เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ค. 07, 17:13



กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ค. 07, 17:13
ประวัติของ นิราศเมืองเพชร  จากพระนิพนธ์ในสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  มีหลักฐานการแต่งเรื่องนี้ จากคำบอกเล่ายืนยันของพยานบุคคลไว้ด้วย 
พยานบุคคลที่ทรงระบุไว้ คือพระยาธรรมปรีชา(บุญ) ซึ่งเคยบวชอยู่ที่วัดเทพธิดารามในพ.ศ. ๒๓๘๔
พระยาธรรมปรีชาเล่าว่าสุนทรภู่แต่ง ๒ เรื่องคือกาพย์พระไชยสุริยา  และนิราศสุพรรณ  ในเวลาราวๆนั้น
สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ จึงสรุปว่า สุนทรภู่แต่งนิราศสุพรรณเมื่อพ.ศ. ๒๓๘๔ ระหว่างบวชเป็นพระ
แต่ในเว็บนี้
http://www.geocities.com/tthida/index2.html
บอกประวัติแตกต่างกันไป  ไม่ทราบที่มาว่าจากหนังสือเล่มไหน
ว่า
นิราศสุพรรณแต่งขึ้นในราวปี พ.ศ.๒๓๗๔ ในระหว่างที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดสระเกศ  


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ค. 07, 17:25
เรื่องวัดที่สุนทรภู่เคยบวชในรัชกาลที่ ๓  ถ้าไปเก็บจากหลักฐาน  ก็น่าเวียนหัวพอใช้
เพราะบวชหลายวัด อย่างน่าอัศจรรย์ใจมาก
พระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ระบุว่า วัดแรกที่บวชคือวัด ราชบูรณะ (หรือวัดเลียบ)
เมื่อออกจากวัดราชบูรณะ  ต่อมาก็ไปอยู่วัดอรุณ
จากวัดอรุณ ก็ไปอยู่วัดพระเชตุพน (นายธนิต อยู่โพธิ์ สันนิษฐานไว้)
ก่อนจะย้ายมาวัดเทพธิดาราม
แล้วยังมีวัดสระเกศ  และวัดมหาธาตุอีกด้วย
รวมแล้ว ๖ วัด 
ถ้าหากว่าเป็นความจริง   จะบอกอะไรได้บ้าง
๑) พระภู่อยู่วัดไหนไม่ได้นานนัก  มีเหตุจะต้องย้ายวัดอยู่เป็นประจำ
๒) ความจำเป็นที่ต้องย้ายวัด เห็นจะไม่ใช่เรื่องร้ายแรง  ไม่งั้นวัดใหม่คงไม่รับให้อยู่
๓) แต่ก็ไม่ใช่เรื่องดี   เพราะพระสงฆ์ที่ไม่มีปัญหาอะไรกับทางวัด ก็ไม่น่าจะต้องโยกย้าย  แต่ว่าประจำอยู่วัดใดวัดหนึ่งไปตลอด
๔) ไม่ปรากฏว่าพระภู่มีสมณศักดิ์


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ค. 07, 18:52
เริ่มแกะรอยนิราศสุพรรณ แบบเดียวกับที่ทำกับนิราศเมืองเพชร
สมมุติว่าเราไม่รู้มาก่อนว่านิราศเรื่องนี้ใครแต่ง  แต่งพ.ศ.ไหน   แกะรอยเอาจากเนื้อหาในนิราศล้วนๆ   จะได้อะไรออกมาบ้าง
ดูจากบทแรก 

(๑)เดือนช่วงดวงเด่นฟ้า            ดาดาว
จรูญจรัสรัศมีพราว               พร่างพร้อย
ยามดึกนึกหนาวหนาว           เขนยแนบ  แอบเอย
เย็นฉ่ำน้ำค้างย้อย                เยือกฟ้าพาหนาวฯ
 
(๒) ๏ มหานาคฉวากวุ้ง        คุ้งคลอง
ชุ่มชื่นรื่นรุกขีสอง                 ฝั่งน้ำ
ขุกคิดมิตรหมายครอง           สัจสวาดิ ขาดเอย
กล้าตกรกเรื้อซ้ำ                   โศกทั้งหมางสมรฯ

บอกได้ว่าการบันทึกการเดินทางนี้ เริ่มเอาตอนกวีนั่งเรือมาในคลองมหานาคแล้ว  เพราะพูดถึงต้นไม้ใหญ่ร่มรื่นสองข้างฝั่ง ก็แปลว่าตัวเองต้องนั่งเรืออยู่ตรงกลางคลอง
แต่จุดเริ่มต้น มาจากท่าน้ำบ้านหรือท่าน้ำวัดที่ไหนไม่ได้บอกไว้
บอกแต่ฤดูกาล คือเริ่มเดินทางตอนกลางดึก ในฤดูหนาวปีใดปีหนึ่ง   
เป็นคืนเดือนหงายเห็นพระจันทร์เต็มดวง  ฟ้าโปร่งเห็นดาวเต็มฟ้า  สมกับลักษณะของฤดูหนาว


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ค. 07, 19:02
(๓) ๏ ขอฝากซากสวาดิสร้อย           สุนทร
ไว้ที่ท่าสาคร                                    เขตนี้
ศาลาหน้าวัดพร                                พี่ฝาก มากเอย
ใครที่พี่เป็นผี้                                   พี่ให้อภัยเจริญฯ

พอถึงบทที่สามก็เริ่มพูดถึงท่าน้ำวัด   เป็นวัดติดคลองมหานาค แต่วัดอะไรไม่ได้บอกชื่อไว้ 
รู้แต่ว่ามีศาลาท่าน้ำหน้าวัด  เพราะวัดสมัย ๒๐๐ ปีก่อนหันหน้าลงคลองทั้งนั้น
วัดอะไรอยู่ริมคลองมหานาคบ้างล่ะคะ

ถ้าหากว่านิราศเรื่องนี้ ลำดับสิ่งที่สายตากวีเห็นไปที่เห็นก่อนหลัง  ก็หมายความว่า นั่งเรือมาก่อนจะถึงศาลาท่าน้ำแห่งที่เอ่ยถึง
แต่ถ้าไม่ลำดับตามนั้น ก็หมายความว่าลงเรือที่ท่าน้ำนี้เอง  พอเรือเริ่มเบนหัวออกไปกลางคลองก็เหลียวกลับมามองศาลาท่าน้ำที่จากมา
ความในใจที่รำพึงกับศาลาท่าน้ำ ก็ค่อนข้างประหลาดสำหรับผู้อยู่ในสมณเพศ  เพราะฝากซากรักแห่งความหลังเอาไว้ที่ท่าน้ำหน้าวัด
ถ้าหากว่ากวีท่านเป็นพระ  สาวที่เลิกร้างกันไป เห็นทีจะเคยริอ่านสึกพระเสียละมั้ง

นอกจากนี้ น่าจะมีเรื่องแค้นใจปะปนอยู่ด้วย  เพราะสาวที่เธอเคยมาเจ๊าะแจ๊ะเรียกพี่งั้นพี่งี้  เธอกลับกลายลืมพี่  พี่เลยกลายเป็น"ผี้" ไปแล้ว คือเธอไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
แต่ พี่ ก็ให้อภัยส่งท้าย
ทำไมผู้หญิงเรียกพระว่า "พี่"  หรือจะเรียกว่า "หลวงพี่"?
 
(๔) ๏ จำร้างห่างน้องนึก          น่าสรวล
สองฝ่ายชายหญิงยวน              ยั่วเย้า
หวังชายฝ่ายหญิงชวน              ชื่นเช่น เห็นเอย
กลเช่นเล่นซักเสร้า                  เสพเพื่อนเฟือนเกษม ฯ

กวีกับสาวคนเดียวกับที่เคยมีความหลังกันที่ท่าน้ำวัดคนนี้แหละ  ฝ่ายชายเคยชวนเธอเล่นสนุกเฮฮายั่วเย้ากัน   อาจจะมีการละเล่นที่เรียกว่าซักส้าว  เสียด้วย  เพราะในบทนี้ยังกำกวมอยู่ 
ไม่แน่ว่าเล่นซักส้าวกันจริงหรือว่าแค่คำเปรียบ
ความสัมพันธ์แบบนี้ ตีความได้ ๒ อย่าง
๑) ตอนจีบกันนั้นฝ่ายชายไม่ได้เป็นพระ   จึงชวนเล่นสนุกกันได้
๒)ถ้าฝ่ายชายเป็นพระ   ชวนสาวเล่นเฮฮาแบบนี้  เห็นทีจะต้องอาบัติ เจ้าอาวาสคงไม่ทนให้เล่นกันได้หลายหน


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ค. 07, 19:04
เรื่องที่เคยมีความหลังกับสาวศาลาท่าน้ำหน้าวัด น่าจะเป็นเหตุการณ์เกิดขึ้นมานานแล้ว
เพราะบทต่อๆไปกลางเรื่อง พูดถึงลูกชายที่โตเป็นหนุ่ม เดินทางไปด้วยกัน  ตัวกวีเองเห็นสาวชาวบ้านก็อยากได้เป็นสะใภ้ (อีกแล้ว)
เหมือนนิราศเมืองเพชรราวกับแกะตอนนี้ออกมาพิมพ์ใหม่


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 27 ก.ค. 07, 20:44
ศาลาหน้าวัดพร                                พี่ฝาก มากเอย
ใครที่พี่เป็นผี้                                   พี่ให้อภัยเจริญฯ
-------------------
เริ่มกลอนก็ส่อพิรุธแล้ว
กวีต้องเคยมีความหลังฝังใจกับ"น้อง"คนหนึ่ง เหตุบังเกิดช้านานเพียงไรยากจะบอก
หากว่านานก็คงเป็นปี แต่เห็นจะมิใช่สิบๆ ปี
คนเราจะพร่ำเพ้อถึงน้องทั้งผ้าเหลือง ก็น่าจะอกหักมาบวชอะไรประมาณนั้น

ตรงนี้ถ้าเป็นสุนทรภู่ ก็ต้องเป็นการบวชครั้งใหม่ที่ไม่ใช่ครั้งบรรพชิตพิศวาสพระศาสนา
ครั้งนั้นบวชเมื่อเปลี่ยนแผ่นดิน

แต่ครั้งนี้ บวชเมื่อไร น่าค้น
เท่าที่มีความเป็นไปได้ สุนทรภู่บวชครั้งแรก 18 ปี มาสึกที่วัดเทพธิดาเมื่อปีขาล 2385
แล้วไปอยู่กับเจ้าฟ้าน้อย จนได้เป็นจางวางอาลักษณ์วังหน้า แล้วตายในตำแหน่งนั้น
ไม่เคยมีใครบอกว่าสุนทรภู่บวชในรัชกาลที่ 4

แล้วจะเอาเวลาตอนใหนไปอกหักจนออกบวชได้


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ค. 07, 21:01
คำตอบว่าสุนทรภู่แต่งเรื่องนี้ในพ.ศ.ไหน คำตอบมีไว้ข้างบนนี้ แยกเป็น ๒ คำตอบ
คือพ.ศ. ๒๓๘๔ และพ.ศ. ๒๓๗๔  แต่จะพ.ศ.ไหนก็ตาม    เชื่อตรงกันว่าแต่งขณะเป็นพระ
พระวัดเทพธิดา  ไม่ใช่วัดสระเกศ
เพราะว่ากวีล่องเรือ จากท่าน้ำไหนก็ไม่รู้มาตั้งแต่ก่อนบทที่ ๑  เริ่มโคลงบทที่ ๑ ก็นั่งเรืออยู่ในลำคลองมหานาคเรียบร้อยแล้ว
มาจนถึงโคลงบทที่    ๕     เรือจึงเพิ่งล่องมาถึงวัดสระเกศ

๕) เลี้ยวลัดวัดสระเกศก้ม       คมลา
กุฏศพนบมารดา              เกิดเกล้า
เดชะพระกุศลพา             พ้นโลก โอกฆเอย
เสวยสุขทุกค่ำเช้า            ช่องชั้นสวรรยางคฯ
บทนี้มีคำว่า "เลี้ยวลัด" ฟังคล้ายๆกับเรือตัดตรง ลัดจากตรงไหนสักแห่งของคลองมหานาค ระหว่างวัดแรก มาถึงโผล่ที่วัดสระเกศ   
ตรงนี้ทำให้รู้ว่า ศพแม่ของกวี เก็บไว้ที่วัดนี้    อยู่ในที่เก็บศพ ยังไม่ได้เผา


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.ค. 07, 21:34
จากวัดสระเกศ ก็มาถึงตลาดเชิงเลน 
(๖) ๏ เชิงเลนเปนตลาดสล้าง        หลักเรือ
โอ่งอ่างบ้างอิดเกลือ                     เกลื่อนกลุ้ม
หลีกล่องช่องเล็กเหลือ                  ลำบาก ยากแฮ
ออกแม่น้ำย่ำทุ่ม                          ถี่ฆ้องสองยามฯ

ตลาดเชิงเลนที่บรรยายไว้เป็นตลาดน้ำที่คึกคักไม่ใช่เล่น    มีเรือหลายชนิดคับคั่งจนเรือของกวีแทบจะแหวกออกมาไม่พ้นกว่าจะถึงแม่น้ำ    ขนาดเป็นเวลาสองยาม สงสัยว่าเรือเขาจอดอยู่เฉยๆ หรือตอนดึกยังค้าขายขนข้าวของกันอยู่

แซ่เสียงเวียงราชก้อง                   กังสดาล
 เหง่งหงั่งระฆังขาน                      แข่งฆ้อง
สังข์แตรแซ่เสียงประสาน                 สังคีต  ดีดเอย
ยามดึกครึกครื้นก้อง                      ปี่แก้วแจ้วเสียงฯ
บทนี้เป็นการบันทึกความเป็นอยู่ของกรุงเทพเมื่อเกือบสองร้อยปีก่อน ในด้านที่หาได้ยากยิ่ง
โดยมากถ้ามีภาพในอดีต  ก็มักเป็นภาพถ่ายหรือภาพพิมพ์ที่ฝรั่งทำเอาไว้ เอาไว้ให้เรา"ดู" กันเฉยๆ
 แต่ตอนนี้เป็นการบันทึก" เสียง" ของกรุงเทพในยามดึก ให้เราได้ยิน
กรุงเทพช่วงใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา  คือตัวเมืองกรุงเทพ ไม่ได้เงียบสงัดอย่างที่เราอาจจะนึกว่าโลกสมัยไร้แสงสีเป็นแบบนั้น
แต่เอาเข้าจริง  กรุงเทพไม่เงียบ   กรุงเทพพระมหานครนั้นในยามดึก มีเสียงกังสดาล(จากวัด ) เสียงระฆัง(จากวัด) เสียงฆ้อง(น่าจะเป็นเสียงเคาะบอกทุ่มยาม)
สังข์แตรและเสียงสังคีต คงจะแว่วมาจากวัง หรือบ้านขุนนางผู้ใหญ่ที่มีวงมโหรีเล่นในยามดึก     เสียงปี่ที่เจื้อยแจ้วก็คงมาจากบ้านหลังใดหลังหนึ่ง ริมคลอง  เพราะสังคมไทยอยู่กันริมน้ำ
นี่คือ"เสียง"ของกรุงเทพในสมัยรัชกาลที่ ๓ 


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 27 ก.ค. 07, 22:08
ผมคิดว่าเสียงระฆังกับกังสดาลน่าจะมาจากวงดนตรีด้วยครับ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 27 ก.ค. 07, 22:10
เรื่องกวีมาจากวัดใหน เป็นพิรุธอีกข้อที่พาหลง
ตำราเดิมเชื่อว่าออกจากวัดเทพธิดาราม อาจจะเพราะเชื่อคำของคนเก่าที่เล่าว่า
สุนทรภู่แต่งโคลงสมัยบวชที่วัดเทพธิดาราม

เนื้อหาจากโคลง กลับเล่าไปอีกทาง
คือบอกว่า ออกจากที่หนึ่งที่ใด แล้วมาเข้าคลองมหานาค ฟังเผินๆก็ไม่น่าจะมีปัญหา
ปัญหาอยู่ตรงที่ ถ้าออกจากวัดเทพธิดารามจริงๆ จะไม่มีวันผ่านคลองมหานาค
เว้นแต่กวีจะไปสยามปาราก้อน
 8) ;D 8)


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 27 ก.ค. 07, 22:18
แต่กวีกลับแวะที่วัดสระเกษ
บอกอย่างแจ่มชัดว่าเป็น "ลัดวัดสระเกษ"
คือคลองลัดผ่านวัดสระเกษ...พูดอย่างนี้ คนปัจจุบันคงไม่เข้าใจ
คนสมัยรัชกาลที่ 6 ก็ไม่เข้าใจด้วย เพราะคลองลัดวัดสระเกษ ถูกถมกลายเป็นถนนไปหมด

เอาอย่างนี้ครับ จะเล่าเส้นทางของกวีเสียก่อน
ท่านตั้งต้นที่หนึ่งที่ใดที่มีท่าน้ำ แล้วมาตามคลองมหานาค
เลี้ยวเข้าลัดวัดสระเกษ
แวะไหว้ศพแม่ แล้วจึงออกมาทางคลองโอ่งอ่าง ผ่านวัดเลียบเพื่อจะออกเจ้าพระยา

เอาละ
ถ้าเป็นการออกจากวัดเทพธิดาราม แป๊บเดียวก็ไหว้ศพแม่
เพราะป่าช้าวัดสระเกษอยู่เยื้องวัดเทพธิดาไปนิดเดียว
แวะเข้าไปไหว้ศพแล้วก็ถอยเรือมาออกคลองคูเมืองตามเดิม
จากนั้นจึงพายจ้ำไปออกแม่น้ำตรงตลาดโอ่งอ่างปากคลอง....ฯลฯ
เส้นทางไม่สมเหตุผลกันครับ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 27 ก.ค. 07, 22:54
นิราศเมืองเพชรมีคนวิเคราะห์วิจารณ์มาหลายรอบแล้ว แต่นิราศสุพรรณนี่ยังไม่โดนแตะต้องเท่าไหร่

เปิดฉากมาก็เร้าใจแล้วครับ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 28 ก.ค. 07, 00:05
เชิญชมแผนที่
1 คือวัดเทพธิดาราม
2 คือป่าช้าวัดสระเกษ ที่เก็บศพมารดากวี
3 คือคลองลัดวัดสระเกษ

ถ้าสุนทรภู่ออกจาก 1 จะไป 2 ไม่ต้องผ่านคลองมหานาค
ถ้าสุนทรภู่มาตามคลองมหานาค ก็ต้องไม่ได้มาจากวัดเทพธิดาราม

เลือกได้เพียงหนึ่งข้อ
นิราศเรื่องนี้ยากจริงๆครับ เปิดเรื่องมาไม่กี่บันทัด
จะพาคนตีกันตายคากระดานดำ...แหะ แหะ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 28 ก.ค. 07, 01:18
รูปมีปัญหา ทำใหม่ครับ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ค. 07, 08:27
                                               กังสดาล
 เหง่งหงั่งระฆังขาน                      แข่งฆ้อง
คุณอาชาผยองหมายถึงวงมโหรีปี่พาทย์มีกังสดาล ระฆังและฆ้องอยู่ในวงด้วย ใช่ไหมคะ

ถ้าสุนทรภู่ไม่ได้มาจากวัดเทพธิดาราม   และไม่ได้มาจากวัดสระเกศ  จะมาจากที่ไหนได้บ้าง ตามเส้นทางที่คุณพิพัฒน์ชี้ให้ดู?

มาดูโคลงต่อไปกันก่อน ระหว่างรอคำตอบ
วัดเลียบเงียบสงัดหน้า           อาราม
ขุกคิดเคยพยายาม               แย่งน้อง
รวยรินกลิ่นสไบทราม             สวาทร่วง ทรวงเอย
สูญกลิ่นสิ้นกลอนพร้อง           เพราะเจ้าเบาใจฯ

ตามขนบของนิราศตั้งแต่สมัยอยุธยาจนต้นรัตนโกสินทร์ ดูกำศรวล  นิราศนรินทร์  นิราศลำน้ำน้อยของพระยาตรังเป็นแบบ
กวีท่านจะแต่งแบบเล่นชื่อสถานที่กับอารมณ์คิดถึง   ผ่าน"บางจาก"ก็นึกถึงเรื่องจากพรากกันมา ทำนองนี้
นิราศเรื่องอื่นๆของสุนทรภู่ก็เล่นขนบนี้เหมือนกัน
แต่นิราศสุพรรณ  ผ่านสถานที่มาหลายแห่งแล้ว กวีไม่ได้เล่นคำแบบนี้เลย   ถ้าเล่น  เวลาผ่านวัดเลียบ ก็น่าจะนึกถึงเคยเลียบเรือไปดูสาว  อะไรแบบนั้น
แต่นี่กวีท่านบันทึกแบบเหตุการณ์เป็นจริงเคยเกิดที่วัดเลียบ    ว่าครั้งหนึ่งเคยยื้อแย่งสไบแฟนเก่า
แย่งกันจริงๆจังๆเสียด้วยจนกระทั่งผ้าสไบหลุด  เอามาถือดมจนได้กลิ่นอบร่ำ
คำถามก็คือ แย่งกันแต่ครั้งไหนในวัด   ตอนเป็นพระหรือว่าตอนยังเป็นฆราวาสอยู่  ถ้าเป็นพระ ยื้อแย่งกันผ้าหลุดขนาดนี้คงโดนจับสึกแน่   ถ้าเป็นฆราวาส นานเท่าไรแล้ว


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ค. 07, 08:44
กลับไปอ่านแผนที่ของคุณพิพัฒน์อีกครั้ง แล้วลองทำเส้นทางเดินทางของกวีดู
กรุณาทุกท่านช่วยดูกันด้วยว่าถูกหรือไม่
ถ้าหากว่ากวีเริ่มเดินทางจากวัดใดวันหนึ่ง  เข้าคลองลัด ผ่านที่เก็บศพวัดสระเกศ เพื่อไหว้ศพมารดา
แล้วนั่งเรือต่อไปจนออกโคลงโอ่งอ่าง
ก็ต้องเป็นเส้นทางสีแดง ในภาพนี้ ถูกไหมคะ  ไม่ใช่เส้นทางสีเขียวซึ่งเริ่มจากวัดเทพธิดาราม   
ถ้ามาจากวัดเทพธิดาราม ไม่ต้องเข้าคลองลัดวัดสระเกศ เพราะคลองลัดอยู่ห่างออกไปมาก  สามารถพายเรือตรงมาที่ที่เก็บศพได้เลย

เส้นทางในนิราศสุพรรณ คือเริ่มจาก หมายเลข 1 (ต้นทาง)มาที่หมายเลข 3 (คลองลัดวัดสระเกศ) มาที่ 2 (ที่เก็บศพวัดสระเกศ) แล้วไปที่ 4 (คลองโอ่งอ่าง )
ตัวเลขสลับลำดับกันหน่อย เพราะอ้างจากแผนที่ของคุณพพ. แต่คงพอจะเข้าใจกันได้

คำถามก็คือ หมายเลข 1 นั้นน่าจะเป็นศาลาท่าน้ำที่เอ่ยถึงในบทที่ 2     ในแผนที่อ่านได้แต่ว่า วัด....อะไรสักแห่ง
อยากทราบว่าวัดอะไร?


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 28 ก.ค. 07, 10:33
แม่นแล่ว...ครับ อาจารย์
ถ้ายึดตามความในโคลง ก็ตัดวัดเทพธิดารามไปได้เลย
เพราะกวี "ควร" แต่งว่า ออกจากวัด แวะไหว้ศพมารดา แล้วไปคลองโอ่งอ่าง

แต่นิราศสุพรรณ เริ่มต้นด้วยการมองฟ้า มองน้ำ มองสองฝั่ง นี่หมายถึงการกินเวลา คือระยะทางยาวหน่อย
แล้วจึงมาเอ่ยชื่อคลองมหานาค ก็ได้แต่เดาว่ามาจากแถวๆ สยามปาราก้อน
ชื่นฉ่ำอากาศริมคลองมหานาคมาพักหนึ่ง จึงเข้าคลองลัดวัดสระเกษ ซึ่งจะผ่านป่าช้าด้วย
ได้ไหว้ศพแม่ แล้วบ่ายหน้าออกคลองโอ่งอ่าง

อ่านกี่เที่ยวๆ ก็มองไม่เห็นว่าจะไปเกี่ยวอะไรกับวัดเทพธิดารามได้
วัดที่อ่านชื่อไม่ออกคือวัดหมู วัดชิดทารามครับ
เจ้าคุณปริยัติท่านอ้างว่า มีคนลือกันว่าท่านสุนทรภู่เคยอยู่วัดนี้ ผมยังไม่รับรอง
เพราะท่านภู่เป็นกวีไฮโซ จะมาอยู่วัดโลโซอย่างนี้ เห็นว่าไม่น่าเป็นไปได้


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ค. 07, 10:47
ใกล้ๆวัดชิดทาราม  ถ้านับจากขวามือ(หรือถ้ายืนอยู่ที่วัดหันหน้าออกคลองก็นับเป็นซ้ายมือ) มีวัดอะไรบ้างคะ ที่เป็นวัดใหญ่กว่าวัดนี้
กวีอาจมาจากวัดถัดไปจากวัดหมูก็ได้    ถ้ามีวัดใหญ่อยู่ถัดไปสักวัด  เส้นทางก็สอดคล้องกับคำบรรยายมากที่สุด
ส่วนวัดหมู  ข้อมูลที่พระยาปริยัติธรรมธาดาบันทึกไว้ว่า มีคนบอกว่าสุนทรภู่เคยบวชอยู่วัดนี้   ก็น่าสนใจ 
ถ้าเรายังหาวัดใหญ่ถัดจากวัดหมูไม่ได้   ก็เป็นได้ว่า สุนทรภู่อาจเคยอยู่วัดนี้ชั่วระยะสั้นๆก็เป็นได้   สั้นเสียจนสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ อาจจะไม่ทรงเชื่อ  จึงทรงตัดไป

กวีเอกของเรา บวชอยู่  ๗  วัด !!!


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ค. 07, 10:54
ย้อนกลับไปสอบเทียบกับวัดทั้งหกวัดที่เล่ากันมาว่าสุนทรภู่เคยบวช  พบว่าไม่ตรงกับวัดต้นทางในนิราศสุพรรณสักวัดเดียว
๑)วัด ราชบูรณะ (หรือวัดเลียบ) เอ่ยถึงในโคลงบทที่ ๘  หมายความว่าเดินทางผ่านไปจากต้นทางแล้ว  เป็นอันว่าไม่ใช่เริ่มต้นเดินทางจากวัดนี้
๒) วัดอรุณอยู่ทางฝั่งธนบุรี ติดแม่น้ำเจ้าพระยา    ไม่มีสาเหตุอะไรจะต้องข้ามมาฝั่งกรุงเทพไปคลองมหานาคแล้วย้อนไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาอีก
๓) วัดพระเชตุพน ก็เหมือนกัน   ออกแม่น้ำเจ้าพระยาได้เลย
๔) วัดเทพธิดาราม คุณพพ.บอกว่าคนละทางกับคลองลัดวัดสระเกศ
๕) วัดสระเกศ  ศพแม่เก็บไว้ที่นี่   เป็นที่แวะ ก็หมายความว่าไม่ใช่ต้นทาง
๖) วัดมหาธาตุ ออกแม่น้ำเจ้าพระยาได้เลย   ไม่เกี่ยวกับคลองมหานาค
รวมแล้ว ๖ วัด   ไม่น่าใช่สักวัด
เหลือวัดหมูอีกวัดเดียว   ก็ถูกมองว่าเป็นวัดเล็กโลโซไปแล้ว  เกินกว่าสุนทรภู่ผู้เคยได้ชื่อว่าอยู่แต่วัดใหญ่ๆมาตลอด จะไปอยู่ที่นี่


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 28 ก.ค. 07, 12:03
ไกล้ที่สุดก็วัดพระยายัง ซึ่งปีนั้นไม่รู้ว่าสร้างหรือยัง ถัดไปอีกนานก็วัดใหม่บรมนิวาสของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4
อันที่จริง ในช่วงแรกนี้ ทำหมายเหตุไว้ก่อนว่า วินิจฉัยดั้งเดิมนั้น ไม่สอดคลองกับความในโคลงก็น่าจะพอ
ขืนไปหาวัดให้ท่านสุนทรภู่ เกิดท่านไม่ได้แต่งนิราศสุพรรณขึ้นมา จะเสียเวลาเปล่า

การบ้านที่ผมยังขบไม่แตกก็คือหมุดเวลา
นิราศสุพรรณนี้ นับว่าแปลกจากงานของสุนทรภู่เรื่องอื่นๆ คือไม่ได้บอกเวลาที่แน่ชัดไว้เลย
แม้แต่พระอภัยมณี ท่านยังใส่ปีไว้หลายครั้ง ทั้งๆที่ไม่มีเหตุต้องทำอย่างนั้น

หมุดเวลาดอกหนึ่งที่น่าสอบต่อก็คือ การพรรณาความครึกครื้นแถบปากคลองโอ่งอ่าง
หากเป็นครั้งรัชกาลที่ 3 ก็ออกจะขัดกับพระราชนิยมอยู่
และข้อสำคัญ บริเวณนั้นไม่มีวังเจ้านาย จะมีผู้หลักผู้ใหญ่อยู่ก็ก๊กเจ้าพระยาบดินทร์ฯ เท่านั้น
อีกหมุดก็คือเรื่องละคอนคณะนายบุญยัง
คงจำได้ว่านายบุญยังนี้ มีชื่อในนิราศพระบาท ซึ่งวางอายุไว้ถึงปลายรัชกาลที่ 1
แต่ผมไม่แน่ใจว่าวัดละคอนทำของท่าน จะตกรัชกาลที่ 5 เอาน่ะนา
แล้วนิราศพระบาทนั่น ผมก็เปลี่ยนอายุมาเป็นปลายรัชกาลที่ 4 เสียแล้ว
ตำนานละคอนบุญยังจึงยังแขวนอยู่ต่องแต่ง

หาอายุบุญบังได้ ก็หาอายุนิราศสุพรรณได้....กระมัง


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ค. 07, 12:30
ดิฉันลองหาหมุดเวลาอยู่เหมือนกัน    เท่าที่อ่าน ได้ความรู้สึกว่าเป็นเหตุการณ์สมัยรัชกาลที่ ๓  เดี๋ยวจะค่อยๆไล่เลียงดูหลักฐานอีกทีว่าทำไมเชื่อเช่นนั้น
ก่อนอื่น ย้อนกลับมาพูดถึงเสียงต่างๆในเมือง ตามบทนี้ก่อน
  แซ่เสียงเวียงราชก้อง                   กังสดาล
เหง่งหงั่งระฆังขาน                      แข่งฆ้อง
สังข์แตรแซ่เสียงประสาน               สังคีต  ดีดเอย
ยามดึกครึกครื้นก้อง                      ปี่แก้วแจ้วเสียงฯ
เสียงพวกนี้ กวีบอกว่าเป็นเสียงของ "เมืองหลวง"  (เวียงราช  เวียง=เมือง ราช= หลวง) หาใช่เสียงจากวังเจ้านายหรือบ้านคนใหญ่คนโตที่ใดที่หนึ่งไม่
เสียงสังคีตนั้นอาจหมายถึงมโหรีตามบ้านขุนนาง  ริมคลองโอ่งอ่างเห็นจะมีขุนนางคหบดีกันมากมายหลายบ้าน    เพราะเป็นแหล่งชุมชนใหญ่

มโหรีปี่พาทย์ ไม่ใช่ว่าจะต้องมีแต่ตามวัง  หรือบ้านเจ้าพระยา   ในนิราศเมืองเพชร  ขุนนางชั้นผู้น้อยแค่ "ขุน" คือขุนแพ่ง แกก็ยังมีวงปี่พาทย์ประจำอยู่ในบ้านแกได้เลย
ที่รู้แน่ว่าเป็นปี่พาทย์ประจำบ้าน  ไม่ใช่ไปจ้างมาในโอกาสพิเศษ ก็เพราะเล่นกันตั้งแต่เช้า(เพรางาย= เวลาเช้า)ตามคำสั่งเจ้าของบ้าน เพื่อนบ้านก็มาหาหัวบันไดไม่แห้งตั้งแต่เช้า    แสดงว่าบ้านนี้เจ้าของบ้านคงครึกครื้นใจกว้างต้อนรับไม่อั้น

โอ้อกเอ๋ยเคยสำราญอยู่บ้านนี้         ได้ฟังปี่พาทย์เพราะเสนาะเสียง
ทั้งหญิงชายฝ่ายเพื่อนริมเรือนเรียง   เคยพร้อมเพรียงเพรางายสบายใจ

ดังนั้นถ้าเรือล่องมาเรื่อยๆตามคลองโอ่งอ่าง ได้ยินเสียงดนตรีในเมืองตอนดึก   ดิฉันนึกถึงสมัยรัชกาลที่ ๓  ที่พระองค์ท่านไม่โปรดละครใน   หรือความครึกครื้นอื่นๆในวังหลวง  ตอนดึกเป็นเวลาว่าราชการ ออกจะเคร่งขรึมเป็นงานเป็นการ
ละครและดนตรีก็ย้ายมาครึกครื้นกันข้างนอก  เพราะไม่ทรงห้ามที่ขุนนางจะฝึกคนให้เล่นดนตรีทำละครกันอยู่ตามบ้าน 



กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ค. 07, 13:14
ถ้าหากว่าปักหมุดเวลาจากเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งไม่ได้   ไม่เหมือน "ศึกลาว"ในนิราศเมืองเพชร
ก็ต้องลองปักจากสิ่งก่อสร้าง  เผื่อจะบอกเวลาได้บ้าง

๑)วัดแจ้งแต่งตึกตั้ง            เตียงนอน
เคยปกนกน้อยคอน            คู่พร้อง
เคยลอบตอบสารสมร          สมานสมัคร รักเอย
จำจากพรากนุชน้อง            นกน้อยลอยลมฯ
 
สถานที่ก่อสร้างในบทโคลงนี้ เรียกว่า "ตึก"  มีไว้อยู่อาศัย  เพราะในนั้นบอกว่ามี" เตียงนอน"
น่าจะเป็นตึกแบบจีนและเตียงแบบจีน  ไม่ใช่ตึกฝรั่งและเตียงฝรั่ง  ซึ่งเกินฐานะคนธรรมดาจะอยู่   
ในนี้ก็บอกเสียด้วยว่า ผู้หญิงที่ส่งสารโต้ตอบกันนั้นต้องทำกันอย่างลอบเร้น
จะเป็นหนุ่มสาวลอบรักกัน หรือหลวงพี่กับสีกาอีกล่ะนี่?

หมุดเวลา - วัดแจ้งมีตึกที่สร้างก่ออิฐถือปูนตั้งแต่รัชกาลไหน      เป็นส่วนหนึ่งของวัด หรือเป็นอาคารที่อยู่ติดกัน?


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 28 ก.ค. 07, 13:56
ประโยควัดแจ้งนี่ละครับ เรื่องแปลก
รัชกาลที่ 3 ทรงแปลงเขตสังฆาวาสที่เป็นกุฎีไม้ เป็นตึกทั้งหมด
จัดเป็นคณะอย่างงดงาม โดยใช้แบบอย่าง court house ของจีนมาปรับให้เข้ากับพระบาลี

แต่ใครจะเอานกไปกกในหมู่กุฎีตึกเหล่านี้ได้
ยิ่งถ้านก หมายถึงสาวสักนางและจากตึกนี้เอง ที่กวี
"เคยลอบตอบสารสมร สมานสมัคร รักเอย"

ต้องเดาเอาว่า เป็นตึกไกล้ๆ วัดแจ้ง ซึ่งจะตามหาง่าย เพราะมีหลายหลังตรงริมกำแพงวัด ด้านที่ติดกับวังเดิม
แต่.....
เป็นอาคารของวังเดิม มิใช่ของวัดแจ้ง
ประโยคนี้ทำผมไม่อยากชำระนิราศเรื่องนี้ต่อทีเดียวครับ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ค. 07, 16:01
วัดแจ้งแต่งตึกตั้ง            เตียงนอน
เคยปกนกน้อยคอน            คู่พร้อง
เคยลอบตอบสารสมร          สมานสมัคร รักเอย
จำจากพรากนุชน้อง            นกน้อยลอยลมฯ
ถ้าหมายถึงว่าเคยเลี้ยงนกคู่หนึ่ง อยู่ในห้องนอนที่ตึกหลังใดหลังหนึ่งในนี้   กับเคยแอบส่งเพลงยาวกับสาวเจ้า ล่ะคะ
มันก็พอปักหมุดเวลาได้ว่า เป็นรัชกาลที่ ๓ ปีใดปีหนึ่ง หลังจากปีที่โปรดเกล้าฯให้สร้างหมู่ตึกในเขตสังฆาวาสเสร็จแล้ว

ก่อนจะปักหมุดเวลาอันที่สองเรื่องวังหลัง  มีข้อตะขิดตะขวงใจว่า กวีที่แต่งนิราศสุพรรณ ถ้าเป็นพระ ก็ไม่สำรวมเรื่องความหลังเสียเลย
เคยวุ่นวายกับผู้หญิงอยู่ตามวัดต่างๆ  ตั้งหลายวัด  วันนี้ก็เล่นซักส้าวกับสาว  วัดนั้นก็ยื้ดยุดฉุดสไบกัน  วันโน้นก็พูดถึงเตียงนอนในวัด ลอบส่งเพลงยาวกับหญิงสาว
เขียนให้คนอื่นๆได้อ่าน น่าจะอาบัติ  แม้ว่าเป็นเรื่องความหลัง ก็ถือว่าไม่เหมาะกับพระสงฆ์จะมา"แฉ" ตัวเอง
บางตอนก็กำกวมเสียด้วย ว่าทำขณะยังเป็นพระอยู่หรือไร
อย่างตอนอยู่ในตึกวัดแจ้ง
แต่ถ้าหากว่าไม่ได้บวช   ก็พูดถึงเรื่องพวกนี้ได้ไม่เป็นไร
เลยสงสัยว่าสุนทรภู่แต่งเรื่องนี้ขณะบวช จริงหรือ

หมุดเวลา อันที่สอง คือ วังหลัง
วังหลังครั้งหนุ่มเหน้า                เจ้าเอย
เคยอยู่ชูชื่นเชย                       ค่ำเช้า
ยามนี้ที่เคยเลย                        ลืมพักตร์ พี่แฮ
ต่างชื่นอื่นแอบเคล้า                   คลาดแคล้วแล้วหนอฯ
และ
สวนหลวงแลสล่างล้วน                   พฤกษา
เคยเสด็จวังหลังมา                         เมื่อน้อย
ข้าหลวงเล่นปิดตา                          ต้องอยู่ โยงเอย
เห็นแต่พลับกับสร้อย                       ซ่อนซุ้มคลุมโปงฯ
ตอนนี้กวีคงยังเด็กอยู่มาก ถึงปะปนอยู่ในหมู่ข้าหลวงสาวๆ ไปเล่นปิดตากับพวกเธอได้   ถ้าเป็นหนุ่มก็ต้องแยกกันอยู่คนละส่วนแล้ว

ผู้ชายที่เคยอยู่ในวัยหนุ่ม สมัยวังหลัง  ต้องเป็นหนุ่มก่อนพ.ศ. ๒๓๔๙  ซึ่งเป็นปีที่กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ทิวงคต  หลังจากนั้นก็ไม่มีวังหลังอีก
พระโอรส ๓ องค์ ทรงมีวังของตนเอง   ผู้ที่อยู่ในบริเวณวังหลังก็เป็นเจ้านายฝ่ายหญิงเสียส่วนใหญ่ 
จนถึงรัชกาลที่ ๓เจ้านายวังหลังก็แยกย้ายกันไป  เหลือแต่วังร้างสงัดเงียบตามที่นายมีบรรยายไว้ในนิราศพระแท่นดงรัง 

ถ้ากวีเป็นหนุ่มวังหลังมาก่อน   สมมุติว่าอายุไม่เกิน ๒๐  พอมาถึงพ.ศ. ๒๓๘๔  กวีคนนี้อายุประมาณ ๕๕ ปี   ถ้ามีคู่ตั้งแต่อายุ ๒๐ ลูกชายก็น่าจะอายุ ๓๕ แล้ว
แต่ถ้านิราศสุพรรณแต่งเมื่อพ.ศ. ๒๓๗๔    ลูกชายยังหนุ่มอายุยี่สิบกว่า ๆก็เป็นได้ว่ายังไม่มีสะใภ้   
เรื่องลูกชาย นำไปสู่หมุดเวลาอันที่ ๓


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 28 ก.ค. 07, 18:56
ประโยคที่ยกมานั้น คิดอย่างไม่บัดสีก็น่าจะปาราชิกแล้วละครับ
ถ้าเป็นตึกของวัดแจ้ง ผู้อยู่อาศัย ย่อมเป็นพระ เว้นแต่เป็นข้าพระ
แต่ข้าพระ ก็ไม่น่าจะเก่งกาจถึงแต่งโคลงได้ระดับนี้
ควรจะเป็นคนชั้นสูง ไม่ใช่ระดับคนรับใช้พระ ซึ่งในสมัยนั้น มีฐานะเสมอทาส

เป็นอันว่า กวีเป็นคนมีศักดิ์ที่ได้อยู่ตึกวัดแจ้ง
แล้วกวีก็ลอบส่งสารรักไปหาสาว ...ทั้งในผ้าเหลือง กระนั้นหรือ
แล้วนักปราชญ์ทั้งหลาย ที่อ่านข้อความนี้ ท่านไม่เกิดข้อกังขาหรือ
หรือว่าเห็นเป็นปกติที่ทำได้ จึงไม่มีใครตำหนิอลัชชีที่แต่งนิราศนรกเรื่องนี้
ยกย่องกันอยู่ได้ว่ายอดอย่างโน้นอย่างนี้ มันก็กลอนครูแจ้ง ที่มากลีลาขึ้นมา เท่านั้นเอง
ไม่ใช่งานที่สมควรจะยัดใส่ฝีปากกวีอย่างสุนทรภู่เลย ...ให้ตายเหอะ

กวีที่แต่งเพลงยาวสอนเจ้าฟ้า จะมาว่ากลอนมักมากอย่างนี้
ผมรับประทานมิลงจริงๆ ครับ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ค. 07, 19:35
บรรดาผู้ที่ยกย่องสุนทรภู่  และเชื่อว่านิราศสุพรรณแต่งโดยสุนทรภู่  อ่านค.ห.คุณพิพัฒน์แล้วแห่กันมาพร้อมด้วยไม้หน้าสาม    ดิฉันเห็นจะต้องตัวใครตัวมัน

ย้อนมาอ่านโคลงบทนี้อีกที     ดิฉันตีความว่า "เคยปกนกน้อยคอน  คู่พร้อง" หมายถึงเคยครอบครองนกจริงๆคู่หนึ่ง เลี้ยงไว้บนคอน 
เป็นการตีความแบบเอาใจช่วยกวี   มิฉะนั้นก็ต้องหมายถึงแม่สาวชื่ออะไรที่แปลว่านก   ซึ่งตอนท้ายบินหนีฝ่ายชายไปเสียแล้ว ไม่ได้อยู่กินกันยืนยาว
ทั้งที่ ถ้าหากว่าทำข้อสอบ   จะต้องตีความว่า นก ในนี้หมายถึงผู้หญิง ตอนท้ายหล่อนก็ลอยลมไป   
ซ้ำยังมีคำว่า เตียงนอน มาส่อนัยยะถึงการครองคู่กัน   

วัดแจ้งแต่งตึกตั้ง               เตียงนอน
เคยปกนกน้อยคอน            คู่พร้อง
เคยลอบตอบสารสมร          สมานสมัคร รักเอย
จำจากพรากนุชน้อง            นกน้อยลอยลมฯ

แต่เรื่องลอบเขียนเพลงยาวโต้ตอบเกี้ยวสาว  แปลเป็นอย่างอื่นไม่ได้   
ถ้ากวียังอยู่ในผ้าเหลืองเมื่อกระทำการเช่นนี้   ก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องผิดชนิดเอามาบันทึกให้คนอ่านไม่ได้เลยเชียว
ไม่เชื่อว่ากวีท่านจะทำเช่นนี้
ถ้าทำได้   มีทางเดียว  ตอนมีแฟน  ยังเป็นหนุ่มชาวบ้าน ไม่ใช่พระ  อาศัยอยู่ในวัดเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อหลวงลุง  เล่าเรียนเขียนอ่านอยู่
แล้วแอบกุ๊กกิ๊กกับสาว

ที่ว่าอยู่ในวัด  เพราะมีคำยืนยันให้เห็น
วัดแจ้งแต่งตึกตั้ง...แต่งในที่นี้แปลว่า"ตั้ง" เป็นคำซ้อน      ความหมายเดียวกัน  ปัจจุบันยังเหลือร่องรอยในคำว่า "แต่งตั้ง"
 พูดอีกทีคือวัดแจ้งนั้นตั้งตึกและตั้งเตียงนอน   กล่าวคือทั้งตึกและเตียงอยู่ในวัดแจ้งอย่างไม่มีข้อสงสัย  ไม่ใช่ตึกอื่นๆข้างวัด
แค่โคลงบทเดียว  ดิฉันหลงวนอยู่ในเขาวงกตเป็นนาน      ใครนึกหาคำตอบดีกว่านี้ได้ ก็มาช่วยกันหน่อยนะคะ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 28 ก.ค. 07, 20:14
ผมเองเมื่ออ่านงานของสุนทรภู่ ทำได้แค่อ่านเอาเรื่อง อ่านเอารสมิเป็น
เดี๋ยวนี้อ่านหาเรื่อง ทั้งหาเรื่องคนแต่ง และหาเรื่องคนอ่าน

ผมเห็นความผิดแผกดังนี้
เพลงยาวถวายโอวาท แต่งเมื่อ 2374
รำพันพิลาป แต่งเมื่อหลัง 2385
นิราศพระประธม และนิราศภูเขาทอง เชื่อว่าแต่งเมื่อปลายอายุ
ทั้งสี่เรื่องนี้ เนื้อหาเลาความสะอาดหมดจด จะมีเรื่องสาวเรื่องส่อนัยยะทางกุ๊กกิ๊ก ก็เปี่ยมรสนิยม

นิราศสุพรรณนี้ของใครไม่รู้ แต่ทราม ทั้งเรื่องอวดแต่ว่า ฉันผ่านผู้หญิงมาเท่าไร
นิราศเมืองเพชร ไม่ถึงกับทราม แต่รสนิยมค่อนไปทางผู้ชายมักมาก
นิราศเมืองแกลงและนิราศพระบาทนั้น ผมตัดออกจากชีวิตท่านสุนทรไปเลย ไม่ใช่งานของท่าน
แต่ก็ยังสะอาด ไม่ทราม

เนื้อความของสี่เรื่องข้างต้น ลุ่มลึก มีสำเนียงที่จำเพาะ ใช้คำที่แสดงความหมายใหญ่โตโอฬารทั้งสิ้น
ไม่ได้ใช้คำสะคันสะเล็กสะน้อยน่ารำคาญ

ฝีปากสุนทรภู่ ท่อนนี้เหมือนราชสีห์สั่งถ้ำ สมกับเป็นกวีหลวง
โอ้อาวาสราชบุรณะพระวิหาร     แต่นี้นานนับทิวาจะมาเห็น
เหลือรำลึกนึกน่าน้ำตากระเด็น    เพราะขุกเข็ญคนพาลมารานทาง
จะยกหยิบธิบดีเป็นที่ตั้ง          ก็ใช้ถังแทนสัดเห็นขัดขวาง
จึ่งจำลาอาวาสนิราศร้าง        มาอ้างว้างวิญญาณ์ในสาครฯ(นิราศภูเขาทอง)

ท่อนนี้เนื้อความเข้มข้น แม้จะเป็นคำรัก
ในอากาศกลาดเกลื่อนด้วยเดือนดาว     เป็นลมว่าวเฉื่อยฉิวหวิวหวัวใจ
โอ้บางกอกกอกเลือดให้เหือดโรค        แต่ความโศกนี้จะกอกออกที่ไหน
แม้นได้แก้วแววตามายาใจ              แล้วก็ไม่พักกอกดอกจริงจริง(นิราศพระประธม)

ท่อนนี้บอกลาเจ้านาย โอ่อ่าห้าวหาญ
พระมีคุณอุ่นอกเมื่อตกยาก              ถึงตัวจากแต่จิตสนิทสนอม
จะจำไปไพรพนมด้วยตรมตรอม       ทูลกระหม่อมเหมือนแก้วแววนัยนา
พระองค์น้อยเนตรซ้ายไม่หมายร้าง  พระองค์กลางอยู่เกศเหมือนเนตรขวา
ความรักใคร่ไม่ลืมปลื้มวิญญาณ์       ได้พึ่งพาพบเห็นค่อยเย็นทรวง (เพลงยาวฯ)

พระอภัยมณียังไม่ได้อ่านครับ

เห็นว่า ความที่ยกมา ใหญ่โตเกินกว่ากวีกะป๊อกล๊อกที่แต่งนิราศสุพรรณจะแต่งได้


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ค. 07, 20:37
กวีกะป๊อกล๊อกที่คุณพิพัฒน์เรียก  มิใช่กวีเล็กน้อย  แต่เป็นกวีหลวง  ลองอ่านตรงนี้ดูซิคะ

ยลฉนวนหวนนึกน้ำ                  เนตรนอง
พระธินั่งบัลลังก์ทอง                  ที่เฝ้า
ชำระพระนิพนธ์สนอง                เสด็จสนิท ชิดเอย
สิ้นแผ่นดินปกเกล้า                   กลับร้างห่างฉนวนฯ
 
(๑๓) ๏ แบ่งบุญสุนทรเชื้อ          ชินวงศ์
สืบสร้างทางพุทธพงศ์                ผ่องแผ้ว
ถวายพระหริรักษ์ทรง                  สารพิเศษ เศวตเอย
ลุโลกโมฆเมืองแก้ว                   กิจร้ายหายสูญฯ
 
(๑๔) ๏ อีกองค์มงกุฎเกล้า         เชากรุง
สืบกษัตรย์ขัตติย์บำรุง                รอบแคว้น
ถวายพระอนิสงส์ผดุง                 พระเดชเฟื่อง กระเดื่องเอย
สิ่งโศกโรคเรื่องแค้น                   ขจัดพ่ายวายเขนฯ

กวีนิราศสุพรรณ เคยใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดิน   ไม่แพ้กวีนิราศภูเขาทองเชียวนะคะ  จะว่ากิ๊กก๊อกได้ยังไง

ถึงหน้าแพแลเห็นเรือที่นั่ง            คิดถึงครั้งก่อนมาน้ำตาไหล
เคยหมอบรับกับพระจมื่นไวย        แล้วลงในเรือที่นั่งบัลลังก์ทอง
เคยทรงแต่งแปลงบทพจนารถ      เคยรับราชโองการอ่านฉลอง
จนกฐินสิ้นแม่น้ำแลลำคลอง         มิได้ข้องเคืองขัดหัทยา
เคยหมอบใกล้ได้กลิ่นสุคนธ์ตลบ    ละอองอบรสรื่นชื่นนาสา
สิ้นแผ่นดินสิ้นรสสุคนธา               วาสนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์ฯ

คำรำพันสอดคล้องไปทางเดียวกันเลย คือเคยใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อนที่โปรดกวีนิพนธ์  ขนาดตัวเองเคยไปช่วยอ่านช่วยชำระบทกวี
แต่พอสิ้นแผ่นดิน  วาสนาทางด้านนี้ก็หมดไป
ถ้าเป็นคนละคนละก็...นับว่าบังเอิญมาก  เหมือนกันจริงๆในด้านอาชีพการทำงาน ชะตาตกเมื่อสิ้นแผ่นดินเหมือนกันด้วย
ถ้าจะบอกว่านิราศสุพรรณแต่งไม่เพราะอย่างนิราศกลอน   ก็มีเหตุผลอย่างสมเด็จกรมดำรงฯ วิจารณ์ไว้ว่า สุนทรภู่แต่งโคลงไม่เก่งเท่ากลอน


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 28 ก.ค. 07, 21:26
แปลตรงนี้ไม่ออกครับ
๏ อีกองค์มงกุฎเกล้า         เขากรุง
สืบกษัตรย์ขัตติย์บำรุง        รอบแคว้น
มีกษัตริย์ที่มิใช่เชากรุงด้วยหรือ...แล้วเขาเอามายกย่องกันด้วยหรือ
แล้วสุนทรภู่ต้องแต่งโคลงเลียนแบบตัวเองด้วยหรือ

กลัวจะเป็นกวีอิหลุกขุกขุย อ่านนิราศภูเขาทองแล้วปลอมความอ่ะครับ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ค. 07, 22:07
อีกองค์มงกุฎเกล้า              เชากรุง
สืบกษัตรย์ขัตติย์บำรุง        รอบแคว้น
 
หมายถึงพระเจ้าอยู่หัวของชาวกรุง(เทพ) ค่ะ  คล้ายๆเราพูดว่า ในหลวงของชาวไทย

ก็ถ้าสุนทรภู่เท้าความถึงประวัติของตัวเอง เวลาผ่านสถานที่ที่เตือนใจ   คนเดียว  ประวัติมีอยู่ประวัติเดียว  ก็ต้องเอ่ยเหมือนกันทุกครั้งสิคะ

สุนทรภู่เคยเอ่ยถึงพระเจ้าแผ่นดินที่ท่านจงรักภักดีมาก คือรัชกาลที่ ๒ ในรำพันพิลาปว่า
สุนทราอาลักษณ์เจ้าจักรพาฬ        พระทรงสารศรีเศวตเกศกุญชร
ในนิราศสุพรรณ ก็ใช้คำนี้เหมือนกัน คือพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงมีช้างเผือก ในรัชกาลที่ ๒ มีช้างเผือกถึง ๓ ช้าง   ถือเป็นคู่บุญที่ใช้สรรเสริญพระเกียรติยศ
ถวายพระหริรักษ์ทรง                  สารพิเศษ เศวตเอย


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 28 ก.ค. 07, 22:23
เอ... เป็น เชากรุง หรือครับ ผมอ่านเป็น เขากรุง มาตลอดเลยนะครับ

หมายถึงผู้เป็นหลักแห่งกรุงครับ

ถ้าเป็น เชากรุง ก็แปลกว่าทำไมไม่เขียนเป็น ชาวกรุง ไปเลย ซึ่งก็ดูจะเสียมือไปหน่อยสำหรับกวีที่แต่งได้ระดับนี้ ไม่ว่าจะเป็นท่านภู่หรือไม่ก็ตาม


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 28 ก.ค. 07, 23:05
ตลกคุณเครซี่แฮะ เกิดมาเพิ่งเคยได้ยินพระเจ้าเขากรุง
เป็นภาษาที่แปลก
แปลกทั้งเชา หรือเฉา หรือเขา....น่าจะคัดลอกผิดกระมัง
ตรวจจากฉบับพิมพ์ที่มีก็เป็นอย่างนั้น
จึงต้องเรียนถามกลับไปยังผู้พิมพ์ที่ผ่านๆ มา ว่าท่านอ่านไม่ขัดหู หรือว่าผมอ่านหนังสือไม่เป็น
อ่านทั้งหมดของโคลงบทนี้แล้ว ผมยิ่งคิดว่า เป็นโคลงที่แปลกมาก
ชมพระเจ้าแผ่นดินแบบนี้
แล้วเอามาวางไว้หลังจากการปกนกน้อย จากการรำพันถึงแม่ม่าย
ไม่รู้ที่ต่ำที่สูงเลย

จะเป็นจอมกวีมาแต่ใหน ผมก็ต้องเชิญไปทำงานเทศบาลเท่านั้นแหละครับ
ไม่เชื่อว่าเป็นกวีหลวงครับ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 28 ก.ค. 07, 23:38
เรื่อง เขากรุง ขอแปะไว้ก่อนครับ คุ้นๆว่าเคยอ่านคติเรื่องนี้จากที่ไหนสักแห่ง ต้องไปค้นครับ

ตอนนี้ขอมาดูเรื่องฉันทลักษณ์ก่อนครับ
นิราศสุพรรณนี้หลายคนวิจารณ์ว่าสุนทรภู่แต่งโคลงไม่เก่ง หรือขนาดว่าแต่งโคลงไม่เป็นก็มี เรื่องเก่งหรือไม่นั้นผมขอวางไว้ก่อนเพราะเป็นอัตวิสัย แต่ที่แน่ๆโคลงนิราศสุพรรณนี้มีความแตกต่างจากโคลงโบราณ หรือแม้แต่โคลงร่วมสมัยอย่างโคลงของนายนรินทร์ครับ

อุดมคติของโคลงนิราศสุพรรณเป็นดังนี้
- แบ่งจังหวะการอ่านวรรคแรกตายตัว 2-3 ลักษณะนี้ต้องถือเป็นลักษณะพิเศษ เพราะโคลงเก่าๆจะใช้ 2-3 และ 3-2 ปนเปกันไป
- ใช้สัมผัสในแพรวพราว และมีรูปแบบที่ค่อนข้างตายตัว ใช้สัมผัสสระระหว่างคำที่ 2 กับ 3 ของวรรคหน้า, สัมผัสอักษรระหว่างท้ายวรรคหน้ากับวรรคหลัง และ สัมผัสสระระหว่างคำที่ 6 และ 7 ของวรรค 3 และ 4 (โดยที่วรรค 3 จะใช้คำสร้อยเกือบทุกบท มีที่ไม่ใช้น้อยมากขนาดนับนิ้วมือเดียว) ในขณะที่โคลงปกตินิยมเล่นสัมผัสอักษรกันมากกว่า และถึงเล่นก็ไม่ได้มากมายจนแทบจะกลายเป็นบังคับสัมผัสอย่างโคลงนิราศสุพรรณ

ลักษณะสำคัญสองประการของโคลงนิราศสุพรรณนั้น มีความคล้ายกับรูปแบบกลอนแปดของสุนทรภู่เป็นอย่างมาก ถ้าไม่ใช่งานของสุนทรภู่เองก็ต้องเป็นงานของ "สำนักสุนทรภู่" คือแต่งภายใต้อิทธิพลของกลอนแปดแบบสุนทรภู่อย่างแน่นอนครับ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.ค. 07, 07:53
ในหนังสือ "ชีวิตและงานของสุนทรภู่"ที่กรมศิลปากรตรวจสอบและชำระใหม่  พิมพ์ว่า "เชากรุง" ค่ะ   ไม่ใช่ "เขากรุง"   แต่ในเชิงอรรถ ไม่มีคำอธิบายคำนี้  ต้องตีความเอง
ดิฉันตีความว่า เชากรุง คือชาวกรุง    การสะกดยุคก่อนมีพจนานุกรมราชบัณฑิตมากำกับวิธีเขียน  สะกดกันตามใจชอบ ไม่มีหลักเกณฑ์แน่นอน 
บางทีก็สะกดตามเสียงที่ได้ยิน   เห็นทั่วไปในนิราศสุพรรณ   โคลงที่เอามาลงในกระทู้ ดิฉันเอามาสะกดใหม่ตามหลักปัจจุบัน เพื่อให้อ่านง่ายขึ้น
ขอให้สังเกตคำว่า "ชาว" เวลาเราพูดกันในประโยคยาว เรียก "ชาวบ้าน" " ชาวไทย" "ชาวจีน" เราไม่ได้ออกเสียงยาวว่า "ชาววววว"   แต่มักออกเสียงว่า "เชาบ้าน" "เชาไทย" "เชาจีน"  ค่ะ  ลองฟังการอ่านสารคดีทางทีวีก็ได้ว่าเขาอ่านกันยังไง
คำว่า "เขากรุง"  ไม่น่าจะมีนะคะ   เขาแห่งกรุง  ฟังแปร่งๆ  ถ้าเป็น "เจ้ากรุง" ละก็มีแน่ๆ

สมัยศึกษานิราศสุพรรณในชั้นเรียน  อาจารย์สอนว่า สุนทรภู่แต่งนิราศสุพรรณแบบแต่งกลอนที่ท่านถนัด   คือมีสัมผัสในเป็นคู่    แต่ว่าโคลงสี่สุภาพต่างจากกลอนตรงที่ว่า กลอนสุภาพถ้ามีสัมผัสในแพรวพราว จะฟังไพเราะ   แต่โคลง ถ้าสัมผัสมากๆ ไม่เพราะ  เอาแค่เอกเจ็ดโทสี่ตามกฎเกณฑ์ก็พอ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.ค. 07, 07:59
กลับไปคิดหาคำตอบอยู่นาน 
ถ้าสุนทรภู่แต่งเรื่องนี้ตอนท่านยังบวชเป็นพระ  เวลาผ่านวัดต่างๆ ท่านย้อนไปถึงความสัมพันธ์กับผู้หญิง   หมายความว่าอะไร
ถ้าเป็นพระ เห็นจะปาราชิกแน่   ไม่รอดมาแต่งโคลงนิราศสุพรรณอยู่ได้
เหลืออีกอย่างเดียวคือทบทวนความหลังครั้งหนุ่ม ไม่ได้บวช  แต่กำลัง in love  กับผู้หญิงคนเดียวหรือหลายคนก็ไม่แน่   ดูๆแล้วหลายคน
วัด ในสมัยโน้นเป็นแหล่งชุมนุมพบปะกันตามเทศกาลต่างๆ    ไปเล่นซักส้าวกับสาวในวัดเห็นจะเป็นตอนมีงานในวัด   ยื้อยุดฉุดกันจนสไบหลุดนี่ถ้าไม่เล่นกันในงานก็ต้องแอบไปเล่นกันสองคน
วัดแจ้งที่มีแม่นกน้อยเข้ามาเป็นตัวเกี่ยวข้อง  น่าจะแปลได้ว่าเคยไปเป็นลูกศิษย์หลวงพ่ออยู่ที่นั่น   เขียนเพลงยาวถึงผู้หญิง และอาจจะเคยพาเข้ามาหนุงหนิงกันในเขตวัดด้วย


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ก.ค. 07, 18:39
นิราศสุพรรณเป็นเรื่องที่อ่านยากกว่านิราศเรื่องอื่นๆของสุนทรภู่    มีเหตุผล ๒ อย่าง๑   ฉบับที่อ่านกันอยู่ ไม่ว่าหนังสือหรือในเน็ต  ล้วนแต่ยังไม่ได้ชำระ ให้เป็นตัวสะกดแบบปัจจุบัน
เวลาอ่านต้องนึกอีกทีว่า เดี๋ยวนี้เขาเขียนกันว่ายังไง  ถ้าไม่มีหนังสือที่กรมศิลปากรทำเชิงอรรถไว้ให้อ่านเป็นคู่มือ ก็อาจจะเข้ารกเข้าพงไปง่ายๆ
ใครจะไปนึกว่า สุรธร  อ่านและหมายความว่า สุนทร
๒    นิราศสุพรรณ มีเอกโทษโทโทษพราวไปหมด   เป็นสิ่งที่ไม่ค่อยเจอในบทกวีเรื่องอื่นๆ   
ตอนเรียนแต่งโคลง อาจารย์สอนให้หลีกเลี่ยง เอกโทษและโทโทษ   นอกจากเลี่ยงไม่ได้จริงๆค่อยใส่    เพราะถือกันว่าถ้าแต่งเก่ง ต้องเอกโทตรงตามรูป
คนที่แต่งเอกโทษโทโทษมากๆ ถือว่ายังไม่เก่งเรื่องโคลง

นอกจากนี้ อีกข้อหนึ่งที่สงสัยเมื่ออ่านจากเนื้อความ  คือคิดว่านิราศสุพรรณฉบับที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯทรงได้มา  และพิมพ์แพร่หลายกันอยู่ทุกวันนี้  เป็นฉบับที่ขาดตอนต้นไป  ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์
เพราะบทแรกที่มี มาเริ่มเอานั่งเรือกลางคลอง   มาจากไหนก็ไม่บอก  จุดหมายและวันเวลาก็ไม่ระบุให้หมดจดอย่างในนิราศเรื่องอื่นๆ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 31 ก.ค. 07, 13:16
ขออภัยครับ หายไปหลายวัน

ยังหาเรื่องเขากรุงไม่เจอ อาจจะจำผิด เป็นความเข้าใจของผมเองตอนอ่านนิราศสุพรรณก็เป็นได้ครับ หลังจากมาอ่านทบทวนอีกหลายๆจุด คิดว่าเป็น เชากรุง อย่างที่คุณ pipat และอ.เทาชมพูว่าครับ

เมื่อเป็น เชากรุง แล้ว ก็ขอพาออกนอกลู่นอกทางเล็กน้อยตามวิสัยพวกชอบแวะครับ

ผมข้องใจเรื่องเสียง เอา กับ อาว มานานแล้ว เพราะคำที่เขียนในรูป เอา แต่ออกเสียงยาวแบบ อาว นั้นมีใช้กันอยู่หลายคำ ที่รู้จักกันดีคือคำว่า เข้า ที่เปลี่ยนรูปเป็น ข้าว เมื่อไม่ถึงร้อยปีมานี่เอง ชวนให้คิดว่าคำรูป เอา อื่นๆ ออกเสียงยาวเป็น อาว มาตั้งแต่เมื่อไหร่กัน

ผมลองทำสถิติการใช้คำ ชาว, เชา ในนิราศสุพรรณออกมาโดยพิจารณาจากคำสัมผัสได้ผลดังนี้ (ขอเขียนรูป ชาว ทั้งหมดนะครับ เพราะต้นฉบับเขียนปะปนกัน)
ชาว-เกล้า 1 ครั้ง
ชาว-เหล่า 5 ครั้ง
ชาว-ลาว 1 ครั้ง
เห็นได้ว่ามีการใช้สัมผัสกับทั้งคำรูปอาว(ลาว) และรูปเอา(เกล้า, เหล่า) น่าคิดว่าเป็นการใช้สัมผัสระหว่างสระเสียงยาวกับสระเสียงสั้นหรือไม่ เพราะค่อนข้างแปลกทีเดียวครับ ก่อนหน้านี้จำได้ว่าเคยมีผู้ตั้งกระทู้ในเรือนไทยเรื่องนี้มาแล้วแต่เป็นเสียง เอว กับ เอ็ว หรือ เอน กับ เอ็น ผมก็ไม่แน่ใจ ต้องลองกลับไปค้นดูครับ

อีกกรณีหนึ่งที่เป็นไปได้คือ ในยุคสมัยของกวี ก็อาจจะมีการออกเสียงคำรูป เอา หลายคำเป็นเสียง อาว อยู่แล้ว หรือไม่ก็ใช้ปะปนกันครับ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 31 ก.ค. 07, 14:05
เรื่องฉันทลักษณ์ในนิราศสุพรรณ ผมยังมองว่ากวีเป็นผู้เชี่ยวชาญ รู้จักโคลงเป็นอย่างดีครับ

ฉันทลักษณ์ที่ใช้ในนิราศสุพรรณนี้ เห็นได้ชัดว่ามีการคิดจนตกตะกอน สร้างเป็นรูปแบบเฉพาะขึ้นมาให้ต่างจากที่เคยแต่งกันมา
แต่เดิมโคลงจะมีสำเนียงโอ่อ่าขรึมขลัง แต่โคลงแบบนิราศสุพรรณนี้เป็นโคลงที่มีเสียงหวาน เป็นสำเนียงโคลงแบบใหม่ครับ
ที่สำคัญคือ โคลงนิราศสุพรรณเสียงไม่เพี้ยนครับ อันนี้สำคัญมาก

โคลงเก่าก่อนจินดามณี ที่รู้จักกันดีก็มีลิลิตพระลอพวกหนึ่ง กำสรวลสมุทรและทวาทศมาสพวกหนึ่ง และโองการแช่งน้ำอีกพวกหนึ่ง
เห็นได้ชัดว่าจินดามณีแต่งโดยยึดเอาโคลงแบบลิลิตพระลอเป็นอุดมคติ เป็นรากฐานสำคัญสำหรับโคลงยุคต่อๆมา

แต่โดยส่วนตัว ผมเชื่อว่าฉันทลักษณ์ก็เหมือนภาษา กฎเกณฑ์ต่างๆถูกเขียนตามหลังสิ่งที่คนใช้ โคลงที่เก่ากว่าลิลิตพระลอนั้น หากพิจารณาดูจะเห็นว่าออกนอกกรอบไปมาก

อันนี้นักวิชาการรุ่นหลังอธิบายเองเสร็จสรรพว่าเพราะเป็นโคลงดั้นจึงไม่เคร่งครัดกฎเกณฑ์ แต่อธิบายแบบชาวบ้านคือ กวีไม่ได้สนใจกฎเกณฑ์แบบที่อยู่ในจินดามณี ด้วยเหตุผลง่ายๆคือสมัยนั้นโคลงไม่ได้บังคับแบบนี้

โคลงสี่สุภาพเอกเจ็ดโทสี่เป็นเหมือนสูตรสำเร็จ ยิ่งถ้าใช้คำอื่นเป็นคำสุภาพได้ทั้งหมด มีแนวโน้มว่าเสียงจะไม่เพี้ยน แต่ก็เห็นบ่อยๆที่แต่งตามจินดามณีเป๊ะแต่ก็ยังอุตส่าห์เสียงเพี้ยนจนได้ แบบนี้ถือว่าแต่งได้ถูกต้องแต่แต่งไม่เป็นครับ

สูตรสำเร็จพวกนี้ บางสูตรก็ไม่ได้ใส่ไว้ในจินดามณี แต่คนหัดเขียนโคลงทุกคนต้องรู้จัก อย่างเรื่องตำแหน่งบังคับคำสุภาพ

ทั้งหมดนี้ เห็นได้ชัดว่ากวีนิราศสุพรรณไม่มีอะไรตกหล่น ทำได้ดีหมดทุกอย่าง และที่สำคัญ ยังไม่มีตรงไหนที่ออกนอกกรอบจินดามณีเสียอีกครับ กวีรู้จักโคลงแบบจินดามณีเป็นอย่างดีครับ

การใช้เอกโทโทโทษในนิราศสุพรรณจึงไม่ได้ใช้เพราะขาดฝีมือ แต่เป็นการใช้โดยแสดงเจตนาว่าไม่ยึดถือเรื่องที่ว่าใครใช้เอกโทษโทโทษคือแต่งโคลงไม่เก่ง

ดังนั้นนิราศสุพรรณอาจจะไพเราะหรือไม่ขึ้นอยู่กับอัตนิยมของผู้อ่าน แต่วัดด้วยข้อบ่งชี้ทางฉันทลักษณ์แล้ว ถือเป็นงานสร้างสรรค์ต่อยอดจากของเก่าครับ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ก.ค. 07, 14:51
ดิฉันเองก็เก็บเอาคำว่า เขากรุง และ เชากรุงไปคิดอยู่หลายวันเหมือนกันค่ะ คุณอาชาผยอง
ทบทวนหลายครั้งแล้ว คิดว่าเป็น เชากรุง มากกว่า เขากรุง  ถ้าแปลกลับเป็นอังกฤษ เขากรุง = mountain of a city หรือ a city-mountain  มันไม่น่าจะใช่
ส่วนทำไม เชา แทน  ชาว    ก็ได้แต่สันนิษฐานแบบนี้
๑) เรามักจะเข้าใจว่า ภาษาอังกฤษมี stress ของพยางค์ ในแต่ละคำ  แต่ภาษาไทยไม่มี   
แต่ที่จริงแล้ว ภาษาไทยก็มี stress  ดิฉันเคยไปอ่านภาษาไทยยาวๆให้อาจารย์สอนวรรณคดีฝรั่งฟัง    อาจารย์บอกว่าภาษาไทยเป็นภาษาที่ลง stress ตรงคำหลังกันมาก
เช่นคำว่า กรุงเทพ  คนไทยลง stress   คำว่าเทพ  ไม่ใช่ กรุง
คำสองพยางค์แบบนี้ ลง stress คำหลัง  เหมือนข้าวเจ้า  (ออกเสียงว่าเข้าจ้าว) ชาวบ้าน(ออกเสียงว่า เชาบ้าน)  น้ำแข็ง( ออกเสียงว่านั้มแขง)
แต่ถ้าพูดว่า ไปเปิดตู้เย็นดูซิ  น้ำแข็ง รึยัง   จะ stress ตรงคำว่า น้ำ  ออกเสียงยาวกว่า นั้ม ในคำข้างบน
การสะกด เชา กรุง  ก็คือสะกดตามออกเสียง   พบได้ในทั่วไปนิราศสุพรรณ  ที่อาลักษณ์ผู้จารึกลงในสมุดไทย(ไม่จำเป็นต้องเป็นกวี) เขียนตามเสียงที่ได้ยิน


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ก.ค. 07, 15:14
๒) กวีนิพนธ์ไทยแต่เดิม  มีเอาไว้เขียนอ่านกันเงียบๆ  หรือมีเอาไว้ออกเสียงดังๆ
ถ้าเป็นกลอนบทละครละก็  เอาไว้ออกเสียงดังๆแน่นอน   คือมีเอาไว้ร้อง    การสัมผัสต่างๆก็เป็นไปตามเสียงที่เปล่งออกมา
แต่โคลงสี่สุภาพนี่สิ  ดิฉันสงสัยว่ามีเอาไว้อ่านเงียบๆ  เพราะมีการบังคับ รูปวรรณยุกต์  ไม่ใช่บังคับเสียง     
การจะรู้ว่าแต่งถูกหรือผิด ก็ต้องดูจากที่เขียน  ไม่ใช่ได้ยินจากที่ฟัง
การแต่งโคลง ซึ่งเดิมเป็นส่วนหนึ่งของลิลิต  โคลงสี่สุภาพพัฒนามาจากโคลงดั้น น่าจะเอาไว้เขียน เป็นการเล่าเรียนเขียนอ่านของกุลบุตรไทย  จึงบังคับแบบแผนการแต่งจากสิ่งที่เห็น ไม่ใช่สิ่งที่ได้ยิน
เพื่อตรวจสอบว่าแต่งเป็นหรือเปล่า
ส่วนกลอน มาปรากฏเอาในตอนปลายอยุธยา   จากกลอนเพลงยาวบางบทที่รอดมาได้จากเสียกรุง
เข้าใจว่ากลอนคงพัฒนามาจากกาพย์ยานี ๑๑    ใช้ด้วยวัตถุประสงค์ "ไม่เป็นทางการ" นัก  เช่นในการเขียนไปเกี้ยวสาว

๓) รูปแบบกวีนิพนธ์ เกิดก่อนกฎเกณฑ์เสมอ    สมัยก่อนที่เราว่าไม่ค่อยจะตรงฉันทลักษณ์ เป็นไปได้ว่าเกิดก่อนการรวบรวมฉันทลักษณ์
หรือมิฉะนั้น ขอให้พิจารณาการออกเสียงในสมัยโน้นด้วย     ว่าแตกต่างจากยุคหลัง


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 31 ก.ค. 07, 15:27
ดูจากตัวสะกดที่ใช้ในฉบับอินเทอร์เน็ต เรียกได้ว่าปะปน เชา และ ชาว อย่างไม่มีระบบ แต่ถ้าดูจากคำสัมผัสแล้วก็ดูจะสอดคล้องกับที่อาจารย์พูดถึงครับ
คือมี ชาว เสียงยาวอยู่ที่เดียวคือ ชาววัง

ไหนๆก็ไหนๆ ผมเห็นนิราศสุพรรณใช้คู่สัมผัส เหล่า-ชาว มากผิดปกติ เลยไปทำสถิติเสียงของสองคำนี้ในงานร่วมสมัยอื่นๆดู ได้ผลดังนี้ครับ

นิราศเมืองแกลง
ชาว-สาว 3 ครั้ง
- อันนารีที่ยังสาวพวกชาวบ้าน
- เห็นสาวสาวชาวไร่เขาไถที่
- ดูหนุ่มสาวชาวบ้านรำคาญจิต
ชาว-เขา 1 ครั้ง
- อันพวกเขาชาวประโมงไม่โหย่งหยิบ
ชาว-เหล่า 1 ครั้ง
- บรรดาเหล่าชาวบ้านประมาณมาก
เหล่า-พร้าว 1 ครั้ง
- เป็นเนินสวนล้วนเหล่ามะพร้าวตาล
เหล่า-เจ้า 1 ครั้ง
- เห็นศาลเจ้าเหล่าเจ๊กอยู่เซ็งแซ่

นิราศพระบาท
ชาว-เขา 1 ครั้ง
- เครื่องโอสถชาวป่าเขามาขาย
เหล่า-เรา 1 ครั้ง
- อันพวกเราเหล่าเสวกามาตย์

นิราศภูเขาทอง
ชาว-เขม่า 1 ครั้ง
- ทั้งผัดหน้าจับเขม่าเหมือนชาวไทย
เหล่า-เต่า 1 ครั้ง
- เป็นเหล่าเหล่าแลรายทั้งซ้ายขวา

นิราศวัดเจ้าฟ้า
ชาว-เปล่า 1 ครั้ง
- ไม่ยิ่งยอดปลอดเปล่าเหมือนชาววัง
ชาว-ลาว 2 ครั้ง
- ถึงบ้านลาวเห็นแต่ลาวพวกชาวบ้าน
- ไม่เหมือนลาวชาวกรุงที่นุ่งลาย
ชาว-เหล่า 1 ครั้ง
- ไม่เหมือนเหล่าชาวสวนหวนรำลึก
ชาว-เบา 1 ครั้ง
- คารมมอญมิใช่เบาเหมือนชาวเมือง
ชาว-เรา 2 ครั้ง
- ผู้หญิงย่านบ้านเราชาวบางกอก
- แต่คนเราชาววังทั้งทวีป
ชาว-เขา 1 ครั้ง
- ก็เต็มโตชาววังเขายังกลืน
เหล่า-เขา 1 ครั้ง
- นกยางขาวเหล่านกยางมีหางเปีย

นิราศอิเหนา ไม่ปรากฎให้ตรวจสอบ

นิราศพระประธม
ชาว-สาว 1 ครั้ง
- ได้ครอบครองสองสาวชาวพิจิตร
ชาว-ราว 1 ครั้ง
- เหมือนโฉมงิ้วงามราวกับชาววัง
ชาว-จ้าว 1 ครั้ง
- ที่ท้ายบ้านศาลจ้าวของชาวบ้าน
ชาว-เฒ่า 1 ครั้ง
- แกล้งพูดพาตาเฒ่าพวกชาวบ้าน
เหล่า-เถา 1 ครั้ง
- พอสุดสวนล้วนแต่เหล่าเถาสวาด

นิราศเมืองเพชร
ชาว-สาว 3 ครั้ง
- ถึงเจ้าสาวชาวสวรรค์ฉันไม่อยู่
- เห็นหนุ่มสาวชาวบุรินสิ้นทั้งปวง
- ช่างไม่ผิดเสียงสาวชาวพริบพรี
ชาว-เช้า 1 ครั้ง
- นอนค้างคืนตื่นเช้าเห็นชาวเมือง
เหล่า-เขา 1 ครั้ง
- เสียงชะนีที่เหล่าเขายี่สาน
เหล่า-เจ้า 1 ครั้ง
- ได้ตอบต่อล้อเหล่าเจ้าทับทิม
เหล่า-สาว 2 ครั้ง
- โอ้สงสารหลานสาวเหล่าข้าหลวง
- ปะแต่เหล่าสาวแซ่ห่มแพรสี
เหล่า-เมา 1 ครั้ง
- พวกขี้เมาเหล่าประสกตลกโลน

รำพันพิลาป
ชาว-สาว 1 ครั้ง
- จะสั่งสาวชาวบางกอกข้างนอกใน
ชาว-อิเหนา 1 ครั้ง
- ไปเกาะที่อิเหนาชาวชวา

นิราศเืดือน (นายมี)
ชาว-เล่า 1 ครั้ง
- ใครจะอดได้เล่าพวกชาวเรา
ชาว-ลาว 1 ครั้ง
- เขมรลาวชาวพม่าแลรามัญ

นิราศพระแท่นดงรัง (นายมี)
ชาว-เกล้า 1 ครั้ง
- พระคุณเคยปกเกล้าชาวบูรี

ดังนี้ครับ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ก.ค. 07, 15:35
คุณอาชา ดิฉันเข้าใจว่านิราศเรื่องอื่นๆ ตัวหนังสือที่เราเห็นมานี้  กรมศิลปากรชำระใหม่หมดแล้ว ให้เป็นภาษาอย่างที่เราใช้กันในรัชกาลนี้นะคะ
จึงอ่านได้ง่าย
ผิดกับนิราศสุพรรณ ยังหลงเหลืออยู่เล่มเดียว ที่คุณธนิต อยู่โพธิ์ชำระไว้ในรูปของเชิงอรรถ    ถ้าหากว่าเอาลงในเน็ต ไม่มีเชิงอรรถอันนั้นกำกับอยู่ ก็อ่านแบบที่เขียนลงในสมุดไทย   แทบไม่รู้เรื่องเลยละ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 31 ก.ค. 07, 15:52
เรื่องการบังคับวรรณยุกต์๋ที่รูปหรือเสียงอันนี้คงพิสูจน์ยากครับ

เรื่องโคลงถูกผิดบังคับที่รูป อันนั้นจริงครับ คือโดนบังคับด้วยตำรา แต่คนเล่นโคลงทุกคนรู้ดีว่าเสียงโคลงมีความสำคัญไม่น้่อยกว่ารูป บางสำนักถึงกับบอกว่าถ้ารูปต้องผิดเพื่อรักษาเสียงก็ต้องยอม เพื่อรักษาเสียงโคลงไว้ก่อน แต่ส่วนมากแล้วจะไม่ค่อยมีใครกล้าเสี่ยง ต้องพยายามให้ได้ทั้งรูปและเสียงพร้อมๆกัน

โคลงเก่าอย่างโคลงกำสรวล ไม่ได้มีปัญหาเรื่องเอกโทษโทโทษ แต่เป็นเรื่องละเลยบังคับตำแหน่งเอกและโทบางตำแหน่ง(ถ้าอิงจินดามณี) แต่ก็มีบางตำแหน่งที่เคร่งครัด เพราะเป็นตัวกำหนดเสียงโคลงที่สำคัญ (ถ้ามองอีกแง่หนึ่งคือ ตอนนั้นเสียงวรรณยุกต์ไม่ซับซ้อนเท่าสมัยหลัง เข้าใจว่าวรรณยุกต์ตรีและจัตวายังไม่มีใช้)

เรื่องนี้คุณคมทวน คันธนูเคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า ตำแหน่งโทนั้นสำคัญ และตำแหน่งเอกบางตำแหน่งก็สำคัญ แต่ก็ละไว้ไม่พูดถึงว่าตำแหน่งเอกที่เหลือเป็นอย่างไร

ก็คงเห็นได้จากในกำสรวลฯนี่แหละครับ บังคับไม่ได้ตามฉันทลักษณ์แต่เสียงไม่เพี้ยน เป็นอย่างนี้แหละครับ

(กำลังจะโพสต์ พบว่าความเห็นชนกับอาจารย์ู ขอเติมอีกนิดครับ)

ผมคัดเอาเฉพาะคำที่มีสัมผัสไว้อ้างอิงเพื่อเทียบเสียงกันได้ พวกอยู่ลอยๆไม่ได้เอามาครับ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 31 ก.ค. 07, 18:09
"คำว่า เข้า ที่เปลี่ยนรูปเป็น ข้าว เมื่อไม่ถึงร้อยปีมานี่เอง"
ผมไม่เรียกว่าเป็นการเปลี่ยนรูปนะครับ ผมเรียกว่าเลอะเทอะ เละเทะ อวดดี อวดเก่ง...
อาจจะแถมอะไรอีกหลายคำ ถ้าไม่เกรงใจว่านี่เป็นเวบวิชาการ
เรื่องมันมาจากหนุ่มสามสิบปลายคนหนึ่ง ทักว่า เข้า และ ข้าว ควรจะออกเสียงต่างกันนา....
แกทัก เพราะแกลืมไปแล้วว่า เข้า น่ะมี
แต่ข้าววววววววววววววววววววววว...น่ะไม่มี
ภาษาไทยแท้ไม่รู้จัก แต่ภาษาไทยสมัยละคอนร้อง อาจจะรู้จัก เพราะมียี่เกเข้าวงมาแยะ

คนหนุ่มวัยสี่สิบเศษ ได้ทราบความเห็น ก็ชอบ คิดว่ามีเหตุผลน่ารับได้
นี่ล่ะหลักประสาตายฉบับสร้างชาต
บังเอิญแกเป็นกำมะกานอะไรสักอย่างเกี่ยวกับภาษาของประเทศเสียมกุก
แกก็เอาเข้าที่ประชุม ข้างที่ประชุมกำลังอยากจะเลิกประชุมไปถองยาดอง
ก็เลยรับส่งๆไปทั้งก๊วน บอกว่าวี่เศษ ภาษาไทจาได้มีคำงอกให้ใช้เพิ่ม
จึงได้กระทำการบันจุคำเวียตศาสตร์นี่ในพจนานุกรมฉบับถั่วงอก

กลายมาเป็นปัญหาให้คุณเครซี่สงกะสัย
ไม่ต้องสงกะสัยเลยครับ
ข้าว....เป็นผลผลิตของวัฒนธรรมยัดเยียด คิดแทนโบราณ
คำที่ว่า เดกเจดเข้า เถ้าเจดสิบ
ก็เลยหาที่อยุ่มะด้าย

อพยพออกจากการขับไล่ไสส่งของคนที่คิดว่าตัวเองรู้หมดเจนจบวิชาสรรพะโลกานุโยค


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 31 ก.ค. 07, 18:15
แถมอีกคำที่รำคาณมาเกือบครึ่งศตวรรษแล้ว
เปน
ทำไมต้องเติมไม้ไต่คู้ด้วย เติมให้มันรกเล่นหรือไร
เขียน"เป็น" แต่ยังไงก็ต้องออกเสียงว่า "เปน"
กลัวไม้ไต่คู้ไม่มีงานทำหรือไร


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 ก.ค. 07, 18:22
"เป็น" กับ "เปน" ออกเสียงไม่เหมือนกันนะคะ    อย่างในคำว่า "เป็น "กับ "สเปน" ออกเสียงกันคนละอย่างเลยเชียว
ดิฉันรู้ว่า คำว่า "เป็น" เมื่อก่อนสะกดว่า "เปน" แต่ไม่รู้ว่าคนโบราณออกเสียงยาวหรือสั้น
ถ้าออกเสียงว่า "เปน "ก็ไม่ควรสะกด "เป็น" แต่ถ้าออกเสียงว่า "เป็น " อย่างเดี๋ยวนี้ออกเสียง เขาก็สะกดถูกแล้ว


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 31 ก.ค. 07, 18:39
ไม้ไต่คู้ใช้กำกับให้ออกเสียงสั้น

เปน ถ้าอ่านตามรูปก็ต้องเสียงยาวล่ะครับ แต่ก็น่าคิดว่าเขียน เปน ตามความนิยมและความสะดวก (ขี้เกียจใส่ไม้ไต่คู้) หรือว่าเมื่อก่อนคำนี้เคยออกเสียงยาวจริงๆ

อย่าง ข้าว นี่ผมไม่สงสัยเลยครับว่าคำเก่าต้องเป็น เข้า เสียงสั้นแน่นอน นายอะไรที่คุณ pipat พูดถึงแกคงจะมีความคิดว่าไหนๆก็ออกเสียงยาวเป็น ข้าว ไปแล้ว ก็น่าจะเขียนตามการออกเสียงไปเลย

ไม่แปลกที่แกจะต้องโดนคนด่าบ้างพอมันๆ แต่ผมขอไม่ร่วมวงด่าครับ เห็นใจ  ;D


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 01 ส.ค. 07, 01:39
เอ่อผมคิดว่าเป็น    คือ สระ เอะ+แม่กน
ส่วนคำว่า    เปน    คือ สระ เอ + แม่กน  หรือผมคิดผิดเนี่ย  แต่เวลาอ่านคุณครูให้ออกเสียงสั้นกว่าเสีย เอ นะครับ  มีคำบางคำที่ออกเสียงตามคำเขียนไม่ได้  เห็นทั่วไปออกเสียง  น้ำ   เป็น น้าม   ทุกที   ทั้งๆที่น่าจะออกเสียงว่า  นั้ม  แต่ถ้าออกแบบนี้คงฟังพิลึก
วัดหมูที่พูดถึงคงหมายถึง  วัดคอกหมู  ที่อยู่  ใกล้ๆโบ๊เบ๊  ใช่ไหมครับ  คลองนี้ใช่ไม๊ครับที่เรียกคลองมหานาค  ที่ลัดออกไปคลองผดุงกรุงเกษมที่ขุดขึ้นสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ ๔ 
ผมแวะมาดูบทวิเคราะห์นิราศสุพรรณคำโคลง  ของท่านอาจารย์เทาชมภู  กับ คุณพิพัฒน์  มีประเด็นเยอะและน่าฉงนกว่านิราศเมืองพริบพรีเสียอีก  คงจะทำใจลำบากแบบท่านอาจารย์เทาชมภูว่าล่ะครับ  ถ้าพระคุณเจ้าเล่นมาแต่งโคลงรำพันแต่เรื่องกามารมณ์แบบนี้  น่าจะเป็นคำสอนหรือให้แง่คิดมากกว่า  ไม่น่าจะเป็นพระภิกษุแต่งครับ  แต่ก็ไม่เคยอ่านพบเลยว่าท่านมหากวีจะบวชหลายหน  จะเป็นช่วงไหนล่ะครับที่มาแต่งโคลงนิราศเรื่องนี้  เพราะถ้าไม่เป็นพระภิกษุ  ก็คงต้องขัดกับประวัติศาสตร์ที่เคยร่ำเรียนมาว่า  แต่งเมื่อตอนจำอยู่ที่วัดเทพธิดาราม
พอดีเจอรูปคลองมหานาคสมัยก่อนครับเลยเอามาให้ชมเล่น........... :D


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ส.ค. 07, 09:51
เปน = สระเอ +แม่กน  คือ สระเสียงยาว บวก ตัวสะกด  ต้องออกเสียงเป็นเสียงยาว ค่ะ  ไม่ใช่เสียงสั้น
ถ้าเป็นอย่างที่คุณ Bana ว่ามา ครูของคุณก็สอนผิด
ลองเทียบดูนะคะ    เอะ + แม่กง    =  เอ็ง     (เอ็งกับข้า)
                           เอง+ แม่กง    =  เอง      (กันเอง)
ออกเสียงคนละอย่างเลย
ไม่งั้นเขาจะมีสระเสียงสั้นกับยาวไว้จำแนกความแตกต่างกันทำไม
น้ำ   ที่ออกเสียงยาว เป็นน้าม   สังเกตว่า ไม่ได้สะกดตั้งแต่แรกว่า นั้ม   ทำให้คิดว่า
น้ำที่สะกดด้วย  สระ อำ   เดิมคงไม่ได้ออกเสียงสั้น   
ถ้าเราจะดูว่าคำว่า น้ำ เดิมออกเสียงแบบไหน เห็นจะต้องไปค้นดูจากภาษาท้องถิ่น ซึ่งยังเหลือร่องรอยการออกเสียงแบบเดิมอยู่ ว่ามีการออกเสียงคำนี้อย่างไร
เอาละค่ะ พลัดออกเส้นทางนิราศสุพรรณมาสู่ภาษาศาสตร์กันยาวหลายค.ห.แล้ว เดี๋ยวหาเส้นทางกลับไปเจอ
ดิฉันจะกลับสู่เส้นทางละค่ะ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 01 ส.ค. 07, 10:19
วัดนั้นละครับคุณ Bana
เป็นวัดที่ลี้ลับและเล็กกระจ้อยร่อย จนยากจะเชื่อว่าท่านสุนทรภู่เคยมาจำพรรษา
มีรูปมาอวดบ้างไหมครับ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ส.ค. 07, 14:46
แกะรอยประวัติส่วนตัวของกวีเจ้าของนิราศสุพรรณ ต่อ
สังเกตว่า  บอกไว้ในหลายโคลงถึงตัวเอง ว่าไม่ใช่ชาวบ้านร้านถิ่นธรรมดา  แต่เป็นขุนนางระดับไม่เบาในแผ่นดินก่อน  ขนาดมีที่ดินหลวงพระราชทานให้อยู่  ก็น่าจะรวมความว่ามีบ้านหลวงด้วย
ที่ดินนั้นอยู่ที่ท่าช้าง นอกกำแพงพระบรมมหาราชวัง  ต้องเป็นขุนนางวังหลวง   มีทั้งบ้านหลวง  และภรรยาอยู่ในบ้านด้วยกัน
มาถึงแผ่นดินนี้บ้านก็ไม่มีแล้ว   ภรรยาก็ไม่อยู่ด้วยกันอีก

ท่าช้างหว่างค่ายล้อม                        แหล่งสถาน
ครั้งพระโกศโปรดประทาน                  ที่ให้
เคยอยู่คู่สำราญ                                ร่วมเหย้า เจ้าเอย
เห็นแต่ที่มิได้                                   พบน้องครองสงวนฯ
 
ซ้ำตอนเด็กก็เป็นเด็กชาววังหลังอีกด้วย  เรียกว่าเป็นชาววัง อยู่มา ๒ วังทีเดียว ตั้งแต่ยังเล็กมาจนหนุ่ม และเป็นผู้ใหญ่
วังหลังครั้งหนุ่มเหน้า                          เจ้าเอย           
เคยอยู่ชูชื่นเชย                                 ค่ำเช้า
ยามนี้ที่เคยเลย                                  ลืมพักตร์ พี่แฮ
ต่างชื่นอื่นแอบเคล้า                            คลาศแคล้วแล้วหนอฯ
ข้อความตอนนี้ตรงกับพระวินิจฉัยประวัติสุนทรภู่ โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ   มีทางคิด ๒ ทาง
คือ
๑) ทรงตรวจสอบประวัติจากที่พระยาปริยัติธรรมธาดารวบรวมไว้ก่อน   แล้วเห็นว่ารับกับที่เจ้าของโคลงบอกไว้    จึงทรงเชื่อว่านิราศสุพรรณเป็นฝีมือแต่งของสุนทรภู่
หรือ
๒) ทรงเจอนิราศสุพรรณก่อน   ยังไม่รู้ว่าใครแต่ง แต่เมื่อจับความที่ผู้แต่งเล่าถึงตัวเอง  ก็ไปตรงกับประวัติของสุนทรภู่ที่พระยาปริยัติฯรวบรวมไว้บางส่วน
จึงทรงสรุปว่านิราศสุพรรณเป็นผลงานของสุนทรภู่
จะเป็นข้อไหนก็ตาม    ก็มีหลักฐานอีกสองสามอย่าง ที่จะเล่ากันต่อไป

ข้อสังเกตอีกหนึ่งอย่างก็คือ  ดิฉันไม่คิดว่าเจ้าของนิราศสุพรรณจะ"กุ"เรื่องเกี่ยวกับตัวเองขึ้นมา     ถ้าไม่ได้เป็นอะไรอย่างที่คุยไว้ เช่นไม่เคยเป็นขุนนาง ไม่เคยมีที่ดินพระราชทานให้ปลูกบ้าน  ไม่เคยเลิกกับเมียที่ชื่อแม่จัน   
ก็คงไม่ประหลาดพอจะบรรยายเป็นคุ้งเป็นแคว  ในเรื่องไม่จริง  เพราะมันไม่ได้อะไรขึ้นมา
จะหลอกใครก็ไม่ได้ เพราะนิราศเรื่องนี้ ไม่ได้แต่งขึ้นเพื่อสวมรอยแอบอ้างเป็นสินค้าก๊อปแบรนด์เนมสุนทรภู่   
สมัยรัชกาลที่ ๓ ยังไม่มีสินค้าก๊อป  มีแต่เลียนแบบที่เราเรียกว่า เดินตามรอยครู อย่างนายมีแต่งตามรูปแบบกลอนสุภาพของสุนทรภู่ ก็ยึดเพียงรูปแบบ
แต่ถ้านายมีเล่าประวัติตัวแกเอง  แกก็เล่าตามประวัติแก  แกย่อมไม่เอาประวัติสุนทรภู่มาแต่งว่าเป็นของแก

นิราศสุพรรณ จะแต่งโดยใครก็ตาม  แต่เรื่องนี้เล่าชีวิตของผู้แต่งตามข้อเท็จจริง    ไม่ได้ปั้นน้ำเป็นตัว   เพราะไม่มีเหตุผลที่จะทำเช่นนั้น
ส่วนแต่งเมื่อเป็นพระ หรือเป็นฆราวาส  เดี๋ยวค่อยๆแกะรอยกันต่อไปค่ะ
 


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 ส.ค. 07, 19:30
ลืมถามไป คุณพพ.มีความเห็นว่ายังไงบ้างคะ?

มาพูดถึงความผูกพันระหว่าง "วัง" กับกวี    ในนิราศ  กวีเคยอยู่วังหลังมาก่อนตั้งแต่ยังเยาว์ บอกไว้ถึง ๒ บทโคลงด้วยกัน
แต่ไม่มีการเอ่ยถึงเจ้าของวัง   ไม่ถวายพระพร  ไม่แสดงความโศกเศร้าอาลัย   ทั้งที่ก็บอกไว้ว่าอยู่ยาวนานตั้งแต่เด็กจนเป็นหนุ่ม  เคยมีเมียก็ในวังหลังนี่แหละ
ก็ต้องเป็นระยะเวลายาวนานกว่า ๑๐ ปี
แต่กวีไม่เอ่ยถึงกรมพระราชวังหลัง และไม่เอ่ยถึงเจ้านายวังหลังที่ย่อมจะเป็นเจ้านายองค์แรก
เป็นได้ว่านิราศเรื่องนี้  แต่งเมื่อ
๑) กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข วังหลัง สิ้นพระชนม์ไปนานแล้ว
๒) เจ้านายที่เคยชุบเลี้ยงก็สิ้นพระชนม์ไปนานแล้วอีกเหมือนกัน
๓) หรือ กวีไม่มีความผูกพันกับเจ้านายวังหลัง   
ผิดกับเจ้าแผ่นดินทั้งสองพระองค์  ในรัชกาลก่อนและรัชกาลปัจจุบัน ที่เอ่ยถึงด้วยความยกย่อง
ตั้งข้อสังเกตว่า กวีผู้เขียนนิราศเมืองเพชร และนิราศสุพรรณ ไม่มีน้ำเสียงน้อยอกน้อยใจแอบแฝงอยู่บ้าง เมื่อกล่าวถึงรัชกาลที่ ๓ เลย
กลับแสดงความเต็มอกเต็มใจ ถวายพระพรถึง ๑ โคลงเต็มๆเท่ากับแสดงความอาลัยในรัชกาลที่ ๒
     อีกองค์มงกุฎเกล้า             เชากรุง
สืบกษัตริย์ขัตติยบำรุง             รอบแคว้น
ถวายพระอนิสงส์ผดุง              พระเดชเฟื่อง กระเดื่องเอย
สิ่งโศกโรคเรื่องแค้น               ขจัดพ่ายวายเขนฯ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 01 ส.ค. 07, 20:26
กำลังสนุก อาจารย์ถอดความได้แจ่มแจ้งดีจริงๆ
ช่วยให้เห็นบทกวีเป็นสามมิติ

ขอฟังก่อนครับ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 02 ส.ค. 07, 00:44
ก็ถูกแล้วนี่ครับท่านอาจารย์ 
เป็น  คือ  เอะ+กน
เปน  คือ  เอ+กน
ผมเห็นด้วยกับคุณพิพัฒน์ครับ  ท่านอาจารย์ละเอียดอ่อนในทุกอณูของบทกวี  มันทำให้เราเห็นภาพได้ชัด   ชัดมากกว่าที่คนออกจะแข็งกระด้างแบบผมจะมองเห็นในหลายๆเหลี่ยมมุม  เพลินครับและได้เห็นมุมมองใหม่ๆไปด้วย

รูปวัดสิตารามเก่าๆพอหาได้แค่นี้ล่ะครับ  สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๓๔๐ เดิมชื่อ "วัดคอกหมู" เพราะทางราชการได้ต้อนหมูมารวมไว้ ณ ที่แห่งนี้ โดยกั้นเป็นคอก ๆ จำนวนมาก ต่อมาพระมหาสมณเจ้ากรมวชิรญาณวโรรสสมเด็จพระสังฆราชเจ้าทรงเปลี่ยนนามเป็น "วัดสิตาราม"


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ส.ค. 07, 09:07
ส่วนคำว่า    เปน    คือ สระ เอ + แม่กน  หรือผมคิดผิดเนี่ย  แต่เวลาอ่านคุณครูให้ออกเสียงสั้นกว่าเสีย เอ นะครับ   
หมายความว่าคุณครูออกเสียงผิดค่ะ  เปน  ออกเสียงสั้นกว่า เอ คือ เอะ ไม่ได้ ต้องออกเสียงยาว ถ้าออกเสียงตามตัวสะกด
แต่ถ้าสะกดอย่าง ออกเสียงอีกอย่างนี่ ช่วยไม่ได้ เพราะไม่ตรงตามหลักเกณฑ์อยู่แล้ว  จะคิดจะแหวกหลักเกณฑ์ออกไป ทำยังไงก็ได้ทั้งนั้น
ดิฉันอ่านที่คุณเขียนมาผิดหรือเปล่าไม่ทราบ   แต่คุณเขียนมาแบบนี้ก็ตีความอย่างนี้ละค่ะ

กลับมาเรื่องผู้แต่งนิราศสุพรรณกับเจ้านาย
ในกรณีที่เชื่อว่าสุนทรภู่แต่งนิราศเรื่องนี้ อย่างที่เราเชื่อกันมา    ก็คงจะเชื่อต่อไปถึงตำนานว่าด้วยเรื่องขัดแย้งระหว่างสุนทรภู่กับรัชกาลที่ ๓ เมื่อครั้งยังทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  เรื่องท้วงกันเรื่องกลอนสังข์ทองหน้าพระที่นั่ง
จนเมื่อกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ขึ้นครองราชย์ สุนทรภู่ก็ต้องบวช หลบหนีราชภัย บ้านช่องก็ถูกยึดหมด
จึงอาจจะมีคนเข้าใจว่า ในนิราศสุพรรณหรือเรื่องไหนๆก็ตาม   ถ้าสุนทรภู่เอ่ยถึงร. ๓ อย่างเคารพนบนอบ ก็เป็นเรื่องธรรมดา   
ขืนแต่งหนังสือแล้วไม่เอ่ยถึงสิ อาจจะไม่สบพระราชอัธยาศัย  โดนกริ้วหนัก คราวนี้หัวขาดก็ได้
ทั้งหมดนี้ มูลเหตุมาจากเราเชื่อตำนานนี้    แต่ถ้าตัดเรื่องตำนานออกไป เหมือนไม่เคยรู้มาก่อน   
ดูจากตัวนิราศล้วนๆ  และบวกพื้นหลังทางประวัติศาสตร์อีกหน่อย  จะได้คำตอบแตกต่างกันออกไปอีกทาง
๑) ดิฉันดูจากนิสัยกวีผู้แต่งนิราศสุพรรณ ตามที่แสดงออกในโคลงต่างๆ    ดูท่านจะเป็นคนที่เอาอารมณ์ตัวเองขึ้นเป็นศูนย์กลางก่อน แล้วเอาสถานที่ต่างๆที่เห็น มาโยงเข้ากับอารมณ์ส่วนตัวอีกที
เรื่องราวของสถานที่นั้นเป็นไง ถ้าไม่เกี่ยวกับความผูกพันส่วนตัวแล้วไม่สนใจเอ่ยถึงเลย
ผ่านวัดสระเกศ   โยงเข้ากับศพแม่ที่บรรจุอยู่ที่นั่น จบ
พูดถึงศาลาท่าน้ำวัดไหนไม่รู้   เคยมาเล่นซักส้าวกับสาว
ผ่านวัดแจ้ง เคยจีบแม่นกน้อย เคยส่งเพลงยาวให้
ทั้งๆวัดสระเกศและวัดแจ้งก็เป็นวัดสำคัญในประวัติศาสตร์    ท่านก็น่าจะจำได้ดีกว่าพวกเราที่อยู่รุ่นหลังมาร่วม ๒๐๐ ปีเสียอีก     ว่าควรมีอะไรให้เอ่ยถึงบ้าง
นายมีผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง ขนาดผ่านวังหลัง ซึ่งเป็นวังร้างแล้วในตอนนั้น  ตัวเองก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วย  ยังอุตส่าห์รำลึกถึงเจ้านายวังหลังสามพระองค์ที่เคยเป็นนักรบเอกมาก่อน
ถึงวังหลังเป็นวังสงัดเงียบ                เย็นยะเยียบโรยรานิจจาเอ๋ย
แต่ก่อนเปรื่องเฟื่องฟ้าสง่าเงย            พระคุณเคยปกเกล้าชาวบุรี
สามพระองค์ทรงชำนาญในการศึก       ออกสะอึกราญรบไม่หลบหนี
แต่ครั้งพวกพม่ามาราวี                       พระต้อนตีแตกยับอัปรา
ทุกวันนี้มีแต่พระนามเปล่า                   พระผ่านเกล้านิพพานนานหนักหนา
เสียดายองค์พงศ์กษัตริย์ขัตติยา           ชลนานองเนตรสังเวชวัง

นายมีเห็นวังร้างโรยรา ก็ถึงกับน้ำตาตก   แต่กวีของเราผู้เคยอยู่วังหลังมาตั้งแต่เด็กจนหนุ่ม   ไม่ได้รู้สึกอะไรกับวังเลย   แต่ไปรู้สึกกับสาวชาววังที่เคยครองคู่กัน   
ก็สะท้อนว่า ท่านกวีของเรานั้นจะแต่งอะไรลงในนิราศ   โฟกัสลงไปที่อารมณ์ส่วนตัว  ไม่ใช่อารมณ์ส่วนรวมอย่างนายมีผู้เป็นศิษย์สุนทรภู่
ถ้าหากว่าไม่มีอารมณ์ผูกพันส่วนตัวกับสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ   ท่านเว้นไปเฉยๆ หรือเอ่ยถึงสักคำสองคำ ตามมารยาทก็ย่อมไม่มีใครว่าได้       
แต่นี่ท่านสรรเสริญพระเกียรติเต็มปากเต็มคำ   ก็น่าจะแสดงได้ว่า ผู้แต่งไม่มีอารมณ์ในทางลบ  ไม่ว่าน้อยอกน้อยใจ  กลัวเกรง   จำใจกับพระเจ้าแผ่นดิน


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ส.ค. 07, 09:33
๒) เมื่อให้เหตุผลถึงตรงนี้  อาจมีคนค้านว่า เขียนนิราศ ถ้าผ่านวัด ไม่ให้นึกถึงความหลังแล้วจะให้นึกถึงอะไรล่ะ
โอ๊ย เยอะแยะ
ยิ่งถ้าคนแต่งเป็นพระ  ผ่านวัดนั้นวัดนี้ที่เคยอยู่มาก่อน   ยิ่งมีเรื่องให้นึกออกถมเถ เพราะวัดในสมัยนั้นเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมประเพณีการดำเนินชีวิตของไทย   ผ่านวัดสระเกศนึกถึงทอดกฐิน ทอดผ้าป่า   ผ่านวัดแจ้งนึกถึงงานเข้าพรรษา งานแข่งเรือ   ผ่านวัดนั้นนึกถึงสงกรานต์ วัดนี้นึกถึง...มีทั้ง ๑๒ เดือนนั่นแหละที่จะนึกถึงได้  แต่งแทบไม่ไหวเสียอีก
ไม่เห็นจะต้องนึกถึงแต่สาว ที่เคยจีบกันมาในวัด      ออกจะล่อแหลมต่อสภาวะภิกขุเสียด้วยซ้ำ
นอกจากท่านจะเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับอารมณ์ส่วนตัว มากกว่าจะไปแคร์เรื่องชาวบ้านอย่างคนอื่นแต่ง
ถ้าท่านไม่มีความรู้สึกดีๆต่อร.๓   ท่านคงไม่เขียนถึงอย่างเต็มปากเต็มคำ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 02 ส.ค. 07, 09:52
มาสมัครเป็นลูกหาบครับ
ถอดความและตีความได้แจ่มแจ้งจริงๆ ขอวันทางามๆสามครา

ผมเองนั้น ออกจะ"เกลียด" กวีท่านที่แต่งนิราศสุพรรณนี้เสียด้วยซ้ำ
เคยเรียนอาจารย์ไว้ว่า นิสัยแกไม่เหมือนท่านสุนทรฯ โดยเฉพาะเรื่องการแทรกคติและคำสอน
กว่าจะเจอก็โน่น...ควายลากเกียนหรืออะไรนั่น นานจนลืม
แถมยังเป็นคำสอนที่แห้งแล้งด้วย

แต่ประเด็น self centre นี่ อาจารย์ชี้ได้แดงแจ๋เลยครับ เป็นปมที่น่าสางต่อ
รอฟังตอนต่อไป....อย่างหิวกระหาย


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ส.ค. 07, 10:18
กินยาเข้าไปอีก ๑ กำมือก่อนกลับมาอีกครั้ง  ตามคำเรียกร้อง
๓) ใครก็ตามที่เชื่อว่าสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ กริ้วสุนทรภู่ต่อเนื่องมาจากแผ่นดินก่อน จนริบบ้านช่องของหลวงคืน   ตัวท่านกวีเองก็ตกยาก ต้องบวชหนีภัยหัวซุกหัวซุน
อาจจะลืมไปว่า ถ้าพระเจ้าแผ่นดินทรงชังน้ำหน้าขุนนางคนหนึ่งถึงขนาดนั้น   ทั้งวังย่อมไม่มีใครกล้าข้องแวะกับแกเป็นแน่
แต่แกก็ได้เป็นอาจารย์ถวายพระอักษรเจ้าฟ้าถึง ๓ พระองค์    เจ้าฟ้านั้นก็ไม่ใช่ใคร น้องเล็กๆของพระเจ้าแผ่นดิน โดยตรง   
เมื่อบวชก็ได้อยู่วัดใหญ่ๆ อย่างวัดเทพธิดา ที่ทรงสร้างให้พระราชธิดาพระองค์โปรดด้วยซ้ำ   เคยอยู่วัดโพธิ์ของกรมสมเด็จพระปรมาฯ เจ้านายชั้นผู้ใหญ่
แสดงว่าเป็นพระที่โอ่อ่าเอาการรูปหนึ่ง  สมศักดิ์ศรีว่าเป็นขุนนางมาก่อน
ถ้าจะมีเรื่องต้องระเหเร่ร่อนออกนอกวัด ก็น่าจะมาจากมูลเหตุส่วนตัวที่เกิดขึ้นระหว่างเป็นพระ
ไม่ใช่ว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงตามราวี    เพราะถ้าเป็นข้อขัดแย้งกันขนาดนั้น  กวีน่าจะไม่ได้เข้าบวชในวัดเสียแต่แรก
ถ้าบวชก็ไปแอบอยู่ในวัดคอกหมูจนสิ้นรัชกาล  เห็นจะเป็นไปได้มากกว่า
๔) โดยพระนิสัยของสมเด็จพระนั่งเกล้า  ตามหลักฐานที่บันทึกกันมาอย่างเป็นทางการ ไม่ใช่เล่าลือ
เป็นผู้ที่โปรดเรื่องทะนุบำรุงศาสนา อย่างที่นายมีบรรยายไว้ว่า "ทูลเรื่องอื่นมิได้ชื่นเหมือนเรื่องวัด"     มีน้ำพระทัยนอบน้อมต่อภิกษุ  จะเล่นตะกร้อหรือทำอะไรห่ามๆในวัดบ้างก็ไม่ทรงถือสา    ขอแต่อย่าถึงขั้นปาราชิก
ในเมื่อบุคคลหนึ่งเป็นผู้ยึดถือศาสนาแน่นแฟ้นขนาดนี้ เรื่องจะตามอาฆาตเล่นงานขุนนางของสมเด็จพระราชบิดาให้บอบช้ำตกระกำลำบากเจียนตาย เห็นจะขัดแย้งกับพระนิสัยแน่นอน
พระนิสัยนั้นไม่ยึดถือเรื่องส่วนตัวเท่าการแผ่นดินอยู่แล้ว  ดูจาก"เงินถุงแดง" ก็เห็นชัด   ขนาดสมาชิกราชสกุลรัชกาลที่ ๓ เคยประกาศอย่างภาคภูมิใจว่า สายรัชกาลนี้จนที่สุดในบรรดาราชสกุลจักรีทั้งหมด  เพราะต้นสายสกุลท่านยกมรดกให้แผ่นดิน ไม่ให้ลูกหลาน
เพราะฉะนั้นจะใส่พระทัยอะไรกับขุนนางเล็กๆคนหนึ่งที่เผอิญเป็นอาลักษณ์ของพระราชบิดา เคยหมอบเฝ้าบันทึกขีดๆเขียนๆใกล้ชิดเวลาทรงกลอนมาก่อน
จบแผ่นดินที่สอง  การกวีที่เฟื่องฟูก็ฟุบลง    ขุนนางก็ตกงาน   ออกบวช บ้านก็ตกทอดต่อไปเป็นของคนอื่นเป็นธรรมดา  เพราะพระราชทานให้เฉพาะกิจ ไม่ได้เป็นของสืบมรดกกันได้
ส่วนเรื่องจารึกวัดพระเชตุพนที่ไม่มีสุนทรภู่ไปมีส่วนเขียนกับเขาด้วย      ไม่ว่าเป็นเพราะมัวไปอยู่หัวเมืองหรืออะไรก็ตาม
มันก็มีเหตุผลชัดๆว่า จารึกเหล่านั้นเขียนเพื่อเป็นวิชาการ รวบรวมความรู้  เป็นบทเรียนให้ศึกษา     ไม่ใช่เพื่อความบันเทิงเป็นหลัก 
ผลงานเรื่องแต่งของสุนทรภู่นอกจากกาพย์พระไชยสุริยาแล้ว  ออกแนวเรื่องบันเทิง ไม่สอดคล้องกับตำรับตำรา
แม้แต่พระไชยสุริยา ก็อดไม่ได้ ที่จะ ขึ้นกดบทอัศจรรย์...เอาไปจารึกที่วัดโพธิ์ไหวหรือคะ
ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้  จึงมองไม่เห็นความขัดแย้งใดๆระหว่างสมเด็จพระนั่งเกล้าฯกับสุนทรภู่ สะท้อนออกมาในนิราศสุพรรณ หรือเรื่องอื่น
ถ้ามีก็มีในเรื่องเล่านอกหนังสือ   จริงเท็จไม่รู้  รู้แต่ว่าในหนังสือ ไม่มีร่องรอยให้แกะได้เลย


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 02 ส.ค. 07, 11:07
เมื่อคืนนี้ผมเปิด Google Earth นั่งไล่เส้นทางนิราศสุพรรณตั้งแต่ต้นจนจบ ถึงบางช่วงจะงงๆอยู่บ้างแต่ก็สนุกสนานดีมากครับ
เรื่องกวีนิราศสุพรรณเป็นบรรพชิตหรือฆราวาส ตอนนี้มีคำตอบของตัวเองอยู่ในใจแล้ว
รอความเห็นของอาจารย์ก่อนครับ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ส.ค. 07, 11:45
ทำแผนที่มาฝากกันบ้างสิคะ อยากเห็น ได้เห็นภาพชัดขึ้น
ดิฉันยังไม่มีคำตอบเลยค่ะว่ากวีเป็นพระหรือชาวบ้านขณะแต่งเรื่องนี้  ตามแกะรอยไปเรื่อยๆ ยังไม่ตกลงปลงใจว่าเป็นอย่างไหนกันแน่  กลัวตัวเองลำเอียง
คุณอาชาฯได้คำตอบก่อนหน้าแล้ว  วิ่งเข้าเส้นชัยไปก่อน


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ส.ค. 07, 14:06
เลี้ยวทางบางกอกน้อย                 ลอยแล
บ้านเก่าเหย้าเรือนแพ                   พวกพ้อง
เงียบเหงาเปล่าอกแด                   ดูแปลก แรกเอย
รำลึกนึกรักร้อง                            เรียกน้องในใจฯ
 
ยลย่านบ้านบุตั้ง                           ตีขัน
ขุกคิดเคยชมจันทร์                        แจ่มฟ้า
ยามยากหากปันกัน                        กินซีก ฉลีกแฮ
มีคู่ชูชื่นหน้า                                 นุชปลื้มลืมเดิมฯ

 
(๒๑) ๏ เสียดายสายสวาทโอ้            อาวรณ์
รักพี่มีโทษกร                                 กับน้อง
จำจากพรากพลัดสมร                      เสมอชีพ เรียมเอย
เสียนุชดุจทรวงต้อง                        แตกฟ้าผ่าสลายฯ

ความยากในการอ่าน อยู่อย่างหนึ่งคือนิราศสุพรรณไม่"ร้อยโคลง" คือไม่มีสัมผัสระหว่างบทโคลงให้รู้ว่าบทไหนต่อกับบทไหน     ทำให้ถ้ามีใครสลับลำดับโคลงผิดไปเราก็ไม่รู้
เว้นจะแกะรอยได้อย่างเดียวคือแกะรอยเส้นทางเดินทาง ตามที่เรียงไว้ในโคลง  แต่ถ้าโคลงบทไหนโดดออกมาจากเส้นทางเดินทาง เราก็จับไม่ได้ว่าต่อเนื่องเชื่อมกันหรือเปล่า
อย่างกลบทที่แทรกเข้ามาเป็นระยะๆ

ย้อนมาดูข้างบนนี้อีกทีนะคะ   เพื่อแสดงถึง "โฟกัส" ที่ตัวเองอีกครั้งหนึ่ง ของกวีผู้แต่ง
เรือล่องเข้าคลองบางกอกน้อย  และมาถึงบ้านบุที่เขามีอาชีพตีขัน  แต่ท่านกวีก็มิได้สนใจประวัติหรืออาชีพของสถานที่ทั้งสองแห่งแม้แต่น้อย
แต่ไปสนใจตรงที่ว่ามันเป็นสถานที่ของความหลังกับสาวที่เคยรักกัน  คนแรกชื่อแม่จันทร์ คนหลังชื่อแม่สวาท หรือสวาด
สองคนนี่ อ่านแล้วเหมือนไม่ใช่คนเดียวกัน    เพราะความสัมพันธ์เป็นคนละเรื่อง

แม่จันทร์คนแรก เป็นชาวบ้านบุ   เคยรักกันถึงขั้นอยู่กินกันแล้ว  ลำบากยากจนด้วยกันถึงขั้นปลาตัวหนึ่งก็ต้องแบ่งกันกินคนละซีก
แต่ว่าต่อมา แม่จันทร์ได้สามีใหม่ร่ำรวยมีหน้ามีตากว่า ก็เลยลืมผัวเก่า  ไปชื่นบานกับสามีใหม่จนทุกวันนี้

ยนย่านบ้านบุตั้ง                           ตีขัน
ขุกคิดเคยชมจันทร์                        แจ่มฟ้า
ยามยากหากปันกัน                        กินซีก ฉลีกแฮ
มีคู่ชูชื่นหน้า                                 นุชปลื้มลืมเดิมฯ
 
ส่วนแม่สวาท หรือสวาด  คนที่สอง  น่าจะเป็นคนเดียวกับที่เคยเล่นซักส้าวกันที่ท่าน้ำในตอนแรกของนิราศ  เพราะกวีระบุว่า ฝากซากสวาท  ไว้ตรงนั้น
เล่นกับคำว่า สวาท
คนนี้ละที่ได้รับโทษจากการมารักกับสุนทรภู่ จนต้องพลัดพรากจากกัน 
เสียดายสายสวาดโอ้                    อาวรณ์
รักพี่มีโทษกร                              กับน้อง
จำจากพรากพลัดสมร                   เสมอชีพ เรียมเอย
เสียนุชดุจทรวงต้อง                      แตกฟ้าผ่าสลายฯ

และคนนี้เองที่เคยไปจู๋จี๋ครองคู่กันอยู่ในกระท่อมกลางสวน  สมัยยังวัยรุ่นหนุ่ม
วัดปะขาวคราวรุ่นรู้                          เรียนเขียน
ทำสุนทรสอนเสมียน                      สมุทน้อย
เดินระวางระวังเวียน                       หว่างวัด ปะขาวเอย
เคยชื่นกลืนกลิ่นสร้อย                     สวาดิห้างกลางสวนฯ

ถ้าหากว่ารวมแม่จันทร์เข้าไปเป็นผู้หญิงคนเดียวกันกับแม่สวาท ก็หมายถึงว่าไม่ว่าจะเกิดเรื่องรักโศกโชคร้ายหรือดี  หล่อนรับเละคนเดียวหมด กับกวีเอกของเรา
แต่ถ้าแยกกันเป็น ๒ คนจะเห็นว่า มีแม่จันทร์ที่ได้มีถิ่นฐานอยู่บ้านบุ  ได้รักและแต่งงานกัน ถึงขั้นร่วมเรือนกัน  แล้วต่อมาหล่อนไปได้สามีใหม่
ส่วนแม่สวาทนั้นรักกันตั้งแต่วัยรุ่น แอบหลบไปคบกันกลางสวน   พ่อแม่คงจับได้ถึงลงโทษ ลากตัวลูกสาวกลับไปใส่ตะกร้าล้างน้ำ (รักพี่มีโทษกร กับน้อง = น้องรับโทษ  ไม่ใช่พี่) แล้วก็เลยพลัดพรากกับเจ้าหนุ่มกันไป  ไม่ได้เจอกันอีก

แม่จันทร์(หรือจัน)คนนี้ก็เหมือนกัน เป็นตัวปริศนาตั้งแต่ในนิราศเมืองเพชรแล้วว่าหล่อนเป็นแม่ของหนูพัด ลูกชายกวีได้หรือไม่
เพราะนับพ.ศ. แล้ว  ไม่ลงตัว   ถ้าหนูพัดเกิดในปลายรัชกาลที่ ๑   ล่วงมาถึงค่อนๆไปทางปลายรัชกาลที่ ๓ ต้องเป็นหนุ่มใหญ่อายุเกือบเท่าคุณอาชาผยองแล้ว ไม่ใช่หนุ่มน้อยวัยยังไม่ถึงมีเมีย
 


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 02 ส.ค. 07, 14:25
ตากุหลาบเล่าประวัติสุนทรภู่ว่าบ้านอยู่หลังป้อมอะไรสักอย่าง ตรงวังหลัง
คนที่เชื่อก็ชี้เป้าเลย ว่าตรงสถานนีรถไฟบางกอกน้อยไง...
ผมอยากเถียง เพราะรู้ว่าไม่มีใครเขาอยู่บนบกกัน นอกจากพวกเจ้านาย กับคนชั้นล่างมากๆ
คนทั่วไปเขาอยู่แพ
แต่ก็ไม่รู้จะเถียงทำไม

กวีนิราศสุพรรณ มาเถียงแทนแล้ว
เลี้ยวทางบางกอกน้อย                 ลอยแล
บ้านเก่าเหย้าเรือนแพ                   พวกพ้อง
เงียบเหงาเปล่าอกแด                   ดูแปลก แรกเอย
รำลึกนึกรักร้อง                            เรียกน้องในใจฯ
แกอยู่แพ เหมือนไชยากับชรินทร์ไงครับ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ส.ค. 07, 14:37
ใช่ค่ะ ข้ามโคลงบทนี้ไป ขออำไพ
กวีนิราศสุพรรณ มีถิ่นเก่าคือเรือนแพในคลองบางกอกน้อย  ญาติพี่น้องก็ชุมนุมตั้งบ้านเรือนอยู่ที่นั่น
มีแฟนก็ที่นั่น  แต่ตอนนี้บ้านเก่าคงไม่มีใครอยู่แล้ว  ผ่านไป เรือนแพปิดเงียบเหงา  ภรรยาหย่ากันไปมีสามีใหม่นานแล้ว
บ้านลอยน้ำของกรุงเทพเมื่อต้นๆรัตนโกสินทร์จนถึงรัชกาลที่ ๔ เป็นละแวกที่อยู่อาศัยสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
เสียดายไม่เหลือซากให้เห็นอีกแล้ว

ประวัติศาสตร์และประวัติวรรณคดีที่เราเรียนกันมา สมัยต้นรัตนโกสินทร์ มีเงา"กุ" ของนายกุหลาบปะปนอยู่มาก
แกจะชี้อะไรก็กลายเป็นหลักฐานพยานให้เชื่อกันต่อๆมา     ไม่เห็นใครตรวจสอบซ้ำแล้วเผยแพร่ให้เห็นแพร่หลาย


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ส.ค. 07, 14:44
ผู้หญิงในนิราศสุพรรณ มีแยะเหลือเกิน  บทแรกนี่ก็คนหนึ่ง ไม่รู้ว่าแม่จันทร์ หรือแม่สวาท   
คำว่า "เพื่อนรัก" ในที่นี้ หมายถึงนางที่รัก  ไม่ได้แปลว่า มิตร
เห็นเรือนเพื่อนรักร้าง                  แรมโรย
โอ้อกอาดูรโดย                         เทวษด้วย
ดูสวนป่วนจิตโหย                       หาดอก สร้อยเอย
แลลับกลับชาติม้วย                     ไม่ได้ใกล้กลายฯ

คนนี้ ดูรูปการณ์ว่าพลัดพรากกันไปตลอดชาติ ไม่มีทางกลับมาหากันอีก
บทต่อมาก็ยังคร่ำครวญอยู่ เรื่องการพลัดพรากกันตลอดชาติ  แสดงว่าคนเดิมกับคนเดียวข้างบนนี้   

บางบำรุบำรุงแก้ว                        กานดา
แก้วเนตรเชษฐาชรา                     ร่างแล้ว
ถือบวชตรวจน้ำพา                       พบชาติ อื่นเอย
ชาตินี้พี่แคล้ว                              คลาดค้างห่างสมรฯ

ถ้าคุณอาชาผยองพบนี้ ก็คงตีความว่าเจ้าของเรื่องกำลังบวชอยู่ (ถือบวชตรวจน้ำ) และยอมรับว่าตัวเองอยู่ในวัยชราแล้ว  เกินกว่าจะย้อนกลับไปตั้งต้นกันอีก  ต้องขอพบกันในชาติหน้า
กวีอายุสักเท่าไรกันนะ
 


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 02 ส.ค. 07, 18:27
มาแล้วครับ เส้นทางนิราศสุพรรณช่วงแรก


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 02 ส.ค. 07, 18:30
คำถามแรก ที่ผมถามตัวเองหลังจากทำหมุดตำแหน่งช่วงนี้เสร็จคือ

จากวัดสระเกศถ้าออกไปทางปากคลองด้านเหนือจะลัดไปได้มาก ทำไมต้องอ้อมลงมาทางใต้ ต้องทวนน้ำกลับขึ้นไปอีกด้วย?


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ส.ค. 07, 19:14
ตื่นตาตื่นใจมาก  คุณอาชาจำลองกูเกิ้ลเอิร์ธได้เห็นภาพชัดเจนจริงๆ ปักหมุดให้เข้าใจง่ายขึ้นด้วย
แต่..ไม่ทราบคำตอบค่ะ  รอคุณพิพัฒน์ อาจจะอธิบายได้ว่าสมัยก่อน เส้นทางคลองเป็นแบบนี้หรือว่าแตกต่างกันตรงไหน
จริงที่ว่า เส้นทางลงทางใต้ แล้วไปออกแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านวังหลังและวัดแจ้งเพื่อเข้าคลองบางกอกน้อย มันอ้อมว่าเส้นทางเหนือมาก
แต่คลองใหญ่กว่า ไปสะดวกกว่าหรือเปล่า  เหมือนถนนสมัยนี้ที่บางเส้น ทางลัดก็ขับรถลำบาก สู้ไฮเวย์ไม่ได้
หรือว่าเป็นเส้นทางที่มีความหมายทางใจ   คนยุคท่านไม่ต้องรีบร้อนไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง  ถึงเมื่อไรเมื่อนั้น   ก็แวะเวียนอ้อมไปผ่านสถานที่ต่างๆที่ท่านคุ้นเคยในอดีต 
คนแก่ก็มักหวนหาอาวรณ์ความหลัง เป็นธรรมดา


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 02 ส.ค. 07, 19:20
ขอเสริมคุณเครซี่หน่อย
อันคลองคูเมืองชั้นกลางนั้น เราเรียกเป็นสองชื่อ เพราะเดิมน่าจะเป็นสองคลอง
ทั้งสองคลองมาเจอกันที่ป้อมมหากาล
หรือพูดอีกอย่างก็ได้ว่า จากป้อมมหากาล ถ้าออกแม่น้ำเจ้าพระยาทางวัดเลียบ เราจะไปตามคลองคูเมืองที่เรียกคลองโอ่งอ่าง
ถ้าจะไปออกแม่น้ำที่วัดสังเวช เราก็จะใช้คลองที่เรียกว่า คลองบางลำภูครับ
อันที่จริง ต้องแถมอีกเส้นเพราะตรงนั้นเป็นสามแยก คือถ้าจะไปสยามพารากอน เอ้ยวัดปทุมฯ ก็จะไปตามคลองมหานาคครับ

ส่วนที่สงสัยว่า ทำไมไม่ออกแม่น้ำที่ด้านเหนือ ตรงสวนสันติไชยปราการปัจจุบัน
ตอบว่า อาจจะหลายสาเหตุ เช่น ต้องพายทวนน้ำ เหนื่อมาก
สอง ด้านนั้นเปลี่ยว ไม่มีอะไรให้แวะ หากจำเป็นต้องหาเข้าของ
ฯลฯ
สรุปว่า ไม่เคยมีกวีใช้เส้นทางนี้เลย แปลว่าไม่น่าใช้(กระมัง)


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 02 ส.ค. 07, 19:26
สภาพในปัจจุบัน อาจจะบอกอะไรไม่ได้มาก แต่ปากคลองบางลำภูนั้น ยังเป็นป่าแน่ๆ
มีต้นลำพูอยู่เต็ม นี่คงเป็นเหตุหนึ่งที่ไม่มีเรือใหนอยากแหวกกอไม้หนาทึบไปสู่แม่น้ำ
ข้อสอง บางที เพื่อความปลอดภัย ปากทางอาจจะปิด ห้ามเรือเข้าออกในยามวิกาล หรืออะไรประมาณนั้น
เมื่อเลยเที่ยงคืนจึงต้องมาออกทางปากคลองโอ่งอ่าง ซึ่งเป็นย่านเจริญ ดูแลง่าย

สรุปว่า เป็นคำถามที่ตอบไม่ได้ครับ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ส.ค. 07, 19:29
ดิฉันนึกเส้นทางไม่ออกเลยถ้าไม่เห็นแผนที่ใหญ่
ยังหลงนึกว่ากวีพายเรือออกทางป้อมสันติไชยปราการเสียอีก  แล้วพายเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาไปถึงพระบรมมหาราชวัง    ต่อไปข้ามไปวัดแจ้งแล้วกลับมาคลองบางกอกน้อย
ตอนนี้เข้าใจแล้ว  น่าจะเป็นเส้นทางใหญ่ที่ไปสะดวกง่ายดายกว่าละมังคะ
ในรัชกาลที่ ๓ ป่ายังล้อมกรุงอยู่หนาแน่น   นั่งเรือลำเดียว ไปตามเส้นทางมืดๆ รกเรื้อสองข้างทาง   อาจจะเจอเสือหรือสัตว์ป่าอื่นๆเข้าบ้างก็ได้  ไม่ต้องพูดถึงโจรปล้นอีกด้วย


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 02 ส.ค. 07, 19:34
ทิ้งปริศนาข้อแรกไว้ก่อนครับ

ช่วงต่อไปกวีใช้เส้นทางตามคลองบางกอกน้อย ซึ่งช่วงหลังของคลองนี้นิยมเรียกว่าคลองบางกรวย ไปโผล่ตรงคลองอ้มนนท์ที่เป็นเส้นทางเก่าของแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วไปทางด้านคลองบางใหญ่ไปเข้าคลองโยงที่จะไปออกแม่น้ำท่าจีน ตามนี้ครับ



กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ส.ค. 07, 19:51
บางระมาดมิ่งมิตรครั้ง                  คราวงาน
บอกบทบุญยังพยาน                  พยักหน้า
ประทุนประดิษฐาน                     แทนห้อง หอเอย
แหวนประดับกับผ้า                    พี่อ้างรางวัลฯ

บางระมาดอยู่ไหนต้องถามน้องกู๊กของคุณอาชาผยองอีกหน    กวีไม่ได้ให้รายละเอียดสถานที่มากกว่าโยงเข้ากับเรื่องส่วนตัว(อีกแล้ว)
คราวนี้มีชื่อนายบุณยังโผล่ขึ้นมา
ประวัติของนายบุญยังต้องถามคุณพพ.  ดิฉันไม่มีความรู้ นอกจากจำได้ว่าแกเป็นเจ้าของคณะละคร และสร้างวัดละครทำ ฝั่งธนบุรี  

กวีไปทำงานกับนายบุญยัง ในหน้าที่"บอกบท" สมัยนี้เห็นจะเป็น scriptwriter งานนี้ไปค้างอยู่นานที่บางระมาด  เพราะมีเรือประทุนไว้นอนเป็นห้องหอกับเจ้าสาว   ได้ค่าตอบแทนเป็นแหวนกับผ้า     ก็คงเป็นรายได้ที่คุ้มค่าเหนื่อย
แต่เจ้าบ่าวเจ้าสาวก็อยู่กันไม่รอด   เกิดอะไรขึ้นสักอย่าง เจ้าสาวถูกพรากไปจนได้   รูปการณ์เหมือนฝ่ายชายพาหนีมาอยู่ด้วยกันไม่เท่าไร   ก็ถูกคนทางบ้านมาเอาตัวกลับไป  แต่คงไม่ถึงกับกะทันหันนัก เพราะยังมีเวลาอยู่ด้วยกันทั้งคืนจนรุ่ง  ถึงต้องจากกัน

๏ สงสารสายเนตรน้อง                           นองชล
ลเนตรพี่เพียงฝอยฝน                             เฝ้าน้อง
จวนรุ่งร่ำสะอื้นจน                                 จำจาก แจ่มเอย
คราวเคราะห์เพราะน้องต้อง                      พายุกล้าสลาตันฯ

ดูๆแล้วไม่น่าเป็นประวัติแม่จันทร์   แต่ระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่าเคยอยู่ครองเรือนกันเลยนี่นา
ถ้าเข้าหอกัน แล้วพรากกันกะทันหัน  แต่ฝ่ายชายไม่เป็นอะไร มีแต่ผู้หญิงเท่านั้นต้องถูกบังคับตัวไป   เหมือนโทษตกอยู่ทางฝ่ายหญิงฝ่ายเดียว (จากพ่อแม่?)  
ก็ไม่น่ามีโอกาสกลับมาอยู่กันอย่างสามีภรรยาจนมีลูกชาย  ก่อนเธอจะไปมีสามีใหม่  เหมือนประวัติทีสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าว่า  ถูกกรมพระราชวังหลังกริ้ว ลงโทษทั้งคู่
เท่าที่เล่า นอกจากเศร้าโศกที่พลัดพราก ก็ไม่เห็นท่านกวีบันทึกถึงการเจ็บเนื้อเจ็บตัว  หรือดิฉันจะยังอ่านไม่ถึง?
 



กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 02 ส.ค. 07, 20:04
ผมคิดว่าเจอหมุดเวลาเล็กๆตรงนี้หมุดหนึ่งครับ

ปี ๒๔๐๒ ร.๔ โปรดเกล้าให้เจ้าพระยาทิพากรวงศ์เป็นแม่กองจ้างแรงงานจีนขุดคลองมหาสวัสดิ์ เริ่มจากคลองบางกรวย(ใกล้ๆวัดพิกุล) ไปออกแม่น้ำท่าจีน ขุดเสร็จปี ๒๔๐๓ ครับ

แต่กวีนิราศสุพรรณผ่านตรงนี้ไปอย่างไม่เหลียวแล อ้อมไปใช้เส้นทางคลองอ้อมนนท์ ไปเข้าบางใหญ่เสียเวลากับคลองที่คดเคี้ยวและระยะทางที่มากกว่า

คิดว่านิราศสุพรรณต้องแต่งก่อนคลองนี้จะขุดเสร็จแน่นอนครับ



กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 02 ส.ค. 07, 20:08
เพื่อความสะดวกในการติดตาม ผมลงไฟล์หมุดของ Google Earth ที่ทำไว้ตั้งแต่คลองมหานาคไปถึงคลองกระเสียวปลายทางของการเดินทางเลยครับ เพราะช่วงหลังๆบางเล็กบางน้อยชักจะหาตำแหน่งยากขึ้นทุกที

ตำแหน่งบางต่างๆ ใช้สมมติฐานคุณสุจิตต์ วงษ์เทศว่าบางคือตำแหน่งที่คลองแยกออกไปนะครับ พยายามแกะตำแหน่งเต็มที่แล้วแต่ยังอาจผิดพลาดได้บ้างครับ

ท่านใดยังไม่มี Google Earth เชิญ download ได้ฟรี(อย่างถูกต้องตามกฎหมาย) ได้ที่นี่ครับhttp://earth.google.com/ (http://earth.google.com/)


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 02 ส.ค. 07, 21:03
เรื่องบอกบทบุญยัง เป็นหมุดคาใจดอกใหญ่ครับ ดังที่เคยบ่นมาในกระทู้นี้ก็มี
เราเจอบุญยังในนิราศพระบาท ซึ่งสมเด็จทรงตีความคำว่า"หาบุญยัง..."
เป็นว่า เจ้าพระยาพระคลัง หาบุญยัง คือตาย
แต่เจ้าคุณอนุมาน ขณะนั้นเป็นขุน ท้วงว่าน่าจะแปลว่า หาละคอน นายบุญยังมาเล่นฉลองศาลาที่พระบาท
สมเด็จยอมรับ ทรงมีลายพระหัตถ์เป็นฉบับแรกมาถึงเจ้าคุณ
และชมว่าต่อไปจะเป็นปราชญ์

ปัญหาคือ ท่านก็ยังถือว่า นายบุญยัง เป็นคนครั้งรัชกาลที่ 1 เพราะเชื่อว่านิราศพระบาทแต่งโดยสุนทรภู่ในปี 2350
แต่ตามที่ได้ชำแหละใหม่ นิราศพระบาทมีพิรุธมากจนต้องย้ายมาอยู่สมัยใหม่กว่า(มาก)
นายบุญยังก็ต้องย้ายรัชกาลตามลงมาด้วย(กระมัง)

ผมสอบจากสถาปัตยกรรม ไม่มีอะไรแสดงว่าวัดละคนทำเป็นวัดเก่าแก่
คงต้องถามกลับมายังอาจารย์ว่า เมื่อไรกัน ที่นายโรงละคอนจะร่ำรวย สร้างคณะละคอนที่รับงานตามหัวเมือง
สร้างเนื้อสร้างตัวเป็นคหบดีใหญ่ ถึงมีวัดของตนเอง
ผมนึกตัวอย่างได้ ก็มีแต่วัดใหม่ยายแฟง ที่เข้าสถานะภาพทางเศรษฐกิจแบบเดียวกัน
เป็นชนชั้นอย่างที่นักประวัติศาสตร์บ้านนอกท่านหนึ่งเรียกว่าชนชั้นกระดุมผีประมาณนั้นละครับ

เดาเอาดื้อๆว่า นายละคอนบุญยัง เริ่มรวยหลังเซอร์จอห์นเบาริงมาเปิดตลาดส่วนในของภาคกลาง
ราว 2400 ไม่เร็วกว่านั้นครับ

คลองขุดใหม่กว่าจะมีคนนิยมต้องนานมากครับ การเดินทาง ต้องมีที่พัก และต้องไปตามเส้นทางที่ไม่อดตาย
เวลาในยุคนั้น ถือต่างกับเวลาในยุคเราครับ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 02 ส.ค. 07, 23:03
เส้นทางใหม่คนยังไม่นิยมใช้ก็เป็นเหตุผลที่น่าคิดเหมือนกันครับ

แต่คลองโยงได้ชื่อนี้เพราะตอนช่วงจะออกแม่น้ำท่าจีนจะตื้นเขินมากจนต้องเอาควายลาก
ล่วงย่านบ้านวัดร้าง        เรือนโรง
ตกทุ่งถึงคลองโยง        หย่อมไม้
วัดใหม่ธงทองโถง         ที่ติด ตื้นแฮ
ควายลากฝากเชือกไขว้   เคลื่อนคล้อยลอยเลนฯ


ในนิราศพระแท่นดงรังของนายมีใช้เส้นทางเดียวกันก็เจอแบบนี้
มาตะบึงลุถึงหัวโยงเชือก              เป็นโคลนเทือกท้องนาชลาสินธุ์
คลองก็เล็กน้ำตื้นเห็นพื้นดิน           ไม่น่ากินน้ำท่าระอาใจ
ต้องจ้างโยงโยงเรือเหลือลำบาก       ให้ควายลากเรือเลื่อนเขยื้อนไหว
ผูกระนาวยาวยึดเป็นพืดไป            ทั้งเจ๊กไทยปนกันสนั่นอึง
ไม่พักแจวพักถ่อให้รอรา              เป็นราคาจ้างประจำลำสลึง
ควายก็เดินดันดังกันกังกึง             พอเชือกตึงเรือตามกันหลามมา
จนพลบค่ำน้ำค้างลงพร่างพร้อย       พระจันทร์ลอยเด่นดวงช่วงเวหา
ดาวประดับวับวามอร่ามตา             ดูท้องฟ้าอ้างว้างกลางอัมพร
ดูแลทุ่งทุ่งก็กว้างเป็นว่างเปล่า         เหมือนอกเราว่างเว้นไม่เห็นสมร
เห็นแต่ทุ่งกับป่ายิ่งอาวรณ์             อนาถนอนนิ่งนึกคะนึงนาง
ไม่มีมุ้งยุงกัดสะบัดหนาว              ทั้งลมว่าวพัดต้องยิ่งหมองหมาง
เห็นเพื่อนเรือเมื่อจวนจะรุ่งราง         มีมุ้งกลางกอดเมียอยู่เคลียคลอ
แสนอาภัพก็แต่เราช่างเปล่าปลอด     ไม่ได้กอดเหมือนอย่างเขาหนอเราหนอ
นอนก็อัดอุดอู้คุดคู้งอ                 ในใจคอคับแคบแทบจะตาย
ทั้งคับใจคับที่เจ้าพี่เอ๋ย                ไม่หลับเลยจนสว่างกระจ่างฉาย
เขาโยงเรือรีบรุดไม่หยุดควาย         มาจนสายจึงพ้นตำบลโยงฯ

เห็นภาพชัดเลยว่าคลองโยงนี่เป็นปัญหาใหญ่เลย

ดูนิราศพระประธมของสุนทรภู่บ้าง
ที่ริมคลองสองฝั่งเขาตั้งบ้าน           น่าสำราญเรียงรันควันโขมง
ถึงชะวากปากช่องชื่อคลองโยง        เป็นทุ่งโล่งลิบลิ่วหวิวหวิวใจ
มีบ้านช่องสองฝั่งชื่อบางเชือก         ล้วนตมเปือกเปอะปะสวะไสว
ที่เรือน้อยลอยล่องค่อยคล่องไป      ที่เรือใหญ่โป้งโล้งต้องโยงควาย
เวทนากาสรสู้ถอนถีบ                  เขาตีรีบเร่งไปน่าใจหาย
ถึงแสนชาติจะมาเกิดกำเนิดกาย       อย่าเป็นควายรับจ้างที่ทางโยงฯ

คลองมหาสวัสดิ์ขุดเสร็จใหม่ๆกว้าง ๗ วา ลึก ๖ ศอก ระยะทาง ๒๗ กม. นอกจากลัดระยะได้แล้ว ยังลดความยุ่งยาก ไม่ต้องไปรอควายโยงเรืออีกด้วย มันก็น่าคิดเหมือนกันครับ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 02 ส.ค. 07, 23:48
นิราศพระปธมนั้น ผมวางไว้เป็นเรื่องสุดท้าย
จึงแต่งเมื่อคลองขุดเกิดแล้วแน่ๆ

แต่รอดูหลักฐานให้มั่นคงก็ได้ครับ
การที่กวีไม่ใช้คลองลัด จะเอาเหตุผลของพ่อค้ามาจับ เห็นจะไม่ได้
ยกตัวอย่างง่ายๆก็คลองลัดทั้งหลาย หาได้ทำให้ชุมชนตามคลองเดิมตายทรากไปไม่
ต่างก็เจริญตามเหตุปัจจัยที่ตนมี การมีคลองลัดก็เพิ่มปัจจัยขึ้น แต่ไม่ใช่ชี้ขาด
โครงการรังสิตที่ไม่เข้าเป้าก็เพราะเกิดการขัดขืนทางวัฒนธรรมจนหักเหเกินไป
นอกเหนือจากการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ

คลองลัดที่ตรงดิ่งไปสู่ถิ่นที่ไม่มีใครรู้จัก ย่อมไม่น่าแวะเยือนเหมือนด่านควายที่มีประชุมชนหนาแน่นครับ

รู้สึกจะค้านมากไปหน่อย รอชมเส้นทางต่อดีกว่า เชิญครับ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ส.ค. 07, 09:26
คนขี่ตีต้อนเร่ง                            รันควาย
ถอนถีบกีบกอมตะกาย                  โก่งโก้
เหนื่อยนักชักเชือกหงาย              แหงนเบิ่ง เบือนแฮ
คนหวดปวดป่วนโอ้                     สะอึกเต้นเผ่นโผนฯ

 (๔๗) ๏ ทุกข์ใดในโลกล้น           ล้ำเหลือ
ไม่เท่าควายลากเรือ                     รับจ้าง
หอบฮักจักขุเจือ                          เจิ่งชุ่ม ชลเอย
มนุษย์ดุจติดค้าง                         เฆี่ยนเร้าเอาเงินฯ

(๔๘) ๏ สังเวชเหตุด้วยทรัพย์        ศฤงคาร
พาสัตว์วัฏสงสาร                          โศกเศร้า
ตรวดน้ำร่ำศีลทาน                        ทั่วสัตว์ สวัสดิ์เอย
จงสุขทุกค่ำเช้า                           ชาติพ้นชนมานฯ

ฉากควายลากเรือโยงถูกเฆี่ยน บันทึกไว้อีกครั้งในนิราศพระประธม
เวทนากาสรสู้ถอนถีบ                  เขาตีรีบเร่งไปน่าใจหาย
ถึงแสนชาติจะมาเกิดกำเนิดกาย       อย่าเป็นควายรับจ้างที่ทางโยงฯ

เมื่อเทียบกับในนิราศสุพรรณที่บรรยายไว้ยาว ละเอียดถี่ถ้วนขนาดมองเห็นควายถูกตีจนน้ำตาไหล   มาถึงนิราศพระประธมที่เล่าไว้เพียงสั้นๆ
ทำให้ดิฉันคิดว่า การเห็นอะไรที่แปลกตาน่าสมเพช เป็นครั้งแรก   อารมณ์กวีจะรับความสะเทือนใจได้มากกว่า    จึงแสดงปฏิกิริยารับรู้ออกมามากกว่า
แต่พอเห็นครั้งต่อๆมา อาจจะเริ่มชินแล้ว อย่างน้อยก็ไม่สะเทือนใจเท่าครั้งแรก จึงบรรยายไว้น้อยกว่า
สรุปว่า นิราศสุพรรณ แต่งก่อนนิราศพระประธม


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 03 ส.ค. 07, 12:28
เรื่องค้านไม่มีมากไปหรอกครับ คิดคนเดียวมีอะไรตกหล่นเยอะ บางเรื่องฟังค้านแล้วยังไม่เอะใจ ต้องฟังอรรถาธิบายอีกหลายเที่ยวจึงจะเกิดพุทธิปัญญาครับ ;D

ผมพยายามหาหลักฐานการใช้คลองเพิ่มเติม แต่รู้สึกว่าบันทึกของเราจะมีน้อยจนน่าใจหาย หาไม่ได้ง่ายๆ

รู้สึกสำนึกบุญคุณกวีที่เขียนบรรยายการเดินทางเอาไว้จนตกทอดมาถึงเราครับ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ส.ค. 07, 16:50
เมื่อเราเปลี่ยนเส้นทางคมนาคมจากคลองเป็นถนน   เปลี่ยนทางน้ำเป็นท่อระบายน้ำเสีย  คลองก็มีแต่จะหมดไปจากกรุงเทพและปริมณฑล    ถ้าอยากดูคลองก็ต้องไปดูตามอำเภอรอบนอก   ยังพอเหลือบ้าง
ช่วยยากค่ะ   เพราะความเจริญไปชุมนุมกันอยู่ข้างถนนหมดแล้ว   ที่สวนรอบๆกรุงเทพที่อุดมสมบูรณ์ก็กลายเป็นที่ตั้งโรงงานขนาดเล็กและบ้านจัดสรร
ตามรอยเส้นทางมาเรื่อยๆจนถึงบางกรวย   เกือบสองร้อยปีให้หลังดิฉันผ่านบางกรวยบ่อยๆเพราะใช้สะพานพระราม ๗ บ้าง พระราม ๕ บ้าง
บางกรวยตรวดน้ำแบ่ง                  บุญทาน
ส่งนิ่มนุชนิพพาน                         ผ่องแผ้ว
จำจากพรากพลัดสถาน                 ทิ้งพี่ หนีเอย
เห็นแต่คลองน้องแคล้ว                 คลาดเลื่อนเดือนปีฯ

เมื่อเกือบสองร้อยปีก่อน มีสาวบางกรวยคนหนึ่งเป็นสาวในความหลังของท่านกวีของเรา   
เธอคนนี้จากไปด้วยความตาย    ไม่ใช่จากเพราะมีสามีใหม่อย่างแม่จันทร์
สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าไว้ในเชิงอรรถว่าเป็นแม่ของหนูตาบ   คนละแม่กับหนูพัด
คนนี้อาจจะเป็นคนเดียวกันหรือคนละคนกับที่เอ่ยไว้ในนิราศพระประธมก็ได้

ถึงวัดทองหมองเศร้าให้เหงาเงียบ             เย็นยะเยียบหย่อมหญ้าป่าช้าผี
สงสารฉิมนิ่มน้องสองนารี                        มาปลงที่เมรุทองทั้งสองคน
ขอบุญญาอานิสงส์จำนงสนอง                  ช่วยส่งสองศรีสวัสดิ์ไปปัฏิสนธิ์
ศิวาลัยไตรภพจบสกล                             ประจวบจนได้พบประสบกัน
ทั้งแก้วเนตรเกสรามณฑาทิพย์                 จงลอยลิบลุล่วงถึงสรวงสวรรค์
จะเกิดไหนได้อยู่คู่ชีวัน                            อย่ามีอันตรายเป็นเหมือนเช่นนี้ฯ
สมเด็จกรมพระยาดำรงฯทรงว่าเป็นคนละคน  ฉิมกับนิ่มที่ว่านี้เป็นน้องสาวต่างบิดาของสุนทรภู่
แต่แก้วเนตรเกสรา นี่หมายถึงใครก็ไม่รู้    ถ้าหมายความรวมไปถึงแม่ฉิมและแม่นิ่มก็พอเข้าเค้า  เพราะดวงตามีซ้ายและขวา  กล่าวรวมกันไป ๒ คนพร้อมกัน
มาเอะใจนิดหน่อยตรงบอกว่า จะเกิดไหนได้อยู่คู่ชีวัน  ไม่น่าเป็นน้ำเสียงพูดถึงน้องสาว 
แล้วยังมีคำว่า" อย่ามีอันตรายเป็นเหมือนเช่นนี้ฯ" ราวกับว่าความตายนั้นเป็นอุบัติเหตุหรือเรื่องร้ายอะไรสักอย่าง  ไม่ใช่ตายเพราะป่วยตายไปตามธรรมชาติของโรคภัยไข้เจ็บ
เป็นไปได้ไหมว่าแม่ฉิมและแม่นิ่มตายพร้อมกัน เพราะเหตุอะไรสักอย่าง เช่นเดียวกัน จึงมาเผาเสียคราวเดียวกันที่วัดทอง   กวีก็เลยเอ่ยรวมกันไป
ถ้าตายกันคนละปี คนละสาเหตุ ไม่น่าจะเอ่ยรวมกัน  ว่า "อย่ามีอันตรายเป็นเหมือนเช่นนี้ฯ "


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ส.ค. 07, 16:57
(๓๔) ๏ บางศรีทองคลองบ้านเก่า            เจ้าคลอง
สีเพชรผัวสีทอง                                    ถิ่นนี้
เลื่อง้ลือชื่อเสียงสนอง                            สำเหนียก นามเอย
คลองคดลดเลี้ยวชี้                                เช่นไสร้ไสทองฯ
 
สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงทำเชิงอรรถาธิบายว่า  แม่สีทองเป็นนักกลอนสักรวา เคยบอกกลอนคู่กับสุนทรภู่     แม่คนนี้มีสามีแล้ว  เป็นคนบางศรีทอง   
ก็คงเป็นแค่เพื่อนร่วมงานกันในอดีต
โคลงบาทสุดท้ายที่ยกความคดเคี้ยวของคลองขึ้นมาเปรียบเปรยว่าเหมือน ไสร้(หรือไส้) ของแม่นางสีทอง (ที่เปลี่ยนเป็นไสทองเพื่อให้คล้องจองกับ ไสร้)
เห็นจะตีความได้ว่า  ถ้าเป็นผู้หญิงมีชื่อเสียงในอาชีพเล่นสักรวา   ฝีปากหล่อนคงจัดจ้านวาจาลดเลี้ยว ข่มไม่ลง   ทำนองลำตัดแม่ประยูรละมัง
เผลอๆนิสัยหล่อนอาจจะรอบจัดไม่น้อยอีกด้วย    กวีของเราจึงกระแหนะกระแหนเอาไว้เป็นนัยๆ ว่ามองออกนะ เห็นไส้กัน


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 04 ส.ค. 07, 13:27
ผมกำลังปรับปรุงหมุดแผนที่เส้นทางอยู่ครับ ได้ประโยชน์จาก "บทกวีนิราศตามคลองบางกอกน้อยถึงบางใหญ่" ของคุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ ที่มีผู้พิมพ์ไว้ในเว็บ thaimtb.com ในลิงก์นี้ http://www.thaimtb.com/cgi-bin/viewkatoo.pl?id=23840&st=1 (http://www.thaimtb.com/cgi-bin/viewkatoo.pl?id=23840&st=1) ช่วยทำให้แผนที่ช่วงคลองบางกอกน้อยสมบูรณ์มากขึ้นครับ และช่วงคลองบางใหญ่-คลองโยง ผมก็แกะจนได้ตำแหน่งตำบลสำคัญที่ปรากฏในนิราศแล้วครับ จะนำเสนอในโอกาสต่อไป

ตอนนี้ขอยกส่วนคลองมหาสวัสดิ์ขึ้นมาพิจารณาต่อครับ เชิญดูแผนที่ก่อนนะครับ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 04 ส.ค. 07, 14:18
ข้อมูลจากหนังสือของคุณหญิงกุลทรัพย์บอกไว้ว่าหลวงจักรปาณีเดินทางผ่านเส้นทางนี้ราวปี ๒๔๑๗ ในบทนิราศทั้งหมดที่ยกมานี้มีหลวงจักรปาณีคนเดียวที่เลี้ยวซ้ายเข้าคลองมหาสวัสดิ์ที่จุดนี้

น่าเสียดายที่ไม่ได้อ่านความทั้งหมดในช่วงนี้ แต่ผมเข้าใจว่าหลวงจักรปาณีเลี้ยวเข้าคลองมหาสวัสดิ์แล้วผ่านหน้าวัดชัยพฤกษ์ เลยไปหน่อยก็เจอบางขวาง ที่ซึ่งคลองขวางมาชนกับคลองมหาสวัสดิ์ มีกลอนตอนเข้าคลองมหาสวัสดิ์ดังนี้

จนเข้าช่องคลองลัดวัดไชยพฤกษ์      แลพิลึกถิ่นฐานลานถวิล
พฤกษาร่มลมโชยมาโรยริน            หอมกระฐินอีกทั้งกระดังงา ฯ

คลองลัดวัดไชยพฤกษ์นี้เป็นชื่อที่ชาวบ้านนิยมเรียกคลองมหาสวัสดิ์ด้านนี้ครับ พระจอมเกล้าทรงพระราชทานนามว่าคลองมหาสวัสดิ์(ตามประกาศให้เรียกคลองวัดไชยพฤกษ์ว่าคลองมหาสวัสดิ์ คลองเข้าไปพระปฐมว่าคลองเจดีย์บูชา ออกประกาศเมื่อวันอังคารเดือน 7 แรม 12 ค่ำ ปีจอ จัตวาศก - ๒๔๐๕) แต่ก็ยังมีคนนิยมเรียกว่าคลองชัยพฤกษ์อยู่ดี

นิราศอื่นๆในหนังสือนี้ไม่กล่าวถึงคลองมหาสวัสดิ์หรือวัดชัยพฤกษ์เลยแต่มีหลายเรื่องกล่าวถึงบางขวาง

นิราศสุพรรณว่า
บางขวางข้างเขตแคว้น      แขวงนน     
สองฟากหมากมพร้าวผล    พรรไม้
หอมรื่นชื่นเช่นปน           แป้งประ ปรางเอย
เคลิ้มจิตคิดว่าใกล้          กลิ่นเนื้อเจือจรร

นิราศพระประธม(สุนทรภู่)ว่า
ถึงบางขวางปางก่อนว่ามอญขวาง    เดี๋ยวนี้นางไทยลาวแก่สาวสอน
ทำยกย่างขวางแขวนแสนแสงอน    ถึงนางมอญก็ไม่ขวางเหมือนนางไทย
วัดพิกุลฉุนกลิ่นระรินรื่น              โอ้หอมชื่นเช่นกับรสแป้งสดใส
เหมือนพิกุลอุ่นทรวงพวงมาลัย       ที่เคยใส่หัตถ์หอมถนอมนวล
(พูดถึงบางขวางก่อนวัดพิกุล น่าแปลก เพราะดูจากแผนที่ไม่มีวี่แววลำน้ำมาออกใต้วัดพิกุลแน่นอน แต่อาจกล่าวถึงสลับกันได้ เพราะมีพบที่อื่นบ้างเหมือนกัน)

ในขณะที่นิราศพระแท่นดงรังของนายมีไม่พูดถึงบางขวางเลย

น่าคิดว่าบางขวางหรือปากคลองขวางเดิมอยู่ตรงไหน?

ดูจากแผนที่ ผมคิดว่าบางขวาง(ปากคลองขวาง) แต่เดิมน่าจะอยู่ตรงปากคลองมหาสวัสดิ์นี่แหละ ถึงผิดจากนี้ ก็ต้องอยู่เหนือหรือใต้ขึ้นไปเล็กน้อย(ไม่เกินสองสามร้อยเมตร) แต่ก็ต้องอยู่ใกล้ๆนี้แน่ครับ

รอบนี้ไม่กล้ารีบฟันธงแล้ว แต่อดคิดไม่ได้อยู่ดีว่าในสมัยของกวีผู้แต่นิราศพระประธมและนิราศสุพรรณรวมทั้งนายมีผู้แต่งพระแท่นดงรัง คลองมหาสวัสดิ์ยังไม่ได้ขุดครับ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 04 ส.ค. 07, 21:53
ช่วงคลองบางใหญ่นั้นน่าสนใจ เพราะถึงไม่มีหมุดเวลาสำคัญ แต่ก็มีเค้าเงื่อนที่ชวนให้คิดอยู่เหมือนกัน

ดูแผนที่กันก่อนนะครับ อันนี้เป็นช่วงคลองบางใหญ่ครับ ยังไม่เข้าคลองโยง


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 04 ส.ค. 07, 22:08
แผนที่ข้างบนนี้เป็นช่วงต้นของคลอง เป็นควายาวราวหนึ่งในห้าเท่านั้นเอง

แผนที่เต็มของช่วงนี้เป็นอย่างนี้ครับ โปรดสังเกตว่าพ้นช่วงต้นไปแล้ว ไม่มีวัดวาอารามมากมายนัก(แม้กระทั่งปัจจุบัน)


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 04 ส.ค. 07, 22:17
จากแผนที่ขยาย ปากคลองบางใหญ่อยู่ทางขวาสุด เส้นทางนิราศนี้จะมาจากทางใต้แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าคลองนี้ครับ

นิราศสุพรรณกล่าวถึงเส้นทางช่วงนี้ไว้ดังนี้
ล่วงทางบางใหญ่บ้าน         ด่านคอย
เลี้ยวล่องคลองเล็กลอย      เลื่อนช้า
สองฝั่งพรั่งพฤกษพลอย      เพลินชื่น ชมเอย
แลเหล่าชาวสวนหน้า         เสน่ห์น้องคลองสนอมฯ

คลองคดลดเลี้ยวล้วน         หลักตอ
เกะกะรเรือรอ                 ร่องน้ำ
คดคลองช่องแคบพอ         พายถ่อ พ่อเอย
คนคดลดเลี้ยวล้ำ             กว่าน้ำลำคลองฯ

ล่วงย่านบ้านวัดร้าง            เรือนโรง
ตกทุ่งถึงคลองโยง            หย่อมไม้
วัดใหม่ธงทองโถง             ที่ติด ตื้นแฮ
ควายลากฝากเชือกไขว้       เคลื่อนคล้อยลอยเลนฯ

ระหว่างทางจากบางใหญ่ไปถึงคลองโยง เขียนโคลงไว้แค่สามบท และไม่เอ่ยถึงชื่อสถานที่ใดเลย ช่างเงียบเหงาเสียจริงเมื่อเทียบกับตลอดทางที่ผ่านมา ให้ภาพว่าคลองช่วงต้นนั้นมีเรือจอดรอร่องน้ำกันจนการเดินเรือทำได้ลำบากเท่านั้นเองครับ



กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 04 ส.ค. 07, 22:31
ส่วนนิราศพระประธมว่าไว้ดังนี้

แล้วเข้าทางบางใหญ่ครรไลล่อง         ไปตามคลองเคลื่อนคล้อยละห้อยหา
เห็นสิ่งไรในจังหวัดรัถยา                 สะอื้นอาลัยถึงคะนึงนวล
แม้นแก้วตามาเห็นเหมือนเช่นนี้          จะยินดีด้วยดอกไม้ที่ในสวน
ไม่แจ้งนามถามพี่จะชี้ชวน               ชมลำดวนดอกส้มต้นนมนาง
ที่ริมน้ำง้ำเงื้อมจะเอื้อมหัก               เอายอดรักให้น้องเมื่อหมองหมาง
ไม่เหมือนหมายสายสวาทมาขาดกลาง  โอ้อ้างว้างวิญญาณ์ในสาครฯ
บางกระบือเห็นกระบือเหมือนชื่อบ้าน    แสนสงสารสัตว์นาฝูงกาสร
ลงปลักเปลือกเกลือกเลนระเนนนอน    เหมือนจะร้อนรนร่ำทุกค่ำคืน
โอ้อกพี่นี้ก็ร้อนเพราะศรรัก              ถึงฝนสักแสนห่าไม่ฝ่าฝืน
แม้นเหมือนรสพจมานเมื่อวานซืน       จะชูชื่นใจพี่ด้วยปรีดิ์เปรม
โอ้เปรียบชายคล้ายนกวิหคน้อย         จะเลื่อนลอยลงสรงกับหงส์เหม
ได้ใกล้เคียงเรียงริมจะอิ่มเอม           แสนเกษมสุดสวาทไม่คลาดคลายฯ
ถึงคลองย่านบ้านบางสุนัขบ้า            เหมือนขี้ข้านอกเจ้าเฉาฉงาย
เป็นบ้าจิตคิดแค้นด้วยแสนร้าย          ใครใกล้กรายเกลียดกลัวทุกตัวคนฯ
ถึงลำคลองช่องกว้างชื่อบางโสน         สะอื้นโอ้อ้างว้างมากลางหน
โสนออกดอกระย้าริมสาชล              บ้างร่วงหล่นแลงามเมื่อยามโซ
แต่ต้นเบาเขาไม่ใช้เช่นใจหญิง           เบาจริงจริงเจียวใจเหมือนไม้โสน
เห็นตะโกโอ้แสนแค้นตะโก              ถึงแสนโซสิ้นคิดไม่ติดตาม
พอสุดสวนล้วนแต่เหล่าเถาสวาด        ขึ้นพ้นพาดเพ่งพิศให้คิดขาม
ชื่อสวาดพาดเพราะเสนาะนาม           แต่ว่าหนามรกระชะกะกาง
สวาดต้นคนต้องแล้วร้องอุ่ย             ด้วยรุกรุยรกเรื้อรังเสือสาง
จนชั้นลูกถูกต้องเป็นกองกลาง          เปรียบเหมือนอย่างลูกสวาทศรียาตรา
ริมลำคลองท้องทุ่งดูวุ้งเวิ้ง               ด้วยน้ำเจิ่งจอกผักขึ้นหนักหนา
ดอกบัวเผื่อนเกลื่อนกลาดดาษดา       สันตะวาสายติ่งต้นลินจงฯ
ถึงบ้านใหม่ธงทองริมคลองลัด           ที่หน้าวัดเห็นเขาปักเสาหงส์
ขอความรักหนักแน่นให้แสนตรง        เหมือนคันธงแท้เที่ยงอย่าเอียงเอน
ได้ชมวัดศรัทธาสาธุสะ                  ไหว้ทั้งพระปฏิมามหาเถร
นาวาล่องคล่องแคล่วเขาแจวเจน        เฟือยระเนนน้ำพร่างกระจ่างกระจาย
ดูชาวบ้านพรานปลาทำลามก            เที่ยวดักนกยิงเนื้อมาเถือขาย
เป็นทุ่งนาป่าไม้รำไรราย                 พวกหญิงชายชาวเถื่อนอยู่เรือนโรงฯ
ที่ริมคลองสองฝั่งเขาตั้งบ้าน             น่าสำราญเรียงรันควันโขมง
ถึงชะวากปากช่องชื่อคลองโยง          เป็นทุ่งโล่งลิบลิ่วหวิวหวิวใจ
มีบ้านช่องสองฝั่งชื่อบางเชือก           ล้วนตมเปือกเปอะปะสวะไสว
ที่เรือน้อยลอยล่องค่อยคล่องไป        ที่เรือใหญ่โป้งโล้งต้องโยงควาย

นิราศพระประธมว่าไว้ยาวหน่อย ช่วยในการกำหนดตำแหน่งมากกว่านิราศสุพรรณ ถึงกระนั้นก็มีชื่อสถานที่อยู่แค่ บางกระบือ บางสุนัขบ้า บางโสน บ้านใหม่ธงทอง และบางเชือก

บางกระบือ และบางโสนนั้นกำหนดตำแหน่งได้แน่นอนเพราะชื่อสองคลองนี้ยังใช้กันอยู่ถึงปัจจุบัน ชื่อบ้านบางสุนัขบ้าหายสาบสูญไปแล้ว แต่ผมสันนิษฐานว่าเป็นลำรางเล็กๆแยกลงทางใต้เริ่มต้นตรงวัดโคก เพราะระหว่างบางกระบือกับบางโสนไม่มีคลองแยกอื่นใดอีกแล้ว

ส่วนบ้านใหม่ธงทองนั้นหายสาปสูญไปเช่นกัน นิราศสุพรรณกล่าวถึงตำบลนี้ในชื่อวัดใหม่ธงทอง ถ้าวัดนี้ยังอยู่มาถึงปัจจุบันก็มีอยู่วัดเดียวที่เป็นไปได้คือวัดเอนกดิษฐารามซึ่งมีชื่อเดิมว่าวัดบ้านใหม่ครับ

บางเชือกนั้น ภาพถ่ายดาวเทียมจาก google earth ตรงส่วนนี้คุณภาพต่ำ หารายละเอียดไม่ได้มาก ขอเดาเอาไว้ก่อนว่าอาจจะอยู่ตรงตำแหน่งวัดต้นเชือกที่ปักหดไว้ในแผนที่ครับ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 04 ส.ค. 07, 22:40
นิราศพระแท่นดงรังของนายมีว่า

มาตามทางบางใหญ่ไกลนักหนา        ไม่เห็นหน้าน้องแก้วพี่แล้วหนอ
มาถึงด่านด่านเรียกให้เรือรอ            แล้วเลยต่อไปในวนชลธารฯ
มาถึงวัดส้มเกลี้ยงพอเที่ยงสาย         สกนธ์กายร้อนเริงดังเหลิงผลาญ
เห็นส้มเกลี้ยงน่าจะกลืนให้ชื่นบาน      เปรี้ยวหรือหวานก็ไม่รู้ดูแต่ตา
อันส้มสูกลูกไม้ทั้งหลายหมด           ไม่เหมือนรสมิ่งมิตรขนิษฐา
ครรไลเลยหลีกเลี่ยงส้มเกลี้ยงมา       ไม่รอรารีบรัดตัดตำบล
ไม่รู้จักชื่อบ้านรำคาญจิต                นั่งพินิจแนวทางมากลางหน
จนออกทุ่งมุ่งดูพระสุริยน                เมฆหมอกมนหมองมัวเหมือนตัวเรา
โอ้สงสารสุริยาฟ้าพยับ                  จะเลื่อนลับยุคุนธรศิงขรเขา
พระอาทิตย์ดวงเดียวเปลี่ยวเหมือนเรา   กำสรดเศร้าโศกมาเอกากาย
ถึงมีเพื่อนเหมือนพี่ไม่มีเพื่อน            เพราะไม่เหมือนนุชนาฏที่มาดหมาย
มีเพื่อนเล่นก็ไม่เหมือนกับเพื่อนตาย     มีเพื่อนชายก็ไม่เหมือนกับเพื่อนชม
ถึงจะมีวิมานสถานทิพย์                  ให้ลอยลิบเลิศมนุษย์สุดประถม
ถ้าไม่มีคู่เคียงเรียงภิรมย์                จะเตรียมตรมตรึกหาเป็นอาจิณฯ
มาตะบึงลุถึงหัวโยงเชือก                เป็นโคลนเทือกท้องนาชลาสินธุ์
คลองก็เล็กน้ำตื้นเห็นพื้นดิน             ไม่น่ากินน้ำท่าระอาใจ

นายมียิ่งแล้วไปใหญ่ เอ่ยชื่อวัดส้มเกลี้ยงออกมาชื่อเดียวแล้วบอกดื้อๆว่า "ไม่รู้จักชื่อบ้านรำคาญจิต"
อ่านสามนิราศที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าคลองนี้ไม่มีอะไรน่าสนใจมากนัก และน่าจะมีคนอยู่กันเบาบางเมื่อเทียบกับเส้นทางที่ผ่านมาครับ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 04 ส.ค. 07, 23:00
รอกระทู้จนเหนื่อย
แต่เห็นงานที่ทำออกมา ขอยกนิ้วโป้งให้หมดตัวเลย เยี่ยมครับ
น่าจะลงภาคสนาม ไปเที่ยวตามลำคลองเหล่านี้จริงๆ

รอตอนต่อไป แล้วผมจะมาถล่มปิดท้าย...ฮิฮิ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 04 ส.ค. 07, 23:11
ตอนเด็ดแล้วครับ เมื่อคืนอยู่ถึงตี ๕ ร่ำๆจะขับรถออกไปดูคลองให้มันรู้แล้วรู้รอดไปเลย

ทีนี้อยากจะให้ลองกลับไปดูแผนที่ขยายช่วงคลองบางใหญ่อีกครั้ง ผมปักหมุดชื่อวัดที่ไม่ปรากฏในสามนิราศนี้ไว้หลายหมุด ได้แก่ วัดโคก วัดบางโค วัดพระนอน วัดหลังบาง และ วัดท่าบันเทิงธรรม

ข้อมูลที่หาได้ในอินเทอร์เน็ต(ส่วนมากจากเว็บ ททท.และ thaitambon) บอกอายุแต่ละวัดไว้ดังนี้
วัดโคก ๒๓๗๐
วัดบางโค ๒๓๙๙
วัดพระนอน ๒๓๘๘
วัดหลังบาง ๒๔๐๐
วัดท่าบันเทิงธรรม ๒๓๘๖ (ข้อมูลว่าสร้างโดยหม่อมเจ้าหญิงคอยท่า ปราโมช แต่อายุดูจะผิดไปมาก)
วัดอินทร์ ข้อมูลว่าสร้างในปี ๒๒๒๓ แต่สิ่งปลูกสร้างปัจจุบันมีอายุตั้งแต่ปี ๒๔๗๗ เป็นต้นมาเท่านั้นเองครับ
วัดส้มเกลี้ยง วัดนี้นายมีกล่าวถึงในนิราศพระแท่นดงรัง ข้อมูลว่าสร้างในปี ๒๒๒๓ แต่ไม่รู้ว่าอยู่ในสภาพใดในเวลานั้น
ส่วนวัดต้นเชือก ประวัติว่าสร้างตั้งแต่ ๒๓๒๔ แต่เพิ่งจะมาเจริญเอาหลัง ๒๔๙๐ มานี้เอง

ดูเหมือนว่าวัดส่วนมากในคลองนี้จะเป็นวัดที่สร้างในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๔ และกวีละเลยที่จะกล่าวถึงครับ

หากดูในเชิงเศรษฐกิจ ช่วง ร.๓ เศรษฐกิจข้าวเริ่มเฟื่องฟู คลองโยงมีบทบาทสำคัญในการขนส่งข้าวจากนครชัยศรีเข้ามายังกรุงเทพ สภาพความหนาแน่นของคลองบางใหญ่ที่ปรากฏในนิราศสุพรรณก็คงเกิดจากสาเหตุนี้นี่เอง ความเป็นเส้นทางเศรษฐกิจนี้คงทำให้คลองบางใหญ่เจริญขึ้น มีคนมากขึ้น และวัดหลายวัดถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลานั้น

แต่คลองโยงก็มีข้อจำกัดมากตรงที่ลำคลองช่วงคลองโยงตื้นเขิน (ดูจากความตรงของคลองโยง เชื่อว่าน่าจะเป็นคลองขุดเพื่อการสัญจรมาตั้งแต่สมัยโบราณ) คลองมหาสวัสดิ์ก็คงถูกขุดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาความคับคั่งของคลองโยงนี้เองครับ

หากคิดว่าถ้าจะแก้ปัญหาน่าจะขุดลอกคลองช่วงตื้นเขินก็น่าจะพอเพียง อ่านความจากนิราศพระแท่น ดูเหมือนช่วงที่ตื้นเขินนั้นยาวมาก นอกจากนี้คลองนี้ก็ยังมีความจำเป็นต้องใช้สัญจรอยู่ การขุดคลองมหาสวัสดิ์ซึ่งยังช่วยลดระยะอ้อมลงไปได้อีกมากย่อมเป็นทางเลือกที่ชาญฉลาดกว่ามากครับ

สรุปจากภาพที่เห็นตรงนี้ ผมยังเชื่อว่านิราศสุพรรณแต่งขึ้นก่อนคลองมหาสวัสดิ์ขุดเสร็จแน่นอน และมีแนวโน้มว่าจะเป็นก่อนปี ๒๓๘๖ ยุคที่วัดต่างๆเกิดขึ้นมาเสียด้วยสิครับ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 05 ส.ค. 07, 00:39
ขอแทรกความเห็นไว้ตรงนี้ กันลืม
เมื่อเทียบ"รสคำ"ของนิราศสุพรรณ กับนิราศพระปธม
ผมเห็นว่า นิราศสุพรรณนั้น ออกแนวดิบเถื่อน ประมาณพระเอกหน้ามุ่ยที่ชอบตบนางเอก
แต่นิราศพระปโธนนั้น หวานอ้อนเหมือนเสียงครูสมยศยังไงยังงั้น

ศัพท์ฝ่ายซ้ายก็ต้องบอกว่า โลกทรรศน์ และชีวทรรศน์ ต่างกันมาก


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ส.ค. 07, 09:42
ถ้าหากว่าระยะเวลาแต่ง นิราศสุพรรณ และนิราศพระประธม ต่างกันสัก ๑๐ ปี   โลกทรรศน์และชีวทรรศน์ของคนแต่งจะเปลี่ยนไปมาก เป็นไปได้ไหมคะ
คนเขียนกลอนเมื่อเป็นวัยรุ่น  เรียนอยู่มหาวิทยาลัย   ย้อนมาเขียนอีกครั้งตอนมีครอบครัวมีลูกแล้ว  สำนวนอาจแตกต่างกันมาก

มาดูโลกทรรศน์ของกวีนิราศสุพรรณกันดีกว่า

 กาเหยี่ยวเที่ยวว้าว่อน                เวหา
ร่อนร่ายหมายมัจฉา                    โฉบได้       
ขุนนางอย่างเฉี่ยวกา                   กินสัตว์ สูเอย
โจมจับปรับไหมใช้                     เช่นข้าด่าตีฯ

(๕๔) ๏ ยางเจ่าเซาจับจ้อง               จิกปลา
กินเล่นเป็นภักษา                              สุขล้ำ
กระลาการท่านศรัทธา                       ถือสัตย์ สวัสดิ์แฮ
บนทรัพย์กลับกลืนกล้ำ                       กล่าวคล้ายฝ่ายยางฯ

ท่านขุนนางกวี น่าจะเคยมีความหลังเจ็บแค้นเรื่องคดีอะไรสักอย่าง ที่ท่านเป็นจำเลย  แล้วรู้สึกว่าตุลาการตัดสินไม่เป็นธรรม ลงโทษฝ่ายไม่ผิด     เพราะตุลาการไปงาบเอาสินบนฝ่ายตรงข้ามเข้าเต็มพุง
จึงกระแหนะกระแหนเอาไว้ในบทบาทของกา และนกกระยาง
แนวคิดเดียวกันนี้ กล่าวไว้เต็มๆในกาพย์พระไชยสุริยา    เล่นงานตุลาการกินสินบนไม่ไว้หน้า ว่า
คดีที่มีคู่               คือไก่หมูเจ้าสุภา   
ใครเอาเข้าปลามา ให้สุภาก็ว่าดี
ที่แพ้แก้ชนะ         ไม่ถือพระประเวณี   
ขี้ฉ้อก็ได้ดี            ไล่ด่าตีมีอาญา

อันที่จริง ระบบตุลาการในสมัยรัชกาลที่ ๓ ก็เป็นแบบนั้นจริงๆ   คือเป็นระบบกินสินบนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ขุนนางคนไหนความเป็นอยู่ค่อนข้างฝืดเคือง ก็ไปขอเป็นตุลาการประจำสังกัดของตัว รับความมาชำระ ให้โจทก์และจำเลยมาเอาอกเอาใจส่งเสียข้าวปลาให้กิน    ไม่ได้ห้ามกันอย่างสมัยนี้
ระวังอย่างเดียวคือถ้าตัดสินไม่เที่ยงธรรม ก็ถูกร้องเรียนในระดับสูงได้
ท่านกวีของเราน่าจะเจอระบบนี้เข้าเต็มๆ เป็นฝ่ายแพ้    ถึงได้ชิงชังนัก

ถ้าย้อนมาดูอารมณ์ของกวีนิราศสุพรรณ  มองเห็นอะไรบ้าง
-เห็นความสูญเสีย ในตำแหน่งหน้าที่การงาน  เคยรุ่งเรืองมาในแผ่นดินก่อน แผ่นดินนี้บวชเป็นพระ  ไม่มียศถาบรรดาศักดิ์อีก
-ผู้หญิงที่รัก กี่คนๆ ก็พลัดพรากกันไปหมด  เขาได้ดีมีสามีใหม่บ้าง ไม่เหลือเยื่อใย  ตายจากไปบ้าง  ไม่มีใครอยู่เป็นโยมอุปัฏฐากสักคน   (เห็นจะเป็นเพราะพึ่งไม่ได้)
-แค้นใจกับความไม่ยุติธรรมในสังคม ที่ตัวเองเคยได้รับโดยตรง   
ข้อนี้เชื่อว่าโดนเอง เพราะนิสัยท่าน อะไรถ้าไม่เกี่ยวกับตัวเอง จะไม่เอามาเป็นอารมณ์
ถูกกดดันถึงขนาดนี้    เขียนนิราศให้อารมณ์ออกมาอ่อนหวานอ้อยสร้อย เห็นทีจะยาก 
ถ้าท่านอยู่ในปี ๒๕๑๙ เห็นทีจะหนีขึ้นเขาค้อมั้งคะ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 05 ส.ค. 07, 20:46
ขอแทรกไว้กันลืมด้วยคนครับ

บางสุนัขบ้าที่ผมสันนิษฐานไว้ว่าน่าจะเป็นปากคลองเล็กตรงวัดโคก กลับไปทบทวนใหม่ อาจจะเป็นที่เดียวกับบางโคก็เป็นได้ครับ บางสุนัขบ้าอาจจะเป็นชื่อเดิมของบางโคครับ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 06 ส.ค. 07, 13:48
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์(ขำ บุนนาค) บันทึกไว้ใน "เรื่องพระปฐมเจดีย์" เมื่อปี ๒๔๐๘ ดังนี้

...ครั้น ณ วันอังคารเดือนห้าขึ้นเก้าค่ำปีมะเมียสัมฤทธิศก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จโดยพยุหยาตราทางชลมารคมาขึ้นที่วัดไชยพฤกษมาลา ด้วยครั้งนั้นคลองมหาสวัสดิ์คลองเจดีย์บูชาขุดยังไม่แล้ว แล้วเสด็จทางสถลมารคไปประทับแรมที่พลับพลาท่าหวดราตรีหนึ่ง ครั้น ณ วันพุธเดือนสิบขึ้นสิบค่ำ เสด็จทางชลมารคด้วยเรือกระบวน ขึ้นที่ปากคลองเจดีย์บูชาแล้วเสด็จพระราชดำเนินทางสถลมารคประทับพลับพลาค่ายหลวง จึงโปรดให้กระทำเครื่องสักการบูชาต่างๆเป็นอันมาก...

วันอังคารเดือนห้าขึ้นเก้าค่ำปีมะเมียสัมฤทธิศกนี้ ตรงกับวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๔๐๐ จากเส้นทางเสด็จฯที่เลี่ยงเส้นทาง บางกรวย-บางใหญ่-คลองโยง ชวนให้คิดว่าในเวลานั้น การเดินทางในเส้นทางดังกล่าวน่าจะยากลำบากมากครับ

มีเกร็ดเล็กน้อยที่จะขอแทรกไว้กันลืมตรงนี้คือ เส้นทางนิราศพระประธมช่วงก่อนถึงนครปฐมก็ใช้เส้นทางคลองบางแก้ว ไม่ใช้เส้นทางลัดคลองเจดีย์บูชาที่ขุดเสร็จในปี ๒๔๐๕ ด้วยครับ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 07 ส.ค. 07, 11:24
แน่นอนครับเสด็จเดือนห้าหน้าแล้ง  ทางชลมารคต้องลำบากแม้ปัจจุบันก็ตื้นเขินบ้างเป็นบางช่วง  แต่ตอนหน้าน้ำแม่น้ำท่าจีนขึ้นเต็มที่ก็สุดๆเหมือนกันครับ
 เส้นทางนี้ ผ่านสาถนที่ต่าง ๆ ในเขตอำเภอ- นครชัยศรี ได้แก่ คลองโยง ลานตากฟ้า วัดงิ้วราย วัดสัปทาน โรงงานสุรานครชัยศรี เข้าคลองบางแก้ว ผ่านบ้านโพธิ์เตี้ย และบ้านท่ากระชับ ไม่ทราบว่าฤดูไหนครับ
                                       
           จนออกช่องคลองโยงเป็นโรงบ้าน        เขาเรียนลานตากฟ้าค่อยพาชื่น
           โอ้ฟังบุตรสุดสวาทฉลาดเปรียบ         ต้องทำเงียบนึกไปก็ใจหาย
           กึงแขวงแคแลลิ่วชื่องิ้วราย         สะอื้นอายออกความเหมือนนามงิ้ว
           ถึงย่านน้ำ สำทะทวนรำจวนจิต         เหมือนจิตใจคิดทวนทบตระหลบหลัง
           ถึงปากน้ำลำคลองที่ท้องทุ่ง         เจ็กเขาหุงเล่ากันควันโขมง
           มิรางรองสองชั้นทำคันโพง         ผูกเชือกโยงยืนชักคอยตักเติม
           ถึงบางแก้วแก้วอื่นสักหมื่นแสน         ไม่เหมือนแม้นแก้วเนตรของเชษฐา
           ถึงโพธิ์เตี้ยต่ำเหมือนคำกล่าว         แต่โตราวสามอ้อนเท่าพ้อมสาน
           เป็นเรื่องราวเจ้าฟ้าพญาพาน         มหาสังหารพระยากงองค์บิดา
           แล้วปลูกพระมหาโพธิ์บนโขดใหญ่         เผอิญให้เตี้ยต่ำเพราะกรรมหนา
           อันเท็จจริงสิ่งไรเป็นไกลตา         เขาเล่ามาพี่ก็เล่าให้เจ้าฟัง
           บางกระชับ เหมือนกำชับให้กลับหลัง         กำชับสั่งว่าจะคอยละห้อยหา   


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ส.ค. 07, 17:09
ดร.สุวิชญ์ รัศมิภูติ อธิบายเรื่องควายลากเรือที่คลองโยง ว่า   เขาใช้ควายสองตัว  เดินกันไปตามสองฟากตลิ่ง  มีเชือกโยงล่ามเข้ากับเรือ    ลากเรือที่แล่นไปบนเลน ให้ผ่านคลองช่วงนั้นไปได้
เรือที่แล่นไป ถ้าเป็นเรือใหญ่ก็เรือเอี้ยมจุ๊น  ถ้าเรือเล็กกว่านั้น นั่งกันประมาณ ๑๐ คน  มีประทุนเรือ  คนนอนในเรือได้ตอนกลางคืน
ได้ข่าวว่า ท่านจะจัดท่องเที่ยวสุพรรณตามเส้นทางสุนทรภู่    ถ้าคุณอาชาผยองกับคุณพิพัฒน์สนใจก็หลังไมค์มานะคะ

ทางเปลี่ยวเลี้ยวล่องคุ้ง                          เขตคัน
ย่อมย่านบ้านกระจันจันทร์                       กระจ่างฟ้า
เงียบเหงาเปล่าทรวงกระสัน                    โศกสะอื้น  อกเอย
จันอื่นชื่นแต่หน้า                                   ใช่เนื้อเจือจันทร์ฯ
ผู้หญิงชื่อแม่จันทร์ น่าจะเป็นคนที่ท่านกวีรักและผูกพันมากที่สุด  รำพันเอาไว้หลายบท
จนกลายเป็นเค้าเงื่อนให้ยืนยันได้ว่า นิราศเรื่องไหนเป็นของสุนทรภู่ ก็ดูจากแม่จันทร์นี่เอง  อย่างในนิราศพระบาท
 
(๕๙) ๏ ลำพูดูหิ่งห้อย                            พรอยพราย
เหมือนเม็ดเพชรรัตน์ราย                          รอบก้อย
วับวับจับเนตรสาย                                  สวาทสบ  เนตรเอย
วับเช่นเห็นหิ่งห้อย                                  หับม่านนานเห็นฯ
โคลงบทนี้ต่อจากบทรำพึงถึงแม่จันทร์   ถ้าเป็นผู้หญิงคนเดียวกัน   แม่จันทร์เห็นจะเป็นลูกผู้ดี   อย่างในประวัติบอกว่าเป็นสาวชาววัง   
เพราะแหวนเพชรที่หล่อนสวมนั้นไม่ใช่แค่เพชรเม็ดเดียว แต่เป็นแหวนก้อย ฝังเพชรรอบวง  อย่างที่เราเรียกว่าแหวนพิรอด
เป็นเพชรน้ำดีเสียด้วย    แวววับจับตา  แม่จันทร์เห็นจะเป็นลูกสาวขุนนางตำแหน่งไม่น้อย
สอดคล้องกับบทนี้ ว่าสาวที่กวีเคยมีความหลังด้วย เป็นสาวอยู่ในฐานะสูง อาจจะสูงกว่าฝ่ายชายเสียอีก
ถึงคลองร้องเรียกบ้าน                    บางหลวง
รำลึกนึกถึงดวง                             ดอกฟ้า
เงียบเหงาเปล่าเปลี่ยวทรวง             แสนเทวษ  ทุเรศเอย
อุ้มรักหนักอกถ้า                             เทียบเท่าเขาหลวงฯ
 


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ส.ค. 07, 17:25
ส่วนสาวอื่นๆในนิราศสุพรรณ ที่เคยมีความสัมพันธ์กัน ก็มีรายชื่อออกมาให้เห็นบ้าง  แต่คงจะไม่ยั่งยืนกันเท่าไร   เพราะเอ่ยถึงแล้วก็จบกัน  ไม่มีการพรรณนาซ้ำอีก
คนนี้ ชื่อน้อย
บางน้อยพลอยนึกน้อย                     น้องเอย
น้อยแนบแอบอกเคย                       คู่เคล้า
เนื้อน้อยค่อยสนอมเชย                    เชือนชื่น  อื่นแม่
น้อยแต่ชื่อฤาเจ้า                             จิตน้อยลอยลมฯ
คำว่า จิตรน้อยลอยลม   ไปเหมือนกับโคลง "นกน้อยลอยลม" ที่วัดแจ้ง  ก็เลยไม่แน่ใจว่า  แม่คนนี้ชื่อนกหรือชื่อน้อยกันแน่
หรือว่านกคนหนึ่ง น้อยอีกคนหนึ่ง   
คำบอกเล่าว่าหล่อนลอยลม  คือหล่อนคงไปมีคนอื่น   ชวนให้สงสัยว่าเป็นคนเดียวกัน

ส่วนคนนี้ชื่อนวล
เนื้ออ่อนห่อนสู้เนื้อ                        น้องหญิง
อ่อนแอบแนบอกอิง                       อุ่นล้ำ
นวลจันนั่นนวลจริง                         แต่ชื่อ  ฦาเอย
นวลที่พี่กลืนกล้ำ                           กลิ่นเนื้อเหลือนวลฯ
 
นี่ก็อีกคน ชื่อแม่งิ้ว    แม่คนนี้น่าจะมีสามีอยู่แล้วเมื่อท่านกวีไปกุ๊กกิ๊กอยู่ด้วย   ท่านกวีถึงดูเขินๆ ไม่กล้าเจออีกจนกว่าจะตาย   
ซ้ำยังบอกอีกว่า  ถ้าเจออีกก็ต้องปีนต้นงิ้วกัน
 ยามยลต้นงิ้วป่า                           หนาหนาม
นึกบาปวาบวับหวาม                      วุ่นแล้ว
คงจะปะงิ้วทราม                            สวาทเมื่อ  ม้วยแฮ
งิ้วกับพี่มิแคล้ว                              ขึ้นงิ้วลิ่วสูงฯ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 07 ส.ค. 07, 22:35
อนึ่งเจ้าเหล่าเล็กล้วน              ลูกหลาน
หมายมั่งดังพิศถาน                 ถี่ถ้วน
ขอให้ใส่นามขนาน                 ตาบพัด สวัดิเอย
กลั่นชุบอุประถำล้วน               ลูกเลี้ยงเที่ยงธรรม์ฯ

นี่กระมังครับที่แสดงว่าเป็นท่านมหากวี

ลูกเอยเฉยเช่นปั้น                 ปูนขาว
สาวเพ่งเล็งหลบสาว               สิ้นแล้ว
ปะเป็นเช่นพ่อคราว                ครั้งหนุ่ม  ชุ่มฤา
ตายราบลาภไม่แคล้ว             คลาดช้านาทีฯ

แหมผมละนึกถึงคำของท่านอาจารย์เทาชมภู  นี่ถ้าท่านมหากวีแต่งตอนที่ครองเพศบรรพชิตจริงๆ  ใช้คำออกจะโลดโผนไปหน่อยครับ  ไม่เหมาะ ๆ และไม่เหมาะกับสมณวิสัย  ไปวุ่นวายกับหนุ่มสาวแบบทำนองว่า ถ้าเป็นฉันสมัยหนุ่มๆละเรียบร้อยโรงเรียนสุนทรไปแล้ว

 ลูกลาวสาวรุ่นน้อง               ทักทาย
เรือพี่มีสิ่งขาย                     ค่อยไหว้
ลูกเราเหล่าหนุ่มอาย             แอบเด็ก  เล็กแฮ
สอนกระสาบตาบให้             ว่าซื้อหรือจำฯ

 หนูพัดพลัดพลอดล้อ            เลียนสาว
มีหมากอยากสู่สาว                ซิ่นแล้ว
ป่านเจ้าเค่าเหนียวขาว            ขายมั่ง  กระมังแม่
ตาบฮ่ามถามหาแห้ว              แห่งนี้มีฤาฯ

แต่รู้สึกว่าคุณลูกนี่ไม่ค่อยได้ดั่งใจพ่อเลยกระมัง  มีเหนี่ยมอายสาวไม่เหมือนคุณพ่อที่สาวๆตรึม  เอาแค่แม่จันนี่ก็หลายบทแล้ว

ดึกลาวสาวรุ่นกล้า                 มาเดียว
ให้กระเช้าเข้าเหนียว              นั่งใกล้
ถอยหลีกอีกบ่อเหลียว           เลยลูก กูเอย
กลั่นรับกลับจุดไต้                 ตอบโต้โมทนาฯ

อิอิ ........ ดันเป็นสามเณรกลั่นซะอีก  ลูกเลี้ยงแท้ๆที่รับสาวได้

 บูราณท่านว่าเลี้ยง               ลูกสาว
มันมักหักรั้วฉาว                   เช่นพร้อง
หนุ่มชายฝ่ายรุ่นราว               รักขะยั่น พรั่นแฮ
ลูกโง่โซแสบท้อง                 บ่อรู้สู่สาวฯ

ลูกไม่ได้ดังใจจริงๆ  อิอิ.....  นี่ใช่ไม๊ครับที่แสดงว่าท่านมหากวีแต่งแน่ๆ  แต่ผมว่าละม้ายนิราศเมืองเพชรอยู่นะครับท่านอาจารย์


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ส.ค. 07, 09:49
ใช่ค่ะ กวีที่แต่งนิราศสุพรรณ เป็นคนเดียวกับที่แต่งนิราศเมืองเพชร    มีอะไรส่วนตัวเหมือนกันมาก
ชื่อลูกชายก็ตรงกัน  พฤติกรรมก็แบบเดียวกัน

ก่อนจะเก็บความต่อ   มาบอกความรู้สึกก่อน
ดิฉันคิดว่าท่านกวี/พระ/ขุนนาง ผู้แต่งนิราศสุพรรณ  แต่งเรื่องนี้ด้วยอารมณ์ศิลปิน  ไม่ใช่อารมณ์นักบวช
แม้ว่าถือเพศบรรพชิตอยู่ก็ตาม   แต่ความรู้สึกนึกคิดและการสะท้อนกลับของอารมณ์ต่อสิ่งรอบตัว เป็นอารมณ์ศิลปินล้วนๆ
ทั้งยังเป็นศิลปินที่มีโลกส่วนตัวไพศาล    ศูนย์กลางความสนใจอยู่ที่อารมณ์ตัวเอง   เมื่อเขียนก็เขียนจากอารมณ์  ไม่ได้เขียนจากเหตุผล
ไม่ได้รู้สึกว่า...เนี่ย เราเขียนให้คนอื่นอ่านนะ ต้องระวังว่าอะไรควรเขียนอะไรไม่ควรเขียน  เพราะเผยแพร่ต่อสาธารณชนแล้วต้องให้ดูงาม   อย่าให้ดูไม่งาม
เปล่า  ไม่มีความรู้สึกนี้เลย   รู้แต่ว่าอยากเขียนก็เขียนเสียอย่าง
จึงมีหลายตอนที่คนอ่าน อ่านแล้วแปลกใจ ว่านี่พระเขียนหรือนี่ 
เพราะเราไปมองคนละมุมกับท่าน   ท่านแสดงให้เห็นว่า ท่านเป็นพระ หรือขุนนาง หรือชาวบ้าน หรือใครก็ตาม
ท่านก็คือตัวท่าน  ไม่เสแสร้งอำพราง


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ส.ค. 07, 14:08
ในเรื่องนี้  มีผู้หญิงชื่อบัวคำอีกคน ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตท่านกวีของเรา
บางบัวบ้านชื่อพร้อง                      สนองนำ
นึกเช่นเห็นบัวคำ                            คู่พร้อง
ข้าวเหนียวเกี่ยวมาทำ                     แทนข้าว  เจ้าเอย
คราวเคราะห์เพราะเกี่ยวข้อง            ขัดค้างขวางเชิงฯ
ชื่วบัวคำ ไม่ใช่ชื่อสาวภาคกลาง  แต่เป็นสาวเหนือ  สมัยโบราณ ชื่อบัว พบกันได้มากในดินแดนล้านนา มากกว่าทางอีสาน
คำที่ช่วยยืนยันก็คือบาทที่สอง   หล่อนเป็นสาวข้าวเหนียวที่ท่านกวีได้มาเสพแทนข้าวเจ้าอยู่พักหนึ่ง
แต่ก็ไปไม่รอด   ถูกขัดขวางจนกระทั่งหลุดมือไปอีก
น่าจะเป็นการผูกพันชั่วระยะสั้นๆ  ไม่มีการเอ่ยรายละเอียดถึงการครองคู่กันอย่างสามีภรรยา    ก็อาจจะสรุปได้ว่าเป็น "กิ๊ก" อีกคนหนึ่งเท่านั้น

ใบร่มลมเรื่อยแล่น                        ลีลา
เหล่าหนุ่มชุ่มชื่นพา                      เพื่อนร้อง
อิเหนาเข้ามะละกา                       กลเม็ด  มากแฮ
ฟังเสนาะเพราะพร้อง                    พรักพร้อมซ้อมเสียงฯ

ตรงนี้เป็นหนึ่งคำที่บอกความหมายได้พันคำ
เพลงที่หนุ่มๆในเรือของท่านขุนนางกวีร้องกัน คือเพลงไทยเดิม "จำปาทองเทศ" เนื้อร้องจากพระราชนิพนธ์ "อิเหนา" ในรัชกาลที่ ๒
ขึ้นต้นว่า
ลมดีพระก็ใช้ใบไป                      พระอุ้มองค์อรไทขนิษฐา
ขึ้นนั่งยังท้ายเภตรา                     ชมหมู่มัจฉาในสาชล

หนุ่มพวกนี้รสนิยมไม่เบาเลย  ร้องเพลงจากละครใน ซึ่งเป็นละครชาววังในแผ่นดินก่อน 
แผ่นดินรัชกาลที่ ๓ ท่านไม่โปรดการละเล่นบันเทิงเฮฮาร้องรำทำเพลงในพระบรมมหาราชวัง   ความบันเทิงก็ย้ายออกมาสู่บ้านขุนนางน้อยใหญ่
ทำเพลงมโหรีปี่พาทย์กัน  ก็วัฒนธรรมจากในวังมาก่อน   เพราะฉะนั้นพอจะอนุมานได้ว่าหนุ่มๆที่นั่งเรือไปกับท่านขุนนางกวี  ไม่ใช่ชาวบ้านธรรมดา


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 08 ส.ค. 07, 15:33
ก่อนหน้านี้ผมคิดว่ากวีนิราศสุพรรณเป็นพระภิกษุครับ

มาอ่านใหม่ อ่านตามกลอนผมว่ากวีนิราศสุพรรณไม่ใช่พระสงฆ์ครับ อ่านรายละเอียดส่วนที่ชวนให้คิดว่าเป็นพระก็กลับเจาะจงไม่ได้
ดังนั้นจึงคิดใหม่ว่ากวีนิราศสุพรรณเป็นฆราวาส เป็นกวีขุนนาง หรือครู ที่ชาวบ้านนับถือ

ทั้งนี้อ่านรอบหลังเป็นฉบับโคลง ๓๐๐ บทที่แพร่หลายกันอยู่นะครับ ก่อนหน้านี้เคยอ่านฉบับเต็มที่ลงในเว็บ sunthornphu.org (ตอนนี้ลิงก์นิราศหายไปแล้ว ได้อีเมล์ไปสอบถาม ได้ความว่ากำลังเตรียมจะเอากลับมาครับ) ผมจำไม่ได้ว่าในส่วนที่ขาดไปนี้มีอะไรบ่งชี้มากกว่านี้หรือเปล่าครับ



กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ส.ค. 07, 16:02
ถ้าหากว่ากวีนิราศสุพรรณ เป็นชาวบ้าน ไม่ได้บวช   คุณอาชาจะตีความโคลงบทนี้ว่ายังไงล่ะคะ
บางบำรุบำรุงแก้ว                        กานดา
แก้วเนตรเชษฐาชรา                     ร่างแล้ว
ถือบวชตรวจน้ำพา                       พบชาติ อื่นเอย
ชาตินี้พี่แคล้ว                              คลาดค้างห่างสมรฯ
ดิฉันตีความว่า กวีบอกเอาไว้ตรงๆเลยว่าตอนนี้พี่แก่แล้ว แล้วก็ยังถือบวชอีกด้วย ถ้าจะพบกันอีกก็ขอกรวดน้ำอธิษฐานพบกันในชาติอื่น   ชาตินี้ถือว่าคลาดแคล้วกันไป สายเกินกว่าจะมาเริ่มต้นกันอีก
ถ้าหากว่าไม่ใช่พระ   จะพูดเรื่องถือบวชทำไม   ถ้าเป็นฆราวาส  อยากอธิษฐานพบแม่แก้วคนนี้ในชาติหน้าก็ไม่เห็นจะต้องเอ่ยเรื่องบวชเป็นข้อประกอบ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 08 ส.ค. 07, 16:44
ตรงนี้ผมอ่านแล้วก็งงครับ

ถ้าแปลถือบวชว่ากวีเป็นพระ ก็ได้ความว่า
"น้องแก้วเอ๋ย หลวงพี่แก่แล้ว บวชแล้ว ขอกรวดน้ำให้ได้เจอกันในชาติอื่นก็แล้วกัน ชาตินี้คงไม่ได้อยู่ด้วยกันแล้ว"

อ่านแล้วมึนกะหลวงพี่เลยครับ

ลองอ่านใหม่ กรวดน้ำ ไม่จำเป็นต้องทำโดยพระ แต่ ถือบวช คำนี้เป็นปัญหาครับ
ถ้าแปล ถือบวช ว่าคือการบวชเป็นเพระภิกษุ ก็จบกัน
แต่ถือบวชก็ยังใช้กับการนุ่งห่มขาวรักษาศีลเป็นตาผ้าขาวได้ด้วย

และถ้าดูพจนานุกรมพุทธศาสน์ http://www.dhammalife.com/dhamma/vocab/vocab33.htm (http://www.dhammalife.com/dhamma/vocab/vocab33.htm)
ให้ความหมาย ปัพพัชชา ว่า "ถือบวช เว้นจากการเบียดเบียนกัน"
คนห่างวัดอย่างผมไม่แน่ใจว่า ถือศีล ๑๐ หรือศีล ๘ โดยไม่นุ่งห่มขาวนี่จะเรียกว่าถือบวชได้หรือไม่ครับ

ไม่ว่าจะเป็นตาผ้าขาวหรือไม่ ผมขอแปลตรงนี้
"ถือบวชตรวจน้ำำพา  พบชาติ อื่นเอย" ว่า "ขอผลบุญกุศลพาให้ได้พบกันชาติอื่นครับ"


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ส.ค. 07, 16:55
สมมุติว่าคุณอาชาผยอง   หลงรักสาวคนหนึ่ง แต่ชาตินี้รู้ว่าไม่มีทางสมหวัง
ได้แต่อธิษฐานพบกันชาติหน้า
แบบเดียวกับที่พระเอกอธิษฐานกันในละครทีวีย้อนยุคหลายๆเรื่อง   
ข้อนี้เชื่อว่าเป็นไปได้  สมเหตุสมผล
แต่พระเอกพวกนั้น ไม่เคยมีคำว่า ถือบวช แทรกเข้ามาในคำอธิษฐานเลยนะคะ  จะทำบุญกุศลอะไรเพื่อให้พบกันก็ได้
แต่ไม่ใช่ถือบวชเป็นสามเณรหรือพระภิกษุ
เพราะกุศลของการถือศีล ๘ ศีล ๑๐ หรือ ๒๒๗ ข้อ มันไม่น่าจะก่ออานิสงส์ให้ผูกพันทางกามกิเลส ต่อไปอีกในชาติหน้า 

ก่อนตัดสินว่ากวีท่านบวช ก็เพราะคำว่าถือบวชนี่แหละ  แสดงว่าไม่ใช่คฤหัสถ์   
แล้วยังไงเสีย คำนี้ก็ระบุโต้งๆอยู่ในโคลง ว่าไม่ใช่การทำบุญกุศลอย่างธรรมดา  แต่มันมีคำว่าบวชเข้ามาเกี่ยวด้วย
ถ้าเชื่อว่ากวีท่านนี้คือสุนทรภู่  ก็คงรู้ว่าสุนทรภู่ไม่เอาคำว่าถือบวชมาใช้ในความหมายทำกุศลแบบชาวบ้านแน่ๆ   อย่างในนิราศภูเขาทองก็บอกไว้
ทำบุญบวชกรวดน้ำขอสำเร็จ             พระสรรเพชญโพธิญาณประมาณหมาย

คือ บุญกุศลจากการบวช   รู้กันว่าเป็นเส้นทางไปนิพพาน   ไม่ใช่เส้นทางได้ภรรยาในชาติหน้า
สรุปว่าคำแปลนี้ถูก ค่ะ
"น้องแก้วเอ๋ย หลวงพี่แก่แล้ว บวชอยู่ด้วย ขอกรวดน้ำให้ได้เจอกันในชาติอื่นก็แล้วกัน ชาตินี้คงไม่ได้อยู่ด้วยกันแล้ว"



กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ส.ค. 07, 17:06
ลุดลชนบทบ้าน                           ขนมจีน
โรงเจ๊กตั้งริมตีน                           ท่าน้ำ
นั่งนับทรัพย์สิ่งสิน                        สยายเผ้า  เล่าแฮ
เมียช่างสางสลวยล้ำ                    สลับผู้หูหนางฯ

พยายามปักหมุดเวลากับโคลงบทนี้ แต่ปักได้หลวมๆ
มีในนิราศอีกเรื่องหนึ่งที่สุนทรภู่เอ่ยถึงคนจีนร่ำรวย ตามเส้นทางที่พบเห็น    มีความรู้สึกว่าจีนหลั่งไหลเข้ามากันในรัชกาลที่ ๓  จนเกิดระบบเจ้าภาษี ทำให้ร่ำรวยเป็นปึกแผ่นกันมาก
เถ้าแก่ที่บ้านขนมจีน มีโรงทำอะไรสักอย่างริมท่าน้ำ    ไม่ทราบว่าอะไร  โรงเจ๊ก นี่เป็นอย่างเดียวกับ ร้านเจ๊ก หรือเปล่าคะ
หมายถึงร้านค้าขาย ตั้งอยู่ริมท่าน้ำ    ตัวเถ้าแก่นั่งนับเงิน  สยายผมยาว  คงสะดุดตากวีไทยผู้ชินกับทรงผมมหาดไทยของชายไทยด้วยกัน
เถ้าแก่ แกต้องเป็นคนจีนในยุคราชวงศ์ชิงแน่ๆ  ไว้ผมยาวถักหางเปีย  พอมาถึงเมืองไทย ก็ไม่ถักเปียแต่ยังสยายผม เรียกว่าทรง"ปันหยี"  เป็นแฟชั่นคนจีนที่มีมาถึงรัชกาลที่ ๕
เถ้าแก่นั่งเอ้เต้มีเมียสาวสวยช่วยสางผมให้  น่าจะเป็นภาพสะดุดตาแกมอิจฉาหน่อยๆของชายไทยผู้นั่งเรือผ่านไปเห็น  จนต้องบันทึกเอาไว้
 
 


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 08 ส.ค. 07, 17:10
ส่วนที่ทำให้เชื่อว่ากวีไม่ได้ถือเพศภิกขุอยู่ย่านบ้านทึงดังนี้ครับ

จัดแจงแต่งตบะเหลื้อม         ลายทอง
เทียรทูบท่วยแก้วรอง          ดอกไม้
ลูกพลับกับกระเทียมดอง      ถวายคนะ พระเอย
ย่ามร่มสมภารได้              รับพร้อมน้อมถวายฯ

ตวันเยนเหบพระพร้อม         ล้อมวง
ตีปะเตะตะกร้อตรง             คู่โต้
สมภารท่านก็ลง                เล่นสนุก ขลุกแฮ
เข่าค่างต่างอวดโอ้             อกให้ใจหายฯ

อยุดกระกร้อฬ่อไก่ตั้ง         ตีอัน
ผ้าพาดบาดเหล็กพนัน         เหน็บรั้ง
ไก่แพ้แร่ขบฟัน                ฟัดอุบ ทุบเอย
เจ้าวัดตัดเรือตั้ง                แต่งเหล้นเยนใจฯ

เสียเทียรเสียทูบซ้ำ            เสียสัทา
เสียที่มีกระมลมา              โนศน้อม
เสียดายฝ่ายศาสนา            สัมนะ พระเอย
เสียน่าตาหูพร้อม              เพราะรู้ดูเหน

เมื่อกวีขัดหูขัดตากับพฤติกรรมพระวัดนี้ก็เลยหลบไปนอนที่บ้านทึง เจอตายายผู้เฒ่าดังนี้
เหมือนรู้ผู่เถ้าท่าน             ทังสอง
เมียนากนามผัวทอง           ผ่องแผ้ว
มาหาพ่าขาวของ              คำนับ รับเอย
ท่านช่วยอวยภรแล้ว           เล่ารู้บูราณ

พยายามตีความตรงนี้แล้วก็งงว่า กวีให้ผ้าข้าวของคำนับรับตายาย หรือตายายเอาผ้าข้าวของมาให้กวี แล้วกวีคำนับรับ
แต่ดูบาทต่อไป "ท่านช่วยอวยภรแล้ว  เล่ารู้บูราณ" ดูเหมือนกวีจะเป็นคนให้ผ้ามากกว่า (แจกผ้าเหมือนกวีนิราศเมืองเพชร)

ยิ่งมีตอนต่อไปว่า
ได้ครูผู่เท่าทั้ง                 ยายตา
สมมุติดุจะเทวดา              บอกเหล้า
ทายทักลักขณะรา             ศรีทั่ว ตัวเอย
จอดน่าท่าผู่เถ้า                ท่วนห้าราตรีฯ

ท่านตายายคงไม่มาดูโหงวเฮ้งให้พระนะครับ ชอบกลเกินไป

หากก่อนจะจากกันในเช้าวันรุ่งขึ้น
เรือออกนอกท่าบ้าน           ท่านยาย
ย่อไว่ไห้สอื้นฟาย              มูกย้อย
เชาบ้านท่านทังหลาย          แลสลด หมดเอย
ไห้มั่งทังใหญ่น้อย             นั่งผร้ำน้ำตาฯ


ยังชวนฉงนว่าท่านยายมาย่อไหว้กวี หากกวีไม่ได้เป็นพระ คงต้องเป็นขุนนาง หรืออยู่ในสถานะพิเศษที่เป็นที่นับถือของชาวบ้านครับ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ส.ค. 07, 18:04
เหตุผลของคุณอาชาผยองก็มีน้ำหนักมากเสียด้วย
ดิฉันลองมองต่างมุมดูก่อนดีกว่า ว่าพอจะเอาน้ำหนักด้านเป็นพระ คานได้ไหม

จัดแจงแต่งตบะเลื่อม         ลายทอง
เทียนธูปถ้วยแก้วรอง          ดอกไม้
ลูกพลับกับกระเทียมดอง      ถวายคณะ พระเอย
ย่ามร่มสมภารได้              รับพร้อมน้อมถวายฯ

ตะวันเย็นเห็นพระพร้อม         ล้อมวง
ตีปะเตะตะกร้อตรง             คู่โต้
สมภารท่านก็ลง                เล่นสนุก ขลุกแฮ
เข่าข้างต่างอวดโอ้             อกให้ใจหายฯ

โคลงบทแรกแสดงว่าท่านขุนนางกวีเตรียมข้าวของมาไหว้พระวัดนี้ ทั้งวัด ตั้งแต่สมภารลงไปถึงลูกวัด  น่าจ้ะเป็นการเคารพกันตามสายคณะสงฆ์
การเล่นตะกร้อนั้น  ถ้าหลวงลุงกวีไม่ได้บวช  พระท่านจะโชว์ให้ชาวบ้านดูทำไม  แต่นี่ท่านคงเห็นเป็นพระด้วยกัน  ก็ให้ดูตามสบาย  จะเข้าร่วมวงตะกร้อด้วยก็ไม่รังเกียจ
แต่ท่านขุนนางกวี ใจหายตกอกตกใจ  ไม่เคยเห็น   ถือว่าเสียหายอย่างมากที่พระเล่นตะกร้อ
เลยไม่เอาด้วย


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ส.ค. 07, 18:15
เหมือนรู้ผู้เฒ่าท่าน             ทั้งสอง
เมียนากนามผัวทอง           ผ่องแผ้ว
มาหาผ้าขาวของ              คำนับ รับเอย
ท่านช่วยอวยพรแล้ว           เล่ารู้บูราณ
การให้ผ้าขาวเห็นทีท่านขุนนางกวีเป็นฝ่ายให้  เพราะผู้เฒ่าทั้งสองเป็นฝ่ายอวยพร  ที่จริงไปพักบ้านเขาตั้งห้าคืน เอาของติดไม้ติดมือไปให้ก็ถือว่าเป็นมารยาทตามปกติ
ดิฉันวาดภาพว่า เรือที่ท่านขุนนางกวีนั่งไป มีตัวท่านบวชพระอยู่รูปเดียว
ส่วนลูกชายและคนอื่นๆที่ไปด้วย เป็นคฤหัสถ์ทั้งหมด
เพราะฉะนั้นการต้อนรับก็เลยกึ่งๆต้อนรับชาวบ้าน   แตกต่างจากการต้อนรับถ้าหากว่าทั้งลำเรือเป็นพระทั้งหมด

เรื่องดูลักษณะ  น่าจะดูกันหมดทั้งแก่และหนุ่มที่นั่งเรือไปคราวนี่นะคะ   ท่านขุนนางกวียอมให้ดูก็ไม่เห็นเป็นไรนี่  เพราะผู้เฒ่าก็ดูน่านับถือ  อายุตั้งร้อยกว่าปี
บทสุดท้ายที่ว่าท่านยายไหว้นั้น ถ้าท่านขุนนางบวชพระอยู่  ก็ลงตัวพอดีว่าทำไมท่านยายไหว้คนที่อ่อนกว่าเป็นกอง


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 08 ส.ค. 07, 19:22
ตอบคุณเครซี่เรื่อง "ถือบวช"
ถ้า"บวช"เป็นการนุ่งขาว ถือศีลแปด ก็แปลว่านายคนนั้นมีศรัทธาแก่กล้าในพระศาสนา ถูกไหมครับ
ขนาดแก่แล้วยังทำตนอย่างนั้น
แล้วนายคนนั้นเอาจิตใจของใครมาหมกมุ่น อวดอ้างประสบกามของตนเป็นโหล
น่าไม่อายราวกะเดียรถีย์

ใจผมคิดว่าแกเป็นพระสงฆ์ที่ ถ้าอยู่ในรัชกาลพระเจ้ากรุงธน หรือรัชกาลที่ 1 เป็นได้ไปเกิดใหม่แน่ๆ
ในรัชกาลที่ 3 ต่อรัชกาลที่ 4 พระอลัชชีมีมาก
ประกาศรัชกาลที่ 4 ก็ทรงบ่นพวกนี้ไว้โต้งๆ
แม้จนอาลักษณ์คู่พระทัย ยังทรง"หยอก"แรงๆ เห็นๆ กันอยู่


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 08 ส.ค. 07, 21:43
เรื่องผู้หญิงของกวีนิราศสุพรรณ ผมคิดว่าถ้ากวีเป็นพระ คงไม่งามแน่ๆ และก็ต้องเป็นเรื่องที่แปลกประหลาด หากพระรูปเดียวกันนี้จะรับไม่ได้กับพฤติกรรมพระเตะตะกร้อ

แต่ถ้ากวีเป็นฆราวาส ธรรมของผู้ครองเรือนนั้นต่างกันไปครับ ยิ่งในสมัยนั้น การมีเมียมากยังไม่ใช่เรื่องผิดด้วยซ้ำไป อย่าว่าแต่เรื่องการมีคนรักเก่ามากหน้าหลายตา

แต่เรื่องที่คุณพิพัฒน์พูดถึง "ประสบกาม" นี่ก็น่าสนใจนะครับ ในนิราศสุพรรณนี้โคลงบทเดียวกัน คนละคนอ่าน ก็ตีความต่างกันไป ผมอ่านฉบับอ.ล้อมตีความเป็นเรื่องอีโรติก อ.เทาชมพูกลับตีความเป็นเรื่องโรแมนติกได้

เป็นเสน่ห์ของบทกวีเช่นนี้เอง


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ส.ค. 07, 21:53
บทไหนคะที่อ.ล้อมตีความเป็นเรื่องอีโรติค?

ดิฉันมองคนแต่งนิราศสุพรรณว่าเป็นศิลปิน       ไม่ว่าจะอยู่ในผ้าเหลืองหรือโจงกระเบน  ท่านก็เป็นของท่านยังงี้แหละค่ะ
อ่านนิราศทั้งหมด  มีเรื่องไหนตอนไหนที่สุนทรภู่เห็นตัวเองทำอะไรไม่ดีบ้าง   มีแต่คนอื่นไม่ดีทั้งนั้น
- ทั้งบ้านทั้งวังวัดเป็นศัตรู
- จะยกหยิบธิบดีเป็นที่ตั้ง  ก็ใช้ถังแทนสัดเห็นขัดขวาง


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 08 ส.ค. 07, 22:22
บาทสุดท้ายบทนี้ไงครับ อ.ล้อมตีความเป็นอีโรติกเรียบร้อย

สงสารสายเนตรน้อง        นองชล
ลเนตรพี่เพียงฝอยฝน       เฟ่าน้อง
จวนรุ่งร่ำสอื้นจน            จำจาก แจ่มเอย
คราวเคราะเพราะน้องต้อง   พยุกล้าสลาตันฯ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 09 ส.ค. 07, 01:24
หามิได้ครับท่านอาจารย์เทาชมภู  ที่ผมเกริ่นตอนแรกว่าละม้ายนิราศเมืองเพชรนั้น  สืบเนื่องจากการวิเคราะห์ของอาจารย์ที่ว่า  กวีที่แต่งนิราศเมืองเพชรแต่งกลอนที่มีเนื้อหาไม่น่าที่จะเป็นผู้ครองเพศบรรพชิตจะแต่งเพราะเกี่ยวพันกับอิสตรีมากเกินไป  แต่ถ้าเป็นเช่นเดียวกันกับนิราศสุพรรณ  เราก็คงจะมองผ่านบทวิเคราะห์ของ อ.ล้อม ที่ว่ากวีที่แต่งนิราศเมืองเพชรเป็นพระไปไม่ได้นะครับ  ห้วงเวลาที่ใกล้เคียงกับการถวายพระอักษรเจ้านายก็ดูน่าจะลงตัวกับที่คุณพิพัฒน์ว่าท่านกวีบวชถึง 18 พรรษา
ขาวอื่นหมื่นสิ่งล้วน                      นวลขาว
แพรพ่าฟ้าดินดาว                        ดุจพร้อง
ขาวดูครู่เดียวคราว                       หนึ่งเบื่อ  เหลือแฮ
ขาวบ่เบื่อเนื้อน้อง                        น่วมนิ้วผิวขาวฯ

อืมมม  บทนี้บวชอะไรก็ตามไม่งามแน่ครับ  เพราะถือบวช  จะเป็นนุ่งขาวหรือห่มเหลือง  เป็นอนาคาริกบุคคลครับ  เป็นผู้ถือเพศพรหมจรรย์ไม่ข้องในโลกีย์วิสัยครับ  นี่ออกจะติดเรทนิดหน่อย
ลุดลชนบทบ้าน                           ขนมจีน
โรงเจ๊กตั้งริมตีน                           ท่าน้ำ
นั่งนับทรัพย์สิ่งสิน                        สยายเพ่า  เล่าแฮ
เมียช่างสางสลวยล้ำ                     สลับผู้หูหนางฯ

เอาไปเอามาล่องเรือชมภรรยาชาวบ้านซะงั้น  เป็นหลี่ไป๋จะไม่ว่าซักคำ

ถึงรยะสระโปยชหญ้าน                     บ้านลาว
ผ้านุ่งถุงทบยาว                              ย่างย้าย
กลีบกลับวับแวมวาว                        แวบแวบ  แทบแฮ
เด็กว่าฟ้าแลบชม้าย                        มุ่งค้อนงอนงามฯ

 นี่หรือปล่าวครับคุณ CH  ที่ว่าจะเรทอาร์นิดหน่อย ........... ;D


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ส.ค. 07, 19:26
คุณ Bana ว่ามาก็มีน้ำหนัก  ช่วยเพิ่มน้ำหนักทางคุณอาชาผยองให้หนักยิ่งขึ้นไปอีก
ผู้ที่ศึกษาเรื่องสุนทรภู่ สงสัยทำนองเดียวกันมามากแล้ว   
แต่ในเมื่อยึดพระวินิจฉัยสมเด็จกรมพระยาดำรงฯเป็นหลัก  ก็เชื่อกันว่าสุนทรภู่บวชเป็นพระเมื่อแต่งนิราศสุพรรณ
ไม่มีหลักฐานว่าท่านสึกตอนไหน
ดิฉันขอวางตรงนี้ไว้ก่อนจนกว่าจะเจอโคลงบทใหม่ที่ทำให้เปลี่ยนใจ  ย้ายข้างมาฝ่ายคุณอาชาเสียเอง
มาอ่านโคลงบทนี้ดีกว่า

เอ็นดูหนูพี่น้อง                             สองสาว
คิดใคร่ได้เลี้ยงลาว                        ลูกสะใภ้
แต่ลูกผูกรักชาว                            วังเล่า เจ้าเอย
จะเจ็บเล็บเขาไว้                            ข่วนร้ายคล้ายเสือฯ

ใครที่อ่านนิราศเมืองเพชร    คงจะจำความทำนองนี้ได้    ท่านขุนนางกวีเห็นแม่ค้าทับทิมชาวเมืองเพชรก็นึกอยากขอเป็นสะใภ้
โคลงบอกอะไรเราได้บ้าง
๑) บอกให้รู้ว่านิราศสุพรรณกับนิราศเมืองเพชร แต่งไม่ห่างเวลากันนัก   
ลูกชายของเจ้าของเรื่องยังอยู่ในวัยหนุ่ม พร้อมจะมีเมียได้แล้ว แต่ยังไม่มี
๒) คุณพ่อคนเดียวกัน  เห็นสาวชาวบ้านหน้าตาดีหน่อยเป็นไม่ได้ อยากได้เป็นสะใภ้
น่าจะเป็นนิสัยของคุณพ่อ  ที่ไม่รังเกียจสาวชาวบ้าน 
อาจจะถือว่าลูกชายมีเมียกี่คนก็ได้   เพราะจากที่บรรยาย คุณพ่อก็เกี่ยวข้องกับสาวตจว. ระบุชื่อไว้หลายคนด้วยกัน
ในโคลงข้างบนนี้ บอกเพิ่มอีกหน่อยว่าลูกชายรักกับสาวชาววัง  ในนิราศเมืองเพชรไม่ได้บอก
ถ้าเป็นลูกชายคนเดียวกันคือหนูพัด   เป็นไปได้ไหมว่าในนิราศสุพรรณ หนูพัดยังไม่มีแฟนชาววัง   พ่อจึงไม่เอ่ยถึง
ถ้าเป็นอย่างนี้จริง   นิราศเมืองเพชร"อาจ" แต่งก่อนนิราศสุพรรณ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ส.ค. 07, 20:31
ขอเลี้ยวออกนอกนิราศสุพรรณหน่อยค่ะ
ไปค้นกูเกิ้ล  เจอข้อความตอนหนึ่ง จากมติชนบุ๊ค ว่า
http://www.matichonbook.com/newsdetail.php?gd=44581
สุจิตต์ วงษ์เทศ" ช่วยตอกย้ำว่าสุนทรภู่ มิใช่กวีไส้แห้งยากจนร่อนเร่พายเรือแน่ แม้จะไม่มีเลือดสีน้ำเงินหรือเชื้อเจ้า แต่ก็ได้เกิดในรั้วในวัง เป็นปัญญาชนมีการศึกษาดี เรียกได้ว่าเป็นชนชั้นกระฎมพีอย่างที่ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นิยามว่า "มหากวีกระฎุมพี"

"สุนทรภู่นี่เป็นกระฏุมพี แต่เป็นฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายก้าวหน้า ดูอย่างพระอภัยมณี มีใครแต่งได้ขนาดนั้น จินตนาการไปครึ่งโลก แสดงว่าหนึ่งต้องอ่านครบภาษาฝรั่ง คบพวกหมอสอนศาสนาและศึกษาชาวต่างชาติหมด แล้วขบถมั้ยให้พระเอกเป่าปี่ ไม่ได้เรียนวิชาอาวุธและยังให้นางวารีเป็นผู้หญิงรูปชั่วตัวดำแต่ฉลาด วางแผนสงครามให้พระอภัยมณีหมด.. แสดงว่าท่านมีความคิดก้าวหน้าที่สุดในสมัยโน้น..  

ดิฉันไม่ค่อยเห็นด้วยกับอาจารย์นิธิ เรื่องนิยามสุนทรภู่ว่าเป็น มหากวีกระฏุมพี   ถ้ากระฎุมพีมีความหมายแบบ bourgeoisie ของฝรั่ง    ชนชั้นที่ใกล้เคียงที่สุดในสังคมไทยก็คือพวกคนจีนที่กลายมาเป็นคนไทยเชื้อสายจีน
แต่สุนทรภู่เป็นชาววัง  ไม่ได้ค้าขาย เป็นขุนนาง  เรียกว่าเป็นศักดินาก็ยังได้
ส่วนเรื่องซ้ายก้าวหน้านั้นก็ไม่เห็นด้วย     ความคิดเรื่องพระอภัยมณีหรือนางวาลี   ถ้าใครอ่านเกร็ดพงศาวดารจีนสมัยรัชกาลที่ ๑-๔ จะเห็นว่า มีหลายตอน ได้แรงบันดาลใจมาจากพงศาวดารจีน  ไม่ว่าจะเป็นวิชาเป่าปี่แบบเตียวเหลียง ในไซ่ฮั่น
หญิงที่มีฝีมือรบและสติปัญญาเข้มแข็ง  ก็อยู่ในเรื่องจีนหลายเรื่อง
อาลักษณ์ต้องรู้เรื่องจีนพวกนี้  เผลอๆสุนทรภู่จะรวมอยู่ในกลุ่มกวีที่ช่วยกันเรียบเรียงเรื่องจีน   เพราะอาลักษณ์มีหน้าที่ รับผิดชอบเรื่องพวกนี้
นี่คือมุมมองที่แตกต่างค่ะ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ส.ค. 07, 20:38
http://piwdee.net/teacher2.htm
สุนทรภู่
ประวัติย่อ เกิด - ตาย

          สูจิบัตรถิ่นฐานบ้านเกิดสุนทรภู่ จัดทำโดย ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ มติชน และข่าวสด บอกเล่าถึงประวัติของรัตนกวีนามสุนทรภู่ไว้ว่า

          สุนทรภู่ มีชีวิตวนเวียนอยู่ใน "วัง" กับ "วัด" เริ่มตั้งแต่เกิด-วังหลัง สมัยรัชกาลที่ 1 โต - วังหลวง สมัยรัชกาลที่ 2 บวช - วังหลวง สมัยรัชกาลที่ 3 และตาย - วังหน้า สมัยรัชกาลที่ 4

เกิด-วังหลัง สมัยรัชกาลที่ 1

     26 มิถุนาย 2329 (ตรงกับจันทร์ ขึ้นค่ำ 1 เดือน 8 ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 เวลา 2 โมงเช้า ในแผ่นดินรัชกาลที่ 1)

      พ.ศ. 2329-2352 (อายุ 1-23ปี) ตั้งแต่กำเนิด เมื่อต้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2325 - 2352) จนตลอดสิ้นแผ่นดิน ในระยะนี้สุนทรภู่ เป็นข้าในกรมพระราชวังหลัง

      พ.ศ.2349 กรมพระราชวังหลังทิวงคต สุนทรภู่ได้เป็นมหาดเล็กของพระองค์เจ้าปฐมพงศ์ (ลูกเธอในกรมพระราชวังหลัง) ขณะทรงผนวชอยู่วัดระฆังฯ

      พ.ศ.2350 อายุราว 21 ปี ตอนต้นปีไปหาบิดาที่เมืองแกลง แต่งนิราศเมืองแกลง ตอนปลายปีตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมพงศ์ ไปนมัสการพระบาท แต่นิราศพระบาท (เล่ากันว่า สุนทรภู่แต่งนิทานโคบุตร ก่อนไปเมืองแกลง และแต่งเรื่องลักษณวงศ์ ก่อนเข้ารับราชการ)

โต - วังหลวง สมัยรัชกาลที่ 2

      พ.ศ. 2352-2367 (อายุ 23-38 ปี) ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เสวยราชย์ จนถึงสวรรคต (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2352 - 2367) สุนทรภู่เข้ารับราชการเป็นที่โปรดปราน และได้เป็น ขุนสุนทรโวหาร ในกรมพระอาลักษณ์ (ยังเป็นข้อโต้แย้งเกี่ยวกับตำแหน่งในกรมพระอาลักษณ์) ได้รับพระราชทานให้อยู่เรือนแพ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงท่าช้างวังหลวง

      เล่ากันว่า ช่วงนี้สุนทรภู่แต่เรื่องสิงหไกรภพ (ตอนต้น) แต่งเรื่องพระอภัยมณี (ตอนต้น) และแต่งเสภา เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม

บวช - วังหลวง สมัยรัชกาลที่ 3

      พ.ศ.2367-2385 (อายุ 38 - 56 ปี) ตั้งแต่บวชจนสึก รวม 18 ปี อยู่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2367-2394)

      พ.ศ.2371 อายุ 42 ปี ไปอยุธยา แต่งนิราศภูเขาทอง

      พ.ศ.2372 อายุ 43 ปี เจ้าฟ้ากลางกับเจ้าฟ้าปิ๋ว มาเป็นลูกศิษย์ แต่งเพลงยาวถวายโอวาท

      พ.ศ.2374 อายุ 45 ปี ไปเพชรบุรี แต่งนิราศเมืองเพชร

      พ.ศ.2375 อายุ 46 ปี ไปอยุธยา แต่งนิราศวัดเจ้าฟ้า (สำนวน "เณรหนูพัด")

      พ.ศ.2379 อายุ 50 ปี ไปสุพรรณบุรี แต่งนิราศสุพรรณ (คำโคลง)

      พ.ศ.2380 อายุ 51 ปี ต่อเรื่องพระอภัยมณี

      พ.ศ.2383 อายุ 54 ปี ต่อเรื่องสิงหไกรภพ

      พ.ศ.2384 อายุ 55 ปี ไปพระประธม (นครชัยศรี) แต่งนิราศพระประธม

      พ.ศ.2385 อายุ 56 ปี แต่งรำพันพิลาป แล้วลาสิกขา

      ระหว่างบวชเป็นพระอยู่วัดเทพธิดาราม ได้แต่งกาพย์ เรื่องพระไชยสุริยา และอาจได้แต่งนิราศอิเหนา เห่กล่อมพระบรรทม และพระอภัยมณี ส่วนเห่เรื่องอื่นๆ อาจแต่งแต่ในรัชกาลที่ 2

ตาย วังหน้า/วังเดิม สมัยรัชกาลที่ 4

      พ.ศ.2385-2398 (อายุ 56-69 ปี) อยู่ในช่วงปลายแผ่นดินรัชกาลที่ 3 จนถึงต้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2394-2411) เมื่อสึกแล้ว สุนทรภู่ได้ไปอยู่กับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระราชวังเดิม (ขณะนั้นดำรงพระยศเป็น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ แต่เรียกกันเป็นสามัญว่า "เจ้าฟ้าน้อย")

      เมื่อรัชกาลที่ 4 เสวยราชสมบัติ "เจ้าฟ้าน้อย" ได้รับบวรราชาภิเษก ได้ทรงแต่งตั้งให้สุนทรภู่ เป็นพระสุนทรโวหาร อาลักษณ์ในกรมพระราชวังบวรฯ เข้าใจว่าได้แต่งเรื่องสวัสดิรักษา และเสภาเรื่องพระราชพงศาวดาร

      สุนทรภู่ ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.2398 อายุ 69 ปี มีผู้จำได้ว่า ถึงแก่กรรมที่บ้านสวนบางระมาด ในคลองบางกอกน้อย แล้วทำศพที่วัดชิโนรสฯ ริมคลองมอญ ธนบุรี


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 09 ส.ค. 07, 22:10
"พ.ศ.2384 อายุ 55 ปี ไปพระประธม (นครชัยศรี) แต่งนิราศพระประธม"

ต้องขอบ่นอีกละ  ความจริงบ่นไปก็เท่านั้น เพราะผมเชื่อหลักฐานคนละด้าน ต่างจากทุกคน
เอาแค่ประโยคบน ประโยคเดียวพอ

ท่านอ่านกลอนกัน เหมือนไม่ได้อ่าน
ถ้าสุนทรภู่บวชตั้งแต่ สิ้นรัชกาลที่ 2 มาถึงปีนี้ ก็ปาเข้าไป 17 ปีต่อเนื่อง เอาเวลาตรงใหน ไปติดพันสาวแข่งกะคนทรง
นิราศเรื่องนี้ ผมอ่านแล้วได้ความว่า เป็นการรำพรรณถึงสาวคนหนึ่งเป็นหลัก
สำนวนส่อว่า เพิ่งจะอกหักหรือผิดหวังมาหมาดๆ

ก้อท่านบวชติดต่อกัน 17 ปี ทำอย่างที่ผมเข้าใจได้อย่างไร

เว้นแต่ว่า ผมอ่านกลอนไม่รู้เรื่อง ซึ่งอาจจะจริงแฮะ
(ต้องขออภัยที่ออกนอกสุพรรณ...มันเง็งงงครับ)


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 09 ส.ค. 07, 22:31
ในประเด็นนี้ผมเห็นด้วยกับคุณพิพัฒน์ครับ  อยู่แต่ในรั้วในวังแล้วก็บวชซะนาน  จะเอาเวลาที่ไหนไปมีสาวเรี่ยราดกลาดเกลื่อนไปหมด  แต่ละนางก็ดูจะลึกซึ้งซะด้วยแบบว่าใช้เวลา  เพราะแต่บุราณการมีสัมพันธ์ก็ต้องใช้เวลาแต่งเพลงยาวกันนานแน่ๆ  แต่ยังไม่กล้าชี้ชัดแบบคุณพิพัฒน์ครับเพราะมันเป็นการปฏิวัติความเชื่อเรื่องชีวประวัติและผลงานท่านเลยทีเดียว

เขาเขียวโขดคุ่มขึ้น                     เคียงเคียง
ร่มรื่นรุกขรังเรียง                        เรียบร้อย
โหมหัดหิ่งหายเหียง                    หัดหาด แฮ่วแฮ
ย่างใหญ่ยอดยื่นย้อย                  โยกโย้โยนเยนฯ

บทนี้เป็นบทเอกของนิราศเรื่องนี้ทีเดียว  แต่ละบาทใช้คำพ้องกันและมีอีกบทที่แต่งได้สนุกเหมือนกัน

เสลาสลอดสลับสล้าง                 สลัดได
สอึกสอะสอมสไอ                     สอาดสอ้าน
มแฝ่มฟาบมเฟืองมไฟ                มแฟบมฝ่อ พ่อเอย
ตขบตขาบตเคียนตคร้าน             ตคร้อตไคร้ตเคราตครองฯ
 
ส่วนบทนี้ก็อาร์นิดหน่อย

ดึกดื่นฝืนเนตรหนั้ง                           ฟังเสียง
แม่ม่ายลองไนเรียง                          แหร่ร้อง
รฦกแต่แม่ม่ายเวียง                          สวาดิว่าง ค้างเอย
เปนม่ายร้ายนักน้อง                          จต้องลองไนฯ

เห็นด้วยอีกครับถ้าดูตามผลงาน  ท่านเป็นคนมีอันจะกินเลยล่ะครับ  ถ้าพูดตามสมัยก็ไปมาแบบไฮโซอ่ะครับ........ ;)


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 10 ส.ค. 07, 01:49
บ่นแล้ว ก็ขอบ่นให้จบ

ถ้าเราเชื่อว่าสุนทรภู่ บวช 18 ปีรวด ไม่ได้สึกกลางทาง
คือตั้งแต่ปีวกอออกขาดราชกิจ 2367 มาถึงปีขาลสงสารวัด 2385
เราก้อต้องเอาข้อมูลนี้ตั้งให้มั่นสิครับ ไม่งั้นจะวินิจฉัยไปหาสรรพาวุธชนิดใด

เอาละ คนบวชเป็นพระ เป็นคนชั้นสูงด้วย
(ไอ้ทริสะดีกระดุมผีนั่นน่ะ ผมไม่รับประทานมาแต่วันปรุงเสร็จแล้ว มีเวลาจะสับสักครั้ง)
สูงแค่ใหน ก็ขนาดเป็นครูสอนเจ้าฟ้าสามพระองค์ละกันล่ะ
ความรู้มากแค่ใหน ก็ไปถอดออกมาจากเพลงยาวถวายโอวาทได้ หมดหอหลวงแหละครับ ที่แกอ้างไว้
คนอย่างนี้หรือ ที่มาแต่งนิราศแถวๆ สะดิอทั้งๆ ห่มผ้าเหลือง
มันจะไม่ดูถูกระบบสติปัญญาของคนไทยกันไปหน่อยหรือ

สุนทรภู่ท่านโลดโผนหนักในพระอภัยมณี แต่ผมไม่เห็นว่าจะหยาบโลนเท่ากะนิราศสุพรรณ
แกอวดโอ่ ก็ในเชิงกลอนมิใช่ในเชิงกาม
แล้วก็ชอบอ้างนักว่าพระอภัยมณีตอนต้น แต่งครั้งรัชกาลที่สอง
หลักฐานสักชิ้นก็ไม่มี นอกจากอ้างตามพระนิพนธ์สมเด็จดำรง
ทำไมไม่อ้างสุนทรภู่ ในเมื่อกลอนตอนต้นเรื่อง ที่สามพราหมณ์ชมเมือง
เป็นเมืองบางกอกครั้งรัชกาลที่ 4
รู้ได้อย่างไร รู้ได้ก็แกบอกไว้เองว่ามีตึกมีถนน ก็ถนนในกรุงเทพ มีแต่เมื่อไรเล่า
ถ้าไม่ใช่รัชกาลที่4
แล้วแกก็อ้างถึงสนามหน้าจักรวรรดิ ..."ที่หัดพล"

ก็เราเคยมีการหัดพลหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์แต่สมัยใดเล่า
ถ้าไม่ใช่รัชกาลที่ 4

จริงอยู่ การหัดทหารแบบสากล ที่ต้องมีการ"หัดพล"นั้น เกิดครั้งรัชกาลที่ 3
แต่ทรงโปรดให้จมื่นไวยวรนาถ (ท่านช่วง) รับไปจัดการ ก็เลยหัดกันที่บ้านตระกูลบุนนาค
พอถึงรัชกาลที่ 4 ทรงวางกุศโลบาย ถอนทหารเหล่านี้ มาให้พระยาบุรุษ ลูกเลี้ยงเป็นผู้ควบคุมแทน
ก็ไม่เห็นจะนำข้อมูลตรงนี้มาใช้
ดั้นนน...ไปเข้ารกเข้าพง ประมาณว่าท่านภู่ เป็นยูลส์เวิร์น เขียนอนาคตได้  ...5555555
ตีความกันอย่างนี้ เด็กถึงหนีวรรณคดี (กระมัง)

ผมขอยืนยันนั่งยันเดินยันว่า พระอภัยมณีแต่งตอนต้นในรัชกาลที่ 4
กองทัพฝรั่งอะไรทั้งหลาย ท่านก็จับเจ้าเบาริง โตนเซนฮาริส ฯลฯ มาสวมบท
หมายความว่า ผมจะบอกว่าสุนทรภู่ตายหลังสนธิสัญญาเบาริง แทนที่จะก่อน 1 ปี
อย่างที่เชื่อกันมา

ครับ ผมเชื่อเช่นนั้น ทำไมเชื่อเช่นนั้น...จะเล่าให้ฟัง
พระยาปริยัติฯ เขียนประวัติสุนทรภู่ราว 2456 ต้นรัชกาลที่ 6 บอกว่า
ใครคนหนึ่ง เล่าให้ฟังว่าทันเห็นสุนทรภู่ตีหลาน เพราะหลานมันเกเร
อีกคนบอกว่าเคยรู้จัก ได้ไปขมาศพด้วย

ตรงนี้ต้องนับปี ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจารย์ของเราท่านไม่ชอบ
ท่านไม่ชอบเราต้องรีบประเคน....กริ๊กกกๆๆๆๆ

ถ้าเราต้องขอขมาศพใคร หมายความว่า เราต้องมีกิจธุระที่อาจจะค้างคากันกับผู้ตาย
เราคงไม่อายุยี่สิบแล้วไปขมาศพคุณตาข้างบ้านเป็นแน่ อย่างนั้นไม่เรียกขมา
แปลว่าคนที่เคยขมาศพสุนทรภู่ แล้วมาเล่าให้ท่านเต้าคุณฟัง
อายุต้องไม่ไกลห่างสุนทรภู่นัก
เอ้า....ผมให้ห่างกันยี่สิบปีเลย (ซึ่งน่าจะมากเกินไป....)

แปลว่า อีก 58 ปีต่อมา เขาคนนั้นจึงมาเล่าเรื่อง
แล้วเขาจะอายุเท่าไรดีล่ะ ในเมื่อสุนทรภุ่นั่น ตายตอนอายุ 69 (เชื่อกันอย่างนั้น)
นายคนนั้นก็ต้องอายุ 49
บวกมาอีก 58 ปีจึงมาเจอเจ้าคุณ...โอ้โห อายุปาเข้าไปร้อยกว่า
เอ ทำไมเจ้าคุณไม่แสดงความทึ่งอะไรเลย
ทีพระรูปหนึ่ง ท่านยังอ้างความแก่เพื่อให้น่าเชื่อถือเลย

ผมคิดว่า ประวัติสุนทรภู่ฉบับเก่าๆนั่น ไม่จำเป็นก็อย่าอ้างเลยครับ ยุ่งเปล่าๆ
ไม่มีใครมานั่งอ่านกลอนทีละตัว ขี่กูเกิ้ลดูเส้นทาง
วิเคราะห์ศัพท์และชื่อทุกคำ รวมทั้งเหตุการณ์แวดล้อม
ข้อความในบทกวี ก็มีเนื้อหามากพอจะทำให้ปวดหัวอยู่แล้ว

อย่าเอาคนที่อ่านเขียนลวกๆ มาเป็นด่านสกัดเลยครับ แค่นี้ก็เหนื่อยจะตายอยู่แล่ว

ได้โปรด.....


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ส.ค. 07, 08:51
ถ้าหากว่าวิเคราะห์เรื่องพระอภัยมณีได้  น่าจะเห็นร่องรอยสังคมในยุคนั้นว่าสุนทรภู่แต่งในรัชกาลที่ ๔ หรือไม่
จะลองทำงานยักษ์ชิ้นนี้ดูในเรือนไทย เมื่อจบนิราศแล้ว

อย่างคุณ Bana และคุณพิพัฒน์ว่า  นิราศสุพรรณ นิราศเมืองเพชร นิราศพระประธม  พูดถึงเรื่องเกี่ยวข้องกับสาวๆ หลายคน เหมือนเป็นเหตุการณ์เกิดไม่นาน ยังรำลึกจดจำอาลัยอาวรณ์อยู่
ถ้างั้นก็ตีความได้เป็น ๔      อย่าง
๑) ถ้าเป็นเรื่องที่แต่งระหว่างบวช  สุนทรภู่ต้องย้อนนึกถึงสมัยก่อนบวช   แปลว่าตอนที่แต่งนิราศ ยังบวชไม่นานกี่ปี  คือต้นรัชกาลที่ ๓
๒)ถ้านิราศนั้นมีหมุดเวลาให้เห็นว่าแต่งในตอนปลาย หรือค่อนไปทางปลาย  ก็แปลว่าท่านไม่ได้บวชในช่วงแต่ง 
๓) ถ้ามีหลักฐานว่าบวชอยู่  แต่คำนึงถึงผู้หญิงอยู่    ความรักยังไม่นานนัก ก็ส่อว่าไม่สำรวมในสมณเพศ (ยังไม่คิดว่าท่านทำถึงขั้นผิดศีล)
๔) คนแต่งนิราศสุพรรณและเมืองเพชรไม่ใช่สุนทรภู่   เป็นกวีฆราวาสอีกคนหนึ่งซึ่งมีประวัติแยกเป็นของตัวเองต่างหาก   เอาประวัติสุนทรภู่ไปจับไม่ได้
คุณพิพัฒน์เชื่อข้อ ๔  แต่ดิฉันยังไม่ตกลงปลงใจเชื่อ 
อย่างที่บอกละค่ะ เรื่อง"หนูพัด" ยังคาใจอยู่  ว่าถ้าไม่ใช่ลูกสุนทรภู่แล้วจะเป็นใครอีก
นายพัดมีตัวตนบันทึกได้มาตั้งแต่หมอบรัดเลย์    มีลูกหลานสืบสายมาจนถึงศ.คุณหญิงผะอบ โปษะกฤษณะ รู้จัก มาอยู่ในบ้านของท่านตอนท่านเล็กๆ
ข้อนี้แหละที่ทำให้ยังไม่ปักใจเชื่อว่านิราศสุพรรณ ซึ่งมีหลักฐานให้เห็นว่าคณะเดินทางของกวี น่าจะเป็นชุดเดียวกับชุดที่ไปเมืองเพชร  เป็นงานของคนอื่นนอกจากสุนทรภู่


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 10 ส.ค. 07, 09:23
ตาม มา อ่าน ครั้ง ที่ หนึ่ง ทึ่ง สะ บัด


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ส.ค. 07, 09:24
มาต้อนรับคุณกุ้งแห้งเยอรมันค่ะ  :D



กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 10 ส.ค. 07, 10:59
ยินดีต้อนรับคุณกุ้งฯกลับมาอีกครั้งครับ  ;D

เรื่องสุนทรภู่บวชยาว ๑๘ ปี เข้าใจว่าคุณ pipat จะตีความจากรำพันพิลาปนะครับ

แต่ในรำพันพิลาปเขียนว่า
จะสึกหาลาพระอธิษฐาน            โดยกันดารเดือดร้อนสุดผ่อนผัน
พอพวกพระอภัยมณีศรีสุวรรณ      เธอช่วยกันแก้ร้อนค่อยหย่อนเย็น

ทีนี้ก็ยุ่งล่ะสิครับ เพราะถ้าพระอภัยมณีมาแต่งเอาหลังสมัยร.๔ อย่างน้อยปีขาลสงสารวัดต้องขยับไปอีกหนึ่งรอบ ซึ่งก็ยังไม่ทันบาวริ่งอยู่ดี แต่ใจผมไม่ถึงพอจะขยับไปอีกหนึ่งรอบครับ

เพราะแค่นี้ ขรัวตาภู่ก็ต้องบวชยาวถึง ๓๐ ปีแล้วครับ  :o


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ส.ค. 07, 11:20
สะดุด หยุดกึก

การเอ่ยถึงพระอภัยมณีศรีสุวรรณในรำพันพิลาป  เป็นหมุดเวลาว่าเมื่อแต่งเรื่องรำพันพิลาป   เนื้อเรื่องพระอภัยมณีศรีสุวรรณเกิดขึ้นมาแล้ว 
ไม่ใช่แค่คิดชื่อตัวละครไว้เฉยๆ แล้วอีก ๕-๖ ปีค่อยแต่ง
หรือถ้าจะยืนยันให้ได้ว่า สนามหน้าจักรวรรดิที่หัดพล เป็นฉากสมัยรัชกาลที่ ๔   ก็ต้องถือว่า พระอภัยมณีตอนต้นมากๆ แต่งในรัชกาลที่ ๓    ตั้งแต่พระอภัยไปเรียนวิชาปี่  ถูกพ่อไล่ออกจากเมือง เดินทางมากับน้องชายไม่ทันไรก็ถูกนางผีเสื้อลักตัวไป  กินเนื้อที่ไม่กี่หน้า จบตอนแค่นั้น

แล้วหยุดไปหลายปี 

ก่อนจะมาเริ่มใหม่ ว่าศรีสุวรรณตามหาพี่ชายที่หายตัวไป   เข้ากรุงรมจักรมาเจอกรุงทันสมัยหน้าตาเหมือนกรุงเทพสมัยร. ๔


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ส.ค. 07, 13:10
กวีมาถึงบ้านกระตั้ว   โคลงแถวนี้มีคำว่า "เชา" หลายคำที่ใช้แทน" ชาว" ค่ะคุณอาชา
บทนี้ ฝากคุณ Bana ช่วยอ่านด้วย   ในหนังสือไม่ได้บอกว่าเป็นกลบทชนิดไหน  แต่ลักษณะเป็นโคลงกลบทแน่ 
แต่งยากด้วย เพราะบังคับเอกโทแบบโคลงแล้วยังบังคับเสียงวรรณยุกต์เพิ่มขึ้นมา กับบังคับอักษรด้วย

เสียงซออออ่ออ้อ                            เอื่อยเพลง
จับปี่เตร๋งเต้งเตง                             เต่งต้อง
คลุยตรุ๋ยตรุ่ยตรุ้ยเหนง                      เหน่งเน่ง ระนาดแฮ
ฆ้องหน่องหนองน่องหน้อง                ผรึ่งพรึ้งพรึ่งตะโพนฯ
 
นิราศสุพรรณ มีโคลงกลบทแทรกอยู่ทั่วไป   โคลงกลบทพวกนี้ พอจะบอกร่องรอยอะไรเราได้บ้าง
๑) คนแต่งนิราศสุพรรณ ไม่ใช่กวีหัดใหม่ เริ่มริอ่านแต่งโคลง
มือใหม่แต่งโคลง  แค่เอกเจ็ดโทสี่ก็นับวรรณยุกต์เหนื่อยพอแล้ว    ไม่หาญไปแต่งกลบทให้เหนื่อยยากหนักขึ้นอีก   
๒) คนที่แต่งโคลงกลบท  คือคนที่ช่ำชองกับพื้นฐานการแต่งโคลง  จนเกิดความมั่นใจจะแสดงฝีมือ   พลิกแพลงแต่งสิ่งที่ยากขึ้นอีก  เพื่อให้เหนือกว่านิราศโคลงธรรมดาทั่วไป
๓)  คนที่มีคุณสมบัติสองอย่างข้างบนนี้ น่าจะเป็นครูอยู่ด้วย   นอกเหนือจากนักเลงกลอน หรือนักเลงโคลง
แต่งเพื่อให้ลูกศิษย์เห็นฝีมือ    เพราะโคลงกลบทหลายบท มีลักษณะเหมือนแบบอย่างการสอนวิธีแต่ง  อย่างโคลงข้างบนนี้ 
๔) กวีท่านนี้ น่าจะมี"หู" ที่ไวต่อมโหรีปี่พาทย์   สามารถเอาเสียงเครื่องดนตรีมาเล่นวรรณยุกต์ไล่เป็นเสียงคำประพันธ์ได้เก๋มาก  ข้อนี้อาจจะสะท้อนไปถึงสภาพแวดล้อมและอดีตของท่านด้วย
จำได้ไหมคะ ในนิราศเมืองเพชร  สิ่งที่กวีจำได้เกี่ยวกับขุนแพ่งคนเก่าหรืออะไร? คือวงปี่พาทย์ที่ไปฟังที่บ้านขุนแพ่ง     ไม่ยักจำอย่างอื่นอย่างที่คนทั่วไปอาจจะจำกันได้มากกว่า  เช่นจำเรื่องข้าวปลาอาหาร  จำความสุขสบายของที่พัก   หรือจำคนใหญ่คนโตที่ไปมาหาสู่
ถ้าเป็นสมัยนี้ท่านคงมีห้องฟังเพลง เป็นส่วนตัว 


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 10 ส.ค. 07, 15:00
ผมปักหมุดช่วงออกแม่น้ำท่าจีนไปได้เกิน 90% แล้วครับ ยังติดอยู่หลายชื่อเหมือนกัน เพราะดูเหมือนจะหายสาบสูญเหมือนบางหมาบ้า

บ้านกระตั้วนี่ก็เป็นชื่อหนึ่งที่ไม่รู้ตำแหน่งแน่นอนครับ

ตอนปักหมุดนี่เจออะไรแปลกๆบางจุด เพราะมีการเอ่ยชื่อสถานที่สลับกัน เป็นไปได้ ๒ อย่างคือ
- คัดลอกมาไม่ถูกต้อง หรือ
- กวีจำผิดเพราะไม่ได้เขียนในระหว่างการเดินทาง

หรืออาจจะทั้งสองอย่างประกอบกันครับ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 10 ส.ค. 07, 15:13
ตอบคุณเครซี่ว่า ท่านแต่งรำพันพิลาป หลังแต่งพระอภัยมณีเสียอีก

มุมมองของอาจารย์ ทำให้ผมตาสว่าง มองเห็นไปว่า
กวีคนนี้ เก่งโคลงมาก่อน เก่งมากๆ ด้วย คราวนี้ ลองเล่นโคลงแบบมีสัมผัสในของเพื่อนกวี ที่ชื่อสุนทรภู่
มิใช่สุนทรภู่ เอากลอนแปด ไปแต่งเป็นโคลง
กระทำให้ตาสว่างขึ้นเป็นอันมาก

เรื่องหนูพัดนั้น ผมไม่คิดครับ เพราะเชื่อว่าเป็นคนละคน
พัด-นิล นี่ลูกบ้านหนึ่ง
พัด-ตาบ นี่อีกครอกหนึ่ง

ใครมีนิราศนายตาบบ้างเอ่ย ถึงเวลาต้องหยิบมาใช้แล้วครับ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ส.ค. 07, 15:33
คุณพิพัฒน์คะ
โคลงที่มีสัมผัสในแบบกลอน  เป็นโคลงกลบทชนิดหนึ่งค่ะ   แต่ดิฉันจำไม่ได้ว่าชื่ออะไร
เป็นได้ว่าโคลงนิราศสุพรรณ มีโคลงกลบทชนิดนี้ยืนพื้น     และกวีเสริมกลบทชนิดอื่นๆที่ยากกว่านี้  แทรกเป็นระยะ
แสดงฝีมือของผู้ที่น่าจะรู้จักโคลงเป็นอย่างดี

แม้แต่การใส่เอกโทษโทโทษเต็มไปหมด  ก็อาจเป็นความจงใจของผู้แต่งได้เหมือนกัน    ไม่ใช่ว่าหาคำไม่ได้
เพราะคนที่เก่งกระทั่งโคลงกลบท    ไม่น่าจะจนปัญญาเรื่องหาคำมาใส่ให้ถูกวรรณยุกต์
ความยาวของนิราศสุพรรณ ถึง ๔๖๒ บทโคลง  เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เชื่อว่า กวีผู้แต่งไม่ได้จนถ้อยคำในการแต่งโคลง
คนเรา ไม่ว่าแต่งคำประพันธ์ประเภทไหนก็ตาม  ถ้าหากว่าหัดแต่ง กึกๆกักๆ ลำบากใจเพราะไม่ถนัดละก็    จะแต่งยาวไม่ได้
แต่งได้ไม่เท่าไร  ก็รวบรัดจบแล้ว  ความไม่ถนัดทำให้สร้างใหญ่ไม่ได้   มือไม่ถึง

ลองนึกถึงศิลปินในสาขาอื่นๆ   ถ้าเริ่มลงมือทำอะไรใหม่เป็นครั้งแรก  มีหรือจะกล้าขึงเฟรมใหญ่เท่าผนังโบสถ์    กล้าแต่งมหาอุปรากร   เพราะงานศิลปะใหญ่เท่าไร ก็ยิ่งลำบากในการสร้างสรรค์  และมีช่องทางให้เห็นรอยตำหนิชัดขึ้นเท่านั้น
ท่านกวีของเราไม่ได้กลัวเรื่องนี้เลย   อยากแต่งกลบทก็แต่ง  อยากเล่าอะไรก็เล่า บรรยายเรื่องก็สารพัดอย่าง ระหว่างเดินทาง ไม่ได้จนเรื่องที่จะเล่า หรือจนคำที่จะเอามาแต่ง  รวมเข้าไปถึง ๔๖๒ บท
สรุปว่าดิฉันเชื่อว่านิราศสุพรรณ ไม่ใช่มือใหม่หัดแต่งแน่นอน   


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 10 ส.ค. 07, 15:49
ผมอ่านโคลงนิราศสุพรรณแล้วลงความเห็นว่า

เป็นโคลง "ทาง" ใหม่ที่สร้างโดยกวีที่ชื่นชมกลอนแปดแบบสุนทรภู่ (จะเป็นคนเดียวกัยหรือไม่ก็ไม่ทราบ)

และถึงแม้ของเก่าจะมีโคลงกลบทแบบนี้อยู่แล้ว แต่ลงรายละเอียดแล้วก็ยังไม่ใช่อยู่ดีครับ นี่ไม่ใช่โคลงในอุดมคติที่เขียนกันมาแต่ก่อนเก่าครับ มีเอกเจ็ดโทสี่เหมือนกัน บังคับคำสุภาพเหมือนกัน ใช้คำสร้อยตามตำราเป๊ะ แต่เสียงโคลงไม่เหมือนเดิมครับ

โคลงนิราศสุพรรณคือโคลงที่เขียนตามอุดมคติที่ออกแบบไว้อย่างดี เช่นเดียวกับกลอนแปดแบบสุนทรภู่ครับ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ส.ค. 07, 18:38
บทนี้ คุณอาชาผยองเห็นว่าเป็นกลบทไหมคะ

๒๕๐) ๏ บ่วงผูกลูกรักแล้ว               แร้วราย
ดักพ่อท้อที่กาย                              แก่แล้ว
ห่อนอยู่สู้สมรหมาย                         มัติโมฆ โอขเอย
แต่เหล่าเจ้าลูกแก้ว                         ก่อร้อนสอนแสลงฯ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 10 ส.ค. 07, 22:36
หากยึดตามตำราเก่า ดูเฉพาะบทนี้เป็นกลบทซ้อนกันอยู่
๑.กลบทสีหติกำกาม (XX คือคู่สัมผัสสระ)
OXXOO  OO
OXXOO  OO
OXXOO  OO
OXXOO  OOOO
ซึ่งบทนี้ขยายของเดิมออกเป็น
OXXOO  OO
OXXOO  OO
OXXOO  OX XO
OXXOO  OXXO

๒.กลบทโตเล่นหาง (XX คือคู่สัมผัสอักษร)
OOOOX  XO
OOOOX  XO
OOOOX  XO
OOOOX  XOOO
โคลงบทที่อาจารย์ยกมาตกเกณฑ์กลบทนี้เฉพาะที่บาทแรก ใช้สัมผัสสระแทนสัมผัสอักษร และนี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หรือตกแบบ

เพราะโคลงบทนี้เป็นตัวอย่างที่ดีมาก คือโคลงแบบอุดมคติของนิราศสุพรรณครับ เห็นได้ชัดเจนว่ากวีแต่งโดยยึดแบบแผนนี้ไว้เป็นหลัก น่าจะเกินครึ่งที่สามารถยึดแบบแผนเดียวกับโคลงบทนี้ได้แบบเป๊ะๆ

เป็นไปไม่ได้เลยว่าจะเป็นความบังเอิญ ต้องมีการกำหนดแบบแผนก่อนแต่งอย่างแน่นอน โตเล่นหางนั้นไม่แปลก ถ้าจะแปลกเล็กน้อยก็ตรงสัมผัสสระบาทแรกอย่างที่ผมตั้งข้อสังเกตไว้แล้ว แต่สีหติกำกามนั้นไม่ได้เป็นรูปแบบที่นิยมของนักโคลง ไม่ค่อยมีใครเล่นกันเพราะจำกัดเสียงโคลงให้เป็น 2-3-2 ทุกบาท ดิ้นไม่ได้ แถมยังไปเล่นตรงวรรคท้ายบาทสามสี่เพิ่มเข้าไปอีก ในสายตากวีผู้รจนานิราศสุพรรณ นี่คงเป็นความสมบูรณ์แบบ เป็นความงามที่ต้องใจแล้ว

สาระสำคัญของฉันทลักษณ์ที่ีใช้ในโคลงนิราศสุพรรณนี้ ตรงกันเป๊ะกับแบบกลอนสุนทรภู่ครับ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 10 ส.ค. 07, 23:43
อิอิ......อ่านแล้วครับชอบมาก  แต่โคลงสามบทที่ท่านอาจารย์ยกมา  ได้ถามผู้พอรู้ที่นอนข้างๆผมได้อธิบายว่าโคลงของท่านกวีมีลักษณะพิเศษไม่เหมือนใคร  จะเอาให้ตรงกลบทใดเป๊ะๆยากครับ  มีบ้างบางบท
ครับอย่างที่คุณ CH ว่าไว้ใช้สัมผัสสระแทนสัมผัสอักษรในบาทแรก  แล้วโดยรวมก็สัมผัสระหว่างวรรคคล้ายสินธุมาลี  แบบคล้ายโคลงโบราณบ้างประเภทไม่ยึดติดแบบแผนแบบโคลงในชั้นหลังๆ  สัมผัสอักษรก็คล้ายสิงโตเล่นหาง  เอาเป็นว่าน่าจะเรียกว่าเป็นกลบทแบบท่านโดยเฉพาะ   เรื่องสัมผัสในแพรวพราวมากกว่าโคลงไหนๆของใคร

แล้วบทนี้ล่ะครับ  กลบทอะไร

บูราณท่านว่าน้ำ                   สำคัน
ป่าต้นคนสุพรรณ                  ผ่องแผ้ว
แดนดินถิ่นที่สูพรรณ             ธรรมชาด มาศเอย
ผิวจึ่งเกลี้ยงเสียงแจ้ว            แจ่มน้ำคำสนองฯ

(ช้าง)ป่าต้นคนสุพรรณ          ผ่องแผ้ว  ............. :)


 


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 10 ส.ค. 07, 23:57
โคลงนิราศสุพรรณ พื้นฐานคือโคลงสี่สุภาพหรือมหาสินธุมาลีนั่นเอง ถ้าเป็นสินธุมาลีก็ตัดสองคำท้ายบาทสุดท้ายออกเท่านั้นเอง

โคลงบทที่คุณบานะยกมา ถ้ายึดตามตำรา ก็ไม่เข้าเกณฑ์กลบทใดเลย

ถ้าพิจารณาโดยยึดรูปแบบโคลงอุดมคตินิราศสุพรรณอย่างที่ผมยกมาไว้ข้างต้น จะมีที่หลุดกรอบไปดังนี้ครับ
- ตกสัมผัสอักษรระหว่างวรรคบาทสาม
- สัมผัสอักษรคำที่สอง-สามบาทสี่ขยับไปอยู่คำที่สาม-สี่ครับ
นอกนั้นตรงเป๊ะ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ส.ค. 07, 08:30
ดิฉันคิดไว้ ๒ ทาง
๑)บางทีกวีผู้แต่ง อาจจะมีแบบแผนกลบทชื่อต่างๆที่เราคนรุ่นหลังไม่รู้จัก เป็นแนวทางการแต่ง    อย่างในบทที่ดิฉันยกมา   
๒) สร้างกลบทขึ้นมาเองตามใจรัก    ไม่ได้เข้าลักษณะกลบทแบบใดแบบหนึ่งโดยเฉพาะ
คือมีกลบทบางอย่างยืนพื้นอยู่ แล้วแต่งเติมเพิ่มคำบังคับเข้าไปเอง   เป็นการเล่นฝีมือ

ขอขยายความข้อ  ๒
กวีท่านนี้ เริ่มแต่งโดยใช้โคลงสี่สุภาพเป็นฐานยืนพื้น    โคลงสี่สุภาพเราก็ทราบกันว่าเป็นพระราชนิยมในเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ตั้งแต่อยุธยาตอนปลายมาก่อน   ท่านทรงแต่งโคลงสี่สุภาพอย่างผู้ชำนาญทีเดียว
นายนรินทร์ธิเบศร์ ซึ่งเป็นคนร่วมสมัยกับกวีผู้นี้ หรือถ้ายุคก่อนก็ไม่มากนัก   อาจจะยังทันเห็นกันก็ได้      ก็แต่งโคลงสี่สุภาพได้ไพเราะมาก
แต่นายนรินทร์ธิเบศร์ไม่เล่นกลบทในนิราศนรินทร์    เล่นแต่ถ้อยคำสง่างามโอฬาร บอกบ่งความเป็นชาวราชสำนัก
นิราศนรินทร์น่าจะเป็นที่รู้กันในหมู่กวีร่วมสมัย เพราะนายนรินทร์ฯท่านไม่ได้แต่งเก็บไว้เฉยๆ  แต่แต่งให้บรรดากวีและผู้รู้หนังสือได้อ่านกันในวงกว้าง    ท้าเสียด้วยว่าให้วิจารณ์ได้ 
ฝีปากของนายนรินทร์ธิเบศร์นั้น เหนือพระยาตรัง   ผู้ซึ่งเป็นกวีฝีมือดีคนหนึ่ง  แต่บังเอิญเป็นเสือที่มายุคใกล้ๆราชสีห์  เลยอับแสงลงไป   ต่อให้พระยาตรังไม่ไปเลือกโคลงดั้นซึ่งเสียงห้วนและสัมผัสน้อย ไม่กลมกลื่นรื่นหู  แต่แต่งโคลงสี่สุภาพแบบเดียวกัน  ฝีปากพระยาตรังก็ยังสู้นายนรินทร์ธิเบศร์ไม่ได้อยู่ดี
ถ้าหากว่ามีกวีอีกสักคนที่ทะนงตนว่า ฉันก็หนึ่งในแผ่นดินเหมือนกัน   จะเลือกแต่งโคลงนิราศ  จะไม่คิด "ลีลา" (หรือที่คุณอาชาฯเรียกว่า"ทาง") ของตัวเองขึ้นมาบ้างเลยละหรือ
ดีกว่าไปแต่งตามรอยนายนรินทร์ธิเบศร์  ซึ่งเอารอยของศรีปราชญ์มาสร้าง"ทาง" ตัวเองจนยอดเยี่ยมถึงที่สุดแล้ว
ดังนั้น อะไรที่ไม่มีในนิราศนรินทร์  นิราศสุพรรณก็มี   เพื่อแสดงฝีมือกวีแบบเป็นตัวของตัวเอง
อย่างกลบท  คือคำตอบ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ส.ค. 07, 08:46
กวีนิราศสุพรรณ เอาโคลงสี่สุภาพเป็นหลักยืนพื้น  นี่ของตายอยู่แล้วเพราะสมัยรัตนโกสินทร์ โคลงดั้นกลายเป็นของเก่าเกินกาลเวลา   ไม่ไพเราะไปแล้วสำหรับหูที่ชื่นชมโคลงสี่สุภาพ

จากโคลงสี่สุภาพ กวีเจ้าของนิราศ ชินกับการใช้สัมผัสใน  คิดได้คล่องแทบว่าจะเป็นลมหายใจอัตโนมัติ   โคลงสี่แต่ละบท จึงกลายเป็นโคลง"กลบทสีหติกำกาม"  อย่างไม่ยากเย็น
จากโคลง"กลบทสีหติกำกาม"   เพิ่มสัมผัส เพิ่มลูกเล่นพลิกแพลงเข้าไปในบางบทที่อยากแต่งแทรกขึ้นมา
ก็กลายเป็นกลบทอีกแบบหนึ่ง อาจจะมีแบบแผนมาก่อน หรือว่าท่านคิดผสมสองสามอย่างขึ้นมาเอง ก็เป็นได้
เพราะคนชำนาญเสียอย่าง วิธีการจะเกิดขึ้นในสมองเองเมื่อแต่งไปหลายๆบทเข้า  แต่คนที่คิดยังงี้ได้ ไม่ใช่หัดแต่งโคลงแน่นอน  ต้องแต่งเป็นและแต่งเก่งมาแล้ว

เราคนอ่าน ก็ตามรอยได้แค่มองเห็นการต่อเติมวิธีแต่งอย่างมีขั้นตอน
เหมือนการผูกลายพื้นฐาน แล้วค่อยๆเติมลายเข้าไป จากแกะสลักชั้นเดียว ก็ลึกเข้าไปเป็นสองชั้นสามชั้น
เหมือนการขยายเพลงไทยเดิม จากชั้นเดียว เป็นสองชั้น แล้วก็สามชั้น
แต่ยังไงเสียคนนั้นต้องเก่งแกะสลัก หรือเก่งในการแต่งเพลงไทยเดิม มาก่อน

เพราะฉะนั้น กราบบังคมขอประทานอภัย  สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ  ที่จะต้องมองแตกต่างกันจากท่าน ที่ทรงสันนิษฐานไว้ว่า
"โคลงของสุนทรภู่มีปรากฏอยู่เรื่องเดียวเท่านั้น   ทำนองเมื่อบวชอยู่วัดพระเชตุพน จะถูกปรามาทว่าแต่งเป็นแต่กลอนเพลงยาว 
จึงแต่งกาพย์คำเทียบเรื่องพระไชยสุริยา  และแต่งโคลงนิราศสุพรรณ  พิสูจน์ให้ผู้อื่นเห็นว่าถ้าจะแต่งโคลงกาพย์ก็แต่งได้   แต่ที่แท้นั้นสุนทรภู่รู้ตัวทีเดียวว่า  ถึงแต่งก็ไม่ถนัดเหมือนกลอนเพลงยาว"

ข้อนี้ขอค้านว่า กวีนิราศสุพรรณ(ไม่ว่าจะเป็นสุนทรภู่หรือไม่ก็ตาม) เป็นผู้แต่งโคลงอย่างตั้งใจจะบอกทีเดียวว่า ฉันชำนาญการแต่ง  และสนุกในการพลิกแพลงแต่งหลายๆแบบด้วย
แต่ถ้าถามว่า ถ้าแต่งเก่ง  แล้วทำไมไม่แต่งโคลงหลายๆเรื่อง  แต่งทำไมเรื่องเดียว
คำตอบนั้น สันนิษฐานลูกเดียว เพราะไม่มีหลักฐานให้ยืนยัน
๑) จนทุกวันนี้  อย่าว่าแต่สุนทรภู่เลย    เราเองก็ยังไม่รู้อะไรหลายๆอย่างเกี่ยวกับกวีเมื่อ ๒๐๐ ปีก่อนอีกหลายคน  เช่นทำไมนายนรินทร์ธิเบศร์แต่งนิราศอยู่เรื่องเดียว  ทั้งๆยอดเยี่ยมออกปานนั้น   
งานของท่านอาจจะหายสูญไป  ไม่มีใครเก็บไว้  หรือตายไปเสียก่อนแต่ยังหนุ่ม   มีคำถามสารพัดที่ไม่มีคำตอบ

๒) จนทุกวันนี้  เรายังหาหลักฐานผลงานของสุนทรภู่ไม่ครบเลยค่ะ  รู้ว่ามีอยู่เรื่องหนึ่งที่หายสาบสูญไป เพราะเจ้าตัวระบุชื่อไว้  แต่ที่ไม่ระบุไว้มีนิราศอีกกี่เรื่องก็ไม่ทราบ

๓) เป็นไปได้อีกข้อ คือกลอนของสุนทรภู่เป็นที่นิยมมากกว่า  ตอนหลังๆเมื่อท่านแต่งพระอภัยมณี ก็โด่งดังมีคนนิยมมาก รวมทั้งเจ้านาย
ที่ว่า เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร  คือเหตุผลข้อนี้    เบสเซลเลอร์ของท่านคือกลอน
การแต่งโคลงซึ่งเอามาแต่งนิทานไม่ได้ หรือได้ก็ขลุกขลักเพราะถ้อยคำจำกัดมาก  ก็เลยถูกวางไปโดยปริยาย


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 11 ส.ค. 07, 10:49
ถ้ามองว่าสุนทรภู่เป็นกวีอาชีพ หาเลี้ยงชีพโดยการแต่งโคลงกลอน
เป็นไปได้หรือไม่ว่าโคลงไม่ถูกตลาด ผู้คนไม่นิยมเท่ากลอนตลาดที่คุ้นเคยกันมากกว่า

เมื่อคืนนี้จับนิราศพระแท่นของนายมีขึ้นมาอ่านใหม่ ทำให้เห็นอะไรอย่างหนึ่ง ลองดูท่อนนี้นะครับ
มาถึงวัดชีปะขาวให้เศร้าสร้อย       นาวาลอยลับไปไกลสมร
พี่กล้ำกลืนโศกาอาทร               สะท้อนถอนจิตใจไม่สบายฯ
ถึงตำบลบางระมาดอนาถจิต         เหมือนพี่คิดมุ่งมาดสวาทหมาย
ก็ได้สมชมน้องประคองกาย         แล้วกลับกลายพลัดพรากไปจากทรวงฯ
มาถึงวัดไก่เตี้ยยิ่งเสียจิต            พี่นิ่งคิดเสียดายไม่หายห่วง
ยิ่งแลลับแก้วตาสุดาดวง            ครรไลล่วงล่องลอยนาวามาฯ

ความจริงแล้ว นายมีพร่ำเพ้อยาวกว่านี้มาก นี่คือตัวอย่างของการพูดถึงผู้หญิงคนเดียว(แถมไม่เอ่ยชื่ออีกต่างหาก) เป็นงานร่วมสมัยกับสุนทรภู่ที่(ตัวผมเอง)อ่านไปนานๆแล้วพาลเหม็นเบื่อ ซึ่งเมื่อเทียบกับนิราศสุพรรณที่เอ่ยชื่อสาวเป็นสิบ รู้สึกว่ามีชีวิตชีวามากกว่าเยอะเลยครับ

คิดมาถึงตรงนี้ เป็นไปได้หรือไม่ว่ากวีไม่ได้มีสาวๆมากมายถึงขนาดนั้น บางชื่ออาจจะมีตัวตนจริง มีสัมพันธ์จริง แต่บางชื่อก็อาจจะเขียนให้มันน่าตื่นเต้นไปอย่างนั้นเอง แถมเผลอๆบางชื่ออาจจะอุปโลกน์ไปตามกลอนเพื่อเพิ่มสีสันให้งานประพันธ์ก็เป็นได้ครับ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 11 ส.ค. 07, 23:03
ผมขอตั้งคำถามเกี่ยวกับนิราศสุพรรณสักหน่อย เป็นคำถามย้อนศรตามถนัด
เกี่ยวกับกวี
1 เก่งกลอนตลาด จึงย้ายเอามาแต่งโคลง เพื่อแสดงฝีมือ
นี่ก็คือสันนิษฐานที่เรายึดถือกันมาแต่เดิม มุ่งหมายถึงท่านสุนทรภู่โดยตรง
ทำนองว่าถูกสบประมาทว่าเก่งแต่กลอน ไม่เก่งโคลง จึงเขียนนิราศนี้ เพื่อประกาศศักดา

2 แต่งโคลงเก่งอยู่แล้ว จึงมาเล่นสัมผัสแบบกลอนตลาด เพื่อลองวิชา
อันนี้ผมคิดขึ้นใหม่ ก็ในเมื่อคิดกันได้ว่าคนเก่งกลอนยักย้ามาแต่งโคลง ก็แล้วทำไมคนเก่งคลง
จะมาเล่นสัมผัสแบบกลอนบ้างไม่ได้
ข้อนี้ ผมต้องการถามว่า กวีแห่งโคลง ย้ายมาเล่นกลอน กวีนั้นย่อมมิใช่ท่านสุนทร

3 เป็นโคลงแนวทางยอดนิยมในขณะนั้น ไม่ประหลาดอันใด
อันนี้เป็นทางสายกลาง เป็นท่านสุนทรก็ได้ ท่านนิรนามก็ได้

ประเด็นของผม อาจจะวกวนสักหน่อย โปรดเห็นใจ เอาคนไม่เป็นกลอนมาอ่านนิราศ
ไม่ต่างกับตาบอดได้หวี....ยังไงก็หวีไม่ตรง   ฮิฮิ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 12 ส.ค. 07, 00:24
ขอตอบแบบอัตนัยตามถนัดนะครับ

โคลงทางนี้ ผมไม่เคยเห็นในยุคก่อนสุนทรภู่ อุ๊บ... ก่อนนิราศสุพรรณ แฮ่ๆ
แม้แต่หลังจากนั้นก็ยังนึกไม่ออกว่ามีกวีท่านใดแต่โคลงทางนี้อีก มาโผล่อีกทีราวห้าสิบมาปีนี้เอง เมื่อนิราศสุพรรณเป็นที่รู้จักแพร่หลายแล้วครับ(ถึงกระนั้นก็ยังไม่เป็นที่นิยม โดนค่อนขอดอยู่บ่อยๆ) ดังนั้นโคลงทางนี้ไม่ใช่โคลงที่นิยมในเวลานั้นแน่นอน

ทีนี้กวีแต่งกลอนแล้วมาแต่งโคลง หรือแต่งโคลงแล้วมาแต่งกลอน อันนี้ตอบไม่ได้ครับ เพราะเกิดไม่ทัน อิอิ

แต่กวีนิราศสุพรรณนี้ แต่งโดยอาศัยทางของกลอนแบบสุนทรภู่ เอามาใส่ในฉันทลักษณ์ของโคลงสี่สุภาพ ซึ่งทำได้หมดจด ไม่มีจุดใดขัดกับตำราเก่า อย่างน้อยกวีก็ต้องเรียนจินดามณีหรือได้ศึกษามาเป็นอย่างดีแล้ว

สรุปว่าไม่รู้ว่าแต่งโคลงมาก่อนหรือไม่ เพราะไม่มีอะไรจะเทียบครับ มีโคลงอยู่เรื่องเดียว ไม่เห็นพัฒนาการ ไม่รู้ว่าเคยแต่งแบบคลาสสิคอลแล้วค่อยๆคลี่คลายมาเป็นอย่างนี้ หรือจะเป็นว่าก่อนเขียนนิราศสุพรรณก็นั่งวางแนวทางก่อน แล้วค่อยลงมือเขียน แต่เขียนได้ขนาดนี้ รักษาเสียงโคลงได้สม่ำเสมออย่างนี้ คงไม่ใช่โคลงบทแรกในชีวิตดอกครับ

แต่ที่เห็นชัดๆคือ กวีเชี่ยวชาญกลอนตลาดแบบสุนทรภู่แน่นอน ไม่มีทางเป็นอื่นไปได้

ถ้าไม่ใช่สุนทรภู่แต่งเอง ก็ต้องเป็นสำนักสุนทรภู่

อ้า... ถ้าถึงขนาดเกิดกวีสำนักสุนทรภู่ได้ เรื่องชักยาวครับ ท่านสุนทรจะต้องยิ่งใหญ่กว่าที่บอกเล่ากันมากนัก

และถ้าลูกศิษย์ทะลึ่งสวมบทท่านเจ้าสำนักในผลงานของตัวเอง คงต้องโดนตะพดพระอาจารย์ประเคนอย่างแน่นอน


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ส.ค. 07, 21:40
นายมีพร่ำเพ้อยาวกว่านี้มาก นี่คือตัวอย่างของการพูดถึงผู้หญิงคนเดียว(แถมไม่เอ่ยชื่ออีกต่างหาก) เป็นงานร่วมสมัยกับสุนทรภู่ที่(ตัวผมเอง)อ่านไปนานๆแล้วพาลเหม็นเบื่อ ซึ่งเมื่อเทียบกับนิราศสุพรรณที่เอ่ยชื่อสาวเป็นสิบ รู้สึกว่ามีชีวิตชีวามากกว่าเยอะเลยครับ

ประเด็นที่คุณอาชาผยองยกขึ้นมา  น่าตอบมากค่ะ
ธรรมเนียมของนิราศ   หรือบทกวีแบบไหนก็ตามที่กวีแต่งขึ้นมาในการเดินทางไปเห็นอะไรต่อมิอะไร แล้วโยงเข้ามาหานางผู้เป็นที่รัก
ร้อยทั้งร้อยถูกทิ้งอยู่ทางบ้าน
เป็นขนบการแต่งตั้งแต่สมัยกำศรวลศรีปราชญ์ ที่มาเรียกทีหลังว่ากำศรวลเฉยๆ หรือกำศรวลสมุทร   
แต่งกันจนกลายเป็นความนิยม ไม่ได้จากกันจริงกับภรรยาหรอก   จนเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์เองก็ยอมรับว่า
แต่งตามประเวณี                 ใช่เมียรักจะจากจริง
นายนรินทร์ธิเบศร์ก็ตามรอยนี้    เพราะนางในนิราศ ไม่มีชื่อ บอกแต่ว่าเป็นภรรยา
เธอก็สวยหยาดเยิ้มและหรูหราเสียเหลือเกิน   ขนาดห่มสไบกรองทอง สวมแหวนเพชร แหวนนพเก้า     
ทั้งที่ตัวจริง เมียมหาดเล็ก อาจจะแค่ห่มผ้าฝ้ายอยู่กับบ้านก็เป็นได้

นางในนิราศของนายมีก็เจริญรอยตามนิราศรุ่นก่อน คือเป็นนางในฝันเสียมากกว่านางตัวจริง
แต่สุนทรภู่  มีนางตัวจริง มีชื่อเสียงเรียงนามพร้อมประวัติด้วยในบางครั้ง  ท่านเอาจริงกับนิราศ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ส.ค. 07, 22:56
กลับมาที่นิราศสุพรรณ  โคลง ๒ บทนี้บอกรายชื่อผู้ร่วมทางของกวี

อนึ่งเจ้าเหล่าเล็กล้วน                ลูกหลาน
หมายมั่งดังพิศถาน                    ถี่ถ้วน
ขอให้ใส่นามขนาน                     ตาบพัด สวัดิเอย
กลั่นชุบอุปถัมป์ล้วน                  ลูกเลี้ยงเที่ยงธรรม์ฯ
 
ลูกชาย ยังอ่อนหัด เห็นสาวๆเข้าก็เขิน ไม่กล้ามอง   
ลูกเอยเฉยเช่นปั้น                    ปูนขาว
สาวเพ่งเล็งหลบสาว                 สิ้นแล้ว
ปะเป็นเช่นพ่อคราว                    ครั้งหนุ่ม  ชุ่มฤา
ตายราบลาภไม่แคล้ว                 คลาดช้านาทีฯ

(๑๗๐) ๏ ลูกลาวสาวรุ่นน้อง       ทักทาย
เรือพี่มีสิ่งขาย                          ค่อยไหว้
ลูกเราเหล่าหนุ่มอาย                 แอบเด็ก  เล็กแฮ
สอนกระษาปน์ตาบให้                  ว่าซื้อหรือจำฯ
 
(๑๗๑) ๏ หนูพัดพลัดพลอดล้อ   เลียนสาว
มีหมากอยากสู่สาว                    ซิ่นแล้ว
ป่านเจ้าข้าวเหนียวขาว                ขายมั่ง  กระมังแม่
ตาบห้ามถามหาแห้ว                  แห่งนี้มีฤาฯ
 
(๑๗๒) ๏ ลาวไปไทยพี่น้อง        มองเมียง
มืดค่ำทำร่ายเรียง                      เราะร้าน
กลั่นชุบอุบอิบเอียง                    กแอมแอบ  แยบเอย
ขอหมากปากสั่นสท้าน               ทดท้อย่อหญิงฯ

เหตุการณ์เล็กๆที่แทรกอยู่ในนิราศทำให้มองเห็นอะไรได้บ้าง?
อ่านมาถึงตอนนี้เกือบจะเปลี่ยนใจ   กลับข้างไปเชื่อคุณอาชาผยองว่า กวีท่านไม่ได้บวช  เป็นชาวบ้านธรรมดา
สมมุติ วาดภาพดู  เรือลำหนึ่งมีพระนั่งไปพร้อมหนุ่มๆลูกและศิษย์อีก ๔ คน
สาวๆเห็นพระนั่งเรือมา  จะกล้ามาเยี่ยมเยียนหนุ่มๆในเรือหัวบันไดไม่แห้งแบบนี้หรือ
แถมหลวงลุงยังขัดใจเสียอีก ว่าสาวๆมาทอดสะพานถึงที่  ลูกชายนั่งเฉยเป็นพระอิฐพระปูน     เป็นพ่อหน่อยไม่ได้  จะฟันเสียให้หมดในพริบตา
ถ้าท่านเป็นพระก็เป็นพระที่โลดโผนเอาการ   ชักจะเอนเอียงเสียแล้วว่าไม่ใช่พระ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 13 ส.ค. 07, 23:32
ยังมีนายรอดอีกคนครับ ตัวต้นคิดขโมยเนื้อจากเสือ

ขบวนนิราศสุพรรณนี่สารพัดจะครึกครื้นเลยครับ แซวสาว เกี้ยวสาว ขโมยเนื้อจากเสือ เล่นน้ำตามแก่ง ฯลฯ

ถึงกวีจะไม่ได้บอกว่าลงไปร่วมวงด้วย แต่ดูแล้วไม่ใช่วิสัยขบวนที่หัวขบวนเป็นพระครับ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 14 ส.ค. 07, 00:29
แล้วบทนี้ล่ะครับ  ถ้าเป็นพระคุณเจ้าแต่ง  ก็น่าหวาดเสียวอยู่ครับ

ดึกดื่นฝืนเนตรหนั้ง                     ฟังเสียง
แม่ม่ายลองไนเรียง                    แหร่ร้อง
รฦกแต่แม่ม่ายเวียง                    สวาดิว่าง ค้างเอย
เปนม่ายร้ายนักน้อง                    จต้องลองไนฯ

หลวงพ่อฟังเสียงแมลงกลางคืนร้อง  พาลไปคิดถึงสีกาในเวียงแบบเป็นห่วง  อิอิ........  เป็นม่ายร้ายนะน้องสาว  อะไรประมาณนี้  ถ้าเป็นพระจริงๆก็กล้ามากๆล่ะครับ..... :o



กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 14 ส.ค. 07, 00:55
นึกแล้วว่าอ่านที่อาจารย์ถอดความ จะต้องเจออะไรเด็ดๆ
คำว่า"กระษาปน์" ครับ

จะมีใช้ก่อนรัชกาลที่ 4 ทรงผูกขึ้นเป็นโรงกระษาปน์สิทธิการ หรือไม่
คำว่ากระษาปน์นี้ หมายถึงเหรียญกลมแบนตามอย่างตะวันตก
คนไทยใช้แต่พดด้วงและเบี้ย
นี่กวีท่านพกกษาปณ์ไปเมืองสุพรรณ นับว่าล้ำสมัยมากๆๆๆๆๆ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 14 ส.ค. 07, 03:02
พอดีอ่านเจอครับคุณพิพัฒน์

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2312นั้น ยาโกเบ กอรร์ บาทหลวงชาวฝรั่งเศสหนีภัย สงครามไปอยู่ประเทศกัมพูชา และเขาได้รวบรวมผู้คนที่นับถือศาสนาคริสต์กลับเข้ามาในแผ่นดินสยามอีกครั้ง ภายหลังจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกู้อิสรภาพจากประเทศพม่าได้สำเร็จ และได้ทำพิธีราชาภิเษกขึ้นเป็น พระเจ้ากรุงธนบุรี สถาปนากรุงธนเป็นราชธานีแล้ว
           ในตอนนั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้พระราชทานเงิน 20 กษาปน์ และที่ดินแปลงหนึ่ง บาทหลวงกอร์จึงได้เลือกสถานที่พำนักของชาวโปรุตเกสย่านกุฏีจีน แล้วเชื่อว่า ค่ายซางตาครู้ส อันเป็นจุดเริ่มต้นของ วัดซางตาครู้ส วัดแห่งไม้กางเขนศักดิ์สิทธ์ที่ยืนยงมาจนถึงทุกวันนี้ และเป็นที่มาของขนมฝรั่ง “กุฏีจีน” อันเลื่องชื่อแถบฝั่งธนบุรี

จากเวปนี้ครับ
http://202.57.155.216/MetroLife/ViewNews.aspx?NewsID=9480000041320


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ส.ค. 07, 08:20
คุณ Bana คะ ดิฉันสงสัยว่าข้อความที่ยกมา แปลผิดหรือเปล่า   อ่านแล้ว ข้อความตอนนี้ ของเดิมเห็นจะไม่ใช่ภาษาไทย แต่เป็นการแปลมาจากบันทึกของวัดซานตาครูส หรือไม่ก็บันทึกของบาทหลวงกอร์
หน่วยเงินในสมัยธนบุรี  น่าจะเป็นบาท  ตำลึง และชั่ง
ควรจะเป็น
"ในตอนนั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้พระราชทานเงิน 20 ชั่ง และที่ดินแปลงหนึ่ง"
ก็จะเป็นจำนวนเงินที่น่าจะเป็นไปได้ มากกว่าพระราชทาน 20 เหรียญกษาปน์    ซึ่งไม่รู้ว่ามีมูลค่าเท่าใด


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 15 ส.ค. 07, 02:33
อันนี้ต้องยอมแพ้ท่านอาจารย์เทาชมภูครับ  เพราะผมเห็นด้วยครับอาจแปลผิด  แต่มีใช้บ้างหรือเปล่าล่ะครับลักษณะเป็นเหรียญในสมัยกรุงธนฯหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น  อาจเป็นทองคำหรือเงิน  แบบที่เลียนแบบของคนจีน...อันนี้ผมไม่ทราบจริงๆ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ส.ค. 07, 10:02
ไม่มีความรู้เรื่องประวัติเงินตราสมัยอยุธยา คุณพพ.อาจตอบได้
แต่รู้ว่าสมัยรัตนโกสินทร์ยังใช้เงินพดด้วงกันอยู่  จนต้นรัชกาลที่ ๔ ก่อนจะมาปรับปรุงกันครั้งใหญ่
ต้องไปหาหนังสือประวัติพระยากษาปนกิจโกศล(โหมด อมาตยกุล)มาอ่านค่ะ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 17 ส.ค. 07, 17:24
การใช้เงินเหรียญ มีมาแต่อยุธยาแล้ว แต่ไม่ใช่ในหมู่สามัญชน ใช้เป็นเครื่องแลกเปลี่ยนหน่วยใหญ่
เงินเหรียญที่เป็นหน่วยกลาง เป็นเงินสเปน ที่ผลิตจากเหมืองในเมกซิโก มีส่วนผสมทองคำสูงมาก
ใครๆจึงยอมรับมาเป็นหน่วยกลาง

เมื่อประเทศเราเริ่มมั่งคั่งจากการค้าทางไกลฝั่งอันดามัน
รัชกาลที่ 4 ทรงเห็นทะลุเวลา จึงทรงสั่งเครื่องจักรปั้มเงินเหรียญเข้ามา
เพื่อจะสร้าง บาทเคอเรนซี่เป็นครั้งแรก
ก่อนกว่านักการเงินใหนๆทั้งโลก จะทันได้คิดถึงเรื่องนี้ (แบ้งค์ชาติอยู่หนาย...มาฟังหน่อย)

เครื่องจักรได้มาจากอังกฤษ แต่ช่างที่มาด้วย ตกน้ำตายด้วยความเมาทั้งสองคน
โรงงานก็เลยกองอยู่อย่างนั้น จนนายโหมดมาดูๆ แล้วประกอบใช้งานได้
เจ๋งจริงๆ...(วิศวกรรมสถานอยู่หนาย...มาอ่านหน่อย)
พระราชทานนามว่าโรงกษาปณ์สิทธิการ ดูเหมือนจะเป็นครั้งแรกที่คำนี้ ปรากฏขึ้นในภาษาไทย

ตายละซี....นิราสุพงสุพันอะไรนี่
มันของปลอมนี่หว่า......


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 17 ส.ค. 07, 18:27
ก่อนจะตั้งโรงกษาปณ์ เราใช้เงินพดด้วง

เงินสมัยนั้น ไม่ได้เป็นระบบเงินตราอย่างในปัจจุบันครับ เพราะเงินพดด้วงทำจากเงินแท้ๆ มีมูลค่าตามน้ำหนักเงิน เงินหนึ่งบาทก็คือเนื้อเงินหนักหนึ่งบาทเอามาขึ้นรูปครับ

สมัยร.๔ ทรงตั้งโรงกษาปณ์ แต่ผมเข้าใจว่าเหรียญที่ผลิตออกมาใช้เมื่อแรก ก็ยังมีมูลค่าตามเนื้อเงิน เพียงแต่ผลิตออกมาเป็นเหรียญเท่านั้น

มิได้มีลักษณะเป็นระบบเงินตราเหมือนตั๋วแลกเงินที่เห็นในหนังจีนครับ

กลับมาที่นิราศสุพรรณ เหรียญกษาปณ์อย่างแบนนี้ไม่มีปัญหาครับ เป็นของสมัย ร.๔ แน่ แต่คำว่ากษาปณ์นั้นเป็นคำแขกอยู่แล้ว ร.๔ ท่านไม่ได้สร้างจากสูญญากาศครับ

ถ้าจะตีความว่ากษาปณ์ในที่นี้หมายถึงเงิน (ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเหรียญกลม) ผมว่าไม่น่าจะผิดกติกาอะไรนะครับ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ส.ค. 07, 18:48
ก่อนจะเถียงกันเรื่องกระษาปน์ต่อไป     ไปเปิดหนังสือ พบว่าในต้นฉบับเดิมเขียนว่า

สอนกระสาบตาบให้              ว่าซื้อหรือจ๋า

กรมศิลป์ แปล กระสาบ ว่า กระซาบ  หมายถึงกระซิบกระซาบ
คือกระซิบกระซาบสอนหนูตาบ ให้ถามสาวว่าจะซื้อหรือจ๊ะ

ไม่เคยได้ยิน กระซาบ สะกดว่ากระสาบ
ในนิราศสุพรรณ คงตัวสะกดแบบเดิม ไม่ได้ชำระให้เป็นภาษาปัจจุบันอย่างเรื่องอื่นๆ   
สังเกตว่าใครก็ตามที่จดเรื่องนี้ลงสมุดไทย สะกดคำแบบหูได้ยินเสียงไหนก็สะกดไปตามนั้น  ไม่มีพจนานุกรมมากำกับ
พจนานุกรมยังไม่เกิดในสมัยนั้น

กระซาบกับกระสาบ วรรณยุกต์คนละเสียง   ดิฉันไม่คิดว่าเป็นคำเดียวกัน
เว้นแต่ว่าสมัยนั้นเขาจะพูดกัน  ว่า  กระสิบกระสาบ แทนกระซิบกระซาบ
ก็เลยถอดออกมาว่า กระษาปณ์ 
หมายความว่า กวีท่านสอนถึงเงินตรา ซื้อขาย  ให้นายตาบถามสาวว่าจะซื้อของหรือจ๊ะ

ถ้าผิด ก็รับโทษทัณฑ์โดยดี ค่ะ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 17 ส.ค. 07, 19:17
ถามไปทางตุ๊ดตู่ เขาก้อตอบมาว่า
กระซาบ  (กลอน) ก. พูดเบา ๆ เช่น ค่อยกระซาบคําเกลี้ยง. (ลอ), นิยมใช้
เข้าคู่กับคํา กระซิบ เป็น กระซิบกระซาบ.

กวีคนนี้หรูมาก ใช้คำในพระลอเชียวแฮะ
เอ้า ไม่ใช่เหรียญกษาปณ์ก็ถือว่ารอดตัวไป


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ส.ค. 07, 20:44
ขอแถมว่า ในพระลอ สะกดว่า กระซาบ ไม่ใช่ กระสาบ
ถ้าหากว่าสมัยโบราณสะกดทั้งสองคำ    ท่านจะใส่ไว้ในพจนานุกรมว่า
...กระสาบ ก็ว่า


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 17 ส.ค. 07, 21:04
อ้าว...ตายหง เป็นงั้นไป

นี่เป็นกวีอาไร ใช้คำว่ากระซิบกระสาบ
รึว่าเป็นกระษาปณ์

เอ...คุณครูครับ มันยุ่งทั้งสองทางนา


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 17 ส.ค. 07, 21:14
กระสาบหรือกระซาบผมก็ไม่กระทราบ เอ๊ย ไม่ทราบ

แต่ ว่าซื้อหรือจ๋า อันนี้ผมไม่เชื่อว่าจะเป็น จ๋า ไปได้

ตามฉันทลักษณ์ของโคลง ตำแหน่งนี้ไม่ได้บังคับ แต่คนเล่นโคลง "ทุกคน" ต้องรู้ว่าตำแหน่งนี้เขาจะใช้คำสุภาพ (ไม่มีรูปวรรณยุกต์)

ถึงแม้จะมีบางคนที่รู้ทั้งรู้ แต่ก็แอบเล่นวรรณยุกต์จัตวาตรงนี้บ้าง เพราะตีความเอาว่าสมัยที่เกิดฉันทลักษณ์โคลงยังไม่มีวรรณยุกต์จัตวาใช้

แต่... กวีนิราศสุพรรณ ไม่ทำอย่างนั้นครับ

ถึงจะสร้างทางโคลงใหม่ขึ้นมา แต่เห็นได้ชัดว่ารัดกุมมาก ไม่ยอมให้ใครมาตราหน้าได้ว่าแต่งโคลงไม่เป็น โคลงแบบนิราศสุพรรณนี้จึงเป็นโคลงที่ไม่ขัดกับฉันทลักษณ์แบบเก่าเลยแม้แต่น้อย

และไม่ปรากฏการใช้วรรณยุกต์ในที่บังคับให้ใช้คำสุภาพที่อื่นใดอีกด้วย

สรุปว่า หรือจำ ไม่ใช่ หรือจ๋า อย่างแน่นอนครับ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 17 ส.ค. 07, 22:18
ยกให้กรมสาบละกันนะครับ

เรียนถามคุณเครซี่หน่อยว่า โคลงระดับนิราศสุพรรณนี่ ประมาณการว่า แต่งนานมะกั๊บ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 17 ส.ค. 07, 22:34
โอ... แล้วผมจะไปรู้ได้ยังไงล่ะคร้าบพ่อหมอ  :(

โคลงแบบนี้ สัมผัสในเพียบ ถ้าไม่คุ้นเคยกับการใช้สัมผัสในเยอะๆอย่างนี้มาก่อน ก็คิดคำกันหัวบวมล่ะครับ อย่าว่าเร็วหรือช้าเลย แค่เขียนออกมาให้ได้อย่างนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว

แต่ให้คิด ถ้าเป็นงานท่านสุนทรจริง ความเร็วคงไม่ต่างจากเขียนกลอนมากนัก เขียนได้ไม่กี่บทก็คงลื่นไหลเพราะเข้าจังหวะแล้ว

ดังนั้นจึงขอส่งการบ้านว่า

"เมื่อเร็วพอๆกับเขียนกลอน ก็คงใช้เวลานานพอๆกับแต่งกลอนนั้นแล"  ;D


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 17 ส.ค. 07, 23:10
สวัสดีคืนวันศุกร์ครับ........ง่ะ  เข้ามาก็เจอกระซิบกระซาบอะไรกัน.อิอิ
ผมรู้แต่ว่าบ้านผมก็มีนะ เรียกผักสาบ  มันจะกระสาบหรือเปล่าไม่ทราบ  อีกอย่างก็ใบสาบเสือ  ใช้ห้ามเลือด

แต่ที่ผมดูตามศัพท์  กษาปน์ หรือ กหาปน  เป็นเงินในครั้งก่อนที่ใช้พวกโลหะทำ  ก็ถ้าสืบไปก็คงมีตั้งแต่ครั้งพุทธกาลโน่นล่ะครับ  แล้วเงินราง เงินพดด้วง  หรืออะไรก็ตามที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฏหมาย  ในครั้งปลายอยุธยา ธนบุรี หรือต้นรัตนโกสินทร์  เป็นไปได้ไม๊ครับที่เค้าเรียกกันว่า กษาปน์  คือเป็นอีกคำที่ใช้เรียกกัน  เป็นเงินกษาปน์ 2 อัฐ 2 บาท  อะไรทำนองนี้อ่ะครับ  ก็ต้องวานท่าน พิพาท เอ๊ย ท่านพิพัฒน์  ช่วยจารไนให้ผมหน่อยครับ  ถ้าเป็นตามผมคิดจริงๆ  ก็สมเหตุครับในบทกวี ......... ;)


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 17 ส.ค. 07, 23:37
ตอบเหมือนไม่ได้ตอบ แต่ก็ยังตอบ(ละวะ)...55555
ครือว่า อยากให้สังเกตเรื่องความเร็วของกลอนน่ะครับ
เปรียบเหมือนนักเขียนดังๆ ที่เขียนไปแก้ไป แต่บางคนก็ทำงานเหมือนเครื่องปั่นมูลิเน็ก
พรวดๆๆๆ บรื๋อออๆๆๆๆ....เสร็จแระ

ส่วนคำว่ากษาปณ์นั้น ผมสนใจที่คำศัพท์อ่ะครับ
ตัวเงินเหรียญกลมๆ แบนๆ นั้น เจอมาแต่พันกว่าปีโน่น
ศรีทวารวตี ศวรปุณย
เจอที่ภาคกลาง หลายเหรียญเชียว

แต่คำเรียกนั้นสิ ยังไม่เจอในชีวิตประจำวันจนกว่าจะถึงรัชกาลที่ 4 ทำให้งงอยู่
คงต้องขอพาราคุณบานามาแก้เวียนหัวหน่อยละ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 17 ส.ค. 07, 23:55
ถ้าเป็นความคิดผมนะครับ  ผมว่าไม่เร็วเท่ากลอน  เพราะนิราศสุพรรณคำโคลง  ใช้เวลาในเรื่องราวพอสมควรและคนแต่งก็รู้สึกว่าไม่ได้ทำอะไรนอกจากแต่งนิราศไปตามทาง  แต่ที่เร็วจนน่าฉงนคือ นิราศพระบาทครับ  ทั้งพายเรือไปจนล้าแล้วล้าอีก  ทั้งต้องมาแต่งกลอนงามๆไปด้วย (ไม่รู้เอาเวลาไหนมาแต่งหรือพัก...อิอิ)  เวลาที่ใช้ในเรื่องก็ไม่กี่วัน  อันนี้ยิ่งกว่ามูลิเน็กซ์อีกท่าน ............... ;D


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ส.ค. 07, 16:54
(สรล้วน)
(๒๘๖) ๏ เขาเขียวโขดคุ่มขึ้น                เคียงเคียง
ร่มรื่นรุกข์รังเรียง                                 เรียบร้อย
โหมหัดหิ่งหายเหียง                            หัดหาด แห้วแฮ
ยางใหญ่ยอดยื่นย้อย                          โยกโย้โยนเยนฯ

จำได้ว่ากลบทแบบนี้อยู่ในพระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์เมื่อปลายอยุธยา
แล้วก็ยังมีอีกบทหนึ่ง
(ราชสีห์เทียมรถ)
(๒๙๒) ๏ ยลโศกยามเศร้ายิ่ง                ทรวงเย็น
คิดสุดขัดแสนเข็ญ                                 โศกไข้
หวนหนาวหากนึกเห็น                           หน้าแห่ง น้องแฮ
ดวงจิตเด็จจากได้                                จึ่งดิ้นจำโดยฯ

ส่วนบทนี้ เห็นจะพูดว่าคนแต่งไม่ถนัดเรื่องโคลงไม่ได้

(สกัดแคร่)
(๒๙๖) ๏ หนาวลมห่มผ้าห่อน                  หายหนาว
ฟ้าพร่ำน้ำค้างพราว                                พร่างฟ้า
เด่นเดือนเกลื่อนกลาดดาว                       ดวงเด่น
ใจเปล่าเศร้าซบหน้า                              นึกน้องหมองใจฯ

ทั้งสามบท รวมกลอนกลบทอื่นๆที่แทรกไว้เป็นระยะ  ยืนยันได้อีกครั้งว่าคนแต่งนิราศสุพรรณไม่ใช่มือใหม่แต่งโคลง
ที่จริงแล้วมีอีกหลายบททีเดียวที่คล้ายกลบท   แต่ไม่ได้บอกชื่อไว้
ผู้แต่งเป็นใครก็ตาม แต่เป็นคนที่ช่ำชองกับภาษา    ชอบเล่นสัมผัสสระ สัมผัสอักษร  ให้แปลกไปจากโคลงสี่สุภาพธรรมดา
และอาจจะต้องการแสดงฝีมือให้ประจักษ์กันด้วย 
 

                             
 
 
 


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 27 ส.ค. 07, 19:31
มต่อในทันที
ว่า
แล้วสุนทรภู่ ท่านชอบสัมผัสทั้งสอง มากมายเพียงใดครับ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: agree ที่ 27 ส.ค. 07, 19:32
ประวัติศาสตร์ไทยยังมีเรื่องที่คนเราต้องการรู้อีกมาก  :-[


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ส.ค. 07, 20:11
กลอนของสุนทรภู่ หนักไปทางด้านสัมผัสสระ ค่ะ  มีทุกบาท    สัมผัสอักษรมีน้อยกว่า ไม่จำเป็นว่าต้องมีทุกบาท   แต่จะว่าไม่มีก็ไม่ใช่   มีเหมือนกัน
สีแดง สัมผัสสระ  สีเขียว สัมผัสอักษร

ถึงบางพรหมพรหมมีอยู่สี่พักตร์                     คนประ จักษ์แจ้งจิตทุกทิศา
ทุกวัน นี้มี ม นุษย์อยุธ ยา                                เป็นร้อยหน้าพันหน้ายิ่งกว่าพรหม


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 27 ส.ค. 07, 23:27
ม่ายมีฟามรู้ อะธิบายม่ายถูก.....
เสียงโคลงเป็นปลายปิด เสียงกลอนเป็นปลายเปิด
เสียงโคลงไม่โอ่อ่า เสียงกลอนผ่าเผย
เสียงโคลงงุดๆ เสียงกลอนผ่างๆ

ม่ายรู้จะเปรียบยังงาย
ขออำไพกั๊บ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 27 ส.ค. 07, 23:44
เพิ่งจะอ่านฉบับเต็มจบไปครับ อ่านฉบับออนไลน์ ๓๐๐ บทมานาน :)


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 28 ส.ค. 07, 02:40
อิอิ  มาโผล่ที่สุพรรณ.......

ไม่มีข้อโต้แย้งครับเรื่องสัมผัสแพรวพราว  ซึ่งหายากใกโคลงทั่วไป  ว่าจะมีมากขนาดนี้  แต่โดยองค์รวมในภาษาสำเนียงความเพราะพริ้ง(โดยรวมนะครับ)  ผมว่ายังไกลกับท่านนรินทร์มากนัก  อันนี้ความเห็นส่วนตัวครับ  ขออำภัยถ้าบังอาจไปวิจารณ์ปรมาจารย์

ว่าแต่ผู้แต่งเป็นพระภิกษุแน่เหรอครับ  อันนี้ยังไม่กล้าฟันธง............... :P


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ส.ค. 07, 08:46
เพราะไม่เพราะ เห็นจะเรียกได้ว่า "อัตวิสัย" แต่ถ้ามองในด้านภววิสัย   กวีเรื่องนี้เชื่อมือตัวเองว่าไม่ใช่มือใหม่หัดแต่งโคลงแน่นอนค่ะ
โชว์ฝีมือเสียด้วยซ้ำ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 29 ส.ค. 07, 01:02
ครับผมเห็นด้วยกับท่านอาจารย์เทาชมภู  เป็นกวีที่อหังการ์ด้วยซ้ำ  เป็นโคลงที่มีสำเนียงและรสชาติของตัวเอง  โชว์ลูกเล่นแพรวพราวแบบไม่ใช่ไก่กาจะมาแต่งแบบนี้ได้  แม้จะมีกลบทแทรกบ้าง  แต่เท่าที่สังเกตุติดหูลำบากครับ  แบบที่เรียกว่าถ้ากวีท่านนี้มีผลงานเรื่องนี้เรื่องเดียว  คงดังยากอ่ะครับ  ภาษาวัยสะรุ่นว่าไม่โดน.........อิอิ ;)


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 ส.ค. 07, 20:09
ค่อยๆแกะรอยไปเรื่อยๆ  ก็คงจะมีคำตอบได้ค่ะ   ว่ากวีนิราศสุพรรณเป็นพระหรือชาวบ้านธรรมดา
แต่ถ้าเป็นพระ ก็เห็นจะไม่เคร่งเท่าไร


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 30 ส.ค. 07, 01:59
พยายามแกะแล้วก็พบว่า  เป็นหลวงพี่ที่ออกจะโลดโผน(ความคิดและคำพูด)  ไปนิดอ่ะครับ  แต่คงไม่ใช่หลวงตา(พิพัฒน์)แบบที่ท่านอาจารย์เทาชมภูเจอแน่ๆ........อิอิ ;D


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ส.ค. 07, 10:01
ชวนคุณ Bana มาอ่านโคลงตั้งแต่บทที่ ๒๙๗ -๓๐๕ เป็นตอนที่คณะเดินทางไปพบชาวกะเหรี่ยง
ในโคลงสะกดว่า "เกรี่ยง"

ไร่เกรี่ยงเสียงหลอดโหร้                 โหร่เสียง
โหว่งโหว่งโรงรายเรียง                    รับพร้อง
หว่างไม้ไก่ขันเคียง                        เสียงเอ่ก อี๋เอ้กเอย
ยามดึกนึกนุชน้อง                          นิ่งเศร้าเปล่าทรวงฯ  

ถ้าถามเป็นพระแล้วเขียนอย่างนี้เหมาะไหม ก็ต้องตอบว่าไม่เหมาะแน่ละค่ะ 
แต่ถ้าเป็นกวี  ถือว่า"อันพริกไทยใบผักชีเหมือนสีกา ต้องโรยหน้าเสียหน่อยอร่อยใจ" ก็คงต้องมองๆข้ามไปบ้าง  ถือว่าท่านตั้งใจจะชูรสโคลงเท่านั้น
เหมือนหลวงตาในกระทู้นี่แหละค่ะ   ตัวจริงเรียบร้อย    จะเป็นสมีก็แต่ตอนเข้าเรือนไทยตามรอยสุนทรภู่ แบบเดียวกัน

กลับมาที่นิราศสุพรรณ  ตอนเจอกะเหรี่ยงนี่เอง มีตอนหนึ่งที่กวีหยิบลูกปัดออกมาแจก จากย่าม
๓๐๕  ลูกปัดจัดแจกทั่ว                 ตัวคน
หมดย่ามตามยากจน                     จัดให้
พอจะมีเหตุผลไหมว่า เป็นพระ  ถึงพกย่ามติดตัว?

บทใกล้ๆกันนี้ กะเหรี่ยงจัดหาอาหารมาเลี้ยง(พระ ?)    ท่านกวีก็รังเกียจ กินไม่ลง
๓๐๒  รุ่งเช้าเข้าบ้านเกรี่ยง             เลี้ยงเหลือ
แกงฟักผักพริกมะเขือ                    ค่างปิ้ง
อึ่งแย้แช่เค็มเกลือ                         เกลียดขยั้น  กลั้นแฮ
เด็กบ่ชอบลอบทิ้ง                         ถ้วยคว่ำซ้ำแสยง

นิสัยนี้ช่างเหมือนกวีนิราศเมืองแกลงเสียเหลือเกิน   เห็นอาหารป่าแล้วขยะแขยงกลืนไม่ลง แทนที่จะนึกสนุกว่าได้กินอะไรแปลกๆ เป็นกำไรชีวิต
ปกติคนออกหัวเมืองลุยป่าฝ่าดงอย่างท่านกวี  น่าจะเป็นคนกินง่ายนอนง่าย  แต่กวีในนิราศทั้งสองนี้เหมือนกันคือออกหัวเมืองแล้วต้องบ่น   โดยเฉพาะเจออาหารบ้านป่าแล้วอี๊อ๊าทนไม่ได้เอาเลย
กวีนิราศเมืองแกลงยังหนุ่ม  มีแฟนแต่ยังไม่ได้แต่งงาน  ส่วนกวีนิราศสุพรรณอยู่ในวัยกลางคน มีลูกโตเป็นหนุ่มแล้ว
แต่นิสัยเลือกอาหาร เหมือนกันยังกะแกะ

ทั้งแย้บึ้งอึ่งอ่างเนื้อค่างคั่ว               เขาทำครัวครั้นไปปะขยะแขยง
ต้องอดสิ้นกินแต่ข้าวกับเต้าแตง        จนเรี่ยวแรงโรยไปมิใคร่มี


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ย. 07, 21:53
เหตุการณ์ตอนกวีและหนุ่มๆลูกหลานลูกศิษย์ลูกหาไปเจอกะเหรี่ยง จนได้เข้าไปพักในหมู่บ้าน เป็นภาพที่บรรยายไว้แจ่มชัด  ราวกับบันทึกด้วยกล้องถ่ายวิดีโอย้อนเวลา
การเล่าเรื่องแบบมีตัวละคร มีบทสนทนา มีฉาก มีเหตุการณ์ และรายละเอียดประกอบ แบบนี้ ถ้าเทียบกับนิราศเรื่องอื่นๆในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น  ไม่ว่าจะเป็นพระราชนิพนธ์นิราศรบพม่าท่าดินแดง     นิราศนรินทร์   นิราศพระยาตรัง  จะเห็นว่านิราศสุพรรณ แหวกออกมาจากทั้งหมด
แต่แค่นี้ ยังไม่ถึงกับสรุปว่าสุนทรภู่ไม่ได้แต่งนะคะ   คนละเรื่อง เป็นแต่ข้อสังเกต
ขอหยุดแค่นี้ก่อน แล้วจะมาขยายความค่ะ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 09 ก.ย. 07, 22:37
ผมนึกว่าอาจารย์จะชี้ว่าสุนทรภู่แต่งซะอีก   ;D


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ย. 07, 21:24
อยากบอกเหมือนกันว่าสุนทรภู่แต่ง  นอกจากกลัวไม้เท้าพระเจ้าตาแล้ว ยังมีอะไรบางอย่างที่สะดุดใจเข้า เลยต้องยั้งปากไว้ก่อนค่ะ
ขออภัยที่จะไม่ลงโคลงตอนพบกะเหรี่ยงเอาไว้  เพราะหาในเน็ตไม่เจอ ถ้าลงต้องพิมพ์เอง  ยาวมากค่ะพิมพ์ไม่ไหว
เล่าย่อๆว่ากวีเจ้าของนิราศเรื่องนี้ไปถึงไร่กะเหรี่ยง ผูกมิตรมอบลูกปัดให้  กะเหรี่ยงก็ดีใจเอาลูกปัดใส่ข้อมือ   ต้อนรับให้ค้างคืน ตื่นขึ้นมาเลี้ยงดูปูเสื่อ หาอึ่งหาแย้มาให้กิน
ต่อจากนั้นก็ตามกะเหรี่ยงนำทาง ไปขุดหาสมุนไพร     ผ่านป่าดงสมุนไพร บรรยายแบบกวีท่านรู้เรื่องสมุนไพรดีเอาการทีเดียว   เป็นศิษย์มีครูสอนเรื่องนี้มาก่อน
จากนั้น กะเหรี่ยงพาเข้าหมู่บ้านละว้า  ไปค้างแรมทำกับข้าวกับปลากินกันกับพวกละว้า  พวกนี้ก็ต้อนรับขับสู้เต็มอกเต็มใจ
ได้ตาลวด เป็นละว้านำทางไปหาเหล็กไหล   พบพระไปเสาะหาเล่นแร่ ถูกแร่กินตาย เหลือแต่ผ้าพาดบาตรอยู่ ก็เลยเก็บกระดูกเผาให้    บรรยายละเอียดถึงขนาดนี้


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 13 ก.ย. 07, 00:14
บรรยายให้ละเอียดกว่านี้อีกนิดเถอะครับ
โคลงน่ะ ผมมีอยู่กับตัว
แต่คำแปลไม่ได้มากะตัว มันไปหล่นอยู่ชาติที่แล้วครับ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ย. 07, 09:13
นิราศสุพรรณ มีลักษณะบางอย่างเหมือนนิราศเมืองเพชร
๑ คนแต่งเป็นชายวัยกลางคน  เดินทางไปพร้อมกับลูกชายและลูกศิษย์ลูกหา
๒ มีความรักที่ไม่สมหวัง    ชอบรำพึงถึงผู้หญิงในอดีต
๓ มีตำแหน่งการงานเป็นขุนนางมาก่อน  แต่รู้สึกว่าในปัจจุบันตัวเองตกต่ำลงไปกว่าก่อน
๔ เอ่ยชื่อบุคคลที่ตนเองพบระหว่างทาง  เจาะจงเป็นตัวตนออกมาเลยทีเดียว

รายละเอียด ไม่รู้คุณพพ.จะให้อธิบายขนาดไหน  ถ้าหากว่าบทต่อบท คงอีกหลายปีกว่าจะจบ  ขอเป็นแบบนี้ก็แล้วกันนะคะ  คือเล่าความไปเรื่อยๆ
ถ้าไปเปิดหนังสือ   สงสัยบทไหนก็ค่อยกลับมาถามก็ได้

ต่อค่ะ
กะเหรี่ยงชื่อนายกวั่ง นำทางคณะ National Geographic แห่งสยามเมื่อเกือบสองร้อยปีก่อน มาถึงหมู่บ้านละว้า  พักที่นี่หนึ่งคืน พวกละว้าก็เป็นมิตรดี   โดยเฉพาะสาวๆละว้าตาคมผิวนวล มาทักทายเล่นหัวกอดรัดกับหนุ่มๆราวกับพี่น้อง
จุดมุ่งหมายของการเดินทาง มาเปิดเผยเมื่อมาถึงหมู่บ้านละว้า    ว่าจะไปหาเหล็กไหล  มีละว้าชื่อนายลวด  รู้จักเจดีย์บนภูเขา ในเรื่องบอกว่าชื่อ"เขาเขียว" แต่ไปถึง พูดถึง "เขาโพรง" ไม่รู้ชื่ออะไรแน่
ข้างเจดีย์มีถ้ำที่อยู่ของเหล็กไหล    เดินกันตั้งแต่เช้าถึงเย็น จึงไปถึงเจดีย์

ลักษณะเจดีย์ ท่านอธิบายไว้สั้นๆ แต่คุณพพ.คงนึกภาพออก อยู่ในบทที่ ๓๗๒
เป็นเจดีย์โบราณ  ทรงกลม สูงประมาณหกศอก  ประตูทางเข้ามีดาลใส่ไว้ให้ปิดสนิท  สร้างด้วยปูนเพชร ใช้เป็นที่เก็บใบลาน
น่าจะเป็นเจดีย์สมัยอยุธยาตอนปลาย   เห็นว่าประตูยังอยู่ในสภาพดี ปิดเปิดได้  ในเจดีย์ กวีบอกว่าเป็นที่อยู่ของ "ท่านผู้วิเศษ" ไม่รู้ว่าหมายถึงใคร     อาจจะหมายถึงพวกที่สำเร็จปรอท  หรือปู่เจ้าเขาไพรที่สิงสถิตย์อยู่แถบนั้น    เป็นการคาดเดาของกวีเองเมื่อเห็นว่ามีห้องอยู่ในเจดีย์   
ความเชื่อเรื่องนี้ได้รับการย้ำอีกทีเมื่อเข้าไปในถ้ำข้างเจดีย์ มีผู้สร้างแท่นปูนไว้ในถ้ำ  กวีก็เชื่อว่าเป็นแท่นของผู้วิเศษอีก

คืนนั้นกลุ่มนี้ค้างกันอยู่ในถ้ำ  กะเหรี่ยงชื่อกวั่งและตาลวดสุมไฟ เล่านิทานรอบกองไฟ บรรยากาศราวกับ"เพชรพระอุมา"
เขาตรงนี้ เรียกว่า "เขาโพรง"  ปู่เจ้ามีโขลงช้างเป็นบริวาร  เช้าเย็นช้างเดินเที่ยวกันเต็มไปหมด


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 13 ก.ย. 07, 09:58
นั่งหลังตรงรออ่านค่ะ คุณครูขา


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ย. 07, 22:11
มีนักเรียนแสนดีอยู่คนนั่งรออยู่   :-[
นักเรียนโค่งคนอื่น ไม่ไหว  ดุจริงๆ  พกระเบิดขวดมาเรียนหรือเปล่าก็ไม่รู้

ตาลวดแกคุยว่าเคยหนีโขลงช้างขึ้นต้นไม้   ไปเจอปล่องโพรง   ลอดไปได้ยังไงไม่รู้ ทะลุออกไปได้ถึงเจดีย์  ก็เลยรู้จักเจดีย์แห่งนี้
คณะของท่านกวี  เริ่มทำพิธีบวงสรวงปู่เจ้าเขาโพรง  ตั้งจอกแก้วบรรจุน้ำผึ้งเรียกปรอทมาให้กิน เพื่อจะเอาเหล็กไหล

วิธีเรียกทำไงไม่ค่อยเข้าใจนัก  คล้ายๆจะสวดมนตร์อาราธนา ทำพิธีเรียกปรอทมากินน้ำผึ้ง จุดเทียนเอาไว้ขณะทำพิธี
ปรากฏว่าปรอทมากินน้ำผึ้งจริงๆ  เสียงฟอดๆในน้ำผึ้ง   มองเห็นปรอท(หรือเหล็กไหล) แต่ว่าหยิบไม่ติด  ลักษณะเป็นเมล็ดเหมือนเมล็ดฝ้าย  แต่พอหยิบก็ลื่นหลุดมือไป
ปรอทคืนเข้ากระบอกหายไป   เทียนที่จุดทำพิธีก็หมดแท่ง เทียนดับ  น้ำผึ้งก็ถูกปรอทกินไปแล้ว  เป็นอันว่าคว้าน้ำเหลว  ตอนตีสามเห็นปรอทบินแวบๆ หายลับไปตามเหลี่ยมเขา
ใกล้รุ่ง  ฝูงช้างแห่กันมารุมล้อมรอบเจดีย์ร้องแปร๋แปร้นสนั่น    กะเหรี่ยงเป่าหลอดไม้ ขับไล่ช้าง ช้างเงียบไปเดี๋ยวเดียวก็ส่งเสียงคำรณขึ้นมาอีก
คราวนี้ คนก็หนีลูกเดียวสิคะ   ป่ายปีนเขาหนีขึ้นที่สูงชัน  ช้างจะได้ตามขึ้นมาไม่ได้


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ย. 07, 23:00
เหตุการณ์ในตอนนี้ สีสันไม่แพ้ "เพชรพระอุมา" ตอน "ไพรมหากาฬ"
กลุ่มกวีนิราศสุพรรณ กลายเป็นคณะของรพินทร์ ไพรวัลย์ หนีโขลงไอ้แหว่ง   ขึ้นไปบนหน้าผา
ช้างตามขึ้นไปไม่ได้  หนุ่มๆเอาหินขว้างช้าง  ช้างก็เลยคลั่ง  ระดมพลกันมาไม่รู้ว่ากี่โขลงจนป่าข้างล่างดำมืดไปหมด
ช้างพวกนี้ดุ  มีจ่าโขลงตัวหนึ่งท่าทางบ้าเลือดกว่าเพื่อน   เอางาแทงต้นไม้จนถึงเสา  งาฉีก มันก็ยังแทงอีก 
ช้างป่านี่ดุ  กวีท่านเล่าไว้เห็นภาพ  ไม่ใช่ภาพนิ่งแต่เป็นภาพเคลื่อนไหว   มันไล่ตามมนุษย์ขึ้นไปไม่ถึง ก็แทงและงัดไม้ใหญ่ยับเยินไปทั้งป่า    ล้อมอยู่จนเที่ยง ถึงเวลามันหิว อยากกลับไปหากิน ก็เลยยกพวกถอยกลับไป
ส่วนท่านกวีรพินทร์ของเราหนีขึ้นเขาไปได้แล้วก็ถือโอกาสเดินชมป่าชมเขาอยู่บนโน้น  รอให้ช้างกลับไปเสียก่อน  จนเย็นค่ำถึงกลับมาที่เจดีย์อีกครั้ง

ถ้าหากว่าถ่ายวิดีโอย้อนกาลเวลาได้   National Geo ก็เถอะ    ท่านกวีของเรากินขาด


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 13 ก.ย. 07, 23:11
โอ้ว...มันพะย่ะม่ะค่ะ
ถอดระเบิดไว้ข้างรั้ว ย่องเข้ามาแอบฟังต่อ
แหม....

ใต้ถุนเรือนนี่ยุงชุมชะมัด


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.ย. 07, 20:56
เล่าต่อค่ะ
คณะท่านกวีรพินทร์ย้อนกลับมาที่เจดีย์อีกในตอนเย็นย่ำค่ำ   โขลงช้างไปกันหมดแล้ว  กลับมาพบว่าถ้ำนั้นมีน้ำพุสาดกระเซ็นปิดทางเอาไว้หมด  (คงเพราะช้างละมั้ง)   ลุยน้ำเข้าไปหนาวเย็นจับใจ ผ้าผ่อนเปียกหมด ต้องมาผิงไฟให้แห้ง
จากนั้นตั้งพิธีเอาดอกไม้ดอกไร่ไหว้ปู่เจ้าอีกครั้ง    ลองเปิดประตูเจดีย์เข้าไป  พบว่าเขยื้อนเปิดแค่สองนิ้ว    ข้างในห้องนั้นมีกลิ่นหอมระรวยอบอวลอยู่ 
แต่พอหนุ่มๆผลักให้เปิดกว้างออก  ก็กลายเป็นว่าประตูกลับปิดเข้าที่แน่นสนิทติดผนัง  ผลักเท่าไรก็ไม่เขยื้อน    เลยรู้ว่าปู่เจ้าไม่ให้เข้าไปอีก  เทียนก็ไม่เหลือแล้ว เหลือแต่ไต้ จุดขึ้นมา มองไปที่ถ้ำก็เห็นว่ากลายเป็นป่าทึบไปเสียแล้ว
คณะนักหาเหล็กไหลพยายามกระแทกประตูเปิด  กระแทกเท่าไรก็ไม่เปิด คนกลับกระเด็นกระดอนออกมา   จนอ่อนอกอ่อนใจ   ล่าถอยกลับมา
ในที่สุด  ไม่รู้จะทำยังไงก็พากันนอนหลับไป  ฝันว่าได้ยินเสียงซอ  แล้วต่อจากนั้นก็ถึงฉากฝันค่ะ

แต่ไม่ได้ฝันเห็นนางฟ้าเทพธิดาอย่างในรำพันพิลาป    ฝันเห็นเพิงผา สว่างวาบขึ้นมาดูเหมือนท้องพระโรง  เห็นท้าวพญาที่เคยครองอาณาจักรในดินแดนนี้มาก่อน  พร้อมด้วยนางงามอีกสี่คนเคียงอยู่ และมีเด็กหัวจุกลักษณะเป็นลูกเจ้า  ผิวพรรณผ่องใส 

ถึงตอนนี้ไม่ควรจะพิมพ์ตอนดึกๆอีกแล้ว  หยุดก่อนดีกว่า


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: หนอนบุ้ง ที่ 14 ก.ย. 07, 22:23
ช้างป่าสมัยนิราศสุพรรณ จะเหมือนในรูปไหมคะเนี่ย?


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ย. 07, 21:14
จะพยายามจบกระทู้นี้เสียที ยาวมากแล้ว

ภาพฝันของท่านกวีนิราศสุพรรณน่าดูมาก   เป็นภาพงดงามไม่แพ้ความฝันของกวีในรำพันพิลาป   ชัดเจนเสียจนรู้สึกว่าท่านต้องความจำดีมากๆทีเดียว  ถ่ายทอดภาพที่เห็นได้ราวกับภาพวิดีโอ   
ขอลอกมาให้อ่าน ๒ บท   สะกดใหม่ตามพจนานุกรม และ แก้เอกโทษโทโทษหมดแล้วเพื่อให้อ่านง่ายค่ะ

    เสียวซาบวาบสว่างเวิ้ง           เพิงผา
เพียงพระโรงโถงฝา                  เฝ้าท้าว
สี่นางข้างเคียงพญา                  ยอดยิ่ง หญิงเอย
ไว้จุกลูกเล็กจ้าว                      แจ่มหน้าสง่างาม
    ท้าทับจับปี่จ้อง                    ลองซอ
พร้อมพรั่งนั่งเรียงรอ                  เรียบร้อย
กษัตริย์หัตถ์จบซอ                    คำขับ สดับแฮ
ยินชื่อลือเลื่องถ้อย                    เทพท้าวกล่าวยอ

กวีของเราฝันเห็นท้าวพญาพร้อมด้วยพระมเหสีสี่องค์  และยังพระโอรสเด็กๆยังไว้จุกอีกคน   นั่งเล่นดนตรีกันอยู่  ท้าวพญาองค์นี้เล่นซอเก่ง    มิหนำซ้ำพอเอ่ยทักกวี  ก็ยังชมเสียอีกว่า...ได้ยินชื่อเสียงเจ้ามาก่อนแล้วนะ
แบบนี้จะแปลเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากบอกว่ากวีนิราศสุพรรณหาใช่กวีโนเนมไม่  ต้องเป็นคนที่ขึ้นชื่อลือเลื่องในพระนคร  ไม่งั้นไม่กล้าแต่งประกาศตัวเองขนาดนี้

ในฝัน  กษัตริย์โบราณองค์นั้นเล่าว่าเคยครองดินแดนแถบนี้อยู่ในสมัยโบราณ  แต่ว่าเมืองสูญสิ้นไปเพราะโรคระบาด  (นึกถึงตำนานพระเจ้าอู่ทอง)  เมืองก็เลยกลายเป็นป่าไปในที่สุด  สมบัติที่ยังหลงเหลืออยู่ มีโขลงช้างมาคอยเฝ้ารักษาไว้ให้




กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ย. 07, 21:58
พญาเจ้าเมืองผู้ไม่ระบุชื่อเสียงเรียงนามเอาไว้ ยังชี้แจงอีกว่า เจดีย์ที่เห็นนั้นเป็นของลูก    ใส่ปรอทเอาไว้  ไม่มียาอายุวัฒนะอย่างที่มาแสวงหา   ให้กลับไปเสียดีกว่า
ส่วนพระโอรสไว้จุก อยากฟังเรื่องรามเกียรติ์ตอนท้าวลัสเตียน  ก็ขอให้เล่าให้ฟัง
เรื่องช้าง  ละว้าไปทำร้ายช้างตอนมาล้อม  ทำให้ผีป่าโกรธแค้นจึงส่งช้างมารุมทำร้าย
พอตื่น คณะนี้ก็เดินทางกลับ  ระหว่างทางก็เจอฝูงช้างเข้ามาล้อมอีก   กะเหรี่ยงฝ่าไปทั้งเป่าหลอดทั้งแกว่งไต้จุดไฟให้ช้างแหวกทางให้ ก็ไม่สำเร็จ    ถึงขั้นเป่าลูกดอกอาบยางน่องใส่ช้าง  ก็ยังฝ่าไปไม่ได้
ศึกกับช้าง ดุเดือดตื่นเต้นไม่แพ้เพชรพระอุมา  กะเหรี่ยงชื่อสังบุเรถึงกับถูกผีเข้า  วุ่นวายอลหม่านกันไปพักใหญ่ทั้งกลุ่ม
ในที่สุด กวีท่านขับเพลงยอพระเกียรติพญาเจ้าเมือง พระมเหสีและพระโอรส   กะเหรี่ยงจึงเห็นภาพคล้ายเด็กหัวจุกมานำทาง ออกจากป่ากลับมาถึงเส้นทางเดิมที่ไปหมู่บ้านได้
ขากลับ  คุณหนูหนุ่มๆเดินไม่ไหวแล้ว   ก็น่าเห็นใจ หนุ่มเมืองหลวงทนสมบุกสมบันไม่ค่อยได้      กะเหรี่ยงละว้าต้องแบกบ่าไป
เดินทางวันครึ่งจึงถึงหมู่บ้านกะเหรี่ยง   หลังจากนั้นก็กล่าวคำอำลา จากกันไป
คณะนี้ก็เดินทางกลับพระนคร    กวีท่านกำชับเอาไว้ตอนท้าย ว่าเขียนไว้ให้ลูกหลานรู้ว่ายาอายุวัฒนะนั้นไม่มีจริง  ปรอทถึงมีก็อย่าไปเอา
ขากลับพระนคร ท่านคงเซ็งหรือไงไม่ทราบ  แต่ไม่บรรยายอะไรเลย  ตอนขากลับ  แวะที่ไหนเจอใครก็ไม่บอก     ปรู๊ดเดียวกลับกรุงเทพ จบนิราศ

ส่วนที่น่าทึ่งคือการบรรยายการผจญภัยในป่า   อย่างละเอียด เป็นโคลงยี่สิบสามสิบบท    เห็นได้ชัดว่าผู้แต่งต้องการจะบันทึกเอาไว้เป็นเหตุการณ์สำคัญให้ลูกหลานอ่านกัน 
แต่ก็น่าเสียดายที่บรรดาสุนทรภู่แฟนคลับทั้งหลายไม่ค่อยจะเขียนถึงเรื่องนี้มากนัก    ผิดกับกลอนนิราศเรื่องอื่นๆ   อาจจะเป็นเพราะโคลงที่เต็มด้วยสัมผัส และเอกโทษโทโทษ อ่านยากกว่ากลอน
ทั้งๆเรื่องที่เล่า  สีสันไม่แพ้รำพันพิลาป    ต่างกันแต่เป็นการบรรยายข้อเท็จจริง ไม่ใช่จินตนาการ

จบเสียที ค่ะ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 16 ก.ย. 07, 22:20
ขอบคุณคร๊าบบบ......


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ย. 07, 22:41
ข้อสะดุดใจที่เกริ่นไว้ในค.ห.ก่อนนี้  ก็คือเรื่องกะเหรี่ยงกับละว้าที่กวีไปเจอ

ในนิราศ    กวีท่านน่าจะรู้จักธรรมเนียมกะเหรี่ยงอยู่บ้าง เพราะเดินทางคราวนี้ เตรียมลูกปัดไปเป็นของกำนัลเพื่อจ้างกะเหรี่ยงนำทาง    นอกจากนี้เส้นทางไปหมู่บ้านกะเหรี่ยง ก็ดูเหมือนจะรู้แม่นยำพอสมควร  ไม่หลงทางสะเปะสะปะอย่างกวีเจ้าของนิราศเมืองแกลง  รายนั้นไม่รู้จักเส้นทางเอาเลย

หมู่บ้านกะเหรี่ยงและละว้า  มีอยู่ในเสภา "ขุนช้างขุนแผน" ตอนขุนแผนพานางวันทองหนี
สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ สันนิษฐานจากฝีมือแต่งกลอนว่าเป็นพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ   ถ้าพระนั่งเกล้าฯทรงนิพนธ์จริง ก็ต้องเป็นสมัยที่ยังเป็นพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์   ในรัชกาลที่ ๒   พอขึ้นครองราชย์แล้วไม่โปรดการบันเทิงพวกนี้อีก

กวีที่แต่งขุนช้างขุนแผนในตอนขุนแผนพานางวันทองหนี กับกวีที่แต่งนิราศสุพรรณ รู้จักกะเหรี่ยงและละว้ากันทั้งคู่ ว่าเป็นชาวป่าอาศัยในเขตสุพรรณบุรี
รายละเอียดบางอย่างต่างกันเล็กน้อย   แต่มีหลายอย่างที่แสดงว่า รู้จักในแบบเดียวกัน
๑ รู้ว่าถ้าไปหาพวกนี้ ต้องเอาลูกปัดไปให้ พวกเขาจะชอบใจมากกว่าให้อะไรอย่างอื่น
๒ รู้ว่าสาวๆละว้า หน้าตาสะสวย ผิวพรรณดี
 
อยากถามคุณพพ.
ถ้าขุนช้างขุนแผนตอนขุนแผนพานางวันทองหนี  เป็นพระนิพนธ์กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  ท่านทรงทราบเรื่องกะเหรี่ยงและละว้าจากไหน    เคยเสด็จเส้นทางสุพรรณหรือไม่ในรัชกาลที่ ๒
ถ้าเคยเสด็จ ในรัชกาลที่ ๒ กวีนิราศสุพรรณของเราตามเสด็จไปด้วยหรือเปล่า ถึงรู้เส้นทางไปหมู่บ้านกะเหรี่ยง  รู้ด้วยว่าจะจ้างวาน หรือให้ของกำนัลต้องให้ลูกปัด  พวกนี้จะยินดี


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.ย. 07, 10:58
จะเข้ามาขยายรายละเอียดตามที่คุณ Sila ปรารภไว้ว่าสั้นไป
แต่พอกลับเข้ามาอ่านแล้วไม่รู้จะขยายรายละเอียดตอนไหน   ถ้าเล่าอีกก็จะซ้ำไปซ้ำมา    เห็นจะต้องจบไว้เท่าเดิม

อ่านแล้วก็ได้ข้อสังเกตอีกอย่างว่า   กวีที่แต่งนิราศสุพรรณ เห็นทีจะเป็นคนชอบท่องเที่ยว บุกป่าฝ่าดง ไม่อี๊อ๊ากลัวลำบากอย่างกวีนิราศเมืองแกลง    ถ้าเป็นคนเดียวกันก็แสดงว่าเมื่ออายุมากขึ้น คงจะชินกับการผจญภัยพอสมควร
เรื่องเดียวที่ไม่หายขาด คือเห็นอาหารป่าแล้วบึ้ง อึ่ง แย้ แล้วกินไม่ลง
แต่เรื่องนอนในถ้ำ ตามป่าเขา กลางทุ่งโล่งหรือดงดิบ พักนอนสบาย ไม่เดือดร้อน    ไม่บ่นเรื่องลำบากสักคำ  ผิดกับนิราศภูเขาทอง    ท่านเจอยุงเข้าก็บ่นแล้ว
เจอสัตว์ร้ายท่านก็ไม่กลัวเท่าไร   ยังบรรยายได้เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นระทึกใจ เสียอีก

ส่วนลูกชายที่ไปด้วย เป็นหนุ่มผิวบาง   รูปหล่อ  สาวๆเห็นแล้วทอดสะพานให้     ลำบากตรากตรำไม่ไหว
คงเป็นหนุ่มชาวกรุงที่ยังไม่ค่อยชินกับความลำบาก ค่ะ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 20 ก.ย. 07, 12:04
     อาจารย์เล่าเรื่องไพรพิสดารสนุกสนานมากครับ จนคนฟังรู้สึกว่ายังไม่อยากให้จบ,ยังอยากฟังอีก
ขอบคุณอาจารย์ที่กรุณาเล่าให้ฟังครับ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 20 ก.ย. 07, 14:34
เห็นด้วยกับหลายๆท่าน ว่าอาจารย์ถอดความได้เยี่ยม
จนกลายเป็นเครื่องเสริมส่งให้อ่านตัวบทสนุกขึ้นอีกหลายส่วน
บวกกับที่คุณเครชี่เธอชอบจับเกล็ด กัลเม็ดการแต่ง รวมถึงอธิบายภูมิศาตร์อีก
ทั้งสองท่าน ทำให้วรรณดคีมีชีวิต สนุกกว่าอ่านนิยายสามัญเสียอีก

ถ้าจะเริ่มตั้งแต่ต้น จับความตั้งแต่กวีออกจากที่หนึ่งที่ใดแถวคลองมหานาค
จะกลายเป็นคู่มือนิราศสุพรรณที่หาใดเปรียบยาก

เด็กนักเรียนทั้งหมดจะเป็นหนี้บุญคุณ รวมถึงผมด้วยครับ

ขอบคุณๆๆๆๆ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.ย. 07, 17:51
นิราศสุพรรณ มีรายละเอียดตอนผจญภัยอีกนิดหน่อย ที่ไม่ได้เล่าไว้ค่ะ  แล้วก็มีตอนเล่าถึงสมุนไพรต่างๆด้วย
รู้สึกผิดที่เล่าข้ามๆไป   เลยขอรับคำชมครึ่งเดียวก็แล้วกัน


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 20 ก.ย. 07, 21:06
ขี่ดาวเทียมมองลงมาจากอวกาศก็พอจะได้เห็นภาพมุมกว้างที่ไม่เคยเห็นครับ

ผจญภัยแบบนี้ก็ตื่นเต้นดีที่ได้มองเห็นการภาพความเป็นอยู่ของคนเมื่อสองร้อยปีที่แล้ว และยังได้เห็นภาพการขยายตัวของกรุงเทพยุคต้นรัตนโกสินทร์

แต่ที่ขาดไปคือรายละเอียด ซึ่งจะต้องมาจากคนที่ได้เห็นของจริง ที่มีชีวิตชีวา ต้องพึ่งพาประสบการณ์ผู้ที่ศึกษาของจริงมานาน

ด้วยความขอบคุณเช่นเดียวกันครับ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 21 ก.ย. 07, 00:53
ตอบอาจารย์เรื่องกระเหรี่ยงและละว้า
เรารู้จักสองชาตินี้อย่างดี เอกสารอาจจะกล่าวถึงน้อย
แต่ถ้ารูปภาพต่างๆละก้อ เพียบครับ
รูปจากหอไตรวัดบ้านกลิ้ง ที่ได้มาปลูกที่วังสวนผักกาด นั่นก็เขียนไว้มาก

แนรัชกาลที่สาม มีการรวบรวมโคลภาพต่างภาษา ก็มีกล่าวถึงอีก
ราชสำนักต้องพึ่งพาพวกนี้มากเวลาเดินทัพ และสินค้าป่ามาแต่ใหนแต่ไร
ดังนั้น ความรู้เกี่ยวกับชาวบ้านป่า จึงไม่แปลก และไม่ต้องเป็นเจ้านายก็รู้จักกันครับ

ไม่รู้ว่าตอบหรือเปล่า....แหะๆๆๆ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 10 ส.ค. 09, 17:33
เชิญอ่านนิราศสุพรรณฉบับเต็ม ๔๖๑ บทได้ ที่นี่ (http://www.reurnthai.com/wiki/%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%93) ครับ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: ratinath ที่ 17 ส.ค. 09, 22:00
เชิญอ่านนิราศสุพรรณฉบับเต็ม ๔๖๑ บทได้ ที่นี่ (http://www.reurnthai.com/wiki/index.php?title=%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%93) ครับ
กำลังโหยหาอยู่เลยค่ะ ที่หาได้ก็ไม่ครบสักที ขอบคุณมากค่ะ
 ;D ตอนนี้กำลังบ้าเรื่องโคลงกลอนอยู่ค่ะ

ฝากกลอนวันแม่มาให้อ่านด้วยนะคะเพื่อเป็นการขอบคุณ

http://www.oknation.net/blog/mettapc/2009/08/11/entry-2


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 18 ส.ค. 09, 00:04
เพิ่งจะเห็นว่าทำลิงก์ไว้ผิด  อันนั้นเป็นนิราศสุพรรณของนายมีครับ

โคลงนิราศสุพรรณของสุนทรภู่ ต้อง ที่นี่ (http://www.reurnthai.com/wiki/โคลงนิราศสุพรรณ) ครับ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: ratinath ที่ 19 ส.ค. 09, 12:30
เพิ่งจะเห็นว่าทำลิงก์ไว้ผิด  อันนั้นเป็นนิราศสุพรรณของนายมีครับ

โคลงนิราศสุพรรณของสุนทรภู่ ต้อง ที่นี่ (http://www.reurnthai.com/wiki/index.php?title=โคลงนิราศสุพรรณ) ครับ
เข้าใจค่ะว่าอันแรกที่ให้ไม่ใช่ของสุนทรภู่ แต่ก็ค้นด้วยชื่อต่อแล้วก็เจอ ยังไงก็ขอบคุณละค่ะ

เอ๊ะแล้วพวกตัวสะกดนี่น่ะคงตามของกรมศิลปากรไว้หรือเปล่าคะ...น่าจะคงไว้ด้วยนะคะ บางทีอาจเป็นลายแทงของสุนทรภู่ก็ได้นะ...^_^..

ลองสังเกตดูสิคะ เอกโทษ โทโทษมีในบทใด บทนั้นมักเป็นกลบทนะคะ...
อาจไม่ใช่ก็ได้แต่ทำไมไม่มีทุกบท ทำไมมีบางบท บทที่ชัดเจนดูออกว่าเป็นกลบท อย่างกลบทอักษรสลับก็ไม่มีเอกโทษโทโทษ แต่กลบทบางอันเราดูไม่ออกแต่ก็มักจะมีเอกโทษโทโทษอยู่ด้วย...หรือว่าไงคะ...เข้าใจถูกไหมนะ?


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: ธิดา ที่ 24 ส.ค. 09, 19:23
ดิฉันเพิ่งมีโอกาสมาพบเห็นกระทู้นี้โดยบังเอิญ หลังจากเวลาผ่านไปตั้ง 2 ปีนับจากวันแรกตั้งกระทู้

ต้องเข้ามาสารภาพกับอาจารย์เทาชมพูว่า ดิฉันเป็นเจ้าของเว็บไซต์ต้นเหตุ http://www.geocities.com/tthida นั่นเองค่ะ

เว็บนั้นสร้างมาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว เวลานั้นเขียนขึ้นด้วยความสนุกสนานส่วนตัว ใส่แต่ความเห็นดีเห็นชอบของตัวเอง คืออ่านพบข้อมูลที่ไหนที่เราเห็นด้วย ก็เอามาใส่ค่ะ

อย่างเช่นที่ไม่เชื่อตามพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็เพราะว่าวัดเทพธิดารามนั้นสร้างเมื่อ พ.ศ.2479 สร้างเสร็จ พ.ศ.2482 ดังนั้นถ้านิราศสุพรรณแต่งขึ้นในปี 2474 ก็ไม่มีทางที่สุนทรภู่จะออกเรือจากวัดเทพธิดารามได้ ดิฉันจึงตัดเนื้อหาจากพระนิพนธ์ทิ้งไป แล้วเชื่อตามที่คุณปราโมทย์ ทัศนาสุวรรณ วิเคราะห์ไว้ในหนังสือ "เที่ยวไปกับสุนทรภู่" ค่ะ

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอื่นๆ อีกที่ดิฉันเขียนเอาตามใจที่เชื่อ ไม่ได้ยึดหลักวิชาอะไรเลย เช่นที่เชื่อว่า บิดาของสุนทรภู่ ชื่อขุนศรีสังหาร (พลับ) เป็นต้น

สิบปีที่แล้ว ดิฉันประิเมินอิทธิพลของ internet ต่ำไปมาก ดิฉันไม่เคยคิดมาก่อนว่า เว็บไซต์ที่ดิฉันทำขึ้นเล่นๆ ระหว่างนั่งรอ standby การเปลี่ยนผ่านจาก ค.ศ.1999 ไปเป็น ค.ศ.2000 จะส่งอิทธิพลกับการเรียนการสอน และถูก copy เอาไปเผยแพร่อย่างมากมายมหาศาลขนาดนี้ ดิฉันไม่ทราบว่าจะตามไปแ้ก้ไขได้อย่างไรถูกค่ะ

เดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ เว็บไซต์ geocities จะปิดตัวลงแล้ว ดิฉันกำลังตรองอยู่ว่าจะย้ายข้อมูลจากเว็บนั้นไปเก็บไว้ที่ไหนสักแห่ง หรือว่าจะปล่อยให้มันหายไปเลย ที่ยังลังเลก็เพราะมีเว็บไซต์จำนวนมากที่คัดลอกเอาเนื้อหาจากเว็บของดิฉันไป รวมถึงบทความที่ดิฉันเขียนเล่าถึงเรื่องของตัวเองด้วย (อ่านแล้วก็งงเหมือนกันค่ะ -_-")

ดิฉันได้เรียบเรียงเรื่องราวของสุนทรภู่ขึ้นใหม่ เอาไว้ที่สารานุกรมวิกิพีเดีย http://th.wikipedia.org/wiki/สุนทรภู่ โดยเรียบเรียงเอาจากข้อมูลเท่าที่ดิฉันมี ดิฉันขอเรียนเชิญท่านผู้รู้ช่วยปรับแก้บทความบนวิกิพีเดียได้เลยนะคะ แต่ลิขสิทธิ์ของงานเขียนบนวิกิพีเดียจะเป็นแบบ GFDL นะคะ ไม่ใช่ copyright

ขอกลับไปอ่านกระทู้ต่อนะคะ เริ่มอ่านถึงตอนที่ อ.พิพัฒน์วิเคราะห์เส้นทาง สนุกมากค่ะ แต่ดิฉันมาเขียนตอบเสียก่อนเพื่อสารภาพความรู้สึกตอนที่แรกเห็นกระทู้นี้ค่ะ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ส.ค. 09, 21:11
ยินดีต้อนรับค่ะ คุณธิดา
เชิญแวะมาสนทนากันอีกนะคะ

อย่าปล่อยข้อมูลให้หายไปเฉยๆเลยค่ะ น่าเสียดาย
ถ้าไม่รู้จะเก็บที่ไหน มาตั้งเป็นกระทู้ในเรือนไทยก็ได้
ความคิดเห็นต่างๆทางวรรณคดี ไม่ถือเป็นเรื่องยุติ  มีความเปลี่ยนแปลง
และต่อยอดความคิดได้เสมอ


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: karen ที่ 18 ส.ค. 10, 21:45
ผมเปิดอ่านตั้งแต่หน้า 1 - น.14 เลยครับ
อ่านแล้วมันดี
อ่านแล้วเห็นความตั้งใจของผู้ตั้งกระทู้
ที่ต้องการเปิด / สร้างพื้นที่ ให้กับ ชุมชนที่สนใจ ในวรรณคดีไทย
และก้อ..ที่ปิดหน้าตั้งแต่หน้า หนึ่งถึง สุดท้ายก็เพราะว่า
อยากอ่านข้อคิดเห็นเรื่อง ชาติพันธุ์ ว่าด้วย กะเหรี่ยงละว้า ครับ
เสียดายที่ไม่ได้ ลงลึก 
นี่ขนาดไม่ลงลึกเรื่องชาติพันธ์ กระทู้นี้ เล่นเอา ตั้ง 14 หน้า

ผมชอบ..ชอบเข้ามาอ่านเวบนี้ครับ
อยากให้เวบนี้อยู่คู่สยามประเทศ  แบบว่า..ชั่วฟ้าดินสลาย..เลยครับ
สุดท้าย ขอขอบพระคุณ ท่านเจ้าของกระทู้  และ คู่หู คู่ขา  ที่นำพาให้กระทู้นี้มีชีวิตชีวาครับ

                            karen


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: karen ที่ 18 ส.ค. 10, 21:52
ดูทีรึ  กระทู้นี้ จะมีความคิดเห็น ถึง 200 ความคิดเห็นหรือไม่ 
เกือบถึงแล้วนี่ครับ ช่วยลุ้นกันหน่อยครับ
ผมว่า อย่างงัยเสีย ต้องถึงแน่ๆ ครับ  200  ความคิดเห็น
           karen


กระทู้: นิราศสุพรรณ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ส.ค. 10, 14:44
เข้ามาเป็นเลขที่ 200
กระทู้นิราศสุพรรณคงไม่มีการต่อออกไปอีก    ดิฉันมีเท่านี้ละค่ะ   นอกจากว่าใครอยากจะมาเพิ่มเติม ก็ขอเชิญตามสะดวก