เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 15 ส.ค. 16, 21:06



กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 15 ส.ค. 16, 21:06
เป็นประวัติไฟฟ้าไทยที่น่าเชื่อถือ ไม่ผิดเพี้ยน ค้นคว้าจากเอกสารตั้งต้นในยุคสมัยนั้นๆ ยืนยันพิสูจน์ได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ทราบถึงพระราชกรณียกิจจำนวนมากที่เกี่ยวกับไฟฟ้าไทย ในช่วงรัชสมัยภายใต้ร่มพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยในพระบรมราโชบายใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงมีพระราชปณิธานและพระราชประสงค์ ทั้งทรงพยายามเต็มพระมหาพิริยุตสาหะทะนุบำรุงเป็นที่สุด มิได้ทรงคำนึงถึงความลำบากเหนื่อยยากพระสกนธ์กายและพระราชหฤทัย แม้พระองค์ทรงเป็นอรรคบริโสดมบรมสุขุมาลชาติเพื่อพระราชประสงค์จะให้บังเกิดสุขประโยชน์แก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน บรรดาเป็นผลให้สยามประเทศเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น ไฟฟ้าไทยจึงได้วิวัฒนาการเจริญก้าวหน้ามาจนถึงปัจจุบันนี้

”ไฟฟ้า” เป็นคำผสม คนไทยในสมัยโบราณได้ใช้ “ไฟ” ในการดำรงชีวิต เช่น ใช้หุงหาอาหาร ใช้ให้แสงสว่าง ซึ่งมีบางคุณลักษณะที่เหมือนกันกับปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า คือมีลำแสงหรือเปลวไฟที่ทำให้เกิดแสงสว่างและทำให้เชื้อติดไฟได้ คำว่า “ไฟฟ้า” ในสมัยนั้นจึงหมายถึงไฟที่อยู่บนท้องฟ้าที่สามารถลงมาสู่พื้นโลกได้

จากตำนานนครจำปาศักดิ์ว่าในปี พ.ศ. 2360 มีผู้เอาแว่นแก้วมาส่องแดดให้เชื้อติดไฟ อวดว่ามีอิทธิฤทธิ์สามารถเรียกไฟฟ้าคือไฟที่อยู่บนฟ้าลงมาเผาบ้านเมืองให้ไหม้วินาศไปสิ้นได้ ผู้คนเกิดความเกรงกลัว จึงคิดขบถรวบรวมผู้คนยกเป็นกระบวนทัพเที่ยวตีรุกรานไปตามหมู่บ้านต่างๆ (จากหนังสือพิมพ์เทศาภิบาล เล่มที่ 4 พ.ศ. 2450)

ความรู้เรื่องไฟฟ้าตามหลักวิทยาศาสตร์เริ่มเข้ามาเผยแพร่สู่สังคมไทยโดยมิชชันนารีหรือหมอสอนศาสนาในรูปแบบข่าวสารลงในหนังสือพิมพ์

ในปี พ.ศ. 2387 หนังสือพิมพ์ได้ลงหัวข่าวว่า “ตำราไฟฟ้า (Lightning)” เป็นการเอาคำภาษาอังกฤษว่า "Lightning" แปลเป็นภาษาไทยว่า “ตำราไฟฟ้า” ได้กล่าวถึงการเกิดและการเคลื่อนที่ของไฟฟ้า (ฟ้าแลบ) มีการยกตัวอย่างว่าสิ่งใดเป็นสื่อหรือตัวนำไฟฟ้า สิ่งใดเป็นฉนวนไฟฟ้า มีการอธิบายการเกิดฟ้าร้อง ฟ้าผ่า การป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า (จากหนังสือพิมพ์จดหมายเหตุ BANGKOK RECORDER เล่ม 1 ใบที่ 1)

ในปี พ.ศ. 2388 หนังสือพิมพ์ลงข่าวถึงวิธีคำนวณระยะทางหรือตำแหน่งที่เกิดฟ้าผ่าด้วยวิธีจับชีพจร โดยเมื่อเห็นฟ้าแลบก็ให้รีบจับชีพจรแล้วนับจำนวนครั้งของชีพจรจนถึงเมื่อได้ยินเสียงฟ้าผ่า เป็นการอาศัยอัตราความเร็วของแสง เสียง และการเต้นของหัวใจ กำหนดว่าเสียงเดินทางเป็นระยะทาง 140 เมตรต่อการเต้นของหัวใจหนึ่งครั้ง (จากหนังสือพิมพ์จดหมายเหตุ BANGKOK RECORDER เล่ม 1 ใบที่ 11) และข่าวจากต่างประเทศว่าประเทศสหรัฐอเมริกาได้จำลองเหตุการณ์ทดลองระเบิดเรือรบโดยใช้ไฟฟ้าเป็นตัวจุดชนวน ข่าวว่าได้มีการสร้างและทดลองใช้โทรเลขได้เป็นผลสำเร็จแล้ว (จากหนังสือพิมพ์จดหมายเหตุ BANGKOK RECORDER เล่ม 1 ใบที่ 12)

ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าสิ่งประดิษฐ์ทางไฟฟ้าสื่อสาร (โทรเลข โทรศัพท์) ไฟฟ้าแสงสว่าง (หลอดไฟฟ้า) ไฟฟ้าการคมนาคม (รถราง) เข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อใด แต่สามารถบอกปี พ.ศ. อย่างช้าได้ว่ามีสิ่งประดิษฐ์ทางไฟฟ้าเข้ามาอยู่ในไทยแล้ว
1.    ไฟฟ้าสื่อสาร (โทรเลข) มีอย่างช้าในปี พ.ศ. 2408
2.    ไฟฟ้าสื่อสาร (โทรศัพท์) มีอย่างช้าในปี พ.ศ. 2421
3.   ไฟฟ้าแสงสว่าง (หลอดไฟฟ้า) มีอย่างช้าในปี พ.ศ. 2423
4.    ไฟฟ้าการคมนาคม (รถราง) มีอย่างช้าในปี พ.ศ. 2434 (เริ่มขอประทานพระอนุญาตก่อสร้าง)

ในปี พ.ศ. 2408 หนังสือพิมพ์ลงข่าวที่มาจากต่างประเทศว่า "อนึ่งข่าวมาแต่บำไบว่ามีจำพวกหนึ่ง ว่าจะตั้งโคมให้แสงสว่างเมื่อเพลากลางคืนเป็นอย่างใหม่เรียกว่าอีเลกโตรแมคเนตอิกไลต์ ข่าวว่าสว่างนั้นมีแสงกล้านัก พอที่คนอยู่ไกลหลายสิบเส้นจะเห็นตัวหนังสือชัดอ่านได้" (จากหนังสือพิมพ์จดหมายเหตุ BANGKOK RECORDER เล่ม 1 ใบที่ 18) และลงข่าวว่าที่กรุงเทพฯ มีชาวต่างชาติต้องการขายเครื่องไฟฟ้าชุดหนึ่ง (จากหนังสือพิมพ์จดหมายเหตุ BANGKOK RECORDER เล่ม 1 ใบที่ 21) ข่าวว่าที่กรุงเทพฯ มีการทดลองและใช้โทรเลขกัน (จากหนังสือพิมพ์จดหมายเหตุ BANGKOK RECORDER เล่ม 2 ใบที่ 2)

ในปี พ.ศ. 2410 เจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) ได้เขียนบทความอธิบายเรื่องการเกิดฟ้าร้อง ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า โดยใช้หลักเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างมีเหตุมีผล เป็นการปะทะกับความรู้ความเชื่อแต่เดิมของคนไทยในเรื่องนางมณีเมขลาและยักษ์รามสูร (จากหนังสือแสดงกิจจานุกิจ)

ในปี พ.ศ. 2421 รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้ทดลองใช้โทรศัพท์ตัวอย่างที่ส่งมายังไทย และทรงโปรดให้ทดลองติดตั้งโทรศัพท์ระหว่างสมุทรปราการกับกรุงเทพฯ โดยใช้สายโทรเลขที่มีอยู่แล้วในเส้นทางนี้ (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 รล-พศ/2)

18 สิงหาคม พ.ศ. 2423 เจ้าพระยามหินธรศักดิ์ธำรงค์ ผู้บัญชาการกรมพระสัสดีได้มีหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายแด่รัชกาลที่ 5 ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตตระเตรียมการเกี่ยวกับเครื่องไฟฟ้าแสงสว่างที่ได้มาเพื่อใช้ในงานสมโภชเฉลิมพระชนมพรรษา ตรงกับ 20 กันยายน พ.ศ. 2423 (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 นก/9)

24 สิงหาคม พ.ศ. 2426 หลวงปฏิบัติราชประสงค์ได้มีหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายแด่รัชกาลที่ 5 เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างให้ทั่วพระบรมมหาราชวังทีเดียวเลย เปลี่ยนจากที่จะติดตั้งเฉพาะพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ซึ่งแต่เดิมใช้โคมแก๊สและน้ำมัน รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชหัตถเลขามีใจความตอนหนึ่งว่า "หลวงปฏิบัติยื่นความเห็นฉบับนี้เห็นว่าเป็นการดีและถูกเงินเป็นแน่ จะยอมให้เป็นพนักงานทำเป็นการเหมาเสียทีเดียวก็ได้ เครื่องแก๊สเก่าถ้าใช้เครื่องไฟฟ้าได้แล้วอยากจะขายเลหลังเสียทีเดียว ให้กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมพาดูที่ ให้เขากะดวงโคมทำเอสติเมศให้ทั่วไป ถ้าการหลวงอย่าให้ต้องใช้น้ำมันได้เลยทีเดียวจะดี" (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 นก/25)

การที่บ้านเมืองไทยมีการเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ ดังนั้นไฟฟ้าที่ส่งมาตามสายไฟถูกแปลงเป็นรหัสเช่นโทรเลข ถูกแปลงเป็นเสียงเช่นโทรศัพท์ ถูกแปลงเป็นแสงสว่างเช่นหลอดไฟจึงไม่ใช่สิ่งแปลกอันใดในใต้ร่มพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5


28 กรกฎาคม พ.ศ. 2427 เจ้าหมื่นไวยวรนารถได้มีหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายแด่รัชกาลที่ 5 ในเรื่องเกี่ยวกับการที่จะติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่างในโรงทหารน่า มีใจความตอนหนึ่งว่า "เมื่อเดิมข้าพระพุทธเจ้าได้ขอพระบรมราชานุญาตที่จะคิดทำเครื่องไฟฟ้าสำหรับใช้ในโรงทหาร โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมกะดวงไฟที่จะใช้ในที่ต่างๆ ... ได้ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าได้ส่งบัญชีของที่จะต้องการต่างๆ ออกไปให้พระวงษ์เธอพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ให้สืบราคา ได้ทำเอศติเมศส่งเข้ามายังข้าพระพุทธเจ้า ๆ ได้ตรวจดูเห็นเป็นเงินนั้นมาก ข้าพระพุทธเจ้าได้ทูลปรึกษากับพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นเทวะวงษ์วโรประการให้ทรงทราบ ท่านรับสั่งว่าเงินแผ่นดินยังหามีพอจ่ายไม่ ..." (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 นก/36)

พฤศจิกายน พ.ศ. 2427 รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยานรรัตนราชมานิตยจัดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่างที่สวนสราญรมย์เพื่อใช้เป็นที่ต้อนรับชาวต่างชาติโดยใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีอยู่แล้ว อนึ่งเมื่อครั้งมิศเตอร์จาลบาศเตอร์รับราชการอยู่ ณ สวนแห่งนี้ได้ซื้อเครื่องไฟฟ้าไว้ก่อนแล้ว ต่อมามิศเตอร์จาลบาศเตอร์ได้ถึงอนิจกรรมโคมไฟแสงสว่างได้ตกไปอยู่กับพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าดิศวรกุมาร แต่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าใช้การไม่ได้เพราะแรงไฟไม่พอ (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 นก/40)

พ.ศ. 2428 หนังสือพิมพ์ลงข่าวว่าราชทูตไทยที่ไปเจริญทางพระราชไมตรีประเทศฝรั่งเศสได้บรรยายถึงระบบแสงสว่างใช้แก๊ส ว่าตามสองข้างถนนมีโคมไฟใช้แก๊สสูงประมาณห้าศอกตั้งสลับกันเป็นฟันปลา ฝรั่งเศสใช้กันทั่วไปทุกบ้านทุกเรือน และลงข่าวอีกว่ามีผู้แสดงความเห็นว่าสมควรให้ไทยแปลวิชาไฟฟ้าภาษาอังกฤษเป็นตำราไฟฟ้าภาษาไทย เพื่อให้ประเทศต่างๆ ในเอเชียส่งคนมายังไทยเพื่อเล่าเรียนวิชาไฟฟ้าที่เป็นภาษาไทย โดยคาดว่าไทยจะเจริญก้าวหน้าทันประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปในไม่ช้า และภาษาอักษรไทยจะไม่สูญหาย จะแพร่หลายทวีขึ้นทุกๆ ปีสืบไป (จากหนังสือพิมพ์จดหมายเหตุสยามไสมย ฉบับเดือนตุลาคม)

พ.ศ. 2431 หนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวถึงวิวัฒนาการการพัฒนาปรับเปลี่ยนการใช้โคมไฟให้แสงสว่างประเภทต่างๆ เช่น ตะเกียงไต้ (น้ำมันยาง)  คบ โคมน้ำมันมะพร้าว โคมน้ำมันปลา เทียน โคมไฟฟ้า โคมแก๊ส โคมน้ำมันปริโตรเลียม โคมลาน โคมแมงดา โคมเผาน้ำมันแคสออยล์ มีหัวข่าวว่า “ประทีปโคมไฟ” ซึ่งได้บรรยายถึงโคมไฟฟ้าที่ดีกว่าแต่ก่อน มีความว่า "ต่อมาชาวต่างประเทศนำเทียนมาขาย ก็นิยมยินดีว่าสว่างกว่าน้ำมัน ก็ได้ซื้อใช้และทำบุญ แล้วมีโคมไฟฟ้าเข้ามาแต่มีผู้ใช้น้อย เครื่องเครานั้นก็ยังไม่สู้ดีนัก แต่สว่างกว่าของที่มีแล้วพอควร ...... โคมไฟฟ้านั้นก็มีมาต่างๆ ดีขึ้นกว่าก่อนบ้าง ใช้ได้มากดวงขึ้นอีกบ้าง"  (จากหนังสือพิมพ์วชิรญาณวิเศษ เล่ม 4 แผ่น 10)

พ.ศ. 2432 รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสาตรศุภกิจทำธุรกิจด้านไฟฟ้า มีชื่อว่าบริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด ใช้เงินทุน 480,000 บาท เป็นการระดมหุ้นโดยรัฐบาลไทยเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เช่าที่ดินของวัดราชบุรณะ (วัดเลียบ) ปีละ 800 บาท ตั้งโรงไฟฟ้าเพื่อจ่ายให้แก่หลอดไฟฟ้า 20 แรงเทียน (วัตต์) จำนวน 10,000 ดวง ด้วยเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 5 ตัว ใช้แกลบและฟืนเป็นเชื้อเพลิงหลัก (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 ว/1)

14 มีนาคม พ.ศ. 2434 บริษัท บางกอกแตรมเว จำกัดได้มีหนังสือขอประทานพระอนุญาตต่อพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์ อธิบดีกรมนครบาลสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 70 แรงม้าตั้งอยู่บริเวณสะพานเหล็ก คลองผดุงกรุงเกษมเพื่อจ่ายไฟฟ้าให้แก่รถรางไฟฟ้า เปลี่ยนจากใช้ม้าลาก (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร 5 น/318 น21/6)

บริษัทไฟฟ้าสยามได้ใช้เวลาก่อสร้างโรงไฟฟ้ากว่า 2 ปีก็ยังไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ เกิดปัญหามากมาย เงินทุนหมดลง เนื่องจากการสั่งการที่ผิด ใช้จ่ายเงินอย่างสุรุ่ยสุร่าย การส่งอุปกรณ์ล่าช้ามาก การก่อสร้างผิดไปจากแบบ มีรายการที่เป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในภายหลังอีกเป็นจำนวนมาก

6 กรกฎาคม พ.ศ. 2435 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์ ทรงมีลายพระหัตถ์ทูลเกล้าถวายแด่รัชกาลที่ 5 มีใจความตอนหนึ่งว่า "ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เกล้ากระหม่อมรับราชการในกรมยุทธนาธิการตำแหน่งผู้บัญชาการยุทธภัณฑ์ จึงได้เป็นผู้รักษาและจัดการการไฟฟ้าอันมีอยู่แล้ว ได้จุดใช้ราชการหลายครั้งก็ไม่เป็นการสะดวกติดบ้างดับบ้างต้องจัดการแก้ไขกันไปต่างๆ ไม่หยุด แก้ไปแก้มาเครื่องไหม้จุดอีกไม่ได้ต่อไป ทำไม่ได้ในเมืองไทยต้องส่งเครื่องออกไปทำใหม่ที่ยุโรป ... บัญชีจ่ายในการซ่อมทำเครื่องไฟฟ้าเช่นนี้แพงมิใช่เล่น ได้เคยเห็นมาแต่ก่อนเมื่อรับราชการเป็นผู้บัญชาการใช้จ่ายในกรมยุทธนาธิการ ได้ตั้งเบิกเงินที่จ่ายในการทำเครื่องไฟฟ้านั้นด้วยร้อยด้วยพันชั่ง ซึ่งรู้สึกเต็มใจว่าไม่ได้รับประโยชน์จากทุนที่ลงไป แม้แต่หนึ่งในส่วนร้อยก็ทั้งยาก ลมเจียนจะจับทีเดียวแต่จำต้องเบิกจ่ายไป ตัดรอนไม่ได้เพราะเป็นการเก่าที่ทำแล้ว" ทั้งนี้สืบเนื่องจากการที่รัชกาลที่ 5 ทรงจะต้องพระราชประสงค์ใช้ข้อมูลแสดงความคิดเห็นจากหลายๆ ฝ่าย ว่ารัฐบาลควรจะทำอย่างไรกรณีบริษัทไฟฟ้าสยามขาดเงินลงทุน เพื่อทรงพระบรมราชวินิจฉัย (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 น/93 น10/2)

รัฐบาลได้รับจำนำเพื่อบริษัทจะได้นำเงินไปดำเนินการต่อ แต่สุดท้ายได้หลุดจำนำตกเป็นของรัฐบาลไทยดำเนินการโดยกระทรวงโยธาธิการเรียกว่า "ไฟฟ้าหลวง"

3 กันยายน พ.ศ. 2438 ประมาณ 18.00 น. รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินประพาสในพระนครจากพระที่นั่งจักรีมหาปราสาททางรถพระที่นั่ง เสด็จขึ้นทรงรถรางไฟฟ้าบริเวณถนนวังแล่นไปจนถึงสะพานเหล็ก เสด็จทอดพระเนตรเครื่องจักรในโรงไฟฟ้าซึ่งผลิตไฟฟ้าให้แก่รถรางของบริษัท บางกอกแตรมเว จำกัด (จากหนังสือพิมพ์กุมารวิทยา ฉบับที่ 3)

17 มกราคม พ.ศ. 2438 ประมาณ 18.00 น. รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินประพาสทางรถพระที่นั่ง เสด็จทอดพระเนตรในโรงไฟฟ้าหลวงที่ วัดราชบุรณะ (วัดเลียบ) เป็นเวลา 15 นาที (จากหนังสือพิมพ์กุมารวิทยา ฉบับที่ 21)

24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2438 ใกล้เวลา 19.00 น. รัชกาลที่ 5 เสด็จขึ้นทรงรถรางไฟฟ้า ณ ข้างกระทรวงยุทธนาธิการ แล่นตรงจนสุดทางที่บางคอแหลม เสด็จพระราชดำเนิน แล้วเสด็จทรงรถรางแล่นกลับมาถึงพระบรมมหาราชวังเวลา 3 ทุ่มเศษ (จากหนังสือพิมพ์กุมารวิทยา ฉบับที่ 26)

พ.ศ. 2439 เกิดเหตุการณ์ที่พลตระเวนของกระทรวงนครบาลปล่อยปละละเลยไม่ดูแลรักษาโคม ไฟฟ้าตามข้างถนนบริเวณสะพานช้างโรงสี (สะพานข้ามคลองหลอดหลังกระทรวงกลาโหมในปัจจุบัน) ปล่อยให้ฝุ่นเกาะดูเศร้าหมองเป็นเวลานาน โดยเมื่อคราวที่เป็นโคมน้ำมันอยู่นั้นพลตระเวนต้องทำหน้าที่คอยจุดคอยดับ เช็ดกระจกและเติมน้ำมันทุกวัน รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชกระแสมีใจความว่า "ที่ได้จัดตกลงกันไว้แล้วเช่นนี้ก็ดี ก็ยังต้องการเตือนกันเรื่อยๆ ไปอย่างไทย ไม่มีอะไรวางมือได้สักอย่างเดียว เป็นเจ้าแผ่นดินเมืองไทยนั้นเหมือนอย่างพลเรือน ที่ต้องหุงข้าวกินเอง กวาดเรือนเอง ตักน้ำรดต้นไม้เอง จุดโคมเองทุกอย่าง อีกสักกี่สิบปี ธรรมเนียมนี้จึงจะหมดไป" (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร ก.ร.5ยธ/1)

"ไฟฟ้าหลวง" ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงโยธาธิการได้ประสบภาวะขาดทุนเป็นเวลานาน กิจการไม่เจริญก้าวหน้า ติดโคมไฟฟ้าได้น้อย ไฟฟ้าดับบ่อยมาก ซึ่งได้มีการส่งผู้ชำนาญการเรื่องไฟฟ้าเข้าไปตรวจสอบในด้านต่างๆ เพื่อให้มีการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นต่อไป อีกทางหนึ่งก็ได้ให้มีการรีบจัดหาผู้เช่ากิจการไฟฟ้านี้

มีนาคม พ.ศ. 2439 รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชกระแสต่อพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ จากกรณีที่ “ไฟฟ้าหลวง” เกิดสภาวะขาดทุนเป็นเวลานาน มีใจความตอนหนึ่งว่า “เรื่องนี้ที่ขาดทุนมาแต่ก่อน ควรที่เธอจะตรวจตราและคิดอ่านเสียช้านานมาแล้ว ซึ่งทอดทิ้งไว้ไม่คิดอ่านให้ตลอดจนต้องมีผู้อื่นมาร้อนรนแทนดังนี้ เป็นการทำราชการบกพร่องในหน้าที่ ให้ต้องเปลืองพระราชทรัพย์ เป็นความผิดของเธอซึ่งไม่มีทางจะแก้ว่าไม่ผิดได้ จึงขอติเตียนอย่างแรงในข้อที่ทำให้เงินของรัฐบาลต้องเสียไปโดยมิได้คิดอ่านการให้รอบคอบและละเลยไม่ว่ากล่าวพิททูลให้แก้ไข สืบไปเมื่อหน้าการอันใดในกระทรวงซึ่งเห็นว่าเป็นแต่เปลืองเงินเปล่าไม่ได้ประโยชน์คุ้ม ควรจะแก้ไขลดหย่อนหรือเปลี่ยนแปลงประการใดก็ต้องคิดจัดการโดยเร็วที่สุดอย่าให้เสียเวลา ถ้าจะจัดไม่ตลอดก็ควรจะพิททูลว่ากล่าวให้ตลอดไป การเรื่องไฟฟ้านี้ก็เห็นว่าเป็นอันขาดทุนเหลือเกินกว่าที่จะทนไปอย่างเดิมได้ จำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงการใหม่ แต่เพื่อจะให้เป็นการพรักพร้อมกันทุกหน้าที่ จึงได้สั่งไปยังกระทรวงพระคลังมหาสมบัติให้พร้อมกับเธอและพระยาเทเวศร์ซึ่งจะเป็นเจ้าหน้าที่ใหม่ ปรึกษากันจัดการเรื่องไฟฟ้านี้เสียให้ทันใน ศก ๑๑๖ ถ้ามีที่จะจัดการได้ดีที่สุดอย่างไร” (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 น/93 น10/3)

3 เมษายน พ.ศ. 2440 มิสเตอร์ เบนเน็ต ได้ทำสัญญาเช่ากิจการไฟฟ้ากับกระทรวงพระคลังมหาสมบัติใช้ชื่อว่าบริษัท ไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัดมีมิสเตอร์ เบนเน็ตเป็นผู้จัดการ อยู่ในรูปเอกชน การบริหารงานของบริษัทได้ทำการหยุดการจ่ายไฟฟ้าตามท้องถนนหลวงในคืนเดือนหงายเดือนละ 3 วัน คือวันขึ้น 14 ค่ำถึงแรม 1 ค่ำตามแบบอย่างในยุโรปและอเมริกา โดยใข้แสงสว่างจากดวงจันทร์แทน จะใช้ช่วงเวลานี้สำรวจซ่อมแซมระบบไฟฟ้าต่างๆ ให้เรียบร้อย และใช้ดวงไฟขนาดใหญ่ประเภท "อาร์คไลท์" ในบริเวณที่โล่งกว้าง เพราะสว่างมากกว่า เปลืองพลังงานน้อยกว่าดวงไฟขนาดเล็กที่ต้องใช้หลายดวง มิสเตอร์ เบนเน็ตได้รายงานว่าปริมาณที่บริษัทได้ทำไปแล้วเป็นเวลา 7 เดือนนั้นเท่ากับกระทรวงโยธาธิการได้ทำไป 3 ปี

กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2440 รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้การกำกับดูแลด้านไฟฟ้าในส่วนของรัฐบาลเป็นหน้าที่ของกรมศุขาภิบาล กระทรวงนครบาล แทนกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ

1 กรกฎาคม พ.ศ. 2441 บริษัท ไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัดได้ติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าถือเป็นครั้งแรกในไทย สำหรับวัดปริมาณการใช้ไฟฟ้าของสถานที่หรือหน่วยงานราชการต่างๆ ที่ได้มีการเดินพาดสายไฟฟ้าออกจากโรงไฟฟ้าเป็นส่วนเฉพาะ แยกกันต่างหากกับส่วนที่จ่ายไฟฟ้าไปตามบ้านเรือน เป็นมิเตอร์ขนาดใหญ่ติดตั้งไว้ในห้องที่โรงไฟฟ้า ใส่แม่กุญแจ 2 ดอก รัฐบาลกับบริษัทแยกกันเก็บลูกกุญแจคนละชุดกัน โดยสามารถเห็นตัวเลขได้ชัดเจนจากภายนอกห้อง บริษัทจะต้องจดบันทึกเลขมิเตอร์และเวลาขณะเปิดและปิดไฟฟ้าแล้วส่งให้รัฐบาลก่อนเวลา 9.00 น. ของวันใหม่ทุกวัน

พฤศจิกายน พ.ศ. 2441 มิสเตอร์ เบนเน็ต ผู้จัดการบริษัท ไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัดได้ทำข้อตกลงหรือสัญญาว่าจะขายสัมปทานกิจการไฟฟ้าให้แก่ชาวเดนมาร์ก ซึ่งต่อมาชาวเดนมาร์กนี้ได้ก่อตั้งบริษัทขึ้นที่กรุงโคเปนเฮเก็นประเทศเดนมาร์กใช้ชื่อว่าบริษัท สยามอิเล็กตริซิตี จำกัดมีมิสเตอร์ เวสเต็นโฮลช์เป็นผู้จัดการ ซึ่งต่อมาไม่นานมิสเตอร์เบนเน็ตก็ได้มีการขายสัมปทานนี้ไป

1 มกราคม พ.ศ. 2441 บริษัท สยามอิเล็กตริซิตี จำกัด (Siam Electricity Co.,Ltd) ได้ทำบันทึกข้อตกลงและข้อสัญญากับรัฐบาลไทย บริษัทนี้ถูกเรียกเป็นภาษาไทยอยู่อีกชื่อหนึ่งว่าบริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด

พ.ศ. 2444 รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จประพาสประเทศสิงคโปร์ ทรงมีพระราชดำริจะต้องพระราชประสงค์ข้อมูลเกี่ยวกับกิจการไฟฟ้าที่รัฐบาลของประเทศสิงคโปร์ได้ดำเนินการอยู่ ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ส่งข้อมูลนั้นมาให้ผู้บัญชาการกรมศุขาภิบาลคิดเปรียบเทียบกับไฟฟ้าที่ใช้อยู่ในกรุงเทพฯ ว่าจะถูกจะแพงกว่ากันอย่างไรบ้าง (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร -5 รล/2 ร.ล1/36)

22 สิงหาคม พ.ศ. 2448 รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชหัตถเลขาไปยังผู้บัญชาการกรมศุขาภิบาล ให้ไปจัดการว่ากล่าวกับบริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัดให้คิดป้องกันแก้ไขอย่าให้เถ้าแกลบจากปล่องควันโรงไฟฟ้าที่วัดราชบุรณะ (วัดเลียบ) ปลิวตกในที่ทั้งปวงเป็นการเดือดร้อนแก่พระสงฆ์สามเณรและราษฎรเป็นอันมาก เมื่อบริษัทจะคิดแก้ไขด้วยประการใด ให้เอ็นจิเนียของกรมศุขาภิบาลเป็นผู้ตรวจจนเป็นที่พอใจว่าจะแก้ไขได้จริงถึงให้ลงมือทำ หรือมิฉะนั้นให้เอ็นจิเนียของกรมศุขาภิบาลเป็นผู้คิดให้บริษัททำตาม (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร น 37/7)

10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448 มิสเตอร์แอฟโลตล์ซึ่งเป็นผู้แทนห้างบิกริมแอนโก้ ได้ทูลเกล้าฯ ถวายโคมไฟแด่รัชกาลที่ 5 เพื่อจะได้ทรงทอดพระเนตร ทรงพระราชประสงค์ให้ทำการทดลองแขวนโคมนี้ในสวนที่ทรงใช้เป็นสถานที่เสวยพระกระยาหาร เป็นโคมไฟใช้หลอดอาร์คไลท์รุ่นใหม่ขนาด 160 วัตต์ ให้แสงสีนวล สว่างและประหยัดพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร.5 ต/15)


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 16 ส.ค. 16, 07:50
อยากรู้จังเลยครับว่าใคร คนไหน ของชาวสยาม ที่ถูกไฟฟ้าดูดตายเป็นรายแรก


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 17 ส.ค. 16, 09:00
ช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2450 โรงไฟฟ้าได้ประสบกับภาวะขาดฟืนทำให้ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตามปกติ ได้มีการเปลี่ยนแปลงการจ่ายไฟฟ้าโดยหยุดการจ่ายไฟฟ้ากระแสสลับในเวลากลางวันตลอดทุกสาย (ยกเว้นไฟฟ้ากระแสตรงสำหรับรถราง) กำหนดจ่ายให้ส่วนราชการในช่วงเวลา 17.15 น. ถึง 23.30 น. ส่วนบุคคลทั่วไปจ่ายในช่วงเวลา 17.15 น. ถึงตีหนึ่งครึ่ง หากจ่ายน้อยกว่านี้โรงไฟฟ้าจะต้องเสียค่าปรับให้รัฐบาลวันละ 20 บาท

16 พฤษภาคม พ.ศ. 2452 กรมเจ้าท่าได้ออกประกาศกฎเกณฑ์ให้ผู้ใช้เรือทราบ ว่าได้มีการวางสายไฟฟ้าข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองสมเด็จและกรมไปรษณีย์ ห้ามไม่ให้ทอดสมอเรือชนิดใดๆ หรือเกาสมอเรือเป็นอันขาดจากสายไฟฟ้าในระยะ 100 หลา โดยมีป้ายวงกลมสีขาวขนาดใหญ่แจ้งบอกตำแหน่งแนวสายไฟฟ้าไว้ที่ชายฝั่งทั้งสองข้าง



กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 ส.ค. 16, 09:21
เคยเห็นป้ายบอก cable ที่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระพุทธยอดฟ้า


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 17 ส.ค. 16, 09:48
ป้ายวงกลมนี้แหละครับ ด้านบนเห็นยอดพระปรางค์วัดราชบุรณะ (วัดเลียบ) ปัจจุบันยังมีพระปรางค์อยู่ มุมบนซ้ายคือกลุ่มควันโรงไฟฟ้าวัดเลียบ กรมไปรษณีย์ตั้งอยู่บริเวณนี้หรือเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า เพียงแต่สะพานสร้างภายหลังคือในปี พ.ศ. 2472


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 18 ส.ค. 16, 15:51
อ้างถึง
กำหนดจ่ายให้ส่วนราชการในช่วงเวลา 17.15 น. ถึง 23.30 น.
ยุคนั้น (พ.ศ. 2450) ราชการทำงานกันเวลาไหนครับ คือ ช่วงกลางวัน ไม่มีไฟฟ้า ผมก็เข้าใจว่า เป็นเพราะสมัยนั้น อุปกรณ์สำนักงานไม่ต้องใช้ไฟฟ้า ยามกลางวันไม่มีไฟฟ้าก็สามารถทำงานได้ แต่เหตุใดจึงต้องจ่ายไฟถึง 23.30 ด้วยหละครับ



กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 18 ส.ค. 16, 16:03
ถ้าอ้างถึงตำนานจำปาศักดิ์ในการใช้แว่นแก้วรวมแสงอาทิตย์มาจุดเป็นไฟแล้ว ก็จะขอเพิ่มข้อมูลให้ว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เคยทรง "จุดไฟฟ้า" คือไฟจากฟ้า ในการจุดเทียนหลวง


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 18 ส.ค. 16, 19:05
ขอบคุณครับคุณ Naris ในภาวะปกติที่โรงไฟฟ้าไม่ขาดฟืนจะใช้ไฟฟ้าแสงสว่างถึงเช้าตรู่ หลอดไฟฟ้าใช้ให้แสงสว่างแทนตะเกียง คบ ไต้และเทียนเพื่อความสะดวกปลอดภัยและป้องกันขโมย ส่วนราชการนั้นรวมถึงโคมไฟฟ้าตามถนนหลวงทั้งในและนอกกำแพงพระนคร หน่วยงานราชการ พระบรมมหาราชวัง พระราชฐานต่างๆ ซึ่งพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทได้ใช้เป็นสถานที่สำหรับประชุมเสนาบดีสภาเพื่อใช้บริหารราชการแผ่นดินที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นประธานในที่ประชุมอยู่เป็นประจำ ปกติเริ่มประชุมเวลา 19.00 น. และวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2438 ใกล้เวลา 19.00 น. รัชกาลที่ 5 เสด็จขึ้นทรงรถรางไฟฟ้า ณ ข้างกระทรวงยุทธนาธิการ แล่นตรงจนสุดทางที่บางคอแหลม เสด็จพระราชดำเนิน แล้วเสด็จทรงรถรางไฟฟ้าแล่นกลับมาถึงพระบรมมหาราชวังเวลา 3 ทุ่มเศษ ส่วนราชการด้านการสื่อสารเช่นโทรเลขโทรศัพท์ ไม่ทราบว่ามีคนอยู่เวรปฏิบัติงานเวลากลางคืนหรือไม่ ต้องรับโทรเลขจากต่างประเทศในเวลากลางคืนหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ตามรั๊วกำแพงต้องมีหลอดไฟฟ้า


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 19 ส.ค. 16, 09:12
ขอบคุณครับ
ข้าราชการสมัยนั้น ทำงานกันตอนค่ำไปจนถึงดึกนี่เอง


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 29 ส.ค. 16, 20:12
รูปนี้เกี่ยวข้องอะไรกับไฟฟ้า


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: kui045 ที่ 30 ส.ค. 16, 09:19
รูปนี้เกี่ยวข้องอะไรกับไฟฟ้า

นางมณีเมขลา ล่อแก้ว
ให้ยักษ์รามสูร ขว้าง ขวานฟ้า หรือเปล่า
นิยายปรัมปรา ว่าด้วยเรื่องการเกิดฟ้าร้อง ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า

หรือเปล่า


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 30 ส.ค. 16, 11:18
รุ่นผม ต้องภาพนี้ครับ
(http://p3.s1sf.com/ga/0/ud/190/951824/01.jpg)
 ;D ;D ;D


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 03 ก.ย. 16, 14:54
รูปนี้เกี่ยวข้องอะไรกับไฟฟ้า

นางมณีเมขลา ล่อแก้ว
ให้ยักษ์รามสูร ขว้าง ขวานฟ้า หรือเปล่า
นิยายปรัมปรา ว่าด้วยเรื่องการเกิดฟ้าร้อง ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า

หรือเปล่า

ถูกต้องครับ ซึ่งในปี พ.ศ. 2410 เจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุญนาค) ได้เขียนและลงบทความเรื่องการเกิดปรากฎการณ์ตามธรรมชาติต่างๆ เช่น ฟ้าร้อง ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า โดยใช้หลักเหตุผลทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่มาอธิบายเปรียบเทียบ ซึ่งเป็นการปะทะกับความรู้ความเชื่อแต่เดิมของคนไทยในเรื่องนางมณีเมขลาและยักษ์รามสูร มีใจความตอนหนึ่งว่า “ถามว่า ในท้องฟ้าบางทีก็มีเสียงดัง...ตำราไทยเขาว่านางมะณีเมขลาฬ่อแก้ว ยักษ์รามสูรเอาขวานขว้างไปจึ่งมีเสียงดัง และมีขวานฟ้าผ่าตกลงมามีรัศมีปลาบคือแสงแก้วนางมะณีเมขลา...ที่ว่าดังนั้นก็เห็นไม่มีพยานด้วยกันทั้งนั้น...ที่เรียกว่าฟ้าผ่าคือฟ้าต่ำลงมา...ทางแร่เดินที่ใดมาก ที่นั้นมักถูกไฟฟ้าเพราะแร่นั้นเกิดด้วยฤทธิ์ไฟมีธาตุไฟอยู่ในแร่มาก ไฟนั้นจึ่งขึ้นรับไฟฟ้า...ก็ที่ฟ้าร้องฟ้าแลบมีเสียงดังแล้วไม่ผ่าลงมา เห็นว่ายังไกลแผ่นดินอยู่ ฤทธิ์ไฟที่แผ่นดินจะขึ้นไปรับไม่ถึง ที่ฟ้าแลบมากสองแห่งสามแห่ง ก็เพราะไฟฟ้ามากบ้างน้อยบ้างไม่เสมอกัน...ที่เรียกว่าฟ้าผ่าคือไฟนั้นต่ำลงมา ธาตุไฟที่มีอยู่ในแผ่นดินทุกสิ่งก็ขึ้นรับไฟฟ้าลงมา.........ถ้าจะแก้คนถูกไฟฟ้าสลบไปเหมือนหนึ่งตายแล้วก็ดี บางทีก็รักษารอดได้บ้าง จะรักษานั้นให้คนผู้ต้องสายฟ้านั้นให้นอนอยู่ที่กลางแจ้ง เมื่อนอนนั้นยกศรีษะและไหล่ทั้งสองขึ้นวางบนหมอนให้สูงหน่อยหนึ่ง แล้วให้เอาน้ำที่เย็นใสรดให้สูงบ้างพ่นบ้าง ตั้งแต่ศรีษะลงไปให้ทั่วทั้งกายแล้วถ้าคนไข้สะดุ้งขึ้นมา ก็พึงเข้าใจเถิดว่าฟื้นแล้ว....”

ขอถามต่ออีกหน่อย ว่ารูปนางมณีเมขลาเกี่ยวข้องอย่างไรกับบริษัทรถรางไทยทุนจำกัด (รถรางไฟฟ้าของคนไทยล้วนๆ) ที่มีโรงไฟฟ้าอยู่ที่วัดเทวราชกุญชรแถวเทเวศน์ ไม่ใช่บริษัทบางกอกแตรมเวจำกัดของพวกฝรั่งชาวต่างชาติที่มีโรงไฟฟ้าอยู่ที่เชิงสะพานเหล็กนะครับ

ไม่เห็นมีคนพูดถึงประเด็น ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อนปี พ.ศ. 2427 หลายปี กันบ้างเลย  ???  :-X :'(


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 03 ก.ย. 16, 15:30
อยากรู้จังเลยครับว่าใคร คนไหน ของชาวสยาม ที่ถูกไฟฟ้าดูดตายเป็นรายแรก

ช่วงที่ได้ค้นคว้าที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ มีพบบ้างว่าไฟฟ้าดูดคนตาย แต่เป็นการตายที่ไม่ปกติ กล่าวคือเป็นการตายจากการเกิดข้อสงสัยของชาวบ้าน ว่ารถรางไฟฟ้าแล่นได้อย่างไร เช่นในช่วงแรกๆ ผู้คนไม่รู้ว่าสายลวดหรือสายไฟฟ้าเปลือยไม่มีฉนวนหุ้มที่อยู่สูงขึ้นไปจากบนหลังคารถรางตลอดเส้นทางที่รถแล่นนั้นมีไฟฟ้าหรือจับแตะต้องแล้วทำให้ตายได้ อย่างไรก็ตามพิสูจน์ได้ยากมากหรือยืนยันไม่ได้ ว่าคนที่ถูกไฟฟ้าดูดตายเป็นรายแรกนั้นคือใคร ยกตัวอย่างเช่นอาจมีการสร้างโรงไฟฟ้าโรงแรก เมื่อทดลองเดินเครื่องทำให้คนงานในโรงไฟฟ้าถูกไฟฟ้าดูดตายเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แล้วมีการปกปิดข่าวก็เป็นไปได้


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 04 ก.ย. 16, 11:49
อยากรู้จังเลยครับว่าใคร คนไหน ของชาวสยาม ที่ถูกไฟฟ้าดูดตายเป็นรายแรก

ช่วงที่ได้ค้นคว้าที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ มีพบบ้างว่าไฟฟ้าดูดคนตาย แต่เป็นการตายที่ไม่ปกติ กล่าวคือเป็นการตายจากการเกิดข้อสงสัยของชาวบ้าน ว่ารถรางไฟฟ้าแล่นได้อย่างไร เช่นในช่วงแรกๆ ผู้คนไม่รู้ว่าสายลวดหรือสายไฟฟ้าเปลือยไม่มีฉนวนหุ้มที่อยู่สูงขึ้นไปจากบนหลังคารถรางตลอดเส้นทางที่รถแล่นนั้นมีไฟฟ้าหรือจับแตะต้องแล้วทำให้ตายได้ อย่างไรก็ตามพิสูจน์ได้ยากมากหรือยืนยันไม่ได้ ว่าคนที่ถูกไฟฟ้าดูดตายเป็นรายแรกนั้นคือใคร ยกตัวอย่างเช่นอาจมีการสร้างโรงไฟฟ้าโรงแรก เมื่อทดลองเดินเครื่องทำให้คนงานในโรงไฟฟ้าถูกไฟฟ้าดูดตายเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แล้วมีการปกปิดข่าวก็เป็นไปได้

ชาวสยามนี้่ซนจริงๆ สนใจใคร่รู้ไปถึง ลวดบนรถราง  :-\


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 04 ก.ย. 16, 12:36
แรงดันไฟฟ้าขนาด 800 โวลท์ กระแสไฟฟ้า 1600 แอมป์ สำหรับใช้ขับเคลื่อนรถรางให้แล่นได้ ถ้าถูกดูดแล้วไม่ตายนี่ก็ยกให้เป็นยอดมนุษย์หละ


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 04 ก.ย. 16, 12:38
เคยเห็นป้ายบอก cable ที่แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระพุทธยอดฟ้า

สายไฟฟ้าแรงสูงจากโรงไฟฟ้าวัดเลียบวางทอดมากับก้นแม่น้ำ จ่ายไฟไฟ้าให้กับฝั่งจังหวัดธนบุรี ช่วยกับโรงไฟฟ้าเครื่องยนต์ดีเซลที่อยู่เชิงสะพานเนาวจำเนียร ริมคลองบางกอกใหญ่ ใกล้สามแยกบางยี่เรือ

จะมีป้ายอีกป้ายหนึ่งที่เขียนว่า "ห้ามเกาสมอ" ทั้งสองฝั่งแม่น้ำ ทำไมถึงห้ามเกา ?


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 04 ก.ย. 16, 14:09
ตั่วรถราง รับรองขึ้นแล้วไฟไม่ดูด

Cr. จากเวปสะสม


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 04 ก.ย. 16, 16:35
ตั๋วโดยสารของบริษัทรถรางไทยทุนจำกัดนี้มีในช่วงปลายรัชสมัย ซึ่งรัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินทรงกระทำสิทธิ์กรรมและเปิดทางรถรางในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2448 อย่างไรก็ตามตั๋วนี้แสดงให้เห็นว่าเคยมีคนขึ้นรถรางแล้วถูกไฟดูด ทำให้ผู้คนเกิดความกลัวไม่กล้าขึ้นรถรางไฟฟ้า ซึ่งบริษัทได้ปรับปรุงแก้ไขจนรับว่าปลอดภัยแล้ว (รถรางไฟฟ้าช่วงแรกๆ ซึ่งเป็นของบริษัทบางกอกแตรมเวจำกัดก็มีคนไม่กล้าขึ้นโดยสาร บริษัทได้ให้ทดลองโดยสารฟรี ไม่มีตั๋ว)


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 05 ก.ย. 16, 09:20
เกาสมอ คือการลากสมอให้ครูดไปกับพื้นท้องน้ำครับ ซึ่งหากบริเวณนั้นมีสายไฟฟ้าอยู่ การเกาสมออาจทำให้สายไฟฟ้าเสียหายได้


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 05 ก.ย. 16, 09:47
เครื่องโทรเลข ในวังกรมหมื่นอลงกฏกิจปรีชา ในพ.ศ. 2408


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 06 ก.ย. 16, 22:05
รถรางไฟฟ้าหรือรถไอมีหลักการทำงานคือ การขับเคลื่อนเป็นระบบไฟฟ้ากระแสตรง ล้อเหล็กที่สัมผัสกับรางเป็นขั้วลบต่อถึงกันกับมอเตอร์ไฟฟ้า มีตะขอหรือลูกรอกเกี่ยวสายไฟเปลือยที่อยู่เหนือบนหลังคารถประมาณ 2 ศอก ตลอดเส้นทางซึ่งเป็นขั้วบวก ในตัวรถมีมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรงซึ่งต่อเป็นวงจรอนุกรม (เรียงกัน) กับรีโอสตัท (Rheostat) หรือตัวบังคับกำลังไฟฟ้า คือเป็นตัวต้านทานขนาดใหญ่ปรับค่าได้อยู่ใต้ท้องรถ เป็นการควบคุมให้มีแรงดันไฟฟ้าตกคร่อมที่มอเตอร์ไฟฟ้าตามต้องการ ทำให้การหยุดและออกตัวรถเป็นไปด้วยความนุ่มนวล ไม่ให้รถเคลื่อนออกตัวเต็มกำลังหรือออกตัวแบบกระชาก เพื่อป้องกันอันตรายแก่ผู้โดยสารและไม่เกิดความเสียหายแก่สิ่งของสัมภาระที่บรรทุกอยู่บนรถราง ในกรณีที่รถรางไฟฟ้าหยุดหรือเริ่มจะออกวิ่งจะมีแรงดันหรือพลังงานไฟฟ้าที่ตัวรีโอสตัทนี้สูงมาก เมื่อคนขับค่อยๆ ปรับที่บังคับเพื่อลดค่าความต้านทานของรีโอสตัท ก็จะมีแรงดันไฟฟ้าตกคร่อมมอเตอร์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การปรับค่าความต้านทานของรีโอสตัทนี้เป็นการเลื่อนของหน้าสัมผัสที่มีกระแสไฟฟ้าสูงไหลผ่านจึงเกิดความร้อนมีควันหรือไอออกมาทางหน้ารถ ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “รถไอ”



กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 11 ก.ย. 16, 10:54
ตราสัญลักษณ์บริษัท บางกอกแตรมเว จำกัด (รถรางไฟฟ้า)


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 11 ก.ย. 16, 11:22
วันเปิดรถรางไฟฟ้าในกรุงเทพ

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5686.0;attach=41021;image)


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 11 ก.ย. 16, 11:40
ตราสัญลักษณ์บริษัท รถรางไทย ทุนจำกัด (มีนางมะณี เมขลา ฬ่่อแก้ว)
รถรางไฟฟ้าของบริษัท บางกอกแตรมเวจำกัดเริ่มสร้างปี พ.ศ.2434 (ของฝรั่ง)
รถรางไฟฟ้าของบริษัท รถรางไทย ทุนจำกัดสร้างเสร็จในปี พ.ศ.2448 (ของคนไทย)
ฝากพิจารณาประเด็น "ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ.2427 หลายปี" ด้วยครับ
ต่อไป จะพยายามส่งแผนที่โรงไฟฟ้าของทั้งสองบริษัท เชิงสพานเหล็ก และ วัดเทวราชกุญชร คอยหน่อยครับ


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 ก.ย. 16, 15:33
ภาพการเดินพาเหรดเนื่องในพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก รัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๕๑ ในส่วนงานกิจการวางสายโทรเลข เห็นป้ายห้ามถะ และถอนสมอ


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 12 ก.ย. 16, 15:52
มีเก่ากว่านี้ไหมล่ะครับ

แฮริสถวายสิ่งของแด่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (เชื่อว่าบรรดาพวกทูตที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี ควรทำการบ้านมาก่อนว่าจะมาพบกับใคร สนใจอะไรเพื่อประโยชน์ทางการทูต ศึกษามาเป็นอย่างดีแล้ว)

ท่านเห็นว่าพระองค์ท่านสนใจเครื่องมือแปลก ๆ ดังนั้นท่านทูตแฮริส จึงนำ "เครื่องใช้ไฟฟ้า" เข้ามาลองอ่านดูละกันว่าคืออะไร

- เครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่ล่าสุด มีพลังมาก มีแผ่นกระจกหนา 30 นิ้ว ปั่นด้วยลูกยาง 4 ลูก สื่อไฟทองเหลืองรองรับก้านแก้ว 4 ก้าน
- ขวดเลย์เดน เมื่อได้รับไฟฟ้าจะสว่าง
- โลหะปล่อยกระแสไฟฟ้า
- ระฆังไฟฟ้า สั่นได้ด้วยไฟฟ้า มีเสียง 5 ใบ
- ม้านั่งฉนวน เป็นไม้ขัดเงา ถ้าคนนั่งแล้วจะรับประจุกกระแสไฟให้เส้นผมตั้งตรง
- มิเตอร์วัดความแรงไฟ
- กระบอกแล้วบรรจุลูกกลม ทำจากแกนไม้ และลอยได้ด้วยอิทธิพลไฟฟ้า
- บ้านสายฟ้า แสดงผลฟ้าผ่าลงบ้าน
- ชายผมยาว แสดงให้เห็นว่าไฟฟ้าทำให้ผมลุก
- หุ่นจำลองโรงเลื่อยไฟฟ้า
- บ้านติดไฟฟ้า เพื่อแสดงไฟไหม้บ้าน
- นักกีฬาไฟฟ้า มีขนนกหลายอัน กระแสไฟฟ้าทำให้ขนขนปลิว
- ขนนกระจาย ผูกกับทองเหลือง
- เครื่องใช้ไฟฟ้า แสดงตำแหน่งในระบบสุริยะ หมุนได้ เปล่งแสงออกมาได้
- ที่วางไข่ไฟฟ้า ทำให้ไข่มีแสง
- เครืองบดไฟฟ้า ด้วยระเบิดไฮโดรเจน เสียงดังมาก
- ภาพมหัศจรรย์สำหรับคนกระตุกด้วยไฟฟ้า
- คนขี่ม้า 6 คน ขี่ไล่ด้วยอำนาจไฟฟ้า
- การทดสอบสายตา การกลืนกันของสีและแสง

จะเห็นว่าของเล่นไฟฟ้ามีมากมาย (ลุงไก่คงเหนื่อยแรงในการค้นหาเครื่องมือเหล่านี้  ;D)


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 ก.ย. 16, 16:29
อ่า ขอบคุณคุณม้า เคยโพสไว้ลืมไปนาน  แฮริสเข้ามาสยาม เมื่อพุทธศักราช 2399


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 12 ก.ย. 16, 23:01
ขอบคุณมากครับ นอกจากหนังสือ Seditious histories: contesting Thai and Southeast Asian pasts โดย Craig J. Reynolds แล้วยังมีแหล่งอ้างอิงอื่นอีกไหม จะหาว่าอุปกรณ์ใดเป็นแหล่งจ่ายพลังงานไฟฟ้ากันแน่ มีกำลังไฟฟ้าและระดับแรงดันไฟฟ้าเหมาะสมที่จะจ่ายให้แก่ของเล่นหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆได้ทั้งหมดเลยหรือ เขาทำได้อย่างไรน่าสนใจมาก มีการสาธิตหรือไม่ อีกประเด็นหนึ่งคือการนำวิทยาการด้านไฟฟ้าเข้ามาในสยามเกี่ยวข้องกับการคาดหวังให้มีการยอมรับการเดินสายโทรเลขมาจากต่างประเทศหรือไม่ เท่าที่ทราบมีความพยายามกันหลายครั้ง สังเกตจากอเมริกาและช่วงเวลา ผมก็คิดไปเรื่อยเปื่อย  ???


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 13 ก.ย. 16, 00:07
แผนที่โรงไฟฟ้าสำหรับรถรางไฟฟ้า (โรงเครื่องรถไอ) ของบริษัท บางกอกแตรมเว จำกัด
ปัจจุบันสถานที่ตรงนั้นเป็นอย่างไรหนอ? (สะพานเหล็ก)


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ก.ย. 16, 07:54
แผนที่โรงไฟฟ้าสำหรับรถรางไฟฟ้า (โรงเครื่องรถไอ) ของบริษัท บางกอกแตรมเว จำกัด
ปัจจุบันสถานที่ตรงนั้นเป็นอย่างไรหนอ? (สะพานเหล็ก)

สะพานเหล็กในที่นี้คือสะพานเหล็กล่าง ปัจจุบันคือสะพานทิพยเสถียร ซึ่งขอรับพระราชทานที่ดินบริเวณชานป้อมรอบกรุง


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 13 ก.ย. 16, 09:14
แนวทางรถรางไฟฟ้า เห็นสะพานเหล็ก
ใช้เทียบเคียงกับแผนที่


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 13 ก.ย. 16, 09:52
แนวทางรถรางไฟฟ้า เห็นสะพานเหล็ก
ใช้เทียบเคียงกับแผนที่

สะพานตามในภาพเป็นสะพานเหล็กโค้งข้ามคลองบางลุำพู ถนนจักรพงษ์ ต่อมารื้อลงและก่อสร้างเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กในรัชกาลที่ ๖ คือ สะพานนรรัตนสถานในปัจจุบัน
สี่แยกในภาพคือถนนพระสุเมรุตัดกับถนนจักรพงษ์ครับ
สะพานเหล็กล่าง (สะพานพิทยเสถียร) จะเป็นสะพานแบบยกเปิดได้ ส่วนสะพานเหล็กบน (สะพานดำรงสถิตย์) และสะพานหัน จะเป็นสะพานแบบเลื่อนเปิดได้ในแนวราบ


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ก.ย. 16, 09:54
แนวทางรถรางไฟฟ้า เห็นสะพานเหล็ก
ใช้เทียบเคียงกับแผนที่

นี่สะพานเหล็กคนละที่ครับ สะพานเหล็กโค้งในภาพเป็นสะพานเหล็กข้ามคลองรอบกรุงด้านเหนือ (สะพานนรรัตน์) ตรงบางลำพูครับผม


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 13 ก.ย. 16, 09:54
แผนที่โรงไฟฟ้าสำหรับรถรางไฟฟ้า (โรงเครื่องรถไอ) ของบริษัท บางกอกแตรมเว จำกัด
ปัจจุบันสถานที่ตรงนั้นเป็นอย่างไรหนอ? (สะพานเหล็ก)

ลองเปรียบเทียบกับสภาพในปัจจุบัน


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 13 ก.ย. 16, 10:20
ขอบคุณครับ แสดงว่าผมเข้าใจผิด ช่วยเสริมให้หน่อยครับว่า สะพานแบบยกเปิดและแบบเลื่อนเปิดมีไว้ใช้ประโยชน์อะไร ภาพสะพานเหล็กใกล้โรงไฟฟ้าเป็นอย่างไรครับ


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ก.ย. 16, 11:04
ขอบคุณครับ แสดงว่าผมเข้าใจผิด ช่วยเสริมให้หน่อยครับว่า สะพานแบบยกเปิดและแบบเลื่อนเปิดมีไว้ใช้ประโยชน์อะไร ภาพสะพานเหล็กใกล้โรงไฟฟ้าเป็นอย่างไรครับ

เอาตรงสะพานเหล็กตรงสะพานทิพยเสถียรพอนะครับ เดิมเป็นสะพานไม้ครั้นมีวาระสำคัญแห่งการฉลองต่างๆ รัชกาลที่ 5 ก็ทรงเรี่ยไรทำบุญให้เจ้านายต่างๆร่วมกันลงขันกันซ่อมหรือใช้เงินจากกรมโยธาสร้างสะพาน เคยอ่านเจอว่าเสาไม้ของสะพานทิพยเสถียรถูกเพรียงเจาะพรุนไปหมด เลยต้องซ่อมสะพานแบบใหม่เป้นพื้นเหล็ก แต่ที่จะให้ยกได้คงไว้สำหรับเรือบรรทุกฟืนและเรือมีหลังคาที่ผ่านเข้ามาในคลองนี้ ซึ่งฝรั่งตรงข้ามโรงเก็บรถรางจะเป็นบริเวณที่ทำน้ำแข็ง น้ำโซดา กลุ่มของนายเลิด ครับ


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 13 ก.ย. 16, 11:59
สะพานสุประดิษฐ์ สะพานเหล็กโค้งข้ามคลองผดุงกรุงเกษม ที่ตำบลหัวลำโพง ก่อนจะรื้อถอนและสร้างเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กแทน คือ สะพานเจริญสวัสดิ์ ๓๖



กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 13 ก.ย. 16, 13:21
แนบภาพสะพานเหล็กล่าง (สะพานทิพยเสถียร) เบื้องหลังเป็นโรงรถราง และป้ายอักษร Bangkok Tramways Company Limited


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 13 ก.ย. 16, 21:48
สะพานเหล็กที่กล่าวถึงในหนังสือฉบับข้างล่างนี้หมายถึงสะพานเหล็กล่างตามรูปภาพข้างบนนี้ซึ่งมีปล่องควันใช่ไหมครับ หนังสือนี้หมายถึงบริษัทบางกอกแตรมเวจำกัดจะดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 70 แรงม้าสำหรับรถรางไฟฟ้าใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงขนส่งทางเรือครับ ส่วนโรงเก็บรถรางถ้าจำไม่ผิดอยู่สถานที่อื่นมีคำว่า "แม้นศรี" อะไรประมาณนี้ ขอเวลาค้นเอกสารรูปภาพหน่อยครับ จำได้ว่ามีเก็บไว้


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 ก.ย. 16, 07:35
แผนผังบริเวณชานป้อมปิดปัจนึกท้ายตลาดน้อย เชิงสะพานทิพยเสถียรหรือสะพานเหล็กล่างนั้นเป็นที่วางสถานีรถรางไฟฟ้าอยู่ริมคลองเพื่อสะดวกในการตั้งเครื่องจักรไอน้ำผลิตไฟฟ้า ส่วนตัวสำนักงาน (Office) ตั้งอยู่อีกมุมหนึ่งของตัวป้อม


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 14 ก.ย. 16, 22:08
แผนที่แสดงสถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าสำหรับรถรางไฟฟ้าของบริษัท รถรางไทย ทุนจำกัดในเขตวัดเทวราชกุญชร (กรอบเส้นประสีแดง) โรงไฟฟ้าสมัยนั้นมักอยู่ใกล้คลองหรือแม่น้ำเพราะใช้ขนแกลบและใช้น้ำสำหรับเครื่องจักรไอน้ำ โรงไฟฟ้าเป็นระบบผลิตไฟฟ้ากระแสตรงเพราะง่ายต่อการควบคุมความเร็วรอบของมอเตอร์ในรถรางโดยการใช้ Rheostat (โรงไฟฟ้าของบริษัทไฟฟ้าสยามจำกัดที่จ่ายให้แก่หลอดไฟเป็นระบบผลิตไฟฟ้ากระแสสลับ)


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 16 ก.ย. 16, 09:44
ภาพอาคารโรงไฟฟ้า แถวประตูสามยอด


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 16 ก.ย. 16, 21:45
ภาพอาคารโรงไฟฟ้า แถวประตูสามยอด
มีภาพตึกหลังนี้อีกมุมหนึ่งซึ่งคุณสมิทธ์ เกตุทัตได้กรุณาอ่านภาพไว้เมื่อ พ.ศ.2521 ว่า "ตึกหลังนี้ตั้งอยู่มุมถนนเจริญกรุง-ถนนมหาไชยเชิงสพานดำรงสถิต (สพานเหล็กบน) สามยอด สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๕ เป็นห้างบีกริมแอนด์โก โดยรวมเอาบริษัทสาขา The Bangkok Outfitting co. กับ The Pratoo Samijawt Store เข้าไว้เป็นห้างเดียวกัน ต่อมาเป็นตึกที่ทำการบริษัทไฟฟ้าสยาม คอร์เปอร์เรชั่น (Siam Electric Co.orporation) แล้วต่อมาเป็นตึกที่ทำการบริษัทไทยนิยมพานิช...สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๖ พร้อมกับตึกกรมการรักษาดินแดนปัจจุบัน...ได้รื้ออาคารหลังนี้ลงเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๓ เพื่อสร้างโรงแรมสูง ๗ ชั้นขึ้นแทน..."      โดยส่วนตัวเมื่อสังเกตจากภาพถ่ายและเอกสารที่พบเจอมา ผมเข้าใจว่าตึกหลังนี้ได้เป็นที่ทำการ (office) ของบริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัดก่อน แล้วต่อมาเปลี่ยนเป็นที่ทำการของ บริษัท ไฟฟ้าสยามคอปอเรชั่น จำกัดที่เกิดจากการรวมกันของบริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัดกับบริษัท รถรางไทย ทุนจำกัด และต่อมาก็ย้ายไปอยู่ตึกหลังใหม่ที่ว่ากันว่าเป็นตึกหลังแรกที่สร้างด้วยปูนซีเมนต์ที่ผลิดในประเทศไทย (ปูนซีเมนต์บางซื่อ) อยู่ที่โรงไฟฟ้าวัดเลียบซึ่งปัจจุบันยังคงมีอยู่ เป็นของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน) สำนักงานเขตวัดเลียบ


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 16 ก.ย. 16, 22:34
แผนที่แสดงสถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าสำหรับรถรางไฟฟ้าของบริษัท รถรางไทย ทุนจำกัดในเขตวัดเทวราชกุญชร (กรอบเส้นประสีแดง) โรงไฟฟ้าสมัยนั้นมักอยู่ใกล้คลองหรือแม่น้ำเพราะใช้ขนแกลบและใช้น้ำสำหรับเครื่องจักรไอน้ำ โรงไฟฟ้าเป็นระบบผลิตไฟฟ้ากระแสตรงเพราะง่ายต่อการควบคุมความเร็วรอบของมอเตอร์ในรถรางโดยการใช้ Rheostat (โรงไฟฟ้าของบริษัทไฟฟ้าสยามจำกัดที่จ่ายให้แก่หลอดไฟเป็นระบบผลิตไฟฟ้ากระแสสลับ)
ขอเสริมอีกหน่อยครับ เพราะอยากให้ชนรุ่นหลังได้เข้าใจว่าประวัติศาสตร์ไทยน่าสนใจจับต้องได้ สามารถใช้วิทยาการสมัยใหม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ได้ ไม่น่าเบื่อ เป็นอย่างนี้ครับ เนื่องจากรถรางไฟฟ้าต้องมีการควบคุมความเร็วของรถให้ช้าลง เช่นเวลาจอดหรือเวลาออกตัว เทคโนโลยีสมัยนั้นยังไม่สามารถควบคุมความเร็วรอบของมอเตอร์ในระบบไฟฟ้ากระแสสลับได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ เพราะการประสงค์ที่จะปรับความเร็วรอบของมอเตอร์ในวงจรไฟฟ้ากระแสสลับโดยใช้ตัว Rheostat (ตัวต้านทานไฟฟ้าขนาดใหญ่) เพื่อให้แรงดันไฟฟ้าตกคร่อมที่ตัวมอเตอร์ลดลงนั้นจะส่งผลให้แรงบิด (Torque) ของมอเตอร์ลดลง (T=V/f) รถรางไฟฟ้าในสมัยนั้นจึงต้องใช้กับระบบไฟฟ้ากระแสตรง แต่ถ้าเป็นสมัยนี้สบายมากครับโดยใช้อิเล็กทรอนิกส์ควบคุม เช่น PWM INVERTER


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 16 ก.ย. 16, 22:36
แผนที่แสดงสถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าสำหรับรถรางไฟฟ้าของบริษัท รถรางไทย ทุนจำกัดในเขตวัดเทวราชกุญชร (กรอบเส้นประสีแดง) โรงไฟฟ้าสมัยนั้นมักอยู่ใกล้คลองหรือแม่น้ำเพราะใช้ขนแกลบและใช้น้ำสำหรับเครื่องจักรไอน้ำ โรงไฟฟ้าเป็นระบบผลิตไฟฟ้ากระแสตรงเพราะง่ายต่อการควบคุมความเร็วรอบของมอเตอร์ในรถรางโดยการใช้ Rheostat (โรงไฟฟ้าของบริษัทไฟฟ้าสยามจำกัดที่จ่ายให้แก่หลอดไฟเป็นระบบผลิตไฟฟ้ากระแสสลับ)


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 ก.ย. 16, 07:50
แผนที่แสดงสถานที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าสำหรับรถรางไฟฟ้าของบริษัท รถรางไทย ทุนจำกัดในเขตวัดเทวราชกุญชร (กรอบเส้นประสีแดง) โรงไฟฟ้าสมัยนั้นมักอยู่ใกล้คลองหรือแม่น้ำเพราะใช้ขนแกลบและใช้น้ำสำหรับเครื่องจักรไอน้ำ โรงไฟฟ้าเป็นระบบผลิตไฟฟ้ากระแสตรงเพราะง่ายต่อการควบคุมความเร็วรอบของมอเตอร์ในรถรางโดยการใช้ Rheostat (โรงไฟฟ้าของบริษัทไฟฟ้าสยามจำกัดที่จ่ายให้แก่หลอดไฟเป็นระบบผลิตไฟฟ้ากระแสสลับ)
ขอเสริมอีกหน่อยครับ เพราะอยากให้ชนรุ่นหลังได้เข้าใจว่าประวัติศาสตร์ไทยน่าสนใจจับต้องได้ สามารถใช้วิทยาการสมัยใหม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ได้ ไม่น่าเบื่อ เป็นอย่างนี้ครับ เนื่องจากรถรางไฟฟ้าต้องมีการควบคุมความเร็วของรถให้ช้าลง เช่นเวลาจอดหรือเวลาออกตัว เทคโนโลยีสมัยนั้นยังไม่สามารถควบคุมความเร็วรอบของมอเตอร์ในระบบไฟฟ้ากระแสสลับได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ เพราะการประสงค์ที่จะปรับความเร็วรอบของมอเตอร์ในวงจรไฟฟ้ากระแสสลับโดยใช้ตัว Rheostat (ตัวต้านทานไฟฟ้าขนาดใหญ่) เพื่อให้แรงดันไฟฟ้าตกคร่อมที่ตัวมอเตอร์ลดลงนั้นจะส่งผลให้แรงบิด (Torque) ของมอเตอร์ลดลง (T=V/f) รถรางไฟฟ้าในสมัยนั้นจึงต้องใช้กับระบบไฟฟ้ากระแสตรง แต่ถ้าเป็นสมัยนี้สบายมากครับโดยใช้อิเล็กทรอนิกส์ควบคุม เช่น PWM INVERTER

พอจะทราบไหมว่าแต่ก่อนเราใช้ไฟขนาด 110 Volt ใช่หรือไม่


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 17 ก.ย. 16, 20:28
ต่อคำถามว่า "แต่ก่อนเราใช้ไฟขนาด 110 Volt ใช่หรือไม่" นึกว่าตอบง่าย เอาเข้าจริงๆ ตอบยากครับ

ไฟฟ้าเริ่มถูกนำมาใช้ประโยชน์ในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อเรื่อยมาในรัชกาลที่ 6 โดยเป็นการใช้งานในกรุงเทพฯ ในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 ได้มีการขยายการใช้ไฟฟ้าในต่างจังหวัดเป็นจำนวนมากเช่น เทศบาลต่างๆ โดยมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเป็นของตนเองเรียกกันว่า "ไฟฟ้าในชนบท" ซึ่งได้พบว่าไฟฟ้าที่จ่ายให้แก่บ้านเรือนทั่วไปนั้นมีแรงดันไฟฟ้า 110 โวลต์บ้าง 220 โวลต์บ้าง (ไม่รวมประเด็นจ่ายไฟฟ้าให้แก่โรงงานและรถรางไฟฟ้า) จึงขอให้ข้อมูลเฉพาะเกี่ยวกับไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ว่ามีแรงดันไฟฟ้ากี่โวลต์ อยู่ในช่วงเวลาใด ได้ดังนี้

-   ในหนังสือสัญญาอนุญาตการจุดไฟฟ้าและรถราง ที่ทำขึ้นระหว่างรัฐบาลกับบริษัทสยามอิเล็กตริซิตี้จำกัดเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2444 ระบุในหนังสือต่อท้ายสัญญาฉบับที่ 1 กำหนดให้มีแรงดันไฟฟ้าที่จ่ายถึงแห่งใดๆ เท่ากับ 100 โวลต์โดยแตกต่างจากนี้ได้ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ (หอจดหมายเหตุแห่งชาติ นร5น/149)

-   วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2548 บริษัทไฟฟ้าสยามจำกัดได้มีหนังสือถึงบริษัทในประเทศอังกฤษให้ช่วยออกแบบแก้ไขกรณีโรงไฟฟ้ามีเท่าแกลบปลิวไปทั่ว สร้างความเดือดร้อนแก่พระสงฆ์สามเณรในวัดเลียบเป็นอันมาก ซึ่งได้กำหนดว่าหากบริษัทที่อังกฤษจะใช้พัดลมในการแก้ไขติดตั้งในปล่องควันจะต้องใช้พัดลมที่ใช้กับระบบแรงดันไฟฟ้า 100 โวลต์ความถี่ 100 เฮิร์ต (หอจดหมายเหตุแห่งชาติ นร5น/724   น.49.5/64)

-   วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2453 เจ้าพระยาวิสูตรโกษา อรรคราชทูตสยาม ณ กรุงลอนดอนได้ส่งรายละเอียด (spec) ของเครื่องไฟฟ้ารักษาโรคที่ได้จัดซื้อมาใช้ในประเทศไทย ระบุใช้กับระบบไฟฟ้ากระแสสลับ 100 โวลต์ 100 เฮิร์ต (หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ม.ร. 5ต/2   ต1/61   หน้า185)

ได้พบว่าในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 บริษัทไฟฟ้าสยามจำกัดได้มีการผลิตไฟฟ้าที่ระดับแรงดันไฟฟ้า 110 โวลต์ 50 เฮิร์ต (จากนิตยสารข่าวช่างฉบับพิเศษ พ.ศ. 2475 ของสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย) ซึ่งไม่ทราบว่ามีการเปลี่ยนระบบไฟฟ้าจาก 100 โวลต์ 100 เฮิร์ต เป็น 110 โวลต์ 50 เฮิร์ตเมื่อใด

-   พ.ศ. 2502 การไฟฟ้านครหลวง (สถาปนาในปี พ.ศ. 2501) ได้เริ่มดำเนินการวางแผนงานในการเปลี่ยนระบบไฟฟ้าจากขนาด 110 โวลต์เป็น 220 โวลต์ (จากรายงานประจำปี พ.ศ. 2502 ของการไฟฟ้านครหลวง) ตามนโยบายหรือแผนงานของการพลังงานแห่งชาติ เนื่องจากการเพิ่มระดับแรงดันไฟฟ้าจะส่งผลให้กระแสไฟฟ้ามีค่าลดลงซึ่งสามารถลดค่าการสูญเสียในระบบสายส่งไฟฟ้าได้ สายไฟฟ้าจึงมีขนาดเล็กลงหรือเป็นการช่วยชะลอการเปลี่ยนสายไฟฟ้าให้ใหญ่ขึ้นจากการที่มีผู้ใช้กระแสไฟฟ้ากันมากขึ้น เป็นการประหยัดงบประมาณอย่างมาก




กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 25 ก.ย. 16, 13:35
ไฟฟ้าแสงสว่างไม่ได้ติดตั้งในประเทศไทยครั้งแรกในวันที่ 20 กันยนยน 2427
ไม่พบหลักฐานว่ารัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราชกระแสรับสั่งอยู่เสมอว่า "ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อ"


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 25 ก.ย. 16, 14:20
การที่บ้านเมืองไทยมีการเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ ดังนั้นไฟฟ้าที่ส่งมาตามสายไฟถูกแปลงเป็นรหัสเช่นโทรเลข ถูกแปลงเป็นเสียงเช่นโทรศัพท์ ถูกแปลงเป็นแสงสว่างเช่นหลอดไฟจึงไม่ใช่สิ่งแปลกอันใดในใต้ร่มพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 25 ก.ย. 16, 20:30
ระบบไฟฟ้าสื่อสาร (โทรเลข โทรศัพท์) ไฟฟ้าแสงสว่าง (หลอดไฟฟ้า) ไฟฟ้าการคมนาคม (รถราง) ล้วนต้องมีแหล่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าเช่นเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และสายไฟฟ้า โดยเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจะจ่ายให้แก่อุปกรณ์ไฟฟ้าโดยตรงหรือจะประจุไฟฟ้าเข้าแบตเตอรี่ก่อนก็แล้วแต่กรณี ซึ่งสามารถบอกปี พ.ศ.อย่างช้าได้ว่ามีสิ่งประดิษฐ์ทางไฟฟ้าเข้ามาอยู่ในไทยแล้วดังนี้ (ใช้ประโยชน์ได้จริงๆ)
1.    ไฟฟ้าสื่อสาร (โทรเลข) มีอย่างช้าในปี พ.ศ. 2408
2.    ไฟฟ้าสื่อสาร (โทรศัพท์) มีอย่างช้าในปี พ.ศ. 2421
3.   ไฟฟ้าแสงสว่าง (หลอดไฟฟ้า) มีอย่างช้าในปี พ.ศ. 2423
4.    ไฟฟ้าการคมนาคม (รถราง) มีอย่างช้าในปี พ.ศ. 2434 (เริ่มขอประทานพระอนุญาตก่อสร้าง)


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: MCMLII ที่ 04 ต.ค. 16, 16:48
รูปนี้เกี่ยวข้องอะไรกับไฟฟ้า

นางมณีเมขลา ล่อแก้ว
ให้ยักษ์รามสูร ขว้าง ขวานฟ้า หรือเปล่า
นิยายปรัมปรา ว่าด้วยเรื่องการเกิดฟ้าร้อง ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า

หรือเปล่า   ช่องสี่ บางขุนพรหมใช้เป็นโลโก้เปิดสถานีประจำวัน แก้วในมือนางเมฆขลาส่งสัญญาณคลื่นโทรภาพ ประกอบเพลงช่อบรเทศ



กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 13 ต.ค. 16, 16:58
17 เมษายน พ.ศ. 2453 พระยารัษฎานุประดิษฐ์ซึ่งมีอาการป่วยได้ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปประเทศสิงคโปร์ เพื่อติดต่อกับหมอกาลโลเวให้เข้ามาถวายการรักษาพระอาการประชวรของรัชกาลที่ 5 ด้วยเครื่องไฟฟ้ารักษาโรค ซึ่งพระยารัษฎานุประดิษฐ์ได้ให้หมอกาลโลเวทำการรักษาตนเองดูก่อน มีความรู้สึกสบายดีขึ้นมาก จึงให้หมอเป็นธุระจัดซื้อเครื่องไฟฟ้ารักษาโรคนี้จากยุโรป แต่ต่อมาได้มีเปลี่ยนแปลงโดยมีการเสาะหาเครื่องรุ่นใหม่กว่าและดีกว่าในยุโรป

5 กรกฎาคม พ.ศ. 2453 พระยาวิสูตรโกษา อัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอนได้สั่งซื้อเครื่องไฟฟ้ารักษาโรคจากห้างชาลแอนสัน กำหนดส่งลงเรือ 7 สิงหาคม และได้ว่าจ้างผู้ชำนาญการในด้านไฟฟ้าเดินทางมาติดตั้ง พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษ์วโรประการทรงคาดการณ์ว่าจะมาถึงประมาณต้นเดือนตุลาคม แต่ได้เกิดเหตุขัดข้องเรื่องไม่มีเรือที่ผู้ชำนาญการจะเดินทางมาได้ ทำให้กำหนดถึงล่าช้าออกไปอีกประมาณ 2 เดือนคือวันที่ 1 ธันวาคม อย่างไรก็ตามพระองค์ทรงมีพระดำริว่าหากเครื่องไฟฟ้ารักษาโรคมาถึง จะให้พระยาทิพโกษาซึ่งเป็นโรคเหน็บชาและพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมืองซึ่งป่วยเป็นโรคปาราไลซ์ที่แก้มได้ใช้ทดลองรักษาดู ก่อนที่จะถวายการรักษารัชกาลที่ 5

23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จสวรรคต ก่อนที่เครื่องไฟฟ้ารักษาโรคจะมาถึงประเทศไทย


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 16 ต.ค. 16, 21:41
เครื่องไฟฟ้ารักษาโรคอย่างดีจากยุโรป 1 ชุด ราคา 122 ปอนด์ 10 ชิลลิง


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 16 ต.ค. 16, 21:45
เครื่องไฟฟ้ารักษาโรค เริ่มออกเดินทางจากกรุงลอนดอน วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2453 กำหนดถึงกรุงเทพฯ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2453


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 19 ต.ค. 16, 02:34
เมื่อครั้งที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์ซึ่งมีอาการป่วยเป็นโรครูมาติซัมได้เดินทางไปประเทศสิงคโปร์นั้น ได้ให้หมอกาลโลเวทำการรักษาตนเองด้วยเครื่องไฟฟ้ารักษาโรคดูก่อน ซึ่งวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2453 พระยารัษฎานุประดิษฐ์ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีใจความตอนหนึ่งว่า
   ... วันที่ ๑๔ เวลาเที่ยง ข้าพระพุทธเจ้าได้ไปให้หมอกาโลเวรักษาด้วยเครื่องไฟฟ้า วิธีใช้เครื่องรักษานั้นคือ
๑.   หมอให้ข้าพระพุทธเจ้าถอดเสื้อและถุงเท้าออกให้นั่งที่เก้าอี้ แต่เท้าเก้าอี้ทั้ง ๔ เท้ามีแก้วรองไม่ให้ถูกกับพื้นกระดาน
๒.   หมอเอากระดาษชุบน้ำห่อกับเครื่องติดที่สายไฟฟ้าให้คนถือเครื่องไฟฟ้านั้นกดลงที่ฝ่าเท้าเครื่องหนึ่ง กดที่กระดูกสันหลังเครื่องหนึ่งแล้วให้เครื่องเดิน เมื่อเครื่องเดินนั้นข้าพระพุทธเจ้าก็เฉยๆ ไม่รู้สึกว่ามีอะไร ประมาณสัก ๖ มินิตหมอจึงปลดเครื่องซึ่งกดไว้ที่สันหลังมาตั้งที่ฝ่ามือ ประมาณอีก ๕ มินิตปลดเครื่องที่ฝ่าเท้าออกมาตั้งที่หลังเท้าห่างกันประมาณครึ่งนิ้วฟุซ เวลานั้นมีไฟออกจากเครื่องและมีเสียงดังเปรียะๆ ถูกหนังตามหลังเท้า ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกดังเข็มแทง ประมาณ ๒ มินิตก็เลิก เมื่อเลิกแล้วข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกตัวเบากว่าที่ยังไม่ได้ใช้เครื่องไฟฟ้า
ก่อนที่ให้หมอใช้เครื่องไฟฟ้านี้ คิดด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมว่า ถ้าเท้าและมือติดไฟฟ้าเข้าแล้วคงจะเหมือนกับไฟฟ้าในหีบซึ่งเคยใช้มาแต่ก่อนที่ทำให้ชัก เส้นเท้าและมืองอไป เครื่องนี้ผิดกันที่ไม่รู้สึกเจ็บอะไรเลย
   รุ่งขึ้นวันที่ ๑๕ เวลา ๕ โมงเช้า ข้าพระพุทธเจ้าได้ไปที่โรงหมอ หมอให้ข้าพระพุทธเจ้าเปลื้องเสื้อและถุงเท้าออกเสียอีก ให้นั่งที่เก้าอี้เหมือนวันที่ ๑๔ แต่เพิ่มกระดานม้าสูงประมาณ ๕ นิ้วฟุซ เท้ากระดานม้านั้นรองแก้วเหมือนกัน และมีเหล็กแผ่นหนึ่งห่อกระดาษชุบน้ำ วาดลงที่กระดานม้านั้น ให้ข้าพระพุทธเจ้าเหยียบลงทั้ง ๒ เท้า แล้วเอาเครื่องสายหนึ่งติดเข้ากับแผ่นเหล็ก อีกสายหนึ่งให้คนกดที่กระดูกสันหลังให้เครื่องเดินประมาณ ๕ มินิต ปลดเครื่องที่สันหลังมากดที่ฝ่ามือข้างซ้ายอีกเครื่องหนึ่งแล้วให้เครื่องเดินประมาณ ๔ มินิต ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกเฉยๆ แต่เวลานั้นมีเหงื่อออกทั่วกาย หมอได้ปลดเครื่องข้างขวามือไปยึดไว้เครื่องหนึ่ง และมือของหมออีกข้างหนึ่งมาคลำตามตัวตามมือข้าพระพุทธเจ้า ไฟฟ้าได้ออกจากมือของหมอและมีเสียงดังเปรียะๆ ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกเหมือนเข็มแทงประมาณ ๓ มินิต ในเวลานั้นหมอบอกว่าไฟฟ้าได้เดินในตัวข้าพระพุทธเจ้าทั่วแล้ว ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกเบาตัวขึ้นมากกว่าวันที่ ๑๔ เหงื่อออกประมาณ ๒ ชั่วโมงจึงหยุด
   หมอบอกข้าพระพุทธเจ้าต้องมาทำเช่นนี้อีกสัก ๓ หรือ ๔ ครั้ง ....
   ครั้นวันที่ ๑๗ เวลาเที่ยงข้าพระพุทธเจ้าได้ไปที่โรงหมอ หมอก็ให้ถอดเสื้อและถุงเท้าให้นั่งเก้าอี้ เท้าเหยียบบนกระดานม้า เอาสายไฟฟ้าติดที่แผ่นเหล็กอีกเครื่องหนึ่ง กดลงที่กระดูกสันหลังเหมือนวันที่ ๑๕ นั้น พอได้ประมาณ ๘ มินิตหมอเอาเครื่องติดไฟฟ้าอีกสายหนึ่ง เครื่องนั้นข้างปลายมีเหล็กแหลมๆ เหมือนตาปูไปติดประมาณ ๑๕ หรือ ๑๖ อันเอามาจ่อตามหลังเท้าและตามข้อเท้ากับตามกระดูกสันหลังและต้นคอ เมื่อเอาเหล็กมาล่อห่างกับตัวประมาณครึ่งนิ้วฟุต ไฟได้ออกมาตามเหล็กถูกที่ตัว ดูดเอาเส้นขึ้นตุบๆ เมื่อใช้เครื่องอันนี้รู้สึกเจ็บกว่าเครื่องอื่น แต่ดีมาก เมื่อเวลานั้นเหงื่อก็ได้ออกเต็มไปทั้งตัวเหมือนวันที่ ๑๕ คิดด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมคงจะไปแทงเอาลมที่คั่นค้างอยู่ตามเส้นและเอ็น ...
   ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมว่าวิธีใช้เครื่องไฟฟ้านี้มีประโยชน์ คือไฟฟ้าคงจะเข้าไปไล่เลือดและลมที่คั่นค้างอยู่ให้แล่นตลอดไปได้ ...


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 21 ต.ค. 16, 13:31
ต่อมาได้มีการดำเนินการเสาะหาจัดซื้อเครื่องไฟฟ้ารักษาโรครุ่นใหม่จากยุโรปเพื่อนำมาถวายการรักษาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีพระอาการประชวร ดังที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษ์วโรประการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศทรงมีลายพระหัตถ์ถึงพระยาวิสูตรโกษา อัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน มีใจความตอนหนึ่งว่า

   ด้วยได้ทราบความจากผู้ซึ่งควรเชื่อถือได้ว่า มีหมอกาโลเวที่เมืองสิงคโปร์รักษาเส้นพิการต่างๆ อย่างที่เรียกตามภาษาอังกฤษว่า รูมะติซัม (Pheumatism), เซียสสติคา (Sciatica), ฤา ลัมเบโก (Lumbago) แลโรคที่คล้ายๆ กันนั้นหายขาดได้ เพราะใช้เครื่องไฟฟ้าอย่างแรงแลอย่างเดินเรว (Installation of Electricity of high voltage and high frequency) จึงได้คิดจะหามารักษาที่ในกรุงเทพ แต่ได้ความว่าเครื่องไฟฟ้าที่ว่านั้นเปนของใหญ่โตติดอยู่กับที่จะยกไปมา ไม่ได้โดยสะดวก หมอนั้นจึงไม่ยอมเข้าไปในกรุงเทพ แต่หมอกาโลเวได้บอกว่า เดิมที่จะคิดเอาเครื่องไฟฟ้าอย่างนี้มาใช้นั้นเปนด้วยหมอกาโลเวเองเปนโรคลัมเบโก รักษาไม่หายมานาน ครั้นไปลอนดอนได้พบหมอที่ใช้เครื่องไฟฟ้าอย่างแรงแลอย่างเดินเรวถี่นี้ ได้ให้รักษาก็หายสนิท จึงได้จัดซื้อมาใช้รักษาที่เมืองสิงคโปร์ แต่ยังไม่ได้ความชัดเจนว่าซื้อมาจากห้างใดแน่
   แลได้ทราบความจากพระพิเทศพานิชบอกเองแก่พระยารัษฎานุประดิษฐ์ว่า พระพิเทศพานิชได้ไปรักษาตัวด้วยเครื่องไฟฟ้าที่เรียกชื่อว่า เอกซ์เร อย่างใหม่ที่สุด เปนเครื่องของมิสเตอร์ ดับลยู.เอ.โคลต์เวล ผู้ใช้เครื่องฉายรัศมี อยู่ที่ ๖ แมนดิวิลเปลศ วิคมอร์ สตริต เมืองลอนดอน (X-ray Installation, up-to-date, at W. A. Coldwell Radiographer 6 Mandeville Place Wigmore, Street, London) ได้รักษาโรคที่มือป่วยเปนเมลดขึ้น ทำให้ปวดนั้นหายสนิท แลว่าเป็นเครื่องไฟฟ้าอย่างใหม่ดีกว่าเครื่องของหมอกาโลเวซึ่งเปนอย่างเก่าหลายปีมาแล้วด้วย
   พิเคราะห์ดูตามความที่ว่ามาข้างต้นนี้ทั้งสองประการนั้น เหนว่าเครื่องไฟฟ้าที่ใช้นี้คงเปนคนละอย่างต่างกัน คืออย่างก่อนที่เรียกว่าเครื่องไฟฟ้า โวลเตช อย่างแรงแลเดินเรวถี่นี้ สำหรับใช้แรงเดินเข้าในตัวแก้เส้นพิการ แลอย่างหลังที่เรียกว่าเอกซ์เร ฤา แรดิโอคคราฟ เปนเครื่องฉายรัศมีนั้น สำหรับใช้ส่องแสงไฟฟ้าประหารโรคตามผิวหนัง เช่นโรคเรื้อน มะเรง พยาธิ เปนต้น ไม่ใช่อย่างเดียวกันแน่
   แต่อย่างไรๆ ก็ดี เครื่องไฟฟ้าทั้ง ๒ อย่างนี้ ฤาจะมีเครื่องอย่างอื่นที่ใช้ในการรักษาไข้เจบอย่างใหม่อีกก็ดี ย่อมเปนสิ่งที่จะเปนคุณเปนประโยชน์ในการบำบัดโรคพยาธิในกรุงสยามได้ ให้พระยาวิสูตรโกษาสืบเสาะหาดูว่าจะมีหมอผู้ชำนาญในการรักษาโรคเส้นพิการอย่างกล่าวมาในข้อต้นที่ต้องการใช้เปนสำคัญกว่าอย่างอื่นๆ นั้นแห่งใดบ้าง แลจะสั่งให้สั่งเครื่องไฟฟ้าอย่างแรงแลเรวถี่นั้นให้พร้อมบริบูรณ์ทั้งเครื่องจะเปนราคาสักเท่าใด แลจะส่งมาถึงกรุงเทพฯ ได้ในกำหนดเวลาเท่าใด แลถ้าจะให้หมอผู้ชำนาญมาตั้งเครื่องนั้นแลแนะนำให้หมอในกรุงสยามใช้เครื่องได้ต่อไป จะคิดเปนเงินค่าจ้างอีกเท่าใดแล้ว ให้มีโทรเลขแจ้งความไปให้ทราบโดยเรว
   อีกประการหนึ่ง มีคำบอกว่าเครื่องไฟฟ้าทั้ง ๒ อย่างนี้ใช้รวมกันได้ ด้วยเปลี่ยนแต่เครื่องมือใช้เลกน้อยเท่านั้น ถ้าการเปนดังนี้ จะสืบราคารวมกันทั้งสิ้นบอกมา ก็จะเป็นประโยชน์เหมือนกัน




กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 21 ต.ค. 16, 23:16
ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 นอกจากมีรถรางไฟฟ้าแล้วยังมีรถไฟฟ้า 4 ล้อหรือรถมอเตอร์คาร์แบบไฟฟ้า ตามแบบแปลนนี้ใช้มอเตอร์ขนาด 5 แรงม้า
เดินหน้าถอยหลังได้ ความเร็วสูงสุด 14 ไมล์ต่อชั่วโมง มีในสยามช่วงปี พ.ศ. 2448
รูปของจริงเป็นอย่างไร?  ???


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 22 ต.ค. 16, 00:11
พระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภชทรงขับรถมอเตอร์คาร์แบบไฟฟ้า
ใช้แบตเตอรี่ เครื่องชาร์จใช้เครื่องยนต์ขนาด 10 แรงม้า มี 2 เครื่อง อยู่ในพระบรมมหาราชวังและที่สวนดุสิต


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 22 ต.ค. 16, 21:20
ข้าราชการ "เช้าชามเย็นชาม" กรุณาอ่าน 3 รอบ พระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ไทยแห่งราชวงศ์จักรี
พ.ศ. 2439 เกิดเหตุการณ์ที่พลตระเวนของกระทรวงนครบาลปล่อยปละละเลยไม่ดูแลรักษาโคมไฟฟ้าตามข้างถนนบริเวณสะพานช้างโรงสี (สะพานข้ามคลองหลอดหลังกระทรวงกลาโหมในปัจจุบัน) ปล่อยให้ฝุ่นเกาะดูเศร้าหมองเป็นเวลานาน เพราะมีเกวียน ม้า รถเจ๊กวิ่งผ่านไปมา โดยเมื่อคราวที่เป็นโคมน้ำมันอยู่นั้น พลตระเวนต้องทำหน้าที่คอยจุดคอยดับ เช็ดกระจกและเติมน้ำมันทุกวัน
พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงมีพระราชกระแสมีใจความว่า
"ที่ได้จัดตกลงกันไว้แล้วเช่นนี้ก็ดี ก็ยังต้องการเตือนกันเรื่อยๆ ไปอย่างไทย ไม่มีอะไรวางมือได้สักอย่างเดียว
เป็นเจ้าแผ่นดินเมืองไทยนั้นเหมือนอย่างพลเรือน ที่ต้องหุงข้าวกินเอง กวาดเรือนเอง ตักน้ำรดต้นไม้เอง จุดโคมเองทุกอย่าง
อีกสักกี่สิบปี ธรรมเนียมนี้จึงจะหมดไป"

(จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร ก.ร.5ยธ/1)

พรุ่งนี้วันปิยมหาราชครับ 23 ตุลาคม 2559


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 22 ต.ค. 16, 21:54
พระราชกรณียกิจเพียงเสี้ยวด้านหนึ่งของพระมหากษัตริย์ไทยแห่งราชวงศ์จักรี
มีนาคม พ.ศ. 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง คือ พระปิยมหาราช คือ เสด็จพ่อ ร.5 ทรงมีพระราชกระแสต่อพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ จากกรณีที่ “ไฟฟ้าหลวง” เกิดสภาวะขาดทุนเป็นเวลานาน มีใจความตอนหนึ่งว่า
“เรื่องนี้ที่ขาดทุนมาแต่ก่อน ควรที่เธอจะตรวจตราและคิดอ่านเสียช้านานมาแล้ว ซึ่งทอดทิ้งไว้ไม่คิดอ่านให้ตลอดจนต้องมีผู้อื่นมาร้อนรนแทนดังนี้
เป็นการทำราชการบกพร่องในหน้าที่ ให้ต้องเปลืองพระราชทรัพย์ เป็นความผิดของเธอซึ่งไม่มีทางจะแก้ว่าไม่ผิดได้
จึงขอติเตียนอย่างแรงในข้อที่ทำให้เงินของรัฐบาลต้องเสียไปโดยมิได้คิดอ่านการให้รอบคอบและละเลยไม่ว่ากล่าวพิททูลให้แก้ไข
สืบไปเมื่อหน้าการอันใดในกระทรวงซึ่งเห็นว่าเป็นแต่เปลืองเงินเปล่าไม่ได้ประโยชน์คุ้ม ควรจะแก้ไขลดหย่อนหรือเปลี่ยนแปลงประการใดก็ต้องคิดจัดการโดยเร็วที่สุดอย่าให้เสียเวลา
ถ้าจะจัดไม่ตลอดก็ควรจะพิททูลว่ากล่าวให้ตลอดไป การเรื่องไฟฟ้านี้ก็เห็นว่าเป็นอันขาดทุนเหลือเกินกว่าที่จะทนไปอย่างเดิมได้ จำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลงการใหม่
แต่เพื่อจะให้เป็นการพรักพร้อมกันทุกหน้าที่ จึงได้สั่งไปยังกระทรวงพระคลังมหาสมบัติให้พร้อมกับเธอและพระยาเทเวศร์ซึ่งจะเป็นเจ้าหน้าที่ใหม่ ปรึกษากันจัดการเรื่องไฟฟ้านี้เสียให้ทันใน ศก ๑๑๖ ถ้ามีที่จะจัดการได้ดีที่สุดอย่างไร”
(จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 น/93 น10/3)

พรุ่งนี้วันปิยมหาราชครับ 23 ตุลาคม 2559


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 22 ต.ค. 16, 22:48
พรระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ แห่งราชวงศ์จักรีไทย
พระองค์ทรงหาข้อมูลว่า ทำไมโรงไฟฟ้าถึงต้องใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง เพราะมีชาวบ้านเดือดร้อนว่ามีเถ้าแกลบปลิวปกคลุมไปทั่ว
พระองค์ทรงหาข้อมูลว่า โรงไฟฟ้าสำหรับรถรางไฟฟ้าของฝรั่งทำไมถึงมีกำไร โรงไฟฟ้าวัดเลียบช่วงที่เป็นของคนไทยทำไมถึงขาดทุน

3 กันยายน พ.ศ. 2438 ประมาณ 18.00 น. รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินประพาสในพระนครจากพระที่นั่งจักรีมหาปราสาททางรถพระที่นั่ง เสด็จขึ้นทรงรถรางไฟฟ้าบริเวณถนนวังแล่นไปจนถึงสะพานเหล็ก เสด็จทอดพระเนตรเครื่องจักรในโรงไฟฟ้าซึ่งผลิตไฟฟ้าให้แก่รถรางของบริษัท บางกอกแตรมเว จำกัด (จากหนังสือพิมพ์กุมารวิทยา ฉบับที่ 3)

17 มกราคม พ.ศ. 2438 ประมาณ 18.00 น. รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินประพาสทางรถพระที่นั่ง เสด็จทอดพระเนตรในโรงไฟฟ้าหลวงที่ วัดราชบุรณะ (วัดเลียบ) เป็นเวลา 15 นาที (จากหนังสือพิมพ์กุมารวิทยา ฉบับที่ 21)

24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2438 ใกล้เวลา 19.00 น. รัชกาลที่ 5 เสด็จขึ้นทรงรถรางไฟฟ้า ณ ข้างกระทรวงยุทธนาธิการ แล่นตรงจนสุดทางที่บางคอแหลม เสด็จพระราชดำเนิน แล้วเสด็จทรงรถรางแล่นกลับมาถึงพระบรมมหาราชวังเวลา 3 ทุ่มเศษ (จากหนังสือพิมพ์กุมารวิทยา ฉบับที่ 26)

พรุ่งนี้วันปิยมหาราชครับ 23 ตุลาคม 2559


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 27 ต.ค. 16, 22:10
ใบอัญเชิญเสด็จพระราชดำเนินทรงกระทำสิทธิ์กรรมและเปิดทางรถรางของบริษัท รถรางไทย ทุนจำกัด
ในการเสด็จครั้งนี้ทางบริษัทได้กราบบังคมทูลพระกรุณาถวายพระพรชัยมงคล


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 29 ต.ค. 16, 20:18
รายการจดบันทึกตัวเลขของมิเตอร์ไฟฟ้าในเดือนแรกของประเทศไทย
คือได้มีการติดตั้งใช้มิเตอร์ไฟฟ้าโดยได้จดบันทึกการใช้ไฟฟ้าเป็นครั้งแรกในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2441
แต่เป็นมิเตอร์ไฟฟ้าขนาดใหญ่สำหรับวัดปริมาณการใช้ไฟฟ้าของสถานที่ราชการต่างๆ
หมายถึงว่ามีการเดินสายไฟฟ้าแยกออกต่างหากจากที่จ่ายไฟฟ้าให้แก่บ้านเรือนประชาชนทั่วไป มิเตอร์ไฟฟ้านี้ติดตั้งไว้ที่โรงไฟฟ้า (ไฟฟ้าวัดเลียบ)
ส่วนการคิดค่าไฟฟ้าสำหรับประชาชนนั้น คิดจากการตกลงว่าแต่ละรายได้ใช้หลอดไฟฟ้าขนาดเท่าไรบ้าง จำนวนเท่าไร กำหนดค่าไฟฟ้าต่อเดือนดวงละเท่าไร เมื่อติดตั้งแล้วจะเปิดหรือปิดไฟก็ต้องเสียเงิน
รายละเอียดจะกล่าวถึงต่อไปครับ


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 10 ธ.ค. 16, 23:23
3 กันยายน 2432 บริษัทไฟฟ้าสยามจำกัดได้ออกจุลสารประกาศแจ้งให้ประชาชนในกรุงเทพฯ บริเวณใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าทราบโดยทั่วกัน ชักชวนให้มาสมัครเป็นผู้ใช้ไฟฟ้า ได้ให้เหตุผลถึงข้อดีของการใช้ไฟฟ้าแสงสว่างว่ามีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าการใช้น้ำมันปิโตรเลียมและไม่ทำให้เกิดเพลิงไหม้บ้านเรือนได้ เวลาใกล้ค่ำหลอดไฟฟ้าจะติดเองและจะดับเองในเวลาเช้าตรู่ (โรงไฟฟ้าจะจ่ายไฟฟ้าออกมาเฉพาะในช่วงเวลาค่ำคืน) ซึ่งได้กำหนดอัตราค่าไฟฟ้าตามขนาดของหลอดไฟฟ้าต่อเดือนและแสดงการเปรียบเทียบปริมาณแสงสว่างที่ได้จากหลอดไฟฟ้าขนาดต่างๆ กับตะเกียงหรือโคมไฟน้ำมันให้เข้าใจด้วย ดังนี้

                           ขนาดหลอดไฟฟ้า (วัตต์)        ค่าไฟฟ้าต่อเดือน(บาท)                 มีความสว่างเท่ากับ
                                      5                                    1                             ตะเกียงธรรมดา 1 โคม
                                    10                                    1.50                         โคมไขลาน 1 โคม
                                    20                                    2                             โคมไขลาน 2 โคม
                                    50                                    5                             โคมไขลาน 5 โคม
                                   100                                  10                             โคมไขลาน 10 โคม
(ยุคสมัยนั้นใช้คำว่า “ดวงเทียนไข” หรือ “แรงเทียน” แทนคำว่า “วัตต์” ซึ่งใช้เทียบเคียงความสว่างได้เฉพาะกับหลอดไส้หรือหลอดอินแคนเดสเซนต์เท่านั้น)


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 10 ธ.ค. 16, 23:39
ในส่วนโคมไฟน้ำมันและโคมไฟแก๊สตามท้องถนนหลวงที่อยู่ในความควบคุมดูแลของกรมพระนครบาลนั้น ที่ผ่านมาจะมีการใช้โคมนี้เฉพาะด้านความปลอดภัยในบางสถานที่ให้มีแสงสว่างพอได้เห็นทางสำหรับจับโจรผู้ร้าย ไม่ได้ใช้เพื่อประโยชน์แก่คนเดินทางโดยทั่วไป ฉะนั้นเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนในการสัญจรยามค่ำคืนจึงได้มีการคิดที่จะติดตั้งโคมไฟฟ้าตามถนนหลวงหลายเส้นทางด้วยกัน โดยกำหนดให้ติดตั้งโคมไฟฟ้าสลับเป็นระยะฟันปลา บริเวณถนนในพระนครปักห่างกันเสาละ 12 วา ถนนนอกพระนครปักห่างกันเสาละ 15 วา ซึ่งเป็นเส้นทางเฉพาะที่เคยมีพลตระเวนประจำการอยู่แต่ก่อน ใช้โคมไฟฟ้าขนาด 20 วัตต์จำนวน 1,103 ดวง


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 11 ธ.ค. 16, 17:48
      เมื่อเริ่มตั้งกระทู้ชื่อ “รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี” ผมตั้งใจจะแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการเข้ามาของไฟฟ้าเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ด้วยที่เข้าใจว่าประวัติไฟฟ้าของไทยสมควรที่จะต้องมีการชำระประวัติศาสตร์เสียใหม่
      ด้วยเหตุที่ว่า
          - ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อนที่หลายคนเข้าใจหลายปี
          - หลายคนเข้าใจผิดคิดว่า รัชกาลที่ 5 ไม่ทรงโปรดไฟฟ้า
          - ประวัติวิวัฒนาการด้านไฟฟ้าของไทยจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ขัดแย้งกันอย่างมาก
          - โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชกรณียกิจด้านไฟฟ้าของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากไม่ถูกนำมาเปิดเผยให้ทราบกัน แต่กลับมีการเผยแพร่อย่างแพร่หลายว่า “ในช่วงต้นรัชกาล รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราชกระแสรับสั่งอยู่เสมอว่า "ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อ" ที่หมายความว่าพระองค์ทรงไม่เชื่อว่าหลอดไฟฟ้าที่ติดบนเพดานคอนกรีตจะมีจริงได้ ทั้งๆ ที่บ้านเมืองไทยในขณะนั้นมีการเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ กล่าวคือไฟฟ้าที่ส่งมาตามสายไฟถูกแปลงเป็นรหัสเช่นโทรเลข ต่อมาก็ถูกแปลงเป็นเสียงเช่นโทรศัพท์ และต่อมาก็ถูกแปลงเป็นแสงสว่างเช่นหลอดไฟไม่ใช่สิ่งแปลกประหลาดอันใดในใต้ร่มพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
      ทั้งนี้อาจเป็นเพราะการนำข้อมูลจากหนังสือต่างๆ เช่นจากหนังสือชีวประวัติของบุคคลที่จัดทำโดยเครือญาติ ที่จัดทำเป็นของขวัญ ของชำร่วย ของแจก ในงานต่างๆ เช่นงานศพ งานฉลองครบรอบคล้ายวันเกิด ต่างๆ เหล่านี้อาจมีเนื้อหาที่มีโอกาสคลาดเคลื่อนได้สูง เกิดจากการเยินยอแต่งเติมเกินจริง หากผู้ใดนำมาเผยแพร่โดยไม่มีการตรวจสอบ ก็อาจทำให้เข้าใจกันว่าเป็นเรื่องจริง
ผมขอแนะนำและขอแจ้งว่า จะขอลงและปรับปรุงเนื้อหาประวัติไฟฟ้าไทยและพระราชกรณียกิจด้านไฟฟ้าของรัชกาลที่ 5 แบ่งเป็น 3 ตอน (ขณะนี้มี 2 ตอน) ในเว็ปพันทิปเพื่อให้มีความสมบูรณ์ละเอียดมากยิ่งขึ้น ระบุอ้างอิงหลักฐานชั้นปฐมหรือเอกสารตั้งต้นให้มากขึ้น จากนั้นจะเข้าสู่ช่วงรัชกาลที่ 6 และ 7 ตามลำดับในตอนอื่นเป็นโอกาสต่อไป ดังนี้
                   ประวัติไฟฟ้าไทย - Pantip         http://pantip.com/topic/35302930
                   ประวัติไฟฟ้าไทย (ตอนที่ 2) – Pantip      http://pantip.com/topic/35383731
   เพื่อเป็นการเผยแพร่ให้ทราบถึงพระราชกรณียกิจจำนวนมากที่เกี่ยวกับไฟฟ้าไทย ในช่วงรัชสมัยภายใต้ร่มพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยในพระบรมราโชบายใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงมีพระราชปณิธานและพระราชประสงค์ ทั้งทรงพยายามเต็มพระมหาพิริยุตสาหะทะนุบำรุงเป็นที่สุด มิได้ทรงคำนึงถึงความลำบากเหนื่อยยากพระสกนธ์กายและพระราชหฤทัย แม้พระองค์ทรงเป็นอรรคบริโสดมบรมสุขุมาลชาติเพื่อพระราชประสงค์จะให้บังเกิดสุขประโยชน์แก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน บรรดาเป็นผลให้สยามประเทศเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น ไฟฟ้าไทยจึงได้วิวัฒนาการเจริญก้าวหน้ามาจนถึงปัจจุบันนี้
   ผมมีความมุ่งหวังให้มีการชำระประวัติศาสตร์ มีการแก้ไขพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ให้ถูกต้อง
 นำไปสู่การเชิดชูพระองค์ทรงเป็น “พระบิดาแห่งการไฟฟ้าไทย”


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 15 ธ.ค. 16, 10:47
ช่วงนี้อาจจะเงียบๆไปบ้าง แต่ผมก็ยังตามอ่านอยู่นะครับ


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 04 ม.ค. 17, 20:10
ขอบคุณมากครับคุณ Naris
สวัสดีปีใหม่ครับ ขอให้ทุกท่านหมั่นดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย ทานอาหารครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอนะครับ
จะอวยพรให้ไม่เจ็บไม่ไข้ก็คงจะฝืนกฏธรรมชาติและผมก็ไม่ใช่ผู้วิเศสซะด้วย ฮา  ;)

คือว่าผมตั้งใจจะลงประวัติไฟฟ้าไทยเป็นสารานุกรม (ตามลำดับกาลเวลา) จึงได้ลงในพันทิป ซึ่งสามารถแก้ไขปรับเปลี่ยนได้ ที่ต้องมีหลายตอนเพราะมีขีดจำกัดตอนละไม่เกิน 10,000 ตัวอักษร
ส่วนเวปคุณภาพอย่างเรือนไทยนี้เช่นกัน ผมก็จะเขียนลงต่อไปหละครับ

 


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ม.ค. 17, 20:19
สวัสดีปีใหม่ค่ะ    ยินดีที่เห็นคุณสมบัติกลับมาอีกครั้งค่ะ


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 04 ม.ค. 17, 21:11
ขอบคุณมากครับคุณ เทาชมพู
งั้นขอต่อเลยครับ
เป็นเรื่องของโทรศัพท์ (ไฟฟ้าเปลี่ยนเป็นเสียง)

8 มิถุนายน พ.ศ. 2421 เจ้าพระยาภาณุวงษ์มหาโกษาธิบดีได้มีหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีความตอนหนึ่งว่า

   ด้วยมิสเตอร์เฮลเยลเจ้าของตะละฟอลที่ส่งเข้ามาครั้งก่อน ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าส่งให้เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์นำเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายนั้น
   บัดนี้มิศเตอเฮลเยลเข้ามาด้วยเรือราชาณัฒถึงกรุงเทพฯ แต่เวลาวานนี้ เวลาวันนี้มิศเตอเฮลเยลมาหาข้าพระพุทธเจ้า ถามข้าพระพุทธเจ้าว่าตัวอย่างตะละฟอลที่ได้ส่งเข้ามาครั้งก่อนนั้น คอเวอนแมนต์สยามเหนว่าจะใช้ได้ฤาไม่ได้
ข้าพระพุทธเจ้าได้แจ้งกับเขาว่า ตัวอย่างตะละฟอลนั้นข้าพระพุทธเจ้าได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างทดลองดู ก็เหนว่าที่พูดกันไปมาได้ยินแต่ไม่สู้เข้าใจชัดดี มิสเตอร์เฮลเยลว่าการที่ทำนั้นเหนจะไม่สู้เรียบร้อยดีจึ่งฟังไม่เข้าใจ มิศเตอเฮลเยลจะขอทำให้ข้าพระพุทธเจ้าดู เมื่อข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังพูดเหนว่าเข้าใจดีแล้ว ขอให้ข้าพระพุทธเจ้านำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทราบใต้ฝ่าลอองฯ
   เวลาบ่ายวันนี้ข้าพระพุทธเจ้าให้มิศเตอเฮลเยลผูกสายลวดตั้งแต่บ้านข้าพระพุทธเจ้าไปถึงบ้านพระยามนตรีสุริยวงษ์เปนทางสายลวด ๔ เส้น ๑๗ วา แล้วมิศเตอเฮลเยลได้พูดไปมาให้ข้าพระพุทธเจ้าฟัง
   ถ้ามิศเตอเฮลเยลพูดแล้วผู้ใดฟังก็เข้าใจได้ถนัด แต่ถ้าผู้อื่นพูดแล้วฟังไม่เข้าใจถนัด ต้องพูดหลายครั้งจึ่งฟังได้ความ แต่ถ้าคนอื่นพูดไปแล้วมิสเตอเฮลยลเข้าใจตอบมาถูกทุกคำ
   ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้าฯ ว่า เหนจะเปนโดยชำนาญที่ฟังเสียงนั้นจึ่งเข้าใจได้ง่าย มิศเตอเฮลเยลคนนี้เปนคนชาวเยอรมันดูกิริยาก็เปนคนเรียบร้อย มิศเตอเฮลเยลอยากจะขอเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท จะได้กราบบังคมทูลอธิบายวิธี ในการที่จะใช้ตะละฟอลให้เข้าใจกันนั้นให้ทรงทราบใต้ฝ่าละออง
ถ้าจะทรงพระกรุณาโปรดให้มิศเตอเฮลเยลลองทำทูลเกล้าฯ ถวายให้ทรงทอดพระเนตรเปนตัวอย่าง ตั้งแต่เมื่อสมุทปราการขึ้นมาถึงกรุงเทพฯ นี้ก็ได้ ด้วยสายโทระเลขมีอยู่แล้ว ...


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 04 ม.ค. 17, 21:34
9 มิถุนายน พ.ศ. 2421 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชหัตถเลขาไปยังเจ้าพระยาภาณุวงษ์มหาโกษาธิบดี มีความตอนหนึ่งว่า
   ด้วยเธอจดหมายมาว่าด้วยเรื่องเตเลโฟนนั้นได้ทราบแล้ว เหนว่าทางปากน้ำไม่ลำบากสิ่งใด ลองติดเข้าดูใช้ได้ก็เปนการดี ฉันก็อยากจะมีตั้งแต่บางกอกไปบางปอินบ้าง ดูเหมือนอาลบาสเตอได้ถามเมชันไปแล้ว
   การที่จะลองนี้ ให้เธอกำหนดวันจะทำได้วันใด ก็ให้เขาไปจัดการที่ออฟฟิชโทรเลขทั้งสองแห่งเถิด...
(จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 รล-พศ/2 หน้า 435)


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 05 ม.ค. 17, 07:32
9 มิถุนายน พ.ศ. 2421 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชหัตถเลขาไปยังเจ้าพระยาภาณุวงษ์มหาโกษาธิบดี มีความตอนหนึ่งว่า
   ด้วยเธอจดหมายมาว่าด้วยเรื่องเตเลโฟนนั้นได้ทราบแล้ว เหนว่าทางปากน้ำไม่ลำบากสิ่งใด ลองติดเข้าดูใช้ได้ก็เปนการดี ฉันก็อยากจะมีตั้งแต่บางกอกไปบางปอินบ้าง ดูเหมือนอาลบาสเตอได้ถามเมชันไปแล้ว
   การที่จะลองนี้ ให้เธอกำหนดวันจะทำได้วันใด ก็ให้เขาไปจัดการที่ออฟฟิชโทรเลขทั้งสองแห่งเถิด...
(จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 รล-พศ/2 หน้า 435)

อยากทราบว่า ลักษณะการพูดจาของเตเลโฟน ในครั้งนั้นพูดจากันอย่างไร และหมุนเบอร์อะไร ?


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ม.ค. 17, 09:36
เขาใช้ operator เป็นผู้เชื่อมสายให้ครับ
ยกหูพูดกับเธอ แล้วบอกให้ต่อไปคนโน้นคนนี้ เธอก็จัดการให้เหมือนที่บางแห่งก็ยังใช้อยู่นี่แหละ เพียงแต่ระบบของอุปกรณ์ต่างกันเท่านั้น


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 07 ม.ค. 17, 19:58
ในช่วงแรกๆ โทรศัพท์เป็นระบบแม็กนีโตซึ่งจะต้องมีแบตเตอรี่ประจำตัวเครื่อง

        กรณีที่เป็นการทดลองใช้เครื่องโทรศัพท์ระบบแม็กนีโตจำนวน 2 เครื่องที่กล่าวถึงนี้ จะต่อสายสัญญาณถึงกันโดยตรง โดยผู้เรียกจะหมุนคันหมุนที่เครื่องโทรศัพท์เพื่อสร้างสัญญาณทำให้กระดิ่งที่เครื่องโทรศัพท์ของผู้รับดัง ผู้รับจึงยกหูโทรศัพท์เพื่อรับสายพูดคุยกัน

        ส่วนกรณีที่มีโทรศัพท์ในระบบชุมสายตั้งแต่ 3 เครื่องขึ้นไป ระบบนี้ไม่สามารถโทรติดต่อหรือหมุนเลขโทรศัพท์ไปยังผู้รับได้โดยตรง จะต้องแจ้งผ่านชุมสายโทรศัพท์ โดยผู้เรียกจะหมุนคันหมุนที่เครื่องโทรศัพท์ สัญญาณไฟจะไปติดที่ชุมสาย ซึ่งจะมีพนักงานคอยรับแจ้งความประสงค์ว่าต้องการติดต่อกับผู้ใด พนักงานก็จะส่งสัญญาณให้กระดิ่งที่เครื่องโทรศัพท์ของผู้รับดัง เมื่อมีผู้รับสายพนักงานก็จะเสียบแจ็คสายสัญญาณเพื่อเชื่อมต่อสายให้พูดคุยกัน เมื่อคุยกันเสร็จแล้ว ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องหมุนคันหมุนที่เครื่องโทรศัพท์เพื่อส่งสัญญาณให้พนักงานทราบว่าได้พูดคุยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว พนักงานก็จะถอดแจ็คสายสัญญาณเพื่อยกเลิกการเชื่อมต่อ

   หมายความว่าโทรศัพท์ในสมัยนั้นยังไม่เป็นแบบหมุนที่สามารถหมุนเลขโทรหาผู้รับได้โดยตรง จะต้องแจ้งให้พนักงานที่ชุมสายโทรศัพท์เป็นผู้เชื่อมต่อให้ แต่ถ้าระบบใดมีเพียง 2 เครื่องก็ไม่ต้องมีชุมสายโทรศัพท์ที่มีพนักงานคอยต่อสายให้ ต่อสายถึงกันได้โดยตรง

        อย่างไรก็ตามแสดงว่า อย่างช้าคือในปี พ.ศ. 2421 โทรศัพท์ที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ทางไฟฟ้า (ไฟฟ้าเปลี่ยนเป็นเสียง) ได้เข้ามาในประเทศไทยแล้ว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก็ได้ทรงทราบและทรงโปรดให้มีการทดลองใช้เครื่องเครื่องโทรศัพท์ด้วย


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 07 ม.ค. 17, 22:16
ผมเคยเห็นโทรศัพท์โบราณแบบนี้ที่ภูกระดึงราวปี 2530 ใช้งานแบบจุดต่อจุด เชื่อมที่ทำการตรงเชิงภูกับที่ทำการข้างบนภูครับ เวลาจะใช้งานก็หมุนคันหมุน กระดิ่งจะไปดังอีกฟากหนึ่งให้ยกหูคุยกันครับ เดาว่าน่าจะเลิกใช้ไปเมื่อโทรศัพท์มือถือแพร่หลายแล้ว


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 08 ม.ค. 17, 10:19
เขาใช้ operator เป็นผู้เชื่อมสายให้ครับ
ยกหูพูดกับเธอ แล้วบอกให้ต่อไปคนโน้นคนนี้ เธอก็จัดการให้เหมือนที่บางแห่งก็ยังใช้อยู่นี่แหละ เพียงแต่ระบบของอุปกรณ์ต่างกันเท่านั้น

สงสัยตรงนี้น่ะค่ะ หมายความแค่บอกชื่อ อย่าง "ขอพูดกับ Ryan Johnson" แค่นี้เองหรือคะ ไม่ต้องบอกเบอร์ ?


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 08 ม.ค. 17, 12:05
ในช่วง 10 ปีแรกมีผู้ใช้โทรศัพท์ซึ่งเป็นระบบแม็กนีโตเพียงประมาณ 60 ราย แผงควบคุมซึ่งมี operator ปฎิบัติงานอยู่นั้นจะมีไฟและช่องเสียบแจ็คสายสัญญาณประจำผู้ใช้โทรศัพท์แต่ละราย
ซึ่งจะต้องมีการเขียนแสดงตัวผู้ใช้แต่ละรายไว้ อาจมีการเขียนเลขลำดับคู่กับชื่อของผู้ใช้กำกับไว้ แต่อย่างน้อยต้องมีการระบุชื่อ เพื่อความสะดวกต่อการปฎิบัติงานของ operator และในการตรวจซ่อมระบบ

เช่น ผู้เรียกอาจแจ้งว่าขอต่อสายกับ เบอร์10คุณRyanJohnson หรือ ลำดับที่10คุณRyanJohnson  หรือ คุณRyanJohnson หรือ เบอร์10
ด้วยเหตุที่มีผู้ใช้น้อยรายและคงไม่มีการใช้งานบ่อยครั้งมาก operator คงปฎิบัติงานได้ไม่ยาก

ดังนั้นถ้ามีการเขียนเบอร์หรือเรียงลำดับเลขผู้ใช้แต่ละรายไว้ด้วย เพื่อความสะดวกต่อการปฎิบัติงานของ Operator ก็คงต้องบอกว่ามีการแจ้งบอกเบอร์หรือบอกลำดับเลขประจำตัวผู้ใช้แก่ operator

คำว่าเบอร์ในที่นี้หมายถึงว่าผู้เรียกไม่สามารถเลือกหมุนเบอร์ไปหาผู้รับต่างๆ ได้โดยตรง เพราะโทรศัพท์ยังไม่เป็นระบบ step-by-step ที่มีตัวหมุนเบอร์โทรศัพท์ครับ


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 08 ม.ค. 17, 13:39
18 เมษายน พ.ศ. 2423 เจ้าพระยามหินธรศักดิ์ธำรงค์ ได้มีหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีความว่า

         ข้าพระพุทธเจ้าเจ้าพระยามหินธรศักดิ์ธำรงค์ ขอพระราชทานน้อมเกล้าถวายคำนับบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองฯ
ด้วยเครื่องไฟฟ้านั้นข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้าฯ   ว่าจะมอบส่งให้พระยานรรัตนราชมานิตฯ   จะได้บังคับให้หลวงอัคนีนฤมิตร
ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานไฟก๊าดจัดการไป   ด้วยเครื่องมือแลของที่จะใช้สอยก็มีพรักพร้อม ขอพระราชทานให้เจ้าพนักงานมารับไป
แล้วข้าพระพุทธเจ้ากับหลวงพิไชยเสนาจึงจะได้ไปช่วยจัดการ  ให้สำเร็จใช้ได้ทันสมโภชเฉลิมพระชนมพรรษา
         ควรมิควรสุดแล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ ขอเดชะ
                                              เจ้าพระยามหินธรศักดิ์ธำรงค์
(จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 นก/9 เลขที่ 12 หน้า 28-29)

นับเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าอย่างช้าคือในปี พ.ศ. 2423 (ไม่ใช่ พ.ศ. 2427) ไฟฟ้าแสงสว่างที่มีหลอดไฟ (ไฟฟ้าเปลี่ยนเป็นแสงสว่าง)
ได้เข้ามาในประเทศไทยซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก็ทรงทราบแล้ว
ซึ่งขัดกับคำที่ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยมีพระบรมราชกระแสรับสั่งอยู่เสมอว่า "ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อ"


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 08 ม.ค. 17, 15:20
24 สิงหาคม พ.ศ. 2426 หลวงปฏิบัติราชประสงค์ได้มีหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ มีความว่า

      ข้าพระพุทธเจ้าหลวงปฏิบัติราชประสงค์ ขอรับพระราชทานพระบรมราชวโรกาศกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท
      ด้วยพระเจ้าน้องยากรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ปฤกษากับข้าพระพุทธเจ้าด้วยเรื่องโปรดเกล้าฯ ให้ติดไฟฟ้าที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทนั้น
ข้าพระพุทธเจ้าได้รับใส่เกล้าฯ ตริตรองดูตามในประเทศยุโรปทั้งปวงนี้เขาใช้มากในที่ต่างๆ  เปนการถูกเอกสเปน  น้อยภอจะกราบบังคมทูล
พระกรุณาให้ทรงทราบใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทได้เปนตัวอย่าง คือใช้ไฟก๊าดท่อยาว ๕ วา กับลวดที่จะล่ามไปยาว ๕ วาเท่ากัน ลวดถูกกว่าหลายสิบเท่า
อนึ่งไฟก๊าดต้องใช้คนเที่ยวจุดทุกแห่ง ถ้าจะใช้เพียง ๕๐๐ ดวง จะต้องมีคนสำหรับจุดตั้งแต่ ๒๐ คนขึ้นไป ถ้าใช้เครื่องไฟฟ้าอย่างใหม่ก็ไม่ต้องใช้คนที่จุด
ถึงเวลาก็ลุกเองแลไม่ต้องเปลี่ยนถ่านเหมือนเครื่องเก่าของหลวงมีอยู่แล้ว แลไม่ดับๆ ติดๆ ด้วย อนึ่งไฟที่เข้าใช้อยู่ในประตูคืออินดอไล
เขาได้คิดว่าถูกกว่าน้ำมันปิดเตอเลียม แลเทียนไขที่จะใช้จุดยังรุ่งต้องอาไศรยคนช่วยกันตกแต่งคอยเปลี่ยนผลัดอยู่เสมอ
เพราะฉนั้นข้าพระพุทธเจ้าจึงได้กราบทูลปฤกษากับพระเจ้าน้องยากรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม พระเจ้าน้องยากรมหมื่นเทวะวงษ์วโรปการ
ว่าจะใช้เครื่องไฟฟ้าเสียให้หมดในพระบรมมหาราชวัง ไม่ว่าในที่ใด ถนนต่างๆ ที่มีในพระบรมมหาราชวังด้วย แลตำหนักพระบรมวงษานุวงษ์
แลเรือนข้าราชการฝ่ายในที่เคยใช้น้ำมันปิดตอเลียมอยู่ ถ้าใครจะซื้อไปใช้ก็จะยอมขายให้ แต่จะต้องขอคืน ๑ เท่ากันกับน้ำมันที่ใช้อยู่
ก็ภอจะคุ้มสูหุ้ยของหลวงที่จะซื้อฟืนมาใช้ในเครื่องจักรได้ ถึงจะไม่ภอก็จะต้องเติมเงินบ้างเล็กน้อยแต่สว่างจะได้การดีมากกว่าทุกวันนี้
แลข้าพระพุทธเจ้าจะขอเปนเจ้าพนักงานใหญ่เปนผู้กำกับดูแลในการที่จะจุดโคมแลรักษาเครื่องทุกอย่าง จะขอรับพระราชทานขุนหมื่นรักษาพระองค์ ๑๒ คน
ที่สำหรับจุดโคมอยู่ทุกวันนี้ ทราบเกล้าฯ ว่าขุนหมื่นรักษาพระองค์ที่จุดโคมทุกวันนี้มีอยู่ถึง ๖๐ คน ข้าพระพุทธเจ้าจะขอรับพระราชทานสัก ๑๒ คน
จะหัดให้เปนอินทเนียสำหรับรักษาเครื่องจักรได้ใช้การในเรื่องนี้ ถ้าเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แล้ว ขอพระบรมราชานุญาตที่จะตรวจบนพระที่นั่งและที่ต่างๆ
จะได้ทำเอสเมศทูลเกล้าฯ ถวาย ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอเดชะ
                                                                  หลวงปฏิบัติราชประสงค์

(จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร 5 นก/25 หลวงปฏิบัติราชประสงค์กราบบังคมทูลติดไฟฟ้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท หน้า 768-769)


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 08 ม.ค. 17, 15:49
24 สิงหาคม พ.ศ. 2426 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระราชหัตถเลขา มีความว่า

                            หลวงปฏิบัติยื่นความเหนฉบับนี้ เหนว่าเปนการดีแลถูกเงินลงเปนแน่
                  จะยอมให้เปนเจ้าพนักงาน   ทำเปนการเหมาเสียทีเดียวก็ได้
                  เครื่องแกสเก่าถ้าใช้เครื่องไฟฟ้าได้แล้ว อยากจะขายเลหลังส่งเสียทีเดียว
                 ให้กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมพาดูที่ให้เขากะดวงโคมทำเอศเมศ ให้ทั่วไป
                 ถ้าการหลวงอย่าให้ต้องใช้น้ำมันได้เลยที่เดียวจะดี
                                   
(จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร 5 นก/25 หลวงปฏิบัติราชประสงค์กราบบังคมทูลติดไฟฟ้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท หน้า 769)

นับเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงทราบและทรงโปรดให้มีการติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างก่อนปี พ.ศ. 2427
ซึ่งขัดกับคำที่ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยมีพระบรมราชกระแสรับสั่งอยู่เสมอว่า "ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อ"


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 09 ม.ค. 17, 13:31
ในช่วง 10 ปีแรกมีผู้ใช้โทรศัพท์ซึ่งเป็นระบบแม็กนีโตเพียงประมาณ 60 ราย แผงควบคุมซึ่งมี operator ปฎิบัติงานอยู่นั้นจะมีไฟและช่องเสียบแจ็คสายสัญญาณประจำผู้ใช้โทรศัพท์แต่ละราย
ซึ่งจะต้องมีการเขียนแสดงตัวผู้ใช้แต่ละรายไว้ อาจมีการเขียนเลขลำดับคู่กับชื่อของผู้ใช้กำกับไว้ แต่อย่างน้อยต้องมีการระบุชื่อ เพื่อความสะดวกต่อการปฎิบัติงานของ operator และในการตรวจซ่อมระบบ

เช่น ผู้เรียกอาจแจ้งว่าขอต่อสายกับ เบอร์10คุณRyanJohnson หรือ ลำดับที่10คุณRyanJohnson  หรือ คุณRyanJohnson หรือ เบอร์10
ด้วยเหตุที่มีผู้ใช้น้อยรายและคงไม่มีการใช้งานบ่อยครั้งมาก operator คงปฎิบัติงานได้ไม่ยาก

ดังนั้นถ้ามีการเขียนเบอร์หรือเรียงลำดับเลขผู้ใช้แต่ละรายไว้ด้วย เพื่อความสะดวกต่อการปฎิบัติงานของ Operator ก็คงต้องบอกว่ามีการแจ้งบอกเบอร์หรือบอกลำดับเลขประจำตัวผู้ใช้แก่ operator


ขอบพระคุณที่ให้ความกระจ่างค่ะ

ขอบพระคุณที่ให้ความกระจ่างค่ะ

คำว่าเบอร์ในที่นี้หมายถึงว่าผู้เรียกไม่สามารถเลือกหมุนเบอร์ไปหาผู้รับต่างๆ ได้โดยตรง เพราะโทรศัพท์ยังไม่เป็นระบบ step-by-step ที่มีตัวหมุนเบอร์โทรศัพท์ครับ



กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 09 ม.ค. 17, 18:53

นับเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าอย่างช้าคือในปี พ.ศ. 2423 (ไม่ใช่ พ.ศ. 2427) ไฟฟ้าแสงสว่างที่มีหลอดไฟ (ไฟฟ้าเปลี่ยนเป็นแสงสว่าง)
ได้เข้ามาในประเทศไทยซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก็ทรงทราบแล้ว
ซึ่งขัดกับคำที่ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยมีพระบรมราชกระแสรับสั่งอยู่เสมอว่า "ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อ"



ขออภัย ตรงไหนครับที่บอกว่า ไฟฟ้าแสงสว่างที่มีหลอดไฟ ติดตั้งในปี พ.ศ. 2423
Preparation ?
Cost estimation ?
Installation ?


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 09 ม.ค. 17, 21:45
เหตุผลที่เครื่องไฟฟ้านี้เป็นเครื่องไฟฟ้าแสงสว่างที่มีหลอดไฟฟ้าคือดังนี้ครับ
             1.   ไฟแก๊สหรือไฟก้าดมีเพื่อให้แสงสว่าง
             2.   ถ้าขณะนั้นมีเครื่องไฟฟ้าสำหรับโทรเลข โทรศัพท์ และหลอดไฟฟ้า เครื่องไฟฟ้าที่ใช้แทนหรือเกี่ยวข้องกับไฟก้าดซึ่งนำมาติดตั้งใช้ในงานสมโภชเฉลิมพระชนมพรรษา
                ตรงกับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2423 ก็ต้องเป็นเพียงเครื่องไฟฟ้าแสงสว่างที่มีหลอดไฟเท่านั้น

ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตมอบเครื่องไฟฟ้าให้แก่พระยานรรัตนราชมานิตเพื่อจะได้นำไปควบคุมจัดการแก่เจ้าพนักงานไฟก๊าด

แสดงว่ามีโคมไฟฟ้าแสงสว่างในไทยแล้ว แต่ไม่ทราบว่าสุดท้ายแล้วมีการติดตั้งโคมไฟฟ้าที่กล่าวถึงหรือไม่

ขอเสริมด้วยข้อมูลชิ้นหนึ่ง คือ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2427 พระองค์เจ้าชายทองแถมถวัลยวงศ์ (ทรงสถาปนาเป็นกรมหมื่นสรรพสาตรศุภกิจ ในปี พ.ศ. 2431) ได้ทรงมีลายพระหัตถ์ทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตติดตั้งโคมไฟฟ้าในสวนสราญรมย์ มีความตอนหนึ่งว่า
   
                  ข้าพระพุทธเจ้า ขอพระราชทานกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พระราชอาญาไม่พ้นเกล้าฯ
         ข้าพระพุทธเจ้าเหนด้วยเกล้าฯ ว่าเจ้าฝรั่งที่จะมาครั้งนี้นั้น การที่ในสวนสราญรมย์จะต้องมีไฟเสมอทุกวันเหนจะดี
         โคมที่มีอยู่นั้นก็มือไม่สู่จะงาม ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้าฯ ว่าโคมไฟฟ้าที่พระยานรรัตนราชมานิตยอยู่เปล่า ไม่มีราชการสิ่งใด
         ข้าพระพุทธเจ้าอยากจะขอรับพระราชทานไฟจุดในสวนสราญรมย์ จะได้งามสมพระเกียรติยศ
         ถ้าจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แล้วข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระราชทานให้เปนธุระของพระยานรรัตนราชมานิตยไปจุดไปติดทั้งสิ้น
            อนึ่งเมื่อครั้งมิศเตออาลบาศเตอรับราชการอยู่ในสวนสราญรมย์นี้ ก็ได้คิดที่จะใช้โคมไฟฟ้าเหมือนกัน แต่อาลบาศเตอเอาเงินมิวเซียมซื้อไว้
         ครั้นอาลบาศเตอถึงอนิจกรรมโคมนั้นไปอยู่กับพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าดิศวรกุมาร แต่เครื่องจักรที่สั่งมานั้นแรงหาพอไม่ จึ่งใช้ราชการไม่ได้
         (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร 5 นก/40 หน้า 645)

ผมไม่ทราบและอยากรู้มากรู้เลยว่ามิศเตออาลบาศเตอร์รับราชการอยู่ในสวนสราญรมย์ในช่วงเวลาใด และถึงอนิจกรรมเมื่อใด  ???



กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 ม.ค. 17, 07:50
ให้ภาพโคมไฟที่ใช้ระบบแก๊สภายในพระบรมมหาราชวัง ในต้นรัชกาลที่ ๕ จะเห็นว่ามีเขม่าดำเต็มไปหมด


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 10 ม.ค. 17, 11:43
อ้างถึง
ผมไม่ทราบและอยากรู้มากรู้เลยว่ามิศเตออาลบาศเตอร์รับราชการอยู่ในสวนสราญรมย์ในช่วงเวลาใด และถึงอนิจกรรมเมื่อใด

เฮนรี่ อาลาบาศเตอร์ ฝรั่งดีที่ฝากร่างและผลงานไว้ในสยาม

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=5358.0


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 12 ม.ค. 17, 22:18
มีการลงข่าวในหนังสือพิมพ์ว่าราชทูตสยามที่ออกไปเจริญทางพระราชไมตรี ณ ประเทศฝรั่งเศส ได้บรรยายถึงสภาพต่างๆ ของสังคมฝรั่งเศสที่ได้พบเจอมา มีความตอนหนึ่งว่า

                      ตามสองข้างถนนนั้นมีเสาเหลกกาไหล่ทองแดง สูงประมาณห้าศอกปักห่างกันประมาณแปดวา
                      แต่ปักเยื้องกันเปนฟันปลา บนปลายเสาใส่โคมแก้ว ตามไฟในเวลากลางคืนไฟที่ตามโคมนั้นฝรั่งเสศเรียกไฟก๊าด
                      เปนของประหลาดไม่ต้องใช้น้ำมัน แลใส่เหมือนตะเกียงธรรมดา เวลาเยนเปิดกอกไฟก๊าดไปทั่วทุกเสาโคม
                      เสาโคมเปนหลอดขึ้นไป เอาแต่ไฟจุดปลายหลอด ก็ติดสว่างดีกว่าตะเกียงที่ตามด้วยน้ำมัน เมื่อจะให้ดับก็บิดควงเสีย
                      อย่าให้ลมก๊าดเดินได้ไฟก็ดับ บางถนนที่แคบนั้นก็เอาเหล็กทำเปนกิ่งติดเข้ากับผนังตึก มีโคมแก้วตามไฟก๊าดเหมือนกัน
                      ไฟก๊าดนั้นฝรั่งเสศใช้ทั่วไปทุกบ้านทุกเรือน...
                     
                      จากหนังสือพิมพ์จดหมายเหตุสยามไสมย ฉบับเดือนตุลาคม พ.ศ. 2428 เล่ม 4 แผ่น 9


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 12 ม.ค. 17, 23:28
โคมไฟแก๊ส ด้านล่างดวงโคมมีช่องสำหรับอากาศเข้าและใช้จุดไฟ
ต่ำลงมาคาดว่าเป็นก้านหมุนเปิด-ปิดแก๊ส


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 13 ม.ค. 17, 21:49
โคมไฟฟ้าครับ


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 22 ม.ค. 17, 12:21
โคมไฟบนเสาไฟฟ้า ข้างวัดราชบุรณะหรือวัดเลียบ
เป็นเสาไม้ เสาต้นที่สองมีหม้อแปลงไฟฟ้าตั้งอยู่บนนั่งร้าน



กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 22 ม.ค. 17, 15:48
ตรงกลางคือโคมไฟฟ้าที่พระตำหนักสวนกุหลาบในพระบรมมหาราชวัง


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 29 ม.ค. 17, 15:23
ครับ ขอเสริมรายละเอียดที่ผมตั้งกระทู้ไว้ ว่าในปี พ.ศ. 2408 ซึ่งเป็นช่วงปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
หนังสือพิมพ์จดหมายเหตุ THE BANGKOK RECORDER เล่ม 2 ใบที่ 2 ได้ลงข่าวที่แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีเครื่องไฟฟ้าโทรเลขแล้ว
มีความว่า

              •   ผู้ลงหนังสือพิมพ์, ว่าซ้ำซากเซ้าซี้ด้วยเรื่องเตเลแครฟ, มีแทบทุกฉบับ.
      ด้วยเข้าใจว่าผู้อ่านได้ฟังแล้วจะพิศวง. ตื่นกันออโอ๋เปนที่สุดที่แล้ว.
      เดียวนี้ผู้อ่านรู้แล้วพิศวงเตมที. ออโอ๋จนต่อแห้ง, เสียงเกือบจะไม่มีอยู่แล้ว.
      ว่าตามจริงเตเลแครฟนั้น, ในกรุงนี้ก็มีแล้ว, ได้ลองทำดู, ก็มีผู้ทำใช้ได้แล้ว, ไม่อัศจรรยอะไรนัก.
      อย่าต้องลงพิมพ์บ่นซ่ำซากถึงเตเลแครฟนักเลย.

(เป็นปี พ.ศ. ที่สอดคล้องกับความคิดเห็นที่ 20 แต่ไม่ทราบว่าเป็นสถานที่เดียวกันหรือไม่ น่าจะเป็นสถานที่เดียวกัน)


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 29 ม.ค. 17, 16:19
ตามรายละเอียดที่ผมตั้งกระทู้ไว้ว่า
                       3 กันยายน พ.ศ. 2438 ประมาณ 18.00 น. รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินประพาสในพระนคร
                       จากพระที่นั่งจักรีมหาปราสาททางรถพระที่นั่ง เสด็จขึ้นทรงรถรางไฟฟ้าบริเวณถนนวังแล่นไปจนถึงสะพานเหล็ก
                       เสด็จทอดพระเนตรเครื่องจักรในโรงไฟฟ้าซึ่งผลิตไฟฟ้าให้แก่รถรางของบริษัท บางกอกแตรมเว จำกัด
                       (จากหนังสือพิมพ์กุมารวิทยา ฉบับที่ 3)
ประกอบกับรูปสะพานเหล็กล่าง ปัจจุบันคือสะพานทิพยเสถียร ตามความคิดเห็นที่ 38

ผมมีความเห็นว่าน่าจะเป็นครั้งแรกที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จทรงรถรางไฟฟ้าและทรงเสด็จโรงไฟฟ้าด้วย (ไม่ใช่โรงไฟฟ้าวัดเลียบ)


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 06 ก.พ. 17, 23:05
ขอเสริมรายละเอียดที่ผมตั้งกระทู้ไว้ ว่าในปี พ.ศ. 2388 ซึ่งอยู่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 หนังสือพิมพ์จดหมายเหตุ THE BANGKOK RECORDER เล่ม 1 ใบที่ 12 ได้ลงข่าวว่าในประเทศอเมริกาได้มีการสร้างและทดลองใช้โทรเลขได้เป็นผลสำเร็จแล้ว ทั้งนี้ผมขอลงเนื้อหาตามข่าวทั้งหมดซึ่งคิดว่าจะเป็นประโยชน์ในหลายๆ ด้านครับ มีความว่า

                                                                                Electro – Magnetic Telegraph
   จะว่าด้วยเครื่องส่งข่าว, ที่ทำด้วยเครื่องไฟฟ้ากับเครื่องแม่เหลกติดกันอย่างหนึ่ง, ทำเปนที่จะสำแดงให้รู้ข่าวเรว. เหมือนกับหนทางไกล ๒๐ โยชน์ ๓๐ โยชน์ ๔๐ โยชน์, เครื่องนั้นก็จะให้รู้ข่าวเรวรู้ใน ๒ นาที ๓ นาทีได้. ว่ามีคนหนึ่งชื่อว่าโมระซะ, อยู่ในเมืองอเมริกา, ได้คิดทำเครื่องส่งข่าวที่ว่ามานี้, คิดมาหลายปี. เครื่องส่งข่าวนั้นคือเขาคิดทำดังนี้, คือเอาลวดเหลกก็ดีลวดทองแดงก็ดีทำให้ยาวทำเปนสองสาย, ๆ หนึ่งจะส่งข่าวข้างโน้นมา, สายหนึ่งจะส่งข่าวข้างนี้ไป. สายหนึ่งนั้นมีลวดทบกันเข้าเปนสองเส้น ๆเหมือนกัน, ทำเหมือนกันทั้งสองสาย , แต่จะว่าแต่สายเดียวก็เหมือนกับว่าทั้งสองสายเหมือนกัน, แต่ว่ามันกลับหวัวกลับท้ายกันอยู่. สายหนึ่งนั้นเขาทบลวดเข้าเปนสองเส้นติดกัน, แต่ปลายลวดข้างจะส่งข่าวไปนั้นห่างกันอยู่แต่ภอจะกระทำให้กระทบกันได้. แต่ปลายข้างจะรับข่าวนั้นลวดมันชิดกัน. แล้วก็มีเครื่องที่จะเขียนอย่างหนึ่งติดกับปลายลวดที่ชิดกันนั้น. แล้วก็มีจักรอย่างหนึ่งเหมือนกับจักรแห่งนารกา, สำหรับจะได้ชักกระดาษให้เดินเสมอไปนั้น. ถ้าเขาจะส่งข่าวมาให้รู้แล้ว, เขาก็เอาเครื่องไฟฟ้ากับเครื่องแม่เหลกนั้นกระทำให้ปลายลวดที่แยกกันกระทบกันเข้าตามเรวแลช้า, แล้วเครื่องเขียนที่อยู่ปลายลวดข้างโน้นก็จะเขียนในกระดาษที่เดินอยู่นั้น, ตามที่เขาจะกระทำให้กระทบกันตามสำเหนียกตัวอักษรนั้น. แลคนที่รับข่าวนั้นก็จะรู้ข่าวตามที่เครื่องเขียนจะเขียนลงในกระดาษนั้น. อนึ่งถ้าคนที่รับข่าวถ้ารู้ข่าวแล้ว, แลจะส่งข่าวตอบมา ข้างนี้ก็เอาเครื่องไฟกับแม่เหลกกระทำเหมือนกันในลวดสายหนึ่ง, แล้วคนข้างนี้ก็จะรู้ข่าวตามที่เขียนนั้น. แลลวดสองสายนั้นอยู่เคียงกัน, แล้วก็กระทำสิ่งที่กำบังปกปิดสายลวดทั้งสองนั้น, มิให้เปนอันตรายด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่ง, มีฝนแลแดดเปนต้น, ตลอดไปตามสายลวดใกล้แลไกลนั้น. แลเจ้าเมืองอเมริการู้เหตุนั้นจึงให้เงินแก่โมระซะสามหมื่นเหรียน, ให้โมระซะนั้นกระทำซึ่งเครื่องส่งข่าวนั้นลองดู, ด้วยเหนว่าเครื่องนั้นจะเปนประโยชน์แก่เมืองเปนอันมาก. แล้วโมระซะก็กระทำซึ่งเครื่องนั้นตั้งแต่เมืองหลวงออกไปแห่งหนึ่งยาว ๔๘๐ เส้น, แลเมื่อทำยังไม่แล้ว, ๆ แต่ครึ่งหนึ่งคือ ๒๔๐ เส้น, เขาก็ลองดูในปีมโรง เดือน ๕ แรม ๗ ค่ำ. เมื่อลองดูก็ทำดั่งนี้, คือคนที่ส่งข่าวนั้นอยู่ปลายข้างหนึ่ง, คนที่รับข่าวนั้นอยู่ปลายข้างหนึ่ง. สองคนนั้นสอบนารกาให้เดินถูกกัน, คนที่จะส่งข่าวไปนั้นอยู่ใกล้หนทางที่รถไฟเดิน. เมื่อคนนั้นเหนรถไฟเกือบจะมาถึงที่ตนอยู่แล้ว, เขาก็ส่งข่าวไปตามอย่างที่ว่ามาแล้ว, ว่ารถไฟมาแล้ว. คนที่อยู่ปลายข้างโน้นก็รับข่าวในขณะนั้นข่าวนั้นไปถึงกันเรวนัก. รถไฟที่คนส่งข่าวแลเหนว่าเกือบจะมาถึงตัวนั้น, รถนั้นก็มายังไม่ทันจะพ้นผู้ส่งข่าวไป, ข่าวนั้นก็รู้ถึงข้างโน้นแล้วว่ารถไฟมาแล้ว. แลคนที่รับข่าวนั้นเมื่อรับก็กำหนดโมงแลนาทีเหมือนกัน. ทีหลังคนสองคนก็มารวมกัน, แล้วก็สอบเวลาที่ส่งข่าวแลรับข่าวตามโมงแลนาทีที่กำหนดไว้. จึ่งรู้ว่าข่าวนั้นไปเรวนักไม่ช้า, ครู่เดียวถึง
   จะว่าด้วยเครื่องส่งข่าวนั้นต่อไปอีก, ว่าเมื่อข้าพเจ้าแต่งเครื่องส่งข่าวที่ว่ามาแล้วแต่ข้างหลังนี้, เปนความในหนังสือข่าวใบหนึ่ง, แล้วข้าพเจ้าก็ดูในหนังสือข่างใบหนึ่งที่ตีภิมในเมืองนุยอกตีภิมเมื่อปีมโรงเดือนเจด. ข่าวนั้นว่าเขาทำเครื่องส่งข่าวนั้น, เขาทำตั้งแต่เมืองวัดชิงทันตลอดไปถึงเมืองบัลติโมร, เปนทางไกลศัก ๓ โยชน์ครึ่งเขาทำแล้ว, ไกลเหมือนทางไปจากกรุงเทพนี้ไปถึงบังไซ. แลเพลาวันหนึ่งมีคนผู้หนึ่งในเมืองบัลติโมระถามซึ่งเหตุการในเมืองวัดชิงทัน, ถามด้วยเครื่องส่งข่าวนั้น. คนที่อยู่ในเมืองวัดชิงทันก็บอกตอบมาด้วยเครื่องส่งข่าวนั้น, ข่าวนั้นรู้ถึงกันทั้งสองข้างนั้นเรวนักไม่ช้า, ศักนาทีเดียวเท่านั้น. แลในหนังสือข่าวนั้นว่า, ว่าเมื่อเขาทำเครื่องลวดส่งข่าวนั้น, เขาเอาเสาปักเรียงกันเปนระยะต่อๆ กันไปเปนอันมาก, จนถึงที่จะส่งข่างถึงนั้น. เสานั้นสูงพ้นดินประมาณ ๑๔ ศอก, แล้วที่ปลายเสานั้นเขาทำซึ่งแก้วกลมๆ ติดไว้กับปลายเสา, แล้วเขาเจาะซึ่งแก้วนั้นให้เปนรูตลอด, แล้วเอาลวดร้อยไปในรูแก้วนั้นตลอดต่อๆ ไปทุกเสาๆ จนถึงเสาที่สุดนั้น. เขาทำดั่งนี้ประสงค์จะไม่ให้ไฟฟ้านั้นเดินลงมาตามเสาได้, จะให้ไฟฟ้านั้นเดินไปตามเส้นลวดนั้น. ด้วยธรรมดาไฟฟ้านั้นมันรักษแก่เหลกแลทองแลไม้ แต่แก้วนั้นไฟฟ้าไม่รักษเลย. เหตุดั่งนั้นเขาจึ่งเอาลวดร้อยไปตามรูแก้วนั้น, ด้วยจะไม่ให้ไฟฟ้าติดไปตามแก้ว, จะให้ไฟฟ้าติดไปตามลวดนั้น. แลมีข่าวอีกข้อหนึ่งเขาตีภิมเมื่อปีมโรงเดือน ๙, ว่าเจ้าเมืองอเมริกายังจัดแจงกระทำซึ่งเครื่องส่งข่าวนั้นอยู่, จะกระทำตั้งแต่เมืองบัศะตันตลอดไปถึงเมืองนุยอก, แลตลอดไปถึงเมืองฟีละเดลเฟีย, แลไปถึงเมืองบัลติโมระ. ทางนั้นยาวศัก ๓๕ โยชน์, มากกว่าทางเมืองนี้ไปกรุงเก่าศัก ๗ เท่า. แลเครื่องส่งข่าวนี้ข้าพเจ้าก็เข้าใจว่าเจ้าเมืองนั้นจะเปนเจ้าของ, แต่จะเปนอย่างนั้นจริงหฤาไม่จริงข้ายังไม่รู้แน่. แลข้าพเจ้าก็เหนว่าเครื่องส่งข่าวจะเปนประโยชน์มากต่างๆ หลายอย่าง.

   ต่อไปจะพูดถึงคำว่า ไฟฟ้าหลังคาตัด ครับ


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 09 ก.พ. 17, 10:46
จากเนื้อหาที่ผ่านมาในกระทู้นี้ ผมขอคัดเรื่องราวที่แสดงถึงเหตุการณ์ในช่วงแรกเริ่ม เพื่อให้ง่ายต่อการพิจารณาเปรียบเทียบกับเนื้อหาประวัติไฟฟ้าไทยที่มีการเผยแพร่อยู่ก่อนแล้วในคำที่ว่า

                           1.   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราชกระแสรับสั่งอยู่เสมอว่า ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อ
                           2.   หลอดไฟฟ้าสว่างไสวเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2427

   มีดังนี้ครับ
                1.   พ.ศ. 2387  และ พ.ศ. 2388 ซึ่งอยู่ในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 หนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าหลายข่าว แสดงว่าประเทศไทยได้มีการรับรู้ข่าวสารเรื่องไฟฟ้าแล้ว

                2.   พ.ศ. 2399  ซึ่งอยู่ในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 แฮริสได้นำเครื่องไฟฟ้าเข้ามาในสยาม ได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้า มิเตอร์วัดไฟฟ้า
                                       ของเล่นและชุดสาธิตด้วยอานุภาพของไฟฟ้าต่างๆ (ตามความคิดเห็นที่ 26 และ 27) แสดงว่าประเทศไทยมีสิ่งประดิษฐ์ทางไฟฟ้าแล้ว

                3.   พ.ศ. 2408  ซึ่งอยู่ในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 หนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าว่าประเทศไทยมีเครื่องไฟฟ้าโทรเลขแล้ว
                                       ซึ่งสอดคล้องกับความคิดเห็นที่ 20 (เครื่องโทรเลข ในวังกรมหมื่นอลงกฏกิจปรีชา) แสดงว่าประเทศไทยมีโทรเลขแล้ว

                4.   พ.ศ. 2421  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้มีการทดลองใช้เครื่องโทรศัพท์ตัวอย่าง
                                       และทรงโปรดให้มีการติดตั้งใช้เครื่องโทรศัพท์ระหว่างสมุทรปราการถึงกรุงเทพฯ โดยใช้สายโทรเลขที่ติดตั้งอยู่แล้ว แสดงว่าประเทศไทยมีโทรศัพท์แล้ว

                5.   พ.ศ. 2423  เจ้าพระยามหินธรศักดิ์ธำรงค์ ได้มีหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
                                       ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง   เพื่อใช้ในงานสมโภชเฉลิมพระชนมพรรษา แสดงว่าประเทศไทยมีหลอดไฟฟ้าแล้ว

                6.   พ.ศ. 2426  หลวงปฏิบัติราชประสงค์ได้มีหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต
                                       ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างในพระบรมมหาราชวังแทนโคมไฟแก๊สโดยใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบใหม่ไม่มีแปรงถ่านซึ่งดีกว่าของหลวงที่มีอยู่ก่อนแล้ว

                7.   พ.ศ. 2427  พระองค์เจ้าชายทองแถมถวัลยวงศ์ได้ทรงมีลายพระหัตถ์ทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
                                      ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตติดตั้งโคมไฟฟ้าในสวนสราญรมย์โดยใช้โคมไฟฟ้าของหลวงที่อยู่แล้วแต่ไม่ได้ใช้งาน
                                      โดยครั้งหนึ่งนายเฮนรี อาลาบาศเตอร์ได้เคยซื้อชุดเครื่องไฟฟ้าเพื่อจะติดตั้งใช้แทนไฟแก๊สในสวนสราญรมย์นี้

ผมไม่พบคำว่า ไฟฟ้าหลังคาตัด ก่อนที่จะมีการติดตั้งสายไฟฟ้าตามเพดานโบกปูนหรือในช่วงแรกๆ ที่ไฟฟ้าเข้ามาในประเทศไทยที่กล่าวถึงข้างต้นนี้

ต่อไปจะพูดถึงคำว่า ไฟฟ้าหลังคาตัด เมื่อมีการติดตั้งสายไฟฟ้าตามเพดานโบกปูนไปสักระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ต่างกันมากครับ


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 09 ก.พ. 17, 13:11
                5.   พ.ศ. 2423  เจ้าพระยามหินธรศักดิ์ธำรงค์ ได้มีหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
                                       ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง   เพื่อใช้ในงานสมโภชเฉลิมพระชนมพรรษา แสดงว่าประเทศไทยมีหลอดไฟฟ้าแล้ว


ข้อสรุปนี้ ไม่ถูกต้องครับ
ควรแยกระหว่าง electric arc lamp กับ electric light bulb
หลอดไฟฟ้าเข้ามาหลังจากนั้นครับ



กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 09 ก.พ. 17, 18:33
ผมว่าถูกต้องแล้วครับ
ในความหมายว่า หลอดไฟฟ้า คือ อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้แทนตะเกียง เทียนไข คบ ไต้ เพื่อให้แสงสว่าง
หลอดไฟ LED ก็เหมือนกันแหละครับ

เพียงแต่ในยุคนั้นมีหลอดไฟฟ้าอยู่ 2 ประเภทคือหลอดไฟฟ้าประเภทอาร์คไลท์ และ หลอดไส้หรือหลอดอินแคนเดนเซนต์ (ประวัติและรูปภาพหลอดไฟฟ้าหาได้ไม่ยาก)
โดยหลอดอาร์คไลท์มีขึ้นก่อนหลอดไส้
ซึ่งหลอดอาร์คไลท์จะมีแสงกระพริบเพราะจากการอาร์คหรือสปาร์คของแท่งคาร์บอน มักจะติดตั้งในสถานที่โล่งๆ หรือภายนอกอาคาร



กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 11 ก.พ. 17, 08:10
หลักๆ แล้ว ในสมัยนั้น เมื่อไฟฟ้าได้ถูกติดตั้งในอาคารสถานที่ต่างๆ ที่เป็นคอนกรีตไปซักระยะหนึ่งแล้ว เช่นเพดานหลังคาคอนกรีต (ไฟฟ้าหลังคาตัด)
ได้เกิดปัญหาจากการเสื่อมสภาพของฉนวนไฟฟ้าที่หุ้มสายไฟฟ้าประกอบกับการเสื่อมสภาพของพื้นผนังเพดานคอนกรีต (ปูน)
ที่เกิดการแตกร้าวทำให้น้ำเช่นน้ำฝนรั่วไหลถูกสายไฟฟ้าได้
 
ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชหัถเลขาไปยังเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ เมื่อปี พ.ศ. 2449

ลิงค์ประวัติของมหาอำมาตย์นายก เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เมื่อครั้งที่ท่านดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ ผู้มีคุณูปการยิ่ง
http://pradub-sukhum.com/Yomaraj.html/The%20King%20Letters/(2).html

ขออนุญาตอ้างถึงเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องครับ ดังนี้

สวนดุสิต
วันที่ ๓๑ ม.ค. รัตนโกสินทรศก ๑๒๕
พระยาสุขุม
วันนี้เข้าใจว่าเจ้าจะฟกเต็มทีจึงได้หายไป แต่ความจริงนั้นสามารถที่จะบอกได้ว่า งานที่เป็นหลักถานนับเป็นแล้วสำเร็จ
ถึงชั้นติดรูปริทูกราฟแลโฟทูกราฟ ซึ่งกล่าวไว้ว่าเป็นที่สุดแห่งงานอื่นๆ ต่อนี้ไปจะต้องไปทำงานแต่วันละสักชั่วโมงหนึ่งฤๅ ๒ ชั่วโมงก็พอ
เป็นอันสม ปราถนาที่จะได้หยุดพักไม่ให้เหน็จเหนื่อยฉาบน่างาน แต่อีกฝ่ายหนึ่งในส่วนงานที่ต้องทำมาจากที่อื่นยังขาดค้างมากจนนึกหนักใจว่า
ในเวลางานจะไม่พ้นจากจับอะไรเข้าเปียกเปื้อนสี มือเหนียวน้ำมันอย่างแต่ก่อนๆ มา กล่าวคือฝาขั้นห้อง ตู้ในภาคปรัศจิม กรอบรูป
ซึ่งจะต้องซ่อมแลทำขึ้นใหม่เป็นต้น ซึ่งเป็นงานของดุ๊กมากกว่างานของเจ้า จำจะต้องช่วยกันพัดไว้ ด้วยใกล้ตรุศม์จีนเข้าไปทุกวัน
ถ้านั่งเพลินๆ ไปถึงตรุศม์จีนถึงจะเฆี่ยนให้ตายเจ๊กก็ไม่ยอมทำ ถ้าตรุศม์จีนแล้วจึงได้มาติดมาตั้งเป็นไม่พ้นมือเปื้อนมือเหนียว
ข้อสำคัญ ๓ ประการ ซึ่งได้กำชับไว้ คือน้ำที่จะขึ้นไปบนพระที่นั่ง วันนี้ปรากฎแล้วว่าบนห้องเล็กชั้นบนไม่มีน้ำทั้งที่ได้นัดหมายกันไว้
ยังล่องแลถังกับทั้งท่อไม่เคยมีสมประดีในเมืองไทย อย่างเดียวกันกับไฟฟ้าหลังคาตัดเป็นข้อที่ ๒ กับหลังคาตัดเป็นข้อที่ ๓ ซึ่งได้รับอาญัตไว้นั้น
ขอให้พิจารณาให้จงมาก
สยามินทร์


สวนดุสิต
วันที่ ๑ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๕
ถึง พระยาสุขุม
การเรื่องนี้ก็ไม่ประหลาดอะไร แต่เป็นธรรมเนียมฝนตกเคยตรวจมาสำหรับได้แก้ไข หลวงศักดิ์ได้ขึ้นไปตรวจบนหลังคายื่นรายงานว่า
ชั้น ๓ รั่วด้วยรางน้ำ ๖ แห่ง รั่วด้วยปูนแตก ๓ แห่ง ชั้น ๒ รั่วด้วยรางน้ำ ๘ แห่ง รั่วด้วยปูนแตก ๒๑ แห่ง รั่วด้วยสายถูกไฟฟ้า ๒ แห่ง
นี่ตรวจบนเพดาน ส่วนในห้องนั้นที่ห้องมุขหลังรั่วเฉลียงเหนือน้ำนองทีเดียว ไม่ใช่รั่วราง ห้อง เตอรกีรั่วกลางๆ เฉลียง มุขขวางรั่ว ๒ แห่ง
ห้องสีชมภูสีฟ้าเฉลียงด้านเหนือลมเป่าสายฝนเข้ามาตามช่องเชิงฝาอย่างที่เล่าให้ฟังวันนี้ว่าปูเข้ามาได้ ช่องเช่นนี้โทษถึงต้องอุด
ห้องสีน้ำเงินที่เฉลียงสายไฟฟ้าเปียก ไฟฟ้าไม่เดิน เรื่องไฟฟ้ากับน้ำฝนนั้นน่ากลัวอยู่หน่อยหนึ่ง เข้าใจว่าตามเฉลียงจะไม่มีท่อเหล็ก
จะเป็นสายหุ้มไหม ถ้าเป็นสายหุ้มไหมแรกๆ ก็ไม่เป็นไร ถ้าสายผุไฟฟ้าอาจเดินได้ด้วยถูกน้ำอยู่ข้างรวังยาก ลมวันนี้เป็นตวันออกแลตวันออกเฉียงใต้
มุขในระหว่างมุขหลังแลมุขขวางยื่นออกไปมาก ข้างด้านตวันตกกลับไม่สาด ไปสาดปูเข้าตามเชิงฝาด้านเหนือ แต่ถ้าเป็นฝนฤดู
มาทางตวันตกเห็นจะยิ่งกว่านี้มากจะต้องเตรียมตัวไว้คอยรับ
สยามินทร์


วันที่ ๓
ถึง เสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ
ด้วยเมื่อณวันศุกร์ที่ ๑ มีนาคม ฝนตกหนัก โทรศัพท์ ในระหว่างสเตชั่น หูเจ้าถนอมไปถึงสเตชั่นหัวใจเดินไม่สะดวกได้บอกโทรศัพท์แต่วันที่ ๒ เวลาดึก
จะเป็นกี่ทุ่มไม่ทราบแน่ เพราะนาฬิกาเดินไม่สะดวก ลูกตุ้มเบาไป พึ่งได้รับโทรศัพท์ต่อวันนี้เวลาบ่าย ๔ โมง เห็นว่าช้าเกินนัก ด้วยระยะทางแต่หูถึงใจ
ถ้าหูซ้ายก็ไม่กี่เซนติเมเตอร์ ถ้าหูขวาก็ไม่ถึงครึ่งเมเตอร์จะว่าไฟฟ้าไม่เกินตลอดเวลาตีสายไม่ได้ก็ไม่ใช่ ถ้าจะไฟฟ้าไม่เดินก็คงเพียง ๘ ชั่วโมงหรือ ๙ ชั่วโมง
คือตั้งแต่ ๘ ทุ่มจน ๔ โมง หรือ ๕ โมงเช้าไฟฟ้าคงจะเดิน สงไสยว่าจะเป็นด้วยบุรุษไปรษนีย์เกียจคร้านเสียไม่เดิน ในเท้าบุรุษไปรษนีย์ผู้นี้อยู่ข้างจะเชือนแชอยู่บ่อยๆ
นายสเตชั่นส่งโทรเลขให้ไปแล้วก็ไม่เดินไปหลบหลีกนั่งนอนเสียในที่ใด จึงได้เกิดเหตุขึ้นดังนี้ จะควรแก้ไขโทรศัพท์ในระหว่างบางหูไปหาบางใจอย่างไรได้


ขอเสริมครับ คือว่า พระราชหัตถเลขา วันที่ ๑๔ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๕ ในลิงค์ มีคำว่า พัดลม ด้วยครับ แสดงว่ามีการใช้พัดลมในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว

ต่อไปจะขอพูดถึงคำว่า ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อ ครับ


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 11 ก.พ. 17, 10:49
พัดลม ต้องตีความให้ดีว่าเป็นพัดลมชักด้วยมือ ที่ใช้ผ้าขึงไว้บนเพดาน หรือ พัดลมไฟฟ้า แต่ดูแนวโน้มว่าจะเป็นพัดลมชักมือเสียมากกว่า เพราะถ้ามีพัดลมควรจะกล่าวถึงเรื่อง ปลัํกไฟ ด้วย


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 11 ก.พ. 17, 21:28
ขอบคุณมากครับ ไม่ทราบมาก่อนว่ามีพัดลมแบบชักด้วยมือด้วย
เหมือนกับที่ไม่ทราบมาก่อนว่าสะพานเหล็กมีทั้งสะพานเหล็กบนและสะพานเหล็กล่าง

แต่ก็ขอตั้งเป็นที่สงสัยไว้ก่อน ว่าเป็นพัดลมประเภทใดกันแน่

คำว่าพัดลมนี่ พาผมสับสนงงเสียเวลาอยู่ไม่น้อย ใจก็พยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับพัดลมเป่าคน
เช่นว่า พัดลมระบายอากาศร้านอาหารตามสั่งข้าวราดผัดกระเพราไข่ดาว จะเรียกว่าพัดลมด้วยหรือไม่  ???
 
เพราะข้อมูลเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าวัดเลียบใช้คำว่าพัดลม ขนาด 100 โวลต์ 100 เฮิร์ต
สำหรับเป่าลมเข้าไปผสมในการเผาไหม้แกลบเพื่อให้ควันเท่าถ่านปลิวออกมาทางปล่องควันไปรบกวนพระภิกษุสามเณรน้อยลง (ตามความเห็นที่ 47)

ขออนุญาตนำประโยคในลิงค์ที่พูดถึงมาลงครับ มีความว่า
                         เรื่องพัดลมนั้น ได้ว่าเองว่ารกรุงรังนัก ถ้าขายคนถื่นไม่ได้ ขายกันเองในกระทรวงวังก็ได้
                         ได้เคยพูดกับหลวงนริศไว้บ้างแล้วให้เริ่มหาพัดตั้งเสีย ถ้าไม่มีควรสั่งก็จะต้องสั่ง


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 12 ก.พ. 17, 11:10
ภาพสวิทซ์ไฟและปลั๊ก ในห้องเครื่องของพระวิมาดาเธอฯ วังสวนดุสิต


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 13 ก.พ. 17, 20:02
ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมในความคิดเห็นที่ 94
ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในช่วงแรกเริ่ม เพื่อให้ง่ายต่อการพิจารณาเปรียบเทียบกับเนื้อหาประวัติไฟฟ้าไทยที่มีการเผยแพร่อยู่ก่อนแล้วในคำที่ว่า
                                 1. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราชกระแสรับสั่งอยู่เสมอว่า ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อ
                                 2. หลอดไฟฟ้าสว่างไสวเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2427

เป็นการที่เจ้าหมื่นไวยวรนารถได้มีหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2427 (ก่อนวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2427 ไม่ถึง 2 เดือน) มีความตอนหนึ่งว่า
 
          เมื่อเดิมข้าพระพุทธเจ้าได้ขอพระบรมราชาณุยาท ที่จะคิดทำเครื่องไฟฟ้าสำหรับใช้ในโรงทหาร แลโปรดเกล้าฯ
ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นปจักษศิลปาคมกะดวงไฟที่จะใช้ในที่ต่างๆ แลจะจัดใช้เครื่องสติมสำหรับหุงต้มเลี้ยงทหารแลการอีกหลายอย่าง
ได้ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุยาทแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าได้ส่งบาญชีของที่จะต้องการต่างๆ ออกไปให้
พระวงษเธอพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ให้สืบราคา ได้ทำเอศติเมศส่งเข้ามายังข้าพระพุทธเจ้าฯ ได้ตรวจดู เหนเปนเงินนั้นมาก
ข้าพระพุทธเจ้าได้ทูลปฤกษากับพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นเทววงษวโรประการให้ทรงทราบ ท่านรับสั่งว่าเงินแผ่นดินยังหามีจะภอจ่ายไม่
ข้าพระพุทธเจ้าก็จะจัดการไปก่อน ภอจะไม่ให้เสียการ แลจะไม่ให้เสียพระราชทรัพย์ของแผ่นดินมาก แต่การไฟที่จะใช้ในโรงทหารใหญ่นั้น
ข้าพระพุทธเจ้ายังมีความวิตกเปนล้นเกล้าฯ ด้วยจะต้องใช้ไฟหลายร้อยดวงไฟ ไฟที่กะไว้นั้นภอสว่างภอที่จะเดิรไปมาไม่โดนของที่ตั้งอยู่เท่านั้น
แต่ไฟเวลานี้ก็ต้องใช้น้ำมันปิดเตลียม เพราะเปนน้ำมันถูกกว่าน้ำมันไฟอื่นๆ แต่โสหุ้ยต้องเสียมาก คือต้องซื้อโคมในคราวแรก
ค่าไส้ตะเกียงที่ต้องใช่อยู่เสมอ ๑ ค่าโคมชำรุธ ๑ ค่าน้ำมัน ๑ แล้วโคมที่ใช้น้ำมันตั้งร้อยดวงดังนี้แล้ว ก็คงจะมีเอกซิเดนบ้างเปนแน่
ท่าน้ำมันตกติดไฟขึ้นก็เปนที่น่ากลัวมาก บางทีจะเปนอันตรายใหญ่ได้ ข้าพระพุทธเจ้าเหนด้วยเกล้าฯ ดังนี้จึงได้มีความวิตกเปนล้นเกล้าฯ
ไม่ทราบเกล้าฯ ว่าจะผ่อนผันใช้ไฟอย่างไรให้เปนที่ไว้ใจได้....
(จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 นก/36 หน้า 918-919)


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 14 ก.พ. 17, 14:24
ให้ภาพพัดลมไฟฟ้า ตั้งบนโต๊ะ (ล่างของภาพ) ณ ห้องบรรทมชั้น ๓ พระที่นั่งอัมพรสถาน สมัยรัชกาลที่ ๕


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 15 ก.พ. 17, 08:36
จากที่ได้มีการเผยแพร่เกี่ยวกับประวัติไฟฟ้าไทยในช่วงแรกเริ่ม ที่ว่า

                      เมื่อเจ้าหมื่นไวยวรนารถกลับมาจากยุโรป ก็ได้กราบทูลพระกรุณาเล่าถวายให้ฟังว่า “ที่กรุงปรารีสซึ่งเป็นเมืองหลวง
                      ของประเทศฝรั่งเศสนั้นเขาใช้ไฟฟ้ากันทั่วทั้งเมืองและเขาเป็นที่ไว้วางใจกันได้ด้วย
                      อยากจะทำไฟฟ้าใช้ในเมืองไทยบ้าง” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยมีพระบรมราชกระแสรับสั่งอยู่เสมอว่า “ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อ”
                      การที่จะให้ทำไฟฟ้าขึ้นใช้ให้สำเร็จ จำต้องลงทุนลงรอนของตนก่อน.........
                      (จากหนังสือประวัติการของจอมพลและมหาอำมาตย์เอกเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. ๒๕๐๔)


อยากให้พิจารณาเปรียบเทียบกับการลงข่าวในหนังสือพิมพ์ว่าราชทูตสยามที่ออกไปเจริญทางพระราชไมตรี ณ ประเทศฝรั่งเศส ได้บรรยายถึงสภาพต่างๆ ของสังคมฝรั่งเศสที่ได้พบเจอมา ที่ว่าฝรั่งเศสใช้ไฟแก๊สหรือไฟก๊าดทั่วไปทุกบ้านทุกเรีอน (เคยได้นำมาลงไว้ในความคิดเห็นที่ 86) มีความตอนหนึ่งว่า

                      ตามสองข้างถนนนั้นมีเสาเหลกกาไหล่ทองแดง สูงประมาณห้าศอกปักห่างกันประมาณแปดวา
                      แต่ปักเยื้องกันเปนฟันปลา บนปลายเสาใส่โคมแก้ว ตามไฟในเวลากลางคืนไฟที่ตามโคมนั้นฝรั่งเสศเรียกไฟก๊าด
                      เปนของประหลาดไม่ต้องใช้น้ำมัน แลใส่เหมือนตะเกียงธรรมดา เวลาเยนเปิดกอกไฟก๊าดไปทั่วทุกเสาโคม
                      เสาโคมเปนหลอดขึ้นไป เอาแต่ไฟจุดปลายหลอด ก็ติดสว่างดีกว่าตะเกียงที่ตามด้วยน้ำมัน เมื่อจะให้ดับก็บิดควงเสีย
                      อย่าให้ลมก๊าดเดินได้ไฟก็ดับ บางถนนที่แคบนั้นก็เอาเหล็กทำเปนกิ่งติดเข้ากับผนังตึก มีโคมแก้วตามไฟก๊าดเหมือนกัน
                      ไฟก๊าดนั้นฝรั่งเสศใช้ทั่วไปทุกบ้านทุกเรือน........                     
                      (จากหนังสือพิมพ์จดหมายเหตุสยามไสมย ฉบับเดือนตุลาคม พ.ศ. 2428 เล่ม 4 แผ่น 9)


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 15 ก.พ. 17, 10:25
คำว่า"ไฟฟ้าหลังคาตัด" ข้าไม่เชื่อ ผมคิดว่าเป็นสร้อยคำ

หลังคาตัด คือหลังคาแบนที่เรียกว่า Flat roof ที่เห็นกันในเมืองฝรั่งมังค่า ถ้าคิดจะเอามาทำในเมืองไทยบ้างจะมีปํญหามากมายเรื่องแตกร้าวฝนรั่ว มีคนเอามาทำแล้วบอกว่าดี "ข้าไม่เชื่อ"

คือไม่ทรงเชื่อทั้งไฟฟ้าและหลังคาตัด


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 15 ก.พ. 17, 16:15
วันจันทร์ 21 มิถุนายน 2423

ในตอนหาเครื่องตกแต่งพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ความว่า "แล้วกรมภูธเรศกับพระยานรรัตน์เข้าเฝ้าขอซ่อมทองคำแว่นฟ้า แล้วพระองค์เจ้าทองใหญ่เฝ้าทรงด้วยโคมไฟฟ้า ซึ่งจะติดเสาใหญ่พระเมรุกับรับสั่งให้ทำระย้าแขวนพระเมรุด้วย"

วันที่ 27 มิถุนายน 2423
เวลา 2 ทุ่มเสด็จออกหอธรรมสังเวช รับสั่งกับกรมพระยาบำราบปรปักษ์ จะทอดพระเนตรไฟฟ้าที่ท่านมีอยู่ วันนี้ท่านมาจุดทูลเกล้าฯถวายอัฏฏวิจาร ณ ศาลา ใช้แบบตารี่ 100 หนึ่ง แต่ไม่ได้ประทับทอดพระเนตรด้วยฝนตก

วันที่ 28 มิถุนายน 2423
เวลา 2 ทุ่ม วันนี้ไม่ได้ประทับอัฏฏวิจารศาลา และที่ทิมคดมหาปราสาท ซึ่งสมเด็จกรมพระบำราบปรปักษ์ทรงจัดโคมไฟฟ้าทูลเกล้าฯ ถวายครู่หนึ่งแล้วเสด็จขึ้น ใช้ 310 แบบตารี


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 15 ก.พ. 17, 21:24
ด้วยที่มีการกล่าวมาแล้วข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามความคิดเห็นที่ 101
ที่เจ้าหมื่นไวยวรนารถได้มีหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2427
ระบุว่า "ได้ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุยาทแล้ว"
แล้วจะมีคำว่า "ทรงมีพระบรมราชกระแสรับสั่งอยู่เสมอว่า ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อ" ในปี พ.ศ. 2504 ได้อย่างไรครับ


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 16 ก.พ. 17, 12:54
หาไม่เจอว่าท่านจขกท. ตั้งใจจะเขียนพ.ศ.อะไร แทนที่จะเป็น 2504


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 16 ก.พ. 17, 18:37
ตามความคิดเห็นที่ 103 ครับ
(จากหนังสือประวัติการของจอมพลและมหาอำมาตย์เอกเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. ๒๕๐๔)
อยู่ในปกรณ์ ๓๐ เรื่องทำการไฟฟ้า

เข้าใจว่าประวัติไฟฟ้าไทยในช่วงแรกเริ่ม ที่มีการเผยแพร่อยู่ทุกวันนี้ ได้นำข้อมูลมาจากหนังสือเล่มนี้


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 ก.พ. 17, 08:08
อ้อ หนังสือซึ่งพิมพ์ในปี ๒๕๐๔

ไม่ใช่ "ทรงมีพระบรมราชกระแสรับสั่งอยู่เสมอว่า ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อ" ในปี พ.ศ. 2504

ครับ แล้วไป ผมเพียงแต่จะทวนความว่าทรงมีพระราชกระแสดังกล่าวจริงๆแล้ว ปีไหน


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 17 ก.พ. 17, 19:02
ขอตั้งคำถามบ้าง มี 3 ข้อครับ

              ข้อ 1 บิดาแห่งการไฟฟ้าไทยคือใคร
              ข้อ 2 ได้รับการสถาปนาจากใคร หรือหน่วยงานใด
              ข้อ 3 เมื่อใด

มีคำตอบมากกว่า 1 ข้อ ถึงค่อยตอบนะครับ


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 17 ก.พ. 17, 20:11
ขอตั้งอีก 1 คำถามครับ

คำถามมีว่า
ก่อนที่จะมีกระทู้นี้ ท่านทราบพระราชกรณียกิจหรือพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 อย่างไรบ้าง
นอกเหนือจากกับคำว่า "ทรงมีพระบรมราชกระแสรับสั่งอยู่เสมอว่า ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อ"
(โดยรวม เห็นแต่ข้ามไปเรื่องไฟฟ้าสยามคอร์ปอเรชั่นและไฟฟ้าหลวงสามเสน ซึ่งอยู่ในรัชสมัยรัชกาลที่ 6)


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 ก.พ. 17, 20:12
ขอตั้งคำถามบ้าง มี 3 ข้อครับ

              ข้อ 1 บิดาแห่งการไฟฟ้าไทยคือใคร
              ข้อ 2 ได้รับการสถาปนาจากใคร หรือหน่วยงานใด
              ข้อ 3 เมื่อใด

มีคำตอบมากกว่า 1 ข้อ ถึงค่อยตอบนะครับ

ถ้าจะให้นึกถึงบิดาแห่งการไฟฟ้าไทย อันดับแรกที่คิดถึงก็ควรจะเป็น ผู้ที่นำไฟฟ้าเข้ามาติดที่โรงทหารให้ความสว่างไสว นั่นก็ควรจะเป็น "เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) และควรได้รับสถาปนาจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการไฟฟ้านั่นก็ควรจะเป็น "การไฟฟ้านครหลวง" ที่ไม่ใช่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตหรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแต่อย่างใด


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 17 ก.พ. 17, 20:49
จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิเคราะห์ว่าข้อมูลต่างๆ เป็นจริงหรือไม่ เป็นไปได้หรือไม่

เช่น ในหนังสือนี้ที่จัดทำเรียบเรียงโดยเครือญาติได้บอกว่า เจ้าหมื่นไวยวรนารถได้ขายที่ดินแปลงหนึ่งที่ตำบลวัดละมุดบางอ้อ ในราคาเท่าทุน คือราคา 180 ชั่ง เพื่อเอาไปซื้อสิ่งของและใช้หนี้สินเขาด้วย

แต่จากหลักฐานอื่นพบว่า ได้ขายที่ดินตำบลบางอ้อ 3 แปลง และตำบลวัดละมุด 1 แปลง รวมเป็น 4 แปลง ในราคา 144 ชั่ง จากที่ซื้อไว้ 87 ชั่ง ได้กำไร 56 ชั่ง
(จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร ม.ร. 5 นก/22 เลขที่ 279 หน้า 734-735)



กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 17 ก.พ. 17, 21:19
โดยส่วนตัว ผมมีความเชื่อเป็นอย่างยิ่ง ว่าเจ้าหมื่นไวยวรนารถ (เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี) ผู้มีคุณูปการต่อแผ่นดินไทยเป็นอย่างยิ่ง ว่าท่านเป็นผู้ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างในโรงทหารน่าหรือกระทรวงกลาโหมในปัจจุบัน
แต่ผมไม่เชื่อว่าท่านจะขายที่ดินเพื่อนำมาซื้อเครื่องไฟฟ้าด้วยเหตุที่พระองค์ทรงมีพระบรมราชกระแสรับสั่งอยู่เสมอว่า ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อ
แต่เป็นเพราะเงินหลวงไม่พอ ในชั้นแรกใช้งบประมาณที่สูงมาก ท่านคงบั่นทอนตามเงินที่ท่านมีอยู่ (ท่านเพิ่มเติมกระทรวงกลาโหมเป็น 3 ชั้น จากแบบแปลนเดิม 2 ชั้น)


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 19 ก.พ. 17, 09:05
        เจ้าหมื่นไวยวรนารถคงคิดว่าเงินขายที่ดิน 144 ชั่ง เมื่อนำไปซื้อสิ่งของและใช้หนี้สินเขาแล้วนั้นเหลือไม่มากพอแก่การซื้อเครื่องไฟฟ้าไปติดตั้งในโรงทหารน่า (กรมยุทธนาธิการ)
จึงได้มีหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 อีกครั้ง (หลังจากที่รัชกาลที่ 5 เคยได้ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ
พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เจ้าหมื่นไวยวรนารถติดตั้งเครื่องไฟฟ้าไปแล้ว แต่ติดขัดที่ต้องใช้เงินมาก เงินหลวงไม่พอ) ตามความคิดเห็นที่ 101

         คาดว่าเจ้าหมื่นไวยวรนารถคงได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้เงินหลวงไปใช้จ่ายเรื่องเครื่องไฟฟ้านี้ ในปริมาณเงินที่สูงกว่าเงินที่เจ้าหมื่นไวยวรนาถมีอยู่มาก
อันสังเกตจากการที่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์ ทรงมีลายพระหัตถ์ทูลเกล้าถวายแด่รัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2435 (จากการที่รัชกาลที่ 5
ทรงจะต้องพระราชประสงค์ใช้ข้อมูลแสดงความคิดเห็นจากหลายๆ ฝ่าย ว่ารัฐบาลควรจะทำอย่างไรกรณีบริษัทไฟฟ้าสยามขาดเงินลงทุน เพื่อทรงพระบรมราชวินิจฉัย
มีใจความตอนหนึ่งว่า
        "ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เกล้ากระหม่อมรับราชการในกรมยุทธนาธิการตำแหน่งผู้บัญชาการยุทธภัณฑ์ จึงได้เป็นผู้รักษาและจัดการการไฟฟ้าอันมีอยู่แล้ว
ได้จุดใช้ราชการหลายครั้งก็ไม่เป็นการสะดวกติดบ้างดับบ้างต้องจัดการแก้ไขกันไปต่างๆ ไม่หยุด แก้ไปแก้มาเครื่องไหม้จุดอีกไม่ได้ต่อไป
ทำไม่ได้ในเมืองไทยต้องส่งเครื่องออกไปทำใหม่ที่ยุโรป ... บัญชีจ่ายในการซ่อมทำเครื่องไฟฟ้าเช่นนี้แพงมิใช่เล่น
ได้เคยเห็นมาแต่ก่อนเมื่อรับราชการเป็นผู้บัญชาการใช้จ่ายในกรมยุทธนาธิการ ได้ตั้งเบิกเงินที่จ่ายในการทำเครื่องไฟฟ้านั้นด้วยร้อยด้วยพันชั่ง
ซึ่งรู้สึกเต็มใจว่าไม่ได้รับประโยชน์จากทุนที่ลงไป แม้แต่หนึ่งในส่วนร้อยก็ทั้งยาก ลมเจียนจะจับทีเดียวแต่จำต้องเบิกจ่ายไป ตัดรอนไม่ได้เพราะเป็นการเก่าที่ทำแล้ว"
(จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 น/93 น10/2 หน้า 77-81)


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 25 ก.พ. 17, 09:57
ประวัติไฟฟ้าไทยในช่วงเริ่มแรก ที่มีการเผยแพร่อยู่ก่อนแล้ว ที่ว่า

                         เจ้าหมื่นไวยวรนารถอยากให้ระย้าที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทใช้ไฟฟ้า แต่ครั้นจะกราบบังคมทูลก็เห็นว่าคงไม่สำเร็จ
           เพราะเมื่อเจ้าหมื่นไวยวรนารถกลับมาจากยุโรป ได้กราบบังคมทูลว่า “ที่ฝรั่งเศสเขาไว้ใจใช้ไฟฟ้ากันทั่วทั้งเมือง อยากจะทำไฟฟ้าในเมืองไทย”
           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยมีพระบรมราชกระแสรับสั่งอยู่เสมอว่า “ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อ” เจ้าหมื่นไวยวรนารถจึงต้องลงทุน
           ขายที่ดินของตนเพื่อนำเงินมาซื้อเครื่องไฟฟ้า
           (ความคิดเห็นที่ 86 ฝรั่งเศสใช้แก๊สทั่วทุกบ้านทุกเรือน)

ประเด็นสำคัญคือคำว่า “เคยมีพระบรมราชกระแสรับสั่งอยู่เสมอ

ทำไมพระองค์ต้องรับสั่งอยู่เสมอ?

ดูขัดๆ แปลกๆ สมเหตุสมผล สมแก่ช่วงเวลาไหมครับ


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 04 มี.ค. 17, 18:12
จากที่ว่า
                   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยมีพระบรมราชกระแสรับสั่งอยู่เสมอว่า “ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อ” เจ้าหมื่นไวยวรนารถจึงต้องลงทุนขายที่ดินของตน

ก็ได้มีการเผยแพร่ต่ออีกว่า
                   เจ้าหมื่นไวยวรนารถจึงต้องลงทุนขายที่ดิน 180 ชั่ง แล้วจัดให้นายมาโยลาครูฝึกทหารม้าวัดระยะทางจากโรงทหารน่า (กระทรวงกลาโหม) ถึงพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
          แล้วเดินทางไปประเทศอังกฤษเพื่อซื้อเครื่องไฟฟ้าโดยสายไฟฟ้าที่ใช้ข้ามถนนให้เป็นเคเบิ้ลฝังใต้ดิน ซื้อเครื่องไดนาโมสองเครื่องเพื่อผลัดเปลี่ยนกัน
          ซื้อโคมไฟขนาดใหญ่ตั้งบนหอนาฬิกา ซื้อโคมหลอดอาร์คไลท์หลายดวง เครื่องหลอดแก้วและโคมต่างๆ สำหรับใช้กับกิ่งระย้าแก้ว
          ให้นายมาโยลาเรียนวิชาสำหรับเข้าเป็นช่างไฟและช่างกลด้วย เมื่อกลับเข้ามากรุงเทพฯ ก็ติดตั้งที่โรงทหารน่าก่อนแล้วติดไฟฟ้าที่ระย้าแก้วในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทต่อไป........

ได้มีข้อสงสัยว่าเป็นไปได้หรือไม่ หรือเป็นเรื่องเหลือเชื่อหรือไม่ ดังนี้
           1.   ถ้าหมายถึงรัชกาลที่ 5 ทรงไม่พระราชทานพระบรมราชานุญาต แล้วเจ้าหมื่นไวยวรนารถจะสามารถกระทำการต่างๆ ดังกล่าวได้เชียวหรือ
           2.   วิธีการต่างๆ เช่นการเดินสายไฟฟ้าข้ามถนนเป็นเคเบิ้ลฝังใต้ดิน ซื้อเครื่องไดนาโมสองเครื่องเพื่อผลัดเปลี่ยนกัน ให้นายมาโยลาไปเรียนวิชาไฟฟ้าในต่างประเทศ สำหรับในสมัยนั้นดูแปลกๆ อยู่
           3.   เงินขายที่ดินจำนวน 180 ชั่งเพียงพอสำหรับการอย่างนี้หรือไม่


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 05 มี.ค. 17, 13:53
                                       การที่เจ้าหมื่นไวยวรนารถได้มีหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายแด่รัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2427 (ตามความคิดเห็นที่ 101)
ประกอบกับที่มีการเผยแพร่ว่า
                                       หลอดไฟฟ้าสว่างไสวเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2427


ได้มีข้อสงสัยว่าเป็นไปได้หรือไม่ หรือเป็นเรื่องเหลือเชื่อหรือไม่ เพิ่มอีกว่า
           4.   ระยะเวลาเพียงไม่ถึงสองเดือนการดำเนินการตามความคิดเห็นที่ 117 จะสามารถทำได้หรือไม่


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 25 มี.ค. 17, 20:48
ที่มีการเผยแพร่กันมาว่า หลอดไฟฟ้าสว่างไสวเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2427
ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันว่าก่อนหน้านั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยมีพระบรมราชกระแสรับสั่งอยู่เสมอว่า “ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อ”

เรื่องราวต่างๆ หลายเหตุการณ์ก่อนวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2427 ที่ได้กล่าวมาแล้วในกระทู้นี้ เพียงแต่ละเหตุการณ์ก็เพียงพอที่จะกล่าวได้ว่า
คำว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยมีพระบรมราชกระแสรับสั่งอยู่เสมอว่า “ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อ” นั้นไม่เป็นความจริง

สำหรับในประเด็นนี้ เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังปี พ.ศ. 2427 ก็ไม่จำเป็นต้องมีการกล่าวถึง

อีกทั้งการนำประโยคหรือสำนวนของคำที่ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยมีพระบรมราชกระแสรับสั่งอยู่เสมอว่า “ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อ”
มาใช้แสดงถึงเหตุการณ์ในช่วงแรกเริ่ม ก็ไม่สมเหตุสมผล ไม่เหมาะแก่ช่วงเวลา

จึงเป็นที่ต้องหาข้อมูลต่อไปว่า แล้วเหตุใดจึงมีการระบุในหนังสือประวัติการของจอมพลและมหาอำมาตย์เอกเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี
พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2504 ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยมีพระบรมราชกระแสรับสั่งอยู่เสมอว่า “ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อ”


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 26 มี.ค. 17, 11:32
ที่ผมได้ค้นคว้าพบเจอมา พบว่าแหล่งข้อมูลแหล่งแรกที่ระบุว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยมีพระบรมราชกระแสรับสั่งอยู่เสมอว่า ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อ”
นั้นอยู่ในหนังสือประวัติการของจอมพลและมหาอำมาตย์เอกเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2504 ซึ่งจัดทำขึ้นโดยเครือญาติของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี

ดังนั้นถ้าเป็นข้อมูลแหล่งแรกจริง ก็ต้องสอบถามจากผู้จัดทำหนังสือนี้เพื่อให้ทราบถึงที่มาของเรื่องดังกล่าวเพื่อตรวจสอบกันต่อไปว่าจริงเท็จเชื่อถือได้เพียงไร

ซึ่งมีข้อน่าสังเกตว่า จากหนังสือ “ประวัติแลความจำสังเขป” ของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี พิมพ์ที่โรงพิมพ์เฮงหลี่ ปี พ.ศ. 2468
เมื่อดูเฉพาะเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า ได้พบว่ามีอยู่แต่ในหน้า 7 ที่มีการกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า จัดการไฟฟ้า


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 26 มี.ค. 17, 11:59
ด้วยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบและทรงโปรดในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าแสงสว่างอยู่ก่อนแล้ว ก่อนปี พ.ศ. 2427 หลายเหตุการณ์
ดังที่ได้มีการกล่าวมาแล้วในกระทู้นี้

และจากการที่พระองค์ทรงมีพระราชกรณียกิจนับจากปี พ.ศ. 2427 เป็นต้นมาเป็นจำนวนมาก
ดังที่ได้มีการกล่าวมาแล้วในกระทู้นี้เช่นกัน

คำว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยมีพระบรมราชกระแสรับสั่งอยู่เสมอว่า “ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อ” จึงไม่อาจเป็นจริงได้ในช่วง ณ เวลาทั้งปวงภายใต้ร่มพระบารมีในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 26 มี.ค. 17, 12:58
ผมขอตั้งเป็นข้อสันนิษฐานว่า

คำว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยมีพระบรมราชกระแสรับสั่งอยู่เสมอว่า ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อ” ที่ผมว่าไม่เป็นความจริงนั้น
แท้จริงแล้วได้ผิดเพี๊ยนมาจากความหมายของคำว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยมีพระบรมราชกระแสรับสั่งอยู่เสมอว่า ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อถือ

ด้วยเหตุผลสนับสนุน 2 ข้อดังที่จะกล่าวต่อไปนี้ครับ


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 26 มี.ค. 17, 14:15
   ข้อ 1 ได้พบว่าตลอดระยะเวลาภายใต้ร่มพระบารมี พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก
ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ มากมาย เช่นปัญหาไฟฟ้าที่ติดๆดับๆ บ่อยครั้งมากอันเกิดจากเครื่องจักรในโรงไฟฟ้าเสียบ่อย
เกิดจากฉนวนสายไฟฟ้าชำรุดเป็นปัญหาบ่อยเมื่อฝนตก ดังที่ได้มีการกล่าวมาแล้วในกระทู้นี้

   ข้อ 2 ความหมายของคำว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยมีพระบรมราชกระแสรับสั่งอยู่เสมอว่า “ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อถือ
ดูช่างสอดคล้องกับความหมายของคำว่า มักมีพระราชดำรัสอยู่แต่ก่อนเนืองๆ ว่า “โคมไฟฟ้าอย่าง ๑ หลังคาตัดอย่าง ๑ เพดานโบกปูนอย่าง ๑ ไทยเอาอย่างฝรั่งมาทำในประเทศนี้ยังไว้ใจไม่ได้ โคมไฟฟ้านั้นมักดับในเวลามีการงานด้วย”
(จากหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่องไกลบ้าน ฉบับมีรูปภาพพร้อมด้วยจดหมายเหตุประกอบ
เล่ม ๑ แพร่วิทยา พ.ศ. 2508 หน้า 709 เมืองปารีส คืนที่ ๘๘ วันเสาร์ที่ ๒๒ มิถุนายน
(เสด็จยุโรปในปี พ.ศ. 2450) หนังสือฉบับนี้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
สถานายกหอสมุดวชิรญาณ ได้ทรงแก้ไขเพิ่มเติมให้สมบริบูรณ์ดีขึ้นกว่าฉบับพิมพ์ครั้งแรก
โดยทรงเล่าไว้ในเชิงอรรถของหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่องไกลบ้าน ฉบับ พ.ศ. 2466)


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 26 มี.ค. 17, 14:30
หนังสือพระราชนิพนธ์เรื่องไกลบ้านนี้ หากเป็นฉบับของ โกลบอลอินเตอร์ เล่ม ๑ กรุงเทพ พ.ศ. 2551 อยู่ในหน้า 434 (เชิงอรรถ) ครับ


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 01 เม.ย. 17, 10:35
พบว่า
พ.ศ. 2504 มีการเผยแพร่ในหนังสือประวัติการของจอมพลและมหาอำมาตย์เอกเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ระบุว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยมีพระบรมราชกระแสรับสั่งอยู่เสมอว่า ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อ”
พ.ศ. 2510 การไฟฟ้านครหลวงได้ลงบทความในวารสาร "ข่าวการไฟฟ้า" ฉบับที่ 106 ต.ค.-ธ.ค. 2510 ดังรูปนี้ครับ (คาดว่านับเป็นการถ่ายทอดข้อมูลลงในหนังสือหรือวารสารครั้งแรก ซึ่งเนื้อหาถูกแพร่หลายมากขึ้นในเวลาต่อมา)





กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 02 เม.ย. 17, 14:46
เนื้อหาเรื่องการทำไฟฟ้าที่อยู่ในหนังสือประวัติการของจอมพลและมหาอำมาตย์เอกเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีได้ถูกนำมาลง
ในวารสารข่าวการไฟฟ้าและในหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของไทยเรื่อยมา โดยได้พบว่าในหนังสือฉลองครบรอบ 30 ปีของการไฟฟ้านครหลวง
"ประวัติความเป็นมาของการไฟฟ้าในประเทศไทย" ที่พิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2531 มีการกล่าวยกย่องจอมพลและมหาอำมาตย์เอกเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี
ว่าเป็น "บิดาแห่งการไฟฟ้าในประเทศไทย"

คาดว่าเป็นครั้งแรกที่การกล่าวยกย่องในลักษณะนี้ ซึ่งได้แพร่หลายอย่างกว้างขวางและกลายเป็นคำว่า "บิดาแห่งการไฟฟ้าไทย" ในเวลาต่อมา
(ไม่พบเอกสารข้อมูลการสถาปนาอื่นใด)




กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 09 เม.ย. 17, 21:47
เพราะผมเป็นคนไทย โชคดีได้พบเวปเรือนไทย ได้มีโอกาสพูดคุยสนทนากับท่านอาจารย์ที่เคารพทั้งหลายและผู้สนใจเรื่องราวของความเป็นไทย
ขอสวัสดีปีใหม่ไทยครับ มีความสุข สุขภาพแข็งแรง เดินทางปลอดภัยกันทุกท่านนะครับ
ขอเป็นผู้วิเศษครับ


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 11 เม.ย. 17, 07:05
ประวัติไฟฟ้าไทย ที่การไฟฟ้านครหลวงได้เผยแพร่ในปัจจุบัน
http://www.mea.or.th/profile/91/96


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 11 เม.ย. 17, 21:15
นอกจากประเด็นที่มีการกล่าวถึงในกระทู้นี้ เมื่อได้อ่านบทความที่การไฟฟ้านครหลวงเผยแพร่ในลิงค์ตามความคิดเห็นก่อนนี้
ที่ระบุว่า "ขณะนั้นประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปยังไม่มีรถรางไฟฟ้า แม้แต่กรุงโตเกียวเมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่น กว่าจะมีรถรางไฟฟ้าใช้ก็หลังเมืองไทยร่วมสิบปี"
ทำให้ผมนึกถึงการโต้ตอบกันในกระทู้ของ pantip ตามลิงค์นี้ครับ (เฮ่อ! กว่าจะหาเจอ ไปแอบซะไกลเลย  :P)

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2011/09/K11085713/K11085713.html


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 13 เม.ย. 17, 13:52
นั่นกำลังเตรียมตัวเอารถรางไฟฟ้าดับเพลิงไปเล่นสงกรานต์หรือไง?  :o


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 13 เม.ย. 17, 16:09
อ๋อ! มาสาธิตการดับเพลิงด้วย "รถรางไฟฟ้าดับเพลิง" ที่วัดราชบุณะ (วัดเลียบ) ข้างบริษัทไฟฟ้าสยามจำกัด (โรงไฟฟ้าวัดเลียบ) นี่เอง
แล้วเนื่องในโอกาสใดล่ะ?  ::)


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 13 เม.ย. 17, 22:16
บริษัทไฟฟ้าสยามจำกัดได้จัดพิธีเปิดสำนักงานแห่งใหม่ ในวันที่ ๑ กันยายน ๒๔๕๙ (ปัจจุบันตึกอาคารหลังนี้ยังคงมีอยู่)
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เสด็จทรงเปิดที่ทำการแห่งใหม่นี้
บริษัทได้จัดถวายสาธิตการดับเพลิงด้วย "รถรางไฟฟ้าดับเพลิง"



กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 14 เม.ย. 17, 06:59
รูปที่ 3 เห็นสันกำแพงเมือง


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 14 เม.ย. 17, 11:15
แผนที่แสดงบริเวณดังกล่าวข้างต้น เห็นแนวกำแพงเมือง (เขียนในรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ ปี พ.ศ. ๒๔๔๘)



กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 14 เม.ย. 17, 14:55
พิธีเปิดสำนักงานหลังใหม่นี้ ได้ถูกนำมาลงข่าว ดังนี้

                          ออฟฟิศบริษัทไฟฟ้าสยาม
         เมื่อวันที่ ๑ เดือนนี้ เปนวันที่บริษัทไฟฟ้าสยามทำพิธีการเปิดออฟฟิศใหม่
ในบริเวรตึกใหม่ ได้ประดับประดาด้วยธงทิวและมีโคมไฟฟ้าเปนอักษรพระบรมนามาถิธัย ว.ป.ร.
ประดับตามรั้วบริเวณออฟฟิศ ส่วนที่พระปรางค์วัดราชบุรณบริษัทได้ติดโคมไฟฟ้าเปนสี่สาย
และมีอักษร ว.ป.ร. ติดอยู่บนพระปรางค์ด้วย นับว่าการตกแต่งงดงามทั่วไปทุกแห่งในบริเวณของบริษัท
                                   
                                    คนดู
          ตั้งแต่เวลาบ่าย ๑ โมง มีมหาชนหญิงชายผู้ใหญ่เด็กได้พากันขึ้นรถและเดินล้นหลาม
ไปทางถนนจักรเพชรถนนตรีเพชร์มิได้หยุดหย่อน จนถึงเวลาบ่าย ๔ โมง คนยิ่งแน่นเข้าทุกที
จนเจ้าหน้าที่ต้องห้ามมิให้มหาชนพวกดูเดินผ่านน่าบริษัท
                               
                                เวลาบ่าย ๔ โมง
          บรรดาแขกซึ่งบริษัทได้เชิญไปในการพิธีได้พากันขึ้นรถยนต์รถม้าหนุนเนื่องไปตามกันเปนอันมาก

                                เวลาบ่าย ๕ โมง
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งประทับออฟฟิศบริษัท
มิศเตอร์กรุดผู้อำนวยการบริษัทได้อ่านคำถวายไชยมงคลและขอให้ทรงเปิดออฟฟิศบริษัทเปนปฐมฤกษ์
เมื่อมีพระราชดำรัสตอบเสร็จแล้วได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรห้องที่ทำการของบริษัทเสร็จแล้ว
ได้ทรงเปิดสะวิทไฟฟ้าซึ่งล่ามไปติดต่อกับเรือนที่บริษัทได้ปลูกไว้สำหรับเปนที่สมมุตว่าเพลิงไหม้
เมื่อเพลิงได้ติดเรือนนี้ขึ้นแล้ว หวีดโรงไฟฟ้าได้เปิดสัญญา เพลิงไหม้พอเวลาประมาณ ๔ นาที
บรรดารถและคนดับเพลิงของบริษัทที่ได้จัดไว้ได้พากันไปถึงที่ดับเพลิง
พวกดับเพลิงได้ทำการโดยแคล่วคล่องว่องไว ประมาณ ๑๐ นาทีเพลิงสงบหมด

                                  ความเสียหาย
           ไฟไหม้เรือนที่บริษัทได้ปลูกไว้ประมาณราคา ๔๐๐ บาทเศษ รั้วทางน่าวัดกับรั้วทาง
โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยได้พังลงมาเล็กน้อย ทับคนดูเจ็บป่วยไปตามกันหลายคน
           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประทับอยู่จนเวลาสมควร จึงได้เสด็จพระราชดำเนินกลับ
           งานนี้ได้จัดทำสำเร็จไปโดยเรียบร้อยทุกประการ

จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร ม.ร.6น/241 เล่ม8/13 เลขที่ 24


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 15 เม.ย. 17, 06:39
ได้ลงข่าวเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๔๕๙ อีกว่า

                        พระราชดำรัสตอบในการเปิดสถานที่ทำการใหม่ของบริษัทไฟฟ้าสยาม

                                                     ดูกรท่านทั้งหลาย
              เรามีความยินดีที่ได้รับเชิญมาในการพิธีที่บริษัทไฟฟ้าสยามเปิดสถานที่ทำการใหม่ บริษัทนี้ได้ตั้งมานาน
จนถึงกาลบัดนี้ได้กระทำการเปนตัวอย่างอันดีมาก คือได้ทำการติอต่อกับรัฐบาลของเราเปนที่ปรองดองเรียบร้อยโดยไมตรี
ทั้งได้ทำการสม่ำเสมอตลอดมามีความพอใจใช้คนไทยเปนลูกจ้าง แลมีชื่อเสียงว่าใจดีต่อลูกจ้าง แม้ลูกจ้างที่ได้ทำการมา
นานแล้วมีความชราภาพ บริษัทก็มิได้ลืมเสีย ได้ให้เงินเลี้ยงชีพต่อมาดังนายกรุดได้กล่าวแล้วนั้น ความประพฤติเช่นนี้จึงเปน
สิ่งอันควรสรรเสริญเปนตัวอย่างอันดีแห่งบริษัทในกรุงสยาม เพราะเหตุนี้เราขอชมเชยผู้อำนวยการแลบรรดากรรมการของ
บริษัทที่ทำให้การดำเนินมาโดยเรียบร้อย เรามีความยินดีแลพอใจอย่างยิ่ง เมื่อที่ทำการนี้เปิดทำการต่อไป ขอให้บริษัท
ทำมาค้าขึ้นสืบไป เพื่อจะได้เปนเครื่องบำรุงไมตรีระหว่างชาวสยามกับชาวต่างประเทศที่มาทำการหาเลี้ยงชีพอยู่ในเมืองนี้
             บัดนี้เราของแสดงว่าสถานที่ทำการใหม่นี้ เปนอันได้เปิดเพื่อทำการตั้งแต่นี้เปนต้นไป.
จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร ม.ร.6น/241 เล่ม8/13 เลขที่ 24


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 15 เม.ย. 17, 17:08
หนังสือพิมพ์อีกฉบับหนึ่งได้ลงข่าวถึงการส่งเสด็จกลับ ความว่า

... ครั้นได้เวลาเสด็จกลับ กองดับเพลิงจึงออกมายืนเรียงตัวส่งเสด็จแลโห่ร้องถวายพระพรไชยมงคล
ในมือถือสายดับเพลิงแลปล่อยน้ำฉีดขึ้นไปสูงราวกับน้ำพุ ดูงามมาก ในเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ได้เสด็จออกไปจากโรงไฟฟ้า ที่โรงไฟฟ้าได้จุดพลุฝรั่ง ๒๑ ลูก เปนการส่งเสด็จ...

จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร ม.ร.6น/241 เล่ม8/13 เลขที่ 24


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 16 เม.ย. 17, 15:59
ข้อมูลการเสด็จพระราชดำเนินโรงไฟฟ้าของพระมหากษัตริย์ ที่ได้พบมา (ได้กล่าวมาบ้างแล้วบางส่วน)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
   ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๘ เสด็จโรงไฟฟ้าสำหรับรถรางไฟฟ้าของบริษัท บางกอกแตรมเว จำกัด ที่สะพานเหล็ก (จากหนังสือพิมพ์กุมารวิทยา ฉบับที่ 3)
   ๑๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๘ เสด็จโรงไฟฟ้าหลวงที่วัดราชบุรณะ (วัดเลียบ) (ต่อมาเป็นของบริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด) (จากหนังสือพิมพ์กุมารวิทยา ฉบับที่ 21)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
   ๑๙ ธันวาคม ๒๔๕๘ เสด็จโรงไฟฟ้าหลวงสามเสน (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร.6น/323 เลขที่ 47 หน้า 1685 เล่ม 13/13)
   ๑ กันยายน ๒๔๕๙ เสด็จทรงเปิดที่ทำการแห่งใหม่ของบริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร ม.ร.6น/241 เล่ม8/13 เลขที่ 24)

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗
   ๔ สิงหาคม ๒๔๖๙ เสด็จโรงไฟฟ้าหลวงสามเสน (จากหอภาพยนตร์แห่งชาติ ศาลายา (ต้องติดต่อขอชมภาพยนตร์))


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 17 เม.ย. 17, 17:33
โรงไฟฟ้าหลวงสามเสน
ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงหลัก


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 18 เม.ย. 17, 01:05
โรงไฟฟ้าหลวงสามเสน (ต่อ) จัดเต็มครับ  ;)


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 18 เม.ย. 17, 01:26
โรงไฟฟ้าหลวงสามเสน (ต่อ)
 


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 18 เม.ย. 17, 01:40
โรงไฟฟ้าหลวงสามเสน (ต่อ)


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 18 เม.ย. 17, 02:10
ไฟฟ้าหลวงสามเสน (ต่อ)
คำอธิบายต่างๆ เช่น ท่อเกลียวหมูลำเลียงแกลบ (สกรูลำเลียง) ห้องแบตเตอรี่ เครื่องกลไฟฟ้า เส้นทางสายส่งไปโรงปูนซีเมนต์บางซื่อ คอยหน่อยครับ


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 19 เม.ย. 17, 20:25
ดีทีสุดคือทำความจริงให้ปรากฎ  ;D

มาที่โรงไฟฟ้าวัดเลียบของบริษัทไฟฟ้าสยามจำกัดครับ
ตัวโรงไฟฟ้าไม่ติดกับคลองหรือแม่น้ำ บริษัทต้องขุดคลองขึ้นมาเอง เพื่อขนแกลบทางเรือ
แผนที่นี้เขียนเมื่อปี พ.ศ.2441


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 19 เม.ย. 17, 20:30
ต่อมามีการสร้างอาคารสำนักงานขึ้นมาใหม่ ตามที่กล่าวถึงพิธีเปิดครับ
ตามแผนที่ใหม่นี้ ส่วนล่างเป็นที่ตั้งอาคารสำนักงาน ส่วนบนเป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้า


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 19 เม.ย. 17, 20:40
พื้นที่ทั้งหมดเป็นการเช่าที่วัดราชบุรณะ (วัดเลียบ)
ขอเอาภาพถ่ายทางอากาศเมื่อมีสะพานพุทธฯแล้วมาลงครับ จะได้เข้าใจกันมากขึ้น


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 19 เม.ย. 17, 21:49
สงครามโลกครั้งที่ 2 โรงไฟฟ้าวัดเลียบถูกเครื่องบินทิ้งระเบิด
แถบล่างสุดคือกุฎิพระเสียหายด้วย
ตรงกลางลานโล่ง คือ รร.เพาะช่างในปัจจุบัน
ริมขวาสุด กลางส่วนบน คือบ้านหม้อ



กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 21 เม.ย. 17, 07:17
สรุป รูปภาพโรงไฟฟ้าที่พระมหากษัตริย์ได้เสด็จพระราชดำเนิน (ได้ลงในกระทู้ไปแล้ว)
                      1. โรงไฟฟ้าสำหรับรถรางไฟฟ้าของบริษัท บางกอกแตรมเว จำกัด ที่สะพานเหล็ก
                      2. โรงไฟฟ้าหลวง (โรงไฟฟ้าวัดเลียบ) ซึ่งต่อมาเป็นของบริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด)
                      3. โรงไฟฟ้าหลวงสามเสน


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 01 พ.ค. 17, 15:14
ช่วงเทศกาลสงกรานต์ได้ลงรูปภาพตามความคิดเห็นที่ 139-143 จำนวน 20 ภาพ
อัลบั้มรูปภาพนี้ที่เป็น original ขนาด A4 ได้มอบไว้ให้แก่หอจดหมายเหตุแห่งชาติเพื่อเป็นสมบัติของชาติ ให้อยู่ในสถานที่ที่ควรจะอยู่ รวมกับซีดีภาพที่เกี่ยวข้องกับกิจการไฟฟ้าในไทย รวมแล้วประมาณ 80 ภาพ
ปัจจุบันไม่ทราบว่าถูกนำมาเปิดให้บริการแล้วหรือยัง


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 07 พ.ค. 17, 15:48
ในการที่บริษัทไฟฟ้าสยามจำกัดได้ตั้งสำนักงานขึ้นใหม่ที่โรงไฟฟ้าวัดเลียบ
ก็ไม่ได้มีการยกเลิกใช้ตึกอาคารแถวประตูสามยอดที่ใช้เป็นสำนักงานแต่เดิม
ยังคงใช้ต่อไปจนถึงเปลี่ยนเป็นบริษัทไฟฟ้าสยามคอปอเรชั่นจำกัด ที่ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2469


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 07 พ.ค. 17, 18:19
รูปภายในของอาคารสำนักงานตามรูปข้างบนนี้ (แถวประตูสามยอด)
เห็นพัดลมเพดาน พัดลมตั้งพื้น พัดลมติดฝาผนัง
ไม่ทราบว่าเป็นภาพที่ถ่ายในช่วงเวลาใด  :'(


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 08 พ.ค. 17, 22:19
เพิ่มรูปอีกหน่อยครับ สำนักงานแถวประตูสามยอด
(เป็นธุรกิจเกี่ยวกับการจ่ายกระแสไฟฟ้าตามบ้านเรือน และ รถรางไฟฟ้า)



กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 08 พ.ค. 17, 22:33
อยากเปลี่ยนชื่อกระทู้นี้เป็น ประวัติไฟฟ้าไทย จะได้ไหมครับ
อยากให้ ประวัติไฟฟ้าไทย-เรือนไทย ขึ้น No.1 ใน google


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 02 มิ.ย. 17, 11:46
วันจันทร์ 21 มิถุนายน 2423

ในตอนหาเครื่องตกแต่งพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ความว่า "แล้วกรมภูธเรศกับพระยานรรัตน์เข้าเฝ้าขอซ่อมทองคำแว่นฟ้า แล้วพระองค์เจ้าทองใหญ่เฝ้าทรงด้วยโคมไฟฟ้า ซึ่งจะติดเสาใหญ่พระเมรุกับรับสั่งให้ทำระย้าแขวนพระเมรุด้วย"

วันที่ 27 มิถุนายน 2423
เวลา 2 ทุ่มเสด็จออกหอธรรมสังเวช รับสั่งกับกรมพระยาบำราบปรปักษ์ จะทอดพระเนตรไฟฟ้าที่ท่านมีอยู่ วันนี้ท่านมาจุดทูลเกล้าฯถวายอัฏฏวิจาร ณ ศาลา ใช้แบบตารี่ 100 หนึ่ง แต่ไม่ได้ประทับทอดพระเนตรด้วยฝนตก

วันที่ 28 มิถุนายน 2423
เวลา 2 ทุ่ม วันนี้ไม่ได้ประทับอัฏฏวิจารศาลา และที่ทิมคดมหาปราสาท ซึ่งสมเด็จกรมพระบำราบปรปักษ์ทรงจัดโคมไฟฟ้าทูลเกล้าฯ ถวายครู่หนึ่งแล้วเสด็จขึ้น ใช้ 310 แบบตารี
ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลอีกชิ้นหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่แสดงให้เห็นว่ารัชกาลที่ 5 ทราบทราบเรื่องไฟฟ้าแสงสว่างซึ่งมีในไทยแล้ว คือก่อนปี พ.ศ. 2427 ประเด็นนี้สามารถรวมข้อมูลได้กับความคิดเห็นที่ 94
หากคุณ siamese ช่วยระบุแหล่งที่มาของข้อมูล จะมีประโยชน์มากครับ


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 04 มิ.ย. 17, 12:59
เอกสารนี้เมื่อ 10 ปีก่อน ได้ print ทำ hilight เก็บไว้
ผมจำได้แม่น ว่าขณะนั้นผมไม่เชื่อในเนื้อหานี้เลย เพราะขัดกันอย่างมากกับที่มีการเผยแพร่อยู่ก่อนแล้ว ว่าเจ้าหมื่นไวยวรนารถเป็นผู้นำไฟฟ้าแสงสว่างเข้ามาเป็นคนแรกโดยติดตั้งในปี พ.ศ.2427 ที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 10 มิ.ย. 17, 15:56
เมื่อ 11 ปีก่อนได้ print 2 หน้าแรก เก็บไว้
มาวันนี้ถึงค่อยได้สังเกตเห็น ว่ามีข้อความเหมือนกันกับความคิดเห็นก่อนนี้ เป็นเหตุการณในปี พ.ศ. 2423
http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2006/06/K4482166/K4482166.html


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 11 มิ.ย. 17, 15:41
วันจันทร์ 21 มิถุนายน 2423

ในตอนหาเครื่องตกแต่งพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ความว่า "แล้วกรมภูธเรศกับพระยานรรัตน์เข้าเฝ้าขอซ่อมทองคำแว่นฟ้า แล้วพระองค์เจ้าทองใหญ่เฝ้าทรงด้วยโคมไฟฟ้า ซึ่งจะติดเสาใหญ่พระเมรุกับรับสั่งให้ทำระย้าแขวนพระเมรุด้วย"

วันที่ 27 มิถุนายน 2423
เวลา 2 ทุ่มเสด็จออกหอธรรมสังเวช รับสั่งกับกรมพระยาบำราบปรปักษ์ จะทอดพระเนตรไฟฟ้าที่ท่านมีอยู่ วันนี้ท่านมาจุดทูลเกล้าฯถวายอัฏฏวิจาร ณ ศาลา ใช้แบบตารี่ 100 หนึ่ง แต่ไม่ได้ประทับทอดพระเนตรด้วยฝนตก

วันที่ 28 มิถุนายน 2423
เวลา 2 ทุ่ม วันนี้ไม่ได้ประทับอัฏฏวิจารศาลา และที่ทิมคดมหาปราสาท ซึ่งสมเด็จกรมพระบำราบปรปักษ์ทรงจัดโคมไฟฟ้าทูลเกล้าฯ ถวายครู่หนึ่งแล้วเสด็จขึ้น ใช้ 310 แบบตารี
ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลอีกชิ้นหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่แสดงให้เห็นว่ารัชกาลที่ 5 ทราบทราบเรื่องไฟฟ้าแสงสว่างซึ่งมีในไทยแล้ว คือก่อนปี พ.ศ. 2427 ประเด็นนี้สามารถรวมข้อมูลได้กับความคิดเห็นที่ 94
หากคุณ siamese ช่วยระบุแหล่งที่มาของข้อมูล จะมีประโยชน์มากครับ

มาจาก จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาค ๑๐
http://www.car.chula.ac.th/rarebook/book/cl53_0144/#p=40

วันจันทร์ 21 มิถุนายน 2423       ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ปีมะโรง

27 มิถุนายน 2423                 ตรงกับวันอาทิตย์ แรม 6 ค่ำ เดือน 8 ปีมะโรง
      ขอแก้ไขจาก  อัฎฎวิจาร ณ ศาลา ใช้แบบตารี่ 100 หนึ่ง แต่ไม่ได้ประทับทอดพระเนตรด้วยฝนตก
                เป็น  อัฎฎวิจารศาลา ใช้แบตเตอรี่ 100 หนึ่ง แต่ไม่ได้ประทับทอดพระเนตรด้วยฝนตก รับสั่งให้จุดพรุ่งนี้อีกวันหนึ่ง

28 มิถุนายน 2423                 ตรงกับวันจันทร์ แรม 7 ค่ำ เดือน 8 ปีมะโรง
      ขอแก้ไขจาก  วันนี้ไม่ได้ประทับอัฎฎวิจารศาลา และที่ทิมคดมหาปราสาท ซึ่งสมเด็จกรมพระบำราบปรปักษ์ทรงจัดโคมไฟฟ้าทูลเกล้าฯ ถวายครู่หนึ่งแล้วเสด็จขึ้น ใช้ 310 แบบตารี่
                เป็น  วันนี้ไม่ได้ประทับอัฎฎวิจารศาลา แวะที่ทิมคดมหาปราสาทซึ่งสมเด็จกรมพระบำราบปรปักษ์ทรงจัดโคมไฟฟ้าทูลเกล้าฯ ถวายครู่หนึ่งแล้วเสด็จขึ้น ใช้ 130 แบตเตอรี่


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 11 มิ.ย. 17, 20:44
แสดงว่าวันที่ 28 มิถุนายน 2423 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงทอดพระเนตรแสงสว่างจากโคมไฟฟ้าแล้ว
ดังนั้นคำที่ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยมีพระบรมราชกระแสรับสั่งอยู่เสมอว่า ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อ จึงไม่เป็นความจริง


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 12 มิ.ย. 17, 15:58

อย่าพึ่งด่วนสรุปไปครับ
ไฟฟ้าแสงสว่างภายในอาคารนั้นมี เริ่มในสยามปี 2427 จริงครับ
ผู้ที่ทำให้ไฟฟ้าแสงสว่างภายในอาคารใช้งานได้แพร่หลายก็สมควรแก่การยกย่อง

ก่อนหน้านั้น arc lamp ไม่เหมาะที่จะใช้ในอาคาร


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 12 มิ.ย. 17, 20:19
วันจันทร์ 21 มิถุนายน 2423

ในตอนหาเครื่องตกแต่งพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ความว่า "แล้วกรมภูธเรศกับพระยานรรัตน์เข้าเฝ้าขอซ่อมทองคำแว่นฟ้า แล้วพระองค์เจ้าทองใหญ่เฝ้าทรงด้วยโคมไฟฟ้า ซึ่งจะติดเสาใหญ่พระเมรุกับรับสั่งให้ทำระย้าแขวนพระเมรุด้วย"

วันที่ 27 มิถุนายน 2423
เวลา 2 ทุ่มเสด็จออกหอธรรมสังเวช รับสั่งกับกรมพระยาบำราบปรปักษ์ จะทอดพระเนตรไฟฟ้าที่ท่านมีอยู่ วันนี้ท่านมาจุดทูลเกล้าฯถวายอัฏฏวิจาร ณ ศาลา ใช้แบบตารี่ 100 หนึ่ง แต่ไม่ได้ประทับทอดพระเนตรด้วยฝนตก

วันที่ 28 มิถุนายน 2423
เวลา 2 ทุ่ม วันนี้ไม่ได้ประทับอัฏฏวิจารศาลา และที่ทิมคดมหาปราสาท ซึ่งสมเด็จกรมพระบำราบปรปักษ์ทรงจัดโคมไฟฟ้าทูลเกล้าฯ ถวายครู่หนึ่งแล้วเสด็จขึ้น ใช้ 310 แบบตารี
ข้อมูลนี้เป็นข้อมูลอีกชิ้นหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่แสดงให้เห็นว่ารัชกาลที่ 5 ทราบทราบเรื่องไฟฟ้าแสงสว่างซึ่งมีในไทยแล้ว คือก่อนปี พ.ศ. 2427 ประเด็นนี้สามารถรวมข้อมูลได้กับความคิดเห็นที่ 94
หากคุณ siamese ช่วยระบุแหล่งที่มาของข้อมูล จะมีประโยชน์มากครับ

ไม่ได้ด่วนสรุปครับ ผมสรุปมานานแล้ว ตระหนักดีว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก ข้อมูลใดที่ผมไม่ทราบแหล่ง
ที่มาและไม่เห็นแจ้งว่าจริง จะไม่รับรองกล่าวอ้างแน่นอน
นอกเสียจากเหตุสุดวิสัยหรือคาดไม่ถึง เช่นสะพานเหล็กมีทั้งบนและล่าง และพัดลมมีทั้งแบบไฟฟ้าและชักด้วยมือ


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 12 มิ.ย. 17, 20:35
ผมว่าถูกต้องแล้วครับ
ในความหมายว่า หลอดไฟฟ้า คือ อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้แทนตะเกียง เทียนไข คบ ไต้ เพื่อให้แสงสว่าง
หลอดไฟ LED ก็เหมือนกันแหละครับ

เพียงแต่ในยุคนั้นมีหลอดไฟฟ้าอยู่ 2 ประเภทคือหลอดไฟฟ้าประเภทอาร์คไลท์ และ หลอดไส้หรือหลอดอินแคนเดนเซนต์ (ประวัติและรูปภาพหลอดไฟฟ้าหาได้ไม่ยาก)
โดยหลอดอาร์คไลท์มีขึ้นก่อนหลอดไส้
ซึ่งหลอดอาร์คไลท์จะมีแสงกระพริบเพราะจากการอาร์คหรือสปาร์คของแท่งคาร์บอน มักจะติดตั้งในสถานที่โล่งๆ หรือภายนอกอาคาร



กรณีหลอด arc lamp

ไม่ว่าจะเป็นหลอด arc lamp หรือ หลอดไส้ ล้วนถูกนำไปใช้ทั้งภายในและนอกอาคาร หลายท่านคงเคยอ่านเจอคนสายตาเสียจากหลอดไฟฟ้า นั่นคือหลอด arc lamp
หลอดทั้งสองชนิดมีขนาดทั้งเล็กและใหญ่
ประเด็นชนิดของหลอดไฟจึงควรตัดทั้งไป


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 12 มิ.ย. 17, 20:48
24 สิงหาคม พ.ศ. 2426 หลวงปฏิบัติราชประสงค์ได้มีหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ มีความว่า

      ข้าพระพุทธเจ้าหลวงปฏิบัติราชประสงค์ ขอรับพระราชทานพระบรมราชวโรกาศกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท
      ด้วยพระเจ้าน้องยากรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ปฤกษากับข้าพระพุทธเจ้าด้วยเรื่องโปรดเกล้าฯ ให้ติดไฟฟ้าที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทนั้น
ข้าพระพุทธเจ้าได้รับใส่เกล้าฯ ตริตรองดูตามในประเทศยุโรปทั้งปวงนี้เขาใช้มากในที่ต่างๆ  เปนการถูกเอกสเปน  น้อยภอจะกราบบังคมทูล
พระกรุณาให้ทรงทราบใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทได้เปนตัวอย่าง คือใช้ไฟก๊าดท่อยาว ๕ วา กับลวดที่จะล่ามไปยาว ๕ วาเท่ากัน ลวดถูกกว่าหลายสิบเท่า
อนึ่งไฟก๊าดต้องใช้คนเที่ยวจุดทุกแห่ง ถ้าจะใช้เพียง ๕๐๐ ดวง จะต้องมีคนสำหรับจุดตั้งแต่ ๒๐ คนขึ้นไป ถ้าใช้เครื่องไฟฟ้าอย่างใหม่ก็ไม่ต้องใช้คนที่จุด
ถึงเวลาก็ลุกเองแลไม่ต้องเปลี่ยนถ่านเหมือนเครื่องเก่าของหลวงมีอยู่แล้ว แลไม่ดับๆ ติดๆ ด้วย อนึ่งไฟที่เข้าใช้อยู่ในประตูคืออินดอไล
เขาได้คิดว่าถูกกว่าน้ำมันปิดเตอเลียม แลเทียนไขที่จะใช้จุดยังรุ่งต้องอาไศรยคนช่วยกันตกแต่งคอยเปลี่ยนผลัดอยู่เสมอ
เพราะฉนั้นข้าพระพุทธเจ้าจึงได้กราบทูลปฤกษากับพระเจ้าน้องยากรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม พระเจ้าน้องยากรมหมื่นเทวะวงษ์วโรปการ
ว่าจะใช้เครื่องไฟฟ้าเสียให้หมดในพระบรมมหาราชวัง ไม่ว่าในที่ใด ถนนต่างๆ ที่มีในพระบรมมหาราชวังด้วย แลตำหนักพระบรมวงษานุวงษ์
แลเรือนข้าราชการฝ่ายในที่เคยใช้น้ำมันปิดตอเลียมอยู่ ถ้าใครจะซื้อไปใช้ก็จะยอมขายให้ แต่จะต้องขอคืน ๑ เท่ากันกับน้ำมันที่ใช้อยู่
ก็ภอจะคุ้มสูหุ้ยของหลวงที่จะซื้อฟืนมาใช้ในเครื่องจักรได้ ถึงจะไม่ภอก็จะต้องเติมเงินบ้างเล็กน้อยแต่สว่างจะได้การดีมากกว่าทุกวันนี้
แลข้าพระพุทธเจ้าจะขอเปนเจ้าพนักงานใหญ่เปนผู้กำกับดูแลในการที่จะจุดโคมแลรักษาเครื่องทุกอย่าง จะขอรับพระราชทานขุนหมื่นรักษาพระองค์ ๑๒ คน
ที่สำหรับจุดโคมอยู่ทุกวันนี้ ทราบเกล้าฯ ว่าขุนหมื่นรักษาพระองค์ที่จุดโคมทุกวันนี้มีอยู่ถึง ๖๐ คน ข้าพระพุทธเจ้าจะขอรับพระราชทานสัก ๑๒ คน
จะหัดให้เปนอินทเนียสำหรับรักษาเครื่องจักรได้ใช้การในเรื่องนี้ ถ้าเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แล้ว ขอพระบรมราชานุญาตที่จะตรวจบนพระที่นั่งและที่ต่างๆ
จะได้ทำเอสเมศทูลเกล้าฯ ถวาย ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอเดชะ
                                                                  หลวงปฏิบัติราชประสงค์

(จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร 5 นก/25 หลวงปฏิบัติราชประสงค์กราบบังคมทูลติดไฟฟ้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท หน้า 768-769)


ผมได้แสดงให้เห็นไปแล้ว ว่ารัชกาลที่ ๕ ทรงทราบและทรงโปรดเรื่องไฟฟ้าแสงสว่างก่อนปี 2427 แล้ว (ทั้งในและนอกอาคาร)
ลองอ่านความคิดเห็นที่ 80 สิครับ ปี พ.ศ. 2426


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 13 มิ.ย. 17, 07:37

ประเด็นเรื่องชนิดหลอดสำคัญกว่าครับ
ปี 2427 หลอดที่ติดภายในพระที่นั่งจักรีฯ
เป็น arc lamp หรือ incandescent lamp

ถ้าไม่พิจารณาตรงนี้เฉพาะไฟฟ้าแสงสว่าง
โดยส่วนบุคคลก็ต้องบอกว่าไฟฟ้ามีในไทยมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์



กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 13 มิ.ย. 17, 08:14

อย่าพึ่งด่วนสรุปไปครับ
ไฟฟ้าแสงสว่างภายในอาคารนั้นมี เริ่มในสยามปี 2427 จริงครับ
ผู้ที่ทำให้ไฟฟ้าแสงสว่างภายในอาคารใช้งานได้แพร่หลายก็สมควรแก่การยกย่อง

ก่อนหน้านั้น arc lamp ไม่เหมาะที่จะใช้ในอาคาร


ดีครับ
ขอข้อมูลชัดๆ ว่าที่สรุปว่าจริงเป็นหลอดไฟชนิดอะไร และถ้าเป็นหลอดไฟอีกชนิดหนึ่งจะสรุปว่าไม่จริงหรือไงครับ
ขอชัดๆ ที่สรุปว่าเริ่มในสยามปี 2427 จริง  ใครเป็นผู้ติดตั้ง อย่างไร อ้างแหล่งที่มาของข้อมูลหน่อยครับ


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 13 มิ.ย. 17, 17:06
แสดงว่าวันที่ 28 มิถุนายน 2423 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงทอดพระเนตรแสงสว่างจากโคมไฟฟ้าแล้ว
ดังนั้นคำที่ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยมีพระบรมราชกระแสรับสั่งอยู่เสมอว่า ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อ จึงไม่เป็นความจริง

กลับไปตรงประเด็นความคิดเห็น 158 ก่อนนะครับ

การที่บอกว่า ร.๕ เคยทอดพระเนตร โคมไฟฟ้า แบบ arc lamp ในปี พ.ศ. 2423 แล้วจะใช้เป็นหลักฐานไปหักล้างว่า ท่านไม่เคยรับสั่งฯ "เชื่อถือ" หรือ "ไม่เชื่อถือ"
ไม่น่าที่จะเป็นเหตุผลที่ดีพอนะครับ ยังเป็นหลักฐานที่ใช้หักล้างแบบสรุปว่า "จึงไม่เป็นความจริง" ไม่ได้

แล้ว incandescent lamp ลองติดตั้งครั้งแรกในเมืองไทย ที่ไหน ปี อะไร ครับ ?



กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 13 มิ.ย. 17, 19:49

อย่าพึ่งด่วนสรุปไปครับ
ไฟฟ้าแสงสว่างภายในอาคารนั้นมี เริ่มในสยามปี 2427 จริงครับ
ผู้ที่ทำให้ไฟฟ้าแสงสว่างภายในอาคารใช้งานได้แพร่หลายก็สมควรแก่การยกย่อง

ก่อนหน้านั้น arc lamp ไม่เหมาะที่จะใช้ในอาคาร


ดีครับ
ขอข้อมูลชัดๆ ว่าที่สรุปว่าจริงเป็นหลอดไฟชนิดอะไร และถ้าเป็นหลอดไฟอีกชนิดหนึ่งจะสรุปว่าไม่จริงหรือไงครับ
ขอชัดๆ ที่สรุปว่าเริ่มในสยามปี 2427 จริง  ใครเป็นผู้ติดตั้ง อย่างไร อ้างแหล่งที่มาของข้อมูลหน่อยครับ


ค่อยๆไปดีกว่าไหมครับ ผมรอคำตอบที่เป็นข้อมูลสำคัญอยู่ จะได้ทราบว่าเหตุใดอยู่ๆก็มาอ้างถึงชนิดของหลอดไฟ
ผู้ติดตามงงแน่ครับ นี่ก็มาเติมคำว่าถืออีก ("เชื่อถือ" หรือ "ไม่เชื่อถือ")
ผมไปต่อลำบากครับ               


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 13 มิ.ย. 17, 20:44

เข้าใจอะไรผิดหรือเปล่าครับ
คนเสนอที่จะรื้อประวัติศาสตร์ใหม่คือคุณสมบัติไม่ใช่หรือครับ
ที่เติมคำว่า ถือ เข้าไปก็จากความเห็นที่คุณเขียนมาทั้งนั้น
ที่ผมแย้งไปเพราะว่าคุณสรุปไม่ตรงข้อเท็จจริง ด่วนสรุปแบบไม่สมเหตุผล

ผมจะเสนอข้อมูลแย้งก็ได้ครับแต่คงไม่ตอบตามที่คุณเคี่ยวเข็ญมา


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 13 มิ.ย. 17, 21:03

เข้าใจอะไรผิดหรือเปล่าครับ
คนเสนอที่จะรื้อประวัติศาสตร์ใหม่คือคุณสมบัติไม่ใช่หรือครับ
ที่เติมคำว่า ถือ เข้าไปก็จากความเห็นที่คุณเขียนมาทั้งนั้น
ที่ผมแย้งไปเพราะว่าคุณสรุปไม่ตรงข้อเท็จจริง ด่วนสรุปแบบไม่สมเหตุผล

ผมจะเสนอข้อมูลแย้งก็ได้ครับแต่คงไม่ตอบตามที่คุณเคี่ยวเข็ญมา


จากส่วนไหนครับ
สรุปไม่ได้รับคำตอบ ขอถือเป็นคำกล่าวลอยๆไม่มีแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้ ขอบายครับ


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 14 มิ.ย. 17, 06:11

Incandescent lamp ติดตั้งที่พระที่นั่งจักรี ปี 2427 ครับ
ผมพยายามบอกคุณสมบัติไปตั้งแต่ต้นปีแล้ว ถ้าย้อนไปดูความเห็นเก่าๆ แต่คุณยังตั้งธงดึงดันที่จะบอกว่า arc lamp กับ incandescent lamp ไม่ใช่ประเด็น

หลักฐานก็ชัดว่า ร. 5 ท่านทรงเชื่อถือในเทคโนโลยี incandescent lamp ทึ่ออกมาใหม่ ที่คุณสมบัติบอกจะไปเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ มันเร็วไปครับ ข้อมูลไม่ได้มีไปหักล้างเรื่องเดิมเขาเลย


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 14 มิ.ย. 17, 08:55
ขอบคุณมากครับ
ผมเข้าใจดี
เรื่องมีอยู่ว่า  ข้อมูลที่ผมพบมา ในช่วงแรกๆ ไม่มีการกล่าวถึงไส้หลอดไฟเลย
ประมาณว่าหลอดไฟก็คืออุปกรณ์ที่ให้แสงสว่าง แทนเทียน แก็ส ตะเกียงน้ำมัน อะไรประมาณนั้น (หลอดไฟก็คือหลอดไฟ)
มีการพูดถึงแต่ว่าดีสะดวกอย่างไร ประหยัดอย่างไร (ซึ่งก็ต้องสงสัยว่าในช่วงแรกๆจะพูดถึงไส้หลอดทำไม จะพูดอย่างไรกับเรื่องของใหม่ๆ ทำไมต้องพูดถึง)
อย่างเช่นในปี 2426 ที่รัชกาลที่ ๕ ทรงพระบรมราชานุญาตให้หลวงปฎิบัติราชประสงค์ติดตั้งหลอดไฟแทนไฟแก๊สในพระบรมมหาราชวัง ทั้งในและนอกอาคาร รวมทั้งพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

ในช่วงแรกๆต้นรัชกาลนั้น ผมไม่พบเอกสารข้อมูลที่มีการพูดถึงไส้ของหลอดไฟเลย
ได้แต่ไปศึกษาว่าอังกฤษกับอเมริกาผลิตหลอดไฟออกจำหน่ายปีไหน เป็นหลอดอะไร แล้วนำมาคาดการณ์ ก็พอได้ แต่ไม่ฟังธง

สรุปคือผมเข้าใจว่า เรื่องไส้ของหลอดไฟในช่วงแรกๆ ไม่ได้มีการกล่าวถึงเลย
จึงระมัดระวังป้องกัน การเอาสิ่งที่ไม่แน่นอน ไม่มีหลักฐานแน่ชัดไปผูกติดกับพระบรมราชวินิจฉัย ซึ่งเป็นเรื่องมิบังควร
อาจสุ่มเสี่ยงต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งควรต้องมั่นใจในข้อมูลเสียก่อนถึงค่อยนำมาอ้างถึงพิจารณากัน
ป้องกันการบิดเบือนข้อมูลไปเกี่ยวข้องกับพระองค์ เช่น อ้างว่าทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยอย่างนี้เพราะไส้หลอดเป็นชนิดโน้นชนิดนี้แล้วต่อเรื่องไปอีกเรื่อยๆ
อย่างน้อยงานจะเข้าที่เจ้าของกระทู้ด้วยครับ  ;D

ดีที่สุดคือควรอ้างถึงแหล่งที่มาขอข้อมูลด้วยครับ จะได้พูดคุยในประเด็นนี้กันต่อไป
เจตนาผมมีเพียงนี้ครับ

 






กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 14 มิ.ย. 17, 13:01

ขอบคุณครับ

ผมอ้างข้อมูลที่คุณสมบัติช่วยกรุณาหามาต่อไปเลยแล้วกัน ความเห็นที่ 1 ต้นกระทู้

พ.ศ. 2432 รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพสาตรศุภกิจทำธุรกิจด้านไฟฟ้า มีชื่อว่าบริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด ใช้เงินทุน 480,000 บาท เป็นการระดมหุ้นโดยรัฐบาลไทยเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เช่าที่ดินของวัดราชบุรณะ (วัดเลียบ) ปีละ 800 บาท ตั้งโรงไฟฟ้าเพื่อจ่ายให้แก่หลอดไฟฟ้า 20 แรงเทียน (วัตต์) จำนวน 10,000 ดวง ด้วยเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 5 ตัว ใช้แกลบและฟืนเป็นเชื้อเพลิงหลัก (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 ว/1)

นี่เป็นหลักฐานว่า ราชการสยามท่าน เชื่อในเทคโนโลยี incandescent lamp จึงคิดลงทุนขยายกิจการไฟฟ้าสยามให้แพร่หลาย
ธุรกิจหลัก มุ่งเป้าไปให้บริการ ไฟฟ้าแสงสว่างภายในอาคารโดยหลอดไฟฟ้าแบบไส้ incandescent lamp
(ส่วนบริหารไปแล้วขาดทุนนั้นเป็นอีกเรื่อง ก็ว่ากันต่อไป)

ส่วนการทดสอบในคราวแรก ผมยังยืนยันว่า ทดสอบที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในปี 2427
ในคราวฉลองปีใหม่ 2428 ท่านก็จัดงานเลี้ยงอาหารกันไปตั้งแต่หัวค่ำถึงห้าทุ่มที่พระที่นั่งจักรีฯ ก็น่าจะได้ใช้ไฟฟ้าแสงสว่างภายในอาคารแบบใหม่นี้

เรื่องเจ้าพระยาฯ ท่านนำไฟฟ้าแสงสว่างภายใน เข้ามาติดตั้งก็ยังมีมูลความจริงที่ยังหักล้างไม่ได้หลายส่วน



กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 15 มิ.ย. 17, 00:42
คุณ Koration ครับ
ผมรู้สึกเกรงใจผู้ติดตามเป็นอย่างมาก แต่ก็รู้สึกว่าดีที่มีผู้แย้งมา
นี่คุณก็ยกเรื่องพระบรมราชานุญาตให้บริษัทเอกชนทำธุรกิจสร้างโรงไฟฟ้าในปี 2432 มาอ้าง (ก่อนปี 2427) แล้วเอา incandescent lamp มาอ้างอีกแล้ว

เอาอย่างนี้นะ ที่คุณบอกว่า มีมูลความจริงที่ยังหักล้างไม่ได้หลายส่วน ผมขอเซ็ทซีโร่ให้คุณเริ่มใหม่
ยกมาทั้งหมด แต่เอามาทีละประเด็นหรือทีละเรื่อง ผมสัญญาว่าจะตอบให้ครบทุกเรื่องโดยเร็ว ไม่ว่าคุณจะอ้างแหล่งอ้างอิงหรือไม่ก็ตาม
แบบว่า ยกมาก็ตอบไป ยกมาก็ตอบไป เอาให้ครบ ครบแล้วช่วยบอกด้วยจะได้ไปต่อ








กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 15 มิ.ย. 17, 07:35

ผมว่าได้ชี้ประเด็นให้แล้วค่อนข้างชัด
ถ้าไฟฟ้าหลังคาตัดหมายถึงไฟฟ้าแสงสว่างภายใน ถ้าไม่ใช่ก็คุยกันคนละเรื่อง
มีช่วงเวลาที่ทางการท่านเปลี่ยนจาก"ไม่เชื่อ?" มาเป็น "เชื่อ"
ซึ่งมันเกี่ยวข้องกับ incandescent lamp
ปี 2432 ที่บอกว่าหลอด 20 W 10,000 หลอด เป็นหลอด incandescent อย่างไม่ต้องสงสัย มันต้องมีจุดเริ่มจากหลอดไฟ arc lamp ไม่กี่หลอดเป็นหลอดไส้หลักหมื่น ต้องมีที่มาซึ่งผมก็บอกว่ามาจากจมื่นไวยฯเป็นผู้นำเข้ามาทดลองปี 2427 ชึ่งก็ไม่ได้ขัดแย้งอะไรกับประวัติศาสตร์ที่การไฟฟ้าปัจจุบันเขาว่าเอาไว้

ผมเรียนถามประเด็นเดียว หลอด incandescent lamp ติดตั้งครั้งแรกในสยาม ที่ไหนเมื่อไรครับ?


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 15 มิ.ย. 17, 08:05
ตอบว่า ไม่ทราบว่าที่ไหนเมื่อไร ตามความคิดเห็นที่ 170

ควรถามอีกครับ แยกประเด็นมาถามให้ครบ ไหนบอกมีหลายส่วน อยากตอบ


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 15 มิ.ย. 17, 09:40

ประเด็นสำคัญ ตอบไม่ได้ไม่เป็นไรครับ

ถ้างั้นผมถามใหม่ให้ง่ายกว่าเดิม
หลอด incandescent light bulb ถูกนำเข้ามาในประเทศสยามครั้งแรกเมื่อไรครับ ?


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 15 มิ.ย. 17, 15:01
คุณสมบัติลองหาเรื่องนี้เพิ่มเติมสิครับ ว่าใช้ไฟฟ้า หรือ ไฟแก๊ส หรือ ไฟโคม ?


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 15 มิ.ย. 17, 18:43

ประเด็นสำคัญ ตอบไม่ได้ไม่เป็นไรครับ

ถ้างั้นผมถามใหม่ให้ง่ายกว่าเดิม
หลอด incandescent light bulb ถูกนำเข้ามาในประเทศสยามครั้งแรกเมื่อไรครับ ?


ตอบว่า ไม่ทราบว่าที่ไหนเมื่อไร ตามความคิดเห็นที่ 170 (ตอบเหมือนข้อที่แล้ว)
ถามต่อเลยครับ


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 16 มิ.ย. 17, 09:41

มีหน่วยงานที่ประกอบกิจการไฟฟ้าในประเทศไทยอยู่สามหน่วยงานที่ได้ผูกขาดธุรกิจแบบ monopoly มาอย่างยาวนาน
การไฟฟ้าฝ่ายผลิต  การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

ใน website ของแต่ละหน่วยงานได้เล่าประวัติความเป็นมาของตนเองตามแบบฉบับการเขียนโครงร่างองค์กร ตามตำรา TQA
ประวัติกิจการไฟฟ้าไทย    ประวัติการไฟฟ้าไทย  ประวัติความเป็นมาไฟฟ้าส่วนภูมิภาค   

เรียนถามว่าหน่วยงานไหนอ้างว่าเป็นประวัติศาสตร์ไฟฟ้าไทย


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 16 มิ.ย. 17, 10:06

โดยวิธีการเขียนประวัติความเป็นมาขององค์กร ตามที่แนะนำในระบบบริหารคุณภาพ
ท่านว่าให้เขียนประวัติความเป็นมาให้กระชับได้ใจความเฉพาะที่คิดว่าเกี่ยวข้องกับองค์กรตนเอง
เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการพรรณาความยืดยาว อ้างความเกี่ยวไปจนถึงวันพระเจ้าสร้างโลก

ยกตัวอย่าง
การไฟฟ้าฝ่ายผลิต

ประวัติกิจการไฟฟ้าไทย
เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2427 ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการจ่ายกระแสไฟฟ้าที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง นับเป็นการเริ่มต้นการมีไฟฟ้าของไทยมาตั้งแต่บัดนั้น

ไฟฟ้า...เริ่มให้ความสว่างไสวเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2422 ที่เมนโลปาร์ค รัฐนิวเจอร์ซี สหรัฐอเมริกา ต่อมาในปี พ.ศ. 2425 ได้มีการสร้างระบบไฟฟ้าแสงสว่างที่ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษและที่สถานีเพิร์ลสตรีท ตอนใต้กรุงนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา

ไฟฟ้ามาสู่สยาม
บุคคลสำคัญที่นำไฟฟ้ามาสู่ประเทศไทย คือ จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) ซึ่งขณะนั้นยังมีบรรดาศักดิ์เป็น “ เจ้าหมื่นไวยวรนารถ” โดยนำเงินที่ได้มาจากการขายที่ดินให้กับสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชเทวี จำนวน 180 ชั่ง หรือ 14,400 บาท ไปซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 2 เครื่อง จากประเทศอังกฤษและเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2427 ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีการจ่ายกระแสไฟฟ้าที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งนับเป็นการเริ่มต้นการมีไฟฟ้าของไทยมาตั้งแต่บัดนั้น


การไฟฟ้าไทยถือว่าการจ่ายไฟฟ้าให้หลอด incandescent เพื่อสร้างแสงสว่าง เป็นจุดเริ่มต้นของกิจการไฟฟ้าไทย
ตรงที่ขีดเส้นไต้คือ เหตุเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับ incandescent lamp โดย Edison และ Swan
ไม่ได้โยงไปถึง Davies ผู้ค้นคิด Arc lamp หรือ ไฟฟ้าอื่นๆ ที่เก่ากว่านั้น

ถึงตรงนี้ผมยังไม่ถามต่อ ขอแสดงตนว่าเป็นผู้เข้ามาอ่านคนหนึ่งที่ไม่ได้คล้อยตามเจ้าของกระทู้ไปซะทุกเรื่อง เชิญคุณสมบัติว่าต่อไปตามสะดวก
ถ้าทนบางเรื่องไม่ได้และไม่เลิกอ่านซะก่อนจะเข้ามาเรียนถามใหม่ในกระทู้นี้ครับ


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 16 มิ.ย. 17, 10:19

เข้าใจอะไรผิดหรือเปล่าครับ
คนเสนอที่จะรื้อประวัติศาสตร์ใหม่คือคุณสมบัติไม่ใช่หรือครับ
ที่เติมคำว่า ถือ เข้าไปก็จากความเห็นที่คุณเขียนมาทั้งนั้น
ที่ผมแย้งไปเพราะว่าคุณสรุปไม่ตรงข้อเท็จจริง ด่วนสรุปแบบไม่สมเหตุผล

ผมจะเสนอข้อมูลแย้งก็ได้ครับแต่คงไม่ตอบตามที่คุณเคี่ยวเข็ญมา


จากส่วนไหนครับ
สรุปไม่ได้รับคำตอบ ขอถือเป็นคำกล่าวลอยๆไม่มีแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้ ขอบายครับ

ผมขอตั้งเป็นข้อสันนิษฐานว่า

คำว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยมีพระบรมราชกระแสรับสั่งอยู่เสมอว่า ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อ” ที่ผมว่าไม่เป็นความจริงนั้น
แท้จริงแล้วได้ผิดเพี๊ยนมาจากความหมายของคำว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยมีพระบรมราชกระแสรับสั่งอยู่เสมอว่า ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อถือ

ด้วยเหตุผลสนับสนุน 2 ข้อดังที่จะกล่าวต่อไปนี้ครับ

;D


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 16 มิ.ย. 17, 18:56
นี่หรือคำถามครับ

นี่เอาความคิดเห็นที่ 122 ของผมมาอ้าง มาเกี่ยวพันกับคำที่คุณว่า ที่เติมคำว่า ถือ เข้าไปก็จากความเห็นที่คุณเขียนมาทั้งนั้น

ความคิดเห็นของผมเป็นการกล่าวถึงเหตุการณ์ในช่วงปลายรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อครั้งทรงเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2
ไม่เกี่ยวข้องกับช่วงก่อนปี 2427 (ต้นรัชกาล)
ผมได้อ้างคำว่าถือตรงส่วนไหนอีกไหม

ผู้ติดตามกรุณาอ่านความคิดเห็นที่ 122 และ 123

เมื่อก่อนก็ได้เคยคิดอยู่ ว่าถ้าหากมีผู้แย้งมา จะแย้งว่าอย่างไรได้บ้าง

หมดคำถามแล้วหรือยังครับ เอาสิ่งที่คุณมั่นใจหรือยืนยันไปแล้วมาถามผมก็ได้


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 16 มิ.ย. 17, 19:54

โปรดอ่าน 179 ก่อน
อย่าเพิ่งวู่วาม
แล้วเชิญคุณว่าไปตามสะดวกเลย


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 16 มิ.ย. 17, 20:40
ก็ไม่เห็นมีอะไร ถ้าได้อ่านความคิดเห็นของผมที่ 125 และ 126 แล้ว
คุณคงหมดคำถามแล้ว นั้นผมขอถามบ้างนะ ว่าที่คุณเข้าใจน่ะ เพราะอะไรเจ้าหมื่นไวยวรนารถถึงได้ขายที่ดิน 180 ชั่งเพื่อซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ตามที่คุณลงในความคิดเห็นที่ 179


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 17 มิ.ย. 17, 08:16
 ???

แสดงว่าคุณสมบัติ สุขุมาลย์ไม่ได้อ่าน 178   มีคำถามอยู่ในนั้น
ไม่เป็นไรครับ ผมเดาว่าคุณยังอยู่ในวัยทำงาน ยังมีพลังที่จะสร้างสรรค์ผลงานให้ดีได้ต่อไป

เรื่องถามไป ถามมา แล้วถ้าผมตอบเหมือนกันคือ
1. ไม่ทราบ 2. นี่หรือคำถาม 3. ไม่เห็นจะมีอะไร
ก็คงจะไม่ไปไหนอย่างคุณว่า เสียเวลาผู้อ่านท่านอื่น (ถ้ายังมี)
ไป ๆ มา ๆ เดี๋ยวมันจะกลายเป็นทะเลาะกันให้คนอื่นเขาอ่านซะเปล่าๆ

ถ้าจะรับฟัง feedback จากผู้อ่านให้มากขึ้นจะเป็นการดี
เช่น ที่คุณ CrazyHorse บอกว่าไฟฟ้าไทยมีมาแต่สมัยฝรั่งส่งอุปกรณ์มาให้เจ้าฟ้าน้อยแล้ว
       ท่าน Navarat.C บอกว่า ไฟฟ้าหลังคาตัด เป็นสร้อยคำ
เหล่านี้เป็นประเด็นที่ถ้าคุณจะพิจารณาต่อจะได้มีมุมมองที่กว้างขึ้น หนังสือจะได้มีคุณภาพมากขึ้น

ในส่วนที่ผมแย้งว่าอย่าด่วนสรุปว่า ประวัติการไฟฟ้า หรือ ประวัติธุรกิจการไฟฟ้า ที่เขาเผยแพร่นั้นผิด
เพราะเขามีบริบทที่ต่างออกไป เขียนเฉพาะประวัติความเป็นมาขององค์กรของเขา
ถ้าคุณสมบัติ สุขุมาลย์ ต้องการจะไปเปลี่ยนแปลงแก้ไข ประวัติองค์กรนั้นๆ ก็ติดต่อผู้ว่าการโดยตรงเลย
ซึ่งผมเชื่อว่าก็จะมีข้อขัดแย้งเหมือนกัน เพราะเขาให้ความสำคัญเหตุการณ์จุดหลอดไส้ส่องสว่างแบบ incandescent ในปี 2427 เป็นหลัก

อย่าหาว่าผมว่าหรือตำหนิก็แล้วกันนะครับ แค่ให้คำแนะนำตามประสาผู้อ่านที่ขี้เกียจหาข้อมูล

ถ้าคุณสมบัติ อยากให้หนังสือประวัติไฟฟ้าไทยที่วางขายเผยแพร่ในวงกว้าง ก็สามารถทำได้
โดยไม่ต้องไปติเตียนเรื่องประวัติการไฟฟ้าไทยขององค์กรอื่นเขาเพราะมีจุดประสงค์ต่างกัน เขาไม่พูดถึง arc lamp ที่มีมาก่อนด้วยซ้ำ
จุดเริ่มต้นของธุรกิจการไฟฟ้าไทยตามที่เขาว่า คือการมุ่งให้บริการไฟฟ้าแสงสว่างแก่ภาคครัวเรือนโดยหลอดไฟฟ้า incandescent ที่เป็นของใหม่
(ส่วนทำไปแล้วเจ๊ง เขายกเอาไว้ไม่กล่าวเน้นย้ำ)

ไหนๆ ได้ใช้เวลามาเสวนากันแล้ว ผมยก 101 ที่คุณสมบัติ สุขุมาลย์เขียน ประเด็นปัญหามันอยู่ในนั้น

ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมในความคิดเห็นที่ 94
ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในช่วงแรกเริ่ม เพื่อให้ง่ายต่อการพิจารณาเปรียบเทียบกับเนื้อหาประวัติไฟฟ้าไทยที่มีการเผยแพร่อยู่ก่อนแล้วในคำที่ว่า
                                 1. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราชกระแสรับสั่งอยู่เสมอว่า ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อ
                                 2. หลอดไฟฟ้าสว่างไสวเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2427

เป็นการที่เจ้าหมื่นไวยวรนารถได้มีหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2427 (ก่อนวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2427 ไม่ถึง 2 เดือน) มีความตอนหนึ่งว่า
 
          เมื่อเดิมข้าพระพุทธเจ้าได้ขอพระบรมราชาณุยาท ที่จะคิดทำเครื่องไฟฟ้าสำหรับใช้ในโรงทหาร แลโปรดเกล้าฯ
ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นปจักษศิลปาคมกะดวงไฟที่จะใช้ในที่ต่างๆ แลจะจัดใช้เครื่องสติมสำหรับหุงต้มเลี้ยงทหารแลการอีกหลายอย่าง
ได้ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุยาทแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าได้ส่งบาญชีของที่จะต้องการต่างๆ ออกไปให้
พระวงษเธอพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ให้สืบราคา ได้ทำเอศติเมศส่งเข้ามายังข้าพระพุทธเจ้าฯ ได้ตรวจดู เหนเปนเงินนั้นมาก
ข้าพระพุทธเจ้าได้ทูลปฤกษากับพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นเทววงษวโรประการให้ทรงทราบ ท่านรับสั่งว่าเงินแผ่นดินยังหามีจะภอจ่ายไม่
ข้าพระพุทธเจ้าก็จะจัดการไปก่อน ภอจะไม่ให้เสียการ แลจะไม่ให้เสียพระราชทรัพย์ของแผ่นดินมาก แต่การไฟที่จะใช้ในโรงทหารใหญ่นั้น
ข้าพระพุทธเจ้ายังมีความวิตกเปนล้นเกล้าฯ ด้วยจะต้องใช้ไฟหลายร้อยดวงไฟ ไฟที่กะไว้นั้นภอสว่างภอที่จะเดิรไปมาไม่โดนของที่ตั้งอยู่เท่านั้น
แต่ไฟเวลานี้ก็ต้องใช้น้ำมันปิดเตลียม เพราะเปนน้ำมันถูกกว่าน้ำมันไฟอื่นๆ แต่โสหุ้ยต้องเสียมาก คือต้องซื้อโคมในคราวแรก
ค่าไส้ตะเกียงที่ต้องใช่อยู่เสมอ ๑ ค่าโคมชำรุธ ๑ ค่าน้ำมัน ๑ แล้วโคมที่ใช้น้ำมันตั้งร้อยดวงดังนี้แล้ว ก็คงจะมีเอกซิเดนบ้างเปนแน่
ท่าน้ำมันตกติดไฟขึ้นก็เปนที่น่ากลัวมาก บางทีจะเปนอันตรายใหญ่ได้ ข้าพระพุทธเจ้าเหนด้วยเกล้าฯ ดังนี้จึงได้มีความวิตกเปนล้นเกล้าฯ
ไม่ทราบเกล้าฯ ว่าจะผ่อนผันใช้ไฟอย่างไรให้เปนที่ไว้ใจได้....
(จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 นก/36 หน้า 918-919)


พอดีว่าผมมีปัญหาอินเตอร์เน็ตตอนนี้หาข้อมูลไม่สะดวก
คุณสมบัติ สุขุมาลย์พอจะมี หนังสือทูลเกล้าฯ (จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 นก/36 หน้า 918-919)
ฉบับเต็ม ๆ ลงให้ได้ไหมครับ จะได้แน่ใจว่าไม่ตกใจความสำคัญไป


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 17 มิ.ย. 17, 08:59
ก็ไม่เห็นมีอะไร ถ้าได้อ่านความคิดเห็นของผมที่ 125 และ 126 แล้ว
คุณคงหมดคำถามแล้ว นั้นผมขอถามบ้างนะ ว่าที่คุณเข้าใจน่ะ เพราะอะไรเจ้าหมื่นไวยวรนารถถึงได้ขายที่ดิน 180 ชั่งเพื่อซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ตามที่คุณลงในความคิดเห็นที่ 179

ผมเข้าใจว่าคุณไม่กล้าตอบหรอก เพราะความจริงจะปรากฎว่าคุณมโนถากถางไปเรื่อย

ผมยอมสละเวลานานมากเพื่อหาข้อมูลที่เชื่อถือได้ เพื่อนำข้อมูลต่างๆ มาเผยแพร่ให้ทราบกัน ในหลายๆ ทาง
ด้วยที่เรียนมาทางวิศวกรรมไฟฟ้า ได้ถูกตีพิมพ์ผลงานวิจัยในนิตยสารไฟฟ้า-อุตสากรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ คอลัมส์สมองกลคนไทย
แหล่งอ้างอิงของผมต้องเชื่อถือพิสูจน์ได้ ทำได้แค่นั้นซึ่งดีที่สุด
อยู่กับนโม ไม่ใช่มโน

คุณอ้างอินเตอร์เน็ตมีปัญหา มีให้หาหรือครับข้อมูลของหอจดหมายเหตุแห่งชาติที่กล่าวถึง ในอินเตอร์เน็ต

เข้าใจว่าหลายท่านรอฟังคำตอบนี้จากคุณอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียน นักศึกษา (อย่าโยนไปโน่นมานี่ ช่วยดึงมาตอบให้ด้วยครับ)

ส่วนข้อมูลที่คุณขอ จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 นก/36 หน้า 918-919 ไม่ขัดข้องครับ น่าจะช่วงเวลาเย็นนี้นะครับ
ที่ผมอ้างถึงมาทั้งหมด ขอได้ทั้งหมดครับ
อะไรต่างๆ ที่ผมค้นคว้ามา หรือมีผลงานอะไร ใครจะเอาไปทำอะไรในเชิงพาณิชย์ เชิญตามสบายเลยครับ ผมอนุญาตไม่ถือเป็นลิขสิทธิ์  บางอย่างต้องปรึกษาขออนุญาตหอจดหมายเหตุแห่งชาติก่อน




กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 มิ.ย. 17, 13:05
การเสด็จพระราชดำเนินเยือนสิงคโปร์ของรัชกาลที่ 5 เมื่อต้นรัชกาลในปี 2419 นั้น วันหนึ่งเสด็จทอดพระเนตรโรงยิมนีเซียม วิลเลียมที่ 3 เพื่อทอดพระเนตรที่ทำแยกธาตุและไฟฟ้า
...
ตรงนี้คงประมาณวิชาเคมี ในการแสดงว่ามีอิเลคตรอน โปรตรอน แล้วกระมัง


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: Koratian ที่ 17 มิ.ย. 17, 14:38

ตอบคุณ siamese
   ที่ว่าแยกธาตุแลไฟฟ้า นั้นเป็นวิชาไฟฟ้าเคมี แยกสารละลายโดยไฟฟ้า พวกชุบโลหะเป็นต้น
   เวลานั้นคนยังไม่มีความรู้เจาะจงลงไปถึง อิเล็กตรอน และ โปรตอน

ตอบคุณ สมบัติ สุขุมาลย์
   ผมย้ายที่พิมพ์แล้วยังมีปัญหาอินเตอร์เน็ตเหมือนเดิม
   ขอบคุณมากที่ช่วยบอกให้ไม่ต้องไปหาทางอินเตอร์เน็ต และจะช่วยนำเอกสารนั้นมาลง

   ผมไม่ถือหรอกที่คุณบอกว่า ผมมโนเสียดสีไปเรื่อย ถ้าคิดอย่างนั้นก็ขอโทษด้วย
   คงต้องระมัดระวังเวลาสนทนากัน ไม่งั้นจะทำให้วงแตกซะก่อน
   
   คุณจบวิศวกรรมไฟฟ้าขอชื่นชม ยินดีด้วยที่คุณมีความสนใจสืบค้นประวัติศาสตร์ไฟฟ้าไทยมาเผยแพร่เป็นวิทยาทาน
   และผมคิดว่าเข้าใจสภาพแวดล้อมของคุณมากขึ้น ขอให้ผ่านอุปสรรคไปได้ด้วยดี   

   นานมาแล้วสัก สามสิบกว่าปีได้ ผมเคยเป็นลูกมือช่างไฟฟ้า เดินสายไฟฟ้า ติดตั้งเครื่องมือ เครื่องจักร
   นาน ๆ ที ก็ไปรับจ้างช่วยซ่อมอุปกรณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ ในโรงงาน พอมีความรู้ไฟฟ้าอยู่บ้าง อ่านแบบติดตั้งพอออก
   ตอนนี้ไม่ได้ทำแล้ว นานๆทีครูที่เขาจะทำอาจารย์สาม เอาผลงานมาปรึกษาบ้าง
   ถนัดเรื่องดูจุดบกพร่องของผลงานคนอื่น แต่ผลงานตนเองมองไม่ค่อยเห็นจุดบกพร่อง
   ข้อเสียของตนเองมักมองไม่เห็น อย่าถือสากัน 

   รอดูเอกสารฉบับจริง แล้วจะตอบคำถามเท่าที่ตอบได้ รับรองไม่ลอกการบ้าน


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 17 มิ.ย. 17, 16:49
ส่งไปโคราช


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 17 มิ.ย. 17, 18:28
ขอบคุณครับคุณ Koration ผมก็ต้องขอโทษด้วยเหมือนกัน
ใช่ครับ ถ้าวงแตกก็ไม่เห็นมีใครได้ประโยชน์เลย

นี้เป็นหนังสือกราบบังคมทูลของเจ้าหมื่นไวยวรนารถถวายแด่รัชกาลที่ ๕ ระบุรับตรงกับวันจันทร์ ที่ 28 กรกฎาคม 2427
เพิ่มให้อีก 1 หน้าเป็น 3 หน้าแรกจากทั้งหมด 7 หน้า     4 หน้าหลังไม่เกี่ยวข้องเลย หากต้องการจะลงให้ภายหลังครับ


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 มิ.ย. 17, 09:53
ผมทิ้งๆขว้างๆไม่ค่อยได้เข้ามาอ่านกระทู้นี้ จนกระทั่งเมื่อสองสามวันที่แล้ว เห็นมีเรื่องถามตอบที่เกากันไม่ถูกที่คันค้างอยู่ จึงได้ย้อนกลับไปอ่านหลายเที่ยว รวมถึงได้ใช้อินทรเนตรค้นต่อในเว็บฝรั่งมังค่าด้วย
ในเบื้องต้น ผมพอจะสรุปความเข้าใจของผมเองได้สั้นๆดังนี้

๑ ใช่ครับ ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. ๒๔๒๗ หลายปี ทว่าทั้งหมดไม่ใช่ไฟฟ้ากระแสสลับ แต่เป็นไฟฟ้าสถิต(เมื่อทาวน์เซนด์ แฮรรีสนำอุปกรณ์ไฟฟ้าแบบที่ใช้ในห้องแลบ มาถวายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯในปี ๒๓๙๙)  และไฟฟ้ากระแสตรงจ่ายจากแบตตารี่ โดยใช้หลอดไฟให้แสงสว่างแบบ arc lamp (ดังที่ติดตั้งที่หอธรรมสังเวช พระเจ้าอยู่หัวเคยทอดพระเนตรในปี ๒๔๒๓)

๒ ในช่วงก่อนนั้น พระเจ้าอยู่หัวคงจะเคยตรัสว่า “ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อ” ซึ่งผมตีความว่าทรงหมายถึง ไฟฟ้า และ หลังคาตัด(flat roof) ไม่ทรงเชื่อ(ว่าจะไม่มีปัญหา) ส่วนจะทรงตรัสเมื่อไหร่ ในบริบทใดไม่แจ้ง แต่คงมิได้ตรัสซ้ำซาก เพราะไฟฟ้ามีพัฒนาการอย่างรวดเร็วในการแก้ปัญหาที่เคยเป็นอุปสรรค
ในปี ๒๔๒๓ ไฟฟ้าจากแบตตารีแม้จะให้ความสว่างได้เสถียรขึ้น แต่ยังมียุ่งยากในเรื่องของเครื่องปั่นไฟ และความทนทานของแบตตารี่เอง ทำให้การใช้ไฟฟ้าแสงสว่างจำกัดอยู่ในงานบางประเภทเท่านั้น

๓ การอ้างคำพูดคนโน้นคนนี้โดยผู้เขียนประวัติเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี โดยอ้างว่าได้ยินจากท่านเอง เชื่อถือไม่ได้ทุกเรื่อง เอาเป็นสาระมากไม่ได้ บางเรื่องถูกจับโกหกได้จะแจ้ง เช่นเรื่องที่อ้างว่าพระเจ้าอยู่หัวจะส่งพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์ ไปเรียนที่อังกฤษ โดยจะให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าภาณุรังสีไปเป็นพระพี่เลี้ยง เพื่อหวังว่าทั้งสองจะเป็นเสมือนควีนวิกทอเรียและปรินซ์อัลเบิร์ต เป็นต้น

๔ แต่เรื่องเจ้าหมื่นไวยวรนารทหรือเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีได้ลงทุนซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้า พร้อมอุปกรณ์การจ่ายไฟฟ้ากระแสสลับจากอังกฤษพ.ศ. ๒๔๒๗ เป็นเรื่องที่เชื่อถือได้ และถือว่าท่านเป็นบุคคลแรกที่ทำให้ไฟฟ้าได้เกิดประโยชน์ขึ้นจริงในประเทศนี้ และต่อมาทางราชการให้สัมประทานโรงไฟฟ้าแก่คนเดนมาร์กไปด้วยฝีมือการวิ่งเต้นของริชลิว ทำให้ไฟฟ้าได้ต่อยอดไปถึงประชาชนคนกรุงเทพเป็นวงกว้าง



กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 มิ.ย. 17, 10:23
ขยายความเข้าใจของผมเรื่องไฟฟ้าหลังคาตัดหน่อย

ผมเชื่อว่าหลังคาตัดเป็นสร้อยคำที่แถมเข้ามา แบบสำนวนไทยเจ้าบทเจ้ากลอนเช่น ผู้ชายพายเรือเชื่อไม่ได้ เป็นต้น ไม่ได้แปลว่าคนพายเรือที่เป็นเพศชายเชื่อไม่ได้ ต้องใช้คนพายที่เป็นผู้หญิงนะครับ
ถ้าผู้หญิงกล่าวว่า ผู้ชายพายเรือ ฉันไม่เชื่อ ต้องดูทั้งบริบทด้วยว่ากำลังพูดกำลังทำอะไรกัน เพราะสำนวนนี้มีความหมายว่าผู้ชายมักจะจีบผู้หญิงไปงั้นๆ ไม่ได้จริงจังอะไร

หลังคาตัดหรือหลังคาแบน เป็นรูปทรงสถาปัตยกรรมของฝรั่ง เอามาสร้างในเมืองไทยที่ภูมิอากาศร้อนชื้น ฝนตกทั้งปี วัสดุกันซึมสมัยรัชกาลที่ ๕ ยังไม่มีใช้ ก็แน่นอนว่าทั้งซึมทั้งรั่ว ปูนที่โบกปั้นไว้บนเพดาน สวยแป๊บเดียวก็ราชึ้น วันดีคืนร้ายก็ร่วงลงมา ใครอยู่ในห้องอาจซวย

ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อ ก็หมายถึงไฟฟ้านั่นแหละ คุณภาพมันยังไม่ดีพอเพราะใช้แบตตารี เดี๋ยวสว่างพอดีไม่พอดี หรี่ๆดับๆ ปัญหาพอๆกับหลังคาตัด
ไม่ได้แปลว่า ที่เชื่อไม่ได้เพราะสายไฟต้องเดินไปบนเพดาน โคมไฟก็ต้องติดบนเพดาน หากอาคารเป็นหลังคาตัดพอเพดานชื้นสายไฟและอุปกรณ์ต่างๆเลยเสียเร็ว
นั่นก็จริงอยู่ แต่จริงน้อย แบตตารี่มันพังเสียก่อนละมากกว่า

ปัญหาเรื่องแบตตารีนี้ ใครที่ใช้ไฟฟ้าแสงสว่างจากโซลาเซลล์ คงเข้าใจได้โดยทันที ถึงสมัยนี้มันก็ยังเป็นปัญหาเดียวกัน


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 มิ.ย. 17, 10:55
จะเขียนประวัติการติดตั้งไฟฟ้าเมืองไทย ต้องดู timeline ของโลกด้วยครับ

1840 modern kerosene lamps (oil lamps that burn fuel from petroleum)
1841 Arc-lighting used as experimental public lighting in Paris
1853 Ignacy Lukasiewicz invents kerosene lamp glassblower
1854  ปี ๒๓๙๙ทาวน์เซนด์ แฮรรีส นำอุปกรณ์ไฟฟ้าสถิตย์แบบที่ใช้ในห้องแลบ มาถวายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ
1856 Heinrich Geissler confines theelectric arc in a Geissler tube.
1867 A. E. Becquerel demonstrates the first fluorescent lamp.[4]
1874 Alexander Lodygin patents an Incandescent light bulb.
1875 Henry Woodward patents an electric light bulb.
1876 Pavel Yablochkov invents the Yablochkov candle, the  first practical carbon arc lamp, for public street lighting in Paris.
1879 Thomas Edison and Joseph Wilson Swan patent the carbon-thread incandescent lamp. It lasted 40 hours.
1880 Edison produced a 16-watt lightbulb that lasts 1500 hours.
1882 Introduction of large scale direct current based indoor incandescent lighting and lighting utility with Edison's first Pearl Street Station
1884  พ.ศ. ๒๔๒๗ ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างบนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 มิ.ย. 17, 11:14
Pavel Yablochkov carbon arc lamp


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 มิ.ย. 17, 11:23
งานติดตั้งของ Yablochkov ในโรงละครที่ Place du Château d'Eau in Paris, ปี 1880


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 มิ.ย. 17, 11:27
หลอดไฟฟ้ากระแสสลับของเอดิสัน ที่ทำให้ความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะอายุใช้งานยาวนานนับพันชั่วโมง และไม่ต้องใช้แบตตารี่


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 มิ.ย. 17, 11:57
แบตตารี่ไฟฟ้ากระแสทางตรงสำหรับหลอดไฟให้แสงสว่างแบบ arc lamp นั้น ในรัชกาลที่ ๕ สั่งแบบไหนจากใครมาไม่ทราบ แต่หน้าตาคงไม่พ้นของโบราณแบบหนึ่งแบบใดในนี้้


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 มิ.ย. 17, 11:58
และเครื่องชาร์ตแบตตารีก็เทอะทะพอกัน


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 18 มิ.ย. 17, 12:51
หนังสือกราบบังคมทูลของเจ้าหมื่นไวยวรนารถเรื่องไฟฟ้าโรงทหารนั้นอ่านยากมาก จับความได้อยา่งเดียวว่าพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ทรงมีส่วนช่วยสืบราคา ดังนั้นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดังกล่าวจึงน่าจะเป็นของที่ทำในอังกฤษ พอดีกับจังหวะนั้น J.E.H. Gordon วิศวกรอังกฤษได้สร้างขึ้นสำเร็จพอดี หน้าตาก็อย่างนี้แหละครับ


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 18 มิ.ย. 17, 14:49
กรณีหนังสือกราบบังคมทูลของเจ้าหมื่นไวยวรนารถ ได้เคยลงไว้ในความคิดเห็นที่ 101 ส่วนหนึ่งว่า

เป็นการที่เจ้าหมื่นไวยวรนารถได้มีหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2427 (ก่อนวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2427 ไม่ถึง 2 เดือน) มีความตอนหนึ่งว่า
 
          เมื่อเดิมข้าพระพุทธเจ้าได้ขอพระบรมราชาณุยาท ที่จะคิดทำเครื่องไฟฟ้าสำหรับใช้ในโรงทหาร แลโปรดเกล้าฯ
ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นปจักษศิลปาคมกะดวงไฟที่จะใช้ในที่ต่างๆ แลจะจัดใช้เครื่องสติมสำหรับหุงต้มเลี้ยงทหารแลการอีกหลายอย่าง
ได้ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุยาทแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าได้ส่งบาญชีของที่จะต้องการต่างๆ ออกไปให้
พระวงษเธอพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ให้สืบราคา ได้ทำเอศติเมศส่งเข้ามายังข้าพระพุทธเจ้าฯ ได้ตรวจดู เหนเปนเงินนั้นมาก
ข้าพระพุทธเจ้าได้ทูลปฤกษากับพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นเทววงษวโรประการให้ทรงทราบ ท่านรับสั่งว่าเงินแผ่นดินยังหามีจะภอจ่ายไม่
ข้าพระพุทธเจ้าก็จะจัดการไปก่อน ภอจะไม่ให้เสียการ แลจะไม่ให้เสียพระราชทรัพย์ของแผ่นดินมาก แต่การไฟที่จะใช้ในโรงทหารใหญ่นั้น
ข้าพระพุทธเจ้ายังมีความวิตกเปนล้นเกล้าฯ ด้วยจะต้องใช้ไฟหลายร้อยดวงไฟ ไฟที่กะไว้นั้นภอสว่างภอที่จะเดิรไปมาไม่โดนของที่ตั้งอยู่เท่านั้น
แต่ไฟเวลานี้ก็ต้องใช้น้ำมันปิดเตลียม เพราะเปนน้ำมันถูกกว่าน้ำมันไฟอื่นๆ แต่โสหุ้ยต้องเสียมาก คือต้องซื้อโคมในคราวแรก
ค่าไส้ตะเกียงที่ต้องใช่อยู่เสมอ ๑ ค่าโคมชำรุธ ๑ ค่าน้ำมัน ๑ แล้วโคมที่ใช้น้ำมันตั้งร้อยดวงดังนี้แล้ว ก็คงจะมีเอกซิเดนบ้างเปนแน่
ท่าน้ำมันตกติดไฟขึ้นก็เปนที่น่ากลัวมาก บางทีจะเปนอันตรายใหญ่ได้ ข้าพระพุทธเจ้าเหนด้วยเกล้าฯ ดังนี้จึงได้มีความวิตกเปนล้นเกล้าฯ
ไม่ทราบเกล้าฯ ว่าจะผ่อนผันใช้ไฟอย่างไรให้เปนที่ไว้ใจได้....
(จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสเอกสาร มร 5 นก/36 หน้า 918-919)

ประมาณว่า 28 กรฎาคม 2427 ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลอีกครั้ง จากที่ครั้งก่อนได้รับพระราชทานพระบรมราชานุณาตแล้ว แต่เงินหลวงไม่พอ
คาดว่าครั้งหลังนี้คงได้พระบรมราชานุญาตด้วยงบประมาณที่สูง แต่ใช้ติดตั้งไฟฟ้าในโรงทหารน่าเท่านั้น
ไม่ใช่ทรงมีพระกระแสรับสั่งว่า "ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อ"   ที่ทำให้เจ้าหมื่นไวยวรนารถไปขายที่ดิน 180 ชั่งเพื่อซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม ในปี 2426 ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้หลวงปฏิบัติราชประสงค์ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างในพระบรมมหาราชวังรวมทั้งพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทไปก่อนแล้ว ดังที่ได้กล่าวไปแล้วตามความคิดเห็นที่ 79 และ 80


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 18 มิ.ย. 17, 15:07
กรณี หลอด incandescent ของเอดิสัน เป็นหลอดไส้ธรรมดาเหมือนที่ใช้กันอยู่
ใช้กับไฟตรง เช่นหลอดไฟฉาย ไฟรถจักรยาน มอเตอร์ไซด์ รถยนต์
ใช้กับไฟสลับ เช่นโคมไฟอ่านหนังสือ ใช้ในห้องอาหาร หรือเป็นไฟสีประดับ (หลอดปิงปอง)
ถ้าระดับแรงดันไฟฟ้าเท่ากันก็ใช้แทนกันได้
เมื่อไส้หลอดขาดก็คือเสีย

เอดิสันผลิตหลอดไฟที่ไส้หลอดขาดยากขึ้นได้แล้ว ก็ทำธุรกิจสร้างโรงไฟฟ้ากระแสตรงจ่ายให้แก่หลอดไฟตามบ้านเรือนในเมือง ในวงแคบๆ
ต่อมาบริษัทเวสติ้งเฮาส์ได้สร้างเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากระแสสลับที่ใช้หลักการของนิโคล่า เทสล่า ซึ่งสามารถขยายพื้นที่ไปได้ไกลกว่า
โดยผลิตไฟฟ้าแรงดันสูงๆ แล้วจ่ายไปไกลๆ ใช้หม้อแปลงไฟฟ้าลดแรงดันเอา
จึงทำให้สามารถสร้างไฟฟ้าจากพลังน้ำตามเขื่อนได้ กิจการของเอดิสันจึงต้องยุติไป



กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 18 มิ.ย. 17, 20:09
วันจันทร์ 21 มิถุนายน 2423

ในตอนหาเครื่องตกแต่งพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ความว่า "แล้วกรมภูธเรศกับพระยานรรัตน์เข้าเฝ้าขอซ่อมทองคำแว่นฟ้า แล้วพระองค์เจ้าทองใหญ่เฝ้าทรงด้วยโคมไฟฟ้า ซึ่งจะติดเสาใหญ่พระเมรุกับรับสั่งให้ทำระย้าแขวนพระเมรุด้วย"

วันที่ 27 มิถุนายน 2423
เวลา 2 ทุ่มเสด็จออกหอธรรมสังเวช รับสั่งกับกรมพระยาบำราบปรปักษ์ จะทอดพระเนตรไฟฟ้าที่ท่านมีอยู่ วันนี้ท่านมาจุดทูลเกล้าฯถวายอัฏฏวิจาร ณ ศาลา ใช้แบบตารี่ 100 หนึ่ง แต่ไม่ได้ประทับทอดพระเนตรด้วยฝนตก

วันที่ 28 มิถุนายน 2423
เวลา 2 ทุ่ม วันนี้ไม่ได้ประทับอัฏฏวิจารศาลา และที่ทิมคดมหาปราสาท ซึ่งสมเด็จกรมพระบำราบปรปักษ์ทรงจัดโคมไฟฟ้าทูลเกล้าฯ ถวายครู่หนึ่งแล้วเสด็จขึ้น ใช้ 310 แบบตารี
ขอบคุณ คุณ Siamese มากครับ ที่ได้นำข้อมูลที่สำคัญมาลงให้อยู่หลายครั้ง รวมถึงเรื่องที่ทรงทอดพระเนตรเกี่ยวกับไฟฟ้า ณ สิงคโปร์เมื่อปี 2419 ด้วย
ทำให้ผมเข้าใจพระอัจฉริยภาพด้านไฟฟ้าของรัชกาลที่ ๕ ช่วงก่อนปี 2427 ได้ง่ายขึ้น
อย่างเช่นกรณีการตระเตรียมงานพระเมรุนี้ เมื่อได้เข้าไปอ่านแล้ว มีคำว่า
แล้วพระองค์เจ้าทองใหญ่เฝ้าทรงด้วยโคมไฟฟ้า ซึ่งจะติดเสาใหญ่พระเมรุ กับรับสั่งให้ทำระย้าแขวนพระเมรุด้วย (วันจันทร์ 21 มิถุนายน 2423 ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ปีมะโรง)
แต่ไม่ได้ประทับทอดพระเนตรด้วยฝนตก รับสั่งให้จุดพรุ่งนี้อีกวันหนึ่ง (วันที่ 27 มิถุนายน 2423 แรม 6 ค่ำ เดือน 8 ปีมะโรง)
อีกทั้งเมื่อได้ทราบพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับโทรเลขและโทรศัพท์ซึ่งมีก่อนหน้านั้นด้วยแล้ว
และจากการที่พระองค์ทรงได้รับการถวายหนังสือพิมพ์จากชาวต่างชาติอยู่หลายครั้งตามในหนังสือจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จึงไม่แปลกใจเลย ว่าทำไมหนังสือกราบบังคมของหลวงปฎิบัติราชประสงค์ในปี 2426 ที่มีรายละเอียดทางเทคนิคค่อนข้างมากจะเป็นที่ทรงเข้าพระทัยได้
และไม่แปลกใจเลยอีกเช่นกัน ว่าทำไมหนังสือกราบบังคมทูลของเจ้าพระยามหินธรศักดิ์ธำรงค์ ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2423 ตามที่ได้กล่าวถึงบ้างแล้วในต้นกระทู้นี้ ที่ซึ่งมีรายละเอียดน้อยมากจะเป็นที่ทรงเข้าพระทัยได้



กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 20 ก.พ. 18, 20:03
น่าจะมีประโยชน์ต่อการพิจารณาบ้างครับ
https://pantip.com/topic/37304619


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 11 มี.ค. 18, 14:19
เอดิสันสร้างไฟฟ้ากระแสตรง
เทสล่าสร้างไฟฟ้ากระแสสลับ
หลอดไส้ (incandescent) ใช้ได้กับทั้งระบบไฟฟ้ากระแสตรงและกระแสสลับ
จากสื่อต่างๆ จะประมาณนี้ (นาทีที่ 19)
https://www.youtube.com/watch?v=WsviRgMWM_U


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 11 มี.ค. 18, 14:40
น่าจะมีประโยชน์ต่อการพิจารณาบ้างครับ
https://pantip.com/topic/37304619
เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าถ้าเป็นเรื่องจริงเจ้าหมื่นไวยวรนารถก็จะต้องซื้อหลอด arc lamp
อย่างไรก็ตาม ทั้งหลอด incandescent และหลอด arc lamp ใช้ได้กับทั้งระบบไฟฟ้ากระแสตรงและกระแสสลับ



กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 23 มี.ค. 18, 12:26
กรณี หลอด incandescent ของเอดิสัน เป็นหลอดไส้ธรรมดาเหมือนที่ใช้กันอยู่
ใช้กับไฟตรง เช่นหลอดไฟฉาย ไฟรถจักรยาน มอเตอร์ไซด์ รถยนต์
ใช้กับไฟสลับ เช่นโคมไฟอ่านหนังสือ ใช้ในห้องอาหาร หรือเป็นไฟสีประดับ (หลอดปิงปอง)
ถ้าระดับแรงดันไฟฟ้าเท่ากันก็ใช้แทนกันได้
เมื่อไส้หลอดขาดก็คือเสีย
แก้ไขครับ เปล่ี่ยนเป็นไฟรถจักรยานใช้กับไฟสลับ
พูดถึงสมัยก่อน หลอดไฟรถจักรยานต่อกับไดนาโมหรือไดจักรยานที่สร้างไฟฟ้ากระแสสลับมีแกนหมุน (rotor) สัมผัสกับวงล้อจักรยาน แกนหมุนเป็นแม่เหล็กถาวร ส่วน frame มีขดลวด (stator) ต่อสายไฟไปยังหลอดไฟหน้ารถจักรยาน
สมัยก่อนมีการใช้แทนกันระหว่างหลอดไฟจักรยานกับหลอดไฟกระบอกไฟฉายที่ใช้ไฟตรงจากถ่านตรากบ ตราห่าน ฯลฯ แต่ถ้าใช้แทนกันขนาดไม่เหมาะสมหลอดจะขาดง่าย
มีบางคนเรียกซื้อหลอดไฟตามจำนวนถ่านไฟฉาย เช่นแบบถ่าน 2ก้อน 3ก้อน หรือ 4ก้อน
คือหลอดไส้ใช้ได้กับไฟตรงและไฟสลับ


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 24 มี.ค. 18, 10:16
ในช่วงต้นรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ จะใช้เครื่องจักรไอน้ำเป็นตัวต้นกำลังให้แก่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าและเครื่องสูบน้ำ
กรณีเครื่องกำเนิดไฟฟ้า โดยคร่าวๆ แล้วมีทั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากระแสตรงและกระแสสลับ

ใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้ากระแสตรงใช้ในกิจการไฟฟ้าแสงสว่าง โทรเลข โทรศัพท์ รถรางไฟฟ้า ซึ่งทั้งโทรเลขโทรศัพท์และรถรางไฟฟ้าโดนหมากบังคับให้ต้องใช้ไฟฟ้ากระแสตรงมีแบตเตอรี่เพราะระบบการทำงานเป็นตัวกำหนด เช่นรถรางไฟฟ้ามีข้อจำกัดเรื่องการควบคุมความเร็วของรถรางดังที่ได้กล่าวไว้แล้วอย่างละเอียด รถรางไฟฟ้านี้ใช้ไฟฟ้ากระแสตรงจ่ายให้แก่หลอดไฟฟ้าหน้ารถ

ต่อมาไม่นานก็ใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้ากระแสสลับในกิจการไฟฟ้าแสงสว่างที่สามารถส่งไฟฟ้าไปได้ไกลๆโดยใช้หม้อแปลงไฟฟ้าตั้งปรับแรงดันในสถานที่ต่างๆ ให้เหมาะสม สมัยนั้นได้เกิดเหตุไฟฟ้าดับๆ ติดๆ อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเกิดจากคุณภาพของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและความรู้ความเข้าใจทำให้เกิดความเสียหายแบบปัจจุบันทันด่วนเมื่อเครื่องปั่นไฟเสียไฟก็ดับก็ต้องจุดเทียนจุดตะเกียงกัน


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 29 มี.ค. 18, 15:46
เกี่ยวกับคำว่า “ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อ” ในหนังสือประวัติการของจอมพลและมหาอำมาตย์เอกเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ตีพิมพ์ พ.ศ. 2504 มีว่า “เคยมีพระบรมราชกระแสรับสั่งอยู่เสมอว่า”


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 29 มี.ค. 18, 19:06
ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นคำเหล่านี้

https://th-th.facebook.com/ElectricalRm/photos/a...115230.../1167701296576602
แต่ทว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 รับสั่งว่า “ไฟฟ้าหลังคาตัด ข้าไม่เชื่อ”. จหมื่นไวยวรนาถ มาพิจารณาที่ท้องพระโรงในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เมื่อตอนที่มีงานต้องใช้เทียนไขจุดหลายร้อยแท่งบนระย้า กว่างานจะเลิก ต้องเปลี่ยนถึงสองสามครั้ง และเปลี่ยนยากเพราะอยู่สูง. ต่อมาเปลี่ยนมาใช้โคมน้ำมันก๊าด ก็ยังยุ่งยากเพราะต้องมีปูนขาวเตรียมไว้ดับไฟ ...

https://www.gotoknow.org › หน้าแรก › จุ้ม › สมุด › บล็อกแรกวือาเคเคอืเอส
กรุงปารีส (Paris) ประเทศฝรั่งเศส สว่างไสวไปด้วยไฟฟ้า เมื่อกลับมาเมืองไทยจึงคิดว่า เมืองไทยน่าจะมีไฟฟ้าใช้แบบเดียวกับอารย ประเทศ และการนี้จะทำให้สำเร็จได้คงต้องเริ่มภายในพระบรมมหาราชวังและบ้านเจ้านายก่อน จึงได้นำความขึ้นกราบทูลพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่มีพระราชดำรัสว่า "ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อ" เมื่อเป็นเช่นนี้ ..

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=embracingislam&month=14...
14 ธ.ค. 2548 - ... สว่างไสวไปด้วยไฟฟ้า เมื่อกลับมาเมืองไทยจึงคิดว่า เมืองไทยน่าจะมีไฟฟ้าใช้แบบเดียวกับอารยประเทศ และการนี้จะทำให้สำเร็จได้คงต้องเริ่มภายในพระบรมมหาราชวังและบ้านเจ้านายก่อน จึงได้นำความขึ้นกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่มีพระราชดำรัสว่า "ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อ" เมื่อเป็นเช่นนี้จมื่นไวยวรนาถ ...

www.theccn-news.com/1828-54_ปี_กฟน._ฟันกำไรปี_55_โตกว่า_5,894.79_ล้าน...
30 มิ.ย. 2555 - ... (Paris) ประเทศฝรั่งเศส สว่างไสวไปด้วยไฟฟ้าเมื่อกลับมาเมืองไทยจึงคิดว่า เมืองไทยน่าจะมีไฟฟ้าใช้แบบเดียวกับอารยประเทศ และการนี้จะทำให้สำเร็จได้คงต้องเริ่มภายในพระบรมมหาราชวังและบ้านเจ้านายก่อน จึงได้นำความขึ้นกราบทูลพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่มีพระราชดำรัสว่า "ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อ" เมื่อเป็นเช่นนี้ ...

https://hilight.kapook.com/view/142340
19 ก.ย. 2559 - ... แสงชูโต) เมื่อครั้งมีบรรดาศักดิ์เป็นจมื่นไวยวรนาถ ได้เป็นอุปทูตไปยังกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และเห็นเมืองที่สว่างไสวด้วยไฟฟ้าจึงนำมากราบทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว แต่พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสว่า "ไฟฟ้า หลังคาตัด ข้าไม่เชื่อ" เมื่อได้ยินดังนั้น จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี จึงกราบทูลขายที่ดินให้กับสมเด็จพระนางเจ้าฯ ...


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 31 มี.ค. 18, 18:32
น่าจะมีความเข้าใจต่อคำว่า ทรงรับสั่งว่า “ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อ” ต่างกันอยู่ 2 อย่าง
อย่างที่ 1 หมายถึงพระองค์ทรงทราบว่าหลอดไฟฟ้าแสงสว่างมีอยู่จริง แต่มีปัญหาไม่น่าเชื่อถือ
อย่างที่ 2 หมายถึงพระองค์ทรงไม่เชื่อว่าหลอดไฟฟ้าแสงสว่างจะมีจริง

คาดว่าผู้คนโดยมากเข้าใจเป็นอย่างที่ 2 ซึ่งเป็นที่เผยแพร่กัน อย่างเช่นที่ครูอาจารย์นำไปสอนเด็กนักเรียนระดับ ม. ต้นอยู่ในปัจจุบัน เป็นข้อมูลที่บิดเบือนจากข้อเท็จจริง เผยแพร่กันประมาณว่าในช่วงต้นรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ไฟฟ้าแสงสว่างยังไม่มีในไทย ยังไม่มีใครเคยเห็นหลอดไฟส่องแสง เจ้าหมื่นไวยวรนารถได้กราบบังคมทูลไปเห็นมาในต่างประเทศ แต่พระองค์ทรงรับสั่งว่า ไฟฟ้าหลังคาตัดข้าไม่เชื่อ เจ้าหมื่นฯ เห็นว่าถ้าจะให้มีไฟฟ้าในไทยได้ต้องลงทุนขายที่ดินของตัวเองเพื่อติดตั้งให้ดูกันว่ามีจริง เมื่อทดลองจุดหลอดไฟมีผู้คนตื่นตาตื่นใจจากแสงไฟประหลาดกันแน่นขนัด ต่อมาพระองค์ทรงทราบเรื่องก็ให้ติดไฟในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท นับหลอดไฟฟ้าสว่างไสวเป็นครั้งแรกของประเทศไทยในวันที่ 20 กันยายน 2427 วันเฉลิมพระชนมพรรษา ต่อมาชนรุ่นหลังยกย่องเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจ้าหมื่นไวยวรนารถ) ให้เป็นบิดาแห่งการไฟฟ้าไทย


กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 06 เม.ย. 18, 14:57
ประทีปโคมไฟมีหลายตอนอยู่ในหนังสือวชิรญาณวิเศษ (e-book) มีเนื้อหาวิวัฒนาการการใช้อุปกรณ์ให้ความสว่างต่างๆ คบ กระทอ เทียนไข โคงแมงดา โคมน้ำมันมะพร้าว โคมน้ำมันคาศ โคมลาน โคมไฟฟ้า โคมน้ำมันปริโตรเลียม ในเล่ม ๔ แผ่น ๑๐ พ.ศ. ๒๔๓๑ มีความตอนหนึ่งว่า
 
.....แล้วเอาไม้ผุฤาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จุ่มลงจุดใช้ในเรือนฤานอกเรือนเปนคราวๆ ที่เอาไม้ผุหรือสิ่งใดจุ่มน้ำมันจุดใช้นั้นเปนของไม่ใช้ได้นานสักเท่าใด จึ่งมีผู้คิดเอาน้ำมันยางฤาน้ำมันเช่นนั้นเทลงในกะบอกไม้ไผ่สด มีถ่านไฟเปนเชื้อจุดไฟใช้การในเรือน กะบอกน้ำมันเช่นนั้นชาวเมืองฝ่าใต้ข้างตะวันตกเรียกว่ากะทอ ๆ นั้นมักจะแตกแลควันมาก และบางทีก็ตกลงทำสิ่งของอื่น ๆ ไหม้ด้วย จึ่งมีผู้คิดทำไต้ขึ้น ก็เมื่อใช้ได้แล้ว ก็ยังต้องถือแลต้องวางไม่เปนที่ได้ จึ่งมีผู้คิดทำตะเกียงไต้ขึ้น การที่ใช้ไต้นั้น มีผู้เหนว่าไม่ควรจะใช้ในเรือนที่มีเครื่องเรือนดี ๆ เลย เพราะควันไต้ทำให้ของเศร้าหมองไปเสียได้ แลจับหน้าผู้ที่นั่งอยู่ใกล้ด้วย จึ่งมีผู้คิดฟั่นเทียนขึ้นใช้......

พึ่งรู้จักกับคำว่ากะทอ



กระทู้: รู้ไหม? ไฟฟ้าเข้ามาในไทยก่อน พ.ศ. 2427 หลายปี
เริ่มกระทู้โดย: สมบัติ สุขุมาลย์ ที่ 20 มิ.ย. 18, 13:35
เห็นว่าใกล้วันที่ 1 ก.ค.ซึ่งเป็นวันคล้ายวันอสัญกรรมเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ซึ่งทุกๆ ปีเมื่อไม่นานมานี้ 3 การไฟฟ้าได้จัดพิธีวางพวงมาลา ณ การไฟฟ้านครหลวงสำนักงานใหญ่เขตเพลินจิต ก็จะขอพูดถึงบ้างเล็กน้อย

แต่ก่อนที่จะลงกระทู้นี้ ผมได้เดินทางไปทั้ง 3 การไฟฟ้า (เพลินจิต งามวงศ์วาน บางกรวย) ยื่นหนังสือพร้อมรายละเอียดเกี่ยวกับพระราชประวัติของ ร.๕ ด้านไฟฟ้าที่ได้กล่าวถึงไปแล้วนั้น
ต่อมาก็ยื่นต่อสำนักนายกฯ ผ่านศูนย์บริการประชาชน 1111 ตรงปปช.เก่าใกล้ก.พ.
สรุปประมาณว่าเรื่องเงียบไปตามระเบียบ

ต่อมาก็ได้เปิด facebook ชักชวนเป็นเพื่อนกับบุคคลและหน่วยงานและโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศกว่าสองพันคน ก็สังเกตเห็นว่ามีผู้สนใจเข้าศึกษาตามกระทู้ต่างๆ ในเว็บคุณภาพนี้กันมากขึ้น ก็ดีใจ
ซึ่งก็จะสังเกตการเปลี่ยนแปลงต่อไป