เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: luanglek ที่ 08 ก.ค. 10, 13:41



กระทู้: สามวันจากนารี เป็นอื่น หญิง หรือ ชาย ? ใครเป็นอื่น?
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 08 ก.ค. 10, 13:41
เมื่อไม่นานมานี้    เพื่อนรุ่นน้องโทรศัพท์มาถามผมว่า  

สามวันจากนารี  เป็นอื่น   ในโคลงโลกนิติ  เขาตั้งใจสอนผู้ชายหรือผู้หญิง?

ผมก็ถามกลับไปว่า  เป็นการบ้านของใครหรือเปล่า  
เพื่อนคนนั้นตอบว่า  น้องสาวมาถามน่ะ
ผมก็อธิบายให้เขาฟัง  


ผมมานั่งนึกไปมาดู  เห็นว่าควรเปิดกระทู้เชิญท่านทั้งหลายในเรือนไทยช่วยแสดงความคิดเห็นกันหน่อยว่า

เจ็ดวันเว้นว่างดีดซ้อม             ดนตรี
อักขระห้าวันหนี                    เนิ่นช้า
สามวันจากนารี                    เป็นอื่น
วันหนึ่งเว้นล้างหน้า                อับเศร้าศรีหมอง


ในความคิดเห็นของท่านทั้งหลาย   ท่านคิดว่า  เขาตั้งใจจะสอนผู้หญิง หรือผู้ชายกันแน่?  เพราะอะไร? ทำไม?
พร้อมกับยกเหตุผลและหลักฐานข้อมูลต่างๆ มาอธิบายประกอบคำตอบได้
ไม่จำกัดความยาว  ไม่กำหนดเวลาคิดและพิมพ์คำตอบ  

เชิญแสดงความเห็นได้ ณ บัดเดี๋ยวนี้  :)











กระทู้: สามวันจากนารี เป็นอื่น หญิง หรือ ชาย ? ใครเป็นอื่น?
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 ก.ค. 10, 13:52
ก่อนอื่นขอยกบทกวีของท่านอังคารมาเสนอก่อน

อนิจจาน่าเสียดาย
ฉันทำชีวิตหายไปครึ่งหนึ่ง
ส่วนที่สูญนั้นลึกซึ้ง
มีน้ำผึ้งบุหงาลดามาลย์

ครึ่งหนึ่งหลงเหลือในอกนี้
สั่นชีวีเสียสะเทือนสะท้าน
ซ้ำโซ่ตรวนพันธนาการ
ทรมานปานทาสจะขาดใจ

อีกครึ่งหนึ่งอยู่ที่น้องแก้ว
ขึ้งโกรธพี่แล้วจะทำไฉน
ถึงใกล้ก็อย่างห่างไกล
ไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน

เสียแรงชายบริสุทธิ์ซึ่อ
ควรหรือนางมล้างค่าใฝ่ฝัน
ทิ้งให้เทวษหาจาบัลย์
ที่ไหนนั่นมิ่งขวัญกลับมา

หมายทะนุถนอมน้องไว้กะอก
กลับตกในมือของเขาอื่น
แสนเจ็บแสนปวดปูนปืน
พิษมาเสียบเสียววิญญาณ

ใจนางอย่างน้ำค้างกลางดึก
ดั่งผลึกเพชรใสไหวสะท้าน
ครู่เดียวก็แตกดับกับดินดาน
ไร้แก่นสารจะหวังมิยั่งยืน

บุราณว่าพรากจากนารี
ลับลี้จากสามวันเป็นอื่น
เสียเจ้าโศกเศร้าทุกวันคืน
สุดจะฝืนสู้ทุกข์ขุกเข็ญใจ

แค้นหญิงชิงชังไปทั้งโลก
จะทุกข์โศกกับนารีหรือไฉน
เสียแรงเป็นบุรุษอาชาไนย
มาหลงใหลหล่มล้มจมดิน


จักอัปยศแก่วิญญาณ
อัประมาณอดสูรู้สิ้น
จึ่งตัดใจหลั่งน้ำไหลริน
ลงดินขาดกันจนวันตาย

อังคาร กัลยาณพงศ์

สามวันจากนารี         เป็นอื่น

การตีความโคลงโลกนิติวรรคนี้  ต้องคำนึงถึงสภาพสังคมในสมัยนั้นด้วย สมัยก่อนผู้ชายมีภรรยาหลายคนเป็นที่ยอมรับในสังคม  การที่ขุนแผนมีภรรยาหลายคนไม่มีใครกล่าวว่าเป็นคนไม่ดี แต่นางวันทองมีสามีเพียง ๒ คนด้วยจะด้วยความเสียรู้หรือตกกระไดพลอยใจก็ตามที สังคมถึงกับยกเป็นตัวอย่างของหญิงเลว

ดังนั้น หากผู้ชายจากภรรยาไป ๓ วันแล้วมีผู้หญิงคนใหม่ สมัยนั้นคงไม่ถือว่าผู้ชายเป็นอื่นแน่ ๆ ผิดกับผู้หญิงเพียงนางวันทองมีสามีใหม่คือขุนช้าง สังคมก็ถือว่านางวันทองเป็นอื่น เป็นนางวันทองสองใจ เป็นตัวอย่างของหญิงเลวซึ่งมิสมควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง

นี่แหละหนอ ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศในสมัยก่อน

 :(




กระทู้: สามวันจากนารี เป็นอื่น หญิง หรือ ชาย ? ใครเป็นอื่น?
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.ค. 10, 14:07
กวีว่าผู้หญิงค่ะ    ไม่ว่าผู้ชายด้วยกัน
ผู้ชายเจ้าชู้ สังคมไทยยอมรับได้ง่ายดายมาก   แต่ผู้หญิงเจ้าชู้ เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย

จากเรื่องจันทโครพ
น้ำใจนางเหมือนน้ำค้างบนไพรพฤกษ์         เมื่อยามดึกดังจะรองเข้าดื่มได้
ครั้นรุ่งแสงสุรีย์ฉายก็หายไป             เพิ่งเห็นใจเสียเมื่อใจจะขาดรอน



กระทู้: สามวันจากนารี เป็นอื่น หญิง หรือ ชาย ? ใครเป็นอื่น?
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 08 ก.ค. 10, 14:14
อืมม์

ถ้าเช่นนั้น  ในโคลงบาทอื่นที่อยู่ในบทเดียวกัน  ก็ต้องสอนผู้หญิงด้วยสิครับ

แต่สมัยนั้น  หญิงที่เล่นดนตรี  ก็มีแต่หญิงที่ราชการฝ่ายในในพระราชวังไม่ใช่หรือ

หญิงที่เรียนหนังสือ   ถ้าเป็นหญิงสามัญคงจะหายากสักหน่อย  มีตัวอย่างแต่นางทองประศรีที่สอนหนังสือหลานชายได้   (จะยกเอาตัวละครในพระอภัยด้วย  ก็มีอิทธิพลจากวรรณคดีต่างชาติมากอยู่สักหน่อย)

ผู้หญิงรักสวยรักงามเป็นนิสัยอยู่แล้ว   อย่างนี้ต้องมาสอนกันพิเศษด้วยหรือ


กระทู้: สามวันจากนารี เป็นอื่น หญิง หรือ ชาย ? ใครเป็นอื่น?
เริ่มกระทู้โดย: เพ็ญชมพู ที่ 08 ก.ค. 10, 14:16
กวีน่าจะตั้งใจสอนผู้ชายด้วยกัน

อย่าลืมว่า สมัยนั้นผู้หญิงรู้หนังสือน้อย

 ;D


กระทู้: สามวันจากนารี เป็นอื่น หญิง หรือ ชาย ? ใครเป็นอื่น?
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 08 ก.ค. 10, 14:24
ถ้าอย่างนั้น   ถ้าสอนทั้งหญิงและชาย  ทำไมต้องเน้นว่า  จากนารี  เป็นอื่น  ในบาทที่สาม เป็นการเฉพาะ

ถ้าสอนทั้งชายและหญิง 
ควรจะอธิบายในความหมายที่สอนผู้หญิงว่าอย่างไร
ถ้าสอนผู้ชายจะอธิบายว่าอย่างไร   โดยใช้โคลงบทเดียวกันนี้


กระทู้: สามวันจากนารี เป็นอื่น หญิง หรือ ชาย ? ใครเป็นอื่น?
เริ่มกระทู้โดย: manit peuksakondh ที่ 08 ก.ค. 10, 17:43
ได้ความรู้ใหม่ว่าเนื้อเพลง"น้ำใจน้ำค้าง" ที่ท่านม.ร.ว.ถนัดศรีฯร้องนั้น เอามาจากจันทโครพนี่เอง
มานิต


กระทู้: สามวันจากนารี เป็นอื่น หญิง หรือ ชาย ? ใครเป็นอื่น?
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 ก.ค. 10, 17:57
โคลงโลกนิติ มาจากอินเดีย  ทัศนะต่างๆก็เป็นแบบค่านิยมและความเชื่อของอินเดีย
โคลงบทนี้เป็นคำเตือนในเชิงเปรียบเปรย  ไม่ใช่คำสอนแบบ "มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท"    เปรียบเปรยว่าละเว้นไม่ปฏิบัติสิ่งที่ควรปฏิบัติ ก็ทำให้สิ่งนั้นเสื่อมไปได้
สามวันจากนารี เป็นอื่น   คือควรรู้ว่าผู้หญิงเป็นเพศใจคอไม่มั่นคง     ถ้าละเลยเขาแม้แต่นิดเดียว   เขาก็ไปมีแฟนใหม่ได้เร็วทันใจ


กระทู้: สามวันจากนารี เป็นอื่น หญิง หรือ ชาย ? ใครเป็นอื่น?
เริ่มกระทู้โดย: pakun2k1d ที่ 08 ก.ค. 10, 20:12
ขอตีความแบบไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด  แต่มุ่งให้เกิดประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย  ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับเจตนาดั่งเดิม

ความห่างไกลจากหญิง  ทำให้แปรเปลี่ยน(ไม่ระบุว่าหญิงหรือชายที่เปลี่ยน  ก็น่าจะมีโอกาสเปลี่ยนเท่า ๆ กัน)

ดังนั้นพึงตระหนักและระวังซึ่งกันและกัน  ห่างไกลก็อย่าให้ห่างเหินนะคะ


กระทู้: สามวันจากนารี เป็นอื่น หญิง หรือ ชาย ? ใครเป็นอื่น?
เริ่มกระทู้โดย: watanachai4042 ที่ 08 ก.ค. 10, 20:48
ผู้ชายแต่ง  ย่อมไม่ว่าผู้ชายเป็นอื่น  มุ่งว่าผู้หญิงเป็นอื่น  (เหมือนกฤษณาสอนน้อง  ผู้ชายแต่งโดยใช้นางกฤษณาที่มีสามี 5 คนมาเป็นผู้สอน ทั้งที่จริงทั้งหมดที่สอนก็คือความต้องการของผู้ชายนั่นเอง  เพราะฉะนั้นผู้หญิงในกฤษณาสอนน้องจึงลำบาก...ทุกเรื่อง)

แต่ในความจริงทั้งสองฝ่ายก็มีสิทธิ์เป็นอื่นได้เท่าๆกัน


กระทู้: สามวันจากนารี เป็นอื่น หญิง หรือ ชาย ? ใครเป็นอื่น?
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 09 ก.ค. 10, 08:12
โคลงโลกนิติ มาจากอินเดีย  ทัศนะต่างๆก็เป็นแบบค่านิยมและความเชื่อของอินเดีย
โคลงบทนี้เป็นคำเตือนในเชิงเปรียบเปรย  ไม่ใช่คำสอนแบบ "มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท"    เปรียบเปรยว่าละเว้นไม่ปฏิบัติสิ่งที่ควรปฏิบัติ ก็ทำให้สิ่งนั้นเสื่อมไปได้
สามวันจากนารี เป็นอื่น   คือควรรู้ว่าผู้หญิงเป็นเพศใจคอไม่มั่นคง     ถ้าละเลยเขาแม้แต่นิดเดียว   เขาก็ไปมีแฟนใหม่ได้เร็วทันใจ

ชื่อ  โลกนิติ  มาจากอินเดีย  อันนี้ใช่  แต่โคลงโลกนิติ   ไม่ได้มาจากโลกนิติของอินเดียทั้งหมด   โคลงบางบทมาจากพุทธศาสนสุภาษิต   บางบทมาจากหนังสือเรื่องอื่นทั้งที่เป็นภาษาบาลีและสันสกฤต  แต่ก็มีโคลงอีกหลายบทที่ยังไม่พบที่มา  และโคลงหลายบทส่อว่าเป็นภาษิตไทยที่แต่งขึ้นโดยไม่ได้เอามาจากสุภาษิตบาลีสันสกฤต    การวิเคราะห์หาที่มาของโคลงโลกนิติทั้งหมดนั้น  มีคนศึกษาค้นคว้าไว้แล้ว   หาอ่านได้ไม่ยาก

โคลงบทนี้  ผู้ที่ศึกษาค้นคว้าหาที่มาของโคลงโลกนิติ  ยังระบุที่มาจากคัมภีร์บาลีสันสกฤตไม่ได้   และถ้าเปิดดูในหนังสือประชุมโคลงโลกนิติ  (ที่รวบรวมโคลงโลกนิติ ทั้งของเก่า   และโคลงโลกนิติของใหม่ที่กรมสมเด็จพระเดชาดิศรทรงชำระและทรงพระนิพนธ์) โคลงที่ยกมาเป็นประเด็น   มีแต่สำนวนที่กรมสมเด็จพระเดชาดิศรทรงพระนิพนธ์เพียงสำนวนเดียว  ไม่ปรากฏโคลงสำนวนเก่าก่อนหน้านั้น   ในเบื้องต้นจึงอาจสรุปได้ว่า  โคลงบทนี้น่าจะเป็นโคลงที่เจ้านายพระองค์นั้นทรงพระนิพนธ์ขึ้นมาใหม่   คำสอนในโคลงบทนี้ก็หาที่มาจากคัมภีร์ใดๆ ไม่ได้   ก็น่าจะเป็นสุภาษิตใหม่   สุภาษิตลักษณะดังกล่าวก็มีปะปนในโคลงโลกนิติที่กรมสมเด็จพระเดชาดิศรทรงชำระและทรงพระนิพนธ์หลายบทเสียด้วยสิ


กระทู้: สามวันจากนารี เป็นอื่น หญิง หรือ ชาย ? ใครเป็นอื่น?
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 09 ก.ค. 10, 08:17
ขอตีความแบบไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด  แต่มุ่งให้เกิดประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย  ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับเจตนาดั่งเดิม

ความห่างไกลจากหญิง  ทำให้แปรเปลี่ยนไม่ระบุว่าหญิงหรือชายที่เปลี่ยน  ก็น่าจะมีโอกาสเปลี่ยนเท่า ๆ กัน)

ดังนั้นพึงตระหนักและระวังซึ่งกันและกัน  ห่างไกลก็อย่าให้ห่างเหินนะคะ


ถ้าเป็นคำสอนผู้ชาย  หากมีความหมายอย่างนี้  ไม่มีปัญหา  ไม่น่าคิดมาก  (แต่ไม่ได้หมายความว่าเห็นด้วยทั้งหมดนะครับ)

แต่ถ้าเป็นคำสอนผู้หญิง   แล้วมีความหมายอย่างนี้   ผมเข้าใจว่า   คงเป็นคำสอนเฉพาะกลุ่มรักเล่นเพื่อน   :-\



กระทู้: สามวันจากนารี เป็นอื่น หญิง หรือ ชาย ? ใครเป็นอื่น?
เริ่มกระทู้โดย: pakun2k1d ที่ 09 ก.ค. 10, 08:41
คารวะคุณหลวงเล็กค่ะ  ยังยืนยันเจตนาตีความที่ไม่แยกหญิงแยกชายเจ้าค่ะ  แต่ถ้าแยกหญิงแยกชายแล้วทำให้รู้สึกว่าเป็นกลุ่มหญิงรักหญิง  ตัวเองจับความรู้สึกตรงนี้ไม่ได้เจ้าค่ะ  มาจากตรงไหนหว่า  คารวะอีกที่เจ้าค่ะ


กระทู้: สามวันจากนารี เป็นอื่น หญิง หรือ ชาย ? ใครเป็นอื่น?
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 09 ก.ค. 10, 09:05
ผู้ชายแต่ง  ย่อมไม่ว่าผู้ชายเป็นอื่น  มุ่งว่าผู้หญิงเป็นอื่น  (เหมือนกฤษณาสอนน้อง  ผู้ชายแต่งโดยใช้นางกฤษณาที่มีสามี 5 คนมาเป็นผู้สอน ทั้งที่จริงทั้งหมดที่สอนก็คือความต้องการของผู้ชายนั่นเอง  เพราะฉะนั้นผู้หญิงในกฤษณาสอนน้องจึงลำบาก...ทุกเรื่อง)

แต่ในความจริงทั้งสองฝ่ายก็มีสิทธิ์เป็นอื่นได้เท่าๆกัน

บรรดาวรรณคดีไทยที่เป็นวรรณคดีคำสอน สุภาษิต  ไม่ว่าจะเป็นคำสอนผู้หญิง  ผู้ชาย  แม่ม่าย  แม่เรือน  ชายแก่แม่เฒ่า  คนยากจน  ขี้ยา  เด็กวัด  ไปจนถึงเจ้าฟ้ามหากษัตริย์  ๙๙ เปอร์เซ็นต์  คงเป็นผู้ชายแต่ง   (ที่เหลือไว้  ๑ เปอร์เซ็นต์  เผื่อจะหาวรรณคดีคำสอนที่ผู้หญิงแต่งเจอ)  

ถ้าเอาหลักสันนิษฐานว่า  ผู้ชายแต่งวรรณคดีคำสอน  แล้วต้องว่าต้องตำหนิผู้หญิง   ออกจะเป็นสรุปที่ง่ายเกินไป   ผมขอตัวอย่างอธิบายเพิ่มได้หรือไม่

กรณีกฤษณาสอนน้อง   ใช่ครับ   การสอนใครนั้น  ก็เพราะคนสอนต้องการให้ผู้ที่ถูกสอนทำตามหน้าที่ที่พึงทำ และไม่ทำในสิ่งที่ไม่ควร  ไม่ว่าผู้หญิงสอนผู้ชาย  ผู้ชายสอนผู้หญิง  หรือเพศเดียวกันสอนกัน   ก็มุ่งหมายอย่างนี้ทั้งสิ้น  

แต่ที่ว่า  "...เพราะฉะนั้นผู้หญิงในกฤษณาสอนน้องจึงลำบาก...ทุกเรื่อง"  ก็สิ่งที่กฤษณาสอน  (ซึ่งไม่ได้มาจากคำสอนจริงของกฤษณาในเรื่องมหาภารตะทั้งหมด  มีหลายแห่งเป็นคำสอนที่เพิ่มเติมลงตามสภาพสังคมไทย) เป็นสิ่งที่ผู้หญิงแม่เรือนสมัยก่อนต้องปฏิบัติเป็นหน้าที่อยู่แล้วไม่ใช่หรือ   ถ้าหญิงคนใดเห็นการทำหน้าที่เป็นการลำบากไปหมด  แสดงว่าหญิงคนนั้นไม่เหมาะที่จะเป็นภรรยาแล้ว   ควรเป็นโสด  


กระทู้: สามวันจากนารี เป็นอื่น หญิง หรือ ชาย ? ใครเป็นอื่น?
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 09 ก.ค. 10, 09:24
คารวะคุณหลวงเล็กค่ะ  ยังยืนยันเจตนาตีความที่ไม่แยกหญิงแยกชายเจ้าค่ะ  แต่ถ้าแยกหญิงแยกชายแล้วทำให้รู้สึกว่าเป็นกลุ่มหญิงรักหญิง  ตัวเองจับความรู้สึกตรงนี้ไม่ได้เจ้าค่ะ  มาจากตรงไหนหว่า  คารวะอีกที่เจ้าค่ะ

ในโคลงว่า   สามวันจากนารี  เป็นอื่น   ส่อว่าเป็นคนรักต้องห่างไกลจากหญิงคนรัก   ถ้าเป็นชายต้องเหินห่างจากหญิงคนรัก  อันนี้ปกติ   แต่ถ้าหญิงต้องจากหญิงคนรัก  ก็เป็นกลุ่มรักเล่นเพื่อน   ผมเข้าใจว่า  คุณpakun2k1d  คงหมายความว่า  เมื่อผู้ชายจากผู้หญิงคนรักไป  ทั้งสองฝ่าย(คือชายที่จากไป กับหญิงที่อยู่บ้าน)มีโอกาสจะเป็นอื่นได้พอๆ กัน   แต่ผมสงสัยต่อไปว่า   สมัยก่อน  ชายจะปล่อยหญิงคนรักให้อยู่รักษาเหย้าเรือนคนเดียวได้หรือ   เขาน่าจะพาไปฝากผู้ใหญ่บ้านใกล้เรือนเคียงให้ช่วยดูแลนะครับ   รู้สึกว่า กฎหมายเก่าก็ระบุเรื่องนี้เอาไว้


ผมขอต้องคำถามคำถามหนึ่งว่า  ในสมัยก่อน  ผู้หญิงกับผู้ชาย  ใครมีโอกาสต้องจากบ้านไปกิจกรรมนอกบ้านมากกว่ากัน


กระทู้: สามวันจากนารี เป็นอื่น หญิง หรือ ชาย ? ใครเป็นอื่น?
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 09 ก.ค. 10, 10:13
ถ้าสามีลงเรือนไปในกิจกรรมที่เปิดเผยเป็นที่ทราบกันดี  เช่นไปค้าควาย  ปราบจระเข้    ไปตีดาบ  ไปคิดฆ่าผู้อื่นมาทำกุมาร  ไปเข้าเวร หรือเรียกว่าเข้าเดือนนั้น  หรือไปทัพ  มีการบอกกล่าว
หาเสบียง

ก็ไปซิจ๊ะ        ใครจะกล้านินทาว่าร้ายยุยงให้หาผัวใหม่ได้

ยิ่งสามีไปทัพเช่นพ่อแผนแสนสังหารนั้น    พระอัยการปกป้องไว้เต็มที่

ขุนช้างจะไปมาหาสู่นั้นต้องปรับทีเดียว

ทีนี้ถ้ากระทืบเท้าลงเรือน  แถมชักดาบออกมาฟาดลมวิ้วว้าว   พูดดังๆให้ท่านผู้มีชื่อได้ยินว่า  นับแต่นี้เอ็งกับข้าขาดกันจนบรรลัย

อย่างนี้ก็อย่าไปคอยว่าจะกลับมาตายรัง    อย่างบิดานายกุหลาบ ก.ศ.ร.  อย่างไรเล่า    ลูกอ่อนร้องดังไปแกทนไม่ไหว  ถือโอกาสซิ่งไปตั้งครอบครัวใหม่มีลูกอีกเป็นพรวน
(ทีอย่างนี้ไม่รำคาญ  ชิชิ)


กระทู้: สามวันจากนารี เป็นอื่น หญิง หรือ ชาย ? ใครเป็นอื่น?
เริ่มกระทู้โดย: Wandee ที่ 09 ก.ค. 10, 10:21
การเดินทัพสมัยก่อนกินเวลาเป็นปี    ทหารเจ็บป่วยล้มตายเพราะความอดอยาก และไข้มีจำนวนมากพอ ๆ กับตายในสนามรบ

คุณมหาดเล็กช้างเก็บกระดูกมาฝาก  ถือว่าการข่าวระดับพอเชื่อถือได้

นางวันทองไม่อยากเชื่อ   แต่แม่วันทองอยากเชื่อเพราะกลัวการริบบ้านเรือนและผู้คนซึ่งนางเห็นมาแล้วตอนนางทองประศรีหอบไอ้แกละ..เอ้ยพ่อแผนเข้าป่า


กระทู้: สามวันจากนารี เป็นอื่น หญิง หรือ ชาย ? ใครเป็นอื่น?
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 09 ก.ค. 10, 10:55
อ้างถึง
การตีความโคลงโลกนิติวรรคนี้  ต้องคำนึงถึงสภาพสังคมในสมัยนั้นด้วย สมัยก่อนผู้ชายมีภรรยาหลายคนเป็นที่ยอมรับในสังคม  การที่ขุนแผนมีภรรยาหลายคนไม่มีใครกล่าวว่าเป็นคนไม่ดี แต่นางวันทองมีสามีเพียง ๒ คนด้วยจะด้วยความเสียรู้หรือตกกระไดพลอยใจก็ตามที สังคมถึงกับยกเป็นตัวอย่างของหญิงเลว

ดังนั้น หากผู้ชายจากภรรยาไป ๓ วันแล้วมีผู้หญิงคนใหม่ สมัยนั้นคงไม่ถือว่าผู้ชายเป็นอื่นแน่ ๆ ผิดกับผู้หญิงเพียงนางวันทองมีสามีใหม่คือขุนช้าง สังคมก็ถือว่านางวันทองเป็นอื่น เป็นนางวันทองสองใจ เป็นตัวอย่างของหญิงเลวซึ่งมิสมควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง

กรณีวันทองมีสามีใหม่ คือ ขุนช้าง  ในระหว่างที่พ่อพลายแก้วไปราชการทัพที่เชียงใหม่    ต้องพิจารณาให้ดี  ว่า   ตามเนื้อเรื่องตรงนี้   วันทองไม่ได้ประสงค์จะแต่งงานกับขุนช้าง   การแต่งงานกับขุนช้าง  มีเหตุปัจจัยบีบบังคับ  ๓ ประการ คือ

ประการแรก  ความไม่รู้กฎหมายของนางวันทองและนางศรีประจันมารดา  เมื่อขุนช้างเอากระดูกผีมาแสดงแก่นางวันทองและมารดาว่า  พลายแก้วไปตายในราชการทัพ  พวกที่ไปทัพด้วยกันเผาและเก็บกระดูกฝากตนมาส่งให้วันทองที่บ้าน   นางวันทองไม่เชื่อ   เพราะโพธิ์ที่ปลูกอธิษฐานไว้ยังดีอยู่  ขุนช้างก็เลยส่งคนไปทำลายต้นโพธิ์  แล้วมาบอกขู่วันทองกับมารดาว่า  ตามกฎหมายถ้าสามีไปทัพแล้วถูกข้าศึกฆ่าตาย   จะต้องถูกริบสมบัติและภรรยาต้องเข้าไปเป็นม่ายหลวงอยู่ในวัง   นางศรีประจันเป็นห่วงสมบัติ  เลยถามขุนช้างว่าจะทำอย่างไรดี   ขุนช้างเห็นเข้าทางก็เลยว่าก็ให้วันทองแต่งงานกับตนสิ  จะได้ไม่ถูกริบทรัพย์และไม่ต้องส่งวันทองไปเป็นม่ายหลวง    ในความเป็นจริง   กฎหมายตราสามดวง  ท่านให้ความคุ้มครองแนวหลังของทหารหาญที่ไปรบทัพจับศึก   ถ้ารบถึงตายในสนามรบ   ท่านก้ไม่ริบทรัพย์เข้าหลวง   เว้นแต่ไปทำการเข้าข่ายความผิดในลักษณะพระอัยการกบฏศึก  เช่นนั้นจึงจะมีความผิดพิจารณาลงโทษไปตามกระบิลกฎหมาย   อีกอย่างหนึ่ง   ถ้าเฉลียวใจกันสักนิด   จะเห็นได้ว่า  คนไปตายในราชการสงคราม   พวกทหารที่ไปด้วยกันจะมัวพะวงเก็บศพมาเผาหรือ   แค่จะหนีให้รอดกลับมาถึงพระนครก็ยากแย่แล้ว   ที่ขุนช้างเป็นเก็บกระดูกผีมายืนยันว่าพลายแก้วตายแล้วนั้น  แทบเป็นไปไม่ได้เลย (น่าแปลก  เพราะเรื่องเอากระดูกผีมาเล่นอย่างนี้  มีตัวอย่างอยู่ในนิทานประกอบเรื่องมังคลัตถทีปนีด้วย)


ประการต่อมา   นางศรีประจันบังคับลุกสาวให้แต่งงานใหม่  อันนี้เป็นผลมาจากประการแรก  นางศรีประจันเกรงว่าสมบัติและลูกสาวจะถูกยึดเป็นของหลวงหมด   เหลือแต่แกคนเดียวที่เป็นหม้ายสามีตาย   และนางก็แก่แล้ว  เกรงว่าจะดำรงชีวิตลำบาก   จึงรีบจัดงานให้วันทองแต่งงานกับขุนช้าง เพื่อประโยชน์ที่จะไม่ต้องถูกยึดทรัพย์   และก็สมประโยชน์ขุนช้างด้วย  (นางศรีประจันอาจจะเล็งๆ ทรัพย์สมบัติบ้านขุนช้างไว้ด้วย)  แต่นางวันทองไม่ยอม  กระนั้นนางก็ทนแรงบังคับแม่ไม่ได้  จนผ่านงานแต่งงานไปอย่างทุลักทุเล   และยังขอประวิงเวลาส่งตัวเข้าหออีกด้วย   นี่ก็แสดงว่าวันทองไม่ได้ต้องการแต่งงานเป็นเมียขุนช้าง  แต่เพราะแม่บังคับด้วยกำลัง

ประการสุดท้าย  คือ  ความผิดหวังของของวันทองในวันที่พ่อพลายสามีกลับมาบ้าน  พร้อมด้วยนางลาวทอง   ลำพังขุนแผนพาลาวทองมาด้วย   นางวันทองคงไม่รังเกียจที่จะเอานางมาร่วมชายคา  แต่ที่นางวันทองทนไม่ได้คือ  นางลาวทองดันมายุ่งเรื่องที่นางวันทองฟ้องขุนแผนว่า ขุนช้างมาหลอกลวงตนเองและแม่ให้จัดงานแต่งานใหม่เพื่อจะได้ไม่ถูกริบทรัพย์    ถ้านางลาวทองเงียบๆ อยู่ในเรือ  ก็ไม่มีปัญหา  แต่นี่ดันมาทะลุกลางปล้องและมาจุดชนวนให้ผัวเมียผิดใจกันอีกต่างหาก   วันทองก้ได้ชื่อว่า โกรธแล้วไม่ไว้หน้าใคร  เลยด่ากราดไปหมด   ขุนแผนโกรธพาลาวทองกลับไปเมืองกาญจน์บุรี  ความหวังที่ให้พ่อพลายสามีกลับมาช่วยวันทองไม่ต้องถูกส่งตัวเข้าหอเป็นเมียขุนช้างก็จบสิ้นวันนั้น   ตกย่ำค่ำ  นางศรีประจันก็บังคับเอาวันทองไปส่งตัวเข้าหอกับขุนช้างปลุกปล้ำได้เป็นเมียสำเร็จ


ฉะนั้น  ถ้าจะยกเอาเหตุการณ์ตอนนี้มาว่า วันทองสองใจ ในขณะที่พลายแก้วไปราชการทัพเชียงใหม่ก็ไม่สมเหตุสมผล   เพราะนางวันทองได้พยายามรักษาความเป็นเมียของพ่อพลายตั้งแต่พ่อพลายเดินทางไปทัพจนกระทั่งกลับมาถึงบ้านได้เป็นขุนแผน   (ขุนแผนก็ยังชมอยู่)

คำกล่าวว่า  วันทองสองใจ  น่าจะมาจากตอนที่สมเด็จพระพันวษามีรับสั่งให้วันทองตัดสินใจเลือกว่า   จะไปอยู่กับใคร  ระหว่างขุนแผน ขุนช้าง และจมื่นไวย   แต่นางอึกอักไม่ยอมเลือก  (ตัดสินใจไม่ถูก  เพราะทั้งสามคนก็มีความสัมพันธ์กับนางในด้านดีและเสียแตกต่างกันไป)  สมเด็จพระพันวษาจึงทรงกริ้ว  มีพระบรมราชโองการให้เอานางวันทองไปประหาร  (ก่อนนั้นยังทรงบริภาษนางไปอีกหลายคำ)   นี่ถ้านางวันทองตัดสินใจกราบทูลอะไรไปสักอย่าง   (เช่น  กระหม่อมขอเวลาคิดดูสัก ๑ ชั่วยาม  ได้ไหมเพคะ)  อย่างน้อย  นางอาจจะมีชีวิตไปจนจบเสภาฉบับหอพระสมุดก็เป็นได้


กระทู้: สามวันจากนารี เป็นอื่น หญิง หรือ ชาย ? ใครเป็นอื่น?
เริ่มกระทู้โดย: Thida ที่ 17 พ.ย. 10, 14:57
คิดว่า เป็นความฉลาดของผู้แต่ง ทำให้ตีความได้ทั้งสองอย่าง

ผ่านไปอีก 100 ปี ก็จะมีคนถกกันในเรื่องนี้อีก...
 ;D


กระทู้: สามวันจากนารี เป็นอื่น หญิง หรือ ชาย ? ใครเป็นอื่น?
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 17 พ.ย. 10, 15:17
ลองอ่านทบทวน โคลงบทนี้กันอีกทีนะคะ

เจ็ดวันเว้นว่างดีดซ้อม             ดนตรี--------> ความรู้ทางดนตรี   ก็หายไป..
อักขระห้าวันหนี                    เนิ่นช้า--------> ความรู้ทางอักขระ ก็หายไป..
สามวันจากนารี                    เป็นอื่น--------> นารี ก็หายไป..
วันหนึ่งเว้นล้างหน้า                อับเศร้าศรีหมอง----> ศรี ก็หายไป...

: ผู้แต่งตั้งใจ จะสื่อว่า สามวันจากนารี นารีก็เป็นอื่น ค่ะ ไม่ใช่สามวันจากนารีแล้วบุรุษจะเป็นอื่น...
เพราะฉะนั้น ทำตัวติดกันไว้ จะได้ไม่มีใครเป็นอื่น ฮิฮิ ;D


กระทู้: สามวันจากนารี เป็นอื่น หญิง หรือ ชาย ? ใครเป็นอื่น?
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 17 พ.ย. 10, 15:44

สามวันจากนารี                    เป็นอื่น--------> นารี ก็หายไป..

: ผู้แต่งตั้งใจ จะสื่อว่า สามวันจากนารี นารีก็เป็นอื่น ค่ะ ไม่ใช่สามวันจากนารีแล้วบุรุษจะเป็นอื่น...
เพราะฉะนั้น ทำตัวติดกันไว้ จะได้ไม่มีใครเป็นอื่น ฮิฮิ ;D

๑. นารีจะเป็นอื่น ด้วยเหตุและปัจจัยอะไรบ้าง  โปรดอธิบายและยกตัวอย่างประกอบให้เห็นแจ้ง

๒. บุรุษจะจากนารี  ด้วยเหตุและปัจจัยอะไร  โปรดอธิบายและยกตัวอย่างประกอบให้เห็นแจ้ง

ทั้งนี้โปรดพิจารณาจากบริบทเวลาในยุคสมัยที่แต่งของโคลงบทดังกล่าวประกอบด้วย
(โคลงบทนี้ไม่ใด้แปลหรือแต่งมาจากสุภาษิตภาษาบาลีสันสกฤตแต่อย่างใด 
เช่นเดียวโคลงโลกนิติบางบทที่ไม่มีได้มีที่มาจากสุภาษิตภาษาบาลีสันสกฤต
และไม่ใช่โคลงที่สมเด็จกรมพระยาเดชาดิศรทรงชำระจากโคลงโลกนิติของเก่า
แต่เป็นโคลงที่ทรงพระนิพนธ์ขึ้นมาใหม่แทรกใส่ในโคลงโลกนิติที่ทรงชำระและได้จารึกไว้ที่วัดพระเชตุพนฯ)

การที่คนอ่านสมัยปัจจุบันแปลโคลงบทนี้มีสองความหมาย เพราะอะไร  ความกำกวมของคำ?
หรือเป็นเพราะยุคสมัยของคนอ่าน?  ถ้าสุภาษิตอาจจะตีความได้สองอย่างเช่นนี้  จะมีประโยชน์อันใดที่ใช้สอนคน
เพราะคนอ่านอาจจะตีความให้เป็นประโยชน์แก่ตนได้  ก็สุภาษิตต้องมีความหมายชัดเจนไม่ใช่หรือ
แต่คนอ่านนั่นเองที่อาจจะไปไม่ถึงความหมายที่แท้จริงของคนแต่ง


กระทู้: สามวันจากนารี เป็นอื่น หญิง หรือ ชาย ? ใครเป็นอื่น?
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 17 พ.ย. 10, 16:47
เจ็ดวันเว้นว่างดีดซ้อม             ดนตรี
อักขระห้าวันหนี                    เนิ่นช้า
สามวันจากนารี                    เป็นอื่น
วันหนึ่งเว้นล้างหน้า                อับเศร้าศรีหมอง
++++

จะเห็นความสวยงามของการเรียงลำดับอาการหลงลืม ตั้งแต่ 1-3-5-7 ลำดับความรุนแรงจะหนักขึ้นเรื่อยๆ เพียง 7 วันก็ลืมโน๊ตดนตรี นับประสาอะไรกับไม่ล้างหน้าเพียงวันเดียว

ในสามวรรคไม่ได้ระบุถึงเพศไว้ว่าใครที่ละเลยเฉกเช่นนี้จะเป็นดังที่ว่า แต่วรรคที่สาม จากนารี ย่อมหมายถึง ชายจากหญิง เป็นคนอื่น ก็จะหมายถึง หญิงไม่หลงรักผูกพันในผู้ชายต่อไปแล้ว เมื่อจากเพียงสามวัน


กระทู้: สามวันจากนารี เป็นอื่น หญิง หรือ ชาย ? ใครเป็นอื่น?
เริ่มกระทู้โดย: :D :D ที่ 17 พ.ย. 10, 17:12
วิเคราะห์ตามความเข้าใจอันน้อยนิด และไม่ได้อิงภูมิรู้ด้านใดๆ เลยนะคะ...

โคลงบทนี้ น่าจะสอน บุรุษ ให้มีความอุตสาหะ พยายาม มีความสม่ำเสมอ ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ
เช่น การฝึกซ้อมต่างๆ ทั้งดนตรี อาวุธ(ไม่ได้เขียนไว้ อาจจะไม่เข้ากันกับสัมผัสของโคลง)
การฝึกอ่านเขียน การดำเนินชีวิตอื่นๆ เช่นการรักษาความสะอาด(ล้างหน้า) อย่าขี้เกียจต้องทำอย่างสม่ำเสมอ
 
การจีบหญิง หรือการเอาอกเอาใจหญิง ก็เช่นกัน ต้องมีความพยายาม กระทำอย่างสม่ำเสมอ
ผู้แต่งคงต้องการเปรียบเทียบให้เห็นผล ที่ผู้ชายไม่อยากให้เป็น คือนารี(ไป)เป็น(ของคน)อื่น
ซึ่งคงจะไม่เกี่ยวกับจำนวนวัน หรือยุคสมัย แต่ตั้งใจแค่จะขู่ สอนฝ่ายชาย เท่านั้น
เพราะ
เจ็ดวันเว้นว่างดีดซ้อม    ดนตรี-------->ในความเป็นจริง แค่ 7 วันไม่ได้ซ้อมดนตรี ก็ยังไม่ลืม
อักขระห้าวันหนี          เนิ่นช้า-------->ในความเป็นจริง แค่ 5 วันไม่ได้อ่านเขียน ก็ยังไม่ลืม
เพราะฉะนั้น
สามวันจากนารี          เป็นอื่น-------->ก็เป็นแค่การขู่เพื่อสอน เพราะในความเป็นจริง การจะเป็นอื่นไม่ได้ขึ้นอยู่กับเวลา 3 วัน  

เป็นการสอนที่ ต้องการจะสอนให้บุรุษนั้นเป็นคนดี ชี้ให้เห็นว่าหากขาดความพยายามอย่างสม่ำเสมอ เกียจคร้าน ละเลย จะมีผลอย่างไร

ถ้าทำได้ตามนี้ชีวิตก็จะราบรื่น มีความสุขความเจริญ
คือมี ความสุขรื่นรมย์ในชีวิต (เล่นดนตรีได้)
มีความรู้ อันจะสามารถไปประกอบหน้าที่การงานได้ (อ่านออกเขียนได้)
มีครอบครัวที่อบอุ่น (นารีไม่ไปเป็นของคนอื่น)
และมีสุขภาพที่ดี (ล้างหน้าล้างตา สะอาด มีสง่าราศรี)

ที่เน้นว่าสอนบุรุษ เพราะในสมัยนั้นผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง ทุกข์สุขของผู้หญิงและครอบครัวย่อมผูกไว้กับบุรุษซึ่งเป็นผู้นำครอบครัว...
(ฟังดูดีกว่า เหตุผลที่ว่าผู้ชาย ขี้เกียจกว่า ผู้หญิง นะคะ ฮิฮิ... ;D )


กระทู้: สามวันจากนารี เป็นอื่น หญิง หรือ ชาย ? ใครเป็นอื่น?
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 18 พ.ย. 10, 08:21
เจ็ดวันเว้นว่างดีดซ้อม             ดนตรี
อักขระห้าวันหนี                    เนิ่นช้า
สามวันจากนารี                    เป็นอื่น
วันหนึ่งเว้นล้างหน้า                อับเศร้าศรีหมอง
++++

จะเห็นความสวยงามของการเรียงลำดับอาการหลงลืม ตั้งแต่ 1-3-5-7 ลำดับความรุนแรงจะหนักขึ้นเรื่อยๆ เพียง 7 วันก็ลืมโน๊ตดนตรี นับประสาอะไรกับไม่ล้างหน้าเพียงวันเดียว

ในสามวรรคไม่ได้ระบุถึงเพศไว้ว่าใครที่ละเลยเฉกเช่นนี้จะเป็นดังที่ว่า แต่วรรคที่สาม จากนารี ย่อมหมายถึง ชายจากหญิง เป็นคนอื่น ก็จะหมายถึง หญิงไม่หลงรักผูกพันในผู้ชายต่อไปแล้ว เมื่อจากเพียงสามวัน

น่าสนใจมากครับ ที่คุณ siamese ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับจำนวนวันในโคลงโลกนิติบทนี้  
แต่ที่ว่า  ตั้งแต่ 1-3-5-7 ลำดับความรุนแรงจะหนักขึ้นเรื่อยๆ  
อันนี้ขอให้พิจารณาจากตัวบทเป็นสำคัญ  


ปกติโคลงย่อมว่าจากบาทแรกบนสุดลงไปถึงบาทสุดท้ายล่างสุด  
ฉะนั้นที่ว่า ตั้งแต่ 1-3-5-7 ลำดับความรุนแรงจะหนักขึ้นเรื่อยๆ ย่อมไม่ถูกต้องตามลำดับบาทโคลง
แต่ต้องเป็น ตั้งแต่ ๗-๕-๓-๑ ส่วนลำดับความรุนแรงของการลืมนั้น  อาจจะต้องพิจารณากันอีกส่วนหนึ่ง
การเรียงลำดับ ๗-๕-๓-๑ วันในโคลงโลกนิติบทนี้ จะแฝงนัยยะหรือความหมายอะไรไว้หรือไม่
ก็น่าขบคิดใคร่ครวญหาคำตอบอยู่   แต่ในทางกลับกัน  จำนวนวันอาจจะไม่ได้มีความหมายอะไรลึกซึ้งก็ได้

ผมสงสัยว่า ทำไมวิชาการดนตรีจึงหลงลืมได้ช้ากว่าการเรียนอักขระหนังสือ
ใครมีคำตอบดีๆ กรุณาไขความให้กระจ่างด้วยนะครับ ;D


กระทู้: สามวันจากนารี เป็นอื่น หญิง หรือ ชาย ? ใครเป็นอื่น?
เริ่มกระทู้โดย: siamese ที่ 18 พ.ย. 10, 15:32

ผมสงสัยว่า ทำไมวิชาการดนตรีจึงหลงลืมได้ช้ากว่าการเรียนอักขระหนังสือ
ใครมีคำตอบดีๆ กรุณาไขความให้กระจ่างด้วยนะครับ ;D
++++


อันการดนตรีนั้น การสอนการเรียนอาศัยการจำ และการฝึกฝนเป็นเชิงศิลปะ หรือสมัยนี้ก็วิเคราะห์ไว้ว่าใช้สมองในส่วนต่างๆกัน สำหรับเรื่องดนตรี และเรื่องการขีดๆเขียนเรื่องเรียน เมื่อเจอทำนอง ก็คลอๆกันไปได้ บางครั้งการตีระนาดอย่างชำนาญการแล้ว ไม่ต้องใช้ความคิด มือก็บรรเลงไปได้เองก็มี


สำหรับการเรียนอักขระนั้น คุณหลวงเล็กลองดูลิงค์นี้นะครับ

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2010/06/K9360777/K9360777.html

จะเห็นว่าการเขียนอักษรไทยสมัยก่อนนั้น มีระเบียบและแบบแผนอย่างชัดเจน เรียกว่า ต้องเรียนวิธีผสมอักษร อะไรเจอกับอะไรเขียนอย่างไร ซึ่งมีความยากในตัว คนโบราณท่านสั่งสอนไว้เป็นแบบ แต่ปัจจุบันสูญหายหมดแล้วครับ


กระทู้: สามวันจากนารี เป็นอื่น หญิง หรือ ชาย ? ใครเป็นอื่น?
เริ่มกระทู้โดย: luanglek ที่ 18 พ.ย. 10, 15:57

อันการดนตรีนั้น การสอนการเรียนอาศัยการจำ และการฝึกฝนเป็นเชิงศิลปะ หรือสมัยนี้ก็วิเคราะห์ไว้ว่าใช้สมองในส่วนต่างๆกัน สำหรับเรื่องดนตรี และเรื่องการขีดๆเขียนเรื่องเรียน เมื่อเจอทำนอง ก็คลอๆกันไปได้ บางครั้งการตีระนาดอย่างชำนาญการแล้ว ไม่ต้องใช้ความคิด มือก็บรรเลงไปได้เองก็มี


สำหรับการเรียนอักขระนั้น คุณหลวงเล็กลองดูลิงค์นี้นะครับ

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2010/06/K9360777/K9360777.html

จะเห็นว่าการเขียนอักษรไทยสมัยก่อนนั้น มีระเบียบและแบบแผนอย่างชัดเจน เรียกว่า ต้องเรียนวิธีผสมอักษร อะไรเจอกับอะไรเขียนอย่างไร ซึ่งมีความยากในตัว คนโบราณท่านสั่งสอนไว้เป็นแบบ แต่ปัจจุบันสูญหายหมดแล้วครับ

เหตุผลดีน่าฟังครับ  ในแง่หนึ่ง  ดนตรีใช้การฟัง  อันเป็นทักษะในชีวิตประจำวันที่คนเราใช้มากที่สุด  
จากนั้นก็คือพูด  ถัดไปคืออ่าน  และท้ายสุดคือเขียน   การเรียนดนตรีสมียก่อนไม่มีการสอนเขียนโน้ต
แต่อาศัยการฟังและจดจำวิชาความรู้เอาจากครูผู้สอน  ซึ่งจะเน้นการปฏิบัติดีดสีตีเป่าเป็นสำคัญ

ผิดกับวิชาหนังสือ  ที่มุ่งสอนให้อ่านให้เขียนได้  ส่วนการพูดและการฟังนั้น  ไม่ใช่ทักษะที่เน้นมากการสอนภาษไทยสมัยก่อน
เพราะเด็กๆ รู้จักพูดรู้จักฟังมาแต่เกิด  แต่การเขียนและการอ่านนั้นเป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝนเอาเมื่อรู้ความแล้ว
อีกทั้งชีวิตประจำวันของคนสมัยก่อน ไม่ได้ผูกพันกับเรื่องหนังสือมากอย่างคนปัจจุบัน
ชาวนาชาวไร่ชาวสวนอาจจะไม่รู้หนังสือเลย แต่ก็สามารถประกอบอาชีพได้
พ่อค้าแม่ค้า แม้อ่านเขียนไม่ได้แต่ก้สามารถซื้อขายของได้เหมือนกัน
เรื่องการอ่านเขียน  โดยมากอยู่กับพระกับข้าราชการเป็นหลัก

วิธีการเรียนหนังสือสมัยก่อนนั้น ใช้เวลามาก  กว่านักเรียนจะสามารถอ่านหนังสือได้แตกฉาน
เพราะจะต้องรู้จักประสมพยัญชนะกับสระไปตามลำดับจนหมดที่ตัว ฮ
ดังนี้

ก กา กิ กี กึ กื กุ กู เก แก ไก ใก โก เกา กำ กะ
ข ขา ขิ ขี ขึ ขื ขุ ขู เข แข ไข ใข โข เขา ขำ ขะ
.....
ไปจนจบที่ ฮะ

จากนั้นก็เริ่มประสมตัวสะกดไล่ไปที่ละมาตรา ตั้งแต่แม่กก
ดังนี้

กก กัก กาก กิก กีก กึก กืก กุก กูก เกก แกก โกก กอก กวก เกียก เกือก เกิก  ไล่ไปจนจบที่ เฮิก
แล้วขึ้นมาตราตัวสะกดใหม่ กง  กด กน กบ กม เกย (เกย+เกอว+ฯลฯ) ไล่ไปอย่างนี้
ในระหว่างเรียนประสมตัวสะกดตั้งแต่แม่ก กา มาจน เกย  ต้องการอ่านแบบฝึกอ่าน เช่นกาพย์พระไชยสุริยาด้วย
เพื่อให้นักเรียนจำได้ขึ้นใจ แน่นอนกว่าจะไปถึงเกย  เด็กนักเรียนอาจจะต้องไปช่วยพ่อแม่ทำนานำไร่
ไม่ได้เรียนสม่ำเสมอ โอกาสจะลืมก็มีมากทีเดียว  อันเป็นเหตุสมัยหลังถึงได้มีการแต่งแบบเรียนเร็วขึ้น
เพื่อให้เด็กเรียนภาษาไทยได้เร็วยิ่งขึ้นแต่ก็มีข้อเสียเหมือนกัน คือ  เด็กบางคนอ่านหนังสือไม่แตก  เพราะเรียนเร็วเลยจำไม่ทัน
และไม่เข้าใจถ่องแท้  หนักที่สุด  คือ เด็กบางคนเรียนถึงมัธยมแล้วอ่านภาษาไทยไม่ออก

ใครมีเหตุผลจะแย้งจะสนับสนุนเพิ่มเติม ก็ยินดีนะครับ  สนุกดี


กระทู้: สามวันจากนารี เป็นอื่น หญิง หรือ ชาย ? ใครเป็นอื่น?
เริ่มกระทู้โดย: octavian ที่ 24 ส.ค. 12, 09:41
สังคมไทย ถ้าผู้ชายมีเพิ่มก็เรียกหญิงอื่น ถ้าผู้หญิงมีเพิ่มก็เรียกชายชู้  :-X