เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: pipat ที่ 05 มิ.ย. 06, 23:15



กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 05 มิ.ย. 06, 23:15
 อาจารย์เทาชมพุท่านช่างเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ได้ละเอียดยังกับตัวมดในสมุด (อันนี้โดยเสด็จ สำนวนของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่เอ่ยถึงพระยาอนุมานราชธน ว่า เหมือน "ตัวหนอนในสมุด" แต่เดี๋ยวนี้เราใช้ว่าหนอนหนังสือ)

ผมมีรูปเก่าๆอยู่จำนวนหนึ่ง บางรูปมีคุณภาพดีมากๆ ขนาดขยายใหญ่ราวๆ 2000% ก็ยังดูรู้เรื่อง ตอนแรกกะว่าจะแอบเอาไว้ชื่นชมคนเดียว แต่ตามนิสัยขี้อวด อดมาแพลมให้พวกเราดูมิได้

ใครจะไปนึกว่า ท่านจะเล่าเรื่องในรูปพวกนี้ สนุกยังกับผู้ใหญ่หลอกเด็ก อย่ากระนั้นเลย เราเป็นเด็ก หลอกท่านเล่านิทานเรื่องจริงจากรูปถ่ายของมิศฟะรันซิศ จิต ช่างภาพคู่พระทัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกันดีกว่า
---------------
รูปเปิดเรื่องคือบ้านริมน้ำ ระหว่างวัดแจ้งกับวัดระฆัง โบสถ์ที่เห็นเป็นฉากหลัง คือวัดเครือวัลย์ แถวนี้ ท่านสุนทร จรไปมาเป็นประจำ  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 05 มิ.ย. 06, 23:25

.

รูปเปิดเรื่อง เป็นส่วนหนึ่งของรูปนี้ครับ
หลังคาโอ่อ่ากลางรูป คือกรมท่า เป็นออฟฟิศของเจ้าพระยาทิพากรวงษ์  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 05 มิ.ย. 06, 23:31

.

และเป็นส่วนหนึ่งของรูปนี้  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 05 มิ.ย. 06, 23:37

.

และ
สามารถประกอบเป็นรูปนี้  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 05 มิ.ย. 06, 23:45

.
คราวนี้ มาดูลูกน้องเจ้าน็อกส์กัน รูปนี้เขายังเป็นฝรั่งพเนจร รับราชการฝึกทหารให้พระปิ่นเกล้าอยู่ครับ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 05 มิ.ย. 06, 23:56

.
ลูกน้องเจ้าน็อกส์ คงมาแอบพักระหว่างฝึกกระมัง


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 06 มิ.ย. 06, 00:17
 แอบเป็นแมลงสามง่าม แวบเข้ามานั่งเกาะๆขอบรูปเก่าๆพวกนี้ก่อน อิอิ
แต่กินม่ะลงอ่ะ รูปซ๊วยสวย ชัดแจ๋วเลยนะครับ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 06 มิ.ย. 06, 00:17

.
รูปทั้งหมด ถ่ายโดยนายจิต ซึ่งต่อมาได้เป็นขุนสุนทรสาทิศลักษณ์ แล้วมาเป็นหลวงอัคคีนฤมิตรในสมัยรัชกาลที่ 5
ท่านมีชื่อตัว ว่า ฟะรัน ซิศ จิต Francis Chit เป็นไทยแท้สืบเชื้อสายมาจากทหารอาสาโปรจุเกต ครั้งกรุงศรีอยุธยา ตอนกรุงแตก ชาวไทยเลือดผสมเหล่านี้ หนีภัยมาร่วมสร้างแผ่นดินใหม่กับเจ้าตาก จนได้รับพระราชทานที่ดินแปลงใหญ่ ตั้งมั่นเป็นชุมชนใหญ่ใกล้พระราชวังธนบุรี บริเวณวัดประยุรวงศ์และวัดกัลยาณฯ ที่ปัจจุบันเราเรียกอย่างหมดราคาเลยว่า ชุมชนซังตาครูส

ในสมัยธนบุรีมาถึงรัชกาลที่ 5 ชุมชนนี้ คือที่รวมของวิทยาการล้ำยุคทั้งปวง เพราะเป็นพวกเดียวที่ติดต่อฝรั่งตะวันตก พูดจากันรู้เรื่อง ราชสำนักได้อาศัยชาวไทยเหล่านี้เป็นล่าม เป็นช่างเทคนิค และเป็นฝายความมั่นคง

ท่านเหลานี้ ส่วนหนึ่งยังยึดมั่นในความเชื่อแคธอลิก บ้างก็เปลี่ยนเป็นไทยพุทธ ฟรันซิศ จิต ใช้ชื่อตามนักบุญของท่าน แต่ลูกของท่านกลายเป็นพุทธไปแล้ว ทุกวันนี้ยังมีที่สืบอาชีพช่างภาพเหมือนต้นตระกูล เป็นชั่วที่ 5 แล้วกระมัง


------------------
แก้ไขครับ ในรูปความเห็น 4 และ 5 นี่ ถ่ายตอนปลายรัชกาลที่ 4 ดังนั้นเจ้าน็อกส์ได้ดี เป็นกงศุลอังกฤษไปซะแล้ว  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 06 มิ.ย. 06, 00:30
 รูปไม่สวยจะหลอกครูไหว ไหวรื้อ


นี่ท่านคงไปรื้อตู้หนังสือกระจุยกระจาย
พรุ่งนี้จะมาบ่นปวดหลัง และจามฝุ่นสมุดจนหน้าแดงเชียว

เอ้า น้องๆ ที่ใต้ถุนเรือน หายาหม่อง ยาลม และยาม้า..
เฮ้ยไม่ใช่ ยานัตถุ์ เตรียมไว้ด้วย
พรุ่งนี้ได้ฟังโบราณนิทานคดีกันอร่อยแน่
เชื่อหัวติบอได้

เว้นแต่จะค้นหนังสือจนหลังยอก....5555555 เล่าม่ายหวายยยย


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 มิ.ย. 06, 07:35
หลอกเด็ก...เอ๊ย...หลอกยายแก่  บาปนะหลานเอ๊ย
ย่าไหวแกก็รู้ว่าตาพิพัฒน์รู้เยอะกว่า    แต่ไม่อยากเมื่อย  ขอโพสต์ภาพลูกเดียว  เลยโยนกลองมาให้ครูไหวแกยังงั้นละ
************************
ตอนนี้นั่งอยู่ในที่ห่างไกลตู้หนังสือ เอาความทรงจำไปก่อนค่ะ  บ่ายนี้เจอหนังสือ  จะเก็บมดมาเล่าให้ฟังทีละตัว

เริ่มอินโทรที่วัดเครือวัลย์ ที่มองเห็นโบสถ์ในฉากหลังของภาพที่ ๑  ขอชวนนั่งเรือข้ามแม่น้ำไปทางฝั่งธน   ไปเที่ยวประวัติวัด  ส่วนตัววัดไปถ่ายรูปเอาเองได้
ปัจจุบันวัดอยู่ติดกับกรมอู่ทหารเรือ  เป็นฌาปนสถานของกองทัพเรือ

วัดเครือวัลย์ได้ชื่อตามเจ้าจอมเครือวัลย์    ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว    เจ้าจอมท่านเป็นธิดาในสกุลบุณยรัตพันธุ์  สายเจ้าพระยาภูธราภัย(นุช) ขุนนางบิ๊กเบิ้มท่านหนึ่งในรัชกาลที่ ๓

พวกบุณยรัตพันธุ์ สืบย้อนประวัติต้นสกุลไปได้ถึงสมัยพระเจ้าทรงธรรม    ต้นสกุลเป็นพราหมณ์พฤติบาศมาจากอินเดีย  
พราหมณ์พวกนี้เป็นพราหมณ์ตระกูลสูง   มีหน้าที่ทำพิธีเกี่ยวกับช้างและปัดเสนียดจัญไร  
ในเมื่ออาณาจักรอยุธยาอุดมไปด้วยช้าง ใช้ในการศึกและการเดินทาง    การคล้องช้างจึงเป็นเรื่องใหญ่ทำกันทุกปี
คล้องทีก็ไม่ใช่สั่งพรานเข้าไปคล้องเอาดื้อๆ  มีขั้นตอนกระบวนการหลากหลายค่ะ  กษัตริย์ลงมาเองเลยเชียว   ตลอดจนต้องมีพระราชพิธีทำเพื่อเป็นสิริมงคลด้วย

ช้างเอกๆที่คล้องมาได้เพื่อเป็นพระราชพาหนะออกศึก   เป็นพญาช้างป่าดุร้ายพยศนัก  มีตบะอำนาจสูง
กวีในราชสำนักก็ต้องแต่งคำสังเวยกล่อมช้างให้อ่อนน้อมยอมเชื่อง    จึงเกิดฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้างขึ้นมาหลายบทประดับวงวรรณคดี   ใช้คำประพันธ์ประเภทฉันท์  ซึ่งถือกันว่าเป็นของสูง
พราหมณ์พฤฒิบาศก็เลยเข้ามาประจำในราชสำนักอยุธยาด้วยเหตุนี้ละค่ะ
สืบเชื้อสายกันมาถึงตอนกรุงแตกครั้งที่สอง  นายบุญรอด ลูกหลานคนหนึ่งรอดมาได้สมชื่อ    เข้ารับราชการสมัยธนบุรีต่อเนื่องมาจนรัตนโกสินทร์  
จนได้เป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช  
ล่วงมาถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อมีพระราชบัญญัตินามสกุล  ลูกหลานก็นำเรื่องขึ้นทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานนามสกุล
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ ทรงแปลงชื่อ บุญรอด จับบวชเป็นบาลีได้เก๋มากว่า  "บุณยรัต"  แล้วทรงเติมคำว่า พันธุ์ลงไปให้รู้ว่าสืบเชื้อสายจากนายบุญรอด


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: B ที่ 06 มิ.ย. 06, 08:00
 มาลงชื่อให้กำลังใจคุณ pipat เจ้าของกระทู้ค่ะ

ดิฉันยังไม่มีเวลาอ่านอย่างละเอียดเลยค่ะ คุณพิพาท (ชอบชื่อนี้ค่ะ อิอิ) กำลังยุ่งมากๆ ทั้งๆที่อยากคุยๆๆ

ขอบพระคุณทั้ง อ.เทาชมพูและคุณพิพัฒน์จริงๆค่ะ สำหรับกระทู้ดีๆแบบนี้


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 06 มิ.ย. 06, 08:36
 ผมคิดว่าซางตาครูสก็เป็นชื่อที่ดีนะครับ คุณpipat

อยากไปดูหลุมฝังศพท่านเหมือนกัน ถ้าท่านเป็นคาทอลิกจริงก็น่าจะมีสุสาน แต่ได้ข่าวว่าเขาย้ายป่าช้าซางตาครูสไปไว้ที่สามพรานแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะยังมีอะไรเหลือบ้าง

อืม เห็นที่เสื้อท่านมีกระดุมประกอบตัวอักษร พอทราบที่มาไหมครับ

อีกอย่างครับ เห็นรูปพระที่นั่งพุทไธสวรรค์ด้านข้าง ตรงสนามหญ้ายังมีสิ่งปลูกสร้างอยู่เลย ตอนนี้กลายเป็นสนามหญ้าเอาไว้ดูสังคีตศาลายามเย็นไปแล้ว อยากทราบว่าเมื่อก่อนมันเป็นอะไรครับ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 06 มิ.ย. 06, 08:58
 วัดเครือวัลย์นี้แหละครับ มีอัครจิตรกรรมฝาผนังหนึ่งเดียวในประวัติศาสตร์ เคยมีการพิมพ์ออกมาเป็นเล่มสมุดงดงาม เนื้อเรื่องไม่มีที่ใหนเหมือน สมัยเรียนหนังสือชอบมาดูเป็นที่สุด นับเป็นครูสอนการผูกเรื่องเล่ารูป ฝีมือเขียนก็เปี่ยมรสนิยม แถมคิดค่าแรงง่าย เพราะแบ่งช่องเท่าๆ กัน

ไม่บอกว่าเป็นเรื่องอะไร ทิ้งให้อยากรู้ อยากรู้ก็ต้องถามและจะต้องมีน้ำมะตูมจากตรอกมะตูมแถวนั้นมาฝากด้วยนะจ๊ะ
ครูไหวจะได้ไม่คอแห้ง

จำได้เลาๆ ว่าหมื่นพรหมสมพัสตรสร (ไม่รู้เขียนถูกหรือปล่าว) หรือเสมียนมี จะทำงานเป็นช่างเขียนวัดนี้ด้วยซี
จำได้แต่ที่ท่านบ่นว่า...เอาเงินล่อพอใจ ไม่เจ็บหลัง....

เสมียนมีนี่เป็นตัวอย่างพิเศษของช่างเขียนที่ขอรับพระราชทานเปลี่ยนอาชีพได้
เกิดมาเป็นช่างเขียน แต่ตายโดยเป็นกวี

มีใครเก๋ได้เท่านี้ใหมฮะ....

-----------คุณ B หายไปหลายเพลา ทำชาวประชาคิดถึง
อ่านละเลียด พิศให้ละเอียด ย้อนไปวกมา ไม่ต้องเกรงใจเวลา เพราะเราเป็นพวกย้อนกระแสแห่งการไหลไปของเวลานะครับ

รูปเปิดเรื่องไม่จุใจ เอาใหม่ให้สมกับที่จะเล่าเรื่อง จากวัดแจ้งไปสวนมังคุด ฮิฮิ
.


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 06 มิ.ย. 06, 09:23
 เรียนคุณ กุรุกุลา คำว่าซังตาครูสน่ะดีแน่
แต่คำว่าชุมชนนี่สิน่าเกลียด
ในทางการปกครองเขาหมายถึงอย่างเดียวกับคลองเตยน่ะครับ คำนี้สายสังคมสงเคราะห์เขาถนัด


ผมให้ประหลาดใจยิ่งนัก ว่าสังคมไทยนี่ทำไมชำนาญในการทำลายคุณค่าทางมานุษยวิถีกันนัก อย่างการตั้งชื่อซอยเป็นตัวเลขอย่างนี้เป็นต้น ชื่อบ้านนามเมืองสูญหายเกลี้ยงเกลา สะดวกก็แต่พวกแท็กซึ่กระมัง

การจำชื่อซอยเป็นเลขนี่ ทำลายความผูกพันธ์ต่อถิ่นของประชาชนหมดสิ้นครับ ผมว่า

ทำไมไม่ใช้ว่าบ้านซังตะครูส หรือบ้านกระดีจีน ตามโบราณนิยม หรือนึกเอาว่าบ้านเป็นเอกพจน์กระมัง
พอจะใช้หมู่บ้าน ก็เดียจฉันท์ว่าบ้านนอก
พวกนี้ รู้น้อยว่ามากรู้ เริงใจ......

ผมขยายกระดุมสามเม็ดมาฝาก
พิจารณากันเอาเอง ผมเห็นของผมว่าเป็นพระปรมาภิไธยย่อ

ไม่รู้ใช่หรือปล่าว ตาไม่ค่อยดีครับ  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: B ที่ 06 มิ.ย. 06, 09:26
 ถ้า ชาวประชา ที่คิดถึงดิฉันชื่อคุณพิพัฒน์ล่ะก็ เป็นปลื้มค่ะ    

ใกล้จะจบได้กลับบ้าน กลับไปทวงซีดีเต็มทนแล้วค่ะ คุณพิพัฒน์
ซีดีน่ะ ไม่ขอรับทางเมล์นะคะ แต่จะไปสวัสดีด้วยตัวเองค่ะ อยากรู้จักคนเก่งอย่างคุณพิพัฒน์ อยากไปชมภาพของจริงด้วยค่ะ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 06 มิ.ย. 06, 09:53

.

ประชาชีระดับนี้ ดีใหมครับ

รูปนี้ไม่ใช่ฝีมือนายจิต
เพราะเดาว่าเป็นสมัยรัชกาลที่ 5 เสด็จสงขลา
อยากให้เห็นแนวทางพหุนิยมทางชาติพันธุ์ ที่เราเคยใช้เป็นแนวทางสมานฉันท์อย่างได้ผล

เสียดายที่คนรุ่นนี้ไม่รู้จักเสียแล้ว


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 06 มิ.ย. 06, 10:10

.

รูปนี้ ท่านนุช ออนดูตี้ ฮิฮิ กับอีกหลายท่าน
มีสมเด็จกรมหลวงฯ ท่านช่วง ท่าน....ไม่บอกหมดอีกแหละ อยากรู้ต้องค้นเอาเอง ไปดูหนังสือเยอรมันมองไทยก็จะรู้
รับทูตปรัสเชี่ยน ออยเลนบวร์ก
ฝีมือช่างภาพในคณะของเขา


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 06 มิ.ย. 06, 10:20

.

ขยายท่านนุช ให้เห็นชัดหน่อย
ความจริงท่านยังมีรูปอื่นที่งามกว่านี้ แต่นี่คือบันทึกประวัติศาสตร์
ได้เห็นแล้วปลื้มใจมดอย่างพวกเรา  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 มิ.ย. 06, 11:21
 ดิฉันเคยเขียนเกี่ยวกับพวกโปรตุเกสไว้ในบทความ ล่ามไทย  ของเว็บวิชาการ
หลงทางในเว็บ หาไม่เจอว่าอยู่ตรงไหน   เคราะห์ดีมีกูเกิ้ลให้หาก็เลยเอามาให้อ่านกันได้http://vcharkarn.com/reurnthai/translator.php

ล่ามไทยที่รู้ภาษาตะวันตกมีอยู่น้อยนับตัวถ้วน ไม่มากมายอย่างพวกแรก ล่ามพวกนี้ได้แก่พวกคนไทยเชื้อสายโปรตุเกสซึ่งบรรพบุรุษเข้ามาค้าขายตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งบ้านเรือนอยู่นอกกำแพงเมืองอยุธยา เรียกว่า หมู่บ้านโปรตุเกส

เมื่อตั้งกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ คนไทยเชื้อสายโปรตุเกสอพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่แถวตำบลกุฎีจีน ตำบลสามเสน ออกเสียงเรียกอย่างชาวบ้านว่า "ฝรั่งกฎีจีน" หรือ "ฝรั่งกระดีจีน"
พวกนี้พอจะเรียนรู้ภาษาโปรตุเกสบ้างตามที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ จึงมักรับราชการในตำแหน่งที่เรียกว่า "ล่ามฝรั่ง" อยู่ในกรมท่า มีอัตราอยู่ 5 คน
หัวหน้ามีราชทินนามเป็นขุนเทพวาจา รับเบี้ยหวัดปีละ 7 ตำลึง

หน้าที่การงานมีน้อยมาก เพราะไทยติดต่อกับโปรตุเกสก็แต่เฉพาะการค้าขายที่เมืองมาเก๊า นานๆเจ้าเมืองจะมีหนังสือมาสักครั้งหนึ่ง


ฟะรันซิส จิต คงจะรู้จักขุนเทพวาจาเป็นอย่างดี    เป็นลูกหลานเกี่ยวดองมีเชื้อมีสายด้วยก็อาจเป็นได้   เพราะกลุ่มที่นับถือศาสนาเดียวกันก็มักแต่งงานอยู่ในกลุ่มกันเอง

ดิฉันเคยไปเที่ยวแถวนั้น   วัดกัลยาณ์นี่หรือเปล่าที่โบราณออกเสียงว่าวัดกัลละหว่า   ส่วนซางตาครูส โบสถ์ยังรักษาไว้งามตาน่าชมมาก  ไม่ปล่อยให้ทรุดโทรม

ขนมฝรั่งกุฎีจีนก็หอบกลับบ้านมาแจกคนกันหลายถุง   เป็นขนมฝรั่งทำด้วยแป้งและน้ำตาล    แต่เข้าใจว่าไม่มีครีมผสมอย่างขนมเค้ก


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 06 มิ.ย. 06, 12:21
 เรื่องล่ามโปรตุเกส ผมคิดว่าจะมีงานให้ทำไม่น้อยครับ
หาไม่จะต้องตั้งไว้ถึง 5 อัตราเชียวหรือ

หัวหน้าชุมชนกระดีจีนนี่ ตอนหลังได้เป็นถึงพระยาวิเศษฯ
มีรูปมาฝากครับ เป็นลายเส้นจากหนังสือของอองรี มูโอต์
มาจากรูปถ่ายซึ่งผมเดาว่าเป็นฝีมือนายจิต
เพราะแม้ว่าตามประวัติมูโอต์จะถ่ายรูปเป็น แต่รูปในหนังสือแก ผมพบต้นฉบับแล้วหลายชิ้น ล้วนฝีมือท่านจิตทั้งนั้น

ยิ่งกว่านั้น ถ้าสังเกตสักหน่อยก็จะเห็นว่า เวลาที่แกออกสำรวจดงดิบในเขมร ไม่มีที่เป็นรูปถ่ายเลยครับ เป็นรูปเสก็ตช์ทั้งนั้น ผมจึงคิดว่าแกก็เหมือนฝรั่งแทบทุกคนที่เขียนเรื่องเกี่ยวกับเมืองไทย ต่างก็ซื้อรูปของฟรันซิศ จิต เอาออกไปทำมาหารับประทาน โดยไม่เคยให้เกียรติเจ้าของผลงานตัวจริงแม้แต่ 1 ประโยค

น่าอายจริงๆ


คำว่ากัลละหว่า เคยอ่านเจอเป็นวัดจริงๆครับ ขอติดหนี้ไว้ก่อนครับ แล้วจะไปแคะกระปุกกาลเวลา เอามาเล่าเสริมที่อาจารย์ตั้งประเด็นไว้

ส่วนบทบาทของชาวไทยเข้ารีตนี่ สนุกครับ
เล่าย้อนไปได้ถึงท้าวทองกีบม้า
ลูกหลานสืบสายลงมา ก็อยู่ที่กระดีจีนนี่แหละครับ

--------------------
ดูรูปต่อไปดีกว่า  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 06 มิ.ย. 06, 13:04

.

แองเจลินา ทรัพย์ ทายาทรุ่น 4 ของฟอลคอน เป็นผู้นำชุมชนบ้านกระดีจีนท่านหนึ่ง รู้เพราะว่าท่านชุมพร(บุนนาค) จำได้ เล่าไว้ใน JSS ปี 1915
ขนมแสนอร่อยที่เรามีลาภปาก ก็คงเป็นตำหรับของเธอกระมัง
รูปนี้มาจากหนังสือของปาเลกัวส์ ซึ่งผมก็ระแวงอีกแล้ว ว่าทำไมแกไม่เอ่ยถึงนายแบบนางแบบในหนังสือเลยสักประโยค ทั้งๆที่ทุกท่าน เป็นคนสำคัญ
อย่างพระองค์เจ้าปราโมช หรือมาดามทรัพย์ คนนี้ เป็นต้น

ผมเลยตรวจละเอียดแบบมดตาถั่ว
พบว่า ท่านเขียนต้นฉบับส่วนใหญ่ตั้งแต่รัชกาลก่อน แล้วก็รีบหอบหิ้วกลับบ้าน ไปให้โรงพิมพ์หลวงแห่งกรุงปารีส จัดพิมพ์ให้ เป็นงานช้างสองโขลงทีเดียวครับ
สพพะ วจนะ พา สา ไท ของท่าน จุคำสี่หมื่น แปลสี่ภาษา ตัวเรียงภาษาไทยทั้งหมดหล่อใหม่เพื่องานนี้โดยเพาะ ดังนั้น ตอนที่เกี่ยวกับรัชกาลใหม่ ก็คงเขียนเอาที่ปารีส หน้าแท่นนั่นแหละ
รูปประกอบ ก็คงมีลูกน้องจัดการให้ ถ้าไม่ใช่ ลานอร์ดี บาทหลวงมือขวา ก็ฟรันซิศ จิต ลูกศิษย์กระมัง ท่านจึงไม่เอ่ยถึงรูปบุคคลในเล่มเลย

งานพิมพ์พจนานุกรมนี้ เป็นประวัติศาสตร์การพิมพ์ของโลกนะครับ ขนาดบอกชื่อช่างออกแบบไทโปกราฟฟี เชียวแหละ ตัวอักษรงดงาม เส้นสม่ำเสมอ
อ่านง่าย ไม่หัก ขาด และหัวตัน...ฯลฯ เขาต้องศึกษาอะนาโตมีของอักขระ วางช่องไฟ คิดถึงความยากง่ายในการเรียงตะกั่วใส่กะบะ...
สารพัดที่จะต้องพินิจพิจารณา ไม่ง่ายเหมือนเราจิ้มแป้นคีย์บอดขณะนี้

ตัวเรียงชุดนี้ตกทอดมาถึงโรงพิมพ์อัสสัมชัญ ซึ่งถ้าใครมีโอกาส ลองสังเกตนะครับ ว่าสิ่งพิมพ์ของเขา คุณภาพเหนือกว่าตัวเรียงขะหยุกขะหยุยของหมอปลัดเลหลายราคาอยู่ และยังตกทอดอยู่ในประวัติศาสตร์การพิมพ์ของไทย
สมัยหนึ่งเราเคยเรียกตัวพวกนี้ ว่า "ตัวฝรั่งเศส"

กระทู้นี้ จะบ่ายหน้าไปถึงใหนก็ไม่รู้ เริ่มต้นที่วัดเครือวัลย์ ตอนนี้มาถึงโรงพิมพ์และแท่นพิมพ์แล้ว

กระทู้ไม่มีเบรคนี่มันจริงๆ  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 มิ.ย. 06, 13:38
 ภาพที่ 16  นึกออกตอนนี้คือ
นั่ง ซ้ายสุด กรมหลวงวงศาธิราชสนิท  ต้นราชสกุลสนิทวงศ์
นั่ง กลาง  สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์
ยืน กลาง  เจ้าพระยาภูธราภัย(นุช บุณยรัตพันธุ์)
*****************
ภาพพาโนราม่าเก่าเล่าเรื่องที่คุณพีพียกมาให้ชม   ถ้าหากว่าคุณเอากล้องโดเรมอนส่องไปที่วัดโพธิ์ ในภาพ ๒
ถ้ามีวาสนาจะเห็นพระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่ง เดินอยู่   นั่นละค่ะแก้วกวีคนหนึ่ง ของยุครัชกาลที่ ๓ และต่อมาจนถึงรัชกาลที่ ๔
ถึงไม่ใช่เพชรน้ำเอก ก็จัดอยู่ประมาณทับทิมและมรกต  ไม่ใช่พลอยสังเคราะห์

ท่านคือนายมี  ศิลปิน(วาดภาพนะคะ ไม่ใช่ออกคอนเสิร์ต) &กวี  แห่งรัชกาลที่ ๓  ต่อมาได้เป็นหมื่นพรหมสมพัตสร   และบั้นปลายเป็นหลวงศุภมาตรา  ไปรับราชการอยู่ที่ชัยนาท

เป็นศิษย์สุนทรภู่ ที่ครูน่าจะภูมิใจว่าถอดฝีมือครูมาได้เนียนสนิท จนนักวิชาการรุ่นหลังหลงทางไปพักใหญ่
นึกว่านิราศพระแท่นดงรังฝีมือนายมี  เป็นผลงานของสุนทรภู่  มากลับตัวได้ทันเมื่อเจอนิราศพระแท่นดงรังอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง

สำนวนนายมีหยดย้อยแค่ไหน เชิญอ่านได้ค่ะ

โอ้สงสารสุริยาฟ้าพยับ................. จะเลื่อนลับยุคุนธรศิงขรเขา
พระอาทิตย์ดวงเดียวเปลี่ยวเหมือนเรา....... กำสรดเศร้าโศกมาเอกากาย
ถึงมีเพื่อนเหมือนพี่ไม่มีเพื่อน......เพราะไม่เหมือนนุชนาฏที่มาดหมาย
มีเพื่อนเล่นก็ไม่เหมือนกับเพื่อนตาย......มีเพื่อนชายก็ไม่เหมือนกับเพื่อนชม
ถึงจะมีวิมานสถานทิพย์......ให้ลอยลิบเลิศมนุษย์สุดประถม
ถ้าไม่มีคู่เคียงเรียงภิรมย์.....จะเตรียมตรมตรึกหาเป็นอาจิณฯ

อีกเรื่องคือนิราศเดือน   เรื่องนี้เก็บประเพณีทำบุญของไทยในแต่ละเดือนเอาไว้ในคนรุ่นหลังเช็คข้อมูลได้เต็มเพียบ

คุณพิพัฒน์แจวเรือตามกระแสน้ำออกนอกปากอ่าวไปถึงฝรั่งเศส
ดิฉันยังพายอยู่แถวเจ้าพระยา   เดี๋ยวจะไปตามแกกลับมาหาขรัวอินโข่งกับแหม่มแอนนา


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 มิ.ย. 06, 18:30
 ภาพที่ ๓ เป็นภาพมุมกว้างที่งามมากที่สุดเท่าที่เคยเห็นมาในบรรดาภาพมุมต่างๆของกรุงเทพ      
ยิ่งถ้าเป็นภาพขยายใหญ่ ดูรายละเอียดได้ชัด  มองเท่าไรไม่เบื่อ  
แค่มุมเล็กๆสุดขอบฟ้าอย่างวังหน้า  เมื่อขยายใหญ่ขึ้นมาก็เป็นภาพเก่าเล่าเรื่องได้ยาวเหยียด

สงสัยอยู่นิดเดียวว่าท่านฟะรันศิส จิต  ไปถ่ายในชั่วโมงไหนของวัน  ถนนหนทางถึงว่างเปล่าไม่มีผู้คนมาทำธุระปะปัง
หรือว่าเมื่อหนึ่งร้อยกว่าปีก่อน   ถนนและบ้านมืองกรุงเทพปลอดโปร่งโล่งตลอดแบบนี้ทั้งวันก็ไม่ทราบนะคะ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 06 มิ.ย. 06, 19:09

.

ผมโชคดีกว่าอาจารย์นิดหน่อย อยากดูเมื่อไร ก็แวะดู
ดูทุกครั้ง เห็นของใหม่เพิ่มทุกครั้ง เป็นความสุขเล็กๆน้อยๆ
แต่ยินดีแบ่งปันทุกท่านที่สนใจ ยิ่งได้มาอวดโฉมในเรือนไทย ที่เป็นคนคอเดียวกัน ถือเป็นเกียรติเชียวละครับ

คนมีครับ แต่มีน้อย ยิ่งหน้าวังหลวงอย่างนี้ หากไม่มีกิจธุระ ก็ไม่รู้จะมาทำไม สมัยนั้นวัฒนธรรมท่องเที่ยวยังไม่เกิด วัฒนธรรมไทยมุงก็ยังไม่มี แต่ผมก็ยังหามาให้อาจารย์ชมได้ 3 คนครับ กำลังจะเดินลับมุมป้อมไปทางวังท่าพระกระมัง คนขวาสุดนี่จ้ำอ้าวเชียว

ขออนุญาตทำเครื่องหมายไว้ จะได้เห็นถนัดนะครับ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 06 มิ.ย. 06, 19:21
 ทีนี้จะเล่าความลับว่า ผู้คนพลเมืองหายไปใหนกันหมด

ความจริง นอกจาก 3 คนที่มัวเดินอ้อยอิ่ง คนอื่นๆ เดินเร็วจนกล้องจับไม่ทันครับ

รูปนี้เปิดหน้ากล้องนานสักสิบนาทีเห็นจะได้
ผมขยายหน้าปัทม์นาฬิกาให้เห็นชัดหน่อย อันนี้เป็นเทคนิคห้องมืดครับ เวลาสงกะสัยอะไร เราก็ขยายเฉพาะส่วนนั้นมาทำให้สีจางลง ที่ไม่คิดว่าจะเห็นก็จะได้เห็น
อีกวิธี ก็คือทำให้เป็นเนกกะตีฟ จะทำให้อ่านตัวหนังสือเด่นขึ้น พวกนี้เป็น CSI แบบเด็กๆ ครับ

ผมขีดเส้นตรงจุดที่คิดว่าเป็นเข็มสั้น ซึ่งเดินเร็วยังไงก็ชั่วโมงละช่อง มันจึงค้างแหงแก๋อยู่ตรงราวไสบโมง แต่เข็มยาวสิครับ เห็นเป็นแถบดำ เพราะมันเดินเร็วกว่ามาก

ใช้วิชาเดาชั่นของครูไหว หรือโมเมโถโลยีของกระผม สรุปว่า รูปนี้เปิดหน้ากล้อง ราวสิบนาที ตอนสิบโมงเศษๆ อาจจะเสร็จตอน สิบโมงสิบห้านาที อันเป็นเวลาที่แดดงามที่สุด สอดคล้องกับเงาแดดที่ผนังอาคาร  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 06 มิ.ย. 06, 19:40

.

คราวนี้พามาฝั่งริมแม่น้ำ เป็นพันครับ ชาวบ้านล่องเรือทำมาค้าขาย นี่ขนาดบ่ายแก่มากแล้วนะครับ สักสี่โมงเย็นเห็นจะได้ ก็ยังแวะคุยกัน อาจจะเพิ่งเลิกติดตลาด ต้องขอแรงอาจารย์ช่วยบรรยายหน่อยเถอะครับ แผนกหารูป หามาให้จนเต็มกำลัง แผนกหาเรื่องต้องรับช่วงต่อครับ

มดน้อยจะไปขุดกรุต่อ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 06 มิ.ย. 06, 19:41

.

ขยายโตๆ เอาใจครูไหว   ฮิฮิ  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 06 มิ.ย. 06, 20:01

.

เห็นแม่น้ำแล้วปลื้มตา
เอารูปโปรดมาฝาก ให้เดา ว่าที่ใหน  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 06 มิ.ย. 06, 20:12

.

เจ้าหนูอมตะ ถ้ายังมีชีวิตอยู่ คงอายุราว 145 ปี  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 มิ.ย. 06, 20:37
 ร้องโอ๋ยยยย
เอางานพญาช้างมาให้  ต้องขอตัวไปเตรียมตัดอ้อย หาตะพุ่นหญ้าช้างมาเกี่ยวหญ้าหลายๆฟ่อน ไว้เลี้ยงช้างก่อนค่ะ
พรุ่งนี้จะกลับมาตั้งกลุ่มทัวร์เถื่อน  พาชาวเรือนไทยเข้าประตูเวลาไปล่องเจ้าพระยาเมื่อใกล้ๆสองศตวรรษก่อน
เลียบชมทิวทัศน์กันให้เพลินๆ  ไม่รีบร้อน

ก่อนไป ฝากการบ้านให้ครูพัดบ้าง  เดี๋ยวสบายเกินไป

ดิฉันไปหาแผนที่วังหน้ามาจนได้   อยากจะถามว่าภาพวังหน้าที่คุณเอามาลง  กำแพงและหลังคาตำหนักที่ซับซ้อนกันอยู่หลังกำแพง
ตรงกับส่วนไหนของแผนที่คะ
.


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 มิ.ย. 06, 20:44
วัดที่คุณพิพัฒน์เข้าใจว่าเป็นวัดดุสิตาราม
คือวัดบวรสถานสุทธาวาส เป็นไปได้ไหมคะ
เพราะวัดที่เห็นจากภาพถ่าย ไม่น่าไกลถึงข้ามแม่น้ำไปได้ น่าจะอยู่สุดเขตวังหน้าทางฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยานี่เอง


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 06 มิ.ย. 06, 21:08
 อาจารย์เทาฯ คงสับสน ผมต้องเป็นคนถามสิครับ
ส่วนอาจารย์เป็นเจ้าของญาณโดราเอม่อน
ต้องเป็นคนตอบครับ

เห็นแผนที่
นึกอะไรได้ งัดฉบับที่โตกว่ามาลองลากแนวดู
สรุปว่าผมเพี้นครับ โบสถ์นั้นคือวัดตองปุ ค่อยยังชั่ว

ไม่งั้นผมคงนึกเรื่อยเปื่อยกู่ไม่กลับมากกว่านี้  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 06 มิ.ย. 06, 21:22

.
คราวนี้ตอบได้เกือบครบครับ
1 พระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส อันนี้ผมจำแม่น เพราะเป็นที่ตั้งสามแยกปากดีของผม
2 โบสถ์วัดตองปุ
3 พระที่นั่งพลับพลาสูง ขนาบสองข้างด้วยประตูพิศาลสุนทร (ใกล้ตาเรา) กับ บวรยาตรา (ไกลตาออกไป)
4 พระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน
5 พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

ทีนี้จะเป็นนิยายเรื่องใหญ่ละครับ แผนที่ ไม่ตรงกับรูปถ่ายครับ
หลังพลับพลาสูงมีโรงอะไรสักอย่างที่มีมุขหน้า ซึ่งอาจจะอ้อมแอ้มเป็นศาลากลาโหม อันมีโรงปืนอยู่ข้างหน้า
แต่อาคารมหีมาที่วางตัวขนานกำแพงบวรราชวังสิครับใหญ่โตใหฬารยิ่งกว่าพลับพลาสูงเสียอีก........

ไม่มีอยู่ในแผนที่ครับ  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มิ.ย. 06, 09:00

.
ขอย้อนไปชมภาพนี้  ด้วยฝีปากของนายนรินทร์ธิเบศร์ หน่อยเถอะ

เรืองเรืองไตรรัตน์พ้น............. พันแสง
รินรสพระธรรมแสดง.............. ค่ำเช้า
เจดีย์ระดะแซง..................... เสียดยอด
ยลยิ่งแสงแก้วเก้า.................แก่นหล้าหลากสวรรค์

วัดโพธิ์วัดเดียว ก็เห็นเจดีย์ "ระดะแซง เสียดยอด" ไม่รู้กี่แห่งแล้ว


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มิ.ย. 06, 09:48

.
.
วันนี้จะพาสมาชิก ผ่านเข้าประตูเวลา ไปชมสองฟากฝั่งเจ้าพระยา

นัดพบกันลงเรือที่ท่าช้างวังหน้า ล่องลงทางใต้ ผ่านท่าช้างวังหลวงไงคะ  ลืมนึกถึงสิ่งก่อสร้างปัจจุบันให้หมด จะได้ไม่เสียอารมณ์
ลงมาเถอะ  ทัวร์นี้นั่งเรือแปดแจว  โอ่อ่าเหมือนขุนนางผู้ใหญ่  ชมสองฟากฝั่งเจ้าพระยา
เดี๋ยวแวะไปรับชายหนุ่มแถวกะดีจีน  ชื่อนายฟะรันศิส จิต มาเป็นไกด์ท้องถิ่น

พอนายฟะรันศิส จิต ขึ้นเรือ  ก็เล่าให้ฟังเชียวว่า
"ทวดฉันจำได้ว่ากระบวนทัพเรือในวังหน้ามหาสุรสีหนาท  ยกผ่านลงไปทางใต้  ผ่านหน้าเรือนแพของทวดนี่ละ  ออกปากอ่าวมุ่งไปต่อเรือที่ชุมพร"

"ทวดรู้จักมหาดเล็กวังหน้าคนหนึ่ง ฝีปากแต่งโคลงไม่มีใครเทียบ   แต่งหนังสือถวายให้ทรงแก้รำคาญ  เพราะต้องลงเรือขึ้นบกบุกป่ากันเป็นแรมเดือน"

แกชื่อนายนรินทร์ธิเบศร์   โวหารกวีไม่มีใครเกิน    ผ่านหน้าแพ  คนอื่นๆเห็นแต่แพกับของค้าของขายบนแพ   แต่นายนรินทร์ธิเบศร์เห็นไปถึงผ้าห่มสาวงามในวังที่แกแอบชมเป็นประจำ"

ชาวแพแผ่แง่ค้า..........  ขายของ
แพรพัสตราตาดทอง...... เทศย้อม
ระลึกสีสไบกรอง............ เครือมาศ แม่เฮย
ซัดสอดสองสีห้อม.......... ห่อหุ้มบัวบัง

อ่านประกอบที่นี่ค่ะ
 http://www.vcharkarn.com/include/vcafe/showkratoo.php?Pid=39945  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: sound engineer ที่ 07 มิ.ย. 06, 10:35
 คห.ที่28 สรุปคือหน้าวัดอรุณหรือเปล่าครับ เหมือนว่าผมเคยอ่านเจอ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 07 มิ.ย. 06, 12:04

.
มดน้อยขนรูปมาช่วยครับ
ท่าราชวรดิฐ เพิ่งสร้างเสร็จ ก่อนหน้านี้เป็นตำหนักแพ  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 07 มิ.ย. 06, 12:08

.
ส่วนรูปนี้มาช่วยเสริม "เจดีย์ระดะแซง..................... เสียดยอด"  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 07 มิ.ย. 06, 12:16

.
หรือจะเป็นรูปนี้ดีครับ  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 07 มิ.ย. 06, 12:25

.
เฉลยคุณเสียงวิศวก์ ....ถูกต้องครับ เกาะน้อยหน้าวัดอรุณ  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 07 มิ.ย. 06, 12:51

.
รูปนี้มอบให้เป็นคู่มือ "ท่องอดีตบางกอก"
ต่อกันจากสี่รูปครับ ฝีมือถ่ายฟรันซิศ จิต ฝีมือต่อกระผมเอง ไม่ได้ลบรอยต่อนะครับ ฝากไว้เป็นข้อมูล  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 07 มิ.ย. 06, 12:57

.
มองใกล้เข้ามาอีกหน่อย  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 07 มิ.ย. 06, 13:07

.
ลองขยายตรงโค้งแม่น้ำดูนะครับ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มิ.ย. 06, 13:10
 เก็บความมาบอกว่า
มิศฟะรันซิส จิต เล่าให้กลุ่มทัวร์ฟังว่า  เจ้าพระยาช่วงทอดตัวผ่านหัวใจเมืองไปจนถึงคุ้งน้ำ เป็นภาพที่งามเหลือพรรณนา  

ท่านอุตส่าห์รู้ภาษาปะกิตเมื่อสองร้อยปีให้หลัง  ถึงขั้นบอกเล่าให้ฟังว่าเรือนแพริมแม่น้ำทั้งหลายแหล่นั้น  เป็น Floating Mall หนึ่งเดียวในเอเชียอาคเนย์ หรือจะเรียกว่าในโลกก็ว่าได้
เหมือนสุนทรภู่(ที่ท่านจิตก็รู้จักดี)  บรรยายไว้ตรงตามข้อเท็จจริง
ว่า
ไปพ้นวัดทัศนาริมท่าน้ำ..........แพประจำจอดรายเขาขายของ
มีแพรผ้าสารพัดสีม่วงตอง..............ทั้งสิ่งของขาวเหลืองเครื่องสำเภา

ของที่ขายบนเรือนแพ เป็นของโก้ พวกของอิมพอร์ต   ไม่ใช่ของท้องถิ่นทำกันเอง   ขึ้นชื่อว่าแพร น่าจะมาจากเมืองจีน  ผ้าก็เหมือนกัน
ผ้าโหมด ผ้าตาด ผ้าอัตลัด  สั่งมาจากเมืองแขก   ผ้าปูมที่ขุนนางนุ่งบอกชั้นยศศักดิ์ มาจากเขมร    
พวกของขาวเหลือง  ในนี้ไม่ได้บอกว่าอะไร อาจจะเป็นเครื่องเงินหรือทองเหลือง   ส่งเข้ามาทางเรือสำเภาสามเสาที่จอดทอดสมออยู่ห่างออกไป


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 07 มิ.ย. 06, 13:15

.
ผมเดาว่าตรงนี้แหละครับ คือปากคลองคูเมืองชั้นกลาง ที่เรียกปากคลองตลาดในปัจจุบัน แต่วันก่อนหน้าวันนี้จะเรียกว่าอะไร
ต้องเชิญคนมีกุญแจไขประตูเวลามาเล่าต่อ

มดน้อยตาเจ็บ ทำงานไม่ไหวแล้วครับ  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มิ.ย. 06, 13:34
ท่านจิต ยังบอกต่อไปอีกว่า เรือนแพนอกจากขายของแล้ว ก็เป็นที่อยู่อาศัยอีกด้วย
ขอให้ดูภาพที่ 43  หนึ่งร้อยกว่าปีก่อนสำนักวางผังเมืองถือกำเนิด   ตึกแถวอาคารพานิชย์ยังไม่มี   เมืองฟ้าอมรของเราแม้ว่าเต็มแน่นไปด้วยเรือนแพสองริมน้ำ  แต่ก็มีระเบียบอยู่ในตัว
ไม่มีลักษณะชุมชน ซึ่งเป็นคำระคายหูคุณพิพัฒน์

บ้านเรือนเตี้ยๆ เพราะเทคโนโลยี่สร้างตึกหลายชั้นยังไม่มีใครรู้จัก ทำให้ไม่บดบังทัศนียภาพ
โดยเฉพาะเมื่อท่านจิตอุตสาหะมานะ  ปีนป่ายขึ้นบนพระปรางค์วัดอรุณ   พาลูกน้องหอบหิ้วกล้องและอุปกรณ์ถ่ายรูปเท่าตู้เย็น 5 ใบ
ขึ้นไปจับภาพมุมกว้างมาให้เห็น

รายละเอียดคุณพิพัฒน์คงมาต่อให้เอง

เรือนแพหนึ่งในหลายพันแห่งริมเจ้าพระยานี่เอง มิศฟะรันซิศจิต จำได้ว่ามีหลังหนึ่งเป็นที่อาศัยของแม่พุ่ม สาวงามลูกผู้ดีสยาม  ธิดาของพระยาราชมนตรี (ภู่) บรรพบุรุษของคุณแซม ยุรนันท์ ภมรมนตรี

เจ้าคุณพ่อท่าทางจะใจกว้างเอาการ   สร้างแพให้ลูกสาวอยู่จนโตเป็นสาว ก็ไม่ยักเก็บตัวขึ้นเรือนใหญ่บนตลิ่งให้มิดชิด
ทั้งนี้ เรือนแพเปรียบเสมือนด่านหน้า    ใครสัญจรพายเรือมาแวะก็แวะเข้าแพก่อนเข้าบ้านบนฝั่ง

เจ้าคุณราชมนตรีท่านตามใจลูกสาว   ทั้งที่เธอสวยจนคนตั้งเรียกว่าบุษบา ก็ยังปล่อยให้หนุ่มๆเข้ามาเล่นสักรวากันบนเรือนแพไม่ขาดสาย
หนุ่มลูกพระน้ำพระยาอย่าหวังเลยว่าจะเข้าใกล้ได้      แขกประจำเรือนแพ ต้องระดับเจ้าต่างกรม    และโน่นแน่ะ ทูลกระหม่อมฟ้าน้อย  เจ้าฟ้าจุฑามณี   ซึ่งเมื่อทรงเป็นชายหนุ่ม ได้ชื่อว่ารูปงามและปราดเปรียวนัก

บุษบาริมน้ำเป็นคนกล้า   เมื่อเจ้านายหนุ่มจะเสด็จกลับ  เธอก็กล้ายุดพระแสงเอาไว้ไม่ให้กลับ
จึงไม่แปลกที่เธอได้ไปเป็นหม่อมของท่านในวันหนึ่ง และไม่แปลกเหมือนกันที่อีกวันหนึ่ง เธอก็สละสิทธิ์หม่อมกลับไปเป็นพนักงานในวังหลวงตามเดิม

ท่านฟะรันซิศบ่นอุบอิบให้ฟังว่า เสียดาย  ตอนคุณพุ่มยังสาว ฉันยังเด็ก   ไม่ทันได้ร่ำเรียนวิชาชักเงารูป
จึงไม่มีรูปมายืนยันความงามของกวีหญิง    กว่าจะชักเงารูปเป็น  คุณพุ่มก็คราวป้าคราวย่าเสียแล้ว


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มิ.ย. 06, 13:40
 อ้าว คุณพิพัฒน์คร่ำเคร่งกับรูปจนตาเจ็บเสียแล้ว
รอให้ไปพักสายตาก่อนค่ะ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 07 มิ.ย. 06, 14:06

.
เดาถูกว่าอาจารย์จะต้องเล่าเรื่องเรือนแพของคุณบุษบา เสียดายท่านจิตไม่ได้ถ่ายรูปแถวท่าช้างไว้เลย
แต่รูปเรือนแพนี้ก็ไม่ด้อยศักดิ์ศรีกว่ากันสักกี่มากน้อยกระมัง
ตามที่ท่านจันทร์เล่าไว้ในนิทานคำกลอนสุนทรภู่ หรืออีกเรื่องที่ทำคู่กัน บอกว่าหน้าวังเดิม มีเรือนแพทอดอยู่ เป็นที่พักของพระยาอะไรผมก็ลืมชื่อเสียแล้ว สุนทรภู่สมัยมาพึ่งท่านฟ้าน้อยก็อยู่แพนี้แหละครับ
ในรูปนี้ วังเดิมครองโดย กรมหลวงวงษาธิราชสนิท แพยังอยู่ แต่มีสองแพ เดาไมถูกว่าเป็นหลังใด เรือนแพชุดนี้เดี๋ยวก็สองเดี๋ยวก็หนึ่ง เป็นที่ปวดเศียรเวียนเกล้า แก่นักไต่ตอมรูปอย่างกระผมเป็นที่ยิ่ง

แต่เป็นเรือนบรรดาศักดิ์นะครับ เวลาเจ้าเมืองห่างไกลมาราชการในกรุง ก็พักที่นี่แหละ

ตอนนี้รอมัคคุเทศก์ขยายเรื่องต่อ ฟังมันยังกะเดินไปเจอคุณพุ่มทีเดียว


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 07 มิ.ย. 06, 14:17

.
ลองดูสาวงามที่ฟรันซิศ จิต บันทึกภาพไว้ แม่นางบุษบาท่าเรือจ้างคงไม่ด้อยกว่านี้ไปสักเท่าใด


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มิ.ย. 06, 14:46
 อยากจะชวนคุณ sound engineer มาค้นหาในภาพ คห. ๔๘ ว่าเกาะน้อยที่คุณจำได้อยู่ในภาพนี้ด้วย  
เห็นไหมคะว่าตรงไหน

หนึ่งร้อยกว่าปีก่อน   เจ้าพระยามีเกาะน้อยแบบนี้ผุดเหนือน้ำให้พักเรือนั่งเล่นกันได้    ถ้าหนุ่มสาวมานั่งจีบกันละก็   ทำมิวสิควิดีโอได้ออกมาสวย  ไม่ต้องจัดฉากด้วยซ้ำ
เสียดายว่าหายไปหมดไม่มีเหลือแล้ว   เหมือนเรือนแพและอะไรอีกหลายๆอย่างในภาพ  
ยังดีที่พระปรางค์วัดอรุณยังสง่างามประทับใจอยู่

วังกรมหลวงวงศาธิราชสนิท คืออาคารสีขาวทางซ้ายมือของภาพใช่ไหมคะ  รวมอาคารหลังแพทางซ้ายด้วยหรือเปล่า

มิศฟะรันซิศ จิตแอบกระซิบบอกว่า กรมหลวงวงศาฯ ท่านทรงเชี่ยวชาญนักเรื่องหยูกยา   ไม่มีใครเทียบได้
ท่านรักษาคนอื่นได้สารพัดตั้งแต่เจ้าแผ่นดินลงมา  แต่เวลาหมอประชวรเสียเอง  รักษายากที่สุด
หมอที่ไหนเข้าไปถวายพระโอสถ   เป็นถูกซักไซ้ไล่เลียงเรื่องตัวยาเสียจนหมอแทบจะตายก่อนรักษา  เพราะทรงเก่งเรื่องยาเกินหน้าหมอนี่เอง

เห็นรูปวัดแจ้งฝีมือท่านจิต  แล้วนึกถึงนิราศสุพรรณของสุนทรภู่ เลยถามท่านจิตว่าโคลงบทนี้หมายความว่ายังไง

วัดแจ้งแต่งตึกตั้ง............เตียงนอน
เคยปกนกน้อยคอน.........คู่พร้อง
เคยลอบตอบสารสมร......สมานสมัคร รักเอย
จำจากพรากนุชน้อง........นกน้อยลอยลม

ท่านจิตไม่ค่อยตอบอย่างอื่น  บอกแต่ว่าสุนทรภู่แฟนแยะ  แม่สาวนกนี่ก็อยู่ในลิสต์


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มิ.ย. 06, 15:00
 ภาพขวาใน ค.ห. 49

สาวสมัยรัชกาลที่ 4   เดาว่าเป็นสาวไฮโซ   เป็นลูกเมียใครไม่ทราบ แต่คิดว่าเป็นชาววังหรือไม่ก็ผู้ดีมีตระกูล ไม่ใช่สาวชาวบ้าน ทรวดทรงดูอ้อนแอ้น แขนกลมกลึง  แสดงว่าไม่เคยทำงานหนัก

เธอไว้ผมทัดยาวลงมาเกือบถึงบ่าตามแฟชั่นสมัยรัชกาลที่ 4  สไบทันสมัยมาก ด้านข้างสั้นเห็นต้นแขน  ลักษณะเป็นแพรเนื้อนิ่ม น่าจะผ้าอิมพอร์ต  
ถ้าเป็นแฟชั่นเดิม สไบผืนกว้างคลุมลงมาถึงศอก  
สวมสร้อยตัว สร้อยข้อมือและแหวนพราวนิ้ว   ยังงี้ไม่ใช่มือที่ต้องตักน้ำตำข้าวแน่นอน   รู้จักโพสต์ท่าวางมือกุมกันเสียด้วย
โจงกระเบนที่นุ่ง รอยกลีบผ้าจีบที่สะโพกสวยมาก  เป็นการนุ่งผ้าอย่างประณีตทีเดียวเพื่อมาถ่ายรูป
นั่งบนอะไรสักอย่างมีพรมปูรองรับ  มีอุปกรณ์ประกอบฉากคล้ายแจกัน เดาว่าเป็นจอกหรือโถเครื่องประทิ่นผิว

ส่วนสาวคนทางซ้าย น่าจะสาวผู้ดีเหมือนกัน  ห่มสไบจีบแบบนี้ชาววังเขาจีบกัน  หน้าตาก็คมขำ
ชอบโจงกระเบนในภาพโบราณอย่างหนึ่งคือเขานุ่งกันสวย  เสมอกันทั้งสองขา  ไม่สูงข้างต่ำข้างอย่างดารานุ่งในละครพีเรียด แล้วพอเคลื่อนไหว ชายจะห้อยลงมายาวข้างสั้นข้าง


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: วันเสาร์ ที่ 07 มิ.ย. 06, 15:07
 ขออนุญาตยกมือตอบคำถามอาจารย์ค่ะ ในความเห็น19 ที่ว่า
วัดกัลยาณ์นี่หรือเปล่าที่โบราณออกเสียงว่าวัดกัลละหว่า

เท่าที่เคยทราบมา มีโบสถ์คริสต์แถวตลาดน้อย เรียกชื่อว่า"วัดกัลละหว่า" เป็นสำเนียงที่ดัดแปลงให้คุ้นกับปากคนไทยแล้ว เดิมเป็นภาษาฝร่ังจำช่ือไม่ได้ค่ะ ถ้าอย่างไรคงต้องค้นข้อมูลเก่าเพื่อความแม่นยำยิ่งขึ้น


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 07 มิ.ย. 06, 16:30
 ยกมือหนับหนุนครับ
อยู่ตรงแยกตลาดน้อยตรงเข้าไป ถ้าเลี้ยวซ้ายคือไปริเวอร์ซิตี้ ถ้าตรงไป เจอเลยครับ น่าจะเพี้ยนมาจาก คัลละวารี่ Calvary เป็นศัพท์ศาสนาแปลว่าอะไรผมไม่กล้าแปล เพราะไม่รู้ครับ

สาวงามทางซ้าย มีรูปเธอหลายท่าครับ กับสามี 1 กับลูกชาย 1
พิมพ์ลงหนังสือก็หลายเล่มครับ

เรื่องผ้า เห็นคุณติบอหลอกน้องใหม่มาเข้าเรือนไทยได้อนงค์หนึ่ง ขอเรียยนเชิญมาวินิจฉัยด้วยได้ใหมครับ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 07 มิ.ย. 06, 16:33
 ไม่ได้อ่านแค่ข้ามคืน กระทู้นี้ก็ไปไวยิ่งกว่าติดจรวดซะแล้ว เมื่อวานนี้ตอนดึกๆที่อ่าน ความเห็นเพิ่มเติมเพิ่งจะมีแค่ 33 ความเห็นเอง
ว่าแล้วก็รีบเอาเรือแจวลำน้อยแจวไล่ให้ทันเรือลำใหญ่ที่ อ.เทาชมพูเป็นมัคคุเทศก์กิติมศักดิ์อยู่ไปให้ทัน

แฮก  กว่าจะลงมาถึงตรงนี้ได้ ก็เหนื่อยน่าดูเลยผม

ยังไม่อยากตอบเรื่องอื่นให้เสียบรรยากาศกระทู้
ผมขอยกมือตอบอ.เทาชมพู เรื่องเดียวกับ คุณวันเสาร์ ในความเห็นที่ 52 อีกทีซะก่อน เรื่องโบสถ์กาลหว่าร์ครับ
โบสถ์นี้ ถ้าสมาชิกเรือนไทยท่านไหนชอบของเก่า หรือโบราณวัตถุ ไปเดินเล่นริวเอร์ซิตี้บ่อยๆ อาจจะได้เห็นบ้าง เพราะศิลปะแบบ Neogothic ของโบสถ์ค่อนข้างสะดุดตา
ยิ่งสมาชิกท่าไหนไปเดินซื้อเสื้อผ้า กินไก่ทอดที่ท่าน้ำคลองสานล่ะก็ เวลาข้ามเรือมาฝั่งพระนครจะเห็นชัดแจ๋วทีเดียวเชียวแหละ


ตอนแรกผมว่าจะชวนสมาชิกอีกท่านที่เรียนโรงเรียน "กุหลาบวัฒนา" ต้องไปฟังสวดที่โบสถ์กาลหว่าร์ทุกสัปดาห์ตอนเป็นเด็กประถมมาเล่าความหลังเมื่อ 40 ปีที่แล้วให้ฟัง
แต่เห็นทีสมาชิกที่ผมเชิญไปจะไม่ว่างซักที คนไปเชิญอย่างผมเลยอดทนรอไม่ไหวเลยขออนุญาตเปิดกระทู้ใหม่เรื่องวัดกาลหว่าร์เองแล้วกันครับ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 07 มิ.ย. 06, 16:39
 โพสต์เรื่องโบสถ์ชนกับคุณpipat เสียแล้ว

เรื่องผ้า ผมไม่แน่ใจว่าจะหลอก "น้อง" ของคุณpipat มาได้หรือไม่นะครับ
เมื่อวันก่อนตอนโทรศัพท์คุยกันขอให้มาช่วยเล่าเรื่อง "วัดแม่พระลูกประคำ" ในเรือนไทยให้ที
ก็ได้รับคำตอบมาว่า "อยากก็เล่าเองเถอะ เดี๋ยวอ่านต้นฉบับให้ก่อนรอบนึง"

ผมเลยต้องมานั่งเรียบเรียงกระทู้อยู่นี่แหละครับ แหะๆ




ปล. คราวนี้ผมขอส่งความเห็นที่ 53 ของคุณpipat ไปแทนแล้วกันนะครับ
ไม่อยากเอางูตัวหนักอึ้งตัวที่ 2 มาใส่เป็นสร้อยเหมือนตอนนี้อ่ะครับ คุณpipat


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มิ.ย. 06, 17:36
 เห็นจะต้องไปกินไก่ทอดแถวท่าน้ำคลองสานเสียแล้วละค่ะ คุณติบอ
*****************
ติดใจสาวงามทั้งสองภาพ    คนซ้ายที่ห่มสไบจีบ แฟชั่นเดียวกับคุณสาย  แม่บ้านต้นตำหนักของเสด็จเจ้านายแม่พลอย
อยากเห็นสามีกับลูกว่าแต่งแฟชั่นแบบไหนจังค่ะ

ส่วนนางแบบสาวไฮโซสยามคนขวา   ดิฉันนึกถูกชะตาเธอ ชอบท่านั่ง หลังตรงดี ไม่ชอบคนนั่งค้อมหลัง
ขอยึดเป็นนางแบบแทนตัวคุณพุ่มไปพลางก่อนนะคะ
แม้เดาว่าเธออาจจะเกิดหลังบุษบาท่าเรือจ้างไม่ต่ำกว่า ๓๐ ปี

ในเมื่อมิศฟะรันซิศ จิต ไม่ถ่ายรูปคุณพุ่มไว้ให้เราดู  ก็ต้องอาศัย verb to เดา ลูกเดียว
อย่างแรกคือเชื่อว่าคุณพุ่มต้องเป็นคนผิวขาวเนียน  ไม่ต้องพึ่งครีมไวเทนนิ่ง   แต่ลงขมิ้นขัดผิว ขาวเหลืองแบบคนไทย
บุษบานั้นงามผุดผ่อง  ดังที่สังคามาระตาผู้ช่วยพระเอกชมว่า
อันนางโฉมยงองค์นี้..........เลิศล้ำนารีในแหล่งหล้า
นวลละอองผ่องพักตร์โสภา......ดังจันทราทรงกลดหมดมลทิน


ถ้าเป็นสาวไทยผิวคล้ำ เขาเรียกว่าผิวสองสี ดำแดง   นางจินตะหรา "งามงอนอ่อนระทวยนวยแน่ง.......ดำแดงผิวเนื้อสองสี " ความนิยมสู้ผิวขาวไม่ได้

ได้สมญาว่าบุษบาท่าเรือจ้างทั้งที  ไม่งามก็ผิดไปละค่ะ

แต่มิศฟะรันซิศ จิต กระซิบบอกลูกทัวร์ว่า  บุษบาคนงามฤทธิ์เดชสมกับเคยเป็นอุณากรรณ
ยามอายุเข้าปูนชรา  เธอเคยโต้สักรวากับหนุ่ม ปากคอเราะรายเกี้ยวพาราศีตามถนัด  จะเอาเป็นเมีย
เธอก็ตอบโต้    เสียดายท่านจิตจำได้ไม่ครบ จำได้แต่ว่า
"อย่าเป็นเมียเลยคะหม่อม ยอมเป็นแม่
ฉันก็แก่รุ่นราวกับคราวป้า"


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 07 มิ.ย. 06, 21:58
 .










สาวมาดมั่นยุค ร. 4 กับครอบครัว
เสียดายรูปหนึ่งยับเยินไปหน่อย
หัวเข็มขัดของผู้ชาย เหมือนที่ท่านยอดยิ่งยศใช้

อาจจะบ่งบอกสังกัดกระมัง  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 07 มิ.ย. 06, 22:08

.
คราวนี้มาชมสาวงามกัน
รูปขวามือเป็นลายเส้นอยู่ในหนังสือของมูโอต์ ทีแรกนึกว่าโมเมเขียนขึ้นมา
ที่ใหนได้ ไปเจอว่ามีจริง อยู่ที่ห้องสมุดคอร์แนล
เสียดายได้มารูปเล็กมาก ดูไม่เต็มตาครับ

ช่างเขียนฝรั่งทนดูไม่ได้ ใส่ผ้าให้ คงคิดว่าอุจาด


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 07 มิ.ย. 06, 22:11

.
รูปซ้าย เป็นลายเส้นจากหนังสือของจอห์น ธอมสัน
เก้าอี้ เป็นตัวเอียวกับที่พระองค์เจ้านพวงศ์ทรงนั่ง
เลยคิดว่าจะเป็นหม่อมของท่านกระมัง


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 07 มิ.ย. 06, 22:13

.
นางเล็กๆ ในวังกระมัง ยังใส่กำไลเท้าอยู่เลย


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 07 มิ.ย. 06, 22:16

.
พระองค์เจ้าหญิงทักษิณชา (ซ้าย) ผู้อาภัพ
พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดี (ขวา)


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 07 มิ.ย. 06, 22:20

.
คนนี้ไว้ท้ายสุด เธอสวมรองเท้า บ่งบอกศักดิศรีอันสูง
รูปนี้ราว 2410 อาจจะเก่ากว่าได้ก็เพียง 2-3 ปี
นึกไม่ออกว่าจะมีนางในคนใด มีบุคคลิกภาพอย่างนี้

โดยไม่มีเอกสารใดเอ่ยถึง  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มิ.ย. 06, 10:32
ในรูป ค.ห. 57
พยายามถอดรหัสออกมาว่า น่าจะเป็นระดับคุณหลวงและคุณนาย  อย่างมาก
หรือไม่ก็คหบดี  แต่ไม่ถึงกับเป็นเจ้านายค่ะ
สังเกตว่าไม่สวมรองเท้ากันทั้งหญิงชาย   เครื่องประดับสร้อยปะวะหล่ำกำไลก็มองไม่เห็น
แต่ผู้ชายแต่งกายเรียบร้อย  เสื้อผ้าแบบนี้น่าจะเป็นขุนนางมากกว่าคนสามัญทั่วไป  คุณนายยังสาวผู้ภรรยาก็แต่งตัวเรียบร้อยเป็นงานเป็นการเช่นกัน
เป็นคนทันสมัย จึงกล้ามาถ่ายรูป  ผู้หลักผู้ใหญ่เขาไม่นิยม
ที่แน่ใจอีกอย่างเพราะเห็นลูกชายมายืนอยู่กับแม่ ในสติวดิโอโอ่อ่าของมิศฟะรันซิศ จิต
มาถ่ายรูปซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก    ไอ้หนูมาในชุดวันเกิด   แม่ไม่ยักจับแต่งตัวใส่เสื้อนุ่งผ้า
ยังงี้ไม่ใช่คุณชายแน่นอน    และเจ้านายองค์เล็กๆท่านก็มีฉลองพระองค์กันทั้งนั้น


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มิ.ย. 06, 10:56
ส่วนรูปในค.ห. ๕๘
ภาพซ้าย  น่าจะเป็นย่าของย่าของอีเรียม ขวัญใจไอ้ขวัญแห่งแผลเก่า
แต่ตอนนั้นเธอคงอาศัยอยู่ไม่ไกลปากคลองตลาด  ใกล้สติวดิโอของมิศฟะรันซิศจิต  ถึงได้รับคำเชิญมาเป็นนางแบบ
หน้าตาคมคายทีเดียว  สาวชาวบ้านคนนี้  หุ่นก็ดี

บอกอะไรไม่ได้มากไปกว่าใช้วิชาเดา ว่าเธอน่าจะมีลูกแล้ว    หญิงสยามเมื่อออกเรือน มีลูกมีเต้า   แม้อายุแค่สิบแปดสิบเก้า ก็ไม่กระดากที่จะเปลือยอก
นอกจากนี้เธอถอดกำไลเท้าออกแล้วด้วย  ถ้ายังสาว ไม่ได้ออกเรือนก็ยังสวมอยู่  ธรรมเนียมนี้ชาวบ้านทำกันมาจนถึงรัชกาลที่ ๖ ก็ยังมีบันทึกไว้

ยังสงสัยอีกอย่างค่ะว่าสาวทางภาพซ้าย เอาอะไรคล้องบ่าซ้ายลงมาถึงสะเอวขวา   ลองขยายภาพดู
คล้ายสร้อยตัวอะไรสักอย่าง หรือไม่ก็แถบผ้าผืนเล็กมาก  เป็นแฟชั่นหรือเปล่าก็ไม่ทราบ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: B ที่ 08 มิ.ย. 06, 11:03
 หญิงสาวคนขวามือจากรูปคู่ในความเห็นที่ 58 สวมเอี๊ยมแบบจีนใช่ไหมคะอาจารย์ คุณพิพัฒน์?


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มิ.ย. 06, 11:12
 ภาพในค.ห. ๖๒
เดาว่าเป็นนางในผู้มีตระกูลสูง  สังเกตจากผ้าโจงเป็นผ้าชั้นดี  จีบเป็นรอยเรียบกริบเชียว
เช่นเดียวกับรอยจีบของสไบที่อัดอยู่ตัว   ตามแฟชั่นสาวชาววัง  แหวนที่สวมทั้งมือซ้ายขวาก็วงเป้งๆ  มีสร้อยตัว และเครื่องยศบนโต๊ะก็ท่วงทีไม่เบา
สวมรองเท้าอีกด้วย
มือขวากับมือซ้ายเล็บยาวไม่เท่ากัน   มือขวาคงต้องหยิบจับทำอะไรต่อมิอะไร   แต่มือซ้ายไม่ค่อยได้ใช้จึงไว้เล็บเสียยาวเฟื้อย
แบบนี้ต้องมีบ่าวไพร่มาก   ไม่ต้องหุงข้าวโขลกน้ำพริกเอง

ขอให้สังเกตแขนที่อ่อนหยัด   เธอต้องถูกแม่หรือไม่ก็แม่นม ดัดแขนมาตั้งแต่เล็ก
เพื่อให้เวลารำละคร หรือนั่งเท้าแขนแล้วโก่งอ่อนช้อย  ดูสวยงาม ไม่ตรงทื่ออย่างแขนสาวปัจจุบัน
แต่เดี๋ยวนี้ใครแขนโก่งแบบนี้อาจถูกหมอสงสัยว่ากระดูกบิดเบี้ยว


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 08 มิ.ย. 06, 12:52
 .

























ตอบคุณ B ก่อนนะครับ เพราะตอบง่าย
น่าจะเป็นเช่นนั้นครับ
ดูรูปขยาย  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 08 มิ.ย. 06, 13:05
 .






ตอบอาจารย์เทา 58 คิดว่าเป็นสร้อยครับ เธอกันไรหมดจด รูปร่างก็งามสมเป็นนางใน หรืออย่างน้อยก็นางละคอนตัวดัง

เสียดายที่รูปนี้ ได้มาจากปกหนังสือที่สนพ. อ็อกสเฟิร์ด พิมพ์เรื่องของนางแอนนา บอกที่มาว่าได้จากห้องสมุดคอร์แนล ใครมีช่องทางลองติดต่อขอต้นฉบับมาวินิจฉัยกัน เขาคงยินดี เพราะเขาก็ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับไทยคดีมากนัก

ฮิฮิ.....แซวศาสตราจารย์วัยอาจของคุณนิลฯ เสียหน่อย  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มิ.ย. 06, 13:21
 นางใน ไม่ท็อปเลสให้ช่างชักเงารูป ซึ่งเป็นเพศชายถ่ายรูปนะคะ  ทำไม่ได้
ถ้าเป็นนางละคร พอไหว  แต่นางละครส่วนใหญ่ก็อีหนูของท่านเจ้าคุณเจ้าของโรงละครทั้งนั้น   ท่านผู้ชายจะยอมเร้อ?

เคยอ่านพบที่ไหนสักแห่งว่า  ในยุคต้นๆที่มีการถ่ายรูปหญิงสาวชาวบ้านสามัญชน  
ผู้หญิงที่ยอมให้ถ่ายรูปคือโสเภณี  ว่าจ้างให้ถึงยอมถ่าย  คนทั่วไปไม่นิยม  กลัวอายุสั้น

คุณพิพัฒน์จะระเบิดเปรี้ยงออกมาว่ายังไงคะ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 08 มิ.ย. 06, 13:38

.

เรื่องไม่สวมรองเท้า มีแง่มุมดังนี้

1 ปกติ คนไทยไม่ค่อยใส่รองเท้า นี่ผมสังเกตจากรูปที่เคยเห็นนะครับ อย่างรูปบนนี่ กระบวนราบใหญ่ ไม่มีใครใส่เลยครับ ในรูปโสกันต์เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ก็เปลีอยเท้าหมด
2 สมมติว่าใส่ เวลาเข้าฉากถ่ายรูป ก็มักจะถอด เพราะต้องถอดตั้งแต่เข้าเรือนแพสตูดิโอของฟะรันซิศแกแล้วละครับ ขืนใครย่ำเข้าไปทั้งรองเท้าเห็นจะมีเรื่องมากกว่าการชักรูปเป็นแน่
3 แม้แต่เจ้านายชั้นสูง เวลาเรียกนายจิตไปชักรูปที่วัง ท่านก็ไม่ค่อยใส่รองเท้าเหมือนกัน

ผมคิดว่าบางกอกสมัยนั้น ตามวังตามบ้าน และท้องสนาม คงสะอาดเอี่ยมไม่มีสิ่งตำเท้าและเปรอะเปื้อน เว้นแต่ตอนฝนตกเพราะเราต้องทำบ้านเมืองไว้รอรับพระสงฆ์องค์เจ้า ท่านบิณฑบาตรตีนเปล่าทั้งนั้น

ส่วนที่ฝรั่งมาด่าว่าบ้านเมืองเราสกปรกนี่
ต้องโทษตัวมันเอง
สันดานคอเคซอย ไปบ้านเมืองใหน เป็นต้องมุดเข้ารูโสโครกโสกกะโดกตามความเคยชิน ไม่ซ่อง ก็บ่อน ไม่เคยขึ้นที่สูง
ทำตัวเสมอต้นเสมอปลาย ตั้งแต่สมัยอยุธยา มาถึงยุคพัฒน์พงศ์ ไม่เคยเปลี่ยน


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 08 มิ.ย. 06, 13:41

.
คราวนี้เรื่องเข็มขัด ซ้ายเป็นของพระองค์ยอด ขวาคือสามีของสาวมาดมั่น
เหมือนกันยังกับยืมมาใส่ ผมเลยคิดว่าหมอนี่ น่าจะเป็นระดับสูง แต่ที่ลูกแกแก้ผ้าโทงๆ ชักรูป นับว่าแปลกประหลาดจนคิดไม่ออกเชียวครับ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 08 มิ.ย. 06, 13:45

.
กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ ฉายตอนจะออกงานคราวหว้ากอ งานนี้เชิญแขกต่างประเทศหลายคณะ จึงมีการถ่ายรูปกันขนานใหญ่
สมัยนั้นเขาแจกรูปกันแทนนามบัตร หรือแนบไปด้วยกัน


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 08 มิ.ย. 06, 13:56
 ทั้งสิ่งของขาวเหลืองเครื่องสำเภา...ในความเห็น 44
ผมเดาว่าเครื่องขาวคือเครื่องกระเบื้อง
เครื่องเหลืองคือเครื่องทองเหลีอง
ซึ่งจะรวมพวกทองรูปปะพรรณแบบที่เราเรียกว่าทองเชิงช้าเข้าไว้ด้วย
ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทองหยองเครื่องประดับมีใช้กันเกลื่อนกล่น จนถึงพระองค์ต้องทรงออกประกาศตักเตือนชาวบ้านอย่าแต่งองค์ทรงเครื่องเด็กให้มากนัก จะล่อตาผู้ร้าย

เคยอ่านเจอเรื่องเล่าว่า เด็กกลุ่มหนึ่งเดินเล่นในตลาดสมัยร. 5 โจรมาตีสนิท พาไปฆ่าชิงสร้อยทีเดียว

ส่วนเครื่องขาว ถ้าเป็นเครื่องกระเบื้องจริง ก็เป็นข้อมูลในยุครัชกาลที่ 4 มากกว่า 3
สมัยร. 3 นั้น เครื่องกระเบื้องยังเป็นของดีมีราคา ใช้กันแต่ในหมู่ชนชั้นสูง ถึงสมัยร. 4 มีพ่อค้าหัวใส สั่งเข้าเป็นสินค้ายอดนิยม
เพราะชาวบ้านร้านตลาดต่างมีเงินจับจ่ายเต็มมือ ด้วยการค้ากลายเป็นตลาดเสรี เงินสดเคลื่อนตัวเข้า-ออก จากกระเป๋าชาวบ้านโดยตรง


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 08 มิ.ย. 06, 14:32
 เรื่องจ้างอีตัวมาถ่ายรูปนี่มีจริงครับ แต่เป็นรุ่นรัชกาลที่ 5 ตอนปลายเข้ารัชกาลที่ 6 เมื่อการถ่ายรูปหรือรูปถ่ายกลายเป็นสินค้าในตัวมันเอง

สมัยนายจิต แม้จะโอ่ว่ามีรูปไว้ให้เลือกซื้อหามากมาย ก็เป็นรูปจากสองแหล่ง คือรูปที่ทรงโปรดให้ชัก เพื่อเก็บเป็นหลักเป็นฐานแก่บ้านเมือง แล้วทรงพระกรุณาให้เผยแพร่ นั่นคือแหล่งใหญ่

แหล่งที่สอง คือรูปที่รับจ้างแล้วเจ้าของทิ้งกระจกไว้ เพราะเวลาจ้างถ่ายรูป เขาคิดค่าบริการเฉพาะรูปอัดบนแผ่นกระดาษ กระจกเป็นของช่างภาพ เพราะสมัยนั้นกระจกแพงมาก ถ้าถ่ายเสีย เขาล้างน้ำยาออก เอากระจกมาใช้ใหม่
มีตัวอย่างว่าหมอบลัดเล ทราบข่าวว่าเจ้าเมืองเพชรบุรี (ท่านท้วม) ฉลาดรอบคอบ เห็นประโยชน์ของกล้อง เลยพานายจิตไปที่ตระกูล จับบรรพบุรุษทั้งหมดที่มีตัวอยู่ในปีนั้น ชักรูปไว้หมด บลัดเลออดว่า อยากได้รูปพวกนี้มาชมเล่นบ้าง(ตามประสาสื่อ ซึ่งอาจเพี้ยนไปเป็นเสือ...ได้ง่ายๆ)
ไปถามนายจิต ได้รับคำตอบว่า เจ้าเมืองเก็บรูปไปหมด ไม่เหลือไว้ที่ร้านเลยแม้แต่กระจก

เรื่องจ้างอีตัวนี่ มาจากฝรั่ง(อีกแล้ว)
จนถึง 2425 การถ่ายรูปยังรับผิดชอบกันโดยช่างไทย ซึ่งก็คือนายจิตและบุตร แต่ก่อนหน้านั้นนิดหน่อย พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จปัตตาเวีย ทรงชวนฝรั่งช่างภาพคนหนึ่งเข้ามา ผมเดาว่า คงเห็นว่าหมอนี่กิจการใหญ่โต เครื่องมือทันสมัยกว่าท่านจิตมากมายหลายขุม เพราะอีตาแลมเบิร์ตนี่ มีสาขาถึงสองแห่ง อีกแห่งก็สิงค์โปร์ จึงไม่ต้อสงสัยในศักยภาพ หมอนี่เคยเข้ามาชิมลางครั้งหนึ่งแล้วในรัชกาลที่ 4 เพราะเคยเห็นยี่ห้อแกประทับในรูปสมัยร. 4 (แต่แกก็อาจจะเอารูปเก่ามาพิมพ์ใหม่บนกระดาษของแกก็ได้)

คราวฉลองกรุง มีนักเผชิญโชคเข้ามาบางกอกหลายหน่อ พวกนี้หิวรูปและเรื่อง คงสืบสันดานแอนนากันมา และว่าไปแล้วพวกตาน้ำเข้า คงมีเกลื่อนบางกอกมานานแล้วละครับ หาไม่โรงแรมโอเรียนเตลจะต้อนรับใคร
พวกนี้มีรสนิยมที่เรียกว่า grotesque ซึ่งจะเป็นเครื่องทำเงินมหาศาล ถ้านำกลับไปยุโรบและโลกใหม่ อาจารย์คงจำรูปลูกช้างกินนมคนได้ ฝรั่งละชอบกันจริงๆ ทุกวันนี้ยังบอกขายกันในอินเตอร์เนต

หนังสือเล่มหนึ่งที่บรรจุรูปพวกนี้ไว้หลายชิ้น คือ ทะเวนตี้ เซนจุรี่ อิมเปรสชั่น ออฟ สยาม แต่ไม่มากเท่าที่พวกพ่อค้าเอารูปเหล่านี้ทำบัตรรูปแถมในซองยากาแร็ต ซึ่งเป็นช่วงปลาย ร. 5 แล้ว


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มิ.ย. 06, 14:40
 รูปที่ 71
ช้างบนหัวเข็มขัด  เครื่องหมายเดียวกับธงช้างที่ไทยเคยมีก่อนธงไตรรงค์หรือเปล่าคะ?

ริ้วบนสายคาด จำนวนริ้วไม่เท่ากัน  ลักษณะก็ต่างกันด้วย
สามีของสาวมาดมั่นเป็นขุนนางหนุ่มในวังหน้าหรือเปล่า  ประเภทมหาดเล็กข้าราชบริพารใกล้ชิด

หรือว่าเป็นเข็มขัดที่ขุนนางสมัยนั้นมีกันได้ทั่วไป  เป็นส่วนประกอบเกียรติยศยามสวมชุดขุนนาง   อาจจะแตกต่างในรายละเอียด
ตามยศฐาบรรดาศักดิ์


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 08 มิ.ย. 06, 15:06

.
ลองหารูปขุนนางไม่ทราบชื่อมาให้พิจารณาเพิ่ม

เป็นรูปถ่ายจึงน่าจะเห็นเนื้อผ้าได้ชัดกว่า
เรื่องผ้าและการแต่งกายนี่ผมยอมแพ้ครับ
ท่านอื่นๆ ที่มีความรู้ เชิญมาร่วมแบ่งปันมุมมองบ้างนะครับ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 มิ.ย. 06, 15:45
 เรื่องผ้า เป็นความสนใจของคุณติบอ  น่าจะบอกได้มากกว่าดิฉัน

เสื้อของพ่อหนุ่มหมายเลข 76  นับว่าโก้ เนื้อท่าทีจะนิ่ม  มีรอยย่นตามตัวผู้ใส่แต่ไม่ยับ  ลองซูมภาพดูเป็นผ้ามีลายในตัวเสียด้วย  ผิดกับโจงกระเบนเนื้อยับไม่สวยเลย  แต่วิธีนุ่ง เห็นรอยจีบคม สวยดี

หนุ่มคนนี้เดาว่าเป็นหนุ่มหล่อสมัยนั้น   กินหมากปากตุ่ย  สวมแหวนนิ้วก้อยซ้าย  มือไม้เรียว นิ้วยาว คงไม่ใช่คนทำงานหนัก   ไว้เล็บนิ้วก้อยซ้ายยาวแหลมเสียด้วย ยังงี้น่าจะไฮโซ
การไว้เล็บเป็นแฟชั่นชายไทยที่นิยมกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒  จนถึงรัชกาลที่ ๔ ก็ยังมีให้เห็นในภาพของสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ ว่าท่านไว้เล็บยาวมาก
ขุนแผนเองก็ไว้เล็บแหลมเหมือนกัน     ตอนเป็นพลายแก้ว หยอกกับนางพิม ไม่รู้หยอกเย้ากันท่าไหนนางพิมถึงกับตัดพ้อว่า

จะจับมือถือแขนก็แสนเจ็บ.......คมเล็บเลือดเหยาะลงเผาะผอย
สารพันข่วนกันเป็นริ้วรอย.........เชิญถอยไปเสียเถิดไม่ไยดี

เสื้อเป็นสองชั้นมีตัวในสีขาวด้วย     แฟชั่นนี้มีมาถึงรัชกาลที่ ๕  มีภาพถ่ายนายแบบสวมเสื้อคล้ายๆกันอย่างนี้ลงในพลอยแกมเพชรฉบับล่าสุด   แต่ตัวนอกปล่อยชายเสื้อยาวทับชายพก  มีคำอธิบายว่าเป็นชุดข้าราชการทหารสมัยต้นรัชกาลที่ ๕  

ไม่ทราบว่าภาพนี้เป็นรัชกาลที่ ๔ หรือต้นรัชกาลที่ ๕ กันคะ?


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 08 มิ.ย. 06, 17:39

.
ขยายมาให้ชมอีกนิด

เป็นชุดข้าราชการสมัย ร. 4 ครับ ถ่ายตอนปลายรัชกาลทีเดียว
เรื่องเล็บยาวนี่ เคยได้ยินว่าเกี่ยวกับการกินหมาก ไว้ใช้ป้ายปูนหรือไงก็ไม่แน่ใจ บางทีจะถูกใครหลอกให้เชื่อก็ได้
ผมก็เคยแต่กินแบบบ้านป่า เมาข้ามคืนเชียวละครับ

สมัยร. 5 ออกแบบชุดใหม่ ลองดูจดหมายเหตุประพาสต่างประเทศครั้งแรกจะเข้าใจ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 08 มิ.ย. 06, 18:40
แวบเข้ามาตอบเล็กน้อยครับ แต่ไม่ทราบว่าจะถูกหรือเปล่า

ขอตอบเรื่องผ้านุ่งยับๆ ในความเห็นที่ 76 ก่อนนะครับ
ผ้าในภาพเป็นผ้าลายครับ และที่ยับเนื่องจากผ้าพวกนี้จะถูกลงแวกซ์เอาไว้เพื่อให้เกิดความมันเงา
ที่อาจารย์เทาฯ เห็นเป็นรอยยับนั้นที่จริงไม่ได้ยับครับ เป็นรอยงอของเนื้อผ้าที่เกิดจากความแข็งของแวกซ์ที่ลงไว้
ถ้าใครนึกภาพไม่ออก ผมขออธิบายว่ารอยพวกนี้เหมือนรอยที่เกิดบนผ้าเคลือบทั้งหลายน่ะครับ
คือ รอยจะเกิดตลอดเวลาจากความแข็งของผ้า แต่ไม่ได้ค้างอยู่บนเนื้อผ้า เพราะถ้าให้ผมเดาไม่ผิด พ่อหนุ่มคนนี้เพิ่งเปลี่ยนโจงกระเบนมาถ่ายรูปล่ะครับ

ส่วนรอยยับของแท้ที่เกิดแล้วจะค้างอยู่บนเนื้อผ้าจนกระทั่งเอาไปซักถึงจะหายนั้นผมเรียกว่า "รอยหัก" ครับ
รอยแบบนี้ไม่ว่าคนนุ่งจะเปลี่ยนอิริยาบถอย่างไร ก็จะเห็นเป็นรอยค้างอยู่เหมือนโจงกระเบนในความเห็นเพิ่มเติมที่ 60 ไงครับ
ขนาดว่าเธอลุกขึ้นยืนกันทั้งสองนางแล้ว ถ้าผ้าไม่มีรอยหักคงโป่งสวยทีเดียว แต่นี่ก็ยังมีรอยยับค้างเอาไว้ให้เห็นไงครับ


ปล. ผมไม่ได้อ่านกระทู้นี้ทั้งหมดนะครับ กระโดดข้ามไปเป็นช่วงๆ ไม่ทราบว่ามีคนแสดงความเห็นไปหรือยัง
ว่าผมเข้าใจว่าฉากหลังในความเห็นที่ 76 จะเป็นฉากเดียวกับความเห็นที่ 62 ทั้งม่านและผ้าปูโต๊ะน่ะครับ
แถมแม่สาวในภาพนู้นก็ "เพิ่งเปลี่ยน" ผ้ายกเซี่ยงไฮ้ผืนสวยมาถ่ายรูปเหมือนพ่อหนุ่มในความเห็นที่ 76 เลยนะครับ


ปล.2 สงสัยต้องเข้ามาอ่านกระทู้นี้บ่อยๆเสียแล้ว ภาพในกระทู้นี้น่ะทั้งชัดทั้งใหญ่กว่าในสมุดภาพซะอีก อิอิ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 08 มิ.ย. 06, 19:06
 .










ช่างสังเกตดีมาก มดน้อย

แต่ฟะรันซิศจิตฝากมาบอกว่า ฉากของฉัน ฉันเป็นคนซื้อหามาเอง ใช้จนกว่าจะเปื่อย อย่างชุดนี้หากินได้หลายปี ตั้งแตในพระบรมมหาราชวังยันเรือนแพของฉันนะจ๊ะ


อย่างรูปที่แนบมานี่ไง  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 08 มิ.ย. 06, 19:09

.

ช่วยวินิจฉัยผืนนี้ด้วยครับ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: little camel ที่ 08 มิ.ย. 06, 19:12
 ขอรบกวนสอบถาม
มีข้อมูลเกี่ยวกับวิวัฒนาการการแต่กายของคนล้านนาบ้างไหมค่ะ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 08 มิ.ย. 06, 19:18
 สุดยอดจริงๆ

แอบอ่านมานาน ขอออกเสียงเบาๆนะครับ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 08 มิ.ย. 06, 19:19
 "ช่วยวินิจฉัยผืนนี้ด้วยครับ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ "
พิมพ์เสร็จเพิ่งมาเห็นความงี่เง่าของกระผม
บางคนจะอ่านเป็นว่าผมอาจเอื้อม ขอให้เจ้านายช่วย มิใช่เช่นนั้นนะครับ หามิได้ ต้องเป็นอย่างนี้ครับ
"ช่วยวินิจฉัยผืนนี้ด้วยครับ พระรูปสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์"

รอยยับของผ้าที่ลงสีฝึ้งและขัดมันอย่างดีน่าจะเป็นอย่างในพระรูปนี้
ของพ่อหนุ่ม 76/78 จะเป็นอย่างอาจารย์เทาฯ ว่า
คือยับเยิน ขอรับ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 08 มิ.ย. 06, 21:27
 พักนี้ผมไม่มีเวลาเข้ามาเท่าไหร่เลยครับ งานแยะ ใกล้วันงานสำคัญแล้ว

เรียนอาจารย์ ทชพ. เรื่องวัดกาละหว่าร์ ผมเข้าใจว่ามาจากภาษาฝรั่งครับ อย่างที่มี คห. ไหนข้างบนท่านว่าไว้ คือมาจากคำว่า "คัลวารี" ซึ่งผมรู้สึกว่าจะเป็นคำที่เกี่ยวเนื่องกับพระคริสต์ประวัติตอนใดตอนหนึ่ง


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 08 มิ.ย. 06, 21:30
 ผมยังยืนยันคำตอบเดิมครับคุณpipat ว่าผ้าผืนที่ว่าเป็นผ้าพิมพ์ลาย แบบที่เรียกว่า Chintz หรือ "ผ้าลาย" ของคนไทยน่ะแหละครับ
แต่เหตุผลที่ทำไมยังยืนยันคำตอบเดิมนี่ขอไปเล่าใหม่ในกระทู้อื่นจะดีกว่า เดี๋ยวจะกลายเป็นกระทู้ "มดอยากรู้สำรวจกรุผ้าเก่า" แทน

(ใบ้ให้นิดนึงละกันครับ ว่าผ้าลายน่ะ มี "ผ้าลายอย่าง" กับ "ผ้าลายนอกอย่าง" นะครับ อิอิ)

ส่วนพระรูปเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ถ้าผมดูไม่ผิดพระภูษาทรงผืนนี้เป็นผ้ายกนะครับ เนื้อเป็นไหมเสียด้วยสวยเชียว
และถ้าเดาไม่ผิดอีกเช่นกัน ภาพนี้น่าจะถ่ายก่อนโสกันต์ไม่นานนักนะครับ
เพราะดูแล้วลายผ้าน่าจะเป็นลายที่นุ่งก่อนพระราชพิธีโสกันต์ แถมด้วยใช้แพรอัดจีบเกี้ยวเอวอีกตะหากนี่ครับ



จะว่าไปเรื่อง "ผ้าเก่า" กับ "ภาพถ่ายเก่า" เรามาเปิดกระทู้ใหม่คุยกันดีมั้ยครับ คุณpipat
แล้วเรียนเชิญสมาชิกท่านอื่นๆที่สนใจและมีความรู้เข้าไปร่วมกันคุยด้วยได้ก็ยิ่งดี
กระทู้นี้จะได้เป็นกระทู้ประมวลภาพสถานที่ต่างๆในช่วงต้น พุทธศตวรรษที่ 25 เหมือนอย่างตอนต้นกระทู้ไงครับ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 08 มิ.ย. 06, 21:40
 เรื่องล่ามภาษาพุทธิเกศ ในกรมท่า ซึ่งอาจจะเป็นญาติๆ กับฟะรันซิศ จิต นั้น ผมขอเห็นแย้งกับคุณครู ทชพ. ครับว่าน่าจะมีงานทำอยู่พอสมควรครับ แม้ว่าจะจริงอย่างคุณครูเทาฯ ว่า ว่าแถวนี้มีฝรั่งโปรตุเกสที่มาเก๊าแห่งเดียวกระมังที่จะมีราชการติดต่อกับสยามสมัยต้นรัตนโกสินทร์ (อาจจะมีเจ้าเมืองโปรตุเกสในอินเดียเช่นเมืองกัวด้วย? แต่คงมีหนังสือติดต่อรัฐบาลสยามมาไม่บ่อยนัก)

อย่างไรก็ตาม ล่ามคนไทยเชื้อสายโปรตุเกสก็มีงานทำอยู่ดี เพราะในเมืองไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ (จนถึงรัชกาลที 3) นั้น ผมเข้าใจว่า คนไทยที่รู้ภาษาฝรั่ง โดยเฉพาะในวงการราชการ จะรู้ภาษาโปรตุเกสมากกว่ารู้ภาษาอังกฤษ (หมายถึงก่อนที่ทูลกระหม่อมพระ - คือเจ้าฟ้าวชิรญาณวงศ์ภิกขุ หรือ ร. 4 กับเจ้าฟ้าอาภรณ์ คือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าในเวลาต่อมา และคนไทยอื่นๆ อีกสองสามคนจะเริ่มศึกษาภาษาอังกฤษ)

ดังนั้น เมื่อสยามจะต้องติดต่อฝรั่งชาติอื่น แม้แต่ฝรั่งที่ไม่พูดโปรตุเกส ภาษาหนึ่งที่ใช้ในการสื่อสารกันก็ยังต้องผ่านภาษาโปรตุเกสอยู่ดี


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 08 มิ.ย. 06, 21:43
 มาแถมคำตอบเรื่องเข็มขัดในความเห็นที่ 71 อีกนิดนึงแล้วกันครับ
ถ้าลองสังเกตดู เข็มขัดในภาพซ้ายทางซีกที่ใต้เงา (อยู่ด้านขวาต่อหัวเข็มขัด)
จะเห็นว่าเจ้าเข็มขัดเส้นนี้น่าจะเป็นด้ายถักเป็นริ้วๆมากกว่าโลหะนะครับ

และถ้าเป็นอย่างท่ผมเข้าใจ ในริ้วใหญ่ของสีขาวกับดำ จะมีลายริ้วเล็กๆของด้ายแต่ละเส้นที่ถักขึ้นเป็นเข็มขัดซ้อนกันอยู่อีกทีหนึ่ง
เมื่องช่างแกะภาพนำเอาภาพในกระจกเปียกไปแกะพิมพ์ ถ้าช่างรู้จักเข็มขัดอย่างที่ว่ามาก่อน
ผมว่าลายแกะสลักของภาพพิมพ์ทางด้านขวาก็แสดงรายละเอียดได้มากอยู่นะครับ



ปล. ผมยังไม่ปักใจเชื่อนะครับ คุณpipat ว่าผู้หญิง 2 คนในความเห็นเพิ่มเติมที่ 57 จะเป็นคนๆเดียวกัน
เพราะทรงผม และเครื่องแต่งกายลักษณะนี้ รวมถึงท่านั่งถ่ายภาพแบบนี้เป็นของที่นิยมกันอยู่ในยุดนู้นนะครับ แหะๆ

ปล.2 ผมจำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าเคยเห็นหัวเข็มขัดที่ร้านขายของเก่า หน้าตาเหมือนที่พระองค์เจ้าชายยอร์ชวองชิงตันทรงอยู่
เป็นเงินแกะสลักลงยา(ถ้าจำไม่ผิดสีแดงนะครับ) แต่ก็ไม่ได้ซื้อเอาไว้เพราะเขาขายอยู่หลายพันบาทเหมือนกัน
พอมาเห็นเข้าในภาพถ่ายเก่าแบบก็นี้ได้แต่รำพึงกะตัวเองว่า "รู้งี้เจียดเงินซื้อไว้ก็ดีหรอก" แหะๆ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 08 มิ.ย. 06, 22:00
 ดังนั้น ล่ามหลวงญาติๆ มิศฟรันซิศ จิต ก็คงมีงานทำพอสมควรครับ คุณครู ภาษาอังกฤษเพิ่งมาแพร่หลายมากขึ้นๆ ในเมืองไทยทีหลัง โดยเฉพาะช่วงปลาย ร. 3 และที่แน่ๆ ในสมัย ร. 4

และอิทธิพลอังกฤษในทางการเมืองโลกก็เพิ่มมากขึ้นในขณะที่อิทธิพลโปรตุเกสก็ลดลงๆ ด้วย ถึงรัชกาลที่ 4 ล่ามไทยเชื้อสายโปรตุเกสอาจจะไม่ค่อยมีงานจริง เพราะองค์พระประมุขเองและเจ้านายกับขุนนางหลายพระองค์และหลายท่าน เข้าพระทัยและเข้าใจภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี

พยานที่ว่ารัฐบาลสยามสมัยหนึ่งต้องใช้ล่ามไทยที่สืบเชื้อสายโปรตุเกสในการติดต่อฝรั่ง แม้แต่ฝรั่งที่มิใช้โปรตุเกสนั้น อยู่ในสนธิสัญญาทางไมตรีและพาณิชย์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่เอ็ดมันด์ รอเบิร์ตเป็นทูตเข้ามาครับ ในสมัยรัชกาลที่ 3 ในตัวสัญญา (ซึ่งสะกดว่า "สัญา") ฉบับนั้น ระบุไว้ชัดเลยว่า ตอนนั้น "ไทมิรู้จักหนังสือมริกัน มริกันมิรู้จักหนังสือไท" เพราะฉะนั้นจะทำสัญญากันยังไงล่ะ ก็ต้องทำกันเป็นสี่ภาษาครับ และเวลาเจรจาผมก็เดาว่าอาจจะต้องเจรจากเป็นสี่ภาษาสี่ทอดด้วยรึเปล่าไม่รู้ คือ เป็นสัญญาภาษาไทย อังกฤษ โปรตุเกส และจีน

เพราะไทยขณะนั้นไม่ค่อยรู้จักภาษาอังกฤษ แต่พอจะเข้าใจหรือหาคนรู้ภาษาจีนและโปรตุเกสในราชการไทยได้ ส่วนฝ่ายอเมริกันสมัยนั้นก็ไม่ค่อยจะรู้จักภาษาไทยเช่นกัน (ตอนสมัยเอดมันด์ รอเบิร์ต เข้ามาเป็นทูตนั้นพวกมิชชันนารีอเมริกันพวกหมอปลัดเลและคนอื่นๆ น่าจะยังไม่เข้ามาเมืองไทยมากนัก) แต่อเมริกันก็น่าจะพอหาล่ามโปรตุเกส-อังกฤษได้ และอาจจะได้คนที่รู้โปรตุเกส-จีนมาจากมาเก๊าด้วย การเจรจาทางการทูตและการทำสัญญาจึงกระทำไปได้จนสำเร็จลุล่วง

ในสัญาฉบับนั้น (ภาคภาษาไทย) เรียกประเทศสหรัฐอเมริกา USA ว่า "อิศตาโดอุนีโดดาอะเมริกะ" ใช้ในความหมายว่ารัฐบาลสหรัฐฯ คู่สัญญา ส่วนชนชาติอเมริกันเรียก มริกัน คำว่า "อิศดาโดอุนีโดดาอะเมริกะ" ก็เป็นภาษาโปรตุเกสครับ แปลว่าสหรัฐแห่งอเมริกานั่นแหละ (เอสตาโดส อูนิโด ดา อเมริกา) ซึ่งแสดงว่า ไทยเราต้องพึ่งล่ามโปรตุเกสในการเจรจาทำสัญญานั้น จนเหลือชื่อภาษาโปรตุเกสไว้ในสัญญาภาคภาษาไทยด้วย

ออกนอกเรื่องรูปเก่าไปไกลครับ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 08 มิ.ย. 06, 22:02
 ขออภัยที่หลุดเรื่องภาพไปมากครับ น่าจะได้เข้ามาแจมตั้งแต่ราวๆ ความเห็น 18-20 แต่เพิ่งเข้ามา

เข็มขัดด้ายถัก ?

ดูๆ ก็เข้าเค้า เป็นไปได้ครับ แต่ผมติดใจหัวเข็มขัดมากกว่าที่เป็นรูปช้างน่ะครับ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 08 มิ.ย. 06, 22:07
 คุณหัวหน้ามดครับ

เหรียญตราที่กรมหมื่นบวรวิไชยชาญท่านทรงติด ใน คห. 72 ขอความกรุณาขยายให้ดูชัดๆ หน่อยครับ

ขอบคุณก๊าบ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: เฟื่องแก้ว ที่ 08 มิ.ย. 06, 22:28
 โอย รูปสวยมากๆๆๆ ค่ะ
เมืองไทยในอดีต สวยเหมือนฝันเลย

อาจารย์มีไทม์แมชชีนในกระเป๋าโดราเอมอนไหมคะเนี่ย
ขอตีตั๋วไปนั่งเรือเที่ยวชมเรือนไทยริมน้ำสักสองสามเที่ยว

สาวงามหมายเลขสองขวามือ ห่มสไบได้สวยจังค่ะ
เสื้อชุดราตรีเนี้ยบๆ สมัยนี้ ที่ทำเลียนประยุกต์ ชิดซ้ายไปเลย

ผมข้างบน ทำไฮไลท์สักสองสามเฉด
พามาเดิน ชอง เซลิเซ่ ได้เลยค่ะ อิอิ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 08 มิ.ย. 06, 22:29
 ขอต้อนรับคุณนิล มาช้าดีกว่าไม่มา
สมัยนั้นเขาแปลเป็นอย่างนี้ครับ
ไทย--มลายู--โปรตุเกศ--อังกฤษ
แล้วแปลกลับก็เป็น
อังกฤษ--โปรตุเกศ--มลายู--ไทย
ภาษาจีนไม่ต้องแปลครับ ทั้งสี่ชาติต่างรู้จักดี ดังนั้น คงจะตรงกับที่ทางวิทยาศาสตร์ต้องมี controller คือภาษาจีนเป็นหลักเทียบ

ถามว่าทำไมไม่ใช่ภาษาจีนเป็นภาษากลาง
เดาว่า เพราะจีนแม้มีอักขระเดียว แต่หลายไดอะเหล็ก ไม่รู้จะเอาอะไรเป็นหลัก แล้วจีนที่เราใช้ ก็เป็นจีนฮกเกี้ยน ซึ่งไม่ใช่ไดอะเหล็กกลางเสียอีก ฟังดูยุ่งนะครับ แต่ความจริงไม่ยุ่งหรอกครับ เจราจาที ตั้งสองสามอาทิตย์ แก้กันไปมา ผมว่าดีเสียอีก
แต่ไอ้เอสแมน โรเบิร์ต มันหงุดหงิดน่าดู ไปถึงยุนิเตตสะเตท มันเขียนเมมมัวร์ด่าเราเสียเละตุ้มเป๊ะ คุณนิลคงเคยอ่านกระมัง

อ้อ ต้องแก้ครับ ไม่ใช่ฟ้าอาภรณ์ เป็นฟ้าจุฑามณี

มีรูปฝากคุณติบอ ดูสีว่าคนเดียวกันบ่



.


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 08 มิ.ย. 06, 22:51
 ฟ้าจุฑามณีจริงๆ แหละครับ ขออภัย ทำไมผมถึงไพล่นึกไปถึงฟ้าอาภรณ์ที่แปลกพักตร์อาลักษณ์เดิมได้ยังไงก็ไม่รู้ เห็นจะมึนจัด ตอนนี้ กำลังเบลอ

เจ้าฟ้าจุฑามณีก็ - ปิ่นเกล้า ถูกของพระเจ้าตาครับ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 08 มิ.ย. 06, 23:36
 ข้อสันนิษฐานที่มาของชื่อวัดกาลหว่าร์นะครับ

"วัดกาลหว่าร์" หมายถึงวัดของพระตาย ซึ่งน่าจะมาจากคำว่า "กัลว่าริโอ" เนินที่พระเยซูเจ้าถูกตรึงกางเขนสิ้นพระชนม์นั่นเอง

จาก http://www.catholic.or.th/document/chomwat/body_index.html

The Gospels call this site Golgotha. (Aramaic "Golgotha"; Greek "Kranion" (skull), from which we get Calvary, from the Latin root "calva", the scalp without hair.
จาก http://www.christusrex.org/www1/jhs/TSsptopo.html  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 08 มิ.ย. 06, 23:38

.
เอานี่ไปแก้มึนนะ คุณนิล

ซ้าย เข็มขัดของเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ขวา เหรรียญของกรมหมื่นบวรวิไชยชาญ ฉายห่างกันไม่กี่วัน ไม่มีปัญญาทำให้ชัดกว่านี้ครับ

นู๋เฟื่อง มียากินแล้วเดินเข้าในรูปได้เลย สนมะ  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: Tiwa ที่ 09 มิ.ย. 06, 09:50
 ตอบ คห 59

กระผมคิดว่าตาไม่ฝาดนะขอรับ ฐานข้อมูลภาพของผมเปรียบดูแล้วพระรูปนี้ไปละม้ายกับ
สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี (ประสูติ 2377) ในปี พ.ศ. 2403 ขณะมีพระชนม์ 27 พรรษา
และขณะยังทรงอนุบาลพระราชโอรสองค์เล็กที่ยังไม่หย่านม พระองค์ท่านมีศักดิ์เป็น
มารดาเลี้ยงของพระองค์เจ้านพวงศ์ (ประสูติ 2365) ซึ่งว่ากันว่าแม่เลี้ยง-ลูกเลี้ยงคู่นี้
ทรงใกล้ชิดกันดี เพราะมีชันษาไม่ต่างกันมากนัก

พระองค์เจ้านพวงศ์ เป็นเจ้านายที่พระทัยน้อยมาก เพราะมีปมเขื่องในใจ ที่คิดว่าพระราชบิดา
ทรงเมตตาเจ้านายเล็กๆมากกว่า มารดาเลี้ยงพระองค์นี้ ทรงปลอบโยนโอรสของพระราชสวามี
และให้ความเกรงใจ ความนอบน้อม และความเคารพอยู่มากเท่าที่แม่เลี้ยงจะมีต่อลูกของสามีได้

และเมื่อขยายพระรูปนี้ดู พระเล็บยาวมากและพระธำมรงค์เพรียบ น่าจะเป็นพระหัตถ์ของเจ้านายแท้ๆเทียว
อนึ่ง พระองค์ไม่ทรงวางท่าตอนถ่ายรูป เท่ห์เหมือนสมเด็จรีเยนต์ สะใภ้ใหญ่ของท่านนะครับ


ไม่ทราบว่าการคาดคะเนของกระผมจะผิดไปหลายโยชน์ไหมครับ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: B ที่ 09 มิ.ย. 06, 10:29
 ภาพความเห็นที่ 59

ดิฉันขอตั้งข้อสังเกตว่าถ้าเป็นสมเด็จพระเทพศิรินทราฯ พระภูษาทรงของพระองค์ท่าน น่าจะหรูหรา ประณีตกว่าสตรีในภาพนะคะ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: กากี ที่ 09 มิ.ย. 06, 10:39
 สุดๆเลยเจ้าค่ะ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 09 มิ.ย. 06, 10:59

.
ไม่เคยได้ยินเรื่องนี้เลยครับ และอ่านที่เขียนมาก็ไม่เข้าใจด้วยครับ กรุณาขยายความและบอกที่มาให้หน่อย อยากรู้ครับ

"สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี (ประสูติ 2377) ...มีศักดิ์เป็น
มารดาเลี้ยงของพระองค์เจ้านพวงศ์ (ประสูติ 2365)"


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 09 มิ.ย. 06, 11:21
 .











พระบรมรูปทรงฉายร่วมกัน ด้วยเทคนิครูปถ่ายบนแผ่นเงิน ส่งไปสหรัฐฯ
อาจารย์ศักดา ศิริพันธุ์ ขอทำสำเนากลับมาทูลเกล้าถวาย เป็นหนึ่งในรูปถ่ายที่เก่าที่สุด ที่เหลือชิ้นงานให้จับต้องได้ เก่ากว่านี้เหลือแต่รูปสำเนาครับ

พระเทพศิรินทร์ทรงอ่อนแอมาแต่ยังสาว ได้ถวายตัวมาแต่พระชนมายุ 17--18 ทำราชการเพียงสิบปีก็สิ้นพระชนม์
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าทรงสถาปนาพระนางเธอ ก็เพื่อเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 3 ว่ามีพระราชนัดดาเป็นนางกษัตรีย์ และประสงค์จะคุ้มครองทรัพย์สินของกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ให้เป็นปึกแผ่นด้วย

พระราชโอรสคือรัชกาลที่ 5 จึงเป็นเจ้านายที่ร่ำรวยมาแต่ประสูติ ด้วยมีสมบัติข้างพระราชมารดาเสริมอีกด้าน

ขอให้สังเกตว่า ร. 5 ทรงยกย่องร. 3 มากเพียงใด ในเทศนาเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 3 คราวฉลองกรุง 2425 ทรงพระราชนืพนธ์แล้วให้หม่อมเจ้าพระอรุณนิภาคุณากร เทศน์ถวาย  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: Tiwa ที่ 09 มิ.ย. 06, 12:03
 ขอประทานโทษนะครับหากว่ากระผมเดาผิด

สมเด็จพระเทพศิรินทราฯ มีพระนามเดิมว่า ม.จ.หญิงรำเพย ศิริวงศ์ เป็นพระธิดาของพระองค์เจ้าศิริวงศ์
กรมหมื่นมาตยาฯ ทรงกำพร้าพระบิดาและมารดาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ได้อาศัยพระองค์เจ้าลม่อม (อาหญิง)
เป็นผู้ทรงบริบาล สมเด็จพระนั่งเกล้าฯซึ่งเป็นพระเจ้าตา ได้ทรงโปรดรับท่านหญิงรำเพยเข้าไปอยู่ในวัง

พระอนุชาองค์เล็กของ ร. 5 กลางคืนต้องทรงเข้านิทรากับ "สมเด็จยายน้อย" ลม่อม
จนชันษา 16 เพราะติดยายมาก


พระองค์เจ้านพวงศ์ เป็นโอรสของเจ้าฟ้ามงกุฎ ขณะมีพระชนม์ 18 พรรษา  เจ้าฟ้าได้ทรงผนวชขณะที่
พระโอรสองค์โตยังไม่ได้ขวบ และองค์เล็กยังแดงๆอยู่ เมื่อ ร. 4 ทรงขึ้นครองราชย์ ได้ทรงสถาปนา
พระโอรสที่ประสูตินอกเศวตฉัตรทั้งสองพระองค์ขึ้นเป็นกรมหมื่น และในสร้อยพระนาม มีพระนาม
ของพระองค์อยู่ด้วย นั่นหมายถึงทรงยกย่อง พระโอรสทั้งสองเทียบเทียมเจ้าฟ้านั่นเอง น่าเสียดาย
ที่พระโอรสทั้งสององค์มีพระชันษาสั้น สิ้นพระชนม์ก่อนพระราชชนกเสียอีก

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงเสียพระทัยมาก และคิดว่า "มีพระองค์" มากระทำ
เพราะพระนามกรของพระโอรสทั้งสอง มีพระนามของพระศิวและพระวิษณุในศาสนาพราหมณ์
แฝงอยู่ด้วย

เมื่อทรงผ่านพิภพแล้ว ร. 4 มิได้ทรงรับนางห้ามผู้เป็นมารดาของโอรสทั้งสองเข้าวัง แต่ได้ทรงเสกสมรสใหม่
ทำให้นางห้าม (ชายาเก่า) โกรธแค้น วันหนึ่งพระองค์ทรงเสด็จทางเรือ และได้มีเรือลำหนึ่ง
แจวเทียบแซงขึ้นมาตีคู่ลำของพระองค์  ตำรวจติดตามคิดว่าเป็นเรือในขบวนจึงมิได้ขัดขวาง ร.4
เมื่อเเรกทรงคิดว่าเรือในขบวนจะนำพระองค์เจ้าเล็กๆที่กรรแสงโยเยมาส่งให้ แต่ก็ไม่เห็นว่าเรือเล็ก
ส่งสัญญาณว่ากระไร ทรงสงสัยว่าผู้ใดอยู่ในเรือลำที่ตีคู่ขึ้นมา ทรงชะโงกมองก็เห็นแต่ผ้าม่านปิด
แลเห็นสาวๆนั่งท้ายเรืออยู่หลายคน ในที่สุดก็ทรงทราบว่าชายาเก่า ได้มาเยาะเย้ยพระองค์ท่าน
จึงทรงพิโรธเป็นอย่างมาก และสั่งให้ทหารไปจับตัวมาคุมขัง

เมื่อขึ้นครองราชย์ โอรสองค์โต มีชันษา 30 พระโอรสทั้งสองทรงน้อยใจว่าบิดาทอดทิ้งระหว่างผนวช
ทำให้ความผูกพันระหว่างบิดา-โอรส ไม่แน่นแฟ้น เมื่อเห็นพระราชบิดาทรงอุ้มพระโอรสพระธิดาเล็กๆ
จึงเป็นภาพที่บาดตาบาดใจอยู่เสมอ

งานแต่งงานของหม่อมเจ้า ซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้านพวงศ์ ท้ายรัชกาลที่ 4 นั้น ทูลกระหม่อมปู่
ได้ทรงจัดให้อย่างใหญ่โต สมพระเกียรติพระราชนัดดากษัตริย์เป็นอย่างมาก พระองค์ทรงออก
การ์ดเชิญขุนนางอังกฤษที่ประจำอยู่ที่คอมมอนเวลท์ฮ่องกงให้มาร่วมงานด้วย เหล่านี้พระองค์
ทรงทำเพื่อแสดงว่าพระองค์มีความรักให้บุตรหลานเสมอ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 09 มิ.ย. 06, 20:35
 ยังไม่รู้เรื่องอยู่ดีครับ แต่ก็สนุกดี มีอีกใหมครับ
แล้ว "เท่ห์เหมือนสมเด็จรีเยนต์ สะใภ้ใหญ่ของท่าน" อันนี้มันเกี่ยวอะไรตรงใหนครับ

แล้วตกลงที่เล่ามานี่ เป็นเรื่องเดาเหรอครับ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 09 มิ.ย. 06, 20:42
 พระเทพศิรินทร์อีกพระรูป ฉายก่อนสิ้นพระชนม์ไม่นาน นอกจากหน้าตาไม่เหมือน ความเห็น 59 แล้ว ลองดูเครื่องยศในรูปนั้น เทียบพระรูปนี้สิครับ

อีกอย่าง รูป 59 ถ่ายปลายรัชกาลที่ 4 พระนางเธอ สิ้นไป 5-6 ปีแล้วครับ  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 09 มิ.ย. 06, 21:13
 คุณpipat พอจะมีภาพขยายของพระรูปสมเด็จพระเทพศิรินทร์ในความเห็นที่ 100 กับ 104 ไหมครับ
เพราะเท่าที่ผมเห็นตอนนี้ เดาเอาว่าน่าจะฉายไว้ครั้งเดียวกันทั้งสองภาพนะครับ
ทั้งผ้าทรงสะพัก ปั้นเหน่ง พระภูษาจีบ และพระสุจหนี่บนโต๊ะ ดูเหมือนจะเป็นชุดเดียวกันหมด
ไม่ทราบว่าถ้ามีภาพที่ใหญ่กว่านี้จะมีรายละเอียดของภาพมาตอบข้อสงสัยได้เพิ่มบ้างหรือเปล่าน่ะครับ


ปล. ถ้าคุณpipat มีผมขอแค่ภาพในความเห็นที่ 104 ก็พอครับ เพราะพระภูษาทรงของสมเด็จพระนางฯในความเห็นที่ 100 น่ะ ผมจำได้ติดตาแล้วล่ะครับ แหะๆ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 09 มิ.ย. 06, 21:26

.
ต้องมีใครในเรือนไทย มีบุญตาได้ชมกระบวนเรือในงานเฉลิมฉลองครั้งนี้แน่นอน
ผมบุญน้อย มีแต่รูปมาฝากครับ ถ่ายเมื่อ 2409 หน้าวัดทองบางกอกน้อย(กระมัง) ปักทุ่นมัดเรือให้นิ่ง ฝีพายทำท่า เพื่อการถ่ายรูปนี้ จอห์น ธอมสัน ลงชื่อไว้ตรงมุมซ้ายล่าง แต่ผมไม่เคยเชื่อหมอนี่เลย อาจจะจริงก็ได้

เส้นสีขาวกลางรูป คือรอยต่อ เป็นพานอรามาครับ งามแมะ  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 09 มิ.ย. 06, 21:32

.
ตามใจคุณติบอ ต้นฉบับไม่ดีนัก น้ำยาเริ่มจะหมดอายุ อีกไม่กี่ปีก็คงเหลือแต่เงาจางๆ บนกระดาษสีเหลืองๆ  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 09 มิ.ย. 06, 21:47
 .










ไม่เหมือนรูปนี้
ชัดจนไม่น่าให้อภัย
แม้แต่ตัวเครื่องหมายอะไรสักอย่าง
ที่มุมขวาล่าง  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 10 มิ.ย. 06, 00:07
 เห็นทีผมคงหมดความจำเป็นจะต้องมาใช้ผ้าตอบคำถามตัวเองหรือเปล่าก็ไม่ทราบนะครับ
แค่พระธำมรงค์แต่ละนิ้วก็ทรงเหมือนกันขนาดนี้ ครั้งเดียวกันที่ทรงฉายภาพแน่นอนครับ


ว่าแต่เรื่องเรือ คนยกพายน่าสงสารน่าดูนะครับ ถือค้างเอาไว้ให้ถ่ายภาพนี่คงต้องยกนานน่าดู
ภาพถ่ายสมัยนู้นยิ่งต้องเปิดหน้ากล้องนานเป็นสิบนาทีด้วยนี่ครับ
มิน่าล่ะ บางภาพพายสั่น อิอิ


ปล. คุณpipat พอจะมีภาพเรือสุพรรณหงส์มั้ยครับ เท่าที่ผมจำได้ เมื่อก่อนพู่ที่ห้อยที่โขนเรือเป็นแค่พู่จามรีเฉยๆ ไม่ได้มีแก้วเจียระไนยเหมือนเดี๋ยวนี้ นี่ครับ (ไม่รู้ไปเห็นรูปมาจากไหนน๊า หิหิ)


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: Tiwa ที่ 10 มิ.ย. 06, 00:39
 ตอบ คห 103

อะร้ายยยย..... ผมเล่าไม่รู้เรื่องจริงๆหรือครับ
ที่เดาว่าเป็นสมเด็จแม่ของ ร. 5 นั่นน่ะ คือการเดา แต่สิ่งที่เล่าให้ฟังนั่นคือการอ่านมา
แล้วมาถ่ายทอดต่อ โดยไม่ได้ปรุงแต่งอะไรเพิ่มครับ


รูปนี้กับภาพ 80 เป็นกุมารองค์เดียวกันไหมครับ  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 10 มิ.ย. 06, 07:37
 110 ไม่ใช่องค์เดียวกับ 80
คุณได้ 110 มาจากใหน ที่นั่นน่าจะบอกได้ว่าคือพระองค์ใด
ผมมิได้ระบุพระนามทุกรูป เพราะไม่ประสงค์จะให้เป็นสมุดพระรูปพระบรมวงศานุวงศ์
อยากให้พวกเราสนุกกับการอ่านรายละเอียดที่มีในรูป การไม่รู้ แล้วพยายาค้นตามที่ตัวเองพอจะทำได้ น่าจะเป็นของเล่นให้สมอง แต่ท่ามีท่านใดไม่ชอบก็บอกมานะครับ ยินดีให้ความร่วมมืออยู่แล้ว

คุณ Tiwa สำนวนเหมือนคุณ Rinda มาก เพียงแต่ต่างเพศกันเท่านั้น คิดอย่างนั้นเพราะมีวิธีทิ้งท้ายที่คุ้นความรู้สึก และมีสำนวนที่ผมอ่านแล้วไม่เข้าใจเสมอ แต่คงไม่ใช่คนเดียวกัน แค่ทำให้คิดถึงเท่านั้น

อย่างประโยคข้างบนที่ว่า
"ที่เดาว่าเป็นสมเด็จแม่ของ ร. 5 นั่นน่ะ คือการเดา "
เป็นประเด็นใหม่ ไม่พบในความเห็นของคุณมาก่อนว่าคุณเคยเดาแต่เมื่อไรในเรื่องสมเด็จแม่ของ ร. 5 แล้วทำไมต้องเดา หรือว่าทรงมีสมเด็จแม่พระองค์อื่นอีก

ถ้ายังไงกรุณาเขียนให้ผมอ่านรู้เรื่องสักนิดนะครับ ถ้าหากยังรักจะแลกเปลี่ยนความเห็นกัน


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: ศรีปิงเวียง ที่ 10 มิ.ย. 06, 11:29
 เรียน ทุก ๆ ท่านที่เคารพ
ขออนุญาตแวะมาที่นี่ครับ
ผมคิดว่าความเห็นที่ 110 คล้าย ๆ ว่าจะเป็นเจ้านายสายสืบมาแต่สมเด็จพระปิยมาวดีฯ มากกว่า ไม่น่าใช่รูปเดียวกับความเห็นที่ 80 ครับ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 มิ.ย. 06, 14:44
 ถามคุณ Tiwa  สืบเนื่องจากค.ห. 97

พระองค์เจ้านพวงศ์ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส ทรงแก่กว่าสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีถึง 12 ปี    คุณทิวายังเรียกว่าทรงมีชันษาไม่ต่างกันมากหรือคะ  ดิฉันว่าต่างกันมากโขทีเดียว

สมเด็จพระราชินี ทรงได้เป็นพระมเหสีเมื่อพระชนม์ประมาณ ๑๘ ปี  กรมหมื่นมเหศวรฯ ท่านก็ ๓๐ เข้าไปแล้ว
เห็นทีจะทรงใกล้ชิดกันยาก  ตามกฎมณเฑียรบาล

สมเด็จฯท่านเป็นเจ้านายฝ่ายใน  ส่วนกรมหมื่นฯเป็นเจ้าในฝ่ายหน้า ถ้าจะเสด็จออกหรือเสด็จไปไหนมาไหนก็ต้องแยกกันคนละส่วน  ไม่มาปะปนกัน
ถ้าจะเข้าเฝ้าสมเด็จ  กรมหมื่นก็คงเข้าเฝ้าเมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกพร้อมสมเด็จ    ตรงเข้าไปเฝ้าถึงฝ่ายในไม่ได้แน่นอน

อยากอ่านรายละเอียดของข้อมูลที่คุณได้มาจังค่ะ

ส่วนเรื่องกรมหมื่นฯท่านน้อยพระทัยสมเด็จพระจอมเกล้าฯก็ไม่เคยรู้เหมือนกัน
ทราบแต่ว่ากรมหมื่นฯเคยถวายพระธำมรงค์   สมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงสวมติดนิ้วพระหัตถ์อยู่เสมอ  
รับสั่งว่า  เป็นแหวนของพ่อใหญ่   ถ้าหากว่าหายคิดถึงเมื่อไรก็จะถอด  
แต่ก็ไม่เคยถอดเลย  ตราบจนเสด็จสวรรคต   หลังพระราชโอรสสิ้นพระชนม์ล่วงหน้าไปแล้ว


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 มิ.ย. 06, 15:51
 ตอบคุณพิพัฒน์  คห. 111
ถ้าหากว่าเลือกได้  ดิฉันอยากทายรูปที่ไม่รู้ว่าเป็นรูปใครมากกว่า   มันสนุกกว่าเวลาเราเห็นภาพเก่าเล่าเรื่อง
โดยไม่มีคำตอบมากำกับเสียแต่แรกว่า  เป็นภาพของใคร หรือเจ้านายองค์ใด   ถ้าเป็นแบบรู้ชื่อ  การใช้จินตนาการจะน้อยลง
ถ้าไม่รู้ จะเพิ่มการสังเกตมากขึ้น

ดิฉันไม่อายถ้าหากว่าตัวเองวิเคราะห์ผิดไปเป็นโยชน์   ไม่รู้ก็คือไม่รู้    ผิดแบบนี้ไม่ใช่ผิดศีลธรรม  จะไปอายทำไม
แต่ถ้าคนอื่นๆอยากรู้   ก็ตามใจเสียงส่วนใหญ่ค่ะ
*******************
คุณพิพัฒน์บอกไว้ในคห.73  ว่า

ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทองหยองเครื่องประดับมีใช้กันเกลื่อนกล่น จนถึงพระองค์ต้องทรงออกประกาศตักเตือนชาวบ้านอย่าแต่งองค์ทรงเครื่องเด็กให้มากนัก จะล่อตาผู้ร้าย

ดิฉันเลยนึกขึ้นมาได้ถึงขุนช้างขุนแผนตอน"กำเนิดพลายงาม" ที่ขุนช้างหลอกพาพลายงามไปฆ่า   แล้วแกล้งพาโลตำหนินางวันทองว่าปล่อยปละละเลยจนลูกหายไป

เมื่อกลางวันยังเห็นเล่นไม้หึ่ง
กับอ้ายอึ่งอีดูกลูกอีปิ
แล้วว่าเจ้าเล่าก็ช่างนั่งมึนมิ
ว่าแล้วซิอย่าให้ลงไปดิน

ลูกปะหล่ำกำไลใส่ออกกบ
ฉวยว่าพบคนร้ายอ้ายคนฝิ่น
มันจะทุบยุบยับเหมือนกับริ้น
ง้างกำไลไปกินเสียแล้วกรรม


สมัยที่สุนทรภู่แต่งกำเนิดพลายงาม  คงมีคดีคนร้ายฆ่าเด็กเพื่อชิงทรัพย์  เพราะพ่อแม่แต่งทองรูปพรรณให้เด็กทั้งสร้อยคอและกำไล    
เป็นอาชญากรรมแพร่หลาย  ไม่ใช่ว่านานๆเกิดที  สุนทรภู่จึงเอามาใส่ปากขุนช้างให้พูดเหมือนเป็นคดีเกิดบ่อย  รู้กันทั่วไปแบบข่าวหน้าหนึ่งไทยรัฐ
ก็เลยถามไว้ลอยๆ ไม่มีคำตอบว่า แต่งสมัยรัชกาลที่ ๔ หรือเปล่า?


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 10 มิ.ย. 06, 17:34
 .............."อ้ายคนฝิ่น"..................

โปรดรับกราบงามๆ จากลูกศิษย์ที่ "โง่วรรณคดี" หนึ่งกราบครับ

นี่คือนาฬิกาเวลาที่มีค่าเหลือล้น
ฝิ่นเข้ามาเมืองไทยเมื่อไหร่ ร. 3 กำราบฝิ่นอย่างไร โรงฝิ่นเกิดเมื่อไร "คนฝิ่น" มีมาแต่เมื่อไร ตีชิงวิ่งราว หลอกไปลอกคราบเกิดเมื่อไร.............

เหล่านี้ ล้วนบ่งบอกสิ่งแวดล้อมที่ท่านสุนทร กำลังนั่งเอกเขนก ว่ากลอนเป็นน้ำไหลไฟดับ แข่งกับเหตุการณ์บ้านเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างโกลาหล

มีอีกใหมครับ หมุดทองบอกเวลาเหล่านี้ ผมจะได้เอาไปจบเรื่องขรัวกับท่านสุนทรฯ
ได้อย่างสวยงาม


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 มิ.ย. 06, 18:32
 เวรจริงๆ ไม่น่าบอกนักเรียนโค่ง ให้หาการบ้านใส่ตัวเองเลย

ไม่มีหนังสือพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๓ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ค่ะ  จำได้แต่ว่ามีการปราบฝิ่นกันในสมัยนี้
ลองค้นในกูเกิ้ล เจอกระทู้เก่าของ pantip เท้าความถึงพระราชบัญญัติห้ามเรื่องฝิ่นเอาไว้

สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมีกฎหมายที่สำคัญ ๓ ฉบับ คือ พระราชบัญญัติห้าม  ไม่ให้ซื้อฝิ่น ขายฝิ่น สูบฝิ่น จ.ศ.๑๑๗๓ (พ.ศ. ๒๓๕๔)
พระราชกำหนดห้ามสูบฝิ่น จ.ศ. ๑๑๘๑ (พ.ศ. ๒๓๖๒) และประกาศเพิ่มเติมห้ามมิให้ลักจำหน่ายฝิ่นและสูบฝิ่น จ.ศ.   ๑๑๘๒ (พ.ศ. ๒๓๖๒)
ดังปรากฎหลักฐานเกี่ยวกับบทลงโทษทางกฎหมายที่น่าสนใจหลายประการ เป็นต้นว่า
"...แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ห้ามอย่าให้ผู้ใดสูบฝิ่น กินฝิ่น ซื้อฝิ่น  ขายฝิ่น และเป็นผู้ซื้อขายเป็นอันขาดทีเดียว
ถ้ามิฟังจับได้และมีผุ้ฟ้องร้อง พิจารณาเป็นสัจจะ ให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยน ๓ ยก ทะเวนบก ๓ วัน ทะเวนเรือ ๓ วัน ริบราชบาทว์ บุตร ภรรยา และทรัย์สิ่งของให้สิ้นเชิง ให้ส่งไปตะพุ่นหญ้าช้าง
ผู้รู้เห็นเป็นใจ มิได้เอาความมาว่ากล่าว ให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยน ๖๐ ที ..."


ขนาดห้ามในรัชกาลที่ ๒ ก็ยังต้องมาปราบกันในรัชกาลที่ ๓ แสดงว่ายังมีผู้ละเมิดอยู่เรื่อยๆ

ส่วนโรงฝิ่น ยังหาไม่ได้ว่าในรัชกาลที่ ๔ มีหรือเปล่า


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: B ที่ 10 มิ.ย. 06, 19:08
 ออกตัวว่ายังไม่ได้อ่านอย่างละเอียดนะคะ

แวะเข้ามาบอกว่า นึกภาพอาจารย์พูดว่า
"เวรจริงๆ" แล้วหนูขำกลิ้งเลยค่ะ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 10 มิ.ย. 06, 19:11
 ขอใช้ความจำเล่าเสริมนะครับ
ฝิ่นเป็นเหตุให้จีนเสียท่าอังกฤษคงทราบดีอยู่แล้ว อังกฤษนั้นกุมความลับในการผลิต นัยว่าทางอินเดียรู้ก่อน อังกฤษเป็นเจ้าเข้าครอง มีหรือจะไม่ใช้มันทำกำไร ฝิ่นจึงแพร่ไปทั่วโลก

มาถึงสยามก็ตามกฏหมายที่ว่าละครับ แต่ไม่ใช่มหันตภัยร้ายแรง จนมาถึงรัชกาลที่ 3 จึงเด่นชัด จนกระทั่ง ร. 3 ให้หมอบลัดเลพิมพ์ประกาศห้ามสูบฝิ่นนั่นแหละครับ 8,000 แผ่น สำหรับราชอาณาจักร นับว่ามากมายมหาศาลทีเดียว

คุณสุกิจ เล่าว่า วันหนึ่ง เกิดเรืองใหญ่ในพระนคร พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ออกขุนนาง เห็นผู้คนน้อยกว่าทุกวัน ทรงถามจึงทราบว่า ส่วนมากไปที่บ้าน"พี่บดินทร์" ด้วยท่านกำลังจะลงโทษลูกชายที่ค้าฝิ่น

โปรดให้เจ้าพระยาพระคลัง ไปห้ามปราม ปรากฏว่าท่านหายไปนาน กลับมา กราบบังคมทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าเข้าไปถึงที่จวน ท่านสมุหนายกก็เอ่ยว่า เจ้าคุณมาก็ดีแล้ว เราเป็นข้าพระเจ้าอยู่หัว เห็นการกระทำอันละเมิดกฏหมายบ้านเมือง ขัดต่อพระบรมราชโองการ คงจะไม่นิ่งดูดายปล่อยให้มันผ่านไปโดยไม่จัดการตามโทษานุโทษกระมัง ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังดังนั้นก็ก้มกราบแล้วนั่งดูเหตุการณ์ มิอาจเอ่ยคำอันใดได้ จนท่านเฆี่ยนบุตรชายครบยก จึงรีบกลับมาเฝ้า
พระเจ้าอยู่หัวทรงแย้มสรวล ตรัสว่า พี่บดินทร์พูดตัดทางคนอื่นเช่นนี้ จะทำกระไรได้
โปรดฯ ให้เรียกบุตรชายเจ้าพระยาบดินทร์มาพระราชทานเงินทำขวัญ แล้วโปรดฯ ให้หมอหลวงรักษา
(เล่าตามที่จำได้ ไม่ตรงนัก ผมใปนสำนวนของผม ต้องไปอ่านต้นฉบับนะครับ อยู่ในหนังสืองานศพของท่าน)

นี่แสดงว่า ปลายรัชกาลที่ 3 นั้น วิกฤติการณ์ฝิ่นคงมาถึงปากประตูบ้านแล้ว

แต่พอพ่อเบาริงมาทำสัญญานี่ มันลามปามขอให้ฝิ่นเป็นสินค้าเสรีนะครับ เราไม่ยอมเด็ดขาด เป็นไงเป็นกัน ถึงได้ยอมยกออก แต่ฝิ่นก็เข้ามาเต็มตัวละครับ มีข้อห้ามในพระราชวงศ์จักรี โดยรัชกาลที่ 5  ประกาศเด็ดขาดว่า ใครติดฝิ่นถือว่าขาดกัน (อยู่ในคำเตือนเจ้านายให้เร่งมือการฉลองพระนคร 100 ปี อย่าให้เหลว) แสดงว่าเป็นคำสั่งเสียจากพระจอมเกล้าแน่แท้

ดังนั้น คำกลอนบทนี้ จะช่วยเปิดทางให้คลำต่อได้แจ่มชัดขึ้น

อาจารย์แถมเรื่อง "ทองเสาชิงช้า" ด้วยได้ใหมครับ อยู่ในสุภาษิตสอนหญิงหรืออะไรคล้ายๆ  และอาจจะมีหลายกลอนด้วยกระมัง


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: B ที่ 10 มิ.ย. 06, 19:18
 กระทู้นี้ใช้เวลาในการโหลดนานเหมือนกันนะคะ คงเป็นเพราะ
มีภาพเยอะ

ถ้าขึ้นกระทู้ใหม่ เรื่องที่คุยกันไว้จะขาดตอนหรือเปล่าคะ อาจารย์ คุณพิพัฒน์?

ป.ล. เพื่อเป็นการยืนยันว่าไม่มีเวลาอ่านกระทู้อย่างละเอียดจริงๆทั้งที่อยากร่วมวงคุยด้วยมาก เห็นเวลาที่โพสต์ไหมคะ? ตีห้ากว่าที่แคลิฟอร์เนียค่ะ
ยังไม่ได้นอนเลย พักด้วยการแวะเข้าเรือนไทยค่ะ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 มิ.ย. 06, 19:27
รูปขนาดใหญ่ทำให้โหลดนานหน่อยค่ะ แต่ภาพใหญ่เห็นรายละเอียดชัด    พอดีเราคุยกันเรื่องรายละเอียดทั้งนั้น

ทองเสาชิงช้า อยู่ที่นี่ค่ะ  คุณลุงแก่ กู้ชีพดิฉันไว้ทัน
 http://www.vcharkarn.com/include/vcafe/showkratoo.php?Cid=18&Pid=4554
เดี๋ยวจะไปอ่านสุภาษิตสอนหญิงให้อีกทีว่าทองเสาชิงช้าอยู่ตรงไหน

มีทองมาฝากคุณพิพัฒน์ จาก "กำเนิดพลายงาม" นี่ละ
เมื่อนางวันทองเจอพลายงาม รู้ว่าขุนช้างลวงไปพยายามฆ่า  นางก็ให้หนีไปหาย่าที่กาญจนบุรี
ตอนเตรียมเสบียงกับทรัพย์สินติดตัวไปให้   สุนทรภู่บรรยายว่า

จึงเย็บไถ้ใส่ขนมกับส้มลิ้ม
ทั้งแช่อิ่มจันอับลูกพลับหวาน
แหวนราคาห้าชั่งทองบางตะพาน
ล้วนต้องการเก็บใส่ในไถ้น้อย

แหวนราคาห้าชั่ง (สี่ร้อยบาท)  ราคาคงมหาศาลถ้าเป็นสมัยรัชกาลที่ ๒  ยังไม่ทราบว่าเงินสี่ร้อยบาทสมัยรัชกาลที่ ๒ ซื้ออะไรได้บ้าง
ถ้าเป็นรัชกาลที่ ๓ หรือ ๔ พอไหวไหมคะ
เงินถุงแดง มีเงินถุงละ ๑๐ ชั่ง  เท่าแหวนสองวงเท่านั้น  
ถ้าขุนช้างแกเป็นเศรษฐีบ้านนอก  มีเงินทองกล่นเกลื่อนขนาดเมียแอบเอาแหวนห้าชั่งติดตัวไปกับลูก   แกยังไม่รู้   แสดงว่าแกรวยไม่ต่างจากโดนัลด์ ทรัมป์เท่าไร

อีกอย่าง ทองบางสะพาน ค้นพบและนำมาใช่ตั้งแต่สมัยไหน  เมื่อพระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ประสูติ   มีการค้นพบทองก้อนใหญ่ จากบางสะพานหรือเปล่าคะ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 มิ.ย. 06, 19:34
 คุณ B ขา  ไปนอนซะไป๊  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 10 มิ.ย. 06, 19:50
คุณ B หากไปนอนจะไม่เจ๊อะ เวรจริงแบบเรียลไทม์นะครับ...555
เซฟเก็บไว้อ่านดีกว่าครับ เป็นการกันเหนียว เผื่อท่านผู้มีเจตนาดีแต่ประสงค์ร้าย จะมาช่วยทำความสะอาดเรือนไทยแบบคราวที่แล้วอีก

ทองบางตะพาน นี่ก็หมุดเวลาอีกหนึ่งดอกครับ เป็นเหตุให้นายสำอางต้องโทษประหารไงครับ เบิกเงินหลวงไปเป็นหมื่นชั่ง ได้ทองมาร้อยกว่าชั่ง นั่นคือต้นรัชกาลที่ 5 ครับ ตอนนั้นทองคงเกลี้ยงเหมืองแล้ว

มีหลักอย่างนี้แล้ว ผมคุ้ยเอกสารไม่นานเป็นได้เรื่องครับ เสียดายไม่ได้อยู่ไกล้โรงเรียนเก่า ที่นั่นค้นจนจำเป็นชั้น ไม่ต้องพึ่งบัตรรายการ

ส่วนเรื่องฝิ่นนี่ มีมากขนาดร. 3 เอากลักมาหลอมทำพระพุทธรูปเชียวครับ จำไม่ผิดก็ที่วัดสุทัศน์ แต่ต้องสอบตำนานก่อน


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 10 มิ.ย. 06, 20:01
 หน้าแตกดังเพล้ง....
คดีพระปรีชาเกิดที่กบินทร์ครับ
ขอสมาลาโทษท่านผู้อ่านทุกท่าน


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 มิ.ย. 06, 09:16
 ทองเสาชิงช้า จากสุภาษิตสอนหญิงของสุนทรภู่ มาแล้วค่ะ
สุนทรภู่ค่อนขอดผู้หญิงยากจนที่อยากทำเทียมหน้าเทียมตาคนรวย  ไม่มีเงินซื้อทองของจริง
ก็ไปซื้อทองเสาชิงช้ามาประดับกาย  อยากโก้กับเขาบ้าง
ถ้าท่านอยู่มาจนทุกวันนี้คงจะค่อนขอดสินค้าเลียนแบบแบรนด์เนมเป็นแน่

หาทองแท้แก้ไขมันไม่คล่อง
ต้องเอาทองเสาชิงช้าน่าใจหาย
แต่ล้วนเนื้อสิบน้ำทองคำทวาย
สายสร้อยสายหนึ่งก็ถึงสลึงเฟื้อง
แพงไม่เบาเขายังกล้าอุตส่าห์ซื้อ
ผูกข้อมือแลงามอร่ามเหลือง
ถึงจนยากอยากบำรุงให้รุ่งเรือง
จนทองเหลืองไม่ละจะกละงาม


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 มิ.ย. 06, 09:24
 ค้นเรื่องทองเสาชิงช้ามาให้แล้ว บังเอิญไปเจอตอนนี้ในสุภาษิตสอนหญิง เลยเอามาแถมให้คุณพิพัฒน์
สุนทรภู่เล่าถึงผู้หญิงที่มีชู้ สามีจับได้   เอาตัวไปฟ้องตุลาการ  การตัดสินคดีของตุลาการคือไต่สวนเรื่องราวจนได้ความจริง

ครั้นซักไซ้ไต่ถามได้ความชัด
จึงจำกัดศักดินาราคาขาย
ถ้ารักชู้ก็ให้อยู่กับชู้ชาย
มันเบื่อหน่ายขายกลับเอาทรัพย์คืน

คำตัดสินก็คือดูศักดินาของผู้หญิงแล้วตั้งราคาขาย  ถ้าอยากอยู่กับชู้ก็ให้ชู้จ่ายค่าศักดินากับผัว เพื่อเอาเมียไป
แต่เอาไปแล้ว  ชู้เกิดเบื่อหน่ายขึ้นมาก็ขายเมียเอาเงินคืนได้

ฟังๆดูแล้วสิทธิในการขายอยู่ที่ฝ่ายชาย  ผู้หญิงไม่มีสิทํธิ์คัดค้าน  ถ้างั้นสุภาษิตนี้ต้องเขียนก่อนรัชกาลที่ ๔ หรืออย่างช้าก็ต้นรัชกาลที่ ๔
ก่อนพ.ศ.ที่อำแดงเหมือนแกถวายฎีกา  เพราะหลังจากนั้นถ้าซื้อขายลูกเมีย  สมเด็จพระจอมเกล้าฯ ท่านกำหนดให้ลูกเมียต้องสมัครใจเสียก่อน พ่อหรือผัวถึงขายได้


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 11 มิ.ย. 06, 11:22
 "ผ้หญิงเปนควาย ผู้ชายเปนคน" หาเปนยุตธรรมไม่ ให้ยกเสีย
อยู่ใน ประกาศรัชกาลที่ 4 หมายเลข 294 พ.ศ. 2410
พระราชบัญญัติเรื่องผัวขายเมีย บิดามารดาขายบุตร

และพบประกาศห้ามไม่ให้แต่งตัวเด็กด้วยเครื่องทองเงิน ถึงสองฉบับ ออกในพ.ศ. 2409 แสดงว่าคงมีคดีเกิดชุกในเวลานั้น


ส่วนทองเสาชิงช้า ผมสนใจ เพราะตลาดเสาชิงช้า ไม่ใช่ตลาดใหม่ เนื่องจากเป็นตลาดบก จะเจริญได้ ต้องรอถนนบำรุงเมืองตัดผ่านเสียก่อน เดิมเป็นถนนสะเล็กสะน้อย
เรื่องนี้ยังสัมพันธ์กับยี่ห้อกิมตึ๋งฮกกี่ ฮวดกี่ ที่ไปยึดทำเลแถวนั้นค้าเครื่องกระเบื้องในสมัยรัชกาลที่ 4 และ 5 เรือนไทยของคุณชายคึกฤทธิ์ก็ดูเหมือนเคยอยู่แถวนั้นเหมือนกัน








รูปมาจากมูโอต์ เป็นเสาชิงช้าสมัย 2400-5 ตำแหน่งเดิม ไม่ใช่อยู่หน้าวัดเหมือนทุกวันนี้  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 11 มิ.ย. 06, 11:29

.

รูปถ่ายตอนปลายรัชกาลที่ 4 มองจากพระบรมบรรพตเข้าในกำแพงเมือง เห็นประตูเมืองด้านทิศตะวันออก ที่กลายเป็นมาเรียกว่า ประตูผี เพราะความเคยชิน (เป็นทางลำเลียงศพออก คราวโรคห่ระบาด สมัยร. 2 เป็นต้นมา เหมือนวัดสังเวช ก็ได้ชื่อเพราะศพออกทางนั้นมากเหมือนกัน)

ตำแหน่งที่เป็นถนนบำรุงเมืองยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสวนผลไม้


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 11 มิ.ย. 06, 11:36

.

ถนนบำรุงเมือง เมื่อต้นรัชกาลที่ 5 ประมาณ 2420-5 (แนวเส้นสีแดง) ห่างจากรูปที่แล้วสิบปี ไม่เกินสิบห้าปี
กลายเป็นเมืองแล้ว กิจการร้านค้ารุ่งเรือง สวนและป่าหายหมด เพราะท่านโปรดให้น้องๆ ไปสร้างวัง เท่ากับขยายเมืองไปในตัว  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 มิ.ย. 06, 11:48

.
ขยายภาพ 127 ตัดบางส่วนมาถาม
นี่คลองมหานาคหรือคะ?
ปัจจุบันอยู่ตรงไหน   พยายามวาดภาพตามค่ะ
ชอบเรือนไทยริมคลองสองหลังแฝดน่ะค่ะ
ท่าทีโอ่อ่า น่าจะเป็นเรือนคหบดี
ลำคลองพาดขวางภาพ ตัดตรงแหนวเชียว ฝีมือขุดคลองของคนจีนนี่ใช้ได้มากๆ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 มิ.ย. 06, 12:47
 เห็นภาพกรุงเทพในช่วงขยายเมือง  สวนยังมีอุดมสมบูรณ์แม้ว่าฝั่งกรุงเทพเป็นที่ลุ่ม    เปิดหน้าต่างห้องนอนก็เห็นสวนแล้ว  
อยากส่งคุณติบอกลับไปอาศัยอยู่ในเรือนคหบดีในภาพค.ห. 129  เช้าตรู่คงได้คุยกับพรรคพวก น้องนกกางเขน  สีชมพูสวน  และน้องอะไรต่อมิอะไรจนคอแห้ง
อากาศในตอนนั้นเย็นสบายกว่าเดี๋ยวนี้หลายองศา  โดยเฉพาะในยามเช้าที่สงบเงียบ ไร้เสียงยวดยานพาหนะแสบหู

เห็นเรือหลายลำ เลือกไม่ถูกว่าจะนั่งไปไหนบ้าง   คงให้คุณติบอชวนคุณหมูน้อยและคุณเฟื่อง เลือกลงเรือประทุนลำไหนก็ได้ไปเที่ยวตามคลองต่างๆของกรุงเทพ ที่เชื่อมโยงถึงกันตลอด
**************
ขอออกนอกเรื่องค่ะ
เมื่อวานไปจ่ายตลาดที่ดอนหวาย     ทางเข้าจากถนนปิ่นเกล้า-นครไชยศรี   ยังคงมีสภาพสวนเขียวชอุ่มให้เห็นเมื่อสองสามปีก่อน
แต่วันนี้สวนใกล้หายไปเหมือนบางกรวย  หมู่บ้านจัดสรรเข้ามาแทนที่  ดินที่ปลูกผลไม้ได้งาม ถูกเททับด้วยคอนกรีตเกือบหมดแล้ว
วันหนึ่งข้างหน้าเราคงต้องสั่งมะพร้าว กล้วย ฝรั่ง ละมุด จากนอกมากิน  รสชาติไม่ดีเท่าของเดิม  
พูดแค่นี้ค่ะ ไม่อยากบ่นนานกว่านี้


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: Tiwa ที่ 11 มิ.ย. 06, 14:35

ตอบ ค.ห. 113

จัดให้ตามคำขอของอาจารย์ครับ ที่อยากทราบรายละเอียดของข้อมูลของผม ความจริงสิ่งที่ผมอ่านมา
ไม่ใช่ว่าผมจะให้น้ำหนักกับมันเสมอไปนะครับ ผมเพียงแต่อ่านเพื่อความบันเทิง อ่านเอาเรื่อง
ไม่ได้อ่านหาเรื่อง...แหะๆๆ ล้อเล่นนะครับ ยังดีนะครับที่ผมตามเจอว่าอ่านมาจากเล่มไหน
ถ้าไม่เจอละก็ ผมก็ไม่ทราบว่าจะเอาอะไรมายืนยันว่าผมไม่ได้ลิขิตขึ้นเองน่ะคราาาาาาาาบบบบบ

สิ่งที่ทราบมาก็คือในสมัยโบราณ ชายมิอาจเข้าไปในพระราชฐานฝ่ายใน แต่เรื่องในกำแพงวัง
ชั้นในที่เขาถ่ายทอดกันมาเป็นอักษรสาร เจ้านายผู้ชายทรง "ดอด" เข้าไปข้างในก็บ่อยไปครับ

ไม่งั้น ทำไมกรมขุนพินิจฯ ถึงทรงเข้าไปฝากรักที่สอง กับคุณแพรได้สำเร็จ จนขวดโอเดอโคโลน
หล่นแตก หอมฟุ้งโจษจันไปทั้งวัง
เจ้าฟ้าภาณุรังษี กลางวันทรงประทับที่หนึ่ง กลางคืนทรงเข้าไปนิทรากับสมเด็จยายข้างในได้

เอาล่ะครับ ถ้าสงสัยอะไรก็ถามขึ้นมาได้ครับ นี่ยังดีที่ผมยังไม่ได้เล่าเรื่องการสืบสวนคดี
กรมหลวงรักษ์รณเรศกับตัวละคอนนอก ที่ว่า " ใช้มือเคลื่อนธาตุ" เพราะมันติดเรทมาก

ต่อไปผมจะเอากระชอนกรองก่อนครับ สิ่งใดที่ผมไม่เชื่อ ผมจะรีบออกตัวว่าผมก็ไม่เชื่อครับ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 11 มิ.ย. 06, 14:40

.

ผิดไปเพียงไม่กี่วาครับ เป็นคลองคูเมิอง ที่ผ่าระหว่างวัดราชนัดดา กับวัดสระเกษ เดี๋ยวนี้กลายเป็นชุมชนน่ารังเกียจที่บ้านเมือง โดยฝูงคนแก่เพราะกินเข้า เฒ่าเพราะอยู่นาน อ้างเหตุผลซังกะบ๊วยอะไรสักอย่าง ไล่รื้อมา 14 ปีแล้วครับ หาว่ารกพระนคร ความจริงเขาอยู่นอกกำแพงพระนครโดยความกล้าหาญนะครับ ข้าศึกบุกเข้ามา พวกนี้ตายก่อน

อนาถใจ เอาคนไม่รู้ประวัติศาตร์มาคุมงานอนุรักษ์เมือง อายไปถึงรัชกาลที่ 1 เลยครับ

คลองมหานาคไปทางขวาอีกนิดเดียวก็เจอครับ คลองนี้ น่าจะเป็นฝีมือเขมรตอนรัชกาลที่ 1  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: Tiwa ที่ 11 มิ.ย. 06, 14:49

ต่อครับ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 11 มิ.ย. 06, 14:51

.

ขยายให้เห็นรายละเอียด จุดแดงที่ทำไว้ คือแนวคลองหลอดเส้นที่ผ่าวัดเทพธิดาราม (ซ้ายบน เห็นโบสถ์วิหารคู่กัน)
กับวัดราชนัดดา ปลายคลองออกวัดบุรณศิริฯ  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: Tiwa ที่ 11 มิ.ย. 06, 15:02

ภาพนี้ต่อจาก คห 131 ครับ ขออภัยครับ เรียงผิด
ต้นฉบับชัดดี แต่ผมบีบไฟล์สุดๆครับ
.


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 11 มิ.ย. 06, 15:04

.

หลังจากรูปนี้อีกสักสามสิบปี ลิเกพระยาเพชรก็กำเนิดที่ตรงนี้ แต่พวกแบนดิตเขาไม่สน เขาลูก E ช่างรื้อ
เขาจะรื้อชุมชนริมแม่น้ำทิ้งทั้งหมด ตั้งแต่ท่าพระอาทิตย์ยันปากคลองตลาด ไม่รู้ว่าสมองทำด้วยอะไร ช่างโหดเหี้ยมผิดมนุษย์มนายิ่งนัก

ขออัญเชิญพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 4 มาฝากดังนี้
"ถ้าใคร....อย่างนั้นอยู่ก็ให้ผูกคอตายเชือดคอตายหรือกินยาตายไปเสียให้พ้นเมืองมนุษย์เถิด ไป....อยู่ในเมืองผีให้สบาย"  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 11 มิ.ย. 06, 15:23
 ขอบคุณคณ Tiwa ที่เอาหลักฐานมาแสดง
พระราชหัตถเลขานั้น เป็นข้อเท็จจริง ทราบกันมานานว่าไม่โปรดเจ้าจอมมารดาน้อย (หลานพระเจ้าตากสินสายเจ้าฟ้าอภัย)

แต่ข้อความอธิบายเพิ่มเติมนั้น ขออภัยที่ต้องเรียนว่าผมไม่เชื่อครับ ท่านผู้เขียนนั้นอยู่ร่วมสำนักกับนางแอนนา รับผิดชอบเรื่องอุตุนิยมวิทยาด้วยกัน ทำหน้าที่ยกเมฆครับ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 มิ.ย. 06, 15:26
คุณ Tiwa  ค.ห. 173 ขา

ขอประทานโทษ  คำตอบของคุณข้างบนนี้ทำให้ดิฉันตระหนักว่าตัวเองถามไม่ตรงคำตอบก็เป็นด้วยแฮะ



คือ...ดิฉันไม่ได้ถามเรื่องเจ้าจอมมารดาน้อยซักนิดเดียวค่ะ    ข้อความในพระราชหัตถเลขาที่คุณยกมาดิฉันก็ไม่ได้ถาม

ที่ดิฉันอยากทราบคือหนังสือที่มาของเรื่องสมเด็จพระเทพศิรินทรฯกับกรมหมื่นมเหศวรฯต่างหากล่ะคะ



เรื่องในกำแพงวังที่คุณยกมา ทำให้ดิฉันยิ่งอยากอ่านที่มาเข้าไปใหญ่

"เรื่องชั้นในที่เขาถ่ายทอดกันมาเป็นอักษรสาร เจ้านายผู้ชายทรง "ดอด" เข้าไปข้างในก็บ่อยไปครับ

!



ที่ดิฉันทราบมา เจ้านายผู้ชายเมื่อโสกันต์แล้วก็ต้องออกมามีวังภายนอกของท่านเอง  ในพระบรมมหาราชวังมีผู้ชายโตๆแล้วเพียงคนเดียวคือพระมหากษัตริย์

อะไรกัน มีเจ้านายชาย"ทรงดอด" เข้าไปฝ่ายในบ่อยเชียวหรือคะ

"ข้างใน" หรือ "ฝ่ายใน" กันแน่  แล้วตรงไหนที่ท่านดอดเข้าไป  เข้าไปทำอะไร

ท่านรู้หรือเปล่าว่ากฎมณเฑียรบาลกำหนดโทษไว้หนักแค่ไหน



ส่วนเรื่องคุณแพ (ไม่ใช่แพร) ทำน้ำอบตกแตกนั้น   ตอนนั้นท่านยังไม่ได้เป็นเจ้าจอมค่ะ   ยังเป็นหลานสาวของสมเด็จเจ้าพระยา อยู่บ้านพ่อแม่

เรื่องยื่นน้ำอบกันนั้นเป็นช่วงที่เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์มีพระทัยปฏิพัทธ์ในตัวคุณแพจนถึงขั้นสู่ขอแล้ว  แต่ยังไม่ถึงเวลาเข้ามาเป็นหม่อม



ทรงให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร มารับตัวคุณแพไปพบกันที่บริเวณสวนกุหลาบ   พบกันแบบเปิดเผยมีบุคคลที่สามอยู่ด้วย  

เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯทรงมีน้ำอบฝรั่งไปพระราชทาน   เมื่อยื่นให้ เจ้าคุณแพเกิดเอียงอายขึ้นมาไม่ยอมรับ

จึงประทานให้กรมหมื่นราชศักดิ์ฯ พระชันษา 12 ปี ส่งต่อให้คุณแพ

กรมหมื่นราชศักดิ์ฯก็ส่งต่อ   เจ้าคุณแพยังคงเหนียมอาย  'จะรับก็มิใช่จะไม่รับก็มิเชิง'     กรมหมื่นฯท่านนึกว่ารับก็เลยปล่อยพระหัตถ์

ขวดน้ำอบเลยพลัดตกแตก

ทั้งสองฝ่ายเลยกริ้วโกรธากรมหมื่นราชศักดิ์ฯว่าทำให้เสียของ

เรื่องเป็นแบบนี้ละค่ะ  ไม่ใช่เรื่องฝากรักหวือหวาอะไร



เรื่องติดเรทของกรมหลวงรักษ์รณเรศ มีอยู่ในพระราชพงศาวดาร

ดิฉันเว้นเอาไว้ไม่เล่าให้ละเอียด เพราะไม่รู้ว่าจะเล่าให้ได้อะไรขึ้นมา    

แค่เล่าสาเหตุใหญ่ๆที่เป็นหน้าหนึ่งของปวศ. ก็เห็นว่าพอแล้ว

ลูกหลานท่านยังมีตัวตนมาจนถึงปัจจุบันนี้อยู่    เกรงใจเขาน่ะค่ะ



ดิฉันแนะนำว่า คุณไปชงกาแฟดำแก่ๆ ดื่มน่าจะดี  เผื่ออาการแฮงค์โอเวอร์จะได้บรรเทา

คุณทำให้นึกถึงคุณ Rinda จริงๆด้วย


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 11 มิ.ย. 06, 15:47
 ขอแสดงความเห็นต่อประโยคนี้สักเล็กน้อยนะครับ
"พระองค์ทรงออกการ์ดเชิญขุนนางอังกฤษที่ประจำอยู่ที่คอมมอนเวลท์ฮ่องกงให้มาร่วมงานด้วย"

เป็นการตีความข้อมูลเกินเลยไปสักหน่อย
การ์ดที่ออกไป เพื่อแจ้งให้ทราบ เป็นการให้เกียรติผู้รับ ว่าทรงรำลึกถึง และทรงส่งไปทั่วโลกยังทุกคนที่ทรงรู้จัก
เป็นมารยาท ไม่ได้มุ่งหมายให้จับกำปั่นเข้ามาร่วมงานด้วยนะครับ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 11 มิ.ย. 06, 22:22
 ไกด์ของเรา ลงเรือไปทู่ระ บอกว่าแป๊บเดียว จะเป็นแป๊บเดียวแบบชาวเพชรที่บอกท่านสุนทรหรือปล่าวก็ไม่รู้

อยู่ทางนี้ เรือก็แล่นไปเรื่อย อย่ากระนั้นเลย ผมมาเล่าเรื่องของช่างภาพประจำยานย้อนเวลาดีกว่า เล่าผิด เดี๋ยวมัคคุเทศก์ก็มาแต่งแต้มจนงามดีพร้อมสรรพ
เหมือนฟะรันซิศ จิต แต่งแต้มพงศาวดารรัชกาลที่ 4 จนงามหยด ด้วยรูปฉายของท่าน ยังไงยังงั้นละ
-------------

ใครคือฟะรันซิศ จิต
ใครถามอย่างนี้ในปี 2406 ละก้อ เชยยิ่งกว่าคนเดี๋ยวนี้ไม่รู้จักท่านมุ้ย หรือไม่รู้จักพี่จักรพันธุ์ของผมทีเดียว

ในปีนั้น บางกอกกำลังคึกคักด้วยกิจกรรมหรูเริ่ดหลายอย่าง บ้านผู้ลากมากดีแถวปากคลองบางหลวง จะมีงานเลี้ยงออกบ่อย ในงานจะต้องใช้ชุดกระเบื้องอย่างดีครบชุด สั่งมาจากเมืองกะหลาป๋า ซิการ์รสฉุนจากสิงค์โปร์ ปิดท้ายด้วยเหล้าเชอรี่รสเข้ม ในวังหลวง น้ำแข็งก็เริ่มมีบริโภคกันแล้ว เป็นของวิเศษ ต่อยเป็นก้อนเล็กๆ ดูดน้ำเย็นเฉียบ จากก้อนใสๆ ที่หยิบนานหนอยก็เจ็บนิ้ว ผู้ใหญ่ลางท่านยังไม่เชื่อ หาว่าปั้นน้ำเป็นตัว แปลว่าโกหก

เรือแพในแม่น้ำล้วนหรูหรา ท่านเสนาบดีต่างมีเรือบต ที่ดูเหมือนฝาหรั่งจะเรียกว่าโบ้ต แล่นเสียงตึกๆๆๆๆกลางน้ำ ดูน่ามหัศจรรย์ ลำของพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ดูจะหรูกว่าทุกลำ ล่องไปมาระหว่างพระบวรราชวังไปทางวัดหงส์ คงจะโปรดให้ใครไปทอดพระเนตรข้าวังหน้า ซ่อมแซมปิดทองเพดานที่ค้างอยู่

สมัยแผ่นดินก่อน เมื่อท่านยังเป็นท่านฟ้าน้อย ยิ่งห้าวกว่านี้ ทรงชุดทหารเรือฝรั่งโก้หรู ใครๆไม่ทันมอง จะนึกว่าพวกฝาหรั่งนาวีมาทำธุระที่บ้านกระดีจีน

ตรงปากคลองบางหลวงลงไปทางใต้สักหน่อยก็จะถึงวัดดอกไม้ ที่ท่านเสนาบดีสองพี่น้องสร้างถวายพระสงฆ์ธรรมยุต แถวนั้นบ้านช่องแน่นหนายิ่งกว่าไก่บินไม่ตก มองไปตามริมแม่น้ำเรือนแพทอดเรรียงรายกันเป็นชั้นๆออกมาจากตลิ่ง เรือนหลังใหญ่หน่อย ที่มีเรือบตลำโตจอดอยู่ แลมีคนพลุกพล่าน เข้าๆออกๆกว่าใครเพื่อน
นั่นแหละ เรือนแพของมิศฟะรันซิศ จิต

ไม่แน่ใจ ถามชาวบ้านแถวนั้นก็ได้ เขารู้จักกันทั้งบางแหละ ว่านายจิต บ้านกระดีจีน ช่างชักรูปหลวง แกอารมณ์ดี ชอบจิบชาจีนเป็นกิจวัตร ชุดชาของแก เห็นว่าเป็นของพระราชทานเทียวนะคุณ แต่แกไม่ถือตัวดอก แกชักรูปให้คนเขาไปทั่วแหละ คิดราคาไม่แพง ถูกกว่าอ้ายแลมเบิร์ตที่เคยมาหากินหลายบาทอยู่ มิหนำซ้ำ ค้างค่าชักรูปไว้ก่อนแกก็ยอม ถูกใจแกยังให้ยืมหนังสือดีๆกลับมาอ่านที่บ้านเสียอีก


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มิ.ย. 06, 09:11
 ไกด์ตัวจริงมาแล้ว  ไกด์เถื่อนถอยไปนั่งท้ายเรือ
จะเตรียมขนมฝรั่งกระดีจีน  กับน้ำชาจีนอิมพอร์ตมากับเรือสำเภา
เสิฟให้ลูกทัวร์โดยทั่วกัน


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 12 มิ.ย. 06, 16:03

.
ทิ้งลูกทัวร์เฉ็ยยย์เลย อาจารย์คงมีธุระยุ่ง
เป็นไรเป็นกัน มั่วเล่าไปก่อน ผิด เดี๋ยวมีคนมาแก้เอง

รูปนี้ มาจากสตูดิโอฟะรันซิศจิต ของแท้เลยท่าน
หอพระสมุด อุตส่าห์หาเงินซื้อกระดาษ อัดรูปพวกนี้เก็บไว้ดู เสียดาย ประเทศเราเงินน้อย มัวแต่เอาเงินไปซื้ออาวุธ
ปีละเป็นหลายร้อยล้าน ไม่มีเงินแค่หมื่นกว่าบาท ทำคลังวัฒนธรรม
ก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรเหลือนะ จริงมะ

ผมเคยล่องยานย้อนอดีต ไปเล็งแล แถวท่าน้ำหน้าโบสถ์ซังตะครูส เห็นเป็นมุมเดียวกับรูปนี้เลยครับ ถามท่านจิตในความฝัน
ท่านบอกว่า แม่นแล้วไอ้มดอยากรู้ ข้าตั้งกลองที่ชานเรือนแพ มองไปทางซ้ายมือ ได้มุมงามสมใจปราถนา

ตาอ่ำข้างบ้าน มันยังนั่งงงๆ ว่าข้าขนข้าวของเครื่องมือออกมา แล้วทำไม ไม่ทุกลงเรืออย่างเคย มายืนคลุมโปง ทำอะไรอยู่เป็นนานสองนาน
มันไม่รู้หรอก ว่าข้าหมายตามุมนี้มาหลายเพลาแล้ว แต่ถ้าน้ำลด
เรือนแพดูโท้งเท้งโต้งเต้ง ไม่สง่างามสมเป็นพระมหานคร ที่พระเจ้าอยู่หัวอดส่าห์ทำนุบำรุง
น้ำเต็มฝั่งอย่างนี้ เห็นไหมว่าช่างงามเหมือนคำกวีว่า....เอ ข้าก็ว่ากลอนไม่เป็น วานแม่ครูเทาชมพูช่างจำ
ว่ากลอนสรรเสริญพระนครของเก่า ให้ฟังเป็นบุญหูช่างชักรูปหน่อยเท๊อดดดด

พวกช่างก็หยั่งงี้แหละ ภาษาไม่เป็นโล้เป็นพาย  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 12 มิ.ย. 06, 16:07
 .








แผนที่บ้านชักรูปของท่านจิต
ตราแดงไว้เป็นเครื่องหมาย
จะผิดก็ไม่กี่กระเบียดดอก  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 12 มิ.ย. 06, 20:56
 ผมซักไซ้ท่านอีกหลายอย่าง อาศัยว่าพอจะเคยถ่ายรูปมาบ้าง ทีท่าท่านจะเอ็นดู จึงถามว่า ถ้าเจ้าอยากรู้เรื่องชักรูป มาดูเครื่องมือของข้าใหมเล่า
ข้าเพิ่งได้กล้องสี่ตามาใหม่ กำลังนี้ ที่เมืองแก้วเขาเห่อกันยังกับขี้ใหม่หมาหอม เฮ่ยไม่ใช่สิ ยังกับแก้วสารพัดนึก
กระจกแผ่นเดียวถ่ายได้ตั้งสี่ท่า อัดเป็นรูปเล็กๆ แลกกันดูน่าปลื้มใจยิ่งนัก
ผมได้ยิน หูผึ่งเลยละครับ กล้องสี่ตานี่ อีตาดิสเรรี่ ฝรั่งเศสเป็นคนประดิษฐ์ขึ้นมา เคยเห็นแต่ในตำรา
วันนี้ช่างใหญ่จะพาชม โอย โชคดีอะไรปานนั้น
รีบโจนขึ้นแพ กลัวท่านจะเปลี่ยนใจ ขึ้นมาแล้วถึงรู้ว่า แพของท่านแม้เป็นลูกบวบเหมือนทั่วไป แต่มั่นคงแข็งแรงผิดกับของชาวบ้านเขา
สังเกตดูก็เห็นเสาไม้จริงหน้าเกือบศอก ปักอยู่หลายต้น ล่ามเรือนแพไว้ ไม่โยกเยกตามแรงน้ำ มิน่า ท่านถึงใช้เรือนแพเป็นห้องชักรูปได้


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 มิ.ย. 06, 21:50
 ไกด์ตัวจริงแกโจนขึ้นแพไปแล้ว   หายเงียบเข้าไปในห้อง คงจะตื่นเต้นกับกล้องของใหม่สมัยปลายศตวรรษที่ ๑๙
กว่าจะนึกถึงลูกทัวร์ได้  พวกเราก็คงนั่งตากแดดกันหัวแดงอยู่หน้าแพ  เนื้อตัวเกรียมหมด   ไม่ได้เอาครีมไวทเทนนิ่งมาเสียด้วย
อย่ากระนั้นเลย   ทิ้งแกไว้บนแพนี่แหละ    ไปทัวร์แถวๆนี้กันหน่อย มีอะไรให้ดูเยอะแยะ   อีกสักพักค่อยกลับมารับ

แห่งแรกจะเลี้ยวเรือไปชมตำหนักแพ  แถวพระบรมมหาราชวังนี่ละค่ะ   ไม่ไกลหรอก  เห็นอยู่ไวๆตรงมือชี้นั่นไง

ตำหนักแพแลล้ำอำไพ
มุขลดพาไลหลังคาสี
ช่อฟ้าหน้าบันบราลี
ล้วนมณีเนาวรัตน์ชัชวาล

ข้างหน้าตำหนักน้ำนั้นทำกรง
สำหรับราชสุริย์วงศ์สรงสนาน
เบื้องบนบังสาดดาดเพดาน
ผูกม่านมูลี่ลายทอง

ฤดูเดือนสิบเอ็ดเสด็จลง
ลอยกระทงทรงประทีปเป็นแถวถ้อง
ทอดทุ่นท้ายน้ำประจำซอง
ตั้งกองล้อมวงพระทรงธรรม์

อันถนนหนทางท้องฉนวน
ศิลาลายลาดล้วนเลือกสรร
มีตึกแถวทิมรอบขอบคัน
เรือสนมกำนัลเป็นหลั่นมา

(พระราชนิพนธ์ อิเหนา)


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 13 มิ.ย. 06, 21:54
 ในความฝันนั้น ท่านอยู่คุยกะผมนานพอดู เสียดายที่ไม่ได้พกเอ็มพี สาม เร็คขอร์ดเด้อร์ไปด้วย จะได้อัดเสียงมาแจกพ่อแม่พื่น้องฟัง ให้สมที่อยากรู้ แต่ก็ดีเหมือนกัน ได้ยินอยู่คนเดียว โก้ไม่หยอก

ท่านขนเอาสมบัติมาอวดหลายชิ้นอยู่ จำได้แม่นก็พวกกล่องไม้สักหลายใบ ใบโตนี่ ขนาดกำปั่นย่อมๆ บางกล่องเล็กหน่อยขนาดโตกว่ากล่องรองเท้า ข้างในเก็บกระจกรูปชักมากมายทีเดียว วิธีเก็บก็ช่างแยบคายนัก ด้านในตีไม้เป็นซี่ทั้งสองฟาก เว้นช่องเท่านิ้วก้อยพอใส่กระจกหนึ่งแผ่น
ถ้าท่านนึกไม่ออกก็นึกถึงที่ใส่กล่องซีดีเดี่ยวนี้ เพียงแต่แผ่นกระจกนี่เสียบปักลงตรงๆ เวลาดึงขึ้น ท่านจิตบอกว่าอย่าจับหนักมือ นิ้วจะกินขอบกระจกมากไป ทำน้ำยาถลอก ไม่ก็ติดขี้มือ กลายเป็นเหื่อ ทำกระจกด่าง เสียหายหมด

ท่านย้ำนักย้ำหนา ว่ากระจกพวกนี้แพงมากนะเจ้าหนุ่ม ซื้อเข้ามาแต่ละทีหมดเงินหลายชั่งอยู่ ยังดี พระเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตา ว่าแล้วแกก็ยกมือท่วมหัว ไหว้หันหน้าไปทางทิศเหนือ

เอ็งเห็นเสาธงใหญ่ ลิบๆ ไปทางเหนือโน่นใหมล่ะ มีธงพระจอมเกล้าโบกอยู่ แปลว่าท่านประทับอยู่ในพระอภิเนาว์นิเวศน์ พระองค์สั่งกระจกกะน้ำยาพวกนี้มาใช้ในราชการ มีใช้ไม่มีขาดมือ แลอนุญาตให้ข้าใช้ชักรูปอื่นๆ นอกเหนือ จากที่กรมหมื่นอลงกฏฯ จะรับพระราชกระแสรับสั่งให้ข้าไปชักรูปถวาย
ชักรูปแล้ว ก็โปรดให้ข้าเอามาหากินได้ อัดรูปจำหน่ายจ่ายแจกคนอื่นๆ ที่ต้องการ ได้เงินบ้างไม่ได้เงินบ้าง ข้าก็เลยมีช่องทางทำกินได้ไม่ขัดสน แต่ก็ต้องรักษาน้ำยาแลกระจกของหลวงไม่ให้ขาดจำนวนไปด้วย สาธุ...

ฟังแล้ว ผมก็อดเสริมไม่ได้ว่า อ๋อ ผมเคยเห็นครับท่านจิต
อีตาเบาริง อ้ายมูโอต์ แล้วก็นางแหม่มแอนนา พวกนี้พิมพ์หนังสือแล้วก็อวดว่า ในหลวงพระราชทานรูปให้
ที่แท้มาจากที่นี่นี่เอง

ฮ้า.... เอ็งก็รู้เรื่องนี้ด้วยหรือ พระเจ้าอยู่หัว ท่านทรงพระเมตตา ใครขออะไร ท่านให้ได้ เป็นไม่มีขัด มีไอ้ฝาหรั่งอีกคนหนะ ที่ชือมิศโตนสั้น เอ็งรู้จักหรือปล่าว

โตนสั้น ชื่อคุ้นๆ ยังนึกไม่ออกครับ
ที่มันไปถ่านรูปเมืองเขมรน่ะ มันมาขอหนังสืออนุญาตจากพระองค์ โฮย ได้ฟามสะดวกมากมายก่ายกองเลย จนมันได้เฝ้าพระเจ้าแผ่นดินขะเหมน ได้คนถางป่าเข้าไปถึงในเมืองร้าง มันยังเคยเอารูปชักปราสาทหินโบราณพวกนั้น มาอวดที่บ้านกะปิตันเฮส์เลย
นั่นหนะ พระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาทั้งนั้น

อ๋อ มิสเตอร์จอห์น ธอมสัน ชาวสก็อตส์ใช่ใหมครับ
ข้าไม่รู้ว่ามันเป็นชาวอะไร เห็นว่ามาจากเมืองใหม่ เอ็งเรียกว่ามิศต็อมสั้นหรือ นั่นละ คงจะคนเดียวกัน หมอนี่มาใช้เครื่องมือของข้าหลายอย่างเหมือนกัน ยังเคยไปถ่ายรูปด้วยกันอยู่หลายหน คราวถวายผ้าพระกฐินทางชลมารคก็หนหนึ่ง อีกหนก็คราวโสกันต์สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ฝีมือเขาดีอยู่นา ถ่ายแสงแดดคมชัดน่าชมทีเดียว


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 13 มิ.ย. 06, 22:06
 .















รูปจากพิมาย
ฝีมือของยอดฝีมือ
รูปนี้ ต้องเรียกกองกำลัง
ให้ถางป่าเข้าไปทำงานครับ  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 13 มิ.ย. 06, 22:16

.
เด็ดสุดๆ ครับ
ฟะรันซิศจิต เซ็นต์ชื่อไว้ด้วย  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 13 มิ.ย. 06, 22:24

.
ชุดเดียวกัน แต่มีทีเด็ดยิ่งกว่ารูปก่อน  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 13 มิ.ย. 06, 22:26

.
เห็นอะไรตรงธรณี
และที่ซ่อนอยู่ในคูหาใหมครับ  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 13 มิ.ย. 06, 22:58

.
ขยายขึ้นอีก
คราวนี้น่าจะเห็นชัดแล้วนะครับ ฮิฮิ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 14 มิ.ย. 06, 00:44
 เอ่อ..........

จะเรื่องมากเกินไปใหมครับ ถ้าผมจะบอกว่า ผมมาจากสายลังกาวงศ์ แล้วก็ไหว้คนเขาไปทั่ว แถมยังชอบคำกลอนตอนจบของรามเกียรติ์พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 อีกด้วย

อยากจะเป็นเครื่องบินเหมือนเดิมง่ะ
เป็นไม่ได้ เป็นนกกระจอกก็ยังดี

นะครับ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 15 มิ.ย. 06, 14:25
 เดาไม่ออกครับ ยอมแพ้ครับ อยากทราบเหมือนกันว่ามันคืออะไร


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 15 มิ.ย. 06, 21:01

.
เอาเฉพาะตรงธรณีปราสาทหินก่อน
ผมเป็นมดตาถั่ว
เห็นเป็นถ้วยชา อาจจะเป็นเครื่องยศพระราชทานกระมัง
ท่านจิต เล่นถ่ายรูปไป จิบชาไป

สุนทรียรมณ์เหลือประมาณ  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 มิ.ย. 06, 08:38
จะเข้ามาทายว่าเป็นหีบเพชรพระอุมาของแงซายก็เกรงใจคุณพนมเทียนว่าเป็นการผจญภัยคนละเรื่องกัน

เรื่องนี้เป็นการผจญภัยของมิศฟะรันซิศจิต   ก็ขอทายว่าเป็นหีบสมบัติของท่านค่ะ

คุณพิพัฒน์ออกจากแพไปไกลถึงกลางป่า    ดิฉันยังพาลูกทัวร์เที่ยวอยู่แถวตำหนักแพ ท่าราชวรดิฐ  ตามมาไม่ทัน
กำลังลังเลว่าแดดชักร้อน    จะพาลูกทัวร์กลับแพ ระหว่างทางแวะซื้อขนมฝรั่งกะดีจีนกินกันรอเวลาไปก่อนดีไหม

แวะแพของอำแดงเหมือนกับนายริด    ขอให้ช่วยพาไปซื้อขนมกระดีจีนให้หน่อย  ดิฉันไม่รู้ทาง
ก็เลยได้แกเป็นไกด์ท้องถิ่น อธิบายให้ฟังว่า

" ขนมกระดีจีนหรือเจ้าคะ   ขายกันถมถืดไปเจ้าค่ะแถวบ้านของพ่อจิตเขา   กระดีจีนก็เรียก  กุฎีจีนก็เรียก นะเจ้าคะ    อิฉันก็ทำเป็นเจ้าค่ะ
อ่อ  ถามว่าทำจากสิ่งใดฤๅเจ้าคะ   เขาทำด้วยแป้งฝรั่งเจ้าค่ะ เรียกว่าแป้งสาลี  ผสมน้ำตาล แลไข่เป็ด   อย่าเผลอไปหยิบไข่ไก่มาล่ะเจ้าคะ   ต้องตัดนมตัดเนยออก   ชาวบ้านเขาเหม็นนมเหม็นเนย  ขืนใส่ก็ไม่มีใครซื้อ
ปรุงแบบดั้งเดิมสืบมาจากกรุงเก่านู่นแน่ะเจ้าค่ะ    เขาว่ากันว่าเป็นตำรับท้าวทองกีบม้ามาจากในวังหลวง
คนรุ่นอิฉันรู้จักท้าวทองกีบม้าเหมือนรุ่นคุณๆรู้จักท้าวแดจังกึมน่ะแหละเจ้าค่ะ

อ้าว คุยเพลิน  ไหนเจ้าคะ ถามว่ากระไร ไม่ทันฟัง
อ๋อ  ถ้าจะให้กะว่าแป้งกี่ถ้วย  น้ำตาลกี่ช้อน อิฉันบอกไม่ถูกดอกเจ้าค่ะ  ก็กะๆเอาตามเคยชิน   คะเนว่ากลมกล่อมดีก็ใช้ได้  
หยอดลงพิมพ์เอาเข้าเตาอบ   ใส่ฟืนไม้ตะบูนทั้งข้างล่างข้างบน  เผาแล้วกลายเป็นถ่าน ขนมจะหอมหวนทวนลมเจ้าค่ะ  เดี๋ยวนี้ถ่านหายากยิ่งกว่าทอง
ของแต่งหน้าขนมฤๅเจ้าคะ  ก็หลายอย่าง  ลูกพลับแห้งเอย  ลูกเกดเอย  ฟักเชื่อมเอย  โรยน้ำตาลทรายขาวบางๆ   แค่นี้ก็รับกันไม่หวัดไม่ไหวแล้วเจ้าค่ะ  คุณเจ้าขา"


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 16 มิ.ย. 06, 13:20
 ขนมฝรั่งกุฎีจีนสมัยนี้ผมว่าไม่พิสมัยแล้วล่ะครับ วันก่อนไปชมวิวอยู่หน้าวัดซางตาครูส เห็นคุณยายขายขนมตรงศาลาหน้าวัดก็หมายใจไว้ว่าคงอร่อยลิ้น

ซื้อกลับมาสองห่อ.........

ปรากฏว่าไม่ไหวครับ แห้งจนต้องดื่มน้ำตาม

ขออนุญาตบังอาจแนะนำว่านอกจากซางตาครูสแล้ว ที่บ้านเขมรเองก็ยังมีการทำขนมฝรั่งเชื้อสายโปรตุเกสเช่นเดียวกัน

ชื่อแปลกๆก็อย่าง กุสรัง ปาสแตน ขนมฝรั่งแบบกุฎีจีนก็มีแต่ทำเป็นฤดุกาลช่วงคริสตมาส เคยกินแล้วนุ่มกว่าหลายครับ ข้างนอกกรอบแต่ข้างในแป้งยังเหมือนทำไม่สุก นุ่มๆนิ่มๆเนื้อนวลดี


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 มิ.ย. 06, 12:03
 ยอมรับเหมือนกันว่า ด้วยลิ้นยุค 2006 ขนมฝรั่งกุฎีจีนแห้งไปค่ะ  กลิ่นไม่หอม เนื้อไม่นุ่มเหมือนขนมเค้ก
คงเป็นเพราะขาดนมเนยซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญไป
แต่เมื่อร้อยสี่สิบปีก่อน   ลิ้นกินหมากของไทยคงรับรสแป้งและน้ำตาลได้ง่ายดายกว่านมเนย  เขาเหม็นนมเหม็นเนยกันพอๆกับปลาร้า

ไกด์ตัวจริงกลับจากพิมายมาชั่วคราว  ถามถึงเตาอบและพิมพ์ขนม ว่าสมัยใหม่ไปหรือเปล่า
ดิฉันไม่เคยเห็นเตาอบสมัยโบราณ   อำแดงเหมือนเธอก็ไม่มีรูปให้ดู  ท่านจิตไม่ได้ชักเงารูปเตาอบไว้   มัวแต่ชักเงารูปลูกค้าผู้ลากมากดี ก็ไม่มีเวลาว่างแล้วละค่ะ
เท่าที่รู้คือเตาอบโบราณของไทย ออกแบบให้เกลี่ยถ่านไว้ทั้งข้างบนและล่าง เพื่อให้ขนมสุกทั่วถึงกันดี    ไม่ใช่ลังถึงนึ่งขนม

เตาแบบนี้เดาว่ามีมาตั้งแต่อยุธยา  เพราะคุณท้าวทองกีบม้าต้องใช้นึ่งขนมด้วย  แล้วสืบทอดกันมาถึงรัตนโกสินทร์

ส่วนพิมพ์ขนม  ดูจากรูปร่างหน้าตาของขนมฝรั่งกุฎีจีน  ดิฉันเดาว่าเดิมคงเป็นถ้วยปากกว้าง เป็นเครื่องกระเบื้องของจีน แบบหนาๆ ทนทานต่อความร้อน  ยุคก่อนมีพิมพ์สังกะสี
เพราะขนมที่ใช้ถ้วยกระเบื้องเป็นพิมพ์ก็ยังมีร่องรอยให้เห็นมาจนถึงทุกวันนี้ อย่างพวกขนมถ้วยไงคะ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 17 มิ.ย. 06, 13:06
 ขออนุญาตคุณpipat แวะออกจากเรื่องภาพมาคุยเรื่องขนมกับอาจารย์เทาชมพู และคุณกุรุกุลา ซักความเห็นนะครับ


ผมเดาว่าอย่างนึงที่ทำให้ขนมฝรั่งกระดีจีน มีรสชาติเปลี่ยนไป (แห้งมากขึ้น ?) น่าจะมาจากเนื้อแป้งที่ใช้ทำขนมครับ
สมัยก่อน แป้งสาลีที่ใช้ คงสั่งเข้ามาขายกันเป็นถุงๆมีแค่เนื้อหนักแบบที่ใช้ทำขนมปัง และเนื้อเบาที่น่าจะใช้ทำขนมกระดีจีน
แต่ทุกวันนี้ เนื้อแป้งที่ใช้ถูกแยกเพิ่มขึ้นอีกหลายชนิด ซึ่งใช้ทำขนมที่แตกต่างกันออกไป เช่น เค้กเนื้อหนัก เค้กเนื้อเบา คุ้กกี้ หรือขนมปังเป็นต้น

คนขายขนมในยุคปัจจุบันก็คงใช้วิธีเลือกเอามาซักเนื้อนึง แล้วทำเป็นขนมออกมาเลย
ไม่ได้มาหาอัตราส่วนการผสมแป้งที่เหมาะสม เนื้อขนมก็เลยออกมาแห้งๆอย่างที่อาจารย์และคุณกุรุกุลาตั้งข้อสังเกตไว้


ถ้าไม่อยากให้เนื้อขนมแห้ง วิธีแก้ที่ถูกคือการนำแป้งเนื้ออื่นที่หนักกว่ามาเจือลงไปในอัตราส่วนที่เหมาะสม
เหมือนเวลาที่เราทำเค้กใส่ผลไม้แห้งแล้วอยากให้ชิ้นผลไม้เล็กๆลอยแทรกอยู่ในเนื้อได้อย่างเสมอตัวไงครับ
แต่กว่าจะหาอัตราส่วนของแป้งที่เหมาสมได้เนี่ยะยากน่าดูล่ะ แล้วก็เสียขนมที่ไม่ตรงสูตรไปอีกเยอะเลย

ผมเลยขอเดาเอาว่าคนขายขนมเดี๋ยวนี้อาจจะใช้วิธีการอบขนมไม่ให้แห้งสนิท เนื้อขนมก็จะมีความชื้นมากขึ้นหน่อย
แต่วิธีนี้คนชิมที่ช่างสังเกตชิมเข้าไปจะทราบทันที ว่ามีกลิ่นขาวของไข่แดงมากเกินไป เพราะเนื้อขนมไม่แห้งพอ
คนขายก็ต้องมานั่งแก้เรื่องกลิ่นคาวของไข่แดงอีกรอบ อาจจะใช้วิธีเติมกลิ่นสังเคราะห์ลงไปอีกซักกลิ่น เช่นกลิ่นนมแมว ก็ได้
(แต่วิธีนี้ผมมไค่อยชอบล่ะครับ เพราะกลิ่นสังเคราะห์แรงๆดมแล้วทราบได้นะครับ ว่ากลิ่นนี้น่ะ "ของปลอม")



เสียดายครับ ผมทำขนมกระดีจีนไม่เป็น คนที่ทำเป็นผมก็ไม่รู้จักซักคน ไม่งั้นจะลองทำดูซักหน่อยแล้วล่ะครับ แหะ แหะ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: Oam ที่ 19 มิ.ย. 06, 12:34
 แวะเข้ามาทักทายคุณ pipat หลังจากได้เจอตัวเป็นๆ ประทับใจกับงานของคุณ pipat มากๆ แล้วจะหาโอกาสมาร่วมวงคุยด้วยครับ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 19 มิ.ย. 06, 13:57
 ยินดีครับ ที่ได้มาเจอตัวเป็นๆ ของผม
ตัวเป็นๆ ของผม ก็ยินดีที่ได้เจอตัวเป็นๆ ของคุณ Oam เช่นกัน

เอ .... ผมว่าทักทายกันอย่างนี้ มันแม่งๆ อยู่นา 5555


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 19 มิ.ย. 06, 14:05
 คราวนี้ ขอย้อนกลับไปดูรูป 151 กันอีทีนะครับ
ท่านที่ตาดีหน่อย น่าจะเห็นกล่องอะไรสักอย่างที่ตั้งอยู่ในหลีบประตู เป็นกล่องสี่เหลี่ยม มีผ้าคลุมเสียด้วย
ถามคนเดี๋ยวนี้ อาจจะมีบางคนนึกว่าเป็นห้องอบสมุนไพรอะไรประมาณนั้น รับประกันซ่อมฟรีว่าไม่ใช่นะครับ

ท่านจิตของผม ไม่อุตริไปตั้งสปารารมณ์กลางป่าหิมพาต์ เอ้ย กลางพิมายเป็นอันขาด

แต่จะเป็นกล่องอะไร ลองทิ้งท้ายให้พ่อแม่พี่น้องลองเดาเล่น
ใครเดาถูกก็อนุญาตให้ไปซื้อขนมกระดีจีน ที่หน้าประตูธรรมศาสตร์ด้านท่าพระจันทร์ รับประทานเล่น อร่อยพอประมาณ

แต่จะเลิกกิจการไปแล้วหรือยังก็ไม่ทราบ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 19 มิ.ย. 06, 15:43
 เคยได้ยินคุณpipat เฉลยไปแล้วครับ ว่าไอ้เจ้ากล่องที่ว่าน่ะคืออะไร เลยตอบไม่ได้เดี๋ยวโดนเตะก้นเอา
แต่ย้อนกลับไปดูภาพที่ 151 ใหม่แล้วเห็นอะไรแปลกๆครับ

พ่อหนุ่มคนที่นั่งยองๆในภาพน่ะ ตัวใสๆยังไงก็ไม่รู้นะครับ (อย่างน้อยก็ใสจนมองเห็นกรอบประตูด้านหลังได้ล่ะ กรึ๋ยๆ)
เขาเป็นใครน๊อ เป็น ผะ ผะ ผะ ผี๋ ในรูปถ่ายหรือเปล่าอ่ะครับ คุณpipat
หรือแค่คนธรรมดาที่เข้ามาอยู่ในรูปช้าไปหน่อยหรือเปล่าครับ ภาพเลยบันทึกเอากรอบประตูเข้าไปด้วยบางส่วนครับ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 19 มิ.ย. 06, 17:48
 เปิดหน้ากล้องนานมากครับ พ่อหนุ่มคนนั้นคงถอดใจเสียก่อนเลยเดินออกมาระหว่างกระบวนการ หรือม่ายก็อย่างที่คุณติบอสงสัย คือเขาเดินเข้าไประหว่างที่กล้องถ่ายรูปอยู่

ถ้าเป็นกรณีนี้ ตอนจบอาจมีรายการเบิ๊ดกระโหลกกันมั่ง

ส่วนเจ้ากล่องนั้น ขอเดาดูสักตั้งว่าเป็นห้องมืดเคลื่อนที่หรือเปล่าครับคุณ pipat


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 19 มิ.ย. 06, 18:36
 อย่างนี้เขาไม่เรียกว่าเดาแล้วละครับ
ตอบถูกอย่างไม่มีข้อให้บิดพริ้ว นั่นคือห้องมืดเคลื่อนที่ของช่างภาพทุกคน ในยุค 150 ปีก่อน

ยุคนั้น มิสเตอร์โกดัก ยังไม่เกิด ฟิล์มสำเร็จรูปก็ยังไม่มี แม้แต่ฟิล์ม ก็ยังไม่ถูกผลิตนะครับ

มิศฟะรันซิศ จิต ก้อเลยต้องทำวันสะต็อป เซอร์วิศ ครับ
ชงเองกินเอง เอ้ย...ไม่ใช่ ต้องทำทุกอย่างที่จำเป็นเอง แล้วเวลาถ่ายรูปทีนะครับ จะต้องมีลูกหาบอย่างกะนักร้องลูกทุ่ง
คือนำหีบติดตัวไป 5 ใบ  3 ใบเป็นหีบกล้อง 2 ใบเป็นหีบน้ำยา
ผู้ช่วยอีก 2-3 คน
ดูรูปก่อนดีกว่า
เป็นรูปห้องมืดแบบอยู่กับบ้านหรือสะตูดิโอครับ

.


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 19 มิ.ย. 06, 18:53

.

อันนี้เป็นกระโจมห้องมืด
มาจากตำราถ่ายรูปรุ่นต้นรัชกาลที่ 5
หลังท่านจิตของผมไปถ่ายรูปพิมายครั้งนี้ ห้าหกปี

ผู้แต่งออกจะเว่อร์สักหน่อยนะครับ แทบจะย้ายบ้านไปทำงานนอกสถานที่
เปรียบเทียบห้องมืดนี้กับของท่านจิต อันนี้รุ่มร่ามกว่าแยะครับ  


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: เพื่อนพระเอก ที่ 20 มิ.ย. 06, 10:53
 มาขอบพระคุณอีกรอบครับ ละเลียดอ่านกระทู้นี้มาสองวันเต็มๆ แล้วครับผม


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 23 มิ.ย. 06, 13:16
 โอยๆๆ ปวดตามากเลยเจ้าค่ะ ตามอ่านเวปนี้มา สามวันแล้วเพราะเพิ่งหลงเข้ามา ติดแง่กอยู่ที่นี่ไม่หลับไม่นอน เพราะมีแต่เรื่องน่ารู้ทั้งนันเลย


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 23 มิ.ย. 06, 13:55
 น่าสนใจทั้งนั้นเลยครับ

แล้วก็ .... นอกเรื่องหน่อยนะ
คุณติบอท่าทางจะชิมขนมเก่ง  รู้ละเอียดทั้งรสในลิ้น ทั้งกลิ่นในจมูก แล้วก็วิธีอบ
ไม่รู้ว่ากินแกล้มกับอะไรได้มั่งเปล่า


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 24 มิ.ย. 06, 10:15
 คิดไปดูไปแล้วรู้สึกวาเมืองกรุงของเราถ้ายังรักษาสภาพเดิมอันมีรสนิยมในสมัยรัชกาลที่5-6-7ไว้ได้นี่คงจะเป็นเมืองที่สวยมากและเป็นมรดกโลกไปแล้วค่ะ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: หมูน้อยในกะลา ที่ 25 มิ.ย. 06, 14:16
 กระทู้นิทานโดนแกล้งนอกเรื่องให้เรื่องเดินช้า
มากระทู้นี้หมูฯขอนอกเรื่องบ้างแหละ

ครั้งหนึ่งเคยมีโอกาสได้เสวนากับสมาชิกหลายท่าน รวมทั้งคุณพิพัฒน์ด้วย คุณพิพัฒน์เล่าให้ฟังว่า เมื่อครั้งมีการถวายพระบรมศพในหลวงรัชกาลที่๕ และรัชกาลที่ ๘ นั้นมีฝนตกมาไม่หยุดเหมือนฟ้าร้องไห้ แสดงถึงพระบารมี ของทั้งสองพระองค์  ที่มีคล้ายกัน(เนื้อเรื่องที่เล่าประมาณนี้แหละครับ ไม่ใช่ก็ใกล้เคียง จำไม่ค่อยได้เพราะตอนนั้น หมูฯกำลังพุ่งความสนใจไปยังบะหมี่ซี่โครงหมูทอดบนโต๊ะอาหารอยู่  ถ้าผิดพลาดยังไงก็ขออภัยทุกท่านด้วยครับ)

หมูน้อยฯก็เลยพึมพำมาว่าเคยได้ยินว่าทั้ง ๒พระองค์มีวันที่สำคัญร่วมกันอยู่ด้วย แต่ไม่แน่ใจว่าคือวันอะไรวันไหน ถามคุณพิพัฒน์ว่าทั้ง ๒ พระองค์เสด็จสวรรคต ในวันและเดือนเดียวกันหรือเปล่า  คำตอบของคุณพิพัฒน์ก็ว่า เปล่า  แล้ววันครองราชย์ล่ะครับ ก็เปล่าอีกเช่นกัน

นับแต่วันนั้นหมูฯก็เก็บงำความสงสัยมาเรื่อย จนวันนี้มีโอกาศไปค้นมาในกูเกิ้ล ก็พบว่า

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468

หมูฯก็เป็นอันทราบแล้วว่าพระมหากษัตริย์ทั้ง ๒ พระองค์มีวันพระราชสมภพ เป็นวันและเดือนเดียวกัน(ต่างปี)และ ได้ขึ้นครองราชสมบัติขณะยังทรงพระเยาว์ ด้วยกันทั้ง ๒ พระองค์

ดังนั้น เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2528 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติกำหนดให้วันที่ 20 กันยายน ของทุกปีเป็นวันเยาวชนแห่งชาติ

(จบเรื่องเล่านอกเรื่องเพียงเท่านี้ แฮ่ะๆ เล่าไปแล้วก็ค่อยโล่งปอดคลายอึดอัดหน่อย)


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 มิ.ย. 06, 17:39

กระทู้นี้เส้นทางแยกออกไปหลายซอย  จนหลงแล้วละค่ะ
พยายามกลับมาที่ถนนใหญ่อีกครั้ง
ข้อมูลของคุณหมูน้อย  ดิฉันเพิ่งรู้เหมือนกัน   ขอบคุณที่เล่าสู่กันฟัง

ลองหัดใช้มด ๑ ตัวไต่ภาพทดลองดูบ้าง   ประเดิมด้วยภาพข้างบนนี้
มีคำบรรยายจากในนิทรรศการ "ภาพถ่ายโดยพระบรมราชานุญาต รัชสมัยรัชกาลที่ 4 และ รัชกาลที่ 5" และ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี " ที่โรงแรมคอนราด ถนนวิทยุ ว่า
"ฉาย ณ เกย พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท พระบรมมหาราชวังในการพระราชพิธีโสกันต์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกของสยามประเทศ เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ.2433"

ในภาพนี้ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระชันษาได้ ๑๓  (ประสูติ พ.ศ. ๒๔๒๑)   รายล้อมด้วยพระราชกุมาร ๖ พระองค์และพระราชกุมารีอีก ๑ พระองค์
คะเนพระชันษาพระองค์ซ้ายสุด ประมาณ ๕ หรือ ๖ ปี   อ่อนกว่าเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศประมาณ ๗ ปี   ก็น่าจะประสูติราว พ.ศ. ๒๔๒๘
มาดูว่าพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ไหนบ้างประสูติในปีนี้
ก็พบว่า มีพระองค์เจ้ารังสิตประยุรศักดิ์  สมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทร   ประสูติปี ๒๔๒๘
ที่ใกล้เคียงกัน เขยิบขึ้นมาหน่อย ประสูติในปี ๒๕๒๗  คือ
๑)พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ   กรมหมื่นสรรควิสัยนรบดี  
๒)พระองเจ้าสุริยงประยุรพันธุ์   กรมหมื่นไชยาศรีสุริโยภาส

จะเป็นพระองค์ไหนก็ไม่อาจทราบได้  แกะรอยได้แค่นี้


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 มิ.ย. 06, 17:47

พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นี้ ทรงมีเค้าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในปีพ.ศ. ๒๔๓๓  เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ พระชันษาได้ ๑๐ ปี  
เจ้านายพระองค์นี้ดูเด็กกว่า ๑๐ ขวบไหมคะ  เดาว่าพระชนม์ประมาณ ๗ ปี


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 มิ.ย. 06, 17:50

พระราชกุมารีในภาพ น่าทึ่งที่สุด  แต่งพระองค์แบบเด็กหญิงตะวันตก  ไม่เกล้าจุก  
ฉลองพระองค์และพระเกศา ยังกะเด็กฝรั่งสมัย 1950s  ไม่ใช่หนึ่งร้อยปีก่อน
เป็นพระเจ้าลูกเธอพระองค์ไหนกัน?


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 มิ.ย. 06, 08:45
สมาชิกใหม่ค่ะ
พอได้พบเวบนี้ เหมือนเจอขุมทรัพย์
อ่านเรื่องของสมเด็จพระพันวสาฯ แล้ว เลยขอถามผู้รู้สักนิด สงสัยมานาน ในภาพงานวันโสกันต์ ของสมเด็จเจ้าฟ้าวชิรุณหิศ เด็กผู้หญิงที่ว่าคือเจ้าฟ้าหญิงวไลยฯ ทำไมท่านไว้ผมอย่างนั้น ท่านไม่ไว้จุกหรือคะ

โดย: ใบตองสด  [IP: 203.154.175.98,,]
วันที่ 29 มิ.ย. 2549 - 07:52:32
คุณใบตองสดไปโพสต์ไว้ในกระทู้ สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ
ว่าคือสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงวไลยอลงกรณ์  
ไม่ทราบว่า คุณใบตองสดมีพระรูปทูลกระหม่อมวไลยฯตอนทรงพระเยาว์หรืออย่างไรคะ ถึงได้ทราบ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ค. 06, 22:01
 วันนี้ไปที่ล็อบบี้ของโรงแรมคอนราด  พบภาพนี้ขยายเป็นโปสเตอร์ใหญ่พร้อมด้วยรายพระนามเจ้านายในภาพ
จากซ้าย สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ  
พระองค์กลาง สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ
พระองค์ขวา  สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชกุมารี คือ สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์

คุณใบตองสดคงจะไปชมนิทรรศการมาแล้ว ถึงเห็นภาพนี้


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: เจ้าสำราญ ที่ 03 ก.ค. 06, 12:11
 ผมเคยได้อ่านพระราชประวัติของทูลกระหม่อมฟ้าหญิงวไลยอลงกรณ์ ซึ่งเป็นหนังสือที่จัดพิมพ์โดยสถาบันราชภัฏเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์(ในขณะนั้น)แต่จะเนื่องในโอกาสใดนั้นจำไม่ได้เสียแล้ว จำได้ว่าขณะทรงพระเยาว์ จะฉลองพระองค์ชุดฝรั่งและไม่ได้ทรงไว้จุก ชาววังสมัยนั้นจะเรียกพระองค์ว่า "ทูลกระหม่อมฟ้าหญิงแหม่ม" และก็จำได้ว่ามีการฉายพระรูปในวันพระราชพิธีโสกันต์ของพระองค์อยู่ด้วยนะครับ เข้าใจว่าแม้จะมิได้ทรงไว้จุก แต่ก็ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีโสกันต์ไว้ตามเดิม


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 12 ก.ค. 06, 10:32
 ดีใจมากเลยค่ะ ได้ชมรูปงามๆที่หาดูได้ยาก อีกทั้งยังคมชัดมาก ขอขอบคุณท่านผู้รู้ ทุกๆท่านที่กรุณามาให้ข้อมูล ติดตามชมอยู่ตลอดค่ะ


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: Z u s h ii* ที่ 13 ก.ค. 06, 19:22
 ขอบคุณมากครับ ที่นำภาพเหล่านี้มาให้ดู ชอบมากเลยย


กระทู้: มดอยากรู้ สำรวจกรุภาพเก่า
เริ่มกระทู้โดย: alohakhao ที่ 25 ส.ค. 06, 19:56
 แล้วไม่ทรงไว้จุก ไม่เป็นการผิดธรรมเนียม หรอคะ..