เรือนไทย

General Category => ภาษาวรรณคดี => ข้อความที่เริ่มโดย: toma ที่ 23 ส.ค. 05, 09:38



กระทู้: ฝรั่งขี้นก
เริ่มกระทู้โดย: toma ที่ 23 ส.ค. 05, 09:38
 สวัสดีครับ อยากทราบว่า เราเริ่มใช้คำว่า ฝรั่งขี้นก เรียก ชาวต่างชาติเมื่อไหร่ครับ


กระทู้: ฝรั่งขี้นก
เริ่มกระทู้โดย: ศานติ ที่ 24 ส.ค. 05, 01:25
 At least 60 years.  I was called that when I was a small boy.


กระทู้: ฝรั่งขี้นก
เริ่มกระทู้โดย: toma ที่ 24 ส.ค. 05, 04:28
 ขอบคุณครับ ถ้าอย่างนั้นน่าจะใช้คำนี้เรียกชาวต่างชาตินานแล้วนะครับ


กระทู้: ฝรั่งขี้นก
เริ่มกระทู้โดย: ศานติ ที่ 24 ส.ค. 05, 11:54
 ตามความรู้สึกของผม (คนอื่นอาจไม่เห็นด้วย) คำว่าฝรั่งเฉยๆไม่เสียหายตรงไหน แต่คำว่าฝรั่งขี้นกค่อนข้างจะเป็นการเหยียดหยามหน่อยๆ เป็นทำนองว่าไม่ใช่ฝรั่งชั้นดี แต่เป็นชั้นรองลงมา โดนเรียกมาแต่เล็กๆเลยอาจจะหนังบางหน่อยก็เป็นได้

ความจริงฝรั่งขี้นกก็เป็นฝรั่งพันธุ์หนึ่ง เล็กกว่าที่ขายกันทั่วไปมาก แต่หวานกว่า สมัยเด็กเคยเห็นแต่ตามบ้านไม่มีคนเก็บมาขาย


กระทู้: ฝรั่งขี้นก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 24 ส.ค. 05, 12:22
 สำนวนนี้ เท่าที่ได้ยินมา ไม่ได้เรียกคนต่างชาติ แต่เรียกคนไทยที่ทำตัวเลียนแบบฝรั่ง หรือเรียกคนไทยที่เกิดมามีลักษณะบางอย่างคล้ายฝรั่ง  เป็นการเรียกแบบแซวๆ  หมายความว่าไม่ใช่ฝรั่งต่างชาติแท้ๆ

คือในสมัยที่คุณหมอศานติยังไม่เกิด   คนไทยที่ชอบวัฒนธรรมฝรั่ง  พูดภาษาฝรั่งปะปนกับไทย  สูบซิการ์ หรือทำอะไรที่ชาวบ้านทั่วไปเห็นว่า ทำตัวเป็นฝรั่ง ผิดแผกไปจากคนไทยทั่วไป
ก็จะถูกล้อว่า ฝรั่งขี้นก  บางทีก็มีสร้อยต่อว่า หกใบสตางค์
คือเป็นได้อย่างมากก็ฝรั่งขี้นก  ไม่ใช่ฝรั่งชาวต่างชาติของแท้

ดิฉันไม่ทราบว่าทำไมถึงมีคนเรียกคุณหมอศานติอย่างนั้นตั้งแต่คุณหมอยังเล็กๆ   เดาว่าคุณหมอคงมีลักษณะอะไรบางอย่างคล้ายฝรั่ง   เด็กไทยที่ผมออกสีแดงๆ บางทีก็เรียกว่าฝรั่งขี้นกเหมือนกัน

จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าเคยอ่านเจอในนิยายชุด สามเกลอ ของป.อินทรปาลิต เหมือนกัน


กระทู้: ฝรั่งขี้นก
เริ่มกระทู้โดย: toma ที่ 25 ส.ค. 05, 01:33
 ขอขอบคุณ คุณหมอศานติและคุณเทาชมพูมากครับ


กระทู้: ฝรั่งขี้นก
เริ่มกระทู้โดย: ศานติ ที่ 26 ส.ค. 05, 10:38
 เพิ่งมานึกขึ้นได้ว่า ฝรั่งขี้นกมีสร้อยต่อท้ายว่า หกใบสตางค์ เหมือนที่คุณเทาชมพูว่า  เขาเรียกผมว่าฝรั่งขี้นกเพราะคุณแม่เป็นฝรั่ง (ท่านเคยเล่าว่าเป็นฝรั่งคนที่สามที่มีสามีเป็นคนไทยในสมัยนั้น) เคยมีจดหมายถึงคุณแม่จ่าหน้าซอง ว่า
               Marguerite Wichian Sitter, Bangkok, Siam
ก็ถึงเหมือนกัน (Sitter เป็นนามสกุลของแม่ก่อนแต่งงาน)

อ่านคำอธิบายของคุณเทาชมพูแล้วทำให้คิดถึงอีกคำหนึ่งทีมีความหมายคล้ายกันแต่ใช้กับหญิงส่วนใหญ่เด็ก คือคำว่า แหม่มกะปิ  สมัยผมเป็นเด็กใช้เรียกเด็กหญิงที่แต่งตัวเล่นๆเป็นผุ้ใหญ่ใส่กระโปรงแบบฝรั่ง ใส่ส้นสูง บางทีใส่หมวกด้วย ทำท่าทางเป็นผู้ใหญ่  ไม่ทราบว่ายังใช้กันอยู่หรือเปล่า


กระทู้: ฝรั่งขี้นก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 26 ส.ค. 05, 14:18
 แหม่มกะปิ  ไม่เคยได้ยินมานานแล้วค่ะ

ถ้าคุณหมอเกิดในยุคนี้ นอกจากไม่มีใครเรียกว่า "ฝรั่งขี้นก"แล้ว   บางทีจะไม่มีเวลาไปเรียนหมอ  
เพราะโมเดลลิ่งกับผู้จัดละครทีวี คงจองเวลาไปเป็นนายแบบและดาราเสียหมดทั้ง ๒๔ ชั่วโมง

คุณแม่ของคุณหมอ ชื่อไพเราะมากค่ะ
เหมือนชื่อนางเอกนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง The Scarlet  Pimpernel  ของ Baroness Emmuska Orczy
ตอนทำเป็นหนัง เจน ซีมอร์เล่นเป็นนางเอก  ยังสาวและสวยมากๆ


กระทู้: ฝรั่งขี้นก
เริ่มกระทู้โดย: ศศิศ ที่ 26 ส.ค. 05, 18:32
 ได้ยินคำว่า "แหม่มกะปิ" แล้วนึกถึงหนังไทยขึ้นมาตะหงิด ๆ เลยครับผม อิอิ


กระทู้: ฝรั่งขี้นก
เริ่มกระทู้โดย: toma ที่ 26 ส.ค. 05, 22:23
 จริงด้วยครับ ไม่ได้ยินมานานแล้ว คำว่า "แหม่มกะปิ"  มีอีกคำที่ผมอยากรู้ครับ คือเราเรียก แขกผู้ชายว่า "อาบัง" หรือ "บัง"  แล้วสำหรับแขกผู้หญิงเรามีคำใช้เรียกไหมครับ


กระทู้: ฝรั่งขี้นก
เริ่มกระทู้โดย: ดารากร ที่ 26 ส.ค. 05, 22:59
 เคยได้ยินเพื่อน ๆ ที่มาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเรียกแขกผู้หญิงสาว ๆ ว่า "ก๊ะ" ค่ะ เช่น ถ้าผู้หญิงแขกคนนั้นชื่อ "ซะ" ก็จะเรียกเค้าว่า "ก๊ะซะ" น่ะค่ะ

ดิฉันก็ไม่ทราบว่าใช้กันแพร่หลายหรือไม่ เพราะแถวกรุงเทพฯ ไม่เคยได้ยินคำเรียกแขกผู้หญิงมาก่อน เคยรู้แต่เรียกแขกผู้ชายว่าบังเท่านั้นค่ะ


กระทู้: ฝรั่งขี้นก
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 27 ส.ค. 05, 03:07

ตามความเห็นของผมนะครับ

คำว่า "ฝรั่งขี้นก" ที่ใช้เรียกคน น่ายืมมาจากชื่อของผลไม้นั่นแหละครับ โดยอาศัยความพ้องกันของคำว่า "ฝรั่ง" หรือกล่าวอีกนัยคือ เป็นการเปรียบเปรยนั่นเองครับ

ก่อนอื่นต้องมาดูก่อนว่า มีพืชอะไรที่ลงท้ายด้วย "ขี้นก" บ้าง เท่าที่ผมนึกออกตอนนี้ก็มี

๑. ฝรั่งขี้นก (Psidium guajava Linn. วงศ์ MYRTACEAE)
๒. พริกขี้นก (Capsicum  frutescens วงศ์ SOLANACEAE)
๓. มะระขี้นก (Momordica  charantia วงศ์ CUCURBITACEAE)

จะสังเกตได้ว่า คำว่า ขี้นก น่าจะเป็นคำวิเศษณ์ ใช้ขยายคุณสมบัติของพืชชนิดนั้นๆ ซึ่งคงจะเป็นในทางที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะจะเห็นว่าพืชที่มีคำว่าขี้นก ก็จะมีผลที่มีขนาดเล็กกว่า ผลพืชที่ไม่มีคำว่าขี้นก

อย่างมะระ กับมะระขี้นก จะเห็นได้ชัดๆ ว่า มะระทั่วไป ลูกใหญ่เนื้อเยอะ แต่มะระขี้นก ลูกเล็ก เนื้อน้อยกว่ามะระอย่างเห็นได้ชัด (ทำให้นึกถึงคำอีกคู่คือ มะระบ้าน กับ มะระป่า)

ดังนั้น "ขี้นก" ก็อาจเปรียบได้กับคำว่า "เทียม"

แต่ทำไมต้อง "ขี้นก" อันนี้ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน อาจเป็นไปได้ว่า ถ้าเป็นของป่า ก็มักจะมีขี้นกปนเปือนติดอยู่บนผิว ดังนั้นคำว่า "ขี้นก" ก็อาจมีนัยหมายถึงของป่าก็น่าจะได้ด้วยเช่นกัน

สรุปความคิดของผมได้ว่า

ผลพืชที่ได้จาก "ป่า" มักจะเป็นพันธุ์ไม่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์โดยมนุษย์ ดังนั้น เมื่อนำมาเทียบกับ ผลพืชชนิดเดียวกันที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ ก็จะมีขนาดด้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด

ผลพืชที่เก็บจากป่า อาจมีขี้นก ติดอยู่บ้าง การที่ใช้คำว่าขี้นก ก็อาจมีนัยว่า เป็นพืชพันธุ์ที่ขึ้นเองในป่า

ต่อมา ทำไมถึงเรียกคนว่าฝรั่งขี้นก

ผมเข้าใจว่า คำนี้ถูกนำมาเรียก "คนไทยที่พยายามทำตัวแบบฝรั่ง" นั่นคือ ความหมายดั่งเดิม เพราะน่าจะหมายถึง "ฝรั่งเทียม"

แต่อย่างไรก็ตาม ก็เคยได้ยินมีการใช้ให้หมายถึง "ฝรั่งที่ทำตัวมอซอ" หรือ "ฝรั่งตกยาก" ด้วยเหมือนกัน

หรือ อย่างกรณีคุณลุงศานติ ยกตัวอย่างมา ว่ามีคนเรียกลูกครึ่งฝรั่งว่า "ฝรั่งขี้นก" ด้วย อันนี้ผมก็เพิ่งเคยได้ยินครับ ซึ่งคนเรียกก็คงเรียกด้วยความเอ็นดู เพราะเห็นว่า จะเป็นฝรั่งก็ไม่ใช่ จะเป็นไทยก็ไม่เชิง

แต่อย่างไรก็ตาม ตามความเห็นของผมนะครับ คำว่า ฝรั่งขี้นก น่าจะหมายถึง คนไทยที่ทำตัวเลียนแบบฝรั่งมากกว่าความหมายอื่นๆ ซึ่งเป็นไปในทางลบ ส่วนความหมายอื่นๆ นั่น น่าจะเกิดขึ้นทีหลัง

เดี๋ยวนี้หาดูง่ายครับ มองด้านหลังผมน้ำตาล ผมทอง แต่เห็นหน้าก็ อ้าว คนบ้านเรา นี้เอง อิอิ อย่างนี้จะว่า "ขี้นก" ก็ได้มั้ง


กระทู้: ฝรั่งขี้นก
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 27 ส.ค. 05, 03:40

ภาพบังชาวเมืองบังกลา


คำว่า แหม่มกะปิ ก็คงทำนองเดียวกันครับ คือ "เทียม"

เพราะเป็นการใช้คำที่มีนัยแห่งความหมายที่ตรงข้ามกัน คือ แหม่ม มีนัยหมายถึง ผู้หญิงฝรั่ง แต่กะปิเป็นของกินของไทย ดังนั้น เมื่อคู่กันก็จะมีนัยว่า ผู้หญิงไทยทำตัวเป็นฝรั่ง แต่ก็ยังกินกะปิ อย่างนี้ ก็ไม่เป็นฝรั่งแท้สิ  

ส่วนคำว่า "อาบัง" กับ "บัง" นี้ ผมเข้าใจว่ามาจาก "บังกลา" ครับ คือ แขกที่เข้ามาทำงานในเมืองไทยนั้น มีมากเลยทีเดียวที่มาจากบังกลาเทศ คำเก่าๆ เรียก แขกบังคล่า

ผมคิดว่า ภาษาปากแบบชาวบ้านๆ ก็คงเรียกย่อๆ กันเป็น แขกบัง บ้าง บัง บ้าง ส่วน "อาบัง" ก็น่าจะมาจากคำว่า "อา" ที่แปลว่าน้องของพ่อนี่แหละครับ คือ เป็นการเรียกเพื่อความสนิทสนม เหมือนเราเจอคนไม่รู้จักก็ "พี่" ไว้ก่อน อิอิ เวลาเจอแขกบัง ก็เลยเรียก อาบัง หรือ อีกแบบ คือ อาจเรียกล้อกันไปตามน้ำจากคำว่า อาแป๊ะ อาก๋ง ซึ่งเป็นต่างชาติเหมือนกัน มาเจอบังก็เลย อาบังตามน้ำไปเลย อิอิ

สำหรับผู้หญิงนั้น ไม่มีเรียกครับ เพราะว่าเมื่อก่อนนี้ จะมีแต่แขกบังกลาที่เป็นผู้ชายเท่านั้น ที่เดินทางมาทำงานในเมืองไทย ดังนั้น แขกบัง จึงสงวนไว้กับผู้ชายครับ ผู้หญิงแขกคงมาทีหลัง แล้วคงอยู่บ้านเลี้ยงลูก หรือ รับจ้างรับงานมาทำที่บ้านมากกว่า ที่จะออกตระเวนทำงานกับคนไทย คนไทยจึงคุ้นเคยกับ บัง ที่เป็นชายมากกว่าครับ

ถูกผิดไม่ทราบนะครับ ขอสันนิษฐานไว้ก็แล้วกัน


กระทู้: ฝรั่งขี้นก
เริ่มกระทู้โดย: toma ที่ 27 ส.ค. 05, 11:12
 ขอบคุณทุกๆท่านมากครับ ไม่ผิดหวังจริงๆที่เป็นสมาชิกเวปวิชาการ ได้ความรู้เพิ่มขึ้นมากเลยครับ ตามที่คุณ Hotacunus สันนิษฐานก็น่าจะเป็นไปได้นะครับ เรื่องที่ผู้หญิงแขกเข้ามาทีหลัง และก็อยู่แต่ในบ้านทำให้เราไม่มีคำเรียก ยังไงผมก็ว่าคนไทยเป็นชาติที่ฉลาดในการใช้ภาษามากกว่าฝรั่ง เรามีคำที่หลากหลายกว่าเยอะ อย่างน้อยเราก็แยกสัญชาติชาวต่างชาติได้ ไม่เหมารวมอย่างฝรั่งว่าอะไรๆก็เป็นคนจีนไปหมด เอ... หรือผมไม่แตกฉานภาษาต่างประเทศก็ไม่รู้นะ


กระทู้: ฝรั่งขี้นก
เริ่มกระทู้โดย: เทาชมพู ที่ 27 ส.ค. 05, 11:41
 ดิฉันเข้าใจว่า พืชผลที่มีคำว่า ขี้นก ตามหลัง  เป็นพวกที่ขึ้นเอง  ไม่ได้ตั้งใจปลูก
ชาวบ้านตั้งชื่อให้  เพราะเชื่อว่า มันงอกขึ้นมาจากมูลนกที่กินเข้าไปแล้วถ่ายทิ้งออกมา  ตกถึงพื้นดินก็งอก
คนละอย่างกับพืชชนิดเดียวกันแต่ว่าชาวบ้านตั้งใจปลูก  อาจจะเป็นเพราะผลใหญ่กว่า งามกว่า ขายได้ราคาดี หรือนิยมกินกันมากกว่า


กระทู้: ฝรั่งขี้นก
เริ่มกระทู้โดย: ติบอ ที่ 27 ส.ค. 05, 17:36
 เห็นด้วยกะที่อาจารย์เทาว่าไว้ครับ
เพราะตอนที่ลงวิชาเลือกเกี่ยวกับพืชที่คณะเภสัช อาจารย์ที่สอนก็พูดแบบนี้ครับ



ว่าแล้วก็นึกถึงฟักข้าวตะหงิดๆ ไม่ได้เห็นมาตั้งหลายปีแล้วครับ


กระทู้: ฝรั่งขี้นก
เริ่มกระทู้โดย: Hotacunus ที่ 29 ส.ค. 05, 01:15
 ขอบคุณคุณเทาชมพูมากครับ ที่ช่วยแก้ไขให้

เห็นจะจริงอย่างที่คุณเทาชมพูว่า พวกคำว่า ขี้นก ก็คงเพราะว่าเป็นพืชป่าที่ขึ้นมาจากขี้นก เนื่องจากพวกนกกินเมล็ดของพืชเหล่านั้นเข้าไป

ผมคิดอะไรได้ก็เขียนครับ บางทีก็คิดไม่รอบด้าน ก็ขอขอบคุณที่ช่วยแก้ไขให้นะครับ