เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 14
  พิมพ์  
อ่าน: 68959 นิราศสุพรรณ
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 02 ส.ค. 07, 23:03

เส้นทางใหม่คนยังไม่นิยมใช้ก็เป็นเหตุผลที่น่าคิดเหมือนกันครับ

แต่คลองโยงได้ชื่อนี้เพราะตอนช่วงจะออกแม่น้ำท่าจีนจะตื้นเขินมากจนต้องเอาควายลาก
ล่วงย่านบ้านวัดร้าง        เรือนโรง
ตกทุ่งถึงคลองโยง        หย่อมไม้
วัดใหม่ธงทองโถง         ที่ติด ตื้นแฮ
ควายลากฝากเชือกไขว้   เคลื่อนคล้อยลอยเลนฯ


ในนิราศพระแท่นดงรังของนายมีใช้เส้นทางเดียวกันก็เจอแบบนี้
มาตะบึงลุถึงหัวโยงเชือก              เป็นโคลนเทือกท้องนาชลาสินธุ์
คลองก็เล็กน้ำตื้นเห็นพื้นดิน           ไม่น่ากินน้ำท่าระอาใจ
ต้องจ้างโยงโยงเรือเหลือลำบาก       ให้ควายลากเรือเลื่อนเขยื้อนไหว
ผูกระนาวยาวยึดเป็นพืดไป            ทั้งเจ๊กไทยปนกันสนั่นอึง
ไม่พักแจวพักถ่อให้รอรา              เป็นราคาจ้างประจำลำสลึง
ควายก็เดินดันดังกันกังกึง             พอเชือกตึงเรือตามกันหลามมา
จนพลบค่ำน้ำค้างลงพร่างพร้อย       พระจันทร์ลอยเด่นดวงช่วงเวหา
ดาวประดับวับวามอร่ามตา             ดูท้องฟ้าอ้างว้างกลางอัมพร
ดูแลทุ่งทุ่งก็กว้างเป็นว่างเปล่า         เหมือนอกเราว่างเว้นไม่เห็นสมร
เห็นแต่ทุ่งกับป่ายิ่งอาวรณ์             อนาถนอนนิ่งนึกคะนึงนาง
ไม่มีมุ้งยุงกัดสะบัดหนาว              ทั้งลมว่าวพัดต้องยิ่งหมองหมาง
เห็นเพื่อนเรือเมื่อจวนจะรุ่งราง         มีมุ้งกลางกอดเมียอยู่เคลียคลอ
แสนอาภัพก็แต่เราช่างเปล่าปลอด     ไม่ได้กอดเหมือนอย่างเขาหนอเราหนอ
นอนก็อัดอุดอู้คุดคู้งอ                 ในใจคอคับแคบแทบจะตาย
ทั้งคับใจคับที่เจ้าพี่เอ๋ย                ไม่หลับเลยจนสว่างกระจ่างฉาย
เขาโยงเรือรีบรุดไม่หยุดควาย         มาจนสายจึงพ้นตำบลโยงฯ

เห็นภาพชัดเลยว่าคลองโยงนี่เป็นปัญหาใหญ่เลย

ดูนิราศพระประธมของสุนทรภู่บ้าง
ที่ริมคลองสองฝั่งเขาตั้งบ้าน           น่าสำราญเรียงรันควันโขมง
ถึงชะวากปากช่องชื่อคลองโยง        เป็นทุ่งโล่งลิบลิ่วหวิวหวิวใจ
มีบ้านช่องสองฝั่งชื่อบางเชือก         ล้วนตมเปือกเปอะปะสวะไสว
ที่เรือน้อยลอยล่องค่อยคล่องไป      ที่เรือใหญ่โป้งโล้งต้องโยงควาย
เวทนากาสรสู้ถอนถีบ                  เขาตีรีบเร่งไปน่าใจหาย
ถึงแสนชาติจะมาเกิดกำเนิดกาย       อย่าเป็นควายรับจ้างที่ทางโยงฯ


คลองมหาสวัสดิ์ขุดเสร็จใหม่ๆกว้าง ๗ วา ลึก ๖ ศอก ระยะทาง ๒๗ กม. นอกจากลัดระยะได้แล้ว ยังลดความยุ่งยาก ไม่ต้องไปรอควายโยงเรืออีกด้วย มันก็น่าคิดเหมือนกันครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 02 ส.ค. 07, 23:48

นิราศพระปธมนั้น ผมวางไว้เป็นเรื่องสุดท้าย
จึงแต่งเมื่อคลองขุดเกิดแล้วแน่ๆ

แต่รอดูหลักฐานให้มั่นคงก็ได้ครับ
การที่กวีไม่ใช้คลองลัด จะเอาเหตุผลของพ่อค้ามาจับ เห็นจะไม่ได้
ยกตัวอย่างง่ายๆก็คลองลัดทั้งหลาย หาได้ทำให้ชุมชนตามคลองเดิมตายทรากไปไม่
ต่างก็เจริญตามเหตุปัจจัยที่ตนมี การมีคลองลัดก็เพิ่มปัจจัยขึ้น แต่ไม่ใช่ชี้ขาด
โครงการรังสิตที่ไม่เข้าเป้าก็เพราะเกิดการขัดขืนทางวัฒนธรรมจนหักเหเกินไป
นอกเหนือจากการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ

คลองลัดที่ตรงดิ่งไปสู่ถิ่นที่ไม่มีใครรู้จัก ย่อมไม่น่าแวะเยือนเหมือนด่านควายที่มีประชุมชนหนาแน่นครับ

รู้สึกจะค้านมากไปหน่อย รอชมเส้นทางต่อดีกว่า เชิญครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 03 ส.ค. 07, 09:26

คนขี่ตีต้อนเร่ง                            รันควาย
ถอนถีบกีบกอมตะกาย                  โก่งโก้
เหนื่อยนักชักเชือกหงาย              แหงนเบิ่ง เบือนแฮ
คนหวดปวดป่วนโอ้                     สะอึกเต้นเผ่นโผนฯ

 (๔๗) ๏ ทุกข์ใดในโลกล้น           ล้ำเหลือ
ไม่เท่าควายลากเรือ                     รับจ้าง
หอบฮักจักขุเจือ                          เจิ่งชุ่ม ชลเอย
มนุษย์ดุจติดค้าง                         เฆี่ยนเร้าเอาเงินฯ

(๔๘) ๏ สังเวชเหตุด้วยทรัพย์        ศฤงคาร
พาสัตว์วัฏสงสาร                          โศกเศร้า
ตรวดน้ำร่ำศีลทาน                        ทั่วสัตว์ สวัสดิ์เอย
จงสุขทุกค่ำเช้า                           ชาติพ้นชนมานฯ

ฉากควายลากเรือโยงถูกเฆี่ยน บันทึกไว้อีกครั้งในนิราศพระประธม
เวทนากาสรสู้ถอนถีบ                  เขาตีรีบเร่งไปน่าใจหาย
ถึงแสนชาติจะมาเกิดกำเนิดกาย       อย่าเป็นควายรับจ้างที่ทางโยงฯ

เมื่อเทียบกับในนิราศสุพรรณที่บรรยายไว้ยาว ละเอียดถี่ถ้วนขนาดมองเห็นควายถูกตีจนน้ำตาไหล   มาถึงนิราศพระประธมที่เล่าไว้เพียงสั้นๆ
ทำให้ดิฉันคิดว่า การเห็นอะไรที่แปลกตาน่าสมเพช เป็นครั้งแรก   อารมณ์กวีจะรับความสะเทือนใจได้มากกว่า    จึงแสดงปฏิกิริยารับรู้ออกมามากกว่า
แต่พอเห็นครั้งต่อๆมา อาจจะเริ่มชินแล้ว อย่างน้อยก็ไม่สะเทือนใจเท่าครั้งแรก จึงบรรยายไว้น้อยกว่า
สรุปว่า นิราศสุพรรณ แต่งก่อนนิราศพระประธม
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 03 ส.ค. 07, 12:28

เรื่องค้านไม่มีมากไปหรอกครับ คิดคนเดียวมีอะไรตกหล่นเยอะ บางเรื่องฟังค้านแล้วยังไม่เอะใจ ต้องฟังอรรถาธิบายอีกหลายเที่ยวจึงจะเกิดพุทธิปัญญาครับ ยิงฟันยิ้ม

ผมพยายามหาหลักฐานการใช้คลองเพิ่มเติม แต่รู้สึกว่าบันทึกของเราจะมีน้อยจนน่าใจหาย หาไม่ได้ง่ายๆ

รู้สึกสำนึกบุญคุณกวีที่เขียนบรรยายการเดินทางเอาไว้จนตกทอดมาถึงเราครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 03 ส.ค. 07, 16:50

เมื่อเราเปลี่ยนเส้นทางคมนาคมจากคลองเป็นถนน   เปลี่ยนทางน้ำเป็นท่อระบายน้ำเสีย  คลองก็มีแต่จะหมดไปจากกรุงเทพและปริมณฑล    ถ้าอยากดูคลองก็ต้องไปดูตามอำเภอรอบนอก   ยังพอเหลือบ้าง
ช่วยยากค่ะ   เพราะความเจริญไปชุมนุมกันอยู่ข้างถนนหมดแล้ว   ที่สวนรอบๆกรุงเทพที่อุดมสมบูรณ์ก็กลายเป็นที่ตั้งโรงงานขนาดเล็กและบ้านจัดสรร
ตามรอยเส้นทางมาเรื่อยๆจนถึงบางกรวย   เกือบสองร้อยปีให้หลังดิฉันผ่านบางกรวยบ่อยๆเพราะใช้สะพานพระราม ๗ บ้าง พระราม ๕ บ้าง
บางกรวยตรวดน้ำแบ่ง                  บุญทาน
ส่งนิ่มนุชนิพพาน                         ผ่องแผ้ว
จำจากพรากพลัดสถาน                 ทิ้งพี่ หนีเอย
เห็นแต่คลองน้องแคล้ว                 คลาดเลื่อนเดือนปีฯ

เมื่อเกือบสองร้อยปีก่อน มีสาวบางกรวยคนหนึ่งเป็นสาวในความหลังของท่านกวีของเรา   
เธอคนนี้จากไปด้วยความตาย    ไม่ใช่จากเพราะมีสามีใหม่อย่างแม่จันทร์
สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าไว้ในเชิงอรรถว่าเป็นแม่ของหนูตาบ   คนละแม่กับหนูพัด
คนนี้อาจจะเป็นคนเดียวกันหรือคนละคนกับที่เอ่ยไว้ในนิราศพระประธมก็ได้

ถึงวัดทองหมองเศร้าให้เหงาเงียบ             เย็นยะเยียบหย่อมหญ้าป่าช้าผี
สงสารฉิมนิ่มน้องสองนารี                        มาปลงที่เมรุทองทั้งสองคน
ขอบุญญาอานิสงส์จำนงสนอง                  ช่วยส่งสองศรีสวัสดิ์ไปปัฏิสนธิ์
ศิวาลัยไตรภพจบสกล                             ประจวบจนได้พบประสบกัน
ทั้งแก้วเนตรเกสรามณฑาทิพย์                 จงลอยลิบลุล่วงถึงสรวงสวรรค์
จะเกิดไหนได้อยู่คู่ชีวัน                            อย่ามีอันตรายเป็นเหมือนเช่นนี้ฯ
สมเด็จกรมพระยาดำรงฯทรงว่าเป็นคนละคน  ฉิมกับนิ่มที่ว่านี้เป็นน้องสาวต่างบิดาของสุนทรภู่
แต่แก้วเนตรเกสรา นี่หมายถึงใครก็ไม่รู้    ถ้าหมายความรวมไปถึงแม่ฉิมและแม่นิ่มก็พอเข้าเค้า  เพราะดวงตามีซ้ายและขวา  กล่าวรวมกันไป ๒ คนพร้อมกัน
มาเอะใจนิดหน่อยตรงบอกว่า จะเกิดไหนได้อยู่คู่ชีวัน  ไม่น่าเป็นน้ำเสียงพูดถึงน้องสาว 
แล้วยังมีคำว่า" อย่ามีอันตรายเป็นเหมือนเช่นนี้ฯ" ราวกับว่าความตายนั้นเป็นอุบัติเหตุหรือเรื่องร้ายอะไรสักอย่าง  ไม่ใช่ตายเพราะป่วยตายไปตามธรรมชาติของโรคภัยไข้เจ็บ
เป็นไปได้ไหมว่าแม่ฉิมและแม่นิ่มตายพร้อมกัน เพราะเหตุอะไรสักอย่าง เช่นเดียวกัน จึงมาเผาเสียคราวเดียวกันที่วัดทอง   กวีก็เลยเอ่ยรวมกันไป
ถ้าตายกันคนละปี คนละสาเหตุ ไม่น่าจะเอ่ยรวมกัน  ว่า "อย่ามีอันตรายเป็นเหมือนเช่นนี้ฯ "
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 03 ส.ค. 07, 16:57

(๓๔) ๏ บางศรีทองคลองบ้านเก่า            เจ้าคลอง
สีเพชรผัวสีทอง                                    ถิ่นนี้
เลื่อง้ลือชื่อเสียงสนอง                            สำเหนียก นามเอย
คลองคดลดเลี้ยวชี้                                เช่นไสร้ไสทองฯ
 
สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงทำเชิงอรรถาธิบายว่า  แม่สีทองเป็นนักกลอนสักรวา เคยบอกกลอนคู่กับสุนทรภู่     แม่คนนี้มีสามีแล้ว  เป็นคนบางศรีทอง   
ก็คงเป็นแค่เพื่อนร่วมงานกันในอดีต
โคลงบาทสุดท้ายที่ยกความคดเคี้ยวของคลองขึ้นมาเปรียบเปรยว่าเหมือน ไสร้(หรือไส้) ของแม่นางสีทอง (ที่เปลี่ยนเป็นไสทองเพื่อให้คล้องจองกับ ไสร้)
เห็นจะตีความได้ว่า  ถ้าเป็นผู้หญิงมีชื่อเสียงในอาชีพเล่นสักรวา   ฝีปากหล่อนคงจัดจ้านวาจาลดเลี้ยว ข่มไม่ลง   ทำนองลำตัดแม่ประยูรละมัง
เผลอๆนิสัยหล่อนอาจจะรอบจัดไม่น้อยอีกด้วย    กวีของเราจึงกระแหนะกระแหนเอาไว้เป็นนัยๆ ว่ามองออกนะ เห็นไส้กัน
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 04 ส.ค. 07, 13:27

ผมกำลังปรับปรุงหมุดแผนที่เส้นทางอยู่ครับ ได้ประโยชน์จาก "บทกวีนิราศตามคลองบางกอกน้อยถึงบางใหญ่" ของคุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ ที่มีผู้พิมพ์ไว้ในเว็บ thaimtb.com ในลิงก์นี้ http://www.thaimtb.com/cgi-bin/viewkatoo.pl?id=23840&st=1 ช่วยทำให้แผนที่ช่วงคลองบางกอกน้อยสมบูรณ์มากขึ้นครับ และช่วงคลองบางใหญ่-คลองโยง ผมก็แกะจนได้ตำแหน่งตำบลสำคัญที่ปรากฏในนิราศแล้วครับ จะนำเสนอในโอกาสต่อไป

ตอนนี้ขอยกส่วนคลองมหาสวัสดิ์ขึ้นมาพิจารณาต่อครับ เชิญดูแผนที่ก่อนนะครับ


บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 04 ส.ค. 07, 14:18

ข้อมูลจากหนังสือของคุณหญิงกุลทรัพย์บอกไว้ว่าหลวงจักรปาณีเดินทางผ่านเส้นทางนี้ราวปี ๒๔๑๗ ในบทนิราศทั้งหมดที่ยกมานี้มีหลวงจักรปาณีคนเดียวที่เลี้ยวซ้ายเข้าคลองมหาสวัสดิ์ที่จุดนี้

น่าเสียดายที่ไม่ได้อ่านความทั้งหมดในช่วงนี้ แต่ผมเข้าใจว่าหลวงจักรปาณีเลี้ยวเข้าคลองมหาสวัสดิ์แล้วผ่านหน้าวัดชัยพฤกษ์ เลยไปหน่อยก็เจอบางขวาง ที่ซึ่งคลองขวางมาชนกับคลองมหาสวัสดิ์ มีกลอนตอนเข้าคลองมหาสวัสดิ์ดังนี้

จนเข้าช่องคลองลัดวัดไชยพฤกษ์      แลพิลึกถิ่นฐานลานถวิล
พฤกษาร่มลมโชยมาโรยริน            หอมกระฐินอีกทั้งกระดังงา ฯ


คลองลัดวัดไชยพฤกษ์นี้เป็นชื่อที่ชาวบ้านนิยมเรียกคลองมหาสวัสดิ์ด้านนี้ครับ พระจอมเกล้าทรงพระราชทานนามว่าคลองมหาสวัสดิ์(ตามประกาศให้เรียกคลองวัดไชยพฤกษ์ว่าคลองมหาสวัสดิ์ คลองเข้าไปพระปฐมว่าคลองเจดีย์บูชา ออกประกาศเมื่อวันอังคารเดือน 7 แรม 12 ค่ำ ปีจอ จัตวาศก - ๒๔๐๕) แต่ก็ยังมีคนนิยมเรียกว่าคลองชัยพฤกษ์อยู่ดี

นิราศอื่นๆในหนังสือนี้ไม่กล่าวถึงคลองมหาสวัสดิ์หรือวัดชัยพฤกษ์เลยแต่มีหลายเรื่องกล่าวถึงบางขวาง

นิราศสุพรรณว่า
บางขวางข้างเขตแคว้น      แขวงนน     
สองฟากหมากมพร้าวผล    พรรไม้
หอมรื่นชื่นเช่นปน           แป้งประ ปรางเอย
เคลิ้มจิตคิดว่าใกล้          กลิ่นเนื้อเจือจรร


นิราศพระประธม(สุนทรภู่)ว่า
ถึงบางขวางปางก่อนว่ามอญขวาง    เดี๋ยวนี้นางไทยลาวแก่สาวสอน
ทำยกย่างขวางแขวนแสนแสงอน    ถึงนางมอญก็ไม่ขวางเหมือนนางไทย
วัดพิกุลฉุนกลิ่นระรินรื่น              โอ้หอมชื่นเช่นกับรสแป้งสดใส
เหมือนพิกุลอุ่นทรวงพวงมาลัย       ที่เคยใส่หัตถ์หอมถนอมนวล

(พูดถึงบางขวางก่อนวัดพิกุล น่าแปลก เพราะดูจากแผนที่ไม่มีวี่แววลำน้ำมาออกใต้วัดพิกุลแน่นอน แต่อาจกล่าวถึงสลับกันได้ เพราะมีพบที่อื่นบ้างเหมือนกัน)

ในขณะที่นิราศพระแท่นดงรังของนายมีไม่พูดถึงบางขวางเลย

น่าคิดว่าบางขวางหรือปากคลองขวางเดิมอยู่ตรงไหน?

ดูจากแผนที่ ผมคิดว่าบางขวาง(ปากคลองขวาง) แต่เดิมน่าจะอยู่ตรงปากคลองมหาสวัสดิ์นี่แหละ ถึงผิดจากนี้ ก็ต้องอยู่เหนือหรือใต้ขึ้นไปเล็กน้อย(ไม่เกินสองสามร้อยเมตร) แต่ก็ต้องอยู่ใกล้ๆนี้แน่ครับ

รอบนี้ไม่กล้ารีบฟันธงแล้ว แต่อดคิดไม่ได้อยู่ดีว่าในสมัยของกวีผู้แต่นิราศพระประธมและนิราศสุพรรณรวมทั้งนายมีผู้แต่งพระแท่นดงรัง คลองมหาสวัสดิ์ยังไม่ได้ขุดครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 04 ส.ค. 07, 21:53

ช่วงคลองบางใหญ่นั้นน่าสนใจ เพราะถึงไม่มีหมุดเวลาสำคัญ แต่ก็มีเค้าเงื่อนที่ชวนให้คิดอยู่เหมือนกัน

ดูแผนที่กันก่อนนะครับ อันนี้เป็นช่วงคลองบางใหญ่ครับ ยังไม่เข้าคลองโยง


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 04 ส.ค. 07, 22:08

แผนที่ข้างบนนี้เป็นช่วงต้นของคลอง เป็นควายาวราวหนึ่งในห้าเท่านั้นเอง

แผนที่เต็มของช่วงนี้เป็นอย่างนี้ครับ โปรดสังเกตว่าพ้นช่วงต้นไปแล้ว ไม่มีวัดวาอารามมากมายนัก(แม้กระทั่งปัจจุบัน)


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 04 ส.ค. 07, 22:17

จากแผนที่ขยาย ปากคลองบางใหญ่อยู่ทางขวาสุด เส้นทางนิราศนี้จะมาจากทางใต้แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าคลองนี้ครับ

นิราศสุพรรณกล่าวถึงเส้นทางช่วงนี้ไว้ดังนี้
ล่วงทางบางใหญ่บ้าน         ด่านคอย
เลี้ยวล่องคลองเล็กลอย      เลื่อนช้า
สองฝั่งพรั่งพฤกษพลอย      เพลินชื่น ชมเอย
แลเหล่าชาวสวนหน้า         เสน่ห์น้องคลองสนอมฯ

คลองคดลดเลี้ยวล้วน         หลักตอ
เกะกะรเรือรอ                 ร่องน้ำ
คดคลองช่องแคบพอ         พายถ่อ พ่อเอย
คนคดลดเลี้ยวล้ำ             กว่าน้ำลำคลองฯ

ล่วงย่านบ้านวัดร้าง            เรือนโรง
ตกทุ่งถึงคลองโยง            หย่อมไม้
วัดใหม่ธงทองโถง             ที่ติด ตื้นแฮ
ควายลากฝากเชือกไขว้       เคลื่อนคล้อยลอยเลนฯ


ระหว่างทางจากบางใหญ่ไปถึงคลองโยง เขียนโคลงไว้แค่สามบท และไม่เอ่ยถึงชื่อสถานที่ใดเลย ช่างเงียบเหงาเสียจริงเมื่อเทียบกับตลอดทางที่ผ่านมา ให้ภาพว่าคลองช่วงต้นนั้นมีเรือจอดรอร่องน้ำกันจนการเดินเรือทำได้ลำบากเท่านั้นเองครับ

บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 04 ส.ค. 07, 22:31

ส่วนนิราศพระประธมว่าไว้ดังนี้

แล้วเข้าทางบางใหญ่ครรไลล่อง         ไปตามคลองเคลื่อนคล้อยละห้อยหา
เห็นสิ่งไรในจังหวัดรัถยา                 สะอื้นอาลัยถึงคะนึงนวล
แม้นแก้วตามาเห็นเหมือนเช่นนี้          จะยินดีด้วยดอกไม้ที่ในสวน
ไม่แจ้งนามถามพี่จะชี้ชวน               ชมลำดวนดอกส้มต้นนมนาง
ที่ริมน้ำง้ำเงื้อมจะเอื้อมหัก               เอายอดรักให้น้องเมื่อหมองหมาง
ไม่เหมือนหมายสายสวาทมาขาดกลาง  โอ้อ้างว้างวิญญาณ์ในสาครฯ
บางกระบือเห็นกระบือเหมือนชื่อบ้าน    แสนสงสารสัตว์นาฝูงกาสร
ลงปลักเปลือกเกลือกเลนระเนนนอน    เหมือนจะร้อนรนร่ำทุกค่ำคืน
โอ้อกพี่นี้ก็ร้อนเพราะศรรัก              ถึงฝนสักแสนห่าไม่ฝ่าฝืน
แม้นเหมือนรสพจมานเมื่อวานซืน       จะชูชื่นใจพี่ด้วยปรีดิ์เปรม
โอ้เปรียบชายคล้ายนกวิหคน้อย         จะเลื่อนลอยลงสรงกับหงส์เหม
ได้ใกล้เคียงเรียงริมจะอิ่มเอม           แสนเกษมสุดสวาทไม่คลาดคลายฯ
ถึงคลองย่านบ้านบางสุนัขบ้า            เหมือนขี้ข้านอกเจ้าเฉาฉงาย
เป็นบ้าจิตคิดแค้นด้วยแสนร้าย          ใครใกล้กรายเกลียดกลัวทุกตัวคนฯ
ถึงลำคลองช่องกว้างชื่อบางโสน         สะอื้นโอ้อ้างว้างมากลางหน
โสนออกดอกระย้าริมสาชล              บ้างร่วงหล่นแลงามเมื่อยามโซ
แต่ต้นเบาเขาไม่ใช้เช่นใจหญิง           เบาจริงจริงเจียวใจเหมือนไม้โสน
เห็นตะโกโอ้แสนแค้นตะโก              ถึงแสนโซสิ้นคิดไม่ติดตาม
พอสุดสวนล้วนแต่เหล่าเถาสวาด        ขึ้นพ้นพาดเพ่งพิศให้คิดขาม
ชื่อสวาดพาดเพราะเสนาะนาม           แต่ว่าหนามรกระชะกะกาง
สวาดต้นคนต้องแล้วร้องอุ่ย             ด้วยรุกรุยรกเรื้อรังเสือสาง
จนชั้นลูกถูกต้องเป็นกองกลาง          เปรียบเหมือนอย่างลูกสวาทศรียาตรา
ริมลำคลองท้องทุ่งดูวุ้งเวิ้ง               ด้วยน้ำเจิ่งจอกผักขึ้นหนักหนา
ดอกบัวเผื่อนเกลื่อนกลาดดาษดา       สันตะวาสายติ่งต้นลินจงฯ
ถึงบ้านใหม่ธงทองริมคลองลัด           ที่หน้าวัดเห็นเขาปักเสาหงส์
ขอความรักหนักแน่นให้แสนตรง        เหมือนคันธงแท้เที่ยงอย่าเอียงเอน
ได้ชมวัดศรัทธาสาธุสะ                  ไหว้ทั้งพระปฏิมามหาเถร
นาวาล่องคล่องแคล่วเขาแจวเจน        เฟือยระเนนน้ำพร่างกระจ่างกระจาย
ดูชาวบ้านพรานปลาทำลามก            เที่ยวดักนกยิงเนื้อมาเถือขาย
เป็นทุ่งนาป่าไม้รำไรราย                 พวกหญิงชายชาวเถื่อนอยู่เรือนโรงฯ
ที่ริมคลองสองฝั่งเขาตั้งบ้าน             น่าสำราญเรียงรันควันโขมง
ถึงชะวากปากช่องชื่อคลองโยง          เป็นทุ่งโล่งลิบลิ่วหวิวหวิวใจ
มีบ้านช่องสองฝั่งชื่อบางเชือก           ล้วนตมเปือกเปอะปะสวะไสว
ที่เรือน้อยลอยล่องค่อยคล่องไป        ที่เรือใหญ่โป้งโล้งต้องโยงควาย


นิราศพระประธมว่าไว้ยาวหน่อย ช่วยในการกำหนดตำแหน่งมากกว่านิราศสุพรรณ ถึงกระนั้นก็มีชื่อสถานที่อยู่แค่ บางกระบือ บางสุนัขบ้า บางโสน บ้านใหม่ธงทอง และบางเชือก

บางกระบือ และบางโสนนั้นกำหนดตำแหน่งได้แน่นอนเพราะชื่อสองคลองนี้ยังใช้กันอยู่ถึงปัจจุบัน ชื่อบ้านบางสุนัขบ้าหายสาบสูญไปแล้ว แต่ผมสันนิษฐานว่าเป็นลำรางเล็กๆแยกลงทางใต้เริ่มต้นตรงวัดโคก เพราะระหว่างบางกระบือกับบางโสนไม่มีคลองแยกอื่นใดอีกแล้ว

ส่วนบ้านใหม่ธงทองนั้นหายสาปสูญไปเช่นกัน นิราศสุพรรณกล่าวถึงตำบลนี้ในชื่อวัดใหม่ธงทอง ถ้าวัดนี้ยังอยู่มาถึงปัจจุบันก็มีอยู่วัดเดียวที่เป็นไปได้คือวัดเอนกดิษฐารามซึ่งมีชื่อเดิมว่าวัดบ้านใหม่ครับ

บางเชือกนั้น ภาพถ่ายดาวเทียมจาก google earth ตรงส่วนนี้คุณภาพต่ำ หารายละเอียดไม่ได้มาก ขอเดาเอาไว้ก่อนว่าอาจจะอยู่ตรงตำแหน่งวัดต้นเชือกที่ปักหดไว้ในแผนที่ครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 04 ส.ค. 07, 22:40

นิราศพระแท่นดงรังของนายมีว่า

มาตามทางบางใหญ่ไกลนักหนา        ไม่เห็นหน้าน้องแก้วพี่แล้วหนอ
มาถึงด่านด่านเรียกให้เรือรอ            แล้วเลยต่อไปในวนชลธารฯ
มาถึงวัดส้มเกลี้ยงพอเที่ยงสาย         สกนธ์กายร้อนเริงดังเหลิงผลาญ
เห็นส้มเกลี้ยงน่าจะกลืนให้ชื่นบาน      เปรี้ยวหรือหวานก็ไม่รู้ดูแต่ตา
อันส้มสูกลูกไม้ทั้งหลายหมด           ไม่เหมือนรสมิ่งมิตรขนิษฐา
ครรไลเลยหลีกเลี่ยงส้มเกลี้ยงมา       ไม่รอรารีบรัดตัดตำบล
ไม่รู้จักชื่อบ้านรำคาญจิต                นั่งพินิจแนวทางมากลางหน
จนออกทุ่งมุ่งดูพระสุริยน                เมฆหมอกมนหมองมัวเหมือนตัวเรา
โอ้สงสารสุริยาฟ้าพยับ                  จะเลื่อนลับยุคุนธรศิงขรเขา
พระอาทิตย์ดวงเดียวเปลี่ยวเหมือนเรา   กำสรดเศร้าโศกมาเอกากาย
ถึงมีเพื่อนเหมือนพี่ไม่มีเพื่อน            เพราะไม่เหมือนนุชนาฏที่มาดหมาย
มีเพื่อนเล่นก็ไม่เหมือนกับเพื่อนตาย     มีเพื่อนชายก็ไม่เหมือนกับเพื่อนชม
ถึงจะมีวิมานสถานทิพย์                  ให้ลอยลิบเลิศมนุษย์สุดประถม
ถ้าไม่มีคู่เคียงเรียงภิรมย์                จะเตรียมตรมตรึกหาเป็นอาจิณฯ
มาตะบึงลุถึงหัวโยงเชือก                เป็นโคลนเทือกท้องนาชลาสินธุ์
คลองก็เล็กน้ำตื้นเห็นพื้นดิน             ไม่น่ากินน้ำท่าระอาใจ


นายมียิ่งแล้วไปใหญ่ เอ่ยชื่อวัดส้มเกลี้ยงออกมาชื่อเดียวแล้วบอกดื้อๆว่า "ไม่รู้จักชื่อบ้านรำคาญจิต"
อ่านสามนิราศที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าคลองนี้ไม่มีอะไรน่าสนใจมากนัก และน่าจะมีคนอยู่กันเบาบางเมื่อเทียบกับเส้นทางที่ผ่านมาครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 04 ส.ค. 07, 23:00

รอกระทู้จนเหนื่อย
แต่เห็นงานที่ทำออกมา ขอยกนิ้วโป้งให้หมดตัวเลย เยี่ยมครับ
น่าจะลงภาคสนาม ไปเที่ยวตามลำคลองเหล่านี้จริงๆ

รอตอนต่อไป แล้วผมจะมาถล่มปิดท้าย...ฮิฮิ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 04 ส.ค. 07, 23:11

ตอนเด็ดแล้วครับ เมื่อคืนอยู่ถึงตี ๕ ร่ำๆจะขับรถออกไปดูคลองให้มันรู้แล้วรู้รอดไปเลย

ทีนี้อยากจะให้ลองกลับไปดูแผนที่ขยายช่วงคลองบางใหญ่อีกครั้ง ผมปักหมุดชื่อวัดที่ไม่ปรากฏในสามนิราศนี้ไว้หลายหมุด ได้แก่ วัดโคก วัดบางโค วัดพระนอน วัดหลังบาง และ วัดท่าบันเทิงธรรม

ข้อมูลที่หาได้ในอินเทอร์เน็ต(ส่วนมากจากเว็บ ททท.และ thaitambon) บอกอายุแต่ละวัดไว้ดังนี้
วัดโคก ๒๓๗๐
วัดบางโค ๒๓๙๙
วัดพระนอน ๒๓๘๘
วัดหลังบาง ๒๔๐๐
วัดท่าบันเทิงธรรม ๒๓๘๖ (ข้อมูลว่าสร้างโดยหม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช แต่อายุดูจะผิดไปมาก)
วัดอินทร์ ข้อมูลว่าสร้างในปี ๒๒๒๓ แต่สิ่งปลูกสร้างปัจจุบันมีอายุตั้งแต่ปี ๒๔๗๗ เป็นต้นมาเท่านั้นเองครับ
วัดส้มเกลี้ยง วัดนี้นายมีกล่าวถึงในนิราศพระแท่นดงรัง ข้อมูลว่าสร้างในปี ๒๒๒๓ แต่ไม่รู้ว่าอยู่ในสภาพใดในเวลานั้น
ส่วนวัดต้นเชือก ประวัติว่าสร้างตั้งแต่ ๒๓๒๔ แต่เพิ่งจะมาเจริญเอาหลัง ๒๔๙๐ มานี้เอง

ดูเหมือนว่าวัดส่วนมากในคลองนี้จะเป็นวัดที่สร้างในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔ และกวีละเลยที่จะกล่าวถึงครับ

หากดูในเชิงเศรษฐกิจ ช่วง ร.๓ เศรษฐกิจข้าวเริ่มเฟื่องฟู คลองโยงมีบทบาทสำคัญในการขนส่งข้าวจากนครชัยศรีเข้ามายังกรุงเทพ สภาพความหนาแน่นของคลองบางใหญ่ที่ปรากฏในนิราศสุพรรณก็คงเกิดจากสาเหตุนี้นี่เอง ความเป็นเส้นทางเศรษฐกิจนี้คงทำให้คลองบางใหญ่เจริญขึ้น มีคนมากขึ้น และวัดหลายวัดถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลานั้น

แต่คลองโยงก็มีข้อจำกัดมากตรงที่ลำคลองช่วงคลองโยงตื้นเขิน (ดูจากความตรงของคลองโยง เชื่อว่าน่าจะเป็นคลองขุดเพื่อการสัญจรมาตั้งแต่สมัยโบราณ) คลองมหาสวัสดิ์ก็คงถูกขุดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาความคับคั่งของคลองโยงนี้เองครับ

หากคิดว่าถ้าจะแก้ปัญหาน่าจะขุดลอกคลองช่วงตื้นเขินก็น่าจะพอเพียง อ่านความจากนิราศพระแท่น ดูเหมือนช่วงที่ตื้นเขินนั้นยาวมาก นอกจากนี้คลองนี้ก็ยังมีความจำเป็นต้องใช้สัญจรอยู่ การขุดคลองมหาสวัสดิ์ซึ่งยังช่วยลดระยะอ้อมลงไปได้อีกมากย่อมเป็นทางเลือกที่ชาญฉลาดกว่ามากครับ

สรุปจากภาพที่เห็นตรงนี้ ผมยังเชื่อว่านิราศสุพรรณแต่งขึ้นก่อนคลองมหาสวัสดิ์ขุดเสร็จแน่นอน และมีแนวโน้มว่าจะเป็นก่อนปี ๒๓๘๖ ยุคที่วัดต่างๆเกิดขึ้นมาเสียด้วยสิครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 14
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.073 วินาที กับ 19 คำสั่ง