เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: saran10600 ที่ 27 มี.ค. 13, 10:26



กระทู้: หาแหล่งอ้างอิง "ตำข้าวสารกรอกหม้อ"
เริ่มกระทู้โดย: saran10600 ที่ 27 มี.ค. 13, 10:26
ความจำลางๆว่าเคยเรียนเรื่อง"ตำข้าวสารกรอกหม้อ"นี้แต่จำไม่ได้ว่าเป็นบทเรียนใด อาจเป็นวิชาวรรณคดีไทย   อยากเรียนถามหาแหล่งอ้างอิงที่ถูกต้องเพื่อประกอบการสืบค้นต่อไปครับ   ใครทราบขอความกรุณาด้วยครับ


กระทู้: หาแหล่งอ้างอิง "ตำข้าวสารกรอกหม้อ"
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 มี.ค. 13, 15:41
พบในหนังสือวชิรณาณ เล่ม ๖ แผ่น ๗ วันพฤหัศบดีที่ ๖ เดือนพฤศจิกายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๐๙ ราคาแผ่นละ ๓๒ อัฐ

แก้ปัญหาพยากรณ์บทที่ ๕ ตอนที่ ๒ ถามว่า “ คนขอทานมาขอจะควรให้หรือไม่ควรให้ ? ”

 หาเช้ากินเย็นหาเย็นกินเช้า ” หรือ “ ตำเข้าสารกรอกหม้อ ” พอ ๆ ไปครั้ง ๑
คราว ๑ เช่นนี้ไม่น่าให้ต้องเอาไว้บำรุงกายเราก่อนจึ่งจะควร ยังไม่ควรไปบำรุงผู้อื่น

แม้ถ้าจะมีผู้กล่าวขึ้นว่า เมื่อตัวยังหนุ่มสาว แลร่างกายยังบริบูรณ ทำไมไม่ทำมาหากินไว้เผื่อ
เมื่อตนชราแลพิการเล่า ข้าพเจ้าขอแก้ต่อไปว่า ธรรมดาคนถ้ามีสติตริตรองรอบคอบเปนเช่นกันหมดแล้ว
เลข ๆ ทาษ ๆ ที่ต่ำช้าก็คงไม่มี คนยากจนก็จะไม่ มี คนโง่เง่าก็จะไม่มี คงเปนคนดี ๆ เสมอ ๆ
กันเสียหมด ที่ไหนจะต้องขอทานกินเล่า นี่การไม่เปนเช่นนั้นแลเห็นได้ว่าทุกข์ศุขยากจนกุศล อกุศล
เปนต้นนี้ต้องมีคู่กันทั้งสองอย่าง เปนทางที่จะแลเห็นอยู่

ที่มา วชิรญาณ (http://www.sac.or.th/databases/siamrarebooks/wachirayan/index.php/component/content/article/13-vachirayanviset-text-version/42-๒๐๐๙-๑๑-๑๐-๐๗-๑๔-๔๙)


กระทู้: หาแหล่งอ้างอิง "ตำข้าวสารกรอกหม้อ"
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 08 เม.ย. 13, 15:36
จากรวมบทความชุด "ไขภาษา" ของพระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) แต่ครั้งท่านใช้ชื่อ(นามปากกา)ว่า "อุนิกา" และได้นำมาลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัย ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๐-๒๔๘๖ เรื่อง "ตำข้าวสารกรอก(เฉพาะ)หม้อ" ตอนหนึ่งว่า "...กล่าวคือเขาตำข้าวสารไว้กระบุงหนึ่ง แล้วก็เอาข้าวสารนั้นหุงกินเรื่อยไป เมื่อข้าวสารยังอยู่ก็ไม่ปราถนาตำอีก เที่ยวเตร็ดเตร่เล่นตามสบาย เมื่อข้าวสรกระบุงนั้นหมดลงจึงกุลีกุจอตำกันใหม่ ดังนี้ได้ชื่อว่า "ตำข้าวสารกรอกหม้อ" ที่หมายความกันนั้นยิ่งกว่านี้ขึ้นไปอีก ดูเหมือนจะหมายความว่า "เอาข้าวเปลือกมาเฉพาะหม้อ" ตำและกรอกหม้อหุงกินฉะนั้นร่ำไป ดังนี้เรียกว่า "ตำข้าวสารกรอกหม้อ" ซึ่งออกจะผิดความจริงอยู่สักหน่อย แต่ท่านหมายความดังนั้น เพราะคำนี้มีความหมายไม่ใช่เฉพาะอาหารการกินเท่านั้น ถึงกิจการอื่นๆ ก็ใช้พูดได้ ... รวมใจความว่าเมื่อมีกิจจำเป็นในสิ่งใดก็เถลือกถลนจับโน่นชนนี่ให้ทันกิจนั้นไปชั่วคราวหนึ่งๆ เท่านั้น หาได้ตระเตรียมไว้โดยรอบคอบไม่ ความประพฤติข้อนี้ย่อมให้โทษมาก .."

จากหนังสือ "สำนวนไทย" ของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) อธิบายความหมายของ "ตำข้าวสารกรอกหม้อ" ไว้ว่า "เป็นสำนวนหมายความว่า ทำอะไรชั่วแต่พอให้เป้นผลเสร็จเพียงครั้งหนึ่งๆ เรื่อยๆ ไป มูลของสำนวนนี้มาจากสมัยโบราณ เขาตำข้าวเปลือกเป็นข้าวสารหุงกินเป็นวันๆ ไปทุกวัน มีปรากฎอยู่ในประกาศรัชกาลที่ ๔ แห่งหนึ่งว่า "แต่ก่อนเมื่อมีโรงสีข้าวสารขายยังน้อยอยู่ ตามบ้านเรือนต่่างๆ จนในพระบรมมหาราชวังและพระบวรราชวังก็มีกระเดื่องและครกตำข้าวแทบทุกเหย้าเรือน กลางวันฤๅบ่ายแล้ว นายก็ใช้ให้บ่าวตำครกละสากบ้างสองสากบ้าง แล้วก็ฝัดเป็นข้าวสารกรอกหม้อทีเดียว เห็นเป้นดังนั้นมาแต่ก่อนนาน" ตกว่าเราสมัยโบราณไม่มีข้าวสารขายทั่วไป ตามบ้านเรือนก็ไม่ได้ตำข้าวไว้กินมากๆ ชั่วแต่เวลาจะหุงข้าวจึงเอาข้าวเปลือกที่เก็บไว้ในบ้านมาตำเป็นข้าวสารกรอกหม้อหุงกินเป็นวันๆ ไปทุกวัน ดังนั้นเราจึงเอามาเปรียบกับการทำอะไรชั่วแต่พอให้เป็นผลเสร็จไปครั้งหนึ่งๆ พูดเป็นสำนวนว่า "ตำข้าวสารกรอกหม้อ"  8)