เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: atom_00006 ที่ 04 ก.พ. 16, 20:40



กระทู้: ประวัติของแพทย์ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: atom_00006 ที่ 04 ก.พ. 16, 20:40
สวัสดีครับ
คืออยากสอบถามเรื่องประวัติของบุคคลสำคัญด้านการแพทย์ในสมัยรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่ร.1 จนถึงช่วงของการเปลี่ยนแปลงการปกครองครับ
มีบุคคลทางด้านการแพทย์ที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก  แต่จะสืบหาประวัติได้ยากมากเลยครับ
เช่น
-พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท (ท่านนี้ยังพอหาได้บ้าง)
-พระยาประเสริฐศาสตร์ธำรง(หมอหนู วรกิจพิศาล)
-พระยาพิศนุประสาทเวช (หมอคง ถาวรเวช)
-หม่อมเจ้าปราณี ทินกร
-หม่อมเจ้าเจียก ทินกร
-ร.อ.ดำรงแพทยคุณ
-ขุนโสภิตบรรณลักษณ์ (อำพัน กิตติขจร)
-ขุนนิเทศสุขกิจ
-พระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช)
-ขุนอุดมโอสถ (เพ็ชร์ แพทยานนท์)
-หม่อมเจ้ากรรมสิทธิ์
เป็นต้น ยังมีอีกหลายท่านที่ยังไม่ได้พูดถึงครับ
จึงมาขอความรู้ที่ห้องประวัติศาสตร์ไทย เพื่อผู้รู้ทุกท่านได้ช่วยหาคำตอบ หรือชี้แนวทางการสืบค้นหน่อยนะครับ
ขอบพระคุณมากครับ


กระทู้: ประวัติของแพทย์ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 04 ก.พ. 16, 21:41
ไม่สามารถจะตอบได้หมดค่ะ  มีแต่ความรู้เล็กๆน้อยๆไม่เป็นชิ้นเป็นอัน  เช่น ขุนโสภิตบรรณลักษณ์ (อำพัน กิตติขจร) คือบิดาของจอมพลถนอม กิตติขจร
นายพันโทหม่อมเจ้ากรรมสิทธิ์ ปราโมช เป็นโอรสกรมขุนวรจักรธรานุภาพ  รับราชการเป็นผู้ช่วยกรมแพทย์ทหารบก แผนกยาไทย

เห็นจะต้องรอท่านอื่นเข้ามาละค่ะ


กระทู้: ประวัติของแพทย์ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: V_Mee ที่ 05 ก.พ. 16, 07:37
-ร.อ.ดำรงแพทยคุณ
ไม่ทราบเป็นท่านไหนครับ  ระหว่าง นายพลตรี พระยาดำรงแพทยาคุณ (ฮวด  วีระไวทยะ) อดีตนายแพทย์มหญ่ทหารบกและนายแพทย์ประจำพระองค์สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง  ท่านผู้นี้เป็นปู่ของคุณมีชัย  (สายรุ้ง) วีระไวทยะ
อีกท่านตือ นายพลตรี พระยาดำรงแพทยาคุณ (ชื่น  พุทธิแพทย์)

พระยาแพทยพงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น  สุนทรเวช) เป็นพี่ชายของพระยาบำรุงราชยริพาร (เสมียน  สุนทรเวช - บิดาคุณสมัคร  สุนทรเวช)  กับจมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม  สุนทรเวช - บิดา นพ.กุณฑล  สุนทรเวช และ พ.ต.อ.อำพล  สุนทรเวช)


กระทู้: ประวัติของแพทย์ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ก.พ. 16, 08:10
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท  ต้นราชสกุลสนิทวงศ์ ผู้ทรงเก่งทางการแพทย์แผนโบราณเพราะได้รับการถ่ายทอดความรู้ด้านนี้มาตั้งแต่ทรงพระเยาว์จากขรัวตาบุญเกิด

ขรัวตาบุญเกิด เป็นหมอแผนโบราณเชี่ยวชาญในการปรุงยา ภรรยาเป็นคนไทยชื่อขรัวยายทองอิน ลูกสาวคนหนึ่งคือเจ้าจอมมารดาปรางใหญ่ในสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า เป็นพระมารดาของพระองค์เจ้านวม กรมหลวงวงษาธิราชสนิท 


กระทู้: ประวัติของแพทย์ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: NAVARAT.C ที่ 05 ก.พ. 16, 08:33
ไม่ได้อยู่ในรายชื่อที่ขอ แต่ให้เป็นของแถมแล้วกันนะครับ

สมัยเมื่อห้า-หกสิบปีก่อน เวลาผ่านถนนพหลโยธินตอนต้นๆ จะเห็นบ้านไม้หลังย่อมๆ ติดป้ายโฆษณาไว้ ว่ายาหอม ม.ร.ว.สอาด ทินกร ยานี้โด่งดังมาก คนสูงอายุจะต้องพยายามหามาพกติดตัว เพราะขนาดเล่ากันว่า หายใจไม่ออกตาเหลือกแล้ว เอายากรอกปากไปบัดเดี๋ยวเดียวก็หายใจต่อได้ แม่เคยใช้ให้ผมไปซื้อยาหอมนี้ถึงบ้านท่าน ขวดเท่านิ้วก้อย ขายเป็นร้อย ในขณะที่ยี่ห้ออื่นขวดใหญ่กว่าสักห้าเท่า แต่ราคาถูกกว่ามาก แม่บอกว่าถึงแพงก็ใช้นิดเดียว แค่ใช้ปลายนิ้วแตะมาป้ายจมูกเท่านั้น

ผมค้นจากเน็ตเมื้อกี้ หม่อมราชวงศ์สอาด ทินกร เป็นบุตรของหม่อมเจ้าภูลสวัสดิ์ ทินกร และ และหม่อมเจ้าหญิงงามสนิทวงศ์ พระธิดาในกรมหลวงวงศาธิราชสนิท
เป็นแพทย์แผนไทย และเป็นผู้ก่อตั้งร้านขายยา ม.ร.ว. สอาด ทินกร

หม่อมเจ้าภูลสวัสดิ์ ทินกร ทรงเป็นพระโอรสในพระองค์เจ้าชายทินกร กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ ผู้ทรงเป็นแพทย์หลวงแผนไทย ประจำพระองค์รัชกาลที่ ๕ และ ทรงเป็น อาจารย์ด้านแพทย์ไทย ณ ราชแพทยาลัย ศิริราชพยาบาล และเป็นผู้ริเริ่มทำยาหอมขึ้น ซึ่งม.ร.ว. สอาดนำไปต่อยอด


กระทู้: ประวัติของแพทย์ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: เงินปุ่นสี ที่ 08 ก.พ. 16, 15:17
อาจเริ่มต้นโดยการตามหาประวัติชั้นต้น จากหนังสืออนุสรณ์ฯ ก่อนนะครับ
ซึ่งมักจะได้ทั้งรูปและประวัติ จากนั้นก็ค้นเพิ่มจากหนังสืออื่นๆ
เท่าที่ผ่านตา หนังสืออนุสรณ์ฯ ของแพทย์ที่กล่าวนามมา มีอยู่หลายเล่ม เช่น

๑.อนุสรณ์ฯ พระยาแพทยย์พงศาฯ (สุ่น สุนทรเวช)
๒.อนุสรณ์ฯ พระยาพิษณุประสาทเวช (คง ถาวรเวช)
๓.อนุสรณ์ฯ ขุนนิทเทสสุขกิจ (ถมรัตน์ พุ่มชูศรี)
๔.อนุสรณ์ฯ พระยาสารสินสวามิภักดิ์ (เทียนฮี้ สารสิน) - เดิมเป็นหลวงดำรงแพทยาคม





กระทู้: ประวัติของแพทย์ในสมัยรัตนโกสินทร์
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 10 ก.พ. 16, 10:15
ต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีเจ้านายซึ่งเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยคือ

1. สมเด็จเจ้าฟ้าชายทัศพงศ์ (พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสิน) ต่อมาถูกลดพระยศเป็นสามัญชนในรัชกาลที่ 1 และในสมัยรัชกาลที่ 2 ทรงโปรดเกล้าให้เป็น "พระพงศ์นรินทร์" ดูแลการแพทย์แผนไทยและรวบรวมตำรายาจารึกที่แผ่นหินอ่อน ที่วัดราชโอรสาราม

2. สมเด็จเจ้าฟ้าชายทัศไภย (พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสิน) ต่อมาถูกลดพระยศเป็นสามัญชนในรัชกาลที่ 1 และในสมัยรัชกาลที่ 2 ทรงโปรดเกล้าให้เป็น "พระอินทร์อภัย" ดูแลการแพทย์แผนไทยเช่นเดียวกัน

ที่มา ตามรอยเสด็จพระเจ้าตากสิน