เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: prahnmongkol ที่ 26 ก.พ. 15, 15:50



กระทู้: อิฐทำมือ กับช่างทำอิฐรุ่นสุดท้ายในจังหวัดน่าน
เริ่มกระทู้โดย: prahnmongkol ที่ 26 ก.พ. 15, 15:50
ขออนุญาติท่านอาจารย์ และปราชญ์ทั้งหลาย  จขกท.มือใหม่หัดตั้งกระทู้ ได้ความไม่ได้ความอย่างไรได้โปรดอภัยด้วย

เรื่องมีอยู่ว่าได้ไปคุยกับช่างทำอิฐชื่อคุณลุงประยุทธ์ อยู่บ้านพวงพยอม จังหวัดน่าน  แกเป็นช่างทำอิฐมอญแบบภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดมาแต่รุ่นปู่รุ่นพ่อ และแกคงจะเป็นรุ่นสุดท้ายในจังหวัด  เห็นว่าน่าสนใจเลยอยากจะแบ่งปันให้เพื่อนๆพี่ๆและเหล่าท่านอาจารย์ได้ทราบ เผื่อจะได้ประเด็นอะไรเพิ่มเติมทำให้ปัญญาของ จขกท.แตกฉานขึ้นไปอีก

 - ที่ไปคุยกับคุณลุงใช้เวลาประมาณ 1 ชม. อาจจะยังไม่ละเอียดพอ  ถ้าท่านใดอยากรู้ละเอียดมากกว่านี้จะไปถามหาข้อมูลมาเพิ่มให้อีก
 - ที่จังหวัดน่านจะเรียกชุมชนตามชื่อหมู่บ้าน ซึ่งโดยมากจะมีวัดเป็นศุนย์กลางของแต่ละหมู่บ้าน ส่วนใหญ่เขาจะถามกันว่าบ้านอยู่ไหน หมายถึงเป็นคนบ้านไหน 
 - จขกท.ไม่ใช่ชาวจังหวัดน่านโดยกำเนิด แต่รู้สึกรักและผูกพันมานาน จนในที่สุดได้มีโอกาสมาอยู่อาศัยที่นี่  บางเรื่องเช่นประเพณี วัฒนธรรม ของท้องถิ่นอาจจะไม่รู้ลึกซึ้งเท่าคนน่าน

ลุงประยุทธ์ อายุประมาณห้าสิบกว่าเกือบจะหกสิบแล้ว  แกเล่าว่าเกิดมาก็เห็นปู่กับพ่อทำอิฐแล้ว  พอโตมาใช้งานได้ก็ถูกผู้ใหญ่ให้ช่วยงาน  ทำไปอย่างนั้นจนเป็นอาชีพของตน ส่งลูกเรียนจบปริญญาได้ พอมีพอกิน แกไม่มีความรู้เพราะคนสมัยก่อนไม่ค่อยได้เรียนหนังสือ  ย้อนหลังไปเมื่อสิบกว่าปีก่อนยังมีคนทำอิฐมอญปั้นมือกันหลายเจ้า  ทำเฉพาะในแถวบ้านพวงพยอม ลุงเล่าว่าทั้งจังหวัดน่านจะมีที่บ้านพวงพยอมเท่านั้นที่ทำอิฐมอญปั้นมือ  แต่ปัจจุบันนี้เหลือทำกันอยู่แค่ 6-7คน ซึ่งก็เป็นญาติๆของลุง  ปกติจะทำเป็นคู่ (คู่ผัวเมีย) ผู้ชายทำงานที่ใช้แรงเช่นยกดิน เทดินใส่แบบ ยกแบบ ฯลฯ ส่วนผู้หญิงทำงานเบาหน่อย  จขกท.ไปยืนดูเขาทำ เหมือนจะง่ายแต่ใช้แรงเยอะ ที่สำคัญคือร้อนเพราะต้องตากแดด  กรรมวิธีของลุงจะได้อิฐมอญแบบโบราณแท้  ลุงแกขึ้นเรือนไปหยิบอิฐโบราณที่มีผู้รับเหมาเอามาให้เป็นแบบ เพราะต้องการนำไปบูรณะโบราณสถานที่ภูเพียงแช่แห้ง  เอามาเทียบกับอิฐที่ลุงพึ่งทำเสร็จ  ดูด้วยตาแล้วคล้ายคลึงกันมาก เพียงแต่อิฐโบราณมีสีอมชมพูสวยกว่า  ส่วนอิฐใหม่มีสีส้มจางๆ  ลุงบอกว่านี่คือเสน่ห์อีกประการหนึ่งของอิฐมอญปั้นมือ  เมื่อผ่านน้ำยิ่งมากยิ่งนานวันจะมีสีสวยและแข็งแกร่งทนทานขึ้นไปเรื่อยๆ  ไม่เหมือนอิฐที่ทำจากเครื่องจักร  เดี๋ยวลงรูปให้ดูดีกว่าจะได้เห็นภาพ


กระทู้: อิฐทำมือ กับช่างทำอิฐรุ่นสุดท้ายในจังหวัดน่าน
เริ่มกระทู้โดย: prahnmongkol ที่ 26 ก.พ. 15, 15:58
ใส่ภาพไม่เป็น  ขอลองหาทางอีกสักพัก


กระทู้: อิฐทำมือ กับช่างทำอิฐรุ่นสุดท้ายในจังหวัดน่าน
เริ่มกระทู้โดย: prahnmongkol ที่ 26 ก.พ. 15, 16:09
ใส่รูปยังไม่เป็น  ไม่เป็นไร เล่าต่อก่อนก็แล้วกัน...

ลุงบอกว่าความแตกต่างระหว่างอิฐเครื่องจักรกับอิฐปั้นมือนั้น  อิฐที่ผลิตด้วยเครื่องจักรจะมีขนาดเดียวและเรียบเสมอกันหมดทุกก้อน  ไม่ผสมแกลบ  เมื่อนำไปก่อสร้างจะได้แถวแนวที่เรียงสวยฉาบง่าย  แต่ความทนทานจะสู้อิฐปั้นมือไม่ได้  เพราะอิฐปั้นมือจะใช้ดินจอมปลวกและผสมแกลบ  เมื่อนำอิฐที่ตากแห้งได้ที่ไปเผาแกลบจะไหม้มีช่องโพรงข้างในก้อน  เมื่อทำการฉาบน้ำปูนจะไหลซึมเข้าไปในโพรงเหล่านั้นทำให้อิฐมีความแกร่ง สิ่งก่อสร้างจะยิ่งมีความแข็งแรงทนทาน  เห็นได้จากอิฐโบราณที่ภูเพียงแช่แห้งมีอายุหลายร้อยปี

อ้าว ขอประทานโทษเถิด ได้เวลาไปรับลูกเสียแล้ว  ถ้าอย่างไรคืนนี้จะกลับมาเขียนต่อพร้อมทั้งจะพยายามหาวิธีอัพรูปให้ได้ (คนโลว์เทค)


กระทู้: อิฐทำมือ กับช่างทำอิฐรุ่นสุดท้ายในจังหวัดน่าน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.พ. 15, 17:05
น่าสนใจมาก อยากเห็นอิฐทำมือค่ะ

คุณปราณคลิกที่ตัวเลือกเพิ่มเติม แล้วเข้าไป browse รูปในนั้นนะคะ


กระทู้: อิฐทำมือ กับช่างทำอิฐรุ่นสุดท้ายในจังหวัดน่าน
เริ่มกระทู้โดย: prahnmongkol ที่ 26 ก.พ. 15, 19:17
รูปเปรียบเทียบ ระหว่างอิฐเก่าจากภูเพียงแช่แห้ง  และอิฐที่ลุงประยุทธ์ทำ


กระทู้: อิฐทำมือ กับช่างทำอิฐรุ่นสุดท้ายในจังหวัดน่าน
เริ่มกระทู้โดย: prahnmongkol ที่ 26 ก.พ. 15, 19:38
อิฐที่ผลิตด้วยเครื่องจักรมีขนาดเดียว  แต่อิฐที่ปั้นด้วยมือคุณลุงบอกว่าตามปกติมี 3 ขนาด  แต่ก็มีบ้างที่ผู้รับเหมาเอาแบบมาจากโบราณสถานที่กำลังบูรณะเพื่อให้คุณลุงทำออกมาให้ได้ขนาดเดียวกัน  กระบวนการทำอิฐใช้เวลาประมาณ 20 วัน อาจมากกว่านี้หากอากาศชื้น เช่น มีฝนตกตลอด  มรสุมเข้า  หรือฤดูน้ำหลากก็จะหยุดทำไปเลยเพราะที่น่านน้ำจะหลากเข้าพื้นที่ในเมืองอยู่บ่อยๆ  ลุงบอกว่ารู้จากประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาหลายสิบปี จะบอกได้เลยว่าควรจะหยุดทำเมื่อไหร่ เวลาพักก็อาจเป็นเดือนได้ ขึ้นอยู่กับมรสุมว่าเข้าถี่มากน้อยแค่ไหน

สิ่งที่ต้องใช้ในกระบวนการทำอิฐมอญแบบโบราณ

 - ดิน : ดินที่ใช้ต้องเป็นดินจอมปลวก  เมื่อสมัยก่อนหาในเขตเมืองไม่ยากเลย  จะมีคนขุดมาถามขายคุณลุงเป็นประจำ (นี่ก็มีอาชีพของชาวบ้านเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งอาชีพ คืออาชีพขุดดินจอมปลวกมาขายคนทำอิฐ)  ปัจจุบันนี้พื้นที่ที่คนขุดหาดินจอมปลวกมาขายไกลเขตชุมชนออกไปเรื่อยๆ  แต่คุณลุงบอกว่าก็ยังไม่เป็นปัญหาใหญ่  คนยังมีมาเสนอให้อยู่เนืองๆ  สามารถสั่งเป็นจำนวนมากๆในคราวหนึ่งได้  ถามคุณลุงว่าคนภาคกลางเขาถือเรื่องทำลายจอมปลวก  ต้องมีพิธีอะไรก่อนจะขุดหรือไม่  คุณลุงบอกว่าคนที่นี่ไม่ถือ เขาก็ขุดกันมาแต่โบราณแล้ว ไม่ต้องมีพิธีอะไรเลย

 - แกลบ : จังหวัดน่านยังมีคนปลูกข้าวอยู่เยอะพอสมควร  แกลบยังคงหาได้ง่ายๆในพื้นที่

 - น้ำ : เพื่อเป็นส่วนผสมให้ดินเหลวข้น (สังเกตุดูเหมือนแป้งขนมเค้กที่ผสมเสร็จพร้อมอบ เพียงแต่สีเป็นขี้โคลนเท่านั้นเอง

 - แบบไม้ ตีเป็นช่องสี่เหลี่ยม เป็นบล็อคๆ  (จะแนบรูปให้ชม)

 - แรงกาย :  ตอนยกไม้แบบออกดินจะดูดทำให้ต้องใช้แรงดึง  ผู้หญิงอาจทำได้ไม่นานแขนก็จะล้า  แรงผู้ชายจะดีกว่า

 - ฟืน : ใช้สำหรับเผาก้อนอิฐที่ตากแห้งได้ที่แล้ว  การเผาในปัจจุบันก็เริ่มมีปัญหาบ้าง เนื่องจากมีการรณรงค์ลดโลกร้อน นโยบายจากส่วนกลางให้หน่วยงานรัฐประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านหยุดการเผาฟืนเผาซากพืชไร่เพื่อลดควันเขม่าต่างๆ  คนในชุมชนก็จะเริ่มเมียงมองบ้างแล้วเมื่อจะทำการเผาแต่ละครั้ง  แต่เนื่องจากการอยู่ร่วมกันของคนในพื้นที่ยังมีวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมกันอยู่  ส่วนใหญ่จะค่อยพูดค่อยปรึกษากันอะลุ้มอล่วยกัน

 - เตา : ขนาดไม่ใหญ่มาก ตอนที่ไปดูยังไม่ถึงจะหวะขั้นตอนเผา เลยยังไม่เห็นภาพและยังไม่เข้าใจกระบวนการเท่าไหร่  แต่เขาอธิบายว่าจะเอาอิฐมากองให้เป็นตั้งสูงเป็นโพรงข้างใน เอาดินมาพอกไว้ส่วนบนสุด จุดไฟเผารุมอยู่ข้างในโพรง  จขกท.ก็ยังไม่เห็นภาพ ไม่เข้าใจอยู่ดี  แต่ถ่ายภาพเตา(สถานที่)ที่จะทำการเผามาด้วย

 - แสงแดด : ยิ่งแดดจัดยิ่งดี  ดินจะแห้งไว


กระทู้: อิฐทำมือ กับช่างทำอิฐรุ่นสุดท้ายในจังหวัดน่าน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 ก.พ. 15, 19:49
เข้ามาบอกว่า กำลังติดตามอ่านอยู่ครับ


กระทู้: อิฐทำมือ กับช่างทำอิฐรุ่นสุดท้ายในจังหวัดน่าน
เริ่มกระทู้โดย: prahnmongkol ที่ 26 ก.พ. 15, 19:50
เอ้อ...ลูกจะขอใช้คอมพิวเตอร์ทำการบ้าน  ต้องหลีกทางให้เขาก่อน เดี๋ยวค่อยกลับมาเล่าต่อ


กระทู้: อิฐทำมือ กับช่างทำอิฐรุ่นสุดท้ายในจังหวัดน่าน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 26 ก.พ. 15, 20:44
ลุงบอกว่าความแตกต่างระหว่างอิฐเครื่องจักรกับอิฐปั้นมือนั้น  อิฐที่ผลิตด้วยเครื่องจักรจะมีขนาดเดียวและเรียบเสมอกันหมดทุกก้อน  ไม่ผสมแกลบ  เมื่อนำไปก่อสร้างจะได้แถวแนวที่เรียงสวยฉาบง่าย  แต่ความทนทานจะสู้อิฐปั้นมือไม่ได้  เพราะอิฐปั้นมือจะใช้ดินจอมปลวกและผสมแกลบ  เมื่อนำอิฐที่ตากแห้งได้ที่ไปเผาแกลบจะไหม้มีช่องโพรงข้างในก้อน  เมื่อทำการฉาบน้ำปูนจะไหลซึมเข้าไปในโพรงเหล่านั้นทำให้อิฐมีความแกร่ง สิ่งก่อสร้างจะยิ่งมีความแข็งแรงทนทาน  เห็นได้จากอิฐโบราณที่ภูเพียงแช่แห้งมีอายุหลายร้อยปี

ไม่ได้ว่าอะไรนะครับ

แต่อิฐที่ผลิตด้วยเครื่องจักร น่าจะหมายถึงเครืองจักรแบบพื้นบ้าน  คงไม่ใช่ระดับเครื่องจักรอุตสาหกรรมที่ทำอิฐดินเผาใช้ไฟแรงสูง ระดับที่เรียกว่า terra cotta


กระทู้: อิฐทำมือ กับช่างทำอิฐรุ่นสุดท้ายในจังหวัดน่าน
เริ่มกระทู้โดย: prahnmongkol ที่ 26 ก.พ. 15, 21:07
จขกท. ก็ยังไม่เคยเห็นการผลิตด้วยเครื่องจักรเหมือนกัน  อันที่จริงก็แทบไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับการทำอิฐเลยด้วยซ้ำ  แค่รู้สึกเสียดายภูมิปัญญาชาวบ้านที่จะหยุดลงในรุ่นนี้ตามที่คุณลุงเล่า (เรียกว่าซึมซับความเสียดายมาจากคุณลุงอีกทีดีกว่า)

มาเล่าขั้นตอนการทำดีกว่า (คร่าวๆตามที่คุณลุงเล่าให้ฟังอีกที)  ตอนที่จขกท.ไปดูเขาทำ เป็นขั้นตอนการเอาดินที่ผสมแล้วลงบล็อคกลางลาน เพื่อทิ้งไว้กลางแดดให้แดดเผา  ไม่เห็นดินจอมปลวกสดๆ เห็นแต่ที่เขาผสมมาแล้ว ลักษณะเหมือนขี้โคลน  แกใช้มือควักดินที่ผสมอยู่ในถังลงในแบบไม้  กะว่าพอพูนขี้นมาตามแต่ละช่องก็เอามือปาดไปกดมาให้เต็มช่องดี เอาน้ำสาดๆไป เอามือปาดไป เร็วด้วยความชำนาญ แล้วก็เอาเหมือนแท่งไม้แหลมๆขูดตรงขอบไม้แต่ละช่อง (หรือเรียกว่าแซะก็ไม่รู้)  เสร็จแล้วดินก็จะเป็นร่อง ขอบไม่เรียบ แกก็เอาน้ำสาดนิดหน่อย แล้วก็เอามือลูบ ปาดไปมา แผล็บเดียวเรียบกริบ  แกทำเร็วมาก เมื่อได้รูปดีแล้วก็ยกไม้แบบออก  ขั้นตอนนี้หลานแกที่เป็นผู้หญิงวัยสาวอธิบายว่าหนักมาก  เคยลองทำดูแล้วไม่ค่อยไหว  ก้อนดินพวกนี้จะถูกทิ้งไว้กลางลานให้แดดเผาจนหมาด เรื่องลานตากนี่ก็เป็นอุปสรรคปัญหาเหมือนกัน  สมัยเมื่อก่อนพื้นที่ว่างเยอะคนยังน้อยอยู่  บัดนี้บ้านเมืองเจริญขึ้นพื้นที่ว่างๆก็มีคนจับจองมีเจ้าของไปเสียหมด  แกก็ต้องเช่าเขา  วันดีคืนดีเจ้าของที่มีความจำเป็นต้องใช้ทำประโยชน์อื่น แกก็ต้องไปหาเช่าที่ใหม่  กลับมาว่าเรื่องอิฐกันต่อ  ตากไปจนคะเนว่าแห้งพอจับได้ไม่บูดเบี้ยว (ลืมถามว่าตากถึง 1 วันไหม หรือสักวันสองวันก็ไม่แน่ใจ) เขาก็เอามาเรียงเป็นแถวซ้อนไปมา (เดี๋ยวจะพยายามแนบรูปประกอบ)  จนแห้งจริงๆก็จะนำไปเผา เผากันเป็นวัน ก็จะได้อิฐที่นำไปใช้ได้  คุณลุงแกบอกระยะเวลาคร่าวๆว่าใช้เวลาทำรวมทุกขั้นตอนแล้วจะอยู่ประมาณยี่สิบกว่าวัน แล้วแต่สภาพอากาศด้วย 

ทุกวันนี้ทำไม่พอขาย  ลูกค้าจะเป็นผู้รับเหมา ขาจรมาซื้อปลีกไม่มี  เมื่อผู้รับเหมาตกลงราคาว่าจ้าง บอกจำนวนและขนาดที่ต้องการ วันที่ต้องการของ ลุงแกก็จะแบ่งงานกันไปให้ญาติๆที่ทำ มีประมาณ 6 - 7 คน เรียกว่าแบ่งงานแบ่งเงินกัน 



กระทู้: อิฐทำมือ กับช่างทำอิฐรุ่นสุดท้ายในจังหวัดน่าน
เริ่มกระทู้โดย: prahnmongkol ที่ 26 ก.พ. 15, 21:21
เอาดินใส่บล็อค


กระทู้: อิฐทำมือ กับช่างทำอิฐรุ่นสุดท้ายในจังหวัดน่าน
เริ่มกระทู้โดย: prahnmongkol ที่ 26 ก.พ. 15, 21:34
ดินเริ่มเนียน


กระทู้: อิฐทำมือ กับช่างทำอิฐรุ่นสุดท้ายในจังหวัดน่าน
เริ่มกระทู้โดย: prahnmongkol ที่ 26 ก.พ. 15, 21:46
อีกรูป


กระทู้: อิฐทำมือ กับช่างทำอิฐรุ่นสุดท้ายในจังหวัดน่าน
เริ่มกระทู้โดย: prahnmongkol ที่ 26 ก.พ. 15, 21:56
ยกไม้แบบออก  แหม่...ดูเขาทำเหมือนง่ายๆเลย


กระทู้: อิฐทำมือ กับช่างทำอิฐรุ่นสุดท้ายในจังหวัดน่าน
เริ่มกระทู้โดย: prahnmongkol ที่ 26 ก.พ. 15, 22:12
คุณลุงเล่าว่าปู่ทวดของแกเป็นจีนฮ่อ ไม่ได้ทำอิฐ  เริ่มทำกันในรุ่นปู่ แต่ตนเองยังเด็กไม่เคยคิดหรือมีความกล้าไปถามผู้ใหญ่  เด็กสมัยนั้นพ่อแม่สั่งอะไรก็ทำๆไป  ก็เลยไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมถึงทำอิฐกันเป็นและทำไมมีแค่เฉพาะคนบ้านพวงพยอมที่ทำเป็นอาชีพ  แต่ลุงแกยืนยันว่าทั้งจังหวัดมีแค่ที่นี่ที่เดียว  แกกังวลว่ามันคงจะสิ้นสุดที่รุ่นของแกเพราะลูกหลานเขาเรียนจบกันสูงมีอาชีพการงานกันหมด ไม่มีใครอยากทำงานลำบาก  แกบอกว่าให้ช่วยประชาสัมพันธ์ให้ที หากใครอยากยึดเป็นอาชีพ มาหาแกได้ แกยินดีสอนให้หมดเปลือกเลยทีเดียว  แกยืนยันว่าไม่กี่วันก็ทำเป็น  ส่วนการดูดินหรือการคัดดินแกจะสอนให้แต่ก็ต้องอาศัยประสบการณ์ของผู้ฝึกด้วย 

จขกท.ก็รับเรื่องมานอนคิดเหมือนกันว่าจะช่วยแกรักษาภูมิปัญญาชาวบ้านนี้ไว้ได้อย่างไร  ยังคิดไม่ออกว่าจะไปหาหน่วยงานไหนในเมืองน่าน  อีกทั้งยังไม่รู้เลยว่าในประเทศไทยมีการทำอิฐโบราณแบบนี้ที่ไหนอีกบ้าง  แน่ละ มอญมีความรู้อยู่มากเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากดิน ปั้นให้เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ  แต่ก็ไม่ทราบเลยว่าชุมชนมอญแหล่งไหนที่ยังมีการทำอิฐมอญแบบโบราณอยู่  จึงมาลองตั้งกระทู้ในเรือนไทยดูเผื่อจะมีท่านใดให้คำแนะนำบ้าง  ขอขอบพระคุณล่วงหน้า


กระทู้: อิฐทำมือ กับช่างทำอิฐรุ่นสุดท้ายในจังหวัดน่าน
เริ่มกระทู้โดย: prahnmongkol ที่ 26 ก.พ. 15, 22:29
แกเล่าอีกว่าคนสมัยโบราณเมื่อจะสร้างวัดสร้างพระธาตุ เขาไม่ซื้อขายอิฐกัน  ชาวบ้านจะมาตกลงกันว่าใครจะรับไปทำจำนวนเท่าไหร่ ถึงวันนัดก็ขนอิฐมาแล้วช่วยกันสร้าง  แกบอกว่าดูให้ดีว่าอิฐที่อยู่ตามโบราณสถานจะมีขนาดเหลื่อมล้ำกันไปนิดหน่อย  เพราะชาวบ้านตกลงขนาดกันไว้แล้วก็จริง แต่เมื่อขึ้นแบบไปอาจจะไม่เท่ากันเป๊ะ  นี่ก็เป็นเสน่ห์ของอิฐมอญโบราณอีกประการ  จขกท.ช่างไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับทางโบราณคดีหรือประวัติศาสตร์เลย  ฟังลุงแกพูดก็เหมือนคนรับสารเฉยๆ


กระทู้: อิฐทำมือ กับช่างทำอิฐรุ่นสุดท้ายในจังหวัดน่าน
เริ่มกระทู้โดย: ชัยรัตน์ ที่ 26 ก.พ. 15, 22:30
คนน่านครับ..ส่วนมากไปบ้านพวงพยอมแค่ไปซื้อไก่ย่าง  ;D


กระทู้: อิฐทำมือ กับช่างทำอิฐรุ่นสุดท้ายในจังหวัดน่าน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.พ. 15, 06:34
ไม่มีภาพตอนเผาหรือครับ ว่าเขาเผาอย่างไร


กระทู้: อิฐทำมือ กับช่างทำอิฐรุ่นสุดท้ายในจังหวัดน่าน
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 ก.พ. 15, 10:50
นำคลิปนี้มาช่วยเสริม เป็นการสัมภาษณ์คุณสนิท กิติยศ ผู้เชียวชาญการทำอิฐแห่งบ้านพวงพยอม ตอนท้ายเป็นขั้นตอนการทำอิฐพอสังเขป

http://www.youtube.com/watch?v=yhOvWMOZmeY#t=629#ws (http://www.youtube.com/watch?v=yhOvWMOZmeY#t=629#ws)

ภาพตอนเผามีอยู่ตอนท้าย แว้บเดียวจริง ๆ  ;D


กระทู้: อิฐทำมือ กับช่างทำอิฐรุ่นสุดท้ายในจังหวัดน่าน
เริ่มกระทู้โดย: prahnmongkol ที่ 27 ก.พ. 15, 12:08
ขอบพระคุณ ท่านผู้อาวุโส Navarat , เพ็ญชมพู , อาจารย์เทาชมพู  กรุณาช่วยแนะนำ เสริมข้อมูล (เวลาพิมพ์ต้องระวังไม่ให้ตัวเองเผลอใส่ภาษาเน็ต กลัวคุณเพ็ญฯตีด้วยไม้เรียว)

ถ้าหากท่านใดอยากรู้อะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้แนะนำมาได้เสมอ  จขกท.จะไปตามถามคุณลุงมาตอบให้จงได้


กระทู้: อิฐทำมือ กับช่างทำอิฐรุ่นสุดท้ายในจังหวัดน่าน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 27 ก.พ. 15, 12:51
อ้างถึง
ภาพตอนเผามีอยู่ตอนท้าย แว้บเดียวจริง ๆ

ตอนแรกตาไม่ดี อ่านเป็นภาพตอนเผาผีอยู่ตอนท้าย คิดถึงคุณประกอบแทบแย่
ปรากฏว่าเป็นการเผาอิฐมอญเมืองน่าน ซึ่งไม่เหมือนกับอิฐมอญแถวปทุมธานี นอกจากก้อนเล็กกว่ากันแล้ว อิฐมอญเมืองปทุมจะถูกนำมาเรียงซ้อนกันแล้วกลบด้วยแกลบกองพะเนิน ก่อนจะเผาไฟให้ลุกลามช้าๆข้ามวันข้ามคืน พอไฟมอดหมด อิฐดินดำๆก็จะเปลี่ยนเป็นสีแดงๆ

อิฐที่สุกด้วยไฟความร้อนต่ำเช่นนี้จะไม่แกร่ง นำไปใช้ก่อสร้างแบบให้รับน้ำหนักไม่ได้ ถ้าไม่ฉาบปูนก็จะผุกร่อนเร็ว แต่เนื่องจากราคาถูกมาก คนนิยมใช้กันนมนานกว่าอิฐบล๊อกคอนกรีตจะเข้ามาครองตลาดได้

นี่ผมพูดเมื่อสามสิบปีที่แล้วนะครับ เดี๋ยวนี้เขาเปลี่ยนไปนิยมอิฐมวลเบา เมื่อก่อนว่าแพง ผู้ผลิตขายไม่ออก เดี๋ยวนี้คนมีเงินขนาดสร้างตึกได้โดยไม่ง้อบ้านจัดสรร อะไรๆก็ว่าถูกไปหมด


กระทู้: อิฐทำมือ กับช่างทำอิฐรุ่นสุดท้ายในจังหวัดน่าน
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 27 ก.พ. 15, 19:00
ดูอิฐมอญทั่วไปก้อนขนาดเล็กเมื่อเทียบกับอิฐสีชมพูของเมืองน่าน ซึ่งมีก้อนใหญ่มากๆ ใหญ่แบบนี้คงต้องเผาหลายวัน อยากทราบว่าใช้ไม้ฟืนอะไรในการเผาครับ


กระทู้: อิฐทำมือ กับช่างทำอิฐรุ่นสุดท้ายในจังหวัดน่าน
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 28 ก.พ. 15, 19:55
ดูอิฐมอญทั่วไปก้อนขนาดเล็กเมื่อเทียบกับอิฐสีชมพูของเมืองน่าน ซึ่งมีก้อนใหญ่มากๆ ใหญ่แบบนี้คงต้องเผาหลายวัน อยากทราบว่าใช้ไม้ฟืนอะไรในการเผาครับ

ก็ใช้ไม้ในป่าแถวๆ บ้านนั่นแหละ จะเป็นไม้เบญจพรรณ (ไม่ทราบว่าจะรู้จักไม้เบญจพรรณไหม)


กระทู้: อิฐทำมือ กับช่างทำอิฐรุ่นสุดท้ายในจังหวัดน่าน
เริ่มกระทู้โดย: prahnmongkol ที่ 01 มี.ค. 15, 14:42
เรื่องฟืน - เห็นลุงแกก็หาเอาแถวๆบ้าน ไม่ได้ไปหาที่ไหนไกลเลย  ต้นไม้ที่น่านยังมีเยอะ แกก็จะริดมาทำฟืน  เวลามรสุมเข้าช่วงใกล้สงกรานต์กิ่งจะได้ไม่หักลงมาเป็นอันตรายต่อคนที่สัญจรไปมาได้ 
เรื่องขนาดอิฐ - ที่เป็นขนาดใหญ่แบบนี้เพราะผู้รับเหมาเขาเอาแบบมาเป็นตัวอย่าง  ถ้าตามปกติเห็นลุงแกบอกว่ามีสามขนาด  ตอนที่ จขกท.ไปคุยนั้นไม่เห็นของในสต็อคเพราะลุงแกบอกว่าขายของหมดไม่มีเหลือในสต็อค ที่กำลังเร่งทำกันอยู่ก็คือขนาดที่ถ่ายภาพมา  จากในวิดีโอที่คุณเพ็ญฯเอามาให้ดู ราคาอิฐไม่กี่บาท  ตอนนี้เห็นป้าแกบอกว่า4-5 บาท ก้อนใหญ่ในรูปที่ถ่ายมาก็เกือบ 9 บาทแล้ว


กระทู้: อิฐทำมือ กับช่างทำอิฐรุ่นสุดท้ายในจังหวัดน่าน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 มี.ค. 15, 20:30
ตามอ่านอยู่ครับ รู้สึกดีใจที่มีผู้ให้ความสนใจและถกกับชาวบ้านถึงวิถีและภูมิปัญญาท้องถิ่น

ผมจะขอเติมเกร็ดความรู้เล็กน้อย เพื่อเพิ่มข้อสนเทศให้กับผู้อ่าน ดังนี้ครับ

  ดินที่นำมาทำอิฐดินเผานั้น ควรจะ (หรือ "จะต้อง" เสียมากกว่า) เป็นดินท้องนา เพราะเป็นดินที่มีเศษต้นข้าวหรือฟางข้าวเป็นส่วนผสมอยู่พร้อมแล้ว แล้วก็คงเคยได้ยินการวิจารณ์ในประเด็นว่าอิฐจากแหล่งนั้นดีกว่าแหล่งนี้   ทั้งหลายนี้ก็น่าจะต้องมีหลายเหตุพื้นฐานเป็นองค์ประกอบ
  เรื่องแรก คือ ตัววัตถุที่เรียกว่า ดิน   ในภาพรวมๆที่เราเรียกวัสดุที่เมื่ออยู่ในสภาพที่มีความชื้น แล้วสามารถนำมาปั้นเป็นทรงหรือขึ้นเป็นรูปร่างว่า ดิน    ดินที่มีเนื้อเป็นฝุ่นทรายละเอียด (อย่างที่พบในอิสานหลายๆแห่ง) เราก็เรียกว่า ดิน แล้วก็ขยายด้วยคำว่า เป็นดินทราย  หากจับตัวกันหนึบเหนียวแน่น ก็เรียกว่า ดินเหนียว หากค่อนข้างเละ ก็เรียกว่า ดินโคลน แล้งก็มีชื่อเรียกดินอื่นๆอีก เช่น ดินจอมปลวก ดินท้องนา ดินร่วน ดินขุยไผ่ ดินแดง ดินดำ ดินสีดา ฯลฯ
   เรื่องที่สอง คือ ส่วนประกอบของดินนั้นๆ       


กระทู้: อิฐทำมือ กับช่างทำอิฐรุ่นสุดท้ายในจังหวัดน่าน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 มี.ค. 15, 21:04
เนื้อของดินประกอบไปด้วยแร่ดิน (clay minerals)  และวัสดุที่มีขนาดน้อยกว่า 0.002 มม. (2 ไมครอน) ซึ่งได้แก่เศษหิน แร่ และวัตถุอินทรีย์ต่างๆ (clay and silt sized particles) ที่มักจะมีขนาดประมาณ 0.075 มม.(75 ไมครอน) และมีขนาดอื่นๆอีกที่ผสมผสานคละกันอยู่

แร่ดิน แบ่งตามคุณสมบัติออกได้หยาบๆเป็น 2 กลุ่ม คือ พวกที่พองตัวหรือขยายตัวเมื่อมีน้ำ และพวกที่ไม่พองตัวเมื่อมีน้ำ
พวกพองตัวนี้ บางตัวขยายตัวได้ถึงประมาณ 14 เท่า เช่น แร่ดินชื่อ Montmorillonite และ ฺBentonite    ส่วนพวกที่ไม่พองตัว ก็มีอาทิ Illite และ Kaolinite   

ในดินก้อนเดียวกัน มีแร่ดินหลายชนิดผสมอยู่ด้วยกัน จึงทำให้ดินแต่ละแหล่งแต่ละพื้นที่มีคุณสมบัติที่ต่างกัน   ดินที่เมื่อแห้งแล้วแตกระแหงเป็นร่องลึก มักจะเป็นดินที่มีพวกแร่ดินประเภทพองน้ำผสมอยู่ในสัดส่วนที่มาก   

 


กระทู้: อิฐทำมือ กับช่างทำอิฐรุ่นสุดท้ายในจังหวัดน่าน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 มี.ค. 15, 19:38
ในกระบวนการทำอิฐดังที่เล่ามานั้น มีขั้นตอนการนำดินไปแช่น้ำ แล้วเหยียบให้เละเป็นโคลน หลักไว้สองสามวัน

เหตุผลลึกๆที่ต้องทำเช่นนั้นก็เพราะ
  ประการแรก ดินประกอบไปด้วยตะกอนอนุภาคเล็ก   เราต้องการให้อนุภาคเหล่านั้นแยกแตกตัวออกเป็นแต่ละอนุภาค เป็นอิสระแก่กัน ซึ่งจะได้ผลในการทำให้เกิดมีพื้นผิวของแต่ละอนุภาคมากขึ้น  ก็คือการเพิ่มพื้นที่ให้กับการกางแขนกางขาของประจุไฟฟ้าที่มีอยู่รอบพื้นผิวของแต่ละอนุภาค ให้มีความสดวกในการจับมือกัน ช่วยกันยึดเกาะให้เป็นเนื้อแน่นๆ   
   ประการต่อมาคือ เมื่อแต่ละอนุภาคแยกตัวเป็นอิสระแก่กัน แล้วถูกย่ำถูกกวนอยู่ในน้ำ (เช่นเดียวกับการทำ Slurry ในอุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผา)  ตะกอนหรือวัตถุที่มีชิ้นใหญ่ ซึ่งจะมีน้ำหนักมากกว่า ก็จะตกลงสู่พื้นล่าง เราก็จะได้ดินที่มีเนื้อประกอบด้วยวัตถุที่มีขนาดใกล้เคียงกัน ทำให้ผลผลิตมีเนื้อแน่น เนียน และดูน่าใช้   


กระทู้: อิฐทำมือ กับช่างทำอิฐรุ่นสุดท้ายในจังหวัดน่าน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 มี.ค. 15, 18:51
เข้ามาต่อให้จบครับ

ขอแก้ไขนิดนึงครับ แร่ดิน Bentonite นั้น ไม่ได้ขยายตัวถึงประมาณ 14 เท่าเหมือนแร่ดิน Montmorillonite ครับ  เขียนไม่ดีจึงสื่อความหมายผิดไป   
ด้วยคุณสมบัติการขยายตัว พองตัว หรือ อุ้มน้ำ หรือ อมน้ำ เมื่อได้รับความชื้นหรือของเหลว    แร่ดินเหล่านี้จึงใช้ถูกนำไปใช้ในหลายๆเรื่อง เช่น ช่วยในการอุดหรือลดปริมาณการรั่วซึมต่างๆ (การลดรูพุน_porosity)  ใช้ดูดซับของเหลวที่รั่วไหล ฯลฯ   นอกจากนั้นแล้วยังใช้ (Bentonite clay) ผสมทำน้ำโคลน  ที่ใช้ในการเจาะหลุมลึกๆ เช่น บ่อน้ำบาดาลลึกๆ บ่อน้ำมัน-กาซธรรมชาติ เพื้่อช่วยในการหล่อลื่น ช่วยในการนำพาเศษหินขึ้นมา ช่วยกรุผนังบ่อมิให้พังลงมา เป็นต้น

เคยสังเกตไหมครับว่า แอ่งน้ำหรือปลักควายที่แตกระแหงเป็นร่องลึกๆนั้น ปริมาณฝนที่ตกลงมาจนที่อื่นเขาหลากพื้นดินไปแล้ว แต่ในแอ่งน้ำหรือปลักควายนั้นๆ ยังไม่เห็นน้ำมีน้ำเลย เหตุก็เพราะมีแร่ดินกลุ่ม Smectite ที่เรียกกันว่า expanded clay นี้แหละครับ

แหล่งทำอิฐที่ จ.น่าน ในกระทู้นี้ มีความถูกต้องแล้วครับที่เขาเลือกใช้ดินที่เขาเรียกว่าดินจอมปลวก   จะไม่ขยายความต่อนะครับเพราะจะไปเกี่ยวกับเรื่องขององค์ประกอบทางเคมีและคุณสมบัติที่ตามมาของแร่ดิน (โดยเฉพาะในเรื่องของธาตุโซเดียม_Na และแคลเซียม_Ca)


กระทู้: อิฐทำมือ กับช่างทำอิฐรุ่นสุดท้ายในจังหวัดน่าน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 มี.ค. 15, 19:11
ก็มาถึงเรื่องของการใช้แกลบหรือฝางข้าวสั้นๆผสม

โดยหลักการพื้นฐานง่ายดังตัวอย่างนะครับ   ทองคำบริสุทธิ์ เงินบริสุทธิ์ มีความอ่อนมาก จนต้องเจือโลหะอื่น (เช่น ทองแดง) เพื่อให้มีความแข็งแรงพอที่จะขึ้นรูปเป็นทองหรือเงินรูปพรรณต่างๆ (ที่มีความคงทน)  ซีเมนต์ผงที่แข็งตัวก็ไม่แกร่งเท่ากับคอนกรีตที่มีส่วนผสมของหินและทราย ก็เช่นเดียวกับโลหะต่างๆ ที่โลหะ alloy จะมีความแข็งแรงทนทานมากกว่า

ดินผสมแกลบในสัดส่วนที่พอเหมาะ ก็เช่นกัน แต่ในมุมที่ต่างกัน  เมื่อน้ำก้อนอิฐไปเผา พวกแกลบและพืชในเนื่อดินก็จะใหม้ไป แถมให้ความร้อนกับเนื้อดินส่วนเนื้อในให้สุกด้วย  คงเหลือแต่ถ่านที่ทำตัวเป็นโครงสร้างเกิดเป็นโพรงอยู่ในเนื้อก้อนอิฐ  สุดท้ายก็ได้ทั้งความแข็ง ความแกร่ง ความเบา และคุณสมบัติอื่นๆ เช่น ทางเสียง ทางฉนวน ฯลฯ



กระทู้: อิฐทำมือ กับช่างทำอิฐรุ่นสุดท้ายในจังหวัดน่าน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 มี.ค. 15, 20:24
จบท้ายด้วยเรื่องของการเผา

ในกระบวนการ คือ เอาดินที่มีน้ำฉ่ำมาขึ้นรูป (เพราะง่ายต่อการขึ้นรูปทรง)  จากนั้นเอาไปตากแดดให้แห้ง (เพื่อระเหยน้ำออกไป ลดความฉ่ำชื้น และรักษารูปทรง)  เอาไปเผาให้มีความแกร่ง

ทั้งหมดผ่านกระบวนการของทำให้ร้อน  ร้อนแรกจากการตากแดด ทำให้เกิดความแห้งพอที่จะรักษาทรงไว้ ก็เป็นความร้อนที่ไม่สูง คล้ายเราตากของให้แห้งแบบแดดเดียว ก็คือมีผิวแห้งแต่ลึกลงไปยังชื้นอยู่ ชื่อเรียกทางวิชาการ Drying  จากนั้นก็เผา ก็จะมีสองระยะ คือเผาเปลือย (มีออกซิเจนสูง) แล้วก็สุมกลบให้ระอุ (ระดับออกซิเจนต่ำ)  เผาแรกอยู่ในเกณฑ์ที่เรียกว่า Roasting เป็นการไล่ความชื้นที่เกาะอยู่กับวัสดุที่เป็นเนื้อดิน (clay particles)   เผาที่สองอยู่ในเกณฑ์เรียกว่า Sintering เป็นการไล่อนุมูลน้ำหรือของเหลวที่อยู่ในเนื้อของ clay particles (เช่น ที่อยู่ในเนื้อของ expanded clay minerals)  ทั้งนี้ การเผาอิฐมอญจะมีอุณหภูมิไม่สูงไปถึงจุดที่วัสดุเนื้อเกิดการหลอมละลายกลายเป็นสารประกอบใหม่ (จนเป็นดังเช่นกระเบื้องศิลาดล)
ความร้อนและวิธีการที่เผานี้ สูงพอที่จะทำให้วัสดุอินทรีย์เผาใหม้จนกลายเป็นถ่าน คล้ายการเผาถ่านทั่วๆไป ถ่านไม้มีความพรุนและมีโครงสร้างที่แข็งแรงพอสมควรที่จะคงรูปทรงโพรง แม้จะไม่แข็งแรงเท่ากับถ่าน coke ก็ตาม

ก็เพราะด้วยวัตถุดิบ ความชำนาญการของผู้ประกอบการ ความพอดีของการเผา (ด้วยเชื้อเพลิงต่าง) เหล่านี้ ทำให้อิฐแต่แหล่งผลิตมีคุณสมบัติต่างกันในระดับที่พอจะจัดอันดับได้ว่าที่ใดดีว่าที่ใด

ตัวผมสนใจเรื่องของสีอิฐและอื่นๆ แน่นอนว่ามันอยู่ในโทนของสีแดง และทั้งหมดก็เกี่ยวกับปริมาณและประเภทของธาตุเหล็ก Fe++ (ferrous) และ Fe+++ (ferric)  และความสัมพันธุในปริมาณของธาตุ โซเดียม (Na) แคลเซียม Ca และโปแตสเซียม (K)
 
คงจะเป็นเรื่องคิดมากนะครับ ก่ออิฐแล้วก็โบกปูนปิดทับไว้ จะไปคิดอะไรให้มันมากมายทำไม เนอะ 


กระทู้: อิฐทำมือ กับช่างทำอิฐรุ่นสุดท้ายในจังหวัดน่าน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 มี.ค. 15, 20:49

แหล่งทำอิฐที่ จ.น่าน ในกระทู้นี้ มีความถูกต้องแล้วครับที่เขาเลือกใช้ดินที่เขาเรียกว่าดินจอมปลวก   จะไม่ขยายความต่อนะครับเพราะจะไปเกี่ยวกับเรื่องขององค์ประกอบทางเคมีและคุณสมบัติที่ตามมาของแร่ดิน (โดยเฉพาะในเรื่องของธาตุโซเดียม_Na และแคลเซียม_Ca)

แล้วตกลงว่าเขาเอาดินจากจอมปลวกมาทำจริงๆหรือเปล่าครับ ถ้าจริง มันจะมีจอมปลวกให้ทะลายเอาดินมาทำอิฐเยอะขนาดไม่มีหมดในพื้นที่ละแวกนั้นเชียวเหรอ


กระทู้: อิฐทำมือ กับช่างทำอิฐรุ่นสุดท้ายในจังหวัดน่าน
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 มี.ค. 15, 17:04
มิใช่ดินจอมปลวกจริงหรอกครับ แต่ก็ชอบใจที่คำนี้เป็นคำชาวบ้านๆทั่วๆไปเขาใช้สื่อสารลักษณะของดินกัน

ปลวกไม่อยู๋ลึกลงไปใต้ดินจนถึงระดับที่ดินฉ่ำน้ำ (ประมาณ B layer ของ soil profile) ไม่ลึกไปกว่าระดับน้ำผิวดิน (water table) จะอยู่ในระดับที่ดินพอชื้นๆ   จอมปลวกที่เราเห็นโผล่มาเหนือผิวดินนั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะสร้างหนีดินที่ฉ่ำน้ำเกินไป 

ดินจอมปลวกที่เขาสื่อสารกันนั้น ก็คือดินที่อยู่ในระดับสูงเหนือพื้นท้องนา ก็คือดินที่อยู่ในพื้นที่ๆใช้ทำไร่ทำสวน จะเรียกว่าดินหัวไร่ปลายนาก็น่าจะได้   ดินพวกนี้เป็นดินตะกอนที่มาจากการหลากท่วมของแม่น้ำ เนื้อดินจะมีขนาดของเม็ดดินใกล้เคียงกัน มีปริมาณสารประกอบของธาตุ Carbon ค่อนข้างต่ำ (carbonaceous materials)  จึงต้องมีการผสมแกลบเข้าไป  ต่างกับอิฐมอญที่ทำกันในภาคกลาง เช่นแถว จ.อ่างทอง ที่ใช้ดินจากท้องนาโดยตรงได้เลย เนื่องจากมีปริมาณของสารประกอบของธาตุคาร์บอนสุงพอเหมาะอยู่แล้ว

ก็มีข้อสังเกตเล็กๆน้อยๆว่า ในพื้นที่อิสานนั้นไม่ค่อยจะมีโบราณสถานหรือสถานที่เก่าแก่ที่ใช้อิฐมอญมากนัก (ยกเว้นเฉพาะในพื้นที่น้ำท่วมถึงของลุ่มน้ำใหญ่) ส่วนหนึ่งก็น่าจะเพราะว่า ดินในภาคอิสานนั้นเป็นพวกดินปนทราย มีส่วนประกอบเป็นเม็ดทรายขนาด silt และ clay ผสมกัน มีปริมาณแร่ดินปนอยู่น้อย     


กระทู้: อิฐทำมือ กับช่างทำอิฐรุ่นสุดท้ายในจังหวัดน่าน
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 มี.ค. 15, 17:53
อ้างถึง
ก็มีข้อสังเกตเล็กๆน้อยๆว่า ในพื้นที่อิสานนั้นไม่ค่อยจะมีโบราณสถานหรือสถานที่เก่าแก่ที่ใช้อิฐมอญมากนัก (ยกเว้นเฉพาะในพื้นที่น้ำท่วมถึงของลุ่มน้ำใหญ่) ส่วนหนึ่งก็น่าจะเพราะว่า ดินในภาคอิสานนั้นเป็นพวกดินปนทราย มีส่วนประกอบเป็นเม็ดทรายขนาด silt และ clay ผสมกัน มีปริมาณแร่ดินปนอยู่น้อย