เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 ... 14
  พิมพ์  
อ่าน: 68960 นิราศสุพรรณ
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 90  เมื่อ 05 ส.ค. 07, 00:39

ขอแทรกความเห็นไว้ตรงนี้ กันลืม
เมื่อเทียบ"รสคำ"ของนิราศสุพรรณ กับนิราศพระปธม
ผมเห็นว่า นิราศสุพรรณนั้น ออกแนวดิบเถื่อน ประมาณพระเอกหน้ามุ่ยที่ชอบตบนางเอก
แต่นิราศพระปโธนนั้น หวานอ้อนเหมือนเสียงครูสมยศยังไงยังงั้น

ศัพท์ฝ่ายซ้ายก็ต้องบอกว่า โลกทรรศน์ และชีวทรรศน์ ต่างกันมาก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 91  เมื่อ 05 ส.ค. 07, 09:42

ถ้าหากว่าระยะเวลาแต่ง นิราศสุพรรณ และนิราศพระประธม ต่างกันสัก ๑๐ ปี   โลกทรรศน์และชีวทรรศน์ของคนแต่งจะเปลี่ยนไปมาก เป็นไปได้ไหมคะ
คนเขียนกลอนเมื่อเป็นวัยรุ่น  เรียนอยู่มหาวิทยาลัย   ย้อนมาเขียนอีกครั้งตอนมีครอบครัวมีลูกแล้ว  สำนวนอาจแตกต่างกันมาก

มาดูโลกทรรศน์ของกวีนิราศสุพรรณกันดีกว่า

 กาเหยี่ยวเที่ยวว้าว่อน                เวหา
ร่อนร่ายหมายมัจฉา                    โฉบได้       
ขุนนางอย่างเฉี่ยวกา                   กินสัตว์ สูเอย
โจมจับปรับไหมใช้                     เช่นข้าด่าตีฯ

(๕๔) ๏ ยางเจ่าเซาจับจ้อง               จิกปลา
กินเล่นเป็นภักษา                              สุขล้ำ
กระลาการท่านศรัทธา                       ถือสัตย์ สวัสดิ์แฮ
บนทรัพย์กลับกลืนกล้ำ                       กล่าวคล้ายฝ่ายยางฯ

ท่านขุนนางกวี น่าจะเคยมีความหลังเจ็บแค้นเรื่องคดีอะไรสักอย่าง ที่ท่านเป็นจำเลย  แล้วรู้สึกว่าตุลาการตัดสินไม่เป็นธรรม ลงโทษฝ่ายไม่ผิด     เพราะตุลาการไปงาบเอาสินบนฝ่ายตรงข้ามเข้าเต็มพุง
จึงกระแหนะกระแหนเอาไว้ในบทบาทของกา และนกกระยาง
แนวคิดเดียวกันนี้ กล่าวไว้เต็มๆในกาพย์พระไชยสุริยา    เล่นงานตุลาการกินสินบนไม่ไว้หน้า ว่า
คดีที่มีคู่               คือไก่หมูเจ้าสุภา   
ใครเอาเข้าปลามา ให้สุภาก็ว่าดี
ที่แพ้แก้ชนะ         ไม่ถือพระประเวณี   
ขี้ฉ้อก็ได้ดี            ไล่ด่าตีมีอาญา

อันที่จริง ระบบตุลาการในสมัยรัชกาลที่ ๓ ก็เป็นแบบนั้นจริงๆ   คือเป็นระบบกินสินบนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ขุนนางคนไหนความเป็นอยู่ค่อนข้างฝืดเคือง ก็ไปขอเป็นตุลาการประจำสังกัดของตัว รับความมาชำระ ให้โจทก์และจำเลยมาเอาอกเอาใจส่งเสียข้าวปลาให้กิน    ไม่ได้ห้ามกันอย่างสมัยนี้
ระวังอย่างเดียวคือถ้าตัดสินไม่เที่ยงธรรม ก็ถูกร้องเรียนในระดับสูงได้
ท่านกวีของเราน่าจะเจอระบบนี้เข้าเต็มๆ เป็นฝ่ายแพ้    ถึงได้ชิงชังนัก

ถ้าย้อนมาดูอารมณ์ของกวีนิราศสุพรรณ  มองเห็นอะไรบ้าง
-เห็นความสูญเสีย ในตำแหน่งหน้าที่การงาน  เคยรุ่งเรืองมาในแผ่นดินก่อน แผ่นดินนี้บวชเป็นพระ  ไม่มียศถาบรรดาศักดิ์อีก
-ผู้หญิงที่รัก กี่คนๆ ก็พลัดพรากกันไปหมด  เขาได้ดีมีสามีใหม่บ้าง ไม่เหลือเยื่อใย  ตายจากไปบ้าง  ไม่มีใครอยู่เป็นโยมอุปัฏฐากสักคน   (เห็นจะเป็นเพราะพึ่งไม่ได้)
-แค้นใจกับความไม่ยุติธรรมในสังคม ที่ตัวเองเคยได้รับโดยตรง   
ข้อนี้เชื่อว่าโดนเอง เพราะนิสัยท่าน อะไรถ้าไม่เกี่ยวกับตัวเอง จะไม่เอามาเป็นอารมณ์
ถูกกดดันถึงขนาดนี้    เขียนนิราศให้อารมณ์ออกมาอ่อนหวานอ้อยสร้อย เห็นทีจะยาก 
ถ้าท่านอยู่ในปี ๒๕๑๙ เห็นทีจะหนีขึ้นเขาค้อมั้งคะ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 92  เมื่อ 05 ส.ค. 07, 20:46

ขอแทรกไว้กันลืมด้วยคนครับ

บางสุนัขบ้าที่ผมสันนิษฐานไว้ว่าน่าจะเป็นปากคลองเล็กตรงวัดโคก กลับไปทบทวนใหม่ อาจจะเป็นที่เดียวกับบางโคก็เป็นได้ครับ บางสุนัขบ้าอาจจะเป็นชื่อเดิมของบางโคครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 93  เมื่อ 06 ส.ค. 07, 13:48

เจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ บุนนาค) บันทึกไว้ใน "เรื่องพระปฐมเจดีย์" เมื่อปี ๒๔๐๘ ดังนี้

...ครั้น ณ วันอังคารเดือนห้าขึ้นเก้าค่ำปีมะเมียสัมฤทธิศก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จโดยพยุหยาตราทางชลมารคมาขึ้นที่วัดไชยพฤกษมาลา ด้วยครั้งนั้นคลองมหาสวัสดิ์คลองเจดีย์บูชาขุดยังไม่แล้ว แล้วเสด็จทางสถลมารคไปประทับแรมที่พลับพลาท่าหวดราตรีหนึ่ง ครั้น ณ วันพุธเดือนสิบขึ้นสิบค่ำ เสด็จทางชลมารคด้วยเรือกระบวน ขึ้นที่ปากคลองเจดีย์บูชาแล้วเสด็จพระราชดำเนินทางสถลมารคประทับพลับพลาค่ายหลวง จึงโปรดให้กระทำเครื่องสักการบูชาต่างๆเป็นอันมาก...

วันอังคารเดือนห้าขึ้นเก้าค่ำปีมะเมียสัมฤทธิศกนี้ ตรงกับวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๔๐๐ จากเส้นทางเสด็จฯที่เลี่ยงเส้นทาง บางกรวย-บางใหญ่-คลองโยง ชวนให้คิดว่าในเวลานั้น การเดินทางในเส้นทางดังกล่าวน่าจะยากลำบากมากครับ

มีเกร็ดเล็กน้อยที่จะขอแทรกไว้กันลืมตรงนี้คือ เส้นทางนิราศพระประธมช่วงก่อนถึงนครปฐมก็ใช้เส้นทางคลองบางแก้ว ไม่ใช้เส้นทางลัดคลองเจดีย์บูชาที่ขุดเสร็จในปี ๒๔๐๕ ด้วยครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
Bana
องคต
*****
ตอบ: 439



ความคิดเห็นที่ 94  เมื่อ 07 ส.ค. 07, 11:24

แน่นอนครับเสด็จเดือนห้าหน้าแล้ง  ทางชลมารคต้องลำบากแม้ปัจจุบันก็ตื้นเขินบ้างเป็นบางช่วง  แต่ตอนหน้าน้ำแม่น้ำท่าจีนขึ้นเต็มที่ก็สุดๆเหมือนกันครับ
 เส้นทางนี้ ผ่านสาถนที่ต่าง ๆ ในเขตอำเภอ- นครชัยศรี ได้แก่ คลองโยง ลานตากฟ้า วัดงิ้วราย วัดสัปทาน โรงงานสุรานครชัยศรี เข้าคลองบางแก้ว ผ่านบ้านโพธิ์เตี้ย และบ้านท่ากระชับ ไม่ทราบว่าฤดูไหนครับ
                                       
           จนออกช่องคลองโยงเป็นโรงบ้าน        เขาเรียนลานตากฟ้าค่อยพาชื่น
           โอ้ฟังบุตรสุดสวาทฉลาดเปรียบ         ต้องทำเงียบนึกไปก็ใจหาย
           กึงแขวงแคแลลิ่วชื่องิ้วราย         สะอื้นอายออกความเหมือนนามงิ้ว
           ถึงย่านน้ำ สำทะทวนรำจวนจิต         เหมือนจิตใจคิดทวนทบตระหลบหลัง
           ถึงปากน้ำลำคลองที่ท้องทุ่ง         เจ็กเขาหุงเล่ากันควันโขมง
           มิรางรองสองชั้นทำคันโพง         ผูกเชือกโยงยืนชักคอยตักเติม
           ถึงบางแก้วแก้วอื่นสักหมื่นแสน         ไม่เหมือนแม้นแก้วเนตรของเชษฐา
           ถึงโพธิ์เตี้ยต่ำเหมือนคำกล่าว         แต่โตราวสามอ้อนเท่าพ้อมสาน
           เป็นเรื่องราวเจ้าฟ้าพญาพาน         มหาสังหารพระยากงองค์บิดา
           แล้วปลูกพระมหาโพธิ์บนโขดใหญ่         เผอิญให้เตี้ยต่ำเพราะกรรมหนา
           อันเท็จจริงสิ่งไรเป็นไกลตา         เขาเล่ามาพี่ก็เล่าให้เจ้าฟัง
           บางกระชับ เหมือนกำชับให้กลับหลัง         กำชับสั่งว่าจะคอยละห้อยหา   


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 95  เมื่อ 07 ส.ค. 07, 17:09

ดร.สุวิชญ์ รัศมิภูติ อธิบายเรื่องควายลากเรือที่คลองโยง ว่า   เขาใช้ควายสองตัว  เดินกันไปตามสองฟากตลิ่ง  มีเชือกโยงล่ามเข้ากับเรือ    ลากเรือที่แล่นไปบนเลน ให้ผ่านคลองช่วงนั้นไปได้
เรือที่แล่นไป ถ้าเป็นเรือใหญ่ก็เรือเอี้ยมจุ๊น  ถ้าเรือเล็กกว่านั้น นั่งกันประมาณ ๑๐ คน  มีประทุนเรือ  คนนอนในเรือได้ตอนกลางคืน
ได้ข่าวว่า ท่านจะจัดท่องเที่ยวสุพรรณตามเส้นทางสุนทรภู่    ถ้าคุณอาชาผยองกับคุณพิพัฒน์สนใจก็หลังไมค์มานะคะ

ทางเปลี่ยวเลี้ยวล่องคุ้ง                          เขตคัน
ย่อมย่านบ้านกระจันจันทร์                       กระจ่างฟ้า
เงียบเหงาเปล่าทรวงกระสัน                    โศกสะอื้น  อกเอย
จันอื่นชื่นแต่หน้า                                   ใช่เนื้อเจือจันทร์ฯ
ผู้หญิงชื่อแม่จันทร์ น่าจะเป็นคนที่ท่านกวีรักและผูกพันมากที่สุด  รำพันเอาไว้หลายบท
จนกลายเป็นเค้าเงื่อนให้ยืนยันได้ว่า นิราศเรื่องไหนเป็นของสุนทรภู่ ก็ดูจากแม่จันทร์นี่เอง  อย่างในนิราศพระบาท
 
(๕๙) ๏ ลำพูดูหิ่งห้อย                            พรอยพราย
เหมือนเม็ดเพชรรัตน์ราย                          รอบก้อย
วับวับจับเนตรสาย                                  สวาทสบ  เนตรเอย
วับเช่นเห็นหิ่งห้อย                                  หับม่านนานเห็นฯ
โคลงบทนี้ต่อจากบทรำพึงถึงแม่จันทร์   ถ้าเป็นผู้หญิงคนเดียวกัน   แม่จันทร์เห็นจะเป็นลูกผู้ดี   อย่างในประวัติบอกว่าเป็นสาวชาววัง   
เพราะแหวนเพชรที่หล่อนสวมนั้นไม่ใช่แค่เพชรเม็ดเดียว แต่เป็นแหวนก้อย ฝังเพชรรอบวง  อย่างที่เราเรียกว่าแหวนพิรอด
เป็นเพชรน้ำดีเสียด้วย    แวววับจับตา  แม่จันทร์เห็นจะเป็นลูกสาวขุนนางตำแหน่งไม่น้อย
สอดคล้องกับบทนี้ ว่าสาวที่กวีเคยมีความหลังด้วย เป็นสาวอยู่ในฐานะสูง อาจจะสูงกว่าฝ่ายชายเสียอีก
ถึงคลองร้องเรียกบ้าน                    บางหลวง
รำลึกนึกถึงดวง                             ดอกฟ้า
เงียบเหงาเปล่าเปลี่ยวทรวง             แสนเทวษ  ทุเรศเอย
อุ้มรักหนักอกถ้า                             เทียบเท่าเขาหลวงฯ
 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 96  เมื่อ 07 ส.ค. 07, 17:25

ส่วนสาวอื่นๆในนิราศสุพรรณ ที่เคยมีความสัมพันธ์กัน ก็มีรายชื่อออกมาให้เห็นบ้าง  แต่คงจะไม่ยั่งยืนกันเท่าไร   เพราะเอ่ยถึงแล้วก็จบกัน  ไม่มีการพรรณนาซ้ำอีก
คนนี้ ชื่อน้อย
บางน้อยพลอยนึกน้อย                     น้องเอย
น้อยแนบแอบอกเคย                       คู่เคล้า
เนื้อน้อยค่อยสนอมเชย                    เชือนชื่น  อื่นแม่
น้อยแต่ชื่อฤาเจ้า                             จิตน้อยลอยลมฯ
คำว่า จิตรน้อยลอยลม   ไปเหมือนกับโคลง "นกน้อยลอยลม" ที่วัดแจ้ง  ก็เลยไม่แน่ใจว่า  แม่คนนี้ชื่อนกหรือชื่อน้อยกันแน่
หรือว่านกคนหนึ่ง น้อยอีกคนหนึ่ง   
คำบอกเล่าว่าหล่อนลอยลม  คือหล่อนคงไปมีคนอื่น   ชวนให้สงสัยว่าเป็นคนเดียวกัน

ส่วนคนนี้ชื่อนวล
เนื้ออ่อนห่อนสู้เนื้อ                        น้องหญิง
อ่อนแอบแนบอกอิง                       อุ่นล้ำ
นวลจันนั่นนวลจริง                         แต่ชื่อ  ฦาเอย
นวลที่พี่กลืนกล้ำ                           กลิ่นเนื้อเหลือนวลฯ
 
นี่ก็อีกคน ชื่อแม่งิ้ว    แม่คนนี้น่าจะมีสามีอยู่แล้วเมื่อท่านกวีไปกุ๊กกิ๊กอยู่ด้วย   ท่านกวีถึงดูเขินๆ ไม่กล้าเจออีกจนกว่าจะตาย   
ซ้ำยังบอกอีกว่า  ถ้าเจออีกก็ต้องปีนต้นงิ้วกัน
 ยามยลต้นงิ้วป่า                           หนาหนาม
นึกบาปวาบวับหวาม                      วุ่นแล้ว
คงจะปะงิ้วทราม                            สวาทเมื่อ  ม้วยแฮ
งิ้วกับพี่มิแคล้ว                              ขึ้นงิ้วลิ่วสูงฯ
บันทึกการเข้า
Bana
องคต
*****
ตอบ: 439



ความคิดเห็นที่ 97  เมื่อ 07 ส.ค. 07, 22:35

อนึ่งเจ้าเหล่าเล็กล้วน              ลูกหลาน
หมายมั่งดังพิศถาน                 ถี่ถ้วน
ขอให้ใส่นามขนาน                 ตาบพัด สวัดิเอย
กลั่นชุบอุประถำล้วน               ลูกเลี้ยงเที่ยงธรรม์ฯ

นี่กระมังครับที่แสดงว่าเป็นท่านมหากวี

ลูกเอยเฉยเช่นปั้น                 ปูนขาว
สาวเพ่งเล็งหลบสาว               สิ้นแล้ว
ปะเป็นเช่นพ่อคราว                ครั้งหนุ่ม  ชุ่มฤา
ตายราบลาภไม่แคล้ว             คลาดช้านาทีฯ

แหมผมละนึกถึงคำของท่านอาจารย์เทาชมภู  นี่ถ้าท่านมหากวีแต่งตอนที่ครองเพศบรรพชิตจริงๆ  ใช้คำออกจะโลดโผนไปหน่อยครับ  ไม่เหมาะ ๆ และไม่เหมาะกับสมณวิสัย  ไปวุ่นวายกับหนุ่มสาวแบบทำนองว่า ถ้าเป็นฉันสมัยหนุ่มๆละเรียบร้อยโรงเรียนสุนทรไปแล้ว

 ลูกลาวสาวรุ่นน้อง               ทักทาย
เรือพี่มีสิ่งขาย                     ค่อยไหว้
ลูกเราเหล่าหนุ่มอาย             แอบเด็ก  เล็กแฮ
สอนกระสาบตาบให้             ว่าซื้อหรือจำฯ

 หนูพัดพลัดพลอดล้อ            เลียนสาว
มีหมากอยากสู่สาว                ซิ่นแล้ว
ป่านเจ้าเค่าเหนียวขาว            ขายมั่ง  กระมังแม่
ตาบฮ่ามถามหาแห้ว              แห่งนี้มีฤาฯ

แต่รู้สึกว่าคุณลูกนี่ไม่ค่อยได้ดั่งใจพ่อเลยกระมัง  มีเหนี่ยมอายสาวไม่เหมือนคุณพ่อที่สาวๆตรึม  เอาแค่แม่จันนี่ก็หลายบทแล้ว

ดึกลาวสาวรุ่นกล้า                 มาเดียว
ให้กระเช้าเข้าเหนียว              นั่งใกล้
ถอยหลีกอีกบ่อเหลียว           เลยลูก กูเอย
กลั่นรับกลับจุดไต้                 ตอบโต้โมทนาฯ

อิอิ ........ ดันเป็นสามเณรกลั่นซะอีก  ลูกเลี้ยงแท้ๆที่รับสาวได้

 บูราณท่านว่าเลี้ยง               ลูกสาว
มันมักหักรั้วฉาว                   เช่นพร้อง
หนุ่มชายฝ่ายรุ่นราว               รักขะยั่น พรั่นแฮ
ลูกโง่โซแสบท้อง                 บ่อรู้สู่สาวฯ

ลูกไม่ได้ดังใจจริงๆ  อิอิ.....  นี่ใช่ไม๊ครับที่แสดงว่าท่านมหากวีแต่งแน่ๆ  แต่ผมว่าละม้ายนิราศเมืองเพชรอยู่นะครับท่านอาจารย์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 98  เมื่อ 08 ส.ค. 07, 09:49

ใช่ค่ะ กวีที่แต่งนิราศสุพรรณ เป็นคนเดียวกับที่แต่งนิราศเมืองเพชร    มีอะไรส่วนตัวเหมือนกันมาก
ชื่อลูกชายก็ตรงกัน  พฤติกรรมก็แบบเดียวกัน

ก่อนจะเก็บความต่อ   มาบอกความรู้สึกก่อน
ดิฉันคิดว่าท่านกวี/พระ/ขุนนาง ผู้แต่งนิราศสุพรรณ  แต่งเรื่องนี้ด้วยอารมณ์ศิลปิน  ไม่ใช่อารมณ์นักบวช
แม้ว่าถือเพศบรรพชิตอยู่ก็ตาม   แต่ความรู้สึกนึกคิดและการสะท้อนกลับของอารมณ์ต่อสิ่งรอบตัว เป็นอารมณ์ศิลปินล้วนๆ
ทั้งยังเป็นศิลปินที่มีโลกส่วนตัวไพศาล    ศูนย์กลางความสนใจอยู่ที่อารมณ์ตัวเอง   เมื่อเขียนก็เขียนจากอารมณ์  ไม่ได้เขียนจากเหตุผล
ไม่ได้รู้สึกว่า...เนี่ย เราเขียนให้คนอื่นอ่านนะ ต้องระวังว่าอะไรควรเขียนอะไรไม่ควรเขียน  เพราะเผยแพร่ต่อสาธารณชนแล้วต้องให้ดูงาม   อย่าให้ดูไม่งาม
เปล่า  ไม่มีความรู้สึกนี้เลย   รู้แต่ว่าอยากเขียนก็เขียนเสียอย่าง
จึงมีหลายตอนที่คนอ่าน อ่านแล้วแปลกใจ ว่านี่พระเขียนหรือนี่ 
เพราะเราไปมองคนละมุมกับท่าน   ท่านแสดงให้เห็นว่า ท่านเป็นพระ หรือขุนนาง หรือชาวบ้าน หรือใครก็ตาม
ท่านก็คือตัวท่าน  ไม่เสแสร้งอำพราง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 99  เมื่อ 08 ส.ค. 07, 14:08

ในเรื่องนี้  มีผู้หญิงชื่อบัวคำอีกคน ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตท่านกวีของเรา
บางบัวบ้านชื่อพร้อง                      สนองนำ
นึกเช่นเห็นบัวคำ                            คู่พร้อง
ข้าวเหนียวเกี่ยวมาทำ                     แทนข้าว  เจ้าเอย
คราวเคราะห์เพราะเกี่ยวข้อง            ขัดค้างขวางเชิงฯ
ชื่วบัวคำ ไม่ใช่ชื่อสาวภาคกลาง  แต่เป็นสาวเหนือ  สมัยโบราณ ชื่อบัว พบกันได้มากในดินแดนล้านนา มากกว่าทางอีสาน
คำที่ช่วยยืนยันก็คือบาทที่สอง   หล่อนเป็นสาวข้าวเหนียวที่ท่านกวีได้มาเสพแทนข้าวเจ้าอยู่พักหนึ่ง
แต่ก็ไปไม่รอด   ถูกขัดขวางจนกระทั่งหลุดมือไปอีก
น่าจะเป็นการผูกพันชั่วระยะสั้นๆ  ไม่มีการเอ่ยรายละเอียดถึงการครองคู่กันอย่างสามีภรรยา    ก็อาจจะสรุปได้ว่าเป็น "กิ๊ก" อีกคนหนึ่งเท่านั้น

ใบร่มลมเรื่อยแล่น                        ลีลา
เหล่าหนุ่มชุ่มชื่นพา                      เพื่อนร้อง
อิเหนาเข้ามะละกา                       กลเม็ด  มากแฮ
ฟังเสนาะเพราะพร้อง                    พรักพร้อมซ้อมเสียงฯ

ตรงนี้เป็นหนึ่งคำที่บอกความหมายได้พันคำ
เพลงที่หนุ่มๆในเรือของท่านขุนนางกวีร้องกัน คือเพลงไทยเดิม "จำปาทองเทศ" เนื้อร้องจากพระราชนิพนธ์ "อิเหนา" ในรัชกาลที่ ๒
ขึ้นต้นว่า
ลมดีพระก็ใช้ใบไป                      พระอุ้มองค์อรไทขนิษฐา
ขึ้นนั่งยังท้ายเภตรา                     ชมหมู่มัจฉาในสาชล

หนุ่มพวกนี้รสนิยมไม่เบาเลย  ร้องเพลงจากละครใน ซึ่งเป็นละครชาววังในแผ่นดินก่อน 
แผ่นดินรัชกาลที่ ๓ ท่านไม่โปรดการละเล่นบันเทิงเฮฮาร้องรำทำเพลงในพระบรมมหาราชวัง   ความบันเทิงก็ย้ายออกมาสู่บ้านขุนนางน้อยใหญ่
ทำเพลงมโหรีปี่พาทย์กัน  ก็วัฒนธรรมจากในวังมาก่อน   เพราะฉะนั้นพอจะอนุมานได้ว่าหนุ่มๆที่นั่งเรือไปกับท่านขุนนางกวี  ไม่ใช่ชาวบ้านธรรมดา
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 100  เมื่อ 08 ส.ค. 07, 15:33

ก่อนหน้านี้ผมคิดว่ากวีนิราศสุพรรณเป็นพระภิกษุครับ

มาอ่านใหม่ อ่านตามกลอนผมว่ากวีนิราศสุพรรณไม่ใช่พระสงฆ์ครับ อ่านรายละเอียดส่วนที่ชวนให้คิดว่าเป็นพระก็กลับเจาะจงไม่ได้
ดังนั้นจึงคิดใหม่ว่ากวีนิราศสุพรรณเป็นฆราวาส เป็นกวีขุนนาง หรือครู ที่ชาวบ้านนับถือ

ทั้งนี้อ่านรอบหลังเป็นฉบับโคลง ๓๐๐ บทที่แพร่หลายกันอยู่นะครับ ก่อนหน้านี้เคยอ่านฉบับเต็มที่ลงในเว็บ sunthornphu.org (ตอนนี้ลิงก์นิราศหายไปแล้ว ได้อีเมล์ไปสอบถาม ได้ความว่ากำลังเตรียมจะเอากลับมาครับ) ผมจำไม่ได้ว่าในส่วนที่ขาดไปนี้มีอะไรบ่งชี้มากกว่านี้หรือเปล่าครับ

บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 101  เมื่อ 08 ส.ค. 07, 16:02

ถ้าหากว่ากวีนิราศสุพรรณ เป็นชาวบ้าน ไม่ได้บวช   คุณอาชาจะตีความโคลงบทนี้ว่ายังไงล่ะคะ
บางบำรุบำรุงแก้ว                        กานดา
แก้วเนตรเชษฐาชรา                     ร่างแล้ว
ถือบวชตรวจน้ำพา                       พบชาติ อื่นเอย
ชาตินี้พี่แคล้ว                              คลาดค้างห่างสมรฯ
ดิฉันตีความว่า กวีบอกเอาไว้ตรงๆเลยว่าตอนนี้พี่แก่แล้ว แล้วก็ยังถือบวชอีกด้วย ถ้าจะพบกันอีกก็ขอกรวดน้ำอธิษฐานพบกันในชาติอื่น   ชาตินี้ถือว่าคลาดแคล้วกันไป สายเกินกว่าจะมาเริ่มต้นกันอีก
ถ้าหากว่าไม่ใช่พระ   จะพูดเรื่องถือบวชทำไม   ถ้าเป็นฆราวาส  อยากอธิษฐานพบแม่แก้วคนนี้ในชาติหน้าก็ไม่เห็นจะต้องเอ่ยเรื่องบวชเป็นข้อประกอบ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 102  เมื่อ 08 ส.ค. 07, 16:44

ตรงนี้ผมอ่านแล้วก็งงครับ

ถ้าแปลถือบวชว่ากวีเป็นพระ ก็ได้ความว่า
"น้องแก้วเอ๋ย หลวงพี่แก่แล้ว บวชแล้ว ขอกรวดน้ำให้ได้เจอกันในชาติอื่นก็แล้วกัน ชาตินี้คงไม่ได้อยู่ด้วยกันแล้ว"

อ่านแล้วมึนกะหลวงพี่เลยครับ

ลองอ่านใหม่ กรวดน้ำ ไม่จำเป็นต้องทำโดยพระ แต่ ถือบวช คำนี้เป็นปัญหาครับ
ถ้าแปล ถือบวช ว่าคือการบวชเป็นเพระภิกษุ ก็จบกัน
แต่ถือบวชก็ยังใช้กับการนุ่งห่มขาวรักษาศีลเป็นตาผ้าขาวได้ด้วย

และถ้าดูพจนานุกรมพุทธศาสน์ http://www.dhammalife.com/dhamma/vocab/vocab33.htm
ให้ความหมาย ปัพพัชชา ว่า "ถือบวช เว้นจากการเบียดเบียนกัน"
คนห่างวัดอย่างผมไม่แน่ใจว่า ถือศีล ๑๐ หรือศีล ๘ โดยไม่นุ่งห่มขาวนี่จะเรียกว่าถือบวชได้หรือไม่ครับ

ไม่ว่าจะเป็นตาผ้าขาวหรือไม่ ผมขอแปลตรงนี้
"ถือบวชตรวจน้ำำพา  พบชาติ อื่นเอย" ว่า "ขอผลบุญกุศลพาให้ได้พบกันชาติอื่นครับ"
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 103  เมื่อ 08 ส.ค. 07, 16:55

สมมุติว่าคุณอาชาผยอง   หลงรักสาวคนหนึ่ง แต่ชาตินี้รู้ว่าไม่มีทางสมหวัง
ได้แต่อธิษฐานพบกันชาติหน้า
แบบเดียวกับที่พระเอกอธิษฐานกันในละครทีวีย้อนยุคหลายๆเรื่อง   
ข้อนี้เชื่อว่าเป็นไปได้  สมเหตุสมผล
แต่พระเอกพวกนั้น ไม่เคยมีคำว่า ถือบวช แทรกเข้ามาในคำอธิษฐานเลยนะคะ  จะทำบุญกุศลอะไรเพื่อให้พบกันก็ได้
แต่ไม่ใช่ถือบวชเป็นสามเณรหรือพระภิกษุ
เพราะกุศลของการถือศีล ๘ ศีล ๑๐ หรือ ๒๒๗ ข้อ มันไม่น่าจะก่ออานิสงส์ให้ผูกพันทางกามกิเลส ต่อไปอีกในชาติหน้า 

ก่อนตัดสินว่ากวีท่านบวช ก็เพราะคำว่าถือบวชนี่แหละ  แสดงว่าไม่ใช่คฤหัสถ์   
แล้วยังไงเสีย คำนี้ก็ระบุโต้งๆอยู่ในโคลง ว่าไม่ใช่การทำบุญกุศลอย่างธรรมดา  แต่มันมีคำว่าบวชเข้ามาเกี่ยวด้วย
ถ้าเชื่อว่ากวีท่านนี้คือสุนทรภู่  ก็คงรู้ว่าสุนทรภู่ไม่เอาคำว่าถือบวชมาใช้ในความหมายทำกุศลแบบชาวบ้านแน่ๆ   อย่างในนิราศภูเขาทองก็บอกไว้
ทำบุญบวชกรวดน้ำขอสำเร็จ             พระสรรเพชญโพธิญาณประมาณหมาย

คือ บุญกุศลจากการบวช   รู้กันว่าเป็นเส้นทางไปนิพพาน   ไม่ใช่เส้นทางได้ภรรยาในชาติหน้า
สรุปว่าคำแปลนี้ถูก ค่ะ
"น้องแก้วเอ๋ย หลวงพี่แก่แล้ว บวชอยู่ด้วย ขอกรวดน้ำให้ได้เจอกันในชาติอื่นก็แล้วกัน ชาตินี้คงไม่ได้อยู่ด้วยกันแล้ว"

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 104  เมื่อ 08 ส.ค. 07, 17:06

ลุดลชนบทบ้าน                           ขนมจีน
โรงเจ๊กตั้งริมตีน                           ท่าน้ำ
นั่งนับทรัพย์สิ่งสิน                        สยายเผ้า  เล่าแฮ
เมียช่างสางสลวยล้ำ                    สลับผู้หูหนางฯ

พยายามปักหมุดเวลากับโคลงบทนี้ แต่ปักได้หลวมๆ
มีในนิราศอีกเรื่องหนึ่งที่สุนทรภู่เอ่ยถึงคนจีนร่ำรวย ตามเส้นทางที่พบเห็น    มีความรู้สึกว่าจีนหลั่งไหลเข้ามากันในรัชกาลที่ ๓  จนเกิดระบบเจ้าภาษี ทำให้ร่ำรวยเป็นปึกแผ่นกันมาก
เถ้าแก่ที่บ้านขนมจีน มีโรงทำอะไรสักอย่างริมท่าน้ำ    ไม่ทราบว่าอะไร  โรงเจ๊ก นี่เป็นอย่างเดียวกับ ร้านเจ๊ก หรือเปล่าคะ
หมายถึงร้านค้าขาย ตั้งอยู่ริมท่าน้ำ    ตัวเถ้าแก่นั่งนับเงิน  สยายผมยาว  คงสะดุดตากวีไทยผู้ชินกับทรงผมมหาดไทยของชายไทยด้วยกัน
เถ้าแก่ แกต้องเป็นคนจีนในยุคราชวงศ์ชิงแน่ๆ  ไว้ผมยาวถักหางเปีย  พอมาถึงเมืองไทย ก็ไม่ถักเปียแต่ยังสยายผม เรียกว่าทรง"ปันหยี"  เป็นแฟชั่นคนจีนที่มีมาถึงรัชกาลที่ ๕
เถ้าแก่นั่งเอ้เต้มีเมียสาวสวยช่วยสางผมให้  น่าจะเป็นภาพสะดุดตาแกมอิจฉาหน่อยๆของชายไทยผู้นั่งเรือผ่านไปเห็น  จนต้องบันทึกเอาไว้
 
 
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 ... 14
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.056 วินาที กับ 19 คำสั่ง