เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ย. 14, 11:30



กระทู้: "วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย" ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปีพ.ศ. 2557
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ย. 14, 11:30
วันที่ 15  กันยายนของทุกปี   มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดให้เป็น "วันศิลป์ พีระศรี"  เพื่อเป็นเกียรติแก่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร  และผู้มีคุณูปการอย่างยิ่งต่อวงการศิลปศึกษาและศิลปะร่วมสมัยของประเทศไทย

ทุกปี คณะกรรมการจะพิจารณาและคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปี  ปีนี้ได้พิจารณาตัดสินให้ รองศาสตราจารย์ ดร. คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์ (ว.วินิจฉัยกุล, แก้วเก้า) เป็นผู้ได้รับรางวัลปาฐกถาศิลป์ พีระศรี
ผู้ที่ได้รับรางวัล จะได้รับเชิญให้เป็นองค์ปาฐก ประจำปี  ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ

ปีนี้  หัวข้อปาฐกถาคือ “วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย”
จะนำมาลงให้อ่านกันในกระทู้นี้   จบแล้วค่อยเล่าเพิ่มเติมค่ะ


กระทู้: "วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย" ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปีพ.ศ. 2557
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ย. 14, 11:34
วรรณศิลป์อยู่หนใด

        ตั้งแต่พ.ศ. 2542 จนปัจจุบัน ผู้เขียนทำหน้าที่ดูแลเว็บไซต์วิชาการทางด้านภาษา วรรณคดี  วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมอยู่แห่งหนึ่ง ชื่อว่า  www.reurnthai.com (http://www.reurnthai.com)  เว็บไซต์มีกระดานสนทนาให้ผู้สนใจเข้าตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบจากผู้ดูแล และผู้รู้อื่นๆที่แวะเวียนเข้ามาให้วิทยาทานเป็นประจำ
   หลายครั้งพบว่าเด็กiนักเรียนสมัครสมาชิกเข้ามาในห้องวรรณคดี โดยไม่ได้สนใจวรรณคดี  แต่เพื่อจะวานให้ทำการบ้านวรรณคดีไทย   เพราะตัวเองทำไม่ได้  หรือไม่สนใจจะทำ    เห็นได้ว่าวรรณคดีไทยกลายเป็นยาหม้อใหญ่ที่เด็กๆกลืนไม่ลง
      
         ตัวอย่างการตั้งคำถามที่นักเรียนเกี่ยวกับวรรณคดี  คือออกมาในทำนองเดียวกันนี้    
-    ช่วยถอด บทประพันธ์ หน่อยค่ะ
         คำประพันธ์
             เมื่อนั้น                     ท้าวกะหมังกุหนิงสูงส่ง
เห็นค่ายเสร็จพลันมั่นคง            จึงชวนองค์โอรสธิบดี
ตรัสเรียกสองราชอนุชา            เสด็จจากรถาเรืองศรี
พร้อมด้วยกิดาหยันเสนี            จรลีขึ้นสุวรรณพลับพลา
-    ช่วยแปลบทละครอิเหนา ตอน ศึกกะหมังกุหนิง หน่อยค่ะ (( มี 3 ย่อหน้า ))
-    ช่วย แปล กลอนนี้ให้ทีครับ
ครั้นว่ารุ่งสางสว่างฟ้า                สุริยาแย้มเยี่ยมเหลี่ยมไศล
จะกล่าวถึงพระองค์ผู้ทรงชัย        เนาในพระที่นั่งบัลลังก์รัตน์
พร้อมด้วยพระกำนัลนักสนม      หมอบประนมเฝ้าแหนแน่นขนัด
ประจำตั้งเครื่องอานอยู่งานพัด          ทรงเคืองขัดขุนช้างแต่กลางคืน


บางคนก็ดีหน่อยคือทำการบ้านมาแล้ว  ขอให้ช่วยตรวจอีกที

-     ผมถอดความแบบนี้ถูกป่ะ
เมื่อพวกอสัญแดหวาได้ฟังตำมะหงงก็รู้สึกดีใจจึง เข้าไปในห้องแล้วไห้ปิดม่านทองส่วนสุหรานากงก็กลับที่พักแล้วฝ่ายกองร้อย ข้างกะหมังกุหนิงเห็นทัพนับแสนต่างตกใจก็เลยหนีไป   พอถึงค่ายก็เอาข่าวทั้งหมดบอกแก่เสนาในว่าได้เห็นรี้พล     เมื่อยาสาได้รู้เหตุผลจึงกลับมาที่พักแล้วกราบ ทูลกะหมังกุหนิงว่าเห็นทัพใหญ่ยกมาแน่นป่า  มีเสียงแตรางข์ฆ้องกลองช้างร้อง สนั่นป่า   มีอาวุทหอกดาบมากมาย   มีขี้ฝุ่นบดบังดวงอาทิตย์   แล้วมีทัพออกจากเมืองมาสมทบ   สงครามครั้งนี้ยิ่งใหญ่นัก   พรุ่งนี้น่าจะต่อสู้กันพระทรงธรรม์จงทราบฝ่าธุลี      


กระทู้: "วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย" ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปีพ.ศ. 2557
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ย. 14, 11:36
         ทำให้ผู้เขียนสงสัยว่าการเรียนวรรณคดีคือการถอดความ หรือแปลศัพท์เท่านั้นหรือ    เมื่อสอบถามเด็กนักเรียนมัธยมปลายที่เข้ามาขอความรู้ในกระดานสนทนา ก็ได้ความว่า การเรียนวรรณคดีเช่นวิชาประวัติวรรณคดี   นักเรียนเรียนเพียงแค่ข้อมูลเบื้องต้นของวรรณคดีเรื่องนั้นๆ  เป็นต้นว่า ใครคือผู้แต่ง จุดประสงค์ ผลกระทบต่อวัฒนธรรมและสังคม ฯลฯ แต่ไม่ได้เรียนถึงขั้นวิเคราะห์ตีความ  หรือเรียนให้เข้าใจถึงคุณค่าของวรรณคดี
          เมื่อเรียนกันคร่าวๆดังนี้  ดังนั้นในหนึ่งภาคการศึกษา นักเรียนจึงเรียนจบไปเกือบสิบเรื่อง    ส่วนวิชาวรรณคดีมรดก เรียนลึกขึ้นคือภาคการศึกษาละสองเรื่อง  มีเสภาขุนช้างขุนแผน มัทนะพาธา ลิลิตตะเลงพ่าย และมหาเวสสันดรชาดก  แต่ละเรื่องต้องอ่านตามบทที่ทางโรงเรียนได้กำหนดมาให้ แล้ววิเคราะห์ ตีความ เวลาสอบก็จะเป็นการสอบแบบวิเคราะห์มากกว่าท่องจำ
         วิชาวรรณคดีเรียนกันน้อยเพียงสัปดาห์ละสองชั่วโมง    แม้ว่าชั่วโมงเรียนจะน้อย แต่นักเรียนต้องทุ่มเทเวลาในการเตรียมตัวสอบ เพราะเนื่องจากต้องอ่านบทร้อยกรองและทำความเข้าใจศัพท์ภายในเรื่อง
         โดยรวมแล้ว นักเรียนจำนวนมากเห็นว่าวรรณคดีไทยเป็นวิชาน่าเบื่อบ้าง หรือไม่ก็ยากเกินเข้าใจบ้าง  ถ้าให้เลือกเรียนวรรณคดีไทยกับภาษาเยอรมัน เด็กนักเรียนเห็นว่าภาษาเยอรมันดีกว่า เพราะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในอนาคตได้มากกว่า
         ถ้าหากพูดถึงโรงเรียนอื่นๆนอกจากนี้  ที่ไม่ได้มีการสอนวรรณคดีแบบเข้มข้นแล้ว เด็กส่วนใหญ่มักไม่ให้ความสำคัญกับวรรณคดี  แต่จะเน้นไปทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มากกว่า เพราะได้ใช้ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย   เมื่อครูสอนตามหนังสือของกระทรวง   นักเรียนก็เรียนพอให้สอบผ่านเท่านั้น   


กระทู้: "วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย" ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปีพ.ศ. 2557
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ย. 14, 11:39
        ในเมื่อหลักสูตรวรรณคดีในระดับมัธยมเป็นอย่างนี้   วรรณคดีจึงเป็นยาหม้อใหญ่ เต็มไปด้วยส่วนผสมของศัพท์โบราณคร่ำครึและยากเย็นห่างไกลจากความเข้าใจของนักเรียน     ไม่สามารถจะนำไปใช้ได้ไม่ว่ากรณีใดๆ     เราจึงไม่อาจหวังว่านักเรียนที่ขึ้นไปเป็นนิสิตนักศึกษาจะให้ความสนใจกับวรรณคดีไทย    ถ้าเรียนในคณะอื่นที่ไม่ใช่อักษรศาสตร์ หรือเรียนอักษรศาสตร์แต่ไม่ได้เรียนวรรณคดี  ก็จะลืมวรรณคดีไทยเสียสนิท
   คำว่า “วรรณศิลป์” จึงเป็นคำที่คนหนุ่มสาวปัจจุบันไม่เข้าใจความหมาย  รวมทั้งความหมายเชิงภาษาด้วย     สวนทางกับความคาดหวังของนักวิชาการวรรณคดีจำนวนมากว่าเมื่อได้บรรจุวรรณคดีเข้าไว้ในหลักสูตรการศึกษา มีให้เห็นในตำราเรียนแล้ว  นักเรียนก็ย่อมมีโอกาสได้เข้าถึงอรรถรสของวรรณคดี  เกิดความซาบซึ้งตรึงใจ และเห็นคุณค่าของวรรณคดีเช่นเดียวกับนักวิชาการวรรณคดีทั้งหลาย   สามารถเข้าถึงจิตวิญญาณของวรรณคดี จนสามารถพัฒนาสติปัญญาให้งอกงามจากการเรียนรู้เข้าใจวิชานี้ต่อไป
        ความผิดพลาดในเรื่องนี้เกิดจากวิธีการจัดหลักสูตรและการสอนวรรณคดี(และวรรณกรรม)ในระดับมัธยมศึกษา ซึ่งไม่ก่อให้นักเรียนเกิดโอกาสได้เข้าถึงวรรณคดีได้   นักเรียนรู้จักเพียงผิวเผินจากเปลือกภายนอก คือการแปลศัพท์ ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับความหมายอันแท้จริงของวรรณคดี       การมุ่งเน้นการเรียนเพื่อให้ผ่านการสอบชั้นมัธยมปลายเป็นหลัก ทำให้ครูไม่ได้เน้นในด้านการเข้าถึงคุณค่าของวรรณคดีมากไปกว่าการสอนที่ทำให้สอบผ่านไปแต่ละวิชาเท่านั้น    วรรณคดีและวรรณกรรมจึงกลายเป็นของยากที่แห้งแล้ง ไร้ชีวิตชีวา  ไม่ต่างจากซากจากอดีตที่ถูกขุดขึ้นมาศึกษาพอเป็นพิธีกรรม เพื่อให้ได้ชื่อว่ามีวรรณคดีอยู่ในหลักสูตรเช่นเดียวกับหลักสูตรการเรียนการสอนของประเทศที่เจริญแล้ว


กระทู้: "วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย" ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปีพ.ศ. 2557
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ย. 14, 11:42
      การศึกษาวรรณคดีไทยที่สอนเพียงเนื้อหา  แปลศัพท์ และอธิบายความ นับเป็นการศึกษาที่ผิวเผินและตื้นเขิน    เพราะเป็นแค่การแนะนำคร่าวๆว่าวรรณคดีไทยเรื่องนั้น คืออะไร มีเนื้อหาอย่างไร  แต่ไม่ทราบว่า วรรณคดีหรือวรรณกรรมนั้นมีคุณค่าอย่างไร   และต้องการจะสื่อความคิดใดมาสู่ผู้อ่าน  มองไม่เห็นจิตวิญญาณของศิลปะทางตัวหนังสือซึ่งแฝงอยู่ในผลงานอันทรงคุณค่านี้      ลำพังแค่การแปลศัพท์และถอดความ ดังที่ครูภาษาไทยทั่วไปนิยมปฏิบัติ  ไม่อาจทำให้นักเรียนมองเห็นคุณค่าของวรรณคดีพอจะรู้จักศิลปะของตัวหนังสือได้
 
     “.. คำถามประการหลัง ๆ ดังที่กล่าวมานี้ ไม่สามารถตอบได้จากการศึกษาด้วยการถอดความ แต่จะต้องอาศัยการศึกษาด้วยการตีความเท่านั้น  และการสอนตีความนี้เอง ที่ครูภาษาไทยไม่สามารถนำพาผู้เรียนให้ไปถึงได้  ชั้นเรียนภาษาไทยระดับมัธยมศึกษาส่วนใหญ่  จึงยังคงย่ำอยู่กับที่ คือ  ย่ำอยู่กับการถอดความ”    (เฉลิมลาภ ทองอาจ "วรรณคดีศึกษาในระดับมัธยมศึกษา: หยุดก้าวย่ำ...นำก้าวหน้า"  www.oknation.net (http://www.oknation.net)   วันอาทิตย์ เมษายน 2556)

       ในเมื่อการเรียนหยุดอยู่แค่แปลศัพท์และถอดความ ไม่ได้ก้าวไกลมากไปถึงการตีความวรรณศิลป์   นักเรียนจำนวนมากจึงไม่เข้าใจว่าวิชาวรรณคดีไทยมีคุณค่าอย่างใดมากไปกว่าเรียนศัพท์โบราณที่พวกเขาไม่เคยรู้เห็น เรียนเนื้อหาในอดีตที่ไม่เกี่ยวกับชีวิตในปัจจุบัน   และในชีวิตก็ไม่จำเป็นต้องเอาไปใช้อีกด้วย 
วรรณศิลป์ในวรรณคดีจึงกลายเป็นสิ่งที่สูญหายไปจากความเข้าใจของคนรุ่นปัจจุบัน   ทั้งๆยังมีตัวตนให้เห็นอยู่ในวรรณคดี


กระทู้: "วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย" ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปีพ.ศ. 2557
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ย. 14, 11:44
      อันที่จริงแล้ว  วรรณคดีเป็นสาขาหนึ่งของศิลปะ   ศิลปะนั้นก็คือความงามอันเกิดขึ้นได้ด้วยสาเหตุหลายอย่างด้วยกัน     ถ้าเกิดจากเส้นและลายที่สละสลวยได้สัดส่วนเป็นวิจิตรศิลป์       ถ้าเกิดจากสำเนียงที่กังวานเสนาะหู  เป็นคีตศิลป์    ถ้าเกิดจากการเคลื่อนไหวที่มีจังหวะจะโคนถูกแบบแผน ก่อความเจริญตาและอารมณ์  เป็นนาฏศิลป์       ถ้าเกิดจากตัวหนังสือที่ก่อความซาบซึ้งสะเทือนอารมณ์  จุดจินตนาการให้บรรเจิดขึ้นมา  คือวรรณศิลป์   ดังนั้นเมื่อเอาเวลาส่วนใหญ่ของการเรียนวรรณคดีไปในการแปลศัพท์และถอดความ จึงเป็นการเสียเวลาอย่างน่าเสียดาย      พลอยทำให้นักเรียนไม่เข้าใจไปด้วยว่า เรียนวรรณคดีไปเพื่ออะไร
     
      สิ่งที่นักเรียนควรเรียนรู้มากที่สุดคือความสละสลวยของภาษา ว่ากว่าที่กวีจะร้อยเรียงถ้อยคำขึ้นมาในรูปของฉันทลักษณ์ได้ จะต้องใช้ทักษะและจินตนาการอันละเมียดละไมมากเพียงใด   จึงจะทำให้ภาษาธรรมดาเพิ่มคุณค่าทวีขึ้นถึงขีดของศิลปะการใช้ภาษา       เขาไม่อาจเห็นขั้นตอนของการเรียงร้อยภาษาจากคำธรรมดาสามัญ มาเป็นคำที่เลือกสรรค์แล้วอย่างวิจิตร  เพื่อให้เกิดศิลปะได้ในที่สุด      เขามองไม่เห็นจินตนาการของกวีที่มองผ่านสิ่งธรรมดาสามัญต่างๆ แล้วทำให้สิ่งนั้นกลายเป็นความงามที่ประทับใจ ผ่านทางตัวอักษร    นักเรียนไม่ได้เห็นแม้แต่การตีความวรรณคดี เพื่อก่อให้เกิดความแตกฉานทางสติปัญญา  สามารถนำหลักการวิเคราะห์และวิจารณ์ไปใคร่ครวญให้เกิดทักษะในการดำเนินชีวิต   อย่างน้อยก็ไม่ได้เห็นเฉพาะสิ่งที่ตาเห็น หรือสมองอ่านเท่านั้น   แต่พินิจพิเคราะห์ลึกลงไปอีกชั้นหนึ่งของสิ่งที่กวีแสดงผ่านสายตามาให้ใคร่ครวญพิจารณาต่อไป


กระทู้: "วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย" ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปีพ.ศ. 2557
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ย. 14, 11:58
       ทั้งหมดนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้ ถ้าหากว่าวรรณคดีที่มีชั่วโมงน้อยอยู่แล้วในหลักสูตรการเรียน จะต้องหมดเวลาไปกับการแปลศัพท์และถอดความ     ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องถามต่อว่า  การเรียนการสอนวรรณคดีนั้นทำให้นักเรียนมองเห็นจิตวิญญาณของวรรณคดีบ้างหรือไม่  และอย่างไร
   ถ้าหากว่าตำราของกระทรวงศึกษาธิการ ได้อธิบายศัพท์ในวรรณคดีเอาไว้ทั้งหมดในหนังสือ เพื่อนักเรียนจะได้อ่านเข้าใจอย่างง่ายดาย  ก็จะลดขั้นตอนของการแปลศัพท์อันเป็นยาหม้อใหญ่ของนักเรียนลงไปได้       ถ้ามีเอกสารประกอบการสอน ถอดความให้นักเรียนอ่านเสียแต่ต้นชั่วโมง    ก็จะมีเวลาให้กับการอธิบายความงามในภาษาที่กวีบรรจงร้อยกรองขึ้น   จากนั้นก็จะเข้าสู่การวิเคราะห์และวิจารณ์คุณค่าของวรรณคดีเป็นลำดับต่อไป      อย่างน้อยนักเรียนก็จะได้รู้ว่าเขาเรียนวรรณคดีในฐานะศิลปะทางตัวอักษร      ได้รู้จักสุนทรียศาสตร์ที่มีผลดีต่อจินตนาการและการกระตุ้นให้เกิดทักษะในแง่คิดสร้างสรรค์    ดังที่ George Bernard Shaw ให้คำจำกัดความไว้ว่า
             Imagination is the beginning of creation.


กระทู้: "วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย" ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปีพ.ศ. 2557
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ย. 14, 15:52
     เมื่อเกิดความเข้าใจถึงศิลปะของการใช้ภาษาแล้ว  มีทักษะอีกหลายประการที่นักเรียนจะฝึกเพื่อความเข้าใจวรรณศิลป์ได้   เป็นการต่อยอดจากสิ่งที่เรียนรู้ในห้องเรียน   เช่นหาการใช้ภาษาที่สวยงามจากวรรณคดีเรื่องอื่นๆมาเพิ่มเติม    หรือหัดทดลองเขียนลองแต่งภาษาที่ และไม่ต้องจบลงแค่การแปลศัพท์และถอดความเท่านั้น
                                                       *******************
     ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. เจตนา นาควัชระ กล่าวไว้ในปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ในหัวข้อว่า “บ้านเมืองจะอับจน   ถ้าผู้คนร้างศิลปะ”   
     ท่านเล่าถึงประสบการณ์การไปเยือนพิพิธภัณฑ์ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า ในเช้าวันอาทิตย์วันหนึ่ง   ว่ามีคนอยู่เพียง 2 คนในสถาบัน “แห่งชาติ” แห่งนี้คือผู้ชม 1 คน ได้แก่ตัวท่านเอง   และผู้เฝ้าสถานที่อีก 1 คน   สภาพการณ์นี้เมื่อนำไปเทียบกับบรรยากาศในต่างประเทศแล้วจะเห็นว่าผิดกันไกล  เพราะที่นั่นผู้คนถึงกับเข้าแถวกันรอเวลาพิพิธภัณฑ์เปิด    ข้อนี้เป็นที่มาของข้อพินิจที่ว่า “บ้านเมืองจะอับจน   ถ้าผู้คนร้างศิลปะ” 
     นอกจากตั้งข้อสังเกตเรื่องคนไทยไม่ใคร่สนใจเสพงานศิลปะ    จนทำให้หอศิลปกลายเป็นหอร้าง    ศาสตราจารย์เกียรติคุณเจตนายังตั้งคำถามต่อไปถึงการครอบงำด้วยวาทกรรมโฆษณา ซึ่งมีผลทำให้ประชาชนถอยห่างจากการเสพงานศิลปะโดยตรง มาเป็นการเสพผ่านสื่อเทคโนโลยีต่างๆ เช่นฟังเพลงจากแผ่นตามคำโฆษณาชวนเชื่อ มากกว่าไปชมคอนเสิร์ตที่เล่นสด


กระทู้: "วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย" ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปีพ.ศ. 2557
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ย. 14, 15:53
       ปาฐกถาของศาสตราจารย์เจตนาได้จุดความคิดและคำตอบขึ้นในใจหลายข้อด้วยกัน      ถ้าเราจะเปลี่ยนจาก “หอศิลป์”เป็น“หอสมุด”    เปลี่ยนจาก “คอนเสิร์ต” เป็น “วรรณกรรม”  และเปลี่ยนจากแผ่นซีดีเป็นละครโทรทัศน์  หรือแผ่นดีวีดี   คำตอบก็น่าจะออกมาในทางไม่แตกต่างกันนัก
 สิ่งที่ทำให้ผู้เขียนแตกเขนงความคิดแยกไปจากศาสตราจารย์เกียรติคุณดร. เจตนา จนเป็นคนละทางก็คือ   ผู้เขียนไม่เน้นที่การตั้งคำถาม ว่าบ้านเมืองร้างศิลปะจริงหรือ     แต่จะพยายามหาคำตอบให้กับวิธีการดำรงอยู่ของศิลปะ โดยเฉพาะสาขาวรรณศิลป์ในบ้านเมืองของเรา
        คำปรารภที่ว่า ถึงเป็นเรื่องยากที่จะหาเสภามาขับให้เยาวชนฟัง  แต่ก็พอจะหาได้     แต่สิ่งที่ยากเย็นกว่านั้นคือหาเยาวชนมาฟังเสภา  โดยเฉพาะผู้ที่มาโดยสมัครใจ
        ผู้เขียนไม่ประสงค์จะร่ำร้องให้เยาวชนกลับมาทำสิ่งที่เราเห็นว่าพวกเขาไม่ได้สนใจจะทำ    แต่จะหาคำตอบให้ตัวเองว่าพวกเขาสนใจอะไร    เพราะถ้าเมื่อไรเราปักใจอยู่กับศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วปักใจต่อมาว่าไม่มีผู้เสพงานนั้นอย่างที่เราอยากให้เสพ    คำถามก็จะเกิดขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และจบลงตรงยังหาคำตอบไม่พบอยู่ดี    จะพบก็แต่ผู้ที่อยู่ในข่ายจำเลย  เช่นหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ   การเรียนการสอนของครู    ธุรกิจโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่แผ่ขยายไปทุกวงการ  ฯลฯ


กระทู้: "วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย" ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปีพ.ศ. 2557
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ย. 14, 16:02
     ดังนั้นความคิดเมื่อใดที่หยุดตั้งคำถาม   หันมาดูรอบตัว เราจะพบว่าศิลปะของไทยไม่ได้จากไปไหน   รวมทั้งวรรณคดีไทยและวรรณกรรม  ก็ยังมีอยู่พอให้ใจชื้นขึ้นมาได้บ้าง     แม้ว่ากระแสของโฆษณาประชาสัมพันธ์ จะไม่ครอบคลุมถึงมรดกไทยอันมีค่าเหล่านี้    แต่ก็เป็นที่เข้าใจว่าประเทศอื่นๆก็ประสบคำถามคล้ายคลึงกันเหมือนกัน
วรรณคดีเป็นเรื่องที่ต้องรักษาไว้อย่างสิ่งทรงคุณค่า มากกว่าจะมาสนับสนุนให้แข่งกับกระแสนิยมของศิลปะใหม่ๆ   เพราะย่อมเป็นที่รู้ว่าของใหม่เหล่านี้รุ่งเรืองเฟื่องฟูไปตามประสาของใหม่ ย่อมมีผู้คนตื่นเต้นเห่อกัน     เมื่อกาลเวลาผ่านไป ของใหม่กลายเป็นของเก่า    กระแสนิยมเหล่านี้ก็ดับหายไป   ทำนองเดียวกับเพลงร็อคแอนด์โรลที่เคยสร้างความคลั่งไคล้ให้หนุ่มสาวไทยเมื่อ ๕๐ ปีก่อน  บัดนี้ก็ไม่มีหนุ่มสาวรุ่นปัจจุบันคนไหนสนใจไยดีอีกแล้ว   เมื่อเทียบกับเพลงใหม่ๆแปลกๆ ที่ผลิตกันขึ้นมาในแต่ละทศวรรษ จนถึงปีปัจจุบัน
      ถ้าเปรียบเทียบระหว่างของเก่ากับของใหม่โดยมีกระแสความนิยมเป็นมาตรฐาน ของเก่าก็ต้องมีคะแนนนิยมน้อยกว่าของใหม่เป็นธรรมดา   แต่ถ้าพิจารณาใหม่ว่าแม้เวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง  ของเก่านั้นก็มิได้ลับหายไปจากสังคมไทย    หากสามารถก้าวข้ามกาลเวลามาถึงอีกยุคหนึ่งได้  ก็จะเรียกได้ว่าจิตวิญญาณของสิ่งนั้นยังดำรงอยู่   แม้จะหายากขึ้นบ้าง   แต่ก็ ไม่ได้หายไปไหน 
      ถ้าอย่างนั้นมาดูกันว่า จิตวิญญาณที่ยังฝังอยู่ในศิลปะแขนงวรรณศิลป์นั้น มีต้นกำเนิดมาอย่างไร และยังสืบสานต่อมาในลักษณะใดจนถึงปัจจุบัน                                 


กระทู้: "วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย" ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปีพ.ศ. 2557
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ย. 14, 20:43
        วรรณศิลป์ในภาษาของไทย

        ขอย้อนกลับไปถึงรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1  อู่ทอง  แห่งอาณาจักรศรีอยุธยา   วรรณคดีสำคัญในเรื่องนี้คือโองการแช่งน้ำ สำหรับใช้อ่านเมื่อมีพิธีถือน้ำกระทำสัตย์สาบานต่อพระมหากษัตริย์  ภาษาที่ใช้เป็นภาษาบาลีสันสกฤต ปะปนกับภาษาไทยดั้งเดิม  ห่างไกลจากความเข้าใจของคนไทยปัจจุบัน   แต่วรรณศิลป์ในการเรียงร้อยถ้อยคำก็ยังทิ้งร่องรอยให้เห็น มาจนถึงปัจจุบัน  คือการเล่นคำด้วยสระ และพยัญชนะ  ซึ่งใช้กันข้ามกาลเวลามาตลอดจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
         ขอให้สังเกตตอนที่กล่าวถึงกำเนิดของโลก
         จึ่งเจ้าตั้งผาเผือกผาเยอ ผาหอมหวานจึ่งขึ้น
         การเล่นคำปรากฏอยู่หลายแห่ง  ทั้ง จึ่ง-เจ้า   ผา-เผือก    ผาเผือก ผาเยอ  ผาหอมหวาน
          จึ่งเจ้าตั้ง  หมายถึง เทพเจ้าจึงได้สร้าง  คำว่าตั้งในที่นี้หมายถึงทำให้เกิดขึ้น  เรายังใช้อยู่ในคำว่า “ก่อตั้ง”
          ผู้แต่งเล่นคำคำว่า ผา ซ้ำๆกัน
   ผาเผือก  เป็นคำเรียกภาษาไทยของคำว่า เขาไกรลาส  ที่ประทับของพระอิศวรเป็นภูเขาหินสีขาวล้วน 
         ผาเยอ    เยอแปลว่าใหญ่  หมายถึงผาใหญ่ คือเขาพระสุเมรุซึ่งถือเป็นหลักของโลก
         ผาหอมหวาน  คือภูเขาคันธมาทน์   เป็นเขาลูกหนึ่งในป่าหิมพานต์ที่อยู่เชิงเขาพระสุเมรุ เป็นภูเขาที่มีกลิ่นหอมเพราะไม้ในป่านี้เป็นไม้หอมทั้งหมด 


กระทู้: "วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย" ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปีพ.ศ. 2557
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ย. 14, 20:45
         ในเมื่อโองการแช่งน้ำไม่ได้มีเอาไว้อ่านในใจเงียบๆเหมือนเราอ่านหนังสือสมัยนี้ แต่มีไว้อ่านดังๆในการทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา  การจงใจเล่นคำด้วยการซ้ำคำ ซ้ำสระ หรือซ้ำพยัญชนะ เพื่อเกิดจังหวะเสียงที่สอดคล้องกัน จึงก่อให้เกิดความเสนาะหูในการเปล่งเสียง 
          ในละครของเชกสเปียร์ที่แต่งขึ้นเพื่อให้นักแสดงออกเสียงดังๆบนเวที ก็มีการเล่นคำ ซ้ำพยัญชนะแบบเดียวกัน   เช่นในตอนต้นของ Macbeth  เปิดตัวละครด้วยการเล่นเสียงพยัญชนะ f  ในวรรคแรก
          So foul and fair a day I have not seen
          อีกตอนหนึ่งคือโคลงจาก Rime of the Ancient Mariner ของ Samuel Taylor Coleridge เล่นคำ ทั้งเสียงพยัญชนะ และตัวสะกด
          The fair breeze blew, the white foam flew,
          The furrow followed free;
           We were the first that ever burst
          Into that silent sea.


          ในสมัยอยุธยาตอนต้น   ภาษาไทยแต่ดั้งเดิมเป็นคำโดด คือคำเดียวง่ายๆ   ไม่ต้องแปลความหมายให้รุงรัง    ส่วนคำยาวๆรับมาจากเขมรซึ่งรับมาจากอินเดียอีกต่อหนึ่ง     ต่อมาตลอดสมัยอยุธยา  ไทยมีศัพท์บาลีสันสกฤตเพิ่มเข้ามาผ่านทางพระไตรปิฎก  จึงทำให้รุ่มรวยในเรื่องศัพท์เพิ่มขึ้นอีกมากมาย  ศัพท์เหล่านี้ทั้งไทย บาลี สันสกฤต และเขมร เอื้อต่อการสร้างวรรณศิลป์ที่มีสัมผัสทั้งนอกคือสัมผัสระหว่างวรรค  และสัมผัสใน คือสัมผัสภายในวรรคเอง  ยิ่งมีสัมผัสมากเท่าใด  ก็ยิ่งแสดงชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ของกวี มากขึ้นเท่านั้น       วรรณคดีในยุคต่อมาจึงมีการใช้ศัพท์ทั้งไทย เขมร บาลี สันสกฤตผสมผสานในงานวรรณคดีตอนเดียวกันอย่างแพรวพราว


กระทู้: "วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย" ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปีพ.ศ. 2557
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 ก.ย. 14, 20:46
          พระเจ้าจักรพรรดิ     เกิดแก้วจักรรัตน์          รวดเร้าดินบน
          สรพรั่งช้างม้า           สรพร้อมรี้พล              สรพราดสามนต์
          ทุกหมู่หมวดหมาย
          พระอยู่เสวยสุข         ในทวาบรยุค               เลิศล้ำลือสาย
          มีเจ้าพระเจ้า            อันเลิศลือชาย              ฟ้าหล้าเหมือนหมาย
          แกว่นกล้ากามบุตร์
          แง่งามโถงเถง           ทหารนักเลง                 แกว่นกล้าการยุทธ
          ประกาศโดยนาม       พระศรีอนิรุทธ               เยาวราชอันอุด
          ดมเลิศแดนไตร

          แต่ถึงกระนั้น ศัพท์ภาษาไทยง่ายๆก็เป็นความงามที่กวีอยุธยามิได้ละทิ้ง  เห็นได้จากพระนิพนธ์กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง ในเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ (กุ้ง)  ในสมัยตอนปลายของอยุธยา   วรรณศิลป์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ในบทนี้  มีร่องรอยของ ‘ขนบ’ การซ้ำคำ ตามแนวของโองการแช่งน้ำเมื่อสมัยอยุธยาตอนต้น
ความพิเศษคือในความธรรมดาของป่าเขาลำเนาไพร  เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ได้สร้างภาพไม่ธรรมดาขึ้นมาด้วยถ้อยคำง่ายๆ รวมกันเข้าแล้วเป็นภาพพิเศษไม่ซ้ำกับใคร   สมกับคำกล่าวของ Boris Pasternak กวีและนักเขียนชาวรัสเซียผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม เมื่อค.ศ. 1958 ว่า
          “Literature is the art of discovering something extraordinary about ordinary people, and saying with ordinary words something extraordinary”


กระทู้: "วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย" ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปีพ.ศ. 2557
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ย. 14, 09:18
              เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ทรงตั้งโจทย์ ด้วยเล่นคำธรรมดาสามัญว่า ‘ลิง’ แตกออกเป็นความหมายหลากหลายแตกต่างกัน     จากนั้นก็หยิบยกมารวมกัน   ร้อยกรองเป็นภาพพรรณนาโวหาร แสดงวรรณศิลป์ชั้นสูงของกวี  
            หัวลิงหมากลางลิง                        ต้นลางลิงแลหูลิง
            ลิงไต่กระไดลิง                        ลิงโลดคว้าประสาลิง
                    หัวลิงหมากเรียกไม้            ลางลิง
             ลางลิงหูลิงลิง                        หลอกขู้
            ลิงไต่กระไดลิง                        ลิงห่ม
            ลิงโลดฉวยชมผู้                       ฉีกคว้าประสาลิง
         คำว่า “ลิง” ในที่นี้ล้วนมีความหมายหลากหลาย ไม่ซ้ำกัน
         -  ลิงที่เป็นตัวแสดงบทบาทในโคลง   คือสัตว์
         - หัวลิง เป็นไม้เถาชนิดหนึ่ง ผลขนาดส้มจีน มีสันตรงกลางคล้ายหัวลิง  
         - หมากลางลิง เป็นชื่อของปาล์มชนิดหนึ่ง
         - ลางลิง , กระไดลิง เป็นชื่อของไม้เถาเนื้อแข็ง ลักษณะแบนยาว งอกลับไปกลับมาคล้ายขั้นบันได
         - หูลิง เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่ง
         ส่วนการเล่นคำโทโทษในบทกวี  เล่น ๒ คำ
         - ขู้  หมายถึง ขู้ เป็นคำโทโทษของคำว่า คู่
         - ชมผู้ หมายถึง ชมผู้ เป็นรูปโทโทษของคำว่า ชมพู่ หมายถึงผลไม้ชนิดหนึ่ง
         ด้วยคำว่า “ลิง” ทั้งสัตว์และพืช ที่กระจัดกระจายกันอยู่ตามธรรมชาติของมัน      เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ทรงได้นำเข้ามารวมกันไว้ในที่เดียว   สร้างเหตุการณ์ขึ้นมา ให้เห็นภาพพื้นหลังของป่าว่ามีเถาหัวลิงและต้นหมากลิงขึ้นอยู่เป็นฉากหลัง  ความมีชีวิตชีวาของป่าในตอนนี้ ก็คือลิงที่ขึ้นต้นหูลิง ทำหน้าหลอกล้อคู่ของมันตามประสา   บ้างก็ไล่เถากระไดลิงขย่มเล่น   บ้างก็กระโดดฉวยผลไม้อย่างชมพู่คว้ามาฉีกเล่นตามธรรมชาติซุกซนไม่อยู่นิ่งของสัตว์ชนิดนี้
          การร้อยเรียงภาษาจากเล่นคำ โดยมีฐานจากความเป็นจริง นำมาสร้างสรรค์ด้วยจินตนาการอันบรรเจิด แบบนี้คือความอลังการในภาษาไทย     ครูควรสอนให้นักเรียนตระหนักถึงคุณสมบัติและลักษณะเฉพาะของภาษาไทยทางด้านนี้   นอกจากจะเป็นการจุดประกายความคิดและความเข้าใจแล้ว   ยังนำไปสู่ความภูมิใจในการอนุรักษ์ภาษาอันเป็นสมบัติของชาติได้อีกด้วย


กระทู้: "วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย" ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปีพ.ศ. 2557
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ย. 14, 09:20
          ตัวอย่างที่เห็นได้อีกเรื่องหนึ่ง ในการเล่นลีลาของภาษาร้อยแก้ว คือเรื่องสั้น ภาพดาวหลงฟ้า ในคืนพระจันทร์เสี้ยว  ของ สกุล บุณยทัต

          ๑๘
          อากาศในคืนนี้เยือกเย็นลงอย่างประหลาด    ดวงดาวบนฟากฟ้าส่องประกายสุกสว่างงามระยับ...จันทร์เสี้ยวที่แหว่งโค้งดวงเดิม...ลอยเลื่อนอยู่กับความเงียบงันของค่ำคืนอย่างคมกริบ   “ ดวงหลงฟ้าดวงหนึ่ง” ลอยคว้างเป็นสายทางที่เหยียดยาว เหมือนดั่งการก้าวย่างของชีวิตที่ยิ่งใหญ่  ผ่านแผ่นฟ้ากว้างไกลไปสู่ความนิรันดร์อันยั่งยืน...
          ๑๙
          พระธุดงค์ทั้งสองต่างเพ่งมองปรากฎการณ์แห่งธรรมชาติที่เบื้องหน้า..ด้วยกิริยาอาการอันสงบนิ่ง...ศีรษะของ “ผู้ทรงศีล”น้อมต่ำลง...พร้อมกับมือที่ยกขึ้นพนม..สวดภาวนา
           “ ผู้คนแห่งโลกของเราทั้งหมดรู้จักให้อภัย
            รู้จักมองข้ามความผิดพลาดของผู้อื่น...
-------------------------------------------
            เราสรุปบทเรียนจากอดีต  เพื่อรู้ที่จะสร้าง
            ปัจจุบันเพื่ออนาคต

            ถ้าหากว่าถอดภาษาข้างบนนี้ออกมา ให้ได้ใจความตรงตามเดิม แต่ไม่คำนึงถึงลีลาของภาษา  ก็จะออกมาอย่างนี้
            อากาศในคืนนี้เย็นมาก     ดาวบนฟ้าส่องแสงสว่าง  จันทร์เสี้ยวลอยอยู่ในความเงียบของเวลากลางคืน    ดาวตกตกเป็นสาย ทำให้นึกถึงชีวิตที่ก้าวไปสู่นิรันดร
            ๑๙
           พระธุดงค์ทั้งสองเพ่งมองปรากฎการณ์ธรรมชาติ ด้วยกิริยาสงบนิ่ง...ศีรษะก้มต่ำ  พนมมือสวดมนตร์

           เนื้อหาเท่าเดิม  แต่ลีลาของภาษาที่ตัดสุนทรียะทางภาษาออกไป ทำให้งานทั้งสองชิ้นนี้มีวรรณศิลป์ผิดกัน ราวกับเป็นงานคนละชิ้น    ชิ้นแรกประกอบด้วยจินตนาการและลีลาวรรณศิลป์ มีทั้งรูปธรรมและนามธรรม        ส่วนชิ้นหลังเป็นคำบรรยายสั้นกระชับ เน้นเพียงภาพที่ตาเห็นได้เท่านั้น


กระทู้: "วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย" ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปีพ.ศ. 2557
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ย. 14, 09:22
           วรรณศิลป์ในตัวอย่างดังกล่าวนี้ มิได้เป็นรูปธรรมให้เห็นได้อย่างงานศิลปะแขนงอื่นๆเช่นจิตรกรรมหรือประติมากรรม   แต่เป็นความงามที่เกิดจากความเข้าใจอรรถรส  สัมผัสรับรู้รสเสียง รสของถ้อยคำที่คัดกรองแล้ว  อย่างบรรจง และรสของเนื้อความที่นำไปสู่จินตนาการอันบรรเจิด ตามที่กวีได้ถ่ายทอดจินตนาการผ่านมาให้ทางตัวหนังสือ
          เมื่อเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้ ก็จะประจักษ์ว่าจิตวิญญาณของภาษาวรรณศิลป์คืออะไร และอยู่ ณ ที่ใดในวรรณคดี

          จิตวิญญาณของวรรณศิลป์ในวรรณคดีไทย

          ต่อเนื่องจากลีลาของภาษา   ก็มาถึงคุณสมบัติอื่นๆทางวรรณคดีไทยบ้าง    อย่างหนึ่งที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ ก็คือเราสามารถสัมผัสจิตวิญญาณของมนุษย์ผ่านทางงานวรรณคดีได้ ในลักษณะไหนบ้าง
         ดร.วิทย์ ศิวศริยานนท์ได้สรุปถึงวรรณคดีไทยไว้ในหนังสือ วรรณคดีและวรรณคดีวิจารณ์ ว่า   
       
         “ ถึงแม้เนื้อเรื่องของวรรณคดีไทยโดยมาก   จะเป็นในทำนองที่เรียกว่าโรแมนติค      แต่ก็มีลักษณะของคลาสสิกและแบบศิลปะนิยมของจริง (realism) ระคนอยู่ด้วย      ถึงแม้เรื่องของพระอภัยมณีจะเต็มไปด้วยเวทมนตร์คาถา   ปี่แก้ว  เรือยนต์ ธนูกล   ยักษ์และผีเสื้อสมุทร    และการผจญภัยอย่างโลดโผนพิสดารอย่างไรก็ตาม     แต่การดำเนินเรื่อง  นิสัยใจคอและการกระทำของตัวละครเป็นสิ่งที่เป็นไปตามความจริง     หรืออยู่ในกรอบของเหตุผล  จึงเป็นที่จับใจของผู้อ่าน     นางผีเสื้อสมุทร  ถึงแม้จะ “สกนธ์กายโตใหญ่เท่าไอยรา”  และ “ตะวันเย็นขึ้นมาเล่นทะเลกว้าง    เที่ยวอยู่กลางวาริณกินมัจฉา    ฉวยฉนากลากฟัดกัดกุมภา”   ก็ผิดกับมนุษย์แต่รูปกายภายนอก    ส่วนนิสัยใจคอนั้นเหมือนมนุษย์   รู้จักรัก โกรธ หึงหวง  อย่างคนจริงๆ    ส่วนนางเงือกน้ำนั้นเล่า ก็มี “เชิงฉลาดเหมือนมนุษย์นั้นสุดเหมือน”   และ รู้จัก “แสนอดสูสารพัดจะบัดสี” เมื่อถูกพระอภัยโลม     นอกจากนั้น  การพูดจา  เกี้ยวพาราศีหรือการตัดพ้อต่อว่าเป็นไปอย่างที่เรียกว่า “สะใจ”คนอ่าน  เพราะแสดงความจริงเล็กๆน้อยๆในอารมณ์และนิสัยใจคอของคน     สิ่งเล็กๆน้อยๆนี่เองที่ทำให้ตัวละครในเรื่องนี้มีจิตใจเป็นมนุษย์ปุถุชนขึ้น      วรรณคดีไทยทุกเรื่องเป็นเช่นนี้   ไม่ว่าขุนช้างขุนแผน   อิเหนา  หรือกากี    คือมีเนื้อเรื่องและเหตุการณ์หลายอย่างอยู่เหนือเหตุผล    แต่นิสัยใจคอของตัวละคร ตรงกันกับความจริงของธรรมชาติของมนุษย์    มีการวิเคราะห์ทางจิตวิทยา(psychological analysis)  เฉียบแหลมไม่แพ้วรรณคดีอื่นใด”


กระทู้: "วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย" ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปีพ.ศ. 2557
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ย. 14, 09:24
         จะเห็นได้ว่า แรงขับเคลื่อนให้ตัวละครในวรรณคดีดำเนินไปตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง ล้วนมีที่มาจาก ‘อารมณ์’ ทั้งสิ้น      บทพรรณนาที่จับใจคนอ่านมากที่สุดก็มักจะไม่พ้นจากบทที่บรรยายอารมณ์รัก โศก หรือเคียดแค้นของกวีและตัวละคร    ด้วยจิตวิญญาณของมนุษย์ที่แฝงอยู่ในวรรณคดี ทำให้การสร้างตัวละครออกมา มีสีสันแห่งดีและชั่วอย่างมนุษย์ปุถุชนทั่วไป     ข้อนี้เป็นคำตอบว่า เหตุใดพระเอกในวรรณคดีไทยจึงไม่ใช่คนที่เป็นตัวอย่างของความดีงามสมบูรณ์แบบจนไร้อารมณ์   แต่เป็นมนุษย์ที่มีรัก โลภ โกรธ หลง เป็นของธรรมดา    บางครั้งก็ตัดสินใจผิด  บางครั้งก็ขาดตกบกพร่องทางพฤติกรรม   ประพฤติผิดทั้งส่วนตัวและต่อสังคม   วรรณคดีจึงไม่ใช่เรื่องจำกัดอยู่เพียงแค่เรื่องของคนดี  หรือทำหน้าที่สั่งสอนอบรมให้คนทำความดี แสดงให้เห็นว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วตามแนวของพุทธศาสนา

         จิตวิญญาณของมนุษย์ที่ดำเนินไปด้วยอารมณ์และเลือดเนื้ออย่างปุถุชน คือพลังสำคัญที่ขับเคลื่อนให้เกิดการดำเนินเรื่องในวรรณคดี       ถ้าหากว่ากวีแต่งวรรณคดีเพื่อแสดงชีวิตที่ดีงามถูกต้องของตัวละคร   โดยไม่ยึดถืออารมณ์เป็นเรื่องสำคัญ   วรรณคดีหลายเรื่องก็คงมีเส้นทางที่เปลี่ยนแปลงไปมาก จนถึงขั้นดำเนินเรื่องต่อไปไม่ได้   ใน ลิลิตพระลอ  เมื่อถูกเสน่ห์   พระลอย่อมหักห้ามใจตัวเองจนสำเร็จมิให้ตกอยู่ในคาถาอาคมปู่เจ้าสมิงพราย ไม่ว่าจะด้วยวิธีปฏิบัติธรรมจนบรรลุสู่โลกุตระ  หรือยอมตายเพื่อรักษาศักดิ์ศรีของกษัตริย์  อย่างใดอย่างหนึ่ง  เมื่อทุกอย่างดำเนินไปอย่างที่ควรเป็น    การพบปะพระเพื่อนพระแพงก็จะไม่เกิดขึ้น     และเรื่องก็จะไม่นำไปสู่โศกนาฏกรรมในตอนจบ   
         ข้อสำคัญคือก็จะไม่มีบทโคลงอันเลื่องลือบทนี้ ในตอนท้ายของเรื่อง
            สิ่งใดในโลกล้วน      อนิจจัง
        คงแต่บาปบุญยัง      เที่ยงแท้
        คือเงาติดตัวตรัง      ตรึงแน่น อยู่นา
       ตามแต่บุญบาปแล้      ก่อเกื้อรักษา


กระทู้: "วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย" ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปีพ.ศ. 2557
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ย. 14, 09:29
          ข้อคิดทำนองนี้อาจนำมาประยุกต์ได้กับ อิเหนา  ถ้ากวีแต่งว่าเมื่อเสร็จศึกกะหมังกุหนิงแล้ว  อิเหนาหรือระเด่นมนตรี ก็รีบกลับไปหาจินตะหราที่เมืองหมันหยาตามเดิม เพื่อรักษาศีลข้อสามไว้อย่างมั่นคง     ไม่เกี่ยวข้องกับบุษบาผู้เป็นเพียงอดีตคู่หมั้น ซ้ำนางยังมีจรกาเป็นคู่หมั้นคนใหม่แล้วด้วย     ทำนองเดียวกับใน ขุนช้างขุนแผน   เมื่อขุนแผนตัดสินใจเลิกกับนางวันทองตั้งแต่ได้เมียคนที่สองคือนางลาวทอง   ก็ยึดมั่นในความถูกต้อง  ไม่มาข้องแวะกับนางวันทองอีก    อิเหนาก็จะจบลงเพียงแค่นั้น  ไม่มีบทบาทขององค์ปะตาระกาหลา     ไม่มีบทลมหอบ  ไม่มีอุณากรรณ  ไม่มีอานุภาพของอิเหนาในฐานะกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่     ส่วนขุนช้างขุนแผนก็เช่นกัน คือจะขาดตัวละครสำคัญไปอีกหลายตัว เช่นนางแก้วกิริยา  กุมารทอง  พลายงาม พลายชุมพล ศรีมาลา สร้อยฟ้า   ข้อสำคัญนางวันทองก็จะอยู่กินกับขุนช้างไปจนแก่ชราถึงบั้นปลายของชีวิต     ไม่มีบทถูกประหารและไม่มีเปรตนางวันทองมาห้ามทัพแต่อย่างใด   

        ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง   วรรณคดีทุกเรื่องก็คงจะจบลงตั้งแต่บทต้นของเรื่อง   ไม่อาจมีกิเลส ตัณหา ความผิดพลาด รัก โลภ โกรธหลง มาเป็นแรงผลักดันให้เรื่องดำเนินต่อไปด้วยสีสัน    ไม่เกิดความเร้าใจให้ติดตามจนถึงตอนจบ     จิตวิญญาณของมนุษย์ในวรรณคดีก็จะหยุดลงเพียงระดับกรอบของศีลธรรม     ไม่มีชีวิตนอกกรอบอย่างใดมากไปกว่านั้น
        ในที่สุด การแต่งวรรณคดีก็เป็นเรื่องง่าย คือกำหนดตัวละครให้ทำอย่างใดอย่างหนึ่งที่ถูกต้องดีงาม กลายเป็นสูตรสำเร็จของการแต่ง ที่ไม่เอื้อต่อจินตนาการและงานสร้างสรรค์ของกวี


กระทู้: "วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย" ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปีพ.ศ. 2557
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ย. 14, 21:26
         อารมณ์ในวรรณคดี
 

         อย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้นว่า ในเมื่ออารมณ์เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของวรรณคดี   บทที่แสดงอารมณ์อย่างแรงกล้าหรือ passion โดยเฉพาะในเชิงรัก จึงมักจะกลายเป็นบทเด่นของเรื่อง    กวีมักจะถ่ายทอดฝีไม้ลายมือของตนออกมาอย่างเต็มเปี่ยม ด้วยพลังในบทที่สื่ออารมณ์แรงและลึก มากกว่าจะไปถ่ายทอดในบทอื่นๆเช่นบทพรรณนาธรรมชาติ
บางครั้งในบทพรรณนาธรรมชาตินั้นเอง  กวีก็แทรกอารมณ์ บางครั้งอาจมากกว่าหนึ่งอารมณ์เข้าไปในนั้น  เพิ่มสีสันรสชาติให้กับฉาก ทำให้เหนือกว่าการพรรณนาอย่างทั่วไป 
         ในบทพรรณนาธรรมชาติล้วนๆ แม้เขียนด้วยภาษาสละสลวยอย่างไรก็ตาม  แต่เมื่อเทียบกับการพรรณนาธรรมชาติในอารมณ์กวีควบคู่กับธรรมชาติภายนอก     อย่างหลังจะกระทบอารมณ์ และโน้มน้าวความสะเทือนใจจากคนอ่านได้มากกว่า
         บทพรรณนาความงามของดวงจันทร์   มีอยู่มากในวรรณคดีหลายเรื่อง    แต่บทพรรณนาเฉพาะสิ่งที่เห็น คนอ่านก็จะได้เสพความงามของภาษาอย่างเดียว ด้วยการใช้อักษรทำให้เกิดภาพเป็นรูปธรรมขึ้นในใจ   แต่มันก็จะเหมือนกันเป็นภาพนิ่ง หรือภาพเคลื่อนไหวผ่านจากเลนส์กล้อง อยู่แค่นั้น

       ขยับเท้าก้าวย่างออกจากห้อง
พระจันทร์ส่องแสงจำรัสประภัสสร
พระพายพัดบุบผาพาขจร
รวยรินรสร่อนระรื่นไป
                         (ขุนช้างขุนแผน)

            แต่การพรรณนาที่มีทั้งสิ่งที่ตาเห็นเป็นรูปธรรม  กับอารมณ์อันเป็นนามธรรม รวมด้วยกัน จะให้มิติที่ลึกกว่า  เพราะมีทั้งรูปธรรมและนามธรรมประกอบกัน    ยิ่งถ้าเป็นอารมณ์หลายอย่างคละเคล้าปะปนกัน  ก็จะยิ่งส่งอารมณ์ให้ทวีมิติความลึกยิ่งขึ้น 
เช่นในบทนี้  เป็นบทพรรณนาดวงจันทร์ในเวลากลางคืนเช่นเดียวกับบทก่อนหน้า     แต่บทก่อนนั้นปราศจากอารมณ์ จึงไม่กระทบใจได้มากเท่ากับบทต่อไปนี้

            ไม่เห็นนางย่างขึ้นบนหอน้อย
พระจันทร์ฉายบ่ายคล้อยจำรัสไข
สว่างเวิ้งวงบ้านสงสารใจ
ใบไทรต้องลมระงมเย็น
เย็นฉ่ำน้ำค้างค้างใบไทร
จากเมียเสียใจไม่เล็งเห็น
โอ้น้ำค้างเหมือนนางน้ำตากระเด็น
เช้าเย็นยามนอนจะนอนนึก
ยามกินก็จะกินแต่น้ำตา
เฝ้าครวญคร่ำร่ำหาเวลาดึก
จะแสนคิดเช้าค่ำเฝ้ารำลึก
ตรึกแล้วเคืองขุ่นให้มุ่นใจ
                           (ขุนช้างขุนแผน)


กระทู้: "วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย" ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปีพ.ศ. 2557
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ย. 14, 21:28
          กวีในฐานะศิลปิน ย่อมมีอารมณ์ละเอียดอ่อนไหว  รับรู้สิ่งมากระทบอารมณ์ได้ลึกล้ำกว่าคนทั่วไปที่ไม่มีคุณสมบัติด้านนี้      ในเมื่อกวีใช้วรรณคดีเป็นเครืองสะท้อนอารมณ์ของตนเอง  งานที่สะท้อนอารมณ์ของกวีเช่นนี้  จึงบอกตัวตนของกวีได้เกินกว่าการบรรยายด้านรูปธรรมจะแสดงให้เห็นได้
         เนื่องจากกวีจำนวนมากในสมัยก่อน ไม่ใคร่จะเปิดเผยเรื่องราวเกี่ยวกับตนเองมากนัก   จึงมีกวีหลายคนที่คนรุ่นหลังรู้จักแต่เพียงชื่อและผลงาน แต่แทบจะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับตัวกวีเอง      ถ้าจะพยายามรู้จักกวีให้มากกว่าที่ประวัติบอกไว้  อย่างหนึ่งคือสังเกตจากอารมณ์ที่สะท้อนอยู่ในผลงาน
         ตัวอย่างเช่นพระนิพนธ์กลอนเพลงยาวเรื่อง นิพพานวังหน้า หรือสะกดแบบเดิมว่า "นิพานวังน่า" เป็นเรื่องราวบันทึกอาการประชวร เรื่อยมาจนสิ้นพระชนม์ของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท วังหน้าในรัชกาลที่ 1       ผู้แต่งเรื่องนี้ไม่ได้ระบุชื่อตัวเอง แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวินิจฉัยว่าเป็นพระเจ้าราชวรวงศ์เธอพระองค์เจ้ากัมพุชฉัตร  พระธิดาในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท  ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาชื่อนักองค์อี  ผู้เป็นพระธิดาสมเด็จพระอุไทยราชา  กษัตริย์กัมพูชา
         เรื่อง นิพพานวังหน้า ไม่เป็นที่รู้จัก  ไม่ได้รับสนใจของนักวรรณคดีและประวัติศาสตร์มากเท่าที่ควร  เพราะเป็นเรื่องอ่านยาก เรียกได้ว่าครบถ้วนทุกประการของความยาก  เช่นใช้คำขยายฟุ่มเฟือย เป็นคำแปลกๆ จนบางบทก็อ่านไม่รู้เรื่อง    ไม่ได้เรียงลำดับเหตุการณ์  หากแต่เขียนย้อนไปย้อนมา ยังมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เช่นเรื่องวรรณคดีบ้างประวัติศาสตร์บ้าง ปะ ปนเข้ามาทุกที่ ตามพระทัยผู้นิพนธ์ ให้อ่านยากหนักเข้าไปอีก
        พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงเห็นข้อนี้  จึงมีพระราชวิจารณ์ไว้ว่า

       " ท่านผู่้แต่งไม่ทราบอักขรวิธี    เขียนด้วยความลำบาก    หาอะไรต่ออะไรบรรทุกลงไป  เพื่อจะสำแดงเครื่องหมายให้เข้าใจคำที่หวังจะกล่าว      จึงไม่เป็นการง่ายแก่ผู้ที่จะอ่าน   ถ้าจะอ่านตามตัว แทบจะไม่ได้ข้อความเท่าใด  จำจะต้องเดาอ่าน    แต่ถึงเดาอ่านดังนั้น  ยังจะกลั้นหัวเราะไม่ได้    ไปขันเสียในถ้อยคำที่จดลงไว้บ้าง    เบื่อคำครวญครางซ้ำซากให้ชวนพลิกข้ามไปเสียบ้าง   ไม่ใคร่จะได้ข้อความครบถ้วน"

         นักวิชาการจำนวนมากยึดถือพระราชวินิจฉัย จึงทำให้ นิพพานวังหน้า   ถูกมองข้าม ไม่นับว่าเป็นวรรณคดีที่ควรแก่การสนใจนำมาศึกษาเชิงวรรณศิลป์   ข้อนี้นับว่าจริง  เพราะส่วนบันทึกเหตุการณ์สมัยปลายรัชกาลที่ ๑  มีลักษณะวกวนเข้าใจยาก     คำบรรยายเหตุการณ์ก็ไม่เอื้อต่อการแสดงอารมณ์ได้ลึกนัก    จนกระทั่งกลบคุณสมบัติความเป็นกวีของพระองค์เจ้าหญิงองค์นี้เสียหมด


กระทู้: "วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย" ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปีพ.ศ. 2557
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ย. 14, 21:29
          อย่างไรก็ตาม  ถ้าพินิจในเชิงวรรณศิลป์แล้ว  ผู้นิพนธ์เรื่องนี้นับว่าเป็นกวีที่น่าทึ่งองค์หนึ่ง    เราจะต้องคำนึงด้วยว่าในสังคมไทยเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน  ผู้หญิงในสมัยรัชกาลที่ ๑ มีโอกาสเล่าเรียนได้น้อยกว่าผู้ชายมาก    ตลอดจนถูกจำกัดด้านชีวิตความเป็นอยู่  มิให้มีประสบการณ์ได้กว้างขวางเช่นผู้ชาย  ไม่ว่าจะเป็น การเดินทาง  การประกอบอาชีพ  หรือโอกาสในการรับราชการสร้างความก้าวหน้าให้ชีวิต     แต่พระองค์เจ้าหญิงกัมพุชฉัตรก็เป็นหนึ่งในสตรีน้อยคนที่ทรงเล่าเรียนเขียนอ่านจนมีฝีมือทางวรรณศิลป์  พอจะสร้างงานนิพนธ์ขนาดยาวได้  ไม่น้อยกว่ากวีชายอีกหลายๆคนในราชสำนัก
          พระนิพนธ์เรื่องนี้มีวรรณศิลป์แฝงอยู่  มิใช่ไม่มี    เป็นวรรณศิลป์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก “อารมณ์” เห็นได้จากตรงไหนที่พระองค์เจ้าหญิงกัมพุชฉัตรทรงแต่งด้วยลีลากวีนิพนธ์ที่แยกออกมาเป็นกลบท ให้เด่นเป็นพิเศษ    ตรงนั้นคือแสดงอารมณ์แรงที่เข้ามากระทบ ก่อให้เกิดความสะเทือนใจอย่างรุนแรง  แสดงตัวตน หรือ identity ของผู้นิพนธ์ออกมาชัดเจน   เช่นตอนที่ทรงทราบว่าพระเชษฐา คือพระองค์เจ้าลำดวนและพระองค์เจ้าอินทปัตก่อกบฏ  ก็กริ้วมาก   การที่ทรงไม่เห็นด้วยกับการกระทำของพระเชษฐาทั้งสอง   เพราะทรงยึดคำสั่งของพระบิดาให้ฝากตัวกับสมเด็จพระปิตุลา คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก      เมื่อเกิดเรื่องกบฏขึ้นมา   จึงทรงแค้นเคืองและตัดพ้อต่อว่าพระองค์เจ้าลำดวนและอินทปัตอย่างไม่ไว้หน้าด้วยบทกวีที่เข้มข้น นอกจากแสดงอารมณ์สะเทือนใจ  ยังแสดงตัวตนของท่านสะท้อนในถ้อยคำที่องอาจกล้าหาญราวกับชาย    มี โวหารเปรียบเทียบ  และกลบทด้วยฝีมือกวี ที่เด่นกว่าการเล่าเหตุการณ์ในเรื่องตอนอื่นๆทั่วไป

         เสียแรงที่เป็นชายชาติกำแหง
หาญเสียแรงรู้รบสยบสยอน
เสียพระเกียรติมงกุฏโลกลือขจร
เสียแรงรอนอรินราบทุกบุรี
เสียดายเดชเยาวเรศปิโยรส
เสียยศบุตรพระยาไกรสรสีห์
เสียชีวิตผิดแพ้พระบารมี
เสียทีทางกตัญญุตาจริง


กระทู้: "วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย" ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปีพ.ศ. 2557
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.ย. 14, 09:57
 :)


กระทู้: "วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย" ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปีพ.ศ. 2557
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.ย. 14, 09:59
        ตัวอย่างอีกตอนหนึ่งที่สำแดงตัวตนกวีของพระองค์   คือตอนที่สะท้อนอารมณ์รักอันเร้นลับที่แฝงอยู่      เป็นอารมณ์โศกศัลย์จำต้องเก็บกดไว้อย่างแรงกล้า     ผู้นิพนธ์ทรงเท้าความถึงวันใกล้จะเชิญพระบรมศพกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาทขึ้นถวายพระเพลิง อันเป็นวันสุดท้ายของวังหน้า          หลังจากวันนี้   อาการ ‘บ้านแตกสาแหรกขาด’ ก็จะเกิดขึ้นกับชาววังหน้าทั้งหลายในเมื่อไม่มีเจ้าของบ้านคุ้มครองอีกแล้ว      คนรักที่เคยอยู่ร่วมวังเดียวกัน ก็อันจะต้องพลัดพรากจากกันไปโดยไม่พบกันอีก
       กวีบรรยายอารมณ์วิปโยคที่จะต้องพลัดพรากจากคนรักขึ้นมา    โดยไม่ได้ให้รายละเอียดว่า ทำไมต้องจากกัน   จากไปไหน  และคนรักที่อาลัยอาวรณ์กันใจจะขาดนั้นเป็นใคร
           ยิ่งยลมิตรคิดอาลัยใจจะขาด
        แสนสวาทหวั่นหวามถึงทรามสงวน
       จึงกุมกรช้อนคู่ประคองชวน
        ถนอมนวลนุชขึ้นบนเพลาตรอม
           เจ้าซบพักตร์ลงกับตักทั้งสะอื้น
       ทั้งเที่ยงคืนเปลี่ยนให้สไบหอม
       ไหนจะโศกถึงพระมิ่งมงกุฏจอม
       ไหนจะผอมเพื่อนยากจะจากวัง

            ถ้าอ่านโดยไม่ทราบว่าผู้นิพนธ์เป็นใคร ก็จะนึกว่าเป็นบทรำพันอาลัยรักระหว่างคู่สามีภรรยา   คำพรรณนาความทุกข์ที่จะต้องพลัดพรากจากคนรักเช่นนี้ ถ้าคนเขียนเป็นสุนทรภู่หรือนายมีก็ไม่แปลก    เพราะกวีทั้งหลาย เมื่อต้องจากนางผู้เป็นที่รักก็รำพันอาลัยด้วยกันทั้งนั้น
          คนอ่านทั้งหมดคงนึกไม่ถึงว่า อารมณ์โศกรุนแรงที่ว่านี้คืออารมณ์ของหญิงมีต่อหญิงด้วยกัน       เป็นความรักแรงกล้าที่ต้องลอบเร้นปิดบังระหว่างพระองค์เจ้าหญิงกับนางในคนหนึ่งของวังหน้า  ซึ่งไม่เปิดเผยว่าเป็นเจ้านายด้วยกันหรือว่าเป็นเจ้าจอมหม่อมห้าม   ถ้าเราไม่จับอารมณ์ในเรื่องให้ได้ก็จะไม่เข้าใจว่า นี่คืออารมณ์รักของรักร่วมเพศในสมัยต้นรัตนโกสินทร์  


กระทู้: "วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย" ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปีพ.ศ. 2557
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.ย. 14, 10:02
        ความรักที่ว่านี้ เป็นส่วนประณีตบรรจงของเรื่อง  ถึงขั้นกวีเลือกใช้กลบทเพื่อแสดงความพิถีพิถันเป็นพิเศษในการบรรยายส่วนสะเทือนอารมณ์ของผู้นิพนธ์  เป็นคำพรรณนารำพันอาลัยรักที่แต่งเป็นกลบทครอบจักรวาลบังคับคำแรกในวรรคให้ซ้ำเสียง(และรูป)กับคำหลังสุดของวรรค  แสดงถึงความชำนาญของผู้แต่งว่ามีฝีมือไม่น้อยกว่ากวีชาย  ตั้งพระทัยบรรจงแต่งกลอนพรรณนาในส่วนสำคัญของเรื่อง

       โฉมวิไลล้ำนางสำอางโฉม
ไขแขเด่นโพยมเด่นแขไข
ไกลรักเรียมยิ่งรานด้วยการไกล
นวลโหยนำพี่ไห้เมื่อสั่งนวล
      สายเนตรชลนัยน์ไม่ขาดสาย
หวนกระหายนึกนุชคะนึงหวน
จวนอรุณส่องฟ้าเวลาจวน
กันแสงหวนทนทุกข์ที่จากกัน

      การจับให้ถึง “อารมณ์” ของกวี จะทำให้คนอ่านมองเห็นจิตวิญญาณของกวีได้ชัดเจนกว่าการบรรยายเหตุการณ์อื่นๆ


กระทู้: "วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย" ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปีพ.ศ. 2557
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.ย. 14, 10:15
        จิตวิญญาณวรรณศิลป์ในคีตการ

         คนไทยจำนวนน้อยรู้จัก และชื่นชมเพลงคลาสสิคของตะวันตก     แต่มิได้หมายความว่า คนไทยเป็นชนที่ไม่มีดนตรีการ    แต่เป็นเพราะรากเหง้าของไทยมิได้มาจากยุโรป     จึงยากที่จะให้คนไทยส่วนใหญ่ของประเทศ ดื่มด่ำกับเพลงของเบโธเฟน โชแปง โมสาร์ท ฯลฯ แม้ว่ามีวิชาดนตรีตะวันตกในมหาวิทยาลัยเป็นที่นิยมของหนุ่มสาวจำนวนหนึ่ง    แต่อายุของหลักสูตรนับว่าสั้นเมื่อเทียบกับประวัติยาวนานของคีตการในสยามประเทศ     แต่ไทยก็สืบสานดนตรีต่อเนื่องมาตั้งแต่อยุธยาจนถึงปัจจุบัน โดยมิได้ละทิ้ง   เห็นหลักฐานได้จากเพลง สายสมร   ที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน   ตลอดจนเพลง พระทอง และ นางนาค ที่มีประวัติอันยาวนานหลายร้อยปี

        ในปัจจุบัน  เพลงไทยเดิมอาจไม่เป็นที่แพร่หลายมากมายก็จริง   แต่ก็มิได้สูญหาย   หากแต่แอบแฝงอยู่ในชนิดต่างๆของเพลงมายาวนานหลายทศวรรษ       นับเป็นโชคดีที่คนไทยไม่ได้อนุรักษ์เพลงเอาไว้ในแบบเดิมจนเปลี่ยนแปลงไม่ได้    การทำเช่นนั้นจะนำมาซึ่งการสูญหายของเพลงเมื่อหมดความสนใจของคนแต่ละรุ่น
คนไทยฉลาดพอจะปรับประยุกต์เข้ากับความสนใจแต่ละสมัย    เมื่อก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2    เพลงไทยเดิมถูกดัดแปลงให้ผสมผสานกับท่วงทำนองเพลงของตะวันตก กลายเป็นเพลงประยุกต์ เช่นเพลงจำนวนมากของสุนทราภรณ์   เพลงไทยสากลหรือต่อมาเรียกว่าเพลงลูกกรุง   มีจำนวนมากใช้ทำนองของเพลงไทยเดิมเป็นพื้นฐาน มาดัดแปลงให้เข้ากับท่วงทำนองให้เข้ากับยุคสมัย



กระทู้: "วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย" ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปีพ.ศ. 2557
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.ย. 14, 10:23
          ในตอนนี้เองที่วรรณศิลป์เข้ามามีบทบาทในเพลง   เพราะเนื้อเพลงจำนวนมากนำมาจากวรรณคดี ใส่ท่วงทำนองเพลงสากลที่ดัดแปลงจากไทยเดิม  มีหลายเพลง ล้วนแต่รักษาวรรณศิลป์ไว้ในเนื้อเพลง      ผู้แต่งเนื้อร้องเหล่านี้ควรคู่กับคำว่า กวีเพลง   เพราะมีฝีมือทั้งด้าน ‘ถอดความ’ จากวรรณคดีมาเป็นศิลปะอีกสาขาหนึ่ง     โดยมิใช่เป็นการลอกมาตรงๆ      และบางท่านก็ยังนำวรรณคดีมาตีความใหม่ ใส่อารมณ์ลงไปตามที่เห็นสมควร เป็นการให้อิสระแก่วรรณคดีที่จะถูกมองในแง่ต่างๆนอกเหนือจากเนื้อหาเดิมที่เป็นหนังสือ
      ตัวอย่างหนึ่งคือเพลง อำเหนารำพัน   จากทำนองเพลงไทยเดิม ‘แขกปัตตานี’   ผู้แต่งเนื้อร้องคือครูไศล ไกรเลิศซึ่งเรียบเรียงทั้งทำนองเพลงและเนื้อร้อง ตีความใหม่ให้อารมณ์สะเทือนใจและหึงหวงที่อิเหนามีต่อจรกา เป็นการเพิ่มเติมเนื้อหาซึ่งไม่ปรากฏอยู่ในวรรณคดีพระราชนิพนธ์ อิเหนา   


กระทู้: "วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย" ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปีพ.ศ. 2557
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.ย. 14, 09:05
        อิเหนาเอ๋ย          กรรมแล้วเอยรักเจ้าผิดหวัง
เพราะรักเขาเพ้อคลั่ง    เขาชังเมินหน้า พาอดสู
ขาดยอดชู้เชยชมตรมใจ    ไหนจะอายผู้คน
ทุกข์ใจทนหมองไหม้    หลงลมใครโอ้ใจบุษบา
เจ้าเปลี่ยนคู่คลอ       ไปชื่นเจ้าจรกา
โอ้แก้วตา          ลมรักใดพาลอยไป
หลงรักเขา          มองหาเงาแล้วเศร้าหวั่นไหว
รักหลงไหลเหมือนบ้า    นิจจาลืมได้   โอ้ใจหญิง
แม่งามพริ้งมีมนต์วาจา    เหมือนอารมณ์บุษบา
เหมือนพิมพาพิไลย    หลงลมใครโอ้ใจชื่นกมล
โอ้อกอิเหนา          จะเปรียบตัวเราอับจน
ใจกังวล         คนรักมาเมินไปเอย

▶076 อิเหนารำพัน - ชรินทร์ นันทนาคร (http://www.youtube.com/watch?v=uOFI8OMxKFo#)



กระทู้: "วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย" ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปีพ.ศ. 2557
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.ย. 14, 09:20
        เมื่อกล่าวถึงเพลงไทยสากลที่ดัดแปลงจากเพลงไทยเดิม และเนื้อเพลงสุนทราภรณ์ที่รู้จักกันดีในหมู่ผู้นิยมเพลงไทยสากลรุ่นเก่า มีอยู่จำนวนมากที่นำเนื้อร้องจากวรรณคดีมาสวมใส่ท่วงทำนองสากล เช่นเพลงแจ๊สได้อย่างกลมกลืนไม่ขัดกันเลย       กวีเพลงอย่างครูแก้ว อัจฉริยะกุล ได้แต่งเนื้อร้องเอาไว้หลายเพลง       เพลงหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีจากบทโคลงของศรีปราชญ์  คือเพลง พรานล่อเนื้อ    นำมาจากบทโคลงเดิมที่ว่า
        เจ้าอย่าย้ายคิ้วให้            เรียมเหงา
ดูดุจนายพรานเขา                  ส่อเนื้อ
จะยิงก็ยิงเอา                         อกพี่  ราแม่
เจ็บไป่ปานเจ้าเงื้อ                   เงือดแล้วราถอย

เนื้อร้องใหม่ที่ถอดความจากโคลง เก็บใจความและรายละเอียดมาได้หมด  กลายมาเป็นเพลง

เจ้ายักคิ้วให้พี่              เจ้ายิ้มในที         เหมือนเจ้าจะมีรักอารมณ์       
ยั่วเรียมให้เหงา           มิใช่เจ้าชื่นชม   อกเรียมก็ตรม ตรมเพราะคมตาเจ้า
เรียมพะวักพะวง           เรียมคิดทะนง   แล้วเรียมก็คงหลงตายเปล่า
ดังพรานล่อเนื้อ เงื้อแล้วเล็งเพ่งเอา    ยั่วใจให้เมา เมาแล้วยิงนั่นแล
น้าวศรเล็งเพ่งเอาทุกสิ่ง       หากเจ้าหมายยิง   ก็ยิงซิแม่
ยิงอกเรียมสักแผล           เงื้อแล้วแม่  อย่าแปรอย่าเปลี่ยนใจ
เรียมเจ็บช้ำอุรา      เจ้าเงื้อเจ้าง่า  แล้วเจ้าก็ล่าถอยทันใด       
เจ็บปวดหนักหนาเงื้อแล้วราเลิกไป   เจ็บยิ่งสิ่งใดไยมิยิงพี่เอย 

เวอร์ชั่นคลาสสิคของคุณวินัย จุลละบุษปะ

พรานล่อเนื้อ - วินัย จุลละบุษปะ สุนทราภรณ์ ต้นฉบับเดิม (http://www.youtube.com/watch?v=txnScI2CJ-Q#ws)

เวอร์ชั่นของนักร้องรุ่นหลัง อย่างกบ ก้อง และบี
พรานล่อเนื้อ - กบ ก้อง บี สำเริงฟังสำราญกรุง by Majung (http://www.youtube.com/watch?v=ZnVH22jSlns#)

ส่วนคลิปสุดท้ายนี้ ลงไว้เผื่อชาวเรือนไทยหนุ่มๆสาวๆที่เป็นแฟนของน้องกัน เดอะ สตาร์   ผู้อาวุโสทั้งหลายเชิญดูเวอร์ชั่นอื่น  ;)

GUNเต้น ร้อง พรานล่อเนื้อ+พรหมลิขิต@7สีคอนเสิร์ตTheNineพระราม9 14 12 2013 (http://www.youtube.com/watch?v=yz3rc0BrJAE#ws)


กระทู้: "วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย" ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปีพ.ศ. 2557
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.ย. 14, 09:23
    แม้แต่งานชิ้นที่แต่งขึ้นใหม่ ไม่ได้นำทำนองจากของเก่า ก็ยังรักษาวรรณศิลป์ของไทยไว้ตามขนบเดิมของวรรณคดีไทย  อย่างเพลง “กลิ่นเกล้า” คำร้องและทำนองของครู ไพบูลย์ บุตรขัน  เป็นเพลงลูกกรุงที่ผสมผลานบรรยากาศลูกทุ่งในเนื้อเพลง     
              กลิ่นเกล้า
หวิวไผ่ลู่ลม          ยืนชมขอบคันนา
ไกลสุดตาฟ้าแดงเรื่อ   หอมกลิ่นฟางกรุ่นเจือ
แกมกลิ่นเนื้อน้องนาง    ไม่จางสดใส

เห็นหนึ่งน้องนาง      เอวบางรูปลอยลม
ชวนให้ชมชิดเชยใกล้   ผิวผ่องงามประไพ
ดูอ่อนไหวพริ้งพราว    สาวชาวนาเอย
ผมสลวยสวยขำดำเป็นเงา
พี่ขอให้นามตัวเจ้า แม่โพสพ   ทรามเชย
อย่าหานางน้องใดไหนเลย
เทียบเกยแข่งขันเคียงคู่    ต้องอายอดสูรวงทองเทวี
หอมกลิ่นเกล้านาง      เจือจางกลิ่นลั่นทม
ลอยกรุ่นลม หวามใจพี่   ถึงอยู่นานกี่ปี
มีแม่ศรีแนบกาย       ขอตายบ้านนา

ปี 2497 กลิ่นเกล้า - นริศ อารีย์ (http://www.youtube.com/watch?v=mRwuQUeuUBI#)


กระทู้: "วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย" ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปีพ.ศ. 2557
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 22 ก.ย. 14, 10:27
เข้ามาติดตามฟังปาฐกถา ของท่านรศ.ดร.วินิตาอยู่ครับ

สีของผ้าม่านและผ้าคลุมโต๊ะท่านปาฐก เป็นสีประจำมหาวิทยาลัยหรือครับ


กระทู้: "วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย" ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปีพ.ศ. 2557
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 22 ก.ย. 14, 10:39
เข้ามาติดตามฟังปาฐกถา ของท่านรศ.ดร.วินิตาอยู่ครับ

สีของผ้าม่านและผ้าคลุมโต๊ะท่านปาฐก เป็นสีประจำมหาวิทยาลัยหรือครับ
ขออภัยครับท่านเป็นคุณหญิงด้วย
รศ.ดร.คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์


กระทู้: "วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย" ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปีพ.ศ. 2557
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ย. 14, 11:34
สีของมหาวิทยาลัยคือ viridian green   ค่ะ


กระทู้: "วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย" ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปีพ.ศ. 2557
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ย. 14, 11:37
ขอโทษคุณ Jalito และท่านอื่นๆด้วย มัวยุ่งกับงานภายนอกจนลืมกระทู้ไปวันหนึ่งเต็มๆ
ขอต่อค่ะ

จากตัวอย่างนี้ จะเห็นได้ว่ากวีเพลง เป็นผู้ที่รักวรรณศิลป์ในวรรณคดีไทยอยู่มาก จึงสืบทอดภาษาศิลป์มาบรรจุไว้ในเพลงในยุคหลังกว่าสองร้อยปีได้อย่างกลมกลืน    สำนวนว่า “เอวบาง” ก็ดี  “ผมสลวยสวยขำดำเป็นเงา”  “กลิ่นเนื้อน้องนาง” ล้วนมีที่มาจากวรรณคดีไทยทั้งสิ้น
แมลงภู่คู่เคียงว่าย          เห็นคล้ายคล้ายน่าเชยชม
คิดความยามเมื่อสม       สนิทเคล้าเจ้าเอวบาง
(กาพย์เห่เรือชมปลา เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์)

ทรวดทรงส่งศรีไม่มีแม้น       อรชรอ้อนแอ้นประหนึ่งเหลา
ผมสลวยสวยขำงามเงา       ให้ชื่อเจ้าว่าพิมพิลาไลย
(ขุนช้างขุนแผน)

ชื่อกากีศรีวิลาศดั่งดวงจันทร์       เนื้อนั้นหอมฟุ้งจรุงใจ
เสมอเหมือนกลิ่นทิพมณฑาทอง       ผู้ใดต้องสัมผัสพิสมัย
กลิ่นกายติดชายผู้นั้นไป          ก็นับได้ถึงเจ็ดทิวาวาร   
(   กากีคำกลอน ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) )


กระทู้: "วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย" ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปีพ.ศ. 2557
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ย. 14, 11:39
    กวีเพลงที่กล่าวมานี้แม้ว่าไม่ได้สร้างสรรค์งานประพันธ์โดยตรง แต่ก็เห็นได้ว่าท่านเป็นผู้ที่อ่านวรรณคดีไทยด้วยใจรัก  เกิดความประทับใจในวรรณศิลปของวรรณคดี จนเกิดแรงบันดาลใจให้นำมาสร้างสรรค์เป็นส่วนหนึ่งของงานคีตการ     ผู้ที่ผ่านขั้นตอนต่างๆมาได้เช่นนี้ได้คือผู้ที่เข้าถึงจิตวิญญาณของวรรณศิลป์ในวรรณคดีไทย   สามารถนำมาเป็นแรงบันดาลใจ ให้สร้างงานศิลปะในอีกสาขาหนึ่ง         ถ้าเป็นวิจิตรศิลป์    การเข้าถึงจิตวิญญาณของวรรณศิลป์ก็จะออกมาในรูปของงานจิตรกรรมอันทรงคุณค่า  เช่น “กากี” ของ ช่วง มูลพินิจ
 


กระทู้: "วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย" ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปีพ.ศ. 2557
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ย. 14, 11:40
      แต่ถ้าเป็นคีตการ    ก็จะมีกวีเพลงอย่างไพบูลย์ บุตรขัน แก้ว อัจฉริยะกุล  ไสล และท่านอื่นๆ ที่เข้าถึงจิตวิญญาณของวรรณศิลป์ และนำมาถ่ายทอดออกเป็นศิลปะสาขาอื่นที่ท่านชำนาญ
   
   จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้   จะเห็นได้ว่าวรรณคดีจึงมิได้มีไว้เพียงแค่แปลศัพท์ และการถอดความ สำหรับผู้เรียนที่จะสอบผ่านไปในแต่ละภาคการศึกษา   แต่ต้องคำนึงว่าทำอย่างไร จึงจะทำให้นักเรียนมองเห็นคุณค่าแท้จริงของวรรณคดี     ทั้งหมดนี้ ต้องอาศัยความตั้งใจของผู้สอนที่มีใจรักในวรรณคดี     จึงจะสามารถพาผู้เรียนเข้าถึงวรรณศิลป์ของภาษาและวรรณคดีไทย เพื่อบรรลุถึงจิตวิญญาณของวรรณคดีได้ตรงสุดปลายทาง

จบ


กระทู้: "วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย" ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปีพ.ศ. 2557
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ย. 14, 11:54
  ปาฐกถาให้เวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่ง     จึงไม่สามารถลงรายละเอียดมากกว่านี้ได้    และที่น่าเสียดายอีกอย่างคือข้อเขียนใดๆเป็นสิ่งที่ไม่สามารถถ่ายทอดวรรณศิลป์ของ "เสียง" ให้คนอ่านเข้าใจได้     ถ้าไปนั่งฟังอยู่ด้วยจะได้ยินการอ่านทำนองเสนาะและเสภา ซึ่งเป็นศิลปะเฉพาะตัวของคนไทยแต่โบราณ    จะรู้จักศิลปะของตัวหนังสือได้มากกว่าอ่านในใจค่ะ

  ในงานนี้มีไฮไลท์คือการขับเสภาของอาจารย์วัฒนะ บุญจับและอาจารย์เทวี บุญจับ มาให้คนฟังเข้าใจได้ว่า แต่เดิมมาวรรณคดีของไทยส่วนใหญ่มีเอาไว้ "ฟัง"  ไม่ได้มีเอาไว้ "อ่าน"    ความไพเราะของวรรณคดีที่เกิดจากคำ  ยังไม่พอ จะต้องมีเสียงออกมากระทบหูให้เกิดความซาบซึ้งตรึงใจด้วย  จึงจะบรรจบครบวงของศิลปะตัวหนังสือ
  เราเพิ่งมาอ่านในใจกันเงียบๆกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันเมื่อมีอิทธิพลของวัฒนธรรมการอ่านของตะวันตกเข้ามานี่เอง  เริ่มตั้งแต่มิชชันนารีนำการพิมพ์เข้ามาในประเทศ    เกิดความแพร่หลายของจำนวนหนังสือ สามารถซื้อหากันอ่านหนึ่งคนต่อหนึ่งเล่มได้  ก่อนหน้านี้ เรื่องเขียนทั้งหลายต้องเขียนต้องคัดกันด้วยลายมือ    ถ้าจะเผยแพร่ให้คนรู้จักมากๆก็ต้องเรียกมานั่งล้อมวงฟังกัน   แม้แต่วรรณคดีของสุนทรภู่เองก็เขียนมือ ใครอยากอ่านมาขอคัดไป ให้อาลักษณ์เป็นคนคัด  แล้วไปอ่านให้ฟังกันหลายๆคน
   ส่วนเสภาอย่างขุนช้างขุนแผนมีไว้ขับอยู่แล้ว ไม่ได้มีไว้เปิดอ่านอย่างเราอ่านกันทุกวันนี้
   เสียงขับของอาจารย์วัฒนะและอ.เทวี จึงทำให้เข้าถึงวรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทยได้ชัดเจนกว่าอ่านข้อเขียนปาฐกถาอย่างเดียวค่ะ

  ช่วงนี้มีงานยุ่ง ต้องทำนอกเรือนไทย    จบแล้วจะกลับมาเล่าให้ฟังนะคะ

  ภาพข้างล่างนี้คืออ.วัฒนะ กับอ.เทวีค่ะ
  วัฒนะเป็นลูกศิษย์   เห็นมาตั้งแต่เรียนปี 1 จนจบแล้วไปต่อปริญญาโทที่จุฬา  เป็นคนขับเสภาได้ไพเราะมาก เขาไปเรียนวิธีการขับจากปรมาจารย์ด้านนี้หลายท่านด้วยกัน ถ่ายทอดวิชามาไว้ได้หมด   โชคดีมากที่ขอตัวมาร่วมรายการได้   กลายเป็นไฮไลท์ของปาฐกถาได้ค่ะ
  ส่วนเทวี ภรรยาของวัฒนะ ก็ขับเสภาได้เพราะพริ้งหาตัวจับได้ยาก  ได้ไปโชว์คู่กันที่ต่างประเทศเสมอ    เป็นคู่สร้างคู่สมกันโดยแท้



กระทู้: "วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย" ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปีพ.ศ. 2557
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 ก.ย. 14, 14:06
        อารมณ์ในวรรณคดี
 

        
                    แต่การพรรณนาที่มีทั้งสิ่งที่ตาเห็นเป็นรูปธรรม  กับอารมณ์อันเป็นนามธรรม รวมด้วยกัน จะให้มิติที่ลึกกว่า  เพราะมีทั้งรูปธรรมและนามธรรมประกอบกัน    ยิ่งถ้าเป็นอารมณ์หลายอย่างคละเคล้าปะปนกัน  ก็จะยิ่งส่งอารมณ์ให้ทวีมิติความลึกยิ่งขึ้น  
เช่นในบทนี้  เป็นบทพรรณนาดวงจันทร์ในเวลากลางคืนเช่นเดียวกับบทก่อนหน้า     แต่บทก่อนนั้นปราศจากอารมณ์ จึงไม่กระทบใจได้มากเท่ากับบทต่อไปนี้

            ไม่เห็นนางย่างขึ้นบนหอน้อย
พระจันทร์ฉายบ่ายคล้อยจำรัสไข
สว่างเวิ้งวงบ้านสงสารใจ
ใบไทรต้องลมระงมเย็น
เย็นฉ่ำน้ำค้างค้างใบไทร
จากเมียเสียใจไม่เล็งเห็น
โอ้น้ำค้างเหมือนนางน้ำตากระเด็น
เช้าเย็นยามนอนจะนอนนึก
ยามกินก็จะกินแต่น้ำตา
เฝ้าครวญคร่ำร่ำหาเวลาดึก
จะแสนคิดเช้าค่ำเฝ้ารำลึก
ตรึกแล้วเคืองขุ่นให้มุ่นใจ
                           (ขุนช้างขุนแผน)

ขับเสภาโดยอาจารย์วัฒนะ บุญจับ

http://www.youtube.com/watch?v=nsupxPi9DsI#ws (http://www.youtube.com/watch?v=nsupxPi9DsI#ws)

(http://ptcdn.info/emoticons/smiley/อมยิ้ม04.png)


กระทู้: "วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย" ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปีพ.ศ. 2557
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ย. 14, 19:00
รวดเร็วปานกามนิตหนุ่ม
ดิฉันยังไม่เห็นเลยว่าลงยูทูปแล้ว


กระทู้: "วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย" ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปีพ.ศ. 2557
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 ก.ย. 14, 20:10
รวดเร็วปานกามนิตหนุ่ม

สำนวนนี้ความหมายยังไง ๆ อยู่นา

           สำหรับผู้ที่จะให้ลืมความโทมนัสแสนสาหัส ที่เผาผลาญดวงใจอย่างเช่นข้าพเจ้านี้ เมื่อมีนางงามนำถ้วยทองอันเต็มปริ่มด้ยสุธารสความบันเทิง มาฉอเลาะรออยู่ที่ริมฝีปากแล้ว ไฉนจะไม่ดื่มโดยยินดีเล่า? อาศัยที่ข้าพเจ้ามีปฏิภาณทันใจ มีความรู้ในศิลปวิทยารู้จักการเล่นอันสมควรแก่การสมาคมทุกอย่าง นางคณิกาที่ลื่อชื่อจึ่งต้อนรับข้าพเจ้าเป็นแขกพิเศษ นางคนหนึ่งหลงใหลรักใคร่ข้าพเจ้ามาก เลยหยิ่งถึงทะเลาะกับเจ้านายองค์หนึ่งเพราะเรื่องข้าพเจ้า และเพราะได้เรียนรู้ภาษามารยาทโจรมาแล้วเป็นอย่างดี ข้าพเจ้าจึงคบหาสมาคมกับนางคณิกาชั้นต่ำด้วยอีกพวกหนึ่ง ถึงแม้ว่าความเป็นไปของพวกชั้นนี้จะเป็นชนิดที่เลวทราม ข้าพเจ้าก็ตีตนสนิทมิได้รังเกียจ จนนางพวกเหล่านั้น มีหลายคนที่ภักดีต่อข้าพเจ้าอย่างสุดชีวิตจิตใจ

          ดูก่อน ท่านอาคันตุกะ ข้าพเจ้าเปลี่ยนความประพฤติ ไปหมกมุ่นอยู่ด้วยความสนุกอย่างนี้ ที่ในเมืองข้าพเจ้าอย่างรวดเร็ว เท่ากับพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ เลยมีคำพูดติดปากชาวอุชเชนีว่า "รวดเร็วปานกามนิตหนุ่ม" ฉะนี้

ถ้าสำนวนนี้น่าจะดีกว่า ;)

So that it became, my friend, a proverbial saying in Ujjeni: "Talented as the young Kamanita."

ดูก่อน ท่านอาคันตุกะ อันวิชาความรู้ของข้าพเจ้านั้น เป็นที่พูดกันติดปากของประชาชนชาวอุชเชนีว่า "เชี่ยวชาญเหมือนมาณพกามนิตทีเดียว"



กระทู้: "วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย" ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปีพ.ศ. 2557
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 ก.ย. 14, 20:37
 ขออำภัย
ตามนี้ก็ได้


กระทู้: "วรรณศิลป์ในจิตวิญญาณไทย" ปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ประจำปีพ.ศ. 2557
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ย. 14, 19:41
ในกระทู้     หากให้ท่านเลือกเป็นนางในวรรณคดี ท่านจะเป็นนางอะไร และเพราะอะไรคะ
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=6086.msg137141;topicseen#msg137141 (http://www.reurnthai.com/index.php?topic=6086.msg137141;topicseen#msg137141)

คุณประกอบให้ความเห็นเอาไว้ว่า
อย่างที่ท่านอาจารย์ใหญ่ว่า  เป็นนางในวรรณคดีชีวิตมักไม่ค่อยดี ไม่เหมือนพระเอก  ซึ่งแต่ละคน ถ้าแจกแจงรายละเอียดออกมา หาดีตามมาตรฐานปัจจุบันไม่ค่อยได้ คงไม่มีผู้หญิงดีๆ ที่ไหนอยากได้ ไม่ว่าจะพระอภัยมณี ขุนแผน  หนุมาน ศรีธนญชัย ฯลฯ  ถ้าดูคุณสมบัติการเป็นสามีที่ดีหรือเป็นพ่อที่ดีแล้ว สอบตกระนาวทุกคน
ศุภร บุนนาค เคยวิจารณ์ไว้ในหนังสือ "สมบัติกวี ขุนช้างขุนแผน" ว่า ขุนแผนเป็นทหารที่ดี จงรักภักดีต่อเจ้านายเสมอต้นเสมอปลาย แต่ในเรื่องส่วนตัวแล้ว เป็นพ่อและสามีที่ใช้ไม่ได้เลย
ข้อนี้ก็น่าจะมองได้ว่า กวีได้ใช้พฤติกรรมที่เอาแต่อารมณ์เป็นใหญ่ของขุนแผนนั้นเองเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดเรื่องราวอันมีสีสันจัดจ้านตลอดเรื่อง   ไม่ว่าเป็นหนุ่มวัยทีน หรือแก่จนเป็นปู่ได้แล้ว ขุนแผนก็ยังเอาอารมณ์ตัวเองเป็นใหญ่อยู่เช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
เริ่มตั้งแต่อยู่ในผ้าเหลืองในฐานะเณรแก้ว   ก็ยังทิ้งจีวรเข้าไปหาผู้หญิง โดยไม่ได้สนใจเลยว่าเป็นลูกสาวที่อยู่ในความปกครองของแม่  แม่ยังไม่ได้ยกให้ เท่ากับพระเอกผิดศีลข้อสามเต็มๆ  จนกระทั่งแก่ ขัดใจกับพระไวยก็ออกอุบายสมคบกับพลายชุมพลลูกชายคนเล็กยกทัพมาล่อพระไวยออกไปรบจะได้จับฆ่า
ดังนั้นถ้าหากว่าคนอ่านคนไหนเอาศีลธรรมเป็นตัวตั้ง  เอาขุนช้างขุนแผนขึ้นชั่งตาชั่งศีลธรรม  ก็คงจะมึนงง
ก็ขอบอกในทางตรงกันข้ามว่า ถ้าขุนแผนถือศีลห้า เรื่องนี้คงพับฐานไปตั้งแต่ตอนที่ ๑  แต่งต่อไม่ได้ค่ะ