เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ค. 17, 13:11



กระทู้: เจ้าพระยาธรรมาธิกรณฯ ในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 ก.ค. 17, 13:11
กระทู้นี้จะเป็นการรวบรวมว่า เสนาบดีกระทรวงวังในอดีต ตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ มีใครบ้างค่ะ

ในยุคที่ไทยยังแบ่งระบบราชการเป็น 4  กรม เรียกว่า จตุสดมภ์  หรือ เวียง วัง คลัง นา    แต่ละกรมมีเสนาบดีผู้บังคับบัญชาสูงสุดระดับเจ้าพระยา    คือ เจ้าพระยายมราช ปกครอง เวียง หรือมหาดไทย   วัง  เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี   คลัง มี เจ้าพระยาพระคลัง หรือโกษาธิบดี    และนา มี เจ้าพระยาพลเทพ เป็นเสนาบดี
ระบบจตุสดมภ์มาสิ้นสุดในสมัยรัชกาลที่ 5 ค่ะ

หยุดแค่นี้ รอนักเรียนขานชื่อตามเคย  เรียกเรตติ้งค่ะ


กระทู้: เจ้าพระยาธรรมาธิกรณฯ ในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: unicorn9u ที่ 13 ก.ค. 17, 15:21
ยกมือ มาครับ


กระทู้: เจ้าพระยาธรรมาธิกรณฯ ในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: ninpaat ที่ 13 ก.ค. 17, 16:27
"นินพัด มาครับ"

เป็นเสียงขานรับจากโต๊ะริมหน้าต่าง
แถวสองจากหน้าชั้น เช่นเคย


กระทู้: เจ้าพระยาธรรมาธิกรณฯ ในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 13 ก.ค. 17, 16:58
มาหลบอยู่หลังห้องครับ


กระทู้: เจ้าพระยาธรรมาธิกรณฯ ในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 14 ก.ค. 17, 10:41
แอบเล่นมือถืออยู่หลังห้องตรงข้างๆ ที่เก็บถังผงกับไม้กวาดครับ


กระทู้: เจ้าพระยาธรรมาธิกรณฯ ในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 14 ก.ค. 17, 12:42

   มานานแล้วครับ


กระทู้: เจ้าพระยาธรรมาธิกรณฯ ในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.ค. 17, 13:50
    มา 5  คน เปิดชั้นเรียนได้แล้ว
 
    ในวิกิ เทียบตำแหน่งเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี เสนาบดีกรมวัง ว่าเทียบเท่าตำแหน่งเลขาธิการสำนักพระราชวัง   แต่ในความเป็นจริง เมื่อย้อนหลังไปก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง สมัยเรายังอยู่ในระบอบราชาธิปไตย   ขอบเขตรับผิดชอบของกรมวังกว้างขวางกว่าสำนักพระราชวังมาก
     กรมวัง มีหน้าที่บังคับกิจการในพระราชวัง ดูแลพระราชฐาน ควบคุมการรับจ่ายในวัง รับผิดชอบงานพระราชพิธี บังคับบัญชาคนในวังยกเว้นคนของกรมมหาดเล็ก  นอกจากนี้ยังรับผิดชอบในเรื่องการยุติธรรม เพราะคติที่ถือว่าพระเจ้าแผ่นดินเป็นต้นของความยุติธรรมในสังคม กรมวังมีหน้าที่ดูแลศาลหลวง และการแต่งตั้งยกกระบัตรไปทำหน้าที่ดูและความยุติธรรมหรือเป็นหัวหน้าศาลในหัวเมือง
    กรมวังยังมีกรมย่อยอยู่ในสังกัด คือ
    1.กรมตำรวจวังซ้าย ขวา
    2.กรมพระราชยาน
    3.กรมพิมานอากาศ (เครื่องสูง)
    4.กรมช่างทอง ช่างเงิน
    5.กรมพระสุคนธ์
    6.กรมพระแสงใน
    7.คลังข้าวสาร
    8.กรมศุภรัตน์

    เมื่อมีการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กรมวังเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นกรมธรรมาธิกรณ์ มีพระยาธรรมาธิบดีศรีวิริยพงษวงษภักดีบดินทรเดโชชัยมไหสุริยาธิบดีศรีรันมณเทียรบาล เป็นเสนาบดี ศักดินา 10,000 ไร่


กระทู้: เจ้าพระยาธรรมาธิกรณฯ ในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 ก.ค. 17, 13:54
  ถ้ามีใครยกมือถามว่ากรมย่อยทั้ง 8 กรมทำหน้าที่อะไรบ้าง   ขอตอบว่ารู้เฉพาะบางกรม    บางกรมก็ต้องอาศัย verb to เดา  จึงเปิดโอกาสให้ครูอื่นๆเช่นครูเพ็ญชมพูมาตอบดีกว่าค่ะ


กระทู้: เจ้าพระยาธรรมาธิกรณฯ ในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: Anna ที่ 14 ก.ค. 17, 17:52
อาจจะเข้าชั้นเรียนสายไปบ้าง แต่ไม่เคยขาดเรียนนะคะ ;D


กระทู้: เจ้าพระยาธรรมาธิกรณฯ ในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: Praweenj ที่ 15 ก.ค. 17, 02:18
มาเข้าเรียนด้วยคนครับ  :D


กระทู้: เจ้าพระยาธรรมาธิกรณฯ ในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ก.ค. 17, 05:53
พระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน นาทหาร หัวเมือง ๑๒๙๘

พระราชบัญญัติ

ศุภมัศดุ ๑๒๙๘ สุนักขสังวัจฉระ กาลปักษยทัศมีดฤษถีอาทิตยวาร พระบาทสมเดจพระบรมไตรโลกนายกดิลก ผู้เปนเจ้าเกล้าภูวมณฑล สกลอาณาจักร อัคบุริโสดมบรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัว สถิตย ณ พระธินั่งเบญจะรัตนมหาปราสาทโดยบุรพาพิมุข จึ่งเจ้าพญาธรรมาธิบดีศรีรัตนมลเทียรกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า พระอนุชาธิราช พระราชกุมาร พระราชบุตร พระราชนัดดา ท้าวนางพระสนม แลจะไว้ศักดิ์ดั่งฤๅ จึ่งพระบาทพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการดำรัสตรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า

(๑๑. กรมวัง)

         ออกพญาธารมาธิบดีศรีวิริยพงษวงษภักดีบดินทรเดโชไชยมะไหยสุริยาธิบดีศรีรัตนมลเทียรบาล
อัคะมหาเสนาธิบดีอภัยพิรีบรากรมภาหุ                               นา ๑๐๐๐๐
หลวงบำเรอภักดิ                                                        นา ๑๐๐๐
หลวงรักษมณเฑียร                                                      นา ๑๐๐๐
จะหมื่นจงรักษาองค พระตำรวจวังซ้าย                                นา ๘๐๐
จะหมื่นจงภักดีองค  พระตำรวจวังขวา                                 นา ๘๐๐
นายประภาษมณเฑียร } ปลัดวัง                                       นาคล ๖๐๐
นายเสถียรรักษา
ประแดงก้อนทองขวา }                                                 นา ๔๐๐
ประแดงเกยดาบซ้าย
นายจันมณเฑียร      } ๑๒ คน                                        นาคล ๔๐๐
นายศรีเถียรภักดี
นายยี่สาร
นายจำเรียรภักดี
นายพิบูรรบริบาล
นายพิมารบริรัก
นายรัศบรรยง
นายจำนงภักดี
นายชำนิบริบาล
นายชำนาญมณเฑียร
นายสวัสดิภักดี
นายสวรรภักดี
ขุนยศเสสะวะราช สมุบาญชีย                                             นา ๖๐๐
ขุนศรีราชบุตร  ศาลมรฎก ๑   ขุนอินอาชญา วัง ๑      } ๔ คน      นาคล ๘๐๐
ขุนพรหมสุภา  นครบาลวัง ๑   ขุนเทพสุภา   แพ่งวัง ๑
ขุนอักษร เสมียรตรา                                                        นา ๖๐๐
         หลวงรัตนากร เจ้ากรมชาวที่พระบรรทม                         นา ๑๐๐๐
ชาวที่พระบันทม  ขุนอนุรักราชา ๑ ขุนศรีราชอาศ ๑ ปลัดกรม ๒ คน  นาคล ๖๐๐
                  หมื่นในกรมชาวที่                                         นาคล ๔๐๐
                   กำนันที่พระบันทม                                        นาคล ๒๐๐
        หลวงพิพิทมณเฑียร เจ้ากรมเฝ้าพระที่นั่ง                          นา ๔๐๐
ขุนพิมารมลเฑียร ปลัดกรม                                                 นา ๓๐๐
หมื่นในกรม                                                                  นา ๒๐๐



กระทู้: เจ้าพระยาธรรมาธิกรณฯ ในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ก.ค. 17, 06:02
           ออกพระราชฤทธานนพะหลภักดีศรีรัตนมณเฑียรบาล วังนอก    นา ๓๐๐๐
         ออกพระนนทเสนเสนาบดีศรีรัตนะมณเฑียรบาล วังนอก          นา ๓๐๐๐
ขุนทิพไพชณ     ๑  } ปลัดวังนอก                                          นาคล ๖๐๐
ขุนสกลมณเฑียร ๑
หมื่นสกลพิมาน   ๑
หมื่นภักดิบรรยง  ๑
หมื่นจำนงรักษา  ๑
ขุนจันพิมาร ชาวท่อ ๑  }                                                    นา ๖๐๐
             ชาวอ่าง ๑
ขุนกำแพงบุรี } การขาดกวาดหนามในพระราชวัง                        นา ๖๐๐
ขุนศรีวังราช
หมื่นทิวาวิต                                                                   นา ๔๐๐
พันทิวา        }                                                              นาคล ๒๐๐
พันทำมะรักษา
         ขุนราชพิมาร เจ้ากรมพระอุภิรมราทยาน                          นา ๑๐๐๐
พันเงิน   } คุมเครื่องแต่งเครื่อง                                            นา ๓๐๐
พันทอง
ขุนศรีสยุมอพร ชาวน้ำสรง                                                  นา ๖๐๐
หมื่นสุคนธ พะนักงานพระสุคนธ                                            นา ๔๐๐
หมื่นเทพสี  } ชาวเสื่อ                                                       นา ๔๐๐
หมื่นจักภักดี
หมื่นจิตรพัท  } ชาวม่าน                                                    นา ๔๐๐
หมื่นราชมงคล
หมื่นราชพิจิตร ชาวเบาะ   }                                                นาคล ๔๐๐
หมื่นยศไสยาศน์ ชาวพรม
       หลวงมหามณเฑียร เจ้ากรมแสงสรรพยุทพลับพลาไชย             นา ๑๐๐๐
ขุนวิเศศ ปลัดกรม                                                            นา ๘๐๐
หมื่นราชประสาท  } ชาวพระพลับพลาไชย                                นาคล ๔๐๐
หมื่นราชประการ
หมื่นพิมานมงคล
หมื่นนนทคฤ
ขุนแสงสาระภาท  } ชาวพระแสงสรรพยุท ๖ คน                          นาคล ๕๐๐
ขุนแสงเบญจาวุธ
ขุนแสงสาภะยุท
ขุนแสงศรีอาวุธ
ขุนยุทยาตรา
ขุนคชนาถภักดี
หมื่นขันไชศรี   }                                                             นาคล ๔๐๐
หมื่นสิทธิรัก
หมื่นทาธรยุท
ขุนพัทธาพอน   } ชาวไหม                                                 นาคล ๕๐๐
ขุนสุนธรโกไสย
ขุนพง  } ข้าพระเทพบิดอร                                                  นาคล ๖๐๐
ขุนบาล
ขุนทินบรรณาการ } สวดคำหลวง                                          นาคล ๖๐๐
ขุนทานธารกำนัล



กระทู้: เจ้าพระยาธรรมาธิกรณฯ ในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ก.ค. 17, 06:04
       ขุนอินอัคเนศวร เจ้ากรมฉางเข้าบาตร                                 นา ๑๖๐๐
ขุนเทพจุลา ปลัดกรม                                                         นา ๖๐๐
หมื่นโภชน์สมบัติ พนักงานจ่ายเข้า                                          นา ๔๐๐
        พันพิทักทิวา   } ราชมัน                                             นา ๒๐๐
        พันรักษาราตรี
ตำรวจวังใช้  ซ้าย ๖  } ๑๒ คน                                             นาคล ๑๐๐
              ขวา ๖
ตำรวจเวนบาญชีย ซ้าย ๔ } ๘ คน                                          นาคล ๑๐๐
                   ขวา ๔
        พระราชนุชิด เจ้ากรมสวนหลวง ขึ้นกรมวัง                          นา ๖๐๐
หมื่ยทิพผล      }                                                             นาคล ๒๐๐
หมื่นทิพอุทยาน
       พระธรรมเสนา เจ้ากรมข้าพระ                                         นา ๓๐๐๐
ขุนทิพมลเทียร  } ปลัด ขวา                                                  นาคล ๖๐๐
ขุนเทพมลเทียร         ซ้าย
นายหัวสิบ ข้าพระ                                                             นา ๕๐



กระทู้: เจ้าพระยาธรรมาธิกรณฯ ในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 15 ก.ค. 17, 16:56
ตำรวจในสมัยพระบรมไตรโลกนาถขึ้นอยู่กับ ๔ หน่วยงานคือ

๑. กรมตำรวจมหาดไทย ขึ้นกับเจ้าพญาจักรี สมุหนายก
๒. กรมกองตระเวน ขึ้นกับพญายมราช กรมพระนครบาล
๓. กรมพระตำรวจใน ขึ้นกับออกพญาธารมาธิบดี กรมวัง
๔. กรมพระตำรวจกลาโหม ขึ้นกับเจ้าพญามหาเสนาบดี สมุหกลาโหม

ภาพจาก http://www.edupol.org/eduOrganize/announceDoc/2016/01/01/04.pptx


กระทู้: เจ้าพระยาธรรมาธิกรณฯ ในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 ก.ค. 17, 17:49
     แบบแผนการตั้งขุนนางในสมัยรัตนโกสินทร์ ดำเนินรอยตามกรุงศรีอยุธยาตอนปลายทุกอย่าง     ขุนนางที่รอดชีวิตมาจากกรุงแตกเมื่อพ.ศ. 2310  ส่วนใหญ่ก็มารับราชการต่อในสมัยธนบุรี และต่อเนื่องมาถึงรัตนโกสินทร์
     หนึ่งในจำนวนนี้ เป็นขุนนางสังกัดกรมวังสมัยพระเจ้าเอกทัศ  ชื่อตัวว่าบุญรอด   รับราชการเป็นพระยาธรรมาธิบดี  เสนาบดีกรมวัง    ท่านผู้นี้เป็นบุตรของพระยามณเฑียรบาล (บุญศรี)  ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากพราหมณ์พฤฒิบาศ  คำนี้หมายถึงพราหมณ์จากอินเดีย  มีหน้าที่ทำพิธีเกี่ยวกับช้าง  
     ต้นสกุลชื่อพราหมณ์รามินทร์  เป็นบุตรคนรองของพราหมณ์ศิริวัฒนะ  ผู้รับราชการได้เป็นพระมหาราชครู มีบรรดาศักดิ์ว่าพระราชปุโรหิตาจารย์สุภาวดีศรีบรมหงษ์วงศ์บริโสดมพราหมณ์ทิชาจารย์ พระมหาราชครู ท่านผู้นี้ได้มีลูกหลานให้กำเนิดสกุลสำคัญ ๆ สืบต่อมาจนถึงรัตนโกสินทร์นี้หลายสกุลด้วยกัน
    พระยาธรรมาฯ (บุญรอด) ว่ากันว่ามีบ้านอยู่ใกล้กับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เมื่อครั้งทรงเป็นเจ้าพระยาจักรี  ต่างคุ้นเคยกันดี     ลูกหลานก็เลยพลอยรู้จักคุ้นเคยกัน     เจ้าพระยาจักรีมีลูกชายคนโต ชื่อ "ฉิม" ส่วนพระยาธรรมาฯ ก็มีลูกสาวสวย ชื่อ "สี" (หรือศรี) ได้เป็นนางละครรุ่นเล็กในวังหลวงสมัยธนบุรี มีสมญาว่า "สีสีดา"
    เมื่อเป็นหนุ่ม คุณ "ฉิม" ก็หลงรักคุณสี (หรือคุณศรี)  เจ้าพระยาจักรีจึงได้สู่ขอจนหมั้นหมายกันไว้ ก็พอดีสิ้นแผ่นดินธนบุรี   ยังไม่ได้ทำการวิวาห์กัน
    เมื่อถึงแผ่นดินรัตนโกสินทร์    " คุณฉิม" ผู้นี้ก็ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรสุนทร  ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย   ส่วนคุณสีได้เป็นพระสนมเอก  มีพระราชธิดาสองพระองค์ คือ
     1  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรจั่น (ประสูติ: พ.ศ. 2328 — สิ้นพระชนม์: รัชกาลที่ 1)
     2   พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุปผา (ประสูติ: พ.ศ. 2334 — สิ้นพระชนม์: พ.ศ. 2367) บ้างเรียก พระองค์เจ้าบุพภาวดี  หรือออกพระนามว่า เจ้าครอกบุปผา


กระทู้: เจ้าพระยาธรรมาธิกรณฯ ในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.ค. 17, 17:10
      ในแผ่นดินรัชกาลที่ 1  ท่านบุญรอดดวงชะตาพุ่งสูง ได้รับตำแหน่งใหญ่เป็นเสนาบดีกรมวัง  บรรดาศักดิ์คือเจ้าพระยาธรรมาธิกรณบดี    
     คนที่จำประวัติศาสตร์ช่วงตั้งกรุงรัตนโกสินทร์คงนึกออกว่า  ศึกใหญ่สุดในแผ่นดินนี้คือศึก 9 ทัพของพระเจ้าปดุง ซึ่งได้ทำศึกชนะเมืองใกล้เคียงต่างๆ จำนวนมาก จึงคิดตีอาณาจักรรัตนโกสินทร์เพื่อให้มีเกียรติยศดังพระเจ้าแผ่นดินของพม่าในอดีต    พระองค์จึงจัดกองทัพใหญ่เป็น 9 ด้วยกัน  รวมพล 144,000 คน แยกย้ายกันมาหลายสาย  ยกเข้ามาตีกรุงรัตนโกสินทร์ในปีมะเส็ง พ.ศ.2328   ในช่วงนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯเพิ่งจะทรงขึ้นครองราชย์ได่เพียง 3 ปี
    ไทยมีกำลังพลน้อยกว่าพม่ามาก  เรียกได้ว่าครึ่งต่อครึ่ง  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯและกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท ทรงดำเนินการศึกแบบใหม่   ไม่ตั้งรับอยู่ในเมืองหลวงอย่างสมัยกรุงศรีอยุธยา  แต่จัดทัพออกไปรับพม่าตั้งแต่ยังไม่ทันเข้ามาถึงเมืองหลวง   โดยแยกย้ายกันไปเป็นทัพเล็กทัพน้อยหลายสายเช่นกัน    การศึกแบบหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้ไทยมาก คือทำการรบแบบกองโจร  ใช้คนจำนวนน้อยเอาชนะทัพคนจำนวนมากได้

     ทีนี้จะย้อนมาถึงบทบาทเจ้าพระยาธรรมาธิกรณฯ (บุญรอด) บ้าง
     อย่างที่เคยเล่าหลายครั้งแล้วว่า ขุนนางไทยสมัยนั้นไม่ได้แบ่งหน้าที่การงานกันเด็ดขาดเหมือนสมัยนี้    ในยามสงบ ใครมีหน้าที่การงานรับผิดชอบด้านไหนก็ทำกันไป    แต่ในยามศึก ทุกคนมีสิทธิ์ถูกทำหน้าที่ทหารออกไปรบทั้งนั้น ไม่มียกเว้น    แม้แต่มหาดเล็กอย่างนายนรินทร์ธิเบศร์ก็ยังต้องตามเสด็จเจ้านายไปในทัพ     เสนาบดีกรมวังก็เช่นกัน   ท่านก็ต้องคุมทัพออกไปรบเช่นเดียวกับขุนนางผู้ใหญ่อื่นๆ    


กระทู้: เจ้าพระยาธรรมาธิกรณฯ ในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.ค. 17, 17:19
       ทัพพม่าที่เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ (บุญรอด) ต้องเจอ คือกองทัพที่สองของพระเจ้าปดุง  มีแม่ทัพพม่าชื่อจำยากว่า " อนอกแฝกคิดวุ่น" เป็นแม่ทัพ ยกทัพมาจากเมืองทวาย มีพระยาทวายเป็นกองทัพหน้ายกพล 3,000 คน นำหน้ามาก่อน  ส่วนอนอกแฝกคิดวุ่น เป็นกองทัพหลวงถือพล 4,000 คน และจิกสิบโบ่ เป็นกองทัพหลังถือพล 3,000 คน รวมทั้งสิ้นเป็นทัพใหญ่เบ้อเริ่ม จำนวนไพร่พลถึง 10,000 คน เดินทางเข้ามาทางด่านบ้องตี้ เข้ามาตีหัวเมืองไทยฝ่ายตะวันตก ตั้งแต่เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี เพื่อจะลงไปบรรจบกับกองทัพที่ 1 ของพม่าที่เมืองชุมพร
      ส่วนทางเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ (บุญรอด) กับพระยายมราช(อิน หรือ ทองอิน) คุมพลจำนวนครึ่งเดียวของพม่า คือ 5,000 คน ไปตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรี คอยต่อสู้กองทัพพม่าที่จะยกขึ้นมาจากทางใต้หรือจากเมืองทวาย ผ่านเข้ามาทางด่านบ้องตี้   โดยมีหน้าที่หลักคือรักษาเส้นทางลำเลียงของกองทัพที่ 2 ของไทย ซึ่งมี กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เป็นจอมพลแม่ทัพถือพล 30,000 คนไปตั้งรับอยู่ที่เมืองกาญจนบุรี คอยต่อสู้กับกองทัพหลักของพระเจ้าปดุงที่จะยกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์

      ทางฝ่ายพม่าที่อนอกแฝกคิดวุ่นเดินทัพเข้ามา  เจอเส้นทางลำบาก ก็เลยเดินทางช้าอืดอาดกว่าจะมาถึงราชบุรี   แต่ก็เดินทางฝ่าฟันความทุรกันดารมาจนตั้งค่ายรายล้อมนอกเมืองราชบุรีได้สำเร็จ คือพระยาทวาย กองทัพหน้าตั้งค่ายที่ทุ่งทางด้านตะวันตกของเมืองราชบุรี (แถวหนองบัวนอกเทือกเขางู )     อนอกแฝกคิดวุ่น แม่ทัพหลวงตั้งอยู่ที่ท้องชาตรี (คือบึงใหญ่ แถว อ.จอมบึง น่าจะเป็น"บึงจอมบึง")    จิกสิบโบ่ กองทัพหลัง ตั้งอยู่ที่ด่านเจ้าขว้าว ริมแม่น้ำภาชี (ด้านเหนือ ต.ป่าหวาย อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี)


กระทู้: เจ้าพระยาธรรมาธิกรณฯ ในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 ก.ค. 17, 17:27
   ทางฝ่ายแม่ทัพไทยคือเจ้าพระยาธรรมาฯ บุญรอด และพระยายมราชที่(อิน)ไปรักษาการอยู่ที่ราชบุรี  จะด้วยอะไรก็ไม่ทราบ  อาจจะเห็นว่านั่งรอนอนรอเท่าไหร่ๆ พม่าก็ไม่โผล่มาสักที  ก็เลยประมาท  คิดว่าคงยังมาไม่ถึง   ก็ไม่จัดกองลาดตระเวนออกไปสืบข่าวข้าศึก   จนข้าศึกมาเหยียบจมูกตั้งทัพอยู่ชานเมืองราชบุรีถึง 3 ค่ายก็ยังไม่รู้   เคราะห์ดีมาก ที่พม่ายังไม่ทันยกเข้าตีราชบุรี  ไม่งั้นทัพไทยคงไม่รอด
  
  โชคเข้าข้างไทยที่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทชัยชนะต่อทัพพม่าที่ลาดหญ้า จ.กาญจนบุรี    เมื่อเสร็จงานทางนี้เรียบร้อยแล้ว  จึงมีรับสั่งให้พระยากลาโหมราชเสนา และพระยาจ่าแสนยากร คุมกองทัพเดินทางลงมาทางบก ก็เลยจ๊ะเอ๋เข้ากับกองทัพพม่าที่ตั้งค่ายอยู่ที่เขางู นอกเมืองราชบุรี  โดยทางทัพไทยราชบุรียังไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร
   ทัพไทยจากกาญจนบุรี ยกกองทัพเข้าตีค่ายพม่า รบพุ่งตะลุมบอนกัน ไทยเป็นฝ่ายชนะ กองทัพพม่าต้านทานกำลังไม่ไหว  แตกพ่าย ทั้งกองทัพหน้าและกองทัพหลวง ฝ่ายทัพไทยของพระยากลาโหมและพระยาจ่าแสนยากรจับเชลยพม่าและเครื่องศาสตราวุธ ช้าง ม้า พาหนะได้เป็นจำนวนมาก ส่วนทัพพม่าที่เหลือหนีกลับประเทศพม่ากลับออกไปทางเมืองทวาย หลังจากนั้นกองทัพของพระยากลาโหมราชเสนา และพระยาจ่าแสนยากร ก็เดินทางต่อไปช่วยทางเมืองชุมพรต่อไป

     เราก็คงจะเดาออกว่า  ความซวยตกอยู่ที่ใคร


กระทู้: เจ้าพระยาธรรมาธิกรณฯ ในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.ค. 17, 10:35
      หลังจากนั้น กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จยกกองทัพหลวงมาถึงเมืองราชบุรี  เมื่อทรงทราบเรื่องทั้งหมด ก็โปรดให้ไต่สวนความผิดของเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์(บุญรอด) และพระยายมราช (อิน) ในข้อหาประมาทเลินเล่อ ทำให้พม่าเข้ามาตั้งทัพเหยียบจมูกได้ถึงชานเมืองราชบุรี   มิได้ระวังระไวการสงคราม    
      ผลการไต่สวน จึงมีพระราชบัณฑูรลงพระราชอาญาแม่ทัพทั้งสอง จำขังไว้ที่ค่ายทหารเมืองราชบุรี  เท่านั้นยังไม่พอ  โทษทั้งสองคนถือเป็นโทษอุกฉกรรจ์   ถ้าหากว่าเป็นขุนนางยศรองๆลงมาคงโดนพระราชอาญาขั้นประหารไปแล้ว ไม่เสียเวลายืดเยื้อ  แต่นี่เป็นขุนนางผู้ใหญ่ระดับเสนาบดีทั้งคู่  จึงทรงมีหนังสือกราบบังคมทูล  ขอพระราชทานประหารชีวิตส่งเข้าไปยังกรุงรัตนโกสินทร์  

      ทางด้านพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ทรงเห็นว่าแม่ทัพทั้งสองเคยมีความดีความชอบมาก่อน   ข้อนี้ก็พอเข้าใจได้  เพราะการที่จะขึ้นมาเป็นขุนนางใหญ่ขนาดนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ    ก็ต้องมีฝีมือไม่เบา และมีคอนเนคชั่นกว้างขวางอยู่มาก  ก็ยังไม่อยากด่วนประหารชีวิตไปเสีย ให้เสียขวัญบรรดาแม่ทัพนายกอง     แต่ก็มิได้ทรงละเลยต่อความผิด   จึงทรงมีพระราชสาสน์ตอบกลับไปว่า  ขอชีวิตไว้ แต่โปรดให้ลงพระราชอาญาทำโทษตามกฏพระอัยการศึกตามแต่เห็นควร
      กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท จึงลงพระราชอาญาให้โกนศีรษะแม่ทัพทั้งสอง เป็นสามแฉก แล้วแห่ประจานรอบค่าย ถอดเสียซึ่งฐานันดรศักดิ์ จากเจ้าพระยาลงมาเป็นนายธรรมดา  เท่ากับว่าจากพลเอกกินเงินเดือนอัตราจอมพลลงมาเป็นทหารเกณฑ์  
      ส่วนนายทัพนายกองที่รักษาเมืองราชบุรีที่เหลือให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนโบย  เรียกว่าหลังลายเป็นริ้วปลาแห้งกันไปทั้งสิ้น


กระทู้: เจ้าพระยาธรรมาธิกรณฯ ในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.ค. 17, 11:03
   พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ยังคงทรงพระเมตตาต่ออดีตเจ้าพระยาธรรมาธิกรณฯ อยู่มาก      เมื่อถูกถอดถูกปลด กลับมาอยู่บ้านเฉยๆแล้ว   อีกไม่นานก็โปรดเกล้าฯให้กลับเข้ารับราชการ  แต่ไม่ใช่ในตำแหน่งสูงส่งอย่างเดิม    หากแต่ไปช่วยราชการในวัง พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระเพทราชา    อดีตเจ้าพระยาธรรมาฯ ท่านก็รับราชการอยู่ในกรมวังมาจนสื้นแผ่นดิน
   ถึงแม้ประมุขของสกุลพลาดพลั้งในการศึก ถูกลงพระราชอาญา    ตระกูลของเจ้าพระยาธรรมาฯ ก็ไม่ได้พลอยเคราะห์ร้ายไปด้วย   ลูกๆของท่านยังคงรับราชการมาเป็นปกติตลอดรัชกาลที่ 1 และต่อมาจนรัชกาลที่ 2  หนึ่งในนั้นคือเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) ขุนนางสำคัญคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย
  ในรัชกาลที่ 1 ท่านน้อยได้เป็นพระยาอนุชิตราชา จางวางพระตำรวจ ถึงรัชกาลที่ 2 ได้เป็นเจ้าพระยมราช จตุสดมภ์กรมเวียง หรือเสนาบดีกรมเมือง โปรดฯให้เป็นแม่ทัพยกไปทำศึกที่เขมร   ได้ชัยชนะกลับมา  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาอภัยภูธร อัครเสนาบดีที่สมุหนายก
   ส่วนตัวเจ้าพระยาธรรมาฯ เองก็พ้นเคราะห์ในรัชกาลที่ 2   ได้กลับเป็นเจ้าพระยาอีกครั้ง มีบรรดาศักดิ์ว่า "เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช"

    จนถึงรัชกาลที่ 6   เมื่อมีพระราชบัญญัติให้คนไทยมีนามสกุล  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯพระราชทานนามสกุลแก่ลูกหลานที่สืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช ว่า "บุณยรัตพันธุ์"    คือทรง 'บวช' คำว่า "บุญรอด" ให้เป็นศัพท์บาลี  จาก บุญรอด เป็น บุณยรัต  ส่วนพันธุ์ ก็คือ เชื้อสาย   ค่ะ
    วัดของสกุลบุณยรัตพันธุ์ คือวัดเครือวัลย์วรวิหาร ที่ฝั่งธน    สร้างโดยเจ้าจอมเครือวัลย์ บุตรีเจ้าพระยาอภัยภูธร   พวกลูกหลานสกุลนี้ซึ่งมีจำนวนนับร้อยในปัจจุบัน ยังคงไปทำบุญประจำปีกันที่วัดนี้


กระทู้: เจ้าพระยาธรรมาธิกรณฯ ในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.ค. 17, 13:14
จบเจ้าพระยาธรรมาฯ ท่านที่หนึ่งค่ะ    ตอนนี้พักเที่ยง
เชิญคุยได้ตามอัธยาศัย


กระทู้: เจ้าพระยาธรรมาธิกรณฯ ในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: Naris ที่ 19 ก.ค. 17, 15:51
บุณยรัตพันธุ์ ที่สายการ์ตูนแบบผมต้องรู้จักก็คือ คุณนิรันดร์ บุณยรัตพันธุ์ หรือที่รู้จักกันในนาม น้าต๋อย เซนเบ้


กระทู้: เจ้าพระยาธรรมาธิกรณฯ ในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 ก.ค. 17, 18:46
     ส่วนพระยายมราช(อิน หรือทองอิน) ที่ถูกรางวัลที่ 1 พร้อมกับเจ้าพระยาธรรมาฯ   มีประวัติบอกกล่าวไว้เพียงสั้นๆว่า ในสมัยธนบุรี ท่านมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงอินทราบดีสีหราชรองเมือง  เป็นผู้รู้ขนบธรรมเนียมในกรมนครบาลมาก
     คุณหลวงอินทราฯ น่าจะเป็นนักรบฝีมือดี  ได้ติดตามเจ้าพระยาจักรีไปในการศึกสงครามหลายครั้ง  จนในรัชกาลที่ 1 ได้เป็นถึงพระยายมราช  แต่ยังไม่ทันจะได้เป็นเจ้าพระยา ก็มาเกิดเรื่องที่ราชบุรีเสียก่อน จนถูกถอดพร้อมกัน
    แต่ชะตาพระยายมราชไม่ร้ายแรงเท่าไหร่   ต่อมาก็โปรดเกล้าฯ ให้ได้รับคืนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาตามเดิม แต่มีราชทินนามว่า พระยามหาธิราช ช่วยราชการในกรมนครบาลต่อไป

    ไม่ทราบว่าท่านเป็นต้นสกุลใด ยังหาไม่เจอค่ะ


กระทู้: เจ้าพระยาธรรมาธิกรณฯ ในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: Jalito ที่ 19 ก.ค. 17, 22:24
ยังติดฝนอยู่บนเรือน
ชาวเรือนรุ่นอา(วุโส)น่าจะยังไม่ลืมดาวเสียงสตรีท่านหนึ่งแม้จะดับแสงไปหลายปีแล้ว คุณพิทยา บุณยรัตพันธุ์


กระทู้: เจ้าพระยาธรรมาธิกรณฯ ในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ก.ค. 17, 06:13
"บุณยรัตพันธุ์"

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5094.0;attach=32111;image)

ในใบ สะกดว่า "บุณย์รัตพันธุ์" พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ ทรงเขียนพระราชทาน

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=5094.0;attach=32112;image)



กระทู้: เจ้าพระยาธรรมาธิกรณฯ ในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 ก.ค. 17, 09:32
ลำดับที่ ๑๐๖ พระยาเพ็ชรชฎา (เจิม) ปลัดทูลฉลอง กระทรวงนครบาล พระราชทานนามสกุลว่า "บุณย์รัตพันธุ์" (Punyarata bandhu)

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2456/D/691.PDF


กระทู้: เจ้าพระยาธรรมาธิกรณฯ ในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.ค. 17, 10:27
การันต์หายไปแล้ว  :'( :'( :'(


กระทู้: เจ้าพระยาธรรมาธิกรณฯ ในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 20 ก.ค. 17, 12:22
    หมายเหตุ บรรดาศักดิ์เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี ในหนังสือบางเล่มเรียกว่า ธรรมาธิบดี ค่ะ

    เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี หรือเจ้าพระยาธรรมาธิบดี ท่านที่สอง มีนามเดิมว่า ทองดี ตามประวัติเล่าว่าเป็นข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  หมายถึงว่าเคยรับใช้มาก่อน  ตั้งแต่ยังทรงเป็นขุนนางในสมัยกรุงธนบุรี
    ชั้นเดิมท่านทองดีมีบรรดาศักดิ์เป็นจมื่นศรีสรรักษ์ แล้วเลื่อนขึ้นเป็นพระยาพิพัฒโกษา   เมื่อมาถึงรัชกาลที่ 1  หลังท่านบุญรอดได้ประสบชะตากรรมพ้นตำแหน่งเสนาบดีไปแล้ว   ท่านทองดีก็ได้รับประราชทานโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เป็นเจ้าพระยาธรรมาธิบดี เสนาบดีจตุสดมภ์กรมวังแทน
    ตระกูลของเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ทองดี) เป็นตระกูลขุนนางใหญ่มาตั้งแต่สมัยอยุธยา  กล่าวกันว่าท่านเป็นบุตรของเจ้าพระยาอภัยราชา ที่เรียกกันว่า เจ้าคุณประตูจีน ครั้งกรุงศรีอยุธยา    เจ้าพระยาอภัยราชาตามความในราชพงศาวดาร เดิมเป็นเจ้าพระยาสุภาวดี บ้านอยู่ประตูจีน แล้วได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาอภัยราชา ตำแหน่งสมุหพระกลาโหม ในตอนปลายแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ 
    ในรัชกาลที่ 6  ผู้สืบสกุลของเจ้าพระยาธรรมาฯ (ทองดี) ได้รับโปรดเกล้าฯพระราชทานนามสกุลว่า "ธรรมสโรช" 
   สกุลที่เกี่ยวเนื่องกับ ธรรมสโรช เพราะมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน คือ สโรบล  รัตนทัศนีย์ และ อินทรวิมล


กระทู้: เจ้าพระยาธรรมาธิกรณฯ ในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ค. 17, 11:30
     เจ้าพระยาธรรมาฯ (ทองดี) ถึงแก่อนิจกรรมในรัชกาลที่ 1  ผู้ที่ได้รับตำแหน่งนี้ต่อมา เป็นขุนนางจากวังหน้า   ชื่อเดิมว่า "สด"
     เจ้าพระยาธรรมาฯ สด เป็นข้าหลวงเดิมในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาทมาก่อน  เมื่ออุปราชาภิเษก ท่านผู้นี้ได้ดำรงตำแหน่งพระยามณเฑียรบาล  ซึ่งก็คือเสนาบดีกรมวังของวังหน้า เทียบเท่าเจ้าพระยาธรรมาธิกรณฯของวังหลวงนั่นเอง
     เมื่อสิ้นวังหน้า   ตามธรรมเนียม ขุนนางวังหน้าก็ย้ายมารับราชการวังหลวง    เมื่อท่านเสนาบดีกรมวังของวังหลวงถึงแก่อนิจกรรมในปลายรัชกาลที่ 1   ก็คงจะไม่มีใครรู้ระเบียบแบบแผนของกรมวังได้ดีเท่าพระยามณเฑียรบาลเสนาบดีวังหน้า   พระยามณเฑียรบาล(สด)จึงได้กินตำแหน่งนี้แทน
     ท่านผู้นี้มีประวัติบอกเพียงสั้นๆว่ามาจากตระกูลพราหมณ์รามราช ของเพชรบุรี       ถ้าใครสนใจประวัติสุนทรภู่คงจำได้ว่า อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว เคยค้นพบต้นฉบับที่ขาดหายไปในนิราศเมืองเพชรของสุนทรภู่ ที่ระบุว่าท่านมีเชื้อสายพราหมณ์รามราช เมืองเพชรบุรี  
     ส่วนพราหมณ์รามราช คือพราหมณ์ประเภทไหนมีความเป็นมาอย่างไร  ก็สันนิษฐานกันไปหลายทาง  พอจะบอกได้อย่างกำปั้นทุบดินว่า น่าจะเป็นพราหมณ์เดินทางมาจากทางอินเดียได้ มาตั้งถิ่นฐานอยู่ในสถานที่ที่ตรงกับวัดเพชรพลี หรือวัดพริบพรีในจังหวัดราชบุรี  เพราะยังมีเสาชิงช้าสร้างไว้ให้เห็นจนถึงปัจจุบัน
    เจ้าพระยาธรรมาฯ(สด) รับราชการมาจนถึงรัชกาลที่ 2 ก็ถึงแก่อนิจกรรม   ไม่ทราบประวัติลูกหลานหรือนามสกุลของท่านค่ะ



กระทู้: เจ้าพระยาธรรมาธิกรณฯ ในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: CVT ที่ 26 ก.ค. 17, 11:54
ยังอยู่ในห้องเรียนครับ


กระทู้: เจ้าพระยาธรรมาธิกรณฯ ในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ก.ค. 17, 12:52
พักเที่ยง  เลี้ยงขนมจีนน้ำพริกชาววัง ให้เข้ากับบรรยากาศค่ะ


กระทู้: เจ้าพระยาธรรมาธิกรณฯ ในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 ก.ค. 17, 13:17
    ในรัชกาลที่ 2 มีเจ้าพระยาธรรมาฯ 2 ท่าน คือเจ้าพระยาธรรมาฯ(สด) ที่ต่อเนื่องมาจากรัชกาลที่ 1    และอีกท่านเข้าใจว่ามารับตำแหน่งแทนเมื่อท่านแรกถึงแก่อนิจกรรมแล้ว คือเจ้าพระยาธรรมาธิบดี(เทศ)
      ก่อนขึ้นถึงตำแหน่งเสนาบดีวัง ท่านเคยเป็นพระยาเพ็ชร์บุรีมาก่อน      ทางสายเลือดท่านเป็นหลานชายสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีในรัชกาลที่ 1 ท่านผู้นี้จึงอยู่ในราชินิกุล ณ บางช้าง   
     ท่านอยู่ในตำแหน่งนี้จนสิ้นรัชกาล




กระทู้: เจ้าพระยาธรรมาธิกรณฯ ในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: ประกอบ ที่ 31 ก.ค. 17, 11:02
ห่างหายไปซะนาน แวะมาทานขนมจีนครับ  ;D


กระทู้: เจ้าพระยาธรรมาธิกรณฯ ในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 ส.ค. 17, 13:12
มาถึงรัชกาลที่ 4    เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี  ในรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5  เป็นพี่น้องสกุลเดียวกัน คือ "สนธิรัตน์" 
สกุลนี้สืบมาจากเจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน)   ซึ่งเป็นข้าหลวงเดิมในรัชกาลที่ 1 ต่อมาได้เป็นที่สมุหนายก อยู่มาจนถึงปลายแผ่นดินรัชกาลที่ 1   
เจ้าพระยารัตนาพิพิธมีบัตรชายหญิงหลายคน   มี 2 คนได้เป็นเจ้าพระยาธรรมาฯ ทั้งคู่ คือ เจ้าพระยาธรรมาฯ(เสือ) ในรัชกาลที่ 4  และเจ้าพระยาธรรมาฯ(ลมั่ง)ในรัชกาลที่ 5

เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดีอีกท่านหนึ่งในปลายรัชกาลที่ 4  ก่อนจะถึงเจ้าพระยาธรรมาฯ(ลมั่ง สนธิรัตน์) คือเจ้าพระยาธรรมาฯ(บุญศรี)เดิมเคยเป็น พระยาพิพัฒโกษา ปลัดทูลฉลองกรมท่า (กระทรวงต่างประเทศในปัจจุบัน) เป็นข้าหลวงเดิมที่โปรดปรานในรัชกาลที่ 3 
ท่านผู้นี้เป็นเชื้อสายเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา   ว่ากันว่าสืบเชื้อสายจากพราหมณ์เมืองพาราณสี ประเทศอินเดีย เข้ารับราชการในประเทศไทยตั้งแต่สมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา
เจ้าพระยาธรรมาธิรณาธิบดี (บุญศรี)  ต่อมาเมื่อชราได้รับพระราชกรุณาโปรดเกล้าฯเปลี่ยนราชทินนามเป็น “เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี”  ถึงแก่อสัญกรรม เมื่ออายุ ๘๖ ปี ท่านผู้นี้เป็นต้นสกุล ‘บุรณศิริ’

ถ้าใครผ่านไปทางถนนอัษฎางค์หลังกระทรวงกลาโหม  คงเห็นวัดบุรณศิริ  ตามประวัติบอกว่า กรมหมื่นเสนีเทพ (พระองค์เจ้าอสุนี) พระโอรสในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เป็นผู้สร้างวัดขึ้นแต่ยังค้างอยู่ จนกระทั่เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (บุญศรี ) ดำเนินการสร้างต่อจนเสร็จ ในสมัยรัชกาลที่ 4  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า วัดศิริอำมาตยาราม ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนชื่อวัดมาเป็น วัดบุรณศิริมาตยาราม
 


กระทู้: เจ้าพระยาธรรมาธิกรณฯ ในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ส.ค. 17, 10:34
 ในรัชกาลที่ 5  พระยามหาอำมาตย์(ลมั่ง สนธิรัตน์)  น้องชายเจ้าพระยาธรรมาฯ(เสือ สนธิรัตน์) ได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาธรรมาธิกรณบดี 
  จากนั้นก็ถึงเจ้าพระยาธรรมาธิกรณบดีคนสุดท้ายในรัชกาลที่ 6   หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล
  ม.ร.ว. ปุ้ม เป็นโอรสในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าขจรจรัสวงษ์ กรมหมื่นปราบปรปักษ์(พระนามเดิม หม่อมเจ้าขจร มาลากุล พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย)  กับหม่อมทับ มาลากุล ณ อยุธยา
  ม.ร.ว.ปุ้ม มาลากุล เริ่มรับราชการในกรมทหารรักษาวัง เป็นจมื่นจงภักดีองค์ขวา  ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเรื่อยๆจนได้เป็นมหาเสวกเอก  พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร ในรัชสมัยรัชกาลที่ 6  ได้รับสถาปนาเป็นเจ้าพระยา มีสมญาจารึกในสุพรรณบัฏว่า เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี ศรีรัตนมณเฑียรบาล บรมราโชประการกิจจาภิรมย์ สรรโพดมราชธุรานุประดิษฐ ธรรมสุจริตวิบุลย์ มาลากุลวิวัฒน์ บำรุงรัตนราชประเพณี นิตยภักดีนฤปนารถ อันเตบุริกามาตย์มหานายก อรรคเสวกนนทิพาหมุรธาธร กิตติขจรเสนาบดี ศรีรัตนไตรยสรณธาดา อุดมอาชวาธยาไศรย อภัยพิริยบรากรมพาหุ

 


กระทู้: เจ้าพระยาธรรมาธิกรณฯ ในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ส.ค. 17, 10:39
      ในรัชกาลที่ 7 เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475  กระทรวงวังก็มีการเปลี่ยนแปลงระเบียบการบริหารงานหลายอย่างด้วยกัน   เช่นเปลี่ยนชื่อ "กระทรวงวัง" เป็น "ศาลาว่าการพระราชวัง" แต่พอปีต่อมา พ.ศ. 2476 ก็กลับมามีฐานะเป็นกระทรวงขึ้นใหม่ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม พุทธศักราช 2476 และมี "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัง" เป็นเจ้ากระทรวง แทนตำแหน่งเสนาบดี
     เป็นอันสิ้นสุดตำแหน่งเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาบดี แต่เพียงนี้


กระทู้: เจ้าพระยาธรรมาธิกรณฯ ในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: luckluck ที่ 07 ธ.ค. 17, 02:25
รบกวนตรวจสอบชื่อบรรดาศักดิ์อีกครั้งนึงครับ
เพราะจาก หนังสือประวัติสำนักพระราชวัง พิมพ์ครั้งที่ ๓ สำนักพระราชวัง กรกฎาคม ๒๕๔๓ ตามนี้ครับ
ยุคกรุงรัตนโกสินทร์
   ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๒๕ ถึง ๒๔๓๕ “เสนาบดีจตุสดมภ์กรมวัง
มีพระนามและนามดังนี้

รัชกาลที่ ๑ - เจ้าพระยาธรรมาธิกร (บุญรอด ต้นสกุลบุณยรัตนพันธ์)
              - เจ้าพระยาธรรมาธิกร (ทองดี)
              - เจ้าพระยาธรรมาธิกร (สด)
รัชกาลที่๒ - เจ้าพระยาธรรมาธิกร (เทศ)
รัชกาลที่๓ - เจ้าพระยาธรรมาธิกร (สมบุญ)
รัชกาลที่ ๔ - เจ้าพระยาธรรมาธิกร (เสือ สนธิรัตน)
              - เจ้าพระยาธรรมาธิกร (บุญศรี ต้นสกุล บุรณศิริ)
รัชกาลที่ ๕
(ก่อน พ.ศ. ๒๔๓๕) - เจ้าพระยาธรรมาธิกร (มั่ง สนธิรัตน)
 (หลัง พ.ศ. ๒๔๓๕) - กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม
                       - กรมหมื่นอดิศรอุดมเดช (รักษาการ
                         ชั่วคราวระหว่างกรมหมื่นประจักษ์-
                         ศิลปาคมเสด็จหัวเมือง)

ภายหลังปฏิรูปการปกครองเป็นกระทรวงวัง “เสนาบดีกระทรวงวัง
มีพระนาม และนามดังนี้

                 - กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม (จึงถือ
                  ว่าทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงวังพระ-
                  องค์แรก หลังปฏิรูปการปกครองใน
                  รัชกาลที่ ๕)
 (๘ ตุลาคม ๒๔๓๕ - ๒๖ สิงหาคม ๒๔๓๙)
         - พระองค์เจ้าไชยยันตมงคล (แทนกรมหมื่นประ-
        จักษ์ศิลปาคม ระหว่างเสด็จราชการหัวเมือง
        ชั่วคราว)
 (๑ กันยายน ๒๔๓๙ - ๑๘ กันยายน ๒๔๔๑)
         - กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย (แทนกรมหมื่น
        ประจักษ์ศิลปาคม ชั่วคราว)
 (๑๙ กันยายน ๒๔๔๑ - ๙ มิถุนายน ๒๔๔๘)
         - กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา
(๑๐ มิถุนายน ๒๔๔๘ - กุมภาพันธ์ ๒๔๕๒)
         - สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์
(รักษาราชการร่วมกัน ตั้งแต่กุมภาพันธ์ ๒๔๕๒ - ๒๔
 พฤษภาคม ๒๔๕๓)
         - กรมขุนสมมตอมรพันธ์ และพระยาอนุรักษ์ราช-
         มณเฑียร (ม.ล. ปุ้ม มาลากุล)

รัชกาลที่ ๕ ต่อ ๖
(๒๕ พฤษภาคม ๒๔๕๓ - ๑๔ เมษายน ๒๔๕๖)
      - กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์


 รัชกาลที่ ๖ ต่อ ๗
(๑๕ เมษายน ๒๔๕๖ - ๒๓ กรกฎาคม ๒๔๖๙)
         - เจ้าพระยาธรรมาธิกรณธิบดี (ม.ล.ปุ้ม มาลากุล)
 (๒๔ กรกฎาคม ๒๔๖๙ - ๑๔ มีนาคม ๒๔๖๙ )*
         - สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์ (ทรง
         กำกับราชการชั่วคราว โดยมีพระยา วรพงศ์-
         พิพัฒน์ เป็นผู้รั้งตำแหน่งเสนาบดี)


รัชกาลที่ ๗
(๑๕ มีนาคม ๒๔๖๙ - ๒๓ มิถุนายน ๒๔๗๕)
         - เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (เป็นเจ้าพระยาคน
         เดียวที่เป็นเสนบดีกระทรวงวัง โดยไม่ได้
        พระราชทานราชทินนามว่าเจ้าพระยาธรรมาตาม
        โบราณประเพณี)

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตย
 ตอนยังเป็นกระทรวง “ผู้สำเร็จราชการพระราชวัง” และ
“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัง” มีนามดังนี้
(๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ - ๓๑ มีนาคม ๒๔๗๗)
          - เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์

ตอนเป็นสำนักพระราชวัง “เลขาธิการพระราชวัง” มีนามดังนี้
(๑ เมษายน ๒๔๗๘** - ๓๑ มกราคม ๒๔๙๐)
           - พระยาชาติเดชอุดม (ม.ร.ว โป๊ะ มาลากุล)
 (๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๐ - ๖ สิงหาคม ๒๕๐๙)
           - พลตรี หม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ (ม.ร.ว.เฉลิมลาภ ทวีวงศ์)
 (๗ สิงหาคม ๒๕๐๙ - ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๒๑)
           - ดร.กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา
(๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๑ - ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๓๐)
           - นายพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์
(๒๘ กรกฎาคม ๒๕๓๐ - ปัจจุบัน)
           - นายแก้วขวัญ วัชโรทัย


________________________________

*,** แต่เดิมไทยเรานับการขึ้นศักราชใหม่ในเดือนเมษายน และได้มาเปลี่ยนมาเป็นเดือนมกราคม ตามสากลในปีพุทธศักราช ๒๔๘๔
เอกสารอ้างอิง
      ๑. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา
      ๒. พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา
      ๓. สารานุกรมไทย
      ๔. ราชกิจจานุเบกษา
      ๕. พระอัยการตำแหน่งนาพลเรือน
      ๖. พระอัยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง
      ๗. ประกาศตั้งย้ายเปลี่ยนเสนาบดี ผู้รั้ง ผู้แทน และ
          รองเสนาบดี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๕–๒๔๖๙
      ๘. ตั้งเจ้าพระยากรุงรัตนโกสินทร์
      ๙. ทำเนียบกระทรวง
      ๑๐. ทำเนียบกรมมหาดเล็กหลวง
      ๑๑. เอกสารสำนักพระราชวังบางเรื่อง



กระทู้: เจ้าพระยาธรรมาธิกรณฯ ในอดีต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 ธ.ค. 17, 09:17
ใครมีข้อมูลช่วยตรวจสอบด้วยนะคะ