เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 05 มี.ค. 08, 07:35



กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มี.ค. 08, 07:35
สืบเนื่องมาจากค.ห.ที่ ๒๓ ของคุณ  Kurukula  ในกระทู้ รุ่งเรือง เมืองศิลป ๓
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2557.15
--
อ้างถึง
อิอิ มีคุณพิพัฒน์มาแย้งนี่สนุกขึ้นเยอะเลยครับ

หลายคนก็คิดแบบนี้เหมือนกัน ว่าพระเจ้าหย่อนตีนคือพระประทับนั่งห้อยพระบาท  แต่ผมคิดว่า ในเมื่อจารึกของวัดสรศักดิ์อยู่ในสมัยสุโขทัย แล้วอีกด้านหนึ่งของจารึก (จารึกมี 2 ด้านครับ เขียนด้านหนึ่ง จารด้านหนึ่ง)

ด้านที่จาร จารเป็นรูป พระพุทธเจ้าลีลาเสด็จลงจากดาวดึงส์ ครับ


เลยเกิดข้อสังเกตขึ้นมาว่า มีคำไทยจำนวนมาก ที่เดี๋ยวนี้ดูเหมือนว่า คนไทยไม่ค่อยจะรู้แล้วว่าแปลว่าอะไร
จึงขอตั้งกระทู้  รวบรวมคำพวกนี้โดยเฉพาะ    ขอความร่วมมือท่านทั้งหลายด้วยค่ะ
หรือใครสงสัยคำไทยคำไหน จะเข้ามาถาม ก็ได้เช่นกัน

ขอเริ่มจากคำว่า "หย่อน" ในคำ พระเจ้าหย่อนตีน  หมายถึงอะไร


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มี.ค. 08, 07:41
ดูจากพจนานุกรม


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มี.ค. 08, 08:01
นึกถึงคำว่า หย่อนเบ็ด  คือ  ลงไปในแนวดิ่ง
แต่ถ้าของนั้น ลงไปแบบรวดเร็ว เราใช้คำว่า "ทิ้ง"

ทิ้งลงในน้ำ กับ หย่อนลงในน้ำ   ความเร็วผิดกัน แต่ลงในแนวดิ่ง ทั้งคู่

พระพุทธรูปปางลีลา แสดงอาการเคลื่อนไหวในแนวระนาบ ไม่ใช่ต่ำลงในแนวดิ่ง
ส่วนรูปที่คุณกุรุกุลายกมา ในรูปนี้ แสดงถึงการเสด็จลงจากดาวดึงส์    เป็นการยืนบนขั้นบันไดแก้ว  ไม่มีอิริยาบถทั้งลีลาหรือหย่อนตีน


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 05 มี.ค. 08, 08:53
สวัสดีครับอาจารย์เทาชมพู

คำนี้ ถ้าไม่บอกว่าเป็นคำไทยโบราณ ผมนึกถึงคำลาวไปเลยครับ  ;D

คำไทยแท้ดั่งเดิมต้องสั้นๆ ตรงๆ แบบนี้ อิอิ

"หย่อนตีน" นี้ ถ้าใช้ในเหตุการณ์เสด็จลงจากดาวดึงส์ ก็คงแปลด้วยคำปัจจุบันได้ว่า "ก้าวเท้าลง" (จากดาวดึงส์)

"หย่อน" นี้ มีความหมายในทำนองเดียวกับ ลด, ผ่อน ซึ่งยังมีพูดกันอยู่ในวลี

ลดหย่อน ผ่อนโทษ
พักผ่อน หย่อนใจ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับบริบทของการใช้คำนี้ด้วยครับ ถ้าไม่มีภาพจิตรกรรมมายืนยัน จะแปลว่า "นั่งห้อยพระบาท" ก็คงได้เหมือนกัน แต่ถ้ามีฉากก้าวลงจากบันไดสวรรค์แล้ว หย่อนตีน ก็น่าจะหมายถึง "พระพุทธเจ้าค่อยๆ เสด็จก้าวย่างพระบาทลงบันไดมาอย่างช้าๆ"

พูดถึงคำสั้นๆ ตรงๆ แบบนี้ คำว่า "โดนใจ" กับ "ได้ใจ" น่าจะเป็นคำใหม่หรือเปล่าครับ ไม่น่ามีอายุคำเกินสิบปี  ???

ส่วนคำเ่ก่าๆ ตามกระทู้ของอาจารย์นั้น ผมคุ้นๆ ว่าในจารึกสุโขทัยมีอยู่เยอะเลยครับคำประเภทนี้ มีโอกาสแล้วจะไปสกัดมาเล่าสู่กันฟังครับ หรือ ท่านใดที่สนใจ ก็เชิญไปช่วยสกัดคำมาเล่าสู่กันได้เลยนะครับที่ ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ( http://www4.sac.or.th/jaruk2008/ )


ปล. เพิ่งนึกได้ครับว่า ไม่รู้ว่าเมื่อก่อนนี้ คนโบราณจะพูดว่า "หย่อนตีนลงบันได" หรือเปล่า ?


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 05 มี.ค. 08, 09:04
ไม่แน่ใจว่าในคัมภีร์จะเล่าว่า พระพุทธองค์ประทับยืนนิ่งๆ
แล้วบันไดเลื่อนลงเหมือนเกริน หรือเปล่า
เกรินนี่ก็คำที่ไม่ใช้กันแล้ว เคยเจอใครเรียก elavator ว่าเกรินไฟฟ้าด้วยแหละ

แต่พระพุทธรูปปางลีลานี่เป็นการคิดสร้างของศิลปินสุโขทัยโดยแท้ครับ
มีอีกคำที่ผมเพิ่งไปเจอมาจากแก้วเก้าดอทคอม
"เป็นงานเยี่ยมเยี่ยมโลกไว้"...
ฮิฮิ ไม่บอกว่าใครแต่งนะครับ แต่สนใจที่คนแต่งใช้ศัพท์สูงเหลือเกิน(สำหรับการรับรู้ของผม)
คือคำว่า "เยี่ยม"

คำประกอบก็อย่างเช่นเยี่ยมวิมาน หรือเยี่ยมโลก
ซึ่งไม่ได้แปลว่าไปเยี่ยมเยียนนะครับ แต่เป็นการตรงกันข้าม
และไม่น่าจะใช้ในความหมายว่าอาจารย์ท่านสร้างงานไว้แล้วงานนั้นมาเยี่ยมโลก

ในความเข้าใจของผม การเยี่ยมโลก เป็นคำสูงหมายถึงพระเจ้าลงมาสู่โลก
ท่านอื่นๆ คิดว่าไงครับ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Oam ที่ 05 มี.ค. 08, 09:07
ยังคิดไม่ออกครับ ต้องรอให้เปิดเทอม สอนเด็ก แล้วคอยดูการตอบสนองของเด็กๆ เวลาอาจารย์เผลอพูดคำโบราณเมื่อไร เด็กก็จะทำหน้าเหลอ

แต่รู้สึกว่าหลายสำบัดสำนวนจะหดหายไปจากคำพูดในชีวิตประจำวัน อย่างคำพวก กะล่อยกะหลิบ กะลิ้มกะเหลี่ย ตะขิดตะขวง อย่างคำหลังสุดที่หายไป คงเพราะไม่มีการใช้ในสังคมปัจจุบันแล้วครับ สภาพสังคมเปลี่ยนไป ทำให้คำบางคำหายไป และมีคำประหลาดเกิดใหม่หลายคำ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 05 มี.ค. 08, 09:30
จ๋อย
นี่ก็คำเก่าแก่ที่อายุยืนชะมัด

ชะมัดก็น่าจะเป็นคำเก่าที่อายุไม่(ค่อย)ยืน


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มี.ค. 08, 10:18
นึกแล้วค่ะ   ว่ากระทู้นี้ คุณโฮ คงสนใจ 
ผ่านไปครู่เดียว สมาชิกเข้ามาร่วมวง  จนตอบไม่ทัน 

โดนใจ เป็นภาษารุ่นหลัง เห็นครั้งแรกในอินเทอร์เน็ต    ความหมายแบบเดียวกับ "ถูกใจ"  แต่โดนใจนี่อาจจะมีความเข้มข้น กว่า  ออกไปทำนอง"ถูกใจมาก"
ได้ใจ  เมื่อก่อนใช้ในความหมายในทางลบ  ใกล้ไปทาง"กำเริบ" แต่ไม่ถึงกับเลวร้ายเท่ากำเริบ  พ่อแม่มักเตือนกันว่า  "พ่ออย่าไปให้ท้ายลูกบ่อยนัก   เดี๋ยวมันจะได้ใจ"
เดี๋ยวนี้ไปในทางเชียร์    นักร้องดาราให้สัมภาษณ์ดี  ก็"ได้ใจ" แฟนคลับ ไปเต็มๆ

มาถึงคำที่คุณพิพัฒน์ พูดถึง คือ เยี่ยม
ไปหาจากเว็บรอยอิน
เยี่ยม
๑  ก. ไปถามข่าวทุกข์สุข, ไปหา, เช่น ไปเยี่ยมญาติ มาเยี่ยมบ้าน; ชะโงก
 หน้าออกไป เช่น เยี่ยมหน้าต่าง; โผล่ออก เช่น พระจันทร์เยี่ยมขอบฟ้า.
 
เยี่ยม ๆ มอง ๆ  ก. โผล่มองบ่อย ๆ (เพื่อให้เห็น หรือเพื่อให้รู้ว่ามีใครหรือ
 อะไรอยู่ข้างใน). ว. อาการที่ด้อมแอบดูบ่อย ๆ เช่น มีคนแปลกหน้ามา
 เยี่ยม ๆ มอง ๆ.

เยี่ยม ๒  ว. ยิ่ง, เด่น, เลิศ, เช่น ดีเยี่ยม เขาเยี่ยมทางคำนวณ.

นึกไม่ออกว่า "เป็นงานเยี่ยมเยี่ยมโลกไว้"...มาจากกระทู้ไหนในเว็บแก้วเก้า 
แต่อ่านแค่นี้  นึกถึงงานศิลปะชิ้นเยี่ยม   ระดับโลก  อาจจะมีชิ้นเดียว ใครอื่นทำให้ตายก็ไม่เหมือน  และไม่บังอาจทำด้วย   
นึกถึงงานของดาวินชี ไมเคิลแอนเจโล  บานประตูไม้สลักวัดสุทัศน์   ตู้พระธรรมวัดเซิงหวาย  ฯลฯ พวกนี้ละค่ะ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 05 มี.ค. 08, 10:50
สวัสดีครับ อาจารย์เทาชมพู กระทู้นี้ไปเร็วจังครับ กำลังหารูปพระเจ้าหย่อนตีนที่วัดสรศักดิ์ ปรากฏว่าไปเรื่องอื่นไกลเสียแล้ว

ขออนุญาตนำรูปมาลงไว้กันลืมก่อนแล้วกันครับ เป็นภาพจาก หนังสือ ศิลปะสุโขทัย : บทวิเคราะห์หลักฐานโบราณคดี จารึกและศิลปกรรม ของศักดิ์ชัย สายสิงห์ รูปนี้อยู่ด้านหน้าของจารึก ด้านหลังเป็นจารึกที่มีข้อความ "พระเจ้าหย่อนตีน"ครับ


ส่วนเรื่องเยี่ยมโลกนั้น นึกถึงอีกคำหนึ่ง คือ "ตำนานพระเจ้าเลียบโลก" เป็นคัมภีร์ของมอญที่แพร่หลายในเอเชียอาคเนย์ กล่าวถึงพระพุทธองค์เสด็จมาเยี่ยมเยียนดินแดนต่างๆ แล้วประดิษฐานรอยพระพุทธบาท รวมทั้งประทานพระเกศาไว้ นึกถึงศัพท์ไทยๆที่คล้ายๆกัน คือ เลียบพระนคร คิดว่าคงมีความหมายคล้ายๆกัน


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 05 มี.ค. 08, 10:59
คำสูง ใช้บ่อยๆ เข้า ก็กลายเป็นคำตลาดได้เสมอ
ผมติดใจคำว่าเยี่ยม ในความหมายที่สูงครับ
เจอมาตั้งแต่พระเจ้าเยี่ยมโลก มาถึงเยี่ยมวิมาน ล้วนแต่ใช้กับสิ่งสูง

พอนำคำนี้มาในความหมายสามัญเช่นเยียมเยือนบ้านเก่า ก็รู้สึกว่าน่าสนใจ
ในรูปประติมากรรมโบราณ สูรยะเทพท่านก็เยี่ยมวิมานลงมายังโลกเหมือนกัน


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 05 มี.ค. 08, 11:32
ดูแล่วเป็นเขย่ง ไม่หย่อน
ตามเนื้อความในจารึก ท่านบอกว่าสร้างเจดีย์แล้วสร้างพระเจ้าหย่อนตีน
ผมไม่คิดว่าพระเจ้าหย่อนตีนจะเป็นลายเส้นหลังจารึกอย่างนี้ครับ
น่าจะเป็นชิ้นเป็นอัน (เล็กหรือใหญ่ไม่ทราบแน่)
เพราะธรรมเนียมสร้างวัดแล้วมีจารึกประกอบอย่างนี้ ท่านจะบอกว่ากระทำจารึกสถาบกไว้ชัดเจน
ไม่ใช่สร้างรูปลายเส้น(ซึ่งไม่นับเป็นกิริยาบุญอันใหญ่อันราม ไม่นับเสียละมากกว่า)ประกอบจารึก
แล้วเรียกจารึกเป็นพระเจ้าครับ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 05 มี.ค. 08, 15:36
" เพ่ๆ ได้การ์ดปีใหม่บริษัทผมหรือเปล่า.. "
คำแรกเลยค่ะ ส.ค.ส.  น้อยลง.. และกำลังหายไป
ส.ค.ส เป็นคำนาม มาจากคำว่า ส่งความสุข ซึ่งที่มาแสนจะสร้างสรรค์สุดยอด
ไม่ค่อยจะใช้กันเลย
ส่งการ์ดปีใหม่กลายเป็นคำที่ใช้กันในปัจจุบันแล้ว
จากนั้นก็ ...บัตรอวยพร
"เออ ตัวได้การ์ดเบิร์ธเดย์ที่เค้าส่งให้หรือยัง"
และบัตรเชิญงานแต่งงาน งานอุปสมบท งานฌาปนกิจ  ก็กลายเป็นการ์ดแต่งงาน การ์ดบวช การ์ดงานศพ
"หนูปอกับเจ้าปาร์คเกอร์ตอนนี้ ยุ่งแจกการ์ด(แต่งงาน)กันจัง"
"ได้การ์ดงานบวชนายตือบะไหม จะบวชแล้วเบียดเลย"
ฯลฯ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Oam ที่ 05 มี.ค. 08, 16:09
ถ้าคำว่า เก-ริน เลิกใช้แล้ว
ตะเฆ่ ก็คงสูญพันธุ์ไปเช่นกัน
แต่ radio flyer กลับอยู่ยงคงกระพัน


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มี.ค. 08, 17:08
รอยอินบอกว่า
 
เลียบ ๒  ก. ไปตามริม, ไปตามขอบ, เช่น เรือแล่นเลียบชายฝั่ง เดินเลียบ
 ริมคลอง. 
 
เลียบเคียง, เลียบ ๆ เคียง ๆ  ก. หาทางใช้คำพูดหรือแสดงอาการกรายเข้าไปใกล้ ๆ 
 เพื่อหยั่งเชิงเขาดู เช่น เลียบ ๆ เคียง ๆ เพื่อจะขอยืมเงิน.

พระเจ้าเลียบโลก คือเสด็จไปตามเมืองต่างๆ   ก็เมืองต่างๆในโลกสมัยโน้นก็อยู่ตามชายขอบทะเลและอ่าวทั้งนั้น    ใช้คำว่าเลียบก็น่าจะถูกแล้ว

คุณกุ้งแห้งแวะมารำลึกคำว่าส.ค.ส. ทำให้นึกขึ้นมาได้ค่ะ    เรามีการ์ดปีใหม่แทนส.ค.ส.เสียแล้ว

เก-ริน ของคุณโอมทำให้นึกถึงอีกคำ คือเสวก   เมื่อนายกฯคนปัจจุบันของเราได้รับตำแหน่ง  มีการอ่านประวัติของท่าน บอกว่าเป็นบุตร "เสวก" เอก พระยา....
ผู้อ่านข่าวอ่าน "สะเหวก" กันเป็นแถว       ไม่ยักมีใครไปตรวจสอบเสียก่อนว่าคำนี้อ่านว่า "เส-วก" หมายถึงขุนนางฝ่ายราชสำนัก  ถ้าเป็นขุนนางในกระทรวงกรมอื่นๆ ไม่เรียกว่า เสวก  เรียกว่าอำมาตย์


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: ภูมิ ที่ 05 มี.ค. 08, 17:20
เห็นคำว่าเลียบแล้วก็เลยนึกถึงคำว่า ด้อม
เช่น ด้อมค่าย  ด้อมๆมองๆ
เอามาลงไว้ไม่ให้สูญพันธ์

เก-ริน ไม่รู้จักครับ แต่  ตะเฆ่ ยังใช้อยู่ครับ

คำหนึ่งที่อยากถามคือ ซิ กับ ดิ ท่านทั้งหลายใช้อะไรมากกว่ากันครับ
เมื่อก่อน ผมไม่เคยใช้ ดิ เลย พึ่งได้มาใช้เมื่อไม่กี่ปีนี่เอง


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มี.ค. 08, 17:35
เกริน  [เกฺริน] น. ส่วนที่ต่อขึ้นไปที่หัวหรือท้ายราชรถ หรือขนาบอยู่ 
 ๒ ข้างบุษบก มีลักษณะคล้ายโขนเรือที่งอนอ่อน.


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 05 มี.ค. 08, 18:09
เลียบน่าจะเป็นศัพท์สูงที่ตกต่ำอีกคำครับ
การเลียบพระนคร เป็นพฤติกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของมหาจักรพรรดิราช
แปลว่า กษัตริย์น้อยๆ อำนาจ ทำไม่ได้

อาจจะเปรียบเหมือนปล่อยม้าอุปการ ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นคติที่แตกออกไปจากพระเจ้าเลียบโลก

เลียบ จึงหมายถึงการไปโดยศักดานุภาพ มิใช่กร่อยลงมาจนกลายเป็นมะริดติ๊ดต๊อด เช่นเลียบๆ เคียงๆ

เคียง คำนี้ก็เลิกใช้แล้ว
ไปตกต่ำอยู่ในจานลาบซะนั่น

เคียงม้า...น่าจะเป็นศัพท์สูงเหมือนกัน


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มี.ค. 08, 19:19
ถ้ามีศัพท์บาลีสันสกฤตที่แปลว่า เลียบพระนคร   ถึงจะเป็นได้ว่า คำนี้มีความหมายสูงมาก่อน  รับมาจากอินเดียซึ่งมีอารยธรรมอลังการเป็นแม่บทของเอเชียอาคเนย์
แต่ดูจากลักษณะศัพท์ที่เป็นคำประสม ไทย กับ บาลีที่กลายเป็นไทยแล้ว คือ เลียบ + พระนคร
ยังไม่เชื่อว่าจะถึงขั้นนั้นค่ะ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 มี.ค. 08, 19:31
ขึ้นคาน   สาวๆรู้ว่าแปลว่าอะไร
แต่ "คาน" ในที่นี้ ไม่ค่อยจะรู้ความหมายกันแล้ว    บางคนนึกว่า หมายถึง "ไม้คาน"
ที่แม่ค้าหาบของ

ไม่ใช่ค่ะ
เมื่อก่อนนี้  เรือที่ยังไม่ได้เอาลงแล่นไปไหน   เขาจะเก็บไว้บนฝั่ง  มี"คาน"ไม้
รองรับเรือไว้
เรือที่ขึ้นคานอยู่ก็คือเรือที่ยังไม่ได้เอาลงน้ำ คือยังไม่ได้ใช้สอย   ค้างเติ่งอยู่บนคานนั่นแหละ

โอ้ใจนางอย่างนี้ก็มีมั่ง
จนเหลือดังข่าวก้องดังกลอนโขน
เพราะนิสัยใจขนิษฐ์เล่นปลิดโยน
จนมาโดนกันกระดากไม่อยากเชย

คนต่างคนก็เชือนออกเบือนเบื่อ
ต้องเป็นเรือขึ้นคานอยู่เฉยเฉย  
อันผัวดีที่จะได้อย่าหมายเลย
ด้วยมากเชยหลายชู้เขารู้กล ฯ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 05 มี.ค. 08, 22:11
ถ้าเลียบเป็นคำต่ำ คงยากที่ได้ไปประสมกับคำสูง และใช้ในความหมายสูง

ขอให้สังเกตศัพท์ในโองการแช่งน้ำ ว่าเป็นศัพท์ไทยประสมแขกทั้งนั้น
ที่เป็นไทยแท้ๆ มีมากเสียด้วย เช่น
เอางูเปนแท่น
แกว่นกลืนฟ้ากลืนดิน
บินเอาครุฑมาขี่
ท้าวเสด็จเหนือวัวเผือก
เอาเงือกเกี้ยวข้าง
เจ้าคลี่บัวทอง
ผยองเหนือขุนห่าน
ท่านรังก่อดินก่อฟ้า
หน้าจตุรทิศ

ถ้าจะเติมคำว่า เลียบพระนครเข้าไป ก็น่าจะอยู่ดีมีสุขนา....ฮิฮิ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 06 มี.ค. 08, 01:15
ผมขอขายหน้าตัวเองหน่อยครับท่านอาจารย์  ทีแรกผมนึกว่าขึ้นคาน  คือ ขึ้นคลาน  คือชราจนต้องคลานน่ะครับ

คำไทยบางคำชอบเอาความหมายเหมือนกันหรือคล้ายกันมาผสมกันนะครับ  เช่น

ลดหย่อนผ่อนโทษ  ลด-หย่อน-ผ่อน  น่าจะมีความหมายเดียวกันครับ
ช้างสาร  ช้าง-สาร   คือช้างเหมือนกัน

บางอย่างน่าจะมีที่มาเพื่อความลงตัวหรือความไพเราะของฉันทลักษณ์  เลียบพระนคร-เลียบค่าย  ผมไม่แน่ใจว่าจะใช้แต่กับชั้นพระราชาหรือเปล่า  แต่ถ้ามาจากภาษา เขมร-มคธ-สันสกฤษ  เป็นคำสูงแน่ชาวบ้านไม่ค่อยได้ใช้....... ;D


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 06 มี.ค. 08, 10:03
          สาวน้อยร้อยชั่ง     รูปแม่งามดังดุจอัปสรโสภา
ผ่องพรรณขวัญตา            นางวิไลในหล้าสุดที่จะหาเทียมนาง

            เพลงเก่าประพันธ์โดยครูแก้ว และครูเอื้อ สำหรับนางสาวไทยปี ๒๔๙๑
(ข้อมูลว่า เงินรางวัลตำแหน่งนางสาวไทยตอนนั้นเท่ากับ ๘,๐๐๐ บาท - ร้อยชั่ง) 

            ต่อมา  ขุนวิจิตรมาตรา " กาญจนาคพันธุ์ " ท่านเปรียบเทียบเครื่องรับโทรทัศน์เมื่อแรกมี
ราคาเครื่องละ ๘,๐๐๐ บาท ว่าเป็น  สาวน้อยร้อยชั่ง

จากเว็บคนรักสุนทราภรณ์ และ รถไฟไทย ครับ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 06 มี.ค. 08, 10:35
สมุด และ หนังสือ
ปัจจุบันก็ใช้สลับจนการสลับ กลายเป็นการยอมรับไปเสียนั่น

ทุกวันนี้ เรียกกันว่า หนอนหนังสือ
แต่สมัยสมเด็จ ดำรง พระองค์ทรงยกย่องเจ้าคุณอนุมานว่า
อย่างเธอ เขาเรียกว่า ตัวหนอนในสมุด

หนังสือเป็นนามธรรม มีแต่ปีศาจหนอนแหละ ที่ไปสิ่งสู่ได้....หึหึ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มี.ค. 08, 17:15
หนอนหนังสือ น่าจะแปลตรงตัวจาก bookworm

เห็นคำว่า "สะเหร่อ" ใช้กันทั่วไปในเน็ต   ไม่รู้ว่าจริงๆแล้วสะกดยังไง "สะเหล่อ " "เสล่อ" หรือ "เสร่อ"
มีอีกคำที่ดูเหมือนจะเลิกใช้กันไปแล้ว คือ"ลาว" เพราะฟังๆแล้ว  ไม่ยุติธรรมกับเพื่อนบ้านของเราเท่าไหร่

เอาเป็นว่า เมื่อก่อนนี้ ใช้คำว่า "เชย"
คำนี้มาจากชื่อลุงเชย  ของป.อินทรปาลิต   เศรษฐีชราแห่งปากน้ำโพ ทั้งขี้เหนียวทั้งทำอะไรเด๋อด๋าน่าขำ
ทั้งๆชื่อ "เชย "ถือว่าเพราะ   ดูแต่คุณเชย พี่สาวฝ่ายดีของแม่พลอยนั่นไงคะ

และเก่ากว่า "เชย" คงไม่มีหนุ่มสาวรู้จักกันแล้ว คือคำว่า "เปิ่น"


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: meemee ที่ 07 มี.ค. 08, 19:35
พูดถึงคำว่า "เชย"
ได้อ่านมาก่อนหน้านี้เหมือนที่อาจารย์บอกว่า มีที่มาจาก "ลุงเชย" ของสามเกลอ
แต่เคยบอกเพื่อน เพื่อนไม่เชื่อ หาว่า ชื่อลุงเชย มีที่มาจากคำว่าเชยที่หมายถึงบ้านนอกนั่นแหละ
เลยทะเลาะกับเพื่อนใหญ่
พออาจารย์มาย้ำ เดี๋ยวจะได้เอาไปให้เพื่อนดู

อีกคำเกี่ยวกับลุงที่สงสัยคือ "ทรงลุง"
เมื่อก่อนเคยได้ยินผู้ใหญ่พูดว่า กางเกงทรงลุง

มันแปลว่าอะไรคะ
เคยมีคนบอกว่า คือกางเกงทรงที่ชาลี แชปปลินใส่ แต่ก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมต้อง ทรงลุง


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มี.ค. 08, 20:31
กางเกงทรงลุงคือกางเกงรุ่นเก่า  จีบเอว  หลวมรุ่มร่าม  คุณลุงในยุคที่มีคำนี้ยังคงสวมกัน เพราะติดมาตั้งแต่ยังหนุ่ม   ส่วนหนุ่มๆสวมกางเกงคับ   ฟิตเปรี๊ยะ  ถึงจะเท่
หนุ่มคนไหนเชย นุ่งกางเกงหลวม ก็เรียกว่านุ่งกางเกงทรงลุง ค่ะ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Oam ที่ 07 มี.ค. 08, 22:32
นึกถึงคุณเทิ่ง เวลาแกพูดคำว่า 'เลิศสะแมนแตน'


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: drunken beauty ที่ 08 มี.ค. 08, 02:41
แม่เจ้าโวย :Dชั่วไม่ทันหม้อข้าวเดือด หลายคำเหมือนกันนะนี่ :P


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 08 มี.ค. 08, 03:12
วันนี้คุยกับเด็กที่ร้าน... ได้คำมาเรียนถามอาจารย์คำนึงครับ

คือคำว่า "ที่ชอบ ที่ชอบ"




เรื่องของเรื่องคือเด็กคนงานที่ร้านผม 2 นางไปทำบุญกันมา
แล้วก็ไปคุยกันด้วยบทสนทนานี่ที่หน้าพระประทานในพระอุโบสถ

เด็ก 1 : นี่เธอ ฉันฝันเห็นแม่ที่เพิ่งเสียไปตลอดเลย ทำไงดี
เด็ก 2 : เธอก็ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้คุณแม่ไปแล้วนี่ เดี๋ยวท่านก็ได้รับแล้วแหละ
เด็ก 1 : เดี๋ยวฉันว่าจะไปกรวดน้ำให้แม่ล่ะ
            อยากอธิษฐานให้ท่านไปที่ชอบๆ
เด็ก 2 : เธอแน่ใจหรอ ว่าเธออยากให้ท่านไปอยู่ในที่ๆท่านชอบ
เด็ก 1 : เธอก็ถามแปลก จะให้ฉันขอให้แม่ไปในที่ๆแม่ไม่ชอบหรือไง
เด็ก 2 : ฉันว่านะ ปกติแม่ก็รักลูก ที่ๆท่านชอบอาจจะหมายถึงอยู่กับเธอทุกคืนก็ได้
เด็ก 1 : ว๊าย!!! ปากไม่ดี อย่ามาอำฉันสิ
            แม่ขา ไปที่ชอบๆเถอะนะคะแม่ อย่าอยู่กับหนูเลยค่ะ หนูกลัว





ตกลงคำว่า "ที่ชอบ ที่ชอบ" นี่.... ภาษาเก่าแปลว่าอะไรครับอาจารย์
นายติบอเดาได้แต่ว่าภาษาใหม่น่าจะแปลว่า "ที่ไหนก็ได้ ที่ไกลๆกูหน่อย" อ่ะคับ แหะๆ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 08 มี.ค. 08, 06:46
คำที่กำลังเลือนหายไปส่วนหนึ่งมักจะเป็นคำที่ผูหลักผู้ใหญ่รุ่นก่อนๆจะพูดกับดิฉันเสมอ และเป็นคำที่ความหมายดี เวลาเราทำอะไรให้ท่าน สวัสดี ส่งของ มอบของให้ผู้หลักผู้ใหญ่ นอกจากท่านจะขอบใจลูกหลานแล้ว ก็มักจะต่อด้วยคำว่า ขอให้เจริญๆเถอะ และตามด้วยคำที่ไพเราะอีกคำค่ะ
"บุญรักษา"ค่ะ

เดี๋ยวนี้เจอแต่ เต๊กแก เป็นหลัก...



กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 08 มี.ค. 08, 07:29


เคยอ่านเห็น  เปิ่นเทิ่นมันเทศ  และ เอามันเทศมาขึ้นโต๊ะ   ในวรรณกรรมรุ่น ๒๔๖๐ - ๒๔๘๐  หมายความถึง คนที่ไม่เข้าใจมารยาทในเวลานั้น

ชิ้น   ที่แปลว่า แฟน  ก็เห็นในวรรณกรรมยุคนี้ด้วยค่ะ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: ภูมิ ที่ 08 มี.ค. 08, 10:03
>ที่ชอบที่ชอบ
เด็กเข้าใจคิดแฮะ ผมว่าคนสมัยก่อนก็น่าจะคิดตรงๆนั้นแหละ แล้วก็อยากให้วิญญาณปู่ย่าตายาย มาเฝ้าปกปักรักษาลูกๆหลานๆด้วย



กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Emmi ที่ 08 มี.ค. 08, 14:22
หนอนหนังสือ น่าจะแปลตรงตัวจาก bookworm

เห็นคำว่า "สะเหร่อ" ใช้กันทั่วไปในเน็ต   ไม่รู้ว่าจริงๆแล้วสะกดยังไง "สะเหล่อ " "เสล่อ" หรือ "เสร่อ"
มีอีกคำที่ดูเหมือนจะเลิกใช้กันไปแล้ว คือ"ลาว" เพราะฟังๆแล้ว  ไม่ยุติธรรมกับเพื่อนบ้านของเราเท่าไหร่

เอาเป็นว่า เมื่อก่อนนี้ ใช้คำว่า "เชย"
คำนี้มาจากชื่อลุงเชย  ของป.อินทรปาลิต   เศรษฐีชราแห่งปากน้ำโพ ทั้งขี้เหนียวทั้งทำอะไรเด๋อด๋าน่าขำ
ทั้งๆชื่อ "เชย "ถือว่าเพราะ   ดูแต่คุณเชย พี่สาวฝ่ายดีของแม่พลอยนั่นไงคะ

และเก่ากว่า "เชย" คงไม่มีหนุ่มสาวรู้จักกันแล้ว คือคำว่า "เปิ่น"

สวัสดีค่ะ อาจารย์
อ่านหลายคำแล้วก็นั่งนึก เอ เราไม่เคยได้ยินจริงๆ ด้วย
แต่เจอคำนี้ เชย และ เปิ่น เลยมานั่งนึกว่าตัวเองใช้คำนี้มากน้อยแค่ไหน
หนูยังคงใช้คำว่า เชย และ เปิ่น อยู่ค่ะ แต่ลูกพี่ลูกน้องที่อ่อนกว่ากันสัก 10 ปี เห็นจะได้ รู้สึกแค่คำว่า เชย แต่พอพูดถึง เปิ่น ก็ทำหน้าฉงน
มองหน้าพี่ พร้อมกับมีคำถามว่า เปิ่น นี่คืออะไร

ขอบพระคุณค่ะ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มี.ค. 08, 17:45
คำว่า ทะแม่ง  ยังใช้กันอยู่หรือเปล่าคะ
ยังมีใครใช้คำว่า กลับรถ  บ้าง  หรือว่าใช้ ยูเทิร์น กันหมดแล้ว
ร้านเสริมสวย ยังใช้กันอยู่ไหม หรือทับศัพท์เป็น beauty salon

อ้อ อีกคำ  ไม่มีใครเรียกรถยนต์ ว่ารถเก๋ง อีกแล้วใช่ไหมคะ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Oam ที่ 08 มี.ค. 08, 18:01
เซี้ยว เฮี้ยว ก๋ากั่น ครับ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 08 มี.ค. 08, 18:24
อรุณสวัสดิ์..
ราตรีสวัสดิ์..
สายัณห์สวัสดิ์..


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: koraon ที่ 08 มี.ค. 08, 20:33
เพิ่งสมัครเป็นสมาชิกวันนี้ แต่อ่านมาพักใหญ่ๆ แล้วเจ้าค่ะ แม้นว่าจักเรียนแลทำงานด้านชีววิทยาเป็นหลัก แต่ก็พึงใจในภาษาไทย อาศัยครูพักลักจำเอาเป็นอาจิณ

คำเก่าที่เพิ่งใช้ไปวันก่อนแล้วมีพี่ๆ ในวงทำหน้างง คือคำว่า ตีขลุม ค่ะ

ตีขลุม  ก. ตู่หรือหยิบฉวยเอาของผู้อื่นโดยทึกทักเอาว่า
 เป็นของตน, แสดงอาการเป็นเชิงรับสมอ้างเพื่อ
 ประโยชน์แก่ตน.

หัวมังกุ ท้ายมังกร อันนี้เคยได้อ่านเจอว่าเป็นชื่อเรือ คือเรือมังกุ กับเรือมังกร รบกวนผู้รู้ด้วยค่ะ

ประเดี๋ยวถ้านึกอะไรออกจักมาบอกเล่าเจ้าค่ะ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: bookaholic ที่ 08 มี.ค. 08, 20:35
มือไม่พาย เอาตีนราน้ำ  คำว่าราคือต้านครับ  ไม่เห็นใครใช้มานานมากแล้ว
ราอีกคำ จำได้ว่าอยู่ในเพลง มาร์ชจุฬา เดินๆเถิดรา นิสิตมหาจุฬาลงกรณ์     คนละรากันครับ ไม่ใช่เดินต้าน แต่ไม่รู้ว่าคืออะไร ???  


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: koraon ที่ 08 มี.ค. 08, 20:50
รา ๑  น. ไม้ที่กระหนาบอยู่ใต้ท้องพรึงรับพื้นเรือนเพื่อไม่ให้พื้นอ่อน อยู่ระหว่าง
 รอด; ไม้จีมเสาที่ปากหลุมซึ่งยังไม่ได้กลบดินเพื่อกันไม่ให้โอนเอน เรียกว่า
 ราคอเสา.
 
 
รา ๒  น. ชื่อเรียกพืชชั้นตํ่าที่ไม่มีคลอโรฟิลล์ และลําต้น ใบ ราก ที่แท้จริง
 ส่วนมากเจริญเป็นเส้นใย แบ่งเป็น ๒ พวก คือ ราเมือก และ ราแท้
 สืบพันธุ์โดยสปอร์อาศัยอยู่บนซากของพืชหรือสัตว์ ขึ้นเบียนหรืออยู่
 ร่วมกับพืชอื่นก็มี.
 
 
รา ๓  ก. ค่อย ๆ เลิกไป เช่น รากันไป; น้อยลง, อ่อนลง, เช่น ไฟราดับไปเอง. 
 (กลอน) ว. คําชวนอีกฝ่ายหนึ่งให้กระทําตาม เช่น ไปเถิดรา.
 
 
รา ๔  (กลอน) ส. เราทั้งคู่, เขาทั้งคู่, ในคําว่า สองรา, ต่อมาใช้หมายถึงเกิน ๒
 ก็ได้ เช่น เร่งหาประกันมาทันใด ผู้คุมเหวยรับไว้ทั้งสามรา. (ขุนช้าง
 ขุนแผน).


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 08 มี.ค. 08, 21:54
ที่อยากทราบที่สุดเลย  คือสมัยก่อนเวลาที่มีศัพท์แปลกๆออกมา  ผู้ใหญ่ตอนนั้นมีตำหนิเหมือนสมัยนี้บ้างไม๊ครับ

เช่นเวลามีคำว่า  เลิศสะแมนแตน- เจ๋ง - เซี้ยว - สะเหร่อ - ก๋ากั่น

สมัยนี้โดนดุหลายคำเวลามีคำแปลกๆ  ไม่ใจเลย - แหร่มเลย - โคตรเงือกเลย  ขออภัยครับถ้าบางคำไม่สุภาพ.. ;)


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Emmi ที่ 08 มี.ค. 08, 23:10
คำว่า ทะแม่ง  ยังใช้กันอยู่หรือเปล่าคะ
ยังมีใครใช้คำว่า กลับรถ  บ้าง  หรือว่าใช้ ยูเทิร์น กันหมดแล้ว
ร้านเสริมสวย ยังใช้กันอยู่ไหม หรือทับศัพท์เป็น beauty salon

อ้อ อีกคำ  ไม่มีใครเรียกรถยนต์ ว่ารถเก๋ง อีกแล้วใช่ไหมคะ


อาจารย์คะ หนูยังใช้ทั้ง 4 คำอยู่เลยค่ะ
มาอยู่อเมริกา เวลาพูดภาษาไทยกับน้องสาว หรือ พ่อ แม่ ก็ยังใช้คำว่ากลับรถ ค่ะ
สำหรับคำว่า ร้านเสริมสวย ไม่ค่อยได้ใช้ค่ะ เพราะไม่ค่อยตัดผมในร้าน ตัดเองซะเป็นส่วนใหญ่
แต่ตอนอยู่เมืองไทย ใช้คำว่า ร้านทำผม ค่ะ

รถเก๋งก็ยังใช้อยู่ค่ะ ไม่ค่อยใช้รถยนต์สักเท่าไหร่


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 08 มี.ค. 08, 23:33
จำได้ว่า ราชการพยายามหนับหนุนให้เรียกช่างตัดผมว่า
กัลบก

เดี๋ยวนี้คงมีรู้จักไม่มากแล้ว

เรื่องภาษาวิบัตินี่เป็นธรรมดาโลกครับ เอาไว้วัดว่าเราแก่ หรือวัยรุ่นงัย
เมื่อหลายสิบปีก่อน ตอนที่คุณธาดา เต็มบุญเกียรติ ยังขายแฟ๊บ (ความจริงบรีส...ตะหาก คือแฟ้บยี่ห้อบรีส)
แกพูดว่า กลิ่นสะอาด

ท่านราชบัณฑิต ถึงกะประชุมกัน ว่าใช้ได้ใหม


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 08 มี.ค. 08, 23:52
ตามที่เคยบอกว่าจะไปสกัดคำจากจารึกสุโขทัยมาครับ น่าสนใจดีที่เดียว เพราะมีทั้งศัพท์ และสำนวนที่เราอ่านเข้าใจแต่เราไม่พูดกันแบบนี้

จารึกคำปู่สบถ
อักษร    ไทยสุโขทัย
ศักราช    พุทธศตวรรษ ๒๐

คุณในปลา ยาในข้าว : โชคร้ายที่อยู่ตอนต้นของจารึกซึ่งชำรุด จึงไม่ทราบว่าข้อความก่อนหน้านี้คืออะไร แต่ก็ทำให้นึกถึงเอกลักษณ์ของภาษาไทสุโขทัยได้ชัด เหมือนกันกับที่พบในจารึกหลักที่ ๑ อยู่หลายประโยค (แต่ก็ยังมีคนบอกว่าเขียนสมัย ร.๔ ซึ่งสำนวนแบบนี้ไม่มีพูดกันแล้ว) เช่น ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว, จูงวัวไปขาย ขี่ม้าไปขาย เป็นต้น จากรูปประโยค นี้ก็น่าจะหมายถึง คุณค่าของอาหาร

สรรพโทษ - ปัจจุบันนิยมใช้ "ความผิดต่างๆ"

เกลียวสนิท - แน่นแฟ้น, กลมเกลียว, สนิทสนม

สัจจาคำ - คำพูด, คำสัญญาที่ให้ไว้

ผิ - ถ้า

ปด - โกหก, พูดโกหก, พูดเท็จ

ผิปดสัจจาคำ - ถ้าผิดคำพูด, ถ้าพูดโกหก, ถ้าพูดผิดไปจากคำสัญญาที่ให้ไว้

ฝูงพระพุทธ - เหล่าพระพุทธเจ้า - เมื่อก่อนนี้ อะไรที่เป็นกลุ่มก็เรียกฝูง ไม่ว่าจะเป็นสัตว์หรือคน แม้แต่เหล่าอดีตพระพุทธเจ้า แต่ปัจจุบันไม่ใช้แบบนั้นแล้ว

ปางหน้า - ภายหน้า

คำสบถ - คำสาบาน
    สบถ    [สะบด] ก. เปล่งถ้อยคำเพื่อเน้นให้คนเชื่อโดยอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์
             ลงโทษตนหรือให้ภัยพิบัติต่าง ๆ เกิดกับตนถ้าหากตนไม่ปฏิบัติ
             ตามหรือไม่เป็นไปอย่างที่พูดไว้. (ป. สปถ; ส. ศปถ).

รักด้วยใจจริง - จงรักภักดี

อย่าให้ได้แก่ปู่ - อย่าให้เกิดขึ้นกับปู่

กระทำใจรักภักดีไมตรีด้วย... - มีไมตรีจิตต่อ...

ช่วยปลดช่วยมล้าง - ช่วยแก้ไข (ปัญหา)

ด้วยรี้ด้วยพล - ด้วยรี้พล, ด้วยไพร่พล

เรามักมากท่านให้มาก เรามักน้อยท่านให้น้อย - ถ้าเราต้องการมากท่านก็ให้มาก ถ้าเราต้องการน้อยท่านก็ให้น้อย
     สังเกตว่า ปัจจุบัน "มักมาก" จะใช้ในความหมายไม่ค่อยดี เช่น มักมากในกาม แต่ไม่มีมักมากในความรู้  ;D

บ้านเมืองเราทั้งหลาย - บ้านเมืองพวกเรา

เราทั้งหลาย - พวกเรา

ชั่ววงศ์สุโขทัย - ในสมัยราชวงศ์แห่งเมืองสุโขทัย
     คำว่า "ชั่ว" กับ "ช่วง" คงมีรากมาจากคำเดียวกัน ปัจจุบันจะนิยมใช้ "ช่วง" ยกเว้นบางคำที่พูดกันมานานแล้ว เช่น ชั่วเวลาหนึ่ง, ชั่วขณะหนึ่ง

ปรีชญาพล - (กำลังแห่งสติปัญญา) - พลังสมอง, พลังความคิด

พาหุพล - (กำลังแขน) - พลังกาย, กำลังกาย

ตนปู่พระยา - ตัวปู่พระยา (ปัจจุบันมีคำซ้อนความหมายใช้ว่า ตัวตน)

ลูกท้าวลูกไท - ลูกท่านหลานเธอ

สรรพโทษทั้งหลาย - ความผิดต่างๆ

ทุกอำรุง - ทนุบำรุง

เสมอดั่ง - เหมือนกับ

===============================================

ถ้ามีเวลาจะหามาอีกครับ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 08 มี.ค. 08, 23:56
ก็เพราะคำว่ากลิ่นสะอาดนี่หละ ช่วยให้บรีสติดตลาดเป็นหมายเลขหนึ่งมาตั้งแต่ดิฉันเรียนหนังสือจนทำงาน คำนี้ตายหรือยัง ครีเอทีฟเก่าบรีสบางคนยังอยู่แถวนี้น่าจะบอกได้ค่ะ 8)


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 09 มี.ค. 08, 02:54
พอดีดูโฆษณา ได้ยินคำว่า "แม่เจ้าประคุณรุนช่อง"  ไม่ทราบหมายความอย่างไรครับ.... ;D

รุน  ก. ดุนไปเรื่อย, ไสไปเรื่อย, เช่น รุนหลังให้รีบเดินไปข้างหน้า; ระบาย
 ท้อง. น. เครื่องช้อนกุ้งชนิดหนึ่งทำด้วยไม้ไผ่สานเป็นรูปสามเหลี่ยม
 คล้ายชนาง แต่เล็กกว่า มีด้ามยาว ใช้ช้อนกุ้งหรือปลาเล็กปลาน้อยตาม
 ชายเฟือย.
ช่อง  น. ที่ว่างซึ่งเป็นทางเข้าออกได้ เช่น ช่องเขา ช่องหน้าต่าง ช่องลม; 
 โอกาส เช่น ไม่มีช่องที่จะทําได้.


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pakun2k1d ที่ 09 มี.ค. 08, 07:07
"มะเหงก" ค่ะ  ใครรู้จัก ใครเคยโดยมะเหงกบ้างเอ่ย


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 09 มี.ค. 08, 08:05
 :-\ :-\ :-\
คุณป้ากุนฯทำให้ขำกิ๊ก .. สมัยนี้ เด็กๆผู้หญิงเขาไม่รู้จักมะเหงกกันแล้วค่ะ เดาว่า น่าจะถูกตอนเสียด้วยคำอื่น


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 09 มี.ค. 08, 10:55
อ่านหนังสือมาจนหัวผุ  ทำไมเข้าใจคำว่า  อะร้่าอร่าม   ว่ามีความหมายว่า  หญิงที่อกโต  ใหญ่ เห็นชัดเต็มที่
หรือคนที่ประทุกเครื่องแต่งตัวพราวแพรว

เมื่อวานนี้ อ่านหนังสือเก่า  ที่เจ้า้นายและขุนนางมีเรื่องยุ่งๆในการพัฒนาบ้านเมือง
หนังสือเล่าว่า  เจ้านายทรงบ่นว่า  พระสึกหลายองค์  ธุระท่านก็มีอะร้่าอร่าม

รีบไปเปิดพจนานุกรม  เพราะจำไม่ได้ว่าเคยเห็นการใช้ในลักษณะนี้

ได้คำแปลมาว่า  พะว้าพะวน


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 09 มี.ค. 08, 16:57
พอดีดูโฆษณา ได้ยินคำว่า "แม่เจ้าประคุณรุนช่อง"  ไม่ทราบหมายความอย่างไรครับ.... ;D

รุน  ก. ดุนไปเรื่อย, ไสไปเรื่อย, เช่น รุนหลังให้รีบเดินไปข้างหน้า; ระบาย
 ท้อง. น. เครื่องช้อนกุ้งชนิดหนึ่งทำด้วยไม้ไผ่สานเป็นรูปสามเหลี่ยม
 คล้ายชนาง แต่เล็กกว่า มีด้ามยาว ใช้ช้อนกุ้งหรือปลาเล็กปลาน้อยตาม
ชายเฟือย.
ช่อง  น. ที่ว่างซึ่งเป็นทางเข้าออกได้ เช่น ช่องเขา ช่องหน้าต่าง ช่องลม; 
 โอกาส เช่น ไม่มีช่องที่จะทําได้.



คำนี้แปลว่าอารายอ่ะคับ แหะๆ ;D






ปล. แอบอึ้งกับความหมายของคุณวันดีเล็กน้อย เพราะตั้งแต่เป็นช่างตัดเสื้อมา 8 ปี
นายติบอใช้คำว่าอะร้าอร่ามกับเสื้อผ้าของลูกค้าที่ชอบเสื้อผ้าที่ดู drag

แต่พอจะใช้คำว่า drag เมื่อนานมาแล้วอาจารย์ท่านหนึ่งก็ดุนายติบอว่าอย่าใช้ดีกว่า
ขืนใช้ไปเดี๋ยวคนจะเข้าใจว่าชีม่ะชั่ยผู้หญิงปัยน่ะจะยุ่งเอา



(อยากลุกกลับไปถามอาจารย์ท่านนั้นจัง ว่า drag his feet นี่ต้องใส่ส้นสูงมั้ยอ่า..... :P)


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 09 มี.ค. 08, 19:37
ดีมากครับคุณน้องติบอที่สงสัย อิอิ ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกัน ไปหามาได้ว่า

เฟือย น. ที่ริมนํ้าซึ่งมีหญ้าหรือไม้ขึ้นระกะอยู่.

ตั้งแต่เกิดมา ก็ยังไม่เคยเจอเลยคำนี้ เหมาะกับหัวข้อกระทู้อย่างยิ่ง  ;D

ปัจจุบัน นิยมใช้คำว่า "ชายน้ำ" หรือ "ริมน้ำ" หรือ "ริมตลิ่ง" แทน โดยไม่ได้คำนึงว่าจะมีก่อหญ้าขึ้นระเกะระกะหรือไม่

ชายเฟือย ไม่ได้เป็นอะไรกับชายกลาง และ ชายน้อย  8)


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 09 มี.ค. 08, 19:44
มะเหงก [-เหฺงก] น. ด้านหลังของข้อนิ้วมือที่งอเข้าด้วยกัน ใช้สําหรับเขกหรือชูให้ประกอบ
   คํากล่าวแสดงความโกรธเป็นต้น เช่น ใช้มะเหงกเขกหัว ให้มะเหงก.

คำนี้ผมยังทันครับ แต่ปัจจุบันก็ไม่เคยได้ยินแล้ว (น่าจะตั้งแต่ สิบกว่าปีที่แล้ว  :-X )

ดูรูปคำแล้วก็อดสงสัยไม่ได้ว่า "เหงก" กับ "เขก" มันเกี่ยวข้องอะไรกัน  ???

หรือ อาจไม่เกี่ยวอะไรกันเลยก็ได้ ???   ???


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 มี.ค. 08, 19:58
แม่เจ้าประคุณรุนช่อง เป็นคำเพี้ยนมาจาก สกุลรุนช่อง ค่ะ

ในนิยายเก่าประมาณยุคป.อินทรปาลิต คือก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง  คำนี้เจ้าคุณพ่อของนางเอกมักใช้ประกอบการดูหมิ่นพระเอกยากจนที่บังอาจมารักลูกสาว 
ว่า "เป็นคนไม่มีสกุลรุนช่อง"

แต่ทำไมถึง "รุนช่อง" ไม่ทราบที่มาเหมือนกัน   เดาว่าเกิดจากเสียงคล้องจองกัน  แทนที่จะเป็น "บ้านช่อง " ก็เป็น "รุนช่อง" คล้องกับ "สกุล"

ชายเฟือย เคยได้ยิน แต่ไม่ใช่ในความหมายนี้    มีสำนวนว่า "หากินตามชายเฟือย"  จำได้คลับคล้ายคลับคลา  แปลว่ากระจอก


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Oam ที่ 09 มี.ค. 08, 20:55
พอได้ยินคำว่า อะร้าอร่าม เลยทำให้นึกถึงคำว่า อล่างฉ่าง อันนี้น่าจะแปลว่าเห็นหมดเลย ไม่มีอะไรปกปิด  :-[


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 09 มี.ค. 08, 21:47
สวัสดีครับอาจารย์เทาชมพู

"หากินตามชายเฟือย" ถ้า "เฟือย" ตามความหมายในพจนานุกรม ก็น่าจะแปลได้ว่า "หากินตามชายน้ำ" หรือ หาอะไรกินได้ตามริมลำธาร (ปลาเล็กปลาน้อย, ผักต่างๆ ที่ขึ้นริมน้ำ) ก็เก็บกินไป ซึ่งดูแล้วให้ความรู้สึกว่ายากจน หาเช้ากินค่ำ อาจเป็นที่มาของความหมายว่า "กระจอก" ก็ได้นะครับ

สกุลรุนช่อง นี่เคยได้ยินครับ แต่คำว่า รุน นี้ เพี้ยนมาจาก "รุ่น" ได้หรือไม่ ? ปกติที่เคยอ่านพบก็จะเป็นการใช้ในเชิงลบ เช่น ไม่มีสกุลรุนช่อง ไม่คุ้นกับความหมายเชิงบวก (เขาเป็นคนมีสกุลรุนช่อง  ???)

คำว่า "ช่อง" คงเป็นอย่างที่อาจารย์ว่าคือ มีความหมายเหมือน "บ้าน" (บ้านช่อง ห้องหอ)

ทำให้นึกต่อไปถึง "ซ่อง" ว่า "ช่อง" กับ "ซ่อง" จะมีรากมาจากที่เดิมกันหรือไม่

อันที่จริง "ซ่อง" ราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายว่า

ซ่อง ๑    น. ที่มั่วสุมชุมนุมกันลับ ๆ (มักใช้ในทางไม่ดี) เช่น ซ่องการพนัน
   ซ่องโจร ซ่องโสเภณี. ก. ประชุม.

ช่อง    น. ที่ว่างซึ่งเป็นทางเข้าออกได้ เช่น ช่องเขา ช่องหน้าต่าง ช่องลม;
   โอกาส เช่น ไม่มีช่องที่จะทําได้.

การแอบประชุมกัน อาจเริ่มกระทำที่ทางเข้าออก (ช่อง) ตามตรอกซอกซอย  ???

แต่ปัจจุบัน ถ้าพูด "ซ่อง" เฉยๆ ก็จะหมายถึง "ซ่องโสเภณี"
ซ่องโจร ซ่องการพนัน คิดว่าปัจจุบันไม่มีใช่ในภาษาพูดแล้ว แต่ในภาษากฎหมายคงยังมีใช่อยู่

ซ่องโจร - แก็งค์โจร, กลุ่มโจร, รังโจร, แก็งค์มาเฟีย
ซ่องโสเภณี - ซ่อง, ซ่องกะหรี่
ซ่องการพนัน - บ่อนการพนัน, บ่อน

ส่วนกริยาก็คงมีใช้อยู่คือ "ซ่องสุม" เช่น ซ่องสุมอาวุธ, ซ่องสุมผู้คน

ดูจากรูปศัพท์ "ซ่อง" ไม่ว่าจะเป็นกริยา หรือ นาม ล้วนส่อความหมายในเชิงลบเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมายที่ต้องแอบกระทำกัน


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 09 มี.ค. 08, 22:08
ความหมายของคำว่า "อะร้าอร่าม" ตามราชบัตฑิตยสถาน ครับ

อะร้าอร่าม ๑ (โบ) ก. ห่วงหน้าห่วงหลัง, งกเงิ่นด้วยความห่วงใย.

อะร้าอร่าม ๒    ว. ลักษณะการแต่งกายที่มีเครื่องประดับเต็มไปทั้งตัว; ใหญ่
   ผิดปรกติ (มักใช้แก่หน้าอกผู้หญิง).

ความหมายของ "อร่าม"
อร่าม [อะหฺร่าม] ว. แพรวพราว, สว่างไสว, เช่น ใส่ทองอร่ามไปทั้งตัว
   เปิดไฟอร่ามไปทั้งห้อง.

ผมนึกถึงวลี "งดงามอร่ามตา"

คำว่า อะร้าอร่าม ที่มาใช้ในความหมายว่าผู้หญิงหน้าโต หรือ แต่งตัวโชว์เนินอกนั้น ก็คงเพราะว่า ผู้หญิงคนนั้นเป็นจุดเด่นในงาน ใครๆ ก็มอง เหมือนกับ  คนที่แต่งตัวด้วยเครื่องเพชรแพรวพราว จนเป็นที่สะดุดตาสะดุดใจของแขกในงานครับ





กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 09 มี.ค. 08, 22:44
อิอิ.อะร้าอร่าม  เปรียบว่าคล้ายกับคำที่คุณเจ๊ไก่ท่านชอบใช้ได้ไม๊ครับ "เลิศหรูอลังการ(งานสร้าง)  แล้วจึงแผลงมาเป็น  "แหร่ม"  ของคุณ อ่าง เถิดเทิง อิอิ... :o

เฉิ่ม  ล่ะครับ   "นายนี่น๊าชอบทำอะไรเฉิ่มๆอยู่เรื่อยเลย"   คล้ายเชยหรือเปล่าครับ.... ???


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 10 มี.ค. 08, 01:38
ทั่นเจ้าพระยาโอมเล่นศัพท์เก่า.....
นายติบอคลับคล้ายคลับคลาว่าได้ยินคำนี้มาจากนิราศพระบาทตอนนางในเล่นชิงช้ากัน ชั่ยฤๅมั่ย จำบ่ได้เสียแล้ว แหะๆ




ว่าแล้วก็รู้สึกว่า คำว่า "คลับคล้ายคลับคลา"
เพื่อนๆรุ่นเดียวกะนายติบอก็ไม่พูดกันซะละ
ยิ่งคำว่า "เลาๆ" นี่..... หายไปนานแหล่วนา


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Oam ที่ 10 มี.ค. 08, 08:03
ถ้าเป็นศัพท์เก่า ผมก็คงกลายเป็นคนรุ่นเก่าไปเสียแล้วละคุณติบอ (ไม่นึกเลยว่าวันนี้จะมาถึง ;D)
ความจริงศัพท์คำนี้มีญาติพี่น้องอีกสองคน คือ อล่องฉ่อง กับ อลึ่งฉึ่ง
คาดว่านะครับ (อย่าเพิ่งเชื่อ)
อล่องฉ่อง น่าจะมาก่อน หมายถึงสวยงาม
พออล่างฉ่าง ก็เห็นความงามนั้นหมดเลย มักใช้กับผู้หญิงเวลาผ้านุ่งหลุด
สุดท้ายอลึ่งฉึ่ง อันนี้หมดงามเสียแล้ว แต่ขึ้นอืด ถ้าไม่ใช้กับศพก็ใช้กับภรรยาที่ปล่อยเนื้อปล่อยตัว

สรุปว่าศัพท์ตระกูลนี้ใช้กับพวก feminine ไม่ใช้กับ musculine


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 มี.ค. 08, 08:29
เติมศัพท์เก่าให้อีกคำ เข้าชุดกัน
แอร่มอร่าม   แปลว่างามแพรวพราว  บางทีก็ใช่ แอร่ม เฉยๆ  เจอในนิยายเมื่อสัก ๔๐ ปีก่อนค่ะ
เดี๋ยวนี้ถ้าใช้อีก  หนูๆวัยเดียวกับคุณติบอ อาจจะงง อ่านเป็น แอ- ร่ม  ไม่ใช่ อะแหร่ม


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 10 มี.ค. 08, 08:56
อารมณ์ขันของคุณโอมทำให้เช้าวันนี้สดใสนะคะ อาจารย์เทาชมพู ศัพท์หวือหวาสมัยเซเวนตี้ส์ที่หายไปก็จิ๊กโก๋ จิ๊กกี๋ .. ผู้ชายที่ถูกมองว่าเป็นจิ๊กโก๋นั้น ค่อนข้างไปทางแต่งตัว บวกกิริยามารยาทไม่น่าไว้วางใจ ไปจีบสาวบ้านไหน บุพการีมองลอดแว่น มักใส่แว่นเรย์แบนพรางตา ผมหวีเสย ใส่เสื้อลายหน่อยๆอาจเป้นตาสก็อต ใส่กางเกงฟิตตัว เข็มขัดมันปล๊าบ..
จิ๊กกี๋ก็ฟังดูค่อนข้างจะดีขึ้นมาหน่อย ก็ไปทางเรื่องแต่งตัวเปรี้ยวๆ ใส่กระโปรงเอวต่ำ เสื้อผ้าบางๆ แต่ตัวโคร่ง ถ้าเป็นนักเรียนเอาเสื้อไว้ในกระโปรงแต่ดึงลงมาหย่อนๆ ใส่รองเท้าหัวแหลม กระโปรงสั้นจุ๊ด ผมซอยๆ ก็สมัยนั้นสาวๆต้องบ็อบเป็นหลัก
...
จิ๊กโก๋ จิ๊กกี๋ต้องร้องเพลงฝรั่ง ถ้ามีเงินหน่อยต้องใส่รองเท้าหนังกลับ ส่วนจิ๊กกี๋ ไม่ใส่คัทชู ต้องเป็นหนังแก้ว หรือรองเท้าหัวแหลมเปี๊ยว..
เอ้อ.. เขียนไปเขียนมาชักอยากจะเป็นจิ๊กกี๋อีกสักครั้งแล้วสิคะ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 10 มี.ค. 08, 10:09
       หลายปีมานี้ไม่ค่อยได้ยินคำว่า คัทชู แล้ว

ป.ล. วันนี้นาฬิกาบันทึกเวลาของเรือนไทยเดินเร็วจัง

Court shoes

 
 


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 10 มี.ค. 08, 11:17
จากนิราศเดือน - เดือนสี่   

สงสารใจใจคิดจะชิดเชย                  สงสารตัวตัวเอ๋ยจะเอกา
สงสารมือมือหมายจะก่ายกอด            สงสารปากปากพลอดให้หนักหนา
สงสารอกอกโอ้อนิจจา                    ใครจะมาแอบอกให้อุ่นใจ
 
สงสารหลังหลังหมายจะให้จุด            สงสารสุดเวทนาน้ำตาไหล
สงสารตาตาพี่แต่นี้ไป                     จะดูใครต่างเจ้าจะเปล่าตา

พจนานุกรม :   จุดหลัง ก. เอาเล็บจิกหรือกดตุ่มหรือผื่นที่หลังเพื่อแก้คันเป็นต้น.
                 เคยอ่าน (น่าจะเป็น อ.เปลื้อง ณ นคร) ว่าหมายถึงจุดตุ่มสิวที่หลัง
           


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 10 มี.ค. 08, 15:46
"สงสารหลังหลังหมายจะให้จุด"

"จุด" ในบทนี้ น่าจะหมายถึง "เกา" หรือเปล่าครับ  ???

คือ สงสารหลังที่คันมาก จนอยากให้ช่วยด้วยการเกา

กริยา "จุด" นี้ ปัจจุบัน เห็นจะใช้ "จุดไฟ" หรือ เริ่มต้นความคิด "จุดประกาย (ความคิด) เพราะไปเปรียบเอาความคิด (ที่ฉลาด) ก็เหมือนการจุดแสงสว่างไปสู่ปัญญา


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 มี.ค. 08, 16:41
เปิดหนังสือเพชรพระอุมามาอ่านอีกครั้ง   เจอคำนี้  คนรุ่นติบอคงไม่เคยพูด
"ตะครั่นตะครอ  รู้สึกตัวว่าจะเป็นไข้"

อีกคำค่ะ   ในนิยายเรื่องเดียวกัน

ดารินหัวเราะออกมาอย่างกะเง้ากะงอด
ดารินทำท่า พิพักพิพ่วน

คนไทยยุคก่อน เจ้าคารม ใช้คำยาวๆ  แต่เดี๋ยวนี้นิยมคำสั้นๆ  เหมาะกับพิมพ์ส่งข้อความในเน็ต

เอาสีข้างเข้าถู----> แถ
อันธพาล -----> เกรียน


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 10 มี.ค. 08, 17:45
"ตะครั่นตะครอ" ผมก็ไม่ทันครับ อิอิ  ;D

เข้าใจว่ามีความหมายเหมือน "ครั่นเนื้อ ครั่นตัว"

==================

"กะเง้ากะงอด" ผมยังทันครับ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้ยินแล้ว

จริงๆ ก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าหมาย จะหมายถึง "อายๆ" หรือเปล่า .... (แว๊บไปเปิดดิก) ...

กระเง้ากระงอด ว. กะบึงกะบอน, โกรธอย่างแสนงอน, เง้างอด หรือ เง้า ๆ งอด ๆ ก็ว่า.

เรื่องพวกคำ "กะ" หรือ "กระ" นี้ ผมเข้าใจว่าคงไม่มีมาตรฐานแน่นอนครับ บางครั้ง ควรจะเป็น "กะ" เฉยๆ ราชบัณฑิตยฯ ท่านให้เป็น "กระ" ซะงั้น แต่บางคำควรเป็น "กระ" ท่า่นให้ได้เป็นสองอย่าง "กระ" ก็ได้ "กะ" ก็ได้  :-\

อ้าวไปกันใหญ่ มี กะบึงกะบอน ด้วย อิอิ  ;D

เง้างอด - เง้าๆ งอดๆ สองคำนี้ ผมไม่คุ้น แต่ผมจะคุ้นกับ "เง้างอน" มากกว่า

พิพักพิพ่วน อันนี้ ผมก็ไม่ทัน แต่พอจะเข้าใจว่าน่าจะตรงกับคำว่า "กระอักกระอ่วน"  (แว๊บไปเิปิดดิก)

พิพักพิพ่วน    ก. กังวล, อักอ่วน, รวนเร, นึกกลับไปกลับมา. ว. อาการที่รู้สึก
   ปั่นป่วนในท้อง, อาการที่รู้สึกกระอักกระอ่วนลังเลใจ.

พิพักพิพ่วน นี้ ปัจจุบันน่าจะไม่ใช่กันแล้ว แต่จะใช้ "กระอักกระอ่วน" หรือ "กลืนไม่เข้าคายไม่ออก" แทน


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 10 มี.ค. 08, 18:10
       เพลงสากลเก่าเพลงหนึ่ง มีเนื้อร้องน่าเห็นใจว่า
        And now I even have to scratch my back myself

ค้นจากเน็ทพบข้ออธิบายของ อ.ล้อม เพ็งแก้ว ครับ  -
 
       การจุดหลังนี้เป็นเรื่องของการแสดงความรักความเอาใจใส่ของคนที่ห่วงอาทรซึ่งกันและกัน
อาจเป็นแม่กับลูกหรือหนุ่มกับสาวที่กำลังมีความรักต่อกัน อย่างเช่น เมื่อพลายแก้วจะไปศึก นางพิมจึงแสดงความเป็นห่วงว่า

       “จะคายคันตัวต้องละอองไพร ใครจะช่วยจุดหลังรำพึงพา”

       คนไทยแต่ก่อนไม่นิยมสวมเสื้อ เมื่อไปทำงานหรือออกนอกบ้าน ถูกแดดลมก็มักจะเกิดผดบางทีก็ขึ้นเป็นเม็ดใสๆ
แต่มีอาการคันแต่ไม่รุนแรงนัก ในการนี้ก็ต้องใช้เล็บสะกิดให้เม็ดใสๆ นั้นแตก (ซึ่งไม่ใช่การ จิก/กด/เกา)
      เม็ดผดที่เกิดบริเวณหลัง เจ้าตัวมองไม่เห็นจึงให้คนรักหรือคนสนิทสะกิดให้กัน เรียกว่าการจุดหลัง เป็นการสะท้อน
วัฒนธรรมไม่สวมเสื้อ อย่างที่พระยาอนุมานราชธนท่านว่า “นุ่งน้อยเป็นเจริญ”
       ปัจจุบันคนไทยตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่นิยมสวมเสื้อกันเป็นปกติวิสัย การจุดหลังจึงถึงกาลวิสัญญี ยังคงเหลืออยู่
กับคนรุ่นเก่าๆ หรือกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่าเป็น ชาวบ้านนอกคอกนา/คนชายขอบ (fringer) อันเป็นคนกลุ่มเดียวที่ยังคงวัฒนธรรม
ดั้งเดิมเอาไว้มากที่สุด


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 11 มี.ค. 08, 02:36
อ่านความคิดเห็นพี่กุ้งแห้งเรื่องจิ๊กโก๋ จิ๊กกี๋
แล้วพาให้ผมนึกถึงภาพเก่าๆในสมุดภาพของคุณพ่อคุณแม่ครับ

โดยเฉพาะภาพถ่ายเพื่อนสนิทของคุณแม่ท่านหนึ่ง
ที่ชอบม้วนขอบกระโปรงขึ้นมาสูงๆ แล้วเอาตะกร้าขยะมาคล้องคอ
ร้องตะโกนแซวเพื่อนๆว่า "ซิกกาแร๊ก ค่า...... ซิกกาแร๊ก" เหมือนสาวขายบุหรี่ในโรงหนัง




ส่วนคุณพ่อ นุ่งกางเกงขาม้า ตัดผมทรงสี่เต่าทอง
ใส่เสื้อตัวเล็ก ฟิตจนแทบจะเห็นสะดือ กับรองเท้าส้นตึกสูงตะเหลนเป๋น
หยิบมาดูทีไร คุณพ่อพูดทุกที "ว่าไอ้รุ่นกู นี่มันจิ๊กโก๋ แต่ทำไมรุ่นมึงมันกลายเป็น โฮโม ไปแล้ววะ" ??




อ่า.... ว่าแล้วก็เรียนถามสมาชิกท่านอื่นอีกครับ ว่า "ผมทรงซิงเกิ้ล" นี่ทรงไหนอ่ะครับ แหะๆ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 มี.ค. 08, 04:55
ขากางเกงของจิ๊กโกแคบมาก  ขอบขาสูงแสดงถุงเท้าลาย
ตำรวจไทยสมัยนั้นตรวจสอบความเป็นจิ๊กโก็โดยใช้ขวดโคคาโคล่าสอดที่ชายกางเกงค่ะ
ถ้าไม่เข้าก็เชิญไปโรงพัก

เสื้อโดยมากต้องลายหมากรุก  แขนสั้น  พับแขนเล็กน้อย

ทรงผมตั้งสง่าด้วยน้ำมันปอมเมด  มีปอยผมตกมากระจุกหนึ่ง 
ปอยผมนี้เอาไว้สบัดระหว่างสนทนา

จิ๊กโก๋นิยมสร้อยคอเส้นเล็กๆห้อยพระใบมะขาม
จิ๊กกี๋ห้อยคอรูปเจมส์ ดีนค่ะ  เห็นได้ในย่านวังบูรพา



ทรงผมบีตเติลนั้นมายุคค.ศ.  1962 - 1963  หลังจิ๊กโก๋หลายปีอยู่


ผมทรงชิงเกิ้ล ซอยด้านหลังไล่ระดับค่ะ   หน้าปกนวนิยายไทยรุ่นปี ๖๕ - ๘๒  แสดงภาพหญิงไทยไว้ผมทรงนี้ค่ะ
ต่อมาในราวก่อนปี ๒๕๐๐  ผมทรงเดียวกันนี้  แต่สั้นกว่า เรียกกันว่าทรง ออเดรย์ค่ะ
เป๋ ๆ   ยุ่ง ๆเหมือนยุงตีกัน



กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Oam ที่ 11 มี.ค. 08, 08:01
เคยมีเพลง "โก๋พกหวี กี๋พกแป้ง เป็นสาวแก้มแดงก็ต้องแต่งทรงฮาร์ด"
ตอนนั้นก็จะมีคำว่าเด็กฮาร์ดด้วย
แบบว่า อ่ะ เด็กฮาร์ด อ่ะ มีอะไรม่ะเพ่


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 มี.ค. 08, 08:14
อย่างที่คุณป้ากุน *อธิบายค่ะ ชิงเกิ้ล(ไม่ใช่ซิงเกิ้ล) หรือ shingle คือผมซอยสั้นถึงต้นคอ   เป็นการปฏิวัติทรงผมหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑   ก่อนหน้านั้นสาววิคตอเรียนมีทรงเดียวคือผมยาว ตอนเด็กๆ ถักเปียยาวเฟื้อย  พอรุ่นสาวก็เกล้าเป็นมวยด้านหลังศีรษะ
พอปฏิวัติทรงผม  ปล่อยเส้นผมเป็นอิสระ ก็หั่นเสียกุด มาพร้อมกับกระโปรงสั้นเห็นขา   ซึ่งสมัยวิคตอเรียน ถือว่าขาเป็นส่วนต้องปกปิดที่สุด  แม้จะเอ่ยคำว่า"ขา" ก็ถือว่าหยาบโลน

 *ขอโทษคุณ wandee  อย่างยิ่งค่ะ  ที่ตาลายเห็นชื่อ wandee เป็นคุณป้ากุนไปได้  ทั้งๆ ไม่มีตัวอักษรเหมือนกันเลย
จะพยายามไม่ตาลายอีก   ถ้าเจออีกขอสมาชิกท้วงทันควันนะคะ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 11 มี.ค. 08, 10:06
คุณวันดีครับ มิใช่คุณป้ากุน...55555

เคยอ่านเจอว่า สงครามทำให้เปลี่ยนแฟชั่น เพราะยามศึก สาวๆ ต้องเข้าโรงงาน
คนไม่ค่อยตระหนักนะครับ ว่าเครื่องบินเอย รถถังเอย ปืนเอย
ฝีมือแรงงานหญฺงทั้งนั้น

พวกเธอต้องตัดสั้น รวบเก็บ แล้วงานหนัก ผมยาวจะเหม็นอีกด้วย
จบสงคราม สาวๆ ก็เลยสวยเท่ด้วยผมสั้น
ใครไว้ยาว แปลว่าไม่มีส่วนร่วมกับชัยชนะ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 มี.ค. 08, 11:21
ผู้หญิงสวยสมัยโน้นเดินผ่านมา กระตุ้นคำชมจากเพศตรงกันข้่ามว่า   แจ่ม  แจ๋วแหว๋ว  และไฉไลเป็นบ้า

ผู้หญิงที่ฐานะดี สกุลดี  จะโดนขนานนามว่า ดอกฟ้า   ชายหนุ่มที่หมายปองก็จะเป็น หมาวัด

ความรักอันลือลั่นของสาวสกุลสูงกับนักร้องหนุ่ม  กลายมาเป็นเพลง ทาสเทวี
ที่จริงสาวท่านนั้นมีคู่ปองอยู่แล้ว  เล่ากันมาว่า เธอฟังเพลงทาสเทวีเข้าก็เลยเลือกนักร้องหนุ่มเสียงดีผู้นั้น
คำว่า ทาสเทวี  ก็เป็นศัพท์ใช้กันเกร่อไป
ผู้หญิงที่รับรักของชายที่ฐานะด้อยกว่า  ก็เรียกกันว่า ดอกฟ้าโน้มกิ่ง

เคยเห็นทั้งดอกฟ้า  อ่า..หมาวัด  และคู่ปอง

คู่ปองของดอกฟ้าคงความร่ำรวยจากบุญเก่าและบุญใหม่ที่โหมกระทำโดยใจพิสุทธ์สว่าง มิอ้างเอ่ยใดๆทั้งสิ้น
ไม่ปฎิเสธ  ไม่ถ่อมตัว  มิยินดียินร้าย


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 11 มี.ค. 08, 11:37
ขำอาจารย์ .. คุณวันดี หรือคุณแวนดี้กลายเป็นคุณป้ากุนไป ...
...
ดิฉันชอบดูแฟชั่นยุคซิกซ์ตี้ส์ค่ะ ผู้หญิงใส่กระโปรงบานแฉ่ง ใส่สุ่มอีกต่างหาก ปัตติโค้ท หรือ คำฝรั่งแท้ๆว่าเพ็ตติโค้ท สาวสมัยนี้ไม่รู้จัก แต่ยุคดิฉันเป็นนักเรียนคอนแวนต์แก่นกระโหลก ต้องใส่ไปโรงเรียน เวลากลิ้งหกคะเมนตีลังกาจะได้ไม่โป๊ มีชายเป็นลูกไม้ใส่เป็นกระโปรงชั้นใน เรียบร้อยหน่อยก็ใส่แบบกระโปรง ซนก็ใส่แบบกางเกง และเวลาเจอเพื่อนบ้าๆเล่นเปิดกระโปรง ก็ไม่หวั่น
เข้ากับชุดกลางวัน หรือกลางคืน รองเท้านิยมสีขาว ห้อยสร้อยสีขาวเป็นชั้นกลางวันเป็นลูกปัดพลาสติค ผมทรงเปียแบบพจมานบ้าง ทรงออเดรย์บ้าง และเวลาออกงานเต้นรำ หรืองานแต่งงานก็เกล้าตลบเก็บด้านหลัง เรียกทรงกล้วยหอมหรือเปล่าไม่แน่ใจ

พฤติกรรมหลักของสาวเดิ้นคือเล่นสกีน้ำ บ้านดิฉันอยู่ริมเจ้าพระยา เห็นเรือบื๋อ หางสั้น มีสาวๆใส่ชุดว่ายน้ำ เล่นสกีผ่าน วิ่งตื๋อออกมาดูที่ท่าน้ำหน้าบ้าน อยากจะกรี๊ด.. โอ๊ย ตื่นเต้นมาก จำได้ว่าที่บ้านมีฝรั่งมาที เด็กๆวิ่งตามดูกันใหญ่ ร้องฝรั่งๆๆ วิ่งจากท่าน้ำไปจรดสวนเป็นขนัดๆ จนไปชนริมคลอง ไม่รู้จะตื่นเต้นอะไรกันนักหนา
พอเราไปเมืองจีน ห้อยป้ายงานแฟร์ไปไหนๆ คนก็บอก โอ้..ไท้กั๋วๆๆๆ ฮ่า มันแปลกตรงไหนเนี่ย ก็ผมดำตาดำเหมือนกันนะยะ

น้ำมะเน็ด นี่ก็อีกอย่างที่หายไปเลย แม้จะกลับมาในสภาพน้ำสี หรือน้ำใส ก็ไม่ถูกใจเท่าขวดที่มันมีลูกแก้วกลมๆอยู่ด้านในให้เราตามประสาเด็กๆเฝ้ามองอย่างทึ่ง




 




กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 11 มี.ค. 08, 12:07
      เข้าไคล  นึกว่ามาจาก ภาษาอังกฤษ - เข้าไคลแมกซ์

จากพจนานุกรมว่า -

     เข้าไคล  ก. ลักษณะมะม่วงที่แก่มีนวล มีเมล็ดแข็ง, โดยปริยายหมายความว่า จวนจะรู้ผล, ใกล้จะสำเร็จ.

ขวดน้ำมะเน็ด จากโค้กไทยดอทคอม ครับ



กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 11 มี.ค. 08, 12:27
ไปอ่านความเห็นคุณหนูหมุดมาในกระทู้สุสาน (2) คิดดู กิจการก้าวหน้าขนาดแยกสาขา....5555
เธอพูดถึงหม้อเขียว บอกว่าความจริงสีน้ำเงิน แต่คนยุคโน้นเรียกไม่ตรง

ขอเอามาคุยต่อในกระทู้ศัพท์ตายว่า คนเก่าแก่ท่านเรียกถูกต้องแล้วครับ
สีนั้นมิใช่น้ำเงิน
สีน้ำเงินเป็นอย่างไร ก็ต้องไปบ้านช่างเงินช่างทอง ดูสีเวลาที่เขาทำเงินให้ร้อนจนเป็นน้ำ
จะเห็นว่า เป็นสีเหลือบๆ ....ซึ่งไม่ตรงกับสีหม้อเขียว

คำว่าเขียวนี่แปลกครับ
ลองสังเกตคำนี้..."เสียงเขียว"
เออ ทำไมโบราณท่านจับเสียงมาใส่สีได้แฮะ แล้วทำไมไม่มีเสียงน้ำตาล เสียงดำ เสียงเหลืองอมม่วงแซมแดง
หึหึหึหึ.....

ผมเคยลองสืบคำนี้มาพักหนึ่ง จับหลักได้ที่คำว่า ขอบฟ้าเขาเขียว
เขียวในที่นี้ มิน่าจะใช่สีสรร น่าจะหมายความว่าไกล ...สุดหล้าฟ้าเขียว
สรุปว่า เขียวอาจจะมิใช่สี แต่เป็นคำขยายมากกว่า

ชาวบ้านนอกรุ่นผม เขายังตั้งชื่อหมากันว่า ไอ้ หรืออีเขียว
หมาสีเขียวไม่มีนาท่าน เว้นแต่แกะจากหยก ฮิฮิ
ชาวสลัมรุ่นผม เวลาทำวาดเขียน เราจะเรียกชื่อสีว่า เขียวใบไม้
หรือเขียวน้ำทะเล

เพราะสองสีนี้ ไม่เหมือนกัน
ส่วนสีน้ำเงินเข้ม(เห็นมะ ต้องกำกับคำว่าเข้มให้) เราเรียกสีกรมท่า

ชักแม่น้ำหลายสายแล้ว ขอฟันธงว่า คำโบราณที่เรามิค่อยใช้กันแล้วนั้น
ท่านใช้เขียว แปลว่า เข้ม แปลว่าสุด
คิดเห็นดั่งนี้ครับท่านผู้ฟัง


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pakun2k1d ที่ 11 มี.ค. 08, 13:44
คำว่า "ชะมดเช็ด" ค่ะ  ดิฉันจำไม่ได้แล้วค่ะว่าหมายถึงอะไร  รบกวนผู้รู้ด้วยค่ะ 

ช่วงนี้ไม่ค่อยได้ร่วมวงสนทนา  แต่อาจารย์เทาชมพู และสมาชิกชาวเรือนไทยยังคิดถึง  ขอบพระคุณค่ะ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 11 มี.ค. 08, 14:25
ขวดน้ำมะเน็ดยังใช้อยู่ในอินเดียครับ รูปนี้ถ่ายเมื่อไม่กี่เดือนมานี้เอง ขวดน้ำมะเน็ดเคียงบ่าเคียงไหล่กับขวดน้ำอัดลมและโค้กแคนด้วยครับ



กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 11 มี.ค. 08, 14:46
จำได้ว่าเจอคำอธิบายถึงชมดเช็ดว่า
ชมดมีกลิ่นฉุนขึ้นจมูก
มาทำเป็นยาทะลวงให้จาม แบบยานัตถุ์
เรียกชะมดเช็ด

ไม่เคยใช้ครับ จึงไม่ทราบว่าถูกหรือผิด


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 มี.ค. 08, 14:48
สวัสดีค่ะคุณกุ้งแห้งเยอรมัน

ผมมวยที่พับด้านหลัง  เรียกว่ามวยฝรั่งเศส  French twist  ไงคะ
ผมทรงกล้วยหอม  คือผมเป็นหลอดๆ



คุณ pipat คะ

ตามพจนานุกรมโบราณนะคะ
ดู อักขระภิธานศรับท์  ของ  บรัดเล พิมพ์ ๒๔๑๖  หน้า ๘๖

เขียว   เป็นสีอย่างหนึ่ง  สีเหมือนใบไม้สดทั้งปวง   หรือเหมือนอย่างสีครามเป็นต้น   ใช้ได้ทั้งสองอย่างเช่นนั้น
เขียวแก่   คือสีเขียวเหมือนใบไม้้แก่ทั้งปวง
เขียวขี้ทอง    คือสีเขียวเจือสีเหลืองนั้น   คือเขียวที่เกิดจากสนิมทองแดงนั่นเอง
เขียวตอง    คือสีเหมือนสีใบตองกล้วย
เขียวคราม    คือสีเขียวเหมือนสีครามนั่นเอง

เขียวมะพูด  คือสีเขียวเหมือนย้อมด้วยเปลือกมะพูด
เขียวหิน    คือของสีเขียว  เขามาจากจีนประเทศ   คือสีเขียวที่เกิดแต่หินนั้นเอง
เขียวอ่อน  คือสีเหมือนสีใบไม้อ่อนๆ


น้ำเงิน(หน้า ๓๒๒)
คือสีเขียวเหมือนสีครามอ่อน   สีเหมือนสีเงินที่ละลายคว้างอยู่ในเบ้านั้น



หันมาดู สัพะ พะจะนะ พาสาไทยของ ปาเลกัว  พ.ศ. ๒๓๙๗ กันนะคะ   (หน้า ๒๙๑)
เขียว(ต้นฉบัยท่านใช้ ฃ  ค่ะ)     green, azure
ต้นไม้เขียว     The green of trees.
สีเขียว     Green colour, azure, blue colour.
เขียวขี้ทอง     Verdigris.
เขียวอ่อน     Pale green.
เขียวแก่      Darker green.
เขียวคราม     Indigo, deep blue


(หน้า  ๗๓๔)
สีคราม     Indigo colour, Prussian blue.


พจนานุกรมสองสามเล่มนี้  หนาและหนักค่ะ  ต้องลากออกมา


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 11 มี.ค. 08, 16:20
ขอบคุณที่เตือนใจครับ

อนึ่ง อยากให้ทราบกันทั่วๆ ไปนะครับ ว่าอักขราภิธานศรับท์(มิใช่อักขระ)
เป็นผลงานร่วมของบุคคลที่โลกลืมไปแล้ว คืออาจารย์ฑัต
ขอให้ดูหน้าต้น บลัดเลท่านบอกไว้ชัดว่า อาจารย์ฑัตคัดแปล บลัดเลเป็นผู้พิมพ์
ถ้าจะระบุอย่างสากล ก็คือ
อาจารย์ฑัต compiler
บลัดเล  publisher หรืออาจจะพ่วงตำแหน่ง editor ให้ด้วยก็อาจจะพอทน
(แม้ผมจะยังไม่ยอมรับก็ตามที)

หมายความว่า ศัพท์สี่หมื่นกว่าตัวในสมุดนี้ มาจากคลังปัญญาของคนผู้หนึ่ง
บลัดเลเป็นผู้ออกเงิน และจัดการพิมพ์ขึ้นมาอีกทีหนึ่ง
สำหรับอาจารย์ฑัต ท่านเป็นผู้ใดนั้น ช่างน่าน้อยใจนักที่เว๊บสเตอร์(Noah Webster) แห่งสยามท่านนี้
ไม่มีประวัติทิ้งให้เราแม้สักหนึ่งบันทัด

ทีนี้มาดูความหมายของเขียวที่ผมทัก
ผมเสนอว่า ณกาลครั้งหนึ่ง เขียวมิได้หมายถึงสี แต่ปัจจุบันหมายถึงสี
ข้อมูลของคุณวันดีนั้น ทำให้ผมสามารถบอกต่อได้ว่า อย่างน้อยในสมัยรัชกาลที่ 4 คำนี้ ใช้เรียกสีแล้ว

และ คงเห็นต่อไปด้วยว่า ในแง่ที่เขียวคือสี ผมก็มิได้ปิดประตู เพราะผมอ้างถึงหมาชื่อ ไอ้เขียว
แล้วถามว่ามีหมาสีเขียวหรือไม่
ถ้าไปจับหมาที่ชื่อเขียวมาเรียงแถวสักฝูงหนึ่ง
จะพบว่ามันมีสีเดียวกันหมดครับ

คือสีดำ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 มี.ค. 08, 16:39
สนใจ อาจารย์ทัดมานานแล้วค่ะ

เมื่อได้ สยามประเภท อีกสองสามเล่ม  อาจจะเจอร่องรอย
มี เทเล่อร์ โจนส์ ชุดหนึ่ง บุบบิบยับเยินเพราะน้ำหนักของเล่ม

ขุนประเสริฐอักษรนิติ (ยศในตอนนั้น)  อาจทิ้งร่องรอยไว้ในพจนานุกรม ๒๔๒๖

อักขราภิธานศรับท์  จริงค่ะ  ทำงานอยู่ในห้องมืดๆไม่เปิดไฟ




กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 11 มี.ค. 08, 17:44
ถ้าขุดประวัติอาจารย์ฑัตมาได้ละก้อ
ผมจะเอาทองไปปิดหน้าแข้ง(ท่าน) เสียให้หนำใจ

ถ้าจะเดา ก็ต้องเริ่มที่เปรียญระดับมหา หรืออาจจะถึง 5+
ที่สึกหามาเอาดีทางหนังสือของฆราวาส
น่าจะมีผลงานในกลอนเล่มละสลึง
หรืออย่างน้อยหมอสมิทก็น่าจะพิมพ์อะไรของท่านไว้บ้าง

นึกออกละ
ไปถามอาจารย์สมบัติดีฝ่า


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 11 มี.ค. 08, 19:50
น้ำมะเน็ด นี่ผมไม่ทันครับ แต่ได้ยินอยู่เป็นเนืองๆ เพราะมีคนถามตามเว็บนี่แหละครับ คุ้นๆ ว่าคือน้ำมะนาวอัดลม ??? ใช่หรือเปล่า หรือว่าเป็นน้ำมะนาวธรรมดา

มะเน็ด = Lemonade อันนี้ ผมไม่แน่ใจนะครับ ท่านผู้รู้โปรดยืนยันด้วยครับ

===================================================

ส่วน "ชะมดเช็ด" นั้น เคยอ่านเจอในตำราเครื่องยาไทยครับ จำได้ว่าคือ สารคัดหลั่งของชะมด ที่ไปเช็ดอยู่ตามใบไม้ ต้นไม้ ชะมดชนิดนี้จึงถูกเรียกว่าชะมดเช็ด

สารดั่งกล่าวก็คือ สารที่ชะมดเช็ดทิ้งไว้

ในพจนานุกรม ราชบัณฑิตยฯ อธิบายว่า

 ชะมด ๑ น. ชื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในวงศ์ Viverridae ซึ่งเป็นวงศ์เดียว
   กับอีเห็นและพังพอนหน้าแหลม รูปร่างเพรียว สีเทาหรือนํ้าตาล
   มีลายจุดสีดําตามยาวทั่วตัว หางและขนหางยาวมีลายเป็น
   ปล้อง มีต่อมกลิ่นใกล้เครื่องเพศ มักออกหากินในเวลากลางคืน
   ในประเทศไทยมีหลายชนิด เช่น ชะมดเช็ด (Viverricula malaccensis)
   เป็นชนิดที่ใช้นํ้ามันจากต่อมกลิ่นทําเครื่องหอม, ชะมดแผงหางปล้อง
   (Viverra zibetha), ชะมดแผงสันหางดํา (V. megaspila), อีสานเรียก
   เห็นอ้ม.


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 11 มี.ค. 08, 20:10
ครูสมิท จดผลงานพิมพ์ของตนเองไว้มากค่ะ  ไม่น่าพลาด














กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 12 มี.ค. 08, 00:00
คำในนวนิยายอีกล่ะครับ

แปดสาแหรก   หมายถึงอะไรครับ

ผู้ดีตีนแดง      แล้วผู้ดีทำไมต้องมีเท้าแดงด้วยครับ.............. ???  ???  ???


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 มี.ค. 08, 08:11
แปดสาแหรก 
สาแหรก ในที่นี้ คือ การนับเชื้อสายบรรพบุรุษขึ้นไป  ว่าเป็นผู้ดีมีสกุล  เป็นที่รู้จักในสังคม
คือ บิดามารดา ของปู่ย่าตายาย  รวม  แปดคน
โดยทั่วไปก็เป็นขุนนาง  หรือเจ้าสัว



ผู้ดีตีนแดง  คือคำประชดประชัน ว่า เป็นคนที่ไม่ค่อยจะได้ลงเดินดิน  ฝ่าเท้าสะอาด  ไม่รับแดด ฝุ่นจับ
ไม่คุ้นเคยกับการเดินระยะทางไกล  หรืองานออกแรง
คนที่เดินทางไกลโดยไม่มีพาหนะ  เท้าจะแตก

เสภาขุนช้างขุนแผน ตอน นางทองประศรีพาพลายแก้วหนีจากเมืองสุพรรณ ว่าไว้ว่า

แม่ขาสุดปัญญาของลูกนี้          เหลือที่จะล้าเลื่อยเหนื่อยหนักหนา
คอแห้งคล่องแคล่งแข็งใจมา          แม่เดินช้าช้าอย่าให้เร็ว
ลูกก้าวยาวนักก็จักล้ม          เจ็บระบมตีนแตกจนแหลกเหลว
แผ่นดินร้อนเหลือใจดังไฟเปลว          .........................         


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 12 มี.ค. 08, 10:04
เราได้ห้องสมุดเดินได้มาอีกหนึ่งท่าน ยอดเยี่ยมมากครับ

มีพระราชกำหนดสมัยพระเจ้าบรมโกศฉบับหนึ่ง
กำหนดให้นับสายตระกูลอย่างนี้แหละครับ เพื่อคัดคนเข้าเป็นมหาดเล็ก
(ดูคำอธิบายในฐานันดรไพร่ ของอาจารย์ขจร สุขพานิช)

ผมจึงไม่ค่อยเชื่อเรื่องนายสิน ลูกจีนอพยพ จะได้เป็นมหาดเล็ก
แม้ท่านจะเป็นลูกเลี้ยงเจ้าพระยาจักรี

ทางจีนใช้คำว่า 7 ชั่วคน
คือนับเราเป็นศูนย์กลาง ก่อนเราก็คือพ่อ ปู่ และทวด
หลังเราลงไปคือลูก หลาน เหลน

ประหารหมด ก็หมดสายสกุลครับ ไม่มีใครในโลกที่มีสมาชิกถึงแปดชั่ว และยังมีชีวิตอยู่
ยกเว้นศัตรูของพ่อเบลดเขา....


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 12 มี.ค. 08, 10:33
การประหารชีวิตกรณี ขบถศึก ในเมืองจีนนั้น
ประหารทั้งบ้าน

คนรับใช้  และ นางน้อยๆ  โดนด้วยค่ะ
ประหารที  ๒๐๐ - ๓๐๐ คน

อ่านมาจากจอยุ่ยเหม็ง และพงศาวดารจีน ๓๔.๗๕  เรื่อง


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 13 มี.ค. 08, 00:15
ง่ะ  ดูโหดร้ายไม่ยุติธรรมเลยครับคุณหวานดี  คนที่ไม่ได้ทำผิดต้องมารับกรรมไปด้วย  เป็นหลายร้อยด้วยสิ.... :'(  :'(  :'(

แล้วคำว่า
ยายเพิ้ง                        หมายความว่าอะไรครับ
แม่กระเฌอก้นรั่ว            หมายถึงผู้หญิงแบบไหนครับ.........  ???  ???  ???


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 13 มี.ค. 08, 01:19
เท่าที่นายติบอจำได้ กระเชอ สะกดด้วย "ช ช้าง" ครับ
แปลว่าภาชนะไม้ไผ่สาขนาดไม่ใหญ่นัก เอาไว้ใส่ของกระจุกกระจิกเล็กๆน้อยๆ
โดยเฉพาะเศษสตางค์นี่ล่ะ เหมาะเลย
กระเชอก้นรั่วก็เลยเอาไว้เรียกผู้หญิงประเภทเก็บเงินม่ะอยู่อ่ะคับ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 13 มี.ค. 08, 01:35
รุงรังเป็นยายเพิ้ง    คือหญิงที่แต่งกายไม่เรียบร้อย 
ทรงผมรุงรังไม่ได้หวี 
ทรงผมสมัยหลังสงครามโลก นิยมดัดให้หยิกเป็นพิเศษ  เพื่อความทนทาน
ถ้ามิได้ไปเสริมสวยบ่อยๆ  ทรงผมจะดูกระเซิง
มัวแต่เช็ดกระไดไชรูื่ท่อ ตำน้ำพริกเสียงสนั่นอยู่ในครัว
จุดประสงค์ก็เพื่อรับใช้สามีและครอบครัว
เสื้อผ้าไม่เข้าชุดกัน


กระเชอก้นรั่วคือ   หญิงที่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย  ซื้อแล้วซื้ออีก  เก็บเงินไม่ได้  เงินรั่วหลุดไหลหายหมด

กระเชอเป็นภาชนะไปจ่ายตลาด เป็นกระจาดขนาดย่อม  ปากผาย
พจนานุกรมมติชน แจงว่า อัตราตวงของโบราณ ๕ กระเชอเท่ากับ ๕ ทะนาน

การถือไปตลาด เรียกว่ากระเดียด  คือใส่เอวให้น้ำหนักพึ่งพิงเข้าที่เอวส่วนหนึ่ง
ทำให้การเดิน มีการเคลื่อนไหวที่น่ามองถ้าผู้กระเดียดเป็นหญิงสาวอายุน้อย


แถมกระทายให้อีกคำนะคะ  กระบุงขนาดเล็ก  ปากผาย

เมื่อวันทองไปเยี่ยมขุนช้างที่ติดคุก   
นางลุกลนลานคลานเข้าห้อง       ประจงจ้องจับกุญแจไขกำปั่น
เปิดฝาคว้าทองสองสามอัน       แล้วหยิบขันปากสลักตักเงินตรา
ใส่ลงในกระทายเป็นหลายขัน       ปากนั้นกอบเบี้ยเกลี่ยปิดหน้า

ขุนช้างขุนแผนฉบับหอสมุดแห่งชาติ บอกว่า เป็นเงินสองชั่ง
ฉบับครูแจ้ง  เอ่ยว่า สองถัง

เมื่อพระไวยไปกราบทูลขอให้พระราชทานปล่อยตัวขุนช้างเพราะสงสารมารดา
ขุนช้างและวันทองไปกินอาหารที่เรือนพระไวย

จึ่งบอกกับวันทองว่าน้องกู       อ้ายเงินสองถังอยู่หรืออย่างไร
จงเอาไปให้แม่ศรีมาลา       เราจะช้าอยู่นักก็ไม่ได้
วันทองว่าอย่าพูดให้อึงไป       ข้าจัดแจงไว้ให้เสร็จธุระ  ฯ


คงมีโอกาสได้นำขุนช้างขุนแผนตอนแต่งงานพระไวยสำนวนครูแจ้ง มาเล่าแถวๆนี้
คนที่ยังไม่ได้อ่าน  คงพอมีอยู่บ้าง
อ่านแล้ว  ขออนุญาตพูดว่า รีเฟรชชิ่งมาก


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 13 มี.ค. 08, 01:47
ขออภัยครับท่านติบอ  กลัวจะไม่ได้ใช้  ฌ   อ่ะครับ  เดี๋ยวสนิมขึ้น........อิอิ   ;)


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 13 มี.ค. 08, 06:21
เห็นพูดกันถึง "ช" หรือ "ฌ" ก็เลยนึกได้ว่า ในภาษาไทยเรา น่าจะใช้ "ฌ" กันซักกี่คำ

ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ก็สามารถค้นได้จากเว็บราชบัญฑิตยสถานด้วยเวลาไม่ถึงสามวินาที  ;D ก็ได้ผลมาดังนี้ครับ (ผมลบความหมาย และจัดกลุ่มคำใหม่)

คำตั้ง       คำศัพท์
ฌาน   เข้าฌาน, ปฐมฌาน, ทุติยฌาน ตติยฌาน, จตุตถฌาน, รูปฌาน, อรูปฌาน

ฌาปน-   ฌาปนกิจ, ฌาปนสถาน

เฌอ   เฌอเอม

วัชฌ์   เพชฌฆาต    

โพชฌงค์

มัชฌ-   มัชฌันติก-, วิมัชฌันติก, มัชฌันติกสมัย

มัชฌิม-    มัชฌิมชนบท, มัชฌิมนิกาย, มัชฌิมบุรุษ, มัชฌิมประเทศ, มัชฌิมภูมิ, มัชฌิมยาม, มัชฌิมวัย, มัชฌิมา, พระมัชฌิมา, มัชฌิมาปฏิปทา

วัญฌ์    

สัชฌ   สัชฌะ, สัชฌุ, สัชฌกร, สัชฌการ, สัชฌุกร, สัชฌุการ

สัชฌายะ    

สัญฌา    

อภิชฌา    

อัชฌัตติก    อัชฌัตติกปัญญา

อัชฌา    

อัชฌาจาร    

อัชฌาสัย    อัชฌาศัย

อุปัชฌาย   อุปัชฌาย์, อุปัชฌายะ, อุปัชฌายวัตร

จะเห็นได้ว่า ทุกคำล้วนเป็นคำบาลี ยกเว้นคำเดียวคือ "เฌอ" ซึ่งเป็นคำเขมร แปลว่า ต้นไม้



กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Oam ที่ 13 มี.ค. 08, 07:57
มีกระเชอ แล้วมีกระชุไหมครับ
ป้ากับปู่กู้อีจู้
อีจู้นี่เด็กสมัยใหม่คงไม่รู้จัก นึกว่าป้ากับปู่ยากจนต้องไปกู้เงินจากอีจู้ ซึ่งไม่เกี่ยวกับหลงจู๊


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 13 มี.ค. 08, 10:02
ตอนนี้นึกออกคำหนึ่งที่ยังได้ยินพ่อแม่พูด แต่ไม่เคยได้ยินบ้านไหนใช้กันนัก

นั่นคือ "ฟ่าม" ที่แปลว่าไม่แน่น ฟุๆ ครับ

เช่น ส้มโอนี้เนื้อฟ่ามจังเลย


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 13 มี.ค. 08, 10:47
ฟ่ามนี่เป็นคำสารพัดประโยชน์ของชาวหน้าพระลานเลยครับ
เขียบรูปคนไม่ดี เว้นไม่งาม ไม่แข็งแรง ก็บอกว่า มันฟ่ามๆ ไปหน่อย

เขียนบทความยืดยาดไม่เข้าประเด็นทันใจ ก็บอกว่าเนื้อหามันฟ่ามๆ ไปหน่อย
พรีเซ้นท์หน้าห้อง พูดไม่เก่ง ก็โดนข้อหานี้แหละครับ...ฟ่ามไปหน่อย

แสดงว่าภาษานี่ อาจจะตกค้างหรือมีชีวิตในบางที่ ต่างกับบางที่


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 13 มี.ค. 08, 11:18
อีกคำหนึ่งครับ "ดุ้ง"

จะได้ยินพ่อแม่พูดเวลาของบุบหรือนูนออกมา เช่น กล่องสังกะสีนั่นโดนของวางทับจนฝามันดุ้ง

อีกคำที่คล้ายกัน แต่ไม่เหมือนกัน คือ "เสียด" กับ "เฉียด"

สมัยหัดขับรถใหม่ๆ ผมเคยขับรถไปเบียดกับรถอีกคันที่จอดอยู่ เป็นรอยนิดหนึ่ง พ่อถามด้วยเสียงเขียวว่า "ขับรถไปเสียดกับใครมาถึงเป็นรอย" ผมก็ถามว่า "พ่อหมายถึงไปเฉียดเหรอ?" พ่อบอกว่า "ไม่ใช่ เฉียดคือไม่โดน แต่เสียดคือโดน ถ้าเฉียดต้องไม่มีรอยสิ"


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: ภูมิ ที่ 13 มี.ค. 08, 14:15
บ้านผมก็ใช้ ฟ่าม ตามความหมายของคุณ UP(ใช้กับผลไม้อย่างเดียว) แต่ไม่เคยใช้แบบอ.พิพัฒน์ เลย

สำหรับเรื่องรถ กรณีนั้น น่าจะใช้เฉี่ยว นะครับ ไม่เคยใช้ทั้ง เสียดและเฉียด


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 13 มี.ค. 08, 14:27
ผมว่า "เฉี่ยว" มันเป็นอาการที่เสียดสีไปโดยเร็ว แต่สภาพการณ์กับสภาพรอยแผลที่ผมก่อไว้บนรถนั้นมันคือความเซ่อซ่าของผมเองที่ค่อยๆ ขับรถตัวเอง ไปเบียดเข้ากับรถอีกคันหนึ่งซึ่งจอดไว้เฉยๆ ข้างทาง อย่างนุ่มนวล ไม่มีอาการโฉบเฉี่ยวฉวัดเฉวียนใดๆ ครับ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 13 มี.ค. 08, 15:08
คำว่าเสียด เห็นจะตระกูลเดียวกับเสนียด
เป็นเสียงที่ถูกยืด ...หรือหด ก็ไม่รู้

แต่เสนียด ที่คล้ายกับความหมายที่คุณพ่อคุณอั้พใช้ ชาวหน้าพระลานใช้เรียกเครื่องมือครับ
ไม้เสนียด  เป็นเครื่องมือเล็กๆ คล้ายเครื่องมือหมอฟัน ใช้ทำร้องรอยเล็กๆ ในงานหล่อขี้ผึ้ง
หรืองานปั้นดินที่เข้าสู่ขั้นตอนการเก็บรายละเอียด

ในคำพูดธรรมดาก็เหลือในคำว่าเสียดสี ส่อเสียด
แต่เสนียดในภาษาพูดนี่ ไปไกลห่างจากความหมายของภาษาช่าง ...หลายอยู่


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 13 มี.ค. 08, 16:25
ฟ่าม ผมใช้กับทุกอย่างที่เนื้อไม่แน่น ส่วนมากเป็นใช้กับเรื่องที่เป็นรูปธรรม กรณีนามธรรมอย่างที่คุณ pipat ว่า ผมไม่เคยใช้ แต่ถ้าได้ยินก็เข้าใจได้แบบนี้ครับ

ส่วนเรื่องเจ็ดชั่วโคตรหรือเจ็ดชั่วคน ทางจีนนี่วัฒนธรรมเขาเป็นครอบครัวขยาย ลูกเรียงพี่เรียงน้องนี่เขานับเป็นพี่น้องกัน ใช้ชื่อชุดเดียวกัน โดยเขียนบทกวีไว้บทหนึ่ง แล้วไล่ตัวอักษรไปทีละตัวเป็นคำต้นของชื่อคนทั้งรุ่นนั้น ธรรมเนียมนี้ทำให้หลายครอบครัวสามารถสืบประวัติย้อนหลังไปได้หลายสิบชั่วคน (บางตระกูลอ้างว่าสืบไปไดเกินร้อยชั่วคน แต่ไม่รู้มีมั่วบ้างหรือเปล่า) ดังนั้นเวลาโดนประหารนี่จะได้รับเกียรติกันทั้ง ๗ รุ่น ตายทีละหลายร้อยคนนี่ก็เพราะอย่างนี้แหละครับ เพราะลูกหลานของพี่น้อง พลอยโดนไปด้วยกันทั้งยวง อนาถใจเลยครับ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 14 มี.ค. 08, 09:40
เสียด             บ้านผมจะใช้กับอาการครับ  เสียดท้อง  ประเภทจุกเสียดอะไรทำนองนี้ครับ
เสนียด           ก็เคยได้ยินแต่ว่าเป็นหวีชนิดหนึ่ง  เป็นซี่ถี่ๆ  ที่ใช้สางเหาออกจากผมเด็กๆ  เดี๋ยวนี้ก็ยังงเห็นใช้อยู่ครับ
ดุ้ง                 ได้ยินสองอย่างครับ   หลังดุ้ง  หรือช่างไม้เล็งไม้เล็งอกไก่  แล้วบอกว่ามันดุ้ง............... ::)


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 มี.ค. 08, 23:20
วันนี้ เกิดคุยกับคนในบ้านเรื่องหุงข้าวแบบเก่า    ยุคไม่มีหม้อไฟฟ้า
หุงแบบเช็ดน้ำ และไม่เช็ดน้ำ  ซึ่งยากเย็นมากเมื่อเทียบกับเสียบปลั๊กหม้อข้าวไฟฟ้า
เลยมีคำว่า "ดง" ถูกเอ่ยขึ้นมา
เป็นคำกริยา  ไม่ใช่ป่าดงพงไพร
"ดงข้าว" เป็นอะไรที่หนุ่มสาววัยทำงานสมัยนี้ไม่รู้จักแล้วมั้งคะ  คำนี้เขาไม่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่จะใช้อีกแล้ว


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: ภูมิ ที่ 20 มี.ค. 08, 13:05
>ดง
รู้จักตอนเรียนลูกเสือครับ
ไม่รู้สมัยนี้ยังต้องทำอยู่รึเปล่า

ทั้งขี้ไต้ ไม้ขัดหม้อ (อุ๊ป...ผิดกระทู้) เจอมาหมดเลย โดยส่วนตัวเป็นวิชาที่ชอบครับ
(ยกเว้นตอนฝึกเข้าแถว กับ การขัดเข็มขัด)


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 มี.ค. 08, 15:45
สะเด็ด  ที่คนละความคำกับ "เสด็จ"
คำนี้แปลว่า ทำให้(น้ำ) แห้ง โดยเร็ว
ล้างผัก ยกขึ้นมาสะบัดๆ ให้สะเด็ดน้ำ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 20 มี.ค. 08, 18:39
ตีแปลง     คงเข้าใจกันทั้วไปว่า เป็นปลักโคลนที่สัตว์เช่นหมู หรือควายสร้างขึ้น 
โดยการหมุนตัวไปมา กลิ้งเกลือกเพื่อไปนอนหาความเย็น  ขุดดินขึ้นมารอบๆ

บางครั้งลูกหลานในครอบครัวลงมานอนที่พื้น  ผู้ใหญ่ในเรือนก็จะประชดประชันว่า  มาตีแปลงอยู่ที่นี่เอง


วันก่อน  อ่านจดหมายเหตุเรื่องซีจัมปุกมาเมืองไทยในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ปีนั้นเป็นปีจอ พ.ศ. ๒๓๙๓

ณวัน ๑ เดือน๙ ขึ้น ๓ ค่ำ
เพลาบ่ายสี่โมง   หมื่นแม่นให้หมื่นจรเจนชลาล่ามมาบอกว่า
น้ำยังขึ้นไม่เต็มที่ยังเข้าไปไม่ได้   ต้นหนไม่ฟังขืนแล่นข้ามสันดอนมา
กำปั้นลำใหญ่ครือดิน   จักรพัดโคลนฟุ้งขึ้นมาเต็มกรอบจักร   จักรไม่เดิน
พอถึงปีกรั้ว  กำปั้นติดตื้นอยู่ตั้งแต่เพลาสองทุ่ม
น้ำลง  กำ่ปั่ั้นตีแปลงดิน  มูนข้างกำปั้นสูงขึ้นประมาณศอกเศษ

ติดใจคำว่า  กำปั่นตีแปลง  จึงนำมาฝาก

อันที่จริง  ซีจัมปุก หรือ เซอร เชมสบรุก เป็นนักการทูตผู้มีความสามารถมาก
พูดถูกหูคนฟังซะไม่มี




















กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 20 มี.ค. 08, 20:22
ได้ยินคำว่าตีแปลงทีไร.... ผมแอบนึกถึง อ. ท่านหนึ่งสมัยผมอยู่โรงเรียนมัธยมทุกทีครับ
อ. ท่านไม่ได้คุมเวรเคาะแปรงลบกระดาน หรือสอนเกษตรนะครับ แล้วก็ไม่ได้ตีเด็กเก่งด้วย
แต่ท่าน...... ศีรษะล้านน่ะครับ แบบที่เรียกว่าชะโดตีแปลง


พวกรุ่นพี่ๆก็เลยเรียกท่านว่า ชะโดตีแปลงบ้าง ชะโดบ้าง หรือตีแปลงบ้าง
แต่พอมาถึงผม เหลือแต่คำว่าตีแปลงซะแล้วครับ แหะๆ



ปล. เวรกรรมตามสนองครับ นายติบอผมร่วง แง๊....


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 มี.ค. 08, 20:45
รสแหลม ใครยังใช้กันบ้างคะ?
บางทีก็ประกอบคำว่า หวาน   เป็นรสหวานแหลม
หมายถึง จัด
รสหวานแหลม หรือรสแหลม  มันไม่ใช่แค่รสจัดธรรมดา   แต่แฝงด้วยความรู้สึกว่า โดดเด่น   และอร่อย 
รสหวานจนเอียน หรือหวานแสบไส้ ไม่เรียกว่าหวานแหลม


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 มี.ค. 08, 21:07
ลักษณะของชะโดตีแปลง
http://www.yimwhan.com/board/show.php?user=surajitboy&topic=476&Cate=1


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 21 มี.ค. 08, 07:30
ม่อยกระรอก

หมายความว่าหลับหรือตาย  สลบล้มลง
พจนานุกรมของมติชนบอกว่าลงไปนอนตัวงอ
ถ้าม่อยกระรอกบนเวทีมวย คงไม่ทันจะตัวงอ  คงแผ่สองสลึง

อ่านมาจากนวนิยาย หรือบทความที่เกี่ยวกับการชกมวย

การที่กระรอกจะหล่นจากต้นไม้ คงบาดเจ็บ หรือมีโรคภัยคุกคาม


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 21 มี.ค. 08, 08:23
นึกออกอีกคำที่เคยได้ยินผู้ใหญ่ใช้กัน แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้ยินแล้ว

"ให้หา"

ที่ไม่ใช่หวนไห้โหยหา แต่หมายถึงให้ไปหา เช่น "จ้อยๆ หยุดเล่นได้แล้ว ยายให้หา"

ส่วนใหญ่สมัยนี้จะได้ยินว่า เรียกหา หรือ ให้ไปหา เสียมากกว่า



กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 มี.ค. 08, 13:21
ภาษาเก่า ม่อย แปลว่า ตาย  ม่อยกระรอก คือกระรอกตาย    ใครม่อยกระรอกก็คือท่าทางเหมือนกระรอกที่หล่นจากต้นไม้ลงมาตาย 
เอาภาพ "ม่อยกระรอก" ของจริง มาให้เห็นค่ะ



กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 21 มี.ค. 08, 18:56
ขอบคุณคุณเทาชมพูค่ะ ที่กรุณาแถมรูป


มีคำเก่าอยู่คำหนึ่ง  ร้อนร้าว

พระยากสาปนกิจโกศล(โหมด อมาตยกุล) เขียนไว้ใน บันทึกความทรงจำ
ถึงจะไม่เป็นคำที่ใช้ทั่วไป  ก็นิยมนายโหมดเป็นกำลังที่ใช้ภาษาไทยได้ละเอียดกินความ

นายโหมดพูดถึงว่า ท่านพิมพ์กฎหมาย เพราะเป็นความมรดกของคุณน้าพระกลิ่น บิดาบุญธรรม
ท่านจ้างอาลักษณ์คัดเป็นเงิน ๑๐๐ บาท
จ้างหมอมิชชันเนรีพิมพ์ ๒๐๐ ฉบับ เป็นราคา ๕๐๐ บาท
เมื่อเสร็จเล่มหนึ่ง เล่มสองยังค้างอยู่  เซอร์เจมส์ บรุคเข้ามาเจรจาความเมืองขอลดหย่อนภาษี
จะพูดจาสิ่งไร  ก็รู้เรื่องหมด

ท่านเจ้าคุณสำเร็จราชการกรมท่ายังเป็นราชามาตย์อยู่  ได้ซื้อไปสิบเล่มยังไม่ได้ให้เงิน

หลังจากเซอร์เจมส์ บรุคกลับออกไปแล้ว  มีรับสั่งให้สืบถามบรรดาลูกจ้างฝรั่งและผูู้้ใดเอาความไปพูดจาบอกเล่า
อยู่ในที่ท่านสงสัยพระจอมเกล้าฯ ด้วย

เจ้าคุณกรมท่ากลัวจะร้อนร้าวไปถึงพระจอมเกล้าฯ   จึงเอากฎหมายที่ซื้อเชื่อข้าไปเล่ม ๑
กับหนังสือพิมพ์ว่าด้วยราชการต่างๆของสังฆราชยองเข้าไปถวาย




กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 22 มี.ค. 08, 04:21
สองคำนี้ ไม่รู้มีที่มาที่ไปเกี่ยวกับหรือเปล่านะครับ แต่รูปคำกับความหมายมันชวนให้คิด  ;D

ม่อย    ก. เคลิ้มหลับไปชั่วครู่ เช่น ม่อยไปหน่อยหนึ่ง. ว. เรียกอาการที่มีสีหน้าสลดแสดงว่า
   เสียใจว่า หน้าม่อย.

ผล็อย, ผล็อย ๆ    [ผฺล็อย] ว. อาการที่ร่วงหรือหล่นไปโดยเร็ว เช่น ฝนตกผล็อย ๆ,
   อาการที่หลับไปโดยเร็ว เช่น หลับผล็อย, ผ็อย หรือ ผ็อย ๆ ก็ว่า.

-----------------------------------

ส่วนคำว่า "รสแหลม" นี้ เคยได้ยินครับ แต่ไม่เคยใช้เอง จำไม่ได้ว่าได้ยินที่ไหน จะเป็นคุณแม่พูดตอนทำอาหารหรือเปล่า หรือจะเป็นจากรายการทำอาหาร สมัย "คุณชายถนัดศรี" ถ้าจำไม่ผิด จะมี คุณเด๋อ ดอกสะเดา ร่วมชูโรงด้วย

ราชบัณฑิตยสถานว่าไว้ว่า
แหลม    [แหฺลม] ว. มีปลายเสี้ยมคม เช่น มีดปลายแหลม; ไว, ฉลาด, เช่น ปัญญา
   แหลม; ชํานาญจนรู้ได้ทันทีว่าอะไรจริงอะไรไม่จริง เป็นต้น เช่น
   ตาแหลม; มีระดับสูง เช่น เสียงแหลม; จัด เช่น รสหวานแหลม.
        น. แผ่นดิน หรือ ภูเขา ที่ยื่นลํ้าออกไปในทะเล หรือ มหาสมุทร. ก. ล่วงลํ้า.

ถ้าเป็นในเชิงคำคะนอง จำได้ว่าสมัยรัฐประหารโดย รสช. จะมีกลุ่ม "ไอ้แหลม" คอยก่อกวนคลื่นวิทยุของตำรวจ และทหาร
หรือ ใช้ในความหมายว่า "ยุ่งไม่เข้าเรื่อง" เช่น นี่ๆ อย่าแหลม อย่าแหลม อันนี้ไม่รู้เป็นสำนวนเฉพาะกลุ่มหรือเปล่า แต่ตอนเด็กๆ เห็นเพื่อนใช้กัน


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 22 มี.ค. 08, 06:28
ฝนตกผล็อย ๆ   ไปอ่านมาเหมือนกันค่ะ  ฟังดูแปลกหูหน่อยหนึ่ง

ฝนตกปรอย ๆ    ฝนโปรยลงมา
ฝนตกจั๊ก ๆ(มือซ้ายถือปลา  มือขวาถือผัก)
ฝนชะลาน
ฝนไล่ช้าง
ฝนตกหยิม ๆ (ยายฉิมมีกิจกรรมบางอย่าง)
ฝนซัดลงมาเหมือนฟ้ารั่ว
ฝน  น้ำฟ้า
ฝนงาม  น้ำงาม
ฝนชุก
ฝนเชย  สำนวนเก่าค่ะ  หมายความถึง ฝนแรกฤดูและตกน้อย ๆ(บรัดเล)


ต่อไปนี้อ้างอิงพจนานุกรมมติชน
ฝนกรด      ฝนขาดเม็ด
ฝนขี้มอด(ถิ่นใต้)   ฝนที่โปรยเป็นละออง

ฝนซู่       ฝนดำ
ฝนตกก็แช่ง  ฝนแล้งก็ด่า        ฝนตกขี้หมูไหล

ฝนตกไม่ทั่วฟ้า      ฝนตกไม่มีเค้า
ฝนตกอย่าเชื่อดาว

ฝนโบกขรพรรษ  น. ฝนตกตามความเชื่อที่ว่า  หากใครใคร่เปียกก็จะเปียก   หากไม่ต้องการให้เปียกก็จะไม่เปียก
ฝนพันปี   ฝนฟ้าหรือฟ้าฝน

ฝนสั่งฟ้า  ปลาสั่งหนอง
ฝนแสนห่า       ฝนหลวง

ฝนห่าแก้ว(ถิ่นใต้)  ฝนลูกเห็บ
ฝนเหล็ก     ฝนเหลือง


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: ภูมิ ที่ 22 มี.ค. 08, 14:33
คุณ Wandee
ต้องเติม ฝนห่าใหญ่ เข้าไปด้วยรึเปล่าครับ 8)

ทีนี้ขอถามปัญหา
อะไรอยู่ใน  ห้องเครื่อง


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Oam ที่ 22 มี.ค. 08, 15:44
คำเกี่ยวกับรสชาติ ไม่น่าจะหายไปง่ายๆ ตราบใดที่คนเรายังต้องกินอยู่
นอกจาก หวานแหลม แล้วยังมีรสปร่า เฝื่อน ปะแล่มๆ

รสชาติห่วยมากๆ เขาว่า สุนัขไม่รับประทาน ครับ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 24 มี.ค. 08, 06:59
พจนานุกรมโบราณของดิฉันล่วงลับไปแล้ว จึงไม่สามารถคิดคำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันออก คุณยายเเคยเรียกหน้าปากประตูว่า "หน้าฟักกะตู" ค่ะ ตอนเล็กๆ ดิฉันได้ยินว่างั้นจริงๆ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 24 มี.ค. 08, 07:14
เคยเห็นในหนังสือว่า   ปั๊กกะตู

ปัศตู  นั้น ปืนพก

ปัสะตู   ผ้าขนสัตว์ย้อมสีแดง เนื้อหยาบกว่าสักหลาด


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 24 มี.ค. 08, 08:04
ปัศตู    [ปัดสะ-] (โบ) น. ผ้าขนสัตว์เนื้อฟุ.


ไม่เคยได้ยินเลยครับคำนี้ หมายถึงในความหมายนี้นะครับ เคยได้ยินแต่ "ภาษาปัศตู" ในอาฟกานิสถาน  ;D

ในวิกี้ภาษาไทย เห็นสะกดว่า "พาชตู" ถอดตามภาษาอังกฤษที่สะกดได้หลายแบบเหลือเกิน
"Pashto" หรือ Pakhto, Pushto, Pukhto, Pashtoe, Pashtu, Pushtu, Pathani, Pushtoo
อาหรับ: پښتو‎ [pəʂ'to]

ถ้าเป็นชนเผ่าเรียกว่า "แขกปาทาน" นั่นเองครับ แต่ในภาษาอังกฤษจะเขียนว่า "Pashtuns" ดูจากชื่อต่างๆ ในวิกี้แล้ว แสดงว่า บ้านเราเรียก "แขกปาทาน" ตามภาษาอุรดู-ฮินดี เป็นแน่ เพราะแขกปาทานในบ้านเรานั้น จะหมายถึงแขกที่มาจากปากีสถาน แต่แขกปาทานจริงๆ แล้วอาศัยอยู่ทั้งในเขตปากีสถาน และอาฟกานิสถาน อ่านคร่าวๆ ไปๆ มาๆ รู้สึกว่า ทั้งปาทาน และ อาฟกัน ก็เป็นพวกเดียวกัน  :-\

Pashtuns = پشتون (Paštūn = ปศฺตูนฺ) หรือ  پختون (Paxtūn = ปคฺตูน) [Pushtuns, Pakhtuns, Pukhtuns ก็ว่า]
Pathans ก็ว่า (อุรดู: پٹھان = ปฐานฺ, ฮินดี: पठान Paṭhān = ปฐานฺ)

กลับมาเรื่องผ้าครับ ไม่รู้จะเกี่ยวกันหรือเปล่า คือประมาณเป็นสินค้ามาจากเผ่านี้  ??? เพราะสังเกตดูว่า พวกชื่อผ้าโบราณชนิดต่างๆ มักเรียกตามคำ เปอร์เซีย-ฮินดี ซึ่งก็คงเรียกตามพ่อแขกที่นำมาขายนั่นเอง

=========================================

http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp
http://en.wikipedia.org/wiki/Pashtu
http://en.wikipedia.org/wiki/Pashtun_people


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 24 มี.ค. 08, 08:37
"ปั๊กกะตู" หรือ "เปิดปั๊กกะตู" นี้ ผมเคยได้ยินครับ แต่นานมากแล้ว ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ไม่แน่ใจว่าจะเป็นศัพท์ที่ผู้ใหญ่ชอบใช้กับเด็กเล็กๆ หรือเปล่า คือให้ฟังแล้วดูตลกๆ

จริงๆ แล้ว ผมก็ไม่แน่ว่า เป็นการเล่นเสียง "ป" หรือไม่ คือ "เปิดประตู" ก็เล่นเสียงเป็น "เปิดปั๊กกะตู" เหมือนคำว่า "ตกใจ" ก็เป็น "ต๊กกะใจ" มีคำไหนอีก  ??? นึกไม่ออกแล้วครับ  :D

คำว่า "ปากประตู" นี้ มีปรากฎอยู่ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชด้วยครับ  ;D

ด้านที่ ๑ บรรทัดที่ ๓๑ - ๓๓
ใน ปากปตู มี กดีง อนน ณื่ง แขวน ไว๋ ห๋นน ไพร่ ฝ๋า หน๋า ปก

จะเห็นได้ว่า รูปคำเดิมนั้นสะกดว่า "ปตู" ถ้ายึดตามการเขียนแบบเดิมก็ต้องเป็น "ปตู" หรือ "ปะตู" แต่ว่าสมัยก่อนยังไม่มีมาตรฐานในการสะกดคำ ทางไทลพบุรี-อโยธยา อาจพูดด้วยเสียง "ร" ด้วยก็เป็นได้ตามความนิยมสำเนียงเขมรกลายๆ จึงมาเป็น "ประตู"

แต่ผมสงสัยว่า "ปตู" นี้ จริงๆ แล้วกร่อนมาจาก "ปากตู" หรือเปล่า  ???
ความสงสัยนี้มีมานานแล้วครับ แต่ยังไม่มีเวลาค้นจริงๆ จังๆ เสียที เพราะคำศัพท์ที่เรียกโครงสร้างของบ้านบางคำ จะเป็นคำที่เปรียบเทียบกับอวัยวะของร่างกายคนเรา เช่น "ปากตู" "หน้าต่าง" "หลังคา" ก็เลยสงสัยว่า "ตู" คืออะไร ? "ต่าง" คืออะไร ? "คา" คืออะไร ? คำว่า "คา" นี้ เคยอ่านคำอธิบายของ ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร ที่ไหนจำไม่ได้แล้ว ท่านอธิบายว่า คา ก็คือหญ้าคา นัยว่า สมัยก่อนใช้ หญ้าคามัดรวมกันแล้วมุงเป็นหลังคา

==================================

ส่วนเรื่องเสียง "ฟักกะตู" หรือ ปั๊กกะตู" นั้น ก็น่าจะเป็นตัวอย่างเรื่องของการเพี้ยนไปมาระหว่าง ตัว "ฟ (F)" กับ "ป (P)" ได้ครับ

เช่น Persi (คำอินโดยุโรเปียน) = Farsi (คำอาหรับ) ทั้งสองคำหมายถึง อิหร่าน หรือ เปอร์เซีย นั่นเอง
Father (ภาษาอังกฤษ) = Pater (ภาษาละติน) = پدر (เปอร์เซีย: เปดาร์) = पिता (ฮินดี: ปิตา เทียบไทย: บิดา)


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 24 มี.ค. 08, 09:16
จากข้อความที่คุณ Wandee โพสไว้ครับ

ณ วัน ๑ เดือน๙ ขึ้น ๓ ค่ำ
เพลา(๑) บ่ายสี่โมง(๒) หมื่นแม่นให้หมื่นจรเจนชลา ล่ามมาบอกว่า
น้ำยังขึ้นไม่เต็มที่ ยังเข้าไปไม่ได้ ต้นหนไม่ฟัง ขืน (๓) แล่นข้ามสันดอนมา
กำปั้น (๔) ลำใหญ่ ครือ (๕) ดิน จักร (๖) พัดโคลนฟุ้งขึ้นมาเต็มกรอบจักร (๗)
จักรไม่เดินพอถึงปีกรั้ว (๘) กำปั้นติดตื้นอยู่ตั้งแต่เพลาสองทุ่ม
น้ำลง กำ่ปั่ั้น ตีแปลง (๙) ดินมูน (๑๐) ข้างกำปั้นสูงขึ้นประมาณศอก (๑๑) เศษ(๑๒)


คำต่างๆ นี้ ถ้านำมาพูดในปัจจุบันนี้ก็คงแปลกๆ  ;D
๑. เพลา = เวลา
๒. บ่ายสี่โมง = สี่โมงเย็น     ผมไม่แน่ใจว่าเดี๋ยวนี้ยังมีคนพูดบ่ายสี่โมงอยู่หรือเปล่า  ???
๓. ขืน = ฝืน                  ถ้าพูดคำเดี่ยวๆ เดี๋ยวนี้ เห็นจะนิยมใช้ฝืนมากกว่า  ???
๔. กำปั้น (กำปั่น) = เรือ     ปัจจุบันนี้ เรียก "เรือ" หมด
๕. ครือ - คำนี้ ในพจนานุกรมบอกว่า "ไม่คับไม่หลวม เช่น เสื้อครือตัว" ปัจจุบันก็น่าจะตรงกับคำว่า "พอดี" เช่น เสื้อพอดีตัว
                               แต่จากเนื้อหาของเรื่องนี้ ผมว่าน่าจะตรงกับ "ครูด" มากกว่า ครือดิน = ครูดดิน ?
๖. จักร = ใบพัด, ใบพัดเรือ
๗. กรอบจักร = ?            คำนี้ น่าจะเป็นศัพท์เฉพาะ ผมไม่รู้ปัจจุบันจะเรียกอะไร ยังคงเรียกกรอบจักรหรือเปล่า  ??? หรือ ก็คือ ใบจักร นั่นเอง ???
๘. ปีกรั้ว = ?                 ไม่แน่ใจว่าหมายถึงอะไร
๙. ตีแปลง = กวน, ตีให้กระจาย
๑๐. ดินมูน (ดินมูล) = โคลน, ตะกอนดิน, ขี้โคลน, ขี้เลน, ตะกอนท้องแม่น้ำ, โคลนท้องแม่น้ำ
๑๑. ศอก => เมตร             อันนี้ ไม่ได้แปลตรงๆ นะครับ แต่ปัจจุบันมาตราวัดต่างๆ นิยมระบบเมตริก (ซม., ซม., กม,) เป็นส่วนใหญ่
                                 แต่ในบริบทนี้ ถ้าเป็นข่าวปัจจุบันก็คงใช้คำว่า เมตร แทน ว่าสูงเท่านี้เท่านั้นเมตร
๑๒. เศษ = กว่าๆ             เดี๋ยวนี้ รู้สึกว่าจะพูด "กว่าๆ" กันเยอะ "เศษ" ก็ยังคงได้ยินอยู่ แต่ไม่มากเท่า

ผมลองแปลงประโยคนี้เป็นภาษาปัจจุบันดูครับ เลือกใช้คำยากอยู่เหมือนกันที่จะเขียนแทนคำว่า "กำปั่นตีแปลง"

โบราณ2393: กำ่ปั่ั้นตีแปลงดินมูนข้างกำปั้นสูงขึ้นประมาณศอกเศษ

ปัจจุบัน 2551: ใบพัดเรือหมุนตีโคลนที่อยู่ข้างๆ พุ่งขึ้นมาสูงประมาณเมตรกว่าๆ       


เพิ่งเห็น ว่า "ณ วัน ๑ เดือน ๙ ขึ้น ๓ ค่ำ" เดี๋ยวนี้ก็ไม่ใช้กันแล้ว ในชีวิตประจำวัน จะมีใช้ก็เป็นงานพิธีธรรมต่างๆ ทางความเชื่อศาสนา

ณ = เมื่อ เช่น เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม
วัน ๑ = วันอาทิตย์
เดือน ๙ = กันยายน ? ไม่แน่ใจว่าในเอกสารนี้นับแบบไทยโบราณหรือเปล่า ?
ขึ้น ๓ ค่ำ = วันที่


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 24 มี.ค. 08, 09:53
กลัก    [กฺลัก] น. สิ่งที่ทําเป็นรูปคล้ายกระบอกสําหรับบรรจุของเล็ก ๆ
   น้อย ๆ หรือของขนาดเล็ก มีฝาสวมปาก เช่น กลักพริก กลักเกลือ,
   ซองยาสูบทําด้วยเมล็ดตาล มีฝาสวมปาก, สิ่งที่ทําเป็นรูปสี่เหลี่ยม
   ผืนผ้าขนาดเล็ก มีลิ้นชักเข้าออกได้ สําหรับบรรจุไม้ขีดไฟ เรียกว่า
   กลักไม้ขีดไฟ, กล่องไม้ขีดไฟ ก็เรียก.

คำนี้ ที่บ้านผม ยังเรียกอยู่ แต่เห็นจะเรียกแต่ "กลักไม้ขีดไฟ" ไม่เคยใช้เรียกเครื่องใช้อย่างอื่นเลย
ยิ่ง กลักพริก - กลักเกลือ ไม่เคยเรียกเลยครับ เพราะที่บ้านใส่ขวดเล็กๆ ก็เลยเรียก ขวดพริก - ขวดเกลือ  ;D
สำหรับ "กลักไม้ขีด" นั้น ส่วนตัวแล้ว มักจะเรียกกล่องไม้ขีดอยู่บ่อยๆ  :-[


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 24 มี.ค. 08, 16:26
ขอแปลไทยเป็นไทยว่า
เพลา(๑) บ่ายสี่โมง(๒) หมื่นแม่นให้หมื่นจรเจนชลา ล่ามมาบอกว่า
เวลาบ่ายสี่โมง(ผมยังใช้อยู่ครับ คำนี้) หมื่นแม่นให้หมื่นจรเจนชลา ล่าม มาบอกว่า

น้ำยังขึ้นไม่เต็มที่ ยังเข้าไปไม่ได้ ต้นหนไม่ฟัง ขืน (๓) แล่นข้ามสันดอนมา
(ประโยคนี้ รู้เรื่องหมด ไม่ต้องแปล)

กำปั้น (๔) ลำใหญ่ ครือ (๕) ดิน จักร (๖) พัดโคลนฟุ้งขึ้นมาเต็มกรอบจักร (๗)
เรือกำปั่นกินน้ำลึกเกินไป ลำเรือครูดลงถึงท้องน้ำ ใบจักรเรือตีดินจนโคลนฟุ้งขึ้นมาเต็มกรอบใบจักรข้าง
(เรือสมัยนั้น เป็นแบบใขจักรข้างครับ เรือใบจักรท้าย อีกหลายปีจึงเข้ามา)

จักรไม่เดินพอถึงปีกรั้ว (๘)
(อันนี้จนด้วยเกล้า แปลไม่ออก ต้องเดาควบประโยคล่างว่า โคลนเข้าไปเต็มกรอบ ใบจักรก็ฝืดเดินไม่ได้ เรือเท้งเต้งตีแปลงอยู่อย่างนั้น

กำปั้นติดตื้นอยู่ตั้งแต่เพลาสองทุ่ม น้ำลง กำ่ปั่ั้น ตีแปลง (๙) ดินมูน (๑๐) ข้างกำปั้นสูงขึ้นประมาณศอก (๑๑) เศษ(๑๒)
รวมเวลาตั้งแต่บ่ายสี่ไปถึงสองทุ่ม.....ก็ต้องรอน้ำขึ้นตอนดึกแหละครับ น้ำอาจจะหนุนจนลอยสูงขยับหลุดจากปลัก
-------------
ผมยังเรียกกล่องเล็กๆ ว่ากลักครับ
แต่ในสาส์นสมเด็จ ท่านเรียกนมกระป๋องว่า นมกลักด้วยแหละ....


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 มี.ค. 08, 21:20
ก่อนยุคที่มีขวดใส่พริกใส่เกลือ   ของแห้งต่างๆเขาใส่กลักกัน โดยเฉพาะเวลาพกติดตัวไปในการเดินทาง

ในมหาเวสสันดรชาดก  ตอนชูชกเข้าป่า ไปเจอพรานเจตบุตร    แกก็ทำอุบายว่าตัวเองเป็นมหาปุโรหิตของพระเจ้าสญชัยจะมาตามพระเวสสันดรกลับเมือง
พกกลักพริกกลักขิงมาในย่าม กระทบกันกรุกกริก   พรานป่าถามว่าอะไร แกก็แสร้งตอบว่าเป็นกล่องสารตราพระราชสีห์   พรานก็พาซื่อนึกว่าจริง  ไหว้กลักพริกกลักขิงไม่สงสัย

ปั๊กกะตู เคยได้ยินค่ะ  ไม่ใช่คำตลกค่ะ  เป็นภาษาปาก


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 25 มี.ค. 08, 00:53
ปัสะตู   ผ้าขนสัตว์ย้อมสีแดง เนื้อหยาบกว่าสักหลาด



อ่านคำแปลนี้ของคุณวันดี ที่นายติบอก็เคยเข้าใจมาตามนั้น
ส่วนผ้าขนสัตว์เนื้อดีขึ้นมาเหมือนจะเรียกว่า "ส่าน" และดีที่สุดเรียกว่า "กำพล"

แต่พอเทียบกับการปริวรรตเสียงของคุณพี่ hotacunus แล้วชอคครับ
ถ้าปัสตู..... คือพาชตู (ที่แขกอาฟกันเดี๋ยวนี้มักจะออกเสียงคล้ายๆคำว่า "พ์ชัสตูส" หรือบางทีก็ "พ์ชาสตูส")
นั่น..... เป็นอย่างเดียวกับกำพลที่เป็นผ้าขนสัตว์ที่เลิศที่สุด และชั่วที่สุดเท่าที่โลกจะเคยรู้จักครับ

ที่ว่าเลิศที่สุด เพราะผ้าชนิดนี้บางจนเมื่อม้วนเป็นเส้นแล้วผ้าทั้งผืนสามารถดึงลอดแหวนวงเล็กๆได้จนหมดผืน.....
อธิบายมาถึงตรงนี้ ผมคิดว่าสมาชิกหลายๆท่านในเวบคงพอจะนึกถึงผ้าขนสัตว์จากแคว้นแคชเมียร์ออก
ที่นี่เป็นแหล่งผลิตผ้าขนสัตว์เนื้อดีลักษณะนี้มานานหลายร้อยปีแล้วครับ....
แล้วราชสำนักสยามก็รู้จักมามากกว่าครึ่งศตวรรษแล้วล่ะครับ

เพราะในรายชื่อเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ในสมัยก่อน ร.7 (ที่ใช้อยู่ทุกวันนี้พี่ราชบัณฑิตย์แกยึดตาม ร.7 นะครับ)
บางครั้งจะพบว่ามีชื่อของ "ฉลองพระองค์รัตกำพล" รวมอยู่ในนั้นด้วย.....
เนื่องจากว่าผ้าชนิดนี้เป็นผ้าขนสัตว์ที่บาง และนิ่มมาก เมื่อสวมใส่ในฤดูร้อนจะไม่รู้สึกร้อนและคัน
ในขณะที่ถ้าสวมใส่ในฤดูหนาวก็จะให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย......
เกือบจะเป็นผ้าวิเศษซะขนาดนั้นแล้วจะม่ะดีได้งัย...จิงป่ะ




แต่ที่ว่าชั่วที่สุด..... เพราะ ผ้าชนิดนี้ทอจากขนของเลียงผาหิมะครับ
เลียงผาพวกนี้อยู่ในเขตตอนเหนือของอินเดียจนถึงธิเบต
ใช้ชีวิตอยู่ตามหน้าผาที่ปกคลุมด้วยหิมะเกือบตลอดปี....
ขนของเขาก็เลยต้องทั้งหนาและนุ่มเพื่อกันป้องกันความหนาว
แต่ที่น่าสงสารสำหรับเจ้าสัตว์พวกนี้คือ..... คนยังหาวิธีเพาะเลี้ยงพวกเขาเป็นอุตสาหกรรมไม่ได้ครับ
การจะได้ขนสัตว์มาทอผ้าชนิดนี้ซักผืนจึงต้องใช้พรานป่าเข้าไปยิงเจ้าเลียงผาหิมะ ให้ล้มลง...
แล้วค่อยๆเก็บเอาขนนุ่มๆที่ห่อหุ้มร่างกายเขาอยู่ส่วนที่ไม่เปื้อนเลือดมาปั่นทอเป็นผืนผ้า

กว่าจะได้พัสตูงามๆมาสวมใส่กันซักผืนนึง..... ต้องใช้ชีวิตมากกว่า 1 ชีวิตครับ
เพราะแน่นอนว่าขนจากเลียงผา 1 ตัว.... ไม่พอสำหรับผ้า 1 ผืน
แต่ที่น่าเศร้ากว่านั้นคือพรานวัยหนุ่มฉกรรจ์ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวอาจจะตายในพายุหิมะได้........





การใช้พัสตูเลยถือเป็นเรื่องน่าอดสูครับ.... ผืนนึงจะราคาเรือนพันเรือนหมื่น หรือเรือนแสน
(อย่างที่พวกร้านค้าที่ตกแต่งหรูๆจะเอามาติดตราเตารีด และคันไถ โก่งราคาสาวสังคมที่ซื้อไปใช้)
หรือต่อให้แพงซะขนาดไหน........ การใช้พัสตูก็ไม่ต่างอะไรกับการแปะตราบาปบนหน้าผากเราครับ....






(นอกเรื่องไปเยอะเลย สมาชิกท่านถัดไปที่มาตอบอย่าถือสานะครับ แหะๆ)


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 25 มี.ค. 08, 10:12
นึกหน้าคุณยายออกแล้ว คำเก่าๆเลยมาอีกคำค่ะ
ไม้สักกะเท้า...ค่ะ
...
เดี๋ยวนี้หาไม่เจอแล้ว ทำจากไม้อะไรไม่รู้ มีปุ่มๆ จากหัวโตๆข้างบนแล้วก็เรียวลงมาเรื่อย
ช่วยคนแก่ทรงตัวได้ดีนัก
เท่มาก ..คุณยายถือยามเดินออกนอกบ้านไปทำบุญที่วัด
ใส่โจงกระเบนสีหมาก เสื้อขาวคอกลมผ่าหน้า แขนยาว มีสไบบางๆสีขาวทับอีกที
ไม้สักกะเท้ามีทั้งแบบหัวเลี่ยมเงิน และเป็นไม้จริงๆไม่เลี่ยม



กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 25 มี.ค. 08, 11:20
        วันนี้อ่านข่าวนสพ. ไทยรัฐ ว่า
         องค์การอวกาศสหรัฐฯแจ้งว่าได้ตรวจจับพบการระเบิดอันทรงพลังยิ่งในจักรวาล ที่ระยะห่างไกลโพ้น
ถึง 7.5 พันล้านปีแสง
        เป็นการระเบิดของรังสีแกมมาจากดาวฤกษ์ยักษ์ชรา ที่มีขนาดโตกว่าดวงอาทิตย์ของเราประมาณ 40 เท่า
หลังจากเผาผลาญตัวเองจนหมดเชื้อ และแกนของมันได้ถล่มทลายลง เกิดเป็นหลุมดำยักษ์หรือดาวนิวตรอน
ปล่อยพ่นรังสีแกมมา และพ่นอนุภาคออกมาด้วยความเร็วเท่ากับความเร็วของแสง และ ก่อให้เกิดปรากฏการณ์แสง
ที่เรียกว่า “ผีตากผ้าอ้อม”.

       จากพจนานุกรม - ผีตากผ้าอ้อม น. แสงแดดที่สะท้อนกลับมาสว่างในเวลาจวนพลบในบางคราว.

       เรียงร้อย ถ้อยไทย ไทยทีวีสาม - ผีตากผ้าอ้อม เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ หมายถึง
ท้องฟ้าทางทิศตะวันตก โดยมากหลังฝนตกใหม่ๆ แสงตะวันตกดินจะสะท้อนกลับมาสว่างเป็นแสงสีแดงอมเหลือง
คนโบราณเปรียบภาพที่เห็นนั้นเหมือนผ้าอ้อมที่ผีนำออกมาตาก จึงเรียกกันว่า ผีตากผ้าอ้อม
 
ภาพของไดฟ์บลูซีครับ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 25 มี.ค. 08, 12:36
ไม้สักกะเท้า คำนี้ไม่เคยได้ยินเลยครับ ความรู้ใหม่ๆสดๆเลย

ส่วนเรื่องแคชเมียร์ เขาว่าเจาะจงทำจากขนส่วนใต้คอของแพะภูเขานะครับ แต่ข้อมูลคุณติบอเก่าไปหน่อย เพราะจีนทำเป็นอุตสาหกรรมมาหลายปีแล้ว ถึงคุณภาพไม่เต็มร้อยแต่ก็พอสูสีล่ะครับ ลอดแหวนได้เหมือนกัน เวลาจะเอาขน เจ้าแพะภูเขาไม่ต้องถึงตาย แค่ตัดขนส่วนใต้คอมาใช้ ตัวนึงได้แค่ปีละสิบกว่ากรัมเท่านั้นครับ

ที่ขายๆอยู่มักผสมกับไหม ถ้าเป็นแคชเมียร์ 100% ราคาก็ขาดลอยเลย


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 25 มี.ค. 08, 13:35
ปลายอ้อปลายแขม    แปลว่าที่ยังอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้่ีู้   ที่ยังอยู่ห่างไกล(พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๔๒)


สมัยนี้ได้ยินว่า  หนูยังเป็นวุ้นอยู่เลยค่า....


อักขราภิธานศรับท์ ๒๔๑๖     บอกว่า  กาละที่ตัวยังไม่ได้เกิดมา,  ว่าที่เรายังอยู่ที่ปลายอ้อปลายแขม
























กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: lakmom ที่ 25 มี.ค. 08, 13:42
สวัสดีค่ะ....อ่านกระทูแล้วก็นึกถึงคุณยาย น่ะค่ะ  ซึ่งดิฉํนเรียกว่า แม่แก่  ก็ไม่รู้ว่าทำไมไม่ให้เรียกยายเหมือนคนอื่น  แม่แก่จะชอบพูดว่าโบราณเยอะค่ะ
แต่ที่จำได้จะมีคำว่า จงระวังให้จงหนัก  ซึ่งดิฉันฟังจนใม่คิดว่าเป็นคำโบราณเลยนะคะจนได้ดูหนังเรื่องสมเด็จพระเนรศวร  แล้วได้ยินคำนี้ด้วยน่ะค่ะก็ไม่รู้แน่ว่าความหมายเป็นอย่างไร


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 มี.ค. 08, 14:15
ระวังให้จงหนัก  = ระวังให้มาก ค่ะ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 26 มี.ค. 08, 23:39
เพิ่งไปเจอมาอีกคำครับ

สำมะหาอะไร....
ตอนเด็กใช้กันบ่อย เดี๋ยวนี้คงเข้ากรุแล้ว


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 27 มี.ค. 08, 00:57
คล้ายกับ "ระวังให้จงดี" หรือเปล่าครับ

"ลูกไล่"
"ลูกแอ้"
"ลูกล่อลูกชน"

คำเหล่านี้มีความหมายและมาจากมูลเหตุใดครับ........ ???


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 มี.ค. 08, 21:31
คำนี้ ไม่เห็นใครใช้กันอีกแล้ว คือยักเยื้อง 
พจนานุกรมราชบัณฑิต ให้ควาหมายว่า  เลี่ยงไป, ไม่ตรงไปตรงมา, เช่น ถามเรื่องหนึ่ง แต่พูดยักเยื้อง  ไปตอบอีกเรื่องหนึ่ง, ดัดแปลง เช่น ทํายักเยื้อง, เยื้องยัก ก็ว่า.
 
ขอออกนอกเรื่องหน่อยค่ะ  เพิ่งเปิดเข้าไปที่เว็บราชบัณฑิต   เห็นกลอนบทนี้ที่ลงไว้หน้าเว็บ  ถวายสักการะ แล้วแทบช็อค
ถ้าเป็นเว็บส่วนตัวก็ยังพอเข้าใจได้ว่า    คนแต่งอาจจะมือใหม่   แต่งผิดๆถูกๆ

แต่เว็บราชบัณฑิตฯ ปล่อยปละละเลยแบบนี้ไม่ได้     ขนาดกลอนแปดแท้ๆ ถือว่าง่ายสุดสำหรับคนแต่งบทร้อยกรอง
ยังแต่งผิดได้ลงคอ

คำว่า หาย ยังไงๆ  ก็สัมผัสกับ ลัย และ ไทย ไม่ได้   สระเสียงยาวไม่สัมผัสกับสระเสียงสั้นค่ะ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 29 มี.ค. 08, 22:55
ราชบัณฑิตไม่มีกระจก
สี่เท้ายังรู้พลาด...
ราชบัณฑิตก็ผิดอย่างจัง


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Oam ที่ 30 มี.ค. 08, 08:07
เมื่อวานรายการทีวีมีให้ทายคำ ผู้เข้าแข่งไม่รู้จักคำว่า "เจว็ด"


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 30 มี.ค. 08, 10:23
คำนี้ไม่รู้จักมาตั้งแต่สมัยคุณชายคึกฤทธิ์แล้วครับ
ท่านเคยเปรียบว่า อย่าทำกับสถาบันเหมือนเป็นเจว็ด

มีคนฟ้อง

ตอนนั้นหนังสือพิมพ์ช่วยกันอธิบายใหญ่ว่า เจว็ดคืออะไร

ถ้าเราเดินเข้าประตูกรมศิลปากร ด้านที่เป็นทางเข้า
เจว็ดจะอยู่ที่ประตูนั้นแหละครับ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มี.ค. 08, 19:10
ใครอยู่ในบ้านที่มีศาลพระภูมิ  คงจะเห็น "เจว็ด" ในศาล   
รูปที่นำมาลง เป็นเจว็ด แบบหนึ่ง ค่ะ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มี.ค. 08, 19:12
พจนานุกรมราชบัณฑิตฯมีคำแปลกๆ ที่ตั้งแต่เกิดจนตาย ก็คงไม่ได้ใช้
ใครเคยได้ยินคำว่า สีจัก ยักหล่ม ถ่มร้าย บ้างคะ 


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 31 มี.ค. 08, 05:23
ไม่เคยได้ยินเลยครับ สีจัก ยักหล่ม ถ่มร้าย  :-X

ราชบัณฑิตยฯ ท่านเก็บหมด ทั้งเก่าใหม่ วรรณคดี

ผมดูศัพท์ในพจนานุกรม ถ้าเป็นคำพวกบาลี-สันสกฤตแปลกๆ ที่ไม่ใช้กันทั่วไปในสมัยนี้ ส่วนใหญ่ก็มาจากงานวรรณคดีประเภทกาพย์กลอนเป็นส่วนใหญ่

ถ้าเป็นคำไทยแปลกๆ ก็มักมาจากภาษากฎหมายสมัยโบราณ หรือเป็นภาษาปากที่เดี๋ยวนี้ไม่พูดกันแล้ว

แต่ที่น่าแปลกคือ "ผลไม้" กลับไม่มีในพจนานุกรม  ;D ไม่รู้ลืมหรืออย่างไร ??? (ผมค้นในฉบับอินเตอร์เน็ต เค้าบอกไม่มีครับ)

แล้วใครเคยได้ยินคำว่า "พรรคกลิน" (ไม่เกี่ยวกับพรรคกระยาจก) บ้างครับ  ;D  คำนี้เป็นศัพท์เฉพาะวงการมากๆ แต่เดี๋ยวนี้ก็ใช้อยู่

ไม่รู้ว่าในอนาคต เราจะต้องบรรจุคำเหล่านี้เข้าด้วยหรือเปล่า

ชัวร์ - คอนเฟิร์ม - แคนเซิล - โอเค - บาย - โปรโมชั่น - เดิร์น
ถ้าเป็นนักศึกษาก็น่าจะพูดคำเหล่านี้ อย่างน้อยอาทิตย์ละหน - พรีเซ้นต์ - ดีเฟ็นซ์ - ทีสิส - แอ็บสแตร็ก :-X

สุดท้าย เมื่อสองสามวันมานี้ ได้ยินบุคคลหนึ่งขุดคำว่า "แอ๊กอ๊าต" (ไม่ใช่เอี๊ยดอ๊าด) ขึ้นมา  ;D เข้าใจว่ามาจาก "Act Art"  :-\

คำนี้เคยได้ยินตอนเด็กๆ ครับ จำไม่ได้แล้วว่าตอนช่วงอายุเท่าไหร่ แต่พอจะเข้าใจว่าความหมายว่าหมายถึง "วางท่า" "โอ้อวด" "ทำเท่" "เก็ก" "วางท่า" คือทำตัวเหมือนว่าตัวเองมีดีแต่จริงๆ แล้วไม่มีอะไร คำนี้ เป็นคำประชดประชัน เอาไว้เหน็บแนม

จริงๆ ก็ไม่รู้ที่มาเหมือนกันครับ  ;D แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ถ้ามาจาก Art แล้วกันเกี่ยวอะไรกับศิลปะ ?

 



กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 31 มี.ค. 08, 06:25
เคยอ่านเห็นสองสามครั้งค่ะ สีจัก ยักหล่ม  ถ่มร้าย
เป็นลักษณะที่ไม่ดีของหญิง


แอ๊กอาร์ต นี่เป็นศัพท์ประมาณปี ๒๔๙๕ เป็นต้นมา  ประมาณว่า เย่อหยิ่งมากกว่าเบ่ง
เมื่อหญิงสาวเดินเชิดผ่านชายหนุ่มไป  ก็อาจมีคำลอยมาว่า แอ๊กอาร์ต
ชายหนุ่มที่แต่งตัวหล่อเป็นพิเศษ เดินผ่านกลุ่มสตรีไปโดยไม่แสดงอาการสนใจ
ก็ได้รับคำชมเชยเช่นว่านี้ด้วยกันค่ะ
ชายหนุ่มหน้าตาดีที่แต่งตัวขมุกขมอม ตุรัดตุเหร่ผ่านกลุ่มหญิงสาวไป  ไม่เข้าขั้นได้รับการชมเชยเช่นนี้เลยค่ะ
ในระหว่างเพศเดียวกัน  ถ้าผู้ใดทำอมภูมิไม่ตอบคำถาม  ก็ตกอยู่ในกลุ่มเป้าหมายได้รับการกระแทกกระทั้นด้วยวลีนี้ค่ะ


พรรคกลิน  ได้ยินอยู่ค่ะ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 มี.ค. 08, 07:59
คุณ Wandee อธิบายได้เห็นภาพแจ่มแจ้ง   ;D
หนุ่มสาวยุคนั้นเขา" แอ๊คอาร์ต"  สมัยนี้ไม่เต๊ะท่าแล้วค่ะ    แต่สาวๆอาจถูกวิจารณ์ว่า "แอ๊บแบ๊ว" กันมากกว่า

คุณโฮฯ ไม่เจอคำว่า "ผลไม้"  ดิฉันเจอความหมายเด็ดของคำว่า " ดอกไม้"

ถ้าจะหมายถึงอะไรที่สีสวยๆตูมและบานอยู่บนต้นไม้   ต้องค้นที่คำว่า "ดอก" เฉยๆ  ถึงจะได้ความหมาย

ดอก ๑  น. ส่วนหนึ่งของพรรณไม้ที่ผลิออกจากต้นหรือกิ่ง มีหน้าที่ทําให้เกิด
 ผลและเมล็ดเพื่อสืบพันธุ์ มีเกสรและเรณูเป็นเครื่องสืบพันธุ์, เรียก
เต็มว่า ดอกไม้;

ทั้งๆตอนนี้  ท่านบอกว่า "เรียกเต็มว่า ดอกไม้"

แต่ถ้าค้นคำว่า " ดอกไม้" จะได้ความหมาย อย่างเดียว ว่า
ดอกไม้  น. ฟันของเด็กที่แรกขึ้น.     :-\


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 31 มี.ค. 08, 13:22
พรรคกลิน ต้องเชิญทหารเรือมาอธิบายครับ
ผมจำไม่ได้แน่ว่าหมายถึงช่างเครื่องหรือเปล่า

สมัยก่อนอ่านหนังสือ กระดูกงู เจอบ่อย อีกคำดูเหมือนจะพรรคนาวิน
เป็นศัพท์เฉพาะจริงๆ ครับ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 31 มี.ค. 08, 16:12
กลิน มีรากศัพท์จาก กล ครับ คือวิศวกรนั่นเอง แต่เป็นศัพท์เฉพาะในวงทหารเรือ ชาวบ้านไม่มีใครใช้กันครับ

พูดถึง กล นึกได้อีกคำหนึ่งคือ "ชอบกล"
คำนี้ยังใช้กันอยู่แต่ความหมายกลายจากบวกเป็นลบไปเสียแล้ว

สมัย ร.๔ ต้องใช้ว่า "ไม่ชอบกล" ถึงจะได้ความหมายเดียวกับ "ชอบกล" ในปัจจุบันนี้ครับ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 31 มี.ค. 08, 17:10
ขอบคุณคุณ Wandee ครับที่ช่วยอธิบายความหมายของ Act Art  ;D

ใช่เลยครับคุณ CrazyHOrse มาจากคำว่า "กล" แต่ผมยังหาไม่ได้ว่าใครเป็นคนบัญญัติศัพท์คำนี้ เพราะเห็นครั้งแรก ผมงงเลย อิอิ  ;D ว่า "กลิน" คืออะไร พอไปค้นก็พบว่า คำนี้น่าจะเป็นการผูกศัพท์ขึ้นเองของไทย ซึ่งผมพยายามค้นคำนี้ในพจนานุกรมสันสกฤต-บาลี-ฮินดี ก็ยังไม่พบ

กลิน คือ กล + อิน (คำเติมเพื่อแสดงว่าเป็นผู้กระทำ หรือ ผู้มี) เข้าใจว่า คงให้เป็นไปในทำนองเดียวกับคำว่า "พรรคนาวิน" (นาว + อิน = คนเรือ) และคำว่า "พรรคนาวิกโยธิน" (นาวิก + โยธ + อิน)

ดังนั้น "กลิน" ก็คือ คนที่ทำงานกับเครื่องยนต์กลไกต่างๆ หรือ พูดง่ายๆ คือ ช่างกล นั่นเองครับ

คำว่า กลิน นี้ เลยทำให้ผมอยากรู้ว่า ในพจนานุกรมของราชบัณฑิตยฯ ท่านมีคำประเภทนี้เก็บไว้กี่คำ ก็ค้นมาได้ดังนี้ครับ

พรรคกลิน (เหล่าทหารเรือที่เป็นช่างกลประจําท้องเรือ)

ชีวิน (ผู้เป็นอยู่, ผู้มีชีวิต), โภคิน (ผู้บริโภค, คนมั่งมี, คนมีสมบัติ), ราคิน (ผู้มีความกําหนัด)

สุขิน (ผู้มีความสุข), เวคิน (ผู้มีความเร็ว, ผู้เดินเร็ว), โยคิน (โยคี), พยัคฆิน (เสือโคร่ง)

ธรณิน (ธรณี, แผ่นดิน), ผณิน (งู), หัสดิน (ช้าง), ทันติน (ช้าง), วาทิน (คนเล่นดนตรี)   

นาวิกโยธิน (ทหารเรือฝ่ายบก), พรรคนาวิกโยธิน (เหล่าทหารเรือที่ประจําการพลรบฝ่ายบก)

โยธิน (นักรบ, ทหาร), ศิลปิน (ผู้มีความสามารถแสดงออกซึ่งคุณสมบัติทางศิลปะ)

กริน (ช้าง, ช้างพลาย), กินริน (กินนรเพศหญิง), จักกริน (ผู้มีจักร หมายถึง พระนารายณ์)

เปศัสการิน (ต่อแตน; หญิงผู้ปักลายเสื้อผ้า), ไพริน (ผู้มีเวร; ข้าศึก)

ภมริน (ผึ้งทั่วไป), ภุมริน (แมลงผึ้ง, แมลงภู่), มัตสริน (คนตระหนี่)

ศฤงคาริน (ผู้มีศฤงคาร), ศิขริน (ภูเขา), ศิงขริน (ภูเขา), ศีขริน (ภูเขา)

หาริน (ถือเอา, นําไป, มักใช้เป็นส่วนท้ายสมาส เช่น อทินหารี ว่า ผู้ถือเอาของที่เขาไม่ได้ให้)

ศูลิน (พระอิศวร), จุลชีวิน (สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมาก มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ต้องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์)

ดบัสวิน (ผู้ประพฤติความเพียร, ฤษี), นาวิน (คนเรือ, ทหารเรือที่ประจําการพลรบในกองทัพเรือ)

พรรคนาวิน (หล่าทหารเรือที่ประจําการพลรบ), อัศวิน (นักรบขี่ม้า, นักรบที่กล้าหาญ)

วศิน (ผู้ชํานะตนเอง, ผู้สํารวมอินทรีย์), ปักษิน (สัตว์มีปีก คือ นก), สากษิน (สักขี)

วาสิน (ผู้อยู่, ผู้ครอง, มักใช้เป็นส่วนท้ายสมาส เช่น คามวาสี = ผู้อยู่บ้าน , อรัญวาสี = ผู้อยู่ป่า)

คำเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเจอในบทกลอนเสียมาก (ยกเว้นตัวสีน้ำเงินที่ผมเห็นว่า ยังมีใช้ในภาษาเขียนภาษาพูดในปัจจุบันอยู่ โดยเฉพาะคำว่า "ศิลปิน")


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 31 มี.ค. 08, 17:11

ดอกไม้  น. ฟันของเด็กที่แรกขึ้น.     :-\


 :(  :-X  :-\  ;D


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 31 มี.ค. 08, 18:07
เคยได้ยินคำว่า "ดอกไม้" ที่แปลว่าฟันของเด็กที่แรกขึ้น  เป็นครั้งแรกจากคนแก่ที่มาเลี้ยงลูกสาวคนโต
เมื่อลูกสาวคนแรกฟันขึ้น เป็นสีขาวซี่นิดๆ  ป้าเรียกว่า  "ดอกไม้"   ใช้ผ้าเช็ดหน้าสะอาด ถูทำความสะอาดฟัน  ให้หมดคราบนม
ตอนนั้นยังนึกว่า ทำไมป้าคนเลี้ยง ใช้ภาษา poetic จัง
เพิ่งมารู้ตอนนี้เองว่า เป็นภาษาโบราณ   คงจะทำนองเดียวกับเรียกร่องกระดูกส่วนหน้าของบ่า ว่า ไหปลาร้า   ละมังคะ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 01 เม.ย. 08, 07:56
อาจเป็นการเปรียบเทียบฟันเด็กที่งอกใหม่เหมือนดอกไม้แรกแย้มมั้งครับ  ;D

คนโบราณชอบเปรียบเทียบ ไม่ชอบพูดตรงๆ อย่างเด็กที่น่ารัก ก็จะบอกว่า "น่ารัก น่าชัง"  ;D นัยว่า ป้องกันไม่ใช้ผีเอาตัวไป เพราะผีจะได้ยินว่า เด็กคนนี้หน้าตาน่าชัง  :-\ เป็นลักษณะเฉพาะของสังคมที่ยังนับถือผีกันอยู่  :-X

ไม่แน่นะครับ ที่ให้เรียกฟันเด็กที่งอกใหม่ว่า "ดอกไม้" อาจเกี่ยวข้องกับความเชื่อบางประการในคติการนับถือผีก็ได้นะครับ  ???

ส่วนคำว่า "ไหปลาร้า" นี่ติดใจผมมานานแล้ว เพราะไม่เคยเชื่อว่ามันจะเกี่ยวข้องอะไรกับไหปลาร้าเลยแม้แต่นิดเดียว แต่ทำไมเรียกกันมานมนานว่าไหปลาร้า  :-\

อิอิ ไปเจอโพสเก่าๆ ของตัวเองที่เรือนไทย ว่าไว้ว่า

"ราชาศัพท์เรียกว่า "พระรากขวัญ"

ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานการสร้างพระธาตุพนม) แปลไว้ว่า "กระดูกด้ามมีด"

ก็เลยคิดเล่นๆ ว่า กระดูกไหปลาร้า อาจไม่ได้เกี่ยวกับ ไหปลาร้า แต่อาจเพี้ยนมาจาก ด้ามมีดพร้า (พร้า เพี้ยนเป็น ปลาร้า) ???

จะว่าไปแล้ว รูปร่างของกระดูกไหปลาร้า ก็คล้ายกันกับด้ามมีดพร้าเหมือนกันนะครับ

ไม่มีคำอธิบายครับ เพราะไม่รู้เหมือนกัน ทิ้งไว้ให้ช่วยกันคิดครับ"

ตอนนี้ ผมค่อนข้างมั่นใจว่า "ปลาร้า" เพี้ยนมาจาก "พร้า" แต่ก็ติดอยู่ที่คำว่า "ไห" ว่ามันจะเพี้ยนมาจากคำว่าอะไรดี  :-\

ตามความหมายแล้ว "ไหปลาร้า" น่าจะแปลว่า "ด้ามพร้า" หรือ "ด้ามมีด" ในคำเขมร ก็ชัดเจนว่า เรียก "ฎงฺกำบิตฺ" (ด้ามมีด)

ไห น่าจะเพี้ยนมาจากคำอะไรซักคำที่แปลว่า "ด้าม" ตอนนี้ยังนึกไม่ออกครับ

หรือจะเพี้ยนมาจาก "มีด" คือ สำเนียงถิ่น (ไหนก็มิอาจทราบได้) เรียก "มีดพร้า" แต่ออกเสียงเป็น "ฮีด-พล้า" คนสำเนียงกลางก็ได้ยินเป็น "ฮี-พลา-ล้า" เลยไปเทียบเสียงเทียบศัพท์ให้เป็น "ไห-ปลา-ร้า" ทฤษฎีนี้ เพิ่งคิดสดๆ  :-[ แต่ก็ฟังดูทะแม่งๆ  ;D แต่ก็เป็นไปตามหลักการเพี้ยนของคำได้เช่นกัน คือ M - H - P - F - V พวกนี้ มันเพี้ยนไปมาระหว่างกันได้ง่าย ยิ่งถ้าพูดในโทน ตรี หรือ จัตวา

จะว่าไปแล้ว รูปร่างของกระดูกก็มีทรงเหมือน "มีดพร้า" เสียด้วย

(http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/3/39/Clavicula_inf.jpg)

(http://www.oae.go.th/zone/zone9/content/920107A01.jpg)

==================

ไปเจอสำนวนแปลกๆ ในพจนานุกรมอีกแล้วครับ "พร้างัดปากไม่ออก" (สํา) ว. นิ่ง, ไม่ค่อยพูด, พร้าคัดปากไม่ออก ก็ว่า.


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 เม.ย. 08, 08:52
โบราณเขาไม่ได้ชมเด็กว่า "น่ารักน่าชัง" นะคะ  เขาใช้คำว่า "น่าเกลียดน่าชัง"   ไม่มีอะไรดีๆอยู่ในคำเลยค่ะ
ที่แน่ใจเพราะจำได้ว่า อายุสัก ๘ ขวบ คุณแม่พาไปเยี่ยมคุณน้า เพื่อนรุ่นน้องของท่าน ที่เพิ่งคลอดลูกชายใหม่ๆ
พอเห็น   คุณแม่ก็บอกว่า "หน้าตาน่าเกลียดน่าชัง  "  แม่เด็กก็ยิ้มอย่างปลื้ม
กลับมาจากบ้านนั้น ถามคุณแม่ว่า ทำไมคุณแม่ไปบอกว่าน้องหน้าตาน่าเกลียดล่ะคะ

คุณแม่หัวเราะแล้วตอบว่า โบราณเขาถือ   ห้ามชมเด็ก   หน้าตาน่ารักยังไงก็ชมไม่ได้  ผีจะมาเอาไป  ต้องพูดให้ตรงข้ามเข้าไว้   

ดิฉันจำได้ว่า เคยเปิดดูในนิยายเก่าๆ  เจอสำนวนแบบนี้หลงเหลืออยู่ 

คำว่า "น่ารักน่าชัง" มาทีหลังค่ะ น่าจะยุคคุณโฮ   ความยึดถือข้อนี้จางลงไปสักครึ่งแล้ว
จะพูดว่าน่าเกลียดน่าชังก็ตะขิดตะขวง  เลยเพี้ยนมาเป็นคำ "น่ารักน่าชัง"  ซึ่งไม่มีความหมายอะไรค่ะ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 เม.ย. 08, 09:00
ทีนี้พูดถึงไหปลาร้า บนร่างกาย  บ้างค่ะ
ส่วนที่เรียกว่า ไหปลาร้า ไม่ใช่กระดูกนะคะ  แต่เป็นส่วนที่เป็นหลุม   กระดูกตรงนั้นเรียกว่า "กระดูก(ของ)ไหปลาร้า"
ส่วนที่บุ๋มเป็นหลุมนั่นแหละค่ะคือไหปลาร้าของจริง    ชวนให้นึกถึงปากไหปลาร้าหรือยังไงก็นึกไม่ออก  ต้องตามรอยกันต่อไป

พจนานุกรมฯ รอยอิน ให้ความหมายว่า

ไหปลาร้า  น. ชื่อไหชนิดหนึ่ง มีขอบรอบปากสําหรับหล่อนํ้าและมีฝาปิด 
ใช้หมักปลาร้า, หลุมข้างคอถัดกระดูกไหปลาร้าขึ้นไป, เรียกกระดูกทั้งคู่
ที่อยู่ต้นคอข้างหน้าว่า กระดูกไหปลาร้า.

ผู้หญิงไทยสมัยห่มผ้าแถบ  รูปร่างสมบูรณ์ไม่ผอมแห้งอย่างสาวสมัยนี้   จะไม่ค่อยเห็นไหปลาร้า   
ใครมีไหปลาร้าให้เห็น แสดงว่าผอมมาก   ไม่งามตามมาตรฐานความงามยุคนั้น
จะเห็นได้ว่า ในการชมนางงามตั้งแต่หัวถึงเท้า อย่างชมนางสีดา  และนางอื่นๆในฝันของกวี  ไม่มีการเอ่ยชมไหปลาร้าเอาเลยสักครั้ง


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 01 เม.ย. 08, 09:38
ผมเข้าใจว่า พจนานุกรมคงเรียกชื่อหลุมตามชื่อกระดูกครับ ไม่น่าที่จะเรียกชื่อกระดูกตามหลุม

ตัวไหปลาร้า นี่ผมเคยเห็นครับ ดูอย่างไรก็ไม่เป็นหลุมเหมือนไหปลาร้าบนตัวคน

ผมกำลังสงสัยว่า พจนานุกรมอาจอธิบายความหมายตามศัพท์ที่เพี้ยนไปแล้วหรือเปล่า ??? ไปจับเอาคำว่า "ไหปลาร้าจริงๆ" มาอธิบาย เพราะไม่ได้หาความหมายที่แท้จริงว่า คำนี้มาจากไหน ?

มูลเหตุที่ทำให้ผมสงสัยมีอยู่สามประการคือ หนึ่ง ความหมายในภาษาเขมร "ด้ามมีดพร้า" สอง คำแปลที่มีกล่าวถึงอยู่ในตำนานอุรังคธาตุว่า "พระรากขวัญ" หมายถึง "กระดูกด้ามมีด" และสาม คำว่า "พร้า" กับ "ปลาร้า" ในทางสัทธศาสตร์ และที่สำคัญคือ คิดไ่ม่ออกว่า ไหปลาร้า มันจะเกี่ยวอะไรกับร่างกาย หรือ หลุมตรงนั้น  ;D

ผมเคยอ่านตำนานเกี่ยวกับการสร้างกรุงศรีอยุธยา โดยมีการอธิบายที่ classic มากๆ  ;D ว่า ทำไมถึงชื่อ ศรีอยุธยา คำตอบคือ เมื่อก่อนมี "ตาศรี" กับ "ยายยุธยา" (อะไรประมาณนี้แหละครับ) เป็นเจ้าของที่ตรงนั้น ก็เลยเรียกตาม ชื่อตายาย  :-\

แต่เรื่องนี้ ผมก็คงต้องค้นต่อไปครับ  ;D โดยเฉพาะเรื่องสำเนียงถิ่นต่างๆ ที่เรียกคำว่า "มีด" ว่ามันมีโอกาสเพี้ยนกันมากน้อยเพียงใด  8) ที่น่าสนใจคือ ข้อความจากตำราแพทย์แผนโบราณว่าเค้าบันทึกคำนี้ไว้ว่าอย่างไร แต่คงอีกนานครับ เพราะตอนนี้ต้องทำภารกิจ "สำคัญ" ให้สำเร็จเสียก่อน  ;D

===============================

เรื่องความงามสมัยนี้ กลายเป็นใครผอมจนเห็นไหปลาร้านี่ หุ่นดีครับ อิอิ และถ้าผอมด้วย "ซิลิโคนด้วย" นี่ กำลังเป็นที่นิยม ดูได้จากดาราสาวๆ บ้านเรานี่เอง  ;D



กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 01 เม.ย. 08, 10:05
ผมเคยอ่านตำนานเกี่ยวกับการสร้างกรุงศรีอยุธยา โดยมีการอธิบายที่ classic มากๆ  ;D ว่า ทำไมถึงชื่อ ศรีอยุธยา คำตอบคือ เมื่อก่อนมี "ตาศรี" กับ "ยายยุธยา" (อะไรประมาณนี้แหละครับ) เป็นเจ้าของที่ตรงนั้น ก็เลยเรียกตาม ชื่อตายาย  :-\


เนื้อเรื่องชวนให้คิดถึงตำนานรุ่นหลังๆ ที่คนแต่งไม่รู้ที่มาของชื่อ
ก็เลยแต่งอะไรเข้าไปใหม่เหมือนตำนานเมือง "จะทิ้งพระ"
ที่ถูกแต่งขึ้นมาตอนชื่อเมือง สะทิงปุระ กลายเป็นเมือง จะทิ้งพระ ไปแล้วนะครับ



ปล. อ่านที่อาจารย์เขียนแล้วแอบงงครับ
กระดูกด้านหลังของไหปลาร้า.... นี่มันกระดูกอะไรอ่า.....
สะบักไม่ใช่หรอ ??? แง่ง..... อยากถามคนแต่งพจนานุกรม


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Playrung ที่ 01 เม.ย. 08, 11:14
มาถึงเรื่อง สี กันบ้าง

(ถ้าหากเคยสนทนากันไปแล้วก็ขออภัยนะคะ)

คนรุ่นก่อน บางคน มักเรียน สีฟ้า หรือ น้ำเงิน  ว่า "สีเขียว"
สมัยนี้ บางคนก็ยังคงเรียกแบบนี้อยู่

สร้างความงุนงง ให้ลูกหลานในบางครั้ง ต้องอาศัยความเคยชินเข้าช่วย

ทำไม? จึงเรียกเช่นนี้คะ

แบบว่า สงสัยค่ะ

 :o



กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 01 เม.ย. 08, 12:20
คนอีสานเขาฉลาดกว่าคนภาคกลางครับ
ที่เรียกกระดูกด้ามมีด ก็เพราะเขาไม่รู้จักปลาร้า

เขารู้จักแต่ปลาแดก
ไหปลาแดกเป็นความสำเร็จทางเทคโนโลยี่เครื่องเคลือบครั้งสำคัญ
ภาคกลางทำเป็นแต่ถ้วยชามกระลาแตก
เอาใส่ปลาแดกมีหวังเหม็นไปทั้งบาง


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 01 เม.ย. 08, 16:56
ตอบคุณ Playrung

เรื่องนี้เมื่อก่อนผมก็ยังงง อยู่เหมือนกัน จะว่าสีเดียวกันก็ไม่ใช่ แต่ทำไม่เรียกต่างกันแบบนั้น  ???

ตอนนี้ พอเห็นอะไรแปลกๆ อยู่เหมือนกันครับ คือเคยไปค้นคำเขมรเกี่ยวกับสี ก็พบว่า

เขมร     ไทย
แบตง      เขียว
เขยว      น้ำเงิน
เลือง       เหลือง

เรื่องนี้ ผมยังไม่กล้าฟันธงครับว่าใครเอาของใครไปใช้ เพราะตอนนี้ตำรามีไม่พอค้น  ;D

แต่พอเข้าใจได้ว่า เหตุที่คนไทยบางคนเรียกสีน้ำเงินว่าเขียว ก็อาจเป็นเพราะว่า ภาษาของคนแถวนั้นเรียกได้รับอิทธิพลของภาษาเขมรมาแต่เดิม (ในกรณีที่ เรารับคำเขมรมาใช้)

ในทางกลับกัน คำว่า เขียว หมายถึง สีน้ำเงิน มาแต่เิดิม แต่ภาษาปัจจุบันได้เปลี่ยนความหมายไป ความหมายเดิมจึงถูกเก็บไว้ในภาษาถิ่น และภาษาเขมร ที่ยืมไป เรื่องนี้ ต้องคำว่าเขียวในตระกูลภาษาไท-กะได ครับ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 01 เม.ย. 08, 19:04
เพิ่งเจอมาเมื่อกี้
ไปที่ตลาด บอกกับร้านชำ
(เอ ร้านชำ มาจากอารัยหว่า....ติ๊กต็อกๆๆๆๆ งง)

กาลักน้ำ ตัวนึง

คนขายเป็นเด็กสาว อายุต่ำกว่า 20 ถามกันวุ่นทั้งร้าน ม่ายรู้จักฮ่า........

เซ็ง


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 02 เม.ย. 08, 15:15
คนสมัยนี้เพี้ยนแล้วมีคนยอมรับก็ดีไป เจอคำอะไรแปลไม่ออกก็ไปจับคำใกล้ๆมามั่ว แก้จนยุ่ง ทั้งที่ตัวเองไม่ได้เกิดยุคนั้นเสียหน่อย ที่ภูเก็ตมีอ่าวๆหนึ่ง ดิฉันงง ว่าชื่อจริงๆ อ่าวยน  หรืออ่าวยนต์  ไม่ทราบจะถามใคร เพราะคำง่ายๆอย่างนี้บางทีมันก็ไม่มีที่มา
แต่เป็นอ่าวเล็กๆที่สวยงาม
มีเรือยอทจอดพอสมควร
สมัยก่อนเป็นที่เรือยนต์มาจอดหรือเปล่าไม่แน่ใจ
ฤาคำว่ายน มีคำแปลในภาษาของชาวใต้ก็ไม่ทราบ
จะยนต์หรือยน พอมันสวยขึ้นมา
ดิฉันก็อยากจะเขียนตามที่เห็นว่า อ่าวยล


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 03 เม.ย. 08, 00:33
อ่าวยนต์-เขาขาด  สวยน่าเที่ยวมากครับ 

เหมือนผมเคยได้ยินว่าลักษณะจะคล้าย"บอกยนต์"  ซึ่งแปลว่าตะบันหมากในภาษาใต้  อันนี้ไม่ทราบแน่ชัดครับ  แต่ถ้าคิดในแง่คุณกุ้งว่างามน่ายล  ก็น่ายลจริงๆครับ

กระดูกแถวบนสุดของซี่โครง(ส่วนมากจะเป็นของสัตว์)  คนโบราณจะนำมาทำเป็นด้ามพร้าหรือเล็กลงมาเป็นด้ามมีดครับ  "พร้ากับมีด"  เวลาตีแล้วจะเป็นสองลักษณะ  เป็นแบบด้ามด้ามแหลมๆ  กับเป็นแบบห่วง  ซึ่งแบบห่วงจะเรียกว่า "บ่อง"  มักจะนำไม้เนื้อแข็ง  กระดูกสัตว์  มาทำเป็นด้ามครับ(ปัจจุบันไม่นิยมแล้ว)  ดังนั้นในตำนานอุรังคนิทาน  เชื่อว่าเป็นกระดูกบนสุดของซี่โครงที่เรียกกันว่า "กระดูกด้ามพร้า"  อุรังคธาตุ   คือที่บรรจุพระบรมอัฐิส่วนที่เรียกว่าด้ามพร้าหรือด้ามมีดครับ.........


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 03 เม.ย. 08, 02:06
เรื่องชื่อสถานที่ต่างๆ ทางภาคใต้ รู้สึกว่าจะเป็นคำมาเลย์เยอะอยู่พอควรครับ

ไม่แน่ว่า "อ่าวยน" หรือ "อ่าวยนต์" นี้ อาจมาจากคำมาเลย์ก็ได้  ;D

อย่างชื่อของจังหวัดภูเก็ตเอง ก็มาจากภาษามาเลย์ คือ บูกิต (Bukit) แปลว่า เนินเขา (hill)

ลองไปค้นคำมาเลย์ดูคร่าวๆ พบคำที่น่าสนใจสองคำ คือ Joran แปลว่า คันเบ็ดตกปลา กับ Jong แปลว่า เรือสำเภาจีน ฝรั่งว่า Junk

คำ junk นี้ ฝรั่งเอามาผูกกับคำว่า Ceylon เป็น Junk-Ceylon ใช้เรียกเกาะภูเก็ตในสมัยโบราณ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 03 เม.ย. 08, 06:36
ถ้าดิฉันจะคิดกลับกันล่ะคะ คุณHotacunusว่าบูกิตมาจากคำว่าภูเก็ต
ภู แปลว่าเขา
เก็ต ก็มาจากอัญมณี เก็จ
มันก็มีความหมายในตัวเองอยู่แล้ว ...


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 03 เม.ย. 08, 09:36
จะตีความว่า ภูเก็ต มาจาก ภู + เก็จ อย่างคุณกุ้งแห้งฯว่านั้นก็ได้อยู่ครับ แต่ต้องฝ่าด่านสำคัญอย่างหนึ่งไปก่อน คือคำ ภู นี้ใช้เรียกภูเขาในภาคอีสานครับ ทางเหนือใช้ ดอย ทางภาคกลางคงไปถึงใต้ใช้ เขา เป็นภาษาคนละถิ่นกันครับ

ขอย้อนกลับไปที่ไหปลาร้าหน่อยครับ อ่านที่รอยอินว่าไว้ ผมเข้าใจว่าท่านมองกระดูกสองชิ้นด้านหน้านี้ต่อกันเป็นครึ่งวงกลมเหมือนปากไห ดังนั้นช่องที่คอตั้งอยู่นี้ก็เป็นหลุมของไห ฟังดูคล้ายๆจะเข้าที เป็นเป็นจินตนาการที่สยดสยองมากครับ  :-\

เชื่อตามรอยอิน กระดูกไหปลาร้าก็คือกระดูกปากไหปลาร้านั่นเอง


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 03 เม.ย. 08, 13:00
ภู เป็นภาษาไทยครับ คุณเครซี่ฮอร์ส
เราเรียกภูเขา หรือเขา หรือภู
ส่วนภาษาถิ่นของใครก็ของมัน
ภูที่เป็นบาลี เป็นชื่อผม แปลว่าผู้เป็นใหญ่
เก็ต ก็มาจากเพชร หรือสิ่งที่แวววาว
อันนี้ไม่ชอบพึ่งรอยอินฮะ เมืองภูเก็ตเป็นเกาะมาแต่ไหนแต่ไร ชื่อเก่าไม่มี ถ้าภูเก็ตมาจากบูกิตจริง มันก็ไม่น่าจะใช่
เพราะนี่เป็นเกาะครับ
ไม่ใช่เขา
หรือถ้าเป็นเขาก็ต้องเขาในน้ำทะเล


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 03 เม.ย. 08, 18:35
เรื่องชื่อบ้านนามเมืองของจังหวัด และอำเภอทางภาคใต้นี่น่าสนใจครับ และคิดว่าน่าจะมีคนศึกษารวบรวมไว้บ้างแล้ว แต่คงยังไม่เป็นที่แพร่หลายออกสู่วงกว้าง (ผมไม่เคยเห็นหนังสือ แต่อ่านเจอบ่อยๆ ในบทความบ้าง จดหมายถึงบรรณาธิการ (ศิลปวัฒนธรรม) บ้าง)

นอกจากภูเก็ตแล้ว ก็ยังมี พังงา สตูล ที่ได้รับการตีความว่าเป็นคำมาเลย์มาก่อน

ส่วนที่ผมสงสัยก็มีอย่าง อำเภอในจังหวัดชุมพร เช่น หลังสวน (อันนี้ผมสงสัยว่า เป็นการลากเสียงแขกมาเลย์ เป็นเสียงไทย  ::)) ประทิว ท่าแซะ ละแม พะโต๊ะ สวี ส่วน "ทุ่งตะโก" นี่น่าจะเป็นชื่อไทยตั้ง (ถ้าไม่ลากเสียงให้เป็นภาษาไทย)

ส่วนคำว่า "ภู" ที่แปลว่า "เขา" นั้น เป็นคำไทเดิมครับ (คำร่วมไท-จ้วง) ปัจจุบันภาษาไทยภาคกลาง (มาตรฐาน) ใช้คู่กันเป็น "ภูเขา" (เขมรเรียก "พนม")
ถ้าเป็นทางภาคกลาง-ใต้ นิยมเรียกชื่อภูเขาขึ้นด้วย "เขา" แต่ถ้าเป็นทางภาคเหนือ-อีสาน นิยมเรียกขึ้นด้วย "ภู" หรือ "ดอย" (คำนี้ก็เป็นคำไทเดิม)

หลังจากที่ไปค้นมาก็ได้มาว่า คำว่า "ภู" น่าจะมีรากร่วมกันมาแต่เดิมกับคำกวางตุ้งว่า "เฟา" 阜 (fau6) จีนกลางว่า ฟู่ (fu4) (ตามหลักการเพี้ยนเสียงกันไปมาระหว่าง P, Ph, F  ;D )

เคยเจอคำฮินดีว่า "ภูวิทยา" ซึ่งหมายถึง "ธรณีวิทยา" ในภาษาไทย  ;D

==============================

Zhuang-Tai etymology: http://starling.rinet.ru/cgi-bin/query.cgi?root=config&morpho=0&basename=\data\thai\zhtaet



กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 03 เม.ย. 08, 19:34
ส่วนคำว่า "เก็จ" นี้ ราชบัณฑิตยฯ ให้ความหมายไว้ว่า

เก็จ ๑ น. แก้วประดับ. ซึ่งไม่ได้บอกว่ามาจากภาษาอะไร แต่ดูจากรูปอักษรแล้วน่าจะเป็นคำต่างชาติครับ เพราะสะกดด้วย "จ" ซึ่งทำนองเดียวกับคำว่า กระดาษ ที่สะกดด้วย "ษ"

คำนี้น่าสนใจครับ ต้องขอบคุณ คุณกุ้งแห้งเยอรมัน ครับที่กล่าวถึง เพราะผมรู้จักคำสันสกฤตว่า "กาจ" (เทวนาครี: काच ; โรมัน: kāć แปลว่า แก้ว) มาได้พักหนึ่งแล้วในคราวที่ค้นคำว่า "กระจก" แต่ก็ไม่เคยเฉลียวใจว่า "กาจ" กับ "เก็จ" นี้ เป็นคำเดียวกัน

ไปเจอคำว่า kāć-maṇi (กาจมณิ = เก็จมณี), s.m. Crystal; quartz.
ไม่ทราบว่าในภาษาไทยจะมีใช้ "เก็จมณี" หรือเปล่านะครับ  ???

"กระจก" ในภาษามาเลย์เรียกว่า "Kaca" ส่วนทางเขมรเรียก "กญฺจก่" ในภาษาทมิฬ คือ kācam

ไม่ว่าจะเป็นสำเนียงของชาติไหน ต้นคำก็ล้วนมาแต่คำสันสกฤต แต่คำไทย "กระจก" (สายเขมร) กับ "เก็จ" (สายทมิฬ) น่าจะมีที่มาคนละสาย เลยทำให้ปลายทางมีรูปคำแตกต่างกัน แต่ก็ยังคงเห็นร่องรอยอยู่คือ "ก" กับ "จ"

================================

กลับมาที่ภูเก็ตครับ เคยทราบมาเหมือนกันว่าในเอกสารเก่าๆ จะเขียนว่า "ภูเก็จ" (ถ้าจำไม่ผิดนะครับ เพราะอ่านมานานร่วมสิบปีแล้วในศิลปวัฒนธรรม) ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ผมก็สงสัยว่า เหตุที่เขียน ภูเก็จ นี้ เป็นการลากเสียงมาเลย์ "บูกิต" ให้เป็นเสียงไทยว่า "ภูเก็จ" หรือไม่ เพราะสังเกตได้ว่า เมื่อก่อน ภาษาไทยมักลากเอาเสียงต่างชาติแปลงให้เป็นคำไทย หรือ เป็นเสียงง่ายๆ เช่น จะทิ้งพระ หันแตร

ส่วนมูลเหตุว่าทำไมเรียก Bukit (เนินเขา) หรือ ภูเก็จ (เขาแก้ว) นั้นก็สุดจะเดาครับ  ;D แต่ถ้าจะอธิบายว่าทำไม เป็น "เกาะ" แต่เรียก "เนินเขา" ก็อาจบอกได้ว่า ชาวเรือนั้น ตั้งชื่อเรียกสถานที่โดยเอาชัยภูมิเด่นๆ ครับ ผมคิดว่า ชาวเรือมาเลย์ คงเรียกเต็มๆ ว่า "เกาะเนินเขา" คือ ให้รู้ว่า เมื่อมาถึงเกาะที่เห็นเนินเขา หรือ ภูเขาแล้ว ก็ใกล้ถึงจุดหมายแล้ว คงไม่เรียก bukit เฉยๆ ครับ แต่เนื่องด้วยไม่สามารถเข้าถึงเอกสารภาษามาเลย์ได้ (เพราะอ่านไม่ออก  ;D ) ผมก็เลยไม่ทราบเหมือนกันว่า ทางมาเลย์โบราณเรียกสถานที่ต่างๆ แถวๆ บ้านเราว่าอย่างไรบ้าง (เกาะสมุยก็เป็นอีกกรณีหนึ่ง ที่ถูกเสนอชื่อว่า เป็นคำที่เพี้ยนมาจากภาษามาเลย์)

อย่างไรก็ตาม ภูเก็ตเองก็มีอีกชื่อคือ "ถลาง" ซึ่งผมเชื่อว่าชื่อนี้น่าจะเป็นชื่อจริงของเกาะมาแต่เดิม ก่อนที่จะถูกแทนที่โดย "ภูเก็ต"

คำว่าถลางนี้ ผมเข้าใจว่าจะมาจากคำมาเลย์ว่า "Selang" แปลว่า "หยุดพัก" หรือ "ระหว่างช่วงเวลา" (การเดินทาง) นัยว่าเป็นเกาะที่ไว้สำหรับหยุดพักระหว่างการเดินทางไปมาระหว่าง ช่องแคบมะละกา - ถลาง - หมู่เกาะอันดามัน-นิโคบาร์ - อินเดียใต้ - ศรีลังกา


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 03 เม.ย. 08, 21:34
ลองค้นดูในเน็ต บางเว็บบอกว่าชื่อภูเก็จพ้องกับมณิคาม ที่มีบันทึกของชาวทมิฬกล่าวถึงใน พ.ศ.๑๕๖๘

ข้อนี้ยังน่าสงสัย เพราะไม่รู้ว่าบันทึกที่ว่ามีเนื้อหาอย่างไร แล้วมณิคามจะเป็นภูเก็ตจริงๆหรือไม่

ที่แน่ๆ สมัย ร.๑ ยังใช้ชื่อถลางอยู่เลยครับ กลายเป็นภูเก็ตเมื่อไรไม่ทราบได้

ผมลองตรวจสอบกวีนิพนธ์เก่าๆดูคร่าวๆ ไม่พบว่าไม่มีการใช้คำว่า ภู ในสมัยอยุธยา มาจนถึงนิราศนรินทร์สมัย ร.๑ ก็ยังไม่มี

มาเจอเอาในงานของสุนทรภู่และนายมี ขอตีขลุมเอาดื้อๆว่าคำว่า ภู อพยพจากอีสานเข้าสู่กรุงเทพฯในราว ร.๒ ลงมานี้เอง

คำว่า ภู เองก็ยังมีข้อน่าสงสัยอยู่ว่าทางอีสานเอามาจากไหน ผมลองสอบฐานข้อมูลภาษา http://starling.rinet.ru/cgi-bin/main.cgi?root=config&morpho=0 พอจะสรุปมั่วๆแบบนักกระยาสารทได้ว่าภาษาในละแวกนี้เรียกภูเขาด้วยคำคล้ายๆ ดอย หรือ เขา กันหมด (นอกจากตระกูลไทยแล้วยังมี มอญ ขมุ ปะหล่อง ฯลฯ)

ดูเหมือนคำว่า ภู จะเป็นคำที่มีแต่คนไทยอีสานและ/หรือลาวนี่แหละที่ใช้อยู่พวกเดียว (โดยที่มีใช้คำว่า เขา ด้วย)

ที่น่าสงสัยเข้าไปใหญ่คือ ทำไมต้อง ภู ไม่ใช่ พู ทั้งๆที่ ภ เป็นอักษรที่ไม่จำเป็นต้องใช้ในการเขียนภาษาไทย เพราะเสียง ภ กับ พ ก็ไม่ต่างกัน ที่มี ภ ก็เพราะเราเอาไว้รักษารูปคำที่มาจากภาษาแขก

ผมสงสัยว่า ภู จะเป็นคำแขก ไม่ใช่คำไทยครับ

ภู ในภาษาบาลีและสันสกฤตแปลว่า โลก หรือ แผ่นดิน

คำนี้เอามารวมกับคำที่มีความหมายว่าผู้เป็นใหญ่ แปลว่าผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน หมายความว่าพระเจ้าแผ่นดินเช่น ภูวนาถ ภูเบศร์ ภูธร ฯลฯ

โดยเฉพาะคำว่า ภูธร นี่น่าสนใจ พจนานุกรมรอยอินในห้ความหมาย ภูธร ว่า ภูเขา ไว้ด้วย (ได้โปรดอย่าแปล ธร ว่า เขา เด็ดขาด  :P)

ที่ว่าน่าสนใจเพราะว่าภาษาอีสานมีคำที่มาจากภาษาบาลีอยู่มากที่เดียว และหลายคำมีการย่อแบบแปลกๆ อย่างคำว่า ภาชนะ ย่อเหลือแต่ ภา (หรือ พา)
ถ้าคนอีสานจะย่อ ภูธร หรือ ภูอะไรสักอย่างเหลือแค่ ภู ผมก็ไม่แปลกใจล่ะครับ

ถึงตรงนี้ ผมคิดเองเออเองว่า ภู เป็นคำแขกที่ชาวอีสานรับมาใช้ก่อน แล้วเข้ามายังราชสำนักสยามในช่วงรัตนโกสินทร์นี้เอง

แล้วก็เป็นราชสำนักสยามที่ตั้งชื่อภูเก็จขึ้นมา ก่อนจะเปลี่ยนเป็นภูเก็ตในภายหลัง

ส่วนจะหยิบคว้าคำ ภูเก็จ มาจากอวกาศ หรือ แผลงเอาจากบูกิต อันนี้สุดจะเดาครับผม  ;D


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 03 เม.ย. 08, 23:10
ภาษาลาว เรียก "พู" เหมือนกันครับ แต่น่าเสียดายที่ภาษาลาวได้ปฏิวัติการเขียนเป็นแบบง่ายไปแล้ว เลยไม่รู้ว่า แต่เดิมเขียน "พู" หรือ "ภู" เหมือนภาษาไทย

แต่อย่างไรก็ตาม การเขียนคำไทยในสมัยโบราณไม่มีมาตรฐานตายตัวครับ ผมว่า บางครั้งผู้เขียนอาจชอบรูปอักษรแบบแขกๆ ก็ได้ ยิ่งมีีคำว่า "ภู" ที่แปลว่าแผ่นดินด้วย เลยทำให้การเขียน "พู" เป็น "ภู" ได้ไม่ยาก ทำเป็น palinization เสีย  ;D

เรื่อง palinization นี้ เห็นจะมีอยู่สมัยหนึ่ง จำไม่ได้แล้วว่าอ่านที่ไหนครับ เช่น ปากใต้ ก็แปลงเป็น ปักษ์ใต้ จะว่าไม่รู้ก็ไม่ใช่ แต่คงต้องการความเก๋ไก๋ทางภาษามากกว่า  8) รู้สึกจะมีอยู่หลายคำครับ แต่ตอนนี้นึกไม่ออก  ;D

"พู" ก็อาจถูกแปลงเป็น "ภู" ด้วยเหตุนี้ก็ได้มั้งครับ

ส่วนคำว่า "ภูธร" นี้ ในความหมาย "ทางหนังสือพิมพ์" จะหมายถึงต่างจังหวัด ซึ่งผมก็สงสัยอยู่ว่าทำไมถึงเรียก ต่างจังหวัดว่า ภูธร ทั้งๆ ที่ไม่ได้ไปอยู่บนภูเขา  ::)

ภูธร (भूधर) นี้ ถ้าแยกศัพท์ ก็คือ "ภู" (แผ่นดิน) กับ "ธร" (ผู้ถือ, ผู้มี, ผู้รักษา) แปลโดยศัพท์ได้ว่า "ผู้ถือ (พยุง)ไว้ซึ่งแผ่นดิน" ก็เข้าทางตำนานแขกครับที่ว่า ทวีปทั้งสี่ (แผ่นดิน) มีเขาพระสุเมรุเป็นแก่น



กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 03 เม.ย. 08, 23:51
คิดว่าจุดเริ่มต้นของการกลายความหมายของคำว่า ภูธร มาจากการที่ตำรวจแบ่งเรียกตำรวจเป็น นครบาล (ดูแลเมือง) กับ ภูธร (ดูแลท้องที่)

คนไม่เข้าใจก็คิดเอาเองว่าเมื่อภูธรอยู่ต่างจังหวัด ภูธรก็คงแปลว่าบ้านนอก

ความหมายจึงกลายไปด้วยเหตุนี้

ยังดีที่รอยอินยังไม่บรรจุลงพจนานุกรมนะครับ แต่ถ้าจะลงก็ไม่แปลกใจล่ะครับ ใช้กันจนเป็นที่ยอมรับไปแล้ว


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 04 เม.ย. 08, 00:14
พูดถึงบันทึกทมิฬ ที่พูดถึงเมือง มณิคาม ตอนแรกเข้าใจว่า หมายถึงจารึกตันชอร์ (พ.ศ.๑๕๗๓) แต่พอค้นดูชื่อเมืองที่จารึกตันชอร์กล่าวถึงแล้วไม่พบครับ ปีก็คนละปีกัน

อันนี้เจอในเว็บครับ

จาก หลักฐานทางโบราณคดีในภาคใต้ของประเทศไทยที่เกี่ยวกับอาณาจักรศรีวิชัย, ปรีชา นุ่นสุข (2525)
ชื่อเมือง 13 เมืองที่ปรากฏในจารึกตันชอร์ (นอกจากศรีวิชัย แล้วมีเมืองอีกสิบสองเมืองดังนี้)

1. ปันนาย สันนิษฐานว่าได้แก่ เมืองปาไน บนฝั่งตะวันออกของเกาะสุมาตรา ฝั่งตรงข้ามกับเมืองมะละกา
2. มะไลยูร์ สันนิษฐานว่าได้แก่ เมืองจัมพิ กลางเกาะสุมาตรา
3. มายิรุฑิงคัม สันนิษฐานว่าได้แก่ เมืองชิโลทิงในบันทึกของจีน
4. อิลังคาโศคัม สันนิษฐานว่าได้แก่ เมืองลังกาสุกะ หรือปัตตานี
5. มาปปัปปาลัม สันนิษฐานว่าได้แก่ เมืองใกล้กรุงหงสาวดี
6. เมวิลิมบังคัม สันนิษฐานว่าได้แก่ ?
7. วไฬปปันทูร สันนิษฐานว่าได้แก่ เมืองในจัมปา (?)
8. ตาไลยตักโกลัม สันนิษฐานว่าได้แก่ เมืองตักโกละ ทางฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมลายู
9. มาทมาลิงคัม สันนิษฐานว่าได้แก่ เมืองตามพรลิงค์ หรือนครศรีธรรมราช
10. อิลามุริเทศัม สันนิษฐานว่าได้แก่ เมืองลามุริหรือลัมบริ เหนือสุดของเกาะสุมาตรา
11. มาณักกวารัม สันนิษฐานว่าได้แก่ หมู่เกาะนิโคบาร์ (?)
12. กฑารัม สันนิษฐานว่าได้แก่ เมืองเคดาห์ หรือไทรบุรี

=================================================

ส่วนฉบับ wikipedia: http://en.wikipedia.org/wiki/Tamil_and_Sanskrit_inscriptions_in_Malaysia

In the ancient city of Tanjore in Tamil Nadu are inscriptions dating from 1030 A.D. which mentions the victory of Rajendra Chola I over the Southeastern countries. The following are the places of Rajendran conquered:

1. Sri Vijaya (Palembang)
2. Malaiyur (the Malayu of the 7th century, i.e. jami) (referring to the ancient Melayu Kingdom. Known as Jambi today.)
3. Mayuradingan (the Je-lo-ting of the Chinese on the Malay Peninsula)
4. Ilangosagam (Langkasuka)
5. Mappapalam, (Papphaal, placed by the Sinhalese chronicle Mahavamsa on the coast of Pegu in Burma)
6. Mevilimbangan (identified with Karmaranga or Kamalanka on the isthmus of Ligor in Southern Thailand)
7. Valaippanaduru (Pandurang, in Cahampa)
8. Talaittakkolam (Takkola of Ptolemy and the Milindapandha, On the isthmus of Kra)
9. Madalingam (Tambralingga, Chinese Tan-ma-ling, of which the center was at Ligor in Southern Thailand)
10. Ilamuridesam (Lamuri of the Arabs, Lambri of Marco Polo at northern Sumatra)
11. Kadaram (Kedah)

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไปวิกี้ เจอคำว่า  Manigramam : http://en.wikipedia.org/wiki/Manigramam

A manigramam is a large, influential guild of South Indian merchants. Tamil inscriptions record a tank construction by an important person and the tank is placed under the guard of the local Manigramam members.

ก็ไม่ได้บอกข้อมูลอะไรมากกว่านี้ ว่าเกี่ยวอะไรกับภูเก็ต พอดีเห็นคำว่า "tank" ผมก็นึกถึง การขุดสระ พาลนึกไปถึงจารึกทมิฬที่พบที่ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ก็เลยไปดูข้อมูลจากเว็บไซด์ ฐานข้อมูลจารึกของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ( http://www4.sac.or.th/jaruk2008 ) ก็พบว่า ในจารึกนั้นมีชื่อ "มณิคาม" ครับ แต่ว่า พ.ศ. นี้ ไม่สามารถบอกได้ ดังนั้น จึงไม่ทราบว่า "เอกสารทมิฬ" ดังกล่าว เอาตัวเลขมาจากไหน ? หรือ อ้างจากเอกสารใด ?  :(

จารึกเขาพระนารายณ์เมืองตะกั่วป่า:
 สระชื่อศรีอวนินารณัม   ซึ่ง................รวรรมัน
คุณ..............ได้ขุดเอง   ใกล้(เมือง)  นงคูร 
อยู่ในการรักษาของสมาชิกแห่งมณิครามแลของกองทัพ
ระวังหน้ากับชาวไร่ชาวนา.........

คำในจารึกเห็นจะเป็น "มณิครามนฺ" ถอดเป็นคำไทยๆ คือ "มณีครามัน"


อย่างไรก็ตาม ถ้าดูดีๆ ก็เห็นอะไรแปลกๆ ครับ

จารึกตันชอร์ : 11. มาณักกวารัม

จารึกเขาพระนารายณ์เมืองตะกั่วป่า : มณิครามัน

ผมสงสัยว่า อาจเป็นเมืองเดียวกัน ?

======================================================

เรื่อง แก้วๆ มณีๆ ผลึกๆ นี้ น่าแปลกใจอยู่อีกเรื่องคือ "เมืองผลึก" ในวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี ก็ได้รับการตีความไว้ว่าอยู่แถวๆ ฝั่งอันดามัน ซึ่งอาจจะภูเก็ตก็ได้ด้วยเหมือนกันครับ






กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 04 เม.ย. 08, 00:27
ภูธร    น. พระราชา; ภูเขา. (ส.).

ถ้าฝรั่งเพิ่งเรียนภาษาไทย แล้วเปิด รอยอิน คงแปลคำว่า "ตำรวจภูธร" เป็น "mountain police" หรือ "royal police"  ;D

แต่ก็น่าแปลกครับ ที่ราชบัณฑิตยฯ อธิบาย "นครบาล" ไว้ว่าเป็นตำรวจในกรุงเทพฯ แต่ไม่อธิบายว่า ภูธร ก็หมายถึงตำรวจในจังหวัดอื่นๆ

นครบาล น. ผู้มีหน้าที่ในการปกครองนครหลวง (เลิกใช้แล้ว)
         ; ชื่อทบวงการเมืองระดับกระทรวงในสมัยก่อน คือ กระทรวงนครบาล ซึ่งมีหน้าที่ปกครองเขตนครหลวง (เลิกใช้แล้ว)
         ; เรียกตำรวจที่มีหน้าที่ระวัง และระงับเหตุการณ์ ทางอาญาในกรุงเทพมหานครว่า ตำรวจนครบาล.

อันที่จริง น่า่จะเก็บ "ตำรวจภูธร" ไว้ด้วยนะครับ เพราะ "พรรคกลิน" ยังเก็บเลย  ;D

ภูธร แปลว่า ภูเขา ผมกำลังสงสัยว่า คนที่บัญญัติคำว่า "ตำรวจภูธร" ขึ้นมาใช้นั้น แปล แยกศัพท์ ว่า "แผ่นดิน" + "ผู้รักษา, ผู้ถือครอง" หรือเปล่า ? ไม่ได้แปลตามความหมายดั่งเดิมที่แปลว่า "ภูเขา" (หรือ พระราชา) จึงกลายเป็น ความหมายแบบไทยๆ ว่า ผู้รักษาแผ่นดิน หรือ ผู้รักษาท้องถิ่น


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 04 เม.ย. 08, 01:15
เห็นด้วยครับกับที่ว่าภาษาอิสานหรือลาวหลายคำมีที่มาจากภาษาสันสกฤษ  และอีกส่วนก็ได้รับอิทธิพลมาจากขอม  เห็นได้จากจารึกปากแม่น้ำมูล  เป็นศิลาสี่เหลี่ยมเก่าแก่มาก(ตอนนี้อยู่ในพิพิธภัณฑ์อุบล)  ซึ่งจารึกในสมัยประมาณพุทธศตวรรษที่ 12  เป็นภาษาปัลลวะ ภาษาสันสกฤษ  สมัยเจนละ  ซึ่งเหมือนกับจารึกที่ถ้ำหมาไนโขงเจียม
และจารึกที่พบตามวัดต่างๆ  ประมาณพุทธศตวรรษที่ 21  จะเป็นดัวธรรม(อักษรธรรม)  หรือตัวอักษรขอม  เช่นจารึกวัดมหาวนาราม(ป่าใหญ่)

คำว่า  "พา"  แปลว่าสำรับข้าว  หรือถาดที่ใส่ของ  เช่น  พาแลง (สำรับข้าวเย็น)  พาข้าว(สำรับข้าว)  พาขวัญ  สำรับใส่เครื่องสู่ขวัญ  เชื่อว่ามาจากคำว่า ภาชนะ

ส่วนคำว่า พู หรือ ภู  ปรากฏในวรรณกรรมโบราณมากมายแม้แต่วรรณกรรมเก่าแก่ของลาวและอิสาน  ปรากฏในใบลาน  ในหนังสือบั้ง(ไม้ไผ่ซี่เล็กๆร้อยติดกันแล้วสลักอักษรม้วนกลมๆใส่บ้องไม้ไผ่ไว้)  อย่างต่ำๆก็พุทธศตวรรษที่ 15 แล้วล่ะครับ  จึงไม่ทราบว่าเข้ามาเมื่อใดตามที่ท่าน CH สงสัย  แต่ของภาษาเดิมภาคอื่นไม่เคยเห็นใช้คำว่า "ภู" เรียก ภูเขาครับ  และอีกคำที่ใช้คือ ผา  แต่จะเรียกภูเขาที่มีลักษณะเป็นหน้าผามากกว่า เช่น ผาได  ผาด่าง  ผาม่าน  และทางเหนือแถบน่านเชียงแสน ก็มีบ้างครับคำว่า ภู  เช่น ภูคา  ภูขี้เถ้า(ฝั่งลาว)

คำว่า ภูเก็ต  มาจาก ภู+เก็จ   ภูเขา+แก้ว  ผมไม่เคยเห็นด้วยเลยครับ  เพราะนอกจากภูเก็ตแล้ว  ไม่เห็นมีปรากฏคำว่า ภู จากที่อื่นในแถบนั้นเลยครับ

ส่วนคำว่า Selang เซลัง  แปลว่าน้ำ  คนน้ำ  ชาวเล  แผลงมาเป็น  สลาง  ถลาง  อันนี้น่าเชื่อครับ  แล้วจะเป็น  อะยังเซลัง  จังซีลอน  อะไรก็น่าเป็นไปได้หมดครับ  แต่มีอีกคำที่มีคำว่าภู  คือ Pulo แปลว่าเกาะ ในภาษามลายู เช่น Pulo Penang  เกาะปีนัง  อันนี้น่าสนใจ

ส่วนคำว่าภูธร  ที่แปลว่า พระราชา  หรือ ภูเขา  แต่เรานำมาใช้เรียกคนบ้านนอก ต่างจังหวัด  เป็นไอ้หนุ่มภูธร  นักสู้ภูธร  ที่มาผมเห็นด้วย 100 เปอร์เซ็นต์กับท่าน CH ครับ  แล้วใช้จนเป็นที่นิยมจนเข้าใจได้ทั่วกันโดยไม่ต้องไปวิเคราะห์ศัพท์ให้งงไปเปล่าๆ  เหมือนคำว่ากะหรี่  ที่มาจาก เคอรี่ แท้ๆ  เรายังเข้าใจจนเป็นที่นิยมทั่วกันเลยครับว่า แปลว่าหญิงบริการอย่างว่า  ถ้าไปยึดศัพท์ปวดเฮดแน่ๆ  แต่ถ้าอยากรู้ที่มาคงต้องพึ่งท่านพี่ติบอแล้วล่ะครับ  คงชำนาญ...อิอิ     ;)


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 04 เม.ย. 08, 12:22
ไหงผมโดนลากมาชำนาญกะเรื่องนางบังเงาไปแล้วล่ะเนี่ยะ อ้ายกล้วย  :-X
นายติบอบ่ใจ้แมลงที่ชอบเกาะหลังตัวเมียเน่อ..... งุงิ :-\ :-\ :-\


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 04 เม.ย. 08, 15:13
ถลาง  จริงสินะ เมืองเก่าแก่บนเกาะใหญ่ของไทยคือเมืองถลาง ที่ท้าวเทพกระษัตรีย์ ท้าวศรีสุนทร วีรสตรีในใจดิฉันได้ร่วมกันรักษาไว้ จำได้ค่ะว่าตอนเรียนประถม เป็นช่วงที่จินตนาการดิฉันกว้างไกลฝันไปได้เรื่อยๆไม่จำกัด มีการเลือกข้างด้วย ระหว่างวีรสตรีภาคอีสาน กับวีรสตรีภาคใต้ ว่าใครจะสวยกว่า เก่งกว่า เด็กๆผู้ชายเขาคงไม่เป็นกันกระมัง ดิฉันชอบท้าวศรีสุนทรค่ะ
เมื่อได้ไปภูเก็ตครั้งหลังสุด ก็ไม่ได้แค่ผ่านอนุสาวรีย์เท่านั้น คราวนี้ได้ลงไปกลางวงเวียน ไหว้ด้วย และถ่ายรูป เสียงถามมาว่า เอ ใครปั้น คุณรู้ไหม บังเอิญดิฉันคลับคล้ายคลับคลาว่าเป็นอาจารย์ศิลป แต่ไม่แน่ใจว่ารึเป็นอาจารย์เขียน ปั้นหน้าคนไทยได้งามแบบไทยจริงๆ
ถามสาวน้อยในกรุงที่มาจากภูเก็ตว่า คุณเป็นคนภูเก็ตหรือคะ
เธอตอบว่า ไม่ใช่ค่ะ หนูเป็นคนถลาง
อ้อ เขามีแบ่งแยกกันด้วยนะคะ ว่าถลาง กับภูเก็ตไม่เหมือนกัน คนภูเก็ตก็ต้องหมายถึงคนในเมืองที่รถราขวักไขว่ สายไฟระเกะระกะ ที่ไม่เหลือต้นไม้ใหญ่งามๆแล้ว รถราเต็มไปหมด
ส่วนคนถลาง ก็บ้านอยู่ถลาง ต้นไม้ยังงาม น่าอยู่




กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 04 เม.ย. 08, 20:24
...พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้ ท่านผู้หญิงจันเป็นท้าวเทพกระษัตรี และคุณมุกเป็นท้าวศรีสุนทร ที่ได้ประกอบความดี ความชอบในศึกเมืองถลาง ๒๓๒๘ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศึก ๙ ทัพ จนได้รับชัยชนะเมื่อ ๑๓ มีนาคม ๒๓๒๘ อันเป็นวันถลางชนะศึกสืบมาจนวันนี้
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยศ เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จเปิดถนน ที่ได้พระราชทานนามว่า ถนนเทพกระษัตรี เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๔๕๒ เมื่อเสด็จถึง บริเวณค่ายเมืองถลางบ้านเคียน พระองค์ทรงบันทึกไว้ว่า "ก็ต้องนึกชมว่าท้าวเทพกระษัตรีนี้เป็นผู้หญิงเก่งคนหนึ่ง ผู้หญิงที่จะได้มีชื่อเสียงปรากฏอยู่ในตำนานของชาติเรา มีน้อยนัก ... เพราะฉะนั้นเป็นการสมควรแล้วที่จะมีอนุสาวรีย์ไว้ให้คนระลึกถึงและจำได้ ต่อไปชั่วกาลนาน การที่พระราชทานนามถนนสายถลางนั้นตามท้าวเทพกระษัตรีจึงเป็น การควรอย่างยิ่ง"
จากการเสด็จครั้งนี้ ขุนนรภัยพิจารณ์(ไวย ณ ถลาง) ได้เขียนประวัติท้าว เทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร จากคำบอกเล่าของวงศาคณาญาติ ซึ่งคณะกรรมการจัดสร้าง อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร นำมาจัดพิมพ์เผยแพร่ในปี พ.ศ.๒๕๑๐

นายอ้วน สุระกุล เมื่อครั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้เดินทางไปประเทศ อังกฤษ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕ ได้นำสำเนาจดหมายเหตุเมืองถลางกลับมาเผยแพร่ ๖ ฉบับ เป็น จดหมายของท้าวเทพกระษัตรี ๓ ฉบับ
จดหมายเหตุเมืองถลาง ๖ ฉบับ เป็นหลักฐานสำคัญเสริมและสนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงดำเนินการสร้างอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร ในปี พ.ศ.๒๕๐๙
ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทรขนาดเท่าคนครึ่ง นุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อแขนยาว รัดผ้าสไบตะแบงมาน ทรงผมดอกกระทุ่ม ต่างหูรูปดอกไม้ มือขวาถือดาบปลายมน มือซ้ายของท้าวเทพกระษัตรียื่นจับข้อมือขวาท้าวศรีสุนทร ท่านท้าวทั้งสองยืนบนแท่นสูง ๕ เมตร ประดิษฐานอยู่ที่บ้านท่าเรือ ตำบลศรีสุนทร
จากความหลากหลายนามของท้าวเทพกระษัตรี เช่น ท้าวเทพกระษัตรี ท้าว เทพกษัตรี ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวเทพสตรี ทำให้คณะกรรมการผู้รับผิดชอบการจารึกชื่อ เสนอขอความเห็นการใช้ชื่อ กรมศิลปากรได้ยืนยันให้จังหวัดภูเก็ตใช้ชื่อตามหลักฐาน ความเห็นของพระยาอนุมานราชธน นายกราชบัณฑิตยสถาน ว่า ท้าวเทพกระษัตรี การบันทึกข้อความที่แท่นฐานทิศเหนือ ด้านหน้าอนุสาวรีย์ มีดังนี้

ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร
(จัน) (มุก)
ได้กระทำการป้องกันรักษาเมืองถลางไว้เป็นสามารถ
เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ.๒๓๒๘
มิให้ข้าศึกตีหักเอาเมืองได้
เป็นวีรกรรมอันควรแก่ชนชาวเมืองถลาง
ตลอดจนชาวไทยทั่วกันยกย่องสรรเสริญ
จึงสร้างอนุสาวรีย์ให้ไว้เป็นอนุสรณ์
เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๙

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้า สิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จ ฯ เปิด อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๑๐ นับเป็นพระมหากรุณาอนันตคุณแก่ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร อย่างหาที่สุดมิได้
อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร จึงเป็นเสมือนหนึ่งเครื่องเตือนใจให้ อนุชนระลึกถึงคุณความดีของบรรพชน จังหวัดภูเก็ตจึงจัดงานท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร ในวันถลางชนะศึก ที่ ๑๓ มีนาคม ของทุกปี เพื่อวางพวงมาลาและสดุดีวีรชนเมืองถลาง

http://www.kathutin.com

เมื่อกล่าวถึงประวัติศาสตร์เมืองภูเก็ต เขาใช้ภูเก็จ จริงๆค่ะ



กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 05 เม.ย. 08, 00:58
ขออำภัยท่านพี่ครับ  เห็นเงียบๆเลยอยากเห็นท่านพี่ออกมาแสดงวาทะบ้างอ่ะครับ  8)  8)  8)

ภูเก็จ   ถ้าสันนิษฐานจากการเรียกขานของชาวทมิฬว่า  มณีคราม-มณีคาม  แปลว่า บ้านแก้ว  เมืองแก้ว
ภู  คำนี้ก็ไม่ได้แปลว่าภูเขาแน่นอนครับ  น่าจะแปลว่าแผ่นดิน  เพราะแถบโน้น ทางพวกทมิฬ  หรือ พวกฮินดี  ภูจะแปลว่า  แผ่นดินครับ..... :-\


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 07 เม.ย. 08, 06:50
เรื่องชื่อเมืองภูเก็จ-ภูเก็ต ครับ

http://news.sanook.com/education/education_213359.php


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 07 เม.ย. 08, 09:06
ขอบคุณคุณ UP ครับ

ไปอ่านมาแล้วครับ จึงขอแก้ไขเพื่อความรู้ที่ถูกต้องครับ

"ประวัติศาสตร์โลก ภูเก็ตเป็นที่รู้จักของนักเดินเรือที่ใช้เส้นทางระหว่างจีนกับอินเดีย โดยผ่านแหลมมลายู หลักฐานเก่าแก่ที่สุดคือหนังสือภูมิศาสตร์และแผนที่เดินเรือของชาวกรีก คลอดิอุส ปโตเลมี เมื่อประมาณ พ.ศ.700 กล่าวถึงการเดินทางจากแหลมสุวรรณภูมิลงมาจนถึงแหลมมลายู ซึ่งต้องผ่านแหลม จังซีลอน หรือเกาะภูเก็ตนั่นเอง นอกจากนี้ มีหลักฐานการเรียกขานของชาวทมิฬ พ.ศ.1568 ว่า มณิคาม หมายถึงเมืองแก้ว พ้องกับชื่อ ภูเก็จ ที่หมายถึงภูเขาแก้ว"

ผมศึกษาหนังสือเล่มนี้อยู่พอดี และก็ไม่พบว่า ปโตเลมีจะพูดถึง แหลมจังซีลอน เลย ชื่อจังซีลอนนี้ ผมคิดว่าเกิดขึ้นหลัง คริสตศตรรษที่ ๑๖ ครับ เป็นคำที่ฝรั่งรับเอามาจากภาษามาเลย์ เคยอ่านพบว่ามาจาก "Jong Selan" หรือ "Ajong Selan" และท่านอธิบายว่า Jong หรือ Ajong แปลว่า เรือ ส่วน Selan นั้นหมายถึง "สิงหล" (Simhala) แต่โดยส่วนตัวผมแล้ว ยังต้องค้นอีกครับ เพราะเรียกชื่อเกาะว่า "เกาะสำเภาสิงหล" มันก็แปลกอยู่  ::) แต่ถ้า มาจาก Jong Selang (เกาะจอดสำเภา) ก็พอเข้าเค้า ...  :)

แผนที่ของปโตเลมี ไม่ใช่แผนที่เดินเรือครับ แต่เป็น "แผนที่โลก" มีหมดครับ เมืองในแผ่นดิน ไปจนถึงเมืองท่า

ในแผนที่ของปโตเลมี พูดถึงบริเวณที่เชื่อว่าอยู่ใกล้ๆ ภูเก็ตคือ Tacola (หรือ Takola) หลายท่านบอกว่าน่าจะเป็น "ตะกั่วป่า" แต่ถ้าอิงตามหลังฐานทางโบราณคดีแล้ว คือบริเวณคลองท่อมครับ

และบันทึกฉบับนี้ ไม่ได้กล่าวถึงเส้นทางการเดินทางแต่อย่างใด แต่เป็นการระบุตำแหน่งเมืองต่างๆ เพื่อทำแผนที่เท่านั้น ถ้าจะอธิบายเส้นทางก็จะเป็นเรื่องการกำหนดระยะทาง กับจำนวนวันเดินทางมากกว่าที่จะเล่าว่าผ่านเมืองอะไรบ้าง

ส่วนหลักฐานของชาวทมิฬนี้ ผมเข้าใจว่าคือ "จารึกเขาพระนารายณ์เมืองตะกั่วป่า" นี่แหละครับ แต่จารึกไม่ได้สร้างในปีที่บทความอ้างถึง แต่เก่าไปถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ตรงนี้ ผมสงสัยว่า ผู้ทำข้อมูล "ยำ" ข้อมูลระหว่าง "จารึกเขาพระนารายณ์ฯ" กับ "จารึกเมืองตันชอร์" หรือเปล่า ?

ถ้าเป็นจารึกที่พูดถึง "มณิคราม" ที่พบในเมืองไทยก็มีอยู่หลักเดียวครับ คือ "จารึกเขาพระนารายณ์ฯ"

จึงเรียนมาเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องครับ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 07 เม.ย. 08, 12:23
ขอบคุณคุณ Ho ครับ

มีข้อสังเกตเรื่องชื่อเมืองภูเก็ตเพิ่มเติมเล็กน้อย

เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๒ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ยังทรงเขียนชื่อเมืองภูเก็ตในพระราชนิพนธ์ว่า "ภูเก็จ" แปลว่าในรัชกาลที่ ๕ คงใช้ว่า "ภูเก็จ" มาโดยตลอด ครั้นลองค้นดูในทะเบียฬนามสกุลพระราชทาน ลำดับที่ ๒๓๒๗ พบว่ามีนามสกุล "รัตนดิลก ณ ภูเก็ต" Ratanatilaka na Bhuket รองอำมาตย์โท หลวงวรเทพภักดี (เดช)  กรมการพิเศษเมืองภูเก็ต  บิดาชื่อพระภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ (แก้ว)  ปู่ชื่อเจิม ๒๗ มิถุนายน ๒๔๕๘ โปรดเกล้าฯ ให้เติม "ณ ภูเก็ต" และ "na Bhuket"  เมื่อ  ๒๔  มิถุนายน  ๒๔๕๙ แสดงให้เห็นว่า พ.ศ.๒๔๕๙ ทรงใช้ "ภูเก็ต" แล้ว แต่จะเริ่มใช้เมื่อใดผมไม่ทราบแน่ เพราะไม่มีหลักฐานอ้างอิง จำได้ว่าเคยอ่านพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ เป็นบทความสั้นๆ ยาวสักครึ่งหน้า มีพระบรมราชวินิจฉัยไว้ว่าควรใช้ "ภูเก็ต" ซึ่งทรงพระราชดำริว่ามาจากคำว่าบูกิต


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 07 เม.ย. 08, 16:06
ขอบคุณสำหรับความเห็นของทุกท่าน เพิ่งกลับจากภูเก็ต ขอส่งภาพสัญลักษณ์เมืองถลางมาให้ดูกันค่ะ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 07 เม.ย. 08, 16:42
ขอบคุณครับคุณ UP และคุณกุ้งแห้งเยอรมัน  ;D

"พระภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์" น่าจะแปลได้ว่า ผู้ดูแลเหมืองแร่ของภูเก็ต นั่นแสดงว่าเมื่อก่อนนี้ ภูเก็ตโด่งดังมากเรื่องเหมืองแร่

ถ้าคำว่า "ภูเก็จ" มาจาก "Bukit" จริง ก็อาจอธิบายได้ว่าเป็นการลากเสียงแขกมาเลย์เข้าคำไทยที่มีความหมายครับ เช่น คำเปอร์เซียว่า کمر  (ขะมะรฺ) ที่แปลว่า เอว ก็ถูกแปลงเป็น "ขาวม้า" (ผ้าสำหรับคาดเอว) คำนี้ ตอนเด็กๆ ผมสงสัยเหลือเกินว่ามันเกี่ยวอะไรกับม้า  ;D พอๆ กับที่คุณน้องติบอ สงสัยเรื่อง "ดินสอพอง" ว่า "ดินสอ" มัน "พอง" ได้อย่างไร  ;D เพียงแต่ผมไม่ได้ทำการทดลองเท่านั้น  ;D

คำเปอร์เซียว่า کیمخاب (คีมฺขาบฺ) ก็ถูกแปลงเป็น "เข้มขาบ" เป็นต้น

ส่วนแนวคิด "เขาแก้ว" หรือ "แดนแก้ว" ที่มีนัยว่า เป็นดินแดนที่มีรัตนชาติอยู่นั้น ยังมีข้อสงสัยอยู่คือที่ภูเก็ตไม่พบว่าเป็นดินแดนที่เป็นแหล่งเพชรพลอย มีแต่มีชื่อเรื่องเป็นแหล่งแร่ คำว่า "แดนแก้ว" หรือ "เขาแก้ว" ถ้าเป็นคำแขกมักจะผูกเป็น "รัตนภูมิ" หรือ "รัตนคิรี" มากกว่าที่จะผูกคำลูกผสมเป็น "ภูเก็จ" อีกประการหนึ่ง คำว่า "ภู" ที่แปลว่า "ภูเขา" นั้น ไม่ใช่คำที่นิยมใช้ทางภาคใต้ เพราะทางภาคใต้นิยมใช้คำว่า "เขา" และประการสำคัญคือจารึกทมิฬที่มีคำว่า "มณิคราม" ไม่ได้พบที่ภูเก็ต แต่พบที่ตะกั่วป่า

ผมไม่แน่ใจว่าข้อมูลที่คุณ UP ลิงค์มานี้ เค้าเอามาจากไหน คาดว่าน่าจะเอามาจากเอกสารอะไรซักที่ ถ้าใช่ก็อันตรายเรื่องความถูกต้องของข้อมูลมากครับ  :-\ โดยเฉพาะในเรื่องที่เก่ากว่าพุทธศตวรรษที่ ๑๙

อันนี้เป็นข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยครับ
http://thai.tourismthailand.org

ไข่มุกอันดามัน สวรรค์เมืองใต้
หาดทรายสีทอง สองวีรสตรี บารมีหลวงพ่อแช่ม


     คำว่า “ภูเก็ต” นั้นเชื่อว่าเพี้ยนมาจากภาษามลายูคือ “บูกิ๊ต” ซึ่งแปลว่าภูเขา ภูเก็ตเป็นเมืองที่มีมานานตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย โดยตัวเมืองอยู่ที่ถลางซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ เมืองถลางเดิมมีขุนนางไทยคอยดูแลรักษาผลประโยชน์เพราะฝรั่งชาติฮอลันดามารับซื้อสินค้าจำพวกแร่ ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๑ พระเจ้ากรุงอังวะยกกองทัพเข้ามารุกรานหัวเมืองฝ่ายตะวันตกแถบชายทะเลของไทยในปี พ.ศ.๒๓๒๘ โดยแบ่งกองทัพยกไปตีเมืองกระ ระนอง ชุมพร ไชยา ตลอดลงไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช ขณะนั้นกองทัพกรุงเทพฯ ยังติดพันการศึกที่กาญจนบุรียกมาช่วยไม่ทัน พม่าส่งแม่ทัพชื่อยี่หวุ่น ยกทัพเรือมาตีได้ตะกั่วทุ่ง ตะกั่วป่า แล้วเลยไปตั้งค่ายล้อมเมืองถลางไว้ ขณะนั้นพระยาถลางถึงแก่กรรมยังไม่ได้ตั้งเจ้าเมืองใหม่ ภริยาเจ้าเมืองถลางชื่อจัน กับน้องสาวชื่อมุก จึงคิดอ่านกับกรรมการทั้งปวงตั้งค่ายใหญ่ขึ้น ๒ ค่าย ป้องกันรักษาเมืองเป็นสามารถ พม่าล้อมเมืองอยู่เดือนเศษเมื่อหมดเสบียงก็เลิกทัพกลับไป

     ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องยศให้วีรสตรีทั้งสองเป็นท้าวเทพกษัตรีและท้าวศรีสุนทร เป็นที่น่าภาคภูมิใจแก่ชาวเมืองตลอดมา เกาะถลางหรือเมืองถลางได้เปลี่ยนชื่อเป็นเกาะภูเก็ต หรือเมืองภูเก็ตในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

     ภูเก็ต ได้ชื่อว่าเป็นไข่มุกแห่งอันดามัน เมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ในด้านความสวยงามของทิวทัศน์ และหาดทราย น้ำทะเลสีฟ้าใส พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกทางการท่องเที่ยวครบครัน เป็นเกาะใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ ตั้งอยู่ทางชายฝั่งทะเลตะวันตกของประเทศไทยในน่านน้ำทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย มีพื้นที่ประมาณ 543 ตารางกิโลเมตร ความยาวสุดของเกาะภูเก็ตวัดจากทิศเหนือถึงทิศใต้ประมาณ 48.7 กิโลเมตร และส่วนกว้างที่สุดวัดจากทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตกประมาณ 21.3 กิโลเมตร ภูเก็ตแบ่งออกเป็น 3 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอถลาง และอำเภอกะทู้


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Oam ที่ 07 เม.ย. 08, 20:21
ตอน ๒๔๕๓ คราวประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ก็ทรงใช้คำว่า "ภูเก็ต" แล้วครับ

...เกาะภูเก็ตนี้เดิมเรียกว่าเกาะถลาง และบัดนี้ก็ควรจะเรียกเช่นนี้อยู่ เพราะเป็นชื่อเก่ากว่าภูเก็ตเป็นอันมาก ตามคำกุของคุณหลวงอภิบาลว่า เมืองถลางแปลว่าเมืองถาง คือเมืองที่มาถางตั้งขึ้นกลางป่า แต่ผมไม่ขอรับผิดชอบด้วย...

...ส่วนเมืองภูเก็ตนั้น เป็นเมืองซึ่งพึ่งจะมีขึ้นใหม่ๆ ผมกุว่าชื่อน่าจะมาจากคำภาษามลายูว่า "บูกิต" แปลว่าเขา แล้วจึงแปลมาเป็น "พูเก็ต" ต่อมาบางทีจะมีใครมีความรู้ภาษาไทยดีๆ มาคิดเขียนสะกดตัวเสียใหม่ว่า "ภูเก็จ" ให้สำเนียงคงอยู่อย่างเดิม แต่ให้มีคำแปลได้ขึ้น คือผสมคำ "ภู" แปลว่าเขากับ "เก็จ" แปลว่าฝั่งเข้าด้วยกัน...

...ที่จริงผมเห็นด้วยตามเจ้าคุณรัษฎาว่าควรจะใช้ชื่อถลางแทน เพราะเป็นชื่อเก่า ถ้ามณฑลภูเก็ตนี้เรียกชื่อว่ามณฑลถลางก็จะเพราะดี และจะค่อยทำให้รู้สึกเป็นเมืองเก่าขึ้นหน่อย เมืองถลางถึงอย่างไรๆ ก็นับว่ายังได้เคยมีชื่อติดอยู่ในตำนานของชาติเรา ส่วนภูเก็ตนั้นใหม่เอี่ยม ประดุจถ้วยชามที่ยังไม่หมดเขม่าไฟฉะนั้น...


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 07 เม.ย. 08, 20:28
ขับรถตระเวณเมืองไปมา ตกใจไปเจอรูปปั้นมังกรอยู่ที่ในเมือง ข้างที่ทำการททท. เบื้องหลังเป็นเขารัง บริเวณนี้เป็นสวนเฉลิมพระเกียรติ ชมรูปก่อนค่ะ เดี๋ยวจะบอกที่มา


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 07 เม.ย. 08, 20:54
คำจารึกบนหินแกรนิตสีแดงบอกไว้ว่า เมื่อพระยารัษฎาฯ (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เป็นข้าหลวงมณฑลภูเก็ต มีซินแสท่านหนึ่งบอกไว้ว่า เกาะนี้ มองมุมสูงเหมือนมังกรโผล่ขึ้นมาจากมหาสมุทรอินเดีย....


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Oam ที่ 07 เม.ย. 08, 22:39
เอ่อ เข้าไปแก้กระทู้ตัวเองไม่ได้ ลืมบอกที่มาของข้อความว่า ตัดต่อมาจาก จดหมายเหตุ ประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ของ รัชกาลที่ ๖ ครับ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 08 เม.ย. 08, 09:37
มีที่น่าสนใจเพิ่มเติมในทะเบียฬนามสกุลพระราชทาน

ลำดับที่ ๒๓๒๐ นิลคูหา Nilagu^ha^ นายร้อยตำรวจตรีริต  ประจำกองตำรวจภูธรมณฑลภูเก็จ   ทวดชื่อนิล  ปู่ชื่อถ้ำ พระราชทานเมื่อ ๗ มิถุนายน ๒๔๕๘


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 08 เม.ย. 08, 10:01
ทราบที่มาของคำว่าจังซีลอนแล้ว เขาเขียนว่าJungCeylon ดิฉันเลยงง ทั้งที่โลโกมันเป็นรูปJunk
จังซีลอนตอนนี้เป็นศูนย์การค้าใหญ่อยู่ที่หาดป่าตองค่ะ สำหรับคนที่เกิดช้าไม่ทันเห็นป่าตอง ในหาน ในยาง และแหลมพรหมเทพรุ่นสวยไร้ร้านค้า ขอแสดงความเสียใจด้วยค่ะ
ค่าที่ว่า ป่าตองตอนนี้เป็นพัทยาร้อยเปอร์เซนต์ เพียงแต่ยาวกว่ามาก
ส่วนหาดแรกที่ใกล้สนามบินนานาชาติ คือในยาง ก็ยังพอดูได้
เมื่อก่อน ภูเก็ตยังไม่บูม เป็นเกาะที่ห่างไกล ต้องบินด้วยสายการบินภายในอย่างเดียว ค่าเดินทางดูเหมือนจะเที่ยวละ ๔๐๐๐-๗๐๐๐ บาท
จะขึ้นแหลมพรหมเทพที ถนนยังเป็นลูกรัง หอชมวิวยังไม่มี อยากดูวิวเมืองก็มีเขารังที่เดียว ดิฉันขึ้นไปทำงานที่สถานีโทรทัศน์บนเขา แล้วแวะดื่มกาแฟที่นั่นซึ่งตอนนั้น ยังไม่เป็นแฟชั่น
โรงแรมก็มีแค่เพิร์ลกับถาวร ดูเหมือนภูเก็ตเมอร์ลินยังไม่เกิด ภูเก็ตเป็นเมืองสงบเงียบจริงๆ
เดี๋ยวนี้ มีเขาขาด ไม่ได้ไปเสียดายแย่ เพราะเห็นมรดกธรรมชาติได้เต็มตา ๓๖๐ องศา
หาดแต่ละหาดถูกรุกล้ำโดยนายทุนใหญ่ๆที่แข่งกันสะสมที่ดินริมหน้าผาแล้วสร้างบ้านชั้นเลวแบบคนกรุง ไม่ได้กลมกลืนกับป่าเขาลำเนาไพรสักนิด
ขยะทางสายตาค่ะ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 08 เม.ย. 08, 10:42
ถลางนี่ก็เป็นคำเก่านะคะ คุณHotacunus นักภาษาโบราณ ใกล้ๆคำว่าถลุง(แร่)มากๆ  :-X

ในเมืองภูเก็ต ถนนถลางเป็นถนนที่ตึกเก่าๆแนวตึกแถวแบบชิโนโปรตุกีส พอหลงเหลืออยู่ แต่ไม่สวยเท่าสิงคโปร์หรือมะละกาเสียแล้ว เพราะตั้งร้านกินที่ออกมาถึงด้านนอก เทศบาลได้ทำทางเท้าให้เดินยื่นออกมาอีก ส่วนที่เป็นทางเดินในร่มต่อถึงกันก้ไปโบกซีเมนต์ปิดเสียนี่ แสดงให้เห็นถึงการบริหารของเทศบาลแต่เดิม ซึ่งกว่าจะแก้ให้เมืองภูเก็ตน่าเดินเท้า มีเสน่ห์ ก็ดูสายเกินการ

ในซอยบางซอยตกแต่งทาสีใหม่ให้น่าดู แต่น่าเสียดาย คนเดินเท้าต้องเดินไปตามถนนร้อนๆ ผิดคอนเซ็ปท์ของตึก ไม่น่าอภิรมย์เลยค่ะ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pakun2k1d ที่ 10 เม.ย. 08, 22:04
วันนี้ขอเสนอคำว่า "ร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ" ค่ะ

ดิฉันมีน้องปี 3 จากสถาบันการศึกษาหนึ่งมาฝึกงานด้วย  ดิฉันเตรียมตัวจะออกไปข้างนอก  น้อง ๆ จึงถามว่า  พี่จะไปไหนค่ะ  ที่น้อง ๆ ต้องถามเพราะถ้าดิฉันไม่กลับเข้าสำนักงานเขาจะไม่กล้ากลับบ้านกัน  ดิฉันเลยตอบเล่น ๆ ว่า  ไปร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ น้องฝึกงานที่น่ารักของดิฉันก็ออกอาการงง  ดิฉันเลยถามว่า  รู้จักไหม ร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ ก็ส่ายหัวกันดุกดิก  ตอนบ่าย ๆ ดิฉันโทรกลับเข้าไปหาน้องฝึกงานที่น่ารักของดิฉันอีก  มอบหมายให้ค้นข้อมูลเรื่อง African sculture น้องก็ถามว่ามันคืออะไร 

จบด้วยความเป็นห่วงบัณฑิตไทยค่ะ  ภาษาไทยไม่รู้  ภาษาอังกฤษไม่รู้ แล้วรู้อะไรกันหนอ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 10 เม.ย. 08, 22:33
รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี.....
ไม่ฉลาดแต่น่าร๊ากกก....ฮ่า

เจ็ดย่านน้ำพอจะนับถ้วน
แต่ร้อยเอ็ดเมืองนี่ นับไม่ถ้วนครับ
ในคัทธกุมานมีกล่าวถึงเมืองร้อยเอ็ดพระนคร

ก็ไม่ได้บอกชื่อไว้ว่าอะไรบ้าง


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Oam ที่ 11 เม.ย. 08, 08:18
รู้ว่า the star 4 เหลือ 3 คนแล้ว ส่วน AF5 กำลังจะมา

เมืองร้อยเอ็ดนี่ คุณครูเคยบอกว่า ชื่อร้อยเอ็ด เพราะมีประตูเมือง 101 ประตู
มีคนวิเคราะห์ต่อว่า ความจริงมีแค่ สิบเอ็ด 10-1 ตะหาก

"ร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ" น่าจะคู่กันกับ "ร้อยเอ็ดเจ็ดคาบสมุทร"


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 11 เม.ย. 08, 09:12
 :o
คนไทยเจ้าบทเจ้ากลอนจริงๆ น่าเป็นห่วงว่าสิ่งเหล่านี้จะสูญหายไปในเร็ววัน


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Oam ที่ 11 เม.ย. 08, 10:28
เครื่องไม้เครื่องมือบางอย่าง (นอกจากเกริน ตะเฆ่ แล้ว) ถ้าไม่มีการใช้กัน อีกหน่อยก็คงลืม เช่น ตะบัน ตะบันไฟ ตะลุมพุก สามเกลอ (ไม่ใช่พล นิกร กิมหงวน)

ในขณะเดียวกันเครื่องใช้ไฮเทคบางอย่างก็ทำให้เกิดคำใหม่ๆ เช่น เอาไปเวฟ แปลว่าเอาอาหารไปเข้าเครื่องไมโครเวฟ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 11 เม.ย. 08, 12:23
        คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เพิ่งเขียนเรื่อง ร้อยเอ็ด ในนสพ. มติชน เมื่อ ก.พ. ศกนี้

          ร้อยเอ็ด เท่ากับร้อยบวกหนึ่ง หรือร้อยกับหนึ่ง เขียนเลขว่า 101 ในพจนานุกรมมติชนอธิบายว่า
          โดยปริยายหมายความว่ามากตั้งร้อย มีตัวอย่างในกลอนบทละครนอกเรื่องสังข์ทอง ว่า "กษัตริย์ทั้งร้อยเอ็ดหัวเมืองใหญ่"

         คำว่าร้อยเอ็ด ยังมีใช้ในภาษาปากชาวบ้านเป็นคำคล้องจอง เช่น ร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ และ ร้อยเอ็ดเจ็ดหัวเมือง
หมายถึงทั่วทุกหนแห่งหรือมากแห่ง

           ชื่อเมืองร้อยเอ็ด มีในตำนานว่า "เมืองร้อยเอ็ดประตู" หมายความว่าเมืองที่มีประตูมากนับร้อย
แสดงว่ามีบริวารบ้านเมืองอยู่ทิศทางต่างๆ ที่มีประตูเชื่อมโยงนับร้อยหนร้อยแห่ง ตรงกับนามเมืองในอุดมคติ
ศูนย์กลางจักรวาลว่า "ทวารวดี"

          ทวาร เป็นคำบาลี-สันสกฤต แปลว่า ประตู, ช่อง, ทาง เช่น ทวารบถ คือ ประตูทางเข้าออก,
ทวารบาล คือนายประตู คนเฝ้าประตู
            วดี เป็นคำบาลี-สันสกฤต แปลว่า รั้ว (มาจากคำ วติ, วัติ)

          ฉะนั้น ทวารวดี จึงแปลว่าล้อมรอบด้วยประตู ตรงกับความหมายชื่อร้อยเอ็ด
อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ เคยเขียนไว้ว่าทวารวดีมาจากภาษาแขก ถ้าแปลเป็นภาษาลาวจะได้ว่า เมืองร้อยเอ็ดประตู
แล้วยกตัวอย่างพยานคือเมือง หงสาวดี มีประตู 20 ทิศ แต่ละประตูเป็นชื่อเมืองบริวารในมณฑล เช่น ประตูเชียงใหม่ ฯลฯ

http://matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01pra03080251&day=2008-02-08&sectionid=0131


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 12 เม.ย. 08, 03:19
ใครได้ไปที่บึงพลาญชัยกลางเมืองร้อยเอ็ด  จะเห็นซุ้มประตูเขียนว่า "สาเกตุนคร"  ตามที่อุรังคนิทานและหนังสือโบราณกล่าวถึง  ชื่อเดิมของร้อยเอ็ดคือ "สาเกตุ" 1 ใน 4 เมืองใหญ่ในยุคนั้น คือ มรุกนคร-นครพนม,หนองหานหลวง-สกลนคร-อินทรปัฏฐนคร-พนมเปญและสาเกตุ  เมืองสาเกตุมีเมืองขึ้น 11 เมือง(11หรือสิบหนึ่งในภาษาเขียนซึ่งคลาดเคลื่อนมาเป็นหนึ่งศูนย์หนึ่ง)  ทั้ง 11 เมืองยังมีหลักฐานปรากฏอยู่ในปัจจุบัน  ดังนั้นทางเข้าเมืองจึงมี 11 ทาง หรือ 11 ประตูเมือง  ตามที่คุณโอมเคยได้ยินมานั่นแหละครับ

อีกแบบหนึ่งคือเป็นคำกลอนโบราณ "สาเกตุนคร  เมืองสิบเอ็ดผักตู  สิบแปดปองเอี้ยม  ซาวเก้าแม่คันได"  คือวิหารหลวงมี 11 ประตู  18 หน้าต่าง  บันได 29 ขั้น  และชาวร้อยเอ็ดก็เชื่ออย่างนั้น  จนตอนนี้ก็ได้ตั้งมหาวิทยาลัยประจำงหวัดชื่อ "มหาวิทยาลัยสาเกตุนคร" อ่ะครับ........ :o


ผมก็เคยได้ยินคำว่า  "ร้อยเอ็ดเจ็ดคาบสมุทร"  คงทั่วโลกดินแดนอ่ะครับ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 12 เม.ย. 08, 13:36
ง่า..... ถ้านายติบอจำไม่ผิด
เหมืองดีบุกแถบพังงาบางส่วนขุดพบเพชรด้วย (?)


เป็นไปได้มั้ยครับ ว่าจะหมายถึงบริเวณนี้.....




คิดไปไกลเลยวุ๊ย!!!  :-\


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pakun2k1d ที่ 15 เม.ย. 08, 09:17
วันนี้ขอเสนอคำว่า "ลางเนื้อชอบลางยา"

พนักงานขายของแห่งหนึ่งเล่าให้ฟังว่า  วัยรุ่นกลุ่มหนึ่งเข้ามาชมของในร้านแล้วถามพนักงานว่า  แบบไหนดีพี่  พนักงานขายตอบเหล่าวัยรุ่นไปว่า  ของแบบนี้ "ลางเนี้อชอบลางยา"  วัยรุ่นกลุ่มนั้นถามเธอกลับมาว่า  แปลว่าอะไรค่ะ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 15 เม.ย. 08, 11:59
เย่ หัวหน้าห้องกลับมาแล้ว
คิดถึงคุณป้ากุลครับผม


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 15 เม.ย. 08, 23:57
เคยได้ยินเหมือนกันครับว่าเคยเจอเพชรที่ภูเก็ต  พยายามหาในเนตไม่เจอครับ  จึงยืนยันไม่ได้...

สวัสดีด้วยครับท่านหัวหน้าห้องเรียน........อิอิ   ;D   ;D   ;D


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 เม.ย. 08, 15:47
คำว่า "เยียวยา" ค่ะ   เห็นประปรายในข่าวหนังสือพิมพ์นานๆที 
แต่คิดว่าหนุ่มสาวเขาไม่พูดกันอีกแล้ว


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Lion ที่ 26 เม.ย. 08, 22:41
วันนี้ไปนั่งคุยกับน้องๆ ฟังเรื่องนั้นเรื่องนี้เข้า ก็ตอบน้องๆไปว่า มันก้อขนมผสมน้ำยา น้องหัวเราะแล้วถามว่า พี่ว่าอะไรหรือคะ ทำเอาตัวเองงงไปเหมือนกันค่ะ ว่าเขาไม่ใช้คำนี้กันแล้วหรือ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 26 เม.ย. 08, 22:58
เคยได้ยินท่านนายกสมัครพูดว่า  "ขนมพอสมน้ำยา"  ไม่ทราบคำไหนถูกกันแน่ครับ

"สุดจะเยียวยา"  ยังได้ยินอยู่ครับท่านอาจารย์  ผู้ใหญ่เคยพูดถึงเด็กเหลือขอ  ที่ไม่รู้จะบอกจะเตือนอย่างไรแล้วอ่ะครับ  แบบดื้อสุดๆ  สุดที่จะเยียวยา.อิอิ   :-X


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 07 พ.ค. 08, 22:49
แอบคิดถึงกระทู้นี้ขึ้นมาตะหงิดๆ......

เนื่องจากถูกน้องๆหลายคนในอินเตอร์เนตถามคำถามชวนอ้าปากหวอไปหลายหนครับ แหะๆ



น้องชาวสถาปัตย์คนหนึ่งถามหาวัดที่อาจารย์เลคเชอร์ถึงไวจนจดไม่ทัน ว่า
"พี่ครับ วัดกุฎีลาวนี่อยู่ตรงไหนของอยุธยาครับ...."

พอถามว่า "ทำไมถึงคิดว่าชื่อวัดกุฎีลาวล่ะ ? ที่จริงชื่อวัดกุฎีดาวนะ"
เจ้าตัวก็ตอบกลับมาว่า "อ้าวพี่... มันไม่ใช่วัดตั้งชื่อตามชนชาติหรอฮะ
ผมนึกว่าจะเหมือนวัดกุฎีจีนซะอีก....." ???
(กรรมเวร น้องเอ๊ย นอกจากจะบางกอกกับกรุงศรีแล้ว มันยังวัดคริสต์กับวัดพุทธด้วยนะน้องนะ)




แต่ที่อึ้งที่สุด สดๆร้อนๆผ่านไปเมื่อตอนเย็นนี้ครับ
สาวน้อยปี 2 จากบ้านสีเทารั้วเดียวกับผม.... เธอเรียนภาษาต่างประเทศ
มาถามผมว่า "ทำไมงานศพย่าหนูเขาต้องร้องเพลง 'มอญดูลาว' ด้วยล่ะพี่"
"เพราะปู่หนูมีเชื่อมอญ แล้วย่าหนูมีเชื้อลาวหรือเปล่าคะ" :-X

ผมก็ต้องบอกอีกทีล่ะ ว่าเพลงมันชื่อ "มอญดูดาว" ไม่ใช่ "มอญดูลาว" นะ


เธอก็เลยถามต่ออีกว่า "แล้วทำไมต้องร้องเพลง 'ย่าเหล' ด้วยล่ะพี่"
"เขาเป็นแม่รัชกาลที่ 5 ที่รัชกาลที่ 7 สร้างอนุสาวรีย์ไว้ที่หน้าเขาวังไม่ใช่หรอคะ" :-X :-X :-X






โถ่เอ๊ยกรรมเวร.... คำที่น่าจะเข้ามาอยู่ในกระทู้นี้อีกคำนึงคงเป็นคำว่า "ย่าเหล" เสียแล้วล่ะครับ เหอะๆ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 07 พ.ค. 08, 22:57
เพลงยาดเล่ปะ เพลงสำเนียงมอญ

แต่ไม่ไหวจริงๆนะ มอญดูลาวเนี่ย คิดได้ไง มีไทยคั่นอยู่แท้ๆ ปู่กะย่าหนูก็ยังอุตส่าห์มาเจอกันได้เนาะ รักข้ามแผ่นดิน อิอิ

เคยดูโขนของลาวล่ะ เขาเรียกพะลักพะลาม เอาเพลงมอญดูลาว เอ๊ย ดาว ไปร้อง คิดว่าต้นเหตุของเพลงน่าจะเกิดจากนาฏกรรมชิ้นนี้นั่นเอง


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 07 พ.ค. 08, 23:00
บางทีคำว่า "ดาว" กับคำว่า "ลาว" เวลาออกเสียงเร็วๆ
ก็อาจจะทำให้คนฟังสับสนได้มั้งครับ เหอๆ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Oam ที่ 08 พ.ค. 08, 09:51
ขอฮาอุจจาระแตก อุจจาระแตน กับ "มอญดูลาว"

วันก่อนรำพึงรำพันว่า ทำอะไรเหมือนเล่นปาหี่
เห็นหน้าบรรดาคนฟังเด็กๆ แล้วก็รู้เลยว่า เขาไม่รู้จักคำนี้

"ไม่เคยได้ยินคำว่าปาหี่หรือ"
"ไม่เคยอ่ะลุง แต่ฟังดูหวาดเสียวพิลึก"

(ไอ้เด็กเวรตะไล)


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 09 พ.ค. 08, 02:30
"ปาหี่" นี้ผมได้ยินบ่อย แต่จะได้ยินเมื่อใช้คู่กับ "เล่น" เป็น "เล่นปาหี่"

ต้องขอขอบคุณ คุณ Oam ครับ ที่พูดถึงคำนี้ ผมยังไม่เคยค้นว่าเพี้ยนมาจากไหน ก็เลยได้ค้นเสียที  ;D

สำนวน "เล่นปาหี่" นี้ เดี๋ยวนี้ก็ยังได้ยินอยู่บ้าง โดยเฉพาะข่าวเชิงวิจารณ์เกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาล  ;D

ความหมายคงประมาณ เล่นละคร, ทำอะไรไม่จริงจัง ซึ่งเป็นการกระทำอย่างจงใจ คือตั้งใจกระทำเช่นนั้น เพื่อหลอกคนดู (เทียบ การเล่นกล เป็นการลวงคนดูให้หลงเชื่อว่าจริง เนื่องจากหาคิดหาข้อพิสูจน์ไม่ได้)

แต่ใช้เดี่ยวๆ ว่า "ปาหี่" คงจะไม่มีแล้วมั้งครับ นึกไม่ออก  ;D

ความหมายของ "ปาหี่" ในพจนานุกรม คือ

ปาหี่ น. การแสดงกล หรือกายกรรมของนักแสดงเร่ร่อนตามที่ต่าง ๆ. (จ.).

ไปเจอคำในเว็บ gaginang (คำแต้จิ๋ว) ที่คุณ CrazyHOrse เคยแนะนำ ก็พบคำว่า jo3 ba1 hi3   做把戲 ผมไม่ทราบว่า ออกเสียงอย่างไร ถ้าคุณ CrazyHOrse หรือท่านใดทราบก็แนะนำด้วยนะครับ

jo3 ba1 hi3 แปลว่า to do magic, to put on a magic show แปลง่ายๆ ก็คือ เล่นกล

คำว่า "ปาหี่" ในภาษาไทยจึงน่าจะมาจากสำเนียงแต้จิ๋วที่ว่า ba1 hi3 (把戲 หรือ 把戏) นี่เองครับ

ผมลองไปหาสำเนียงกวางตุ้ง ได้ยินเค้าออกว่า "ป๋า-เฮย" (Baa4 Hei3) ก็เป็นการยืนยันอีกทางหนึ่ง ปาหี่ นี้เพี้ยนมาจากสำเนียงแต้จิ๋วเป็นแน่



กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 09 พ.ค. 08, 02:37
เรื่อง เสียงเพี้ยนระหว่าง ด - ล นี้ พบได้อยู่ครับคุณน้องติบอ แต่ที่น่าแปลกคือ การเพี้ยนแบบนี้ มักพบได้จากคนจีนเวลาพูดภาษาไทย เช่น เด็ำกๆ ก็จะเพี้ยนเป็น เหล็กๆ

เด็กไทยแท้หูไม่น่าเพี้ยนขนาดนั้น  :-\

เสียง "ล" นี้ คงเป็นเสียงที่ออกง่ายที่สุดมั้งครับ เพราะ "น" ก็เพี้ยนเป็น "ล" ได้ เช่นกรณีของ "นคร" เป็น "ลิกอร์" (Ligor) แต่ก็อีกนั่นแหละ หูฝรั่ง  :-X


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 09 พ.ค. 08, 09:00
做把戲 อ่านว่า จอปาหี่ (คำ จอ นี่มีเสียงวรรณยุกต์ที่ไม่มีในภาษาไทยครับ)

โปรดฟังอีกครั้ง ราชบัณฑิตโปรดทบทวนการงดกำกับวรรณยุกต์สำหรับคำที่มาจากภาษาต่างประเทศ...

 :-X


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 09 พ.ค. 08, 09:17
เพื่อนดิฉันสมัยทำเอเจนซี่ด้วยกัน เลือดจีนแท้ค่ะ คำบางคำต้องใช้ในอาชีพเวลาขายงาน ก็จะเผลอตัว ขนาดสำเนียงจีนน้อยมาก ก็มีสองคำแน่ๆที่พูดไม่ได้
เพื่อนสาวๆล้อเสมอว่าไหนพูดเดลินิวส์ซิ..
"เลลิลิว"
ละมุนละไมซิ
"ดามุนดาไม"
สองคำนี้ ไม่เคยชัดค่ะ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 09 พ.ค. 08, 17:31
 ;D

ขอบคุณครับคุณ CrazyHOrse

เรื่องไม่ให้ใช้วรรณยุกต์นี้ คงเฉพาะแต่ภาษาที่ไม่มีวรรณยุกต์มั้งครับ เช่น ญี่ปุ่น ฮินดี อังกฤษ ฝรั่งเศส ฯลฯ

จีน-เวียดนาม นี้มีวรรณยุกต์คงจำเป็นอยู่ ถ้าไม่มีหละยุ่งแน่ อิอิ  ;D


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 09 พ.ค. 08, 19:02
"พุดทะเกต" (ฟังคล้ายๆ พุทธเกศ  ;D)

จำไม่ได้แน่ชัดว่าสะกดอย่างไร ชื่อนี้มีปรากฏใน ตำนานนางนพมาศ หมายถึง โปรตุเกส นั่นเอง

ไปเจอมาว่าภาษาลาวเรียก "ปาก-ตุย-กาน"  :-\ (test Lao Unicode ครับ: ປາກຕຸຍການ )

ปากตุยกาน นี้ เข้าใจว่าถอดมาจากคำฝรั่งเศสตรงๆ เลยครับ คือ Portugal (ป็อกฺร-ติอู-กัล)

และอีกหลายชื่อก็รับมาจากภาษาฝรั่งเศส ในขณะที่เรารับมาจากภาษาอังกฤษ เช่น

เบลเยียม (Belgium)  vs แบนฺซิกฺ (Belgique : เบ้ล-ฌิก-เกอะ)
ออสเตรีย (Austria)  vs โอตฺริดฺ (Autriche : โอ-ตฺริช-เฌอะ)
สเปน (Spain)        vs แอสะปายฺ (Espagne : เอ็ส-ปาณ-เหญอะ)
สวีเดน (Sweden)   vs ซุยแอ็ดฺ (Suède : ซิอู-แอ็ด-เดอะ)
นอร์เวย์ (Norway)  vs นอกฺแว (Norvège : น็อกฺร-แวช-เฌอะ)
กรีซ (Greece)      vs เกฺรกฺ (Grèce : แกฺร็ก-เกอะ)
ตุรกี (Turkey)       vs ต๊วกฺกี (Turquie : ต๊วกฺร-กี)

ปล. "ร" ในภาษาลาว ออกเสียง "ล"

ที่มา: http://www.geonames.de


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 09 พ.ค. 08, 21:23
เหลือขอ
เป็นศัพท์ช้างครับ

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระปิ่นเกล้า ว่าท่านโปรดรำม้าล่อช้าง
วันหนึ่งท่านได้ม้าที่ไม่เคยขา(นี่ก็อีกศัพท์หนึ่ง)
สั่งอย่างมันจะทำอีกอย่าง

เคราะห์ร้ายไปเกิดเรื่องตอนที่ช้างมันคึกจะเหยียบม้าทรง
ไอ้ม้าก็ยืนนิ่งรอคำสั่ง...
ควาญสับขอให้ช้างหยุดจนมิดขอ ให้ช้างค้างอยู่อย่างนั้น
กว่าจะแก้ให้ม้าโจนออกมาได้ ผมจำไม่ได้แล้วว่าต้องกระแทกตีนที่แผงม้าหรืออะไรสักอย่าง
แต่สุดท้ายก็รอด

หมอควาญได้บำเน็จหลายชั่งอยู่


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 พ.ค. 08, 09:08
โอ...ศัพท์ช้าง    ขอบคุณมากค่ะคุณpipat     ตัวเองเวลาอ่านหนังสือเพลินบางทีไม่ทันคิดว่าศัพท์มาจากไหน




เรื่องพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า    ท่านโปรดทรงม้าเข้าล่อช้างน้ำมัน
ม้าตัวที่ทรงวันนั้นขึ้นระวางเป็นเจ้าพระยา สายฟ้าฟาด เป็นม้าทรงตัวโปรด  ไม่ใช่ม้าทรงที่ไม่คุ้น
แต่เป็นม้าเต้นน้อย

ช้างนั้นชื่อพลายแก้วขึ้นระวางเป็นพลายไฟประลัยกัลป์

หมอที่ขี่พลายประลัยกัลป์นั้นชื่อหมออาจค่ะ์

พอช้างไล่ทรงกระทบพระบาทจะให้ม้าวิ่ง  ม้าออกวิ่งน้อย
หมออาจฟันที่สำคัญเหนี่ยวพลายแก้วไว้อยู่มือ

อีกนัยหนึ่่งว่าปิดตาช้างแล้วเบนไปทางอื่นทัน


จำมาจากงานของคุณณัฐวุฒิ  สุทธิสงครามค่ะ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 10 พ.ค. 08, 11:51
ผมทันแต่วลีว่า "เด็กเหลือขอ" เพิ่งมารู้ที่มาที่ไปวันนี้เอง  ;D

เหลือขอ คือ เกินกำลังที่ขอสับ (ช้าง) จะทำให้หยุดได้ คือ ดื้อ  8)

ปัจจุบันกลายเป็นวิเศษณ์ที่แปลว่า "ไม่เอาไหน" "ไร้ค่า" "ไม่มีคุณค่า" อันนี้ตามความรู้สึกที่เคยเจอศัพท์นี้มานะครับ แต่ถ้าตามราชบัณฑิตยสถานท่านว่า

เหลือขอ ว. ดื้อมาก, เอาไว้ไม่อยู่.

ถ้า เอานิยามของราชบัณฑิตยฯ ไปเรียกลูกเพื่อนที่เป็นเด็กดื้อว่า "เด็กเหลือขอ" คงเป็นเรื่อง   :-\


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 10 พ.ค. 08, 12:56
"เฮียไปเที่ยวไหนมา"
"ไปวักกุลีลาว"
ก็เป็นปกติครับสำหรับการออกเสียง ด-เด็กลำบาก เหมือน "มอญลูลาว"

ผมมาสนใจคำว่า  "กุลี"  คุณพ่อว่าหมายถึงกรรมกรที่แบกข้าวสาร  ทำงานแบกของต่างๆ  ไม่ทราบว่าเป็นคำที่มาจากภาษาอื่นหรือเปล่าครับ ..... :D

เคยได้ยินบ้างเหมือนกันในคำพูดที่ว่า "วันนี้โดนใช้งานหนักหยั่งกะกุลี"


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 10 พ.ค. 08, 13:15
ต้องโยนข้อหาห้องสมุดเดินได้ให้คุณ wandee สักกระทง  :D
(เอ โบราณเขาเอาคำฟ้องใส่กระทงหรืองัยน่ะ)

รายละเอียดครบถ้วนดีจัง ขอบคุณครับ

ผมไม่ได้อ่านคุณณัฐวุฒิ อ่านแต่สาส์นสมเด็จ (จำเล่มไม่ได้ คงต้องค้นคำว่า"พระปิ่นเกล้า"ในสมุดค้นคำ เล่ม 27)
สมเด็จนริศทรงเล่าว่า ผู้อยู่ในเหตุการณ์เล่าให้ทรงได้ยินอีกที บอกว่าม้านั้น เป็นของดี
ทำนองว่า พระปิ่นเกล้าท่านทรงผิดพลาดเอง คือแม้แต่อยู่ต่อหน้าช้างตกมัน ก็ไม่ตื่น ยืนเหยาะอยู่กับที่ รอคำสั่ง
แต่พระปิ่นเกล้าทรงใช้คำสั่งไม่ตรงปัญหา
ใครสักคน ตะโกนบอกวิธีออกไป....ผมก็ไม่ได้จำไว้ครบถ้วนเสียด้วย

ใครมีสาส์นสมเด็จ ช่วยสอบให้ด้วยเถอะครับ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 10 พ.ค. 08, 14:25
ตอบคุณ Bana ครับ

เรื่องคำว่า "กุลี" นี้ เคยผ่านตามานานแล้วครับ จำได้ว่าเป็นคำเพี้ยนที่ฝรั่งใช้เรียกกรรมกรแบกหาม ที่เป็นชาวอินเดีย หรือจีน

ก็เลยได้กลับไปค้นพจนานุกรมคำยืมในภาษาอังกฤษที่มาจากคำอินเดีย ของ ศ.เฮนรี่ ยูล ได้ความว่า

COOLY , s. A hired labourer, or burden-carrier; and, in modern days especially, a labourer induced to emigrate from India, or from China, to labour in the plantations of Mauritius, Réunion, or the West Indies, sometimes under circumstances, especially in French colonies, which have brought the cooly's condition very near to slavery. In Upper India the term has frequently a specific application to the lower class of labourer who carries earth, bricks, &c., as distinguished from the skilled workman, and even from the digger.

The original of the word appears to have been a nomen gentile, the name (Kolī) of a race or caste in Western India, who have long performed such offices as have been mentioned, and whose savagery, filth, and general degradation attracted much attention in former times, [see Hamilton, Descr. of Hindostan (1820), i. 609]. The application of the word would thus be analogous to that which has rendered the name of a Slav, captured and made a bondservant, the word for such a bondservant in many European tongues. According to Dr. H. V. Carter the Kolīs proper are a true hill-people, whose especial locality lies in the Western Ghāts, and in the northern extension of that range, between 18° and 24° N. lat. They exist in large numbers in Guzerat, and in the Konkan, and in the adjoining districts of the Deccan, but not beyond these limits (see Ind.Antiquary, ii. 154). [But they are possibly kinsfolk of the Kols, an important Dravidian race in Bengal and the N.W.P. (see Risley, T. and C. of Bengal, ii. 101; Crooke, T. C. of N.W.P. iii. 294).] In the Rās Mālā [ed. 1878, p. 78 seqq.] the Koolies are spoken of as a tribe who lived long near the Indus, but who were removed to the country of the Null (the Nal, a brackish lake some 40 m. S.W. of Ahmedabad) by the goddess Hinglāj.

Though this explanation of the general use of the term Cooly is the most probable, the matter is perplexed by other facts which it is difficult to trace to the same origin. Thus in S. India there is a Tamil and Can. word kūli in common use, signifying 'hire' or 'wages,' which Wilson indeed regards as the true origin of Cooly. [Oppert (Orig. Inhab. of Bharatavarsa, p. 131) adopts the same view, and disputing the connection of Cooly with Koli or Kol, regards the word as equivalent to 'hired servant' and originating in the English Factories on the E. coast.] Also in both Oriental and Osmanli Turkish kol is a word for a slave, whilst in the latter also kūleh means 'a male slave, a bondsman' (Redhouse). Khol is in Tibetan also a word for a servant or slave (Note from A. Schiefner; see also Jäschke's Tibetan Dict., 1881, p. 59). But with this the Indian term seems to have no connection. The familiar use of Cooly has extended to the Straits Settlements, Java, and China, as well as to all tropical and sub-tropical colonies, whether English or foreign.

ที่มา : http://dsal.uchicago.edu/dictionaries/hobsonjobson/
YULE H., Sir. Hobson-Jobson: A glossary of colloquial Anglo-Indian words and phrases, and of kindred terms, etymological, historical, geographical and discursive. New ed. edited by William Crooke, B.A. London: J. Murray, 1903.


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 พ.ค. 08, 17:47
ลาก สาส์นสมเด็จ ปกแข็ง ๙ เล่ม พิมพ์ ๒๕๓๔   ลงจากชั้นหนังสือด้วยความยากลำบาก

ตรวจสอบสารบัญและคำค้นเรื่องอย่างเพลิดเพลิน 
เผลอไปอ่าน โหมดกสาปน์ และ ครูแจ้งอยู่พักหนึ่ง
หาเรื่อง พระปิ่นเกล้าไม่พบ
ตรวจสองรอบ  ยังไม่เจอ

จึงเริ่มอ่านใหม่ตั้งแต่เล่มหนึ่งค่ะ  เจอค่ะในหน้า ๑๘๕

จึงคัดลอกมาเต็มๆ  ดังต่อไปนี้



หมายเหตุใบแก้ตำนานวังหน้า

หน้า ๖๙   ตรงพระปิ่นเกล้าทรงม้าล่อช้าง  ซึ่งมีคำว่า  "พอช้างไล่ ทรงแซ่จะให้ม้าวิ่ง" นี้   ผิดกับที่พวกกรมม้าเขาเล่ากัน

เสียงพวกกรมม้า  ดูเปนติโทษพระปิ่นเกล้า   อยู่ข้า้งจะยกย่องม้า
เขาว่าม้าตัวนั้นแคล่วคล่องดีทั้งน้อยทั้งใหญ่   แลสนิทอยู่ในบังคับทุกอย่าง
คำนี้คงจิง 

พระปิ่นเกล้าจึงโปรดแลไว้พระไทยถึงทรงล่อช้าง


ที่เกิดเหตุนั้นเขาว่าพอช้างไล่กระชั้นเข้ามา  พระปิ่นเกล้าตกพระไทย  กระทบแผงเตือนจะให้วิ่ง
ม้าสำคัญว่าจะให้เต้นน้อย(ด้วยหัดกันมาอย่างนั้น  ถ้าจะให้เต้นน้อยแล้วดึงบังเหียนกระทบแผงข้าง)  ม้าจึงเต้นเสีย

ถ้าได้ทรงลงแซ่แล้วคงไม่มีเหตุอไร

ในข้อนี้แก้คำ  "ทรงแซ่"  เปน  "ทรงกระทบแผงข้างเตือน" เสียก็เปนที่เรียบร้อย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

นริศ

(รักษาตัวสะกดตามต้นฉบับ)





กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 10 พ.ค. 08, 22:36
นอกจากเป็นห้องสมุดเดินได้ ยังเป็นบรรณารักษ์สายฟ้า
โอ้โฮ....เล่นอ่านทีละเล่มเลย นับถือๆๆๆ
(แปลว่านับถือมาก...555)

ข้อความที่ทรงเล่า ดูเหมือนจะเป็นการตรวจปรูฟให้สมเด็จฯดำรง
ตามไปอ่านประชุมพงศาวดารภาค 13 ตำนานวังน่า ก็ไม่เจอข้อความไกล้เคียงกันเลย
เห็นจะต้องรบกวนบรรณารักษ์สายฟ้าตาเหยี่ยว หรือใครที่สะดวกและใจดี
ช่วยสอบอีกสักรอบเถอะครับ ว่าทรงนำลงในเอกสารชื่อไร


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 10 พ.ค. 08, 23:00
สาส์นสมเด็จ  วันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๑  หน้า ๑๘๑


ทูล  สมเด็จกรมพระนริศรานุวัติวงศ์

ตำนาน วังน่าตอนกรุงเก่าสำเร็จตอน ๑    ได้ส่งมาถวายพร้อมกับจดหมายฉบับนี้
ขอได้โปรดทรงช่วยตรวจตราด้วย

ดำรงราชานุภาพ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 10 พ.ค. 08, 23:42
คงจะต้องมีอะไรผิดพลาด
ผมสอบจากซีดีรอม ประชุมพงศาวดาร ที่กรมศิลปากรทำ
เขาใช้ต้นฉบับจากที่พิมพ์แจกในงานศพ นางสุ่น ชาติโอสถ ปีมะแม พ.ศ.๒๔๖๒
ตรวจสามรอบแล้ว ไม่เจอ

จะไปไล่หาจากฉบับอื่นที่เป็นเล่มสมุดดูนะครับ

เอ....หรือว่า กรมฯ พิมพ์หล่นหาย


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 10 พ.ค. 08, 23:53
ขอบพระคุณท่าน Hota ครับ

คำว่า " ห่วย "  ใช้กับของไม่ดี  ใช้ไม่ได้  แต่ร้านประเภทหนึ่งเราเรียกกันว่า "ร้านโชว์ห่วย" กับไม่ได้หมายความในทางไม่ดีครับ

ไม่ทราบว่า "ห่วย"  มีที่มาอย่างไรครับ  ???  ???  ???


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 11 พ.ค. 08, 01:05
เรื่อง ห่วย โชห่วย นี้ ได้ยินมาว่าเป็นคำจีนแต้จิ๋วครับ

เนื่องจาก ผมไม่มีความรู้ภาษาจีน ก็ได้แต่จดๆ จำๆ ผู้รู้เค้าว่ากันมานะครับ ยังไงถ้าคุณ CrazyHOrse ผ่านมา ก็ช่วยแนะนำด้วยอีกแรงนะครับ

"ห่วย" เข้าใจว่ามาจาก 壞 (坏) หมายถึง ไม่ดี, ร้าย, เสีย, แย่

ผมไม่แน่ใจว่า คำนี้ เป็นคำเดียวกับ "หวย" หรือเปล่า เพราะใน "ประชุมพระนิพนธ์  สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ" อธิบายว่า "ฮวยหวย"   คือ การเล่นพนันชนิดหนึ่ง

"หวย" ที่เราพูดๆ กันในปัจจุบันก็คงย่อมาจากคำว่า "ฮวยหวย" นี่แหละครับ โดยหารู้ไม่ว่า "ฮวยหวย" (好壞 หรือ 好坏 = hao3 huai4) แปลว่า good and bad; advantageous and disadvantageous นั่นคือ "หวย" แปลว่า "เสีย (เงิน)" นั่นเอง  ;D

==================

ส่วน "โชห่วย" (ไม่ต้องมี ว์ ครับ เพราะว่าไม่ได้มาจาก show  ;D) ก็มาจาก 粗貨 (粗货) (กวางตุ้ง: cou1 fo3, โชว-โฟ) แปลว่า ของเบ็ดเตล็ด หรือ ของใช้พื้นๆ ทั่วๆ ไป ซึ่งก็คือ "ของชำ" นั่นแหละครับ

โช () แปลว่า rough, thick, course; rude
ห่วย () แปลว่า goods, commodities, products

ส่วน แต้จิ๋วจะออกเสียงคำเหล่านี้ยังไง คงต้องขอความช่วยเหลือจากคุณ CrazyHOrse แล้วหล่ะครับ  ;D

แต่ที่ผมสงสัยคือ "ของชำ" นี่แหละครับ คือ "ชำ" นี่มันภาษาอะไร ? หรือจะมาจาก โชว () แต่ครั้งโบราณกาล :-\


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 11 พ.ค. 08, 01:37
ตามรอยคำว่า ชำ ต่อ
คำแรก แย่หน่อย ชำเรา...(มีชำเขาหรือไม่หนอ)
คำที่สอง ดีหน่อย เพาะชำ

คำไกล้คียงก็มี ช้ำ และฉ่ำ

อ้อ ฉำอีกคำ

จะพึ่งครูฑัต ท่านก็ไม่อยู่บ้าน
หวังว่าสักกะเดี๋ยว บรรณารักษ์สายฟ้า ท่านได้รับทราบความเดือดร้อน จะเปิดหาให้
 :D ;D


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 11 พ.ค. 08, 06:06
"ชำเรา" นี้ มาจากภาษาเขมรครับ แปลว่า ลึก
ในภาษาไทยปัจจุบัน หมายถึง การสอดใส่ (ทำให้ลึก) ส่วนภาษาลาวใช้ "ล่วงเกิน"  :o

ส่วน "เพาะชำ" ผมเข้าใจว่าเป็นคำไทเดิม ยังไม่เคยค้นครับ แต่ที่คิดไว้เช่นนั้น เพราะว่า ดูศัพท์แล้วเป็นคำซ้อนความหมาย ทำนองเดียวกับคำว่า เพาะปลูก

คำที่ขึ้นด้วย "ชำ" มาจากคำเขมรก็เยอะครับ พวก "ฉ" ก็ด้วย

ส่วน ช้ำ - ฉ่ำ นี้ มาจากคำเขมรทั้งสองคำ แปลว่า ชุ่ม รอยช้ำ เป็นจ้ำ ก็คือรอยชุ่มฉ่ำของเลือดเสีย  ;D

"จำ" นี้ ไม่ทราบครับ แต่เดาว่า น่าจะเป็นคำไทเดิม ก็เลยไปสอบกับคำลาว ได้มาว่า "จำ" ทางลาวก็ใช้

=========================

แนะนำพจนานุกรม ลาว-ฝรั่งเศส, ฝรั่งเศส-ลาว ครับ แต่ว่า ต้องมี font ลาว และรู้ศัพท์ฝรั่งเศสที่จะเทียบกับคำลาวนะครับ  ;D
http://www.laosoftware.com/laolex/traduction/interrogation-fr.php



กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 11 พ.ค. 08, 10:25
หวย ผมไม่รู้เหมือนกันว่ามาจากไหนครับ ที่คุณ Hotacunus ว่ามาจาก 好壞 ก็น่าสนใจ เพราะแต้จิ๋วออกเสียงว่า หอหวย ครับ

ส่วนคำว่า ห่วย นี่ยังข้องใจครับ ไม่รู้จาก หวย กลายเป็น ห่วย ได้ไงนะครับ

ส่วนโชวห่วย อันนี้ไม่มีปัญหา เป็นคำแต้จิ๋วครับ ออกเสียงโชวห่วยนี่แหละครับ

ชำเรา นี่เข้าใจว่าคำเดียวกับ เชรา หรือ เทรา ในชื่อฉะเชิงเทราครับ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 11 พ.ค. 08, 19:58
ขอบคุณครับ คุณ CrazyHOrse

ชื่อจังหวัดฉะเชิงเทรา นี้ ผมคิดว่าสำเนียงไทยที่ว่า "ชำ-เรา" น่าจะตรงกับ "เชิง-เทรา" ครับ ทราบมาว่า ชื่อจังหวัดนี้แปลว่า "คลองลึก"

=================

 :-[ อ่านที่คุณพิพัฒน์ถามผิดไป จาก "ฉำ" เป็น "จำ" อิอิ  :P

คือ FireFox ของผมนี้ เวลาอยู่หน้าตอบ font มันจะเล็กมาก ตัว ฉ จะดูคล้ายตัว จ  :-\

"ฉำ" นี้ ถ้าใช้เดี่ยวๆ เห็นจะไม่มี แต่ก็คุ้นๆ ว่าตอนเด็กเคยได้ยินวลีว่า "...ให้ฉำไปเลย" หมายถึง กระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้หนำใจ

ข้อนี้ ผมไม่แน่ใจว่า "ฉำ" จะเพี้ยนมาจาก "ฉ่ำ" หรือไม่ (คือ ทำจนเกิดความชุ่มฉ่ำในหัวใจ  ;D) และก็ไม่แน่ใจอีกว่า "หนำ" ก็เพี้ยนมาจาก "ฉ่ำ" ด้วยหรือไม่  ::) มีวลีที่ยังได้ยินบ่อยๆ ว่า "อิ่มหนำสำราญ"

คำว่า "หนำใจ" เดี๋ยวนี้ก็ไม่ค่อยได้ยินแล้วเหมือนกันครับ คำที่ให้ความหมายทำนองเดียวกัน แต่ดูออกจากรุนแรงหน่อยคือ "สะใจ" "สาแก่ใจ" ซึ่งพิจารณาแล้วคิดว่า "สะใจ" คงเพี้ยนมาจาก "สาแก่ใจ"

สา ก็น่าจะแปลว่า พอ, เหมาะสม เพราะ มีศัพท์ซ้อนความหมายว่า "สาสม"

น่าแปลกที่ราชบัณฑิตยสถานจะหลุด "สา" ในความหมายนี้ไป คงเป็นเพราะไม่นิยมใช้เดี่ยวๆ แต่มักใช้คู่กับ "สม" เป็น "สาสม"

สาสม    [สา–สม] ว. เหมาะ, สมควร, เช่น ต้องลงโทษให้สาสมแก่ความผิด.

=========================

ส่วนศัพท์ที่ว่าด้วย "ฉำ" เท่าที่ค้นได้มีอยู่ ๓ คำครับ

1) ฉำฉา ๑    น. ชื่อเรียกไม้เนื้ออ่อน โดยมากเป็นพวกไม้สนที่ใช้ทําหีบบรรจุของมา จากต่างประเทศ.
          ๒  (ถิ่น-พายัพ) น. ต้นก้ามปู. (ดู ก้ามปู).

2) ฉำเฉง น. มูลฝิ่นครั้งที่ ๓. (จ. ซำเฉง).

3) ฉำแฉะ ว. เฉอะแฉะ; อืดอาดล่าช้า.


ฉำฉา คำนี้เดาว่ามาจากภาษาจีนครับ ยังไม่เคยค้น จะเก็บไว้เป็นการบ้าน  8)

ฉำเฉง ราชบัณฑิตยสถาน บอกว่ามาจากคำจีน แต่ไม่ได้ระบุไว้ว่ามาจากตัวใด

ฉำแฉะ ฉำ ในที่นี้ก็คือ "ฉ่ำ" นั่นเองครับ เพราะให้ความหมายในทำนองเดียวกันหมด ฉ่ำ ช้ำ ชุม ชื้น เฉอะ แฉะ แถมเป็นศัพท์กลุ่ม ฉ-ช อีกต่างหาก

คำว่า "ฉำแฉะ" นี้ ผมไม่เคยไ้ด้ยินเลยครับ ปัจจุบันคงไม่นิยมแล้ว จะได้ยินแต่ เฉอะแฉะ เปียกเฉอะแฉะ ถ้าในความหมาย อืดอาดล่าช้า ก็จะได้ยินว่า "เฉื่อยแฉะ" มากกว่า หรือแม้แต่ "อืดอาดล่าช้า" เอง ก็ไม่ค่อยได้ยิน แต่จะได้ยิน "อืดอาดยืดยาด" มากกว่า



กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 11 พ.ค. 08, 23:09
นึกไ้ด้เรื่อง
(ทำตัวใหญ่ เอาใจคนอักขระเล็กหน่อย ฮิฮิ)

ทราบมาว่า เดิมออกเสียงยาว
เช่น ฉามมม.... แทนที่จะเป็น ฉำ
เป็นเช่นนั้นหรือไม่ครับ ลุงโฮ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 12 พ.ค. 08, 00:06
เรื่อง "ฉ" ออกเสียงยาวนี้ ไม่เคยได้ยินครับ

ฉาม เป็น ฉำ
ฉาน เป็น ฉัน ?

ผมว่า ออกสำเนียงอาบังนะครับ อิอิ  ;D อีนีฉานว่ามันแปล้กๆ  ;D

แต่ถ้าเป็นคำๆ ก็เป็นไปได้มั้งครับ กรณี ฉ นี่ผมไม่ทราบ แต่พอมีตัวอย่างอยู่

เดิมเสียงสั้น ปัจจุบันเสียงยาว
เข้า ปัจจุบันเป็น ข้าว (คำนี้ ภาษาลาวยังเขียน เข้า ในจารึกสุโขทัยก็เขียน เข้า)
น้ำ ปัจจุบันออกเสียง น้าม
ไม้ ปัจจุบันออกเสียง ม้าย
ใต้ ปัจจุบันออกเสียง ต้าย




กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 12 พ.ค. 08, 00:24
เรื่อง "ฉ" ออกเสียงยาวนี้ ไม่เคยได้ยินครับ

ฉาม เป็น ฉำ
ฉาน เป็น ฉัน ?

ผมว่า ออกสำเนียงอาบังนะครับ อิอิ  ;D อีนีฉานว่ามันแปล้กๆ  ;D



ฉาน ในบทกลอนเก่าๆมีค่ะ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 12 พ.ค. 08, 07:35
ผมลองไปหาในพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า

ฉาน ๒    (ถิ่น-ปักษ์ใต้) ส. ฉัน, เป็นสรรพนามบุรุษที่ ๑.

ส่วน "ฉัน" ที่แปลว่ากิน (คำสำหรับภิกษุสามเณร) ทางเขมรใช้ "ฉาน"

น่าสนใจครับคุณกุ้งแห้งเยอรมัน ที่มีคำว่า "ฉาน" ใช้อยู่เหมือนกันในบทกลอนเก่าๆ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 12 พ.ค. 08, 09:23
บางคำผมก็พอทราบเหตุอยู่
ราชบัณฑิตท่านเอง เป็นคนทำเสียงสั้นยาว ตามตำราที่ท่านคิดว่ามี

คำว่าเข้า และข้าว
คำนี้ จิตร ภูมิศักดิ์เคยบ่นไว้นานแล้วว่า ไม่ได้เรื่อง
ภาษาไต ท่านใช้เสียงสั้นกันมานานนม แปลว่าปี ได้ด้วย
มีหลักแหล่งให้หาอยู่ในสำนวนที่เก่าถึงในกฏหมายตราสามดวงว่า
"เด็กเจ็ดเข้า เฒ่าเจ็ดสิบ"(เชื่อไม่ได้)

อยู่มาวันหนึ่ง หลังปี 2475 ขุนชั่งตวงวัด วิจิตรมาตรา
ท่านได้เป็นราชบัณฑิตอัตโนมัติเพราะท่านชนะประกวดแต่งหนังสือ จากเรื่องหลักไทย
นึกยังงัยไม่ทราบ คุยกับพระยาอนุมานราชธนถึงคำนี้
บอกว่า น่าจะแยกเป็นสองคำ คือ "เข้า" ที่แปลว่าอาหาร กับ "เข้า" ที่ตรงข้ามกับออก
และน่าจะออกเสียงต่างกัน

พระยาอนุมานเห็นชอบ ก็จึงเลยมีคำว่า "ข้าวววววววว"
เกิดขึ้นในภาษาไทย

ส่วนการที่ "เปน" กลายเป็น "เป็น"
อันนี้ท่านเจ้าคุณคิดเองครับ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 12 พ.ค. 08, 11:52
ผมเคยอ่านเจอคำว่า "อีฉาน" ในบทกลอนเก่าๆครับ แต่ยังนึกไม่ออกว่าเรื่องไหน แต่น่าจะเป็นยุครัตนโกสินทร์นี่แหละครับ ใช้แทนตัวกวีที่เป็น "ชาย"

แต่ "ฉาน" เฉยๆในความหมายนี้ยังนึกไม่ออกว่าเคยเจอครับ

เรื่อง เข้า -> ข้าว, เปน->เป็น นี่ผมยังคิดว่าผู้บัญญัติคำเขียนใหม่กำหนดตามการออกเสียงที่เปลี่ยนไปครับ จะว่าคนกรุงออกเสียง เป็น, ข้าว ตามรูปคำเขียนก็แปลกไปหน่อย เชื่อว่าสมัยท่านขุนฯสองคำนี้น่าจะออกเสียงแบบนี้ ไม่ตรงกับคำเขียนเดิมอยู่แล้ว

คำลักษณะนี้ นอกจากที่คุณ Hotacunus ยกมาคือ น้ำ ไม้ ใต้ ยังมีคำที่ภาษาถิ่นออกเสียงกลายไป อย่างคำว่า ถ้ำ คนใต้เขาออกเสียงว่า ถ้าม ครับ

น่าคิดเหมือนกันว่า เราควรคงรูปไว้ หรือจะเปลี่ยนตามความนิยมดีนะครับ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 12 พ.ค. 08, 12:07
คุณยายดิฉัน เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ เรียกหลานกินข้าว ท่านไม่เคยพูด กินข้าวนะคะ ท่านเรียกเรามากินเข้า.. จนดิฉันงงว่า เอ๋.. แล้วที่เราเรียกว่าข้าวนี่ มาด้วยเหตุอันใดนะ ในเมื่อคุณยายเป็นคนภาคกลาง พูดไทยเปรี๊ยะ ชัดแจ๋ว..คำควบกล้ำไม่มีเพี้ยน ความเป็นความ ไม่ใช่ควำ หรือฟาม..
จนเมื่อได้อ่านศิลาจารึก ก็ถึงบางอ้อ
แม้กระทั่งตำบลที่ดิฉันเกิด ท่านก็ไม่เคยเรียกว่า บางกอบัว ท่านเรียก บางกะบัว..บางกะบัว
คนสมัยหลังๆนี่เอะอะอะไรก็จะสรรหาคำที่แปลออกกันไปหมด ไม่รู้ที่มาที่ไป จนอีกหน่อย บางกะเจ้าที่แปลไม่ออกยุคเรานี่ ก็อาจจะกลายเป็นบางกับเจ้าหรืออะไรก็สุดคาดเดา



กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 12 พ.ค. 08, 12:18

อ้างถึง
ชื่อจังหวัดฉะเชิงเทรา นี้ ผมคิดว่าสำเนียงไทยที่ว่า "ชำ-เรา" น่าจะตรงกับ "เชิง-เทรา" ครับ ทราบมาว่า ชื่อจังหวัดนี้แปลว่า "คลองลึก"

      คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เคยเขียนลงนสพ. มติชน เมื่อไม่นานมานี้ แสดงความเห็นดังนี้ ครับ

ฉะเชิงเทรา มาจากภาษาเขมร 2 คำ คือ ฉทึง แปลว่า แม่น้ำ, ลำน้ำ ฯลฯ ออกเสียงเพี้ยนเป็นฉะเชิง
                                      ส่วน เทรา มีผู้อธิบาย แปลว่า ลึก
       


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 12 พ.ค. 08, 13:50
ใครสักคนเคยเล่าเรื่องพระเจ้าอยู่หัวกับภาษาไทย
ทำนองว่า มีชาวบ้านนอก บอกว่า พระเจ้าอยู่หัวตรัสภาษาไทยเพี้ยน
ทรงเห็นด้วย และโปรดให้สนใจภาษาถิ่น
แต่ดูเหมือนไม่มีนักภาษาคนใดจะสนใจ

ในทางทฤษฎีแล้ว ภาษาทางการน่าจะเพี้ยนมากกว่าภาษาท้องถิ่น
เพราะมีอำนาจปกครองรองรับ
คนเมืองหลวงพูดอย่างไร ก็จะกลายเป็นแบบฉบับ
เมื่อแถมด้วยการที่เป็นคนออกกฏ เรื่องก็ไปกันใหญ่

ดร.ประเสริฐเคยยกตัวอย่างว่า ภาคใต้ของจีน และแถบรอยต่อพม่า ลาว ไทย
แค่ข้ามหุบเขา สำเนียงก็เปลี่ยน
แต่ที่สหรัฐอเมริกา นั่งรถข้ามทวีป ใช้สำเนียงและภาษาเกือบจะเหมือนกัน
แสดงว่าแหล่งกำเนิดภาษา จะมีความอุดมสมบูรณ์ทางสำเนียงมากกว่าประเทศเกิดใหม่

คล้ายกันก็คือ คนเหนือ คนอีสาน แม้แต่คนาวหรือไปทางอาหม
อ่านจารึกพ่อขุนรามเข้าใจ
แต่คนจบตรี จบโททางภาคกลาง อ่านไม่เข้าใจ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 12 พ.ค. 08, 14:42
ขอบคุณคุณ SILA มากครับ ที่หาคำแปลของ ฉะเชิงเทรา มาให้ ก็น่าจะเป็นเช่นนั้นครับ ชำเรา ตรงกับ เทรา พึ่งนึกได้เหมือนกันว่า สทิงพระ ก็เป็นคำในทำนองเดียวกัน คือ สทิง - ฉะเชิง แปลว่า คลอง

พอดีไปเจอคำว่า "ฉำฉา" ในภาษาเขมรก็เีรียก "ฉำฉา" เหมือนกัน


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 12 พ.ค. 08, 17:26
อ้างถึง
ผมเคยอ่านเจอคำว่า "อีฉาน" ในบทกลอนเก่าๆครับ แต่ยังนึกไม่ออกว่าเรื่องไหน แต่น่าจะเป็นยุครัตนโกสินทร์นี่แหละครับ
ใช้แทนตัวกวีที่เป็น "ชาย"

      เคยอ่านบทความเกี่ยวกับคำ ดิฉัน คิดว่ามีประโยชน์สำหรับผู้สนใจ ครับ

สรรพนามบุรุษที่ ๑ ‘ดิฉัน’ หรือ ‘ดีฉัน’   โดย  จุลลดา ภักดีภูมินทร์

             - ละครย้อนยุคหลายเรื่อง ผู้ชายเรียกตัวเองว่า ‘ดิฉัน’ หรือ ‘ดีฉัน’ ทำให้สงสัย เพราะปัจจุบันเคยได้ยินแต่ผู้หญิงพูด -

            สรรพนามบุรุษที่ ๑ ‘ดิฉัน’ หรือ ‘ดีฉัน’ (ในวรรณคดีบางทีก็ลากเสียงเป็น  ‘ดิฉาน’ นั้น) เคยทราบจากท่านผู้ใหญ่
ซึ่งนับเป็นปราชญ์ทางภาษาว่า

               แรกเริ่มทีเดียวเป็นสรรพนามของคนทั่วไปใช้พูดกับพระสงฆ์ ผู้เป็นที่นับถืออย่างสูง มาจากคำว่า ‘ดิรัจฉาน’

              คือยกย่องพระสงฆ์ว่าเป็นผู้ประเสริฐกว่าสัตว์ทั้งปวง (มนุษย์ก็นับว่าเป็นสัตว์เหมือนกัน แต่เป็นสัตว์ประเสริฐกว่าสัตว์ทั้งหลาย)
ขณะเดียวกันผู้พูดก็ถ่อมตัวว่า ตนนั้นหากเปรียบกับพระสงฆ์ ก็ยังเป็นเพียงดิรัจฉาน จึงเรียกตัวเองว่า ‘ดิรัจฉาน’
             ต่อมากร่อนไป เหลือแต่พยางค์ต้นกับท้ายกลายเป็น ‘ดิฉัน’

             เดิมใช้คำนี้ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง แต่ต่อมาใช้กันแต่ในหมู่พวกผู้ชาย ส่วนผู้หญิงนั้นในวรรณคดี และจดหมายเหตุ เห็นใช้ว่า ‘ฉัน’ บ้าง
‘อีฉัน’ บ้าง ไม่ทราบว่าเริ่มใช้กันมาตั้งแต่เมื่อใด

             คำว่า ‘อีฉัน’ นี้ หากสันนิษฐานแบบลากเข้าศัพท์ เห็นจะมาจากคำว่า อี + ฉัน กระมัง เพราะในสมัยก่อนผู้หญิงทั่วไปมักเรียกกันว่า
อีนั่น อีนี่ เวลาพูดกับมูลนาย จะใช้ว่า ‘ฉัน’ ก็ดูไม่เป็นการนับถือยกย่อง จึงเลยเรียกตัวเองว่า ‘อี’ เสียก่อน จึงตามด้วย ‘ฉัน’

            นี่เป็นการสันนิษฐานโดยไม่จริงจังนัก ด้วยเหตุผลที่ออกจะข้างๆ คูๆ อยู่

            เมื่อผู้เล่ายังเด็ก ผู้ใหญ่ขนาดย่า ป้า อา เรียกตัวเองว่า ‘อีฉัน’ หรือ ‘อิฉัน’ กันทั้งนั้น ไม่เห็นเคยได้ยินเรียก ‘ดิฉัน’
จนกระทั่งเริ่มเป็นสาวในสมัยประชาธิปไตย จึงได้ยินผู้หญิงเรียกตัวเองว่า ‘ดิฉัน’ บางทีก็ ‘อะฮั้น’ บางทีพูดเร็วๆเป็น ‘เดี๊ยน’ บ้าง
‘ดั๊น’ บ้าง ก็มี
   


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 12 พ.ค. 08, 17:30
          ส่วน ‘ดิฉัน’ ของผู้ชาย จากการพูดกับพระสงฆ์ ต่อมาเลยกลายเป็นสรรพนามบุรุษที่ ๑ ใช้สำหรับผู้มีอาวุโสน้อยพูดกับผู้มีอาวุโสมากกว่า
แม้บ่าวพูดกับนาย บางทีก็ใช้ว่า ‘ดิฉัน’

            เช่นในวรรณคดี ‘ขุนช้างขุนแผน’ ตอนขุนช้างพาบริวารบ่าวไพร่ไปแอบดูนางพิมอาบน้ำที่ท่าน้ำกับพวกบ่าวไพร่ อ้ายโห้ง บอกนายว่า
ติดใจบ่าวของนางพิมคนหนึ่งอยู่

     “อ้ายโห้งฟังนายสบายจิต
ดีฉันคิดไว้แต่แรกลงมาถึง
ความรักไม่ชั่วจนตัวตึง
ค่าตัวชั่งหนึ่งอีคนนี้”

           เมื่อทองประศรีนำพลายงามไปหาขุนแผนที่ในคุก ขุนแผนสั่งสอนพลายงามว่าจะพาไปฝากพระหมื่นศรีให้ช่วยนำถวายตัว

      “พลายงามน้อยสร้อยเศร้ารับเจ้าคะ
ดิฉันจะพากเพียรเรียนให้ได้”

            และเมื่อพลายงามรับปากพระพิจิตรนางบุษบา พ่อแม่ของนางศรีมาลาว่าจะไม่นอกใจ นั้นก็ว่า

       “ครานั้นจึงโฉมเจ้าพลายงาม
คิดแล้วกล่าวความตามประสงค์
ถ้าหากท่านผู้ใหญ่ได้ตกลง
ที่ตรงดีฉันนั้นอย่าแคลง”

           นี่เป็นเรื่องในวรรณคดี แต่วรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนนั้น เป็นเรื่องอันแสดงถึงชีวิตและสังคมชาวบ้านตลอดจนการพูดจา
ของชาวบ้านในยุคปลายอยุธยา และต้นรัตนโกสินทร์ เรื่องราวในยุคนั้นที่นำมาแต่งเป็นนิยายอิงพงศาวดารหลายเรื่องมักอาศัยความรู้
อันได้มาจากวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนนี่เอง


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 12 พ.ค. 08, 17:35
ทีนี้ที่ท่านใช้สรรพนาม ‘ดิฉัน’ โดยปรากฏเป็นหลักฐานอยู่นั้น คือ

            เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๖ เวลานั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาเป็นสมุหนายก (ที่จักรี) เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ว่าที่สมุหพระกลาโหม
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงมีพระบรมราชโองการให้ท่านทั้งสองยกทัพไปตีเขมรและญวน เจ้าพระยาบดินทรเดชา เป็นแม่ทัพบก
เจ้าพระยาพระคลังเป็นแม่ทัพเรือ
            (เวลานั้นนักองจันทร์เจ้าแผ่นดินเขมรเข้าข้างญวน ส่วนน้องชายคือนักองอิ่ม นักองด้วง เข้าข้างไทย)

           แม่ทัพทั้งสองท่าน ต่างคนต่างยกไปรบกับญวน เขมร จนกระทั่งยกมาพบกันที่เมืองโจฎก (หรือโชฎก) ซึ่งเจ้าพระยาพระคลัง
ตั้งทัพอยู่ ปรึกษากันว่าจะยกไปทางเรือด้วยกัน

             “เจ้าพระยาพระคลังเห็นชอบด้วย จึงเรียนเจ้าพระยาบดินทรเดชาว่า ครัวญวนจับไว้ได้มาก แต่ชายฉกรรจ์ถึง ๘๐ คนเศษ
การข้างหน้ายังมีต่อไปอีกมากอยู่ จะจำไว้ที่เมืองโจฎกก็ไม่ไว้ใจ จะส่งเข้าไปกรุงเรือใหญ่ก็ไม่มี มีแต่เรือรบจะทำประการใดดี
             
              เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงว่า เจ้าคุณกลัวบาปอยู่ก็ไว้ธุระดิฉัน จึงเรียกพระสุรินทรามาตย์มาสั่งว่า
อ้ายญวนผู้ชายฉกรรจ์มีอยู่เท่าไร ให้แจกเหล้าไปสำเร็จโทษเสียให้หมด แต่ครอบครัวของมันนั้นให้กวาดส่งลงไปเมืองบันทายมาสให้สิ้น”

            เจ้าพระยาบดินทรฯ และเจ้าพระยาพระคลังนั้นว่าที่จริง ตำแหน่ง และเกียรติยศของท่านเสมอกัน เจ้าพระยาบดินทรฯ อายุสูงกว่า
เจ้าพระยาพระคลัง ๑๑ ปี ด้วยซ้ำ  ‘ดิฉัน’ ในที่นี้จึงเป็นการพูดอย่างคนเสมอกันค่อนข้างถ่อมตัวนิดๆ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 12 พ.ค. 08, 17:42
           สรรพนาม ‘ดิฉัน’ ยังเป็นสรรพนามที่เจ้านายผู้ชายทรงใช้เรียกองค์เอง กับคนสามัญมีอาวุโสเป็นที่นับถือ

            เช่นเมื่อครั้ง รัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม (หลังสงคราม) ได้จัดการให้อัญเชิญพระศพสมเด็จเจ้าฟ้าฯ
กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งสิ้นพระชนม์ ณ เมืองบันดุง กลับสู่พระนครเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๑
            พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงศ์บริพัตร (ต่อมาทรงกรมเป็นกรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต) ได้ทรงมีลายพระหัตถ์
ถึงจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดังนี้

“เรียน พณฯ ท่าน จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี

              ในเมื่อการอัญเชิญพระศพทูลกระหม่อมกลับมาจากชวานั้น ได้สำเร็จลงแล้วด้วยดี ในนามของบรรดาทายาทในราชตระกูลบริพัตร
ดิฉันขอแสดงความขอบคุณอย่างยิ่งมายัง พณฯท่าน และคณะรัฐมนตรี ที่ได้ดำริและสั่งให้ดำเนินกิจการนั้นด้วยไมตรีจิต
และกุศลเจตนา พระเกียรติยศซึ่งพระศพพ่อดิฉันได้รับอย่างสูงสมบูรณ์ทั้งภายในภายนอกประเทศนั้นเล่า ก็ย่อมเป็นที่ปลื้มใจ
และจับใจของวงศ์ญาติของดีฉัน และในข้อนี้ รัฐบาลย่อมมีส่วนใหญ่ที่ได้แสดงความจงใจและอำนวยผลเช่นกัน
จึงขอขอบใจในกุศลนั้นมาในที่นี้ด้วย

            อนึ่งในฐานที่ พณฯท่าน เป็นผู้ใหญ่ในราชการขอ พณฯท่านได้กรุณาแจ้งต่อบรรดาผู้ที่อยู่ในบังคับบัญชาทั้งฝ่ายทหาร
และพลเรือน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนอันแท้จริงในการอัญเชิญพระศพนั้น ให้ทราบว่า ดีฉันและเหล่าญาติวงศ์ขอขอบใจและพอใจเขา
เป็นอันมากที่ได้อุตสาหะช่วยปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็งและรอบคอบ

            ในส่วน พณฯท่านเองนั้น ดีฉันย่อมตระหนักและฝังใจในความกรุณาของ พณฯท่านในเรื่องนี้ จนยากที่จะบรรยาย
ความรู้สึกในใจได้เหมาะสมปรารถนา ขออำนาจแห่งปีติ ซึ่งย่อมบังเกิดแก่ดิฉันและเหล่าทายาท ในเมื่อได้เห็นต้นสกุลของตน
คืนสู่กรุงนั้น จะยังผลให้พณฯท่านประสบลาภยศสุขสวัสดิ์และสรรเสริญเทอญ

                                                                                                            ขอพณฯท่านได้รับความเคารพอย่างสูง

                                                                                                                                ดีฉัน
                                                                                                                     (ลงพระนาม) จุมภฏพงษ”

            เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๗๕ ‘ทูลกระหม่อมชาย’ จอมพล สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์
กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงเป็นเสนาบดีกลาโหมและมหาดไทย ท่านจึงถูก ‘เนรเทศ’ ให้เสด็จออกนอกประเทศ ทั้งยังโดนผู้ก่อการ
สำคัญเวลานั้นขอแกมบังคับให้ทรงยกวังบางขุนพรหม อันเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ (พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงซื้อที่ดิน
จากราษฎรแถบนั้น พระราชทานให้) ให้แก่รัฐบาล

            หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เจ้านายทุกพระองค์ทรงได้รับวังคืน เว้นแต่ สมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต “สมเด็จวังบางขุนพรหม”
พระองค์เดียวที่พระทายาทไม่ได้รับคืน โดยอ้างว่าทรง ‘เซ็น’ ประทานให้แก่รัฐบาลแล้ว และไม่ได้เสด็จกลับ หรือไม่ได้ทรงทวงถาม
มาตลอดระยะเวลา ๑๒ ปี ที่ประทับอยู่ ณ เมืองบันดุง จนสิ้นพระชนม์ จึงไม่อาจคืนให้ได้

หมายเหตุ การที่ท่านไม่เสด็จกลับ และไม่ทรงข้องแวะกับรัฐบาลการเมืองอีกเลยตั้งแต่เสด็จออกนอกประเทศไปนั้น ก็เพราะท่านถือ ‘สัจจะ’
ที่ได้ออกพระโอษฐ์เอาไว้ว่า “จะไม่กลับมาเหยียบแผ่นดินไทย” คือ กรุงเทพฯ รัตนโกสินทร์ ที่บรรพบุรุษของท่านทรงสร้างสถาปนาขึ้นมา
และในฐานะที่ท่านเป็นเจ้าจอมพลเป็นเสนาบดี แต่รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ (ในเวลานั้น) ไว้ไม่ได้ และท่านก็ทรงรักษา ‘สัจจะ’
จนตลอดพระชนมชีพ

จบบทความ ครับ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 12 พ.ค. 08, 17:57
ขอเสริมเรื่อง ดีฉัน อีกเรื่องครับ
พระจอมเกล้าทรงเรียกพระองค์เองว่าดิฉันกับคณะสงฆ์เหมือนกัน
ในพระราชหัตถเลขาทรงลาคณะสงฆ์

ผมไม่มีหนังสือนี้อยู่ในมือ จะพยายามหามาลงต่อไป
แต่จะเป็นเพราะผู้แปล แปลจากบาลีเองหรืออย่างไร เห็นจะต้องไปสอบต่อด้วย


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 12 พ.ค. 08, 23:25
ดร.ประเสริฐเคยยกตัวอย่างว่า ภาคใต้ของจีน และแถบรอยต่อพม่า ลาว ไทย
แค่ข้ามหุบเขา สำเนียงก็เปลี่ยน
แต่ที่สหรัฐอเมริกา นั่งรถข้ามทวีป ใช้สำเนียงและภาษาเกือบจะเหมือนกัน
แสดงว่าแหล่งกำเนิดภาษา จะมีความอุดมสมบูรณ์ทางสำเนียงมากกว่าประเทศเกิดใหม่

คล้ายกันก็คือ คนเหนือ คนอีสาน แม้แต่คนาวหรือไปทางอาหม
อ่านจารึกพ่อขุนรามเข้าใจ
แต่คนจบตรี จบโททางภาคกลาง อ่านไม่เข้าใจ

พื้นที่ที่มีความหลากหลายของภาษาตระกูลไท-กะไดมากที่สุดคือในมณฑลกว่างซี (กวางสี) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ต่อเนื่องมาถึงทางเหนือของเวียดนาม หากยึดถือตามทฤษฎีนี้ มีโอกาสสูงว่าต้นกำเนิดภาษาตระกูลไทนี้อยู่แถวจีน-เวียดนาม

ส่วนที่คนภาคกลางอ่านจารึกพ่อขุนรามแล้วติดๆขัดๆ ปัญหาคือมีศัพท์ที่ไม่รู้จักเยอะครับ ในขณะที่ไทกลุ่มอื่นอีกหลายกลุ่มยังรู้จักคำเหล่านี้ แต่ไทยภาคกลางรับเอาคำเขมรกับคำแขกเข้ามาใช้เยอะมาก แล้วไม่ได้เอามาเป็นเครื่องเคียง แต่ยกมาแทนสำรับเดิมเลย เลยกลายเป็นว่าไทยภาคกลางทำคำศัพท์ภาษาไทหล่นหายไปเสียมาก มากเสียจนอ่านจารึกพ่อขุนรามไม่ค่อยจะรู้เรื่อง

ย้อนกลับไปอ่านหนังสือเก่า จะเห็นได้ว่าราชสำนักอยุธยาตอนต้นใช้คำเขมรมากกว่าราชาศัพท์ปัจจุบันนี้มากนัก ผมคิดว่าการที่ภาษาเขมรมีอิทธิพลต่อภาษาไทยกลางมากขนาดนี้ นอกจากจะเป็นเพราะเป็นพื้นที่ที่ไทยอยู่ร่วมกับเขมรแล้ว ยังเป็นเพราะราชสำนักอยุธยาใช้ภาษาเขมรมาก เป็นไปได้มากว่ามีการรับรูปแบบหรือถึงกับมีการถ่ายโอนอำนาจจากเขมรมาสู่ไทย

ผมอดคิดไม่ได้ว่าการที่ไพร่มีแนวโน้มที่จะรับภาษาของเจ้ามาใช้ค่อนข้างจะสูง ทำให้ภาษาเขมรมีอิทธิพลต่อคนไทยอยุธยา มากกว่าที่ไทยกลุ่มอื่นรับจากชนชาติข้างเคียงของตัวเอง

คุณยุกติ มุกดาวิจิตร เขียนบทความที่น่าสนใจไว้ในกรุงเทพธุรกิจดังนี้
http://www.bangkokbiznews.com/2007/special/total_article/pdf/yukti.html (http://www.bangkokbiznews.com/2007/special/total_article/pdf/yukti.html)

เรื่องคคห.ขอไม่ยกมาวิจารณ์ในที่นี้ แต่ข้อเท็จจริงหลายอย่างนั้นน่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่องการใช้คำควบกล้ำ ซึ่งไม่ใช่ธรรมชาติของภาษาตระกูลไท แต่เป็นลักษณะเด่นของภาษาตระกูลมอญ-เขมร และลักษณะนี้ปรากฏในภาษาไทยกลางอย่างชัดเจนครับ และนั่นหมายถึงภาษาไทยภาคกลางมีลักษณะพิเศษที่หลุดไปจากกลุ่มภาษาไทอื่นๆไปพอควร เพราะรับเอาลักษณะเด่นของภาษากลุ่มมอญ-เขมรเข้ามาเยอะจนเกิดเป็นภาษาไทยภาคกลางที่คุยกับสุโขทัยไม่ค่อยจะรู้เรื่องดังนี้เองครับ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 12 พ.ค. 08, 23:54
 เป็นไปได้มากว่ามีการรับรูปแบบหรือถึงกับมีการถ่ายโอนอำนาจจากเขมรมาสู่ไทย
--------------------
ยังไม่กล้าสรุปเปนร้ยงเหมือนคุณเครซี่
ลองนึกย้อนไปว่า ต้นตระกูลพระเจ้าอู่ทองครองลพบุรีอยู่ ตีว่าสัก 1600 ลงมา
ท่านเหล่านั้น จะอยู่ในสถานะภาพอย่างไร
1 ซี้กับเขมรที่พระนครหลวง
2 เป็นเมืองขึ้น
3 ต่างคนต่างอยู่ แต่ชอบศาสนาของเขมรเขา

ไม่ว่าจะในทางหนึ่งทางใด ภาษาเขมร ก็น่าจะเป็นสิ่งสำคัญ เหมือนภาษา C+....เอ้ย ภาษาอังกฤษ ในปัจจุบัน มั้ง
ลองคิดต่อว่า พระสงฆ์องค์เจ้า นักปราชญ์ราชบัณฑิต ปุโรหิต
ต่างก็ปร๋อภาษาเขมร ศัพท์แสง วรรณกรรม ไสยศาสตร์ โหราศาสตร์...ฯลฯ
ต่างก็ใช้ภาษานี้ เพราะฉะนั้น ไม่จำเป็นว่า จะต้องฆ่ากัน หรือยึดอำนาจ หรือถ่ายอำนาจ ภาษาจึงติดเข้ามา

ยิ่งเรื่องถ่ายโอนอำนาจนี่ ยังนึกไม่ออกว่าจะทำได้อย่างไร
ตัวอย่างไกล้คือหัวเมืองลาวของเรา ถ่ายเท่าไรก็ฆ่าภาษาถิ่นไม่ได้ มาถึงรัชกาลที่ 6-7 ก็ยังคงเดิม
ต้องให้ท่านจอมพลตราไก่ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จหลัง 2475 นั่นแหละจึงเกิดผล แม้กระนั้นพระท่านก็ไม่ค่อยยอมเชื่อ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 13 พ.ค. 08, 01:28
เรียนถามพระเจ้าตาพิพัฒน์ครับ
ว่าทำไมต้นตระกูลพระเจ้าอู่ทองถึงมาจากลพบุรีล่ะครับ ? แหะๆ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 13 พ.ค. 08, 01:51
เดาแบบนี้นะครับ...หึหึ

ใครที่มาสร้างเมืองที่แม่น้ำสามสายบันจบกัน อันเป็นที่ตั้งกรุงศรีอยุธยานั้น
ต้องไม่ใช่คนเล็กคนน้อย
ตรงนั้น มีชุมชนใหญ่ระดับเมืองเอกอยู่ตั้งสองแหล่ง คือที่สถานีรถไฟ และที่วัดพะแนงเชิง
การที่พระราชพงศาวดารท่านจดว่า แรกตั้งพระนคร...ไม่มีต้นสายปลายเหตุ จึงชวนให้คิดว่า
บางที เมืองที่ตั้งใหม่ อาจจะไม่ได้ต่อเนื่องกับเมืองที่มีอยู่เดิม
อย่างน้อย ระบบคูน้ำคันดินที่เป็นเทคนิคสร้างเมืองแบบดั้งเดิมย้อนไปถึงครั้งทวารวดี
ก็พัฒนาก้าวกระโดด เป็นชักแม่น้ำให้กลายเป็นคูเมือง

จะตามหาเทคนิคสร้างเมืองแบบนี้ ผมก็นึกได้เพียงลพบุรี และสุพรรณบุรี
(ขอกูเกิ้ลเอิร์ธหน่อยดิ พี่ม้า)

ทีนี้ทางสุพรรณนี่ เรามาเจอทีหลังว่าเป็นเมืองใต้อำนาจของขุนหลวงพะงั่ว ซึ่งเป็นพี่เมียพระเจ้าอู่ทอง
เจ้าอู่ของผม ก็ควรจะมาจากอีกเมืองแหละ
เนื่องจากในเรือนพ.ศ. 1800 นั้น แต่ละเมืองเขามีวงศ์กษัตริย์ปกครอง แยกกันเป็นนครรัฐ แต่รวมกันด้วยการสมรส
เมืองที่ผมปักธงมุ่งหมายก็เหลือลพบุรี
เพราะตอนพ่องั่วท่านมาชิงเมืองอยุธยาจากหลาน หลานคือพระราเมศวร ได้โยกไปกินเมืองลพบุรี
ท่านจะไปกินดื้อๆ มิได้ ถ้าเมืองนั้นมิใช่วงศ์วารว่านเครือของตน ใครจะยอมเสียเมืองล่ะท่านม้า
ได้รบกันเละไปซะมะนั่น

ก็เลยต้องเดาต่อว่า ท่านต้องกลับไปกินเมืองเดิมของตน ซึ่งก็ต้องเป็นเมืองที่พ่อท่านมอบไว้ให้
ผมจึงเชื่อของผมว่า พระเจ้าอู่ทองเป็นคนลพรีงัยยย.....

แล้วใหนๆ เดามาขนาดนี้ ก็เดาต่ออีกหน่อยว่า ราชวงศ์ลพบุรี คงจะร่วมมือกับราชวงศ์สุพรรณภูมิ
ยกมาถางที่สร้างเมืองยังแหล่งอุดมสมบูรณ์แห่งใหม่ ซึ่งน่าจะมีคนมาสร้างเมืองน้อยเมื่อสักสองสามชั่วคนก่อน
เมืองนี้ ชัยภูมิเหมาะเจาะ คือตั้งปุ๊ป ก็รวยปั๊ป
เพราะปิดทางลงอ่าวไทย ทุกเมืองที่อยู่ตอนบน เป็นต้องผ่าน
เดาต่อด้วยว่า แม่น้ำป่าสักที่เป็นทางออกทะเลครั้งก่อน คงจะมีอาการไม่สะบาย ไปมาขึ้นล่องไม่สะดวก
เมืองที่อาศัยแม่น้ำนี้เป็นท่อระบายโภคทรัพย์ ต้องแห่มาพึ่งแม่น้ำเจ้าพระยาแทน


เอ.....จะเดาเละเทะเกินไปหมันเนี่ยะ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 13 พ.ค. 08, 06:52
เข้ามาช่วยข้อมูลแม่น้ำป่าสัก ว่ายึดเป็นสายหลักไม่ได้ เพราะทั้งปี มีน้ำแค่สองสามเดือน เป็นแม่น้ำที่หลากเมื่อไหร่ ท่วมเมื่อนั้น ตลิ่งก็สูงเวลาแห้ง ถึงได้ต้องสร้างเขื่อนป่าสักไงครับ



กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 13 พ.ค. 08, 11:46
       
อ้างถึง
ราชสำนักอยุธยาตอนต้นใช้คำเขมรมากกว่าราชาศัพท์ปัจจุบันนี้มากนัก ผมคิดว่าการที่ภาษาเขมรมีอิทธิพลต่อภาษาไทยกลางมากขนาดนี้
นอกจากจะเป็นเพราะเป็นพื้นที่ที่ไทยอยู่ร่วมกับเขมรแล้ว ยังเป็นเพราะราชสำนักอยุธยาใช้ภาษาเขมรมาก เป็นไปได้มากว่ามีการรับรูปแบบหรือ
ถึงกับมีการถ่ายโอนอำนาจจากเขมรมาสู่ไทย

       เมื่อราว ๒ เดือนก่อน สยามรัฐลงบทความของ คุณชายคึกฤทธิ์ เกี่ยวกับการรับขนบธรรมเนียมประเพณี
ของอีกชาติหนึ่งมาใช้ ระหว่าง เขมร - ไทย - พม่า ครับ

โขนอโยธยาไปพม่า

             เรื่องที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะรับเอาขนบธรรมเนียมประเพณีของอีกชาติหนึ่งมาใช้ก็เห็นว่าแปลก ยกตัวอย่างเช่น
วัฒนธรรมของพวกขอมที่เคยอยู่ในประเทศเขมรเป็นต้น
            คนไทยเราเคยวิสาสะกับขอมมาแต่สมัยกรุงสุโขทัย แต่สมัยนั้นถึงเราจะรับเอาวัฒนธรรมของขอมมาบ้างก็ไม่มากนัก และ
เราทำอย่างช้าๆ จากพ่อขุนรามคำแหงไปจนถึงพระยาลือไทย ซึ่งทรงใช้พระนามว่า พระบาทสมเด็จกมรเตงอัญ อันเป็นบรรดาศักดิ์เขมร
ก็กินเวลาถึงหกรัชกาล

            แต่พอถึงกรุงศรีอยุธยารัชกาลพระเจ้าสามพระยา กองทัพไทยไปตีนครธมเมืองเขมรได้ วัฒนธรรมเขมรก็ไหลบ่าเข้ามา
ในเมืองไทยอย่างรวดเร็ว วัฒนธรรมของเขมรดูเหมือนจะเป็นราชพัทยาที่สำคัญอย่างหนึ่ง ขนบธรรมเนียมราชประเพณีการปกครอง
ก็เปลี่ยนไปเป็นเขมร กฎหมายก็เอาของเขมรมา

            และเจ้านายไทยก็เริ่มใช้ภาษาเขมรเป็นราชาศัพท์ แทนที่จะเป็น “เจ้า” ซึ่งเป็นภาษาไทยก็กลายเป็น “เสด็จ”
แล้วก็เลยพาลสรงเสวยพาลบรรทม เป็นภาษาเขมรไปสิ้น

            ครั้งพม่ามาตีกรุงศรีอยุธยาได้ เหตุการณ์อย่างเดียวกันก็เกิดขึ้น ไทยเป็นผู้แพ้ในการสงคราม แต่กลับเป็นผู้ชนะในทางวัฒนธรรม
              สิ่งใดที่เป็นของอยุธยาหรือที่พม่าเรียกว่า “โยเดีย” ก็กลายเป็นของดีงามสำหรับพม่า ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกายผลหมากรากไม้
ถ้าอ้างว่าเป็นของ “โยเดีย” ก็มีราคาสูง ศิลปหัตถกรรม การดนตรี ตลอดจนกะปิน้ำปลา ถ้าเป็น “โยเดีย” ก็กลายเป็นของทิพย์ในสายตาพม่า
แต่สิ่งที่พม่าเห็นว่าดีนักดีหนาเห็นจะได้แก่ โขนละครของไทยที่ได้ไปจากกรุงศรีอยุธยาสมัยนั้น โขนนั้นพม่าได้เรื่องรามเกียรติ์ไป
ส่วนละครก็ได้ไปหลายเรื่อง เป็นต้นว่า อิเหนา .....


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 13 พ.ค. 08, 16:35
ดูจากพงศาวดารข้างอยุธยาฝ่ายเดียวก็อดคิดอย่างคุณชายคึกฤทธิ์ไม่ได้

แต่ถ้าพิจารณาว่าเขมรที่ถูกเจ้าสามพระยาตีแตกพ่ายจนต้องย้ายเมืองหนีไปอยู่ละแวก ช่วงเวลานั้นอ่อนแอลงไปมาก ไม่มีสภาพมหาอำนาจแล้ว

หรือถ้าย้อนกลับไปดูพงศาวดารอยุธยา ตั้งกรุงได้ไม่นานก็ต้องไปปราบขอมที่บังอาจแปรพักตร์เสียแล้ว

ก็ให้แปลกใจอยู่ว่าราชสำนักอยุธยาจะรับเอาวัฒนธรรมของลูกไล่อย่างเขมรมาทำไม แล้วเขมรในช่วงเวลานั้นยังมีความศิวิไลซ์เพียงไหน ในเมื่อยุคทองยุคสุดท้ายของเขมรนั้นคือช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ผ่านไปนานโขแล้วนะครับ

ผมยังคิดว่าราชสำนักอยุธยารับเอาวัฒนธรรมขอมเข้ามาก่อนนั้น และรับมาในสภาพที่ราชสำนักขอมยังศักดิ์สิทธิ์อยู่ อาจจะเป็นคนไทยที่แทรกตัวขึ้นเป็นใหญ่ในรัฐละโว้ และรับเอาหัวโขนเขมรมาสวม เพื่อความสะดวกในการเปลี่ยนถ่ายอำนาจครับ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 13 พ.ค. 08, 18:28
เห็นด้วยกับคุณ CrazyHOrse ครับ
หลายสิ่งหลายอย่างที่ไทยรับขอมมาใช้
ดูมากเกินกว่าจะอยู่ในขั้นของการ "เลือกเอามา"
จนเหมือนจะอยู่ในรูปของการ "รับเอามา"(อย่างเบ็ดเสร็จ)
แบบที่จะเรียกว่า "ถ่ายโอนมา" ก็ไม่น่าเกลียดนักครับ



ปล. นักวิชาการรุ่นเก่าหลายท่านเริ่มต้นศึกษาสิ่งต่างๆด้วยตัวของท่านเอง
ในยุคข้อมูลยังน้อย วิชา-ความรู้ที่มีให้ศึกษาก็ไม่ได้เป็นระบบแบบแผนนัก
ผลงานแต่ละชิ้นของท่านก็อาจจะเผยแพร่ออกมาในรูปของการสันนิษฐาน
โดยยึดเอาจินตนาการที่ประคับประคองไปด้วยอัตตาของผู้เขียนมาเป็นหลักใหญ่ในการทำงาน...
ครั้งพอมาสอบทานเข้าจริงๆงานเขียนทั้งชิ้นก็พังครืนไม่เป็นท่าไปเป็นจำนวนมาก

ครั้งหนึ่ง เพื่อนคนหนึ่งเคยหยิบยกเอางานเขียนเรื่องลักษณะเจดีย์สมัยปาละ
ของอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งเป็นศิลปินแห่งชาติ ขึ้นมาพูดกับอาจารย์ที่ศึกษาด้านอินเดียมาโดยตรง
ผลที่เกิดขึ้นคือเจดีย์ที่พบจริงๆแล้วแทบจะตรงกันข้ามกับสิ่งที่อาจารย์ท่านนั้นได้ตีพิมพ์งานเขียนของท่านเอาไว้
เราจึงได้ทราบว่าเจดีย์ในสมัยปาละในความรับรู้ของอาจารย์ท่านนั้น
เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาจากข้อสันนิษฐานของท่าน ผสมผสานกับเจดีย์ตัวอย่างซึ่งอาจจะถูกซ่อมไปอย่างไม่เหมือนเก่า
..... การสันนิษฐานโดยปราศจากข้อมูลความรู้ที่แน่นอนเป็นเรื่องอันตราย
พอๆกับการหยิบยกข้อมูลโดยไม่คัดกรองครับ





แต่ล่าสุดก็ยังมีคนมาพูดอีกเนาะ ว่าฝรั่งเศสส่งมูโอต์เข้ามาเป็นไส้ศึกในลาว - เขมร
ให้ตายเหอะ อยากส่งกระทู้สาวน้อยใจกล้าไปหาเขาจัง ให้มันได้งี้ดิ ฮึ!!!



ปล.2 นายติบอบ่นมากไปพากระทู้ไปเกือบจะจมสะดือทะเลเสียแล้ว
กลับเข้าเรื่องเดิมดีกว่าครับ แหะๆ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 14 พ.ค. 08, 16:40
เรื่องต้นวงศ์ของท้าวอู่ทองมาจากละโว้นี้ ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง

ตำนานช่วงนี้ มีอะไรเป็นเงื่อนงำหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นตำนาน ที่ "ไร้กาลเวลา" และมีท้าวอู่ทองไม่ต่ำกว่าสี่คน

ผมคิดว่า "อู่ทอง" ไม่ใช่ชื่อกษัตริย์ แต่เป็นชื่อที่ใช้เรียกผู้ที่ครองเมืองมากกว่า ใครที่ได้มาครองเมืองอู่ทองก็เรียก "ท้าวอู่ทอง" ทั้งสิ้น

เรื่องท้าวอู่ทองหนีโรคห่ามาตั้งเมืองใหม่อยุธยานี้ อาจเป็นการ "ยำ" ตำนานที่มีมาก่อนหน้านี้ก็ได้

จากหลักฐานทางโบราณคดี เมืองโบราณอู่ทอง ซึ่งอยู่ในวัฒนธรรมทวารวดี ล่มสลายไปตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๗ คนละสมัยกับ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑

ตำนานท้าวอู่ทอง (บางองค์) เกี่ยวข้องกับ วงศ์กษัตริย์ทางเหนือ และเมืองกำแพงเพชรโบราณ (ไตรตรึงษ์ - เทพนคร)

ดังนั้น เป็นไปได้ว่า เรื่องท้าวอู่ทองย้ายเมืองหนีโรคระบาด (กาฬโรค ?) อาจเป็นตำนานการย้ายเมืองจากเมืองโบราณอู่ทอง มาตั้งเมืองใหม่ที่สุพรรณบุรีก็เป็นได้ครับ ซึ่งเป็นคนละคนกับท้าวอู่ทอง (รามาธิบดี) ที่สถาปนากรุงศรีอยุธยา

น่าสังเกตว่า ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๙ แคว้นสุพรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) เคยขึ้นอยู่กับสุโขทัย แต่หลังจากนั้น ดูเหมือนว่าจะไปอยู่กับทางแคว้นลพบุรี ทำให้สุโขทัยอ่อนแอลง ซ้ำยังมีความพยายามตีเอาสุโขทัยเข้ามาอยู่ในอำนาจด้วย ความเรื่องรุกรานสุโขทัยนี้ มีในตำนานมูลศาสนาครับ

ดังนั้น สมเด็จพระรามธิบดีที่ ๑ จึงน่าจะเป็นเจ้าชายจากกรุงละโว้ที่เข้ามาครองเมืองสุพรรณภูมิ ทางตำนานจึงเรียกพระองค์ว่า "ท้าวอู่ทอง"
ส่วนที่ว่ามาจากลพบุรีนั้น มีเงื่อนงำคือ หลังจากที่พระองค์ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาแล้ว ทรงโปรดให้สมเด็จพระราเมศวร ซึ่งเป็นพระราชโอรสไปครองเมืองลพบุรี ส่วนพี่เขยของพระองค์ ก็ให้ครองสุพรรณภูมิต่อจากพระองค์ แสดงให้เห็นว่า "เมืองลพบุรี" มีความสำคัญในเชิงราชวงศ์ทางฝ่ายของสมเด็จพระรามาธิบดี ส่วน เมืองสุพรรณภูมิ ก็ทรงคืนให้กับพี่เขย ซึ่งเป็นวงศ์กษัตริย์ที่ครองเมืองสุพรรณภูมิมาแต่เดิม

====================

ประวัติศาสตร์ไทยช่วงนี้ ผมจะเรียกว่า "ช่วงตำนาน" ครับ กินเวลาราวๆ พุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๙ มีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับลำดับเวลา และข้อเท็จจริง ต้องอาศัย "การเดาตามเนื้อผ้า" เป็นหลัก

เรื่องรับวัฒนธรรมเขมรนี้ ผมเชื่อว่ารับกันมาตั้งแต่พุทธศตรรษที่ ๑๗ แล้วครับ โดยมีเมืองละโว้เป็นศูนย์กลางวัฒนธรรม แต่คนไทจะเข้ามาผสมผสานกับเขมรละโว้ยังไงนี้ ยังเป็นปัญหาที่ต้องสืบค้นกันต่อไป แต่ที่แน่ๆ คือ ภาษาไทยมาตรฐานที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ สืบสายมาจากภาษาไทลพบุรีครับ ไม่ได้สืบมาจากภาษาไทสุโขทัย แต่ทั้งสองภาษามีรากร่วมกันคือ ภาษาไทเดิม




กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 14 พ.ค. 08, 21:26
เรื่องมูโอต์ มีอดีตสมาชิกเรือนไทยรับเหมาไปทำต้มยำอยู่ คุณติบออาจจะหาอ่านได้ ถ้ามีเวลา

ส่วนเรื่องพระเจ้าอู่ทองนั้น ผมยังเห็นต่างจากลุงโฮไปอีกนิดหนึ่ง อย่างเช่น
"ใครที่ได้มาครองเมืองอู่ทองก็เรียก "ท้าวอู่ทอง" ทั้งสิ้น"
ผมคิดว่า ชื่อท้าวอู่ทองกับเมืองโบราณอู่ทองนั้น ไม่เกี่ยวกันเลยครับ เมืองนั้นอาจจะชื่ออะไรก็ได้
แต่ชาวบ้านแถบภาคกลาง ชอบเอาชื่ออู่ทองไปแปะป้าย มีทั้งตำนาน มีทั้งเมือง ขนาดที่นนทบุรี ยังมีเรื่องท้าวอู่ทองเลย

ผมสนใจเมืองลพบุรี เพราะน่าจะเป็นเมืองเดียวในประเทศไทย ที่มีคนอยู่ต่อเนื่องไม่เคยทิ้งร้าง
มีหลักฐานตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ มาจนถึงปัจจุบัน
และเป็นเมืองหนึ่ง ในน้อยเมือง ที่มีศิลปะสถาปัตยกรรมเขมร อยู่ร่วมกับทวารวดีในเวลาเดียวกัน (อีกเมืองก็ศรีเทพ)
มีจารึกที่ศาลสูงบอกไว้ว่า นับถือทั้งพราหมณ์ มหายานและสถวีระ
แถมยังจะสามารถโยงเข้าสู่ต้นอยุธยาได้ด้วย

ถ้าปักหลักที่พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งมีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่เก่ากว่าปรางค์อยุธยาทุกองค์
ก็น่าจะเห็นรอยต่อว่า คติพระปรางค์ 3 องค์แบบเขมรได้ถูกนำมาปรับเปลี่ยนเป็นเถรวาทลังกาวงศ์ได้อย่างสนิทสนม
เราต้องนับพระปรางค์นี้เป็นลังกา เพราะในรอบพันปีจากสมัยอโศก ก็มีแต่ลังกาที่เชิดชูกับคติพระธาตุ
และเมื่อสามารถสร้างความเป็นปึกแผ่นขึ้นมา ลังกาก็ส่งออกคตินี้อย่างเอาจริงเอาจัง
ขนาดพรญาลิไท ยังบอกว่าพระธาตุของพระองค์เป็นของดี เอามาแต่เมืองบน
คือเหยียดว่าพระธาตุที่มีอยู่ก่อน เป็นของน่าสงสัย ท่านน่ะมีบุญญาธิการจนพระธาตุแท้จริงเสด็จมาสู่

แต่พรญาลิไทนั้น ท่านยังอ่อนกว่าสมัยสถาปนาพระเจ้าพแนงเชิงอยู่ตั้งสองชั่วคน
คติพระโตงำเมืองอย่างนี้ ก็อิมพอร์ตจากลังกาเหมือนกัน
ผมจึงอยากจะสมมติเรื่องราวว่า สักประมาณปลายบายน เกิดความเปลี่ยนแปลงในระดับมโหฬาร
อันเป็นผลให้ชาวบ้านที่นับถือพุทธ เข้มแข็งขึ้นมา จะเป็นด้วยการปฏิวัติทางการทำนาหรืออะไร ก็คงต้องหาหลักฐานกันต่อไป
ประมาณ 1750 เราก็เห็นว่า แทบทุกเมืองใหญ่ในแถบนี้ กลายเป็นพุทธไปทีละน้อย แต่มั่นคง
หลังยุคอโรคยาศาลของบายน สิ่งก่อสร้างที่เกิดขึ้น เป็นพุทธเถรวาททั้งสิ้น
และพุทธเถรวาทนี้ ก็ไม่ได้ทิ้งฮินดู ที่สุโขทัยจะเห็นว่ามีเทวาลัยมหาเกษตรพิมาน มีเทวรูปมากมาย(ที่ท่านสุภัทรทรงทำวิจัยอายุไว้)
แต่ของสำคัญๆ เป็นเถรวาททั้งสิ้น

และชิ้นที่เป็นหลัก ก็อยู่ที่ลพบุรี
ส่วนที่อยุธยานั้น กว่าจะมีพระมหาธาตุ ก็ต้องรอตั้งร่วมร้อยปี แม้แต่สุพรรณบุรีก็รอนานเท่านั้นเหมือนกัน
เพชรบุรี ราชบุรี เมืองสรรค์ ...ล้วนแต่ตามหลังลพบุรีทั้งสิ้น

จึงขอเดาสวนทางลุงโฮนิดหน่อยว่า อู่ทองและเจ้าสาม มาจากต่างวงศ์กัน
ช่วยกันสร้างกรุงศรีอยุธยา เพราะไม่สร้าง เกิดคนอื่นมาสร้าง จะลำบาก
ทั้งสองวงศ์ หรืออาจจะมีวงศ์ที่สาม ที่สี่ ต่างก็ช่วยกันคุ้มครองเมืองหลวงใหม่นี้

คำจารึกพ่อขุนรามที่ว่า พ่อตายได้แก่ลูก...ดูเหมือนจะบ่งบอกว่า สิทธิในราชบัลลังก์อาจจะยังขึ้นอยู่กับกำปั้น
ไม่ใช่ขึ้นกับสายเลือด
ท่านจึงต้องทำจารึกอ้างสิทธิ์ดักคอคู่แข่ง เห็นๆ กันอยู่...

จริงมะครับท่านโฮ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 14 พ.ค. 08, 23:31
แอบแย้งคุณพิพัฒน์หน่อย
ในฐานะคนเคยไปพม่า (แต่ดันไม่เคยไปเขมร)

ตั้งแต่พันปีกว่าที่แล้ว พุทธเถรวาทแบบลังกาก็เข้ามาเติบโตงอกงามในสุวรรณภูมิ
ในดินแดนมอญทางใต้ของพม่ามาแล้วครับ

จนเมื่ออาณาจักรพุกามเป็นปึกแผ่นขึ้น
พระเจ้าอโนรธาก็ส่งขุนพลคู่ใจลงมาปราบหัวเมืองมอญ
เอาพระไตรปิฎกเป็นจำนวนมากขึ้นไปที่เมืองพุกาม ชำระพระศาสนาเสียใหม่
ติดต่อกับลังกา บางตำราว่าเขาให้ความสนับสนุนทางด้านทรัพย์เมื่อเกิดสงครามกลางเมือง
จนเป็นพันธมิตรที่ดีกับอาณาจักรลังกาแล้วเขาส่งพระบรมสารีริกขธาตุมาให้ที่เจดีย์ชเวสิกงด้วยซ้ำ

แถมอยู่แค่ลังกาไม่พอ สมัยพระเจ้าจันสิตถาแกรวยซะจน
กล้าข้ามประเทศไปซ่อมวัดศรีวัชราสนถึงพุทธคยา
จนกลายเป็นที่มาของเจดียืพุทธคยาจำลองอีกสองสามหลังในละแวกนี้

สองสามรัชกาลถัดมา พระจากเมืองมอญไปบวชใหม่ในเมืองลังกา
กลับมาพุกามกษัตริย์ก็กัลปนาที่ดิน ข้าทาส สร้างแพกลางน้ำ และวัดถวาย
(กลายเป็นเจดีย์ฉปัฏ ที่นักประวัติศาสตร์ศิลป์ยึดถืออยู่ทุกอนุสติว่าเป็นต้นแบบของวัดอุโมงค์)
เพื่อดุลย์อำนาจกับพระสงฆ์กลุ่มเดิมที่ถือครองอำนาจด้านศาสนาในประเทศ



แล้วเราๆท่านๆก็ทราบกันดี ว่าพุกามกับอาณาจักรอีกหลายอาณาจักรในไทย
ติดต่อ และส่งอิทธิพลทางศิลปกรรมกันอยู่เป็นจำนวนมาก
เป็นต้นว่าเจดีย์ทรงปราสาทยอดที่วัดเจดีย์เจ็ดแถว
อุโมงค์และเจดีย์มีรัดอกที่วัดอุโมงค์
หรือการสร้างทางเดินในผนังมณฑปที่วัดศรีชุม
แบบนี้คุณพิพัฒน์โยงสุโขทัยไปลังกาพรืดเดียวไม่ลดทอนรายละเอียดไปนิดหรอฮะ
(ผิดพลาดประการใด ผู้ใหญ่อย่าถือสา ผู้น้อยแค่ว่าไปตามคิดนะขอรับ)


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 14 พ.ค. 08, 23:33
อิอิ

คนนนทบุรีมายืนยันตำนานพระเจ้าอู่ทองของอาจารย์พิพัฒน์ครับ แถวบ้านผมเต็มไปด้วยวัดที่เชื่อมโยงกับพระเจ้าอู่ทองทั้งสิ้น อย่างวัดชลอ ก็มีตำนานว่าพระเจ้าอู่ทองมาปฏิสังขรณ์

วัดกระโจมทอง เป็นที่ตั้งค่ายของพระเจ้าอู่ทอง เมื่อท่านตั้งกระโจมแล้วก็เอาทองใส่ไว้ในเสา (ไม่รู้ว่าใส่ทำไม) จึงเรียกว่าวัดกระโจมทอง

วัดสนามนอกและวัดสนามใน เชื่อว่าเป็นสถานที่ฝึกทหาร หรือเป็นท้องสนามนั่นเอง


ผมก็เคยคิดอย่างอาจารย์พิพัฒน์ว่าพระเจ้าอู่ทองเสด็จมาจากลพบุรี

ประการแรกคือ ท่านให้พระราเมศวร พระราชโอรส ไปครองเมืองลพบุรี

ที่ไม่ไปครองเมืองอื่น อาจจะด้วยเหตุผลที่ว่า เมืองนี้เป็นเมืองบรรพบุรุษของท่านมาแต่ก่อน อีกนัยหนึ่งก็คือ เมืองอื่นๆยังตกอยู่ในอำนาจของราชวงศ์อื่นๆ ไม่อาจส่งลูกชายให้ไปครองได้

ประการต่อมา เมื่อพระเจ้าอู่ทองสร้างเมือง สถาปัตยกรรมรุ่นแรกในตัวเกาะเมืองก็คือ พระปรางค์ คล้ายกับในลพบุรี ที่เต็มไปด้วยพระปรางค์รุ่นต่างๆ ตั้งแต่ปรางค์แขกสมัยพระโค พระปรางค์สามยอดสมัยบายน ไล่ลงมาจนถึงปรางค์วัดนครโกษา และปรางค์หมายเลข 16 ค ในวัดมหาธาตุ

ขณะที่ดินแดนอื่นๆล้วนมีสถาปัตยกรรมประจำท้องถิ่นทั้งสิ้น เมืองที่ผมสนใจประการต่อมาคือ สุพรรณบุรี

ซึ่งเต็มไปด้วยเจดีย์แปดเหลี่ยม แม้ว่าทุกวันนี้อายุที่เคยกำหนดไว้ก่อนอยุธยาจะเลื่อนลงมาเป็นอยุธยาตอนต้นแล้วก็ตาม แต่ก็น่าจะร่วมสมัยกับพระเจ้าอู่ทองหรือไม่เกินกว่านั้นนัก

ในเกาะเมืองอยุธยา วัดต่างๆล้วนมีเจดีย์ทรงปรางค์เป็นประธาน อย่างวัดมหาธาตุ วัดพระรามที่พระราเมงศวรสร้างให้พระเจ้าอู่ทอง ขณะที่วัดที่มีเจดีย์แปดเหลี่ยมเป็นประธานอย่างวัดจงกรม วัดพระงาม ต้องระเห็จออกไปนอกเกาะเมือง

พูดอย่างงี้คุณพิพัฒน์คงว่าผมเอาเจดีย์เป็นสัญลักษณ์พรรคการเมืองอีกแน่ๆ อิอิ

สมัยนั้นคงมีพรรคสุโขทัย ตราดอกบัวคู่ เอ๊ย ดอกบัวตูม กะทรงระฆังคว่ำ
พรรคสุพรรณภูมิ ตราเจดีย์แปดเหลี่ยม
พรรคละโว้ ตราพระปรางค์

อ๊ะ ออกทะเลแล้ว


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 14 พ.ค. 08, 23:38
เฮ่ยๆ รีบนน่ะ
ไหนอ่ะ "คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว" ???


เฮอะ!!!


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 15 พ.ค. 08, 00:06
ผมน่ะ รอคุณน้องเอารูปพม่ามาต่อกระทู้แช่เย็นให้ครบๆ....
จะได้บอกให้หนำใจว่า ไม่มีกลิ่นพม่าในสุโขทัยและอยุธยาซะเท่าไรดอก

ขนาดที่เมืองเหนือแต้ๆ กลิ่นยังไม่แรงเล้ย


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 15 พ.ค. 08, 01:56
ตอบคุณพิพัฒน์ครับ

ส่วนเรื่อง ชื่อท้าวอู่ทอง กับ เมืองอู่ทอง นี้ ไม่เกี่ยวข้องกันตรงๆ ครับ ถ้าตามความเห็นของผมคือ ต้องถอดรหัสว่า ท้าวอู่ทองของแต่ละช่วงเวลา ครองเมืองใด

ถ้าเป็นสมัยต้นๆ (จากการพยายามลำดับเรื่องราว) ท้าวอู่ทอง (ที่ไม่ใช่รามาธิบดี) ก็น่าจะครองเมืองโบราณอู่ทอง - ต่อด้วยตำนานท้าวอู่ทอง (ที่ไม่ใช่ รามาธิบดี) หนีโรคระบาด มาตั้งเมืองใหม่ - แต่ผมมองว่า ไม่ได้มาตั้งที่อยุธยา (เพราะความจริงแล้ว อยุธยาเป็นเมืองมาก่อนหน้านี้นานแล้ว) แต่มาตั้งเมืองที่ "สุพรรณภูมิ" (คือ สุพรรณบุรี) - ท้าวอู่ทอง (รามาธิบดี) จึงถอดรหัสได้ว่า ที่ได้ชื่อท้าวอู่ทอง เพราะทรงครองเมืองอู่ทอง (ใหม่) คือ สุพรรณภูมิ นั่นเองครับ

ส่วนที่เรียกกันว่า "ท้าวอู่ทอง" นั้น เป็นการเรียกของตำนานครับ จริงๆ แล้ว ก็ยังไม่มีใครทราบว่าเมืองอู่ทองโบราณ ในสมัยทวารวดีชื่ออะไร แต่ก็มีข้อสันนิษฐานกันว่า ไม่ชื่อ ทวารวดี ก็ชื่อ สุวรรณภูมิ ดังนั้น ประเด็นที่ผมกล่าวถึง "ท้าวอู่ทอง" จึงอยู่ในบริบทของตำนานครับ

ถ้าในตำนาน (ซึ่งแน่นอนว่า ถูกเขียนขึ้นในชั้นหลังมากๆ) พูดถึง "ท้าวอู่ทอง" จึงไม่จำเป็นที่จะต้องหมายถึง "สมเด็จพระรามาธิบดี" เพียงพระองค์เดียว แต่อาจหมายถึงกษัตริย์ที่ปกครองเมืองอู่ทองรุ่นก่อนพระองค์ก็ได้ อย่างที่ผมกล่าวไปแล้วว่า เรื่องราวก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยานี้ เป็นยุคตำนานที่ไร้กาลเวลา และมีเงื่อนงำของการนำเกร็ดประวัติศาสตร์หลายๆ ยุคมาปปะติดปะต่อกันเป็นเรื่องราว จะว่าเชื่อถือไม่ได้ก็ไม่ใช่ แต่จะต้องวิเคราะห์อย่างระมัดระวัง

เรื่องชื่อเมือง "อู่ทอง" ก็เช่นกัน เราไม่ทราบว่าเรียกกันมานานเท่าไหร่แล้ว จำได้ว่าในพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชนุภาพ ทรงกล่าวไว้ในคราวที่เสด็จเมืองอู่ทองว่า ชาวบ้านแถวนี้ ก็เรียกเมืองนี้ว่าอู่ทองกันมานานแล้ว ซึ่งก็เป็นไปได้ว่า คงเรียก "อู่ทอง" ต่อๆ กันมา จะตั้งแต่สมัยไหนก็ไม่รู้ แต่ใน ราชพงศาดารเหนือ (รวบรวมจากตำนานพื้นบ้านในช่วงรัชกาลที่ ๑) และ จุลยุทธกาลวงศ์ (จำไม่ได้ว่าแต่งเมื่อไหร่ ประมาณอยุธยาตอนปลาย ?) ก็มีพูดถึงเมืองท้าวอู่ทองอยู่ (ถ้าจำไม่ผิดนะครับ เพราะห่างเรื่องนี้มา สาม สี่ ปีแล้ว  ;D)

แต่ที่น่าสนใจคือ ผู้ที่เรียก "อู่ทอง" เป็นคนแรก ได้แปลชื่อนี้มาจาก "สุวรรณภูมิ" หรือไม่ เพื่อแต่งนิทานชาวบ้านเล่าสู่กันในชุมชน (น่าจะตกอยู่ในช่วงสมัยอยุธยาแล้ว ?) และแน่นอนว่าคงเป็น "พระภิกษุ" ที่มีภูมิความรู้ภาษาบาลี จึงรู้จักชื่อ "สุวรรณภูมิ" ในพุทธศาสนาเป็นอย่างดี และเพื่อเป็นศรีแก่แผ่นดินจึงตั้งชื่อ "สุวรรณภูมิ" ตามตำนานการเผยแผ่พุทธศาสนา

ดังนั้น เราจึงไม่อาจกล่าวได้ว่า ชื่อ อู่ทอง หรือ สุวรรณภูมิ ถูกเรียกสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยทวารวดี (บางท่านอ้างถึงสมัยพระเจ้าอโศก) เพราะชื่อเหล่านี้ อาจถูกตั้งขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ แม้กระทั่งชื่อ แคว้นสุพรรณภูมิ ที่ร่วมสมัยกับแคว้นสุโขทัยเอง ก็อาจถูกตั้งขึ้นมาในสมัยหลัง ตามความเชื่อในพุทธศาสนา เหมือนกรณีที่เมืองตามพรลิงค์ ถูกเปลี่ยนชื่อในชั้นหลังให้เป็น นครศรีธรรมราช ซึ่งมีนัยหมายถึง "เมืองของพระเจ้าอโศกมหาราช"


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 15 พ.ค. 08, 02:17
เรื่องถัดๆไปนายติบอไม่สันทัดกรณีซักเท่าไหร่ครับ
แต่คนที่เขาจะเล่าได้ก็ไม่เห็นจะโผล่หน้ามาเล่าซะที
จิงป่ะ บักตั้ว!!!   >:( (อิอิ)


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Kurukula ที่ 15 พ.ค. 08, 10:17
สันนิษฐานเรื่อง คำว่า "อู่ทอง" มาจาก "สุวรรณภูมิ" ของคุณ Hotacunus น่าสนใจดีครับ

แต่เสียดายที่ไม่มีอะไรยืนยันได้ว่า คำว่า อู่ทอง เริ่มใช้มาตั้งแต่เมื่อไหร่

แต่ถ้ามองในทางกลับกันแล้ว พอระลึกตรึกตรองถึงคำพูดของคุณพิพัฒน์ ว่าเมืองนนท์ยังมีตำนานพระเจ้าอู่ทองเลย

ทำไมเมืองอู่ทองจะมีตำนานพระเจ้าอู่ทองหรือตำนานเรื่องสุวรรณภูมิบ้างไม่ได้

ชื่อทวารวดี ยังปรากฏเป็นสร้อยนามของกรุงศรีอยุธยาได้เลยครับ


ในส่วนตัวผมคิดว่า มันมี Gap ของเวลาที่ขาดหายไปมากๆเลย คือจากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า เมืองอู่ทอง ร้างไปก่อนการเกิดกรุงศรีอยุธยา ประมาณ 300 ปี ซึ่งไม่สามารถทราบสาเหตุได้แน่ชัด อาจจะเป็นเพราะแม่น้ำเปลี่ยนทางเดิน โรคระบาด หรือสงครามก็แล้วแต่ หลักฐานของศิลปกรรมอยุธยากลับมาปรากฏในเมืองอู่ทองอีกครั้งในช่วงอยุธยาตอนปลายครับ มีการแปลงเจดีย์ทวารวดีให้เป็นทรงแบบอยุธยา


ถึงแม้ว่าจะมีพระเจ้าอู่ทององค์ที่ 1 2 3 4 แต่ถ้าไม่มีศิลปกรรมที่ยืนยันถึงความเป็นเมืองรุ่นศตวรรษที่ 18 หรือ 19 ในเมืองอู่ทองได้ เมืองของพระเจ้าอู่ทองเหล่านี้ ก็ควรจะตั้งอยู่ ณ ที่แห่งอื่นๆครับ

ผมก็ห่างจากเรื่องนี้มาพอสมควรเช่นเดียวกับคุณโฮครับ แต่ก็ดีใจที่ทุกวันนี้เรายังได้แสงสว่างรางๆจากเมืองลพบุรี โดยไม่พึ่งตำนาน ว่าอาจจะเป็นบ้านเกิดของท้าวอู่ทองก็เป็นได้




กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 15 พ.ค. 08, 12:24
แย้งเดิมไม่ชัด แย้งใหม่ให้ชัดๆ อย่างนี้ครับ
คำว่า "อู่ทอง" ผมเห็นว่าไม่ใช่ชื่อเมือง
กษัตริย์ในตำนานเกือบทั้งหมด ไม่มีที่ชื่อท่านเป็นชื่อเมือง
เช่นขุนเจื๋อง พรญาร่วง มังราย งำเมือง แม้แต่(แถม)พระลอให้อีกองค์ ก็ได้
ล้วนแต่ครองเมือง ที่ชื่อต่างไปจากนามส่วนพระองค์
ทำไมจึงจะมีท้าวอู่ทองที่ครองเมืองอู่ทองเกิดมาโด่เด่พระองค์เดียวได้ล่ะ
ชื่อเมืองอู่ทองจึงเป็นชื่อที่ถูกสร้างออกมา เพราะชาวบ้านคิดเห็นอย่างนั้น ของจริงไม่น่าจะมี

เมื่อสมเด็จทรงค้นพบเมือง(ที่ชาวบ้านเรียกว่า)อู่ทอง ก็ทรงขยายความออกมาอีก จนเป็นความรู้สำเร็จรูป
ทั้งๆ ที่เมืองอู่ทองเก่านั้น จบอายุไปก่อนตั้งอยุธยาตั้งสองร้อยปี คือของที่ใหม่สุด ก็แค่ 1600 ลงมาหน่อย
สรุปว่าเป็นเมืองในวัฒนธรรมทวารวดีแท้ๆ แม้แต่เขมรยังมีปนน้อยมาก เข้าใจว่ามาถึงสมัยบายน
แม่น้ำแถวนี้คงทำพิษ เลือกแวะมาแล้ว เมืองจึงตายไป
แต่สมเด็จไม่ทรงมีข้อมูลตรงนี้ เพราะยังไม่ได้เข้าสู่ยุคตรวจพิสูจน์ด้วยการขุดค้น
พระวินิจฉัยจึงมาจากการพิจารณาภูมิศาสตร์และเดินผ่านเนินดินต่างๆ ประกอบกับการพบสิ่งของเหนือผิวดิน
จึงผิดพลาดชนิดร้อยเปอร์เซนต์

ตำนานภาคกลางเองก็มีเหลือน้อย ที่จดไว้เป็นเล่มสมุดก็ไม่มี เท่าทีนึกออกเห็นฝากอยู่ในจดหมายเหตุลาลูแบร์
เล่าเรื่องต้นวงศ์อยุธยาสัมพันธ์กับเมืองนไปโน่น (จุลยุทธกาลวงศ์นั่นก็จัดเป็นตำนานเหมือนกัน เจ้าอาวาสวัดโพธิ์องค์แรก นิพนธ์ครับ)
สรุปว่า ผมไม่เชื่อว่าท้าวอู่ทองต้องครองเมืองอู่ทอง
อยากให้ลบชื่อเมืองนี้ทิ้งไปก่อนเสียด้วย โฟกัสจะได้ไม่เคลื่อน คือเน้นแต่ว่า มีกษัตริย์องค์หนึ่ง ชื่ออู่ทองจริง มีกี่องค์ก็ไม่ทราบ
แต่องค์สุดท้ายนั้น ท่านได้ดิบได้ดีมาเป็นต้นวงศ์พระนครศรีอยุธยา แถมตั้งวงศ์สำเร็จ ก็ออกปากว่าขอมแปรพักตร์
จัดการเสียอย่างสบายมือ

ท่านที่ทรงอำนาจสูงส่งได้อย่างนี้ ผมไม่ค่อยเชื่อว่ามาจากสุพรรณครับ ภูมิสถานและประวัติกาลของเมืองนี้ไม่น่าจพทรงอำนาจ
มีแต่ลพบุรีเท่านั้น ที่น่าจะทำได้ มีรูปจำหลักรับรองอยู่ที่นครวัดเสียด้วย

สรุปว่ายังเป็นกระทู้คำไทยได้นะครับคุณติบอ คำว่า "อู่ทอง" ไง


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 15 พ.ค. 08, 15:52
โอว.... เป็นคำไทยที่เลือนรางมากครับ คุณพิพัฒน์ ;D


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Oam ที่ 15 พ.ค. 08, 21:18
คิดถึงคำเก่าที่ไม่ใช่คำไทย แต่คิดว่าคุณ Hotaunus อาจจะอธิบายได้
แต่ก่อนที่ตักผง หรือที่โกยผง มักเรียกว่า กุ้นเต้า หรือ บุ้งเต้า (ไม่ค่อยแน่ใจ)
คิดว่าอาจจะมีที่มาเดียวกับคำว่าบุ้งกี๋

นึกเลยไปถึงคำว่า เย็บกี่ เย็บพ้ง กุ๊น


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 15 พ.ค. 08, 22:13
"ปุ้งเต้า" ภาษาแต้จิ๋วมั้งครับ ที่แปลว่าที่ตักผง
คู่กับ "เซ้าซิ่ว" ที่แปลว่า ไม้กวาดครับ


จำได้ว่าคุณป้าข้างบ้านคนนึงเคยเดินมาถามคุณแม่ผมว่า
เดี๋ยวนี้ทำไมเด็กๆต้องไปเรียนทำไม้กวาดฝรั่งด้วย ??
ถามไปถามมา ถึงได้รู้ว่าแกเข้าใจว่า "Britrish council"
เป็น "อั่งม่อเซ้าซิ่ว" อ่ะครับ เง๊อ......


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 15 พ.ค. 08, 22:32
ยังติดใจชื่อพระเจ้าแผ่นดินโบราณ
เป็นคำที่เลิกใช้ไปหมดแล้วเหมือนกัน

แกวแมนตาทอกขอกฟ้าตายืน

ชื่อเก๋ใหมครับ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 16 พ.ค. 08, 01:40
อยากทราบความเห็นครับ  หลังจากฟูนันหมดอำนาจลง  อาณาจักรหรือรัฐทวารวดีมีอาณาเขตแค่ไหนครับ  และคิดว่าที่ใดหรือเมืองใดเป็นราชธานีของทวาราวดี  ที่ผมได้รับการฝังใส่สมองมาว่าเมืองหลวงของทวาราวดีคือ เมืองอู่ทอง

แต่ที่พิพิธภัณฑ์อู่ทองเห็นทั้งพระพุทธรูปทวาราวดีและรูปอวโลกิเศวรของศรีวิชัย  ที่กล่าวกันว่ากรมศิลป์ได้ขุดตกแต่งสำรวจและเจอเมื่อ พศ2500  เป็นไปได้ไหมที่เคยเรืองอำนาจและล่มสลายประมาณ 1500 กว่าๆ ก่อนชัยวรมันที่ 7(ขอม) ที่มาเรืองอำนาจ(จากการก่อสร้าง)ในปี 1800... ???



เศียรพระที่อู่ทอง


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 16 พ.ค. 08, 01:51
เจ้าแมนตาทอก พญาแมนตาทอก  เคยได้ยินครับใน นิทานหรือตำนาน(ไม่ทราบเรียกอย่างไรดี)  เรื่องท้าวฮุ่งท้าวเจือง เป็นวรรณคดีลาว  ท้าวเจืองหรือขุนเจืองที่โดนพญาแมนตาทอกปราบ  เป็นภาษาโบราณครับ  บ้านผมเรียกภาษาธรรม  ตะก่อนเป็นหนังสือที่จารึกใส่ไม่ไผ่ที่เป็นซี่ๆมัดรวมกันใส่บั้งไว้  เรียกหนังสือบั้ง  บางที่ก็เป็นใบลานห่อด้วยผ้าไหมโบราณครับ  นานมากแล้วที่เคยได้ยินได้ฟังตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม  เคยเห็นหนังสือผูกด้วยครับ  มีโอกาสจะกลับไปอ่านดู..... ;D


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 16 พ.ค. 08, 02:47
เรื่องชื่อ "อู่ทอง" นี้ ถ้าตามความเห็นผม ก็ยังคงคิดว่าถูก "ภิกษุผู้รจนาตำนาน" แปลงชื่อมาจากชื่อ "สุพรรณภูมิ" นี่แหละครับ เพราะ ภูมิ = อู่ , และ สุพรรณ = ทอง

ผมเชื่อว่าเป็นชื่อที่แต่งขึ้นในยุคหลังมากๆ อาจอยู่ในช่วงอยุธยาตอนกลาง ถึงตอนปลายด้วยซ้ำ

หลายตำนาน มักกล่าว เหตุที่ทรงชื่อ "อู่ทอง" เพราะว่า ทรงมี "อู่" (เปล) ทำด้วยทองคำ ถ้าใช้หลักการ "อธิบายตำนาน ตามศัพท์ที่เห็น" ก็จะพอสังเกตได้ว่า คำอธิบายนี้ แต่งขึ้นใหม่ โดยลากศัพท์ที่เห็นไปเป็นเรื่องราว

ผมไม่ค่อยชื่อว่า "อู่ทอง" จะเป็นชื่อคนครับ เหตุด้วยเพราะมีเงื่อนงำที่น่าจะถูกแปลมาจาก "สุพรรณภูมิ" นี่แหละครับ

ส่วนกรณีพระร่วงเอง ในเชิงตำนาน ก็ไร้กาลเวลาเช่นกัน พระร่วงอาจมีหลายองค์ ซึ่งหมายถึงผู้ครองเมืองสุโขทัย แต่จากเรื่องราวน่าจะหมายถึงทั้งพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และพ่อขุนรามคำแหงมหาราช หรืออาจเป็นผู้ปกครองเมืองสุโขทัยรุ่นก่อนๆ ก็เป็นได้

โดยส่วนตัวแล้ว ผมก็ไม่เชื่อว่า "ร่วง" จะเป็นชื่อคนครับ แต่น่าจะเป็นชื่อเมืองมาก่อน ซึ่งอาจจะเพี้ยนมาจากคำว่า "รุ่ง" เหตุที่ตีความเช่นนี้ เพราะว่า ในชื่อบาลีของพระร่วง คือ "โรจนราช" ซึ่ง โรจน์ ก็คือ รุ่ง นั่นเอง คำว่า ร่วง คงเพี้ยนกันมาหลายรุ่น

อีกประการหนึ่ง "สุโขทัย" ก็พบร่องรอยของคำว่า "รุ่ง" อยู่ในชื่อนี้ คือคำว่า "อุทัย"

เหตุนี้ จึงทำให้ผมค่อนข้างเชื่อว่า ทั้งชื่อ พระร่วง และ ท้าวอู่ทอง ถูกตั้งขึ้นตามชื่อเมืองครับ

ส่วนชื่อกษัตริย์ของทางล้านนา อันนี้ ชัดเจนครับ เพราะว่ามีตำนานระบุไว้ว่า องค์ครองราชย์ช่วงไหน ซึ่งต่างกับตำนานทางภาคกลาง ที่มีเรื่องราวเป็นเชิงตำนานมากกว่า โดยเฉพาะเรื่อง พระร่วง-ท้าวอู่ทอง ดังนั้น ถ้าตามความเห็นผม ก็จะเป็นคนกรณีกันครับ

ส่วนเรื่อง สมเด็จพระรามาธิบดี ถ้าตามการเชื่อมโยงเงื่อนงำในตำนาน และพงศาวดาร ต่างก็บ่งชี้ว่าทรงมาจากละโว้แน่นอนครับ อันนี้เห็นตรงกับคุณพิพัฒน์ แต่ส่วนหนึ่งผมก็ยังเชื่อว่า ก่อนที่จะมาครองอยุธยา ก็น่าจะได้ปกครองเมืองสุพรรณภูมิมาก่อน (ในฐานะลูกเขย) ดังนั้น ชื่อ "อู่ทอง" จึงติดมากับพระองค์ครับ

และคำว่า "อู่ทอง" ในตำนานต่างๆ ผมมีความเห็นว่า ต่างก็หมายถึง ผู้ครองเมืองทั้ง "อู่ทองโบราณ" และ "สุพรรณภูมิ" ไม่ควรจะหลุดไปจากสองเมืองนี้


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 16 พ.ค. 08, 03:07
ตอบคุณ Kurukula ครับ

เรื่องเมืองอู่ทองถูกร้างนี้ เป็นความจริง เนื่องจากหลักฐานทางโบราณคดีบ่งชี้เช่นนั้น แต่เมืองที่สืบต่อนี้ ผมเชื่อว่าก็คือเมืองสุพรรณภูมินั่นแหละครับ ข้ามแม่น้ำมาทางทิศตะวันออกอีกนิดเดียว และศิลปะที่เรียกรวมๆ ว่า ศิลปะอู่ทอง-อโยธยา ซึ่งเ็ป็นศิลปะที่ผสมกันระหว่างทวารวดีกับเขมร ก็น่าจะเป็นหลักฐานได้เป็นอย่างดีครับ ถึงความสืบต่อของวัฒนธรรมในแถบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตจังหวัดชัยนาท ซึ่งเป็น zone สำคัญ ระหว่าง แคว้นสามแคว้นคือ ลพบุรี สุพรรณภูมิ และ สุโขทัย ใครๆ ก็อยากได้ที่ตรงนี้ครับ เพราะเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่จะไปตีเมืองเหนือได้


=========================
ตอบคุณพิพัฒน์ ครับ

ชื่อ "แกวแมนตาทอกขอกฟ้าตายืน" นี้ เคยได้ยินมาอยู่สองสาม version บางทีก็เป็น แมนตาตอกขอบฟ้าตายืน ก็มี เข้าใจว่าอาจเกิดจากการคัดลอกผิด

คุ้นๆ ว่า คุณจิตร ภูมิศักดิ์ และนักคิดอีกหลายท่านเคยพยายามแปลความหมายชื่อนี้อยู่ แต่จำรายละเอียดไม่ได้เสียแล้ว  :-X

แกว เป็นชื่อคนล้านนาเรียก "ญวน" จำได้ว่า การสืบค้นเกี่ยวกับชื่อเมืองนี้ ไม่พบว่า "ญวน" เคยมีสงครามกับพญาเจื๋อง แต่ก็ยังไม่เป็นข้อสรุปครับ

แมนตาทอกขอกฟ้าตายืน นี้ เป็นชื่อแปลกอยู่ ไม่แน่ใจว่ามีคำคัดลอกผิด หรือ มีคำโบราณที่ไม่ใช้แล้วหรือไม่

แมน ตรงกับคำปัจจุบันคือ เทวดา ไม่แน่ใจว่าเกี่ยวข้องกับคำว่า "แถน" หรือไม่

แต่แปลโดยเดาๆ มั่วๆ แล้ว น่าจะแปลได้ว่า "แกว เมืองแถน ที่อยู่ไกลสุดหูสุดตา"

"ขอบฟ้าตายืน" - ขอบฟ้า คือ ไกลสุดตา
                - ตาตอก, ตายืน คือ เพ่งมอง (มั้งครับ  ???)


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 16 พ.ค. 08, 03:20
อยากทราบความเห็นครับ  หลังจากฟูนันหมดอำนาจลง  อาณาจักรหรือรัฐทวารวดีมีอาณาเขตแค่ไหนครับ  และคิดว่าที่ใดหรือเมืองใดเป็นราชธานีของทวาราวดี  ที่ผมได้รับการฝังใส่สมองมาว่าเมืองหลวงของทวาราวดีคือ เมืองอู่ทอง

แต่ที่พิพิธภัณฑ์อู่ทองเห็นทั้งพระพุทธรูปทวาราวดีและรูปอวโลกิเศวรของศรีวิชัย  ที่กล่าวกันว่ากรมศิลป์ได้ขุดตกแต่งสำรวจและเจอเมื่อ พศ2500  เป็นไปได้ไหมที่เคยเรืองอำนาจและล่มสลายประมาณ 1500 กว่าๆ ก่อนชัยวรมันที่ 7(ขอม) ที่มาเรืองอำนาจ(จากการก่อสร้าง)ในปี 1800...

ตอบคุณ Bana ครับ

เรื่องสถานภาพของทวารวดี ว่าเป็น "นครรัฐ" หรือ "อาณาจักร" ยังไม่มีการฟันธงครับ แต่มีแนวโน้มว่าควรจะเป็น "นครรัฐ" มากกว่า โดยมีวัฒนธรรมร่วมกัน คือแต่ละนครจะมีราชาของตัวเอง Model ที่พอจะเปรียบเทียบได้คือ นครรัฐกรีกโบราณ ครับ ศูนย์กลางก็น่าจะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ถ้าในกรีกโบราณก็จะเป็น เอเธนส์บ้าง หรือ สปาต้าบ้าง

เทียบบ้านเรา ศูนย์กลางยุคแรก คงอยู่ที่เมืองโบราณอู่ทองครับ ศูนย์กลางในที่นี้หมายถึง นครรัฐที่เจริญที่สุด อาจมีเมืองบริวารโดยรอบ ที่ปกครองโดยเชื้อพระวงศ์ หรือ ขุนนางที่ได้รับมอบหมาย แต่เมืองใหญ่ที่ไกลออกไปเช่น นครปฐมโบราณ ละโว้ หรือ คูบัว น่าจะมีราชาของตัวเอง แต่ยึดโยงกันไว้ได้ด้วยวัฒนธรรมทวารวดีครับ นครรัฐเหล่านี้รวมไปถึง เมืองในภาคอีสานด้วยครับ

ถ้าพูดถึงเฉพาะภาคกลาง ดูเหมือนว่า วัฒนธรรมทวารวดีจะถูกแบ่งออกเป็นสองฟากคือ ทางตะวันออก มีละโว้เป็นเมืองสำคัญ และทางตะวันตกเมืองโบราณอู่ทอง กับเมืองนครปฐมโบราณ เป็นเมืองสำคัญ

แน่นอนว่ายุคแรกของทวารวดี ความเจริญทางตะวันออกอยู่ที่ละโว้ครับ และละโว้นี้เองก็ออกจากภาคีทวารวดีเป็นเมืองแรกๆ โดยอิทธิพลของกัมพูชา แต่จะด้วยกำลังทหาร หรืออะไรก็ไม่ทราบได้

ส่วนทางตะวันตก ยุคแรกจะเจริญอยู่ที่อู่ทองครับ ต่อมาเจริญขีดสุดที่เมืองนครปฐมโบราณ จากนั้นจึงล่มสลาย ย้ายเมือง ซึ่งเกิดในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ครับ แต่ถ้าใช้หลักฐานทางจารึก ดูเหมือนว่าอิทธิพลเขมรน่าจะเข้ามาที่เมืองอู่ทองตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๕ แล้วครับ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 16 พ.ค. 08, 03:58
ตอบคุณ Oam ครับ

ี่ที่โกยผง ที่เรียกว่า กุ้นเต้า หรือ บุ้งเต้า (ปุ้งเต้า) นี้ ผมไม่เคยได้ยินเลยครับ คงเพราะที่บ้านไม่ได้เกี่ยวข้องกับทางจีน  ;D

เข้าใจว่า ถ้าบ้านไหนมีเชื้อสายจีน ผู้ใหญ่ในบ้านคงเรียกของใช้ในบ้านตามภาษาจีนแต้จิ๋ว (คิดว่า บ้านคุณน้องติบอ ก็คงเข้ากรณีนี้  ;D เห็นมียกตัวอย่าง)

ถ้าเป็นปุ้งกี๋ ผมหาจากคำที่เคยค้นไว้ เขียนแบบนี้ 畚箕 (จีนกลาง: ben3 ji1, กวางตุ้ง: bun2 gei1 - ปุ๋นเก็ย)

คำว่า "ปุ้ง" (畚 กวางตุ้ง: ปุ๋น bun2) คงเป็นคำเดียวกันครับ แต่คำว่า "เต้า" นี้ ผมไม่ทราบ แต่คิดว่าอาจเป็นตัว 土 (กวางตุ้ง: โถว tou2) ที่แปลว่าดิน หรือ ฝุ่นดิน คงต้องให้คุณ CrazyHOrse มาช่วยอีกแรงครับบ

畚土 (กวางตุ้ง: ปุ๋นโถว) ??? อันนี้มั่วครับ รอคำแนะนำ  :-[

================

เย็บกี่ นี่ผมก็ไม่ค่อยได้ยินครับ ในชีวิตอาจเคยได้ยินไม่เกินสองหน อิอิ  :D

ราชบัณฑิตยสถานท่านว่า
 เย็บกี่ ก. ใช้ด้ายเย็บแผ่นกระดาษด้วยวิธีร้อยทีละปึกเล็ก ๆ เพื่อประกอบ
   เข้าเป็นเล่มในลักษณะที่ทําให้เปิดเล่มได้เต็มที่.

กี่ ๑    น. เครื่องทอผ้า, เครื่องเย็บสมุด; ที่ตั้งพระกลดหรือ
   พระแสงง้าวเป็นต้น.

กี่กระตุก น. เครื่องทอผ้าชนิดหนึ่งที่มีสายกระตุกเพื่อให้กระสวย
   พุ่งไปได้เอง.

============================

เย็บพ้ง นี่ไม่ทราบครับ "พ้ง" น่าจะเป็นคำจีนหรือเปล่าครับ ? อาจเป็นชื่อของวิธีการเย็บ ?

ลองค้นๆ ดูไม่รู้จะเกี่ยวกับคำนี้คือเปล่า กวางตุ้ง: fung4 (ฟ่ง), fung6 (ฟง) แปลว่า เย็บ


============================

กุ๊น นี่ก็ไม่เคยได้ยิน สรุปว่า ที่ถามมา ผมไม่เคยได้ยินเลย อิอิ  :-[

ก็ต้องพึ่ง ราชบัณฑิตยสถาน ท่านว่าไว้ว่า
กุ๊น ก. ขลิบเย็บหุ้มริมผ้าหรือของอื่น ๆ ใช้แถบผ้าย้วยหรือเฉลียง
   เย็บหุ้ม ๒ ข้างเม้มเข้าเป็นตะเข็บกลมบ้างแบนบ้าง มักใช้ที่
   คอเสื้อหรือชายเสื้อเป็นต้น.

แต่ท่านไม่ได้บอกว่ามาจากภาษาอะไร เดาว่า คงมาจากภาษาจีนตามเคย  ;D

เดาว่า ตัวนี้ครับ กวางตุ้ง: gwan2 (กวั๋น) หรือ kwan2 (ขวัน) แปลว่า ม้วน หรือ กลับด้าน (turn, roll, rotate; boil)

ปล. เนื่องจากผมไม่ทราบว่า แต้จิ๋วออกเสียงอย่างไร จึงลงคำกวางตุ้งไว้ให้อ่านครับ (มีเว็บให้ฟังว่าออกอย่างไร  ;D)

ที่มา: http://www.mdbg.net/chindict/chindict.php?page=main


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Oam ที่ 16 พ.ค. 08, 07:59
ขอบคุณในความวิริยะของคุณ Hotacunus ครับ :)


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 16 พ.ค. 08, 11:02
ท้าวฮุ่ง ก็เป็นอีกชื่อหนึ่งที่จะมาขัดคอลุงโฮได้
คือหมายความว่า แกต้องตรองเมืองฮุ่ง หรือรุ่ง หรือร่วง หรือโรจน์.....หรืออุทัย
และพรญางำเมืองก็ต้องครองเมืองงำ หรือเมืองงำเืมือง.....ประมาณนั้น
ท้าวอู่ทองนั้น ผมคิดว่าอู่คือชื่อ ทองคือสมัญญา แต่ก็ไม่มีหลักฐานอะไรมาสนับสนุนเหมือนกัน
เรื่องนี้ น่าคิดต่อจริงๆ ครับ

ถ้าจะมีเมืองที่ชื่อสุวรรณภูมิ หรือสุพรรณภูมิจริง
เมืองนี้ก็ต้องเก่าขนาดพระโสณะ พระอุตตระท่านมาเผยแผ่พระศาสนาทีเดียว
เมืองสุพรรณฯ เห็นจะตัดทิ้งได้ เพราะไม่อยู่ติดน้ำ
ไม่สอดคล้องกับตำนานผีเสื้อน้ำมากินเด็ก และท่านทั้งสองช่วยขับไล่

ทางมอญเขาจึงมั่นใจว่าทั้งสองท่านมาขึ้นฝั่งที่ชายหาดบ้านตน
ถ้าจะเอาหลักฐานเข้าอ้าง โบราณสถานที่เก่าสุด เจอแต่ในภาคกลางของเรา
อย่างที่เมืองเก่าอู่ทองนั่น ว่าเก่าถึงอมราวดีทีเดียว
ความอุดมสมบูรณ์ของหลักฐาน ทำให้บวสเซลิเย่ร์ชักจะเอนเอียงมาเชื่อว่า ศูนย์กลางของฟูนัน อยู่ที่นี่
(ไม่ทราบว่าก่อนตาย แกเปลี่ยนความเชื่อหรือยัง) แต่นักวิชาการทั่วไปยังไม่ยอมรับ

หลักฐานที่ตระหง่านค้ำเมืองมอญก็คือ เมืองนครปฐมครับ
มหาสถูปก่อนที่พระจอมเกล้าจะโปรดให้สร้างพระปฐมเจดีย์ครอบ มีขนาดมโหฬารน่าระย่อ
แม้แต่ที่ย่อมลงมาอย่างวัดหน้าพระเมรุ ก็ยังมองข้ามไม่ได้
ยังไม่ต้องพูดถึงวัดโขลงที่คูบัว หรือมหาสถูปแห่งลพบุรีที่วัดนครโกษา
ของระดับนี้ สุพรรณฯ ไม่มีเลยครับ

ผมจึงเชื่อว่าสุพรรณ เป็นชุมชนใหม่รุ่นกำแพงเพชร หรือพิษณุโลก
ไม่เก่าลงไปอีกห้าหกศตวรรษทันกับคำว่าสุวรรณภูมิ



กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 16 พ.ค. 08, 14:14
ปุงเต้า คือที่โกยผงครับ เขียนอย่างนี้ครับ 糞斗


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 16 พ.ค. 08, 18:46
เรื่องชื่อท้าวฮุ่ง (ก็คือ รุ่ง) ขุนเจื๋อง หรือแม้แต่ งำเมือง ก็ตาม เป็นอีกแบบครับ เทียบกับชื่อ "ร่วง" "อู่ทอง" ไม่ได้ คนละบริบทกัน

ดังที่ผมกล่าวไปแล้ว ชื่อของกษัตริย์ทางเหนือ ถูกระบุไว้ชัดเจนในเรื่องของลำดับเวลา และตัวตน ซึ่งต่างกับตำนานทางภาคกลาง

ส่วนเรื่องเมืองสุวรรณภูมิในตำนานนั้น ไม่มีหลักฐานสนับสนุนครับว่าอยู่ในไทยหรือไม่ เพราะเป็นเพียงการคาดว่าเท่านั้น

ชื่อ "สุพรรณภูมิ" น่าจะถูกตั้งขึ้น ด้วยความเชื่อในชั้นหลังนี่แหละครับ โดยน่าจะถูกนำเอามาจากตำนานในพุทธศาสนาตอนการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระเจ้าอโศกมหาราช

มีนักวิชาการอินเดีย หรือ ลังกานี่แหละ ผมจำไม่ได้แล้ว เค้าก็เสนอว่า เส้นทางที่ว่ามาสุวรรณภูมินี้ อาจเป็นการแต่งขึ้นเองโดยภิกษุลังกา เพราะในศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราชก็ไม่พบว่ามีเส้นทางดังกล่าว เพื่อให้ดูว่ามีการแพร่ขยายของพุทธศาสนาไปทุกทิศ

ส่วนชื่อ "สุวรรณภูมิ" (สมัยพุทธศตวรรษที่ ๓) นี้ โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าอยู่แถบพม่าตอนใต้ครับ ในหนังสือเก่าๆ จะพบพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวว่า เหตุที่พระองค์เชื่อว่าศูนย์กลางของทวารวดีอยู่ที่เมืองนครปฐม ไม่ได้อยู่ที่เมืองมอญ (สุธรรมวดี - สะเทิม) เพราะดูจากโบราณวัตถุ-โบราณสถานแล้ว ของที่นครปฐมเก่ากว่ามาก

แต่จากการที่ผมเพิ่งได้คุยกับนักโบราณคดีพม่าระดับเก๋า ท่านเล่าว่า ตอนนี้ พบเมืองโบราณที่รัฐมอญ เก่ากว่าเมืองโบราณนครปฐม กำลังทำการขุดค้นอยู่

จากภูมิศาสตร์แล้ว ทางนั้นก็ติดต่อกับทะเลไปอินเดียได้ง่ายกว่า และมีอ่าวมะตะบัน เป็นชัยภูมิ

เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องของการสันนิษฐาน และหาข้อมูลมาสนับสนุนไปกันเรื่อยๆ ครับ ยังไม่สรุป

เรื่องฟูนันที่อู่ทอง เห็นจะต้องพับเก็บแล้วครับ เพราะรายงานการขุดค้นทางโบราณคดีในปัจจุบัน รายงานว่าบริเวณปากแม่้น้ำโขงนั่นแหละครับที่เป็นอู่อารยธรรมของฟูนัน ด้วยเหตุที่เป็นจุดกึ่งกลาง ระหว่างโลกตะวันตก (โรมัน-อาหรับ-เปอร์เซีย-อินเดีย) กับ จีน

เรื่องพระปฐมเจดีย์องค์เดิม มีเงื่อนงำอยู่ในแผนที่เมืองสำคัญสมัยอยุธยา ในสมุดภาพไตรภูมิ ระบุว่าสร้างราวปี ๑๑๙๙ หรืออะไรประมาณนี้แหละครับ ไม่รู้ว่ามั่วกันในชั้นหลัง หรือ เป็นข้อเท็จจริงที่เล่าสู่ต่อๆ กันมา ถ้าเป็นข้อเท็จจริง ก็อาจกล่าวได้ว่า พระปฐมเจดีย์องค์เดิม อาจถูกสร้างขึ้นเพื่อฉลองพุทธศาสนาครบ ๑๒๐๐ ปี ก็เป็นได้

ส่วนอู่ทองนั้น น่าจะตั้งเมืองมาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๗ ครับ แต่มาเจริญเป็นวัฒนธรรมทวารวดีที่ชัดเจนในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๒ เรื่องความเจริญของเมืองเหล่านี้ ในช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ ๗ ทำเลของเมืองโบราณทวารวดีตั้งอยู่ไม่ไกลจากทะเลครับ ซึ่งอยู่ในช่วงการถอยกลับของระดับน้ำทะเลสมัยโฮโลซีนตอนปลาย ดังนั้น ถ้าลากเส้นตามเมืองโบราณทวารวดีในที่ราบภาคกลาง ก็จะได้แนวชายฝั่งทะเลโบราณแบบคราวๆ ครับ

เรื่องเมืองสุพรรณภูมิ ก็ควรจะตั้งขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘ ครับ และน่าจะเป็นการสืบต่อมาจากเมืองโบราณอู่ทอง ไม่เก่าไปถึงสมัยพระเจ้าอโศกแน่นอน


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 16 พ.ค. 08, 18:46
ปุงเต้า คือที่โกยผงครับ เขียนอย่างนี้ครับ 糞斗

ขอบคุณครับ  ;D


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 16 พ.ค. 08, 19:56
ยังขัดคอได้อีก.....
ชื่อฮุ่ง รุ่ง ร่วง ...น่าจะเป็นคำไทย และน่าจะอยู่ในเนื้อหาวัฒนธรรมเดียวกัน
คือสุโขทัยเองนั้น เป็นตัวคั่นลานนากับอยุธยา
แต่ถ้าดูสายสัมพันธ์แล้ว จะสนิทกับเมืองเหนือมากกว่าเมืองใต้
ชื่อรุ่ง กับชื่อร่วง จึงอยู่สาแหรกเดียวกันได้ด้วยประการะฉะนี้แล.....

ตอนที่กรมพระราชวังบวร(กรมหลวงอิศรสุนทร) โปรดให้รวบรวมตำนานเมืองเหล่านี้
ยังต้องตั้งชื่อว่า พงศาวดารเหนือ แปลว่าไม่ใช่อยุธยา
อย่างไรก็ตาม ผมยังคิดว่า การตั้งชื่อกษัตริย์อย่างง่ายนี้ เป็นประเพณีของตำนาน
แต่ตำนานก็มีทั้งที่จดบันทึก หรือมิได้จดบันทึก
เช่นเดียวกัน เรื่องราวสำคัญๆ บางวัฒนธรรมก็ทำไว้เป็นจารึก บางวัฒนธรรมก็ไม่ทำ
สุโขทัยจึงมีจารึกนับไม่ถ้วน ส่วนอยุธยา โดยเฉพาะในเขตราชธานี จึงแทบไม่มีจารึกเลย

แต่ความทรงจำก็ยังสืบสายต่อมา ไม่เช่นนั้นพระวันรัตน์ท่านคงแต่งจุลยุทธการวงศ์มิได้
แม้แต่ต้นเรื่องของพระราชพงศาวดาร ก็ยังเก็บตำนานไว้หน่อยหนึ่ง
ดังนั้น การที่ตำนานอู่ทองถูกเก็บเอาไว้ แม้จะเป็นเศษชิ้นส่วนมากๆ ก็ตาม
เชื่อว่า มาจากระบบเก็บรักษาความทรงจำแบบไทยๆ (จะไทยเหนือหรือใต้ ก็พออนุโลมเป็นกลุ่มเดียวกันได้)
ผมยังไม่อยากจะคิดว่า ไทยใต้นั้น ใช้วัฒนธรรมที่แยกออกจากไทยเหนือ
เพราะยังคิดว่า ตำนานสุวรรณโคมคำ และสิงหนวัตินั้นเอง
ที่เป็นแหล่งเก็บรักษารากเง่าร่วมกันของไทยอยุธยากับไทยยวนรวมทั้งไทยสุโขทัยไว้

รอลุงโฮมาแยกธาตุ.....


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 17 พ.ค. 08, 00:40
ขอบคุณลุงโฮครับ

ที่ผมถามอาณาเขตของนครรัฐทวารวดี  ผมคิดว่าไม่น่าจะใหญ๋เท่าฟูนันหรือขอม  อาจมีอาณาเขตแค่บริเวณตอนกลางของไทยในปัจจุบัน  และเมืองอู่ทองผมยังเชื่อว่าเป็นเมืองสำคัญหรือราชธานีของทวารวดีและนครปฐมหรือละโว้ก็เป็นราชธานีที่สำคัญเช่นกัน  แต่ที่ไหนจะมากกว่ากันอันนี้ข้อสันนิษฐานของท่านพิพัฒน์เรื่อง  สิ่งก่อสร้างที่ดูโอฬารก็น่าคิด  แต่ข้อสำคัญอาจมีเพียงว่า  เจ้าผู้มาตั้งเมืองอโยธยาใหม่  คือเจ้าที่มาจากเมืองอู่ทอง  เรียกเจ้าอู่ทอง ครับ และท่านอาจมีชื่อเป็นนามของท่านด้วย  และเป็นวัฒนธรรมการเรียกที่ต่างจากฝ่ายเหนือแบบลุงโฮว่าก็ยังพอฟังได้ครับ

ผมดีใจที่ท่านพิพัฒน์มีความสนใจในตำนานของล้านช้างและศรีโคตรบูร  ซึ่งต้องของพึ่งพาต่อไปในโอกาสหน้า  เรื่องของเมืองต้นของ(ต้นแม่น้ำโขง)  ตำนานการไหลเรือไฟ  เรื่องของความเชื่อมโยงระหว่างศรีโคตรบูรกับล้านช้างและฝั่งเชียงแสน  มหากาพย์เรื่องท่าวฮุงท่าวเจือง  เกี่ยวกับตำนานสุวรรณโคมคำน่าสนใจครับ  น่าสนใจว่าเป็นตำนานหรือประวัติศาสตร์ที่พิสูจน์ได้  แต่คงหลีกเรื่องอภินิหารไม่ได้เพราะแถบบ้านผมต้องมีเกี่ยวแทบทุกเรื่อง....... :D

ศรีโคตรบูร(แถบสวันเขต,นครพนม)ใต้ลงไปถึงจำปาสัก  จำเรียกพวกข่าพวกขอม  ส่วนแถบเหนือขึ้นไปถึงเวียดนามหลวงพระบาง  เรียกพวกแถนพวกแมนครับ  แมนกับแถนเกี่ยวกันครับลุงโฮ  คือถือว่ามาจากฟ้าจากสวรรค์  อันคล้ายกับสมมติเทพของไทยเรา  ส่วนแดนแกวกับล้านช้างเชื่อว่ามีต้นไม้ใหญ่ล้มแบ่งดินแดนทั้งสองออกจากกันฝั่งตะวันออก(เวียดนาม)จึงถือเป็นดินแดนสุดขอบฟ้าชองคนโบราณยุคนั้นครับ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 17 พ.ค. 08, 02:01
เรื่องสุโขทัยจะใกล้ชิดกับเมืองเหนือ หรือใต้มากกว่ากันนี้ ผมว่าขึ้นอยู่กับว่าอยู่ในช่วงเวลาไหนครับ

ถ้าเป็นช่วงสร้างเมืองสุโขทัยยุคแรก (ก่อนวงศ์พ่อศรีนาวนำถุม ?) แน่นอนว่าน่าจะใกล้ชิดเมืองเหนือมากกว่า และอาจเป็นวงศ์วานเดียวกันมาก่อน ? แต่ถ้าเป็นช่วงที่เริ่มมีการบันทึกประวัติศาสตร์แล้ว จะพบได้ว่าสุโขทัยใกล้กับเมืองทางใต้มากกว่าครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรับวัฒนธรรมเขมรเข้ามาทั้งเรีื่องอักษรศาสตร์ และศิลปศาสตร์ หรือแม้แต่เมืองที่ไกลอย่างเมืองนครศรีธรรมราชก็มีร่องรอยอยู่

เมืองใต้ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงอยุธยานะครับ แต่หมายถึงละโว้-ลพบุรี เงื่อนงำก็มีอีก คือตำนานพระร่วง (บาง version) กล่าวว่า พระร่วงเดิมอยู่เมืองละโว้ และต้องต่อมาหนีมาบวชที่สุโขทัย (ตำนานขอมดำดิน) หรือ เดิมพระร่วงต้องส่งสวยน้ำไปให้ละโว้ (บาง version บอกว่าส่งไปให้พระเจ้ากรุงกัมพูชา)

อันที่จริงคำว่า เมืองใต้ นี้ จะเป็นคำที่ใช้กันในตำนานเมืองเหนือ ซึ่งแน่นอนว่าจะหมายถึง อยุธยา เพราะตำนานแต่งขึ้นในช่วงที่อยุธยาเป็นราชธานีแล้ว แต่ถ้าสมัยก่อนอยุธยา ตำนานเมืองเหนือจะเรียกละโว้ว่า กัมโพชะ

เรื่องชื่อ ฮุง ร่วง รุ่ง เรือง เจื๋อง นี้ ผมว่าป็นคำไทยเดิมครับ และให้ความใกล้ชิดกับเมืองเหนือ แต่ว่า ก็คงเป็นเรื่องราวยุคแรกๆ ของเมืองสุโขทัย (ใช้ชื่อ ร่วง - รุ่ง) ก่อนที่จะรับวัฒนธรรมเขมร-ละโว้เข้ามา ผมจึงมองว่า "ร่วง" หรือ "รุ่ง" นี้น่าจะเป็นชื่อเมืองมาก่อน ก่อนที่จะถูกเปลี่ยนเป็นชื่อบาลีว่า สุโขทัย

"เมืองเชียงรุ่ง" ก็พอเป็นตัวอย่างเทียบได้กับชื่อเมืองที่ใช้ภาษาไทยเดิมครับ อย่างไรก็ตาม บางท่านเรียก เชียงรุ้ง ซึ่งจะหมายถึง รุ้ง (กินน้ำ) หรือ นกรุ้ง อะไรนี่แหละครับ แต่ส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อว่า "รุ่ง" ที่แปลว่า สว่าง มากกว่า ซึ่งตรงกับคำบาลีว่า อุทัย








กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 17 พ.ค. 08, 02:17
ขอบคุณสำหรับความรู้เพิ่มเติมครับ คุณ Bana  ;D

แต่อ้างนิดครับ

"เจ้าผู้มาตั้งเมืองอโยธยาใหม่  คือเจ้าที่มาจากเมืองอู่ทอง  เรียกเจ้าอู่ทอง ครับ และท่านอาจมีชื่อเป็นนามของท่านด้วย  และเป็นวัฒนธรรมการเรียกที่ต่างจากฝ่ายเหนือ"

อันที่จริงไม่ใช่วัฒนธรรมการเรียกชื่อหรอกครับ อิอิ แต่ว่า หลักฐานที่มีมันพอจำแนกได้แบบนั้นครับ คือ ตำนานทางเมืองเหนือมีความละเอียดในการบันทึกชื่อ และปีครองราชย์ แต่ว่าตำนานทางภาษากลางไม่มีการบันทึกแบบนั้น มักจะเล่าต่อๆ กันมาปากต่อปาก ดังนั้น การเรียกชื่อราชาโดยอ้างอิงจากชื่อเมือง จึงจดจำง่ายกว่า ดังเช่น พระเจ้ากรุงจีน พระเจ้ากรุงกัมพูชา พระยาไตรตรึงษ์ เป็นต้น

ที่สำคัญคือ ทั้งชื่อพระร่วง และ ท้าวอู่ทอง ต่างก็ "ถูกบันทึกเป็นตัวอักษร" โดยคนเมืองใต้ครับ (อยุธยา-ต้นรัตนโกสินทร์) อย่างไรก็ตามในตำนานสิบห้าราชวงศ์ ในตอนที่เล่าเกี่ยวกับ "สามสหายกษัตรา" ผมจำไม่แน่ชัดว่า ใช้ชื่อ "พระร่วง" ด้วยหรือเปล่า จำได้เลาๆ ว่าเรียกว่าพระร่วงเหมือนกันครับ

อย่างไรก็ตาม ในศิลาจารึกมีพบชื่อ พญาร่วง ด้วยครับ

จารึกฐานพระอิศวรเมืองกำแพงเพชร
พุทธศักราช ๒๐๕๓

วรรคที่ ๓
อนึ่งท่อปู่พระยาร่วงทำเอาน้ำไปเถิงบางพานนั้น
ก็ถมหายสิ้น และเขาย่อมทำนาทางฟ้า
และหาท่อนั้นพบ กระทำท่อเอาน้ำเข้าไปเลี้ยงนา
ให้เป็นนาเหมืองนาฝาย มิได้เป็นทางฟ้า
อันทำทั้งนี้ ถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จบพิตรพระเจ้าอยู่หัว ทั้งสองพระองค์ฯ


"ปู่พญาร่วง" ในที่นี่น่าจะหมายถึง "ราชาแห่งสุโขทัย" ซึ่งไม่ได้ระบุว่าองค์ไหน แต่ทราบว่าหมายถึงราชาสุโขทัยก็คือคำว่า "ร่วง" นี่แหละครับ

กลับมาที่ "คำไทยที่ไม่ (ค่อย) ใช้กันแล้ว"  ;D

เถิง - ถึง
ถมหายสิ้น - ถูก (ดิน) กลบไปหมดแล้ว
ทำนาทางฟ้า - ทำนาโดยอาศัยฟ้า (ฝน), ทำนาโดยพึ่งฟ้า
นาเหมืองนาฝาย - นาชลประทาน
มิได้เป็นทางฟ้า - ไม่ต้องอาศัยฝน
อันทำทั้งนี้ - ที่กระทำทั้งหมดนี้

==================================

จารึกมหาสังฆราชาศรีตรีปิฎก
ไม่ทราบศักราช อักษรฝักขาม พบที่จังหวัดเชียงราย

... ชาวเจ้าทั้งหลายเป็นสักขี มีต้นว่า มหาสังฆราชาศรีปิฎกอุตมมญาณเทพาเจ้าป่ารวกนี้
มหาเถรสุวรรณเจ้าป่าสงัด มหาเถรธรรมโรจิเจ้าจอมทอง มหาสามีนันทประหญาเจ้าวัดหมื่นไร
มหาสามีจันทรังสีป่าญะสุมงคล มหาสามีเจ้าวัดพญาร่วง มหาเถรอินทรประหญาเจ้า วัดศรีชุม ...

==================================
จารึกวัดเก้ายอด
พุทธศักราช ๑๙๕๕ พบที่จังหวัดพะเยา

ด้านที่ ๑
... คำจารึกว่า แต่แดนวิหาร วัดเก้ายอด
เมือวันตกเอาคือเวียงเป็นแดน
มาวันออกอาบ้านพญาร่วง บ้านหมอช้างเป็นแดน
เมือเหนือเอาหินฝังไว้เป็นแท่น ...

==================================
จารึกเจ้าสี่หมื่นพยาวฝังเสมาวัดลี
พุทธศักราช ๒๐๓๘ ไม่ทราบที่มา

ด้านที่ ๑
... แลครูพระเป็นเจ้าให้อาราธนาชาวเจ้า มาชุมนุมสงฆ์
มีต้นว่า มหาสามีญาณเทพเจ้าอยู่วัดมหาพล มาเป็นอาทิกัมม์
มหาสามีนนประหญาวัดใหม่
มหาสังฆราชาพุธาทินนอยู่วัดหลวง
มหาเถรสุวันเจ้า มหาสามีนนวัดพระยาร่วง เจ้าเถรญาณมงคลวัด . . . . .

==================================

เหล่านี้เป็นร่องรอยของชื่อ "พญาร่วง" ในศิลาจารึกครับ จะสังเกตได้ว่า เป็นจารึกรุ่นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑ ซึ่งที่พบในเมืองเหนือนั้น ล้วนเป็นชื่อวัด ชื่อหมู่บ้าน ส่วนที่กำแพงเพชรก็เป็นชื่อท่อ ซึ่งหมายถึง ท่อน้ำชลประทานที่สร้างขึ้นในสมัยพญาร่วง คำว่า "พ่อปู่" ในที่นี้ก็คงหมายถึง "บูรพกษัตริย์"


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 18 พ.ค. 08, 02:10
วันนี้ดูอินเดียน่า โจนส์  ชอบในคำพูดที่ว่าประวัติศาสตร์กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ มักเขียนในห้องสมุด  แต่ผมยังเชื่อระบบ"มุขปาฐะ"นะครับ  การเล่าสืบต่อกันมาไม่ว่าจะเป็นในเชิงนิทาน  ตำนาน  หรือลัทธิความเชื่อ  คตินิยมในแต่ละยุคสมัย  ประกอบกับบางสิ่งที่ยังพอเห็นได้ในปัจจุบัน  ยังไม่ควรมองข้าม  และการสันนิษฐานโดยอาศัยคติเหล่านั้นประกอบกับจารึกหรืออักษรที่พอหากันพบ  ผมยังเชื่อถึงความเชื่อมโยงของทุกชาติพันธุ์ในคาบสมุทรแห่งนี้  ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางเหนือหรือใต้  ความรุ่งเรืองของแต่ละยุคอาจปรากฏในสถาปัตยกรรมและอักษร  นอกจากนั้นล่ะ  คติความเชื่อก็ต้องเชื่อมโยงกันด้วยครับ

ทางภาษาลาวไม่มี  ร-เรือ(เสียง) ครับ
ฮุง  -  แปลว่า  สว่าง
ฮุ่ง  -  แปลว่า  เหยี่ยว(หรือ แหลว)

แถน  คือเทวดาที่อยู่บนฟ้า  พวกแมน-หรือสืบเชื้อสายมาจากแถน(เทวดา,อินทร์,พระอาทิตย์,พระจันทร์)  คือคติความเป็นสมมติเทพของผู้ครองเมืองนั่นเอง  ชื่อก็คงย่อมสอดคล้องกับคติเหล่านี้  พ่อร่วง-พญาร่วง-พระร่วง  คือร่วงมาจากฟ้า  เป็นไวพจน์ของคำเรียกผู้ครองนคร  เหมือน  จอมนรา  เจ้าชีวิต  ผ่านฟ้า ฯลฯ  พญาร่วง  คงเป็นคำเรียกผู้เป็นใหญ่ตามลัทธิขอม  เหมือนเจ้าชีวิต ในปัจจุบันของประเทศเพื่อนบ้าน  เพราะการออกพระนามคงไม่เหมาะ  ผมกำลังจะเทียบเคียงกับเจ้าอู่ทอง  อิอิ  .....อันนี้เป็นข้อคิดเห็นล้วนๆของผมนะครับ  ท่านพิพัฒน์คงไม่ถือสา

เชียง - แปลว่า ผู้เคยบวชเณรมาแล้ว (เหมือนน้อยในภาคเหนือ)
เชียง - แปลว่า เมือง ก็ได้

เชียงฮุง(เชียงรุ้ง)  เมืองที่สว่าง  รุ่งเรือง ,  เชียงแสน  เมืองแห่งพระเจ้าองค์แสน(พระพุทธรูปหนักแสนชั่ง)  เชียงทอง  เมืองทอง
เจือง(เจียง) - หนึ่ง,ที่หนึ่ง  เดือนเจือง - เดือนอ้าย
ผาเมือง  -  สาด-ตกมาสู่เมือง        ฝนผาเข่าเฮือน - ฝนตก-สาดเข้าบ้าน ........... :D


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 18 พ.ค. 08, 07:33
เห็นคำว่า "ผาเมือง" ผมกลับนึกถึง "กำแพง (เมือง)"  ;D (เทียบ หน้าผา)

คำว่า "กำแพง" นี้ ก็เป็นคำเขมรครับ เป็นคำยืมที่เราใช้กันจนเป็นคำในภาษาไทยมาตรฐานไปแล้ว

ผมไม่แน่ใจว่าในตำนานเล่าไว้หรือเปล่าว่าทำไมถึงถวายพระนามว่า "ผาเมือง"

ถ้าจะทึกทัก ก็คงมีความหมายว่า "ผู้ปกป้องเมือง" (ดุจกำแพงเมือง)

ความหมายนี้ทำให้ผมนึกไปถึงพระนามว่า "งำเมือง" ด้วย ทึกทัก (อีกที) ว่า "งำ" นี้ คงมีความหมายเดียวกับ "ครอบงำ" แต่ในเชิง "ปกป้อง" หรือ "คุ้มครอง" ถ้าให้ทึกทักแปลก็คงได้ว่า "ผู้คุ้มครองเมือง"

ทึกทักถูกผิดเช่นใด ท่านที่มีความรู้ภาษาคำเมือง-ภาษาลาว โปรดแนะนำด้วยครับ

สอบถามเพิ่มเติมครับ "แหลว" นี้ เป็นคำลาว แปลว่า "เหยี่ยว" ใช่หรือเปล่าครับคุณ Bana ถ้าใช่ก็น่าสนใจเกี่ยวกับการเพี้ยน "หล" / "หย" มากทีเดียว

=================
คำว่า "เจื๋อง" ที่แปลว่า "(เดือน) แรก" นี้ น่าสนใจว่า อาจมีที่มาเดียวกันคำจีนด้วยครับ คือ 正月 (zheng1 yue4) first month of the lunar new year

(กวางตุ้ง: zeng3, เจง)

ถ้า "เจื๋อง" เป็นคำร่วมไท-จีน ก็คงมาจากสำเนียงกวางตุ้งนี่แหละ (หรือสำเนียงจีนถิ่นแถวๆ นั้นที่อยู่ใกล้ๆ กับเผ่าไท) เพราะทางแต้จิ๋วดูเหมือนจะออกว่า "เีจีย" ซึ่งปัจจุบันเราคุ้นเคยกันกับประโยคที่ว่า "ซินเจียอยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้"

================

นึกไปนึกมา คำว่า "เชียง" นี้ ทำให้ผมนึกถึง "เส่ง" ของภาษาจีนกวางตุ้งที่แปลว่า "เมือง" หรือ "ป้อม" เหมือนกัน

(กวางตุ้ง: seng4, เส่ง) ไม่รู้จะเกี่ยวกันหรือเปล่านะครับ แต่จากเสียงแล้วทำให้นึกไปได้เช่นนั้น โดยเฉพาะเสียง "ส-ช" นี้เพี้ยนกันได้ง่ายมาก


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 18 พ.ค. 08, 08:23
มีเอกสารโบราณ เรื่องตั้งเจ้าเมืองอีสานครั้งรัชกาลที่ 1
ความตอนต้นบอกว่า
ขุนมีสองแบบ คือขุนผา และขุนมาร
ทำให้เข้าใจได้ว่าผาเมือง เป็นอบ่างไร

คุณบานาต้องมาเฉลยหน่อยละ ว่าผา ในภาษาอิสาน แปลว่าอะไร


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 18 พ.ค. 08, 08:44
ส่วนคำว่า "ทอง" นี้ เคยอ่านคำอธิบายของคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ว่าเป็นคำ มอญ-เขมร

ส่วนภาษาตระกูลไทใช้ "คำ" ภาษาไทยมาตรฐานเลยกลายเป็น "ทองคำ"

น่าสนใจว่า ในภาษาจีนมีคำสองคำที่ออกเสียงคล้ายทั้ง "ทอง" และ "คำ" ซึ่งต่างก็เป็นธาตุที่มีค่าทางเศรษฐกิจมาตั้งแต่ก่อนสมัยประวัติศาสตร์

(กวางตุ้ง: tung4, โถ็ง) ทองแดง
(กวางตุ้ง: gam1, กัม) ทองคำ

แถม "เงิน" อีกคำครับ

(กวางตุ้ง: ngan4, หงั่น) เงิน


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 19 พ.ค. 08, 01:44
ในภาษาล้านช้าง  ผามีหลายความหมายครับ
- แปลว่า  อาวุธที่ใช้ล่าสัตว์  มีลักษณะแบบหน้าไม้
- แปลว่า  ตกมาสู่  หรือสาด(ใช้กับฝน)  ฝนผา - ฝนสาด
- แปลว่า  หน้าผา
- แปลว่า  ปัญญา  คล้าย ผญา

ส่วน แหลว  แปลว่า เหยี่ยว  ครับ     ฮุ่ง  ก็ แปลว่าเหยี่ยว

ถ้า "ขุนผา"  ต้องหมายถึงเจ้าแห่งภูเขา หรือ เจ้าแห่งปัญญา ครับ    ผา  เป็นนาม
แต่ถ้า  "ผาเมือง"  "ผาเฮือน"   อย่างนี้  ควรแปลว่า  ตกมาสู่เมือง  สู่บ้าน  ................. :D


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 23 พ.ค. 08, 10:34
"ลอยชาย"

ใครอธิบายได้บ้างครับ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ค. 08, 11:06
นุ่งผ้าลอยชาย หรือคะ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 23 พ.ค. 08, 12:44
มิได้ครับ
ลอยชายนี้ เริ่มต้นที่เป็นของจริง
แต่ลงปลายแล้ว กลายเป็นสำนวน

ผมเข้าใจว่ามาจากกฏมฆเฑียรบาล ที่ห้ามนุ่งลอยชายเข้าพระราชฐาน
ทุกวันนี้ยังตกค้างอยู่ในการเข้าชมพระบรมมหาราชวัง แต่ก็เพี้ยนไปมากแล้ว
คือปกติขุนนางมักจะนุ่งผ้าปล่อย ไม่เหน็บให้เรียบร้อย เพราะสะบายตัว

พอจะเข้าวังก็ต้องเหน็บให้เรียบร้อย กลายเป็นเครื่องแบบ
แต่แล้วคำว่า "ลอยชาย" ก็กลายมาเป็นสำนวน

หมายถึงอะไร ต้องลองให้คนปัจจุบันมาบอกเล่าดู
สมัยผมเป็นเด็ก ความหมายออกแนวเหยียดหยาม
ประเภทอย่ามาลอยชายแถวนี้นะเฟ้ย......


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ค. 08, 13:03
สำนวนมีอยู่ในขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม   
ขุนช้างลวงพลายงามไปฆ่า แล้วเดินลอยชายทำไม่รู้ไม่ชี้กลับมาเรือน


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 24 พ.ค. 08, 01:04
"วัดรอย"

คำนี้ ปัจจุบันเพี้ยนแบบกลบตาละปัตรทีเดียว


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 24 พ.ค. 08, 09:37
       วัดรอย นี้คือหนึ่งในสำนวนที่มาจากรามเกียรติ์หรือเปล่า ครับ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ค. 08, 11:08
หมายถึงตอนทรพีวัดรอยตีนทรพาหรือคะ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 24 พ.ค. 08, 11:19
พิมพ์ผิดประจำเลยผม "กลบตาลปัตร"ในความเห็นข้างบน ต้องเปลี่ยนเป็น "กลับตาลปัตร" นะครับ
ขออภัยในความไม่สะดวก

ข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์เมื่อกึ่งพุทธกาล บอกว่า
"ผมไม่วัดรอยท่าน"
เป็นคำพูดของพลเอกสฤษดิ์ เมื่อมีผู้ถามว่า จะล้มรัฐบาลจอมพลป. หรือไม่
ตอนที่ผมโตมา คำนี้ก็เริ่มเพี้ยนนิดหน่อยแล้ว เช่นด่ากันว่า เอ็งจะวัดรอยข้าหรือ
แปลว่า เอ็งจะทำตัวเทียบเท่า

แต่ในความหมายที่แท้จริง วัดรอย = เนรคุณ
จากเรื่องรามเกียรติ ถูกต้องแล้วครับ
เจ้ามหิงสาหนุ่ม เฝ้าวัดรอยตนกับรอยตีนพ่อ ว่าเมื่อไรจะต่อสู้ได้
ตอนจบก็คือลูกฆ่าพ่อ วัดรอยจึงเท่ากับทรพี

แต่ในชาดกนั้น มีกล่าวถึงรอยตีนสัตว์ ที่ไม่ใช่การวัดรอยแบบทรพี
คือท่านเทียบว่า รอยตีนสัตว์เล็ก ย่อมอยู่ในรอยตีนพญาช้าง
ช้างจึงเป็นเจ้าป่า


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 24 พ.ค. 08, 22:01
การนำเรื่องราวจากวรรณคดีไทย (และชื่อตัวละคร) มาใช้ในภาษาพูดชีวิตประจำวันนี้ รู้สึกจะมีมากพอควรครับ โดยเฉพาะจากเรื่องรามเกียรติ์

วัดรอย (เนรคุณ) - รามเกียรติ์
น้ำบ่อน้อย (น้ำลาย) - รามเกียรติ์
ราพณาสูร (ราบคาบ) - รามเกียรติ์
กากี (ผู้หญิงมากชู้) - นิทานชาดก
วันทอง (ผู้หญิงหลายใจ) - ขุนช้างขุนแผน
ขุนแผน (ผู้ชายเจ้าชู้, ผู้ชายหลายเมีย) - ขุนช้างขุนแผน

นึกไม่ออกแล้ว อิอิ  ;D

===============

ปัจจุบัน เก๋เท่ ตามศัพท์วงการบันเทิงไทย ต้องใช้ คาซาโนว่า - คาซาโนวี่  ;D


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ค. 08, 23:30
มาเพิ่มเติม จากวรรณคดีอื่นๆค่ะ
ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง
จรกา (แปลว่ารูปชั่วตัวดำ)
บุษบา( หมายถึงสวยมาก)
เสี่ยงเทียน   
เรื่องนี้นึกถึงตอนที่พระเฑียรราชา ขุนพิเรนทรเทพ และอีกสองสามคนวางแผนกำจัดขุนวรวงศาฯ  ไปเสี่ยงเทียนกันในโบสถ์
ตามประวัติ   นิทานเรื่องอิเหนาเข้ามาในอยุธยาสมัยพระเจ้าบรมโกศ  นานหลังสมัยพระเจ้าจักรพรรดิสองสามร้อยปี   แต่ธรรมเนียมในเรื่องนี้คล้ายกัน
ทำให้คิดว่าเหตุการณ์ตอนบุษบาเสี่ยงเทียน น่าจะเป็นธรรมเนียมไทย แทรกเอาไว้ในเรื่องมากกว่าค่ะ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 25 พ.ค. 08, 00:17
แล้วคำว่า  "สามหาว"  ล่ะครับมาจากวรรณคดีหรือเปล่าครับ  ......... :)


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 25 พ.ค. 08, 19:09
สามหาว นี่ไม่ทราบครับ แต่ได้ยินจากหนังจีนบ่อยๆ โดยเฉพาะเปาบุ้นจิ้น "วาจาสามหาว" อิอิ

นึกออกอีกคำครับ

สิบแปดมงกุฎ (เจ้าเล่ห์) - รามเกียรติ์


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 26 พ.ค. 08, 23:01
เกรียก     หน่วยวัดความยาว

เมื่อวันก่อนได้ฟังรายการสุขภาพทางวิทยุ  โฆษกีอ่านตะกุกตะกัก เพราะไม่คุ้นกับชื่อผักไทยๆ

มีเรื่องหนึ่งคือการชวนเชิญให้ดื่มน้ำผักต่างๆเพื่อสุขภาพ   
มาถึงการนำบรเพ็ดยาวหนึ่งเกรียกมาต้มกับน้ำ    เจ้าหล่อนกระชดกระช้อยบอกว่าไม่ทราบว่ายาวแค่ไหน
สารภาพว่าไม่ทันฟังว่าใช้น้ำปริมาณเท่าใดเพราะสนใจเรื่อง"เกรียก" อยู่



เกรียก ๒ (ราชบัณฑิต ๒๕๔๒  หน้า ๑๔๑)
 ระยะยาวชั่วนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้กางออก เช่นยาวแค่เกรียก


เหวอ....ขอผ่านค่ะ  ไม่ชอบของขม


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 08 ก.ย. 08, 12:48
รีดนาทาเร้น
ไปถามเด็กสาวๆรุ่นนี้ เขาว่าเขาไม่รู้จัก ขนาดที่บ้านทำนา
 :'(


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 08 ก.ย. 08, 17:10
รีดนาทาเร้น

อ่านหนังสือของจิตร ภูมิศักดิ์ จะเขียนว่า นีดนาทาเร้น อ่านพบหลายครั้งจนมั่นใจว่าไม่ได้พิมพ์ผิด ไม่รู้ว่ามีที่มาอย่างไรนะครับ

แต่สงสัยว่าน่าจะเป็นภาษาเขมรครับ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 11 ก.ย. 08, 08:46
จะลองไปถามอาจารย์ที่เก่งภาษาเขมรในคณะอักษรฯ จุฬาดูค่ะ คุณเครซี่ฮอร์ส


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: semudara ที่ 30 พ.ค. 09, 13:14
ดีๆๆๆๆ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: semudara ที่ 30 พ.ค. 09, 13:54
อันที่จริงเเล้วภูเก็ตก็มาจ่ากากคำว่าบูกิตนั่นนแหละ  เพียงแต่บางคนยังข้องใจว่า เก็ต  เป็นสระเอะ  เเต่ กิต เป็นสระอิ  เเต่เมื่อเราลองเข้าไปดูวัฒนธรรมทางภาษาของชาวมลายูโดยเฉพาะ  มลายูเกดดาห์  คำว่าบูกิต เขาจะออกเสียงว่า บูเก็ต  ตรงตัว อย่างไม่มีข้อโต้เเย้ง เเละเมื่อดูชื่อบ้านนามเมืองรอบๆๆเกาะภุเก้ต  ยังมีอีกมากมายที่เป็นภาษามลายู เช่นหาดราไวย์(เบ็ดราวแบบปักของชาวมลายู)  เกาะละวะเเบ็ดราวอีกชนิดหนึ่งของชาวมลายู)    หาดในทอน(หาดที่มีน้ำตื้น)  คลองกะลา(กัวลา แปลว่าปากน้ำ) บางเจ๊ะเลา(หมู่บ้นช่องน้ำ) บางม่าเหลา เกาะปายู(เกาะพายุ ) เกาะนาคา(เกาะนาค) กมลา(ปากน้ำผู้โชคร้าย  เเต่เดิมเขียนเป็น กำมะรา) บ้านพารา บางคนฑี  เกาะสิเหร่ (พลู) เกาะลัง  (แปลว่าขวาง)  เกาะมะพร้าว  (เดิมชื่อเกาะยอร์ เเปลว่ามะพร้าว) เเหละหงา ( แปลว่าเเหลม กลาง ) เกาะปันหยีพังงา  (แปลว่าเกาะ ที่มีรูปร่างเหมือนธงสามเหลี่ยม) เกาะพีพี (เดิมชื่อว่าปูเลาปีปี) เกาะเหลาลาดิง  เหลาปิเหละ(เหลา=ปูเลา ปิเละ=ห้อง)  กำลังถูกเรียกชื่อภาษาไทยว่าเกาะห้องแล้วตอนนี้  ดูเเค่นี้เราก็น่าจะรู้ได้เเล้วว่าที่มาของชื่อภูเก็ตน่าจะมาจากที่ได  ดูเเล้วน่าจะเป็นการทับศัพเสียมากกว่า  เป็นที่รู้กันดีว่าชื่อบ้านนามเมืองใหญ่ๆๆเเถวภาคให้มักมีชื่อเป็นภาษามลายู ทั้งนั้นเเล้วภูเก็ตจะเหลือหรอ และอีกอย่างคนโบราณ  เเถบนี้ก็ไม่นิยมตั้งชื่อเมืองที่มีความหมายลึกซึ้งอะไร  เห็นอะไรก็ตั้งไปตามนั้น  จริงมั้ย อีกอย่างภูเก็ตไม่ไช่ชื่อเกาะนี้ในสมัยโบราณ  เเต่ถลางตะหากเป็นชื่อของเกาะนี้  ดังนั้นถ้าเอาเหตุผลการเรียกชื่อเกาะนี้ว่าเกาะภูเก็ตก็มีเเค่คำตอบเดียวคือ เมืองภูเก็ตใหญ่มาทีหลังเเละสำคัญจากการทำเเร่ดีบุกเมื่อ200 ปีมานี้เอง จึงกลายเป็นชื่อเกาะชื่อใหม่เเทนชื่อถลางไป  ส่วนที่ว่าคนเห็นเกาะว่ามีภูเขาเเล้วตั้งชื่อเป็นเกาะบูกิ๊ตนั้นเห็นจะไม่ไช่ เพราะเกาะนี้มีชื่ออย่ก่อนเเล้วก่อนที่ภูเก็ตจะบูมขึ้นมาทีหลังเสียอีก  เกาะนี้จึงมีชื่อเดียวคือเกาะถลาง  นั่นเอง  ส่วนภูเก็ตนั้นก็มีการพัฒนาทางประวัตศาสตร์อีกอย่างหนึ่งอีก  ต้องเเยกออกมาให้ชัด  เพราะเดี๋ยวจะมั่ว    ส่วนเรื่องเมืองมนิกกิมัม หรือมนิกครามอะไรนั่น  เป็นการตีความหมายไปเองว่าเป็นชื่อเดิมของที่นี่  ทั้งที่ศิลาจารึกนี่ก็พบที่ตะกั่วป่า  เเละเรื่องราวก็ดูเหมือนว่าจะเป็นชาวทมิฬกลุ่มหนึ่งทะทะเลาะกันมาจากที่อื่นเสียด้วย  ดังนั้นเรื่องชื่อเมืองที่กล่าวถึงจึงเป็นเพียงเเค่ เมืองที่อยู่บนฝั่งอินเดียตะหาก  สังเกตุว่าผู้ว่ามีคำว่า พระวังหน้า  ข้อนี้ก็รู้เเล้วว่าเป็นเจ้านายของเขาที่อินเดียนะเเหละ  ไม่ไช่ที่ตะกั่วป่า  หรือที่เกาะถลาง  เเต่อย่างใด 



กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 30 พ.ค. 09, 15:15
จากกระทู้นี้ http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/03/K7647760/K7647760.html (http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2009/03/K7647760/K7647760.html)
มีคำๆหนึ่งที่สงสัยว่ามาจากภาษามลายูคือ กาหรั่น น่าจะมาจากภาษามลายู garan

ขอคำชี้แนะจากคุณ semudara ด้วยครับ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: semudara ที่ 31 พ.ค. 09, 15:09
เรียนคุณ CrazyHOrse  กอ่นนะค่ะ  คืออยากทราบว่าคำที่คุณต้องการทราบนั้นว่าเป็นชื่อของอะไร  ที่มาที่ไปของการสงสัยคืออะไร   จะได้หาเเนวทางของคำตอบที่ถูกต้อง  เพราะเวลาเราเปดพจนานุกรมมีคำมากมายที่เราเจอตรงกันด้วยเสียงที่  มีจำนวนไม่น้อยที่มีความหมายหรื  คำตอบไม่ตรงกับที่เราต้องการ  ดังนั้นจึงขอทราบที่มาของคำนี้ว่าคุณได้มาอย่างไร  จากไหน เป็นชื่อของ  อะไร  จะได้มีเเนวทางในการศึกษาที่ชัดเจนขึ้น


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 01 มิ.ย. 09, 10:02
มีคำที่สงสัยจะถาม  ใครก็ได้ช่วยไขให้หน่อย

ถึงแหลมสิงห์สิงขรชะง่อนงอก
ที่โตรกตรอกเขาเขินเปนเนินผา
มีหินขาวยาวใหญ่ใกล้ชะลา
ทัศนาเพริดพริ้งเหมือนสิงห์โต
ก็สมคำสำคัญมีมั่นเหมาะ
เกิดจำเพาะทางประเทศวิเสศโส
ดูหัวหายกายยังตั้งชะโง
ภอเรือโร่ออกแถวแนวทะเล
จากนิราศจันทบุรี - กรุงเทพฯ หลวงบุรุษประชาภิรมย์ (กี้ บุณยัษฐิติ)

คำว่า ชะโง หรือ ตั้งชะโง แปลว่าอะไร มีที่มาจากภาษาอะไร ฝากด้วยนะครับ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 01 มิ.ย. 09, 10:55
กาหรั่น ที่ว่านั้น คุณ Navarat.C ได้ค้นมาให้ดูว่าหมายถึงกระเดืองที่อยู่ในรูป คคห. 53 ในลิงก์ที่ผมยกมาให้ก่อนหน้านี้ครับ
ผมเปิดพจนานุกรมมลายู แปล garan ว่า handle ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจะหมายถึงกระเดืองในรูปดังกล่าวได้หรือไม่
หรือ กาหรั่น นี้จะเป็นคำที่ไทยเรียกย่นย่อมาจากจักกรั่นครับ (คำจักกรั่นนี้ไม่น่าสงสัยว่าจะมาจาก Cakaran แน่)

ส่วนคำว่า ชะโง ของคุณ luanglek ผมไม่เคยได้ยินมาก่อนครับ เข้าใจว่ากลอนพาไปมากกว่าครับ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: semudara ที่ 02 มิ.ย. 09, 19:07
อ๋ออย่างนี้นี่เอง


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 02 มิ.ย. 09, 20:18
แฮ่ๆ อย่าอ๋อแล้วหายไปสิครับ มาช่วยกันก่อน ผมทำได้แค่เปิดพจนานุกรม แต่ไม่รู้ว่าคำว่า garan ในชีวิตจริงเขาใช้กันยังไง จะเป็นกระเดื่องอย่างในรูปที่ว่าได้หรือไม่ ขอความรู้หน่อยครับ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: semudara ที่ 02 มิ.ย. 09, 21:21
เดี๋ยวไปดูก่อนนะ   เเต่ไหนๆๆก็เข้ามาเเล้วก็ฝากความรู้เรื่องหนึ่งให้อ่านเเล้วกัน  เป้นกระทู้ที่ต้องการเปิดปมที่คาใจของกระทู้บางกระทู้ในหน้า11 ที่ สงสัยที่มาที่ไปของชื่อภูเก็ตหน่อยนะ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: semudara ที่ 02 มิ.ย. 09, 21:22
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าภูเก็ต  เป็นชื่อเกาะที่มีมาทีหลัง  แต่เดิมชื่อของภูเก็ตในเอกสารสยามทั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา( อันเป็นสมัยแรกที่ปรากฏชื่อในเอกสารของสยาม ) และสมัยรัตนโกสินทร์เรียกว่าเกาะถลาง    ส่วนหลักฐานทางต่างประเทศเรียกว่า Junk selon บ้าง jank salam บ้าง   ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่ทับศัพท์ไปจาการไต่ถามชาวพื้นเมือง ทั้งสิ้น  ไม่ปรากกฎว่า ชื่อเกาะมีชื่อว่าเกาะภูเก็ตมาก่อนเลย เพิ่งมาเรียกกันตั้งแต่ยุบรวมเมืองถลางกับเมืองภูเก็ตเข้าด้วยกัน  เกาะนี้ก็เลยต้องโดนเรียกชื่อใหม่ว่าเกาะภูเก็ตตามความสำคัญของเมืองใหญ่กว่าที่เพิ่งขึ้นจากการมีความมั่งคั่งของสินแร่ดีบุก ที่เพิ่งเจริญขึ้นมาเมื่อ 200 ปี  ดังนั้นการที่เราตีความว่าภูเก็ตเป็นชื่อเกาะนี้มาแต่โบราณนั้นมีอันต้องล้มเลิก  เพราะแรกเริ่มภูเก็ตเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเกาะที่มีชื่อว่า เกาะถลางตามเอกสารสยาม  อันนี้ถึงจะเป็นชื่อจริงของเกาะนี้ ในสมัยก่อน   เพราะฉะนั้นเราต้องคิดแยกกัน  จะนำเอาเรื่องการพัฒนาทางประวัติศาสตร์ของแต่ละเมืองทั้งสองมารวมกันไม่ได้  แม้ว่า  จะมีประวัติศาสตร์ที่กี่ยวข้องกัน  เเต่ก็มีส่วนที่มีความเป็นตัวของตัวเอง ของแต่ละเมือง  และมีจุดเริ่มไม่เท่ากัน  เป็นอันรู้กันดีว่าเมืองถลางเกิดก่อนภูเก็ต  ดังนั้นการที่มีคนวิเคราะตีความที่ว่า  เมืองภูเก็ต  แปลว่าภูเขาจริงก็ไม่น่าใช่เพราะ ภูเก็ตแปลว่าภูเขา  แต่ภูเก็ตเป็นเกาะ เห็นจะต้องถอยหลังกลับมาคิดกันใหม่ตามที่ได้อธิบายไว้แล้วด้านบน  เพราะถ้าศึกษาประวัติศาสตร์ของเกาะนี้จะเห็นได้ว่าภูเก็ตในสมัยโบราณเป็นแค่หมู่บ้านหนึ่งของเมืองถลางต่อมาเจริญขึ้น  คนในทะเลก็ไม่ได้รู้ว่ามีหมู่บ้านกี่หมู่บ้านบนเกาะแห่งนี้  และภูเก็ตก็ไม่ได้เป็นหมู่บ้านเดียวด้วย   เพราฉะนั้นหมู่บ้านก็ต้องมีหลากลายและมีชื่อแตกต่างกันไปตามเชื้อชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่  ไม่ไช่ว่าในสมัยโบราณชื่อภูเก็ต  เป็นชื่อทั้งหมดของเกาะนี้ซะหน่อย  เมื่อไม่ถึง200  ปีนี่ตะหากที่เพิ่งกลายเป็นชื่อเกาะทั้งหมดไปก็เพราะกลายเป็นหมู่บ้านที่ใหญ่ที่สุดในเวลาต่อมาเท่านั้นเอง    ที่นี้หวังว่าคงเข้าใจ  ในความจริงแล้ว   ว่าเหตุผลที่ต้องเข้ามาแนะนำนี้ต้องการสิ่งใด    นั่นก็คือการของแย้งความคิดในหน้า11 ที่ว่า    “เมืองภูเก็ตเป็นเกาะมาแต่ไหนแต่ไร ชื่อเก่าไม่มี ถ้าภูเก็ตมาจาก บูกิตจริง มันก็ไม่น่าจะใช่  เพราะนี่เป็นเกาะ ไม่ใช่เขาหรือถ้าเป็นเขาก็ต้องเขาในน้ำทะเล”   ที่นี้คงเข้าใจ  ว่าการด่วนสรุปอะไรง่ายๆๆนั้น  เป็นการที่ไม่น่าจะทำอย่างยิ่งเพราะจะทำให้คำตอบที่ได้อาจมีข้องบกพร่องมากกว่าปกติ   จึงขอตอบเลยว่า  ภูเก็ตมาจากภาษามลายูนั้นถูกแล้ว  เพราะบริเวณ “หมู่บ้าน”ที่เป็นที่ตั้งเมืองภูเก็ตเก่านั้นคือบริเวณบ้านสะปำ และบ้านเกาะแก้วในปัจจุบัน  อันมีชาวมลายูมุสลิมเป็นประชากรหลักดั้งเดิม  และมีชาวจีนโพ้นทะเล  ที่เพิ่งเข้ามาเป็นประชากรรอง  ดังนั้น  ชื่อภูเก็ตจึงมาจากภาษามลายู  อย่างไม่ต้องสงสัย  เพราะเกิดจากการเรียกหมู่บ้านของขานั่นเอง  โดยที่เขาก็ไม่นึกว่าหมู่บ้านของเขาจะเป็นแหล่งแร่  ดีบุกทีสำคัญ  แต่เมื่อทางขุนนางท้องถิ่นสำราจพบ  ก็ได้มาตั้งทำแร่นะบริเวณนี้  จนกลายเป็นแหล่งแร่สำคัญในเวลาต่อมา   และบังเกิดความเจริญขึ้น  จนกระทั่งกลายเป็นเมืองหนึ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของ “เมืองถลาง”อันเป็นเมืองใหญ่ที่สุดในขณะนั้น  โดยที่มีเมืองภูเก็ตเป็นแหล่งแร่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง เมื่อเกิดเป็นเมืองขึ้นก็ต้องมีชื่อเมืองที่เป็นลายลักษณ์อักษร จึงเกิดคำว่า  ภูเก็จ ขึ้น  อันเป็นการทัพศัพท์มลายูให้เป็นคำไทยที่มีความหมาย  (ไม่แปลก เพราะคนไทยชอบทับศัพท์ เป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว  และ ภาคใต้ก็ไม่ได้มีชื่อเมืองที่ เลิดเลอเพอเฝ็ก เลยแม้แต่จังหวัดเดียว เช่น ระนอง พังงา ตรัง  สตูล ตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง เห็นได้ว่าไม่ได้เพราะพริ้งแต่อย่างใด ความหมายตามตัว ทั้งทางไทยที่แปลความหมายออกมายากเหลือหลาย ทั้งความหมายที่หาแสนง่ายดายในมภาษามลายู ดูแล้วก็เห็นว่า ตั้งๆๆตามทำเลภูมิศาสตร์เสียทั้งสิ้น   )  จนกระทั่งเมืองภูเก็ตพัฒนาตัวเองกลายเป็นเมืองใหญ่ที่มีฐานะเทียบเท่าเมืองถลาง  ที่มีมาก่อน โดยไม่อยู่ในอานัตของเมืองถลาง  จนกระทั่งเมืองถลางต้องกลายเป็นเมืองที่ต้องมาขึ้นกับเมืองภูเก็ตอีกตะหาก  จนกระทั่งสุดท้ายก็ถูกยุบก็กลายเป็นอำเภอหนึ่ง ของจังหวัดภูเก็ตไป  และชื่อเกาะถลางก็ต้องมีอันเลิกใช้เปลี่ยนมาใช้เป็นชื่อเกาะภูเก็ต  อันเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดบนเกาะนี้ในเวลาต่อมา  ทีนี้เข้าใจจุดกำเนิดของภูเก็ตแล้วยังว่า ไม่จำเป็นว่า บูกิ๊ตจะต้องเป็นชื่อเกาะภูเขาโผล่พ้นทะเล  การที่คำว่า ”ภูเก็ต”(ที่มาจาก  Bukit ในภาษามลายูกลาง หรือ Buket  ในภาษามลายูสตูลหรือมลายูเกดดาห์ )  ได้กลายเป็นชื่อเกาะแห่งนี้  ไม่จำเป็นว่าทั้งเกาะแห่งนี้ต้องมีภูเขาทั้งเกาะจนเขาต้องเรียกเกาะนี้ว่า  เกาะบูกิ๊ต     
 เพียงแค่หมู่บ้านเล็กๆหมู่บ้านหนึ่ง ก็สามารถ  พัฒนาตัวเอง จากหมู่บ้านเล็กๆ ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆๆและกลายเป็นชื่อเกาะไปโดยที่ เขาไม่ต้องมานั่งเนรมิตภูเขาให้โผล่ทุกตารางนิ้วของเกาะเพื่อให้คนมาเรียกเกาะนี้ว่าเกาะบูกิ๊ต หรือ เกาะภูเก็ต  แค่มีทรัพยากรแร่ดีบุกเท่านั้นก็สามารถเปลี่ยน ชื่อจากเกาะถลางมาเป็นเกาะภูเก็ตได้โดยไม่ต้องอ้างถึงภูเขาทั้งเกาะ ในกรณีเดียวกันถ้าเกิดดีบุกไปโผล่มากๆๆแถว  ป่าตอง   เกาะถลางก็คงกลายเป็นเกาะป่าตองไป อันเนื่องมาจากความอุดมสมบูรณ์ของดีบุกนั่นเอง   (  การพัฒนาการของชื่อบ้านนามเมืองเช่นนี่มีต่อมาเรื่อย  ๆ อย่างเช่นเมืองภูเก็ต  เมือ100  กว่าปี ก่อนเขาเรียกว่าเมืองทุ่งคา  (อำเภอเมือปัจจุบัน)  อันเนื่องมาจาก เนื่องมาจากที่นี่มีดีบุกมาก  พระยาวิชิตสงครามจึงย้ายเมืองมาตั้งที่นี่ แต่ตามราชการคงเรียกเมืองภูเก็ตเสมอมา  แต่ก็ได้แนบท้ายว่าที่ไหน เช่น  เมืองภูเก็ตที่ “เก็ตโฮ่” หรือเมืองภูเก็ตที่ ”ทุ่งคา”   เป็นต้น  แต่ถ้าถามชาวบ้านที่อยู่ที่นี่เขาชอบที่จะเรียก  “เมืองทุ่งคา” ตามที่ที่เขาอยู่มากกว่าที่จะเรียก ภูเก็ต อันเป็นชื่อเก่าก่อนของเมืองภูเก็ตที่ตั้งอยู่ที่ “บ้านบูเก็ต” ที่ตำบลเกาะแก้ว   แต่ก็ไม่ได้เรียกร้องเปลี่ยนชื่อเมืองในเอกสารราชการเป็นเมืองทุ่งคาตามที่เขาถนัดเรียก เพราะไม่ว่าจะชื่ออะไรเขาก็ไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก  และอาจเป็นเพราะข้าราชการไม่อยากเปลี่ยนชื่อเมืองให้ยุ่งยาก อันเนื่องมาจากการติดต่อสื่อสารที่ยากลำบากในสมัยก่อน  หากเปลี่ยนชื่อทีหนึ่งคงสื่อสารกันยาก  เพราะเมืองภูเก็ตย้ายไปเรื่อยและบ่อยมาก  ในรอบ200 ปี ย้ายถึง 3 ครั้ง  หากเปลี่ยนชื่อเมืองตามที่ตั้งของเมือง  คงได้สร้างความสับสนและความรำคาญแก่ข้าราชการทางส่วนกลางเป็นแน่  เพราะเดี๋ยวเรียก”ภูเก็ต” เดี๋ยวเรียก” เก็ตโฮ่” เดี๋ยวเรียก”ทุ่งคา”  ดังนั้นพัฒนการทางประวัติศาสตร์ของชื่อเมือง ภูเก็ต จึงมีที่มาด้วยประการฉะนี้


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: semudara ที่ 03 มิ.ย. 09, 15:19
ขอแก้ข้อสงสัยเรื่องจารึกเมืองตันชอร์ก่อนนะคะ   คือเรื่องจารึกนี้เราอาจสงสัยว่าเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยจะน่าเชื่อเท่าไหร่ว่าทางโจฬะจะสาสมารถตีเมืองแถบนี้ได้ทั้งหมด  ซึ่งเรื่องนี้  นั้นดูแล้วน่า จะมูลจริงว่าตีได้ไม่หมดอย่างที่สงสัย  ก็เพราะว่า  จารึกนี้เป็นจารึกที่มีเนื้อหาที่เกี่ยวของกับการสรรเสริญกษัตริย์ราเชน  ทั้งสิ้น  จึงไม่เป็นเรื่องแปลกที่จะมีการอรัมภบท  เกินกว่าขอบเขตไปบ้าง  เพราะเนื้อหาจะจริงหรือไม่จริงทั้งหมด  ประชาชนที่นั่นได้อ่านจารึกแล้วก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าจริงหรือไม่   อันเนื่องมาจากว่า สถานที่ที่กษัตริย์ของเขาไปทำสงครามนั้นเป็นอย่างไร  เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนองอาราจักร  ที่แสนไกลคนละฝั่งทะเล  ดังนั้นเมื่อเขียนอะไรลงไปก็มักจะเขียนเกินจริงเป็นเรื่องธรรมดา นี่เป็นธรรมเนียมของศิลาจารึกสมัยนั้น  ที่ต้องการแสดงความเป็นใหญ่เหนือ  ใคร  และต้องการที่จะข่มขู่อาณาจักข้างๆๆของตนในดินแดนอินเดียด้วยกัน  ให้ยำเกรงแสนยานุภาพของตนว่าสามารถยกทัพไปตีเมืองที่ไกลได้มากมายทั้งที่จริงก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสียทั้งหมด  อาจเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมาก็ได้ไม่แปลก  เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับกรเมือง   เป็นอันว่าขอจบบทความลงเพียงเท่านี้



กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: semudara ที่ 03 มิ.ย. 09, 15:59

แก้ข้อสงสัยเรื่องของชื่อถลาง  เเละที่มาของ ยังซีลอน


ต่อมาเป็นเรื่องของชื่อถลางนะคะ  ชื่อถลางนั้นเป็นคำไทยที่ทางเมืองหลวง (อยุธยา) เรียกมา  โดยที่ทางเมืองหวงเป็นคนตั้งให้  ถ้าถามว่าตั้งใจหรือปล่าวนั้นคงไมไช่เพราะว่าไม่ได้เพราะอะไร  คงเป็นเพราะลิ้นของทางชาวอยุธยาออกเสียงแปร่งเพี่ยน ไปจึงทำให้เกิดชื่อถลางขึ้นมา(โปรดติดตามต่อ)  ส่วนชื่อโบราณของที่นี่นั้น  ต้องถามคนที่ใกล้กับเราและอีทธิพลกับชายฝั่งน่านน้ำแถวนี้มากที่สุด คือไทรบุรี  ที่เรียกเกาะนี้ว่า “ ปูเลาสาลัง”ซึ่งมีความหมายตามตัวตรงๆๆ ว่าเกาะ  ที่ตั้งอยู่ระหว่างทาง   ( จากเอกสาร  ชาแอร์สุลต่านเมาลานา สงครามศึกถลางครั้งที่ 2 พ.ศ. 2352 ) ซึ่งในขณะที่ทางมลายูเรียก ปูเลาสาลัง  นั้น  ในเวลาเดียวกันนั้นเอง ทางสยามหรือ อยุธยาก็เรียก ถลาง ซึ่งไม่มีความหมายที่ชัดเจนและเข้ากับสภาพภูมิศาสตร์ที่แท้จริงจริงที่นี่เลย  ดังนั้นที่มาของชื่อเกาะถลางนั้นนี่จังเป็นชื่อที่น่าเชื่อถือที่สุด  เนื่องมาจาก ชื่อบ้านนามเมืองตามชายฝั่งทะเลแถบนี้ล้านมีชื่อเป็นภาษมลายูเกดดาห์เกือบทั้งสิ้น   ดังนั้นเราต้องถามเจ้าถิ่นเจ้าภาษาของที่นี่  เพราะที่นี้เป็นที่เรียกรู้กันดีว่า  “แหลมลายู”  สยาม เพิ่งเข้ามามีบทบาทมากเมือสมัยอยุธยาที่เอง   อันนี้เราจึงต้องฟังตามมลายูเขา  เพราะน่าเชื่อที่สุด  และชื่อต่างๆๆที่ฝรั่ง  ชาวต่างชาติเรียกเกาะนี้ว่า จังซีลอนนั้น  คำตอบ ที่ทุกคนหากันตาเหลือกตาลานว่า มาจากไหนกันน้า  มาจาการทับศัพจากถลางก็ไม่แน่ใจ  เพราะ ซีลอน เป็นตัว  S แต่ถลางเป็นตัว T  ทำไมไม่อ่านว่าจังทีลอน  แล้วทำไมต้องมี “จัง” หรือ “ยง” หรือ “ยัง”นำหน้าด้วย  ทั้งๆที่ทางไทยเรียกว่า เกาะถลาง ไม่ไช่  “เกาะยังถลาง”   อันนี้เราก็สามารถเฉลยได้ด้วยภามลายู  (และชาติพันธ์ที่อยู่บนเกาะนี้ก่อนไครนั่นก็คือชาวมลายู  ซึ่งเป็นประชากรดั้งเดิมของภูมิภาคนี้  และเป็นประชากรอันดับต้น  ของเกาะภูเก็ตในปัจจุบัน)  อย่าง่ายดายคือ คำว่ายังซีลอนที่ฝรั่งเรียกกันจนเราปวดหัวว่ามาจากที่ไดนั้น  คำตอบอยู่ที่พจนานุกรามลายูไทย เล่มโตๆ คือ Ujung  , Hujung  แปลมว่าแหลมหรือส่วนที่ยื่นออกไปในทะล  และคำว่า   Selang  แปลว่า  ช่องระหว่า ง รวมกันแล้วแปลว่าแหลมที่มีช่องอยู่ระหว่าง นั่นเอง  สงสัยต่ออีกว่าทำไมเรียกว่าแหลม  นั้นก็คือ  ในสมัยโบราณเกาะภูเก้ต  แ ละจังหวัดพังงาเมื่อหลายร้อยปีก่อนเคยมีบันทึกของนักเดินเรือว่าเป็นส่วนที่ติดกันมาก่อน   โดยมีสันทรายเป็นตัวเชื่อมเวลาน้ำลง  ทำให้เกิดกลายเป็นแหลม กึ่งเกาะ ทำให้ชาวมลายูในตอนนั้นเรียกที่นี่ว่า  Ujung selng  ชาวต่างชาติที่ข้ามาสำรวจติดต่อที่นี่ก็ได้ชื่อนี้ไปจากชาวพื้นเมือหาได้มีการเข้าไปถามเอาจากเมืองหลวงไม่  และต่อมาเมื่อเกิดกระบวนการกัดกร่อนมากขึ้นจากกึ่งเกาะกึ่งแหลมก็กลายเป็เกาะโดยสมบูรณ์  ชาวพื้นเมืองจึงเรียกที่นี่ใหม่  ว่า Pulao Selang  ที่แปลว่า เกาะ แล้วไม่ไช่แหลม    นี่คือที่มาของชื่อ  ยังซีลอน  ที่เรางง  สอบทางไทยยิ่งงงเข้าไปใหญ่  แต่เมื่อดูทางสภาพภูมิศาสตร์และ  ชาติพันธ์  ภาษามลายู  จึงทำให้เข้าใจได้อย่างรวดเร็ว แล้วเข้ากับความเป็นจริงมากที่สุด  อย่างไม่มีข้อสงสัย


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 08 มิ.ย. 09, 15:25
เรียน คุณCrazyHOrse ที่คุณว่า "ส่วนคำว่า ชะโง ของคุณ luanglek ผมไม่เคยได้ยินมาก่อนครับ เข้าใจว่ากลอนพาไปมากกว่าครับ" ขอให้คุณอ่านให้ดีๆ  คำนี้ไม่ใช่ลักษณะการแต่งกลอนอย่างกลอนพาไปแน่นอน  มิฉะนั้น คำว่า ตั้งที่อยู่ข้างหน้าชะโง ก็คงเป็นกลอนพาไปด้วย  ถ้าเราไม่เคยเห็นคำไหนมาก่อนแล้วบอกว่าเป็นคำกลอนพาไปเสียหมด   ระวังจะกลายเป็นกล่าวหาผู้แต่งได้  หลวงบุรุษประชาภิรมย์ (กี้ บุณยัษฐิติ) ที่นิราศเรื่องนี้ ถ้าใครเคยอ่านงานของท่าน จะทราบว่าท่านแต่งกลอนได้ดีทีเดียว  ประเภทกลอนพาไปนั้นแทบหาไม่ได้ คำว่า ชะโง นี้ ผมค้นได้แล้วมันมาจากคำภาษาเขมร  เอาไว้จะนำมาเสนอให้ทราบต่อไป

ทีนี้  หลายคนเคยสงสัยไหมว่า ข้าวที่เรารับประทานกันมี ๒ ชนิด คือ ข้าวเหนียวอย่างหนึ่ง และข้าวเจ้าอย่างหนึ่ง  คำถามคือ ข้าวเจ้า ทำไมเราเรียกว่า ข้าวเจ้า เป็นเพราะมันเป็นข้าวสายพันธุ์ที่เจ้านายพระราชวงศ์เสวยหรือ? เราจึงได้เรียกว่าข้าวเจ้า ใครมีความเห็นดีๆ ช่วยนำเสนอหน่อยครับ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: จิรัฏฐ์ ที่ 09 ก.ค. 09, 22:38
ข้าวเจ้า น่าจะมาจากการที่ข้าวเจ้า เป็นพันธุ์ข้าวที่ขาวสะอาด ร่วน เป็นเมล็ดสวยงาม ไม่แตกหักหรือกระด้างเหมือน ข้าวเหนียวหรือข้าวอื่นๆที่ชาวบ้านหาทานได้ง่ายซึ่งข้าวเจ้าในสมัยก่อนชาวบ้านไม่ค่อยได้ทานกันเพราะที่ดีๆมีปลูกอยู่จำกัด จึงสงวนแก่ผู้มีอันจะกินได้แก่  เจ้านาย และเศรษฐี ขุนนาง ;D


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 10 ก.ค. 09, 08:50
ตามหลักฐานทางโบราณคดี พบหลักฐานที่พอจะสรุปได้ว่าคนไทยโบราณกินข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก แต่เฉพาะในพื้นที่ภาคกลางนี้ ถึงสมัยอยุธยา พบว่าสัดส่วนการบริโภคข้าวเจ้าเมื่อเทียบกับข้าวเหนียวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทดแทนข้าวเหนียวในที่สุดครับ
ในขณะที่ในเขมร แทบไม่มีการกินข้าวเหนียวเลย เป็นข้าวเจ้าตลอด
ข้าวเจ้าจึงเป็นข้าวของเจ้า เหมือนกับที่คำเขมรเป็นคำของเจ้า (ราชาศัพท์)

ปล. ยังรอ "ชะโง" ของคุณ luanglek อยู่นะครับ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Ngao_Mak ที่ 16 ก.ค. 09, 06:27
สวสดีครับ ช่วงนี้หายไปนาย รับราชการทหารมาครับ เลยไม่มีเวลาเล่น

慘 คำว่า ช้ำ ไม่รู้มาจากคำนึ้ป่าว หมายถึง ช้ำใจ
ชีช้ำ ตรงกับภาษาจีนว่า 淒慘
ภาษาสุโขทัยมีคำว่า หาว แปลว่าท้องฟ้า ภาษาจีนก็มีคำว่า หาว คือ 昊
คำว่า ห้าวหาญ ห้าว ตรงกับคำว่า 豪
คำว่า ดี 麗
คำว่า งาม 艷
คำว่า หนี 離
คำนี้ไม่รู้้คำไทยแท้ป่าว เศร้า ตรงกับภาษาจีนคำว่า 愁 กวางตุ้งอ่านว่า sao
คำว่า ลุ้น 忍

寂寞 คำนี้ไม่แน่ใจ ว่าคือคำว่า ซกมก รึป่าว เพราะความหมายต่างกันลิบลับ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 24 ก.ค. 09, 15:07
คำว่า เจ้า ในคำว่า ข้าวเจ้า  ไม่ได้แปลว่า เจ้านาย เชื้อพระวงศ์ พระมหากษัตริย์ ตามที่คนปัจจุบันเข้าใจกัน  แต่แปลว่า หุง  หุง คือ การนำสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปต้มเคี่ยวในน้ำจนสุกนิ่ม จากนั้นจึงรินน้ำที่ต้มออก หรือเคี่ยวไปเรื่อยๆ จนน้ำที่ต้มงวดแห้งไปเอง เช่นการหุงข้าว เป็นต้น คำว่า เจ้า ในที่นี้ เป็นคำไทยเก่าแก่ เหลือใช้ในคำว่า ข้าวเจ้าเพียงคำเดียว ซึ่งคนไทยเดี๋ยวนี้ไม่ทราบความหมายแล้ว ที่สำคัญไม่พบคำนี้ในภาษาไทยถิ่นใดด้วย  แต่กลับไปพบคำว่า เจ้า ที่แปลว่า หุง นี้ ในพจนานุกรมภาษาลาว แสดงว่าลาวยังใช้และเก็บคำนี้อยู่ 

จากความหมายของคำว่า เจ้า ในคำว่า ข้าวเจ้า นี้ ทำให้คิดต่อไปได้ว่า คนไทยเรียกข้าวพันธุ์นี้จากวิธีการทำให้สุกนิ่มจนกินได้ ในขณะเดียวกันข้าวเหนียว ซึ่งเป็นข้าวอีกพันธุ์หนึ่งที่เรียกตามลักษณะทางพันธุกรรม ซึ่งมีแป้งมาก ต้องแช่น้ำนานก่อนนำไปนึ่งให้สุก เมื่อสุกแล้วมีลักษณะเหนียวติดกันเป็นก้อน  คนเหนือจึงเรียกข้าวเหนียวว่า ข้าวนึ่ง  ส่วนข้าวเจ้า แข็งกระด้าง แป้งน้อยกว่า ไม่ต้องแช่น้ำนาน แต่ใช้การต้มเคี่ยวในน้ำจนเปื่อยดีแล้วรินน้ำออกหรือเคี่ยวต่อจนน้ำงวดแห้งไปเอง  กลายเป็นข้าวสวย 

นี่เป็นคำไทยอีกหนึ่งคำที่คนไทยลืมไปแล้ว  แต่โชคดีที่ภาษาเพื่อนบ้านยังเก็บและใช้อยู่


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 24 ก.ค. 09, 15:15
ส่วนที่ใครสันนิษฐานว่า เป็นข้าวที่เจ้านายเชื้อพระวงศ์เสวยมาแต่โบราณ โดยการอ้างทางโบราณคดีบ้าง ทางวัฒนธรรมบ้าง เหล่านี้เป็นข้อสันนิษฐานที่ยังมีน้ำหนักไม่มากพอที่ยืนยันความเชื่อดังกล่าว  การกินข้าวเหนียวนั้น อาจจะเป็นความนิยมของคนไทยบางถิ่นซึ่งแม้กระทั่งชาวไตในสิบสองปันนา จีนตอนใต้ก็กินข้าวเหนียวกัน แถมเป็นข้าวเหนียวดำด้วย และกลุ่มคนเหล่านี้ก็ปกครองโดยระบอบเจ้ามาเหมือนกัน ไม่มีเหตุอะไรที่จะกล่าวว่า ข้าวเจ้ามีเฉพาะเจ้าเท่านี้ที่กิน  การกินข้าวเหนียวข้าวเจ้า อาจจะเกิดจากสภาพภูมิประเทศและสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยหลักในการเลือกพันธุ์ข้าวที่จะกินเป็นหลักก็ได้


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 24 ก.ค. 09, 15:55
เรื่องคำว่า เจ้า แปลว่า หุง นั้น เป็นกระแสใหม่ที่ได้ยินมาไม่นานนัก และน่าคิดว่า คำนี้ทางลาวใช้ในความหมายนี้มานานเท่าไหร่แล้ว

เจ้าแปลว่าหุงมาแต่โบราณ? หรือว่าเจ้ามาแปลว่าหุงเมื่อข้าวเจ้ามีความหมายตรงกับตรงกับข้าวหุง คงต้องสอบให้ดี ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นว่าไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน
และเท่าที่ตรวจสอบจากฐานข้อมูลคำ proto-tai ก็ไม่พบคำว่า เจ้า ที่แปลว่าหุงนะครับ

ส่วนเรื่องข้าวเจ้าที่ "อาจ" มาจากข้าวที่เจ้ากิน ลองอ่าน คคห. ที่ผมเขียนย้อนหลังไปไม่กี่ คคห. ดูนะครับ ว่าเป็นมาอย่างไร "เจ้า" พวกไหนที่กำลังพูดถึงอยู่
และถ้าสนใจ คงจะค้นหาข้อมูลอ้างอิงเพิ่มเติมได้ไม่ยากนะครับ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 29 ก.ค. 09, 14:07
ขอแก้ไขครับ
คำว่า เจ้า ที่แปลว่า หุง ในภาษาลาวนั้น ที่ถูกต้องเขียน จ้าว  ในภาษาลาว เขียนคำว่า ข้าวเจ้า ว่า ข้าวจ้าว ในขณะที่ในภาษาไทยเขียน ข้าวเจ้า แต่เวลาออกเสียงก็ออกเสียงว่า ข้าว จ้าว เป็นไปได้ว่า เจ้า กับ จ้าว อาจจะเป็นคำ ๒ คำ ที่เขียนและอ่านออกเสียงต่างกัน และมีความหมายต่างกัน กาลต่อมาด้วยเหตุที่คำหนึ่งค่อยสูญหายไป คนจึงเขียนเหลือแต่ เจ้า คำเดียว 

ส่วนคำว่า จ้าว ที่แปลว่า หุง ในภาษาลาว คำนี้ทางลาวใช้ในความหมายนี้มานานเท่าไหร่แล้ว อันนี้คงตอบได้ยากสักหน่อย เพราะยังค้นไม่พบหลักฐานการใช้คำคำนี้ในเอกสารเก่าๆ ซึ่งกำลังหาอยู่เหมือนกัน  อาจจะต้องใช้เวลาสักหน่อย กระนั้นต้องขออธิบายว่า คำว่า จ้าว นี้ ปรากฏในพจนานุกรมภาษาลาวที่มะหาสิลา วีระวงส์ รวบรวมและพิมพ์ ราว ๒๕๑๐ (ขออภัยจำได้คร่าวๆ) และเพิ่งมีการตีพิมพ์ครั้งที่ ๓ เมื่อไม่กี่ปีมานี้ จริงอยู่ว่านี่อาจจะไม่ใช่ข้ออ้างว่าคำนี้เก่าแก่ คำภาษาลาวมีคำน้อยกว่าคำไทยหลายเท่า  แต่น่าสังเกตว่า คำภาษาลาวเก็บคำตระกูลไท-ไตเก่าๆไว้หลายคำ หลายคำสูญจากภาษาไทยไปแล้ว การสร้างคำใหม่ในภาษาลาวก็มี แต่คำประสมทั้งนั้น โดยปกติการสร้างคำใหม่ที่เป็นคำเดี่ยวในภาษาไท-ไต ไม่ใช่สิ่งที่เกิดแล้วคงทนนัก ที่ว่าฐานข้อมูลคำ proto-tai ไม่พบคำว่า เจ้า ที่แปลว่าหุง  ก็เข้าใจว่า ฐานข้อมูลนี้เป็นสิ่งที่เกิดหลังภาษาเกิดขึ้นแล้วนานหลายชั่วอายุคน  และภาษาได้แยกสาขาออกไปมาก  คำหลายคำอาจจะสูญไปจากภาษาที่เคยใช้แล้วก็ได้  ยกตัวอย่างคำว่า เยีย ในโคลงกำสรวล เป็นคำไทยอีกคำที่แทบจะหาความหมายไม่ได้แล้ว โชคดีที่ยังหลักฐานพอสืบความหมายได้ และน่าอัศจรรย์ที่คำว่า เยีย ในโคลงกำสรวลนี้ เคยปรากฏใช้ในความหมายเดียวกับคำว่า เยียะ ในภาษาไทยล้านนา (เยียที่ว่านี้ คำไทแปลว่า ฉาง คลัง เล้า /ทำ แต่อีกความหมายที่เคยใช้ในภาษาไทยดังปรากฏในโคลงกำสรวล ไม่ได้แปลว่า ฉาง คลัง เล้า หรือทำ แต่อย่างใด )แต่จะแปลว่าอะไร ขอเสนอในโอกาสหน้า(ถ้ามีคนสนใจ)

อีกอย่างการจะพิสูจน์ว่าคำใดใช้มานานเท่าใด ไม่ใช่ของง่ายนัก ถึงแม้จะมีเอกสารหลักฐานเก่ายืนยันการใช้คำนั้นๆได้ แต่ก็เป็นเพียงการแสดงว่ามีคำนี้ใช้ในสมัยนั้น คำบางคำอาจจะไม่ปรากฏหลักฐานการใช้ในเอกสารใดๆ เลย แต่อาจจะปรากฏเป็นภาษาพูดมานานแล้ว เพราะภาษาเขียนเกิดทีหลัง ยิ่งสมัยก่อนการจดจารถ้อยคำภาษายิ่งมีไม่มาก ที่เหลือตกทอดมาถึงเรายิ่งมีน้อยลงไปอีก อย่างนี้อาจจะชี้ว่าคำใดเก่าแค่ไหนได้ยากสักหน่อย  แต่ว่า  คำว่า จ้าว ที่แปลว่า หุง นี้ เป็นคำโดด ซึ่งปกติคำโดดในภาษาไท-ไตมักจะเป็นคำเก่ากว่าคำประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะคำประสม คำซ้ำ คำซ้อน ฯลฯ ตรงนี้ยังไม่มีหลักฐานอื่นที่พอจะฟันธงได้ นอกจากหลักฐานในพจนานุกรมลาวของมหาสิลา วีระวงส์

แต่ถ้าข้าวเจ้า เป็นข้าวที่เจ้าเสวยแล้ว สงสัยต่อไปอีกว่า ในภาษาไทยถิ่นอื่นๆ เขาเรียก ข้าวเจ้า เหมือนหรือต่างจากไทยเราหรือไม่ อย่างไร


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 27 ส.ค. 09, 18:34
ตอบคุณ luanglek ครับ

ถึงแหลมสิงห์ สิงขร ชะง่อนงอก
ที่โตรกตรอก เขาเขิน เปนเนินผา
มีหินขาว ยาวใหญ่ ใกล้ชะลา
ทัศนา เพริดพริ้ง เหมือนสิงห์โต
ก็สมคำ สำคัญ มีมั่นเหมาะ
เกิดจำเพาะ ทางประเทศ วิเสศโส
ดูหัวหาย กายยัง ตั้งชะโง
ภอเรือโร่ ออกแถว แนวทะเล

คำว่า ชะโง ผมคิดว่า เป็นการดัดคำให้เข้ากับบทกลอน โดยมาจาก "ชะโงก" คือ ยื่นออกมา เช่น ชะโงกหน้าออกมาดู

หรือ

มาจาก "โง" คือ ตั้งขึ้นมา ภาษาไทยเท่าที่นึกออก เห็นจะใช้อยู่สำนวนเดียวคือ "โงหัวไม่ขึ้น" ส่วนคำว่า "ชะ" น่าจะเป็นคำเติมเต็มเสียง

ส่วนที่คุณ luanglek บอกว่า ค้นเจอแล้วว่าเป็นคำเขมร ผมก็รออ่านอยู่ครับ  ;D


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 27 ส.ค. 09, 18:58
เรื่องข้าวเจ้านี้ ทางราชบัณฑิตยสถานอธิบายว่า คำว่า เจ้า เป็นภาษาไทใหญ่ แปลว่า เปราะ ร่วน ไม่เหนียว

ถ้ายึดตามนี้ ก็แสดงว่า การเกิดคำว่า ข้าวเจ้า - ข้าวเหนียว เป็นการสร้างคำตามคุณลักษณะของข้าวเมื่อหุงสุกแล้ว

ส่วน จ้าว ที่ทางลาว แปลว่า หุง ก็น่าสนใจครับ
อีกประการหนึ่ง คำว่า "หุง" เอง ก็ดูเหมือนว่า จะถูกสงวนไว้กับการปรุงข้าวให้สุก
ดังนั้น ถึงจะนำเอาวิธีปรุงมาผูกเป็นศัพท์ ก็น่าจะเรียกว่า ข้าวหุง

ศัพท์ที่เอาวิธีการปรุงมาผูก ก็มี ข้าวต้ม ข้าวผัด

คำว่า "หุง" พอดีเคยผ่านตา บทความเกี่ยวกับศัพท์ปรุงอาหารของจีน ซึ่งได้อ้างถึงคำว่า "หุง" ในภาษาไทนุงว่า hung
แสดงว่า คำนี้ เก่าพอตัวทีเดียว


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Ngao_Mak ที่ 31 ส.ค. 09, 09:40
ผมนึกได้คำนึง

น้ำส้มสายชู

ชู มาจากภาษาจีนคำว่า ฉู่ 醋 cu3 รึเปล่า

ฉู่ ภาษาจีนแปลว่า น้ำส้มสายชู

ฉาง ที่แปลว่า ยุ้งฉาง

ภาษาจีนมีคำนี้ครับ

倉 cang2 แปลว่า ยุ้งฉาง

ส่วนข้าวเจ้า อาม่าเล่าให้ฟังว่าคนจีนกินข้าวเจ้าเหมือนกัน แต่ไม่นิยมกิน ส่วนใหญ่กินบะหมี่ แต่คนไทยสมัยก่อนกินข้าวเหนียว กินแบบเปิบด้วยมือ แกงข้นๆ ต้องกินกับข้าวเหนียวแน่นอน

แต่วัฒนธรรมการกินของจีน ไม่นิยมกินข้าวราดแกง ถ้ากินข้าว ก้เอาข้าวมาผัด เช่น ข้าวห่อใบบัว บะจ่าง นึกได้แค่นี้ครับ^^
หรือเอาข้าวมาทำโจ๊ก(เมนูอาหารแบบจีน ก็ยังไม่เห็นพวกข้าวราดแกง) เห็นแต่แกงกะหรี่ แกงต่างๆ ที่เป็นอาหารจากชาติอื่นเข้ามาในจีน

แต่คนจีน โดยเฉพาะชาวบ้าน สามัญชน เขากินบะหมี่มากกว่ากินข้าวเจ้า 

แล้วการกินข้าวในวัฒนธรรมจีน เอาข้าวมาทำเป็นโจ๊ก-ข้าวต้ม หรือไม่ก็เอามาผัดกิน เพราะคนจีนกินข้าวใช้ตะเกียบ ไม่ใช้ช้อนกิน
เอาข้าวมาผัด ผมว่ายังกินสะดวกกว่านะครับ.......

ผมนึกภาษาจีนได้คำนึง คำว่า ฉ่าว 炒 แปลว่า ผัด ภาษาไทยปัจจุบันใช้คำว่า ฉ่า แปลว่า ผัด

ข้าวเจ้า แปลว่า ข้าวสำหรับผัด ก็ได้นะครับ

炒饭 ฉ่าวฟั่น แปลว่า ข้าวผัด


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 01 ก.ย. 09, 13:20
คำว่า ชะโง ที่อยู่ในนิราศคำกลอนที่ยกมานั้น สันนิษฐานว่ามาจากคำในภาษาเขมรว่า จฺรโง (จฺรอโง)หรือ ชฺรโง (จฺรัวโง)แปลว่าผุด โผล่ ผลุบโผล่
นอกจากนี้ยังมีคำเขมรที่ออกเสียงใกล้และมีความหมายใกล้เคียงกับว่าชะโงอีก ดังนี้
จฺรงูว (จฺรอโง็ว)แปลว่า นั่งจ๋อง ยืนเฉยไม่กระดุกกระดิก ใช้ว่า องฺคุยจฺรงูว ณรจฺรงูว
ถฺงูว (โทฺง็ว) แปลว่า กระดกกระดนโด่ คำแปลตามพจนานุกรมเขมร-ไทย ฉบับทุนพระยาอนุมานราชธน
โธฺงง (โทฺงง) แปลว่า โผล่ เห็นหัวโด่ เป็นอาทิ
ในภาษาไทย มีคำความหมายใกล้เคียงกับคำว่า ชะโง อยู่ 2-3 คำ คือ โง ชะเง้อ ชะโงก
โง แปลว่า ยก ใช้แก่ศีรษะ ในความหมายโดยปริยายหมายถึง ฟื้นขึ้นจากสภาพตกต่ำ เช่น เศรษฐกิจเพิ่งโงหัวขึ้นได้บ้างหลังจากที่เกิดวิกฤติการเงินครั้ง
ใหญ่
ชะโงก แปลว่า ยื่นหน้าหรือส่วนหน้าออกไป เช่นเด็กชะโงกหน้ามองดูเพื่อน เป็นต้น
ชะเง้อ แปลว่า ชูคอขึ้นดู เช่น เด็กพยายามชะเง้อคอดูการแสดงดนตรีอยู่หลังพวกผู้ใหญ่ที่ยืนบังอยู่
ความหมายคำว่า ชะเง้อ ออกจะใกล้เคียง ชะโง ในความของนิราศที่ยกมา
สันนิษฐานต่อว่า  ชะโง ที่อยู่ในนิราศคงจะเป็นคำเขมรที่อยู่ในภาษาถิ่นคนจันทบุรี เพราะมีอาณาเขตติดต่อกัน จึงมีคำบางคำใช้ร่วมกัน
คำว่า ชะโง  พจนานุกรมราชบัณฑฺตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ยังไม่ได้เก็บไว้


มีคำอีกคำหนึ่ง อยากให้ช่วยสันนิษฐานความหมายหน่อย

สาชลพฤกษ์พร่างขึ้น   ไขเสดิง
นองท่านางนองสนาน   สนั่นหล้าย
สายสินธ์ุุ์สำเริงฟอง     ฟัดฟาด  ฝั่งเอย
นองย่านนางคล้ายคล้าย คลั่งไหล ฯ

คำว่า ไขเสดิง แปลว่าอะไร ดคลงบทนี้ มาจาก โคลงนิราศตามเสด็จทัพลำน้ำน้อย ของพระยาตรัง บทที่ ๒๔ จะเป็นภาษาถิ่นใต้หรือเปล่า ใครทราบบ้าง


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: ศศิศ ที่ 01 ก.ย. 09, 14:42
ส่วนใหญ่หลายๆ คำที่เป็นสระเอา / -aw/ ทำไมคนไทยภาคกลางมักออกเสียงเปน อาว /-a:w/ เสียส่วนมาก (ยกเว้นคำว่า ว่าว)

จ้าว แปลว่าร่วน

ส่วนคำว่า หุง ภาษาไทยใหญ่ แปลว่า การทำให้สุก เช่น หุงข้าวหุงผัก (ผักแปลว่า อาหารที่กินกับข้าวทั้งหมด)


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 02 ก.ย. 09, 08:28
ในพจนานุกรม ภาษาไทยอาหม มีคำว่า จาว ที่มีความหมายดังนี้
จาว ๑ มีความหมายเหมือน เจา ๑ แปลว่า  เทวดา นาย เจ้าของ กษัตริย์ มหาบุรุษ พระเจ้า ร่างกาย และการแสดงความเคารพ
จาว ของไทยอาหมนั้นมีความหมายเหมือน เจ้า คำไทย
จาว ๒  แปลว่า ต้มข้าว สัญญา เกิดขึ้นทันใด เกลี่ยข้าวที่ตากให้แห้ง เห้นไม่ตรงกัน
         กับแปลว่า ใหญ่ มหัศจรรย์
จาว ๒ นี้ ความหมายว่า ต้มข้าว เหมือน จ้าว ในภาษาลาว ที่แปลว่า หุง ดังที่เคยเสนอไว้
เป็นอันว่า ตอนนี้มีอย่างน้อย  ๒ ภาษาที่มีคำว่า จ้าว ที่แปลว่า หุง (ทำให้ข้าวสุกด้วยการต้ม)
อีกนิดหนึ่ง ภาษาไทยอาหม ไม่มีรูปวรรณยุกต์ แตกต่างภาษาไทยภาษาลาวที่มีรูปวรรณยุกต์
รูปคำที่พ้องกันอาจจะแยกความต่างกันได้ด้วยเสียงวรรณยุกต์ในเวลาพูดเพื่อแยกคำแยกความหมาย
ข้อมูลจากพจนานุกรมไทยอาหม-ไทย ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร แปลจากพจนานุกรมของ RAI SAHIB GOLAP CHANDRA BORUA

ส่วน จ้าว ที่แปลว่า เปราะ แตกหักง่าย ปรากฎในภาษาไทฉาน (ไทใหญ่)ด้วย เขียน จว์ หรือ จิว์ ออกเสียง จ้าว
ภาษาไทยใหญ่ไม่มีรูปวรรณยุกต์และเสียงสระสั้นยาวต้องสังเกตจากการออกเสียงของเจ้าของภาษา
ลำพังดูจากรูปเขียนจะเห็นคำที่มีรูปคำพ้องกันเยอะมาก
ข้อมูลจาก  A Shan and English Dictionary ของ J.N.Cushing

ตอนนี้อยากทราบว่า มีภาษาตระกูลไท-ไต ภาษาอะไรบ้าง ที่มีคำข้าวเจ้า ข้าวเหนียว
และมีเอกสารภาษาไทยเรื่องอะไรที่เก่าที่สุด ที่ปรากฏคำว่าข้าวเจ้า ข้าวเหนียว


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Ngao_Mak ที่ 09 ต.ค. 09, 06:26
เรื่อง ห่วย โชห่วย นี้ ได้ยินมาว่าเป็นคำจีนแต้จิ๋วครับ

เนื่องจาก ผมไม่มีความรู้ภาษาจีน ก็ได้แต่จดๆ จำๆ ผู้รู้เค้าว่ากันมานะครับ ยังไงถ้าคุณ CrazyHOrse ผ่านมา ก็ช่วยแนะนำด้วยอีกแรงนะครับ

"ห่วย" เข้าใจว่ามาจาก 壞 (坏) หมายถึง ไม่ดี, ร้าย, เสีย, แย่

ผมไม่แน่ใจว่า คำนี้ เป็นคำเดียวกับ "หวย" หรือเปล่า เพราะใน "ประชุมพระนิพนธ์  สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ" อธิบายว่า "ฮวยหวย"   คือ การเล่นพนันชนิดหนึ่ง

"หวย" ที่เราพูดๆ กันในปัจจุบันก็คงย่อมาจากคำว่า "ฮวยหวย" นี่แหละครับ โดยหารู้ไม่ว่า "ฮวยหวย" (好壞 หรือ 好坏 = hao3 huai4) แปลว่า good and bad; advantageous and disadvantageous นั่นคือ "หวย" แปลว่า "เสีย (เงิน)" นั่นเอง  ;D

==================

ผมกลับคิดว่าคำนี้มาจาก 花會 หมายถึงการพนัน
อ้างอิงจาก ดร.นริศ วศินานนท์


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Ngao_Mak ที่ 09 ต.ค. 09, 06:48
มีคำนึงน่าสนใจ คำว่า แต่งงาน

ผมสะดุดคำนึง 奠雁

ภาษาจีนให้ความหมายว่า

亦作“ 奠雁 ”。 1.古代婚礼,新郎到女家迎亲,献雁为贽礼,称“奠鴈”。《仪礼·士昏礼》:“主人升,西面;宾升,北面,奠鴈,再拜稽首。”《仪礼·士昏礼》:“下达,纳采,用鴈” 郑玄 注:“用鴈为贄者,取其顺阴阳往来。” 北周 庾信 《尉迟氏墓志铭》:“奠鴈迎门,濡苹入俎。” 唐 李端 《送黎兵曹往陕府结婚》诗:“奠雁逢良日,行媒及仲春。”《醒世恒言·张孝基陈留认舅》:“少不得问名纳綵,奠雁传书,贄入 过 家。”《清史稿·礼志八》:“壻既至,入门再拜。奠雁,出。”

(2).古代卿大夫相见,执雁为礼。《仪礼·聘礼》:“大夫奠鴈,再拜。上介受。” 郑玄 注:“不言卿,卿与大夫同执鴈。”

เพลงยาว คือ คำไทย+คำจีน
ยาว คือ 謠 หมายถึงเพลงพื้นบ้าน เพลงลูกทุ่ง

เปาบุ้นจิ้น
ตอนแรกคิดว่า บุ้นจิ้น มาจาก 文進
แต่พอคิดดูอีกที สมัยก่อนพวกคนดังๆ มีตัวอักษร เหวิน"文"แทรกอยู่
เปาบุ้นจิ้น ชื่อจริงว่า เปาเจิ้ง包拯 แต้จิ๋วอ่านว่า จิ้ง
เปาบุ้นจิ้น คือ 包文拯

ผอมโซ
โซ เสียงใกล้เคียงกับ โซ่ว 瘦 แปลว่า ผอม

อ้วนพี
พี เสียงใกล้เคียงกับ เฝย แต้จิ๋วอ่าน ปุ๋น ฮกเกี้ยนอ่าน ป๋า 肥


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: manit peuksakondh ที่ 09 ต.ค. 09, 10:43
เข้าไป"แจม"ด้วยไม่ได้เลย ครับ เพราะ เยอะแยะ ตาแป๊ะ เหลือเกิน ต้องขอไป "ปริ้นท์" ออกมาอ่านก่อน นะครับ เพื่อดูว่ามีคำไหนที่ผมเคยใช้แล้วยังไม่มีท่านใด สาธยาย ไว้  แต่ "การันตี" ว่ามีแน่ๆ ครับผม
มานิต


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Ngao_Mak ที่ 09 ต.ค. 09, 11:37
พิมพ์ผิด

อ้วนพี
พี เสียงใกล้เคียงกับ เฝย แต้จิ๋วอ่าน ปุ๋น ฮกเกี้ยนอ่าน ป๋า 肥

ปุ๋น แก้เป็น ปุ๋ย


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Ngao_Mak ที่ 09 ต.ค. 09, 11:39
เรื่อง ห่วย โชห่วย นี้ ได้ยินมาว่าเป็นคำจีนแต้จิ๋วครับ

เนื่องจาก ผมไม่มีความรู้ภาษาจีน ก็ได้แต่จดๆ จำๆ ผู้รู้เค้าว่ากันมานะครับ ยังไงถ้าคุณ CrazyHOrse ผ่านมา ก็ช่วยแนะนำด้วยอีกแรงนะครับ

"ห่วย" เข้าใจว่ามาจาก 壞 (坏) หมายถึง ไม่ดี, ร้าย, เสีย, แย่

ผมไม่แน่ใจว่า คำนี้ เป็นคำเดียวกับ "หวย" หรือเปล่า เพราะใน "ประชุมพระนิพนธ์  สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ" อธิบายว่า "ฮวยหวย"   คือ การเล่นพนันชนิดหนึ่ง

"หวย" ที่เราพูดๆ กันในปัจจุบันก็คงย่อมาจากคำว่า "ฮวยหวย" นี่แหละครับ โดยหารู้ไม่ว่า "ฮวยหวย" (好壞 หรือ 好坏 = hao3 huai4) แปลว่า good and bad; advantageous and disadvantageous นั่นคือ "หวย" แปลว่า "เสีย (เงิน)" นั่นเอง  ;D

==================


ผมกลับคิดว่าคำนี้มาจาก 花會 หมายถึงการพนัน
อ้างอิงจาก ดร.นริศ วศินานนท์


เวบนี้น่าจะมีฟังก์ชั้นแก้ข้อความได้ด้วยนะครับ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 10 ต.ค. 09, 04:13
สวัสดีครับ คุณเหงามาก

ไม่เจอกันนานเลย ขอบคุณครับ สำหรับคำว่า "หวย"

ผมลองหาคำดังกล่าว 花 (hue1 ก็คือคำว่า ฮวย ในภาษาไทย ที่ใช้เรียกดอกเก็กฮวย) ในเว็บดิกแต้จิ๋ว เห็นมีแต่แปลว่า ดอกไม้ ครับ https://www.gaginang.org

ส่วนตัว 會 (ย่อ: 会)ในเว็บดังกล่าว ไม่ได้เก็บคำนี้ไว้ครับ

ในเว็บ MDBG ( http://us.mdbg.net/chindict/chindict.php ) ก็ไม่ปรากฏคำว่า 花會
แต่ตัว 花 นอกจากจะแปลว่า ดอกไม้แล้ว เว็บนี้ยังให้ความหมายอีกว่า หมายถึง การจ่าย (เงิน)
ผมไม่แน่ใจว่า อักษรทั้งสองตัวนี้ เป็นอักษรที่ใช้ในการแทงหวยหรือเปล่า เหมือนเป็นคำแสลงในวงหวยสมัยโบราณ ???

ยังไง รบกวน คุณเหงามาก นำคำอธิบาย ของ ดร.นริศ มาด้วยได้หรือเปล่าครับ

เพราะพจนานุกรมจีนทั่วไป ไม่ได้เก็บคำนี้ไว้นี้ไว้ ซึ่งอาจเป็นคำแสลงประจำถิ่นของจีนแต้จิ๋วในไทยได้หรือไม่


ส่วนเรื่องแก้คำนั้น แก้ได้ครับ แต่ผู้จัดทำระบบตั้งให้แก้ได้ในเวลาที่กำหนดไว้หลังจากที่ส่งข้อความแล้ว ถ้าทิ้งข้อความไว้เป็นอาทิตย์ๆ แบบนั้นก็จะแก้ไขไม่ได้ครับ



กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Ngao_Mak ที่ 10 ต.ค. 09, 09:42
^
^
สบายดีไหมครับ
ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย รักษาสุขภาพนะครับ

คำว่า 花 ที่แปลว่า จ่ายเงิน ใช้เงิน ยกตัวอย่างประโยคนี้นะครับ
錢都花了。แปลว่า เงินใช้หมดแล้ว

ส่วน หวย ผมคิดว่ามาจาก 會 นะครับ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Ngao_Mak ที่ 10 ต.ค. 09, 10:39
เซี้ยว เฮี้ยว ก๋ากั่น ครับ

เซี้ยว 痟 แปลว่า บ้า
เฮี้ยว 梟 แปลว่า ชั่วร้าย
ก๋ากั่น 敢幹 2คำนี้ความหมายเหมือนกัน แปลว่า กล้า


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Ngao_Mak ที่ 10 ต.ค. 09, 10:51
*ฉำเฉง 三清 อ้างอิงจาก ดร.นริศ วศินานนท์
ฉำฉา 杉柴

ส่วนคำว่า ฉัน
คนจีนสมัยโบราณ โดยเฉพาะขุนนางหรือฮ่องเต้

ในบทกวีหม่านเจียงหง 滿江紅 ที่งักฮุยแต่ง บรรทัดนึงบอกว่า
靖康恥,猶未雪。臣子恨,何時滅?
ความอัปยศเมื่อ(ศักราช)จิ้งคัง ยังไม่สะสาง ความแค้นของฉัน เมื่อไรจะดับ

臣 จีนกลางออกเสียงว่า เฉิน

คำว่า กู
คำนี้เป็นสรรพนามสมัยโบราณของจีน
และปรากฎใน"เต๋าเต็กเก็ง"
孤、寡、不穀,均为古代君主自谦之称。
การใช้ กู เป็นสรรพนามฮ่องเต้ ปรากฎในเต๋าเต็กเก็งบทที่39ข้อความว่า
是以侯王自稱孤寡不穀。

พจนานุกรมจีนอธิบายว่า
孤、寡、不穀,均为古代君主自谦之称。《老子》:“人之所恶,惟孤寡不穀,而王公以为称。”《战国策·齐策四》:“是以侯王称孤寡不穀,是其贱之本与,非夫?孤寡者,人之困贱下位也。” 北齐 颜之推 《颜氏家训·风操》:“昔者王侯自称孤寡不穀。”后用以代称王侯。

【ZDIC.NET 汉 典 網】

คำว่า สว่าง หรือ เสือง
ภาษาจีนมีคำว่า 爽 shuang3 แปลว่า สว่าง โชติช่วง


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Ngao_Mak ที่ 28 ต.ค. 09, 12:14
สวัสดีครับ คุณเหงามาก

ไม่เจอกันนานเลย ขอบคุณครับ สำหรับคำว่า "หวย"

ผมลองหาคำดังกล่าว 花 (hue1 ก็คือคำว่า ฮวย ในภาษาไทย ที่ใช้เรียกดอกเก็กฮวย) ในเว็บดิกแต้จิ๋ว เห็นมีแต่แปลว่า ดอกไม้ ครับ https://www.gaginang.org

ส่วนตัว 會 (ย่อ: 会)ในเว็บดังกล่าว ไม่ได้เก็บคำนี้ไว้ครับ

ในเว็บ MDBG ( http://us.mdbg.net/chindict/chindict.php ) ก็ไม่ปรากฏคำว่า 花會
แต่ตัว 花 นอกจากจะแปลว่า ดอกไม้แล้ว เว็บนี้ยังให้ความหมายอีกว่า หมายถึง การจ่าย (เงิน)
ผมไม่แน่ใจว่า อักษรทั้งสองตัวนี้ เป็นอักษรที่ใช้ในการแทงหวยหรือเปล่า เหมือนเป็นคำแสลงในวงหวยสมัยโบราณ ???

ยังไง รบกวน คุณเหงามาก นำคำอธิบาย ของ ดร.นริศ มาด้วยได้หรือเปล่าครับ

เพราะพจนานุกรมจีนทั่วไป ไม่ได้เก็บคำนี้ไว้นี้ไว้ ซึ่งอาจเป็นคำแสลงประจำถิ่นของจีนแต้จิ๋วในไทยได้หรือไม่


ส่วนเรื่องแก้คำนั้น แก้ได้ครับ แต่ผู้จัดทำระบบตั้งให้แก้ได้ในเวลาที่กำหนดไว้หลังจากที่ส่งข้อความแล้ว ถ้าทิ้งข้อความไว้เป็นอาทิตย์ๆ แบบนั้นก็จะแก้ไขไม่ได้ครับ



http://www.siamchina.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538687351&Ntype=6

หวย   มีความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ว่า น. การพนันอย่างหนึ่ง เดิมใช้ออกเป็นตัวหนังสือ, (ปาก) สลากกินแบ่ง

                หวย แต่เดิมนั้นมิใช่เป็นกิจกรรมที่คนไทยคิดขึ้นเอง จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของจีนระบุว่า การพนันทายตัวเลขหรือตัวหนังสือนี้มีขึ้นครั้งแรกในสมัยพระเจ้าเตากวาง แห่งราชวงศ์ไต้เช็ง ประมาณ พ.ศ. ๒๓๖๔ – ๒๓๙๔  การพนันทายตัวเลขหรือตัวหนังสือของจีน เรียกว่า “ฮวยหวย” 花會 แปลว่า  “ ชุมนุมดอกไม้ ” เหตุที่มีความหมายเช่นนี้ เพราะในชั้นแรกเขียนตัวหวยเป็นรูปดอกไม้   ภายหลังจึงเปลี่ยนเป็นชื่อคนโบราณ โดยทำป้ายเล็ก ๆ จำนวน ๓๔ ป้าย เขียนชื่อคนโบราณเป็นภาษาจีนลงป้ายละชื่อ เช่น  สามหวย  ง่วยโป๊  ฯลฯ  แล้วเจ้ามือจะเลือกป้ายชื่อคนเหล่านั้นหนึ่งอันใส่ในกระบอกไม้   ปิดปากกระบอกแขวนไว้กับหลังคาโรงหวย ให้คนทายว่าจะเป็นชื่อผู้ใดใน ๓๔ ชื่อนั้น    ต่อมาได้เพิ่มชื่อขึ้นอีก  ๒  ชื่อ  รวมเป็นตัวหวย ๓๖ ตัว



กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Ngao_Mak ที่ 28 ต.ค. 09, 13:07
หวย พจนานุกรม อ.เปลื้อง ให้ความหมายว่า
ชื่อการพนัน ทายตัวเลขหรือตัวหนังสือ, จีนเรียก ฮวยหวย 花會(ชุมนุมดอกไม้) เพราะเมื่อแรกเล่นในแผ่นดินพระเจ้าเตากวง (พ.ศ. ๒๓๗๔-๒๓๙๔) ใช้ดอกไม้ต่างๆ เป็นตัวหวย, ที่เล่นในเมืองไทย เรียกว่า หวย ก. ข. เพราะใช้ตัวพยัญชนะไทยในการออกหวย. หวย ก. ข.

ชื่อหวยที่เล่นกันสมัยรัชกาลที่ ๕ ขึ้นไป ออกหวยเป็นตัวหนังสือ มีขุนบาลผูกขาดจากรัฐบาลเป็นเจ้ามือออกหวย ต่อมาโปรดให้เลิกในปลายรัชกาลที่ ๕.

คนจีนเรียกการพนันชนิดนี้ว่า 打花會 da3 hua1 hui4 คำแรก น่าจะหมายถึง แทง

http://baike.baidu.com/view/1876504.html
http://baike.baidu.com/view/2873218.htm

打花会以古人像下配以牌九牌的挖花图案而得名,发明于何时何地,众说纷纭,一般认为在清道光年间在浙江黄岩流行,后传至广东、福建,再返流于浙江、上海、江苏,到民国时东北也十分流行。
  打花会又叫花会、常家赌等,参与者男女老少皆有,以妇女为多,是一种极具迷信色彩的博戏。
  打花会各地方法基本相同,公布36个古人名(历史上并无其人,皆为杜撰),有代表着皇帝、宰相、将军、状元、公主、乞丐、和尚(หลวงชี?)、道士(หลวงชี?)、尼姑(หลวงชี?)、童子、樵夫、儒生เรือจ้าง?等人的名字。

有利เอียวหลี、
井利แจหลี、
志高จีเกา、
三槐สามหวย、
吉品กิ๊ดปิ๊น、
元吉ง่วนกิ๊ด、
坤山คุนซัว、
日山ยี่ซัว、
万金บ้วนกิม、
占魁เจียมขวย、
火官ฮวยกัว、
九官เกากัว、
正顺เจี๊ยะสูน、
必得、ตัวนีไม่ทราบ
只得、ตัวนี้ไม่ทราบ
明珠เม่งจู、
艮玉กิมเง็ก、
茂林หม้งลิ้ม、
天良เทียนเหลียง、
安士หลวงชี?、
扳桂พันกุ้ย、
伏双ฮกซุน、
江祠กังสือ、
月宝ง่วยโป๊、
合同ฮะตั๋ง、
太平ไท้เผ็ง、
元贵ง่วนกุ่ย、
合海ฮะไฮ้、
青元แชหงวน、
青云แชหุน、
汉云หุนหัน、
光明กวงเหม็ง、
天申เทียนสิน、
荣生ย่องเซ็ง、
逢春ฮ่องซุน、
上招เซี่ยงเจียว

而且与马、蝶、龙、鱼等动物一一对应,共为36签,总名“花会”。参赌人任意选其中一个人名投买,如果押中,可获赌注30倍的彩金;如未押中,赌注全归赌头(庄家)统吃。参赌人也可同时投买二人、三人,若投买二人中了其中一人,可获15倍彩金,依此类推。
  开筒的具体方式是:花厂内设有“号筒”一个,号筒即是一个大活人,背向人群,充当上次开筒的古人,号筒无实际意义。设有“彩筒”一个,彩筒藏有纸筒一个,上面绘有古人画像,但没有展开,外表也无任何记号,彩筒用布帘严密裹扎,有的地方还用铜锁锁住,以显不曾泄秘。每天开筒两次,分日筒、夜筒,彩筒是当赌客的面密封的,理论上庄家也不知。赌客当场投买,并附注金,投买须写两纸,写明古人名,一纸连同注金密封后交花厂放入密封柜,一纸自存。开筒时燃放爆竹,花厂之人当众打开密封的彩筒,现出古人名,参赌人对彩领彩。花会表面公正,却易作弊,花厂实际知道密封在彩筒中的纸筒中的古人,若有数人投买(花厂暗派人混在赌客中观察),庄家必输,庄家可暗设机关,在彩筒里调换纸筒。

http://www.yes-iloveyou.com/smfboard/index.php?action=printpage;topic=1823.0


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Ngao_Mak ที่ 28 ต.ค. 09, 13:23
http://zh.wikipedia.org/zh-cn/%E5%AD%97%E8%8A%B1 ฮวยหวย


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 31 ต.ค. 09, 10:18
ว่าจะเข้ามาคุยหลายวันแล้วค่ะ   เรื่อง ฮวยหวย

ไม่รู้ภาษาจีน  แต่ชอบอ่านพงศาวดารจีน  กิ่งพงศาวดารจีน

เรื่องตัวหวยแต่ละตัวนั้นพอจำได้ เพราะนวนิยายสมัย ๒๔๖๐ - ๒๔๘๐  จะมีกล่าวถึงบ้าง
เช่น ป กังสือ

เจ้ามังกรมีเขาเขาเล่าลือ
ชื่อกังสือบางครูว่างูหงอน
บ้างก็ว่าหอยสังข์กลายมังกร
เมื่อชาติก่อนเป็นไฮ้เล่งอ๋องเอย


ธ  ไท้เผ็ง(ไม่ต้องแทงเลยค่ะตัวนี้  เพราะจะไม่ออกแน่นอน)
เจ้ามังกรไท้เผ็งเก่งฉกาจ
คนขยาดออกชื่อลือหนักหนา
เป็นเจ้าเมืองเรืองฤทธิ์อิศรา
ชาวประชายอมตัวกลัวฤทธี


มีหนังสือเก่าปกสวย(แปลว่าทำพิเศษ  ราคาสูง)ชื่อ ฮวยฮ่วยลัว  ๑ เล่ม
ปกนอกบอกว่า ฮวยฮ่วยลัว          ปกในบอกว่าฮวยฮ่วยกัว

เป็นประวัติของตัวหวย

กรรมบังตาค่ะ  คิดว่าเป็นกลอนอธิบายตัวงิ้ว   จึงปล่อยให้ผ่านไป
นักเลงหนังสือโบราณก็หากันกลุ้ม

อยากอ่านเฉยๆค่ะ    


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Ngao_Mak ที่ 16 ส.ค. 10, 11:52
必得 เรือจ้าง
只得 ขายหมู

เดิมมี 36 ตัว ภายหลังเอาออก2ตัว เพราะแรง ออกทีไรมีเรื่องทะเลาะวิวาททุกครั้ง คือ จีเกา กับ ไท่เผ๋ง

ส่วนรูปตัวหวย ดูในหนังสือแป๊ะกงทำนายฝันครับ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: lagoon ที่ 25 ก.ย. 10, 19:53
คำว่า "หมื่น" ครับ

หมื่นอันนี้ไม่ใช่จำนวนนะครับ

แต่เป็นคำที่ผมโดนผู้ใหญ่ดุตอนเด็กๆประจำว่าอย่ามาหมื่น

ความหมายน่าจะประมาณอย่ามาทะลึ่งมั้งครับ

แล้วก็คำว่า "ไปทุ่ง" อันนี้ยายผมยังใช้จนปัจจุบัน

ถึงแม้จะมีห้องน้ำแล้วก็ยังเรียกว่าไปทุ่ง

เด็กสมัยนี้ฟังคงจะงงว่าไปทำอะไรที่ทุ่ง

ถ้านึกออกอีกจะมาพิมพ์เพิ่มนะครับ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: han_bing ที่ 26 ก.ย. 10, 12:22
和尚 แปลว่า พระ
道士 แปลว่า นักพรตในลัทธิเต๋า
尼姑 แปลว่า แม่ชี

เอวังด้วยประการฉะนี้แล

ตอบย้อนเวลาไปเกือบสองปีเลยแฮะ、


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 27 ก.ย. 10, 09:12
คุณ han_bing เคยเห็นอาหารรายการนี้ที่เมืองจีนบ้างหรือเปล่า

 鸡茸葛仙米

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=3462.0;attach=14606;image)

 ???


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: posopsawadee ที่ 03 มี.ค. 11, 23:33
สวัสดีครับ สมาชิกใหม่ครับ
ที่คำหนึ่งมานำเสนอ
จำหนับ จังหนับ
ใครมีข้อมูล ตอบให้หน่อยครับ


กระทู้: คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 04 มี.ค. 11, 00:10
สวัสดีค่ะ คุณ posopsawadee    ยินดีต้อนรับ



คำที่ถามมาว่า จำหนับ  หรือ จังหนับ    ก็ได้ยินใช้กันอยู่  ออกเสียง ว่า จังหนับ  หรือจั๋งหนับก็ได้ยินอยู่  มิได้แปลกประหลาดอันใด

พจนานุกรมฉบับ มติชน  พิมพ์ครั้งแรก ๒๕๗๔  น.​๒๒๒  บอกไว้ว่า

จังหนับ,  จั๋งหนับ   ว.  เต็มที่   จำหนับก็ว่า

เท่าที่เข้าใจและอ่านมา  เห็นใช้ในบริบทเกี่ยวกับการกินอาหารจนอิ่มเกิน  เช่น  ล่อเสียจั๋งหนับ
ปรากฏในเอกสารสิ่งพิมพ์ ประมาณ ๒๔๘๑ -  ๒๕๒๐      หลังจากนั้นก็ไม่ค่อยได้เห็นบ่อยนัก



เมื่อท่านสมาชิกใหม่กรุณาแวะมาคุยทั้งที  ก็ขอเสนอ  พจนานุกรมแสดงความหมาย  สมัย และที่มาของโบราณิกศัพท์  ชื่อ  รัตนมาลา  ของศ. ดร. นิยะดา  เหล่าสุนทร
เมธีวิจัย และ ราชบัณฑิต  ในหน้า ๒๒๖

จำหนับ  ว.
      บ้างจุปากว่าไม้เท้ายาวจำหนับ                          อภัยมณี  ต. ๒๔   น. ๓๗๘
มาก  ยัง
ในภาษาเขมรมีคำว่า  "จํณาป"  ว่า  "น่าพิศวง"


รัตนมาลา  มี สมาชิกที่นับถือนำมาเผยแพร่ว่าดีงาม        ได้ลองใช้ดูปรากฏว่าดีมากค่ะ
อะไรที่ไม่เคยสังเกต  ก็พอจะเข้าใจขึ้นมา