เรือนไทย

General Category => ประวัติศาสตร์ไทย => ข้อความที่เริ่มโดย: กันเกรา ที่ 13 พ.ย. 23, 11:31



กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: กันเกรา ที่ 13 พ.ย. 23, 11:31
อยากขออนุญาตฝากตัวนะคะ (ได้รับความรู้มากมายจากกระทู้ต่าง ๆ ในเรือนไทย) และมีสามคำถามอยากขอสอบถามท่านผู้รู้ค่ะ (กระทู้ยาวนิดหนึ่งนะคะ และอาจจะเป็นเรื่องที่ปลีกย่อย แต่อดสงสัยไม่ได้จริง ๆ จึงอยากขอความรู้จากทุกท่านนะคะ)

คำถามแรกคือมีโอกาสทราบ(จากกระทู้ขุนนางวังหน้าและนิพพานวังหน้า) ว่าในช่วงรัตนโกสินทร์ หากกรมพระราชวังบวรสถานมงคลสวรรคต ข้าราชการฝ่ายหน้าของวังหน้าจะย้ายไปทำราชการที่วังหลวง ส่วนเจ้านายฝ่ายในสามารถประทับที่พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ต่อ  หรืออาจจะย้ายไปประทับที่วังเจ้านายต่าง ๆ หรือย้ายเข้าไปประทับที่พระบรมมหาราชวัง (วังหลวง) แต่ช่วงเวลาหลังจากกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคตก่อนพระราชพิธีบวรราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นเวลายาวนานเกือบยี่สิบปี  วังหน้าทรุดโทรมจนราษฎรเรียกว่า "สวนพันชาติ" (ตำรวจปลูกบ้านและปลูกผักจนถึงพระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน) และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าออกพระโอษฐ์ว่า "วัดร้าง" บริเวณฝ่ายหน้าน่าจะร้างมาก ๆ (แต่ยังมีตำรวจอยู่นะคะ)  เจ้านายฝ่ายในประทับในส่วนของฝ่ายในที่วังหน้าได้จริง ๆ หรือคะ (ดูไม่น่าจะปลอดภัยแม้ว่าจะยังมีตำรวจอยู่ก็ตาม) หรือมีความเป็นไปได้สูงที่ทุกพระองค์น่าจะย้ายเข้าประทับในวังหลวงหรือย้ายไปประทับที่วังเจ้านายอื่น ๆ ทั้งหมด

กันเกรากำลังศึกษาพระประวัติของเจ้านายฝ่ายในวังหน้าพระองค์หนึ่งคือสมเด็จพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดวงจันทร์ พระธิดาในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทค่ะ (เนื่องจากทรงมีพระชันษายืนยาว เป็นเจ้านายฝ่ายในวังหน้า 5 แผ่นดิน) ทำให้เกิดคำถามนี้ค่ะ พระประวัติของพระองค์เจ้าดวงจันทร์จาก "ปฐมวงศ์" (พระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 4) คือทรงรับราชการในสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ตราบจนสวรรคต  และทรงย้ายไปรับราชการในพระบรมมหาราชวัง (วังหลวง) "อยู่จนสิ้นแผ่นดินนั้น" (น่าจะหมายถึงสิ้นรัชสมัยรัชกาลที่ 2) แสดงว่าทรงเลือกประทับวังหลวงตลอดรัชกาลที่ 2  พระประวัติปรากฏอีกครั้งในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 เสด็จวังหน้าเพื่อพระราชทานต้นไม้เงินต้นไม้ทองเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดวงจันทร์เพราะทรงมีพระชันษา 73 ชันษาเท่ากับพระชนมายุของล้นเกล้ารัชกาลที่ 1 (และเป็นพระราชธรรมเนียมสืบต่อมาสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ที่พระชันษายืนยาว) แสดงว่าพระองค์เจ้าดวงจันทร์ประทับที่วังหน้าในรัชสมัยของล้นเกล้ารัชกาลที่ 4

กันเกราอดสงสัยไม่ได้ว่าพระองค์เจ้าดวงจันทร์ประทับที่ใดในช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 3 ค่ะ พระองค์เจ้าดวงจันทร์ประทับที่วังหลวงหรือวังหน้า หรือเสด็จกลับไปประทับที่วังหน้าเมื่อสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพอุปราชภิเษกและทรงย้ายกลับวังหลวงหรือประทับวังอื่น ๆ หลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ สวรรคต และเสด็จประทับวังหน้าอีกครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวบวรราชาภิเษก หรือ ง. ถูกทุกข้อ  มีความเป็นไปได้เท่า ๆ กันทั้ง 3 แบบ (ทำให้อดรู้สึกไม่ได้ว่านอกจากข้าราชการวังหน้าจะระหกระเหิน เจ้านายวังหน้าทรงย้ายที่ประทับหลายครั้งเช่นกัน)

จึงเป็นที่มาของคำถามที่ 2 ที่อยากขออนุญาตสอบถามนะคะ ตามพระราชประเพณี หากสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ พระองค์ใหม่อุปราชาภิเษก เจ้านายฝ่ายในวังหน้าที่ประทับในวังหลวงต้องเสด็จกลับประทับวังหน้าไหมคะ หรือทรงเลือกที่ประทับตามพระอัธยาศัยได้ (เอกสารอื่นระบุว่าในช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 2 ที่สวนขวามีแพของเจ้านายฝ่ายในของวังหน้า 4 พระองค์คือแพของพระองค์เจ้าดวงจันทร์และพระขนิษฐา และแพของพระธิดาของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ 2 พระองค์  (พระองค์เจ้าประชุมวงศ์และพระองค์เจ้านัดดา พระราชนัดดาในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและล้นเกล้ารัชกาลที่ 1)  เจ้านายฝ่ายในวังหน้าทั้ง 4 พระองค์ต้องทรงกลับไปประทับที่วังหน้าหลังพระราชพิธีอุปราชาภิเษกของสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 ไหมคะ หรือทรงเลือกประทับวังหลวงต่อได้) 


อีกเรื่องที่อดสงสัยไม่ได้คือในรัชสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 3 (ซึ่งเป็นช่วงที่กันเกราสนใจมาก ๆ) โปรดเกล้าให้เปลี่ยนตำหนักในพระบรมมหาราชวังจากตำหนักไม้เป็นตำหนักก่ออิฐถือปูน (ทำให้เกิดการย้ายตำหนักแดง พระที่ประทับของสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ไปยังพระราชวังเดิม) โดยส่วนตัวกันเกราเชื่อว่าการเปลี่ยนตำหนักต่าง ๆ เป็นตำหนักก่ออิฐถือปูนเป็นประโยชน์ในการป้องกันอัคคีภัยมาก ๆ ค่ะ (และอาจเป็นการเลือก "บางกอก" เป็นเมืองหลวงถาวร) ระหว่างการก่อสร้าง(ซึ่งน่าจะใหญ่มาก)นี้เจ้านายฝ่ายในประทับที่ใด (อาจจะมีการก่อสร้างเป็นส่วน ๆ ย้ายที่ประทับชั่วคราวไปส่วนที่ยังไม่ก่อสร้าง และย้ายกลับมาเมื่อก่อสร้างเสร็จ อันนี้เดานะคะ เดาล้วน ๆ)  ขออนุญาตสอบถามทุกท่านนะคะ และขออภัยที่กระทู้ยาวมาก ๆ ค่ะ 



กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 พ.ย. 23, 13:04
ถ้าคุณกันเกราตั้งคำถามเป็นข้อๆ   จะทำให้อ่านง่ายตอบง่ายค่ะ  

ขอยกหลักฐานจากพระนิพนธ์ตำนานวังหน้าของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ตอนหนึ่งกล่าวถึงวังหน้าในต้นรัชกาลที่ 4 ว่า

“ซุ้มประตูแลป้อมปราการรอบวังหักพังเกือบหมด กำแพงวังชั้นกลางก็ไม่มีท้องสนามในวังหน้า ชาวบ้านเรียกว่า สวนพันชาติ เพราะพันชาติตำรวจในวังปลูกเหย้าเรือนอาศัย และขุดท้องร่องทำสวนตลอดไปจนถึงหน้าพระที่นั่งศิวโมกข์พิมาน“

ทั้งนี้กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ สิ้นพระชนม์เมื่อพ.ศ. 2375   สมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงขึ้นครองราชย์ปี 2394  แปลว่าวังหน้าร้างเจ้าของมาเกือบๆ 20 ปี  
สภาพดังกล่าวของวังหน้า จึงเป็นที่มาของคำพระราชปรารภในสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ว่า
“เออ อยู่ดีๆ ก็ให้มาเป็นสมภารวัดร้าง“

ถ้าวังหน้าถึงขั้นเรียกได้ว่า "วัดร้าง"  คงจะพอเป็นคำตอบได้ว่า เจ้านายฝ่ายในของวังหน้าคงจะย้ายไปประทับอยู่นอกวังกันหมดแล้ว   ส่วนจะอยู่ในพระราชฐานขั้นในของพระบรมมหาราชวัง หรืออยู่บนแพริมน้ำหรือตำหนักส่วนพระองค์ หรือจะไปอยู่กับพระญาติพระวงศ์ฝ่ายชายที่ไหนก็แล้วแต่
ดิฉันไม่ทราบรายละเอียด  ท่านใดทราบกรุณาเล่าให้คุณกันเกราฟังด้วยค่ะ


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: กันเกรา ที่ 13 พ.ย. 23, 15:57
ขอบพระคุณมาก ๆ เลยค่ะ :)  อาจารย์เทาชมพูกรุณาตอบด้วยตนเอง ดีใจมาก ๆ ค่ะ  กันเกราจะตั้งคำถามเป็นข้อ ๆ ตามที่อาจารย์กรุณาแนะนำนะคะ  จากข้อมูลที่อาจารย์กรุณามอบให้ ตอนนี้คำถามจึงเหลือเพียงสองข้อค่ะ คือ

1) หากสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์ใหม่อุปราชาภิเษก เจ้านายฝ่ายในซึ่งเป็นพระธิดาของสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ พระองค์เดิมซึ่งมาประทับที่วังหลวงหลังพระราชบิดาสวรรคต (และอาจไม่มีที่ประทับอื่นเช่นไม่มีพระญาติพระวงศ์ฝ่ายชายที่ทรงสนิทสนม) ต้องเสด็จกลับไปอยู่ฝ่ายในของวังหน้าไหมคะ  หรือทรงสามารถเลือกประทับวังหลวงต่อได้ตามพระอัธยาศัย

2) ถ้าเจ้านายฝ่ายในต้องย้ายกลับไปประทับวังหน้า หากสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ พระองค์ใหม่สวรรคต (ซึ่งเกิดขึ้นหลายรัชกาลในสมัยต้นรัตนโกสินทร์) เจ้านายฝ่ายในที่ทรงย้ายกลับไปประทับวังหน้าสามารถกลับมาประทับวังหลวงอีกครั้งได้ไหมคะ (คล้าย ๆ ขุนนางวังหน้าค่ะ)


(อันนี้ไม่เกี่ยวกับคำถามนะคะ แต่เกี่ยวกับพระประวัติพระองค์เจ้าดวงจันทร์ค่ะ จากที่อาจารย์กรุณาให้ข้อมูล กันเกราลองอ่านอีกครั้ง พบว่า จริง ๆ พระองค์เจ้าดวงจันทร์ทรงมีพระอนุชาร่วมเจ้าจอมมารดาคือ พระองค์เจ้าสังกะทัต กรมขุนนรานุชิตค่ะ ต้นราชสกุลสังขทัตค่ะ โดยส่วนตัว กันเกราเกิดความสนใจในพระองค์เจ้าดวงจันทร์เพราะทรงเป็น combination ของสองอย่างที่อาจจะตรงข้ามกันคือทรงเป็นผู้หญิงทำงาน (ทรงรับราชการตลอดรัชกาลที่ 2) แต่ก็ทรงเป็นเจ้านายที่รักษาราชประเพณีโบราณด้วย และให้ความรู้สึกว่าทรงพยายามอยู่ด้วยพระองค์เองเพราะในช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 2 พระอนุชาทรงมีพระชันษาพอจะมีวังแล้ว แต่พระองค์เจ้าดวงจันทร์ทรงเลือกรับราชการกับวังหน้าและวังหลวง และในช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ 4 กรมขุนนรานุชิตยังทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ค่ะแต่พระองค์เจ้าดวงจันทร์ประทับฝ่ายในของวังหน้า ไม่ได้ประทับกับพระอนุชา เรื่องหลังอาจจะทรงทำตามพระราชประเพณี  (แต่จริง ๆ สองประการนี้--การเป็นผู้หญิงทำงานและการเป็นเจ้านายที่รักษาราชประเพณีโบราณ--อาจจะไม่ขัดกัน ที่รู้สึกว่าสองประการขัดกันอาจจะเกิดจากวิธีการมองของกันเกราเองค่ะ ต้องพยายามมองอีกแบบ)

พระองค์เจ้าดวงจันทร์อาจจะทรงมีทางเลือกหลายประการจริง ๆ ค่ะ กันเกราเชื่อที่อาจารย์แนะนำค่ะ พระองค์เจ้าดวงจันทร์ไม่น่าจะทรงประทับวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต (ความปลอดภัยน่าจะไม่ได้จริง ๆ ค่ะ) ส่วนอีก 3 ทาง คือประทับกับพระอนุชา ประทับพระราชฐานชั้นในของวังหลวง หรือประทับแพ/ตำหนักส่วนพระองค์ สามทางเลือกนี้โอกาสน่าจะพอ ๆ กันค่ะ ผู้หญิงที่พยายามอยู่ด้วยตนเองกับผู้หญิงเก่งในวรรณคดี (เช่น แก้วหน้าม้า ตัวละครฝ่ายหญิงในพระอภัยมณี) เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน น่าสนใจมาก ๆ ค่ะ)
 
ขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูงนะคะ


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 พ.ย. 23, 16:46
    คำตอบของดิฉันไม่ได้มาจากหนังสือ   เพราะยังหาไม่เจอว่าเล่มไหนมีคำตอบของคุณกันเกราบ้าง  แต่มาจากการประมวลข้อมูลเอาเอง ซึ่งอาจจะผิดก็ได้   รอท่านที่รู้มาตอบดีกว่า ตอนนี้ถือว่าคุยกันไปก่อน ไม่ให้กระทู้ตกไปเร็วนัก
    ดิฉันทบทวนดูแล้ว เจ้านายสตรีของวังหน้าที่จะออกไปอยู่กับพระญาติพระวงศ์น่าจะมีน้อย  หรือไม่มีเลย   โดยเฉพาะสมัยต้นรัตนโกสินทร์ คือรัชกาลที่ 1-3  เพราะสมัยนั้นกฎมณเฑียรบาลเข้มงวดมาก  เกิดมาเป็นพระธิดาเจ้าแผ่นดินหรือพระมหาอุปราช ออกไปไหนนอกกำแพงวังตามใจชอบไม่ได้  
    สถานที่ที่รักษาพระเกียรติมากที่สุดคือเขตพระราชฐานชั้นใน    ถ้าวังหน้าสิ้นพระชนม์  แล้วไม่มีการตั้งองค์ใหม่จนแล้วจนรอด   พระขนิษฐาหรือพระธิดาก็น่าจะโยกย้ายเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง  องค์ไหนมีตำแหน่งหน้าที่ในวังหลวงก็อยู่ประจำที่นั่น  จนมีวังหน้าพระองค์ใหม่จึงจะทรงย้ายกลับมา  
    เพราะอะไร  ก็คือเจ้านายสตรีของวังหน้ามีหน้าที่รับราชการในวังของตนด้วย   งานบริหารจัดการต่างๆเช่นการดูแลสถานที่   การครัว ของกินของใช้      ถ้ามีวังหน้าพระองค์ใหม่  งานเหล่านี้ก็ต้องอาศัยเจ้านายสตรีควบคุม   เพราะผู้ชายเข้าไปในเขตฝ่ายในไม่ได้
    อีกอย่างคือเบี้ยหวัด ซึ่งเป็นรายได้หลักของเจ้านาย     เจ้านายวังหน้ารับเบี้ยหวัดจากกรมพระราชวังบวรฯ    ก็ควรอยู่ประจำในวังหน้า  ไม่ใช่อยู่ในวังหลวงแล้วรับเบี้ยหวัดวังหน้า  
   คุณกันเกราคงจำ "สี่แผ่นดิน" ได้ว่า เมื่อพลอยเข้าไปอยู่ในวังหลวง   มีคำบรรยายว่าตำหนักต่างๆเปิดขายสินค้ากัน  ตำหนักโน้นขายผ้า ตำหนักนี้ขายของกิน  ฯลฯ   วังหน้าก็แบบเดียวกัน


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: กันเกรา ที่ 13 พ.ย. 23, 19:32
ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงนะคะ อาจารย์เมตตามาก (ช่วยไขคำตอบและช่วยพยายามให้กระทู้ไม่ตกเร็ว ขอบพระคุณมาก ๆ จริง ๆ ค่ะ)  ตั้งแต่พยายามค้นคำตอบมา คำตอบจากความกรุณาให้การประมวลของอาจารย์น่าจะดีที่สุดเท่าที่พบค่ะ (พูดจริง ๆ นะคะ)  สำหรับเจ้านายฝ่ายในการประทับในพระราชฐานชั้นในเป็นทางเดียวที่การันตีพระเกียรติยศได้ร้อยเปอร์เซ็นต์จริง ๆ และกฏมณเฑียรบาลก็เข้มข้นมากในช่วงแรกของรัตนโกสินทร์

กันเกราได้เคยมีโอกาสอ่านพบเกี่ยวกับการจ่ายเบี้ยหวัดสำหรับเจ้านายวังหน้าจากชุมนุมพระราชาธิบาย พระราชนิพนธ์ล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 ค่ะ เกี่ยวกับเบี้ยหวัดของเจ้านายวังหน้าว่า ในรัชสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 1 ทางพระบวรราชวังจะเบิกเบี้ยหวัดเป็น fixed amount ค่ะ แล้วน่าจะมีการบริหารจัดการภายในเอง (ทางพระบรมมหาราชวังทราบแต่จำนวนเงินสุทธิ) เมื่อหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทสวรรคต จึงค่อยมีพระบรมราชโองการงดเงินเดือนสำหรับพระโอรสและพระธิดาของสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ (ยกเว้นสามพระองค์ที่ยังพระราชทานเงินเดือน) แต่โปรดให้คงการจ่ายเบี้ยหวัดค่ะ แต่ละพระองค์ได้ไม่เท่ากัน (ตั้งแต่ 2 ชั่งถึง 10 ชั่ง) การงดเงินเดือนอาจจะเกิดจากการไม่ได้ทำราชการแล้วอย่างที่อาจารย์กรุณาให้ข้อมูลนะคะ (เพราะสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ สวรรคตแล้ว ขุนนางฝ่ายหน้าไปวังหลวง ราชการน่าจะไม่มี)  ส่วนเบี้ยหวัดล้นเกล้ารัชกาลที่ 1 ทรงดูแลจ่ายให้พระโอรสธิดาสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ค่ะ (เบี้ยหวัดน่าจะ by right เผื่อผดุงพระเกียรติยศ ส่วนเงินเดือนอาจจะ by merit ต้องทรงงาน)  

แต่ถึงรัชสมัยรัชกาลที่ 2 ชุมนุมพระราชาธิบายกล่าวว่ามีช่วงหนึ่งมีปัญหาทางการเงิน จ่ายเบี้ยหวัดขุนนาง(วังหลวง) ได้ไม่เต็มที่ (บางทีจ่ายเป็นผ้าแทน อาจเป็นที่มาที่เรียกผ้ายกนครว่าผ้าหวัดรายปี หรืออาจจะพระราชทานเป็นผ้าหวัดรายปีสำหรับขุนนางอยู่แล้วแต่เพิ่มปริมาณผ้าเพื่อชดเชยเบี้ยหวัดที่หายไป กันเกราไม่แน่ใจนะคะ) มีการยืมเงินทางพระบวรราชวังมาจ่ายเบี้ยหวัดขุนนางเนื่องจากเป็นช่วงที่สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ทรงส่งเรือสำเภาค้าขายได้ผลสำเร็จมาก (แล้วจึงมีการคืนเงินเหล่านั้นภายหลังค่ะ)  บางปีสำเภาของทางพระบวรราชวังได้ผลไม่ดี ทางพระบรมมหาราชวังก็พระราชทานเงินช่วยเหลือค่ะ ในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 รายได้และรายจ่ายของพระบรมมหาราชวังและพระบวรราชวังดูจะแยกกัน(อย่างน้อยบางส่วน)ดังที่อาจารย์กรุณาแนะนำจริง ๆ ค่ะ และเบี้ยหวัดก็น่าจะแยกกัน ถ้าเป็นเช่นนั้น เจ้านายฝ่ายในวังหน้าก็น่าจะต้องทรงกลับประทับที่พระบวรราชวังจริง ๆ ค่ะหลังพระราชพิธีอุปราชาภิเษก (ถ้าไม่เสด็จกลับ การจ่ายเบี้ยหวัดจะงงมาก) แต่หลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ สวรรคต อันนี้ทางพระบรมมหาราชวังน่าจะดูแลเบี้ยหวัดทั้งหมด เจ้านายฝ่ายในวังหน้าประทับวังหลวงได้จริง ๆ  ค่ะ

กันเกราจำตอนนั้นของสี่แผ่นดินได้ค่ะ (สาวชาววัง shopping กันตามตำหนักน่าจะสนุกมาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชเคยเขียนเล่าว่าท่านเดินห้างครั้งแรกในวัง แต่กันเกราจำไม่ได้ค่ะว่าเป็นตำหนักใด) วังหน้าก็ทำแบบเดียวกันใช่ไหมคะ (สาวชาววังของพระบวรราชวังก็ควรได้มีโอกาสจับจ่ายเช่นกัน สิ่งนี้คือความยุติธรรม)  น่าจะคล้ายกับการจัดสำเภาค้าขายของพระบรมมหาราชวังและพระบวรราชวัง (เป็นการเพิ่มรายได้ให้ตำหนักซึ่งน่าจะต้องเลี้ยงดูคนด้วย นอกเหนือจากเบี้ยหวัดรายปี การค้าคือคำตอบ)

ขอบพระคุณมาก ๆ ๆ ๆ เลยนะคะ กันเกราสารภาพว่างุนงงมานานมาก (เรื่องปลีกย่อย แต่อดสงสัยไม่ได้ และพยายามหาคำตอบแต่ไม่มีอันไหน make a complete sense) การประมวลผลที่อาจารย์กรุณามอบให้เป็นคำอธิบายที่น่าจะเป็นเหตุผลมากที่สุดที่ได้รับค่ะ ทำให้กันเกราหายงงไปได้มาก ๆ เลยค่ะ ขอบพระคุณมาก ๆ นะคะ


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 พ.ย. 23, 19:52
อ้างถึง
อีกเรื่องที่อดสงสัยไม่ได้คือในรัชสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 3 (ซึ่งเป็นช่วงที่กันเกราสนใจมาก ๆ) โปรดเกล้าให้เปลี่ยนตำหนักในพระบรมมหาราชวังจากตำหนักไม้เป็นตำหนักก่ออิฐถือปูน (ทำให้เกิดการย้ายตำหนักแดง พระที่ประทับของสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ไปยังพระราชวังเดิม) โดยส่วนตัวกันเกราเชื่อว่าการเปลี่ยนตำหนักต่าง ๆ เป็นตำหนักก่ออิฐถือปูนเป็นประโยชน์ในการป้องกันอัคคีภัยมาก ๆ ค่ะ (และอาจเป็นการเลือก "บางกอก" เป็นเมืองหลวงถาวร) ระหว่างการก่อสร้าง(ซึ่งน่าจะใหญ่มาก)นี้เจ้านายฝ่ายในประทับที่ใด (อาจจะมีการก่อสร้างเป็นส่วน ๆ ย้ายที่ประทับชั่วคราวไปส่วนที่ยังไม่ก่อสร้าง และย้ายกลับมาเมื่อก่อสร้างเสร็จ อันนี้เดานะคะ เดาล้วน ๆ)

นี่ก็ความเห็นจากการประมวลข้อมูลเองล้วนๆค่ะ
ช่างไทยชำนาญการสร้างบ้านไม้มาแต่สมัยอยุธยา   สิ่งก่อสร้างสำคัญจึงสร้างด้วยไม้ แม้แต่ตอนแรกตั้งกรุงเทพ พระบรมมหาราชวังก็สร้างด้วยไม้  แม้แต่ตามวัดวาอารามโบสถ์ก็เป็นไม้  ที่ไม่ใช่ไม้เห็นจะมีเจดีย์   
ถึงรัชกาลที่ 3   สยามเปิดรับแรงงานจีนแบบไม่อั้น   ช่างแรงงานจีนก็เข้ามากันมากมาย    คนจีนชำนาญเรื่องสร้างอาคารปูน  วัดวาอารามจึงก่อสร้างด้วยปูนกันมากในรัชกาลนี้  ตำหนักต่างๆก็พลอยมีโอกาสเปลี่ยนจากไม้เป็นปูนไปด้วย เพราะมั่นคงแข็งแรงและปลอดภัยจากไฟไหม้ด้วยอีกต่างหาก   ส่วนวัดวาก็ก่ออิฐถือปูน  ประดับประดาศิลปะแบบจีนซึ่งเป็นของยอดนิยม      แต่บ้านเรือนชาวบ้านทั่วไปยังคงเป็นไม้   ซึ่งราคาถูกกว่าปูนมาก 


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 พ.ย. 23, 20:04
อ้างถึง
แต่ถึงรัชสมัยรัชกาลที่ 2 ชุมนุมพระราชาธิบายกล่าวว่ามีช่วงหนึ่งมีปัญหาทางการเงิน จ่ายเบี้ยหวัดขุนนาง(วังหลวง) ได้ไม่เต็มที่ (บางทีจ่ายเป็นผ้าแทน อาจเป็นที่มาที่เรียกผ้ายกนครว่าผ้าหวัดรายปี หรืออาจจะพระราชทานเป็นผ้าหวัดรายปีสำหรับขุนนางอยู่แล้วแต่เพิ่มปริมาณผ้าเพื่อชดเชยเบี้ยหวัดที่หายไป กันเกราไม่แน่ใจนะคะ) มีการยืมเงินทางพระบวรราชวังมาจ่ายเบี้ยหวัดขุนนางเนื่องจากเป็นช่วงที่สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ทรงส่งเรือสำเภาค้าขายได้ผลสำเร็จมาก (แล้วจึงมีการคืนเงินเหล่านั้นภายหลังค่ะ)  บางปีสำเภาของทางพระบวรราชวังได้ผลไม่ดี ทางพระบรมมหาราชวังก็พระราชทานเงินช่วยเหลือค่ะ ในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 รายได้และรายจ่ายของพระบรมมหาราชวังและพระบวรราชวังดูจะแยกกัน(อย่างน้อยบางส่วน)

เรื่องนี้ก็คุยได้อีกยาวค่ะ
สมัยก่อนขุนนางไม่มีเงินเดือน   รับเป็นรายปี  เรียกรวมว่าเบี้ยหวัดเงินปี    ถ้าพระคลังเก็บภาษีไม่ได้มาก  หรือรายจ่ายแผ่นดินมากกว่ารายรับ  การจ่ายเงินราชการก็ติดขัดกันบ่อยๆ  เรียกว่าพระคลังเป็นหนี้ขุนนางกันจนไม่มีใครแปลกใจ  อย่างในรัชกาลที่ 2  ที่คุณกันเกราว่า  ต้องจ่ายผ้าให้แทนเงินปี บางทีก็จ่ายเป็นทองคำแทน คือขาดเงินสดหมุนเวียน

ด้วยเหตุนี้ เจ้านายจึงต้องเพิ่มพูนหารายได้ให้แผ่นดิน  เพราะในระบอบสมบูรณาฯ ไม่ได้แยกรายได้แผ่นดินจากรายได้ส่วนพระองค์   ถ้าสยามเป็นบริษัท  พระเจ้าแผ่นดินก็เป็นเจ้าของบริษัทที่ต้องควักกระเป๋าเลี้ยงพนักงานทั้งบริษัท และเลี้ยงครอบครัวของท่านไปพร้อมๆกัน

นี่จึงเป็นคำตอบว่าทำไมพระเจ้าลูกยาเธอเจษฎาบดินทร์จึงทรงขวนขวายค้าสำเภาตั้งแต่รัชกาลที่ 2   เพื่อเอาเงินมาช่วยทั้งส่วนพระองค์และช่วยสมเด็จพระราชบิดาด้วย   เมื่อครองราชย์ก็ทรงจัดให้เกิดระบบเจ้าภาษี คือระบบสัมปทาน  ให้คนรวยๆช่วยหารายได้เข้าคลังให้ท่าน เพื่อเอามาเลี้ยงราษฎรทั้งหมดอีกที


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 พ.ย. 23, 20:37
อ้างถึง
ระหว่างการก่อสร้าง(ซึ่งน่าจะใหญ่มาก)นี้เจ้านายฝ่ายในประทับที่ใด (อาจจะมีการก่อสร้างเป็นส่วน ๆ ย้ายที่ประทับชั่วคราวไปส่วนที่ยังไม่ก่อสร้าง และย้ายกลับมาเมื่อก่อสร้างเสร็จ อันนี้เดานะคะ เดาล้วน ๆ)

ที่อยู่อาศัยของเจ้านายฝ่ายใน เดิมเป็นเรือนไม้ ก่อนจะเปลี่ยนมาปลูกตึกกันเป็นล่ำเป็นสันในสมัยรัชกาลที่ 5
เรือนไม้ของไทยถอดได้เป็นส่วนๆค่ะ   เหมือนเรือนน็อคดาวน์    ถ้าอ่านขุนช้างขุนแผนจะพบว่าเรือนหอขอพลายแก้วนางพิมใส่เรือล่องมาตามน้ำ  ยกขึ้นบก ปลูกปุ๊บเดียวเสร็จ 
การสร้างตำหนักและเรือนต่างๆ ก็สร้างกันไปทีละส่วนอยู่แล้ว  ดังนั้น เมื่อมีการก่อสร้างตำหนักไหน   ก็โยกย้ายของเดิมไปตั้งตรงไหนที่ว่างๆได้ง่ายมากค่ะ   ไม่ต้องไปอาศัยเบียดกันอยู่ที่ตำหนักอื่น 


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 14 พ.ย. 23, 13:47
 ลองสรุปกว้างๆดู
 เมื่อวังหน้าองค์ใดองค์หนึ่งสิ้นพระชนม์  ก็เท่ากับขุนนางวังหน้าทั้งหลายไม่มีหน้าที่การงานจะต้องทำอีกต่อไป  เหมือนบริษัทล้มเลิกกิจการ   การโอนขุนนางวังหน้าไปขึ้นวังหลวงจึงเป็นทางออก   เพื่อให้มีงานทำ และได้รับเงินปีมาเลี้ยงชีพต่อไปอีก
 ส่วนเจ้านายฝ่ายใน เมื่อไม่มีเจ้านายสูงสุดคุ้มครองดูแล  ก็ต้องขยับขยายหาที่พึ่งพิงกันใหม่   ถ้าหากว่าวังหน้าองค์ต่อไปมารับตำแหน่งได้ในทันที   เจ้านายฝ่ายในก็อยู่ในวังหน้าต่อไปตามเดิม ไม่ขาดตอน    แต่ถ้ามีการเว้นว่างระหว่างนั้น เจ้านายฝ่ายในก็ต้องไปหาที่อยู่กันใหม่ 
 ที่อยู่ใหม่ของเจ้านายฝ่ายในจำต้องมีสภาพแวดล้อมไม่ต่างจากที่อยู่เก่า  คืออยู่ในสังคมของสตรีระดับสูง  มีขนบธรรมเนียมแวดล้อมเคร่งครัด  เช่นจะไปข้างนอกในพิธีต่างๆเช่นไปทอดกฐินก็ต้องเดินฉนวน ไม่ให้คนภายนอกได้เห็น   หากไปไหนมาไหนก็ต้องมีขบวน มีโขลนคอยคุ้มกัน
  เป็นอยู่อย่างนี้ตลอด 5 รัชกาล จนสิ้นระบบวังหน้า


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: กันเกรา ที่ 15 พ.ย. 23, 13:36
ลองสรุปกว้างๆดู
 เมื่อวังหน้าองค์ใดองค์หนึ่งสิ้นพระชนม์  ก็เท่ากับขุนนางวังหน้าทั้งหลายไม่มีหน้าที่การงานจะต้องทำอีกต่อไป  เหมือนบริษัทล้มเลิกกิจการ   การโอนขุนนางวังหน้าไปขึ้นวังหลวงจึงเป็นทางออก   เพื่อให้มีงานทำ และได้รับเงินปีมาเลี้ยงชีพต่อไปอีก
 ส่วนเจ้านายฝ่ายใน เมื่อไม่มีเจ้านายสูงสุดคุ้มครองดูแล  ก็ต้องขยับขยายหาที่พึ่งพิงกันใหม่   ถ้าหากว่าวังหน้าองค์ต่อไปมารับตำแหน่งได้ในทันที   เจ้านายฝ่ายในก็อยู่ในวังหน้าต่อไปตามเดิม ไม่ขาดตอน    แต่ถ้ามีการเว้นว่างระหว่างนั้น เจ้านายฝ่ายในก็ต้องไปหาที่อยู่กันใหม่ 
 ที่อยู่ใหม่ของเจ้านายฝ่ายในจำต้องมีสภาพแวดล้อมไม่ต่างจากที่อยู่เก่า  คืออยู่ในสังคมของสตรีระดับสูง  มีขนบธรรมเนียมแวดล้อมเคร่งครัด  เช่นจะไปข้างนอกในพิธีต่างๆเช่นไปทอดกฐินก็ต้องเดินฉนวน ไม่ให้คนภายนอกได้เห็น   หากไปไหนมาไหนก็ต้องมีขบวน มีโขลนคอยคุ้มกัน
  เป็นอยู่อย่างนี้ตลอด 5 รัชกาล จนสิ้นระบบวังหน้า

กราบขอบพระคุณอาจารย์มาก ๆ เลยค่ะที่กรุณาประมวลข้อมูลมากมาย และสรุปให้กันเกราเข้าใจได้ง่าย กันเกราขอบพระคุณอย่างสูงจริง ๆ ค่ะ และเชื่อในคำอธิบายนี้ทุกประการ (กันเกราเคยมีโอกาสอ่านพบว่าล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฝ่ายในวังหน้าฯ ยังประทับวังหน้าต่อหลังพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต และทรงพระกรุณาเสด็จประทับวังหน้าเป็นครั้งคราวเพื่อให้ทางพระบวรราชวังไม่รกร้าง เมื่อเปลี่ยนแผ่นดิน สมเด็จกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญอุปราชาภิเษกเจ้านายฝ่ายในก็สามารถประทับต่อได้เลย ก่อนสมเด็จกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญสวรรคต ได้ทรงขอให้ฝ่ายในอยู่ต่อที่พระบวรราชวังได้ ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าให้เป็นดังที่ทรงขอ โปรดให้แต่งตั้งเจ้านายสตรีเป็นองค์ประธานฝ่ายในวังหน้าและมีการคุ้มกันจนเจ้านายฝ่ายในวังหน้าเหลือน้อยพระองค์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายประทับวังหลวง)

 สำหรับรัชสมัย 3 รัชกาลแรกของรัตนโกสินทร์ ข้อมูลมีไม่มากแต่กันเกราเชื่อดังที่อาจารย์กรุณาอธิบายค่ะ สถานที่ที่น่าจะสะดวกที่สุดในการรักษาพระราชประเพณีน่าจะคือพระราชฐานชั้นในของวังหลวง (กันเกราเชื่อว่าหลายพระองค์น่าจะทรงเลือกที่จะประทับวังหลวง) แต่ถ้าเจ้านายฝ่ายในวังหน้าเสด็จประทับวังเจ้านายพระองค์อื่นเช่นพระเชษฐาหรือพระอนุชา ก็น่าจะต้องจัดระเบียบให้คล้ายพระบรมมหาราชวังและพระบวรราชวังให้มากที่สุด เห็นด้วยทุกประการค่ะ


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: กันเกรา ที่ 15 พ.ย. 23, 13:40
อ้างถึง
ระหว่างการก่อสร้าง(ซึ่งน่าจะใหญ่มาก)นี้เจ้านายฝ่ายในประทับที่ใด (อาจจะมีการก่อสร้างเป็นส่วน ๆ ย้ายที่ประทับชั่วคราวไปส่วนที่ยังไม่ก่อสร้าง และย้ายกลับมาเมื่อก่อสร้างเสร็จ อันนี้เดานะคะ เดาล้วน ๆ)

ที่อยู่อาศัยของเจ้านายฝ่ายใน เดิมเป็นเรือนไม้ ก่อนจะเปลี่ยนมาปลูกตึกกันเป็นล่ำเป็นสันในสมัยรัชกาลที่ 5
เรือนไม้ของไทยถอดได้เป็นส่วนๆค่ะ   เหมือนเรือนน็อคดาวน์    ถ้าอ่านขุนช้างขุนแผนจะพบว่าเรือนหอขอพลายแก้วนางพิมใส่เรือล่องมาตามน้ำ  ยกขึ้นบก ปลูกปุ๊บเดียวเสร็จ 
การสร้างตำหนักและเรือนต่างๆ ก็สร้างกันไปทีละส่วนอยู่แล้ว  ดังนั้น เมื่อมีการก่อสร้างตำหนักไหน   ก็โยกย้ายของเดิมไปตั้งตรงไหนที่ว่างๆได้ง่ายมากค่ะ   ไม่ต้องไปอาศัยเบียดกันอยู่ที่ตำหนักอื่น 

โอ้ อันนี้นึกภาพออกมาก ๆ ค่ะ  ตอนแรกสงสัยมาก ๆ เพราะพระตำหนักต้นรัตนโกสินทร์ขนาดค่อนข้างเล็ก (พระโอรสธิดาของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพยังแปลกพระทัยที่ทรงเคยประทับตำหนักที่เล็กขนาดนั้น) ถ้าเจ้านายประทับตำหนักหนึ่งหลายพระองค์รวมถึงข้าหลวงน่าจะค่อนข้างคับคั่งมาก (และการก่อสร้างแบบก่ออิฐน่าจะใช้เวลานาน) แต่ถ้าย้ายพระตำหนักเรือนไม้ได้แบบน็อคดาวน์ อันนี้ไม่มีปัญหาเลย  (ขนาดท้องพระโรงย้ายไปวัดสุวรรณารามที่เพชรบุรีได้) อันนี้เห็นภาพมาก ๆ ค่ะ


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 พ.ย. 23, 13:55
 ขอเพิ่มเติมเรื่องเรือนไทยอีกหน่อยนะคะ
 เรือนไทยในรัชกาลที่ 1-5 นอกจากปลูกง่ายแล้ว  รื้อถอนโยกย้ายก็ง่ายด้วย  ดังนั้นจึงมีหลักฐานให้พบมากมายว่า มีการรื้อเรือนถวายวัด เมื่อเจ้าของไม่ได้อยู่อาศัยอีกแล้ว    เหตุผลก็หลากหลาย เช่นเจ้าของเดิมตายไป   หรือเจ้าของย้ายถิ่นที่อยู่   หรือไม่จำเป็นต้องอยู่เรือนเดิมอีกแล้ว
 ข้างล่างนี้คือภาพหอไตรวัดระฆัง   เคยเป็นเรือนที่อยู่อาศัยของเจ้าพระยาจักรีในสมัยธนบุรี  เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ ก็ทรงยกเรือนเดิมให้วัด
  https://thonburiart.dru.ac.th/chan-palace.html

  ดิฉันเชื่อว่าตำหนักไม้ของเจ้านายฝ่ายในเมื่อเปลี่ยนมาเป็นตึก   ตำหนักไหนยังอยู่ในสภาพใช้ได้  องค์เจ้าของตำหนักก็ไม่รื้อทิ้งไปเฉยๆ  แต่ทรงยกให้วัดไป เพื่อใช้สอยประโยชน์ต่อไปอีก และได้บุญด้วย
  แต่เมื่อเปลี่ยนบ้านไม้โบราณมาเป็นตึก   ธรรมเนียมนี้ก็หมดไป


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: กันเกรา ที่ 15 พ.ย. 23, 14:10
ขอเพิ่มเติมเรื่องเรือนไทยอีกหน่อยนะคะ
 เรือนไทยในรัชกาลที่ 1-5 นอกจากปลูกง่ายแล้ว  รื้อถอนโยกย้ายก็ง่ายด้วย  ดังนั้นจึงมีหลักฐานให้พบมากมายว่า มีการรื้อเรือนถวายวัด เมื่อเจ้าของไม่ได้อยู่อาศัยอีกแล้ว    เหตุผลก็หลากหลาย เช่นเจ้าของเดิมตายไป   หรือเจ้าของย้ายถิ่นที่อยู่   หรือไม่จำเป็นต้องอยู่เรือนเดิมอีกแล้ว
 ข้างล่างนี้คือภาพหอไตรวัดระฆัง   เคยเป็นเรือนที่อยู่อาศัยของเจ้าพระยาจักรีในสมัยธนบุรี  เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ ก็ทรงยกเรือนเดิมให้วัด
  https://thonburiart.dru.ac.th/chan-palace.html

  ดิฉันเชื่อว่าตำหนักไม้ของเจ้านายฝ่ายในเมื่อเปลี่ยนมาเป็นตึก   ตำหนักไหนยังอยู่ในสภาพใช้ได้  องค์เจ้าของตำหนักก็ไม่รื้อทิ้งไปเฉยๆ  แต่ทรงยกให้วัดไป เพื่อใช้สอยประโยชน์ต่อไปอีก และได้บุญด้วย
  แต่เมื่อเปลี่ยนบ้านไม้โบราณมาเป็นตึก   ธรรมเนียมนี้ก็หมดไป

หอไตรวัดระฆังคือเรือนเดิมของล้นเกล้ารัชกาลที่ 1 ในสมัยธนบุรี!! อาจเป็นเหตุผลที่ อ.ศิลป์ ขอให้คุณเฟื้อ หริพิทักษ์เปลี่ยนแนวทางการทำงานศิลปะ ว่ากันว่า อ.ศิลป์ขอเพื่อการอนุรักษ์หอไตรวัดระฆังนะคะ (ว่ากันว่าถ้า อ.เฟื้อทำงานแนวเดิมจะสามารถ "go inter" ได้ แต่ท่านเลือกทางนี้ ยอมเปลี่ยนแนวแบบหน้ามือเป็นหลังมือค่ะ)  การที่เจ้านายทรงยกตำหนักเรือนไม้ที่ใช้งานได้ให้วัดอันนี้ sustainability ของจริงค่ะ (สถาปัตยกรรมไทยสมัยใหม่มานานแล้ว)


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: กันเกรา ที่ 15 พ.ย. 23, 14:11
อ้างถึง
แต่ถึงรัชสมัยรัชกาลที่ 2 ชุมนุมพระราชาธิบายกล่าวว่ามีช่วงหนึ่งมีปัญหาทางการเงิน จ่ายเบี้ยหวัดขุนนาง(วังหลวง) ได้ไม่เต็มที่ (บางทีจ่ายเป็นผ้าแทน อาจเป็นที่มาที่เรียกผ้ายกนครว่าผ้าหวัดรายปี หรืออาจจะพระราชทานเป็นผ้าหวัดรายปีสำหรับขุนนางอยู่แล้วแต่เพิ่มปริมาณผ้าเพื่อชดเชยเบี้ยหวัดที่หายไป กันเกราไม่แน่ใจนะคะ) มีการยืมเงินทางพระบวรราชวังมาจ่ายเบี้ยหวัดขุนนางเนื่องจากเป็นช่วงที่สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ทรงส่งเรือสำเภาค้าขายได้ผลสำเร็จมาก (แล้วจึงมีการคืนเงินเหล่านั้นภายหลังค่ะ)  บางปีสำเภาของทางพระบวรราชวังได้ผลไม่ดี ทางพระบรมมหาราชวังก็พระราชทานเงินช่วยเหลือค่ะ ในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 รายได้และรายจ่ายของพระบรมมหาราชวังและพระบวรราชวังดูจะแยกกัน(อย่างน้อยบางส่วน)

เรื่องนี้ก็คุยได้อีกยาวค่ะ
สมัยก่อนขุนนางไม่มีเงินเดือน   รับเป็นรายปี  เรียกรวมว่าเบี้ยหวัดเงินปี    ถ้าพระคลังเก็บภาษีไม่ได้มาก  หรือรายจ่ายแผ่นดินมากกว่ารายรับ  การจ่ายเงินราชการก็ติดขัดกันบ่อยๆ  เรียกว่าพระคลังเป็นหนี้ขุนนางกันจนไม่มีใครแปลกใจ  อย่างในรัชกาลที่ 2  ที่คุณกันเกราว่า  ต้องจ่ายผ้าให้แทนเงินปี บางทีก็จ่ายเป็นทองคำแทน คือขาดเงินสดหมุนเวียน

ด้วยเหตุนี้ เจ้านายจึงต้องเพิ่มพูนหารายได้ให้แผ่นดิน  เพราะในระบอบสมบูรณาฯ ไม่ได้แยกรายได้แผ่นดินจากรายได้ส่วนพระองค์   ถ้าสยามเป็นบริษัท  พระเจ้าแผ่นดินก็เป็นเจ้าของบริษัทที่ต้องควักกระเป๋าเลี้ยงพนักงานทั้งบริษัท และเลี้ยงครอบครัวของท่านไปพร้อมๆกัน

นี่จึงเป็นคำตอบว่าทำไมพระเจ้าลูกยาเธอเจษฎาบดินทร์จึงทรงขวนขวายค้าสำเภาตั้งแต่รัชกาลที่ 2   เพื่อเอาเงินมาช่วยทั้งส่วนพระองค์และช่วยสมเด็จพระราชบิดาด้วย   เมื่อครองราชย์ก็ทรงจัดให้เกิดระบบเจ้าภาษี คือระบบสัมปทาน  ให้คนรวยๆช่วยหารายได้เข้าคลังให้ท่าน เพื่อเอามาเลี้ยงราษฎรทั้งหมดอีกที


ขอบพระคุณอาจารย์มาก ๆ เลยค่ะที่กรุณากันเกรา ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเยอะมาก ๆ การคลังในสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 3 เป็นสิ่งที่กันเกราคิดว่ามหัศจรรย์ ขออนุญาตใช้คำปัจจุบันว่ารัฐบาลของล้นเกล้ารัชกาลที่ 3 นะคะ (คือล้นเกล้ารัชกาลที่ 3 พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางที่มีส่วนในการบริหารราชการแผ่นดิน) เป็นรัชสมัยที่รัฐบาลใช้เงินแรงมาก การเปลี่ยนพระบรมมหาราชวังจากสิ่งก่อสร้างแบบไม้เป็นอิฐ การปฏิสังขรณ์วัด 57 วัด (แม้ว่าวัดส่วนหนึ่งมีขุนนางเป็นเจ้าภาพการปฏิสังขรณ์)  ลำพังค่ากระเบื้องกับค่าแรงก็น่ากลัวมาก ยังมีการขุดคลองเชื่อมสองแม่น้ำ สวนขวาจึงต้องจากไป ละครในก็เช่นกัน ส่วนนี้ไม่น่าแปลกใจ แต่ที่มหัศจรรย์คือใช้เงินแรงมาก อัดเงินลงในระบบเศรษฐกิจรุนแรง แต่รัฐบาลรวยกว่าเดิม (ยิ่งใช้เงินยิ่งรวย) ต้องยอมรับว่าอันนี้ "เทพ" จริง ๆ ค่ะ  กันเกราทราบเพียงว่ามีการประมูลนายอากร แต่ถ้าทำได้ขนาดนี้ ต้องมีอะไรที่คมและฉลาด น่าศึกษามาก ๆ ค่ะ

เครดิตส่วนหนึ่งน่าจะเป็นของเจ้าคุณพ่อของคุณพุ่ม (ตำแหน่งท่านน่าจะคล้ายรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง) ไม่น่าเชื่อเลยนะคะว่าครอบครัวภมรมนตรีเลื่องลือเรื่องความงามตลอด 200 ปี กี่ยุคสวยหล่อแบบลือกันทั้งเมือง (well-endowed สุด ๆ น่าอิจฉา) แต่อยากให้ลือเพิ่มอีกนิดว่าต้นตระกูลเป็นนักการคลังที่ไม่ธรรมดา พระยาราชมนตรีต้องเป็นคนที่ความสามารถไม่ธรรมดา  จริง ๆ กันเกรารู้สึกว่าในรัชสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 3 คนเก่งเยอะมากเลยนะคะ  พระยาราชมนตรี เจ้าพระยาบดินทร์เดชา ผู้นำตระกูลบุนนาคทั้งสองท่าน เจ้าสัวโต และท่านอื่น ๆ (แต่ทำไมยังอดรู้สึกไม่ได้ว่าล้นเกล้ารัชกาลที่ 3 ทรงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ให้ความรู้สึกว่าทรง sublime มาก ๆ ค่ะ)


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 15 พ.ย. 23, 14:40
ข้อความในส่วนที่เกี่ยวกับฝ่ายใน ณ วังหน้าครากรมพระราชวังบวรฯ สวรรคต ที่พบ -

          สมัยรัชกาลที่ ๑ เมื่อสถาปนากรมหลวงอิศรสุนทรเป็นกรมพระราชวังบวรฯ แล้ว แต่ให้ประทับอยู่ในพระราชวังเดิม
ด้วยกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ได้กราบมูลไว้แต่เมื่อประชวรหนักว่า ขอให้ลูกเธอได้อาศัยอยู่ในพระราชวังบวรฯ ต่อไป

          สมัยรัชกาลที่ ๕ เขตวังชั้นใน(ของวังหน้า) ให้รักษาเป็นพระราชวังอยู่อย่างเดิม ทรงมอบหมายให้พระองค์เจ้าดวงประภา
พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงสำเร็จราชการฝ่ายใน โดยโปรดให้เสด็จขึ้นมาประทับที่พระที่นั่งสาโรชรัตนประพาส

          สมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อพระองค์เจ้าวงจันทร์ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ สิ้นพระชนม์ เจ้านายวังหน้าที่เหลือ
เสด็จลงไปอยู่พระราชวังหลวง...

    


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: กันเกรา ที่ 15 พ.ย. 23, 16:11
ข้อความในส่วนที่เกี่ยวกับฝ่ายใน ณ วังหน้าครากรมพระราชวังบวรฯ สวรรคต ที่พบ -

          สมัยรัชกาลที่ ๑ เมื่อสถาปนากรมหลวงอิศรสุนทรเป็นกรมพระราชวังบวรฯ แล้ว แต่ให้ประทับอยู่ในพระราชวังเดิม
ด้วยกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ได้กราบมูลไว้แต่เมื่อประชวรหนักว่า ขอให้ลูกเธอได้อาศัยอยู่ในพระราชวังบวรฯ ต่อไป

          สมัยรัชกาลที่ ๕ เขตวังชั้นใน(ของวังหน้า) ให้รักษาเป็นพระราชวังอยู่อย่างเดิม ทรงมอบหมายให้พระองค์เจ้าดวงประภา
พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงสำเร็จราชการฝ่ายใน โดยโปรดให้เสด็จขึ้นมาประทับที่พระที่นั่งสาโรชรัตนประพาส

          สมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อพระองค์เจ้าวงจันทร์ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ สิ้นพระชนม์ เจ้านายวังหน้าที่เหลือ
เสด็จลงไปอยู่พระราชวังหลวง...

    

ขอบพระคุณคุณ SILA นะคะ  แสดงว่าหากสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ กราบทูลขอให้เจ้านายฝ่ายในวังหน้าประทับพระบวรราชวังต่อ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาให้เป็นไปตามพระประสงค์โดยให้มีการจัดการที่เหมาะสมกับพระเกียรติยศของเจ้านายฝ่ายใน (จนถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ที่เจ้านายฝ่ายในวังหน้าน่าจะน้อยพระองค์แล้ว)  ในกรณีอื่น ๆ เช่นเป็นช่วงหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ สวรรคตเป็นระยะเวลานานมาก ๆ เจ้านายฝ่ายในของพระบวรราชวังน่าจะมีการย้ายที่ประทับโดยที่ประทับใหม่เหมาะสมกับราชประเพณี  ขอบพระคุณมาก ๆ ค่ะ


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 พ.ย. 23, 18:34
นอกจากเจ้านาย ฝ่ายในของวังหน้ายังมีเจ้าจอมอีกด้วย   คุณกันเกราค้นข้อมูลได้หรือยังคะว่า บรรดาเจ้าจอมเมื่อสิ้นวังหน้าแล้ว  โยกย้ายตามเจ้านายสตรีไปอยู่ที่ใหม่ด้วยกัน  ไปอยู่วังข้างนอกกับพระองค์เจ้าที่เป็นพระโอรส หรือว่าลากลับไปอยู่บ้านกับญาติพี่น้อง


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: กันเกรา ที่ 15 พ.ย. 23, 20:24
นอกจากเจ้านาย ฝ่ายในของวังหน้ายังมีเจ้าจอมอีกด้วย   คุณกันเกราค้นข้อมูลได้หรือยังคะว่า บรรดาเจ้าจอมเมื่อสิ้นวังหน้าแล้ว  โยกย้ายตามเจ้านายสตรีไปอยู่ที่ใหม่ด้วยกัน  ไปอยู่วังข้างนอกกับพระองค์เจ้าที่เป็นพระโอรส หรือว่าลากลับไปอยู่บ้านกับญาติพี่น้อง

ตอนนี้กันเกราพบข้อมูลที่แน่นอนสำหรับเจ้าจอมมารดาท่านเดียวค่ะคือเจ้าจอมมารดานุ้ยเล็ก ธิดาพระยาสุธรรมมนตรี(ท่านคืออุปราชพัฒน์ของนครศรีธรรมราชซึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเคยพระราชทานเจ้าจอมมารดาปรางค่ะ) เจ้าจอมมารดานุ้ยเล็กเป็นเจ้าจอมมารดาของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปัทมราชในสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทค่ะและเป็นน้องสาวของเจ้าจอมมารดานุ้ยใหญ่ พระมารดาสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพค่ะ

หลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ สวรรคตเจ้าจอมมารดานุ้ยเล็กท่านถวายบังคมลากลับไปยังนครศรีธรรมราชค่ะขณะที่พระธิดา (ซึ่งขณะนั้นมีพระชันษา 20 พรรษา)ยังประทับอยู่ในกรุงเทพ ฯ ตลอดจนถึงรัชสมัยรัชกาลที่ 4 ค่ะ   ในรัชสมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 เมื่อเจ้าจอมท่านอายุมากแล้ว พระองค์เจ้าปัทมราชกราบทูลขอพระบรมราชานุญาตเสด็จนครศรีธรรมราชเพื่อทรงดูแลเจ้าจอมมารดาค่ะและได้รับพระบรมราชานุญาตค่ะ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 ทรงรักนับถือพระองค์เจ้าปัทมราช ตรัสเรียกว่าเจ้าอาว์เจ้าน้า มีพระราชหัตถเลขาหลายครั้งถึงพระองค์เจ้าปัทมราชค่ะพร้อมกับพระราชทานเบี้ยหวัดของพระองค์เจ้าปัทมราชและเจ้าจอมมารดานุ้ยเล็กถึงนครศรีธรรมราชด้วยค่ะ เลยมีหลักฐานเชิงเอกสารค่ะว่าเจ้าจอมมารดาท่านกลับไปยังนครศรีธรรมราชค่ะ (เมื่อเจ้าจอมมารดาท่านถึงแก่อนิจกรรม พระธิดาเสด็จกลับกรุงเทพฯ ได้นำคณะละครผู้หญิงมาด้วยค่ะ เป็นที่มาของละครชาตรีค่ะ)


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: กันเกรา ที่ 15 พ.ย. 23, 20:48
สำหรับอีกท่าน(หรือทางกัมพูชาต้องเรียกว่าอีกพระองค์) คือเจ้าจอมมารดานักองค์เภาค่ะ สมเด็จพระอุทัยราชากษัตริย์กัมพูชากราบทูลขอพระบรมราชานุญาตล้นเกล้ารัชกาลที่ 1 ขอพระปิตุจฉาคือนักองค์อีและนักองค์เภากลับสู่กัมพูชา แต่เรื่องมีหลายแบบ กันเกราจึงไม่แน่ใจค่ะ ถ้าตามพระราชพงศาวดารของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ล้นเกล้ารัชกาลที่ 1 ไม่พระราชทานพระบรมราชานุญาตเนื่องจากทรงไม่อยากให้เจ้าจอมมารดาและพระธิดาจากกันไกลค่ะ  แต่บางเอกสาร (อาจจะทางกัมพูชา) คือพระราชทานพระบรมราชานุญาตเฉพาะนักองค์เภาค่ะ ส่วนนักองค์อีและพระธิดาประทับในกรุงเทพฯ ค่ะ  

อีกพระองค์ที่กันเกราไม่แน่ใจที่ประทับหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ สวรรคตคือพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดาราวดีค่ะ พระธิดาสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระชายาสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ และพระมารดาพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศราพงศ์ค่ะ หลังพระองค์เจ้าดาราวดีสิ้นพระชนม์ พระโอรสถวายพระตำหนักและพระอุทยานของพระองค์เจ้าดาราวดีสร้างเป็นวัดจอมสุดาราม แต่วัดจอมสุดารามอยู่ไกลจากวังพระโอรสมาก (ถ้าประทับที่นั่นจริง ๆ คือไกลมาก อยู่เขตดุสิต ขณะที่วังพระโอรสอยู่ปากคลองวัดชนะสงครามใกล้วังหน้า) พระอุทยานอาจจะหมายถึงสวนซึ่งพระองค์เจ้าดาราวดีทรงเป็นเจ้าของก็เป็นได้ค่ะ  ส่วนพระตำหนักกันเกราเดาว่าอาจจะเป็นในวังพระโอรสค่ะ (พระตำหนักมีความเป็นไปได้ทั้งในพระบวรราชวังและในวังพระโอรส แต่เดาว่าน่าจะอย่างหลังนะคะ ซึ่งถ้าเป็นจริงคือพระองค์เจ้าดาราวดีประทับกับพระโอรสหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ สวรรคตค่ะ)


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 พ.ย. 23, 08:00
นึกขึ้นมาได้ถึงอีกท่าน(หรือองค์)หนึ่ง  คือเจ้าศิริรจจา หรือเจ้าศรีอโนชา พระชายากรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท   ค้นข้อมูลไม่เจอ  แต่เคยได้ยินคุณเผ่าทองพูดถึง (พูดที่ไหนสักแห่ง จำไม่ได้แล้ว) ว่าเจ้าศิริรจจาท่านเสด็จกลับไปเมืองเหนือแต่เจ้าฟ้าพิกุลทองยังอยู่ในกรุงเทพ
เจ้าศิริรจจากลับไปตั้งแต่กรมพระราชวังบวรฯ ยังมีพระชนม์อยู่ หรือสิ้นพระชนม์แล้ว ก็ยังหาข้อมูลไม่พบค่ะ
คุณกันเกราพอจะหาข้อมูลได้ไหมคะ


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: กันเกรา ที่ 16 พ.ย. 23, 10:57
นึกขึ้นมาได้ถึงอีกท่าน(หรือองค์)หนึ่ง  คือเจ้าศิริรจจา หรือเจ้าศรีอโนชา พระชายากรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท   ค้นข้อมูลไม่เจอ  แต่เคยได้ยินคุณเผ่าทองพูดถึง (พูดที่ไหนสักแห่ง จำไม่ได้แล้ว) ว่าเจ้าศิริรจจาท่านเสด็จกลับไปเมืองเหนือแต่เจ้าฟ้าพิกุลทองยังอยู่ในกรุงเทพ
เจ้าศิริรจจากลับไปตั้งแต่กรมพระราชวังบวรฯ ยังมีพระชนม์อยู่ หรือสิ้นพระชนม์แล้ว ก็ยังหาข้อมูลไม่พบค่ะ
คุณกันเกราพอจะหาข้อมูลได้ไหมคะ

กันเกราเคยอ่านพบเกี่ยวกับพระอัครชายา เจ้าศิริรจจา ในวารสารศิลปวัฒนธรรมค่ะ รศ. สมโชติ อ๋องสกุลเขียนในบทความเกี่ยวกับพระอัครชายาเจ้าศิริรจจาว่าหลังกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทสวรรคต "ไม่พบเรื่องราวของพระอัครชายาเจ้าศรีอโนชา แต่คงอยู่ในพระราชวังบวรฯ จนสิ้นพระชนม์ และคงมีการนำอัฐิมาที่นครลำปาง"  กันเกราเคยแวะไปกราบพระธาตุลำปางหลวง ได้มีโอกาสเห็นกู่ที่ประดิษฐานพระอัฐิของพระอัครชายา เจ้าศิริรจจา ด้วยค่ะ (อาจจะฟังดูแปลกนิดหนึ่งและ supernatural แต่กู่ที่ประดิษฐานพระอัฐิให้ความรู้สึกน่าเกรงขาม อันนี้เป็นความรู้สึกส่วนตัวของกันเกรานะคะ ท่านอื่น ๆ อาจจะรู้สึกแตกต่างออกไป) สำหรับข้อมูลกันเกราขออนุญาตคาดเดาว่า อ.สมโชติน่าจะพยายามหาข้อมูลแต่ไม่พบข้อมูลที่ชัดเจน (ถ้าเสด็จล้านนา ทางล้านนาน่าจะบันทึก) ท่านจึงคิดว่าพระอัครชายาเจ้าศิริรจจาน่าจะประทับพระบวรราชวังกับพระธิดาหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวร ฯ สวรรคตค่ะ


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 พ.ย. 23, 11:18
  ดิฉันเคยได้ยินมา(ซึ่งอาจจะผิดก็ได้  ห้ามนำไปอ้างอิง) ว่าเจ้าศิริรจจาเสด็จกลับลำปาง ตั้งแต่กรมพระราชวังบวรฯ ยังมีพระชนม์อยู่   ภายหลังจากที่ทรงได้นักองค์อีมาเป็นเจ้าจอม 
  เจ้าศิริรจจาประทับอยู่ที่ลำปางจนสิ้นพระชนม์  ส่วนเจ้าฟ้าพิกุลทองยังอยู่ในวังหน้า จนสิ้นพระชนม์เมื่อพ.ศ. 2353  ในรัชกาลที่ 2  พระชันษา 33 ปี


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: กันเกรา ที่ 16 พ.ย. 23, 11:39
กันเกราคิดว่าเป็นเรื่องที่แปลกนิดหนึ่ง เพราะพระอัครชายา เจ้าศิริรจจาทรงมีชื่อเสียงมากค่ะ แต่พระประวัติช่วงหลังค่อนข้างลางเลือน  ในพระราชพงศาวดาร (ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์อีกเช่นกันค่ะ)  กล่าวถึงงานพระเมรุของเจ้าฟ้าพิกุลทองที่สนามหลวงค่ะ แต่ในพระราชพงศาวดารฉบับนี้ ถ้าจำไม่ผิด (กันเกราอาจจะต้องขอเช็คอีกครั้ง) ไม่เอ่ยถึงพระมารดาเลยค่ะ

กันเกราเคยได้ยินว่าจริง ๆ กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์มีพระประสงค์จะอภิเษกกับเจ้าฟ้าพิกุลทองค่ะ (อันนี้เป็นการได้ยินมาแบบไม่มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์นะคะ) แต่เจ้าฟ้าพิกุลทองสิ้นพระชนม์ก่อน

เจ้าจอมมารดานักองค์อีเป็นพระสนมที่ทรงโปรดมาก (ทรงสร้างวัดสำหรับพระมารดานักองค์อีที่บวชเป็นรูปชีในพระบวรราชวัง แสดงว่าต้องโปรดมาก ๆ) แต่ชีวิตของเจ้าจอมมารดานักองค์อีผ่านอะไรเยอะมาก (แต่ละอย่างน่ากลัวมากเลยค่ะ)

 


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: กันเกรา ที่ 16 พ.ย. 23, 12:06
กันเกราคิดว่าเป็นเรื่องที่แปลกนิดหนึ่ง เพราะพระอัครชายา เจ้าศิริรจจาทรงมีชื่อเสียงมากค่ะ แต่พระประวัติช่วงหลังค่อนข้างลางเลือน  ในพระราชพงศาวดาร (ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์อีกเช่นกันค่ะ)  กล่าวถึงงานพระเมรุของเจ้าฟ้าพิกุลทองที่สนามหลวงค่ะ แต่ในพระราชพงศาวดารฉบับนี้ ถ้าจำไม่ผิด (กันเกราอาจจะต้องขอเช็คอีกครั้ง) ไม่เอ่ยถึงพระมารดาเลยค่ะ

กันเกราเคยได้ยินว่าจริง ๆ กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์มีพระประสงค์จะอภิเษกกับเจ้าฟ้าพิกุลทองค่ะ (อันนี้เป็นการได้ยินมาแบบไม่มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์นะคะ) แต่เจ้าฟ้าพิกุลทองสิ้นพระชนม์ก่อน

เจ้าจอมมารดานักองค์อีเป็นพระสนมที่ทรงโปรดมาก (ทรงสร้างวัดสำหรับพระมารดานักองค์อีที่บวชเป็นรูปชีในพระบวรราชวัง แสดงว่าต้องโปรดมาก ๆ) แต่ชีวิตของเจ้าจอมมารดานักองค์อีผ่านอะไรเยอะมาก (แต่ละอย่างน่ากลัวมากเลยค่ะ)

 

ขออภัยมาก ๆ เลยค่ะ กันเกราจำผิดจริง ๆ พระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 2 เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพค่ะ (รัชกาลที่ 1 3 และ 4 เขียนโดยเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ และชำระโดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพค่ะ แต่สำหรับรัชกาลที่ 2 เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ท่านเรียบเรียงไว้สั้นมาก จึงทรงพระนิพนธ์ขึ้นใหม่ค่ะ) ทรงเล่าถึงการทิวงคตของเจ้าฟ้าพิกุลทองแต่เพียงสั้น ๆ ค่ะ (ทรงเอ่ยถึงพระอัครชายา เจ้าศิริรจจาว่าคือพระมารดา แต่ไม่ได้ทรงเล่ามากกว่านั้น) สำหรับเรื่องงานพระเมรุเจ้าฟ้าพิกุลทองอยู่ในหนังสืออีกเล่มซึ่งก็กล่าวถึงสั้น ๆ เช่นกัน  (อาจจะไม่แปลกที่ไม่ได้เล่าถึงพระมารดาค่ะ เพราะทั้งสองเล่มรายละเอียดโดยสังเขปจริง ๆ ค่ะ)


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: กันเกรา ที่ 16 พ.ย. 23, 12:35
กันเกราลองค้นข้อมูลเพิ่มเติมนะคะ นักประวัติศาสตร์ล้านนามีหลายความเชื่อเกี่ยวกับพระประวัติช่วงหลังของพระอัครชายา เจ้าศิริรจจา ค่ะ  คุณเพ็ญสุภา สุขคตะเชื่อว่าพระอัครชายาสิ้นพระชนม์หลังเจ้าฟ้าพิกุลทองค่ะ และเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ว่าเสด็จกลับล้านนาหลังจากนั้น (คุณเพ็ญสุภาใช้คำว่า "ความเป็นไปได้" ค่ะ)   ส่วน อ.สมโชติท่านเชื่อว่าสิ้นพระชนม์ที่กรุงเทพฯ และอันเชิญพระอัฐิไปลำปางค่ะ รายละเอียดทางประวัติศาสตร์ล้านนาน่าจะไม่ชัดเจนค่ะ 

(อีกข้อมูลที่พบคือจากสาส์นสมเด็จค่ะ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพตรัสถึงบุษบกพรหมพักตร์ในพระบวรราชวัง (ในนิพพานวังหน้าเรียกว่าพระที่นั่งพรหมพักตร์) ว่าบนบุษบกนอกจากที่ประทับตรงกลาง มีมุขพื้นลดสองข้างซ้ายขวาซึ่งมีที่ประทับเช่นกัน  บุษบกนี้ใช้เวลาให้สตรีบรรดาศักดิ์เข้าเฝ้าค่ะ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพดำริว่ามุขพื้นลดซ้ายขวาน่าจะเป็นที่ประทับของพระอัครชายาเจ้าศิริรจจาและเจ้าฟ้าพิกุลทองค่ะ)



กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: กันเกรา ที่ 16 พ.ย. 23, 12:58
เอกสารทางประวัติศาสตร์อีกชิ้นคือพระนิพนธ์นิพพานวังหน้าค่ะ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัมพุชฉัตร นิพนธ์ตอนหนึ่งว่า

จึงดำรัสเรียกเหล่าบุตรีสมร ประโลมสอนพ่อจะร้างนิราศา
ดวงจิตรฝากชีวิตรพระบิตุลา วาศนาหาไม่จงเจียมสกล
สมรยากฝากองค์ให้การุญ ถ้าพระคุณเคืองเข็ญไม่เปนผล
จะพึ่งพ่อเล่าก็พ่อไม่ยืนชนม์ ยลแต่บาทนะจงตั้งภักดีตรง
หนึ่งพระเสาวนีที่มียศ พระธิดาปรากฎมงกุฎหงษ์
จงฝากกายนะอย่าหมายหมิ่นทนง เจ้าเปนวงษ์จงรักษ์ธุลีลออง

กันเกราไม่แน่ใจนะคะ ปกติพระเสาวนีย์หมายถึงพระดำรัสของสมเด็จพระอัครมเหสี  "หนึ่งพระเสาวนีที่มียศ" จะทรงหมายถึงพระอัครชายา เจ้าศิริรจจาไหมคะ และ "พระธิดาปรากฏมงกุฏหงษ์" หมายถึงเจ้าฟ้าพิกุลทองไหมคะ หรือทั้งสองวรรครวมกันคือเจ้าฟ้าพิกุลทอง หรือสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพยวดีในพระบรมมหาราชวัง (กันเกราไม่มั่นใจจริง ๆ ค่ะ) 


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 พ.ย. 23, 13:05
   แปลกใจมานานแล้วว่า หลังจากวีรกรรมของเจ้าศิริรจจาเมือพระยาสรรค์ก่อเหตุวุ่นวายสมัยปลายธนบุรี   เรื่องราวของท่านก็หายเงียบไป  นอกจากมีพระธิดาคือเจ้าฟ้าพิกุลทองแล้ว  ก็ไม่มีพงศาวดารหรือบันทึกพูดถึงท่านอีกเลย  
   บันทึกเหตุการณ์สำคัญๆรวมทั้งงานราชประเพณีหลายอย่างในสมัยรัชกาลที่ 1 และ 2     ก็ไม่มีการเอ่ยถึงพระนามในฐานะเจ้านายฝ่ายในสูงสุดของวังหน้า  
   ถ้าหากว่าท่านสิ้นพระชนม์ในกรุงเทพ อย่างที่อ.สมโชติเชื่อ   ท่านไม่น่าจะอยู่ยืนยาวเกินรัชกาลที่ 3    ถ้าเป็นเช่นนั้น
 สามรัชกาลของรัตนโกสินทร์ต้องบันทึกถึงงานพระเมรุของท่าน  สั้นยาวแค่ไหนก็ต้องมี   แต่นี่ก็ไม่มี
  เหตุผลที่ดิฉันคิดออกมีอย่างเดียวคือเจ้าศิริรจจากลับลำปาง  แต่เสด็จกลับไปในรัชกาลไหนยังไม่เจอหลักฐาน   แล้วไปสิ้นพระชนม์ที่ลำปาง   จึงไม่มีหลักฐานงานพระเมรุ หรือบันทึกการสิ้นพระชนม์ (ถ้าไ่ม่ได้ขึ้นพระเมรุ) เจ้าศิริรจนาในกรุงเทพ      มีแต่หลักฐานการสิ้นพระชนม์ของเจ้าฟ้าพิกุลทอง


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 พ.ย. 23, 13:36
อ้างถึง
กันเกราไม่แน่ใจนะคะ ปกติพระเสาวนีย์หมายถึงพระดำรัสของสมเด็จพระอัครมเหสี  "หนึ่งพระเสาวนีที่มียศ" จะทรงหมายถึงพระอัครชายา เจ้าศิริรจจาไหมคะ และ "พระธิดาปรากฏมงกุฏหงษ์" หมายถึงเจ้าฟ้าพิกุลทองไหมคะ หรือทั้งสองวรรครวมกันคือเจ้าฟ้าพิกุลทอง หรือสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพยวดีในพระบรมมหาราชวัง (กันเกราไม่มั่นใจจริง ๆ ค่ะ)
  กำลังจะไปเปิดกระทู้นิพพานวังหน้าดูว่าจะเจออะไรบ้าง  คุณกันเกรารวดเร็วกว่า ไปเจอเสียก่อน
  ตอบเป็นข้อๆ
  1   ตลอดรัชกาลที่ 1   ไม่มีพระอัครมเหสี (อย่างเป็นทางการ)  เพราะสมเด็จพระอมรินทรฯท่านก็ตัดขาดไม่มาอยู่ในวังหลวงตั้งแต่ต้นรัชกาล      เจ้าจอมแว่นถึงมีอำนาจวาสนาสูงในวังก็ไม่ใช่ชั้นเจ้านาย 
  เพราะฉะนั้น ทั้งสองท่านไม่ใช่ "พระเสาวนีที่มียศ" แน่นอน
  2  พระดำรัสสั่งเสียของกรมพระราชวังบวรฯ มีต่อพระเจ้าลูกเธอทั้งหลายที่เป็นสตรี ย่อมรวมเจ้าฟ้าพิกุลทองด้วย    จึงตัดประเด็นไปได้อีกข้อว่า "พระธิดา" ในกลอนวรรคนี้ ย่อมไม่หมายถึงเจ้าฟ้าพิกุลทอง   
  3  เมื่อพระธิดาที่มียศ ไม่ได้หมายถึงเจ้าฟ้าพิกุลทอง   "พระเสาวนี" ก็ไม่ได้หมายถึงเจ้าศิริรจจา
  4  ถึงแม้ว่าเจ้าศิริรจจา มีความดีความชอบมาก แต่พระเจ้าอยู่หัวก็มิได้ทรงอำนวยพระยศให้ทรงกรม  ยังคงเป็นเจ้าศิริรจจาเหมือนเดิม  คำว่า "ที่มียศ" จึงไม่ใช่ท่าน
     อีกอย่าง  กรมพระราชวังบวรทรงฝากพระโอรสธิดาทุกองค์ไว้กับ พระบิตุลา คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ แสดงว่าท่านไม่เห็นว่าในวังหน้า จะมีเจ้านายผู้ใหญ่องค์ไหนอีกเป็นที่พึ่งได้    ท่านเป็นพ่อคนเดียวของครอบครัวใหญ่  เมื่อจะจากไปก็ฝากลูกเมียไว้กับลุง    เป็นการฝากอย่างเป็นทางการ
 
   5  ในทางปฏิบัติ เจ้านายสตรีย่อมขึ้นกับเจ้านายสตรีด้วยกัน   ดังนั้นนอกจากพระบิตุลา ก็ต้องมีเจ้านายสตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในราชสำนักเป็นผู้ปกครองอีกที   เจ้านายองค์นี้ต้องใหญ่กว่าเจ้าฟ้าพิกุลทองซึ่งมีพระยศสูงสุดของวังหน้า   ก็มีองค์เดียวคือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพยวดี ซึ่งมีพระชันษาเท่ากับเจ้าฟ้าพิกุลทอง
   หนึ่งพระเสาวนีที่มียศ พระธิดาปรากฎมงกุฎหงษ์  น่าจะหมายถึงเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพยวดี ค่ะ   


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: กันเกรา ที่ 16 พ.ย. 23, 17:33
  แปลกใจมานานแล้วว่า หลังจากวีรกรรมของเจ้าศิริรจจาเมือพระยาสรรค์ก่อเหตุวุ่นวายสมัยปลายธนบุรี   เรื่องราวของท่านก็หายเงียบไป  นอกจากมีพระธิดาคือเจ้าฟ้าพิกุลทองแล้ว  ก็ไม่มีพงศาวดารหรือบันทึกพูดถึงท่านอีกเลย  
   บันทึกเหตุการณ์สำคัญๆรวมทั้งงานราชประเพณีหลายอย่างในสมัยรัชกาลที่ 1 และ 2     ก็ไม่มีการเอ่ยถึงพระนามในฐานะเจ้านายฝ่ายในสูงสุดของวังหน้า  
   ถ้าหากว่าท่านสิ้นพระชนม์ในกรุงเทพ อย่างที่อ.สมโชติเชื่อ   ท่านไม่น่าจะอยู่ยืนยาวเกินรัชกาลที่ 3    ถ้าเป็นเช่นนั้น
 สามรัชกาลของรัตนโกสินทร์ต้องบันทึกถึงงานพระเมรุของท่าน  สั้นยาวแค่ไหนก็ต้องมี   แต่นี่ก็ไม่มี
  เหตุผลที่ดิฉันคิดออกมีอย่างเดียวคือเจ้าศิริรจจากลับลำปาง  แต่เสด็จกลับไปในรัชกาลไหนยังไม่เจอหลักฐาน   แล้วไปสิ้นพระชนม์ที่ลำปาง   จึงไม่มีหลักฐานงานพระเมรุ หรือบันทึกการสิ้นพระชนม์ (ถ้าไ่ม่ได้ขึ้นพระเมรุ) เจ้าศิริรจนาในกรุงเทพ      มีแต่หลักฐานการสิ้นพระชนม์ของเจ้าฟ้าพิกุลทอง

กันเกราเห็นด้วยกับอาจารย์ทุกประการค่ะ ยิ่งพยายามค้นข้อมูลกันเกราก็ยิ่งรู้สึกแปลก เพราะพระอัครชายา เจ้าศิริรจจา ทรงหายไปจากพระราชพงศาวดารและเอกสารอื่น ๆ แม้กระทั่งการสิ้นพระชนม์ก็ไม่มีบันทึกช่วงเวลาดังที่อาจารย์อธิบายนะคะ (ปกติต้องมีแน่ ๆ) ทั้งที่วีรกรรมพระองค์สำคัญมาก ๆ  น่าจะมีโอกาสสูงจริง ๆ ที่เสด็จกลับล้านนาค่ะ (คุณเพ็ญสุภาให้เหตุผลกับความเป็นไปได้ที่เสด็จกลับทางเหนือว่าคล้ายคลึงกับครั้งพระราชชายาเจ้าดารารัศมี พระอัครชายาเจ้าศิริรจจาไม่มีพระโอรสธิดาพระองค์อื่น incentive ของพระอัครชายาในการประทับที่กรุงเทพฯ หลังการสิ้นพระชนม์ของพระสวามีและเจ้าฟ้าพิกุลทองน่าจะไม่มีค่ะ แต่จริง ๆ ไม่มีบันทึกว่าเสด็จกลับทางล้านนาเมื่อไรจริง ๆ ค่ะซึ่งยิ่งทำให้เรื่องนี้แปลกมากขึ้น)


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: กันเกรา ที่ 16 พ.ย. 23, 17:45
อ้างถึง
กันเกราไม่แน่ใจนะคะ ปกติพระเสาวนีย์หมายถึงพระดำรัสของสมเด็จพระอัครมเหสี  "หนึ่งพระเสาวนีที่มียศ" จะทรงหมายถึงพระอัครชายา เจ้าศิริรจจาไหมคะ และ "พระธิดาปรากฏมงกุฏหงษ์" หมายถึงเจ้าฟ้าพิกุลทองไหมคะ หรือทั้งสองวรรครวมกันคือเจ้าฟ้าพิกุลทอง หรือสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพยวดีในพระบรมมหาราชวัง (กันเกราไม่มั่นใจจริง ๆ ค่ะ)
 กำลังจะไปเปิดกระทู้นิพพานวังหน้าดูว่าจะเจออะไรบ้าง  คุณกันเกรารวดเร็วกว่า ไปเจอเสียก่อน
  ตอบเป็นข้อๆ
  1   ตลอดรัชกาลที่ 1   ไม่มีพระอัครมเหสี (อย่างเป็นทางการ)  เพราะสมเด็จพระอมรินทรฯท่านก็ตัดขาดไม่มาอยู่ในวังหลวงตั้งแต่ต้นรัชกาล      เจ้าจอมแว่นถึงมีอำนาจวาสนาสูงในวังก็ไม่ใช่ชั้นเจ้านาย  
  เพราะฉะนั้น ทั้งสองท่านไม่ใช่ "พระเสาวนีที่มียศ" แน่นอน
  2  พระดำรัสสั่งเสียของกรมพระราชวังบวรฯ มีต่อพระเจ้าลูกเธอทั้งหลายที่เป็นสตรี ย่อมรวมเจ้าฟ้าพิกุลทองด้วย    จึงตัดประเด็นไปได้อีกข้อว่า "พระธิดา" ในกลอนวรรคนี้ ย่อมไม่หมายถึงเจ้าฟ้าพิกุลทอง  
  3  เมื่อพระธิดาที่มียศ ไม่ได้หมายถึงเจ้าฟ้าพิกุลทอง   "พระเสาวนี" ก็ไม่ได้หมายถึงเจ้าศิริรจจา
  4  ถึงแม้ว่าเจ้าศิริรจจา มีความดีความชอบมาก แต่พระเจ้าอยู่หัวก็มิได้ทรงอำนวยพระยศให้ทรงกรม  ยังคงเป็นเจ้าศิริรจจาเหมือนเดิม  คำว่า "ที่มียศ" จึงไม่ใช่ท่าน
     อีกอย่าง  กรมพระราชวังบวรทรงฝากพระโอรสธิดาทุกองค์ไว้กับ พระบิตุลา คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ แสดงว่าท่านไม่เห็นว่าในวังหน้า จะมีเจ้านายผู้ใหญ่องค์ไหนอีกเป็นที่พึ่งได้    ท่านเป็นพ่อคนเดียวของครอบครัวใหญ่  เมื่อจะจากไปก็ฝากลูกเมียไว้กับลุง    เป็นการฝากอย่างเป็นทางการ
  
   5  ในทางปฏิบัติ เจ้านายสตรีย่อมขึ้นกับเจ้านายสตรีด้วยกัน   ดังนั้นนอกจากพระบิตุลา ก็ต้องมีเจ้านายสตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในราชสำนักเป็นผู้ปกครองอีกที   เจ้านายองค์นี้ต้องใหญ่กว่าเจ้าฟ้าพิกุลทองซึ่งมีพระยศสูงสุดของวังหน้า   ก็มีองค์เดียวคือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพยวดี ซึ่งมีพระชันษาเท่ากับเจ้าฟ้าพิกุลทอง
   หนึ่งพระเสาวนีที่มียศ พระธิดาปรากฎมงกุฎหงษ์  น่าจะหมายถึงเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพยวดี ค่ะ  

ขอบพระคุณมาก ๆ เลยค่ะ  พระธิดาปรากฏมงกุฏหงษ์น่าจะหมายถึงสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพยวดีจริง ๆ ค่ะ (ในนิพพานวังหน้า แม้แต่ในการพระเมรุสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ ฝ่ายในจะแยกออกไป และเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงของทางพระบรมมหาราชวังเป็นพระองค์บัญชาการฝ่ายในจริง ๆ) กันเกราลองค้นข้อมูลผ่านนิพพานวังหน้าอีกครั้ง พระองค์เจ้ากัมพุชฉัตรตรัสถึงพระอัครชายาเจ้าศิริรจจาครั้งหนึ่งค่ะ

โอ้พระคุณบุญน้อยไม่มีบุตร เปนมงกุฎสืบสายไปภายน่า
จะสนองแทนลอองอิศรา กับพระอรรคชายาไม่เลงยล
มีแต่หน่อพระสนมไม่สมยศ สวรรคตว้าเว่รเหรหน
กองกรรมจำนิราศบาทยุคล บรรดาชนฤๅจะชื่นทั้งหมื่นกรุง

กันเกราไม่แน่ใจค่ะว่า "เลงยล" หมายถึงอะไร (เป็นคำโบราณ เข้าใจยาก) แต่เป็นครั้งเดียวที่พระองค์เจ้ากัมพุชฉัตรตรัสถึงพระอัครชายา กันเกราพยายามคิดว่าคำนี้จะเป็น clue ของเรื่องทั้งหมดได้ไหมนะคะ


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 พ.ย. 23, 18:12
อ้างถึง
กันเกราไม่แน่ใจค่ะว่า "เลงยล" หมายถึงอะไร (เป็นคำโบราณ เข้าใจยาก) แต่เป็นครั้งเดียวที่พระองค์เจ้ากัมพุชฉัตรตรัสถึงพระอัครชายา กันเกราพยายามคิดว่าคำนี้จะเป็น clue ของเรื่องทั้งหมดได้ไหมนะคะ

เลง  = เล็ง
ยล   =  มอง, เห็น
ไม่เลงยล   = ไม่เล็งเห็น  = มองไม่เห็น

โอ้พระคุณบุญน้อยไม่มีบุตร     เปนมงกุฎสืบสายไปภายน่า
จะสนองแทนลอองอิศรา         กับพระอรรคชายาไม่เลงยล

ถอดความออกมาว่า  น่าเสียดายที่กรมพระราชวังบวรฯ ไม่ทรงมีพระโอรสที่จะสืบสันตติวงศ์วังหน้าต่อไปในภายหน้า  จึงไม่เห็นใครที่จะได้บำเพ็ญพระกรณียกิจแทนพระบิดาและพระมารดา
บรรทัดต่อไปคือมีพระโอรสก็แต่ที่ประสูติจากเจ้าจอม  
ในเมื่อเอ่ยถึงพระอรรคชายา ก็น่าจะเป็นได้ว่าเจ้าศิริรจจายังอยู่ในวังหน้าเมื่อกรมพระราชวังบวรฯสิ้นพระชนม์   ดังนั้นอาจจะทรงกลับไปลำปางหลังจากนั้น   ส่วนเจ้าฟ้าพิกุลทองยังอยู่ในกรุงเทพ

การที่ไม่มีบันทึกถึงงานพระเมรุหรืองานพระศพเจ้าศิริรจจา ทำให้แน่ใจว่าไม่ได้สิ้นพระชนม์อยู่ในเมืองหลวงค่ะ


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: กันเกรา ที่ 16 พ.ย. 23, 19:52
ขอบพระคุณอาจารย์มาก ๆ เลยค่ะ และกันเกราขออภัยมาก ๆ ค่ะ ตอนนี้พบการบันทึกปีสิ้นพระชนม์ของพระอัครชายา เจ้าศิริรจจา (แต่หลักฐานไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์นะคะ) คือปี พ.ศ. 2364 ค่ะ (18 ปีหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ สวรรคต) กันเกราเชื่อว่าทางที่เป็นไปได้มากที่สุดมีสองหนทางค่ะ

                (i)  พระอัครชายา เจ้าศิริรจจา กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตเสด็จกลับล้านนาหลังการสวรรคตของสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ โดยที่เจ้าฟ้าพิกุลทองประทับที่กรุงเทพฯ ดังที่ อ.เผ่าทองท่านเล่า (ท่านเป็น insider ) ซึ่งการกราบบังคมทูลนี้ไม่ผิดกฏมณเฑียรบาล (มีการกราบทูลขอกลับนครฯ ของเจ้าจอมมารดานุ้ยเล็กและการทูลขอนักองค์อีและนักองค์เภากลับกัมพูชาของสมเด็จพระอุทัยราชาเป็นตัวอย่างว่าสามารถกระทำได้)

                (ii)  พระอัครชายากราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตเสด็จกลับล้านนาหลังการสิ้นพระชนม์ของเจ้าฟ้าพิกุลทองดังที่คุณเพ็ญสุภาเชื่อ อันนี้ก็ยังมีความเป็นไปได้เช่นกันค่ะ

กันเกราเห็นด้วยว่าพระอัครชายา เจ้าศิริรจจาน่าจะทรงนิวัติล้านนาจริง ๆ ค่ะ และระยะเวลาระหว่างการสวรรคตของสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ และการสิ้นพระชนม์ของเจ้าฟ้าพิกุลทองห่างกันเพียงเจ็ดปี เป็นไปได้ทั้งสองหนทาง (และไม่ขัดแย้งกับหลักฐานทางโบราณวัตถุคือบุษบกพรหมพักตร์ซึ่งมีสามที่ประทับ และการมีตำหนักพระอัครชายา เจ้าศิริรจจา ในพระบวรราชวัง (เอกสารเล่าว่ามีหลังคาสองชั้น) นอกเหนือจากตำหนักเจ้าฟ้าพิกุลทองค่ะ)  และเห็นด้วยว่าพระอัครชายาอาจจะเสด็จนิวัติลำปางซึ่งเป็นเมืองเดิมและพระเจ้าดวงทิพย์ พระเชษฐาทรงเป็นเจ้าหลวงค่ะ



กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: กันเกรา ที่ 16 พ.ย. 23, 20:37
การหายไปของบทบาทพระอัครชายา เจ้าศิริรจจา หลังการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ อาจเป็นไปได้ไหมคะว่าเกิดจากกฏมณเฑียรบาลซึ่งแยกฝ่ายหน้าฝ่ายใน  ตอนที่ทรงเป็นท่านผู้หญิง ไม่ติดกฏมณเฑียรบาลนี้วีรกรรมการหงายเมืองจึงเกิดขึ้นได้ หลังจากที่ทรงเป็นพระอัครชายาแล้ว การติดต่อกับราษฎรนอกพระบวรราชวังอาจยากขึ้น (พระอัครชายาอาจยังทรงมีบทบาทแต่อาจทรงอยู่เบื้องหลัง ในสาส์นสมเด็จ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพตรัสว่าพระญาติทางล้านนาเสด็จลงมาเฝ้าสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ และพระอัครชายาเสมอ ๆ (และทางนั้นมีศึกกับพม่ามาก เลกในพระองค์ที่สระบุรีอาจมีส่วนช่วยในการรบ อันนี้กันเกราเดานะคะ) แต่ถ้าทรงมีบทบาทอยู่เบื้องหลังอาจจะไม่มีการบันทึกค่ะ)

หลักฐานทางล้านนาที่ไม่ชัดเจนอาจเกิดจากการนิวัติลำปางนะคะ ถ้าพระอัครชายานิวัติเชียงใหม่ หลักฐานอาจชัดเจนขึ้น (กันเกราเดาว่าการเก็บหลักฐานน่าจะอยู่ที่เมืองหลวงของล้านนา) นักประวัติศาสตร์ล้านนาจึงต้องเชื่อมจุดกันค่ะ (แต่อันนี้คือการคาดเดาล้วน ๆ นะคะ)


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 16 พ.ย. 23, 20:58
   เป็นไปได้มาก ว่ากฎมณเฑียรบาลกำหนดให้เจ้านายสตรีกระดิกกระเดี้ยออกนอกกรอบได้ยาก    ออกนอกวังก็ยากอยู่แล้ว ยิ่งถ้าต้องพูดจาหรือสั่งงานกับพวกผู้ชายยิ่งยากหนักเข้าไปอีก   ยิ่งเป็นสามัญชนแล้วไม่มีโอกาสเลยก็ว่าได้
เจ้าศิริรจจาน่าจะอยู่ในวังหน้าอย่างมีเกียรติยศสูงกว่าเจ้านายอื่นๆทั้งหมด   ซึ่งก็ทำให้เกิดกรอบหนายิ่งกว่าเจ้านายอื่นๆ  ท่านจึงไม่มีบทบาทด้านงานเมืองใดๆ   
   นอกจากนี้  วังหลวงกับวังหน้ามีเรื่องขุ่นเคืองกันมาตั้งแต่ปลายรัชกาล   จนสิ้นกรมพระราชวังบวรฯ ก็เกิดคดีกบฎพระองค์เจ้าลำดวนและพระองค์เจ้าอินทปัตขึ้นมาอีก    แม้การสอบสวนไม่ปรากฏว่าเจ้าศิริรจจาเกี่ยวข้องด้วย   แต่เหตุการณ์นี้ รวมทั้งความวิบัติที่เกิดขึ้นในวังหน้า   คงจะทำให้ท่านตัดสินใจกลับไปอยู่บ้านเดิม  แม้ไม่สามารถนำเจ้าฟ้าพิกุลทองไปด้วยได้ก็ตาม 


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: กันเกรา ที่ 17 พ.ย. 23, 08:18
ขอสารภาพว่ากันเกราเชื่อการวิเคราะห์ของอาจารย์นะคะและตอนนี้เริ่มเอนเอียงมาทาง อ.เผ่าทองมากกว่าคุณเพ็ญสุภาค่ะ อ.เผ่าทองท่านน่าจะมีโอกาสเป็นฝ่ายถูกมากกว่า ถ้าพิจารณาความตึงเครียดระหว่างวังหน้าและวังหลวงในช่วงก่อนสมเด็จกรมพระราชวังบวรฯ สวรรคตและวิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดหลังสวรรคต กันเกราคิดว่าเป็นเรื่องน่าเห็นพระทัยสำหรับพระอัครชายา เจ้าศิริรจจาและเจ้าฟ้าพิกุลทอง สำหรับพระอัครชายาด้านหนึ่งคือพระธิดาพระองค์เดียว อีกด้านหนึ่งคือความสัมพันธ์ล้านนา-สยาม พระอัครชายาทรงเป็น link ที่สำคัญที่สุดสำหรับความสัมพันธ์นี้ (ล้านนาต้องการสยามมากเพื่อการป้องกันจากพม่าและสยามต้องการล้านนาเช่นกัน)  เหตุการณ์ในวังหน้าอาจนำความสัมพันธ์ระหว่างล้านนาและสยามเข้าสู่ภาวะเสี่ยง  ทางที่ดีที่สุดในการรักษาความสัมพันธ์นี้คือการเสด็จกลับล้านนาของพระอัครชายา (และแม้เสด็จกลับล้านนาแล้ว การลดบทบาททางการเมืองอาจยังจำเป็น)

  โชคดีที่เจ้าฟ้าพิกุลทองเจริญพระชันษาพอที่จะทรงปกครองตำหนักของพระองค์เอง และเป็นเจ้าฟ้าทรงกรม พระสถานะสูง ขณะเดียวกันทรงเป็นพระธิดาอยู่ฝ่ายใน ไม่ทรงเกี่ยวข้องกับการเมืองมากนัก และทรงเป็นพระญาติเจ้าหลวงถึงสามเมือง และมีวีรกรรมการหงายเมืองของพระมารดาซึ่งทางกรุงเทพฯ ย่อมไม่ลืม อย่างน้อยพระอัครชายาอาจจะสบายพระทัยได้ว่าความปลอดภัยขององค์เจ้าฟ้าพิกุลทองน่าจะมากในระดับหนึ่งค่ะ

กันเกรากำลังคิดว่าอาจเป็นได้ที่เหตุผลเดียวกันนี้ทำให้เจ้าจอมมารดานุ้ยเล็กถวายบังคมลากลับนครศรีธรรมราชค่ะแม้ว่าจะพาพระธิดาพระองค์เดียวไปด้วยไม่ได้ (สถานการณ์คล้ายกันค่ะ ถ้าเป็นจริงเจ้าจอมมารดาท่านน่าเห็นใจเช่นกัน) ท่านเป็นผู้เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพฯ กับนครศรีธรรมราช เหตุการณ์ในวังหน้าอาจส่งผลถึงนครศรีธรรมราชได้ เป็นเรื่องที่เสี่ยงไม่ได้จริง ๆ

เจ้าจอมมารดานุ้ยเล็กท่านโชคดีที่ท่านมีพี่สาวอยู่ในพระบรมมหาราชวังและพี่สาวของท่านเป็นเจ้าจอมมารดาที่มีพระโอรส ทำให้เหลือผู้เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพฯ และนครฯ  และเจ้าจอมมารดานุ้ยเล็กยังสามารถฝากพระธิดากับเจ้าจอมมารดานุ้ยใหญ่ได้ด้วยค่ะ (พระองค์เจ้าปัทมราช พระธิดา น่าจะประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังในช่วงรัชกาลที่ 2 นานพอควรจนล้นเกล้ารัชกาลที่ 4 ทรงสนิทสนมคุ้นเคย  พระราชหัตถเลขาถึงพระองค์เจ้าปัทมราช ถ้าพูดแบบภาษาชาวบ้าน คือเป็นจดหมายถึงญาติจริง ๆ น่าจะต้องทรงสนิทสนมมาก)

การที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 1 พระราชทานพระบรมราชานุญาตในทั้งสองกรณีก็อาจจะเป็นไปเพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีของสยามกับล้านนาและนครศรีธรรมราชเช่นกัน (เรื่องทั้งหมดพันกันหมดเลย ตอนนี้กันเกราพอเห็นภาพมากขึ้นค่ะ)


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 17 พ.ย. 23, 20:17
คิดว่ากระทู้น่าจะจบลงแค่นี้ค่ะ นึกไม่ออกว่าจะโพสอะไรเกี่ยวกับเจ้านายฝ่ายในของวังหน้าได้อีก


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 18 พ.ย. 23, 10:19
ส่งท้าย, บางส่วนจาก จาก ตำนานวังหน้า กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเรียบเรียง

           ตำหนักข้างใน ในวังหลวงสร้างด้วยเครื่องไม้ทั้งนั้น มาเปลี่ยนเป็นตึกสมัยร. ๓ แต่ตำหนักในวังหน้าสร้างเป็นตึก
มาแต่ในร. ๑ และมีตำหนักหมู่หนึ่งยกหลังคาเป็นสองชั้น คล้ายพระวิมาน เป็นที่ประทับของเจ้ารจจา พระอัครชายา
           ลานพระราชวังบวรฯ ชั้นนอกด้านเหนือ แต่แรกเป็นสวนที่ประพาส มีตำหนักสร้างไว้หนึ่งหลัง ต่อมากรมพระราชวังบวร
มหาสุรสิงหนาททรงอุทิศให้เป็นที่หลวงชีจำศีลภาวนา เหตุเพราะมารดาของนักองค์อี พระสนมเอก ชื่อนักนางแม้น บวชเป็นชี
เรียกกันว่า นักชี มาอยู่ในกรุง โปรดให้หอยู่ในพระราชวังบวรฯ กับพวกหลวงชีที่เป็นบริษัท ที่ตรงนั้นเรียกกันว่า วัดหลวงชี


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 18 พ.ย. 23, 10:28
กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททูลขอร.๑ เมื่อครั้งประชวรหนัก

          พระองค์เจ้าหญิงกัมพุชฉัตรเฝ้าอยู่ในที่นั้น ได้ทรงพรรณนาไว้ในกลอนนิพพานวังหน้า

          อนึ่งหน่อวรนาถผู้สืบสนอง            โปรดให้ครองพระนิเวศน์เหมือนปางหลัง
         
          อย่าบำราศให้นิราแรมวัง               ก็รับสั่งอวยเออพระโองการ


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 18 พ.ย. 23, 10:38
            กรมพระราชวังบวรฯ ทูลฝากพระโอรสธิดา แล้วขอให้ได้อยู่อาศัยในวังหน้าต่อไป

            บางทีความข้อหลังนี้เองจะเป็นเหตุให้พระองค์เจ้าลำดวนและพระองค์เจ้าอินทปัตเข้าใจว่า พระบิดาได้
ทูลขอให้ลูกเธอได้ครองวังหน้าอย่างรับมรดกในสกุลคนสามัญ ไม่รู้สึกว่าเป็นพระราชวังสำหรับพระมหาอุปราช
ครั้นกรมพระราชวังบวรฯ เสด็จสวรรคตแล้วไม่ได้เข้าครองวังหน้าดังปรารถนา จึงโกรธแค้นคบคิดกันซ่องสุม
หากำลังจะก่อการกำเริบ


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ย. 23, 11:13
คุณหมอ SILA มาสะกิดต่อมสงสัยของดิฉันเข้าพอดี
เรื่องกบฎวังหน้า   พงศาวดารเจ้าพระยาทิพากรวงศ์บันทึกไว้ว่า กรมพระราชวังบวรฯทรงสนับสนุนให้พระโอรสก่อการกบฎ  ตั้งแต่ก่อนสิ้นพระชนม์ 
อ่านได้จากข้างล่างนี้ค่ะ

เมื่อกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงพระประชวรมากนั้น ความปรากฏว่า แต่ก่อนมาได้มีพระราชบัณฑูรประภาษเป็นนัยอุบายแก่พระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัตซึ่งเป็นพระโอรสผู้ใหญ่ทั้ง ๒ พระองค์ ให้คิดการแผ่นดิน มีคำเล่าถูกต้องร่วมกันเป็นหลายปากว่า เมื่อครั้งกรมพระราชวังบวรฯ ทรงพระประชวรหนักอยู่นั้น มีรับสั่งว่าพระที่นั่งนั้น ๆ ได้ทรงสร้างไว้ใหญ่โตมากมายเป็นของประณีตบรรจงงามดี ทรงพระประชวรนานไม่ได้ทอดพระเนตรเห็นรอบคอบเลย จะใคร่ทอดพระเนตรให้สบายพระราชหฤทัย จึงให้เชิญเสด็จขึ้นพระเสลี่ยงบรรทมพิงพระเขนยแล้ว เชิญเสด็จไปรอบพระที่นั่ง เมื่อเสด็จไปนั้น ทรงบ่นว่าของนี้อุตส่าห์ทำด้วยความคิดและเรี่ยวแรงเป็นหนักหนา หวังว่าจะได้อยู่ชมให้สบายนาน ๆ ก็ครั้งนี้ไม่ได้อยู่แล้ว จะได้เห็นครั้งนี้เป็นที่สุด ต่อไปก็จะเป็นของท่านผู้อื่น ภายหลังเมื่อทรงพระประชวรพระอาการมากแล้ว ให้เชิญเสด็จขึ้นพระเสลี่ยงเสด็จออกมาวัดมหาธาตุ รับสั่งว่าจะนมัสการลาพระพุทธรูป ครั้นเสด็จมาถึงหน้าพระประธานในพระอุโบสถ มีพระราชบัณฑูรดำรัสเรียกพระแสง ว่าจะทรงจบพระหัตถ์อุทิศถวายให้ทำเป็นราวเทียน ครั้นเจ้าพนักงานถวายพระแสงเข้าไปทรงเรียกเทียนมาจุดเรียบเรียงติดเข้าที่พระแสงทำเป็นพุทธบูชาอยู่ครู่หนึ่งแล้ว ทรงปรารภจะเอาพระแสงแทงพระองค์ถวายพระ ครั้งนั้นพระองค์เจ้าลำดวนเข้าปล้ำปลุกแย่งชิงพระแสงไปเสียจากพระหัตถ์ ทรงพระโทมนัสทอดพระองค์ลงทรงพระกันแสง ด่าแช่งพระองค์เจ้าลำดวนต่าง ๆ เจ้านายเหล่านั้นก็พากันเข้าปลํ้าปลุกเชิญเสด็จขึ้นทรงพระเสลี่ยงแล้ว เชิญเสด็จกลับเข้าพระราชวังบวรฯ เมื่อเสด็จมากลางทางก็ทรงขัดเคืองพระองค์เจ้าเหล่านั้นต่าง ๆ ว่าพากันข่มเหงท่าน ภายหลังอีกมีพระราชดำรัสว่า สมบัติทั้งนี้พระองค์ได้กระทำศึกสงครามกู้แผ่นดินขึ้นได้ ก็เพราะพระองค์ทั้งสิ้นไม่ควรจะให้สมบัติตกไปได้แก่ลูกหลานวังหลวงผู้ใดมีสติปัญญาก็ให้เร่งคิดเอาเถิด แต่นั้นมาพระองค์เจ้าลำดวนพระองค์เจ้าอินทปัตก็มีความกำเริบ จึงไปร่วมคิดกับพระยากลาโหม (ทองอิน) ๆ เป็นคนแข็งทัพศึก กรมพระราชวังบวรฯ ก็โปรดปรานไว้พระทัย ตรัสว่ารักเหมือนบุตรบุญธรรม พระยากลาโหม (ทองอิน) กับพระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัตตั้งกองเกลี้ยกล่อมหาคนที่ดีมีวิชาความรู้มาทดลองกันในวังพระองค์เจ้าลำดวน ถ้าพลั้งพลาดล้มตายลงก็ฝังเสียในกำแพงวังเป็นหลายคน จนความนั้นทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

คำถามคือเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ มีหลักฐานอะไร   คำตอบก็อยู่ข้างบนนี้ คือหลักฐานจากพยานบุคคล  ท่านใช้คำว่า
    "มีคำเล่าถูกต้องร่วมกันเป็นหลายปาก"

แต่หลักฐานนี้ ถือเป็นหลักฐานชั้นที่สอง (ทุติยภูมิ) คือคนเขียนเองก็ไม่ได้รู้เห็นด้วยตนเอง  ไม่ได้อยู่ร่วมสมัย   และไม่มีหลักฐานเอกสารยืนยัน มีแต่คำบอกเล่าจากหลายคนที่ให้การตรงกัน


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 18 พ.ย. 23, 11:30
  ส่วนหลักฐานชั้นหนึ่ง คือ"นิพพานวังหน้า"  พระองค์เจ้าหญฺิงกัมพุชฉัตรทรงรู้เห็นด้วยตนเอง  ว่ากรมพระราชวังบวรฯทรงทูลพระเชษฐาว่า
   จึงทรงฝากพระนิเวศน์ที่เคยครอง         ประสิทธิปองมอบไว้ใต้ธุลี
   แปลว่าทรงยกพระราชวังหน้าทั้งหมดให้พระเจ้าแผ่นดิน  ไม่ได้ยกให้พระโอรสธิดา 
   ส่วนคำว่า
   อนึ่งหน่อวรนารถผู้สืบสนอง                โปรดให้ครองพระนิเวศน์เหมือนปางหลัง
   อย่าบำราศให้นิราแรมวัง                    ก็รับสั่งอวยเออพระโองการ

   ชัดเจนมาก ว่าทรงยกพระราชวังหน้าให้พระเชษฐา   
   ตามกฎมณเฑียรบาลในยุคนั้น ถ้าเจ้านายองค์ไหนสิ้นพระชนม์  วังและทรัพย์สินที่ทรงครอบครองต้องกลับคืนหลวงครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งถึงจะตกแก่ชายาและโอรสธิดา    แต่กรมพระราชวังบวรตัดสินพระทัยยกถวายหมดเลย  นอกจากเป็นความใจป้ำของท่าน  และพิสูจน์ไปในตัวว่าท่านจงรักภักดีไม่เปลี่ยนแปลง   
   แต่มีข้อแม้นิดหนึ่งตอนท้ายว่า  ทรงขอให้พระโอรสของท่านได้ครองวังหน้าสืบต่อไป  อย่าต้องไปอยู่ที่อื่น  พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงเอยอวยรับคำ
   ตรงนี้แหละสำคัญที่สุดค่ะ
   ถอดเป็นภาษาชาวบ้านคือ   ขอลูกชายคนที่เป็นทายาทของพ่อ  ได้อาศัยอยู่ในบ้านนี้ต่อไป อย่าต้องไปอาศัยอยู่ที่อื่น
    นี่คือคำขอสุดท้ายของคนใกล้ตาย    คนที่มาเฝ้าดูใจใครจะใจแข็งปฏิเสธได้ ก็รับคำกันเป็นธรรมดา

   ปัญหาตรงนี้ก็เหมือนกับที่เคยเกิดในราชวงศ์บ้านพลูหลวงมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง   แต่ครั้งนี้เป็นลุงกับหลาน ไม่ใช่อากับหลาน 
   หลานระแวงว่าลุงจะยกตำแหน่งวังหน้าให้ลูกชายลุง   ไม่ยกให้ตัวเอง เลยชิงยึดอำนาจเสียก่อน   เมื่อหลานเป็นฝ่ายแพ้   จึงเกิดข่าวแพร่สะพัดว่า พ่อเป็นคนสนับสนุนส่งเสริมลูกมาตั้งแต่ต้นให้ยึดอำนาจ   ทั้งๆพ่อไม่ได้ทำ
   


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 18 พ.ย. 23, 12:41
ตำนานวังหน้า ตัดต่อเรียบเรียงส่วนที่เกี่ยวเนื่อง ครับ

            มีคำกล่าวกันมาว่า กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสร้างพระราชมนเทียรและสถานที่ต่างๆ
ในพระราชวังบวร ฯ ทรงทำโดยประณีตบรรจงทุกๆ อย่าง ด้วยตั้งพระหฤทัยว่า เมื่อสมเด็จพระเชษฐาสวรรคต
ถึงเวลาพระองค์ทรงครอบครองราชสมบัติ จะเสด็จประทับอยู่พระราชวังบวร ฯ ตามแบบอย่างพระเจ้าบรมโกษฐ
ไม่เสด็จลงมาอยู่วังหลวง
            แต่ถึงปีจอ พ.ศ. ๒๓๔๕ ประชวรเป็นนิ่ว .... ครั้นถึงเดือน ๘ ปีกุน พ.ศ. ๒๓๔๖ พระโรคกำเริบ อาการมี
แต่ทรงกับทรุด จนถึงเดือน ๑๒ ประชวรหนัก ร.๑ เสด็จขึ้นไปช่วยรักษาพยาบาล จนวันพฤหัสบดี เดือน ๑๒ แรม ๔ ค่ำ
กรมพระราชวังบวร ฯ เสด็จสวรรคต

            เหตุการณ์เมื่อกรมพระราชวังบวร ฯ จะสวรรคต ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารและพระราชนิพนธ์
พระจอมเกล้า ฯ กับทั้งในนิพพานวังหน้า พิเคราะห์เนื้อเรื่องที่ยุติต้องกันได้ความดังนี้

             ...ประชวรมีแต่ทรงอยู่กับทรุด จนพระสิริรูปซูบผอมทุพพลภาพ ทรงอธิษฐานเสี่ยงทายพระสุธารสว่า
ถ้าพระโรคจะหายไซร้ขอให้เสวยพระสุธารสได้โดยสะดวก พอเสวยเข้าไปมีอาการทรงพระอาเจียน แต่นั้นกรมพระราชวังบวร ฯ
ก็ปลงพระหฤทัยว่าคงจะสวรรคต
             วันหนึ่งทรงระลึกถึงวัดพระศรีสรรเพ็ชญซึ่งไฟไหม้แล้วทรงสถาปนาใหม่ การยังค้างอยู่จึงเสด็จ ว่าจะทรงนัสการลา
พระพุทธรูป ดำรัสเรียกพระแสงว่า จะอุทิสถวายเพื่อทำเป็นราวเทียน พอพระอาการกำเริบเป็นสาหัสก็หุนหันจะเอาพระแสง
แทงพระองค์ถวายพระชนม์ชีพเป็นพุทธบูชา พระองค์เจ้าชายลำดวนเข้าแย่งพระแสง ทรงโทมนัสทอดพระองค์ลงทรงพระกันแสง
แช่งด่าพระองค์เจ้าลำดวน
             ต่อมาไม่ช้านาน กรมพระราชวังบวร ฯ โปรดให้เชิญพระองค์เสด็จไปรอบพระราชมนเทียร มีกระแสรับสั่งเล่ากันหลายอย่าง


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 18 พ.ย. 23, 12:57
            ถ้อยคำซึ่งกรมพระราชวังบวร ฯ ตรัสว่าประการใด ๆ ในเวลาประชวรก็ปรากฏในเวลาชำระความ(กบฎวังหน้า)
เป็นเหตุให้พระพุทธยอดฟ้า ฯ ทรงน้อยพระทัยในพระอนุชาธิราชว่า เพราะผู้ใหญ่พูดจาให้ท้ายเช่นนั้นเด็กจึงกำเริบ
แต่แรกดำรัสว่าจะไม่ทำพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพ แต่ครั้นคลายพระพิโรธลงก็โปรดให้ทำพระเมรุใหญ่ตามเยี่ยง
พระมหาอุปราชแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่ดำรัสให้เชิญพระบรมสารีริกธาตุออกสมโภชที่พระเมรุให้เป็นพุทธบูชาเสียก่อน
ไม่ให้เสียพระวาจาที่ว่าจะไม่ทำพระเมรุกรมพระราชวังบวร ฯ
            .... การพระเมรุแต่นั้นก็เลยเป็นประเพณี เวลามีงานพระเมรุท้องสนามหลวง จึงเชิญพระบรมสารีริกธาตุ
ออกสมโภชก่อนงานพระศพสืบมาจนรัชกาลหลัง ๆ


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: กันเกรา ที่ 18 พ.ย. 23, 17:31
ขอบพระคุณอาจารย์ที่กรุณาสละเวลาตอบถามข้อสงสัยและวิเคราะห์ อธิบาย ให้กันเกราหลายครั้งมาก ๆ (อธิบายทุกคำถามของกันเกรา กันเกราขออภัยที่สงสัยเยอะมาก และขอขอบพระคุณมาก ๆ จริง ๆ ค่ะ) และขอบพระคุณคุณ SILA ที่ใจดีมอบข้อมูลดี ๆ ทั้งในกระทู้ก่อนและช่วงส่งท้ายนะคะ ขอบพระคุณมาก ๆ ค่ะ

นอกจากกันเกราได้ความกระจ่างเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับข้อสงสัยเดิม (ที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังกรมพระราชวังบวรฯ ของแต่ละรัชสมัยสวรรคต และที่ประทับเจ้านายในพระบรมมหาราชวังระหว่างการเปลี่ยนตำหนักเป็นตำหนักก่ออิฐถือปูนในรัชกาลที่ 3)  ยังได้รับความรู้ต่าง ๆ เยอะมากค่ะ เช่น กฏมณเฑียรบาลแบ่งฝ่ายหน้าฝ่ายในส่งผลกับเจ้านายอย่างไร เบี้ยหวัดต่างจากเงินเดือนอย่างไร (กันเกราเคยงุนงงว่าทำไมจึงแยกกัน) การจัดการงบประมาณแผ่นดินรายรับรายได้ต้นรัตนโกสินทร์ การย้ายตำหนักแบบเรือนไม้ พระประวัติพระอัครชายา การตีความนิพพานวังหน้า(ซึ่งเข้าใจยากสำหรับกันเกรา) การก่อสร้างพระบวรราชวัง (เพิ่งมีโอกาสทราบครั้งนี้ว่าเป็นแบบก่ออิฐตั้งแต่แรกขณะที่วังหลวงยังเป็นแบบตำหนักไม้อยู่ อันนี้ตะลึงมาก)   เรื่องของพระองค์เจ้าลำดวนและพระองค์เจ้าอินทปัต (เคยทราบคร่าว ๆ และเคยมีโอกาสอ่านเพิ่มในกระทู้นิพพานวังหน้า ตอนนี้มีโอกาสทราบรายละเอียดของเรื่องมากขึ้นว่าเกิดขึ้นด้วยเหตุใด) และงานพระเมรุ (ซึ่งปรากฏในพระราชพงศาวดารของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์บ่อยมาก มีการเชิญพระบรมสารีริกธาตุทุกครั้ง) ขอบพระคุณมาก ๆ จริง ๆ ค่ะ ได้ความรู้ใหม่ ๆ จากกระทู้นี้มากมาย ขอบพระคุณที่กรุณากันเกรานะคะ


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: กันเกรา ที่ 18 พ.ย. 23, 17:43
มีผู้บอกว่าดอกลิลี่สีเหลืองคือดอกไม้แทน gratitude ขออนุญาตใช้ภาพดอกไม้นี้แสดง gratitude ของกันเกรานะคะ


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 พ.ย. 23, 09:17
ยินดีที่คุณกันเกราได้ประโยชน์ทางการศึกษาจากกระทู้นี้ค่ะ   
ขอบคุณคุณหมอ SILA ที่ให้ความรู้เพิ่มเติมด้วย   
 


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 19 พ.ย. 23, 10:24
ยังมีต่ออีกหน่อยครับ

          เมื่อเจ้าฟ้าอิศรสุนทรได้สถาปนาเป็นกรมพระราชวังบวร ฯ ในนิพนธ์ร.๔ ปรากฏความว่า
          คุณเสือกราบทูลว่า พระราชวังบวรฯ ร้าง ไม่มีเจ้าของทรุดโทรมยับเยินไป เหย้าเรือนข้างใน
ก็ว่างเปล่ามาก ขอพระราชทานให้เชิญเสด็จกรมพระราชวังบวร ฯ พระองค์ใหม่ขึ้นไปทรงครอบครอง
จึงจะสมควร
          ร. ๑ ดำรัสว่า


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 19 พ.ย. 23, 10:32
         ในรัชกาลที่ ๒,


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 19 พ.ย. 23, 11:11
และ         


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 19 พ.ย. 23, 11:34
    คำขอของกรมพระราชวังบวรฯ ก่อนสิ้นพระชนม์  จะว่าไปฟังๆก็น่าจะง่าย    คือให้เจ้านายพระโอรสของท่านครอบครองวังต่อไป  อย่าได้ต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น  เหมือนกับพ่อสร้างบ้านไว้  ก็อยากให้ลูกชายได้อยู่ต่อเมื่อพ่อถึงแก่กรรมแล้ว    
    แต่ในทางปฏิบัติ ไม่ง่าย
   ถ้าพระองค์เจ้าลำดวนและพระองค์เจ้าอินทปัต รวมทั้งองค์อื่นๆได้ครองวังหน้าต่อไป   ท่านจะอยู่ในฐานะอะไร  
    1 อยู่ในฐานะเจ้าของวังหน้า   ก็ต้องได้รับการสถาปนาเป็นวังหน้าพระองค์ต่อไป ?
    2 เป็นพระองค์เจ้าเหมือนเดิม   แต่อยู่วังใหญ่โตกว่าเจ้านายอื่นๆ รวมทั้งเจ้าฟ้าด้วย
    ถ้าเป็นข้อ 1   พระองค์เจ้าลำดวน/พระองค์เจ้าอินทปัตก็ต้องเป็นพระมหาอุปราช    แล้วเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) พระราชโอรสพระเจ้าแผ่นดินจะทรงอยู่ในตำแหน่งอะไร  สูงหรือต่ำว่าพระโอรสวังหน้า
    ถ้าเป็นข้อ 2  ก็หมายความว่าพระองค์เจ้าลำดวนและองค์อื่นๆยังอยู่ในฐานะพระองค์เจ้าอย่างเดิม แต่อยู่วังใหญ่ มีผู้คนบริวารมากมาย สามารถซ่องสุมก่อกบฎได้ อย่างที่มีข่าวมาก่อนหน้านี้แล้ว

     สมมุติว่าพระองค์เจ้าลำดวนและพระองค์เจ้าอินทปัตเป็นเจ้านายซื่อๆ สงบเสงี่ยมเจียมตนมาแต่แรก ไม่เคยหือออือกับใคร     เมื่อมีสิทธิ์อยู่วังหน้าก็อยู่ไปอย่างเงียบๆกับพี่น้อง  ส่วนขุนนางย้ายไปรับราชการวังหลวงกันหมดตามกฎหมาย   ท่านก็คงได้อยู่กันไปจนสิ้นอายุขัย        ถ้าตั้งหน้าตั้งตาช่วยรบทัพจับศึก เพราะเคยออกรบมาก่อน ก็คงจะได้ทรงกรมกับเขาบ้าง   ประวัติศาสตร์ก็จะบันทึกไว้ว่า ท่านเป็นเจ้านายทรงกรมอีก 2 องค์ที่ออกรบมาตลอดพระชนม์ชีพ เหมือนเจ้านายวังหลัง
   แต่พระองค์เจ้าลำดวนกับพระองค์เจ้าอินทปัตไม่คิดเช่นนั้น
   ก่อนหน้ากรมพระราชวังบวรสวรรคต   อยู่ระหว่างประชวร  พระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัต และพระยากลาโหมราชเสนา (ทองอิน) ซ่องสุมผู้คนการใหญ่  หาคนที่ดีมีวิชาความรู้มาทดลองวิชากันในวังพระองค์เจ้าลำดวน ถ้าพลั้งพลาดล้มตายลงก็ฝังเสียในกำแพงวังเป็นหลายคน  ของพรรค์นี้ถึงปิดก็ปิดไม่มิดอยู่ดี
    เมื่อสิ้นกรมพระราชบวร  ความก็แตก   พระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัต ถูกจับตัวมาสอบสวน ยอมสารภาพ  ซัดถึงพระยากลาโหมราชเสนา (ทองอิน) พระยากลาโหม (ทองอิน) ให้การว่าวันถวายพระเพลิงเป็นวันจะลงมือปลงพระชนม์
   ผลคือทั้งสองถูกถอดลงเป็นหม่อมลำดวน หม่อมอินทปัต  ถูกสำเร็จโทษเสียด้วยท่อนจันทน์ ส่วนพระยากลาโหมราชเสนากับพรรคพวก ถูกตัดคอประหารชีวิต


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 23 พ.ย. 23, 10:25
  เมื่อมีการสถาปนาตำแหน่งมกุฎราชกุมารในรัชกาลที่ 5  นับเป็นอวสานของตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล  เจ้านายฝ่ายในของวังหน้าทรงถูกโยกย้ายเข้าไปอยู่ในพระราชฐานฝ่ายในของพระบรมมหาราชวัง รวมกับเจ้านายสตรีวังหลวง
    การยกเลิกตำแหน่งวังหน้า นำความร่วงโรยมาสู่เจ้านายวังหน้า     เจ้านายฝ่ายในหลายองค์ดำรงพระองค์อย่างอัตคัต    เห็นตัวอย่างได้จากพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุนทรีนาฏ พระราชธิดาในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ประสูติแต่จอมมารดาสุ่นเล็กพระองค์เจ้า   พระราชบิดาเสด็จทิวงคตเมื่อพระองค์เจ้าสุนทรีนาฏมีพระชันษาได้ 4 ปีเศษ
    พระองค์เจ้าสุนทรีนาฏ ทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานเงินเพื่อทรงใช้หนี้เก่าจำนวน 10,000 บาท แต่กระทรวงวังเบิกจ่ายให้ 5,560 บาท ต่อมาทรงกู้ยืมเงินจากนางแสง แสงชูคำ จำนวน 350 บาท จนเกิดคดีความขึ้น
    (เสียดายว่าหาหลักฐานคดีความไม่เจอ  คุณกันเกราทราบไหมคะ)

    พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุนทรีนาฏ เป็นเจ้านายชั้น "พระราชวรวงศ์เธอ" ที่มีพระชนม์อยู่เป็นพระองค์สุดท้าย ก่อนสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2513    สิริพระชันษา 90 ปี

    เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2514 เวลา 17.00 น. ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ประธานองคมนตรี เสด็จแทนพระองค์ไปในการพระราชทานเพลิงพระศพ พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุนทรีนาฏ ในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 24 พ.ย. 23, 12:04
จาก ตำนาน วังหน้า กรมพระยาดำรงราชานุภาพเรียบเรียงนี้
 
         กล่าวถึงเจ้าศรีรจจา เพิ่มเติมในตอนหลัง ในส่วนของสิ่งปลูกสร้าง ตำหนักวังหน้า ระบุว่าเจ้าศรีรจจาสิ้นเมื่อไร ไม่ปรากฏ
แต่ในวิกกี้ลงวันที่ - วันอังคารที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2364 อ้างจาก
         พับสาของพระยาเทพอุดร ขุนนางเมืองลำปาง ชาวเมืองพะเยา ระบุว่า "1183 ตัว ปีรวงไส้ เดือน 9 ออก 5 ค่ำ วัน 3 เจ้าครอกตาย มีสันนี้แล"
จากการคำนวณของชัยวุฒิ ไชยชนะ ตรงกับวันอังคารที่ 5 มิถุนายน 2364


กระทู้: สถานที่ประทับเจ้านายฝ่ายในวังหน้าหลังสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 พ.ย. 23, 12:36
แสดงว่าเจ้าศิริรจจาสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 2  ก่อนสิ้นรัชกาล 3 ปี
สิ้นพระชนม์ที่เมืองเหนือแน่นอน   ถ้าสิ้นพระชนม์ในกรุงเทพ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพน่าจะทรงทราบข้อมูล