไปกับพระเอก สว. ในชั่วเวลาไม่นานนักจากนั้นก็ขาดสติปล่อยใจปล่อยตัวไปไกล ทั้งๆ ที่มีสามี,มีลูกๆ แล้ว
         ถ้าเป็นแบบ The Postman Always Rings Twice ยังเข้าใจได้
         ยังดีที่ตอนจบ ให้นางได้สติคืนมา (ไม่ว่าอาจจะด้วยภาพของปู่คลิ่้นท์ยืนตากฝนเปียกปอนไม่น่าดู ก็ตาม)

         แม้จะโดนกล่อมว่า This kind of certainty comes but once in a lifetime.
แต่ ตามที่ อ.เคยยกคำพูดมาในกระทู้เก่าว่า

                       
ความถูกต้องชอบใจตามกิเลสตน ต่อสู้กับสำนึกความผิดชอบทางศีลธรรม

       Bridges of Madison County    
   
     หนังเรื่องนี้ทำให้นึกถึงคำคมของJohn Stuart Mill  ที่ว่า
    I have learned to seek my happiness by limiting my desires, rather than in attempting to satisfy them.
     ฉันได้เรียนรู้ที่จะแสวงหาความสุข  ด้วยการจำกัดขอบเขตความปรารถนาของตัวเอง  มากกว่าจะไขว่คว้าเพื่อตอบสนองความปรารถนาเหล่านั้น
    
      ความคลาสสิคอยู่ที่แม่บ้านคนนั้นก็ตัดสินใจจะดำรงชีวิตเชยๆ ซ้ำซากจำเจกับสามีและลูกไปตลอดชีวิต    เพราะเป็นสิ่งที่เธอสมควรจะทำ
มากกว่าจะอยู่กับชีวิตแบบที่เธอปรารถนา แต่ไม่สมควรจะทำ
     ผู้กำกับ Bridges of Madison County  เก่งอีกอย่างคือเข้าใจเลือกตัวสามีในเรื่อง สีหน้าท่าทางและการแสดงของเขาออกมาเป็นผู้ชายใจดี
ที่จืดสนิทจริงๆ

รูปจาก “The Bridges of Madison County,” เวอร์ชั่น Broadway musical
เปิดการแสดง ช่วง กพ. - พค. 2014 ได้รางวัลโทนี่ สาขา Best Score and Orchestrations


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33590

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1049  เมื่อ 04 เม.ย. 22, 10:55

รอว่าเมื่อไหร่คุณหมอ SILA จะเปิดประตูเข้ามาสับเรื่องนี้  ยิงฟันยิ้ม

ถ้าหากว่าพระเอกและนางเอกเป็นหนุ่มสาว หล่อและสวย  รักกันแต่ต้องจากกัน  มันก็ง่ายที่จะทำให้คนดูซาบซึ้ง   ร้องไห้น้ำตาเป็นเผาเต่า    แต่เรื่องนี้ทำให้ยากขึ้นด้วยการเอาดาราที่พ้นวัยหนุ่มสาวแล้วมาเล่น  ชนะใจด้วยฝีมือล้วนๆ
ทำให้รู้ว่าความรักไม่เลือกชนชั้นวรรณะ แถมไม่เลือกวัยด้วย   ลึกลงไปในตัวฟรานเชสก้า เธอก็ยังมีความเป็นสาวน้อยหลงเหลืออยู่   มันไม่มีโอกาสผลิบานก็เพราะถูกเด็ดไปปักในกองฟางเสียก่อน   แต่อีกส่วนหนึ่งที่เจริญเติบโตตามวัย ทำให้เธอยั้งคิดไว้ได้ ยอมเสียสละอยู่กับสามีและลูกต่อไป เพราะเธอไม่อาจทำร้ายผู้บริสุทธิ์ถึง 3 คนได้เพื่อผู้ชายคนเดียว
นี่คืออุดมการณ์ของผู้หญิงยุค 1965  ไม่ใช่ 2022
เป็นยุคนี้น่ะหรือ  เธอเก็บเสื้อผ้าออกจากฟาร์มไปตั้งแต่ปีแรกแล้ว  เผลอๆจะเดือนแรกด้วยซ้ำ

ฉากที่ดิฉันชอบที่สุดไม่ยักใช่ฉากตากฝนที่ว่ากันว่าเป็นฉากเด็ด    แต่กลับเป็นฉากใกล้ตายของสามี    ผู้กำกับเขาหาดารามาเก่งมาก  คนที่แสดงเป็นสามีไม่มีประกายดาราแม้แต่สะเก็ด  เป็นผู้ชายชืดๆ เชยๆ แต่ก็ดูจริงใจ  เล่นบทนี้เหมือนไม่ได้เล่น
ฉากที่เขาบอกว่า เขารู้ว่าเขาไม่สามารถให้ภรรยาได้อย่างที่เธอต้องการ   เป็นคำสารภาพที่น่าสงสารมาก   ทำให้รู้ว่าตลอดมาเขาก็รู้ว่าเธอไม่มีความสุข  เธอมีมุมหนึ่งในโลกส่วนตัวที่เขาเอื้อมไม่ถึง   คนดูก็ประจักษ์ว่าผู้ชายคนนี้มีอะไรน้อยนิดจริงๆให้เมีย แต่ก็เป็นทั้งหมดที่เขามี    เขาไม่ได้ขยักส่วนหนึ่งเก็บซ่อนเอาไว้อย่างฟรานเชสก้าทำด้วยซ้ำ  ไปๆมาๆ สามีนี่แหละคือคนที่มีรักแท้ที่สุด 
ก็ดีที่ฟรานเชสก้าก็เข้าใจ และอยู่กับน้ำใจข้อนี้
 
ดิฉันชอบเรื่องนี้ตรงเจ้าของเรื่อง ผู้กำกับ นักแสดง ทำให้เรารู้สึกว่า คนที่มีข้อขาดตกบกพร่อง 3 คน  ไม่หล่อ ไม่สวย ไม่มีชีวิตสุขสบาย สองคนทำผิดศีลธรรม  อีกคนก็น่าเบื่อไม่น่าอยู่ด้วยเลย    กลับเป็นคนดีที่น่าเห็นใจทั้งสามคน 
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 68 69 [70] 71 72 ... 77
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.134 วินาที กับ 19 คำสั่ง