เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: pipat ที่ 04 ก.ค. 06, 10:39



กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 04 ก.ค. 06, 10:39
 .



อันที่จริงก็คือกระทู้เดียวกับสองแผ่นดิน
แต่ต้องขยายเป็นสามแผ่นดิน
หาไม่จะขาดการเริ่มต้น

ขออภัยอาจารย์เทาชมพู ที่ทำให้ต้องขยับไม้เรียว
ตอนนี้ศิษย์โค่งเริ่มทำการบ้านละครับ  


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 04 ก.ค. 06, 10:48
 หนังสือเกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน ที่มีคนอ้างน้อยที่สุด เท่าที่ผมสังเกตได้
คือหนังสือชุด
ประชุมพระราชปุจฉา

หนังสือชุดนี้อ่านสนุกและได้ข้อมูลชนิด "เป็นๆ" "สดๆ"
ชนิดที่ว่าอีตาเฒ่าจอมถุนยา ฟลอยด์ จะต้องชอบใช้เป็นอันดับหนึ่ง
เพราะมันเป็นปัญหาคับข้องใจที่พระเจ้าแผ่นดินเผดียงถามที่ปรึกษาทางจิตวิญญาน

แต่ขอโทษนะครับ
งานนี้ฟลอยด์ไม่เกี่ยว แม้ว่าจะเป็นข้อมูลทางจิตวิทยาก็ตามที
เพราะคำถามส่วนมาก เป็นชนิดประเทืองปัญญา ไม่ใช่ชนิดประเทืองอารมณ์ พระพุทธศาสนาของเราไม่มีภาคที่เป็นจิตวิเคราะห์และการบำบัดทางจิต

ในหนังสือนี้เอง ที่เราสามารถสัมผัสถึงน้ำพระทัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 04 ก.ค. 06, 10:55
 รูปเปิดเรื่อง เลือกพระมหาธาตุเจดีย์ศรีรัตนโกสินทร์
ณวัดอรุณราชวราราม เพราะเป็นอนุสรณ์สถานเพียงแห่งเดียว ที่เกี่ยวเนื่องสามแผ่นดินเข้าด้วยกัน

ปลายรัชกาลที่ 5  เคยเกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่
พระเจ้าอยู่หัวต้องรีบเสด็จข้ามแม่น้ำมาบัญชาการดับเพลิง และเร่งให้อัญเชิญสมบัติอันมีคุณค่าสูงสุดของพระบรมราชวงศ์ออกมาจากวินาศภัย

ทิ้งท้ายไว้แค่นี้ รอคุณนิลกังขามาต่อ......


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.ค. 06, 11:01
 เห็นคุณนิลกำลังวิเคราะห์กลุ่มสีเอาเป็นเอาตายอยู่อีกกระทู้หนึ่งค่ะ     เสร็จแล้วคงมา

ว่าแต่กระทู้นี้แน่ใจหรือคะ ว่าแค่สามแผ่นดิน
เริ่มด้วยวัดแจ้งในรัชกาลที่ ๒  เล่าต่อถึงไฟไหม้สมัยรัชกาลที่ ๕   ดิฉันนับได้ ๔ แผ่นดินแล้วอย่างน้อย
ถ้าจะเริ่มจากชื่อวัดแจ้งก็ต้องนับแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินไปด้วยอีกหนึ่งแผ่นดิน

ห้าเข้าไปแล้ว    
ไม่เป็นไร   ถ้านับแล้วเกินสามแผ่นดินอย่าเพิ่งตั้งกระทู้ใหม่
บอกมาแล้วกัน  จะเปลี่ยนชื่อกระทู้ให้


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 04 ก.ค. 06, 11:48
วัดแจ้งมีสองชีวิตครับ
ชีวิตแรกดำเนินมาถึงปีที่รัชกาลที่ 2 ดำริให้สถาปนาพระมหาธาตุริมน้ำขึ้น
จากนั้น วัดนี้ก็เปลี่ยนสภาวะ กลายเป็นพระศรีรัตนมหาธาตุแห่งพระมหานคร

พระเจ้าตากท่านจะยึดถือคตินี้มากน้อยเพียงใดผมยังสงสัยอยู่
ถ้านึกว่าพ่อท่านมาจากเมืองจีนหมาดๆแล้วมาได้กับสาวไทยที่เราไม่รู้สถานะทางสังคม การที่ท่านได้เป็นมหาดเล็กก็เป็นเรื่องน่ามหัศจรรย์และเป็นไปไม่ได้
แต่สิบห้าปีที่ท่านเป็นกษัตริย์นั้น ไม่มีวี่แววของคติเรื่องพระมหาธาตุกลางเมือง และแม้ว่าท่านยังครองแผ่นดินต่อไป ก็ไม่แน่ว่าจะมีการสถาปนาศาสนสถานชั้นพิเศษนี้หรือไม่

ผมเดาว่า รัชกาลที่ 1 น่าจะทรงคิด แต่ด้วยความรอบคอบจึงโปรดให้สถาปนาพระโตก่อน
คือพระศรีศากยมุนี ล้อพระเจ้าพนัญเชิง
ส่วนพระศรีรัตนมหาธาตุนั้น ต้องแน่ใจว่าบ้านเมืองสงบราบคาบแล้ว จึงสร้าง ซึ่งก็ตกเป็นพระราชภาระของรัชกาลต่อมา

การสถาปนาพระมหาธาตุริมน้ำเช่นนี้ เป็นการแตกแนวอยุธยาเป็นครั้งแรก
และผมคิดว่ารัตนโกสินทร์ที่สมบูรณ์แบบเริ่มต้นที่นี่ เพราะรัชกาลที่ 2 ประสูติเมื่อกรุงแตกพอดี 2310 จึงไม่เคยทรงใช้ชีวิตเมื่อครั้งบ้านเมืองดี อุดมการณ์เดิม จะส่งต่อมาเด่นชัดเพียงใดเป็นเรื่องที่"ต้อง"ศึกษา

แต่ที่รัชกาลที่ 3 สถาปนาต่อนี่ชัดเจนว่า เลิกเป็นอยุธยาแล้ว
ดังนั้นจึงขอนั่งยัน นอนยัน ยืนยัน จนถูกยัน ว่า
สามแผ่นดินพอแล่ว

ส่วนที่เล่าเลยไปถึงรัชกาลอื่นๆนั้น กลอน...เอ ไม่ใช่ซี ผมเล่นกลอนไม่เป็น
คีย์บอดพาไปละกันนะครับ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 04 ก.ค. 06, 16:51
 ขออนุญาตแวะมานั่งอ่านกระทู้ด้วยคนครับ เรื่องดูน่าสนุกขึ้นทุกทีซะแล้วววววววว

เอาขนมมาฝากกับชา Darjeeling ครับ เผื่อจะมีสมาชิกท่านไหนอยากเพิ่มน้ำหนักให้หุ่นเหมือนผมบ้าง อิอิ




.


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เฟื่องแก้ว ที่ 04 ก.ค. 06, 17:57
 มาช่วยหม่ำขนมค่ะ ช่วยน้องติบอจะได้ไม่ต้องหม่ำมาก
หน้าตาเหมือนบิสกิตเลย น่าอร่อย
ยกของว่างมาเพิ่มอีกที่ เผื่อคุณครูทั้งสองท่านจะชอบ
ปอเปี๊ยะฝีมือปลาทองแคระค่ะ ผัดไส้เอง ห่อเอง หม่ำเอง

ฟังต่อค่ะ (พับครีบเรียบร้อย)


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: หมูน้อยในกะลา ที่ 04 ก.ค. 06, 19:03
 นี่ผมเข้ากระทู้ร้านอาหารอยู่รึเปล่าครับเนี๊ย ??  
โอ๊ยเห็นแล้วหิว!!



.


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 04 ก.ค. 06, 20:51
 พระนั่งเกล้าฯ ทรงพิโรธบันดาเข้าหนมทั้งปวงที่เหล่าเสนาเชิญมาจัดเลี้ยง
จะยกครอบศีรษะก็เกรงจะอื้อฉาวไปทั้งแผ่นดิน
โปรดให้นำสิ่งของทั้งปวงไปพระราชทานอีกาที่ลานหน้าพระมหาปราสาท แลให้สั่งปิสซ่ามาเพิ่มเติม จนกว่ากาจะอิ่ม
แลทรงคาดโทษว่า ครั้งหน้า หากยังกล้านำสิ่งของผิดสำแดงเช่นนี้เข้ามาในพระราชอาณาจักร
จะจับตัวพวกเจ้าไปขัดลานวัดพระเชตุพน ข้อหาสาบแช่งบ้านเมืองให้เป็นขี้ข้าฝรั่ง

อ้อ ให้ริบไอติมจากเจ้าเด็กปากเท่าตะหมูกนั่นมาเสียด้วย
หลานข้า แม่เทพธิดา คงจะชอบ....55555


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 04 ก.ค. 06, 21:12
 อ่านความรู้สึกของคุณนิลฯ ที่บ่นเรื่องไม่มีใครรักพระนั่งเกล้าฯ แล้วน่าเห็นใจ
แวดวงทางด้านตัวหนังสือนี่ต่างกะพวกเล่นของ....เอ่อ ศิลปะ อย่างพวกผมครับ
เพราะเราพูดกันแต่ศิลปะรัชกาลที่ 3 ถ้าพูดเรื่องศิลปะหลังอยุธยาลงมา เป็นยุคที่รุ่งเรืองสุดๆ สุดๆ สุดๆ และสุดๆ
เอ้า สุดละยังเพ่ ศิลปะของท่าน เริ่มตั้งแต่รัชกาลที่ 2 เมื่อท่านต้องยกทัพไปเมืองกาญจน์
แล้วต้องไปตัดไม้ข่มนามที่วัดโบราณแห่งหนึ่ง เรียกกันว่าวัดจอมทอง ละแวกนั้นเลยถูกหวย เพราะท่านกลับมาทำนุกบำรุงท้องถิ่น และวัดสุดโทรมแห่งนี้ ให้กลายเป็นจุดเปลี่ยนทางศิลปะของชาติ
ขอแนะนำทุกท่านที่มีลูกนัยตาอันดี และรสนิยมอันเลิศ ว่าวัดนี้ ต้องไปชมอย่างเด็ดขาด
หากยังต้องการรักษาจิตวิญญานอันร่อแร่ของรอล่า...เอ๊ย คนละเรื่องซะแล่ว

เอาใหม่
วัดนี้เจ๋งอ่ะเพ่ เจ๋งตั้งกะการวางทำเลเลยทีเดียวเจียว นี่ผมว่าตามความจำเมื่อยังละอ่อนนะครับ
ตลิ่งงามเหลือเกิน ตัววัดตั้งรับคลอง ทอดระยะพอเดินหายเหนื่อย ท้องน้ำ ลานดิน ผืนฟ้า และสถาปัตยกรรม
เข้ากันเป็นส่วนผสมพิเศษ และที่พิเศษยกกำลังสามก็คือ สี
สี ที่พวกเพ่กะลังทุ่มถียงกันอะเหร็ตอะหร่อยนั่นแหละ
ที่วัดนี้ มีการวางโครงสีที่สุดยอดของวิจิตรอาคาร
เมื่อลองเอาไปเปรียบเทียบกับวัดโพธิ์นะครับท่าน วัดโพธิ์กลายเป็นวัดขาวดำไปเลยทีเดียว


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 04 ก.ค. 06, 21:22
 ท่านเล่นสนุกที่วัดนี้หลายอย่าง เพราะเป็นวัดนอกอย่าง
คือหนีขนบธรรมเนียม ข้อยึดถือนานาประการออกไปอย่างสนุกสนาน แต่ไม่ทิ้งหัวใจดั้งเดิม

คุ้นๆใหมครับท่าน กรมหมื่นเจษฯกับท่านฟ้าใหญ่ สมเป็นลูกศิลปินยิ่งนัก

พระราชบิดาได้ยินกิตติศัพท์ ก็ทรงอนุโมทนาด้วย พระราชทานพระนามวัดว่า วัดราชโอรสาราม
ก็ท่านก็ภูมิใจลูกท่านน่ะซี

มีนักกวีคนหนึ่งแต่กลอนชมวัดนี้ไว้ว่า...อันวัดวาอาวาส ประหลาดสร้าง....
ผมจำได้แค่นี้แหละ ใครรู้กรุณามาต่อด้วย
เอาแบบเต็มๆ หน่อยก็จะเป็นความเมตตาแก่ผู้น้อยด้อยกระบวลกลอนจ้ะ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 04 ก.ค. 06, 22:52
 ดิฉันเรียนประวัติศาสตร์ที่สำนักเทวาลัยมา ขอยืนยันว่าพวกเราส่วนหนึ่งหละที่รักรัชกาลที่สาม
เพราะอาจารย์ที่นั่น ให้ความรู้และสอนให้วิเคราะห์ไปด้วย โดยเฉพาะความสามารถและน้ำพระทัยของรัชกาลที่สาม
และการสร้างสมความรู้ของรัชกาลที่สี่ ระหว่างทรงผนวช
ทำให้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่สร้างพื้นฐานที่เข้มแข็งให้สยามประเทศ
ขอเอ่ยชื่ออาจารย์สักท่านหนึ่งค่ะ คือรศ.วิลาสวงศ์ พงศะบุตร
เรียนประวัติศาสตร์กับอาจารย์แล้วมันจริงๆ
..


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 05 ก.ค. 06, 00:36
 วิ่งมาเก็บ Scone ออกไปแทบไม่ทัน ก็แหม่เจ้าของกระทู้ท่านกรุณาจะนำขนมของผมไปให้อีกาเสียแล้วล่ะสิ
ผมเลยต้องมาเก็บไป ไม่งั้นเดี๋ยวอีกาFedEX ที่มากินขนมอาจจะหลงคาบข่าวอะไรๆไปให้เกิดเรื่องยุ่งยากขึ้นมานี่นา ฮี่ฮี่



ก็เลยได้อ่านกระทู้ต่อ... ว่าแล้วก็รู้สึกอยากไปเที่ยววัดราชโอรสขึ้นมาตะหงิดๆ ครับ

ผมเคยไปแข่งตอบปัญหาที่วัดนี้ จำได้ว่าวันนั้นทางวัดก็ใจดีเปิดอุโบสถให้เข้าชม
ตอนนั้นผมก็เลยกะว่าจะรีบๆตกรอบออกมา จะได้เข้าไปดูในพระอุโบสถให้สมอยาก ส่วนเงินรางวัลไม่กี่บาทน่ะไม่สนหรอก หุหุ
ที่ไหนได้คำตอบเจ้ากรรมที่ผมตัดสินใจ "เลือกข้อนี้ล่ะวะ" เพราะดูแล้วคิดว่าผิดแน่ๆน่ะ ถูกไปหลายข้ออ่ะครับ
ผมเลยต้องอยู่จนรอบท้ายๆ กว่าจะออกมาได้อุโบสถปิดแล้ว อดเข้าชมเลย (ได้ยินว่านานๆเปิดทีด้วย) แย่ชะมัด แงๆ




ปล. เอานี่มาฝากดีกว่าครับ ขนมอะไรใครเดาได้บ้างครับ อิอิ



.


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.ค. 06, 09:24
วัดนี้งามติดตามากค่ะ  คุณติบอน่าจะหาโอกาสไปชม   สีสันกระเบื้องวิจิตรตระการตา  
ตอนที่ไป เขาเพิ่งบูรณะเสร็จไม่นาน  เป็นวัดที่สดใสตั้งแต่ก้าวเดินเข้าไปดู
ได้ดูต้นพิกุลที่สมเด็จพระนั่งเกล้าฯเคยประทับนั่งใต้ต้น ทรงควบคุมงานด้วย

พระยาไชยวิชิต (เผือก) แต่งเฉลิมพระเกียรติไว้ ว่า

อันวัดวาอาวาสประหลาดสร้าง
ยักย้ายหลายอย่างโบสถ์วิหาร
ช่อฟ้าหางหงส์ทรงบุราณ
ไม่ทนทานว่ามักจะหักพัง

พระอารามนามราชโอรส
หน้าบันชั้นลดลายฝรั่ง
กระเบื้องเคลือบสอดสีมีพนัง
เป็นอย่างนอกออกปลั่งปลาบปลิว

ลางหลังตั้งวงเป็นทรงเก๋ง
จีนสำเพ็งพวกแซ่แต้จิ๋ว
วิชาช่างจ้างทำเป็นแถวทิว
แจกติ้วให้ตั๋วตั้งครัวเลี้ยง


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.ค. 06, 09:35
นายมี เขียนยอพระเกียรติ    ในบทนี้พรรณนาเรื่องสีเอาไว้เฉิดฉันพรรณรายทีเดียว
ใครที่วิเคราะห์สีเอาเป็นเอาตายกันอยู่ในกระทู้โน้น แวะมาอาจจะได้ไอเดียไปวิเคราะห์ต่อ

ให้นายช่างร่างแผนที่ถวาย
ไม่แยบคายเขินขัดให้จัดสรร
ทรงประดิษฐ์คิดสร้างละอย่างกัน
ล้างเหมาะมั่นอิฐไม้มิใครเปลือง

ใบระกาหน้าบันสุวรรณปิด
ไม่ทนฤทธิ์ฝนรดก็ปลดเปลื้อง
กระจกเจียนเปลี่ยนผลัดจำรัสเรือง
ทั้งขาวเหลืองเขียวแดงแลแสงคราม

ที่สีเหลืองเรืองรองเหมือนทองสุก
แลเลื่อมลุกล้ำทองผ่องอร่าม
จับแสงแดดแผดเผาเป็นเงางาม
ดูสุกวามวาบวับเข้าจับตา

ทั้งขาวแดงแสงระยับสลับสี
รัศมีโรจน์รุ่งพุ่งเวหา
น้ำค้างลมถมทับไม่อัปรา
ทั้งฝนฟ้าตกต้องไม่หมองมัว

ทั้งงามทนล้นเหลือดังเนื้อแก้ว
ดูผ่องแผ้วท่วงทีมิมีชั่ว
ซุ้มคูหาหน้าบันชั้นฐานบัว
ตลอดทั่วทุกวัดที่ดัดแปลง

สมเด็จกรมพระยานริศราฯ ทรงกล่าวถึงวัดราชโอรสไว้ด้วยค่ะ  แต่ตอนนี้ขี้เกียจลอกหนังสือ   มันหลายบรรทัด
ฟังจากคุณพิพัฒน์เล่าเองดีกว่า


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 05 ก.ค. 06, 10:58
 เข้ามากินขนมชมวัดครับ

เมื่อวานได้ดูรายการคุณพระช่วยก็เห็นพาไปชมวัดนี้เหมือนกัน

ก็ไม่ทราบว่ารายการเวลากระชั้นชิดหรือไรจึงได้ดูแต่พระแท่นที่ประทับพระนั่งเกล้า

ท่านเป็นผู้ที่ทำให้มีสีสันในรัตนโกสินทร์จริงๆ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.ค. 06, 11:00
 ขนมที่เอามาตั้งอยู่หลังวัด ไม่กลัวกาโฉบไปกินนั่นขนมลิ้นแมวหรือเปล่าคะ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.ค. 06, 14:27

.
พาพรรคพวก เดินกินขนมชมวัด  ตามไปด้วย
 http://www.dhammathai.org/watthai/bangkok/watratchaorasaram.php  


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 05 ก.ค. 06, 14:33
 อาจารย์เทาฯ ทำพวกเราอดของดีซะแล่ว
พระนิพนธ์สมเด็จฯ แม้ไม่กี่ประโยค พวกเราเคี้ยวกินอิ่มท้องจนท้องแตกตาย ก็ยังเหลือ
ไม่เหมือนผม น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหลงเหลง
------

ยกวัดราชโอรสมาเสนอเป็นสำรับแรก....(เอ นี่เรากะลังทำกับข้าวกันรึไงนี่) เพราะต้องการเน้นว่า ความเป็นรัตน์โกสินทร์เริ่มต้นในรัชกาลนี้ และความเปลี่ยนแปลงมากมายที่เกิดในรัชกาลที่ 3 และ 4 ก็มาจากจุดกำเนิดในรัชกาลที่ 2 อีกเช่นกัน
นักวรรณคดีคงมีประเด็นจะเสริมได้มากกระมัง

เมื่อตอนปฎิสังขรณ์วัดจอมทองนั้น พระนั่งเกล้าพระชนม์ประมาณ 35 (ปีเริ่มนั้นไม่แน่นอน แต่ที่ยกออกไปเตรียมสกัดทัพพม่านั้น ท่านสัก 33-34 กระมัง กลับเข้ามาก็คงเริ่มงาน แต่กว่าจะเสร็จก็นานข้ามรัชกาลทีเดียว) ทำราชการมาตั้งแต่เริ่มรัชกาลเป็นอย่างน้อย ตอนที่กาละฟัดเข้ามาจะเอาเปรียบสยามนั้น ยังนินทาว่า ทรงเป็นผู้ดูแลบ้านเมืองสูงสุด แทบจะว่าถ้าทรงเห็นอย่างไรแล้วพระเจ้าแผ่นดินก็ต้องยอมตาม
ผมอ่านแล้วก็รู้สึกว่าฝรั่งนายนี้มารยาททรามเหลือทน อังกฤษเอาคนอย่างนี้เข้ามาทำเรื่องสำคัญมีแต่จะล้มเหลว กาละฟัดได้ไปชมวัดราชโอรสด้วย ถ้าประเมินจากความเห็นดูถูกคนพื้นเมืองที่เขามีเป็นปกตินิสัยแล้ว อังกฤษนายนี้ชมวัดก็ต้องถือว่าแปลกมากๆ และในวันนั้น วัดคงงดงามจนคนโง่ก็รู้ว่างามกระมัง

มีของใหม่มากเหลือเกินที่วัดนี้ พระยาไชยวิชิต (เผือก คนนี้กระมังที่ไปเป็นเจ้าเมืองกรุงเก่า ที่สุนทรภู่เคยอ้างถึง...ไม่ทราบว่าจำผิดหรือเปล่า ใครรู้ช่วยแกที) สามารถสรุปสิ่งใหม่ได้หลายข้อทีเดียว
1.....ลายฝรั่ง
2.....อย่างนอก
และข้อมูลที่พิเศษสุดก็คือ การจ้างช่างจีนเข้ามาทำงาน
นี่เป็นการเดินนอกแถวระบบศักดินาที่มีมาเป็นหลายร้อยปีกระมัง
คือ แทนที่จะใช้แรงงานเกณฑ์ ท่านใช้วิธีจ้างงาน ซึ่งน่าจะได้ผลตามต้องการมากกว่าระบบเดิม
ระบบจ้างงานจะเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น จนกลายเป็นระบบคู่ขนานกับการเกณฑ์แรง และอาจจะสำคัญกว่าเสียด้วยซ้ำ เมื่อปรากฏว่า งานสำคัญๆระดับสาธารณูปโภคของเมือง จะใช้ระบบจ้างงานต่อไป

ใหนๆก็พูดเกินศิลปะไปแล้ว
ก็ขอตามน้ำอีกสักประเด็น คือ รัชกาลที่ 2 นี้เอง ที่เริ่มระบบราชกาลที่จะกลายเป็นกระดูกสันหลังของการปกครองไปอีกนับร้อยปี คือการตั้งเจ้านายกำกับราชการ ซึ่งเป็นแนวความคิดที่ต้องยกหัวแม่โป้งให้หมดตัวเลยละครับ
ระบบนี้ดียังไง.................


(ประกาศคนหาย)
ชายสูงอายุ มีป้ายปิดหน้าผากว่ารักพระนั่งเกล้า....
ท่าทางเลอะเลือน
หายไปจากร้านขายสีตั้งแต่สองวันก่อน
ใครเจอ โปรดนำส่งลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ด้วย


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.ค. 06, 17:00
 ช่วยตามหาชายป้ายปิด  ไม่เจอคุณลุง  พบแต่ชายหนุ่มอายุยังไม่ครบปีบวช   และยังไม่มีเหย้าเรือน
แกแต่งเต็มยศสีกากีชุดกำนัน    ไปรับแหนบทองคำกำนันดีเด่น   เห็นแวบๆแถวช่อง 11 นี่ละค่ะ
เดี๋ยวฉลองกับเพื่อนๆเสร็จแล้ว แกก็คงวิ่งกลับมาถวายบังคมที่วัดราชโอรสเอง
++++++++++++
ดิฉันคัด "สาส์นสมเด็จ"มาให้  รอแกไปพลางๆก่อน  พระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยานริศราฯ

" พิจารณาวัดราชโอรส เห็นได้ว่าวัดนอกอย่างนั้น  ไม่ใช่แต่เอาช่อฟ้าใบระกาออกเท่านั้น
สิ่งอื่นเช่นลวดลายและรูปภาพเป็นต้น ก็แผลงไปเปนอย่างอื่นหมด
คงไว้แต่สิ่งอันเป็นหลักของวัด  อันจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น โบสถ์ วิหาร เป็นต้น

นอกจากทรงสร้างตามพระราชหฤทัย ไม่เกรงใครจะติเตียน   แต่ตั้งพระราชหฤทัย ประจงให้งามอย่างแปลก  มิใช่ทรงสร้างแต่พอให้เป็นบุญกริยา"


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 05 ก.ค. 06, 18:59
 พระนิพนธ์ของสมเด็จฯนริศนั้น ตัดออกไม่ได้แม้แต่หนึ่งตัวอักษร ถ้าเป็นมนุษย์ก็เรียกว่าไม่มีไขมันส่วนเกิน
แม้แต่หนึ่งหยดน้ำมัน ประโยคเดียวนี้ ขยายทำวิทยานิพนธ์ได้สองเล่มเชียวครับ
เล่มแรกคือประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมไทย
อีกเล่มคือประวัติศาสตร์สุนทรียศาสตร์ไทย
ใครทำ ผมจะไปคอยส่งข้าวส่งน้ำให้

ขอย้อนมาว่าเรื่องเจ้านายทรงกรมก่อน
นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ หรือกลางเก่ากลางใหม่ ชอบสรุปว่ารัชกาลที่ 5 ทรงโยงอำนาจกลับสู่องค์พระมหากษัตริย์ได้
จึงปฏิรูปราชการไทยสำเร็จ นัยยะก็คือตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์มา อำนาจอยู่กับขุนนาง โดยเฉพาะตระกูลบุนนาค
ผมเองไม่เห็นด้วยแต่ไม่ได้สนใจนัก เพราะบ้านเมืองไม่ใช่ของผมคนเดียว
อ้าว ..เกี่ยวอะไรล่ะพี่
เกี่ยวสิน้อง ก็เขาเป็นเอกอัครนักประวัติศาสตร์ เขาว่ามาเราก็ต้องเชื่อ
เพราะเราจ้างเขาด้วยภาษีอากรให้มาทำงานอย่างนั้น ไม่เชื่อเขา ก็ต้องปลดออก
แล้วจะเอาใครที่ใหนมาเป็นครูประวัติศาสตร์กันเล่า

เออ  จริงแฮะ.......
ผมก็เลยนิ่งเสียตำลึงทอง แต่ในใจก็นึกว่า ฮี่โด้...ร. 2 ท่านให้เจ้านายกำกับราชการมาแต่ปีมะโว้แล้ว
ข้าราชการยุดรัตนโกสินทร์น่ะ ไม่ได้มีอำนาจราชศักดิ์ล้นเหลืออย่างปลายอยุธยา
ซึ่งพระราชวงศ์ฆ่ากันตายยังกับหนังของไอ้โรคจิต ตารันติโน่
แต่ละรัชกาลนั้น น่าจะตายกันเป็นเบือ
บ้านเมืองตกอยู่ในการดูแลของขุนนาง ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่ามีมาตรฐานทางปัญญาที่ต่ำกว่าเจ้านายเป็นอันมาก

ถึงรัชกาลที่ 1 บันดาเจ้านายยังไม่พอใช้งาน แต่ถึงรัชกาลที่ 2 นี่ ท่านมีพี่น้องชาย 14-15 พระองค์
ล้วนหนุ่มฉกรรจ์ ได้รับการศึกษาอบรมมาอย่างดี จึงเกิดระบบราชการที่น่าสนใจยิ่ง
สมัยอยุธยานั้น เมื่อมีพี่น้องมาก ท่านใช้วิธีไล่ออกไปครองเมือง ต่างคนต่างอยู่ จนมาถึงตอนปลายก็พบว่า
วิธีนี้เป็นโทษมากกว่าเป็นประโยชน์ ก็เลยไม่มีระบบเจ้านายครองเมือง

ถึงรัชกาลที่ 2 เจ้านายเหล่านี้ ก็ยังไม่มีเมืองให้ครอง เพราะพม่าเข้ามาทำลายระบบเมืองป้อมทิ้งทั้งหมด
เมืองใหนมีค่ายคูประตูเมืองก็ทำลายทิ้ง ข้างไทยก็เห็นว่าเข้าท่า ตั้งแต่นั้นหัวเมืองจึงเปลี่ยนวิธีป้องกันตัว
คือต้องพึ่งเมืองหลวงอย่างเดียว

ผมเดาเอาว่าเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก คงเห็นตัวอย่างเมืองพิษณุโลก
ที่มีป้อมค่ายมั่นคง ทิ้งไว้ก็เป็นภัยเพราะซ่องสุมผู้คนง่าย
ดังนั้น จึงโปรดให้รื้ออิฐจากกำแพงเมืองอยุธยามาใช้สร้างกรุงเทพ
เพื่อสลายการป้องกันตนเอง ไม่ให้กระทำได้ แล้วพอมีเหตุให้ชุมนุมผู้คน
เช่นตื่นกันเรื่องเทวรูปพระเจ้าอู่ทอง ท่านก็โปรดให้เชิญเทวรูปนั้น
มากรุงเทพ ตัดสาเหตุที่ไฟจะลามทุ่งทิ้งทั้งหมด

การที่คนมีสติปัญญามาชุมนุมในพระราชสำนักจึงเป็นกำลังอย่างวิเศษ
ให้ไทยฟื้นประเทศ จะเปรียบไปแล้ว รัชกาลที่ 2 ท่านก็เป็นคอนดัคเตอร์
คุมวงดนตรีประเทศสยามไปในทิศทางที่ทรงโปรด
ถามว่าท่านฉลาดพอจะทำอย่างนั้นได้ใหม
ก็ลองไปอ่านพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 2 ดู ว่ากวีระดับนั้น
คุมวง 3 ประเเทศยังสะบาย ...สะบายมั้งครับ แถมยังมีหัวหน้านักดนตรี
เป็นลูกชายคนโตซึ่งเป็นอัจฉริยะบุรุษอีกด้วย
16 ปีในรัชกาลนี้ ก็เลยถูกนักประวัติศาสตร์ชั้น 2 มองว่า บ่มิไก๊

เห็นฉลองกันอยู่นั่นแหละเรื่องละคอนนอก ปีละหน
ทำไมเขาไม่ศึกษากันหนอ ว่า 16 ปีนี้ เปลี่ยนประเทศไทย
ไปในทิศทางใด

รู้สึกจะเกินเรื่องสถาปัตยกรรมไปมากแล้ว เดี๋ยวจะมาคุยต่อครับ

ขอเวลาไปสอบที่โรงพักหน่อย แจ้งความคนหายไว้   555555ขีนไม่มาช่วยผม
สามแผ่นดิน จะกลายเป็นหลายแผ่นดิน สุดท้ายจะเพี้ยนเป็นนิยายไปน่ะนา


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 05 ก.ค. 06, 19:30
 ทีนี้จะมาคุยเรื่องการช่างเสียที
วัดราชโอรสนี้ ฝีมือก่อสร้างประดุจเทพยดา
ผนังทุกระนาบ ขึงตึง ยังกับเพิ่งฉาบปูนเสร็จ เนื้อปูนฉาบก็เนียนละเอียด
(ผมไม่รู้ว่า กรมศล๊วกปะรากรซ่อมแล้วจะดีกว่าเดิมสักแค่ใหน ดังนั้น เล่าตามที่ผมจำได้ละกัน) และเสาทุกต้น เหลี่ยมมุม
การจับเฟี้ยมตรงดิ่งยังกับวิษณุกรรมประสิทธิ์
ลองนำวัดนี้ ไปเทียบกับวัดเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งท่านสร้างปลายรัชกาล และค้างอยู่
มาทำต่อในรัชกาลที่ 4 ฝีมือคุมงานต่างกันราวนรกกับสวรรค์
ผมเชื่อของผมว่าผู้รับเหมาโกงครับท่าน

ผมเดาเอาอย่างนี้ละกัน
ท่านมาประทับใต้ต้นพิกุล ตรวจแบบ และกำกับการเอง
ตามวิสัยผู้คุมงานที่ถี่ถ้วน ทรายที่นำมา ต้องร่อนละเอียด แห้ง
ต้องคัดชนิดเม็ดงามไม่ใช่ทรายขี้เป็ด ปูนที่ใช้ ต้องหมักได้ที่ ผสมกันอย่างไม่ต้องกลัวเปลือง
และต้องใช้สดๆ มาทำทิ้งค้างเป็นครึ่งค่อนวันรับรองว่าได้เจ็บตัวหลังลายแน่นอน

จะลองยกตัวอย่างงานของคนเดียวกัน แต่ทำไมสีมือห่างกันราวกับครูและลูกศิษย์
สมเด็จเจ้าพระยาฑัตครับ
ท่านคุมงานสร้างพระปรางค์วัดอรุณ ซึ่งเป็นดุษฎีสถาปัตยกรรมของชาติและของโลก
แล้วไปดูพระปรางค์อมโรคของท่านที่วัดพิชัยญาติสิครับ
ห่างกันเกินกว่าร้อยเท่า คือองค์หนึ่งเป็นศิลปะ องค์หนึ่งเป็นแค่อาคาร

ผมคิดว่าสิ่งที่ต่างกัน คือ วัดอรุณ มีผู้คุมเหนือผู้คุมอีกชั้นหนึ่ง
แต่ที่วัดพิชัยญาติ ท่านฑัต คุมตัวเอง
นี่คือข้อแตกต่าง
ถ้าใช้เกณฑ์นี้มาพิจารณา ผมก็ขอเสนอว่า สุดยอดสถาปัตยกรรมที่รัชกาลที่ 3
ทรงควบคุมการก่อสร้างอย่างใกล้ชิด ได้แก่
วัดราชโอรสาราม
วัดอรุณราชวราราม
วัดมหาสุทธาวาส
วัดสระเกษ
วัดราชนัดดา และวัดเทพธิดาราม
และอีกสองวัด ที่ท่านเพิ่มเติมงานของรัชกาลก่อน คือ
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
วัดพระเชตุพน

ทั้งหมดนี้ จะเห็นจริงได้ ต้องไปกินอยู่หลับนอนวัดละเจ็ดแปดวัน
จึงจะซึมลึกเข้าเนื้อถึงแก่นแท้ของสถาปัตยกรรมกรุงรัตนโกสินทร์


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 05 ก.ค. 06, 19:51
 โอ้มายก้อด ....ยัวร์ก้อด .....แอนด์เอาว์ก้อด
ก้อดมันทังโคตรเลยนะกรมศะหลิน.....

นี่มันเอาหินลานวัดของผมไปใหน
มันเอาแผ่นทองประดับอัญมณีของพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไป
ท่านอุตสาห์เลือกคัดจากในพระราชอาณาจักรของท่าน
ว่าท้องที่ใด มีของดีของงาม ของคู่ควรกับพระพุทธศาสนา
ท่านเป็นต้องไปตามหามา เลือกจัด เลือกวาง แต่ละก้อนท่านต้องเคยเหยียบ
เผลอๆ จะเคยจัดด้วยพระหัตถ์

พวกเทวทัตเอ๋ย
มันเอาแผ่นหินโสโครกโสกกะโดก อันคู่ควรกับห้องน้ำสาธารณะ มาปูแทน
ผมขอถามหน่อยเถิดว่า หินที่ท่านขนไป ซึ่งมีราคาตามท้องตลาด (ไม่รวมราคาค่าประวัติศาสตร์)
แผ่นละหลายพันบาท มาถูกแทนที่ด้วยปูนซีเมต์อัดชั้นต่ำก้อนละยี่สิบห้าบาท
หินแพงๆพวกนั้นไปใหนหมด
กี่วัดแล้ว ที่ท่านขุดสมบัติชาติขายกินอย่างสิ้นคิด
เอ ....หรือมันคิดละเอียดสะหละตะแล้วหว่า

เอาอะไรคิดกันจ๊ะ
ใช้ไอ้ที่สวมรองเท้าคิดหรือเปล่า นี่มันอาชญากรรมสยองเทียวนะครับ

ขอไว้อาลัยรูปนี้สามวันครับผม

.


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 05 ก.ค. 06, 20:02

.
ของแท้ต้องเป็นอย่างนี้นะจ๊ะ พ่อมหาจำเริญ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.ค. 06, 09:36
 มีรูปมาให้ชมไปพลางๆก่อน ค่ะ
ภาพแรกคือหน้าบันพระวิหาร ที่ไม่มีช่อฟ้าใบระกาหางหงส์
.
.


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.ค. 06, 09:46
 รูปทวารบาล เซี่ยวกาง (หรือเสี้ยวกาง) ที่ไทยรับตำนานมาจากจีน  
สมัยราชวงศ์พระเจ้าถังไท้จง   เซี่ยวกางคือทหารเอก 2 คนชื่อซินซกโป กับอวยชีจง
พอมาเป็นไทยก็กลายเป็นเทวดาไทยไป
.
.


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.ค. 06, 09:48
 ชอบลายหน้าต่างบานนี้มากค่ะ
.
.


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.ค. 06, 09:50
 พระพุทธไสยาสน์ของวัดราชโอรส
ไม่ชอบเลยที่เขายังมีเหล็กกั้นเกะกะไปหมด
เอาออกหรือยังไม่ทราบ

ทั้งหมดเอามาจากเว็บนี้ค่ะ วันไปเที่ยว ไม่ได้เอากล้องไป
 http://www.geocities.com/ratorot/
.
.


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 06 ก.ค. 06, 11:32
 โอย เห็นแล้วอยากร้องไห้ค่ะ ต้องไปดูให้ได้เลยวันนี้


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 06 ก.ค. 06, 19:54
 วัดนี้ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมายครับ โดยเฉพาะการบูรณะแบบตามใจฉันของทางวัด เป็นเรื่องที่หนาวจริงๆ

ก็คงประมาณเมื่อแปดสิบปีมาแล้ว ครั้งนั้น 2469
"ซ่อมกำแพงแก้ว และประตูกำแพงแก้ว พระอุโบสถ โดย สร้างแบบไทย แทนของเดิมซึ่งเป็นศิลปกรรมจีน ทั้งหมดเลียนแบบจากวัดสุทัศน์"

แล้วก็อีกครั้งราวๆ ปี 2530
คือรื้อศาลารายเดิมที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบเรียบง่ายออกทั้งหมด และสร้างใหม่เป็น "ศาลเจ้าจีน" สันหลังคา สันตะเข้ ทาสีฉูดฉาดเหมือนโรงงิ้ว
แล้วก็เอาเหล็กดัดห้องแถวมาปิด ก็ไม่ทราบว่าจะสร้างให้คนหรือแมวมันลอดเข้าไปนอน

ชะรอยพระเสื้อเมืองท่านยังทรงเมตตาบ้างที่พระอุโบสถและวิหารได้รับการบูรณะไว้โดยกรมศิลป์ก่อนแล้ว ถ้าปล่อยให้สร้างด้วยวิธีของวัดก็ไม่รู้ว่าวัดนี้เป็นวัดกษัตริย์สร้าง เหมือนโดนมล้างด้วยฝีมือคนไร้รสนิยมบางคน


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 06 ก.ค. 06, 20:18
 ยกกลอนของสุนทรภู่เกี่ยวกะวัดนี้มาบ้างครับ
ปี 2374
ถึงบางหว้าอารามนามจอมทอง
ดูเรืองรองรุ่งโรจน์ที่โบสถ์สาม
สาธุสะพระองค์ที่ทรงสร้าง
เป็นเยี่ยงอย่างขึ้นไว้ในสยาม
ในพระโกศโปรดปรานประทานนาม
โอรสราชอารามงามเจริญ
มีเขื่อนรอบขอบคูดูพิลึก
กุฏิตึกเก๋งกุฏิสุดสรรเสริญ
ที่ริมน้ำทำศาลาไว้น่าเพลิน
จนเรือเดินมาถึงทางบางขุนเทียน


สุนทรภู่ไปพระแท่นดงรัง ในปี 2376 ก็ได้เขียนเกี่ยวกับวัดนี้เอาไว้อีก

ประมาณสามยามเงียบเชียบสงัด
มาถึงวัดจอมทองดูผ่องใส
มีเกาะขวางกลางชลาพฤกษาไทร
ยังจำได้พรั่งพร้อมถึงจอมทอง

ถ้าจำไม่ผิดคลองที่ผ่านวัดนี้คือคลองด่านหรือคลองสนามไชย แสดงว่าคงจะใหญ่พอดูจึงมีเกาะได้ ไม่ทราบสมัยนี้ยังอยู่หรือไม่


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ก.ค. 06, 11:26
ขอเข้ามาดึงกระทู้นี้ไว้  ไม่ให้ตกหน้าลงไปค่ะ
***************
สาเหตุการสร้างวัดราชโอรส  นายธนิต อยู่โพธิ์ เรียบเรียงเอาไว้ยาวเอาการเหมือนกัน
ขอตัดตอนมาย่อๆก็แล้วกัน

สาเหตุหนึ่งคงจะเนื่องมาจากกรมสมเด็จพระศรีสุลาไลย(เจ้าจอมมารดาเรียม)พระบรมราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เป็นธิดาของพระยานนทบุรี (จัน) และคุณหญิงเพ็ง
คุณหญิงเพ็งเป็นธิดาของพระยาราชวังสัน(หวัง ) และท่านชู
ท่านชูจึงเป็นยายทวดของสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ
ท่านชูผู้นี้กล่าวกันว่าเป็นธิดาคหบดีเจ้าของสวนแถวคลองด่าน  แถววัดหนัง  ใกล้วัดจอมทอง  ถิ่นนี้จึงมีวงญาติของท่านอาศัยอยู่โดยมาก

นอกจากนี้เจ้าอาวาสวัดจอมทอง  ต่อมาเมื่อเป็นวัดราชโอรสแล้ว  ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระสุธรรมเทพเถร
เล่ากันว่าท่านชำนาญการพยากรณ์ยามสามตาด้วย   และคงจะได้คุ้นเคยกับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เมื่อครั้งทรงเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ในรัชกาลที่ 2


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 12 ก.ค. 06, 15:13
 แอบเดินตามท่านผู้ใหญ่  พร้อมเคี้ยวขนมข้าวเหนียวแดงสุดอร่อย หนึบๆ ติดฟัน เดินตามดูของสวยๆงามๆต่อ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 12 ก.ค. 06, 21:59
 ไม่ได้เข้ามาดูกระทู้นี้เสียนานเลยครับ พอเข้ามาถึงได้นึกขึ้นได้ว่าผมลืมเฉลยว่าขนมในภาพที่ 12 คือขนมอะไร


ขอเฉลยว่า "ขนมทองทัต" นะครับ ภาพจากพระนิพนธ์ "ขนมลูกๆทองแดง" ครับ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 13 ก.ค. 06, 13:17
 หนีไปกระอักโลหิตมาสามรอบ อาการแค้นฝังใจค่อยคลายลงบ้าง
ฟ้าหนอฟ้า ส่งศิลปะไทยมาเกิดแล้ว ใยต้องให้กรมศิลป์มาเกิดด้วย
อะไรที่เป็นคุณค่า เป็นต้องถูกแปรไปเป็นมูลค่าเสียทั้งสิ้น จะมีเหนือกว่าก็คือการท่องเที่ยว...

สองหน่วยนี้ เข้ากันดียังกะผีคู่กะโลง

แต่เหนือฟ้า ยังมีฟ้า เหนือดารายังมีดาวราย เอ เกี่ยวใหมหว่า
พ่อแม่พี่น้องทั้งหลายทราบใหมครับ ว่าสุดยอดแห่งการทำลายล้างศิลปะวัตถุในประวัติศาสตร์ชาติไทยสมัยใหม่ คือครั้งใด

ไม่นับคราวเสียกรุงนะ คราวนั้นนรกแตก ยกเว้นให้


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 13 ก.ค. 06, 16:23
 ทางรถไฟที่แพงที่สุดในโลก น่าจะได้แก่เส้นที่ผ่านลพบุรี และที่ผ่านกำแพงแสน.............
แพงแค่ใหนหรือ

เขาเอาพระพุทธรูปสมัยทวารวดีถมทำทางวางรางน่ะ แพงไม้
ที่ลพบุรีอาจจะถูกกว่าหน่อย เพราะใช้ศิลปะเขมรกับอู่ทอง

แล้ว เขื่อนที่แพงที่สุดในประเทศไทยคือที่ใหนรู้ใหม
..........


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: ศรีปิงเวียง ที่ 13 ก.ค. 06, 18:46
 เรียน คุณพิพัฒน์ ที่พึงเคารพครับ
ผมมองว่า เขื่อนที่แพงที่สุด คือ เขื่อนสามโตรก (อ้าว นี่ของจีนแดงนี่ ไม่ช่ายๆๆๆ)
ด้านราคา ยกให้กับเขื่อนยันฮี
ด้านทรัพยากร ก็ยกให้เขื่อนเขาแหลมครับ
เพราะ ใต้เขื่อนเขาแหลม มีวัดร้าง!+รางรถไฟสายเมืองกาญจน์-ตะนาวศรี+ที่ทำกินของชาวบ้านในสังขละบุรี ครับ
นี่ยังไม่นับความอุดมสมบูรณ์ของป่าเมืองกาญจน์ ที่สูญไปตั้ง 1 ใน 7 ครับ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 13 ก.ค. 06, 19:15
 ศิลปะวัตถุที่สูงค่ายิ่งใหญ่ที่สุดชิ้นหนึ่งของเรา
เป็นพระบฎขนาดสูงคับห้อง รูปพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์
ประมาณอายุไม่ถูก เพราะพบเพียงชิ้นเดียว
มีค่าควรเมือง

อาจจะตรงกับสมัยอยุธยาตอนกลาง เป็นหนึ่งในไม่กี่ร้อยชิ้น ที่เราขนออกมาจากเขตนำท่วมหลังเขื่อน
มาจากอำเภอฮอด ปัจจุบัน(คงจะ)อยู่ที่หอศิลป์ ถนนเจ้าฟ้า
ผมไม่ได้ชมนานแล้ว ไม่ทราบว่ายังอยู่ดีหรือไม่อย่างไร

ใต้ผืนน้ำยังกู้ออกมาไม่ทันอีกไม่รู้กี่แสนชิ้น

ขิเชิญคุณศรีฯ ต่อเลยครับ เขื่อนใหม่ๆ ไม่ค่อยรู้จัก คือไม่อยากรู้จักน่ะครับ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 13 ก.ค. 06, 22:44
 มาต่อเรื่องวัดราชโอรสครับ
ที่ท่านอธิบดีธนิตว่ามา เป็นส่วนที่ท่านตีความ ซึ่งมีวิธีพิสูจน์ได้ ด้วยการไปศึกษาระบบสัญลักษณ์ที่ใช้ในวัด
พูดอย่างนี้ เพราะเทียบต้วอย่างจากวัดเฉลิมพระเกียรติ ที่สร้างอุทิศ พระชนกชนนีของพระราชมารดา
มีการสร้างสัญลักษณ์ว่า
1 กำแพงวัด สร้างเป็นป้อม เพื่อแสดงสถานะที่เป็นเจ้าเมืองนนทบุรี
2 ลายหน้าบัน เป็นรูปกระต่ายชมจันทร์
ล้อชื่อ เพ็ง และจัน
เพ็ญเต็มดวง คือดวงจันทร์

เสียดายที่วัดสร้างไม่เสร็จ หาไม่จะมีรหัสให้ถอดมากกว่านี้

สำหรับที่คลองด่านนั้น
ทรงปฎิสังขรณ์มากกว่าวัดจอมทอง และทรงชักชวนคนอื่นๆมาร่วมสร้างชุมชนอีกมากมาย ดังนั้นประเด็นที่ว่าสร้างอุทิศบรรพบุรุษ จึงอาจจะเป็นเหตุผลส่วนเดียว
เหตุผลอีกส่วนน่าจะมาจากเศรษฐกิจ

แถวนี้มีใครเป็นนักเศรษฐศาสตร์โบราณบ้าง มาช่วยผมที
คุณนิลกังขาเธอหนีงานหายสาบสูญไปซะแล่ว


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: ศรีปิงเวียง ที่ 14 ก.ค. 06, 17:59
 สวัสดี คุณพิพัฒน์ ครับ
ขออนุญาตฝากลิงค์เรื่องเขื่อนสามโตรก( Three Gorges Dam )ของจีนแดงก่อนนะครับ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: นางมารน้อย ที่ 17 ก.ค. 06, 11:30
ขอนั่งยัน นอนยัน ยืนยันค่ะว่าถึงใครไม่รักและเคารพรัชกาลที่สาม นางมารน้อยผู้นี้ขอสักการะพระองค์ด้วยใจจริง ทั้งรัชกาลที่สามและสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ค่ะ ศรัทธาในความสามารถและพระวิริยะอุตสาหะของท่านที่ทำเพื่อบ้านเมืองโดยแท้จริง


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ค. 06, 13:01
แก้คำที่พิมพ์ผิดให้นางมารน้อยแล้วนะคะ  ท่านคงไม่พิโรธหรอกค่ะ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 17 ก.ค. 06, 22:24
 ในวัดราชโอรสนั้น มีสิ่งอันพึงชมอยู่มากมาย
ขอกล่าวถึงสิ่งวิเศษที่คนใจบาปหยาบช้า กระทำการเลวทรามลักขโมยไปเสียก่อน
คือรูปเทวดาจีนขนาดใหญ่กว่าคน เป็นกระเบื้องเขียนสีแสนงดงาม ตีราคาไม่ได้ไม่ว่าเป็นเงินบาท เงินดอลล่าร์ หรือเงินเย็น
ในหนังสือของอาจารย์ น ณปากน้ำ และหนังสือเมืองโบราณเคยลงรูปไว้ อาจจะหาชมยากหน่อย แต่น้องคนใหนที่สิงสู่อยู่ ม.ศิลปากร ในห้องวารสารคงจะมีให้ชม แนะนำให้ชมเสียเป็นบุญตา
สิ่งที่ควรใส่ใจต่อไป คือรูปตุ๊กตาจีน ที่เรามาเรียกกันว่าอับเฉาเรือ ที่นั่น เป็นชุดเริ่มแรกของประติมากรรมเหล่านี้
ไม่แน่ใจว่าสภาพจะทรุดโทรมไปมากน้อยเพียงใด

ผมต้องขอโทษ ที่พาชมแบบของแห้ง ไม่มีรูปประกอบเลย
เคยมีครับ แต่ไม่ใส่ใจเก็บ สไลด์มากกว่าสามสี่ร้อยกล่อง
กลายเป็นทรากไปหมด เสียดายอยู่เหมือนกัน

อย่างที่สามคือ เครื่องตกแต่งหน้าบัน
เป็นงานเครื่องเคลือบที่มีคุณภาพสูงสุดที่ปรากฏในรัชกาลก็ว่าได้ เพราะผมยังไม่เห็นที่ใหนจะมีคุณภาพเหนือกว่า

ใครที่เป็นนักถ่ายรูป ใช้เครื่องกระเบื้องที่วัดนี้ ทดสอบได้เลย ว่าเลนส์ของคุณ จำลองสีของจริงออกมาได้กี่หน่วย เผลอๆจะเสียเงินซื้อเลนส์หมดตัว
แดงที่นั่น สีอิ่มลึก เขียวก็กระจ่างสดใส แม้แต่เหลืองก็แวววับใสสด

นี่คือจุดกำเนิดของสถาปัตยกรรมสี เป็นศรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 01 ก.ย. 06, 14:37

วัดไหนไหนก็ไม่ลือระบือยศ
เหมือนวัดราชโอรสอันสดใส
เป็นวัดเดิมเริ่มสร้างไม่อย่างใคร
ล้วนอย่างใหม่ทรงคิดประดิษฐ์ทำ

ทรงสร้างด้วยพระมหาวิริยาธึก
โอฬารึกพร้อมพริ้งทุกสิ่งขำ
ล้วนเกลี้ยงเกลาเพราะเพริศดูเลิศล้ำ
ฟังข่าวคำลือสุดอยุธยา

จะรำพันสรรเสริญก็เกินสมุด
ขอยกหยุดพองามตามเลขา
กำหนดสร้างอาวาสโดยมาตรา
ประมาณช้านับได้สิบสี่ปี

จึงเสร็จการอาวาสราชโอรส
อันเลื่องยศเฟื่องฟุ้งทั่งกรุงศรี
แล้วสมโภชโปรดปรานการทวี
การที่มีเหลือล้นคณนา

เพิ่งได้เขามาอ่านกระทู้สนุกๆ กระทู้นี้ครับ เสียดายที่กระทู้หยุดนิ่งไปนานแล้ว ขอยกเพลงยาวของนายมี มหาดเล็ก มาหนุนกระทู้นี้ให้ระบือยศต่อไป

ใครที่ยังเห็นแก่ผลแห่งกุศลวิทยาทาน ก็ได้โปรดเข้ามาบำเพ็ญเพิ่มเติมทีเถิด


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 01 ก.ย. 06, 14:40
 ล้วนเกลี้ยงเกลาเพราะเพริศดูเลิศล้ำ ขอแก้เป็น ล้วนเกลี้ยงเกลา "เพรา" เพริศดูเลิศล้ำ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 01 ก.ย. 06, 18:32
 ผมขออนุญาตใช้ฐานะของสมาชิกผู้อ่านเรือนไทยคนหนึ่ง เข้ามาขอบคุณ คุณUP นะครับ ที่นำเพลงยาวบทนี้มาฝากกัน

ช่วงหลังมานี้ไม่ได้เห็นคุณUP คุณนิลกังขา หรือคุณpipat โพสต์ข้อความบนบอร์ดบ่อยเท่าเมื่อก่อนแล้ว
ผมก็ได้แต่ระฦกถึง "ความเห็นเพิ่มเติมคุณภาพ" ที่แน่นด้วยข้อมูลที่น่าสนใจทุกตัวอักษร ของแต่ละท่านน่ะครับ



แวะมาเยี่ยมกันบ่อยๆนะครับ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 01 ก.ย. 06, 18:45
 อ่านกระทู้นี้ทีไร  ผมใจหวิวๆ ทุกครั้ง
คงไม่ค่อยคุ้นเคยกับภาษาบางสำเนียง
อ่านบ่อยๆ คงจะช่วยให้คุ้นมั่ง


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 02 ก.ย. 06, 03:26

เห็นภาพพระแท่นที่ประทับของรัชกาลที่ ๓ แล้วก็อดจะนำมาให้คุณ pipat ชมให้ชื่นใจไม่ได้

ทั้งแกรนิตเขาเงามันปลาบที่เสริมอยู่โดยรอบ ทั้งเสาและโซ่แสตนเลสสตีลที่ล้อมไว้

งามมั้ยครับ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 02 ก.ย. 06, 08:16
 สวยงามมากเลยครับคุณ UP เสาแสตนเลสสีขาววาววับรับกันได้ดีกับพื้นแกรนิตมันบาดตา ขับให้องค์พระแท่นดูโดดเด่นยิ่งกว่านั้นด้วย "พระป้าย" จารึกพระนามอย่างไม่เป็นทางการ ราวกับท่านอยู่ใกล้ๆและใครๆก็เรียกท่านอย่างนี้ได้ตอนอยู่ต่อหน้าพระที่นั่ง


อย่างน้อยก็ไม่มีใครเอาเซียมซีมาวางล่ะครับ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ย. 06, 10:32
 คุณพิพัฒน์ยังไม่เข้ามา    ขอระดมกำลังผู้ที่เห็นว่ากระทู้นี้ดี มีคุณค่าสาระ มาช่วยกันให้อ๊อกซิเย่นกันคนละไม้ละมือค่ะ

เห็นงานศิลป์แกรนิตและสเตนเลสที่คุณ UP และคุณกุรุมาร่วมด้วยช่วยกันแล้วก็ตื้นตันจนจุก พูดไม่ออก
จนต้องพาย้อนเวลากลับไปในอดีต  เพื่อดูว่าสมัยนั้นเขาทำกันยังไง

พบว่าธุรกิจการค้าที่กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ท่านทรงทำกับจีนตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ เป็นสาเหตุชักนำศิลปะและวัฒนธรรมจีนเข้ามาในบ้านเมืองเราอย่างเห็นตัวอย่างชัดเจนตามวัดวาอารามต่างๆ
ช่างไทยถนัดงานไม้มาแต่เดิม  ส่วนช่างจีนถนัดงานปูน  เมื่อมีงานก่อสร้างที่เป็นงานปูน  จีนก็ได้แสดงทั้งแรงงานและฝีมือ

ศ.วอลเตอร์ เอฟ. เวลลา ที่ค้นคว้าประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัชกาลที่ ๓ เล่าไว้ว่า
" มีชาวจีนถึง ๒๕๐,๐๐๐ คน อพยพเข้ามาในสยามในรัชกาลสมเด็จพระนั่งเกล้า"
ส่วนครอเฟิดบอกว่าในสยามมีคนจีนถึง ๔๔๐,๐๐๐ คน ในพ.ศ. ๒๓๖๔
ถึงตัวเลขอาจจะขาดบ้างเกินบ้าง  แต่จำนวนมากมายขนาดนี้  ถ้าเป็นอั้งยี่ก่อการร้ายขึ้นมาก็น่ากลัวไม่ใช่เล่น   แล้วก็ปรากฏว่ามีจริงๆต้องปราบกันเป็นการใหญ่ในรัชกาลที่ ๓
แต่ผู้ที่ทำความดี สร้างศิลป์ประดับแผ่นดินไว้ก็มีให้เห็น อย่างตามวัดวาอารามต่างๆ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ย. 06, 10:51
 จีนถนัดงานปูน  แต่ปูนปั้นแบบไทย พวกเขาก็ไม่ถนัดอีก   ผู้ออกแบบก็พลิกแพลงเลี่ยงเป็นประดับกระเบื้องสีอย่างจีน  
ช่างที่ทำงานพวกนี้ส่วนใหญ่เป็นจีนแต้จิ๋วซึ่งอพยพจากตอนใต้ของจีนมาอยู่กรุงเทพกันเป็นจำนวนมาก

ในบทความ "สถาปัตยกรรมแห่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว" ของสมาคมสถาปนิกสยาม    คณาจารย์คณะสถาปัตย์ฯ ผู้เรียบเรียง  เล่าไว้ตอนหนึ่งว่า
"แบบสถาปัตยกรรมอย่างไทยประเพณี   จึงได้รับการออกแบบใหม่ให้เหมาะสมกับฝีมือ    และเชิงช่างอย่างจีนด้วย  
เช่น หลังคาส่วนที่เป็นหน้าบัน แกะสลักลวดลายอยู่ก่อน ก็ให้ก่ออิฐฉาบปูนเรียบเสีย
ปลายหลังคาอย่างมากก็ทำตีนจั่วปูนปั้นกระดกเป็นหางปลาอย่างจีน  ทิ้งส่วนไขราหน้าจั่ว  ทิ้งช่อฟ้า ตัวรวย ใบระกา จนสิ้น  โดยอ้างว่าเสียหายง่ายและแพงเงินเปลืองเวลา  
แม้แต่เสาก็ก่ออิฐถือปูนรูปสี่เหลี่ยมธรรมดา   บัวปลายเสาก็ไม่มีทำ  
ตับหลังคาล่างสุดมักทำเป็นปีกนก  เพื่อลดพื้นที่หน้าจั่วให้น้อยลงได้โดยง่าย  
การลดส่วนประดับและให้ทำการก่อสร้างลดลงได้โดยง่าย   แต่ยังคงความงามสง่าอย่างไทยไว้ได้     มิได้ดูเป็นวัดจีนไปเลย   นับเป็นอัจฉริยภาพของพระองค์ผู้ทรงเป็นผู้คิดต้นแบบได้โดยแท้"


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 02 ก.ย. 06, 11:02
 รวบรวมชื่อวัดที่สร้างแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ ๓ มาได้ ๑๘ วัด   อาจจะมีมากกว่านี้แต่ไม่รู้  ต้องรอเจ้าของกระทู้
๑)วัดเทพธิดาราม   ๒)วัดมหรรณพาราม  ๓)วัดราชโอรสาราม
๔)วัดนางนอง         ๕) วัดนางชี             ๖) วัดอัปสรสวรรค์
๗)วัดอินทาราม       ๘)วัดจันทาราม        ๙)วัดเศวตฉัตร
๑๐) วัดราชสิทธาราม ๑๑) วัดพิชัยญาติการาม  ๑๒) วัดกัลยาณมิตร
๑๓)วัดประดู่ฉิมพลี    ๑๔)วัดเฉลิมพระเกียรติ   ๑๕)วัดไพชยนตร์พลเสพย์
๑๖)วัดโปรดเกศเชษฐาราม ๑๗)วัดทองนพคุณ ๑๘) วัดสามพระยา

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศราฯ ทรงเรียกว่า "วัดนอกอย่าง" ตรงข้ามกับวัดที่สร้างแบบประเพณีกรุงศรีอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ เรียกว่า "วัดในอย่าง"
สถาปนิกบางกลุ่มเรียกแบบที่สมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงคิด ว่า "แบบพระราชนิยม"

ถ้าเจ้าของกระทู้ไม่มาจริงๆ   คุณ UP อย่าเพิ่งเสียดาย    ดิฉันจะยึดอำนาจ ทำ "วัดประหาร" เอง    ด้วยการโพสต์เล่าอะไรต่อมิอะไรต่อไปเรื่อยๆอีกสักสิบยี่สิบความเห็น
ผิดๆถูกๆหนักเข้า    แกทนไม่ได้แกก็เข้ามาโพสต์แก้ไขให้เองแหละค่ะ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 02 ก.ย. 06, 21:17
 สนิมเกิดแต่เนื้อ ในตน

ความเสื่อมมาจากเรากันเอง อย่าไปโทษสิ่งเร้าภายนอกเลยครับ
พระนั่งเกล้า เวลาท่านจะสร้างวัด โปรดให้เสาะแสวงหาวัสดุบันดามีในพระราชอาณาจักร
เลือกที่จะนำมาประดับใช้ ให้เป็นศรีสง่าแก่พระอารามหลวง
อันเป็นเนื้อนาบุญของแผ่นดิน

ลูกหลานเรไร พกหัวกระโหลกที่ว่างเปล่ามาจุติ แล้วดันไม่ถึงแก่กาลกิริยาตามควรแก่สมัย กลับเติบใหญ่จนได้ดูแลบ้านเมืองและสังคม แล้วก็ถืออำนาจยาตรใหญ่ หรือบาทใหญ่ก็ไม่มีใครรู้ ทำอะไรก็ได้ ที่จะสร้างความล่มจมให้แก่แผ่นดินเกิด
บางครั้งก็รู้ตัว บางครั้งก็ไม่รู้ตัว

ดูเหมือนว่าการศึกษาหรือสิกขา จะไม่อำนวยประโยชน์อย่างถ่องแท้เสียแล้วในพ.ศ. นี้

หลายปีก่อน ผมเห็นนายกของผมร้องเพลงเดียวกับกระเป๋ากระปี๋ประจำมฤตยูเขียว ผมก็เกิดอาการรู้แจ้งแล้วว่า นี่เป็นยุคท่าเทียมกันทางรสนิยมอย่างแท้จริง

วัดราชโอรสนี้ มีการวางผังที่บรรเจิดนัก และเป็นต้นแบบให้อีกสิบแปดสิบเก้าวัดของอาจารย์เทาฯ เล่นสนุกต่อมาได้อีกมาก
นั่นคือการวางอาคารหลักสองหลัง อยู่ในเครื่องปิดล้อมเดียวกัน และแบ่งแยกการทำหน้าที่อย่างสอดรับกันเป็นจังหวะ คือทั้งส่งเสริมและแย่งชิงกันอย่างมีชีวิตชีวา

ตามปกตินั้น อาคารในศาสนสถาน มักจะมีลำดับความสำคัญที่ต่อเนื่องกัน จากสูงศักดิ์ไปสู่ศักดิ์ที่ตำกว่า ลดหลั่นเป็นชั้นๆ
เมื่อเราย่างก้าวเข้าสู่อาณาบริเวณนั้นๆ สายตาและความรู้สึกจึงไม่สับสน
(จะมียกเว้นก็ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ที่มีจำนวนอาคารมากกว่าปกติ และวังหน้าท่านก็จงใจสร้างหอพระมณเธียรธรรมเสียจนโดเด่น โชคดีที่ไปวางตัวไว้นอกแกนความสนใจ)

แต่ที่วัดราชโอรส เราจะซึมซับรสชาติใหม่ เมื่อมีอาคารหลัก 2 หลัง วางจังหวะรองรับกัน หลังหนึ่งอยู่ตรงตำแหน่งประธานตามความเคยชินทั่วไป แต่อีกหลังหนึ่ง แม้ว่าอยู่ในตำแหน่งที่ด้อยกว่า แต่ขนาดและการวางตัว ก็เห็นชัดว่ามิใช่อาคารบริวาร
อันนี้เป็นโจทย์ทางสถาปัตยกรรมที่ไม่เคยมีการทดลองไขรหัสกันมาก่อน
เป็นเรื่องยากนักนะครับ ที่จะทำให้อาคารทั้งสอง สร้างสมดุลย์ทางด้านการรับรู้ อยู่ร่วมกัน ส่งเสริมกัน แต่ไม่ข่มกัน
ผู้วางผังชิ้นนี้จึงสมควรแก่การเทิดทูน

โดยการอัญเชิญเสาสะแตนเลสสสสสทั้งจ๊กกะวาลา
มาประชุมพร้อมกันร่ายรำบูชาอัจฉริยภาพ
เอาให้มันกันไปเลนสามช่าสามชาติ
แถมอีกหนึ่งอะเมสซิ่งอันซีนอันซวยห่วยแตก
ปลาแดกตกหม้อ

ไชโยประเทศไทย
ขอความสุกความจำใจจำเริญจงมีแก่เจ๊กขายเหล็กผู้มีพระคุณ

โอ้ย เหนื่อยว่ะ ขอโคเคนหนึ่งด๊วดดิ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 02 ก.ย. 06, 22:39
 อาจารย์เทาไปได้บาญชีนี้มาแต่ใด บ่ฮู้
อ่านไม่คุ้นอยู่หลายวัด แต่ไม่เป็นไรมิได้
จะหาโอกาสไปเยือนบางวัดอีกที ว่าใช่อย่างที่คิดหรือไม่

ในรายการมี 2 วัดที่ต้องชมครับ
วัดไพชยนตร์พลเสพย์ และวัดโปรดเกศเชษฐาราม
เป็นพระอารามที่งามล้ำลึกอยู่ภายใต้เนื้อหนังอิฐปูน
เป็นวัดเล็ก แต่สมส่วน และดำรงสถานะแห่งอาราโมไว้เป็นอย่างดี (รึเปล่าไม่รู้ซี ผมห่างมาครึ่งชาติแล้ว เล่าตามความจำนะครับ)

เป็นวัดกลางสวน อยู่ใกล้กัน
สิ่งประทับใจก็คือ มีการจัดลานระหว่างอาคารให้เป็นสวนไม้ดัดงามงด ดูสมถะและเปี่ยมรสนิยม วางม้าหินตัวเท่าเตียงไว้ตรงตำแหน่งเพื่อการนั่งทอดอารมณ์(ที่วัดไพชยนตร์ฯ)
ส่วนวัดโปรดเกศ ท่านสร้างเจดีย์ย่อมุมองค์ย่อมกลางสระน้ำ
เย็นรื่นชื่นอารมณ์ดังแดนนิพพาน
สามวัด (รวมวัดราชโอรส) เป็นต้นแบบแห่งสถาปัตยกรรมไทยรัชกาลที่ 3
แต่ฝีมือสร้างของช่างที่พระประแดง ออกจะอ่อนกว่า เพราะตัวอาคารขาดความโอ่อ่าสง่างามตามที่ควรจะมี
เข้าใจว่าจะเกิดจากโรคาพยาธิด้านการเงินมาเบียดเบียน
และอาจจะติดเงื่อนไขเวลาที่ต้องสร้างเสร็จระหว่างไปรับราชการตรงนั้น

ไม่เหมือนวัดราชโอรสที่ท่านทุ่มหมดสำเพ็ง แล้วยังสร้างเติมมาอีกสิบสี่ปี จนหรูหราสุดอลังการณ์

แม้กระนั้น แค่ตอนปลาย ร. 2 อีตาทุดอิงกลิชก็ชมแล้วว่า งาม


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: หมูน้อยในกะลา ที่ 02 ก.ย. 06, 23:43
 แง้มกะลา ลอดหน้าออกมาฟังกับเขาด้วยสักหน่อย ร่วมด้วยช่วยกันให้กระทู้ดีๆอยู่ยืนยาวโสภาสถานีหัวลำโพง

ว่าแต่ว่าพระแท่นที่คุณอับนำมาโพสนั้น เป็นหินแกรนิตของแท้ดังเดิมที่ร.3ท่านทรงประทับบนหินนั้นเลยรึเปล่าครับ หรือว่าคนรุ่นหลังบูรณะซ่อมแซมแต้มเติมเสริมแต่งนำหินแกรนิตปูลงไปภายหลัง ??

ขอบคุณครับ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 03 ก.ย. 06, 04:48
 ผมไม่ทราบว่าแผ่นหินบนพระแท่นนั้นเป็นของเก่าแก่ดั้งเดิมแต่ต้นหรือไม่ แต่เชื่อว่าแกรนิตขัดเงาเวาวาบโดยรอบนั้นดูไม่ต่างอะไรจากบันไดโรงแรม มั่นใจว่าเป็นของใหม่แน่ๆ ครับ

น่าสังเกตว่าแท่นหินแบบนี้มีปรากฏอยู่ตามพระอารามหลวงแทบทุกวัดนะครับ โดยเฉพาะพระอารามหลวงที่รัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างหรือทรงทำนุบำรุง ผมยืนยันร้อยทั้งร้อยมีแท่นหินลักษณะแบบนี้ทุกวัดครับ

บ้างก็ว่าเป็นพระแท่นที่เจ้านายพระองค์นั้นพระองค์นี้เคยประทับ บ้างก็ว่าใช้เป็นที่วางเครื่องสักการบูชาหากว่าอยู่หน้าพระเจดีย์หรือควงไม้สำคัญต่างๆ และบ้างก็ว่าเป็นพระแท่นจำลองพุทธบัลลังก์ หากอยู่ใต้ต้นไม้ที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธประวัติ

พระแท่นใต้ต้นพิกุลนี้มีหลักฐานระบุว่าเป็นของเก่ามาแต่ครั้งรัชกาลที่ ๓ หรือไม่ ผมไม่แน่ใจครับ ต้องรอคุณ pipat และท่านอื่นๆ มาช่วยเฉลยต่อไป

อ้อ..คุณหมูน้อยฯ เรียกชื่อผมเหมือนกลิ่นเหม็นๆ ชื้นๆ ยังไงพิกล หรือว่าจะเป็นอับ ของจำพวกกระปุกหรือผอบนางโมราอะไรทำนองนั้น    


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.ย. 06, 09:45
 ขอรับรองกับคุณหมูน้อยว่าคุณอับ..เอ๊ย..อั๊บ   ไม่อับไม่ชื้น และห่างไกลจากกระปุกมากค่ะ
รายชื่อวัดทั้งหมด ได้มาจากหนังสือ "มหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ "ค่ะ  คุณพิพัฒน์

ชอบชื่อวัดไพชยนตร์พลเสพย์ และวัดโปรดเกศเชษฐาราม ตั้งแต่ตอนพิมพ์รายชื่อวัด   มีสุนทรียะทางภาษา
เลยไปค้นประวัติมา ได้ความจากพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างป้อมเมืองสมุทรปราการสำหรับป้องกันข้าศึกทางทะเล
มีพระราชดำริว่าการสร้างป้อมที่เมืองนครเขื่อนขันธ์ (พระประแดง) ยังค้างอยู่ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพเมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพ เป็นแม่กอง และพระยาเพชรพิไชย (เกษ) เป็นนายงานสร้างเมืองเขื่อนขันธ์และป้อมเพชหึงต่อจากที่ค้างไว้
ในการนี้ทรงขุดคลองลัดหลังเมืองนครเขื่อนขันธ์ไปทะลุออกคลองตาลาว เรียกว่า “คลองลัดหลวง” มีขนาดความกว้าง ๖ วา ลึก ๕ ศอก ยาว ๕๐ เส้น
เมื่อขุดคลองแล้วเสร็จ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ทรงสร้างวัดขึ้นทางด้านฝั่งตะวันตกของคลองลัดหลวง พระราชทานนามว่า “ วัดไพชยนต์พลเสพ ”
ส่วนพระยาเพชรพิไชย (เกษ) ผู้เป็นต้นสกุล “เกตุทัต” นายงานสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์ได้สร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่งตั้งอยู่คนละฝั่งคลอง แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๕ พระอารามแห่งนี้ได้รับพระราชทานนามภายหลังว่า “วัดโปรดเกศเชษฐาราม”

วัดโปรดเกศฯเป็นสถาปัตยกรรมแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่๓ มีพระอุโบสถก่ออิฐถือปูน หลังคางานผสมไม้มุงกระเบื้อง ผสมผสานระหว่างทรงหลังคาแบบไทยและจีน หน้าบันและคอสองก่ออิฐถือปูนมีชายคาปีกนกโดยรอบ
ลักษณะเด่น คือ หน้าบันก่ออิฐถือปูนประดับด้วยปูนปั้นรูปดอกไม้แบบลายก้านแย่ง ตกแต่งด้วยเครื่องถ้วยชามเคลือบ ด้านในพระอุโบสถที่ผนังเหนือแนวช่องหน้าต่างมีช่องซุ้มเรือนแก้ว วาดภาพจิตรกรรมเขียนด้วยสีฝุ่นเป็นภาพพระพุทธเจ้าและพระสาวก หรือประติมากรรมนูนสูงระบายสีเป็นภาพพระสาวกยืนพนมมือ
ส่วนเครื่องบนและเพดานพระอุโบสถด้านในเขียนลายรดน้ำ ศิลปะแบบรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระวิหารตั้งอยู่คู่กับพระอุโบสถทางด้านทิศเหนือ ลักษณะรูปแบบโดยรวมคล้ายกับพระอุโบสถภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ขนาดความยาว ๖ วา ๒ ศอก นอกจากนี้ยังมีสิ่งก่อสร้างอื่นๆที่เป็นโบราณสถานสำคัญของวัด เช่น พระมณฑป เจดีย์ทรงกลม เป็นต้น

 http://www.fad1.go.th/watprodged.htm
.


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.ย. 06, 09:48

.
อีกมุมหนึ่งของวัดโปรดเกศฯ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.ย. 06, 09:53

.
วัดไพชยนต์ฯ ตั้งอยู่ที่ปากคลองลัดหลวงทางด้านทิศตะวันตก
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพทรงสร้าง พระราชทานนามว่า “วัดไพชยนต์พลเสพ”
 http://www.fad1.go.th/watpaichayon.htm  


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ก.ย. 06, 09:56

.
วัดไพชยนต์พลเสพเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยรัชกาลที่ ๓ มีการก่อสร้างและบูรณะปฏิสังขรณ์อาคารสถาปัตยกรรมภายในวัดหลายหลัง
ปัจจุบันอาคารเหล่านี้ยังคงรูปแบบลักษณะทางศิลปกรรมที่เป็นแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ ๓ ดังเช่น พระอุโบสถ ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคางานผสมไม้มุงกระเบื้อง
มีรูปแบบผสมผสานระหว่างทรงหลังคาแบบไทยและจีน หน้าบันและคอสองก่ออิฐถือปูนมีชายคาปีกนกโดยรอบ
ลักษณะเด่น คือ หน้าบันก่ออิฐถือปูนไม่มีไขราหน้าจั่ว ประดับด้วยปูนปั้นตกแต่งด้วยเครื่องถ้วยชามเคลือบเป็นรูปทิวทัศน์ผสมกับลายดอกไม้ ตอนบนของหน้าบันตกแต่งด้วยแจกันเคลือบแบบจีน และมีรูปช่อดอกไม้เหนือแจกัน
ตอนล่างเป็นรูปทิวทัศน์ในบรรยากาศแบบจีน เครื่องเคลือบที่นำมาประดับจะทำเป็นรูปสัตว์ เช่น นก ลิง ไก่ ม้า วัว รูปอาคาร เจดีย์แบบจีน เก๋งจีน และสภาพธรรมชาติ ต้นไม้ ภูเขา และเถื่อนถ้ำ
สถาปัตยกรรมที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของวัดไพชยนต์พลเสพ คือ พระวิหารซึ่งตั้งคู่อยู่กับพระอุโบสถทางทิศใต้ มีลักษณะรูปทรงและการตกแต่งคล้ายกับพระอุโบสถ

 http://www.fad1.go.th/watpaichayon.htm  


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 03 ก.ย. 06, 12:18
ไม่ต้องเดาก็น่าจะทราบว่า ท่านใดสร้างนามศาสนสถานได้สุนทรียวิจิตรถึงเพียงนี้

ขอแก้นิดเดียวครับ ว่ากรมศิลปากรชอบเพี้ยนนิดเพี้ยนหน่อยเสมอ ดังที่อาจารย์ไปก๊อบมาว่า เป็นพระราชนิยมรัชกาลที่ 3
ก็ท่านสร้างตั้งแต่รัชกาลที่ 2 ทำไมไปยกความดีความชอบข้ามรัชกาลก็ไม่รู้

ตัวอย่างของสองวัดนี้ จะเห็นข้อมูลด้านศิลปะว่า สมัยรัชกาลที่ 2 เริ่มเล่นกับการวางผังแบบจีนปนไทย คือมีการสร้างที่ว่างทางความรู้สึก ให้เกิดเป็นการทอดอารมณ์
เดิมเราเข้าวัดเพื่อกิจพิธีนะครับ ไม่ใช่เพื่อไปเสพย์สุนทรีย์
อย่างที่วัดโพธิ์นี่ อุดมไปด้วยสัญลักษณ์ทางคติ
ปลอดภัยที่สุดก็คือเดินชมพลางพนมมือพลาง

แต่ที่สองวัดนี้ หลังเสร็จกิจกรรมทางคติแล้ว ก็ยังอ้อยอิ่งดื่มด่ำกับที่ว่างและอาคาร รวมไปถึงแมกไม้สายลมแลแสงแดด
สิ่งนี้ ผมรับประกันว่าคนอยุธยาต้องนึกไม่ถึงแน่ ว่าวัดเป็นที่นั่งเล่นก็ได้แฮะ

นี่อาจจะบ่งยอกถึงความเปลี่ยนแปลงทางสติปัญญาก็ได้
คิดดูว่า กฏมณเฑียรบาล เคยห้ามขุนนางไปหากันถึงเรือน โทษถึงตาย หมายความว่า ชีวิตสังคมเป็นสิ่งต้องห้าม

แต่รัชกาลที่ 2 การยึดถือแบบขี้ระแวงคงคลายไปมากแล้ว เจ้านายและขุนนางจึงสร้างอาราม ที่มีพื้นที่ทางสังคมเข้ามประสมประสาน
อย่างที่ขุนช้างเล่นไม้กระถาง ก็แปลว่ามีการอวดกันเป็นงานสังสันท์แล้วกระมัง

รัชกาลที่ 2 จึงเป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมรัตนโกสินทร์ของแท้และแน่นอนครับผม


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: bookaholic ที่ 03 ก.ย. 06, 15:29
 ขอแย้งด้วยความเคารพครับ  กรมศิลปากรไม่ผิด  เขาใช้คำว่ารูปแบบลักษณะทางศิลปกรรมที่เป็นแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3
<<แบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3>> มันเป็นชื่อแบบศิลปกรรม  มิใช่ว่าเป็นงานในรัชกาลที่ 3 นะครับ   วัดสร้างในรัชกาลที่ 2 หรือ 4 หรือ 5 สมัยไหนก็ตาม ถ้าสร้างแบบนี้ เรียกว่าแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 3 ได้

กฎมณเฑียรบาลสมัยพระบรมไตรโลกนาถ คงเพลาความเข้มงวดมาตั้งแต่สมัยก่อนพระเจ้าปราสาททองกระมัง    มิฉะนั้น  ครั้งท่านเป็นพระยากลาโหมคงไม่ชุมนุมขุนนางจนทำรัฐประหารขึ้นมาได้ แม้ว่าอ้างเรื่องงานศพแม่  ก็น่าจะมีการชุมนุมกันอีกหลายครั้งก่อนยึดอำนาจ   แบบกษัตริย์เองก็ทำอะไรไม่ได้  
อยุธยามีรัฐประหารบ่อยเหลือเกิน  ขุนนางถ้าไม่ลงมือทำเสียเองก็ร่วมมือกับเจ้านายองค์หนึ่งรัฐประหารเจ้าเหนือหัวเกือบๆจะทุก 15 ปี   กฎข้อนี้คงไม่ขลังนัก  
ผมเคยอ่านพบว่า ตอนปลายอยุธยาเศรษฐีสร้างวัดอวดกันว่าให้ลูกหลานวิ่งเล่น   ใครไม่มีลานวัดส่วนบุคคลออกจะน้อยหน้า   เมื่อลูกหลานวิ่งเล่นได้ ผู้ใหญ่ย่อมเดินเล่นคุยเล่นทอดอารมณ์กันได้  เป็นสโมสรข้าราชการแบบอยุธยากระมังครับ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 03 ก.ย. 06, 17:39
กฏมณเฑียรบาล จะตราแต่สมัยใด แต่ในเมื่อชุบจารขึ้นใหม่ใต้พระบรมราชโองการ และประทับตราสามดวง เป็นอันบังคับใช้ครับ
พูดแล้วก็นึกได้ว่า ท่านมุ้ยมิทำผิดแบบธรรมเนียมอยุธยาหรือ
ให้พงษ์พัฒน์ไปนอนเล่นที่บ้านคุณตั้วเอกเขนก

สำนวนสร้างวัดให้ลูกท่านเล่น ผมไม่ยึดตามตัวอักษรครับ
ผมไม่เห็นหลักฐานชัดเจนว่า มีลูกเจ้าของวัดไปวิ่งเล่นที่ลานวัด
ถ้าหากจะมีก็คงในงานบุญอะไรสักอย่าง
แต่คนไทยโบราณไปวัดด้วยชุดสุดสวย บ้างก็เตรียมผ้าห่มไปนอนค้างกัน ไม่น่าจะเตรียมของเล่นไปด้วยครับ

ศัพท์เรียก "พระราชนิยมรัชกาลที่ 3" คิดโดยมนุษย์เดินดิน
แก้ได้ครับถ้าไม่เห็นด้วย แต่ต้องบอกได้ว่าไม่เห็นด้วยอย่างไร
ใครจะรู้ได้ ว่าพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2 ทรงมีพระราชนิยมอย่างไรและข้าราชบริพารโดยเสด็จพระราชนิยมนั้นอย่างไร

อ่านพระราชสาส์น (ซึ่งร. 5 ทรงเชื่อว่าเป็นพระราชนิพนธ์) เรื่องสวนขวา
จะเห็นว่า ทุกอย่างที่เรียกกันว่าเป็นพระราชนิยมพระนั่งเกล้า ก็ปรากฏในเอกสารนี้แล้วทั้งสิ้น
มีต่างไปเพียงข้อเดียวครับ คือทรงโอนลักษณะอลังการณ์ทั้งหมดเข้าศาสนจักร และปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับเนื้อหาใหม่ แต่ก็ยังส่งต่อกันมา เป็นต้นว่า เรื่องสามก๊ก ยังตามเข้าไปโดดเด่นในพระอารามหลวง ทั้งๆที่ไม่รู้ว่าเข้าไปทำไม ความนิยมเครื่องถ้วย เราก็คงไม่ลืมว่าเริ่มต้นในรัชกาลที่ 2 ศิลปะฝรั่งที่มากับการค้า ก็เข้ามามากมาย อย่างเช่นที่ระบุในบัญชีเครื่องราชบรรณาการ
"และให้คุมสิ่งของเข้ามาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย  คือ  ฉากเขียนรูปพระเจ้าแผ่นดินโปตุคอลแผ่น ๑  พิณอย่างฝรั่งเครื่องเงินสำรับ ๑  ระย้าแก้ว มีโคมคู่ ๑ กระจกใหญ่รูปกลม  ๒ แผ่น เชิงเทียนแก้วสำหรับ กระจก  ๒  คู่  เชิงเทียนแก้วมีโคมคู่  ๑  กระปี่ฝักกาไหล่ทอง  ๒ เล่ม  สุจหนี่พื้นกำมะหยี่ริมเลี่ยมเงินมีพรมรอง  ๒ ผืน  ตัวอย่างกำปั่น  ๒ ลำ...."
(คัดจากประชุมพงศาวดารภาค 62)

ประเด็นนี้คือเหตุผลให้ผมเปิดหัวข้อว่าสามแผ่นดิน เพื่อเน้นจุดเริ่มต้นของศิลปะรัตนโกสินทร์ ว่าแยกทางจากอยุธยาในรัชกาลที่ 2 ครับ หาไม่เราก็ลืมรัชกาลนี้ไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทั้งๆที่มีสิ่งแปลกใหม่สำคัญเกิดขึ้นมากมาย

กรุณาแย้งต่อนะครับ จะได้ไปคุ้ยข้อมูลมาถกต่อ
ขอบคุณครับ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 03 ก.ย. 06, 23:11
 ขอบพระคุณอาจารย์เทาชมพู และคุณ Pipat มากครับ สำหรับข้อมูลดีๆ คิดว่าคุณพิพัฒน์คงอยากจะเล่าตามลำดับอายุของวัดตั้งแต่มากไปหาน้อย ตอนนี้ก็เลยยังไม่เข้ามาในกรุง ผมก็คงจะตามไปชมได้ลำบากหน่อย รอไว้เข้ามาในพระนครเมื่อไหร่จะขอเอารูปห่วยๆมาแจมครับ


เคยสดับตรับฟังมาว่า การวางผังแบบใหม่เช่นนี้คือ การสร้างโบสถ์และวิหารอยู่คู่วางขนานกัน สองถึงสามหลัง อาจรับแบบอย่างมาจากผังวัดในนิกายมหายานของจีน ซึ่งเน้นการรวมเข้าสู่ศูนย์กลาง ดูเป็นกลุ่มก้อนมากกว่า

โดยเฉพาะถ้าเปรียบเทียบกับผังก่อนหน้านี้ หรือย้อนเข้าไปถึงอยุธยาตอนต้น ที่ทำผังวัดวางตัวตามแนวยาว จะเห็นว่าแตกต่างอย่างชัดเจน


มีเจดีย์ประธานตรงกลาง มีวิหารหลวงทางตะวันออก และโบสถ์ทางตะวันตก ซึ่งแบบอย่างมาจากขอม


ตัวอย่างที่สังเกตได้ง่ายๆก็คือวัดสุทัศน์ มีวิหารหลวงหันไปทางตะวันออก และโบสถ์หันไปทางทิศใต้ วางตัวขวางวิหารอย่างเห็นได้ชัด

แต่คติทางศาสนาอันเป็นหลักใหญ่ พระองค์ก็มิได้เปลี่ยนแปลงเลย ถึงแม้ว่าจิตรกรรมและสถาปัตยกรรมจะถูกดัดแปลงไปอย่างไร ประติมากรรมสำคัญคือพระประธาน และพระสาวกต่างๆ กลับไม่มีเค้าของคติจีนเข้ามาปะปน

แสดงถึงความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในพระศาสนาของพระองค์ท่าน มิได้ติดอยู่กับรูปภายนอกเพียงอย่างเดียว


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 04 ก.ย. 06, 22:53
 แวะวัดโปรดเกศฯเมื่อเช้า ถ่ายรูปมาฝากประกอบเรื่องค่ะ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 04 ก.ย. 06, 23:08

มุมที่เห็นตั้งแต่เจดีย์ พระอุโบสถ เจดีย์ริมสระ ไปถึงสะพานใหม่ที่กำลังจะเปิดปีนี้ค่ะ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 05 ก.ย. 06, 00:10

เจดีย์ที่อยู่กลางสระน้ำวัด
จุดหมายปลายทางของขบวนแห่นางสงกรานต์พระประแดง


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 05 ก.ย. 06, 00:12

พระพักตร์งามของพระพุทธไสยาสน์ในวิหาร


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 05 ก.ย. 06, 00:14

ลายที่บานหน้าต่างวัด


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 05 ก.ย. 06, 00:15

หน้าต่างวิหาร


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 05 ก.ย. 06, 09:41
 ขอบคุณคุณกุ้งแห้งเยอรมันมากครับ สำหรับรูป เพราะผมเองคงไม่มีบุญวาสนาได้ไปชม ท่านสร้างไว้ไกลถึงพระประแดง

เห็นสะพานในรูปแล้วก็ตกใจ ตอนแรกนึกว่าพระรามแปด

อยากเข้าไปชมในอุโบสถจังครับ ซุ้มเรือนแก้วที่อาจารย์เทาชมพูกล่าวไว้คงจะสวยงามมาก อีกอย่างที่อยากรู้ก็คือที่นี่เขียนเครื่องตั้งแบบวัดอื่นๆที่สมเด็จพระนั่งเกล้าทรงสร้างหรือไม่


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: NickyNick ที่ 05 ก.ย. 06, 09:59
 สะพานในรูปไหนครับ คุณกุรุกุลา  ตาไม่ดี  หาไม่เจอ

ใน คห.๕๗ ของอ.เทาชมพู  ลิ้งค์ที่แนบก็ไม่มีรูปสะพาน
ใน คห.๖๖ ของคุณกุ้งแห้งฯ ก็ไม่มีรูปให้ดู
อยากเห็นเหมือนกัน  จะได้ร่วมต๊กกะใจด้วยคน


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ก.ย. 06, 11:37
 แวะเข้ามาเติมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย

เวลาเดินเข้าไปในวัดต่างๆ  สร้างสมัยต้นรัตนโกสินทร์  เราคงเห็นสิงโตจีน และตุ๊กตาหินของจีนที่ประดับประดาอยู่ตามลานวัด

ตอนเด็กๆดิฉันเคยไปยืนดูลูกแก้วในปากสิงโต  เป็นลูกหินกลม กลิ้งไปมาได้ในโพรงปาก แต่ว่าล้วงออกมาไม่ได้ เพราะมันใหญ่กว่าปากสิงโต  ถ้าจะเอาออกมาจริงๆ  ก็ต้องทุบปากจนแหว่งถึงเอาออกมาได้

ยังสงสัยว่าช่างเขาล้วงมือเข้าไปสลักหินยังไงให้ลูกแก้วอยู่ในปากสิงโตได้สำเร็จ

มารู้ทีหลังว่า หินอย่างสิงโตและตุ๊กตาจีนพวกนี้ ทำจากหินชนิดหนึ่งเรียกว่าฮ่วยเส่งง้ำ    เดิมตอนมันอยู่ในดินเป็นหินเนื้ออ่อน
ขุดเอาขึ้นมาก็ยังอ่อนตัวอยู่   ช่างสามารถปั้นหรือแกะสลักได้ง่าย  เมื่อทำเสร็จเอามาตั้งโดนแดดลมหลายๆวัน  มันก็แข็งเป็นหินแกร่งอย่างที่เห็น

รูปได้มาจากเว็บนี้ค่ะ
 http://www.himmapan.com/thai/himmapan_lion_singtojean.html  


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 05 ก.ย. 06, 11:54

สะพานใหม่ ใกล้วัดโปรดเกศ ฯ
ส่วนที่เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงคลองลัดโพธ์ิ พระประแดง
กับฝั่งพระนครค่ะ
ดิฉันผ่านทุกวัน


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 05 ก.ย. 06, 11:57

ด้านนี้ เชื่อมฝั่งปู่เจ้ากับพระประแดงตรงลัดโพธิ์อีกด้านหนึ่งค่ะ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 05 ก.ย. 06, 13:24
 ขออนุญาตเสริมเรื่องผังลานวัดค่ะ สังเกตว่าเดิมต้องจัดการได้ดีมาก
แต่ปัจจุบันปูคอนกรีต บางส่วน จนลานวัดด้านหลังไม่สวย
มีการให้ปลูกเพิงร้านข้างๆพระอุโบสถ มีคนเข้าออกพลุกพล่าน
่ต้นไม้โบราณยังพอรักษาไว้ได้ดี อย่างต้นจันทน์
วัดพยายามเล็มกิ่งเลยไม่ใหญ่โตตามธรรมชาติเหมือนที่หน้าคณะจิตรกรรม  


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 05 ก.ย. 06, 13:25

จึงต้องมีคำอธิบายเช่นนี้


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 05 ก.ย. 06, 22:56
 วิมานลานร่มอาศรมฝากใจ
คือลานร่มในลานจันทน์
ชะโลมโลมหลั่งมนต์ขลังผูกพัน
จึงจำกลิ่นจันทน์ไม่หาย


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 05 ก.ย. 06, 23:30
 ถ้าขอแถมวัดไพชยนต์ฯ อีกสักวัด
จะรบกวนคุณกุ้งแห้งเกินไปใหมครับ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 05 ก.ย. 06, 23:38
 อยากให้ชื่นชมพระเจดีย์ในความเห็น 67 ครับ
เราไม่ค่อยได้เห็นพระเจดีย์สมัยรัชกาลที่ 2  ก็ดูได้จากองค์นี้นะครับ เป็นย่อมุม (ซึ่งมีนักปราชญ์ท่านหนึ่ง มาเปลี่ยนเรียกใหม่เป็นเจดีย์เพิ่มมุม ลดมุม เข้าตำราแก้โบราณอีกราย)
เส้นจอมแห คือเส้นทอดจากเม็ดน้ำค้างลงมาที่ฐาน หรือภาษาวัยรุ่นเรียกว่าทรวดทรงองค์เอว นั้นงามอ่อนหวานนัก

พอถึงรัชกาลที่ 3 ทำเส้นอย่างนี้ไม่เป็นเสียแล้ว ออกแนวขึงขังโอ่อ่า

เห็นรูปแล้วยังพอให้มีกำลังใจให้สู้ชีวิตต่อไป
ขอบคุณช่างภาพที่นำมาเผื่อแผ่ครับ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 06 ก.ย. 06, 00:26

เจดีย์ หรือพระปรางค์ของวัดโปรดเกศฯอีกมุมหนึ่งค่ะ คุณpipat
ดูได้นานค่ะ แต่แดดที่เปรี้ยงทำให้ดูนานไม่ได้

วัดไพชยนต์ฝั่งตรงข้ามเอง ยินดีค่ะ เดินไปใช้เวลาสักห้านาทีก็ถึงแล้ว

คุณกุรุกุลาร่ายกวีเพราะๆอีกแล้ว ขอโทษค่ะ
รำลึกถึงกลิ่นจันทน์ที่ไหนคะ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 06 ก.ย. 06, 00:33

วิหารเปิดพอดีตอนนั้น จึงได้ชื่นชมใกล้ๆค่ะเพราะไม่มีคน
เสียดายที่พระอุโบสถไม่ได้เปิด
จึงไม่มีรูปภายในมาฝากชาวเรือนไทย


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 06 ก.ย. 06, 00:42

มองออกไปจากฝั่งคลองลัดหลวง น้ำลงค่ะ ถ้าว่ายน้ำข้ามได้ ก็ถึงแล้ว
ดูๆวัดไพชยนต์ร่มครึ้มกว่ามากค่ะ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 06 ก.ย. 06, 00:53

ประตูวัดด้านติดถนน และกำแพงสีศิลาแลงของวัด ไม่ได้ถ่ายมาค่ะ
เพราะรู้สึกว่าไม่เข้ากันกับประวัติความเป็นมาของวัดเลย
เข้าไปจอดรถ แล้วเดินไปชมวัดซึ่งภายนอกเปลี่ยนไปมาก
ดิฉันเคยผ่านวัดนี้เสมอตอนเด็กๆค่ะ รู้สึกว่าสวยเหลือเกิน
แต่เดี๋ยวนี้ ถวิลหาไปก็ใจหายเปล่าๆ
ชมภาพแล้วกันนะคะ มุมสวยๆยังมี


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 06 ก.ย. 06, 01:03

เหนือประตูจารึกว่าสร้างร.ศ๑๒๒
ถึงจะสร้างทีหลัง ก็กลมกลืนกันกับวัดด้านในนะคะ
คนโบราณนี่รสนิยมดีจัง


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 06 ก.ย. 06, 01:04

จากเมืองจีนมาพระประแดงค่ะ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 06 ก.ย. 06, 01:07

ขึงขังลีลา  ตั้งท่าเท่มากค่ะ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 06 ก.ย. 06, 01:12

รอบกำแพงพระอุโบสถ ตกแต่งด้วยแจกันจริงค่ะ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 06 ก.ย. 06, 01:20

แจกันและดอกไม้กระเบื้องสีที่หน้าบันพระอุโบสถวัดไพชยนต์แบบใกล้ชิดนิดหนึ่งค่ะ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 06 ก.ย. 06, 01:34
 จำได้ว่า เมื่อผมยังมีอายุน้อยกว่านี้ นั่งรถเมล์สาย 6 หรือ 86 พอผ่านหัวโค้งวัดไพชยนต์ มองเห็นทางเข้าวัด ร่มรื่นงดงามสงบนิ่งแต่มีความรู้สึกเชื้อเชิญอย่างบอกไม่ถูก
เป็นวัดที่ทางเข้ามีเสน่ห์ข้ามกาลเวลาเสียจริงๆ สวนแถวนั้นก็อุดมสมบูรณ์ยิ่งนัก ชาวบ้านทักทายกันน่ารัก คนที่เดินริมถนนถามคนที่นั่งบนรถเมล์ว่า
นันจะไปใหนล่ะ
อ๋อ จะไปกรุงเทพหน่อย

สมัยนั้น จากพระปะแดงไปบางปะกอกก็ไกลมากแล้ว ชาวบ้านมักจะเข้ากรุงก็ตอนติดตลาดนัด
การท่องไปด้วยรถเมล์สายนี้เป็นกำไรชีวิตอย่างมิอาจลืมเลือน
ตลอดทางราวๆ หนึ่งชั่วโมงครึ่ง มีแต่สีเขียวและกลิ่นต้นไม้ใบหญ้าอบอวล ไม่เหมือนสายนอกที่เหม็นไอเสียรถ และแดดแห้งแล้ง ความสุขมาสลายก็ตรงบุคโลแหละครับ เพราะเริ่มเข้าเขตอเวจีที่เรียกว่าเมืองแล้ว แต่นานๆทีก็ผ่านวัดสวยๆ จนมาถึงปากคลองสาน ซึ่งจะกลับมางดงามอีกครั้ง

นี่ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ 150 ปี ก็ตรงกับยุคสมัยที่ท่านสร้างว้ดเหล่านี้ (นับตอนผมนั่งรถเมล์นะครับ ไม่ใช่ตอนจิ้มดีดขณะนี้)ความงามคงทบทวีขึ้นอีก 150 เท่า

คุณกุ้งแห้งพอจะมีรูปสวนร่มรื่นมาให้ชมแก้กระหายบ้างใหมครับ หรือว่าความเจริญมาสร้างความวนาศแก่ความสงบสุขหมดสิ้นไปแล้ว
ที่วัดแจงร้อนก็มีของดีนะครับ
(เหลืออยู่หรือปล่าวก็ไม่รู้)


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 06 ก.ย. 06, 07:38
 ใช่เลยค่ะ คุณpipat
ถ้าให้เลือกนั่งรถเมล์จากต้นสายท่าน้ำพระประแดงไปกรุงเทพ ดิัฉันก็จะนั่งสายใน เพราะไม่ต้องผ่านตึกแถวน่าเกลียดๆเหมือนสายนอก
ขากลับบ้านบางวัน ก็จะรู้สึกผ่อนคลายมาก
เดี๋ยวนี้ถนนราษฎร์บูรณะไม่สวยเท่าเดิม ขยายกว้างขึ้น
และเรือกสวนหายไปหมด
แต่ก็ไม่น่าเกลียดนักค่ะ
วัดแจงร้อนไม่เคยเข้าไปเลยค่ะ มีอะไรดีช่วยบอกหน่อยสิคะ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 06 ก.ย. 06, 09:56
 น. ณปากน้ำเคยรายงานว่าเป็นวัดตั้งแต่อยุธยาตอนต้น
ท่านอาจจะวินิจฉัยผิดไปนิดหน่อย แต่ก็ต้องถือว่าเป็นวัดเก่าแก่มากอยู่ดี

ผมเคยจะเข้าไปหนหนึ่ง โชคไม่ดี เด็กนักเรียนกำลังทำกิจกรรมอะไรก็ไม่รู้ เต็มถนน เลยไม่ได้แวะ
เสียดายมาถึงเดี๋ยวนี้


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.ย. 06, 10:56
 ติดใจกระเบื้องสีในรูปที่คุณกุ้งแห้งฯเก็บภาพมาให้ดูกัน   สวยสดสะดุดตาจริงๆ

เก็บความมาจากหนังสือเล่มเดิมในค.ห. ๕๗  ค่ะ
ว่า กระเบื้องถ้วยชามที่ประดับวัดนั้นเป็นเนื้อพอร์สเลน  สั่งเข้ามาจากเมืองจีนแน่นอน   น่าสงสัยอยู่ว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ท่านทรงมีพระอัธยาศัยละเอียดลออและมัธยัสถ์ จะทรงสั่งช่างเมืองจีนทำกระเบื้องราคาแพง เพื่อจะเอาเข้ามาทุบเป็นชิ้นๆใช้ประดับเจดีย์ทีเดียวหรือ

สำหรับจานเชิงนั้น ว่าโดยรูปเป็นของไทยแท้  ที่สั่งจีนทำเข้ามาขายเป็นชุด  เพื่อจัดสำรับอาหารอย่างโบราณ
ส่วนมากเราจะเห็นเป็นลายครามอย่างจีนแท้   พอใช้ขาดชุดลงก็เลิกใช้   เก็บไว้ให้ช่าง คิดนำไปติดหน้าบันโบสถ์  หน้ากระดานเจดีย์ได้สบายๆ
ถ้วยชามอย่างดีเนื้อขาวเขียนสีลงยาสีสวยงาม หรือประเภทชามเบญจรงค์   เมื่อแตกลงก็เก็บไว้ให้ช่างไปตัดเอาแต่ดอกดวงสีสวยๆ ฝังปูน(inlay) ประดับเจดีย์ได้อีกโสดหนึ่ง ถึงกระนั้นก็ไม่น่าจะพบเห็นจำนวนมากมายในหลายสิบวัดได้เลย


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 06 ก.ย. 06, 11:03
 การผลิตถ้วยชามในเมืองจีนสมัยนั้นน่าจะเป็นการเผาด้วยเตาฟืนล้วนๆ   ฟืนให้ความร้อนไม่สม่ำเสมอตามจังหวะการเผา   ทำให้เกิดของเสียประมาณ ๓๐-๕๐%  
เศษชามกระเบื้องที่เขียนลายงดงามแต่มีตำหนิจากการเผา ร้าวหรือแตกก็จะกองอยู่ข้างเตาพะเนินเทินทึก
เป็นไปได้ไหมว่าสำเภาไทยที่ขนสินค้าไปขาย  ก็เก็บชามกระเบื้องพวกนี้กลับมา ประดับวัดวาอาราม


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: elvisbhu ที่ 06 ก.ย. 06, 18:26
 ผมจะเริ่มเที่ยววัดแล้วครับ เพราะชอบกระทู้แบบนี้


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 06 ก.ย. 06, 20:47
ขอแนะนำให้เริ่มที่วัดสระเกศนะครับ ถ้าอยู่ในกรุงเทพ
เป็นงานสถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่มาก
มากกว่ามากที่ว่ามากๆ
พระนั่งเกล้าท่านคงนึกถึงมหาศาสนสถานในอยุธยา ตอนที่ทรงเริ่มการปฏิสังขรณ์พระอารามแห่งนี้

เราสามารถสัมผ้สกับอาณาสถาปัตย์ที่ใหญ่โตเกินกว่าจินตนาการได้ที่นี่ครับ
อาจจะไม่มีใครสังเกตว่า วัดสระเกศ มีความยาวจากประตูหน้าไปจนสุดท้ายวัด ราว 400 เมตร
ถ้าอยู่ในสภาสมบูรณ์ รวมคลองลัดแลศาลาหน้าวัดกับท้ายวัดที่ติดคลองโอ่งอ่าง ก็จะยาวครึ่งกิโลครับ
มีน้อยมากนะครับ ศาสนสถานขนาดครึ่งกิโลเมตร ในรอบสามร้อยปีมานี้ แม้แต่ที่อยุธยาเอง วัดไชยวัฒนารามก็ไม่ถึงครึ่งของวัดสระเกศ

ใหญ่แล้วดีอย่างไร รออ่านแผ่นดินที่ 2 (คือรัชกาลที่ 3) เมื่อถึงเวลา

ไปวัดไหน กรุณาฉายรูปมาฝากด้วยนะครับ
ตอนนี้ไปชวนชมอารามในสวนกันต่อ
คุณกุ้งแห้งมีรูปอีกไหมครับ อยากเห็นกระเบื้องหน้าบันครับผม


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 07 ก.ย. 06, 00:40

หน้าบันตามขอค่ะ ชิ้นนี้เป็นพระอุโบสถ ชิ้นแรกเป็นวิหาร เขียนผิดไปค่ะ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 07 ก.ย. 06, 00:43

มุมเต็มเพื่อความชัดเจนค่ะ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 07 ก.ย. 06, 00:45

หน้าบันพระอุโบสถวัดโปรดเกศฯใกล้ๆอีกครั้งนะคะ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 07 ก.ย. 06, 00:59

หน้าบันวิหารพระนอนวัดโปรดเกศฯค่ะ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 07 ก.ย. 06, 01:09

ฝากอาจารย์เทาชมพูค่ะ เล็งอยู่นานว่าปูน
หรือฝังกระเบื้องสีกลีบดอกไม้
ที่ขอบหน้าต่างวัดไพชยนต์ฯ  บางกลีบหักไปแล้ว
ไม่ทราบว่า เป็นของต้นฉบับหรือเปล่านะคะ
ขอความกรุณาผู้ตาถึงดูค่ะ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ก.ย. 06, 08:36
 ชอบลวดลายหน้าบันวิหารมากค่ะ   ขอบคุณที่ถ่ายรูปมาให้ดู  วัดทั้งสองนี้เหมือนกล่องเพชรเล็กๆ แต่ล้ำค่า  

ลายหน้าบันที่วัดไพชยนต์และวัดโปรดเกศออกลาย  และผูกลายคล้ายอย่างฝรั่ง แต่ประดับกระเบื้องจีน
อีกอย่างที่ออกจีนผสมฝรั่งคือซุ้มประตู และหน้าต่างพระอุโบสถ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: หมูน้อยในกะลา ที่ 07 ก.ย. 06, 09:35
 ลาดลายหน้าบันสวยมากครับ    


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 07 ก.ย. 06, 11:10
 คิดถึงท่านสุนทรภู่ขึ้นมาทีเดียว

"วัดโตนดโบสถ์งามมีชามติด"

ตอนนั้นก็คงอยู่ในระยะเวลาไล่เรี่ยกันกับที่ความนิยมนำถ้วยโถโออ่างมาประดับสถาปัตยกรรมพุ่งขึ้นถึงขีดสุด แล้วก็มีการแตกลายออกไปหลากหลายกว่าการประดับสมัยอยุธยา

ทำให้สมัยพระนั่งเกล้าเป็นยุคทองของเครื่องกระเบื้องประดับสถาปัตยกรรมอย่างแท้จริง


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 07 ก.ย. 06, 13:21
 รูปของคุณกุ้งแห้ง ทำให้ผมเข้าใจศิลปะรัตนโกสินทร์ดีขึ้นมาก
ครูผมเคยสอนไว้นานแล้วว่า สมัยร. 2 น่ะ ฝรั่งเข้ามาแล้วนะยะ
ไม่ใช่เพิ่งเข้ามาร. 3 -4 แล้วลายกระเบื้องหน้าบันสมัยร. 3 น่ะ ก็เป็นลายฝรั่ง ได้มาจากไม้กรอบรูป
สมัยผมเรียนหนังสือ เลนส์เทเลฯ อันโตเท่ากระบอกข้าวหลาม ซูมรูปได้กระจี๊ดเดียว ต้องอาศัยฉายสไลด์เอา
แล้วไปยืนดูหน้าจอ เห็นบ้างไม่เห็นบ้าง เพราะฉายดูไปพร้อมกับเด็กนักเรียน

ไม่มีใครฐานะดีพอจะมีเครื่องฉายส่วนตัว ขนาดถาดสไลด์ยังไม่มีปัญญาเลย อันละเป็นพัน สมัยนั้นนั่งรถเมล์แค่ 50-75 สตางค์
ครั้งแรกที่เห็นอาจารย์ญี่ปุ่นมาสอนหนังสือ พวกเราอายหน้าม้านเลยครับ เฮียยุ่นแกแพคสไลด์มาชุดละหนึ่งถาด
เลคเชอร์สิบสองครั้ง แกพกมา สิบสองถาด
คณะของเราเอามารวมกันทุกภาคยังน้อยกว่าเลย....ฮือ ฮือ

ขอใช้รูปคุณกุ้งแห้งหน่อยนะครับ
อยากให้เห็นว่าฝีมืออกแบบหน้าบันที่วัดไพชยนต์นี่ ระดับปรมาจารย์ทีเดียว
วางโครงสร้างลายโอ่อ่า มีใหญ่เล็กตัดกัน เพื่อสู้แสงตะวัน
การจัดน้ำหนักทำได้เด็ดขาดมาก กล้ายิ่งกว่ากล้า
เพราะวางลายบนไว้เป็นฉากหลัง ใหญ่โตเต็มแผง
เว้นที่พอให้ประธานแสดงตัวอยู่ในพื้นที่รูปร่างแปลกตา

ปิดท้ายตอนล่างด้วยเรื่องราวอันมีชีวิตชีวา
ลายอย่างนี้ กลับบ้านแล้ว รสชาติยังตามไปถึงห้องนอนครับ ลืมไม่ลงจริงๆ
สมัยร. 3 ต้องสู้ด้วยของแพง แต่ฝีมือผูกลายกลับด้อยกว่า

เรียกว่าเด่นไปคนละแนว เสียดายจริงๆที่มีตัวอย่างวัดในรัชกาลที่ 2 น้อยเหลือแสน
.


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 07 ก.ย. 06, 19:21
 อา    ไหนๆในกระทู้ก็เล่าคู่กันทั้งสองวัดแล้ว ขออนุญาตพาดพิงถึงวัดไพชยนต์พลเสพหน่อยนะครับ เพราะอยากชมมานานแสนนาน ไม่มีบุญเสียที


วัดไพชยนต์พลเสพราชวรวิหาร นี้มีงานศิลปกรรมชิ้นเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ชิ้นหนึ่ง ซึ่งไม่ควรจะมองข้ามไป นั่นก็คือบุษบกที่ครั้งหนึ่งเคยประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ซึ่งวังหน้าได้ถวายไว้ในพระอุโบสถเป็นพุทธบูชา


สมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า

"พิเคราะห์คำว่าไพชยนต์ ดูความหมายเอาบุษบกเป็นนิมิต และคำว่าพลเสพมาแต่สร้อยพระนามของพระราชวังบวรในรัชกาลที่ 3 ซึ่งถวายบุษบกนั้น ชวนให้เห็นว่านามวัดไพชยนต์พลเสพจะเป็นนามใหม่ที่สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขนานเมื่อสมัยรัชกาลที่ 4"


"ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากบุษบกยอดปรางค์ที่ประดิษฐานพระประธานในพระอุโบสถเป็นสำคัญ คือแต่เดิมสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงสร้างบุษบกยอดปรางค์เพื่อประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ "


"เมื่อพระองค์สวรรคตแล้วปรากฏว่าการดูแลภายในวังหน้าหละหลวมมาก ถึงกับมีผู้ร้ายเข้าไปลักเครื่องบูชาในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ รัชกาลที่ 1 จึงโปรดให้ย้ายพระพุทธสิหิงค์เข้าไปประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  จนล่วงเข้ารัชกาลที่ 3 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพจึงโปรดให้บุษบกยอดปรางค์เป็นพุทธบูชาที่วัดไพชยนต์พลเสพ"


ใครมีภาพบุษบกช่วยอนุเคราะห์แบ่งปันกันชมบ้างนะครับ ผมเองจะไปก็ไกลเหลือเกิน


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 08 ก.ย. 06, 00:08
 ระหว่างรอช่างภาพประจำกระทู้ (อุปโลกซะเลย หวังว่าคงไม่รังเกียจ นะครับคุณกุ้งแห้ง) เก็บข้อมูลวัดแสนสวยกลางสวนเมืองมอญ

ผมจะชวนไปวัดยิ่งใหญ่ที่สุดวัดหนึ่งในกรุงรัตนโกสินทร์
แต่ขอบอกล่วงหน้านะครับ ว่าไปด้วยความชอกช้ำระกำใจเหลือแสน ผมเคยน้ำตาร่วง วันที่เขาตัดมะฮอกกะนีสี่ต้น หน้าบริษัทบอร์เนียว ถนนสาธรเหนือ(ชื่อขณะนั้น)
แต่ที่วัดนี้ ความรู้สึกเหมือนมีตีนใตรสักคนเหยียบยอดอก แล้วลากเอาบาทานั้นขยี้ตรงใบหน้า ก่อนเดินหัวร่ออย่างโหดเหี้ยมออกไป


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 08 ก.ย. 06, 00:25
 วัดมหาสุทธาวาสนั้น เป็นผลงานต่อเนื่องถึง 3 รัชกาล
แต่ความสำคัญทำไมไปตกที่รัชกาลที่ 3 ก็ไม่ทราบ

ผมมาคิดทบทวนแล้ว ก็ต้องเรียนว่า งานก่อสร้างที่วัดนี้ แม่บทคงสำเร็จแต่รัชกาลที่ 1 แล้ว หาไม่ พระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระชราภาพ คงไม่เจาะจงเชิญพระโตมาจากสุโขทัย เพื่อจะเสด็จพระราชดำเนินพระบาทเปล่ามาในขบวนชักพระ ขึ้นสู่แท่นฐาน

ตรงนี้ แปลว่า ขนาดของอาคารต้องกำหนดออกมาแล้ว
องค์พระนั้น ตั้งบนชุกชียกสูง ก็แปลว่า ต้องก่อรับไว้ก่อน
แปลต่อไปได้อีกว่า ความสูงของเพดาน ย่อมทราบเป็นที่ยุติ
แปลได้อีกว่า คานทุกต้น ได้มาแล้ว เพราะความยาวของคาน เป็นตัวกำหนดตำแหน่งเสา......

แปลออกมาสามสี่ทอด สรุปเอาง่ายๆว่า แบบก่อสร้างนิ่งแล้ว ไม่มีเหตุให้ต้องลองผิดลองถูกอีก อนุญาตก็เพียงขยับผนังเข้าออกได้นิดหน่อย

เมื่อองค์ประกอบประธาน กำหนดชัดเจนขนาดนี้ สิ่งที่ตามมาก็คือ พระระเบียงที่แวดล้อม ก็ต้องทราบชัดตามมาด้วย

พูดแบบผู้รับเหมาก็คือ งานนี้ เดินหน้าอย่างเดียว เจ้าของงานเตรียมทุกอย่างรองรับหมดแล้ว ทั้งงบประมาณ ช่างฝีมือ วัสดุ แม้แต่นายด้านและผู้กำกับการ

เหลือให้รัชกาลต่อไปจบงานเท่านั้นแหละครับ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 08 ก.ย. 06, 00:48
บานประตูวัดนี้ รู้กันมาแต่ใหนแต่ไรว่าเป็นฝีพระหัตถ์พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2 ผมจึงไม่ฉายหนังเก่าซ้ำซาก

หนังใหม่ที่จะนำเสนอวันนี้ ว่าด้วยตอนจบของบานประตูครับ
ไม่ใช่จบแบบไฟไหม้ทั้งบาน จนต้องเชิญไปเก็บในพิพิธภัณฑ์
อายฟ้าอายดินกันมาแล้ว

แต่จะเล่าตอนจบของการจำหลักบานประตูครับ
ที่ปรากฏในจดหมายเหตุความทรงจำฯ ว่าทรงจำหลักเป็นสิ่วปฐมนั้น เราต้องตีความต่อไปครับ ว่าแล้วจะเสร็จเมื่อไร

การที่ลงมือทำบานประตูหน้าต่างนี่ แปลว่า(อีกและ)
การก่อสร้างมาถึงขั้นตอนท้ายๆแล้วครับ
แปลว่าอะไรล่ะ

ก็แปลว่าวัดนี้ อย่างน้อยที่สุด พระวิหาร แล้วเสร็จในรัชกาลที่ 2 ซีครับ จดหมายเหตุฯ เล่าเหตุการณ์ที่ทรงจำหลักบานประตูไว้หลังปีระกาเบญจศก คือ พ.ศ. 2356 นั่นละครับ ปีที่งานกำลังงวด
ไม่เกินสองปี เป็นได้ฉลองแน่นอน ตีเสียว่างานนี้กินเวลา 6 เดือน ติดตั้งเสร็จ ก็คือเสร็จงานครับ เพราะงานบานประตูหน้าต่างเป็นงานรายละเอียดแล้ว

เพราะฉะนั้น จะย้ายมหิมาสถาปัตยกรรมนี้ไปรัชกาลอื่นละก้อ โกรธกันตายเลย

พลังขนาดไหนครับ ที่สถาปนาพระอารามระดับนี้ขึ้นมาได้
ขอเชิญชวนท่านที่สนใจ ไปที่วัดแห่งนี้
ทนเดินย่ำไปบนลานวัดที่คนใจโสโครกรสนิยมทราม เปลี่ยนลานประวัติศาสตร์ เป็นลานอุบาทว์ แกรนิตขัดมันเลียนแบบปั๊มน้ำมันสั่วๆ

เดินตรงหลับหูหลับตาขึ้นสู่มหาไพทีที่งามสุดแห่งหนึ่ง
พระพุทธองค์ทรงโปรดเถิด พวกเอเลี่ยนมันลามปามขึ้นมาทำอะไรบนนี้ด้วยหรือเปล่า .....ผมไม่กล้าคิด

อยากให้ดื่มด่ำกับขนาดอันมโฬรพันลึกของเสาทุกต้น บานประตูทุกบาน เครื่องบนอันยิ่งใหญ่ แต่ดูเหมือนลอยอย่างไร้น้ำหนัก

นี่คือมหาวิหารแห่งรัชกาลที่ 2

พระอุโบสถแหละครับ ที่เป็นของรัชกาลที่ 3


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.ย. 06, 09:56
 อ่านอยู่ตั้งหลายย่อหน้า  ถึงเพิ่งรู้ว่าคุณพิพัฒน์หมายถึงวัดอะไร


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 08 ก.ย. 06, 21:26
 ผมเคยไปเดินเทียนที่ "วัดมหาสุทธาวาส" ที่รักของคุณ pipat ในวันบุรณมีบูชาวาระใดวาระหนึ่งจำไม่ได้เสียแล้ว

เป็นการเดินเวียนเทียนที่ต้องตั้งสติและมีสมาธิอย่างแน่วแน่ที่สุด เพราะวันนั้นฝนตกปรอยๆ พื้นหินแกรนิตที่รอบพระวิหารช่างลื่นเหลือเกิน เดินปัดเป๋ไปหลายหนจนคุณพระรัตนตรัยหล่นหายไปจากอารมณ์ก็หลายครั้ง

ที่น่าสงสารคือคุณย่าคุณยายผู้มีศรัทธา อุตส่าห์เดินเวียนจนครบ ๓ รอบ ทั้งๆ ที่พระวิหารก็ไม่ใช่ย่อมๆ พื้นก็ลื่นเหลือทน จนต้องมีเจ้าหน้าที่มาคอยตะโกนว่าเดินดีๆ ระวังพื้นลื่นนะคร้าบบบ..ดังนี้อยู่ลั่นๆ ซ้ำๆ กันแทนบทมนต์ภาวนา

แถมแกรนิตกะเทาะๆ ที่เหลือนั้นยังอุตส่าห์ไปปูแปะๆ ไว้ผสมกับคนกรีตลาดบาทวิถีหน้าวัดให้คนที่สัญจรลื่นล้มหน้าทิ่มอีกด้วย

การปูแกรนิตมันปลาบอย่างนั้นตามวิหารลานเจดีย์นั้น มิพักต้องพูดถึงความสวยงาม แค่พูดถึงความปลอดภัยที่มีให้แก่ทายกทายิกาก็น่าเหนื่อยใจแล้ว


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 09 ก.ย. 06, 17:45
 55555....
สรุปว่า มหาสถานแห่งนี้
หน้าฝนก็ไม่ควรไป ....ลื่น
หน้าร้อนก็ไม่ควรไป......แดดสะท้อนมันว๊าบบบแสบตา ..ตาเสีย
หน้าหนาวก็ไปไม่ได้ หินมันเย็นยะเยือก....อาจเป็นหวัด


ตกลงไปหน้าใหนดีกันละนี่
หน้าหนา....หรือ
หน้าด้านหน้าทน.......
หรือ หน้าไม่อาย


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 09 ก.ย. 06, 18:35
 เสนอว่าสวมรองเท้ากีฬาที่ยึดพื้นแน่นๆ น่าจะปลอดภัยในระดับหนึ่งค่ะ  จะได้ไม่ต้องเล่นสะเก็ตแบบไม่สมัครใจรอบพระอุโบสถ

มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับหลวงพ่อโตวัดมหาสุทธาวาส มาดึงกระทู้ไว้ไม่ให้ตกหน้าเร็วนัก

หลวงพ่อโตเป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์  ศิลปะสุโขทัย ปางมารวิชัย  ขัดสมาธิราบ ขนาด ๓ วา ๑ คืบ / ๓ วา ๔ นิ้ว สูง ๔ วา  เรียกได้ว่าองค์ใหญ่มหึมา เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหารหลวง วัดมหาธาตุ ที่สุโขทัย  กล่าวกันว่าสร้างสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯทรงอัญเชิญมาไว้ที่กรุงเทพ การขนย้ายพระพุทธรูปขนาดใหญ่ขนาดนั้นต้องส่งมาทางน้ำ โดยชักพระลงแพขนาดใหญ่ล่องมาตามแม่น้ำจากสุโขทัยถึงกรุงเทพ
เมื่อมาถึงพระนครจอดทอดทุ่นอยู่หน้าพระตำหนักแพ  สมโภชเป็นงานใหญ่ หลังจากนั้นจึงเทียบท่าช้าง ชักพระขึ้นบกไปตามถนนเพื่อไปยังวัดมหาสุทธาวาส  
ท่าที่เชิญพระขึ้นมานี้ในสมัยนั้นเรียกว่าท่าพระ แต่ต่อมาก็เรียกเป็นท่าช้างวังหลวงอย่างเดิม

ปรากฏว่าเมื่อขึ้นบก  พระองค์ท่านใหญ่เกินประตูเมือง  ต้องรื้อประตูและกำแพงส่วนหนึ่งออกเสียก่อน การจึงลุล่วงไปได้
การชักลากพระใหญ่มาที่วัดและยกขึ้นประดิษฐานบนรากพระวิหารที่ก่อเตรียมไว้นี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงร่วมชักลากทั้งที่ทรงประชวร   พงศาวดารเล่าว่าทรงเซไปเกือบล้ม   หากเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิตทรงรับไว้ทัน


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 09 ก.ย. 06, 22:04
ระหว่างที่กระทู้ไปที่วัดมหาสุทธาวาส
กลับไปที่วัดโปรดเกศฯสักหน่อยนะคะ
ขอเสริม เพื่อไม่ให้ลืมกล่องเพชรเล็กๆแห่งนี้
คือภูมิทัศน์ของลานต้นจันทน์
เก้าอี้ลักษณะเป็นแบบจีน เหลือเท่าที่เห็น เหมือนกันทั้งสองด้าน
ด้านนี้เป็นข้างซ้ายค่ะ คั่นกลางระหว่างต้นจันทน์สองต้น เป็นม้าหินตัวใหญ่มาก
เป็นแท่นเลย น่าจะคล้ายกับวัดราชโอรสนะคะ
ดูสบายๆ ...


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 09 ก.ย. 06, 22:06
สิงห์ตัวเล็กประดับบนเชิงกำแพงแก้วแบบจีนค่ะ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 09 ก.ย. 06, 22:08

พระปรางค์ หรือเจดีย์กลางสระมุมใกล้ชิดค่ะ  


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 09 ก.ย. 06, 22:10

ตอนที่ดิฉันไปเก็บภาพมาฝากเรือนไทย
เห็นค่ะ ว่าพระวัดนี้ขยันจริงๆ  


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 09 ก.ย. 06, 22:20

วัดกลางสวนเดี๋ยวนี้ไม่กลางสวนแล้วค่ะคุณพิพัฒน์
สังคมเมืองขยายมาอย่างน่ากลัว
ถึงวัดจะทำรั้วกั้นด้านใน ดิฉันก็ไม่แน่ใจว่า
จะเก็บรักษาความงามไว้ได้นานแค่ไหน
ชาวบ้านที่เติบโตมากับบ้านเรือนแถวนั้น
จะมองข้ามคุณค่าและราคาที่เปรียบไม่ได้หรือไม่
...  


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 09 ก.ย. 06, 22:28

ไหนๆเข้าไปแล้วก็เลยถ่ายมณฑปมาฝากด้วยค่ะ  


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 09 ก.ย. 06, 22:31

ที่เชิงมณฑป แต่งด้วยการฝังถ้วยฟ้าขาวของจีนด้วยนะคะ  


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 09 ก.ย. 06, 22:37

ผสมไทยจีน
ความกลมกลืนที่ไม่ขัดตาของช่างโบราณค่ะ  


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 09 ก.ย. 06, 22:40

ส่งท้ายวันนี้ด้วยหน้าบันพระอุโบสถค่ะ
วันนี้นกเยอะมากเลยค่ะ  


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 10 ก.ย. 06, 03:02

ขอบคุณคุณกุ้งแห้งเยอรมันมากสำหรับภาพวัดโปรดเกศฯ ทำให้อยากไปอยู่ครามครัน วัดนี้ดูสะอาดสะอ้านเป็นระเบียบดี

กลับมาที่วัดมหาสุทธาวาส

มีเรื่องเล่าอยู่เรื่องหนึ่ง ผมจำไม่ได้แล้วว่าบันทึกอยู่ที่ไหน หากผิดพลาดก็ขออภัย ว่ากาลครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาถวายผ้าพระกฐินที่วัดสุทัศนฯ นี้ (อุ๊บ..หลุดคำว่าวัดสุทัศนฯ ออกมาเสียแล้ว) การถวายผ้าพระกฐินนั้นปกติทำที่พระอุโบสถ

แต่พระกฐินหลวงปีนั้น โปรดจะทรงแวะนมัสการพระศรีศากยมุนีในพระวิหารเสียก่อน จึงทรงเรียกหาดอกไม้ธูปเทียนจากมหาดเล็ก

เจ้ากรรม..

มหาดเล็กลืมเตรียมดอกไม้ธูปเทียนท้ายที่นั่งมา...

ก็เป็นอันว่ากริ้วไม่ใช่น้อย จึงโปรดเกล้าฯ ให้มหาดเล็กทั้งหมดหาดอกไม้ธูปเทียนมากราบบูชาพระศรีศากยมุนี เป็นการลงพระราชอาญา

..แต่ปัจจุบันคงไม่เกิดเหตุการณ์ที่เจ้านายต้องทรงเรียกหาดอกไม้ธูปเทียนเช่นนั้นอีกแล้ว

เพราะในหมายกำหนดการจะระบุไว้ชัดเจนว่ารถยนต์พระที่นั่งจะเทียบที่หน้าพระวิหารเพื่อเสด็จขึ้นสู่พระวิหารทรงนมัสการพระศรีศายกมุนี และถวายบังคมพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระอัฐมรามาธิบดินทร เป็นอันดับแรก จากนั้นจึงทรงพระดำเนินอ้อมไปออกประตูหลังพระศรีศากยมุนีมุ่งไปยังพระอุโบสถต่อไป

เจ้าพนักงานก็จะเตรียมตั้งแต่งเครื่องนมัสการทองทิศ (สำหรับบูชาพระศรีศากยมุนี) และเครื่องทองน้อย (สำหรับถวายราชสักการะพระบรมราชสรีรางคาร) ไว้พร้อมสรรพเสมอ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ก.ย. 06, 09:47
 เข้ามาชมภาพงามๆด้วยอีกคน
ภาพที่ 115  ถ้าเปลี่ยนจากลานปูกระเบื้องเป็นลานดินปนหญ้า  ลานจันทน์นี้น่าจะเข้าไปนั่งเล่นในตอนเย็นๆ
บทกวีของคุณกุรุฯในคห. 78 คือเพลงลานจันทน์รัญจวนของสุนทราภรณ์ค่ะ  
ชาวหน้าพระลานเขามีลานจันทน์ ทำนองเดียวกับเทวาลัยมีลานชงโค


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 10 ก.ย. 06, 12:25

.
คุณกุ้งแห้งมีน้ำใจจริงๆ
ขอเสียมารยาท เอารูปมาใช้ประโยชน์ต่อนะครับ
จะให้เห็นเจตจำนงของหน้าบันรัชกาลที่ 2


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 10 ก.ย. 06, 12:36
โครงสีที่ใช้ แม้ว่าเรียบง่าย เพราะเป็นการเริ่มต้น แต่ให้ผลต่อสายตาอย่างวิเศษ
คือใช้สีแดงเป็นจุดเด่น รองรับด้วยเขียว(จากลายกลีบใบไม้) และฟ้า(จากดอกตรงกลาง) วางทั้งหมดบนพื้นขาว
แล้วก็รอพระเอกมาแสดงบทบาท คือรอแสงตะวันครับ

ช่างที่เห็นสี และใช้สีได้ถึงขนาดนี้ ต้องไหว้เป็นครู

คุณกุ้งแห้งโปรดซูมลายจานให้เห็นเต็มตาหน่อยได้ใหมครับ

เอ ผมว่า เปิดอบรมถ่ายรูปหน้าบันกันดีฝ่า
การวัดแสงที่แตกต่างกันถึงเจ็ดแปดสต็อบนี่ มีสูตรให้ใช้และมีเทคนิครองรับพอสมควรทีเดียว


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 10 ก.ย. 06, 15:32

คร็อปภาพให้ได้ค่ะ ขืนซูมกว่านี้ต้องเปลี่ยนกล้องไปใช้อีกแบบและเป็นlonglense
หน้าบันแรกค่ะ  


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 10 ก.ย. 06, 15:35

หน้าบันที่สองค่ะ  


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 10 ก.ย. 06, 15:40
 ขออธิบายเพิ่มเติมสักนิดนะคะ
ความแตกต่างของแสงค่ะทำให้สีเปลี่ยนไป
หน้าบันแรกเป็นพระอุโบสถถ่ายจากด้านหน้า ย้อนแสงตะวัน

หน้าบันที่สอง ของวิหาร ถ่ายจากด้านหลังรับแสงตะวัน
(หลบสายไฟและกิจกรรมวัดด้านหน้า)


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 10 ก.ย. 06, 15:54

แสงจ้าๆ ค่ะ ยังไม่ได้ลองถ่ายตอนแสงเช้า กับเย็น ไปทีไรก็เที่ยงๆ บ่ายๆ ..  


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 10 ก.ย. 06, 16:00
 ขอบพระคุณอาจารย์ืเทาชมพูค่ะที่อธิบายแทนคุณกุรุฯ
เห็นเขาเรียกกันว่าลานอาจารย์ศิลป์จนชิน
ไม่ทราบว่ามีเพลงชื่อเพราะๆอย่างนี้ด้วย


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 10 ก.ย. 06, 21:33
 เห็นชัดพอจะแน่ใจว่าเป็นเทคนิคปูนปั้นย้อมสี
สมัยที่ผมยังเด็ก อาจารญ์พิชัย นิรันด์ ศิลปินแห่งชาติ
รับงานทำหน้าบันแบบนี้ วัดแถวบ้าน(ลืมจดชื่อไว้)
ท่านเป็นตระกูลแทงหยวก (นำผลไม้มาแกะเป็นลวดลายประดับเบญจาหรือเตียงเทศน์ หรือเมรุ)
ก็เลยแทงหยวกเป็นแม่ลายต่างๆ หล่อปูนแล้วย้อมสี(ภาษาผู้รับเหมาเขาเรียกการทาสีโต๊ะเก้าอี้ วัตถุ...ว่าย้อมสี) นำขึ้นติดป็นลายหน้าบัน
ความจริงจะปั้นปูนสดก็ได้ แต่ท่านอยากอวดฝีมือแทงหยวก

หน้าบันรัชกาลที่ 2 ชุดนี้เป็นการปั้นสด ฝีมือปานกลาง แต่งานออกแบบชาญฉลาดนัก ทำของง่ายให้ดูมีเสน่ห์

เป็นศิลปะสามฤดู เชิญสูรยะเทพมาเป็นจิตรกร
ร้ายกาจนัก


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 10 ก.ย. 06, 21:46
 แถวบ้านดิฉันมีอีกวัดหนึ่งค่ะที่เลื่องลือกันมานาน
ยังไม่ได้ไปดูเสียที
คือวัดป่าเกด..
ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ
เคยจะจัดกลุ่มขอไปชมครั้งหนึ่ง
ปรากฏว่าปิดซ่อม
ฟังแล้วกลัวจริงๆค่ะ..


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: หมูน้อยในกะลา ที่ 10 ก.ย. 06, 22:40
 น่าเสียดายครับที่ปิดซ่อมแซม ไม่เช่นนั้นคงได้มีโอกาสชื่นชมภาพจิตรกรรมงามๆ ฝีมือการถ่ายภาพของคุณกุ้งฯ ช่างภาพประจำกระทู้นี้เสียด้วยแล้ว


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 11 ก.ย. 06, 10:10
 สวัสดีค่ะ คุณหมูน้อยฯ ว่างๆจะไปแวะสอดส่องให้ค่ะ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 11 ก.ย. 06, 11:36
 ถ่ายรูปได้แสนงามจริงๆครับ คุณกุ้งแห้งเยอรมัน ถ้าผมถ่ายเองก็คงย้อนแสงเสียจนดำปี๋ไปหมด


ส่วนลานวัดพระโตของคุณพิพัฒน์ตอนนี้ก็คงต้องทำใจไปก่อนครับ ไปมาก็ลื่นเองเหมือนกัน พอเป็นอนุสติได้ว่ากว่าจะข้ามฝั่งชเลนทีสีทันดรเข้าสู่บรมนิวานก็ต้องสะดุดหกล้มหกลุกกันพอสมควร


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 12 ก.ย. 06, 19:11
 คุณกุ้งแห้งกระสุนคงหมด เราไปชมวัดอื่นของรัชกาลที่ 2 กันต่อ
วัดอรุณราชวรารามครับ

ส่วนที่เป็นงานรัชกาลที่ 2 ก็คือพระอุโบสถครับ
ยกเว้นพระยายักษ์เฝ้าประตูสองตน ที่เป็นงานสมัยรัชกาลที่ 3
แต่ทั้งวงพระระเบียง นั่นคือศิลปะรัชกาลที่ 2 ครับ

รวมไปถึงตุ๊กตาจีนรอบลานพระระเบียงด้วย


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 13 ก.ย. 06, 00:45
ขอเป็นฝ่ายเสริมสรรพาวุธค่ะ
คุณpipatจุดชนวนก่อนสิคะ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 13 ก.ย. 06, 00:49
ภาพบนเป็นเจดีย์ริมคลองหลังอุโบสถค่ะ
ภาพนี้คือหน้าต่างวิหารวัดโปรดเกศฯ
มีกระจกกันชั้นหนึ่งด้วยค่ะ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 13 ก.ย. 06, 02:49
 กำลังตัดสินใจว่าจะต้องเริ่มหัดถ่ายรูปใหม่
แต่กลัวสู้คุณกุ้งแห้งไม่ได้

ลายรดน้ำที่เห็น มีวิธีใช้เส้นแรที่น่าสนใจครับ มีโอกาศเก้บรายละเอียดอีกหน่อยได้ใหมครับ อยากเห็นว่าซ่อมหรือปล่า

น่าอิจฉาที่มีวัดสวยไกล้บ้าน
ของผมหากอยากดูวัดบรรเจิดใจ ต้องถ่อสังขารเป็นเรื่องใหญ่ แล้วที่เจ็บใจคือ ถนนผ่ากลางวัดเสียอีก
หมายถึงกลุ่มวัดข้างกรมอู่ทหารเรือ วัดหงส์ วัดโมฬี และวัดราชสิทธ์(อันนี้เลยห่างมาหน่อย) เสียดายอย่างที่สุดครับ

วัดโมฬีฯ เป็นอีกวัดหนึ่ง ที่น่าจะอยู่ในกลุ่มวัดรัชกาลที่ 2 ขอขึ้นบัญชีไว้ก่อน กำลังหลอกเด็กให้มาช่วยถ่ายรูปครับ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 13 ก.ย. 06, 09:46
 รู้เขาหลอก แต่เต็มใจให้หลอก...
(เสียงแม่สาวคนงามพุ่มพวง ดวงจันทร์ก้องอยู่ในหู)


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ย. 06, 10:15
 ดิฉันหลงทางค่ะ   ไม่รู้ถึงวัดไหนแล้ว....
ออกจากวัดมหาสุทธาวาส   เห็นคุณพิพัฒน์เดินถือธงนำทางว่าจะข้ามฟากเจ้าพระยามาวัดอรุณ
เอ้า...ข้ามก็ข้าม  ลงเรือจ้างมา  ลุงแกเกิดอยากแจวผ่านประตูไปไหนก็ได้ของโดเรมอน  พาไปส่งวัดโปรดเกศฯ จนเพลิดเพลินกับลายรดน้ำอีกครั้ง ไม่อยากผละมาง่ายๆ
หันมาอีกที คุณพิพัฒน์ไปขึ้นท่าที่กรมอู่ทหารเรือเสียแล้ว

ไม่เป็นไร  ดิฉันล่วงหน้าไปวัดอรุณ  นั่งปูเสื่อรอไปก่อนพลางๆ
***************************
นั่งอยู่คนเดียวสักพัก  ไม่รู้เป็นลมแดดไปหรือเปล่า เพราะเจอแต่คอนกรีต หน้ามืด มองเห็นภาพในอดีตลอยขึ้นมา
เห็นตั้งแต่สภาพเมื่อครั้งสร้างสมัยอยุธยา  พอถึงสมัยธนบุรี กลายเป็นอยู่ในเขตพระราชวังหลวง   น่าจะเป็นวัดสำคัญ เพราะเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรหรือพระแก้วมรกตอยู่พักหนึ่ง
แต่ตอนที่เห็นวัดนี้ในม่านตาลาย  ยังไม่เห็นพระปรางค์วัดอรุณที่กลายมาเป็นสัญลักษณ์ลือเลื่องไปทั่วโลก
กว่าจะเห็น ต้องฝันล่วงมาถึงรัชกาลที่ ๒  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯทรงริ่เริ่มไว้  สูงเพียง ๘ วา

อ้าว  ฟื้นขึ้นมาเสียแล้ว  ยังไม่ทันเห็นพระปรางค์ในรัชกาลที่ ๓ น่าเสียดาย


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 13 ก.ย. 06, 10:41
ความน่าสนใจของวัดโมลีฯ ไม่ใช่อยู่ที่อาคาร แต่อยู่ที่สถานที่
สิ่งแวดล้อมของวัดนี้ ดูเหมือนไม่ใคร่เปลี่ยนแปลงมากนัก จึงมีค่าเหลือเกิน(จนกระทั่งมีถนนตัดเข้ามา)

มีค่าอย่างไร
มีค่าตรงที่เราจะเห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินของเรา ส่งโอรสไปรับการอบรมศึกษาในสิ่งแวดล้อมเยี่ยงไร เป็นข้อมูลที่หาไม่ได้อีกแล้วครับ
เปรียบเหมือนวัดราชาฯ ซึ่งเราทราบจากประวัติว่าเป็นวัดเปลี่ยว เงียบสงบ สมถะ เป็นที่ที่นักปราชญ์ท่านหนึ่งสั่งสมสติปัญญาและความรอบรู้ขึ้นมา

ไปเห็นก็อดเสียดายมิได้ว่า เราจะไม่ได้อะไรทางด้านประวัติศาตร์ความคิดออกมาจากการไปตามรอยสถานที่ ณ พระอารามนามว่าราชาธิวาส
เพราะท่านได้ดิบได้ดีเป็นอัครฐานสำคัญยิ่งใหญ่แห่งรัชกาลที่ 5 ไปแล้ว เหลือทรากหลักฐานก็เพียงขนาดของพระอุโบสถเก่า ที่สมเด็จนริศฯ ทรงรักษาไว้ในงานออกแบบใหม่

แต่ที่วัดโมลี ถ้าท่านต้องการสัมผัสกับอากาศเมื่อ 200 ปีที่แล้ว ที่โอรสกษัตริย์ เสด็จมาเรียนหนังสือกับพระอาจารย์ของท่าน ท่ามกลางแมกไม้รายรอบด้วยสวนผลไม้พฤกษานานาพรรณ ริมคลองสงบเงียบ

รีบไปดูครับ

---------------
แก้ถูกหลอก ท่านให้หลอกกลับครับ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เเก้วริมรั้ว ที่ 13 ก.ย. 06, 17:09
 ขอเข้ามาอ่านด้วยคนค่ะ พบเว็บนี้จากกูเกิ้ล เเรกพบก็รักเลย ที่จริงเราก็ชอบอ่านหนังสือมาก เเต่พอเข้ามาตรงนี้โอโหข้อมูลเป็นเรื่องที่เราไม่เคยรู้ละเอียดอย่างนี้เลยค่ะ เเสดงว่ายังอ่านไม่มากพอเท่าคุณๆ ที่เข้ามาเเสดงความคิดเห็น
เเล้วส่วนใหญ่เวลาไปเที่ยวดูวัด ชวนใครในบ้านไปด้วยเค้าก็ไม่ค่อยจะซาบซึ้งเเละงงว่าเราทำไมเราถึงหลงไหลได้ปลื้มไปดูตามวัดต่างๆได้ไม่เบื่อ ดูไปถึงกุฏิ ลวดลายของโอ่งน้ำ ไม่ใช่เฉพาะวัดนะคะ บ้านโบราณ วังเก่า (อาศัยดูรูปเอา) ตึกเเถวเก่าๆ ของเก่า เรื่องโบราณ ชอบไปหมดค่ะ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 13 ก.ย. 06, 17:37
 ยินดีต้อนรับสู่ชมรมคนหลงอดีต ที่เล่นคอมพิวเตอร์ครับ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 15 ก.ย. 06, 01:12

.
ดูแผนที่ไปพลางก่อนนะครับ สองรูปห่างกันร้อยกว่าปีครับ
ที่วงไว้คือวัดโมลี  


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 15 ก.ย. 06, 09:01
 น่าสนใจมากค่ะ จะพยายามหาเวลาไป


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 15 ก.ย. 06, 10:10
 แม้ไม่เคยไปวัดโมลีฯ แต่เมื่อท่องอักษรต่ำเดี่ยว ก็ต้องเอ่ยชื่อวัดนี้ทุกที

"งูใหญ่นอนอยู่ ณ ริมวัดโมฬี (ลี) โลก"


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 15 ก.ย. 06, 12:42
 เห็นที ต้องหาเวลาไปชมแล้วค่ะ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 15 ก.ย. 06, 15:46

.
ขอยืมรูปมาจาก
 http://www.skn.ac.th/skl/skn42/temp85/188.jpg
วัดนี้น่าชมมากนะครับ โดยเฉพาะรูปเหมือนของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ขุน

จะว่าเป็นต้นกำเนิดแห่งสติปัญญาของพระบรมราชจักรีวงศ์ก็คงไม่ผิดพลาด
แต่อาภัพ ไม่มีคนสนใจ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 23 ก.ย. 06, 22:07
 จำได้ ว่าครั้งหนึ่งผมเคยไปเหยียบเยือนวัดโมฬีฯ ของคุณพิพัฒน์มาครับ


เข้าไปแล้วน้ำตาจะร่วง อะไรๆในวัดทำไมมันถึงได้เป็นอย่างที่ผมเห็นก็ไม่ทราบ
โดยเฉพาะหอเขียนที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ที่ถูกดัดแปลงให้กลายสภาพเป็นเพิงพักของคนงานไปแล้ว


ถ้าใครอยากเข้าไปชมด้านใน ก็ลองดูนะครับ แต่ระวังล่ะครับ ขึ้นบันไดทีน่ะของเสื่อม
เพราะตอนผมไป คนงานที่พักกันอยู่ที่นั่นเขาตากกางเกงใน ชุดชั้นในกันเอาไว้เหนือบันไดน่ะครับ เอื้อก




ไม่อยากไป กลัวของเสื่อมกัน ดูแค่เสาก็ได้นะครับ อิอิ



.


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 23 ก.ย. 06, 22:09

.





ทวารบารของหอไตรที่ว่าครับ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 23 ก.ย. 06, 22:13

.




ก่อนจากกันคืนนี้..... มีดาวเพดานมาฝากซักหน่อยครับ
หอเดิมแหละครับ แหะๆ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 24 ก.ย. 06, 21:00
 คุณติบอถ่ายภาพเก่งนะครับ รูปสวยงามมากเลย วันหลังคงต้องสอนผมถ่ายรูปบ้างนะครับ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.ย. 06, 14:23

ขอตัดตอนไปเล่าถึงวัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหารค่ะ

วัดนี้สร้างสมัยอยุธยา เดิมชื่อว่าวัดมะกอก  ต่อมาชาวบ้านเรียกว่าวัดมะกอกนอก  คู่กับวัดมะกอกในหรือวัดนวลนรดิศซึ่งสร้างขึ้นมาทีหลัง

พ.ศ. 2310 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จมาถึงหน้าวัดนี้ตอนรุ่งแจ้ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้เทียบเรือพระที่นั่งที่ท่าน้ำ เสด็จขึ้นไปสักการบูชาพระมหาธาตุ ในพระปรางค์องค์เดิม
โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดมะกอกและเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “วัดแจ้ง”
ต่อมาเมื่อสร้างพระราชวังธนบุรี ทรงเอาป้อมวิชัยประสิทธิ์ข้างฝั่งตะวันตกเป็นที่ตั้ง  ขยายเขตพระราชฐานครอบคลุมมาถึงวัดแจ้ง จนเป็นวัดภายในพระราชวัง เช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์สมัยอยุธยา
ความสำคัญของวัดนี้เห็นได้จากเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตที่อัญเชิญมาจากเวียงจันทน์ใน พ.ศ. 2322 ก่อนที่จะย้ายมาประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามใน พ.ศ. 2327 เมื่อพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯทรงย้ายเมืองหลวงมาฝั่งพระนคร

ส่วนพระปรางค์วัดอรุณที่กลายมาเป็นสัญลักษณ์ลือเลื่องไปทั่วโลก
สร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯทรงริเริ่มไว้ สูงเพียง ๘ วา

ภาพจาก
 http://www.bangkokfocus.com/ontour/bkkfo_issu2_watarun.html#  


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 25 ก.ย. 06, 18:29
 ผมไม่แน่ใจเรื่องชื่อวัดแจ้งน่ะครับ คล้ายๆกับเคยได้ยินมาว่า ในแผนที่ของชาวตะวันตกก็มีชื่อ วัดแจ้งนี้แล้ว คือน่าจะเป็นเรือเอกเดอ ฟอร์บัง และนายช่างเอด ลามาร์ ชาวฝรั่งเศสทำขึ้นไนรัชสมัยพระนารายณ์มหาราช ได้ระบุชื่อและที่ตั้งของวัดเลียบกับวัดแจ้งไว้


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 25 ก.ย. 06, 20:42
 อ้าว แล้วงั้นชื่อวัดมะกอกล่ะคะ
หมายความว่าชื่อวัดแจ้งมาก่อน แล้วกลายเป็นวัดมะกอกงั้นหรือคะ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 25 ก.ย. 06, 21:37
 ผมเจอในเวปนี้น่ะครับ ก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่วัดเดียวก็อาจมีหลายชื่อได้



 http://theyoung.net/praratchapravat/wat1-9/02king.htm  


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 25 ก.ย. 06, 21:55
 ต้องขอบพระคุณ คุณกุรุกุลาที่ฝืนใจชมภาพถ่ายนะครับ
ภาพชุดนี้ ผมเห็นแล้วก็กลุ้มอยู่นาน ไม่รู้ว่าคนถ่ายมือสั่น หรือกล้องมีปัญหากันแน่
แถมองค์ประกอบศิลป์ดูแล้วเหมือนศิลป์ไม่เต็มบาตรซะยังไงก็ไม่รู้ ต้องใช้ ACDsee แต่งอยู่หลายชั่วโมงครับ


ผมขออนุญาตถือวิสาสะเก็บเอาคำชมของคุณไว้มอบให้สมาชิกท่านอื่นที่ถ่ายรูปเก่งกว่านี้แล้วกันนะครับ แหะๆ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เเก้วริมรั้ว ที่ 26 ก.ย. 06, 02:32
 ตอนนี้กำลังไล่หาอ่านกระทู้คุณ pipat บนเรือนไทย มีอาการเหมือนคนติดอะไรอย่างคลั่ง สงสัยต้องไปเลิกที่ถ้ำกระบอก
อยากบอกว่าชอบภาพเรือนเเพริมน้ำที่เหมือนบ้านของอำเเดงเหมือนกับนายริดในกระทู้โน้น อยากผ่านกระจกทวิภพเข้าไปมีชีวิตอยู่ในรัชกาลพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เอ..ยิ่งดึกอาการยิ่งหนัก ไปนอนก่อนดีกว่าเผื่อจะฝันว่าได้ไปจริงๆ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: คิดไม่ออกบอกระเบียบรัตน์ ที่ 26 ก.ย. 06, 21:44
 ความเห็นเพิ่มเติมที่ 158

ผมไม่แน่ใจเรื่องชื่อวัดแจ้งน่ะครับ คล้ายๆกับเคยได้ยินมาว่า ในแผนที่ของชาวตะวันตกก็มีชื่อ วัดแจ้งนี้แล้ว
คือน่าจะเป็นเรือเอกเดอ ฟอร์บัง และนายช่างเอด ลามาร์ ชาวฝรั่งเศสทำขึ้นไนรัชสมัยพระนารายณ์มหาราช
ได้ระบุชื่อและที่ตั้งของวัดเลียบกับวัดแจ้งไว้
++++++++++++++++++

นายช่างเอด ลามาร์ เขียนสับกันค่ะ ต้องเป็น เดอ ลามาร์ (de Lamare)
หนังสือเวียงวังฝั่งธนฯ ชุมชนชาวสยาม ของสุจิตต์ วงศ์เทศ เสนอมุมมองที่น่าสนใจ
สรุปได้ว่าแผนที่ของนายช่างฝรั่ง เขียนแสดงเมืองบางกอกไว้ชัดเจนว่าเป็นเกาะ
แต่นายฝรั่งไม่ได้พูดถึงชื่อวัดแจ้งแต่อย่างใดค่ะ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: คิดไม่ออกบอกระเบียบรัตน์ ที่ 26 ก.ย. 06, 21:52
 “ทำไมจึงเรียก “บางกอก”?
มีผู้พยายามอธิบายคำว่า “บางกอก” มาจากเหตุผลว่า บางหรือหมู่บ้านที่มีต้นมะกอกเป็นสัญลักษณ์
ซึ่งดูเหมือนจะง่ายเกินไปและเลื่อนลอย

นายขจร สุขพานิช กล่าวถึงชื่อบางกอกเอาไว้ว่า “แผนที่ของนายเดอ ลามาร์ แสดงสายลำน้ำเจ้าพระยา
จากปากน้ำถึงอยุธยาที่มีปรากฏในหนังสือ Le Siam Ancien เป็นแผนที่ชัดเจนกว่าที่ปรากฏ
ในที่อื่น แสดงเมืองบางกอกไว้ชัดเจนว่าเป็นเกาะกลางแม่น้ำ….ผู้เขียนเคยเห็นเอกสารรัชกาลที่ 1
เขียนบางกอกว่า “บางกอะ”   ……จากคำนี้กลายเป็นบางกอกอย่างไรก็อธิบายไม่ถูก” (ขจร สุขพานิช: 2509: 56)

ประเด็นที่นายขจรฯ ยกมานี้น่าสนใจทีเดียว เพราะมีเหตุผลมากกว่า “ต้นมะกอก”
และถ้าหากพิจารณาตามสภาพภูมิศาสตร์แล้ว จะเห็นว่าบริเวณเมืองธนบุรีเป็นลักษณะเกาะจริงๆ
เพราะแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่านั้นอ้อมจากคลองบางกอกน้อยไปออกคลองบางกอกใหญ่อยู่แล้ว
และเมื่อมีคลองลัดสมัยพระชัยราชามาตัดระหว่างปากคลองสองแห่งนี้ จึงทำให้ดินแดนเมืองธนบุรี
เป็นเกาะมีแม่น้ำ หรือลำน้ำล้อมรอบเช่นเดียวกันกับเกาะเมืองอยุธยา

โดยสรุป ดินแดนสองฟากแม่น้ำเจ้าพระยาตอนนี้เรียก “เมืองธนบุรี” และฝรั่งรับรู้ในนาม “เมืองบางกอก”
ซึ่งเลือนมาจาก “บางเกาะ” หมายถึงชุมชนที่เป็นเกาะ”

เวียงวังฝั่งธนฯ ชุมชนชาวสยาม  


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 27 ก.ย. 06, 23:15
 กลับมาประจำการได้ตามเดิม (หวังไว้นะครับ)
ตั้งแต่ฝนเทลงมา สายโทรศัพท์ที่บ้านก็ออกอาการอ้อแอ้
เลอะเลือน บางทีก็หายไปวัน สองวัน
เน็ตก็อืดระดับกำหนดสติ และใช้วัดความอดทนได้เป็นอย่างดี

วันนี้ช่างเข้ามาดูแล้วกรุณาอธิบายว่า เนื่องจากบ้านผมอยู่ในสวน บริษัทจึงยินดีมอบสายชนิดประสิทธิภาพตำสุดให้
ตอนเขามาวัดสัญญาน เห็นทำท่าเหมือนหมอดูคนไข้ที่หมดทางเยียวยา
ทำผมยะเยือกในใจชอบกล เขาบอกว่าจะมาดูให้ใหม่....หางเสียงพอจับความได้ว่า ก็..ทนๆใช้ไปเหอะ ดีกว่าไม่มี

รูปที่แนบมา ไม่เกี่ยวกับบริษัททีรูนะครับ เป็นแผนที่ป้อมวิชัยประสิทธิ แถมด้วยวัดติดกัน ซึ่งทุกท่านคงมั่นใจว่าคือวัดแจ้ง
แต่ผมไม่ขอร่วมวงสืบหาชื่อเดิมนะครับ
เอามาให้ดูความสำคัญของเมืองธนบุรี
เพื่อจะเข้าประเด็นการสถาปนาวัดอรุณราวราราม


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 28 ก.ย. 06, 08:44
 เห็นพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามแล้วก็นึกถึงสมัยเด็กๆ ที่ทางวัดยังอนุญาตให้ปีนป่ายพระปรางค์ได้ตามสะดวก

ตอนเด็กๆ ผมเป็นคนขี้ขลาดตาขาวกลัวการปีนป่าย ปีนไปไม่เท่าไรก็ขาสั่นแหง่กๆ แต่บัดนี้ทางวัดไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวปีนป่ายพระปรางค์วัดอรุณฯ ตามใจชอบเหมือนแต่ก่อนแล้ว น่าเสียดาย แต่ก็ดีแล้ว เพราะนักท่องเที่ยวมือบอน ชอบเด็ดชอบทุบศิลปวัตถุก็มีอยู่ไม่น้อย

พูดถึงวัดอรุณฯ ก็ต้องเอ่ยถึง "พระอรุณ"

พระอรุณไม่ใช่พระพุทธรูปเก่าแก่ดั้งเดิมประจำวัด แต่เป็นพระศิลปลาวขนาดย่อม หน้าตัก ๕๐ เซนติเมตร ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้มาแต่เมืองเวียงจันทน์ เพราะทรงพระราชดำริว่านามพระนั้นพ้องกับนามวัด เป็นนิมิตที่ประจวบเหมาะกันดี

พระอรุณจึงประดิษฐานอยู่ ณ ชุกชี พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร พระประธานในพระวิหารวัดอรุณฯ นับแต่นั้นเป็นต้นมา

เคยเข้าไปในพระวิหารวัดอรุณครั้งหนึ่ง ผมว่าลายดอกไม้ร่วงประดับผนังในนั้นงามหนักหนา


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 28 ก.ย. 06, 19:07
 เน็ตล่มอีกแล้ว.........
หนึ่งวันต่อติดแค่สิบ สิบห้านาที

ขอพ้นมรสุมค่อยมาร่วมสนุกนะครับ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: หมูน้อยในกะลา ที่ 28 ก.ย. 06, 20:08
 จะคอยนะครับคุณพีพี  


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 30 ก.ย. 06, 09:02
 ใช้adslสิคะคุณpipat


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: tuka007 ที่ 02 ต.ค. 06, 19:41

นั่งคอยพร้อมปัดกวาดห้อง รอท่านเจ้าของห้องค่ะ...แหะ แหะ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 02 ต.ค. 06, 23:07
 เอาอย่างนี้ได้ใหมครับ
ผมจะส่งความเห็นมาลงไว้ตามแต่ความกรุณาของสายโทรศัพท์ โดยไม่สามารถสนทนาสองทางสามทางกับท่านสมาชิก
ให้สมกับฟามสนใจ คงไม่ว่ากันนะครับ
เกรงใจอาจารย์เทา อุตส่าห์เอากระทู้นี้ประจานไว้หน้าบ้าน...ฮิฮิ ท่านหลอกผมว่าเป็นทู้แนะนำ
จะเป็นแนะแนวมากฝ่า คือแนะนำเด็กแนว มามั่งหายหัวมั่ง
เพราะได้แต่เปิดอ่าน ออกความเห็นไม่ได้
-------------
ขอย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นเสียก่อน เพราะพาเที่ยวกระเจิดกระเจิงจนน่าจะคุ้นชินศิลปะรัชกาลที่ 2 พอสมควรแก่เหตุ
ก็ขอเอาเหตุแห่งความสมควร มาขยายดังนี้

รัชกาลที่ 3 ทรงตัดพ้อโชคชะตาอย่างน่าเศร้าใจนัก
ท่านถามคณะสงฆ์ว่า ทรงทำสิ่งใดมาแต่ปางก่อนหรือ บุคคลอันเป็นที่รักจึงด่วนจากพระองค์ไป
เริ่มจากพระราชบิดา พระราชมารดา พระปิตุลาที่เป็นวังหน้า และอีกมากมาย .....อันนี้อาจจะบอกความนัยได้ว่า
ทรงรับแผ่นดินมาปกครอง ด้วยความโศกาอาดูร

ผมจึงเดาต่อว่า จะเป็นด้วยทรงคาดคิดไปว่า
การสร้างสวนขวานั้นเอง ที่เป็นต้นเหตุให้ทรงพบพานปริเวทนาการอันมิอยากได้รับ
จึงทรงรื้อ รื้อ รื้อรื้อ และรื้อ .....เสียเกลี้ยงพระราชวัง ส่งไปถวายวัดหมดทั่วพระนคร
แล้วทรงสร้าง สร้าง สร้าง ....พระอาราม ศาสนสถาน และกองบุญกุศล เพื่อส่งถวายพระราชบิดาในพิภพเบื้องบน
เพื่อบันเทาทุกข์ในพระหฤทัย

พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2 นั้น เห็นจะเป็นที่รักของข้าราชบริพารทั่วทุกตัวคน
ข้อนี้ นักวรรณกรรมอาจจะพอถอดพระบุคคลิกภาพออกจากพระราชนิพนธ์ให้เราได้รวมจินตนาการบ้าง
แต่ในแง่ของการช่างแล้ว ท่านทรง"โรแมนติค"ยิ่งนัก
(ขออำไพ ยืมศัพท์พวกฝาหรั่งมาใช้สักแป๊บหนึ่ง)

อันคำๆนี้ จะว่าไม่มีในสุนทรียศาสตร์ไทย ก็เห็นจะไม่ถูกต้องนัก จะยกตัวอย่างประกอบดังนี้
ท่านทั้งหลายคงรู้จักพระราชวังแวร์ซาย ที่ถนนรัชดาภิเษก เอ๊ยยย.ผิด ...ที่ฝรั่งเศส
ที่นั่นเขามีสวนงาม แต่เป็นสวนเรชาคณิต ซึ่งไม่โรแมนติคเล็ยยย์ครับท่าน
(อันนี้ ข้อยบ่เคยไปเบิ่งน่อ จำขี้ปากเขามา เคยเบิ่งแต่สวนที่บางด้วนขอรับ)
พอโลกเปลี่ยนมาเป็นยุคปฎิวัติอุตส่าหากรรม ความโหยหาสภาพธรรมชาติก็บังเกิด
กลับกลายเป็นว่า ต้องการสวนแบบรกๆ น่ะครับ ประเภทมีหินกองเป็นภูเขา มีไม้ใหญ่รกครึ้ม หญ้าขึ้นรกชัฎ
แอบเห็นงูเงี้ยวเขี้ยวขอเริงร่าข้างๆตะกวดกับคบผุ
เอ๊ะ...ผิดเรื่องแล้วสิเรา

เอาเป็นว่า สวนที่สวยของยุคนี้ ต้องเหมือนจำลองป่ามาอยู่หลังบ้าน
แนวความคิดนี้ รัชกาลที่ 2 ทรงนำทาง "เดิ้น" ก่อนใครๆ ทีเดียวเจียวล่ะ
ผมกำลังจะกล่าวถึงสวนขวาครับ ท่านทั้งหลาย


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เเก้วริมรั้ว ที่ 03 ต.ค. 06, 08:33
 สวนขวา สวนเต่า สวนศิวาลัย ที่เดียวกันหรือเปล่าคะ คุณ pipat


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 03 ต.ค. 06, 09:55

.
แม่นแล่วครับคุณแก้ว
ดูตามรูปจากดาวเทียม(ทำเป็นสีขาวซีด)
จะเห็นว่าอยู่ทางขวามือของหมู่พระมหามณเฑียรพอดี
เป็นพื้นที่กว้างขวางใหญ่โตพอสร้างวัดพระแก้วทีเดียว
เปรียบไปแล้ว ก็คงเป็นสตูดิโอของศิลปิน
เพราะท่านสร้างหมู่บ้านมีลำคลองไหลผ่านอ้อมรอบเกาะแก่ง
ซึ่งสร้างตำหนักไว้เป็นจังหวะลีลา
เป็นสถานที่ซึ่งสร้างแรงกระตุ้นทางศิลปะดีนักแล

เสียดายนักที่มารื้อทิ้งในรัชกาลที่ 3
บันดาหินภูเขาทั้งหลาย ที่ท่านถวายวัด (เช่นที่วัดพระเชตุพน)
ก้อนเท่าบ้าน ใหญ่โตมโหฬารจนนึกไม่ออกว่า เมื่อยามประกอบเป็นสวน จะยิ่งใหญ่สักเพียงใด


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 03 ต.ค. 06, 10:01

.
สวนในพระบรมมหาราชวัง สมัยรัชกาลที่ 4
ไม่ใหญ่โตเท่าสวนขวา  


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ต.ค. 06, 18:48
ในฤดูฝน เจ้าของกระทู้ เข้าได้บ้างไม่ได้บ้าง  ดิฉันเป็นฝ่ายเข้าเรือนไทยได้สะดวกกว่า
จึงขอประกาศยึดกระทู้ไว้ ณ ที่นี้ จนกว่าจะหมดหน้าฝน  
ด้วยการโพสต์อะไรต่อมิอะไรไปเรื่อยๆ ดึงกระทู้ไว้ไม่ให้ตก
โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง
.................
********************
ต่อจากคห. 157
ขอพูดถึงพระปรางค์วัดอรุณต่อนะคะ  
พระปรางค์วัดอรุณเริ่มสร้างในรัชกาลที่ ๒ ด้วยความสูงเพียง ๘ วา ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ โปรดเกล้าฯให้สร้างสูงขึ้นอีกเป็น ๓๕ วา
กลายเป็นศรีสง่าแก่พระนคร   เป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวมาถึงแล้ว จะต้องไปเยี่ยมชมกัน เหมือนเราไปลอนดอนแล้วต้องไปถ่ายรูปที่บิ๊กเบน หรือไปปารีสก็ต้องไปชมหอไอเฟล

เจ้าชายวิลเฮล์มแห่งสวีเดน ทรงบันทึกถึงพระปรางค์วัดอรุณ ไว้ในหนังสือ " ในดินแดนแห่งพระอาทิตย์" ว่า
"พระปรางค์องค์มีลวดลายสลักเสลานี้ก่อรูปเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งของเส้นขอบฟ้าของเมือง ซึ่งหากขาดพระปรางค์องค์นี้เสียแล้ว  บางกอกก็จะหมดความเป็นบางกอกลงทันที
ด้วยความเป็นใหญ่อยู่เหนือทิวทัศน์เมืองดังที่ปรากฏอยู่นั้น  พระปรางค์องค์นี้เป็นตัวแทนที่ได้พบเห็นบ่อยครั้งที่สุดในภาพถ่ายและภาพเขียนของสยามประเทศ"

ที่จำได้ตั้งแต่เด็กๆคือภาพโปสการ์ดกับแสตมป์  รูปพระปรางค์วัดอรุณ  และมีเรือสุพรรณหงส์อยู่ในภาพด้วย
ใครจำอะไรได้อีกบ้างคะ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ต.ค. 06, 18:56
นายคาร์ล เดอริง(Carl Dohring) ก็เป็นอีกคนที่ชมเชยการออกแบบพระปรางค์วัดอรุณเอาไว้มาก
คำชมเชยของนายเดอริงนับว่ามีน้ำหนัก  แกไม่ใช่ฝรั่งนักท่องเที่ยวที่เข้าดูผิวเผินแล้วออกไป   แต่เป็นผู้รู้ทางสถาปัตยกรรม
เพราะเป็นสถาปนิกชาวเยอรมัน ที่เข้ามาทำงานในเมืองไทยสมัยรัชกาลที่ ๕    
ได้ฝากผลงานไว้หลายแห่งเช่นพระราชวังที่เพชรบุรีและวังวรดิศ
เขาเล่าไว้ในหนังสือ "สถาปัตยกรรมสยาม" ว่า

"ในหมู่พระปรางค์ด้วยกัน   ปรางค์วัดอรุณมีความเด่นเป็นสง่างดงามมากที่สุด
มันเป็นสัญลักษณ์ของเมืองกรุงเทพทีเดียว  
ในหนังสือนำท่องเที่ยวของประเทศสยาม  จะมีบทพรรณนาถึงความวิจิตรพิสดารของพระปรางค์องค์นี้เป็นพิเศษ"


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 03 ต.ค. 06, 19:32
 ขอลงชื่อให้กำลังใจ contributors ทั้งหลายว่ายังตามอ่านอยู่เงียบๆ เพราะจนใจไม่มีอะไรมาแบ่งปัน

ขออย่าเพิ่งยอมแพ้แก่ธรรมชาติเลยครับ

 


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 04 ต.ค. 06, 18:13
ปัญหาเน็ตของผมคงไม่เกี่ยวกับดินฟ้าอากาศ แต่อยู่ที่เจ้าของสัมประทาน
ท่านทำดั่งผมเป็นพลเมืองชั้นสอง ในประเทศชั้นสอง
แต่จ่ายในราคาชั้นหนึ่ง
วันนี้ท่านเมตตาให้ผมใช้เน็ต ขอเล่าต่อนิดหน่อยนะครับ
----------
ถ้าเป็นไปได้ ผมอยากเริ่มต้นประวัติศาสตร์ศิลปะกรุงรัตนโกสินทร์ที่สวนขวา
เพราะอะไร เพราะเป็นการสรรค์สร้างจากคนรุ่นใหม่จริงๆ ปลอดจากกลิ่นอายอยุธยาแล้ว
พระะเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2 ทรงถือกำเนิดในสกุลคหบดีแห่งบางช้าง บิดาเป็นขุนนางระดับหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี
เทียบปัจจุบันก็คงประมาณซี 7-8 ซึ่งไม่น่าจะเติบโตได้จนถึงเป็นซี 11 อย่าว่าแต่จะเป็นรัฐมนตรีหรือนายกเลย
เมืองราชบุรีครั้งปลายอยุธยา ก็ไม่ใช่เมืองใหญ่อีกต่อไปแล้ว แม้จะเคยมีอดีตอันรุ่งโรจน์ระดับเมืองพระมหาธาตุ
ส่วนอัมพวาก็เป็นเมืองน้อย อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ผลไม้รสเลิศ แต่ไม่มีหน้าที่ทางยุทธศาสตร์
เด็กชายฉิม จึงเกิดมาใต้วัฒนธรรมแบบผู้ดีหัวเมือง และไม่เคยสัมผ้สพระนครศรีอยุธยาเมื่อครั้งบ้านเมืองดี

แต่คนดีมีฝีมือ ย่อมเว้นจากการฉายโชนบารมีหาได้ไม่
ปีที่อายุ 32 ท่านบิดาก็เข้ารับราชการในพระเจ้ากรุงธนบุรี
เวลานั้น เด็กชายฉิม อายุเพียงขวบเศษ ก็กลับกลายจากเด็กชาวสวนอัมพวา มาเป็นชาวบางกอกโก้หรู
เมื่อท่านบิดาได้รับยศใหญ่เป็นถึงพระ พระยา และสมเด็จเจ้าพระยา ภายในเวลาเพียง 15 ปี
เด็กชายฉิม ซึ่งบัดนี้ต้องเรียกขานกันว่าคุณฉิม ก็เผชิญชีวิตพิสดารเกินรุ่น
อายุเพียง 7-8 ขวบ ก็ออกสงครามเสียแล้ว ตามติดท่านบิดาไปทั่วทุกสมรภูมิ
เรื่อยมาจนวันที่ท่านบิดาเป็นแม่ทัพใหญ่ไปปราบเมืองเขมร
คุณฉิมวัย 14 ก็ร่วมอยู่ในทัพหลวงด้วย เป็นศึกสุดท้ายของสมัยธนบุรี

เด็กหนุ่มนี้ จะเอาเวลาที่ไหนมาเล่าเรียนหนังสือหนอ
แล้วด้วยการศึกษาเยี่ยงไร จึงสร้างคนผู้หนึ่งให้กลายมาเป็นอัจฉริยะกวีที่หาผู้ใดเทียบได้ ทั้งอดีตและอนาคต
นี่คืออัญมณีแห่งภูมิปัญญารัตนโกสินทร์โดยแท้


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 05 ต.ค. 06, 08:10
 คุณเทาชมพูเล่าถึงพระปรางค์วัดอรุณฯ ในมุมมองของชาวต่างชาติไว้ ผมเลยขอดำเนินรอยตามบ้างครับ

พอดีว่าไปพบหนังสือนำเที่ยวประเทศสยาม ที่กรมรถไฟหลวง จัดพิมพ์ เมื่อ ๒๔๗๓ ในห้องสมุดมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา เอ่ยถึงวัดอรุณฯ ไว้มากทีเดียว

หนังสือเล่มนี้ ร้อยเอกเอริก ไซเดนฟาเดน (Erik Seidenfaden)  "พรรณนา" ถึงพระปรางค์วัดอรุณฯ ไว้อย่างพิสดาร แปลความได้ว่า

"พระปรางค์วัดอรุณเป็นพระปรางค์ก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบนับพันๆ ชิ้น มองใกล้ๆ อาจจะดูหยาบ แต่เมื่อมองจากมุมไกล แลประหนึ่งว่าพระปรางค์นั้นคือหินสีเทาที่สลักเสลาแล้วฝังรัตนชาติไว้อย่างประณีต ฝีมือเชิงช่างที่ทำได้เช่นนี้เป็นยอดแห่งงานศิลปะ ยิ่งไกลเท่าไร ยิ่งแลงดงาม เมื่อแสงตะวันยามเช้าสาดส่องมากระทบ ยิ่งดูคล้ายว่าองค์พระปรางค์ห่อหุ้มด้วยอัญมณีน้ำงามที่คัดมาแล้ว

ครั้นสุริยราชาแห่งเวลากลางวันลับทิวไม้ซึ่งเป็นฉากหลังของอาราม ก็จะแลเห็นพระปรางค์ ๕ องค์ยืนตระหง่านโดดเด่นบนผืนฟ้าสีแดงสด แล้วฉากฟ้านั้นก็จะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีชมพูอ่อน ม่วงแก่ จนกระทั่งม่านเงาดำเข้าครอบคลุมอาณาบริเวณ

เป็นภาพความงามที่ยิ่งใหญ่เหนือจินตนาการ

ในยามค่ำคืน แสงจันทร์วันเพ็ญก็ฉายลงมาฉาบพระปรางค์ให้แลคล้ายฉาบไว้ด้วยแผ่นเงิน ใจคุณอาจจะจินตนาการคล้อยไปว่าพระปรางค์นี้คือทิพยวิมานในเทพนิยาย หรือแม้ปราสาทในนิทานอาหรับราตรี"

ออกตัวก่อนว่า ผมไม่ได้พรรณนาเองให้ฟังดูฟุ้งๆ นะครับ แต่เพื่อคงอรรถรสของที่ร้อยเอกไซเดนฟาเดนเขียนไว้ ผมเลยต้องแปลออกมาในทำนองนี้ล่ะครับ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 ต.ค. 06, 09:32
 เรื่องพระปรางค์วัดอรุณยังมีให้เล่ากันอีกมากมาย  แค่พรรณนาฝีมือก่อสร้างก็ไม่รู้กี่สิบค.ห. แล้ว    ตอนนี้ขอต่อที่คุณอัพ มาโพสต์ไว้ค่ะ
ผู้กองไซเดนฟาเดน โชคดีที่ได้มาเห็นวัดอรุณยุคไม่มีตึกแถวล้อมรอบ   เห็นแต่ความงามของพระปรางค์โดดเด่น
คำพรรณนาข้างบนนี้ทำให้นึกถึงวัดไชยวัฒนาราม  ถ้ามองจากอีกฝั่งแม่น้ำ ในยามสนธยา จะงามแบบเดียวกัน
แต่วัดอรุณเห็นทีจะงามกว่า เพราะยังมีชีวิตจิตใจ ไม่เหลือแค่ซากปรักหักพังอย่างวัดไชย

สถาปนิกเดอริง ยังได้ปลาบปลื้มกับโครงสร้างของพระปรางค์ไว้อีกว่า
"สถาปนิกสยามมิใช่จะชอบลักษณะย่อมุมคู่ซ้ำติดๆเท่านั้น  แต่ยังนิยมโครงสร้างที่ซ้อนเหนือกันเป็นชั้นๆด้วย
ที่มองดูงามมากคือ ทรงของยอดเจดีย์ซึ่งมีลักษณะค่อยๆเล็กแหลมเรียวไปทางยอด   ประดับประดาด้วยดอกไม้นูน
หรือดอกบัว เรียงซ้อนกันขึ้นไปจนเต็มได้สัดส่วน
ขนาดของดอกจะค่อยๆเล็กลงๆ ขึ้นไปทางยอด"


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 05 ต.ค. 06, 16:30

ตอนนี้พระมหาธาตุวัดอรุณก็ยังเป็นศรีพระนครอยู่ไม่เสื่อมคลาย เสียดายแต่เสาอากาศต้นมหึมาที่ตั้งท้าทายอยู่เบื้องหลัง เหมือนกับเป็นงานร่วมสมัยที่ชอบลดทอนรายละเอียด เอามาวางแข่งกับงานประเพณีที่วิจิตรพิสดารกว่าร้อยแปดเท่า

ถ้าแขกมาแขกไปใครไม่ทราบก็จะนึกว่าเมืองไทยมีพิพิธภัณฑ์ศิลปะกลางแจ้งประกวดประขันกันกลางพระนคร

เหลือเกินจริงๆครับ ตัวอย่างมีให้เห็นมากมายถ้าใครนั่งเรือด่วนแม่น้ำเจ้าพระยา จะเห็นช่อฟ้าใบระกาหางหงษ์ แพลมๆออกมาจากหลังตึกแถว ยอดเจดีย์ที่โดนตลาดสดบังถือเป็นเรื่องปกติ

ไม่มีชาติไหนเขาทำหรอกครับ เหมือนเอาห้องครัวมารับแขกหน้าบ้าน


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: UP ที่ 06 ต.ค. 06, 14:50
 คุณกุรุกุลาได้เห็นเสาอากาศขึ้นแข่งกับพระปรางค์ ผมขอเล่าถึงภาพพระปรางค์วัดอรุณฯ แบบแปลกๆ ที่เคยผ่านตาบ้างดีกว่า

กาลครั้งหนึ่ง ไม่นานมานี้..ก็สักสี่ซ้าห้าปีได้กระมัง มีเทศกาลเชื้อชวนให้ลงเรือไปดูการแสดงแสงสีเสียงริมน้ำเจ้าพระยา มีพระปรางค์วัดอรุณฯ เป็นที่หมายสุดท้าย สุดยอดการแสดง

แต่ทำเอาผมแสบตา ผวาไปนานครับ เพราะผู้จัดนำรสนิยมอย่างดิสโก้เธคมาใช้ จึงฉายสปอตไลต์ไปยังพระปรางค์อย่างเจิดจ้ามากๆ ที่ร้ายที่สุดคือสลับสีแว่บไปแว่บมา เขียว เหลือง ม่วง ฟ้า ส้ม วูบวาบๆ

ไม่ทราบว่าเขาเห็นสวยเห็นงามอย่างไร แต่ผมกลับเห็นว่านี่เขาไม่นึกกันเลยหรือว่าพระปรางค์องค์นี้เป็นปูชนียสถานสำคัญของบ้านเมือง มีพระบรมธาตุบรรจุอยู่ เป็นที่เคารพกราบไหว้ ไฉนจึงสาดไฟดิสโก้ใส่พระปรางค์ที่ยืนเทียมฟ้าแทนเขาพระสุเมรุเช่นนี้

พระอินทร์ทรงช้างที่ประทับอยู่บนจระนำคงตกพระทัยไม่น้อย

ไม่ทราบว่าการแสดงแสงสีเสียงหรือเทศกาลต่างๆ ระยะหลังๆ ยังเล่นสลับไฟสีสันหรรษาอย่างเมื่อคราวที่ผมเห็นหรือไม่ หวังว่าคงจะไม่ เพราะเมื่อไม่นานมานี้ได้ไปล่องเรือรับประทานอาหารในแม่น้ำเจ้าพระยาในเวลาปกติ ไม่ได้มีเทศกาลพิเศษ ผมเห็นองค์พระปรางค์เรืองรองเป็นสีทองด้วยสปอตไลต์สีขาวนวลสีเดียว


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 06 ต.ค. 06, 15:38
 กุ้งแห้งเยอรมันเคยต้องนำพวกฝาหรั่งอายุมากๆที่มาเยี่ยมบริษัท
ที่ชื่นชมอะไรๆที่เป็นไทยๆ
ไปล่องเรือดูวิถีชาวคลองทั้งที่พระประแดงซึ่งไปเจองานแข่งเรือพอดี
ชอบมาก เพราะไม่มีปรุงแต่ง
ส่วนคลองบางกอกน้อย ใหญ่
ฝรั่งกำลังนั่งดูเพลินๆฟังดิฉันบรรยาย ได้อารมณ์ไปกับบรรดาภาพสวยๆ วัดวา ท่าน้ำ บ้านช่องที่เห็น
พอถึงปากคลอง มาสะดุดกับร้านหีบศพพอดีค่ะ...
บรื๊อววว์....
ต่อให้ฝรั่งอ่านไม่ออกก็รู้ว่าเป็นอะไร
มันหักมุมเสียจริงเชียว...
ดิฉันยังผวา...


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ต.ค. 06, 10:30
 เข้ามาดึงกระทู้ไว้ไม่ให้ตกค่ะ

คุณกุรุฯ  ไม่ใช่แต่ห้องครัวหรอกค่ะที่บังห้องรับแขก  หนักกว่านั้น
ดิฉันเห็นถังขยะและลังสัมภาระเรียงราย สุมบังข้างหน้าตู้ปิดทองล่องชาดสองฟากฝั่งเสียด้วยซ้ำ
ทั้งที่ความกว้างใหญ่ของลำน้ำ และทิวไม้ตามธรรมชาติของดินอุดมริมน้ำ ก็สามารถทำให้เจ้าพระยาสง่างามยิ่งกว่าแม่น้ำดังๆหลายสายในโลก
จะปลูกบ้านเรือนก็ได้  เตี้ยๆ อย่าหาความรกรุงรังมาสุมไว้สองข้างแม่น้ำเท่านั้นก็พอ   ไม่ต้องไปแต่งเพิ่มจากที่ท่านทำเอาไว้เมื่อร้อยกว่าปีก่อนแต่อย่างใด

บ่นไปก็เท่านั้น   เอารูปนี้มาลง อยากเห็นวัดแจ้งไม่มีอย่างอื่นโผล่มาแซง นอกจากอย่างในภาพ
(ขอโทษที จำไม่ได้ว่าเอาภาพมาจากเว็บไหน ถ้าหาเจอแล้วจะมาแก้ไขค่ะ)
.


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 07 ต.ค. 06, 13:24

.
รู้ว่ารูปไม่สวย ยังเอามาให้เราดู
ใจร้ายนักคนสมัยนี้  


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 07 ต.ค. 06, 13:25

.
แถมอีกรูปครับ  


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ต.ค. 06, 13:43

.
วัดอรุณฯในปัจจุบัน   อีกรูปหนึ่ง
จากเว็บนี้
 http://www.olddreamz.com/puzzle/SOUTH/south1.html  


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ต.ค. 06, 13:45

.
จากเว็บเดียวกัน


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ต.ค. 06, 13:48

.
นางรำในวัด  และถ่ายรูปกับนักท่องเที่ยว


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 07 ต.ค. 06, 13:52
 สวัสดีครับอาจารย์เทาชมพู คุณpipat และสมาชิกเวบไซต์ท่านอื่นๆ ระยะหลังๆมานี้ผมไม่ได้เข้าบอร์ดเท่าไหร่เลยครับ เลยตามอ่านอะไรดีๆไม่ทันไปหลายเรื่อง

วันนี้ พอดีเห็นข้อความของอาจารย์เทาฯ ในความเห็นเพิ่มเติมที่ 184 แล้วเกิดอาการ "จี๊ด" ขึ้นหน้ามาครับ เลยขออนุญาตตอบซักเล็กน้อย (แต่ดูไม่ค่อยเข้ากับกระทู้ซักเท่าไหร่อีกแล้วล่ะครับ เหอๆ)


เรื่องเกิดขึ้นเมื่อวันก่อนที่ผมไปเดินเล่นชมวัดเก่าๆหลายวัดแถวจังหวัดนนทบุรีมา แต่แค่วัดแรกที่ผมแวะเข้าไปชมก็เจอตู้พระธรรมลายรดน้ำฝีมือช่างพื้นบ้านใบสวยถูกใช้เป็นที่เก็บของเสียแล้ว แถมตั้งตากแดดอยู่ที่ระเบียงวัดอีกตะหาก เห็นแล้วเหนื่อยใจครับ

ส่วนวัดที่ 2, 3, 4, และอีกเกือบทุกวัดที่ไปชม สภาพก็ไม่ต่างกันซักเท่าไหร่ บางวัดเอาตู้พระธรรมใบงามไปเก็บไว้ในห้องเก็บของ จะขอชมหลวงตาก็ตอบว่า "อย่าเลยโยม โยมมากันไม่กี่คนยกลังที่หลวงพ่อเขาวางไว้หน้าตู้ออกไม่หมดหรอก"

บางวัดก็ซ่อมเจดีย์เก่าสมัยอยุธยาด้วยการก่อใหม่ให้ผิดรูปผิดร่าง แถมเอาดินมาถมเนินที่องค์ปรางค์ประธานของวัดที่ถล่มลงมาเมื่อหลายปีก่อน แล้วขึ้นไปปลูกพริกปลูกมะเขือบนเนินนั่นอีกตะหาก เห็นแล้วชวนให้จิตใจห่อเหี่ยวน่าดู



แต่วัดที่น่าสงสารที่สุดที่ผมได้เห็น คงหนีไม่พ้นวัดที่เป็นวัด "เจ้าของ" ธรรมมาสน์หลังงามที่สุดหลังหนึ่งในประเทศไทยซึ่งปัจจุบันจัดแสดงอยู่สูงเด่นเป็นสง่าในห้องไม้แกะสลักของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครล่ะครับ เพราะวัดที่ว่าถูกกรมศิลป์ฝากอะไรๆเอาไว้กับพระอุโบสถหลังงามสมัยอยุธยาตอนกลางมากเสียจนไม่ทราบจะอธิบายอย่างไรดี ตั้งแต่ฉาบปูนปูดๆโปนๆทับจิตรกรรมฝาผนังเดิม, กลับทิศพระประธานหมู่บนฐานชุกชีจนพระกรหักไปก็หลายองค์แล้วก็เปลี่ยนปูนปั้นที่ฐานสิงห์เก่าให้กลายเป็นเรซิ่นปั้น, ทาสีทับหินทรายแกะสลักซึ่งเป็นไส้ในรอยพระพุทธบาทแบบอยุธยาจนหมดสวย, เปลี่ยนกระเบื้องกาบกล้วยเก่าของพระอุโบสถที่ปั้นจากมือให้เป็นของใหม่ที่ขึ้นรูปแบบอุตสาหกรรม, และตบท้ายด้วยการเก็บเอาเชิงชายสมัยอยุธยาของทางวัดซึ่งแตกลายไม่ซ้ำกันซักชิ้นไปหมดโดยที่ทางวัดไม่รู้ว่า "เขาเอาไปไหน" และ "จะขอคืนก็ไม่รู้จะไปขอคืนกับใคร" อีกตะหาก

จนผมรู้สึกว่าการเดินทางวันนั้นเป็นการเดินทางชมวัดที่หดหู่ที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตแล้วล่ะครับ เฮ่อ...พูดต่อไม่ออก




ปล. ขออนุญาตป่วนกระทู้คุณpipat เท่านี้ล่ะครับ ไปก่อนดีกว่าครับ แหะๆ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ต.ค. 06, 14:10
 จากเว็บเดียวกัน


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 09 ต.ค. 06, 10:27
 อยากถามคุณpipat(เจ้าของกระทู้ที่มาแป๊บๆแล้วก็แว้บหายไป)ค่ะว่า ในสามแผ่นดิน มีวัดไหนบ้างที่เชียงใหม่
ซึ่งพระมหากษัตริย์ไทยทั้งสามพระองค์ได้สร้างหรือทะนุบำรุง
จะไปวันนี้ แล้วจะได้เก็บภาพมาฝากเพื่อฟังเกร็ดดีๆต่อไงคะ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 09 ต.ค. 06, 11:51
 เอ่ เชียงใหม่เป็นดินแดนไกลสุดฟ้าในสมัยนั้นเลยกระมังครับ คุณกุ้งแห้งเยอรมัน ขณะนั้นก็เป็นประเทศราชที่มีเจ้าปกครองเป็นกึ่งเอกราช โดยปกติราชสำนักสยามคงไม่เข้าไปเปลี่ยนแปลงเรื่องภายใน

แต่ถ้าถามว่าศิลปะแห่งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ในระยะเวลานั้น แพร่ไปไกลที่สุดถึงไหน ผมคิดว่าน่าจะเป็นที่นี่ครับ

วัดสีสะเกษ กรุงเวียงจันท์


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 09 ต.ค. 06, 11:58

การทำพาไลล้อมรอบ และการสร้างระเบียงคดไม่ใช่ระเบียบแบบแผนของกรุงจันทบุรีศรีสัตนาคนหุตเลย

เป็นศิลปะคราเจ้าอนุเข้ามาประทับในกรุงเทพ แล้วทรงเห็นความงามของศิลปะไทย เมื่อได้ครองเวียงจันท์จึงนำมาสร้างเป็นวัดสีสะเกด

และเป็นวัดเดียวในเวียงจันที่ไม่โดนกองทัพสยามทำอันตราย

ด้านในมีจิตรกรรมฝีมือช่างชั้นครู ดูยังไงก็ช่างหลวงสมัยรัชกาลที่ 3 เสียดายที่ลบเลือนไปมาก แถมถูกทาทับด้วยฝีมือช่างท้องถิ่นที่ให้ความรู้สึกไร้เดียงสาแบบสิมภาคอีสาน แน่นอนว่าถ่ายภาพไม่ได้

เสียดายครับ เป็นอีกวัดหนึ่งที่เราสามารถศึกษาการประยุกตร์ศิลปะสองสกุลช่างได้เป็นอย่างดี


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 09 ต.ค. 06, 12:05

อา  ต้องขออภัยคุณ Pipat ด้วยที่ออกนอกเรื่องครับ ผมมานึกขึ้นได้ว่ายังอยู่วัดอรุณกัน

มารอชมต่อครับ


ดูยังไง ฝีมือตรงคอสองนี่ก็มิใช่ลายลาว  


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 09 ต.ค. 06, 13:48
 ไปวัดพระสิห์ครับ ดูเจ้าเงาะ(รัชกาลที่ 2) ฝีมืออาเจ็กท่านหนึ่ง ที่แม่อุ้ยหลุดปากออกมาว่าชื่อเส็ง
ไม่รู้จริงเท็จประการใด แต่เป็นงานฝีมือช่างจีนแน่ๆ(รัชกาลที่3)
และเริ่มเขียนแบบตะวันตก(รัชกาลที่4)
แต่สร้างเมื่อรชกาลที่ 5
(แถมให้อีกเป็น 4 แผ่นดิน แต่ทั้งหมดนี่ เพ้อครับ)
วัดพระสิงห็ เป็นศิลปะสถานที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย
แนะนำให้ไปอยู่สัก 4 ชั่วโมง เตรียใฟล์มไปสัก 20 ม้วน
และขาตั้งกล้องดีๆสักอัน

น่ากลัวจะหลังฝนแหละครับ ที่ผมจะมาประจำการรับใช้พ่อแม่พี่น้องได้ ระหว่างนี้ก็แว๊บไปมา ตามความเมตตาของเจ๊กขายโทรศัพท์....แหะ แหะ
เที่ยวสนุกนะครับ ฝากดูวัดเจ็ดยอดด้วย
อ้อ พิพิธภัณฑ์ของเขาก็มีของดีมหาศาลเชียว และอาจจะมีหนังสือดีๆติดก้นร้านด้วย


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 09 ต.ค. 06, 17:18
 หุหุ ผมก็ลืมนึกถึงวัดพระสิงห์ไปเสียอย่างนั้น

มีจิตรกรรมผสมผสานรูปแบบของศิลปะล้านนา เข้ากับรัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ 5 ได้อย่างงดงาม โดยเฉพาะเรื่องสังข์ทอง ก็ต้องนับว่าที่นี่งามที่สุด

ขออนุญาตแปะภาพนะครับ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 09 ต.ค. 06, 17:25

ภาพเจ้าชายร้อยเอ็ดหัวเมือง ทรงชฏาเหมือนภาคกลาง แต่วาดหน้าตาเป็นล้านนา

เคยโดนมือดีเอาคัตเตอร์กรีดไปรอบหนึ่ง ตอนที่ไปก็นึกว่ารอยเก่ามันเป็นมานาน

เห็นแล้วสงสารเจ้าชายครับ อยู่ในวัดในวาพึ่งพระแล้วแท้ๆ คนบาปยังตามไปรังควาญ

ตอนนี้เขาซ่อมแล้วครับ เป็นเจ้าชายหน้าใสเหมือนเดิม


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 09 ต.ค. 06, 17:32

ภาพนี้ได้ใจดีครับ

ท้าวสามลทรงพระโกรธนางรจนา เงื้อง่าไม้ตะพด พระมเหสีเธอยังสงสารลูกอยู่ วิ่งเข้ามาชักเย่อธารพระกรกับพ่อตา

แค่นี้พอนะครับ เดี๋ยวต้องลาแล้วแม่ปิงกลับลุ่มเจ้าพระยาตามเดิม มาไกลเกินไปแล้ว


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 09 ต.ค. 06, 19:27
เขียนที่วัดพระสิงห์เป็นงานของยอดฝีมือ
เก็บรายละเอียดเล็กๆน้อยๆได้ละเอียดอ่อน
มีจุดหนึ่ง เป็นสาวงามเยี่ยมหน้าต่าง ท่านกุรุกุลาได้บันจงถ่ายมัวๆมาให้ยลบ้างไหมหนอ

ไม่น่าเชื่อว่า กระทู้นี้มาถึง 200 แล้ว ยังไม่ได้เริ่มแผ่นดินที่ 1 เลย มัวแต่และเล็มข้างทางเพลิดเพลินจำเริญใจ
แต่ก็ยินดีนัก ที่ได้มิตรสหายมาหลายท่าน ล้วนแต่มีน้ำใจและไมตรีจิต

คราวนี้ เรามาลุยสวนขวากันเลย
แต่เดินเก็บตัวหน่อยนะครับ เผื่อจอมกวีโรแมนติคจะทรงสำราญพระราชหฤทัยกลางสระ จะทรงสะดุดอารมณ์ทำนางรจนาต้องอดทนต่อไปอีกหลายเพลา
-------------
ในเมื่อเราไม่มีความรู้แน่ชัดถึงสำนักศึกษาของราชสำนักรัชกาลที่ 1 เราก็คงต้องอาศัยแนวเทียบจากประวัติเจ้านายพระองค์อื่น ซึ่งทำให้เห็นชัดถึงความสำคัญของวัดพระเชตุพน มากกว่าความหมายทางสถาปัตยกรรม เพราะที่นั่น เป็นที่รวมของเหล่านักปราชญ์ของยุคสมัย


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: ดอกแก้ว การะบุหนิง ที่ 09 ต.ค. 06, 20:14
 การศึกษาภูมิหลังของเจ้านายในยุคต้นๆของรัตนโกสินทร์ เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากเพราะไม่เคยเห็นงานเขียนที่วิเคราะห์ไว้อย่างชัดเจน และจะทำให้เราเชื่อมต่อแนวความคิดขอแต่ละพระองคืได้
ขอให้หมดฝนโดยเร็วนะคะ จะได้ฟังอย่างต่อเนื่องไม่ขาดหายไป


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 10 ต.ค. 06, 00:55
 ขอบคุณที่เห็นความสำคัญครับ จะบรรยายไปตามกำลัง
ทั้งกำลังผมและกำลังสายโทรศัพท์
ผมก็บ่นเรื่อยเปื่อยงี่เง่า พี่น้องทั้งภาคกลางลำบากกว่าผมเป็นร้อยเป็นพันเท่า ดังนั้น ต่อไปนี้จะหุบปาก ทำงานที่ตนเองทำเป็น ต่อไป
--------------
จะกล่าวถึงระบบการศึกษาของรัชกาลที่ 1-2 แล้ว ไม่พรรณาพระปรีชาญาณของรัชกาลที่ 1 ก็เห็นจะบกพร่องมากๆ
อันที่จริง เมื่อครั้งบ้านเมืองยังเป็นของเจ้าแผ่นดิน องค์ราชันย์นั้นเอง คือศูนย์รวมของระบบสติปัญญา
ในแง่นี้ พระพุทธยอดฟ้าฯ ก็ต้องนับเป็นอัจฉริยะบุคคลที่หาได้ยาก เพราะเป็นคนไทยคนแรก ที่กล้าประกาศว่า "ประเวณีนี้ผิด" (คำปรารภตอนต้นกฏหมายตราสามดวง) และพระอนุชาของท่านก็ห้าวสุดๆ ที่ด่าคนรุ่นก่อนว่า "ชาติไพร่หลงฟุ้งแต่ยศถา"
แล้วสองพระองค์พี่น้องก็ทรงปฏิรูปประเทศใหม่ ไม่ใช่ทำแค่ซ่อมแซมปะผุ หรือโป๊วสีนะครับ
แต่เป็นการเปลี่ยนระบบเลยทีเดียว ถ้าเป็นสมัยก่อนก็จะต้องบอกว่ารีเอ็นจิเนียริ่ง แต่ผมว่า มากกว่าการรุ่งริ่งอย่างนั้นเป็นหลายกอง
คือ
ชำระกฏหมาย แล้วชุบขึ้น 3 ชุด อันนี้ตีเป็นการบริหารก็คงเทียบได้กับเจฟเฟ่อร์สันสองโหล รับเหมาเขียนรัฐธรรมนูญให้ทุกประเทศในยุโรปกระมัง กฏหมายตราสามดวงนั้น เป็นแหล่งรวมระบบความรู้ทั้งหมดที่สังคมของเราสะสมเอาไว้ เป็นรองก็แต่พระไตรปิฎก
ซึ่งท่านก็จัดการชำระเสียด้วยกัน
ลองคิดดูเถิดครับ ว่าสองงานนี้ ต้องใช้คนเท่าไร ล้วนเป็นคนที่ต้องมีปัญญาล้ำเลิศ ละเอียดลึกซึ้งและต้องรับประทานอาหาร 3 เวลาด้วย แปลว่าต้องใช้เงินมหาศาลทีเดียว
ยังครับ ท่านยังส่งเสริมอักษรศาสตร์ต่อไปอีก
แต่ละสิ่ง เป็นงานช้างทั้งสิ้น อย่างแปลมหาวงศ์งี้ แต่งสังคีติยวงศ์งี้ แปลสามก๊กงี้ อะไรอีกล่ะ ผมก็ไม่รู้เรื่องหนังสือหนังหา อ้อ พระราชนิพนธ์รามเกีรติ์อีก ดาหลังด้วย....โอ้ย
ทำไมในตำราวรรณคดีเขาพูดถึงรัชกาลที่ 1 ไว้นิดเดียวนะครับ ใครรู้ตอบด้วย

เอาเป็นว่า สังคมไทยตอนรัชกาลที่ 1 นี่ น่าจะรุ่งเรืองทางปัญญามากกว่า 50 ปีก่อนหน้าอย่างไม่เห็นฝุ่น
เอาละ มาถึงประเด็นสุดท้าย
จำนวนครู

สมัยนั้นก็ไม่ได้จดทะเบียนเอาไว้เสียด้วย แต่ขอประเมินอย่างนี้นะครับ
สมัยเจ้าตาก ท่านไปเมืองใหน งานหลักประการหนึ่งก็คือไล่หนังสือพระภิกษุ เพื่อกำจัดพวกปลอมปน เห็นว่าฆ่าทิ้งเสียมากต่อมาก เพราะศัตรูศาสนา ก็คือศัตรูบ้านเมือง
ดังนั้น คงไม่มีพระเก๊เหลือในประเทศแล้วกระมัง แต่ไม่ใช่ว่า ไม่มีพระเหลือนะครับ หามิได้ เหลือเพียบ เพราะท่านทำนุบำรุงให้บวชเรียน
คิดง่ายๆนะครับ ทำบุญทีหนึ่ง ท่านต้องใช้คนเท่าไร อย่างฉลองวัดพระแก้วครั้งแรก ท่านให้สวดมนต์รอบพระนคร จำนวนพระภิกษุเห็นจะเป็นพัน และน่าจะบริสุทธิ์ผุดผ่องกว่าที่เราจะนึกได้ในปัจจุบัน

ดังนั้น อาจจะสรุปเป็นแนวให้ค้นต่อได้ว่า พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2 นั้น ทรงเติบโตมาในท่ามกลางนักปราชญ์ราชบัณฑิตและผู้ทรงศีล นับจากพระราชบิดาลงมา
แต่จะลงมาถึงคนเฝ้าประตูวังแบบตำนานศรีปราชญ์หรือไม่ ผมไม่รู้ได้
ฝากคนที่มีกำลังช่วยค้นต่อด้วยเทื๊ดดดด
แล้วผมจะรับมาคุ้ยต่อว่า สติปัญญาเหล่านั้น พ้น 200 ปีแล้วมันเหลวไหลไปลงท่อระบายน้ำแถวใหนเสียหมด

คิดแล้วแสนเสียดาย


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ต.ค. 06, 11:39
 ขอประกาศชวนทีมอาสาสมัครร่วมงานกับ "คปค. ณ รท."(คณะปฏิรูปกระทู้ค้าง ณ เรือนไทย)
ตอนนี้มีผู้ก่อการอยู่  ๑ คน คือ ดิฉันเอง
คุณ UP หลวมตัวยอมยกมือแล้ว ๑ ราย แต่ตอนนี้ ชีพจรลงเท้าเลยหายหน้า  เดี๋ยวก็จะกลับมาเอง
คุณติบอ คุณกุรุกุลา คุณกุ้งแห้ง คุณดอกแก้ว คุณอาชาฯ คุณหมูน้อยฯ    ดิฉันยืนแจกใบสมัครฟรี อยู่ตรงนี้นะคะ มารับไปได้เลย
***************************
ขอปักหลักต่อที่วัดอรุณ

ริมฝั่งเจ้าพระยานั้นเป็นดินอ่อน ตามแบบดินสองฟากฝั่งแม่น้ำ ที่ถูกกระแสน้ำพัดพาตะกอนมาทับถมกันนานนับร้อยปี
ตัววัดอรุณเอง ตั้งอยู่บนท้องคุ้ง  มีกระแสน้ำพัดเซาะอยู่ชั่วนาตาปี  
น่าเสียวไส้ว่าจากตลิ่งวัดเข้าไปถึงศูนย์กลางองค์พระปรางค์ เป็นระยะแค่ ๙๐.๕๐ เมตร
องค์พระปรางค์หรือก็สูงใหญ่  ก่อสร้างปริมาตรทึบ  กินน้ำหนักมาก

แต่ก็น่าชมฝีมือสถาปนิกเมื่อเกือบ ๒๐๐ ปีก่อน ว่าทำยังไงไม่ทราบ  พระปรางค์วัดอรุณยืนหยัดมั่นคงแข็งแรงมาจนทุกวันนี้
ยังไม่ได้ข่าวว่ามีการเอนเอียง ทรุดหรือร้าว  
เดาว่าการก่อสร้างคงเหมือนสร้างภูเขาทอง ที่ท่านเอาโอ่งใหญ่ๆฝังลงไปเป็นฐาน    ไม่ต้องตอกเสาเข็มอย่างสร้างตึกสมัยนี้


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 ต.ค. 06, 12:01
วัดอรุณเป็นหีบสมบัติขนาดมหึมา   บรรจุเพชรพลอยเอาไว้ทุกซอกทุกมุม  
หยิบขึ้นมาเอาแว่นขยายส่องเหลี่ยมเพชรกันไม่หวัดไม่ไหว

ไหนจะเรื่องย่อไม้สิบสอง   ไหนจะการแบ่งฐานไพที  การตกแต่งกระเบื้องเบญจรงค์แบบสามมิติ  กว้างยาวและนูน    พระมหามงกุฎบนยอดพระปรางค์ ฯลฯ

เพราะงั้นดิฉันก็ขอหยุด เชิญท่านอื่นมาปั่นเรตติ้งต่อ

ส่วนเรื่องสวนขวา   ขอยกโคลงฝีมือศ. น.อ. สมภพ ภิรมย์ ศิลปินแห่งชาติสาขาสถาปัตยกรรม  มาลงไว้ ให้ติดตามจินตนาการของท่าน

ทรงนำภูมิสถาปัตย์แจ้ง............ปางบรรพ์
"เจษฎาบดินทร์"ฝัน................สรรค์สร้าง
"สวนขวา" แหล่งสวนขวัญ........ทรงเริ่ม ไว้เอย
สวนใหญ่ยิ่งสุดสล้าง...............สลักไว้ในวัง

"สวนขวา" ยังชักน้ำ................เจ้าพระยา
น้ำหลั่งสู่วังวนา......................ชุ่มน้ำ
ลมพัดกิ่งพฤกษา...................ไกวแกว่ง ก้านเกย
ภูมิภาพสุนทรีย์ล้ำ..................เลิศแล้ว "สวนขวา"

" สวนขวา" คลองลัดเลี้ยว........ไปมา
เรือล่องร้องสักวา...................ไล่เกี้ยว
นางใน"เล่นซ่อนหา"...............ตามพุ่ม ไม้นอ
คืนมืดจันทร์แรมเสี้ยว..............แมกไม้เหมาะเหม็ง

ต่อไปนี้ ก็คงต้องรอคุณพิพัฒน์เช็ดสายโทรศัพท์ให้แห้ง  ไปพลางๆก่อนค่ะ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: ดอกแก้ว การะบุหนิง ที่ 10 ต.ค. 06, 12:25
 น่าสนใจทั้งประวัติการศึกษาของพระเจ้าอยู่หัวในตอนต้นรัตนโกสินทร์ เป็นข้อมูลที่ยังรอการวิเคราะห์ และเผยแพร่ที่น่าสนใจยิ่ง

เรื่องพระปรางค์ ที่คุณเทาชมพู บอกว่าไม่เอน ไม่เอียงทั้งที่ตั้งอยู่บนพื้นดินอ่อน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แสดงภูมิปัญญาที่ล้ำเลิศ ได้เห็นรายการสารคดีทางทีวี เมื่อเร็วๆนี้ เหมือนที่สันนิษฐานนะคะ

ส่วนเรื่องสวนขวา เห็นเรื่องสี่แผ่นดินที่นำกลับมาฉายใหม่ตอนบ่ายๆ ก็เอ่ยถึง

ตามอ่านทุกหัวข้อค่ะ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 11 ต.ค. 06, 00:23

.
ขอเสริมเรื่องพระปรางค์วัดอรุณพอสังเขปครับ
สถาปัตยกรรมแห่งนี้ เป็นงานสร้างใหม่หมดจดของอภิสถาปนิกบางกอกทีเดียว
เพราะสร้างเมื่อประมาณ 2370 จะบวกลบก็นิดหน่อย
ปีนั้นกรุงแตกมาแล้ว 50 กว่าปี หากว่ามีนายช่างเหลือรอดมากำกับการก่อสร้าง ท่านก็ต้องอายุร้อยกว่า
เห็นจะต้องหามใส่แคร่มาคุมงาน
แล้วหลังจากกรุงแตกแล้ว คนไทยก็ไม่ได้สร้างอะไรที่ใหญ่เกินพระมหาเจดีย์สรรเพชดาญาน
ซึ่งไม่ใช่สิ่งใหญ่โตอะไรนัก หากไปเทียบกับที่กรุงเก่า
แต่.....
ดินที่เกาะเมืองกับที่บางกอก ไม่เหมือนกันนะครับท่าน ที่บางกอกน่ะ เมื่อพันห้าร้อยปีที่แล้ว ยังเป็นอ่าวอยู่เลยครับ
แต่ที่เกาะเมือง พ.ศ. 1867 ท่านก็สร้างพระเจ้าพนัญเชิงองค์มหึมาไว้แล้ว
สถาปนิกที่สร้างพระศรีรัตนมหาธาตุแห่งบางกอก จึงใจใหญ่ยิ่งกว่าแม่น้ำเจ้าพระยา และใจถึงยิ่งกว่าคนใจถึงทุกคนในประวัติศาสตร์
กล้าสร้างอาคารขนาดสูง 82 เมตร กว้าง 234 เมตร ก็สูงเท่าตึก 24 ชั้นโดยประมาณ โดยไม่เคยมีงานนำร่องมาก่อน
ไม่รู้น้ำจิตน้ำใจของท่าน ประกอบด้วยอะไร

แล้วก็อย่ามาตู่ว่า ครูช่างครั้งกรุงเก่าท่านถ่ายทอดวิชาให้นะครับ พระมหาปรางค์องค์นี้ ช่างอยุธยาสร้างไม่เป็นครับ
1 ช่างอยุธยาไม่รู้วิธีจัดการดินที่ลุ่ม แต่รัชกาลที่ 1 ท่านรู้ครับ ไปอ่านจารึกการสร้างวัดโพธิ์ครั้งรัชกาลที่ 1 จะเห็นว่า
ทรงเกณฑ์คนมาเป็นหมื่นๆ ถมที่ทิ้งไว้ 2 ปี จนดินทรุดตัวเท่ากันหมด จึงเริ่มการก่อสร้าง
เทคนิคนี้ ต้องเป็นชาวสวนจึงจะนึกออก
2 พระปรางค์นี้ "ตัน" ทั้งองค์ ช่างอยุธยานั้น ชำนาญงานกลวง จึงลดน้ำหนักไปตั้ง ครึ่งๆ
3 ช่างที่สร้างวัดอรุณฯ สร้างรูปทรงที่ถ่ายน้ำหนักอย่างเหมาะสม และไม่ขัดขวางกับรูปแบบอาคารตามประเพณีนิยม
กลับส่งเสริมกัน จนกลายเป็นพระปรางค์ที่งามที่สุด นับแต่มีการก่อสร้างมา
ปรางค์อยุธยาจะมีทรงชะลูดเป็นฝักข้าวโพด โอ่อ่า แต่ไม่อ่อนหวานอย่างนี้
รูปเงาทาบของพระปรางวัดอรุณนี่กินขาดปรางค์ไทยทุกแห่งทีเดียว (ยกเว้นที่เชลียง)
-------------
รูปถ่ายฝีมือวิลเลียม ฮันท์ นักบินลาดตระเวณอังกฤษ
ถ่ายไว้เมื่อเลิกสงครามใหม่ๆ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ต.ค. 06, 10:54
 กระทู้นี้ ชื่อ สามแผ่นดิน  เข้าใจว่าหมายถึงรัชกาลที่ ๒ ๓ และ ๔
บัดนี้ย้อนมาถึงรัชกาลที่ ๑  และทำท่าจะย้อนไปถึงสมัยธนบุรี
ซึ่งย่อมจะย้อนกลับไปถึงพระเจ้าเอกทัศได้
เข้าไป ๖ แผ่นดินแล้ว
******************************
ต่อไปนี้เป็นวิชาเดา โปรดอย่านำไปอ้างอิง

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หรือเมื่อครั้งยังทรงเป็น "คุณชายฉิม" มีพระราชสมภพในพ.ศ. ๒๓๑๐
หมายความว่าทรงเติบโตขึ้นมาในสมัยธนบุรี   มาเป็นหนุ่มในสมัยแผ่นดินที่ ๑
ระบบการศึกษาที่ทรงได้รับ แน่นอนว่าเป็นระบบการศึกษาของธนบุรี  ซึ่งต่อเนื่องจากปลายอยุธยา
เพราะคนเก่งและคนรู้ที่มาชุมนุมกันในธนบุรีก็รอดตายมาจากอยุธยาได้นั่นเอง

คณาจารย์สมัยนั้นมาจากวัดกันเกือบร้อยละร้อย  ถ้าถามว่าพระที่เชี่ยวชาญทางพระปริยัติธรรมมีไหม
แน่นอนว่ามี   ดูได้จากพระเจ้าตากสินทรงนั่งกรรมฐาน สำคัญว่าทรงบรรลุแล้ว   โปรดให้ประชุมพระสงฆ์ใหญ่น้อยแล้วทรงถามว่า พระภิกษุไหว้คฤหัสน์ที่บรรลุธรรมแล้วได้ไหม
ก็ตีความได้ว่าพระสงฆ์สมัยนั้นย่อมทรงภูมิรู้ในพระไตรปิฏกอยู่มากมายหลายรูป  ไม่งั้นคงไม่ทรงถามให้เสียเวลา
ก็คงมีรูปใดรูปหนึ่งหรือหลายรูปนี่แหละเป็นครูของบุตรชายเจ้าพระยาจักรี   เพราะลูกชายขุนนางใหญ่ระดับนี้   ย่อมได้เรียนหนังสือจากครูระดับท็อปเท็นของอาณาจักรแน่นอน

ถ้าถามว่าครูที่ไม่ใช่พระสงฆ์มีไหม     ก็เชื่อว่ามี

เจ้าพระยาจักรีท่านมีขุนนางหนุ่มคนหนึ่ง เก่งกาจแตกฉานเรื่องกาพย์กลอน   เป็นคนสนิท  เข้านอกออกในบ้านท่านเป็นประจำ
ชื่อคุณหลวงสรวิชิต
ตอนเป็นหลวง อายุอานามเห็นจะแก่กว่าคุณหมูน้อยไม่กี่ปี    สมัยนั้นหลวงเขาได้เป็นกันตั้งแต่หนุ่มๆ
คุณหลวงสรวิชิตย่อมจะคุ้นเคยกับคุณชายฉิมเป็นอย่างดี   คนที่ใจรักการกวีด้วยกันก็ย่อมเข้ากลุ่มกันได้สนิท
ถ้าไม่เป็นครูสอนหนังสือกันโดยตรง  ก็น่าจะเคยฝึกซ้อมกลอนกันมาบ้างไม่มากก็น้อย  

คุณหลวงสรวิชิตฝากฝีมือไว้ในงานชิ้นแรกๆ  อย่างอิเหนาคำฉันท์, ลิลิตเพชรมงกุฏ, บทมโหรีเรื่องกากี  แต่ละเรื่องล้วนจัดเป็นระดับเพชรเม็ดเล็ก แต่ของแท้
พอเปลี่ยนแผ่นดินมาถึงรัชกาลที่ ๑ คุณหลวงก็รุ่งเรืองขึ้นเป็นพระยาพิพัฒน์โกษา ดูแลเรื่องคลัง  แสดงว่าท่านเก่งเรื่องเงินๆทองๆ ไม่น้อยไปกว่าฝีมือกวี
งานกวีของท่านในรัชกาลที่ ๑ เป็นเพชรเม็ดใหญ่เบ้อเริ่มหาเพชรประเภทเดียวกันเทียบไม่ติด  คือ สามก๊ก  
เมื่อท่านได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาพระคลัง(หน)

ผลงานอื่นๆในสมัยนี้ก็มี ราชาธิราช, ลิลิตพยุหยาตราเพชรพวง, ลิลิตศรีวิชัยชาดก
ส่วน ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์กุมาร และกัณฑ์มัทรีที่บางแห่งบอกว่าเป็นผลงานท่าน ดิฉันยังไม่แน่ใจ เลยไม่กล้าฟันธงลงไป

แต่อย่างน้อยก็ปะติดปะต่อภาพได้ว่า เจ้าพระยาท่านหนึ่ง เป็นนักรบ แต่ใจรักทางศิลปวัฒนธรรมและวรรณคดี  
คนที่ห้อมล้อมท่านก็ย่อมจะมีคนเก่งทางการกวีรวมอยู่ด้วย   พูดภาษาเดียวกันรู้เรื่อง  
ลูกชายคนโตของท่านก็ย่อมจะได้รับการปลูกฝังอย่างดีที่สุด มีหัวทางด้านนี้ ก็ไปทางด้านนี้ได้ตั้งแต่เด็ก
ยามศึกนั่งซ้อนท้ายหลังม้าไปกับพ่อตั้งแต่เล็ก   ยามว่างเว้นศึกก็กลับมานั่งซ้อมกลอนกับคุณหลวงสรวิชิตบ้าง
ก็พอเป็นไปได้ไม่ใช่หรือคะ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ต.ค. 06, 12:25
 มีเกร็ดเรื่องหนึ่ง ดูเหมือนจะน.ม.ส. กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงเล่าไว้ถึงพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ว่าทรงเก่งเรื่องกวีโวหารมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์
พูดจาอะไรก็เป็นคำคล้องจองกันไปหมด

ครั้งหนึ่งในสมัยธนบุรี มีจีนคนหนึ่งที่คุ้นเคยกับเจ้าพระยาจักรี นำของมาให้
คุณแว่น หรือหม่อมแว่น อนุภรรยาของเจ้าพระยาจักรีออกมาต้อนรับแขก อยากจะถามชื่อ แต่จะถามตรงๆก็เกรงเสียมารยาท
เลยอ้อมค้อมไปมา
"คุณชายฉิม" วิ่งเล่นอยู่บนนอกชาน เห็นดังนั้นก็บอกคุณแว่นว่า

" พี่แว่นพูดมากถลากไถล ไปเรียนเจ้าคุณ เถิดว่าจีนกุนเขาเอามาให้"

จีนกุนในเรื่องนี้ ต่อมาคือเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน)


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: ดอกแก้ว การะบุหนิง ที่ 11 ต.ค. 06, 13:46
ยิ่งอ่านยิ่งเพลิน ขอบคุณมากค่ะ

นึกถึงสมัยเรียนประวัติวรรณคดี สมัยมัธยม แล้วอดสงสัยไม่ได้ว่า เวลาเขาเขียนถึงประวัติกวีแต่ละท่านทำไมมันแห้งแล้งยังงั้น
ไม่มีภาพที่น่าประทับใจเลย เด็กก็เลยไม่สนใจได้แต่หลับหูหลับตาท่อง เอาคะแนนอย่างเดียว

ข้อมูลมันสั้น ห้วน แล้วก็ต่อกันเป็นท่อน ไม่เร้าความสนใจเลย..
อ่านในนี้สนุกกว่าเยอะ..


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 11 ต.ค. 06, 15:13
 อาจารย์เทาฯ เดาได้ถูกใจกระผมเป็นยิ่งนัก
เสียดายสายช่างฝีมือไม่มีรายละเอียดอย่างนี้ให้ศึกษา ทั้งรัชกาล เอ่ยนามพระอาจารย์นาคได้ท่านเดียว
แถมฝีมือท่านก็ยังเกือบจะไม่มีเหลือ แต่แค่ที่เหลือในหอไตรฯวัดระฆัง ไม่กี่ตารางเมตร
ก็พาให้ลูกหลานเหลนโหลนลื้อลี้....ระย่นระย่อ
หากล้าต่อกรด้วยไม่
---------------
แวะเข้าแผ่นดินต้นหน่อยเดียว ท่านก็แซวเสียแล้ว
ยังปักหลักสามแผ่นดินดังเดิมครับ แต่ปูพื้นเรื่อง ทำให้แน่นหนาหน่อย
เพราะกระผมสงกะสัยมานานหลายขวบปีแล้วว่า
อยุธยากับรัตนโกสินทร์ มาแยกทางกันชัดเจนเมื่อไร และสติปัญญาระดับใหน
จึงแยกรากออกากต้นทางวัฒนธรรมได้ ไม่กลายพันธ์ไปเสียก่อนเติบโต

อยากจะเปรียบว่า อยุธยาปลายนั้น คงเป็นดั่งผลไม้สุกงอม ไม่เด็ดก็คงร่วง
ดูเหมือนว่าแม้พม่าไม่มาจัดการ ในราชสำนักเองก็คงต้องเกิดศึกกลางเมืองแน่ๆ
เพราะสามสี่รัชกาลหลังนี่ ท่านฆ่ายกครัวกันมาไม่รู้เท่าไหร่
ดังนั้น คนเก่งคนดี(อย่างท่านยกกระบัตรราชบุรี เป็นอาทิ) ก็ล้วนจำใจหลีกลี้ออกจากศูนย์กลางความขัดแย้ง
แล้วพาเอาของสำคัญติดไปด้วยมากกว่ามาก อย่างที่เมืองนคร และที่เพชรบุรี เก็บตำหรับตำราไว้
รอแผ่นดินใหม่มาเรียกใช้ ผู้คนที่มีสติก็คงรู้ว่า อยู่อยุธยานั้นช่างปวดท้องข้องใจจนถึงอาจจะหัวขาดได้ไม่รู้ตัว

อันนี้ก็มั่วอีกแหละครับ
ไม่งั้น ผมก็ไม่รู้จะไปหานักปราชญ์จากใหน
มาสอนสั่งอนาคตนักปราชญ์ที่จะมาสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ในวันข้างหน้า....แหะ แหะ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 11 ต.ค. 06, 15:44
 สิ่งที่ชี้ชัดถึงข้อแตกต่างก็เห็นจะเป็นการสถาปนาพระปรางค์ริมน้ำองค์นี้แหละครับ
ตรงนี้ จะต้องแวะไปสาธยายคติมหึมาที่สั่งสมในดินแดนนี้นานนมเสียหย่อยหนึ่ง
คือคติพระธาตุ
โดยรวบรัดเอาเลยว่า เมื่อสถาปนากรุงศรีอยุธยา อันมีนามแรกเริ่มว่าศรีอโยธยารามเทพนคร
(อยุธ...นี่มาตั้งใหม่แก้เคล็ด นี่ว่าตามความเห็นของอาจารย์ประเสริฐ ณนคร)
ท่านหมายเอาพระธาตุเป็นหลักเมือง (ไม่ใช่เสาหลักเมืองนะขอรับ) แต่ปราชญอยุธยาท่านสถาปนาให้เริ่ดขึ้นอีก เป็น
"พระศรีรัตนมหาธาตุ"
เพื่อให้เหนือกว่า ธาต พระธาตุ พระบรมธาตุ พระมหาธาตุ ที่เมืองน่อยแสนสามัญกุ๊กกิ๊ก แถวๆลุ่มน้ำยมแม่น้ำน่าน...ฯลฯ ชอบสถาปนากัน
และมีรูปแบบที่เด่นชัดว่า ประธานเป็นมหาสถูปรูปปรางค์
(ตรงนี้ใช้ศัพท์แยะหน่อย อย่าเพิ่งใส่ใจก่อน)
คงสังเกตุเห็น เช่นที่เมืองราชบุรี เป็นปรางค์องค์เดียว มีระเบียงคตล้อม ด้านหน้าเป็นอาคารยาวใหญ่เรียกว่าวิหารหลวง
ที่พิษณุโลกก็แบบเดียวกัน ที่สุพรรณบุรี ที่เชลียง....ล้วนเป็นปรางค์เดี่ยว
แต่สำนักรามเทพนครท่านพัฒนารูปแบบออกไปยิ่งใหญ่ยิ่งนัก
คือสร้างเป็นหมู่พระปรางค์
เริ่มต้นที่ลพบุรี เป็นหมู่ 3  พอมาที่เกาะเมือง ท่านก็สร้างพระมหาธาตุหมู่ 3 มาอีกหลายองค์ กว่าจะมาสำเร็จเป็น
"พระศรีรัตนมหาธาตุ" แห่งอโยธยา
เห็นจะราวๆสมัยขุนหลวงพะงั่ว อันนี้พงศาวดารท่านก็จดไว้สับสนดีจัง
ผมก็อาศัยศักราชสร้างซึ่งตรงกับ พ.ศ. 1918 และเทียบว่าพระเจ้าอู่ทองท่านก็ทรงสร้างวัดพระรามไว้แล้วเมื่อปลายรัชกาล
คงไม่มีตังค์เหลือสร้างอีกองค์หรอกนะครับ

พระศรีรัตนมหาธาตุองค์นี้ ชนะขาดทุกองค์ในแผ่นดินที่มีมาก่อน (และที่จะมีต่อไปอีกตลอดกาล)
เมื่อตั้งกรุงเทพจนมั่นคงแล้ว บรรพบุรุษของเราก็ต้องสร้างสิ่งที่ทัดเทียมกัน เพื่อประกาศต่อจักรวาล (และพระศาสดา) ว่า
กรุงรัตนโกสินทร์ไม่ย้ายไปใหนอีกแล้ว
(ยังไม่จบ โปรดรอตอนต่อไป)
------------

ส่วนคณะชำระกระทู้ที่กระทำการยึดสัมปทานของผมไปนั้น
ผมกำลังรวบรวมพลังจิต อ้อนวอนให้ช่างโทรศัพท์
ต่อสายที่ขาดๆวิ่นๆ แล้วไม่ยอมเปลี่ยนใหม่ กรุณาต่อให้มันแน่นๆ หน่อย เขารับปากว่าจะพกกระไดมาด้วยคราวหน้า
เมื่อสำเร็จเรียบร้อย จะมาชำระความสมณาคุณนะครับ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 11 ต.ค. 06, 15:54
พระปรางค์องค์ใหม่นี้ มีสิ่งใหม่หลายอย่าง
แหม...ก็มันของใหม่นี่ท่าน
ไม่ใช่ใหม่แบบนั้น นั่นมันใหม่นอกปรากฏแต่ที่เปลือก ปรางค์นี้ ท่านใหม่มาแต่โครงกระดูกข้างในเลยเชียวแหละ

แต่ในเมื่อท่านไม่ชำนาญอะนาโตมี่ ผมจะยังไม่ขุดเครื่องในมาตีแผ่ แต่จะชวนท่านชมอย่างแรกก่อนเลย
พระอินทร์ครับท่าน

ท่านสังเกตุใหมว่าปรางค์องค์นี้ เลิกคบกับครุฑ ครือว่าท่านวาสุกรีนี่ตกงานครับ ท่านเคยปรากฏโอ่อ่าอลังการณ์ที่อยุธยา (วัดราชบูรณะ)
มาที่พระนครใหม่ ไม่มีตำแหน่งให้เสียแล้ว
อันนี้ต้องไปโทษสมบัติอมรินทร์คำกลอนของท่านหนทีเดียวเจียวครับ

ต้นเหตุของครุฑตกงานครั้งนี้


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ต.ค. 06, 17:19
 ต้องรีบโพสต์เสียก่อนจะถูกยึดอำนาจกลับ
*************************
วัฒนธรรมวรรณคดีของรัตนโกสินทร์ตอนต้น เหมือนแม่น้ำที่ไหลมาจากอยุธยา  ยากที่จะแบ่งแยกกระแสน้ำลงไปได้ว่าช่วงไหนเป็นจุดสิ้นสุดของเก่าและเริ่มต้นของใหม่
รสนิยมแบบแผนที่เคยมีในวังหลวงอยุธยาเป็นยังไง   แผ่นดินรัชกาลที่ ๑ ก็ดำเนินตามแบบนั้น
เพราะสมัยนั้นท่านตั้งใจจะพลิกฟื้น "เมื่อครั้งบ้านดีเมืองดี" ให้กลับคืนมา   ไม่ใช่จะสร้างของอะไรใหม่เอี่ยม ฉีกแนวออกไปต่างจากเดิม
อยุธยาในสายตาชาวรัตนโกสินทร์เป็นสุดยอดของความวิจิตรบรรจง  การตามรอยแบบแผนครั้งกระโน้น ถือว่า "ไม่นอกครู"  
เห็นได้จากนิราศนรินทร์หรือนิราศลำน้ำน้อย ก็เดินตามแบบกำศรวลศรีปราชญ์ในบางบท    ทั้งที่ฝีมือของนายนรินทรธิเบศร์และพระยาตรัง จะคิดเองใหม่หมดก็ทำได้
อยุธยาเคยกระเดื่องเลื่องลือด้วยละครใน    รัตนโกสินทร์ก็ต้องมี   เมื่อสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าสถาปนาอาณาจักรใหม่ขึ้นมา  จึงมีรามเกียรติ์ขึ้นมาเฉลิมพระนคร  อุณรุทก็เหมือนกัน
ในรัชกาลที่ ๒ อิเหนาของเดิมของเจ้าฟ้าหญิงมงกุฎ ต้นฉบับสูญหายไป    สมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯถึงประชุมกวีหน้าพระที่นั่ง แต่งของเดิมขึ้นมาใหม่

ถ้าจะรอของใหม่จริงๆ ฉีกแนวจากอยุธยา เห็นทีจะเริ่มเมื่อเรารับอิทธิพลตะวันตกเข้ามามั้งคะ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 11 ต.ค. 06, 17:35
 ตอนที่เล่าถึงค.ห. 207   เล่าไปเล่ามา นึกภาพออกว่าธนบุรี จนถึงรัชกาลที่ 1 นี่แหละสีสันดรามาติคที่สุด
มีมหาราชถึง ๒ พระองค์ พระเจ้าตากสิน  เจ้าพระยาจักรี   ส่วนเจ้าพระยาสุรสีห์นั้นก็เป็นวังหน้าที่มีบทบาทยิ่งใหญ่ที่สุดใน ๕ รัชกาล
เรื่องราวระหว่างท่านกับเจ้าสิริรจจาหรือเจ้าศรีอโนชานั้น  นิยายรักเรื่องไหนก็สู้ไม่ได้

ในบรรดาขุนนาง   แค่เราสามารถย้อนเวลา  แอบเดินตามคุณหลวงสรวิชิตเข้าประตูบ้านเจ้าพระยาจักรี
เห็นทนายหน้าหอชื่อหม่อมบุนนาคออกมาต้อนรับ   แค่นี้ก็ตื่นตาตื่นใจแล้ว
ยังมิพักจะต้องพูดถึงพระยาพิชัยดาบหักเสียด้วยซ้ำ
หรือพระยาสุริยอภัย  หลานเจ้าพระยาจักรี

ทำไมท่านมุ้ยท่านไม่ยักจะจับเอาเรื่องเหล่านี้มาทำเป็นหนังเฉลิมพระเกียรติ  น่าจะเชิดชูบรรพบุรุษมากกว่าทำผู้ชนะสิบทิศที่ทำหนังละครมาไม่รู้กี่ครั้ง   แถมตอนจบบุเรงนองยังมาตีอยุธยาได้เสียอีก
แต่ท่านมุ้ยท่านก็วางมือจากงานเสียแล้ว น่าเสียดาย


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 11 ต.ค. 06, 18:06
 งานใหญ่สุดปลายอยุธยาก็คือการชลอพระนอนวัดป่าโมก และบานประตูมุก นี่ว่าตามสายงานการช่างที่ผมพอจะรู้เรื่อง
ส่วนงานก่อสร้างนั้น เสียใจที่ต้องกล่าวว่า ไม่เป็นสัปรส(เอหรือสรรพรสก็ไม่รู้แฮะ) ปรางค์วัดเซิงท่านนั้น เห็นแล้วก็รู้สึกสงสารเพราะอมโรคเหลือเกิน
เอาเป็นว่าเทียบสองรัชกาลสุดท้าย กับยุคพระเจ้ากรุงธนและพระพุทธยอดฟ้าฯแล้ว เหมือนเปลี่ยนประเทศใหม่
ยังคิดเลยเถิดได้ด้วยว่า ถ้ากรุงไม่แตก ศิลปะวรรณคดีต่างๆ จะเหลวแหลกลงสักขนาดใหน นี่พูดแบบมองโลกแง่ลบนะครับ

กลับมาวัดอรุณ
เมื่อพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงมั่นพระทัยว่า เราไม่ไปใหนอีกแล้ว ทรงดำเนินการบางสิ่ง ที่มีนัยยะทางจิตใจอย่างยิ่ง
ข้อแรก ทรงออกกฎหมาย(พระราชกำหนดใหม่ จำข้อไม่ได้แล้วครับ) เกี่ยวกับกระดูกบรรพบุรุษ ท่านให้เก็บมาไว้บ้าน
ก่อนหน้านั้นอนุโลมให้ฝังดินฝากวัด เพราะบ้านเมืองกลียุค
อย่างที่สอง ทรงแสวงหาพระบรมธาตุ
มีร่องรอยอยู่ในร่างจารึกเรื่องพระบรมธาตุจากเมืองน่าน ซึ่งเห็นจะไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย ขนาดเตรียมทำจารึก
ก็แปลว่าระดับเดียวกับการปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์ ซึ่งโปรดให้ทำจารึกด้วย

ปัญหาคือพระธาตุนั้น พึงบันจุในปูชนียสถานควรคู่กัน
วิชาเดา อนุญาตให้ผมมั่วว่า ดำริห์ในการสถาปนาพระมหาธาตุประจำพระนคร ต้องมีแล้วแต่ครั้งนั้น
แต่ที่รีรอมา จนข้ามรัชกาล ก็คงเป็นเพราะยังไม่มีบุญญาธิการพอจะได้รับการเสด็จเยือนจากพระธาตุ
ต้องไม่ลืมว่า บัณฑิตประจำรัชกาลที่ 1 นั้น เป็นยิ่งกว่านักปราชญ์ ท่านหนึ่งแต่งไตรภูมิวินิจฉัยได้(อันนี้ต้องทำเครื่องหมายตกใจหลายๆอัน...)
เป็นครั้งแรกหลังจากจักรวาลทีปนี
(สี่ร้อยกว่าปีของอยุธยา ท่านลืมแต่งหรือไงไม่ทราบได้ ไม่มีครับ)
อีกท่านแต่งสังคีติยวงศ์ แม้ว่าส่วนหนึ่งจะขอยืมชินกาลมาลีปกรณ์มาเป็นหลัก อีกครึ่งหนึ่งท่านก็ต้องแต่งเอง
ดังนั้น ที่จะโมเม บอกว่าเป็นพระธาตุแท้จริง ย่อมไม่มาจากบุคคลระดับนี้
รัชกาลที่ 1 จึงสำเร็จเพียงการสถาปนาวัดกลางเมือง มหาสุทธาวาส วัดแห่งภูมิปัญญาคือวัดโพธิ์
วัดแห่งวิปัสสนาธุระคือวัดพลับ (ราชสิทธาราม) วัดประจำพระราชวังคือวัดพระแก้ว กับวัดขนาดย่อมๆ ค่อนมาทางใหญ่ๆอีกยี่สิบกว่าวัด

วัดเหล่านี้ เห็นชัดกว่าวรรณกรรมครับ ท่านอาจารย์
เพราะแตกแนวอยุธยาอย่างไม่เหลือเยื่อใยเลย


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 11 ต.ค. 06, 18:30
 เรื่องจารึกพระธาตุเมืองน่านนั้น สมเด็จฯดำรงไม่ทรงให้ความสนใจ ทรงเก็บมารวมไว้ในหนังสือชุด ประชุมจารึกวัดโพธิ์
เพราะในยุคของพระองค์ ความเชื่อเรื่องพระธาตุเรียวลงมากแล้ว
ขนาดได้พระธาตุมีจารึกมาจากอินเดีย ท่านในยุคนั้น(รัชกาลที่ 5)ยังไม่เชื่อ จนถึงกับส่งขุนนางต๊อกต๋อยไปอัญเชิญมา
แล้วประดิษฐานยังพระอารามที่ปกติจะครึกครื้นเฉพาะเวลามีงานวัด คือวัดสระเกษ
ถ้าได้มาในสามแผ่นดินของกระผมละก้อ พระปรางค์วัดอรุณอาจจะกลายเป็นของจิ๋วไปเลย

ทั้งนี้ทั้งนั้น เวลาเปลี่ยน คติความเชื่อก็เปลี่ยน สมัยที่รับธรรมเนียมฝรั่งมาใช้ เราก็เพลินเพริด
ไปถือเอาพุทธศิลปะเป็นเครื่องประเทืองรสนิยมและความรู้ หาใช่เครื่องประเทืองศรัทธาอย่างที่เป็นมาต่อเนื่องสองพันสี่ร้อยกว่าปี
จากสังเวชนียวัตถุสถาน กลายเป็นสุนทรีย์สมบัติไปอย่างน่าประหลาดใจ

เอ...นี่ผมไปออกมุขใหนแล้วฟะนี่

อ้อ เรื่องพระธาตุนั่นเอง
สมเด็จฯ ทรงเห็นว่า ร่างจารึกนั้น เป็นเพียงสะคันสะเล็กสะน้อย ไม่เป็นไรบ่มิได้ มีก็ได้ไม่มีก็ได้ แต่ในเมื่อมีแล้ว ก็ทรงเก็บไว้ให้พวกเราอ่าน
แต่ผมลองนึกย้อนไปถึงรัชกาลเมื่อสร้างกรุง
ท่านคงไม่ทำอะไรเรื่อยเปื่อย แบบที่ผมบ่นบ้าไร้สาระอยู่ทุกวันนี้ จนมีเอกสารเกลื่อนโต๊ะเกลื่อนตู้
ท่าน"ต้อง"ให้ราคาพระธาตุเมืองน่านสูงเด่นทีเดียว
ดังนั้น พระธาตุในพระปรางค์วัดอรุณ จะสำคัญสักเพียงใด
กายภาพของสถาปัตยกรรม คงชี้แจงได้ดีกว่าคำพูดของผมนะครับ

อ้อ ผมลืมไป สมัยร. 5 เมื่อออกรบ ขุนศึกขอเส้นพระเจ้า
แต่สมัยพระนเรศวร ท่านอัญเชิญพระธาตุ
ดังนั้น จึงเทียบประเด็นกันไม่ได้เสียเล้ว


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 12 ต.ค. 06, 09:04
 เอ........ อันที่จริงงานก่อสร้างสมัยอยุธยาตอนปลายก็ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กรุงรัตนโกสินทร์เลยครับ ผมว่า

ไม่ว่าจะเป็นวัดมเหยงค์ วัดกุฎีดาว หรือวัดพญาแมน ทั้งหมดล้วนใหญ่โตโอฬารดังวิมานพระอินทร์

เสียดายครับ ตอนนี้กำลังจ่อมจมอยู่กลางกระแสชลาสินธุ์ไปแล้ว
ทั้งมเหยงค์ กุฎีดาว ไม่รู้ว่าจะเสียหายมากน้อยแค่ไหน


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 12 ต.ค. 06, 09:23
 เห็นคุณ Pipat กล่าวถึงพระธาตุที่Piprahwa ก็นึกขึ้นมาได้

พระธาตุองค์นี้คงเป็นพระธาตุเก่าแก่ที่สุดที่มีจารึกกำกับ ขุดค้นพบในเมืองที่เชื่อว่าเป็น กบิลพัสดุ์ เดิม (ปัจจุบันที่ตั้งของกบิลพัสดุ์ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่)

จารึกปรากฏอยู่บนโกศ มีความว่าดังนี้

"นี่คือที่สำหรับประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐแห่งศากยวงศ์ ผู้เป็นภราดาอันอุโฆษแห่งบรรดาเชษฐภคินี โอรสธิดาและชายาทั้งหลาย"


" This shrine for Relics of the Buudha, the August one, is that of the Sakayas, the brethen of the Distiguished one, is association with their sister and with their children and their wives."


แฮ่.......ภาษาอังกฤษผมไม่แข็งแกร่ง ถ้าหากว่าแปลผิดแผลถูกอย่างไรก็ขออภัยด้วยนะครับ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 12 ต.ค. 06, 09:28
 พระธาตุที่อยู่ในโกศนี้ ขุดค้นพบโดย  Mr. Pepe ในปีค.ศ.1897

ที่เมืองปิปราหวา จังหวัด Basti ในแคว้นอุตรประเทศ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ห่างจากลุมพินีไป 12 กิโลเมตร

ต่อมา Marquis Curzon ข้าหลวงอินเดียได้พิจารณาว่าในขณะนั้นมีแต่สยามประเทศเท่านั้นที่พุทธศาสนาประดิษฐานมั่นคง

จึงได้จัดส่งพระบรมธาตุนี้มาถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ซึ่งพระองค์ทรงโปรดเกล้าฯให้ประดิษฐานไว้ในพระบรมบรรพต วัดสระเกศในปี 1899

จากเวป http://www.geocities.com/Tokyo/9149/relicbk.html  ครับ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ต.ค. 06, 09:38
 ขอบคันกั้นน้ำของวัดไชยวัฒนาราม จะทนทานกระแสน้ำหลากได้แค่ไหนก็ไม่รู้ค่ะ  เป็นห่วงอยู่เหมือนกัน
ขอเล่าถึงแผ่นดินที่ ๑ ค่ะ

สมัยนี้นักเรียนเรียนวรรณคดีไทยกันแบบไหน ไม่แน่ใจ
แต่สมัยดิฉันอยู่มัธยม (หรือแม้แต่อุดมก็เถอะ)เรียนประวัติวรรณคดีไทยแบบที่ดิฉันเรียกเองว่า "แบ่งห้อง"
คือแบ่งเป็นรัชกาล    รัชกาลที่ ๑ มีหนังสือเรื่องอะไรบ้างก็ท่องจำไป  รัชกาลที่ ๒ มีเรื่องอะไร ก็ท่องจำไป  แบ่งเป็นห้องๆเหมือนเราเดินดูพิพิธภัณฑ์แต่ละห้อง
ที่จริงการท่องจำนั้นไม่ใช่เรื่องเสียหาย  เป็นการเซฟข้อมูลลงฮาร์ดดิสก์ในสมองได้อย่างดี    จะดึงมาใช้เมื่อไรก็ได้  เซฟให้แม่นๆก็แล้วกัน
แต่ว่ามันน่าเบื่อ   มองไม่เห็นการต่อเนื่องเชื่อมกัน และสอดคล้องต้องกันระหว่างรัชกาล    มองไม่เห็นวัฒนธรรมและสรรพวิชาที่แฝงอยู่ในวรรณคดี

ดิฉันหลงเข้าใจเสียนานว่า พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ ก็เป็นของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า   พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ ก็เป็นของสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า
ความจริงไม่ใช่
เมื่อสมเด็จพระราชบิดาขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. ๒๓๒๕ สมเด็จพระพุทธเลิศหล้าพระชนม์ได้ ๑๕    เป็นหนุ่มแล้ว    
ช่วงเวลารัชกาลที่ ๑ ยาวนานถึง ๒๗ ปี  พระราชโอรสเจริญพระชันษาจาก ๑๕ เป็น ๔๒ ปี
ทรงอยู่ในวัยทำงาน เต็มที    เพราะฉะนั้น พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ อย่างรามเกียรติ์ ก็ต้องมีเจ้าฟ้าพระองค์ใหญ่เข้าไปร่วมนิพนธ์ด้วย    อาจจะทรงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงรวมรวมกวีมาชุมนุมกันแต่งเสียด้วยซ้ำ
ทำนองเดียวกับเมื่อขึ้นครองราชย์   พระราชโอรสพระองค์ใหญ่คือกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ก็ทรงร่วมแต่ง  อย่างเรื่องสังข์ทองที่เล่ากันมาว่าเกิดกรณีสุนทรภู่หักหน้าท่านยังไงล่ะคะ

ดิฉันไม่มีปัญญาจะแกะรอยได้ว่ารามเกียรติ์ตอนไหนเป็นฝีพระโอษฐ์สมเด็จพระพุทธเลิศหล้า    เรื่องนี้รบกันทั้งเรื่อง  มีรักแทรกบ้างเป็นกระสาย เพียงสั้นๆ
แต่เชื่อว่าตอนเด็ดๆนั้นน่าจะใช่   อย่างตอนศึกครั้งสุดท้ายของทศกัณฐ์นั้น  สง่างาม  เพียบพร้อมด้วยอารมณ์สะเทือนใจ   เป็นการตายอย่างมีศักดิ์ศรี เกินกว่าสามัญชนจะทำได้  
อ่านแล้วทศกัณฐ์พ้นความน่าเกลียดน่าชังของตัวร้าย แทบจะกลายเป็นฮีโร่ไปเสียด้วยซ้ำ
พอทศกัณฐ์ตาย เรื่องรามเกียรติ์หลังจากนั้นจืดไปเลย  ศึกท้าวจักรวรรดิเมืองบาดาล ที่เอาพระพรตพระศัตรุดมาแทนพระรามพระลักษณ์ ก็สู้ศึกลงกาไม่ได้


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 12 ต.ค. 06, 09:40

หุหุ ออกนอกเรื่องมาไกลแสนไกลไปถึงชมพูทวีป ขอกลับมานั่งฟังคุณ Pipat เล่าต่อดีกว่าครับ

ภาพโกศบรรจุพระธาตุจากปิปราหวาครับ

จากเวป
 http://www.geocities.com/Tokyo/9149/relicbk.html  


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 12 ต.ค. 06, 11:18
 วัดของคุณกุรุฯ เป็นอยุธยาต้นนี่ครับ
โอนมาปลายแต่เมื่อไรครับ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 12 ต.ค. 06, 13:41
 เจาะตำราหาชื่อพระเถระเก่งๆในสมัยธนบุรี ได้มา ๓ รูป  เอามาลงเสียก่อนจะถึงเรื่องอื่น
เมื่อพระเจ้าตากสินทรงประชุมพระสงฆ์ใหญ่น้อย  ตรัสถามว่าพระสงฆ์ไหว้คฤหัสน์ที่บรรลุธรรมวิเศษแล้วได้ไหม
ชุมนุมสงฆ์ก็แตกออกเป็น ๒ ฝ่าย  ฝ่ายหนึ่งอนุโลมตามพระทัยว่าได้   อีกฝ่ายยอมตายในผ้าเหลืองเพราะรู้ว่าไม่สบพระอัธยาศัย ตอบว่าไม่ได้
ถือว่า พระสงฆ์ต่อให้ไม่บรรลุอะไรเลย  มีแต่ศีล ๒๒๗ ข้อ ก็ยังครองเพศที่เหนือกว่าชาวบ้านอยู่ดี

พระสงฆ์ที่ทูลตอบว่ากราบไหว้ได้ คือพระโพธิวงศ์(ชื่น)  พอเปลี่ยนแผ่นดินท่านถูกลดสมณศักดิ์   แต่ก็ยังขึ้นไปถึงว่าที่พระพนรัตน์ เพราะเชี่ยวชาญพระไตรปิฏก
นอกจากนี้มีพระสงฆ์เก่งอีก ๒ รูปคือ พระรัตนมุนี (แก้ว) วัดหงษ์
แม้จะโปรดฯให้สึก แต่ด้วยความรู้แน่นหนา ก็ได้เป็นพระอาลักษณ์ แต่ง ไตรโลกวินิจฉยกถา
ส่วนพระพิมลธรรม เชี่ยวชาญภาษามคธ  ในรัชกาลที่ ๑ เลื่อนเป็นพระพนรัตน์
แต่ง สังคีติยวงศ์  จุลยุทธการวงศ์ และมหายุทธการวงศ์


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 12 ต.ค. 06, 20:41
 อ้า ผมคิดว่าคำว่าปฏิสังขรณ์ในสมัยโบราณน่าจะหมายถึง "การรื้อทำใหม่ (เกือบ) ทั้งวัด"

วัดมเหยงค์แม้ว่าน่าจะสร้างสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 เป็นอยุธยาตอนต้นก็จริง แต่การปฏิสังขรณ์สมัยอยุธยาตอนปลาย ก็เหมือนกับทำใหม่ โดยเฉพาะพระอุโบสถขนาดมหึมา การเจาะหน้าต่างมากมายขนาดนั้นมีเพียงอยุธยาตอนปลายที่ท่านสามารถ นั่นก็คือ "การปฏิสังขรณ์"

เช่นเดียวกับวัดอรุณ ซึ่งท่านทำใหม่เกือบทั้งวัด ที่ตั้งของปรางค์ประธานสันนิษฐานว่าเดิมคงเป็นเจดีย์ขนาดย่อม แล้วท่านมาก่อทับเอาภายหลัง


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 12 ต.ค. 06, 20:43
 ไม่รู้ว่าเป็นความบังเอิญหรือไม่ แต่ถ้าลองลากเส้นตรงตามแนวทิศ ตะวันออก ตะวันตก เฉียงออกทางทิศใต้เล็กน้อย แนวแกนหลักจะพาดผ่านวัดสำคัญบนฝั่งพระนครถึง 6 วัด คือ
วัดอรุณราชวราราม
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม
วัดสุทัศนเทพวราราม
วัดเทพธิดาราม

และวัดสระเกศวรวิหาร

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการบังเอิญหรือไม่ วัดทุกวัดที่ออกชื่อมาตั้งอยู่ในแนวเดียวกัน จะเยื้องออกซ้ายหรือขวาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุรุกุลา ที่ 12 ต.ค. 06, 20:44

ภาพครับ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 12 ต.ค. 06, 21:48

.
คุณกุรุฯ มีของเล่นใหม่ แต่แผนที่ดูแปลกๆ คงจะคนละจังหวัดกับของผม ผลออกมาก็เลยไม่ตรงนัก
ยิ่งถ้าปักหมุดที่ทับเกษตรของแต่ละวัดแล้ว ก็จบเลยครับ
เว้นแต่จะเอามือยักษ์มาขยับเหมือนเล่นหมากรุก
ก็อาจจะตรงขึ้นมาได้

สำหรับวัดที่ว่าปฏิสังขรณ์นั้น ยังไม่สามารถใช้คำว่ายิ่งใหญ่อะไรประมาณนั้นครับ ใหญ่ แต่ไม่ยิ่ง ก็เลยเอารูปวัดเชิงท่าล่าสุดมาให้ดูด้วย
อาจจะกล่าวได้ว่า พอหมดยุคพระเจ้าปราสาททองแล้ว ช่างอยุธยาอาจจะหมดแรง ดูตัวอย่างพระที่นั่งในวังนารายณ์
ภาษาวัยรุ่นเรียกว่า ชิลลล์ๆครับ มาเล่นกันที่เครื่องตกแต่งมากกว่าที่โครงสร้าง อย่างตำหนักในวัดกุฎีดาว
หรือพระที่นั่งคำหยาด นับอยู่ในพวกปานกลางครับ
พวกเฮฟวี่เวทต้องแถววัดธรรมิกราช จึงจะปะป้ายว่ายิ่งใหญ่ได้


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 12 ต.ค. 06, 21:50

.
วัดเชิงท่า จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันนี้เอง
อย่างนี้ไม่เรียกว่าโอ่อ่าอลังการณ์ครับ

ว่ามะเพ่  


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 12 ต.ค. 06, 22:01
 .
















.     ลองจับ
.     เทียบกัน

.     ของผม
.     หลุดแนว
.     ไปสองวัด

.      ครับ  


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 15 ต.ค. 06, 08:29
 ขอความรู้จากอาจารย์เทาฯ ก่อนจะเข้ารกเข้าพงมากกว่านี้
กวีในรัชกาลที่ 2 มีใครบ้างครับ ไม่เอาท่านสุนทรนะครับ
แล้วใครเจ๋งอย่างไรด้วย ขอบคุณครับ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ต.ค. 06, 09:15
 สิ่งที่น่าเสียดายที่สุดของวงการกวีสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ในแผ่นดิน ๑ ๒ และ ๓ ก็คือสมัยนั้นไม่มีการบันทึกชื่อกวีผู้ร่วมชุมนุมกันแต่งวรรณคดีใหญ่ๆอย่างรามเกียรติ์  อิเหนา ดาหลังและอุณรุท

มีแต่พวกร้อยแก้วอย่างสามก๊ก ไซ่ฮั่น ที่บอกชื่อคณะผู้ร่วมมือกันแต่งเอาไว้ต้นเรื่อง  แต่พอมาถึงห้องสินในรัชกาลที่ ๒  ต้นฉบับเกิดขาดหายไปในหน้าแรกตรงชื่อกวีพอดี
เราจึงมีกวีนิรนามกันเสีย ๘๐% ในยุคทองของวรรณคดี

แต่เท่าที่เหลือ ๒๐% มีรายชื่อพอนึกออกตามนี้
ในรัชกาลที่ ๒  ไม่รวมสุนทรภู่
๑) พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
๒) กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์( พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ)
๓) นายนรินทรธิเบศร์
๔) พระยาตรัง


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ต.ค. 06, 09:45
 เรื่องกวีที่ถามมา เคยไปตอบไปแล้วเรื่องนายนรินทรธิเบศร์  คงนึกออก   แต่ถ้านึกไม่ออกจะมาเล่าอีกทีก็ได้ค่ะ

ส่วนที่เอาลงในค.ห.นี้ เป็นหน้าตาเมืองกรุงเทพสมัยรัชกาลที่ ๒  ตามที่บรรยายไว้ในพระราชนิพนธ์อิเหนา

ท่ามกลางทางท้องสถลมาศ.......ลำดับดาษอิฐแผ่นแน่นหนา
บ้านช่องสองข้างมรรคา............ล้วนเคหาหน้าถังนั่งร้าน
เหล่าพวกกรมท่าเจ้าภาษี..........มั่งมีสมบัติพัสถาน
เรือนริมรัถยาฝากระดาน............ตึกกว้านบ้านขุนนางนองเนือง
สุเหร่าเรียงเคียงคั่นปั้นหยา........ก่อผนังหลังคามุงกระเบื้อง
ศาลเทพารักษ์หลักเมือง...........นับถือลือเลื่องทั้งกรุงไกร
เสาชิงช้าอาวาสวัดพราหมณ์......ทำตามประเพณีพิธีไสย
หอกลองอยู่กลางเวียงชัย..........แม้เกิดไฟไพรีตีสัญญา
สะพานช้างทางข้ามคชสาร........ก่ออิฐปูกระดานไม้หนา
คลองหลอดแลลิ่วสุดตา............น้ำลงคงคาไม่ขอดเคือง
นาวาค้าขายพายขึ้นล่อง............ตามแม่น้ำลำคลองแน่นเนื่อง
แพจอดตลอดท่าหน้าเมือง.........นองเนืองเป็นขนัดในนที


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 15 ต.ค. 06, 09:56
 จำนายนรินทร์ขึ้นใจเลยครับ ฝีปากโอ่อ่า เด็ดขาดและล้ำลึก
เห็นจะไม่แพ้ใครในอดีตกาล
แล้วท่านเจ้าพระฯ อยู่รัชกาลนี้ด้วยใหมครับ
เคยอ่านประชุมเพลงยาว มีชื่อแปลกๆหลายท่าน พวกนี้ไม่มีผลงานเป็นเล่มสมุดบ้างหรือครับ

แผ่นดินนี้ ใครเป็นกวีก็โปรด
จะมีนับชื่อได้ไม่ครบหนึ่งฝ่ามือ นับว่าเหลือเชื่อ
แล้วงานชั้นสุดยอดในรัชกาลมีใหมขอรับ

ถามแบบไม่รู้อิโหน่อิเหน่ คนที่รู้โปรดอย่าหัวร่อ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ต.ค. 06, 10:09
ท่านเจ้าพระฯ ไหน ล่ะคะ มาใส่ไปยาลเอาไว้กลางชื่อ ให้เดาที่เหลืออีกครึ่งเหมือนเกมทศกัณฐ์งั้นแหละ
เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ถึงแก่อนิจจกรรมไปตั้งแต่ก่อนสามก๊กแปลจบ ก็หมายความว่าในรัชกาลที่ ๑
ประชุมเพลงยาวฯ มีชื่อแปลกๆว่าไงบ้าง  ลอกเอามาลงแล้วจะตอบว่าอยู่ในรัชกาลที่ ๒ ด้วยหรือเปล่า

ในรัชกาลที่ ๒ กวีมีมากมาย แต่มีชื่อให้เห็นเป็นตัวตนชัดเจน พร้อมด้วยผลงานใหญ่ๆ  น้อยมาก
งานสุดยอด ก็พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒  ทั้งละครในละครนอก  รามเกียรติ์มาแต่งใหม่บางตอนเพื่อให้เหมาะกับรำละครโดยเฉพาะ
ขุนช้างขุนแผนเป็นเสภาระดับยักษ์
งานพระยาตรัง น่าจะดังกว่านี้ แต่เผอิญท่านเขียนเป็นโคลงดั้นที่ไม่รื่นหูคนอ่านเท่าโคลงสี่สุภาพ  ค่ะ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 15 ต.ค. 06, 20:53
 เพลงยาวเจ้าพระ เป็นของกรมสมเด็จพระปรมาฯครับ นี่ว่าตามกรมศิลป์
หนังสือนี้หายไปจากตู้นานพอควรแล้ว หาไม่จะคัดมาเรียนถามให้หนำใจ

ประเด็นที่ผมงวยงงก็คือ 15 ปีของรัชกาล ที่กล่าวว่าเป็นยุคทองแห่งวรรณคดี ไม่มีกวีเรืองนามให้อ้างอิง ไม่มีวรรณกรรมเรื่องเอกให้ศึกษา เว้นแต่ที่เป็นพระราชนิพนธ์
ราวกับว่า ทรงเป็นกวีเดียวดาย โดดเดี่ยวในแผ่นดิน

รู้สึกแปลกๆน่ะครับ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 ต.ค. 06, 21:33
 ดิฉันเรียนพระนิพนธ์กรมพระปรมาฯ ว่าเป็นวรรณคดีสมัยรัชกาลที่ 3 ค่ะ

อ้าว  ใน 15 ปีที่ว่า มีกวีหานามไม่ได้เสีย ๘๐% อีก ๒๐% มีนามให้รู้ว่าเป็นใครไงคะ
เขาดูกันที่ตัวผลงานค่ะ   กวีสมัยนั้นก็ไม่ค่อยบอกชื่อกันเสียด้วยซี


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 22 ต.ค. 06, 21:22
 ขอคั่นรายการด้วยงานชัณสูตรบทความสักชิ้นนะครับ
-------------
มีบทความที่ผมอยากจะใช้ยกเป็นตัวอย่างเรื่องความรู้ความเข้าใจอดีต ของคนปัจจุบัน
พอเหมาะกับเรื่องที่กำลังคุยกันอยู่ในกำลังนี้
เป็นบทความชื่อ THE KINGMAKERS ของธงชัย วินิจจะกูล อยู่ใน กรุงเทพธุรกิจ 18 ตุลาคม 2549
ตัวบทความนั้น ผมสารภาพว่าอ่านไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ว่าท่านจะสื่ออะไร มีที่รู้เรื่องอยู่ตรงหลายบันทัดเริ่มต้น
กับบางเหตุการณ์ที่ท่านอ้างไว้
ดังนี้ (เลขนำหน้า ผมใส่ไว้เอง เพื่อง่ายแก่การอ้างถึง ต้นฉบับไม่มีเลขนะครับ)

1 เมื่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่สองใกล้เสด็จสวรรคต กลุ่มเจ้านายและขุนนางในขณะนั้นเห็นว่าราชบัลลังก์สมควรเป็นของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระราชโอรสพระองค์โตผู้มีอิทธิพลและบทบาทในราชสำนักเรียบร้อยแล้ว แต่ทว่าทรงประสูติจากพระสนม

2 เจ้าฟ้ามงกุฎพระราชโอรสพระองค์แรกในสมเด็จพระบรมราชินีศรีสุริเยนทรามาตย์ทว่าพระชันษาอ่อนกว่าถึง 16 พรรษา จึงเสด็จออกผนวชก่อนพระราชบิดาสวรรคตไม่กี่วัน
และทรงอยู่ในสมณเพศต่อมา 27 ปี

ผมไม่รู้ว่าคุณธงชัยเธอไปได้หลักฐานมาจากที่ใด เกี่ยวกับ
การเปลี่ยนแผ่นดินที่ 2 มาแผ่นดินที่ 3 เท่าที่ผมมีความรู้ ต้นเรื่องมาจากพงศาวดารรัชกาลที่ 2 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ แล้วสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเรียบเรียงใหม่ให้โมเดิ้นยิ่งขึ้น เข้าสมัยแต่งตำราอดีตแบบสากล
และมีคนเอาไปเขียนเป็นบทวิเคราะห์หลายสำนวน
แต่ที่มาดั้งเดิมก็มีอยู่แค่ที่ท้ายเรื่องของท่านขำเท่านั้นแหละครับ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 22 ต.ค. 06, 21:27
 ที่ท่านขำเขียนไว้ ก็ไม่กี่ประโยค แทบจะท่องจำได้

ทีนี้วิธีเขียนของคุณธงชัย ระบุความแน่ชัดบางอย่างที่ผมเพิ่งทราบ เช่น
บอกว่า มีการลงความเห็นกันว่าแผ่นดินควรเป็นของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์.....อันนี้ก็คงว่าตามพระมติของสมเด็จกรมฯ ดำรง ซึ่งอาจจะจริง หรือไม่จริงก็ได้
เพราะไม่ทรงอยู่ในเหตุการณ์ พระราชนิพนธทั้งรัชกาลที่ 4 และ 5 ก็ไม่มีพาดพิงถึงเหตุการณ์ตอนนี้
แต่ผมจะข้ามประเด็นนี้ไปก่อน เพราะติดใจประเด็นที่ 2 มากๆๆๆๆๆ กว่า

คุณธงชัยบอกเป็นนัยว่า เมื่อตกลงกันดังนั้นว่า กรมเจษฎฯ ควรได้ราชสมบัติ เจ้าฟ้ามงกุฏจึงต้องเสด็จทรงผนวช

ฟังแล้วออกแนวคอนสะไปล์ระสี้ เทียวรี่ชอบกล
(ขอใช้ศัพท์ฝาหรั่งหน่อย เวลาอ่านให้ทำเสียงขึ้นจมูก กลั้วอยู่ในลำคอด้วยนะครับ)
ประเด็นนี้นับว่าอินโนเวย์ถีบน่าดู

เอาหละ ผมจะแต่งเรื่องจากทฤษฎีคุณธงชัยมาเสนอท่านผู้อ่านดูหน่อย อาจจะเป็นบทละคอนแบบเช็คสะเปียร์มันไปซะเลย ดีใหมครับ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 25 ต.ค. 06, 05:51
 กูเกิ้ลระบุว่าคุณธงชัยนี่ ไม่ใช่คนธรรมดา แต่เป็นโปรเฟสเซ่อร์ที่เมกา หาที่ Thongchai Winichakul ได้มาเป็นหมื่นเวบ
ยิ่งทำให้งง ว่าโปรเฟสเซ่อร์ที่เขียนเรื่องราวหละหลวมได้ด้วยหรือ
ในบทความนั้น ถ้าอ่านต่อลงไปอีก ชวนให้ผมคิดว่าเธอน่าจะทำงานให้ซีพี คือเป็นพวกเลี้ยงไก่ เพราะมีไก่ถูกปล่อยออกมาเป็นระยะระยะ แต่ช่างเถิด แกไม่ได้สอนที่นี่ ทำงานให้กับคนที่ไม่ใช่ไทย มันก็มีข้อได้เปรียบเสียเปรียบแตกต่างกันไป

พอผมตั้งท่าจะแต่งบทละคอนตามสะกริ๊บของท่านธงซะหน่อย
ปัญหาก็บังเกิด
คือมันไม่มีตัวละคอนให้เล่นน่ะครับ
พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2 ทรงประชวรกระทันหัน พงศาวดารจดไว้ว่าเริ่มเป็นก็ทรุด ตรัสไม่ได้

ทีนี้ตามโบราณราชประเพณี เมื่อพระเจ้าอยู่หัวประชวร ผู้หลักผู้ใหญ่ก็ต้องเข้าวังหมดแหละครับ
ผมก็เลยหาตัวละคอนที่จะมาซุบซิบ สมคบกันว่าจะเอาใครเป็นพระเจ้าอยู่หัว ในระหว่างเจ็ดวันนั้นไม่ได้

ในเจ็ดวันนั้น ใครใหญ่ครับ
คุณธงชัยเธอไปเอาความคิดมาจากใหนหนอ ว่าขุนนางเจ้านายตกลงกันอย่างโน้นอย่างนี้
วันนั้น พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฯ ใหญ่สุดครับ ไมม่มีใครใหญ่กว่า
เว้นแต่ท่านใดมีหลักฐานว่า ที่ปากคลองบางหลวงนั้น บ้านใหนมีกำลังไพร่พลเท่าไร

ผมเองก็ไม่มีหลักฐาน ได้แต่น่งนึกเอาว่า ตระกูลบุนนาคนี่ เริ่มสร้างวัดประดับสกุล แห่งแรกคือวัดอะไรหนอ
ปรากฏว่านึกไม่ออกครับ

แปลว่าอะไรล่ะ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 25 ต.ค. 06, 06:07
 อันที่จริง การอ้างวัดเพื่อชี้อำนาจทางการเมืองนี่ มันออกจะเสี่ยงไปหน่อย แต่ผมก็ไม่พบทางเลือกที่ดีกว่านี้

ตระกูลบุนนาคนี่ เป็นต้องถูกพวกนักวิชาการจำพวกหนึ่ง ยัดบทบาทให้จนไปกลบบทบาทของสายสกุลอื่นไปจนหมด
วันใหนว่าง จะลองสอบถามลูกหลานตระกูลนี้ดูสักครั้ง
ว่าเริ่มใหญ่คับบ้านคับเมืองแต่เมื่อไร
จะถามอาจารย์เทาชมพู ท่านก็น้อยใจ หนีเรือนไทยของพวกเราไปแล้ว

อย่างไรเสีย ท่านที่มีข้อมูลชี้ชัด ก็ช่วยบริจาคความรู้ให้คนด้อยปัญญาอย่างกระผมด้วยเถิด

เผื่อโชคดีจะมีสถาบันอนุบาลายาลัย มารับไปเป็นโปรเฟสเซ่อร์ ที่แปลว่าเซ่ออย่างโปร เป็นเกียรติยศแก่วงศ์กระตูล  แหะ แหะ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 25 ต.ค. 06, 16:11
 ข้อมูลเหตุการณ์ปลายรัชกาลที่ 2 นอกเหนือจากพระราชพงศาวดารไทย ก็ต้องไปตรวจจากเอกสารต่างด้าว คนที่ทำไว้เป็นหลักฐานก็คือนายกาละฟัด หรือ Dr. John Crawford
ในนั้นจะได้เห็นบทบาทของพระคลังคนใหม่
ย้ำ...คนใหม่ คือท่านดิศ ที่ได้เลื่อนขึ้นมารับงานนี้โดยเฉพาะ แปลว่าถ้ากาละฟัดไม่เข้ามา ท่านก็คงกินตำแหน่งพระยาสุริยวงศ์มนตรีเรื่อยไป

คำถาม ใครหนับหนุนให้ท่านขึ้นกินตำแหน่งเจ้าพระยาละท่าน
คำถามอีกข้อ ก็ในเมื่อเพิ่งได้รับอวยยศหมาดๆ
อีก 3 ปีก็เปลี่ยนแผ่นดิน ขุนนางระดับนี้ละหรือ
ที่จะไปทำตามทฤษฎีหน่อมแน๊มของศอ ธงชัย เรื่องคิงเมคเกอร์

มาถึงตรงนี้ ผมว่าเปลี่ยนจากเขียนบทละคอนเรื่องสร้างกษัตริย์
มาเป็นซ่อมศาสตราจารย์เสีย

น่าจะเข้าท่ากว่า


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: กุ้งแห้งเยอรมัน ที่ 27 ต.ค. 06, 07:30
 กลับมาจากเชียงใหม่นานแล้วค่ะ เกิดปัญหากล้องเสีย  และอีกสารพันปัญหา เลยไม่ได้ไปวัดพระสิงห์
แต่ก็มีเวลาแวะวัดพระธาตุลำปางหลวงแทน
พระพุทธรูปในพระอุโบสถงามมากค่ะ
..
เพิ่งมานั่งอ่านอย่างเมามันวันนี้
คุณpipat เจ้าของกระทู้กำลังมันกับการโพสท์นะคะ
ตอบอาจารย์เทาชมพูความเห็นที่203 ด้วยความยินดีและเต็มใจค่ะ
ท่านเชิญชวนทั้งที มีหรือจะอิดออดอ้ำอึ้ง
เพราะเป็นแฟนเรือนไทยอยู่แล้วและถือเป็นเกียรติค่ะ
ดิฉันชอบเว็บวิชาการแบบเรือนไทยที่ควบคุมโดยอาจารย์เทาชมพู
และต้องเปิดทุกครั้งที่ใช้อินเตอร์เน็ตค่ะ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: bookaholic ที่ 27 ต.ค. 06, 08:44
 มาห้อยท้ายขบวนการ # 203

คุณธงชัยคงจะเดาจากคำว่า อเนกนิกรสโมสรสมมติ  มั้งครับ   แต่ผมก็เห็นว่าคำนี้อาจจะยากไปหน่อย   คงไม่ใช่
เหตุการณ์ตอนเจ้าฟ้ามงกุฎให้คำตอบไปว่าท่านไม่ลาผนวชกลับไปขึ้นบัลลังค์   ขออยู่ในผ้าเหลืองต่อ เนี่ย   ผมไม่ได้อ่านบทความ   คุณธงชัยเอามาวิเคราะห์เปล่าครับ
คือผมนึกว่าการตัดสินใจของเจ้านายเกิดขึ้นหลังจากเจ้าฟ้ามงกุฎให้คำตอบไปแล้ว ซะอีก  
เจ้านายไม่ได้ตกลงพร้อมใจกันก่อนล่วงหน้าครับ อย่างน้อยกรมหลวงพิทักษ์มนตรีท่านก็ไม่เอาด้วย


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 27 ต.ค. 06, 10:39
 นัยยะความนัยของวันนั้น เราพวก...ก็ได้แต่เดาพุ่งเดาสุ่ม จะเป็นส. เป็นศ. หรือเป็นษ. เอ้าให้อีกซ๋อ ...แถม
ล้วนแต่ไม่รู้จริงทั้งนั้น
ทีนี้ไม่รู้จริง แต่สรุปเอาแบบดุ่ยๆ แล้วโยงมาพากันเฮโลสาระพา สร้างเป็นทฤษฎีล้ำโลก...ก็ต้องรบกวนหน้ากระดาษพี่ต่วย หรือขายหัวเราะเท่านั้นแหละครับ

มีเกล็ดเล่ากันมาสองเรื่อง อาจจะชวนให้นึกเห็นบางแง่มุมในเรื่องราวครั้งนั้น
1 เล่ากันว่าพระภิกษุเจ้าฟ้าฯ ทรงปรึกษาผู้ใหญ่ ได้รับมติว่า ยังไม่ถึงเวลา....
2 เล่ากันว่า กรมเจษฎ์ เพียงแต่เสด็จขึ้นบัลลังก์ เท่านั้น ทุกฝ่ายก็ถวายบังคม
1 เกิดก่อน 2 หรือกลับกัน
มี 1 แต่ไม่มี 2 หรือกลับกัน
ไม่มีทั้ง 1 และ 2

หน้าไพ่ออกได้หมด เป็นประเด็นที่ต้องการเอกสารทั้งหอสมุดมารองรับวินิจฉัย และคงใช้เวลาเป็นปีๆ ยังไงก็ไม่ทั้นส่งจั้งค์แมวเที่ยวสุดท้ายนิ
ผมจึงขอย้อนกลับไปที่ความเห็นเริ่มต้นว่า ศอเมืองนอกนี่มันไม่มีมาตรฐานกันเลยรึไงฟะ


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 27 ต.ค. 06, 11:21
 คุณกุ้งหายไปนาน ยินดีที่มาร่วมวงอีกรอบ
รอบนี้ออกแนวซีเอสไอ คือชำแหละศพ เอ้ย...ไมใช่
ชำแหละบทความชิ้นเยี่ยมของปัญญาชนนามระบือ
แกเขียนเรื่องผลัดแผ่นดิน ตรงกับสามแผ่นดินที่ผมกำลังโม้อยู่
ทนอ่านไปก่อนนะครับ น้ำท่วมไกล้ลดแล้ว

วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นสุนทรียสถานแห่งประวัติศาสตร์
ลานทรายที่เรียบง่าย งามล้ำลึก สายลมทิพย์พัดเอื่อยอ้อยสร้อย
ปราสจากกาละเวลา เป็นอีเธอนัลสะเปสที่หาสัมผัสได้ยาก
โขงด้านหน้าโอ่อ่าห้าวหาญ แต่มีเมตตา เชื้อเชิญสาธุขนเข้าสู่พุทธสถานโดยมิพักต้องกริ่งเกรง
เนินที่ตั้งเป็นดั่งเทพประทาน ย้ำความคิดนบนอบให้แน่วแน่

ป็นงานศิลปะที่ต้องใช้ผัสสะทุกช่องทางมารับรู้
อัจฉริยะสถานครับ

เปิดอีกทู้ได้เลย


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: นิรันดร์ ที่ 27 ต.ค. 06, 13:56
 

 
คาดว่าคุณกุ้งฯอาจพลาดมุมมองนี้ที่องค์พระธาตุลำปางหลวง
เพราะมีป้ายห้ามสตรีขึ้นไป
ที่หลังองค์พระธาตุจะมีวิหารหลังน้อย พื้นที่ไม่น่าจะถึง 10 ตารางเมตร
คะเนยากเพราะเมื่อเข้าไปก็จะมีผ้าขาวผืนเบ้อเริ่มขวางห้องอยู่
แล้วก็ปิดประตูสนิท มองอะไรไม่เห็นเลย
จนสักพักตาเริ่มคุ้นกับความมืดก็จะเห็นภาพนี้


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: นิรันดร์ ที่ 27 ต.ค. 06, 14:45
 การตีนัยแห่งโบราณคดี
อาจมีบางคนเพียงเดาสุ่ม
แต่ไม่ควรไปเหมารวมท่านอื่นว่า
จะเดาสุ่มไปด้วย
และเมื่อท่านใดเดาสุ่ม ก็ควรบ่งออกมาด้วยว่าเดาสุ่ม
ไม่ควรเชื่อถือเป็นชิ้นอัน

แต่นักโบราณคดีที่ร่ำเรียนมา
สามารถใช้หลักฐานทางวิชาการ ทำนายเหตุการณ์ในอดีตได้
แม้ไม่ได้เห็นประจักษ์กับตาตนเอง แต่ก็ไม่ใช่การเดาสุ่ม

ผู้ใดเดาสุ่ม บ่งบอกว่าตัวเองเดาสุ่ม นับเป็นสุภาพบุรุษ
แต่การเหมาว่าผู้อื่นเดาสุ่มด้วย นับเป็นการฉุดผู้อื่นให้ต่ำลง
นับเป็นการไม่สมควร


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: pipat ที่ 27 ต.ค. 06, 19:54
     


กระทู้: สามแผ่นดิน
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 15 ธ.ค. 06, 09:51
 สำหรับความเห็นที่ ๒๔๓ ที่ว่าไม่ได้ไปวัดพระสิงห์นั้น  ดีแล้วครับ  ถ้ามีโอกาสได้ไปขอแนะนำให้ไปที่วิหารลายคำ  แล้ฃ่วยผมดูหน่อยครับว่า พระสิงห์ทั้งสามองค์ในวิหารนั้น  มีองค์ใดที่พระพักตร์หรือพระเศียรต่างจากอีกสององค์  เพราะผมไปเจอบันทึกมาว่า พระสิงห์หนึ่งในสามองค์นั้นเคยถูกตัดเศียรไปทำกระดิ่งผูกคอวัว  แล้วล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ มีพระบรมราชโองการให้เชิญองค์พระนั้นลงไปกรุงเทพฯ  โปรดให้พระเทพรจนา (สิน  ปฎิมาประกร) ปฏิมากรเอกในพระราชสำนักปั้นหล่อพระเศียรทดแทนพระเศียดเดิม  แล้วเชิกลับขึ้นมาสมโภชเมื่อคราวล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๗ เสด็จเฃียงใหม่ พ.ศ. ๒๔๖๙