เรือนไทย

General Category => ศิลปะวัฒนธรรม => ข้อความที่เริ่มโดย: จ้อ ที่ 23 เม.ย. 01, 22:16



กระทู้: วัฒนธรรมเกี่ยวกับห้องน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 23 เม.ย. 01, 22:16
ไม่พูดพร่ำทำเพลง ขอถามเลยแล้วกันครับ
ผมสงสัยว่าวัฒนธรรมการเข้าห้องสุขาของเจ้านายสมัยก่อนนี่
มีแปลกกว่าชาวบ้านธรรมดาหรือไม่ครับ

ชาวบ้านธรรมดานั้นสมัยก่อน พอรู้สึกไม่ค่อยสุขีขึ้นมาก็คงวิ่งข้าป่าหรือขุดหลุม
แต่ถ้าเป็นระดับเจ้านาย ผมคิดว่าคงจะไม่เหมาะ น่าจะมีเครื่องสุขภัณฑ์เฉพาะ

ผมเคยเห็นห้องน้ำโบราณ ก็ในพระที่นั่งวิมารเมฆ มีมัคคุเทศ พาเข้าไปชม
่รู้สึกว่าจะเป็นแบบกึ่งตะวันตก ตกแต่งไว้สวยงามมาก
เสียดายจำลายระเอียดไม่ค่อยได้ครับ ที่จำได้รู้สึกว่าจะมีระบบน้ำฟักบัว
ซึ่งมหาดเล็กจะตักน้ำมาขังไว้บนถังเก็บน้ำ  
แต่เครื่องสุขภัณฑ์นี่จำลายละเอียดไม่ได้ครับ


กระทู้: วัฒนธรรมเกี่ยวกับห้องน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 19 เม.ย. 01, 18:12
อย่างเรื่องอาบน้ำก็น่าสนใจ สาวๆสมัยก่อนอย่างน้องตะเภาคงอาบน้ำที่ริมท่า
แต่ถ้าเป็นระดับเจ้านายสมัยก่อน จะมีห้องอาบน้ำเหมือนสมัยนี้หรือเปล่าครับ

ถ้าเป็นพวกอียิปต์คงจะมีอ่างอาบน้ำแบบที่เห็นในภาพยนต์นะ
คิดว่าคนไทยอาจจะมีอ่างเป็นถังแบบที่เคยเห็นในหนังจีน (เดาสุดๆ)


กระทู้: วัฒนธรรมเกี่ยวกับห้องน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: นวล ที่ 19 เม.ย. 01, 22:16
ชาวบ้านที่อยู่นอกเมืองหลวงต่างหาก ถึงจะวิ่งเข้าป่า เด็ดดอกไม้
แต่ในเขตเมือง เขาใช้ "เวจ" กัน แถมยังมีบริษัทรับจ้างเก็บอีกต่างหาก
เรื่องไม่ค่อยจะน่าฟัง แต่เป็นความรู้ดีจริงๆ ถ้าไม่มีคนรังเกียจ
จะร่ายเกี่ยวกับวิธีปลดทุกข์ของคนเมืองหลวง และวิธีการจัดเก็บค่ะ
(นอกประเด็นของกระทู้หรือเปล่าคะเนี่ย)


กระทู้: วัฒนธรรมเกี่ยวกับห้องน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 20 เม.ย. 01, 04:57
ตกลงว่าเทศบาลนี่มีมาแต่โบราณแล้วหรือครับคุณนวล
มีบริษัทรับจ้างนี่อยู่ในสมัยไหนครับ

เชิญคุณนวลเล่าได้เลยครับ ขอบพระคุณล่วงหน้า
ไม่ต้องเป็นห่วง ผมจะปักป้ายเตือนไว้ให้
ว่าห้ามอ่านกระทู้นี้หลังอาหาร แหะๆๆๆ


กระทู้: วัฒนธรรมเกี่ยวกับห้องน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: อำแดงริน ที่ 20 เม.ย. 01, 05:37
เจ้านายสมัยก่อนน่าจะทรงกระโถนนะคะ
ที่เรียกว่าลงพระบังคน(ต่อด้วยหนักหรือเบา)
ส่วนวิธีอาบน้ำไม่ทราบเหมือนกันค่ะ
แต่ถ้าเป็นยุคที่รับวัฒนธรรมฝรั่งมาแล้ว(ร.5-6)
คงเป็นอ่างอาบน้ำมั้งคะ เคยเห็นอ่างหนึ่งที่
ห้องสรงที่พระราชวังมฤคทายวันที่ชะอำ

เอ แต่จำได้ว่าเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนยังเคยว่าเรื่องอาบน้ำของขุนแผนกับนางพิมตอนได้กันใหม่ๆที่นอกชานบ้านนางศรีประจัน
ยังกะมีการใช้น้ำฝักบัวด้วยนะคะ จำกลอนไม่ได้ ใครจำได้ช่วยขยายหน่อยค่ะ ^______^

ถ้ามีจริง คนมีเงินสมัยก่อนคงมีวิธีอาบน้ำอ่าง
หรืออาบฝักบัวมานานแล้ว แต่ใช้แรงงานบ่าว
ขนน้ำขึ้นไปแทนปั๊มอย่างเดี๋ยวนี้


กระทู้: วัฒนธรรมเกี่ยวกับห้องน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 เม.ย. 01, 09:29
เรื่องนี้นำไปเป็นงานวิจัย" วิวัฒนาการของส้วมไทย" ได้นะคะ อย่าว่าพูดเล่น  คิดว่ามีคนทำมาแล้วด้วยซ้ำไป

ถ้าคุณจ้อเกิดเป็นหนุ่มสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น  ไม่มีสิทธิ์มีส้วมอยู่บนบ้านค่ะ  คนเดียวที่มีสิทธิ์คือพระเจ้าแผ่นดิน
เคยเห็นที่ลงพระบังคนที่พระตำหนักเดิมที่อัมพวาของรัชกาลที่ ๒  ตรงกับที่เคยอ่านพบ  ลักษณะเป็นหีบไม้ ๔ เหลี่ยม หรือเก้าอี้ทรงสี่เหลี่ยมทึบ  ด้านบนเจาะเป็นช่องให้นั่งถ่าย
ข้างในเป็นที่ว่าง และเปิดด้านข้าง เอากระโถนหรือกระทงใหญ่ๆที่วางไว้ข้างใน  ออกมานำไปเททิ้ง ทำความสะอาดได้ง่าย

ถ้าคุณจ้อเป็นเศรษฐีอย่างขุนช้าง  ส้วมเรียกว่า "เว็จ" เป็นส้วมหลุม อยู่นอกบ้าน   พอเต็มก็เอาดินกลบแล้วย้ายไปปลูกเว็จใหม่

เจ้านายในวัง มีกระโถน เรียกว่าที่ลงพระบังคน   จะมีพนักงานเชิญลงไปทิ้งในน้ำ
นางข้าหลวงมีส้วมเรียกว่าอุโมงค์  ภายในเป็นถัง  คล้ายๆส้วมของจีน

ประมาณรัชกาลที่ ๖ มีบริษัทรับจ้างขนอุจจาระ ชื่อ "ออนเหว็ง" ค่ะ  เอาไปทำปุ๋ยให้ผัก  แต่ปุ๋ยคนไทยร้อนมากเพราะกินพริกเยอะ ผักตายหมด กิจการก็ล้มเลิกไป

การอาบน้ำ มีฝักบัวเรียกว่า สุหร่าย ไขจากน้ำที่เก็บไว้บนถัง
ฉากอาบน้ำของพลายแก้วนางพิมถือเป็นฉากเซกซี่ฉากหนึ่งในขุนช้างขุนแผน
ชาววังอาบอีกอย่างคือนุ่งกระโจมอก ตักน้ำจากตุ่มมังกรหลายๆใบวางรวมกันไว้หลังตำหนัก   แล้วอาบบนม้านั่งเล็กๆ
แต่ชาวบ้านโดยทั่วไปลงอาบน้ำที่ท่าน้ำ  เพราะน้ำไม่มีมลพิษ ใสจนเห็นปลาว่าย  เว้นแต่หน้าอหิวาต์ระบาดก็จะมีศพลอยกันมากอาบไม่ได้   ต้องปักไม้ไผ่กั้นไม่ให้ลอยเข้ามา
การอาบน้ำของสาวๆถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่งด้วย  คืออาบได้สวยและไม่อนาจาร   แต่พอจะมองเห็นอะไรวับๆแวมๆบ้าง  เป็นเหตุให้หนุ่มๆชอบไปดูสาวๆอาบน้ำกันนัก


กระทู้: วัฒนธรรมเกี่ยวกับห้องน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: วรวิชญ ที่ 20 เม.ย. 01, 17:16
เมืองบางกอกในอดีตนั้นได้ชื่อว่าเวนิสตะวันออก บ้านเรือนจึงอยู่ริมคลอง เรือนแพก็มีมากมาย การถ่ายจึงถ่ายลงคลอง เคยอ่านเรื่องฟื้นความหลัง ท่านผู้เขียนเล่าว่าในคลองสาธรมีของขับถ่ายลอยฟ่อง คนก็ยังตักดื่มถ้าพบของเสียก็เททิ้งแล้วตักใหม่ ไม่รังเกียจมากมายนัก คลองอื่นๆก็คงเป็นเช่นเดียวกัน
ตรอกถั่วงอกที่วงเวียนยี่สิบสองเมื่อสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง มีส้วมสาธารณะแบบเมืองจีน คือขุดเป็นหลุมใครใคร่ถ่ายก็ถ่าย แต่พอฝนตกน้ำไหลลงหลุม ก็พาเอาของเสียเจิ่งนองออกนอกหลุม ส่งกลิ่นคละคลุ้งไปทั่ว แต่คนก็ยังใช้กันอยู่ เพราะตามบ้านคนจีนสมัยก่อนไม่มีส้วมอยู่ในบ้าน ต้องใช้บริการส้วมสาธารณะ
ส่วนคนที่ไม่ได้อยู่ริมคลองก็เข้าไปถ่ายในสวน เมื่อก่อนนั้นที่ทางเมืองบางกอกเป็นสวนอยู่เยอะแยะ ต้นไม้ได้ปุ๋ยคนก็เจริญงอกงามดี


กระทู้: วัฒนธรรมเกี่ยวกับห้องน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 เม.ย. 01, 17:46
จำได้ตอนหนึ่งจากพระนิพนธ์ " แม่เล่าให้ฟัง" ในสมเด็จกรมหลวงนราธิวาสฯ
เล่าเรื่องส้วมไว้ด้วย
เมื่อ ๑๐๐ ปีก่อน  ส้วมของประชาชนแยกห่างจากตัวบ้าน  อยู่ริมคลอง   มีไม้กระดานเดินพาดจากประตูไปถึงตัวที่ถ่าย  ถ่ายลงน้ำไปได้เลย  พื้นกระดาน โปร่งอากาศถ่ายเทได้   เป็นส้วมที่สะอาดและไม่มีกลิ่น


กระทู้: วัฒนธรรมเกี่ยวกับห้องน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: แจ้ง ใบตอง ที่ 20 เม.ย. 01, 18:44
เห็นเรื่องนี้แล้วอดรนทนไม่ได้ ต้องขอแจมด้วยครับ

เอาเรื่องส้วมก่อนก็แล้วกัน...

ชาวสวนสมัยก่อนจะมี "เวจ" กันแทบทุกบ้านครับ แต่จะตั้งห่างจากบ้าน ลักษณะของเวจ
ถ้าทำกันอย่างประณีตหน่อย (แบบชาวบ้าน) ก็ต้องขุดหลุมใหญ่ๆ เอาโอ่งลูกโตๆ ใส่ลงไป
เอาไม้กระดานมาปิดปากโอ่งเจาะรูให้กว้างพอที่จะปล่อยอุจจาระลงไปได้ หรือบางทีก็
ใช้ไม้กระดานสองแผ่นมาวางพาดปากโอ่งเลย แล้วปลูกเพิงมีฝามีหลังคาเรียบร้อยกันแดดกันฝน
แต่คงไม่ต้องถึงกับมุงกระเบื้อง ส่วนมากจะใช้จากหรือไม่ก็ทางมะพร้าว...

ที่ก้นโอ่งจะเอาใบตองตัดให้ได้ขนาดรองไว้ เพื่ออะไรก็ไม่ทราบเหมือนกัน ข้างโอ่งจะมีเข่ง
อยู่หนึ่งใบ เอาไว้ใส่วัสดุที่ใช้ทำความสะอาด เมื่อเสร็จภารกิจ (เช็ดก้น) ที่นิยมอันดับหนึ่งคือ
กาบมะพร้าว เวลาเดินไปเว็จก็จะถือติดมือไปด้วย หรือถ้าไม่มีกาบมะพร้าวก็หักกิ่งไม้ตามข้างทางเอาก็ได้
ใบตองแห้งก็ใช้ดีเหมือนกัน  เวลาไปเว็จชาวบ้านเค้าไม่อายกันครับถือว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา
ตอนทำธุระมีคนรู้จักเดินผ่านมาก็คุยกันหน้าตาเฉย บางทีคุยกันจนเสร็จธุระก็มี ช่วงเวลาเดินกลับ
ก็หาผักหญ้าไปทำกับข้าวได้อีก ไม่เหมือนคนสมัยนี้จะเข้าห้องน้ำห้องส้วมก็อาย บอกว่าไปยิงกระต่ายบ้าง
เก็บดอกไม้บ้าง บางคนก็ขอไปเยี่ยมญาติ (ญาติเรี่ยว)...

ต่อครับ ...คราวนี้พอใช้ไปนานๆเข้า อุจจาระมันก็เต็ม เจ้าของเค้าก็เอาไปใส่ผักในสวน อุจจาระ
นี่เป็นปุ๋ยอย่างดีเลยครับ ผักงามอย่าบอกใคร เคยถามคนที่เคยเอาปุ๋ยไปรดผักว่าไม่รังเกียจหรือ
เค้าบอกว่าจะไปรังเกียจทำไม ก็ของๆเราเอง บางทีตักอยู่ดีๆปุ๋ยกระเด็นเข้าปากก็มี นี่ฟังเค้า
เล่านะครับเท็จจริงอย่างไรไม่ยืนยัน...


เล่าเรื่องเวจก็ต้องเล่าเรื่องผีกระสือด้วยครับ เพราะมันเกี่ยวพันกัน เคยได้ยินผู้ใหญ่เค้าเล่าว่า
ผีกระสือมันชอบกินอุจจาระ กินไม่กินเปล่าต้องลากเอาใบตองที่รองก้นโอ่งขึ้นมาทิ้งข้างนอกเป็น
หลักฐานด้วย พอกินเสร็จก็จะไปเช็ดปากกับผ้าที่ชาวบ้านตากทิ้งไว้ คราวนี้ถ้าอยากรู้ว่าคนไหน
เป็นผีกระสือก็เอาผ้านั้นไปต้ม คนที่เป็นผีกระสือก็จะร้อนปากทุรนทุราย (เท็จจริงอย่างไรก็ไม่ขอ
ยืนยันอีกเหมือนเดิม) ผู้หญิงคนไหนคลอดลูกใหม่ๆก็ต้องระวังด้วย เพราะกระสือมันชอบกินของ
สดๆ คาวๆ ต้องหากิ่งไผ่  หรือหนามพุทรามาสุมๆไว้รอบบ้านเพื่อป้องกันไม่ให้กระสือเข้ามาได้
พูดถึงผีกระสือก็นึกถึงพวกกุลีของบริษัทออนเหว็งที่คุณเทาชมพูบอก คือบริษัทนี้เค้าจะทำงานกัน
ตอนกลางคืน พวกกุลีจีนที่ทำหน้าที่ขนถ่ายอุจจาระ จะเข็นรถที่บรรทุกถังอุจจาระเปล่าไปเปลี่ยน
คนหนึ่งคอยเข็น คนหนึ่งถือตะเกียงส่องทาง พอไปถึงเว็จ (เว็จสาธารณะนี่ไม่เหมือนกับเวจที่ผมได้
อธิบายไปข้างต้น คือเวจนี้จะยกพื้นสูง ด้านล่างมีถังคอยรองรับอุจจาระ ถ้าใครเคยอ่านอยู่กับก๋ง
ของหยก บุรพา คงจะนึกภาพออก) ก็ชะโงกหน้าเอาตะเกียงส่องดูว่าถังเต็มหรือยัง ถ้ายังไม่เต็มก็
จะผ่านไป ถ้าเต็มแล้วก็จะดึงถังนั้นออกมา เอาถังใหม่เข้าไปแทน    พวกกุลีที่ขนถ่ายอุจจาระ
เค้าไม่สนใจหรอกครับว่าจะมีใครนั่งทำธุระอยู่หรือเปล่า พอไปถึงเวจก็เอาไฟส่องดูถังอุจจาระ
คนที่นั่งอยู่บ้างบนเห็นแสงวาบๆก็ตกใจนึกว่าผีกระสือมากินอุจจาระแน่แล้ว ยิ่งเป็นสาวๆ ก้นขาวๆด้วย
ก็ยิ่งแล้วใหญ่ โดนลูบก้นมั่งอะไรมั่ง (อันนี้ผมจินตนาการเอง) อารามตกใจนึกว่ากระสือมาจะล้วงก้น
ก็เผ่นป่าราบไป เค้าว่าพวกกุลีที่ขนอุจจาระนี้ต่อมาได้เป็นนายห้างเป็นเจ้าสัว ก็หลายคน

เดี๋ยวจะมาต่อเรื่องการอาบน้ำของสาวๆชาวบ้านบ้างครับ...


กระทู้: วัฒนธรรมเกี่ยวกับห้องน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: นวล ที่ 20 เม.ย. 01, 18:52
โอ๊ย... มาช้าไปหน่อย มัวแต่ไปหา "เวจ" อยู่ค้า.. อิ อิ
ต้องขอบอกกล่าวกันก่อนว่า ได้รับความรู้มาจากการอ่านหนังสือ
ของขุนวิจิตรมาตรา แต่เนื่องจาก หนังสือของท่านนั้น ได้มี
การสงวนลิขสิทธิ์กันไว้เรียบร้อยแล้ว อิฉันจึงไม่สามารถจะ
คัดลอกมาให้อ่านกันได้ตรงๆ แต่ต้องเรียบเรียงขึ้นในแบบฉบับ
ของอิฉันเองเจ้าค่ะ

จำเดิมนั้น ขุนวิจิตรมาตราเป็นเด็กคลองบางหลวง แต่ได้ย้ายเข้า
มาอาศัยอยู่กับอาที่ถนนแพร่งนรา ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นประมาณใน
ปี พ.ศ.2450 และยังเรียกส่วนนี้ว่า พระนคร ในขณะที่
คลองบางหลวงนั้น อยู่นอกพระนครไปแล้ว ขุนวิจิตรมาตราจึงได้
บรรยายเกี่ยวกับชีวิตแถวๆ นั้น ซึ่งก็มีส่วนหนึ่งเกี่ยวกับ "เวจ" หรือ
ตามพจนานุกรม ก็คือ "ที่ถ่ายอุจจาระ" หรือสมัยนี้เรียกว่า "ส้วม"
นั่นเอง

เรื่องก็ได้เริ่มขึ้นโดยใช้บรรยายกาศแถวคลองตลาด (คลองหลอด)
ซึ่งในปี 2450 นั้น ถือได้ว่าเป็นคลองสมัยใหม่มาก เพราะมีการสร้าง
เขื่อนซีเมนต์สองฝั่งคลองตลอด และท่าบันไดแบบ "built-in" ไม่ได้
ยื่นออกไปในคลอง เพื่อให้ผู้คนลงไปอาบน้ำ หรือตักน้ำในคลอง ซึ่ง
ยังค่อนข้างใสอยู่มาใช้ แต่ต้องคอยระวังให้จงดี เพราะจะมีแพขี้ลอย
อยู่มากมาย เพราะก่อนที่จะสร้างเขื่อนนั้น มีวังเจ้าตั้งอยู่เรียงราย
สองฝั่งกันมาก และแต่ละวัง ก็พร้อมใจกันตั้ง "เวจ" ยื่นล้ำลงไปใน
คลองกัน (ลองนึกภาพตามหน่อยนะค่ะ) พอสร้างเขื่อน เหล่าวังเจ้า
เลยต้องหยุดการใช้ "เวจ" ส่วนตัวนี้ไปโดยปริยาย แต่ช่างกระไรเสียนี่
นายช่างได้ออกแบบเขื่อนแบบเทเอียงเอนนิดๆ ล้ำเข้าไปใน
คลอง ทำให้ยามแดดร่มลมตก กลางดึกน้ำค้างพราว ผู้คนพากัน
ไปใช้บริการริมเขื่อนกันมากขึ้น เพราะเหมาะแก่การนั่งยองๆ ยื่น
บั่นท้ายเข้าหาคลองเพื่อการปลดทุกข์ได้ดียิ่ง  ขุนวิจิตรมาตราถึงกับ
เล่าว่า เมื่อครั้งเด็กๆ ไปวิ่งเล่นกับเพื่อน และกระโจนลงน้ำจาก
ราวสะพานอย่างสนุกโดยไม่เล็งให้ดีเสียก่อน ผลก็คือ ลงกลาง
แพขี้ หรือไม่ก็ดำน้ำลงไป แต่โผล่ขึ้นกลางแพขี้ทุกที (เอิ้กๆๆๆๆ..
เสียงลมตีขึ้น จะเป็นลม) แล้วใคร (ใจกล้า) ไปนั่งที่บันไดเขื่อน
เพื่ออาบน้ำ ก็ต้องคอยดู เพราะจะลอยมาเป็นแพๆ ไม่ขาดสาย
และบรรดาที่ตกตะกอนจมนอนก้นพื้นซีเมนต์ (ของบันได) ก็มี
สิทธิจะพลุ่งขึ้นมารอบๆ เหมือนกัน ดังนั้น จึงสันนิษฐานได้ว่า
เหล่าผู้ที่หน้าบางหน่อย ไม่อยากปรากฏตัวให้ผู้อื่นเห็นว่ากำลัง
ยองๆ อยู่บนเขื่อน ก็จะหลบมากระทำกิจธุระตามขั้นบันไดเขื่อนเสีย

สมัยนั้น "เวจ" สาธารณะก็มีแล้วเช่นกัน สร้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมเหมือน
ป้อมยาม แบ่งเป็นสี่ห้อง หรือทำเป็นแบบห้องแถวยาว กั้นเป็นราวๆ
ห้าหกห้อง ให้เลือกใช้แล้วแต่รสนิยมว่าชอบแบบเรียงเดียว หรือ
จับคู่

บริษัทแรกที่ให้บริการรับจ้างจัดเก็บคือ "บริษัทสอาด" (ตั้งได้เหมาะ
กับกิจการมากๆ ) เจ้าของบริษัทที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลผู้นี้
คือพระศิริไอสวรรย์ บริษัทตั้งอยู่แถวบางขุนพรหม ซึ่งสมัยนั้น
ยังเป็นที่ว่างโล่ง จึงใช้เป็นที่จอดรถบรรทุกขี้ และเลี้ยงวัวที่ลากรถขี้
(แต่จะใช้เป็นที่ทิ้งด้วยหรือเปล่านั้น ต้องใช้จินตนาการเอาเอง)
บริษัทนี้รับจ้างจัดเก็บทั่วไปทุกถนน การประกอบกิจการก็คือ
ผู้ที่เป็นลูกค้าต้องซื้อถังละประมาณหนึ่งบาท หรือหกสลึงต่อเดือน
ใครไม่อยากจะเสียเงิน ก็ไปใช้บริการสาธารณะได้เช่นกัน
เมื่อซื้อถังไปแล้ว ลูกค้าก็จะนำไปใช้ตามเจตนาที่ได้ซื้อมา
ทุกคืนราวเที่ยงคืน บริษัทก็จะออกเก็บ โดยใช้วัวสองตัวลากรถ
บรรทุกที่ปิดกั้นด้วยแผ่นสังกะสีทั้งสี่ด้าน แต่ด้านหลังเปิดปิดได้
คันหนึ่งก็รับถังได้ประมาณ 40 ถังสูงสุด จะมีคนเอาถังใหม่มา
แลกถังเก่า(ที่ใช้ใส่แล้ว) บางที ทำเร็วไปหน่อย ก็เกิดอุบัติเหตุ
ทำถังเก่าหกบนถนน คนแลกถังก็จะเอามือกอบขี้ใส่ถัง เหมือน
ดังว่ากำลังกอบดินกอบทรายกอบเพชรกอบพลอยเช่นนั้น
สังเกตได้ว่าลูกจ้างบริษัทเป็นจีนทั้งนั้น ไม่มีคนไทยเลย
(ลำบากจริงๆ )  บางที เก็บเพลินไปหน่อย จำไม่ได้ว่า
บ้านไหนแลกถังแล้ว บ้านไหนยังไม่ได้แลก ก็จะเกิด surplus
ของถังขึ้นได้ ถ้าลูกค้ามากว่าหนึ่งรายเกิดอยากปลดทุกข์ขึ้นมา
อย่างกระทันหัน แต่ยังไม่ได้แลกถังใหม่ไป ก็อาจเกิดการทะเลาะ
เบาะแว้งแย่งถังกันได้ ถ้าใครเกิดจำได้ว่าถังไหนเป็นขี้ของตัว
(ความจำเยี่ยมจริงๆ) สามารถยืนยันได้ ก็จะได้รับถังใหม่ไป
แต่ถ้าใครเป็นอัลไซเมอร์ จำไม่ได้ แล้วถังขาดไม่พอแก่ความ
ต้องการ ก็แย่หน่อย ต้องคอยและรับถังใหม่ในคืนต่อไป

สมัยนั้น การทำกิจปลดทุกข์นั้น เรียกได้สองอย่าง "ไปทุ่ง"
เพราะบ้านเรือนยังตั้งกันอยู่ประปราย และหลังบ้านก็โผล่
ออกไปยังทุ่งทั้งนั้น เนื่องจากกรุงเทพฯ ยังเต็มไปด้วยทุ่ง
เช่น ทุ่งพระเมรุ ทุ่งพญาไท ทุ่งมักกะสัน ทุ่งมหาเมฆ
พอกรุงเทพฯ เริ่มมีตึกรามบ้านช่อง มีบริษัทจัดเก็บให้
ก็เปลี่ยนมาให้ทันสมัยขึ้นว่า "ไปบริษัท"  ซึ่งไม่ว่าจะใช้
"ไปทุ่ง" หรือ "ไปบริษัท" ก็เป็นที่รู้กันว่าไปทำกิจปลดทุกข์นั่นเอง

ขุนวิจิตรมาตรายังเล่าว่า ในคลองบางหลวงบ้านเดิมของท่านนั้น
ผู้คนมีวัฒนธรรมในการปลดทุกข์ดีกว่าคนในพระนครมาก เพราะ
ทุกบ้านจะสร้างและตั้งเวจไว้หลังบ้าน หรือในสวนของตัวเอง ไม่มี
ใครมานั่งยองๆ ริมคลอง หรือตั้งเวจไว้หน้าบ้านตัวเอง และพอ
ทำกิจเสร็จ ก็จะเอาขี้เถาโปรยทับไว้อีกด้วย (เห็นด้วยว่ามารยาท
ดีจริงๆ เพราะถ้าโปรยขี้เถาแล้ว เท่ากับเป็นการกันการแพร่เชื้อโรค
อีกด้วย)

บริษัทสอาดดำเนินกิจการต่อมาได้อีกยี่สิบปี ก็เลิกไป เปลี่ยนมา
เป็นบริษัทออนแหวงแทน ซึ่งก็ทำเหมือนบริษัทสอาด แต่ได้มีการ
ขนานนานว่า "ถังออนแหวง" ให้เป็นที่รู้กัน และประกอบกิจการ
รับจัดเก็บ ตราบจนเกิดมีการประดิษฐ์ส้วมซึม (อย่างที่ใช้กันใน
ปัจจุบัน แต่รูปโฉมยังไม่ใช่) ขึ้นมายึดกิจการไป (take-over) โดยไม่
มีการ tender offer ใดๆ ทั้งสิ้น ทำให้บริษัทรับจัดเก็บต้องชำระบัญชีไปในที่สุด


กระทู้: วัฒนธรรมเกี่ยวกับห้องน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 เม.ย. 01, 19:01
สนุกมากค่ะคุณแจ้ง และคุณนวล
มาอ่านตอนกินข้าวเย็นเสร็จใหม่ๆพอดีเลย....

ในขุนช้างขุนแผน นางวันทองตัดเป็นตัดตายขุนแผน ตอนหึงนางลาวทองว่า

ทั้งน้ำมันกระจกกระแจะแป้ง
จะทิ้งไว้ให้แห้งเป็นสะเก็ด
ให้สิ้นวายหายชาติของคนเท็จ
จะขุดเว็จฟื้นดินให้สิ้นรอย

ตัดขาด แม้แต่ส้วมก็ไม่ให้เหลือรอย


กระทู้: วัฒนธรรมเกี่ยวกับห้องน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: จ้อ ที่ 21 เม.ย. 01, 03:03
มันส์มากครับ อ่านมันส์มาก...

ความจำผมกระเตื้องขึ้นมานิดหนึ่ง จำได้ว่าในพระที่นั่งวิมารเมฆ
มีแสดงที่ลงพระบังคนเบาของรัชกาลที่ 5 ด้วย
ลักษณะเป็นโถแก้วแกะสลักครับ

เท่าที่อ่านรู้สึกว่าชีวิตสมัยก่อน ค่อนข้างลำบากเหลือเกิน
ถ้าเกิดว่าตักน้ำในคลองบริโภคกัน โดยมีลูกระเบิดลอยเป็นแพแบบนี้
โรคระบาดพวกอหิวา ท้องร่อง ไม่ระบาดแย่หรือครับ
น่าจะให้รางวัลคนประดิษฐ์ส้วมซึมนะครับผมว่า

กำลังรอคุณแจ้งสุดหล่อครับ อย่างดู... เอ้ยฟังเรื่องสาวๆ อาบน้ำ
อย่าให้รอนานนะครับคุณพี่ หนุ่มๆ หลายคนแถวนี้รอฟังอยู่ ( อย่างใจจดใจจ่อ )


กระทู้: วัฒนธรรมเกี่ยวกับห้องน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 เม.ย. 01, 08:42
สมัยก่อน โรคระบาดเกี่ยวกับทางเดินอาหารมีบ่อยมาก  โดยเฉพาะในหน้าร้อน  ผู้คนตายกันไปนับไม่ถ้วนก็เพราะเชื้อโรคจากน้ำนี่ละค่ะ
ต้องมีพิธีปราบกัน  ยิงปืนใหญ่ข่มขวัญอะไรทำนองนี้
และสมัยนั้นการแพทย์ของไทยไม่ค่อยรู้เรื่องเชื้อโรคกัน ถือว่าการป่วยเกิดจากธาตุดินน้ำลมไฟทำงานไม่ปกติ


กระทู้: วัฒนธรรมเกี่ยวกับห้องน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: แจ้ง ใบตอง ที่ 21 เม.ย. 01, 15:46
ว่าด้วยเรื่องอาบน้ำต่อครับ ก่อนอื่นผมขออนุญาตคัดลอกเสภาขุนช้างขุนแผนมาฝากคุณอำแดงริน

ตอนพลายแก้วอาบน้ำให้นางพิมครับ ติดเรทอาร์นิดๆ



...ครั้นถึงอ่างวางอยู่ที่นอกชาน

สองสำราญขึ้นนั่งบนเตียงต่ำ

จึงไขน้ำจากบัวตะกั่วทำ

น้ำก็พร่ำพรายพรูดูกระเด็น

เจ้าพลายชักชายสไบห่ม

ฉันอายนมไฮ้หม่อมนะอย่าเล่น

ยังไม่เคยอาบน้ำตัวเปล่าเป็น

เขาจะเห็นแล้วอย่ากวนฉันหน่อยเลย

อนิจจาอยู่แต่เจ้ากับตัวพี่

ไม่มีใครเห็นดอกเจ้าพิมเอ๋ย

อาบทั้งผ้าไม่น่าจะเย็นเลย

พลางก็เผยผ้าน้องออกจากทรวง

พระจันทร์ลอยลีลาเวหาห้อง

สอดส่องต้องเต้าดูขาวช่วง

น้ำกระทั่งหลั่งไหลกระทบทรวง

ดังเพชรร่วงหรุบต้องกระจายพราย...



แสดงว่าบ้านผู้ดีในสมัยขุนช้างขุนแผนมีการอาบน้ำด้วยฝักบัวกันแล้ว แต่ไม่ได้อาบในที่มิดชิด อย่างนางพิม

นี่ก็มาอาบที่นอกชาน ต้องมีถังน้ำอยู่ในที่สูงด้วยครับน้ำถึงจะไหลลงมาได้ คงต้องอาศัยบ่าวไพร่ในการตักน้ำ

ไปใส่ในถึงอย่างที่คุณอำแดงรินว่า...



สำหรับชาวบ้านธรรมดานั้นคงไม่พิถีพิถันในวิธีการอาบน้ำมากนัก อย่างแถวบ้านผมเวลาจะอาบน้ำที

ผู้ชายก็นุ่งผ้าขาวม้า ผู้หญิงก็นุ่งกระโจมอก ถือขันสบู่ไปที่ศาลาท่าน้ำ นั่งอาบน้ำอยู่ที่ริมท่า ไม่มีการอายกัน

เพราะถือว่าเป็นเรื่องปกติธรรมชาติ บ้านไหนๆ ก็อาบน้ำริมคลอง แต่ถ้าเป็นสาวๆจะค่อนข้างกระมิดกระเมี้ยน

ในการทำความสะอาดร่างกายมากกว่าผู้ชาย เพราะถูสบู่ได้เฉพาะส่วนบนแถวๆ หน้า คอ แขน และเนินอก

ต่ำกว่านั้นจะถูสบู่ไม่ได้เพราะติดกระโจมอก จะยักเยื้องขยายผ้าถุงออกถูสบู่ก็ดูกระไรอยู่ ถ้าจะทำความสะอาด

ภายในร่มผ้าก็ต้องลงไปที่กระไดริมท่า ตอนนี้อยากจะขัดจะถูตรงไหนก็ทำได้เพราะไม่มีใครเห็น บางคนก็เล่น

ตีโปงเสียด้วยซ้ำ ถ้าเป็นคนที่มีลูกมีผัวแล้วก็ไม่ต้องอายกันมากนัก เอาผ้ามาซักด้วยก็ได้ หรือบางทีมีคนรู้จักกัน

พายเรือผ่านมาก็จอดเรือคุยกันก็มี...



คราวนี้ถ้าอาบน้ำเสร็จแล้วผู้หญิงก็จะมีผ้าถุงอีกตัวเอาไว้ผลัด วิธีการผลัดผ้าถุงก็น่าจะพูดถึงเหมือนกัน

คือต้องนุ่งผ้าถุงตัวใหม่ไปซ้อนทับตัวที่เปียก แล้วเอาปากกัดชายผ้าถุงไว้ ส่วนมือก็ใช้ปลดกระโจมอก

ปล่อยให้ผ้าถุงที่เปียกหลุดลงมา เสร็จแล้วจึงค่อยกระโจมอกด้วยผ้าถุงตัวใหม่ บางทีผ้าถุงตัวในมันไม่หลุด

ง่ายๆ เพราะเปียกน้ำแนบไปกับลำตัว ก็ต้องใช้มือช่วยดึง ส่วนชุดชั้นในไม่ต้องไปกังวลเพราะบางคนก็

ไม่ใส่ ถ้าใส่ก็ถอดก่อนอาบน้ำเรียบร้อยแล้ว  วิธีการกระโจมอกนี้จะเป็นไปอย่างธรรมชาติ ไม่เคอะไม่เขิน

เข้าใจว่าคงทำกันจนเป็นทักษะ สาวๆ สมัยนี้คงน้อยคนที่จะนุ่งกระโจมอกได้อย่างเป็นธรรมชาติ บางคน

ก็ไม่เคยนุ่งกระโจมอกเสียด้วยซ้ำ...



ผู้หญิงทางเหนือหรืออีสานก็มีวิธีการผลัดผ้าลงอาบน้ำแปลกกว่าภาคกลาง คือถ้าไปอาบน้ำในลำห้วยหรือแม่น้ำ

เค้าจะค่อยๆ เดินลงไปพร้อมกับม้วนชายผ้านุ่งขึ้นทีละน้อยๆ เพื่อไม่ให้เปียกน้ำ เดินไปที่ลึกๆ ก็ยิ่งถกขึ้นสูง

พอเกือบถึงจุดสำคัญเขาก็จะผลุบลงไปในน้ำพร้อมกับชักผ้านุ่งขึ้นอย่างว่องไวแล้วก็โยนขึ้นไปไว้ริมฝั่ง

เหลือแต่ตัวเปล่าๆ เห็นเนื้อตัวขาวๆ วับๆแวมๆ เป็นอาหารตาของคนที่ผ่านมาเห็น หรือคนที่ตั้งใจผ่านมาเห็น

เหมือนเพลงกว๊านพะเยาที่ครูสุรพลร้องไว้ท่อนหนึ่ง..



..เจ้าแต่งตัวยามเล่นน้ำเจ้านุ่งกระโจม

เก็บกล้วยไม้มาแซมเสียบผม

แลสลวยสวยงามวิไล

เห็นดอกบัวตูม เด่นงามท่ามกลางน้ำใส

เจ้าผูดดำโผแหวกเวียนว่าย

ร้องกรีดหวีดไปในเพื่อนหมู่สาว...



เวลาขึ้นจากน้ำก็ใช้วิธีเดียวกันคือค่อยๆ ว่ายไปริมฝั่ง หยิบเอาผ้านุ่งที่ทิ้งไว้ แล้วว่ายกลับไปในน้ำลึกๆ

พอสมควร เอาผ้านุ่งสวมหัว ค่อยๆเดินขึ้นมาที่น้ำตื้น แล้วคอยคลี่ผ้านุ่งให้ลงมาปิดทีละน้อย  จนในที่สุด

ก็กระโจมอกได้อย่างเรียบร้อย



ผู้ชายทางเหนือก็มีวิธีการเดินลงน้ำที่แปลกกว่าใคร คุณชายคึกฤทธิ์ท่านเล่าว่า ตอนไปเป็นทหารอยู่เมืองเหนือ

เวลาไปอาบน้ำ พวกเพื่อนๆ ทหารก็ถอดเสื้อผ้าอย่างไม่อายใคร เดินลงน้ำก็เอามือกุมไว้อย่างสง่าผ่าเผย

เวลาขึ้นก็กุมขึ้นมาด้วย  ท่านว่าตอนแรกๆ ก็กระดากเหมือนกัน แต่คนหมู่มากเค้าไม่อาย เราคนเดียวจะไปอาย

ได้ยังไง ก็ต้องลองกำดูบ้าง กำอย่างไรก็กำไม่มิด คนอื่นเค้ากำกันมิดทุกคน จะว่ามือเล็กไปก็ไม่ใช่ หรืออะไรๆ

มันใหญ่ไปก็ไม่เชิง คุณชายท่านเลยสรุปว่า คงเป็นเพราะขาดความชำนาญในการกุมนั่นเอง พอได้อาบน้ำบ่อยๆ เข้าก็เกิดกุมมิดขึ้นมาเฉยๆ  เรื่องนี้ผมเห็นว่าจริงแท้แน่นอนครับ เพราะเคยกุมมาแล้วเหมือนกัน เป็นประสบการณ์อยู่

หอพักของมหาวิทยาลัย เพื่อนมันแกล้งเอาผ้าเช็ดตัวที่ผมพาดไว้หน้าประตูไปแขวนไว้ข้างนอกห้องน้ำ เลยต้อง

กุมออกมาเอาผ้า กุมยังไงก็ไม่มิด เลยต้องเอาขันมาปิดไว้ แก้สถานการณ์ไปได้  



เอารูปเด็กๆ นุ่งกระโจมอกเล่นตีโปงมาฝากครับ


กระทู้: วัฒนธรรมเกี่ยวกับห้องน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: เรไร ที่ 21 เม.ย. 01, 16:25
เริ่มหัดนุ่งผ้าถุงก็ตอนที่จะต้องไปออกค่ายอาสากับมหาวิทยาลัยค่ะ  นุ่งยังไงก็ไปไม่รอด เดี๋ยวหลุด เดี๋ยวหลุดเป็นประจำ  คุณแม่เลยแก้ปัญหาด้วยการเอายางยืดมาเย็บเป็นขอบให้ ใส่แล้วเหมือนชุดเกาะอก เป็นแฟชั่นผ้าถุงของสาวยุคใหม่  
ไม่มีปัญหาให้หนุ่ม ๆ ต้องคอยลุ้นด้วยความห่วงใยอีกต่อไปนะคะ


กระทู้: วัฒนธรรมเกี่ยวกับห้องน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 เม.ย. 01, 18:34
พร้อมๆกับการอาบน้ำกลางแจ้งหมดไป  การแต่งกายแบบกระโจมอกก็หมดไปด้วยค่ะ เพราะไม่จำเป็นแล้ว
อย่าว่าแต่กระโจมอกเลย    มีสาวๆคนไหนในที่นี้นุ่งผ้าถุงอยู่บ้านกันบ้างคะ


กระทู้: วัฒนธรรมเกี่ยวกับห้องน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 21 เม.ย. 01, 19:39
ยังติดใจเรื่องที่ลงพระบังคน ที่ว่า แต่ก่อนมีในวังได้เท่านั้น ชาวบ้านให้ใช้เว็จหรือเข้าป่าเอา

ผมรู้สึกคลับคล้ายคลับคลาว่าจะเคยอ่านเจอที่ไหนไม่ทราบ ว่าในสมัยโน้นๆๆๆ ใครก็ไม่ทราบคนหนึ่ง สร้างส้วมที่บ้านเป็นเรื่องเป็นราวสวยงามดีกว่าส้วมธรรมดา เกิดเป็นเรื่องเลยครับ บทพระอัยการ คือกฏหมายสมัยโน้น ท่านว่าเป็นความผิดเข้าลักษณะกบฏ ทำเทียมเจ้านาย แต่จำรายละเอียดไม่ได้เสียแล้ว

เรื่องส้วมของนางในนางสนม ดูเหมือนจะมีคำเรียกว่าสรีรสำราญ และคำนี้ไปเกี่ยวกับอุโมงค์ ที่คุณเทาชมพูเล่ามาด้วย จำไม่ได้ว่าเป็นชื่ออุโมงค์นั้น หรือชื่อประตูวังที่ออกไปอุโมงค์ หรืออะไร
จำได้กระปริบประปรอยอีกว่า สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีกวีหญิงที่มีชื่อ 2 คน คนหนึ่งคือคุณพุ่ม อีกคนคือคุณบุษบาท่าเรือจ้าง ใครสักคนหนึ่งใน 2 คนนี้แหละครับที่แต่งกลอนเรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์ เป็นเรื่องตลกพูดถึงนางในคนหนึ่งชื่อหม่อมเป็ดสวรรค์นะครับ มีพฤติกรรมต่างๆ แล้วก็มีตอนหนึ่งที่หม่อมเป็ดเธอท้องเสียเพราะทานข้าวเหนียวบูดด้วย แต่จำไม่ได้แน่ว่าได้พูดถึงอุโมงค์ส้วมนางในด้วยหรือเปล่า

พูดเรื่องนี้แล้วก็คิดต่อไปได้อีกหลายเรื่อง ว่าถึงนิสัยการขับถ่ายของไทยกรุงเทพฯ สักเมื่อ 60-70 ปีมานี้ ผมนึกถึงเรื่องสั้นชวนหัวเรื่อง สุนทรพจน์เปิดส้วมสาธารณะ ของคุณตาอบ ไชยวสุ " ฮิวเมอริสต์"  ในเรื่องนั้นท่านบันทึกเกร็ดเกี่ยวกับส้วมในสมัยโน้นไว้ด้วยอารมณ์ขันหลายเรื่อง อ่านแล้วทำให้นึกต่อไปว่าแม้เมื่อไม่กี่สิบปีมานี้เอง ส้วมทั้งของสาธารณะและส้วมในบ้านก็ยังไม่ค่อยแพร่หลาย คนไทยที่ไม่ได้ร่ำรวยอะไร ก็ยังอาศัยส้วมสาธารณะเท่าที่มีบ้าง โคนต้นไม้ ลำคลอง ที่โล่งๆ อย่างสนามหลวงบ้าง แม้กระทั่งป่ารกๆ รอบองค์เจดีย์ภูเขาทองบ้าง เป็นที่ถ่ายทุกข์
ตามธรรมดาของเรื่องตลกก็คงจะเกินจริงไปบ้าง ที่ท่านบอกไว้ทำนองว่า ส้วมหายากพอๆ กับสถานทูตนั่นเทียว หรือว่ามีแต่สถานทูตจึงจะมีส้วมที่เป็นเรื่องเป็นราว เพราะท่านเขียนเป็นโจ๊กว่า ชาวฝรั่งในเมืองไทยนั้นเวลาปวดท้องขึ้นมาก็ยังไปถ่ายที่สถานทูตของตัวได้ แต่ชาวเจ๊ก(สมัยนั้นคำนี้ยังไม่ได้มีนัยเชิงดูถูกมากนัก) ซึ่งมีสัมพันธไมตรีกับไทยแนบแน่นสนิทจนไม่มีสถานทูต (สมัยนั้นไม่มีสถานทูตจีนที่กรุงเทพฯ จริงๆ) กับชาวไทยซึ่งไม่มีสถานทูตของไทยเองในเมืองไทย สองชาวนี้เวลาปวดท้องขึ้นมาก็ไม่รู้จะไปไหน ครั้นจะรีบเดินทางออกไปถ่ายที่สถานทูตของตนในต่างประเทศก็เกรงว่าจะไม่ทันเวลา และจะกลายเป็นความยุ่งยากว่า จะต้องเดินทางไปต่างประเทศทุกเช้าด้วย... ดังนั้นเทศบาลจึงต้องสร้างส้วมสาธารณะแห่งใหม่นี้...
ผมจำได้ว่าอ่านมาถึงตรงนี้แล้วหัวเราะเป็นบ้าอยู่คนเดียว
สมัยนี้ ใครไปต่างประเทศแล้วเกิดหาห้องน้ำเข้าไม่ได้เอาจริงๆ จะขอไปเข้าห้องน้ำที่สถานทูตไทย ผมว่าเจ้าหน้าที่เขาก็คงเห็นใจให้เข้าหรอกครับ สถานทูตถือเป็นบ้านคนไทยในต่างแดนอยู่แล้ว เรื่องนี้เป็นกรณีฉุกเฉินที่น่าเห็นใจ

ไม่กี่ปีมานี้เคยมีข่าวนักประดิษฐ์ไทย ประดิษฐ์ส้วมชักโครกแบบใหม่ ให้ชื่อว่าส้วมเทวดา แต่ผมจำไม่ได้แล้วว่ารายละเอียดเป็นอย่างไร


กระทู้: วัฒนธรรมเกี่ยวกับห้องน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 21 เม.ย. 01, 19:48
ทำไมส้วมในวัดจึงเรียกว่า ถาน ครับ ตัดมาจาก สถาน? หรือ กลายมาจาก ฐาน? แต่ที่แน่ๆ ครูสอนว่าไม่ให้เขียนว่าฐาน ให้เขียนว่า ถาน ถ้าจะให้หมายถึงส้วนของพระ แต่ครูไม่ได้อธิบายและผมตอนนั้นก็ไม่ได้ถาม ว่ามีที่มายังไง

เคยอ่านหนังสือว่า สมัยพระนางซูสีไทเฮา เครื่องสุขภัณฑ์ที่พระนางใช้ในรถไฟพระที่นั่งได้รับการออกแบบจัดทำมาอย่างดีเป็นพิเศษ ลักษณะเป็นที่นั่งใหญ่ๆ มีเบาะมีพนักพิงให้สบาย มีการประดับประดาตกแต่งให้สวยพิเศษ แล้วก็มีกระโถนหรือถังอยู่ข้างในนั้น ตามหนังสือว่า ถังที่ว่านั้นใส่ปรอทหล่อเอาไว้เต็ม ไม่ใช่น้ำ  คงจะกันกลิ่น แต่สงสัยว่าสมัยนั้นคงไม่รู้เรื่องพิษของปรอทกัน


กระทู้: วัฒนธรรมเกี่ยวกับห้องน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 เม.ย. 01, 20:56
เรื่องที่ลงพระบังคน มีแต่พระเจ้าแผ่นดิน อยู่ในขุนช้างขุนแผนค่ะ
ขุนช้างใส่ความขุนแผนว่าเป็นกบฎต่อพระพันวษา  ข้อหาหนึ่งในจำนวนนั้นคือซ่องสุมผู้คนและบังอาจทำส้วมไว้ในที่อยู่

ฝรั่งเศสมีโถปัสสาวะของผู้หญิงเรียกว่า bidet มารีอังตัวแน็ตต์เอา bidet ติดตัวไปด้วยตอนถูกนำตัวไปขังคุกก่อนประหาร

กระโถนแก้วที่คุณจ้อเห็นเป็นคงเป็นของฝรั่ง ไม่ใช่ไทย   สมัยรัชกาลที่ ๕ ใช้สุขภัณฑ์แบบวิกตอเรียนค่ะ    เจ้านายสตรีใช้กระโถนเคลือบ

อุโมงค์ปลดทุกข์ในเขตพระราชฐานชั้นในมีชื่อเป็นทางการหรือเปล่าไม่ทราบ  แต่ปากทางอีกข้างหนึ่งทอดไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

หม่อมเป็ดสวรรค์เธอท้องเสียอย่างที่ว่า...วิ่งไปไม่ทันอุโมงค์ค่ะ


กระทู้: วัฒนธรรมเกี่ยวกับห้องน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: นกข. ที่ 21 เม.ย. 01, 21:21
bidet เทียบกับของสมัยนี้หรือสมัยเมื่อไม่นานมานี้เมื่อกรุงเทพฯ ยังรถติดเป็นบ้ามากอยู่ (เดี๋ยวนี้ได้ข่าวว่ารถก็ยังติด แต่ติดเป็นบ้าน้อยลงหน่อย) - ก็คือ Comfort 100


กระทู้: วัฒนธรรมเกี่ยวกับห้องน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: อำแดงริน ที่ 21 เม.ย. 01, 21:42
เรื่องส้วมนี้ที่แปรรูปเป็นส้วมซึมกันแพร่หลาย
ต้องยกให้เป็นความดีของกระทรวงสาธารณสุขค่ะ เขารณรงค์ให้มีส้วมใช้ทุกบ้าน อาศัยที่มี
หน่วยงานระดับสถานีอนามัยใกล้ชิดประชาชน
เลยทำได้ เมื่อ8-9ปีก่อน รับราชการอยู่ชายแดนสวนผึ้ง ยังเห็นเจ้าหน้าที่หล่อหัวส้วมกันเลยค่ะ คือยังต้องส่งเสริมกันอยู่ในแถบที่ห่างไกล แต่เดี๋ยวนี้ไม่รู้ว่ามีครบทุกบ้านแล้วหรือยัง

ส้วมซึมแบบราดน้ำนี้คิดค้นโดย
พระยานครพระราม...จำชื่อท่านไม่ได้ค่ะ
ทราบแต่ว่านามสกุลมหากายี

ขอบคุณสำหรับเสภาที่คุณแจ้งเอามาฝากค่ะ
อันที่จริงเคยอ่านตอนเด็กๆ ทั้งเล่มเลย
แต่มันกาลนานเหลือเกินเลยนึกไม่ค่อยออก
^_______^


กระทู้: วัฒนธรรมเกี่ยวกับห้องน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: B ที่ 22 เม.ย. 01, 00:13
hae...hae...Khun Taochompoo ka, I am wearing "ผ้าถุง" ka.  : )

I have 2 ankle-length skirts in CA. ka.



One day in BKK., a saleman asked me, "If Khun-poo-ying and Khun-poo-chai are home?" And one of my father friends told my parents that when he stopped by at our place, he met "my sister's nannie" ka.


กระทู้: วัฒนธรรมเกี่ยวกับห้องน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 เม.ย. 01, 08:10
ผ้าถุง ที่นุ่งกันมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๖    ในปัจจุบันนี้นิยมกันแพร่หลาย  ก็แต่ละครทีวี ในบทเมียกำนัน หรือแจ๋วในบ้านพระเอกนางเอก แต่งเป็นยูนิฟอร์ม
อ้อ  บทนางเอกตอนปลอมตัวไปเป็นแจ๋วในบ้านพระเอกอีกอย่างค่ะ

คุณ B มีผ้าถุงจริงๆหรือว่าเป็นกระโปรงสำเร็จตัวยาวแค่ข้อเท้าคะ?
ผ้าถุงหมายถึงเย็บตะเข็บติดกัน  เป็นถุงเหมือนปลอกหมอน   แล้วพันตัวเหน็บเอวไว้นะคะ  ไม่ใช่กระโปรงยาวแคบ  มีตะขอและซิป
อย่างนั้นดิฉันก็มีค่ะ  นุ่งเข้าชุดกับเสื้อแขนกระบอกเรียกว่าชุดไทย


กระทู้: วัฒนธรรมเกี่ยวกับห้องน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: B ที่ 22 เม.ย. 01, 09:23
ผ้าถุงจริงๆ ka.
I do not know how should I use in English for ผ้าถุง. But for what I have we call them "Pa-pa-teh"  ka.


กระทู้: วัฒนธรรมเกี่ยวกับห้องน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: B ที่ 22 เม.ย. 01, 09:26
I have a question ka Khun Taochompoo, I am wondering that what women used for the sanitary napkin in the past?


กระทู้: วัฒนธรรมเกี่ยวกับห้องน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: นวล ที่ 22 เม.ย. 01, 10:05
จากคำถามของคุณ B ขณะนี้ เรากำลังย้ายจากหัวข้อ
Sanitation เข้าสู่ Personal Hygiene........  อิ อิ อิ
ขอเดาว่า เศษผ้า ค่ะ

พูดถึงเรื่องผ้าซิ่นนั้น อิฉันว่าการนุ่งผ้าซิ่นแบบของลาวนั้น
(ยาวครึ่งน่อง) ดูจะทะมัดทะแมงดีกว่าของไทย (ยาวถึงข้อเท้า)
แม้ว่า ของไทยจะดูเป็นเรียบร้อยกว่าก็ตาม


กระทู้: วัฒนธรรมเกี่ยวกับห้องน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: แม่ยกเจ้าเก่าค่ะ ที่ 22 เม.ย. 01, 12:10
อิฉันยังไม่แก่นะคะ ตามมาแจมค่ะ
ยังนุ่งผ้าถุงเป็นนะคะ  แบบปลอกหมอนกว้างๆที่ว่า แล้วมีเข็มขัดเงินคาดนั่นแหละค่ะ
ผ้าถุงแบบนี้   อ้วนผอม ขึ้นๆลงๆ  ไม่ค่อยมีปัญหานะคะ
ตอนอยู่โรงเรียนประจำแบบไทยๆ ยังต้องใช้นุ่งกระโจมอกอาบน้ำนะคะ  
แต่จะคนละเทคนิคกะที่คุณแจ้งเล่ามาค่าา
นุ่งกระโจมอกอาบน้ำเป็น  ทั้งๆที่ไม่เคยอยู่ริมคลองนะคะ


กระทู้: วัฒนธรรมเกี่ยวกับห้องน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 22 เม.ย. 01, 12:26
ตอบคุณ B
ที่คุณนุ่งเห็นจะเรียกว่าโสร่งปาเต๊ะ มั้งคะ
ส่วน personal hygeine อย่างคุณนวลว่า ใช้ผ้าค่ะ ฉีกออกจากผ้าผืนใหญ่เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าแล้วพับทะแยงมุมเข้าเป็นทบแคบๆ กลัดหัวท้ายติดกับผ้านุ่ง
เสร็จแล้วซักให้สะอาด ตากแห้ง รีไซเคิลใช้ใหม่ได้ค่ะ
สมัยก่อนเขาถึงมีศัพท์ว่า "ขี่ม้า" ยังไงล่ะคะ

คุณแม่ยก  จะถามต่อถึงขั้นตอนก็เกรงใจ จะกลายเป็นสาธิตเรทอาร์ไป  แต่ถ้าจะเล่าก็ขอบคุณมากค่ะ
ดิฉันไม่เคยนุ่งเลยค่ะ ไม่ว่าอาบน้ำหรือโอกาสไหน เลยนึกไม่ออกว่าเขาถูตัวกันยังไง


กระทู้: วัฒนธรรมเกี่ยวกับห้องน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: แม่ยกเจ้าเก่าค่ะ ที่ 22 เม.ย. 01, 14:13
คุณเทาชมพู เจ้าขา
อิฉันขอเวลา ไปพิมพ์ข้างนอกนะคะ
เกรงว่าพิมพ์ไป คิดไปตรงนี้ ประเดี๋ยวจะติดเรทจริงๆเข้าค่ะ
พวกเรา นักเรียนประจำ ไม่มีห้องส่วนตัวนะคะ
เทคนิคมากมายค่ะ นุ่งผ้า ผลัดผ้า เปลี่ยนชุดนอน
วีาย .. อายค่ะ แต่จะพยายามมาเล่าต่อนะคะ


กระทู้: วัฒนธรรมเกี่ยวกับห้องน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: อำแดงริน ที่ 22 เม.ย. 01, 20:21
แสดงว่าหญิงไทยก็"ขี่ม้า"เป็นกันมาแต่โบราณ
แล้วสิคะ ^___^


กระทู้: วัฒนธรรมเกี่ยวกับห้องน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: อ้อยขวั้น ที่ 23 เม.ย. 01, 07:51
สมัยเรียนก็เคยต้องนุ่งกระโจมอกอาบน้ำรวมกับเพื่อนๆ เวลาน้ำไม่ไหลค่ะ  ก่อนอื่นก็อาบช่วงที่พ้นผ้าก่อน  แล้วก็ปลดปมผ้าเอาขอบผ้าด้านบนขึ้นมาคลุมไหล่  เอาปากงับผ้าไว้  แล้วก็ล้วงงงงง (อุอุ)  อาบส่วนที่อยู่ใต้ร่มผ้าต่อ  เรียบร้อยแล้วก็เหน็บผ้าด้านบนกลับเป็นกระโจมอกเพื่อผลัดผ้าผืนใหม่ต่อไปค่ะ

เพื่อนบางคนที่ไม่คุ้นกับการกระโจมอกก็จะทำอย่างที่คุณเรไรว่าค่ะ  แต่เวลาผ้าถุงเปียกน้ำแล้วมันก็จะหนักขึ้น  ถ้าผ้าถุงใครยางยืดเสื่อม  ก็...นึกออกใช่ไหมคะ? อุอุ


กระทู้: วัฒนธรรมเกี่ยวกับห้องน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: ปะกากะออม ที่ 23 เม.ย. 01, 08:15
จำได้เมื่อคราวไปออกค่าย การอาบน้ำของนิสิตหญิงเป็นที่โกลาหลมาก  พวกหนุ่ม ๆ ต้องทำรั้วกั้นม่านให้รอบบ่อน้ำ หรือบางทีก็มุมหนึ่งของสระน้ำหมู่บ้านให้เป็นการเฉพาะ
อาบเสร็จแล้วไม่ค่อยรู้สึกว่าสอาด คงเป็นเพราะไม่ถนัดที่จะล้วงงงงง และถูถูถู

เท่าที่ลองสังเกตบ้านไทยสมัยก่อน มักจะมีส่วนหนึ่งของบ้านที่ปูพื้นเป็นช่องห่าง ๆ  ที่ตรงนี้สามารถทำอะไรที่เปียกได้ เช่น ล้างผัก เทน้ำข้าว คลอดจนอาบน้ำ เพราะน้ำจะไหลลงใต้ถุนสะดวก  

เคยไปบาหลี  ตามริมลำธารแม่น้ำเย็น ๆ มองจากหน้าต่างรถทีไร เห็นสาวสาว หนุ่มหนุ่มอาบน้ำทูกที  บางคราวก็ผ่านที่อาบน้ำสาธารณะ  พอดีเพื่อนร่วมทางต้องการถ่ายภาพบริเวณใกล้ ๆ กันนั้น  เขาก็ลงจากรถ เท่านั้นแหละค่ะ เสียงสาว ๆ กรี๊ดกันลั่นเลย  ตานี่วิ่งกลับขึ้นรถแทบไม่ทัน  แต่พวกข้างนอกเขาก็เห็นว่าไม่ได้จะไปยุ่งกับสาวพวกนั้น  ก็เลยไม่มีอะไรเกิดขึ้น


กระทู้: วัฒนธรรมเกี่ยวกับห้องน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: แม่ยกค่ะ ที่ 23 เม.ย. 01, 22:22
อ้าว! คุณอ้อย มาเล่าแล้วนะคะ
ก็คล้ายๆกันแหละค่ะ ใช้ปากคาบนะคะ
เมื่อไม่กี่ปี ก่อน ไปฝึกภาคสนามที่ต่างจังหวัด
คนรุ่นใหม่ ยังนุ่งผ้าถุงกันเป็นนะคะ
ก็นุ่งอาบน้ำกันริมลำธารนั่นแหละค่ะ
ใช้วิธีคล้ายๆกันกันที่เล่ามาข้างบนนะคะ


กระทู้: วัฒนธรรมเกี่ยวกับห้องน้ำ
เริ่มกระทู้โดย: อ้อยขวั้น ที่ 24 เม.ย. 01, 10:16
อาบริมน้ำยิ่งสนุกค่ะ  พอถูตัวเสร็จก็มุดลงน้ำไปได้เลย  ยิ่งได้ตีโป่งต่อพอมือเขียวยิ่งสุโข  เคยไปออกค่ายบนภู  ต้องเดินประมาณสองกิโลไปอาบน้ำที่อ่างเก็บน้ำ  อาบเสร็จเดินกลับค่าย  ฝุ่นเกาะอีกแล้ว!  มิน่า เด็กๆ ที่นั่นกะมอมกะแมมเพราะคงไม่ขยันเดินไปกลับสี่กิโลเพื่ออาบน้ำทุกๆ วัน