เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: ศศิศ ที่ 08 พ.ย. 03, 11:20



กระทู้: ว่าด้วยเรื่องชื่อ....ขอถามสักนิดนึงนะครับ
เริ่มกระทู้โดย: ศศิศ ที่ 08 พ.ย. 03, 11:20
 คนเราเกิดมาย่อมที่จะมีคำเรียกขานตัวเอง หรือให้คนอื่นเรียกตัวเรา ... จะให้เรียกว่า "เอ็ง" , "แก" , "เธอ" ฯลฯ ตลอดเวลาคงจะไม่น่าพิศมัยนัก ...

ชื่อนี่สำคัญมาก .... แต่สมัยก่อนที่ผมสงสัยมาก คือว่า เวลาตั้งชื่อซ้ำกันนี่ เขาจะเรียกกันอย่างไรให้แยกแยะได้ว่า ชื่อนี้คือใคร

เช่นว่า มีนายดำ... สัก 2 - 3 คน คนไทยสมัยก่อนมีวิธีเรียกอย่างไรครับผม ให้แยกแยะว่า นายดำคนไหน..น่ะครับ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องชื่อ....ขอถามสักนิดนึงนะครับ
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 08 พ.ย. 03, 13:37
 ไม่ทราบเหมือนกันครับ แต่คิดว่าสมัยก่อนหมู่บ้านหนึ่งๆคงมีคนไม่มากนัก ดังนั้นคนในวัยใกล้ๆกันเลยมีชื่อซ้ำกันน้อย

เช่นผู้หญิงชื่อบัว อาจจะมี แม่บัว สาวหน่อย ป้าบัวนี่ก็แก่หน่อย
ผู้ชายชื่อดำ อาจจะมีลุงดำ ก็แก่หน่อย ไอ้ดำอาจจะวัยรุ่น

อันนี้เดาล้วนๆครับ


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องชื่อ....ขอถามสักนิดนึงนะครับ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 พ.ย. 03, 18:09
 ในสมัยที่ไม่มีนามสกุล คนไทยชื่อซ้ำกันมาก  วิธีแยกว่าใครเป็นใครก็ไม่ยากนักค่ะ
เมื่อก่อนเขาอยู่กันในชุมชน ซึ่งมีคนไม่มากนัก   การจำแนกก็ใช้วิธีต่อคำเข้าไปท้ายชื่อ  คล้ายกับสมญาของคนนั้น  
ขนานนามตามลำดับอาวุโส บ้าง   ตามลักษณะเด่นของคนนั้นๆบ้าง ตามจุดสนใจอะไรก็ได้ที่จะทำให้จำได้ว่าคนนั้นเป็นใคร
เช่น นายจันหนวดเขี้ยว  ชาวบางระจัน   ก็แสดงว่าแกต้องไว้หนวดโง้ง ผิดจากนายจันคนอื่นๆในหมู่บ้าน
ชื่อฉิม  เป็นชื่อทั้งชายหญิง  ก็มีเจ้าจอมมารดาฉิมใหญ่   ฉิมเล็ก ตามอาวุโส
หรือเจ้าจอมมารดาเขียน ในรัชกาลที่ 4 ที่รำเป็นตัวอิเหนาได้สวยสง่ามาก  ก็เรียกกันว่า เขียนอิเหนา


กระทู้: ว่าด้วยเรื่องชื่อ....ขอถามสักนิดนึงนะครับ
เริ่มกระทู้โดย: นิลกังขา ที่ 10 พ.ย. 03, 19:01
 นึกออกอีกคนครับ ทองดี ฟันขาว ซึ่งถ้าผมไม่จำสับสนกับคนอื่น ต่อมาท่านเป็นพระยาพิชัยดาบหัก คงเป็นเพราะท่านไม่กินหมากในสมัยที่คนไทยกินหมากฟันดำทั้งเมือง

นอกจากนั้น มีวิธีระบุบุคคลอีกวิธีหนึ่ง คือบอกว่าเป็นลูกใครที่ไหน เช่น นายแดงลูกนายดำ อยู่บ้านหัวรอ อะไรยังงี้เป็นต้น นั่นคือสมัยก่อนมีนามสกุลให้รู้ว่า นายแดง นามสกุล "วงศ์นายดำ" ไม่ใช่แดงอื่น อะไรยังงี้เป็นต้น

มีอีกวิธีหนึ่ง สำหรับผู้เป็นขุนนาง คือระบุราชทินนามบรรดาศักดิ์ควบเข้ากับชื่อตัว เพราะบรรดาศักดิ์ก็มีซ้ำเหมือนกัน และบางทีก็ควบเข้ากับคำแสดงลักษณะด้วย เช่น พระยาจักรีหมุด ท่านชื่อเดิมว่าหมุด ก็เป็นคนละคนกับจักรีท่านอื่น เจ้าพระยาพระคลังมีหลายท่าน แต่เจ้าพระยาพระคลังหนมีคนเดียว คือท่านที่ชื่อ "หน" เจ้าพระยาโกษาธิบดีมีหลายคน สมัยหนึ่งมีเป็นพี่น้องกันด้วยซ้ำ ก็เรียกท่านหนึ่งว่า โกษาเหล็ก (เป็นพี่) อีกท่าน (เป็นน้อง) ว่า โกษาปาน (คนที่ไปฝรั่งเศสไงครับ)

คำประกอบแสดงลักษณะ อย่างตัวอย่างที่คุณเทาชมพูยกมา ก็ใช้กับขุนนางด้วย เช่น พระยาพิชัยดาบหัก เป็นเกียรติประวัติกับพระยาพิชัยท่านนั้นที่สู้ข้าศึกอย่างถอดหัวใจสู้ตาย จนดาบหักคามือ (แต่ท่านไม่เสียชีวิตคราวนั้นครับ มาเสียชีวิตอีกนานหลังศึกครัั้้งนั้น) จักรี ก็มี จักรีแขก จักรีมอญ แสดงลักษณะเชื้อชาติของขุนนางตำแหน่งที่ "จักรี" แต่ละท่าน

ครูมี ครูดนตรีไทยท่านหนึ่ง ก็ได้ฉายาว่า ครูมีแขก

สมัยรัชกาลที่ 5 มีอีกวิธีหนึ่งที่จะระบุตัวบุคคล ก่อนสมัย ร. 6 พระราชทานนามสกุล แต่ผมเข้าใจว่าอาจจะไม่แพร่หลายนัก คือ ใช้ชื่อฉายาสมัยเป็นพระร่วมไปด้วยกับชื่อตัว สำหรับท่านที่บวชเรียนมาแล้ว

วิธีนี้ผมนึกออกอยู่สองกรณีเท่านั้น และเป็นกรณีที่ค่อนข้างเป็นเรื่องยกเว้นพิเศษ คือเป็นกรณีของปัญญาชนสามัญชนชาวสยาม ที่คนร่วมสมัยนั้นบางคนอาจเห็นว่าสติเฟื่องเอาด้วยซ้ำ คือ ก.ส.ร. กุหลาบ มาจากฉายาท่านว่า เกสโร กับ ต.ว.ส. วัณณาโภ หรือ "เทียนวรรณ" มาจากชื่ออะไรของท่านผมก็ไม่แน่ใจ จำประวัติท่านไม่ได้ชัดเจน กรณีท่าน กสร.กุหลาบ นั้นในหนังสือพิมพ์ของท่านเคยเอ่ยถึงบุตรชายของท่าน (ชื่อนายชาย) โดยมีตัวย่อหน้าชื่อทำนองเดียวกัน ให้ผมเดาผมก็คิดว่ามาจากชื่อฉายาของบุตรชายท่านตอนเป็นพระเหมือนกัน

ก.ส.ร. กุหลาบนั้น มีท่านเดียวแน่ๆ ไม่ว่าจะมีนายกุหลาบอื่นอีกกี่คน ท่าน ต.ว.ส. เทียนวรรณก็เหมือนกัน "หนึ่งเดียวคนนี้" ทั้งคู่