เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4
  พิมพ์  
อ่าน: 22056 พระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองพุทไธมาศ ???
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 10 มิ.ย. 11, 23:40

เมืองห่าเตียนเป็นเมืองชายแดนริมฝั่งทะเล กุญแจสำคัญที่ทำให้เมืองนี้เจริญขึ้นนั้นมาจากการขุดของวิ้งเตเชื่อมห่าเตียนกับเจิวด๊ก(โจฏก) ซึ่งทำให้ห่าเตียนกลายเป็นเมืองยุทธศาสตร์สำคัญของเวียดนามครับ

กลับไปที่หมักเทียนตื๊อ หลังขึ้นครองเมืองเปียมแทนบิดาไม่กี่ปี ค.ศ.๑๗๔๒ ก็ส่งทูตไปญี่ปุ่นอย่างที่ผมได้กล่าวถึงมาก่อนแล้ว เป้าหมายสำคัญคือการค้าครับ จุดแข็งของห่าเตียนคือเป็นเมืองท่าเกือบสุดอ่าวไทยที่เป็นเมืองท่าเสรี ไม่มีการผูกขาดสินค้า ถึงแม้ว่าความหลากหลายของสินค้าอาจจะไม่มากเท่าอยุธยา แต่ก็เป็นสถานีแลกเปลี่ยนสินค้าที่สำคัญครับ

ถึงปี ค.ศ.๑๗๕๗ เกิดการชิงอำนาจกันในเขมร (อีกแล้ว) นักองค์ตน (สมเด็จพระอุไทยราชา) หนีไปพึ่งสมเด็จพระโสทัตหมักเทียนตื๊อที่เปียม ยกให้หมักเทียนตื๊อเป็นพระบิดา หมักเทียนตื๊อก็สนองคุณโดยการประสานกับญวนสนับสนุนนักองค์ตนขึ้นเป็นสมเด็จพระนารายณ์ราชาครองแผ่นดินเขมร ส่วนญวนก็ได้สิทธิ์ในการปกครองดินแดน Bassac (เมืองปาสัก ซึ่งปัจจุบันคือ Soc Trang), Tra Vinh, Sa Dec (คือ Dong Thap), Chau doc (คือ An Giang)

ถ้ารวมพื้นที่ๆญวนเข้ามายึดครองก่อนหน้านี้คือ My Tho และ Vinh Long ตั้งแต่ปี 1732 รวมกับพื้นที่ของราชอาณาจักรเปียมซึ่งถือเป็นประเทศราชของญวนก๊กเหงวียนกว๋างนามแล้ว ก็เท่ากับว่าถึงตอนนี้ ญวนยึดพื้นที่ขแมร์กรอมเบ็ดเสร็จเลยครับ

ปัจจุบันเรื่องนี้ฝ่ายเวียดนามอ้างว่าพวกญวนเข้าไปตั้งรกรากในพื้นที่ที่ไม่มีคนอาศัยอยู่ ในขณะที่เขมรก็ท้วงว่าญวนมาขับยึดพื้นที่ของเขมร แต่ผมเห็นว่าพื้นที่นี้มีชาวเขมรอยู่ก่อนแน่นอน แต่ประชากรเบาบาง ญวนส่งขุนศึกจีนสวามิภักดิ์เข้ามายึดครอง แล้วอพยพคนญวนเข้ามาเติมจนกลืนคนเขมรพื้นเมืองไปได้ครับ



คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 11 มิ.ย. 11, 05:32

 ข้อมูลแน่น เนื้อหาน่าสนใจมากครับ

ขอบคุณสำหรับความรู้ใหม่ๆหลายเรื่อง
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 11 มิ.ย. 11, 22:08

จดหมายเหตุบันทึกพระเจ้ากรุงธนบุรีไปรบที่เมืองพุทไธมาศรายวัน กล่าว่า เมื่อพระยาราชาเศรษฐีเจ้าเมืองคนเก่าหนีไปแล้วโปรดให้พระยาพิพิธรั้งตำแหน่งเจ้าเมืองแทน


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 11 มิ.ย. 11, 22:13

พระยาราชาเศรษฐี คนเก่ามีบุตรสาวอยุ่ ๒ คน ได้ถูกจมื่นศรีเสาวรักษ์ หลวงมหามนตรี นำมาทูลเกล้าถวาย และมีรับสั่งว่า บรรดาซึ่งได้ญวนผู้หญิงไว้ ให้เอามาทูลเกล้าฯ ถวายให้สิ้น ถ้าเป็นลูกหลานวงศ์วานพระยาราชาเศรษฐี จะเอาไว้เป็นหลวง นอกนั้นจะพระราชทานให้แก่ผู้ได้

และกองทัพอาศัยที่วังราชาเศรษฐี
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 12 มิ.ย. 11, 15:51

ขอบพระคุณที่ติดตามครับคุณ Navarat.C

จดหมายรายวันทัพนี้มีประเด็นน่าสนใจแฝงอยู่เยอะครับคุณ siamese ผมจะชี้ให้ดูเมื่อถึงเวลาครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 13 มิ.ย. 11, 23:27

กลับไปที่เหตุการณ์ชิงอำนาจในเขมรซึ่งทำให้พระอุไทยราชาหนีไปพึ่งสมเด็จพระโสทัตที่เปียม พงศาวดารเขมรบันทึกไว้ดังนี้

ลุศักราช ๑๑๑๗ ศกกุนนักษัตร สมเด็จพระศรีไชยเชษฐาพระองค์ทรงราชย์ได้ ๗ ปี พระชัณษาได้ ๔๖ปี  พระองค์ทรงพระประชวรสุรคตดับพระชนม์ ลุเลิกพระศพเสร็จแล้ว จึงพระมหาสังฆราชพระราชครูปุโรหิตกับบรรดามุขมนตรีคิดพร้อมกันถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระรามาธิบดี ๆ พระองค์ครองราชย์เมื่อศักราช ๑๑๑๘ ศกชวดนักษัตร

ลุศักราช ๑๑๑๙ ศกฉลูนักษัตรจึงสมเด็จพระศรีสุริโยพันธุ์ผู้เปนพระมหาอุปราช ให้มาลอบฆ่าสมเด็จพระอุไทยราชา ฝ่ายพระวรอันษาทอย พระเสนหาอันชิตตน พาพระองค์หนีไปในเพลากลางคืน เดินทางบกไปเมืองเปียม

ฝ่ายพระสัตรีอันชิตอวง พาพระแม่นางกับหญิงพระสนมลงเรือหนีไปถึงเมืองตระนมเสก แปลว่าบ้านนกแก้วจับ ครั้งนั้นสมเด็จพระโสทัตอยู่เมืองเปียม มีความยินดีรับเอาสมเด็จพระอุไทยราชาไปถึงเมืองเปียม แล้วสมเด็จพระอุไทยราชาขอเอาสมเด็จพระโสทัตเปนพระบิดาเลี้ยง จึงสมเด็จพระโสทัตใช้พระยาโกษาลำ พระยาโนเศรษฐีดอกับพระยศ เปนแม่ทัพครองไพร่พลยกมาถึง รบได้เมืองตรัง เมืองบันทายมาศ เมืองไพรกะบาด เมืองนครสับติน เมืองบาที  เมืองสำโรงทอง ตลอดเข้าไปถึงสู้รบกับทัพสมเด็จพระศรีสุริโยพันธุ์ซึ่งเสด็จสถิตย์อยู่เมืองบันทายเพ็ชร์

ฝ่ายสมเด็จพระอุไทยราชา ลาสมเด็จพระโสทัตคิดเลิกไพร่พลสกลโยธายาตราออกจากเมืองเปียม ตามกองทัพมาต่อภายหลัง ถึงเมืองกระพงกระสังลงเรือพระที่นั่งเปนการเร็ว มาพบกับทัพพระสัตรีอันชิตอวง นำเสด็จกลับขึ้นมาตามแม่น้ำเปียมมัจรุก ตีขึ้นมาตามลำแม่น้ำเปียมมัจรุก บรรดาชาวนาชาวไร่ก็ตีได้เปนอันมาก ตีไปถึงบ้านแพรก บ้านอำเปิ่น บ้านตึกวิน บ้านอันลงสาร ได้มาเปนเมืองขึ้นทุกตำบล ยกทัพมาถึงพนมเพ็ญ


น่าสังเกตว่ากองทัพสมเด็จพระโสทัตจากเปียม ยกไปตีได้หลายเมืองรวมทั้งบันทายมาศนะครับ

เมืองตรังเมืองไพรกะบาดและนครสับตินอยู่ที่ไหนผมยังหาไม่เจอ เมืองบาทีอยู่ใต้พนมเปญลงมาเล็กน้อย เมืองสำโรงทองอยู่อุดงใกล้กับบันทายเพ็ชร์

เมืองมัจรุกเข้าใจว่าเป็นเมืองเดียวกับเจิวด๊ก(โจดก)เลยนะครับ เดิมแม่น้ำตรงเมืองเปียมไหลคดเคี้ยวลงมาจากเจิวด๊ก ก็คือแม่น้ำเปียมมัจรุกนี้แหละครับ มีอีกชื่อหนึ่งคือคลองขาม ต่อมาปลายรัชกาลพระเจ้ายาลองจึงทรงให้ขุดคลองวิ้งเต๊ตัดตรงลงมาและลึกพอที่จะใช้ลำเลียงสินค้าและกองทัพได้สะดวก เป็นคลองยุทธศาสตร์สำคัญซึ่งกลายมาเป็นพรมแดนระหว่างเขมรและเวียดนามในปัจจุบันครับ

บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 14 มิ.ย. 11, 14:13

เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ พงศาวดารฝ่ายญวนระบุว่าหมักเทียนตื๊อกระทำการนี้ได้สำเร็จโดยส่งข่าวไปยังเจ้าก๊กเหงวียนกว๋างนาม ซึ่งได้ให้เจ้าเมืองยาดิ่งส่งทหารมาช่วยหมักเทียนตื๊อทำการครั้งนี้จนช่วยให้พระอุไทยราชาขึ้นเป็นกษัตริย์เขมร ทรงพระนามว่าพระนารายณ์ราชาธิราชในปี จ.ศ.๑๑๒๐ (พ.ศ.๒๓๐๑) ส่วนพระรามราชานักองค์โนนซึ่งเป็นฝ่ายอิงไทยนั้นโดนจับขังไว้ แต่ต่อมาถูกช่วยออกมาโดนขุนนางเขมรคนหนึ่งและพาหนีไปอยู่อยุธยา

ในพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ กล่าวถึงเวลาที่พม่ายกมาล้อมกรุงศรีอยุธยาคราวเสียกรุงครั้งที่ ๒ นั้น มีความเกี่ยวข้องกับพระยาราชาเศรษฐีดังนี้

อนึ่ง พะม่าตั้งอยู่ณเมืองธนบุรีแลล้อมกรุงเทพฯไว้นั้น ในกรุงก็ได้มีหนังสือไปถึงพระยาราชาเศรษฐี ๆ แต่งกองทัพลำเลียงอาหารเข้ามาช่วยถึงปากน้ำ พะม่าคอยสะกัดทางทำอันตรายอยู่ไปมิถึง พอสิ้นเสบียงอาหารแล้วก็กลับไป

เรื่องนี้ฟังดูค่อนข้างจะแปลกทีเดียว เพราะเวลานั้นกษัตริย์เขมรก็ยังเป็นพระนารายณ์ราชาซึ่งอิงญวนอยู่ และพระรามราชานักองค์โนนผู้เป็นศัตรูราชบัลลังค์ของพระนารายณ์ราชาก็น่าจะยังอยู่ในอยุธยาด้วยซ้ำ เป็นไปได้หรือว่าอยุธยาจะขอความช่วยเหลือจากห่าเตียน แถมยังได้รับความช่วยเหลือตามที่ร้องขอเสียด้วย แม้จะไม่สำเร็จก็ตาม

หลักฐานทางฝ่ายจีนบอกว่า พ่อค้าจีนชื่อเฉินเหวินเปียวเข้ามาถึงปากอ่าวไทยราวเดินเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ.๒๓๐๙ ไม่สามารถเข้าไปที่อยุธยาได้เนื่องจากมีเรือสลัดขนาดใหญ่คุมพื้นที่อยู่จำนวนมาก ตามรายงานของเฉิน มีเรือไทยห้าลำที่หนีไปที่ฮาเตียนหลังจากโดนปล้นยึดเอาสินค้าทั้งหมดไปแล้ว

เรื่องนี้ถือสอดคล้องกับเรื่องในพงศาวดารไทย แสดงให้เห็นว่าเวลานั้นพม่าคุมปากอ่าวไทยไว้ได้ และไทยก็ไม่ได้เป็นศัตรูกับห่าเตียน แสดงว่าถึงแม้ผลประโยชน์ในพื้นที่เขมรจะขัดกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป อยุธยาถูกรบกวนโดยพม่า อยุธยาคงต้องปล่อยวางผลประโยชน์ในเขมรก่อน นอกจากนี้หลักฐานทางจีนยังระบุว่าในรัชกาลพระเจ้าเอกทัศ อยุธยาส่งกองเรือบรรณาการไปยังจีนถึง ๓ ครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าการจะผ่านห่าเตียนไปเฉยๆโดยที่เป็นศัตรูกันนั้นคงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ ในช่วงเวลานั้นอยุธยา(จำต้อง)ยอมรับอำนาจของญวนเหนือเขมร และความสัมพันธ์ของอยุธยากับญวน(และห่าเตียน)อยู่ในระดับปกติ ซึ่งแน่นอนว่าห่าเตียนในฐานะเมืองท่าเสรีย่อมต้องพึ่งพาการค้าจากทางอยุธยาด้วย การให้ความช่วยเหลือในระดับดังกล่าวจึงถือว่าเป็นไปได้ครับ

ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่ตอกย้ำความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับห่าเตียนในเวลาดังกล่าว

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๓๑๐ หลังกรุงแตกได้สองเดือน เฉียนหลงฮ่องเต้ทรงปฏิเสธข้อเสนอของอุปราชแห่งอวิ๋นกุ้ย(หมายถึงอวิ๋นหนาน(ที่เราเรียกยูนนาน)-กุ้ยโจว)ที่จะให้อยุธยาส่งกองทัพเข้าไปโจมตีพม่า โดยเฉียนหลงทรงสั่งให้อุปราชแห่งเหลียงกว่างส่งพระราชสาส์นไปแจ้งอยุธยาให้จับตัวกษัตริย์พม่าไว้หากพบว่า(เมื่อจีนตีพม่าแตกแล้ว)หลบหนีมาในดินแดนไทย โดยในเวลานั้น จีนยังไม่รู้ว่าพม่าตีกรุงศรีอยุธยาได้แล้ว

ในเดือนกันยายน พ.ศ.๒๓๑๐ อุปราชแห่งเหลียงกว่างรายงานถึงฮ่องเต้ว่า ได้สอบถามไต้ก๋งแซ่หยางและล่ามแซ่หวัง ชาวจีนประจำเรือราชทูตอยุธยา ได้ความว่าจะสามารถส่งพระราชสาส์นไปยังราชสำนักอยุธยาได้โดยผ่านม่อซื่อหลินผู้ครองห่าเตียน หรือปู่หลาน (คือเจ้าขรัวหลาน) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองจันทบูร โดยหยางและหวังยังแจ้งว่าเมื่อพวกเขานำเรือเดินทางจากกั๋งโข่ว(คือเปียม) มายังกวางเจานั้น ได้ข่าวว่าพม่าตีกรุงศรีอยุธยาได้แล้ว

เนื่องจากเรื่องกรุงแตกนี้ยังเป็นเรื่องที่ไม่ยืนยัน อุปราชแห่งเหลียงกว่างจึงส่งคนไปยังห่าเตียนเพื่อส่งพระราชสาส์นไปยังกรุงศรีอยุธยา และถือโอกาสยืนยันข่าวคราวของอยุธยาด้วย โดยข่าวสารเรื่องกรุงแตกนั้นทางจีนได้รับรู้รายละเอียดเกือบทั้งหมดผ่านทางห่าเตียนครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 14 มิ.ย. 11, 15:46

พงศาวดารทางญวนนั้นว่าไปคนละเรื่องเลย

ในเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๓๐๙ หมักเทียนตื๊อส่งสาส์นไปที่ยาดิ่งเพื่อขอกำลังเสริมจากกว๋างนามมาช่วยป้องหันห่าเตียน เนื่องจากได้ข่าวมาว่าอยุธยากำลังเตรียมการจะรุกรานห่าเตียน

วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๓๐๙ ยาดิ่งส่งแม่ทัพสามคนคุมกองเรือ ๒๐ ลำ พร้อมทหาร ๑๐๐๐ คนมายังห่าเตียน

วันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๓๐๙ กองเรือจากยาดิ่งมาถึงห่าเตียน


เวลาดังกล่าวนั้นเป็นที่แน่นอนว่าหมักเทียนตื๊อต้องรู้อยู่แล้วว่าอยุธยากำลังรับศึกพม่าอยู่ เป็นไปได้ว่าหมักเทียนตื๊อจะขอกำลังมาเตรียมรับศึกพม่ามากกว่า จะมีเหตุผลอื่นใดนอกเหนือจากนี้ได้ไหม?
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 15 มิ.ย. 11, 10:03

1767 ก่อนขึ้นปีใหม่ไทย (ยังเป็น พ.ศ.๒๓๐๙) พระยาตากตีฝ่าวงล้อมออกจากอยุธยา เดือนมีนาคม พระยาตากสะสมตั้งทัพอยู่ที่ระยอง ให้แต่งหนังสือถึงพระยาราชาเศรษฐีที่ครองเมืองพุทไธมาศให้ส่งกำลังมาช่วยตีพม่า ดังความในพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศดังนี้

อนึ่ง พะม่าตั้งอยู่ณเมืองธนบุรีแลล้อมกรุงเทพฯ ไว้นั้น ในกรุงก็ได้มีหนังสือไปถึงพระยาราชาเศรษฐี ๆ แต่งกองทัพลำเลียงอาหารเข้ามาช่วยถึงปากน้ำ พะม่าคอยสะกัดทางทำอันตรายอยู่ไปมิถึง พอสิ้นเสบียงอาหารแล้วก็กลับไป เห็นว่าความชอบเมืองพุทไธมาศมีแก่กรุงอยู่ บัดนี้เราจะให้ศุภอักษรไป ให้พระยาราชาเศรษฐียกพลทหารเข้ามาช่วยกันรบพะม่าซึ่งตั้งอยู่ณเมืองธนบุรี จึงจะเป็นความชอบแก่พระยาราชาเศรษฐีสืบไป นายทัพนายกองทั้งปวงก็เห็นด้วย จึงรับสั่งให้แต่งศุภอักษรออกไปเมืองพุทไธมาศ

1767 ก่อนกรุงแตกเพียงสองวัน ทูตจากพระยาตากก็ไปถึงพุทไธมาศ และกลับมาถึงระยองเมื่อกรุงแตกได้เกือบจะครบเดือนพอดี

ครั้นณวันแรม ๑๔ ค่ำเดือน ๔ พระพิชัยแลนายบุญมีไปถึงปากน้ำเมืองพุทไธมาศ จึงนำเอาศุภอักษรกับฉลองพระองค์อย่างฝรั่งขึ้นไปพระราชทาน พระยาราชาเศรษฐี แล้วเจรจาตามมีรับสั่งไปนั้นทุกประการ พระยาราชาเศรษฐีมีความยินดีนักจึงว่า ระดูนี้จะเข้าไปขัดด้วยลมจะมิทัน ต่อเดือน ๘-๙-๑๐ จึงจะยกพลทหารเข้าไปช่วยราชการให้จงได้

ครั้นณวันอาทิตย์แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ ราชทูตนำศุภอักษรตอบกับเครื่องราชบรรณาการมาถึงปากน้ำระยอง  นายบุญมีจึงนำองไกเสิ้ง  จีนทหารกับราชบรรณาการเข้ากราบทูลณค่าย  


ช่วงเวลาเดียวกับที่ทูตจากพระยาตากไปขอความช่วยเหลือจากหมักเทียนตื๊อ หลักฐานทางญวนบันทึกว่า

หมักเทียนตื๊อ ส่งสาส์นถึงเจ้าก๊กเหงวียนกว๋างนาม ร้องขอให้ถอนกำลังญวนที่ส่งมาช่วยป้องกันเมืองกลับออกไปเนื่องจากปลอดจากภัยคุกคามจากอยุธยาแล้ว โดยเจตนาก็คือเพื่อให้ห่าเตียนเป็นอิสระจากกว๋างนาม และทางกว๋างนามก็ยินยอมถอนทหารแต่โดยดี

เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่าห่าเตียนถึงจะฝักใฝ่ญวน แต่ก็เป็นเมืองอิสระ ซึ่งทางญวนเองก็ไว้ใจ (และเกรงใจด้วย?) นอกจากนี้หมักเทียนตื๊อเองก็น่าจะมีแผนการณ์อะไรบางอย่างอยู่ในใจเหมือนกัน เพราะตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หมักเทียนตื๊อก็เริ่มขยายอำนาจ ส่งกองกำลังเข้ายึดครองเกาะต่างๆในอ่าวไทย เช่นเกาะกง, เกาะกูด. เกาะคราม เป็นต้น
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 15 มิ.ย. 11, 11:44

การขยายอำนาจปราบปรามเกาะต่างๆในอ่าวไทยของหมักเทียนตื๊อนั้น มองอีกแง่หนึ่งก็คือการปิดช่องว่างจากสภาพสูญญากาศและอาจรวมถึงการป้องกันต้นเองหลังการล่มสลายของกรุงศรีอยุธยา พงศาวดารยาดิ่งของทางเวียดนามบันทึกไว้ว่าในเดือนพฤษภาคม/มิถุนายน พ.ศ.๒๓๑๐ หมักเทียนตื๊อปราบปรามชุมนุมโจรสลัดที่คอยปล้นเรือสินค้าและจับผู้คนในละแวกเกาะกงโดยลอบโจมตีค่ายของพวกโจรสลัดกลางดึก โจรสลัดตัวนายถูกยิงตาย ในขณะที่พวกลูกน้องหนีกระจัดกระจายหายไป เรื่องนี้เป็นการลงมือหลังจากหมักเทียนตื๊อได้ข่าวมาในทางลับว่าพวกโจรสลัดกลุ่มนี้กำลังวางแผนเตรียมจะเข้าโจมตีห่าเตียน

บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 15 มิ.ย. 11, 17:08

เดือนธันวาคม ปลายปี พ.ศ.๒๓๑๐ เจ้าศรีสังข์พระโอรสเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) หนีไปยังเมืองเขมร ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๓๙ มีจดหมายฝรั่งเศสองฉบับ (คือจดหมายมองซิเออร์คอร์ถึงมองซิเออร์ดารากอง และจดหมายมองซิเออร์อาโตด์ถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ) ที่มีความเกี่ยวพันกับเรื่องนี้ พอจะสรุปความที่เกี่ยวข้องมาได้ดังนี้

เมื่อพม่าเข้าไปตีกรุงศรีอยุธยา เจ้าศรีสังข์พระโอรสเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์เสด็จเล็ดลอดหนีข้าศึกไปได้ เสด็จดั้นด้นอยู่ตามป่าได้ประมาณ ๓ เดือน ครั้นพม่ายกกลับไหปแล้วจึงเสด็จไปยังบางกอก แล้วเสด็จต่อไปบางปลาสร้อย ระหว่างนั้นพระยาตากคิดจะเอาราชสมบัติ ทราบว่ามีเชื้อพระวงศ์เสด็จไปที่บางปลาสร้อยจึงได้จัดเรือให้ออกไปจับตัวเจ้าศรีสังข์มายังเมืองจันทบุรี แต่มีพวกเข้ารีตคนหนึ่ง ช่วยพาลงเรือเล็กรอนแรมไปถึงเมืองฮอนดัต (คือ Hòn Đất ห่อนเดิ๊ด อยู่ทางตะวันออกของห่าเตียนราว ๓๐ กม.) พวกบาดหลวงฝรั่งเศสเกรงภัยจากเจ้าเมืองคันเคา (มาจากชื่อจีนของเมืองเปียม คือ กั๋งโข่ว) จึงไม่ยอมพบ แต่ให้คนเข้ารีตคนนั้นส่งพาเจ้าศรีสังข์ต่อไปถึงเมืองเขมรในวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๓๑๐ พระเจ้าแผ่นดินเขมรทรงรับตัวไว้ดูแลอย่างดี แต่เจ้าศรีสังข์วิตกว่าจะไม่สามารถออกไปจากกรุงเขมรได้อีก ในขณะที่ทางคันเคา พระยาตากอยู่ที่จันทบูรทราบข่าวว่าเจ้าศรีสังข์หนีมาอยู่ที่ฮอนดัต จึงมีจดหมายมาถึงเจ้าเมืองคันเคาพร้อมกับส่งของดีๆมาให้ โดยเฉพาะปืนใหญ่แบบยุโรป ๒ กระบอก โดยสัญญาว่าจะให้อีกหลายกระบอกเมื่อเอาตัวเจ้าศรีสังข์มาส่งให้ เจ้าเมืองคันเคาจึงให้คนออกไปค้นหาตัวเจ้าศรีสังข์ เมื่อเจ้าเมืองทราบว่าเจ้าศรีสังข์ไปอยู่เขมร โดยผ่านบ้านเมืองของตนไปโดยตนหารู้ด้วยไม่ จึงคิดเอาตัวเจ้าศรีสังข์กลับมา โดยจับเอาบาดหลวงมาขังคุกไว้ แล้วทั้งหว่านล้อมแกมบังคับ จนบาดหลวงอาโตด์ต้องไปยังเมืองเขมรเพื่อเกลี้ยกล่อมให้เจ้าศรีสังข์มายังคันเคา แต่เมื่อบาดหลวงอาโตด์ไปพบเจ้าศรีสังข์ที่เมืองเขมร เจ้าศรีสังข์ไม่ยอมกลับมาด้วย เนื่องจากเห็นว่าเจ้าเมืองคันเคาจะจับพระองค์ส่งให้แก่พระยาตากเป็นแน่ โดยทรงรับสั่งว่า "การที่พระยาตากได้ส่งของดีๆ มาให้เจ้าเมืองคันเคานั้น ก็เท่ากับซื้อศีร์ษะข้าพเจ้าเท่านั้น"


เห็นได้ว่า เจ้ากรุงเขมร สมเด็จพระนารายณ์ราชา ถึงแม้ว่าพระองค์จะเคยรับเสือเฒ่าหมักเทียนตื๊อเป็นพระบิดาบุญธรรมแล้ว แต่ก็มิได้อยู่ใต้อาณัติของหมักเทียนตื๊อแต่อย่างใด หมักเทียนตื๊อจึงไม่สามารถเอาตัวเจ้าศรีสังข์ไปจากเขมรได้ครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 19 มิ.ย. 11, 11:19

จากเรื่องของบาดหลวงฝรั่งเศสนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าหมักเทียนตื๊อต้องการตัวเจ้าศรีสังข์แน่นอน แต่จะเพื่อส่งตัวให้กับพระยาตากตาม "ข่าวลือ" ที่พวกบาดหลวงฝรั่งเศสได้รับมาจริงหรือ?

ย้อนกลับไปพิจารณาเรื่องราวเมื่อครั้งพระยาตากตั้งทัพอยู่ที่ระยอง แล้วส่งสาส์นไปขอให้หมักเทียนตื๊อส่งกำลังมาช่วยรบ เรื่องเกิดในเดือนสี่ดือนห้า ปี พ.ศ.๒๓๑๐ หมักเทียนตื๊อผัดผ่อนว่าจะยกมาช่วยเดือนแปดเก้าสิบ แต่ถึงเดือนเจ็ดพระยาตากตีเมืองจันทบูรได้ เจ้าขรัวหลานเจ้าเมืองจันบูรพาครอบครัวลงเรือหนีไป "พุทไธมาศ" ซึ่งเท่ากับว่าหมักเทียนตื๊อรับตัวศัตรูพระเจ้าตากไว้ ในขณะที่เรื่องกองทัพของหมักเทียนตื๊อที่ว่าจะส่งมาช่วยนั้น พงศาวดารไทยไม่พูดถึง

หนังสือประวัติตระกูลหมัก (เขียนปี ค.ศ.๑๘๑๘) บอกว่าปลายปี ค.ศ.๑๗๖๗ (ค.ศ. ๒๓๑๐) หมักเทียนตื๊อให้ลูกเขยนำกองเรือ ๑๐๐ ลำลอบเข้าไปที่ปากน้ำเมืองบางกอกแล้วพยายามลวงพระเจ้าตาก (ซึ่งเวลานั้นมาตั้งอยู่ที่กรุงธนบุรีแล้ว) ให้ไปขึ้นเรือเพื่อปรึกษาข้อราชการ แต่แผนนี้รั่ว เพราะพระเจ้าตากส่งสายลับแฝงตัวเข้าไปอยู่ในบ้านของตระกูลหมัก พระองค์จึงไม่ไปขึ้นเรือ ลูกเขยของหมักเทียนตื๊อรออยู่ถึงสิบวัน จนในคืนหนึ่ง ไต้ฝุ่นเข้า เรือถูกทำลายไปถึง ๔๐ ลำ ลูกเขยของหมักเทียนตื๊อต้องล่าถอยไป แต่ไปถึงเพียงบางปลาสร้อยก็ป่วยตาย

ยังมีรายงานของ Jacques Corre (คือมองซิเออร์คอร์ในประชุมพงศาวดารภาค ๓๙) บอกว่าลูกเขยของหมักเทียนตื๊อแสร้งทำเป็นจะส่งข้าวเข้าไปยังบางกอกแต่เจนตาที่แท้จริงคือจะจับตัวพระเจ้าตาก แต่พระเจ้าตากทรงรู้ทันเล่ห์กลจึงเข้าปล้นเรือและฆ่าฟันพวกทหารของลูกเขยหมักเทียนตื๊อ ลูกเขยของหมักเทียนตื๊อตายระหว่างเดินทางกลับ รายงานฉบับนี้เขียนขึ้นในปี ค.ศ. ๑๗๖๙ โดยไม่ได้ระบุว่าเหตุการณ์นี้เกิดเมื่อใด

Chen Chingho นักวิชาการชาวไต้หวัน พบว่าจารึกหลุมศพของลูกเขยหมักเทียนตื๊อผู้นี้ทำขึ้นในปี ค.ศ. ๑๗๖๗ ซึ่งสอดคล้องกับช่วงเวลาที่บันทึกไว้ในหนังสือประวัติตระกูลหมัก

เห็นได้ว่าข้อมูลจากสองแหล่งกล่าวถึงเรื่องราวที่ใกล้เคียงกันมาก น่าเชื่อว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริงในช่วงปลายปี ๒๓๑๐ และน่าสังเกตด้วยว่าเรื่องนี้คล้ายกับเรื่องในพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศที่กล่าวว่าหมักเทียนตื๊อเคยส่งเรือขนเสบียงอาหารมาช่วยกรุงศรีอยุธยาที่ถูกพม่าล้อมอยู่ แต่มาถึงปากน้ำก็โดนพม่าตีแตก น่าสงสัยว่าเหตุการณ์นี้อาจจะเป็นเหตุการณ์เดียวกับเรื่องของตระกูลหมักและบาดหลวงฝรั่งเศส เพราะความในพงศาวดารกรุงธนบุรีตอนนี้มีต้นไม่มีปลายอย่างไรพิกล

ที่แน่ๆคือ ถึงช่วงปลายปี พ.ศ. ๒๓๑๐ ความสัมพันธ์ของหมักเทียนตื๊อและพระเจ้าตากไม่น่าจะอยู่ในสภาพปกติ หากไม่ได้เป็นศัตรูกันโดยชัดแจ้ง อย่างน้อยต้องมีความระแวงซึ่งกันและกันอยู่ไม่น้อย เรื่องของเจ้าศรีสังข์นั้นจึงน่าสงสัยว่าความประสงค์ของหมักเทียนตื๊อที่ต้องการจะเอาตัวเจ้าศรีสังข์มาไว้ที่เมืองห่าเตียนอาจจะไม่ได้เป็นเพราะพระเจ้าตากร้องขออย่างที่พวกบาดหลวงฝรั่งเศสลือกัน
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 20 มิ.ย. 11, 15:17

เดือนธันวาคม ปี พ.ศ.๒๓๑๑ Li Shiyao อุปราชเหลียงกว่างส่ง Zhen Rui มาสืบสวนเหตุการณ์กรุงศรีอยุธยาที่ห่าเตียน Zhen Rui กลับไปถึงกวางเจาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๓๑๒ เขียนรายงานเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด เริ่มตั้งแต่เหตุการณ์ภายในราชสำนักอยุธยาในสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ร่ายยาวไปถึงเหตุการณ์ในพม่าซึ่งนำมาถึงการบุกโจมตีกรุงศรีอยุธยา จนถึงเหตุการณ์กรุงแตก พระยาตากตั้งตนเป็นใหญ่ ไปจนถึงประวัติกรมหมื่นเทพพิพิธ และเหตุการณ์พระเจ้าตากปราบปรามชุมนุมเจ้าพิมายและสำเร็จโทษกรมหมื่นเทพพิพิธ

นอกจากนี้ Zhen Rui ยังได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับเจ้าจุ้ยพระโอรสในเจ้าฟ้าอภัยที่หนีไปอาศัยหมักเทียนตื๊อที่ห่าเตียนหลังกรุงแตกด้วย โดย Zhen Rui ระบุว่าเจ้าจุ้ยต้องการความช่วยเหลือจากพระจักรพรรดิ์จีนเพื่อกลับไปครองอำนาจที่อยุธยา

ภารกิจสำคัญอีกประการหนึ่งของ Zhen Rui คือการสอบสวนความเป็นมาของคนเถื่อนที่มาโจมตีอยุธยา แต่กลับได้ข้อสรุปที่ผิดพลาดว่า คนเถื่อนที่มารุกรานอยุธยานั้นไม่ได้เป็นพวกเดียวกับพม่าที่กำลังขัดแย้งกับจีนอยู่ในเวลานั้นด้วย ดังนั้นเมื่อราชสำนักจีนได้ข้อมูลนี้ไปประกอบจากกระแสข่าวว่า "พม่า" ตีกรุงศรีอยุธยา จึงสันนิษฐานว่าคงจะเป็นพม่าคนละ "เผ่า" กับพวกที่รบกับจีนอยู่ทางตอนเหนือ


ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๓๑๑ พระเจ้าตากทรงส่งพระราชสาส์นผ่านพ่อค้าจีนไปยังพระจักรพรรดิ์จีน พระราชสาส์นที่ไปถึงในเดือนกันยายนปีเดียวกันนั้นมีความโดยสรุปว่า กรุงศรีอยุธยาถูกพวกพม่าล้อมอยู่ถึงสามปี เมื่อหมดหนทาง พระเจ้าแผ่นดินจึงส่งพระองค์ (ในพระราชสาส์นเรียกว่า "เจ้าพระยากำแพงเพชร") ไปยังจันทบูรเพื่อรวบรวมกำลังทหาร เมื่อกลับมาถึงนั้น พบว่ากรุงศรีอยุธยาได้ถูกทำลายลงเสียแล้ว พระองค์จึงได้ขับไล่พวกพม่าออกไป และพยายามสืบหาตัวรัชทายาทของพระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อน แต่ประสบความล้มเหลว จึงได้ปราบปรามชุมนุมต่างๆ และขอให้พระจักรพรรดิ์ทรงได้รับรองอำนาจของพระองค์ด้วย

เมื่อเรื่องนี้ไปถึงราชสำนักจีน พระจักรพรรดิ์ทรงปฏิเสธที่จะรับรองอำนาจ ซึ่งการที่ราชสำนักจีนปฏิเสธที่จะรับรองอำนาจของพระเจ้าตากส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะหมักเทียนตื๊อซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีกับอุปราชเหลียงกว่าง และพยายามเดินเรื่องขัดขวาง โดยมีเจตนาจะร่วมเล่นเกมชิงอำนาจในสยามด้วย โดยอาศัยเจ้าจุยในมือ และยังพยายามเอาตัวเจ้าศรีสังข์จากเขมรดังได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 21 มิ.ย. 11, 15:08

พงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับจันพันทนุมาศว่า

ณวันจันทร์ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๓ ข้อราชการเมืองกัมพูชาธิบดีเมืองปากน้ำพุทไธมาศบอกเข้ามา จึงทรงพระกรุณาให้พระกรมท่าไปทำค่ายปากน้ำพระประแดง, ท่าจีน, แม่กลอง

เหตุการณ์ข้างต้นเกิดในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ (ไทยยังไม่ขึ้นปีใหม่) ย้อนไปถึงช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่บาดหลวงฝรั่งเศสไปเกลี้ยกล่อมเจ้าศรีสังข์ที่เขมร ย้ำให้เห็นว่า ความสัมพันธ์และหว่างไทยกับกัมพูชาและ "เมืองปากน้ำพุทไธมาศ" ในเวลานั้นอยู่ในสภาพตึงเครียดมากอยู่แล้วครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 22 มิ.ย. 11, 10:07

* ข่าวศึกใน คคห. ก่อนหน้านี้ ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาระบุระยะเวลาต่างกัน คือบอกว่าเกิดขึ้นในปี พ.ศ.๒๓๑๑ และยังระบุว่าข่าวศึกนั้นสงบไป ไม่มีกองทัพมาจริง

ในปี พ.ศ.๒๓๑๒ พงศาวดารข้างญวนบันทึกไว้ว่ามีจีนแต้จิ๋วผู้หนึ่งแซ่ Tran (จีนกลางว่าเฉิน แต่จิ๋วว่าตั้ง) ซ่องสุมกำลังอยู่ที่เขาบั๊กหม่า (ม้าขาว อยู่ละแวกเมืองแกบทางตะวันตกของห่าเตียน) วางแผนจะเข้าโจมตีเมืองห่าเตียน แต่ข่าวรั่วออกมาเสียก่อนจึงถูกหมักเทียนตื๊อส่งทหารไปซุ่มโจมตีจนแตกไป ตัว Tran เองหนีไปอาศัยอยู่ที่จันทบูร

Chen Chingho บอกว่าเหตุการณ์นี้มีพระเจ้าตากอยู่เบื้องหลัง แต่ไม่ว่าจะจริงหรือไม่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อมาคือหมักเทียนตื๊อส่งทัพเข้ามาโจมตีจันทบูร และทุ่งใหญ่ (คือตราด) เปิดศึกกับไทยแบบซึ่งหน้าเป็นครั้งแรก

พงศาวดารเขมร
ลุศักราช ๑๑๓๒ ศกขาลนักษัตร สมเด็จพระโสทัตผู้เปนใหญ่ในเมืองเปียม คิดตามอำเภอใจด้วยความโลภเจตนา เหมือนตักกะแตนเข้าดับเพลิงละเลิงใจ เกณฑ์ไพร่พลในแขวงเมืองบันทายมาศ เมืองตรังยกเปนกองทัพไปจับคนเมืองทุ่งใหญ่เมืองจันทบุรี จึงพวกกองทัพไทยยกออกมาสู้รบชนะ แม่ทัพแม่กองสมเด็จพระโสทัตหนีกระจัดกระจายถอยทัพกลับมาเมืองเปียม


พงศาวดารข้างญวนว่า หมักเทียนตื๊อส่ง Tran Hau หลานชาย (ลูกของน้องสาวหมักเทียนตื๊อ) นำทัพบก ๕๐๐๐๐ คน โจมตีจันทบูร เจ้าเมืองจันทบูร (ชื่อ Tran Lai) นำกำลังทหาร ๓๐๐๐ คน เข้ารบกับทัพญวน แต่พ่ายแพ้เพราะกำลังน้อยกว่ามาก ตัวเจ้าเมืองจันทบูรต้องถอยทัพไปตั้งค่ายไว้ ไม่กล้าเข้ารบอีก Tran Hau ยึดเมืองจันทบูรอยู่ได้สองเดือนเกิดโรคระบาด ทหารล้มตายวันละมากๆ หมักเทียนตื๊อจึงเรียกทัพ Tran Hau กลับ มีทหารที่รอดกลับถึงห่าเตียนเพียงหมื่นคนเศษ พระเจ้าตากทรงทราบว่าทหารห่าเตียนถอยทัพ จึงส่งกองทัพมาตามตี แต่ก็ต้องถอยกลับไปเมื่อพบว่าห่าเตียนมีการป้องกันที่เข้มแข็ง

พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา บันทึกเหตุการณ์นี้ไว้ โดยว่าพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงให้พระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยาอนุชิตราชา (คือ ร.๑ และกรมพระราชวังบวรฯ) นำทัพไปตีเขมร โดยให้นำนัพพระรามราชาไปในทัพด้วย แต่ระบุว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจากพระอุไทยราชาเอาทัพญวนมาช่วยชิงพุทไธเพชรจากสมเด็จพระรามาธิบดี ซึ่งเป็นเหตุการณ์ย้อนหลังไปสิบกว่าปีแล้ว มีรายละเอียดการรบความดังนี้

ฝ่ายกองทัพซึ่งยกไปกัมพุชประเทศนั้น ทัพพระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยาอนุชิตราชายกจากเมืองนครราชสีมาไปตีเมืองเสียมราบได้ ทัพพระยาโกษาสายยกจากเมืองปราจีนไปตีได้เมืองปัตบองตั้งอยู่ที่นั้น และนักพระองค์ตนซึ่งเป็นพระอุทัยราชายกกองทัพเรือมาทางทะเลสาบ จะมาตีเมืองเสียมราบคืน พระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยาอนุชิตราชาจัดแจงได้เรือที่เมืองเสียมราบ ยกทัพเรือออกรบกับทัพเขมรในทะเลสาบ ได้สู้รบกันหลายเพลา พอได้ข่าวเลื่องลือออกไปว่าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกไปตีเมืองนครศรีธรรมราช บัดนี้ทิวงคตเสียแล้ว พระยาอภัยรณฤทธิ์ พระยาอนุชิตราชาก็ตกใจเกรงแผ่นดินจะเกิดจลาจลขึ้นอีก เลิกทัพกลับมา
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
หน้า: 1 2 [3] 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.075 วินาที กับ 19 คำสั่ง