เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: CrazyHOrse ที่ 11 มิ.ย. 07, 17:45



กระทู้: โคลงแบบสุนทรภู่
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 11 มิ.ย. 07, 17:45
สุนทรภู่มีชื่อลือเลื่องเป็นเลิศในกระบวนกลอน กลอนแปดแบบสุนทรภู่ถือเป็นกลอนครูมาจนถึงปัจจุบัน แต่ในบรรดาผลงานของท่าน มีนิราศสุพรรณที่แต่งโดยใช้ฉันทลักษณ์เป็นโคลงสี่สุภาพ

แต่ขึ้นชื่อว่าสุนทรภู่แล้ว จะเป็นแค่โคลงสี่ธรรมดาก็กระไรอยู่ โคลงของสุนทรภู่จึงมีเอกลักษณ์บางประการที่แตกต่างจากแบบแผนโคลงที่เขียนกันมา ผมขอเลือกตัวอย่างบทแรกของนิราศสุพรรณที่ถือได้ว่าเป็นตัวแทนของโคลงแบบสุนทรภู่ดังนี้ครับ

เดือนช่วงดวงเด่นฟ้า    ดาดาว
จรูญจรัสรัศมีพราวพร่างพร้อย
ยามดึกนึกหนาวหนาวเขนยแนบ  แอบเอย
เย็นฉ่ำน้ำค้างย้อยเยือกฟ้าพาหนาว



กระทู้: โคลงแบบสุนทรภู่
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 11 มิ.ย. 07, 17:52
ลักษณะเด่นประการแรกของโคลงแบบสุนทรภู่คือ จะใช้สัมผัสสระระหว่างคำที่สองและสามของทุกบาท นอกจากจะทำให้ลีลาไหลลื่นแล้ว ยังเป็นการบังคับการแบ่งจังหวะการอ่านเป็น 2-3-2 ไปในตัว ดังนี้ครับ

เดือนช่วงดวงเด่นฟ้า    ดาดาว
จรูญจรัสรัศมีพราวพร่างพร้อย
ยามดึกนึกหนาวหนาวเขนยแนบ  แอบเอย
เย็นฉ่ำน้ำค้างย้อยเยือกฟ้าพาหนาว

ลักษณะนี้ถือเป็นลักษณะพิเศษ เพราะโคลงโดยทั่วไป ไม่นิยมใช้สัมผัสสระ ถ้ามีก็จะเป็นสัมผัสอักษรเสียมากกว่า และการแบ่งวรรคตอนของโคลงนั้น โดยทั่วไปค่อนข้างยืดหยุ่น 2-3-2 หรือ 3-2-2 ปะปนกันไปครับ

มีบ้างที่สุนทรภู่จะใช้สัมผัสอักษรแทน หรือบางครั้งก็ใช้สัมผัสสระจากคำที่สองไปคำที่สี่ แต่ก็เป็นส่วนน้อยครับ เกือบทั้งหมดจะอยู่ในรูปแบบนี้


กระทู้: โคลงแบบสุนทรภู่
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 11 มิ.ย. 07, 18:02
ข้อสังเกตต่อมา สุนทรภู่จะพยายามใช้สัมผัสระหว่างคำสุดท้ายของวรรคแรกไปยังคำหน้าของบาทหลังในทุกๆบาท โดยที่จะใช้สัมผัสอักษรเป็นหลัก ยกเว้นบาทแรกที่มีการใช้สัมผัสสระปะปนกับสัมผัสอักษร ดูคร่าวๆไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่าอย่างไหนมากกว่า ใครจะลองนับมาเป็นวิทยาทานก็จะขอบคุณมากครับ

เดือนช่วงดวงเด่นฟ้า    ดาดาว
จรูญจรัสรัศมีพราวพร่างพร้อย
ยามดึกนึกหนาวหนาวเขนยแนบ  แอบเอย
เย็นฉ่ำน้ำค้างย้อยเยือกฟ้าพาหนาว

ลักษณะเช่นนี้ จะว่าไปก็ไม่แปลกนัก เพราะเป็นความนิยมปกติของการแต่งโคลงอยู่แล้ว (ยกเว้นเรื่องการใช้สัมผัสสระวรรคแรก) แต่โคลงแบบสุทรภู่นั้นเน้นมาก ใช้บ่อยจนแทบจะเป็นบังคับสัมผัสเลยครับ


กระทู้: โคลงแบบสุนทรภู่
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 11 มิ.ย. 07, 18:06
ข้อสังเกตประการที่สาม อันนี้ดูเหมือนจะเล็กน้อย คือการใช้คำสร้อยบาทที่สาม ถึงแม้ว่าฉันทลักษณ์โคลงจะอนุญาตให้ใช้คำสร้อยท้าบบาทสามเป็นปกติ แต่กวีคนอื่นๆจะไม่ได้ใช้มากเท่ากับสุนทรภู่ ในนิราศสุพรรณใส่คำสร้อยท้ายบาทสามเกือบจะครบทุกบทครับ ถือเป็นลักษณะพิเศษเช่นกัน โดยจะลงด้วยคำว่า เอย มากที่สุด รองลงมาคือ แฮ มีใช้คำอื่นปะปนน้อยครั้งมากครับ

เดือนช่วงดวงเด่นฟ้า    ดาดาว
จรูญจรัสรัศมีพราวพร่างพร้อย
ยามดึกนึกหนาวหนาวเขนยแนบ  แอบเอย
เย็นฉ่ำน้ำค้างย้อยเยือกฟ้าพาหนาว


กระทู้: โคลงแบบสุนทรภู่
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 11 มิ.ย. 07, 18:09
ข้อสังเกตประการที่สี่คือ ใช้สัมผัสสระระหว่างคำที่เจ็ดและแปดของบาทสามและสี่ครับ ถือว่าเป็นลักษณะพิเศษเหมือนกัน เพราะโคลงทั่วไปนิยมใช้สัมผัสอักษรมากกว่า นอกจากนั้น สุนทรภู่ใช้สัมผัสลักษณะนี้เป็นปกติเกือบทุกบทเช่นกันครับ

เดือนช่วงดวงเด่นฟ้า    ดาดาว
จรูญจรัสรัศมีพราวพร่างพร้อย
ยามดึกนึกหนาวหนาวเขนยแนบ  แอบเอย
เย็นฉ่ำน้ำค้างย้อยเยือกฟ้าพาหนาว


กระทู้: โคลงแบบสุนทรภู่
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 11 มิ.ย. 07, 18:17
ข้อสังเกตประการสุดท้าย

สุนทรภู่จะ ไม่ใช้ การร้อยโคลง ซึ่งใช้สัมผัสสระจากคำสุดท้ายของบทไปยังคำใดคำหนึ่งในวรรคแรกของบทถัดไปอย่างที่พบในโคลงลิลิตตะเลงพ่าย และงานประพันธ์โคลงของครูเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ครับ


กระทู้: โคลงแบบสุนทรภู่
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 11 มิ.ย. 07, 18:25
เกือบลืมไปอีกประการหนึ่ง โคลงของสุนทรภู่นิยมเอกโทษโทโทษ ใช้มากจนเป็นปกติ บางท่านตั้งข้อสังเกตว่าสุนทรภู่แต่งโคลงด้วยหู เน้นเสียงเป็นหลัก แต่ผมไม่เห็นด้วยเสียทั้งหมด

เรื่องที่ว่าแต่งด้วยหูนั้นจริงครับ แต่ไม่ถึงกับเน้นเสียงเป็นหลัก ยังเคร่งครัดกับรูปอยู่ เพราะไม่เคยใช้คำที่ไม่สามารถเขียนเป็นเอกโทษหรือโทโทษเลยครับ

จบการตั้งข้อสังเกตแล้วขอเขียนโคลงเลียนครูหนึ่งบทครับ

น้ำนองคลองคลั่งน้ำ    คร่ำครวญ
ยามดึกนึกหน้านวลนิ่มเนื้อ
เจ้าจากหากไม่หวนหาพี่ นี้นา
จะท่องทางรกเรื้อร่ำไห้ใจสลาย


กระทู้: โคลงแบบสุนทรภู่
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 11 มิ.ย. 07, 18:37
มีโคลงบทหนึ่งที่เล่าลือกันว่าเป็นผลงานของสุนทรภู่ ดังนี้ครับ

เฉน็งไอมาเวิ่งเว้า    วู่กา
รูกับกาวเมิงแต่ยามู่ไร้
ปิดเซ็นจะมู่ซาเคราทู่
เฉะแต่ตอบห้วยไม้หลิ่งกล้นกลนถนาง

ผมอ่านแล้วขัดข้องใจ ด้วยเหตุผลว่าฉันทลักษณ์ไม่เข้าเกณฑ์โคลงแบบสุนทรภู่ ถึงแม้จะคิดว่าแต่งเอาสนุก สัมผัสในไม่ต้องคิดมากเพราะถูกบีบด้วยข้อจำกัดอื่น แต่ก็ยังมีเรื่องหนึ่งที่พิกลเกินไปคือวรรคแรกของบาทที่สอง

รูกับกาวเมิงแต่ยา

ดูด้วยตาอาจเห็นว่าคำเกินมาหนึ่งคำ แต่ผมอ่านรวบ เมิงแต่ยาได้เป็นสองคำ ซึ่งถือว่าแปลกประการหนึ่ง เพราะเท่ากับว่าแบ่งวรรคตอนเป็น 3-2 ผิดความนิยมส่วนตัวของสุนทรภู่

หากใครจะแย้งว่าหากอ่านรวบ รูกับกาว เป็นสองคำ ก็สามารถเข้าเกณฑ์ 2-3 ได้ อันนั้นก็จริงอยู่ แต่จะทำให้ตกเอกคำที่สองไปครับ เพราะไปลงคงว่า กาว พอดี ถึงแม้ผมเองจะไม่ถือ แต่ไม่เคยเห็นท่านสุนทรทำอย่างนี้ครับ ดังนั้นข้อนี้น่าจะตกไป

ส่วนตัวผมคิดว่าโคลงบทนี้ไม่ได้แต่งโดยสุนทรภู่ครับ


กระทู้: โคลงแบบสุนทรภู่
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 13 มิ.ย. 07, 11:51

        คิดว่า สุนทรภู่ ท่านแต่งกลอนมีสัมผัสในแพรวพราว เมื่อท่านแต่งโคลง โคลงท่านจึง
มีสัมผัสในเช่นกัน

             จากโคลงของท่านที่คุณ CHO  นำมาแสดง เมื่อนำมาดัดแปลงเล็กน้อย ก็พอจะ
กล้อมแกล้มกลายเป็นกลอนได้ดังนี้  ครับ

                  เดือนช่วงดวงเด่นฟ้าดาดาว              จรูญจรัสรัศมีพราวพร่างพร้อย     

ยามดึกนึกหนาวหนาวแนบเขนยน้อย                 ฟ้าฉ่ำน้ำค้างย้อยเยือกเย็น

             


กระทู้: โคลงแบบสุนทรภู่
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 13 มิ.ย. 07, 14:15
โคลงเก่าๆ (กว่ายุคสุนทรภู่) ก็มีการใช้สัมผัสในแพรวพราวอยู่แล้วครับ แต่นิยมใช้สัมผัสอักษรเป็นหลัก และไม่ยึดตำแหน่งตายตัวแบบโคลงสุนทรภู่

เช่นบทนี้จากนิราศนรินทร์ ของนายนรินทร์ธิเบศร์ (ก่อนสุนทรภู่เล็กน้อย)

โอ้ศรีเสาวลักษณ์ล้ำ    แลโลม โลกเอย
แม้ว่ามีกิ่งโพยมยื่นหล้า
แขวนขวัญนุชชูโฉมแมกเมฆ ไว้แม่
กีดบ่มีกิ่งฟ้าฝากน้องนางเดียว

บางคนถึงกับวิจารณ์ว่าสุนทรภู่แต่งโคลงไม่เป็น แต่ผมคิดว่าสุนทรภู่แค่สร้าง "ทางโคลง" แบบใหม่ขึ้นมาโดยอิงกับทางกลอนของตัวเองที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว

ส่วนใครจะนิยมแบบไหน เชิญเลือกได้ตามใจครับ


กระทู้: โคลงแบบสุนทรภู่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 มิ.ย. 07, 16:08
ยังไม่มีเวลาศึกษานิราศสุพรรณอย่างละเอียด แต่จำได้ว่าหลายบทในนั้นเป็น "กลบท" ค่ะ


กระทู้: โคลงแบบสุนทรภู่
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 13 มิ.ย. 07, 16:58
เฉพาะข้อสังเกตในคคห.2 ถ้าบาทแรกส่งวรรคแรกไปวรรคหลังด้วยสัมผัสอักษร จะเข้าลักษณะกลบทโตเล่นหาง

ต้องมีเกือบครึ่งหนึ่งในนิราศสุพรรณที่เข้าข่ายนี้เลยครับ

บางบทขยายเป็นกลบทอักษรล้วน (บังคับสัมผัสอักษรสามคำติดกันทุกบาท) เช่น

จำร้างห่างน้องนึก    น่าสวน
สองฝ่ายชายหญิงยวนยั่วเย้า
หวังชายฝ่ายหญิงชวนชื่นเช่น เหนเอย
กลเช่นเล่นซักเศร้าเสพเผื้อนเฟือนเกษม

น่าคิดว่าสุนทรภู่ตั้งใจเล่นกลบทนี้หรือไม่ เพราะลักษณะนี้เป็นลีลาที่สุนทรภู่ชอบเล่นอยู่แล้ว และมีหลายบทมากที่เกือบเข้าลักษณะ ขาดไปเพียงหนึ่งบาท ทั้งๆที่สมารถแก้ไขให้เข้ากลบทได้ แต่ก็ไม่ทำครับ


กระทู้: โคลงแบบสุนทรภู่
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 13 มิ.ย. 07, 17:12
บทนี้ตั้งใจแน่ครับ กลบทนาคบริพันธ์

สาวเอยเคยอ่อนหนุ้ม    อุ้มสนอม
ออมสนิทชิดกลิ่นหอมกล่อมให้
ไกลห่างว่างอกตรอมออมตรึก รฦกเอย
เลยอื่นขึ้นครองไว้ใคร่หว้าหน้าสวน





กระทู้: โคลงแบบสุนทรภู่
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 13 มิ.ย. 07, 21:42
กลบทนาคบริพันธ์อีกบทหนึ่งครับ ตามหลังบทก่อนหน้านี้นิดเดียว เป็นหนึ่งในไม่กี่บทที่ไม่ใช้คำสร้อยบาทสามเพื่อให้เป็นนาคบริพันธ์แบบปกติ
เคราะกำจำห่างน้อง    ห้องนอน
หวนนึกดึกเคยวอนค่อนหว้า
คิดไว้ไม่ห่างจรห่อนจาก
หากจิตรมิศหลายหน้าล่าน้องหมองหมาง
   


กระทู้: โคลงแบบสุนทรภู่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 13 มิ.ย. 07, 22:02
ด้านกลอน สุนทรภู่เคยเล่นกลบทบ้างหรือเปล่าคะ
คนที่เอาโคลงมาเล่นกลบท ไม่น่าจะเป็นมือใหม่หัดแต่งโคลง แต่เป็นมือเก่าทีเดียว


กระทู้: โคลงแบบสุนทรภู่
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 13 มิ.ย. 07, 22:53
ข้อสังเกตของอ.เทาชมพูทำผมอึ้งเลย   :-\

คำถามแรก นึกไม่ออกจริงๆครับ นึกไม่ออกว่ามีกลอนบทไหนของสุนทรภู่ที่เป็นกลอนกลบท อาจจะมีน้อยมาก หรือเผลอๆจะไม่มีเลยก็เป็นได้ พอจะนึกหาเหตุได้สองประการครับ
- กลอนแปดของสุนทรภู่นั้นมีสัมผัสในเกี่ยวพันกันซับซ้อนในตัวเอง บทไหนแต่งได้เข้าเกณฑ์ครบทุกบาทผมว่าน่าจะเข้าเกณฑ์ว่าเป็นกลบทแบบหนึ่งอยู่แล้ว หากยอมรับดังนี้ อย่างน้อยงานกลอนเกือบครึ่งของท่านสุนทรก็เข้าข่ายเป็นกลบท และเป็นกลบทที่ไพเราะลงตัวมาก การเอากลบทอื่นมาใช้ ไม่แน่นักว่าจะเหนือกว่านะครับ
- สุนทรภู่เป็นสุดยอดฝีมือในเชิงกลอน ทางกลอนแปดแบบสุนทรภู่ก็ต้องถือว่าเป็นแบบที่ท่านริเริ่ม ไม่มีความจำเป็นต้องพิสูจน์ตัวเองอีกครับ

คำถามที่สอง ฝีมือระดับนี้ย่อมไม่ใช่มือใหม่แน่นอนครับ แต่ทางโคลงแบบสุนทรภู่นี้ไม่เหมือนแบบที่นิยมแต่งกันมา ในขณะที่มีกลบทสอดแทรกอยู่มากมายหลายแบบ น่าคิดว่าการแต่งเป็นกลบทนี้เป็นการอวดภูมิ เป็นการพิสูจน์ตัวว่าจะให้แต่งโคลงก็แต่งได้ และแต่งในทางของตัวเอง และที่แตกต่างนี้ก็ไม่ใช่เพราะไม่รู้ว่าตำราเก่าเขาเป็นอย่างไร (โดยแสดงออกที่ภูมิรู้เรื่องกลบท) สรุปว่า ถึงไม่ใช่มือใหม่ แต่ก็เป็นงานของผู้ที่ต้องการพิสูจน์ตัวครับ

หรือถ้าตอบสองข้อนี้ใหม่แบบแหวกแนว อาจจะต้องตอบว่านิราศสุพรรณไม่ใช่งานของสุนทรภู่

ตอบแบบนี้คงต้องดีเฟนด์กันหนักครับ


กระทู้: โคลงแบบสุนทรภู่
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 14 มิ.ย. 07, 11:01
ค้นมาได้ความว่าสัมผัสในแบบกลอนอุดมคติของสุนทรภู่เข้าข่ายกลบทครับ

ประชุมจารึกวัดพระเชตุพนฯ เรียก กลบทเทพชุมนุม
ศิริวิบุลกิตติ์ เรียก กลบทมธุรสวาที
โดยกำหนดให้ใช้สัมผัสสระหรืออักษรสองคู่ทุกบาท

ดังนั้นกลอนสุนทรภู่ก็คือกลอนกลบทในตัวอยู่แล้วครับ ซตพ.


กระทู้: โคลงแบบสุนทรภู่
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 14 มิ.ย. 07, 14:23

        เคยอ่านเมื่อนานมากแล้ว, ถ้าจำไม่ผิด, อาจารย์ภาษาไทยท่านหนึ่งเขียนไว้ว่า
สุนทรภู่ ท่านแต่งโคลงซึ่งไม่ใช่งานเชี่ยวชาญชั้นเลิศของท่าน เหมือนคนถนัดขวาเขียนหนังสือ
ด้วยมือซ้าย


กระทู้: โคลงแบบสุนทรภู่
เริ่มกระทู้โดย: Bana ที่ 14 มิ.ย. 07, 22:15
เห็นด้วยกับคุณ CH ครับ เพราะกลบทก็เป็นเพียงแค่การสร้างเงื่อนไขเพื่อแต่งร้อยกรอง  หรือรูปแบบพิเศษเอกลักษณ์พิเศษไปจากธรรมดาซึ่งเป็นลักษณะตายตัว  ซึ่งการสัมผัสในที่ถือว่าเป็นเลิศของท่านบรมครูสุนทรภู่  ถือว่าเป็นกลบทแบบสุนทรภู่ก็ได้ครับ  ขอเชิญบทที่ผมชอบที่สุดของท่านมาให้ชมครับ
    เมื่อขาล่องต้องตอเรือหล่อล่ม         เจียนจะจมน้ำม้วยระหวยระหาย
ปะหาดตื้นขึ้นรอดไม่วอดวาย              แต่ปะตายหลายหนหากทนทาน
แล้วมิหนำซ้ำบุตรสุดที่รัก                   ขโมยลักหลายหนผจญผลาญ
ต้องต่ำต้อยย่อยยับอัประมาณ             มาอยู่วิหารวัดเลียบยิ่งเยียบเย็น
โอ้ยามจนล้นเหลือสิ้นเสื่อหมอน          สู้ซุ่มซ่อนเสียมิให้ใครใครเห็น
ราหูทับยับเยินเผอิญเป็น                    เปรียบเหมือนเช่นพราหมณ์ชีมณีจันท์ฯ
(รำพันพิลาป)


กระทู้: โคลงแบบสุนทรภู่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 มิ.ย. 07, 12:10
เราน่าจะหยิบนิราศสุพรรณมาดูกันอย่างละเอียดอีกทีนะคะ
เผื่อจะเห็นอะไรที่ก่อนหน้านี้ มองข้ามไปบ้าง
อย่างแรก ดิฉันตั้งข้อคิดว่า คนที่แต่งนิราศสุพรรณ ไม่ใช่มือใหม่หัดแต่งโคลง ย้ำ โคลงนะคะ ไม่ใช่กลอน
ต้องมีผลงานโคลงมาก่อนแล้ว จึงแต่งนิราศสุพรรณเป็นงานชิ้นหลัง
 
จากแต่งโคลงแบบเรียบๆตรงไปตรงมาในงานแรกๆ ก็พลิกแพลงมาเป็นโคลงกลบท
คนเริ่มแต่งโคลงยาวๆเป็นเรื่องแรก   จะไม่พรวดพราดเข้าไปจับกลบท  ต่อให้ชำนาญกลอนมาก่อนก็เถอะ
แล้วยังเป็นกลบทหลายชนิดด้วย  ทั้งหมดนี้แสดงถึงการคลุกคลีกับงานประพันธ์จนเกิดความมั่นใจ


กระทู้: โคลงแบบสุนทรภู่
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 15 มิ.ย. 07, 12:17
เมื่อย้อนกลับมาดูกลอนของสุนทรภู่  ที่มีสัมผัสนอกและใน สม่ำเสมอ เป็นจังหวะเคร่งครัด  ไม่ออกนอกแบบ
แต่ก็เป็นแบบแผนตายตัวแบบเดียว    ไม่พลิกแพลงเล่นกลบทหลายแบบ   ทั้งๆกลอนกลบทก็เป็นที่รู้จักกันมาตั้งแต่ปลายอยุธยาแล้ว
สุนทรภู่เองก็เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายเพราะฝีมือกลอน
พอมาถึงโคลง  ทำไมท่านเปลี่ยนความเคยชินในนิสัย  จากกลอนก็มาแต่งโคลง จากแบบแผนเดียวที่ยึดถือก็มาเป็นหลายแบบ เล่นวิธีแต่งแพรวพราวไปหมด

จะว่าไม่เพราะไม่ได้หรอกค่ะ   ถ้ามองในเชิงโคลงกลบท แต่งยาก และภูมิใจในฝีมือทีเดียวแหละ
แต่ความที่เราชินกับโคลงของนิราศนรินทร์  เจ้าฟ้ากุ้ง ที่ใช้โคลงสี่สุภาพธรรมดา  อ่านเข้าใจง่าย   โคลงที่เล่นเอกโทษโทโทษเต็มไปหมด  มีสัมผัสในเต็มไปหมด จึงถูกมองว่าคนแต่งแต่งไม่เก่ง ไม่ถนัด
ตรงกันข้าม   คนแต่งนิราศสุพรรณ ถนัดการแต่งโคลง และฉีกแนวไปจากนิราศนรินทร์ด้วย


กระทู้: โคลงแบบสุนทรภู่
เริ่มกระทู้โดย: SILA ที่ 15 มิ.ย. 07, 14:33
          จากคห.คุณ CHO และที่ได้เคยอ่าน ทำให้ได้เป็นแนวคิดว่า สุนทรภู่ท่านคงโดน
คนปรามาสว่าเก่งแต่กลอน  จึงตั้งใจแต่งโคลงเป็นกลบท สัมผัสแพรวพราวเพื่อลบคำปรามาสนั้น

           ลองค้นดู โคลงจากลิลิตตะเลงพ่าย มีสัมผัสอักษร สัมผัสสระสะกด ประปรายในบางบาท และ
           บางบทที่มีสัมผัสในทุกบาท เช่น
สัมผัสอักษรในและระหว่างวรรค

           จำจรจำจากอ้า               อาดูร
ดูประสาทแสงสูรย์                      ส่องแก้ว
เรืองรัตน์จรัสจรูญ                      รัตน์รุ่ง เรืองนา
เรืองมณีนพแพร้ว                       เพริศพร้อยพรายฉาย

สัมผัสสระสะกด

           ชาวสยามคร้ามเศิกสิ้น       ทั้งผอง
นายและไพร่ไป่ปอง                     รบร้า
อพยพหลบหลีกมอง                     เอาเหตุ
ซุกซ่อนห่อนให้ข้า                       ศึกได้ไปเปน


กระทู้: โคลงแบบสุนทรภู่
เริ่มกระทู้โดย: CrazyHOrse ที่ 15 มิ.ย. 07, 15:36
ลิลิตตะเลงพ่ายเป็นงานร่วมสมัยกับสุนทรภู่ครับ ถ้าดูโคลงเก่าๆ กำศรวลสมุทร ยวนพ่าย หรือแม้แต่นิราศนรินทร์ จะเห็นว่ามีการใช้สัมผัสอักษรเป็นหลัก มีสัมผัสสระปรากฏน้อยมาก น้อยจนน่าคิดว่าตั้งใจหลบด้วยซ้ำไป

นิราศสุพรรณนั้นกลับกัน ใช้สัมผัสสระเป็นหลัก ใช้มากจนเห็นได้ชัดว่าเป็นความตั้งใจของผู้แต่ง คือตั้งใจแต่งให้แตกต่างไปจากงานเก่าๆ เหตุดังนี้ชี้ว่าผู้แต่งนิราศสุพรรณต้องเคยอ่านศึกษางานเก่าๆมาแล้วเป็นอย่างดี ไม่ใช่กระโดดลงมาแต่งแบบมือใหม่ไม่รู้ความ

นิราศสุพรรณไม่ได้มีเพียงสัมผัสแพรวพราวหรือแต่งได้ถูกต้องตามฉันทลักษณ์ (ทั้งที่ปรากฏและไม่ปรากฏในจินดามณี) แต่เสียงโคลงก็ไม่เพี้ยนด้วย เรื่องแบบนี้อธิบายออกมาเป็นรูปธรรมได้ยาก ไม่ปรากฏในตำราใดๆครับ

โดยส่วนตัว ไม่ว่าผู้แต่งนิราศสุพรรณจะเป็นใคร ผมเห็นว่าเป็นกวีที่ไม่เคยมีชื่อเสียงด้านการประพันธ์โคลง แต่มีความเชี่ยวชาญกลอนแบบสุนทรภู่ และเชี่ยวชาญโคลงมากพอจะสร้าง "ทาง" ของตัวเองเป็นโคลงที่มีลีลาคล้ายกลอนแบบสุนทรภู่ขึ้นมาได้ครับ

ใครว่าไม่เก่งผมว่าไม่เก่ง

งงไหมครับ แหะๆ