เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์โลก => ข้อความที่เริ่มโดย: ประกอบ ที่ 13 พ.ค. 15, 16:44



กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 13 พ.ค. 15, 16:44
อารัมภบท
 

ผมได้อ่านเรื่องของฟรานซ์ สแตงเกลจากหนังสือ Nazi Hunter The Wiesenthal File ของ Alan Levy และคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะเมื่อพูดถึงนาซีอาชญากรสงครามชื่อดังหรือพวกผู้คุมค่ายนาซี คนทั่วไปอาจจะจินตนาการถึงคนที่เป็นโรคจิต ซาดิสต์ เลือดเย็น ฆ่าหรือทรมานคนได้โดยไม่รู้สึกรู้สาอะไร บางคนอาจจะคิดว่าถ้าเป็นตัว ต้องมารับผิดชอบหน้าที่ในการฆ่าคนแบบนี้ คงทำแบบนั้นไม่ได้แน่  แต่ฟรานซ์ สแตงเกลไม่ใช่คนที่มีลักษณะอย่างนั้นเลย  หนังสือที่ผมอ่านชี้ภาพให้เห็นว่าฟรานซ์เป็นคนธรรมดาคนนึง ไม่ได้มีความเลวร้ายหรือจิตใจที่อำมหิตมากกว่าคนทั่วไป รักครอบครัว มีภรรยาที่เคร่งศาสนา แต่สามารถทำงานรับผิดชอบการสังหารผู้คนราวหนึ่งล้านคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้น่าสนใจว่าการที่คนคนหนึ่งกลายเป็นปิศาจ หรือเป็นฟันเฟืองหนึ่งของปิศาจ มันง่ายมากขนาดไหน


ไม่กี่วันก่อน ผมได้เข้าไปอ่านและแสดงความเห็นในเว็บพันทิพ เกี่ยวกับกรณีของชาวโรฮิงจา  ผมพบว่าความคิดเห็นของคนไทยจำนวนมากในพันทิพ ซึ่งผมคิดว่าเป็นภาพสะท้อนความคิดของคนระดับชนชั้นกลางขึ้นไป ที่มีการศึกษาสูงพอที่จะใช้อินเตอร์เน็ตเป็น มองชาวโรฮิงจาว่ามีค่าต่ำกว่ามนุษย์  ความเห็นจำนวนมากบอกว่าควรจะฆ่าพวกนี้ที่หลบหนีเข้ามาในประเทศไทยทิ้ง บ้างก็บอกว่าให้จับทำหมันให้หมด  บ้างก็พูดว่าคนพวกนี้ไม่มีคุณภาพ เนรคุณ ดังนั้นไม่มีประโยชน์ที่จะให้ความช่วยเหลือ  ความเห็นเหล่านี้ ซึ่งบางความเห็นมาจากคนที่ผมรู้ว่าเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย มีการศึกษาระดับจบปริญญาเอก เสนอให้ฆ่าคนที่ต้องการแสวงหาชีวิตที่ดีขึ้นทิ้งอย่างง่ายๆ  ทำให้ผมสลดหดหู่ใจมาก ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีหลายเรื่องที่ทำให้เห็นทัศนคติของคนไทย ที่กระทบกระเทือนใจผมยิ่งนัก


แม้จะผลัดวันประกันพรุ่งมานาน ตอนนี้ก็คิดว่าถึงเวลาแล้วที่ควรจะเอาเรื่องของฟรานซ์ สแตงเกลมาบอกเล่า ความคิดเห็นและทัศนคติของคนไทยระดับที่มีการศึกษา ทำให้ผมมั่นใจว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จะยังคงมีต่อไปในโลก เมื่อใดที่เหตุและปัจจัยเอื้ออำนวย สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ที่ใดก็ที่หนึ่งในโลก หรือแม้แต่ในประเทศไทยที่คนมากกว่า 90 เปอร์เซ็นบอกว่าเป็นชาวพุทธ  มนุษย์ยังคงมีอคติมากพอที่จะเห็นว่าคนบางพวก คนที่แตกต่าง มีคุณค่าน้อยกว่าตัว และวิธีที่ดีที่สุดในการขจัดความแตกต่างหรือความไร้ค่าคือกำจัดทิ้ง


กระทู้นี้คงเขียนไปแบบช้าๆ ตามประสาคนขี้เกียจ เพราะภาพประกอบต่างๆ โดยเฉพาะภาพของฟรานซ์ สแตงเกลหายาก  แต่อยากจะชี้แจงก่อนว่าจุดประสงค์หลักในการเขียน ไม่ใช่อยากเล่าเรื่องราวของฟันเฟืองตัวหนึ่งในระบบการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของนาซี แต่อยากจะให้คนอ่านทำความเข้าใจ และมองเห็นได้ว่า คนธรรมดาอย่างเราๆ วันหนึ่งอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของฟันเฟืองปิศาจได้ง่ายดายขนาดไหน เพื่อที่วันหนึ่งข้างหน้า ความเข้าใจนี้ อาจจะได้มีส่วนในการหยุดการฆ่าอย่างไร้เหตุผลที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตก็ได้


ภาพความคิดเห็นหนึ่งจากเว็บพันทิพ ของอาจารย์มหาวิทยาลัยไทยวุฒิปริญญาเอกในปี 2015  ที่แสดงออกได้ไม่ต่างจากคนเยอรมันหัวรุนแรงที่มีต่อยิวเมื่อ 80 ปีก่อนสมัยที่ฮิตเลอร์เรื่องอำนาจเลย แรงกระตุ้นที่ทำให้ผมเริ่มเขียนกระทู้นี้ซะที ขอใช้เป็นภาพเปิดเรื่อง





กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 13 พ.ค. 15, 17:03
ฟรานซ์ สแตงเกล เป็นนาซีที่ไม่ค่อยจะมีใครรู้จักนัก ชื่อเสียงไม่แพร่หลาย แม้แต่ไซมอน วีเซนธัลเองในระยะแรกที่เริ่มการตามล่านาซี  ยังไม่รู้จักชื่อนี้เลย

บทบาทที่สำคัญที่สุดของฟรานซ์ สแตงเกลคือการเป็นผู้บังคับการค่ายเทรบลิงก้า ซึ่งไม่ใช่ค่ายกักกันแรงงาน แต่เป็นค่ายกำจัด หน้าที่หลักของค่ายนี้มีอย่างเดียวคือกำจัดนักโทษที่ถูกส่งตัวมาที่ค่ายให้รวดเร็วและเรียบร้อยที่สุด ในช่วงเวลาปีกว่าๆ ในการดำเนินการ ตั้งแต่กรกฏาคม 1942 - ตุลาคม 1943 ค่ายนี้กำจัดนักโทษซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวยิวไปประมาณ 900,000 คน นับเป็นเป็นค่ายที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

เบื้องหลังความสำเร็จที่น่ากลัวนี้ ฟรานซ์ สแตงเกลคือผู้อยู่เบื้องหลัง ทำหน้าที่บริหารค่ายจนมีประสิทธิภาพแบบเงียบๆ  จนแม้แต่นักโทษในค่ายเองส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักหรือเคยเห็นตัวผู้บังคับการเลยด้วยซ้ำ แต่ฟรานซ์ได้เปลี่ยนค่ายจากค่ายที่การบริหารเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ กลายเป็นค่ายที่มีประสิทธิภาพสูงในการกำจัด มีนักโทษเพียงประมาณสองร้อยกว่าคนเท่านั้น ที่เคยมาที่นี่ และรอดชีวิตออกไปเล่าเรื่องราวที่เคยประสบ

ภาพอดีตทางรถไฟเข้าสถานีทราบลิงก้า ปัจจุบันอยู่ในโปแลนด์


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 13 พ.ค. 15, 17:27
ฟรานซ์ สแตงเกลเกิดเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 1908 ที่เมือง Altmunster ในออสเตรียที่ติดกับทะเลสาบแสนสวย ทะเลสาบ Traunsee มีพ่อสูงวัยอดีตทหารหน่วยดรากูล กับแม่วัยสาว พ่อของฟรานซ์ไม่ได้ต้องการลูกชายคนนี้นักและเลี้ยงฟรานซ์ด้วความเคร่งครัดตามตำรับทหาร พร้อมที่จะใช้กำลังกับลูกชายได้ทุกเมื่อ  ฟรานซ์กลัวพ่อมาก แม้แต่ในช่วงบั้นปลายของชีวิต ฟรานซ์จะนึกถึงเสียงของแม่ที่ร้องตะโกนบอกพ่อให้หยุดซะที เลือดกระจายไปทั่วกำแพงแล้ว

พ่อของฟรานซ์ตายในปี 1916 แม่ของฟรานซ์แต่งงานใหม่กับพ่อหม้ายลูกติด  เมื่ออายุ 14 ฟรานซ์เริ่มงานในโรงงานทอผ้าใกล้บ้าน และออกจากโรงเรียนเมื่ออายุ 15 เพื่อทำงานเป็นเด็กฝึกงานช่างทอผ้าเต็มตัว เมื่ออายุ 18 ฟรานซ์เป็นช่าวทอมืออาชีพที่อายุน้อยที่สุดในออสเตรีย เมื่ออายุ 20 ฟรานซ์มีลูกน้องถึง 20 คนในโรงงาน ฟรานซ์หัดเล่นดนตรีและแล่นเรือใบในวันหยุด เป็นช่วงชีวิตแห่งความหรรษาของฟรานซ์

ภาพเมือง Altmunster ข้างทะเลสาบแสนสวย


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 13 พ.ค. 15, 17:42
ช่วงเวลาแสนสุขช่างสั้นนักสำหรับคนที่มีความทะเยอทะยาน ในปี 1931 ฟรานซ์อายุ 23 ปี ฟรานซ์ก็พบว่าด้วยข้อจำกัดที่การศึกษาไม่สูง โอกาสที่ฟรานซ์จะก้าวหน้าในงานช่างทอหรือได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้นเป็นไปได้ยาก ฟรานซ์ได้เห็นเพื่อนร่วมงานที่อายุมากกว่าที่เริ่มงานมาตั้งแต่หนุ่มเช่นกัน และยังคงย่ำอยู่ที่เดิม  ดังนั้นสำหรับคนหนุ่ม นี่เป็นช่วงเวลาที่ควรจะหาทางขยับขยายแสวงหาความก้าวหน้าแล้ว

ชุดยูนิฟอร์มหน่วยดรากูลของพ่อยังคงประทับใจฟรานซ์อยู่ นอกจากนั้นฟรานซ์ยังประทับใจกับภาพตำรวจหนุ่มๆ เดินลาดตระเวนไปตามถนนในเมืองในชุดสุดเท่ห์ ดังนั้นฟรานซ์จึงสมัครเข้าเป็นตำรวจออสเตรีย หลังผ่านการสอบและการสัมภาษณ์ ฟรานซ์ได้รับคำสั่งให้ไปรายงานตัวที่เมืองลินซ์เพื่อเข้ารับการฝึก

เมื่อฟรานซ์แจ้งแก่เจ้าของโรงงานว่าจะลาออกเพื่อไปเป็นตำรวจ เจ้าของโรงงานต่อว่าว่าทำไมฟรานซ์ไม่บอกแกก่อน เพราะแกกำลังจะส่งฟรานซ์ไปเรียนต่อในโรงเรียนที่เวียนนาอยู่แล้ว  ในการสัมภาษณ์ในช่วงบั้นปลายของชีวิต ผู้สัมภาษณ์ถามว่าทำไมฟรานซ์ไม่เปลี่ยนใจ ฟรานซ์ตอบด้วยน้ำตา เพราะเจ้าของโรงงานไม่ได้ถาม

ชุดฟอร์มของหน่วยดรากูล เท่ห์ประมาณนี้


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: MR. Lee ที่ 13 พ.ค. 15, 18:06
สวัสดีครับท่าน จขกท และอาจารย์ทุกท่านในเรือนไทย
ผมได้กระทู้เกี่ยวกับชาวโรฮินจาที่ท่าน จขกท กล่าวถึงแล้วรู้ศึกสลดใจกับหลายๆ ความคิดเห็นในกระทู้ดังกล่าว
ดีใจมากครับที่ จขกท นำเรื่องนี้มาเล่าให้ฟัง
ผมมีความน้อยเกินกว่าจะแลกเปลี่ยนขออนึญาตนั่งฟังที่ใต้ถึนเรือนครับ


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 13 พ.ค. 15, 18:24
ออสเตรียในช่วงต้นทศวรรษที่ 30 เต็มไปด้วยความวุ่นวาย ทั้งปัญหาการว่างงาน ในแวดวงการเมืองเต็มไปด้วยัญหา พรรคการเมืองใหญ่เช่นพรรคสังคมนิยม(Socialist) เป็นคู่แข่งกับพรรค Cristian Social Party โดยแต่ละพรรคต่างมีกองกำลังของตัวเอง (แบบเดียวกับ SA หรือ SS ของพรรคนาซีในเยอรมัน) เยอรมันประเทศเพื่อนบ้านฮิตเลอร์ขึ้นมาเป็นผู้นำ มีความคิดที่จะผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมัน เดือนกรกฏาคม 1934 มีการพยายามยึดอำนาจการปกครอง แองเกิลเบอร์ก ดอลฟัส ผู้นำออสเตรียขณะนั้นและเป็นผู้ต่อต้านนาซีถูกสังหาร ออสเตรียเกิดความวุ่นวายเต็มที่ นำไปสู่การรวมตัวกับเยอรมันอย่างเป็นทางการในปี 1938

ในช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายทางการเมือง ฟรานซ์เข้ารับการอบรมเป็นตำรวจและพบรักกับเทเรซ่า ไอเดนบอค ลูกสาวช่างทำน้ำหอม เมื่อจบการอบรมก็ได้เป็นตำรวจเต็มตัวในปี 1933 ต้องมีหน้าที่รับมือกับบรดาม็อบต่างๆ ตัวฟรานซ์เองเป็นฝ่ายตรงข้ามกับพวกสังคมนิยม แต่หน้าที่หลักคือเดินลาดตระเวนรักษาความสงบ ในปี 1935 ฟรานซ์รับหน้าที่ที่เมืองเวลซ์เพื่อทำหน้าที่สืบสวนความเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ ที่ผิดกฏหมาย

ถาพตำรวจออสเตรียในชุดยูนิฟอร์ม



กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 13 พ.ค. 15, 18:35
อ้างถึง
ม่กี่วันก่อน ผมได้เข้าไปอ่านและแสดงความเห็นในเว็บพันทิพ เกี่ยวกับกรณีของชาวโรฮิงจา  ผมพบว่าความคิดเห็นของคนไทยจำนวนมากในพันทิพ ซึ่งผมคิดว่าเป็นภาพสะท้อนความคิดของคนระดับชนชั้นกลางขึ้นไป ที่มีการศึกษาสูงพอที่จะใช้อินเตอร์เน็ตเป็น มองชาวโรฮิงจาว่ามีค่าต่ำกว่ามนุษย์  ความเห็นจำนวนมากบอกว่าควรจะฆ่าพวกนี้ที่หลบหนีเข้ามาในประเทศไทยทิ้ง บ้างก็บอกว่าให้จับทำหมันให้หมด  บ้างก็พูดว่าคนพวกนี้ไม่มีคุณภาพ เนรคุณ ดังนั้นไม่มีประโยชน์ที่จะให้ความช่วยเหลือ  ความเห็นเหล่านี้ ซึ่งบางความเห็นมาจากคนที่ผมรู้ว่าเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย มีการศึกษาระดับจบปริญญาเอก เสนอให้ฆ่าคนที่ต้องการแสวงหาชีวิตที่ดีขึ้นทิ้งอย่างง่ายๆ  ทำให้ผมสลดหดหู่ใจมาก ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีหลายเรื่องที่ทำให้เห็นทัศนคติของคนไทย ที่กระทบกระเทือนใจผมยิ่งนัก


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 13 พ.ค. 15, 18:50
ตัวสแตงเกลเองมีใจโอนเอียงไปทางฝั่งพรรคนาซีที่เริ่มขยายอำนาจเข้ามาในออสเตรีย แทนที่จะคอยสอดส่อง ฟรานซ์และเพื่อนคู่หู ลุดวิก เวอร์เนอร์ซึ่งได้รับการเลื่อขั้นเป็นนักสืบจะคอยเตือนและส่งข่าวต่างๆ ให้แก่ทนายของพรรคนาซี ดร. บรูโน วิลล นอกจากนี้ยังบริจาคเงินสบทบกองทุนอุปการะครอบครัวของนักโทษการเมืองนาซีด้วย

ในเดือนมีนาคม 1938 ฮิตเลอร์ผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมัน ผู้อยู่ตรงข้ามกับพรรคนาซี 76,000 คนถูกจับกุมในเวียนนาในเวลาแค่สัปดาห์เดียว พวกฝ่ายซ้าย ชาวยิว นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามถูกส่งไปยังค่ายกักกันดาเชาใกล้มืองมิวนิคในเยอรมัน คำว่าออสเตรียถูกห้ามใช้  เมืองเวลซ์ที่ฟรานซ์ทำงานซึ่งเดิมอยู่ในเขต upper Austria ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น upper Danube แทน

เมื่อนาซีเรืองอำนาจ ใครที่เคยเป็นปฏิปักษ์กับนาซีต้องถูกกำจัด ตำรวจที่เคยมีส่วนในการปราบปรามพวกนาซีในอดีตถูกจับกุม เพื่อนนักสืบของฟรานซ์ทั้งหมดถูกจับยกเว้นฟรานว์กับเวอร์เนอร์ ตำรวจระดับสูงสองนายถูกยิงทิ้งโดยไม่มีการไต่สวน ฟรานซ์กับเวอร์เนอร์ทิ้งแฟ้มเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับผู้ต้องสงสัยทางการเมืองในอดีตลงไปในชักโครกห้องน้ำ  ฟรานซ์และเวอร์เนอร์ต้องตอบคำถามในเอกสารที่ถามว่าทั้งคู่เคยเป็นสมาชิกพรรคนาซีหรือไม่


ก่อนการผนวกกับเยอรมัน ตำรวจออสเตรียไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นสมาชิกพรรคนาซี และเป็นเรื่องผิดกฏหมาย แต่ตอนนี้กระแสลมเปลี่ยนแล้ว การไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคอาจหมายถึงความตายของตำรวจทั้งสองได้  ทั้งคู่จึงขอความช่วยเหลือจาก ดร. วิลล ซึ่งก็ได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดี ดร. วิลลทำเอกสารใส่ชื่อทั้งสองบอกว่าเป็นสมาชิกพรรคนาซีมาตั้งแต่ปี 1936  สองปีก่อนหน้า

ภาพฝูงชนให้การต้อนรับเยอรมันในกรุงเวียนนา ปี 1938




กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 13 พ.ค. 15, 19:02
ไม่กี่วันก่อน ผมได้เข้าไปอ่านและแสดงความเห็นในเว็บพันทิพ เกี่ยวกับกรณีของชาวโรฮิงจา  ผมพบว่าความคิดเห็นของคนไทยจำนวนมากในพันทิพ ซึ่งผมคิดว่าเป็นภาพสะท้อนความคิดของคนระดับชนชั้นกลางขึ้นไป ที่มีการศึกษาสูงพอที่จะใช้อินเตอร์เน็ตเป็น มองชาวโรฮิงจาว่ามีค่าต่ำกว่ามนุษย์  ความเห็นจำนวนมากบอกว่าควรจะฆ่าพวกนี้ที่หลบหนีเข้ามาในประเทศไทยทิ้ง บ้างก็บอกว่าให้จับทำหมันให้หมด

ในสมัยเหตุการณ์ "ตุลาคม ๒๕๑๖" จอมพลตุ๊มีความคิดร้ายยิ่งกว่านี้เสียอีกคือคิดจะฆ่าเพื่อนร่วมชาติทีเชียว  :o

ที่ประชุมกระทรวงมหาดไทย ครั้งที่ ๒๘/๒๕๑๖เรื่อง “การจับกุมกลุ่มบุคคลผู้เรียกร้องให้มีกฎหมายรัฐธรรมนูญ” จอมพลประภาส ประธานในที่ประชุม ชี้แจงว่า มีคอมมิวนิสต์จากต่างประเทศเข้ามาแทรกแซงการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษา และ “เชื่อว่านิสิตนักศึกษาจะเสียไปราว ๒ % จากจำนวนเป็นแสนคน จำต้องเสียสละเพื่อความอยู่รอดของบ้านเมือง”

จาก เว็บ ๑๔ ตุลา (http://www.14tula.com/remember/day8.htm)


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 13 พ.ค. 15, 21:45
เมื่อฟรานซ์กลับไปถึงบ้านในคืนนั้น เค้ารีบเล่าเรื่องการเป็นสมาชิกพรรคนาซีย้อนหลังให้ภรรยาฟังเพื่อให้เธอโล่งใจ แต่เธอกลับหาว่าเค้าทรยศเธอด้วยการเข้าร่วมกับแก็งคนสารเลวพวกนั้น เพราะเทเรซ่า สแตงเกลเป็นคาโธลิกที่เคร่งครัดและไม่ชอบพวกนาซี แต่เธอก็ต้องทนกับความขัดแย้งภายในใจที่จะเลือกอยู่กับชายที่รักและศาสนา  แต่อย่างไรก็ตาม เธอก็ยังคงอยู่กับฟรานซ์

ในปี 1939 เจ้านายของฟรานซ์ นาซีจากเยอรมัน บับคับให้ฟรานซ์เซ็นเอกสารยืนยันว่าละทิ้งศาสนา ฟรานซ์ยอมเซ็นแต่ไม่เคยบอกให้เทเรซ่ารู้

ปี 1940 สงครามโลกครั้งที่สองดำเนินมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ฟรานซ์ซึ่งสังกัดหน่วยเกสตาโปในเมืองเวลซ์ย้ายไปรับหน้าที่ใหม่ที่เบอร์ลิน ฟรานซ์ได้รับชุดยูนิฟอร์มแบบทหารสีเขียว ได้รับยศเป็นร้อยโทเพื่อทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยในสถาบันพิเศษแห่งหนึ่ง  the Public Service Foundation for Institutional Care ซึ่งเป็นสถาบันฉากหน้าของโครงการลับที่ชื่อว่าโครงการ T-4 (T-4 Euthanasia Program)


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ปวันดา ที่ 14 พ.ค. 15, 12:02
ขอบคุณคุณประกอบมากค่ะสำหรับเรื่องราวดีๆที่น่าสนใจ สนใจหัวข้อของคุณประกอบมาตลอด ทั้งเรื่องลึกลับ ผีหลอกวิญญาณหลอน หรืออัศวินอังกฤษ จนมาถึงโรฮีนจา ยังไงขอฝากตัวเป็นแฟนพันธุ์แท้เลยนะคะ อยากให้คุณครูกลับมาเล่าต่อเร็วๆ สัญญาว่าจะหลบมุมไปนั่งหลังห้องฟังคุณครูเงียบๆเลยค่ะ


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 14 พ.ค. 15, 13:14
เมื่อฮิตเลอร์ขึ้นมามีอำอาจในปี 1933 และมีความคิดว่าชาวอารยันคือชนชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ฮิตเลอร์ต้องการสร้างเผ่าพันธุ์อารยันที่สมบูรณ์แบบ ดังนั้น คนที่มีความผิดปกติหรือพิการแบบต่างๆ จึงหลายเป็นส่วนเกินที่ไม่ต้องการและต้องกำจัดทิ้งไป มีการออกกฏหมายจำกัดคนที่เป็นโรคที่อาจส่งผลต่อความพิการทางพันธุกรรมให้ต้องทำแท้ง  จนกระทั่งปีปลายปี 1939 มีการตั้งคลิกนิกเพื่อรองรับผู้ป่วยที่รักษาไม่ได้ที่ Grafeneck Castle และที่คุก Brendenburg-an-der-Harven ซึ่งคนที่พิการ โรคจิต เป็นโรคทางพันธุกรรมที่รักษาไม่ได้ จะถูกรมแกส

คำว่า Euthanasia ความหมายแบบที่ใช้ในปัจจุบันคือการุณฆาต มักใช้กับผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมานกับอาการเจ็บป่วยจนไม่ประสงค์จะมีชีวิตต่อและเต็มใจที่จะตายเอง แต่ในสมัยของฮิตเลอร์คำนี้หมายถึงการฆ่าทิ้งใครก็ตามที่พิการ หรือป่วยทางจิตจนไม่สามารถจะเป็นเผ่าพันธุ์อารยันที่สมบูรณ์ได้ โปรแกรม T-4 เป็นโครงการบุกเบิกของสิ่งที่จะตามมานั่นคือ the Final Solution

ในปี 1940  ฟรานซ์ สแตงเกลถูกส่งไปรับหน้าที่ที่ปราสาทโบราณสมัยศตวรรษที่ 16 ใกล้เมืองลินซ์ชื่อปราสาท  Schloss Hartheim ในตำแหน่งผู้ช่าวยผู้จัดการศูนย์ แต่หน้าที่ที่แท้จริงคือรับผิดชอบด้านความปลอดภัยที่ปราสาท

ภาพโปสเตอร์ในปี 1938  ที่บอกว่า ประชาชนเยอรมันต้องสิ้นเปลืองเงินมากถึง 60,000 มาร์คในการดูแลผู้ป่วยทางพันธุกรรมคนนี้ตลอดชีวิต และนี่เป็นเงินของพวกคุณเช่นกัน ตรรกะเดียวกับคนไทยบางส่วนในปี 2015 ที่แสดงความเห็นเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่ถูกมองว่ามีคุณค่าความเป็นมนุษย์ต่ำกว่าตัว



กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 14 พ.ค. 15, 13:16
ขอบคุณคุณประกอบมากค่ะสำหรับเรื่องราวดีๆที่น่าสนใจ สนใจหัวข้อของคุณประกอบมาตลอด ทั้งเรื่องลึกลับ ผีหลอกวิญญาณหลอน หรืออัศวินอังกฤษ จนมาถึงโรฮีนจา ยังไงขอฝากตัวเป็นแฟนพันธุ์แท้เลยนะคะ อยากให้คุณครูกลับมาเล่าต่อเร็วๆ สัญญาว่าจะหลบมุมไปนั่งหลังห้องฟังคุณครูเงียบๆเลยค่ะ

หลบเงียบๆ นี่ทำให้กระทู้ยิ่งไปช้านะครับ ถ้ากระทู้คึกคักมีการแสดงความเห็น มีการถกกันด้วยเหตุผล แบบนั้นถึงจะไปเร็ว  ยิ่งถ้าดราม่ากันได้ จะไปเร็วสุดๆ เลย  ;D


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 14 พ.ค. 15, 13:59
ผมมีประเด็นอยู่ครับ แต่ขอให้เรื่องราวดำเนินไปสักระยะหนึ่งก่อน จึงจะขอยกมือถามครับ  :)


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 14 พ.ค. 15, 14:12
ผมมีประเด็นอยู่ครับ แต่ขอให้เรื่องราวดำเนินไปสักระยะหนึ่งก่อน จึงจะขอยกมือถามครับ  :)

อ๊ะ บอกให้อยากรู้แต่ยังไม่ถาม  อยากรู้ซะแล้วหละครับ แบบว่าวัยรุ่นใจร้อน


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ปวันดา ที่ 14 พ.ค. 15, 16:40
เอิ่ม คุณครูดุ ออกมานั่งกลางห้องแล้วยกมือถามช่วยดันกระทู้ก็ได้ค่า รบกวนคุณครูประกอบมาเล่าต่อด่วนๆค่ะ ไม่อยากเสิร์ชกูเกิ้ล เดี๋ยวจะสปอยล์เรื่องซะเปล่าๆตอนนี้รอฟังคุณครูเล่าอย่างใจจดใจจ่อค่ะ :D


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 14 พ.ค. 15, 17:57
ง่า ผมไม่ใช่คุณครูครับ แค่เป็นนักเรียนออกมารายงานหน้าชั้นเท่านั้น

Hartheim Euthanasia Centre เป็นศูนย์กำจัดส่วนเกินในสังคมตามนโยบายชาติพันธุ์ศูนย์หนึ่งในโครงการ T-4 ซึ่งจริงๆ แล้วมีถึง 6 ศูนย์กระจายทั่วเยอรมันและออสเตรีย ปราสาท Hartheim ถูกใช้เป็นสถานที่รับเลี้ยงเด็กกำพร้าและเด็กปัญญาอ่อนมาตั้งแต่ปี 1898 ในช่วงปี 1940 ปราสาท Hartheim มีฉากหน้าเป็นโรงพยาบาลสำหรับคนไข้โรคจิต  ปัญญาอ่อนหรือมีอาการทางสมอง แต่โรงพยาบาลแห่งนี้ไม่มีห้องคนไข้ ไม่มีห้องรักษา ในระยะเวลาตั้งแต่ปี 1940 - 1944 มีคนมากกว่า 18,000 หรืออาจจะถึงสามหมื่นคนถูกกำจัดที่นี่โดยการรมแกสและฉีดยาพิษซึ่งมีทั้งคนปัญญาอ่อน  นักโทษการเมืองเช่นพระคาธอลิกที่ต่อต้านนาซี รวมถึงคนยิวจากค่ายกักกันใกล้เคียง

นอกจากเป็นสถานที่กำจัด ที่นี่ยังถูกใช้เป็นที่ทดลองในการหาวิธีฆ่าคนแบบประหยัดให้ได้ปริมาณมากสำหรับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เป็นเสมือนโรงเรียนแพทย์ในการให้ความรู้ แต่ไม่ใช่ความรู้ในการรักษา แต่เป็นการฆ่าอย่างมีประสิทธิภาพ เหยื่อจะถูกศึกษา วิเคราะห์ ถ่ายภาพ ทำสถิติ  มีการทดลองใช้แกสหลายๆ ชนิดเพื่อศึกว่าว่าชนิดใดมีประสิทธิภาพในการฆ่าสูงสุดและเงื่อนไขในการใช้งานต่างๆ โดยหมอจะศึกษาการตายผ่านช่องมองในห้องสังหารที่ชั้นใต้ดิน จับเวลาที่เหยื่อตาย มีการถ่ายทั้งภาพนิ่งภาพเคลื่อนไหวเพื่อใช้ในการศึกษาต่อไป  สมองของเหยื่อจะถูกนำมาผ่าเพื่อหาสาเหตุการตาย


ภาพปราสาท Hartheim และห้องที่เคยเป็นห้องเผาศพในปัจจุบัน



กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 14 พ.ค. 15, 20:11
หัวหน้าของสแตงเกลที่ Hartheim คือ Christian Wirth  ซึ่งฟรานซ์ให้คำจำกัดความหัวหน้าของตนไว้ว่าเป็นผู้ชายอ้วนที่ดูหยาบช้า หัวใจผมหล่นไปที่ตาตุ่มเมื่อได้พบ  คริสเตียนได้รับสมญานามว่าจอมโหดคริสเตียน มีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของโครงการ T-4 คริสเตียนบอกให้ฟรานซ์เก็บทุกอย่างที่ศูนย์เป็นความลับ ห้ามสงสารหรือเห็นใจ

หน้าที่ของฟรานซ์นอกจากการดูแลความปลอดภัยและรักษาความลับแล้ว ยังต้องออกใบมรณบัตรเพื่อแจ้งแก่ครอบครัวเหยื่อด้วย ซึ่งแน่นอนว่ารายละเอียดของการตายย่อมไม่ใช่ความจริง เช่นคนไข้ตายจากอาการหัวใจวายหรืออะไรทำนองนี้ มีการจัดส่งทรัพย์สินสิ่งของของเหยื่อเช่นเสื้อผ้า และเถ้าอัฐิไปให้แก่ครอบครัวเหยื่อด้วย(ในการณีที่เหยื่อเป็นคนเยอรมัน)

ครั้งหนึ่ง มีแม่ของเด็กปัญญาอ่อนที่ถูกส่งมาคนหนึ่งเขียนจดหมายมาแจ้งว่า เธอไม่ได้รับเทียนที่เธอส่งมาให้ลูกของเธอไม่นานก่อนที่เค้าจะเสียชีวิต ฟรานซ์ต้องไปค้นหาเทียนนั้นเพื่อส่งคืนไปให้แม่ของเด็ก ฟรานซ์ไปที่โบสถ์ของปราสาท คุยกับแม่ชีและนักบวชคาธอลิกที่เคยดูแลเด็กคนนั้น ค้นหาจบพบเทียนเล่มนั้นในตระกร้าเล็กๆ แล้วก็ต้องตกใจที่พบว่า ทั้งพระและแม่ชีต่างคิดว่าเป็นการถูกต้องแล้วที่เด็กคนนี้ต้องถูกกำจัด!!! ซึ่งทำให้ฟรานซ์ไม่มีข้อสงสัยขัดข้องกับหน้าที่ของตัวอีกต่อไป  ฟรานซ์ไม่เคยบอกภรรยาของตนว่าตนมีหน้าที่อะไร ไม่เคยเล่าเกี่ยวกับหน้าที่การงานให้ใครฟังทั้งนั้น  ทุกอย่างถูกเก็บเป็นความลับ

จากการบันทึกเอกสารและการสอบสวน ฟรานซ์ สแตงเกลไม่ได้มีหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆ่าที่ Hartheim แต่ได้รับรู้เห็นการฆ่าตลอดเวลาที่อยู่ที่นั่น ในการพิจารณาคดีอาชญากรสงครามในปี 1947  คนขับรถที่มีหน้าที่ขับรถบัสพาคนไข้เข้าสู่ความตายให้การว่าฟรานซ์ สแตงเกลซึ่งในเวลานั้นยังหลบหนีอยู่ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหาร ทำหน้าที่ป็นเพียงตำรวจที่นั่นเท่านั้น  แต่ฟรานซ์ก็เป็นฟันเฟืองหนึ่งของการเริ่มต้นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่จะตามมาแล้ว


ภาพ Christian Wirth ซึ่งภายหลังเสียชีวิตระหว่างสงครามในปี 1944



 


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 15 พ.ค. 15, 15:11
ในปี 1961  ผู้หญิงคนหนึ่งไปหาไซมอน วีเซนธัลและบอกให้ไซมอนไปคุยกับชายชื่อบรูโน่ บรูคเนอร์เพราะเค้าเป็นคนหนึ่งที่อยู่ที่ Hartheim ในฐานะช่างภาพและสามารถจะบอกเล่าเรื่องการทดลองต่างๆ ที่นั่นได้  เมื่อไซมอนไปพบ บรูโน่ก็เล่าให้ฟังจริงๆ

ย้อนกลับไปในปี 1940 บรูโน่เป็นช่างภาพสมัครเล่น และได้รับการติดต่อให้ไปเป็นช่างภาพที่ Hartheim หลังผ่านการสัมภาษณ์และได้รับการตอบรับเข้าทำงาน บรูโน่ได้เซ็นเอกสารว่าจะไม่เปิดเผยความลับ ไม่พูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่ได้พบเห็นที่นั่นด้วย และหัวหน้าในขณะนั้นคือคริสเตียน เวิร์ธ

บูโน่เล่าว่าคริสเตียนจอมโหดนั้น นอกเวลางานเป็นคนที่เป็นมิตร แต่ในเวลางานแล้วเป็นคนที่เคร่งครัดมากๆ เป็นคนที่จะไม่ลังเลที่จะยิงใครทิ้งซักคนถ้าทำงานไม่ถูกใจ  เวิร์ธกำหนดให้บรูโน่ถ่านภาพคนไข้แต่ละคน ซึ่งบรูโน่บอกว่า บางครั้งการทำงานก็ยากเพราะคนไข้บางคนไม่อยู่นิ่งต้องมีพยาบาลคอยจับไว้ให้นิ่ง บางครั้งคนไข้กระโดดเข้าจู่โจมบรูโน่ก็มี  นอกจากนี้ยังมีกลิ่นจากเตาเผาศพที่ตลบอบอวลอยู่ตลอดเวลา งานนี้เป็นงานที่สาหัสมากสำหรับบรูโนจนทำให้กินอะไรไม่ลง  หลังเริ่มงานไม่กี่วัน บรูโนก็ไปหาเวิร์ธ แจ้งว่าอยากจะลาออก

เวิร์ธมีทางเลือกให้บรูโน่ 3 ทาง ทางแรกคือทำงานที่นี่ต่อไปและหุบปากให้แน่น  ทางที่สองคือยอมโดนส่งตัวไปค่ายกักกัน Mauthausen ใกล้ๆ รอการกำจัด ทางเลือกที่สามคือโดนยิงทิ้งซะที่นี่เลย  แน่นอนว่าบรูโน่เลือกทางแรกและทำงานต่อในวันรุ่งขึ้น


ในเวลาต่อมา นอกจากถ่ายภาพคนไข้แล้ว บรูโน่ต้องถ่ายภาพศพที่ผ่านการทดลองด้วย ในการสัมภาษณ์ บรูโนบอกว่าเค้าไม่เคยตั้งคำถามใดๆ หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องงานเลย เพราะงานนั้นจ่ายงามไม่น้อย เดือนละ 300 มาร์ค อาหารการกินก็ดี เหล้าไม่อั้น มีปาร์ตี้ยามค่ำแทบทุกคืน มีผู้หญิงให้หลับนอนด้วยไม่ซ้ำหน้า

ผ่านไป 20 ปี บรูโนยังคงกินอ่มนอนหลับ ไม่มีฝันร้าย ไม่ได้รู้สึกผิด  มีข้อสงสัยประการเดียวที่รบกวนจิตใจ คือทำไมเวิร์ธต้องใช้เจ้าหน้าที่มากถึง 80 คน เพื่อจะฆ่านักโทษแค่วันละ 35 คน



ภาพไซมอน วีเซนธัล อดีตนักโทษในค่ายกักกันที่อุทิศชีวิตตามล่านาซีที่ก่ออาชญากรรมมารับโทษ


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 15 พ.ค. 15, 15:43
วีเซนธัลเองก็สงสัยเช่นกัน ทำไมคนบางคนถึงถูกเลือกและฝึกให้ทำงานเป็เครื่องจักรฆ่าคนได้ ทำอย่างไรจึงจะฝึกคนที่ทำงานในห้องรมแก็ส ได้มองเห็นความทุกข์ทรมานและความตายของผู้บริสุทธิ์เป็นหมื่นๆ คนเป็นวัน เป็นเดือน เป็นปีได้ สามารถทนต่อความกดดันโดยไม่บ้าไปซะก่อน ในขณะที่เครื่องจักรยังมีวันพัง แต่คนที่ทำหน้าที่เหล่านี้ไม่เคย ยังคงทำหน้าที่ต่อไปได้ แข็งแกร่งทนทานยิ่งกว่าเครื่องจักร วีเซนธัลสรุปว่า คนเหล่านี้ได้รับการฝึกมาอย่างเป็นระบบ วีเซนธัลเข้าใจว่าคำตอบของคำถามที่บรูโน่สงสัยว่าทำไมต้องมีเจ้าหน้าที่มากมายนักในการฆ่านักโทษจำนวนน้อยกว่าคือคำตอบ

การคัดเลือกเจ้าหน้าที่เข้าไปทำงานมีการคัดเลือกกันอย่างรัดกุม  ที่จริงเจ้าหน้าที่เหล่านี้คือนักเรียนที่กำลังถูกฝึกเป็นเครื่องจักรฆ่าคน คนที่ผ่านการฝึกจะไปทำหน้าที่ต่อไปยังห้องแก็สและเตาเผาศพที่ค่ายอื่นๆ ขั้นตอนการฝึกเริ่มจากการให้นักเรียนเหล่านี้เข้าร่วมสังเกตุการทดลองกับมนุษย์ก่อนจนชินและไร้ความรู้สึกสงสารกับเสียงร้องด้วยความเจ็บปวดหรือน้ำตา  หลังจากนั้นคนเหล่านี้จะถูกฝึกให้เป็นผู้ทำการทดลองเอง จนนักเรียนเหล่านี้ไม่มีความรู้สึกผิดอีกต่อไป นอกจากนี้ การทดลองยังเป็นการทำกับเพื่อนร่วมชาติของตัวเองด้วย ทั้งคนเยอรมันหรือออสเตรียที่ป่วยทางจิต เมื่อคนเหล่านี้ฆ่าเพื่อนร่วมชาติได้ ย่อมไม่มีปัญหาในการฆ่าคนชาติอื่นที่ต่ำกว่าตัว  

ในกระบวนการฝึกนี้ เหล่านักเรียนจะถูกจับตามองจากผู้ฝึกด้วยเพื่อดูปฏิกริยาอย่างใกล้ชิด คนที่ไม่สามารถทนได้จะถูกส่งไปอยู่แนวหน้าในหน่วบรบที่โอกาสตายสูงมากๆ หรือไม่อาจจะได้เป็นเหยื่อซะเอง ส่วนคนที่ผ่านการฝึกก็ไปเป็นครูสอนต่อไปในค่ายอื่นๆ  ต่อไป

โรงเรียนสอนการฆ่าแบบนี้ในช่วงปี 1940 มีถึง 6 แห่ง หัวใจสำคัญอย่างหนึ่งในการดำเนินการคือต้องเก็บรักษาความลับไว้ให้ได้อย่างเข้มงวด ในโรงเรียนหรือศูนย์อื่นๆ เช่นที่ Sonnenstein หรือ Grafeneck มีข่าวรั่วไหลไปถึงหูชาวเมืองเกี่ยวกับศูนย์ฝึกฆ่า มีคนได้ยินเสียงเด็กๆ ร้องไห้บนรถบัสที่กำลังเอาพวกเค้าไปฆ่า หลายศูนย์ต้องปิดตัวลง ยกเว้น Hartheim ที่สามารถรักษาความลับไว้ได้เป็นอย่างดี และนี่ต้องยกเครดิตให้กับหัวหน้าหนวยรักษาความปลอดภัย ฟรานซ์ สแตงเกล





กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 15 พ.ค. 15, 19:32
ขอขยายความโครงการ T-4 นิดหนึ่ง

โครงการ T-4 เป็นโครงการที่เริ่มต้นมีจุดประสงค์เพื่อการกำจัดคนที่ไม่ต้องการ ได้แก่คนพิการและปัญญาอ่อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นความพิการจากพันธุกรรม เพื่อจุดประสงค์ในการปรับปรุงพันธุกรรมของชาวอารยัน ขจัดข้อบกพร่องทางสายเลือด และเพื่อประหยัดเงินที่จะต้องใช้ในการสงเคราะห์คนเหล่านี้ซึ่งไม่มีประโยชน์ในด้านแรงงาน โดยหาวิธีกำจัดให้คนเหล่านี้ตายอย่างรวดเร็วทีละมากๆ และประหยัดที่สุด โครงการเริ่มต้นในเดือนกันยายนปี 1939 โดยคำสั่งของฮิตเลอร์ (ที่คนไทยหลายๆ คนบอกว่ามีข้อดีเช่นกัน อย่าเอาแต่มองข้อเสีย) โดยมีผู้รับผิดชอบคือไรช์ ลีดเดอร์ฟิลิป เบาท์เลอร์ และ ดร. คาร์ล บรันดท์ นายแพทย์ส่วนตัวของฮิตเลอร์


โครงการได้จัดตั้งศูนย์กำจัดบุคคลอันไม่พึงปราถนา 6 แห่งทั่วเยอรมันและออสเตรีย โครงการดำเนินไปจนถึงเดือนสิงหาคม 1941 มีผู้คนถูกสังหารไปประมาณ 70,000 คน แต่รายงานอย่างไม่เป็นทางการกล่าวว่าอาจมีถึง 200,000 คน เป็นโครงการที่มีการทดลองมากมายเพื่อหาทางฆ่าอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด และยังเป็นโรงเรียนฝึกหัดผลิตเพชรฆาตสำหรับค่ายกักกันต่างๆ ในอาณาจักรนาซีด้วย


หลังสงคราม ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องระดับสูงหลานคนถูกตัดสินประหารชีวิตหรือฆ่าตัวตาย เช่นฟิลิป เบาท์เลอร์ฆ่าตัวตายพร้อมภรรยา  ดร. บรันดท์ถูกประหารชีวิตโดยการแขวนคอ วิคเตอร์ แบรค ออร์แกนไนเซอร์ของโครงการถูกแขวนคอเช่นกัน แต่ผู้ร่วมงานอื่นๆ บางคนได้รับโทษจำคุกไม่รุนแรง จำนวนมากไม่ถูกดำเนินคดีแต่อย่างใด


ภาพคำสั่งเซ็นโดยฮิตเลอร์ และสามเกลอเรียงตามลำดับจากบนลงล่าง เบาท์เลอร์ บรันดท์ และแบรค




กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 16 พ.ค. 15, 04:50
เมื่อพูดถึงค่ายกักกันของนาซีเยอรมัน จะจัดได้เป็นสองแบบหลักๆ  แบบแรกคือค่ายกักกัน (Concentration camp) และแบบที่สองคือค่ายมรณะ (Extermination camp) ค่ายกักกันจะมุ่งเน้นการขังนักโทษเพื่อใช้เป็นแรงงานทาส มากกว่าจะมุ่งฆ่าทิ้งแบบอุตสาหกรรมอย่างค่ายมรณะ  ค่ายกักกันแรกคือดาเชา สร้างขึ้นในปี 1933 เป็นผลงานแรกๆ เมื่อฮิตเลอร์ขึ้นเป็นผู้นำใหม่ๆ เพื่อใช้กักขังนักโทษการเมือง จากนั้นก็มีการขยับขยายพัฒนาต่อจนมีค่ายแบบนี้กระจายไปทั่วดินแดนที่เยอรมันยึดครองได้


ค่ายกักกันบางค่าย ในภายหลังได้ผันตัวมาเป็นค่ายมรณะด้วย มีการสร้างห้องรมแก็สเพื่อรองรับความต้องการในการกำจัดคนที่ไม่เป็นที่ต้องการโดยเฉพาะชาวยิว  เช่นเอาชวิตซ์ แต่หน้าที่หลักๆ ยังคงเป็นค่ายกักกัน และใช้ค่ายรองคือเบอร์เคนเนาค่านสาขาเป็นค่ายมรณะ หรือค่ายบูเคนวาลด์ที่ไซมอน วีเซนธัลเป็นศิษย์เก่า  ค่ายเบอร์เจน-เบนเสน ที่แอนน์ แฟรงค์เคยอยู่ พวกนี้เป็นค่ายกักกันที่เปลี่ยนมาเป็นค่ายมรณะในภายหลัง แต่แม้จะเป็นค่ายกักกัน นักโทษจำนวนมากก็ตายจากการอดอาหาร โรคระบาด เจ็บป่วย ถูกแขวนคอ ยิงทิ้งอยู่ดี


ค่ายมรณะโดยทั้วไปจะไม่สร้างในเยอรมัน แต่จะสร้างในดินแดนที่ยึดครองมาได้โดยเฉพาะโปร์แลนด์  เพราะเป็นพื้นที่ยึดครองมีกำลังทหารเด็ดขาดกว่า แถมคนท้องถิ่นก็ไม่ใช่เยอรมัน ไม่ต้องกลัวการประท้วงต่อต้าน เพราะใครต่อต้านก็ประหารได้เลย ทำให้รักษาความลับและห้องกันการต่อต้านได้ง่ายกว่าตั้งในแผ่นดินเยอรมันดั้งเดิมเองมาก


เมื่อนาซีตัดสินใจเริ่มโครงการ final solution คือการกำจัดคนที่ไม่พึงประสงค์แบบอุตสาหกรรม  ก็ต้องเริ่มสร้างค่ายมรณะโดยคำสั่งของไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ โดยมีคริสเตียน เวิร์ธทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบ ที่ปรึกษาและอำนวยการสร้างค่ายมรณะ ค่ายแรกที่ประสบความสำเร็จของเวิร์ธคือค่ายเชล์มโน(Chelmno) ก่อตั้งขึ้นในปี 1941 ในโปร์แลนด์ หลังจากนั้นเวิร์ธได้เป็นผู้ตรวจสอบค่ายใหม่อีก 3 ค่ายที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1942 คือค่ายเบวเชตซ์(Belzec) ทาบลิงกา (Tablinka) และโซบิบอร์ (Sobibor)


ค่ายมรณะทั้ง 4 ที่เอ่ยชื่อมาดำเนินการโดยศิษย์เก่า T-4 มีประสิทธิภาพมาก ทั้งที่ระยะเวลาทำการค่อนข้างสั้นคือประมาณปีเดียวแต่กำจัดคนยิวไปได้ราวสองล้านห้าแสนคน ส่วนใหญ่ต้องปิดตัวลงเพราะปริมาณคนยิวที่ถูกส่งมากำจัดลดจำนวนลง  ที่น่าทึ่งคือจากนักโทษทั้งหมดที่ส่งไปยังค่ายทั้ง 4 มีนักโทษร้อยกว่าคนเท่านั้นที่รอดชีวิต  คือ 2 คนจากค่ายเบวเชตซ์จากทั้งหมด 600,000 อีก 2 คนจาก 400,000 ที่เชล์มโน 50-70 คนจาก 300,000 ที่โซบิบอร์ และราว 50-70 คนจากประมาณหนึ่งล้านคนที่ทาบลิงกา ไม่กล้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ผู้รอดชีวิตเพราะเลขศูนย์หลังทศนิยมมันเยอะ


ภาพรถขนนักโทษไปยังค่ายเชล์มโน ที่ต้องใช้รถขนเพราะไม่มีทางรถไฟไปถึงค่าย นักโทษต้องลงจากรถไฟแล้วต่อรถไปแดนประหาร






กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: Diwali ที่ 16 พ.ค. 15, 09:36
มนุษย์ คิดแล้วทำกับมนุษย์ได้ขนาดนี้เชียวหรือนี่
 :( :(

ขอบคุณคุณลุงประกอบที่นำมาเผยแพร่ให้ทราบนะครับ


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 พ.ค. 15, 09:49
อิอิ ลุงประกอบ  ;D ;D ;D

มนุษย์ คิดแล้วทำกับมนุษย์ได้ขนาดนี้เชียวหรือนี่  :( :(

ลองส่งคำว่า "๖ ตุลาคม" ให้คุณกุ๊กหาภาพให้ดู  คุณ Diwali คงถามคำถามนี้ซ้ำสองเป็นแน่แท้  :'(

หนึ่งในหลาย ๆ ภาพนั้นได้รับภาพรางวัล Pulitzer prize 1977  โดยช่างภาพ AP ชื่อ Neal Ulevich เขาบรรยายภาพนี้ว่า

"ผมเห็นความชุลมุนที่ต้นไม้ ผมจึงเดินไปตรงนั้นและเห็นร่างถูกแขวนคอ เขาเสียชีวิตแล้ว แต่ฝูงชนยังเต็มไปได้ความบ้าคลั่ง มีชายคนหนึ่งกำลังใช้เก้าอี้พับหวดเข้าไปที่ศีรษะของร่างไร้วิญญาณ ผมยืนอยู่ตรงนั้นแล้วดูว่ามีใครมองมาที่ผมรึเปล่า ไม่มีใครสนใจ ผมจึงถ่ายภาพสองสามภาพแล้วเดินหนีมา"

สิ่งที่น่าสมเพชที่สุดคือ

"เมื่อผมได้รางวัลพูลิตเซอร์ หนังสือพิมพ์ในกรุงเทพต่างลงข่าวหน้าหนึ่ง พวกเขาแสนภูมิอกภูมิใจนักหนาที่ภาพที่ถ่ายในกรุงเทพได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ"


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 16 พ.ค. 15, 12:40


ลองส่งคำว่า "๖ ตุลาคม" ให้คุณกุ๊กหาภาพให้ดู  คุณ Diwali คงถามคำถามนี้ซ้ำสองเป็นแน่แท้  :'(



อ๊ะ อ๊ะ อ๊ะ ไม่ต้องไปไกลถึง 6 ตุลาก็ยังได้  ลองไปส่องกระทู้นี้แล้วนับทั้งความเห็นหลักความเห็นย่อยให้ผมที ว่าคนไทยปี 2015 กี่คนในกระทู้นี้ที่อยากให้มีค่ายมรณะสำหรับกำจัดโรฮิงญา(ขอเรียกแบบเดิม เห็น BBC บอกว่าชาวโรฮิงญาเรียกตัวเองแบบนี้)  และอีกกี่คนที่หมั่นไส้สยองเหน็บแนมคนที่บอกว่าสงสารโรฮิงญาหรือให้หาทางแก้ปัญหาแบบอื่น


http://pantip.com/topic/33622256/ (http://pantip.com/topic/33622256/)


ของแบบนี้ไม่ต้องมองไกล แม้แต่ปัจจุบันก็ยังมีอยู่ แม้แต่เมืองไทยเมืองพุทธนี่แหละ เมื่อใดที่คนเรามองคนอีกพวกว่าต่ำกว่า ไร้ค่าไร้ประโยชน์ สันดานดิบจะแสดงออกมาง่าย กระทู้นั้นผมได้กลายเป็นมุสลิมไปแล้ว ส่วนกระทู้นี้จะมีใครชี้หน้าว่าเป็นยิวบ้างไหมยังไม่ทราบ  เป็นอีกตัวอย่างว่าถ้าคุณคิดไม่เหมือนคนส่วนใหญ่ คุณจะถูกป้ายเป็นโน่นเป็นนี่


ค่ายมรณะโรฮิงญาหรือสำหรับใครก็ตามเปิดในไทยเมื่อไหร่  ถ้าหนีไม่ทันคนแบบผมเป็นพวกแรกๆ ที่ถูกพาไปรมแก็สแน่ๆ



กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 16 พ.ค. 15, 12:55
เมื่อใดที่คนเรามองคนอีกพวกว่าต่ำกว่า ไร้ค่าไร้ประโยชน์ สันดานดิบจะแสดงออกมาง่าย

ยิ่งมองเห็นผู้อื่นไม่ใช่มนุษย์ หรือมีความเป็นมนุษย์น้อยกว่าเรา (เพราะเขาชั่ว เขาไม่ใช่พวกเรา ฯลฯ) ความเป็นมนุษย์ในใจเราก็จะลดน้อยถอยลงทันที เพราะวินาทีนั้นความโกรธเกลียดเหยียดหยามจะครอบงำใจจนพร้อมทำร้ายผู้อื่นได้อย่างเลือดเย็น

ถึงตอนนั้นเราเป็นอะไรก็ได้ทั้งนั้น อย่างเดียวที่เป็นไม่ได้คือความเป็นมนุษย์

พระไพศาล วิสาโล


สาธุ

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/smiley17.png)


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 16 พ.ค. 15, 17:21
เมื่อไห้เห็นฝีไม้ลายมือการจัดการรักษาความปลอดภัยแล้ว ในช่วงต้นปี 1942 เวิร์ธก็แนะนำไปยังหน่วยเหนือว่าสแตงเกลคือคนที่เหมาะสมจะให้ไปคุมงานสร้างและเป็น ผบ. ค่ายมรณะโซบิบอร์  จากการสัมภาษณ์ในช่วงบั้นปลายชีวิต ฟรานซ์เล่าวาเค้าได้รับการบอกในตอนแรกว่าโซบิบอร์เป็นแค่ค่ายแรงงาน แต่เค้าก็เริ่มสงสัยว่าจะไม่ใช่เพราะมีศิษย์เก่า T-4 หลายคนได้รับมอบหมายหน้าที่ที่นั่นด้วย โดยเฉพาะเฮอร์มัน ไมเคิล ซึ่งเคยเป็นหัวหน้าพยาบาลชายที่ Hartheim

การก่อสร้างในระยะแรกใช้แรงงานชาวยิวภายใต้ยามรักษาการณ์ชาวยูเครน สแตงเกลอ้างว่าเพิ่งได้เห็นว่ามีการสร้างห้องรมแก็สด้วยหลังจากเดินทางมาถึงแล้วและคิดว่าแบบนี้ไม่ใช่ค่ายแรงงานแน่ๆ สแตงเกลจึงเดินทางไปหาเวิร์ธซึ่งขณะนั้นอยู่ที่ค่ายเบลเชตซ์เพื่อสอบถามให้แน่ใจ  ที่นี่เองเป็นครั้งแรกที่สแตงเกลได้เห็นการดำเนินการของค่ายมรณะแม้ว่าจะทำงานกับโครงการ T-4 มาสองปีแล้ว

ค่ายอยู่ฝั่งเดียวกันของถนนกับสถานีรถไฟเบลเชตซ์ เพียงแต่อยู่บนเขา สำนักงานที่ทำการค่ายอยู่ห่างจากสถานีไปประมาณ 200 เมตร เป็นอาคารชั้นเดียว กลิ่นของความตายตลบอบอวล เวิร์ธไม่อยู่ในสำนักงาน แต่อยู่ในค่ายข้างบนเขา เจ้าหน้าที่บอกฟรานซ์ว่าเวิร์ธกำลังอารมณ์เสียเพราะว่าหลุมศพหมู่หลุมหนึ่งฝังศพมากเกินไปจนศพที่กำลังเน่าพองขยายตัวดันหลุมขึ้นมา ศพบางส่วนกลิ้งหล่นลงเขามา

ซักพักเวิร์ธมาที่สำนักงานและบอกกับฟรานซ์ว่าที่โซบิบอร์จะเป็นเหมือนกับที่นี่ ฟรานซ์อุทธรณ์ว่าเค้าเป็นแค่ตำรวจไม่ใช่เพชรฆาตและคิดว่าไม่มีความสามารถมากพอกับงาน เวิร์ธไม่ต่อปากต่อคำ แต่แจ้งว่าคำค้านของฟรานซ์จะถูกส่งไปยังหน่วยเหนือต่อไป ดังนั้นฟรานซ์จึงกลับไปที่โซบิบอร์และทำงานต่อไป

ภาพหน่วน SS ที่ค่ายเบลเชตซ์ ในปี 1942


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 16 พ.ค. 15, 17:45
ในคืนนั้นฟรานซ์คุยกับเฮอร์มัน ไมเคิลเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทั้งคู่เห็นพ้องกันว่าคงไม่มีทางปฏิเสธงานนี้ เพราะคำเตือนที่เวิร์ธเคยบอกทุกๆ คนว่า "ถ้าใครไม่ชอบสิ่งที่ทำก็ออกไปได้ แต่ไปแบบมีดินกลบหน้า"


ในวันรุ่งขึ้น เวิร์ธเดินทางมาโซบิบอร์เพื่ออำนวยการติดตั้งอุปกรณ์ห้องรมแก็สที่มีถึง 5 ห้อง สแตงเกลพยายามหลบหน้าโดยแสร้งทำตัวยุ่งอยู่ในสำนักงาน เวิร์ธพาไมเคิลออกไปและให้คำแนะนำต่างๆ ในการใช้งานห้องรมแก็ส  เมื่อผ่านไปสามสี่วัน งานติดตั้งอุปกรณ์เสร็จสิ้น เวิร์ธบอกไมเคิลว่า เอาหละ งานเสร็จแล้ว ถึงเวลาทดลอง แล้วก็สั่งให้นักโทษยิว 25 คนที่เป็นแรงงานเข้าไปในห้องแล้วก็ทดลองรมแก็สเป็นการเจิมห้อง


เมื่อต้องขนศพคนงานออกจากห้องรม  ฟรานซ์ถูกเรียกมาช่วยด้วย นี่เป็นครั้งแรกที่ฟรานซ์ สแตงเกลได้เป็นพยานอุตสาหกรรมการสังหารในค่ายมรณะ หลังจากนั้นฟรานซ์จะทำหน้าที่บริหารค่ายโดยรวม ส่วนผู้รับผิดชอบหน้าที่ที่ห้องรมแก็สคือเฮอร์มัน ไมเคิล


เฮอร์มันผู้นี้มีชื่อเสียงในค่ายในฐานะคนที่มีน้ำเสียงนุ่มนวลดั่งนักบวช คนงานต่างให้สมญาว่า The Preacher หรือนักเทศน์ หน้าที่ประจำคือจะไปยืนคอยต้อนรับนักโทษที่เพิ่งเดินทางมาถึงด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลอบอุ่นใบหน้ายิ้มแย้ม


"ยินดีต้อนรับสู่โซบิบอร์ พวกคุณถูกส่งมายังค่ายแรงงาน ที่นี่ครอบครัวจะได้อยู่ด้วยกัน  ใครที่ทำงานหนักจะได้รางวัล  ต่อจากนี้ไปไม่มีอะไรที่พวกคุณต้องกลัว  แต่ว่าพวกเราเป็นห่วงเกี่ยวกับโรคระบาดที่อาจจะเกิดขึ้น ดังนั้นพวกคุณจะต้องอาบน้ำก่อน ผู้ชายไปทางขวา ผู้หญิงและเด็กไปทางซ้าย"

บางครั้งไมเคิลจะบอกนักโทษว่า  "ที่ซอบิบอร์เราเป็นแค่ค่ายชั่วคราวสำหรับคัดเลือกว่าพวกคุณจะถูกส่งไปที่ไหนต่อ จากที่นี่ พวกคุณอาจจะได้ไปยูเครนที่พวกเราจะก่อตั้งรัฐยิวขึ้นมาที่นั่น" ซึ่งถูกอกถูกใจนักโทษนัก พวกเค้าจะส่งเสียงร้องเชียร์ด้วยความดีใจ บ้างถึงกับปรบมือ จากนั้นไมเคิลจะช่วยพาพวกเค้าเหล่านั้นที่กำลังลิงโลดใจไปตามถนนเพื่อไปตัดผมแล้วก็อาบน้ำ


ภาพด้านล่างเฮอร์มัน ไมเคิลซึ่งรอดชีวิตจากสงคราม คาดว่าหลบหนีไปอิยิปต์และไม่เคยถูกจับ
 


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 17 พ.ค. 15, 04:08
เพราะไม่ค่อยเต็มอกเต็มใจกับหน้าที่ใหม่แต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ฟรานซ์ สแตงเกลจึงทำงานอยู่หลังฉากในการดูแลเรื่องการก่อสร้างและการดำเนินตามนโยบาย มากกว่าจะออกหน้าพบปะกับเหล่าเหยื่อสังหาร  หน้าที่รมแก็สเป็นความรับผิดชอบของเฮอร์มันและผู้ช่วยระดับต่างๆ ลงไป ฟรานซ์เองพยายามอยู่ห่างจากหน้าที่เหล่านั้น ฟรานซ์ออกคำสั่งห้ามลูกน้องไม่ให้ใช้คำว่าศพ ซาก เหยื่อกับบรรดาเหยื่อสังหาร แต่ใช้นโยบายให้เรียกเหยื่อนเหมือนเป็นวัตถุแทน โดยให้เรียกว่าFiguren (figure หรือ image ในภาษาอังกฤษ) หรือให้เรียกว่าผ้าขี้ริ้ว  ซึ่งการทำแบบนี้เป็นวิธีที่ทำให้สแตงเกลหลีกหนีจากความจริงที่โหดร้ายของงานที่ทำได้


แม้ช่วงที่สแตงเกลเริ่มงานที่โซบิบอร์ตัวค่ายยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่อุตสาหกรรมการฆ่าดำเนินการไปอย่างได้ผลดีและมีประสิทธิภาพมากจนต้องสร้างห้องรมแก็สห้องที่ 6 เพิ่ม ตั้งแต่เริ่มก่อสร้างในเดือนมีนาคม 1942 จนถึงเดือนพฤษภาคม 1942 ห้องรมแก็สที่โซบิบอร์สังหารคนยิวไปได้มากกว่า  36,000 คนจากชุมชนชาวยิว 19 แห่งในโปแลนด์ ต้องมีการติดตั้งเครื่องจักรเพิ่มเติมเพื่อปั๊มแก็สคาร์บอนไดออกไซด์และคาร์บอนมอนนอกไซด์เข้าไปในห้องแก็ส  มีการติดตั้งเครื่องปั่นไฟเพื่อให้ทำงานในเวลากลางคืนได้  มีการสร้างรางรถไฟแบบรางแคบเพื่อใช้ขนเสื้อผ้า และทรัพย์สินมีค่าของนักโทษไปยังห้องคัดแยก  ในเดือนกรกฏาคม 1942 โซบิบอร์กลายเป็นค่ายตัวอย่างที่ผลการดำเนินงานดีเยี่ยมจนไฮริช ฮิมเล่อร์ ผู้บัญชาการหน่วย SS ต้องเดินทางจากเบอร์ลินเพื่อมาชมด้วยตัวเอง


ภาพสแตงเกลและผู้ช่วยที่โซบิบอร์และบ้านพัก  ปัจจุบันบ้านพักหลังนี้ยังคงอยู่ ส่วนตัวค่ายส่วนใหญ่ถูกนาซีทำลายไปหมดแล้วเพื่อปกปิดหลักฐาน แต่ร่องรอยทางรถไฟรวมถึงอนุสรณ์สถานยังอยู่


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 18 พ.ค. 15, 04:10
เมื่อเจ้าใหญ่นายโตจะมาเยี่ยมชมค่าย บรรดาเจ้าหน้าที่ก็ต้องเตรียมต้อนรับขับสู้กันเต็มที่


บรรดานักโทษแรงงานที่เป็นช่างตัดผ้า ช่างทำรองเท้า ช่างเหล็ก ช่างก่อสร้าง ต่างถูกระดมตัวมาให้หยุดจากงานประจำเพื่อเนรมิตรค่ายโซบอบอร์ให้เหมือนดังรีสอร์ทหรูในสวิส ขณะที่ฮิมเล่อร์กำลังเดินทางมา ทีมพ่อครัวก็จัดเตรียมอาหารอย่างดีพร้อมเครื่องดื่มไว้คอยต้อนรับ แต่เมื่อฮิมเลอร์มาถึง ฮิมเลอร์สนใจแต่กระบวนการประหารนักโทษ คณะผู้เยี่ยมชมเข้าเยี่ยมชมห้องรมแก็สและชมการสังหารนักโทษแบบสดๆ


เมื่อคณะผู้เยี่ยมชมเสร็จจากห้องรมแก็สเดินทางไปถึงหน้าค่ายซึ่งสแตงเกลรออยู่เพื่อคอยตอบข้อซักถามต่างๆ และเชิญชวนคณะผู้เยี่ยมชมให้ดื่มคอนยัคที่เตรียมไว้รองรับ ฮิมเลอร์ได้ซักตามข้อสงสัยต่างๆ จากสแตงเกลด้วยความประทับใจ และสัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกเรื่องสิ่งของที่ขาดเหลือสำหรับกิจกรรมในค่ายให้อย่างเต็มที่ เมื่อฮิมเลอร์เดินทางกลับ ชาวค่ายก็ร่วมกันกินดื่มฉลองความสำเร็จในการต้อนรับนายใหญ่จากเบอร์ลิน ในขณะที่กุสตาฟ วาร์กเนอร์ ยังไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยกับการต้อนรับแต่อย่างใด กลับไปทำหน้าที่อำนวยการที่ห้องรมแก็สสังหารชาวยิวต่อไป


หาภาพฮิมเลอร์เยี่ยมชมโซบิบอร์ไม่ได้ เอาภาพฮิมเลอร์ชมค่ายอื่นไปดูแทน ภาพนี้ตอนเยี่ยมชมค่าย Mauthausen


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 18 พ.ค. 15, 19:22
ลืมเล่าว่าห้องรมแก็สที่โซบิบอร์เค้าสังหารนักโทษกันอย่างไร


ในขณะที่ห้องรมแก็สที่เอาชวิตซ์จะใช้ไซคลอนบีเป็นแก็สสังหาร  แต่สำหรับที่โซบิบอร์ใช้เทคโนโลยีที่เรียบง่ายกว่านั้น คือใช้เครื่องยนต์เบนซินเก่าของรัสเซีย 8 สูบ 200 แรงม้าระบายความร้อนด้วยน้ำสำหรับใช้ในรถถังหรือรถแทร็คเตอร์ วางอยู่บนฐานคอนกรีตต่อท่อระบายไอเสียซึ่งเป็นคาร์บอนไดออกไซดิ์และคาร์บอนมอนนอกไซด์ไปยังห้องแก็ส   นักโทษจะถูกบังคับให้ถอดเสื้อผ้าและถูกกร้อนผมไว้ก่อน จากนั้นถูกบังคับให้เข้าไปรออยู่ในห้องแก็ส  เครื่องยนต์ถูกเร่งเพื่อปล่อยไอเสียเข้าไป หลังผ่านไปประมาณ 10 นาทีนักโทษก็จะเสียชีวิต   


นักโทษประหารที่โซบิบอร์ไม่ได้มีแต่ชาวยิวจากทั่วยุโรป แต่นักมีนักโทษสงครามโซเวียตด้วย ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของค่าย แรงงานส่วนใหญ่เป็นนักโทษที่แข็งแรง 600 คนที่ถูกคัดไว้เป็นทาสแรงงาน ในปี 1943 บรรดานักโทษเหล่านี้เริ่มสงสัยว่าค่ายกำลังจะถูกปิด เพราะปริมาณนักโทษที่ถูกส่งมากำจัดมีน้อยลงและข่าวลือที่แพร่สะพัด ทำให้นักโทษเริ่มแอบสะสมอาวุธและวางแผนยึดค่าย นักโทษที่เป็นอดีตทหารโซเวียตที่มีประสบการณ์ใช้อาวุธเป็นผู้สอนนักโทษยิวเรื่องการใช้อาวุธและกลยุทธต่างๆ ในวันที่ 14 ตุลาคม 1943 บรรดานักโทษแรงงานเหล่านี้จึงก่อการจราจลเพื่อยึดค่าย นาซีที่ทำงานในช่วงเวลานั้นหลายคนถูกสังหาร  นักโทษประมาณ 300 คนหลบหนี้ออกจากค่ายไปได้  พวกนี้ส่วนใหญ่ถูกจับได้และถูกประหารชีวิต  มีนักโทษประมาณ 50 คนเท่านั้นที่รอดชีวิตมาบอกเล่าเรื่องราวของโซบิบอร์


หลังจากจราจล ค่ายโซบิบอร์ถูกปิดตัวลง นักโทษที่เหลือทั้งหมดถูกกำจัด  พวกนาซีกำจัดร่องรอยหลักฐานทุกอย่างถึงการเคยมีอยู่ของค่ายมรณะ อาคาร ห้องรมแก็ส ทุกอย่างถูกทำลายราบไม่หลงเหลือ มีการปลูกต้นไม้บนพื้นที่ทับซากอาคาร  ทำถนนทับซากห้องรมแก็ส  ในการขุดค้นสำรวจเมื่อปี 2013 พบบริเวณที่เคยเป็นห้องรมแก็สที่ถูกทำลายเพื่อปกปิดหลักฐานก่อนหน้า  คาดว่าแต่ละห้องสามารถประหารนักโทษได้คราวละ 500 คน และยังพบหลักฐานอื่นๆ เช่นกระดูกมนุษย์หรือแผ่นป้ายรูปดาวเดวิดของชาวยิว


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 19 พ.ค. 15, 21:59
ในบรรดาผู้ช่วยของฟรานซ์ นอกจากเฮอร์มัน ไมเคิลที่ทำหน้าที่ที่ห้องรมแก็สแล้ว ผู้ช่วยอีกคนคือกุสตาฟ วากเนอร์


วากเนอร์เป็นชายอารยันแท้ๆ สูง 6 ฟุต ผมสีทอง หน้าตาดี วากเนอร์อ้างว่าเคยเข้าร่วมแข่งพุ่งแหลนในกีฬาโอลิมปิคปี 1936 ที่เบอร์ลิน แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันคำอวดอ้างนี้ และไม่มีชื่อของวากเนอร์ในบรรดาผู้เข้าแข่งขันแต่อย่างใด  วากเนอร์เข้าร่วมพรรคนาซีตั้งแต่ปี 1931 เคยเป็นสมาชิกหน่วย SA (เป็นกองกำลังของพรรคนาซีก่อนจะมี SS)


เส้นทางการเติบโตของวากเนอร์แทบจะขนานไปกับฟรานซ์ สแตงเกล แต่วากเนอร์จะอยู่ในลำดับที่ต่ำกว่าเล็กน้อย ที่ Hartheim ซึ่งสแตงเกลดูแลเรื่องความปลอดภัย วากเนอร์ทำหน้าที่ที่โรงเผาศพ เมื่อสแตงเกลมาเป็น ผบ. ค่ายโซบิบอร์ ได้รับยศร้อยโท วากเนอร์เป็นจ่าสิบเอกมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยรับผิดชอบดูแลคนงานยิวทาสแรงงานที่ทำหน้าที่ในค่าย  และต่อมารับหน้าที่หัวหน้าห้องรมแก็สต่อจากเฮอร์มัน ไมเคิล  เมื่อตอนที่ฮิมเลอร์มาเยี่ยมชมโซบิบอร์ ฮิมเลอร์มอบเหรียบกางเขนเหล็กให้วากเนอร์ด้วยตัวเอง


วากเนอร์ไม่ใช่พวกฆาตกรนั่งโต๊ะแบบสแตงเกล  แต่เป็นฆาตกรแบบที่เรามักจะจินตนาการ สำหรับบรรดานักโทษแล้ว วากเนอร์คือหนึ่งในอมนุษย์ที่เลวทรามที่สุดที่โซบิบอร์ เป็นซาดิสต์ที่สนุกกับการฆ่า ทั้งการแขวนขอ ทรมานทุบตี ใช้ขวาน พลั่ว มือเปล่า หรือยิงทิ้งนักโทษ  วากเนอร์จะกินข้าวไม่ลงถ้าวันไหนไม่ได้ฆ่าคน เวลาที่กำลังฆ่าใครซักคน วากเนอร์จะยิ้มไปด้วย นักโทษคนใดที่เดินแตกแถว แม้แต่แถวที่กำลังไปห้องรมแก็ส วากเนอร์จะไม่พลาดโอกาสสำราญที่จะฆ่าทิ้ง บางครั้งด้วยมือเปล่าทุบนักโทษจนตาย


หลังสงคราม วากเนอร์หลบหนีไปกับสแตงเกล เป็นเพื่อนร่วมทางกัน วากเนอร์หนีไปจนถึงบราซิลและใช้ชีวิตที่นั่นจนกระทั่งถูกเปิดโปงในปี 1978 คำร้องขอให้ส่งตัวมาดำเนินคดีของอิสราเอล โปแลนด์ ออสเตรีย และเยอรมันถูกทางการบราซิลปฏิเสธ  ในการให้สัมภาษณ์กับ BBC ในปี 1979  วากเนอร์ไม่รู้สึกสำนึกผิดใดๆ อ้างว่าทุกอย่างแค่เป็นการทำไปตามหน้าที่เท่านั้น ก็แค่งาน


ในเดือนตุลาคมปี 1980 มีผู้พบศพวากเนอร์เสียชีวิตในสภาพถูกแทง รายงานอย่างเป็นทางการบอกว่าเป็นการฆ๋าตัวตาย  แต่ที่จริงอาจเป็นการจัดฉากจากใครซักคนก็ได้





กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 21 พ.ค. 15, 03:11
การมาเยือนของฮิมเลอร์และความสำเร็จของโซบิบอร์เ็ป็นเครื่องรับประกันความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของฟรานซ์   ค่านสามารถดำเนินงานได้เต็มที่ในระยะเวลาแค่ 3 เดือนที่ฟรานซ์มาเป็น ผบ. ในจำนวนนักโทษ 250000 - 300000 คนที่ถูกสังหารที่โซบิบอร์ ประมาณ 1 ใน 3 ถูกสังหารในช่วงที่ฟรานซ์ สแตงเกลเป็นผู้บัญชาการค่าย


นักโทษยิวที่รอดชีวิตจากโซบิบอร์หลายคนจำฟรานซ์ สแตงเกลได้และมาให้การเป็นพยานในการพิจารณาคดีสแตงเกลในภายหลังระลึกว่าฟรานซ์ไม่ได้มีลักษณะของคนที่รุนแรงหรือโหดร้ายมากเท่าบรรดาผู้ช่วย พวกนักโทษจำได้ว่าฟรานซ์มักจะสวมเสื้อเชิตสีขาว มือถือแส้ม้า ท่าทางกระวนกระวายอยู่ที่ชานชาลาคอยอำนวยการนักโทษที่เพิ่งมาถึงที่กำลังถูกเปลื้อเสื้อผ้า เครื่องประดับ ทรัพย์สินก่อนส่งไปตาย ทำท่าเหมือนไม่ค่อยอยากพบปะพวกยิวมากเท่าไหร่


แสตนนิสลอว ซมาจเนอร์ หนึ่งในนักโทษที่รอดชีวิตจากโซบิบอร์ถูกส่งไปที่ค่าเมื่อเดือนพฤษภาคม 1942  ตอนนั้นซมาจเนอร์เพิ่งอายุ 14 แต่มีทักษะเป็นช่างทำทองซึ่งเป็นที่ต้องการของค่าย ซมาจเนอร์ถูกแยกจากครอบครัวเพื่อมาเป็นนักโทษแรงงานให้การว่า สแตงเกลมีลักษณะท่าทางเหมือนอาจารย์มหาวิทยาลัยมากกว่าทหาร มักจะใส่เสื้อสีขาวแต่ร้องเท้าบู๊ตมันเงาเสมอ  มีสายตาที่ดูเมตตา ยิ้มง่าย แม้จะดูไม่ค่อยฉลาด แต่ก็สุภาพและมีมารยาทกับนักโทษเสมอ


ซมาจเนอร์มีหน้าที่คอยหลอมทองที่ได้มาจากนักโทษเช่นจากฟันปลอม และคอยทำแหวนให้พวก SS สำหรับซมาจเนอร์แล้ว สแตงเกลดูค่อนข้างจะเอ็นดูเค้าเป็นพิเศษ สแตงเกลเคยแม้แต่เอาไส้กรอกมาให้ในคืนวันศุกร์วันหนึ่ง แล้วก็บอกว่า เป็นไส้กรอกสำหรับไว้ฉลองในวันซับบาท   แม้จะเป็นไส้กรอกหมูและผิดหลักศาสนาของยิว แต่ในยามสงครามและในค่ายเช่นนั้น ไส้กรอกหมูแบบนั้นถือว่าเป็นของที่หรูหรามากแล้ว


ซมาจเนอร์เคยขอร้องสแตงเกลว่าขอพบพ่อแม่และน้องสาวที่ถูกแยกกันตอนมาถึงค่ายหน่อย สแตงเกลหลบตา แต่บอกซมาจเนอร์ว่าไม่ต้องเป็นห่วง พวกนั้นสบายดี พวกนั้นได้รับเสื้อผ้าใหม่และกำลังทำงานอยู่ที่อื่น มีความสุขและได้รับการดูแลอย่างดีแม้จะต้องทำงานหนักกว่าซมาจเนอร์  สแตงเกลยังสัญญาเป็นมั่นเป็นเหมาะอีกว่า อีกไม่ช้าซมาจเนอร์จะได้พบครอบครัวแน่ๆ

แน่นอนว่าซมาจเนอร์ไม่เคยได้พบครอบครัวอีก  ซมาจเนอร์รอดชีวิตมาได้เพราะยังคงทำงานเป็นช่างทองที่โซบิบอร์จนถึงวันที่ค่ายเกิดจราจลและหลบหนีออกมาได้ เป็นหนึ่งในผู้รอดชีวิตไม่กี่คนจากโซบิบอร์


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 พ.ค. 15, 09:02
ยังคงติดตามอยู่เสมอ  ;D

หนุ่มน้อย Stanislaw Szmajzner ติดอาวุธหลังจากหลบหนีออกจากค่ายนรก Sobibor


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 พ.ค. 15, 09:06
หวังว่าไส้กรอกหมูที่เอามาให้เชลยกิน มันเป็นหมูจริงๆนะ


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 21 พ.ค. 15, 13:54
ว้ายยยยยย พ่อหนุ่มซมาจเนอร์นี่หน้าตาน่าเอ็นดูจริงๆ ด้วย มิน่า มิน่า ;D  ;D  ;D


ซมาจเนอร์มาให้การเป็นหนึ่งในพยาน ในการพิจารณาคดีของสแตงเกลในปี 1970 เรื่องที่ซมาจเนอร์ให้การมีเรื่องของไส้กรอกด้วย ซึ่งสแตงเกลแก้ตัวว่า ไส้กรอกมีเนื้อวัวปนด้วย ไม่ใช่ไส้กรอกหมูล้วนๆ  และในภาวะสงครามเช่นนั้น ไส้กรอกเป็นของหายากจริงๆ  ซึ่งผมก็เห็นด้วย ดังนั้นไม่ว่ามันจะหมูหรือไม่ ผมเห็นว่าสแตงเกลให้ไส้กรอกกับซมาจเนอร์ด้วยความเมตตาจริงๆ เพราะจะไม่ให้ก็ไม่มีใครว่า  และคงไม่ได้ให้ไส้กรอกหมูไปเพื่อจงใจแกล้งหรือขัดข้อห้ามทางศาสนา  ส่วนคำมั่นสัญญาที่ว่าจะได้พบครอบครัวก็ไม่ได้โกหก สแตงเกลรู้ดีว่าสุดท้ายซมาจเนอร์ก็ต้องถูกกำจัดอยู่ดีเมื่อหมดประโยชน์ และด้วยฐานะของสแตงเกลเองคงช่วยอะไรมากไปกว่านั้นไม่ได้ คำโกหกของซมาจเนอร์อาจเป็นการปลอบประโลมให้ความหวังก็ได้




กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 21 พ.ค. 15, 14:24
ในขณะที่โซบิบอร์กิจการดำเนินไปได้เป็นอย่างดี  ค่ายมรณะอีกแห่งที่่ตั้งขึ้นหลังโซบิบอร์ไม่นานกำลังประสบปัญหา


หมู่บ้านเทรบลิงกาเป็นหมู่บ้านเล็กๆ อยู่ทางอีสานของโปแลนด์ ห่างจากกรุงวอร์ซอร์เมืองหลวงไปประมาณ 80 กม. ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำบักซึ่งไหลผ่านสามประเทศคือเบลาลุส โปร์แลนด์ และยูเครนในปัจจุบันไปออกที่ทะเลบอลติก เป็นอีกสถานที่ที่ถูกเลือกให้เป็นที่ตั้งค่ายมรณะ  โดยค่ายเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายปี 1941 เป็นค่ายแรงงาน  และมีการขยับขยายเป็นค่ายมรณะในเดือนกรกฏาคมปี 1942 โดยมีอัมเฟร็ด อีเบิร์ลเป็นผู้บังคับการค่ายคนแรก


อีเบิร์ลเป็นอดีตแพทย์ จบแพทย์ศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอินซ์บรูคในปี 1933 และเรียนต่อเป็นจิตแพทย์เต็มตัวในปี 1935 อีเบิร์ลยินดีและเต็มใจเข้าร่วมโครงการ T-4 ในปี 1940 เป็นผู้อำนวยการฝ่ายแพทย์ในศูนย์สังหารที่เบรนเดนเบิร์ก และต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็น ผบ. ค่ายเทรบลิงกาในปี 1942


อิเบิร์ลเป็น ผบ ที่ไม่ได้เรื่อง ทะเยอทะยานแต่ไร้ความสามารถ เก่งแต่ใช้อำนาจแต่การจัดการบริหารห่วย จนค่ายเทรบลิงกาภายใต้การบริหารของอีเบิร์ลไม่ต่างจากนรก ศพนักโทษจำนวนมากถูกฝังหรือเผาไม่ทัน กองกันระเกะระกะ นักโทษจำนวนมากที่ถูกส่งมาทางรถไฟต้องรอความตายอย่างทรมานในตู้รถไฟแน่นเอี้ยดและอากาศที่ร้อนอบอ้าวไม่มีน้ำไม่มีอาหารอยู่เป็นวันๆ ก่อนจะถูกส่งไปรมแก็ส จนคริสเตียน เวิร์ธ และโอดิโล โกลบอคนิค นาซีตัวเอ้อมนุษย์อีกตนที่มีบทบาทสำคัญในการกำจัดนักโทษเข้ามาตรวจค่าย และเตะอีเบิร์ลกระเด็นไปที่อื่น  ถึงเวลาที่มืออาชีพต้องเข้ามาจัดการ และฟรานซ์ สแตงเกลคือตัวเลือกที่มีผลงานดีการันตีอยู่แล้ว


อิเบิร์ลรอดชีวิตจากสงครามมาได้ ถูกจับในปี 1948 และผูกคอตายหนีความผิดก่อนการพิจารณาคดีจะเริ่มต้นขึ้น


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 21 พ.ค. 15, 17:15
สแตงเกลได้รับคำสั่งให้ไปเป็น ผบ. ค่ายเทรบลิงก้าในปลายเดือนสิงหาคม 1942 ในการสัมภาษณ์ก่อนเสียชีวิตไม่นาน สแตงเกลเล่าว่า ในวันที่เดินทางไปถึงเป็นครั้งแรก ยังไม่ได้ไปรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ สิ่งที่เห็นน่าสยดสยองที่สุดในชีวิต เปรียบเหมือนเรื่อง Inferno ของดังเต้ (inferno ของดังเต้เป็นยังไง ฝากท่านอาจารย์ทั้งหลายด้วยครับ :) ) เพราะที่โซบิบอร์ มีเฉพาะคนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสังหารและขนศพเท่านั้นที่จะเห็นภาพฉากการตาย เพราะห้องประหารถูกซ่อนไว้อย่างดีในป่า คนนอกหรือผู้ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องจะไม่ได้เห็นอะไรเลย เจ้าหน้าที่และคนงานจำนวนมากไม่เคยเห็นคนตายหรือซากศพด้วยซ้ำ


ในวันแรกที่เดินทางไปที่เทรบลังกา สแตงเกลได้กลิ่นเหม็นเน่าโชยมาในรถตั้งแต่ระยะทางยังเหลืออีกหลายกิโลกว่าจะถึงค่าย สแตงเกลเห็นซากศพทั่วไปตามทางรถไฟตั้งแต่ระยะห่างของการขับรถจากค่าย 15-20 นาที  จากไกลหน่อยก็น้อยหน่อย ทีละศพสองศพ  แต่เมื่อรถเข้าใกล้มากขึ้น จำนวนศพที่พบก็มากขึ้นตามไปด้วย จนถึงจุดที่ชาวยิวลวจากรถไฟ มีศพเป็นร้อยกองกันอยู่ กำลังเน่าอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนอบอ้าว มีตู้รถไฟที่ยังมีทั้งคนยิวที่ยังมีชีวิต กับที่ตายแล้วขังแน่นอยู่ภายใน รอการกำจัด


เมื่อเข้าไปในค่าย มีกองเสื้อผ้า ทรัพย์สินของชาวยิวกองอยู่ระเกะระกะไปทั่ว มีศพที่รอการจัดการระเกะระกะอยู่ทั่วไปหมด  สแตงเกลเห็นยามชาวยูเครนในสภาพเมาปลิ้นอยู่กับโสเภณีในเต็นท์  บ้างเต้น บ้างร้องเพลง มีเสียงปืนดังไปทั่ว หลังจากเยี่ยมชมค่ายอยู่หลายชั่วโฒง สแตงเกลเดินทางไปวอร์ซอว์ทันทีเพื่อรายงานกับหัวหน้าตำรวจในโปแลนด์ อมนุษย์นายพลโอดิโล โกลบอคนิค


โกลบอลนิคผู้นี้ มีบทบาทชั่วร้ายมากมาย เป็นคนประเภทหาข้อดีให้จดจำไม่ได้เลย มีแต่ความชั่วล้วนๆ หลังสงครามถูกจับตัวได้และกินยาพิษฆ่าตัวตาย พระในโบสถ์ใกล้เคียงปฏิเสธที่จะให้ศพของโกลบอลนิคถูกฝังในพื้นที่โบสถ์ ต้องเอาไปฝังนอกรั้วในหลุมศพที่ไม่มีป้ายชื่อ  แต่ก็ยังมีตำนานเล่าขานว่าหมอนี่หลบหนีไปได้เช่นกัน ชะตากรรมที่แท้จริงของอมนุษย์ตนนี้จึงยังคงเป็นปริศนา


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: Diwali ที่ 22 พ.ค. 15, 00:09
แวะเอาภาพ Inferno ของ Dante วาดโดย Botticelli มาเสริมให้ครับ
ก็เป็นภาพนรกที่เต็มไปด้วยคนตายและการลงทัณฑ์ทรมาณในนรกครับ


เครดิตภาพ จาก wikipedia ครับ
http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/3/3e/Sandro_Botticelli_-_La_Carte_de_l%27Enfer.jpg (http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/3/3e/Sandro_Botticelli_-_La_Carte_de_l%27Enfer.jpg)


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 22 พ.ค. 15, 03:15
โกลบอคนิคผู้นี้นอกจากเป็นหัวหน้าตำรวจในโปแลนด์แล้วยังเป็นผู้รับผิดชอบสูงสุดของโครงการกำจัดยิวในโปแลนด์ สร้างความร่ำรวยจากการอมทรัพย์สินของชาวยิวที่ยึดมา ไม่ว่าจะเป็นเงินสด อัญมณี ฯลฯ เมื่อสแตงเกลแจ้งแก่โกลบอคนิคถึงสถานการณ์ในเทบลิงกา สิ่งที่โกลบอคนิคแสดงความสนใจที่สุดคือทรัพย์สินที่ยึดมาได้ แต่อย่างไรก็ตามโกลบอคนิคเรียกตัวเวิร์ธมาช่วยสแตงเกลจัดการค่าย เวิร์ธจึงเดินทางไปเทรบลิงกาพร้อมสแตงเกล


ในขณะที่เวิร์ธเข้าพูดคุยหารือกับอีเบิร์ล สแตงเกลเลี่ยงไปคุยกับเจ้าหน้าที่ซึ่งบอกกับสแตงเกลว่าเทรบลิงกาคือสวรรค์ การยิงนักโทษทิ้งเป็นเหมือนกีฬา มีเงินและทรัพย์สินมากเกินกว่าที่ใครจะฝันถึง สิ่งเดียวที่ต้องทำคือช่วยตัวเอง อยากขนอยากได้เท่าไหร่ก็เอา ปาร์ตี้มีทุกคืน บางคืนอีเบิร์ลใช้ให้นักโทษหยิงชาวยิวเต้นเปลือยให้ดู สแตงเกลรับฟังด้วยความสะอิดสะเอียน


SS นายหนึ่งซึ่งทำหน้าที่รวบรวมทรัพย์สินมีค่าที่ค่าย ได้ยินการสนทนาวางแผนแก้ปัญหาระหว่างสแตงเกลกับเวิร์ธ ข้อเสนอแรกของสแตงเกลคือ ให้วางถังลงไปในรางยาวที่ใช้ให้นักโทษขับถ่าย จะได้ขนไปทิ้งให้สะดวก แต่เวิร์ธไม่สนใจข้อเสนอนี้ และบอกว่า ถ้ายิวจะขับถ่ายก็ปล่อยให้ถ่ายรดตัวไป ค่อยทำความสะอาดห้องหลังเป็นศพแล้วก็พอ


เช้าวันรุ่งขึ้น อิเบิร์ลพร้อมลูกน้องอีก 4 คนถูกส่งตัวไปแนวหน้ารัสเซีย เวิร์ธโทรสั่งให้หยุดส่งนักโทษมาที่เทรบลิงกาก่อนจนกว่าการจัดการค่ายจะเรียบร้อย  ต้องใช้เวลา 2 สัปดาห์ในการจัดการค่ายให้เข้ารูปเข้ารอย มีการขยายจำนวนห้องรมแก็สเพิ่มโดยสร้างให้ดูเหมือนกระท่อมที่ใช้เป็นห้องอาบน้ำ


วันหนึ่งในช่วงกวาดล้างค่าย สแตงเกลยืนอยู่ขอบหลุมฝังศพขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยศพนักโทษ เริ่มรู้สึกชาชินกับภาพศพจำนวนมาก สแตงเกลเล่าว่าเค้าเริ่มมองไม่เห็นว่าคนเหล่านี้คือมนุษย์ แต่เป็นเหมือนสินค้าหรือสิ่งของที่ถูกส่งมากำจัดเท่านั้น ในการสัมภาษณ์ในภายหลัง ผู้สัมภาษณ์ถามสแตงเกลว่า ในจำวนเหยื่อมีเด็กด้วยเป็นจำนวนมาก เด็กพวกนั้นไม่ทำให้สแตงเกลคิดถึงลูกตัวเองบ้างหรือ ถ้าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเดิดกับลูกของตัว  สแตงเกลตอบว่า เค้าไม่เคยคิดทำนองนั้นเลย เพราะตัวแสตงเกลเองแทบจะไม่เคยสังเกตเห็นเด็กด้วยซ้ำ เห็นแต่กลุ่มคนจำนวนมากที่รอการกำจัด แต่สแตงเกลก็ยอมรับว่า เมื่อได้เห็นคนจำนวนมากเปลือยกายในห้องเปลื้องผ้ารอการประหาร คนเหล่านี้กลับมาดูเหมือนมนุษย์สำหรับสแตงเกลอีกครั้ง


ถาพสแตงเกลกับลูกสาวทั้งสอง



กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 พ.ค. 15, 09:07
สแตงเกลได้รับคำสั่งให้ไปเป็น ผบ. ค่ายเทรบลิงก้าในปลายเดือนสิงหาคม 1942 ในการสัมภาษณ์ก่อนเสียชีวิตไม่นาน สแตงเกลเล่าว่า ในวันที่เดินทางไปถึงเป็นครั้งแรก ยังไม่ได้ไปรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ สิ่งที่เห็นน่าสยดสยองที่สุดในชีวิต เปรียบเหมือนเรื่อง Inferno ของดังเต้ (inferno ของดังเต้เป็นยังไง ฝากท่านอาจารย์ทั้งหลายด้วยครับ :) )

นรกขุมหนึ่งใน ๙ ขุมของดังเต้

ภาพจาก คุณวิกกี้ (http://en.wikipedia.org/wiki/File:Sandro_Botticelli_-_Inferno,_Canto_XVIII_-_WGA02854.jpg)


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 22 พ.ค. 15, 16:56
เมื่อเป็น ผบ. ค่ายเต็มตัว สแตงเกลเปลี่ยนคำที่ใช้ในการกำจัดนักโทษเพื่อให้ดูลดความรุนแรงกว่าความเป็นจริง เช่นใช้คำว่าผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่(resettlement) สำหรับนักโทษที่ต้องกำจัดภายใน 3 ชั่วโมง ใช้คำว่าถนนสู่สวรรค์สำหรับทางเดินไปห้องแก็ส มีการใช้คำขวัญหรูๆ ติดอยู่ตามประตูต่างๆ เช่นทำงานให้อิสรภาพ(Work gives freedom)


ช่วงคริสมาส 1942 สแตงเกลเริ่มปรับปรุงสถานีรถไฟเทรบลิงกาซึ่งเป็นปลายทางสู่นรกของคนจำนวนมากให้น่าดูขึ้นและดูเป็นสถานนีสำหรับค่ายชั่วคราวที่นักโทษมาเพื่อรอเดินทางต่อ ไม่ใช่ค่ายมรณะ จากสถานีเล็กๆ ที่มีรางแยกเข้ามาสิ้นสุดที่ปลายทาง มีอาคารทื่อๆ ที่ไม่มีแม้แต่หน้าต่างที่ใช้เก็บทรัพย์สินและผมคนยิวที่รอขนย้ายออกไป สแตงเกลสั่วให้เพิ่มประตูและหน้าต่างปลอมๆ บนตัวอาคาร มีม่านสวยๆประดับหน้าต่างด้วย บนประตูปลอมมีป้ายติดเช่นบอกว่าเป็นประตูไปห้องนายสถานี  ป้ายห้องน้ำ ป้ายห้องนั่งรอขบวนรถไฟทั้งของชั้นหนึ่งและชั้นสอง ป้ายห้องพยาบาลพร้อมเครื่องหมายกาชาด มีการทำห้องขายตั๋วปลอมทั้งที่ที่นี่ไม่มีผู้โดยสารขาออก และใครที่มาไม่ต้องใช้ตั๋ว มีกระดานบอกตารางเวลารถไฟเข้าออกไปยังเมืองอื่นๆ เช่นวอร์ซอ


จากสถานีมีป้ายบอกทางที่ชี้ไปยังประตูจริงๆ ที่อยู่ไกลออกไป แต่เป็นประตูแห่งความตาย  ป้ายทางซ้ายชี้ไปยังห้องที่นักโทษจะถูกบังคับให้ถอดเสื้อผ้า ผู้หญิงถูกกร้อนผม  และส่งต่อไปยังถนนสู่สวรรค์เพื่อไปยังห้องแก็ส ป้ายทางขวาชี้ไปยังโรงพยาบาลปลอมที่มีเครื่องหมายกาชาดด้านหน้า ซึ่งที่นี่คนแก่ คนป่วย และเด็กซึ่งดูแล้วอ่อนแอเกินกว่าที่จะเดินไปห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าทางซ้ายได้จะพบกับคนที่ชุดเหมือนพยาบาล พาคนอ่อนแอเหล่านั้นไปขอบหลุมเตาที่มีไฟ จากนั้นเพชรฆาตจะยิงคนเหล่านั้นลงหลุมไปเพื่อเผา  บางครั้งเพื่อเป็นการประหยัดกระสุนปืน เด็กบางคนจะถูกโยนลงหลุมไปเพื่อเผาทั้งเป็น เพชรฆาตบางคนที่มีใจเมตตากว่าเล็กน้อยอาจจับหัวเล็กๆ ของเด็กฟาดกับกำแพงก่อน


สิ่งเดียวที่เป็นของจริงที่สถานีรถไฟเทรบลิงกาคือดอกไม้สดที่ใช้ประดับสถานี


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 22 พ.ค. 15, 17:12
ค่ายมรณะเทรบลิงกาจะประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ  ส่วนแรกที่มีหมายเลข 1 คือส่วนที่เป็นที่พักอาศัยของเจ้าหน้าที่และนักโทษที่ถูกใช้แรงงาน  ส่วนหมายเลข 2 โดยเฉพาะตรงที่ลูกศรชี้เป็นทางเข้าสู่ค่ายจากชานชลาสถานีรถไฟ เส้นประคือถนนสู่สวรรค์ เส้นทางไปห้องแก็สที่มีเครื่องหมยกากบาท  สี่เหลี่ยมข้างๆ เส้นประนั่นคืออาคารที่นักโทษจะถูกบังคับให้เปลื้องเสื้อผ้า ส่วนที่เห็นเหลืองๆ คือหลุมเผาศพ  โรงพยาบาลปลอมน่าจะอยู่ที่หลุมเล็กที่ใกล้ทางรถไฟที่สุด


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 22 พ.ค. 15, 18:02
แม้จะเต็มไปด้วยความตาย แต่สำหรับเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะ SS ที่เทรบลิงกาชีวิตมีความสำราญไม่น้อย ที่นี่มีแม้แต่สวนสัตว์สำหรับให้พวก SS มาใช้พักผ่อนหย่อนใจหลังจากเคร่งเครียดเหน็ดเหนื่อยจากงานสังหารชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วย เพียงแต่สัตว์ที่มีมีแค่หมาจิ้งจอกไม่กี่ตัวที่ได้มาจากป่าแถวนั้น


ที่มาภาพ
http://www.deathcamps.org/treblinka/zoo.html (http://www.deathcamps.org/treblinka/zoo.html)


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 22 พ.ค. 15, 19:10
กำลังพลในค่ายมรณะนอกจากสแตงเกลในฐานะ ผบ.ค่ายแล้ว ยังประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ SS ระดับรองซึ่งเป็นชาวเยอรมันหรือออสเตรียอีกราว 20-25 คน มีการ์ดซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวยูเครน และบางส่วนเป็นอดีตเชลยศึกกองทัพแดงที่มาเข้ากับฝ่ายเยอรมันอีก 80-120 คน  ส่วนแรงงานในค่ายจะเป็นนักโทษชาวยิว ประมาณ 300 คนทำหน้าที่ในห้องแก็สและที่หลุมเผาศพ  อีกประมาณ 700 คนทำหน้าที่อื่นๆ ในค่าย รวมทั้งการตัดไม้ทำฟืนเพื่อมาใช้เผาศพนักโทษด้วย   นักโทษยิวเหล่านี้มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงเพราะทนสภาพกดดันไม่ได้ ประมาณวันละ 15-20 คน  บางส่วนถูกพวกการ์ดยิงทิ้งเพราะทำงานไม่ถูกใจ  ซึ่งก็ไม่มีปัญหา เพราะสามารถคัดนักโทษใหม่ๆ  ที่แข็งแรงที่เพิ่งถูกส่งมาทดแทนได้ไม่ยาก


ภาพเหล่าเจ้าหน้าที่ค่าย


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 พ.ค. 15, 21:22
มีการใช้คำขวัญหรูๆ ติดอยู่ตามประตูต่างๆ เช่นทำงานให้อิสรภาพ(Work gives freedom)

คำขวัญนี้ในภาษาเยอรมันเขียนว่า Arbeit macht frei (http://en.wikipedia.org/wiki/Arbeit_macht_frei) ปรากฏอยู่ที่ค่ายนรกของนาซีหลาย ๆ แห่ง รวมทั้งบนประตูหน้าค่ายเอาชวิตซ์ที่คุณปู่ออสการ์ทำงานอยู่ด้วย

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=6277.0;attach=56052;image)


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: Methawaj ที่ 25 พ.ค. 15, 17:19
มาเช็คชื่อ รออาจารย์มาให้ความรู้ต่อครับ... ;D


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 25 พ.ค. 15, 18:55
แว่บไปสองสามวันโดนตามซะแล้ว  วันนี้มาดูกระบวนการขั้นตอนสำหรับจัดการนักโทษที่เทรบลิงกากันหน่อย กระบวนการต่างๆ เป็นวิทยาศาสตร์และมีเหตุผลรองรับ


ขบวนรถไฟบรรทุกชาวยิวจะนำนักโทษมาส่งแต่ละขบวนจะมีตู้สินค้าที่อัดแน่นด้วยนักโทษ 50-60 ตู้ซึ่งจะมีนักโทษรวมประมาณ 6-7000 คนมาจอดที่สถานีรถไฟหมู่บ้านเทรบลิงกาก่อน เนื่องจากจำนวนนักโทษ 6-7000 คนในแต่ละขบวนมากเกินกว่าที่ทางค่ายจะจัดการได้ทั้งหมดในครั้งเดียว ต้องค่อยๆ ทยอดจัดการเป็นส่วนๆ ตู้สินค้า 20 ตู้จะถูกเคลื่นย้ายไปยังสถานีรถไฟของค่าย ส่วนที่เหลือรออยู่ที่สถานีรถไฟของหมู่บ้าน


เมื่อขบวนรถไฟส่วนแยกมาถึงสถานีของค่าย การ์ดและผู้คุม SS จะสั่งให้นักโทษลงจากรถ จากนั้นนายทหารต้อนรับจะหลอกนักโทษว่าพวกเค้าถูกส่งมาค่ายชั่วคราวเพื่อรอการส่งต่อ และเพื่อป้องกันโรคระบาด นัโทษที่มาจะต้องอาบน้ำและเสื้อผ้าจะต้องถูกฆ่าเชื้อก่อน ทรัพย์สินมีค่าที่นักโทษพกมาจะถูกเก็บไว้ให้และจะส่งคืนหลังอาบน้ำเสร็จ จากนั้นนักโทษจะถูกแยกไปยังอาคารสำหรับเปลื้อเสื้อผ้า ผู้ชายไปอาคารทางขวาผู้หญิงและเด็กไปอาคารทางซ้าย นักโทษจะต้องวิ่งไป บรรดาผู้คุมจะบังคับให้วิ่งเพื่อต้องการให้นักโทษเหนื่อยและหายใจแรงและต้องสูดอากาศเยอะๆ ซึ่งจะมีผลดีเวลารมแก็ส เมื่อถึงอาคารเปลื้องเสื้อผ้า นักโทษจะต้องเปลือยกาย ผู้หญิงจะถูกกร้อนผมเพื่อนำผมไปใช้ต่อไป จากนั้นนักโทษจะต้องวิ่งต่อไปยังห้องอาบน้ำซึ่งไม่มีน้ำ ผู้หญิงจะถูกต้อนไปห้องอาบน้ำก่อนส่วนผู้ชายต้องเปลือยกายรออยู่ในอาคารจนกว่าการประหารผู้หญิงและเด็กจะเสร็จสิ้น  เมื่อนักโทษเข้าไปในห้อง ประตูห้องจะถูกล็อค เครื่องยนต์ด้านนอกเริ่มทำงานปล่อยแก็สคาร์บอนมอนอกไซด์เข้าไปในห้อง หลังจากประมาณ 30 นาทีนักโทษส่วนใหญ่จะเสียชีวิต  ศพจะถูกเคลื่อนย้ายไปกำจัดซึ่งในระยะแรกใช้การฝัง แต่ต่อมาใช้การเผาในหลุมขนาดใหญ่   การที่ต้องประหารผู้หญิงและเด็กก่อนไม่ใช่ด้วยมนุษยธรรมแต่อย่างใด แต่เพราะผู้หญิงมีไขมันในร่างกายมากกว่า เป็นเชื้อเพลิงที่ดีกว่าจึงเหมาะที่จะเอาศะไว้ด้านในหลุมเพื่อให้ไขมันในศพเ็นเชื้อเพลิงเผาศพผู้ชายที่เผาไหม้ยากกว่า


ในตอนเริ่มต้นอุตสาหกรรมประหารชีวิต  นักโทษ 20 ตู้รถไฟจะใช้เวลากำจัดทั้งหมดประมาณ 3-4 ชั่วโมง แต่เมื่อบรรดาผู้คุมมีประสบการณ์มากขึ้น กระบวนการกำจัดลดลงเหลือแค่ประมาณ 1 -2 ชั่วโมงเท่านั้น


ภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 1942 โดย  Hubert Pfoch ทหารเยอรมันเชื้อสายออสเตรียขณะกำลังเดินทางไปแนวรบตะวันออกที่สถานีรถไฟ Siedlce ปลายทางรถไฟขบวนนี้คือเทรบลิงกา


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 25 พ.ค. 15, 19:22
ในขณะที่กระบวนการฆ่ากำลังดำเนินไป นักโทษแรงงานประมาณ 50 คนก็กำลังจัดการเก็บกวาดบนตู้รถไฟที่ขนนักโทษมา ศพของนักโทษที่เสียชีวิตระหว่างการเดินทางและสิ่งสกปรกต่างๆ จะถูกเก็บกวาดออกไป ตู้รถไฟทั้ง 20 ตู้จะถูกเคลื่อนย้ายออกไปเพื่อรองรับอีก 20 ตู้ที่รออยู่ที่สถานีรถไฟของหมู่บ้าน  ทีมนักโทษแรงงานอีก 50 คนจัดการกับบรรดาทรัพย์สินของมีค่าที่เหยื่อนำมาโดยขนไปยังอาคารสำหรับแยกของโดยทีมนักโทษอีกประมาณ 100 คน ซึ่งที่นี่เสื้อผ้าของนักโทษตรวจหาสิ่งของมีค่าที่ซ่อนไว้  พาสปอร์ตหรือบัตรประจำตัวของเหยื่อจะถูกทำลาย ตราสัญลักษณ์ชาวยิวที่ถูกบังคับให้ติดไว้บนเสื้อผ้าจะถูกเลาะออกไป  ส่วนทีมนักโทษอีกชุดในพื้นที่สังหารจะตรวจศะของเหยื่อเพื่อหาฟันทองก่อนขนศพไปเผา


ค่ายเทรบลิงกาเริ่มต้นกำจัดนักโทษชาวยิวในวันที่ 23 กรกฏาคม 1942 โดยนักโทษชุดแรกเป็นนักโทษยิวจากเก็ตโต้ในกรุงวอร์ซอ เมืองหลวงของโปแลนด์ จนถึงปลายเดือนกันยายน 1942  นักโทษประมาณ 366,000 คนถูกกำจัดที่นี่ โดยส่วนใหญ่เป็นชาวยิวโปแลนด์จากวอร์ซอและพื้นที่รอบๆ  นอกจากนี้ยังมีนักโทษจากเขต Radom 337,000 คนและจากเขต Lublin อีกประมาณ 35,000 ถูกสังหารในช่วงฤดูหนาวปี 1942-1943 ระหว่างพฤศจิกายน 1942 จนถึง มกราคม 1943 นักโทษอีกราว 107,000 จากเขต Bialystok ถูกส่งมากำจัดที่เทรบลิงกา


นักโทษยิวจากนอกโปแลนด์ก็ถูกกำจัดเช่นกัน นักโทษยิวจากสโลวาเกียประมาณ 7,000 คนถูกส่งมาที่นี่ และยังมียาวยิวจากกรีซ บัลกาเรีย มาซีโดเนีย และยูโกสลาเวียถูกส่งมากำจัดด้วยเช่นกัน นอกจากชาวยิวแล้ว ยังมีพวกยิปซีอีกประมาณสองพันคน รวมๆ แล้วมนักโทษราว 900,000 คนถูกกำจัดที่นี่


ค่ายดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพจนประมาณเดือนเมษายน 1943 ปริมาณนักโทษที่ถูกส่งมามีน้อยลงเรื่อยๆ เพราะชาวยิวในโปแลนด์และรอบๆ ถูกกำจัดไปเกือบหมดแล้ว  และชาวยิวจากที่อื่นๆ ในยุโรปถูกส่งไปกำจัดที่ค่ายมรณะอื่นๆ ที่เคลื่อนย้ายนักโทษได้สะดวกกว่า


ภาพหินอนุสรณ์สถานบริวเวณที่เคยเป็นที่เผาศพนักโทษที่เทรบลิงกา


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 26 พ.ค. 15, 20:25
อย่างที่เคยบอกไปว่าสแตงเกลสั่งให้ปรับปรุงสถานีรถไฟของค่ายให้ดูเหมือนสถานีรถไฟจริงๆ ที่มีกิจกรรมต่างๆ เพื่อหลอกนักโทษ แต่แล้ว รอง ผบ. ค่ายเคิร์ท ฟรานซ์ ก็สังเกตเห็นว่า สถานีรถไฟแห่งนี้ไม่มีนาฬิกา จึงสั่งให้ช่างไม้ทำนาฬิกาปลอมๆ ขึ้นมา บอกเวลาไว้ที่ 3 นาฬิกา ทำให้สถานีรถไฟดูสมจริงขึ้น


เคิร์ท ฟรานซ์ผู้นี้เป็นศิษย์เก่า T-4 เช่นกัน ไต่เต้าขึ้นมาจากชั้นประทวนตำแหน่งกุ๊กจนเป็นรอง ผบ. ค่ายเทรบลิงกา ได้รับสมญาว่าตุ๊กตาเพราะหน้าอ่อน แต่นอกจากหน้าแล้ว อย่างอื่นไม่อ่อนเลยโดยเฉพาะใจ หน้าที่หลักของเคิร์ท ฟรานซ์คือบังคับบัญชาพวกการ์ดชาวยูเครน เคิร์ท ฟรานซ์เป็นพวกซาดิสต์โรคจิตอีกคนในค่าย  นอกจากสนุกสนานกับการสำเร็จโทษยิงทิ้งนักโทษเป็นประจำแล้ว เคิร์ทยังเลี้ยงหมาพันธุ์เซนต์ เบอร์นาร์ดไว้ตัวหนึ่งชื่อเจ้าบาร์รี่  เจ้าบาร์รี่ถูกฝึกให้กัดนักโทษ โดยจ้องกัดเฉพาะที่ลับของนักโทษชาย และขย้ำบั้นท้ายนักโทษด้วย  เมื่อพบนักโทษชายที่เป็นเหยื่อ เคิร์ทจะสั่งให้เจ้าหมาร่างยักษ์กัดที่เป้านักโทษ ขยุ้มอวัยวะชิ้นนั้นออกมา  จากนั้นค่อยสำเร็จโทษนักโทษที่ทุกข์ทรมานด้วยปืน


เคิร์ท ฟรานซ์เป็นผบ.ค่ายเทรบลิงกาต่อจากสแตงเกล รอดชีวิตจากสงคราม จนกระทั่งปี 1959 เคิร์ท ฟรานซ์ถูกเปิดโปงและถูกดำเนินคดีข้อหาอาชญากรสงครามมีส่วนร่วมฆ่าคนมากกว่า 300,000 คน แม้จะอ้างว่าตลอดเวลาตนไม่เคยฆ่าใครและเคยทำร้ายนักโทษหนเดียวแต่ศาลไม่เชื่อ  ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต มีหลักฐานชิ้นหนึ่งคืออัลบั้มรูประหว่างที่เคิร์ท ฟรานซ์อยู่ที่เทรบลิงกา เขียนไว้ว่า เป็นปีที่ดีที่สุดในชีวิต  เคิร์ท ฟรานซ์ถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำในปี 1993 เพราะปัญหาสุขภาพ และตายในปี 1998


ภาพเคิร์ท ฟรานซ์กับเจ้าบาร์รี่


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 27 พ.ค. 15, 16:16
เทบลิงกาก็เหมือนค่ายนาซีอื่นๆ คือมีสภาพและเงื่อนไขให้คนที่มีสัญชาตญาณโหด ดิบ เถื่อน บ้าอำนาจ และเข่นฆ่าผู้คนได้โดยไม่มีความผิด สามารถแสดงสัญชาตญาณดิบเถื่อนเหล่านั้นที่ในชีวิตปกติไม่สามารทำได้ต่อนักโทษได้โดยไม่มีจำกัด


การ์ด SS ที่ชื่นชอบฆ่านักโทษเด็กมากที่สุดคงไม่มีใครเกิด เซป หรือ Josef Hirtreiter ที่บ่อยครั้งไม่สามารถรั้งรอที่จะฆ่าเด็กๆ ที่ห้องแก็สได้ ก็จะจับขาเด็กๆ วัยเพยงแค่ขวบหรือสองขวบที่เพิ่งมาถึง ดึงออกจากอกพ่อแม่ แล้วฟาดหัวเด็กเข้ากับตู้รถไฟให้ตาย เซปเป็นผู้คุมที่เทรบลิงกาคนแรกที่ถูกดำเนินคดีหลังสงครามในปี 1951 และถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต แต่ถูกปล่อยตัวออกมาเนื่องจากสุขภาพแย่ในปี 1977 และตายในอีก 6 เดือนต่อมา


การ์ดชาวยูเครน ฟีโอดอร์ ฟีโดเรนโกเป็นอีกคนที่ชอบใช้แส้เฆี่ยนตีนักโทษที่กำลังวิ่งไปที่ห้องแก็ส ใครวิ่งไม่ไหวนั่งลงขอความเมตตาจะถูกยิงทิ้ง  หลังสงครามฟีโดเรนโกสามารถหลบหนีไปใช้ชีวิตในสหรัฐจนกระทั่งถูกเปิดโปงและถูกถอนสัญชาติ ถูกส่งตัวไปโซเวียตในปี 1984 และถูกประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าในข้อหาทรยศต่อชาติเมื่อปี 1987


อิวาน มาเชนโก การ์ดยูเครนที่ทำหน้าที่ในห้องแก็ส หนุ่มผมสั้นสีทองตาสีเทาท่าทางอ่อนโยน พร้อมจะใช้ท่อแก็สยาวฟาดหน้านักโทษคนใดก็ตามที่บังอาจมองหน้า มีความสุขกับการทรมานนักโทษทั้งนักโทษที่ถูกส่งมาตายและนักโทษแรงงานที่ทำหน้าที่เคลื่อนย้ายศพ  สนุกกับการตัดหูเหล่านักโทษแรงงาน บางครั้งอิวานจับนักโทษหญิงมาผ่าท้องทั้งเป็น และบังคับนักโทษชายให้ร่วมเพศกับศพนั้นก่อนที่จะสังหารทั้งหมด อิวานได้รับสมญาว่า Ivan the Terrible ส่วนชะตากรรมของอิวานจอมโหดคนนี้หลังสงครามไม่เป็นที่แน่ชัด หลักฐานหลายชิ้นบ่งชี้ว่าอิวานผู้นี้ ในภายหลังอาจจะเป็นอิวาน เดมจานจุค หรือ (John Demjanjuk) แต่พิสูจน์ไม่ได้และเจ้าตัวปฏิเสธ เดมจานจุคตายในปี 2012



ภาพแรก เซปคือนาซีคนขวาสุดในภาพ  ภาพที่สอง ฟีโดเรนโก และภาพที่สามเชื่อว่าคืออิวานจอมโหด


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 28 พ.ค. 15, 01:30
แม้จะถูกปกปิดไว้เป็นความลับสุดยอด เร่องของค่ายมรณะเทรบลิงกาก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เป็นที่รับรู้กันในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2


แจนเคียล เวียนิค (Jankiel Wiernik) ชาวยิวโปแลนด์อายุ 53 ปีแล้วตอนที่ถูกส่งมาที่เทรบลิงกาในเดือนสิงหาคม 1942 แทนที่จะถูกสังหารทันทีที่มาถึง เวียนิคถูกเลือกให้เป็นนักโทษแรงงาน ทำหน้าที่ย้ายศำจากห้องแก็สไปยังหลุมฝัง(ต่อมาภายหลังการกำจัดศพเปลี่ยนมาเป็นเผาแทน)  เวียนิคได้เป็นพยานเห็นความรุนแรงป่าเถื่อนที่นักโทษถูกกระทำหลายครั้ง  ได้เห็นเด็กๆ ที่ถูกพรากออกจากอกแม่แล้วสังหาร  เห็นเด็กๆ ที่ถูกโยนลงไปในกองไฟทั้งเป็น เห็นเด็กที่ยืนเท้าเปล่ารอคอยความตายบนพื้นที่เย็นเป็นน้ำแข็งในหน้าหนาว และได้เห็นความกล้าหาญของนักโทษหญิงคนหนึ่งที่แย่งปืนจากการ์ดแล้วก็ยิงการ์ด 2 คนก่อนที่ตัวจะถูกสำเร็จโทษ


เนื่องจากมีฝีมือทางช่างไม้ เวียนิคจึงถูกย้ายไปเป็นช่างไม้ในค่าย ทำหน้าที่ก่อสร้างอาคารต่างๆ ในค่าย ได้มีโอกาสเดินทางระหว่างส่วนต่างๆ ของค่าย ทำให้ได้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานงานในการลุกฮือของคนงานค่ายในปี 1943 และหลบหนีออกมาจากเทรบลิงกาในการจราจลนั้น  สามารถหนีไปจนถึงวอร์ซอ ได้รับความช่วยเหลือจากนายจ้างเก่า จนอยู่รอดมาได้จนหลังสงครามเพราะหน้าตาที่ดูเป็นอารยัน 


ในปี 1944 ด้วยการสนับสนุนจากกลุ่มยิวใต้ดินในวอร์ซอ เวียนิคได้เขียนเล่าเรื่องราวที่ตนพบเห็นที่เทรบลิงกา ในหนังสือชื่อ A Year in Treblinka เล่าเรื่องราวประสบการณ์ที่ได้พบเห็น แม้บางเรื่องถูกตั้งข้อสงสัย เช่นจำนวนนักโทษที่ถูกยัดเข้าไปในห้องแก็สแคบๆ ดูจะมากเกินจริง หรือเรื่องเล่าว่าเมื่อไปขนศพนักโทษ บางศพแขนขาหลุดออกจากร่าง  แต่ก็มีส่วนที่น่าสะเทอนใจมากมายเช่นศพแม่ที่อยู่ในท่ามีกำลังปกป้องลูก หรือศะชาวยิวในห้องแก็สที่ตายในท่ายืนเพราะความคับแคบของห้องและนักโทษจำนวนมากที่ถูกสังหาร


หนังสือของเวียนิคได้รับการพิมพ์และถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษพิมพ์ในอังกฤษและอเมริกา หลังสงครามเวียนิคย้ายไปอิสราเอลและต่อมาอพยพไปอยู่อิสราเอล เวียนิคมีโอกาสให้การเป็นพยานในการดำเนินคดีนาซีหลายตนรวมถึงอดอล์ฟ ไอชมันน์ด้วย เวียนิคที่ทนทุกข์กับอาการบาดเจ็บในใจจากความรู้สึกผิดที่รอดชีวิตมาได้  เวียนิคเสียชีวิตในปี 1972 เมื่ออายุ 83 ปี


ใครสนใจอ่าน A Year in Treblinka สามารถไปตามอ่านได้ที่  http://www.zchor.org/treblink/wiernik.htm (http://www.zchor.org/treblink/wiernik.htm)


ภาพแจนเคียล เวียนิค


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 28 พ.ค. 15, 18:33
ในเรื่องเล่าของแจนเคียล เวียนิค มีเรื่องของหญิงเยอรมันผู้หนึ่งและบุตรชายสองคนที่บังเอิญขึ้นรถไฟผิดขบวน


ในการขนนักโทษมาที่เทรบลิงกานั้น ถ้าเป็นนักโทษยิวโปแลนด์ที่ถูกส่งมาจากเก็ตโตต่างๆ จะถูกขนมาทางตู้สินค้าที่ใช้ขนสัตว์  แต่สำหรับนักโทษจากที่อื่นๆ เช่นจากบัลกาเรีย ฮอลแลนด์ หรือเยอรมันเองมักจะมาโดยตู้โดยสารธรรมดา นักโทษเหล่านี้มักจะมีฐานะดี และด้รับอนุญาตให้ขนทรัพย์สินที่ต้องการมาด้วยได้ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร หรือข้าวของอื่นๆ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ภายในเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง นักโทษเหล่านี้ก็จะกลายเป็นอดีตไป


ในขบวนรถหนึ่งที่ขนชาวยิวเยอรมันซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหารผ่านศึกเยอรมันในสงครามโลกครั้งแรก มีผู้หญิงเยอรมันแท้คนหนึ่ง หน้าตาดีผมสีทอง เดินทางพร้อมลูกชาย 2 คน บังเอิญขึ้นรถไฟผิดขบวน หลงมาจนถึงเทรบลิงกา จนกระทั่งเหล่าการ์ดสั่งให้ผู้ที่เดินทางมาถึงถอดเสื้อผ้าออก เธอจึงแสดงตัวว่าเป็นคนเยอรมัน พร้อมยื่นเอกสารให้ดู  ไม่เพียงแต่มีเอกสาร เธอยังยืนยันด้วยว่าลูกชายทั้งสองของเธอไม่ได้ขลิบแบบยิวด้วย ทั้งสามต่างตกอกตกใจกับบรรยากาศน่ากลัวรอบตัว ลูกชายทั้งสองสั่นเทาด้วยความกลัว ส่วนแม่ก็น้ำตานองหน้าพยายามปลอบโยนลูกทั้งสอง


แต่เนื่องจากทั้งสามได้เห็นมากเกินไป  ค่ายมรณะเป็นความลับสุดยอดแม้แต่สำหรับคนเยอรมันเอง ถ้าปล่อยเธอออกไปเธออาจไปเล่าให้คนอื่นฟังถึงสิ่งที่พบเจอได้  ดังนั้นแม้จะเป็นคนเยอรมัน อารยันแท้ๆ ก็ไม่สามารถปล่อยออกไปได้ ทั้งสามจึงประสบชะตากรรมเช่นเดียวกันกับนักโทษยิว  ต้องหายสาบสูญไปเป็นกองเถ้าถ่าน


ในบรรดาชาวยิวที่ถูกสังหารที่เทรบลิงกา มีพอลลิน โรซ่าและมารีน้องสาวของซิกมันด์ ฟรอยด์ เจ้าของทฤษฏีจิตวิเคราะห์ที่โด่งดังรวมอยู่ด้วย ทั้งคู่อยู่ในวัย 80 กว่าแล้ว เมื่อถูกส่งจากเวียนนามาที่เทรบลิงกาซึ่งทั้งสามเข้าใจว่าเป็นค่ายแรงงาน หนึ่งในสามเดินเข้าไปหาเคิร์ท ฟรานซ์เพื่อบอกว่า เนื่องจากเธอทั้งสามแก่มากแล้วแถมยังสุขภาพไม่ดี ดังนั้นขอความกรุณาให้ฟรานซ์ช่วยหางานที่เบาๆ หน่อยให้คนแก่เช่นเธอ  เคิร์ท ฟรานซ์หัวเราะแล้วบอกว่า ต้องมีเรื่องเข้าใจอะไรผิดแน่ๆ พวกเธอน่าจะถูกส่งมาเพราะความผิดพลาด ไม่ต้องเป็นห่วง เดี๋ยวจะส่งทั้งสามกลับไปที่เวียนนาด้วยรถไฟขบวนแรกแน่ๆ แต่ขอให้ทั้งสามอาบน้ำให้เสร็จก่อน


ซิกมันด์ ฟรอยด์มีน้องสาว 4 คน ทั้งหมดอยู่ในวัย 80 กว่าแล้วเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มต้น พอลลิน โรซ่าและมารีถูกกำจัดที่เทรบลิงกา ส่วนน้องสาวอีกคนอดอลฟินถูกกำจัดที่ค่ายอื่น ภาพล่างคือคุณย่าทั้ง 4


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 29 พ.ค. 15, 17:29
แล้วท่ามกลางความทารุณกรรมต่างๆ ในค่าย  สแตงเกลในฐานะผู้บัญชาการของค่ายไปอยู่ตรงไหนหรือทำอะไร  สแตงเกลเองมีส่วนเกี่ยวข้องหรือลงมือทำทารุณกรรมนักโทษมากแค่ไหน?


ในเรื่องเล่าของเวียนิค อ้างถึงเหตุการณ์หนึ่งที่เค้าถูกเฆี่ยนด้วยแส้ม้าจากนายทหาร SSยศร้อยเอกคหนึ่งที่เค้าไม่ทราบชื่อ  ในเทรบลิงกา ผบ. ค่ายซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดมียศแค่ร้อยเอก SS เท่านั้น  นี่อาจจะเป็นสแตงเกลก็ได้ เพราะที่ซอบิบอร์มีนักโทษที่จำสแตงเกลได้ว่าเค้ามักสวมเสื้อสีขาว รองเท้ามันวับ พกแส้ม้ารอต้อนรับนักโทษอยู่เป็นประจำ ดังนั้นร้อยเอกคนที่ใช้แส้เฆี่ยนเวียนิคอาจจะเป็นสแตงเกลก็ได้ แต่ไม่มีเรื่องเหล่าหรือคำให้การเกี่ยวกับการกระทำของสแตงเกลที่เรียกได้ว่าซาดิสต์ ไม่มีพยานที่ยืนยันได้ว่าเคยเห็นสแตงเกลสังหารนักโทษด้วยมือตัวเอง  สแตงเกลเป็นนักฆ่าประเภทฆาตกรนั่งโต๊ะแบบเดียวกับอดอล์ฟ ไอชมันน์  คนพวกนี้ไม่ลงมือเอง แต่บริหารจัดการ


ไซมอน วีเซนธัล นักล่านาซีชื่อดังเล่าว่า เค้าได้ยินชื่อของสแตงเกลครั้งแรกในปี 1948 จากการดูรายชื่อรายชื่อนายทหาร SS ที่ได้รับการประดับเหรียญกล้าหาญซึ่งจะมีการระบุวีรกรรมที่ทำให้ได้รับเหรียญด้วย นายทหารส่วนใหญ่ได้รับเหรียญจากความกล้าหาญ เช่น แสดงความกล้าในหน้าที่ ช่วยทหารที่บาดเจ็บท่ามกลางการระดมยิงอย่างหนัก สามารถเอาตัวรอดจากสถานการณ์คับขันได้ แต่ก็มีบางรายชื่อที่ได้รับเหรียญด้วยเหตุผลแปลกๆ คือ "ทำภารกิจลับให้กับอาณาจักไรท์" ตามด้วย "สำหรับความกดดันทางจิตวิทยาจากภารกิจ" ซึ่งความหมายที่แท้จริงจะหมายถึง "สำหรับความสำเร็จในการล้างเผ่าพันธุ์"  ซึ่งสแตงเกลเป็นหนึ่งในรายชื่อผู้ได้รับเหรียญด้วยเหตุผลเช่นนี้ นอกจากเหรียญกล้าหาญกางเขนเหล็ก  สแตงเกลยังได้รับรางวัลผู้บังคับการค่ายที่ดีที่สุดในโปแลนด์ด้วย


สแตงเกลคือคนกลางในภาพ



กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 29 พ.ค. 15, 18:09
ที่เทรบลิงกา สแตงเกลจะพยายามเลี่ยงไม่พบปะหรือยุ่งเกี่ยวกับนักโทษยิวทั้งหลาย หน้าที่ต้อนรับนักโทษที่เดินทางมาถึงเป็นของรอง ผบ. เคิร์ท ฟรานซ์  ส่วนหน้าที่ในแดนประหารหรือที่เผาศพก็ไม่ใช่ที่ที่สแตงเกลต้องเข้าไปสั่งการด้วยตัวเองอยู่แล้ว  ดังนั้นนักโทษส่วนใหญ่ ทั้งนักโทษที่ถูกส่งมากำจัดหรือแม้แต่นักโทษแรงงานในค่ายเอง น้อยคนนักที่จะเคยพบเห็นหรือรู้จักสแตงเกล


แต่แม้ว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับนักโทษ แต่ก็มีนักโทษจำนวนหนึ่งที่ทำหน้าที่รับใช้เจ้าหน้าที่ เช่นเป็นพ่อครัวหรือคนรับใช้ทำความสะอาด  ในจำนวนนี้มีชาวยิวจากเวียนนาคนหนึ่งชื่อเบลา(Blau) ซึ่งทำหน้าที่พ่อครัวให้สแตงเกล เพราะสแตงเกลจะปราณียิวจากออสเตรียมากเป็นพิเศษ ทำให้สแตงเกลได้พูดคุยกับเบลาและภรรยาเสมอ สแตงเกลเล่าว่าเค้ามักจะช่วยเบลาและภรรยาเสมอถ้าทำได้(ในแบบของสแตงเกล)


วันหนึ่ง เปลามาหาสแตงเกลด้วยน้ำตานองหน้า เพื่อขอความช่วยเหลือ  เช้าวันนั้นบิดาวัยแปดสิบของเบลาถูกส่งมาที่เทรบลิงกา  มีอะไรที่สแตงเกลพอจะช่วยได้บ้างไหม

สแตงเกลตอบด้วยน้ำเสยงนุ่มนวล  "แน่นอนว่าต้องช่วย เบลา แต่เบลาก็ต้องเข้าใจด้วยนะ ว่ามันเป็นไปไม่ได้สำหรับผู้ชายวัยแปดสิบ"

เบลาเข้าใจดีว่าพ่อของเค้าคงไม่สามารถถูกส่งไปทำงานและเป็นภาระที่สิ้นเปลืองในสายตาของนาซีถ้าต้องเก็บไว้  เลยขอกับสแตงเกลว่า เป็นไปได้ไหมที่จะขอให้ส่งพ่อของเค้าไปที่โรงพยาบาล(ปลอม)เพื่อจะถูกประหารที่นั่น แทนที่จะต้องปล่อยให้คนแก่วัย 80 วิ่งเปลือยไปที่ห้องแก็สเอง และพอจะเป็นไปได้ไหมถ้าเบลาจะขอพาพ่อมาที่ห้องครัวและให้อาหารก่อนซักมื้อ   สแตงเกลบอกเบลาว่า ให้ทำสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดได้เลย อย่างเป็นทางการแล้วสแตงเกลไม่รับรู้อะไรทั้งนั้น แต่อย่างไม่เป็นทางการให้เบลาไปบอกคาโป (คือตำรวจยิวที่ทำหน้าที่ในค่าย มีศักดิ์ดีกว่าคนงาน แต่ต่ำกว่าการ์ดยูเครน) ว่าสแตงเกลอนุญาต


บ่ายวันนั้น สแตงเกลพบเบลาที่มารออยู่ น้ำตานองหน้าเพื่อแสดงความขอบคุณสแตงเกล เบลามีโอกาสให้อาหารพ่อมื้อสุดท้ายก่อนที่จะพาพ่อไปที่โรงพยาบาล  เรื่องทั้งหมดจบแล้ว ขอขอบคุณท่านผู้บังคับการมาก สแตงเกลบอกเบลาว่า นายไม่จำเป็นต้องมาขอบคุณหรอก แต่ถ้าอยากขอบคุณก็ได้


เรื่องเล่าเกี่ยวกับเบลานี้ สแตงเกลเล่าให้จิตต้า เซเรนี นักข่าวที่สัมภาษณ์สแตงเกลในปี 1971 เรื่องเล่าถึงความใจดีของตัวเองแบบนี้ทำให้เซเรนีสะเทือนใจจนถึงกับต้องหยุดสัมภาษณ์ ออกจากห้องไปและต้องไปสงบสติอารมณ์ถึง 2 ชั่วโมงก่อนที่จะกลับมาสัมภาษณ์สแตงเกลต่อได้

จิตตา เซเรนีได้สัมภาษณ์นาซีและฆาตกรหลายคน เธอเพิ่งเสียชีวิตไปในปี 2012


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 02 มิ.ย. 15, 02:14
เซเรนีสัมภาษณ์สแตงเกลขณะถูกจองจำอยู่ที่เรือนจำในดุสเซลดอร์ฟเมื่อปี 1971 เพื่อต้องการค้นหาว่าเบื้องหลังระบบความคิดของคนอย่างสแตงเกลว่าทำไมจึงทำงานแบบนี้ได้


"ก็พื่อความอยู่รอด ทำไปเพื่อความอยู่รอด  สิ่งที่ผมจำเป็นต้องทำคือจำกัดบทบาทในสิ่งที่ทำ  ในความคิดของผมที่ถูกสอนมาจากโรงเรียนตำรวจคือ การประกอบอาชญากรรมจะต้องประกอบด้วย 4 ปัจจัย นั่นคือผู้กระทำ เหยื่อ การกระทำ และเจตนา ถ้าสิ่งใดสิ่งหนึ่งในสี่สิ่งนี้มีไม่ครบ ก็จะไม่ถือว่าเป็นอาชญากรรม"


"ชั้นไม่เข้าใจว่าหลักการณ์นี้เอามาใช้กับกรณีของคุณได้อย่างไร" เซเรนีแย้ง


"นี่คือสิ่งที่ผมมต้องการอธิบายให้คุณเข้าใจ ทางเดียวที่คุณสามารถอยู่กับมันได้คือเปลี่ยนวิธีคิด เมื่อทำแบบนี้แล้ว ผมสามารถนำหลักการนี้มาใช้ได้ เมื่อผู้กระทำคือรัฐบาล เหยื่อคือชาวยิว การกระทำคือการรมแก็ส แต่ผมสามารถบอกตัวเองว่าสำหรับผม ไม่มีเจตนา"



อีกครั้งหนึ่งในการซักถาม เซเรนีถามสแตงเกลว่า อะไรคือเหตุผลของการกำจัดยิว


"พวกนั้นต้องการเงินของชาวยิว" สแตงเกลตอบ

"คุณต้องพูดเล่นแน่" เซเรนีอุทาน "พวกคนยิวไม่ได้รวยทุกคน พวกนั้นเป็นแสนๆ มาจากเก็ตโต้ในยุโรปตะวันออก พวกนั้นไม่มีอะไรเลย"

"ไม่มีใครไม่มีอะไรเลย" สแตงเกลตอบ "ทุกคนต้องมีบางสิ่ง"

ถ้านี่เป็นการยืนยันเหตุผลของสแตงเกล มีเอกสารที่ลงชื่อโดยสแตงเกลแสดงรายการสิ่งของที่ถูกส่งออกจากเทรบลิงกาไปยังกองบัญชาการ SS ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 1942 ถึง 2 สิงหาคม 1943

ผมผู้หญิง 25 ตู้รถไฟ
เสื้อผ้า 248 ตู้รถไฟ
รองเท้า 100 ตู้รถไฟ
ของแห้ง 22 ตู้รถไฟ
ยา 46 ตู้รถไฟ
เครื่องนอนและผ้าห่ม 254 ตู้รถไฟ
เครื่องใช้ต่างๆ 400 ตู้รถไฟ
เงิน 12 ล้านรัสเซียรูเบิล
เงิน 140 ล้านโปแลนด์
เงิน 400,000 ปอนด์
เงิน 2.8 ล้านอเมริกันดอลลาร์
นาฬิกาทองคำ 400,000 เรือน
แหวนแต่งงานทองคำน้ำหนัก 145 ตัน
เพชรขนาดเกินเม็ดละ 2 กะรััต 4,000 กะรัต
เหรียญทองโปแลนด์มูลค่าต่างๆ รวม 120 ล้าน
สร้อยไข่มุกหลายพันเส้น

สแตงเกลยังยืนยันต่อด้วยว่า เรื่องเกี่ยวกับชาติพันธุ์เป็นเรื่องรอง จุดประสงค์หลักคือทรัพย์สิน

"งั้นเมื่อพวกนาซีต้องการฆ่ายิวอยู่แล้ว ทำไมต้องทำทารุณขนาดนั้นและต้องโฆษณาชวนเชื่อสร้างความเกลียดชังขนาดนั้น"

"ก็เมื่อต้องทำตามนโยบาย ดังนั้นก็มีความจำเป็นต้องอ้างความชอบธรรม" แสตงเกลตอบ

"เอาหละ แล้วคุณหละ คุณเกลียดชาวยิวไหม"

"ไม่เลย ผมไม่เคยปล่อยให้ใครควบคุมผม หรือบังคับให้ผมเกลียดใคร"


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 02 มิ.ย. 15, 03:47
กิจการสังหารชาวยิวที่เทรบลิงกาดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ อดีตนักโทษผู้รอดชีวิตจากเทรบลิงกา ริชาร์ด กลาซาร์บรรยายไว้ว่า เฉพาะการขาดแคลนขบวนรถไฟที่ใช้ขนนักโทษมาเท่านั้น เพราะพวกเยอรมันเองต้องใช้รถไฟในการลำเลียงยุทโธปกรณ์ ที่ทำให้จำกัดจำนวนนักโทษที่ถูกกำจัดได้ เฉพาะแค่ที่เทรบลิงกาสามารถจัดการชาวยิวหกล้านคนได้สบาย และอาจจะได้มากกว่านั้นขอเพียงแต่มีรถไฟมากพอที่จะขนนักโทษมา และค่ายมรณะเฉพาะแค่ในโปแลนด์เพียงลำพังก็สามารถจะกำจัดได้หทดทั้งพวกโปล รัสเซีย พวกยุโรปตะวันออก และพวกต่ำกว่ามนุษย์ทั้งหลายที่นาซีวางแผนจะกำจัดให้หมดเมื่อชนะสงคราม


อย่างไรก็ตาม ในช่วงกลางปี 1943 ขบวนรถไฟขนนักโทษมากำจัดเริ่มมีน้อยลง สาเหตุมาจากทั้งขบวนรถไฟที่จะใช้ขนนักโทษขาดแคลนและนักโทษยิวในโปแลนด์ถูกกำจัดไปเกือบหมดแล้ว บรรดานักโทษแรงงานเริ่มเล็งเห็นแล้วว่าพวกตนจะเป็นพวกที่ถูกกำจัดต่อไปเมื่อหมดประโยชน์  จึงเริ่มวางแผนที่จะยึดค่ายกัน โดยมีแกนนำเป็นชาวยิวที่เคยเป็นทหารในกองทัพโปแลนด์ แผนทั้งหมดถูกเก็บเป็นความลับรู้กันเฉพาะแกนนำไม่กี่คน


ริชาร์ด กลาซาร์รอดชีวิตจากเทรบลิงกา ต่อมาใช้ชีวิตอยู่ในเชคโกสโลวาเกียช่วงที่อยู่ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์อีก 20 ปีจนกระทั่งหนีไปสวิสเซอร์แลนด์ในปี 1968 เสียชีวิตในปี 1997 เมื่ออายุ 77 ปีจากการฆ่าตัวตายหลังจากเสียชีวิตของภรรยาและอาการรู้สึกผิดที่เป็นผู้รอดชีวิต  กลาซาร์เขียนหนังสือชื่อ "Trap with a Green Fence" บอกเล่าเรื่องราวที่เทรบลิงกา



กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 02 มิ.ย. 15, 22:23
ปี 1943 การทำสงครามของเยอรมันเริ่มเข้าสู่ขาลง สงครามในแอฟริกาเหนือเยอรมันเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ต้องถอนตัวไปอิตาลี  ส่วนแนวรบด้านรัสเซียกองทัพที่ 7 ก็เพิ่งยอมแพ้ต่อกองทัพโซเวียตที่สตาลินกราด ล้างแพ้เริ่มเด่นชัด  ในเทรบลิงกาเองข่าวความพ่ายแพ้ของเยอรมันในต่างสมรภูมิสร้างทั้งความหวังและความกลัวแก่เหล่านักโทษแรงงานในค่าย เหล่านักโทษกลัวว่าอีกไม่นานพวกSS อาจจะเลิกค่ายและกำจัดนักโทษทั้งหมดเพื่อปกปิดหลักฐานความชั่วร้ายที่กระทำไว้  ยิ่งปริมาณรถไฟขนนักโทษมาเริ่มมีน้อยลง เหล่านักโทษยิ่งหวั่นวิตกในชะตากรรมของตน


กลุ่มนักโทษชาวยิวกลุ่มหนึ่ง เริ่มต้นวางแผนที่จะก่อจลาจลลุกฮือขึ้นและช่วยให้นักโทษจำนวนมากหลบหนีออกไปจากค่าย แกนนำเหล่านี้ประกอบด้วยอดีตนายทหารจากกองทักโปแลนด์ ดร. จูเลียน โคราซีสกี ผู้อาวุโสของค่าย มาร์เซลิ กัลเลวสกี้ อดีตนายทหารกองทัพเช็ค เซโล บลอช คาโปของค่าย เซฟ เคิร์ลแลนด์ และช่างไม้แจนเคียล เวียนิค


แผนการเริ่มต้นได้ไม่ดีนัก ในเดือนเมษายน 1943 พวก SS พบเงินจำนวนมากจากโคราซีสกีซึ่งรับผิดชอบจัดหาอาวุธจากนอกค่าย ก่อนที่จะถูกสอบสวนโคราซีสกีเลือกที่จะฆ่าตัวตายเพื่อไม่ให้แผนการถูกเปิดเผย ดังนั้นเหล่าแกนนำจึงเดินหน้าแผนการต่อไป มีการแอบเตรียมกุญแจผีสำหรับไขเข้าคลังอาวุธ  พวกชาวยิวที่ค่ายยังได้ยินข่าวการลุกฮือของชาวยิวในวอร์ซอว์ด้วยจากนักโทษที่ถูกส่งมา ซึ่งยิ่งสร้างขวัญกำลังใจให้เหล่านักโทษ


วันที่ 2 สิงหาคม 1943 ก็ถึงวันลงมือซึ่งเป็นวันหยุดของค่าย พวก SS และการ์ดจำนวนหนึ่งไม่อยู่ในค่าย ในตอนเช้าเหล่านักโทษขโมยอาวุธจากคลังแสง ได้ปืนไปราว 20-25 กระบอก ระเบิดมือและปืนพกจำนวนหนึ่ง นักโทษราว 700 คนเริ่มก่อจราจล โจมตีพวกการ์ด SS และยูเครน วางเพลิงอาคาร โดยไม่แยแสต่อความปลอดภัยของตน เหล่าแกนนำต่อสู้อย่างกล้าหาญเพื่อช่วยนำนักโทษหลบหนีท่ามกลางการระดมยิงจากพวกยามบนป้อมหอคอยของค่าย นักโทษบางส่วนทำลายรั้วลวดหนามของค่ายหลบหนีออกไป  มีนักโทษหลบหนีไปได้ประมาณ 300 คน


แต่เนื่องจากเหล่านักโทษไม่ได้ตัดสายโทรศัพท์ สแตงเกลจึงโทรเรียกกำลังเสริมหลายร้อยคนมาเพื่อตามล่าเหล่านักโทษได้ มีการตั้งด่านปิดถนนตรวจค้น นักโทษประมาณ 200 คนถูกจับได้และถูกสังหาร มีประมาณ 100 คนหลบหนีไปได้ ซึ่งในจำนวนนี้มีประมาณ 70 คนที่รอดชีวิตไปจนจบสงคราม  เหล่าแกนนำส่วนใหญ่เสียชีวิตตั้งแต่ช่วงการจลาจล มีเฉพาะเวียนิคที่หลบหนีออกไปได้

ภาพเหล่านักโทษที่รอดจากเทรบลิงกามาได้


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 06 มิ.ย. 15, 03:26
หลังจากจราจลตลอด 2 สัปดาห์ถัดมา แม้อาคารบางส่วนของค่ายจะเสียหายและนักโทษแรงงานบางส่วนหนีไปหรือถูกกำจัด  ขบวนรถไฟยังนำนักโทษยิวมาส่งเพื่อกำจัดทิ้งอยู่ สแตงเกลวางแผนจะปรับปรุงค่ายให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นกว่าเดิม แต่มีคำสั่งใหม่จากเบอร์ลินบอกว่าจะยกเลิกค่ายเทรบลิงกาและทำลายหลักฐานทิ้งให้สิ้นซากเพราะจำนวนนักโทษที่จะต้องกำจัดมีจำนวนลดน้อยลงและเทรบลิงกาไม่มีความจำเป็น นอกจากนั้นการกำจัดโดยใช้แก็สไซคลอนบีที่เอาชวิตซ์และค่ายมาจดาเนคมีประสิทธิภาพกว่าใช้คาร์บอนมอนอกไซด์แบบที่เทรบลิงกามาก  นักโทษที่มีกำหนดจะต้องส่งไปที่เทรบลิงกาจะถูกส่งไปกำจัดที่โซบิบอร์แทน  วันที่ 19 สิงหาคม 1943 รถไฟขบวนสุดท้ายขนนักโทษไปกำจัดที่เทรบลิงกา นักโทษทั้งหมดถูกกำจัดในวันนั้น


สแตงเกลถูกย้ายจากเทรบลิงกาไปรับหน้าที่ใหม่ที่ทริเอสเต้ในตอนเหนือของอิตาลีแทนเพื่อสู้กับพวกกองโจรยูโกสลาเวียและกองโจรยิวในแถบนั้น  ฟรานซ์ เคิร์ทรับหน้าที่ผู้บังคับการค่ายเทรบลิงกาแทนโดยมีหน้าที่หลักในการทำลายค่ายและกำจัดหลักฐาน อาคารทั้งหมดถูกทำลาย หลุมต่างๆ ถูกถม มีการปลูกต้นสนที่โตเร็วบนบริเวณที่เคยเป็นที่ฝังศพ ที่เผาศพ และอาคารต่างๆ อิฐจาก "ห้องอาบน้ำ" ถูกนำไปสร้างโรงนาให้ครอบครัวชาวนายูเครนชื่อสเตรเบลซึ่งถูกสั่งว่าถ้ามีใครถามให้บอกไปว่ามาตั้งรกรากอยู่ที่นี่ตั้งแต่ปี 1943 แต่อย่างไรก็ตาม ซากศพและเศษกระดูกจากคนหนึ่งล้านที่ถูกกำจัดที่เทรบลิงกาไม่ใช่สิ่งที่จะกำจัดได้ง่ายๆ ของเหลวจากศพที่เผาไหม้ไม่หมดซึมออกมาเหนือพื้นดิน  ก็าซเหม็นจากซากศพยังแพร่กระจาย ครอบครัวสเตรเบลเผ่นแน่บทิ้งที่ดินไปไม่นานหลังจากนั้น


ในวันที่ 14 ตุลาคม 1943 มีการจราจลที่โซบิบอร์เช่นเดียวกับที่เคยเกิดที่เทรบลิงกา  การ์ด SS และยูเครนจำนวนหนึ่งถูกสังหาร นักโทษที่ก่อจราจลที่โซบิบอร์ที่หลบหนีไปได้มีชีวิตรอดหลังสงครามประมาณ 30-50 คน


 


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 06 มิ.ย. 15, 03:49
ในเดือนกันยายน 1943 สแตงเกลร่วมขบวนไปกับอดีต SS จากค่ายมรณะ 120 คน รวมทั้งระดับหัวหน้าเช่นนายพลโกลบอคนิค และคริสเตียน เวิร์ธ เดินทางไปทริเอสเตทางตอนเหนือของอิตาลีเพื่อไปรับหน้าที่ใหม่ต่อสู้กับพวกกองโจรยูโกสลาเวีย สแตงเกลรู้ดีว่าแม้จะทำงานตามคำสั่งอย่างดีและมีประสิทธิภาพ แต่อดีตเจ้าหน้าที่ค่ายมรณะเป็นคล้ายรอยด่างแห่งความภาคภูมิใจของเยอรมัน ที่แม้แต่พวกเยอรมันเองก็อยากกำจัดทิ้งแบบเนียนๆ และวิธีที่ดีที่สุดคือส่งไปรับหน้าที่ภารกิจที่มีโอกาสตายสูง เช่นไปรบกับพวกกองโจร โดยเฉพาะกองโจรยูโกสลาเวียที่ขึ้นชื่อเรื่องความอันตราย


สำหรับพวกกองโจรยูโกสลาฟไม่มีคำว่าเชลยศึก พวกเยอรมันที่ต้องต่อกรกับพวกนี้มีโอกาสสูงมากที่จะได้กลับบ้านเก่าตลอดไป  กองบัญชาการเยอรมันรู้ดีจึงส่งอดีต SS ทั้งหลายจากค่ายมรณะไปรับหน้าที่นี้ เพราะพวกนี้รู้ดีเกินไป และสิ่งที่พวกนี้รู้เป็นความลับที่ต้องปิดให้เงียบที่สุด การปล่อยให้พวกนี้มีชีวิตต่อไปไม่เป็นการดี แต่การกำจัดก็ต้องแนบเนียนพอโดยมอบภารกิจโอกาศตายสูงให้ไปปฏิบัติ


คริสเตียน เวิร์ธจอมโหดซึ่งมียศเป็นพันตรีแล้ว ถูกสังหารในการรบเมื่อเดือนพฤษภาคม 1944 สแตงเกลได้เห็นศะของเวิร์ธด้วย แม้จะบอกว่าพวกกองโจรฆ่าเวิร์ธ สแตงเกลคิดว่าน่าจะเป็นลูกน้องของเวิร์ธเองมากกว่าที่กำจัดนายตัวเอง แต่บางเอกสารบอกว่าเวิร์ธอาจเป็นเหยื่อของพวกกองโจรยิวที่คอยตามล่าพวกนาซีที่มีส่วนกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพราะเวิร์ธแตกต่างจากสแตงเกล เวิร์ธเป็นที่รู้จักและไม่ได้เก็บเนื้อเก็บตัว


ภาพกองโจรยูโกสลาฟ ใช้อาวุธที่ยึดมาได้จากพวกเยอรมัน ภาพล่าง นายพลโกลบอคนิค อดีตนายใหญ่ของค่ายมรณะในโปร์เลยขณะอยู่ในทริเอสเต


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 07 มิ.ย. 15, 04:20
ในสามเดือนแรกที่ทริเอสเต้ หน้าที่ของสแตงเกลคือรับผิดชอบดูแลครวามปลอดภัยขบวนรถไฟจากอิตาลีที่ขึ้นเหนือ ซึ่งขบวนรไฟเหล่าขนทั้งผู้โดยสาร สินค้าที่นาซีปล้นสะดมมา แและในบางครั้งก็มีนักโทษด้วย ครั้งหนึ่งสแตงเกลหนีความตายได้แบบหวุดหวิด สแตงเกลได้วันลาหยุด หน้าที่ประจำของสแตงเกลถูกมอบหมายให้ฟรานซ์ ไรเชลทเนอร์ (Franz Reichleitnet) ซึ่งเคยเป็น ผบ. ค่ายโซบิบอร์คนต่อจากสแตงเกล ซึ่งเมื่อโซบิบอร์ถูกปิดก็ถูกย้ายมาอิตาลีเช่นกัน  ในคืนนั้นเองมีการลาดตระเวนตามปกติ ไรเชลทเนอร์ถูกพวกกองโจรซุ่มโจมตีและสังหาร การลาหยุดของสแตงเกลถูกยกเลิกและต้องมารับหน้าที่ตามล่าพวกกองโจรที่สังหารไรเชลทเนอร์แทนแต่คว้าน้ำเหลว


ในเดือนกุมภาพันธ์ 1944 สแตงเกลได้ลาพักเพื่อกลับไปเยี่ยมลูกสาวคนที่สามที่เพิ่งเกิดที่ออสเตรีย เป็นช่วงเวลาสุขสันต์อีกครั้งของครอบครัวสแตงเกล  แม้จะไม่เคยเล่าเรื่องงานให้ครอบครัวฟัง ฟรานซ์บ่นให้เทเรซ่าภรรยาฟังว่าเบื่อที่ถูกสั่งให้ต้องคอยมองหาพวกยิวด้วย และอยากจะเลิกจากหน้าที่แบบนี้แต็มทน

หลังลาพักกลับมาที่ทริเอสเต สแตงเกลได้รับหน้าที่ใหม่เป็นนายทหารส่งกำลังบำรุงให้กับโครงการก่อสร้างป้อมค่ายในอิตาลีเพื่อป้องกันการรุกของฝ่ายสัมพันธมิตร โครงการนี้มีคนงานอิตาลีเข้าร่วมงานมากกว่าห้าแสนคน นอกจากหน้าที่นี้จะไม่อันตรายเท่างานเก่าที่ต้องต่กกรกับพวกกองโจรแล้ว หน้าที่นี้ทำให้สแตงเกลได้มีโอกาสพบปะผู้คน สร้างสายสัมพันธ์ซึ่งต่อมาจะช่วยในการหลบหนีของสแตงเกลหลังสงคราม


หน้าที่นี้ของสแตงเกลคือจัดหาสิ่งของที่ต้องการให้กับโครงการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า รองเท้า อาหารฯลฯ  สแตงเกลเดินทางประสานงานติดต่อทั้งกับกองทัพบกเยอรมัน พวก SS โดยสวมใส่ชุดพลเรือน ทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือกับสแตงเกลเพราะสแตงเกลมีเอกสารยืนยันที่ลงชื่อโดยนายพลตำแหน่งสูง สั่งให้ทุกหน่วยต้องให้ความร่วมมือกับ "ร้อยเอกสแตงเกล"  สแตงเกลยังมีผู้ช่วยอีกคนที่ไม่มีหน้าที่อะไรมากไปกว่าถือกระเป๋าที่อัดแน่นด้วยเงินคอยเดินตามสแตงเกล คำสั่งของสแตงเกลคือให้ซื้ออะไรก็ได้ที่ต้องการโดยไม่ต้องห่วงเรื่องเงิน สแตงเกลซื้อของที่ต้องการแต่หาซื้อจากร้านค้าทั่วไปไม่ได้จากตลาดมืด ไม่ว่าจะเป็นยางรถยนต์ ชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ น้ำมัน ฯลฯ ได้รู้จักทั้งพ่อค้า ตัวแทนจำหน่วยสินค้า นักค้าของเถื่อน คนชั้นสูงที่ต้องการขายข้าวของทรัพย์สิน ซึ่งคนเหล่านี้ภายหลังจะมีส่วนช่วยสแตงเกลหลบหนี

ฟรานซ์ ไรเชลทเนอร์คนที่ลูกศรชี้ ที่ตายแทนสแตงเกล


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 09 มิ.ย. 15, 14:31
 หน้าเรียนผู้ที่ยังติดตามทุกท่าน เนื่องจากหาบทสัมภาษณ์ตัวเต็มของสแตงเกลแบบฟรีไม่ได้ ที่หาได้ก็กระปริบกระปรอยเต็มทนมีแค่บางส่วนนิดเดียว  ข้าพเจ้าจึงสั่งหนังสือ Into That Darkness by Gitta Sereny มาอ่านซะให้สิ้นเรื่องสิ้นราว  เนื่องจากภาษาอังกฤษอ่อนแอ หนังสือ 394 หน้าตอนนี้อ่านไปได้ 60 หน้าแล้ว แต่ต้องยอมรับว่า อ่านแล้ววางไม่ลงจริงๆ ขอเวลาอ่านให้จบแล้วจะมาเล่าเรื่องราวการลบหนีของสแตงเกลและการพิจารณาคดี จนถึงการสัมภาษณ์และบทวิเคราะห์จากหนังสือต่อ  ขออภัยที่ต้องให้รอ




กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มิ.ย. 15, 19:25
ไม่เคยอ่านกระทู้ไหน อ่านแล้วหดหู่กับชะตาของมนุษย์เท่ากระทู้นี้เลย     แต่ก็จะตามอ่านจนจบค่ะ

ป.ล. ไม่มีพล็อตสนุกๆ อย่างเจ้าชายปางฟ้าตามหารักแท้แต่ไม่เจอ  จนต้องม้วนเสื่ออังกฤษ หนีบเสื้อครุย  เก็บของกลับบ้านภายในปีนี้บ้างหรือคะ


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 09 มิ.ย. 15, 23:21
หนุ่มปางฟ้ารู้สึกจะรอสอบต้นเดือนหน้าครับ จะหมู่หรือจ่าผ่านไม่ผ่านปลายเดือนหน้าก็ต้องกลับไปตามหารักแท้ที่เมืองไทยต่อแล้ว  แท็กซ่งแท็กซี่ต้องขายเลิกกิจการกันเลย  รอกลับไปซื้อเสื้อวินปลอมตัวเปลี่ยนอาชีพตามหารักแท้ต่อไป :)

เรื่องสแตงเกลหดหู่นี่จริงครับ หนังสือที่อ่านตอนนี้ยิ่งทำให้หดหู่ เพราะมีรายละเอียดบางอย่างเช่นการวางแผนกำจัดคนที่ไม่เป็นที่ต้องการ มีคนที่รับรู้เรื่องเหล่านี้ล่วงหน้าเช่นฝ่ายศาสนากลับไม่ทำอะไรเพื่อต่อต้านความเลวร้าย  ยิ่งอ่านยิ่งเห็นว่าฮิตเลอร์นี่บ้าและเลวร้ายแบบไม่มีคำบรรยายจริงๆ 


แต่ที่หดหู่ที่สุดคือเรื่องแบบนี้ผ่านไป 70 กว่าปีแล้ว คนจำนวนมากในปัจจุบันยังไม่คิดจะเรียนรู้เข้าใจหรือป้องกัน ยังใช้อคติอยู่มาก เรื่องแบบนี้จะไม่มีวันหมด แค่เปลี่ยนที่ เปลี่ยนหน้านทำ เปลี่ยนรายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้น


ปล กระทู้นี้พิมพ์ผิดพิมพ์ตกพิมพ์เกินเยอะไปหมด  บางทีตัดปะตรงโน้นตรงนี้แล้วไม่เนียนเพราะด้วยความขี้เกียจไม่ได้เขียนใน word ก่อน  ต้องขออภัยท่านผู้อ่านด้วย พอเห็นจะกลับไปแก้ก็ไม่ทันแล้ว :-[


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 12 มิ.ย. 15, 18:07
เมื่อท่านอาจารย์ใหญ่บอกว่าอ่านกระทู้นี้แล้วหดหู่  ตามประแสนักเรียนนิสัยไม่ดี เมื่อมีจังหวะแกล้งครูบาอาจารย์ได้ก็ต้องทำซะหน่อย  จึงขอเพิ่มความหดหู่ให้ท่านเจ้าเรือนอาจารย์ใหญ่ซะเลย   ไม่อยากเก็บความหดหู่ไว้คนเดียว


คำเตือน ความเห็นนี้และภาพหดหู่นะครับ ใครใจแข็งอ่านแล้วจะเอาไปฝากหม่อมโจ้ที่แกบอกว่าการฆ่ายิวเป็นเรื่องลวงโลกก็ได้ ภาพและเรื่องนี้ถ่ายและเล่าโดยทหารเยอรมันเอง


เฮอร์เบิร์ต ฟอช (Hubert Pfoch  1920-2008) เด็กหนุ่มออสเตรียถูกเกณฑ์เป็นทหารเช่นเดียวกับชายหนุ่มเยอรมันในสมัยนั้น ฟอชสังกัดทหารราบ หน่วยของฟอชได้รับภารกิจในแนวรบด้านตะวันออก ต้องเดินไปทางรถไฟทำให้ฟอชได้เป็นพยานเห็นเหตุการณ์การเคลื่อนย้ายชาวยิวไปกำจัดที่เทรบลิงกาเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 1942   ไม่แค่เป็นพยาน ฟอชยังได้แอบถ่ายรูปรถไฟขนนักโทษไว้ด้วย ตามที่เคยเอามาให้ดูก่อนหน้า  และฟอชยังได้บันทึกรายละเอียดสิ่งที่พบเห็นไว้ในไดอารี่ด้วย เผื่อว่าซักวันจะมีผู้พบเห็นและได้เผยแพร่ความเลวร้ายที่เค้าได้พบออกไป  ภาพที่ฟอชถ่ายถูกใช้เป็นเอกสารประกอบการพิจารณาคดีอดีตการ์ดที่เทรบลิงกาในปี 1964 ด้วย ฟอชบันทึกไว้ว่า


กองร้อยของฟอชเคลื่อนย้ายกำลังจากออสเตรียไปยังรัสเซียทางรถไฟ บนเส้นทางผ่าน Mährisch Ostrau, Kattowitz, the Upper Silesian industrial region, Radom, Lukow และมาถึงที่ Siedlce ในตอนหัวค่ำและกำลังได้รับอาหารเย็น  ระหว่างนั้นฟอชได้ยินเสียงปืนตลอดเวลา ฟอชจึงออกไปดูว่าเกิดอะไรขึ้น ก็พบว่าไม่ห่างจากรางรถไฟที่ฟอชโดยสาร บนชานชาลาใกล้ๆ มีฝูงชนประมาณเจ็ดพันคน ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กเนืองแน่น ต่างนั่งยองๆ หรือกำลังหมอบอยู่ที่พื้น  และใครที่บังอาจลุกขึ้น จะถูกพวกการ์ดยิงทันที   คืนนั้นอากาศรอนชื้น เหล่าทหารนอนไม่ค่อยหลับกัน



เช้าวันต่อมา วันที่ 22 สิงหาคม ขบวนรถของฟอชย้ายไปที่อีกรางซึ่งอยู่ถัดจากชานลาลาที่เต็มไปด้วยฝูงชนนั้น ช่วงนั้นฟอชถึงได้ยินข่าวลือว่า พวกที่เห็นคือชาวยิวที่กำลังถูกเคลื่อนย้าย คนเหล่านั้นบอกพวกทหารว่าพวกเค้าเดินทางกันมาสองวันแล้วโดยไม่มีทั้งน้ำหรืออาหาร พวกเค้าถูกขนมาโดยตู้สำหรับขนสัตว์ เหล่าทหารได้เป็นพยานภาพที่น่าสยอง ศพของพวกที่ถูกฆ่าเมื่อคืนถูกขนไปทิ้งโดยรถบรรทุกที่ต้องวิ่งกลับมาขนถึง 4 เที่ยว (ภาพที่ 1 ด้านล่าง) พวกการ์ดซึ่งเป็น SS อาสาสมัครชาวยูเครน บางคนเมา อัดคนประมาณ 180 คนในตู้ขนสัตว์ 1 ตู้ (ฟอชนับจำนวนด้วยตัวเอง) พ่อแม่ไปตู้นึง ลูกไปอีกตู้นึง พวกการ์ดไม่สนใจว่าครอบครัวเดียวกันจะต้องอยู่ด้วยกัน พวกการ์ดตะโกนเร่ง ใช้พานท้ายฟืนฟาดพวกนักโทษอย่างแรงจนพานท้ายปืนหัก เมื่อพวกนักโทษถูกอัดแน่นในตู้รถไฟแล้ว เหล่านักโทษต่างร้องขอน้ำ บ้างขอแลกน้ำกับแหวนทองที่พกมา บ้างบอกว่าจะให้เงิน 5,000 zloty (2,500 Reichsmark) เพียงพื่อน้ำแก้วเดียว  นักโทษบางคนปีนออกมาทางช่องระบายอากาศ ก็จะถูกยิงทิ้งทันทีที่ถึงพื้น นี่คือการสังหารโหด


สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เหล่าทหารเศร้าไปถึงวิญญาณ เป็นอะไรที่เหล่าทหารไม่เคยแม้แต่จะฝันว่าจะได้เห็น แม่คนหนึ่งกระโดดลงมาพร้อมลูก หันไปมองยังปากกระบอกปืนที่ชี้ลงมา  ไม่กี่อึดใจเสียงปืนก็ดังขึ้น การ์ดที่ยิงทั้งคู่ยังคุยโม้ว่ายิงทั้งคู่ที่หัวได้ด้วยกระสุนแค่นัดเดียว


เหล่าทหารทนไม่ได้ ฟอชและเพื่อนถามผู้หมวดของตัวว่าจะขอเข้าไปขัดขวางพวกนี้ได้ไหม ร้อยโทหนุ่มห็นด้วย และเข้าไปคุยกับนายทหาร SS ที่คุมขบวนรถไฟ บอกไปว่าการกระทำป่าเถื่อนแบบนี้ไม่จำเป็นและทำให้เสื่อมเสียต่อเกีรติภูมิของเยอรมัน  นายทหาร SS แผดเสียงใส่ร้อยโทหนุ่มและทหารที่เหลือว่าถ้าพวก Ostmarkler (เป็นคำที่พวกเยอรมันใช้เรียกพวกออสเตรียแบบเหยียดหลังการรวมประเทศ คลคล้ายๆ กับพวกบ้านนอกบ้านเราอะไรทำนองนี้) ไม่ชอบสิ่งที่เห็นและไม่หุบปาก  นายทหาร SS ผู้นั้นยินดีจะเพิ่มตู้พิเศษสำหรับทหารเหล่านั้นไปที่เทรบลิงกา เพื่อที่เหล่าทหารจะได้ร่วมประสบการณ์เดียวกันกับพวกยิว


เมื่อขบวนรถนักโทษเคลื่อนออกไป มีศพอย่างน้อยห้าสิบศพ ทั้งชาย หญิง และเด็ก บางร่างเหลือยเปล่า เกลื่อนกลาดอยู่ข้างทางรถไฟ  พวกตำรวจยิวเคลื่อนย้ายศพ ยึดสิ่งของมีค่าเข้ากระเป๋า  จากนั้นขบวนรถของฟอชก็เคลื่อนขบวนตามขบวนรถนักโทษ ระหว่างนั้นเหล่าทหารได้เห็นศพข้างทางตลอดจนมาทันกันอีกทีที่เทรบลิงกา ขบวนรถไฟจอดคู่กัน กลินศพที่กำลังเน่าตลบอบอวล ทหารบางคนอาเจียน เหล่านักโทษต่างพากันร้องขอน้ำ พวกการ์ดยังคงรุนแรงต่อนักโทษ เสียงยิงปืนดังตลอดเวลา คนสามแสนคนถูกส่งมาที่นี่ (นี่เป็นข้อความที่ฟอชบันทึกไว้ตั้งแต่ปี 1942) ทุกๆ วันคนหนึ่งหมื่นถึงหมื่นห้าถูกรมแก็สและเผา พวกการ์ดอ้างว่าพบอาวุธที่เก็ตโต้และนี่เป็นสาเหตุของการตอบโต้รุนแรงเช่นนี้


ฟอชยังเพิ่มเติมรายละเอียดในรูปที่ถ่าย(รูปที่ 4 ด้านล่าง) ว่า วินาทีถัดมาหลังจากถ่ายรูปนี้ การ์ดที่เห็นในรูปเอาพานท้ายปืนฟาดเด็กๆ ที่เคลื่อนไหวช้าเกินไป ฟาดแรงจนพานท้ายปืนหัก

รูปที่ฟอชถ่าย  รูปแรก ศพของชาวยิวที่ถูกพวกการ์ดยิงทิ้ง
รูปที่ 2 รถที่มาขนศพนักโทษ
รูปที่ 3 การขนนักโทษขึ้นรถไฟ  นักโทษเหล่านี้ทั้งหมดถูกกำจัดในเวลาต่อมา
รูปที่ 4 เด็กๆ และการ์ดชาวยูเครนในภาพที่ฟอชเล่าถึงวินาทีถัดมา


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ก.ค. 15, 16:43
ระหว่างที่รอ ดร.ประกอบ มาสรุปเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิวในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขออนุญาตชวนทุกท่านรำลึกถึงชาวมุสลิมบอสเนียราว ๘,๐๐๐ คน ที่เสียชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของกองกำลังชาวเซิร์บในวันนี้เมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว (๑๑ - ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๘) ที่เมืองสเรเบรนิกา (Srebrenica) ประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา

คุณจิตรา อินทร์เพ็ญ เล่ารายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในบทความเรื่อง “เซเบรนิกา” เสี้ยวประวัติศาสตร์ของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ใจกลางยุโรปในโลกยุคใหม่ (http://www.publicpostonline.net/3310)


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ก.ค. 15, 19:20
สิ่งที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่โลกก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น หาได้แก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องบนโลกได้  เนื่องจากเหตุการณ์ความขัดแย้งยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นตั้งแต่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ (ค.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๑๘), สงครามโลกครั้งที่ ๒ (ค.ศ. ๑๙๓๙-๑๙๔๕), สงครามในยูโกสลาเวีย (ค.ศ. ๑๙๙๑-๑๙๙๕), การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา (ค.ศ. ๑๙๙๔), การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชา (ค.ศ. ๑๙๗๕-๑๙๗๕), โศกนาฏกรรมความรุนแรงในปาเลสไตน์, การเหยียดชนชาติและสีผิวในแอฟริกา, ปัญหาระหว่างคนผิวขาวและคนผิวดำที่มีความขัดแย้งกันมาจนถึงปัจจุบันในสหรัฐอเมริกา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งโศกนาฏกรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุที่เมืองเซเบรนิกาที่เกิดขึ้นใจกลางยุโรปต่อหน้าต่อตาชาวตะวันตก  ที่ร้ายไปกว่านั้นการวางเฉยของประชาคมโลกต่อเหตุการณ์ความรุนแรง  ความล้มเหลวและความไร้ประสิทธิภาพในการทำงานขององค์กรระหว่างประเทศในการป้องกันและยุติความขัดแย้งก็ยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้โศกนาฏกรรมความสูญเสียเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“เซเบรนิกา” เสี้ยวประวัติศาสตร์ของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ใจกลางยุโรปในโลกยุคใหม่ - จิตรา อินทร์เพ็ญ

http://youtube.com/watch?v=Fliw801iX84#ws (http://youtube.com/watch?v=Fliw801iX84#ws)


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 11 ก.ค. 15, 23:20
สงครามกลางเมืองในยูโกสลาเวียเป็นเรื่องที่น่าจะคุยกันเป็นกระทู้ยาวๆได้เลยนะครับ


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ก.ค. 15, 08:21
เห็นด้วยกับคุณม้าค่ะ


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 12 ก.ค. 15, 17:52
ระหว่างที่รอ ดร.ประกอบ มาสรุปเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิวในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒

ใครหว่า ดร.ประกอบเนี่ย

ฮิฮิ เหลวไหลหายไปนาน อ่านเรื่องสแตงเกลจนจบแล้วก็ไม่ได้มาสรุปต่อซะที มีเรื่องโน้นเรื่องนี้ให้ต้องทำเลยเฉไฉซะนาน  เดี๋ยวคืนนี้จะมาต่อครับ


พูดถึงเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ผมมั่นใจร้อยเปอร์เซ็นว่าเรื่องแบบนี้จะมีต่อไปเรื่อยๆ ตราบใดที่ยังมีมนุษย์อยู่  และเรื่องพวกนี้ไม่ได้ไกลตัวจากคนไทยเราอย่างที่เรากำลังเชื่อกันอยู่ด้วย การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นรูปแบบที่สุดขั้วที่สุดของความขัดแย้งที่เกิดจากอคติเป็นตัวนำ และในความเป็นจริงความขัดแย้งในลักษณะนี้มีอยู่ทั่วไปทุกสังคม ไม่ว่าจะในประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศหยุดพัฒนา เพียงแต่ในสังคมที่มีระเบียบแบบแผนหรือกรอบของสังคมที่แตกต่างกันจะเป็นตัวควบคุมระดับความรุนแรงให้ไม่เท่ากันในการที่คนส่วนใหญ่แสดงออกต่อคนที่แตกต่าง ที่อาจจะต่างในเรื่องเชื้อชาติ สีผิว ศาสนา ฯลฯ เช่นในตะวันตก อาจจะทำได้แค่คิด  ซุบซิบ บอกให้ฆ่าทิ้งผ่านโลกออนไลน์หรือแสดงออกโดยการเหยียดผิว แต่ในสังคมที่ขื่อแปน้อยกว่า หรือสุดขั้วกว่า ก็จะออกมาเป็นการฆ่ากัน


ไม่ต้องไปไกล ผมตามข่าวนักศึกษาไม่กี่คนประท้วงในบ้านเรา  ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเด็กเหล่านี้  ผมเชื่อว่าเด็กเหล่านี้มีสิทธิที่จะแสดงความเห็นตราบใดที่ไม่ได้ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กพวกนี้ทำให้ผมเห็นความเหมือนกันหลายประการกับที่เกิดขึ้นสมัยนาซีเยอรมัน  เช่นความเกลียดชังที่คนจำนวนไม่น้อยในสังคมมีต่อเด็กเหล่านี้โดยใช้แต่มุมมองเรื่องความมั่นคงในการตัดสิน  เห็นสงครามจิตวิทยาเช่นการพยายามทำลายชื่อเสียงเด็กพวกนี้โดยเอาเรื่องเกรดขึ้นมาตำหนิ  การส่งคนไปข่มขู่กลุ่มคณาจารย์ที่ลงชื่อให้ปล่อยตัวเด็กจากเรือนจำ สื่อที่เข้าข้างฝ่ายผู้มีอำนาจและสื่อฝ่ายตรงข้ามที่ต้องการใช้เด็กเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการคานอำนาจกัน  ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่ออกมาสนับสนุนฝ่ายที่มีอำนาจจนน่าเกลียด  คนที่เลือกที่จะเข้าข้างและทำทุกอย่างแม้แต่มองความอยุติธรรมให้คนอื่นเพื่อเอาใจผู้มีอำนาจเพื่อเป็นบันไดไต่เต้าให้ตัวเอง  และที่สำคัญที่สุด คนที่ไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นแต่เลือกจะวางเฉยเพราะไม่อยากเปลืองตัว  องค์ประกอบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในเยอรมันเมื่อกว่า 80 ปีที่แล้วมีเหมือนกันหมด แตกต่างที่ดีกรีความรุนแรงเพราะเรายังต้องแคร์ประชาคมโลกอยู่เท่านั้น ทำให้เราสร้างค่ายมรณะหรือค่ายกักกันแรงงานไม่ได้


การศึกษาประวัติศาสตร์สำหรับผมจึงไม่ใช่แค่การบอกเล่าหรือบันทึกเรื่องราวในอดีต แต่ต้องเป็นการทำความเข้าใจที่มาที่ไปของเหตุการณ์ต่างๆ องค์กระกอบ เชื่อมโยงมาถึงปัจจุบัน และเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เหล่านี้ย้อนรอยเกิดขึ้นอีกครั้งในสังคมของเรา



กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 12 ก.ค. 15, 17:55
เอาเรื่องที่ผมเคยเขียนไว้ไม่นานมานี้มาคั่นเรื่องของสแตงเกลซะหน่อย  เอ พักนี้รู้สึกอยู่แต่ในโหมดจริงจังยังไงก็ไม่รู้  ???  ::)  ::)


เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองเปิดฉาก ฮันส์ โชลกำลังเรียนแพทย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยมิวนิค โซเฟียน้องสาวของฮันส์ตามมาเรียนชีววิทยาและปรัชญาที่มหาวิทยาลัยเดียวกันในปี 1941 เพื่อนชายของเธอ ฟริซ เป็นนายทหาร ประจำการอยู่ในสมรภูมิด้านตะวันออก ฟริซได้เห็นการความชั่วร้ายที่กระทำโดยฝ่ายเยอรมันเช่นการสังหารหมู่ หรือการกำจัดชาวยิว ฟริซได้เขียนจดหมายมากมายเล่าเรื่องที่เห็นให้โซเฟียรู้ ส่วนฮันส์พี่ชายเข้าร่วมกลุ่มรักสันติและต่อต้านนาซีที่ชื่อว่ากลุ่มกุหลาบขาว เพราะใช้ดอกกุหลาบสีขาวเป็นสัญลักษณ์ กลุ่มกุหลาบขาวเขียนใบปลิวต่อต้านพวกนาซีหลายฉบับ เมื่อโซเฟียรู้ถึงกิจกรรมที่พี่ชายทำ เธอไม่ลังเลที่จะเข้าร่วม เพราะด้วยความเป็นผู้หญิง ทำให้ง่ายกว่าในการหลบเลี่ยงและกระจายใบปลิวไปตามที่ต่างๆ โดยไม่ถูกตำรวจเรียกตรวจเหมือนผู้ชาย


ในฤดูร้อนปี 1942 ฮันส์และเพื่อนสมาชิกในกลุ่มอีกหลายคนถูกเกณฑ์เข้าร่วมกองทัพ เพื่อทำหน้าที่ในหน่วยแพทย์ช่วงที่มหาวิทยาลัยปิดภาคเรียน เมื่อกลับมาถึงมิวนิค ทางกลุ่มเริ่มทำใบปลิวต้อต้านนาซีต่อ มีใบปลิวประมาณ 5000 – 9000 ชุดถูกส่งยังที่ต่างๆ หัวใบปลิวเขียนว่า “เสียงเรียกร้องถึงชาวเยอรมันทุกคน” เนื้อหาในใบปลิวเตือนชาวเยอรมันว่าฮิตเลอร์กำลังนำพาเยอรมันไปสู่ความพินาศ เรียกร้องให้ผู้คนต่อต้านเผด็จการ เรียกร้องเสรีภาพในการพูด เสรีภาพในการนับถือศาสนา และปกป้องประชาชนจากระบบรัฐเผด็จการ แต่ในที่สุด ทั้งฮันส์และโซเฟีย รวมทั้ง คริสตอฟโพรบ ถูกจับในเดือนกุมภาพันธ์ 1943 ทั้งสามถูกตั้งขอหาทรยศต่อชาติ และถูกตัดสินให้ประหารชีวิตเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ การประหารชีวิตใช้การตัดศีรษะด้วยกิโยตินถูกดำเนินการในวันเดียวกันกับที่ศาลตัดสินเลย โซเฟียเป็นคนแรกที่ถูกประหาร ก่อนที่ใบมีดจะหล่นลงมาถึงคอ คำพูดสุดท้ายของเธอคือ “พระอาทิตย์ยังคงส่องแสง” ส่วนคำพูดสุดท้ายของฮันส์คือ “เสรีภาพยืนยงตลอดไป” ในสัปดาห์ต่อๆ มา สมาชิกคนอื่นๆ ของกลุ่มกุหลาบขาวต่างถูกจับกุม บ้างถูกตัดสินประหารชีวิต บ้างถูกส่งไปค่ายกักกัน


แม้กลุ่มกุหลาบขาวจะจากไปแล้ว แต่ใบปลิวบางส่วนเล็ดลอดไปถึงฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งได้ทำสำเนาเพิ่มอีกเป็นล้านๆ ชุด โปรยไปทั่วเยอรมันระหว่างสงคราม ทำให้คำพูดและอุดมการณ์ของกลุ่มกุหลาบขาวไม่ได้หายไปกับสายลม


ภาพของกลุ่มกุหลาบขาว ถ่ายในหน้าร้อนปี 1942 ที่มิวนิค จากซ้ายไปขวา ฮันส์ โชล โซเฟีย โชล และคริสตอฟ โพรบ
เครดิตภาพและเนื้อหา เพจ WW2 Colourised Photos


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 12 ก.ค. 15, 20:01
เรื่องราวของกลุ่มกุหลาบขาวและอุดมการณ์ของพวกเขาถูกถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ในชื่อว่า SOPHIE SCHOLL : THE FINAL DAYS

http://youtube.com/watch?v=nXtC08tWxqA#ws (http://youtube.com/watch?v=nXtC08tWxqA#ws)


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ก.ค. 15, 15:09
อเอฟพี/เอเจนซีส์ – ออสการ์ กรูนนิง (Oskar Groening) อดีตทหารหน่วย SS นาซีเยอรมันวัย 94 ปีฉายาผู้คุมบัญชีแห่งเอาชวิทซ์ จะถูกศาลเมืองลูเนบวร์ก (Lueneburg) ทางเหนือของเยอรมัน ตัดสินในวันนี้(15) ในเวลา 21.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น หลังจากในวันสุดท้ายของการไต่สวน อดีตนาซีผู้จงรักภักดีต่ออดอล์ฟ ฮิตเลอร์ยอมรับด้วยความเสียใจว่า “ไม่ควรที่จะต้องมีใครถูกขังที่ค่ายนรกเอาท์วิช” ในความผิด 300,000 กระทงในความผิดสมรู้ในการกระทำความผิดโทษส่งนักโทษชาวยิวที่อาศัยในฮังการีร่วม 300,000 คนเข้าห้องรมแก๊สพิษในช่วงระหว่างพฤษภาคม-มิถุนายน1944
       
       ออสการ์ กรูนนิง(Oskar Groening)อดีตทหารหน่วย SS นาซีเยอรมัน หรือกองกำลังคุ้มกันชุทซ์ชทัฟเฟิล (Schutzstaffe หรือ SS) วัย 94 ปีหากถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงจะต้องถูกลงโทษจำคุกเป็นเวลา 3 – 15 ปี แต่อย่างไรก็ตามมีการคาดว่า อดีตนาซีเยอรมันผู้มีฉายา “ผู้คุมบัญชีแห่งเอาชวิทซ์” หากถูกลงโทษจริง เวลาที่จะถูกจำคุกจะขึ้นอยู่กับอายุที่มาแล้ว และสุขภาพที่ไม่สู้จะดีของชายชราผู้นี้ และทำให้ก่อนหน้านี้กระบวนการยุติธรรมก่อนหน้านี้ต้องถูกเลื่อนไป
       
       โดยในชั้นไต่สวนผู้คุมบัญชีเอาชวิทซ์ได้ร้องขอให้ศาลพิพากษาปล่อยตัวเขาไป โดยในครั้งการขึ้นปากคำต่อศาลในวันที่ 21 เมษายน 2015 กรูนนิงอ้างว่า ขาไม่ได้มีบทบาทในการสังหารหมู่โดยตรง แค่เป็นผู้ที่ทำหน้าที่นับเงินที่ยึดจากผู้ถูกจับเข้าไปในค่ายเท่านั้น
       
       เอเอฟพีรายงานว่า ในช่วงการทำหน้าที่ของกรูนนิงในค่ายกักกันเอาชวิทซ์ เขาถูกสั่งการให้ทำหน้าที่ควบคุมบัญชีรับจ่ายของเงินที่ยึดได้จากบรรดานักโทษยิวที่ถูกสังหารหรือถูกใช้แรงงานเป็นทาส โดยรวบรวมเงินตราต่างประเทศหลายสุกลก่อนที่จะส่งกลับไปยังสำนักงานใหญ่นาซีที่กรุงเบอร์ลิน
       
       กรูนนิงได้ขึ้นให้การในชั้นศาลในเมษายนที่ผ่านมา และขึ้นให้การอีกครั้งในเดือนนี้ยอมรับว่า เขารู้สึกกลัวต่อความโหดร้ายทารุณผิดมนุษย์ที่เหล่านาซีเยอรมันกระทำต่อนักโทษยิวในค่ายกักกันแห่งนี้ที่กรูนนิงได้เริ่มต้นทำงานตั้งแต่ปี 1942 และกรูนนิงอ้างว่า เขาได้ร้องขอผู้บังคับบัญชาหน่วย SS ในขณะนั้นให้ย้ายไปแนวหน้าถึง 3 ครั้งเพราะไม่สามารถทนในสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งไม่ได้รับการอนุมัติจากหน่วยเหนือจนกระทั่งในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 1944 ซึ่งในวันสุดท้ายก่อนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ชายผู้นี้ถูกส่งตัวไปร่วมรบที่สมรภูมิอาร์เดนเนส
       
       เอเอฟพีรายงานว่า กรูนนิงรับรู้ถึงความผิดในเชิงจริยธรรมแต่ทว่าขึ้นกับดุลพินิจของศาลที่จะพิพากษาในความผิดตามข้อกล่าวหา 70 ปีหลังจากการเกิดฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
       
       และกรูนนิงถือเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่ยอมเปิดเผยบทบาทของตัวเองในการสังหารหมู่เพราะต้องการยับยั้งกลุ่มที่พยายามปฏิเสธว่าการสังหารหมู่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง กรูนนิงเคยให้สัมภาษณ์ในสารคดีค่ายเอาชวิทซ์ของบีบีซีเมื่อปี 2005 ว่า เขาได้เห็นห้องรมแก๊สและเตาเผาศพ เขายังเคยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อแดร์สปีเกลอีกว่า ตัวเขาเองมีความผิดแต่ก็ไม่ได้เต็มใจทำ
       
       และมีรายงานว่า มีการตั้งข้อหาต่อกรูนนิงตั้งแต่เมื่อราว 30 ปีที่แล้ว แต่ในตอนนั้นยังขาดหลักฐานว่าเขามีส่วนร่วมทำให้ข้อหาตกไป อย่างไรก็ตามอัยการในคดีล่าสุดเชื่อว่าจะมีการสั่งลงโทษในกรณีของกรูนนิงจากการที่เขาทำงานอยู่ในค่ายกักกันนั้น
       
       และในสัปดาห์ที่ผ่านมา อัยการเยอรมันได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า เยอรมันได้ร้องให้มีการจำคุกกรุนนิงเป็นเวลา 3 ปีครึ่งจากความผิดในการฆาตกรรมเหยื่อจำนวนมากที่เกือบจะนับจำนวนไม่ได้ แต่โทษถูกลดลงจากการจำกัดของข้อกล่าวหาในการทำให้เหยื่อเหล่านั้นเสียชีวิต ซึ่งกรุนนิงถูกตั้งข้อกล่าวหาใน 3 วาระ คือการที่เขาทำหน้าที่ขนย้ายนักโทษยิวที่เดินทางมาถึงหลังจากเดินทางมาที่ค่ายกักกันนรกแห่งนี้ในโปแลนด์ด้วยรถขนปศุสัตว์
       
       เอเอฟพียังรายงานเพิ่มเติมหัวหน้าชุดสอบสวนกลางเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของนาซีเยอรมันได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อหนังสือพิมพ์รายวันเยอรมัน ควร์ต ชริมม์ (Kurt Schrimm)ให้สัมภาษณ์ในเดือนนี้ว่า คดีอื่นของการ์ดค่ายนาซีเยอรมันเอาชวิทซ์ยังคงอยู่ในระหว่างการสอบสวน ถึงแม้ว่าจะมีจำนวนมากทางทีมอัยการเยอมันต้องทำการยกเลิกการสอบสวนเป็นเพราะอดีตการ์ดเหล่านั้นได้เสียชีวิต หรือสุขภาพทรุดโทรมหนักจนไม่สามารถขึ้นให้การในชั้นไต่สวนได้

http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9580000080025 (http://www.manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9580000080025)
       
       


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 15 ก.ค. 15, 16:56
คุณปู่อาจจะถูกตัดสินว่าผิดและถูกจำคุกก็ได้ แต่คิดว่าคงเป็นเวลาสั้นๆ และน่าจะถูกปล่อยตัวไม่นานด้วยเงื่อนไขด้านอายุและสุขภาพ


เยอรมันไม่มีโทษประหารชีวิตมานานแล้ว และการปฏิบัติต่อนักโทษก็ดีกว่าในสมัยนาซีมาก   ผู้คุมค่ายตัวเอ้หลายคนที่ถูกจับได้และถูกดำเนินคดี  คนเหล่านี้ชั่วช้าว่าปู่กรูนนิงหรือสแตงเกลมาก เช่นเคิร์ท ฟรานซ์ ที่เป็นรอง ผบ. ค่ายเทรบลิงกา และรับตำแหน่ง ผบ. ต่อจากสแตงเกล เป็นคนที่สังหารนักโทษด้วยความโหดเหี้ยวด้วยมือตัวเองจำนวนมาก  เลี้ยงหมาแบรี่ที่ถูกฝึกให้ทำร้ายนักโทษ   ภายหลังถูกจับและถูกดำเนินคดี ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตแต่ได้รับการปล่อยตัวในช่วงทศวรรษที่ 90  เพราะสุขภาพไม่ดี และตายนอกคุกหลายปีหลังถูกปล่อยตัว

ปล. ว่าจะมาต่อกระทู้แต่ยังไม่ได้ต่อซะที ขอแก้เล่ม เอ๊ย ไปขับ taxi หาเงินกับรักแท้ก่อน แล้วจะมาต่อนะคร้าบบบ  ;D  ;D


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 15 ก.ค. 15, 20:49
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่15ก.ค.ว่า นายออสการ์ โกรนนิง วัย94ปี ถูกศาลเยอรมนีตัดสินจำคุก4ปี ซึ่งมีความผิดฐานมีส่วนรู้เห็นกับการรมแก๊สฆาตกรรมชาวยิว300,000รายที่ค่ายกักกันเอาชวิตซ์ ที่โปแลนด์เมื่อปี2487

ทั้งนี้นายโกรนนิงถือเป็นอดีตเจ้าหน้าที่หน่วยเอสเอสของนาซี ทำงานเป็นพนักงงานบัญชีภายในค่ายกักกันชาวยิวในโปแลนด์ คอยเก็บรวบรวมเงินจากชาวยิวที่ถูกฆ่าและใช้แรงงานส่งกลับไปให้กองทัพนาซีในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี

การไต่สวนคดีกินเวลานานกว่า3ปีครึ่ง ซึ่งได้เริ่มพิจารณาคดีตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา โดยระหว่างที่ฟังคำพิพากษาของศาลพบว่านายโกรนนิงมีสีหน้านิ่งเฉย ขณะที่วันอังคารที่ผ่านมาซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่เขาให้การในชั้นศาล นายโกรนนิงยอมรับว่าเขารู้เห็นกับเหตุการณ์ฆ่าหมู่ชาวยิวในครั้งนั้น พร้อมกับกล่าวคำขอโทษด้วยน้ำเสียงสั่นเครือและรู้สึกเสียใจต่อการกระทำของตัวเอง

ด้านเหยื่อที่มีชีวิตรอดจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แถลงว่า พวกเขาต่างยินดีกับคำตัดสินของศาล ซึ่งถือเป็นย่างก้าวสุดท้ายของความยุติธรรมที่ทำให้ประชาชนราว1.1ล้านคนต้องเสียชีวิตภายในค่ายเอาชวิตซ์ระหว่างปี2483-2488 ส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรปเชื้อสายยิว และคาดว่าน่าจะเป็นการตัดสินคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คดีสุดท้าย

ที่มา http://www.dailynews.co.th/foreign/335173 (http://www.dailynews.co.th/foreign/335173)


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: Diwali ที่ 16 ก.ค. 15, 01:13
คุณปู่แกโดนพิพากษาไปแล้วในที่สุด....



กรณีนี้นำให้ผมมาคิดถึงภาพข่าวเก่าๆแถวละแวกบ้านเรา

ภาพที่แวบขึ้นมาก็คือ....




วาระท้ายๆของเหล่าผู้นำเขมรแดงในวัยชราทั้งหลาย



ไม่รู้ว่าสองเรื่องนี้เกี่ยวพันกันอย่างไร แต่ภาพในสมองมันแว้บภาพมาอย่างนั้นจริงๆนะครับ

 ??? ??? ???


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 ก.ค. 15, 20:12
ระหว่าง รอ ร้อ รอ ดร.ประกอบ มีข่าวนาซีกับราชวงศ์อังกฤษให้ฮือฮากันทั้งเกาะมาฝาก

ภาพนี้ขึ้นหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ "เดอะซัน" มาจากวิดีโอที่บันทึกเป็นการส่วนพระองค์ภายในพระราชวงศ์ ณ พระตำหนักบัลมอรัล ในสกอตแลนด์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ ในภาพสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ ๒ ซึ่งในขณะนั้นทรงมีพระชนมายุ ราว ๗ ชันษา พร้อมด้วยพระราชมารดา เจ้าหญิงมากาเร็ต พระกนิษฐภคินี หรือน้องสาว และเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด พระปิตุลา ทรงยกพระหัตถ์ขวาขึ้นในลักษณะที่คล้ายกับการแสดงความเคารพแบบนาซี ซึ่งขณะนั้น อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เริ่มมีอิทธิพลอย่างสูงในฐานะผู้นำเยอรมนี
      
สำนักพระราชวังอังกฤษแถลงว่า ผิดหวังที่หนังสือพิมพ์ได้ภาพไปและถูกนำไปหาประโยชน์ และว่าคนส่วนใหญ่เมื่อเห็นภาพนี้ก็คงจะเข้าใจว่า เป็นเพียงภาพยนตร์ที่ทรงถ่ายเล่นในครอบครัว ซึ่งทุกพระองค์เพียงแต่ทรงแสดงท่าทางที่เห็นได้บ่อยผ่านสื่อในยุคนั้น ไม่มีพระองค์ใดทราบว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นในอนาคตหลังจากนั้น และว่ากำลังสืบสวนว่าวีดีโอดังกล่าวหลุดไปได้อย่างไร
      
ด้านหนังสือพิมพ์เดอะซัน ปฏิเสธที่จะเผยว่าได้ภาพมาอย่างไร แต่ระบุว่าข่าวดังกล่าวเป็นน่าสนใจ และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวข้องกับเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ซึ่งในเวลาต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ในฐานะพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๘ แต่สละราชย์หลังจากครองราชย์เพียง ๑๑ เดือน เนื่องจากอดีตเจ้าชายแห่งเวลส์ทรงถูกกล่าวหาว่าฝักใฝ่นาซี และยังเคยฉายพระรูปร่วมกับฮิตเลอร์ ที่เมืองมิวนิกในเดือนตุลาคม ๒๔๘๐

จาก ผู้จัดการ (http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9580000081472)

http://youtube.com/watch?v=BU55Bxr7T6E#ws (http://youtube.com/watch?v=BU55Bxr7T6E#ws)


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 ก.ค. 15, 21:19
ข่าวดังกล่าวเป็นน่าสนใจ และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวข้องกับเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ซึ่งในเวลาต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ในฐานะพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๘ แต่สละราชย์หลังจากครองราชย์เพียง ๑๑ เดือน เนื่องจากอดีตเจ้าชายแห่งเวลส์ทรงถูกกล่าวหาว่าฝักใฝ่นาซี และยังเคยฉายพระรูปร่วมกับฮิตเลอร์ ที่เมืองมิวนิกในเดือนตุลาคม ๒๔๘๐

ดยุคและดัชเชสแห่งวินด์เซอร์ (อดีตพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๘ หลังจากสละราชสมบัติ และนางวอลลิส ซิมป์สัน) กับ ฮิตเลอร์ พ.ศ. ๒๔๘๐


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 ก.ค. 15, 17:14
^นี่^ คุณนิลพัท สิบแปดมงกุฏของแท้

สนใจจริง อ่านจริง อีกหน่อยต้องเขียนจริงมาลงบ้างนะครับ


เขียนแล้วต้องไม่เหลวไหล อย่าทิ้งไว้ครึ่งๆ กลางๆ ไม่ต่อให้จบแบบบางคนด้วยนะครับ แบบนั้นใช้ไม่ได้ มีอยู่คนนึ่งตั้งกระทู้ไว้แล้วทิ้งค้างเหลวไหลไปเป็นเดือนๆ น่าตีนัก >:(  >:(  >:(

อิ อิ  ;)


กระทู้: ฟันเฟืองปิศาจ ฟรานซ์ สแตงเกล
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 27 ก.ค. 15, 21:31
เห็นใจท่านเถอะครับ


"....หนุ่มปางฟ้ารู้สึกจะรอสอบต้นเดือนหน้าครับ จะหมู่หรือจ่าผ่านไม่ผ่านปลายเดือนหน้าก็ต้องกลับไปตามหารักแท้ที่เมืองไทยต่อแล้ว  แท็กซ่งแท็กซี่ต้องขายเลิกกิจการกันเลย  รอกลับไปซื้อเสื้อวินปลอมตัวเปลี่ยนอาชีพตามหารักแท้ต่อไป ยิ้ม.."