เรือนไทย

General Category => หน้าต่างโลก => ข้อความที่เริ่มโดย: naitang ที่ 16 ม.ค. 16, 19:12



กระทู้: ครู นักเรียน และการศึกษาในชนบทห่างไกล
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ม.ค. 16, 19:12
ภาพหนึ่งที่ฝังอยู่ในตัวผมมาตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งผมถือว่าเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติทุกครั้งโดยไม่รู้สึกเคอะเขินใดๆเลย ก็คือการแสดงการเคารพตอบต่อการแสดงความเคารพที่เขาแสดงต่อเรา และการแสดงความเคารพต่อผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว   

ผมได้เรื่องนี้มาจากคุณพ่อของผมที่จะต้องถอดหมวกแนบหน้าอกทุกครั้งที่เดินทางผ่านขบวนแห่ศพของชาวบ้าน (ไปเผาในป่าเหี้ยว_ฌาปนสถาน/สุสาน) และทุกครั้งที่เด็กยืนแสดงความเคารพอยู่ข้างทางที่รถผ่านไป 

เป็นเรื่องของการให้เกียรติต่อกันและกัน โดยไม่คำนึงว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเห็นหรือไม่ 


กระทู้: ครู นักเรียน และการศึกษาในชนบทห่างไกล
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ม.ค. 16, 19:38
เมื่อตนเองทำงานในวิชาชีพที่ต้องเดินทางและคลุกคลีอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากเมืองมากๆ   ก็ได้สัมผัสโดยตรงกับภาพของเด็กนักเรียนที่ต้องใส่ชุดนักเรียนแบบกะรุ่งกะริ่ง ที่เสื้อขาวมีสีใกล้จะเป็นสีน้ำตาลและชุดลูกเสือ ไม่ต้องพูดถึงรองเท้าที่ใส้แบบมีนิ้วโผล่หรือไม่ก็เท้าเปล่าเลยทีเดียว     

ภาพดังกล่าวนี้พบเห็นได้ทั้งในบริเวณหมู่บ้าน และตามเส้นทางถนนสายรองระหว่างจังหวัด และสายที่เชื่อมระหว่างตำบลและหมู่บ้าน   ซึ่งบ่อยครั้งมากที่จะเห็นเด็กไม่น้อยกว่าสามสี่คนเดินเป็นแถวเรียงตามกันอยู่ข้างถนน และก็มักจะเห็นครูผู้หญิงเดินนำเป็นหัวแถว  ซึ่งครูก็แต่งชุดสีกากี  ก็ดูไม่ออกครับ ว่าเป็นชุดลูกเสือหรือชุดข้าราชการ

ถนนที่กล่าวถึงนี้  ในสมัยก่อนนั้นเป็นถนนลูกรัง รถวิ่งกันฝุ่นคลุ้งตลบอบอวนไปหมด  และรถก็จำเป็นต้องวิ่งด้วยความเร็วมากพอเพื่อที่จะให้ล้อลอยแตะอยู่บนยอดคลื่นของหินที่ถมถนน (ซึ่งจะทำให้ลดแรงกระแทกในรถ นั่งสบายขึ้น)   ยิ่งวิ่งด้วยเร็ว ฝุ่นก็ยิ่งเกิดมากและหนาแน่นไปหมด รวมทั้งเศษหินก้อนเล็กๆอีกด้วย     


กระทู้: ครู นักเรียน และการศึกษาในชนบทห่างไกล
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ม.ค. 16, 19:58
ฝุ่นนั้นก็มากมาย ขนาดเรานั่งอยู่ในรถผมเผ้าก็ยังเป็นสังกะตัง ถูกย้อมเป็นสีน้ำตาลโดยไม่ต้องย้อมด้วยยาย้อมผมดังที่นิยมกันในปัจจุบัน

ภาพที่ทำให้ใจหดหู่ก็คือ เด็กๆและคุณครูจะต้องหยุดยืนมองรถและแสดงความเคารพ คือแทนที่จะหันหน้าออกไปจากถนนเพื่อหลบฝุ่น  สะเทือนใจครับ สุดจะบรรยาย

มาเข้าใจในเวลาต่อมาไม่นานว่า ก็เพราะเราใช้รถแลนด์โรเวอร์นั่นเอง   รถนี้มีแต่ส่วนราชการใช้ และหน่วยที่ใช้มากที่สุดก็มีไม่กี่หน่วยหรอกครับ แถมยังไม่ใช่ส่วนราชการท้องถิ่นอีกต่างหาก     ฝ่ายครูและนักเรียนถูกระบบกำกับว่า พวกใช้รถนี้เป็นพวกนายเท่านั้น แสดงความเคารพไว้ก่อน ไม่เสียหายอะไร ดีกว่าถูกตำหนิในภายหลัง


กระทู้: ครู นักเรียน และการศึกษาในชนบทห่างไกล
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 ม.ค. 16, 20:18
ด้วยรู้สำนึกแต่นั้นมา ผมไม่เคยไม่แสดงตอบต่อการเคารพของเด็กๆในชนบทอีกเลย   

แล้วก็เริ่มให้ความสนใจและพยายามที่จะเข้าไปเคาะประตูและเปิดม่าน (break barrier) เข้าไปเพื่อวิสาสะกับคุณครูที่อยู่ในท้องถิ่นห่างไกลทั้งหลาย    ได้ผลสำเร็จบ้างไม่ได้บ้าง    แต่ส่วนใหญ่จะไม่สำเร็จ เพราะครูก็จะพยายามไม่เปิดประตูรับ ก็เข้าใจหรอกนะครับว่า เราเป็นใครก็ไม่รู้ จะมาหรอกอะไรกันบ้าง ไม่รู้จักหัวนอนปลายตีน แถมไม่รู้หรือไม่เข้าใจสิ่งที่เราคิด และการกระทำของเราซึ่งผิดแผกไปจากประเพณีปฏิบัติหรือวัฒนธรรมองค์กรของเขา   


กระทู้: ครู นักเรียน และการศึกษาในชนบทห่างไกล
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 16 ม.ค. 16, 22:23
ย้ายจากห้องห้วย ตามมาเข้าห้องนี้อีก
หัวข้อกระทู้น่าสนใจครับ
อาจารย์naitangเล่าเรื่องวิชาการ ออกมาเป็นเรืองเล่าที่มีมิติทั้งด้านกว้างและด้านลึก
จึงได้ทั้งความรู้และเห็นภาพไปด้วยในขณะเดียวกัน


กระทู้: ครู นักเรียน และการศึกษาในชนบทห่างไกล
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ม.ค. 16, 19:54
ขอบคุณครับ

ผมนำเอาเรื่องที่พบปะมาในชีวิตจริงๆมาเล่าสู่กันฟัง   ก็คิดว่าอย่างน้อยหากผู้ใดจะเก็บเอาไปโม้ ไปฝัน หรือไปมโนใดๆต่อไป ก็ยังพอจะตั้งอยู่บนฐานของความเป็นจริงอยู่บ้างครับ


กระทู้: ครู นักเรียน และการศึกษาในชนบทห่างไกล
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 ม.ค. 16, 20:29
นำไปดูทางด้านลักษณะและสภาพทางกายภาพนะครับ

โรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นในท้องถิ่นชนบทห่างไกลทั้งหลายนั้น ส่วนราชการเขาก็จะต้องพิจารณาแล้วว่า จะสร้าง ณ จุดตรงใหนจึงจะดีที่สุด บรรลุวัตถุประสงค์ได้สูงสุด    ในสมัยก่อนนั้นเขาคงไม่คิดตั้งโรงเรียนบนฐานความคิดแบบว่า หนึ่งหมู่บ้าน(หรือหนึ่งตำบล)หนึ่งโรงเรียน  แต่อย่างน้อยก็น่าจะต้องมีการกระจายให้ได้เพื่อสนองต่อชุมชนในแถบถิ่นนั้นๆ
   
โดยลักษณะของการแบ่งเขตการปกครอง ซึ่งใช้การพิจารณาจำนวนของประชากร และใช้การแบ่งเขตอำนาจทางการปกครองด้วยตัวลำห้วยหรือสันเขาเป็นเส้นกำหนดเขต  เหล่านี้ยังผลให้เกิดการซอยชุมชนหรือหมู่บ้านแยกกันออกไปสังกัดอยู่ในเขตการปกครองที่ต่างกัน 

ผลที่เกิดตามมาประการหนึ่งก็คือ ที่ตั้งของโรงเรียนจึงอาจจะอยู่ใกล้ชุมชนหนึ่งแต่อยู่ห่างจากอีกชุมชนหนึ่ง  แถมที่ว่างที่จะก่อสร้างโรงเรียนนั้นก็จะอยู่ห่างจากพื้นที่ๆชุมชนเขาอาศัยรวมกันอยู่     เกิดสภาพโรงเรียนตั้งอยู่ห่างจากตัวหมู่บ้าน         


กระทู้: ครู นักเรียน และการศึกษาในชนบทห่างไกล
เริ่มกระทู้โดย: unicorn9u ที่ 18 ม.ค. 16, 10:20
มาลงชื่อว่าติดตามอ่านอยู่นะครับ ทั้งห้วยขาแข้งและกระทู้นี่


กระทู้: ครู นักเรียน และการศึกษาในชนบทห่างไกล
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 18 ม.ค. 16, 11:41
ถนนที่กล่าวถึงนี้  ในสมัยก่อนนั้นเป็นถนนลูกรัง รถวิ่งกันฝุ่นคลุ้งตลบอบอวนไปหมด  และรถก็จำเป็นต้องวิ่งด้วยความเร็วมากพอเพื่อที่จะให้ล้อลอยแตะอยู่บนยอดคลื่นของหินที่ถมถนน (ซึ่งจะทำให้ลดแรงกระแทกในรถ นั่งสบายขึ้น)   ยิ่งวิ่งด้วยเร็ว ฝุ่นก็ยิ่งเกิดมากและหนาแน่นไปหมด รวมทั้งเศษหินก้อนเล็กๆอีกด้วย      

ฝุ่นนั้นก็มากมาย ขนาดเรานั่งอยู่ในรถผมเผ้าก็ยังเป็นสังกะตัง ถูกย้อมเป็นสีน้ำตาลโดยไม่ต้องย้อมด้วยยาย้อมผมดังที่นิยมกันในปัจจุบัน

เมื่อ ๓๐ ปีก่อนสมัยยังเรียนอยู่เคยไปออกค่ายของคณะฯกับหน่วยงาน ร.พ.ช. แถวภาคอีสาน ท่านจัดรถบรรทุกใหญ่ให้คันหนึ่ง เหล่าบรรดาชาวค่ายทั้งหลายเมื่อต้องออกไปทำกิจกรรมก็ต้องนั่งในส่วนท้ายรถบรรทุกนี้แหละ ดีหน่อยที่มีผ้าใบคลุมด้านข้าง เว้นไว้ที่ส่วนท้ายพอให้หายใจได้ รถวิ่งไปได้ไม่เท่าไรทุกคนถูกย้อมด้วยฝุ่นลูกรังเหมือนอย่างที่คุณตั้งบรรยายทุกประการ แต่ด้วยวัยขณะนั้นทุกคนไม่มีความรู้สึกทุกข์ร้อนกลับสนุกสนานกันเสียอีก

ไม่นานมานี้ได้เดินทางเข้าไปในหมู่บ้านแถวอีสาน ถนนหนทางแปรสภาพเป็นถนนคอนกรีตอย่างดี ไม่เห็นถนนลูกรังอย่างอดีต หรือเขาจะพาหลบเลี่ยงถนนลูกรังก็ไม่ทราบ  ;D


กระทู้: ครู นักเรียน และการศึกษาในชนบทห่างไกล
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ม.ค. 16, 19:42
เรื่องของฝุ่นที่เกิดมาจากการกระทำของคนนี้    เราท่านทั้งหลาย รวมทั้งวิศวกรที่กำกับงานก่อสร้างและบุคลากรในงานสาธารณสุขอาจจะไม่เคยได้คำนึงถึงเลยว่า มันทำให้เกิดโรคภัยชนิดหนึ่งที่เรียกกันสั้นๆว่า Silicosis   ซึ่งในภาพง่ายๆก็คือ เราหายใจเข้าไปพร้อมฝุ่นที่ประกอบไปผงฝุ่น (particle) ที่มีขนาดเม็ดใหญ่กว่าของฝุ่นที่เกิดเองตามธรรมชาติ   ผงฝุ่นที่หายใจเข้าไปในปอดนี้มันเป็นพวกสารและสารประกอบซิลิกา(Silica_SiO2 & silicate minerals)เหล่านั้น มันก็จะถูกจับด้วยเมือกให้อยู่ในปอดของเรา ไปอุดตันโพรงอากาศของปอด ความสามารถในการแลกเปลี่ยนออกซิเจนน้อยลง   ง่ายๆก็คือปอดตัน   ผลก็เป็นอย่างที่พอจะเดาได้และพอรู้ๆกันอยู่ ก็คือหายใจได้ไม่เต็มที่ เหนื่อยง่าย หมดแรง   อาการของโรคนี้จะค่อยๆเกิดก็ได้ (หลายปี) หรือจะเกิดอย่างรวดเร็วก็ได้ (หลายเดือน) 

ผู้ใหญ่โดยเฉพาะผู้ชายชาวบ้านตามปรกติจะมีผ้าขะม้าคาดเอว ใช้สารพัดตั้งแต่เป็นผ้าเช็ดตัว โพกหัวกันแดด ปูนอน ทำเปล ปิดจมูกกันฝุ่น ...ฯลฯ    แต่เด็กและครูผู้หญิงที่เดินอยู่ข้างถนนไม่มีอะไรเลย   แถมทั้งครูผู้ชาย ครูผู้หญิง และเด็กนั้น หากจะใช้ผ้าขะม้า(อย่างผู้ใหญ่ชายที่กล่าวมา)ก็คงเป็นเรื่องที่มิใช่มิใช่หรือ ก็อยู่ในชุดนักเรียนและชุดข้าราชการนี่...

วิชาชีพของผมที่เรียนมา ได้มีการผนวกเรื่องทางสาธารณสุขและโรคภัยต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้น ที่เกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมและการกระทำที่จะเกิดต่อเนื่องต่อไปจากผลของงานที่เราได้สำรวจพบมา       


กระทู้: ครู นักเรียน และการศึกษาในชนบทห่างไกล
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ม.ค. 16, 20:38
ต่อเรื่องโรงเรียนนะครับ

ความเป็นโรงเรียนที่มีชีวิตนั้น มันจะต้องประกอบด้วยการมีนักเรียน มีครู และมีการสอน     

...ในพื้นที่จริงๆนั้น พอจะเดาได้ใหมครับว่า หมู่บ้านหนึ่งๆนั้นจะมีเด็กในวัยทึ่ควรจะต้องได้รับการศึกษามากน้อยเพียงใด และเด็กเหล่านั้นเขาจะมีอายุเท่าๆกัน หรือไล่เรียงกัน หรือห่างกันอย่างไร 

ลองดูสภาพในปัจจุบันนะครับ ในหนึ่งหมู่บ้านประมาณ 100 หลังคาเรือน มีชาวบ้านประมาณ 500 คน จะมีเด็กในรุ่นอายุใกล้ๆกันอยู่เพียงประมาณ 25 คน     ก็เอาเป็นว่า ใน 1 หมู่บ้านจะมีเด็กเล็กประมาณ 25 คนที่มีอายุแก่อ่อนกว่ากันไม่มากนักเกินกว่าที่จะเรียนร่วมกันได้   ซึ่งก็คือ 1 ห้องเรียน    2 หมู่บ้านก็จะมี 50 คน ก็จะเป็น 1 หรือ 2 ห้องเรียน ....   

เมื่อเป็นลักษณะการณ์ดังกล่าวนี้ เราก็จะต้องมีโรงเรียนที่ใหญ่ขึ้นที่สามารถรองรับการเรียนต่อของนักเรียนในระดับที่สูงขึ้น (ก็ด้วยต้องใช้ครูที่มีความสามารถในทางวิชาการหลากหลายสาขา)     


กระทู้: ครู นักเรียน และการศึกษาในชนบทห่างไกล
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 ม.ค. 16, 21:01
ครับ  ก็เลยทำให้เราได้เห็นภาพของโรงเรียนที่มีลักษณะเป็นโรงเรือนคร่อมพื้นดิน ใช้เสาไม้จริงหรือเสาไม้ไผ่มุงหลังคาด้วยหญ้าคา ไม่มีผนังอาคาร จะแบ่งออกเป็นสองส่วนพื้นที่(สองห้อง) คั่นด้วยกระดานดำ แต่ละห้องจะมีม้านั่งยาวเป็ยนแถวๆ สำหรับเด็ก 2-4 คนนั่งบนแต่ละม้านั่ง อาจจะมีหรือไม่มีโต๊ะเขียนหนังสือ     

ก็เป็นภาพของโรงเรียนแห่งแรกของชีวิตนักเรียนชาวบ้านป่า ครูที่มาสอนก็มีทั้งครูที่เดินมาสอนตามตารางเวลาประจำสัปดาห์ หรือครูที่เป็น ตชด. 

เด็กจากโรงเรียนลักษณะที่กล่าวมานี้ หากจะเรียนต่อก็จะต้องตื่นแต่เช่้าเพื่อเดินไปเรียนรวม ณ อีกโรงเรียนหนึ่ง ซึ่งเป็นอาคารที่ใช้ไม้จริง มีผนังอาคาร มีสนามเล็กๆและมีเสาธงหน้าโรงเรียน    ผมคิดว่าน่าจะเป็นโรงเรียนสำหรับระดับหมู่บ้านขนาดใหญ่


กระทู้: ครู นักเรียน และการศึกษาในชนบทห่างไกล
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 ม.ค. 16, 20:16
เด็กที่มาเรียนอยู่ในห้องเรียนของโรงเรียนหลังคาจากผนังโปร่งนี้ มีผสมผสานกันระหว่างเด็กตัวเล็ก เด็กตัวโตๆ บางทีก็มีแม่เฒ่ามานั่งเรียนอยู่ด้วย   จะว่าไม่เคยเห็นพ่อเฒ่ามาเรียนเลยก็น่าจะได้อยู่ครับ

เด็กนักเรียนทั้งหลายไม่แต่งชุดนักเรียน แถมมาด้วยเท้าเปล่าอีกต่างหาก คนที่แต่งชุดนักเรียนก็คงจะเป็นชุดลูกเสือของพี่ชายนั่นเอง กระดุมแทบจะไม่มีเหลือติดสาบเสื้อเลยสักเม็ด  หน้าตาเด็กอาจจะดูมอมแมมไปสักนิด แต่ก็เป็นความสะอาดแบบชาวบ้านป่านะครับ

เรื่องหนังสือเรียน หรือกระดาษนั้น ไม่ต้องกล่าวถึง  กระทั่งชอร์คที่ครูใช้เขียนกระดานนั้น ก็สั้นจุ๊ดจู๋เต็มทน

เท่าที่เห็นมา ครูทุกคนจะถือไม้เรียว แต่มิใช่ใช้เพื่อกำราบเด็กนักเรียนนะครับ  ใช้ตีโต๊ะเพื่อให้จังหวะสำหรับเด็กท่องอักขระต่างๆ   


กระทู้: ครู นักเรียน และการศึกษาในชนบทห่างไกล
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ม.ค. 16, 19:04
ก็คงจะพอเห็นสภาพทั่วๆไปกันบ้างแล้วนะครับ

คราวนี้ก็มาถึงเรื่องส่วนที่เป็นชีวิตของคุณครู

โดยหน้าที่ คุณครูจะต้องสอนให้เด็กอ่านออกเขียนได้  รู้จักความเป็นคนดี   รู้จักวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม   รู้จักในเรื่องสุขอนามัยของตนเองและส่วนรวม     ก็ลองพิจารณาดูเองนะครับว่า  เรื่องเหล่านี้ต้องการอุปกรณ์ประกอบการสอนเช่นใดบ้าง   

     


กระทู้: ครู นักเรียน และการศึกษาในชนบทห่างไกล
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 ม.ค. 16, 19:22
สำหรับโรงเรียนแบบหลังคาจากผาโปร่งนั้น ผมเคยเห็นครูสะพายย่ามขนหนังสือที่เด็กจะใช้เรียนสำหรับวันนั้น สอนเสร็จก็ขนกลับไปใช้สอนอีกที่หนึ่ง

น่าภูมิใจนะครับ ที่ครูเหล่านี้มีความรับผิดชอบสูงมาก  รู้ว่าหน้าที่ของตนมีอย่างไรก็พยายามทำให้สัมฤทธิ์ผล  เราจึงเห็นเด็กบ้านป่ามีความเรียบร้อย รู้จักกาลเทศะพอสมควรแก่เหตุ มีสุขอนามัยพอได้  พอจะอ่านออกเขียนได้และพอจะสื่อสารผ่านทางหนังสือได้

ด้วยความน่ารักของความเป็นผ้าขาวพับไว้ ครูก็อดไม่ได้ที่จะต้องมีรางวัลให้กับเด็กบ้าง ก็จึงไม่แปลกนักที่จะเห็นครูใช้เงินของตนเองซื้อลูกอมบ้าง แปรงสีฟันบ้าง ยาสีฟันบ้าง ดินสอ ยางลบ (ก็ใช้ทั้งสอน และแจก) ฯลฯ     


กระทู้: ครู นักเรียน และการศึกษาในชนบทห่างไกล
เริ่มกระทู้โดย: walai ที่ 21 ม.ค. 16, 06:37
 : :D  ข้อเขียนของคุณ naitang คงจะกระทบต่อม ความภาคภูมิใจ ความปิติยินดี ของคุณครูในชนบททุกท่าน เป็นเสมือนน้ำทิพย์ให้ความชุ่มชื่นใจอย่างแท้จริงค่ะ :D


กระทู้: ครู นักเรียน และการศึกษาในชนบทห่างไกล
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ม.ค. 16, 19:17
ครับ  ก็เป็นความตั้งใจที่จะเปิดประตูวิถีชีวิตของครูในชนบทให้ได้รับทราบกัน


กระทู้: ครู นักเรียน และการศึกษาในชนบทห่างไกล
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ม.ค. 16, 19:40
ครั้งหนึ่งผมไปทำงานในพื้นที่ของ อ.แม่จริม จ.น่าน  ช่วงเวลาหลังจากเกิดเหตุปะทะกันระหว่างไทย-ลาว ไม่นานนัก ก็เป็นพื้นที่ติดชายแดนผมทราบว่า มีครูผู้หญิงคนหนึ่งเพิ่งบรรจุใหม่ เดินขึ้นเขาคนเดียวไปเพื่อสอนนักเรียนในหมู่บ้านสร้างใหม่ของทางราชการ พวกผมยังสงสัยเลยว่าแล้วไม่กลัวอะไรบ้างหรือ  ครั้นพอสิ้นเดือนก็ต้องเดินลงมาเข้าเมืองเพื่อรับเงินเดือนและจัดการกับระบบทางการเงินของทางราชการ  ปฎิบัติเช่นนี้ทุกๆเดือน

ในพื้นที่อื่นๆก็มีครับ แต่มักจะเห็นเป็นครูผู้ชายคนเดียว หรือไม่ก็มีครูผู้ชายคนหนึ่งกับครูผู้หญิงอีกคนหนึ่ง (หรือสองสามคน)  ครูผู้ชายก็เลยต้องรับหน้าที่เข้าเมืองเพื่อรับเงินเดือนแทน

ผมไม่ทราบหรอกครับว่า ค่าใช้จ่ายในเดินทางนั้นจะเบิกได้หรือไม่ บางแห่งก็ต้องลงมาค้างคนในหมู่บ้าน แล้วรอรถประจำทาง ที่มีวิ่งวันละเที่ยว หากเป็นหน้าฝนรถวิ่งไม่ได้ก็ต้องเดินเอา


กระทู้: ครู นักเรียน และการศึกษาในชนบทห่างไกล
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 ม.ค. 16, 20:01
ไม่ว่าจะเป็นการใช้รถหรือการเดิน ก็เป็นการใช้เวลาครั้งละหลายวัน  แถมอาจจะมีการเรียกประชุม หรือมีงานทางราชการอื่นๆอีกสารพัด เวลาของการสอนก็จะจำกัดลง ฯลฯ 


กระทู้: ครู นักเรียน และการศึกษาในชนบทห่างไกล
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 21 ม.ค. 16, 20:46
ขอชื่นชมคนเล็กๆอย่างครูชนบท ที่เป็นมือยิ่งใหญ่ในการประคับประคองเยาวชนของชาติค่ะ

อ่านแล้วทั้งๆรู้ว่าเป็นเรื่องเกิดนานมาแล้ว   ป่านนี้ครูผู้หญิงที่เดินทางเดี่ยวคนนั้นอาจจะเกษียณ หรือย้ายไปประจำที่อื่นแล้ว   ก็ยังอดใจหายแทนไม่ได้ค่ะ


กระทู้: ครู นักเรียน และการศึกษาในชนบทห่างไกล
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 22 ม.ค. 16, 09:10
ครูดีมีอยู่ทุกกาลสมัย   ;D

ครูดอยไม่ใช่แค่คนที่สอนหนังสือ แต่ยังเป็นพ่อ-แม่ เป็นหมอ เป็นช่างตัดผม เป็นทุก ๆ อย่าง ภาพวันนี้ครูรัชนก เงินงามมีสุข ครูดอย กศน.อ.ท่าสองยาง ขณะกำลังแบกนักเรียนที่ป่วยอาเจียนหมดแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ ตอนนี้นำส่งโรงพยาบาลท่าสองยางถึงมือแพทย์แล้ว ครูขึ้นดอยนำนักเรียนส่งหมอแม้จะเป็นช่วงเวลาวันหยุดของครูดอย ในโลกนี้ยังมีคนดี ๆ อีกมากที่คุณไม่รู้ว่าพวกเขาทำอะไรอยู่

เรื่องและภาพจาก เฟซบุ๊กของคุณภาณุ วงษ์ถาวรเรือง (https://www.facebook.com/photo.php?fbid=1215499465131666&set=pcb.1215501518464794&type=3)


กระทู้: ครู นักเรียน และการศึกษาในชนบทห่างไกล
เริ่มกระทู้โดย: walai ที่ 22 ม.ค. 16, 16:08
คุณภาณุ วงษ์ถาวรเรือง ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน อ.ท่าสองยาง จ.ตาก คงมีเรื่องราวเกี่ยวกับงานการศีกษานอกโรงเรียนสำหรับชาวเขา และ เรื่องที่น่ารับรู้ของ ครูดอย เล่าให้ฟังมากมาย ท่านผู้เยือนเรือนไทยบางท่าน  อาจมีความประทับใจและช่วยเสริมคุณ naitang บ้างนะคะ :-[


กระทู้: ครู นักเรียน และการศึกษาในชนบทห่างไกล
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ม.ค. 16, 19:28
ขอบคุณสำหรับ...เม้นท์ต่างๆครับ

เรามักใช้คำว่า ครูดอย และ ครูบ้านนอก  เป็นคำเรียกแทนครูที่สอนอยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกล  ซึ่งบางครั้งทั้งสองคำนั้นก็ใช้สื่อความหมายไปในทางที่ไม่ดี   

ครูในพื้นที่ชนบทห่างไกลนี้เอง คือ กลไกที่สำคัญอย่างยิ่งในกระบวนความมั่นคงของรัฐ ทั้งในด้านเศรษกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม การสาธารณสุข และการป้องรักษาความเป็นมนุษย์   แต่น่าเสียดายที่บรรดาครูผู้ที่เสียสละและมีความรับผิดชอบสูงกลับถูกละเลยค่อนข้างมากในเรื่องของการสนับสนุนในเกือบจะทุกด้าน

ดังที่คุณเพ็ญชมพูว่าไว้ละครับ แม้ว่าครูในชนบทมีหน้าที่ในการสอนหนังสือ แต่ครูต้องเป็นบุคคลที่ต้องทำได้ทุกอย่าง   ครูในชนบทจึงเป็นเสมือนตัวแทนของงานราชการทุกกระทรวง  ในปัจจุบันนี้อาจจะต้องเลยเถิดไปเป็นเสมือนตัวแทนขององค์กรอิสระและองค์กรเอกชนต่างๆ

ครับ เป็นงานที่ต้องลงแรงทำ ไม่มีค่าตอบแทน ไม่มีงบฯ ไม่มีเครื่องมืออุปกรณ์สนับสนุนอย่างพอเพียง ไม่มี.... 


กระทู้: ครู นักเรียน และการศึกษาในชนบทห่างไกล
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 ม.ค. 16, 19:46
โรงเรียนใดมีขนาดใหญ่หน่อย ก็อาจมีบ้านพักครูอยู่ในพื้นที่ของโรงเรียน  แต่ก็สร้าง..โน่นแนะครับ..อยู่ท้ายโรงเรียน ชิดป่าดงไปเลย  ไฟก็ไม่มี น้ำก็ไม่มีประปา ต้องไปตักเอาจากบ่อน้ำ โดดเดี่ยวก็โดดเดี่ยว ว้าเหว่พึลึก??  จะหาซื้ออาหารก็ต้องเดินเข้าหมู่บ้าน แต่ตลาดหรือร้านขายของก็ไม่มี โชคดีก็อาจมีชาวบ้านหาบผักหาบเนื้อมาร้องขาย

แล้วจะไม่ให้ครูรู้สึกอยากมีพาหนะของตนเองบ้างหรือ ??  หรือไม่อยากจะให้มีอะไรที่มันสร้างความสุนทรีย์ให้กับชีวิตบ้างหรือไร ?? .......


กระทู้: ครู นักเรียน และการศึกษาในชนบทห่างไกล
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ม.ค. 16, 18:07
ภาพของอำเภอที่ไม่มีตลาดสด แต่มีพ่อค้าแม่ค้าหาบผักหาบเนื้อมาเร่ขายตามบ้านคนนี้ ยังเคยเห็นที่ในตัว อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เมื่อ พ.ศ.2520+ (ช่วงเวลากำลังเริ่มก่อสร้างเขื่อนเขาแหลม)    ผักที่หาบมาเดินขายนี้ ทั้งหมดจะเป็นแม่ค้า  ส่วนเนื้อนั้นจะเป็นพ่อค้า  เนื้อไม่ได้มีขายทุกวัน ขึ้นอยู่กับว่าจะมีการล้มหมูหรือล้มวัวกันในวันไหน ก็อาจจะเป็นสองสามสัปดาห์ครั้งหนึ่ง หรือเป็นเดือนหรือหลายเดือนก็ได้  เนื้อสัตว์จึงเป็นสิ่งที่ชาวบ้านต้องออกไปหา ผู้ใดได้มาก็จะแบ่งปันกัน ให้กันบ้าง ขายกันบ้าง

ครูในถิ่นห่างไกลจะมีผักมีเนื้อกินได้ก็จากการปันของชาวบ้านนี้แหละ     


กระทู้: ครู นักเรียน และการศึกษาในชนบทห่างไกล
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ม.ค. 16, 18:56
อีกเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องเกี่ยวกับการรับรู้และการก้าวทันกับข้อมูลข่าวสารต่างๆ   หนังสือพิมพ์ก็ไม่มี แม้จะได้รับมาก็ยังไม่ต่อเนื่องกัน (วันเว้นเจ็ดวัน..อะไรทำนองนี้)  แถมยังเป็นกรอบเช้าบ้าง กรอบบ่ายบ้างอีกต่างหาก  หลายเรื่องราวจึงกระโดดไปมา

ข่าวสารที่ได้รับที่จะเท่าทันเหตุการณ์มากที่สุดก็คือจากวิทยุ  ซึ่งก็อุดมไปด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับสรรพคุณของบรรดายาต่างๆและเครื่องประทินผิว มากกว่าจะเป็นข่าวสารที่มีสาระก้าวทันโลก  ก็ยังโชคดีครับ ที่ยังมีการกระจายเสียงด้วยคลื่น AM ซึ่งสัญญาณสามารถแพร่ไปได้ไกลในทุกสภาพภูมิประเทศ     

ในปัจจุบันนี้ คลื่น AM ก็ยังมี แต่รับได้กระท่อนกระแท่นมาก เพราะเครื่องรับวิทยุพื้นฐานสำหรับสัญญาณ AM ไม่ได้มีการพัฒนาเท่าที่ควร หันไปพัฒนาสำหรับคลื่น FM กันหมด ซึ่งคลื่นในระบบ FM นี้ไม่ค่อยจะกระจายไปถึงพื้นที่ไกลปืนเที่ยง แถมส่วนมากก็มีแต่เพลง มีข่าวสั้น 1-2 นาทีคั่นเป็นช่วงๆ (ฟังออกแต่ไม่รู้เรื่องราว) และข่าวที่ส่งกระจายออกมา...(ก็แล้วแต่จะวิพากษ์นะครับ)   


กระทู้: ครู นักเรียน และการศึกษาในชนบทห่างไกล
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 ม.ค. 16, 19:35
ก็มีตัวจักรกลที่สำคัญตัวหนึ่งที่ทำให้ระบบต่างๆในชนบทห่างไกลมันเดินได้ มีการไหลเวียนขององค์ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร และการเชื่อมโยงผูกพันกันในเรื่องต่างๆ (ความมั่นคง ความปลอดภัย การศึกษา สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ)  ...ตชด. ครับ

ผมเข้าไปทำงานในพื้นที่ห่างไกลอยู่นาน ก็เห็น ครู กับ ตชด. นี่แหละที่เป็นกาวช่วยปะ ช่วยเชื่อม ช่วยปะติดปะต่อความต่างและความห่างระหว่างสังคมเมืองกับสังคมชนบท ให้สามารถเดินไปได้ด้วยกันตามสมควรแก่เหตุ       


กระทู้: ครู นักเรียน และการศึกษาในชนบทห่างไกล
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 ม.ค. 16, 20:28
ตชด. ถูกส่งไปประจำการและปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่ตะเข็บชายแดน ในพื้นที่แนวเขตประมาณไม่เกิน 25 กม.จากชายแดน ?? 

เขามีฐานอยู่เป็นจุดๆ แต่ก็มีการเดินตระเวณไปตามชุมชนบ้านต่างๆ 

หน้าที่หลักก็คือการสร้างและรักษาความมั่นคง ส่วนหน้าที่รองนั้นมีหลากหลาย ตั้งแต่การข่าว การพัฒนาชุมชน การสอนหนังสือ การพ้ฒนาอาชีพ การสาธารณสุข  .....ฯลฯ มากมายจริงๆ

แต่หนึ่งในนั้นที่ผมเห็นก็คือ ตชด.เป็นเสมือนเส้นเลือดที่ทำให้เกิดการถ่ายเทไหลไปไหลมาของข้อมูลข่าวสาร  รวมถึงยาบำรุงที่ทำให้ร่างกายส่วนปลายทั้งหลายยังคงยังดำเนินวิถีต่อไปได้ ฯลฯ


กระทู้: ครู นักเรียน และการศึกษาในชนบทห่างไกล
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ม.ค. 16, 18:49
เล่าเลยเถิดมาถึง ตชด. ก็เพียงเพื่อจะบอกว่า ในชนบทห่างไกลใกล้พื้นที่ชายแดนนั้น มีเพียงครูกับ ตชด.เท่านั้นที่เป็นผู้ดำเนินภารกิจเสมือนหนึ่งเป็นตัวแทนของส่วนราชการส่วนกลางทุกๆหน่วย  ทั้งสองจึงมีความเชื่อมโยงและผูกพันกันอย่างฉันมิตร   ในพื้นที่ ครูจะได้รับการสนับสนุนจาก ตชด.ในเกือบจะทุกเรื่อง    เป็นภาพคล้ายๆกับว่า ตชด.เป็น messenger ครูเป็นผู้ deliver

แท้จริงแล้ว ภาพของชนบทห่างไกลในพื้นที่ไกลปืนเที่ยงทั้งหลาย ที่เราเห็นทั้งในเชิงของรูปธรรมและนามธรรมทั้งหลายเหล่านั้น เกือบจะกล่าวได้ว่ามาจากการปฎิบัติการ (execute) ของครูและ ตชด. เพียงไม่กี่คนในพื้นที่นั้นๆ 


กระทู้: ครู นักเรียน และการศึกษาในชนบทห่างไกล
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ม.ค. 16, 19:11
ด้วยที่ว่าพอจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร  เมื่อครั้งยังทำงานเข้าป่าดงอยู่นั้น ผมจะซื้อหนังสือพิมพ์หลากหลายฉบับ และขนมสำหรับเด็กติดตัวไปด้วยเสมอ  หนังสือพิมพ์นั้นเมื่อมีเวลาว่าง ทุกคนในคณะก็จะอ่าน อ่านซ้ำไปซ้ำมา อ่านทุกหน้าและแทบจะทุกตัวอักษร แล้วก็จะพับเก็บสะสมไว้อย่างดี มันเป็นเครื่องแก้เหงาได้อย่างดีทีเดียว  เมื่อผ่านโรงเรียนก็ส่งต่อให้ครู อย่างน้อยก็ช่วยแก้เหงาให้ครู และครูก็พอจะติดตามข่าวคราวต่างๆได้บ้าง  ส่วนขนมเด็กนั้นก็แจกเด็กในหมู่บ้านไปตามวาระอันควร

ปัจจุบันนี้สภาพต่างๆเปลี่ยนไปมากแล้ว ครูทั้งหลายเข้าถึงข่าวสารได้ง่าย แต่มันก็เป็นข่าวสารทางไกลที่น่ากลัว มั่วไปหมด มีทั้งจริง มีทั้งเท็จ มีทั้งสร้างขึ้น มีทั้งบิดเบือน 


กระทู้: ครู นักเรียน และการศึกษาในชนบทห่างไกล
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 ม.ค. 16, 19:28
ก่อนกระทู้นี้จะลาโรง   ก็อยากเพียงจะบอกว่า ครูในชนบทก็อยากจะมีความรู้เพิ่มเติมในเชิงของความรอบรู้ในเรื่องต่างๆ ด้วยว่าเมื่อชาวบ้านอยากจะรู้อะไรก็จะมาถามครูนี่แหละ   

ครับหากพอจะทำได้  หนังสือตำราบางอย่างของเราที่เก่าที่ไม่ใช้แล้วเหล่านั้น (วิธีทำปุ๋ยหมัก ปลูกพริก ปลูกผัก ทำอาหาร เลี้ยงสัตว์ ....ฯลฯ)  ก็ผูกมัดรวมกัน เดินทางผ่านโรงเรียนแบกะดินที่ใหน ผ่าน ตชด.ที่ใหนก็ถามไถ่เขาว่าต้องการใหม   หากไม่มีผู้ใดสนใจ สุดท้ายก็ยังเอาไปให้วัดซึ่งมักจะมีสถานที่ทำเป็นศูนย์ศึกษา....ต่างๆ

ครับผม


กระทู้: ครู นักเรียน และการศึกษาในชนบทห่างไกล
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 01 ก.พ. 16, 06:50
นึกถึงครูบ้านนอกในตำนาน เมื่อ ๓๐ กว่าปีมาแล้ว

ครูปิยะ และ ครูดวงดาว

http://youtube.com/watch?v=WtYH4jxtWu8#ws (http://youtube.com/watch?v=WtYH4jxtWu8#ws)