เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: naitang ที่ 05 มี.ค. 23, 18:51



กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 มี.ค. 23, 18:51
เมื่อครั้งยังทำงานในสายงานที่ต้องใช้วิชาการตามที่ได้ร่ำเรียนมา ซึ่งเป็นงานที่ต้องเดินทางเข้าไปในพิ้นที่ของท้องถิ่นต่างๆค่อนข้างจะหลากหลาย มีความจำเป็นที่จะต้องสื่อสารกับชาวถิ่นอย่างมีความเข้าใจที่ตรงกัน   เป็นเหตุให้พอได้เรียนรู้ภาษาถิ่น สำนวนที่มีลักษณะจำเพาะของแต่ละแหล่ง และความหมายลึกๆของคำและสำนวนเหล่านั้น    เกิดเป็นความสนใจทั้งในด้านของส่วนตัวเองและเป็นไปเพื่อการทำชีวิตให้รอดในสถานะการณ์ของการทำงานในพื้นที่สีแดงเข้มในสมันนั้น    ได้เรียนรู้ทั้งในด้านของภาษา วัฒนธรรม วิถีการใช้ชีวิตและอาหารของผู้คนพื้นถิ่นโดยเฉพาะในพื้นที่ด้านตะวันตกไปจนจรดเขตแดนของไทยเรา ซึ่งโดยพื้นฐานของชาวถิ่นเหล่านี้ ส่วนหนึ่งก็คือเหล่าผู้ที่ย้ายมาตั้งรกรากใหม่จากภูมิภาคต่างๆของไทย ก็จึงพอจะได้เรียนรู้อะไรๆที่เป็นความรู้ผสมผสานกันไป   

เพื่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจในเรื่องต่างๆที่มากพอสมควร มากพอที่ใช้สนทนากันในลักษณะพอจะหยอกล้อกันเพื่อบรรยากาศที่เป็นมิตรดีๆ  ก็เลยพยายามเรียนรู้ในบริบทที่ลึกซึ้งลงไป เลยผันมาเป็นคนนิยมชอบหนังสือเก่า


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 มี.ค. 23, 19:01
วันหนึ่งก็ได้ไปพบหนังสือชื่อ

 
                     "ปาถกถาทางวิทยุ
                             ของ
              ข้าราชการกะซวงการต่างประเทส
                            ชุดที่ 1


         พิมพ์ไช้ไนราชการกะซวงการต่างประเทส
                            2485"


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 มี.ค. 23, 19:34
เกิดความสนใจขึ้นมาว่า ภาษาไทย(ที่ถูกต้อง)ที่ใช้โดยหน่วยงานราชการ เมื่อครั้งกระโน้น มีการสะกดคำที่ต่างกันไปมากจากที่ใช้กันในปัจจุบันนี้

พาลไปนึกถึงเรื่องของพจนานุกรมที่ใช้อ้างอิงและตรวจสอบคำสะกดที่ถูกต้อง   ก็เลย เลยเถิดเข้าไปในเรื่องของพจนานุกรม ซึ่งได้พบข้อมูลใน silpa-mag.com ว่าเรามีพจนานุกรมแปลไทย-เป็นไทยมาแล้วหลายฉบับ ฉบับแรก เห็นว่าเป็นอยู่ในช่วง พ.ศ.2207-2236    แต่ฉบับที่วัยของพวกผมเคยใช้เรียนและอ้างอิงถึงนั้นเป็นของปี พ.ศ.2493 ซึ่งใช้กันจนถึงปี พ.ศ.2525 แล้วก็มีฉบับ พ.ศ.2542 ในปัจจุบันมีฉบับ พ.ศ.2554

เกิดความสนใจขึ้นมาว่าก็มีคำว่า พจนานุกรม ปทานุกรม อักขรานุกรม นามานุกรม สารานุกรม อภิธานศัพท์....   แล้วต่างกันอย่างไร


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 มี.ค. 23, 20:16
แล้วก็เกิดความอยากจะรู้ขึ้นมาว่า ด้วยเหตุใดจึงต้องเปลี่ยนไปใช้ไม้ม้วนแทนไม้มลาย เช่น 'พายไน' ต้องเปลี่ยนไปเป็น 'ภายใน'    'ไหย่หลวง'
ต้องเป็น 'ใหญ่หลวง'     'ชเลย' ต้องเป็น 'เชลย' .... 


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 มี.ค. 23, 17:13
สวัสดีค่ะคุณตั้ง
ดีใจที่เห็นหัวข้อใหม่ค่ะ
มารอคำเฉลยจากคุณตั้งค่ะ


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 มี.ค. 23, 18:32
พอจะมีความเข้าใจตามประสาผู้มีความรู้จำกัด(มากๆ)ในเรื่องทางภาษาศาสตร์ว่า   ภาษาไทยและภาษาอื่นๆทั่วโลกที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ มีพัฒนาการแรกเริ่มมาจากการขีดเขียนในลักษณะต่างๆเพื่อแทนลักษณะเสียงและวิธีการเปล่งเสียงลักษณะนั้นๆออกมา _ตัวอักษร  ซึ่งพัฒนาการสายหนึ่งอยู่ในลักษณะของการสื่อบนฐานของภาพรวมของเรื่องหนึ่งใดด้วยรูปเสียงฉะเพาะหนึ่งใด   ในอีกสายหนึ่งอยู่บนลักษณะของการสื่อบนฐานของการผนวกเอาลักษณะของเสียงต่างๆที่เปล่งออกมา เอามาผสมผสานกันเป็นคำที่ให้ความหมายถึงเรื่องหนึ่งใด  เมื่อการสังคมมีวงกว้างมากขึ้น การสื่อทางเสียงก็น่าจะเกิดการเพี้ยนไป ส่งผลให้แต่ละกลุ่มสังคมต้องมีการพัฒนาเครื่องหมายขีดเขียนที่ใช้แทนเสียงนั้น เกิดพัฒนาการขึ้นมาอีกสายหนึ่งที่เป็นสายที่อยู่บนฐานของการผสมผสานระหว่างลักษณะเสียง การออกเสียงและการกำหนดลักษณะตัวอักษรที่จะใช้แทนเสียงนั้นๆ รวมทั้งเกิดการยืมคำและศัพท์ต่างๆ เมื่อเอามาประมวล ผสมผสาน ทำให้สามารถอ่านเป็นเรื่องราวที่เข้าใจกันได้ภายในแต่ละกลุ่มสังคมและให้เป็นเรื่องที่เข้าใจตรงกันได้ในระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ที่สื่อสารกันในภาษาเดียวกัน ก็เลยมีระบบการเขียนกลางที่เป็นมาตรฐานที่ต้องใช้กัน (อักขรวิธี ?)

ก็ไม่ทราบว่า ที่พรรณามานี้ เป็นความเข้าใจที่อยู่ในครรลองหรือไม่


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 มี.ค. 23, 20:01
ประเด็นก็มาอยู่ที่ว่า  ภาษาไทยเป็นตระกูลภาษาสำคัญที่มีการใช้กันมานานและใช้กันแพร่หลายในภูมิภาคเอเซียตะวันออกไกล  ดูจะเป็นภาษาหนึ่งที่มีการใช้ตัวอักษรที่มีทรงและรูปร่างต่างกันไม่น้อยในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์   

ในส่วนที่เป็นภาษาไทยแบบที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นลักษณะของภาษาที่ได้มีพัฒนาการต่อเนื่องมาเป็นเวลาที่ยาวนานหลายร้อยปี   ก็จึงเป็นเรื่องปกติที่จะมีการนำคำและศัพท์จากสังคมและภาษาอื่นๆมาใช้ร่วม   สำหรับศัพท์ที่ใช้ในเชิงภาษาที่เป็นทางการ ก็ดูจะเป็นศัพท์บัญญัติขึ้นมาโดยอ้างถึงความหมายบนพื้นฐานของภาษาบาลีและสันสกฤต  มีเป็นส่วนน้อยที่ดูจะเป็นภาษาอื่นใด    ต่างกับภาษาที่ชาวบ้านใช้กันตามปกติ  ส่วนมากจะยังคงเป็นภาษาไทยแบบพื้นๆ  ซึ่งการใช้อักษรและอักขรวิธีก็น่าจะเป็นไปในลักษณะเรียบง่าย จะใช้สระ ใ หรือ ไ อย่างหนึ่งอย่างใดก็ยังอ่านออกและใช้เสียงเหมือนกัน    หากแต่ในการสอบ จะต้องสะกดให้ถูกตามกลอน 20 ม้วนจำจงดี


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 มี.ค. 23, 19:28
เมื่อใช้วิธีการเอาอักษรและอักขระต่างๆมาผสมกันให้ออกเป็นเสียงที่เปล่งออกมาตามที่พูด หากไม่มีการตกลงกันอย่างเป็นระเบียบวิธีการ (อักขรวิธี) การสื่อสารกันด้วยวิธีการใช้ลายลักษณ์อักษรก็คงจะไร้ซึ่งความเป็นระเบียบ ไปขึ้นอยู่กับว่าแล้วแต่ผู้คนกลุ่มใดจะนิยมเขียนเช่นใด ซึ่งก็อาจจะสื่อความหมายที่ต่างกันเมื่อเป็นการสื่อสารข้ามกลุ่ม เพราะมีคำที่ออกเสียงเหมือนกัน หรือใกล้เคียงกัน หรือเมื่อไปใช้ผสมกับคำอื่นแล้วทำให้มีความหมายที่ต่างกัน  ตัวอย่างที่นึกออกสำหรับที่เป็นสำเนียงกลางๆก็เช่น คำว่า 'ปลา' กับ 'ปา'   ในภาษาเหนือและอิสานก็เช่นคำว่า 'ป๋า'(ปลา) ซึ่งออกเสียงใกล้เคียงกับคำว่า 'ป่า'   ในภาษาใต้ก็เช่นคำว่าก็เช่นคำว่า 'เหลียง'(ใบ) กับ 'เหรียง'(ฝัก,ลูก) ซึ่งมีการออกเสียงที่เกือบจะไม่ต่างกัน

การสร้างหรือการกำหนดให้เป็นระเบียบวิธีการทางอักขรวิธีก็จึงมีความจำเป็น ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Orthography  ผมไม่เคยเห็นเอกสารหรือหนังสือที่เป็นหลักใช้อ้างอิงในเรื่องนี้ ซึ่งก็เข้าใจว่าในทุกภาษาจะต้องมี และก็จะต้องมีการสอนอยู่การศึกษาในระดับอุดมศึกษาอีกด้วย หากแต่ดูจะยังขาดการย่อยให้สามารถอ่าน/ศึกษาได้ในรูปที่เข้าใจได้ไม่ยาก     การสื่อสารทางลายลักษณ์อักษรที่เราๆทั้งหลาย(ที่เขียนถูกหรือผิดในปัจจุบันนี้) ทั้งหมดดูจะได้มาจากการเรียนหนังสืออย่างเป็นขั้นเป็นตอนจนถึงอายุในวัยหนึ่ง จากที่เน้น'ต้องจำ' ในช่วงวัยหนึ่ง(ที่เด็กรับได้)  ไปเป็นช่วงที่เด็กเกิดความสงสัย แต่ไม่ได้รับคำอธิบายในระดับที่พึงพอใจ    เห็นว่า ก็อาจจะพอปรับแต่งวิธีการให้เรียนรู้ได้ด้วยการปรับเลี่ยนจากระบบให้ความรู้ด้วย Theoretical approach ไปเป็นในรูปของการให้ความรู้ด้วย Empirical approach
       


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 มี.ค. 23, 18:47
ก็พอจะเก็บภาพได้ว่า ในภาษาตระกูลเดียวกันที่ใช้ก้นในระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน ก็ยังมีความต่างกันที่สามารถแยกออกเป็นกลุ่มย่อยๆได้ ทั้งในเชิงของสำเนียง (accent) หรือที่มีลักษณะเฉพาะของสำเนียง การใช้ประโยค การใช้คำและศัพท์ รวมๆกันเป็นลักษณะที่มีความจำเพาะของพื้นถิ่นหนึ่งใด (dialect)

ภาษาไทยที่เราใช้สื่อสารกันในประเทศของเราสามารถจัดแยกได้เป็นหลายกลุ่มหลักและหลายๆกลุ่มย่อยตามลักษณะต่างๆที่ได้กล่าวถึง   เรื่องเช่นนี้ ในวงวิชาการน่าจะได้มีการทำการศึกษากันอย่างลึกซึ้ง อย่างกว้างขวาง และอย่างครอบคลุมในประเด็นต่างๆอยู่แล้ว  และก็น่าต้องมีเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งในรูปที่เป็นหนังสือเชิง Textbook หรือในรูปแบบ Treasise  สำหรับแต่ละภาษาถิ่น  ซึ่งหนังสือเอกสารในรูปของเรื่องราวทางเหล่านี้ น่าจะมีเก็บอยู่ในห้องสมุด

ก็ยังไม่เคยเห็นเอกสารหรือหนังสือประมวลคำที่ใช้กันในแต่ละพื้นถิ่นพร้อมกับความหมายย่อๆในรูปของปทานุกรม (Lexicon) ซึ่งผมเชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่น่าจะต้องมีหนังสือลักษณะนี้เผยแพร่ เพราะในปัจจุบันนี้มีการสื่อสารระหว่างผู้คนต่างถิ่นต่างพื้นที่กันมากขึ้นตามพ้ฒนาการทางเทคโนโลยีและความสะดวกในการเดินทาง     


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 มี.ค. 23, 20:11
ไทยเราเป็นประเทศอู่ข้าวอู่น้ำที่มีผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์มาตั้งถิ่นฐานอยู่รวมกัน นำเอาวัฒนธรรมและประเพณีหลากหลายมาใช้ผสมผสานกันจนเกิดเป็นวัฒนธรรมที่มีลักษณะจำเพาะ เป็นมรดกตกทอดต่อเนื่องมา  ก็จึงไม่แปลกนักที่จะมีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเดินทางมาเที่ยวเมืองไทยบนเหตุผลของ varieties of heritage (ในบริบททางวัฒนธรรมประเพณี)    คนไทยเอง แม้ว่าดูจะนิยมออกไปเที่ยวในต่างประเทศ แต่ก็ปรากฎว่ามีการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้นด้วยเหตุผลในลักษณะเดียวกัน แต่มักจะเป็นในบริบททางด้านศาสนาและวัตถุใหม่ของงานทางวิศกรรม ซึ่งแน่นอนว่าในการไปยังสถานที่ต่างๆก็ย่อมจะต้องได้พบได้สนทนากับผู้คนพื้นถิ่นบ้าง  การใช้ภาษาถิ่นบ้างเพียงเล็กน้อยในการสนทนา จะทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่อ่อนโยน ให้ความรู้สึกที่จริงใจต่อกัน อะลุ่มอล่วยต่อกัน   ซึ่งก็จะยังให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและแก่กันทั้งสองฝ่าย

ปทานุกรมภาษาถิ่นเล่มเล็กๆ (ไทย-ไทย, อังกฤษ-ไทย...) ช่วยในเรื่องเช่นนี้ได้มากเลยทีเดียว     


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 มี.ค. 23, 18:21
สมัยก่อนนั้น นักเรียนในระดับมัธยมต้นส่วนมากน่าจะคุ้นเคยกับปทานุกรมภาษาไทยสำหรับนักเรียน  ในปัจจุบันนี้ก็ยังเห็นว่ามีหนีงสือเล่มเล็กที่ใช้ชื่อลักษณะนี้พิมพ์จำหน่ายอยู่ แต่ไม่ทราบว่าข้อมูลที่บรรจุอยู่ข้างในจะเท่าเทียมกันกับสมัยก่อนหรือไม่   ของสมัยก่อนนั้นให้ข้อมูลเกือบจะทุกเรื่องที่เกี่ยวกับคำและศัพท์ที่ใช้กับสรรพเรื่องพื้นฐานที่ผูกกับความเป็นประเทศไทย ประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม อักขรวิธี อาชีพการงาน ชีวิต ความเป็นอยู่ ..... กระทั่งมาตราชั่ง ตวง วัดแบบไทย   ทั้งหมดนี้รวมอยู่ในหนังสือเล่มเล็กๆหนาขนาดประมาณ 2 ซม. กว้างประมาณ 5 ซม. และยาวประมาณ 15 ซม. ใช้กระดาษพิมพ์บาง ตัวหนังสือเล็ก และมีปกหน้า-หลังที่ทนทานต่อการฉีกขาด

หนังสือปทานุกรมฉบับนักเรียนที่บรรจุข้อมูลมากมายเช่นนี้ น่าจะเป็นหนังสือที่คนที่เรียกว่าตนเองว่าเป็นคนไทยควรจะต้องมีไว้ติดบ้าน เพราะดูจะให้ข้อมูลและคำตอบในลักษณะ Quick reference ในทุกเรื่องได้ดีมากเลยทีเดียว 

ผมยังคงเก็บหนังสือนี้ไว้อยู่ในตู้หนังสือ   


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 มี.ค. 23, 20:02
ก็มีประเด็นที่น่าสนใจ

ภาษาไทยมาตรฐานที่ใช้ในสมัยก่อนจะมีพจนานุกรมฉบับราชบัญฑิตสถาน พ.ศ.2493 มีอักขรวิธีอย่างหนึ่ง   หลังจากปี พ.ศ.2493 จึงมีการปรับอักขระวิธีเป็นดังเราใช้กันส่วนมากในปัจจุบัน ก็ใช้ต่อเนื่องกันมาจนกระทั่งมีพจนานุกรมฉบับใหม่การประกาศใช้ในปี พ.ศ.2525  แล้วก็มีฉบับใหม่ใน พ.ศ.2554 

ผมไม่เคยเปรียบเทียบความต่างในเชิงของอักขรวิธีระหว่างพจนานุกรมทั้ง 3 ฉบับ ก็เชื่อว่าจะต้องมีแน่นอน เพราะในระหว่างช่วงเวลาของแต่ละมาตรฐานใหม่ ก็มีย่อมพัฒนาการต่างๆและเกิดเรื่องใหม่ๆที่เกียวกับชีวิตเรามากมาย เกิดมีคำและศัพท์ต่างๆเกิดขึ้น รวมทั้งการขยายความหมายของคำเดิมหรือใช้คำที่มีอยู่เดิมไปในความหมายอื่นใดที่เพิ่มขึ้นมา  ในระหว่างช่วงเวลานั้นๆ การสะกดคำใหม่ๆ การเรียกชื่อ/ตั้งชื่อสิ่งใหม่ๆก็เกิดขึ้นมา มีทั้งในรูปของคำอธิบายและการบัญญัติคำ/คำศัพท์ขึ้นมาใหม่ อยู่ในสภาพมีความหลากหลาย ขาดมาตรฐานหรือความเป็นหนึ่งเดียวกัน  ก็จึงเป็นปกติที่จะต้องมีการสังคายนาให้เป็นหนึ่งเรื่องเดียวกัน ซึ่งก็อาจจะทำให้เกิดมีการบัญญัติศัพท์ใหม่ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ

คงนึกออกภาพนะครับว่า ผู้ที่มีชีวิตอยู่คร่อมช่วงเวลาของการเปลี่ยบนแปลงตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2493 ถึงปัจจุบันนี้ จะพบกับอะไรบ้างในเรื่องของการเขียน/การใช้ภาษา     ที่แย่ก็คือ เมื่อสูงวัยจัดๆ ความจำมันเลอะเลือน และเป็นปกติที่มักจะย้อนกลับไปนึกออกถึงสิ่งที่ถูกโปรแกรมไว้เป็นมาตรฐานในสมองตั้งแต่ในวัยเด็ก  การเขียนผิด-ถูกของผู้สูงวัยจึงดูจะเป็นเรื่องที่ต่างไปจากคนหนุ่มสาวในปัจจุบัน   ;D 


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 มี.ค. 23, 18:28
วันนี้ไปค้นดูหนังสือเก่าที่ได้เก็บสะสมไว้ พบอยู่สามเล่มที่พิมพ์เผยแพร่ในข่วง พ.ศ.ต่างๆ ก่อนที่จะมีมีพจนานุกรมฉบับ พ.ศ.2943  เอามาอ่านคร่าวๆเพื่อจะเก็บประเด็นมาเล่าสู่กันฟัง เล่มแรกได้กล่าวถึงตั้งแต่ต้นกระทู้ ซึ่งเป็นของปี พ.ศ.2485     เล่มที่สองเป็นหนังสือ 'สามก๊ก ของเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ฉบับราชบัญฑิตยสภาชำระ เล่มหนึ่ง พิมพ์จำหน่ายเมื่อปี พ.ศ.2513' แต่เป็นหนังสือที่ราชบัญฑิตสภาได้ตรวจสอบชำระเมื่อ พ.ศ.2470    และเล่มที่สาม เป็นหนังสือที่เขียนเรื่องราวเพื่อพิมพ์จำหน่ายเชิงพานิชเมื่อปี พ.ศ.2479  ชื่อ 'ตำราสำคัญของประเทศ  โดยนายเวทย์ ภวภูตานนท์ ณมหาสารคาม'

ขอพักไว้ตรงนี้ก่อนนะครับ รู้สึกโงนเงน


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 มี.ค. 23, 19:17
ก็มีข้อน่าสังเกตอยู่หลายเรื่อง (พิเคราะห์พื้นฐานจากหนังสือ 3 เล่มที่ได้กล่าวถึง)

ในเรื่องของสำนวนในการเล่าความ  สำนวนภาษาที่ใช้ในเรื่องสามก๊ก (2470) ที่ใช้การเล่าความต่างๆเกือบทั้งหมดนั้น เกือบจะแยกไม่ออกระหว่างที่ใช้ในครั้งกระนั้นกับที่ใช้ในกันปัจจุบัน    ส่วนสำนวนในปาฐกถาทางวิทยุ (2485) และที่ใช่ต่อๆมาจนถึงช่วงประมาณ พ.ศ.2510++ (??) มีลักษณะเป็นการให้ความรู้แก่สังคมในองค์รวม (lecture) ต่างกับในปัจจุบันที่ใช้ลักษณะของสำนวนที่แฝงไปด้วยผลประโยชน์อื่นใด 

ในเรื่องของคำศัพท์และการสะกดคำ   ในหนังสือ'ตำราสำคัญ' พ.ศ.2479   การสะกดคำต่างๆก็ดูจะไม่ต่างไปจากที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมากนัก หากแต่มีการใช้ทั้งไม้ม้วนและไม้มลายสำหรับการสะกดคำๆเดียวกัน ซึ่งอาจจะเกิดจากการเรียงอักษรพิมพ์ก็ได้   ต่างไปจากในเอกสารปาฎกถา พ.ศ.2485 ซึ่งเป็นหนังสือราชการที่จัดพิมพ์โดยส่วนราชการ  ซึ่งดูแต่จะมีการใช้เพียงไม้มลายเท่านั้น

การสะกดคำต่างๆที่ปรากฎพิมพ์อยู่ในหนังสือสามก็กนั้น เนื่องจากเป็นเล่มที่พิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2513 ภายหลังพจนานุกรมฯ พ.ศ. 2493  การสะกดคำต่างๆน่าจะได้มีการแก้ไขให้เป็นไปตามพจนานุกรมแล้ว ก็จึงสังเกตเห็นความแตกต่างในการสะกดคำได้น้อยมาก เช่นการสะกดคำว่า ลคร เป็น ละคอน


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 มี.ค. 23, 19:22
ด้วยความอยากรู้ว่าว่าความต่างนี้มีพอจะย้อนหาได้ไปไกลเพียงใด ซึ่งหลักฐานที่น่าจะดีและมีมาตรฐานที่สุดก็คือที่ปรากฎอยู่ตามลายพระราชหัตถเลขาของพระเจ้าแผ่นดินในสมัยก่อน ก็เลยไปค้นหาดู  ซึ่งพบว่า การสะกดคำ คำศัพท์ กระทั่งสำนวนแบบที่เราใช้กันคุ้นเคยในปัจจุบันนี้มีมาตั้งแต่สมัยรัชการที่ 4 การสะกดคำในปัจจุบันที่ไม่เหมือนกับสมัยก่อนนั้นดูจะมีน้อยมาก

เป็นความฉงนอยู่ว่า ด้วยเหตุใดเอกสารที่เป็นสิ่งพิมพ์ของทางราชการเมื่อ พ.ศ.2485 จึงมีอักขระวิธีและการสะกดคำต่างๆที่ต่างไปมากๆจากที่ถือปฏิบัติต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานานจากอดีต    แล้วก็เกิดพจนานุกรมฯ ฉบับ พ.ศ.2493 ที่ใช้เป็นมาตรฐาน/พื้นฐานของลักษณะภาษาและอักขระวิธีของภาษาไทย  ตามมาด้วยปทานุกรมฉบับนักเรียน (เพื่อการปรับฐานและการปลูกฝังให้เด็กทุกคนได้ใช้อักขระวิธีที่เหมือนๆกัน)   ทั้งหมดนี้ดูจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ พ.ศ.2475 และ พ.ศ.2500


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 มี.ค. 23, 18:07
เป็นอันว่า ไม้ม้วน กับ ไม้มลาย มีการใช้ในการสะกดคำอย่างมีกฎเกณฑ์เป็นเวลานานมาแล้ว ซึ่งอาจจะย้อนไปถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาก็เป็นได้


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 มี.ค. 23, 19:01
ก็มีข้อสังเกตอยู่ประเด็นหนึ่งว่า  พจนานุกรมหรือปทานุกรมเป็นเอกสารอ้างอิงทางภาษาที่มีการจัดเรียงลำดับคำอย่างมีระบบ  เกือบทั้งหมดจะเป็นการบรรจุคำที่ใช้เพื่อประโยชน์ในการสื่อสารข้ามไปมาระหว่างภาษาหนึ่งกับอีกภาษาหนึ่ง หรือในระหว่างภาษาเดียวกันที่มีพัฒนาการต่างกันทั้งในเชิงของความหมายและอักขระวิธี เช่น พจนานุกรมภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน พจนานุกรมภาษาฝรั่งเศสแบบแคนาดา พจนานุกรมภาษาอังกฤษแบบ South Africa....

จากแนวของข้อสังเกตนี้  หากเราลองจัดทำพจานุกรมหรือปทานุกรมของแต่ละภาษาไทยและสำนวนที่มีการใช้กันทั่วประเทศของเรา  ก็อาจจะทำให้ได้เห็นอะไรๆที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย   


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 มี.ค. 23, 19:15
ลองดูคำที่อยู่ในกลุ่มที่ออกเสียง 'เอ' ทั้งที่มีตัวสะกดและที่ไม่มีตัวสะกด

คำที่ออกเสียงนี้ดูจะนิยมใช้ในความหมายในเชิงที่ไม่อยู่ในสภาพหรือในลักษณะที่ควรจะเป็นตามปกติวิสัย เช่น  เก, เข, เขิน, เงน(โงนเงน), เจ็บ, เจียด(เจียดจ่าย), เฉ, เบน, เป๋, เท, เย็น, เย(โยเย), เฮ .....   


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 มี.ค. 23, 17:54
ต้องขอย้ำว่า เรื่องที่นำมาคุยในกระทู้นี้มิได้มีความมุ่งหมายจะให้เป็นเรื่องในทางวิชาการ  ประสงค์แต่เพียงนำข้อสังเกตในเชิงของความสัมพันธ์ระหว่างกัน (interrelation) มาสนทนากัน


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 มี.ค. 23, 19:08
ในภาษาอื่นๆก็ดูจะมีกลุ่มความหมายของเสียงที่บ่งชี้ถึงลักษณะหนึ่งใดเช่นกัน   ในภาษาอังกฤษก็จะมีเช่น เสียงนำคำศัพท์ต่างๆ(prefix) ex, un, in, im, con,.... หรือคำที่ออกเสียงลงท้ายด้วย อี้ (y) ซึ่งค่อนข้างจะบ่งถึงลักษณะของความเป็นเช่นนั้น   หรือ อิ้ง (ing)..... ในลักษณะของกำลังเป็นไป   หรือ อายด์ (ide) ในลักษณะของการจบเรื่อง   ผมใช้ข้อสังเกตุงูๆปลาๆในลักษณะเช่นนี้เพื่อช่วยในการทำความเข้าใจกับความหมายลึกๆของคำต่างๆที่เขาใช้พูดหรือที่ใช้อยู่ในสิ่งพิมพ์  ซึ่งก็ช่วยแกะความโดยนัยแฝงอื่นใดได้ไม่น้อยเลยทีเดียว   


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 15 มี.ค. 23, 20:31
ภาษาพูดมีกำเนิดก่อนภาษาเขียนแน่นอน   เมื่อสำเนียงที่เปล่งออกมาของคำเดียวกันของผู้คนในท้องถิ่นต่างๆไม่เหมือนกัน ก็ทำให้เกิดการใช้ตัวอักขระกลางที่ใช้ในการสะกดคำเพื่อให้อ่านออกเสียงใกล้กับที่สำเนียงเสียงที่เปล่งออกมาของท้องถิ่นเหล่านั้น ใช้อักขระวิธีที่มีการปรับแต่ง ซึ่งมีทั้งเสริมแต่งที่ตัวอักษรและในการสะกดคำ   


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 มี.ค. 23, 19:02
ก็ไปพบว่า บนพื้นฐานของเสียง วิธีการสะกดคำ ผนวกกับสำเนียงที่ต่างกันของชาติพันธุ์ต่างๆที่ใช้ภาษากลุ่มเดียวกันนั้น แท้จริงแล้วคำศัพท์ที่ใช้ก็ไม่ต่างกันนัก  หากเราใช้วิธีการเพียงแต่อ่าน ก็จะพบกับปัญหาในเรื่องที่เรียกว่า อ่านไม่ออก  ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นเนื่องจากไม่สามารถเปล่งเสียงของคำๆนั้นออกมาเป็นคำที่เรารู้จัก หากเพียงผ่อนเบากฎของการออกเสียงตามอักขระวิธีลงบ้าง การออกเสียงคำนั้นๆก็จะผันไปคล้ายกับคำที่เราอาจจะรู้จักและรู้ความหมาย เช่น Was kostet ในภาษาเยอรมันก็คือ What (is the) cost ..ในภาษาอังกฤษ  ทั้งสองภาษานี้ออกเสียงเกือบเหมือนกัน แต่การสะกดคำแทนเสียงนั้นต่างกัน   ก็เป็นหลักเดาอย่างหนึ่งสำหรับเริ่มการหาพื้นฐานความรู้กับภาษาอื่นๆ เมื่อพอจะจับหลักได้บ้าง การเดินทางไปในพื้นที่ต่างถิ่นต่างภาษาต่างๆก็จะสนุกมากขึ้น ได้เรียนรู้อะไรต่างๆมากขึ้น เริ่มต้นแบบงูๆปลาๆแต่ก็สามารถหาอ่านเพิ่มเติมความสนใจอื่นใดได้ในภายหลังได้เร็วขึ้น  เป็นการเรียนรู้จากพื้นฐานทางสันทนาการ 


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 16 มี.ค. 23, 19:28
อีกเรื่องหนึ่งที่ดูจะเกิดขึ้นเหมือนๆกันกับทุกผู้คน คือดูจะไม่นิยมแยกคำออกเป็นส่วนๆ เลยทำให้เดาความหมายได้ยากขึ้น บางตัวอย่างได้กล่าวถึงแล้ว (prefix ต่างๆ)  ตัวอย่างอื่นๆก็เช่น ชื่อถนนต่างๆในภาษาเยอรมันจะตามท้ายด้วยคำว่า ...strasse  ด้วยที่ภาษาเยอรมันนิยมเขียนคำต่อเนื่ิองกัน เมื่อเราอ่านป้ายชื่อถนนมันก็จะยาว อ่านออกเสียงไม่ทัน ไม่ครบ  เมื่อมัวแต่พะวงในการออกเสียงคำสุดท้าย รถก็ผ่านไปแล้ว ก็เลยไม่รู้จักถนนและจำชื่อถนนนั้นไม่ได้   ชื่อถนนในอิตาลี ก็จะมีคำย่ออยู่มากมาย ในฝรั่งเศสก็ไม่น้อยหน้ากัน แถมป้ายบอกชื่อถนนก็มีทั้งแบบคำเต็มและคำย่อ สนุกดีครับ   


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 มี.ค. 23, 19:59
ด้วยเพราะสาขาวิชาที่เรียนมีคำศัพท์ทางเทคนิคที่มีความหมายจำเพาะค่อนข้างมาก บ้างก็เป็นคำที่ผูกกับพื้นที่ บ้างก็สถานที่ บ้างก็กระบวนการ บ้างก็ลักษณะรูปร่าง...  ซึ่งทั้งมวลมักจะเน้นอยู่บนฐานของการได้เห็นหรือได้รู้จักมันในครั้งแรก หรือจากชื่อที่ใช้เรียกความโด่งดังของมัน   ก็เลยพอจะได้รู้จักกับคำบางคำที่ใช้ในภาษาต่างๆ การสะกดคำ และความหมายพื้นฐานของคำนั้นๆ 

หลักการสำคัญของสาขาวิชาที่เรียนมาคือ Uniformitarianism กระบวนการต่างๆที่เกิดขึ้นในโลกของเราตั้งแต่อดีตกาล ในปัจจุบันนี้มันก็ยังเกิดขึ้นเช่นนั้น ดังนั้น เราจึงเรียนรู้โลกอดีตกาลได้จากการเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน (Present is the key to the past)

เมื่อทำงานที่ต้องเข้าพื้นที่ต่างๆ เดินสำรวจทำแผนที่ธรณีฯที่มิใช่ใช้เพียงแต่แสดงข้อมูลว่าอะไรอยู่ที่ใหนบ้าง หากแต่จะต้องให้รู้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่ปรากกฎ (หิน ดิน ทราย แร่ ฟอสซิล ...ฯลฯ)  เพื่อการโยงข้อมูลเรื่องราวกับพื้นที่อื่นๆในเขตอาณา(และนอกเขต)ประเทศไทย  ซึ่งเรียกกระบวนการนี้ว่า correlation   การเห็นภาพสภาพและเรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงในอดีตกาลก็จะโยงไปถึงการค้นพบทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ การพัฒนาสาธารณูปโภคที่สอดคล้องกับสภาพทางธรรมชาติ...ฯลฯ

คิดเอาเองว่า ด้วยอิทธิพลของเรื่อง correlation ตามนัยที่กล่าวมา เลยทำให้เกิดนิสัยที่นิยมจะหาความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องต่างๆเพื่อทำความเข้าใจ และ/หรือ สร้างกรอบแนวคิดว่าอะไรควรจะเป็นอย่างใด เช่นใด เหตุใด ...  (governing hypothesis)  แล้วพยายามหาข้อมูลสนับสนุนทั้งในเชิงของการเห็นพ้องหรือไม่เห็นพ้องโดยไม่สรุปแบบปิดประตูความเชื่อใดๆ 

กระทู้นี้ก็เกิดมาจากสาเหตุที่กล่าวมานี้ 


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 มี.ค. 23, 19:29
ภาษาไทยเราพอจะแยกออกได้เป็น 4 ลักษณะสำเนียงใหญ่ๆ คือ ของภาคเหนือ อิสาน ภาคกลาง และใต้   ในแต่ละสำเนียงหลักก็พอจะแยกย่อยออกไปได้อีก บ้างก็ในระดับจังหวัด บ้างก็ในระดับอำเภอ ที่ลงไปถึงระดับตำบลก็มี กระทั่งในระดับหมู่บ้านก็ยังมี   นอกจากในด้านของสำเนียงแล้ว สำนวน การใช้คำ หรือศัพท์ก็มีที่ต่างกันเช่นกัน แต่สังเกตได้ยากหากไม่คุ้นเคยกับถิ่นนั้นๆนานพอ   ในด้านของอาหารก็เช่นกัน

อะไรเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดความต่างกันเช่นนั้น  แน่นอนว่าก็คงจะต้องนึกถึงเรื่องของเผ่าพันธุ์ วัฒนธรรม สังคม การอยู่ร่วมกัน และการแยกอยู่เป็นกลุ่มๆ  ผนวกกับลักษณะทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ๆตั้งบ้านเรือน/ชุมชน การคมนาคม ...

คนไทยที่อยู่ในแต่ละภาคมีรากเหง้ามาจากกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม  แต่ด้วยการที่ทั้งหมดอยู่ร่วมกันด้วยการถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ก็เลยทำให้มีพัฒนาการด้านภาษาสื่อสารแบบผสมผสานที่เป็นลักษณะของภาษากลางของแต่ละภาค และรับสำเนียงไทยกลางเป็นภาษากลางของประเทศ 


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 มี.ค. 23, 18:01
ภาษาอิสานที่เราได้ยินเขาคุยกันนั้น จะเป็นภาษากลางที่สื่อสารระหว่างกันได้ทั่วทั้งภูมิภาค  แต่เมื่อคนพื้นถิ่นเดียวกันเขาคุยกัน เราก็อาจจะจับความได้แบบขาดๆ หรือกระท่อนกระแท่น เกือบจับความไม่ได้เลย หรือถึงระดับฟังไม่ออกเอาเสียเลย   ลักษณะของสำเนียงรวมทั้งศัพท์และคำพูดที่ใช้ ไม่เหมือนอย่างภาษาอิสานสำเนียงกลางที่เราคุ้นหูกัน

เหตุผลพื้นๆก็คงจะเป็นเพราะ ภูมิภาคนี้ประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่ม ทางอิสานตอนบนก็จัดเป็นกลุ่มหนึ่ง ซึ่งก็ยังประกอบไปด้วยอีกหลายกลุ่มย่อย กลุ่มนี้มีลักษณะของภาษาคล้ายกับภาษาเหนือ   ทางอิสานใต้และอิสานกลาง ก็ประกอบไปด้วยหลากหลายกลุ่มย่อยที่อยู่กระจายกันไป กลุ่มนี้มีหลายลักษณะภาษา ซึ่งคนนอกกลุ่มอาจจะฟังไม่รู้เรื่องหรือไม่สามารถพอที่จะเดาความได้เลย   พื้นที่สุดท้ายก็คือพื้นที่ตามรอยต่อกับภาคกลาง ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งดูจะใช้ลักษณะภาษาแบบภาคกลาง

น่าสนใจก็ตรงที่ ภาษาอิสานกลาง สำเนียงที่เราคุ้นกันอยู่นี้กำเนิดมาอย่างไร และเป็นที่ยอมรับกันในหมู้ผู้คนในพื้นที่อิสานได้อย่างไร


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 มี.ค. 23, 18:49
ภาษาอิสานดูจะจำกัดวงการใช้อยู่แต่ในเฉพาะพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่นิยมเรียกกันว่าที่ราบสูงโคราช   ซึ่งเมื่อมองจากมุมที่เอาเรื่องของภูมิประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็เห็นว่า ภาษาเหนือก็ดูจะจำกัดอยู่แต่ในพื้นที่ในภาคเหนือที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ป่าเขา (mountainous terrain หรือ ridge and valley terrain หรือ basin and range terrain)    สำหรับภาษาใต้นั้น ดูจะมีวงเขตของการใช้เกี่ยวข้องกับเรื่องของการคมนาคม ? (ระยะห่างระหว่างเมืองทางบกและทางน้ำ) หรือในด้านทางภูมิรัฐศาสตร์ ? (ด่านสิงขร)   และสำหรับลักษณะภาษาไทยกลางที่ใช้กันในปัจจุบันนี้ ก็ดูจะอยู่แต่ในแอ่งพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางและพื้นที่ชายทะเลของอ่าวไทยตอนบน


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 มี.ค. 23, 17:56
เมื่อเกิดความรู้สึกสนุกกับการพยายามจะหาความเข้าใจ(นอกตำรา)  ก็คุยกับชาวบ้านมากขึ้นในเรื่องทางประวัติที่มาที่ไปของเรื่องต่างๆ ทั้งตัวบุคคล ชุมชน หมู่บ้าน ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม อาหารการกิน....   ก็ทุกเรื่องที่จะได้ข้อมูลลึกๆลงไปถึงต้นตอที่ทำให้เกิดลักษณะที่มีลักษณะจำเพาะ ไม่เหมือนกับที่อื่นๆเขา   

ข้อมูลที่เก็บเกี่ยวมาได้ทั้งหมด มิใช่เพื่อใช้แต่เพียงเพื่อเป็นความรู้ตามความสนใจของตนเองเท่านั้น แต่ใช้ประโยชน์(ซึ่งเป็นส่วนมากเสียด้วย)ในด้านของการเอาชีวิตรอดในการเดินทำงานในพื้นที่สีแดงเข้ม สมัยที่ไทยเรามีความขัดแย้งรุนแรงทางอุดมการณ์ของการปกครองประเทศ    ก็นำไปใช้บนฐานของหลักการ 'รู้เขา-รู้เรา' และ 'จริงใจต่อกัน'       


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 มี.ค. 23, 20:03
นานวันเข้า ก็เลยพอจะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างภาษา อาหาร ที่ไม่ค่อยจะเหมือนกันระหว่างชุมชนชาติพันธุ์เดียวกันที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างๆ  ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติเพราะมีสภาพและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่ต่างกัน 

ในภาคเหนือ มีลักษณะภูมิประเทศที่ประกอบไปด้วยทิวเขาและแอ่งที่ราบที่ราบ ที่สำคัญก็มี แอ่งเชียงใหม่ แอ่งลำปาง แอ่งเชียงราย แอ่งพะเยา แอ่งแพร่ แอ่งน่าน...  ซึ่งล้วนเป็นที่ตั้งของเมืองสำคัญ ชุมชนในพื้นที่แอ่งนี้ใช้ตัวอักษรในการเขียนไม่ต่างกัน หากแต่ต่างกันในเรื่องของการออกเสียงพูด ความเร็วในการพูด ความห้วนและการลงท้ายคำพูด และความรู้สึกในความอ่อนโยนของภาษาโดยรวม รวมทั้งศัพท์บางคำ



กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 มี.ค. 23, 19:54
เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของภาษาเหนือที่ผมเห็นก็คือ คำลงท้ายประโยค ซึ่งบ่งถึงนัยของความรู้สึก อารมณ์ หรือความต้องการตามเนื้อความที่กล่าวออกไป อาทิเช่น -เน่อ, หน้อ ใช้ในบริบทของเรื่องที่มีลักษณะเป็นการร่วม  -หนา ใช้ในเรื่องที่ควรจะต้องเป็น  -หน้อ ในนัยของการยืนยันว่าเป็นเช่นนั้น  -ก่อ ใช้ในลักษณะของการยืนยันว่าใช่หรือไม่ใช่ ซึ่งดูจะไปตรงกับคำว่า -บ่อ ในภาษาอิสาน 

อีกอย่างหนึ่งก็คือเสียงที่เหลี่ยนไปของคำลงท้าย และการลากยาวของเสียงนั้นๆ เช่นคำว่า ก๊ะ ก้า และ ก๊า  หรือ ปุ้น กับ ปู๊น    ก๊ะใช้ในนัยว่า ดั่งนั้นเหรอ  พอเป็นก้า ก็อยู่ในนัยว่า ก็เป็นเช่นนั้น แต่พอเป็น ก๊า กลายเป็นนัยว่า ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น    ผมชอบคำว่า ปุ้น ก้บ ปู๊น ซึ่งหมายถึงความไกล หากออกเสียงสั้นตามปกติที่เราอ่าน ก็หมายถึงไกลอยู่นะ แต่หากออกเสียงแบบสั้นและห้วนสุดๆเมื่อใด ก็จะหมายถึงไกลมาก  แต่หากลากเสียงยาวจนเป็นปู๊น ก็จะหมายถึงไกลมากๆๆๆเลยทีเดียว

คำสองสามคำที่กล่าวมานี้เป็นภาษาพูด เมื่อถ่ายทอดลงมาเป็นภาษาเขียนอิงตามอักขรวิธีก็คงจะเป็นการเขียนที่ไม่ถูกต้อง  เพราะจะเป็นเพียงคำที่ไม่มีอารมณ์ใดๆแฝงอยู่    เมื่อจะให้มีมิติของอารมณ์อยู่ในสิ่งที่เขียนนั้นๆก็เลยจะต้องมีการขยายความ เป็นศาสตร์และศิลป์ของการเขียนหนังสือของนักเขียนที่มีชื่อเสียงต่างๆที่สามารถกระชับความให้สั้นแต่กินความได้ลึกซึ้งมาก


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 มี.ค. 23, 18:37
เสียงต่อท้ายประโยคในภาษาอังกฤษก็มี อย่างเช่นเสียง เอ๋ (eh) ในความหมายเชิงยืนยันหรือสงสัย (ใช่นะ เป็นเช่นนั้นหรือ หรือยังสงสัยอยู่)  ในประสบการณ์ของผม เสียง eh นี้ใช้มากในภาษาอังกฤษของคนในประเทศแคนาดา

ก็มีเสียง อือ ที่มักจะได้ยินก่อนที่จะพูดประโยคใดๆ การออกเสียงนี้ได้ยินในทุกภาษา  ในภาษาไทยก็มี ซึ่งมักจะตามด้วยคำว่า ผม/ดิฉัน หรือ ก็ ในภาษาลาตินก็มี มักจะตามด้วยคำว่า เซ   ในภาษาญี่ปุ่นก็มี มักจะตามด้วยคำว่า อ่าโหน่    การออกเสียงเหล่านี้ หากเป็นการออกเสียงแบบลากยาว โดยพื้นฐานแล้วมักจะแสดงถึงความไม่แน่ใจว่าจะพูดว่าอย่างไรต่อไป  แต่หากออกเสียงสั้น ก็จะกลายเป็นเสียงที่ใช้ติดปากหรือคุ้นเคยก่อนที่จะพูดอะไรต่อไป     


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 มี.ค. 23, 19:24
ที่ได้กล่าวถึงมา เป็นตัวอย่างของการสื่อสารทางเสียงในลักษณะหนึ่งที่มีการใช้กันจริงๆในชีวิตประจำวัน ก็คงจะไม่มีการนำไปจัดรวมเป็นลักษณะของภาษามาตรฐานของภาษาหนึ่งใด  ภาษาเขียนต่างๆเมื่อต้องเขียนให้ถูกและต้องอ่านออกเสียงตามอักขรวิธีก็เลยดูจะกระด้าง  

ไปนึกถึงเพลงประเภทที่เรียกว่า ballad song  ซึ่งเล่าเรื่องราวในภาษาเขียนให้สั้น(หรือยาว)ด้วยคำร้องที่สามารถจับความได้ครบเรื่องราว และทำให้เกิดมีอารมณ์ร่วมด้วยท่วงทำนองของเสียงเพลง     เมื่อมองในมุมหนึ่ง คำร้องของเพลงประเภทนี้โดยส่วนมากมักจะไม่ออกเสียงตรงตามอักขรวิธี กระนั้นก็ตามเพลงในภาษาไทยของเราซึ่งเป็นภาษาที่คำจะมีความหมายแปรเปลี่ยนไปเมื่อใช้เสียงต่างกัน เพลงไทยประเภท ballad ก็ยังสื่อความหมายที่สามารถเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง เป็นความเก่งและความสามารถที่ควรแก่การยกย่องอย่างยิ่ง  


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 มี.ค. 23, 18:19
เพลงที่เรียกว่า ซอ ของภาคเหนือ   ที่เรียกว่า หมอลำ ของภาคอิสาน   ที่เรียกว่า ลำนำ ของภาคกลาง  เนื้อร้องของเพลงเหล่านี้มักจะประกอบไปด้วยภาษาพื้นบ้านที่ใช้สื่อสารกันโดยทั่วไป หากเป็นเพลงเก่าที่เล่นร้องต่อเนื่องกันมานาน ในหลายๆกรณีก็เป็นภาษาและสำนวนแบบเก่าที่คนรุ่นใหม่ฟังออกบ้างไม่ออกบ้าง จับความได้ไม่สมบูรณ์ 

จะว่าตัวเองชอบฟังเพลงพวกนี้ก็คงไม่เชิง  ในบางช่วงเวลา เมื่อเปิดฟังก็รู้สึกเพลินและผ่อนคลายดี ได้อรรถรสในหลายๆด้าน ทั้งในเชิงของทำนองเพลงที่ให้อารมณ์สงบแบบเพลง Soul  ในเชิงของเรื่องราวที่บอกเล่าอยู่ในเนื้อเพลง   ในเชิงของการเล่นดนตรี (นักดนตรี องค์ประกอบและการเล่นประสานของเครื่องดนตรี)  และในเชิงของภาษา ศัพท์ และสำนวนที่ใช้   หรือจะฟังแต่เพียงทำนองของเสียงเพลงแบบเบาๆเพื่อเข้าสู่ภวังค์และหลับ 


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 มี.ค. 23, 19:15
สำหรับภาคใต้นั้น เพลงในลักณะเพลง ballad ดูจะเป็นเพลงในท่วงทำนองที่เรียกว่าเพลง โนราห์   มีข้อสังเกตเล็กๆน้อยๆว่าภาษาที่ใช้ในแสดงโนราห์นั้น ก็มีภาษาพื้นบ้านเฉพาะถิ่นปรากฏอยู่  แต่ที่เด่นออกมาจริงๆดูจะอยู่ในเรื่องราวที่พูดและบรรยายในการเล่นหนังตะลุง

ภาษาใต้เป็นภาษาที่ใช้การสื่อสารแบบกระชับ ห้วนสั้น แต่ได้ใจความ  ในมุมมองหนึ่ง(ของผม)ก็ดูจะมีความสัมพันธ์กับลักษณะภูมิประเทศ สิ่งแวดล้อม และความคิดพื้นฐาน(doctrine)ที่ถ่ายทอดส่งต่อกันมาในเรื่องการต้องอยู่ให้รอดด้วยตัวเอง   


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 มี.ค. 23, 20:15
ลักษณะเด่นของพื้นที่ภาคใต้คือ เป็นพื้นที่ๆอุดมไปด้วยป่าไม้ที่เป็นลักษณะป่าดิบชื้น (?) ผืนดินมีความชุ่มฉ่ำจากปริมาณน้ำฝนที่มีมาก เป็นพื้นที่ผสมผสานระหว่างพื้นที่ๆเป็นป่าเขา ที่เป็นเนินสลับกับหุบ(undulating terrain) ที่เป็นพื้นที่ราบลุ่มน้ำจืด ที่เป็นพื้นที่ราบลุ่มปากแม่น้ำ ที่เป็นพื้นที่ป่าชายเลน ....ฯลฯ รวมทั้งที่เป็นแหล่งแร่ และทรัพยากรธรรมชาติ

เห็นว่า เมื่อทรัพยากรธรรมชาติมีความสมบูรณ์มากทั้งในด้านเพื่อการเก็บเกี่ยวและในด้านเพื่อการเพิ่มผลผลิต ซึ่งล้วนเป็นทรัพย์ศฤงคาร (wealth)  คนที่เข้าไปจับจองทำประโยชน์ก็ย่อมต้องมีความหวง ย่อมต้องการขยายพื้นที่สำหรับประโยน์นั้นๆ  ที่อยู่อาศัยของแต่ละเจ้าของพื้นที่ก็จึงตั้งอยู่ห่างกัน  การพูดระหว่างกันจึงอยู่ในลักษณะต้องเสียงดัง ด้วยลักษณะภาษาไทยที่มักจะต้องเป็นคำสองพยางค์ เสียงของพยางค์บางคำบางคำจึงเบาลงและหายไป  ในบางวลีก็ลดคำลงไป

ด้วยความเห็นในข่ายของการเดาแบบมั่วๆนี้   ไปใหน ก็เลยเหลือเพียง ใหน   เวลาอะไรหรือกี่โมงแล้ว ก็เลยเปลี่ยนไปเป็น ตีกี่ (นาฬิกาตีกี่ที)   อยู่สุขสบายครื้นเครงดีหรือก็เลยเหลือเป็น ยู้เครง    อะไร, ทำไม, ว่าไง...ใช้คำว่า พรื้อ คำเดียวก็ได้ความทั้งหมด   ;D   


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 มี.ค. 23, 19:17
คำว่า พรื้อ ทำให้นึกถึงคำว่า ยู้ ในภาษาเหนือ ซึ่งความหมายโดยพื้นฐานหมายถึง การผลักหรือดัน  แต่ในบางกรณีมีความหมายถึงการกระทำใดๆเพื่อช่วยให้เกิดการหลุดพ้น เช่น กรณีล้อเกวียนไม่หมุนข้ามโขดหินหรือรถยนต์ติดหล่ม  เมื่อให้ช่วยกันยู้ ก็หมายรวมถึงวิธีการต่างๆทั้งผลัก ดัน ดึง ลาก...

ลักษณะของคำในภาษาถิ่นที่ใช้สื่อความหมายได้หลายนัยนี้ดูจะมีอยู่ไม่น้อยในภาษาถิ่นต่างๆ เช่น 'สุน' ในภาษาเหนือและอิสาน   'จั๊ก' ในภาษาอิสาน  'หลาว' ในภาษาใต้   'เอาแรง' ในภาษาไทยพื้นบ้าน   

ในภาษาไทยกลางที่เราพูดกัน ศัพท์ต่างๆที่ใช้ดูจะมีความหมายที่มีความจำเพาะเจาะจงชัดเจน  กรณีคำว่า พรื้อ และ จั๊ก ก็จะใช้คำจำเพาะแยกออกไปเลย เช่น อะไร ทำไม...   คำว่า ยู้ ก็จะเป็นเช่น ผลัก ดัน ดึง...  คำว่า สุน ก็จะเป็นเช่น ผสม คลุก แทรก รวมกัน...  คำว่า หลาว ก็จะเป็นเช่น ข้ามไป เว้น ขาด...     คำว่า เอาแรง ก็จะเป็น ไปช่วยงานเขา เขามาช่วยงานเรา(ลงแขก) 


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 มี.ค. 23, 18:52
ประเด็นสนทนาเรื่องหนึ่งที่ช่วยในการสร้างมิตรและยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างถิ่นกับคนพื้นถิ่นก็คือเรื่องของภาษาและศัพท์ต่างๆที่เหมือนกันหรือต่างกัน การสนทนาเพื่อเรียนรู้ภาษาของแต่ละฝ่ายทำให้เกิดบรรยากาศที่ผ่อนคลาย เกิดการหยอกล้อกัน และสามารถใช้สร้างความเข้าใจที่กระจ่างระหว่างกันในประเด็นที่อยากรู้ ข้อที่สงสัยหรือที่ยังแคลงใจที่มีอยู่ในใจทั้งสองฝ่าย   ก็มองว่ามันเป็นพฤติกรรมทางสังคมพื้นฐานที่แสดงออกถึงความเคารพในความเท่าเทียมกัน การให้เกียรติ ลดการผลักไสให้เขามายอมรับเราแต่เป็นการให้การยอมรับซึ่งความเป็นเขา  ก็เป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่งในการใช้กระบวนการสื่อสารเพื่อการสร้างมิตรในระหว่างการต้องอยู่ในพื้นที่ต่างถิ่น


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 มี.ค. 23, 19:29
ก็น่าสนใจอยู่ไม่น้อยว่า หลายคำศัพท์ในภาษาถิ่นของภาคต่างๆมีการใช้เหมือนกัน แต่ภาษาไทยกลางกลับใช้ชื่อต่างออกไป เช่น สับปะรด ภาษาเหนือเรียกว่า บ่ะขะนัด  อิสาน เรียก บักนัด และใต้เรียกว่า ย่านัด   สับปะรดมิใช่พืชผลดั้งเดิมของภูมิภาคนี้ เข้าใจว่าแรกเริ่มนำเข้ามาปลูกในพื้นที่ทางใต้ของแหลมไทย แล้วจึงปลูกกระจายขึ้นไปทางเหนือ    ย่านัด จึงน่าจะเป็นชื่อเรียกเริ่มต้นแล้วใช้ไปทั่วภาคเหนือและอิสาน แล้วก็เกิดมีการเรียกว่า สับปะรด ในภาษาไทยภาคกลาง  ซึ่งก็น่าสนใจว่า สับปะรด เป็นคำที่ใช้เฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง ไม่ข้ามเขตรอยต่อของภูมิภาคตามลักษณะทางภูมิประเทศที่ได้กล่าวถึงมาแล้ว 


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 มี.ค. 23, 19:05
เปรี้ยว เป็นภาษาไทยกลาง  ในภาษาเหนือ อิสาน และใต้ ล้วนใช้คำว่า ส้ม   และนิยมใช้คำว่า ส้ม นำหน้าพืชผักผลไม้ที่นำมาปรุงเพื่อทำให้อาหารออกรสเปรี้ยว เช่น ส้มควาย(มะขามแขก) ส้มป้อง,ส้มมวง(ชะมวง) ส้มป่อย(ต้นส้มป่อย) ส้มขาม(มะขาม)... 

แต่หากยังเป็นผลติดอยูที่ต้น  ภาษาเหนือดูจะใช้คำนำหน้าว่า บะ และ มะ เช่น บะหนุน(ขนุน) บะโอ(ส้มโอ) บะตื๋น(กระท้อน) บะผาง(มะปราง) บะก๊วยเต้ด(มะละกอ) บะตาเสือ(ลูกยอ)....  มะเกี๋ยง(คล้ายลูกหว้า) มะกอก มะคอแลน(ผลไม้ป่าชนิดหนึ่ง) มะแข่วน(พริกหอม ?) มะข่วง(พริกพราน ?) .... 

ภาษาอิสานดูจะใช้คำนำหน้าผลไม้ว่า บัก เป็นส่วนมาก เช่น บักมี่(ขนุน) บักขาม(มะขาม) บักลิ้นฟ้า(ฝักเพกา) บักแข้ง(มะเขือพวง) บักแงว(มะคอแลน) ...    ในขณะที่ภาษาใต้มีการใช้คำว่า ลูก นำหน้า เช่น ลูกไฟ(มะไฟ) ลูกกอก(มะกอก)...     

แต่ที่ทำให้สับสนเป็นงงได้มากที่สุดก็จะเป็น ลูกเหรียง หน่อเหรียง ลูกเนียง ใบเหมียง ใบเหลียง  หากจะจับความจากสำเนียงใต้แล้ว อาจจะแยกกันไม่ออกเลยทีเดียวว่าอะไรเป็นอะไร จะไปถึงบางอ้อว่ามันเป็นอะไรก็เมื่อเห็นมันอยู่ในจานกับข้าวแล้ว   ก็ยังเป็นงงในชื่อเรียกที่ถูกต้องอยู่เสมอ  เอาเป็นว่า หากเป็นจานผัดไข่หรือต้มกะทิก็จะเป็นใบเหมียงหรือใบเหลียง ก็มาจากต้นไม้เดียวกัน   หากเป็นลูกเหรียงหรือหน่อเหรียง ก็เป็นลูกไม้จากต้นไม้เดียวกันที่ต้องเอามาเพาะให้รากงอกก่อนแล้วจึงเอามาทำอาหาร  ส่วนลูกเนียงไปอีกเรื่องหนึ่งแยกวงออกไปเลย 


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 มี.ค. 23, 19:27
ภาษาไทยกลางมีศัพท์ซึ่งใช้กับสิ่งที่มีลักษณะจำเพาะ เช่น ตลุก มาบ หนอง บึง ปลัก แอ่ง   ดูเผินๆก็ไม่มีอะไรเป็นประเด็น แต่หากได้เดินทางไปใยหลายๆพื้นที่ก็อาจจะพบว่า คำว่า ตลุก จะใช้จำกัดอยู่ในบางพื้นที่ เช่น บ.ตลุก จ.ชัยนาท, บ.ตลุกข่อยน้ำ (เดิมเรียกกันว่าตลุกข่อยหนาม) บ.ตลุกดู่  บ.ตลุกหมู  จ.อุทัยธานี, ตลุกกลางทุ่ง จ.ตาก        คำว่า มาบ ใช้ในพื้นที่ของภาคตะวันออก เช่น มาบตาพุด มาบชะลูด มาบจันทร์ ...  ในภาคใต้ก็มี เช่น มาบอำมฤติ จ.ชุมพร       คำว่า หนอง ใช้กันในภาคเหนือและอิสานเป็นส่วนมาก   คำว่า บึง ใช้กันทั่วไปในภาคกลาง   ส่วนคำว่า ปลักและแอ่ง ใช้เรียกหลุมหรือพื้นที่เล็กๆที่ชุ่มฉ่ำด้วยน้ำ

เมื่อเอาชื่อสถานที่ ศัพท์ที่ใช้เรียกชื่อ และพื้นที่ๆมีการใช้ศัพท์/ชื่อสถานที่เหล่านี้  เอาไปสัมพันธ์กับสภาพทางธรณีฯและภูมิประเทศ ก็จะเห็นความต่างของความหมายของศัพท์ที่ใช้ ซึ่งแสดงถึงการเลือกที่จะใช้คำศัพท์ แสดงถึงความรู้ที่ค่อนข้างจะลึกและความเข้าใจที่ค่อนข้างจะกระจ่างในเรื่องของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม      ศัพท์ทั้งหมดที่กล่าวถึงล้วนมีความหมายถึงแหล่งน้ำ แต่การเลือกใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมกับแหล่งน้ำตามธรรมชาติในแต่ละชื่อที่เรียกขานจะแตกต่างกัน   


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 มี.ค. 23, 18:22
ตามที่ได้เคยเห็นมา พื้นที่ที่มีชื่อขึ้นต้นว่า ตลุก จะอยู่ในพื้นที่ๆเป็นตะพักลำน้ำเก่า (high terraces) ซึ่งผืนดินโดยทั่วไปจะค่อนข้างจะราบและประกอบไปด้วยดินทรายปนกรวด มีลักษณะออกไปทางแห้งแล้ง  แต่ปรากฎว่ามีพื้นที่บางจุด(ตลุก)มีความชุ่มชื้นของผิวดินเป็นพิเศษ เมื่อเปิดหน้าดินลึกลงไปเล็กน้อยก็พบน้ำซึมบ่อ ซึ่งหมายถึงว่าเป็นจุดที่มีน้ำกักเก็บอยู่ใต้ผิวดินในลักษณะเป็นกระเปาะ (perched aquifer)  ลักษณะน้ำซึมออกดีเช่นนี้ เมื่อชาวบ้านขุดบ่อน้ำตื้นเพื่อเอาน้ำมาใช้ ก็มักจะเรียกว่าขุดบ่อแล้วเจอตาน้ำ ก็ดีใจกันเพราะน้ำบ่อจะไม่แห้ง

สำหรับผม ตลุกที่มีชื่อกำกับ โดยเฉพาะที่เป็นหมู่บ้าน ยังบอกเรื่องราวต่อไปอีกว่า เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่มีการตั้งถิ่นฐานกันมานานมากแล้ว  เมื่อทำงานในพื้นที่ คุยกับผู้เฒ่าของหมู่บ้าน ก็จะได้ข้อมูลและความรู้มากมายทั้งในเรื่องของงานที่รับผิดชอบ เรื่องทางสังคม และเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการอยู่รอดในพื้นที่                                   


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 มี.ค. 23, 19:27
ที่เรียกว่า มาบ นั้น เป็นพื้นที่ราบผืนใหญ่ที่มีความชุ่มฉ่ำสูง หรือเฉอะแฉะทั้งปี  ผืนดินเป็นพวกตะกอนขนาดเล็กหรือละเอียด ออกไปในลักษณะดินปนทราย (ดิน loam)  มาบ ในความหมายหลวมๆน่าจะตรงกับคำว่า swamp ในภาษาอังกฤษ  คำว่า มาบ ดูจะใช้กับพื้นที่ๆเป็นที่ราบลุ่มที่ผืนดินฉ่ำไปด้วยน้ำจืด ซึ่งมักจะเป็นพื้นที่ในบริเวณใกล้ปากแม่น้ำก่อนที่จะลงสู่ทะเล   มาบ เป็นพื้นที่ลุ่มในระบบของการกัดเซาะและการตกตะกอนของแม่น้ำหนึ่งใดเมื่อน้ำในแม่น้ำนั้นเอ่อล้นเหนือสันคันคลองธรรมชาติ (natural levee)  พื้นที่มาบน่าจะครอบคลุมไปถึงพื้นที่ใกล้ชายทะเลที่ต้นเสม็ดสามารถขึ้นได้ เพราะป่าเสม็ดเป็นพื้นที่ๆแสดงถึงพื้นที่ๆอยู่ในอิทธิพลของน้ำจืด


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 มี.ค. 23, 18:38
'หนอง'และ'บึง' ชื่อเรียกทั้งสองนี้ใช้เรียกแอ่งน้ำที่มีลักษณะเป็นอ่างน้ำที่มีน้ำท่วมขังอยู่ตลอดเวลา แต่ก็มีความต่างกันในหลายมุม   โดยพื้นทั่วๆไป หนองจะมีขนาดเล็กกว่าบึง และน้ำมีความลึกน้อยกว่าน้ำในบึง  หนองน้ำแห้งได้ในช่วงฤดูร้อน แห้งมากพอที่จะช่วยกันวิดน้ำหรือสูบน้ำออกให้แห้งจนสามารถลงไปจับปลาในโคลนเลนก้นหนองได้  ต่างกับบึงที่จะมีน้ำขังตลอดทั้งปี   

หนองเป็นแอ่งน้ำที่พบได้ในพื้นที่ลุ่มต่ำหลังสันคันคลองธรรมชาติของแม่น้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับน้ำที่เอ่อท่วมล้นตลิ่งของแม่น้ำ (backswamp)   และก็พบได้ในบริเวณที่มีหลุมยุบ (sinkhole) รวมทั้งที่เกิดจากลักษณะภูมิที่เป็นแอ่งที่มีพื้นแอ่งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำผิวดิน (perched pond)
สำหรับบึง เป็นแอ่งน้ำที่มีความเกี่ยวข้องกับสภาพของที่พื้นที่ลุ่มต่ำตกค้างจากการไหลแกว่งไปมาของแม่น้ำ       


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 มี.ค. 23, 19:35
สำหรับคำว่า ปลัก กับ แอ่ง น้้นคงจะไม่ต้องขยายความ เพราะดูจะเป็นคำที่บอกลักษณะชัดเจนอยู่แล้ว

ลองนึกถึงวลีคำตอบจากคำถามว่า 'ไปใหน ?'  แล้วได้รับคำตอบกลับมาว่าคำ ไปหนอง..., ไปบึง..., ไปมาบ..., ไปตลุก...,  เราน่าจะเกือบเห็นภาพของกิจกรรมที่จะไปในพื้นที่เหล่านั้น    ไปหนอง... โดยพื้นๆก็จะเกี่ยวพันกับเรื่องอาหารการกิน   ไปบึง... สื่อได้ถึงทั้งเรื่องของการหากินและเรื่องบางอย่างที่จะต้องจัดการ   ไปตลุก... จะสื่อออกไปในแนวเกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ฝูง     สำหรับ ไปมาบ... นั้น ?? น่าจะเดาไปในเรื่องทางสังคม

เมื่อเดาให้ลึกไปกว่านั้น หากเป็นกรณีไปจับปลาในหนอง ก็พอจะเดาได้ว่าจะจับได้ปลาอะไรบ้าง ซึ่งก็มักจะเป็น ปลาช่อน ปลาดุก ปลาหมอ ปลากระดี่ และปลาเล็กปลาน้อย (ปลาซิว ปลาสร้อย...) อาจได้ปลาไหล ปลาหลด และปลาเกล็ดตัวเล็ก (ปลาใบไม้ ปลาตะโกก...)   หากไปหาปลาในพื้นที่ๆเรียกว่า บึง  ก็น่าจะพอเดาได้เลยว่า น่าจะเป็นพวกปลาเกล็ดตัวใหญ่ (ปลากระโห้...) ปลาหนัง(ปลาสวาย เทโพ...) หรือพวกตัวยาวๆ (ปลากระทิง...)  ปลาพวกตัวแบนๆ (ปลากราย ปลาฉลาด...)     ถ้าไปตลุก... จะกลายเป็นเรื่องของสัตว์บก เช่น หมูป่า ไก่ป่า เม่น เก้ง...

ในปัจจุบันนี้คงจะไม่มีภาพดังที่เล่ามานี้อีกแล้ว ที่ได้สัมผัสมา พื้นที่ลักษณะเหล่านี้ได้เปลี่ยนไปเป็นพื้นที่เมือง ทั้งในลักษณะคล่อมทับและอยู่รอบๆ


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 มี.ค. 23, 17:27
เขียน คร่อมทับ เป็น คล่อมทับ  สะกดผิดครับ   ที่ผ่านมาอาจมีอึกหลายๆคำ ต้องขออภัยด้วยครับ  ;D


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 มี.ค. 23, 18:38
ลองทบทวนความจำกับชื่อสถานที่ต่างๆที่เคยไปทำงานผ่านมา  พบว่าเรามีคำในภาษาไทยที่เกี่ยวข้องกับน้ำและธรรมชาติของมันอยู่มากเลยทีเดียว  และก็แปลกที่คำเหล่านี้ ซึ่งเป็นคำไทยพื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็นคำใดหรือจะเป็นชื่อใด ทุกผู้คนไม่ว่าจะอยู่ในภูมิภาคใดๆก็เข้าใจ และสามารถสัมผัสได้ถึงภาพในมิติต่างๆของคำที่ใช้นั้นๆ  มีน้อยคำที่ใช้เฉพาะถิ่นจริงๆที่อาจจะไม่รู้จักกัน

คู คลอง ห้วย ลำ แคว น้ำ น้ำแม่ แม่น้ำ ลำราง ธาร โกรก ตาด โตน เขื่อน แก่ง น้ำตก น้ำโจน ท่า...  น้ำซึม น้ำซับ น้ำดิบ เอ่อ ท่วม หลุก ระหัด คัน เหมือง ร่อง...  ประตู... ปาก... สบ... คุ้ง ตลิ่ง ตะพัก ฝั่ง แพ ลูกบวบ ถ่อ พาย งัด ... อีกทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในการจับสัตว์น้ำหลายชนิด รวมถึงพาหนะทางน้ำหลากหลายรูปแบบ     

ดูจะพอเป็นข้อบ่งบอกว่า การมีความเข้าใจในคำเหล่านี้ น่าจะแสดงถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ การยอมรับซึ่งกันและกันในหมู่ชาติพันธุ์ที่ตั้งรกรากอยู่ในแผ่นดินไทยที่สื่อสารกันด้วยภาษาในตระกูลภาษาไทย


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 มี.ค. 23, 20:08
เขียนแล้วกดผิดพลาดครับ พรุ่งนี้ค่อยว่ากันใหม่


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 เม.ย. 23, 09:34
มีแหล่งน้ำอีกแห่งชื่อว่า "พรุ"  ไปเปิดกูเกิ้ล อังกฤษเรีบกวา่  Bog , quagmire หรือ mire   ไม่ทราบว่าในป่าเมืองไทยที่คุณตั้งไปสำรวจ เจอบ้างไหมคะ  ลักษณะเหมือนของฝรั่งไหม


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 เม.ย. 23, 18:41
พรุ เป็นพื้นที่ฉ่ำน้ำที่ผืนดินประกอบไปด้วยส่วนผสมของซากต้นไม่ใบไม้และดินโคลน พรุเป็นพื้นที่ๆเกี่ยวพันกับน้ำจืด ต่างกับป่าชายเลนที่เป็นเรื่องเกี่ยวพันกับน้ำทะเล 

พรุ เป็นศัพท์ที่ดูจะใช้กันเฉพาะในภาคกลางและภาคใต้ ในภาคเหนือดูจะตรงกับคำว่า บวก (จ๋ำ ?)  ส่วนในภาคอิสานดูจะใช้คำว่า ...ซับ (?)

พื้นที่เรียกว่า 'พรุ' นั้น หากเป็นป่าอุดมไปด้วยต้นไม้มีลำต้น ดูจะตรงกับศัพท์อังกฤษว่า swamp  แต่หากเป็นป่าค่อนข้างโปร่ง และผืนดินมีซากพืชหนาแน่นและเกิดไฟไหม้ได้ ก็ดูจะไปตรงกับคำว่า peat swamp   สำหรับพื้นที่ชื้นแฉะและเป็นหล่มโคลนตม ที่เรียกกันว่า บวก หรือ จ๋ำ ในภาคเหนือ หรือที่เรียกว่า ซับ, มาบ ในภาคกลางและภาคตะวันออกนั้น ดูจะมีลักษณะไปตรงกับคำว่า marsh 


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 01 เม.ย. 23, 18:53
swamp


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 เม.ย. 23, 19:27
ก็มีอีกคำหนึ่งว่า 'พุ'   คำนี้มีใช้กันมากในพื้นที่ๆมีทิวเขาหินปูน  ซึ่งหมายถึงจุดหรือบริเวณที่มีน้ำผุดออกสู่ผืนดิน ก็มักจะเป็นที่บริเวณตีนเขาและก็มักจะมีแอ่งน้ำเล็กๆที่จุดน้ำไหลออกมา เรียกว่าบ่อน้ำผุด   ในหลายๆกรณี พุน้ำนี้ได้ทำให้ผืนดินรอบๆเป็นบริเวณกว้างอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชและสัตว์  ผืนดินที่ชื้นฉ่ำนี้ทำให้เกิดความเข้าใจว่ามีลักษณะเป็นพรุ ก็เลยเติมตัว ร เข้าไปให้เป็น พรุ   แต่กลับไปออกเสียงลดตัว ร ลงไปสำหรับชื่อที่ใช้เรียก พรุ ของจริง     หนักหนามากไปกว่านั้น ยังมีการเปลี่ยน พุ เป็น ภู เสียอีก    :D พุเตย ณ ที่แห่งหนึ่งก็เลยกลายเป็น ภูเตย ซึ่งให้ความหมายออกไปในทางว่าเป็นภูเขาที่มีต้นเตยป่าขึ้นอยู่มาก    


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 เม.ย. 23, 18:27
ขอแฉลบออกนอกเรื่องไปนิดนึง  ได้กล่าวถึงคำว่า 'พื้นที่ชุ่มน้ำ' ซึ่งภาษาอังกฤษใช้คำว่า wetland    เมื่อใช้คำนี้ก็คงจะเห็นภาพว่าน่าจะมีลักษณะทางกายภาพเป็นเช่นใด สถานที่เป็นจำนวนมากในประเทศไทยที่เราเรียกชื่อกันต่างๆนั้น (หนอง บึง มาบ ... ฯลฯ) จึงมีลักษณะทางกายภาพเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetland)

โลกในสมัยปลายสงครามเวียดนาม เริ่มให้ความสนใจกับเรื่องของการฟื้นฟูเศรษฐกิจในวงกว้าง เรื่องของสิ่งแวดล้อม และเรื่องการพัฒนาทางเทคโนโลยีใหม่ๆ   ยังให้เกิดโครงการความร่วมมือในลักษณะของแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อ....  หนึ่งในนั้นก็คือเรื่องของการช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติของโลก เกิดเป็น Environmental Programme ขึ้นมา แล้วตั้งฝ่ายเลขาฯเป็นหน่วยแยกออกไปดำเนินการเป็นการเฉพาะ ใช้ชื่อ UNEP (UN Environmental Programme)     เมื่อปลายปี พ.ศ.2518 ได้มีการประชุมนานาชาติที่เมือง Ramsar ของอิหร่าน และตกลงวาระการช่วยกันดำรงสภาพและรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำ เนื่องจากเป็นพื้นที่ๆเป็นกลไกสำคัญของระบบนิเวศ  เรียกความเห็นพ้องกันนั้นง่ายๆว่า Ramsar Convention (อนุสัญญา  ผมเข้าใจว่าน่าจะมีความเห็นที่ต่างกันมากทั้งในเชิงกฎหมายและในทางปฏิบัติ ความตกลงนี้ก็เลยต้องเลี่ยงความให้เกี่ยวกับเรื่องของนกน้ำ (waterfowl) 

 


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 เม.ย. 23, 19:08
พื้นที่ชุ่มน้ำของไทยที่นำเข้าสู่การเป็นพื้นที่อนุรักษ์ตามอนุสัญญาแรมซาร์ฯ สอบจากคุณวิกกี้แล้วพบว่ามีอยู่ 15 พื้นที่ กระจายอยู่ทั่วประเทศ ก็มี

ภาคเหนือ  พื้นที่ทะเลสาบเชียงแสน เชียงราย   
ภาคอิสาน  พื้นที่หนองกุดทิง บึงกาฬ,  พื้นที่บึงโขงหลง บึงกาฬ, พื้นที่แม่น้ำสงครามตอนล่าง นครพนม   
ภาคกลาง  พื้นที่ดอนหอยหลอด สมุทรสงคราม,  พื้นที่ชุ่มน้ำเขาสามร้อยยอด ประจวบฯ
ภาคใต้  พื้นที่หมู่เกาะกระ นครศรีธรรมราช, พื้นที่อุธยานหมู่เกาะอ่างทอง สุราษฎร์ธานี, พื้นที่พรุโต๊ะแดง นราธิวาส, พื้นที่ปากแม่น้ำกระบุรี
  ระนอง, พื้นที่ปากแม่น้ำตรัง หาดเจ้าไหม เกาะลิบง ตรัง, พื้นที่ปากแม่น้ำกระบุรี ปากแม่น้ำกะเปอร์ กระบี่, พื้นที่อ่าวพังงา พังงา, พื้นที่
  เกาะระ -เกาะพระทอง พังงา, พื้นที่ทะเลน้อย พัทลุง สงขลาฯ นครฯ 

ผมไม่มีความรู้ลึกลงไปว่า เมื่อเป็นพื้นที่ๆอยู่ในอนุสัญญาฯแล้ว มีข้อผูกมัดเป็นเช่นใดบ้างในเชิงของกฎหมาย ?, ในเชิงของ prevention ?, protection ?, utilization ?, rehabilitation ?, restoration ? และอื่นใด         


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 03 เม.ย. 23, 11:43
ไม่มีความรู้เลยค่ะ  ได้แต่จดเลกเชอร์ของคุณตั้งอย่างเดียว
ใครทราบช่วยบอกด้วยนะคะ


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 03 เม.ย. 23, 20:19
หน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม น่าจะเป็นผู้ให้คำอธิบายตางๆที่ถูกต้องและดีที่สุด ครับ  ;D   

แต่เราก็ต้องตั้งหลักให้ดี มิฉะนั้นเราก็จะมีแต่ความสับสนและมึนงงไปกับเรื่องราวของมัน   

พื้นที่ๆจัดเป็นของรัฐนั้นน่าจะจำแนกออกได้เป็นสามลัษณะ คือ พื้นที่ๆเป็นแผ่นดิน(พื้นที่บก)  พื้นที่ๆเป็นผืนน้ำ(พื้นที่น้ำ) และพื้นที่ๆอยู่เหนือผืนดินและผืนน้ำ(พื้นที่น่านฟ้า)  ทั้งสามลักษณะพื้นที่ของรัฐนี้จะมีหน่วยงานหลักแยกกันรับผิดชอบดูแล และต่างก็มีหน่วยงานย่อยที่เป็นหน่วยอิสระแยกกันรับผิดชอบเฉพาะเรื่อง ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติในทางการบริหาร  หากแต่ในทางปฏิบัติดูจะเป็นไปในอีกลักษณะหนึ่งที่มีความซับซ้อน  อาทิ กรณีผู้รับผิดชอบในเรื่องของพื้นที่ๆเป็นหนอง บึง มาบ คลอง แคว พรุน้ำคลอดปี... ที่อยู่ในเขตพื้นที่ป่าเขาหรือพื้นที่เขตเมือง   พื้นที่ลักษณะเช่นนี้อยู่ในเขตหวงห้ามต่างๆไปพร้อมๆกัน มีทั้งป่าสงวนแห่งชาติ เขตห้ามล่าสัตว์ป่า อุทยานฯ วนอุทยานฯ ฯลฯ 


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 เม.ย. 23, 19:31
คู ในความหมายตามปกติก็คือ ลักษณะทางน้ำไหลที่ขุดทำเป็นร่องขึ้นมาเพื่อการชักน้ำหรือเพื่อระบายน้ำ   

คูน้ำ ในภาษาเหนือจะเรียกว่า เหมือง, ลำเหมือง, ฮ่อง(ร่อง)   ในภาษาภาคกลาง จะไปตรงกับคำว่า ลำประโดง, คู, คลองขุด   ในภาษาใต้ ดูจะใช้คำว่า คลอง   แต่ในภาษาอิสาน ดูจะมีนัยความหมายที่แปลกออกไป ? คือหมายถึงกองดินที่ขุดขึ้นมากองให้สูงเป็นแนวเพื่อกั้การเข้ามาหรือการกั้นน้ำ(ในนา)

ก็มีความแตกต่างกันในเชิงของการใช้ศัพท์เรียกลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างกัน   

ในภาษาเหนือ เหมือง เป็นคำที่ใช้เรียกร่องน้ำที่ชาวบ้านช่วยกันขุด หากร่องน้ำมีความยาวและใช้หลากหลายประโยชน์ก็จะใช้คำเรียกว่า ลำเหมือง    สำหรับคำว่า ฮ่อง นั้นดูจะใช้เรียกเฉพาะร่องน้ำที่มีปากทางเชื่อมกับแม่น้ำและมีปลายทางแตกเป็นลำรางกระจายในพื้นที่ราบที่น้ำท่วมถึง(backswamp area)ในฤดูน้ำหลากล้นข้ามสันคันคลองธรรมชาติ  ซึ่งที่ปากทางเชื่อมกับแม่น้ำนั้นก็คือจุดที่สันคันคลองธรรมชาติ (natural levee)ปริ แตกแยกออกเป็นร่องคล้ายกับลักษณะเขื่อนกั้นน้ำพัง  ปลายของทางน้ำในบริเวณที่ลุ่ม backswamp นี้ จะมีลักษณะทางกายภาพที่อาจจะมีในหลายลักษณะที่เรียกในภาษาภาคต่างๆว่า บึง หนอง หล่ม มาบ ...ฯลฯ

ที่ จ.แพร่ มี ต.ร่องกาศ อยู่ใน อ.สูงเม่น   ชื่อเรียกตามสำเนียงภาษาของพื้นที่นี้น่าจะเป็น ฮ่องกาด คือเป็นจุดที่มีตลาด (กาด คือ ตลาด)  ชุมชนนี้ ตั้งอยู่กลางทุ่งนาที่อยู่ระหว่างตัว จ.แพร่ กับ อ.สูงเม่น  การเดินทางในสมัย พ.ศ.2510+ ระหว่างตัว จ.แพร่ กับสถานีรถไฟ เด่นชัย นิยมขับรถตัดข้ามทุ่งนาผ่านบ้านฮ่องกาดนี้ ก่อนที่จะมีถนน(คอนกรีต)ยันตรกิโกศล ที่ใช้กันในปัจจุบันนี้       


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 เม.ย. 23, 18:24
ก็มาถึงคำว่า ห้วย ลำ คลอง น้ำแม่... แม่น้ำ...

ห้วย เป็นคำที่ใช้ในภาษาเหนือและอิสาน  คำว่า ลำ ใช้ในภาคกลางและอิสาน  คำว่า คลอง ใช้ในภาคกลางและภาคใต้   น้ำแม่ ใช้ในภาคเหนือ ส่วนคำว่า แม่น้ำ ใช้ในภาคกลางและภาคใต้ 

ก็พอจะจับลักษณะการใช้คำเหล่านี้ได้ว่า ลักษณะจำเพาะของคำว่า ห้วย ก็คือร่องน้ำในป่าเขาที่มีภาพตัดขวางเป็นทรงรูปตัว V  ร่องน้ำเหล่านี้แต่ละร่องจะมีชื่อเรียกที่นำหน้าด้วยคำว่า ห้วย แล้วตามด้วยคุณสมบัติจำเพาะของมัน เช่น ห้วยร่มม้า ก็เพราะมีต้นร่มม้า (ค่างป่าชอบมาหากินผลในช่วงต้นฤดูฝน) ห้วยมะเดื่อ ก็เพราะมีต้นมะเดื่อ  ห้วยหินลาด ห้วยน้ำซับ ห้วยโป่ง... เป็นต้น   และก็มีห้วยเป็นจำนวนมากที่มีชื่อรู้จักกันเฉพาะกลุ่มคนในพื้นที่ 

ห้วยที่มีความยาวและค่อนข้างจะมีความกว้าง จะมีห้วยสาขาที่สำคัญและมีจุดที่มีการสร้างที่อยู่อาศัยทำมาหากิน ก็จะการตั้งชื่อเป็นสร้อยต่อท้าย เช่นกรณีของห้วยแม่กาใน จ.พะเยา จะมี แม่กาโหวกเหวก แม่กาห้วยเคียน แม่กาห้วยต๋ำ แม่กาหัวทุ่ง แม่กาท่าข้าม แม่กาไร่เดียว ...



กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 เม.ย. 23, 18:57
อาจมีข้อปุจฉาว่า ก็มีห้วยหลายห้วยที่ไม่มีลักษณะหน้าตัดเป็นทรงรูปตัว V เลย เช่น ห้วยขาแข้ง ห้วยแม่กลองคี่ ห้วยแม่จัน... ต้นทางส่วนหนึ่งของแควใหญ่  หรือห้วยบีคลี่ ห้วยซองกาเรีย ห้วยรันตี ... ต้นทางส่วนหนึ่งของแควน้อย (ซึ่งทั้งสองแควมารวมกันเป็นน้ำแม่กลอง)   ตำอธิบายก็น่าจะเป็นว่า คนไทยพื้นเดิมที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่แหลมทองส่วนหัวขวานนี้ ส่วนมากจะมีพื้นเดิมตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่ๆมีภูมิประเทศเป็นที่ราบระหว่างทิวเขา (intermountain basin) ชื่อแหล่งน้ำใช้ต่างๆจึงขึ้นต้นด้วยคำว่าห้วย ซึ่งเมื่อขยายพื้นที่ทำกินและอยู่อาศัยลงไปตามร่องน้ำนั้นๆไปเรื่อยๆ  สภาพน้ำในร่องน้ำก็จะเปลี่ยนจากลักษณะของร่องน้ำที่มีน้ำไหล/ขังเฉพาะฤดูกาล (intermittent stream) ไปเป็นร่องน้ำที่มีน้ำไหลตลอดปีหรือเกือบตลอดทั้งปี คำว่าห้วยจึงยังคงอยู่


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 05 เม.ย. 23, 19:20
คำนี้อาจจะนอกเรื่องไปหน่อย    แต่เห็นคุณตั้งพูดมาถึงเรื่องแอ่งน้ำ   ก็เลยถือโอกาสถาม
คือคำว่า spring 
อ่านหนังสือ On the Banks of Plum Creek ซึ่งเป็นเล่มที่ 4 ของหนังสือชุด Little Houses   ผู้เขียนเล่าถึงลำธาร แล้วพูดถึง Spring  ทีแรกก็นึกว่าหมายถึงน้ำพุ    แต่อ่านๆไป  spring ที่ว่านี้มันเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของลำห้วย  เลยไม่แน่ใจว่ามันหมายถึงอะไร  ตาน้ำหรือเปล่าคะ
ไปเปิดกูเกิ้ลดูความหมายของ spring  ได้รูปมาอย่างข้างล่างนี้ละค่ะ



กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 เม.ย. 23, 19:30
สำหรับคำว่า แคว นั้น มีการใช้น้อยมาก ก็มี แควใหญ่ แควน้อย (จ.กาญจนบุรี) และ เมืองสองแคว แควน้อย (จ.พิษณุโลก)   มีแต่เพียงข้อสังเกตเล็กๆว่า ทั้งในพื้นที่กาญจนบุรีและพิษณุโลกต่างก็มีการใช้คำว่า ลำ นำหน้าลำน้ำสายเล็กๆที่มีน้ำไหลตลอดปี เช่น ลำอีซู ลำตะเพิน ใน จ.กาญจนบุรี  และลำน้ำเข็ก ใน จ.พิษณุโลก    


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 เม.ย. 23, 19:20
Spring โดยทั่วๆไปหมายถึงจุดหรือบริเวณที่มีน้ำผุดหรือโผล่ออกมาในพื้นที่ตีนเขาหิน ซึ่งน่าจะเกือบทั้งหมดจะพบในพื้นที่ๆครอบคลุมไปด้วยเขาหินปูน   spring ดูจะนิยมใช้เรียกในมิติของพื้นที่ๆมีน้ำโผล่หรือไหลซึมออกมาในปริมาณมากพอที่จะเป็นต้นทางของธารน้ำหนึ่งใด   

ในบ้านเรามีพื้นที่ๆสามารถเรียกตามนัยของคำว่า spring มากน้อยเพียงใด ?  ก็มีอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน ก็คือพื้นที่ๆเราเรียกว่า พุ ซึ่งพบมากในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี เช่น พุองกะ พุปลู พุตะเคียน...  และก็มีที่ไม่มีชื่อเรียกเป็นการเฉพาะ เช่น จุดน้ำโผล่ที่เป็นต้นทางของธารน้ำตกเขาพัง(น้ำตกไทรโยคน้อย) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากสถานีน้ำตก   พื้นที่ต้นทางของธารน้ำเล็กๆที่รวมกันเป็นธารน้ำของน้ำตกไทรโยคใหญ่   และก็พื้นที่บริเวณถ้ำขุนน้ำนางนอนและถ้ำปลา ใน อ.แม่จัน จ.เชียงราย ก็น่าจะอยู่ในลักษณะที่เรียกได้

น้ำสามารถละลายและกัดเซาะหินปูนได้ไม่ยากนัก และก็ยังพาเอาสารละลายของเนื้อหินปูนไปตกตะกอนในที่อื่นๆได้ด้วย  จึงทำให้ในพื้นที่ๆครอบคลุมด้วยหินปูนเกิดมีโพรง มีถ้ำ และมีธารน้ำที่ไหลมุดลงไปใต้ดิน ณ จุดๆหนึ่ง กลายเป็นธารน้ำใต้ดิน แล้วไปโผล่ ณ อีกที่แห่งหนึ่ง  น้ำที่โผล่ออกมานี้จะมีสภาพความเป็นด่างอ่อนๆ เมื่อมาสัมผัสกับดินก็จะเกิดมีกระบวนการทางเคมีกับแร่ธาตุต่างๆในดิน รวมทั้งซากพืชซากสัตว์ต่างๆ แล้วปรับให้ดินและน้ำมีเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชพรรณต่างๆ  พื้นที่ spring จึงค่อนข้างจะมีความความอุดมสมบูรณ์กว่าปกติ 


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 เม.ย. 23, 19:30
ก็น่าจะต้องขยายความต่อกับคำว่า พุน้ำ และ น้ำพุ  (พุน้ำร้อน_hot spring) และ น้ำพุร้อน_geyser) ซึ่งในบ้านเราก็มีทั้งสองแบบ   


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 เม.ย. 23, 19:05
พุโดยส่วนมาก น้ำที่ออกมาจะเป็นน้ำเย็น  แต่ก็มีพุที่เป็นน้ำร้อนผุดออกมา ก็เลยเติมคำเพื่อแยกออกจากพุน้ำตามปกติ ภาษาไทยเราเรียกว่า
พุน้ำร้อน ฝรั่งเรียกว่า hot spring   

พุน้ำร้อนมีได้ทั้งในลักษณะเป็นจุดน้ำร้อนโผล่ไหลออกมาและในลักษณะเป็นที่เป็นแอ่งน้ำตื้นๆ  แต่หากเป็นกรณีน้ำโผล่ออกมาแบบพุ่งสูงคล้ายกับการฉีดน้ำพุ่งขึ่นไปในอากาศ ก็จะเรียกว่าน้ำพุร้อน  ฝรั่งเรียกว่า geyser ซึ่งก็มักจะต่อท้ายด้วยคำว่า spring   

คำอธิบายพื้นฐานง่ายๆของการเกิดน้ำร้อนผุดออกมาที่ผิวดิน ก็คือ เกิดมีน้ำเย็นไหลซึมลงไปตามรอยแตกแยกของดินและหิน ลึกลงไปสัมผัสกับหินอัคนีที่ยังคงมีความร้อน หรือไปสัมผัสกับจุดที่มีการสะสมความร้อนเนื่องจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงต่างๆในเปลือกโลก  น้ำที่ร้อนขึ้นมาเกิดมีแรงดัน ไหลย้อนขึ้นมาสู่ผิวดิน กลายเป็นพุน้ำร้อนหรือน้ำพุร้อน 


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 เม.ย. 23, 19:39
ขอออกนอกเรื่องภาษาไปอีกหน่อยค่ะ
งั้นออนเซ็นของญี่ปุ่นก็เกิดจากน้ำพุร้อนใช่ไหมคะ     มีมากมายหลายร้อยแห่ง ล้วนแต่ธรรมชาติทั้งนั้นหรือคะ


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 เม.ย. 23, 21:48
ตอบ อ.เทาชมพู ว่า มีทั้งของจริงและของปลอมครับ    ทราบมาว่าของปลอมนั้นใช้เครื่องทำน้ำร้อนแล้วใส่กลิ่นแกสไข่เน่า (Hydrogen sulfide_H2S) ผสมลงไป สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยกับกลิ่นนี้คงจะแยกออกได้ยากมากกว่าคนที่พอจะคุ้นกับกลิ่นนี้หรือผู้ที่เข้าออนเซ็นเป็นประจำ หรือมิฉะนั้นก็จะเป็นน้ำร้อน(ธรรมชาติ)ปลายทางที่ต้องเอามาเพิ่มความร้อนและปรับแต่งกลิ่นก่อน  เท่าที่พอจะรู้ นักท่องเที่ยวภายในประเทศของญี่ปุ่นเองก็ยังต้องมีความพิถีพิถันในการเลือกสถานที่ๆจะไปออนเซน

พุน้ำร้อนในเกาะญี่ปุ่นมีอยู่เป็นจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วประเทศ มีการแบ่งออกเป็นระดับต่างๆตามความเข้มข้นของแร่ธาตุในน้ำ ซึ่งผู้ที่จะไปออนเซ็นก็จะเลือกตามที่ร่างกายของตนจะรับได้   นัยว่า โรงแรมที่เป็นตึกและมีออนเซ็นให้บริการแบบต่อท่อมาจากแหล่งน้ำร้อนนั้น มักจะเป็นของปลอม  ของจริงดูจะพบอยู่ตามเรียวกังที่เป็นบ้านค่อนข้างเก่าและมีผู้สูงวัยเป็นเจ้าของบ้าน(ผู้ให้บริการ) ก็มีระดับของนักออนเซ็นไล่เรียงกันไปตั้งแต่รุ่นเดอะไปจนถึงรุ่นละอ่อน  เขาว่า ต้องค่อยๆสร้างความคุ้นเคยให้กับร่างกายและค่อยๆยกระดับ ก็นานพอก่อนที่จะสามารถไปออนเซ็นในน้ำร้อนที่มีปริมาณแร่ธาตุสูง   เคยถามเขาถึงความต่างระหว่างน้ำร้อนแบบเบาๆกับแบบหนักหน่วง เขาบอกว่า มือใหม่ไปอาบในน้ำแร่แบบหนักหน่วงจะทนแช่น้ำร้อนได้ในระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น   


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 เม.ย. 23, 19:23
พุน้ำร้อนในประเทศไทยมีไหม ?   มีครับ มีในหลายๆจังหวัด เหนือจรดใต้ บางจังหวัดก็มีหลายแห่ง  แต่ไม่มีในภาคอิสาน ?? 

ก็มี เช่น จ.เชียงใหม่ _ป่าแป๋, แม่แตง,แม่ออน, แม่แจ่ม, ฝาง   จ.แม่ฮ่องสอน _แม่อุมลอง, ผาบ่อง   จ.เชียงราย _ป่าตึง, โป่งพระบาท, แม่ขะจาน, ห่้วยหมากเหลี่ยม, โป่งฟูเฟือง, ห้วยทรายขาว   จ.พะเยา _ภูซาง   จ.น่าน _โป่งกิ    จ.แพร่ _แม่จอก, สูงเม่น   จ.ลำปาง _แจ้ซ้อน       จ.เพชรบูรณ์ _พุขาม, พุเตย   จ.ตาก _แม่กาษา    จ.กำแพงเพชร _พุร้อนพระร่วง    จ.อุทัยธานี _ห้วยคต   จ.กาญจนบุรี _กุยมั่ง (หินดาด), บ.พุน้ำร้อน    จ.ราชบุรี _บ่อคลึง, โป่งกระทิง    จ.เพชรบุรี _หนองหญ้าปล้อง    จ.ชุมพร _ถ้ำเขาพลู    จ.ระนอง _หาดส้มแป้น   จ.กระบี่ _คลองท่อม   จ.พังงา _กะปง    จ.สุราษฏร์ธานี _ท่าสะท้อน    จ.ตรัง _กันตัง

ชื่อพุน้ำร้อนที่กล่าวถึงเหล่านี้เป็นชื่อเรียกทางสมุหนาม เพื่อจะให้เห็นภาพของการกระจัดกระจายของพื้นที่ๆพบพุน้ำร้อน  ในแต่ละพื้นๆอาจจะมีหลายจุดที่มีน้ำร้อนผุดออกมา ซึ่งดูจะมีการตั้งชื่อเป็นการเฉพาะสำหรับแต่ละจุดนั้นๆ


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 เม.ย. 23, 18:32
ดูจะเป็นเรื่องน่าสนใจ ก็เลยขอขยายความต่อไปอีกสักหน่อย  ครับ

พุน้ำร้อนมีกระจายอยู่ทั่วไทย แล้วมีน้ำพุร้อน(geyser)บ้างใหม   มีครับ ที่โป่งเดือด ต.ป่าแป๋ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เป็นน้ำพุร้อนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ทราบว่าในปัจจุบันนี้ ความสูงที่พุ่งขึ้นไปลดลง เหลือสักเมตรสองเมตรกระมัง ?   มีแบบที่ใช้วิธีการก่อบ่อซีเมนต์รอบจุดที่น้ำร้อนผุดออกมาบนผิวดิน ซึ่งไม่แน่ใจว่าแต่ดั้งเดิม ณ จุดนั้นๆมีลักษณะเป็นน้ำพุบ้างหรือไม่ และก็มีแบบที่เกิดเป็นน้ำพุขึ้นมาด้วยเหตุจากการเจาะแล้วใส่ท่อลงไป เช่น น้ำพุร้อนแม่ขะจาน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย  และน้ำพุร้อนสันกำแพง อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่   พวกน้ำพุที่เกิดจากการเจาะใส่ท่อนี้ ได้มาจากการสำรวจเพื่อประเมินศักยภาพของแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพของไทยเรา


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 เม.ย. 23, 19:18
มีน้ำพุร้อนแล้วก็ต้องมีน้ำพุที่ไม่ร้อน ไม่เรียกว่า geyser แต่เรียกว่า artesian fountain  ซึ่งทั้งหมดดูจะเกิดขึ้นมาสืบเนื่องมาจากการเจาะบ่อน้ำตื้นหรือบ่อน้ำบาดาล  ในไทยเรามีอยู่หลายแห่งเช่นกัน แต่ดูจะเปลี่ยนสภาพไปเป็นลักษณะของพุน้ำเกือบทั้งหมดแล้ว ที่ยังคงมีสภาพเป็นน้ำพุอยู่ ก็เช่นที่ ต.ห้วยกระเจา อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี     

เมื่อทำบ่อน้ำครอบบริเวณที่น้ำผุดออกมาสู่ผิวดิน ฝรั่งก็ใช้คำว่า artesian well แล้วก็ใช้ครอบคลุมถึงบ่อน้ำที่ขุดลึกลงไปแล้วมีน้ำไหลเข้าบ่อตลอดเวลา คือเป็นลักษณะของบ่อน้ำที่ไม่เคยแห้ง    สำหรับภาษาพื้นบ้านของไทยที่ใช้อธิบายลักษณะการผุดของน้ำออกมาตลอดเวลาในบ่อน้ำตื้นเหล่านี้ว่า ตาน้ำ

คำอธิบายในเรื่องที่กล่าวถึงมานี้ ไปเกี่ยวข้องกับเรื่องของวิชาการทางอุทกธรณีฯ   


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 เม.ย. 23, 19:22
ถึงตรงนี้ ก็คงจะทำให้นึกไปถึงเรื่องของศักยภาพทางเศรษฐกิจของ พุ ต่างๆ  ค่อยว่ากันพรุ่งนี้ ครับ


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 เม.ย. 23, 19:11
พุน้ำร้อนได้มาจากการที่น้ำได้ผ่านจุดที่มีความร้อนสูงใต้ผิวโลกแล้วโผล่ขึ้นมาเหนือผิวดิน  ซึ่งจุดใต้ผิวโลกที่มีความร้อนสูงเหล่านั้น ทั้งหมดจะมีความเกี่ยวข้อง_อาจจะกับหินอัคนีที่ยังเย็นตัวไม่ถึงที่สุด หรืออาจจะกับรอยเลื่อนที่ยังคงมีพลัง  หรืออาจจะกับความร้อนที่เพิ่มขึ้นตามระดับความลึก   ก็หมายความว่า น้ำร้อนที่โผล่ขึ้นมาในแต่ละที่นั้นจะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันไป   ลองถึงความแตกต่างของน้ำร้อนที่ได้มาจากการเอาน้ำดิบที่มีคุณสมบัติและคุณภาพต่างๆกัน เอาไปต้มในหม้อที่ทำด้วยวัสดุต่างๆที่มีคุณสมบัติและคุณภาพต่างกัน เราก็ย่อมจะได้น้ำร้อนที่มีคุณสมบัติและคุณคุณภาพที่ต่างกัน   ลงลึกไป(เล็กน้อย)ในกระบวนการทางเคมี-ฟิสิกส์ ก็จะเห็นภาพที่ไม่สลับซับซ้อนว่า สรรพสิ่งหลายอย่างละลายได้ในน้ำร้อน ซึ่งหากจัดให้สภาวะของการละลายนั้นๆอยู่ภายใต้สภาพที่มีแรงดัน เช่น ตุ๋นเนื้อในหม้อต้มแรงดัน ก็จะได้ผลผลิตที่มีความแตกต่างไปจากการต้มธรรมดาๆ คือมีความเข้มข้นของน้ำทั้งในเชิงของรสและปริมาณสารละลายในน้ำ  ซึ่ง ณ ระดับอุณหภูมิที่ต่างกันเมื่อเย็นตัวลง ของตุ๋นชิ้นนั้นก็จะมีคุณภาพและคุณสมบัติที่ต่างกัน  หนึ่งในนั้นก็เช่นจากเหตุของการระเหยหายไป หรือจากเหตุของการรวมตัวกันเป็นมวลที่มีความหนาแน่นมากขึ้น ....   

พุน้ำร้อนแต่ละแหล่งก็เช่นกัน ย่อมมีความไม่เหมือนกันในเชิงของปริมาณแร่ธาตุที่ละลายอยู่ในน้ำ ในเชิงของอุณหภูมิ  ในเชิงของ individual values


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 เม.ย. 23, 19:38
ไทยเรามีน้ำพุร้อนอยู่หลายๆแหล่ง  เข้าใจว่าส่วนมากจะอยู่ในเขตพื้นที่ของอุทธยานฯ  ก็รู้ว่ามีการพัฒนาใช้ประโยชน์กับแหล่งน้ำร้อนธรรมชาติหลายๆแหล่ง จัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของถิ่นสำหรับผู้มาเยือนก็มี  ทำเป็นรีสอร์ท/สปาร์ก็มี  จัดเป็นเพียงจุดแวะในระหว่างทางก็มี ฯลฯ  ทั้งมวลดูจะยังค่อนข้างจะจำกัดอยู่ในบริบทของเรื่องทางกายภาพ  ยังไม่นิยมจะฉายภาพในบริบทอื่นๆ   


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 เม.ย. 23, 18:52
เดิมทีว่าจะขยายความลึกลงไปสักหน่อยถึงที่มาของความต่างของคุณภาพของน้ำร้อนของพุ  แต่ดูว่าน่าจะทำให้อ่านแล้วก็ยิ่งทำให้สับสน เพราะจะต้องก้าวล่วงเข้าไปในเรื่องของ Geochemistry ซึ่งว่าด้วยเรื่องของสารประกอบของธาตุต่างๆในสภาพสิ่งแวดล้อมต่างๆ (อุณหภูมิ ความกดดัน สภาพสิ่งแวดล้อมที่เป็นด่าง หรือ กรด...) 

สรุปเอาง่ายๆว่า น้ำร้อนจากพุมีสภาพน้ำที่เป็นได้ทั้งเป็นกรด เป็นด่าง หรือเป็นกลาง และมีความร้อนที่อุณหภูมิต่างกัน  ในสภาพที่ต่างกันนี้ น้ำร้อนจึงมีแร่ธาตุ/ละลายอยู่ในตัวไม่เหมือนกัน  ซึ่งความต่างในคุณสมบัติเชิงคุณภาพของน้ำร้อนนี้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพของผืนดินในพื้นที่/ตามเส้นทางที่น้ำไหลไป  ทั้งในกรณีของการตกตะกอนของสารละลายที่อยู่ในน้ำร้อนนั้นๆเนื่องจากการเปลี่ยนอุณหภูมิ หรือกรณีเกิดการสลับสับเปลี่ยนธาตุในองค์ประกอบทางเคมีของแร่บางชนิด หรืออื่นใดในกระบวนการทางธรณีเคมีที่เรียกว่า alteration   ซึ่งจะยังผืนดินในพื้นที่นั้นๆมีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุหลัก แร่ธาตุรอง และ trace elements ที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของพืช 

ในเรื่องหนึ่ง กรณีกับผู้คน  ด้วยลักษณะเชิงของคุณภาพของน้ำร้อนที่แตกต่างกันนี้ ผมเชื่อว่า สำหรับแหล่งพุน้ำร้อนในไทย เมื่อศึกษาหาข้อมูลลึกลงไป ก็น่าจะเห็นความแตกต่างในเชิงของสุขภาพระหว่างผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่อิทธิพลของพุน้ำร้อนนั้นๆกับผู้คนที่อยู่นอกพื้นที่ เชื่อว่าเรื่องหนึ่งก็น่าจะเกี่ยวกับโรคผิงหนัง  และก็น่าจะมีเรื่องด้านกายภาพของผู้คน... 


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 11 เม.ย. 23, 19:41
คนไทยไม่นิยมแช่น้ำร้อน แต่นิยมแช่น้ำเย็น  แต่โลกก็กำลังเปลี่ยนไป มีคนไทยเป็นจำนวนไม่น้อยที่พยายามหาโอกาสไปออนเซ็นที่ญี่ปุ่น  ดูจะมีเป็นจำนวนน้อยที่เลือกจะหาที่ออนเซ็นในประเทศไทย   พุน้ำร้อนหลายๆแหล่งของเราจัดให้มีแต่เพียงห้องเพื่อการอาบน้ำร้อน ซึ่งแม้จะมีสถานที่พำนักชั่วคราวใกล้ๆ ก็ขาดซึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานตามมาตรฐานของนักท่องเที่ยวชาวกรุง ซึ่งหากเป็นในอีกระดับหนึ่งของที่พำนัก ก็มีค่าใช้จ่ายสูงมากๆกว่าที่จะเป็นค่าใช้จ่ายในระหว่างเส้นทางของการเดินทางท่องเที่ยวตามปกติ

แหล่งพุน้ำร้อนของไทยเราดูจะไม่มีการเน้นในด้านศักยภาพและการให้ความสำคัญในการพัฒนาไปอยู่ในบริบทด้านการใช้ประโยชน์ในเชิงคุณภาพของทรัพยากรธรรมชาติ 


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 เม.ย. 23, 19:19
เรื่องของพุน้ำร้อนที่ขยายความมาอย่างสังเขปก็คงพอจะชวนให้คิดถึงศักยภาพต่างๆของกิจกรรมในทางเศรษฐกิจที่อาจจะกระทำได้มากกว่าการแวะถ่ายรูป ต้มไข่ และได้เพียงบันทึกว่าไปผ่านมาแล้ว

เกือบลืมกล่าวถึงเรื่องของน้ำแร่ในมุมของน้ำดื่ม

น้ำแร่(ที่ใช้ดื่มกิน) โดยนัยของความหมายที่ยอมรับกันทั่วไปก็คือ น้ำจากพุน้ำเย็นหรือพุน้ำร้อน ที่มีความสะอาด ไม่มีปริมาณแร่ธาตุและสารละลายอยู่ในน้ำในระดับที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย/ชีวิต   

น้ำที่เราใช้ดื่มกินตามปกติในชีวิตประจำวัน(drinking water)นั้น มีมาตรฐานสากล(โดย WHO)กำหนดไว้ในเรื่องของคุณภาพที่เหมาะสม แต่ในความเป็นจริงที่ทำกันทั่วโลก ก็คือ ทำน้ำให้มีความสะอาดปราศจากสารละลายที่อันตรายให้ได้ใกล้เคียงมากที่สุดกับมาตรฐานสากล    ซึ่งสำหรับน้ำแร่ เท่าที่มีความรู้และได้เคยมีความสนใจในเชิงวิชาการมา ดูจะไม่มีมาตรฐานกลางกำหนด มีแต่การใช้ข้อมูล/ข้ออ้างอิงทางการแพทย์ในเชิงของ mineral supplements สำหรับความสมบูรณ์ของสุขภาพร่างกาย   มองในมุมหนึ่ง น้ำแร่จึงดูจะจัดอยู่ในเรื่องของยาธรรมชาติ มิใช่เป็นปัจจัยสำคัญของการมีชีวิต  ก็อาจจะเพราะด้วยเหตุนี้ น้ำแร่จึงมีราคาสูงกว่าน้ำดื่มทั่วๆไป   


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 เม.ย. 23, 19:15
วันนี้เป็นวันสงกรานต์ เป็นวันกำหนดให้เป็นวันขึ้นต้นศักราชใหม่ของปีนักษัตรปีเถาะ (เถลิงศกจริงในวันที่ 16 เม.ย.)   

ขอพรและอำนาจของสรรพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายได้โปรดแผ่ไปยังท่านสมาชิกและผู้ติดตามเรือนไทยทุกท่าน ให้ได้รับผลตอบสนองที่ดีในสิ่งที่ได้คิดดีทำดีต่างๆ  ไร้โรคภัยมาแผ้วพาลเบียดเบียน ครับ   


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 17 เม.ย. 23, 19:12
คลอง เป็นคำที่ใช้ในภาษาไทยกลางและในภาษาใต้ 

คำว่า คลอง นี้ พบว่าเริ่มมีการใช้ตั้งแต่รอยต่อระหว่างแอ่งที่ราบลุ่มภาคกลางตอนบนกับพื้นที่ทิวเขาของภาคเหนือ ตั้งแต่ พื้นที่ชายแดนด้านตะวันตกของ จ.ตาก ในแนวตั้งแต่ อ.แม่ระมาด (เช่น คลองแม่ระมาด) คลองวังเจ้า จ.ตาก   คลองยาง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย   คลองตรอน อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์   

คลอง ดูจะใช้เฉพาะกับร่องน้ำที่มีน้ำไหลตลอดปี  มีข้อสังเกตว่า ในพื้นที่ได้กล่าวถึงนี้ มีการใช้คำว่า ห้วย สำหรับร่องน้ำที่อยู่ในป่าเขา เมื่อน้ำในห้วยได้ไหลลงมารวมกันจนเกิดเป็นร่องน้ำสายหลักที่มีน้ำไหลตลอดปีหรือเกือบตลอดทั้งปี    ต่างจากในพื้นที่ภาคใต้ที่มีปริมาณฝนตกในปริมาณสูง ซึ่งจะทำให้ร่องน้ำต่างๆในพื้นที่รับน้ำมีน้ำไหลรินเกือบตลอดทั้งปี  ในพื้นที่ภาคใต้ก็เลยดูจะนิยมใช้คำว่าคลองสำหรับร่องน้ำต่างๆ  คำว่าห้วยก็เลยไม่ค่อยจะใช้กัน (?)

คลอง ในภาษาไทยภาคกลางดูจะมีความหมายเฉพาะถึงร่องน้ำที่เกิดขึ้นมาจากการขุด 


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 เม.ย. 23, 19:36
สังเกตว่าภาษาอังกฤษก็ใช้ต่างกันค่ะ 
คลอง canal    ห้วย creek  ลำธาร  stream, brook


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 เม.ย. 23, 19:02
ใช่ครับ   

ระบบร่องน้ำในแต่ละพื้นที่รับน้ำ (catchment area) จะมีร่องน้ำที่ประกอบไปด้วย แม่น้ำสายหลัก (river) ซึ่งโดยทั่วไปจะมีน้ำไหลตลอดทั้งปี  เหนือขึ้นไปตามแม่น้ำก็จะพบกับจุดเชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำสายหลักกับลำน้ำสาขาต่างๆ(ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง)ที่นำน้ำมาส่งให้แม่น้ำสายหลัก พวกลำน้ำสาขาซึ่งเป็นลำน้ำสายรองนี้ใช้คำเรียกต่างๆกัน  สำหรับในภาษาไทยนั้น มีทั้งที่เรียกว่าแม่น้ำ เรียกว่าลำน้ำสาขา เรียกว่าแคว เรียกว่าลำ และที่เรียกว่าห้วยก็มี  ชื่อเรียกเหล่านี้เกี่ยวกับลักษณะของทางน้ำ (ความกว้าง ความยาว การน้ำไหลของน้ำ)    นึกไม่ออกว่าในภาษาอังกฤษใช้คำเรียกเฉพาะว่าอะไร ก็ดูจะใช้คำว่า tributary เติมไปข้างหน้า เช่น tributary river และ tributary stream  ซึ่งคำว่า tributary มีความหมายรวมๆที่หมายถึงบรรดาร่องน้ำที่แตกเป็นสาขาแยกออกไป


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 18 เม.ย. 23, 20:52
สำหรับคำว่า brook นั้น น่าจะตรงกับคำในภาษาไทยว่า ลำรางธรรมชาติ 

ก็เป็นปกติของความยุ่งยากในการเทียบเคียงศัพท์และความหมายของคำใดๆระหว่างภาษาต่างๆ เพราะต่างก็มีสภาพของสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและสภาพของความเป็นอยู่และสังคมที่ไม่เหมือนกัน 


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 เม.ย. 23, 21:14
ตัวอย่าง creek ที่หาเจอค่ะ
ถ้าเป็นไทยจะเรียกว่า ห้วย หรือลำธาร ดีคะ


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 19 เม.ย. 23, 19:35
ตอบอาจารย์ว่า  จะเรียกว่าห้วยหรือลำธารก็ได้ในกรณีการใช้ในเชิงที่หมายถึงแหล่งน้ำ (คำสมุหนาม)  แต่หากในพื้นที่มีหลายทางน้ำไหลผ่าน ก็น่าจะเรียกตามชื่อของทางน้ำนั้นๆ ซึ่งอาจจะนำหน้าทางน้ำนั้นๆด้วยคำว่าห้วย หรืออื่นใด (เช่น ห้วยกระกระเจา ลำอีซู ลำตะเพินใน อ.บ่อพลอย กาญจนบุรี)     


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 20 เม.ย. 23, 19:12
เมื่อวานได้พยายามเขียนขยายความไว้ แต่เกิดรู้สึกไม่พอใจกับลำดับเรื่องเลยลบทิ้ง ขอต่อในวันนี้ครับ

เรื่องของชื่อที่ใช้เรียกทางน้ำว่า ห้วย คลอง แคว ลำ แพรก ลำราง ลำธาร เหล่านี้  ผมเห็นว่ามีอยู่สองนัย นัยหนึ่งใช้ในลักษณะของทางน้ำที่เห็นอยู่ตรงหน้า  ในอีกนัยหนึ่ง ทางน้ำนั้นๆมีชื่อเรียกกำกับมาแล้วจากที่ใดที่หนึ่ง   และก็มีแบบที่เปลี่ยนชื่อเรียก เช่น จากห้วยไปเป็นคลอง ฯลฯ หรือตั้งชื่อให้มันตามเส้นทางที่มันผ่าน เช่น จากคลองมะขามเฒ่า เป็นแม่น้ำสุพรรณบุรี  เป็นแม่น้ำนครชัยศรี และเป็นแม่น้ำท่าจีนในที่สุด

ในนัยแรก สำหรับหมู่คนที่อยู่ในพื้นที่ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา ก็มีที่เรียก แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน  ว่า แควปิง แควน่าน  เป็นลักษณะของการมองภาพเหนือขึ้นไปทางต้นน้ำ     ก็มีที่มีการเปลี่ยนชื่อแซ่กันทั้งยวง เช่น กรณีคลองแม่วงก์ ซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่าง จ.นครสวรรค์ กับ จ.กำแพงเพชร   แต่เดิมเมื่อครั้งยังทำงานในพื้นที่ คลองแม่วงก์เรียกว่า น้ำแม่วงก์ เมื่อขึ้นเหนือไปตามทางน้ำจนถึงบริเวณตีนเทือกเขาก็จึงเริ่มเรียกกันว่าห้วยแม่วงก์ เลยขึ้นไปจนถึงสบห้วยใหญ่(ต้นทางของชื่อแม่วงก์) จะเป็นสบห้วยระหว่างห้วยเดื่อกับห้วยแม่กระสา (ดงของนกเงือก นกแกง ช้าง ค่างเทา และเสือ) แต่ในปัจจุบันนี้ดูจะเปลี่ยนชื่อเรียกเป็นคลองไปทั้งหมด ก็ไม่รู้ว่าด้วยเหตุผลอะไร อาจจะเป็นเพราะว่าในพื้นที่แถบนั้นมีตัวอย่างว่า บรรดาทางน้ำที่มีน้ำไหลตลอดปีใช้ชื่อเรียกว่าคลอง เช่น คลองวังเจ้า คลองลาน คลองสวนหมาก คลองขลุง (น้ำแม่วงก์ในสมัยก่อนนั้นมีน้ำไหลตลอดปี) ก็เลยกลายเป็นเรื่องใหม่สำหรับผมว่า มีชื่อเรียกว่าคลองในภูมิประเทศที่ควรจะเรียกว่าห้วย(ตามนัยของภาษาพื้นบ้าน)

ก็มีกรณีที่ใช้ชื่อเรียกตามชื่อเรียกต้นทางของทางน้ำสายนั้น แล้วใช้ต่อเนื่องตลอดทางน้ำนั้นๆ เช่น ห้วยขาแข้ง แต่ก็ยังมีการเรียกชื่อเปลี่ยนไปเล็กน้อย เช่นที่บริเวณใกล้ปากห้วยที่สบกับแม่น้ำแควใหญ่ ก็เรียกว่า ปากลำขาแข้ง (มีการใช้คำว่า ลำ)       


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 21 เม.ย. 23, 19:42
มาถึงเรื่องของภูเขาซึ่งมีคำที่เกี่ยวข้องอยู่หลากหลาย ที่คุ้นๆกันก็จะมีเช่นคำว่า ดอย เขา ภู ภูเขา ควน เนิน กิ่ว ทิวเขา เทือกเขา ม่อน ผา ถ้ำ ชะง่อน ฯลฯ   ก็น่าจะพอแบ่งออกเป็นพวกคำที่ใช้ในการเรียกในลักษณะของภาพรวมกับคำที่ใช้เรียกลักษณะเฉพาะบางอย่าง 

'ดอย' เป็นคำในภาษาเหนือที่ใช้ในลักษณะของภาพรวม   'เขา' เป็นคำที่ใช้ทั้งในภาคภาคกลางและภาคใต้ในลักษณะภาพรวม  ภู' ใช้ในภาคอีสานในลักษณะของภาพรวม   ก็มีคำว่า'ม่อน'อีกคำหนึ่งซึ่งดูจะใช้กับพื้นที่ในป่าเขาในบริเวณสำคัญที่มีความเด่นในเรื่องหนึ่งใด หรือเป็นพื้นที่ๆมีเรื่องราว/ประวัติสำคัญในอดีต  หรือที่เป็น land mark 

สำหรับพื้นที่ๆเป็นเนิน ในภาษาเหนือดูจะไม่มีคำที่ใช้เรียกเป็นการเฉพาะ ซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะอยู่ในพื้นที่ๆเป็นป่าเขา (mountainous terrain) เนินดิน/หินเกิดมาจากการไหลของหิน/ดินลงมากองเป็นเนินตามตีนเขา นิยมใช้ชื่อเรียกเนินเหล่านั้นตามลักษณะเด่นของพืชพรรณที่ขึ้นอยู่ในพื้นที่นั้นๆ เช่น ป่าเหียง ป่าบง ป่าตึง ป่าแพะ...     

ในภาษาภาคกลางใช้คำว่า'เนิน'  ในอิสานใช้คำว่า'โคก' และ'มอ'  พื้นที่ของภูมิภาคทั้งสองนี้ มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบ    เนินของภาคกลางส่วนมากจะเกิดมาจากการตกตะกอนของดิน/ทรายที่ลำน้ำต่างๆพัดพามา   ส่วน 'โคก'และ'มอ' ของอิสาน ส่วนมากจะเป็นผลมาจากกระบวนการกัดกร่อน (weathering & erosion) 

ในภาษาใต้ใช้คำว่า 'ควน'  ด้วยที่ภาคใต้เป็นพื้นที่ๆมีฝนตกในปริมาณสูง ทำให้มีพื้นที่ๆฉ่ำน้ำกตลอดเวลามากมาย  คำว่าควนนี้ค่อนข้างจะหมายถึงพื้นที่ๆค่อนข้างจะแห้งหรืออยู่สูงกว่าระดับน้ำผิวดิน(water table)         


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 เม.ย. 23, 18:34
ในปัจจุบันนี้ คำว่า 'ภู' ในภาษาอิสานถูกนำมาใช้เรียกสถานที่มากมายหลายแห่งในภาคเหนือ เป็นลักษณะของการตั้งชื่อให้กับสถานที่ๆมีความเด่นในเชิงของความสูงข่มที่มีการพัฒนาและถูกใช้ในเชิงเศรษฐกิจ  ทำให้คำว่า 'ม่อน' ซึ่งเป็นภาษาดั้งเดิมกำลังถูกละหายไป   คำว่า 'ดอย' ซึ่งแต่เดิมหมายถึง 'ภูเขา' หรือทิวเขาสูง หรือพื้นที่สูงข่ม ก็ดูจะถูกปรับคุณลักษณะลงเหลือเป็นเพียงพื้นที่สูงข่มในทิวเขา

ไม่ได้ติดตามว่า ในพื้นที่ภาคใต้มีการใช้คำว่า 'ภู' นำหน้าชื่อสถานที่สูงข่มบ้างแล้วหรือยัง  แต่เชื่อว่า คำว่า 'ห้วย' นั้นน่าจะมีแล้ว เพราะมีคนที่มีเชื้อเป็นชาวเหนือและอิสานลงไปตั้งถิ่นฐานอยู่มากพอสมควร   

ก็มีข้อสังเกตอยู่เรื่องหนึ่งว่า  ภู เป็นคำในภาษาอิสาน   เขา เป็นคำในภาษาภาคกลาง  ด้วยเหตุใดจึงเอาทั้งสองคำมาต่อกันให้เป็นภาษาไทยแบบทางการ ฤๅจะเป็นเพื่อการให้ภาพในลักษณะสมุหนามที่ชัดเจน  ทั้งคำว่า ภู, เขา และดอย เป็นคำที่ใช้ทั้งในลักษณะนามและสมุหนาม


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 22 เม.ย. 23, 19:27
ขอย้อนกลับไปเรื่องของคำว่า ห้วย   

คำนี้มีการใช้ต่อเนื่องตลอดในพื้นที่ด้านตะวันตกของไทย จากภาคเหนือลงใต้ไปถึงในพื้นที่ตอนล่างของ จ.ประจวบฯ   เลยมีข้อสังเกตว่า ในพื้นที่แถบนี้ก็มีด่านสิงขร ซึ่งเป็นเส้นทางเดินทัพเส้นหนึ่งของพม่า และก็น่าจะเป็นช่องเขาที่ใช้เป็นเส้นทางหลักในการคมนาคมกับเมืองมะริดซึ่งเคยอยู่ในอาณัติของไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา  เลยคิดเอาเองว่า ด้วยลักษณะของภาษาที่ใช้เรียกสถานที่นั้นๆ ฤๅคนไทยที่อยู่ในพื้นที่แถบ อ.บางสะพาน จ.ชุมพร นี้   เราน่าจะพอย้อนสาแหรกของพวกเขาได้ ซึ่งอาจจะไปได้ไกลถึงต้นทางของการมาตั้งถิ่นฐายบ้านเรือนในพื้นที่แถบนี้  ใต้ลงไปจากนี้ เมื่อเข้าเขต จ.ชุมพร คำว่าห้วยก็จะหายไป ใช้คำว่า 'คลอง' แทน


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 เม.ย. 23, 18:59
เมื่อเริ่มทำงานสำรวจทำแผนที่ธรณีฯอย่างเป็นระบบของประเทศไทย (พ.ศ.2512) แผนที่ๆใช้เป็นพื้นฐานในการเดินป่าดงและเพื่อบันทึกตำแหน่ง/สถานที่ๆ หรือบริเวณที่ให้ข้อมูลที่สำคัญ เป็นแผนที่มาตราส่วน 1:50,000 ของชุดแผนที่ (Series) L708  แผนที่แต่ละแผ่นจะมีขนาดความกว้างยาวครอบคลุมพื้นที่ขนาด 10x15 ลิปดา (ปัจจุบันนี้ใช้ชุดแผนที่ L7017 และ L7018 แต่ละแผ่นคลุมพื้นที่ 15x15 ลิปดา) ข้อมูลรายละเอียดทั้งหลายจะถูกประมวลออกมาเป็นแผนที่ๆแสดงข้อมูลในระดับความละเอียดมาตราส่วน 1:50,000  จากนั้นก็เอาข้อมูลทั้งหมดมาประมวลเป็นข้อมูลทางธรณีฯในทุกมิติ แสดงออกมาในแผนที่มาตราส่วน 1:250,000 ที่ใช้เป็นแผนที่ธรณีฯมาตรฐานของประเทศไทย (เช่นเดียวกับของประเทศอื่นๆ)

ในกระบวนการทำ ด้วยที่เราทุกคนเกือบจะไม่รู้เลยว่าที่ใดมีข้อมูลอะไรบ้าง พื้นที่ใดน่าจะให้ข้อมูลที่สำคัญ  งานเริ่มแรกเลยก็คือการแปลความหมายจากภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งใช้ภาพถ่ายทางอากาศมาตราส่วน 1:50,000 ที่ถ่ายในช่วงปลายและหลังสงครามโลก ที่ได้มีการถ่ายครอบคลุมพื้นที่เกือบทั่วโลก ภาพถ่ายเหล่านี้ได้ถูกใช้เป็นพื้นฐานในการทำแผนที่ภูมิประเทศ (topographic map) มาตราส่วน 1:50,000 และมาตราส่วนอื่นๆ เช่น 1:250,000 เพื่อใช้ในด้านการคมนาคมทางอากาศ โดยทั่วๆไป   การทำแผนที่ภูมิประเทศเหล่านี้ได้ใช้กระบวนการทำที่เรียกว่า photogrammetry   


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 23 เม.ย. 23, 19:29
แต่ภาพถ่ายในมาตราส่วนนี้ได้ให้ข้อมูลต่างๆมากมายในด้านสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ทางด้านสังคม และทางวิชาการสาย earth science    เมื่อได้รับมอบหมายให้เข้าไปทำงานในพื้นที่ใด งานแรกที่ทำก็คือการหาข้อมูลเบื้องต้นของพื้นที่ๆรับผิดชอบ ซึ่งก็คือการสร้างความรู้จักและสร้างความคุ้นเคยกับพื้นที่ในทางจินตนาการ ทำการแปลความหมายที่ปรากฎอยู่ในภาพถ่ายเหล่านั้นออกมาในทางวิชาการธรณีวิทยา ใช้ภาพสามมิติในการแปลความหมายต่างๆ โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า mirror stereoscope (ใช้ pocket stereoscope เมื่ออยู่ในภาคสนาม) 

ดูคล้ายกับจะแหกโค้งออกนอกเรื่องไป  ยังครับ ยังอยู่บนถนนหลวงอยู่ครับ   ;D     


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 เม.ย. 23, 18:31
ภาพสามมิติที่เห็นแบบมองตรงลงมาจากเบื้องบน (bird's eyes view) จะให้ข้อมูลในเชิงพื้นที่และขอบเขต (area & boundary)  ให้ข้อมูลเชิงเส้น (linear features)  ให้ข้อมูลในเชิงของความสูง-ต่ำ ก็คือร่องน้ำต่างๆ (drainage pattern)  ซึ่งรูปแบบของร่องน้ำก็พอจะทำให้บอกถึงชนิดของชนิดหินในพื้นที่ได้    ลักษณะความความหนาแน่นของป่า ของยอดไม้ (crown cover) รวมทั้งโทนความสว่างจากการสะท้อนแสง และอื่นๆ เหล่านี้ เมื่อเอามาประมวลเข้าด้วยกัน ก็พอจะยกร่างเป็นภาพคร่าวๆของแผนที่ธรณีฯระวางนั้นๆได้  แล้วก็ต้องออกสนามไปตรวจสอบ แก้ไข เปลี่ยนแปลง รวมทั้งเก็บข้อมูลต่างๆ นำมาวิเคราะห์และประมวล เพื่อจะได้สามารถเล่าเรื่องราวของการกำเนิด สิ่งแวดล้อม และการมาอยู่ร่วมกันของสิ่งต่างๆในช่วงเวลาทางธรณีกาลต่างๆได้    สิ่งแวดล้อมต่างๆตลอดช่วงเวลาทางธรณีกาล เป็นตัวบ่งบอกถึงโอกาสและศักยภาพที่จะได้พบทรัพยากรธรณีที่สำคัญต่างๆ ทั้งในบริเวณที่สำรวจ เช่น แหล่งแร่ แหล่งหินอุตสาหรรม  หรือในพื้นที่อื่นไกลออกไป เช่น แหล่งปิโตรเลียม แหล่งแร่หายาก (ทองคำ อัญมณี ...)   


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 24 เม.ย. 23, 19:08
เอาข้อมูลที่ได้จากการดู/แปลความหมายถาพถ่ายทางอากาศ ถ่ายทอดลงไปในแผนที่ภูมิประเทศ เพื่อจะได้ใช้แผนที่นั้นนำทางเพื่อการเข้าถึงพื้นที่หรือจดที่เห็นว่าสำคัญที่จะให้ข้อมูลได้มาก  ก็ต้องมีการวางแผนในการเข้าสำรวจในพื้นที่กันพอสมควร

ต่ออีกหน่อยถึงสภาพของข้อมูลพื้นฐานที่ปรากฎอยู่ในแผนที่   ลองนึกถึงสภาพทางกายภาพของภูมิประเทศและการเข้าถึงพื้นที่/จุดต่างๆ ในสมัยที่ทำแผนที่ภูมิประเทศของเรา  ชื่อสถานที่ต่างๆที่อยู่ห่างไกลพื้นที่เมืองก็ย่อมต้องมีความผิดพลาด โดยเฉพาะชื่อเรียกในพื้นที่ๆเป็นป่าเขาต่างๆ   


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 25 เม.ย. 23, 19:00
เมื่อเข้าไปในพื้นที่จริง   ในสมัยนั้นบ้านเมืองของเรายังมีความเห็นต่างในเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองการปกครองและมีการระดมมวลชน  เมื่อเข้าพื้นที่ สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อบอกกล่าวให้ทราบว่ามีคณะสำรวจมาอยู่ในพื้นที่  เมื่ออยู่ในพื้นที่สนามที่จะเดินทำงานก็ต้องพบกำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน หรือหัวหน้าชุมชนบ้านป่า เพื่อบอกกล่าวให้รู้ว่ามาทำอะไร และเพื่อหาจ้างชาวบ้านหนึ่งหรือสองคน นัยว่าเพื่อการนำทาง แต่แท้จริงแล้วเป็นเรื่องของความปลอดภัยในระหว่างเดินสำรวจในพื้นที่นั้นๆ  ในการเดินสำรวจจริงๆ เราไม่ได้เดินไปตามทางทางหรือสถานที่ๆชาวบ้านรู้จัก สภาพก็จึงกลายเป็นการนำพาชาวบ้านไปรู้จักพื้นที่ๆเขาไม่เคยไป   ค่ำคืนแรกในการพบผู้นำชุมชนก็มักจะหนีไม่พ้นเรื่องของการต้อนรับขับขับสู้ นั่งล้อมวงดื่มน้ำเมาคุยกัน  เหล้าสี (แม่โขง)เป็นของที่ผมจำเป็นต้องจัดเตรียมให้มีไว้เสมอ รวมทั้งเครื่องอาหารที่พอจะทำได้ตามสภาพ  ไปอยู่ในพื้นที่ในลักษณะที่ต้องรบกวนเขาหรือเป็นนายเขา ก็จะเป็นบรรยากาศทางลบที่มีแต่จะยังให้เกิดอันตรายแก่ตัวเรา

วงสนทนาที่ให้บรรยากาศที่เป็นมิตร จะมีอะไรดีมากไปกว่าคุยและเรียนรู้เรื่องเขา (เช่น ภาษาถิ่น วิถีชีวิต ธรรมเนียมปฎิบัติ วัฒนธรรม อาหารการกิน ...)   สิ่งที่ได้รับรู้มาจากแต่ละพื้นที่ เมื่อเอามาประมวล ก็เลยพอจะมีข้อสังเกตที่นำมาเล่าสู่กันฟังในกระทู้นี้  ซึ่งก็ลืมไปมากแล้วตามวัย เรื่องราวก็เลยดูจะกระท่อนกระแท่นอยู่มากเลยทีเดียว 


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 26 เม.ย. 23, 19:06
แน่นอนว่า เรื่องหนึ่งที่ต้องคุยกันในวงสมานมิตรก็จะเกี่ยวกับสถานที่ๆจะไป ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องอธิบายกันอย่างยืดยาว เพราะชาวบ้านเขากลัวเราจะพาคนของเขาไปเป็นอันตราย   สิ่งที่ได้มาก็คือชื่อของห้วย ดอย(จุดสูงข่ม) จุดที่สำคัญต่างๆ พร้อมๆไปกับเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง และสถานที่ๆหรือจุดที่แปลกที่เขาอยากจะพาเราไปดู    แหล่งทรัพยากรทางเศรษฐกิจหลายแหล่งได้พบสืบเนื่องมาจากการสนทนาในวงสมานมิตรเช่นนี้

เมื่อคุยกันเรื่องสถานที่ๆจะไป นอกจากจะสอบถามเรื่องของชื่อสถานที่/พื้นที่แล้ว ก็จะมีเรื่องของระยะทางและเวลาที่จะใช้ในการเดินไปและกลับ  ซึ่งมาตรฐานโดยประมาณตามปกติก็คือ เดินในพื้นที่ราบตามปกติ ใน 1 ชม.จะได้ระยะทางประมาณ 4-5 กม.   หากเดินในห้วยจะได้ระยะทางระหว่าง 1-3 กม. ขึ้นอยู่กับเป็นห้วยแห้งหรือหร้อยมีน้ำและลักษณะของพื้นท้องห้วยว่าเป็นเช่นใด (หิน กรวด ทราย) ซึ่งก็จะต้องพิจารณาอีกด้วยว่า ระยะทางเดินในพื้นที่จริงกับระยะทางในแผนที่มันจะต่างกันอย่างมาก ในแผนที่มาตราส่วน 1:50,000 นั้น ระยะ 1 มม.จะเท่ากับ 50 เมตรในพื้นที่ (1 ซม.=500 ม.ในพื้นที่)

เมื่อตั้งคำถามกับชาวถิ่นว่า ไกลใหม ซึ่งก็เป็นคำถามตามปกติ  คำตอบที่ได้รับก็อาจจะมี เช่น บ่อไก๋-ก๊ำเดียว(ไม่ไกลเดี่๋ยวเดียวเอง), ไก่ขันก็ได้ยิน, ระยะสามหลัก(ระยะประมาณ 3 หลัก กม.), ตันกิ๋นข้าวงาย(ทันกินอาหารเช้า), ปิ๊กมาตันกิ๋นข้าวแลง(กลับมาทันกินอาหารเย็น), บึ๊ดนึง(สักพัก), ห่อข้าวไปโตย(ห่อข้าวติดตัวไปด้วย) ...ฯลฯ.   ก็ลองนึกดูว่าเราจะประเมินระยะทางในพื้นที่เช่นใด       


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 เม.ย. 23, 18:02
ก็คงจะประเมินว่าไม่ไกลนัก  แต่เมื่อเดินจริงก็จะพบว่าไกลโขอยู่ทีเดียว  ไก่ขันก็ได้ยินนั้น ลืมนึกไปว่าจุดที่จะไปนั้นอยู่อีกฝั่งของหุบห้วย ใช้เวลาเดินระดับครึ่งวันเลยทีเดียว  เช่นกัน ที่ว่าไปทันกินข้าวเช้า ก็นึกไม่ถึงว่าเขาออกเดินหลังตื่นนอนตอนตีสี่ และเวลาอาหารเช้าของพวกเขาก็จะอยู่ประมาณสิบโมงเช้า ก็หมายถึงใช้เวลาเดินประมาณ 6 ชม.    ระยะสามหลักนั้น คือระยะประมาณ 3 กิโลเมตร  มักจะเกิดจากคำถามของเราเองว่าระยะทางกี่หลัก หลักกิโลเมตรสมัยก่อนนั้นทำด้วยไม้ บางจุดก็หายไปด้วยสาเหตุต่างๆ  ระยะจริงอาจจะหลาย กม. แต่เหลือหลักให้เห็นเพียงเท่านั้น

ก็คงจะพอเห็นภาพว่าภาษาถิ่นนั้น มันพอจะบ่งย้อนไปถึงความเป็นอยู่ วิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม สังคมและวัฒนธรรมของผู้คน   ความหมายของศัพท์และคำพูดของภาษาถิ่นเหล่านั้น อาจจะมีความเป็นจำเพาะที่ต่างออกไปจากที่เทียบเคียงหรือที่แปลมาเป็นภาษากลางดังที่เราเข้าใจกัน 


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 27 เม.ย. 23, 19:04
ย้อนกลับไปที่เรื่องของทางน้ำ 

คำว่า ห้วย เป็นคำที่มีความเข้าใจตรงกันระหว่างความหมายในภาษาถิ่นกับภาษากลาง ทั้งในเชิงของลักษณะทางกายภาพและคุณสมบัติของมัน

เมื่อกลุ่มห้วยเล็กๆส่งน้ำมารวมกันจนเป็นทางน้ำที่มีน้ำไหลตลอดปีหรือเกือบตลอดปี ภาษาถิ่นเหนือจะเรียกทางน้ำสาขาเช่นนี้ว่า น้ำแม่... (น้ำแม่สาย น้ำแม่แจ่ม น้ำแม่กวง น้ำแม่ลาว น้ำแม่สรวย ...ฯลฯ)   เมื่อน้ำแม่...ไหลมารวมกัน ก็จะเรียกว่า น้ำ (น้ำปิง น้ำวัง...)   

ในภาษาอีสานใต้ ทางน้ำสาขาดูจะใช้คำว่า ลำ (ลำตะคอง ลำปลายมาศ ลำน้ำเสียว ลำโดม...ฯลฯ) ในภาษาอีสานเหนือใช้คำว่า น้ำ (น้ำพอง น้ำอูน น้ำเชิญ ...ฯลฯ)  เมื่อลำ...ไหลมารวมกัน ก็จะเรียกว่า น้ำ (น้ำชี น้ำมูล น้ำสงคราม)

ในภาษาใต้ ทางน้ำสาขาดูจะใช้คำว่า คลอง (คลองสก คลองสวี คลองบางหมี...ฯลฯ)  เมื่อคลองไหลมารวมกันก็จะยังคงเรียกว่าคลอง (คลองหลังสวน คลองกระบุรี ?)

คลองในความหมายของภาษาไทยกลาง ให้ความหมายออกไปในทางน้ำที่สามารถใช้สัญจรได้หรือเป็นทางน้ำที่ใช้เป็นแหล่งน้ำสำหรับเรือกสวนไร่นา และใช้คำว่าแม่น้ำสำหรับทางน้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำลึกและไหลตลอดทั้งปี


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 28 เม.ย. 23, 19:41
เมื่อเป็นภาษาไทยกลาง  ซึ่งใช้กันในหมู่ผู้คนที่อาศัยและหาเลี้ยงชีพอยู่ในพื้นที่ราบที่เรียกว่าที่ราบลุ่มเจ้าพระยา  พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ราบที่อยู่ในส่วนปลายของลำน้ำหลายสาย  ตัวแผ่นดินเป็นตะกอนของกรวด หิน ทราย ดิน ที่แม่น้ำนำพามาตกตะกอน (alluvial plain)  ในขณะที่นำพาตะกอนมา ตัวแม่น้ำเหล่านั้นเองก็กัดเซาะร่องน้ำของตัวเอง แกว่งไปทางซ้ายที-ทางขวาที (meandering) หรือไม่ก็ตัดลัดตรงบริเวณที่เป็นคอคอดของทางน้ำ คลองลัด (cut chute) ละทิ้งเส้นทางน้ำไหลแต่เดิม ทำให้ส่วนที่เป็นลำน้ำเดิมตื้นเขิน แปรสภาพไปเป็น'บึง'บ้าง 'หนอง'บ้าง...ตามแต่จะเรียกกัน (oxbow lake)  (รวมทั้งทางน้ำเล็กบ้างใหญ่บ้างที่เป็นส่วนแยกจากลำน้ำหลัก ซึ่งเกิดมาจากน้ำล้นตลิ่ง (natural levee) แล้วไหลเซาะเป็นร่องระบายน้ำออกไป _crevasse spray)  พื้นที่ราบลุ่มเจ้าพระยาก็มีลักษณะพื้นฐานเป็นดังที่ให้ภาพอย่างคร่าวๆดังที่กล่าวมา   แต่ละสถานที่ก็จะมีคำเรียกที่ต่างกันไปตามแต่ละภาษาที่เห็นว่าควรจะใช้คำที่มีคุณสมบัติตรงกับลักษณะนั้นๆเช่นใด
 
ก็เห็นว่า ด้วยที่แอ่งเจ้าพระยาเป็นพื้นที่อู่ข้าวอู่น้ำ เป็นแหล่งรวมของชาติพันธุ์และวิถีชีวิตของผู้คนต่างๆ ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่จะมีการตั้งชื่อเรียกสถานที่ต่างๆตามนิยมของชาติพันธุ์ของตน  เมื่อลักษณะทางธรรมชาติบางอย่างไม่มีคำในความหมายที่จะใช้เรียกในหมู่ตน ก็ต้องเรียกไปตามที่ผู้อื่นเขาเรียกกัน  ภาษาไทยภาคกลางก็เลยมีคำที่คละทั้งเหนือ อีสาน กลาง ใต้ ตะวันออก และของชาติอื่นๆ  ซึ่งอาจจะเป็นเหตุให้คำในภาษาไทยนิยมที่จะมีคำที่มีความหมายคล้ายกันพ่วงอยู่ด้วย  เช่น แม่น้ำแคว ลำน้ำ  ลำธาร  ลำห้วย โต๊ะต่าง ภูเขา ...     


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 เม.ย. 23, 19:19
คำในภาษาไทยกลางแบบพื้นๆดูจะเป็นเรื่องปกติที่จะมีสองคำติดกันหรือเป็นวลี  ซึ่งน่าจะแบ่งออกไปได้เป็นพวกคำต่อท้ายเพื่อขยายความของคำที่เป็นกริยา (เดินไป วิ่งมา กินข้าว ดื่มน้ำ) และที่ขยายความของคำที่เป็นนาม (มะม่วง บ้านใหญ่ หม้อดิน...)   อีกพวกหนึ่งก็เป็นพวกสร้อยคำ ซึ่งส่วนมากจะใช้กันในภาษาพูด (ท้อแท้ ใหญ่โต เที่ยวเตร่ รถรา คันเคิน เที่ยวเท่อว สูงเสิง กินเกิน...)  อีกพวกหนึ่งก็เป็นพวกขยายความให้ครบองค์ประกอบของเรื่องนั้นๆ หรือเป็นลักษณะของวลีที่มีคำหรือเสียงสอดคล้องกัน (กินเหล้าเมายา ขับรถขับรา เทียวไปเทียวมา ...)  แล้วก็พวกคำที่มีสมญานามต่อท้ายต่างๆ

ก็มีข้อน่าสังเกตว่า พวกคำขยายกริยาในลักษณะคำต่อท้ายนั้น จะเหมือนๆกันทุกภาค  แต่คำขยายนามนั้นแต่ละภาคดูจะมีคำเรียกนำหน้าเป็นการเฉพาะ โดยเฉพาะในด้านการบริโภค ในกรณีผลของต้นไม้ก็เช่น ในภาคเหนือใช้คำว่า บะ นำหน้า   ในภาคอีสานใช้คำว่า บัก   ในภาคใต้ดูจะใช้คำว่า ลูก   สำหรับในภาคกลางนั้นโดยพื้นๆก็ใช้คำว่า มะ แต่หากจะให้หมายถึงตัวผลไม้จริงๆก็จะต้องมีคำว่า ลูก เติมไปข้างหน้า  แถมก็ยังมีที่เรียกชื่อไม่เหมือนกับที่ภาษาถิ่นเขาเรียกกันอีก เช่น สับปะรด ที่ภาษาถิ่นเรียกกันว่า บะขะนัด ย่านัด บักนัด


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 29 เม.ย. 23, 19:43
พูดถึงชื่อบักนัดแล้วทำให้นึกถึง เค็มบักนัด ของอุบลราชธานี  เอามาทำเป็นหลนแบบอาหารของคนภาคกลาง กินกับผักสด อร่อยจริงๆครับ 

เค็มบักนัด ได้มาจากการหมักเนื้อปลาสวาย หรือเนื้อปลาเทโพ สับปะรด และเกลือ  หากเป็นของที่พิถีพิถันทำด้วยการหั่นเนื้อปลาและสับปะรดให้เป็นชิ้นลูกเต๋าเล็กๆขนาดประมาณเม็ดถั่วเหลืองละก็สุดยอดไปเลย  กินกับขมิ้นขาว มะเขือตอแหล ฝักลิ้นฟ้าเผา(ฝักเพกา) ผักกาดขาว  หรือกับยอดมะกอกที่เอามาอังไฟแรงๆให้ใบสยบ  อืม์         


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 29 เม.ย. 23, 20:35
หน้าตาเป็นหลนมากค่ะ  ดูน่าอร่อย


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 เม.ย. 23, 19:12
ครับ ก็คือหลนที่ใช้เค็มบักนัดทำ   

หลนทั้งหลาย _ หลนกะปิ หลนเต้าเจี้ยว หลนปูเค็ม หลนแหนม หลนปลาร้าใส่ปลาดุก หลนปลาอินทรีย์เค็ม หลนปลากุเลาเค็ม หลนไข่ปลาริวกิวดอง หลนปลาส้ม หลนส้มฟัก ฯลฯ _ ผักแนมที่จะทำให้มีความอร่อยมากขึ้นควรจะต้องเป็นพวกผักสดที่ออกรสเปรี้ยวนิดๆ โดยเฉพาะพวกใบอ่อนยอดไม้ต่างๆ _ยอดมะม่วง ยอดมะกอก ยอดมะดัน ยอดมะปริง ยอดกาหยี(มะม่วงหิมพานต์) ยอดชะมวง ฯลฯ  ที่ผมชอบจริงๆจะเป็นยอดมะกอกและ ขมิ้นขาว

หลนเป็นอาหารที่ดูจะมีการทำกินเฉพาะในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง โดยเฉพาะในพื้นที่ด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา  ผักแนมที่ดูจะต่างออกไปก็ดูจะเป็นสายบัวสด  ซึ่งสายบัวเองก็เป็นผักพื้นฐานที่มีการนำไปใช้ในการทำอาหารหลายๆอย่างในพื้นที่ จะว่ามีความเป็นเอกลักษณ์ก็น่าจะพอได้ (ผัดสายบัว แกงส้มสายบัว/ไหลบัว แกงกะทิสายบัว ใช้เป็นผักแนม ..)   ที่เห็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ในพื้นที่ด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาอุดมไปด้วยแหล่งนัำที่เป็นส่วนเดิมของแม่น้ำที่โค้งไปโค้งมา ซึ่งเมื่อมีน้ำขังนิ่งอยู่ ตะกอนละเอียดก็จะตกตะกอนเป็นดินโคลนที่พื้นท้องน้ำ ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการเจริญพันธุ์ของต้นบัว   

ในกรณีที่มีน้ำขังในระดับตื้นมากก็จะเหมาะสำหรับต้นกระจับ ต้นแห้ว และต้นบอน   หัวกระจับและหัวแห้ว โดยพื้นๆก็เอามาต้มกินกันเป็นของกินเล่น ก็มีที่เอาไปทำต่อเป็นของหวาน    ส่วนบอนนั้น คนไทยใม่นิยมกินหัวบอน แต่นิยมกินส่วนที่เป็นต้นของมัน ด้วยที่กินแล้วมันคันคอ ก็เลยจะต้องทำให้มันสุกจริงๆจึงจะทำให้กินแล้วไม่รู้สึกคันคอ  เพื่อความแน่ใจ เมนูอาหารก็จึงมักมีการใช้ส้มมะขามเปียกในการปรุงรส (เพื่อกำจัดสารที่ทำให้คัน) ก็เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ปฏิบัติกันในทุกภุมิภาคของไทย      ต้นบุกก็เช่นกัน เผาให้สุกจนนิ่มมากๆคล้ายมะเขือยาวเผา ฉีกให้เป็นเส้น แล้วขยำกับน้ำมะขามเปียก แล้วก็เอามากินเป็นผักแนมกับน้ำพริกได้อย่างอร่อยเหาะเลย 


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 01 พ.ค. 23, 19:05
ในภาษาเหนือ พืชที่เอามาทำอาหารได้ดูจะมีการจัดแบ่งเป็นกลุ่มและใช้ใช้คำนำหน้าชื่อแยกกัน ซึ่งพอจะจับความได้ว่า พวกพืชที่ใช้เป็นเครื่องปรุงในอาหารต่างๆตามปกติ จะขึ้นต้นด้วยคำว่า หอม เช่น หอมแดง หอมขาว(กระเทียม) หอมด่วน(สะระแหน่) หอมป้อม(ผักชี) หอมป้อมเปอะ(ผักชีฝรั่ง)....  พวกที่ขึ้นต้นชื่อว่าหอมเหล่านี้ เป็นพวกที่มีกลิ่นแรง การเพิ่มหรือลดปริมาณมีผลทำให้กลิ่นของอาหารเปลี่ยนไป ทำให้รู้สึกว่าชวนกินหรือไม่ชวนกินได้  ในภาษาอีสานก็มีคำน้ำหน้าแบบนี้เหมือนกัน แต่ดูจะมีน้อยคำ ก็อาจจะเป็นด้วยที่อาหารอีสานพื้นบ้านใช้เครื่องปรุงน้อยกว่าอาหารของภาคเหนือ เช่น หอมแป (ผักชีฝรั่ง) 

พวกพืชที่เอาใบมามาใช้ในลักษณะของผักในแกงและต้มต่างๆ ทั้งเหนือ อีสาน และภาคกลางล้วนใช้คำว่า ผัก น้ำหน้าพืชนิดนั้นๆ เพียงแต่มีชื่อเรียกที่ต่างกันไป เช่น ใบชะพลู (ผักอีเลิด อิสาน, ผักแค ผักปูลิง เหนือ, นมวา ? ใต้)  ชะอม (ผักขะ ผักขา อีสาน).... มีมากมาย นึกไม่ออก ลืม และไม่รู้อีกมาก   มีข้อสังเกตว่า ชื่อของพืชผักที่กินได้ในภาษาไทยกลางทั้งหลายนั้น ดูจะไม่แตกต่างไปจากที่ภาษาใต้เขาใช้กัน

ก็ดูจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ภาษาถิ่นย่อมต้องมีความแตกต่างกันไป   


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 02 พ.ค. 23, 19:48
ก็มีเรื่องให้ชวนให้คิดอยู่หลายๆเรื่อง   

ผู้คนในประเทศไทยเป็นกลุ่มคนที่สื่อสารกันด้วยภาษาตระกูลหนึ่ง เป็นกลุ่มภาษาที่ใช้เสียงสูง-ต่ำผันเสียงที่เปล่งออกมาให้เป็นคำที่มีความหมายต่างกันออกไป ?   ก็ชวนให้คิดว่า กลุ่มผู้คนที่สื่อสารกันด้วยภาษาเดียวกัน แต่หากตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ในลักษณะ/สภาพสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติที่ต่างกัน ก็ย่อมจะต้องมีพัฒนาการทางด้านภาษาและวิถีความเป็นอยู่ของชีวิตที่แตกต่างกันออกไป รวมทั้งรายละเอียดในด้านปฏิบัติทางธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมที่ถือเหมือนๆกัน    ในเรื่องของความแตกต่างของภาษานั้น เรื่องหลักๆก็น่าจะเป็นเรื่องของสำเนียง ซึ่งแม้เราเองที่อยู่ในสภาพทางกายภาพของสังคมในปัจจุบันก็ยังพอเห็นได้ เพียงแต่ถูกบดบังด้วยการต้องใช้ภาษาเขียนเป็นมาตรฐานในการสื่อสารในวงกว้าง ซึ่งจะต่างไปจากภาษาพูดในพื้นที่จริงที่ไม่มีระบบการขยายเสียงตามเสียงของมาตรฐานภาษากลาง  กรณีเช่น ทำให้สำเนียงของผู้คนที่อยู่ในสังคมประเภทบ้านติดกันกับสังคมประเภทบ้านห่างกัน จะออกเสียง/ได้ยินเสียงคำๆเดียวกันไปในวรรณยุกต์เสียงที่ต่างกัน แปรไปตามระยะห่าง  หรือกรณีจากเสียงรบกวน เช่น เสียงจากน้ำไหลในบริเวณหัวแก่ง/ท้ายแก่ง...     รถเครื่อง เป็นรถเครื้องก็มีให้เห็น  ตำรองพาโด๊ะ(ตลิ่งสูง) เป็นวังปาโท้ก็มี เป็นวังปาโท่ก็มี เป็นวังปลาโท่ก็มี ในปัจจุบันดูจะมาหยุดอยู่ที่ วังปาโท่       


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 04 พ.ค. 23, 19:23
เรื่องชวนให้คิดอีกเรื่องหนึ่งก็คือ   เมื่อพยายามหาข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องของชาติพันธุ์และภาษา ก็พบว่าภาษาถิ่น(น่าจะ)เกือบทั้งหมด มีการจำแนกออกไปให้เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์  ซึ่งก็พบว่า มีคำพูดและศัพท์เป็นจำนวนมากที่มีความหมายหรือใช้เรียกของต่างๆเหมือนๆกัน (เช่น ขัว_สะพาน, ย่าง_เดิน...) หากแต่จะออกเสียงเพี้ยนกันไปจากเหตุของความสามารถในการฟังหรืออื่นใด แล้วมีการส่งทอดต่อกันไป     เรื่องของการเปล่งเสียง (pitch, tone ...) ดูจะมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ไม่น้อยในเรื่องของการจำแนกกลุ่ม ก็ไม่รู้ว่ามีการให้ความสนใจมากน้อยเพียงใดในด้านของการแต่งกายและอาหาร ซึ่งแต่ละกลุ่มก็ดูจะไม่ค่อยจะเหมือนกันในทางพื้นฐานความคิด


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 05 พ.ค. 23, 19:56
ที่จัดว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันนั้น โดยนัยก็น่าจะหมายรวมถึงลักษณะทางสังคม วัฒนธรรม และปรัชญาในด้านการดำรงชีวิต  ซึ่งก็น่าจะต้องมีในเรื่องของของความเหมือนที่ตั้งอยู่บนฐานของภูมิปัญญาของกลุ่มรวมอยู่ด้วย (เช่น การทำ/ใช้หลุกวิดน้ำ การถนอมอาหาร  การทำ/ใช้ประโยชน์พื้นที่ทำกิน  การใช้สมุนไพรบางชนิด ...)  รวมทั้งความเชื่อในบางเรื่อง เช่น ให้เอามืดอีโต้เสียบร่อง(กระดาน)พื้นบ้าน เพื่อผ่าลมออกไปไม่ให้พัดจนบ้านพัง  ไม่กินเนื้อสัตว์ปีกตัวใหญ่ในหมู่เพื่อน จะทำให้แตกคอกัน ...

ก็เล่าไปตามที่ตัวเองได้สัมผัสมาเมื่อหลายสิบปีก่อน เป็นภาพในสมัยที่การเข้าถึงหมู่บ้าน/ชุมชนระดับจิ๋วต่างๆ และลักษณะความเป็นเมืองยังแผ่ไปไม่ถึงสำหรับผู้คนห่างไกล    ซึ่งเห็นว่าไม่ค่อยจะสอดคล้องกับที่เคยสัมผัสมากับเรื่องทางวิชาการเมื่อได้หาอ่านหาความรู้เพิ่มเติมในภายหลัง  เช่น กรณีเรื่องของชาวไทพวน...     ทั้งหลายทั้งมวลก็เข้าใจอยู่ว่า ประเพณีและวัฒนธรรมนั้น ลักษณะจำเพาะที่เราสัมผัสกันอยู่ในปัจจุบันนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากการผสมผสานกัน บ้างก็ในด้านของ assimilation บ้างก็ในด้านของ dissemination 


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 06 พ.ค. 23, 19:22
ที่เล่ามาทั้งหลาย ดูจะเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆที่ไม่ผูกพันกันเป็นเรื่องราวใดๆเลย  ก็นำมาเล่าเพื่อนำเสนอข้อมูลตามที่ตนเองได้ประสบจริงที่อาจจะเป็นประโยชน์ในเรื่องต่างๆอื่นใด    คิดว่า แล้วก็คงจะมีการไปเปิดเว็ปหาข้อมูลเพื่อตรวจสอบหรือหาข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งก็จะได้รู้จักคำและคำศัพท์ภาษาถิ่นต่างๆเพิ่มขึ้นอีกมากมาย  ซึ่งก็น่าจะทำให้พอจะสรุปกันอย่างคร่าวๆเป็นสมมุติฐานของแต่ละคนได้ว่าอะไรเป็นอะไร      ก็อาจจะทำให้เกิดเป็นกิจกรรมที่ให้ความรู้สึกยินดี มีสุขมากขึ้นในการเดินทางท่องเที่ยวและการพบปะสนทนากับบุคคลต่างถิ่น


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 07 พ.ค. 23, 10:53
ตามอ่านมาเรื่อยๆ ด้วยความเพลิดเพลิน    คุณตั้งทำท่าว่าจะจบเสียแล้ว
อยากจะขอให้อธิบายตรงนี้หน่อยค่ะ   ยังไม่เข้าใจ

อ้างถึง
ทั้งหลายทั้งมวลก็เข้าใจอยู่ว่า ประเพณีและวัฒนธรรมนั้น ลักษณะจำเพาะที่เราสัมผัสกันอยู่ในปัจจุบันนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากการผสมผสานกัน บ้างก็ในด้านของ assimilation บ้างก็ในด้านของ dissemination
คืออะไรคะ


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 07 พ.ค. 23, 19:53
ขออภัยเป็นอย่างสูงครับ  เป็นข้อความที่ห้วนและสั้นมากเลยทีเดียว  เรื่องของเรื่องมาจากเหตุว่า ใกล้จะสองทุ่ม เลยเวลา 'ข้าวแลง' (มื้อเย็น)มานานแล้ว  ก็เลยตัดส่วนขยายความที่ดูจะยืดยาวออกไป แล้วก็ใช้ภาษาอังกฤษเข้าไปช่วยขยาย ที่จริงแล้วสาระที่จะกล่าวถึงคือเรื่องของกระบวนทัศน์ (paradigm)

โดยสรุปก็คือจะบอกเล่าว่า  ดังกรณีของไทพวนนั้น มีการตั้งรกรากกระจายอยู่เกือบจะในทุกภาคของประเทศไทยเรา จะยกเว้นก็เฉพาะในภาคใต้ (ไม่รู้ว่า ต่ำไปกว่า อ.ท่ายาง เพชรบุรี แล้วจะยังมีหรือไม่)    ในภาคเหนือ ก็เช่นที่ ทุ่งโฮ้ง จ.แพร่   ในภาคกลางก็เช่นในพื้นที่ อ.วิหารแดง สระบุรี   ในภาคตะวันตกก็เช่นที่ในพื้นที่ อ.บางปลาม้า สุพรรณบุรี, อ.พนมทวน กาญจนบุรี    ในพื้นที่ภาคตะวันออกก็เช่นในพื้นที่ พนมสารคาม ฉะเชิงเทรา    ในอีสานเหนือก็เช่นในพื้นที่อุดรธานีและหนองคาย   

ก็พอจะเห็นว่ามีความความแตกต่างกันมากในเกือบจะทุกด้านจนเกือบจะไม่เหลือความเหมือนกันในด้านใดให้เราเห็น  (ในเรื่องอาหารและวิธีการทำ ในเรื่องการเสื้อผ้าอาภรณ์และการแต่งกาย ....)   

ขอต่อวันพรุ่งนี้ครับ   


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 พ.ค. 23, 18:50
ในความไม่เหมือนกันนั้น แท้จริงแล้วก็ดูจะมีรากที่มาเหมือนๆกันอยู่ เช่น ปลาร้า ซึ่งเชื่อว่าเราจะเห็นภาพของปลาร้าคล้ายๆกัน  แต่ที่เรียกว่าปลาร้าของภาคเหนือ โดยส่วนมากแล้วจะเป็นปลาคลุกเกลือแล้วตากหนึ่งแดดแล้วเอามาคลุกข้าวคั่วแล้วตากแดดจนแห้ง แต่ก็มีแบบที่หมักเก็บไว้ ดูจะเรียกว่า ปลาร้าหนอง ? คือ ไปจับปลาก้นหนองน้ำที่นำกำลังจะแห้งขอด แล้วเอาปลาเล็กปลาน้อยเหล่านั้นมาหมัก     ปลาร้าทางภาคใต้ก็มี  ที่มีเด่นออกมาก็คือปลาดุกร้าของพัทลุง ซึ่งจะออกรสหวานปะแล่ม เอามาทอดกินอร่อยมาก ครับ   ปลาร้าของภาคอีสาน จะเป็นประเภทหมักเก็บใว้ในใหทั้งหมด  ในภาคกลาง คำว่าปลาร้าดูจะหายไป  ที่จะมีความใกล้กันก็ดูจะเป็นที่เรียกว่ากะปิมอญ ใส่แทนกะปิเคยในน้ำพริกแกงป่า จะทำให้รสแกงที่อร่อยมาก (ใช้พริกแห้งเม็ดเล็กเพื่อความเผ็ดแบบร้อนครึ่งต่อครึ่งกับพริกแห้งเม็ดใหญ่ที่ให้รสเผ็ดอย่างเดียว หอม กระเทียมไทย ข่า ตะไคร้ ผิวมะกรูดมากหน่อย ดอกกระเพราแดง/กระเพราขาว กะปิมอญ ผัดน้ำพริกให้หอมฉุน ใส่เนื้อสัตว์ รวนเนื้อพอสุก เติมน้ำ พอเนื้อสุกดีก็ใส่มะเขือเปราะ มะเขือพวง และมะเขือขื่นปริมาณมากหน่อย ปิดฝาหม้อ ราไฟ  กินกับข้าวสวยหุงแบบเทน้ำ กับไข่เจียวฟูๆ  ;D)   


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 08 พ.ค. 23, 20:09
ชวนให้คิดว่า  ล้านนา โดยเฉพาะเชียงใหม่นั้น อยู่ในอิทธิพลของมอญมานับร้อยปี ได้รับประเพณีและวัฒนธรรมจากมอญในหลายๆเรื่อง ที่ตกค้างให้เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ก็ดูจะมีอยู๋ไม่มากนัก ในด้านอาหารที่เด่นออกมาก็น่าจะเป็น ข้าวซอย และแกงฮังเล   ในด้านตนตรีก็น่าจะเป็นลักษณะของเครื่องดนตรีที่ใช้ในวงดนตรีปี่พาทย์ล้านนา....  ที่น่าสนใจก็คือ อิทธิพลทางด้านดนตรี นี้ดูจะไม่ข้ามเส้นหรือเป็นที่ยอมรับของผู้คนในแอ่งเชียงราย น่าน พะเยา แพร่ ... และก็ดูไม่ลงต่ำไปจนถึงแถว อ.สบปราบ อ.เถิน อ.ลี้ จ.ลำปาง   กระทั่งในเรื่องของอาหาร (ข้าวซอย แกงฮังเล...) ก็ดูจะไม่เป็นเมนูนิยมในพื้นที่เหล่านี้   เพลงพื้นบ้านในภาคเหนือที่ใช้ ปี่แน ก็ดูจะไม่ข้ามเส้นนี้เช่นกัน ดูจะยังนิยมเพลงที่เล่นด้วย ปี่จุ่ม กันอยู่    ลักษณะของดนตรีเช่นนี้ ดูจะไม่มีตกค้างอยู่ในพื้นที่ภาคกลางเลย   


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 08 พ.ค. 23, 20:45
 :)


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 09 พ.ค. 23, 20:14
ที่ว่าชวนให้คิด นั้น  ประเด็นก็คือ ภาษานั้นอาจจะมิใช่ส่วนสำคัญของเครื่องบ่งชี้ในเรื่องของการจัดกลุ่มชาติพันธุ์   เห็นว่า หากใช้หลักยึดถือในการดำเนินชีวิตเป็นพื้นฐานแรกเริ่มในการจำแนกกลุ่มต่างๆ  ซึ่งในองค์รวมก็จะมีเช่น เรื่องของความเชื่อ (สำนึกส่วนลึกทางจิตวิทยาด้านตรรกะความคิดต่างๆ)     เรื่องของวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการงานต่างๆ ที่สร้างขึ้นมาบนฐานของภูมิปัญญาที่ส่งต่อถ่ายทอดกันมา (เรื่องของ action ที่ยังให้เกิดผลสัมฤทธิ์)    และเรื่องของวัฒนธรรมและและประเพณีบางอย่าง เช่น การเรียกลูก คนแรก คนที่สอง คนที่สาม...  ลักษณะรูปทรงของมีดมาตรฐานที่ใช้ในการทำครัว(มีดลาบ)และรูปทรงของมีดที่ใช้ทั่วๆไปเมื่อเข้าป่า ไร่ สวน นา และในการหาอาหาร .....     

กรณีคิดนอกวงการเช่นนี้ เราก็อาจจะจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ได้ไปในอีกแบบหนึ่ง   ก็อาจจะพิจารณาได้ว่า การพูด คำที่ใช้ และศัพท์ก็อาจเป็นเพียงเรื่องของการเอาภาษาและสำเนียงของถิ่นอื่นมาผสมผสานใช้ แล้วกลายภาษาของเป็นของกลุ่มชาติพันธุ์ (กลายเป็นภาษาถิ่นไป)     ในยุโรป คำ ละศัพท์ที่ใช้กัน มีเป็นจำนวนมากที่เป็นคำและศัพท์ที่มีความหมายเดียวกัน หากแต่ออกเสียงต่างกัน สะกดต่างกัน  ในหลายกรณีก็ดูจะมีความหมายที่มีนัยลึกๆต่างกันเช่นกัน  ซึ่งทั้งมวลก็ดูจะเป็นผลที่โยงไปไกลถึงเรื่องของการค้าขายตามแม่น้ำดานูบตั้งแต้ต้นน้ำจนลงทะเลดำที่เกิดขึ้นมายาวนานนับเป็นพันๆปี 
 


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 พ.ค. 23, 19:18
ดูจะกำลังถลำลึกเข้าไปในเรื่องของศัพท์สองคำ คือ เชื้อชาติ (race) กับ เผ่าพันธุ์ (ethnic)   เชื้อชาติจะเน้นไปในเรื่องของลักษณะทางกายภาพ  เผ่าพันธุ์จะเน้นไปในเรื่องทางด้านวิถีการดำเนินชีวิต วัฒนธรรมและประเพณี    แล้วก็มีคำว่า ชาติพันธุ์ ซึ่งดูจะมีความหมายตรงกับศัพท์คำว่า ethnicity  ซึ่งเน้นไปทางด้านเทือกเถาเหล่ากอ สายใยที่โยงกัน และสิ่งที่ส่งทอดสืบต่อกันมา

เมื่อพิจารณาตามนัยของความหมายของศัพท์ที่ใช้ดังที่กล่าวมา  ก็อาจจะเป็นเรื่องน่าสนใจในการลองพยายามจัดกลุ่มชาติพันธุ์บนฐานของการจัดกลุ่มข้อมูลในอีกรูปแบบหนึ่ง   

ลาวพวนที่มีถิ่นอาศัยกระจายอยู่ทั่วไปอาจจะเป็นกรณีน่าศึกษา  ดูจะเห็นความต่างกันในหลายๆเรื่อง แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะอพยพมาจากพื้นที่ต้นทางเดียวกัน    เมื่อดูจากภาพเก่า สิ่งหนึ่งที่ดูจะเห็นเด่นออกมาก็คือลักษณะของบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ที่ดูจะแตกต่างกันค่อนข้างมากที่เห็นในภูมิภาคต่างๆของเรา  กระทั่งการแต่งกายที่แม้จะมีทรงนิยมที่ไม่ต่างกันนักก็ตาม

ขอหยุดข้ามเส้นแดนวิชาการตรงนี้นะครับ  ;D       


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 10 พ.ค. 23, 19:33
ก็มีอยู่คำหนึ่งที่น่าสนใจ คือ คำที่ใช้เพื่อแสดงถึง การพ่ายแพ้ และ การชนะ  ซึ่งเห็นว่ามันเป็นคำที่แสดงให้เห็นถึงกระบวนทัศน์ลึกๆของผู้คน

ขอเริ่มด้วยวลีว่า 'คิงแป้ ฮาก้าน'


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 10 พ.ค. 23, 19:53
ลาวพวน หรือไทพวน


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 พ.ค. 23, 20:08
(คิง คือคนที่เราพูดด้วย ฮา คือตัวเรา เป็นคำที่ใช้พูดกันในหมู่เพื่อน)

แป้(แป่) กับ ก๊าน(ก้าน) ความหมายที่ใช้กันทั่วไป คือ แป้ = ชนะ  ก็าน = แพ้  โดยนัยแล้วดูจะตรงกับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า beat และ  กับ defeat  มิใช่ในลักษณะของ win กับ lose ตามนัยของภาษาไทยกลาง   ซึ่งในภาษาไทยกลางดูจะใช้ในความหมายของผลลัพท์สุดท้ายของการ 'ประ' กัน ไม่ว่าจะ'ประ'กันในลักษณะหรือรูปแบบใดๆ 

ที่ว่าน่าสนใจก็คือ ลักษณะของประโยคที่ใช้คำเหล่านี้ ดูจะแสดงถึงสภาพของสังคมและอุปนิสัยใจคอของผู้คน  อธิบายเช่นนี้ก็แล้วกันครับ  กรณีสองฝ่ายทะเลาะกัน แล้วฝ่ายหนึ่งยกพวกไปตีเขา หากผลลัพท์ออกมาว่าฝ่ายรุกชนะก็จะใช้คำว่า beat หากฝ่ายรับสามารถไล่พวกนั้นกลับไปได้ ก็จะใช้คำว่า defeat     แต่หากเป็นกรณีการยกพวกตีกัน จะใช้คำว่า win สำหรับฝ่ายที่ชนะ และ lose สำหรับฝ่ายที่แพ้ 

ในภาษาไทยกลาง ดูจะมีแต่วลีว่า 'มึงแพ้กู' 'กูชนะมึง'    ในภาษาถิ่น ดูจะออกไปอีกแนวหนึ่งว่า 'มึงชนะ กูแพ้'  'เอาชนะมันได้' หรือ 'เอาชนะมันได้/ไม่ได้'     


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 12 พ.ค. 23, 20:13
ดูจะเป็น attitude ของผู้คนในสายพันธุ์เดียวกัน หรือ ต่างสายพันธุ์ ที่น่าจะส่งต่อกันมาทางยีนส์ ?


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 13 พ.ค. 23, 19:14
เมื่อเข้าไปอยู่ในพื้นถิ่นต่างวัฒนธรรม ต่างภาษา ต่างสำเนียง ต่างชาติพันธุ์  จะมีเรื่องหนึ่งที่ต้องอยู่ในเรื่องที่ต้องเรียนรู้ก็คือ คำด่าเมื่อโกรธ และคำสบถต่างๆ  ด้วยเห็นว่ามันก็เป็นสิ่งที่แสดงออกถึงคุณสมบัติภายในจิตใจลึกๆอย่างหนึ่งของแต่ละชาติพันธุ์ รวมทั้งลักษณะทางสังคม วัฒนธรรม และความเชื่อ  ทั้งนี้ แม้ว่าคำหลายคำเหล่านั้นจะได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอื่นๆในภายหลัง ก็ยังมีลักษณะของการนำมาใช้ด้วยการลด/เพิ่มความรุนแรงด้วยวลีที่ใช้   

เท่าที่ประสบมา คำด่าในระดับที่แรงในกลุ่มภาษาเหนือจะมีลักษณะเป็นการเปรียบเทียบกับสัตว์ เช่น ชาติหมา  ของภาคอีสานและภาคใต้จะออกไปทางสาบแช่งเป็นภูติผี   สำหรับคำด่าในภาษาไทยกลางดูจะเน้นไปที่พ่อแม่   คำด่าของพม่าและกะเหรี่ยงก็เน้นไปที่พ่อแม่เช่นกัน

น่าสังเกตว่า ในภาษาเหนือ อีสาน และใต้  ดูจะไม่มีคำก่นด่านำหน้าประโยคที่สนทนากันในหมู่เพื่อนสนิท จะได้ยินจนเป็นปกติก็ในภาษาไทยกลาง และโดยเฉพาะที่ใช้กันในพื้นที่เมือง ซึ่งดูจะเป็นการแสดงออกของลักษณะ/อุปนิสัยของผู้คนที่ขี้บ่น ขี้รำคาญ ใจร้อน และรู้สึกอยู่ในใจเสมอว่าอะไรก็ไม่เป็นดังที่ใจคิด ตนเองเป็นใหญ่ คิดอะไร ทำอะไรก็ต้องถูกทั้งหมด... ฯลฯ   ซึ่งก็แปลกอยู่ ที่เกือบจะไม่ได้ยินลักษณะของการใช้ภาษาลักษณะนี้ในหมู่ผู้คนที่กลับมาเยี่ยมบ้านในต่างจังหวัด  ก็อาจจะแสดงถึงซึ่งความต่างกันอย่างเกือบจะสิ้นเชิงระหว่างสังคมที่อยู่ในสภาพของความเครียดในเมืองกับสังคมที่ผ่อนคลายในต่างจังหวัด         


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 14 พ.ค. 23, 19:12
นึกไปถึงประสบการณ์ที่ได้มาจากการทำงานในพื้นที่ต่างๆกันเรื่องหนึ่งว่า มันมีช่องว่างของคำ/ศัพท์ที่จะใช้ในการบอกเล่าหรืออธิบายเรื่องทางความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร หรือทางวิชาการ ที่จะใช้สื่อสารให้มีความเข้าใจหรือได้เห็นภาพที่ตรงกันระหว่างการใช้ภาษากลางกับภาษาถิ่น

ลองนึกถึงคำง่ายๆ คำว่า ผัด และคำว่า คั่ว ในความหมายของภาษาไทยกลางที่เราเข้าใจในความต่างกัน  แต่ในภาษาถิ่น(เหนือและอีสาน) คั่วกับผัดมันก็ดูจะไม่ต่างกันมากนัก   หรือเช่นวลีว่า ไปหาหมอ ซึ่งในความหมายของภาษาไทยกลาง จะหมายถึงไปหาแพทย์ แต่ในพื้นถิ่นจะไม่เน้นว่าต้องเป็นแพทย์ ก็จึงอาจเป็นเพียงนางพยาบาลหรือผู้ที่สามารถให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นได้ (ทำแผล ให้ยาแก้ปวดหัว...)  หรือเรื่องของการตวงสิ่งของ เช่นกรณีเรื่องเกี่ยวกับข้าว ข้าวเปลือกที่เก็บเกี่ยวได้จากนาข้าวหนึ่งกระสอบ ในหลายๆพื้นที่มิได้หมายถึงกระสอบข้าวมาตรฐาน 100 กก. แต่อาจจะเป็นตามจำนวนของกระสอบปุ๋ย ซึ่งก็จะมีทั้งกระสอบขนาดบรรจุปุ๋ย 30 กก. และ 50 กก.  ......

กรณีที่กล่าวถึงนี้ก็เป็นเรื่องมองคนละมุมเช่นกัน   ถามชาวบ้านว่า ปีนี้ทำนาได้ข้าวดีใหม ชาวบ้านตอบ(ดังที่กล่าวมา)   สำหรับพ่อค้าวิเคราะห์ในภาพหนึ่ง สำหรับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องวิเคราะห์ในอีกภาพหนึ่ง  ในหมู่ชาวบ้านก็มองไปในอีกภาพหนึ่ง .....

การพูดคุยกันระหว่างเราคนเมือง(กรุง)กับชาวบ้านให้มีความเข้าใจตรงกันอย่างแท้จริงจึงเป็นเรื่องที่จะต้องใช้เวลาในการสนทนา  น่าคิดว่า น่าจะต้องมีการพัฒนาภาษาสื่อสารในเรื่องเช่นนี้เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันในระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย   


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 30 พ.ค. 23, 18:44
เว้นวรรคเขียนกระทู้ไปสองสัปดาห์ ด้วยเหตุสองประการ  แรกคือเรื่องของการเจ็บป่วยเกี่ยวกับกล้ามเนื้อบริเวณข้อศอกและต้นคอกำเริบขึ้นมา ทางการแพทย์หรือทางวิชาการกายภาพบำบัดดูจะเรียกกันว่าเป็นอาการ Gofer's elbow  และอีกเรื่องก็คือ หลบไปปลีกวิเวก ดำเนินวิถีชีวิตแบบเรียบง่ายและง่ายๆแบบชาวบ้านในพื้นที่ไกลปืนเที่ยง

อาการ Gofer's elbow เกิดขึ้นได้กับทุกคนที่ทำงานในลักษณะนั่งเขียนและใช้คอมพิวเตอร์ในแต่ละวันเป็นระยะเวลานานหลายชั่วโมงต่อเนื่อง ผมเป็นคนที่ไม่เล่นกอล์ฟ เพราะเห็นว่าจะเป็นการดีกว่าที่จะเอาเวลาเพื่อประโยชน์ของตนไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับลูกและครอบครัว   อาการเจ็บป่วยที่เรียกว่า Gofer's elbow  นี้รักษาหรือบรรเทาได้ด้วยการบริหารร่างกายเพื่อการผ่อนคลายกล้ามเนื้อช่วงช้อศอก สะบักใหล่ และคอ  และก็ต้องหันไปปรับลักษณะของโต็ะ ที่นั่ง และลักษณะการนั่งของตัวเองให้เหมาะสม รวมทั้งต้องจัดให้มีช่วงเวลาของการพักและเปลี่ยนอริยาบทที่เหมาะสมของตนเอง 

สำหรับการปลีกวิเวกของผมก็คือ การปลีกตัวเองออกไปใช้ชีวิตช่วงหนึ่งในสิ่งแวดล้อมของสังคมที่เรียบง่าย ในบรรยากาศที่ตั้งอยู่บนฐานของความเป็นจริงมากกว่าบนฐานที่มีการปรุงแต่งหรือหลอกลวง


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 30 พ.ค. 23, 18:55
ต้อนรับกลับเรือนไทยค่ะ
อยากให้คุณตั้ง ตั้งกระทู้ใหม่  เล่าถึงชีวิตในสังคมที่เรียบง่ายว่าเขาอยู่กันอย่างไร   มีความประทับใจอย่างไรบ้าง   ถ้าไม่อยากระบุชื่อถิ่น หรือสถานที่ที่ไปอยู่ ก็เว้นชื่อเสียก็ได้ค่ะ

บ้านของดิแันตอนนี้ก็เหมือนกรุงเทพเข้าไปทุกทีแล้วค่ 


กระทู้: ภาษากลาง / ภาษาถิ่น
เริ่มกระทู้โดย: naitang ที่ 31 พ.ค. 23, 17:46
OK ครับ   นึกถีงเรื่องราวที่พึงมีในกระทู้ใหม่แล้ว ก็เห็นว่า เรื่องราวของกระทู้นี้ก็เป็นส่วนเล็กๆน้อยๆที่จะปรากฎอยู่ในกระทู้ใหม่อยู่แล้ว 

แต่ก็จะต้องขออภัยไว้ล่วงหน้าว่า ด้วยที่เรื่องราวที่กล่าวถึงในกระทู้ต่างๆของผม(ที่ผ่านมาและต่อๆไป)นั้นเป็นการดั้นสด ประกอบกับความสามารถต่างๆ (การทบทวนความจำ การคิด การเขียน และการลำดับความ ... ที่ไม่ค่อยจะดีอยู่แล้ว) ได้ลดลงไปค่อนข้างมากตามวัย และยังประกอบกับการพิมพ์ผิด-พิมพ์ถูกอีกด้วย  เรื่องราวต่างๆจึงอาจจะอยู่ในลักษณะของเรื่องเดินช้าและกระโดดไป-กระโดดมา  :D