เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: ติบอ ที่ 24 ก.ค. 05, 00:59



กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 24 ก.ค. 05, 00:59
 เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเข้าชมนิทรรศการของ มูลนิธิ James H W Thompson เรื่องเกี่ยวกับผ้ามัดหมี่ซึ่งจัดโดย อ. ธีรพันธุ์ จันทร์เจิรญ และได้เข้าใจในลายของผ้านุ่งมากขึ้น

แต่เดิม ผมเข้าใจเพียงแค่ว่า ลายผ้าของพระราชสำนัก มีการแบ่งประเภทของขุนนางในแต่ละระดับชั้น เช่น ในระบบของผ้าสมปัก(ผ้ามัดหมี่ผืนยาวที่ใช้นุ่งโจงกระเบนแบบต่างๆ) สมปักเชิงปูม สมปักริ้วสำหรับข้าราชการระดับล่างหน่อยและ สมปักปูมดอกเล็ก,กลาง,ใหญ่ สำหรับข้าราชการระดับสูงข้น หรือสมปักท้องนาคสำหรับข้าราชการสำคัญๆ และมีวิธีการนุ่งผ้า หรือชนิดของผ้าอีกหลายชนิดสำหรับงานพระราชพิธีต่างๆ เช่น พระราชพิธีตรียัมปวาย หรือผ้านุ่งสำหรับควาญผู้ควบคุมพระคชาธารเป็นต้น

แต่ในงานนิทรรศการดังกล่าว ได้กล่าวถึงการแบ่งวัยของสตรีในกลุ่มไทยลาวอีกหลายกลุ่ม ด้วยลวดลาย และชนิดต่างๆของผ้านุ่ง เช่นผ้าซิ่นเนื้อฝ้ายขนาดสั้นของชาวภูไท ซึ่งใช้นุ่งทั่วไป หรือ ซิ่นไหมลายต่างๆที่ชาวไทยลาว และชาวไทยเขมรหลายกลุ่มใช้กัน ซึ่งแบ่งได้ตามอายุ และบทบาท-สถานะทางสังคม เช่น เด็กสาว สาวรุ่น สตรีที่แต่งงานแล้ว และหญิงสูงอายุ

แต่ปัจจุบันด้วยแรงผลักดันทางเศรษฐกิจของระบบทุนนิยม และความสวยงาม สตรีในแต่ละเพศแต่ละวัยก็ใช้ผ้าที่ไม่ได้ยึดถือกันมาตามจารีตประเพณีเดิม หรือแม้กระทั่งสีสันและลวดลายที่มีในกลุ่มชนแต่ละกลุ่ม ซึ่งเปลี่ยนแปลง และค่อยๆกลืนกันไปตามกาลเวลา ด้วยความเป็น"โลกาภิวัฒน์" ของโลกยุคปัจจุบัน

ในทางหนึ่ง การเลือนหายของวัฒนธรรมหลายอย่างเหล่านี้อาจจะหมายถึงการสูญเอกลักษณ์ถิ่น ความหายนะทางวัฒนธรรม หรือ ความหย่อนปฏิบัติของจารีตประเพณีเดิม แต่ในทางกลับกันสิ่งเดียวกันก็หมายถึงความเป็นชาติที่แน่นแฟ้นมากขึ้น ความเป็นไทของชนชาติไทยที่มากขึ้นหรือ อิสระในการกระทำที่สูงขึ้นตามไปด้วย เราเลยได้เห็นอะไรๆที่ถ้าเมื่อ 4 - 5 ชั่วคนที่แล้ว (ผมคิดซะว่าชั่วคนละ 25 ปี) มาเห็นเข้าคงคิดว่าเข้ากลียุคเข้าเต็มทีแล้วกระมัง ไม่ว่าจะเป็นหญิงอายุมากที่แต่งตัวไม่ต่างจากเด็กวัยรุ่นหรือเด็กวัยรุ่นที่ลุกขึ้นด่าผู้ใหญ่อย่างใครห้ามเตือนไม่ได้

ผมเอง อาจจะเกิดในยุคเก่า ระบบการปกครอง(ในครอบครัว) แบบเก่า ลูกหลานจะยืนค้ำศีรษะพ่อแม่ได้ เว้นแต่ตามโอกาสที่ท่านอนุญาต(เช่น ถ่ายภาพ เป็นต้น ) บางครั้งเห็นอะไรหลายๆอย่างก็คงตกใจเป็นธรรมดา ถ้าใครรู้สึกว่าผมแก่เกินความเป็นนักศึกษาไปก็ขอโทษด้วยนะครับ อย่าถือสาก็แล้วกัน

คืนนี้ง่วงมากแล้วครับ ขออนุญาตไปนอนก่อนละกันครับ กลัวว่าถ้าอดนอนแล้วจะฟุ้งซ่านอยู่ครับ
เดี๋ยวพรุ่งนี้ผมมาเขียนต่อแล้วกันนะครับ ว่าชาวไทยแต่ละสายเขามีการแบ่งประเภทของลวดลายผ้านุ่งกันยังไง


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ก.ค. 05, 09:18

ขอบคุณความรู้ที่นำมาแบ่งปันกันค่ะ  ชอบเรื่องผ้ามัดหมี่มาก
ดีใจที่คุณตั้งกระทู้นี้

สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ โปรดทรงผ้ามัดหมี่มานานหลายสิบปีแล้ว
อย่างในพระบรมฉายาลักษณ์นี้ จะเห็นว่าทรงซิ่นมัดหมี่ตั้งแต่ยังทรงเป็นพระคู่หมั้น

การทะนุบำรุงบิดามารดาก็ดี การบูชาผู้ที่ควรบูชาก็ดี  พระพุทธเจ้าทรงนับเป็นมงคลสูงสุด
คุณเคารพนับถือคุณพ่อคุณแม่  สิ่งที่เป็นมงคลก็จะเกิดแก่คุณเอง ไม่วันนี้ก็วันหน้า  
อย่างน้อยที่เห็นๆก็คือความชื่นใจของคุณพ่อคุณแม่  และความรู้สึกชมเชยแก่ผู้ได้พบเห็น
การกระทำที่ดีก็จะดึงดูดสิ่งที่ดีเข้ามาหาตัวเอง


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 24 ก.ค. 05, 10:39
 ตื่นแต่เช้า จัดการมื้อเช้าเสร็จก็ขอเข้ามาเปิดกระทู้นี้ก่อนล่ะครับ

ขอบพระคุณอาจารย์เทาชมพูนะครับที่เข้ามาเจิมกระทู้ให้ผม


ก่อนจะไปไหนไกล พูดเรื่องคำว่ามัดหมี่ก่อนดีกว่า

หลายคนสับสนคำว่า "มัดหมี่" กับ "มัดย้อม" อยู่มาก เพราะการมัดหมี่เองก็ใช้กรรมวิธีในการมัดย้อม ในการย้อมสีเส้นด้ายก่อนนำไปกรอเข้ากระสวยและทอขึ้นเป็นผืนผ้า หรือสืบเข้าฟืมเป็นเส้นยืนให้เกิดลวดลายในผ้าแต่ละผืน ส่วนการมัดย้อมหมายถึงการนำผ้าที่ทอเป็นผืนมามัด (อาจมีกรรมวิธีต่างๆเพิ่มเติมได้ เช่น เย็บเนา) แล้วนำไปย้อมสีให้เกิดลวดลายนะครับ

ชาวไทยในเขตภาคกลาง เรียกผ้านุ่งผืนยาวซึ่งสร้างลวดลายด้วยกรรมวิธีดังกล่าวว่า "ปูม" แต่ถ้าเป็นผ้าที่ได้รับพระราชทานจากหลวงที่ใช้เป็นผ้ายศก็จะเรียกกันว่า "สมปักปูม" ซึ่งคำว่า "สมปัก" เองก็ใช้กันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายแล้วเป็นอย่างน้อย จากเอกสารคำให้การของขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมที่กล่าวถึงเกวียนจากเมืองพระตะบองที่นำผ้าชนิดนี้เข้ามาขายแล้ว (อ้างอิงจาก "มัดหมี่มัดใจ สายใยวัฒนธรรม เขมร ลาว ไทย" ของมูลนิธิ เจมส์ เอช ดับเบิลยู ทอมสัน เขียนโดย อ. ธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ นะครับ)

นอกจากเขมรซึ่งเป็นแหล่งผลิตผ้าสำหรับพระราชสำนักสยามแล้ว ชนชาติที่พูดภาษาตระกูล ไท-ลาว ในเขตประเทศไทยอีกหลายกลุ่ม และ ช่างทอชาวกลันตันที่ถูกเทครัวเข้ามายังจังหวัดปัตตานีเอง ก็สามารถทอผ้าลักษณะนี้ได้เช่นกัน แต่ในหลายพื้นที่ การทอผ้าพื้นเมืองลักษณะเดิมได้ตกหล่นสูญหายขาดผู้สืบทอดไปตามกาลเวลาแต่ละยุคสมัย และระบบศักดินาที่เสื่อมลง ของเจ้าเมืองประเทศราชต่างๆซึ่งเคยอุปถัมภ์สกุลช่างประจำเมืองในโรงทอหลวงแห่งต่างๆ

ตลอดเวลาหลายร้อยปีที่ผ่านมา ผ้ามัดหมี่เกือบทั้งหมด ได้รับเกียรติในการนุ่งห่มเพียงแค่ผ้าที่อยู่ต่ำกว่าเอวลงไป และเป็นผ้าที่ใช้ทั่วๆไปในชีวิตประจำวันมากกว่าผ้าชนิดอื่นๆ เช่น การนุ่งเข้าเฝ้าปกติที่ไม่ใช่พระราชพิธี หรือ การไปทำบุญที่วัดสำหรับชาวบ้านทั่วไปเป็นต้น

ช่างทอชาวไทยลื้อเรียกกรรมวิธีการมัดย้อมเส้นด้ายก่อนนำไปทอว่า "การมัดก่าน" หรือ "การมัดคาดถ่าน" ชาวไทยยวนในจังหวัดราชบุรีเองก็เช่นกัน ส่วนชาวไทยเขมรเรียกการมัดย้อมลักษณะเดียวกันซึ่งใช้สำหรับซิ่นที่ใช้นุ่งทั่วไปเพื่อความสวยงามว่า "จองซิ่น" ซึ่งคำว่า "จอง" แปลว่าการมัด ส่วนคำว่า "มัดหมี่" ที่ใช้ในปัจจุบันเป็นคำที่พบในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งได้รับอิทธิพลของกลุ่มชนชาวลาวอพยพหลายกลุ่ม เช่น ในภาคอิสาน และ จังหวัดลพบุรี(ลาวพวน) ซึ่งมีชื่อเสียงด้านการทอผ้ามัดหมี่มากพอสมควร


พักก่อนครับจะสอบมิดเทอมอยู่ไม่กี่วันนี้แล้วครับ ขอตัวอ่านหนังสือก่อนแล้วกันครับ
ไว้ว่างๆหรือหลังสอบผมมาเขียนต่อนะครับ



ปล. ภาพผ้ามัดหมี่ลายสัตว์หลายชนิดจากสมาคมผ้าไทยครับ


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 27 ก.ค. 05, 22:33

เริ่มต้นที่ราชสำนักแล้วกันนะครับ

อย่างที่เล่าไว้ในความเห็นที่ 2 ด้านบนครับ การใช้ผ้าปูมไหมมัดหมี่แบบเขมร เป็นความต่อเนื่องอย่างหนึ่งของเครื่องแบบข้าราชการไทยอย่างน้อยก็ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายแล้วครับ จากคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม

ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ผ้าสมปักที่นิยมพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์เพื่อใช้เป็นผ้านุ่งและขุนนาง มีอยู่ 3 จำพวกด้วยกันคือ สมปักลาย(เป็นลายที่เกิดจาการเขียน หรือพิมพ์) สมปักยก และสมปักปูมจากเขมร
จนในรัชสมัยสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงรัชการที่ 5 จึงมีพระบรมราชโองการโปรดฯให้เลิกนุ่งสมปักปูมเข้าเฝ้าด้วยเหตุผลหลายประการ แต่ที่น่าเชื่อได้ว่าเป็นเหตุผลหลักคือการที่เขมรเองไม่ใช่ประเทศราชของสยามอีกต่อไป การจัดซื้อผ้าเข้ามาเป็นจำนวนมากจึงอาจไม่สะดวกได้ ถ้าเกิดศึกสงครามระหว่างประเทศ


ภาพปูมเขมร(แบบเขมร) จาก Tilleke & Gibbins ครับ


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ค. 05, 14:38

ขออัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ
ในฉลองพระองค์มัดหมี่  มาให้ชมกันค่ะ

ไม่รู้ว่าช่วงนี้คุณติบอจะมีเวลามาเล่าต่อหรือเปล่า
ไม่อยากให้กระทู้นี้เลื่อนลงไปข้างล่างเร็วนัก
เลยแวะเข้ามา


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 28 ก.ค. 05, 14:39

.


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 28 ก.ค. 05, 23:41
 เมื่อกี้พิมพ์ยาวๆเนื้อหาแน่นเพียบเลยครับ พอกดส่งปั๊บ... ก็ไฟตกทันที -_-" ต้องมาเริ่มใหม่เลยครับ
สงสัยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำบอร์ดไม่อยากให้ผมเล่าเครียดๆเท่าไหร่ มาแบบสบายขึ้นหน่อยแล้วกันนะครับ



ไหนๆ ก็เริ่มมาทางเจ้านายแล้ว ผมขอพาเข้าวังกันก่อนแล้วกันครับ แต่วังก็ออกจะกว้างใหญ่ ขอเป็นพิพิธภัณฑ์พระแก้ว(ผมชอบเรียกแบบนี้ครับ อิๆ) แล้วกันนะครับ

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เก็บรักษาสมบัติต่างๆของพระบรมหาวังและสิ่งของที่ประชาชนถวายเป็นพุทธบูชาในวัดพระศรีรัตนศาสดารามมาเป็นเวลาล่วงสองศตวรรษแล้วล่ะครับ แต่สิ่งที่ผมอยากให้ดู เป็นฉากรดน้ำบานโตบานหนึ่งครับ ถ้าใครพอจะนึกออก ฉากบานนี้เก็บรักษาอยู่ที่ห้องในสุด (ฝั่งซ้ายมือข้างพระแท่นมนังคศิลาฯ ครับ)

เดิมฉากรดน้ำบานโตฉากนี้เคยตั้งอยู่ในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เพื่อกั้นฝ่ายหน้ากับฝ่ายในออกจากกันครับ ที่ภาพกลางของฉาก ซึ่งเป็นภาพจาก "พิธีอมรินทราภิเษก" (ผมค้นตำราที่บ้านแต่หาไม่พบครับ สงสัยว่าจะซุกอยู่ในลังในห้องเก็บของ ถ้าสมาชิกท่านใดมีข้อมูลก็ช่วยหน่อยนะครับอยากได้บทบรรยายการแต่งกายของเทวดาแต่ละลำดับชั้นในพิธีครับ) เท่าที่ผมอ่านมาเมื่อนมนานกาเลครับ ชื่อของพระภูษาทรงของเหล่าเทพบริวารในพิธีอมรินทราภิเษก ดูเหมือนจะสอดคล้องกับผ้านุ่งลายต่างๆของราชสำนักสยามพอสมควรล่ะครับ เพราะนอกจากศักดินาแล้ว เครื่องยศต่างๆที่พระมหากษัตริย์พระราชทานแก่เหล่าขุนนาง ก็เป็นของอีกอย่างหนึ่งที่บ่งบอกถึงตำแหน่งและระดับความสำคัญของขุนนางไปด้วยไงครับ ผ้าสำหรับนุ่งเข้าเฝ้าฯ หรือทำราชการต่างๆของขุนนางแต่ละระดับจึงสอดคล้องกับผ้านุ่งของเหล่าเทวดาในพระราชพิธอินทราภิเษกด้วยครับ


เท่านี้ก่อนดีกว่าก่อนที่เครื่องผมอาจจะมีอันเป็นไปอีกนะครับ อิๆ


ภาพพระราชพิธีอินทราภิเษกจาก http://www.d103group.com/qncc/cultural.htm  ครับ
ภาพนี้เป็นภาพร่างของที่ประดับอยู่ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตครับผม


ปล. ขอบพระคุณอาจารย์เทาชมพูมากครับ สำหรับพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถครับ


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 29 ก.ค. 05, 16:38
 พอดีอยู่ห้องสมุด ค้นข้อมูลเรื่องฉากรดน้ำบานที่ว่าได้ เลยมาลงไว้ในนี้หน่อยนะครับ

ฉากบานที่ผมพูดถึงในกระทู้ข้างบน เป็นฉากขนาดใหญ่ ยาว 8.8 เมตร สูง 2.2 เมตร ตัวฉากและประกับทำด้วยไม้จริง แบ่งออกเป็น 5 ส่วนครับ แผงฉากทั้งสองด้าน เขียนลายรดน้ำปิดทองเป็นเรื่องเดียวกัน คือเรื่องที่ผูกขึ้นจากพระราชพิธีอินทราภิเษก และเรื่องราวเกี่ยวกับสวรรค์ครับ

กรมหมื่นทิพยลาภพฤฒิยากร ทรงอธิบายเกี่ยวกับภาพฉากรดน้ำบานกลางไว้ว่า "...เห็นได้ชัดว่าผู้ออกแบบเขียนเรื่องขึ้นโดยนึกถึงการพระราชพิธีอินทราภิเษกที่เล่าไว้ในกฏมณเฑียรบาล ดังได้คัดลอกมาลงไว้ดังต่อไปนี้

'การพระราชพิธีอินทราภิเษก ตั้งพระสุเมรุสูงเส้น 5 วา ในกลางสนามนั้น พระอินทรทรงนั่งบนพระสุเมรุ อิสินธร ยุคุณธรสูงเส้นหนึ่ง กรวิกสูง 15 วา เขาไกรลาศสูง 10 วา ฉัตรทองชั้นใน ฉัตรนาคชั้นกลาง ฉัตรเงินชั้นนอก แลนอกนั้นราชวัตฉัตรเบญจรง ใต้ฉัตรรูปเทพดายืน นอกนั้นฉัตรราชวัตรั้วไก่ ฉัตรกระดาษรูปยักคนธรรภ รากษษยยืนตีนพระสุเมรุ รูปคชสีหราชสีหสิงโต กิเลนเยียงผา ช้างโค กระบือ แลเสือ หมี มีรูปเทพดานั่งทุกเขา ... รูปพระอิศวรเป็นเจ้าแลนางอุมาภควดี ยอดพระสุเมรุรูปพระอินทร รูปอสูรอยู่กลางพระสุเมรุ รูปพระนารายณ์บันทมสิน ในตีนพระสุเมรุ นาค 7 ศีรษะเกี้ยวพระสุเมรุ  นอกสนาม  อสูรยืนนอกกำแพง โรงรำระทาดอกไม้มหาดไท บำเรอห์ สนองพระโอษฐ์ ตำรวจ แลกเป็นรูปอสูร 100 มหาดเล็กเป็นเทพดา 100 เป็นพาลี สุครีพ มหาชมภู แลบริวารพานร 103 ชักนาคดึกดำบรรพ์ อสูรชักหัว เทพดาชักหางพานรอยู่ปลายหาง พระสุเมรุเหลี่ยมหนึ่งทอง เหลี่ยมหนึ่งนาค เหลี่ยมหนึ่งแก้ว เหลี่ยมหนึ่งเงิน เขายุคลธรทอง อิสินธรนาค กรวิกเงิน ไกรลาศเกงิน รอบสนามข้างนอกตั้งช้างม้า จัตรงคพลเสนา 10000 ใส่ศรีเพศห่มเสื้อนุ่งแพรเคารพ  นา 5000 ใส่หมวกทองห่มเสื้อ นุ่งแพรจำรวจ นา 3000 หมวกแพรเทศ ห่มเสื้อนุ่งแพร นา 2400 ลงมาถึงนา 1200 ถือดอกไม้เงิน ดอกไม้ทองตามตำแหน่ง เข้าตอกดอกไม้ถวายบังคม  พราหมณาจารย โยคี อาดาลตบศิว นั่งในราชวัต...' "


จากกฏมณเฑียรบาล เราจะเห็นได้ว่าผ้านุ่งของเหล่าเทวดา และขุนนางในราชสำนักเป็นเรื่องที่สอดคล้องและเกี่ยวเนื่องเป็นเรื่องเดียวกันครับ ในลายของสมปักปูมเองก็เช่นกันครับ

เริ่มจาก สมปักเชิงปูม  ซึ่งเป็นผ้าพื้นธรรมดามีกรอบลาย และกรวยเชิงเหมือนสมปักชนิดอื่นๆ สมปักริ้ว  ซึ่งทอเป็นลายริ้วปิดด้วยกรวยเชิง สำหรับข้าราชการชั้นผู้น้อย

สมปักปูมดอกเล็ก ดอกกลาง ดอกใหญ่  สำหรับขุนนางชั้นผู้ใหญ่ และ ดอกท้องนาค  สำหรับขุนนางสำคัญหรือพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ครับ


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 29 ก.ค. 05, 16:53

เอาภาพมาฝากครับ เล็กไปนิดนะครับ
จาก http://kanchanapisek.or.th/ครับ  เป็นภาพในสารานุกรมไทยเฉลิมพระเกียรติเล่มที่ 15 ครับ
น่าจะถ่ายจากห้องผ้าในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนครครับ


ปล. ไปดูของจริงกันมั้ยครับ


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 29 ก.ค. 05, 17:28
 ลืมบรรยายภาพไปครับ

ผืนกลางภาพที่เห็นลายชัดที่สุด เป็นสมปักปูมดอกใหญ่ครับ
ส่วนผืนด้านล่างนี่เป็นลายประยุกต์แล้วครับ

เอาภาพผ้ามัดหมี่สวยๆมาฝากันอีกภาพครับ (เป็นโฆษณาขายสินค้า ผมขออนุญาตไม่เอาชื่อเวบมาลงนะครับ)


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 29 ก.ค. 05, 17:34
 ส่วนผืนนี้ ลายพุ่มข้าวบิณฑ์  เหมือนผืนกลางในความเห็นที่ 8 ครับ เชื่อได้ว่าเป็นลายของผ้าทอพื้นบ้านพื้นเมืองที่ได้รับอิทธิพลจากผ้าของราชสำนักสยามที่พระราชทานแก่ขุนนางเป็นผ้ายศครับ
แต่ตั้งแต่เลิกใช้ผ้าสมปักปูมไป เดี๋ยวนี้ชาวบ้านก็เรียกชื่อผ้าลายนี้ตามภาษาปากของแต่ละถิ่นไปครับ ผมเคยได้ยินมาตั้งแต่ ลายช่อเชิงเทียน ลายขันหมากเบ็ง ลายนาคล้อมเพชร ลายนกขอนาค  ฯลฯ ไปจนกระทั่งบางที่เรียกว่า "ลายงูเหลือม"  ก็มีครับ



ปล. มันดูเป็นงูเหลือมตรงไหนเหรอครับ ช่วยผมดูหน่อยเถอะ


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 29 ก.ค. 05, 17:41
 ผืนล่างสุดนี้เป็นแบบที่ได้รับความนิยมในเขตภาคอิสานตอนล่างครับ แต่จะเห็นได้ว่าสีที่นิยมใช้ก็ยังไม่แตกต่างจากผ้าปูมที่ใช้กันมาเมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ในความเห็นที่ 8 เท่าไหร่ครับ

ขออนุญาตเอามาลงไว้ก่อนจะเปลี่ยนเรื่องจากในรั้วในวัง ในหน้าที่ราชการมาอิสานบ้านเฮาครับ อิอิ


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ค. 05, 10:01
 ไปค้นผ้ามัดหมี่  ในอินเทอร์เนต บางลายมาเสริมค่ะ  
ไม่ทราบว่าลายอะไรบ้าง


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ค. 05, 10:06
 สองลายนี้เป็นลายใหม่  ออกแบบสำหรับส่งออก http://www.dip.go.th/ProductDesign/product/ProductDetail.asp?ProductID=50&IndustryID=2&IndustryCateID=75  


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ค. 05, 10:07
 ลายที่สอง


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ส.ค. 05, 18:54

ฉลองพระองค์ผ้ามัดหมี่ในพระบรมฉายาลักษณ์   ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่
Union Francaise des Arts du costume
พิพิธภัณฑ์ลูฟว์  ปารีส


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ส.ค. 05, 18:55

.


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 02 ส.ค. 05, 20:30

.




ขอบพระคุณอาจารย์เทาชมพูมากครับ

ลายผ้าในความเห็นที่ 12 ของอาจารย์ เป็นลายลักษณะเดิมที่ใช้กันมานานแล้วล่ะครับ ชื่อเรียกของลายก็ต่างๆกันไปตามแต่ละท้องถิ่นอีกเหมือนเดิม ผมเองก็ไม่ทราบเหมือนกันครับ ว่าลายอะไร

ส่วนฉลองพระองค์ในความเห็นที่ 15และ 16 สำหรับผม ถือเป็นฉลองพระองค์ผ้ามัดหมี่ชุดที่เรียกได้ว่าประทับใจที่สุดเลยก็ว่าได้ครับ เพราะตัดเย็บได้อย่างลงตัวมากๆครับ เพิ่งทราบครับว่าจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ลูฟ ขอบพระคุณอาจารย์มากนะครับ



ปล. ไม่ได้เข้ามาเขียนต่อเลยครับ รู้สึกว่าตัวผมเอง กว่าจะลำดับความคิดให้เขียนอะไรซักอย่างได้เป็นเรื่องเป็นราวดูจะยากกว่าการตอบคำถามมาก สงสัยทักษะทางภาษาของผมจะพัฒนาได้ไม่ดีเท่าที่ควรครับ อิๆ


ไปล่ะครับ ขอผลัดไว้เป็นวันศุกร์นะครับ


วันนี้เอาผ้ามัดหมี่ที่เรียบเรียงลวดลายเป็นเรื่องราวผืนสวยมาฝากครับ คงไม่ต้องอธิบายนะครับว่าลายอะไร



ปล. ผ้าลักษณะนี้พบอยู่ในกลุ่มไทยเขมรหรือชาวเขมรเองมานานมากแล้วล่ะครับ แต่ที่พบของเดิมซึ่งใช้ดาดผนัง ในงานพิธีกรรมสำคัญๆ เรื่องราวที่สื่อจะเป็นลวดลายรูปสรวงสวรรค์ชั้นต่างๆ หรือ ฉากในไตรภูมิ-ชาดกเกี่ยวกับเรื่องราวของภพภูมิที่สูง หรือภาพพุทธประวัติ เรียกกันว่า พิดาน หรือ ปดาร ซึ่งแปลว่าเรื่องราวในภาษาเขมรครับ ไม่เกี่ยวอะไรกับเพดานที่อยู่บนหัวเราเท่าไหร่นะครับ


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ส.ค. 05, 07:41
 ผ้าใน คห 17 น่าทึ่งมากค่ะ  สวยน่าอัศจรรย์ใจทีเดียว

ระหว่างรอคุณติบอกลับมาในวันศุกร์  ดิฉันมีลายผ้ามัดหมี่มาฝาก
ให้ดูกันไปพลางๆก่อน

ลายนกเอี้ยงกับดอกสามปี (ดอกบานไม่รู้โรย)


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ส.ค. 05, 07:43

ลายเอี้ยกาบ  ไส้ลายดอกแก้ว เชิงลายเอี้ย


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ส.ค. 05, 07:45

ลายขอเลื้อย  เชิงลายโคมห้า  เชิงลายเอี้ย


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 03 ส.ค. 05, 21:59

.




ขอบพระคุณอาจารย์เทาชมพูมากครับ สำหรับชื่อลาย และตัวอย่างลายผ้าที่นำมาฝากกัน
ส่วนเรื่องลาย ผมขออนุญาตเก็บไว้เล่าเอาวันศุกร์ซะทีเดียวนะครับ พรุ่งนี้จะสอบอยู่แล้วครับ
อู้มากไม่ได้ครับผม


ผืนที่เอามาฝาก ลาย ไก่ ต้นไม้ ผีเสื้อ กับ สิงห์ครับ


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 03 ส.ค. 05, 22:34
 คือผมสงสัยครับว่าผ้าลายพุ่มข้าวบิณฑ์  มีที่มาจากอะไรอ่ะครับ  แล้วมีส่วนเกี่ยวข้องกับเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ที่สุโขทัยหรือเปล่า


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 03 ส.ค. 05, 23:18

.





เอ๊า ไหนๆ ก่อนนอน ตอบคุณหยดน้ำก่อนนิดนึงแล้วกันครับ


สำหรับเรื่องลายผ้า ก่อนอื่น พูดพาดพิงไปถึงเรื่องที่ไม่คิดจะพูดไว้ในกระทู้นี้ก็แล้วกันครับ ว่า ถ้าคุณสังเกตดีๆ จะพบว่าลวดลายไทยของผ้าหลายชนิด ที่ใช้วิธีการสร้างลวดลายแตกต่างกันออกไป เช่น มัดหมี่ เขียน พิมพ์ ทอ ถัก หรือปัก จะมีความสอดคล้องกันอย่างเห็นได้ชัด เช่นเดียวกับลายไทยที่พบในผ้าไทยซึ่งสอดคล้องกับลวดลายในศิลปะไทยอีกหลายแขนง เช่น การประดับลายในจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งใช้หลักของการดาดผ้าลงบนผนังมาวาดตกแต่ง หรือการแกะสลักไม้ในลักษณะลายของการใช้ผ้าห่อคานไว้ เป็นต้น

ถ้าคุณศึกษางานประณีตศิลป์ไทยสาขาหนึ่งๆมาอย่างดี คุณก็อาจจะพบคำศัพท์ที่คุ้นเคยจากงานจิตรกรรม ประติมากรรมในผ้าผืนหนึ่ง เช่น คำว่า "สังเวียน" และ "กรวยเชิง" ได้ครับ ซึ่งถ้าผมจะพูดว่าลวดลายจากงานช่างแต่ละสาขาซึ่งถูกร้อยเรียงไว้ และนำเสนอไปในทิศทางเดียวกันตลอดมา ด้วยความนิยมเดียวกันจากแต่ละยุคสมัยของราชสำนักสยามก็คงจะไม่ผิดนัก

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่ที่จะมีการเรียกชื่อลายทรงพุ่มที่ใช้ในผืนผ้าว่า "ลายพุ่มข้าวบิณฑุ์" เหมือนชื่อเรียกของลายทรงพุ่มในงานประณีตศิลป์ไทยอีกหลายแขนงครับ



ส่วนเรื่องลายผ้าพื้นบ้าน ผมขอแบ่งไว้อีกรอบนะครับ แต่ชื่อจะอยู่ในลักษณที่อาจารย์เทาชมพูนำมาฝากล่ะครับ คือเรียกชื่อกาบลายในแนวเฉียงแต่ละกาบโดยใช้ชื่อตามที่เห็น หรือถ้าเห็นเป็นลักษณะของดอก(ถึงแม้จะเกิดจากทรงเรขาคณิตก็ตาม) ก็อาจมีชื่อดอกไม้ได้ หรือสิ่งใกล้ตัว เช่น ดอกแก้วในความเห็นที่19 เป็นต้น หรือบางครั้ง การเรียกชื่อลายบางลายอาจเรียกเพี้ยนไปจากคนรุ่นก่อนๆ เช่น เรื่อง "ลายงูเหลือม" ในความเห็นที่10 ก็เป็นเรื่องธรรมดาครับ


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 03 ส.ค. 05, 23:22

.






ส่วนเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑุ์ที่สุโขทัย ผมขอไม่กล่าวถึงแล้วกันครับ
เพราะมีพี่ที่รู้จักกันท่านหนึ่งเล่าทฤษฎีส่วนตัวซึ่งเกี่ยวกับการเสื่อมความนิยมของเจดีย์ทรงนี้ในสมัยกรุงศรีอยุธยาให้ผมฟัง แต่ผมยังไม่ปักใจเชื่อนะครับ ขออนุญาตเก็บไว้จนกว่าจะค้นข้อมูลที่แน่นอนได้แล้วกันครับ ตอนนี้ไม่ได้เรียนมาทางนี้ด้วยครับ ไม่กล้ามีความรู้ครับ อิอิ


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: หยดน้ำ ที่ 04 ส.ค. 05, 07:55
 ขอบคุณคับคุณติบอมากครับ  ที่ให้ความกระจ่าง  +_+


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ส.ค. 05, 09:21
 ระหว่างนั่งรอคุณติบอไปสอบให้เสร็จเสียก่อน   จะได้กลับมาคุยต่ออย่างปลอดโปร่งใจขึ้น
ดิฉันขอนำลายผ้ามัดหมี่มาคั่นโปรแกรมไปพลางๆก่อน

ผืนนี้ มีหลายลายผสมกัน
จากข้างบน คือลายขาเปียชูสน
ต่ำลงมาคือลายเอี้ย
ต่ำลงมาอีกคือลายพวงมาลัย
ล่างสุดตรงเชิง คือลายโคมห้า


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ส.ค. 05, 09:25
 ผืนนี้
ช่วงบนสุดเรียกว่าลายขาเปียหมากจับ
ส่วนใหญ่ของผ้าคือลายต้นสน สลับลายขาเปีย


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ส.ค. 05, 09:26
 ลายนี้ คือลายดอกไม้(ดอกกระดาษ)


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 04 ส.ค. 05, 22:17
 ขอบพระคุณอาจารย์เทาชมพูมากครับ

ส่วนคุณหยดน้ำ สงสัยผมจะตอบหนักไปเยอะมาก ขอโทษด้วยครับ แหะๆ

เมื่อคืนคงเครียดกับเรื่องที่จะสอบมากไปหน่อยมั้งครับ


วันนี้เอาผ้าผืนสวยมาฝากกันอีกผืนครับ บอกว่าลายนกยูง นก ไก่ กับดอกไม้ แล้วกันครับ


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ส.ค. 05, 07:54
 เดี๋ยวคุณติบอคงจะกลับเข้ามาเล่าต่อ
มีลายผ้ามัดหมี่มาฝากอีกค่ะ

ลายไก่คู่ สลับลายต้นสน


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ส.ค. 05, 07:57
 ผืนนี้มีหลายลายรวมกัน
ท่าทางจะทอยาก

ลายนกกระยางคู่ สลับลายหมากจับและลายขาเปีย
ส่วนเชิงเป็นลายสนน้อยสลับลายโคมเจ็ด


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ส.ค. 05, 08:00

ลายขอวง ล้อมลายพุ่มดอก


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: รตา ที่ 05 ส.ค. 05, 16:06
สวัสดีค่ะ ดิฉันหายหน้าหายตาไปนาน ไปได้ไปไหนไกลมาก มัวไปติดหนึบอยู่ที่เวบอื่นที่เป็นญาติกับเวบวิชาการ ยังมีโอกาสได้กลับมาอ่านกระทู้ในเรือนไทยอยู่บ้างค่ะ

กระทู้เรื่องผ้านี้โดนใจมากๆ เพราะเป็นคนชอบผ้าทอค่ะ ทั้งผ้าทอของไทยหรือผ้าทอพื้นเมืองของชาติต่างๆ ด้วยความที่สนใจเลยทำให้ดั้นด้นไปดูผ้าตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆหรือหาหนังสืออ่านเพิ่มบ้างเหมือนกันค่ะ

ผ้าทอชิ้นแรกที่ซื้อก็เมื่อสิบปีก่อน เป็นผ้าถุงเก่าลายน้ำไหลที่น่านค่ะ ซื้อจากร้านขายของเก่าใกล้ๆโรงแรมเทวราช หลังจากนั้นก็ซื้อผ้าไหม ผ้าฝ้ายใส่มาเรื่อยๆค่ะ

และเมื่อช่วงเข้าพรรษาทีโอกาสได้ไปเที่ยวอุบลราชธานีมาค่ะ สถานที่หนึ่งที่ขาดไม่ได้คือหมู่บ้านปะอาว ที่นั่นจะมีกลุ่มแม่บ้านทอผ้า ได้ไปซื้อผ้าไหมมัดหมี่และเห็นคนที่ทอผ้าชิ้นนั้นจริงๆค่ะ ตื่นเต้นมาก ซื้อมาหลายชิ้น คือลายลูกแก้ว (เลือกซื้อสีธรรมชาติ) ลายประแจจีน และลายเชิงเทียน

ส่วนอีกสถานที่นึงที่ไปคือบ้านคำปุนค่ะ เขาจะเปิดบ้านและโรงทอผ้าให้เข้าชมปีละครั้งเท่านั้น เรียกได้ว่าโชคดีมากๆค่ะ ที่นั่นมีการสาธิตการทอผ้า ผ้าที่ขึ้นชื่อคือผ้าไหมกาบบัว ลูกชายแม่ใหญ่คำปุนจบด้านดีไซน์มาจากต่างประเทศ ก็เลยดีไซน์ลายผ้ากาบบัวให้ทันสมัยยิ่งขึ้น คือ เอาวิธีจกลายต่างๆลงบนผ้าไหมกาบบัวค่ะ ดูจากภาพนะคะ


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: รตา ที่ 05 ส.ค. 05, 16:09

อีกภาพจากโรงทอผ้าค่ะ เข้าใจกำลังจะมัดย้อมนะคะ


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: รตา ที่ 05 ส.ค. 05, 16:30
 ลายผ้าในความคิดเห็นที่12ของคุณเทาชมพูเรียกว่า ลายลูกแก้วค่ะ ลายเหมือนที่ดิฉันซื้อมาจากอุบลเลย เป็นลายนูนๆในเนื้อผ้า ช่างทอบอกว่าลายนี้เป็นที่นิยมในหมู่คนต่างชาติมาก สีเขียวๆชมพูๆที่คุณเทาชมพูโพสท์นั่นก็กำลังเข้าสมัยเลยค่ะ

กลับจากอุบลก็แวะที่สุรินทร์ค่ะ ที่นั่นก็มีผ้าไหมสวยมากๆเลย หมู่บ้านทอผ้าที่สุรินทร์นี้เคยฝากฝีมืออวดผู้นำในระดับนานาชาติตอนงานประชุมเอเปคค่ะ คือได้ทอผ้าไหมสำหรับท่านผู้นำและผ้าคลุมไหล่สำหรับภริยา ดิฉันได้มีโอกาสคุยกับอาจารย์ผู้ดูแลการทอ เห็นว่าทอกันขะมักเขม้นเป็นปีเลย

ตอนไปหลวงพระบางเมื่อปลายปีที่แล้วก็ซื้อผ้าทอสวยๆมาหลายผืนค่ะ ไม่ใช่ผ้าไหมมัดหมี่แต่เป็นฝ้าย ชอบลวดลายของเขาที่ทอเป็นสัตว์บ้าง เจดีย์บ้าง ตอนนี้บางผืนก็นำมาปูบนที่นอนที่เป็นหมอนขวานของไทยๆ ใช้เอนๆนั่งๆนอนๆดูทีวีหรืออ่านหนังสือค่ะ แต่ผ้าลาวก็มีข้อเสียนิดนึงนะคะ คือสีตกแบบน่าเสียดายค่ะ ผ้าพาดไหล่ลายสัตว์หิมพานต์ที่ซื้อมา ขนาดซักด้วยน้ำเกลือ สีแดงตกใส่สีอื่น ทำเอาเจ้าของน้ำตาแทบไหลเลยค่ะ


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: รตา ที่ 05 ส.ค. 05, 16:39

อีกภาพจากโรงทอผ้าค่ะ ที่เก็บกระสวยเส้นไหมค่ะ


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 05 ส.ค. 05, 17:52
 แวะมาเล่าต่อนิดหน่อยครับ

ก่อนอื่น เล่าก่อนดีกว่า ว่าภาคอิสานตอนล่าง เป็นแหล่งรวมของชาวไทยหลายเชื้อชาติ เช่น ชาวไทยเขมร ไทยกูย ไทยลาว เป็นต้นนะครับ ดังนั้น ผ้าหลายลักษณะที่พบในบริเวณนี้จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากพอสมควรเมื่อเที่ยบกับผ้าทอจากแหล่งอื่นๆ เช่น การเลือกใช้วิธีทอแบบสามตะกอ หรือ การเลือกใช้เนื้อไหมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นต้นครับ


เอาล่ะสิ คำแปลกๆโผล่มาอีกแล้วสำหรับคนที่ไม่คุ้นกับผ้าใช้มั้ยครับ อิอิ "สามตะกอ" มันเป็นยังไงดี

เริ่มเล่ากับคำนี้ก่อนนะครับ ก่อนอื่น อยากให้นึกถึงกี่ทอผ้าที่เราเห็นกันในปัจจุบัน ว่ามี 2 ประเภท (ตัดกี่แบบห้างหลัง ที่โยงไว้กับเอวซึ่งนิยมในกลุ่มชาวไทยภูเขาหลายกลุ่มออกไปก่อนนะครับ) ก็มี กี่กระตุก และ กี่มือ

กี่กระตุก(กรุณาอย่าอ่านผิดเป็นกี่กระดูกเหมือนใครซักคนที่เมืองทองเมื่อปีที่แล้วนะครับ 555+) มีการเริ่มใช้ไม่ถึง 150 ปีที่ผ่านมานี่เองครับ เมื่อมีการว่าจ้างช่างทอชาวญี่ปุ่นเข้ามาสอนการทอผ้าที่พระตำหนักสวนหงส์ในพระราชวังดุสิต ดังนั้น กี่ทอแบบดั้งเดิมก็หนีไม่พ้นกี่มือครับ

เอาล่ะ มาต่อตรงนี้ครับ ว่าตะกอคืออะไร ถ้าคุณก้มลงมองผ้าแต่ละผืนนะครับ การทอที่ง่ายที่สุดก็คือการขัดกันของด้ายจากกี่ และด้ายจากกระสวยที่ทอสอดไปมาแบบ ขึ้น-ลง-ขึ้น-ลง ไปเรื่อยๆ (จินตนาการถึงเลขฐาน 2 เข้าไว้ครับ อิอิ 1 0 1 0 1 0 1 0 1 0 ...) - ล้อเล่นครับ เดี๋ยวจะมีคนเป็นลมก่อน - คือ เมื่อเส้นด้ายจากกี่ อยู่ด้านบน เส้นด้ายจากกระสวยก็จะถูกทับไว้ด้านล่างไงครับ
แต่ถ้ามีแค่เรียงแบบนี้แบบเดียว เส้นด้ายก็จะไม่ขัดตัวกันเป็นผืนให้เรามีผ้าใช้ ด้ายที่ทอเส้นถัดไปจึงต้องตรงข้ามกับด้ายเส้นแรกคือ จาก ขึ้น ลง ขึ้น ลง ขึ้น ลง... แถวที่สองก็จะกลายเป็น ลง ขึ้น ลง ขึ้น ลง ขึ้น... เพื่อขัดด้ายขึ้นเป็นผ้าครับ

เอาล่ะ พูดมาตรงนี้คิดว่าถ้าอ่านดีๆคงพอเข้าใจแล้วล่ะครับ แต่คุณอาจจะสงสัยต่อว่า แล้วช่างทอเขาต้องมานั่งล้วงด้ายจากกี่ทีละเส้นให้ขัดกับด้ายจากกระสวยเหรอครับ คำตอบก็คือไม่ครับ เขามีวิธีการใช้ "ตะกอ" เนี่ยะแหละ มาช่วย โดยการสอดตะกอในด้ายเส้นที่ต้องการยกขึ้น และ ยกตะกอขึ้นสลับกันไปมา ก่อนวิ่งเส้นด้ายเส้นถัดไป พอนึกออกนะครับ (ผมเผด็จการไปมั้ยครับ อิอิ) ผ้าพื้นธรรมดา ก็เลยเป็นผ้าที่เรียกว่าผ้า "สองตะกอ" เพราะใช้ตะกอ 2 อันในการขัดด้ายไงครับ

แล้วสามตะกอมันทำทำไม ในเมื่อผ้าก็เป็นผืนแล้วล่ะ ก็เริ่มทำความเข้าใจก่อนนะครับ ว่าผ้ามัดหมี่แบบไทยๆเกือบทุกผืน มีด้ายเพียงเส้นเดียวที่มีลายของผืนผ้า คือด้ายในกระสวยที่วิ่งไปมาเพราะเกิดจากการมัดย้อมลวดลายก่อนทอ เหมือนในความเห็นที่ 34 ของคุณ รตา ครับ ส่วนด้ายจากกี่มักจะเป็นด้ายสีพื้นทั้งเส้นซึ่งอาจมีสีกลมกลืนหรือสีแตกต่างจากสีพื้นของผ้าก็ได้ครับ ดังนั้นเมื่อทอเสร็จสมบูณณ์แล้ว ลายของผ้าจะถูกสีของด้ายจากกี่ข่มไว้ส่วนหนึ่ง

ช่างทอชาวเขมร ซึ่งเป็นต้นตำรับการทอผ้าสำหรับราชสำนักสยาม ใช้วิธีการขัดด้ายให้ด้ายจากกระสวย โผล่ขึ้นมาด้านบนผืนผ้ามากกว่าเดิมคือ ขึ้น-ขึ้น-ลง-ขึ้น-ขึ้น-ลง (แน่นอนครับ ว่าเส้นถัดไปต้องเป็น ขึ้น-ลง-ขึ้น-ขึ้น-ลง-ขึ้น และ ลง-ขึ้น-ขึ้น-ลง-ขึ้น-ขึ้น ตามลำดับ ) และวิธีการทอแบบนี้ ใช้ตะกอในการทอถึง 3 อันก็เลยเรียกว่าการทอแบบ สามตะกอไงครับ


ไปก่อนล่ะครับ เนตห้องสมุดมีเวลาให้เดี๋ยวเดียวเอง เดี๋ยวคืนนี้มาเล่าต่อครับ

ปล. ขอบพระคุณอาจารย์เทาชมพู กับ คุณรตามากครับ ที่เข้ามาแบ่งปันความรู้ด้วยกัน

ปล. (อีกรอบ) อิจฉาคนได้ไปเยือนจันทร์โสมา-ท่าสว่างจัง ผมอยากไปครับ อิอิ


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 06 ส.ค. 05, 16:40
 เอาภาพกี่ทอผ้าแบบห้างหลังมาฝากครับ

ภาพจากhttp://www.thaitextilemuseum.com/




.


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 06 ส.ค. 05, 16:41

อีกภาพครับ ถ้าผมดูไม่ผิดเข้าใจว่าเป็นชาวกระเหรี่ยงทั้งสองภาพครับ


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ส.ค. 05, 20:45
 นำรูปผ้ามัดหมี่มาคั่นโปรแกรมอีกครั้งค่ะ  
ลายนี้เรียกว่าลายกุญแจ  ไม่ไข


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ส.ค. 05, 20:47

ผืนนี้มีซับซ้อนกันหลายลาย
คือลายขันหมาก สลับลายโคมเจ็ด
ล้อมด้วยลายหมากจับ
เชิง คือลายโคมเจ็ดดวง สลับกับลายดอกแก้วใหญ่ แปลง


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ส.ค. 05, 20:49

ผืนนี้ ลายดอกแก้ว
ส่วนเชิงคือลายเอี้ย


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: ศสา ที่ 06 ส.ค. 05, 21:45
 ดีใจมากค่ะที่ได้เป็นกระทู้นี้ เพราะดิฉันเพิ่งเริ่มสนใจเรื่องผ้าซิ่นเมื่อไม่นานมานี้เองค่ะ เหตุผลก็เพราะว่าเห็นคุณยายนุ่งแล้วสวยดี คือมันแปลกตาเพราะคนสมัยนี้ไม่นิยมนุงกันแล้ว  แต่ผ้าลายต่างๆ ก็ยังอยู่แต่นำไปดัดแปลงมากกว่า ที่เห็นนุ่งเป็นผ้าซิ่นแบบโบราณหาดูได้ยากค่ะ
ขอบอกว่าดิฉันเป็นคนจังหวัดสกลนคร เผ่าภูไทค่ะ  ตอนเด็กๆ (พูดเหมือนคนแก่เลยค่ะ อย่าเพิงเข้าใจผิดค่ะ ยังอายุไม่ถึง 20เลยค่ะ)  เคยเห็นการทอผ้ามีหลายบ้านค่ะ ที่ทอผ้าซิ่นใช้เอง แต่เดี๋ยวนี้หายากมาแล้วค่ะ  นอกจากทอเป็นอาชีพ แต่นั่นมันก็อีกเรื่องค่ะ คือ ไม่ใช่วิถีชีวิตแบบที่เป็นมาเมื่อครั้งก่อน


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 06 ส.ค. 05, 23:35
 หลังจากสามตะกอให้ปวดหัวกันไปแล้ว มาต่อกันเรื่องสีของชาวอีสานใต้ดีกว่าครับ



เริ่มเรื่องค้างไว้ที่ชาวไทยเขมร ผมก็ขอเล่าเรื่องไทยเขมรต่อนะครับ

ชาวไทยเขมรนิยมสีที่ค่อนข้างสดใสและมีความบริสุทธิ์ในแต่ละสีสูง ด้วยการมัดและย้อมเส้นไหมหลายครั้ง สีที่ได้จึงดูโดดเด่นกว่าการมัดเพียงครั้งเดียวและย้อมสีแต่ละสีทับลงเรื่อยๆของชาวไทยเชื้อสายลาวอีกหลายกลุ่มครับ

ตัวงอย่างผ้าของชาวไทยเขมรก็ไม่ต้องไปไหนไกลครับ ไล่มาจากความเห็นที่ 11 32 และ 41 เป็นตัวอย่างที่ค่อนข้างชัดเจนครับ การมัดย้อมลายลักษณะนี้ชาวไทยเขมรเรียกว่า "การจองซิ่น" ซึ่งคำว่า "จอง" ในภาษาเขมร มีความหมายถึงการมัด เป็นซิ่นที่ใช้นุ่งในวันธรรมดาทั่วๆไป ไม่ได้มีโอกาสพิเศษแต่อย่างใดครับ ซึ่งส่วนมากลายผ้าลักษณะนี้ จะเป็นลายที่นำต้นแบบมาจากผ้านุ่งโจงกระเบนผืนยาวของผู้ชาย ลายจากกลุ่มชนอื่นที่อยู่ปะปนกันในหมู่บ้าน และลายจากความนิยมของราชสำนักเป็นต้น

สำหรับผ้านุ่งในพิธีกรรม และผ้านุ่งประเภทอื่นๆของชาวไทยเขมร ผมขอเอามาลงทีหลังนะครับ กลัวกระทู้จะยาวเกินไปหนะครับ    




เอาผ้าผืนสวยมาฝากอีกภาพนึงครับ ผืนนี้สีดำขาว ชื่อลายไม่บอกดีกว่าครับ เพราะเรียกไม่เหมือนกันซักที เอาเป็นว่า เป็นลายที่พบได้ในเขตอีสานใต้ซึ่งมีชาวไทยเขมรอาศัยอยู่ และพบในผ้าทอจากเมืองพระตะบอง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตผ้าสำคัญของราชสำนักสยามด้วยครับ


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ส.ค. 05, 09:13
 สวัสดีค่ะคุณศสา
น่าสนใจมากค่ะ  ผ้านุ่งของคุณยาย ท่านทอเองหรือว่าเป็นผ้าทอในหมู่บ้านคะ
เคยไปสกลนคร ไปดูผ้าภูไทด้วยค่ะ  แต่อย่างที่คุณศสาบอก ลายยุคใหม่ไม่เหมือนของเก่าแล้ว

ถ้าหากว่ากระทู้นี้เริ่มโหลดยาก เพราะภาพประกอบแยะ
คุณติบอลองตั้งกระทู้ใหม่ (2) ก็ได้นะคะ
ทำลิ้งค์โยงมาที่กระทู้นี้

ผ้ามัดหมี่ในคห.นี้ เป็นอีกผืนที่มีลวดลายผสมกันหลายลาย
ช่วงบน  ลายนกคู่ ลายโคมเจ็ด และลายหมากจับ
ช่วงกลาง  ลายต้นดอกไม้ ลายปราสาท สลับลายคน
ช่วงล่าง ลายช้างคู่ สลับลายคน


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ส.ค. 05, 09:22
 ผ้ามัดหมี่สีฟ้าน้ำทะเล  มีลายเดียว
คือลายโคมเจ็ด


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ส.ค. 05, 09:24
 ผ้ามัดหมี่ลายหมี่โคม  
ไส้เป็นลายดอกแก้วใหญ่


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 07 ส.ค. 05, 10:13
 สวัสดีตอนเช้าครับ อาจารย์เทาชมพู ขอบพระคุณมากครับ เรื่องกระทู้ที่แนะนำมาครับผม

ขอบพระคุณนะครับ สำหรับผ้าสวยๆอีกตามเคย ผืนในความเห็นที่ 45 ลายสวยดีครับ น่าจะเป็นผ้ามัดหมี่ที่มีการปรับลายจากปดาร (ดูในความเห็นที่ 17นะครับ) ให้สามารถนำมานุ่งห่มได้ครับ เพราะในปดาร บ่อยครั้งที่เราอาจจะพบลายพระสงฆ์ ลายเจดีย์ หรือลายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเคารพในพุทธศาสนา แต่ปัจจุบันการยึดถือจารีตข้อนี้ก็เสื่อมลงตามกาลเวลา เราจึงเห็นภาพสัตว์หิมพานต์ชั้นสูงอย่างหงส์เป็นลายผ้านุ่งได้บ้างครับ

ในภาพจะเห็นลายปราสาท ที่อาจารย์เทาชมพูว่าไว้ล่ะครับ แต่ผู้รู้บางท่านก็สัณณิษฐานไปถึงธรรมาสน์แบบหนึ่งในสมัยอยุธยาครับ ส่วนผมไม่รู้ไม่เห็น เอาเป็นว่าเป็นลายเพื่อความสวยงามซะจะดีกว่าครับ อิอิ





เอาปดารเก่าลายพุทธประวัติมาฝากกันอีกผืนครับ
ถ้าดูจากผืนในภาพ ลายปราสาทที่เห็นจะมีกษัตริย์นั่งอยู่ด้านใน มีพรหมพักตร์อยู่ด้านบนด้วยครับ ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าผืนนี้เล่าเรื่องพุทธประวัติตั้งแต่ประสูตร จนอภิเษกครับ ไล่จากบนลงล่าง และต่อจากผืนนี้ก็จะมีผืนอื่นที่ดำเนินเรื่องราวต่อไปครับ


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 07 ส.ค. 05, 10:28
 ผมขอเล่าเรื่องไทยเขมรซะที่นี่แล้วกันครับ

แล้วค่อยไปเปิดเรื่องของชนกลุ่มอื่นที่กระทู้ใหม่แล้วกันนะครับ


อย่างที่เล่าไว้ในความเห็นที่ 44 ครับ ซิ่นลายที่เห็นทั่วๆของชาวไทยเขมรส่วนมากมักเป็นซิ่นสำหรับนุ่งเพื่อความสวยงามทั้งสิ้น เพราะ สำหรับสตรีชาวไทยเขมรแล้ว ซิ่นในพิธีกรรม เรียกกันว่า "โฮลอัลลูน" ครับ

เอาอีกละคำแปลกๆมาอีก 1 คำ อย่าเพิ่งตกใจครับ โฮล ในภาษาเขมรหมายถึงผ้าทั่วๆไป ไม่ว่าจะเป็นผ้าที่ทอด้วยมือหรือเครื่อง สร้างลวดลายด้วยการยกดอกลาย พิมพ์ หรือมัดหมี่ก็ตาม ไม่ได้หมายถึงผ้าซิ่นไหมมัดหมี่ลายใดลายหนึ่งเหมือนอย่างที่เราเรียกกันอยู่ในปัจจุบันครับ

ส่วนคำว่า อัลลูน มีความหมายว่าริ้ว ซึ่งหมายถึงริ้วของลายผ้านะครับ

สรุปก็คือ สตรีชาวเขมรจะนุ่งซิ่นลายริ้วในพิธีกรรมต่างๆต่อด้วยหัวซิ่นและตีนซิ่นลักษณะพิเศษ และใช้ผ้าลักษณะนี้เป็นผ้าไหว้ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงในพิธีแต่งงานด้วยครับ

สำหรับผู้ชาย จะนุ่งโจงกระเบนลายโฮลในลักษณะคล้ายคลึงกับผ้าสมปักปูมของราชสำนัก มีดอกลายทอติดกันตลอดไปทั้งผืน เรียกว่า "โฮลเปราะห์" ครับ





เอาผ้าโฮลมาฝากกันอีกผืนนึงครับ ของใหม่แล้วล่ะครับผืนนี้


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ส.ค. 05, 11:01
 ผ้ามัดหมี่ลายนาคชูสน ผืนนี้
ก็น่าจะเป็นอีกผืนที่ปรับลายจากปดาร

เชิงผ้าเป็นลายขอโคมห้า ค่ะ


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ส.ค. 05, 11:03
 ผืนนี้ลายขอหลง  สลับลายโคมเก้า


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: ศสา ที่ 07 ส.ค. 05, 18:30
 สวัสดีค่ะอาจารย์เทาชมพู คุณติบอ
สำหรับผ้าที่คุณยายนุ่งส่วนใหญ่ได้มาจากคนเค้าให้มาหรือที่เรียกกันว่า สมมา ก็เป็นผ้าที่ชาวบ้านทอมือบ้าง ทอโรงงาน หรือศิลปาชีพ  ขึ้นอยู่กับสถานภาพของคนให้  คุณยายไม่ได้ทอผ้าใช้เองค่ะเพราะท่านแก่อายุท่านก็ 80 แล้วค่ะ  ลูกๆ ก็ไม่มีใครเรียนทอผ้าสืบต่อมาค่ะ  น่าเสียดายนะคะ
ดิฉันก็ไม่มีความรู้เรื่องผ้าหรอกค่ะ อาศัยแค่การเคยได้พบเห็นมาค่ะ


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: ศสา ที่ 07 ส.ค. 05, 19:03

เผ่าโส้ของจังหวัดสกลนครค่ะ


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 19 ส.ค. 05, 18:27
 ไม่มีเวลามาดูแลกระทู้ตัวเองเลยครับ
ขอโทษด้วยครับ


ยังไงจะมาเล่าต่อไวๆนี้นะครับ


อ่อๆ ก่อนลืม อาจารย์เทาชมพูครับลายในกลุ่มลายนาค แบบนาคชูสน หรือ นาคชูฉัตร เป็นลายที่ไม่น่าจะมีที่มาจากกลุ่มชนไทยเขมรนะครับ ถึงแม้ว่าจะมีลายผ้ามัดหมี่ลายนี้ในกลุ่มไทยเขมรให้เห็นบ้าง แต่เท่าที่ผมเคยเห็นมาก็ไม่พบในผ้ายุคค่อนข้างเก่านะครับ

ส่วนปดารเป็นผ้าพิเศษของกลุ่มชาวไทยเขมรครับ


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ส.ค. 05, 09:05
 รอคุณติบอสอบเสร็จ  แล้วจะเอามัดหมี่ลายใหม่มาโชว์ค่ะ
ตอนนี้จิบกาแฟ รอไปพลางๆก่อน  


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ส.ค. 05, 12:35
 มีลายผ้ามัดหมี่ มาฝากอีกลายหนึ่ง


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 27 ส.ค. 05, 18:21
 หลังจากหายหน้าหายตาไปหลายวัน วันนี้ก็ขอกลับมาเล่าต่อซักหน่อยแล้วกันครับ จะได้ปิดกระทู้ไว้ที่ผ้าของชาวไทยเขมรซะให้หมดที่กระทู้นี้


อย่างที่เล่าไว้ตั้งแต่แรกครับ ชาวไทยในสมัยเดิมให้ความสำคัญกับผ้าในชีวิตประจำวันมาก ไม่ว่าจะเป็นการนุ่งผ้าต่างชนิดในพระราชพิธีแต่ละอย่าง หรือผ้าในชีวิตประจำวันเองก็เช่นกัน


นิทรรศการเมื่อปลายปีที่ผ่านมาที่จัดที่บ้านจิม ทอมป์สัน ได้กล่าวถึงผ้ามัดหมี่ของชาวไทยเขมรไว้ว่า มีด้วยกัน 3 ชนิด คือ ผ้าโฮล ซึ่งใช้วิธีการทอแยกแต่ละกระสวยออกจากกันเป็นอิสระ ซิ่นที่ทอด้วยวิธีการ"จองซิ่น" ซึ่งใช้นุ่งเพื่อความสวยงาม และ การมัดหมี่สองทางของด้ายเส้นยืนและด้ายเส้นพุ่งเพื่อให้เกิดลวดลายที่ตัดกันเป็นกากบาท


ตรงนี้ผมขอแบ่งใหม่เป็น 2 แบบนะครับ คือ ผ้าที่ใช้ตามจารีตประเพณี ซึ่งบอกฐานะของผู้นุ่งได้จากผืนผ้า และ ผ้าที่นุ่งเพื่อความสวยงามทั่วไป


ผ้าที่นุ่งตามจารีต ประเพณี อาจารยืธีรพันธุ์ได้สรุปว่า สตรีชาวไทยเขมรจะไม่นุ่งผ้าที่มีลวดลายทอตลอดติดกันทั้งผืน แต่จะนุ่งผ้าลายริ้วตามแนวยาวขนานกับความสูงของลำตัว และต่อหัวซิ่นด้วยผ้าทอแถบไม่กว้างนัก เสริมเส้นพุ่งพิเศษ และต่อเชิงด้วยผ้ามัดหมี่แถบแคบๆอีกแถบหนึ่ง และสำหรับสตรีสูงอายุ จะนุ่งซิ่นอีกหลายลักษณะซึ่งมักเป็นซิ่นที่มีลวดลายเป็นตารางสี่เหลี่ยมขนาดไม่ใหญ่นักในลักษณะของโสร่งสำหรับสตรี หรือซิ่นลายริ้ว ซิ่นสีพื้นต่างๆ และมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละลักษณะ เช่น ระเบิก สาคูใหญ่ อัมปรม สมอ เป็นต้นครับ (ชื่อตรงนี้ผมเขียนเทียบตามเสียงอ่านนะครับ ถ้าใครจะเขียนแบบอื่นซึ่งให้เสียงใกล้เยงกันก็ได้ครับ)



ในภาพเป็นผ้าลายระเบิกใหญ่ครับ


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 27 ส.ค. 05, 18:22
 ระเบิกใหญ่อีกผืนครับ


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 27 ส.ค. 05, 18:23

แบบนี้คล้ายๆกัน แต่เรียกว่า ราชวัตรครับ


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 27 ส.ค. 05, 18:27

แบบนี้เรียกว่า ถโกนกะแอ๊ป (ไม่แน่ใจวิธีเขียนเหมือนกันครับ)
แปลง่ายๆว่าลูกเขียด เพราะผ้าที่เห็นจะเห็นลักษณะคล้ายๆลูกอ๊อดเป็นตัวๆ ซึ่งนักวิชาการหลายท่านสรุปว่าเป็นการทอเลียนแบบลายธรรมชาติ คือลูกอ๊อด แต่เท่าที่ผมได้ค้นคว้าเพิ่มเติมเปรียบเทียบ พบว่าเป็นลายร่วมสมัยกับผ้าทอจากหลายแหล่งในคาบสมุทรมาลายาตอนล่าง และหมู่เกาะอินโดนีเซีย ซึ่งน่าจะเป็นลายผ้ามัดหมี่ที่ใช้ร่วมกันมามากกว่าลายที่ได้แรงบันดาลใจมาจากรูปสัตว์มากกว่าครับ


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 27 ส.ค. 05, 18:28

สาคูใหญ่แบบไม่มีการมัดหมี่ให้เกิดลายตัดกันในด้ายจากกี่และด้ายจากกระสวยครับ


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 27 ส.ค. 05, 18:30

ตารางสี่เหลี่ยมเล็กๆแบบนี้เรียกว่าสมอครับ หรือบางครั้งก็อ่านออกเสียงคล้ายๆ "สมอร์"



จะเห็นว่าริมผ้าด้านที่จะนำไปเย็บต่อกับเชิงซิ่นของชาวไทยเขมรนิยมเปลี่ยนสีของด้ายจากกี่ให้เป็นสีแดงนะครับ


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 27 ส.ค. 05, 18:30

ผ้าลายริ้วลักษณะนี้เรียกว่าอันลูนซีมครับ


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 27 ส.ค. 05, 18:31

ผ้าหางกระรอกหรือผ้ากะเนียว (กะนิว) ครับ


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 27 ส.ค. 05, 18:32

โสร่งสำหรับบุรุษครับ


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 27 ส.ค. 05, 18:35

ผ้าซิ่นในลักษณะนี้เรียกกันว่า"โฮล" เนื่องจากเกิดจากการทอสลับกระสวยในทุก 1 ช่วงลาย ชื่อที่จำเพาะมากขึ้นคือ "โฮลอัลลูน" เนื่องจากทอเป็นลายริ้ว (อันลูนแปลว่าริ้วนะครับ)


แต่เดี๋ยวนี้คนเข้าใจกันว่าผ้าโฮลคือผ้าหน้าตาแบบนี้ไปซะแล้ว..... อย่าคิดอะไรมากครับ มันเป็นการเปลี่ยนแปลงไปตามวันเวลา โถคุณ นกวายุภักษ์ยังกลายเป็นนกปักษาสวรรค์ได้เลย อย่าคิดมากครับ


กระทู้: ลายที่เปลี่ยนไปตามวันเวลาของผ้ามัดหมี่
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 27 ส.ค. 05, 18:36

อย่างสุดท้ายครับ อัมปรม