เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.พ. 03, 14:42



กระทู้: พระราชพิธีเสี่ยงทาย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ก.พ. 03, 14:42
 เรื่องการเสี่่ยงทาย เป็นความเชื่อของคนไทยเวลาเผชิญปัญหาใหญ่บางอย่างที่ต้องใช้เวลาถึงจะรู้ผล
ระหว่างที่รอด้วยความกระวนกระวาย   คนที่เกี่ยวข้องก็มักใช้วิธีเสี่ยงทาย เพื่อให้รู้ผลล่วงหน้า

วรรณคดีไทยบันทึกความเชื่อข้อนี้เอาไว้ในหลายเรื่องด้วยกัน
ในลิลิตพระลอ  เมื่อพระลอออกจากเมืองจะไปหานางเพื่อนนางแพง  ตามแรงเสน่ห์ที่ถูกกระทำ  
รู้ตัวไปแล้วจะอันตรายมาก ไม่แน่ว่าจะรอดกลับมาได้หรือไม่ เพราะเมืองทั้งสองเป็นศัตรูกัน จึง"เสี่ยงน้ำ" คือเสี่ยงทายกับแม่น้ำกาหลง  ดูว่าจะไปคราวนี้ดีหรือร้าย
ผลคือแม่น้ำไหลวนเป็นสีเลือดตรงหน้า ก็รู้แน่ว่าจะไปตาย
แต่ด้วยขัตติยมานะ( และฤทธิ์เสน่ห์ยังแรงอยู่) ก็ตัดสินใจมุ่งหน้าแทนที่จะกลับบ้าน
ผลคือไปตายจริงๆ

ในขุนช้างขุนแผน   ตอนพลายแก้วไปทัพ  ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายไม่รู้จะรอดกลับมาไหม พลายแก้วหรือขุนแผนก็ไปปลูกต้นโพธิ์เสี่ยงทายไว้ให้นางพิม
คือถ้าต้นไม้ยังงอกงามเติบโตดี แปลว่าไม่มีอันตราย  ถ้าเหี่ยวเฉาตายแปลว่าเจ้าของไปตาย
ขุนช้างก็แอบให้คนเอาน้ำร้อนไปรดต้นไม้เสียจนตาย  หลอกนางพิม และนางศรีประจันต์แม่นางพิม
เป็นส่วนหนึ่งของอุบายชิงนางพิมมาเป็นเมีย

ในอิเหนา  มะเดหวีเมืองดาหา ตัดสินใจไม่ถูกว่าบุษบาควรได้กับอิเหนาหรือจรกา
ก็ไปขอเสี่ยงทายกับพระประธานในโบสถ์   คือตอนบุษบาเสี่ยงเทียน
คือจุดเทียน ๒ เล่มแทนตัวอิเหนากับจรกา   ถ้าได้ข้างไหนก็ขอให้เทียนด้านนั้นสว่างดี  ข้างไม่ได้ก็ดับไป
อิเหนาเลยใช้อุบายไปต้อนค้างคาวในวิหารให้บินพึ่บพั่บ เทียนดับ

ในพระราชพงศาวดาร  เล่ากันมาว่า
ตอนที่พระเธียรราชากับขุนพิเรนทรเทพคิดกำจัดขุนวรวงศาธิราชและท้าวศรีสุดาจันทร์
ก็ไปเสี่ยงทายหน้าพระพุทธรูปเช่นกัน ด้วยการจุดเทียนของขุนวรวงศาฯ และเทียนของพระเธียรราชาคู่กัน ว่าใครจะดับก่อน
ตอนนั้น พระเธียรราชาท้อใจว่าแผนน่าจะไม่สำเร็จเสียแล้ว
ขุนพิเรนทรฯคายชานหมากออกมา ขว้างไป เผอิญไปถูกเทียนขุนวรวงศาดับ
หรือไม่ก็อาจเป็นเพราะเจ้าตัวขว้างแม่นจริงๆ
อย่างไรก็ตาม  พอเทียนดับก็เกิดฮึกเหิมว่าเสี่ยงทาย ผลออกมาแล้วศัตรูแพ้แน่
ก็ลงมือตามแผน  ดักจับตัวและประหารขุนวรวงศาได้ในที่สุด

(แล้วจะมาเล่าต่อถึงพระราชพิธีเสี่ยงทายโดยแทงพระธรรมบทค่ะ)


กระทู้: พระราชพิธีเสี่ยงทาย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.พ. 03, 11:44
ในรัชกาลทีี่ ๑  เป็นยุคสมัยที่ไทยต้องทำศึกกับพม่าเกือบไม่ว่างเว้นตลอดรัชกาล    สองครั้งในจำนวนนี้เป็นศึกเมืองทวาย ซึ่งอยู่ในอำนาจพม่า
เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๐ และพ.ศ. ๒๓๓๖
ศึกครั้งหลังเกิดจาก พระยาทวายแปรพักตร์จากพม่ามาสวามิภักดิ์ต่อไทย
เมื่อพม่าได้ข่าวก็ยกทัพมาปราบทวาย  ขณะนั้นไทยรักษาเมืองอยู่เพราะถือว่าทวายเป็นของไทยแล้ว
กองทัพไทยของเจ้าพระยารัตนาพิพิธกับเจ้าพระยามหาเสนา ได้ข่าวศึกพม่าจึงยกไปสมทบเพื่อช่วยทวายทำศึกกับพม่า

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯทรงปริวิตกเรื่องนี้  ไม่แน่ว่าไทยจะได้ชัยชนะหรือแพ้ต่อพม่า  จึงโปรดเกล้าฯให้ประกอบพระราชพิธี "เสี่ยงทายโดยแทงพระธรรมบท"
พิธีนี้ได้กระทำหลายครั้ง   เข้าใจว่าในระยะเดียวกัน
พิธีนี้กระทำโดยอาศัยพระธรรมบท  ซึ่งเป็นคัมภีร์สำคัญของพระสุตตันไตรปิฎก  หมวดขุททกนิกาย
สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯทรงเป็นประธานในพิธี  ทรงตั้งสัจจาธิษฐาน   แล้วทรงแทงไปที่ผูกต่างๆของคัมภีร์พระธรรมบท
แต่ละผูกต่างๆก็กล่าวถึงบุคคลสมัยพุทธกาล  เล่าเป็นเรื่องเอาไว้
ถือว่าถ้าทรงเลือกได้เรื่องดี  การทำนายก็จะได้ดี
ถ้าหากว่าทรงเลือกได้เรื่องร้าย  การทำนายก็จะร้าย
เช่น
" ถ้าอ้ายพม่าจะได้เมืองทวาย  ขอให้ถูกที่ชั่ว   ถ้ามันไม่ได้เมืองทวาย  และมันจะแพ้ทัพไทย  ขอให้ได้ดีที่สุด"
ผลการเสี่ยงทาย  ว่าพม่าจะแพ้หรือไม่แพ้   ทรงแทงได้เรื่องพระชาณุโกณฑัญญเถระ
มีเนื้อความว่าพระอรหันต์ชาณุโกณฑัญญะ นั่งเข้าฌานอยู่    กลุ่มโจร๕๐๐ คนเข้าใจว่าร่างท่านเป็นตอไม้  ถึงนำห่อทองที่ปล่้นมาได้มาวางบนศีรษะท่าน    พระเถระได้เทศนาโปรดกลุ่มโจร จนกลับใจแล้วเลื่อมใส  พากันออกบวชในพุทธศาสนา

ในศึกทวายครั้งนี้  ทัพไทยเผชิญศึกกระหนาบสองด้าน คือนอกจากทัพพม่าที่ต้องรบกันเป็นศึกใหญ่นอกเมืองแล้ว
ในเมืองทวาย ชาวเมืองเกิดเปลี่ยนใจอีกครั้งหันกลับไปเข้าข้างพม่า   ฆ่าฟันทหารไทยที่รักษาเมือง เพื่อจะช่วยพม่า
นอกจากนี้พระยาอภัยรณฤทธิ์ แม่ทัพไทยที่รักษาค่ายนอกเมือง ตัดสินใจผิดพลาด
เมื่อเห็นทัพเจ้าพระยารัตนาพิพิธกับเจ้าพระยามหาเสนาเพลี่ยงพล้ำถูกพม่ารุกไล่ แตกร่นมา
แทนที่จะเปิดค่ายให้กองทัพหนีเข้าค่ายได้ทัน  กลับปิดค่ายไม่ยอมให้เข้า เพราะเกรงว่าค่ายจะแตกไปด้วย
ทำให้แม่ทัพไทยสูญเสียชีวิต ทั้งเจ้าพระยามหาเสนาและพระยาสีหราชเดโชชัย
ทำให้ทัพไทยต้องถอยจากทวาย   แต่ก็รักษาทัพที่เหลือไว้ได้  พม่าตามตีไม่สำเร็จ  กลับมาถึงเมืองหลวง   โปรดเกล้าฯให้สอบสวนทวนเรื่องที่เกิดขึ้น พระยาอภัยรณฤทธิ์ได้รับพระราชอาญาถึงประหาร

ขอสรุปว่า ผลของการทำศึก ไม่เป็นไปตามพิธีเสี่ยงทาย  ดิฉันยังค้นไม่พบว่ามีการทำพระราชพิธีนี้อีกหรือไม่  และเมื่อใด

หนังสืออ้างอิง
ไทยรบพม่า  พระนิพนธ์ในสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
บทความ" การเสี่ยงทาย" ใน พินิจวรรณลักษณ์ ของ ศ.ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร


กระทู้: พระราชพิธีเสี่ยงทาย
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 26 ก.พ. 03, 14:53
 ขอบคุณที่เขียนให้อ่านกันครับ  ชอบๆๆๆ
คุณเทาชมพูช่วยไปอ่านที่ผมแปลมั่งสิครับ :)


กระทู้: พระราชพิธีเสี่ยงทาย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.พ. 03, 17:53
 ดีใจที่ชอบค่ะ  
คุณ paganini แปลไว้ที่ไหนล่ะคะ  ช่วยทำลิ้งค์ให้หน่อยได้ไหม
จะได้ไปอ่าน


กระทู้: พระราชพิธีเสี่ยงทาย
เริ่มกระทู้โดย: รตา ที่ 27 ก.พ. 03, 08:59
 ขอบคุณมากค่ะคุณเทาชมพู ชอบอ่านเรื่องประวัติศาสตร์ผสมพงศาวดารจังค่ะ


กระทู้: พระราชพิธีเสี่ยงทาย
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ก.พ. 03, 09:45
จะหามาเล่าสู่กันฟังอีกค่ะ
รอสักนิดนะคะ


กระทู้: พระราชพิธีเสี่ยงทาย
เริ่มกระทู้โดย: paganini ที่ 27 ก.พ. 03, 13:16
 แหะ ข่าววิทยาศาตร์ครับ  ผมแปลแล้วบางทีคนก็อ่านไม่รู้เรื่องครับ  อาจจะขาดทักษะด้านความเรียง  ไงก็น้อมรับคำวิจารณ์ครับ
 http://www.vcharkarn.com/vnews/


กระทู้: พระราชพิธีเสี่ยงทาย
เริ่มกระทู้โดย: ทองรัก ที่ 02 มี.ค. 03, 09:31
 ขอบคุณค่ะ เทาชมพูมากค่ะ
ทองรักก็ชอบอ่านประวัติศาสตร์ผสมพงศาวดารเหมือนคุณรตาค่ะ
เดี๋ยวจะแวะไปอ่านบทความของคุณpaganini นะคะ