เรือนไทย

General Category => ทันกระแส => ข้อความที่เริ่มโดย: Wandee ที่ 07 พ.ย. 11, 16:42



กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 07 พ.ย. 11, 16:42


       สหายเด็กชายชาวสวนเล่าว่า   คูแถวบ้านขุดลอกแล้วก็ใช้ "กะโซ้"  ตักดินโคลนขึ้นมา

วันดีกระพริบตาถี่     อะไรนะคะ
เด็กในสวน            กะโซ้
ว                       ตักดินโคลนหนัก ๆ เนี่ยนะ
ด                       ใช่ดิ   ทำด้วยไม้ไผ่สาน
ว                        (ติดนิสัยไม่ดีของสหายคนอื่นมา)   ไม่เคยเห็น  ไม่เคยได้ยินค่ะ
ด                       ชาวสวนเขาเรียกกัน   ด้านหลังนะ  เขาใช่ไล้โคลนที่ขอบคูให้เรียบๆด้วยล่ะ

ว                        รู้จักแต่แครง  ที่ตักน้ำรดผักค่ะ
ด                        แครงบ้านผมใช้กระป๋องนมทำ
ว                        แครง  แครงทำด้วยไม้ไผ่นะ
ด                       ชาวสวนมีอะไรเขาก็ใช้อันนั้น
ว                        พจนานุกรมไม่ได้บอกไว้นา

ว                        ครั้งหนึ่งนานมากแล้ว  เคยดูหนังไทยในโทรทัศน์    พระเอกลูกเศรษฐีพาหมวยไปหาพ่อที่ไร่ผัก
                          พ่อหรือเตี่ยหรืออาเตียก็เอาแครงตักน้ำในไร่ผัก  รดให้ทั้งคู่   รู้สึกว่าคุณ ส. อาสนะจินดาจะเล่นเป็นตาแป๊ะ
                          เตี่ยหนูหมวยเนี่ยแหละ        หนูหมวยไว้เปียด้วย
ด                        ใช้แครงเหรอ
ว                         ค่ะ    ประทับใจมากเลย          ต่อมาอ่านเรื่องกำลังภายในมากเข้าด็สงสัยว่า  ไม่น่าจะรดน้ำด้วยแครงอะไรเนี่ย
                           น่าจะตั้งโต๊ะสุราอาหารไหว้ฟ้าดินกัน
ด                         ยกน้ำชามั๊ง
ว                         ไหว้ฟ้าดินดีกว่าน่อ..เอ้ยค่ะ


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 07 พ.ย. 11, 16:51


ว             บ้านใกล้ๆกันมีจีนทำสวนผัก       ดูเขาวิดน้ำรดผักเป็นสาย ๆ
ด             น่านล่ะ   เขาเรียกหนาด
ว             หนาด!??!
ด             รดน้ำขณะเดินอยู่นี่ล่ะ   หนาด   เป็นไม้ไผ่สาน
ว             ไม่เคยได้ยินค่ะ    พจนานุกรมไม่มีนะท่าน
ด             เหอ ๆ  ๆ (หัวเราะเหมือนคนแก่)


              ขอความรู้จากท่านทั้งปวงด้วยค่ะ

ว            ประเดี๋ยวจะไปหา แกงลอจู จากกล่องตำรากับข้าวดู  ไม่ผ่านตาเลยค่ะ
ด            ระวังการออกเสียงด้วย
ว            ค่า


             



กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 07 พ.ย. 11, 17:08


       เด็กชายชาวสวนอาศัยอยู่ในสวนแห่งหนึ่ง      ตอนนี้น้ำท่วมมาอาทิตย์กว่าแล้ว

ไม่มีธุระต้องออกจากบ้าน     เพราะถึงมีธุระก็ไปไหนไม่ได้ เพราะลุยน้ำไปไม่ไหว

เด็กชายชาวสวนจึงงมหนังสือที่จมน้ำเล่น   งมมา ๖ วันแล้ว  ได้หนังสือคืนมาบ้าง  เสียไปก็มากต่อมาก

งมมาแล้วก็นำไปตากที่(ดูเหมือนจะเล่าว่า)โรงนา

       วันก่อนเด็กชายชาวสวนทำสะพานหน้าบ้าน 

วันดี              สะพานไม้กระดานสองแผ่นหรือ
ด                 ไม่ใช่    ทายซิใช้อะไร
ว                  ต้นหมากเหรอ   
ด                  เฮ่อ
ว                  โค่นเองเหรอ
ด                  ไม่ไหวหรอก    มีคนมาช่วย
ว                  เดินแล้วลื่นไหมคะ
ด                 เดินเป็นก็ไม่ลื่นดิ
                   
วันดีไม่กล้าถามเรื่องสะพานต้นหมากต่อ  เพราะเกรงว่าจะโดนห้ามไม่ให้มาเดิน


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 07 พ.ย. 11, 18:48
สะพานต้นหมากพาดข้ามท้องร่องในสวน พะเยิบพะยาบดี ถ้าพาดสองต้นขึ้นไปก็เดินได้ง่าย ถ้าพาดต้นเดียว สุดจะสนุก มันจะอ่อนระแน้ตามน้ำหนักคนเดินข้าม ต้องเดินก้าวข้ามเร็วพอสมควร

ถ้าเดินช้าๆ ก็มีสิทธิตกไปในท้องร่องได้ง่าย หัดเดินข้ามใหม่ๆ ต้องกางแขนเอาไว้ ถ้าเป็นต้นมะพร้าว สบายเรา ...

วิธีแกล้งกันคืองมโคลนในท้องร่องมาโปะไว้บนต้นหมากให้ทั่ว ให้มันลื่นเล่น แล้วก็วิ่งไปบนสะพานต้นหมาก ...





กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 07 พ.ย. 11, 19:48
หาภาพ กะโซ้ มาให้ดูกันค่ะ... ;D

กะโซ้ หรือที่โพงน้ำ เป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งของชาวบ้าน ซึ่งใช้สำหรับวิดน้ำหรือโพงน้ำ
ส่วนใหญ่ใช้วิดน้ำเพื่อทำการเพาะปลูกพืชต่าง ๆ หรือวิดน้ำจับปลาไว้เป็นอาหาร
มีลักษณะคล้ายเรือครึ่งท่อน แต่มีลักษณะเล็กกว่าใช้ผิวไม้ไผ่จักเป็นตอก และมักจะสานเป็นลายสองหรือลายสาม
ที่ปลายขอบจะเหลาไม้ไผ่หนาประมาณครึ่งเซนติเมตร แล้วใช้ไม้ไผ่ประกบตอกที่สานสานในส่วนปลายขอบ
เพื่อให้มีความคงทนถาวรไม่หลุดลุ่ยได้ง่ายไม้ไผ่ที่ใช้สำหรับประกบนั้นจะมัดด้วยหวาย
ซึ่งชาวบ้านมักจะเรียกว่า การขอดหัวหรือการขอดหัวแมลงวัน เป็นการผูกมัดเงื่อนหวายให้แน่นวิธีหนึ่ง
มีด้ามยาว ๆ ทำด้วยไม่ไผ่ ส่วนปลายที่ติดกับปากใช้ไม้จริงค่อนข้างเหนียว
สมัยโบราณนิยมใช้ไม้ข่อย โดยเจาะรูไม้ไผ่แล้วใช้ไม้ข่อยสอดรูให้ได้พอดิบพอดี
มีลักษณะเหมือนไม้กางเขน ใช้หวายผูกมัดไม้ข่อยอีกครั้ง
ส่วนปลายบนอาจจะทำในลักษณะค้ำยันด้วยไม้ไผ่สามเส้า ชาวบ้านเรียกขาหยั่ง
เอาปลายเชือกมัดหลักที่ค้ำยันนั้น เวลาโพงน้ำหรือวิดน้ำจะจับที่ด้ามแล้วตักน้ำสาดไปข้างหน้า


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 07 พ.ย. 11, 20:08
รู้จักแต่โพงน้ำเช่นกัน แต่การติดตั้งเขาจะตั้งบนขาหยั่งสามขา เพื่อให้เบาแรงในการวักน้ำครับ

ท่านคนโบราณหัวเราะ เหอ เหอ ๆ ก็เบาใจที่ได้หัวเราะได้ คงหายเครียดแล้ว  ;D


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 07 พ.ย. 11, 20:10
                   
วันดีไม่กล้าถามเรื่องสะพานต้นหมากต่อ  เพราะเกรงว่าจะโดนห้ามไม่ให้มาเดิน


พอจะทราบ "หมากแอ่นท้องช้าง" ไหมนี่  ;D ;D ;D  วิ้ว....


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 07 พ.ย. 11, 20:35
หนาด หรือ ขนาด  ;D
อุปกรณ์รดน้ำของชาวสวน สานเป็นกระเปาะแบนๆ ด้วยไม้ไผ่ ขนาดพอรับน้ำหนักของน้ำได้สัก 2-3 ลิตร
อยู่ปลายด้านหนึ่งของบ้องไม้ไผ่ขนาดพอกำ ยาวสักเมตรเศษ ใช้จ้วงน้ำในร่องสวนและสาดขึ้นมาบนร่องที่ปลูกผัก
การรดน้ำผักด้วยวิธีนี้ ต้องฝึกหัดกันพอสมควรกว่าจะรดน้ำได้จังหวะสวยงาม น้ำแผ่กระจายไปทั่วร่อง ทุกต้นได้รับน้ำทั่วถึง
นึกภาพไม่ออก ยังหาภาพไม่ได้ค่ะ....

การมีมิตรที่ดีอยู่เคียงข้าง ความเครียดก็น่าจะคลายลงกว่าครึ่งแล้วมั้งค่ะ...


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 07 พ.ย. 11, 21:22



เห็นรูปสะพานหมากของคุณลุงไก่แล้ว หวาดเสียว อยู่

เล่นละเลงโคลนไว้ด้วย

ขอเป็นต้นมะพร้าวสองต้นน่าจะเหมาะกว่า

ยังมีอีกคำค่ะ "โชงโลง"     พจนานุกรม มติชน หน้า ๒๘๒   บอกว่า

"เครื่องวิดน้ำคล้ายเรือครึ่งท่อน   บ้างทำด้วยไม้ไผ่สานหรือปิ๊ปตัดตามทแยง   มีด้ามถือแขวนกับ
 ขาหยั่ง     แล้วจับด้ามพุ้ยน้ำ    ชงโลงก็ใช้"



กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: กะออม ที่ 08 พ.ย. 11, 07:41
มีวิธีเดินสะพานต้นหมาก ชาวสวนปักไม้ไผ่ไว้ในคูน้ำชิดกลางสะพาน
เวลาเดินจับปลายไม้แล้วเดินข้ามไป   ขากลับก็จับปลายไม้เดินข้ามมา
แต่หากเดินมาแล้ว ปลายไม้อยู่อีกฟาก ก็ไม่รู้จะเดินอย่างไร


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: Ruamrudee ที่ 08 พ.ย. 11, 08:55
กระทู้นี้น่าสนใจมาก เพราะตนเองสนใจเรื่องอุปกรณ์การทำไร่ทำสาวนและ ทำนาแบบไทย ๆ โบราณมาก
ใครมีรูปประกอบช่วยกันลงไว้นะคะ

ภาษาไทย ภาษาชาวนา มีอะไร ๆ มากมายที่เราเกิดไม่ทันได้เห็นและเข้าใจความหมายค่ะ


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 08 พ.ย. 11, 16:02

รู้จักแต่โพงน้ำเช่นกัน แต่การติดตั้งเขาจะตั้งบนขาหยั่งสามขา เพื่อให้เบาแรงในการวักน้ำครับ


รูปชาวนา ชาวสวน กำลังวิดน้ำด้วย โพง หรือ กะโซ้ แบบที่มีขาหยั่งเพื่อผ่อนแรง ค่ะ


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: atsk ที่ 08 พ.ย. 11, 23:41
ตามภาพของคุณ ดีดี  คนอีสานเรียก คันโซ่  ครับ

สมัยเด็กๆ ผมใช้วิดน้ำจากแปลงนาที่ตกกล้า  เพราะวันแรกๆกล้ายังไม่สูง ถ้าน้ำท่วมกล้าจะตาย  ต้องใช้คันโซ่ มาตั้งสามขา วิดกันทั้งวัน


ลองใช้อินทรเนตร หา โดยใช้คำว่า คันโซ่  ดูนะครับ


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: ลุงไก่ ที่ 09 พ.ย. 11, 15:08
                   
วันดีไม่กล้าถามเรื่องสะพานต้นหมากต่อ  เพราะเกรงว่าจะโดนห้ามไม่ให้มาเดิน


พอจะทราบ "หมากแอ่นท้องช้าง" ไหมนี่  ;D ;D ;D  วิ้ว....

เพื่อนบอกให้เราเดินข้ามไปก่อน เราก็ค่อยๆ ประคองตัวไว้บนสะพานต้นหมาก พอมาถึงกลางท้องร่อง เพื่อนรีบก้าวตามมาประชิดตัว เกาะเราไว้ แล้วขย่มสะพานอีก

แค่เราคนเดียวสะพานมันก็ตกท้องช้างไปตั้งแยะแล้ว เพื่อนมาแกล้งเพิ่มน้ำหนัก อ้ะ อ้ะ ... ตกท้องร่องทั้งคู่


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 17 พ.ย. 11, 02:01
คนที่เป็นชาวสวนมาแต่กำเนิด  ส่วนมากจะเดินสะพานไม้ข้ามท้องร่องท้องสวนได้และเก่งกันทั้งนั้น
เพราะเป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติกันทุกวัน  เด็กๆ ชาวสวน  พออายุได้สัก ๖-๗ ขวบ ก็ฝึกเดินสะพานไม้ได้แล้ว
อาจจะต้องไม้ค้ำช่วยพยุงเดินข้ามก่อน  ในระยะแรก  แต่พอเดินคล่องก็ไม่ค่อยใช้
ไม้ค้ำคู่กับสะพาน  ปกติถ้าเดินข้ามสะพานเปล่าๆ ไม่ได้หิ้วหรือยกหรือแบกของหนักจะไม่จับเลย
เว้นแต่ว่า  ถ้าสะพานเปียกหรือลื่นเพราะน้ำหรือโคลน  ต้องใช้ไม้ค้ำช่วยพยุงเวลาเดินกันพลาด







กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 17 พ.ย. 11, 02:01
สะพานข้ามท้องร่องนั้น  ชาวสวนมักใช้ไม้สุดแต่จะหาได้ง่ายมาทอดทำเป็นสะพานพอเดินข้ามได้ไม่หัก
มีตั้งแต่ต้นมะพร้าวไปจนท่อเหล็กขนาด ๓ นิ้ว  และมักทอดท่อนเดียว ไม่ค่อยทอดคู่
เว้นแต่ไม้นั้นเล็กเดินยากจึงทอดคู่เพื่อให้เดินสะดวก  หรือทอดไม้คู่กรณีที่ไม้ที่ทอดไว้เดิมเริ่มเก่าผุ

สะพานต้นหมาก  ชาวสวนจะเลือกหมากต้นสูงๆ ซึ่งปีนขึ้นไปเก็บหมากยาก โค่นลงทั้งต้น
โดยก่อนโค่นจะต้องผูกเชือกไว้กลางต้น  ให้สูงสัก  ๕ เมตรขึ้นไป  แล้วเอาปลายเชือกอีกด้านไปผูกไว้
กับต้นไม้อื่นที่อยู่พ้นจากปลายยอดหมากที่จะโค่น  เพื่อเบี่ยงต้นหมากไม่ให้ล้มไปผิดทางฟาดต้นไม้อื่น
หรือถ้าโดนบ้างก็เสียหายน้อยหน่อย  และไม่ไปล้มไปโดนสิ่งก่อสร้างหรือขวางทาง
การล้มต้นหมากสูงๆ ต้องใช้คน ๒ คน  คนหนึ่งคอยดึงเชือกให้หมากล้มตามทิศทางที่ต้องการ
อีกคนเอามีดโต้ฟัน หรือขวานจามไปที่โคนต้นหมาก  คนที่คอยดึงเชือกต้องรั้งดึงต้นหมากตลอดเวลา
ที่คนตัดลงมือตัด  และต้องดูด้วยว่าต้นหมากจะโค่นลงมาหรือยัง  เพื่อจะได้วิ่งหนีให้พ้นรัศมี
ที่ต้นหมากจะล้มลงมา   การโค่นต้นหมาก ๑ ต้น ใช้เวลาประมาณ ๑๕-๒๐ นาที ก็เสร็จ
เมื่อล้มหมากได้แล้ว   เอามีดฟันยอดให้ขาดจากต้น   เก็บหมากอ่อนที่พอขายได้เอาไปขายต่อ
ส่วนหมากสงเปลือกเหลืองส้มทิ้งไป  อันที่จริงยอดหมากอ่อนก็สามารถเอาไปต้มกินได้เหมือนยอดมะพร้าว
รสออกหวานเอียนๆ  เอาไปต้มเป็นผักจิ้มน้ำพริกดีเหมือนกัน  แต่ไม่ค่อยเห็นคนทั่วไปนิยมกินกัน




กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 17 พ.ย. 11, 02:02
เมื่อตัดยอดหมากออกเหลือแต่ลำต้นแล้ว   ชาวสวนจะเลือกเอาส่วนโคนลำต้นซึ่งแก่เนื้อไม้แข็งแรง มีเปลือกสีเทา
ปล้องห่าง วัดให้ความยาวพอเหมาะที่จะเอาไปทอดเป็นสะพานข้ามท้องร่องโดยใช้เชือกหรือกะโดยสายตา
ซึ่งมักไม่พลาด   แล้วตัดเป็นท่อนตามต้องการ  แล้วสองคนก็แบกไปทอดที่หัวร่องสวนที่ต้องการจะทอดสะพาน
โดยต้องหาไม้อื่นมาทอดเป็นสะพานชั่วคราวไว้ก่อน  โดยมากเป็นไม้กระดานเพื่อให้เดินแบกต้นหมากได้ง่าย
เมื่อแบกต้นหมากมาถึงหัวร่องสวนที่จะทอดต้นหมากแล้ว  ชาวสวนจะขุดดินตรงที่จะทอดสะพานให้ลึกพอประมาณ
กว้างพอเอาต้นหมากลงได้  เมื่อได่หลุมแล้วก็เอาต้นหมากวางลงไปในหลุม  เอาดินที่ขุดอัดข้างต้นหมากให้แน่น
เท่านี้สะพานต้นหมากก็จะไม่กระดุกกระดิกกลิ้งไปมา  เดินข้ามได้สะดวก


สะพานต้นหมากถ้าใช้ข้างโคนหมากที่แก่  จะมีอายุการใช้งานประมาณ ๑ ปีขึ้นไป
แต่ถ้าเป็นไม้ที่ใช้ใกล้ยอดขึ้นมาอายุการใช้งานจะน้อยประมาณ ๓ - ๖ เดือน
ต้นหมากเมื่อใช้ไปนานๆ จะผุจากแกนกลางในลำต้น  ซึ่งเป็นท่อน้ำเลี้ยง
เมื่อแกนกลางเหี่ยว  เนื้อแกนกลางก็หดกลางเป็นช่องกลวง  
เปลือกนอกต้นหมากก็จะมีรอยแตกบ้าง  ถ้าหากแบกของหนักข้ามสะพานหมาก
ก็อาจจะหักหรือแตกได้   ยิ่งเป็นต้นหมากใกล้ยอดด้วยแล้วไม้จะผุเร็วมาก ใช้ได้ไม่นาน
ก็ต้องเปลี่ยนไม้ใหม่


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 17 พ.ย. 11, 02:21
การเดินข้ามสะพานไม้ต้นหมาก หรือไม้อื่นที่มีลักษณะกลม
ชาวสวนจะเดินโดยวางฝ่าเท้าให้ขวางไม้เล็กน้อย ไม่วางเท้าตรงทีเดียว
พยายามทรงตัวให้น้ำหนักให้เที่ยง  แล้วก้าวเดินไปข้างหน้า
โดยก้าวยาวพอประมาณ ไม่รีบรนจนเกินไป เท่านี้ก็สามารถเดินข้ามได้สบาย
ผู้ที่ไม่ถนัดเดินสะพานอย่างนี้  ต้องหาไม้ค้ำช่วยพยุงตัวเวลาเดินข้าม
โดยไม้ค้จะปักลงดินไว้ที่กลางท้องร่อง เมื่อเดินก็จับปลายไม้
โยกไปตามสะพานที่เดิน


ชาวสวนมักไม่ใช้ไม้กระดานมาทอดสะพานข้ามสวนข้ามท้องร่อง
เพราะไม้กระดานเป็นไม้มีค่าใช้ทำบ้านหรือใช้ทำสะพานชั่วคราว
แล้วชักเอาไปล้างเก็บในบ้าน  เนื่องจากไม้กระดานเป็นไม้จริง
มีราคาแพง หายาก และเป็นของมีค่าประจำบ้าน 
จึงไม่เหมาะจะเอาไปทอดทำสะพานตามร่องสวนตากแดดตากฝนเปื้อนโคลนดิน
ชาวสวนจึงหวงแหนไม้กระดานนักหนา  ถึงแก่เก็บไม้กระดานมอบเป็นมรดก
ให้ลูกหลานกันก็มี  สะพานข้ามท้องร่องสวน  ชาวสวนจึงใช้ไม้เท่าที่หาได้
เอามาทอดพอเดินได้เพียงชั่วเวลาหนึ่งเท่านั้น

มีบางสวนเหมือนกันที่จะไม่ทอดสะพานทิ้งไว้
เพราะเกรงว่าคนจะข้ามไปลักเก็บของที่ปลูกไว้
เมื่อใช้งานสะพานเสร็จแล้วก็จะชักสะพานเก็บกลับบ้านก็มี
เมื่อจะข้ามก็แบกไม้มาทอด  สวนเหล่านี้ท้องร่องจะกว้าง
และลึกพอสมควร  เพื่อป้องกันคนกระโดดข้าม
แต่อย่างว่า  ขนาดชักสะพานออก 
ก็ยังไม่วายมีคนเข้าไปลักเก็บของที่เขาปลูกกันได้หน้าตาเฉย


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 พ.ย. 11, 07:43
คุณหลวงเล็กพยายามมากที่จะหาคอมพิวเตอร์เพื่อสื่อข่าวให้ทราบ  ;D

แทรกภาพท้องร่องสวนและการวางสะพานจากลำต้น ต้องเดินให้เร็ว ตัวตรง เท้าขวาง และมีไม้ไผ่ปักรอไว้เพื่อมือจับ


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 17 พ.ย. 11, 08:12
ใช่ครับออกขุนหนุ่มสยาม  ผมพยายามหาคอมพิวเตอร์เพื่อแวะมาเรือนไทยให้ได้
แม้เพียงชั่วขณะก็ตาม  ได้ทราบว่า  มีสมาชิกเรือนไทยได้ทราบข่าวคราวของผม
เรื่องมหาอุทกมาโจมตีเคหสถานแตกไปเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
(แลปัจจุบันนี้  มหาอุทกก็ยังยึดพื้นที่เคหสถานแลโดยรอบอยู่ในระดับต้นขาอ่อน
มาได้หลายเพลาแล้ว  โดยเพิ่มขึ้นและลดลงตามระดับน้ำขึ้นน้ำลงในแต่ละวัน)

หลายท่านได้แสดงความเป็นห่วงใยแก่ผม  ซึ่งผมได้ทราบผ่านสหายท่านหนึ่ง
ได้แจ้งความให้ทราบมาเป็นระยะๆ  ก็รู้สึกชุ่มชื่นใจว่า  หลายท่านยังมีแก่ใจ
เป็นห่วงใยผมในยามที่มวลน้ำมายึดพื้นที่เคหสถานอย่างปัจจุบันทันด่วน
ผมขอขอบคุณทุกท่านที่เป็นห่วง   

แน่นอนว่า  มหาอุทกที่ทะลักทลายมากระทันหันในวันก่อนวันปล่อยผีของฝรั่งนั้น
ได้ทำอันตรายทรัพย์สินในเคหสถานไปหลายส่วน  โดยเฉพาะหนังสือต่างๆ
และเอกสารที่ผมใช้ในการค้นคว้า  ซึ่งไม่สามารถขนย้ายหนีมหาอุทกได้ทันการณ์
เพียงชั่วเวลาไม่กี่นาที   น้ำสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว  บ่าเข้าท่วมในเรือนถึงหัวเข่า
หนังสือและเอกสารจ่อมจมไปน้ำถึง ๘ ส่วน ใน ๑๐ ส่วน  โดยการประมาณการ
แม้ว่า ต่อมา ผมจะได้กอบกู้เก็บงมหนังสือและเอกสารขึ้นมาได้บ้าง
(ใช้เวลางมกู้ ๖- ๗ วัน วันละ ๓ ชั่วโมง) ก็หาได้ทรัพย์คืนมาครบถ้วนเท่าเดิมไม่
จำเป็นที่จะต้องทอดทิ้งหนังสือและเอกสารไปเป็นกองพะเนิน
(ตอนนี้ก็ยังกองทิ้งอยู่หลังเรือน  รอน้ำเข้าสู่ภาวะปกติ  จะได้ทำการฌาปนกิจต่อไป)
ที่งมกู้มาได้  ก็ใช่ว่าจะมีสภาพดังเดิม  หลายเล่มมีสภาพเหมือนทหารผ่านศึก
ที่พิการแขนขาขาด  เป็นโรคต่างๆ นานา  บางเล่มมีสภาพเหมือนศพลอยอืดพองเต็มที่
ต้องประคองอุ้มมาขึ้นขาหยั่งพาดผึ่งไม้ให้ของเหลวไหลตกจนหมด
หนังสือและเอกสารเหล่านี้  คงจะต้องผ่านการพิจารณาสังขารด้วยอสุภกรรมฐานต่อไป


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 17 พ.ย. 11, 08:35
เมื่อวัยเยาว์ แถวบ้านฝั่งธน เป็นสวนผลไม้ทั้งนั้น การข้ามท้องร่องมีอยู่ ๒ วิธี คือเดินข้ามสะพานต้นหมาก หรือไม่ก็กระโดดข้าม เด็ก ๆ จะชอบวิธีหลังมากกว่า

กิจกรรมที่ประทับใจในวัยเยาว์อีกอย่างหนึ่งคือ การวิดท้องร่อง จุดประสงค์คงมี ๒ ประการคือ ลอกเอาโคลนตมขึ้นมาไว้บนร่องสวน อีกอย่างหนึ่งคือจับปลาที่อาศัยอยู่ในท้องร่องสวน ที่พบมากเห็นจะได้แก่ ปลากระดี่ เป็นปลาขาประจำที่พบได้เสมอ  ที่พบแล้วจะดีใจมากคือ ปลาช่อน และ ปลาดุก

การวิดท้องร่อง ก็ทำแบบเดียวกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมของ กทม. ในปัจจุบัน คือทำคันกั้นน้ำหัวท้ายของท้องร่องในตอนที่เราต้องการวิดน้ำ คันกั้นน้ำไม่ได้ใช้กระสอบทราบแต่เป็นดินเหนียวจากท้องร่องนั่นเอง

จำได้ว่า ชอบกิจกรรมนี้มาก ยืนดูอยู่ครั้งละเป็นชั่วโมง ๆ

 ;D


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 19 พ.ย. 11, 08:41
ภาพท้องร่องสวนที่ออกขุนสยามนำมาประกอบกระทู้นั้น  ตื้นเขินมาก
พิจารณาจากตลิ่งข้างท้องร่อง  แสดงว่า  ไม่ได้ขุดลอกโคลนเลนขึ้นมาหลายปี
ท้องร่องอย่างนี้  ถ้าเลี้ยงปลา  ปลาก็จะไม่โต 
แต่ถ้าจะขุดลอกท้องร่องสวนขนัดนี้  ก็เห็นจะสิ้นแรงงานไม่ใช่น้อย
เพราะนอกจากใช้กระโซ้ตักโคลนเลนสาดขึ้นหลังร่องสวนแล้ว
(พิจารณาดูแล้ว  ท่าทางหลังร่องจะไม่พอไว้โคลนเลนที่เอาขึ้นเป็นแน่)
ต้องเอาพลั่วแทงดิน  แทงข้างท้องร่องแต่งข้างใหม่ให้เข้ารูป
ถ้าเป็นคนที่รับจ้างลอกท้องร่องสวน  คงจะคิดหนักเหมือนกัน

การวิดท้องร่องนั้น  ทำได้หลายวิธี  บ้างก็สูบน้ำออกหมดทั้งขนัดสวน
บ้างก็กั้นทำนบชั่วคราวไว้บางส่วนแล้วขุดลอกฝั่งที่วิดน้ำแห้ง
เมื่อเสร็จฝั่งหนึ่งก็ทิ้งไว้ให้ดินโคลนหมาดสัก ๑-๒ วัน
แล้วค่อยสูบน้ำอีกฟากที่เหลือมาไว้ฟากที่ทำเสร็จแล้ว  ทำการขุดลอกต่อไป

การสูบน้ำหรือวิดท้องร่อง  ถ้าเป็นแถวบ้านต่างจังหวัด ไม่ค่อยมีใครยืนดู  ต้องโดดลงไปลงโคลน
สนุกมาก  เพราะจะจับปลาได้เยอะ  เจ้าของสวนจะเอาปลาแจกหรือขาย
และก็จะเก็บไว้ทำพันธุ์ด้วยบางส่วน   นอกจากนี้ก็จะได้หอยขมหอยโข่ง
เอามาทำอาหาร  แกงหอยขมนี่กินดี  แกงหม้อใหญ่ๆ แจกให้ไปดูดหอยขมกันสนุก
ส่วนหอยโข่งเดี๋ยวนี้หาดูยากมาก  แทบไม่เห็นแล้ว  โดนหอยเชอรี่ยึดพื้นที่หมด

ยิ่งตอนนี้  มหาอุทกมาเยี่ยมบ้านหลายวัน  หอยเชอรี่ออกวาดลายฝากไข่หอย
ไว้ตามผนังบ้าน ต้นไม้ เต็มไปหมด   แหม ถ้าไข่หอยกินได้  ก็คงจะดีเหมือนกัน
เยอะจริงๆ


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 19 พ.ย. 11, 09:22
ไข่หอยเชอรี่ สีสวยดี กินได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ ... ;D
แต่เอามาทำปุ๋ยได้ค่ะ..เคยเห็นในทีวี ตากแห้งแล้วบดผสมกากน้ำตาล..

เคยนึกสงสัยมานานว่า ชาวสวนทำไมต้องเดินข้ามท้องร่องลำบากแบบนั้น
ทำไมไม่ทำสะพานไม้ถาวรแบบโค้งๆ ให้เรือลอดได้
เพิ่งถึงบางอ้อ ด้วยคำอธิบายของคุณหลวงนี่เอง ขอบคุณค่ะ
แล้วสวนของคุณหลวงมีต้นอะไรบ้างคะ....น้ำลดเร็วคงไม่เสียหายมากนะคะ

ต้นไม้ที่บ้าน ที่มีอยู่อย่างละต้น สองต้น แช่น้ำมาเกือบเดือน ต้นมะเฟืองเริ่มใบเหลืองร่วงแล้วค่ะ
มะม่วง มะยม กับมะนาว มีใบร่วงบ้าง แต่ก็ยังดีอยู่ น้อยหน่า กับดาหลา ตายไปเรียบร้อย
ขิง ข่า ตะไคร้ ใบกระเพรา พริก ว่านต้นเตี้ยๆ จมน้ำมิดเลยค่ะ คงไม่รอด...
น้ำยังอยู่ระดับเอว คงอีกนานกว่าจะลด...


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 19 พ.ย. 11, 09:35
ไข่หอยเชอรี่ สีสวยดี กินได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ ... ;D

เนื้อหอยรับประทานได้แต่ควรทำให้สุก เพื่อป้องกันอันตรายจากพยาธิ  

ส่วนไข่หอยคุณดีดีอย่าไปรับประทานเชียว

(http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/a/aa/Pomacea_canaliculata_eggs_on_Pistia_stratiotes.jpg/480px-Pomacea_canaliculata_eggs_on_Pistia_stratiotes.jpg)

เห็นสวย ๆ อย่างนี้มีพิษร้ายนักแล (http://jusci.net/node/1423)

 ;D


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 20 พ.ย. 11, 06:05


       ฟังว่าที่บ้านคุณดีดีน้ำยังอยู่ในระดับเอว  ใจก็หายแว๊บ   เรื่องต้นไม้เสียดายดาหลาเพราะเวลาปลูกต้องทนุทนอม

และเวลานี้เป็นเวลาออกดอกเสียด้วย  กลิ่นหอมระรื่น    เรื่องพืชผักสวนครัวก็เป็นเรื่องที่ฟื้นกันใหม่ได้


       เรื่องระดับน้ำนี่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนอยู่  เพราะความเข้าใจไม่ตรงกัน    เห็นในข่าวว่าชายวัยกลางคนผู้หนึ่ง สูงไม่เกืน ๑๗๐ ซม.

เมื่อถูกถามว่าน้ำในบ้านสูงเท่าไร   เขาผู้นั้นสับมือขวากับต้นแขนซ้าย(แสดงความสูง)สอง-สามทีแล้วพูดว่า สองเมตร     

ได้ใช้คำถามนี้กับสหายแทบทุกคนด้วยความห่วงใย       สหายรูปร่างสูงสง่าตอบว่าแค่อก   ขึ้นมาถึงคอแล้ว   ตอนนี้ลดไปถึงเอว     

ดิฉันก็ใช้คำถามว่าถึงเอวแล้วหรือกับสหายทั้งหลายต่อมา          ด้วยความหลงลืมของสาวน้อยเผลอถามสหายปากบางเฉียบไปว่า

 "ครึ่งเอวหรือยัง"     สหายสวนว่า "ไม่ทราบสิ    เพราะไม่เคยแบ่งเอวซ้ายขวาสักที"       

       
       บ้านของคุณอาร์ท47 ก็ยังท่วมอยู่และเสียหายมาก     เพราะรถยนต์และมอเตอร์ไซด์จมน้ำมาหลายอาทิตย์แล้ว     

สอบถามแกมสอบสวนว่าไฉนไม่อุ้มมอเตอร์ไซด์ขึ้นชั้นสอง        คุณอาร์ทบอกเรียบ ๆ ว่า บันไดแคบจ้ะ  และไม่อยู่บ้านด้วยวันนั้น

แต่หนังสืออยู่ดี   พงศาวดารจีนบางชุดยังขาดอยู่ไม่ครบชุด  จำจะต้องไปหามาเพิ่มเติม


       ได้ยินว่าคุณหลวงเล็กสามารถเดินออกจากสวน  ขึ้นรถเมล์   ขึ้นรถไฟ(วันแรกเดินมาตามทางรถไฟหลายกิโลเมตร) ออกมา

รักษาสถานที่ทำงานได้อาทิตย์ละหลายวันก็ใจชื้น    เพราะน้ำแห้งเมื่อไรท่านก็คงไปเดินหาหนังสือใหม่เมื่อนั้น         


       ข่าวเรื่องคุณเจนภพ จบกระบวนวรรณที่คุณเพ็ญชมพูกรุณานำมาเล่า  กระเทือนใจดิฉันมากเพราะเป็น true fan ของคุณเจนภพมานานแล้ว


       พี่สมบัติ  พลายน้อยนั้น  หนังสือสำคัญ ๆ ของท่านอยู่ชั้นบน  ไม่มีใครเคยเห็น  เพราะเคยมีเจ้าของโรงพิมพ์ที่พิมพ์งาน

ของท่านมาขอยืมไปตรวจสอบ  แล้วก็ไม่คืนกันหลายสิบเล่ม  ท่านเลยเก็บที่เหลือขึ้นข้างบนมานานแล้วค่ะคุณร่วมฤดี


       น้ำท่วมครานี้   นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่วงการหนังสือเก่ามาก  เพราะหนังสืออ้างอิง  และหนังสือสำคัญ ของนักสะสมที่เป็นที่รู้จักดีสูญไปมาก

โรงพิมพ์เล็กๆเสียหายมหาศาล      คนขายหนังสือมือสองก็สูญหนังสือไปทั้งๆที่ป้องกันแล้ว     และไม่มีตลาดที่จะขายต่ออีกหลายเดือนเนื่องจากคนซื้อหนังสือ

มีความจำเป็นต้องใช้เงินในเรื่องจำเป็นอื่นๆก่อน

     
       






กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 20 พ.ย. 11, 06:32

รายชื่อเครื่องมือทำนาและราคา  ที่นำมาแสดงในนิทรรศการสินค้าพื้นเมืองไทย พ.ศ. ๒๔๒๕

หลายอย่างก็ไม่รู้จัก    ขอคำอธิบายจากท่านทั้งปวงด้วยค่ะ



สะเยาะ                               บาทแปดอัฐ

เหลียน                                ๓๒  อัฐ  มีดขนาดใหญ่  ใบมีดแบน ปลายกว้างโคนแคบ  สันหนาและโค้งดุ้งขึ้น  โคนมีดทำ
                                        เป็นบ้องกรือกั่นสดอติดกับไม้ด้ามยาว  ใช้ถางป่า  ตัดอ้อย  หรือรานกิ่งไม้เป็นต้น,    อีเหรียนก็เรียก

รัวแทงดิน                             บาท ๑๖ ​อัฐ

จักรวิดน้ำ                             แปดบาท (ระหัดราคาสี่สิบบาท)

แกละตัดข้าว                          ๘ อัฐ(เคียวราคา ๔๘ อัฐ)

มันเกี่ยวข้าว                           ๔๐ อัฐ


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 พ.ย. 11, 10:36
ใช้อินทรเนตรสอดส่องพบ แกะและมัน (http://www.nangkatik-club.com/smf/index.php?topic=2078.0) ไม่แน่ใจว่าเป็นอย่างเดียวกันหรือไม่

คุณ submachine ให้รายละเอียดว่า

แกะเกี่ยวข้าว ใช้ในภาคใต้ แถวสุราษฎร์บ้านผมเรียก "มัน" นัยว่าการใช้แกะ หรือมัน เก็บทีละรวง ทำให้ข้าวร่วงน้อยกว่าการใช้เคียวเก็บทีละหลาย ๆ รวง

การใช้หนีบตัวแกะที่มีใบมีดระหว่างร่องนิ้วชี้กะนิ้วกลาง โดยให้คมมีดหันออก แกนกลม ๆ ที่ขวางอยู่ด้านหลัง จะเข้าอุ้งมือพอดี คราวนี้ เวลาเก็บข้าวก็ใช้ปลายนิ้วชี้กะปลายนิ้วกลาง ดึงรวงข้าวเข้าหาคม คมจะตัดขาด เอาข้าวที่เก็บได้ใส่ไว้ในอีกมือ

คนที่ใช้เก่ง ๆ จะสามารถถือรวงข้าวไว้ในมือที่ถือแกะได้นับสิบรวง ก่อนจะถ่ายใส่มืออีกข้าง

วิธีนี้ เก่งอย่างใรก็ช้ากว่าใช้เคียวครับ แต่ข้าวร่วงน้อย

เคยใช้สมัยเด็ก ๆ แต่ตอนนี้ เขาใช้รถเกี่ยวข้าวกันหมดแล้ว มัวใช้แกะเก็บข้าว เวลาที่เสียไปไม่คุ้มกับงานที่ได้ เอาเวลาไปทำมาหากินอย่างอื่นกันมากกว่า

เป็นของที่เหมาะกับยุคไม่เร่งรีบ ไม่ต้องวอรี่เรื่องการหาเงิน เดี๋ยวนี้ได้แต่ระลึกถึงครับ


 ;D


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 20 พ.ย. 11, 10:56
หน้าตาอีกแบบหนึ่งของ แกะหรือแกระ (http://app1.bedo.or.th/rice/ToolInfo.aspx?id=9)



กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 20 พ.ย. 11, 13:14

โอ....น่าสนใจค่ะคุณเพ็ญ

ขอบคุณเหลือหลาย


       แวะไปดูที่ปทานุกรมหลวงของสถาบันภาษาศาสตร์  ศัพท์พื้นเมือง  น. ๕๖๐

แกะ     เครื่องสำหรับเกี่ยวข้าวที่ละรวง   มันก็ว่า


แวะอ่าน  "กล้วยทอด"  น. ๕๕๕

๑.   กล้วยแขก

๒.   ขนมชนิดหนึ่งใช้กล้วยทั้งผล  หรือผ่าชุบแล้วทอด    สตูลเรียกขนมเกาะเดาะ



กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 20 พ.ย. 11, 15:22



เหลียน                                ๓๒  อัฐ  มีดขนาดใหญ่  ใบมีดแบน ปลายกว้างโคนแคบ  สันหนาและโค้งดุ้งขึ้น  โคนมีดทำ
                                        เป็นบ้องกรือกั่นสดอติดกับไม้ด้ามยาว  ใช้ถางป่า  ตัดอ้อย  หรือรานกิ่งไม้เป็นต้น,    อีเหรียนก็เรียก

นำภาพจากชุมชนคนรักมีดมาให้ชม มีดเหลียน


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 20 พ.ย. 11, 22:58
ไข่หอยเชอรี่ สีสวยดี กินได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ ... ;D
แต่เอามาทำปุ๋ยได้ค่ะ..เคยเห็นในทีวี ตากแห้งแล้วบดผสมกากน้ำตาล..

สวนของคุณหลวงมีต้นอะไรบ้างคะ....น้ำลดเร็วคงไม่เสียหายมากนะคะ

ต้นไม้ที่บ้าน ที่มีอยู่อย่างละต้น สองต้น แช่น้ำมาเกือบเดือน ต้นมะเฟืองเริ่มใบเหลืองร่วงแล้วค่ะ
มะม่วง มะยม กับมะนาว มีใบร่วงบ้าง แต่ก็ยังดีอยู่ น้อยหน่า กับดาหลา ตายไปเรียบร้อย
ขิง ข่า ตะไคร้ ใบกระเพรา พริก ว่านต้นเตี้ยๆ จมน้ำมิดเลยค่ะ คงไม่รอด...
น้ำยังอยู่ระดับเอว คงอีกนานกว่าจะลด...

ได้ทราบจากสหายส่งข่าวว่า  คุณดีดีก็ประสบมหาอุทกภัยเหมือนกัน  
ลำบากอย่างไรนั้น  ผมเข้าใจดี  ไม่เป็นไรครับ  น้ำคงไม่สูงไปกว่าที่มันเคยสูงสุดมาแล้วอีกเป็นแน่
ตอนนี้  ก็นั่งนอนดูรอยคราบน้ำตอนมันทยอยลดลงอย่างช้าๆ
เชื่อว่า  ไม่เกินหนาวนี้  น้ำคงจะลดจนตอผุดให้เห็นได้แน่ๆ
บ้านผมตอนนี้ น้ำอยู่ต่ำระดับเอวลงมาอยุ่ที่เกินกึ่งขาอ่อนเล็กน้อย

ไข่หอยเชอรี่เอามาทำปุ๋ยไม่เคยเห็น  แต่เคยเห็นเขาเอาตัวหอยเชอรี่มาทำปุ๋ย
หอยเชอรี่นี่  แพร่พันธุ์เร็วมาก  ลองได้เข้าไปแพร่ที่ไหนแล้ว  กำจัดยากมาก

ส่วนการเอาหอยเชอรี่ไปปรุงเป็นอาหารนั้น  ถ้าเป็นหอยเชอรี่อยู่น้ำสะอาดก็ควรจับมากิน
แต่ถ้าอยู่ในน้ำเน่าผิดสีผิดกลิ่น  ไม่ควรจับมากินเป็นอันขาด  เพราะหอยพวกนี้สกปรก

การจะกินหอยเชอรี่  ก็ไม่ง่าย  ต้องจับหอยมาเต็มถังน้ำ  แล้วเอามาโยนเข้ากองไฟ
หรือจะต้มในน้ำร้อนก็ได้   จากนั้น  ก็แคะหอยออกจากเปลือก  เอาเฉพาะตีนหอยมากิน
ตับไตใส้พุงขี้ไข่ของหอยเอามารับประทานไม่ได้  ทิ้งไป  คิดดูแล้วกัน  หอยตัวโต
แต่กินได้ส่วนนิดเดียว  แถมเมื่อนำไปต้มหรือเผาก่อนเอาเนื้ออกมาได้  ส่วนที่กินได้จะหดลงอีก
หอย ๑ ถังน้ำ  แกะเอาเอาส่วนที่กินได้ไม่ถึงชามแกงดีเลย

เมื่อได้เนื้อหอยส่วนที่กินได้มาแล้ว  ต้องล้างให้หมดเมือกหมดคาว  ซึ่งไม่ใช่ว่าล้างออกกันง่ายๆ
ต้องล้างกันหลายน้ำกว่าจะหมด  จากนั้นเอามาหั่นบางๆ  ทีนี้จะเอาไปยำ แกง หรือผัดอย่างไรก็ตามสะดวก
เมนูหอยเชอรี่ที่รับประทานบ่อยๆ คือ ยำหอยเชอรี่  ทำง่าย  หั่นหอยบางๆ ใส่ตะไคร้ซอย หอมแดง
พริกขี้หนูสวนหั่น ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำมะนาว น้ำตาลเล็กน้อย  คลุกยำให้เข้ากัน  ใส่ใบโหระพา
เท่านี้ก็รับประทานได้แล้ว  เป็นอาหารง่ายๆ  หรือใครจะเอาไปผัดพริกแกงเผ็ดก็ดีเหมือนกัน

ต้นไม้ที่บ้านผม  น้ำท่วมขังหลายวัน  มันก็ค่อยปล่อยใบร่วง ยืนต้นตาย
ขนุนที่รอดน้ำมาแต่ปี ๓๘ คราวนี้คงตายหมดทุกต้น   ต้นกล้วยก็ล้มระเนนระนาด
หมากที่ไม่ถูกโค่น ยังสดชื่นดี   มะพร้าว  ไม่หวั่นไหวแม้น้ำจะมามาก
มะกรูดมะนาวแข็งแรงดี เพราะปลูกด้วยเมล็ด  ตะไตร์กอใหญ่  เน่าหมด  
พริก ขิงข่า มะเขือ ชะอม มะละกอ ฟักทอง พวกนี้ใจเสาะจมน้ำตายราบ

ว่ากันว่า  ไม้บางอย่างหากปลูกด้วยกิ่งตอนกิ่งชำ  พอน้ำท่วมนานหลายวัน
จะตาย   ถ้าไม้มีรากแก้ว  จะอยู่รอดน้ำ  


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 20 พ.ย. 11, 23:28
จะว่าไปแล้ว  ยังมีเครื่องมือทำมาหากินของชาวนาชาวไร่ชาวสวนอีกมากมาย
ที่คนไทยสมัยนี้หลงลืม หรือไม่รู้จักชื่อ หรือแม้กระทั่งหน้าตาว่าเป็นอย่างไร
ยิ่งเป็นคนที่อยู่ในสังคมเมือง  ไม่ได้ออกไปแลเห็นบรรยากาสท้องทุ่งท้องนา
ท้องไร่ท้องสวนแล้ว  ยิ่งไม่ต้องถามว่ารู้จักสิ่งของเหล่านี้ไหม

ครั้งหนึ่ง  จำได้ว่า  ครูสอนวิชาเกษตรชั้นประถม เป็นผู้หญิงอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านแถบปริมณฑล
สอนเด็กว่า  จอบใช้ขุดดินเท่านี้  ไม่ควรเอาไปใช้อย่างอื่น  นักเรียนในห้องแย้งทันทีว่า
ทีบ้านผม/หนู  เห็นผู้ใหญ่เอาจอบถางหญ้า  ผสมปูนทำบ้าน  คลุกกลับปุ๋ยคอกเลย
ก็เห็นเขาใช้กันได้   ที่ใช้ขุดดินก็มี   แต่ก็ใช้ทำอย่างอื่นได้ด้วย  ครูไม่รู้จะแย้งเด็กอย่างไร
เพราะตัวเองก็ไม่เคยทำสวนจึงได้แต่สอนตามตำราหนังสือ

เรื่องเสียมกับพลั่วก็เหมือนกัน  เด็กรุ่นผมรู้จักพลั่วว่ามี ๒ อย่าง คือ พลั่วตักทรายอย่างหนึ่ง
และพลั่วแทงดินอย่างหนึ่ง  พลั่วตักทรายเป็นอย่างไรไม่ต้องอธิบายเข้าใจกันดดยทั่วไป
แต่พลั่วแทงดิน มีลักษณะเหมือนเสียม แต่มีขนาดใหญ่และตัวใบที่ใช้ขุดยาว บาง และคมกว่าเสียม
เสียมนั้นมักใช้ขุดหลุมเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งชาวสวนไม่ค่อยใช้  มักใช้ชะแลงมากกว่า เพราะพกง่าย
และราคาถูก  เด็กๆ ชาวสวนจึงไม่ค่อยรู้จักเสียม  รู้จักแต่พลั่วแทงดิน  ซึ่งมีลักษณะคล้ายกัน
แต่ครูไม่รู้จัก  เลยเข้าใจไม่ตรงกัน

อย่างเหลียนก็สนุก  เป็นเครื่องมือที่เดี๋ยวนี้คงมีคนไม่รู้จักเป็นส่วนใหญ่
มีดเหลียนนี้  มีหลายลักษณะ  โดยมากมักจะตีขึ้นจากเหล็กยาวสักศอกเศษ
โค้งงอมากบ้างน้อยบ้าง ไม่แน่นอน  หนาบ้างบางบ้าง  แต่แข็งแรงดีมาก
ใช้ขุดดินก็ได้  เหลียนใช้ดายหญ้าตามสวน  ตัดกิ่งไม้ได้  เป็นมีดสารพันประโยชน์
เหลียนดายหญ้ามักไม่คมมาก  เมื่อจะใช้งานจะลับให้คมขึ้น  และต้องพกหินไปลับในสวนด้วย
เมื่อใช้ไปก็มักจะบิ่น  เพราะใช้ฟันตัดสารพันอย่าง เหลียนนี้บางทีก็สั่งให้ช่าง
ตามร้านซ่อมรถทำให้ก็มี  เป็นมีดง่ายๆ ที่ชาวสวนมักต้องมีไว้ใช้
บางทีเหลียนนี่แหละก็เป็นอาวุธชั้นดีเหมือนกัน


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 พ.ย. 11, 07:40

การจะกินหอยเชอรี่  ก็ไม่ง่าย  ต้องจับหอยมาเต็มถังน้ำ  แล้วเอามาโยนเข้ากองไฟ
หรือจะต้มในน้ำร้อนก็ได้   จากนั้น  ก็แคะหอยออกจากเปลือก  เอาเฉพาะตีนหอยมากิน
ตับไตใส้พุงขี้ไข่ของหอยเอามารับประทานไม่ได้  ทิ้งไป  คิดดูแล้วกัน  หอยตัวโต
แต่กินได้ส่วนนิดเดียว  แถมเมื่อนำไปต้มหรือเผาก่อนเอาเนื้ออกมาได้  ส่วนที่กินได้จะหดลงอีก
หอย ๑ ถังน้ำ  แกะเอาเอาส่วนที่กินได้ไม่ถึงชามแกงดีเลย


นำภาพหอยเชอรี่มาฝาก ท้องนาภาคอีสานเขายกให้เป็น "เป๋าฮื้อน้ำจืด" เนื่องจากมีโปรตีนสูงแต่ต้องอยู่ในน้ำสะอาดดังที่กล่าวมาแล้ว

ไม่ทราบว่าคุณหลวงคงต้องมีประสบการณ์งมหา "หอยขม" ไม่มาก็น้อยเป็นแน่แท้ เพราะหอยขมจะอยู่ตามท้องร่องสวน  ???


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 พ.ย. 11, 07:47
แกงหอยขมฟักเขียว


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 พ.ย. 11, 08:39
อย่างเหลียนก็สนุก  เป็นเครื่องมือที่เดี๋ยวนี้คงมีคนไม่รู้จักเป็นส่วนใหญ่

ขอยอมรับว่าไม่เคยรู้จักเหลียนเลย

รอยอิน (http://rirs3.royin.go.th/word41/word-41-a8.asp)  ท่านบอกว่า เหลียนมาจากภาษาจีน คิดว่าน่าจะมีประวัติการเดินทางจากจีนมาสู่ประเทศไทยอย่างน่าสนใจ

คุณหาญปิงน่าจะพอให้ร่องรอยเรื่องนี้ได้

 ;D


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 21 พ.ย. 11, 09:19
การงมหอยขมนั้น  คงไม่ต้องงมหรอกครับ 
เมื่อวิดท้องร่องสวนแห้ง  จะเห็นหอยขมอยู่ก้นท้องร่องเป็นไปหมด
จะเลือกเก็บหอยมากเท่าไรก็ได้  โดยมากเลือเก็บแต่หอยตัวใหญ่ๆ
อีกวิธีหนึ่ง  ถ้าบ้านอยู่ติดแม่น้ำ ลำคลอง ลำประโดง
เอาไม้ปักเป็นหลักไว้สัก ๑-๒ วัน ก็จะมีหอยขมมาเกาะให้เก็บกิน
เก็บสัก ๒-๓ คราวก็จะได้พอหม้อแกง  แต่ที่ว่านี่เป็นแต่ก่อนยี่สิบกว่าปีมาแล้ว
ถ้าเป็นสมัยนี้  คงได้แต่หอยเชอรี่มาเต็มหลักไม้

แถวบ้านบ้าน  ได้หอยขมมาทีไร ก็มักจะแกงเผ็ดหอยขมใส่หรือไม่ใส่ใบชะอม
แกงหม้อใหญ่ๆ แจกตามบ้านญาติ  แกงฟักเขียวใส่หอยขม  ไม่เคยรับประทาน

เหลียนนั้น มีทั้งเหลียนซ้ายและเหลียนขวา เลือกใช้ได้ตามความถนัด
เหลียนขวา คมจะหันออกทางซ้ายมือ  เหลียนซ้ายหันออกทางขวา
ตอนเด็ก ผมจะหงุดหงิดมาก  เพราะที่บ้านถนัดใช้แต่เหลียนซ้าย
แต่เราถนัดขวา  จึงต้องทนใช้เหลียนที่ไม่ถนัดตามมือเรา
เหลียนนั้น  ได้ทราบว่าเป็นมีดที่คนจีนทำขึ้นใช้กันก่อน
แล้วแพร่หลายแก่ชาวไทย ทางรากศัพท์นั้นไม่ทราบ  เพราะไม่ถนัดภาษาจีน


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 21 พ.ย. 11, 09:24
ดึงกลับมาที่เรื่องหมาก  หมากนั้นยังส่วนที่ใช้ประโยชน์ได้อีก
อยากให้ช่วยกันหาสักหน่อยว่า นอกจากการใช้ประโยชน์จากหมาก
คือ ต้นใช้ทำสะพานข้ามท้องร่องและผลใช้รับประทานกับพลูแล้ว
หมากยังมีส่วนใดใช้ได้อีกบ้าง :)


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 พ.ย. 11, 09:33
หมากยังมีส่วนใดใช้ได้อีกบ้าง :)

ตอบ  ๑. กาบหมาก  --->  หมาตักน้ำ

 ;D

(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=4389.0;attach=20563;image)

หมาต้อ


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 พ.ย. 11, 09:34
ดึงกลับมาที่เรื่องหมาก  หมากนั้นยังส่วนที่ใช้ประโยชน์ได้อีก
อยากให้ช่วยกันหาสักหน่อยว่า นอกจากการใช้ประโยชน์จากหมาก
คือ ต้นใช้ทำสะพานข้ามท้องร่องและผลใช้รับประทานกับพลูแล้ว
หมากยังมีส่วนใดใช้ได้อีกบ้าง :)

๑. กาบหมาก นำมาให้เด็กนั่งเล่นแล้วลากสนุกนักแล และนำมาห่อขนม ทำภาชนะตักน้ำได้ดี

๒. เมล็ดหมาก ยิ่งแห้งตายกับต้น ถือเป็นของวิเศษ "คดหมาก" นำมาทำเครื่องรางของขลังได้ มีโด่งดังอยู่หลายเกจิอาจารย์ หลายสำนักมาก

๓. จั่นหมาก น่าจะทำน้ำตาลได้

๔. ต้นหมาก ทะลวงไส้ที่อ่อนนุ่มออกไป เป็นโพรงสามารถทำเป็นท่อระบายน้ำได้


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 21 พ.ย. 11, 09:53
๒. ผลหมาก  

วัฒนธรรมการกินหมากของไทยเป็นเรื่องของคนแก่ กำลังจะเลือนหายไป

แต่ไปรุ่งเรืองและเป็นเรื่องของวัยรุ่นในดินแดนใหม่ที่ชื่อคล้ายกัน
Taiwan

http://www.youtube.com/watch?v=b9-UNOJcmUM&feature=related

http://www.youtube.com/watch?v=pINhS6W2qL0&feature=player_embedded#at=539

ถ้าคนไทยยังกินหมากกันอยู่ เพราะไม่มียุควัธนธัมมาเบรค    คงโพสต์ข้อความกันไปเคี้ยวหมากกันไป   อาจจะมีการออกตัวว่า
" ขอไปกินหมากซักคำก่อนนะครับ  เดี๋ยวจะมาโพสต์ต่อ" - siamese
หรือ
" วันนี้หิวหมากแต่เช้า   ขอตอบสั้นๆก่อนละกัน " - เพ็ญชมพู

หรืออาจมีกระทู้ต่อไปนี้
" เมืองที่ผมอยู่ไม่มีหมากขาย   ใครทราบบ้างครับว่าจีนมีหมากของไทยขายที่เมืองไหนบ้าง" han_bing
" สั่งหมากทาง ebay หรือ amazon ดีกว่ากันคะ" - : D : D
" ขอแนะนำวิธีปลูกพลูกินเอง   ในยุคพลูขายแพงมาก" -ลุงไก่
" คุณวันดีคะ   อยากจะขอตำราอบปูนหอมของคุณหญิงภักดีบทมาลย์ค่ะ" - Ruamrudee


(http://www.reurnthai.com/index.php?action=dlattach;topic=4389.0;attach=22397;image)


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 21 พ.ย. 11, 10:43
หมากยังมีส่วนใดใช้ได้อีกบ้าง :)

ด้านสมุนไพร
ผลและเมล็ด
- ใช้เป็นยากำจัดหนอน ในเวลาที่วัวควายเป็นแผลและมีหนอน ใช้เมล็ดหมากปิดที่แผล หนอนก็จะตายหมด
- ใช้เป็นยาสมานแผล ในเวลาหั่นหมาก แล้วมีดบาดมือ ก็จะใช้เมล็ด (เนื้อ) หมากมาปิด ทำให้เลือดหยุดไหล และแผลจะหายเร็ว
- ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิในสัตว์ เช่น พยาธิตัวแบน ตัวกลม และตัวตืด (โดยเฉพาะผู้เลี้ยงไก่ชนจะนำผลแก่มาบดให้ไก่กิน )
- ใช้ขบเคี้ยว เพื่อรักษาเหงือก และฟันให้คงทน ซึ่งก็จะเห็นได้ว่า คนแก่ที่กินหมากฟันจะไม่ค่อยเสีย
- ใช้รักษาอาการท้องเดิน ท้องเสีย
- ในยุโรป ใช้เป็นส่วนผสมของยาสีฟัน เชื่อว่าทำให้ฟันขาว

ราก
- นำมาต้มกิน แก้ปากเปื่อย ขับปัสสาวะ และโรคบิด

ใบ
- นำมาต้มกิน เป็นยาขับพิษ นำมาทาแก้คัน

ด้านอุตสาหกรรม
เมล็ดหมาก เมื่อนำมาสกัดจะได้ไขมัน เมือก ยางและสารอัลคาลอยด์ ชื่อ Arecoline มีแทนนิน (Tannin) สูง จึงสามารถใช้ในทางอุตสาหกรรมและยารักษาโรคได้หลายชนิด เช่น
- ใช้ทำสีต่าง ๆ
- ใช้ย้อมแห อวน ทำให้แห และอวนนิ่ม และอ่อนตัว ยืดอายุการใช้งานได้นาน เส้นด้าย ไม่เปื่อยเร็ว
- ใช้สกัดทำยารักษาโรค เช่น ยาสมานแผล ยาขับพยาธิในสัตว์ ยาแก้ท้องเดิน ท้องเสีย ยาขับพิษ ยาทาแก้คัน น้ำมันนวด ยาขับปัสสาะ และยาแก้ปากเปื่อย เป็นต้น
- ใช้สกัดเป็นน้ำยาฟอกหนัง จะทำให้หนังนิ่ม และมีสีสวย ที่ประเทศอินเดียมีจำหน่าย ในชื่อต่าง ๆ กันคือ Gambier catechu, Begal catechu, Bombay catechu


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 21 พ.ย. 11, 10:55
(ต่อค่ะ)  ;D

ลำต้น

- ใช้ทำเสาตอม่อ ฟากสับ แม่บันได ลูกบันได
- โคนแก่ใช้ทำขั้นพะองเพื่อทอดทำสะพานข้ามลำกระโดง ท้องร่อง
- เมื่อทะลวงเอาไส้ในออก สามารถใช้ทำเป็นท่อระบายน้ำ
- ทำไม้คานใช้แบกของ
- ทำคร่าวสำหรับยึดฝาฟากสับ ในการปลูกห้างเฝ้าสวน
- สมัยก่อนชาวสวนจะประสบปัญหาน้ำท่วมทุกปี เนื่องจากฝนชุกและน้ำทะเลหมุน ชาวสวนก็จะใช้ต้นหมากกั้นคันดิน และเป็นตอม่อป้องกันคันดินที่กั้นน้ำเข้าสวนพังด้วย
- ใช้เป็นไม้พื้น ในการปลูกเรือนเครื่องผูก

ใบ-กาบหมาก-ทางหมาก

- ใช้ก้านทางที่มีใบมาผูกห้อยตรงช่องทางเข้าออกของ “เวจ” ซึ่งเป็นที่ขับข่ายของชาวสวน ทางหมากมีใบหนาอ่อนนุ่ม สะดวกในการแหวกเข้าออก และยังเป็นที่บังตาเป็นอย่างดี
- ชาวสวนที่ทำน้ำตาลมะพร้าวเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริม ใช้ทางหมากที่แห้งแล้วมาทำเป็น “เสวียน” ขนาดใหญ่สำหรับรองรับกระทะใบบัวขนาดใหญ่ขณะที่กวนน้ำตาลตงุ่นให้เป็นน้ำตาลปึก หรือน้ำตาลปี๊ป
- กาบหมาก ทำเป็นของเล่นให้เด็กๆ คือ รถลาก โดยเด็กคนหนึ่งจะนั่งลงบนกาบ มือจับที่โคนทาง เด็กอีกคนหนึ่งจับปลายทางที่เหลือใบไว้ แล้วเดินหรือวิ่งลากไป
- กาบหมาก นำมาดัดหรือเจียนทำเป็น "เนียน" สำหรับขูดน้ำพริกที่สาก และคดน้ำพริกจากครก
- กาบหมาก นำมาทำเป็นที่จับกระทะเคี่ยวตาล เวลายกขึ้นลงจากเตาตาล แทนการใช้ผ้าได้ด้วย
- กาบหมาก ใช้ทำพัดสำหรับพัดให้คลายร้อนในหน้าร้อนได้เป็นอย่างดี โดยนำกาบหมากมาเจียนให้เป็นรูปกลมหรือวงรี มีที่สำหรับมือจับยื่นออกมา โดยก่อนใช้จะต้องใช้ก้นของครกตำข้าวทับให้แบนเรียบเสียก่อน
- กาบหมาก ใช้ห่อขนม กาละแม



กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 21 พ.ย. 11, 15:39
พัดกาบหมากนั้น  พัดเย็นดี แข็งแรงทนทานกว่าพัดตอกสาน โกยลมได้มาก  แต่อาจจะหนักสักหน่อย
กาบหมาก ไม่เหมือนกาบมะพร้าว  เพราะกาบหมาก  หมายถึงกาบตรงโคนทางหมาก
ที่ห่อหุ้มต้นหมากตรงยอดหมาก  เมื่อทางใบหมากเหลือง  กาบหมากก็จะค่อยๆ หลุดออกจากต้นหมาก
โดยมากกาบหมากที่หล่นยังมีส่วนที่เขียวอยู่  แต่บางทีก็กลายเป็นสีเหลืองน้ำตาล
ส่วนกาบมะพร้าว  คือ เปลือกมะพร้าว(ทั้งเปลือกอ่อนและเปลือกแข็ง)
ที่เหลือจากการปอกมะพร้าวแล้ว  

กาบหมากเมื่อหล่นจากต้นใหม่ๆ สดๆ  ให้รีบเอามาเจียนตัดให้รีเป็นรูปไข่
ตรงที่จับถือ ควรเจียนให้เรียวยาวหน่อยจะได้จับถนัด  กะขนาดให้ใหญ่ยาวพอดี
ไม่ยาวเกิน  เวลาพัดตัว จะได้ไม่โดนศีรษะ  หรือต้องกางมือพัดกว้างให้เหมื่อยมือ
พัดกาบหมากเมื่อเจียนเสร็จ  ต้องหาของหนักๆ ทับไว้จนกว่าพัดกาบหมากจะแห้งสนิท
การทำอย่างนี้  เพื่อไม่ให้พัดกาบหมากงอเมื่อแห้งสนิท  ทำให้ถือยาก เสียรูป
กาบหมากต้องเจียนสดๆ จะเจียนง่าย  ถ้ากาบแห้งแล้วต้องเอามาแช่น้ำให้นุ่มถึงเจียนได้
จะได้ไม่แตก ไม่ฉีก และมีดไม่บาดมือ  แต่บางทีแช่นานไป  กาบหมากก็จะออกกลิ่นได้
พัดอย่างนี้  พัดเตาไฟดีมาก ไฟแรงทันใจ แต่ระวังหม้อจะดำ ขัดไม่ไหว

ถ้าเอามาพัดตัว  ก็ไม่ต้องระวังว่า  จะนอนทับพัด  แล้วสีติดตัวเหมือนทับพัดตอกสาน
(แล้วล้างออกยากชะมัด)  

กาบหมาก  เมื่อหล่นมาแล้ว  ยังมีประโยชน์อื่นอีก  ที่หลายคนคาดไม่ถึง
นั่นคือ  เอาไปแช่น้ำให้เน่าเปื่อยจนเหลือแต่เส้นใย  ล้างออกให้เหลือแต่ใยสะอาดๆ
ทำไว้เยอะๆ  เอาไปใส่ไว้ในบ่อเลี้ยงปลาแรด  ให้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาแรดดึงคาบเอาใยกาบหมาก
ไปกัดทำเป็นรังสำหรับวางไข่ปลาในสวนในบ่อได้  ปลาแรดทำรังด้วยใยหมากนี้
ขนาดของรังใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลาง  ๑ ฟุต ถึง ๑ ฟุตครึ่ง

ส่วนกาบหมากห่อขนมนั้น ใครไม่เคยเห็น ให้ไปดูที่อัมพวา
กะละแมรามัญที่นั่น  ใส่กาบหมากห่อม้วนยาว ๑ คืบเศษ ถึง ๒ คืบ มัดด้วยตอกไม้ไผ่
แต่เดี๋ยวนี้ยังเหมือนเดิมหรือเปล่าไม่ทราบ  ไม่ได้ไปซื้อนานมากแล้ว
กะละแมรามัญใส่ถั่วใส่งา  อร่อยมาก  (รับประทานมากจะอ้วนถ้วนสมบูรณ์)


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 21 พ.ย. 11, 15:55
กะละแมรามัญ ห่อด้วยกาบหมาก... ;D


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 21 พ.ย. 11, 16:07
เมื่อคุณหลวงเลี้ยงปลาแรดเสร็จแล้ว ขอนำเสนอประโยชน์จากกาบหมากคือ "ขี้เถ้าจากกาบหมาก"

๑. นำขี้เถ้าจากาบหมาก ผสมการบูร ดื่มแก้ท้องเสียได้ดีครับ

๒. นำขี้เถ้ากาบหมากนวดกับข้าวสุก สำหรับติดหน้าหนังเครื่องตนตรีไทย เช่น ตะโพน เปิงมาง จะให้เสียงที่ดังกังวาน ถ้าจะให้ดีต้องใช้ทางมะพร้าวครับ


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 21 พ.ย. 11, 16:09
ผลหมาก ที่นิยมใช้รับประทานในเมืองไทย  เป็นหมากลูกใหญ่ที่เนื้อข้างในยังอ่อน แต่หน้าเต็มดี
ถ้าหมากอ่อนเกินไป เก็บไม่ได้ที่แล้ว หน้าจะโบ๋  เรียกว่า หมากหน้าไม่เต็ม  ราคาจะตก
วิธีการดูหมากว่าหมากทะลายไหนเก็บได้ไม่ได้นั้น  คนรับซื้อหมาก  จะให้คนรับจ้างขึ้นหมาก
ปีนขึ้นไปบนต้น  เมื่อถึงทะลายหมาก จะเด็ดหมากออกมา ๑ - ๒ ผล เอามีดตะขอผ่าครึ่งลูก
เพื่อจะดูว่าหมากหน้าเต็มดีหรือไม่  เนื้อหมากแดงหรือขาวซีด  หมากที่ไม่แดง  ออกขาวซีดราคาจะตก
บางทีเห็นหมากลูกเขียว แต่เนื้อข้างในแข็ง เป็นหมากสง  ราคาก็จะตกเหมือนกัน
เพราะเป็นหมากสง คนมักไม่ค่อยรับประทานกัน เพราะแข็ง เคี้ยวยาก เป็นเสี้ยนด้วย  
ดีไม่ดีเจอหมากยันอีกต่างหาก

เมื่อคนรับจ้างปีนต้นหมากผ่าหมากออกดูแล้ว จะเอาหมากนั้นโยนลงมาให้คนรับซื้อหมากดูว่าใช้ได้หรือไม่
ถ้าใช้ได้ก็เอามีดตะขอตัดหมากลงมาทั้งทะลายถือลงมาวางกับพื้นอย่างนิ่มนวล  โยนลงมาไม่ได้
เพราะหมากจะหลุดกระจัดกระจายเก็บยาก  หมากที่ผ่าครึ่งผลดูเนื้อในนั้น  เรียกว่า หน้าหมาก
เวลานับผลหมากเพื่อคิดเงิน  เจ้าของสวนจะไม่คิดหน้าหมากรวมด้วย  
แต่จะเก็บหน้าหมากไว้ไปให้คนเฒ่าคนแก่ที่กินหมาก  หรือบางทีก็ก็ให้คนรับซื้อไปทำหมากตากแห้งด้วยก็มี

การปีนต้นหมาก  ยากกว่าปีนต้นมะพร้าว  เพราะหมากต้นเล็ก  ต้นลื่น  และสูงมาก  หากปลูกมานานๆ
คนปีนหมากจะต้องใช้ผ้าหรือกระสอบทำเป็นวงกลม แล้วบิดเป็นเลข 8 เอาเท้า ๒ ข้างสอดให้ผ้าหรือกระสอบนั้น
อยู่ที่ฝ่าเท้าแล้วจึงปีนขึ้นไป  ผ้านั้นจะช่วยไม่ให้เท้าทั้งสองแยกจากกันและขัดไว้ผิวต้นหมาก ทำให้ปีนง่ายขึ้น
ปีนต้นมะพร้าวก็เหมือนกัน

เมื่อขึ้นหมากต้นหนึ่งเสร็จแล้ว  หากเป็นสวนหมากที่ปลุกหมากชิดกัน  คนปีนหมากไม่ต้องลงจากต้นเพื่อปีนขึ้นต้นใหม่
เขาจะโยกยอดต้นหมากที่ปีนอยู่นั้นให้โน้มไปหาอีกต้นที่อยู่ใกล้กันกันแล้วเหนี่ยวยอดข้ามไปอยู่ที่ยอดต้นหมากต้นต่อไป
การทำอย่างนี้  เรียกว่า  การตีต้นหมาก  โดยมาก คนที่ทำเช่นนี้ได้ต้องชำนาญมาก  น้ำหนักตัวเบา  
ซึ่งเท่าที่เห็นจะเป็นพวกเด็กหนุ่มๆ คนปีนหมากที่เป็นผู้ใหญ่ไม่ค่อยกล้า  กลัวตก   และที่สำคัญ
ต้องเป็นสวนหมากที่ปลูกเว้นระยะต้นหมากไม่ห่างกัน (ในระยะ ๒ - ๒ ๑/๒ เมตร) ท้องร่องไม่กว้างนัก
จึงจะตีต้นหมากได้  บางสวนปลูกหมากชิดๆ กัน  คนปีนหมากอาจจะขึ้นได้ ๑๐ กว่าต้น โดยไม่ลงจากต้นก็ได้





กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 21 พ.ย. 11, 16:13
เมื่อคุณหลวงเลี้ยงปลาแรดเสร็จแล้ว ขอนำเสนอประโยชน์จากกาบหมากคือ "ขี้เถ้าจากกาบหมาก"

๑. นำขี้เถ้าจากาบหมาก ผสมการบูร ดื่มแก้ท้องเสียได้ดีครับ

๒. นำขี้เถ้ากาบหมากนวดกับข้าวสุก สำหรับติดหน้าหนังเครื่องตนตรีไทย เช่น ตะโพน เปิงมาง จะให้เสียงที่ดังกังวาน ถ้าจะให้ดีต้องใช้ทางมะพร้าวครับ

ดีมากครับ  นี่ก็ประโยชน์อย่างสำคัญที่คนทั่วไปไม่รู้ ขี้เถ้ากาบหมากละเอียดดีเหมือนกัน



กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 21 พ.ย. 11, 16:20
ข้าวห่อกาบหมากค่ะ... ;D


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 21 พ.ย. 11, 16:22
หมากทั้งทะลาย สุกใช้ได้พร้อมกันหรือคะ...
แล้วทำไม ไม่ฝึกลิงเก็บหมาก แบบฝึกลิงเก็บมะพร้าว...


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 21 พ.ย. 11, 16:39
คนรับจ้างปีนต้นหมาก  มักจะรับจ้างขึ้นต้นมะพร้าวด้วย
พอถึงฤดูขึ้นขึ้นหมากขึ้นมะพร้าวในช่วงหมากมะพร้าวชุกชุม  
แทบจะต้องจัดคิวจองตัวกันทีเดียว  

หมากที่เก็บส่งขายต่างประเทศนั้น  หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า
เขาเก็บหมากอ่อนผลเล็กเท่าหัวแม่มือเท่านั้น  ส่งออกไปขาย
และไม่ได้ส่งขายเป็นทะลาย  แต่ต้องมาตัดออกเป็นลูกๆ
ล้างให้สะอาด  ตัดแต่งให้สวยงาม  คัดเลือกลูกที่ไม่ได้ขนาดออก
(เล้กเกินไป ใหญ่เกินไปไม่เอา)  ใส่ตะกร้าพลาสติก ปิดอย่างดี
ส่งขึ้นเครื่องบิน ลงเรือไปขายต่างประเทศที่รับประทานหมาก เช่นไต้หวัน
อินโดนีเซีย  อินเดีย เป็นต้น

การนับหมากเมื่อเอาลงมาเป็นทะลายจากต้นแล้ว เป็นงานที่หน้าปวดหัวมาก
คนนับต้องมีสมาธิดีๆ  เพราะหมากลูกเล็ก และแต่ละทะลายจะมีเป็นร้อยๆ ลูก
เวลานับ  จะนับหมาก ๕ ลูก เป็น ๑ มือ  นับอย่างนี้ไปจนครบ ๑๐๐ มือ
ก็จะหากิ่งไม้ หรืออะไรก็ตามแต่  มาถือเอาไว้  แล้วนับต่อไป เมื่อได้กี่ร้อยมือก็ตาม
ตอนที่คิดเงิน  คนรับซื้อจะบอกเองว่า ขอแถมหมากร้อยละกี่มือ
หรือบางทีก็บอกไว้ตั้งแต่ก่อนนับเลยว่า  ๑๐๐ มือ แถม ๕ มือ เป็นต้น
คนนับจะได้นับแถมไปเลย หรือจะมาหักแถมกันตอนหลังนับเสร็จก็ได้ เหมือนกัน

ส่วนคนรับจ้างขึ้นต้นหมาก  จะต้องนับจำนวนต้นที่ตนเองได้ขึ้นไว้ด้วย
คนขึ้นหมากแต่ละคนมีการจดจำนวนต้นหมากที่ขึ้นต่างๆ กันไป  
(แต่ไม่ใช่เอากระดาษปากกามาจดหรอก  เพราะเกะกะเสียเวลา พกพาไม่สะดวก)
เท่าที่เคยเห็น  บางคนเอาลูกหมากมาบากที่ผิวด้วยมีดตะขอเก็บหมาก
เป็นริ้วเล็กๆ ขึ้นตนหนึ่งก็บากริ้วหนึ่ง ทำอย่างนี้ไปจนกว่าจะหมดลูกหรือหมดสวน

ถ้าบากเป็นริ้วหมดลูกแล้วยังขึ้นปีนเก็บหมากไม่หมดสวน ก็บากลูกใหม่ต่อไป
ลูกเก่าก็เก็บไว้ในกระเป๋ากางเกง จากนั้น  เขาจะมานับรอยบากเมื่อขึ้นหมดทั้งสวน
เพื่อคิดค่าขึ้นจากคนว่าจ้าง  โดยมากตกราคาค่าจ้างขึ้นหมากต้นละ ๔-๕ บาทเป็นอย่างต่ำ

บางคนก็ตัดหางทางมะพร้าวให้สั้นกว่าแขนเล็กน้อย  ตัดใบมะพร้าวให้สั้นเหลือสัก ๑๐ ซม.เศษ
แล้วเหน็บหางทางมะพร้าวนั้นไว้ที่ข้างหลัง  เมื่อขึ้นหมาก ๑ ต้นก็ตัดใบมะพร้าวให้สั้นครึ่งหนึ่งลง ๑ ใบ
ทำอย่างนี้ไปจนหมดสวน  คนขึ้นหมากแต่ละคนต้องนับต้นที่ตนเองขึ้นเก็บ  ไม่มีใครนับให้
เป็นวิธีง่ายๆ ที่ชาวสวนยังทำอยู่ทุกวันนี้  (ขึ้นมะพร้าวก็มักใช้วิธีนับต้นอย่างนี้เหมือนกัน)


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 21 พ.ย. 11, 16:55
หมากทั้งทะลาย สุกใช้ได้พร้อมกันหรือคะ...
แล้วทำไม ไม่ฝึกลิงเก็บหมาก แบบฝึกลิงเก็บมะพร้าว...

ข้าวห่อกาบหมากก็เคยเห็นเหมือนกันสะดวกดี  ใช้เสร็จแล้วล้างไว้ใช้อีกก็ได้
แต่ต้องเป็นกับข้าวแห้ง  กับข้าวมีน้ำใช้ไม่ได้ 

คุณดีดี พูดถึงกาบหมากใช้ห่ออาหารทำให้นึกถึงสุนทรภู่ขึ้นมา
อยากรู้ใช่ไหมว่าทำไมผมนึกถึงสุนทรภู่  ตอนนี้ยังไม่เฉลย ให้ทุกท่านช่วยกันคาดคะเนว่า
สุนทรภู่มาเกี่ยวอะไรกับกาบหมาก ??? ;D :)

หมากทั้งทะลาย  จะแก่พอดีหน้าเต็มใช้ได้ พร้อมกันเกือบทั้งทะลาย
จะมีหน้าโบ๋บ้างก็เล็กน้อย  บางทีในทะลายเดียวกัน ก็มีทั้งหน้าเต็ม หน้าโบ๋เล็กน้อย
และแก่ (สง) บ้างเหมือนกัน  แต่มีไม่มาก 

หมากที่สุก เปลือกจะออกเหลืองส้ม  (เรียกว่าสีหมากสุก หรือสีเปลือกหมาก)
เนื้อหมากข้างในแข็ง สามารถใช้เป็นกระสุนยิงหนังสติกได้  คนไม่เอาไปรับประทานหรอกครับ
แต่จะเอาไปทำพันธุ์หมาก หรือเอาไปใช้ต้มย้อมแหได้

ลิงเก็บหมากไม่ได้หรอกครับ  เพราะลิงมันใช้มีดผ่าหมากดูหน้าหมากไม่เป็น
ต้องใช้คนเท่านั้น  แล้วหมากเวลาเอาลงต้องลงทั้งทะลาย ไม่ใช่หมุนบิดปลิดลงอย่างมะพร้าว
ลิงทำไม่ได้แน่  แถมจะวุ่นวาย  หมากกระจายเก็บกันไม่ไหว 
อย่าเอาสัตว์มาทรมานเลย  เดี๋ยวกลุ่มต่อต้านการใช้แรงงานสัตว์จะมาประท้วงเอาได้นะ ;D


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 21 พ.ย. 11, 21:25
คุณดีดี พูดถึงกาบหมากใช้ห่ออาหารทำให้นึกถึงสุนทรภู่ขึ้นมา
อยากรู้ใช่ไหมว่าทำไมผมนึกถึงสุนทรภู่  ตอนนี้ยังไม่เฉลย ให้ทุกท่านช่วยกันคาดคะเนว่า
สุนทรภู่มาเกี่ยวอะไรกับกาบหมาก ??? ;D :)


เอ...สงสัยจะถามยากไปกระมัง  เลยไม่มีคนมาช่วยเดา
เพื่อไม่ให้เสียเวลา  ผมเฉลยเลยแล้วกัน

สุนทรภู่เมื่อตามเสด็จพระองค์เจ้าพระปฐมวงศ์เสด็จไปทรงนมัสการพระพุทธบาท
ที่เมืองสระบุรี  ได้บันทึกไว้เป็นกลอนตอนหนึ่งว่า

๏ บรรดาเพื่อนเตือนตื่นขึ้นเซ็งแซ่  บ้างจอแจจัดการประสานเสียง  
บ้างม้วนเสื่อมัดกระสอบหอบเสบียง  บ้างถุ้งเถียงชิงสัปคับกัน  
บ้างขึ้นบนขนส่งคนข้างล่าง  เสียงโฉ่งฉ่างชามแตกกระแทกขัน  
จนคนบนสัปคับรับไม่ทัน  หม้อข้าวขันตกแตกกระจายราย  
ย่ามกระสอบกรอบแกรบกระไกรกริก  กลักพริกพลิกแพลงตะแคงหงาย  
"กะโปเล" เชือกร้อยขึ้นห้อยท้าย  เมื่อยามร้ายดูงามกว่าชามดิน ฯ  

กะโปเล  เป็นคำภาษาปากที่กร่อนมาจาก กาบปูเล  ซึ่งเป็นคำที่ชาวบ้าน
ใช้เรียกกาบหมากนั่นเอง  ทุกวันนี้ก็ยังมีคนเรียกกันอยู่ แต่เรียกกันน้อยลงมาก
สุนทรภู่ได้บันทึกหลักฐานภูมิปัญญาคนไทยไว้ไม่ให้สูญหายหลายอย่าง
อย่างการใช้กาบหมาก หรือกาบปูเล หรือกะโปเล เป็นภาชนะใส่อาหาร
ใช้ในระหว่างเดินทางไกลๆ เพื่อป้องกันความเสียหายอันเกิดจากการขนย้าย
ในระหว่างเดินทาง  ถ้าเป็นชามดิน เครื่องกระเบื้อง หรือภาชนะโลหะ
ย่อมตกแตก กระทบจนกระเทาะ หักบิ่น ปากแหว่ง หรือบุบเสียหายได้
แต่กาบปูเลน้ำหนักเบา  หาง่าย  ทนทาน ขนย้ายง่าย  ตกไม่แตก
ย่อมใช้งานได้อย่างประสิทธิภาพ  น่าเสียดายที่คนไทยสมัยนี้
ไม่ได้เอาภูมิปัญญาอย่างนี้มาต่อยอดใช้กันในปัจจุบัน  
อาจจะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกหรือโฟมได้มากทีเดียว




กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 21 พ.ย. 11, 22:27

น่าเสียดายที่คนไทยสมัยนี้
ไม่ได้เอาภูมิปัญญาอย่างนี้มาต่อยอดใช้กันในปัจจุบัน  
อาจจะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกหรือโฟมได้มากทีเดียว


มีคนเอามาต่อยอด เป็นจานกาบหมาก สินค้าโอทอป เพื่อสิ่งแวดล้อมแล้วค่ะ... ;D
ถ้ามีการรณรงค์ ส่งเสริม ให้ใช้แทนกล่องโฟมได้ จะดีมากทีเดียว...


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 22 พ.ย. 11, 06:02


       นึกถึงด.ญ. คนหนึ่งที่ได้รับของฝากจากแม่ที่ไปค้าขายอยู่ฉะเชิงเทรา   หนึ่งในนั้นคือ ทุเรียนห่อกาบหมาก

ห่อเล็ก ๆที่น่าเอ็นดูเพียงขาดใจ  แสดงความรักความคิดถึงของแม่


     ในปีพ.ศ. ๒๔๒๕   รายการขนมต่างๆของไทยที่นำมาแสดงในนิทรรศการสินค้าพื้นเมือง   คุณอ้วนธงชัย ลิขิตพรสวรรค์แห่งสำนักพิมพ์ต้นฉบับ

ผู้มีสายตาอันยาวไกลในการจัดพิมพ์หนังสือเก่าต่างๆเพื่อต่ออายุ   เล่าว่าทุเรียนกวนสมัยนั้นมาจากนครศรีธรรมราช  ไม่ใช่ที่จันทบุรี  หรืออุตรดิตถ์   

ตามไปอ่านก็นึกชมคุณอ้วนธงชัยในการอ่านละเอียดเป็นอันมาก    หนังสือบอกว่า


       "ราคาซื้อขายที่บ้านคนทำ  แลราคาซื้อขายในเมืองศรีธรรมราชนั้น  ร้อยละสลึงเฟื้องบ้าง  ร้อยละสองสลึงบ้าง    มาถึงกรุงเทพ ฯ นับจากเรือ

ร้อยละห้าสลึงบ้าง  ร้อยละบาทบ้าง   ราคาซื้อขายตามตลาดมัดละ ๑ อัฐ" (หน้า ๑๕ - ๑๖)



กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 พ.ย. 11, 09:36
บ้านคุณหลวงเล็กมีร่องสวน ไม่ทราบว่าในร่องสวนมักจะมีปลาอะไรอาศัยหรือครับ...เครื่องมือจับปลาพวก ข้อง เป็ด ไซ อีรุน ยอ เคยได้เล่นผ่านมือบ้างไหมครับ  ;D


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 22 พ.ย. 11, 09:41


คุณหนุ่มสยามคะ         เอ...ไม่เคยเห็นยอใช้ในสวน   ถ้าเป็นริมทางน้ำไหลก็ไปอย่าง


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 พ.ย. 11, 09:48


คุณหนุ่มสยามคะ         เอ...ไม่เคยเห็นยอใช้ในสวน   ถ้าเป็นริมทางน้ำไหลก็ไปอย่าง

 :-[ มัวแต่ไปนึกถึงที่ดินริมแม่น้ำบางปะกงที่คุ้นตา  ;D


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 22 พ.ย. 11, 10:50


       ขอปาดถามคุณหลวงหรือจารย์เล็กที่นับถือเรื่องเครื่องมือบางอย่างในการทำนา

ขออภัยเป็นอย่างสูงเพราะท่านกำลังเล่าเรื่องสวนอยู่  เห็นจะไม่เสร็จง่าย ๆ

ขืนปล่อยเวลาให้ผ่านไปคนถามก็จะลืมเสีย  เพราะหนังสือและเอกสารเปลี่ยนที่เสมอ


       เรื่อง  หนามวาดข้าว   กระดานชักข้าว  หลัวสาดข้าว  ไม้เกลี่ยข้าว   พอจะถูไถเข้าใจได้

ไม้ทัตทาข้าว  นี่อะไรคะ    หนามวาดข้าวคืออะไร   วาดนี่คือกวาดมารวมกองกระนั้นหรือ


        เรื่องครกกระเดื่อง  ครกมือ   สากมือ  เข้าใจค่ะ    เห็นตะลุมพุกตำข้าว   อึ้งไปชั่วครู่

เปิดพจนานุกรมแดงน้ำเงินเพื่อสอบทาน

น. ๔๔๗
๑   น.  ไม้ท่อนกลม ๆ  มีด้ามคล้ายค้อนแต่ใหญ่กว่ามาก  สำหรับตำข้าว;
         
          ไม้ท่อนเล็กที่มีด้ามสั้น  ตัวสั้น  สำหรับทุบผ้าให้เรียบ,  กระลุมพุกก็ใช้



กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 22 พ.ย. 11, 13:08
บ้านคุณหลวงเล็กมีร่องสวน ไม่ทราบว่าในร่องสวนมักจะมีปลาอะไรอาศัยหรือครับ...
เครื่องมือจับปลาพวก ข้อง เป็ด ไซ อีรุน ยอ เคยได้เล่นผ่านมือบ้างไหมครับ  ;D

ปลาที่อาศัยในท้องร่องท้องสวน มี ๒ อย่าง
คือ ปลาที่อยู่มาแต่เดิมกับสวน อาจจะเป็นปลาที่เจ้าของสวนหาเอามาปล่อยเอง
หรือเป็นปลาที่หลุดเข้ามาเวลาเปิดท่อน้ำเข้าสวน หรือเป็นปลาที่หลงเข้ามา
เมื่อน้ำหลากน้ำท่วม ประเภทหนึ่ง  กับประเภทหนึ่ง คือปลาที่เจ้าของจงใจ
ปล่อยเลี้ยงไว้ในสวน จะเลี้ยงเพื่อจับขายหรือจับกินก็ตามแต่  

ตามร่องสวน  โดยมากมีปลากระดี่เยอะ  โดยเฉพาะท้องร่องโปร่งๆ แดดส่องถึง
นอกจากนี้ ก็มีปลานิล ปลาช่อน ปลาดุกกระดุกกระดิกเอาไปผัดพริกอร่อยดีเฮ
ปลาหมอ (ฝนตกหนักทีไร มันจะออกมาเดินเล่นนอกท้องร่องทุกที ตามจับกันสนุก)
ปลาตะเพียนช่างเวียนช่างแวะ ทั้งหางแดง หางไม่แดง  (ต้องอยู่น้ำสะอาด ไม่มีแหนจอกลอย
ไม่ฉะนั้นจะใจเสาะลอยตายได้  น้ำเสีย น้ำขุ่น เข้าสวนก็จะลอยขึ้นขอความช่วยเหลือ
ที่ผิวน้ำแล้ว  ปลาตะเพียนก้างเยอะ จับได้ ไม่ทอดก็ต้มเค็มเป็นพื้น)
ปลากระดี่ มีทั้งกระดี่หม้อตัวดำๆ เนื้อเยอะดี  กระดี่นางฟ้า ตัวขาว ตัวใหญ่ดี
แต่ทอดแล้วหดเหลือเนื้อนิดเดียว ก้างโผล่  ปลากริม ตัวน้อยๆ น่ารัก
ปลาซิว  พวกนี้ก็น้ำขุ่นไม่ได้  ลอยขึ้นมาเหมือนกัน  ปลาใบไม้ก็มีเหมือนกัน
ปลาแรด  เลี้ยงมาจนตัวโตหลายกิโลกรัม  แกงทีน้ำแกงมันย่อง  เนื้อไม่เหม็นสาบ
เพราะเลี้ยงทั้งอาหารเม็ด ข้าวสุก และผักหญ้า   ปลาแก้มช้ำ  มากับน้ำในคลอง
แก้มปลาสีแดงชมพู สวยดี  เป็นปลาตระกูลเดียวพวกปลาสร้อย  หาดูยากแล้ว
ปลาสร้อย ว่ายกันเป็นหมู่ๆ เกล็ดสะท้อนแสงวับๆ ผุ้ใหญ่เล่าว่า
สมัยก่อน ฤดูน้ำหลาก ชาวบ้านจะไปดักปลาสร้อยตามคลอง  ได้ทีละมากๆ
เพื่อเอามาทำน้ำปลาใส่ไหไว้กิน   บางสวนอาจจะเลี้ยงปลาชะโด กระโดดตูมทั้งวันทั้งคืน
ยิ่งช่วงวางไข่  จะดุมาก  สุนัขลงว่ายน้ำในสวนยังถูกกัด จนต้องโดดหนีร้องเสียงลั่นทุ่ง
ปลาไหล  มีเมื่อไรต้องกำจัดเพราะจะไชข้างร่องสวนเป็นรู  
ปลากราย ปลาสลาด ก็มีบ้าง  เนื้อขูดทำแกงเขียวหวาน แกงป่ากินดี
จำพวกปลาเข็ม ทั้งมีสี ไม่มีสี ก็มีมาให้เห็นบ้างเหมือนกัน
ปลากะสง คล้ายปลาช่อน แต่ตัวออกดำและหัวแหลมกว่า ตัวย่อมกว่า
ปลากด  แต่ก่อนก็เคยมี   ปลากระโห้  เคยจับได้ในคลอง เอามาปล่อยในสวน
ตั้งแต่ตัวขนาดเด็กแรกคลอด  จากนั้น ๒-๓ ปี ลอกท้องร่ิองสวน
จับขึ้นมาตัวใหญ่ หนักสัก ๒๐ กิโลกรัมเศษ  ทำกินอยู่หลายวันกว่าจะหมดตัว


ในสวนนั้น เมื่อจับปลา  จะไม่ใช้ยอ  เพราะเกะกะ  เดี๋ยวยกยอไปมา
จะตกท้องร่องกินน้ำอิ่มก่อนได้ปลา  ข้อง หรือตะข้อง นั้นไม่ใช่เครื่องมือจับปลา
แต่เป็นภาชนะที่ใส่ปลาที่จับได้  นี่ก็ไม่ใช้เหมือนกัน ไซ ใช้ดักปลาตรงทางน้ำไหล
มักจะใช้ในนาหรือทางน้ำตื้นๆ มากกว่า ในสวนใช้ยาก เพราะน้ำลึก
อีรุน ก็ใช้ไม่สะดวกเหมือนกัน  ที่ใช้เห็นประจำ  ก็มีเบ็ด ทั้งเบ็ดเดี่ยว
เบ็ดราว เบ็ดปัก    ตาข่าย (ชาวบ้านเรียกข่ายหรือไข่) แหก็มีใช้บ้าง
มักใช้ในบ่อมากกว่า  สวิง  ไว้ตักปลา หรือใช้สวิงปากกว้าง ที่ใช้ไม้ไผ่
ดัดเป็นวงรีทำขอบปากสวิง  ลงท้องร่องไล่ต้อนปลาเข้าสวิง
อวน ใช้ลากปลาทีละมากๆ เวลาจับขาย (เรียกว่า ตีปลา)
ลัน ใช้ดักปลาไหล  มีทั้งที่ใช้ไม้ไผ่มาทะลวงข้อทำเป็นลัน
กับเดี๋ยวนี้ใช้ท่อน้ำพลาสติกสีฟ้าทำ ใช้ได้เหมือนกัน เบาดีด้วย
เวลาไปดัก เอาหอยเชอรี่มาทุบใส่ลงไปสัก ๒-๓ ตัวต่อลัน ๑ ลูก
เอาไปดักตามทางน้ำเวลาเย็น  เช้าๆ ออกไปกู้ขึ้นมาดู  บางทีได้ปลาไหล
บางทีก็ได้งู  บางทีก็ได้ปลาอื่นด้วย  อีจู้  แต่ก่อนมี  ใช้ดักปลาไหลได้
ไม่เคยใช้สักที  ฉมวก นี่ก็ใช้ สุ่มจับปลา  เคยมีแต่ไม่เคยใช้ในสวน
เอาเท่านี้ก่อน  เดี๋ยวไม่ได้เล่าเรื่องอื่นต่อ




กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 พ.ย. 11, 13:22
ขอบคุณคุณหลวงเล็กที่เล่าเรื่องปลา น่าสนุกไม่น้อยเลยครับ

แนบภาพอีจู้ ไว้สำหรับจับปลาไหล


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 22 พ.ย. 11, 14:53
ออกขุนเอามาแต่อีจู้  แล้วป้ากะปู่หายไปไหนล่ะ  หรือว่าอพยพหนีน้ำท่วมยังหาทางกลับบ้านไม่ได้
 ;D

ก่อนจะไปเรื่องอื่น  มีสหายฝากถามมาว่า  มีดซุย มีหน้าตารูปร่างสัณฐานอย่างไร ???
ใครก็ได้ช่วยอธิบายและหาภาพมีดซุยมาให้ชมเป็นที่ชื่นใจสักหน่อย


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 22 พ.ย. 11, 15:36
ออกขุนเอามาแต่อีจู้  แล้วป้ากะปู่หายไปไหนล่ะ  หรือว่าอพยพหนีน้ำท่วมยังหาทางกลับบ้านไม่ได้
 ;D

ก่อนจะไปเรื่องอื่น  มีสหายฝากถามมาว่า  มีดซุย มีหน้าตารูปร่างสัณฐานอย่างไร ???
ใครก็ได้ช่วยอธิบายและหาภาพมีดซุยมาให้ชมเป็นที่ชื่นใจสักหน่อย

ป้ากับปู่ มัวแต่กู้อีจู้ เลยไม่ได้มาครับ  ;)

•มีดซุย
มีดซุยคือมีดพกประจำตัวที่ชายหนุ่มมักพกติดตัวอยู่เสมอ คำว่าซุย หมายถึงแทงหรือผลักดันหรือแทงซ้ำ ดังนั้นจากศัพท์แล้วจึงเห็นว่าเป็นมีดพกที่ใช้เพื่อเป็นคู่มือสำหรับการ ต่อสู้ในระยะประชิดคล้ายกับกริชหรือมีดพก

มีดซุย เป็นมีดปลายแหลม มักมีขนาดยาวประมาณ ๖ นิ้ว และกว้างประมาณ ๑ นิ้ว ส่วนด้ามอาจใช้ไม้ไผ่หรือไม้จิงทำก็ได้ หรือบางคนที่พิถีพิถันใช้เขากวางหรืองาช้างหรือกระดูกสัตว์ทำด้ามก็สวยงาม ตามรสนิยม

มีดซุย ซึ่งเป็นมีดพกนี้มักจะมีฝักมีดด้วย การทำฝักมีดดังกล่าวใช้ไม้ไผ่หรือไม้จิงมาเหลาให้ได้ขนาดกว้างและยาวกว่าตัว มีดเล็กน้อย แล้วผ่าไม้นั้นให้เป็นสองซีกให้มีขนาดเท่ากันเจาะด้านในให้เท่ากับตัวมีด ทั้งความยาว ความหนาและความใหญ่ เมื่อเจาะแล้วนำมาประกบกันและรัดด้วยหวายถักปอบห้า คือปลอกรัดสัก ๓ แห่ง

มีดซุยเป็นอาวุธประจำตัว ใช้พกติดตัวไปในที่คิดว่าจะมีอันตราย หรือพกพาติดตัวไปในเวลากลางคืน โดยเสียบไว้ที่เอว นอกจากเป็นมีดประดับที่มีไว้เพื่อป้องกันตัวแล้วยังใช้ปอกผลไม้และหั่นซอย วัตถุที่ไม่ใหญ่นักได้อีกด้วย


เครื่องมือมีดล้านนา (http://www.openbase.in.th/node/6885)


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 22 พ.ย. 11, 17:12
ดีครับ  ออกขุนสยาม


จะเล่าเรื่องแครง หรือ ตะแครง  เป็นเครื่องใช้ชาวสวนใช้ตักน้ำในท้องร่องสวน
รดน้ำต้นไม้ 

แครงนั้น  ปัจจุบัน มีขายตามร้าน  ลักษณะเป็นโลหะทรงกระบอกปากผายเล็กน้อย
คล้ายหม้อปรุงอาหารที่มีด้ามจับ   น้ำหนักเบา ไม่เป็นสนิม
มีที่สอดด้ามไม้พร้อมในตัว  เมื่อซื้อมาแล้ว ก็หาไม้ไผ่ขนาดกำลังดี
ยาวสักวาเศษ มาสอดเข้าไปให้แน่นก็ใส่การได้

แต่ถ้าเป็นสมัยก่อน  ไม่มีแครงสำเร็จขายอย่างนี้
ชาวบ้านจะใช้สิ่งของใกล้ตัวมาทำแครงไว้ใช้ต่างๆ กันไป
เช่นบางบ้านเอากระป๋องนมผงเด็กอ่อนมาผูกกับไม้ไผ่มีง่ามด้วยลวดเส้นเล็ก
ก็ใช้ได้ดี  แต่กระป๋องนมผงจะเป็นสนิมผุเร็ว
บางบ้านใช้หม้อแกงเก่าๆ ที่บุบหรือมีรูรั่วเล็กๆ (ถ้าไม่อยากปะใช้การต่อ)
ก็เอามาผูกต่อไม้ไผ่มีง่ามทำเป็นแครงใช้ได้  ทั้งนี้ควรเลือกหม้อใบไม่ใหญ่มาก
เวลาจ้วงตักน้ำจะได้ไม่หนักมาก  บางบ้านลงทุนหน่อย
ก็ไปซื้อกกระป๋องสแตนเลสตักน้ำใบเล็ก ที่จุน้ำได้ ๑ ขันพลาสติกขนาดใหญ่
มาถอดเอาหูกระป๋องออก  เจาะรูร้อยลวดผูกยึดกระป๋องกับไม้ไผ่มีง่าม
เท่านี้ก็ได้แครงไว้ใช้ตักน้ำรดต้นไม้ หรือจะวิดน้ำสาดต้นไม้ก็ได้

บางคนสงสัยว่า  ทำไมต้องใช้แครงตักน้ำรดต้นไม้  ก็ในเมื่อสวนมีท้องร่องน้ำอยู่รอบๆ
ให้ต้นไม้เอารากดูดน้ำเองก็ได้นี่ หรือไม่ก็เอาถังน้ำไปจ้วงตักรดก็ได้ 
หรือถ้าให้ดีก็เอาเรือใส่เครื่องสูบน้ำล่องลงท้องร่องสูบน้ำรด จะไม่ดีกว่าหรือ

ก็อธิบายดังนี้  ท้องร่องสวนนั้น  ไม่ได้มีน้ำเต็มเพียบสวนเสมอตลอดเวลา
อีกทั้งข้างตลิ่งสวนก็มักจะลื่น  จะก้มเอื้อมเอาถังตักน้ำรดต้นไม้คงไม่ทันกิน
แถมจะลื่นตกน้ำ  หรือไม่ก็ปวดเมื่อยเปล่าๆ  ถ้าใช้แครง ถึงน้ำในท้องร่อง
จะลดลงไปเท่าไรก็สามารถใช้แครงตักน้ำขึ้นมารดต้นไม้ได้  โดยไม่ต้องก้มเอื้อมลงไปตักน้ำ
การรดน้ำต้นไม้ต้องพิจารณาขนาดต้นไม้  ต้นไม้ใหญ่ต้องรดน้ำหลายแครงให้ชุ่ม
ต้นไม้เล็กต้องค่อยๆ รด ห้ามสาดน้ำแรง เพราะดินโคนต้นจะกระจายหายหมด
ยิ่งใส่ปุ๋ยด้วย  ปุ๋ยจะกระเด็นหายหมด 

การรดน้ำด้วยแครง  ถ้าตักรดธรรมดา ก็ไม่มีปัญหา ทำไม่ยาก
แต่ถ้าตักน้ำรดแบบสาด  หรือสาดพุ่มยอดไม้  ต้องใช้แรงกำลังแขนมาก
เพราะต้องยกแครงสูงเพื่อให้น้ำกระจายกว้าง หรือให้น้ำลงตรงจุดที่ต้องการ
ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย  สำหรับในสวนที่มีต้นไม้สูงๆ หรือไม้พุ่มปลูกเกะกะ
ถ้าใช้แครงวิดตักไม่ดี  ด้ามแครงอาจจะไปขัดกับกิ่งไม้วัดคนถือแครงตกท้องร่องได้
คนที่ใช้แครงตักน้ำรดหรือสาดต้นไม้บ่อยๆ แขนจะแข็งแรง  คนที่ไม่เคยใช้แครง
เมื่อใช้แครงใหม่ๆ อาจจะปวดแขนปวดไหล่เวลานอนกลางคืน

แครงยังมีประโยชน์อย่างอื่นอีก  เช่น ใช้สอยไม้ผล
ใช้ตักโคลนเลนในท้องร่องโปะที่โคนต้นไม้ เพื่อให้เป็นปุ๋ยแก่ต้นไม้
ใช้ใส่ของยื่นส่งข้ามท้องร่องสวน  เป็นต้น

ส่วนการใช้เครื่องสูบน้ำรดต้นไม้นั้น มีข้อเสียคือ  น้ำที่ออกจากเครื่องสูบ
มีปริมาณมาก  และแรง  น้ำจะไปพาดินโคนต้นไม้ไหลลงท้องร่อง  ทำให้ท้องร่องตื้นเร็ว
ต้นไม้เล็กจะถูกแรงพัดเสียหายได้



กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 23 พ.ย. 11, 11:25
เครื่องใช้ของชาวสวนอีกอย่างหนึ่ง ที่ใช้วิดน้ำรดต้นไม้ คือ หนาด

หนาด  ทำด้วยไม้ไผ่  ตัวหนาดที่ใช้ตักวิดน้ำนั้น  สานด้วยตอกเส้นใหญ่
มีกระพุ้งก้นหนาดค่อนมาทางด้ามจับ  ปากขอบหนาดจะมอบขอบด้วยไม้ไผ่ดัดเป็นวงรีรูปไข่
มัดด้วยเส้นหวาย  มีด้ามไม้ไผ่ผูกตรงปากหนาดยาวประมาณ ๒-๓ เมตร
หนาดนี้มีน้ำหนักเบากว่าแครงมาก  แต่ใช้ตักน้ำอย่างแครงไม่ได้  
เพราะน้ำจะรั่วออกตามช่องเส้นตอกที่สานหนาด  จึงต้องใช้วิดน้ำจากท้องร่องสาดต้นไม้
การใช้หนาดต้องจ้วงหนาดลงน้ำเร็วๆ แล้วรีบยกขึ้นสาด  เพื่อไม่ให้น้ำรั่วออกหมด
ถ้าสาดใกล้ๆ ก็ไม่ต้องยกหน้าสูง  แต่ต้องสาดน้ำรดต้นไม้ไกลหน่อยก็ยกหนาดให้สูงขึ้น

ปกติการใช้หนาดรดน้ำต้นไม้  เมื่อสูบน้ำเข้ามาในท้องร่องสวนจนเต็มเพียบ
หากน้ำในท้องร่องไม่เต็มเพียบ  จะต้องใช้หนาดไม่สะดวก  จะต้องจ้วงลงไปตักน้ำมาก
ทำให้ต้องออกแรงมาก  และไม่สะดวก  เมื่อน้ำเต็มเพียบท้องร่องแล้ว
ก็จับหนาดวิดน้ำสาดรดต้นไม้ได้  โดยคนรดน้ำจะต้องเดินและยืนที่ริมตลิ่งเพื่อจ้วงตักน้ำสะดวก
ยืนให้มั่นคงขระรดน้ำ  เพราะน้ำที่เพียบตลิ่ง  จะทำให้ดินริมท้องร่องนิ่มและลื่นมาก
ถ้ายืนไม่ดีก็อาจจะลื่นตกท้องร่องป๋อมแป๋ม  เมื่อยืนได้ที่ก็จับหนาดให้มั่นคง
จ้วงน้ำ ไม่ต้องจ้วงน้ำลึกนัก เอาแค่ครึ่งหนาดก็พอ  จะได้ยกหนาดสาดได้ไว ไม่หนักแรง
แล้ววิดน้ำสาดขึ้นรดต้นไม้เร็ว  การรดน้ำด้วยหนาดมักทำกันสวนผัก  เพราะสะดวก
ในสวนที่มีไม้ยืนต้น  ก็ใช้หนาดได้ แต่อาจจะเกะกะบ้าง หากปลูกไม้ไว้ริมตลิ่งด้วย

การเดินรดน้ำต้นไม้ด้วยหนาด  สามารถเดินหน้าหรือถอยหลังก็ได้  ตามสะดวก
ถ้าเดินหน้า จะต้องเหยียบดินที่รดน้ำเปียกแล้ว  จะทำให้ลื่นและเลอะ  
แต่ถ้าถอยหลังรด ก็จะไม่เปื้อนไม่ลื่น  แต่ต้องถอยให้ดี  
เพราะอาจจะพลาดตกท้องร่องลงไปงมกุ้งได้


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 23 พ.ย. 11, 12:04
ทั้ง กะโซ้ แครง และ หนาด ใช้ตักน้ำในร่องสวนรดต้นไม้ เหมือนกัน...
ทำไมต้องมีตั้ง 3 อย่างคะ ... มันต้องมีความต่างกันสิ เน้อ....ต่างกันตรงไหนคะ..


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 23 พ.ย. 11, 12:11
มีสหายคนหนึ่ง  เปรยๆ ขึ้นมาว่า  ชาวสวนแต่ก่อน ไม่มีเตาแก๊สเตาไฟฟ้าใช้
ต้องใช้เตาฟืนเตาถ่าน  อยากให้คุณหลวงเล่าเรื่องฟืนและเชื้อเพลิงในการหุงหาอาหารของชาวสวน  

เอาชาวสวนแถวๆ บ้านผมเป็นกรณีศึกษาก็แล้วกัน
ชาวสวนแถวบ้านผมนั้น มีต้นไม้ให้เก็บใช้เป็นฟืนเชื้อเพลิงมากมาย
แค่ต้นมะพร้าวอย่างเดียวก็มีฟืนใช้เหลือเฟือ

ส่วนของต้นมะพร้าวที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงได้นั้น  โดยทั่วไปคงนึกถึงกาบมะพร้าวแห้งๆ
หรือกะลามะพร้าวที่เหลือจากการขูดมะพร้าวคั้นกระทิแล้ว
แต่ที่จริง  ทางมะพร้าวแห้งๆ ก็เก็บเอามาทอนเป็นฟืนใช้ได้ทั้งทาง
ตะโหงกทางมะพร้าว สามารถผ่าเป็นฟืนได้หลายท่อน  

ใบมะพร้าวแห้ง  ก็ลิดออกจากทางมัดให้ดี  ใบมะพร้าวใบใหญ่ๆ ช่วงยาวๆเอาไว้มุงจาก
ใบเรียวเล็กๆ เอาไปเป็นเชื้อเพลิงตอนจุดไฟในเตา  บางบ้านมีใบมะพร้าวแห้ง
มัดเก็บไว้ไต้ถุนเป็นสิบๆ มัดทีเดียว

ทางมะพร้าวถ้าลิดใบออกหมดแล้ว  แต่ทางยังไม่แห้งสนิทดี  
จะเอาพิงพาดไว้ตามต้นไม้ใหญ่ๆ จนกว่าจะแห้งจึงเอามีดโต้มาทอนรอนเป็นท่อนๆ

รกมะพร้าว  เก็บเอามาใช้เป็นเชื้อไฟตอนจุดเตาไฟก็ดี
รกมะพร้าวนี่  คนรับจ้างขึ้นมะพร้าวมักจะรื้อล้างให้คอมะพร้าวสะอาดทุกครั้งที่ขึ้น
เพื่อไม่ให้หนูหรือกระรอกมาอาศัยอยู่  (บางทีก็มีงูมาศัยเหมือนกัน)
แต่บางทีก็ต้องจ้างคนมาล้างคอมะพร้าวเหมือนกัน  เพราะคนขึ้นมะพร้าวเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยล้างให้
รกมะพร้าวยังมีประโยชน์อื่นอีก  คือให้แทนผ้ากรองของเหลวได้

จั่นมะพร้าวแห้ง  หางหนู กาบเฉียง ก็ใช้เป็นเชื้อเพลิงได้หมด
อีกอย่างซึ่งเอาใช้เป็นฟืนได้  คือลูกมะพร้าวอ่อนที่หนูหรือกระรอก
เจาะกินเนื้อในจนเป็นรูแล้วหล่นลงมาที่พื้น  เอาผ่าครึ่งโดยยังเหลือเปลือกติดกันบางส่วน
ร้อยเป็นพวงผูกกับต้นไม้ ตากไว้ให้แห้ง  เมื่อจะใช้เอามีดสับให้ชิ้นเล็กลง
ใช้เตาได้  ไฟแรงดีเหมือนกัน

กะลามะพร้าว  ให้ไฟแรงดี  แต่ติดตรงที่มีเขม่า ทำให้หม้อกระทะดำ  ขัดยาก
จึงมักเอาไปเผาถ่านมากกว่า   แต่เผาถ่านมะพร้าวก็ต้องระวังเนื่องจากไฟจะลุกกลายเป็นขี้เถ้าหมด
ถ้าทำไม่ดี  การเผาถ่านกะลามะพร้าว  มักใช้ถังน้ำมัน ๒๐๐ ลิตร เป็นที่เผา
เมื่อไฟลุกกะลาดีก็เอากระสอบชุบน้ำโชกปิดลงไปให้หนาๆ เท่านี้ก็ได้ถ่านใช้
หรือจะเผาถ่านอย่างเผาถ่านไม้ทั่วไปก็ได้  แต่ต้องมั่นเดินดู



กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 23 พ.ย. 11, 12:22
ทั้ง กะโซ้ แครง และ หนาด ใช้ตักน้ำในร่องสวนรดต้นไม้ เหมือนกัน...
ทำไมต้องมีตั้ง 3 อย่างคะ ... มันต้องมีความต่างกันสิ เน้อ....ต่างกันตรงไหนคะ..

ผมไม่เคยเห้นและไม่เคยใช้กะโซ้ตักน้ำรดน้ำต้นไม้ 
เคยใช้และเคยเห็นชาวสวนเขาใช้ตักโคลนเลนขึ้นหลังร่องสวน
แม้ว่ามันจะมีลักษณะคล้ายโชงโลง  แต่ลักษณะการใช้งานต่างกัน

กะโซ้  ทำด้วยโลหะไม่เป็นสนิม  ด้ามไม้ไผ่  ไม่ต้องมีขาหยั่ง
ส่วนโชงโลง  ทำด้วยตอกไม้ไผ่สาน  มีขนาดใหญ่กว่ากะโซ้ มีขาหยั่ง ผูกกับโชงโลง
ใช้วิดน้ำจากลำประโดงเข้าท้องนา 

แครงนั้นเป็นโลหะไว้ใช้ตักน้ำรดต้นไม้ไกลๆ หรือต้นไม้เล็กๆ หรือต้นไม้ที่เพิ่งปลูก เพิ่งตั้งต้น แต่จะใช้วิดสาดก็ได้ 
ส่วนหนาดใช้วิดสาดอย่างเดียว  ตักน้ำไม่ได้รั่วออกหมด  และใช้ได้สะดวกเมื่อน้ำเพียบท้องร่อง


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 23 พ.ย. 11, 13:47
การรดน้ำผักในปัจจุบัน สะดวก รวดเร็วมาก ใช้เครื่องยนต์สูบน้ำพ่นผ่านท่อพีวีซี


กระทู้: กะโซ้ แครง หนาด มากับน้ำท่วม
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 24 พ.ย. 11, 12:15
การใช้เครื่องสูบน้ำใส่เครื่องลากรดต้นไม้ในท้องร่องนั้น   นิยมใช้กันในสวนผักหรือสวนไม้ผล
ที่มีพื้นที่กว้างมากๆ เป็นหลายไร่  จะเดินรดน้ำด้วยแครงหนาดคงจะใช้เวลานาน
ยิ่งเป็นสวนผักต้องใช้รดน้ำเป็นฝอย  สาดแรงๆ ไม่ได้  ผักช้ำ ผักล้มหมด  ต้องใช้เครื่องสูบน้ำ


แต่ถ้าเป็นร่องสวนขนาดไม่กว้างมาก  ท้องร่องไม่ยาวนัก  ต้นไม้ไม่ได้ปลูกหนาแน่น
เดินรดน้ำด้วยหนาดด้วยแครงก็ประหยัดเงินดี  แถมได้ออกกำลังกายด้วย


เรือรดน้ำต้นไม้ในร่องสวน  เป็นเรือลำเล็ก ยาว ๑ ๑/๒ - ๒ เมตร  แต่ก่อนเป็นเรือไม้
เดี๋ยวนี้เป็นเรือเหล็ก เรือพลาสติกไฟเบอร์  ถ้าเป็นเรือไม้  เขาจะทำช่องหัวเรือ ติดตะแกรง
ให้น้ำรอดขึ้นมาในเรือ แล้วเอาท่อสูบน้ำวางลงไปเพื่อสูบน้ำเข้าเครื่องสูบน้ำ
เรือสูบน้ำรดต้นไม้นี้  ถ้าใช้กับสวนผักอย่างในภาพข้างบน  มีตลิ่งชานท้องร่อง
พอเดินลากเรือได้  แต่บางไม้ผลบางอย่าง  มีพุ่มไม้เกะกะ  เดินลากเรืออย่างนี้ไม่สะดวก
หรือสวนอย่างสวนพลู ซึ่งจะปลูกค้างพลูใกล้ตลิ่งมาก  เดินลากเรือไม่สะดวก
ชาวสวนต้องลงท้องร่องรุนเรือรดน้ำแทน   เรือรดน้ำนี้  ยังใช้เป็นเรือพ่นยาฆ่าแมลง หรือฉีดรดปุ๋ยได้ด้วย
และเรือรดน้ำนี้  ยังสามารถใช้พายออกหาปลาได้ด้วย  ใช้สัญจรไปมาก็ได้
อย่างน้ำท่วมมากอย่างนี้  ชาวสวนที่มีเรือรดน้ำ  จึงมักไม่กังวลเรื่องหาซื้อเรือมาใช้